http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล(เดือนมิถุนายน 2558)

กองทุนอ้อยและน้ำตาลอัด500ล.เปิดส/ชพิเศษแก้ภัยแล้งช่วยชาวไร่อ้อย

คณะกรรมการกองทุนอ้อยและน้ำตาล เผยที่ประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้ช่วยเหลือชาวไร่อ้อยที่ส่งอ้อยฤดูกาลผลิตปี 2557/2558 โดยให้คณะกรรมการกองทุนฯ จัดทำโครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยทั่วประเทศ

วงเงินรวม 500 ล้านบาทต่อปี โดยเกษตรกรสามารถขอรับสินเชื่อได้รายละไม่เกิน 5 แสนบาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี กำหนดผ่อนชำระเป็นเวลา 4 ปี ควบคู่ไปกับกิจกรรมพัฒนาแหล่งน้ำ เช่น การขุดบ่อน้ำ การสูบน้ำบาดาล การจัดทำระบบน้ำหยด หวังแก้ปัญหาแล้งซ้ำซากอย่างยั่งยืน ทั้งนี้หากชาวไร่อ้อยสนใจที่จะขอสินเชื่อตามโครงการนี้ สามารถไปติดต่อและยื่นใบสมัครได้ที่โรงงานน้ำตาลในพื้นที่ที่ตนเองส่งอ้อยเข้าโรงงานเพื่อขออนุมัติเงินกู้จากคณะกรรมการต่อไป

 นายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ในฐานะประธานกรรมการกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้กำหนดนโยบายให้ส่วนราชการจัดทำโครงการช่วยเหลือเกษตรกรจากปัญหาภัยแล้งนั้น กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายได้จัดทำโครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยทั่วประเทศวงเงินรวม 500 ล้านบาทต่อปี และชาวไร่อ้อยสามารถขอรับสินเชื่อดังกล่าวได้รายละไม่เกิน 5 แสนบาท โดยกองทุนฯ คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี กำหนดผ่อนชำระเป็นเวลา 4 ปี การให้กู้ดังกล่าวจะเน้นกิจกรรมลงทุนสร้างแหล่งน้ำขนาดเล็ก เช่น การขุดบ่อน้ำ การสูบน้ำบาดาล การจัดทำระบบน้ำหยดเป็นต้น หากชาวไร่อ้อยสนใจที่จะขอสินเชื่อตามโครงการนี้ ขอให้ไปติดต่อและยื่นใบสมัครได้ที่โรงงานน้ำตาลในพื้นที่ที่ตนเองส่งอ้อย เข้าโรงงาน โดยโรงงานจะช่วยพิจารณาและกลั่นกรองว่าชาวไร่อ้อยผู้นั้นมีความพร้อมและมีความสามารถที่จะดำเนินการลงทุนแหล่งน้ำขนาดเล็กต่าง ๆ และมีผลตอบแทนเพียงพอที่จะจ่ายคืนเงินกู้ได้หรือไม่ ต่อจากนั้นใบสมัครดังกล่าวจะถูกพิจารณาโดยคณะกรรมการประจำโรงงานซึ่งมีผู้แทนของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ผู้แทนโรงงาน และผู้แทนชาวไร่อ้อยฝ่ายละ 1 คน ช่วยกันพิจารณาและหากเห็นสมควรจึงให้สำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ขออนุมัติเงินกู้จากคณะกรรมการต่อไป

 สำหรับสถานการณ์ราคาอ้อยในฤดูการผลิตหน้า 2558/2559 นั้นจะยังตกต่ำต่อไป ซึ่งจากตัวเลขราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์กราคาน้ำตาลล่วงหน้าเดือนมีนาคม พฤษภาคม กรกฎาคม 2559 มีระดับราคาอยู่ที่ประมาณ 13.51 – 13.69 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าแนวโน้มราคาอ้อยขั้นต้นจะมีราคาลดต่ำลง โดยประมาณว่าจะสามารถกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นได้ประมาณ 700 บาทต่อตัน ในขณะที่ต้นทุนการผลิตของชาวไร่อ้อยจะสูงกว่า เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ทุกฝ่ายได้ว่าชาวไร่อ้อย โรงงาน และภาครัฐ จะต้องร่วมปรึกษาหารือกันในการปรับโครงสร้างระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย รวมทั้งชาวไร่อ้อยคงจะต้องหันมาให้ความสำคัญกับการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ เพื่อลดต้นทุนการผลิตให้พอที่จะอยู่ได้ ขณะเดียวกันโรงงานเองก็ควรจะต้องปรับปรุงประสิทธิภาพของขบวนการผลิตตลอดจนระบบ  โลจิสติกในการขนอ้อยเข้าโรงงานให้สามารถผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยให้สูงขึ้น เพราะว่าการรับอ้อยเข้าโรงงานล่าช้าจะทำให้ความหวานและความสมบูรณ์ของอ้อยลดลงด้วย

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 30 มิถุนายน 2558

18 ปี ลอยตัวเงินบาท

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยออกบทวิเคราะห์"18 ปี ลอยตัวเงินบาท ... ปัจจุบัน แม้ทุนสำรองฯ แข็งแกร่ง แต่ต้องติดตามสถานการณ์หนี้ในประเทศ"

ประเด็นสำคัญ

•    จากการเปรียบเทียบสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน กับในช่วงก่อนวิกฤตปี 2540 สะท้อนเสถียรภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ดีกว่าในช่วง 18 ปีก่อนหน้ามาก ไม่ว่าจะเป็นสัดส่วนหนี้ต่างประเทศที่ลดลง สถานะการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ ไม่ปรากฏสัญญาณการเก็งกำไรในสินทรัพย์ที่น่ากังวล ซึ่งเคยเป็นชนวนการเกิดวิกฤตปี 2540 

•    อย่างไรก็ตาม จุดจับตาอยู่ที่ โครงสร้างเศรษฐกิจไทยปัจจุบัน มีระดับการก่อหนี้ในภาพรวมเพิ่มขึ้น การออมในระบบลดต่ำลง อีกทั้ง เงินทุนจากต่างชาติมีบทบาทในไทยเพิ่มขึ้นอีกครั้ง ผ่านเงินลงทุนในหลักทรัพย์ไทยที่เพิ่มขึ้นหลังเฟดเริ่มโครงการ QE ในปี 2551 อันทำให้ไทยมีความเปราะบางเพิ่มขึ้นต่อความผันผวนของการโยกย้ายเงินทุนของต่างชาติและอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น

•    แม้ว่าไทยจะมีปริมาณสภาพคล่องและทุนสำรองฯ พอเพียงที่จะดูแลผลกระทบจากการปรับพอร์ตการลงทุนของต่างชาติ โดยเฉพาะจากเหตุการณ์เฉพาะหน้าอย่างเช่น วิกฤตกรีซและโอกาสการปรับทิศทางเชิงนโยบายการเงินของเฟด ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของ ธปท. แต่โครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาการก่อหนี้ในประเทศที่สูงขึ้น จะเป็นอีกหนึ่งโจทย์สำคัญที่ทางการไทยต้องคำนึงถึงในระยะถัดไป เพราะเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องการการแก้ไขอย่างจริงจัง เพื่อบรรเทาผลกระทบจากวัฏจักรอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นที่คงยากจะหลีกเลี่ยงในอนาคต

 วันที่ 2 กรกฎาคม 2558 นี้ จะครบรอบ 18 ปี ของเหตุการณ์ลอยตัวค่าเงินบาทของไทยเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540  ซึ่งสถานการณ์ในครั้งนั้น นอกจากจะนำมาสู่การปฏิรูปภาคการเงินของไทยในมิติต่างๆ แล้ว ก็ยังเป็นบทเรียนสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทยที่ควรหันกลับไปมอง เพื่อให้มั่นใจว่าเส้นทางเศรษฐกิจและการเงินที่กำลังเดินอยู่ในปัจจุบัน จะไม่ย้อนรอยเดิมอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่สถานการณ์เสี่ยงจากต่างประเทศกำลังรุมเร้า  ทั้งนี้ จากการเปรียบเทียบโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการเงินของไทยในปัจจุบัน กับในช่วงก่อนปี 2540 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบหลาย ‘ความเหมือน’ และ ‘ความต่าง’ ที่สำคัญ ดังนี้

•    ความแตกต่างที่สำคัญ สะท้อนผ่านเสถียรภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ดีกว่าอดีตมาก   โดยแม้ว่าปัจจุบัน ไทยอยู่ระหว่างการประคองเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวจากผลกระทบทางการเมืองและการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าที่ทำให้การส่งออกชะลอตัว  แต่มาตรวัดด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจล้วนแล้วแต่อยู่ในเกณฑ์ดี ภายใต้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ได้แก่ สัดส่วนหนี้ต่างประเทศต่อจีดีพีที่ 36.6% (เทียบกับก่อนปี 2540 ที่ 62.7%) ซึ่งในจำนวนนี้ ประกอบด้วยหนี้ระยะสั้น 40% (เทียบกับก่อนปี 2540 ที่ 45%)  ขณะที่ การชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ผ่านมา มีผลทางตรงและทางอ้อมให้สัดส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดต่อจีดีพี มีระดับการเกินดุลเฉลี่ยในช่วงปี 2553-2557 เพิ่มขึ้นมาที่ 1.7%  (เทียบกับก่อนปี 2540 ที่ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลสูงถึง 5.1% ต่อจีดีพี) ท่ามกลางการชะลอตัวของการนำเข้าที่เป็นผลจากการชะลอตัวของการลงทุนและบริโภคในประเทศ ในระดับที่มากกว่าการชะลอตัวของการส่งออก

นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อปัจจุบัน ยังอยู่ในระดับต่ำ ส่วนราคาสินทรัพย์ โดยเฉพาะราคาอสังหาริมทรัพย์นั้น แม้ภาพรวมจะยังเติบโตจากปีก่อนด้วยค่าเฉลี่ยในระหว่างปี 2553-2557 ของที่ดิน บ้านเดียว และทาวเฮ้าส์ที่เพิ่มขึ้น 6.1%  2.9% และ 4.7% ต่อปี ตามลำดับ แต่ก็เป็นอัตราที่ต่ำกว่าช่วง 5 ปีก่อนวิกฤตปี 2540 ที่มีราคาเพิ่มขึ้น 9.4%  6.3% และ 6.3% ต่อปี ตามลำดับ  และสะท้อนผลของต้นทุนการก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น มากกว่าการเก็งกำไร ในขณะที่ สถาบันการเงินในปัจจุบัน มีฐานะทางการเงินและความมั่นคงสูงกว่าอดีตมาก ซึ่งความแข็งแกร่งในมิติต่างๆ ที่ดีกว่า 18 ปีก่อนหน้าดังกล่าว ทำให้มั่นใจมากขึ้นว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถทนแรงเสียดทานจากความไม่แน่นอนทั้งในและนอกประเทศได้ดีขึ้นกว่าเดิมตามไปด้วย

•    อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยในยุคปัจจุบันกับเมื่อ 18 ปีก่อน ปรากฎ ‘ความเหมือน’ หลายประการที่ต้องจับตา เพราะอาจนำไปสู่สัญญาณความเปราะบางในอนาคต นั่นคือ

     การก่อหนี้ของภาคเอกชนและรัฐ กลับมามีทิศทางเพิ่มขึ้น จนมีระดับสูงกว่าก่อนวิกฤตปี 2540 แล้ว โดยในปี 2557 การกู้ยืมของทั้งรัฐบาล ครัวเรือน และธุรกิจ มีสัดส่วนที่ 181.0% ต่อจีดีพี เทียบกับระดับช่วงวิกฤตในปี 2542 ที่ 162.8% อันเป็นผลจากวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2551-2552 และเหตุอุทกภัยครั้งรุนแรงในปี 2554 ซึ่งนำมาสู่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย การขาดดุลทางการคลังที่เพิ่มขึ้น และการออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย อาทิ นโยบายรถคันแรก และบ้านหลังแรก ซึ่งมีผลเพิ่มระดับหนี้ภาคเอกชนตามมา

    ระดับการออมของประเทศลดต่ำลง โดยการก่อหนี้ของระบบเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น ทำให้อัตราการออมมวลรวมของประเทศที่รวมทั้งการออมของภาครัฐ ธุรกิจ และครัวเรือน ลดต่ำลง ซึ่งแม้ว่าอัตราการออมดังกล่าว จะยังอยู่สูงกว่าจุดต่ำสุดที่ 26.2% ในปี 2545 แต่ด้วยแนวโน้มที่ลดลงนับจากปี 2550 เป็นต้นมา อาจชี้ถึงสัญญาณที่ไทยอาจต้องการแหล่งทุนภายนอกเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการลงทุนทั้งจากภาครัฐและเอกชนที่จะเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า

    บทบาทการไฟแนนซ์ภาคอสังหาริมทรัพย์ไต่ระดับขึ้น แม้จะมีส่วนผสมของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของลูกค้ารายย่อยที่มากขึ้น ทดแทนการกู้ยืมของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่ต่ำกว่าก่อนวิกฤต แต่ผลรวมของการกู้ยืมทั้งฝั่งผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์และลูกค้าสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย มีสัดส่วนต่อจีดีพีที่ทยอยเพิ่มขึ้นจนมาอยู่ที่ 31.1% ในปี 2557 อันเข้าใกล้ระดับก่อนวิกฤตปี 2540 ที่ 32.8% มากขึ้น ซึ่งทำให้ต้องติดตามความเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจในภาคส่วนนี้อย่างใกล้ชิด

    เงินทุนจากต่างชาติมีบทบาทในไทยเพิ่มขึ้นเหมือนกัน  เพียงแต่ว่ารูปแบบการเข้ามาของเงินทุนต่างชาติดังกล่าว ระหว่างช่วงก่อนวิกฤตกับปัจจุบันนั้น แตกต่างกันตามเงื่อนไขของภาวะเศรษฐกิจต่างประเทศที่ต่างออกไป  ทั้งนี้ ในช่วงก่อนวิกฤตปี 2540 เงินทุนของต่างชาติที่สร้างความเสี่ยงให้กับเศรษฐกิจไทยในระยะต่อมา ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบของเงินกู้ยืมระยะสั้นจากสถาบันการเงินต่างชาติ (BIBFs) ขณะที่ ในปัจจุบัน เงินไหลเข้าของต่างชาติ อยู่ในรูปเงินลงทุนในหลักทรัพย์ (Portfolio Investment) ทั้งในตลาดหุ้นและตราสารหนี้ อันเป็นผลพวงจากการอัดฉีดสภาพคล่องของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ตั้งแต่ปี 2551 จนในปัจจุบัน ต่างชาติมียอดถือครองตราสารหนี้เพิ่มขึ้นมาที่กว่า 6 แสนล้านบาท หรือประมาณ 4.6%  ต่อจีดีพี ซึ่งแม้ว่าจะเป็นระดับที่เพิ่มขึ้นจาก 0.5% ต่อจีดีพี อันเป็นช่วงก่อนที่เฟดจะเริ่มอัดฉีดสภาพคล่องอย่างจริงจังในปี 2551 แต่ก็ยังต่ำกว่าระดับก่อนวิกฤตปี 2540 (ปี 2538-2539) ที่ประมาณว่าเงินทุนจากต่างชาติที่ใช้หมุนเวียนในสินทรัพย์สกุลเงินบาท จะมีไม่น้อยกว่า 25% ต่อจีดีพี

•    ท่ามกลางความเสี่ยงทั้งหมดข้างต้น จุดจับตาระยะใกล้ อยู่ที่สถานการณ์ต่างประเทศ ที่อาจกระตุ้นให้นักลงทุนต่างชาติพิจารณาลดพอร์ตสินทรัพย์ในสกุลเงินบาทลง  โดยเฉพาะ 2 เหตุการณ์ที่สำคัญ ได้แก่ 1) วิกฤตหนี้กรีซ ซึ่งทางการกรีซจะทำประชามติเกี่ยวกับการยอมรับเงื่อนไขมาตรการรัดเข็มขัดของกลุ่มเจ้าหนี้ (อีกนัยหนึ่งคือการเลือกว่าจะอยู่ในยูโรโซนต่อไปหรือไม่) ในวันที่ 5 กรกฎาคม 2558 นี้ หรือ 3 วันหลังไทยครบรอบ 18 ปีของการลอยตัวค่าเงินบาท โดยไม่ว่าผลจะออกมาเป็นเช่นไร ก็ย่อมจะกระทบต่อตลาดการเงินโลกและไทยผ่านการปรับพอร์ตสินทรัพย์ของนักลงทุน เพียงแต่จะในระดับมากน้อย และยืดเยื้อยาวนานต่างกันเท่านั้น   

2) การปรับทิศทางเชิงนโยบายของเฟด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเฟดกำลังก้าวเข้าใกล้จังหวะการเปลี่ยนผ่านเชิงนโยบายอัดฉีดสภาพคล่องสู่ระบบผ่าน QE1-QE3 ในปี 2551-2557 มาสู่การเตรียมขยับอัตราดอกเบี้ยขึ้น ซึ่งขณะนี้ ตลาดคาดว่าจะเริ่มต้นครั้งแรกในเดือนกันยายน 2558 และตามมาด้วยการลดขนาดงบดุลลงในปี 2559 ผ่านการยุติการ Roll-Over ตราสารหนี้ที่ครบกำหนดภายใต้โครงการ QE1-QE3  ทั้งนี้ การใช้กลไกนโยบายการเงินในลักษณะดังกล่าว เท่ากับสะท้อนว่าเฟดจะทยอยดึงสภาพคล่องคืนจากระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกหลังจากนี้ อันเป็นจังหวะเดียวกันกับที่ภาคธุรกิจและครัวเรือนของสหรัฐฯ จะมีความต้องการใช้สภาพคล่องที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่จะทยอยชัดเจนขึ้นตามลำดับ ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว จะกระตุ้นให้นักลงทุนต่างชาติทยอยลดการถือครองสินทรัพย์สกุลเงินบาทลงเช่นกัน

•    แม้ในกรณีเลวร้ายที่เหตุการณ์ออกมาเหนือความคาดหมาย จนทำให้นักลงทุนต่างชาติโยกย้ายเงินลงทุนเร็วและแรง เศรษฐกิจไทยยังมีสภาพคล่องเงินบาทและเงินดอลลาร์ฯ เพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงดังกล่าวได้ ทั้งนี้ หากนักลงทุนต่างชาติเร่งลดการถือครองสินทรัพย์สกุลเงินบาท โดยเฉพาะตราสารหนี้ และแลกเป็นเงินดอลลาร์ฯ เพื่อนำออกนอกประเทศนั้น  ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เชื่อว่าสภาพคล่องในระบบและเครื่องมือบริหารจัดการสภาพคล่องของ ธปท.ที่มีอยู่ในปัจจุบัน จะสามารถรับมือกับความต้องการเงินข้างต้นได้ ไม่ว่าจะเป็นการอาศัยการปล่อยสภาพคล่องเงินบาทคืนสู่สถาบันการเงิน ผ่านช่องทางตลาดเงินระยะสั้น อาทิ ตลาด Bilateral Repurchase Market ที่ ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2558 มียอดคงค้างที่ 1.4 ล้านล้านบาท ซึ่งปริมาณเงินสดในมือของ ธปท. ที่เพิ่มจำนวนขึ้นตามลำดับจนมียอดคงค้างที่ 2.6 แสนล้านบาท ณ วันที่ 4 มิถุนายน 2558 คงช่วยบรรเทาความจำเป็นในการจัดสรรสภาพคล่องเงินบาทเฉพาะหน้าของ ธปท.ได้ในระดับหนึ่ง

 ส่วนสภาพคล่องเงินดอลลาร์ฯ มาจากทุนสำรองฯ ที่สะสมไว้ถึง 5.3 ล้านล้านบาท (ณ ต้นเดือนมิถุนายน 2558) ซึ่งประกอบด้วยเงินตราต่างประเทศและหลักทรัพย์ต่างประเทศที่แปลงมาเป็นเงินสด เพื่อสนองตอบต่อความต้องการของตลาดได้ในระยะเวลาไม่นาน แม้จะส่งผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ยในตลาดในช่วงระยะเวลาการโยกย้ายเงินทุนบ้างก็ตาม     

นอกจากนี้ แม้สุดท้ายแล้ว ระดับทุนสำรองฯ ของไทยคงลดลงสอดคล้องกับปริมาณกระแสเงินทุนไหลออก แต่ผลกระทบต่อเสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยคงจำกัด เพราะปัจจุบัน ไทยมีระดับทุนสำรองฯ ส่วนที่เกินจากภาระผูกพัน (คำนวณจากมูลค่าการนำเข้า 3 เดือน หนี้ต่างประเทศระยะสั้น และธนบัตรออกใช้) ในระดับถึงประมาณ 3.2 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ทำให้สามารถรองรับการลดการถือครองตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างชาติข้างต้นได้       

โดยสรุป จากการเปรียบเทียบสถานการณ์ปัจจุบันกับเมื่อ 18 ปีที่ผ่านมา พบว่า ไทยมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่ดีกว่าอดีตมาก ไม่ว่าจะเป็นในมิติของหนี้ต่างประเทศ สถานะดุลบัญชีเดินสะพัด และระดับทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ ขณะที่ การเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อและราคาสินทรัพย์ มีความสอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐาน ภายใต้ความแข็งแกร่งของระบบสถาบันการเงินที่เพิ่มขึ้นและระดับสภาพคล่องที่ไม่ได้ตึงตัวมากเหมือนช่วงก่อนวิกฤตปี 2540  อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า อนาคตเศรษฐกิจไทยอาจต้องเผชิญกับความท้าทายจากแนวโน้มสภาพคล่องในระบบที่จะตึงตัวขึ้น และทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่จะเริ่มขยับขึ้น โดยเฉพาะเมื่อสถานการณ์เศรษฐกิจต่างประเทศยังมีความไม่แน่นอน อันอาจกระตุ้นให้นักลงทุนต่างชาติปรับพอร์ตสินทรัพย์ที่เคยมาลงทุนในไทย ซึ่งเมื่อประกอบกับระดับหนี้ในประเทศของไทยทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ไต่ระดับสูงกว่าในอดีตมากแล้ว ก็อาจมีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าได้ อันจะสะท้อนภาพที่แตกต่างจากช่วงก่อนวิกฤตปี 2540 ที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับสูงของไทย แลกมาด้วยเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่ถดถอยลงจนเลยจุดสมดุลในที่สุด

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 30 มิถุนายน 2558

รมว.อุตสาหกรรมเล็งใช้เหมืองเก่าเก็บน้ำ

"จักรมณฑ์" รมว.อุตสาหกรรม เล็งใช้พื้นที่เหมืองเก่ากักเก็บน้ำแก้ปัญหาภัยแล้ง หวังบรรเทาความเดือดร้อนเกษตรกร

 นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมครม.สัญจร ที่จังหวัดเชียงใหม่ ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมส่งเจ้าหน้าที่ ลงสำรวจพื้นที่การทำเหมืองทั่วประเทศ เพื่อนำเหมืองที่ปิดกิจการ หรือปิดการสำรวจ หรือปิดการดำเนินการไปแล้วมาจัดทำ เป็นพื้นที่รับน้ำ หรือพื้นที่กักเก็บน้ำ เพื่อสำรองไว้ใช้ในช่วงหน้าแล้ง ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรทั่วประเทศได้ เบื้องต้นในพื้นที่ภาคเหนือใน 3 จังหวัด คือเชียงใหม่ ลำพูนและลำปาง มีพื้นที่เหมืองที่สามารถกักเก็บน้ำได้มากถึง 20 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยนายกรัฐมนตรีและครม.ได้รับทราบแนวทางของกระทรวงอุตสาหกรรมเรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ตาม การใช้พื้นที่เหมืองมากักเก็บน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำแล้งนั้น ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถใช้ได้ทุกเหมืองทั่วประเทศ เหมืองที่มีแร่ไซยาไนต์ หรือที่มีตะกั่ว หรือสารอันตราย กระทรวงอุตสาหกรรมจะไม่เข้าไปดำเนินการ แต่จะเน้นเหมืองที่มีลักษณะเป็นเหมืองหินปูนเท่านั้น หรือเหมืองอื่น ๆ ที่ไม่มีสารอันตรายต่อชีวิต โดยหากพบว่าเหมืองใดที่เหมาะสม ก็ต้องหารือกับกรมชลประทาน เพื่อประสานงานในการจัดทำระบบชลประทานต่อไป

“นโยบาย การใช้เหมืองมาทำพื้นที่กักเก็บน้ำหรือรับน้ำนั้น คงต้องไม่สามารถทำได้ทันที หรือทำได้ทันในหน้าแล้งนี้ แต่ถ้าครม.เห็นชอบหรือเห็นด้วยกับโครงการนี้ก็น่าจะดำเนินการได้ทันในหน้าแล้งปีหน้า” นายจักรมณฑ์ กล่าว

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 30 มิถุนายน 2558

ภัยแล้ง-หนี้กรีซ ซ้ำเติม สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือฯ หั่นเป้าส่งออกปีนี้ลบ 2%

สภาผู้ส่งออก มึนทิศทางส่งออกไทยติดลบต่อเนื่อง อีกทั้งเจอผลกระทบภัยแล้ง ปัญหาหนี้กรีซ ประมงผิด ก.ม. จึงปรับลดคาดการณ์การส่งออกปีนี้ ติดลบ 2%...

เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย หรือสภาผู้ส่งออก ระบุว่า จากยอดการส่งออกในเดือนพ.ค. 2558 ที่ลดลงต่ำกว่าที่คาด โดยติดลบ 5.01% ทำให้ในช่วง 5 เดือนแรก มีมูลค่าส่งออกรวม 88,694 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ติดลบ 4.20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งทิศทางการส่งออกของไทยไปยังตลาดส่วนใหญ่ยังมีแนวโน้มติดลบต่อเนื่อง รวมทั้งยังมีปัจจัยเสี่ยงจากสถานการณ์ภัยแล้งที่กระทบต่อปริมาณผลผลิตทางเกษตร สิทธิประโยชน์ทางภาษี GSP ความล่าช้าในการเจรจาการค้าเสรี และการย้ายฐานการผลิต เงินทุนไหลออกและความผันของค่าเงินบาท และความผันผวนของเศรษฐกิจโลก

นอกจากนี้ ปัจจัยลบที่เริ่มส่งผลกระทบต่อการส่งออก คือ สถานการณ์ของกรีซ ที่แม้ไทยจะมีส่วนแบ่งตลาดเพียง 0.06-0.07% แต่มีผลกระทบโดยตรงต่อความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจทั้งยูโรโซน ซึ่งมีกระทบต่อตลาดหุ้นแล้ว และในระยะต่อไปจะมีกระทบต่อความต้องการบริโภคของตลาดทั่วโลก จึงเชื่อว่าจะมีผลกระทบต่อผู้ส่งออกแน่นอน แต่ยังไม่สามารถประเมินผลกระทบที่ชัดเจนได้ในขณะนี้ ส่งผลให้สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ปรับลดประมาณการส่งออกไทยปีนี้ เหลือติดลบ 2% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 0% โดย 7 เดือนหลังจากนี้ จะต้องมีมูลค่าการส่งออกเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 19,189 ล้านเหรียญสหรัฐฯต่อเดือน

ขณะที่นายไพบูลย์ พลสุวรรณา ที่ปรึกษาสภาผู้ส่งออก ระบุว่า ไทยยังได้รับผลกระทบจากปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย หรือไอยูยู และอาจถูกระงับการสั่งซื้อสินค้า หากไม่สามารถแก้ปัญหาได้ภายในเดือนต.ค.นี้ โดยการแก้ปัญหาของภาครัฐ ส่งผลให้เรือประมงส่วนใหญ่ หยุดเดินเรือ เพราะเรือที่ทำถูกต้องตามกฎหมายมีเพียง 10% เท่านั้น ซึ่งเริ่มส่งผลกระทบด้านการส่งออกแล้ว ดังนั้น ก่อนที่ปัญหาจะลุกลาม รัฐบาลควรใช้โอกาสนี้ในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง เพื่อป้องกันปัญหาระยะยาวต่อไป.

จาก http://www.thairath.co.th   วันที่ 30 มิถุนายน 2558

เล็งทวงคืนโครงการน้ำจากชนบท

          นายปีติพงษ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังร่วมประชุมแนวทางการ จัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ร่วมกับ นายเลศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน และนายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดี ฝ่ายบำรุงรักษา ว่า ได้สั่งการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง 4 เรื่อง คือ 1.ระบบการใช้น้ำ 10 ปีที่ผ่านมา ที่ไม่ได้จัดการปริมาณการใช้น้ำ โดยเฉพาะการเพาะปลูก 2.อาคารชลประทานที่โอนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพบว่ามีมากกว่า 3,000 โครงการ ไม่มีระบบส่งน้ำจึงต้องการให้กรมชลฯ กลับเข้าไปดูแล 3. แหล่งน้ำนอกประเทศ ทั้งแม่โขงและสาละวิน ให้กรมชลฯ ไปดูว่า ในระยะสั้น จะสามารถนำน้ำเข้ามาได้หรือไม่ เช่น การชักรอกน้ำเข้ามาในประเทศช่วงฤดูฝน และให้ดู ในระยะยาวด้วยว่าจะดำเนินการอย่างไรในการใช้น้ำดังกล่าวให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศ

          4.ให้ดูระบบการจัดการน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีความแตกต่างกับลุ่มน้ำอื่น เพราะมีความซับซ้อนใช้น้ำจากเขื่อนขนาดใหญ่ 4 แห่ง จึงต้องวางระบบบำรุงรักษาให้มากขึ้น แต่วงเงินงบประมาณได้รับการจัดสรรน้อย จึงต้องพิจารณาเรื่องนี้ใหม่ เพื่อปรับปรุงและสร้างระบบส่งน้ำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เน้นการปรับการใช้น้ำให้มีประโยชน์มากที่สุด เช่น การประหยัดน้ำ

          สำหรับการดูแลประชาชนหลังจากลดการจัดสรรน้ำในเขื่อนนั้น กระทรวงเกษตรฯ มี 2 มาตรการช่วยเหลือ คือ 1.ปรับปรุงอาคารชลประทาน โดยจะจ้างงานเกษตรกร เพื่อให้มีรายได้ในช่วงนี้ 2.กรมส่งเสริมการเกษตรจะดูแลการปลูกพืชเสริม โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะรวบรวมพื้นที่เพาะปลูกและไม่เพาะปลูก ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 มิ.ย.นี้ เพื่อรายงานให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบต่อไป

          นายปีติพงศ์กล่าวหลังขึ้นเฮลิคอปเตอร์ เพื่อสำรวจปัญหาภัยแล้งในลุ่มเจ้าพระยา ไปจนถึงฝั่งลุ่มแม่น้ำป่าสัก น่าจะมีปัญหาหนัก เนื่องจากมีปริมาณน้ำเข้าถึงน้อย และมีพื้นที่สูงที่การส่งน้ำไปไม่ถึงต้องรอดูไปอีก 10 วัน ว่าจะมีฝนตกลงมาเพิ่มเติมตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์หรือไม่ สำหรับฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาไปจนถึงลุ่มแม่น้ำน้อย มีปัญหาน้อยกว่า เพราะยังไม่ได้เพราะปลูก.

จาก http://www.thairath.co.th   วันที่ 30 มิถุนายน 2558

ชี้ภัยแล้งดันมูลค่าส่งออกเกษตรหลังผลผลิตโลกเสียหายพาณิชย์ย้ำเป้าปีนี้โต1.2%

นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ และ โฆษกกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ตามที่ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ มีนโยบายให้ ทูตพาณิชย์ ติดตามสถานการณ์ทางด้านการค้าประเทศที่ประจำอยู่อย่างใกล้ชิด ขณะนี้ ก็ได้มอบหมายให้ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ หรือทูตพาณิชย์ ที่ประจำอยู่ในสหภาพยุโรป(อียู) มีการติดตามสถานการณ์วิกฤติทางการเงินของประเทศกรีซอย่างใกล้ชิด ว่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยในตลาดอียูอย่างไรบ้าง โดยเบื้องต้นประเมินว่าผลกระทบวิกฤติกรีซจะทำให้ค่าเงินยูโรอ่อนค่ามากขึ้น ซึ่งจะทำให้สินค้าไทยแพงขึ้น

“หากอียูไม่สามารถเข้ามาแก้ไขปัญหาหนี้กรีซได้ จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นให้กับประเทศอื่นอาจผิดนัดชำระหนี้เหมือนกับกรีซได้ และก็อาจส่งผลให้เศรษฐกิจในยุโรปชะลอตัวลงอีก ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยไปตลาดยุโรป”โฆษกกระทรวงพาณิชย์ กล่าว

ประกอบกับยังเป็นปัจจัยซ้ำเติมต่อสินค้าไทยที่ได้รับผลกระทบจากการถูกอียูตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร

 (จีเอสพี) และกรณีที่สินค้าประมงไทยกำลังอยู่ในขั้นตอนการแก้ไขปัญหาใบเหลือง(ไอยูยู) จากอียู แต่แม้ว่าตลาดส่งออกในยุโรปจะมีแนวโน้มถดถอยลงไปอีก แต่เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อภาพรวมการส่งออกของไทยที่กระทรวงฯตั้งเป้าหมายไว้ขยายตัว 1.2% จากราคาสินค้าเกษตรที่น่าจะราคาสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง เพราะทั่วโลกประสบปัญหาภัยแล้ง แต่ไทยก็ต้องมีการบริหารจัดการน้ำที่ดี เพื่อให้ผลผลิตมีคุณภาพ”

สำหรับการส่งออกไปตลาดสหภาพยุโรป ในช่วงเดือน พ.ค. 2558 มีมูลค่า 1,673 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 13.7% เทียบกับพ.ค. 2557 โดยตลาดสหภาพยุโรปมีสัดส่วนต่อการส่งออกไทย 9.1% ของการส่งออกไทยไปตลาดโลกทั้งหมด ซึ่งในปี 2558 กระทรวงพาณิชย์ได้ตั้งเป้าหมายผลักดันการส่งออกไปตลาดสหภาพยุโรป (27) ขยายตัว 2% เป็นการปรับลดจากคาดการณ์เดิมเมื่อช่วงต้นปีที่ตั้งเป้าไว้ขยายตัว 5%

มีรายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านี้หลายหน่วยงานประเมินว่าการส่งออกในปีนี้น่าจะติดลบ โดยเฉพาะ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ประเมินว่า น่าจะติดลบ 1.5% เหตุเศรษฐกิจคู่ค้ายังเปราะบาง

จาก http://www.naewna.com วันที่ 30 มิถุนายน 2558

โรงงานน้ำตาลทรายเตรียมเยือนอินโดฯ มุ่งร่วมมือการค้า-ลงทุนรับเออีซี

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า คณะผู้บริหาร 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย พร้อมผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทรายไทย เตรียมเดินทางไปอินโดนีเซีย ช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2558 เพื่อสานต่อความร่วมมือพันธมิตรน้ำตาลอาเซียนระหว่างไทยและอินโดนีเซีย

โดยการเดินทางไปอินโดนีเซียในครั้งนี้ จะได้เข้าร่วมหารือและพูดคุยประสานความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการไทยและอินโดนีเซีย เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและข้อคิดเห็นเรื่องการพัฒนาด้านอ้อย น้ำตาลทราย และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงการส่งเสริมความร่วมมือทางธุรกิจ การค้า และการลงทุนระหว่างกัน เพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)

ทั้งนี้ อินโดนีเซียถือเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายไทย โดยมีการนำเข้าจากไทยสูงถึงปีละ 1.7-1.8 ล้านตัน ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าน้ำตาลทรายดิบเพื่อนำไปรีไฟน์หรือทำให้บริสุทธิ์เป็นน้ำตาลทรายขาวสำหรับบริโภคภายในประเทศ และในอนาคตคาดว่าหลังจากที่มีการเปิดตลาดสินค้าน้ำตาลภายใต้เออีซีแล้ว การค้าน้ำตาลทรายระหว่างทั้งสองประเทศจะขยายตัวเพิ่มขึ้น

“อินโดนีเซียถือเป็นพันธมิตรการค้าที่สำคัญ และเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในอาเซียน มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับสูง โดยอินโดนีเซียยังผลิตน้ำตาลไม่เพียงพอกับการบริโภค จึงจำเป็นต้องนำเข้าประมาณปีละ 3-4 ล้านตัน ซึ่งการเดินทางไปครั้งนี้เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศคู่ค้า จึงเห็นโอกาสในการร่วมมือกันทางการค้าเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคอินโดนีเซีย และการร่วมมือกันสร้างความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมน้ำตาลในภูมิภาคอาเซียน” นายสิริวุทธิ์ กล่าว

นอกจากนี้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย ยังได้เตรียมพร้อมยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมเพื่อรองรับการเปิดตลาดเออีซี โดยผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทุกแห่งต่างมุ่งพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต หลังจากที่ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาประสิทธิภาพโรงงานน้ำตาลจากออสเตรเลีย มาอบรมให้ความรู้ หวังลดการสูญเสียในกระบวนการผลิต และพัฒนาคุณภาพน้ำตาลทราย เพื่อตอบสมองความต้องการของลูกค้า ทั้งนี้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทย มีเป้าหมายที่จะลดการสูญเสียในระบบการผลิตให้เหลือ 4-5% จากเดิมที่มีการสูญเสียเกินกว่า 10%

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว ต้องอาศัยความร่วมมือของชาวไร่อ้อย ในการนำผลผลิตอ้อยที่มีคุณภาพจัดส่งเข้าหีบในโรงงาน โรงงานก็ต้องพัฒนาประสิทธิภาพและเพิ่มผลิตน้ำตาล หากทุกฝ่ายร่วมกันดำเนินการอย่างจริงจัง จะช่วยให้ชาวไร่อ้อยและโรงงานสามารถลดต้นทุน เพิ่มรายได้จากการเพาะปลูกอ้อยและผลิตน้ำตาลทรายได้มากขึ้น สุดท้ายจะส่งผลดีต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมทั้งระบบให้มีความเข้มแข็งมากขึ้นอีกด้วย

จาก http://www.naewna.com วันที่ 30 มิถุนายน 2558

โปรดเกล้าฯทำ‘ฝนหลวง’ช่วย14จังหวัดดับวิกฤติแล้งลุ่มเจ้าพระยา

บิ๊กตู่ถกครม.คลอดเยียวยาคนลพบุรีแห่ปลัดขิกขอฝน อุตุฯคาดปีนี้ตกแค่100วัน

เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อม พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดี

กรมชลประทานและ คณะได้เดินทางจากศูนย์การเคลื่อนย้ายกองทัพบก ดอนเมือง กรุงเทพฯไป จ.เชียงใหม่ เพื่อปฏิบัติภารกิจ ซึ่งวันที่30 มิถุนายน นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถาน ที่ (ครม.สัญจร) ครั้งที่2 ที่ จ.เชียงใหม่

นายกฯย้ำครม.เน้นถกแก้ภัยแล้ง

โดย พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ก่อนขึ้นเครื่องบินไปจ.เชียงใหม่ ถึงการแก้ไขปัญหาภัยแล้งว่าการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งนี้ จะเน้นดูแลเรื่องแหล่งน้ำรวมถึงการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ตอนบนลงสู่ตอนล่าง ขณะนี้ได้แก้ปัญหาภัยแล้งไปจำนวนมากโดยเฉพาะ การขุดบ่อบาดาลซึ่งจุดประสงค์หลัก เพื่อใช้อุปโภคบริโภค ไม่ใช่ใช้สำหรับการเกษตรจึงขอความร่วมมือประชาชนว่าอย่ายึดติดกับการใช้น้ำบาดาล หากหลังจากนี้มีฝนตกลงมา รัฐบาลจะยุติช่วยเหลือการขุดเจาะบ่อบาดาลเพราะน้ำใต้ดิน เป็นน้ำที่หายาก ในส่วนของความคืบหน้าการแก้ปัญหาภัยแล้งของแต่ละหน่วยงานได้รายงานให้รับทราบแล้ว แต่ละพื้นที่ต้องใช้วิธีแก้ปัญหาที่แตกต่างกัน ส่วนในพื้นที่ไหนไม่สามารถช่วยเหลือได้ทัน ต้องหางานหรือ อาชีพเสริมเพื่อสร้างรายได้ให้ เป็นการทดแทน โดยยืนยันว่า รัฐบาลพยายามเร่งรัดและช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่และเต็มกำลังความสามารถ

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในเวลา17.00น.นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางขึ้นไปนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร ท่ามกลางสายฝนโปรยปราย จากนั้นช่วงเย็นได้ไปเดินเยี่ยมชมตลาดหน้าศาลากลาง ต.ช้างเผือก จ.เชียงใหม่

‘ปิติพงศ์’บินตรวจสภาพพื้นที่แล้ง

ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมแนวทางการจัดสรรน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ที่สำนักชลประทานที่ 11 อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ร่วมกับนายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน และนายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดี ฝ่ายบำรุงรักษา จากนั้นนายปีติพงศ์และคณะได้ขึ้นเฮลิคอปเตอร์บินสำรวจสภาพพื้นที่เพาะปลูกลุ่มเจ้าพระยาในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และจังหวัดใกล้เคียง พบว่ามีนาข้าวที่ได้รับผลกระทบเป็นบริเวณกว้างหลายแล้งน้ำและมีต้นข้าวแห้งยืนต้นรอน้ำฝน

กรมอุตุฯคาดจะมีฝนตก100วัน

นายปีติพงศ์ กล่าวถึงผลการหารือว่ากรมอุตุนิยมวิทยาได้รายงานว่าในช่วงหน้าฝนที่เหลือ จะมีฝนเข้ามาประเทศไทย ประมาณ100วัน ช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคมนี้ แต่ปริมาณน้อยกว่าค่าเฉลี่ย จึงได้ให้กรมชลประทานและกรมส่งเสริมการเกษตรไปทำรายละเอียดการเพาะปลูกเป็นรายโครงการทั้งในพื้นที่ที่ปลูกแล้ว 3.4ล้านไร่ พื้นที่ที่ยังไม่ปลูก3 .45ล้านไร่และพื้นที่เสี่ยงเสียหาย8.5แสนไร่ว่าต้องการให้ภาครัฐ ช่วยเหลืออย่างไรซึ่งจะรายงานที่ประชุม ครม.วันที่30มิถุนายนก่อนเสนอ มาตรการช่วยเหลือใน ครม.เศรษฐกิจ วันที่3 กรกฎคมนี้

อย่างไรก็ตาม รมว.เกษตรฯระบุว่า เบื้องต้นทางกระทรวงเกษตรฯเตรียมมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรไว้ คือ การช่วยเหลือด้านการเพาะปลูกพืชใช้น้ำน้อย ช่วงพักทำนาในเดือนกรกฎาคมและช่วยเหลือด้านเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน โดยการจ้างงานเกษตรให้เป็นแรงงานในการช่อมแชมบำรุงรักษาโครงการชลประทาน 22 จังหวัด

กรมชลฯคาดมีน้ำพอถึงแล้งหน้า

ขณะที่ นายเลิศวิโรจน์ กล่าวว่าสถานการณ์ฝน เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน มีน้ำไหลเข้า 4 เขื่อน หลัก 10 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)วันที่27 มิถุนายน น้ำไหลเข้า 9 ล้าน ลบ.ม. สูงกว่าค่าเฉลี่ยตลอดเดือนมิถุนายน ที่น้ำไหลเข้าเฉลี่ยวันละ7 ล้าน ลบ.ม.เท่านั้น ส่วนการคาดการณ์ฝน จากกรมอุตุฯคาดว่าหลังฤดูฝนในวันที่ 31 ตุลาคมนี้ จะมีน้ำใช้การใน4 เขื่อนหลัก ประมาณ3,200-3,900ล้าน ลบ.ม. ช่วงนี้ จึงต้องเก็บน้ำไว้ในเขื่อน และชะลอการเพาะปลูกในพื้นที่เขตชลประทานลุ่มเจ้าพระยา ที่ยังไม่ลงมือปลูก 4 ล้านไร่

“ในเดือนกรกฎาคมนี้ ฝนน่าจะมาประมาณสัปดาห์ที่3 และฝนจะเริ่มดีขึ้นในเดือนสิงหาคมและกันยายนซึ่งยืนยันว่าวันที่ 1 พฤศจิกายน2558จะมีปริมาณน้ำในเขื่อนที่ใช้การได้3,500ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นปริมาณน้ำที่คาดการณ์จะพอใช้สำหรับอุปโภคบริโภคได้ถึงฤดูฝนปี2559 ซึ่งปริมาณน้ำที่คำนวณไว้ ได้มองไปถึงหน้าแล้งระยะ6เดือนข้างหน้าด้วย”นายเลิศวิโรจน์ ย้ำ

เร่งทำฝนหลวงเติมน้ำ 5 เขื่อน

ขณะที่ นายสมปอง อินทร์ทอง รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อม นายวราวุธ ขันติยานันท์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้บินตรวจสภาพน้ำที่ เขื่อนลำตะคอง เขื่อนลำพระเพลิง จ.นครราชสีมาโดยระบุว่าเขื่อนต่างๆในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีปริมาณน้ำน้อยวิกฤติสุดในรอบหลาย10ปี โดยได้เร่งระดมเครื่องบินฝนหลวงขึ้นปฏิบัติการเติมน้ำในเขื่อน เพื่อแก้ไขสถานการณ์ภัยแล้ง หลังจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นห่วงประชาชนในพื้นที่ที่ประสบปัญหา ให้มีน้ำกินน้ำใช้ก่อนและช่วยบรรเทาความเดือดร้อนเกษตรกรที่เพาะปลูกในพื้นที่ เกษตรอาศัยน้ำฝน และนายกรัฐมนตรี สั่งการให้ฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่เหล่านี้อย่างเร่งด่วนขณะนี้กำลังเร่งปฏิบัติการฝนหลวงเติมน้ำในเขื่อนสำคัญๆ ทั้งพื้นที่เหนือเขื่อนและใต้เขื่อน

นายสินชัย พึ่งตำบล นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ กล่าวว่าแม้สภาพอากาศทั่วไปจะมีอธิพลมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ แต่ประเทศไทยยังมีฝนน้อยกว่าปกติมาก กระทบต่อปริมาณน้ำกักเก็บในอ่างขนาดใหญ่เช่น เขื่อนลำตะคอง เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนสิริกิตติ์และเขื่อนจุฬาภรณ์ มีน้ำลดน้อยลงอย่างมาก กรมฝนหลวง ได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่ จ.ข่อนแก่น นครราชสีมา อุบลราชธานีและหน่วยเติมสารฝนหลวงขึ้นที่ จ.บุรีรัมย์ โดยปฏิบัติการจำเป็นต้องเน้นทุกพื้นที่

โปรดเกล้าฯทำฝนหลวง14จว.

ที่ ศูนย์ฝนหลวงพิเศษในพื้นที่ จ.นครสวรรค์ ได้ปรับแผนในการปฏิบัติการทำฝนเพื่อเข้าช่วยเหลือภัยแล้ง ล่าสุด นายรัฐกร วรุณสุขะศิริ นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการ เผยว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยราษฎรที่ประสบภัยแล้งโดยทรงโปรดเกล้าฯให้ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคกลางนครสวรรค์ที่ตั้งฐานศูนย์ฝนหลวงพิเศษเพื่อช่วยเหลือภัยแล้ง ให้กับพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและพื้นที่การเกษตรภาคกลาง ทั้ง14จังหวัดได้แก่จ.นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สระบุรี นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี และ กรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้มีการประชุมปรับแผนในการเข้าช่วยเหลือภัยแล้ง และมีการตรวจสอบสภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง หากพบพื้นที่ใดมีสภาพอากาศเหมาะสม จะทำฝนหลวงเพื่อช่วยภัยแล้งทันที ส่วนฝนได้ตกลงมาตามที่ทำลงไป แต่เนื่องจากพื้นที่แห้งแล้งมากจึงทำให้ฝนตกลงมาน้อยและยังไม่ได้ผลเท่าที่คาดไว้

ขณะที่ นายบุญยืน พฤษโชค ชาวประมง จังหวัดนครสวรรค์เผยว่าระดับน้ำบึงบอระเพ็ดปีนี้ระดับน้ำมีน้อยมาก ล่าสุดมีเพียงร้อยละ20ของความจุ ประมาณ103,273,000 ลูกบาศก์เมตร ถ้าฝนยังไม่ตกลงมาอีกภายใน7-10 วัน คาดว่าน้ำในบึงบอระเพ็ดจะแห้งที่สุดในรอบ50 ปี เลยทีเดียว

บุรีรัมย์นาข้าวขาดน้ำ2.8แสนไร่

สำหรับสถานการณ์ปัญหาภัยแล้งใน จ.บุรีรัมย์ ยังประสบปัญหาภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง หลายพื้นที่ข้าวขาดน้ำเหี่ยวเฉาและยืนต้นตาย นายวันชัย ทิพย์อักษร เกษตรจังหวัดบุรีรัมย์ ได้สั่งการให้เกษตรอำเภอและเกษตรตำบลทุกตำบลทั้งจังหวัด เร่งลงพื้นที่ออกสำรวจพื้นที่นาข้าวที่ประสบปัญหาขาดน้ำหล่อเลี้ยงแห้งตายเสียหาย เพื่อรวบรวมข้อมูลเสนอจังหวัด พิจารณาประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินจากภาวะภัยแล้ง เพื่อให้ความช่วยเหลือตามระเบียบหลักเกณฑ์ของราชการ จากข้อมูลรายงานในเบื้องต้นพบว่า ขณะนี้มีพื้นที่นาข้าวที่เกษตรกรไถหว่านไปแล้วกว่า 1,500,000ไร่ มีปัญหาขาดน้ำหล่อเลี้ยงจากภาวะฝนทิ้งช่วง ที่คาดว่าจะเสียหายแล้วกว่า 280,000 ไร่เบื้องต้นได้ประสานไปยังสำนักงานเกษตรฯจังหวัดเพื่อทำเรื่องขอฝนหลวงช่วยเหลือเกษตรกรแล้ว

ชาวนาแห่ปลัดขิกโบราณขอฝน

วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากฝนได้ทิ้งช่วงมานานกว่า1เดือน ข้าวที่ปลูกกำลังขาดน้ำและยืนต้นตาย ไม่สามารถหาแหล่งน้ำได้ ชาวนาในพื้นที่ ตำบลโพธิ์เก้าต้น และตำบลโพธิ์ตลาดแก้ว จำนวนกว่า100คน รวมตัวทำพิธีสวดขอฝนแบบโบราณที่กลางทุ่งนาหมู่ที่ 13 ต.โพธิ์เก้า อ.เมือง จ.ลพบุรี เป็นพื้นที่ทำนาปลูกข้าว ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม จำนวนกว่าหมื่นไร่ ได้ร่วมกันแต่งชุดขาว พร้อมจัดเครื่องบวงสรวง เป็นผลไม้นานาชนิด ร่วมทำพิธีขอฝน ชุมนุมเทวดา สวดคาถาพระพิรุณศาสตร์ พร้อมแห่ปลัดขิก โดยมี พระครูวรวิหารานุรักษ์ เจ้าคณะตำบลโพธิ์เก้าต้นพร้อมพระสงฆ์11 รูปร่วมสวดคาถาขอฝน ใช้เวลาประมาณ1ชั่วโมง จากนั้นได้เริ่มแห่ปลัดขิกไปบนคันนาขณะที่ท้องฟ้าเริ่มมืดครึ้มขึ้นมาเต็มท้องฟ้าอย่างไม่น่าเชื่อ

ชาวนา อ.ไชโยวอนรัฐเร่งขุดบาดาล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่จ.อ่างทอง หลังคลองชลประทานที่ยาวกว่า 10 กิโลเมตรน้ำแห้งขอดคลอง ชาวนาทุกข์หนักไร้น้ำหล่อเลี้ยงต้นข้าวแห้งเหี่ยวเฉายืนต้นรอความตายไร้เงินทุนขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล และ ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานของรัฐ ในโครงการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลมาเสริมผิวดิน เพื่อเกษตรกร ที่กำลังประสบภัยแล้ง นายทรงยศ มะกรูดทอง อายุ 62 ปี สมาชิกสภาเกษตรอำเภอไชโย พร้อมชาวนาในตำบลเทวราช อ.ไชโย จ.อ่างทอง อยู่ในเขตที่ราบลุ่มแก้มลิงรับน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก น้ำจะไหลเข้าท่วมทุ่งพื้นที่ทำนาของเกษตรกรในช่วงเดือนตุลาคม ส่งผลให้ชาวนาในพื้นที่ตำบลเทวราชที่ยังไม่ได้ลงมือทำนาคงหมดโอกาสทำนาจึงวอนขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลที่นำโครงการขุดเจาะบาดาลช่วยภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดอ่างทอง มาขุดเจาะบ่อบาดาลในพื้นที่ทุ่งนาในตำบลเทวราช อำเภอไชโย อย่างเร่งด่วน เพื่อบรรเทาภัยแล้งให้เกษตรกรชาวนาก่อนที่ชาวนาจะสิ้นหวัง หมดกำลังในการต่อสู้ทำนาเลี้ยงครอบครัวต่อไป

บี้เปิดสภาฯของบซื้อเครื่องสูบน้ำ

ด้าน นายบุญรอด ยอดมีกลิ่น นายกองค์การบริห่ารส่วนตำบล(อบต)ป่างิ้ว อ.เมืองจ. อ่างทอง กล่าวว่า ขณะนี้ในท้องที่ทำการเกษตร ยังขาดน้ำในการทำนา แม้ได้ใช้เครื่องสูบน้ำที่มีอยู่สูบน้ำเข้าพื้นที่ทำนา แต่เครื่องสูบน้ำ ไม่เพียงพอช่วยเหลือชาวนาให้มีน้ำทำนาได้ทันท่วงทีจึงขอให้เปิดประชุมสภาฯด่วนเพื่อขออนุมัติงบประมาณ ซื้อเครื่องสูบน้ำ จำนวน 2 เครื่อง นำไปสูบน้ำช่วยชาวนาได้อย่างทั่วถึง

นายวินัย บุญศรี นายก อ.บ.ต.บ้านพราน อ.แสวงหา จ. อ่างทอง เผยว่าในพื้นที่รับผิดชอบ รัฐบาลได้มอบหมายให้หน่วยทหารเข้าไปขุดบ่อน้ำบาดาล 12 บ่อ ขณะนี้ขุดเจาะไปแล้ว 5 บ่อ พบมีน้ำใต้ดินทุกแห่ง แต่สูบน้ำขึ้นมา ยังไม่เพียงพอ ช่วยชาวนาได้ทั่วถึง คาดว่าเมื่อขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลครบทั้ง12 บ่อ จะทำให้นาข้าวในพื้นที่ดีขึ้น

ศรีสะเกษนาแห้งดินแข็งรถไถไม่เข้า

ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.ศรีสะเกษว่าที่ทุ่งนาบ้านหนองดีปลี หมู่ 2 ต.หนองไฮ อ.อุทุมพรพิสัย ได้พบ ชาวนา 2 คนกำลังใช้จอบขุดดินในผืนนา แห้งจนดินแตกระแหงได้ไปสอบถามจึงทราบว่านาแล้ง หลังจากฝนทิ้งช่วงไม่ตกมากว่า 2 เดือนจึงได้ไปแจ้งรถไถมาไถพลิกดินก่อนหว่านข่าวแต่ดินแข็งมาก จนรถไถนา ไถไม่เข้า จึงทนรอฝนไม่ไหว จึงตัดสินใจหว่านข้าวลงในผืนนาแล้วใช้จอบขุดดินกลบถมเมล็ดข้าว นอกจากตำบลนี้แล้วยังมีชาวนาคนอื่นอีกหลายรายที่ประสบชะตากรรมเดียวกัน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 30 มิถุนายน 2558

สภาเกษตรกรดันร่างกม. ปฏิรูปเกษตรพันธะสัญญา

นายคงฤทธิ์ บัวบุญ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันทางการเกษตร สิทธิเกษตรกร สิทธิที่ดินทำกิน สิทธิการเข้าถึงแหล่งทุน และหนี้สินเกษตรกร กล่าวว่า จากปัญหาการเลี้ยงปลาในกระชัง การเลี้ยงไก่ไข่ แบบเกษตรพันธะสัญญาที่จังหวัดมหาสารคาม ได้เห็นเกษตรกรมีความเดือดร้อนจากการถูกเอาเปรียบ จึงปรึกษาหารือกับเครือข่ายปฏิรูป จนมีการจัดทำร่าง พรบ. การส่งเสริม คุ้มครอง และพัฒนาระบบการเกษตรแบบพันธะสัญญาที่เป็นธรรม พ.ศ.255..เสนอคณะกรรมาธิการเกษตร สภานิติบัญญัติแห่งชาติ

นายคงฤทธิ์ บัวบุญ กล่าวเพิ่มเติมว่าทางคณะกรรมาธิการเกษตร สภานิติบัญญัติ แห่งชาติ ได้นัดหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาเกษตรพันธะสัญญา โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทั้งนี้สภาเกษตรกรแห่งชาติ ได้เข้าร่วมให้ความเห็นภายใต้หัวข้อ

“อยากเห็นอะไรในการแก้ไขปัญหาภายใต้ระบบ “เกษตรพันธะสัญญา” ในครั้งนี้ด้วย โดยมอบหมายให้ นายไพสิฐ พาณิชย์กุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อให้มีความสมบูรณ์ พร้อมจัดส่งข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการคุ้มครองเกษตรกรรมและดูแลความเป็นธรรมในระบบเกษตรพันธะสัญญา ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาในส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะต้องมีการปฏิรูประบบการเกษตรแบบพันธะสัญญา โดยการใช้นโยบายและแนวทางการบริหารจัดการของภาครัฐ เพื่อเสนอต่อสภานิติบัญญัติต่อไป

จาก http://www.naewna.com วันที่ 30 มิถุนายน 2558

แจงสี่เบี้ย : กรมพัฒนาที่ดินกับการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ (7)

กลุ่มผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ควบคุมศัตรูพืช ได้แก่ สารเร่งซุปเปอร์ พด.3 สำหรับผลิตจุลินทรีย์ควบคุมเชื้อสาเหตุโรคพืช และสารเร่งซุปเปอร์ พด.7 สำหรับผลิตสารป้องกันแมลงศัตรูพืช

สารเร่งซุปเปอร์ พด. 3 เป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่ควบคุมเชื้อสาเหตุโรคพืชในดินมีคุณสมบัติพิเศษ คือ สามารถทำลาย หรือยับยั้งการเจริญของเชื้อจุลินทรีย์ในดินในสภาพน้ำขัง ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการรากเน่าหรือโคนเน่า ประกอบด้วย เชื้อราไตรโคเดอร์มา (Trichoderma sp.) และเชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส (Bacillus sp.)

กลไกการควบคุมโรคพืชของกลุ่มจุลินทรีย์ในสารเร่งซุปเปอร์ พด.3 สามารถเข้าทำลายเชื้อสาเหตุโรคพืชได้โดยตรง เส้นใยของเชื้อราไตรโคเดอร์เจริญอย่างรวดเร็วเข้าปกคลุมเชื้อสาเหตุโรคพืช จากนั้นจะสร้างโครงสร้างที่ทำหน้าที่ดูดของเหลวภายในเซลล์ของเชื้อสาเหตุโรคพืชเพื่อใช้เป็นแหล่งอาหาร อีกทั้งยังมีความสามารถในการแข่งขันการใช้อาหารและเจริญเติบโตได้ดีกว่าเชื้อสาเหตุโรคพืช ทำให้แหล่งอาหารของเชื้อสาเหตุโรคพืชในดินถูกจำกัด และเชื้อสาเหตุโรคพืชไม่สามารถเจริญได้ในที่สุด นอกจากนี้สามารถสร้างสารปฏิชีวนะเพื่อยับยั้งการเจริญของเชื้อสาเหตุโรคพืชในดิน ทำให้เชื้อสาเหตุโรคพืชไม่สามารถแพร่กระจายได้

วิธีการขยายเชื้อ ซุปเปอร์ พด.3 คือ ผสมสารเร่งซุปเปอร์ พด.3 จำนวน 1 ซอง และรำข้าวละเอียด 1 กิโลกรัมในน้ำ 5 ลิตร คนให้เข้ากันนาน 5 นาที จากนั้นรดสารละลายซุปเปอร์ พด.3 ลงในกองปุ๋ยหมัก 100 กิโลกรัม และรำข้าวละเอียด คลุกเคล้าให้เข้ากัน ปรับความชื้นให้ได้ 60-70% ตั้งกองปุ๋ยเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าให้มีความสูง 50 เซนติเมตร และใช้วัสดุคลุมกองปุ๋ย เพื่อรักษาความชื้น ขยายเชื้อเป็นเวลา 7 วัน จึงนำไปใช้ประโยชน์

ทั้งนี้ สามารถป้องกันและควบคุมการเจริญของเชื้อสาเหตุโรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล ไม้ยืนต้น เช่น ทุเรียน มะละกอ กล้วย พืชไร่ เช่น สับปะรด มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด พืชผัก เช่น พริก มะเขือเทศ ผักกาด กะหล่ำปลี โรคถอดฝักดาบของข้าว โรคผลเน่าของผลสตรอเบอร์รี่ และไม้ดอกไม้ประดับ

สำหรับอัตราและวิธีการใช้ ในส่วนของพืชไร่ พืชผัก และไม้ดอกไม้ประดับ ใช้อัตรา 100 กิโลกรัมต่อไร่ ใส่ระหว่างแถวก่อนปลูก ไม้ผล และไม้ยืนต้น ใช้อัตรา 3-6 กิโลกรัมต่อตัน ใส่รองก้นหลุมหรือรอบทรงพุ่ม ส่วนแปลงเพาะกล้า ใช้อัตรา 1-2 กิโลกรัมต่อพื้นที่ 10 ตารางเมตร โรยให้ทั่วแปลงเพาะกล้า

จาก http://www.naewna.com วันที่ 30 มิถุนายน 2558

4อ่างเก็บน้ำบุรีรัมย์แห้งขอดใหญ่ ชลประทานหยุดส่งน้ำทำเกษตร

30 มิ.ย.58 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์ภัยแล้ง ที่จังหวัดบุรีรัมย์ยังคงขยายวงกว้างอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยสวาย ต.สองชั้น อ.กระสัง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบที่ใช้ทั้งเพื่อการเกษตร และผลิตประปาบริการประชาชนในตัวอำเภอกระสัง มีปริมาณลดต่ำเหลือเพียง 5.415 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 39.96% ของปริมาณความจุอ่างทั้งสิ้น 13.55 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือเป็นปริมาณที่ต่ำแต่ยังไม่ถึงขั้นวิกฤต     

ทางโครงการชลประทานจังหวัดจึงได้ประชุมร่วมกับคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำอ่าง และกลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่ โดยเบื้องต้นมีมติให้ชะลอการส่งน้ำเพื่อการเกษตรไปก่อน จากที่ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายนได้ส่งน้ำให้เกษตรกรในเขตบริการเพาะปลูกข้าวไปแล้ว ซึ่งต้องรอประเมินสถานการณ์น้ำอีกครั้ง เพราะน้ำที่เหลือในอ่างเก็บน้ำห้วยสวายดังกล่าวจะต้องใช้ในการผลิตประปา เฉลี่ยเดือนละ 60,000 ลูกบาศก์เมตร แต่หากมีฝนตกและมีน้ำเข้าอ่างเพิ่มขึ้นจะส่งน้ำให้ทำการเกษตรตามปกติต่อไป     

ด้าน นายกิติกุล เสภาศีราภรณ์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทาน จ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า ขณะนี้มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 4 แห่งของ จ.บุรีรัมย์ ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำลำนางรอง, อ่างเก็บน้ำคลองมะนาว, อ่างเก็บน้ำลำปะเทีย และอ่างเก็บน้ำลำจังหัน ที่ต้องชะลอการส่งน้ำเพื่อการเกษตรเนื่องจากปริมาณน้ำต่ำ ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 16 แห่ง ให้ขึ้นอยู่กับมติของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำแต่ละอ่างจะเป็นผู้พิจารณาประเมินสถานการณ์น้ำ     

อย่างไรก็ตาม ก็ขอฝากเตือนเกษตรกรนอกเขตชลประทานควรจะชะลอการทำนาออกไปก่อนเพื่อลดความเสี่ยงต้นข้าวขาดน้ำเสียหาย เพราะขณะนี้ในพื้นที่ยังมีฝนตกน้อยและทิ้งช่วง พร้อมกันนี้ยังได้ขอความร่วมมือประชาชนได้ใช้น้ำอย่างประหยัดและมีคุณค่า เพื่อลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคจากภาวะฝนทิ้งช่วงในช่วงหน้าแล้งนี้ด้วย

จาก http://www.naewna.com วันที่ 30 มิถุนายน 2558

กนอ.ใช้บ่อบาดาลไพ่ใบสุดท้ายฝ่าภัยแล้ง รื้อกฎหมายสร้างนิคมอุตสาหกรรมแนวดิ่ง

นางศรีวณิก หัสดิน รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยถึงการเตรียมรับมือภัยแล้งว่า ทุกนิคมได้เจาะบ่อน้ำบาดาลเพื่อเตรียมรับมือภัยแล้งที่อาจรุนแรงมากขึ้น ส่วนมาตรการใช้น้ำจากบ่อบาดาลจะเป็นสิ่งสุดท้ายที่ กนอ.จะใช้แก้ปัญหา เพราะอาจกระทบต่อการทรุดตัวของแผ่นดิน ภัยแล้งขณะนี้ยังไม่รุนแรงจนทำให้โรงงานในนิคมเดือดร้อนจนถึงระดับที่ต้องใช้น้ำบาดาล รวมทั้งโรงงานในปัจจุบันได้ปรับปรุงกระบวนการผลิตไปสู่การนำน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ ทำให้ลดการสูญเสียน้ำลงได้ แต่ทั้งนี้ หากโรงงานในนิคมรายใดต้องการใช้น้ำมากขึ้นกว่าปกติ ก็ต้องแจ้งให้ กนอ.ทราบ

สำหรับพื้นที่อุตสาหกรรมที่เสี่ยงต่อภัยแล้งมากที่สุด คือนิคมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นแหล่งอุตสาหกรรมใหญ่ที่สุดของประเทศ แต่บริษัท อีสวอเตอร์ จำกัด ผู้บริหารจัดการน้ำเพื่อการอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก ได้เตรียมการรับมืออย่างเต็มที่ และมั่นใจว่าจะสามารถผ่านวิกฤติภัยแล้งปีนี้ไปได้ แต่ถ้าถึงสิ้นสุดฤดูฝนปริมาณน้ำยังเข้าอ่างเก็บต่ำกว่าเป้าหมาย ก็ต้องเร่งวางแผนรับมือภัยแล้งในปีหน้า โดยการหาแหล่งน้ำสำรองเพิ่มขึ้น ซึ่งในระยะยาว ได้มีการหารือในเรื่องสร้างโรงงานเปลี่ยนน้ำทะเลเป็นน้ำจืดเพื่อใช้ในอุตสาหกรรม แต่ก็ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะต้องลงทุนสูงมาก ทำให้น้ำมีราคาแพง หากสร้างแล้วใช้งานไม่เต็มที่ก็จะเกิดการขาดทุน

“ในประเด็นเรื่องการพัฒนานิคมรูปแบบใหม่ๆ ล่าสุด กนอ.ได้ปรับปรุงกฎหมายของ กนอ. ให้สามารถสร้างนิคมแนวดิ่งได้ หรือการทำคอนโดอุตสาหกรรม เพื่อให้เอสเอ็มอีที่ใช้พื้นที่การผลิตไม่มาก ไปเช่าพื้นที่ในแต่ละชั้นเพื่อสร้างโรงงาน ช่วยประหยัดค่าก่อสร้าง ลดต้นทุนสาธารณูปโภคส่วนกลาง โดยล่าสุด นิคมอัญธานีก็มีความสนใจที่จะสร้างคอนโดอุตสาหกรรมแนวนี้ และนิคมอมตะก็ได้ร่วมมือกับญี่ปุ่นสร้างนิคมแนวตั้งขึ้นแล้ว มีความสูง 3-4 ชั้น”.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 30 มิถุนายน 2558

3 หน่วยงานรัฐ พาณิชย์-อุตสาหกรรม-แรงงานร่วมลงนาม MOU บูรณาการรับรองคุณภาพด้านสิ่งแวดล้อมและมาตรฐานแรงงานไทยแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับตราสัญลักษณ์"THAILAND TRUST MARK"   

          กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เดินหน้าขานรับนโยบายรัฐบาล จับมือสองหน่วยงานภาครัฐกระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงแรงงาน ร่วมลงนามข้อตลกลง (LNT( บูรณาการรับรองคุณภาพด้านสิ่งแวดล้อมและมาตรฐานแรงงานไทย ให้แก่ผู้ประกอบการที่ได้รับ ตราสัญลักษณ์ THAILAND TRUST MARK  (TTM) เพื่อร่วมกันแสดงเจตนารมณ์ในการส่งเสริม ให้ภาคธุรกิจมีการดาเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมและการใช้แรงงานที่เป็นธรรม เพื่อให้สอดรับ กับสถานการณ์การค้าที่ทั่วโลกให้ความสาคัญ พร้อมจัดสัมมนา "Thailand Sustainable day" เสริมสร้างความรู้ผู้ประกอบการในการดาเนินธุรกิจด้วย Bnqonqasd Rnbhak Qdronmrhahkhsx (BRQ( หวังผลักดันและส่งเสริมภาคธุรกิจส่งออกของไทยอย่างยั่งยืน กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จึงขอเชิญชวนผู้ประกอบกิจการ เข้าร่วมขอรับตราสัญลักษณ์ Thailand Trust Mark  (TTM) สาหรับการลงทะเบียนสมัครครั้งที่ 2 ประจาปี 1447 เริ่มรับสมัครตั้งแต่ 0 มิถุนายน ถึง 04 กันยายน 1447 โดยสามารถสมัครผ่านเว็บไซต์ www.thailandtrustmark.com  หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 1169  หรือ 02-507-8273

          ที่มา9 กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 30 มิถุนายน 2558

ชาวไร่อ้อยดิ้นแก้ตั้งรง.น้ำตาล

ชาวไร่อ้อยจี้"ประยุทธ์"ใช้ ม.44 รื้อหลักเกณฑ์กำหนดระยะห่างตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ หลังครม.อนุมัติแล้ว ย้ายโรงงานไม่ได้ สร้างความเดือดร้อนขนส่งอ้อยเข้าหีบระยะทางไกล ชาวไร่อ้อยสุชัย ลิ้มสมมุติสุชัย ลิ้มสมมุติจ.สุโขทัยโวยเป็นการปิดกั้นสิทธิของเกษตรกร

ชาวไร่อ้อยดิ้นแก้ตั้งรง.น้ำตาล วอน‘ประยุทธ์’ใช้ม.44 ยกเลิกระยะห่าง 50 กม.

    ชาวไร่อ้อยจี้"ประยุทธ์"ใช้ ม.44 รื้อหลักเกณฑ์กำหนดระยะห่างตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ หลังครม.อนุมัติแล้ว ย้ายโรงงานไม่ได้ สร้างความเดือดร้อนขนส่งอ้อยเข้าหีบระยะทางไกล ชาวไร่อ้อยจ.สุโขทัยโวยเป็นการปิดกั้นสิทธิของเกษตรกร ย้ายโรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ จากอุตรดิตถ์ มาไม่ได้สิ้นเปลืองค่าขนส่งปีละกว่า 100 ล้านบาท แทนที่จะประหยัดเงินส่วนนี้มาเป็นรายได้ยกระดับคุณภาพชีวิต

  สุชัย ลิ้มสมมุติสุชัย ลิ้มสมมุติ  นายสุชัย ลิ้มสมมุติ ประธานสหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า จากที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมว่าด้วยเรื่องการอนุญาตให้ตั้งหรือย้าย หรือขยายโรงงานน้ำตาลในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักรโดยกำหนดให้โรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ที่ขออนุญาตตั้งหรือย้ายโรงงานน้ำตาลจะมีระยะห่างจากเขตโรงงานน้ำตาลที่มีอยู่เดิม 50 กิโลเมตร ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาในรายละเอียดของคณะอนุกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 6 สำนักนายกรัฐมนตรี ได้ส่งผลกระทบต่อการตั้งโรงงานและขอย้ายพื้นที่ตั้งโรงงานเป็นจำนวนมาก และสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวไร่อ้อยต้องส่งอ้อยเข้าหีบในระยะทางที่ไกล

    โดยที่ผ่านมาชาวไร่อ้อยทั่วประเทศทั้ง 4 องค์ ประกอบด้วย สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย สมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย สหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน พยายามคัดค้านหลักเกณฑ์ดังกล่าวมาโดยตลอด เนื่องจากเป็นการกีดกันโรงงานน้ำตาลที่มีความพร้อมไม่สามารถเกิดขึ้นได้

    ดังนั้น จึงอยากจะเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลใช้อำนาจที่มีอยู่ผ่าน ม.44 ทบทวนมติครม.ใหม่ ให้ยกเลิกการกำหนดเงื่อนไขการตั้งโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ ที่กำหนดระยะห่างไว้ มาเป็นการกำหนดสถานที่ตั้งโดยเสรีแทน เนื่องจากเป็นการกระทบกับสิทธิของเกษตรกรชาวไร่อ้อยทั่วประเทศ การกำหนดสถานที่ตั้งควรจะคำนึงถึงจำนวนปริมาณอ้อยที่มีคู่สัญญาที่แน่นอนและพื้นที่เพียงพอต่อการขยายพื้นที่เพาะปลูกที่เหมาะสมมากกกว่าการกำหนดระยะห่าง

    ทั้งนี้ จะเห็นได้จากกรณีการขอย้ายโรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ จากโรงงานที่อยู่ในจังหวัดอุตรดิตถ์ ขนาดกำลังการผลิต 1.8 หมื่นตันอ้อย หรือรวมปริมาณอ้อยเข้าหีบ 2.12 ล้านตันอ้อยต่อปี มาตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากติดเงื่อนไขร่างประกาศดังกล่าว เพราะมีโรงงานน้ำตาลทิพย์สุโขทัย ตั้งอยู่ก่อนแล้วมีระยะห่างเพียง 30 กิโลเมตรเท่านั้น 

    ทั้งที่การขอให้มีการย้ายโรงงานน้ำตาล ก็เป็นความประสงค์ของชาวไร่ ซึ่งมีพื้นที่ปลูกอ้อยส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดสุโขทัยส่งอ้อยเข้าหีบ 1.529 ล้านตัน หรือ 72% ของอ้อยที่ส่งเข้าหีบทั้งหมด ในจำนวนคู่สัญญา 3.068 พันราย แต่ที่ผ่านมาต้องส่งอ้อยเข้าไปหีบโรงงานน้ำตาลที่จังหวัดอุตรดิตถ์ มีระยะทางไกลถึง 150 กิโลเมตร มาเป็นเวลากว่า 10 ปีและต้องแบกรับภาระค่าขนส่งที่สูงมากขึ้น

    ดังนั้น หากโรงงานน้ำตาลดังกล่าวสามารถย้ายมาตั้งที่อำเภอสวรรคโลกได้ จะช่วยให้ชาวไร่ประหยัดค่าขนส่งอ้อยได้ตันละ 70 บาทหรือปีละกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ชาวไร่มีรายได้เพิ่มขึ้น และยังช่วยลดอุบัติเหตุจากการขนส่งอ้อยบนถนนเส้นทางหลักลงได้อีกทางหนึ่ง

    นายสุชัยกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาทาง 4 องค์กรพยายามเรียกร้องให้มีการยกเลิกเงื่อนไขการกำหนดระยะห่างการตั้งโรงงานน้ำตาลมาอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่ครม.จะเห็นชอบในร่างประกาศกระทรวงดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นคณะทำงานกำหนดหลักเกณฑ์ในการอนุญาตโรงงานน้ำตาลทราย ที่กระทรวงอุตสาหกรรมตั้งขึ้นมา ทำหน้าที่กำหนดเงื่อนไขแต่ก็ไม่มีการรับฟังเสียงของชาวไร่ แต่จะไปฟังความเห็นของกลุ่มโรงงานน้ำตาลที่มีอยู่ 53 แห่ง เป็นส่วนใหญ่ รวมทั้งการทำหนังสือชี้แจ้งความเดือดร้อนส่งไปยังนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม แต่เรื่องก็เงียบหาย จนนำไปสู่การเสนอครม.เห็นชอบออกมา

    โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 10 มิถุนายนที่ผ่านมา สมาคมชาวไร่อ้อยลูกพระยาพิชัย ก็ได้ยื่นหนังสือถึงประธานคณะกรรมาธิการ การพาณิชย์ การอุตสาหกรรม และการแรงงาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ให้ทราบถึงความเดือดร้อนของชาวไร่ในเขตจังหวัดสุโขทัย เพื่อช่วยผลักดันให้นายกรัฐมนตรีรับทราบปัญหาและลงมาแก้ไขหลักเกณฑ์การกำหนดระยะห่างการตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนของชาวไร่ที่อยากจะให้โรงงานน้ำตาลมาตั้งอยู่ในพื้นที่ได้

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 29 มิถุนายน 2558

จีพีดีเกษตร1.4ล้านล้านเตรียมหั่นโตลดลงผลพวงแล้งหนัก

กฤติภัยแล้งที่ยาวนานจากฝนทิ้งช่วง อันเนื่องมาจากปรากฏการณ์เอลนิโญ ที่ส่งผลถึงน้ำในเขื่อนใหญ่น้อยแห้งขอด และกำลังส่งผลกระทบลุกลามต่อเนื่องถึงทุกภาคส่วน ทั้งน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค เพื่อการรักษาระบบนิเวศ

        วิกฤติภัยแล้งที่ยาวนานจากฝนทิ้งช่วง อันเนื่องมาจากปรากฏการณ์เอลนิโญ ที่ส่งผลถึงน้ำในเขื่อนใหญ่น้อยแห้งขอด และกำลังส่งผลกระทบลุกลามต่อเนื่องถึงทุกภาคส่วน ทั้งน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค เพื่อการรักษาระบบนิเวศ และน้ำเพื่อการเกษตรส่อไม่เพียงพอ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ออกประกาศขอความร่วมมือจากเกษตรกรในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด เลื่อนการเพาะปลูกข้าวนาปี 2558/59 ออกไปจนถึงเดือนปลายเดือนกรกฎาคม 2558 จากฤดูกาลเพาะปลูกปกติ (พ.ค.-ต.ค.) เพื่อลดความเสี่ยงจากผลผลิตที่อาจเสียหาย  "ฐานเศรษฐกิจ" สัมภาษณ์พิเศษ "เลอศักดิ์  ริ้วตระกูลไพบูลย์" เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)  ถึงมาตรการการช่วยเหลือเกษตรกร  และผลกระทบทางเศรษฐกิจจากภัยแล้งที่ถือว่ารุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปี

 ++อุ้มชาวนาเลียนโมเดลยาง

    "เลอศักดิ์"  กล่าวว่า แนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรเพื่อลดผลกระทบจากการเลื่อน/ชะลอทำนา ในพื้นลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ยังไม่ได้เพาะปลูกข้าวอีก 3.45 ล้านไร่ จากจำนวนทั้งสิ้น 7.45 ล้านไร่ ทางรัฐบาลได้สั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้วางแผนด้านนโยบายเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรโดยมีหลายมาตรการ อาทิ แนวทางปรับโครงสร้างการผลิต อาจจะเลียนแบบโมเดลยางพารา โดยรัฐบาลจะสนับสนุนเงินกู้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน 3% ในวงเงิน 1 แสนบาทต่อราย เพื่อให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการผลิตข้าวเป็นพืชชนิดอื่นๆ ที่ใช้น้ำน้อยซึ่งจะช่วยลดต้นทุนและเป็นการเพิ่มผลผลิต นำไปสู่การสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้น

    "กระทรวงเกษตรฯส่งเสริมและจูงใจให้เกษตรกรปลูกพืชใช้น้ำน้อย เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พืช ผัก ถั่วเขียว  และถั่วเหลือง เพื่อยังชีพ ระหว่างรอการทำนาปี ตลอดจนมีมาตรการจ้างงานของกรมชลประทาน ซึ่งเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จระดับหนึ่งมาแล้วในการลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังในช่วงต้นปีที่ผ่านมา จะนำมาตรการดังกล่าวมาปรับใช้ เพราะปีนี้ถือนี้ว่าสถานการณ์ภัยแล้งรุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปี"

 ++เตรียมปรับลดจีดีพีเกษตร

    อย่างไรก็ดี ล่าสุดผลกระทบจากภัยแล้ง สศก.ได้ปรับลดประมาณการณ์การขยายตัวของผลผลิตมวลรวมในประเทศ(จีดีพี)ของภาคเกษตร จากในเดือนพฤศจิกายน 2557 ได้ประมาณการไว้จะขยายตัวที่ 2.5-3% ลดลงเหลือ 1.4% จากจีดีพีภาคเกษตรของไทยในปี 2557 มีมูลค่า 1.4 ล้านล้านบาท เนื่องจากในไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ได้มีสถานการณ์ภัยแล้ง กรมชลประทานได้ขอความร่วมมือเกษตรกรเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาลดทำนาปรัง จากปกติเคยปลูก 9 ล้านไร่ ลดลงเหลือ 6.5 ล้านไร่  ทำให้มูลค่าข้าวนาปรัง ปี 2558 หายไป 2.5  ล้านไร่  รวมถึงผลจากยางพาราที่ราคาตกต่ำ  (จีดีพีของภาคเกษตรส่วนใหญ่มาจากพืชเศรษฐกิจหลักทั้งข้าว ยางพารา  อ้อย มันสำปะหลัง รวมถึงหมวดปศุสัตว์ และประมง) โดยในไตรมาสที่ 1/2558 จีดีพีภาคเกษตรติดลบ 1.1% และไตรมาสที่ 2 ก็คาดว่าจะติดลบมากกว่าไตรมาสแรก ซึ่งมีผลให้จีดีพีภาคเกษตรในครึ่งแรกของปีนี้จะยังติดลบ สาเหตุมาจาก 1.ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาภาวะเศรษฐกิจโลกโดยรวมไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตร

    2.ไทยขาดปัจจัยการผลิตด้านน้ำ ทำให้ต้องลดพื้นที่ทำนาปรังช่วงต้นปี 3. อิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change)  มีผลต่อพืชเศรษฐกิจ เช่น อ้อย มีผลผลิตต่อไร่ที่ลดลง แต่ทั้งนี้ที่ผ่านมาได้มีการปรับโครงสร้างการผลิตทำให้พื้นที่ปลูกข้าวแต่ละแห่งมาปลูกอ้อยทดแทนบางส่วน จึงทำให้อ้อยภาพรวมผลผลิตไม่ได้ลดลง แต่เป็นการขยายพื้นที่ สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นปัจจัยทำให้มูลค่าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรต่ำ และมีผลต่อจีดีพีภาคเกษตรไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้

    "อย่างไรก็ดีมีสินค้าเกษตรบางส่วนที่มีแนวโน้มที่ดีขึ้น  เช่นผลไม้  ที่แม้ภัยแล้งจะส่งผลให้มีผลผลิตที่ลดลง แต่ราคาปรับตัวสูงขึ้นตามความต้องการของตลาด"

++หวังเอลนิโญดันราคาสินค้าเกษตรพุ่ง

    สำหรับในครึ่งปีหลัง  องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้พยากรณ์ผลผลิตสินค้าเกษตรที่จะออกมาสู่ท้องตลาดทั่วโลก จะมีปริมาณลดลงจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากปรากฏการณ์เอลนิโญ แต่ทางกลับกันจะส่งผลให้สินค้าหลายรายการมีแนวโน้มราคาปรับตัวสูงขึ้น อาทิ ข้าว ข้าวโพด และข้าวสาลี เป็นต้น  ทั้งนี้อิทธิพลของเอลนิโญพัฒนาตัวขึ้นจนมีอิทธิพลต่อสภาวะภูมิอากาศในบริเวณทวีปเอเชียแล้ว  และได้เริ่มส่งผลกระทบทำให้ปริมาณฝนน้ำในปี 2558 มีปริมาณน้อยกว่าค่าปกติค่อนข้างมากในบริเวณตอนกลางของทวีปเอเชียตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2558 โดยปริมาณฝนบนแผ่นดินในทวีปเอเชียตอนล่างในช่วงเดือนมกราคม - เมษายน ส่วนใหญ่จะมีค่าใกล้เคียงกับค่าปกติ แต่ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาปริมาณฝนตกต่ำกว่าค่าเฉลี่ยค่อนข้างมากในหลายประเทศ ตั้งแต่ อินเดีย ปากีสถาน เมียนมา ไทย ลาว ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น คาดว่าปรากฏการณ์เอลนิโญจะคงสภาพไปจนถึงต้นปี 2559 จากปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้คาดการณ์จะทำให้ราคาสินค้าเกษตรทั่วโลกราคาสูงขึ้น

++แล้งยาวเสียหายสิ้นเชิงกว่าแสนล.

    "เลอศักดิ์"  กล่าวอีกว่า หากสถานการณ์ภัยแล้งรุนแรงที่สุด มีผลให้พื้นที่เกษตรรวมพืชทุกชนิดทั่วประเทศ 150 ล้านไร่ไม่สามารถเพาะปลูกได้ รวมถึงภาคประมงและปศุสัตว์ไม่สามารถทำอะไรได้จากขาดน้ำ มูลค่าความเสียหายในภาคเกษตรทั้งหมดตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ถึงปลายน้ำ จะเสียหายมากกว่าแสนล้านบาทขึ้นไป ส่วนความเสียหายกว่า 6 หมื่นล้านบาทที่ทาง สศก.ได้ประเมินก่อนหน้านี้ เป็นมูลค่าความเสียหายทางโอกาสเงินหมุนเวียนภาคเกษตรที่จะหายไปจากการชะลอทำนาพื้นที่ 3.4 ล้านไร่ใน 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยาเท่านั้น โดยเป็นค่าเสียโอกาสด้านแรงงาน ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าปุ๋ย ค่ายาปราบศัตรูพืชและวัชพืช ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่น และอื่นๆ

    "ล่าสุดทางกรมชลประทานได้มีการปรับลดแผนการระบายน้ำของ 4 เขื่อนใหญ่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาจากเดิมวันละ 33 ล้านลูกบาศก์เมตร ลงเหลือ 28 ล้านลูกบาศก์เมตร จากปัจจุบันมีน้ำต้นทุน 1.067 พันล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งการลดเหลือวันละ 28 ล้านลูกบาศก์เมตรจะมีน้ำใช้ได้ถึงวันที่ 10 สิงหาคมนี้

    ปริมาณการระบายน้ำที่ลดลงเหลือวันละ 28 ล้านลูกบาศก์เมตร จะยังคงใช้สนับสนุนการใช้น้ำในส่วนของการอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศในอัตราวันละ 13 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่าเดิม โดยไปลดการส่งน้ำสำหรับภาคเกษตรจากเดิมวันละ 20 ล้านลูกบาศก์เมตรลงเหลือวันละ 15 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะส่งผลกระทบกับพื้นที่ปลูกข้าวนาปีที่ปลูกไปแล้วก่อนวันประกาศขอให้ชะลอการเพาะปลูก 3.44 ล้านไร่ในจำนวนนี้สัดส่วนประมาณ 25%  หรือราว 8.5 แสนไร่มีความเสี่ยงจะขาดแคลนน้ำ ล่าสุดในจำนวนนี้เสียหายแล้วโดยสิ้นเชิง 1.5 แสนไร่"

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 29 มิถุนายน 2558

ชาวไร่อ้อยสุโขทัยข้องใจรัฐบาล เตะถ่วงย้ายโรงงานไทยเอกลักษณ์

วันที่ 28 มิถุนายน นายสุชัย ลิ้มสมมติ นายกสมาคมชาวไร่อ้อยลูกพระยาพิชัย และประธานกรรมการบริหารสหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เกษตรกรชาวไร่อ้อยจะเคลื่อนไหวเพื่อให้ภาครัฐรับทราบความเดือดร้อนกรณีการขนส่งอ้อยในเขต จ.สุโขทัย ไปยังโรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ จ.อุตรดิตถ์ ทั้งๆ ที่โรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ทำเรื่องขอย้ายที่ตั้งโรงงานมาอยู่ จ.สุโขทัย ตั้งแต่ปี 2550 แล้ว เคยเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึง 2 ครั้ง ช่วงเดือนกรกฎาคม 2552 และเดือนพฤษภาคม 2553 แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ได้รับความเห็นชอบจาก ครม.

นายสุชัยกล่าวว่า เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2552 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมสมัยนั้นเสนอ ครม.ให้ความเห็นชอบบริษัท น้ำตาลไทยเอกลักษณ์ ย้ายจาก ต.คุ้งตะเภา อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ ไปตั้งใหม่ที่ อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย โดยครั้งนั้นมีเรื่องขอย้ายหรือขยายกำลังการผลิต 6 โรงงาน แต่ต่อมาวันที่ 27 สิงหาคม 2552 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกลับขอถอนเฉพาะเรื่องของบริษัทน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ ออกจากการพิจารณาของ ครม. และผ่านความเห็นชอบเพียง 5 โรงงาน

นายสุชัยกล่าวว่า ต่อมาในการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2553 ก็มีการเสนอ ครม.ควรให้ความเห็นชอบการย้ายหรือเพิ่มกำลังการผลิต 12 โรงงาน แต่ปรากฏว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมขอนำเฉพาะโรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์กลับไปพิจารณาอีกครั้ง ครม.จึงให้ความเห็นชอบ 11 โรงงาน

"ที่ผ่านมามีโรงงานน้ำตาลอื่นๆ ที่ขอย้ายที่ตั้งและขอขยายกำลังการผลิตผ่านความเห็นชอบจาก ครม.ไปแล้ว 16 โรงงาน ติดค้างเฉพาะโรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ โดยไม่มีการให้เหตุผลที่ชัดเจน พวกเราชาวไร่อ้อยจึงต้องออกมาทวงถามเรื่องนี้ เพราะที่ผ่านมาโรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ส่งเสริมชาวไร่อ้อยคู่สัญญาที่ อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย มากว่า 20 ปีแล้ว 

หากโรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ย้ายไปตั้งที่ จ.สุโขทัย จะได้ใกล้ชิดกับชาวไร่อ้อยคู่สัญญามากขึ้น เพราะกว่า 70% ของชาวไร่อ้อยคู่สัญญาของไทยเอกลักษณ์ หรือกว่า 3,000 ครอบครัว มีพื้นที่ปลูกอ้อยอยู่ใน จ.สุโขทัย และจะช่วยส่งเสริมและพัฒนาการผลิตอ้อยได้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งของชาวไร่อ้อยได้ถึงปีละประมาณ 100 ล้านบาท" นายสุชัยกล่าว

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 29 มิถุนายน 2558

กษ.คำนวณปริมาณน้ำเขื่อนหลัก ยันเพียงพอไปตลอดฤดูแล้งหน้า

ที่สำนักชลประทานที่ 11 อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมแนวทางการจัดสรรน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ร่วมกับ นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน และนายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดี ฝ่ายบำรุงรักษา

 ต่อจากนั้น นายปีติพงศ์ และคณะ ขึ้นเฮลิคอปเตอร์สำรวจสภาพพื้นที่เพาะปลูกลุ่มเจ้าพระยา พบว่าในพื้นที่ลดการระบายน้ำใน จ.พระนครศรีอยุธยา จ.ปทุมธานี และจังหวัดใกล้เคียง มีนาข้าวที่ได้รับผลกระทบแล้วเป็นบริเวณกว้างหลายร้อยแปลง มีดินแห้งมาก และมีต้นข้าวแห้งเป็นสีเหลืองยังยืนต้นรอน้ำฝน

นายปีติพงศ์ เปิดเผยถึงผลการหารือว่า จะมีฝนเข้ามาประเทศไทยประมาณ 100 วัน ในช่วงเดือน ส.ค. - ต.ค.นี้ แต่ปริมาณน้อยกว่าค่าเฉลี่ย ทั้งนี้ ให้กรมชลประทาน และกรมส่งเสริมการเกษตร ไปทำรายละเอียดการเพราะปลูกเป็นรายโครงการ ทั้งในพื้นที่ที่ปลูกแล้ว 3.4 ล้านไร่ พื้นที่ที่ยังไม่ปลูก 3.45 ล้านไร่ และพื้นที่เสี่ยงเสียหาย 8.5 แสนไร่ ว่าต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลืออย่างไร ทั้งนี้ จะรายงานที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 30 มิ.ย.นี้ ก่อนเสนอมาตรการช่วยเหลือ ครม.เศรษฐกิจ วันที่ 3 ก.ค.นี้

"แนวทางช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ที่ปลูกแล้ว พื้นที่ที่ยังไม่ได้ปลูก และพื้นที่รอฝน ในเบื้องต้นกระทรวงเกษตรฯ เตรียมมาตรการช่วยเหลือไว้ 2 มาตรการ คือ การช่วยเหลือด้านการเพาะปลูกพืชใช้น้ำน้อยช่วงพักทำนาในเดือน ก.ค.เช่น ข้าวโพด เลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง การปลูกพืชผสมผสาน และช่วยเหลือด้านเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรในช่วงเดือน ส.ค. - ก.ย.และในช่วงฤดูแล้งเดือน พ.ย.58 ที่คาดว่าจะไม่มีน้ำทำการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง โดยการจ้างงานเกษตรให้เป็นแรงงานในการช่อมแชมบำรุงรักษาโครงการชลประทาน 22 จังหวัด" รมว.เกษตรฯ กล่าว

นายปีติพงศ์ ยังกล่าวว่า สำหรับมาตรการระยะยาวได้สั่งการผู้บริหารกรมชลฯ ไป 4 เรื่อง 1.ต้องปรับปรุงวิธีคิดวางระบบการใช้น้ำ 10 ปีที่ผ่านมา คิดแต่เรื่องการจัดหาน้ำ ไม่ได้จัดการปริมาณการใช้น้ำมีจำกัด โดยเฉพาะการเพาะปลูกต้องสอดคล้องกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง 2.อาคารชลประทานที่โอนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พบว่าไม่สามารถดูแลได้ ไม่มีระบบการส่งน้ำ ดังนั้น กรมชลฯ จะเข้าไปดูแลในส่วนนี้ เพราะมีมากกว่า 3,000 โครงการ ปัจจุบันมีความตื้นเขิน และมีความเสี่ยง จึงต้องคืนให้กรมชลฯกลับเข้าไปดูแล เพื่อให้เกิดการกระจายน้ำได้มากขึ้น

3.แหล่งน้ำนอกประเทศ ทั้งแม่โขงและสาละวิน ให้กรมชลฯ ไปดูว่าในระยะสั้น จะสามารถผันน้ำเข้ามา เช่นการชักรอกน้ำเข้ามาในประเทศช่วงฤดูฝน และระยะยาวการใช้น้ำประโยชน์ต่อประเทศไทยมากขึ้น และ 4.ปรับระบบการจัดน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา แตกต่างกับลุ่มน้ำอื่น เพราะมีทั้งเมือง แหล่งเศรษฐกิจและการเกษตร ที่อาศัยน้ำจากเขื่อนขนาดใหญ่ 4 แห่ง ต้องปรับปรุงและสร้างระบบส่งน้ำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมกับการใช้น้ำอย่างคุ้มค่าและประหยัดน้ำ

 "สิ้นฤดูฝนนี้คาดว่าจะมีน้ำใช้การใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน รวมประมาณ 3,200 - 3,900 ล้าน ลบ.ม.ซึ่งเป็นคาดการณ์ที่ใช้ฐานปี 2530 ซึ่งเป็นกรณีเลวร้ายสุด ฝนน้อยที่สุดนับตั้งแต่มีประเทศไทยมา ทั้งนี้ ปริมาณน้ำที่คำนวณไว้นี้ได้มองไปถึงหน้าแล้งระยะ 6 เดือน ข้างหน้าด้วย ไม่ใช่เฉพาะฤดูฝนนี้เท่านั้น" นายปีติพงศ์ กล่าว

ด้าน นายเลิศวิโรจน์ กล่าวว่า สถานการณ์ฝนเมื่อวันที่ 28 มิ.ย.มีน้ำไหลเข้า 4 เขื่อนหลัก 10 ล้าน ลบ.ม.วันที่ 27 มิ.ย.น้ำไหลเข้า 9 ล้าน ลบ.ม.สูงกว่าค่าเฉลี่ยตลอดเดือน มิ.ย.ที่น้ำไหลเข้าเฉลี่ยวันละ 7 ล้าน ลบ.ม.เท่านั้น

สำหรับคาดการณ์ฝน ในช่วงหน้าฝนที่เหลือจากกรมอุตุฯ คาดว่าจะมีฝนตกลงมากว่า 100 วัน ค่าเฉลี่ยฝนจะต่ำกว่าปกติ 7 - 10% แต่ประเมินว่าหลังฤดูฝน ณ วันที่ 31 ต.ค.นี้ จะมีน้ำใช้การใน 4 เขื่อนหลัก ประมาณ 3,200 - 3,900 ล้าน ลบ.ม.ช่วงนี้จึงต้องเก็บน้ำไว้ในเขื่อน และชะลอการเพาะปลูกในพื้นที่้เขตชลประทานลุ่มเจ้าพระยา ที่ยังไม่ลงมือปลูก 4 ล้านไร่

"ในเดือน ก.ค.นี้ ฝนน่าจะมาประมาณสัปดาห์ที่ 3 และในเดือน ส.ค.และ ก.ย.ฝนจะเริ่มดีขึ้น ซึ่งยืนยันว่า ณ วันที่ 1 พ.ย.58 จะมีปริมาณน้ำในเขื่อนที่ใช้การได้ 3,500 ล้าน ลบ.ม.ซึ่งเป็นปริมาณน้ำที่คาดการณ์จะพอใช้สำหรับอุปโภคบริโภคได้ถึงฤดูฝนปี 2559" นายเลิศวิโรจน์ กล่าว

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 29 มิถุนายน 2558

"ลำตะคอง" วิกฤตน้ำเหลือใช้3เดือน! หวั่นน้ำไม่พอ-รัฐเร่งดึงลำแชะผลิตประปา

ภาคเอกชนโคราชหวั่นน้ำไม่พอใช้ เกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ทั้งระบบ คาดดีมานด์ใช้น้ำเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวหลังห้างใหญ่-ธุรกิจอสังหาฯแห่ลงทุนเพิ่ม ด้านจังหวัดระดมทุกหน่วยงานแก้ไขปัญหาเขื่อนลำตะคองวิกฤต เทศบาลโคราชเร่งดึงน้ำดิบจากเขื่อนลำแชะช่วยผลิตน้ำประปาให้คนเมือง พร้อมแจ้งเกษตรกรเลื่อนเพาะปลูกข้าวนาปีไปถึงเดือนสิงหาคม ขณะที่น้ำในเขื่อนลำตะคองใช้ได้อีกเพียง 3 เดือน

นายธงชัย ลืออดุลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการจัดการชลประทาน (JMC) เขื่อนลำตะคองว่า ได้เรียกเจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย สำนักชลประทานที่ 8 ชลประทานจังหวัด เกษตรจังหวัด สถานีอุตุนิยมวิทยา ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เทศบาลนครนครราชสีมา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และตัวแทนเกษตรกรในพื้นที่

 ประชุมเร่งด่วนเพื่อร่วมกันวางแผนจัดสรรการใช้น้ำในเขื่อนลำตะคอง อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ให้เพียงพอไปจนถึงฤดูแล้งปีหน้า และวางแผนแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในอนาคต เนื่องจากปัจจุบันปริมาณน้ำในเขื่อนลำตะคองได้ลดปริมาณลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเหลือปริมาณน้ำใช้การได้เพียง 59 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 19% ของความจุเขื่อน

สำหรับแผนแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงนี้ คือ ให้เทศบาลนครนครราชสีมาดึงน้ำดิบจากเขื่อนลำแชะ อำเภอครบุรี วันละไม่เกิน 35,000 ลูกบาศก์เมตร เพื่อนำมาใช้ในการผลิตน้ำประปาในเขตเทศบาลเป็นระยะเวลา 3 เดือนจากนี้ไป และให้ทางเทศบาลจัดสรรการจ่ายน้ำประปาในเขตรับผิดชอบเป็นรอบ ๆ เพื่อให้ประชาชนมีน้ำใช้อุปโภคบริโภคได้ทั่วถึง พร้อมทั้งประสานให้ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงเร่งทำฝนหลวงเพิ่มขึ้น

ในส่วนของเกษตรกรในพื้นที่เขตชลประทานที่มีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 160,000 ไร่ ขณะนี้ทางชลประทานได้ขอความร่วมมือให้เกษตรกรเลื่อนการเพาะปลูกนาปีออกไปจนถึงเดือนสิงหาคม 2558 เพื่อรอให้มีฝนตกลงมาช่วยปริมาณน้ำในเขื่อนลำตะคองเพิ่มขึ้น ซึ่งทางกรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ว่า ในปี 2558 นี้จะมีฝนตกลงมาน้อยกว่าเกณฑ์ และจะมีพายุฝนเพียงแค่ 1 ลูกเท่านั้นที่พัดเข้ามาในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม 2558

นายสุทธิโรจน์ กองแก้ว ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ปัจจุบันเขื่อนลำตะคองยังคงปล่อยน้ำออกจากเขื่อนประมาณวันละ 400,000 ลูกบาศก์เมตร จากปกติที่ต้องปล่อยน้ำออกจากเขื่อนเฉลี่ยวันละ 700,000 ลูกบาศก์เมตร เพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศ ซึ่งสถานการณ์น้ำในเขื่อนลำตะคองที่เหลือน้อยขณะนี้ยังไม่ถือว่าต่ำที่สุด โดยปริมาณน้ำที่ต่ำสุดของเขื่อนลำตะคองอยู่ที่เดือนสิงหาคม 2548มีปริมาณน้ำอยู่ที่ 30 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่มีปริมาณน้ำใช้การอยู่เพียง 8 ล้านลูกบาศก์เมตรหรือคิดเป็น 3% ของความจุเขื่อน

ทั้งนี้ เขื่อนลำตะคองมีความจุเขื่อนทั้งหมด 314 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ต้องมีปริมาณน้ำก้นอ่าง (Dead Storage) ซึ่งเป็นปริมาณน้ำที่ใช้การไม่ได้จำนวน 22.72 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งหากไม่มีปริมาณฝนตกลงมาเพิ่มเติม ปริมาณน้ำในเขื่อนลำตะคองที่เหลืออยู่ในปัจจุบันจะสามารถใช้ได้อีกเพียง 3 เดือนเท่านั้น

ด้านนายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฎ ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำในเขื่อนของจังหวัดนครราชสีมา โดยเฉพาะเขื่อนลำตะคองที่เป็นเขื่อนหลักในการผลิตน้ำประปาให้กับจังหวัดนครราชสีมาขณะนี้มีปริมาณลดลงและเหลือน้อย ซึ่งคาดการณ์ว่าจะไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ของคนในจังหวัดนครราชสีมา ทำให้ภาคเอกชนเกิดความหวั่นกลัวว่าจะมีน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการ จะทำให้เกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ทั้งระบบ ทั้งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และภาคการเกษตรที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เมื่อน้ำอุปโภคบริโภคไม่เพียงพอก็ต้องส่งผลถึงน้ำที่จะใช้ในภาคธุรกิจ

"ตอนนี้จังหวัดจะต้องเร่งหาแนวทางแก้ไขและบริหารจัดการน้ำโดยด่วน หากปล่อยให้เกิดภัยแล้งนานเกินไปยิ่งทำให้เกิดผลกระทบมากขึ้น เพราะในอนาคตไม่กี่ปีข้างหน้าจะมีห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ทั้งเซ็นทรัล, เทอร์มินอล 21 และกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ทั้งบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียมที่จะเกิดขึ้นอีกหลายโครงการ ซึ่งคาดว่าจะต้องมีการใช้น้ำมากขึ้นเกือบเท่าตัว หากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องยังไม่เร่งวางแผนรองรับอนาคตก็จะทำให้เมืองโคราชเป็นเมืองที่ไม่น่าอยู่ เกิดผลกระทบขึ้นกับเศรษฐกิจตามมาด้วย"

นายหัสดินกล่าวอีกว่า ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมก็ต้องเฝ้าระวังเรื่องของน้ำอย่างใกล้ชิด เพราะหากน้ำขาดแคลน การผลิตก็ต้องหยุดชะงัก และผู้ประกอบการก็ต้องแบกรับต้นทุนที่มากขึ้น ส่งผลกระทบตามมามหาศาล แต่ทั้งนี้โรงงานอุตสาหกรรมและเขตอุตสาหกรรมหลักของโคราชมีการเตรียมแผนรองรับไว้เป็นอย่างดี โดยน้ำเพื่อภาคอุตสาหกรรมยังไม่น่าเป็นห่วงมากนัก เนื่องจากเขตอุตสาหกรรมสุรนารี อำเภอเมือง ใช้น้ำบาดาลทั้งหมด ส่วนเขตประกอบการอุตสาหกรรมนวนคร อำเภอสูงเนิน ยังคงมีน้ำสำรองใช้เพียงพอถึงหน้าแล้งปีหน้า

นายสุรสีห์ แห่งศรีสุวรรณ ผู้อำนวยการโครงการเขตประกอบการอุตสาหกรรมนวนคร นครราชสีมา เปิดเผยว่า ในช่วงหน้าฝนที่ผ่านมาได้มีการสำรองน้ำไว้ใช้จนถึงหน้าแล้งปีหน้ามากกว่า 2 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นน้ำที่ล้นออกมาจากลำห้วยยาง และลำห้วยวังม่วง ซึ่งได้ดำเนินการเตรียมแผนรองรับไว้เป็นอย่างดีตลอดทั้งปี ดังนั้น น้ำที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมในนวนครโคราชจึงไม่ขาดแคลนอย่างแน่นอน ซึ่งแผนของนวนครโคราชไม่ได้กักเก็บไว้สำรองใช้เพียงปีต่อปีเท่านั้น แต่จะสำรองไว้เผื่อปีหน้าด้วย คาดว่าจะเพียงพอสำหรับภาคการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมได้ใช้ไปตลอดฤดูแล้งแน่นอน

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 29 มิถุนายน 2558

ก.เกษตรฯ เร่งสรุปปัญหาภัยแล้ง ชงมาตรการช่วยชาวนา เข้า ครม.

ก.เกษตรฯ จ่อชงมาตรการช่วยเหลือชาวนาชะลอปลูกข้าวนาปี เข้า ครม.สัปดาห์หน้า พร้อมเร่งสรุปแก้ภัยแล้งลุ่มเจ้าพระยา รวมทั้งแผนเพาะปลูก เพิ่มรายได้รายพื้นที่ รวมถึงแผนจัดการน้ำ จ่อดึงน้ำจากสาละวิน-แม่โขง มาใช้ประโยชน์...

 เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 58 นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ คาดว่า การเสนอแนวทางมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ต้องชะลอการปลูกข้าวนาปีในลุ่มเจ้าพระยา จะมีความชัดเจน และเสนอ ครม.ได้ภายในสัปดาห์หน้า สำหรับพื้นที่อื่นๆ ได้สั่งการให้เริ่มสำรวจ โดยร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ในจุดที่เป็นปัญหาจริงๆ ทั้งที่ไม่ได้อยู่ในเขตชลประทาน ไม่เป็นลุ่มน้ำใหญ่ๆ เหมือนเจ้าพระยา ซึ่งพื้นที่ที่เหลือทั้งหมดต้องดูว่า สภาพฝนเป็นอย่างไร จะนำข้อมูลที่สำรวจได้มาพิจารณาหามาตรการเยียวยาอีกครั้ง

สำหรับการประชุมร่วมกับ นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน นายไพรัช หวังดี รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร พร้อมด้วยสำนักชลประทานเขตลุ่มเจ้าพระยา และเกษตรจังหวัดลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง 15 จังหวัด อาทิ จ.ชัยนาท อ่างทอง สุพรรณบุรี และพระนครศรีอยุธยา ในวันนี้ เพื่อเร่งสรุปมาตรการแนวทางแก้ไขปัญหาสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นลุ่มเจ้าพระยา

นอกจากนี้ ได้สั่งการให้กรมชลประทาน และกรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมหารือร่วมกัน เพื่อเร่งจัดทำแผนบริหารจัดการเพาะปลูก และสำรวจพื้นที่เพาะปลูกให้ชัดเจน และสอดคล้องกับปริมาณน้ำที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทั้งพื้นที่ที่มีการปลูกข้าวแล้วมีความเสี่ยง และพื้นที่ที่ชะลอการปลูกคงเหลือเท่าไร เพื่อพิจารณาแนวทางให้การช่วยเหลือเป็นรายพื้นที่ให้แล้วเสร็จภายในวันนี้ (29 มิ.ย. 58)

เบื้องต้นมี 2 แนวทาง คือ 1.การจ้างแรงงานและสร้างรายได้ให้ประชาชน โดยการปรับปรุงอาคารชลประทาน ทั้งช่วงก่อนฝนจะมาในช่วงเดือนสิงหาคมนี้ และช่วงฝนสิ้นสุดในช่วงหลังเดือนพฤศจิกายน โดยกรมชลประทานจะรับผิดชอบดำเนินการ 2.กิจกรรมด้านการเกษตร เพื่อสร้างรายได้ทดแทนในช่วงที่ต้องชะลอการทำนา แม้ว่าผลสำรวจในเบื้องต้น เกษตรกรส่วนใหญ่ในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา จะรอฝน เพื่อการทำนาปี โดยมีประมาณ 3 แสนไร่ ที่จะปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นๆ ดังนั้น แผนงานที่กรมส่งเสริมการเกษตรได้สำรวจความต้องการของเกษตรกรไว้เรียบร้อยแล้ว ก็ต้องมาหารือร่วมกับกรมชลประทานว่า สามารถจัดสรรน้ำให้เพียงพอได้หรือไม่ อย่างไรก่อนที่ฝนจะมาถึง และหลังจากฝนตกมาแล้ว จะทำการเกษตรเพิ่ม สร้างรายได้ได้อย่างไร

สำหรับมาตรการแก้ไขปัญหา เรื่องการบริหารจัดการน้ำในระยะสั้นและระยะยาว ที่กระทรวงเกษตรฯ ได้สั่งการอยู่ระหว่างเร่งรัดดำเนินการ คือ 1. การเปลี่ยนอุปสงค์ด้านการใช้น้ำทางการเกษตร เน้นการสร้างแหล่งน้ำขนาดเล็ก หรือแหล่งน้ำในฟาร์ม หรือการกำหนดเขตเกษตรกรรมใช้น้ำน้อย การประกอบอาชีพอื่น ปศุสัตว์ และประมง เป็นต้น 2. อาคารชลประทานบางประเภทที่ถ่ายโอนให้องค์กรปกครองท้องถิ่น แต่ท้องถิ่นไม่สามารถดำเนินการได้ ซึ่งอยู่ประมาณ 3,000 โครงการ ก็จะขอเข้าไปช่วยดูแล โดยเฉพาะการเพิ่มระบบส่งน้ำ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น 3. การดึงน้ำจากแม่น้ำสาละวิน และแม่โขง ในช่วงที่มีระดับน้ำเกินกักเก็บ จะให้กรมชลประทานเข้าไปศึกษาแนวทางว่า จะสามารถดึงน้ำส่วนเกินมาเป็นประโยชน์อย่างไรได้บ้าง รวมถึงแผนงานโครงการในระยะยาว ที่มีการศึกษามาแล้วก็จะต้องกลับมาพิจารณากัน 4. การเพิ่มประสิทธิภาพเรื่องการส่งน้ำใน 4 เขื่อนหลักของลุ่มเจ้าพระยาเอง ที่ยังขาดในเรื่องงบประมาณดำเนินการ ก็จะเร่งเสนอรัฐบาลพิจารณาโดยเร็วต่อไป

ทั้งนี้ หลังการประชุม นายปีติพงศ์ ได้ขึ้นเฮลิคอปเตอร์สำรวจสถานการณ์ภัยแล้งบริเวณลุ่มเจ้าพระยา ตอนล่าง นายปีติพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการขึ้นบินสำรวจพื้นที่เพาะปลูก บริเวณตอนล่างลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยบินไปทางด้านตะวันออก พบว่า พื้นที่ที่น่าจะมีปัญหาหนักหน่อย คือ แถวฝั่งซ้ายของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ติดต่อกับลุ่มน้ำป่าสัก ซึ่งมีปริมาณน้ำน้อย และพื้นที่สูงมีอยู่บางส่วนน้ำจะส่งไม่ถึง แต่เกษตรกรก็ปรับตัว ไม่ได้ลงมือเพาะปลูกพืช ส่วนฝั่งขวาแม่น้ำเจ้าพระยาใกล้ๆ แม่น้ำน้อย ยังมีพื้นที่บางส่วนยังส่งน้ำไม่ได้

“แต่ว่าส่วนนี้จะเป็นจุดๆ ยังเป็นปัญหา ดังนั้น หลังจากวันนี้ที่กรมชลประทาน และกรมส่งเสริมการเกษตร ที่ทำแผนที่การเพาะปลูก และปรับข้อมูลได้ตรงกันเรียบร้อยแล้ว ก็จะสั่งให้เจ้าหน้าที่ระดับพื้นที่ ซึ่งได้สั่งการให้มีการตั้งศูนย์ช่วยเหลือระดับตำบล อำเภอ ในพื้นที่เสี่ยง เพื่อเอกซเรย์ความต้องการของประชาชนอีกครั้ง ทั้งระยะก่อนฝนตก ซึ่งอีกไม่กี่วัน ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ กับหลังฝนตกแล้ว จะทำกิจกรรมการเกษตรชนิดใด”

ด้าน นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำ และปริมาณฝนที่จะตกลงมา กรมชลประทานจะยังคงการระบายน้ำจาก 4 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เฉลี่ยวันละ 28 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยจะคงเหลือน้ำต้นทุนสิ้นสุดฤดูฝน ณ วันที่ 1 พ.ย. 58 น้ำจะมีอยู่ประมาณ 3,200–3,900 ล้านลูกบาศก์เมตร.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 29 มิถุนายน 2558

ชี้ปัญหากรีซไม่ลามเป็นโดมิโน แม้จะมีการปิดแบงก์หลายแห่ง คลังห่วงภัยแล้งฉุดจีดีพี

สศค. ชี้ปัญหากรีซอยู่ในวงจำกัด ไม่ลามเป็นโดมิโน แม้จะมีการปิดแบงก์หลายแห่ง แต่เป็นการแก้ปัญหาในประเทศตนเอง มั่นใจไม่กระทบหุ้น และค่าเงินบาท เตรียมประกาศตัวเลข ศก.ใหม่อีกครั้ง ก.ค.นี้ หลังการส่งออกลดลงต่อเนื่อง ส่วนภัยแล้งอาจกระทบจีดีพีลดลง 0.15%

                นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า จากปัญหาเศรษฐกิจ และการชำระหนี้ของกรีซ แม้ประชาชนลงประชามติเกี่ยวกับแผนชำระหนี้วันที่ 5 กรกฎาคม 2558 อาจกระทบต่อเศรษฐกิจโลกวงกว้างไม่มาก เนื่องจากกรีซเปลี่ยนไปมีภาระหนี้ต่อกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และสหภาพยุโรป (อียู) ในนามรัฐบาลกลางยุโรป โดยไม่ได้มีภาระหนี้ต่อประเทศใดประเทศหนึ่ง โดยมีภาระหนี้แต่ละประเทศในยุโรปน้อยลง โดยมีภาระหนี้เป็นสัดส่วนร้อยละ 2 ของจีดีพีอียู

               นายกฤษฎา กล่าวว่า ต้องรอพิจารณาดูว่าจะมีแผนการแก้ไขภายในประเทศของกรีซอย่างไรบ้าง ยอมรับว่า อาจกระทบการส่งออกในอียูบ้างเล็กน้อย และมองว่าปัญหาจะอยู่ในวงจำกัด แม้จะมีปัญหาการปิดธนาคารหลายแห่ง แต่เป็นการแก้ปัญหาในประเทศของกรีซเอง แม้จะเลือกออกจากอียูรัฐบาล กรีซจะต้องมีหลักประกันกับประชาชน และยอมรับว่า สกุลเงินจะมีราคาเท่าใด จึงมองว่าปัญหาจะไม่แพร่กระจายไปมาก

               ผอ.สศค. กล่าวว่า เศรษฐกิจกรีซพึ่งพาการท่องเที่ยว และระบบขนส่ง จึงคาดว่าปัญหาของกรีซอาจส่งผลต่อตลาดเงิน ตลาดทุนไม่มาก โดยเฉพาะค่าเงินบาทของไทย เพราะธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมาตรการรองรับไว้แล้ว ขณะที่ผลกระทบต่อตลาดหุ้นไม่น่าเป็นห่วงมากเช่นกัน

               ส่วนผลกระทบเศรษฐกิจโลกต่อการส่งออกของไทยซึ่งชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง หลังจากปรับลดเป้าหมายลงเหลือร้อยละ 0.2 และในเดือนกรกฎาคมจะประกาศตัวเลขเศรษฐกิจใหม่อีกครั้ง หลังจากตัวเลขการส่งออกปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งปัญหาภัยแล้ง หลังจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยอมรับว่า จีดีพีด้านการเกษตรขยายตัวลดลงจากร้อยละ 2.5-3.0 เหลือร้อยละ 1.4 จึงกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวมประมาณร้อยละ 0.15

                อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจไทยยังมีหวังจากเงินลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐวงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท มีความชัดเจนมากขึ้น รวมทั้งแผนบริหารจัดการน้ำ ขณะที่การท่องเที่ยวยังขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะยอดนักท่องเที่ยวสนามบินสุวรรณภูมิ ขณะนี้ขยายตัวถึงร้อยละ 65 จึงยังเป็นปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจของไทย

จาก http://manager.co.th   วันที่ 29 มิถุนายน 2558

เขื่อนกาญจน์ก๊อกสุดท้ายจัดการน้ำ

               แม้ชั่วโมงนี้ เขื่อนขนาดใหญ่ใน จ.กาญจนบุรี 2 เขื่อน กำลังรับบทบาทพระเอกในสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานวิกฤติการณ์ภัยแล้งอยู่ก็ตาม หากแต่ในอนาคตอันใกล้ หรืออย่างน้อยภายในไม่กี่เดือนข้างหน้า ถ้าหากการบริหารจัดการน้ำที่เหลืออยู่ในอ่างไม่สามารถตอบสารพัดโจทย์ของการใช้สอยประโยชน์ได้ การตัดสินใจใดๆ ก็อาจจะกลายเป็นผู้ร้ายไปได้ในชั่วข้ามคืน

               ด้วยศักยภาพกักเก็บน้ำของเขื่อนศรีนครินทร์ ที่ระดับความจุ 17,745 ล้านลูกบาศก์เมตร มีปริมาณกักเก็บน้ำอยู่ในอ่าง ณ วันที่ 23 มิถุนายน   12,058 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่เขื่อนวชิราลงกรณสามารถกักเก็บน้ำได้ 8,860 ล้านลูกบาศก์เมตร มีปริมาณน้ำอยู่ในอ่างขณะนี้ 3,513 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 40 ของความจุอ่าง

               จึงอาจนับได้ว่า ปริมาณน้ำที่เหลือใน 2 เขื่อนใหญ่ในหุบเขาด้านตะวันตกของประเทศคือน้ำเลี้ยง "ก๊อกสุดท้าย" ที่จะสามารถแจกจ่ายไปเพื่อการอุปโภคบริโภค และกิจกรรมอื่นๆ ที่จำเป็นในยามวิกฤติถึงที่สุด กรณีฝนฟ้าห่างหายไปอีกหลายเดือน ขณะที่เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ต้นทางของลุ่มน้ำเจ้าพระยามีปริมาณน้ำเหลืออยู่เพียงน้อยนิดเมื่อเทียบกับความจุอ่าง หรืออย่างที่ทราบกันว่า กำลังเดินเข้าสู่ภาวะ "น้ำตาย"

                ปรากฏการณ์ "น้ำลง" ต่ำสุด ที่ตลาดอัมพวา จ.สมุทรสงคราม ปลายน้ำของสองเขื่อนใหญ่กาญจนบุรี ดูเหมือนกำลังจะกลายเป็นใบเสร็จฟ้องร้องว่า การแจกจ่ายทรัพยากรน้ำสู่เบื้องล่างไม่เป็นไปตามกฎของการบริหารจัดการ แม้ว่าชาวบ้านร้านตลาด และนักการเมืองท้องถิ่นที่อัมพวาพากันประสานเสียงว่า อย่าได้ตื่นตระหนก เพราะเป็นภาวะปกติ หากแต่ปรากฏการณ์ "น้ำขึ้น" สูงสุดของวัน ก็หาได้เป็นเครื่องยืนยันว่า ระดับน้ำนั้นเทียบเท่ากับช่วงเดียวกันของหลายๆ ปีก่อนหน้า โดยเฉพาะเมื่อย้อนลึกกลับไปก่อนปี 2555 ที่รัฐบาลเลือกใช้ "การเมืองนำ" การบริหารจัดการ พร่องน้ำทิ้งจนเกิดโรคแล้งเรื้อรังถึงปัจจุบัน

               ปริมาณการปล่อยและระดับน้ำในแม่น้ำแม่กลองในหลายจุดต่างหาก ที่จะเป็นเครื่องยืนยันถึงความปกติ หรืออปกติ ประเสริฐ ธำรงวิศว ผู้อำนวยการเขื่อนวชิราลงกรณ ยอมรับว่า เขื่อนได้ลดปริมาณการระบายน้ำลง จากเดิมวันละ 14 ล้านลูกบาศก์เมตร เหลือวันละ 12 ล้านลูกบาศก์เมตร เพราะน้ำในเขื่อนทางโซนภาคเหนือเหลือศักยภาพปล่อยลงมาได้เพียงวันละ 6 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น

               การปล่อยจากโซนภาคเหนือในความหมายของ ผอ.ประเสริฐ จะเป็นที่อื่นไปไม่ได้ นอกจากเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน(พิษณุโลก) และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ (ลพบุรี) ที่กำลังประสบภาวะวิกฤติอยู่ในขณะนี้ ดังที่ปรากฏตัวเลขระดับน้ำในอ่างตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน จนถึงวันที่ 23 มิถุนายน 2558 ลดลงอย่างต่อเนื่องและมีนัยสำคัญยิ่งต่อสถานการณ์แล้งหนักหน่วงช่วงฝนทิ้งช่วงนับจากนี้

               การลำเลียงน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ในฟากตะวันตก ข้ามฟากมายังฝั่งตะวันออก ถึงโรงกรองน้ำมหาสวัสดิ์ ย่านถนนกาญจนาภิเษก ของการประปานครหลวง น่าจะตอบโจทย์ได้ประการหนึ่งว่า เพราะเหตุใดเขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณจึงต้องเข้ามามีบทบาทเป็นทัพหลวง "ตั้งรับวิกฤติ"

                จึงจำเป็นอยู่เองที่ ผอ.เขื่อนวชิราลงกรณ ต้องส่งสัญญาณถึงคนเมืองให้ช่วยกันประหยัด

               "น้ำกินน้ำใช้ของ กทม.ก็ให้ช่วยกันประหยัด และเก็บน้ำสำรองไว้ด้วย เพราะถ้าน้ำเหนือไม่มาก็จะมีน้ำเค็มหนุนเข้ามาในคลองประปา ก็ยิ่งจะแย่ไปกันใหญ่ ถ้าหากเกิดแล้งรุนแรงก็ต้องมองต้นทุนน้ำเป็นหลัก แบ่งปันกันไปช่วยประเหยัดกันได้ ก็ต้องช่วยกันมองให้เห็นประโยชน์ของส่วนรวมไว้ก่อน" ผอ.ประเสริฐ กล่าว

               เมื่อช่วงเดือนมกราคม-ต้นมิถุนายนที่ผ่านมา เขื่อนวชิราลงกรณปล่อยน้ำออกไปแล้วในอัตราที่เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ เพราะความต้องการน้ำท้ายเขื่อนมีมากในช่วงหน้าแล้ง ขณะเดียวกันกลับปรากฏว่า น้ำไหลเข้าเขื่อนมีปริมาณน้อยกว่าที่คาดการณ์ นั่นหมายถึงว่า เมื่อเวลายิ่งผ่านไป ระดับน้ำในอ่างกลับลดลง แม้ว่าจะมีฝนตกลงมาบ้างแล้วก็ตาม

                 ปริมาณน้ำในเขื่อนวชิราลงกรณเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน มีอยู่ในอ่าง 3,761 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 42% ถึงวันที่ 23 มิถุนายน ลดลงเหลือ 3,513 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 40%  ซึ่งผอ.เขื่อนบอกว่า แนวทางการปฏิบัติจะมีคณะผู้บริหารจัดการน้ำแล้งจากกรมวิชาการเกษตรและคณะกรรมการชุดใหญ่ร่วมกันจัดสรร โดยกำหนดไว้ว่า จากเดือนมกราคม-มิถุนายน จะปล่อยน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคมากน้อยอย่างไร ซึ่งทุกกรณีจะต้องปรับไปตามความจำเป็น

               มีความจำเป็นที่คล้ายๆ กันในพื้นที่ 7 จังหวัดที่อาศัยน้ำเพื่อการเกษตรเป็นหลักคือ กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี เพชรบุรี นครปฐม สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม หากแต่น้ำจืดจำนวนมหาศาลในภาคตะวันตกก็เป็นอีกเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงการอุปโภคบริโภคในกรุงเทพมหนคร โดยเฉพาะน้่ำดิบจากเขื่อนศรีนครินทร์

                 "แม้ว่าช่วงนี้จะเป็นช่วงเข้าฤดูฝนแล้วก็ตาม ในอ่างเก็บน้ำยังมีปริมาณน้ำน้อยมาก จึงขอให้ประชาชนผู้ใช้น้ำท้ายเขื่อนช่วยกันประหยัด ใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด มิฉะนั้นก็จะเกิดปัญหาความเดือดร้อนกันเพิ่มขึ้น" ธนรัชต์ ภุมมะกสิกร ผู้อำนวยการเขื่อนศรีนครินทร์ สำทับอีกแรง

               ด้วยภาวะแห้งแล้งยาวนาน ยังผลให้เขื่อนศรีนครินทร์ต้องระบายน้ำออกมากขึ้นเป็นวันละ 6-10 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อให้เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคและการทำนาปีที่ชาวนาเริ่มปักดำกันแล้ว ขณะที่มีน้ำไหลเข้าอ่างเพียงวันละ 1-2 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น นั่นก็หมายถึงว่า ถ้าฝนฟ้ายังทิ้งช่วงเช่นนี้ต่อไป ระดับน้ำในอ่างเขื่อนศรีนครินทร์ก็จะลดลงเรื่อยๆจนถึงจุดน่าวิตก ซึ่งผอ.ธนรัชต์ คาดการณ์ว่า ถ้าหากแล้งยาวนานถึง 3 เดือน เขื่อนก็อยู่ในเกณฑ์ หมดสภาพ

               แต่นี่ก็อาจเป็นการมองโลกในแง่ดีอยู่ไม่น้อย เพราะระยะเวลา 90 วันเช่นว่า จะเข้าหน้ามรสุมค่อนข้างพอดิบพอดีพอดี

               ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 มิถุนายนมีอยู่ 12,058 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 68 ของความจุอ่าง ลดลงจากเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ที่มีอยู่ 69% หรือ 12,159 ล้านลูกบาศก์เมตร

               อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีตัวเลขแน่ชัดว่าระดับความสูงของน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ที่ลดลงจาก 166.59 เมตร เหลือ 164.84 เมตร หรือประมาณ 2 เมตรกว่าๆ มีความสัมพันธ์อย่างไรกับระดับน้ำท้ายเขื่อนในแม่น้ำแม่กลองที่ลดลงจนสามารถสังเกตได้ด้วยตาว่าเห็นหาด ขณะที่อัมพวากลับแห้งขอดในช่วงน้ำตายหรือน้ำลงต่ำสุด ซึ่งก็ยังไม่มีตัวเลขยืนยันเช่นกันว่า ช่วงระบายน้ำปกติเมื่อก่อนปี 2555 นั้น ระดับน้ำในแม่น้ำเป็นเช่นไร

               นัยสำคัญของการระบายน้ำวันละ 6-10 ล้านลูกบาศก์เมตร จากเขื่อนศรีนครินทร์ จึงเป็นประเด็นชวนติดตามว่า มีความสัมพันธ์กับการสำรองหรือแม้แต่ลำเลียงน้ำสู่โรงกรองน้ำมหาสวัสดิ์ของการประปานครหลวงอย่างไร และได้สัดส่วนพอเหมาะพอดีกับความต้องการของทุกฝ่ายทั้งภาคเกษตรกรรม และการรักษาระบบนิเวศสักแค่ไหน เพราะในภาวะเช่นนี้ มักมีข้อสงสัยจากคนทำนาทำไร่ผู้ต้องพึ่งพิงน้ำเขื่อนต่อลมหายใจก่อนฝนฟ้าจะตกต้องตามเวลาว่า "น้ำในเขื่อนหายไปไหน?"

                แรม เชียงกา ตัวแทนชาวนากาญจนบุรี บอกว่า เมื่อรัฐบาลประกาศให้ชาวนาเลื่อนการทำนาปีออกไป ขณะนี้กลุ่มเกษตรกรกำลังรวมกลุ่มกันอยู่ แต่ก็คงไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะมีกฎหมายบังคับ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว กาญจนบุรีไม่ได้ขาดแคลนน้ำ ทั้งเพื่อการเกษตรและขับไล่น้ำเค็ม

                "กิจกรรมต่างๆ ของทั้งสองเขื่อนใหญ่ยังคงดำเนินการต่อไป เพื่อแก้ปัญหาทั้งการผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการ การกักเก็บน้ำเพื่อให้เพียงพอกับการใช้ของเกษตรกร รวมถึงการใช้น้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ  หากแต่ว่า ถ้าฝนต้องทิ้งช่วงติดต่อกันถึงปีที่สามคือปีนี้ รัฐบาลต้องคิดต่อกันแล้วว่า อะไรจะเกิดขึ้น นั่นแหละปัญหาใหญ่ของรัฐบาล ทั้งปัญหาเรื่องน้ำและความเดือดร้อนในเรื่องปากท้องของชาวไร่ชาวนา" แรม กล่าวทิ้งท้ายอย่างเข้าใจถึงความจำเป็นที่ต้องแบ่งสรรปันน้ำกันในยามวิกฤติ

               โดยเฉพาะน้ำก๊อกสุดท้ายจากสองเขื่อนใหญ่แห่งกาญจนบุรี

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 29 มิถุนายน 2558

กรมส่งเสริมการค้าฯเผยถกรอบ2 CLMV วางแผนปี 59 เชื่อมหัวเมืองเศรษฐกิจรองรับ AEC

กรมส่งเสริมการค้าฯเผยถกรอบ2 CLMV วางแผนปี 59 เชื่อมหัวเมืองเศรษฐกิจรองรับ AEC ขยาย เอกชนชี้ไทยเร่งศึกษารูปแบบเขตความร่วมมือบ่อเต็น-บ่อหาน ดันสินค้า 3 กลุ่มโอกาสดีรับสังคมเมือง

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะทำงานผลักดันและเร่งรัดการส่งออก ตลาด CLMV(กัมพูชา ลาว เมียนมาร์และเวียดนาม) ครั้งที่ 2/2558 ว่า การส่งออกไทยไปยังตลาดCLMV มีอัตราขยายตัว 8.8% หรือ มีมูลค่า 7,121 ล้านเหรียญสหรัฐฯ( 231,130 ล้านบาท) โดยเวียดนามและกัมพูชามีการขยายตัวสูง 16.7% ( 2,602 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) และ 12.1% (1,737 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)ตามลำดับ

 “สินค้าที่ไทยมีโอกาสผลักดันสูงสุด 3 อันดับแรก  ได้แก่ ผลิตภัณฑ์พลาสติก/ของใช้พลาสติก คาดว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 30%  เนื่องจากประชากรมีรายได้มากขึ้นจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ พลาสติกเป็นเครื่องใช้ที่ราคาไม่สูง หาซื้อได้ง่าย เป็นที่นิยม โดยเฉพาะวัยทำงาน  สินค้าเครื่องดื่ม คาดว่าจะส่งออก5%ขยายตัวตามจำนวนนักท่องเที่ยว การเข้าสู่ความเป็นสังคมเมือง การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรชนชั้นกลางซึ่งมีกำลังซื้อสูงขึ้น และสินค้าวัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้น 10%  ธุรกิจก่อสร้างอาคาร ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน ระบบขนส่งโลจิสติกส์ มีการขยายตัวมาก”นางนันทวัลย์ กล่าว

 ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ได้กิจกรรมระหว่างเดือนมิ.ย. - ก.ย.58 อีกประมาณ 15 ครั้ง อาทิ จัดงานไทยแลนด์วีค 4 งาน ที่ประเทศลาว  เวียดนาม(โฮจิมินห์ – ฮานอย - เกิ่นเทอ) , จัดคณะผู้แทนการค้าธุรกิจบริการสุขภาพและความงามไปเจรจาการค้า ณ นครโฮจิมินห์ เวียดนาม, จัดคณะผู้แทนการค้าสินค้าอะไหล่ จักรยานยนต์ไปฮานอย เวียดนาม ,งานแสดงสินค้าในกัมพูชาที่ จ.ไพลิน และจ.บันเตียเมียนเจย , จัดจับคู่ธุรกิจกลุ่มสินค้าธุรกิจเกษตรและเกษตรแปรรูปในกัมพูชา รวมถึงจัดส่งเสริมการขายร่วมกับห้างสรรพสินค้าชั้นนำในเมียนมาร์ และเวียดนาม เป็นต้น

 ที่ประชุมซึ่งมีสภาธุรกิจไทย-ลาว สภาธุรกิจไทย-เมียนมาร์ สภาธุรกิจไทย-กัมพูชา และสภาธุรกิจไทย-เวียดนามเข้าร่วมด้วย เสนอว่า ควรวางแผนเพื่อเตรียมความพร้อมในปี 2559 ล่วงหน้า จึงได้เสนอแนวทางการใช้ช่องทางและโอกาสที่เปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี)ให้กรมฯ จัดทำแผนกิจกรรมโดยเน้นโครงการบุกเจาะตลาดการค้าในหัวเมืองหลักทางเศรษฐกิจของทุกประเทศ CLMV และโครงการขับเคลื่อนการค้าผ่านโมเดิร์น เทรด(ค้าปลีกสมัยใหม่) โดยเน้นเวียดนาม ซึ่งเป็นตลาดค้าปลีกขนาดใหญ่ในปัจจุบัน

“การบุกเจาะตลาดการค้าในหัวเมืองหลักทางเศรษฐกิจ (พระตะบอง เสียมราฐ-กัมพูชา / ไฮฟอง เกิ่นเธอ –เวียดนาม / มะริด มัณฑะเลย์ – เมียนมาร์ /บ่อแก้ว- สปป.ลาว) ผู้แทนภาคเอกชนให้ความเห็นว่า ควรเพิ่มกิจกรรมที่บ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทา ใน สปป. ลาว  เนื่องจากพื้นที่ชายแดนบ่อเต็น (สปป.ลาว) และบ่อหาน (จีน) ได้รับการพัฒนาเป็นเขตความร่วมมือเศรษฐกิจระหว่างจีน กับ สปป. ลาว แบ่งเขตความร่วมมือเป็น 3 เขต คือ เขตการเงินและธุรกิจ  เขตท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และเขตศูนย์โลจิสติกส์คลังสินค้าทัณฑ์บน (Bonded Logistic Center)”นางนันทวัลย์ กล่าว

ในส่วนของศูนย์โลจิสติกส์คลังสินค้าทัณฑ์บนเมื่อแล้วเสร็จจะเป็นศูนย์รวมสินค้าปลอดภาษี แหล่งบันเทิง ศูนย์แลกเปลี่ยนการค้า แหล่งสินค้าพื้นเมือง ศูนย์นักท่องเที่ยว ศูนย์กลางรถขนส่งสินค้านานาชาติและโรงแรมต่างๆ จึงเป็นโอกาสสำหรับประเทศไทยที่จะเข้าไปลงทุนสร้างศูนย์แสดงสินค้า ตลาดผลไม้ เพื่อเป็นช่องทางในการกระจายสินค้าอาหารและผลไม้ไทยเข้าสู่ตลาดจีน รวมถึงธุรกิจให้บริการต่างๆ อาทิ ร้านอาหาร โรงแรม ธุรกิจบันเทิง เป็นต้น

“ไทยสามารถศึกษารูปแบบเขตความร่วมมือเศรษฐกิจบ่อเต็น-บ่อหาน เป็นตัวอย่างในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน ในลักษณะเขตเศรษฐกิจพิเศษร่วม ซึ่งกรมฯรับข้อเสนอเพื่อนำไปพิจารณาความเหมาะสมต่อไป”             

 สำหรับกัมพูชา ผู้แทนภาคเอกชนแสดงความเห็นว่า แม้ว่าพนมเปญจะเป็นศูนย์กลางการค้าของประเทศ แต่หลายจังหวัดมีขนาดใหญ่ขึ้น อาทิ พระตะบอง ศรีหนุวิล ศรีโสภณ โดยมีแนวโน้มที่บทบาทของนายหน้าตามแนวชายแดนจะลดลง เนื่องจากผู้ซื้อตามแนวชายแดนจะหันมาซื้อสินค้าโดยตรงมากขึ้น และหันมาใช้ระบบการสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์ นอกจากนี้ กัมพูชายังเป็นเส้นทางกระจายสินค้าไทยเข้าสู่เวียดนามตอนใต้ได้อีกด้วย ขณะที่เมียนมาร์ ศูนย์กระจายสินค้าหลักของประเทศยังอยู่ที่ย่างกุ้ง ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศ แต่หากสามารถเปิดเส้นทางสู่ตองยี ทางตอนเหนือ ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ได้ จะทำให้ไทยสามารถขยายสินค้าเข้าสู่ตลาดเมียนมาได้อย่างทั่วถึง

จาก http://www.matichon.co.th วันที่ 29 มิถุนายน 2558

กรมฝนหลวงฯเร่งเติมน้ำในภาคอีสาน

เกษตรฯ ติดตามสถานการณ์ภัยแล้งและการปฏิบัติการฝนหลวงเร่งปฏิบัติการเติมน้ำในเขื่อนแก้ปัญหาภัยแล้ง

นายสมปอง อินทร์ทอง รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง และการปฏิบัติการฝนหลวง ณ เขื่อนลำตะคองว่า กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้มีแผนการปฏิบัติการช่วยเหลือตั้งแต่เดือนเม.ย.เป็นต้นมาโดยมีการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือขึ้นที่จังหวัดขอนแก่นจังหวัดนครราชสีมาจังหวัดอุบลราชธานีและหน่วยเติมสารฝนหลวงขึ้นที่จังหวัดบุรีรัมย์

ที่ผ่านมาศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เริ่มปฏิบัติการฝนหลวงตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2558โดยได้รับการสนับสนุนเครื่องบินร่วมปฏิบัติการจำนวน6 ลำ เป็นเครื่องบินเกษตร จำนวน 2 ลำ และได้รับการสนับสนุนจากกองทัพอากาศจำนวน 4 ลำ ขึ้นบินปฏิบัติการ จำนวน 498 เที่ยวบิน สารฝนหลวงที่ใช้ จำนวน 528.70ตันซึ่งสามารถบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพื้นที่การเกษตรที่ร้องขอเป็นการเร่งด่วนในเขตอ.ปากช่อง และ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา นอกจากนี้ยังเร่งปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเพิ่มน้ำให้กับเขื่อนสำคัญเช่น อ่างเก็บน้ำเขื่อนลำตะคอง ลำพระเพลิง อ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์อ่างเก็บน้ำเขื่อนจุฬาภรณ์ และอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิรินธร เป็นต้น

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทานได้มีแผนการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งปัจจุบันเขื่อนลำตะคองมีปริมาณน้ำ 80.458 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 25.58 จากความจุปกติที่ 314.49 ล้าน ลบ.ม.ซึ่งสามารถระบายน้ำได้วันละประมาณ 432,000 ลบ.ม.จึงต้องมีการจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค การประปาการรักษาระบบนิเวศเป็นหลัก เพื่อให้เพียงพอในช่วงน้ำแล้งนี้

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 29 มิถุนายน 2558

ทุนจีนยูนนานถกตั้งโรงแม่ปุ๋ย เล็งคุยจักรมณฑ์กรุยทางก.ค.นี้ฟื้นโปรเจกต์ผันน้ำเหมืองแก้แล้ง 

 กพร.เผยโปแตชเนื้อหอม นักลงทุนจีนยูนนานเตรียมถกจักรมณฑ์ตั้งโรงงานแม่ปุ๋ยที่โคราช

          นายสุรพงษ์ เชียงทอง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เปิดเผยว่า หลังจากกระทรวงอุตสาหกรรมออก

          ประทานบัตรเหมืองแร่โปแตชแห่งแรกในประเทศไทยให้กับบริษัท เหมืองแร่โปแตชอาเซียน จ.ชัยภูมิ และออกอาชญาบัตรสำรวจแร่ให้กับนักลงทุนชาวจีน 2 ราย ขณะนี้นักลงทุนจีนจากยูนนานสนใจจะเข้ามาร่วมลงทุนธุรกิจผลิตแม่ปุ๋ย โดยจะเข้าร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการที่ได้อาชญาบัตรแล้วคือ บริษัท โรงปังไมนิ่ง จ.นครราชสีมา ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะยื่นขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ในอีกไม่นานนี้

          "นักลงทุนจีนยูนนานมองเห็นศักยภาพการลงทุนในไทยที่มีความพร้อมในการผลิตปุ๋ย เนื่องจากมีแร่ธาตุหลักครบถ้วน จึงเตรียมจะเข้าพบเพื่อหารือกับ นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รมว.อุตสาหกรรมในช่วงต้นเดือน ก.ค.นี้ หากการร่วมลงทุนประสบความสำเร็จคาดว่าการลงทุนสร้างโรงปุ๋ยเฟสแรกจะมีกำลังการผลิต 5 หมื่นตัน/ปี และขยายกำลังการผลิตได้สูงสุด 1-2 ล้านตัน/ปี วงเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท" นายสุรพงษ์ กล่าว

          ทั้งนี้ แม้ว่าพื้นที่ยูนนานประเทศจีนจะมีศักยภาพในการผลิตแร่ฟอสเฟต (P) อย่างมาก แต่จำเป็นต้องใช้แร่โปแตชเพื่อผลิตธาตุโพแทสเซียม (K) จากประเทศไทย ส่วนธาตุไนโตรเจน (N) นั้นสามารถผลิตได้จากอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้อยู่แล้ว เช่น อุตสาหกรรมปิโตรเคมี

          นอกจากนี้ กพร.ยังมีแนวคิดฟื้นโครงการเหมืองแร่แก้ภัยแล้ง ซึ่งจะพัฒนาบ่อน้ำในเหมืองแร่เก่า ซึ่งเคยถูกใช้เป็นแหล่งเก็บน้ำเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง กลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับชุมชนอีกครั้ง โดย กพร.จะเสนอขอความร่วมมือไปยังองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ในแต่ละพื้นที่ช่วยสำรวจมาว่า หากพื้นที่ใดมีความต้องการใช้น้ำและมีเหมืองแร่เก่าในพื้นที่มีความสามารถในการกักเก็บน้ำไว้ได้หรือมีน้ำเหลือในบ่อหรือไม่ หากมีก็ให้ประสานมายัง กพร.เพื่อที่จะได้ติดต่อไปยังผู้ประกอบการนำการขอนำแหล่งที่กักเก็บน้ำอยู่เหมืองนำ มาไปใช้เป็นสาธารณประโยชน์และใช้การเกษตรต่อไป

          นายสุรพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับบ่อน้ำในเหมืองเก่าที่จะนำใช้ประโยชน์นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นน้ำที่ค้างอยู่ในเหมืองหินและโรงโม่บดย่อยหินที่หมดอายุสัมปทานไปแล้ว ซึ่งเป็นน้ำที่ไม่มีสารพิษตกค้างและนำมาใช้ในภาคเกษตรกรรมได้

          "โครงการนี้เคยมีมาแล้วเมื่อ 2-3 ปีก่อน แต่ในปีนี้เป็นปีที่มีวิกฤตภัยแล้ง ก็คิดว่าน้ำที่ค้างในเหมืองเก่าน่าจะนำมาใช้ประโยชน์ได้ เพียงแต่ขอให้แจ้งมาว่าอยู่ในพื้นที่ใดบ้าง" นายสุรพงษ์ กล่าว

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 29 มิถุนายน 2558

ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กร “บ. น้ำตาลบุรีรัมย์” ที่ “BBB-” ด้วยแนวโน้ม “Stable” -

          ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ "BBB-" ด้วยแนวโน้ม "Stable" หรือ "คงที่" โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงประสบการณ์ที่ยาวนานในธุรกิจอ้อยและน้ำตาล ตลอดจนผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยที่อยู่ระดับสูงของบริษัท ระบบแบ่งปันผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมน้ำตาลในประเทศไทย และการขยายกิจการไปสู่ธุรกิจไฟฟ้า ซึ่งเพิ่มกระแสเงินสดที่มั่นคงให้แก่บริษัท อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากขนาดการผลิตน้ำตาลที่ค่อนข้างขนาดเล็กและการมีโรงงานน้ำตาลเพียงแห่งเดียว นอกจากนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงความเสี่ยงจากสถานการณ์ราคาน้ำตาลที่อยู่ในระดับต่ำ ตลอดจนความผันผวนของปริมาณผลผลิตอ้อยด้วย

          แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดในอุตสาหกรรมน้ำตาลในประเทศไว้ได้ ระบบแบ่งปันผลประโยชน์ในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในประเทศไทย ตลอดจนการเติบโตของรายได้จากธุรกิจไฟฟ้าจะช่วยรองรับการดำเนินงานในช่วงวงจรขาลงของธุรกิจน้ำตาลไว้บางส่วน นอกจากนี้ คาดว่าบริษัทจะสามารถบริหารจัดการอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 60% ในช่วงขยายการลงทุนไว้ได้

          อันดับเครดิตมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นได้ หากบริษัทมีกระแสเงินสดคงที่มั่นคงเพิ่มขึ้นจากธุรกิจไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนของราคาน้ำตาล การปรับลดอันดับเครดิตสามารถเกิดขึ้นได้ในกรณีที่ราคาน้ำตาลตกต่ำอย่างต่อเนื่องจนส่งผลให้อัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทลดลงเป็นระยะเวลานาน นอกจากนี้ การลงทุนจำนวนมากก็เป็นปัจจัยลบต่ออันดับเครดิตของบริษัทด้วยเช่นกัน

          บริษัทน้ำตาลบุรีรัมย์เป็นหนึ่งในผู้ผลิตน้ำตาลในประเทศไทย บริษัทก่อตั้งในปี 2506 โดยกลุ่มตระกูลตั้งตรงเวชกิจและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในเดือนพฤศจิกายน 2557 ณ เดือนมีนาคม 2558 ตระกูลตั้งตรงเวชกิจถือหุ้นในสัดส่วน 74.3% ของหุ้นทั้งหมดของบริษัท บริษัทเป็นเจ้าของและบริหารโรงงานน้ำตาล 1 แห่งในจังหวัดบุรีรัมย์ โดยมีกำลังการหีบอ้อยรวมเท่ากับ 17,000 ตันอ้อยต่อวัน ในปีการผลิต 2557/2558 บริษัท สามารถหีบอ้อยได้ 1.95 ล้านตันอ้อย และผลิตน้ำตาลได้ 230,379 ตัน ในปีการผลิต 2557/2558 บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาด 2% หากพิจารณาจากผลผลิตน้ำตาล ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยของบริษัทอยู่ในระดับสูง โดยในปีการผลิต 2557/2558 บริษัทสามารถผลิตน้ำตาลสูงถึง 118.07 กิโลกรัม (กก.) ต่อตันอ้อย ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมน้ำตาลในประเทศไทยที่ 106.65 กก. ต่อตันอ้อย และสูงเป็นอันดับ 3 จากโรงงานน้ำตาล 50 โรงทั่วประเทศ

          บริษัทผลิตน้ำตาลทราย 2 ประเภท คือ น้ำตาลทรายขาวสีรำเพื่อจำหน่ายแก่ลูกค้าภายในประเทศ และน้ำตาลทรายดิบเพื่อการส่งออก นอกจากธุรกิจน้ำตาลแล้ว บริษัทยังได้ขยายการลงทุนไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจน้ำตาลเพื่อใช้ประโยชน์สูงสุดจากอ้อยด้วย เช่น ธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้าและปุ๋ย โดยบริษัทจำหน่ายกระแสไฟฟ้าจำนวน 16 เมกะวัตต์ ให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวในโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (Very Small Power Producer - VSPP) โรงไฟฟ้าแห่งแรกขนาด 8 เมกะวัตต์และโรงงานปุ๋ยของบริษัทได้เริ่มเปิดดำเนินการในปี 2555 สัดส่วนรายได้ของธุรกิจไฟฟ้าและปุ๋ยคิดเป็น 8%-12% ของรายได้รวมทั้งหมดในช่วงปี 2555-2557 และคาดว่าสัดส่วนรายได้ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นอีกหลังจากที่โรงไฟฟ้าแห่งที่ 2 ของบริษัทเริ่มเปิดดำเนินการในเดือนเมษายน 2558

          ผลการดำเนินงานของบริษัทขึ้นไปสูงสุดในปี 2554 และได้ปรับตัวลงในช่วงปี 2555-2557 เช่นเดียวกับโรงงานน้ำตาลทุกแห่งเนื่องจากราคาน้ำตาลที่อ่อนแอ แม้ว่าราคาน้ำตาลปรับตัวลดลง แต่รายได้รวมของบริษัทยังคงเติบโตมาอยู่ที่ระดับ 3,920 ล้านบาท ในปี2558 คิดเป็นอัตราการเติบโตที่ 4.7% ต่อปี ในช่วงปี 2554-2557 การเติบโตของรายได้รวมมาจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณการจำหน่ายน้ำตาล โดยปริมาณการจำหน่ายน้ำตาลของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 174,195 ตัน ในปี 2554 เป็น 209,226 ตัน ในปี 2557 ปริมาณน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากการที่บริษัทประสบความสำเร็จในการสนับสนุนชาวไร่อ้อยให้เพิ่มผลผลิตอ้อยต่อไร่และบริษัทสามารถผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยได้มากขึ้น นอกจากนี้ การเปิดดำเนินการของโรงไฟฟ้าแห่งแรกและโรงงานปุ๋ยยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยเพิ่มการเติบโตของรายได้ของบริษัท อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จากการขายของบริษัทอยู่ในระดับปานกลางที่ 10.1%-13.1% ในช่วงปี 2555-2557 ซึ่งใกล้เคียงกับโรงงานน้ำตาลขนาดเล็กอื่น ๆ แต่ต่ำกว่าโรงงานน้ำตาลขนาดใหญ่ที่อยู่ในระดับ 15%-20% ราคาน้ำตาลที่ปรับตัวลดลงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ความสามารถในการทำกำไรของโรงงานน้ำตาลลดลงในช่วงปี 2555-2557 อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จากการขายของบริษัทลดลงมาอยู่ที่ 10.1%-13.1% ในช่วงปี 2555-2557 จากระดับสูงสุดที่ 18.3% ในปี 2554 อย่างไรก็ตาม ระบบแบ่งปันผลประโยชน์และความสามารถในการหีบอ้อยของบริษัทที่เพิ่มขึ้นช่วยลดผลกระทบต่ออัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานลงได้บางส่วน โดยในปี 2557 แม้ว่าราคาขายเฉลี่ยของบริษัทลดลง 7% จากปี 2556 แต่อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จากการขายยังเพิ่มขึ้นเป็น 12.1% ในปี 2557 จาก 10.1% ในปี 2556 การเพิ่มขึ้นของปริมาณอ้อยเข้าหีบและต้นทุนอ้อยต่อหน่วยที่ลดลงตามระบบแบ่งปันผลประโยชน์ ส่งผลทำให้ต้นทุนการผลิตของบริษัทลดลง นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของรายได้จากธุรกิจไฟฟ้าเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยเพิ่มกำไรของบริษัท ส่งผลให้กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เพิ่มขึ้นเป็น 487 ล้านบาทในปี 2557 จาก 433 ล้านบาท ในปี 2556

          โครงสร้างหนี้ของบริษัทอยู่ในระดับค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตาม โครงสร้างเงินทุนของบริษัทปรับตัวดีขึ้นหลังจากได้รับเงินเพิ่มทุนจากการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ในช่วงปลายปี 2557 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนปรับตัวดีขึ้นจาก 79.7% ในปี 2555 มาอยู่ที่ระดับ 58.8% ในปี 2557 อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมของบริษัทลดลงเป็น 11.95% ในปี 2557 จาก 21.15% ในปี 2555 เนื่องจากราคาน้ำตาลที่ปรับตัวลดลงและเงินกู้ที่เพิ่มขึ้นจากการลงทุน อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายของบริษัทลดลงเช่นกันโดยลดลงเป็น 4.2 เท่าในปี 2557 จาก 6.0 เท่าในปี 2554

          ในช่วงปี 2558-2560 บริษัทมีแผนลงทุนประมาณ 1,500 ล้านบาท โดยการลงทุนส่วนใหญ่เพื่อขยายกำลังการหีบอ้อยและสร้างโรงไฟฟ้าแห่งที่ 3 ทั้งนี้ จากแผนการลงทุนของบริษัทและ EBITDA ของบริษัทที่คาดว่าจะอยู่ระดับประมาณ 450-550 ล้านบาทต่อปี คาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะยังอยู่ระดับสูงต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า

          อุตสาหกรรมน้ำตาลยังคงได้รับแรงกดดันจากสถานการณ์ราคาน้ำตาลที่อยู่ในระดับต่ำ ราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องในปี 2558 โดยลดลง 12% มาอยู่ที่ระดับ 14.37 เซนต์ต่อปอนด์ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2558 เมื่อเทียบกับราคาเฉลี่ยที่ 16.34 เซนต์ต่อปอนด์ในปี 2557 สต็อกน้ำตาลคงค้างจำนวนมากในตลาดโลกยังคงกดดันราคาน้ำตาลให้ปรับตัวลดลง นอกจากนี้ การที่ค่าเงินเรียลของบราซิลต่อดอลลาร์สหรัฐปรับตัวอ่อนค่าลงก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ทำให้ราคาน้ำตาลลดลงเช่นกัน เนื่องจากประเทศบราซิลเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดของโลก

บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) (BRR)

อันดับเครดิตองค์กร: BBB-

แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable 

จาก กรุงเทพฯ วันที่ 29 มิถุนายน 2558

แจงสี่เบี้ย : กรมพัฒนาที่ดินกับการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ (6)

ปุ๋ยชีวภาพ พด.12 เพิ่มธาตุอาหารและฮอร์โมนพืช ในส่วนของปุ๋ย พด.12 เป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่สามารถสร้างธาตุอาหารหรือช่วยให้ธาตุอาหารเป็นประโยชน์กับพืชเพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน และสร้างฮอร์โมนส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช ประกอบด้วยจุลินทรีย์ 4 ชนิด ได้แก่ Azotobacter tropicalis แบคทีเรียตรึงไนโตรเจนแบบอิสระ, Burkholderia unamae แบคทีเรียละลายฟอสเฟต, Bacillus subtilis แบคทีเรียละลายโพแทสเซียม และ Azotobacter chroococcum แบคทีเรียสร้างฮอร์โมนพืช

วิธีการขยายเชื้อปุ๋ยชีวภาพ พด.12 คือ ผสมปุ๋ยชีวภาพ พด.12 จำนวน 1 ซอง และรำข้าวละเอียด 3 กิโลกรัม ในน้ำ 1 ปี๊บ (20 ลิตร) คนให้เข้ากันนาน 5 นาที หลังจากนั้นรดสารละลายปุ๋ยชีวภาพ พด.12 ลงบนกองปุ๋ยหมัก 300 กิโลกรัม และคลุกเคล้าให้เข้ากันปรับความชื้นให้ได้ 70% จากนั้นตั้งกองปุ๋ยหมักเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าให้มีความสูง 50 เซนติเมตร และใช้วัสดุคลุมกองปุ๋ยเพื่อรักษาความชื้น กองปุ๋ยหมักไว้ในที่ร่มเป็นระยะเวลา 4 วัน แล้วจึงนำไปใช้ประโยชน์

สำหรับอัตราและวิธีการใช้ปุ๋ยชีวภาพ พด.12 ร่วมกับปุ๋ยเคมีสำหรับพืชชนิดต่างๆ ได้แก่

1.ข้าว เช่น ข้าวไม่ไวแสง ใช้ปุ๋ยชีวภาพ พด.12 อัตรา 300 กิโลกรัมต่อไร่ ใช้ร่วมกับปุ๋ยเคมี สูตร 16-20-0 อัตรา 26 กิโลกรัมต่อไร่ หรือสูตร 46-0-0 อัตรา 10 กิโลกรัมต่อไร่ ส่วนข้าวไวแสง ใช้ปุ๋ยชีวภาพ พด.12 ร่วมกับปุ๋ยเคมี สูตร 16-16-8 อัตรา 19 กิโลกรัมต่อไร่ หรือสูตร 46-0-0 อัตรา 8 กิโลกรัมต่อไร่ โดยหว่านให้ทั่วพื้นที่ช่วงเตรียมดินปลูก

2.พืชไร่ ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ใช้ปุ๋ยชีวภาพ พด.12 อัตรา 300 กิโลกรัมต่อไร่ ร่วมกับปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 อัตรา 38 กิโลกรัมต่อไร่ หรือ สูตร 46-0-0 อัตรา 8 กิโลกรัมต่อไร่ ในส่วนของอ้อย ใช้ปุ๋ยชีวภาพ พด.12 อัตรา 300 กิโลกรัมต่อไร่ ร่วมกับปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 อัตรา 60 กิโลกรัมต่อไร่ และมันสำปะหลัง ใช้ปุ๋ยชีวภาพ พด.12 อัตรา 300 กิโลกรัมต่อไร่ ร่วมกับปุ๋ยเคมี สูตร 46-0-0 อัตรา 8 กิโลกรัมต่อไร่ หรือสูตร 15-7-18 อัตรา 30 กิโลกรัมต่อไร่ โดยใส่ระหว่างแถวตามแนวปลูกพืช และคลุกเคล้ากับดิน ในส่วนของอ้อยปลูก หว่านให้ทั่วพื้นที่ช่วงเตรียมดินปลูก ส่วนอ้อยตอ ใส่ระหว่างแถวตามแนวปลูกพืช แล้วคลุกเคล้ากับดิน หว่านให้ทั่วแปลงแล้วยกร่องปลูกมันสำปะหลัง

3.พืชผัก (พืชตระกูลกะหล่ำ) ใช้ปุ๋ยชีวภาพ พด.12 อัตรา 300 กิโลกรัมต่อไร่ ร่วมกับปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 อัตรา 23 กิโลกรัมต่อไร่ ใส่ระหว่างแถวตามแนวปลูกพืช แล้วคลุกเคล้ากับดิน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 29 มิถุนายน 2558

พณ.เยียวยาภัยแล้งลดราคาปุ๋ย-ค่าเกี่ยวข้าวช่วยเกษตรกรพื้นที่เสี่ยง‘ชัยนาท’ตลิงทรุดบ้านพัง

เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ผู้สื่อข่าวรายงานถึงสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นทั่วประเทศเข้าขั้นวิกฤติในขณะนี้ ว่า นายชิดชนก สมประเสริฐ ผอ.สำนักชลประทานที่ 8 นครราชสีมา เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ที่เหลือน้อยลง โดยเฉพาะเขื่อนลำตะคอง อ.สีคิ้ว ที่ขณะนี้น้ำในเขื่อนใช้การได้ประมาณ 18% หรือประมาณ 57 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ถ้าพิจารณาจากการใช้น้ำโดยปกติเฉลี่ยตั้งแต่เดือนมิถุนายน-ตุลาคมนี้ น่าจะใช้ประมาณ 110 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงไม่เหลือน้ำแน่นอน อย่างไรก็ดี หากฝนตกต้องตามฤดูกาล หากประเมินค่าเฉลี่ยแล้วตรงนี้ไม่น่ามีปัญหา แต่ถ้าฝนทิ้งช่วงก็อาจมีผลกระทบต่อเกษตรกร

ชลประทานโคราชชะลอปล่อยน้ำ

นายชิดชนก เปิดเผยด้วยว่า ได้มีการประชาสัมพันธ์ในเขตชลประทาน ว่าขอให้ชะลอการปล่อยน้ำ รอดูสถานการณ์ฝนในช่วงเดือนกรกฎาคมนี้ หากฝนตกและทิ้งช่วง ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ไว้ ก็จะมีการประเมินการบริหารจัดการกันใหม่ เพราะระยะเวลายิ่งใกล้มากการพยากรณ์ก็จะแม่นยำ และถ้าฝนจะเริ่มตกชุกในเดือนสิงหาคม ก็จะไม่มีปัญหา พี่น้องเกษตรกรชาวนาก็หว่านข้าวและเก็บเกี่ยวได้ในช่วงเดือนธันวาคมนี้

ย้ำหากฝนทิ้งช่วงกระทบใช้น้ำ

นายชิดชนก เปิดเผยอีกว่า นาข้าวที่มีการปลูกอยู่ในพื้นที่ส่วนมากเป็นนาในที่ลุ่มต่ำ และนาที่อยู่นอกเขตชลประทานที่มีการหว่านเมล็ดข้าวแล้ว ก็จะมีความเสี่ยงซึ่งต้องรอฝนตกเป็นหลัก และจะให้เราส่งน้ำไปช่วยนั้นคงทำไม่ได้ เพราะแต่ละอ่างใหญ่ของชลประทานมีการบริหารน้ำหากเกิดวิกฤตฝนทิ้งช่วง คงต้องนำเรือน ผวจ.นครราชสีมา ประชุมแก้ปัญหาเร่งด่วน

เขื่อนสิริกิติ์ลดปล่อยน้ำหนที่3

ด้าน นายสุเทพ เลิศศรีมงคล ผอ.เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ กล่าวว่า ทางเขื่อนสิริกิติ์ ปรับลดการปล่อยน้ำจากเขื่อนเป็นครั้งที่ 3 ในรอบเดือนมิถุนายน เนื่องจากปริมาณน้ำที่ไหลเข้ามามีปริมาณน้อยมาก เฉลี่ยวันละแค่ 3–4 ล้านลูกบาศก์เมตร เกษตรกรจึงควรปฏิบัติตามคำเตือน ชะลอการทำนาปีไปถึงเดือนกรกฎาคมนี้ เพราะปริมาณน้ำที่สามารถใช้งานได้อยู่ที่ 507 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 7 ซึ่งสิ่งที่บ่งบอกถึงสถานการณ์น้ำเข้าขั้นวิกฤติ คือจากวันที่ 12 มิถุนายนที่ผ่านมา เขื่อนมีน้ำอยู่ 780 ล้านลูกบาศก์เมตร เพียง 15 วัน ลดลงเหลือ 507 ล้านลูกบาศก์เมตร

ชาวบุรีรัมย์ร้องดูแลราคาข้าว

ที่ จ.บุรีรัมย์ วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สภาพปัญหาภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง ได้ส่งผลกระทบต่อไร่นาของเกษตรกรในพื้นที่ ต.บ้านแพ อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ หลายร้อยไร่ ซึ่งต้นข้าวเริ่มเหี่ยวเฉา แห้งตายเพราะขาดน้ำ โดยข้าวที่หว่านเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา งอกไม่เต็มทั่วแปลงนา ชาวนาต้องพากันถอนกล้ามาปักดำซ่อมแซมทดแทน หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้คาดว่าต้นกล้าและข้าวนาหว่านจะเสียหายอีกเป็นจำนวนมาก ชาวนาจึงเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งช่วยเหลือเกี่ยวกับเรื่องน้ำในการทำนา และเรื่องราคาข้าว เพราะบางรายลงทุนทำนาหลายครั้ง

ชัยนาทน้ำลดตลิ่งทรุดบ้านพัง

ขณะเดียวกัน นายยศกร เล็งบัวรัตน์ ปลัด อบต.ท่าชัย อ.เมือง จ.ชัยนาท พร้อมคณะ ได้เข้าตรวจสอบบ้านพักเลขที่ 177 และบ้านเลขที่ 14 หมู่ 2 ต.ท่าชัย อ.เมือง หลังจากทรุดตัวลงจากสาเหตุที่แม่น้ำเจ้าพระยา ลดระดับต่ำ ส่งผลทำให้ตลิ่งทรุด ตัวบ้านพังเสียหาย นายยศกร กล่าวว่า หลังจากสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วได้รายงานให้นายสิงหล ทรัพย์พ่วง นายกเทศมนตรีท่าชัย ทราบแล้ว เพื่อเร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้ความช่วยเหลือ แต่ขณะนี้ยังไม่ถือว่าเข้าหลักเกณฑ์พื้นที่ประกาศภัยพิบัติ จึงดำเนินการตามระเบียบของสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ไม่ได้ และสถานการณ์นี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นแต่เคยเกิดมาแล้วเมื่อต้นปีที่ผ่านมา

คลองส่งน้ำที่อ่างทองแห้งขอด

ส่วนสถานการณ์ในพื้นที่ จ.อ่างทอง พบว่าภัยแล้งได้ขยายวงกว้าง ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ลดลงอย่างต่อเนื่อง และคลองชลประทานหลายแห่งน้ำแห้งขอด โดยนายสมพิศ พูลสวัสดิ์ เกษตรจังหวัดอ่างทอง เปิดเผยว่ น้ำจากเขื่อนต่างๆ มีปริมาณน้อย ทางชลประทานจึงชะลอการจ่ายน้ำ ทำให้ระดับไม่เพียงพอจะไหลสู่คลองส่งน้ำ ทำให้ปริมาณน้ำลดลง เกษตรกรต้องใช้เครื่องสูบน้ำจากคลองสายหลัก สำหรับการเร่งขุดเจาะบ่อบาดาลที่ จ.อ่างทอง อยู่ระหว่างดำเนินการ

พณ.สำรวจผลผลิตการเกษตร

อีกด้านหนึ่ง นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) กล่าวว่า จากสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ จึงสั่งการไปยังการค้าภายในจังหวัดให้สำรวจผลผลิตสินค้าเกษตร และปริมาณผลผลิต ว่าได้รับผลกระทบจากภัยแล้งหรือไม่ ซึ่งในบางพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบอาจจะส่งผลต่อราคาสินค้าเกษตรบางชนิดเพราะมีปริมาณลดลง

“จากการติดตามสถานการณ์ภัยแล้งในขณะนี้เชื่อว่าน่าจะดีขึ้น และราคาผักน่าจะกลับมาเป็นปกติเมื่อฝนเริ่มมา สถานการณ์น่าจะดีขึ้นช่วงปลายเดือนกรกฎาคมถึงต้นเดือนสิงหาคมนี้ เนื่องจากมีพายุโซนร้อนคูจิระ ที่กำลังจะเข้ามาทางเวียดนาม ซึ่งจะส่งผลให้มีฝนตกในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ส่สวนราคาสินค้าอื่นๆ ขณะนี้ยังทรงตัว โดยเฉพาะเนื้อหมู่ เนื้อไก่ และไข่ไก่ ที่ปีนี้ยืนยันว่าราคาไม่แพง” นายบุณยฤทธิ์ กล่าว

ลดราคาปุ๋ย-ค่าจ้างเกี่ยวข้าว

อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวต่อว่า ขณะนี้ได้ขอความร่วมมือไปยังผู้ประกอบการ ให้ลดราคาจำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตร ทั้งปุ๋ยเคมี ยาป้องกันและกำจัดศัตรูพืช ค่าบริการเกี่ยวข้าวให้กับชาวนาที่ปลูกข้าวนาปีในฤดูกาลผลิตปี2558/2559 โครงการดังกล่าวมีผลแล้ว เพื่อทำให้ต้นทุนในการผลิตของเกษตรกรลดลง ซึ่งไม่ต่ำกว่าการให้ความช่วยเหลือในปีก่อน หรือช่วยลดต้นทุนให้ได้ไม่ต่ำกว่า 400บาท

ทั้งนี้ สำหรับราคาปุ๋ยเคมีที่ใช้ในนาข้าวลดลงแล้ว 4 สูตร โดยลดลงกระสอบละ 40-50 บาท ปุ๋ยเคมีที่ใช้กับพืชอื่นๆ 7 ชนิด ราคาลดลง 25-50 บาท ส่วนค่าบริการเกี่ยวข้าวในภาคกลางไร่ละ 450 บาท ส่วนภูมิภาคไร่ละ 500 บาท

จาก http://www.naewna.com วันที่ 29 มิถุนายน 2558

เปิดแผนแก้แล้งรัฐบาลบิ๊กตู่ ความหวัง...เกษตรกรไทย

เกิดเป็นคนไทย...โดยเฉพาะบรรดาชาวไร่ชาวนาทั้งหลาย เวลานี้ต้องแบกร่างที่สั่นสะท้านต่อสู้กับปัญหาสารพัด เพราะนอกจากรัฐบาล “บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี จะยืนกรานไม่เป็น “เจ้าบุญทุ่ม” เพื่อละเลงนโยบายประชานิยม จนชาติเละเทะ เหมือนที่ผ่านมาอีก กลับต้องมาเจอปัญหา “ภัยแล้ง” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อีก!!!

ที่สำคัญ...ภัยแล้งครั้งนี้ไม่ใช่ธรรมดา ๆ กลับกลายเป็นวิกฤติภัยแล้งที่รุนแรงมากกว่าทุกปี เพราะฝนดันตกลงมาน้อยจนปลูกอะไรไม่ได้ สร้างความเดือดร้อนกันถ้วนหน้า หากรวมเข้ากับปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ว่ากันไปจนถึงภาระหนี้สินสะสมเข้ามารวมกันอีก

เชื่อได้เลยว่า...ปีนี้คนไทย เกษตรกรไทย ต้องบักโกรก นั่งทนทุกข์ระทมเพิ่มเป็นทวีคูณกันแน่ !!

ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ณ เวลานี้ คงหนีไม่พ้นบรรดาชาวไร่ชาวนาที่อยู่ในเขตลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะ...ล่าสุดกรมชลประทาน ได้ออกประกาศเตือนและขอร้องให้เกษตรกรกว่า 22 จังหวัด ชะลอการเพาะปลูกออกไปก่อนจนกว่าจะมีฝนตกลงมาในปริมาณที่เพียงพอหรือต้องรอไปจนถึงเดือน ก.ค. หรือรอไปอีก 1 เดือน กับความหวังว่าฝนจะตกต้องตามฤดูกาลอีกครั้งเพื่อให้มีปริมาณน้ำที่เพียงพอกับการเพาะปลูกข้าวนาปีฤดูกาลใหม่

ส่วนพื้นที่เพาะปลูกเดิม ที่ส่วนใหญ่ชาวนาได้เริ่มปลูกข้าวนาปีไปแล้วตั้งแต่เดือน พ.ค. รวม 3.44 ล้านไร่ และที่เพิ่มมาอีกหลังจากประกาศให้ชะลอปลูก 560,000 ไร่ ตอนนี้ก็แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อนโดยรัฐจะทยอยปล่อยน้ำจากเขื่อนหลัก วันละ 28 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) แม้ว่าจะปล่อยน้ำลดลงจากเดิมที่วันละ 33 ล้าน ลบ.ม.

แต่ก็ยังดีที่ยังพอมีน้ำมาช่วยประคองผืนนาให้อยู่รอดจนถึงช่วงเก็บเกี่ยวนอกจากนี้ จากการประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจ “ภัยแล้ง” ครั้งนี้อาจทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลงอีก 0.5% นั่นหมายความว่าจากเดิมที่หลายฝ่ายได้ปรับลดคาดการณ์กันลงมาแล้ว ก็อาจต้องปรับลดลงไปอีกจากผลกระทบของภัยแล้งฝนตกน้อยกว่าปกติ

ปัญหาหลัก...ของภัยแล้ง หนีไม่พ้นเรื่องของฟ้าฝน ซึ่งปีนี้ถือว่าหนักที่สุด เพราะนอกจากปริมาณฝนจะตกน้อยกว่าปกติแล้ว ฝนที่ตกลงมากลับไม่ได้ตกบริเวณพื้นที่ต้นน้ำเหนือเขื่อน

ดังนั้น...น้ำฝนที่ตกลงมาจึงสูญสลายไปแบบเปล่าประโยชน์

โดยนายกฯ “บิ๊กตู่” ได้พยายามชี้ให้เห็นถึงสาเหตุสำคัญว่า...เป็นเพราะมีการตัดไม้ทำลายป่า ในพื้นที่ป่าต้นน้ำถึง 26 ล้านไร่ จนเห็นเป็นภูเขาหัวโล้น ทำให้ฝนที่เคยตกในพื้นที่ป่า กลับมาตกในพื้นที่เมือง ก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมอย่างที่เห็นกันจนชินตาทุกครั้งเมื่อมีฝนตกหนัก ๆไม่เพียงเท่านี้

หากหันกลับไปดูในเรื่องของปริมาณน้ำฝนสะสมที่ตกในปีนี้ พบว่า ตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือน มิ.ย.นี้ ไทยมีปริมาณน้ำฝนเพียง 283.4 มิลลิเมตร เท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปี ที่ทั่วประเทศมีปริมาณน้ำฝนถึง 417 มิลลิเมตร หรือลดลงถึง 32% จากค่าเฉลี่ยปกติ ส่วนในเดือน ก.ค. ที่หวังว่าจะมีฝนตกลงมา แต่คงตกลงมาไม่มาก เพราะจากคาดการณ์ปริมาณฝนที่ตกลงมายังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยประมาณ18%หรือลดลงเหลือ150 มิลลิเมตร จากค่าปกติ180มิลลิเมตร และกว่าจะให้ฝนตกแบบปกติ คงต้องรอถึงเดือน พ.ย.โน่น

ขณะเดียวกันในการประชุม ครม.เศรษฐกิจล่าสุด “บิ๊กตู่” ก็ได้รับทราบผลกระทบครั้งนี้แล้ว และยังเห็นสาเหตุที่น่ากังวล คือ ภัยแล้งที่เกิดครั้งนี้เกิดจากปรากฏการณ์ “เอลนินโญ่” ที่ส่งผลให้เกิดฝนตกน้อย ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า เอลนินโญ่ปีนี้จะมีความรุนแรงใกล้เคียงกับปี40ที่เกิดเอลนินโญ่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์

น้ำในเขื่อนหลักวิกฤติ หันมาดูในเรื่องของปริมาณน้ำในเขื่อนหลัก ก็พบว่า ทุกแห่งกำลังเข้าขั้น “วิกฤติ” เพราะแม้มีฝนตก แต่ปริมาณน้ำที่ไหลลงในเขื่อนใหญ่ทั้งเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ไหลลงน้อยกว่าช่วงปกติ ทำให้ตอนนี้เหลือน้ำต้นทุนไว้ใช้รวมกันเพียง 1,067 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 6% ของความจุเขื่อน

ดังนั้นกรมชลประทานจึงต้องปรับแผนการระบายน้ำ โดยกรมชลประทาน จะลดปริมาณการปล่อยน้ำลงวันละประมาณ 5 ล้าน ลบ.ม. เพื่อยื้อให้มีน้ำใช้ดูแลพืชที่ปลูก และมีน้ำไปทำน้ำประปา ไว้กิน ไว้อาบ และมีน้ำไว้ช่วยรักษาระบบนิเวศ เช่น การผลักดันน้ำเค็ม รวมทั้งป้องกันตลิ่งพังจนถึงวันที่ 10 ส.ค. 58

จากนั้นค่อยมาลุ้นฟ้าฝน ให้ตกลงมาเติมน้ำในเขื่อน จนมีปริมาณรวมกันถึง3,500ล้าน ลบ.ม. ก็น่าจะเพียงพอใช้ดูแลคนในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาไปจนถึงปลายเดือน เม.ย. ปีหน้าก่อนถึงหน้าแล้งอีกครั้งขุดน้ำบาดาลประคอง

อย่างไรก็ตามในจำนวนเกษตรกรที่เพาะปลูกไปแล้วก่อนที่รัฐจะประกาศให้ชะลอ3.44ล้านไร่ กลุ่มนี้ถือว่า ต้องดูแลเป็นพิเศษ เพราะเมื่อดูข้อมูลแล้ว กลุ่มนี้มีพื้นที่เสี่ยงที่จะไม่มีน้ำไว้ใช้เพาะปลูกมากถึง850,000ไร่ ส่วนใหญ่อยู่บนที่ดอนทำให้ระบบชลประทานไปไม่ถึง

ดังนั้น...กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงต้องรับเป็นแม่งาน ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ออกสำรวจพื้นที่ที่เดือดร้อนและต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน โดยเตรียมขุดน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ เบื้องต้นได้สำรวจแล้วคงต้องใช้มากถึง 880 บ่อ

ซึ่ง ครม.เศรษฐกิจได้อนุมัติงบไปเร่งทำแล้ว 84 ล้านบาทคาดว่าจะได้น้ำขึ้นมาใช้ประมาณ200,000ลบ.ม. คงดูแลได้ครอบคลุม100,000-130,000ไร่ ซึ่งกระทรวงทรัพยากรฯโดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ต้องเร่งขุดเจาะให้เสร็จภายในกลางเดือน ก.ค.นี้ออกมาตรการดูแลทั้งระบบ

ขณะกลุ่มที่ยังไม่ได้เพาะปลูกที่มีถึง 3.45 ล้านไร่ ล่าสุด! รัฐบาลได้ออกมาตรการหลัก ๆ มา 3 มาตรการ และไม่ได้ใช้งบสักแดงเดียว คือ การขอให้เลื่อนเพาะปลูกไปก่อนถึงเดือน ก.ค.-ส.ค.58

ต่อมาเป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยมีอายุสั้น และเป็นที่ต้องการของตลาด เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และถั่วเขียว โดยรัฐไปชี้แจงให้เกษตรกรทราบเป็นทางเลือกก่อนหาตลาดและปัจจัยต่าง ๆ ให้พร้อมกับชงทางเลือกเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นเลยซึ่งเรื่องนี้รัฐจะต้องไปหาแหล่งเงินทุนมาให้ด้วยส่วนมาตรการสุดท้าย

ในกรณีที่ฟ้าฝนไม่เป็นใจจนต้องเลื่อนการเพาะปลูกออกไปเรื่อย ๆ รัฐอาจต้องช่วยเหลือด้วยวิธีเลื่อนระยะเวลาชำระหนี้หรือการพักชำระหนี้ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย แต่กระทรวงเกษตรฯ จะไปคุยรายละเอียดกับกระทรวงการคลังก่อนว่าวิธีช่วยที่ว่าจะออกมาในรูปแบบไหนและเกษตรกรเห็นด้วยหรือไม่

ซึ่งขณะนี้ รมว.คลังระบุว่า กำลังหาช่องทางคุยกับแบงก์รัฐในกำกับดูแลขอให้ชะลอและยืดหนี้เกษตรกรออกไปก่อนดักพ่อค้าแม่ค้าฉวยโอกาส ขณะที่หน่วยงานที่อยู่ใกล้ชิดชาวบ้าน อย่าง กระทรวงพาณิชย์ แม้มีแนวทางช่วยเหลือไม่มากเหมือนกระทรวงเกษตรฯ แต่ได้ดูแลเรื่องปัญหาปากท้องของเกษตรกร และรักษาระดับราคาข้าวไม่ให้ตกต่ำ

โดยเฉพาะการประสานงานกับทหารส่งรถ “โมบายยูนิต” นำสินค้าไปจำหน่ายให้เกษตรกรในราคาถูก เหมือนกับโครงการธงฟ้าเคลื่อนที่สู่ชุมชน ที่นำสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน ใส่รถปิกอัพออกไปจำหน่ายในราคาต่ำกว่าท้องตลาด20-40% ตามแหล่งชุมชนเพื่อลดค่าครองชีพให้เกษตรกร ให้ชาวไร่ชาวนาในระหว่างที่หยุดปลูกข้าวไม่เพียงเท่านี้

บรรดากรมการค้าภายในจังหวัดยังเข้มงวดกับการตรวจสอบราคาสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งและขาดแคลนน้ำในหลายพื้นที่ เพื่อป้องกันพ่อค้าแม่ค้าฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาสินค้า และป้องกันสินค้าขาดตลาด ไม่ว่าจะเป็นพืช ผัก ผลไม้ หรือเนื้อสัตว์ และยังเตรียมแผนลดต้นทุนให้กับชาวนา ที่จะปลูกข้าวนาปีในฤดูกาลผลิตใหม่ ด้วยการขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการลดราคาจำหน่ายปัจจัยการผลิตลงด้วย ทั้ง ปุ๋ยเคมี ยาป้องกัน ยากำจัดศัตรูพืช และค่าบริการรถเกี่ยวข้าวเอกชนหาช่องทางรับมือ

ด้านบรรดาภาคเอกชนเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะล่าสุด การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ กนอ. ได้ติดตามสถานการณ์การใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรมอย่างใกล้ชิด พร้อมเตรียมแผนสำรอง หากไม่มีน้ำมาใช้จริง ๆ หรือเกิดปัญหาน้ำเค็ม รุกล้ำเข้ามาในพื้นที่อุตสาหกรรมเกินไป ก็พร้อมปัดฝุ่นบ่อน้ำบาดาลที่เคยปิดไว้ขึ้นมาใช้อีกครั้ง เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน แล้วค่อยรอฝนตกต้องมาตามฤดูกาลอีกครั้ง

แม้ทุกฝ่าย...ต่างร่วมแรงร่วมใจกันเข็นมาตรการออกมาช่วยเหลือบรรดาพี่น้องคนไทยทุกภาคทุกหน่วย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นได้สะท้อนให้เห็นปัญหาที่แท้จริงของประเทศว่าเกิดจากสาเหตุใดกันแน่ แม้ว่าเรื่องของ “ธรรมชาติ” จะไม่มีใครกำหนดหรือกะเกณฑ์ได้ก็ตาม แต่ในเรื่องของ “มนุษย์” แล้ว กลับต้องเร่งปฏิรูปในทุกด้าน แต่ทั้งหมดคงต้องรอให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 29 มิถุนายน 2558

แล้งยาวศก.ฝืด ทีดีอาร์ไอคาดแค่ขั้นถดถอยเกษตรฯของบกลาง3หมื่นล.ให้

           ผวาฝนทิ้งช่วงถึง พ.ย. เศรษฐกิจไทยสู่ภาวะเงินฝืด แนะรัฐบาลรื้องบแก้แล้ง ทำข้อมูลใหม่

          นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยถึงกรณีภัยแล้ง ที่รัฐบาลคาดฝนจะมาเดือน ส.ค. แต่นักวิชาการมองอาจยาวไปตกเดือน พ.ย. ว่า หากฝนทิ้งช่วงยาวไปตกเกือบปลายปี เศรษฐกิจไทยคงเข้าสู่ภาวะเงินฝืดแน่

          ทั้งนี้ เพราะปัญหาภัยแล้งทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) หดตัวลงในด้านมูลค่า ซึ่ง รมว.คลังประเมินว่าจีดีพีจะลดลง 0.5% จึงเริ่มเกิดเงินฝืดในครัวเรือนรากหญ้าที่มีรายได้ลดลงตามราคาสินค้าเกษตร กลุ่มนี้เป็นผู้บริโภครายใหญ่ที่สุด เมื่อมีเงินน้อยก็ลดการบริโภค จะส่งผลกระทบไปยังภาคการค้าการผลิตให้ต่ำลงตามไปด้วย แต่ถ้าฝนไม่ทิ้งช่วงยาวเศรษฐกิจก็ไม่ฝืด ซึ่งการคาดการณ์ฝนตกยากที่จะคาดการณ์ได้ยาวขนาดนั้น

          นอกจากนี้ เงินที่เริ่มฝืดทำให้เศรษฐกิจเกิดรีเซสชั่น (Recession) หรือภาวะเศรษฐกิจถดถอยเท่า นั้น ไม่ถึงขั้นเกิดสแตกเฟลชั่น (Stagflation) หรือเศรษฐกิจชะงักงัน และไม่เป็นห่วงในเรื่องของการเคลื่อนย้ายแรงงาน เพราะเกษตรกรมีรายได้ 80% มาจากนอกภาคเกษตรอยู่แล้ว

          นายนิพนธ์ กล่าวว่า รัฐบาลจำเป็นต้องช่วยเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง แต่ฐานข้อมูล เกษตรกรที่รัฐบาลมียังห่างไกลข้อเท็จจริง ชาวนาไม่ได้ยากจนทุกคน ครัวเรือนเกษตรกรส่วนใหญ่มี รายได้จากการเกษตร 20% เพราะทำนาได้ 2 ฤดูการผลิต เวลาที่เหลือจะไปรับจ้างหรือทำงานอื่น ดังนั้น รัฐบาลต้องจัดทำฐานข้อมูลใหม่ ให้เที่ยงตรงกว่านี้ ป้องกันไม่ให้มีการสวมรอยมาขอรับการช่วยเหลือ เพราะรัฐบาลมีเงินจำกัด ต้องใช้เงินที่มีน้อยให้เต็มประสิทธิภาพ และไม่อยากให้เลี่ยงไปใช้เงินนอกงบประมาณ เช่น ใช้เงินจากธนาคารของรัฐเข้าไปช่วย

          ด้าน นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า อยู่ระหว่างรวบรวมความต้องการของเกษตรกรในพื้นที่ 3.45 ล้านไร่ ที่ยังไม่ได้ปลูกข้าว เพื่อจัดทำมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรเสนอคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจวันที่ 3 ก.ค.นี้ โดยให้กรมการข้าวและกรมส่งเสริมการเกษตรเข้าไปสำรวจข้อเท็จจริงทั้งหมด

          แหล่งข่าวกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงฯ เตรียมมาตรการช่วยเหลือ เช่น ขอ งบกลางจากคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจประมาณ 3 หมื่นล้านบาท เพื่อ เป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้เกษตรกรกู้ครัวเรือนละ 1 แสนบาท

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 29 มิถุนายน 2558

โปรดเกล้าฯจัดตั้งศูนย์ฝนหลวงฯ พื้นที่จังหวัดนครสวรรค์-เชียงใหม่

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยความทุกข์ยากเดือดร้อนของราษฎรที่ขาดแคลนน้ำในการอุปโภค บริโภค และทำการเพาะปลูก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดตั้งศูนย์ฝนหลวงพิเศษขึ้นในพื้นที่  2 จังหวัด ได้แก่ ฐานปฏิบัติการสนามบินจังหวัดนครสวรรค์ รับผิดชอบปฏิบัติการฝนหลวงในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา และฐานปฏิบัติการสนามบินจังหวัดเชียงใหม่ รับผิดชอบปฏิบัติการฝนหลวงในเขตภาคเหนือ โดยให้นายวราวุธ ขันติยานันท์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฝนหลวงพิเศษ ด้วยการดำเนินงานที่สอดคล้องและไปในทิศทางเดียวกัน ประโยชน์ของฝนหลวงนั้น จะเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อน ทั้งยังเพิ่มพื้นที่ในการทำการเกษตร และระบบผลิตน้ำประปา โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เคยพระราชทานแนวทางการแก้ไขวิกฤติภัยแล้งเมื่อปี 2542

จาก http://www.naewna.com วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ธ.ก.ส.ชูศก.พอเพียงพัฒนาเกษตรกร

บอร์ดธ.ก.ส.ไฟเขียวอัดงบ 600 ล้านบาท ผุดโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งภาคเกษตรไทย ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นระบบต่อเนื่อง

นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า การประชุมคคณะกรรมการธนาคารที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบให้ดำเนินงานโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งภาคเกษตรไทย ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นระบบต่อเนื่อง 3 ปี ตั้งแต่ปี 58-60 งบประมาณปีละ 200 ล้านบาท รวม 600 ล้านบาท

ซึ่งการเน้นพัฒนาเชื่อมโยงองค์ความรู้จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องจากพระราชดำริทั้ง 6 แห่ง ใช้คนและชุมชนเป็นศูนย์กลางผ่านชุมชนต้นแบบและศูนย์เรียนรู้ เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่เป็นรูปธรรม ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว แบ่งเป็น 5 แผนงานหลัก คือ การเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน พัฒนาเกษตรกรโดยใช้ชุมชนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้, พัฒนาต้นแบบเกษตรกรทันสมัย เพื่อสร้างต้นแบบเกษตรกรให้มีความสามารถพัฒนาอาชีพ,พัฒนาต้นกล้าทายาทเกษตรกรมืออาชีพ

โดยรับสมัครทายาทเกษตรกรที่สมัครใจ นำมาพัฒนาและสร้างความเชื่อมั่นในการประกอบอาชีพ, การพัฒนาสหกรณ์ต้นแบบ พัฒนาสหกรณ์การเกษตร(สกก.) และสหกรณ์การตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. (สกต.) ให้ทำหน้าที่รวบรวมแปรรูป การตลาด ตลอดจนธุรกิจให้สมาชิกอย่างมีประสิทธิภาพ และพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจชุมชน เป็นการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้

อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าว จะบูรณาการความร่วมมือของภาคีโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของภาคเกษตรไทยตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่มุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายที่ประสบความสำเร็จในสาขาต่าง ๆ ทั้งชุมชนต้นแบบตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 8,000 ชุมชน ศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ธ.ก.ส. 315 แห่ง เกษตรกรคนเก่ง ครูเกษตรกร และเกษตรกรทันสมัย 3,000 คน ทายาทเกษตรกร 600 คน สหกรณ์การเกษตร (สกก.) 1,034 แห่ง และสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาด (สกต.) 77 แห่ง

 นอกจากนี้ โครงการดังกล่าว จะประสานการทำงานร่วมกับเครือข่ายภาคีพัฒนา ทั้งสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย สำนักงานขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย สถาบันการศึกษา สภาเกษตรกรแห่งชาติ และมูลนิธิอาจารย์จำเนียร สาระนาค (มจส.)

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2558

วิกฤติต่อเนื่อง! เขื่อนป่าสักฯ มีน้ำใช้แค่ 40 วัน -ลุ้นน้ำเข้าระบบไม่งั้นกระทบหนัก

นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำคณะเจ้าหน้าที่ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เพื่อสำรวจติดตามสถานการณ์ภัยแล้งและปฏิบัติการ ฝนหลวงของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พบว่าบรรยากาศใน จ.ลพบุรี มีเมฆครึ้มและฝนตกเป็นระยะ แต่น้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณเหลือน้อย จนมองเห็นสันดอนทรายภายในเขื่อนหลายจุด แต่ในหลายๆ พื้นที่ของ จ.ลพบุรี พบว่านาข้าวยังไม่ได้รับความเสียหายมากนัก

ต่อมานายชวลิตประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ประกอบด้วยนายธนาคม จงจิระ ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี นายปัญญา กัลปสุข ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ นายสุรสีห์ กิตติมณฑล รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร รวมทั้งเกษตรจังหวัดลพบุรี

นายชวลิตกล่าวว่า น้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำเหลืออยู่ 66 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) มีปริมาณน้ำที่ใช้การได้ 60 ล้าน ลบ.ม. หรือ 7% หากไม่มีฝนตกเลย จะสามารถระบายน้ำได้อีก 40 วันเท่านั้น ขณะนี้ ยังระบายน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคและเพื่อการเกษตร 1.3 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน สำหรับสถานการณ์การเพาะปลูกพืช จ.ลพบุรี พบว่ามีพื้นที่ทำการเกษตร 2.7 ล้านไร่ แบ่งเป็น ปลูกข้าว 1.2 ล้านไร่ พืชไร่ 1.5 ล้านไร่ และพืชผักและไม้ผล 10,000 ไร่ ซึ่งจากสถานการณ์ภัยแล้ง มีพื้นที่ปลูกข้าวในลพบุรี รวม 800,000 ไร่ ปลูกข้าวไปแล้ว 237,885 ไร่ ยังไม่ได้เพาะปลูก 562,115 ไร่ แบ่งเป็น ในเขตชลประทาน ปลูกข้าวไปแล้ว 195,763 ไร่ ยังไม่ได้เพาะปลูก 297,962 ไร่ และนอกเขตชลประทาน ปลูกข้าวไปแล้ว 42,122 ไร่ ยังไม่ได้เพาะปลูก 264,153 ไร่

"ในส่วนของเกษตรกรในเขตชลประทานที่เพาะปลูกข้าวแล้ว กรมชลประทานยืนยันว่าจะมีน้ำเพียงพออย่างแน่นอน สำหรับชาวนาที่ยังไม่ได้เพาะปลูกข้าว ได้สั่งการให้เกษตรจังหวัดลงพื้นที่สอบถามและรวบรวมข้อมูลเกษตรกรที่ยังไม่ได้เริ่มการเพาะปลูก เพื่อรวมจำนวนตัวเลขเกษตรกรที่ต้องการขอรับมาตรการสนับสนุนปลูกพืชใช้น้ำน้อยจากกระทรวงเกษตรฯ เช่น ข้าวโพด พันธุ์ถั่ว เพื่อที่กระทรวงจะได้มีเป้าหมายแน่ชัด และสนับสนุนพันธุ์ให้เกษตรกรปลูกตามความต้องการได้" นายชวลิตกล่าว และว่า สำหรับมาตรการด้านหนี้สินอื่นๆ นั้น ทางกระทรวงการคลังและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะลงพื้นที่รวบรวมข้อมูลและพักชำระหนี้ให้กับเกษตรกรที่ยังไม่ได้เริ่มการเพาะปลูกข้าวออกไปก่อน 1 ปี

ด้านนายปัญญากล่าวว่า ขณะนี้เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ยังไม่มีปริมาณน้ำฝนไหลลงเขื่อนเลย ตั้งแต่ฤดูฝนเดือนพฤษภาคม โดยน้ำต้นทุนที่ระบายอยู่มาจากปริมาณน้ำฝนที่สะสมมาตั้งแต่ฤดูกาลผลิตข้าวนาปี 2557 โดยหากภายใน 40 วัน ยังไม่มีฝนตกจะไม่มีน้ำใช้แน่นอน ซึ่งจะส่งผลกระทบกับการส่งน้ำการประปาของประชาชนอีกด้วย ขณะนี้ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์กำลังพิจารณาลดปริมาณการส่งน้ำลงอีก เพื่อที่จะบริหารจัดการน้ำในเขื่อนให้เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคให้มากขึ้น

จาก http://www.matichon.co.th   วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2558

บริหารน้ำล้มเหลว เหตุไม่มี 'พ.ร.บ.ทรัพยากร...น้ำ?'

นักวิชาการฉะ..บริหารน้ำล้มเหลว เหตุไม่มี 'พ.ร.บ.ทรัพยากร...น้ำ?' : โดย...สำนักข่าวอิศรา

                      คณะกรรมการวิจัยและพัฒนาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และคณะอนุกรรมการกลั่นกรองการดำเนินงานด้านการวิจัย ร่วมกับสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา จัดสัมมนานำเสนอข้อมูลทางวิชาการและงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ในกระบวนการนิติบัญญัติ เรื่อง “9.5 แสนล้านบาท อนาคตการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทย ณ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ ชั้น 3 อาคารรัฐสภา 2

                     รศ.ดร.อภิชาติ อนุกูลอำไพ นายกสมาคมทรัพยากรน้ำแห่งประเทศไทย กล่าวถึงปัญหาการจัดการน้ำของประเทศไทยนับวันยิ่งมีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งๆ ที่ไทยลงทุนการก่อสร้างเกี่ยวกับน้ำด้วยงบประมาณจำนวนมากในแต่ละปี จึงเกิดคำถามว่า วันนี้เราเดินไปถูกทาง และสมควรจะทบทวนกำหนดทิศทางใหม่ได้หรือไม่ หลักการของการบริหารจัดการทั่วไปโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับนโยบายระดับชาติ ควรเริ่มด้วยการกำหนดวิสัยทัศน์ระยะยาว เพื่อจะได้แปลงวิสัยทัศน์ให้มาเป็นยุทธศาสตร์และแผนงาน

                      “วิสัยทัศน์คือ การตั้งเป้าของประเทศว่า จะสามารถบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ปัญหาได้ระดับใดภายในระยะเวลาที่กำหนด มีคำกล่าวว่า การมีวิสัยทัศน์ แต่ไม่ทำอะไรเลยคือฝันกลางวัน และการลงมือทำโดยไม่มีวิสัยทัศน์คือฝันร้าย ดังนั้นการกำหนดวิสัยทัศน์เรื่องน้ำของประเทศจึงต้องมาเป็นอันดับแรกในการบริหารจัดการ”

                      ส่วนแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำ 9.5 แสนล้านของรัฐบาลคสช.มีโอกาสอ่านดูแล้ว แต่ไม่ขอวิจารณ์แผนดังกล่าว เพียงแต่อยากเสนอแนวคิดและหลักการบริหารจัดการน้ำของประเทศบนพื้นฐานของการกำหนดวิสัยทัศน์ โดยจะขอนำวิสัยทัศน์ที่มีการกำหนดในแผนยุทธศาสตร์มาเป็นจุดเริ่มต้น

                      สำหรับวิสัยทัศน์ที่กำหนดในแผนยุทธศาสตร์ 9.5 แสนล้านนั้น ดร.อภิชาติ มองว่า ทุกหมู่บ้านมีน้ำสะอาดในการอุปโภคบริโภค มีน้ำเพื่อการผลิตที่มั่นคง ความเสียหายจากอุทกภัยน้อยลง คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน บริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนภายใต้การพัฒนาอย่างสมดุล โดยการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน

                      ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องบริหารจัดการน้ำอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะการจัดตั้งคณะกรรมการลุ่มน้ำทุกลำน้ำสาขาหลักของประเทศไทย 25 ลุ่มน้ำ หากมองเรื่องการมีส่วนร่วม ดูผิวเผินก็เป็นไปตามเจตนารมณ์ แต่ในทางปฏิบัติยังไม่ได้ผล เนื่องจากขาดการสนับสนุนอย่างจริงจังจากรัฐทั้งในเรื่ององค์ความรู้และงบประมาณ

                      “ที่ผ่านมาคือมีการประชุมเพียงไม่กี่ครั้ง และการพิจารณาแผนลุ่มน้ำก็ทำหน้าที่คล้ายตรายาง หน่วยงานและวิธีการจัดสรรงบประมาณไม่ได้ยึดแผนลุ่มน้ำเป็นหลัก คณะกรรมการลุ่มน้ำก็ไม่สามารถริเริ่มโครงการของตัวเองได้ เพราะไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคล ดังนั้นเห็นว่าจำเป็นที่จะต้องแยกคณะกรรมการลุ่มน้ำออกมาให้อยู่ภายใต้องค์กรกลางที่ทำหน้าที่ในการกำกับดูแลและไม่ขึ้นต่อหน่วยงานปฏิบัติใดๆ”

                      นายกสมาคมทรัพยากรน้ำแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการระบายน้ำจากเขื่อนด้วยว่า ควรจะมีการทบทวน Rule curve ใหม่ เพราะสถานการณ์เปลี่ยนจากปกติ และควรยุติการระบายน้ำเกินกว่าที่กำหนดมาใช้ในยามฉุกเฉิน เพราะเป็นการเอาน้ำที่จำเป็นสำหรับฤดูกาลในปีต่อไปมาใช้ คล้ายๆ กับทำโอดีกับธนาคาร ซึ่งหากมีการจัดสรรน้ำสำหรับภาคการใช้ต่างๆ แล้วการระบายน้ำจากเขื่อนจำเป็นต้องยึดสัดส่วนที่กำหนดในการทำ Rule curve ก็จะมีปัญหาการใช้น้ำมาเกินศักยภาพ เนื่องจากรัฐไม่สามารถควบคุมการปลูกพืชของเกษตรกรได้ เพราะเราติดแนวคิดที่จะเป็นครัวของโลกอยู่ สิ่งที่รัฐต้องทำคือ การพิจารณาสร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อระบายน้ำลงท้ายน้ำอย่างเดียวไม่ต้องเปิดพื้นที่ชลประทานใหม่

                      รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาน้ำเราจะมาคิดแบบเก่า แก้ปัญหาแบบเก่า แล้วใช้แต่กฎหมายเก่าๆ ไม่ได้อีกแล้ว เมืองไทยเป็นเมืองที่ดีแต่หาแพะ แก้ปัญหาไม่ได้ก็หาแพะแล้วปลดออก การทำแบบนี้เป็นการทิ้งปัญหาไว้ บริหารน้ำล้มเหลว เพราะไม่มีพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ ดังนั้นวันนี้จำเป็นต้องใช้องค์ความรู้ในด้านงานวิจัยเข้ามาเติมเต็มเพื่อแก้ปัญหาระยะยาว และการทำงานต้องไม่ใช่ต่างฝ่ายต่างคิด คิดกันคนละแบบทำกันคนละอย่าง งานเลยไม่มาในรูปแบบเดียวกัน

                      "เราใช้น้ำเยอะ เราเริ่มรู้ถึงข้อจำกัด พอหน้าแล้งมาก็จะเอาน้ำจากเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ดังนั้นวันนี้ต้องหันไปดูต้นน้ำด้วยว่าเป็นอย่างไร"

                      การบริหารจัดการน้ำต้องเอาเรื่องน้ำไปผูกกับการพัฒนาประเทศจะแยกออกจากกันไม่ได้ รวมทั้งต้องทำให้ช่องว่างระหว่างหน่วยงานที่มีอยู่ขณะนี้เชื่อมโยงกัน ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดไปองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น หันมาวางแผนแบบมีส่วนร่วมร่วมกัน

                      “ปัญหาคือ เรามีช่องว่างระหว่างทุกองค์กร เราไม่มีแผนของแต่ละองค์กร ไม่มีงานวิจัย ไม่มีคนที่รู้เรื่องน้ำ เวลาจะแก้ปัญหาก็จับใครไม่รู้มาแก้ พอมีเทคโนโลยีสูงแต่บุคลากรก็ไม่เข้าใจ”

                      สำหรับงบโครงการในการบริหารจัดการน้ำนั้น จะมีโกงหรือไม่ แก้ปัญหาเรื่องน้ำได้จริงไหม รศ.ดร.สุจริต ปฏิเสธว่าไม่มีคำตอบ เพียงแต่เห็นว่า โครงการบริหารจัดการน้ำน่าจะเอามาทำรีวิวใหม่ให้นิยามความมั่นคงทางน้ำ ส่วนทิศทางจะไปทางไหนนั้น ยังไม่รู้ก็ควรไปวิจัยให้เรียบร้อยก่อนแล้วค่อยมาสร้างเป็นแผนพัฒนานำมาสู่แผนการจัดการ

จาก http://www.komchadluek.net วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2558

โรงงานระทึก!งัดน้ำสำรอง "ไทยเบฟ"รับมือ-แล้งลามทั่วประเทศ

แล้งลามทั่วไทย "เหนือ-กลาง-อีสาน" กระทบหนัก ลดระบายน้ำลุ่มเจ้าพระยาป่วน 5,000 โรงงานปรับแผนรับมือใช้แหล่งน้ำสำรอง กลุ่มอุตสาหกรรม-เครื่องใช้ไฟฟ้าหวั่นกำลังซื้อชาวนาวูบหนัก รัฐยืนกรานยังไม่จ่ายเงินชดเชย สั่งกระทรวงเกษตรฯเร่งศึกษาโครงการตำบลละ 1 ล้านบาท ด้าน ธ.ก.ส.ให้พักหนี้ได้ 12 เดือน รับมือชาวนาฮึ่มขอ 3,500 บาท/ไร่ หลังเจ้าพระยาระดับน้ำลดต่ำลง

สภาพการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ของประเทศยังอยู่ในช่วงวิกฤต ทั้งลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยากับลุ่มน้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปรากฏมีน้ำไหลลงอ่างน้อยมาก จากกรณีฝนตกล่าช้าออกไป ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาน้อยกว่าเกณฑ์ปกติเกือบ 50% โดย 4 เขื่อนหลักในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล-เขื่อนสิริกิติ์-เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน-เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำใช้การได้จริงเหลือแค่ 976 ล้าน ลบ.ม. หรือ 5% ของความจุอ่าง น้ำไหลลงอ่าง 4.50 ล้าน ลบ.ม./วัน ปริมาณน้ำระบายลดลงเหลือแค่ 30.12 ล้าน ลบ.ม. ในขณะที่อ่างเก็บน้ำหลักในภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้ง 12 อ่าง มีปริมาณน้ำใช้การได้จริง 1,069 ล้าน ลบ.ม. หรือ 13% น้ำไหลลงอ่าง 2.08 ล้าน ลบ.ม./วัน และปริมาณน้ำระบาย 6.41 ล้าน ลบ.ม. โดยเขื่อนที่น่าเป็นห่วงที่สุดในภาคก็คือ เขื่อนสิรินธร เหลือน้ำใช้การได้จริงแค่ 14 ล้าน ลบ.ม. ไม่มีน้ำไหลลงอ่าง และไม่มีการระบายน้ำแต่อย่างใด

โรงงานห่วงกำลังซื้อตก

นายบุญเพ็ง สันติวัฒนธรรม ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารมีความกังวลภาวะภัยแล้งมาตั้งแต่ต้น แม้ปริมาณการใช้น้ำของอุตสาหกรรมอาหารจะมีสัดส่วนเพียงแค่ 10% ของยอดการใช้น้ำทั้งประเทศ ทางกลุ่มได้ประชุมเพื่อหาทางรับมือภัยแล้งกับสมาชิกมาตลอด โดยเฉพาะบริษัทที่มีโรงงานอุตสาหกรรมในภาคการผลิตทั้งที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมและนอกนิคม และที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำที่รับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา ตอนนี้ต้องติดตามสถานการณ์น้ำเป็นรายวัน เพราะหากเกิดวิกฤตน้ำแล้งขึ้นในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า จะกระทบปริมาณความต้องการซื้อ (Demand) และปริมาณสินค้าที่ต้องการขาย (Supply) แน่นอน ขณะเดียวกันทุกโรงงานได้สำรองน้ำไว้ในโรงงานรับมือไว้หมดแล้ว

นายตัน ภาสกรนที กรรมการผู้อำนวยการ บมจ. อิชิตัน กรุ๊ป กล่าวว่า โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะยังไม่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง แต่ได้เตรียมความพร้อมไว้แล้ว โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงขณะนี้คือเกษตรกร ทำให้กำลังซื้อกลุ่มรากหญ้าชะลอตัว กระทบต่อเนื่องไปยังระบบเศรษฐกิจ สอดคล้องกับที่กลุ่มไทยเบฟระบุว่า ปัญหาภัยแล้งเป็นหนึ่งในความเสี่ยงของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเครื่องดื่ม ซึ่งได้เตรียมตัวและมีมาตรการรับมืออยู่แล้ว

 ส่วนนายกฤษดา ทรัพย์ทวยชน เลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวในทำนองเดียวกันว่า โรงงานอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้มีปริมาณการใช้น้ำไม่มากนัก ส่วนใหญ่ตั้งรับด้วยการสำรองน้ำในบ่อกักเก็บน้ำไว้อยู่แล้ว แต่ภัยแล้งจะทำให้เกษตรกรไม่มีกำลังซื้อ กระทบยอดขายเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในครัวเรือน

สนามกอล์ฟหวังฝนตกใน 1 เดือน

ด้านนายพงศกร พงษ์ศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สุวรรณ นครชัยศรี การเกษตร จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจสนามกอล์ฟสุวรรณ กอล์ฟ แอนด์ คันทรีคลับ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม กล่าวว่า เป็นห่วงภัยแล้งปีนี้จะกระทบการดูแลพื้นที่สีเขียวในโครงการทั้งหมด 580 ไร่ ขณะนี้มีปริมาณน้ำในทะเลสาบภายในสนามกอล์ฟคงเหลือกว่า 60% ของความจุ จากที่ผ่านมาจะเหลือไม่ต่ำกว่า 70% หากไม่มีฝนตกเพิ่มจะใช้รดหญ้าในสนามได้อีกกว่า 20 วัน "ถือว่าน้อยกว่าทุกปี" หากฝนเริ่มทิ้งช่วงในช่วง 2-3 สัปดาห์นับจากนี้ ได้เตรียมแผนบริหารการใช้น้ำใหม่ เน้นใช้น้ำในพื้นที่ที่จำเป็นเท่านั้น

สอดคล้องกับสนามกอล์ฟบางไทร คันทรีคลับ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ก็ได้คาดการณ์ผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้ไว้ล่วงหน้าตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา จึงได้กักเก็บน้ำฝนไว้เต็มความจุของทะเลสาบภายในสนามกอล์ฟ

นายกนก เหวียนระวี ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กรุงกวี จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจสนามกอล์ฟกรุงกวี สโมสร กล่าวว่า ได้เตรียมพื้นที่กักเก็บน้ำรอบโครงการรวมกว่า 200 ไร่ ปัจจุบันมีปริมาณน้ำคงเหลือ 1 ล้านคิวบิกเมตร หากไม่มีฝนจะใช้รดสนามหญ้าและต้นไม้ได้อีก 1-2 เดือน มั่นใจว่าเพียงพอรับมือฤดูแล้งปีนี้

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" สอบถามไปที่สนามกอล์ฟแห่งอื่น ๆ ได้แก่ สนามกอล์ฟนอร์ทเทิร์น รังสิต กอล์ฟ คลับ ปัจจุบันมีปริมาณน้ำในแหล่งกักเก็บคงเหลือไม่ต่ำกว่า 50% ของความจุ หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่ม คาดว่าจะใช้รดหญ้าในสนามได้ถึงกลางเดือนกรกฎาคมนี้ ส่วนสนามเมืองเอก กอล์ฟ คลับ มีน้ำคงเหลือ 70% หากไม่มีฝนตกเพิ่มจะใช้รดน้ำได้อีก 1 เดือน

อยุธยาสั่งสำรองน้ำใช้ในการผลิต

ด้านนายสมหวัง ถุงสุวรรณ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ขณะนี้ได้แจ้งเตือนให้โรงงานในอยุธยากว่า 5,000 แห่ง เตรียมแผนสำรองน้ำไว้ใช้ในไลน์การผลิต เพราะปัญหาภัยแล้งมีความรุนแรงยิ่งขึ้น เสี่ยงที่น้ำประปาจะไหลช้า ส่งผลกระทบต่อกระบวนการผลิต "เรากังวลว่าโรงงานขนาดเล็กที่ตั้งอยู่นอกนิคมอุตสาหกรรมจะรับไม่ได้ ส่วนโรงงานขนาดใหญ่ส่วนใหญ่จะมีการเจาะบ่อบาดาลสำรองน้ำไว้เรียบแล้ว และยังได้ประชาสัมพันธ์ให้โรงงานอุตสาหกรรมประหยัดน้ำมากขึ้น ลดความสูญเสียจากกระบวนการผลิต อีกทั้งนำน้ำเสียมาบำบัดและนำกลับไปใช้ใหม่"

นายอธิษฐ์ พุ่มเข็ม ประธานชมรมผู้ประกอบการท่าเรือและคลังสินค้า อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการเดินเรือขนส่งสินค้าในแม่น้ำเจ้าพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำแล้งโดยเฉพาะเส้นทางบริเวณอำเภอท่าเรือ ซึ่งเดิมมีร่องน้ำลึกเพียง 2.8 เมตร และความกว้างลำน้ำประมาณ 80-100 เมตร น้อยกว่าช่วงอื่น ๆ ทำให้ผู้ประกอบการที่ขนส่งสินค้าประเภทข้าวในปริมาณมากราว 600,000-800,000 ตันต่อเดือนไปยังประเทศจีน ต้องปรับตัวด้วยการลดขนาดเรือขนส่งให้เล็กลงไม่เกิน 1,000 เมตริกตัน ส่วนผู้ประกอบการที่ยังใช้เรือขนาดเดิมที่ไม่เกิน 1,500 เมตริกตัน ก็ต้องลดจำนวนปริมาณสินค้าที่ขนส่งลงจาก 70-80% เหลือ 50-60%

นายสามารถ อังวราวงศ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า อุตสาหกรรมส่วนใหญ่ในจังหวัดขอนแก่นเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่ค่อยได้ใช้น้ำมาก อาทิ อุตสาหกรรมสิ่งทอ ขณะที่โรงงานน้ำตาลก็หยุดหีบอ้อยแล้ว ส่วนโรงงานเบียร์สิงห์ก็ใช้น้ำบาดาลเป็นหลัก และส่วนหนึ่งใช้น้ำจากแม่น้ำชี ทำให้ภาคอุตสาหกรรมในขอนแก่นยังไม่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งในครั้งนี้ อาจจะมีเพียงโรงสีข้าวจะได้รับผลกระทบต่อเนื่องมาจากภาคเกษตร "น้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ยังมีเพียงพอใช้ประมาณ 1 เดือน ผมยอมรับว่ามีความกังวลอยู่ แต่ยังไม่วิกฤตเท่าจังหวัดภาคกลาง สิ่งที่น่าเป็นห่วงตอนนี้มีอย่างเดียวคือ ข้าว หากฝนทิ้งช่วงนาน ข้าวก็ตาย"

กปภ.แบ่งจ่ายน้ำเป็นเวลา

ขณะที่นางรัตนา กิจวรรณ ผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) กล่าวว่า ภัยแล้งที่รุนแรงขึ้นส่งผลให้ กปภ.สาขาต่าง ๆ ได้รับผลกระทบมากกว่าปีที่ผ่านมา ปัจจุบันมี กปภ.สาขาที่ต้องแบ่งจ่ายน้ำเป็นเวลา 10 สาขา ได้แก่ กปภ.สาขาจันทบุรี ปักธงชัย พิมาย เกาะพะงัน กระนวน หนองบัวแดง อำนาจเจริญ ท่าตะโก วิเชียรบุรี แก้งคร้อ และมี กปภ.ที่ประสบภาวะน้ำเค็ม 4 สาขา ได้แก่ กปภ.สาขาบางปะกง บางคล้า ฉะเชิงเทรา และปราจีนบุรี

"กปภ.สาขาแก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ ต้องใช้น้ำจากแหล่งน้ำของชาวบ้าน และ กปภ.สาขาแม่ริม จ.เชียงใหม่ ต้องเจรจาแบ่งเวลาการสูบน้ำจากฝายร่วมกับเกษตรกร ขณะที่น้ำเค็มนั้น กปภ.สาขาบางคล้าที่มีค่าความเค็มเกินมาตรฐานต้องหยุดผลิตชั่วคราว และนำน้ำจากสาขาใกล้เคียงแจกจ่ายแทน โดยหลังจากนี้ยังต้องจับตาสถานการณ์น้ำเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาที่อาจเพิ่มขึ้น หลังจากกรมชลประทานประกาศลดการระบายน้ำจาก 4 เขื่อนใหญ่ลง เหลือวันละ 28 ล้าน ลบ.ม.ด้วย"

จับตาโครงการตำบลละ 1 ล้าน

สำหรับมาตรการช่วยเหลือชาวนาในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและภาคเหนือตอนล่าง ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์คาดการณ์ว่า จะมีพื้นที่นาประสบภัยแล้งประมาณ 10 ล้านไร่ ด้วยการเร่งขุดบ่อน้ำบาดาลจำนวน 880 บ่อ กับการตั้งความหวังที่จะนำน้ำใต้ดินจำนวน 220,000 ล้าน ลบ.ม. มาใช้รดนาข้าวที่กำลังขาดน้ำอยู่ในขณะนี้นั้น

นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า การจัดสรรน้ำบาดาลที่ได้จากการขุดเจาะโดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาลนั้น ทางกรมชลประทานจะเป็นผู้แนะนำการจัดสรรน้ำ แต่สุดท้ายแล้วเกษตรกรผู้ใช้น้ำในพื้นที่จะต้องตกลงแบ่งน้ำกันเอง และมีหน่วยงานฝ่ายปกครองเป็นผู้ดูแลให้เป็นไปตามความตกลง ส่วนการส่งน้ำกรมชลประทานจะเป็นผู้ถ่ายน้ำบาดาลจากบ่อบาดาลส่งลงคูคลองตามแผนที่ตกลงกันไว้

นายชวลิตชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรฯ ได้สั่งการให้กรมต่าง ๆ จัดทำโครงการอาชีพทางเลือกช่วยเหลือชาวนาที่ประสบภัยแล้งในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา ด้วยการสนับสนุนงบประมาณหรือปัจจัยการผลิตหรือชดเชยดอกเบี้ยสินเชื่อ ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างร่างโครงการ อาทิ กรมส่งเสริมการเกษตร จัดทำโครงการให้ชาวนาปรับโครงสร้างการผลิตข้าวชั่วคราว คือ เปลี่ยนไปปลูกพืชทดแทนที่ใช้น้ำน้อย เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเขียว ประมาณ 120,000 ไร่ ส่วนกรมปศุสัตว์และกรมประมง จะจัดทำโครงการสนับสนุนเลี้ยงสัตว์ทดแทนนาข้าว เช่น เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลาน้ำจืด และกรมชลประทานจัดทำโครงการจัดจ้างแรงงานขุดลอกคูคลอง เป็นต้น

"กระทรวงมหาดไทยได้สำรวจความต้องการของเกษตรกรในช่วงชะลอการทำนาปีในลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด พบว่าร้อยละ 30 ต้องการเลี้ยงสัตว์ทดแทน ร้อยละ 18 ต้องการปลูกพืชทดแทน ร้อยละ 24 ต้องการเงินชดเชยช่วยเหลือทันที และร้อยละ 28 ความต้องการอื่น ๆ เช่น รอเพาะปลูกข้าว หรือรับจ้าง โดยเรื่องเงินชดเชยตอนนี้กระทรวงเกษตรฯยังไม่มีแนวคิด เพราะยังไม่ถึงเวลาตัดสินใจ มีตัวแปรที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีก เช่น ฝนที่อาจตกลงมาในเดือนสิงหาคม-กันยายน เรื่องนี้แล้วแต่นโยบายของรัฐ" นายชวลิตกล่าว

ล่าสุด ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า กระทรวงเกษตรฯอาจนำโครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชนเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง หรือโครงการตำบลละ 1 ล้าน ซึ่งดำเนินการอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มาใช้กับพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ประสบภัยแล้งครั้งนี้ด้วย เพราะจะเป็นโครงการที่กระตุ้นการสร้างงานในพื้นที่ ชดเชยรายได้จากนาข้าวที่สูญเสียไป โดยมอบให้กรมส่งเสริมการเกษตรไปศึกษาความเหมาะสม

ส่วนการทำฝนหลวงในพื้นที่เหนือเขื่อนนั้น นายวราวุธ ขันติยานันท์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า ได้ระดมเครื่องบินฝนหลวงร่วมกับเครื่องบินของกองทัพรวม 13 ลำ เพื่อมาปฏิบัติการทำฝนหลวงเติมน้ำลงสู่เขื่อนภูมิพล-สิริกิติ์ ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายนเป็นต้นมา โดยให้ขึ้นบินทำฝนหลวงถี่ขึ้นลำละ 3 เที่ยวบินต่อวัน ใช้เวลาบินเที่ยวบินละ 3 ชั่วโมง หรือบินตลอดทั้งวัน ผลการปฏิบัติงาน เริ่มมีฝนหลวงตกมากขึ้นในลุ่มแม่น้ำปิง จ.เชียงใหม่-ลำพูน-น่าน คาดว่าจะมีปริมาณน้ำจากฝนหลวงไหลลงเขื่อนได้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม เพราะขณะนี้ดินแห้งต้องรอดินอุ้มน้ำมากพอก่อ

ชาวนายืนกรานขอไร่ละ 3,500

นายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ประธานคณะกรรมการกลางกลุ่มเกษตรกรแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เกษตรกรได้เสนอข้อร้องเรียนต่อรัฐบาลให้มีการชดเชยรายได้ไร่ละ 3,500 บาท ไม่เกิน 30 ไร่ไปแล้ว ขณะนี้ยังให้เวลารัฐบาลหายใจและตัดสินใจอยู่ ระหว่างวันที่ 29-30 มิถุนายนนี้ สภาเกษตรกรแห่งชาติจะประชุมชี้แจงความเดือดร้อนของแต่ละจังหวัดและแนวทางที่จะดำเนินต่อไป

"ตอนนาปรังปีที่แล้วรัฐบาลก็บอกฝนแล้งไม่ให้ทำนา ชาวนาก็ต้องหยุดทำนามาทีหนึ่งแล้ว พอถึงวันที่ 1 พฤษภาคม 2558 ก็ประกาศให้ทำนาปีกันได้เต็มที่ มีน้ำให้ เกษตรกรก็เลยหาปัจจัยการผลิตมาทำนากันหมดแล้ว แต่ต่อมารัฐบาลมาประกาศชะลอทำนาปี แล้วเงินที่ลงไปแล้วไม่ต่ำกว่าไร่ละ 3,500 บาทจะทำยังไง ลงนาไปแล้วเอาคืนมาไม่ได้ เป็นความผิดของรัฐบาลชัดเจนที่ประกาศเริ่มทำนา" นายอุบลศักดิ์กล่าว

ส่วนสภาพการณ์ในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ ชาวนาเริ่มแย่งสูบน้ำเข้านากันอย่างสับสนอลหม่าน เมื่อเห็นระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาลดต่ำลงอีก เนื่องจากเป็นผลมาจากการลดการระบายน้ำจากเดิมที่เคยระบายอยู่ที่ 33-35 ล้าน ลบ.ม./วินาที มาอยู่ที่ 28 ล้าน ลบ.ม./วินาที เพื่อยืดเวลาให้เขื่อนทั้ง 4 แห่งมีปริมาณน้ำใช้การได้จริงไปจนถึงเดือนสิงหาคม จากที่เคยคาดการณ์ไว้ว่าฝนจะตกในช่วงเดือนกรกฎาคมนี้

 ธ.ก.ส.ยืดเวลาชำระหนี้สูงสุด 1 ปี

นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวหลังจากที่รายงาน ครม.เศรษฐกิจว่า ภัยแล้งจะส่งผลให้ GDP ลดลงประมาณ 0.5% ต่อปี อย่างเศรษฐกิจไทยปีนี้ที่เดิมคาดการณ์ว่าจะเติบโต 3.5% ก็อาจจะเหลือ 3% แต่หากมีการออกมาตรการที่เหมาะสม GDP ก็อาจจะลดลงไม่ถึง 0.5% ก็ได้ "การปรับเปลี่ยนให้เกษตรกรปลูกพืชใช้น้ำน้อย ทำได้ แต่คงได้ผลไม่มาก รัฐบาลจะต้องมีมาตรการช่วยเหลืออย่างแน่นอน แต่กำลังคิดกันอยู่ และช่วยได้อย่างตรงตัวมากกว่าจ่ายไร่ละ 1,000 บาท

ขณะที่นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ในส่วนมาตรการของ ธ.ก.ส. นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการ ธ.ก.ส. สั่งการให้ ธ.ก.ส.ลงพื้นที่พูดคุยกับลูกค้าเกษตรกรว่า ไม่ต้องกังวลเรื่องหนี้ที่มีอยู่ เพราะหากได้รับผลกระทบจากภัยแล้งจนชำระหนี้ไม่ได้ ลูกค้าสามารถเข้าไปคุยกับสาขา เพื่อขอขยายเวลาการชำระหนี้ได้

ทันที โดยนายสมศักดิ์ กังธีระวัฒน์ รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า ธ.ก.ส.จะพิจารณาการขยายเวลาชำระหนี้ให้เกษตรกรที่ประสบภัยแล้งจนกระทบกับการชำระหนี้ให้ไม่เกิน 12 เดือน ขึ้นอยู่กับศักยภาพด้านรายได้ของเกษตรกรแต่ละรายด้วย ซึ่งได้ให้สาขามีอำนาจอนุมัติขยายเวลา (พักหนี้) ได้

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ได้จัดรถจำหน่ายสินค้า (โมบายธงฟ้า) ลงพื้นที่ 19 จังหวัด เพื่อนำสินค้าอุปโภคบริโภคจำนวน 12 รายการ ในราคาต่ำกว่าท้องตลาด 30-50% ลงไปจำหน่ายให้กับชาวนาที่ประสบปัญหาภัยแล้วรวม 2 ล้านคน

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ชาวไร่อ้อยดิ้นแก้ตั้งรง.น้ำตาลวอน'ประยุทธ์'ใช้ม.44 ยกเลิกระยะห่าง 50 กม. 

        ชาวไร่อ้อยจี้ "ประยุทธ์" ใช้ ม.44 รื้อหลักเกณฑ์กำหนดระยะห่างตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ หลังครม.อนุมัติแล้ว ย้ายโรงงานไม่ได้ สร้างความเดือดร้อนขนส่งอ้อยเข้าหีบระยะทางไกล ชาวไร่อ้อยจ.สุโขทัยโวยเป็นการปิดกั้นสิทธิของเกษตรกร ย้ายโรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์จากอุตรดิตถ์ มาไม่ได้สิ้นเปลืองค่าขนส่งปีละกว่า 100 ล้านบาท แทนที่จะประหยัดเงินส่วนนี้มาเป็นรายได้ยกระดับคุณภาพชีวิต

          นายสุชัย ลิ้มสมมุติ ประธานสหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมว่าด้วยเรื่องการอนุญาตให้ตั้งหรือย้าย หรือขยายโรงงานน้ำตาลในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักรโดยกำหนดให้โรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ที่ขออนุญาตตั้งหรือย้ายโรงงานน้ำตาลจะมีระยะห่างจากเขตโรงงานน้ำตาลที่มีอยู่เดิม 50 กิโลเมตร ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาในรายละเอียดของคณะอนุกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 6 สำนักนายกรัฐมนตรี ได้ส่งผลกระทบต่อการตั้งโรงงานและขอย้ายพื้นที่ตั้งโรงงานเป็นจำนวนมาก สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวไร่อ้อยต้องส่งอ้อยเข้าหีบในระยะทางที่ไกล

          โดยที่ผ่านมาชาวไร่อ้อยทั่วประเทศทั้ง 4 องค์ ประกอบด้วย สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย สมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย สหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน พยายามคัดค้านหลักเกณฑ์ดังกล่าวมาโดยตลอด เนื่องจากเป็นการกีดกันโรงงานน้ำตาลที่มีความพร้อมไม่สามารถเกิดขึ้นได้

          ดังนั้น จึงอยากจะเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลใช้อำนาจที่มีอยู่ผ่าน ม.44 ทบทวนมติครม.ใหม่ ให้ยกเลิกการกำหนดเงื่อนไขการตั้งโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ ที่กำหนดระยะห่างไว้ มาเป็นการกำหนดสถานที่ตั้งโดยเสรีแทน เนื่องจากเป็นการกระทบกับสิทธิของเกษตรกรชาวไร่อ้อยทั่วประเทศ การกำหนดสถานที่ตั้งควรจะคำนึงถึงจำนวนปริมาณอ้อยที่มีคู่สัญญาที่แน่นอนและพื้นที่เพียงพอต่อการขยายพื้นที่เพาะปลูกที่เหมาะสมมากกว่าการกำหนดระยะห่าง

          ทั้งนี้ จะเห็นได้จากกรณีการขอย้ายโรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ จากโรงงานที่อยู่ในจังหวัดอุตรดิตถ์ ขนาดกำลังการผลิต1.8หมื่นตันอ้อย หรือรวมปริมาณอ้อยเข้าหีบ 2.12 ล้านตันอ้อยต่อปี มาตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากติดเงื่อนไขร่างประกาศดังกล่าว เพราะมีโรงงานน้ำตาลทิพย์สุโขทัย ตั้งอยู่ก่อนแล้วมีระยะห่างเพียง 30 กิโลเมตรเท่านั้น

          ทั้งที่การขอให้มีการย้ายโรงงานน้ำตาล ก็เป็นความประสงค์ของชาวไร่ ซึ่งมีพื้นที่ปลูกอ้อยส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดสุโขทัยส่งอ้อยเข้าหีบ 1.529 ล้านตัน หรือ 72% ของอ้อยที่ส่งเข้าหีบทั้งหมด ในจำนวนคู่สัญญา 3.068 พันราย แต่ที่ผ่านมาต้องส่งอ้อยเข้าไปหีบโรงงานน้ำตาลที่จังหวัดอุตรดิตถ์ มีระยะทางไกลถึง 150 กิโลเมตร มาเป็นเวลากว่า 10 ปีและต้องแบกรับภาระค่าขนส่งที่สูงมากขึ้น

          ดังนั้น หากโรงงานน้ำตาลดังกล่าวสามารถย้ายมาตั้งที่อำเภอสวรรคโลกได้ จะช่วยให้ชาวไร่ประหยัดค่าขนส่งอ้อยได้ตันละ 70 บาทหรือปีละกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ชาวไร่มีรายได้เพิ่มขึ้น และยังช่วยลดอุบัติเหตุจากการขนส่งอ้อยบนถนนเส้นทางหลักลงได้อีกทางหนึ่ง

          นายสุชัยกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาทาง 4 องค์กรพยายามเรียกร้องให้มีการยกเลิกเงื่อนไขการกำหนดระยะห่างการตั้งโรงงานน้ำตาลมาอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่ครม.จะเห็นชอบในร่างประกาศกระทรวงดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นคณะทำงานกำหนดหลักเกณฑ์ในการอนุญาตโรงงานน้ำตาลทราย ที่กระทรวงอุตสาหกรรมตั้งขึ้นมา ทำหน้าที่กำหนดเงื่อนไขแต่ก็ไม่มีการรับฟังเสียงของชาวไร่ แต่จะไปฟังความเห็นของกลุ่มโรงงานน้ำตาลที่มีอยู่ 53 แห่ง เป็นส่วนใหญ่ รวมทั้งการทำหนังสือชี้แจ้งความเดือดร้อนส่งไปยังนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม แต่เรื่องก็เงียบหาย จนนำไปสู่การเสนอครม.เห็นชอบออกมา

          โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 10 มิถุนายนที่ผ่านมา สมาคมชาวไร่อ้อยลูกพระยาพิชัย ก็ได้ยื่นหนังสือถึงประธานคณะกรรมาธิการ การพาณิชย์ การอุตสาหกรรม และการแรงงาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ให้ทราบถึงความเดือดร้อนของชาวไร่ในเขตจังหวัดสุโขทัย เพื่อช่วยผลักดันให้นายกรัฐมนตรีรับทราบปัญหาและลงมาแก้ไขหลักเกณฑ์การกำหนดระยะห่างการตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของชาวไร่ที่อยากจะให้โรงงานน้ำตาลมาตั้งอยู่ในพื้นที่ได้

จาก http://www.matichon.co.th   วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2558

จ่อเคาะโมเดลสู้ภัยแล้ง หวั่นซ้ำเติมกำลังซื้อในประเทศ-ส่งออกหลังตัวเลข 5 เดือนหด 4.2% 

          สศค.เตรียมเคาะโมเดลสู้ "ภัยแล้ง" หวั่นซ้ำเติมส่งออก กำลังซื้อในประเทศ แต่ยังมั่นใจ 2 ตัวช่วย "ท่องเที่ยวลงทุนรัฐ" ยังมีแรงดันเศรษฐกิจปีนี้โตเกิน 3% "สมหมาย" ชี้แล้งขยายวงนานฉุดจีดีพีอย่างต่ำ 0.5% กสิกรไทย เตือนรับมือสภาพคล่อง บริหารต้นทุน หลังเฟดจ่อขึ้นดบ.ปลายปี ด้านก.พาณิชย์เผย 5 เดือน ส่งออกติดลบ 4.20% พฤษภาคมหด 5.01% เหตุส่งออกยานยนต์ต่ำกว่าคาด-ศก.โลกคู่ค้าหลักชะลอตัว

          หลังจากที่ 2 ใน 3 หน่วยงานเศรษฐกิจภาครัฐคือ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช. )หรือสภาพัฒน์ได้ปรับลดประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจไทย(จีดีพี)มาอยู่ระดับ 3% (ตารางประกอบ) โดยมีปัจจัยหลักมาจากภาคส่งออกเป็นหลัก

          โดยธปท.ประมาณตัวเลขส่งออกล่าสุด (19 มิถุนายน 2558 )ในรูปดอลลาร์สหรัฐฯจะหดตัวถึง 1.5% ติดลบเป็นปีที่ 3 ขณะที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง เตรียมจะทบทวนเป้าเศรษฐกิจใหม่ในเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งมีแนวโน้มจะปรับในด้านต่ำจากสถานการณ์ภัยแล้งที่เป็นปัจจัยซ้ำเติม ทั้งนี้ประมาณการจีดีพีภาคการเกษตร โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.)คาดว่าปีนี้จะเติบโตเพียง 1.45% จากประมาณการเดิมที่ 2.5-3%

          สศค.เตรียมเคาะโมเดลสู้"ภัยแล้ง"

          ต่อประเด็นดังกล่าวนายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ได้มีนโยบายเร่งด่วนให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ช่วยเหลือเกษตรกรที่เป็นลูกค้าของ ธ.ก.ส.  โดยขอให้พักชำระหนี้ทั้งในส่วนของเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 6 เดือน เพื่อให้เกษตรกรมีเวลาในช่วงที่ยังไม่สามารถลงมือเพาะปลูก  เนื่องประสบปัญหาขาดน้ำและฝนตกช้ากว่าที่ประเมินไว้

          ส่วนมาตรการด้านความช่วยเหลือทางการเงิน อาจต้องใช้ระยะเวลาในการกำหนดมาตรการ เบื้องต้น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี และนายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  อยู่ในระหว่างการพิจารณาหาสูตรช่วยเหลือใหม่ๆ ที่นอกเหนือการจ่ายเงินชดเชยเพียงอย่างเดียว เนื่องจากที่ผ่านมาภาคการเกษตรถือเป็นฐานรากของการผลิตทั้งบริโภคภายในประเทศรวมถึงการส่งออก ดังนั้นหากภัยแล้งขยายเป็นวงกว้าง จนทำให้การเพาะปลูกต้องชะลอออกไป จะกระทบและฉุดกำลังซื้อฐานราก ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงที่เมื่อถึงสิ้นปีอาจทำให้เศรษฐกิจในภาพรวมหดตัวเพิ่มจากเดิมไม่ต่ำกว่า 0.5%

          "ในปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ช่วยเหลือชาวนาและชาวสวนยาง ในอัตราไร่ละ 1 พันบาทนั้นใช้งบประมาณรวม 5.15 หมื่นล้านบาท โดยแยกเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2557/58 ตามพื้นที่ที่ปลูกข้าวจริงแต่ไม่เกินครัวเรือนละ 15 ไร่ ในอัตราไร่ละ 1 พันบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนซึ่งมีเกษตรกรที่รับเงินชดเชย 3.49 ล้านครัวเรือน คิดเป็นพื้นที่ปลูกข้าวนาปีประมาณ 63.8 ล้านไร่ วงเงินชดเชยประมาณ 4 หมื่นล้านบาท"

          ภัยแล้งฉุดกำลังซื้อบริโภคหด

          ด้านนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ขณะนี้ สศค.เตรียมที่จะทำโมเดลคำนวณผลกระทบเศรษฐกิจจากภัยแล้ง เพราะหากภัยแล้งขยายพื้นที่และเวลานานเท่าไรจะกระทบต่อจีดีพีภาคการเกษตร และสิ่งที่จะตามมาคือกำลังซื้อและการบริโภคภายในประเทศ รวมถึงราคาน้ำมันอาจลดลง เนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ยังไม่ปรับตัวดีขึ้นนัก ซึ่งระยะยาวอาจมีผลต่อการจัดเก็บรายได้ภาษีมูลค่าเพิ่มหรือแวต และส่งผลให้เศรษฐกิจหดตัวลงอีก

          อย่างไรก็ดี ปัจจุบันกระบวนการชดเชยความเสียให้กับเกษตรกรหรือชาวนามาจากหลายด้าน ซึ่งในปีที่ผ่านมาได้ใช้งบประมาณในการชดเชยให้ไร่ละ 1 พันบาท จากภาวะราคาข้าวเปลือกตกต่ำ หากเทียบสถานการณ์ปี 2557 กับปี 2558 ค่อนข้างต่างกัน เนื่องจากปี 2558 เกษตรกรถูกขอให้ชะลอการทำนาออกไปเนื่องจากปัญหาภัยแล้ง ในแง่ความเสียหายยังไม่ถือว่าเกิด

          "จากข้อมูลปัจจุบันกว่า 60% ของพื้นที่เฉลี่ยยังไม่มีการลงทุนเพาะปลูกข้าว ดังนั้นจึงไม่ถือว่าเกิดความเสียหาย ซึ่งเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากกรณีนี้ จะได้รับเงินชดเชยทั้งจากภาครัฐ และหากมีการซื้อประกันภัยความเสี่ยงร่วมก็จะได้รับการชดเชยในวงเงินที่สูงมากขึ้น"

          สศค.จ่อหั่นจีดีพีเชื่อยังโตเกิน 3%

          ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่าเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้จะมีการปรับประมาณการจีดีพีรอบใหม่อีกครั้ง โดยยังมองยังมีโอกาสที่เศรษฐกิจจะขยายตัวได้เกิน 3% แต่ยอมรับมีหลายปัจจัยไม่ดีนัก และภาคส่งออกยังเป็นปัจจัยที่มีความเป็นไปได้สูงว่า ทั้งปีจะขยายตัวได้เพียง 0.2% จากเดิมที่สศค.ประเมินส่งออกขยายตัวที่ 1.4% ซึ่งเป็นระดับต่ำอยู่แล้ว เห็นได้จากข้อมูล 5 เดือนที่ผ่านมาตัวเลขการส่งออกติดลบไปแล้ว 4% แต่อีก 2 ปัจจัยที่ค่อนข้างเป็นบวก คือ การส่งเสริมและเร่งการลงทุนจากภาครัฐ รวมถึงตัวเลขนักท่องเที่ยวที่ได้รับการยืนยันว่ายอดนักท่องเที่ยวปีนี้จะไม่ต่ำกว่า 29 ล้านคน น่าจะเป็นตัวเสริมทำให้จีดีพีปีนี้ ค่อยๆปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง

          "นโยบายรัฐชัด"หนุนลงทุน

          นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือทีเอ็มบี กล่าวว่า ตนยังมองเศรษฐกิจไทยทั้งปีขยายตัวที่ 3% ประเมินการบริโภคเอกชน, การเบิกจ่ายลงทุนภาครัฐจะดีขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่ผ่านมาเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของทั้ง 3 ปัจจัย เป็นแรงขับเคลื่อนที่ดีขึ้น ขณะที่ภาคท่องเที่ยวครึ่งปีหลัง ก็ยังมีแรงหนุนดีแม้จะมีปัจจัยลบบ้าง(เมอร์ส, ไอซีเอโอ) และปัจจัยที่เป็นความคาดหวัง  คือนโยบายของภาครัฐที่จะเป็นแรงจูงใจให้ภาคเอกชนลงทุนเพิ่มตาม เช่น นโยบายดิจิตอลอีโคโนมี, เขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งหากบทบาทของรัฐบาลมีความชัดเจนก็เป็นโอกาสจะได้เห็นการลงทุนเอกชนเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นหมวดก่อสร้าง, อสังหาริมทรัพย์ด้านที่อยู่อาศัยหรืออสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ขยายตัวได้

          "ภาคส่งออกยังเป็นปัจจัยรั้งการขยายตัวเศรษฐกิจอยู่ ซึ่งทีเอ็มบีปรับตัวเลขส่งออกทั้งปี ติดลบ 1.7%  เห็นได้จาก 4 เดือนส่งออกติดลบไป 4% โอกาสติดลบยังคงซึม แต่ไตรมาส 4/58 ส่งออกอาจจะขยับบ้าง อีกทั้งยังถูกซ้ำเติมด้วยภัยแล้ง"

          เฟดขึ้นดบ.กระทบสภาพคล่อง

          ดร.เชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทยฯกล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด และปัจจัยลบรุมเร้าหลายรายการอาจส่งผลทางอ้อมต่อการใช้จ่าย โดยเฉพาะภาคส่งออกนั้นที่ยังไม่ดีขึ้น ซึ่งในส่วนของศูนย์วิจัยกสิกรไทย อาจต้องปรับลดประมาณการส่งออกเป็นติดลบ จากปัจจุบันที่คาดส่งออกจะขยายตัว 0%

          "แม้โรคไวรัสเมอร์ส จะยังไม่ส่งผลเชิงลบชัดในขณะนี้ แต่จำเป็นต้องติดตามอีกระยะซึ่งอาจมีผลต่อโอกาสทางธุรกิจ โดยเฉพาะโจทย์ของธุรกิจคือการลดต้นทุน เพราะปลายปีหน้าธุรกิจจำเป็นต้องเพิ่มประสิทธิภาพไม่ว่าระบบไอที หรือการเพิ่มประสิทธิภาพต่อหัวและขยายตลาด เนื่องจากภายในประเทศมีข้อจำกัด และหากเป็นไปตามตลาดคาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา(เฟด)จะทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อาจส่งผลต่อสภาพคล่องภายในประเทศที่ถูกดึงออก ซึ่งจะเห็นผลชัดครึ่งหลังของปีหน้า ทั้งนี้หากธุรกิจและผู้ประกอบการเล็งเห็นแนวทางและปัจจัยเหล่านี้จะสามารถวางกลยุทธ์ตลาดได้"

          HSBCคาดกนง.หั่นดบ.เหลือ1.25

          ด้านนางสาวนลิน ฉัตรโชติธรรม นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย กล่าวว่า  การส่งออกสินค้ายังเป็นปัจจัยหลักที่ฉุดการเติบโตเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นผลจากอุปสงค์ในเอเชียตะวันออกที่ต่ำ นอกจากนี้ การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังซบเซา แม้จะมีแรงหนุนจากราคาพลังงานที่ต่ำลง

          "เมื่อพิจารณาจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอ และความเสี่ยงเชิงลบที่มีต่อการส่งออกอย่างต่อเนื่อง เอชเอสบีซีจึงปรับลดคาดการณ์เติบโตเศรษฐกิจไทยปีนี้ลงจาก 3.6% มาเป็น 3.1% แต่การเติบโตเศรษฐกิจในปีหน้าจะปรับขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 3.3% จาก 3.1%"

          ทั้งนี้เอชเอสบีซี ประเทศไทยยังมองว่า มีโอกาสที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทยจะผ่อนคลายอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% มาอยู่ที่ 1.25% ภายในไตรมาส 3 ปีนี้และยืนในอัตรานี้ถึงปลายปี 2559  เพื่อพยุงการเติบโตของเศรษฐกิจให้มีความต่อเนื่อง (จากเดิมคาดว่าจะปรับขึ้นจาก 1.50% สู่ 1.75% ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 59) และคาดว่าเฟดจะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงเดือนธันวาคมปีนี้ สู่ระดับ 0.25-0.50% และในปี 2559 จะมีการปรับขึ้นอีก 0.5% เป็น 0.75-1.00% ภายในสิ้นปี 2559 ซึ่งเป็นการปรับในระดับที่น้อยกว่าการคาดการณ์ล่าสุดของเฟด

          ส่งออก 5 เดือนหด 4.2%

          ขณะที่กระทรวงพาณิชย์  นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยถึงภาวะการนำเข้า - ส่งออก และดุลการค้าของไทยประจำเดือนพฤษภาคม 2558 ว่า ยังมีมูลค่าการส่งออกลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการส่งออกยานยนต์และชิ้นส่วนประกอบขยายตัวต่ำ  สินค้าเกี่ยวข้องกับน้ำมันมีมูลค่าส่งออกลดลงตามราคาน้ำมัน และสินค้าเกษตรมีมูลค่าส่งออกต่ำตามราคาในตลาดโลก

          โดยส่งออกของไทยในรูปดอลลาร์สหรัฐฯเดือนพฤษภาคม 2558 มีมูลค่า 1.84 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวลดลง 5.01% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ 5 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-พ.ค.)การส่งออกของไทยมีมูลค่า 8.86 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 4.20% ส่วนการนำเข้าเดือนพฤษภาคมมีมูลค่า 1.60 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 19.97% และการนำเข้าช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้มีมูลค่า 8.53 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 9.39% ส่งผลให้ดุลการค้าระหว่างประเทศของไทยในช่วง 5 เดือนแรก ยังเกินดุล 3.32 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

          ทั้งนี้ในส่วนของปัญหาภัยแล้งกระทรวงพาณิชย์ คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อยอดส่งออกในปีหน้า เนื่องจากผลผลิตสินค้าเกษตรหลายชนิดมีปริมาณลดลง

          ส่วนปัจจัยที่มีผลกระทบให้การส่งออกของไทยหดตัวต่อเนื่อง เป็นปัจจัยจากภายนอกที่สำคัญ ได้แก่ ภาพรวมเศรษฐกิจโลกและตลาดคู่ค้าหลักปัจจุบันชะลอตัว โดยเฉพาะสหภาพยุโรป ญี่ปุ่นและอาเซียน ในขณะที่สหรัฐอเมริกาเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นเล็กน้อย สอดคล้องกับการนำเข้าของเกือบทุกประเทศทั่วโลกยังคงหดตัว โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร และเกาหลีใต้ เป็นต้น

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2558

แล้งลาม19จว.เขื่อนใหญ่แห้งเร่งทำฝนเทียม   

          กรมชลฯ เผยเขื่อนใหญ่หลายแห่งยังมีปริมาณน้ำน้อย เขื่อนสิริกิติ์ถึงขั้นวิกฤติขาดน้ำ เตือนประชาชนใช้อย่างประหยัด ส่วนที่อ่างทอง ทหารเร่งนำเครื่องจักรขุดบ่อบาดาลช่วยเกษตรกรที่กำลังประสบภัยแล้ง ในเขตตำบลสีบัวทอง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประกาศเขตผู้ประสบภัยแล้ง 19 จังหวัด 125 อำเภอ ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ขึ้น ฮ.ดูสถานการณ์น้ำเขื่อนป่าสักฯ พร้อมเร่งทำฝนหลวงช่วยเกษตรกร พร้อมสำรองน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคให้ถึง 10 ส.ค.นี้

          เขื่อนยักษ์มีน้ำเหลือ 20%

          กรมชลประทานรายงานสถานการณ์น้ำล่าสุด ณ วันที่ 27 มิถุนายน 2558 ระบุว่า สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง ปริมาตรน้ำในอ่างฯ 34,096 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 46 (ปริมาตรน้ำใช้การได้ 10,293 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 20) ปริมาตรน้ำในอ่างฯ เทียบกับปี 2557 (35,469 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 47) น้อยกว่าปี 2557 จำนวน 1,373 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ จำนวน 107.20 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำระบายจำนวน 70.58 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีก 40,692 ล้าน ลบ.ม.

          สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ปริมาตรน้ำในอ่างฯ 32,183 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 46 (ปริมาตรน้ำใช้การได้ 8,680 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 19) ปริมาตรน้ำในอ่างฯ เทียบกับปี 2557 (33,403 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 47) น้อยกว่าปี 2557 จำนวน 1,220 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ จำนวน 97.76 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำระบายจำนวน 61.18 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีก 38,187 ล้าน ลบ.ม.

          ทั้งนี้ ปริมาตรน้ำใช้การได้ในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ยังอยู่ในระดับต่ำ โดยเขื่อนภูมิพลมีปริมาตรน้ำใช้การได้ 286 ล้าน ลบ.ม. (3%) เขื่อนสิริกิติ์ 543 ล้าน ลบ.ม. (8%) เขื่อนแควน้อยฯ 82 ล้าน ลบ.ม. (9%) เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 65 ล้าน ลบ.ม. (7%)

          19 จว.ยังประสบภัยแล้ง

          ส่วนกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ประกาศเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) ตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2557-ปัจจุบันมี 19 จังหวัด 125 อำเภอ 740 ตำบล 6,979 หมู่บ้าน ได้แก่ พิษณุโลก ตาก น่าน อุตรดิตถ์ สกลนคร นครราชสีมา ชัยภูมิ ขอนแก่น อำนาจเจริญ สุรินทร์ ลพบุรี นครสวรรค์ ชัยนาท ราชบุรี สระบุรี สระแก้ว ตราด ปราจีนบุรี ประจวบคีรีขันธ์

          เขื่อนสิริกิติ์วิกฤติหนัก

          ด้านนายสุเทพ เลิศศรีมงคล ผู้อำนวยการเขื่อนสิริกิติ์ (อขส.) เปิดเผยถึงสถานการณ์ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ ว่า ระดับน้ำเหนือเขื่อนอยู่ที่ 132.06 เมตร รทก. ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ 3,374.31 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 35.48 ปริมาณน้ำพร้อมใช้งาน 524.31 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 7.87 ถือว่าปีนี้น้ำน้อยกว่าทุกปีที่ผ่านมา จึงได้มีแผนการปล่อยน้ำนับตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 27-28 มิ.ย. แผนการระบายน้ำเพียง 17.0 ล้าน ลบ.ม./วัน

          จากการสังเกตในการปล่อยน้ำจะลดลงแต่ละวัน เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้เลี้ยงปลาในกระชังบริเวณท้ายเขื่อนฯ น้ำอุปโภคบริโภคอีกด้วย อีกทั้งได้ออกประกาศแจ้งเตือนประชาชนให้ใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อลดความเสี่ยงต่อปัญหาการขาดแคลนน้ำที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคตอันใกล้นี้

          ล่าสุด นายชัช กิตตินภดล ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติแล้งแล้ว 8 อำเภอ จากการสำรวจพบว่า มีประชาชนขาดแคลนน้ำแล้วประมาณ 62,648 ครัวเรือน เบื้องต้นให้ทั้ง 8 อำเภอ ที่ได้รับผลกระทบออกสำรวจ และรายงานมายังจังหวัด ในส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น อบต. เทศบาล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อนำน้ำออกแจกจ่ายให้แก่ประชาชนที่ผู้ประสบภัยแล้วประมาณ 6,312,000 ลิตร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่หลังประสบกับปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก

          เกษตรฯ เร่งทำฝนหลวง

          นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงมาตรการในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงสถานการณ์ภัยแล้ง ว่า วันนี้ได้มีการประชุมหารือเรื่องมาตรการนโยบายในการทำฝนหลวง เพื่อเร่งรัดการทำงานของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง ซึ่งการทำฝนหลวงจะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อน และแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรที่ยังขาดแคลนน้ำได้มากขึ้น

          ทั้งนี้ ยังมีโครงการที่จะช่วยเหลืออีกหลายโครงการ อาทิ โครงการขุดบ่อบาดาลแก้ภัยแล้ง ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้อนุมัติงบช่วยเหลือ 84 ล้านบาท และโครงการยืดการจ่ายดอกเบี้ยเกษตรกร ที่กระทรวงเกษตรกรและสหกรณ์จะประสานการทำงานกับกระทรวงการคลัง กำลังจะมีการหารือกันในสัปดาห์หน้านี้ ในส่วนของสถานการณ์น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคนั้น ยังไม่มีความน่าเป็นห่วง เนื่องจากได้มีแผนมาตรการในการสำรองน้ำถึงวันที่ 10 สิงหาคม คาดว่าจะมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการบริโภคเพื่อรอฝนกำลังจะมาถึง

          ขุดบาดาลช่วยชาวบ้าน

          หน่วยทหารจาก กองบัญชากองทัพไทย โดยสำนักงานพัฒนาภาค 1 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนาพิเศษ โดยการนำของ พ.อ.ฐิติวัฒน์ ฐิติภพร่มเย็น ได้นำเครื่องจักรขนาดใหญ่สำหรับขุดเจาะบ่อบาดาล พร้อมนำกำลังทหารชุดช่างลงพื้นที่เพื่อขุดเจาะบ่อบาดาลช่วยเหลือเกษตรกรทำนา ที่กำลังประสบภัยแล้ง บริเวณพื้นที่หมู่ 2 ต.สีบัวทอง อ.แสวงหา จ.อ่างทอง ตามนโยบายรัฐบาล ในโครงการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลมาเสริมผิวดิน เพื่อเกษตรกรที่กำลังประสบภัยแล้งอย่างเร่งด่วน โดยมีประชาชนชาวนาเดินทางมาดูให้กำลังใจหน่วยทหารที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ในครั้งนี้จำนวนมากพร้อมกล่าวขอบคุณรัฐบาลที่เข้ามาให้การช่วยเหลือเกษตรกรทำนาที่ประสบปัญหาภัยแล้งอย่างเร่งด่วน

          หลังรัฐบาลได้มอบหมายให้กองบัญชาการกองทัพไทย เข้าดำเนินการขุดเจาะบ่อบาดาล เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร เพื่อให้สามารถสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ในภาคการเกษตรเพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรในพื้นที่ นอกจากนี้ หลังจากการขุดเจาะบ่อบาดาลบรรเทาภัยแล้งในครั้งนี้แล้ว เกษตรกรยังสามารถใช้น้ำจากบ่อบาดาลที่ขุดเจาะในครั้งนี้ ในฤดูแล้งครั้งต่อไป เป็นการแก้ไขปัญหาภัยแล้งได้อย่างยั่งยืนต่อไป

          ตากผวาฝนตกหนัก!

          นายปรีชา ใจเพชร นายอำเภอแม่สอด จ.ตาก ชี้แจงว่า ฝนที่ตกหนักในช่วง 4 วันที่มาทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเมยเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว 50-70 ซม. แต่ยังต่ำกว่าตลิ่งกว่า 1 เมตร จึงแจ้งเตือนให้ประชาชนในอำเภอแม่สอดเฝ้าระวังตลอดเวลา จะได้ขนข้าวของสินค้าและรับมือได้ทันหากเกิดน้ำท่วมฉับพลัน

          ทั้งนี้ ทางอำเภอเตรียมการป้องกัน และบรรเทาอุทกภัยไว้แล้วทั้งอุปกรณ์การช่วยเหลือ และกำลังเจ้าหน้าที่ เพราะเคยเกิดอุทกภัยที่ริมชายแดนมาแล้วทั้ง 2 ฝั่ง

จาก http://www.banmuang.co.th วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ตรวจป่าสักเหลือน้ำ40วัน ฝนไม่ตกต้องหยุดปล่อยหวั่นกระทบผลิตประปา19หมู่บ้านพิจิตรใกล้ร้าง 

          ปลัด ก.เกษตรฯเผยเขื่อนป่าสักฯมีน้ำใช้แค่ 40 วัน ผอ.โครงการฯแจงหากไม่มีน้ำไหลเข้ากระทบผลิตประปาแน่นอน

          เผยเขื่อนป่าสักฯมีน้ำใช้แค่40วัน

          นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำคณะเจ้าหน้าที่ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เพื่อสำรวจติดตามสถานการณ์ภัยแล้งและปฏิบัติการ ฝนหลวงของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี เมื่อวันที่ 27 มิถุน-ายน พบว่าบรรยากาศใน จ.ลพบุรี มีเมฆครึ้มและฝนตกเป็นระยะ แต่น้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณเหลือน้อย จนมองเห็นสันดอนทรายภายในเขื่อนหลายจุด แต่ในหลายๆ พื้นที่ของ จ.ลพบุรี พบว่านาข้าวยังไม่ได้รับความเสียหายมากนัก

          ต่อมานายชวลิตประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ประกอบด้วย นายธนาคม จงจิระ ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี นายปัญญา กัลปสุข ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ นายสุรสีห์ กิตติมณฑล รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร รวมทั้งเกษตรจังหวัดลพบุรี

          นายชวลิตกล่าวว่า น้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำเหลืออยู่ 66 ล้านลูกบากศ์ เมตร (ลบ.ม.) มีปริมาณน้ำที่ใช้การได้ 60 ล้าน ลบ.ม. หรือ 7% หากไม่มีฝนตกเลย จะสามารถระบายน้ำได้อีก 40 วันเท่านั้น ขณะนี้ ยังระบายน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคและเพื่อการเกษตร 1.3 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน สำหรับสถานการณ์การเพาะปลูกพืช จ.ลพบุรี พบว่ามีพื้นที่ทำการเกษตร 2.7 ล้านไร่ แบ่งเป็น ปลูกข้าว 1.2 ล้านไร่ พืชไร่ 1.5 ล้านไร่ และพืชผักและไม้ผล 10,000 ไร่ ซึ่งจากสถานการณ์ภัยแล้ง มีพื้นที่ปลูกข้าวในลพบุรี รวม 800,000 ไร่ ปลูกข้าวไปแล้ว 237,885 ไร่ ยังไม่ได้เพาะปลูก 562,115 ไร่ แบ่งเป็น ในเขตชลประทาน ปลูกข้าวไปแล้ว 195,763 ไร่ ยังไม่ได้เพาะปลูก 297,962 ไร่ และนอกเขตชลประทาน ปลูกข้าวไปแล้ว 42,122 ไร่ ยังไม่ได้เพาะปลูก 264,153 ไร่ "ในส่วนของเกษตรกรในเขตชลประทานที่เพาะปลูกข้าวแล้ว กรมชลประทานยืนยันว่าจะมีน้ำเพียงพออย่างแน่นอน สำหรับชาวนาที่ยังไม่ได้เพาะปลูกข้าว ได้สั่งการให้เกษตรจังหวัดลงพื้นที่สอบถามและรวบรวมข้อมูลเกษตรกรที่ยังไม่ได้เริ่มการเพาะปลูก เพื่อรวมจำนวนตัวเลขเกษตรกรที่ต้องการขอรับมาตรการสนับสนุนปลูกพืชใช้น้ำน้อยจากกระทรวงเกษตรฯ เช่น ข้าวโพด พันธุ์ถั่ว เพื่อที่กระทรวงจะได้มีเป้าหมายแน่ชัด และสนับสนุนพันธุ์ให้เกษตรกรปลูกตามความต้องการได้" นายชวลิตกล่าว และว่า สำหรับมาตรการด้านหนี้สินอื่นๆ นั้น ทางกระทรวงการคลังและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะลงพื้นที่รวบรวมข้อมูลและพักชำระหนี้ให้กับเกษตรกรที่ยังไม่ได้เริ่มการเพาะปลูกข้าวออกไปก่อน 1 ปี

          ชง2มาตรการช่วยเกษตรกร

          นายชวลิตกล่าวว่า เตรียมเสนอมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งเพิ่มเติม เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร จ.เชียงใหม่ ในวันที่ 29-30 มิถุนายน คือ 1.เสนอมาตรการจ้างชาวนาขุดลอกคลอง ซึ่งเคยมีมาตรการมาก่อนในฤดูงดส่งน้ำเพาะปลูกข้าวนาปรัง 57/58 ที่ผ่านมา และ 2.เสนอของบประมาณเพิ่มเติมสำหรับโครงการสร้างรายได้เกษตรกร ตำบลละไม่เกิน 1 ล้านบาท วงเงิน 3,052 ล้านบาท เพื่อสร้างโครงการและทำให้เกิดการจ้างงานเกิดขึ้น 50% โดยกระทรวงเคยออกมาตรการมาแล้วในช่วงงดทำนาปรังเช่นกัน ทั้งนี้ ในส่วนของมาตรการจ้างชาวนาได้สั่งการให้กรมชลประทานรวบรวมข้อมูลต่างๆ เพื่อเสนอให้กระทรวงพิจารณาและส่งให้ ครม.สัญจร ที่จังหวัดเชียงใหม่

          "ในการประชุม ครม.เศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงเกษตรฯรวบรวมข้อมูลและออกมาตรการให้เกิดการจ้างงานชาวนาในช่วงที่รัฐบาลขอให้ชะลอการเพาะปลูกข้าวนาปีไปก่อนในระหว่างรอฝน ซึ่งมาตรการจ้างชาวนาถือเป็นมาตรการที่ดี สามารถใช้งบประมาณในส่วนของกรมชลประทานได้เลย และทำให้ชาวนามีรายได้ขุดลอกคลองหรือกำจัดวัชพืชตาม คลองชลประทานต่างๆ ขณะรอฝน" นายชวลิตกล่าว

          ชี้หากน้ำไม่เข้าเขื่อนจะหยุดส่ง

          นายปัญญากล่าวว่า ขณะนี้เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ยังไม่มีปริมาณน้ำฝนไหลลงเขื่อนเลย ตั้งแต่ฤดูฝนเดือนพฤษภาคม โดยน้ำต้นทุนที่ระบายอยู่มาจากปริมาณน้ำฝนที่สะสมมาตั้งแต่ฤดูกาลผลิตข้าวนาปี 2557 โดยหากภายใน 40 วัน ยังไม่มีฝนตกจะไม่มีน้ำใช้แน่นอน ซึ่งจะส่งผลกระทบกับการส่งน้ำการประปาของประชาชนอีกด้วย ขณะนี้ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์กำลังพิจารณาลดปริมาณการส่งน้ำลงอีก เพื่อที่จะบริหารจัดการน้ำในเขื่อนให้เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคให้มากขึ้น

          นายสุรสีห์กล่าวว่า ที่ผ่านมาศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคกลาง จ.นครสวรรค์ ได้จัดส่งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงออกไปให้การช่วยเหลือประชาชน 2 หน่วย ที่ จ.กาญจนบุรี และ จ.ลพบุรี ในส่วน จ.ลพบุรี ได้ตั้งหน่วยงานมาตั้งแต่ 16 เมษายน ถึงปัจจุบัน ขึ้นบินมาแล้วจำนวน 65 วัน รวม 202 เที่ยวบิน มีฝนตก 58 วัน อย่างไรก็ตาม แม้ฝนตกกระจายในหลายพื้นที่ แต่ปริมาณน้ำฝน ยังไม่ทั่วถึง และเพียงพอต่อความต้องการของพื้นที่เพาะปลูก คาดว่าช่วงกลางเดือนกรกฎาคม จะมีมรสุมจากตะวันตกเฉียงใต้มายังไทย และจะเกิดฝนตกมากในหลายพื้นที่

          หนองคายสูบน้ำโขงทำนา

          ที่หนองคาย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงทำให้ชาวนาใน จ.หนองคาย ที่มีพื้นที่นาติดกับรางระบายน้ำโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้ายอมเพิ่มต้นทุนในการทำนา จ่ายค่าไฟฟ้าสูบน้ำในแม่น้ำโขงเข้านาเพื่อทำนาปี ซึ่งปกติจะยอมจ่ายเฉพาะช่วงฤดูแล้ง ที่มีการทำนาปรังเท่านั้น โดยเฉพาะชาวนาในเขตตำบลหาดคำ อ.เมือง จ.หนองคาย มีโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่อยู่ในความดูแลของเทศบาลตำบลหาดคำ  4 จุด ครอบคลุมพื้นที่ 12 หมู่บ้าน พื้นที่การเกษตรกว่า 5,000 ไร่ เพื่อไม่ให้การทำนาปีล่าช้า จึงมีการสูบน้ำทั้งกลางวันและกลางคืนรวมเวลากว่า 16 ชั่วโมง เป็นระยะเวลาที่เครื่องสูบน้ำสามารถทำงานได้ โดยเทศบาลฯจัดงบประมาณช่วยค่าไฟฟ้าให้บางส่วน

          พิจิตรทิ้งนาเข้ากรุงหางานทำ

          นายบรรจง พิจิตรพิไลเลิศ ประธานคณะกรรมการกลางกลุ่มเกษตรจังหวัดพิจิตร กล่าวว่า เกิดภัยแล้งคุกคามอย่างหนัก ชาวนาไม่มีน้ำทำนา บางรายทำนาไปแล้วไม่มีน้ำหล่อเลี้ยงต้นข้าว โดยเฉพาะชาวนาที่ทำนาปรังกว่า 2 แสนไร่ ข้าวใกล้เก็บเกี่ยวไม่มีน้ำหล่อเลี้ยงต้นข้าว ทำให้ข้าวตายเสียหายเกือบครึ่ง ส่วนชาวนาที่ทำนาปีเช่นกันก็หว่านข้าวเริ่มโตเพื่อรอฝนตก แต่ปรากฏว่าฝนไม่ตกตามฤดูกาล น้ำไม่มีหล่อเลี้ยงต้นข้าว  ทำให้ข้าวที่หว่านไว้กว่า 3 แสนกว่าไร่ตายหมด ถึงแม้ว่าทางภาครัฐจะช่วยเจาะบ่อบาดาล ช่วยเหลือเรื่องน้ำเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง แต่น้ำบ่อบาดาลขณะนี้มีน้อยมาก เนื่องจากชาวนาบ่นกันมากว่าน้ำในบ่อบาดาลสูบขึ้นมาน้ำมีน้อยไม่เพียงพอ สิ่งที่ชาวนาอยากให้ช่วยคือค่าชดเชย ไร่ละ  1,000-1,500 บาท เพื่อจะได้นำเงินมาช่วยลดภาระใน ครอบครัว

          นางดอกไม้ จักขุจันทร์ กลุ่มแม่บ้านตำบลทุ่งใหญ่ อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร กล่าวว่า หลังจากเกิดภัยแล้งคุกคาม ชาวนาไม่มีน้ำทำนา ทำให้ชาวนาบางส่วนต้องทิ้งนาร้าง ต้องส่งลูกหลานไปทำงานกรุงเทพฯ เพราะไม่อยากอดตาย ซึ่ง ต.ทุ่งใหญ่มี 19 หมู่บ้าน ประชากรกว่า 7,000 คน ขณะนี้เข้ากรุงเทพฯหางานทำไปแล้วกว่า 2000 คน เหลือแต่ผู้สูงอายุและเด็กเฝ้าบ้าน ปกติก่อนหน้านี้พอเรียกประชุมทำประชาคมแต่ละหมู่บ้านจะมีคนมาร่วมอย่างน้อย 150-200 คน แต่ทุกวันนี้แทบไม่มีใครมาประชุม

          โคราชเดือดร้อนกว่า 8 แสนคน

          นายสมบูรณ์ ซารัมย์ เกษตรจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยถึงสถานการณ์ภัยแล้งภายหลังเขื่อนต่างๆ ให้ชะลอการปลูกข้าวนาปีและพืชอื่นๆ ว่า นครราชสีมาได้ประกาศพื้นที่ภัยแล้ง 25 อำเภอ จาก 32 อำเภอ คิดว่าในช่วง 1 เดือนหลังจากนี้ไปถือได้ว่าเป็นช่วงที่ปกติในพื้นที่ภาคอีสานที่มักจะเกิดฝนทิ้งช่วง ซึ่งในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ได้เพาะปลูกพืชแบ่งออกเป็นหลายจำพวก ประกอบด้วย มันสำปะหลัง อ้อย และนาข้าว พื้นที่ที่ได้มีการเพาะปลูกมันสำปะหลังและอ้อยไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากฝนทิ้งช่วง แต่พืชที่น่าเป็นห่วงคือนาข้าว ที่ต้องมีการใช้น้ำในการหล่อเลี้ยงต้นข้าวเป็นจำนวนมาก ดังนั้น จึงส่งผลกระทบต่อเกษตรกรในหลายพื้นที่ เนื่องจากปริมาณฝนที่ตกลงมายังมีปริมาณไม่เพียงพอ แต่สำนักงานเกษตรจังหวัดได้มอบหมายให้เกษตรอำเภอได้สำรวจและดูแลให้ใกล้ชิด

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน 25 อำเภอ ประกอบด้วย อ.บัวใหญ่, อ.โนนแดง, อ.บัวลาย, อ.สูงเนิน, อ.บ้านเหลื่อม, อ.ขามสะแกแสง, อ.สีดา, อ.ห้วยแถลง, อ.โนนสูง, อ.ประทาย, อ.ด่านขุนทด, อ.ชุมพวง, อ.เทพารักษ์, อ.เฉลิมพระเกียรติ, อ.จักราช, อ.โชคชัย, ,ขามทะเลสอ, อ.เมืองนครราชสีมา, อ.สีคิ้ว, อ.วังน้ำเขียว, อ.โนนไทย, อ.ปักธงชัย, อ.พระทองคำ, อ.แก้งสนามนาง และ อ.เสิงสาง รวมพื้นที่เดือดร้อนทั้งสิ้น 171 ตำบล 1,809 หมู่บ้าน มีราษฎรได้รับความเดือดร้อน 812,181 คน 289,376 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรเสียหายกว่าล้านไร่

          ผวจ.ชี้น้ำเขื่อนสิริกิติ์ยังวิกฤต

          นายชัช กิตตินภดล ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ กล่าวว่า แม้ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมาเกิดฝนตกลงมาบ้างในพื้นที่ จ.อุตรดิตถ์ แต่ปริมาณฝนที่ตกยังไม่มาก ฝนที่ตกลงมาซึมลงดินหมด ทำให้ดินยังไม่อุ้มน้ำไม่มีน้ำขังในไร่นา ยังต้องชะลอการปลูกข้าวไปจนถึงเดือนกรกฎาคม สำหรับชาวนาที่ปลูกข้าวนาปีรอบแรกไปแล้วประมาณ 80,000 ไร่ ได้ขอให้สถานีสูบน้ำตามลำน้ำน่านได้สูบน้ำหล่อเลี้ยงต้นข้าวไปก่อนในระดับพอประมาณ อย่าสูบน้ำมากจนเกินไป เพราะขณะนี้ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างยังมีปริมาณน้ำที่อยู่ในขั้นวิกฤต มีน้ำไม่เพียงพอสำหรับการบริโภค และมีปัญหาน้ำไม่เพียงพอเพื่อผลักดันน้ำเค็มที่จะเข้าสู่กรุงเทพฯ

          สำหรับปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำในเขื่อน สิริกิติ์มีน้ำ 3,393 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือ 36% มีน้ำที่พร้อมใช้งานได้เพียง 543 ล้าน ลบ.ม.หรือ 6% ขณะที่มีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำ 4.21 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเท่ากับว่าฝนที่ตกในพื้นที่ จ.อุตรดิตถ์ ยังไม่มีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์เลย ยังถือว่าน้ำที่มีอยู่ในอ่างยังอยู่ในขั้นวิกฤต

          3อภ.กาญจน์ฉ่ำฝนแต่น้ำยังน้อย

          จ.กาญจนบุรี ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีฝนตกประปรายเป็นระยะๆ ตลอดทั้งวัน ซึ่ง 3 อำเภอ ได้แก่ อ.สังขละบุรี อ.ทองผาภูมิ และ อ.ไทรโยค อยู่ทางทิศตะวันตกมีพื้นที่แนวชายแดนติดต่อกับประเทศเมียนมา ที่มีปริมาณน้ำฝนมากกว่าพื้นที่อื่นๆ โดย อ.สังขละบุรี มีปริมาณน้ำฝน วันที่ 26 มิถุนายน อยู่ที่ 100 มิลลิเมตร แต่ปริมาณน้ำในแม่น้ำซองกาเรีย บริเวณสะพานอุตตมานุสรณ์ หรือสะพานมอญ ต.หนองลู อ.สังขละบุรี ยังคงมีปริมาณน้ำที่น้อยอยู่มาก ถึงแม้ปริมาณน้ำจะเพิ่มขึ้นมาบ้าง แต่ลำน้ำยังคงมีสภาพแห้งขอดตื้นเขินจนมองเห็นสันดอนทรายโผล่ และแพพักอาศัยของชาวบ้านและแพที่ให้บริการแก่นักท่องเที่ยวส่วนหนึ่ง รวมทั้งสะพานลูกบวบอยู่ในสภาพเกยตื้น

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ฝนที่ตกลงมาในพื้นที่ อ.สังขละบุรี ทำให้มีปริมาณน้ำไหลลงสู่แม่น้ำซองกาเรียอย่างต่อเนื่อง และพัดพาเอาเศษไม้ เศษขยะจำนวนมากลอยมาตามลำน้ำ ทางเจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลวังกะและชาวบ้านช่วยกันเก็บออกจากตัวสะพานมอญและสะพานลูกบวบ เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้

          แม่สอดฝนตกน้ำเมยล้น

          ผู้สื่อข่าวรายงานจาก อ.แม่สอด จ.ตาก ว่าน้ำในแม่น้ำเมยเริ่มมีระดับสูงขึ้นจากฝนที่ตกลงมาอย่างหนักในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ผู้ประกอบการขนส่งสินค้าตามท่าข้ามต่างๆ ต้องระมัดระวังน้ำท่วมฉับพลัน จึงมีการย้ายสินค้าไปไว้ที่สูง และเร่งระบายสินค้าไปยังฝั่งจังหวัดเมียวดีประเทศเมียนมา ตรงข้ามบ้านริมเมย ตำบลท่าสายลวด อ.แม่สอด เพราะไม่ไว้วางใจสถานการณ์น้ำท่วมจากฝนที่ตกลงมาติดต่อกัน นอกจากนี้ มีรายงานจากฝั่งประเทศเมียนมาว่ามีดินสไลด์ลงมาปิดถนนบริเวณถนนสายหลักหรือถนนสายเอเชียที่ทางกรมทางหลวงไทยไปสร้างให้ ระหว่างเส้นทางสายเมืองติ่นหง่านหยิ่นหน่องไปยังจังหวัดกอกาเลก ทำให้รถยนต์บรรทุกสินค้าติดระนาว ไม่สามารถสัญจรไปมาได้ แต่มีการเคลียร์พื้นที่เพื่อพยายามระบายรถยนต์ไปให้ได้

          เหนือตอนบนฝนหนัก2-3วัน

          ด้านนายรอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) (สสนก.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เปิดเผยว่า จากการคาดการณ์ว่าจะมีพายุลูกใหม่บริเวณทะเลจีนใต้ระหว่างประเทศฟิลิปปินส์และเวียดนาม หากพายุไปทางเวียดนามจะส่งผลให้เกิดฝนตกหนักในภาคเหนือนั้น จากการตรวจสอบข้อมูลล่าสุดพบว่าพายุดังกล่าวไม่น่าจะมีความรุนแรงมากนักและออกห่างจากไทย

          "ดังนั้นจึงส่งผลต่อประเทศไทยไม่มาก แต่ในระยะ 2-3 วันนี้ ในภาคเหนือตอนบนจะเกิดฝนตกหนัก โดยเฉพาะบริเวณ จ.แม่ฮ่องสอน, เชียงใหม่, เชียงราย, อุตรดิตถ์ และ จ.น่าน เป็นฝนจากอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรง ซึ่งจะส่งผลให้มีน้ำเข้าเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์" นายรอยลกล่าว และว่า คาดช่วงปลายเดือนกรกฎาคมถึงต้นเดือนสิงหาคมจะมีพายุลูกใหม่เข้ามาอีก แต่ยังต้องจับตาดูต่อไป

          สสนก.คาดน้ำไหลเข้า4เขื่อนใหญ่

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถาบันสารสนเทศน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) (สสนก.) รวบรวมข้อมูลปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาด ใหญ่ 4 แห่ง ซึ่งมีความสำคัญต่อการชลประทานและการผลิตกระแสไฟฟ้าในช่วงวันที่ 23-27 มิถุนายน ซึ่งมีน้ำกักเก็บน้อยมาก ดังนี้ 1.เขื่อนภูมิพล น้ำในอ่างทั้งหมด 4,079 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ใช้ได้ 279.82 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 2.90 ส่วนปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน  0.93 ล้านลบ.ม. วันที่ 24-25 มิถุนายน ไม่มีน้ำไหลลงอ่าง วันที่ 26 มิถุนายน 2.25 ล้าน ลบ.ม. และวันที่ 27 มิถุนายน 5.65 ล้าน ลบ.ม. 2.เขื่อน สิริกิตติ์ มีน้ำทั้งหมด 3,378.49 ล้าน ลบ.ม. ใช้ได้ 528.49 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 7.94 มีน้ำไหลลงอ่างเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 4.11 ล้าน ลบ.ม. วันที่ 24 มิถุนายน 6.09 ล้าน ลบ.ม. วันที่ 25 มิถุนายน ไม่มีน้ำไหลลงอ่าง วันที่ 26 มิถุนายน 3.36 ล้าน ลบ.ม. และวันที่ 27 มิถุนายน 0.87 ล้าน ลบ.ม. 3.เขื่อนศรีนครินทร์ มีน้ำทั้งหมด 12,054 ล้าน ลบ.ม. ใช้ได้ 1,789 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 23.92 มีน้ำไหลลงอ่างเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 1.86 ล้าน ลบ.ม. วันที่ 24 มิถุนายน 0.75 ล้าน ลบ.ม. วันที่ 25 มิถุนายน 3.76 ล้าน ลบ.ม. วันที่ 26 มิถุนายน 5.74 ล้าน ลบ.ม. และวันที่ 27 มิถุนายน 2.77 ล้าน ลบ.ม.

          4.เขื่อนวชิราลงกรณ (เขาแหลม) มีน้ำทั้งหมด 3,649.46 ล้าน ลบ.ม. ใช้ได้ 637.46 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 10.90 มีน้ำไหลลงอ่าง เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 3.95 ล้าน ลบ.ม. วันที่ 24 มิถุนายน 10.32 ล้าน ลบ.ม. วันที่ 25 มิถุนายน 52.32 ล้าน ลบ.ม. วันที่ 26 มิถุนายน 61.32 ล้าน ลบ.ม. และวันที่ 27 มิถุนายน 54.53 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้ สสนก.คาดว่าในสัปดาห์หน้าจะมีน้ำไหลเข้าสู่เขื่อนขนาดใหญ่ทั้ง 4 แห่ง เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากปริมาณฝนที่จะตกหนักในภาคเหนือตอนบน

          ภัยแล้งทำเกลือทะเลราคาตก

          นายเชาว์ ประธานสหกรณ์การเกษตรนาเกลือสมุทรสงคราม กล่าวว่า ในอดีตนาเกลือสมุทรสงครามมีประมาณ 6,400 ไร่ แต่ปัจจุบันเมื่อความเจริญเข้ามา เช่น ห้างสรรพสินค้า และหมู่บ้านจัดสรร นาเกลือจึงเหลือเพียง 5,000 ไร่เศษ ใน ต.บางแก้ว และ ต.ลาดใหญ่ อ.เมืองสมุทรสงคราม มีผู้ประกอบอาชีพทำนาเกลือ 204 ราย ใน 1 ปีนาเกลือ 1 แปลง จำนวน 30 ไร่ ให้ผลผลิต 200 เกวียน หรือ 1 ไร่ เฉลี่ยให้ผลผลิต 7 เกวียน ราคาคุ้มทุนอยู่ที่เกวียนละ 1,500 บาท แต่เนื่องจากสภาวะภัยแล้งนานทำให้มีเกลือออกสู่ตลาด จำนวนมาก โดยเฉพาะสมุทรสงครามตามปกติจะผลิตได้ประมาณ 20,000 ตันต่อปี แต่ปีนี้แล้งนาน นาเกลือจึงให้ผลผลิตถึง 30,000 ตัน ทำให้เกลือทะเลซึ่งผลผลิตได้ในภาคกลาง 3 จังหวัด คือ จ.เพชรบุรี, สมุทรสาคร และ จ.สมุทรสงคราม มีประมาณรวมหลายแสนตันทำให้ล้นตลาด นอกจากนี้ยังมีเกลือสินเธาว์และเกลือจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาในท้องตลาดอีกด้วย จนราคาตกต่ำ สร้าง ความเดือดร้อนให้กับชาวนาเกลือในพื้นที่เป็นอย่างมาก

          "ปีนี้ชาวนาเกลือหลายรายซึ่งดูดน้ำทะเลเข้าบ่อเพื่อทำนาเกลือถึงกับปล่อยนาเกลือทิ้ง แม้ว่าน้ำทะเลจะเป็นเกลือแล้ว เนื่องจากหากเก็บเกลือก็ต้องเสียค่าจ้างอีก รวมค่าใช้จ่ายต้นทุนประมาณ 300,000 บาท แต่ราคาเกลือช่วงนี้เกวียนละ 1,000 บาท ทำให้ได้ค่าเกลือเพียง 200,000 บาท จึงตัดสินใจปล่อยนาเกลือทิ้ง ขณะที่บางรายรีบเก็บเกลือเข้ายุ่งฉางเพื่อป้องกันเกลือละลายเมื่อเกิดฝนตก และเก็บไว้จนกว่าราคาจะดีกว่านี้" นายเชาว์กล่าว

          ภัยแล้งทำ'ผัก-อาหาร'พุ่ง40%

          น.ส.นพพร ลิ้นทอง ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวหลังตรวจสอบภาวะราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่ตลาดนครไทย เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ ว่าสินค้าส่วนใหญ่ปกติและราคายังทรงตัวเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อน แต่มีพืชผักบางชนิดปรับตัวเพิ่มขึ้นเพราะผลผลิตลดลงจากภาวะภัยแล้ง ขณะที่ราคาเนื้อหมู ไก่ ราคาขยับขึ้นเล็กน้อย และจากการสำรวจราคาอาหารปรุงสำเร็จภายในตลาด ยังไม่พบขายราคาแพงเกินควร ส่วนใหญ่ราคาอาหารปรุงสำเร็จยังอยู่ในระดับที่กระทรวงพาณิชย์ควบคุมจานละ 25-40 บาท ในส่วนโครงการข้าวถุงช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย คาดว่าจะสามารถจำหน่ายให้กับประชาชนได้ภายในวันที่ 12 สิงหาคม

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสำรวจราคาผักและเนื้อสัตว์ในตลาดสดและสอบถามผู้ขายระบุว่าราคาเริ่มขยับแล้ว อาทิ ผักคะน้า กิโลกรัม (กก.) ละ 60 บาท จากสัปดาห์ก่อน กก.ละ 35 บาท ผักบุ้ง กก.ละ 40 บาท จาก กก.ละ 25 บาท ถั่วฝักยาว กก.ละ 70 บาท จาก กก.ละ 50 บาท กะหล่ำปลี กก.ละ 40 บาท จาก กก.ละ 35 บาท หัวไชเท้า กก.ละ 40 บาท จาก กก.ละ 35 บาท ต้นหอม-ผักชี กก.ละ 200 บาท จาก กก.ละกว่า 100 บาท แต่ราคามะนาวลดลงจากลูกละ 5-8 บาท เหลือลูกละ 3-4 บาท หมูเนื้อแดง กก.ละ 160 บาท ขยับตั้งแต่ช่วงสงกรานต์ถึงวันนี้กว่า กก.ละ  20 บาท ไข่ไก่เบอร์ 0 (แพค 10 ฟอง) ราคา 42 บาท จาก 40 บาท เนื้อไก่ กก.ละ 74 บาท จาก กก.ละ 64 บาท

          น.ส.นันท์นภัส อนุลาวัพย์ แม่ค้าภายในตลาดสดนครไทย กล่าวว่า ราคาสินค้าได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา รวมถึงเศรษฐกิจที่ไม่ดี ส่งผลให้คนทั่วไปเลือกที่จะประหยัดและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากการประกอบอาหารทานเอง เป็นซื้ออาหารปรุงสำเร็จหรือลดจำนวนวัตถุดิบในการประกอบอาหารลง ซึ่งมีผลต่อจำนวนที่ได้บ้าง

          ผู้สื่อข่าวได้สอบถามพ่อค้าแม่ค้าอาหารปรุงสำเร็จว่า ราคาผักและอาหารสดปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 30-40% จากช่วงสงกรานต์หรือเดือนเมษายนเป็นต้นมา แต่ไม่อาจปรับราคาได้ เกรงว่าจะกระทบต่อยอดขาย

          คลังห้ามธ.ก.ส.คุยถึงเรื่องหนี้

          นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยแล้ง ทางกระทรวงการคลังได้ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ลงพื้นที่สำรวจความเสียหาย เยี่ยมเยียนเพื่อให้กำลังใจเกษตรกรที่ประสบภัยแล้ง โดยเน้นย้ำไม่ให้เจ้าหน้าที่พูดถึงภาระหนี้สินของเกษตรกร แต่ให้มุ่งเน้นมาตรการให้ความช่วยเหลือ ซึ่ง ธ.ก.ส.ได้ขยายระยะเวลาชำระหนี้เดิมให้ ดังนั้นเกษตรกรไม่ต้องกังวลในเรื่องภาระหนี้สินที่มีอยู่กับ ธนาคาร

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2558

รายงาน : เดินหน้าเตรียมความพร้อมให้กับไทยในการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน จัดตั้งระบบ National Single Window (NSW)

รองโฆษกฯ แจง National Single Window คืบหน้าแล้ว 29 หน่วยงาน เร่งเชื่อมโยงอีก 7 ให้เสร็จก่อนเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพื่อให้บริการแบบเบ็ดเสร็จในจุดเดียว พร้อมเชื่อมโยงอาเซียน หวังลดต้นทุนภาคการค้าการลงทุน

พลตรีสรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ สั่งเดินหน้าเตรียมความพร้อมให้กับไทยในการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปลายปีนี้ โดย ได้มอบนโยบายให้ กรมศุลกากร กระทรวงการคลัง เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการจัดตั้งระบบ National Single Window (NSW) เป็นการพัฒนาระบบการเชื่อมโยงข้อมูลแบบบูรณาการ เพื่อให้บริการแบบเบ็ดเสร็จจากการติดต่อเพียงจุดเดียว

โดยมุ่งที่จะลดต้นทุน เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศ ลดขั้นตอนการทำงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เอกสารต่างๆ เช่น ใบอนุญาตการนำเข้า ใบอนุญาตการส่งออก และใบรับรองต่างๆ ที่ออกโดยหน่วยงานหนึ่งสามารถที่จะจัดส่งทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างอัตโนมัติไปให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ปัจจุบัน ระบบ NSW ของประเทศไทย มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับการเชื่อมโยงข้อมูลด้วยอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างหน่วยงานต่างๆ ภายในประเทศและต่างประเทศ ทั้งภายในและภายนอกภูมิภาคอาเซียน

ทั้งนี้มีหน่วยงานที่เชื่อมโยงข้อมูลผ่านระบบ NSW อย่างเป็นทางการแล้ว มีจำนวน 29 หน่วยงาน ได้แก่ กรมศุลกากร, กรมการค้าต่างประเทศ, การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, กรมโรงงานอุตสาหกรรม, กรมปศุสัตว์, กรมสรรพสามิต, BOI, กรมประมง, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา,สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ, กรมศิลปากร, กรมธุรกิจพลังงาน, สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย, กรมการอุตสาหกรรมทหาร, สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง, กรมการขนส่งทางบก, กรมป่าไม้, การท่าเรือแห่งประเทศไทย, สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ, กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, กรมการค้าภายใน, สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ, กรมทรัพยากรธรณี,กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, กรมการปกครอง, กรมวิชาการเกษตร และกรมเจ้าท่า

หน่วยงานที่อยู่ระหว่างพัฒนา/ทดสอบพัฒนาการเชื่อมโยงข้อมูลผ่านระบบ NSW มีจำนวน 7 หน่วยงาน ได้แก่ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ, กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่, กรมการบินพลเรือน, บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน), กรมควบคุมโรค, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)

นอกจากนี้ ประเทศสมาชิกอาเซียนยังได้พัฒนาระบบเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลทางการค้าระหว่าง National Single Window (NSW) ของแต่ละประเทศให้เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน หรือ ASEAN Single Window (ASW) เพื่อให้อาเซียนก้าวไปสู่การเป็นตลาดเดียวและฐานการผลิตร่วมกัน (Single Market and Production Base) ตามพิมพ์เขียวเพื่อจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Blueprint) โดยเฉพาะการส่งเสริมการเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการข้ามพรมแดนอย่างเสรี และการค้าไร้เอกสารแบบปลอดภัย ทั้งนี้ การจัดตั้ง ASW ถือเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการเพื่อรองรับ AEC ในปี 2558 เพราะจะช่วยลดต้นทุนการบริหารจัดการ และการใช้ทรัพยากรต่างๆ ตลอดกระบวนการค้าระหว่างประเทศ

"ท่านนายกได้กำชับให้อีก 7 หน่วยงานดำเนินการเชื่อมโยงระบบให้แล้วเสร็จก่อนการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพื่อให้การค้าการลงทุนในประเทศมีความคล่องตัวสูงสุด" 

  จาก http://thainews.prd.go.th วันที่ 27 มิถุนายน 2558 

'ในหลวง'พระราชทานฝนหลวง เติมน้ำป่าสักฯแม้ทรงพระประชวร

นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยหลังจากขึ้นเฮลิคอปเตอร์สำรวจสภาพปัญหาภัยแล้งลุ่มเจ้าพระยาและดูสถานการณ์น้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี ที่มีระดับต่ำสุดในรอบ 20 ปีตั้งแต่สร้างเขื่อนมา ว่าน่าเป็นห่วงมากมีปริมาณน้ำเหลือ 65 ล้านลบ.ม. มีน้ำใช้ได้อีก 40 วัน ซึ่งไม่มีทางอื่นที่จะเพิ่มน้ำได้ต้องเร่งระดมทำฝนหลวงให้ตกเหนือเขื่อนและพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อเติมน้ำและเกิดความชุ่มชื้นในพื้นที่เกษตร ขณะนี้ขึ้นบินทุกวันระดมจากฐานปฏิบัติการฝนหลวง จ.กาญจนบุรี 2 กับ จ.ลพบุรี และนครสวรรค์ ทั้งหมด 4 ลำ ปฏิบัติการฝนหลวงภาคกลาง ทำร่วมกับฐานฝนหลวงภาคเหนือ เติมน้ำในเขื่อนป่าสักฯ

"ในหลวงเป็นห่วงประชาชนมาก ผมไม่รู้ว่าทราบถึงพระเนตรพระกรรณได้อย่างไร เพราะพระองค์ประชวร ทางสำนักพระราชวังแจ้งว่า ในสถานการณ์นี้ ช่วงชิงสภาพอากาศความชื้นจากพายุคุจิระ และยังมีอิทธิพลร่องมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ให้เร่งทำฝนหลวง แต่ว่าลงอ่างหรือไม่ลงไม่เป็นไรให้มีฝนตกได้สักครั้งสองครั้งพืชไร่ก็อยู่ได้เป็นเดือน เกษตรกรรอฝนหลวงกันทุกที่ เพราะเปิดพื้นที่เพาะปลูกกันไปแล้ว โดยท่านนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ฝนหลวงเร่งกู้ภัยแล้งเป็นวาระระดับชาติ รัฐบาลยินดีให้การสนับสนุนเต็มที่ เพราะในขณะที่กรุงเทพฯ มีฝนตก แต่เขื่อนป่าสักฯ เหลือน้ำใช้อีกเพียง 40 วัน ที่ต้องปล่อยออกมาเพื่อการเกษตร และผลิตปะปาให้กับคน จ.ลพบุรี จ.สระบุรี จ.ปทุมธานี จ.พระนครศรีอยุธยา และกรุงเทพ โดยทุกฝ่ายช่วยชี้แจงให้ประชาชนในเมืองและเกษตรเกิดความเข้าใจช่วยกันประหยัดน้ำ ขอให้เกษตรกรเชื่อฟัง อย่าขยายพื้นที่เพาะปลูก ช่วยกันประคองให้พ้นวิฤกติ ซึ่งกรมชลฯ คาดการณ์ว่าปริมาณฝนจะเข้าเขื่อนป่าสัก ประมาณช่วงวันที่ 10 สิงหาคม" นายชวลิต กล่าว

นายชวลิต กล่าวอีกว่าตั้งแต่วันที่ 29 มิ.ย. ย้ายฐานจาก จ.กระบี่2 ลำ จ.ระยอง 2 ลำ มาเสริมฐานฝนหลวงจ.พิษณุโลก จ.เชียงใหม่ และขอกำลังเสริมจากกองทัพอากาศ 2 ลำ มีเครื่องบินทั้งหมดในพื้นที่ 14 ลำ ซึ่งจะช่วยเหลือพื้นที่เกษตรครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือภาคกลางและภาคตะวันตก ประมาณ 32 จ.ในช่วงนี้มีสภาพอากาศเอื้ออำนวยให้ทำฝนหลวงได้มากที่สุดไปจนถึงปลายเดือน ต.ค. เป้าหมายเพื่อเติมน้ำในเขื่อนหลักเช่น ภูมิพล สิริกิติส์ แควน้อยบำรุงแดน และป่าสักชลสิทธิ์ ที่ประสบปัญหาน้ำน้อยขั้นวิฤกติในรอบ 57 ปี ซึ่งล่าสุดมีปริมาณน้ำรวมกัน 4 เขื่อนเหลือเพียง 976 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 5% ระบายน้ำวันนี้ 31 ล้านลบ.ม. แต่มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนเพียง 4.50 ลบ.ม.เท่านั้น

ปลัดกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า ภาพรวมความเสียหายครั้งนี้เป็นสถานการณ์ตั้งแต่สร้างเขื่อนมายังไม่เคยเกิดขึ้น ต้องวิเคราะห์สภาพภูมิอากาศ ในแถบเอเซีย เข่นประเทศ อินเดีย ปากีสถาน ร้อนตายไปประเทศละ 800 คน ลาว พม่า แห้งแล้งหนัก อย่างในเขตเขื่อนใหญ่ๆ บินไปดูกับตา ระดับน้ำต่ำกว่าสันเขื่อนหมดแล้ว ที่ปล่อยน้ำออกมาใช้วิธีสูบออกมา นี่คือจุดวิฤกติ

ทั้งนี้ จากการทำฝนหลวงที่ผ่านมาได้ผลกว่า 99% โดยใช้งบประมาณการทำฝนหลวงในแต่ละปี 500-600 ล้านบาทซึ่งค่าเฉลี่ยขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง มี 3 ขั้นตอนเช่น โปรยสาร เลื้ยงให้เฆมอ้วน และก่อกวนเฆมให้ตกเป็นฝน โดยคิดต่อรอบๆ ละ 3 แสนบาท สามารถช่วยพื้นที่การเกษตรได้ 6 ล้านไร่ คิดเป็นค่าใช้จ่ายตกไร่ละ 3 บาทถือว่าคุ้มค่า เพราะทำให้พืชผลการเกษตรไม่เสียหายสามารถอยู่ได้เป็นเดือนรอฝนชุกโดยไม่ยืนต้นตาย

ขณะที่เกษตรกรชาวไร่อ้อย ระบุว่าปีนี้วิฤกติจริงๆ แม้ตั้งสูบน้ำบาดาลก็ไม่ขึ้นเพราะน้ำใต้ดินมีน้อย ซึ่งไม่เคยเจอแบบนี้ใน อ.ชัยบาดาล ขอให้รัฐบาลดูแลทุกจังหวัด ตอนนี้จิตใจชาวไร่หวังพึ่งฝนหลวง เกษตรกรเดือดร้อนไม่ได้ผลผลิตกันทั่วประเทศมาสองปีแล้วจากสภาพอากาศแห้งแล้งมาก

ด้านนายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงปริมาณการปล่อยน้ำจากเขื่อนใหญ่ 4 แห่งในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ว่าได้เริ่มลดการปล่อยน้ำเหลือ 28 ล้านลบ.ม.ต่อวันตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย.นี้เป็นต้นไป โดยแบ่งเป็นน้ำเพื่อการเกษตร 15 ล้านลบ.ม. รักษาระบบนิเวศน์และผลักดันน้ำเค็ม 8 ล้านลบ.ม. และเพื่อการอุปโภคบริโภค 5 ล้านลบ.ม. โดยคงอัตราการปล่อยในระดับนี้ไปอีก 15 วัน ซึ่งหากปริมาณฝนไหลเข้าเขื่อนยังอยู่ในระดับวิฤกติ กรมชลประทาน จะประชุมทบทวนแผนระบายน้ำอีกรอบ ร่วมกับ 10 หน่วยงานเรื่องน้ำเพื่อวิเคราะห์ทุกสถาพปัญหาและประเมินสถานการณ์การปล่อยน้ำอีกรอบ

อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่าจากการคาดการณ์สภาพฝนของกรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า ปริมาณฝนในเดือน ก.ค. อาจต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเพราะจากปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนในยังมีระดับต่ำสุดขณะนี้ ดังนั้นปล่อยน้ำลดลงเพื่อยืดเวลาให้มีน้ำกินน้ำใช้ไปอีก 45 วัน ให้ถึงเดือน ส.ค.กว่าจะมีฝนชุกจากอิทธิพลของดีเปรชั่นและพายุจร ส่วนพื้นที่ปลูกข้าว 3.4 ล้านไร่ที่ปลูกไปแล้วอาจเสียหาย 8.5 แสนไร่ จากการลดปล่อยน้ำเข้าระบบชลประทานช่วงเดือน ก.ค. ซึ่งได้ประสานกระทรวงทรัพยากรฯ เพื่อขุดเจาะบ่อบาดาลในพื้นที่ปลายคลองที่น้ำส่งไปไม่ถึง จะช่วยเรื่องน้ำกินน้ำใช้ในหมู่บ้านด้วยและพื้นที่เกษตรจนกว่าฝนจะมา

  จาก http://www.naewna.com  วันที่ 27 มิถุนายน 2558 

โคราชหวั่นผลกระทบนาข้าวฝนทิ้งช่วง วอนเกษตรอำเภอออกสำรวจเร่งด่วน

นายสมบูรณ์ ซารัมย์ เกษตรจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยถึงสถานการณ์ภัยแล้งภายหลังเขื่อนต่างๆให้ชะลอการปลูกข้าวนาปีและพืชอื่นๆว่า สถานการณ์ภัยแล้งขณะนี้ของ จ.นครราชสีมาทั้ง 32 อำเภอ โดยเฉพาะใน 25-26 อำเภอที่มีการประกาศภัยแล้ง ซึ่งต้องเรียนว่าในช่วงนี้ปกติภาพรวมของภาคอีสานตามธรรมดาฝนจะเลื่อนระยะเวลาการทำไปอีก 1 เดือน – เดือนครึ่ง ฝนถึงจะตก ฉะนั้นแปลว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่ฝนทิ้งช่วงปกติของภาคอีสาน ปรากกว่าปีนี้เป็นปีที่มีลักษณะที่เขาเรียกว่า แดดสองหน สภาพน้ำฝนของ จ.นครราชสีมาโซนตอนใต้จะเป็นพืชไร่ มันสำปะหลัง อ้อย ไม่มีปัญหา แต่โซนตอนเหนือนาข้าว อ.โนนสูง , อ.คง , อ.พิมาย , อ.ด่านขุนทด เป็นต้น ที่มีความจำเป็นที่พี่น้องเกษตรกรจะต้องหว่านช้าไปบ้าง เพราะฝนมีเข้ามาเป็นช่วงๆแต่ไม่ถึงกับตกหนัก ตนเรียนว่าถ้าถามว่ากระทบภัยแล้งหรือไม่นั้น ตนเรียนว่าระหว่างนี้ยังไม่กระทบภัยแล้ง เพราะเป็นต้นฤดูในการหว่านข้าว ฉะนั้นความเสียหาย ณ วันนี้ ยังไม่เกิด ซึ่งสำนักงานเกษตรจังหวัดได้มอบหมายให้เกษตรอำเภอได้สำรวจและดูแลให้ใกล้ชิด และอย่าเผลอเลอว่า ตรงไหนเป็นอย่างไรมีน้ำในการหว่านหรือไม่และกระทบอย่างไร ตรงนี้ทุกคนต้องไปวงพื้นที่ที่เคยแล้งซ้ำซาก และที่เคยมีน้ำท่วมซ้ำซาก ที่เป็นภัยพิบัติ

ทั้งนี้ก็เป็นนโยบายของรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่ให้ดูแลอย่างใกล้ชิด ตนได้ร่วมตรวจราชการกับอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรที่ จ.บุรีรัมย์ , สุรินทร์ , จ.ศรีสะเกษ และ จ.อุบลฯ ได้กำชับให้ตนดุแลสภาพพื้นที่ที่แห้งแล้งมากให้ช่วยดูแลเข้มขึ้น และให้บริหารจัดการให้พี่น้องเกษตรกรได้เข้าใจว่า ณ วันนี้เป็นต้นไปสภาพอากาศจะเปลี่ยนแปลงค่อนข้างสูง ปริมาณน้ำฝนจะลดลงในภาพรวมของประเทศ ฉะนั้นสิ่งที่ต้องทำคือต้องช่วยกันคิดว่าชาวนาจะบริหารอย่างไร ทางราชการจะทำอย่างไรที่จะพัฒนาให้พี่น้องเกษตรกรไม่กระทบกับฝนทิ้งช่วง นายสมบูรณ์ฯ กล่าว.

  จาก http://www.naewna.com  วันที่ 27 มิถุนายน 2558 

ลดครึ่งราคา "สินค้าช่วยภัยแล้ง"

 “พาณิชย์” จัดหนักธงฟ้า 755 ตำบล บรรเทาค่าครองชีพ “เกษตรกร”

นายบุญยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับผู้แทนจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และกระทรวงมหาดไทย เพื่อดำเนินโครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบปัญหาภัยแล้งว่า กระทรวงพาณิชย์จะจัดสินค้าธงฟ้าที่จำเป็นต่อการครองชีพในราคาถูกกว่าปกติ 30-50% ไปจำหน่ายให้กับเกษตรกรในพื้นที่ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยประกาศเป็นเขตภัยพิบัติภัยแล้งแล้ว 19 จังหวัด 128 อำเภอ 755 ตำบล โดยมีครัวเรือน 790,000 ครัวเรือน หรือมีประชากร 2 ล้านคน เริ่มวันที่ 3 ก.ค.58 และคาดว่าสิ้นสุดวันที่ 31 ก.ค.58

สำหรับสินค้าที่จะนำไปจำหน่ายแยกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มแรกจะเป็นสินค้าที่จำเป็น 4 รายการ คือ ข้าวสาร น้ำมันพืช น้ำตาลทราย และไข่ไก่ ลดราคาลงจากราคาตลาด 50% อีกกลุ่มเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค 8 รายการ คือ ยาสระผม สบู่ ยาสีฟัน ผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน ปลากระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และน้ำปลา โดยจะลดราคา 30-50%

“ครั้งนี้จะจัดหนักเป็นกรณีพิเศษเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชน โดยเน้นเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง และขาดรายได้จากการประกอบอาชีพ ตามที่นายกรัฐมนตรีให้แต่ละกระทรวงไปจัดทำมาตรการช่วยเหลือ ในส่วนกระทรวงพาณิชย์ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ ได้มอบหมายให้บรรเทาภาระด้านค่าครองชีพ”

ส่วนแนวทางในการดำเนินการนั้น กรมฯจะประสานงานไปยังผู้ผลิตสินค้า เพื่อจัดส่งสินค้าที่จำเป็นมาให้ จากนั้น คสช.จะใช้รถของทหารมารับสินค้าเพื่อนำไปจำหน่ายในแต่ละตำบล โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จะเป็นผู้ชี้พื้นที่เป้าหมายร่วมกับจังหวัด เพราะเป็นผู้รู้ข้อมูลพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้งดีที่สุด ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนซื้อสินค้าเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในครัวเรือนเท่านั้น อย่าซื้อกักตุน หรือซื้อไปขายต่อ เพื่อให้มีสินค้ากระจายไปอย่างทั่วถึง โดยอาจจะกำหนดปริมาณการซื้อ และยืนยันว่าสินค้าจะมีเพียงพอต่อความต้องการอย่างแน่นอน.

  จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 27 มิถุนายน 2558 

กพร.เดินหน้าถ่ายทอดงานโลจิสติกส์ลดต้นทุนผู้ประกอบการปี 58 กว่า 2,500 ล. 

          กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เร่งพัฒนาขีดความสามารถผู้ประกอบการก่อนเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC โดยจัดงาน Industrial Supply Chain Logistics Conference 2015 กระตุ้นให้ภาครัฐ และภาคเอกชนเห็นความสำคัญของการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน ซึ่งคาดการณ์ว่าในปี 2558นี้สามารถลดต้นทุนโลจิสติกส์ผู้ประกอบการได้กว่า 2,500 ล้านบาท

          ดร.อรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม บอกว่า     กระทรวงฯ ได้ส่งเสริมและพัฒนาการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานของภาคอุตสาหกรรม เพื่อสร้างความเป็นมืออาชีพ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับโซ่อุปทานให้ภาคอุตสาหกรรมมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับแนวทางการดำเนินงานในอนาคตระหว่างปี 2559-2564 ได้กำหนดแผนการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของภาคอุตสาหกรรมไทย ให้ตอบสนองนโยบายของรัฐบาลด้วยการพัฒนาผู้ประกอบการตลอดโครงข่ายการผลิต และการส่งมอบให้มีความเป็นเลิศด้านการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานใน 5 มิติ โดยการสัมมนาในครั้งนี้ จะถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ให้กับบุคลากรภาครัฐและเอกชน เพื่อร่วมกันผลักดันให้เกิดปฏิบัติการต่อเนื่องสู่ยุคการผลิตและการค้าสมัยใหม่ พร้อมทั้งได้มีการมอบรางวัลพัฒนาการโลจิสติกส์อุตสาหกรรมดีเด่น สำหรับสถานประกอบการและผู้ที่สอบผ่านการทดสอบความรู้ด้านโลจิสติกส์ รวมจำนวน 29 รางวัล

          ด้านนายสุรพงษ์ เชียงทอง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวว่า ในปี 2557 กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ดำเนินโครงการด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน ทั้งสิ้น จำนวน 34 โครงการ สามารถพัฒนาสถานประกอบการ 609 ราย พัฒนาบุคลากรได้มากกว่า 9,000 คน เชื่อมโยงความร่วมมือในโซ่อุปทาน 28 โซ่ และพัฒนาระบบสารสนเทศโลจิสติกส์ 11 ระบบ ซึ่งทำให้สามารถลดต้นทุนของภาคธุรกิจคิดเป็นมูลค่า 5,269 ล้านบาท และเมื่อนำผลการลดต้นทุนนี้มาวิเคราะห์ด้วยแบบจำลอง CGE หรือ Computable General Equilibrium พบว่าผลงานโครงการทั้งหมดสามารถส่งผลกระทบในทางบวกต่อระบบเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศเมื่อเทียบกับปีฐานหรือปี 2556  โดยทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP เพิ่มขึ้นประมาณ 25,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.200 ดัชนีราคาหรืออัตราเงินเฟ้อ ลดลงร้อยละ 0.268 ผลผลิตหรือ Output เพิ่มขึ้นคิดเป็นมูลค่ากว่า 16,000 ล้านบาทหรือร้อยละ 0.085 และการจ้างงานเพิ่มขึ้นประมาณ 230,000 คน คิดเป็นร้อยละ 0.590

          สำหรับในปี 2558  กระทรวงอุตสาหกรรม อยู่ระหว่างการดำเนินงานทั้งสิ้น 27 โครงการ โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาสถานประกอบการ 371 ราย และคาดว่าจะสามารถลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 2,500 ล้านบาท พัฒนาบุคลากรได้ประมาณ  5,800 คน เชื่อมโยงความร่วมมือในโซ่อุปทาน 19 โซ่ และพัฒนาระบบสารสนเทศโลจิสติกส์ 8 ระบบ ซึ่งการจัดการสัมมนาในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ มุมมอง ความคิดเห็นสำหรับการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทย และเผยแพร่ผลงานการพัฒนาประสิทธิภาพระบบ โลจิสติกส์ของภาคอุตสาหกรรม ประจำปี 2558 มีการจัดกิจกรรมทั้งสิ้น 2 วัน และมีการสัมมนาย่อยในหัวข้อต่างๆ รวม 23 ห้อง การแสดงนิทรรศการ และการออกร้านจำหน่ายสินค้าจากสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ และในการจัดงานครั้งนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมทั้งสิ้น มากกว่า 1,500 คน

          ขณะที่ นายภูกิจ เศรษฐบัณฑิต กรรมการผู้จัดการ บริษัท กิจเศรษฐีอะไหล่ยนต์ จำกัด ตัวแทนจำหน่ายรถเพื่อการพาณิชย์ ภายใต้แบรนด์ "ฟูโซ่" จ.สุพรรณบุรี กล่าวว่า บริษัทได้รางวัล "พัฒนาการ โลจิสติกส์อุตสาหกรรมดีเด่น ประจำปี 2558 ด้านความมุ่งมั่นพัฒนา โลจิสติกส์ในองค์กร" จากโครงการ ด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทานของกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งจะส่งผลดีต่อการขายรถใหญ่ ยี่ห้อ ฟูโซ่ เพราะรางวัลนี้ถือเป็นรางวัลการันตี ความเป็นมาตรฐานของบริษัท และจะเป็นที่น่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้นไปอีก

          "ได้เข้าร่วมโครงการฯ เพราะทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้คัดเลือกเข้ามา ช่วงแรกก็ยังไม่ค่อยกล้าเปิดใจเข้าร่วม แต่เมื่อเข้าร่วมแล้วส่งผลดีในหลายๆ ด้าน เพราะมีอาจารย์ที่ปรึกษาเข้าไปร่วมจัดการระบบให้บริษัทใหม่ จนสามารถลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ได้มากกว่า 80% เพราะที่ผ่านมาหากเรานำเหล็กมาตัดพอเสียหายก็จะกองทิ้งไว้ แต่เมื่อมีที่ปรึกษาเข้ามาช่วยดูแล เหล็กทุกชิ้นใช้ได้หมด อย่างไรก็ดี โครงการนี้ช่วยให้บริษัทมีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น และจะส่งผลให้บริษัทมีการบริหารที่มั่นคงขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อนักบริหารรุ่นลูก เพราะหลังจากนี้จะถ่ายทอด DNA ให้กับลูกๆ บริหารต่อไป"

จาก สยามธุรกิจ วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2558 

ระดมเครื่องบินทำฝนหลวงเข็นธงฟ้าลด50%ช่วยภัยแล้ง 

          เกษตรฯระดมเครื่องบินทำฝนหลวง เติมน้ำลงเขื่อน คาดช่วงก.ค.นี้ ดีขึ้น หลังพบสถานการณ์น้ำเขื่อนภูมิพลเหลือน้ำใช้เพียง 3%เขื่อนสิริกิติ์ 8% เกษตรฯชง 3 โครงการ เข้าครม.อังคารนี้ช่วยเหลือเกษตรกร  พาณิชย์เข็นธงฟ้าราคาถูก 30-50% เริ่ม 3 ก.ค.นี้ ขายพื้นที่ 19 จังหวัด 755 ตำบล ช่วยผู้ประสบภัยแล้ง

          กรมชลประทาน โดยศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ วานนี้ (26 มิ.ย.) พบว่าปริมาณน้ำในเขื่อนหลัก 4 แห่ง ของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เหลือน้ำใช้การ 3% ปริมาณ 286 ล้านลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ เหลือน้ำใช้การ 8% ปริมาณ 543 ล้านลบ.ม. เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เหลือน้ำใช้การ 9% ปริมาณ 82 ล้านลบ.ม. เขื่อนป่าสักฯ เหลือน้ำใช้การ 7% ปริมาณ 65 ล้านลบ.ม.

          โดยสรุปมีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันทั้งสิ้น 976 ล้านลบ.ม. โดยกรมชลประทานตั้งเป้าลดการระบายน้ำจากเดิมวันละ 33 ล้าน ลบ.ม. เหลือวันละ 28 ล้านลบ.ม.แล้ว เมื่อคำนวณจากปริมาณน้ำใช้การที่มีอยู่ จะเหลือน้ำใช้การต่อไปได้อีก 35 วัน

          ส่วนค่าความเค็มของน้ำบริเวณปากคลองสำแล จ.ปทุมธานี อยู่ที่ 0.19 กรัมต่อลิตรยังต่ำกว่าค่าความเค็มที่เหมาะสำหรับการทำน้ำประปากำหนดให้ไม่เกิน 0.25 กรัมต่อลิตร

          นายวราวุธ ขันติยานันท์ อธิบดีกรม ฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า ได้ระดมเครื่องบินฝนหลวง ร่วมกับเครื่องบินของกองทัพ รวม 13 ลำ เพื่อมาปฏิบัติการทำฝนหลวง เติมน้ำลงสู่เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ตั้งแต่วันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมาขณะนี้ถือว่าได้ฝนเป็นที่น่าพอใจ มีฝนหลวงตกมากขึ้นในลุ่มแม่น้ำปิง จ.เชียงใหม่ และลำพูน เป็นพื้นที่น้ำไหลลงเขื่อนภูมิพล และเกิดฝนหลวงตกแล้วที่จ.น่าน เป็นพื้นที่เติมน้ำในเขื่อนสิริกิติ์ โดยสภาพอากาศขณะนี้เอื้ออำนวยให้ขึ้นทำฝนหลวงได้ทุกวัน

          อย่างไรก็ตาม คาดว่าฝนหลวงที่ปฏิบัติการได้ จะเริ่มเห็นผลเป็นปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์มากขึ้นในเดือนก.ค.นี้ จึงต้องทำฝนหลวงลงมาเติมต่อเนื่องจนกว่าพื้นดินจะอุ้มน้ำมากพอ และลำน้ำต่างๆ ที่มีฝายคอยดักน้ำ อยู่ปริมาณน้ำเอ่อล้นจนน้ำไหลเข่าสู่เขื่อนหลักทั้ง 2 แห่ง ของลุ่มน้ำเจ้าพระยา

          นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่าได้สั่งให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เข้าไปช่วยดูแลเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งทราบว่าธ.ก.ส ได้ยืดการชำระหนี้ออกไปตามความเหมาะสม จะเป็น 3 เดือน 6 เดือน

          หรือเป็นปีก็ได้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ทั้งนี้หากเกษตรกรต้องการเงินทุนเพาะปลูกช่วงที่ฝนตก ก็พร้อมให้เงินกู้อัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน หรือดอกเบี้ยพิเศษและเร่งรัดให้ ธ.ก.ส. ปล่อยกู้ให้กับกองทุนหมู่บ้านอัตราดอกเบี้ย 5% เพื่อให้กองทุนฯ มีเงินช่วยเหลือ ส่วนมาตรการช่วยเหลือมีการพูดถึงจ่ายเงินช่วยเหลือไร่ละ 1,000บาท ขณะนี้ยังไม่ข้อสรุปเรื่องนี้เป็นของกระทรวงเกษตรฯต้องหารือกับม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีคาดว่าไม่เกิน 1 เดือนถึง 1 เดือนครึ่งจะได้ข้อสรุป และมีมาตรการออกมาเกษตรชงครม.แผนช่วยชาวนา นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่านายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯได้สั่งให้กรมต่างๆ จัดทำโครงการอาชีพทางเลือกช่วยเหลือชาวนาที่ประสบภัยแล้งในเขตลุ่มน้ำ เจ้าพระยา โดยสนับสนุนงบประมาณหรือปัจจัยการผลิตหรือชดเชยดอกเบี้ยสินเชื่อเพื่อเสนอครม.วันที่ 30 มิ.ย.นี้ ประกอบด้วย จัดทำโครงการให้ชาวนาปรับโครงสร้างการผลิตข้าวชั่วคราว เปลี่ยนไปปลูกพืชทดแทนที่ใช้น้ำน้อย เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเขียว คาดมีพื้นที่ปลูก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ชั่วคราวได้ 1.2แสนไร่ แต่ต้องหารือร่วมกับเอกชน ให้ส่งเสริมเกษตรกรแบบคอนแทรคฟาร์มมิ่งเฉพาะฤดูกาลผลิตนี้ และการจัดหาเมล็ดพันธุ์พืชต่างๆ2.จัดทำโครงการสนับสนุนเลี้ยงสัตว์ทดแทนนาข้าว เช่น เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลาน้ำจืด และ3.จัดทำโครงการจัดจ้างแรงงานขุดลอกคูคลอง

          นายชวลิต กล่าวว่าการสนับสนุนอาชีพต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง ทำนาปีไม่ได้ จากการลงพื้นที่สำรวจความต้องการชาวนาในลุ่มน้ำเจ้าพระยา22จังหวัด พบว่า30%ต้องการเลี้ยงสัตว์ทดแทน18%ต้องการปลูกพืชทดแทน24%ต้องการเงินช่วยเหลือทันที และ28%ความต้องการอื่นๆ เช่น รอเพาะปลูกข้าว รับจ้าง

          "เรื่องเงินชดเชยไม่มีแนวคิด ยังไม่ถึงเวลาตัดสินใจ มีตัวแปรที่อาจจะเกิดขึ้นได้ อีก เช่น ฝนที่อาจตกลงมาในเดือนก.ค.-ส.ค.นี้ได้ " นายชวลิตกล่าวเล็งช่วยตำบลละล้าน แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่าขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณานำโครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชน เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง หรือ โครงการตำบลละ1ล้านบาท มาใช้กับพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ประสบภัยแล้งครั้งนี้เป็นโครงการที่กระตุ้นการสร้างงานในพื้นที่ ชดเชยรายได้จากนาข้าวที่สูญเสียไป โดยให้กรมส่งเสริมการเกษตรศึกษาความเหมาะสมธกส.ถกเกษตรฯหามาตรการช่วย  นายสมศักดิ์ กังธีระวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่าสัปดาห์หน้ากระทรวง เกษตรฯ จะหารือกับกระทรวงการคลัง ประเมินสถานการณ์ความรุนแรงของภัยแล้ง

          เพื่อหามาตรการช่วยเหลือ พร้อมดูว่าจะช่วยเหลือกลุ่มใดบ้าง ช่วยเฉพาะพื้นที่ 26 จังหวัด ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา หรือช่วยทั้งประเทศ ส่วนพื้นที่เสียหาย 8.5 แสนไร่ เป็นการประเมินเบื้องต้น แต่ระหว่างนี้ ธ.ก.ส.จะมีมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตร 3 มาตรการ สำหรับกลุ่มที่ทำนาไปแล้ว กลุ่มที่ยังไม่ได้ทำนา และกลุ่มที่เปลี่ยนไป ปลูกพืชชนิดอื่น เบื้องต้นยืดเวลาชำระหนี้และให้สินเชื่อเพิ่ม

          นายบุญยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวหลังหารือร่วมกับ ผู้แทนจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และกระทรวงมหาดไทย เพื่อดำเนินโครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบปัญหาภัยแล้งว่า กระทรวงพาณิชย์จะจัดสินค้าธงฟ้า ที่จำเป็นต่อการครองชีพราคาถูกกว่าปกติ 30-50% ออกไปจำหน่ายให้กับเกษตรกรในพื้นที่ 19 จังหวัด 128 อำเภอ และ 755 ตำบล  จำนวน 7.9 แสนครัวเรือน  ประชากรประมาณ 2 ล้านคน โดยจะเริ่มวันที่ 3 ก.ค.นี้ คาดจะสิ้นสุดวันที่ 31 ก.ค.นี้  โดยสินค้าที่จะนำไปจำหน่ายแยก ออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกจะเป็นสินค้า ที่จำเป็น 4 รายการ คือ ข้าวสาร น้ำมันพืช น้ำตาลทราย และไข่ไก่  ลดราคาจากตลาดปกติ 50% อีกกลุ่มเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค 8 รายการ เช่น ยาสระผม สบู่ ยาสีฟัน ผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน ปลากระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และน้ำปลา ลดราคาลง 30-50%

          "ครั้งนี้จัดหนักเป็นกรณีพิเศษ เพื่อ ช่วยเหลือประชาชน โดยเน้นเกษตรกรที่ประสบภัยแล้ง ขาดรายได้จากการประกอบอาชีพปกติ เป็นไปตามการสั่งการของ นายกรัฐมนตรี ที่ให้แต่ละกระทรวงหา มาตรการช่วยเหลือ" นายบุณยฤทธิ์ กล่าว

          อย่างไรก็ตาม กรมฯ จะประสานงานไปยังผู้ผลิตเพื่อจัดส่งสินค้า จากนั้นคสช. จะใช้รถของทหารรับสินค้าเพื่อนำไปจำหน่ายแต่ละตำบลตามพื้นที่ที่ประสบภัย ให้ครบ 755 ตำบล "ขอให้ประชาชนซื้อสินค้าเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในครัวเรือน อย่าซื้อกักตุน ต้องแบ่งปันกัน อาจมีการกำหนดปริมาณการซื้อ เพื่อให้ทุกครัวเรือนได้รับการดูแล และยืนยันว่าสินค้าจะมีเพียงพอต่อความต้องการอย่างแน่นอน" นายบุญยฤทธิ์กล่าวกปภ.ชี้ภัยแล้งกระทบน้ำดิบบางพื้นที่ นางรัตนา กิจวรรณ ผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำดิบปี 2558 ว่า ปีนี้ปัญหาภัยแล้งมีความรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา โดยพื้นที่ที่ประสบภัยแล้งจากปริมาณน้ำดิบไม่เพียงพอ ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะลุ่มแม่น้ำชี ส่วนกรณีเกิดการแย่งน้ำในบางพื้นที่ เนื่องจากปริมาณน้ำไม่เพียงพอ ได้แก้ไขปัญหาโดยนำน้ำในเครือข่ายใกล้เคียงกันมาเสริม พร้อมกับสั่งเฝ้าระวังทุกพื้นที่ การแก้ไขปัญหาระยะสั้นด้วยการจ่ายน้ำ เป็นเวลา   อาจหาแหล่งน้ำที่ยั่งยืนมาทดแทนโดยการลงทุนวางท่อเพิ่ม

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2558

กสิกรไทยระบุส่งออกพ.ค.หดตัวมากกว่าคาด-เตรียมทบทวนคาดการณ์ทั้งปี

    ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนพ.ค. 2558 ยังไม่สะท้อนสัญญาณการฟื้นตัว โดยการส่งออกหดตัวลงมากกว่าที่คาด ที่ร้อยละ 5.01 (YoY)  ขณะที่ มูลค่าการนำเข้าทรุดตัวลงถึงร้อยละ 19.97 (YoY) ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าว อาจสะท้อนว่า เส้นทางการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจยังคงมีสัญญาณที่ค่อนข้างอ่อนแอและเปราะบางอยู่มาก

    ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ภาพรวมของการส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปี 2558 น่าจะกลับมาขยายตัวในกรอบที่ไม่สูงมากนัก เพราะแม้จะมีอานิสงส์จากฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 แต่คงต้องยอมรับว่า หลายตัวแปรยังคงไม่เอื้อให้การฟื้นตัวของการส่งออกเป็นไปได้อย่างราบรื่น โดยเฉพาะความเปราะบางของเศรษฐกิจโลก และความเสียเปรียบของสินค้าส่งออกไทย ทั้งในส่วนที่มาจากข้อจำกัดเชิงโครงสร้างของภาคการผลิต และสภาพการแข่งขันที่เข้มข้นจากสินค้าของประเทศคู่แข่ง

    ศูนย์วิจัยกสิกรไทยอยู่ระหว่างทบทวนตัวเลขคาดการณ์การส่งออกของไทยในปี 2558 ลงจากคาดการณ์เดิมที่ร้อยละ 0 หลังจากที่การส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปี 2558 ยังคงมีกรอบการฟื้นตัวที่จำกัด และคงไม่อาจชดเชยสถานการณ์การหดตัวลงต่อเนื่องนับจากต้นปี 2558 ที่ผ่านมาได้ทั้งหมด  

ข้อมูลการส่งออกของไทยในเดือนพ.ค. 2558 ยังคงตอกย้ำมุมมองที่เป็นลบมากขึ้นต่อภาพรวมการส่งออกของไทยตลอดทั้งปี 2558 โดยการส่งออกของไทยในเดือนพ.ค. 2558 มีมูลค่า 1.84 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ หดตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ที่ร้อยละ 5.01 (YoY) จากที่หดตัวร้อยละ 1.70 (YoY) ในเดือนเม.ย. 2558 และส่งผลทำให้สถานการณ์การส่งออกตลอดช่วง 5 เดือนแรกของปี 2558 (หดตัวลงร้อยละ 4.2 YoY) ไม่เพียงสะท้อนภาพการฟื้นตัวที่ล่าช้า หากแต่ยังซบเซาลงอย่างต่อเนื่อง 

การส่งออก และการนำเข้าเดือนพ.ค. 2558 หดตัวมากกว่าที่คาด 

    การส่งออกไทยในเดือนพ.ค. 2558 แย่กว่าที่คาด โดยมูลค่าการส่งออก (ในรูปเงินดอลลาร์ฯ) หดตัวลงร้อยละ 5.01 (YoY) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งนับการหดตัวมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ร้อยละ 2.9 (YoY) ทั้งนี้ แม้ราคาสินค้าส่งออกบางส่วนจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น  (โดยเฉพาะสินค้าส่งออกในกลุ่มที่เชื่อมโยงกับราคาน้ำมัน และสินค้าเกษตรกรรมบางประเภทที่มีปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดค่อนข้างน้อยตามสภาพอากาศแห้งแล้ง) แต่ก็ยังคงอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ ทำให้ไม่สามารถหนุนมูลค่าการส่งออกในภาพรวมที่ยังคงถูกกดดันจากความเปราะบางของประเทศคู่ค้า และปัญหาความเสียเปรียบในการแข่งขันของสินค้าส่งออกของไทย ให้ฟื้นตัวกลับมาได้มากนัก 

นอกจากนี้ สินค้าส่งออกสำคัญในกลุ่มรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 ของไทย ก็ชะลอการขยายตัวลงมาก เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงรถรุ่นใหม่ ทำให้รถรุ่นเดิมที่ไทยผลิตส่งออกไปได้น้อย โดยการส่งออกรถยนต์/อุปกรณ์/ส่วนประกอบ ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.6 (YoY) ในเดือนพ.ค. 2558 เทียบกับที่ขยายตัวกว่าร้อยละ 6.0 (YoY) ต่อเดือนในช่วง 4 เดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ดี ผลกระทบจากปัจจัยนี้น่าจะเป็นภาวะชั่วคราว และยอดส่งออกรถยนต์น่าจะกลับมาทยอยเพิ่มขึ้นในเดือนถัดๆ ไป

    เงินบาทที่เริ่มอ่อนค่ายังหนุนมูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทได้ไม่มาก ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทเดือนพ.ค. 2558 ยังคงหดตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ร้อยละ 4.61 (YoY) และยังนับว่าเป็นตัวเลขที่ติดลบใกล้เคียงกับมูลค่าการส่งออกในรูปเงินดอลลาร์ฯ  แม้ว่า ค่าเฉลี่ยของเงินบาทในตลาด Spot จะอ่อนค่าลงร้อยละ 2.9 (ประมาณ 1 บาท) มาอยู่ที่ 33.51 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในเดือนพ.ค. 2558 จากระดับเฉลี่ยที่ประมาณ 32.53 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในเดือนเม.ย. 2558 ภายหลังจากที่ธปท.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และประกาศมาตรการผ่อนคลายเกณฑ์การเคลื่อนย้ายเงินทุนในช่วงปลายเดือนเม.ย. 2558 ก็ตาม 

    มูลค่าการนำเข้าหดตัวลงมากในเดือนพ.ค. 2558 โดยหดตัวลงถึงร้อยละ 19.97 (YoY) ซึ่งนับเป็นอัตราการหดตัวที่รุนแรงที่สุดในรอบกว่า 5 ปีครึ่ง และมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 9.0 (YoY) โดยสัญญาณอ่อนแอกระจายลงในทุกหมวดสินค้า ทั้งในส่วนของทองคำและน้ำมันดิบ (-55.4% YoY ในเดือนพ.ค.) เครื่องจักรกล/ส่วนประกอบ (-12.9% YoY) เครื่องจักรไฟฟ้า/ส่วนประกอบ (หดตัวร้อยละ 5.9 YoY) วัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูป (-14.5% YoY) สินค้าอุปโภคบริโภค (-2.6% YoY) และยานพาหนะ/อุปกรณ์การขนส่ง (-8.0% YoY)

ทั้งนี้ แม้การชะลอการนำเข้าในเดือนพ.ค. 2558 จะเกิดขึ้นในช่วงที่ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกบางประเภทปรับลดลง อย่างไรก็ดี คงต้องยอมรับว่า อัตราการหดตัวที่ค่อนข้างลึกของมูลค่าการนำเข้าดังกล่าว อาจเป็นหนึ่งในตัวแปรที่สะท้อนว่า เส้นทางการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ยังคงมีสัญญาณที่ค่อนข้างอ่อนแอและเปราะบางอยู่มาก

การส่งออกไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2558: มุมมองของศูนย์วิจัยกสิกรไทย

 แม้ขณะนี้ จะเริ่มมีบางสัญญาณที่อาจสะท้อนว่า ปัจจัยลบบางตัวที่ฉุดการส่งออกในช่วงครึ่งแรกของปี อาทิ แรงกดดันจากราคาสินค้าส่งออก และความสามารถในการแข่งขันของค่าเงินบาท น่าจะเริ่มทยอยผ่อนคลายลงได้บ้างในช่วงครึ่งหลังของปี 2558 แต่กระนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ปัจจัยเชิงบวกดังกล่าวอาจจะยังไม่สามารถหนุนการฟื้นตัวของการส่งออกได้มากนัก เพราะยังมีอีกหลายตัวแปรเสี่ยงที่รอกดดันอยู่

โดยในเบื้องต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า สถานการณ์การส่งออกในช่วงครึ่งปีหลัง น่าจะมีภาพที่ดีกว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 เนื่องจากมีปัจจัยเรื่องฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในช่วงครึ่งหลังของปีก่อน ช่วยหนุนให้การส่งออกกลับมาบันทึกตัวเลขขยายตัวได้ อย่างไรก็ดี ค่าเฉลี่ยอัตราการขยายตัวของการส่งออก อาจจะยังไม่สูงมากนัก เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและประเทศที่เป็นคู่ค้าสำคัญของไทย ยังคงมีความเปราะบางและฟื้นตัวได้ในกรอบที่จำกัด ประกอบกับโครงสร้างสินค้าส่งออกไทยยังคงต้องใช้เวลาอีกระยะในการปรับเปลี่ยนไปในทิศทางที่เอื้อต่อการแข่งขันและสามารถตอบโจทย์ได้ตรงความต้องการของตลาดโลก นอกจากนี้ การส่งออกไปตลาดยุโรปยังมีปัจจัยลบเพิ่มเติมทั้งในเรื่องของความเสียเปรียบคู่แข่งจากการที่ไทยสูญเสียสิทธิ GSP และภาพลักษณ์ของสินค้าประมงไทยที่อาจจะได้รับผลกระทบจากกรณีสหภาพยุโรปให้ใบเหลืองไทยเกี่ยวกับการทำประมงผิดกฎหมายตามระเบียบ IUU Fishing

ด้วยเหตุนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงมองว่า สัญญาณการฟื้นตัวในกรอบจำกัดของการส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ คงไม่อาจชดเชยภาพรวมของการส่งออกที่หดตัวลงมากนับจากต้นปีที่ผ่านมาได้ทั้งหมด ทำให้การส่งออกโดยภาพรวมของปี 2558 มีโอกาสหดตัวลง ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยอยู่ระหว่างทบทวนประมาณการสถานการณ์การส่งออกของไทยในปี 2558 อีกครั้ง 

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2558

'ประธานบอร์ด'ธ.ก.ส.ร่วมประชุมผถห.-สั่งเยียวยาปัญหาภัยแล้ง

ประธานบอร์ด ธ.ก.ส.ร่วมประชุมผู้ถือหุ้น ยืนยัน ธ.ก.ส.มุ่งช่วยเหลือและพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร เผยในปีบัญชีที่ผ่านมามีเกษตรกรได้รับประโยชน์แล้วกว่า 9 ล้านราย เร่งเดินหน้าสั่งการพนักงานเข้าช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้งอย่างเต็มที่

นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)ได้เข้าร่วมการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปีบัญชี 2557 ของ ธ.ก.ส. ณ ห้องรอยัลจูบิลลี่ บอลล์รูม ศูนย์การประชุมและนิทรรศการอิมแพ็ค เมืองทองธานี อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี

นายสมหมายกล่าวว่า ในปีบัญชีที่ผ่านมา ธ.ก.ส.สามารถดำเนินงานตามแผนการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ผลการดำเนินงานของ ธ.ก.ส.ออกมาในระดับที่น่าพอใจ  โดยผลงานที่ ธ.ก.ส. ได้ดำเนินการช่วยเหลือ พี่น้องเกษตรกรตามนโยบายของรัฐบาลและตามพันธกิจของธนาคาร  ประกอบไปด้วย  1) การช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2557/58  จำนวน 4 โครงการ ได้แก่ มาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อย ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินรายละ 15 ไร่  ธ.ก.ส. จ่ายเงินให้ชาวนาแล้ว 3,567,829 ราย พื้นที่ 38.88 ล้านไร่ จำนวนเงิน 38,886.61 ล้านบาท  โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อการผลิตแก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2557/58 ธ.ก.ส. ได้ดำเนินการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้ลูกค้าแล้ว จำนวน 1,003,413 ราย วงเงินกู้ 29,961.70 ล้านบาท   โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร วงเงิน 20,000 ล้านบาท มีสถาบันเกษตรกรได้รับอนุมัติเงินกู้แล้ว 316 แห่ง จำนวนเงิน 12,231.52 ล้านบาท โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2557/58  ธ.ก.ส. จ่ายสินเชื่อจำนวน 79,438 ราย ปริมาณข้าว 474,932.52 ตัน จำนวนเงิน 6,731.58 ล้านบาท  2) โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2557  มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ จำนวน 55,567 ราย พื้นที่ 831,816 ไร่ เกษตรกรขอรับค่าสินไหม จำนวน 11,516 ราย พื้นที่ 202,812.50 ไร่  3) การให้ความช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อย ฤดูการผลิต 2556/2557  ธ.ก.ส. ได้ดำเนินการโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยแล้ว 147,900 ราย จำนวนเงิน 16,528 ล้านบาท 4) โครงการแก้ไขหนี้นอกระบบของเกษตรกรและบุคคลในครัวเรือน   มีเกษตรกรขอขึ้นทะเบียน จำนวน 103,641 ราย ลูกหนี้ที่ผ่านการเจรจาแล้ว 99,677 ราย ธ.ก.ส. จ่ายสินเชื่อแก่เกษตรกรลูกค้าที่ไกล่เกลี่ยสำเร็จแล้ว จำนวน 30,162 ราย เป็นจำนวนเงิน 2,710.90 ล้านบาท 5) แนวทางการพัฒนายางพาราทั้งระบบและการแก้ไขปัญหาราคายางพารา จำนวน 5 โครงการ คือโครงการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อใช้ในการรวบรวมยางพารา วงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท ธ.ก.ส. จ่ายสินเชื่อแล้วจำนวน 322 แห่ง จำนวนเงิน 3,252.80 ล้านบาท โครงการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรแปรรูปยางพารา วงเงินสินเชื่อ 5,000 ล้านบาท ธ.ก.ส. จ่ายสินเชื่อแล้วจำนวน 46 แห่ง จำนวนเงิน 253.14 ล้านบาท   โครงการชดเชยรายได้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท รายละไม่เกิน 15 ไร่  ธ.ก.ส. จ่ายเงินให้เกษตรกร  ชาวสวนยางแล้ว  จำนวน 767,518 ราย พื้นที่ 7.70 ล้านไร่ จำนวนเงิน 7,704.27  ล้านบาท โครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง   ธ.ก.ส. อนุมัติเงินกู้ให้กับองค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) เพื่อนำไปซื้อยางพาราในราคาชี้นำตลาด วงเงิน 12,000 ล้านบาท อ.ส.ย. เบิกรับเงินกู้แล้ว จำนวน 9,200 ล้านบาท โครงการสนับสนุนสินเชื่อเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยเพื่อประกอบอาชีพเสริม ครัวเรือนละไม่เกิน 100,000 บาท จ่ายสินเชื่อแก่เกษตรกรแล้วจำนวน 26,217 ราย จำนวนเงิน 2,386.51  ล้านบาท  ซึ่งการดำเนินการตามโครงการต่างๆ ที่ผ่านมานั้นมีพี่น้องเกษตรกรได้รับประโยชน์ไปแล้วถึง 9 ล้านราย

“สำหรับปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ธ.ก.ส.ได้ กำชับให้พนักงานของ ธ.ก.ส. ออกไปเยี่ยมเยียน ให้คำแนะนำ รวมทั้งพิจารณาให้ความช่วยเหลือ กรณี ที่มีผลกระทบต่อ กำหนดชำระหนี้เดิม ธ.ก.ส.จะดำเนินการขยายเวลาการชำระหนี้ออกไปให้ เหมาะสมสอดคล้องกับรายได้ตามควรแก่กรณีต่อไปขอให้พี่น้องเกษตรกร ไม่ต้องกังวลใจในเรื่องนี้” นายสมหมายกล่าว

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ดันส่งออกเป็นวาระแห่งชาติ

พาณิชย์หวังการผลักดันส่งออกเป็นวาระแห่งชาติ ช่วยเพิ่มมูลค่าการส่งออกให้เติบโตอย่างยั่งยืน ด้านฉัตรชัยสั่งทำยุทธศาตร์สินค้า 6 หมวดเน้นเข้าถึงตลาดเป้าหมาย

พลเอกฉัตรชัยสาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ กล่าวในการเสวนา”นโยบายและทิศทางกาค้าของไทย” ในงานสหกรุ๊ปแฟร์ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ว่า ขณะนี้รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจซึ่งการส่งออกเป็นส่วนหนึ่ง

ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์ได้เสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)กำหนดเป็นวาระแห่งชาติซึ่งครม.ได้เห็นชอบจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อผลักดันตามยุทธศาสตร์ผลักดันการส่งออกและบูรณาการการทำงานไม่แค่ผลักดันตัวเลขการส่งออกปีนี้ 1.2% 

แต่เป็นการวางรากฐานการส่งออกที่เข้มแข้งในอนาคตคาดว่าจะมีการประชุมครั้งแรกในสัปดาห์หน้า“ผมได้สั่งการให้ทำยุทธศาสตร์ส่งออกแยกเป็น 6หมวดสินค้า เน้นการเข้าถึงตลาดตามเป้าหมาย เจาะหาตลาดใหม่ๆและเน้นการส่งออกที่มีนวัตกรรม เพราะหากยังส่งออกแบบเดิมๆตัวเลขการส่งออกเราก็จะไม่ดีขึ้น

ตอนนี้เศรษฐกิจและส่งออกอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อไทยต้องยกระดับเพื่อเพิ่มขีดความสามารถและปรับตัวหนีการค้าการส่งออกเดิมๆโดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เป็นสัดส่วนถึง 70% ของการส่งออกต้องกระตุ้นให้เกิดนวตกรรม ซึ่งจะดีต่อการส่งออกไทยในอนาคต แม้เดือน พ.ค. ตัวเลขส่งออกติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่5 ก็ตาม

”พลเอกฉัตรชัย กล่าวว่า พร้อมกันนี้กระทรวงพาณิชย์จะผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางอาเซียนหลังเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยกำลังผลักดัน3 เรื่อง คือ ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเออีซี พัฒนาและส่งเสริมด้านโลจิสติกส์ และสร้างความเชื่อมั่นและพัฒนาด้านทรัพย์สินทางปัญญาตอนนี้ได้ตั้งศูนย์ให้คำแนะนำในอาเซียนแล้ว 8 ประเทศและมีเป้าหมายผลักดันการค้าชายแดนถึง 1.5 ล้านล้านบาท ในปี นี้ หรือเพิ่ม 30%จากปีก่อน

จาก http://www.dailynews.co.th   วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ขุนคลังขออีก1เดือนเปิดม.ช่วยแล้ง

ขุนคลังขออีก1เดือนเปิดม.ช่วย

นายสมหมาย ภาษี รมว.คลังในฐานะประธานกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปีบัญชี 57 ของธนาคาร ว่า ภายใน 1เดือนจากนี้รัฐบาลจะผลักดันมาตรการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง

โดย ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีที่กำลังหารือร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ซึ่งต้องใช้เวลาหารืออย่างรอบคอบที่สุดเพื่อให้ได้มาตรการที่แก้ปัญหาได้ตรงจุดที่สุดโดยเฉพาะรายละเอียดของวงเงินชดเชยจะอยู่ที่เท่าไหร่จึงจะเหมาะสม“มาตรการแจกเงินชาวนามีแน่นอนแต่กำลังตกลงในรายละเอียดเพิ่มเติม

โดยกระทรวงการคลังไม่ได้เกี่ยวข้องในส่วนนั้นเพราะดูแต่เรื่องเงิน ยืนยันว่าเรื่องเงินไม่ต้องเป็นห่วง เงินพร้อมมีอยู่ตลอดเวลาโดยหากงบประมาณสามารถรองรับได้ ก็จะให้ ธ.ก.ส. สำรองเงินไปก่อนแล้วค่อยตั้งงบประมาณชดเชยกันในปีงบประมาณถัดไป ไม่มีปัญหาแน่นอนการช่วยเหลือถ้าเร็วเกินไปก็ไม่ดี เงินถึงมือเกษตรกรก็ใช้หมดก่อนที่ฝนจะมาดังนั้นต้องช่วยให้ถูกช่วงเวลาด้วย”

อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้ได้สั่งการให้ธ.ก.ส. เร่งออกมาตรการแก้ปัญหาที่น่าจะเป็นประโยชน์ที่สุดโดยการพักชำระหนี้ของเกษตรกรออกไป 6 เดือน รวมถึงธนาคารเองก็มีมาตรการสินเชื่อแบบผ่อนปรนเพื่อรองรับเมื่อถึงฤดูกาลเพาะปลูกด้วย

จาก http://www.dailynews.co.th   วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ก.เกษตร-คลัง ถกช่วยภัยแล้งสัปดาห์หน้า

กระทรวงการคลังเตรียมถกกระทรวงเกษตร สัปดาห์หน้า หาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรเพิ่มเติม หลังเผชิญภัยแล้ง

นายสมศักดิ์ กังธีระวัฒน์ รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. เปิดเผยว่า ในสัปดาห์หน้าจะมีการหารือร่วมระหว่างกระทรวงการคลังและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อประเมินสถานการณ์ภัยแล้ง ก่อนออกมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม ซึ่งประเด็นหลักจะต้องพิจารณาว่าจะช่วยเหลืออย่างไรและช่วยเหลือเกษตรกรกลุ่มไหนบ้าง หรือจะช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวทั้งประเทศ เพราะมีทั้งกลุ่มเกษตรกรที่มีการปลูกข้าวไปแล้ว 3 ล้านไร่ กลุ่มที่ยังไม่ได้เริ่มการเพาะปลูกอีก 2 ล้านไร่ โดยการช่วยเหลือแต่ละกลุ่มจะแตกต่างกันตามความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่จะต้องเป็นการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจริง โดยในเบื้องต้นประเมินว่าจะมีเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายจากภัยแล้งประมาณ 8 แสนไร่ แต่ในส่วนนี้ยังไม่มีการประกาศเป็นพื้นที่เกิดภัยพิบัติ เพราะต้องรอการประเมินอย่างเป็นทางการอีกครั้ง ซึ่งที่ผ่านมามีการชดเชยความเสียหายจากกรณีอุทกภัยร้ายแรงให้กับเกษตรกรสูงถึง 2,520 บาทต่อไร่

อย่างไรก็ตาม กรณีทุกวันนี้มีเกษตรกรทำประกันความเสียหายจากการปลูกข้าวไว้แล้ว 1.6 แสนไร่ ซึ่งส่วนนี้เกษตรกรที่ได้รับความเสียหายจากภัยแล้ง จะได้รับความคุ้มครองภายใต้กรมธรรม์ที่ทำไว้ และได้รับเงินชดเชยค่าเสียหายจากรัฐอีก 1,220 บาทต่อไร่

จาก http://www.innnews.co.th   วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2558

‘น้ำตาย’ไม้ตายแก้วิกฤติภัยแล้ง

              คำประกาศของกรมชลประทานงดปล่อยน้ำจากเขื่อนภูมิพล จ.ตาก เพื่อใช้ในการเกษตรอันเป็นผลมาจากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำลดลงอย่างมาก ขณะที่น้ำท่าที่จะไหลเข้ามาเติม กลับมีปริมาณน้อยจนเข้าขั้นวิกฤติ ทำให้บางคนอาจจะสงสัยว่า ภาวะวิกฤติที่ว่านี้ วัดจากอะไร และจะสามารถคลี่คลายได้เมื่อไร

              ลองมาพิจารณาระดับน้ำ ณ วันที่ 24 มิถุนายน 2558 ภายในอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลกันก่อน จากข้อมูลของศูนย์ประสานและติดตามสภานการณ์น้ำ กรมชลประทาน พบว่า มีน้ำอยู่ในอ่างเก็บน้ำ 4,105 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 30% ของความจุอ่าง สามารถใช้การได้จริง 305 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 2% ของความจุอ่างเท่านั้น

              ในทำนองเดียวกัน ยังมีอีก 3 เขื่อนหลักที่โดยปกติจะระบายน้ำเพื่อใช้ประโยชน์ในหลายๆ ในพื้นที่ราบลุ่มเจ้าพระยาและภาคกลางหลายจังหวัด ได้แก่ เขื่อนสิริกิติ์ มีน้ำอยู่ในอ่าง 3,431 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 36% ใช้การได้จริง 581 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 6% เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก มีน้ำในอ่างเก็บน้ำ 128 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 14% สามารถใช้การได้จริง 85 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 9% และสุดท้ายคือเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีน้ำเหลืออยู่ในอ่างเพียง 72 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 8% ของความจุอ่าง สามารถใช้การได้จริง 69 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 7%

               จากตัวเลขดังกล่าวข้างต้นนี้จะเห็นว่า ไม่เพียงเฉพาะเขื่อนภูมิพลเพียงแห่งเดียวเท่านั้นที่อยู่ในภาวะวิกฤติหากแต่อีก 3 เขื่อนหลักก็ตกอยู่ในสภาพไม่ต่างกัน

              สถานการณ์เช่นนี้ เคยมีผู้คาดการณ์กันว่า ท้ายที่สุดแล้ว เขื่อนทั้ง 4 แห่งอาจจะต้องดึง "น้ำตาย" หรือ dead storage ในอ่างเก็บน้ำออกมาใช้แก้ปัญหา ในกรณีที่ฝนเกิดทั้งชวงไปนานอีกเป็นเดือน และระดับน้ำในเขื่อนลดลงต่ำมากจนไม่สามารถระบายออกได้

              แต่ตามหลักวิชาการแล้ว "น้ำตาย" จะไม่นำออกมาใช้ เพราะเป็นระดับสำหรับควบคุมตะกอน หรือเป็นระดับกำหนดที่กำหนดให้ตะกอนสะสมถึงระดับน้ำในช่วงระยะเวลาการใช้งานของเขื่อน

              ในกรณีที่สถานการณ์เลวร้ายมาก ที่กรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องพิจารณาว่าจะนำ "น้ำตาย" ออกมาใช้สอยหรือไม่นั้น ก็ขึ้นกับการตัดสินใจในช่วงโมงนั้น

              สำหรับปริมาณ "น้ำตาย" หรือน้ำระดับกักเก็บตะกอนของเขื่อนภูมิพลอยู่ที่ระดับ 3,800 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์ระดับน้ำตายอยู่ที่ 2,850 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนมีน้ำตาย 43 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีน้ำตายอยู่ที่ระดับ 3 ล้านลูกบาศก์เมตร

              จากตัวเลขน้ำตายในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนทั้ง 4 แห่ง เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณน้ำกักเก็บ ณ วันที่ 24 มิถุนายน 2558 พบว่า ยังมีปริมาณพอเพียงไปอีกระยะหนึ่ง หรือสรุปอีกอย่างหนึ่งก็คือ ณ ปัจจุบันยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องงัดเอาไว้ "ไม้ตาย" โดยการนำ "น้ำตาย" ออกมาใช้

              เมื่อมีคำสั่งงดระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพลไปใช้เพื่อการเกษตร ก็เท่ากับจะเหลือน้ำเพื่อการอื่น โดยเฉพาะการรักษาระบบนิเวศเอาไว้พอสมควร และอาจจะเพียงพอที่จะช่วยให้ผ่านพ้นวิกฤติการณ์ต่อไปได้

              ทั้งนี้ ดัชนีสำคัญที่น่าจะใช้ชี้วัดคุณภาพของระบบนิเวศจากการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำดังกล่าว ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเรื่องของค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาด้วย เพราะถ้าหากน้ำท่าจากเขื่อนระบายลงมาน้อยหรือไม่ระบายมาเลย ก็จะทำให้น้ำทะเลหนุนสูง

              อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ธนศักดิ์ วัฒนฐานะ ผู้ว่าการการประปานครหลวง (กปน.) ได้ลงพื้นที่ตรวจความเค็มของน้ำดิบที่บริเวณสถานีสูบน้ำสำแล ต.บ้านกระแชง อ.เมือง จ.ปทุมธานี พร้อมขอความร่วมมือทุกภาคส่วน ร่วมมือกันใช้น้ำอย่างประหยัด

              ธนศักดิ์ บอกว่า เนื่องจากวันนี้ (24 มิ.ย.) เป็นวันที่ระดับน้ำทะเลลดระดับมาที่สุดวันหนึ่ง จึงได้ตรวจวัดค่าความเค็มของน้ำพบว่าน้ำมีค่าลิ่มความเค็ม 0.13 กรัมต่อลิตร ซึ่งค่าความเค็มได้ลดลงจากเดิมที่เคยวัดค่าไว้อยู่ที่ 0.16 กรัมต่อลิตร เนื่องจากมีฝนตกลงมาจึงทำให้น้ำเจือจางลง ซึ่งหากอยู่ที่ระดับ 0.25 กรัมต่อลิตร จะถือว่าเค็มมาก โดยที่ผู้บริโภคจะยังไม่รู้สึกถึงความเค็ม เพราะตามหลักวิชาการแล้ว คนเราจะสามารถรับรู้ถึงความเค็มได้ที่ระดับความเค็มที่ 0.4-0.5 กรัมต่อลิตร

              ระดับน้ำหน้าสถานีสูบน้ำดิบสำรองอยู่ที่ระดับ 35.72 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง จากปกติจะอยู่ที่ระดับ 36.8 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ถือว่าระดับน้ำลดลดเพียงเล็กน้อย เนื่องจากช่วงนี้มีฝนตกลงมาบ้าง ธนศักดิ์ บอกว่า ประชาชนไม่ต้องกังวลว่า การประปาจะไม่มีน้ำให้ท่านใช้ เนื่องจากการประปายังสามารถผลิตน้ำประปาได้อย่างปกติ เพียงแต่ว่าหากน้ำลดระดับลงไปมากกว่านี้คุณภาพของน้ำประปาจะเปลี่ยนไปบ้าง คือน้ำจะมีรสชาติกร่อย จึงอยากให้ประชาชนใช้น้ำกันอย่างประหยัดและคุ้มค่าที่สุด หากฝนตกลงมาจนระดับน้ำในเขื่อนอยู่ในระดับปกติ การประปาก็จะสามารถผลิตน้ำได้อย่างปกติ

              โดยภาพรวม แม้เขื่อนภูมิพลจะงดปล่อยน้ำเพื่อการเกษตร และน้ำกักเก็บลดต่ำสุดในรอบ 51 ปี ขณะที่เขื่อนอีก 3 แห่งก็อยู่ในสถานการณ์เดียวกันนั้น หากตรวจสอบระดับน้ำสำรองเพื่อการอุปโภคบริโภค ทั้งกรณีต้องใช้ "น้ำตาย" หรือการดึงน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ที่เหลือน้ำอยู่ในอ่างอีก 68% ก็พอเชื่อได้ว่า ประเทศไทยจะสามารถผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้

              เว้นเสียแต่ว่า ในอีก 3 เดือนข้างหน้าฝนฟ้ายังไม่ตกต้องตามฤดู และเขื่อนศรีนครินทร์เข้าสู่ภาวะ "หมดสภาพ" ถึงตอนนั้น ต้องเรียกว่า อภิมหาวิกฤติอย่างแท้จริง

จาก http://www.komchadluek.net   วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ก.อุตฯ ติวเข้มจัดการอุตสาหกรรมทั่วไทยเร่งรัดเข้าสู่ระบบ แก้ปัญหาลอบทิ้งต้นทาง  

          นางอรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวภายหลังเปิดการสัมมนาการจัดการกากอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการว่า นโยบายการจัดการกากอุตสาหกรรมอันตรายเป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ ซึ่งเป็นอันตรายต่อประชาชนและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล และตรวจสอบสถานประกอบการ ได้จัดทำโครงการอุตสาหกรรมทั่วไทย ร่วมใจจัดการขยะอุตสาหกรรมขึ้นเพื่อเร่งรัดการนำกากอุตสาหกรรมเข้าสู่ระบบ ทำให้การบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมเป็นไปอย่างเบ็ดเสร็จครบวงจรโดยจะเป็นการวางพื้นฐานสำหรับการแก้ไขปัญหาในระยะยาว

          สำหรับจังหวัดสมุทรปราการ มีจำนวนโรงงาน7,355 โรงงาน ซึ่งข้อมูลปริมาณกากอุตสาหกรรมมีประมาณ 1,6 ล้านตัน แบ่งเป็นกากของเสียที่ไม่อันตราย 1.25 ล้านตัน และกากของเสียที่อันตราย3.5 แสนตัน สามารถนำกากของเสียเข้าสู่ระบบการจัดการได้แล้วประมาณ 1.2 ล้านตันต่อปี คิดเป็นร้อยละ 75 ของปริมาณกากทั้งหมด ส่วนกากของเสียที่อันตรายคาดว่ายังไม่เข้าสู่ระบบการจัดการที่ถูกต้อง มีเหลือประมาณ 6 หมื่นตันต่อปีกระทรวงอุตสาหกรรมต้องช่วยกำกับดูแล และเข้มงวด ในการนำกากอุตสาหกรรมดังกล่าวเข้าสู่ระบบการจัดการที่ถูกต้องให้เพิ่มขึ้น เพื่อลดปัญหาการทิ้งกากอุตสาหกรรมปะปนกับขยะชุมชน หรือแอบไปทิ้งฝังกลบรวมในบ่อขยะของเทศบาล

          ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้วางแผนยุทธศาสตร์การจัดการกากอุตสาหกรรม ในระยะ5 ปี ตั้งแต่ปี 2558-2562 โดยมีเป้าหมายในการนำกากของเสียที่เป็นอันตราย จำนวน 1.5 ล้านตันเข้าสู่ระบบให้ถูกต้อง และให้โรงงานผู้ก่อกำเนิดของเสียทั้งหมดเข้าสู่ระบบด้วยการอบรม ให้ความรู้ความเข้าใจ และทราบถึงบทลงโทษหากดำเนินการไม่ถูกต้องตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ โดยเริ่มต้นที่จังหวัดสมุทรปราการเป็นที่แรก ก่อนขยายไปทุกจังหวัดทั่วประเทศ นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีมาตรการหาพื้นที่รองรับกากอุตสาหกรรมสำหรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในระยะ 20 ปีข้างหน้า อย่างน้อย 6 พื้นที่ และจะนำร่องสร้างเตาเผาขยะอุตสาหกรรมมูลค่า 1,800 ล้านบาท โดยเป็นการร่วมลงทุนกับรัฐบาลญี่ปุ่น ขณะเดียวกันในปีนี้ยังจะออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมบังคับให้ผู้ขนส่งกากอุตสาหกรรม ต้องติดตั้งระบบ GPS ทุกคันและกำหนดบทลงโทษเพิ่มเติมหากมีการลักลอบทิ้งกาก

จาก http://www.siamrath.co.th วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2558 

แนวโน้ม: 7.1 หมื่นโรงงาน ทั่วไทยกากอุตสาหกรรมอันตราย 

          กระทรวงอุตสาหกรรมสั่งการกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ประสานอุตสาหกรรมจังหวัด 77 จังหวัดทั่วประเทศ

          เดินหน้าจัดการกากอุตสาหกรรมให้เข้าระบบ

          โดยเฉพาะกากอันตราย ผลการทำงาน 4 เดือนแรก (มกราคมเมษายน) ปรากฏว่า

          กลุ่มแรก กากอันตรายเข้าระบบเกินเป้าหมายร้อยละ 100 มีเพียงจังหวัดเดียวคือ อ่างทอง

          กลุ่ม 2 มีปริมาณกากอันตรายเข้าระบบร้อยละ 30-70 มี 3 จังหวัดคือ พระนครศรีอยุธยา สระบุรี และระยอง

          กลุ่ม 3 มีปริมาณกากอันตรายเข้าระบบร้อยละ 10-30 มี 9 จังหวัด คือ ชลบุรี กระบี่ ฉะเชิงเทรา น่าน นครราชสีมา กทม. ปทุมธานี สมุทรปราการ และปราจีนบุรี

          กลุ่ม 4 มีปริมาณกากอุตสาหกรรมน้อยกว่าร้อยละ 10 กระจายอยู่ใน 64 จังหวัดที่เหลือ

          เป้าหมายการจัดเก็บกากอันตรายเข้าระบบประจำปี 2558 อยู่ที่ 1.2-1.5 ล้านตัน จากการประเมินภาพรวมการทำงานของอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ พบว่า มีถึง 64 จังหวัดที่มีความเสี่ยงว่าจะไม่ได้รับการพิจารณาให้เลื่อนขั้น

          แถมยังมีโอกาสถูกลงโทษย้ายออกนอกพื้นที่

          ปริมาณกากอุตสาหกรรมอันตรายช่วง 4 เดือน มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 2.8 แสนตัน คิดเป็นร้อยละ 23 จากเป้าหมายรวมทั้งปี ขณะที่โรงงานอุตสาหกรรมผู้ก่อกำเนิดกากอุตสาหกรรมทั่วประเทศมีจำนวน 7.1 หมื่นโรงงาน

          อยู่ในนิคมอุตสาหกรรม 4,000 แห่ง อยู่นอกนิคมอุตสาหกรรม 6.6 หมื่นแห่ง

จาก http://www.matichon.co.th วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2558 

ะยองคุมเข้มปัญหาลักลอบทิ้งกากพิษขีดเส้นรง.แจ้งเข้าระบบภายใน30มิ.ย. 

           นายสุรพล สุทธจินดา อุตสาหกรรมจังหวัดระยอง เปิดเผยถึงปัญหาการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมว่า ที่ผ่านมาพบมีการลักลอบทิ้งขยะอุตสาหกรรมค่อนข้างมากในหลายพื้นที่ ไม่เฉพาะที่จังหวัดระยองเท่านั้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของภาคอุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อม โดยรัฐบาลได้ให้ความสำคัญเรื่องการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม ทางสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดระยองจึงขอให้ผู้ประกอบการโรงงานที่มีอยู่ในพื้นที่ประมาณ 1,800 แห่ง มาแจ้งปริมาณกากอุตสาหกรรมภายในวันที่ 30 มิ.ย.นี้ เพื่อนำเข้าระบบการจัดการอย่างถูกต้อง เพราะหากมีการลักลอบนำไปทิ้ง จะทราบทันทีว่ากากดังกล่าวเป็นของโรงงานใด นายสุรพล กล่าวด้วยว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการมาแจ้งแล้ว 900 ราย ส่วนที่เหลือขอให้รีบดำเนินการภายในเวลาที่กำหนด เพราะไม่เช่นนั้นหากตรวจพบว่าผู้ประกอบการรายใดยังไม่ได้เข้าระบบจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.โรงงานพ.ศ.2535 และอาจไม่ได้รับการต่อใบอนุญาตอีก

จาก พิมพ์ไทย วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2558 

'ปีติพงศ์' ถกคลังยืดดอกเบี้ยเกษตรกรภัยแล้ง

รมว.เกษตรและสหกรณ์ นัดกระทรวงการคลัง ถกเลื่อนการส่งดอกเบี้ยที่ต้องผ่อนชำระของเกษตรกรสัปดาห์หน้า มั่นใจขุดบ่อบาดาลช่วยบรรเทาได้ ระยะยาวต้องปรับระบบส่งน้ำทั้งหมด ยันภาพรวมสินค้าเกษตร ยังไม่น่าเป็นห่วง

นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า ขณะนี้ภัยแล้งมีเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา เนื่องจากที่อื่นยังไม่ถึงฤดูกาลเพาะปลูก โดยเบื้องต้นจะทำการปรับปรุงบ่อสังเกตการเดิมเพื่อให้ดึงน้ำมาใช้กว่า 300 บ่อ และมีการเจาะเพิ่มอีก 500 บ่อ ซึ่งจะช่วยทำให้บรรเทาพื้นที่ที่มีความเสี่ยงได้ประมาณ 8 แสนไร่ คาดว่าอีก 2 สัปดาห์จะมีการเสนอ ครม. ได้ว่ามีคนที่ต้องการเปลี่ยนวิธีการเพาะปลูกมากน้อยเพียงใด และอีกส่วนหนึ่งคือต้องพูดคุยหารือกับกระทรวงการคลังให้เลื่อนการส่งดอกเบี้ยที่ต้องผ่อนชำระของเกษตรกรออกไปก่อน ซึ่งสัปดาห์หน้าได้มีการนัดกระทรวงการคลังมาพูดคุยแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นมาตรการเร่งด่วน ส่วนในระยะยาวต้องปรับปรุงระบบการส่งน้ำในพื้นที่เหล่านี้โดยนายกรัฐมนตรีได้กำชับให้ดูแล ปชช. ทั้งส่วนที่มีการเพาะปลูกแล้วและส่วนที่ยังไม่ได้เพาะปลูกอย่างเต็มที่

ทั้งนี้ ตนเองค่อนข้างกังวลในปัญหานี้ แต่คิดว่าการให้ข้อมูลของรัฐบาลนั้นทำให้ประชาชนได้รู้สึกระมัดระวังและจะไม่ทำเกิดการขัดแย้งกัน และเชื่อว่าภาพรวมของสินค้าเกษตรยังไม่มีความน่าเป็นห่วงแต่อย่างใด

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2558

'รถไถตัดอ้อย' ยกระดับวิจัยสู่เอสเอ็มอี

ทำมาหากิน : 'รถไถตัดอ้อย' ยกระดับวิจัยสู่เอสเอ็มอี นวัตกรรมเพื่อเกษตรกรชาวไร่อ้อย : โดย...สุรัตน์ อัตตะ

                     นับเป็นอีกก้าวของนวัตกรรมเครื่องจักรกลสำหรับตัดอ้อยส่งโรงงาน เมื่อทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม นำโดย ผศ.ดร.ทนงศักดิ์ มูลตรี อาจารย์ภาควิชาเทคโนโลยีอาหาร คณะเทคโนโลยีได้คิดประดิษฐ์เครื่องจักรกลการเกษตรสำหรับการตัดอ้อยส่งโรงงาน โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณการวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ตามนโยบายวิจัยแบบมุ่งเป้าของรัฐบาล จนเป็นผลสำเร็จและสามารถนำมาทดลองใช้งานในหลายพื้นที่ในภาคกลางและอีสานในขณะนี้

                     ผศ.ดร.ทนงศักดิ์ กล่าวถึงที่มาของนวัตกรรมชิ้นนี้ระหว่างนำผลงานมาโชว์ในงานตลาดนัดงานวิจัยเพื่อเอสเอ็มอี ที่ วช.จัดขึ้นว่าได้เริ่มคิดประดิษฐ์มาตั้งแต่ปี 2549 หลังจากลงพื้นที่ดูเกษตรกรตัดอ้อย ซึ่งส่วนใหญ่ใช้รถไถตัดอ้อยขนาดใหญ่และมีราคาแพง ไม่เหมาะกับพื้นที่ปลูกอ้อยในบ้านเรา ส่วนใหญ่เป็นของเกษตรกรรายย่อย และรถไถตัดอ้อยที่ใช้งานส่วนใหญ่จะเป็นรถตัดอ้อนท่อน ในขณะที่รถไถตัดอ้อยที่คิดประดิษฐ์ขึ้นมานี้จะเป็นการตัดยอดตัดโคนเพื่อส่งโรงงานได้ทันที

                     “รถไถตัดอ้อยขนาดเล็กที่เราประดิษฐ์ขึ้นมานี้เหมือนที่ใช้คนตัดก็คือตัดยอดตัดโคนส่งเข้าโรงงานได้ทันที ไม่ต้องมาทำความสะอาดใหม่ นี่คือข้อดี เพราะถ้าต้องรอ 2-3 วัน ถึงจะได้หีบตรงนี้สูญเสียค่อนข้างเยอะ เพราะเมืองไทยเมืองร้อน ท่อนยิ่งสั้นเท่าไหร่การระเหยของน้ำจะมากขึ้น อันนี้คือข้อเสียสูงสุด 20% แต่รถของเราตัดเสร็จส่งโรงงานได้ทันทีโดยไม่ต้องรอ”

                     เจ้าของผลงานนวัตกรรมเด่นระบุต่อว่า การทำงานของรถไถตัดอ้อยนี้จะใช้ระบบไฮดรอลิกขนาดเล็กเหมาะกับเกษตรกรรายย่อย ด้านหน้ารถตัดประกอบด้วยใบมีดตัดยอดด้านบน และมีใบมีดด้านล่างที่สามารถปรับความสูงต่ำเพื่อสนองความต้องการของเกษตรกรไว้ต้นตออ้อยในปี 2-3 ซึ่งรถตัดอ้อยนำเข้าทั่วไปไม่สามารถทำได้ เมื่อใบมีดตัดอ้อยทั้งด้านบนด้านล่างเสร็จเรียบร้อย จะมีตัวงาช้างทำหน้าที่รวบต้นอ้อยเข้าสู่ใต้ท้องรถเพื่อริดใบ ส่งต่อไปยังกระบะด้านหลังที่สามารถรับอ้อยได้ 400-500 กก. แล้วจะดัมพ์กองไว้เตรียมยกขึ้นรถบรรทุก

                     “ความโดดเด่นอีกประการนั่นคือ รถคันนี้สามารถตัดอ้อยให้เป็นลำยาวได้เหมือนใช้แรงคนตัด เพราะวิธีการนี้จะรักษาปริมาณน้ำหนักได้ดี ต่างจากรถตัดอ้อยทั่วไปจะตัดเป็นท่อนสั้นๆ กว่าอ้อยจะถึงโรงงาน ปริมาณน้ำหนักระเหยหายไปไม่น้อย ส่วนขีดความสามารถในการตัดอ้อยได้ประมาณ 70-80 ตันต่อวัน น้ำหนักรถอยู่ที่ 2.5 ตัน เบากว่ารถตัดอ้อยทั่วไปกว่าครึ่ง ส่วนอัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงอยู่ที่ 18.8 ลิตร ต่อ 2 ชั่วโมง ใช้ได้ทั้งดีเซลและไบโอดีเซล”

                     ผศ.ดร.ทนงศักดิ์ ยังกล่าวถึงการพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมชิ้นนี้ว่าจะประดิษฐ์ตัวสางใบ โดยเอาใบออกจากต้นเหมาะสำหรับการตัดอ้อยเพื่อนำพันธุ์เอาไปปลูกใหม่ ซึ่งจะมีการพัฒนารถตัดอ้อยขนาดเล็ก รถตัดอ้อยติดรถแทรกเตอร์และรถไถนาเดินตามไปต่อพ่วง ส่วนราคาจำหน่ายเบื้องต้นเริ่มตั้งแต่แสนสองแสนไปถึงล้านต้นๆ ซึ่งขณะนี้มีเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยนำไปทดลองที่ จ.อุทัยธานี เพชรบูรณ์ สุพรรณบุรี

                     “ที่มีปัญหาตอนนี้ก็คือตัวตัดยอด แต่ก่อนเราคิดว่าประมาณ 2.5 -3 เมตรพอ แต่ถ้าอ้อยที่มีน้ำดีสูงกว่านี้ตัวตัดยอดของเราตัดไม่ถึง ทางอีสานไม่สูงขนาดนี้เราสามารถตัดได้ แต่ถ้าภาคกลางสูงกว่า เราก็ต้องเพิ่มตัวตัดยอดให้สูงขึ้นแล้วเพิ่มตัวสางใบ นี่คือสิ่งที่เราจะต้องพัฒนาต่อไปเพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งให้เกษตรกร” เจ้าของนวัตกรรมคนเดิมกล่าวย้ำ

                     รถไถตัดอ้อยขนาดเล็ก นับเป็นผลงานเด่นที่ช่วยลดภาระต้นทุนด้านแรงงานให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยและสามารถนำผลผลิตอ้อยส่งโรงงานได้ทันเวลาและอย่างมีประสิทธิภาพ

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ภัยแล้งลาม‘กปภ.’ 10สาขาขาดน้ำดิบ ผลิตประปาไม่พอฝนหลวงเริ่มได้ผล

เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน นางรัตนา กิจวรรณ ผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำดื่มน้ำใช้ที่อยู่ในสภาวะการเกิดฝนแล้งปัจจุบันว่า ขณะนี้ รองผู้ว่าฯทุกสาขาได้ช่วยกันดูแลทุกพื้นที่ทั่วไปหมดซึ่งระบบจ่ายน้ำของการประปาส่วนภูมิภาคของเรา

มีจำนวนทั้งหมด234 สาขา ตอนนี้มี 10 สาขาที่ส่วนใหญ่อยู่ทางภาคอีสานและภาคกลาง บางแห่งกำลังมีปัญหา แหล่งน้ำที่ใช้ผลิตน้ำประปา หรือแหล่งน้ำต้นทุนไม่เพียงพอ กปภ.จึงมีมาตรการเร่งด่วนโดยให้มีการจ่ายน้ำเป็นเวลาแล้วมีมาตรการแก้ไขปัญหาด้วยการให้มีการไปขุดเจาะน้ำบาดาลเพิ่มเติม

โดยทุกอย่างจะต้องแบ่งตามโซนของแต่ละพื้นที่จะสามารถหาแหล่งน้ำเพิ่มเติมได้จากตรงไหนบ้าง เช่นการแก้ไขด้วยการเอาน้ำจากประปาที่มีอยู่ตามสาขาของ กปภ.ที่ใกล้เคียงไปใช้บริการให้กับทางประชาชน นอกจากนี้ ส่วน กปภ.ที่มีปัญหาของน้ำเค็มที่ มีอยู่อีก 4 สาขา ที่พื้นที่ภาคตะวันออก หากเป็นพื้นที่ใดมีปัญหาของน้ำเค็ม เราก็จะยังไม่มีการผลิตน้ำ แต่จะมีการนำเอาจากสาขาใกล้เคียงมาเติมเพื่อใช้ไปก่อน เป็นต้น

“ขอเรียนว่ากปภ.ได้มีมาตรการที่จะแก้ไขปัญหาในระยะสั้น ระยะยาวเอาไว้แล้วในส่วน10แห่ง โดยจะมีการแก้ไขปํญหาด้วยการใช้เวลาในการจ่ายน้ำเพื่อประคองให้สถานการณ์เป็นไปด้วยดี คาดว่าจะมีบางพื้นที่สามารถประคองสถานการณ์เอาไว้เป็นระยะเวลามากกว่า1เดือนหรือมากกว่าจนกว่าจะมีฝนจะตก โดย กปภ.จะพยายามประคองให้ประชาชน มีน้ำดื่มน้ำใช้ ให้ได้นานที่สุด ดังนั้น มาตรการให้ประชาชนและภาคเอกชน ต้องใช้น้ำเป็นช่วงเวลา จะได้ประชาสัมพันธ์ขณะที่หยุดจ่ายน้ำ ควรจะต้องมีภาชนะเอาไว้สำหรับรองรับน้ำเอาไว้ และเมื่อต้องหยุดการใช้น้ำแล้ว ต้องไปดูว่าความต้องการใช้น้ำมีเท่าไร แล้วจึงจ่ายน้ำไป แต่คงไม่จ่ายน้ำไปอย่างเต็มที่และมั่นใจว่าประชาชน ยังคงมีน้ำใช้ แต่มาตรการที่ทำเพียงต้องการให้ปริมาณน้ำดิบมีอย่างเพียงพอต่อการใช้ไปให้นานที่สุด” ผู้ว่าฯ กปภ.ย้ำ

ทั้งนี้ ในวันที่ 26 มิถุนายน ที่สำนักงานการประปาส่วนภูมิภาคน เวลา10.00น.กปภ.จะแถลงข่าวชี้แจงแนวทางการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ภัยแล้งและแนวทางรายละเอียดมาตรการกำหนดช่วงเวลาการจ่ายน้ำในแต่ละพื้นที่ประสบปัญหาให้ประชาชนได้รับทราบ

มีรายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับ 10 สาขาที่ประสบปัญหาแหล่งน้ำต้นทุนได้แก่ กปภ.สาขา จ.จันทบุรี,สาขาปักธงชัย สาขาพิมาย จ.นครราชสีมา สาขาเกาะพงัน จ.สุราษฎร์ธานี สาขากระนวน จ.ขอนแก่น, สาขาแก้งคร้อ สาขาหนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ,สาขาอำนาจเจริญจ.อำนาจเจริญ สาขาท่าตะโก จ.นครสวรรค์ และสาขาวิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ โดยปัญหาวิกฤติภัยแล้งถือว่าวิกฤติแล้งหนักสุดในรอบ 30 ปี ตามที่กรมชลประทานได้ประกาศเอาไว้ ส่วน 4 สาขาที่ประสบภัยแล้งค่อนข้างรุนแรง ได้แก่ พื้นที่ กปภ.สาขา จ.จันทบุรี สาขาวิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ สาขาคลองใหญ่ จ.ตราด และสาขาเกาะพงัน จ.สุราษฎร์ธานี

ด้าน นายนพดล ปั้นรัตน์ ผู้จัดการ การประปาภูมิภาค(ผจก.กปภ.)สาขาแม่ริม จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่าจากปริมาณน้ำดิบในลำน้ำสา ลดลงอย่างต่อเนื่อง ไม่สามารถสูบขึ้นมาผลิตน้ำประปาให้เพียงพอต่อการใช้น้ำของลูกค้าในทุกพื้นที่ กปภ.สาขาแม่ริมได้แก้ไขปัญหาการจ่ายน้ำโดยผันน้ำจากสถานีผลิตน้ำแม่ริม2 เข้ามาส่งจ่ายในพื้นที่ตั้งแต่ กองพันสัตว์ต่าง,ศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่, หมู่บ้านสวัสดิการทหาร, ศูนย์ประชุมนานาชาติ, หมู่บ้านถนนรด.หนองฮ่อ,บ้านพักข้าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ฯลฯ แต่เนื่องจากปริมาณน้ำผลิตจ่ายใน ขณะนี้ก็ยังมีไม่เพียงพอ ต่อการใช้น้ำ

“กปภ.สาขาแม่ริม จำเป็นต้องทำการลดแรงดันน้ำจากในพื้นที่ต่างๆ เข้ามาช่วยจ่ายในพื้นที่ที่น้ำประปาไม่ไหลเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ลูกค้าให้ยังพอมีน้ำใช้ในช่วงเวลาต่างๆจึงจะส่งผลกระทบให้น้ำประปาไหลอ่อน และไม่ไหลในทุกๆพื้นที่ในการจ่ายน้ำ ขอแจ้งให้ผู้ใช้น้ำได้รับทราบถึงสถานการณ์ภัยแล้ง ขณะนี้เข้าขั้นวิกฤต ขอให้ผู้ใช้น้ำได้จัดเตรียมภาชนะสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงที่น้ำประปาไหลเป็นปกติ หรือไหลอ่อน”นายนพดล ย้ำ

สำหรับสถานการณ์ภัยแล้ง ในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ เข้าสู่ขั้นวิกฤติ ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำหลักลดลงอย่างต่อเนื่อง นายสุทธินันท์ บุญมี ผู้ว่าราชการจังหวัด(ผวจ.)อำนาจเจริญ กล่าวว่าสถานการณ์น้ำเพื่อการเกษตร ยังคงมีน้อยอยู่ แม้จะมีฝนตกลงมา 2วัน แต่ฝนตกไม่แรง น้ำน้อยมาก เพียงแต่ทำให้ต้นข้าวไม่ตาย ฟื้นขึ้นมาเท่านั้น ขณะที่ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทั้ง 4 แห่ง ยังคงน่าเป็นห่วงเพราะน้ำเหลือน้อยมาก เกรงว่าจะมีผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปาส่วนภูมิภาคอำนาจเจริญ ต้องปล่อยใช้กว่า20,000 คน ในย่านธุรกิจ จึงต้องมีการวางแผนแก้ปัญหาระยะยาวโดยใช้ที่ดินภายในศาลากลาง จ.อำนาจเจริญ จำนวน 50 ไร่ เป็นแหล่งผลิตน้ำประปาแห่งที่2 ส่วนที่ อ.ลืออำนาจ ได้ขาดแคลนน้ำดิบผลิตน้ำประปา เป็นประจำทุกปีในช่วงเดือน เมษายนจึงได้มีการแก้ไขระยะยาว ด้วยการสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยสีโท มาตามท่อ ระยะทางประมาณ 25 กิโลเมตร มาผลิตน้ำประปา หากแล้วเสร็จทั้ง 2 แห่ง จะมีน้ำใช้ตลอดไป

ขณะที่ น.ส.หนึ่งฤทัย ตันติพลับทอง ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือฯ ได้บินขึ้นปฏิบัติภารกิจจำนวน 4 เที่ยวบิน เพื่อปฏิบัติภารกิจทำฝนหลวงช่วยเหลือชาวนาที่ประสบภัยแล้ง และช่วยเติมน้ำในเขื่อน ทำให้มีฝนตกเล็กน้อย-ปานกลาง เป็นบริเวณกว้าง โดยพื้นที่ จ.เชียงใหม่ มีฝนตกทั้ง อ.แม่แจ่ม อ.สารภี อ.สันป่าตอง อ.แม่ริม อ.แม่แตง อ.เมือง อ.ดอยหล่อ อ.จอมทอง อ.สะเมิง อ.แม่วาง และ อ.หางดง, จ.ลำพูน มีฝนตกใน อ.บ้านธิ อ.เมือง อ.ป่าซาง อ.เวียงหนองล่อง, จ.ลำปาง มีฝนตกใน อ.เมือง และ อ.ห้างฉัตร ส่วนพื้นที่ ที่มีฝนตกเล็กน้อย คือ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่, อ.แม่พริก จ.ลำปาง, อ.ลี้ จ.ลำพูน และ อ.สามเงา จ.ตาก

ทั้งนี้ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ ยังขึ้นบินเพื่อทำฝนหลวงในพื้นที่ภาคเหนือ เติมน้ำให้เขื่อนหลักๆทั้ง 7 เขื่อนและลุ่มน้ำสายหลักทั้ง ปิง วัง ยม น่าน รวมถึงลุ่มน้ำป่าสักในพื้นที่ภาคกลาง

สถานการณ์ภัยแล้งที่จังหวัดบุรีรัมย์ ยังคงน่าห่วง โดยเฉพาะปริมาณน้ำในลำน้ำมูลที่ไหลผ่าน อ.สตึก ล่าสุด มีปริมาณลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง จนมองเห็นตอหม้อสะพานและสันดอนทรายโผล่ บางช่วงแห้งขอดจนสามารถเดินข้ามฝั่งไปมาได้ นายโอภาส ชนะดี อายุ 58 ปี เจ้าหน้าที่ชลประทาน ที่ดูแลประจำริมลำน้ำมูล ระบุว่า ปีนี้น้ำในลำน้ำมูลมีปริมาณลดต่ำที่สุดในรอบ30 ปี บางช่วงน้ำมูลมีสภาพแห้งขอดจนสามารถเดินข้ามฝั่งไปมาได้แล้ว หากยังไม่มีฝนตกลงมาอีก จะถึงขั้นวิกฤต ส่งผลกระทบกับชาวประมงทั้งที่มีอาชีพเลี้ยงในกระชัง และหาปลาตามธรรมชาติและเกษตรกรที่อาศัยน้ำจากลำน้ำมูลในการประกอบอาชีพอย่างแน่นอน

ในวันเดียวกัน ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ( ศภช.) แจ้งว่าในวันที่ 25-26 มิถุนายน อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม ในพื้นที่ 4 จังหวัดประกอบด้วย จ.กาญจนบุรี ราชบุรี จันทบุรี และ จ.ตราด จึงขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าวโปรดทราบ หากมีข้อมูลเพิ่มเติม ศภช.จะแจ้งให้ทราบเป็นระยะต่อไป

จาก http://www.naewna.com วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2558

"สมหมาย" สั่ง ธ.ก.ส.ช่วยเหลือเกษตรกรกว่า 9 ล้านราย เร่งเยียวยาปัญหาภัยแล้งทั่วประเทศ 

ประธานบอร์ด ธ.ก.ส.ร่วมประชุมผู้ถือหุ้น ยืนยัน ธ.ก.ส.มุ่งช่วยเหลือและพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร เผยในปีบัญชีที่ผ่านมามีเกษตรกรได้รับประโยชน์แล้วกว่า 9 ล้านราย เร่งเดินหน้าสั่งการพนักงานเข้าช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้งอย่างเต็มที่

วันนี้ (26 มิถุนายน 2558) นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้เข้าร่วมการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปีบัญชี 2557 ของ ธ.ก.ส. ณ ห้องรอยัลจูบิลลี่ บอลล์รูม ศูนย์การประชุมและนิทรรศการอิมแพ็ค เมืองทองธานี อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี

โดยนายสมหมายกล่าวว่า ในปีบัญชีที่ผ่านมา ธ.ก.ส.สามารถดำเนินงานตามแผนการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ผลการดำเนินงานของ ธ.ก.ส.ออกมาในระดับที่น่าพอใจ โดยผลงานที่ ธ.ก.ส.ได้ดำเนินการช่วยเหลือ พี่น้องเกษตรกรตามนโยบายของรัฐบาลและตามพันธกิจของธนาคาร ประกอบไปด้วย 1) การช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2557/58  จำนวน 4 โครงการ ได้แก่ มาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อย ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินรายละ 15 ไร่  ธ.ก.ส. จ่ายเงินให้ชาวนาแล้ว 3,567,829 ราย พื้นที่ 38.88 ล้านไร่ จำนวนเงิน 38,886.61 ล้านบาท โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อการผลิตแก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2557/58 ธ.ก.ส. ได้ดำเนินการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้ลูกค้าแล้ว จำนวน 1,003,413 ราย วงเงินกู้ 29,961.70 ล้านบาท   โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร วงเงิน 20,000 ล้านบาท มีสถาบันเกษตรกรได้รับอนุมัติเงินกู้แล้ว 316 แห่ง จำนวนเงิน 12,231.52 ล้านบาท โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2557/58

ธ.ก.ส.จ่ายสินเชื่อจำนวน 79,438 ราย ปริมาณข้าว 474,932.52 ตัน จำนวนเงิน 6,731.58 ล้านบาท 2) โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2557 มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ จำนวน 55,567 ราย พื้นที่ 831,816 ไร่ เกษตรกรขอรับค่าสินไหม จำนวน 11,516 ราย พื้นที่ 202,812.50 ไร่  3) การให้ความช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อย ฤดูการผลิต 2556/2557 ธ.ก.ส.ได้ดำเนินการโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยแล้ว 147,900 ราย จำนวนเงิน 16,528 ล้านบาท 4) โครงการแก้ไขหนี้นอกระบบของเกษตรกรและบุคคลในครัวเรือน มีเกษตรกรขอขึ้นทะเบียน จำนวน 103,641 ราย ลูกหนี้ที่ผ่านการเจรจาแล้ว 99,677 ราย ธ.ก.ส. จ่ายสินเชื่อแก่เกษตรกรลูกค้าที่ไกล่เกลี่ยสำเร็จแล้ว จำนวน 30,162 ราย เป็นจำนวนเงิน 2,710.90 ล้านบาท

5) แนวทางการพัฒนายางพาราทั้งระบบและการแก้ไขปัญหาราคายางพารา จำนวน 5 โครงการ คือโครงการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อใช้ในการรวบรวมยางพารา วงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท ธ.ก.ส. จ่ายสินเชื่อแล้วจำนวน 322 แห่ง จำนวนเงิน 3,252.80 ล้านบาท โครงการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรแปรรูปยางพารา วงเงินสินเชื่อ 5,000 ล้านบาท ธ.ก.ส. จ่ายสินเชื่อแล้วจำนวน 46 แห่ง จำนวนเงิน 253.14 ล้านบาท โครงการชดเชยรายได้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท รายละไม่เกิน 15 ไร่  ธ.ก.ส. จ่ายเงินให้เกษตรกร ชาวสวนยางแล้ว จำนวน 767,518 ราย พื้นที่ 7.70 ล้านไร่ จำนวนเงิน 7,704.27 ล้านบาท โครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง ธ.ก.ส. อนุมัติเงินกู้ให้กับองค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) เพื่อนำไปซื้อยางพาราในราคาชี้นำตลาด วงเงิน 12,000 ล้านบาท อ.ส.ย. เบิกรับเงินกู้แล้ว จำนวน 9,200 ล้านบาท โครงการสนับสนุนสินเชื่อเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยเพื่อประกอบอาชีพเสริม ครัวเรือนละไม่เกิน 100,000 บาท จ่ายสินเชื่อแก่เกษตรกรแล้วจำนวน 26,217 ราย จำนวนเงิน 2,386.51  ล้านบาท ซึ่งการดำเนินการตามโครงการต่างๆ ที่ผ่านมานั้น

มีพี่น้องเกษตรกรได้รับประโยชน์ไปแล้วถึง 9 ล้านราย

"สำหรับปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ธ.ก.ส.ได้ กำชับให้พนักงานของ ธ.ก.ส. ออกไปเยี่ยมเยียน ให้คำแนะนำ รวมทั้งพิจารณาให้ความช่วยเหลือ กรณีที่มีผลกระทบต่อ กำหนดชำระหนี้เดิม ธ.ก.ส.จะดำเนินการขยายเวลาการชำระหนี้ออกไปให้ เหมาะสมสอดคล้องกับรายได้ตามควรแก่กรณีต่อไปขอให้พี่น้องเกษตรกร ไม่ต้องกังวลใจในเรื่องนี้" นายสมหมายกล่าว

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2558

กรมชลฯลดระบายน้ำวันละ1ล้านลบ.ม. ยันมีน้ำใช้ผ่านวิฤกตได้

นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่าวันนี้ได้เริ่มลดการระบายน้ำจาก4 เขื่อนใหญ่ เหลือ 31 ล้านลบ.ม.และทยอยลดลงวันละ1 ล้านลบ.ม.จนวันที่ 28 มิ.ย. จะเหลือ 28 ล้านลบ.ม.โดยจะระบายในอัตรานี้จนถึงต้นเดือนสิงหาคม เพื่อยืดระยะเวลาให้มีน้ำกินน้ำใช้ไปได้อีก 45 วัน ซึ่งตนยืนยันว่ามีปริมาณน้ำดิบเพียงพอสำหรับผลิตปะปา และผลักดันน้ำเค็มจนผ่านพ้นวิฤกติครั้งนี้ไปได้

นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรฯเปิดเผยว่าปริมาณน้ำที่ลดลงส่งผลกระทบต่อพื้นที่เกษตร ที่จะเกิดปัญหาแย่งน้ำตามมาโดยประสานให้ฝ่ายความมั่นคง หน่วยทหารเข้าไปจัดรอบเวรปล่อยน้ำเข้าพื้นที่ชลประทานอย่างทั่วถึงเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาลักลอบสูบน้ำ ขณะนี้เจ้าหน้าที่เกษตรทั้ง 22 จ. กำลังเร่งลงพื้นที่สำรวจความต้องการจากชาวนาว่าอยากให้รัฐบาลช่วยอย่างไร โดยจะสรุปเข้ามาภายในวันที่26 มิ.ย.นี้ และเสนอครม.พิจารณาแนวทางช่วยเหลือ พร้อมมีมาตรการจูงใจให้หันไปปลูกพืชอื่นแทนปลูกข้าว ในช่วงเดือนก.ค.ที่พักการทำนา4ล้านไร่ โดยกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าฝนจะมาในช่วงสัปดาห์ที่สามของเดือนก.ค.หรือช่วงต้นเดือน ส.ค.นี้

"แนวโน้นสภาพอากาศเกิดภัยแล้งหลายประเทศในแถบทวีปเอเซีย จากปราการณ์เอลนีโญ่ที่มีอธิพล 2-3ปี ส่งผลให้ร่องความกดอากาศต่ำไม่อยู่ในแนวเดิม เช่นพื้นที่เหนือเขื่อนขนาดใหญ่ทั่วประเทศทำให้น้ำไหลเข้าเขื่อนน้อยลงตั้งแต่ปี56 มาถึงปัจจุบัน อีกทั้งสภาพป่าลดลงจาการถูกบุกรุก ดังนั้นการปลูกข้าวเต็มพื้นที่70ล้านไร่ทั่วประเทศทำได้ยาก ทางออกคือลดพื้นที่ปลูกข้าว 20 ล้านไร่ ซึ่งจะลดในพื้นที่ไม่เหมาะสมก่อนและทำความเข้าใจให้เกษตรกรหันไปปลูกพืชอื่นทดแทนรวมทั้งช่วยลดความเสี่ยงการขาดทุนในการทำนาเพิ่มขึ้นทุกปีด้วย"นายชวลิต กล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ธ.ก.ส.ปล่อยสินเชื่อ1.69หมื่นล.กองทุนอ้อยฯช่วยเหลือเกษตรกร

ธ.ก.ส. พร้อมสนับสนุนสินเชื่อ 1.69 หมื่นล้านบาท ให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายนำไปจ่ายเงินเพิ่มค่าอ้อยให้กับเกษตรกร ฤดูการผลิตปี 2557/2558 อัตราตันละ 160 บาทต่อตัน ปริมาณกว่า 105.95 ล้านตัน พร้อมหนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

 นายลักษณ์  วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2558  เห็นชอบให้ ธ.ก.ส.สนับสนุนสินเชื่อให้แก่กองทุนอ้อยและน้ำตาล(กอน.) เพื่อนำไปจ่ายเงินเพิ่มค่าอ้อยให้กับชาวไร่อ้อยในฤดูการผลิต 2557/2558  ช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อย โดยมีเงื่อนไขว่า กองทุนต้องนำเงินกู้ดังกล่าวไปจ่ายตรงให้กับชาวไร่อ้อยในทุกตันอ้อยที่ส่งเข้าหีบในโรงงานน้ำตาลทรายในฤดูการผลิตปี 2557/2558 ในอัตราตันอ้อยละ 160 บาทต่อตัน ตามผลผลิตอ้อยเข้าหีบจริงจำนวน 105.95 ล้านตัน

สำหรับวงเงินสินเชื่อในฤดูการผลิต 2557/2558 นี้หากคำนวณจากปริมาณอ้อยที่เข้าหีบจริงจำนวน 105.95ล้านตัน และวงเงินช่วยเหลือในอัตราตันอ้อยละ 160 บาท กองทุนฯจะใช้วงเงินสินเชื่อจำนวน 16,953 ล้านบาท โดยกองทุนมีแหล่งที่มาของรายได้ เพื่อชำระหนี้จากการปรับขึ้นราคาน้ำตาลทรายที่จำหน่ายภายในประเทศ(โควตา ก.)กิโลกรัมละ 5 บาท เป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 18,750 ล้านบาท ซึ่ง ธ.ก.ส. จะได้นำเสนอคณะกรรมการ ธ.ก.ส. พิจารณาอนุมัติสินเชื่อพร้อมนำเสนอเงื่อนไขพิเศษ เช่น อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ผ่อนปรน การยกเว้นค่าธรรมเนียมการวิเคราะห์เงินกู้ การยกเว้นค่าบริการโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของเกษตรกรชาวไร่อ้อยรายคน เป็นต้น ภายในเดือนกรกฎาคม 2558 นี้

ทั้งนี้ ธ.ก.ส. ได้ให้การสนับสนุนกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายกู้เงินเพื่อนำไปรักษาเสถียรภาพราคาในระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายตั้งแต่ปี 2542   รวมทั้งสิ้น 12 ครั้ง คิดเป็นวงเงินกู้รวม 113,411.89 ล้านบาท สามารถช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อยโดยเฉลี่ยปีละประมาณ 150,000 ราย นอกจากนี้เพื่อสร้างความยั่งยืนในระบบการผลิตอ้อยและน้ำตาลทราย ธ.ก.ส. และกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ได้กำหนดแนวทางการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกร เพื่อเพิ่มคุณภาพและปริมาณผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น รวมถึงลดต้นทุนการผลิตเพื่อสร้างส่วนต่างรายได้หรือผลตอบแทนให้เพิ่มขึ้นจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่การคัดเลือกสายพันธุ์ ขั้นตอนกระบวนการปลูก การอบรมให้ความรู้ และอื่นๆ ตลอดจนสนับสนุนสินเชื่อให้ครอบคลุมตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เช่น อุตสาหกรรมเส้นใยจากอ้อย การผลิตไฟฟ้า การผลิตปุ๋ยอินทรีย์และการผลิตเอทานอลเพื่อเป็นพลังงาน

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ชง นบข.ระบายข้าวทำเอทานอล

ชง นบข.ระบายข้าวทำเอทานอล “ฉัตรชัย” ชงนบข. 1 ก.ค.นี้ ระบายข้าวเกรดซี 1.3 ล้านตันให้อุตสาหกรรมเอทานอล เพื่อไม่ให้เข้ามาสู่ระบบการค้าข้าวปกติ

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) วันที่ 1 ก.ค.นี้ กระทรวงพาณิชย์จะเสนอแผนการระบายข้าวสต๊อกรัฐบาล 1.3 ล้านตัน ซึ่งเป็นข้าวเกรดซี หรือข้าวเสื่อมสภาพให้กับภาคอุตสาหกรรมผลิตเอทานอล เพื่อไม่ให้เข้ามาสู่ระบบการค้าข้าวปกติ เบื้องต้นจะระบายข้าวเกรดซีแบบยกคลังในส่วน 1.3 ล้านตันออกเป็น 3 รอบ คือระบายในช่วงเดือนก.ค., ส.ค. และก.ย. 58

“ข้าวเกรดซีที่ตรวจสอบได้มีทั้งหมด 4.6 ล้านตัน โดย 1.3 ล้านตัน เป็นข้าวเกรดซีที่ไม่ปะปนกับข้าวเกรดอื่นๆ ซึ่งสามารถนำมาขายแบบยกคลังออกไปให้ภาคอุตสาหกรรมได้เลย โดยจะขออนุมัติจากนบข.ก่อน เพื่อเตรียมความพร้อมเมื่อตำรวจสรุปคดีเสร็จภายในสิ้นเดือนมิ.ย. ก็จะนำมาเปิดระบาย 3 ครั้งในช่วง 3 เดือนตั้งแต่ก.ค.-ก.ย.”

สำหรับข้าวเกรดซีที่เหลืออีก 3.3 ล้านตัน แยกจาก 1.3 ล้านตัน ซึ่งเป็นข้าวที่อยู่ในโกดังปะปนรวมกับข้าวชนิดอื่น เช่น เกรดเอ และเกรดบี จะให้กรมการค้าต่างประเทศไปศึกษาว่าจะระบายด้วยวิธีการใดถึงจะเหมาะสม ว่าประมูลขายแบบยกคลังหรือคัดแยกข้าวแต่ละเกรดออกจากกันแบบใดคุ้มค่าหวา คาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆนี้ เพราะมองว่าข้าวบางโกดังมีข้าวเกรดเอมากกว่าเกรดซี หากคัดแยกได้ก็จะขายได้ตามคุณภาพของข้าว แต่ก็มีค่าใช้จ่ายสูงที่ต้องนำมาพิจารณา

แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การคัดแยกแต่ละเกรดในโกดัง มีค่าใช้จ่ายในการคัดแยกไม่ต่ำกว่าโกดัง 30 ล้านบาท ซึ่งอาจไม่คุ้มค่ากว่าการขายแบบเหมาคลังไปทั้งหมด แต่การขายแบบเหมาคลังก็ต้องระมัดระวัง เพราะแม้รัฐบาลจะไม่ต้องมาเสียงบประมาณในการคัดแยก แต่มีจุดอ่อนตรงเอกชนที่ประมูลข้าวได้ไปอาจนำไปคัดแยกแล้วนำข้าวคุณภาพไม่ดีกลับเข้าสู่ระบบปกติ

จาก http://www.dailynews.co.th   วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2558

เกษตรฯประเมิน'แล้ง'ยาวถึง สค.

          วานนี้(24 มิ.ย.) คณะอนุกรรมการบริหารจัดการน้ำลุ่มเจ้าพระยา ประเมินสถานการณ์น้ำในเขื่อนหลักทาง ภาคเหนือของประเทศ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าจำเป็นต้องลดการปล่อยน้ำเพื่อการเกษตร มีรายละเอียดดังนี้

          นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดี

          กรมชลประทาน กล่าวว่าคณะอนุกรรมการบริหารจัดการน้ำลุ่มเจ้าพระยา ได้หารือถึงสถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลัก คือ ภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน และป่าสักชลสิทธิ์ ที่เหลือ วานนี้ (24 มิ.ย.) จำนวน 1,041 ล้านลูกบาศก์เมตร และคาดการณ์ปริมาณน้ำฝน ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาระบุถึงสภาพน้ำฝนในเดือน ก.ค. ก็ยังจะไม่เข้าสู่ภาวะปกติ โดยฝนจะตก ชุกขึ้นในเดือนส.ค.เป็นต้นไป แต่ก็ยัง น้อยกว่าค่าเฉลี่ยที่เคยตกในเดือนส.ค.ที่ 200 มิลลิเมตร คาดการณ์นี้ตรงกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่นสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยี อวกาศและภูมิสารสนเทศ องค์การมหาชน (GISTDA)  ดังนั้นเพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่เพียงพอกับการอุปโภค บริโภค การรักษาระบบนิเวศ และการเกษตรเฉพาะพื้นที่ นาข้าวที่ปลูกไปแล้ว 3.44 ล้านไร่

          กรมชลประทานจำเป็นต้องปรับแผน การระบายน้ำใหม่ โดยจะลดการระบายน้ำ จากปัจจุบันวันละ 30-35 ล้านลูกบาศก์เมตร เหลือ 28 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะทยอยลด วันละ 5 ล้านลูกบาศก์เมตร และ ในวันที่ 29 มิ.ย. นี้ จะต้องระบายให้ได้ตามเป้า 28 ล้านลูกบาศก์วิธีการส่งน้ำจะให้มีน้ำเพียงพอเพื่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ และการเกษตรได้จนถึงต้นเดือน ส.ค.

          การระบายน้ำ วันละ 28 ล้านลูกบาศก์ เมตรนั้น แยกเป็นเพื่อการอุปโภคบริโภค 8 ล้านลูกบาศก์เมตรโดยจะส่งให้การประปานครหลวง 5 ล้านลูกบาศก์เมตรและการประปา อื่นๆ 3 ล้านลูกบาศก์เมตร การรักษาระบบนิเวศน์ 5 ล้านลูกบาศก์เมตรในจำนวนนี้ จะปล่อยลงแม่น้ำเจ้าพระยา 3.3 ล้านลูกบาศก์เมตร และแม่น้ำท่าจีน 1.7 ล้านลูกบาศก์เมตร

          สำหรับน้ำเพื่อการเกษตรนั้น กรมชลประทานจะ รักษาได้เฉพาะพื้นที่นาข้าว 3.44 ล้านไร่ และ สวนผลไม้ 3 หมื่นไร่ โดยจะส่งน้ำให้วันละ 15 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ในพื้นการเกษตรดังกล่าวพบว่าในนาข้าวมีพื้นที่เสี่ยงขาดน้ำถึง 8.55 แสนไร่ส่วนใหญ่เป็นนาดอน

          "ในกลุ่มนี้รัฐบาลมี ความเป็นชอบแล้วที่จะเจาะบ่อน้ำบาดาลเข้ามาช่วย จำนวน 269 บ่อ และยังมีบ่อตอกของเกษตรกรในพื้นที่กว่า 200 บ่อ คาดว่าจะส่งผลให้ผ่านวิกฤตินี้ไปได้ การบริหารจัดการน้ำดังกล่าว จะไม่มีผลต่อความ เค็มน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนหนึ่งที่ โชคดีเพราะน้ำทะเลลงต่ำ ทำให้การ ปล่อยน้ำที่เขื่อนเจ้าพระยาจ.ชัยนาท มีเพียง 70 ลูกบาศก์เมตร/วินาที และสามารถปล่อยน้ำบางส่วนไปใช้ เพื่อการเกษตรได้มากขึ้น"

          การบริการจัดการน้ำต้องพิจารณาตามความเหมาะสม ตามสถานการณ์ ที่เกิดขึ้น วันต่อวัน โดยให้ความสำคัญตามลำดับ แต่ต้องยอมรับว่าน้ำที่มีอยู่เหลือน้อยเต็มที จึงจำเป็นต้องบริหาร อย่างเข้มงวด จึงจะสามารถอยู่รอดได้ ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งกรมชลประทาน สามารถบริหารจัดการน้ำที่เหลือน้อย กว่านี้ในอดีตที่ผ่านมา และในช่วง หน้าแล้งมีการปล่อยน้ำเพียง วันละ 17 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ใน ลุ่มเจ้าพระยายังดื้อปลูกข้าว นาปรังมากถึง 3 แสนไร่ แสดงว่าเกษตรกรเองก็มีแหล่งน้ำ ของตัวเองอยู่แล้วเช่นกัน" นายสุเทพ กล่าว

          นายสุเทพ กล่าวว่าหากในเดือน ก.ค.มีฝนตกลงมาบ้างและตกชุกขึ้นในเดือน ส.ค. ในขณะที่กรมชลประทานสามารถบริหารจัดการน้ำได้ตามแผน จะส่งผลให้ในวันที่ 1 พ.ย. 2558 ซึ่งเข้าสู่ฤดูแล้งปี 2558/59 ใน 4 เขื่อนหลักนี้ จะมีน้ำอยู่ 3,500 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะใช้สำหรับเพื่อการอุปโภคบริโภค 1,100 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อการ รักษาระบบนิเวศน์ ในฤดูแล้ง 1,400 ล้านลูกบาศก์เมตร และใช้ในช่วง ต้นฝน กรณีฝนมาช้า และทิ้งช่วง 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร

          'จิสต์ด้า'คาดฝนตกเดือนส.ค.

          นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยี อวกาศและภูมิศาสตร์สารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA  กล่าวว่า สถานการณ์ ภัยแล้งของประเทศไทยในปีนี้ถือว่ามีความรุนแรงที่ใกล้เคียงกับปี 2540 ที่เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งข้อมูลที่รวบรวมมาได้ ภัยแล้งที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงกำลังเป็นปัญหาที่หลายประเทศเผชิญ เช่น เกาหลีเหนือ อินเดีย ซึ่งเอลนีโญเป็นปรากฏการณ์ที่มีอิทธิพลต่อการตกของฝนในประเทศไทยประมาณ 60%

          "คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะมี ฝนตกมากขึ้นในเดือน ส.ค.-ก.ย.หรือช่วงปลายฤดูฝนเมื่ออิทธิพลจากเอลนีโญเบาบางลง"

          อย่างไรก็ตามในระยะสั้นประเทศไทย จะได้รับปริมาณน้ำฝนเพิ่มเติมจากปรากฏการณ์ความแปรปรวนของปริมาณฝนหรือ Madden-Julian Oscillation (MJO)และปรากฏการณ์Indian Ocean Dipole (IOD)ที่จะส่งผลให้ฝนตกในระยะสั้น โดยคาดว่าปริมาณฝนในประเทศไทยจะค่อยๆ เพิ่มปริมาณขึ้นโดยในเดือน ก.ค.ฝนจะตก น้อยกว่าค่าเฉลี่ย 18% ในเดือน ส.ค.คาดว่า ฝนจะตกลดลงกว่าค่าเฉลี่ย 10% เดือน ก.ย. คาดว่าฝนจะตกน้อยกว่าปริมาณเฉลี่ย 5-6% และในเดือน พ.ย.-ธ.ค.ฝนจะตกเท่ากับปริมาณค่าเฉลี่ย

          คาดว่าในเดือน ส.ค.-ต.ค.อาจจะมีพายุพัดผ่านประเทศไทยซึ่งจะทำให้ปริมาณน้ำฝนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว

          :ขึ้นเชียงใหม่คุมทำฝนหลวง

          นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ภัยแล้งและฝนหลวงในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ณ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดเชียงใหม่ ว่า จากการที่กรมชลประทานประกาศขอให้เกษตรกรชะลอการเพาะปลูกข้าวนาปีในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาและผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัดนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เร่งแก้ไขวิกฤติภัยแล้งรวมทั้งเร่งปฏิบัติการเติมน้ำให้เขื่อนต่างๆ ในภาคเหนือ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำต้นทุนที่สำคัญของการชลประทานในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและการผลักดันน้ำเค็ม ตามนโยบายของรัฐบาลและข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

          กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 2 หน่วย ได้แก่ 1.หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเชียงใหม่รับผิดชอบ พื้นที่เกษตรกรรมในเขตภาคเหนือตอนบนและเติมน้ำให้เขื่อนต่าง ๆ เช่น เขื่อนภูมิพล แม่กวงอุดมธารา แม่งัดสมบูรณ์ชล เขื่อนกิ่วลม เขื่อนกิ่วคอหมา รวม 8 จังหวัด 5 เขื่อน และ 2.หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงพิษณุโลก รับผิดชอบพื้นที่เกษตรกรรมในเขตภาคเหนือตอนล่างและพื้นที่ลุ่มน้ำเขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน รวม 7 จังหวัด 2 เขื่อน

          ทั้ง 2 หน่วยได้ขึ้นบินปฏิบัติการไปแล้วประมาณ 45 วัน และสามารถปฏิบัติการ ให้มีฝนตกในพื้นที่เป้าหมายที่กำหนดได้ ทุกวันที่ขึ้นบิน มีพื้นที่ที่ได้รับผลประโยชน์ จากการปฏิบัติการฝนหลวงทั้ง 15 จังหวัด 143 อำเภอ

จาก http://www.bangkokbiznews.com    วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2558

'อำนวย'ลุยช่วยเกษตรกรตัดหนี้สูญ4.5พันล้าน 

          ปัญหาสำคัญของของเกษตรกรแทบทุกยุคสมัย มาจากการขาดแคลน เงินทุนในการประกอบอาชีพ และไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตทางการเกษตร

          ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้สนับสนุนสินเชื่อแก่เกษตรกรผ่านโครงการต่างๆ โดยมีการจัดตั้งกองทุนและเงินทุนหลายแห่ง เพื่อพัฒนายกระดับรายได้และลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของประชากรภาคเกษตร แต่ก็ไม่สามารถพัฒนาการผลิตได้ตามเป้า ที่ตั้งไว้ เกษตรกรยังมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ที่สำคัญยังไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ตามเวลาที่กำหนด กลายเป็นหนี้เสีย

          กระทรวงเกษตรฯจึงทำ "โครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร"ตามมติ คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 มี.ค.2558 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้มีเงินทุนเพื่อพัฒนาศักยภาพการผลิตให้สูงขึ้น

          นายอำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  กล่าวว่า การที่เกษตรกรกู้เงินไปลงทุนแล้ว ได้ผลตอบแทนไม่เต็มประสิทธิภาพ อาจเกิดจากปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุมหลายอย่าง เช่นสภาพภูมิอากาศแปรปรวน ประสบปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ  ความผันผวนของราคาสินค้าเกษตร ความยากจนหรือ ปัญหาเกี่ยวกับร่างกายและสุขภาพ เป็นต้น

          ทำให้มีรายได้น้อยและไม่เพียงพอต่อการครองชีพ ส่งผลให้ความสามารถในการชำระหนี้ต่ำ หรือชำระหนี้คืนไม่ทันตามกำหนดเวลา มีหนี้สินพอกพูนมากขึ้น อีกทั้งยังขาดแคลนเงินออมเพื่อลงทุนเพาะปลูกหรือผลิตสินค้าในรอบถัดไป และไม่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้ ซึ่งขณะนี้ มีเกษตรกรประสบปัญหาดังกล่าวจำนวนมาก

          กระทรวงเกษตรฯได้มีแผนเร่งดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร ที่มี หนี้ค้างชำระโครงการส่งเสริมของรัฐและกองทุนในกำกับตามโรดแมพ(Road Map)ที่จัดทำขึ้น เพื่อให้เกษตรกรได้รับการแก้ไขปัญหาหนี้สินอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะหนี้ ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้จากโครงการภาครัฐ  เบื้องต้นได้สำรวจข้อมูลหนี้สินเกษตรกร  9 กองทุน ในกำกับดูแลของกระทรวงเกษตรฯ เช่นกองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจน กองทุนปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กองทุนพัฒนาสหกรณ์ กองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร กองทุนจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เงินกู้ AOB  เงินกู้ OECF และเงินทุนอื่นๆ

          พบว่า มีเกษตรกรเป็นหนี้สินที่อยู่ในเกณฑ์ต้องดำเนินการพิจารณาจำหน่ายหนี้สินเป็นสูญ จำนวน 26,742 ราย และองค์กรเกษตรกร 1,028 แห่ง วงเงินหนี้รวม  4,556 ล้านบาท การจำหน่ายหนี้เป็นสูญของกองทุนหรือเงินทุนในกระทรวงเกษตรฯ ให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในการจำหน่าย หนี้สูญ แบ่งเป็น 10 กลุ่ม ได้แก่ 1.กรณีโครงการส่งเสริมหรือสงเคราะห์ของรัฐที่ไม่ประสบความสำเร็จ 2.กรณีประสบภัยพิบัติหรือภัยธรรมชาติ 3.ปัญหาเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ 4.หนี้ขาดอายุความ 5.หนี้ค้างชำระเป็นระยะเวลาเกินกว่า 10 ปีขึ้นไป

          6.หนี้ที่ไม่สามารถติดตามทรัพย์เพื่อดำเนินการบังคับคดีได้ 7.เกษตรกรผู้กู้ยืมเงินเสียชีวิต สาบสูญ หาตัวไม่พบหรือละทิ้งถิ่น ที่อยู่ 8.เกษตรกรผู้กู้เงินทุพพลภาพ วิกลจริตหรือเจ็บป่วยเรื้อรัง 9.ลูกหนี้ผู้กู้ยืมเงินมี รายได้น้อยหรือไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ และ10.หนี้สินของเกษตรกรผู้กู้ยืมเงินมาจำนวนต้นเงินเงินกู้ไม่เกิน 10,000 บาท ซึ่งจากการดำเนินการฟ้องร้องจะไม่คุ้มกับค่าใช้จ่าย

          ช่วงเดือนมิ.ย.-ส.ค.ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอจำหน่ายหนี้สูญ กรณีที่มีระเบียบว่าด้วยการจำหน่ายหนี้เป็นสูญของกองทุนหรือเงินทุนรองรับ ให้เสนอคณะกรรมการกองทุน หรือเงินทุนที่รับผิดชอบจำหน่ายหนี้สูญ ส่วนกองทุนหรือเงินทุนที่ไม่มีระเบียบฯรองรับหรือมีระเบียบฯ แต่ไม่ครอบคลุมกลุ่มปัญหาหนี้สิน 10 ข้อ ให้เสนอคณะกรรมการบริหารสินเชื่อเกษตรกร แห่งชาติ (กบส.)พิจารณาจำหน่ายหนี้สูญ โดยแบ่งเป็น 3 ช่วง  ช่วงแรกจะจำหน่ายหนี้สูญ  35% ช่วงที่สอง 35% และช่วงสุดท้าย 30%  จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2558 นี้ นอกจากแก้ไขปัญหา หนี้สินเกษตรกรที่มีหนี้ค้าง ชำระโครงการส่งเสริมของรัฐฯแล้ว กระทรวงเกษตรฯยังมีแผนเร่งแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรที่เป็นลูกหนี้ ธ.ก.ส. วงหนี้ ประมาณ 116,000 ล้านบาทแบ่งแนวทางทางแก้ไขปัญหา 3 รูปแบบ

          คือ 1.การจำหน่ายหนี้สูญ วงหนี้ ประมาณ 4,500 ล้านบาท  2.การปรับโครงสร้างหนี้โดยขยายระยะเวลาการชำระหนี้ และ3.การแก้ไขปัญหาหนี้สินโดยให้เกษตรกรกู้ยืมเพิ่มเติมเพื่อเป็นทุนในการพัฒนาการประกอบอาชีพ มีเป้าหมายดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนมี.ค. 2559

          อีกทั้งยังมีแผนเร่งแก้ไขปัญหาหนี้สินของสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร โดยจะเร่งดำเนินการภายหลังเลือกตั้งผู้แทนเกษตรกร และได้คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรชุดใหม่ มีเป้าหมายแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ วงเงิน 3,000 ล้านบาท เกษตรกร ประมาณ 78,000 ราย โดยกองทุนฟื้นฟูฯจะซื้อหนี้หรือชำระหนี้แทนเกษตรกร และให้เกษตรกรผ่อนชำระหนี้คืนกองทุนฯ เพื่อนำเงินไปหมุนเวียนแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรรายอื่นต่อไป

          การทุ่มเทแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรทั้ง 5 ระบบตามนโยบายรัฐบาล คาดว่า สามารถช่วยเหลือและบรรเทาความ เดือดร้อนให้กับเกษตรกรที่ประสบปัญหา หนี้สินได้ 3-4 ล้านครัวเรือน และอนาคตคาดว่า จะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ และช่วยเสริมสร้างให้สามารถประกอบอาชีพการเกษตรได้อย่างมั่นคง อันจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนา การเกษตรของประเทศในระยะยาว

          มีเกษตรกรอยู่ในเกณฑ์ 2.6หมื่นราย องค์กร เกษตรกรกว่า1พันแห่ง

จาก http://www.bangkokbiznews.com    วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2558

เผยเกษตรกรเมินโครงการประกันภัยพืชผลเกษตร

นางจริยา สุทธิไชยา รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) แถลงข่าวเกาะติดผลกระทบเศรษฐกิจโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2558/59 ณ ห้องประชุม AEOC ชั้น 3 อาคารศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร โดย ดร.ภูมิศักดิ์ ราศรี ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตรสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) พร้อมด้วย ผศ.ดร.กัมปนาท เพ็ญสุภา รองคณบดีฝ่ายวิจัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ได้เปิดเผยร่วมกันว่าทางศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร (KU - OAE Foresight Center :KOFC) ได้วิเคราะห์ถึงการดำเนินการประกันภัยข้าวนาปี ปี 2558 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทั่วประเทศ 1.5 ล้านไร่วงเงิน 476 ล้านบาท ครอบคลุมภัยธรรมชาติ 7 ประเภท ได้แก่ อุทกภัย/น้ำท่วม ฝนทิ้งช่วง วาตภัย ภัยแล้ง อากาศหนาว/ลูกเห็บ อัคคีภัยและภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด ซึ่งแบ่งเป็น 5 พื้นที่ตามระดับความเสี่ยงได้แก่พื้นที่เสี่ยงต่ำมากที่สุด เสี่ยงต่ำมาก เสี่ยงต่ำ เสี่ยงปานกลางและเสี่ยงสูง โดยจัดเก็บเบี้ยในอัตราที่แตกต่างกัน ตั้งแต่ 124.12 บาทถึง 483.64 บาท ซึ่งเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯจะรับภาระค่าเบี้ยประกันภัยตั้งแต่ 60 - 100 บาทต่อไร่ และรัฐอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยในส่วนที่เหลือ 64.12 – 383.64 บาทต่อไร่ตามที่ ครม. มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2558 โดยให้ ธ.ก.ส.ทำหน้าที่ผู้บริหารโครงการเป็นหน่วยกลางประสานระหว่างเกษตรกรผู้เอาประกันภัยกับผู้รับประกันภัยเอกชนและให้ทดลองจ่ายเงินอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยแทนรัฐบาลไปก่อนโดยรัฐบาลจะตั้งงบประมาณจ่ายในส่วนเงินอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยดังกล่าวตามที่จ่ายจริงพร้อมด้วยค่าชดเชยต้นทุนเงินให้กับ ธ.ก.ส. ในปีงบประมาณถัดไป

ขณะนี้มีบริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการ 7 บริษัท ได้แก่ (1) บมจ.กรุงเทพประกันภัย (2) บมจ. เจ้าพระยาประกันภัย (3) บมจ. ทิพยประกันภัย(4) บมจ. นวกิจประกันภัย (5) บมจ. ประกันภัยไทยวิวัฒน์ (6) บมจ.ทูนประกันภัยและ (7) บมจ. วิริยะประกันภัยประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการประกันภัยข้าวนาปีเพื่อบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ภาคเอกชนเป็นผู้รับประกันภัยตลอดช่วงการเพาะปลูกสำหรับภัยธรรมชาติ 6ประเภทดังกล่าววงเงินความคุ้มครอง 1,111 บาทต่อไร่ และสำหรับภัยศัตรูพืชและโรคระบาดวงเงินความคุ้มครอง 555บาทต่อไร่โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมายการเอาประกันภัยทั่วประเทศเป็นจำนวน 1.5 ล้านไร่ซึ่งระยะเวลาในการดำเนินโครงการฯ เริ่มขายกรมธรรม์ตั้งแต่วันที่ 6พฤษภาคม – 14 สิงหาคม 2558 สำหรับทุกภาคยกเว้นภาคใต้สิ้นสุดการรับทำประกันภัยในวันที่ 11 ธันวาคม2558ซึ่งปัจจุบันนี้โครงการยังมีการดำเนินการอยู่

สำหรับการวิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐกิจของโครงการประกันภัยข้าวนาปีปีการผลิต 2558/59ที่มีต่อเศรษฐกิจไทย โดยที่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯเป็นผู้เอาประกันภัยธรรมชาติสามารถวิเคราะห์ผลกระทบต่อผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย(Stakeholder) 4 ส่วนประกอบด้วย รัฐบาล ผู้บริหารโครงการฯ (ธ.ก.ส.) บริษัทผู้รับประกันภัยและเกษตรกร พบว่ารัฐบาล เป็นผู้อุดหนุนเบี้ยประกันภัยให้เกษตรกรโดยพื้นที่เสี่ยงภัยต่ำที่สุด ช่วยเหลือ 4.07 ล้านบาทพื้นที่เสี่ยงต่ำมากช่วยเหลือ 32.15 ล้านบาท พื้นที่เสี่ยงต่ำ ช่วยเหลือ102.75 ล้านบาท พื้นที่เสี่ยงปานกลาง ช่วยเหลือ 144.40 ล้านบาทและพื้นที่เสี่ยงสูง ช่วยเหลือ 180.62 ล้านบาท รวมเงินช่วยเหลือ 463.97ล้านบาท ส่วนผู้บริหารโครงการฯ (ธ.ก.ส.)ทดลองจ่ายเงินอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยแทนรัฐบาลโดยขอชดเชยเงินจากรัฐบาลในส่วนของเงินอุดหนุนเบี้ยประกันภัยตามจำนวนที่จ่ายจริงวงเงินไม่เกิน 268.01 ล้านบาทและเบิกเงินชดเชยตามจำนวนที่จ่ายจริงพร้อมด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ FDR+1%ซึ่งคำนวณในเบื้องต้น ธ.ก.ส. จะได้รับค่าชดเชยดอกเบี้ยจากโครงการฯ จำนวน5.75 ล้านบาท

ขณะที่บริษัทผู้รับประกันภัยหรือบริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการจ่ายสินไหมทดแทนแก่เกษตรกรซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยจากการประมาณการเบี้ยประกันภัยที่ผู้ประกันได้รับทั้งสิ้น 594.19 ล้านบาทแบ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยต่ำที่สุด 7.87 ล้านบาท พื้นที่เสี่ยงต่ำมาก45.66 ล้านบาท พื้นที่เสี่ยงต่ำ 132.61 ล้านบาท พื้นที่เสี่ยงปานกลาง180.35 ล้านบาท และพื้นที่เสี่ยงสูง ช่วยเหลือ 227.70 ล้านบาท และเกษตรกร ต้องจ่ายเบี้ยประกันภัย ในพื้นที่เสี่ยงภัยต่ำที่สุดจำนวน 3.80ล้านบาท พื้นที่เสี่ยงต่ำมาก จำนวน 13.52 ล้านบาท พื้นที่เสี่ยงต่ำ จำนวน29.86 ล้านบาท พื้นที่เสี่ยงปานกลาง จำนวน 35.95 ล้านบาทและพื้นที่เสี่ยงสูง จำนวน 47.08 ล้านบาท ตามลำดับ

นอกจากนี้ การวิเคราะห์ถึงการประกันความเสี่ยงของเกษตรกร พบว่าเกษตรกรของพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงที่สุด ต้องจ่ายเบี้ยประกันภัยรวม 47ล้านบาท และจะได้รับค่าสินไหมทดแทนจำนวน 523 ล้านบาท สำหรับภัย 6 ประเภทเพราะฉะนั้นส่วนต่างของเบี้ยที่จ่ายและค่าสินไหมจำนวน 476 ล้านบาทขณะเดียวกันพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุดเกษตรกรต้องจ่ายเบี้ยประกันภัยรวม 3.80 ล้านบาทและจะได้รับค่าสินไหมทดแทนจำนวน 70 ล้านบาทเพราะฉะนั้นส่วนต่างของเบี้ยที่จ่ายและค่าสินไหม จำนวน 66 ล้านบาทดังนั้นภาพรวมของส่วนต่างที่เกษตรกรได้รับจากการเข้าร่วมโครงการรวมทุกพื้นที่จำนวน1,536 ล้านบาท และ จำนวน 702 ล้านบาทตามลำดับของภัยพิบัติแต่ละประเภทนั่นเอง

สำหรับผลการดำเนินงานที่ผ่านมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคมจนถึงปัจจุบัน พบว่าการดำเนินการประกันภัยไปแล้วทุกพื้นที่ความเสี่ยง รวมจำนวนพื้นที่ทั้งหมด 0.29 ล้านไร่ ค่าเบี้ยประกันรวม 128 ล้านบาท เกษตรกรจำนวน 3.1หมื่นรายที่เข้าร่วมโครงการและมีพื้นที่ร้อยละ 19.67ของพื้นที่เป้าหมายรวมข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการบริการจัดการผลกระทบที่มีต่อโครงการและ/หรือผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียควรดำเนินการประชาสัมพันธ์ชี้แจงรายละเอียดโครงการและเงื่อนไขในการทำประกันภัยให้ชัดเจนแก่เกษตรกรเพื่อประกอบการตัดสินใจเข้าร่วมโครงการและมีการบูรณาการการประเมินพื้นที่เสียหายที่เกิดจากภัยพิบัติของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้มีความคิดเห็นร่วมกันรวมถึงการขยายประเภทของสินค้าเกษตรที่ทำประกันภัยและควรมีการพิจารณาขยายประเภทของสินค้าเกษตรให้เพิ่มมากขึ้น เช่นมันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสินค้าเกษตรอื่นๆ เป็นต้นเพื่อให้สามารถประกันภัยความเสี่ยงจากธรรมชาติได้ด้วยอีกทั้งมูลค่าเบี้ยที่ทำประกันโดยบริษัทประกันภัยดำเนินการนั้นจะต้องพิจารณาถึงเบี้ยประกันที่แท้จริงควรอยู่ที่ระดับใดหากว่ารัฐบาลไม่เข้าไปอุดหนุน (subsidy)เพื่อทำให้โครงการนี้สามารถขับเคลื่อนอย่างยั่งยืน

จาก http://www.posttoday.com   วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ตีกลับช่วยแล้ง ครม.ร้องจ๊ากไร่ละ3พันเอาไม่อยู่ ทะลุแสนล้านงัดแผนด่วน ขุดบาดาลลุยถกธกส. ยืดชำระหนี้ ป่าสักเหลือน้ำแค่20วัน

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ฝ่ายเศรษฐกิจ เพื่อวางแนวทางแก้ปัญหาภัยแล้งร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง“บิ๊กตู่”ชี้แล้งลากยาวถึงปีหน้า

โดย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ภัยแล้งจะมีไปถึงหน้าแล้งปีหน้าเพราะน้ำต้นทุนเหนือเขื่อน มีปริมาณน้อย เพราะมีการปล่อยน้ำมากมาก่อนฤดูฝนและฝนตกน้อยซึ่งไม่ได้ตกเหนือเขื่อน ขณะนี้รัฐบาลมอบหมายให้กองทัพ ลงไปควบคุมจัดการน้ำให้เกษตรกรทั้งในและนอกเขตชลประทานรวมถึงกลุ่มเกษตรกรที่ไม่ได้ปลูกข้าวนาปี

งัดมาตรการด่วนขุดบ่อบาดาล

นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า มาตรการเร่งด่วนในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า สั่งให้ขุดบ่อบาดาล บ่อน้ำตื้น มากกว่า1,000บ่อซึ่งได้เร่งดำเนินการไปแล้วกว่า200บ่อ จะเน้นนำน้ำไปช่วยเกษตรกรที่ปลูกข้าวแล้ว เพื่อไม่ให้ข้าวล้มตาย รวมถึงเตรียมเป็นน้ำอุปโภค บริโภค จึงขอให้ประชาชนเข้าใจ กับปัญหาที่เกิดขึ้น หากเกษตรกรที่ปลูกข้าวไปแล้ว รัฐบาลจะดูแลเต็มที่ในส่วนที่ยังไม่ได้ปลูกต้องหันปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยแทน โดยรัฐบาลจะสนับสนุนเงินกู้ที่ใช้งบประมาณของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และงบกลางที่จะมาแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและจะเยียวยาเมื่อผ่านพ้นภัยแล้งไปแล้ว

ขอร้องใช้น้ำอย่างประหยัด

ด้าน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวว่า เบื้องต้นต้องดูว่าน้ำที่มีอยู่ใน 6 เดือน มีอยู่เท่าไร สามารถใช้ได้มากน้อยเพียงใด รวมถึงมาตรการช่วยเหลือ เช่น การขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลเพิ่มเติม พร้อมขอให้ประชาชนช่วยกันใช้น้ำอย่างประหยัด และขอให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยแทนการปลูกข้าว เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และถั่วเขียว

อัดงบ84ล้านซื้อปั๊มน้ำ

พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ที่ประชุม เห็นชอบงบกลาง 84 ล้านบาท เพื่อนำมาซื้อเครื่องปั๊มน้ำใหม่จำนวน 80 ตัว เพื่อใช้ในการขุดเจาะบ่อบาดาลใหม่ 500 บ่อ จะทำให้มีน้ำเพิ่มขึ้น 2 แสนล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ช่วยเกษตรกรในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง 8.5 แสนไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ดอน มีน้ำไม่เพียงพอ จากพื้นที่ได้เพาะปลูกไปแล้ว 3.44 ล้านไร่ ก่อนที่รัฐบาลจะร้องขอให้ชะลอการเพาะปลูก และจะจัดหาชาวบ้านที่ว่างงานจากการเกษตร เข้าร่วมทำงาน หากทำตามแผนที่วางไว้จะช่วยเกษตรกรส่วนนี้ประมาณ 1-1.3 แสนไร่ คาดว่าจะขุดเจาะบ่อน้ำ รวมถึงนำปั๊มน้ำ เข้าติดตั้งเสร็จในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม

ถกคลังให้ธกส.เลื่อนจ่ายหนี้

ด้าน นายปิติพงษ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า สำหรับพื้นที่ที่ยังไม่มีการเพาะปลูก 3.45 ล้านไร่ กระทรวงเกษตรฯจะหารือกับ นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง ในสัปดาห์หน้า เพื่อขอให้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ปล่อยกู้แก่เกษตรกรที่ต้องการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิต จากเพาะปลูกข้าวเป็นพืชชนิดอื่นที่ใช้น้ำน้อยโดยถาวร เช่น หันมาปลูกข้าวโพด เลี้ยงสัตว์ หรือถั่วเขียว คาดว่าจะมีความชัดเจนภายใน 2 สัปดาห์นี้ และยังขอให้กระทรวงการคลัง พิจารณาเลื่อนการชำระหนี้เกษตรกรออกไปทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยรวมถึง ขอให้เกษตรกรเลื่อนการเพาะปลูกออกไปในช่วงเดือนสิงหาคมนี้ เป็นช่วงฝนตกมีปริมาณมาก

ตีกลับจ่ายเยียวยาไร่ละ3พัน

นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง เผยว่า ที่ประชุมมอบหมายให้กระทรวงการคลัง หาทางให้ ธ.ก.ส. และสถาบันการเงินอื่นๆ ชะลอการชำระหนี้ออกไประยะหนึ่งก่อน ส่วนมาตรการแจกเงินชาวนาไร่ละ 1,000 บาท แต่ไม่เกิน 1.5 หมื่นบาทต่อครอบครัว ยังไม่ได้ข้อสรุป เนื่องจากกระทรวงเกษตรฯ ต้องการให้แจกเพิ่มเป็นไร่ละ 3,000 บาท ซึ่งทางกระทรวงการคลัง เห็นว่ามากเกินไป ไม่มีเงินเพียงพอ ที่ผ่านมาในการแจกไร่ละ1,000 บาท ให้ชาวนาและชาวสวนยาง ใช้เงินถึง 4-5 หมื่นล้านบาท หากต้องแจกไร่ละ3,000 บาท ต้องใช้เงินกว่า 1แสนล้านบาท

ปลัดกษ.เร่งทำฝนหลวง

วันเดียวกัน นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรฯ พร้อมคณะได้เดินทางลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์ภัยแล้งวิกฤติน้ำในเขื่อน และ สร้างขวัญกำลังใจให้แก่เจ้าหน้าที่ของ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง 25จังหวัดเชียงใหม่ ในการแก้ไขวิกฤติภัยแล้ง รวมทั้งเร่งปฏิบัติการเติมน้ำในเขื่อนภูมิพล ประสบภาวะวิฤกติในรอบ57ปี และเขื่อนสิริกิติส์ รวมถึงเขื่อนต่างๆ ในภาคเหนือพร้อม ได้เร่งทำฝนหลวงทันทีตามที่นายกรัฐมนตรีสั่งการ โดยเฉพาะเหนือเขื่อนและกำหนดจุดเป้าหมายให้ตกในเขื่อน เพื่อแก้ไขสถานการณ์ภัยแล้งอย่างรวดเร็ว ทางกรมฝนหลวง นำเทคนิกพระราชทานการทำฝนหลวงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระราชทานไว้มาพัฒนาต่อยอดโดยระดมนักวิทยาศาสตร์ทั้งหมด มาคิดเทคนิคและนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้มากขึ้น เพื่อทำให้เกิดฝนซึ่งจากสภาพอากาศมีความชื้นพอเพียง จากพายุคุกิยะ มาเสริมทำให้ ได้ผลมากยิ่งขึ้น

กรมชลฯยื้อให้มีน้ำใช้ถึงส.ค.

นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทานกล่าวถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำว่า ในปัจจุบันมีน้ำอยู่ 1,067ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 6%ของปริมาณน้ำทั้งหมด หากส่งน้ำวันละ 33 ล้านลูกบาศก์เมตร จะมีการใช้น้ำเพื่อทำการเกษตรเพียง 32วัน หรือประมาณเดือนกรกฎาคม จึงปรับลดการส่งน้ำเหลือวันละ 28 ล้านลูกบาศก์เมตรเพื่อให้มีน้ำใช้ได้ถึงเดือนสิงหาคมที่มีฝนตกหนัก

เขื่อนป่าสักฯใช้น้ำได้อีก20วัน

สำหรับสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ จ.ลพบุรี และในลุ่มน้ำป่าสักนั้น นายอัตพร ปัญญาโฉม ผู้อำนวยการจัดสรรน้ำสำนักงานชลประทานที่10 จังหวัดลพบุรีเผยว่าขณะนี้ถือว่าวิกฤตหนักและน่าเป็นห่วงอย่างมาก หลังปริมาณน้ำสะสมในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์จ.ลพบุรี ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีน้ำไหลเข้าเขื่อนต่อเนื่องกันมาหลายเดือนแล้ว สถานการณ์แบบนี้จะทำให้น้ำในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จัดทำให้เหลือน้ำอยู่ที่73ล้านลูกบาศก์เมตร จะสามารถใช้น้ำได้อีกแค่ 20วัน คาดจะสามารถมีน้ำใช้ได้แค่กลางเดือนกรกฎาคมเท่านั้น โดยเขื่อนพยายามประคับประคองให้ใช้น้ำให้ได้นานที่สุด หากน้ำในเขื่อนหมดจะกระทบหลายพื้นที่ที่ใช้น้ำอุปโภค บริโภค ทำทำการเกษตรและการไล่น้ำเสียและน้ำเค็มในอนาคต จะทำให้ตั้งแต่ จ.ลพบุรี สระบุรี อยุธยา ปทุมธานี

เขื่อนสิริกิตติ์วิกฤติเหลือน้ำ8%

สถานการณ์น้ำในเขื่อนเขื่อนสิริกิติ์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่ามีปริมาณน้ำใช้การได้574.87 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ เพียงร้อยละ8.63ของความจุอ่าง ทางเขื่อนสิริกิติ์ ได้ปรับแผนการระบายน้ำตามความเหมาะสมและสอดคล้องสถานการณ์จริงหลังฝนไม่ตกลงเหนือเขื่อนและปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนมีน้อยมาก จากสถานการณ์ที่ปริมาณน้ำในเขื่อนสิริกิติ์ลดต่ำลงอย่างต่อเนื่องถึงขั้นวิกฤติขาดแคลนน้ำ อาจส่งผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำบริเวณท้ายเขื่อน และ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี รวมถึงประชาชนในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร และ นครสวรรค์ เพื่อลดความเสี่ยงต่อความเสียหายต่อผลผลิตที่อาจจะเกิดขึ้น พร้อมช่วยกันใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อสำรองปริมาณน้ำไว้ในอ่างเก็บน้ำสำหรับใช้ในยามขาดแคลน.

โคราชแล้งดึงน้ำลำแชะทำประปา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ จ.นครราชสีมา นายธงชัย ลืออดุลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธาน ประชุมคณะกรรมการจัดการชลประทาน(JMC)เขื่อนลำตะคอง ร่วมกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เทศบาลนครนครราชสีมา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและตัวแทนเกษตรกรกว่า 100 คนได้ประชุมร่วมวางแผนจัดสรรการใช้น้ำในเขื่อนลำตะคอง อ.สีคิ้วให้เพียงพอไปจนถึงฤดูแล้งปีหน้าและวางแผนแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในอนาคต หลังปริมาณน้ำเขื่อนลำตะคอง ลดลงต่อเนื่อง ล่าสุดเหลือปริมาณน้ำใช้ได้เพียง 59 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น19% ที่ประชุมวางแผนแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำโดยให้เทศบาลนครนครราชสีมาดึงน้ำดิบจากเขื่อนลำแชะ อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา วันละไม่เกิน 35,000 ลูกบาศก์เมตร เพื่อมาใช้ในการผลิตน้ำประปาในเขตเทศบาลฯ เป็นระยะเวลา 3 เดือน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2558

แนะปลูกแฝกบนแปลงเกษตร ฟื้นฟูทรัพยากรดิน-อนุรักษ์น้ำ

นายอภิชาต จงสกุล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กรมพัฒนาที่ดินได้น้อมนำแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการนำหญ้าแฝกมาใช้ในการอนุรักษ์ทรัพยากรดินและน้ำ และรักษาสภาพแวดล้อม โดยได้มีการพัฒนาสายพันธุ์กล้าหญ้าแฝกให้มีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ต่างๆ และทำการขยายพันธุ์หญ้าแฝกให้มีมากเพียงพอ เพื่อแจกจ่ายให้เกษตรกรและประชาชน ได้นำไปปลูกในพื้นที่ต่างๆ

ดังนั้น ในช่วงหน้าฝนนี้ กรมพัฒนาที่ดิน แนะนำให้เกษตรกรปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่แปลงเกษตร เนื่องจากหญ้าแฝกมีคุณสมบัติที่พิเศษ คือ เป็นพืชที่มีระบบรากลึกเป็นกอหนาแน่นอยู่ใต้ดิน เปรียบเสมือนกำแพงใต้ดิน สามารถกักเก็บน้ำและความชื้นได้ ช่วยยึดหน้าดินและช่วยป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดินให้น้อยลง ช่วยในการเพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดิน ช่วยทำให้มีการหมุนเวียนของธาตุอาหารพืชจากดินชั้นล่างมาสู่ดินชั้นบน และแถวหญ้าแฝกที่ปลูกตามแนวระดับยังช่วยลดการชะล้างพังทลายของหน้าดินได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวต่อไปว่า การปลูกหญ้าแฝกถือเป็นมาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำวิธีหนึ่งที่สามารถช่วยให้ดินมีความชื้นและรักษาหน้าดิน เพื่อใช้สำหรับการปลูกพืชเศรษฐกิจได้ ซึ่งนับเป็นวิธีที่ง่ายในการปฏิบัติ เกษตรกรสามารถดำเนินการได้เองและมีค่าใช้จ่ายน้อยมาก ซึ่งจะเป็นการนำไปสู่การพัฒนาระบบเกษตรกรรมในเขตพื้นที่เกษตรน้ำฝนให้มีความมั่นคงและยั่งยืน สามารถนำวิธีการนี้ไปใช้ในพื้นที่อื่นๆ เพื่ออนุรักษ์สภาพแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ เช่น การปลูกพื้นที่สองข้างทางของคลองชลประทาน อ่างเก็บน้ำ รอบบ่อน้ำ ป้องกันขอบตลิ่ง คอสะพาน และตามไหล่ถนน เป็นต้น โดยหญ้าแฝกเป็นพืชที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในเชิงฟื้นฟูปรับปรุงบำรุงดิน และอนุรักษ์สภาพแวดล้อมไปในเวลาเดียวกัน การนำหญ้าแฝกไปปลูกในพื้นที่เกษตรนั้น ควรมีการจัดการและดูแลรักษาบ้างตามสมควร เพื่อการใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝกได้ผลอย่างเต็มที่ตามวัตถุประสงค์ เช่น ควรมีการปลูกซ่อมหญ้าแฝกที่ใช้ในการคลุมดินอย่างสม่ำเสมอ

สำหรับเกษตรกรหรือท่านที่สนใจวิธีการปลูกและใช้หญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ สามารถติดต่อขอรับบริการกล้าพันธุ์หญ้าแฝกได้ที่ หมอดินอาสาประจำหมู่บ้านในชุมชน สถานีพัฒนาที่ดินทุกแห่งทั่วประเทศ หรือติดต่อสอบถามข้อมูลวิชาการได้ที่ กลุ่มวิจัยและพัฒนาการใช้ประโยชน์หญ้าแฝกในการจัดการดิน กองวิจัยและพัฒนาการจัดการดิน โทร.0-2562-5113 หรือ โทรสายด่วน 1760 ต่อ 5113

จาก http://www.naewna.com วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2558

โลจิสติกส์ ลดต้นทุนอุตฯ โปรแกรม LTMA ประหยัดพลังงาน

ประเทศไทยมีสถิติการใช้พลังงานในภาคการขนส่งสูงถึง 36% ถือเป็นภาคส่วนที่มีการใช้พลังงานสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ และมีแนวโน้มว่าภาคการขนส่งจะมีการใช้พลังงานเพิ่มสูงขึ้น ปัจจุบันอยู่ที่ 79% เนื่องจากปริมาณการใช้ยานพาหนะจำนวนมากขึ้น มีสัดส่วนถึง 86% ของภาคการขนส่ง

ประกอบกับปริมาณเชื้อเพลิงที่นับวันจะลดลง ขณะที่แนวโน้มของราคายังคงผันผวนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในอนาคตจะทำให้ภาระต้นทุนค่าขนส่งจะเพิ่มขึ้นทวีคูณจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการดำเนินธุรกิจและการแข่งขันของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมและภาคการขนส่งของไทยดังนั้น ความพยายามของภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการลดต้นทุนด้านการขนส่งเริ่มขึ้นอย่างจริงจังเมื่อปี 2554 ภายใต้ "โครงการวิจัยและพัฒนาโปรแกรมบริหารจัดการขนส่งเพื่อการประหยัดพลังงาน (Research and Development of Logistics and Transport Management Application ; LTMA)" ที่ตั้งเป้าต้นทุนให้ลดลง 2%

โดยพิจารณาใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรม อาหาร น้ำมันปาล์ม เหล็ก ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม ปิโตรเลียม นับเป็นอุตสาหกรรมหลักที่มีผลต่อเศรษฐกิจประเทศอย่างมาก และทุกกลุ่มมีความต้องการที่คล้ายคลึงกันหลายประเด็น คือ ต้องการจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้า การติดตามรถขนส่งด้วยดาวเทียม (GPS) การตรวจสอบประวัติและคุณสมบัติของคนขับรถ การแก้ไขปัญหารถติด และการออกแบบรถขนส่งแบบมีคุณภาพ และให้ตรงกับสินค้าที่ขนส่ง

กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ต้องการสร้างคลังกลาง เพื่อเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้า เพื่อลดการวิ่งรับส่งสินค้าในแต่ละเที่ยวที่ไกล

กลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม มองว่าสิ่งสำคัญ คือ การควบคุมคุณภาพสินค้า ความปลอดภัยทางอาหารจากต้นทางสู่ปลายทาง เนื่องจากปาล์ม คือสินค้าเกษตรที่มีการขนส่งกว่า 2 ล้านตัน/ปี โดยมีเป้าจะเพิ่มการขนส่งเป็น 7 ล้านตัน/ปี แต่ปาล์มเป็นสินค้าควบคุมที่ต้องขอใบอนุญาตก่อนการขนส่งทุกครั้ง

แม้ไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกอันดับ 3 ของโลก แต่ไทยกลับห่างไกลจากอันดับ 2 มาก โดยเฉพาะการส่งไปตลาดยุโรป ที่ใช้ปาล์มเพื่อทำไบโอดีเซล เพราะระบบการขนส่งของไทยยังไม่ดีพอ ปัญหาการขนส่งจากท่าเรือสู่รถ ความคลาดเคลื่อนของเวลา ระหว่างเรือเข้าเทียบท่าและรถรับขนส่ง ขณะเดียวกันถูกจำกัดการโหลดสินค้าได้เพียง 10,000 ตัน/เที่ยว จากที่เรือขนส่งได้ถึง 50,000 ตัน/เที่ยว ทางออกคือการตั้งศูนย์กระจายสินค้าในหัวเมืองใหญ่ การบริหารจัดการปัญหารถติด การขนส่งแบบเต็มคันในรอบเดียว

กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก ชี้ให้เห็นว่าปริมาณการใช้เหล็กในประเทศ 16 ล้านตัน/ปี ขนส่ง 40 ตัน/คัน หรือกว่า 8 แสนเที่ยว/ปี บนถนน อุปสรรค คือ ค่าขนส่งหลายทอด เช่น ต้นทุนของการขนส่งทางเรือราคา 30 บาท/ตัน การขนส่งทางรถราคา 300 บาท/ตัน ปัจจุบันศูนย์กระจายสินค้ามีที่ อ.บางสะพาน มาบตาพุด สมุทรปราการ จำเป็นต้องเน้นเรื่องความปลอดภัย ที่ผ่านมามักเกิดอุบัติเหตุ ดังนั้นประสิทธิภาพรถต้องมาเป็นอันดับแรก การลดต้นทุนที่จะเห็นภาพชัดเจนที่สุด คือ การดึงรูปแบบการขนส่งของประเทศญี่ปุ่นมาใช้ โดยการนำสินค้าเหล็กทุกประเภทมารวมไว้ที่จุดเดียว แล้วให้รถขนส่งให้เต็มคันรถ จากนั้นค่อยกระจายไปสู่ปลายทาง

กลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ และโทรคมนาคม การลดต้นทุนที่ดีที่สุด เมื่อส่งสินค้าใหม่เข้าสู่ปลายทาง ควรรับสินค้าเก่าจากปลายทางที่สามารถนำมารีไซเคิลกลับมาด้วย เพราะหากสินค้ามีการส่งช้าอาจทำให้เจอการแข่งขันด้านราคา เสียโอกาสในการแข่งขัน

กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเลียม มีการขนส่ง 8 แสนเที่ยว/ปี ในจำนวนนี้ 50% อยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล และศูนย์กระจายการขนส่งสินค้าหลักอยู่ที่แหลมฉบัง ได้พบปัญหาเรื่องของรถติด หลายบริษัทลดต้นทุนโดยการใช้เอาต์ซอร์ซิ่ง

แต่ในความเป็นจริงแล้วการจะลดต้นทุนได้ดีที่สุด ต้องประกอบด้วย การออกแบบรถขนส่งที่ตรงกับสินค้า อย่างปิโตรเลียม ไม่สามารถใช้รถขนส่งแบบปกติได้ ดังนั้นหากขนส่งด้วยรถที่ไม่ได้มาตรฐาน เมื่อเกิดอุบัติเหตุ หรือก๊าซรั่วไหล ผลที่ตามมาคือความสูญเสียมูลค่าของสินค้า เสียเวลาอย่างมากนั่นเอง และการแก้ปัญหารถติดที่ภาครัฐควรต้องเร่งจัดการ

ดังนั้นนอกจากผู้ประกอบการต้องพยายามบริหารจัดการ เพื่อลดต้นทุนด้านพลังงานจากการขนส่งด้วยตัวเองแล้ว ต้องได้รับความร่วมมือจากภาครัฐเข้ามาช่วยด้วย เพื่อให้เป้าหมายการลดพลังงานที่ 2% ประสบความสำเร็จ แม้จะใช้เวลายาวนานไปถึง 5 ปีก็ตาม

ทั้งนี้ โครงการ LTMA ระยะที่ 1 การชักชวนผู้ประกอบการใช้โปรแกรมบริหารจัดการภาคการขนส่งด้วย "ระบบไอที" ฟรี !

แม้อุปสรรคของระบบไอที คือ บุคลากรไม่ยอมรับการกรอกข้อมูลรายละเอียดในโปรแกรมใหม่ แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เพราะระบบการขนส่งแบบเดิมไม่สามารถอยู่รอดได้ในปัจจุบัน ดังนั้น ภาคเอกชนที่ตั้งเป้าจะลดต้นทุนให้เหลือ 2% ถึงจะยากและใช้เวลานาน แต่ต้องทำ เพราะต้องยอมรับว่าระบบการขนส่งแบบเดิมไม่สามารถอยู่รอดได้ อย่างที่ผ่านมาผู้ประกอบการไทยมักใช้การขนส่งของบริษัทญี่ปุ่น เพราะมีคุณภาพขณะที่ไทยมีน้อยมาก

 โครงการระยะ 2 ที่กำลังจะเดินหน้าปี 2558ภายใต้งบประมาณที่ภาครัฐสนับสนุนนั้น จะเริ่มเข้าสู่การรันโปรแกรมเข้าไปใช้ในบริษัท และวางขอบข่ายการดำเนินงาน 4 มิติ คือ การบริหารจัดการ การนำเทคโนโลยีวิศวกรรมมาใช้ การสร้างทีม และประสิทธิภาพของคนขับรถ กับจำนวนผู้ขนส่ง 3 แสนรายทั่วประเทศ ขณะนี้เข้าสาระบบมาตรฐานเพียง 3 หมื่นรายเท่านั้น ดังนั้น สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน จึงได้สนับสนุนให้สถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม ส.อ.ท. สานต่อโครงการจนกว่าจะเห็นผล

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2558

เร่งช่วยนาข้าวปลูกแล้ว4ล้านไร่ เกษตรปรับแผนน้ำอุ้มลุ่มเจ้าพระยาฝ่าแล้ง

นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายชัดเจนให้ช่วยเหลือเกษตรกรในทุ่งเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกจำนวน 8 แสนไร่ รวมทั้งลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้งหมด 4 ล้านไร่ จาก 7 ล้านไร่ ที่ดำเนินการปลูกข้าวไปแล้ว ให้มีการใช้น้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดไปช่วยเหลือจนกระทั่งเก็บเกี่ยว โดยมีมาตรการเข้าไปดำเนินการหลายด้านขึ้นอยู่ลักษณะพื้นที่และการใช้น้ำ เช่น มาตรการจัดรอบเวรการใช้น้ำโดยประสานความร่วมมือไปยังกลุ่มผู้ใช้น้ำให้มีการบริหารจัดการน้ำอย่างเคร่งครัดเพื่อจะได้แบ่งสันการใช้น้ำได้ครอบคลุมพื้นที่ นอกจากนี้ ได้จัดเตรียมเครื่องสูบน้ำเข้าไปสนับสนุนเกษตรกรในพื้นที่ตอนล่าง หรือปลายคลองส่งน้ำเพื่อช่วยสูบน้ำจากคลองระบายน้ำเข้าสู่แปลงนาเกษตรกร แต่อย่างไรก็ดี ปริมาณน้ำที่เกษตรกรได้รับอาจจะลดลงจากช่วงปกติครึ่งหนึ่ง ดังนั้น เกษตรกรควรปรับตัว เช่น การปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง ซึ่งขณะนี้เกษตรกรบางรายเริ่มนำแนวทางไปดำเนินการแล้ว ก็จะสามารถยืดระยะเวลาการรับน้ำออกไปได้บ้าง

นายสุชาติ เจริญศรี ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามโนรมย์ กรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามโนรมย์ ที่ดูแลรับผิดชอบพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก ซึ่งขณะนี้มีเกษตรกรปลูกข้าวไปแล้วจำนวน 8 แสนไร่ จากพื้นที่ 1.2 ล้านไร่ คิดเป็นจำนวน 65% ของพื้นที่ทั้งหมด โดยสถานการณ์น้ำขณะนี้รับน้ำเข้าประมาณ 55 ลบ.ม./วินาที เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงสถานการณ์ปกติจะรับน้ำเข้าเฉลี่ยที่ 120 ลบ.ม./วินาที ซึ่งคาดว่าปริมาณน้ำดังกล่าวยังสามารถส่งไปช่วยเหลือเกษตรกรที่ทำนาแล้วจำนวน 8 แสนไร่ ได้เพียงพอจนถึงช่วงเก็บเกี่ยวในเดือนสิงหาคม แต่ทั้งนี้ ก็ขึ้นกับความร่วมมือจากเกษตรกรในรายที่ยังไม่ได้ดำเนินการเพาะปลูกให้ชะลอออกไปก่อน รวมถึงต้องมีการบริหารจัดการการใช้น้ำของกลุ่มผู้ใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย

ขณะที่ นายสมาน เมืองนิล ผู้ใหญ่บ้าน ม.10 ต.ธรรมมามูล อ.เมือง จ.ชัยนาท ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำ กล่าวว่า พื้นที่ 4 ตำบลในพื้นที่ อำเภอเมืองชัยนาท มีสมาชิกกลุ่ม 400 กว่าครัวเรือน พื้นที่ใช้น้ำเพื่อการเกษตร 16,000 ไร่ ขณะนี้มีการปลูกข้าวแล้ว 100% ของพื้นที่ เนื่องจากช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีฝนตกหนักในพื้นที่ทำให้เกษตรกรเริ่มการปลูกข้าวทันที แต่พอมาฝนทิ้งช่วงประกอบกับปริมาณการส่งน้ำของชลประทานลดลง จึงต้องการมีประชุมหารือการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ โดยมีการแบ่งเวรการใช้น้ำตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำสลับกันไปเป็นรอบ รอบละ 3 วัน หมุนเวียนกันจะไม่มีการแย่งน้ำ เพราะทุกคนเข้าใจสถานการณ์รวมถึงถ้าเกิดกรณีวิกฤติน้ำจากคลองชลประทานไม่เพียงพอก็ยังมีน้ำบาดาลสำรองไว้ ซึ่งมาถึงขณะนี้คาดว่าพื้นที่ที่กลุ่มผู้ใช้น้ำดูแลจะไม่ประสบปัญหาภัยแล้งหรือกระทบผลผลิตข้าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ปลูกฝังเยาวชนเรียนรู้คุณค่าอาชีพเกษตรกรรม

น้องๆ เรียนรู้การดำนาแบบดั้งเดิม

อาชีพเกษตรกรรม เป็นอาชีพหลักดั้งเดิมของคนไทยมาตั้งแต่อดีต แต่นับวันการทำเกษตรกรรมกลับยิ่งลดน้อยลง จากความคิดและความเชื่อต่างๆ อาทิ เรื่องรายได้ ความเหน็ดเหนื่อย จึงทำให้เยาวชนรุ่นใหม่หันไปเลือกเรียนและประกอบอาชีพอื่นมากกว่าการทำงานกลางแดด แต่ก็ยังมีเยาวชนรุ่นใหม่กลุ่มหนึ่งที่ให้ความสนใจ และพร้อมที่จะเรียนรู้ ร่วมเปลี่ยนแปลง เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ล้ำค่า กับกิจกรรม “KUBOTA Smart Farmer Camp”

นายโอภาศ ธันวารชร กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า กิจกรรม KUBOTA Smart Farmer Camp 2015 จัดขึ้นเพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้เยาวชนได้เรียนรู้ และสร้างทัศนคติที่ดีในการทำการเกษตร อีกทั้ง ยังได้ลงมือปฏิบัติจริงในการทำการเกษตร ทั้งการทำเกษตรแบบดั้งเดิมและการทำเกษตรสมัยใหม่ พร้อมสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่เยาวชนนำไปถ่ายทอดต่อหรือนำไปประยุกต์จริงในอนาคต โดยกิจกรรมนี้ได้จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นครั้งปีที่ 4 ภายใต้แนวคิด “The TransFarmer วัยมันส์ พันธุ์เปลี่ยนโลก” พาเยาวชนจากสถาบันระดับอุดมศึกษาทั่วประเทศ 100 คน ทำกิจกรรมร่วมกันเป็นเวลา 5 วัน 4 คืน เรียนรู้วิถีชีวิตการทำการเกษตรแบบดั้งเดิมสู่การทำการเกษตรยุคใหม่ พร้อมทั้งการเรียนรู้และทดลองขับเครื่องจักรกลการเกษตรที่เข้ามาช่วยลดขั้นตอน และเพิ่มผลผลิตในการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจต่างๆ ของไทย อาทิ ข้าว อ้อย มันสำปะหลังและข้าวโพด

KUBOTA Smart Farmer Camp 2015 เริ่มต้นด้วยการฟังการบรรยายพิเศษถึงทิศทางการเกษตรของไทยจาก ดร.เฉลิมพล เกิดมณี และประสบการณ์การทำเกษตรจากเกษตรกรตัวจริง เพื่อเป็นการสร้างทัศนคติและความรู้ที่ดีแก่อาชีพเกษตรกรรมของไทย จากนั้นลงพื้นไปเรียนรู้และลงมือทำเกษตรกรรมแบบดั้งเดิม ณ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง ตั้งแต่การดำนาในแปลงนา เพื่อเรียนรู้และสร้างประสบการณ์ในการดำนาด้วยวิธีปักดำด้วยมือ โดยมี ลุงหนาน-สนาน เจริญพร ปราชญ์ชาวบ้านประจำศูนย์ฯ มาสอนอย่างใกล้ชิด ต่อด้วยเรียนรู้วิธีการฝัดข้าว คัดเมล็ดข้าว และนำไปสีในเครื่องสีข้าวมือหมุน และนำข้าวที่ได้ออกมาฝัดข้าวเพื่อให้แกลบ หรือเศษเปลือกข้าว กับเมล็ดข้าวที่ผ่านการสีให้แยกออกจากกัน ก่อนจะไปทำความรู้จักพืชพันธุ์ต่างๆ ที่อยู่ในป่าที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ และสุดท้าย คือ การผลิตไบโอดีเซล สอนให้น้องได้เห็นถึงปัญหาน้ำมันที่ใช้แล้วพร้อมทั้งขั้นตอนในการนำน้ำมันที่เหลือใช้มาผลิตเป็นไบโอดีเซล เพื่อนำไปใช้ประโยชน์เป็นน้ำมันไบโอดีเซลที่สามารถใช้กับรถไถนา

โอภาศ ธันวารชร

เมื่อเรียนวิถีการทำการเกษตรแบบดั้งเดิมกันไปแล้ว ก็ได้เวลาไปเรียนรู้วิธีการทำการเกษตรยุคใหม่กันบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้เทคโนโลยีการทำเกษตรด้วยเครื่องจักรกลการเกษตร ที่จะช่วงเบาแรงและลดขั้นตอนในการเพาะปลูก ตั้งแต่การเตรียมดินโดยการใช้แทรกเตอร์ ปลูกข้าวด้วยรถดำนา การเก็บเกี่ยวข้าวด้วยรถเกี่ยวข้าว ปลูกอ้อยจากเครื่องปลูกอ้อย ที่สามารถตัดและหย่อนอ้อยพันธุ์ได้ในเวลาเดียวกัน และการปลูกมันสำปะหลังด้วยเครื่องปลูกมันสำปะหลัง

นอกจากนี้ น้องๆ ยังได้เปิดประสบการณ์เรียนรู้เกี่ยวกับพืชเศรษฐกิจทั้ง อ้อย มันสำปะหลัง สู่การแปรรูปเพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร พร้อมฟังสาระดีๆ จาก โหน่ง-วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ ที่มาเพิ่มเติมมุมมอง แบ่งปันประสบการณ์ พร้อมทั้งสร้างแรงบันดาลใจให้กับน้องๆ ในการใช้ชีวิตประจำวันให้ประสบความสำเร็จ และวันสุดท้ายน้องๆ ก็มาร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่แต่ละคนได้รับจากการเข้าร่วมกิจกรรมกันอย่างสนุกสนาน

บาส-พงศ์พิสุทธิ์ วสุลีวรรณ์

บาส-พงศ์พิสุทธิ์ วสุลีวรรณ์ จากมหาวิทยาลัยนเรศวร คณะสังคมศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 เล่าว่า “ผมอยากเปิดประสบการณ์การเรียนรู้ใหม่ๆ นอกห้องเรียน ที่บ้านผมประกอบอาชีพรับราชการกันหมด จึงทำให้การทำเกษตรเป็นประสบการณ์ที่ไกลตัวและยากที่จะได้เข้ามาเรียนรู้ ทั้งการทำนา และการขับเครื่องจักรกลการเกษตร ซึ่งการได้เข้าร่วมกิจกรรมทำให้ผมได้เพื่อนใหม่ๆ ได้เรียนรู้ประสบการณ์จากเกษตรกรตัวจริง ได้ขับเครื่องจักรกลการเกษตรที่เป็นทั้งเครื่องผ่อนแรง และทำให้คุณภาพชีวิตของเกษตรกรดีขึ้น ซึ่งตามความฝันของผม ผมอยากเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด จึงเห็นว่าควรที่จะต้องมีความรู้และความเข้าใจเกษตรกรอย่างแท้จริง ได้รู้ถึงความลำบากและปัญหาต่างๆ เพื่อนำมาปรับปรุงใช้ในอนาคตครับ”

เกษตรยุคใหม่ปลูกข้าวด้วยรถดำนา

กิจกรรม Smart Farmer Camp นับเป็นอีกหนึ่งโครงการดีๆ ที่ส่งเสริมให้เยาวชนได้ตระหนักถึงความสำคัญพร้อมทั้งสร้างความรู้และความเข้าใจในทัศนคติที่ดีต่อของเกษตรกรและชาวนาไทย สร้างแรงบันดาลใจที่ดีในการดำเนินชีวิตที่ดีแก่เยาวชน ที่ถือว่าเป็นกล้าต้นใหม่ที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงอนาคต ที่มีทั้งความรู้และความเข้าใจในวิถีชีวิตการทำเกษตรแบบดั้งเดิม สู่การทำการเกษตรในยุคใหม่ เพื่อให้ได้ผลผลิตทางการเกษตรที่ดีที่สุด

จาก http://www.naewna.com วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2558

สั่งธ.ก.ส.ยืดหนี้รับภัยแล้ง สมหมายชี้รัฐบาลห่วง พาณิชย์บี้ลดค่ายา-ปุ๋ย

“สมหมาย” รับลูก ครม.เศรษฐกิจเปิดช่องแบงก์รัฐชะลอชำระหนี้ หลังเกษตรกรอ่วมหนักจากปัญหาภัยแล้ง ธ.ก.ส.ขานรับ ขณะที่พาณิชย์ร่วมแจมช่วยชาวนาบี้ลดราคาปุ๋ย ยา ค่าเช่ารถเกี่ยว

สมหมาย ภาษี

นายสมหมาย ภาษี รมว.การคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจ ได้มีการหารือเกี่ยวกับแนวทางการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ซึ่งตอนนี้ยังไม่สามารถเพาะปลูกพืชได้ ทำให้ไม่มีรายได้ โดยมอบหมายให้กระทรวงการคลังหารือกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และสถาบันการเงินอื่นๆ ในการพิจารณาชะลอการชำระหนี้ออกไประยะหนึ่งก่อน ซึ่งกระทรวงการคลังได้ยืนยันในที่ประชุมว่าน่าจะสามารถดำเนินการได้

 ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะให้ ธ.ก.ส.พิจารณาว่าในช่วงประมาณ 6 เดือนข้างหน้า เกษตรกรต้องชำระหนี้กี่งวด ก็ให้พิจารณาพักการชำระหนี้ในช่วงนั้นไปก่อน เพราะการชำระหนี้ของลูกค้า ธ.ก.ส.ไม่ได้ชำระทุกเดือน แต่เป็นปีละ 1-2 ครั้ง หลังจากที่เก็บเกี่ยวการผลิต

ด้านนายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธนาคารได้มอบหมายพนักงานสาขาลงพื้นที่พบปะเกษตรกรเพื่อให้กำลังใจ สอบถามปัญหาและหาแนวทางแก้ไขร่วมกัน โดยแนวทางการให้ความช่วยเหลือกรณีเกษตรกรเพาะปลูกข้าวนาปีไปแล้ว กรมชลประทานได้ประกาศว่าจะดำเนินการบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอต่อการเพาะปลูกข้าวนาปีที่ได้เพาะปลูกแล้ว จำนวนประมาณ 2.85 ล้านไร่ ได้ให้พนักงาน ธ.ก.ส.สาขา ประสานความร่วมมือกับส่วนราชการในพื้นที่ เพื่อให้เกษตรกรได้รับความช่วยเหลืออย่างทั่วถึงและครบถ้วน อย่างไรก็ตาม หากผลผลิตเกิดความเสียหายในระยะต่อไป ธนาคารมีแนวทางการให้ความช่วยเหลือไว้แล้ว โดยจะขยายระยะเวลาชำระหนี้เดิมให้

ขณะที่นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ ได้มอบหมายให้กรมการค้าภายในหาแนวทางลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรในฤดูกาลผลิตปี 58/59 โดยกรมได้หารือกับผู้ประกอบการเพื่อลดราคาจำหน่ายปัจจัยการผลิต ได้แก่ ปุ๋ยเคมี ยาป้องกันกำจัดศัตรูพืช และค่าบริการรถเกี่ยวข้าวแล้ว

สำหรับปุ๋ยเคมี ผู้ประกอบการได้ให้ความร่วมมือปรับลดราคาจำหน่ายปุ๋ยเคมีที่ใช้ในนาข้าวในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลลงแล้ว 4 สูตร หรือลดลงกระสอบ (50 กก.) ละ 40-50 บาท ปุ๋ยเคมีที่ใช้กับพืชอื่นๆ 7 สูตร ลดลงกระสอบ (50 กก.) ละ 25-50 บาท ส่วนการลดราคาจำหน่ายยาป้องกันกำจัดศัตรูพืช ร้านค้าตัวแทนจำหน่ายในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ปรับลดราคาลงแล้ว 7 สูตร โดยลดลง 5-10% ขณะที่การลดราคาค่าบริการรถเกี่ยวข้าวนั้น ได้ขอความร่วมมือชมรมรถเกี่ยวข้าว ขอให้ลดราคาลงในฤดูการผลิตข้าวนาปี ปี 58/59 ซึ่งชมรมได้ให้ความร่วมมือ โดยจะคิดค่าบริการรถเกี่ยวข้าวภาคกลางที่ไร่ละ 450 บาท ส่วนภาคอื่นๆ จะคิดค่าบริการไม่เกินไร่ละ 500 บาท ยกเว้นพื้นที่นาที่ไม่สม่ำเสมอ ซึ่งยากต่อการเก็บเกี่ยว ให้ผู้บริการตกลงกับเกษตรกรเป็นรายกรณีไป.

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ครม.ไฟเขียวช่วยวิกฤติภัยแล้งชงงบ 84 ล้าน ขุดเจาะน้ำบาดาล

ครม.เศรษฐกิจอนุมัติให้กระทรวงทรัพยากรฯ ขุดเจาะบาดาลแก้ภัยแล้ง ยืนยันว่าน้ำกินน้ำใช้ จะมีเพียงพอถึงเดือน เมษายน 59 แต่ภาคการเกษตรอาจไม่พอใช้ ด้าน “อนุพงษ์” ระบุมีปัญหาร้องศูนย์ดำรงธรรมทันที ลั่นกรมชลฯ ต้องพูดชัดปล่อยน้ำในพื้นที่ใดได้-ไม่ได้ ดักคอนักการเมืองท้องถิ่นกดดันเปิดประตูน้ำเอาใจชาวบ้าน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานในการประชุมคณะรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) ที่ห้องประชุมสีเขียวตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล โดยมีวาระในการประชุมคือพิจารณามาตรการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่ประสบภัยแล้ง โดยใช้เวลาในการประชุมนานเกือบ 3 ชั่วโมง

โดยภายหลังการประชุม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.) แถลงถึงประเด็นสำคัญในการประชุมวันนี้คือปัญหาน้ำ ที่ปีนี้มีข้อมูลในปัจจุบันระบุว่าน้ำในระยะเวลาเดียวกับปีที่แล้วมีจำนวนน้อยนายกรัฐมนตรีจึงให้ประชุมบูรณาการที่จะดูแลว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร โดยมาพิจารณาแนวทางในการบริหารจัดการน้ำเริ่มต้นจากการดูว่าน้ำที่มีว่ามีเท่าไร ดูข้อมูลพยากรณ์ใน 6 เดือนข้างหน้าว่าจะมีน้ำอย่างไร ดูว่าพื้นที่ขณะนี้ว่าเราใช้น้ำทางการอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศและช่วยเกษตรกรได้แค่ไหน และพื้นที่ที่มีปัญหาเรามีมาตรการอื่นมาช่วยได้อย่างไร เช่น เจาะน้ำบาดาล และที่มีปัญหาแย่งน้ำจะดำเนินการอย่างไร ทั้งนี้มีข้อมูลว่าช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม น้ำจะมีน้อย ดังนั้นรัฐบาลจะต้องมาดูว่าจะช่วยได้แค่ไหนอย่างไร จนกว่าจะเข้าสู่ช่วงภาวะปกติ

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวว่า ผลการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ เพื่อพิจารณาแก้ปัญหาภัยแล้งกรณีฉุกเฉิน และแนวทางการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบทั้งระยะสั้นและระยะยาว ว่า รัฐบาลยืนยันจะดูแลให้ประชาชนมีน้ำอุปโภค บริโภคได้เพียงพอ ไปจนถึงเดือนเมษายน 2559 พร้อมยอมรับว่าไม่สามารถดูแลภาคการเกษตรได้ทั้งหมด

โดยพื้นที่ที่มีการเพาะปลูกไปแล้วจำนวน 3.45 ล้านไร่ พบว่ามีพื้นที่ดอนเสี่ยงต่อน้ำไปไม่ถึง กว่า 850,000 ไร่ โดยทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ของบประมาณ อีก 84 ล้านบาท เพื่อใช้ในการขุดเจาะบ่อบาดาลใหม่ อีก 500 บ่อทั่วประเทศ คาดว่าจะมีน้ำเพิ่มขึ้น 200,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อช่วยเกษตรกรในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งจากเดิมที่มีบ่อบาดาลอยู่ 380 บ่อ แต่ไม่มีเครื่องปั๊ม จะใช้งบของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลมาใช้ติดตั้งเครื่องปั๊มน้ำ จำนวน 80 ปั๊มได้ทันที ทั้งนี้หากขุดเจาะได้ตามแผนที่วางไว้ จะสามารถช่วยพื้นที่เกษตรได้ 100,000 – 130,000 ไร่ โดยจะทำงามร่วมกันระหว่างกองทัพบก กองทัพไทย และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมทั้งมีประชาชนในพื้นที่เข้ามาร่วมดำเนินงานกว่า 2,000 คน ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในกลางเดือนก.ค.นี้ ขณะที่ศูนย์ปฏิบัติการกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เตรียมปรับพื้นที่บินทำฝนหลวงเพื่อเพิ่มเติมน้ำในพื้นที่ภาคกลางมากขึ้น

พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ขอให้ประชาชนช่วยกันใช้น้ำอย่างประหยัดและขอให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยแทน พร้อมทั้งให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทำความเข้าใจกับเกษตรกรและประชาชน

 พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวอีกว่า ขอสื่อมวลชนอย่าสร้างข่าวให้เป็นประเด็น แต่ขอให้ทำความเข้าใจให้ประชาชนเข้าใจว่าน้ำมีน้อย อย่าสร้างวัฒนธรรมที่ว่าเมื่อคนจวนตัวแล้วก็จะแย่งน้ำกัน ซึ่งเราพยายามดูแลอยู่ โดยในที่ประชุมนายกฯ ย้ำเรื่องการดำเนินการต้องอยู่บนฐานข้อมูลที่ตรงกัน ถ้ามีอะไรเปลี่ยนแปลงก็ให้หารือปรับแผนกันตลอดเวลา และย้ำว่าน้ำต้องมีใช้อยู่จนถึงเมษายนปีหน้าให้ได้   

เมื่อถามว่าจะต้องใช้กำลังพลจากฝ่ายปกครองและฝ่ายความมั่นคงดูแลภัยแล้งจำนวนเท่าใด พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า เราต้องร่วมมือกันระหว่างกรมชลประทาน ฝ่ายปกครองและเจ้าหน้าที่ทหารที่จะต้องเร่งทำความเข้าใจว่าจุดใดสามารถปล่อยน้ำได้หรือไม่ได้ และสามารถปล่อยได้มากน้อยแค่ไหน ส่วนการป้องกันไม่ให้นักการเมืองท้องถิ่นที่หวังเรียกคะแนนนิยมประชาชนจนไปกดดันเจ้าหน้าที่ให้เปิดประตูระบายน้ำนั้น ตนคิดว่าต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่บริหารจัดการจะดีกว่าอย่าไปสร้างกระแสจนทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดตนไม่อยากพูดมากเดี๋ยวจะหาว่าไปรบกับนักการเมืองอีก

เมื่อถามว่าจะแก้ไขปัญหาการแย่งน้ำของเกษตรกรอย่างไร พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า เป็นความรับผิดชอบของกรมชลประทานเพราะเป็นคนปล่อยน้ำให้เกษตรกร ดังนั้นกรมชลฯ จะต้องออกมาพูดให้ชัดว่าจะปล่อยน้ำตรงไหนและไม่ปล่อยตรงไหนแล้วให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองท้องถิ่นไปสร้างความเข้าใจให้ประชาชนในพื้นที่ และสิ่งสำคัญคือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องชี้เป้าจุดเจาะน้ำบาดาลให้ชัดเจน เพื่อให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมขุดในจุดที่เหมาะสมที่สุด

“ส่วนเรื่องบทลงโทษสำหรับผู้ที่แย่งน้ำผมไม่รู้จะพูดอย่างไรดีเดี๋ยวจะเป็นประเด็นขึ้นมาอีกสำคัญประชาชนต้องเข้าใจ แต่มันก็ต้องมีบ้างหากรุนแรงเกินไปเพราะเกษตรกรเป็นล้านๆ ราย แต่ขอร้องว่าอย่าไปสร้างกระแสจะดีกว่า” พล.อ.อนุพงษ์ กล่าว

ขณะที่ นายปิติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า สัปดาห์หน้าจะมีการหารือร่วมกับรมว.คลัง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง เพื่อปรับโครงสร้างการผลิตหรือปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกช่วง ก.ค.-ส.ค. เพื่อรอฝน

ด้านนายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้ง 4 แห่งของประเทศ มีน้ำอยู่ 1,067 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 6 ของปริมาณน้ำทั้งหมด ซึ่งถ้าระบายน้ำวันละ 33 ล้านลูกบาศก์เมตรจะมีน้ำใช้เพื่อการเกษตรเพียง 32 วัน หรือถึงเดือนก.ค. จึงได้ปรับให้มีการระบายน้ำวันละ 28 ล้านลูกบาศก์เมตรแทนโดยคาดว่าจะมีน้ำใช้เพื่อการเกษตรถึงเดือนสิงหาคม

จาก http://www.banmuang.co.th วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2558

เกษตรจัดงานวันถ่ายทอดความรู้ (Field Day) ทั่วประเทศเตรียมพร้อมเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่

นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า จากการที่กรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรขึ้นในทุกอำเภอทั่วประเทศ รวม 882 ศูนย์ตามนโยบายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการมอบหมายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เป็นศูนย์ที่สอดคล้องกับสินค้าหลักในพื้นที่และเหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ (Zoning)โดยมีองค์ประกอบของศูนย์ ได้แก่ เกษตรกรต้นแบบแปลงเรียนรู้ หลักสูตรการเรียนรู้ และฐานการเรียนรู้ ที่มีองค์ความรู้ที่เป็นการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่หน่วยงานราชการส่งเสริมกับภูมิปัญญาของเกษตรกร และได้มีการประยุกต์ใช้ให้มีความเหมาะสมอย่างเฉพาะเจาะจงกับสภาพแวดล้อมของพื้นที่นั้นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงนี้ภาคการเกษตรของไทยกำลังจะเข้าสู่ฤดูกาลผลิตใหม่ ซึ่งในการผลิตที่มีประสิทธิภาพนั้นจำเป็นต้องใช้องค์ความรู้ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ กรมส่งเสริมการเกษตรจึงจัดงานวันถ่ายทอดความรู้ (Field Day) เพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ในทุกศูนย์เรียนรู้ที่มีอยู่ทุกอำเภอทั่วประเทศโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรเริ่มต้นการผลิตในปีการเพาะปลูกใหม่โดยใช้เทคโนโลยีและภูมิปัญญาที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่ มีการให้บริการและช่วยแก้ไขปัญหาการผลิตของเกษตรกร และเผยแพร่ให้เกษตรกรรู้จักและใช้ประโยชน์จากศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรที่มีอยู่ในพื้นที่ที่สำคัญเพื่อให้เกิดการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และองค์ความรู้จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาและโครงการพระราชดำริต่างๆ รวมทั้งมีการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ให้เข้าถึงเกษตรกรและนำไปประยุกต์ใช้ได้กว้างขวางยิ่งขึ้น

ในการจัดงานนี้ นอกจากจะดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีสำคัญตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ โดยมีองค์ความรู้และของจริง มีฐานเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง รวมถึงจัดให้มีบริการในรูปแบบของคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ร่วมด้วยแล้วยังได้จัดแสดงนิทรรศการ “การใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าปวงประชาถวายพ่อของแผ่นดิน” เพื่อแสดงถึงพระอัจฉริยภาพด้านน้ำของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในศูนย์เรียนรู้ฯ ทั้ง 882 ศูนย์ ควบคู่กันไปด้วย โดยจะใช้ระยะเวลาจัดงานแห่งละ 1-2 วัน บูรณาการร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เริ่มทยอยจัดตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม-31 กรกฎาคม 2558 โดยจะเชิญเกษตรกรในพื้นที่ เน้นเกษตรกรที่เป็นแกนนำหรือเป็นเครือข่ายการทำงานส่งเสริมการเกษตรจากทุกตำบล อำเภอละ 300 รายเข้ามาร่วมกิจกรรม รวมทั้งประเทศไม่ต่ำกว่า 264,600 ราย

ผลจากการจัดงานวันถ่ายทอดความรู้ (Field Day) เพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่นี้ คาดว่าศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรจะเป็นที่รู้จักของเกษตรกรทั่วไป อันจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของเกษตรกรในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น ที่สำคัญจะทำให้เกษตรกรมีการใช้เทคโนโลยีและข้อมูลในการผลิตทางการเกษตร นำไปสู่การลดต้นทุนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพัฒนาคุณภาพผลผลิต เชื่อมโยงตลาดและนำไปเผยแพร่แก่เกษตรกรรายอื่นๆ สนองตอบต่อเจตนารมณ์ของรัฐบาล และความคาดหวังของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการส่งเสริมเกษตรกรและพัฒนาภาคการเกษตรที่ต้องการให้ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรเป็นจุดให้บริการและดูแลช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ของเกษตรกรในพื้นที่ต่อไป

จาก http://www.banmuang.co.th วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ในหลวงทรงห่วงเขื่อนยักษ์น้ำ  

          นับวันสถานการณ์ความแห้งแล้งในไทยจะเลวร้ายลง  โดยเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. ผู้สื่อข่าว รายงานว่า หลายพื้นที่ในภาคเหนือ อีสาน และภาคกลาง ประสบภาวะฝนทิ้งช่วง จนทำให้เกษตรกรเดือดร้อนหนัก เนื่องจากพืชผลทางการเกษตรเริ่มเสียหายโดยเฉพาะนาข้าว บางแห่งถึงกับต้องรอพึ่งพายุที่น่าจะเกิดขึ้น

          อย่างไรก็ตาม ทางกรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่า จะเกิดพายุโซนร้อนชื่อ "คูจิระ" บริเวณเกาะไหหลำ ซึ่งมีทิศทางเคลื่อนตัวไปทางตะวันตกเฉียงเหนือเข้าสู่ตอนใต้ของประเทศจีน ซึ่งลักษณะเช่นนี้จะทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยมีฝนเพิ่มตั้งแต่วันที่ 23-25 มิ.ย. นี้

          เช่นเดียวกับในพื้นที่ภาคกลางที่หลายจังหวัดประสบปัญหาเดียวกัน ทำให้เกษตรกรต่างต้องหาทางช่วยเหลือตัวเองด้วยการซื้อหรือเช่าเครื่องสูบน้ำมาติดตั้งเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน พร้อมติดต่อประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารให้เข้ามาช่วยเฝ้าเพราะเกรงจะถูกผู้ไม่หวังดีแอบมาซ้ำเติมขโมยไป  ขณะที่หลายจุดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือต้องประกอบพิธีแห่นางแมวขอฝนตามความเชื่อ อาทิ ในพื้นที่บ้านเสมา ต.โนนสูง อ.เมือง จ.อุดรธานี ซึ่งชาวบ้านกว่า 200 คน ร่วมแห่นางแมวตามประเพณีโบราณไปตามถนนระยะทางกว่า 5 กิโลเมตร

          ส่วนสถานการณ์ตามเขื่อนต่างอยู่ในภาวะวิกฤติปริมาณน้ำลดลงอย่างรวดเร็ว อาทิ เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณน้ำเหลือติดแค่ก้นอ่าง ทำให้บรรดาชาวบ้านแทบทุกคนต่างเอ่ยปากเป็นเสียงเดียวกันว่า ตั้งแต่เกิดมาไม่เคยประสบภัยแล้งหนักอย่างนี้มาก่อนเลย ถึงขั้นสื่อต่างชาติให้ความสนใจอย่างมากจัดทีมลงสังเกตการณ์รายงานอย่างใกล้ชิด

          ขณะเดียวกัน นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ทางสำนักพระราชวัง ได้แจ้งมายังกระทรวงเกษตรฯ ว่าสถานการณ์น้ำในเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ในขณะนี้อยู่ในขั้นวิกฤติหนักแล้ว จึงต้องการให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร น้อมนำแนวทางการทำฝนหลวงพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานเทคนิคฝนหลวงพิเศษ ในช่วงเกิดภัยแล้งที่ผ่านมานำมาใช้อย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะต้องทำให้ตกในพื้นที่จำเป็นที่สุดก่อน ซึ่งทุกอย่างต้องอาศัยจังหวะสภาพอากาศเหมาะสม จากนั้นจึงขึ้นระดมทำฝนหลวงให้ตกในพื้นที่เขื่อนทั้งสองแห่งอย่างเร่งด่วน.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2558

พาณิชย์ลดปุ๋ย-ยากำจัดศัตรูพืชช่วยชาวนา

พาณิชย์ลดปุ๋ย-ยากำจัดศัตรูพืชช่วยชาวนาพาณิชย์ ลดราคาปุ๋ย 11 สูตร ลง 50 บาทต่อกก. ลดราคายากำจัดศัตรูพืช 7 สูตร ลง 10% หวังช่วยชาวนาปลูกข้าวนาปี 58/59

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมฯมีแผนในการลดต้นทุนให้กับชาวนาที่จะปลูกข้าวนาปีในฤดูกาลผลิต58/59 ที่กำลังจะมาถึง ตามนโยบายของพล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ ที่ต้องการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งด้วยการขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการลดราคาจำหน่ายปัจจัยการผลิต ได้แก่ ปุ๋ยเคมียาป้องกันกำจัดศัตรูพืช และค่าบริการรถเกี่ยวข้าวสำหรับการลดราคาจำหน่ายปุ๋ยเคมี ผู้ประกอบการได้ให้ความร่วมมือปรับลดราคาจำหน่ายปุ๋ยเคมีที่ใช้ในนาข้าวในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลลงแล้ว จำนวน 4 สูตรลดลงกระสอบ (50 กก.) ละ 40 – 50 บาท และปุ๋ยเคมีที่ใช้กับพืชชนิดอื่นๆ อีก 7สูตร ลดลงกระสอบ (50 กก.)ละ 25 – 50 บาท

สำหรับราคาจำหน่ายปลีกของร้านค้า/ตัวแทนจำหน่ายและร้านค้าปลีกปุ๋ยเคมีในต่างจังหวัดจะมีค่าบริหารจัดการและค่าขนส่งเพิ่มขึ้นตามระยะทางส่วนการลดราคาจำหน่ายยาป้องกันกำจัดศัตรูพืชร้านค้าตัวแทนจำหน่ายในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลปรับลดราคาลงแล้วเช่นกัน จำนวน 7 สูตร ลดลง 5-10% สำหรับราคาจำหน่ายปลีกของร้านค้าตัวแทนจำหน่ายและร้านค้าปลีกยาป้องกันกำจัดศัตรูพืชในต่างจังหวัดจะมีค่าบริหารจัดการและค่าขนส่งเพิ่มขึ้นตามระยะทางการลดราคาค่าบริการรถเกี่ยวข้าวได้ขอความร่วมมือชมรมรถเกี่ยวข้าวขอให้ผู้ให้บริการรถเกี่ยวข้าวปรับลดราคาลงในฤดูการผลิตข้าวนาปีปี 2558/59 ซึ่งทางชมรมได้ให้ความร่วมมือ

โดยจะคิดค่าบริการรถเกี่ยวข้าวภาคกลางที่ราคาไร่ละ450 บาท ส่วนภาคอื่นๆ จะคิดค่าบริการไม่เกินไร่ละ 500 บาทยกเว้นกรณีพื้นที่นาที่ไม่สม่ำเสมอซึ่งยากต่อการเก็บเกี่ยวให้ผู้บริการตกลงกับเกษตรกรเป็นรายกรณีไป“

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ธ.ก.ส.ออกมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรประสบปัญหาภัยแล้ง

ธ.ก.ส.เร่งบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรจากปัญหาภัยแล้ง โดยให้พนักงานออกเยี่ยมเยียน รับฟังปัญหา พร้อมช่วยหาแนวทางแก้ไข

นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา 26 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก กำแพงเพชร นครสวรรค์ พิจิตร สุโขทัย อุตรดิตถ์ ตาก อ่างทอง นนทบุรี ปทุมธานี สิงห์บุรี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา กรุงเทพมหานคร นครนายก ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม เพชรบุรี สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม ซึ่งกรมชลประทานได้มีประกาศขอให้เกษตรกรชะลอการเพาะปลูกข้าวนาปีในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาออกไปก่อนนั้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกร ธ.ก.ส.ได้มอบหมายพนักงานสาขาลงพื้นที่เยี่ยมเยียนเกษตรกรเพื่อให้กำลังใจ สอบถามปัญหาและหาแนวทางแก้ไขร่วมกัน พร้อมกำหนดแนวทางการให้ความช่วยเหลือ ดังนี้ 1.กรณีเกษตรกรเพาะปลูกข้าวนาปีไปแล้ว กรมชลประทานได้ประกาศว่าจะดำเนินการบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอต่อการเพาะปลูกข้าวนาปีที่ได้เพาะปลูกแล้ว จำนวนประมาณ 2.85 ล้านไร่ ได้ให้พนักงาน ธ.ก.ส.สาขา ประสานความร่วมมือกับส่วนราชการในพื้นที่ เพื่อให้เกษตรกรได้รับความช่วยเหลืออย่างทั่วถึงและครบถ้วน

อย่างไรก็ตามหากผลผลิตเกิดความเสียหายในระยะต่อไป ธนาคารมีแนวทางการให้ความช่วยเหลือไว้แล้วโดยจะขยายระยะเวลาชำระหนี้เดิมให้ ดังนั้นเกษตรกรไม่ต้องกังวลในเรื่องภาระหนี้สินที่มีอยู่กับธนาคารแต่อย่างใด 2.กรณีที่เกษตรกรลูกค้ากู้เงินไปแล้วแต่ยังไม่ได้เพาะปลูก ได้ให้พนักงานชี้แจงการขอความร่วมมือของ กรมชลประทานที่ขอให้ชะลอการเพาะปลูกไว้ก่อนและให้ติดตามสถานการณ์ความพร้อมในการเพาะปลูกเมื่อมีฝนตกชุกหรือมีปริมาณน้ำที่เพียงพอ จากกรมอุตุนิยมวิทยาและกรมชลประทานซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีฝนตกชุกหรือปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูกประมาณ ปลายเดือนกรกฎาคม 2558 ทั้งนี้ สำหรับพี่น้องเกษตรกรที่ได้รับเงินกู้ไปแล้วจะแนะนำให้ฝากเงินเข้าบัญชีเงินฝากไว้ก่อนเมื่อสถานการณ์เหมาะสมจะได้มีเงินทุนพร้อมสำหรับการเพาะปลูกต่อไป 3.กรณีเกษตรกรลูกค้ายังไม่ได้กู้เงินและยังไม่ได้เพาะปลูก ธนาคารขอให้ชะลอการกู้เงินจากธนาคารออกไปก่อน จนกว่าจะมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูก

"จากนี้ไปหากเกิดสถานการณ์ภัยแล้งเป็นระยะยาวนานจนไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้ส่งผลให้เกษตรกรลูกค้าประสบปัญหาการขาดรายได้ และมีผลกระทบต่อการชำระหนี้เดิม ธนาคารจะพิจารณาขยายเวลาการชำระหนี้หรือดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับเกษตรกรลูกค้าตามวิธีปฏิบัติของธนาคาร เป็นกรณีไป นอกจากนี้ กรณีที่ เกษตรกรลูกค้าได้ขอคำแนะนำรูปแบบการผลิตที่เหมาะสมจากเกษตรอำเภอ เพื่อที่จะทำให้เกษตรกรมีรายได้ทดแทน หรือต้องการฟื้นฟูการผลิตที่ได้รับความเสียหาย ซึ่งหากเกษตรกรขาดเงินทุนหมุนเวียน สามารถไปติดต่อขอใช้สินเชื่อจากธนาคารได้" นายลักษณ์กล่าว 

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2558

'เขื่อนภูมิพล-สิริกิติ์'วิกฤติรอบ57ปีเร่งทำฝนหลวงเติมน้ำช่วยเหลือเกษตรกรด่วนถกครม.เศรษฐกิจ24มิ.ย.แก้ภัยแล้งแบบครบ

          เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สำนักพระราชวัง ได้แจ้งมายัง กระทรวงเกษตรฯว่าสถานการณ์น้ำ ในเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ขณะนี้ อยู่ในขั้นวิกฤติหนักแล้วโดยให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรน้อมนำแนวทางการทำฝนหลวงพระราชทานของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานเทคนิคฝนหลวงพิเศษ ในช่วงเกิดภัยแล้ง ที่ผ่านมานำมาใช้อย่างเร่งด่วนโดยเฉพาะให้ตกในพื้นที่จำเป็นที่สุดก่อน ที่ต้องอาศัยจังหวะสภาพอากาศเหมาะสมขึ้นระดมทำฝนหลวงให้ตกในพื้นที่เขื่อนทั้ง 2  แห่งอย่างเร่งด่วน

          ปรับแผนแก้แล้งเร่งทำฝนหลวง

          "สำนักพระราชวังยังได้กำชับถึงสถานการณ์น้ำเขื่อนวิกฤติแล้ว ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นห่วงประชาชนมาโดยตลอด จึงให้ยึดแนวทางที่พระองค์ พระราชทานในการแก้ไขวิกฤตการณ์ทุกครั้งและสามารถบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและเกษตรกรให้ผ่านพ้นไปได้ทุกครั้ง ในครั้งนี้ กรมฝนหลวงฯ ควรปรับแก้การทำ ฝนหลวง โดยน้อมนำไปใช้อย่างจริงจัง ให้ย้ายฐานที่กระจัดกระจายไปถึง 13 หน่วย มาปฏิบัติการฝนหลวงระดมทำเฉพาะในพื้นที่จำเป็นเร่งด่วนก่อนเพื่อช่วงชิง ขณะนี้สภาพอากาศที่มีร่องมรสุมเข้ามาและมีความกดอากาศต่ำ ทำให้สภาพอากาศ มีความชื้น เพียงพอสามารถทำฝนหลวงได้ผล โดยใช้เทคนิคพระราชทาน เช่น "ซุปเปอร์แซนด์วิช" ที่จะทำจุดให้ ฝนตกได้ในจุดหลักก่อน" นายชวลิต ย้ำ

          ปลัดฯบินดู2เขื่อนทำฝนเทียม

          ปลัดกระทรวงเกษตรฯกล่าวว่า วันที่ 24 มิถุนายน ตนพร้อมกรม ฝนหลวงฯและทีมนักวิทยาศาสตร์ของ กรมทั้งหมดไปตรวจสอบสภาพปัญหา น้ำในเขื่อนสองแห่งและประชุมทันที เพื่อวางแผนการทำฝนหลวง ตามแนวทางพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อระดมทีมทำฝนหลวงทั้งหมด ที่มีอยู่ทำฝนหลวงเติมน้ำในเขื่อนทั้งสองที่วิกฤติเพื่อกู้สถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นให้อย่างเร่งด่วนรวมทั้งการทำฝนหลวงในพื้นที่ทั้งสองเขื่อนจะสามารถช่วยเกษตรกรได้โดยเร็วด้วย

          ภูมิพลวิกฤติ57ปี/สิริกิติ์40ปี

          "จากการรายงานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ที่ดูแลสองเขื่อน พบว่าน้ำในเขื่อนภูมิพล อยู่ในระดับวิกฤติหนักในรอบ 57 ปี โดย ที่ผ่านมาน้ำที่ใช้ในการเกษตรมีค่าเท่ากับศูนย์ไม่สามารถจะปล่อยน้ำกับเกษตรกรได้อีกแล้ว ขณะที่สถานการณ์น้ำในเขื่อน สิริกิติ์อยู่ในขั้นวิกฤติสุดในรอบ 40 ปี มีน้ำในขณะนี้เพียง 500 ล้าน ลบ.ม.เท่านั้น จะให้น้ำเพื่อการเกษตรเหลืออีก 200 ล้านลบ.ม." นายชวลิต ย้ำ

          ในส่วนแผนการช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ชะลอปลูกข้าวนาปี 4 ล้านไร่นั้น ขณะนี้ได้ระดมเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ไปสำรวจพื้นที่เพื่อวางแผนและประเมินสถานการณ์ สรุปตัวเลขการใช้งบประมาณ เสนอต่อครม.พิจารณาโดยให้พื้นที่เร่งสรุปข้อมูลที่ไปสำรวจความต้องการจากชาวนา มายังกระทรวงภายในวันที่ 26 มิถุนายน เป็นวันสุดท้าย พร้อมกับได้ให้กระทรวงมหาดไทย และฝ่ายทหารกอ.รมน.ช่วยชี้แจงทำความเข้าใจไม่ให้เกิดศึกแย่งชิงน้ำ

          กษ.พร้อมขุดเจาะ269บ่อบาดาล

          เบื้องต้นได้ร่วมพิจารณา กับ กระทรวงทรัพยากรฯเพื่อขุดเจาะบ่อบาดาลสรุปว่ามีพื้นที่เหมาะสมขุดเจาะได้ทันที 269 จุด ขณะนี้หน่วยงานในพื้นที่พร้อมลงมือปฏิบัติเพื่อให้ชาวนาใช้น้ำได้เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนในพื้นที่เกษตร ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นห่วงเกษตรกรมาก ให้เร่งสรุปความต้องการของเกษตรกรที่อยากให้ช่วยเหลือ เบื้องต้นพบว่าอยากได้น้ำเป็นสิ่งแรกเพราะต้องการทำนาและถ้าไม่มีน้ำ จะมีมาตรการช่วยเหลือเขาอย่างไรก็ยืนยันว่าจะระดมทำฝนหลวงทันที และเร่งสรุปแนวทางช่วยเหลือหลังจากประเมินตัวเลขชัดเจนทั้งหมดภายในสัปดาห์หน้า

          นายกฯย้ำมีแผนจัดน้ำแก้ภัยแล้ง

          วันเดียวกัน ที่เมืองเนปิดอว์ เมียนมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)กล่าวถึงปัญหาภัยแล้งขณะนี้ว่ามีความเป็นห่วง และได้สั่งการในการประชุม ครม. วันที่ 23 มิถุนายนให้หารือแนวทางช่วยภาคเกษตรกร ที่มีปัญหาจากปัญหา ภัยแล้ง โดยรัฐบาลได้มีแผนบริหาร จัดการน้ำไว้แล้ว โดยวางระยะเวลาไว้ถึงปี 2569 ทั้งการขุดลอกคูคลอง การทำ แก้มลิง การขุดบ่อบาดาล แต่ปัญหา คือฝนไม่ตก ถ้าฝนตกมา น่าจะดีขึ้น

          แนะออกระเบียบแก้ปัญหาแย่งน้ำ

          นายกฯยังกล่าวอีกว่า ส่วนของเกษตรกรก็ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการปลูกพืช ในอนาคตจะต้องดูทิศทางประเทศว่าจะไปทางไหนให้เป็นเกษตรอุตสาหกรรม เราก็ต้องปลูกข้าวเพราะเราประกาศจะเป็นครัวโลกเพราะอนาคตโลกจะแล้งมากขึ้น จะมีปัญหาแน่ๆ ส่วนกรณีปัญหาการแย่งน้ำของประชาชนในบางพื้นที่จากภัยแล้งนั้น เกิดจากความไม่เชื่อใจ อบต.และจะให้ทหารเข้าไปช่วยทุกพื้นที่ คงไม่ได้จึงต้องมีการจัดระเบียบให้ดี

          ปีติพงศ์ชงครม.เยียวยาภัยแล้ง

          ด้าน นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงสถานการณ์ภัยแล้ง ว่า มีการรายงานสถานการณ์ภัยแล้ง เข้ามาอย่างต่อเนื่อง ในส่วนความต้องการของประชาชนต้องนำมารวบรวม และสรุปให้ชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไรโดยจะหารือร่วมกันอีกครั้งในที่ประชุมครม.เศรษฐกิจ ในวันพุธที่ 24 มิถุนายนนี้ ว่าจะช่วยเหลือเยียวยาเฉพาะหน้าอย่างไร ส่วนเกษตรกรที่ยังไม่เริ่มเพาะปลูกนาปี ต้องขอความร่วมมือให้ชะลอออกไป ขณะนี้มีปัญหาที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพียงแห่งเดียว ที่มีพื้นที่ เพาะปลูกประมาณ 4 ล้านไร่

          "จากการทำงานมา 7-8 เดือน เห็นว่า จะต้องมีการปรับโครงสร้างชลประทาน โดยจะมองเพียงความต้องการน้ำอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องดูอุปสงค์ของน้ำด้วย ต้องทำให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัดที่สุด และต้องปรับให้มีการควบคุมน้ำมากขึ้น เพราะปริมาณน้ำน้อยลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนแนวคิดให้มีการขุดเจาะบาดาล เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้ามีแน่นอน" รมว.เกษตรฯ ย้ำ

          ทส.พร้อมอัดงบ51ล้านขุดบาดาล

          ด้าน พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงการเตรียมการขุดเจาะน้ำบาดาลแก้ไขปัญหาภัยแล้งว่าสามารถดำเนินการโดยใช้งบประมาณของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลที่มีอยู่เดิม 51 ล้านบาท ไม่ต้องของบเพิ่ม เดิมกระทรวงทรัพยากรฯ มีแผนขุดเจาะน้ำบาดาลประจำปีอยู่แล้ว ในภาคเหนือและภาคอีสานแต่ปีนี้เกิดภัยแล้งในลุ่มน้ำเจ้าพระยาจึงต้องปรับแผน จึงได้สั่งการให้ตรวจสอบอย่างละเอียดว่าจุดที่พบน้ำบาดาลกี่จุดแล้วเพื่อจะนำข้อมูลเข้าครม.เศรษฐกิจ กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ในวันที่ 24 มิถุนายนนี้ ส่วนปัญหาการแย่งน้ำของเกษตรกรบางพื้นที่นั้น มีการหารืออยู่ เป็นหน้าที่ต้องทำความเข้าใจ โดยได้มีการสั่งการมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเข้าไปดูแลแก้ปัญหา

          มท.1นำข้อมูล ถกภัยแล้ง-แก้แย่งน้ำ

          พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงที่ ครม.มอบหมายให้ดูแลการแย่งน้ำจากปัญหาภัยแล้งว่า ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเตรียมข้อมูลเพื่อเข้าหารือในการประชุมครม.เศรษฐกิจ วันที่ 24 มิถุนายน จะต้องดูข้อมูลในปริมาณน้ำที่มีในปัจจุบัน กับปริมาณน้ำในช่วงฤดูฝน และต้องดูในภาพรวมว่าพื้นที่ใด ควรช่วยเหลืออย่างไรและต้องดูปริมาณน้ำ ทั้งหมดเพียงพอหรือไม่ ส่วนพื้นที่ที่ไม่มีน้ำ จะต้องดูว่าจะสามารถนำน้ำจากแหล่งใดมาช่วยเหลือ พร้อมหามาตรการรับมือผลกระทบและกำชับผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องประสานความร่วมมือ จากทุกฝ่าย

          'บิ๊กตู่'เอาจริงแก้ปัญหาภัยแล้ง

          บ่ายวันเดียวกัน ที่ตึกนารีสโมสร พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ว่าที่ประชุมรับทราบหลายเรื่องเกี่ยวกับปัญหาภัยแล้ง แม้เข้าสู่ฤดูฝนแล้วแต่ปริมาณฝนที่ตก ยังไม่มากนักและตกในพื้นที่ใต้เขื่อนรับน้ำขนาดใหญ่ ทำให้น้ำต้นทุนในเขื่อนหลักๆ ที่พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาภาคกลาง มีปริมาณน้อยจึงเป็นข้อห่วงใยของนายกฯอย่างยิ่ง ต่อเรื่องการบริหารจัดการน้ำและการช่วยเหลือเกษตรกร ทั้งชาวนา ชาวไร่ ชาวสวนและประชาชนโดยทั่วไป

          ทั้งนี้ ครม.มีมติให้คณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการน้ำ กับกระทรวงทรัพยากรฯได้พิจารณาเตรียมการขุดเจาะน้ำบาดาลเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและให้กระทรวงเกษตรฯดำเนินการขุดเจาะน้ำใต้ดินเสริมอีก และให้กระทรวงเกษตรฯกับ กระทรวงมหาดไทย ร่วมทำความเข้าใจกับเกษตรกรให้เข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและขอให้ชะลอการปลูกข้าวออกไปก่อนจนถึงช่วงปลายเดือนกรกฎาคม อีกทั้งยังขอให้กระทรวงกลาโหม จัดส่งทหารไปยังพื้นที่เกษตรทั่วประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อการจัดลำดับความเร่งด่วนในการใช้น้ำในแต่ละพื้นที่เกษตร

          ลั่นต้องดูแลเกษตรกรทั้งหมด

          "ท่านนายกฯยังสั่งการจะดูแลเกษตรกร ชาวนา เพียงอย่างเดียวไม่ได้เพราะว่าพี่น้องเกษตรกรชาวสวนนั้นก็มีความสำคัญ เกษตรกรชาวสวนที่มีการปลูกไม้ยืนต้น หากไม้ยืนต้นตายต้องใช้ระยะเวลาถึง 3-4 ปี และ ท่านนายกฯยังสั่งการอีกว่าการประชุมครม.เศรษฐกิจ วันที่ 24 มิถุนายน เรื่องภัยแล้งนี้ ถือเป็น เรื่องสำคัญที่ทุกกระทรวง ทบวง กรมที่เกี่ยวข้องต้องจัดเตรียมข้อมูลเพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติทั้งระบบเนื่องจากการช่วยเหลือเกษตรกรและเตรียมน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศน์มีความสำคัญมาก จะมาคุยเป็นส่วนๆ คงไม่ได้"โฆษกประจำสำนักนายกฯย้ำ

          สำหรับน้ำที่จะนำมาแก้ไขปัญหา จะมีทั้ง น้ำใต้ดิน น้ำบาดาลและการทำฝนเทียม ปัจจุบันได้นำทีมทำฝนเทียมจากภาคใต้มาช่วยเหลือในพื้นที่ภาคกลางตอนบน ภาคเหนือ และภาคอีสาน เพื่อเร่งรัดให้มีการเกิดฝนตกและไหลลงสู่เขื่อนขนาดใหญ่ ถือได้ผลประมาณ 95% แต่ปริมาณฝนที่ตกก็ยังไม่เพียงพอ

          แม่น้ำแห้งต่อเนื่องต้องหยุดสูบ

          สำหรับสภาพแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำป่าสักและคลองสาขา ในขณะนี้ พบว่ามีระดับลดลงเป็นอย่างมาก จนวิกฤติหนัก ริมตลิ่งชายแม่น้ำ โผล่เป็นแนวยาว ในแม่น้ำป่าสัก เรือขนถ่ายสินค้า ต้องจอดติดแห้งรอน้ำทะเลหนุนให้สูงขึ้น โดยเฉพาะ ที่สำนักงานชลประทานบางบาล ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา อำเภอบางบาล เร่งสูบน้ำช่วยเหลือนาข้าวในทุ่งบางบาล ต้องได้รับผลกระทบจากระดับน้ำเจ้าพระยาที่ลดแห้งต่ำลงต้องหยุดสูบน้ำทันทีเมื่อเช้าวันที่ 23 มิถุนายน และจะสูบอีกครั้งเมื่อระดับน้ำสูงขึ้นในเช้า วันที่ 24 มิถุนายนนี้ นอกจากนี้ ยังพบว่าชาวนาอีกมากยังเร่งทำนาโดยไม่สนคำเตือนของชลประทานให้หยุด และชะลอทำนาไปก่อนแต่ชาวนาส่วนใหญ่ยังเชื่อว่าในเดือนกรกฎาคม ต้องมี ฝนตกลงมาอย่างแน่นอน ไม่ต้องพึ่งน้ำของชลประทาน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2558

มท. ย้ำผู้ว่าฯ 22 จังหวัด ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เร่งทำความเข้าใจเกษตรกรมาตราการรัฐบาล

พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย  ประชุมหารือข้อราชการและติดตามการขับเคลื่อนภารกิจสำคัญตามนโยบายรัฐบาล ผ่านระบบ Video Conference ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ  โดยได้ เน้นย้ำ ถึงสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ ว่า ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด โดยเฉพาะในพื้นที่ 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา เร่งทำความเข้าใจกับเกษตรกรรับทราบถึงมาตรการต่าง ๆ ตามที่รัฐบาลได้กำหนดมาตรการบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการ  รวมถึงสถานการณ์น้ำในขณะนี้ และขอทุกฝ่ายให้ความร่วมมือ เพื่อให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอ และลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น โดยรัฐบาลจะเร่งแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่ และจากที่ได้รับทราบข้อมูลในการทำฝนหลวงว่ายังได้ปริมาณฝนไม่มาก เนื่องจากสภาพความชื้นของอากาศยังไม่เพียงพอ แต่ในระยะต่อไป หากสภาพอากาศเหมาะสม คาดว่าจะมีฝนหลวงเข้ามาช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้น

นอกจากนี้ยังได้กำชับให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะประชาชนผู้ด้อยโอกาส ผู้ยากไร้ โดยมีศูนย์ดำรงธรรมทำหน้าที่หลัก เพื่อให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรมและมีทางออกในการแก้ไขปัญหา ขอให้ศูนย์ดำรงธรรมเป็นที่พักพิงให้กับประชาชนอย่างแท้จริง

จาก http://www.thanonline.com วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2558

เปิดรายงานกนง.มีมติคงดบ.นโยบายรักษา policy spaceไว้สำหรับสถานการณ์จำเป็น

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (ฉบับย่อ) ครั้งที่ 4/2558 วันที่ 10 มิถุนายน 2558 ธนาคารแห่งประเทศไทย เผยแพร่ ณ วันที่ 24 มิถุนายน 2558

มีกรรมการที่เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล (ประธาน) นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ (รองประธาน) นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน    นายจำลอง อติกุล นายปรเมธี วิมลศิริ นายวิรไท สันติประภพ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

ภาวะเศรษฐกิจต่างประเทศเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อนและมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น จากเศรษฐกิจจีนซึ่งขยายตัวต่ำกว่าคาด แม้ว่าทางการจีนได้ใช้มาตรการทั้งด้านการเงินและด้านการคลัง ช่วยดูแลการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนส่งผลให้เศรษฐกิจเอเชียอื่นๆ (ไม่รวมญี่ปุ่น) มีแนวโน้มชะลอลงตามการส่งออกไปจีนและการค้าภายในภูมิภาคเอเชียที่หดตัว

สอดคล้องกับ ภาคการผลิตที่ชะลอลง ด้านเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอลงตามการลงทุนในภาคพลังงานที่ลดลงในภาวะที่ราคาน้ำมันโลกอยู่ในระดับต่ำ และการส่งออกสุทธิที่ติดลบมากขึ้น แต่ยังคงมีปัจจัยพื้นฐานดีซึ่งจะสนับสนุน การฟื้นตัวที่ต่อเนื่องในระยะข้างหน้าและทาให้ตลาดคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายภายในปีนี้ ขณะที่เศรษฐกิจกลุ่มยูโรทยอยฟื้นตัวต่อเนื่องตามการบริโภคที่เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวชัดเจนขึ้น โดยมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ของธนาคารกลางยุโรปมีส่วนช่วยประคับประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ยังมีความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของรัฐบาลกรีซ สำหรับเศรษฐกิจญี่ปุ่น ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยผลการเจรจาขึ้นค่าจ้างประจำปีเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อการบริโภคในระยะต่อไป ทั้งนี้ เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้าลงในภาพรวมจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้การส่งออกสินค้าของไทยฟื้นตัวช้าตามไปด้วย

ภาวะตลาดการเงิน

การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2558 ช่วยให้ภาวะการเงินโดยรวมผ่อนคลายมากขึ้น โดยอัตราดอกเบี้ยตลาดเงินและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับลดลงทันทีหลังการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อย่างไรก็ดี แรงขายพันธบัตรรัฐบาลในตลาดภูมิภาคในช่วงครึ่งแรกของเดือนพฤษภาคม 2558 ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะกลางและยาวปรับเพิ่มขึ้นจากการประชุม ครั้งก่อน อัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์ สรอ. และดัชนีค่าเงินบาท (NEER) อ่อนค่าลงต่อเนื่องจาก การปรับมุมมองของผู้ร่วมตลาดต่อแนวโน้มค่าเงินบาทหลังการแถลงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินในวันที่ 29 เมษายน 2558 และการประกาศแนวทางผ่อนคลายเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศของ ธปท. ในวันที่ 30 เมษายน 2558 รวมทั้งเป็นผลจากการที่นักลงทุนต่างชาติขายสินทรัพย์ในตลาดเกิดใหม่ ในเดือนพฤษภาคม สะท้อนจากเงินทุนไหลออกสุทธิจากตลาดพันธบัตรไทยในช่วงดังกล่าว ทั้งนี้ ตลาดพันธบัตรและตลาดเงินตราต่างประเทศมีความผันผวนสูงขึ้นจากความไม่แน่นอนของช่วงเวลาที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและความกังวลเรื่องการชำระหนี้ของกรีซ

อัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ทยอยปรับลดลงภายหลังการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2558 แต่ในภาพรวมเป็นการปรับลดที่ค่อนข้างช้าเมื่อเทียบกับการปรับลดหลังการประชุมเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2558

ภาวะเศรษฐกิจในประเทศ

เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน โดยแรงส่งทางเศรษฐกิจในช่วง ไตรมาสที่ 1 และเดือนเมษายน 2558 ชะลอลงจากการบริโภคภาคเอกชนที่ยังเปราะบางและการส่งออก ที่หดตัวต่อเนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและเอเชียและการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างการค้าโลก อย่างไรก็ดี การเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐที่ทาได้ดีขึ้นและการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดีต่อเนื่องมีบทบาทในการช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ ขณะที่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมสองครั้งที่ผ่านมาช่วยเพิ่ม สภาพคล่องและลดต้นทุนทางการเงินของธุรกิจได้บางส่วน

ในระยะต่อไป เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มปรับดีขึ้นอย่างช้าๆ โดยมีแรงส่งจากการใช้จ่ายภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐที่คาดว่าจะทาได้ดีและต่อเนื่อง รวมทั้งภาคการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเติบโตดี อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังเปราะบาง ภาคครัวเรือนยังคงระมัดระวังการใช้จ่ายตามรายได้ที่ยังมีแนวโน้มชะลอตัว สถาบันการเงินยังเข้มงวด ในการปล่อยสินเชื่อ และการส่งออกมีแนวโน้มหดตัวมากกว่าคาดจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและเอเชีย ทั้งนี้ แนวโน้มการฟื้นตัวของการบริโภคที่ยังเปราะบางและการส่งออกที่อ่อนแอเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ผู้ประกอบการชะลอการลงทุนออกไป ประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของปี 2558 จึงปรับลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 3.0 ขณะที่ประมาณการของปี 2559 อยู่ที่ร้อยละ 4.1

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบต่อเนื่องจากต้นทุนด้านพลังงานและอาหารสดเป็นหลัก แต่คาดว่าจะปรับสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีด้วยผลของฐานราคาน้ามันสูงที่จะทยอยหมดไป รวมทั้งแนวโน้มราคาน้ำมันและอาหารสดที่คาดว่าจะปรับสูงขึ้นตามปริมาณการผลิตน้ำมันในตลาดโลกและอุปทานส่วนเกินของสินค้าเกษตรภายในประเทศที่มีแนวโน้มลดลง   ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังเป็นบวกแต่โน้มลดลงบ้างเพราะแรงกดดันจากด้านอุปสงค์มีจำกัด ประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของปี 2558 จึงปรับลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ -0.5 และ 1.0 ตามลาดับ ขณะที่ประมาณการของปี 2559 อยู่ที่ร้อยละ 1.6 และ 1.0 ตามลำดับ

อย่างไรก็ดี คณะกรรมการฯ ประเมินว่าโอกาสของการเกิดภาวะเงินฝืดยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากการอุปโภคบริโภคยังขยายตัว ราคาสินค้าและบริการส่วนใหญ่ยังมีแนวโน้มทรงตัวหรือเพิ่มขึ้น และการคาดการณ์เงินเฟ้ออยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับเป้าหมายเงินเฟ้อ คณะกรรมการฯ รับทราบการปรับปรุงการจัดทำผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) รายไตรมาสของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และได้อภิปรายถึงนัยต่อ การดำเนินนโยบายการเงิน ทั้งนี้ สศช. ได้ปรับเปลี่ยนวิธีคำนวณ GDP จากเดิมที่ใช้ระบบปีฐานคงที่ (Fixed-Weighted Volume Measure) โดยใช้ปี 2531 เป็นปีฐาน เป็นวิธีการคำนวณแบบปริมาณลูกโซ่ (Chain Volume Measures: CVM) รวมทั้งได้ปรับปรุงการคุ้มรวม (coverage) และการจำแนกหมวดหมู่ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญและกิจกรรมใหม่ให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ ซึ่งทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจไทยภายใต้อนุกรมใหม่เปลี่ยนแปลงไปจากอนุกรมเดิม โดยโครงสร้างภายใต้อนุกรมใหม่มีความทันสมัยมากขึ้น ทั้งนี้ ในภาพรวมการประเมินศักยภาพของเศรษฐกิจไทย ช่องว่างการผลิต (output gap) และวัฏจักรเศรษฐกิจภายใต้อนุกรมใหม่ ไม่แตกต่างจากการประเมินภายใต้อนุกรมเดิมอย่างมีนัยสำคัญ คณะกรรมการฯ จึงเห็นว่า การปรับปรุงวิธีการจัดทำข้อมูล GDP ดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อมุมมองและทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป

การดำเนินนโยบายที่เหมาะสม

ในการตัดสินนโยบาย คณะกรรมการฯ ให้ความสำคัญกับการพิจารณา trade-off ระหว่างประสิทธิผลจากการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติม เทียบกับความจำเป็นในการรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงิน (policy space) ที่มีจ่ากัดไว้ใช้ในระยะต่อไป ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าการดำเนินนโยบายการเงินในช่วงที่ผ่านมาได้ช่วยให้ภาวะการเงินผ่อนคลายขึ้น ประกอบกับอัตราแลกเปลี่ยนได้ปรับตัวในทิศทางที่เอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากขึ้น แต่การตอบสนองของธนาคารพาณิชย์ต่อการผ่อนคลายนโยบายเพิ่มเติมอาจน้อยและช้าลงในภาวะปัจจุบัน ในขณะเดียวกัน คณะกรรมการฯ เห็นว่าเศรษฐกิจจะยังเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงจากทั้งในและต่างประเทศในระยะข้างหน้า จึงควรพิจารณารักษา policy space ไว้รองรับ ความเสี่ยงดังกล่าวด้วย

ภายหลังการอภิปรายในประเด็นเชิงนโยบายข้างต้น คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 โดยเห็นพ้องว่าความเสี่ยงด้านต่ำต่อเศรษฐกิจยังมีอยู่และมีความไม่แน่นอนสูงขึ้น จึงควรรักษา policy space ไว้สำหรับสถานการณ์ที่มีความจำเป็นและภายใต้บริบทที่การผ่อนคลายนโยบายการเงินจะเกิดประสิทธิผลมากขึ้น อนึ่ง ในขณะนี้แรงขับเคลื่อนด้านการคลังที่มากขึ้นมีส่วนช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ จึงสามารถรอประเมินผลของการดำเนินนโยบายการเงินในช่วงที่ผ่านมาต่อภาคเศรษฐกิจจริงก่อน นอกจากนี้ กรรมการจำนวนหนึ่งเห็นว่าการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมอาจมีส่วนเพิ่มความไม่สมดุล ทางการเงินที่อาจก่อตัวขึ้นภายใต้ภาวะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำมานาน เช่น พฤติกรรมแสวงหากำไร ในสินทรัพย์เสี่ยง และแนวโน้มการออมของภาคครัวเรือนในระยะยาว

ในระยะต่อไป ภายใต้แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังเปราะบาง คณะกรรมการฯ เห็นถึงความจำเป็นในการดูแลภาวะการเงินให้ผ่อนคลายเพียงพอและต่อเนื่องผ่านการใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่เหมาะสม ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการทางเศรษฐกิจการเงินของไทยอย่างใกล้ชิด และพร้อมใช้ policy space ที่มีอยู่อย่างเหมาะสม เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพการเงินในระยะยาว

จาก http://www.thanonline.com วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2558

กรมการค้าภายในขอความร่วมมือเอกชนลดปัจจัยการผลิตให้กับเกษตรกร

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรในฤดูกาลผลิตที่กำลังจะมาถึง ตามที่พล.อ.ประยุทธ์        จันทร์โอชา    นายกรัฐมนตรีได้แสดงความเป็นห่วง เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง กรมการค้าภายในได้หารือกับผู้ประกอบการเพื่อลดราคาจำหน่ายปัจจัยการผลิต ได้แก่ ปุ๋ยเคมี ซึ่งผู้ประกอบการได้ให้ความร่วมมือปรับลดราคาจำหน่ายปุ๋ยเคมีที่ใช้ในนาข้าวในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล จำนวน 4 สูตร ลดลงกระสอบ (50 กก.) ละ 40 – 50 บาท ปุ๋ยเคมีที่ใช้กับพืชชนิดอื่น ๆ จำนวน 7 สูตร ลดลงกระสอบ (50 กก.) ละ 25 – 50 บาท ยาป้องกันกำจัดศัตรูพืช ร้านค้าตัวแทนจำหน่ายในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ปรับลดราคาลง จำนวน 7 สูตร ลดลงร้อยละ 5 - 10 และค่าบริการรถเกี่ยวข้าว ขอให้ผู้ให้บริการรถเกี่ยวข้าวปรับลดราคาลงในฤดูการผลิตข้าวนาปี 2558/59 โดยจะคิดค่าบริการรถเกี่ยวข้าวภาคกลางที่ราคาไร่ละ 450 บาท ส่วนภาคอื่น ๆ จะคิดค่าบริการไม่เกินไร่ละ 500 บาท ยกเว้นกรณีพื้นที่นาไม่สม่ำเสมอ ซึ่งยากต่อการเก็บเกี่ยว

อธิบดีกรมการค้าาภายในกล่าวว่าเชื่อว่า การดำเนินการลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกร จะเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน และสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่เกษตรกรได้ตามเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนด

จาก http://www.thanonline.com วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2558

แจงสี่เบี้ย : กรมพัฒนาที่ดินกับการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ (3)

การผลิตน้ำหมักชีวภาพ โดยใช้สารเร่ง ซุปเปอร์ พด.2 ซึ่งเป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติในการเพิ่มประสิทธิภาพการย่อยวัสดุที่มีลักษณะสดความชื้นสูง เพื่อผลิตน้ำหมักชีวภาพในเวลาสั้นและได้คุณภาพน้ำหมักชีวภาพที่ได้ประกอบด้วย ฮอร์โมน กรดอะมิโน กรดฮิวมิค กรดอินทรีย์ และธาตุอาหาร

สำหรับสูตรน้ำหมักชีวภาพโดยใช้สารเร่ง ซุปเปอร์ พด.2 นั้น มีหลายสูตรด้วยกัน เช่น สูตรน้ำหมักชีวภาพจากผักและผลไม้ สูตรน้ำหมักชีวภาพจากปลา หรือหอยเชอรี่ สูตรน้ำหมักชีวภาพจากน้ำนมดิบคุณภาพต่ำ และสูตรน้ำหมักชีวภาพจากน้ำนมดิบคุณภาพต่ำและผลไม้

การผลิตน้ำหมักชีวภาพโดยวิธีการต่อเชื้อ เป็นการผลิตน้ำหมักชีวภาพที่มีอายุการหมัก 5-7 วัน จำนวน 2 ลิตร แทนการใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด.2 จำนวน 1 ซอง และใช้อัตราส่วนของวัสดุหมักเท่าเดิม

ส่วนน้ำหมักชีวภาพที่หมักสมบูรณ์แล้ว การเจริญของจุลินทรีย์น้อยลงโดยคราบเชื้อที่พบในช่วงแรกจะลดลง กลิ่นแอลกอฮอล์ลดลง ไม่พบฟองก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ความเป็นกรดเป็นด่าง อยู่ระหว่าง 3-4

การใช้พืชให้ความหวานทดแทนกากน้ำตาลในการผลิตน้ำหมักชีวภาพได้แก่ น้ำตาลทราย น้ำอ้อย ลำไย ฝักจามจุรี โดยมีปริมาณการใช้แทนการใช้กากน้ำตาล10 กิโลกรัม ดังนี้ น้ำตาลทราย 5 กิโลกรัม น้ำอ้อย 10 ลิตร ลำไย 20 กิโลกรัม และฝักจามจุรี 30 กิโลกรัม

อัตราและวิธีการใช้น้ำหมักชีวภาพ ในพื้นที่นาข้าว เริ่มจากการแช่เมล็ดพันธุ์ข้าว ผสมน้ำหมักชีวภาพ 2 ช้อนโต๊ะ ในน้ำ 1 ปี๊บ แช่เมล็ดพันธุ์ข้าว 20 กิโลกรัม 12 ชั่วโมง แล้วนำขึ้นพักไว้ 1 วัน แล้วนำไปปลูกจากนั้นไถกลบตอซัง โดยใช้น้ำหมักชีวภาพ 5 ลิตร ผสมน้ำ 100 ลิตร ราดให้ทั่วแปลง หมักไว้ 10-15 วัน ในพื้นที่ 1 ไร่ เมื่อถึงช่วงการเจริญเติบโตของต้นข้าว ให้ผสมน้ำหมักชีวภาพ 13 ช้อนโต๊ะ น้ำ 100 ลิตร ฉีดพ่นหรือลดลงดินในพื้นที่ 1 ไร่ เมื่อข้าวอายุ 30 50 และ 60 วัน

ส่วนพืชไร่ ควรผสมน้ำหมักชีวภาพ 13 ช้อนโต๊ะ ในน้ำ 400 ลิตร ฉีดพ่นหรือรดลงดินทุกๆ 10 วัน ในพื้นที่ 1 ไร่ พืชผักและไม้ดอก ผสมน้ำหมักชีวภาพ 6 ช้อนโต๊ะ ในน้ำ 100 ลิตร ฉีดพ่นหรือรดลงดินทุกๆ 10 วัน ในพื้น 1 ไร่ และไม้ผล ผสมน้ำหมักชีวภาพ 30 ช้อนโต๊ะ ในน้ำ 250 ลิตร ฉีดพ่นหรือรดลงดินทุกๆ 1 เดือน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ทีเออีลุยลงทุนเอทานอลเพิ่มจ่อประมูลข้าวเน่า 1ล้านตัน

    ไทยอะโกร เตรียมสรุปแผนลงทุนโรงงานเอทานอล 2 แสนลิตรต่อวัน คาดใช้เงิน1.2 พันล้านบาท มั่นใจโรดแมปกระทรวงพลังงานหนุนความต้องการใช้เอทานอล 9 ล้านลิตรต่อวันภายในปี 2564 ขณะที่ราคาขายยังสูงกว่าน้ำมันที่24-25 บาทต่อลิตร "สิริวุทธิ์" เผยกระทรวงพลังงานเตรียมสรุปข้าวเน่า 1 ล้านตัน มาทำเอทานอล มั่นใจไม่กระทบเอทานอลในระบบ

    นายสมชาย โล่ห์วิสุทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยอะโกร เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ ทีเออี เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า แม้ว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกยังอยู่ในระดับต่ำ แต่ความต้องการใช้เอทานอลของประเทศยังมีการเติบโตสูงขึ้น โดยล่าสุดอยู่ที่ 3.64 ล้านลิตรต่อวัน เทียบกับเดือนที่แล้วอยู่ที่ 3.469 ล้านลิตรต่อวัน หรือเติบโต 4.9% จากเดือนก่อน โดยเอกชนยังคงมั่นใจแผนโรดแมปของกระทรวงพลังงานที่จะส่งเสริมการใช้เอทานอลให้ได้ 9 ล้านลิตรภายในปี 2564

    จากแนวโน้มของความต้องการใช้เอทานอลที่เพิ่มขึ้นนี้ ทางบริษัทกำลังจะสรุปแผนลงทุนโรงงานผลิตเอทานอล ที่ใช้วัตถุดิบได้ทั้งมันสำปะหลังและกากน้ำมันตาล(โมลาส) ขนาด 2 แสนลิตรต่อวัน ซึ่งล่าสุดอยู่ระหว่างเจรจากับเจ้าของสิทธิบัตร(ไลเซนส์) ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน(รง.4) แล้ว คาดว่าจะสรุปได้เร็วๆนี้ หรือช้าสุดไม่น่าจะเกินสิ้นปีนี้ ซึ่งจะใช้เงินลงทุนประมาณ 1.2 พันล้านบาท

    ทั้งนี้ หลังจากบริษัทลงทุนโรงงานเอทานอลแห่งนี้ จะทำให้บริษัทมีกำลังการผลิตเอทานอลรวมทั้งสิ้น 5.5 แสนลิตรต่อวัน จากปัจจุบันอยู่ที่ 3.5 แสนลิตรต่อวัน ปัจจุบันราคาขายเอทานอลในประเทศอยู่ที่ 25 บาทต่อลิตร โดยต้นทุนเอทานอลจากมันสำปะหลังในปีนี้จะต่ำกว่าเอทานอลจากโมลาสเล็กน้อย แต่ก็ยังสามารถแข่งขันได้

    สำหรับการปรับโครงสร้างราคาเอทานอลของกระทรวงพลังงานนั้น ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของภาครัฐ ซึ่งยังไม่มีหนังสือแจ้งจากกระทรวงพลังงานว่าจะมีการปรับโครงสร้างราคาเอทานอลอย่างไร โดยปัจจุบันนโยบายของภาครัฐยังคงส่งเสริมการใช้แก๊สโซฮอล์ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีความคิดเห็นจากคนบางกลุ่มว่าราคาเอทานอลสูงกว่าเนื้อน้ำมัน แต่ก็ไม่ได้สูงกว่าเนื้อน้ำมันเบนซิน เนื่องจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับขึ้นมาอยู่ที่ 60 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล เทียบกับช่วงต้นปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 40 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ยกเว้นแก๊สโซฮอล์อี85 ที่มีสัดส่วนผสมเอทานอลมากถึง 85% ดังนั้นต้นทุนจะเพิ่มขึ้น แต่ภาครัฐได้ใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาอุดหนุน เพื่อต้องการช่วยเหลือเกษตรกร

    นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี นายกสมาคมผู้ค้าผู้ผลิตเอทานอลไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึง ความคืบหน้าการนำข้าวเน่าเกรดซีมาผลิตเป็นเอทานอลนั้น ขณะนี้ทางกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างประสานร่วมกัน และประกาศให้ผู้ประกอบการโรงงานเอทานอลเข้าประมูลข้าวเน่า เพื่อนำมาผลิตเอทานอลเร็วๆนี้ โดยโรงงานที่จะเข้าประมูลได้จะต้องเป็นโรงงานเอทานอลจากมันสำปะหลัง เพราะสามารถนำข้าวมาโม่เป็นแป้ง เพื่อเข้าสู่กระบวนการผลิตเอทานอลต่อไป คาดว่าข้าวเน่าล็อตแรกจะอยู่ที่ 1 ล้านตัน และผลิตเป็นเอทานอลได้ 200-300 ล้านลิตร ซึ่งเป็นปริมาณไม่มาก ที่จะส่งผลต่อการผลิตเอทานอลในระบบแต่อย่างใด

    "เอทานอลที่ผลิตจากข้าวเน่า จะนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงหรือผสมเป็นแก๊สโซฮอล์เท่านั้น จะไม่เข้ามาปะปนกับเอทานอลในระบบ เพราะรัฐกังวลว่าหากเอทานอลจากข้าวเน่าเข้ามาปนในระบบก็จะทำให้เอทานอลไทยพังทั้งระบบ เบื้องต้นภาครัฐอยู่ระหว่างให้เอกชนยื่นประมูล คาดว่ากระทรวงพลังงานอาจให้ผู้ค้าน้ำมันรับซื้อเอทานอลดังกล่าวทั้งหมด ส่วนจะได้ข้อสรุปเมื่อใดนั้นขึ้นอยู่กับนโยบายของภาครัฐ" นายสิริวุทธิ์ กล่าว

    สำหรับความต้องการใช้เอทานอลปัจจุบันอยู่ที่ 3.6 ล้านลิตรต่อวัน โดยราคาขายอยู่ที่ 24-25 บาทต่อลิตร ขณะที่ก่อนหน้านี้กระทรวงพลังงานเคยมีแนวคิดปรับสูตรโครงสร้างราคาเอทานอล หลังเกิดข้อครหาว่าราคาเอทานอลแพงกว่าเนื้อน้ำมัน ซึ่งทางสมาคมได้เสนอให้คำนวณจากต้นทุนเป็นหลัก และหากกระทรวงพลังงานเตรียมปรับสูตรราคาเอทานอล สมาคมก็พร้อมชี้แจงต้นทุนเอทานอล

จาก http://www.thanonline.com วันที่ 24  มิถุนายน  พ.ศ. 2558

เขื่อนภูมิพล-สิริกิติ์’วิกฤติรอบ57ปีเร่งทำฝนหลวงเติมนํ้าช่วยเหลือเกษตรกรด่วนถกครม.เศรษฐกิจ24มิ.ย.

แก้ภัยแล้งแบบครบวงจร

เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยว่า สำนักพระราชวัง ได้แจ้งมายังกระทรวงเกษตรฯว่าสถานการณ์น้ำในเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ขณะนี้อยู่ในขั้นวิฤกติหนักแล้วโดยให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรน้อมนำแนวทางการทำฝนหลวงพระราชทานของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงพระราชทานเทคนิกฝนหลวงพิเศษ ในช่วงเกิดภัยแล้ง ที่ผ่านมานำมาใช้อย่างเร่งด่วนโดยเฉพาะให้ตกในพื้นที่จำเป็นที่สุดก่อน ที่ต้องอาศัยจังหวะสภาพอากาศเหมาะสมขึ้นระดมทำฝนหลวงให้ตกในพื้นที่เขื่อนทั้ง2แห่งอย่างเร่งด่วน

ปรับแผนแก้แล้งเร่งทำฝนหลวง

“สำนักพระราชวัง ยังได้กำชับถึงสถานการณ์น้ำเขื่อนวิฤกติแล้ว ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นห่วงประชาชนมาโดยตลอด จึงให้ยึดแนวทางที่พระองค์ ทรงพระราชทานในการแก้ไขวิฤกติการณ์ทุกครั้งและสามารถบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและเกษตรกรให้ผ่านพ้นไปได้ทุกครั้ง ในครั้งนี้ กรมฝนหลวงฯ ควรปรับแก้การทำฝนหลวง โดยน้อนนำไปใช้อย่างจริงจัง ให้ย้ายฐานที่กระจัดกระจายไปถึง13 หน่วย มาปฏิบัติการฝนหลวงระดมทำเฉพาะในพื้นที่จำเป็นเร่งด่วนก่อนเพื่อช่วงชิงขณะนี้สภาพอากาศที่มีร่องมรสุมเข้ามาและมีความกดอากาศต่ำ ทำให้สภาพอากาศ มีความชื้น เพียงพอสามารถ ทำฝนหลวงได้ผล โดยใช้เทคนิกพระราชทาน เช่น”ซุปเปอร์แซนวิส” ที่จะทำจุดให้ฝนตกได้ในจุดหลักก่อน” นายชวลิต ย้ำ

ปลัดฯบินดู2เขื่อนทำฝนเทียม

ปลัดกระทรวงเกษตรฯกล่าวว่าวันที่ 24 มิถุนายน ตนพร้อมกรมฝนหลวงฯและทีมนักวิทยาศาสตร์ของกรมฯทั้งหมดไปตรวจสอบสภาพปัญหาน้ำในเขื่อนสองแห่งและประชุมทันที เพื่อวางแผนการทำฝนหลวง ตามแนวทางพระราชของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ เพื่อระดมทีมทำฝนหลวงทั้งหมด ที่มีอยู่ทำฝนหลวงเติมน้ำในเขื่อนทั้งสองที่วิฤกติเพื่อกู้สถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นให้อย่างเร่งด่วนรวมทั้งการทำฝนหลวงในพื้นที่ทั้งสองเขื่อนจะสามารถช่วยเกษตรกรได้โดยเร็วด้วย

ภูมิพลวิกฤติ57ปี/สิริกิตติ์40ปี

“จากการรายงานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ที่ดูแลสองเขื่อน พบว่าน้ำในเขื่อนภูมิพล อยู่ในระดับวิฤกติหนักในรอบ57 ปี โดยที่ผ่านมาน้ำที่ใช้ในการเกษตรมีค่าเท่ากับศูนย์ไม่สามารถจะปล่อยน้ำกับเกษตรกรได้อีกแล้ว ขณะที่สถานการณ์น้ำในเขื่อนสิริกิติส์ อยู่ในขั้นวิฤกติสุดในรอบ 40 ปี มีน้ำในขณะนี้เพียง 500 ล้าน ลบ.ม.เท่านั้น จะให้น้ำเพื่อการเกษตรเหลืออีก 200ล้าน ลบ.ม.” นายชวลิต ย้ำ

ในส่วนแผนการช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ชะลอปลูกข้าวนาปี 4 ล้านไร่นั้น ขณะนี้ได้ระดมเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ไปสำรวจพื้นที่เพื่อวางแผนและประเมินสถานการณ์ สรุปตัวเลขการใช้งบประมาณ เสนอต่อครม.พิจารณาโดยให้พื้นที่เร่ง สรุปข้อมูลที่ไปสำรวจความต้องการจากชาวนา มายังกระทรวงภายในวันที่ 26 มิถุนายน เป็นวันสุดท้าย พร้อมกับได้ให้กระทรวงมหาดไทย และฝ่ายทหาร กอ.รมน.ช่วยชี้แจงทำความเข้าใจไม่ให้เกิดศึกแย่งชิงน้ำ

กษ.พร้อมขุดเจาะ269บ่อบาดาล

เบื้องต้นได้ร่วมพิจารณา กับกระทรวงทรัพยากรฯเพื่อขุดเจาะบ่อบาดาลสรุปว่ามีพื้นเหมาะสมขุดเจาะได้ทันที 269 จุด ขณะนี้หน่วยงานในพื้นที่พร้อมลงมือปฏิบัติเพื่อให้ชาวนาใช้น้ำได้เพื่อแก้ปัญหาความเดือนร้อนในพื้นที่เกษตร ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นห่วงเกษตรกรมาก ให้เร่งสรุปความต้องการของเกษตรกรที่อยากให้ช่วยเหลือ เบื้องต้นพบว่าอยากได้น้ำเป็นสิ่งแรกเพราะต้องการทำนาและถ้าไม่มีน้ำ จะมีมาตรการช่วยเหลือเขาอย่าง ไรก็ยืนยันว่าจะระดมทำฝนหลวงทันที และเร่งสรุปแนวทางช่วยเหลือหลังจากประเมินตัวเลขชัดเจนทั้งหมดภายในสัปดาห์หน้า

นายกฯย้ำมีแผนจัดน้ำแก้ภัยแล้ง

วันเดียวกัน ที่เมืองเนปิดอว์ เมียนมาร์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ( คสช.)กล่าวถึงปัญหาภัยแล้งขณะนี้ว่ามีความเป็นห่วง และได้สั่งการในการประชุม ครม.วันที่23มิถุนายนให้หารือแนวทางช่วยภาคเกษตรกร ที่มีปัญหาจากปัญหาภัยแล้ง โดยรัฐบาล ได้มีแผนบริหารจัดการน้ำไว้แล้ว โดยวางระยะเวลาไว้ถึงปี2569 ทั้งการขุดลอกคูคลอง การทำแก้มลิง การขุดบ่อบาดาล แต่ปัญหา คือฝนไม่ตก ถ้าฝนตกมา น่าจะดีขึ้น

แนะออกระเบียบแก้ปัญหาแย่งน้ำ

นายกฯยังกล่าวอีกว่า ส่วนของเกษตรกรก็ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการปลูกพืช ในอนาคตจะต้องดูทิศทางประเทศว่าจะไปทางไหนให้เป็นเกษตรอุตสาหกรรม เราก็ต้องปลูกข้าวเพราะเราประกาศจะเป็นครัวโลกเพราะอนาคตโลกจะแล้งมากขึ้น จะมีปัญหาแน่ๆ ส่วนกรณีปัญหาการแย่งน้ำของประชาชนในบางพื้นที่จากภัยแล้งนั้น เกิดจากความไม่เชื่อใจ อบต.และจะให้ทหารเข้าไปช่วยทุกพื้นที่ คงไม่ได้จึงต้องมีการจัดระเบียบให้ดี

ปีติพงศ์ชงครม.เยียวยาภัยแล้ง

ด้าน นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงสถานการณ์ภัยแล้ง ว่า มีการรายงานสถานการณ์ภัยแล้ง เข้ามาอย่างต่อเนื่อง ในส่วนความต้องการของประชาชนต้องนำมารวบรวม และสรุปให้ชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไรโดยจะหารือร่วมกันอีกครั้งในที่ประชุมครม.เศรษฐกิจ ในวันพุธที่ 24 มิถุนายนนี้ ว่าจะช่วยเหลือเยียวยาเฉพาะหน้าอย่างไร ส่วนเกษตรกรที่ยังไม่เริ่มเพาะปลูกนาปี ต้องขอความร่วมมือให้ชะลอออกไป ขณะนี้มีปัญหาที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพียงแห่งเดียว ที่มีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 4 ล้านไร่

“จากการทำงานมา 7-8 เดือน เห็นว่า จะต้องมีการปรับโครงสร้างชลประทาน โดยจะมองเพียงความต้องการน้ำอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องดูอุปสงค์ของน้ำด้วย ต้องทำให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัดที่สุด และต้องปรับให้มีการควบคุมน้ำมากขึ้น เพราะปริมาณน้ำน้อยลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนแนวคิดให้มีการขุดเจาะบาดาล เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้ามีแน่นอน” รมว.เกษตรฯ ย้ำ

ทส.พร้อมอัดงบ51ล้านขุดบาดาล

ด้าน พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติ และ สิ่งแวดล้อม กล่าวถึงการเตรียมการขุดเจาะน้ำบาดาลแก้ไขปัญหาภัยแล้งว่าสามารถดำเนินการโดยใช้งบประมาณของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลที่มีอยู่เดิม 51 ล้านบาท ไม่ต้องของบเพิ่ม เดิมกระทรวงทรัพยากรฯ มีแผนขุดเจาะน้ำบาดาลประจำปีอยู่แล้ว ในภาคเหนือและภาคอีสานแต่ปีนี้เกิดภัยแล้งในลุ่มน้ำเจ้าพระยาจึงต้องปรับแผนจึงได้สั่งการให้ตรวจสอบอย่างละเอียดว่าจุดที่พบน้ำบาดาลกี่จุดแล้วเพื่อจะนำข้อมูลเข้า ครม.เศรษฐกิจ กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสข.ในวันที่ 24 มิถุนายนนี้ ส่วนปัญหาการแย่งน้ำของเกษตรกรบางพื้นที่นั้น มีการหารืออยู่ เป็นหน้าที่ต้องทำความเข้าใจ โดยได้มีการสั่งการมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเข้าไปดูแลแก้ปัญหา

มท.1นำข้อมูล ถกภัยแล้ง-แก้แย่งน้ำ

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงที่ ครม.มอบหมายให้ดูแลการแย่งน้ำจากปัญหาภัยแล้งว่า ทุกหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง จะเตรียมข้อมูลเพื่อเข้าหารือในการประชุม ครม.เศรษฐกิจ วันที่ 24 มิถุนายน จะต้องดูข้อมูลในปริมาณน้ำที่มีในปัจจุบัน กับปริมาณน้ำในช่วงฤดูฝน และต้องดูในภาพรวมว่าพื้นที่ใด ควรช่วยเหลืออย่างไรและต้องดูปริมาณน้ำ ทั้งหมดเพียงพอหรือไม่ ส่วนพื้นที่ ที่ไม่มีน้ำ จะต้องดูว่าจะสามารถนำน้ำจากแหล่งใดมาช่วยเหลือ พร้อมหามาตรการรับมือผลกระทบและกำชับผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องประสานความร่วมมือทางทุกฝ่าย

“บิ๊กตู่”เอาจริง แก้ปัญหาภัยแล้ง

บ่ายวันเดียวกัน ที่ตึกนารีสโมสร พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ว่าที่ประชุมรับทราบหลายเรื่องเกี่ยวกัยปัญหาภัยแล้ง แม้เข้าสู่ฤดูฝนแล้วแต่ปริมาณฝนที่ตก ยังไม่มากนักและตกในพื้นที่ใต้เขื่อนรับน้ำขนาดใหญ่ ทำให้ น้ำต้นทุนในเขื่อนหลักๆที่พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาภาคกลาง มีปริมาณน้อยจึงเป็นข้อห่วงใยของนายกฯอย่างยิ่ง ต่อเรื่องการบริหารจัดการน้ำและการช่วยเหลือเกษตรกร ทั้งชาวนา ชาวไร่ ชาวสวนและประชาชนโดยทั่วไป

ทั้งนี้ ครม.มีมติให้คณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการน้ำ กับกระทรวงทรัพยากรฯได้พิจารณาเตรียมการขุดเจาะน้ำบาดาลเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและให้กระทรวงเกษตรฯดำเนินการขุดเจาะน้ำใต้เสริมอีก และให้กระทรวงเกษตรฯกับ กระทรวงมหาดไทย ร่วมทำความเข้าใจกับเกษตรกรให้เข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและ ขอให้ชะลอการปลูกข้าวออกไปก่อนจนถึงช่วงปลายเดือนกรกฎาคม อีกทั้งยังขอให้กระทรวงกลาโหม จัดส่งทหารไปยังพื้นที่เกษตรทั่วประเทศโดยเฉพาะยิ่งเพื่อการจัดลำดับความเร่งด่วนในการใช้น้ำในแต่ละพื้นที่เกษตร

ลั่นต้องดูแลเกษตรกรทั้งหมด

“ท่านนายกฯยังสั่งการจะดูแลเกษตรกร ชาวนา เพียงอย่างเดียวไม่ได้เพราะว่าพี่น้องเกษตรกรชาวสวนนั้นก็มีความสำคัญ เกษตรกรชาวสวนที่มีการปลูกไม้ยืนต้น หากไม้ยืนต้นตายต้องใช้ระยะเวลาถึง 3-4 ปี และ ท่าน นายกฯยังสั่งการอีกว่าการประชุม ครม.เศรษฐกิจ วันที่24 มิถุนายน เรื่องนื้ภัยแล้ง ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกกระทรวง ทบวง กรมที่เกี่ยวข้องต้องจัดเตรียมข้อมูลเพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติทั้งระบบเนื่องจากการช่วยเหลือเกษตรกรและเตรียมน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศมีความสำคัญมาก จะมาคุยเป็นส่วนๆคงไม่ได้”โฆษกประจำสำนักนายกฯย้ำ

สำหรับน้ำที่จะนำมาแก้ไขปัญหา จะมีทั้ง น้ำใต้ดิน น้ำบาดาลและการทำฝนเทียม ปัจจุบันได้นำทีมทำฝนเทียมจากภาคใต้มาช่วยเหลือในพื้นที่ภาคกลางตอนบน ภาคเหนือ และภาคอีสาน เพื่อเร่งรัดให้มีการเกิดฝนตกและไหลลงสู่เขื่อนขนาดใหญ่ ถือได้ผลประมาณ 95% แต่ปริมาณฝนที่ตก ก็ยังไม่เพียงพอ

แม่น้ำแห้งต่อเนื่องต้องหยุดสูบ

สำหรับสภาพแม่น้ำเจ้าพระยา และ แม่น้ำป่าสักและคลองสาขา ในขณะนี้พบว่ามีระดับลดลงเป็นอย่างมาก จนวิกฤติหนัก ริมตลิ่งชายแม่น้ำ โผล่เป็นแนวยาว ในแม่น้ำป่าสัก เรือขนถ่ายสินค้า ต้องจอดติดแห้งรอน้ำทะเลหนุนให้สูงขึ้น โดยเฉพาะ ที่สำนักงานชลประทานบางบาล ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา อำเภอบางบาล เร่งสูบน้ำช่วยเหลือนาข้าวในทุ่งบางบาล ต้องได้รับผลกระทบจากระดับน้ำเจ้าพระยาที่ลดแห้งต่ำลงต้องหยุดสูบน้ำทันทีเมื่อเช้าวันที่ 23 มิถุนายน และจะสูบอีกครั้งเมื่อระดับน้ำสูงขึ้นในเช้าวันที่ 24 มิถุนายนนี้ นอกจากนี้ ยังพบว่าชาวนาอีกมากยังเร่งทำนาโดยไม่สนคำเตือนของชลประทานให้หยุด และชะลอทำนาไปก่อนแต่ชาวนาส่วนใหญ่ยังเชื่อว่าในเดือนกรกฏาคม ต้องมีฝนตกลงมาอย่างแน่นอน ไม่ต้องพึ่งน้ำของชลประทาน

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 24  มิถุนายน  พ.ศ. 2558

รายงานพิเศษ : ภาคเกษตรไทยควรเตรียมพร้อมรับมือ หลังเปิดAECอย่างเป็นทางการในปี2559

การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC อย่างเป็นทางการในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ประเทศไทยโดยเฉพาะในส่วนของภาคเกษตรนั้น จะเดินไปในทิศทางใดจะได้เปรียบหรือมีผลกระทบอย่างไรบ้างนั้น สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้ทำการวิเคราะห์ทั้งด้านบวกและด้านลบไว้แล้ว

นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่าหลังจากเปิด AEC ในปี 2559 จะมีการเคลื่อนย้ายแรงงาน สินค้าและที่อยู่อาศัยอย่างเสรี โดยในส่วนของการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีนั้น ตั้งแต่ปี 2556 ประเทศไทยได้มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วัน ซึ่งสูงกว่าประเทศในกลุ่ม AEC ยกเว้นประเทศสิงคโปร์ ส่งผลให้เมื่อเปิด AEC จะมีแรงงานจากประเทศเมียนมา กัมพูชา และลาว เข้ามาทำงานในประเทศไทยจำนวนมากผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย คือ จะเกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานไทยที่มีฝีมือไปทำงานในต่างประเทศ ซึ่งมีรายได้สูงกว่าและแรงงานไร้ฝีมือจากประเทศเพื่อนบ้านหลั่งไหลเข้ามาทำงานในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก อาจก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมตามมา และถ้ามองมาที่แรงงานภาคเกษตรเองก็จะมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากอาชีพเกษตรกรไม่มีความมั่นคง เป็นอาชีพที่ต้องทำงานหนัก รายได้ไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับสภาพอากาศและปัจจัยแวดล้อม ดังนั้น ในอนาคตภาคการเกษตรจึงจำเป็นต้องพึ่งพาแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้น

สำหรับการเคลื่อนย้ายสินค้าเสรี จะมีสินค้าที่มีการ ยกเว้น-Sensitive List ภาษีไม่ต้องเป็น 0% แต่ให้ต่ำกว่า 5% ซึ่งไทยมี 4 รายการคือ ไม้ตัดดอก มะพร้าวแห้ง มันฝรั่ง เมล็ดกาแฟดิบ (อยู่ที่ 5%) Highlysensitive List ไม่ต้องลดภาษี ประเทศมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ มี 1 รายการ คือ ข้าว และประเทศอินโดนีเซีย มี 2 รายการ คือ ข้าวและน้ำตาลโดยสินค้าในกลุ่ม AEC และประเทศจีนจะทะลักเข้ามาในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ยกเว้นสินค้าในกลุ่มที่มีความอ่อนไหว ส่วนสินค้าเกษตรและอาหารที่ผลิตโดยบริษัทรายใหญ่ จะได้ประโยชน์จากการลดภาษี ทำให้ต้นทุนต่ำลง และสามารถขายสินค้าไปยังประเทศในกลุ่ม AEC ได้ง่ายขึ้น รวมถึงเรื่องการผูกขาดจากกลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่ คุณภาพสินค้าเกษตรและอาหารลดลง และมีสิ่งปนเปื้อนเพิ่มขึ้นทั้งนี้ สิ่งสำคัญคือประเทศไทยจะต้องเน้นในเรื่องการสร้างคุณภาพมาตรฐานและความปลอดภัยของสินค้าเกษตรและอาหาร เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่นและยอมรับในสินค้าของประเทศไทย

นอกจากเรื่องการเคลื่อนย้ายแรงงานและสินค้าเสรีแล้ว หลังปี 2559 ขนาดของประชากรจะมีเพิ่มขึ้น รวมถึงการโยกย้ายถิ่นฐานของประชากรในกลุ่มประเทศ AEC ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน และการขยายตัวของชุมชนเมือง เช่น ที่อยู่อาศัย คอนโดมิเนียม ศูนย์การค้าส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทำการเกษตรจะลดลงเนื่องจากการขยายตัวของชุมชนเมืองราคาที่ดินเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว ประกอบกับปัญหาหนี้สินของเกษตรกร อาจทำให้เกษตรกรบางรายไม่มีทางเลือกจำเป็นต้องขายที่ดินทำกิน แล้วเปลี่ยนสถานะจากการเป็นเจ้าของที่ดินเป็นเพียงผู้เช่าที่ดินในอนาคต

เลขาธิการ สศก. กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อภาคการผลิตทางการเกษตรของไทย อันดับแรกเลย คือ เรื่องของต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องของต้นทุนที่ดินค่าเช่าแรงงานการตลาดการเงิน/ดอกเบี้ยระบบขนส่ง/โลจิสติกส์และการจัดการ รวมถึงปัญหาด้านภัยพิบัติ อุทกภัย ภัยแล้ง จากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศหรือภาวะโลกร้อน ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงทางการเกษตรเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งเรื่องการย้ายฐานการผลิตไปประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมาและเวียดนาม หรือ CLMV ตลอดจนกฎระเบียบทางการค้า นวัตกรรมเทคโนโลยีการผลิตที่เกษตรกรยังไม่สามารถเข้าถึงล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรไทยทั้งสิ้น

 ดังนั้น ภาคการเกษตรจึงต้องมีการปรับตัวเพื่อรองรับกับปัจจัยเสี่ยงที่จะมีผลต่อภาคการผลิตทางการเกษตรโดยเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร และพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ ตลอดจนเชื่อมโยงด้านการตลาด ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับภาคการเกษตรรวมถึงสร้างเครือข่ายทางธุรกิจกับต่างประเทศ โดยเฉพาะในแถบอาเซียน ซึ่งจะเป็นประเทศคู่ค้าและสามารถสนับสนุนให้เป็นฐานการผลิตที่สำคัญของไทย

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 24  มิถุนายน  พ.ศ. 2558

พณ.ชงแผนเยียวยาเกษตรกร

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 24 มิ.ย.นี้ ยังไม่มีการเสนอวาระมาตรการให้ความช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกร เนื่องจากต้องรอเข้าที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจในวันที่ 24 มิ.ย.นี้ ก่อน

 พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวในฐานะประธานคณะกรรมการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ในวันพรุ่งนี้ เพื่อขออนุมัติงบกลางปี 2558 เร่งด่วนจำนวน 51,379 ล้านบาท ใช้ในการขุดเจาะน้ำบาดาล เพื่อแก้ปัญหาการเกษตรในพื้นที่ภัยแล้งจำนวน 268 แห่ง โดยมีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กองบัญชาการกองทัพไทย และกองทัพบก เป็นหน่วยดำเนินการ โดยต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ร่วมพิจารณาด้วย

นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.ได้มีการหารือถึงมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ซึ่งให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวบรวมข้อมูลเสนอต่อที่ประชุม ครม. เศรษฐกิจในวันที่ 24 มิ.ย. โดยจะเป็นมาตรการระยะสั้น และใช้เงินจำนวนไม่มากเท่ากับการช่วยเหลือเกษตรกรไร่ละ 1,000 บาท

ขณะเดียวกันจะมีมาพิจารณาปรับโครงสร้าง ระบบชลประทานใหม่ และปรับแผนงานโครงการบริหารจัดการน้ำใหม่ ที่มี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน

ส่วนการขุดเจาะน้ำบาดาลเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ยืนยันว่าจะได้ผล เพราะมีน้ำอยู่ในระดับความลึก 50-100 เมตร ซึ่งสามารถดึงน้ำมาใช้ได้ ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาวจะมีการผันน้ำจากแม่น้ำสาละวิน และแม่น้ำโขง ซึ่งขณะนี้กระทรวงการต่างประเทศอยู่ระหว่างการเจรจา ซึ่งทุกประเทศสามารถนำมาใช้ได้แต่ต้องเหลือระดับน้ำที่ไม่ต่ำกว่าข้อตกลง และไม่ทำให้ประเทศอื่นเดือดร้อนด้วย

‘ที่ประชุม ครม.วันนี้ยังไม่ได้พิจารณามาตรการให้การช่วยเหลือเกษตรกรประสบปัญหาภัยแล้งเนื่องจากนายกรัฐมนตรีติดภารกิจในต่างประเทศ จึงต้องนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจในวันพรุ่งนี้ โดยมีมาตรการช่วยเหลือทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เบื้องต้นต้องพิจารณาแนวทางช่วยเหลือผู้ปลูกข้าวนาปีไปแล้ว 4.3 ล้านไร่ และผู้ที่รัฐบาลขอให้ชะลอออกไปก่อน 1 ล้านไร่ จึงต้องหาแนวทางเยียวยา”

พล.อ.ดาวพงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกรณีการขุดเจาะน้ำบาดาลเพื่อช่วยแก้ปัญหาภัยแล้ง ว่า ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาสอบถามแล้วการเจาะบ่อน้ำบาดาลตรงไหน โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเป็นผู้ชี้เป้า จากนั้นทางกระทรวงทรัพฯ จะเป็นผู้พิจารณาว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ต้องปรับตรงไหน อย่างไรส่วนเรื่องงบประมาณเดิมคาดว่าจะใช้งบประมาณ 51 ล้านบาท โดยจะใช้งบจากกรมทรัพยากรน้ำบาดาลที่เหลืออยู่แก้ปัญหา

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 24  มิถุนายน  พ.ศ. 2558

เขื่อนกาญจน์ก๊อกสุดท้ายจัดการน้ำ

เขื่อนกาญจน์ก๊อกสุดท้ายจัดการน้ำ : โดยทีมข่าวภูมิภาค

               แม้ชั่วโมงนี้ เขื่อนขนาดใหญ่ใน จ.กาญจนบุรี 2 เขื่อน กำลังรับบทบาทพระเอกในสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานวิกฤติการณ์ภัยแล้งอยู่ก็ตาม หากแต่ในอนาคตอันใกล้ หรืออย่างน้อยภายในไม่กี่เดือนข้างหน้า ถ้าหากการบริหารจัดการน้ำที่เหลืออยู่ในอ่างไม่สามารถตอบสารพัดโจทย์ของการใช้สอยประโยชน์ได้ การตัดสินใจใดๆ ก็อาจจะกลายเป็นผู้ร้ายไปได้ในชั่วข้ามคืน

               ด้วยศักยภาพกักเก็บน้ำของเขื่อนศรีนครินทร์ ที่ระดับความจุ 17,745 ล้านลูกบาศก์เมตร มีปริมาณกักเก็บน้ำอยู่ในอ่าง ณ วันที่ 23 มิถุนายน   12,058 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่เขื่อนวชิราลงกรณสามารถกักเก็บน้ำได้ 8,860 ล้านลูกบาศก์เมตร มีปริมาณน้ำอยู่ในอ่างขณะนี้ 3,513 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 40 ของความจุอ่าง

               จึงอาจนับได้ว่า ปริมาณน้ำที่เหลือใน 2 เขื่อนใหญ่ในหุบเขาด้านตะวันตกของประเทศคือน้ำเลี้ยง "ก๊อกสุดท้าย" ที่จะสามารถแจกจ่ายไปเพื่อการอุปโภคบริโภค และกิจกรรมอื่นๆ ที่จำเป็นในยามวิกฤติถึงที่สุด กรณีฝนฟ้าห่างหายไปอีกหลายเดือน ขณะที่เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ต้นทางของลุ่มน้ำเจ้าพระยามีปริมาณน้ำเหลืออยู่เพียงน้อยนิดเมื่อเทียบกับความจุอ่าง หรืออย่างที่ทราบกันว่า กำลังเดินเข้าสู่ภาวะ "น้ำตาย"

                ปรากฏการณ์ "น้ำลง" ต่ำสุด ที่ตลาดน้ำอัมพวา จ.สมุทรสงคราม ปลายน้ำของสองเขื่อนใหญ่กาญจนบุรี ดูเหมือนกำลังจะกลายเป็นใบเสร็จฟ้องร้องว่า การแจกจ่ายทรัพยากรน้ำสู่เบื้องล่างไม่เป็นไปตามกฎของการบริหารจัดการ แม้ว่าชาวบ้านร้านตลาด และนักการเมืองท้องถิ่นที่อัมพวาพากันประสานเสียงว่า อย่าได้ตื่นตระหนก เพราะเป็นภาวะปกติ หากแต่ปรากฏการณ์ "น้ำขึ้น" สูงสุดของวัน ก็หาได้เป็นเครื่องยืนยันว่า ระดับน้ำนั้นเทียบเท่ากับช่วงเดียวกันของหลายๆ ปีก่อนหน้า โดยเฉพาะเมื่อย้อนลึกกลับไปก่อนปี 2555 ที่รัฐบาลเลือกใช้ "การเมืองนำ" การบริหารจัดการ พร่องน้ำทิ้งจนเกิดโรคแล้งเรื้อรังถึงปัจจุบัน

               ปริมาณการปล่อยและระดับน้ำในแม่น้ำแม่กลองในหลายจุดต่างหาก ที่จะเป็นเครื่องยืนยันถึงความปกติ หรืออปกติ ประเสริฐ ธำรงวิศว ผู้อำนวยการเขื่อนวชิราลงกรณ ยอมรับว่า เขื่อนได้ลดปริมาณการระบายน้ำลง จากเดิมวันละ 14 ล้านลูกบาศก์เมตร เหลือวันละ 12 ล้านลูกบาศก์เมตร เพราะน้ำในเขื่อนทางโซนภาคเหนือเหลือศักยภาพปล่อยลงมาได้เพียงวันละ 6 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น

               การปล่อยน้ำจากโซนภาคเหนือในความหมายของ ผอ.ประเสริฐ จะเป็นที่อื่นไปไม่ได้ นอกจากเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน(พิษณุโลก) และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ (ลพบุรี) ที่กำลังประสบภาวะวิกฤติอยู่ในขณะนี้ ดังที่ปรากฏตัวเลขระดับน้ำในอ่างตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน จนถึงวันที่ 23 มิถุนายน 2558 ลดลงอย่างต่อเนื่องและมีนัยสำคัญยิ่งต่อสถานการณ์แล้งหนักหน่วงช่วงฝนทิ้งช่วงนับจากนี้

               การลำเลียงน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ในฟากตะวันตก ข้ามฟากมายังฝั่งตะวันออก ถึงโรงกรองน้ำมหาสวัสดิ์ ย่านถนนกาญจนาภิเษก ของการประปานครหลวง น่าจะตอบโจทย์ได้ประการหนึ่งว่า เพราะเหตุใดเขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณจึงต้องเข้ามามีบทบาทเป็นทัพหลวง "ตั้งรับวิกฤติ"

                จึงจำเป็นอยู่เองที่ ผอ.เขื่อนวชิราลงกรณ ต้องส่งสัญญาณถึงคนเมืองให้ช่วยกันประหยัด

               "น้ำกินน้ำใช้ของ กทม.ก็ให้ช่วยกันประหยัด และเก็บน้ำสำรองไว้ด้วย เพราะถ้าน้ำเหนือไม่มาก็จะมีน้ำเค็มหนุนเข้ามาในคลองประปา ก็ยิ่งจะแย่ไปกันใหญ่ ถ้าหากเกิดแล้งรุนแรงก็ต้องมองต้นทุนน้ำเป็นหลัก แบ่งปันกันไปช่วยประเหยัดกันได้ ก็ต้องช่วยกันมองให้เห็นประโยชน์ของส่วนรวมไว้ก่อน" ผอ.ประเสริฐ กล่าว

               เมื่อช่วงเดือนมกราคม-ต้นมิถุนายนที่ผ่านมา เขื่อนวชิราลงกรณปล่อยน้ำออกไปแล้วในอัตราที่เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ เพราะความต้องการน้ำท้ายเขื่อนมีมากในช่วงหน้าแล้ง ขณะเดียวกันกลับปรากฏว่า น้ำไหลเข้าเขื่อนมีปริมาณน้อยกว่าที่คาดการณ์ นั่นหมายถึงว่า เมื่อเวลายิ่งผ่านไป ระดับน้ำในอ่างกลับลดลง แม้ว่าจะมีฝนตกลงมาบ้างแล้วก็ตาม

                 ปริมาณน้ำในเขื่อนวชิราลงกรณเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน มีอยู่ในอ่าง 3,761 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 42% ถึงวันที่ 23 มิถุนายน ลดลงเหลือ 3,513 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 40%  ซึ่งผอ.เขื่อนบอกว่า แนวทางการปฏิบัติจะมีคณะผู้บริหารจัดการน้ำแล้งจากกรมวิชาการเกษตรและคณะกรรมการชุดใหญ่ร่วมกันจัดสรร โดยกำหนดไว้ว่า จากเดือนมกราคม-มิถุนายน จะปล่อยน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคมากน้อยอย่างไร ซึ่งทุกกรณีจะต้องปรับไปตามความจำเป็น

               มีความจำเป็นที่คล้ายๆ กันในพื้นที่ 7 จังหวัดที่อาศัยน้ำเพื่อการเกษตรเป็นหลักคือ กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี เพชรบุรี นครปฐม สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม หากแต่น้ำจืดจำนวนมหาศาลในภาคตะวันตกก็เป็นอีกเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงการอุปโภคบริโภคในกรุงเทพมหนคร โดยเฉพาะน้ำดิบจากเขื่อนศรีนครินทร์

                 "แม้ว่าช่วงนี้จะเป็นช่วงเข้าฤดูฝนแล้วก็ตาม ในอ่างเก็บน้ำยังมีปริมาณน้ำน้อยมาก จึงขอให้ประชาชนผู้ใช้น้ำท้ายเขื่อนช่วยกันประหยัด ใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด มิฉะนั้นก็จะเกิดปัญหาความเดือดร้อนกันเพิ่มขึ้น" ธนรัชต์ ภุมมะกสิกร ผู้อำนวยการเขื่อนศรีนครินทร์ สำทับอีกแรง

               ด้วยภาวะแห้งแล้งยาวนาน ยังผลให้เขื่อนศรีนครินทร์ต้องระบายน้ำออกมากขึ้นเป็นวันละ 6-10 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อให้เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคและการทำนาปีที่ชาวนาเริ่มปักดำกันแล้ว ขณะที่มีน้ำไหลเข้าอ่างเพียงวันละ 1-2 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น นั่นก็หมายถึงว่า ถ้าฝนฟ้ายังทิ้งช่วงเช่นนี้ต่อไป ระดับน้ำในอ่างเขื่อนศรีนครินทร์ก็จะลดลงเรื่อยๆจนถึงจุดน่าวิตก ซึ่งผอ.ธนรัชต์ คาดการณ์ว่า ถ้าหากแล้งยาวนานถึง 3 เดือน เขื่อนก็อยู่ในเกณฑ์ หมดสภาพ

               แต่นี่ก็อาจเป็นการมองโลกในแง่ดีอยู่ไม่น้อย เพราะระยะเวลา 90 วันเช่นว่า จะเข้าหน้ามรสุมค่อนข้างพอดิบพอดีพอดี

               ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 มิถุนายนมีอยู่ 12,058 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 68 ของความจุอ่าง ลดลงจากเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ที่มีอยู่ 69% หรือ 12,159 ล้านลูกบาศก์เมตร

               อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีตัวเลขแน่ชัดว่าระดับความสูงของน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ที่ลดลงจาก 166.59 เมตร เหลือ 164.84 เมตร หรือประมาณ 2 เมตรกว่าๆ มีความสัมพันธ์อย่างไรกับระดับน้ำท้ายเขื่อนในแม่น้ำแม่กลองที่ลดลงจนสามารถสังเกตได้ด้วยตาว่าเห็นหาด ขณะที่อัมพวากลับแห้งขอดในช่วงน้ำตายหรือน้ำลงต่ำสุด ซึ่งก็ยังไม่มีตัวเลขยืนยันเช่นกันว่า ช่วงระบายน้ำปกติเมื่อก่อนปี 2555 นั้น ระดับน้ำในแม่น้ำเป็นเช่นไร

               นัยสำคัญของการระบายน้ำวันละ 6-10 ล้านลูกบาศก์เมตร จากเขื่อนศรีนครินทร์ จึงเป็นประเด็นชวนติดตามว่า มีความสัมพันธ์กับการสำรองหรือแม้แต่ลำเลียงน้ำสู่โรงกรองน้ำมหาสวัสดิ์ของการประปานครหลวงอย่างไร และได้สัดส่วนพอเหมาะพอดีกับความต้องการของทุกฝ่ายทั้งภาคเกษตรกรรม และการรักษาระบบนิเวศสักแค่ไหน เพราะในภาวะเช่นนี้ มักมีข้อสงสัยจากคนทำนาทำไร่ผู้ต้องพึ่งพิงน้ำเขื่อนต่อลมหายใจก่อนฝนฟ้าจะตกต้องตามเวลาว่า "น้ำในเขื่อนหายไปไหน?"

                แรม เชียงกา ตัวแทนชาวนากาญจนบุรี บอกว่า เมื่อรัฐบาลประกาศให้ชาวนาเลื่อนการทำนาปีออกไป ขณะนี้กลุ่มเกษตรกรกำลังรวมกลุ่มกันอยู่ แต่ก็คงไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะมีกฎหมายบังคับ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว กาญจนบุรีไม่ได้ขาดแคลนน้ำ ทั้งเพื่อการเกษตรและขับไล่น้ำเค็ม

                "กิจกรรมต่างๆ ของทั้งสองเขื่อนใหญ่ยังคงดำเนินการต่อไป เพื่อแก้ปัญหาทั้งการผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการ การกักเก็บน้ำเพื่อให้เพียงพอกับการใช้ของเกษตรกร รวมถึงการใช้น้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ  หากแต่ว่า ถ้าฝนต้องทิ้งช่วงติดต่อกันถึงปีที่สามคือปีนี้ รัฐบาลต้องคิดต่อกันแล้วว่า อะไรจะเกิดขึ้น นั่นแหละปัญหาใหญ่ของรัฐบาล ทั้งปัญหาเรื่องน้ำและความเดือดร้อนในเรื่องปากท้องของชาวไร่ชาวนา" แรม กล่าวทิ้งท้ายอย่างเข้าใจถึงความจำเป็นที่ต้องแบ่งสรรปันน้ำกันในยามวิกฤติ

จาก http://www.komchadluek.net วันที่ 24  มิถุนายน  พ.ศ. 2558

ครม. รับทราบ รายงานสถานการณ์น้ำ แนวทางช่วยเกษตรกรสู้ภัยแล้ง

รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม.รับทราบรายงานสถานการณ์น้ำ และแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรสู้กับภัยแล้ง ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอ

วันที่ 23 มิ.ย. 58 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ก่อนการประชุม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง จัดเตรียมข้อมูลปัญหาภัยแล้ง และนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจในวันพรุ่งนี้ (24 มิถุนายน) เพื่อรับทราบ และหาแนวทางดำเนินการร่วมกัน

ขณะที่คณะรัฐมนตรีก็มีมติรับทราบ รายงานสถานการณ์น้ำ และแนวทางการให้ความช่วยเหลือ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอ

11. เรื่อง การให้ความช่วยเหลือเกษตรกร ที่ยังไม่ได้เข้าร่วมมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อยกรณีเกษตรกรภาคใต้ ที่เพาะปลูก ในช่วงเวลาหลังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 3 เดือน และกรณีรายชื่อเกษตรกรตกหล่น

​คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (เสนออนุมัติขยายระยะเวลาให้เกษตรกรในจังหวัดภาคใต้ฝั่งตะวันออก จังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และ นราธิวาส ที่มีการเพาะปลูกข้าว ในช่วงหลังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในระยะ 3 เดือน (ตุลาคม-ธันวาคม 2557) ที่ขึ้นทะเบียนไว้ จำนวน 37,402 ครัวเรือน สามารถเข้าร่วมมาตรการเพิ่มรายได้ ให้แก่ผู้มีรายได้น้อยได้

 และอนุมัติให้กรมส่งเสริมการเกษตรเปิดระบบ ให้สำนักงานเกษตรอำเภอดำเนินการบันทึก แก้ไขข้อมูลให้ถูกต้องเพื่อให้เกษตรกรจำนวน 2,091 ครัวเรือน สามารถเข้าร่วมในมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อยได้

คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง เสนอผลการพิจารณา การขอจัดตั้งทุนหมุนเวียนของคณะกรรมการกลั่นกรองการจัดตั้งทุนหมุนเวียน ที่เห็นควรให้มีการจัดตั้งทุนหมุนเวียน จำนวน 4 ทุน ได้แก่ กองทุนยุติธรรม กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี กองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา และเงินทุนหมุนเวียนการท่าอากาศยานอู่ตะเภา และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำข้อคิดเห็นและข้อสังเกต ของคณะกรรมการฯ ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป และเร่งรัดกระทรวงการคลัง ให้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2558 โดยเสนอวิธีการนำเงินดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ต่อคณะรัฐมนตรี และเร่งรัดการนำเงินทุนหมุนเวียนส่วนเกินส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดินให้ครบถ้วนโดยด่วน ต่อไป

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เสนอให้ข้าราชการตำรวจที่ปฏิบัติงานในเขตพื้นที่ที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ในห้วงระหว่างวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 – 1 เมษายน 2558 มีสิทธิ์ได้รับการนับเวลาราชการเป็นทวีคูณ เพื่อประโยชน์ในการคำนวณบำเหน็จบำนาญ ต่อไปหวั่นปรากฏ

จาก http://www.thairath.co.th   วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2558

การ "เอล นิโญ" มหาสมุทรแปซิฟิกรอบล่าสุด รุนแรงเท่าปี 2540

ปรากฏการณ์เอล นิโญในมหาสมุทรแปซิฟิกส่อเค้าทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งยิ่งตอกย้ำความกังวลว่ามีรูปแบบคล้ายกับที่เคยเกิดในปี 2540-2541

สำนักอุตุนิยมวิทยาออสเตรเลียเผยว่า ดัชนีอุณภูมิพื้นผิวน้ำทะเลในบริเวณตอนกลางและตะวันออกของมหาสทุรแปซิฟิกในช่วง 6 สัปดาห์ที่ผ่านมาเพิ่มสูงกว่าค่าเฉลี่ย 1 องศาเซลเซียส และมีแนวโน้มที่อุณหภูมิจะเพิ่มขึ้นอีกในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า

"ไม่ใช่เรื่องปรกติที่มหาสมุทรแปซิฟิกในเขตร้อนจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นเป็นวงกว้างครั้งล่าสุดที่เป็นเช่นนี้คือระหว่างเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวในปี 2540-2541" สำนักอุตุนิยมวิทยาออสเตรเลียระบุ

ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักงานสมุทรศาสตร์และชั้นบรรยากาศสหรัฐระบุว่า เอล นิโญที่เกิดในปี 2540-2541 มีความรุนแรงที่สุดเท่าที่เคยบันทึกไว้ ส่วนเอล นิโญที่เกิดขึ้นในปีนี้ถือเป็นระลอกล่าสุดนับจากปี 2553

ปรากฏการณ์เอล นิโญมีผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศและเกษตรกรรมทั่วโลก โดยจะทำให้บางพื้นที่ของเอเชียแห้งแล้งขึ้น ขณะที่แถบอเมริกาใต้มีปริมาณฝนตกหนักกว่าปรกติ รวมถึงทำให้อเมริกาเหนือหนาวเย็นกว่าเดิม มีความเสี่ยงที่เอล นิโญจะป่วนเศรษฐกิจโลกช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เนื่องจากผลผลิตทางการเกษตรอาจขาดแคลน สร้างแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อและความมั่นคงทางอาหาร

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2558

เขื่อนป่าสักฯ น่าห่วง น้ำเหลือ 7.6% พอใช้แค่ปลาย ก.ค.นี้

สถานการณ์น้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ล่าสุด มีน้ำอยู่ประมาณ 77.40 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 7.6% ของความจุที่รองรับได้ คาดว่าจะมีน้ำพอใช้จะอยู่ได้ถึงประมาณ ปลายเดือน ก.ค. เท่านั้น แม้จะมีฝนตกมา แต่น้ำไหลออกก็มากกว่าไหลเข้าอ่าง...

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 23 มิ.ย. 58 ผู้สื่อข่าวได้สอบ นายปัญญา กัลปสุข ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำ และบำรุงรักษาเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ต.หนองบัง อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนป่าสักฯ ในปัจจุบัน ขณะนี้มีน้ำอยู่ในเขื่อนป่าสักฯ ประมาณ 77.40 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือประมาณ 7.6% ของความจุของอ่างเก็บน้ำเขื่อนป่าสัก ก็จะอยู่ได้ถึงประมาณ ปลายเดือน ก.ค. และต้องทำการระบายออกไปให้ผู้ที่อยู่ในเขตลุ่มแม่น้ำป่าสักตอนล่าง ใน จ.สระบุรี จ.พระนครศรีอยุธยา ใช้ในการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเท่านั้น

ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนทางด้านความช่วยเหลือเกษตรกร ผู้ที่ทำไร่ ไม่ว่าจะเป็นข้าวโพด ข้าวฟาง อ้อย และมันสำปะหลัง ในเขต อ.พัฒนานิคม อ.ท่าหลวง อ.ชัยบาดาล อ.ลำสนธิ ทางชลประทาน ได้ปล่อยน้ำไปช่วยเหลือในเบื้องต้น เมื่อประมาณ ต้นเดือน มิ.ย. ซึ่งก็สามารถที่จะหล่อเลี้ยงได้ ส่วนที่อยู่นอกเขตระบบชลประทานก็ได้รับความเสียหายบ้าง ในขณะเดียวกัน ก็พอมีฝนตกลงมาบ้าง แต่ปริมาณฝน ก็ไม่ทำให้ระดับน้ำในเขื่อนป่าสักฯ เพิ่มขึ้น ในขณะนี้ มีปริมาณน้ำไหลออกมามากกว่าไหลเข้า

นายปัญญา กล่าวด้วยว่า ในส่วนของเกษตรกรผู้ทำนาในเขตลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ที่จะทำนาในช่วงนี้ ก็ได้ชะลอไว้ก่อน ส่วนชาวนา ที่รีบทำนาไปก่อนหน้าที่จะประกาศเตือน ซึ่งเป็นเกษตกรที่กลัวว่าน้ำจะท่วมจึงได้ทำนา โดยส่วนนี้ก็จะได้รับความเสียหาย เพราะไม่มีน้ำจะไปหล่อเลี้ยงนั่นเอง ในส่วนของเกษตกร ก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี และไม่มีการร้องขอน้ำในการทำการเกษตรมาแต่อย่างใด

จาก http://www.thairath.co.th   วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2558

รมว.เกษตรชงครม.เศรษฐกิจเยียวยาเกษตรกรเจอภัยแล้ง ชี้ต้องปรับโครงสร้างชลประทาน

 เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงสถานการณ์ภัยแล้ง ว่า ได้มีการรายงานสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพราะมีการเปลี่ยนแปลงทุกวัน และในส่วนความต้องการของประชาชนต้องนำมารวบรวมและสรุปให้ชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งจะมีการหารือร่วมกันอีกครั้งในที่ประชุมครม.เศรษฐกิจในวันพรุ่งนี้ว่า จะมีการช่วยเหลือเยียวยาเฉพาะหน้าอย่างไร ส่วนเกษตรกรที่ยังไม่เริ่มเพาะปลูกนาปีก็ต้องขอความร่วมมือให้ชะลอออกไปก่อน ซึ่งขณะนี้มีปัญหาที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพียงแห่งเดียวที่มีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 4 ล้านไร่ ส่วนพื้นที่อื่นก็มีการเพาะปลูกไปแล้วหลายล้านไร่ จากทั้งหมด 60 ล้านไร่ต่อปี ฉะนั้นปัญหาที่ต้องแก้ขณะนี้จะต้องดูแลในส่วนพื้นที่ที่เพาะปลูกไปแล้ว และการชะลอออกไปก็ยังไม่รู้ว่าภูมิอากาศจะเป็นอย่างไร รวมทั้งต้องแก้ปัญหาระยะยาวหากไม่มีฝนตกเลย

  นายปีติพงศ์ กล่าวว่า จากการทำงานมา 7-8 เดือน เห็นว่าจะต้องมีการปรับโครงสร้างชลประทาน โดยจะมองเพียงความต้องการน้ำอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องดูอุปสงค์ของน้ำด้วย ต้องทำให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัดที่สุด และต้องมีการปรับให้มีการควบคุมน้ำมากกว่านี้ เพราะปริมาณน้ำน้อยลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในรอบหลายปีที่ผ่านมามีการใช้น้ำต้นทุนไปมาก จึงต้องปรับเปลี่ยนระบบดังกล่าวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่วนแนวคิดการผันน้ำจากแม่น้ำโขงและสาละวินนั้น เป็นโครงการในระยะยาว ซึ่งกระทรวงต่างประเทศได้ระบุว่ากำลังดำเนินการเจรจา แต่โครงการดังกล่าวก็ต้องไม่ทำให้ใครเดือดร้อน ส่วนการใช้น้ำร่วมกันในลุ่มน้ำโขงที่มีทั้งจีน ลาว และไทยนั้นก็ไม่น่าห่วง ถ้าไม่ทำให้น้ำต่ำกว่าระดับที่ตกลงกันไว้ เพราะในช่วงที่น้ำขึ้นก็สามารถตักตวงน้ำตรงนั้นไว้ใช้สำหรับพื้นที่ภาคตะวันตกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ในส่วนโครงการที่จะดูแลทั้งแม่น้ำโขง ชี และมูลนั้น จะต้องใช้เวลาในการศึกษาใหม่

  “1 ปีที่ผ่านมา เราไม่มีเวลาจะทำ เพราะเป็นช่วงเวลาวิกฤตน้ำตลอดเวลา และเวลาที่ไม่ได้ทำนาปรังมีอยู่น้อย และภาคกลางก็ทำนาปรัง 2-3 ครั้ง แต่วันนี้เหลือแค่ครั้งเดียว และในวันนี้เราจะใช้เวลาในช่วงนี้ในการปรับระบบบางอย่างที่จะเป็นการแก้ปัญหาระยะยาว ส่วนแนวคิดให้มีการขุดเจาะบาดาลเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้ามีแน่นอน เพราะมีน้ำอยู่ในระดับความลึก 50-100 เมตร สามารถดึงมาใช้ได้ แต่จะไปขยายให้ได้มากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับช่วงเวลา” นายปีติพงศ์ กล่าว

จาก http://www.khaosod.co.th    วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ชัยนาทแล้งมาก! ชาวไร่วอนขอฝนหลวง หลังไร่อ้อยและมันสำปะหลังกว่าหมื่นไร่กำลังแห้งตาย

ชาวไร่ใน จ.ชัยนาท กำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก จากภัยแล้งที่ขยายเป็นวงกว้าง จึงออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลทำฝนเทียมให้เพราะ อ้อย มันสำปะหลัง และงา จำนวนกว่า 1 หมื่นไร่ กำลังจะแห้งตาย โดยผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่พบว่า ไร่อ้อยไร่มันสำปะหลังและไร่งาของชาวบ้านจำนวน กว่า 10,000 ไร่กำลังแห้งเฉา จากภาวะขาดน้ำในหลายๆ แปลง ต้นอ้อยปรากฎใบมีสีเหลืองและน้ำตาลบ่งบอกว่าพืชไร่เหล่านี้ กำลังจะแห้งตายเป็นวงกว้าง เนื่องจากพื้นที่แถบนี้ไม่มีฝนตกลงมานานกว่า 3 เดือน

นางเชลย โพธิ์ม่วง อายุ 53 ปี ชาวไร่ ม.1 ต.ไร่พัฒนา เปิดเผยว่าพื้นที่ในตำบลไร่พัฒนาปกติเป็นพื้นที่ราบเชิงเขา จึงมีน้ำค่อนข้างน้อย ทำให้ชาวบ้านหันมาทำอาชีพทำไร่เป็นส่วนใหญ่ ทั้งไร่อ้อย ไร่มันสำปะหลัง และไร่งา โดยในปีนี้ตนทำไร่อ้อยและมันสำปะหลังรวม 150 ไร่ ลงทุนไปแล้วกว่า 1 แสนบาท ด้วยความหวังว่าจะมีฝนตกลงมาตามปกติที่เดือนมิถุนายนจะเริ่มมีฝนแล้ว แต่ในปีนี้ฝนมาล่าช้าทำให้อ้อยและมันสำปะหลังกำลังแห้งตาย ซึ่งหากในช่วงนี้ยังไม่มีฝนตกลงมา พืชไร่ทั้งหมดก็คงจะพากันแห้งตายจึงอยากให้รัฐบาลพิจารณาทำฝนเทียมให้ชาวไร่ ในพื้นที่ตำบลไร่พัฒนาและใกล้เคียงด้วยเพราะพืชไร่จำนวนกว่า10,000 ไร่ของชาวบ้านกำลังจะเสียหาย โดยหากภายในสิ้นเดือนมิถุนายนยังไม่มีฝนตกลงมาชาวไร่แถบนี้คงจะสิ้นเนื้อประดาตัวไปตามๆ กัน

ด้านนางสมนึก นิ่มนวล อายุ 60 ปี กล่าวว่า ที่ผ่านมาชาวไร่ต้องสูบน้ำเพื่อใช้รดพืชที่ปลูกหมดค่าน้ำมันไป กว่า 10,000บาทเพราะคาดว่าจะมีฝนตกลงมาช่วยบ้าง แต่จนป่านนี้ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะมีฝน โดยไร่อ้อยกว่า 30 ไร่ ที่ลงไว้กำลังแห้งเหี่ยว และคาดว่าอีกไม่เกิน 7วัน จะตายเสียหายทั้งหมด จึงอยากให้รัฐบาลยื่นมือเข้ามาช่วย หากชาวไร่ที่พืชผลเสียหายจริงก็อยากให้ชดเชยไร่ละอย่างน้อย 1,500 บาท ชาวไร่จึงจะพออยู่ได้ หรือไม่ก็อยากขอโอกาสในการประกอบอาชีพ ด้วยการยื่นกู้กับ ธกส.หรือสหกรณ์เป็นกรณีพิเศษทั้งเรื่องดอกเบี้ยให้ถูกลงและวงเงินที่สูงขึ้น เพื่อที่ชาวไร่จะได้กู้มาลงทุนปลูพืชผลรอบใหม่เมื่อมีฝนตกลงมาเพื่อเป็นการสร้างโอกาสและรายได้ต่อชีวิตเกษตรกร

ขณะที่นายเอกสิทธิ์ ศักดีธนาภรณ์ ผอ.โครงการเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท เปิดเผยว่าระดับน้ำในเขื่อนเจ้าพระยายังคงลดลงอย่างต่อเนื่องจากเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ระดับ13.95 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง(ม.รทก.)มาอยู่ที่13.81 ม.รทก.ลดลง 14 ซม. ขณะที่เขื่อนฯยังคงอัตราการปล่อยน้ำเท่าเดิมจากวันก่อนๆ คือ75ลูกบาศก์เมตร/วินาที ซึ่ง ณ ปัจจุบันระดับน้ำปัจจุบันถือว่าเลยจุดวิกฤตของเขื่อนฯที่14.00ม.รทก.ไปแล้ว แต่อย่างไรก็ตามกรมชลประทานยังให้ความมั่นใจกับพี่น้องประชาชนได้ว่าในระยะนี้จะยังไม่มีผลกระทบกับน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค แต่น้ำเพื่อการเกษตรนั้นจะจัดสรรได้เฉพาะพื้นที่ที่ลงมือทำนาไปแล้วก่อนหน้านี้เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม นายเอกสิทธิ์กล่าวว่า ในสัปดาห์นี้ประเทศไทยจะได้รับผลจากพายุโซนร้อน“คูจิระ”(KUJIRA) บริเวณอ่าวตังเกี๋ยที่จะทำให้บริเวณตอนบนของไทยมีฝนตกลงมาเติมน้ำเหนือเขื่อน ซึ่งปริมาณน้ำฝนอาจจะช่วยคลี่คลายสถานการณ์ตึงเครียดจากภัยแล้งในระยะนี้ได้บ้าง แต่หากในระยะต่อไปในช่วงกลางเดือนกรกฎาคมไม่มีพายุพัดผ่านที่จะทำให้ฝนตกเพิ่มเติม กรมชลประทานก็ยังมีแผนรองรับไว้แล้วคือการพิจารณาในพื้นที่เป้าหมาย และการหาแหล่งน้ำใต้ดินเพื่อขุดเจาะขึ้นมาใช้แก้ไขสถานการณ์ภัยแล้งซึ่งกำลังอยู่ในช่วงของพิจารณากรอบเวลาการปฏิบัติการ คาดว่าในวันที่ 24 มิ.ย.58 จะสามารถออกเป็นแผนการบริหารจัดการน้ำเพิ่มเติมได้

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ดัชนีภาคอุตฯพ.ค.ต่ำสุดรอบ1ปี ชี้ส่งออกชะลอตัวตามศก.โลก

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมไทยในเดือนพฤษภาคม 58 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ อยู่ที่ระดับ 85.4โดยเป็นการปรับลดลงเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกันและเป็นค่าดัชนีฯ ที่ต่ำสุดในรอบ 1 ปีนับตั้งแต่ พ.ค. 57 ที่ค่าดัชนีอยู่ที่ 85.1 ทั้งนี้ ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อค่าดัชนีฯ ให้ลดต่ำลงเนื่องจากความกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่จะส่งผลกระทบต่อภาวะการส่งออกชะลอตัว และปัญหาภัยแล้งที่จะกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคภายในประเทศ รวมถึงกังวลต่อการที่สหภาพยโรป (EU)ให้ใบเหลืองไทยกรณีการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฏหมาย(IUU) ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าประมงและอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป สำหรับการอ่อนค่าของเงินบาทในช่วงเดือนพฤษภาคมเป็นสัญญาณที่ดีต่อภาคการส่งออกช่วยให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดต่างประเทศ

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการเห็นว่าบทบาทของภาครัฐจะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาวะที่กำลังซื้อชะลอตัว ขณะเดียวกันโครงสร้างการผลิตของภาคอุตสาหกรรม ในปัจจุบันไม่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะในต่างประเทศ ดังนั้น การให้ความสำคัญกับการปรับปรุงเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิต การพัฒนาฝีมือแรงงาน จะช่วยขยายโอกาสทางการตลาด และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในระยะยาว

ส่วน ดัชนีความเชื่อมั่นจำแนกตามขนาดของของกิจการ ในเดือนพฤษภาคม 58 จากการสำรวจพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของอุตสาหกรรมขนาดย่อม และขนาดกลาง ปรับตัวลดลงจากเดือนเมษายน ขณะที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจำแนกตามการส่งออก แบ่งออก พบว่า ในเดือนพฤษภาคม 58 มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ ปรับตัวลดลงจากเดือนเมษายน ขณะที่กลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากในเดือนเมษายน

ขณะที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 100.9 ลดลงจากระดับ 102.1 ในเดือนเมษายน โดยพบว่า 3 เดือนข้างหน้า เอกชนมีความวิตกปัจจัยผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลก ระดับราคาน้ำมัน อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ที่เพิ่มขึ้น มีเพียงปัจจัยผลกระทบจากการเมืองในประเทศ และผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนที่มีความกังวลน้อยลง ดังนั้นผู้ประกอบการจึงเสนอต่อภาครัฐให้มีการส่งเสริมโครงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ มีการปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลของผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) เพื่อจูงใจให้เข้าระบบภาษีและขยายฐานภาษีให้แก่ประเทศ สนับสนุนการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรในการผลิตที่มีประสิทธิภาพเพื่อทดแทนการขาดแคลนแรงงาน รวมถึงหามาตรการเร่งพัฒนามาตรฐานสินค้าไทยเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาด เป็นต้น

จาก http://www.naewna.com   วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2558

อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ชูความพร้อมด้านวัตถุดิบผลิตกระแสไฟฟ้า ช่วยหนุนความมั่นคงด้านพลังงานตามแผน PDP 2015 ของภาครัฐ

          3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย ชูศักยภาพโรงไฟฟ้าชีวมวลจากกากอ้อย พร้อมช่วยหนุนสนับสนุนความมั่งคงด้านพลังงานไฟฟ้าตามแผน PDP 2015 ให้แก่ภาครัฐ โดยมีวัตถุดิบกากอ้อยที่เหลือจากกระบวนการผลิตน้ำตาลทรายสูงถึงปีละ 18 ล้านตัน สามารถใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากถึงปีละ 1,500 เมกะวัตต์ แถมช่วยลดปัญหาการกำจัดของเสีย ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งสอดรับนโยบายโซนนิ่งพืชเศรษฐกิจด้วย

          นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า หลังจากภาครัฐได้เห็นชอบแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2558-2579 หรือ แผนPDP 2015 ซึ่งเป็นแผนจัดหาไฟฟ้าในระยะยาว ที่พิจารณาตามหลักเกณฑ์สำคัญ 3 ด้าน ประกอบด้วย ด้านความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประเทศ ด้านสิ่งแวดล้อมและด้านเศรษฐกิจ โดยคำนึงถึงการอนุรักษ์พลังงาน การพัฒนาพลังงานทดแทน และพลังงานทางเลือก ซึ่งถือเป็นนโยบายที่ดีที่ภาครัฐมุ่งส่งเสริมให้ภาคเอกชนหรือผู้ประกอบการลงทุนผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้น

          ปัจจุบัน กระบวนการผลิตน้ำตาลในแต่ละปีมีปริมาณอ้อยเกินกว่า 100 ล้านตัน โดยมีกากอ้อยที่เหลือใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ประมาณ 18 ล้านตัน สามารถนำไปผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากถึง 1,500 เมกะวัตต์ แต่มีโครงการที่จำหน่ายไฟฟ้าได้ 82 โครงการ คิดเป็นปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้าตามสัญญาเพียง 800 กว่าเมกะวัตต์

          “อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพและพร้อมสนับสนุนผลักดันแผน พัฒนากำลังไฟฟ้า PDP 2015 ของภาครัฐให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย เนื่องจากโรงงานน้ำตาลทรายทุกโรงมีกากอ้อยที่นำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตไฟฟ้ามากเพียงพอต่อการผลิตกระแสไฟฟ้าป้อนความต้องการใช้ด้านพลังงานไฟฟ้าที่ขยายตัวสูงขึ้นทุกปี สามารถช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่ประเทศ และมีความพร้อมจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้อย่างสม่ำเสมอเมื่อเทียบกับการผลิตไฟฟ้าที่ใช้วัตถุดิบประเภทอื่นๆ” นายสิริวุทธิ์ กล่าว

          นอกจากนี้ การผลิตกระแสไฟฟ้าที่ใช้กากอ้อยเป็นเชื้อเพลิง ยังช่วยตอบโจทย์ตามหลักเกณฑ์แผนพัฒนาไฟฟ้า PDP 2015 ด้านสิ่งแวดล้อมที่สามารถนำเศษวัสดุที่เหลือจากกระบวนการผลิตมาใช้ให้เกิดประโยชน์และสร้างมูลค่าเพิ่ม อีกทั้งการปลูกอ้อยเป็นทางเลือกแก่เกษตรกรในการประกอบอาชีพ ซึ่งผลผลิตทุกตันอ้อยทางโรงงานน้ำตาลทรายพร้อมรับซื้อจากเกษตรกรทั้งหมด ขณะที่การกำหนดราคาอ้อยมีหน่วยงานรัฐกำกับดูแลให้ได้ราคาที่เป็นธรรม จึงช่วยลดความเสี่ยงด้านราคาผลผลิตของเกษตรกรด้วย

จาก กรุง  วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2558

เร่งแก้ปัญหาที่ทำกิน จัดระเบียบหนี้เกษตรกรใหม่

    ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมของทุกปี ชาวนาในภาคกลางและภาคเหนือตอนล่างในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาจะเริ่มลงมือเพาะปลูกข้าวนาปี แต่ปรากฏว่าปีนี้น้ำต้นทุนใน 4 เขื่อนใหญ่ ได้แก่ เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน  และป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำเหลือใช้น้อยมาก ดังนั้นทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทานได้ตัดสินใจออกประกาศให้เกษตรกรชะลอ/เลื่อน การปลูกข้าวออกไปเป็นกลางเดือนกรกฎาคมที่คาดหวังว่าจะมีฝนตกลงมาตามปกติ ซึ่งการตัดสินใจครั้งนี้เป็นธรรมดาย่อมมีทั้งคนที่พร้อมให้ความร่วมมือและไม่พอใจ ท่ามกลางวิกฤตินี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้สัมภาษณ์ นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ถึงทิศทางอนาคตเกษตรกรในปีนี้ว่าจะเป็นอย่างไร และจะนำเสนอปัญหาเพื่อให้รัฐบาลช่วยเร่งแก้ไขอย่างไรบ้าง

++เกษตรกรเจอวิกฤติ 3 เด้ง

    "ประพัฒน์" กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีโชคร้ายที่เกษตรกรต้องเผชิญ 3 วิกฤติ ได้แก่ 1. วิกฤติทางการเมือง ซึ่งเมื่อเกิดปัญหาไม่ทราบจะไปเรียกร้องกับใคร เพราะไม่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)ในพื้นที่ เป็นผู้ประสานงาน ที่ผ่านมาทางสภาเกษตรกรฯจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางสื่อสารสร้างความเข้าใจกับเกษตรกรในพื้นที่ต่างๆ แล้วนำความเดือดร้อนของเกษตรกรแจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอดยอมรับว่าได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง 

    เรื่องที่ 2 วิกฤติภัยแล้ง ก่อนหน้ารัฐบาลก็ขอความร่วมมือเกษตรกรงดทำนาปรัง ล่าสุดขอให้เลื่อนทำนาปี ในพื้นที่ 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยาออกไปเป็นปลายเดือนกรกฎาคม จะเห็นว่าในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลได้พยายามช่วยเหลือโดยมีโครงการจ้างเกษตรกรขุดลอกคูคลองเพื่อให้มีรายได้ชดเชย มองว่ามีผลเชิงปฏิบัติในพื้นที่น้อย เพราะเม็ดเงินน้อยมาก ส่วนตัวไม่อยากจะตำหนิว่ารัฐบาลไม่เข้าใจปัญหาเกษตรกร เนื่องจากสังคมชนบทมีปัญหาที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ที่สำคัญอายุโดยเฉลี่ยของเกษตรกรชราภาพกันหมดแล้ว ส่วนใหญ่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป

    "ไม่ใช่หนุ่มสาวจะมาใช้แรงงานแบบนี้คงไม่ไหว หากจะช่วยเหลือควรจะมีรูปแบบที่เหมาะสม เพื่อสร้างแรงจูงใจและกระตุ้นหากชาวนาให้ความร่วมมือลดทำนาปรัง  หรือร่วมมือในการเลื่อนปลูกข้าว ควรจะผ่อนปรนเรื่องหนี้สินให้  อาทิ พักดอกเบี้ย หรือผ่อนปรนดอกเบี้ย  จะทำให้เขารู้สึกคลายกังวล เพราะเลื่อนทำนาดอกเบี้ยเดินตลอดเวลา อย่างน้อยการทำนา ถือว่าธุรกิจยังเดิน  มีกินมีใช้ และ 3.วิกฤติราคาพืชผลต่ำ เกษตรกรเงินไม่ค่อยมีใช้ ส่งผลเศรษฐกิจประเทศฟุบ เนื่องจากกำลังซื้อหลักมาจากเกษตรกร จะเห็นว่าวิกฤติที่เกษตรกรเผชิญอยู่หนักหน่วงมาก ยังไม่มีนโยบายรัฐบาลที่จะสะท้อนปัญหาเหล่านี้ออกมาเพื่อแก้ไขอย่างเด่นชัด"

++ทางออกแก้ปัญหาที่ดินทำกิน

    เรื่องปัญหาที่ดินทำกินถือเป็นอีกที่มีปัญหารุนแรงมาก เกษตรกรไม่มีที่ทำกินมั่นคง ปัจจุบันที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.)ได้จัดสรรหมดเรียบร้อยแล้ว หากรัฐบาลเข้าใจปัญหานี้สามารถทำได้ง่ายเพียงแค่พลิกนโยบาย กระทำได้โดยนายกรัฐมนตรีที่มีอำนาจเต็มสามารถประกาศใช้นโยบายแก้ไขปัญหาง่ายมาก ไม่ต้องแก้กฎหมาย แต่สามารถใช้กฎหมายเดิมคือ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ มาตราที่ 19 สาระสำคัญคือ สามารถอนุญาตให้ประชาชนเช่าที่หรือทำกินได้ แต่ปัจจุบันนอกจากจะส่งผลทำให้เกษตรกรไม่มีความมั่นคง ไม่สามารถลงทุนได้ระยะยาว จึงปลูกได้เพียงพืชอายุสั้นปีต่อปีเท่านั้น แล้วยังเป็นการเอื้อต่อเจ้าหน้าที่ที่ไม่ดีไปหากินกับประชาชนอีก

"ไม่ใช่เกษตรกรไม่มีที่ทำกิน เพียงแต่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ตามความเข้าใจของรัฐบาล คาดว่ามีเกษตรกรทั่วประเทศกว่าแสนครัวเรือน รัฐควรทำให้ถูกต้องโดยรับรองเกษตรกร และสร้างกติการ่วมกันใครถือครองเกิน 50 ไร่ จะต้องแบ่งเฉลี่ยให้เกษตรกรรายอื่นที่ไม่มีที่ดินทำกิน มองว่ารัฐบาลกำลังหลงทาง พูดถึงรักษ์ป่า รักษ์สิ่งแวดล้อม แต่อีกด้านหนึ่งกำลังทำร้ายคนไทยด้วยกันเอง อยากตั้งคำถามกลับไปว่า คนไทยอยากจะทำผิดกฎหมายหรือไม่ ไม่มีใครอยากทำหรอก ถ้าไม่เข้าตาจนจริงๆ  สุดท้ายจะกลายเป็นสร้างปัญหาใหญ่กว่าปัญหาเดิม จากปัญหาสิ่งแวดล้อม กลายเป็นปัญหาเศรษฐกิจ และลามเป็นปัญหาสังคม ในที่สุดจะกลายเป็นปัญหาความมั่นคงทางการเมือง อยากให้รัฐบาลไตร่ตรองให้รอบคอบ"

++ขอจัดระเบียบหนี้ใหม่

    นอกจากนี้ยังมีปัญหาหนี้สินของเกษตรกร อยากให้รัฐบาลออกเป็นนโยบาย โดยเฉพาะกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่มีลูกค้าเป็นเกษตรกรกว่า 3.7 ล้านครัวเรือน ช่วยอุดหนุน การปล่อยสินเชื่อของธ.ก.ส.ควรจะมีระยะยาวมากกว่าระยะสั้น มีลักษณะแบบปีต่อปี เช่นทุกวันที่ 31 มีนาคม จะต้องตัดดอกเบี้ย  และเมษายน จะต้องยื่นเรื่องขอกู้ใหม่ เป็นต้น  หากจะกู้ใหม่เกษตรกรจะต้องนำเงินต้นพร้อมกับดอกเบี้ยจ่ายหมดถึงจะกู้ใหม่ได้  อาทิ ต้น 5 แสน ดอกเบี้ย 1 แสน ต้องจ่าย 6 แสน ซึ่งกรณีนี้กลายเป็นปัญหาที่กดทับเกษตรกรที่หนักหน่วงมาก จะเรียกร้องให้รัฐบาลยืดหยุ่น หรือหากต้นยังไม่ชำระ เฉพาะดอกได้หรือไม่ หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะการปล่อยสินเชื่อในลักษณะไม่ทันสมัย หากปรับหน่อยจะทำให้เกษตรกรหายใจได้สะดวกขึ้น ทั้งหมดที่กล่าวมาถือเป็นทางรอดของเกษตรกรไทย

จาก http://www.thanonline.com วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2558

"ปีติพงศ์"ชงครม.เศรษฐกิจเยียวยาเกษตรกรประสบภัยแล้ง

"ปีติพงศ์"ชงครม.เศรษฐกิจเยียวยาเกษตรกรประสบภัยแล้งชี้ต้องปรับโครงสร้างชลประทานให้ควบคุมน้ำมากขึ้น เชื่อขุดบ่อบาดาลช่วยแก้แล้ง "ดาว์พงษ์"เล็งขุดเจาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงสถานการณ์ภัยแล้ง ว่า มีการรายงานสถานการณ์ภัยแล้งเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ในส่วนความต้องการของประชาชนต้องนำมารวบรวมและสรุปให้ชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งจะมีการหารือร่วมกันอีกครั้งในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เศรษฐกิจในวันที่ 24 มิ.ย.นี้ ว่าจะมีการช่วยเหลือเยียวยาเฉพาะหน้าอย่างไร ส่วนเกษตรกรที่ยังไม่เริ่มเพาะปลูกนาปีก็ต้องขอความร่วมมือให้ชะลอออกไป ซึ่งขณะนี้มีปัญหาที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพียงแห่งเดียวที่มีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 4 ล้านไร่ ส่วนพื้นที่อื่นมีการเพาะปลูกไปแล้วหลายล้านไร่ จากทั้งหมด 60 ล้านไร่ต่อปี ฉะนั้นปัญหาที่ต้องแก้ขณะนี้จะต้องดูแลในส่วนพื้นที่ที่เพาะปลูกไปแล้ว และการชะลอออกไปยังไม่รู้ว่าภูมิอากาศจะเป็นอย่างไร รวมทั้งต้องแก้ปัญหาระยะยาวหากไม่มีฝนตกเลย

นายปีติพงศ์ กล่าวต่อว่า จากการทำงานมา 7-8 เดือน เห็นว่าจะต้องมีการปรับโครงสร้างชลประทาน โดยจะมองเพียงความต้องการน้ำอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องดูอุปสงค์ของน้ำด้วย ต้องทำให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัดที่สุด และต้องปรับให้มีการควบคุมน้ำมากขึ้น เพราะปริมาณน้ำน้อยลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในรอบหลายปีที่ผ่านมามีการใช้น้ำต้นทุนไปมาก ส่วนแนวคิดการผันน้ำจากแม่น้ำโขงและสาละวินนั้น เป็นโครงการในระยะยาว ซึ่งกระทรวงต่างประเทศได้ระบุว่ากำลังดำเนินการเจรจา แต่โครงการดังกล่าวก็ต้องไม่ทำให้ใครเดือดร้อน ส่วนแนวคิดให้มีการขุดเจาะบาดาลเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้ามีแน่นอน เพราะมีน้ำอยู่ในระดับความลึก 50-100 เมตร สามารถดึงมาใช้ได้ แต่จะไปขยายให้ได้มากน้อยแค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับช่วงเวลา

ด้านพล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงการเตรียมการขุดเจาะน้ำบาดาลแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ว่า สามารถดำเนินการโดยใช้งบประมาณของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลที่มีอยู่เดิม ไม่ต้องของบเพิ่ม ที่จริงกระทรวงทรัพยากรฯมีแผนขุดเจาะน้ำบาดาลประจำปีอยู่แล้ว แต่ปีนี้เกิดภัยแล้งทำให้ต้องมีการปรับแผนให้สอดคล้องกับปัญหา และตนได้สั่งการให้ตรวจสอบอย่างละเอียดว่าเจอจุดที่พบน้ำบาดาลกี่จุดแล้ว โดยจะนำข้อมูลส่วนนี้เข้าที่ประชุมกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในวันพรุ่งนี้ (24 มิ.ย.) อย่างไรก็ตามการเจาะน้ำบาดาลจุดใดนั้นต้องให้กระทรวงเกษตรฯชี้เป้าแล้วเราเป็นผู้ดำเนินการ ทั้งนี้การเจาะน้ำบาดาลเพียงช่วยเสริมในส่วนที่น้ำในเขื่อนไม่เพียงพอ โดยเราจะขุดน้ำบาดาลบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา น่าจะพอมีน้ำอยู่ เนื่องจากกระทรวงเกษตรฯได้ชี้เป้าแหล่งน้ำบริเวณไว้แล้ว

เมื่อถามว่าในที่ประชุมครม.ได้หารือเรื่องปัญหาการแย่งน้ำของเกษตรกรหรือไม่ พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าวว่า มีการหารืออยู่ เป็นหน้าที่ที่เตาต้องทำความเข้าใจ ซึ่งได้มีการสั่งการให้กระทรวงมหาดไทยเข้าไปดูแล. “

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2558

เจ้าพระยาวิกฤติ!3จว.ระวังตลิงพัง สุโขทัยแล้งสุด20ปี ลพบุรียับนับพันไร่

เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน นายฎรงศ์กร สมตน ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 12 จังหวัดชัยนาท มีหนังสือลงวันที่ 21มิถุนายน 2558 ถึง 3 ผู้ว่าราชการจังหวัดในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบน ประกอบด้วย จ.นครสวรรค์ อุทัยธานี และชัยนาท ขอให้ประชาสัมพันธ์ แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างว่า สถานการณ์น้ำต้นทุนใน เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีปริมาณอยู่ในเกณฑ์ที่น้อยซึ่งมีเพียงพอสำหรับการจัดสรรเพื่อการอุปโภค-บริโภค รักษาระบบนิเวศและเพื่อการเพาะปลูกข้าวเฉพาะที่เพาะปลูกไปแล้วเท่านั้น

เขื่อนเจ้าพระยาถึงจุดวิกฤติ

“จากการติดตามสถานการณ์น้ำ ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ไหลผ่านจ.นครสวรรค์ มีอัตราลดลงและไม่มีฝนตกในพื้นที่เหนือเขื่อนเจ้าพระยา ทำให้ระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา มีแนวโน้มต่ำลงกว่าจุดวิกฤติ เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของตลิ่ง โดยในเวลา 09.00 น. วันที่ 22 มิถุนายน ระดับน้ำอยู่ที่ 13.95 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) จะส่งผลถึงความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงสิ่งปลูกสร้างของประชาชนที่อยู่ริมน้ำ ที่จะมาจากการเคลื่อนตัวพังทลายของลาดตลิ่งริมแม่น้ำเจ้าพระยา”

เตือน3จว.อันตรายตลิ่งพัง

ทั้งนี้ ยังได้ขอให้ทาง 3 จังหวัดแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน ที่มีบ้านเรือน หรือสิ่งก่อสร้างที่เสี่ยงต่อการพังทลายของลาดตลิ่งรวมทั้ง ผู้ประกอบการต่างๆที่อยู่ในแม่น้ำเช่น แพร้านอาหารและกระชังปลา ควรวางแผนรับสถานการณ์ระดับน้ำที่จะลดลง เพื่อมิให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินและเป็นอันตรายต่อชีวิตจากอุบัติภัยที่อาจเกิดขึ้นได้รวมทั้งขอความร่วมมือรณรงค์ให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด

ชี้ระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่าหลังจากผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่12 ชัยนาท ได้มีหนังสือส่งถึงผู้ว่าราชการจังหวัด 3 จังหวัด ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบน คือ จ.นครสวรรค์ จ.อุทัยธานี และ จ.ชัยนาท เพื่อให้ประกาศแจ้งเตือนประชาชนกรณีปริมาณน้ำลดลงต่ำกว่าเกณฑ์ต่อเนื่องพร้อมเฝ้าระวังอันตรายจากตลิ่งทรุดนั้น จากการตรวจสอบสถานการณ์น้ำในเขื่อนเจ้าพระยา ต.บางหลวง อ.สรรพยา จ.ชัยนาท พบว่าระดับน้ำเหนือเขื่อนยังลดลงอย่างต่อเนื่อง ระดับน้ำอยู่ต่ำกว่าระดับวิกฤติ14.00เมตร ทางกรมชลประทาน เรียกประชุม ด่วนเพื่อปรับแผนการบริหารจัดการน้ำทันที

สุโขทัยแล้งหนักรอบ20ปี

สำหรับสถานการณ์ภัยแล้ง ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่จ.สุโขทัย เกษตรกรที่ปลูกอ้อยในพื้นที่ ต.ตลิ่งชัน อ.บ้านด่านลานหอย จ.สุโขทัย กว่า10,000ไร่ประสบปัญหาภัยแล้งอย่างหนักหลังแหล่งน้ำทั้งห้วย หนอง คลอง บึง มีสภาพแห้งขอดโดยเฉพาะคลองพฤกษาเป็นคลองสายหลักหมู่บ้านแห้งจนเห็นดินแตกระแหงทำให้เกษตรกรที่ปลูกอ้อย ต้องจ้างช่างมาเร่งขุดเจาะบ่อบาดาลในที่ไร่ของตัวเอง เพื่อดึงน้ำขึ้นมาหล่อเลี้ยงต้นอ้อยที่เพิ่งปลูกใหม่ ไม่ให้ขาดน้ำจนเหี่ยวแห้งตายไปเสียก่อน

นายประเทือง นาราสิริวิมล นายกเทศมนตรีตำบลตลิ่งชัน เผยว่าภัยแล้งปีนี้ หนักสุดในรอบ20ปี และพื้นที่เกษตรกรรมกว่า 30,000 ไร่ ทั้งไร่อ้อย มันสำปะหลัง ถั่วเขียว และนาข้าว ปลูกอะไรไม่ได้เลย เกษตรกรหมดเนื้อหมดตัว ไม่มีทุนแล้ง ขอวิงวอนรัฐบาลให้เข้ามาช่วยเหลือด้วย

ลพบุรีข้าวโพดตาย1.2พันไร่

สำหรับสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ จังหวัดลพบุรียังคงวิกฤตหนักขึ้น หลังชลประทานชะลอการระบายน้ำ ลงมาให้ชาวนาทำนา และฝนที่ทิ้งช่วงนานนับเดือนนั้น ขณะนี้เดือดร้อนถึงชาวไร่ข้าวโพด ในพื้นที่ หมู่ที่5 ต.กกโก อ.เมือง จ.ลพบุรี ทำให้ข้าวโพดของชาวไร่ข้าวโพดจำนวน85 ราย บนพื้นที่ 1,200ไร่ กำลังแห้ง ยืนต้นตาย ได้รับความเสียหาย โดยนายธนปพน เงินเมย นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลกกโก เผยว่า ขณะนี้ชาวไร่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยแล้งอย่างหนัก เพราะข้าวโพดเสียหายทั้งหมดไม่สามารถเก็บผลผลิตออกขายได้ทำให้ต้องไถทิ้งอย่างเดียวแต่ก็ไม่มีเงินทุนที่จะทำใหม่จึงวอนรัฐบาลช่วยเหลือชาวไร่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งครั้งนี้ด้วย เพราะถือว่านี้แล้งที่สุดในรอบกว่า10ปีเลยที่เดียว

“น้ำมูล”แห้งขอดเดินข้ามได้

ที่ จ.บุรีรัมย์ สถานการณ์ภัยแล้งยังขยายวงกว้างอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด น้ำในแม่น้ำมูล เส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงภาคอีสานช่วงที่ไหลผ่านพื้นที่ อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ ยังคงมีสภาพตื้นเขินแห้งขอดอย่างเห็นได้ชัดโดยเฉพาะบริเวณสะพานข้ามลำน้ำมูล บ.ท่าเรือ ต.ท่าม่วงที่ใช้ในการอุปโภคบริโภค ทำการเกษตรและประกอบอาชีพการประมง ทั้งหาปลาและเลี้ยงปลาในกระชังรวมทั้งทำนาปีและนาปรัง มีสภาพตื้นเขิน จนมองเห็นตอหม้อสะพานโผล่และบางจุดแห้งขอด จนสันดอนทรายโผล่จนชาวบ้านเดินข้ามฝั่งไปมาหาสู่กันได้ ทำการเกษตร และการประมง ต่างได้รับความเดือดร้อนไม่สามารถประกอบอาชีพได้

โคราชเสี่ยงหว่าน“นาปี”

ที่จ.นครราชสีมา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวนาในพื้นที่ ต.พลกรัง อ.เมือง จ.นครราชสีมา ต่างพากันไถปรับดิน และตัดสินใจ ใช้วิธีหวานข้าวบนผืนดินที่แห้ง หรือ ที่ชาวนาเรียกหว่านแห้ง ในเนื้อที่นาหลายร้อยไร่ นายนำนอง โนนพลกรัง อายุ 68 ปี ชาว ต.พลกรัง อ.เมือง จ.นครราชสีมา เผยว่าตนและชาวนาในพื้นที่ใกล้เคียง ได้ไถปรับดินไว้นานกว่า 1 เดือนแล้ว หลังรอน้ำจากเขื่อนไม่ไหว จึงตัดใจหว่านแห้ง เพื่อเสี่ยงรอฝนที่อาจจะตกลงมาบ้างในช่วงนี้ แต่หากฝนไม่ตกลงมาในระยะเวลา 1 เดือนนี้ ก็มีความเสียงสูงที่เมล็ดข้าวจะไม่งอก และแห้งเสียหายทั้งหมด

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าว ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบในพื้นที่ อ.สูงเนิน เป็นหนึ่งอำเภอทั้งหมด 5 อำเภอ ประกอบด้วย อ.สีคิ้ว อ.สูงเนิน อ.ขามทะเลส อ.เมือง และ อ.เฉลิมพระเกียรติ ที่โครงการส่งน้ำลำตะคองงดการจ่ายน้ำเพื่อการเกษตร ล่าสุดพบว่าหลายพื้นที่ในอ.สูงเนินที่ติดคลองส่งน้ำธรรมชาติที่ทางอ่างฯลำตะคองจัดส่งน้ำในการรักษาระบบนิเวศน์ การประปาเพื่อการอุปโภคบริโภค มีเกษตรกรที่ทำการปลูกข้าวหลายพันไร่ ยังตั้งเครื่องสูบน้ำเข้าพื้นที่เพาะปลูกกันอย่างต่อเนื่องโดยไม่สนคำเตือนและประกาศขอความร่วมมือกับทางโครงการส่งน้ำลำตะคองฯ

ปลาลอยตายในคูเมืองโคราช

เมื่อช่วงสายวันเดียวกัน ผู้สื่อข่าว ได้รับแจ้งว่ามีปลาในคูเมืองเขตเทศบาลนครราชสีมา ตรงข้ามทางเข้าวัดศาลาลอย มีปลาเล็กปลาน้อยจำนวนมาก ลอยขึ้นมาตายเป็นเบือแพ ส่งเหม็น สร้างความตกใจให้แก่ประชาชนที่อยู่บริเวณรอบต่างมามุงดู นอกจากนี้ ในลำน้ำลำตะคอง มีปลาลอยตายลักษณะเดียวกันจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่เป็นปลาตะเพียน ปลาขาว และปลานิล โดยเจ้าหน้าที่กองสาธารณสุข เทศบาลฯได้เก็บตัวอย่างน้ำไปตรวจ เพื่อหาสาเหตุการตายของปลา เบื้องต้นคาดมาจากปริมาณน้ำมีน้อยและ สภาพอากาศร้อน อาจเป็นสาเหตุให้ปลาน็อคน้ำได้ จึงเป็นเหตุให้ปลาตาย

จาก http://www.naewna.com วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2558

พด.เร่งเสริมความรู้ ผู้จัดการกระบวนการรับรองการผลิตเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม

ปัจจุบันเกษตรกรจำนวนไม่น้อยที่ตระหนักและหันมาให้ความสนใจกับการผลิตปุ๋ยอินทรีย์มากขึ้น ทั้งนี้ ก็เพื่อหลีกหนีจากต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะด้านปุ๋ยเคมีที่มีราคาแพงขึ้นจนรับไม่ไหว จนต้องหันมาพึ่งพาปุ๋ยอินทรีย์ที่สามารถผลิตได้เองจากวัสดุเหลือใช้ทางภาคเกษตรที่มีอยู่จำนวนมาก

นายสมโสถติ์ ดำเนินงาม ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาการจัดการที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า กรมพัฒนาที่ดินเป็นหน่วยงานหลักที่มีภารกิจด้านการพัฒนาและจัดการที่ดิน การฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน ตลอดจนด้านการส่งเสริมการใช้ปุ๋ยอินทรีย์/สารอินทรีย์เพื่อลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร โดยเฉพาะในยุคที่ปุ๋ยเคมีและสารเคมีทางการเกษตรมีการปรับราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกระทบต่อต้นทุนการผลิตของเกษตรกร กรพัฒนาที่ดิน จึงได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการใช้สารอินทรีย์เพื่อลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร มุ่งเน้นให้เกษตรกรผลิตและใช้ปุ๋ยอินทรีย์ลดการพึ่งพาสารเคมีทางการเกษตรให้ใช้เท่าที่จำเป็น เพื่อลดต้นทุนการผลิต และได้ปรับปรุงฟื้นฟูคืนความสมบูรณ์ให้กับทรัพยากรดิน เกษตรกรจะได้มีที่ดินทำกินอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

โครงการดังกล่าวได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน ได้จัดตั้งกลุ่มเกษตรกรใช้สารอินทรีย์เพื่อลดการใช้สารเคมีทางการเกษตรแล้วจำนวน 73,699 กลุ่ม เกษตรกรจำนวน 3.6 ล้านราย และมีบางกลุ่มที่มีความพร้อมเข้าสู่การผลิตระบบเกษตรอินทรีย์ตามมาตรฐานได้ ในปีนี้กรมพัฒนาที่ดิน จึงได้พัฒนากลุ่มเกษตรกรที่มีความพร้อมเข้าสู่การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แล้ว จำนวน 117 กลุ่ม เกษตรกร 585 ราย ในพื้นที่ 43 จังหวัด โดยให้การสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรที่มีความพร้อมและเต็มใจเข้าสู่การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตเกษตรอินทรีย์ที่จำเป็นสำหรับการผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ของกรมพัฒนาที่ดินยังทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านเกษตรอินทรีย์ให้กับกลุ่มเกษตรกร ดำเนินการยื่นสมัครขอรับการรับรองมาตรฐานพืชอินทรีย์กับกรมวิชาการเกษตร และมาตรฐานข้าวอินทรีย์กับกรมการข้าว หรือในกรณีที่มีความพร้อมยื่นสมัครขอรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์มาตรฐาน IFOAM จากสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.)

อย่างไรก็ดี กลุ่มเกษตรกรใช้สารอินทรีย์ฯ บางกลุ่ม เป็นเกษตรกรรายย่อยที่ทำเกษตรอินทรีย์ด้วยจิตวิญญาณ เป็นวิถีชีวิตอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างเกื้อกูล เรียกว่า“เกษตรอินทรีย์พื้นบ้าน” เกษตรกรเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงหน่วยตรวจรับรองได้ เพราะมีค่าตรวจรับรองสูงและไม่คุ้มกับผลผลิตที่มีน้อย รวมทั้งมีระบบเอกสารให้บันทึกจำนวนมาก การขับเคลื่อนกลุ่มผลิตเกษตรอินทรีย์จำเป็นต้องทำสอดคล้องกันทั้งระบบตั้งแต่การผลิต การรับประกันคุณภาพจนถึงการตลาด ขึ้นอยู่กับผู้ผลิตต้องการเข้าสู่ตลาดระดับใดที่คู่ค้าและผู้บริโภคยอมรับ ดังนั้น แนวทางการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ คือการดำเนินการรับรองแบบมีส่วนร่วม ที่เรียกว่า พีจีเอส (Participatory Guarantee Systems : PGS) ซึ่งกรมพัฒนาที่ดิน ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากธนาคารพัฒนาเอเชีย ให้ดำเนินโครงการ “Promoting Participatory Guarantee Systems (PGS) for Small Scale Organic Farming in Thailand” นำร่องในพื้นที่กลุ่มเกษตรกรเป้าหมาย 5 จังหวัด ได้แก่ สุรินทร์ ลำปาง เชียงใหม่ เพชรบูรณ์ และนครปฐม

นายสมโสถติ์กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้โครงการดังกล่าวขับเคลื่อนไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องสร้างองค์ความรู้เรื่องระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม (PGS) กรมพัฒนาที่ดิน จึงได้จัดให้มีการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ Training for Master Trainer หลักสูตร “ผู้จัดการกระบวนการรับรองการผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม” ให้กับเจ้าหน้าที่ระดับพื้นที่ของกรมพัฒนาที่ดิน ที่เรียกว่า มิสเตอร์เกษตรอินทรีย์ ที่รับผิดชอบปฏิบัติงานโครงการพัฒนากลุ่มเกษตรกรสู่การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ปี 2558 รวมถึงผู้แทนกลุ่มเกษตรกรฯ ที่เข้าร่วมโครงการ เกษตรกรแกนหลักเป้าหมายโครงการ PGS ตลอดจนเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานและเครือข่ายที่ร่วมบูรณาการดำเนินงานกับกรมพัฒนาที่ดินด้วย เพื่อจะได้นำไปปรับใช้ในการพัฒนากลุ่มเกษตรกรให้สามารถเข้าสู่การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ได้ตามเป้าหมาย

โดยแบ่งการฝึกอบรมออกเป็น 5 รุ่น ซึ่ง รุ่นที่ 1 จัดขึ้นแล้วตั้งแต่วันที่ 15-17 มิถุนายนที่ผ่านมา ที่ จ.เพชรบูรณ์ ส่วนรุ่นที่ 2 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-28 มิถุนายน 2558 ณ โรงแรมเกษมการ์เด้น อ.เมือง จ.สุรินทร์ รุ่นที่ 3 วันที่ 2-4 กรกฎาคม 2558 ณ โรงแรมคุ้มภูคำ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ รุ่นที่ 4 วันที่ 9-11 กรกฎาคม 2558 ณ โรงแรมสามพรานริเวอร์ไซด์ อ.สามพราน จ.นครปฐม และรุ่นที่ 5 วันที่ 16-18 กรกฎาคม 2558 ณ โรงแรมเกษมการ์เด้น อ.เมือง จ.สุรินทร์

 ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าการฝึกอบรมหลักสูตรดังกล่าวจะทำให้มิสเตอร์เกษตรอินทรีย์ระดับพื้นที่ของกรมพัฒนาที่ดิน ได้ทราบถึงบทบาทของตนเอง รวมถึงแนวทางและขั้นตอนการส่งเสริมกลุ่มเกษตรกรให้เข้าสู่การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์โดยใช้กระบวนการรับรองแบบมีส่วนร่วม ที่สำคัญเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ จะได้รับองค์ความรู้ด้านมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ แนวทางและขั้นตอนจัดทำตามกระบวนการรับรองแบบมีส่วนร่วม จนผ่านการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ในที่สุด

จาก http://www.naewna.com วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ปัญหาเกษตร ที่นีมีคำตอบ : หญ้าแฝก การขยายพันธุ์และฟื้นฟูสภาพดิน

คำตอบ การขยายพันธุ์หญ้าแฝก เป็นขั้นตอนที่สำคัญในการเพิ่มปริมาณกล้าหญ้าแฝกให้มากตามความต้องการ โดยทั่วไปหญ้าแฝกมีการขยายพันธุ์ตามธรรมชาติด้วยเมล็ด หน่อและแขนง การขยายพันธุ์หญ้าแฝกนิยมใช้หน่อ เนื่องจากทำได้สะดวกรวดเร็ว การขยายพันธุ์หญ้าแฝกสามารถขยายพันธุ์ได้ 2 ประเภท คือ การขยายแม่พันธุ์หญ้าแฝก และการขยายกล้าหญ้าแฝก กรมพัฒนาที่ดินได้แนะนำวิธีการขยายพันธุ์ไว้ดังนี้

การขยายแม่พันธุ์หญ้าแฝก คือ การนำแม่พันธุ์หญ้าแฝกที่มีลักษณะดี มาทำการขยายเพิ่มปริมาณ ทั้งการปลูกลงดิน ปลูกลงถุงพลาสติกขนาดใหญ่

หรือการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ดังนี้

1.ขยายพันธุ์ในแปลงขนาดใหญ่ แบบนี้เหมาะสมกับพื้นที่ที่มีการชลประทานและระบายน้ำดี สามารถปลูกเป็นแปลงขนาดใหญ่ โดยไม่ต้องยกร่องก็ได้ การเตรียมต้นพันธุ์ โดยแยกหน่อจากกอ นำมาตัดใบให้เหลือความยาว 20 เซนติเมตร และตัดรากให้สั้น แช่ในระดับน้ำสูง 5 เซนติเมตร เป็นเวลา 5-7 วัน รากจะแตกออกมาใหม่ นำไปปลูกโดยใช้ระยะปลูกระหว่างต้น 50 เซนติเมตร และระหว่างแถว 50 เซนติเมตร หลังจากปลูก ต้องให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ เมื่ออายุได้ 1 เดือน ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ต้นละ 1 ช้อนชา เมื่อถึงอายุ 4-6 เดือน ให้ขุดนำไปเพาะชำในถุงพลาสติก หรือเตรียมเป็นกล้ารากเปลือยสำหรับใช้ประโยชน์ได้ต่อไป

2.การขยายพันธุ์ในถุงพลาสติกขนาดใหญ่ โดยวางเป็นแถวคู่ติดกันระยะห่างระหว่างแถวคู่ 1 เมตร ยาวตามพื้นที่ ใช้วัสดุปลูกที่มีการระบายน้ำดี เช่น ดินร่วน ทราย และขี้เถ้าแกลบ หรือขุยมะพร้าว ในสัดส่วน 1:2:1 การติดตั้งระบบน้ำพ่นฝอย หรือมีตาข่ายพรางแสง นำหน่อมาปักชำ ดูแลจนกระทั่งอายุ 4 เดือน จึงนำไปแยกหน่อเพาะชำต่อไป

3.การขยายพันธุ์โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ โดยการนำหน่อ หรือช่อดอกอ่อนของหญ้าแฝกมาผ่านกระบวนการใช้เทคนิคปลอดเชื้อ เพาะเลี้ยงบนอาหารสังเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ ทำให้สามารถเพิ่มปริมาณหญ้าแฝกได้มากในเวลาที่รวดเร็ว จะได้กล้าหญ้าแฝกขนาดเล็กๆ ที่มีความสม่ำเสมอ และเมื่อนำกล้าหญ้าแฝกจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมาปลูก จำเป็นต้องใช้หน่อใหม่เป็นแม่พันธุ์อยู่เป็นระยะ เพื่อให้ได้กล้าหญ้าแฝกที่มีคุณภาพ

การขยายพันธุ์กล้าหญ้าแฝก คือการนำหน่อที่ได้จากการขยายแม่พันธุ์มาเพาะชำเพื่อนำไปปลูกในพื้นที่ ได้แก่ กล้าในถุงพลาสติกขนาดเล็ก และกล้าหญ้าแฝกแบบรากเปลือย ดังนี้

1.การเตรียมกล้าหญ้าแฝกเพาะชำในถุง โดยตัดรากให้สั้น ทำการแยกหน่อจากกอ ตัดใบให้ยาว 10 เซนติเมตร นำมาล้างน้ำ มัดรวมกัน วางลงบนขุยมะพร้าวที่ชื้น หรือแช่ในระดับน้ำสูง 5 เซนติเมตร ในที่ร่มเงา 4 วัน แล้วจึงคัดหน่อที่ออกรากมาปักชำในถุงพลาสติกขนาดเล็ก (2x6 นิ้ว) และใส่วัสดุเพาะชำที่ระบายน้ำดี มีธาตุอาหารสมบูรณ์ ดูแลรดน้ำในสภาพเรือนเพาะชำ เมื่ออายุ 45-60 วัน ให้นำไปปลูกในพื้นที่ขณะที่ดินมีความชื้น

2.การเตรียมกล้าหญ้าแฝกแบบรากเปลือย โดยการแยกหน่อจากกอ ตัดใบให้ยาว 20 เซนติเมตร ตัดรากให้สั้น วางบนขุยมะพร้าวที่ชื้น หรือแช่ในน้ำให้ท่วมราก จนกระทั่งรากงอกขึ้นมายาว 1-2 เซนติเมตร นานประมาณ 5-7 วัน จึงนำไปปลูกในช่วงต้นฤดูฝน และหลังจากปลูกดิน ควรมีความชื้นติดต่อกันอย่างน้อย 15 วัน

ลักษณะเด่นของหญ้าแฝก การที่หญ้าแฝกถูกนำมาใช้ปลูกในการอนุรักษ์ดินและน้ำ เนื่องมาจากมีลักษณะเด่นหลายประการ คือ มีการแตกหน่อรวมเป็นกอ เบียดกันแน่นไม่แผ่ขยายด้านข้าง มีการแตกหน่อและใบใหม่ ไม่ต้องดูแลมาก หญ้าแฝกมีข้อที่ลำต้นถี่ ขยายพันธุ์โดยใช้หน่อได้ตลอดปี ส่วนใหญ่ไม่ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ทำให้ควบคุมการแพร่ขยายได้ มีใบยาว ตัดและแตกใหม่ง่าย แข็งแรง และทนต่อการย่อยสลาย ระบบรากยาว สานกันแน่นและช่วยอุ้มน้ำ บริเวณรากเป็นที่อาศัยของจุลินทรีย์ และมีการปรับตัวกับสภาพต่างๆ ได้ดี ทนทานต่อโรคพืชทั่วไป

จาก http://www.naewna.com วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2558

แจงสี่เบี้ย : กรมพัฒนาที่ดินกับการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ (2)

กลุ่มผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ปรับปรุงบำรุงดิน เพิ่มธาตุอาหารและฮอร์โมนพืช ได้แก่สารเร่งซุปเปอร์ พด.1 ผลิตปุ๋ยหมัก สารเร่งซุปเปอร์ พด.2 ผลิตน้ำหมักชีวภาพ จุลินทรีย์ซุปเปอร์ พด.9 ผลิตเชื้อจุลินทรีย์เพิ่มความเป็นประโยชน์ของฟอสฟอรัสในดินกรด ดินเปรี้ยวจัด จุลินทรีย์สำหรับพืชปรับปรุงบำรุงดิน พด.11 เพิ่มมวลชีวภาพและธาตุอาหารของพืชปุ๋ยสด ปอเทือง และโสนแอฟริกา และปุ๋ยชีวภาพ พด.12 เพิ่มธาตุอาหาร และผลิตฮอร์โมนพืช

1.1 การผลิตปุ๋ยหมัก โดยใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด.1 เป็นกลุ่มจุลินทร์ที่ทนอุณหภูมิสูงมีประสิทธิภาพในการย่อยสลายอินทรีย์วัสดุเหลือใช้จากการเกษตรและอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ที่มีองค์ประกอบของเซลลูโลสและไขมันที่ย่อยสลายยาก เพื่อผลิตปุ๋ยหมักในเวลารวดเร็ว สารเร่งซุปเปอร์ พด.1 ปะกอยด้วยราย่อยเซลลูโลส ได้แก่ Scytalidiumthermophilum, Chaetomiumthermophilum, Corynascusverrucosus Scopulariopsisbreviaulis แอคติโนมัยซิสย่อยเซลลูโลส Streptomyces sp. 2 สายพันธุ์และจุลินทรีย์ย่อยไขมัน ได้แก่ Bacillussubtilis 2 สายพันธุ์

การนำเศษซากพืช และมูลสัตว์ไปหมักก่อนการนำไปใช้ประโยชน์นั้น ความร้อนที่เกิดขึ้นในระหว่างกระบวนการย่อยสลายและสะสมอยู่ในกองปุ๋ยหมัก มีผลต่อการทำลายเชื้อสาเหตุโรคพืชบางชนิด เช่น เชื้อรา Helminthosporiummaydisที่ก่อให้เกิดโรคใบไหม้ของข้าวโพด เชื้อรา Curvularialunataที่ก่อให้เกิดโรคใบจุดของข้าวโพด และเชื้อรา Collectotrichumdermatium var. และเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรค เช่น เชื้อSalmonella typhosa ที่ก่อให้เกิดโรคไทฟอยด์ เชื้อ Shigella sp. ที่เป็นสาเหตุโรคบิด เชื้อ Mycobacterium tuberculosis ที่เป็นสาเหตุวัณโรค เป็นต้น

ส่วนผสมในการผลิตปุ๋ยหมัก 1 ตัน ประกอบด้วย เศษพืชแห้ง 1,000 กิโลกรัมมูลสัตว์ 200 กิโลกรัม ปุ๋ยไนโตรเจน 2 กิโลกรัม (หรือน้ำหมักชีวภาพที่ผลิตจากปลา 9 ลิตร) สารเร่งซุปเปอร์พด.1 จำนวน 1 ซอง

วิธีการผลิตปุ๋ยหมัก คือ เริ่มจากการกองปุ๋ยหมัก 1 ตัว มีความกว้าง 2 เมตร ยาว 3 เมตร สูง 1.5 เมตรผสมสารเร่งซุปเปอร์ พด.1 ในน้ำ 20 ลิตร คนให้เข้ากัน 10-15 นาที กองชั้นแรกให้นำวัสดุที่ไว้ส่วนที่หนึ่งมากองเป็นชั้นมีขนาดกว้าง 2 เมตร ยาว 3 เมตร สูง 30 – 40 เซนติเมตร ย่ำให้พอแน่นและรดน้ำให้ชุ่ม นำมูลสัตว์โรยที่ผิวหน้าเศษพืช โรยปุ๋ยไนโตรเจนทับบนชั้นของมูลสัตว์ หรือรดด้วยน้ำหมักชีวภาพที่ผลิตจากปลาหลังจากนั้นราดสารละลายสารเร่งให้ทั่วโดยแบ่งใส่เป็นชั้นๆ แล้วนำเศษพืชมากองทับเพื่อทำชั้นต่อไป ปฏิบัติเหมือนการกองชั้นแรก ทำเช่นนี้อีก 2-3 ชั้น ชั้นบนสุดของกองปุ๋ยปิดทับด้วยเศษพืชที่เหลืออยู่ เพื่อป้องกันการสูญเสียความชื้นชั้นๆ

จาก http://www.naewna.com วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2558

เปิดประตูสู่การค้าอาเซียน

ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า การรวมตัวของ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จะมีขึ้นอย่างเป็นทางการซะที จะเห็นภาพความเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคนี้ ที่มีประชากรถึงกว่า 600 ล้านคน

การรวมตัวของอาเซียน เป็นการเริ่มต้นของการเปิดเวทีการเจรจาต่อรองระหว่างประเทศ ที่ไม่เฉพาะกลุ่มประเทศอาเซียน เท่านั้น แต่จะก้าวไปสู่ อาเซียน+3 ที่จะมี จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น เข้าร่วม

 จะก้าวไปสู่ อาเซียน+6 ที่จะรวมถึง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินโดนีเซีย ที่มองว่า จะเป็นการร่วมกันบนฐานเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก

การรวมอาเซียนเป็นหนึ่ง จะทำให้เกิดภาพของ เสรีภาพทางการค้า การลงทุน มีการเคลื่อนย้ายเม็ดเงินลงทุนอย่างเสรีมากขึ้น การเปิดเสรีทางการเงิน การเคลื่อนย้ายภาคแรงงานอย่างเสรี

ประเทศไทยเรา เปิดกว้างทางด้านการค้าต่างประเทศมาก่อนหน้านี้แล้ว เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม

แต่เมื่อเปรียบเทียบกันในด้านศักยภาพแล้ว ประเทศไทยได้เปรียบมากกว่าประเทศอื่น ทั้งทำเลที่ตั้ง โครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค สามารถที่จะเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมต่อประเทศต่างๆในอาเซียนด้วยกัน

ภาครัฐและภาคเอกชนมีส่วนสำคัญที่สุด ในการที่จะเชื่อมโยงกับอาเซียน ภาคเอกชนเตรียมพร้อมมาก่อนหน้านี้ อาทิ เจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพีเอฟ มีนโยบายด้านการจัดหาอย่างยั่งยืนและแนวปฏิบัติสำหรับคู่ค้าธุรกิจ

ภายใต้แนวคิด ร่วมคิด ร่วมสร้าง สู่การเติบโตอย่างยั่งยืน

สะท้อนการขับเคลื่อนให้มีความเติบโตที่มุ่งเน้นเฉพาะ ในการร่วมกันสร้างความมั่นคง มุ่งเน้นประสิทธิภาพที่เกิดขึ้น สำหรับการเติบโตของประเทศไทยทั้งภาคการค้า การลงทุน

ภาครัฐเตรียมพร้อมไว้แค่ไหน ไม่ว่าจะเป็นความพร้อมที่จะเติบโต หรือเติมเต็มเพื่อสร้างเสริมศักยภาพ หากไม่มีการเตรียมพร้อมการเข้าสู่ประตูอาเซียน แม้เราจะไม่เสียเปรียบ

แต่ความสูญเปล่าจะเกิดขึ้นและประสิทธิภาพจะลดลง

ความสามารถในเชิงการแข่งขัน ประเทศไทยไม่เป็นรองใคร ไม่ว่าจะเป็นบุคลากร เทคโนโลยี ความรู้ความสามารถ เพียงแต่ว่าจะเอาจริงเอาจังหรือไม่เท่านั้น

การค้าในอาเซียนที่มีมูลค่าการค้าสูงมาก ถูกจับตามากที่สุด นอกจาก สหรัฐฯและยุโรป แล้ว อาเซียนกำลังจะเป็นแหล่งอาหาร แหล่งการค้าการลงทุน แหล่งอุตสาหกรรมและการผลิต ดาวรุ่งมาแรง

ขึ้นอยู่กับว่าจะใช้โอกาสนี้ให้เป็นประโยชน์ได้มากที่สุดแค่ไหนเท่านั้น.

หมัดเหล็ก

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2558

เขื่อนเจ้าพระยาน้ำลดทะลุวิกฤต ชลประทานเร่งประชุมปรับแผนด่วน

ตรวจสอบสถานการณ์น้ำในเขื่อนเจ้าพระยา ต.บางหลวง อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ปรากฎว่าระดับน้ำเหนือเขื่อนยังลดลงอย่างต่อเนื่อง พบว่าระดับน้ำอยู่ต่ำกว่าระดับวิกฤต14.00ม. ขณะที่กรมชลประทานเรียกประชุมด่วนเพื่อปรับแผนการบริหารจัดการน้ำทันที ทั้งนี้หลังจากที่มีประกาศจากสำนักงานชลประทานที่12 ชัยนาท ที่ลงนามโดยนายฎรงค์กร สมตน ผู้อำนวยการสำนักงานฯ ที่ส่งถึงผู้ว่าราชการจังหวัด3จังหวัด ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบน ประกอบด้วย จ.นครสวรรค์ จ.อุทัยธานี และจ.ชัยนาท เพื่อให้แจ้งเตือนประชาชนให้ใช้น้ำอย่างประหยัด เนื่องจากน้ำต้นทุนในเขื่อนใหญ่ทั้ง3แห่งลดลงต่ำกว่าเกณฑ์ และให้เฝ้าระวังตลิ่งทรุดจากระดับน้ำเหนือเขื่อนที่ลดลงอย่างรวดเร็วเฉลี่ยวันละ10ซ.ม.ออกมาเมื่อช่วงเย็นวันที่21มิ.ย.นั้น

นายเอกสิทธิ์ ศักดีธนาภรณ์ ผอ.โครงการเขื่อนเจ้าพระยา เปิดเผยว่าในวันนี้ระดับน้ำเหนือเขื่อนยังคงลดระดับลงอย่างต่อเนื่อง โดยที่จุดวัดน้ำ C13 เหนือเขื่อนฯ ตรวจสอบ พบว่า ระดับน้ำได้ลดลงไปต่ำกว่าจุดวิกฤติของเขื่อน14.00เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง(ม.รทก.) ไปอยู่ที่ 13.95ม.รทก. หรือลดลงอีก6ซ.ม.ในรอบ24ชั่วโมงและมีแนวโน้มว่าจะลดลงอีกอย่างต่อเนื่อง สาเหตุจากปริมาณน้ำที่ปล่อยจากเขื่อนภูมิพลลงมาวันละ32ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)ได้มีการสูญหายไประหว่างทางถึงร้อยละ20 ซึ่งเขื่อนเจ้าพระยายังคงปล่อยน้ำในอัตราเดิมจากวันก่อนๆคือ75ลบ.ม./วินาที แต่อย่างไรก็ตามกรมชลประทานก้ไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนกจนเกินไป เพราะจากปริมาณน้ำที่เหลืออยู่ มั่นใจได้ว่าจะสามารถบริหารจัดการไม่ให้เกิดผลกระทบต่อน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคของประชาชน แต่ก็ต้องขอร้องพี่น้องเกษตรกรว่าอย่าเพิ่งทำนาปีเพิ่มในระยะนี้ เพราะน้ำที่มีอยุ่มีเพียงสำหรับพื้นที่ที่ปลูกข้าวไปแล้วเท่านั้น

จาก http://www.naewna.com   วันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2558

“น้ำบาดาล” ผนึกกำลัง กองทัพบก เร่งเจาะบ่อน้ำบาดาล 269 แห่ง ช่วยภัยแล้งภาคกลาง หาแหล่งน้ำเสริมช่วยเกษตรกรได้ 40,000 ไร่

          กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ผนึกกำลัง กองทัพบก เร่งเจาะบ่อน้ำบาดาลพร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ในพื้นที่ภาคกลางบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่อยู่นอกเขตชลประทาน คาดสามารถหาแหล่งน้ำบาดาลเสริมกว่า 64,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ช่วยเหลือเกษตรกรได้ 40,000 ไร่

          นายปราณีต ร้อยบาง อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวว่า สืบเนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนต่างๆ ได้ลดน้อยลง ซึ่งคาดว่าจะมีน้ำใช้ได้อีกประมาณ 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร และในระยะต่อจากนี้ประมาณ 30 วัน ฝนจะทิ้งช่วง และเพื่อเป็นการป้องกันความเสียหายของพื้นที่การเกษตร พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ ในฐานะประธานคณะกรรมการกำหนดนโยบายและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ได้มอบหมายให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลดำเนินการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลพร้อมติดเครื่องสูบน้ำในพื้นที่นอกเขตชลประทาน เพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้ทำการเพาะปลูกไปแล้ว และได้รับความเดือดร้อนจากการขาดแคลนแหล่งน้ำทำการเกษตร โดยการเจาะบ่อน้ำบาดาลจะใช้เวลาเพียง 3 วันต่อจุด และใน 30 วันข้างหน้าได้มีการวางแผนลงพื้นที่ ทั้งสิ้น 269 แห่ง โดยกรมการทหารช่าง กองทัพบก มีชุดเจาะ 8 ชุด รับผิดชอบ 19 แห่ง อีก 250 แห่งเป็นของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ซึ่งมีชุดเจาะ 60 ชุด พื้นที่ส่วนใหญ่จะอยู่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรได้อย่างทันท่วงที และได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ทั้งนี้ แต่ละบ่อจะสามารถให้บริการครอบคลุมพื้นที่การเกษตร ประมาณ 100 - 150 ไร่ เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะสามารถให้ช่วยความช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรได้ประมาณ 40,000 ไร่ คิดเป็นปริมาณน้ำบาดาลทั้งหมดไม่น้อยกว่า 64,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน

          นายประเสริฐ บุญประเสริฐ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหัวเขา อำเภอเดิมบางนางบวชจังหวัดสุพรรณบุรี เปิดเผยว่า องค์การบริหารส่วนตำบลหัวเขา มี 12 หมู่บ้าน เกษตรกรส่วนใหญ่จะปลูกข้าวเป็นหลัก และมีอ้อยเป็นบางส่วนประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ มันประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ ช่วงนี้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนจากการที่ฝนไม่ตกเป็นเวลาเกือบ 2 เดือนมาแล้ว บวกกับที่รัฐบาลสั่งให้ชะลอการทำนาปี และแม้ว่ารัฐบาลไม่สั่งให้ชะลอ เกษตรกรก็ต้องหยุดทำการเกษตรอยู่แล้วเนื่องจากไม่มีน้ำเพียงพอ แต่ที่ทำกันไปก่อนก็เนื่องจากมีฝนตกตั้งแต่ 14 เมษายนที่ผ่านมา มีน้ำทั่วทุ่ง จึงมีการหว่านเมล็ดข้าวตั้งแต่นั้นมา หลังจากนั้นก็ไม่มีน้ำมาอีกเลย ทำให้ต้องวิดน้ำจากชลประทาน และมีการผลัดเวรสูบน้ำจากคลองชลประทานกับเกษตรกรอำเภอดอนเจดีย์ แต่คิดว่ายังไงก็ยังไม่มีน้ำเพียงพอที่จะเลี้ยงต้นข้าวที่ปลูกไว้แล้วแน่นอน จนกระทั่งท่านนายกรัฐมนตรีได้กล่าวเมื่อ 2 วันก่อนว่า จะให้มีการนำน้ำบาดาลมาใช้บรรเทาปัญหาของเกษตรกร

ผมก็เห็นว่าน่าจะเป็นหนทางที่ช่วยเกษตรกรได้อีกทางหนึ่ง และกรมทรัพยากรน้ำบาดาลท่านก็รวดเร็วมาก วันนี้เข้ามาถึงพื้นที่และเริ่มเจาะแล้ว พวกเราชาวบ้านหัวไทรย์ หมู่ 4 ก็ดีใจมาก

          ด้านนายทศพล ปรึกษา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 บ้านหัวไทรย์ กล่าวว่า การเข้ามาเจาะน้ำบาดาลของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลครั้งนี้ จะช่วยให้พื้นที่การเกษตรกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ในพื้นที่ทั้งหมดของบ้านหัวไทรย์รอดพ้นจากปัญหาภัยแล้ง เพราะพื้นที่การเกษตรของบ้านหัวไทรย์ส่วนใหญ่ต้องอาศัยน้ำจากเขื่อนกระเสียว ซึ่ง ณ ขณะนี้ระดับน้ำที่เขื่อนกระเสียวต่ำกว่าเกณฑ์มาก จึงไม่มีการปล่อยน้ำมาให้เกษตรกรแล้ว ตอนนี้ก็ไม่มีใครลงทุนทำนาแล้ว เพราะกลัวปัญหาภัยแล้ง ถ้าจะเริ่มทำนาปีกันได้ก็ต้องรอให้มีการปล่อยน้ำประมาณวันที่ 17 กรกฎาคม 2558 แต่ถ้าเกิดไม่มีฝนตกลงมาก็อาจจะต้องรอกันต่อไป

จาก http://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ชาวสวนสุโขทัยเร่งเจาะบ่อน้ำ ช่วยต้นอ้อยกว่า1หมื่นไร่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกษตรกรที่ปลูกอ้อยในพื้นที่ ต.ตลิ่งชัน อ.บ้านด่านลานหอย จ.สุโขทัย จำนวนกว่า 10,000 ไร่ กำลังประสบปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก เนื่องจากแหล่งน้ำในพื้นที่ ทั้งห้วย หนอง คลอง บึง นั้นมีสภาพแห้งขอด โดยเฉพาะคลองพฤกษาซึ่งเป็นคลองสายหลักของหมู่บ้าน แห้งจนเห็นดินแตกระแหง

ทำให้เกษตรกรที่ปลูกอ้อยต้องยอมเสียเงินจ้างช่าง มาเร่งขุดเจาะบ่อบาดาลในที่ไร่ของตัวเอง เพื่อดึงน้ำขึ้นมาหล่อเลี้ยงต้นอ้อยที่เพิ่งปลูกใหม่ ไม่ให้ขาดน้ำจนเหี่ยวแห้งตายไปเสียก่อน

นายประเทือง นาราสิริวิมล นายกเทศมนตรีตำบลตลิ่งชัน กล่าวว่า สถานการณ์ภัยแล้งครั้งนี้ ถือว่าหนักสุดในรอบ 20 กว่าปี และพื้นที่เกษตรกรรมกว่า 30,000 ไร่ ซึ่งมีทั้งไร่อ้อย มันสำปะหลัง ถั่วเขียว และนาข้าว ตอนนี้ก็ปลูกอะไรไม่ได้เลย ปลูกกันไปก็ตายแล้วตายอีก เรียกว่า ปลูกตาย ปลูกตาย จนเกษตรกรหมดเนื้อหมดตัว ไม่เหลือทุนอีกแล้ว จึงขอวิงวอนรัฐบาลให้เข้ามาช่วยเหลือด้วย

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2558

พิจิตรแล้งหนัก!! เขื่อนภูมิพลแห้งขอด-ไร่อ้อยเริ่มยืนต้นตาย

        ภัยแล้งยังวิกฤตหนัก โดยเฉพาะพื้นที่ ต.หนองโสน อ.สามง่าม จ.พิจิตร ลำคลองสาขาที่รับน้ำจากเขื่อนภูมิพลแห้งขอด กระทบต่อเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่เพิ่งลงมือเพาะปลูกได้เพียง 1-2 เดือน โดยขณะนี้อ้อยในพื้นที่กว่า 5 พันไร่ เริ่มเหี่ยวเฉา และยืนต้นตาย

        ขณะที่แกนนำเกษตรกรระบุว่า ไม่สามารถหาแหล่งน้ำสูบขึ้นมาหล่อเลี้ยงลำต้นที่กำลังเจริญเติบโต เพราะนอกจากฝนจะไม่ตกต้องตามฤดูกาลแล้ว บ่อบาดาลก็ไม่มีน้ำให้สูบ เพราะแห้งแล้งเป็นระยะเวลายาวนาน ทำให้เกษตรกรต้องตัดใจปล่อยให้ต้นอ้อยขาดน้ำ ยืนต้นตายไปในที่สุด

 จาก http://manager.co.th  วันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2558

รายงานพิเศษ : พัฒนาที่ดินลุ่มน้ำแม่งอน สร้างความยั่งยืนเกษตรกรไทย

ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมมีพื้นที่ทำการเกษตรประมาณ 130 ล้านไร่ ดินจึงเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญทางการเกษตร และในแต่ละพื้นที่ดินนั้นมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน เช่น ดินเปรี้ยว ดินกรด ดินเค็ม ดินอินทรีย์ ดินทราย ดินตื้น ดินลูกรังและดินบนพื้นที่สูง กรมพัฒนาที่ดินจึงมีนโยบายให้ดำเนินการจัดทำเขตพัฒนาที่ดินในกรอบของพื้นที่ลุ่มน้ำตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งปัจจุบันได้วางเขตพัฒนาที่ดินลุ่มน้ำในพื้นที่ 77 จังหวัด ทั้งหมด 526 แห่ง ซึ่งขณะนี้ได้พัฒนาพื้นที่ดินที่เป็นปัญหาให้สามารถกลับมาใช้ประโยชน์ได้มากขึ้นตามลำดับ พร้อมทั้งได้จัดทำ “โครงการ 60พรรษา สยามบรมราชกุมารี 60 เขตปฐพี พัฒนาอย่างยั่งยืน”โดยพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาที่ดินลุ่มน้ำ 60 แห่ง ดำเนินการสำรวจและวางแผนการใช้ที่ดิน การจัดทำแผนแม่บทเขตพัฒนาที่ดินลุ่มน้ำ เพื่อกำหนดมาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำไปพร้อมกับการทำเกษตรกรรมและด้านอื่นๆ สำหรับเป็นพื้นที่ต้นแบบให้กับเกษตรกร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำไปเป็นแนวทางในการพัฒนาพื้นที่

อภิชาต จงสกุล

ดร.อภิชาต จงสกุล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า กรมพัฒนาที่ดินได้คัดเลือกพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยแม่งอน เป็นพื้นที่ดำเนินการจัดทำเขตพัฒนาที่ดิน มีพื้นที่ทั้งหมด 68,534 ไร่ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มคือ 1.พื้นที่เกษตรกรรม 38,816 ไร่ หรือ ร้อยละ 56.63 พื้นที่เกษตรกรรมส่วนใหญ่ที่เกษตรกรเลือกปลูกพืช เช่น นาข้าว ข้าวโพด ยางพารา ไร่ส้ม พืชผัก ข้าวโพด 2.พื้นที่ป่า มีเนื้อที่ 24,918 ไร่ หรือร้อยละ 36.36 แบ่งเป็น ป่าผลัดใบรอสภาพฟื้นฟู และ ป่าผลัดใบสมบูรณ์ 3.พื้นที่อื่นๆ มีเนื้อที่ 4,800 ไร่ หรือ ร้อยละ 7.01 จากการสำรวจพื้นที่ทั้งหมด พบว่า ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่มีความลาดชันสูงซึ่งมีผลต่อการเกิดการชะล้างพังทลายของหน้าดินในระดับรุนแรงถึงรุนแรงมาก ดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ เกษตรกรส่วนใหญ่ใช้ปุ๋ยเคมีหรือสารเคมีเพื่อการบำรุงดิน และในบางพื้นที่การระบายน้ำไม่ดีจึงทำให้เกิดการท่วมขังทำลายผลผลิตทางการเกษตร

นอกจากนี้ ฤดูการเพาะปลูกพืชส่วนใหญ่ยังอาศัยน้ำฝน ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่กลางเดือนเมษายนไปจนถึงประมาณต้นเดือนพฤศจิกายน จากช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนไปจนถึงกลางเดือนเมษายนจะเป็นช่วงการขาดน้ำของพืช หากทำการเพาะปลูกในช่วงเวลาดังกล่าว จะต้องมีระบบการชลประทานหรือแหล่งน้ำเข้ามาช่วยสนับสนุนในการดำเนินกิจกรรมเท่านั้นจึงจะให้ผลตอบแทนคุ้มค่า

กรมพัฒนาที่ดินได้กำหนดเขตการใช้ที่ดินออกเป็น 4 เขตหลัก คือ / 1.เขตป่าไม้ มีเนื้อที่ 39,613 ไร่ หรือร้อยละ

57.81 แบ่งออกเป็น 2 เขตย่อย คือ เขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ มีเนื้อที่ 37,400 ไร่ หรือร้อยละ 54.58 เขต และเขตพื้นที่ป่าเศรษฐกิจ มีเนื้อที่ 2,213 ไร่ หรือร้อยละ 3.23 / 2.เขตเกษตรกรรม มีเนื้อที่ 24,121 ไร่ หรือร้อยละ 35.18 / 3.เขตปศุสัตว์

มีเนื้อที่ 8 ไร่ หรือร้อยละ 0.01 / 4.เขตเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ มีเนื้อที่ 64 ไร่ หรือร้อยละ 0.09 โดยในแต่ละเขตได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินการสำรวจความเหมาะสมของดิน วิเคราะห์ วางแผนการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ

ดร.อภิชาตกล่าวอีกว่า ผลของการดำเนินการพัฒนาที่ดินลุ่มน้ำแม่งอน พบว่าปัญหาการชะล้างพังทลายของดินลดลงและไม่เกิดดินถล่มซ้ำอีก คุณภาพน้ำในลำห้วยต่างๆดีขึ้น ดินเสื่อมโทรมและความอุดมสมบูรณ์ต่ำได้รับการปรับปรุงฟื้นฟูทำให้ดินมีอินทรียวัตถุเพิ่มขึ้น ปัญหาดินกรดได้รับการแก้ไขทำให้ค่าความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) สูงขึ้น หมอดินอาสามีความรู้เพิ่มขึ้น สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านการพัฒนาที่ดินให้แก่เกษตรกรอย่างมีประสิทธิภาพ เกษตรกรสามารถเข้าถึงการบริการเพิ่มขึ้นจากศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาที่ดิน มีแหล่งที่เก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงฝนทิ้งช่วงหรือฤดูแล้งเพิ่มขึ้น ทำให้เกษตรกรมีการใช้ประโยชน์ที่ดินตามศักยภาพของดินเพิ่มขึ้น ชุมชนในพื้นที่เห็นประโยชน์จากระบบอนุรักษ์ดินและน้ำและสามารถใช้ปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ลิ้นจี่ ส้ม กาแฟ ทำให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน อย่างไรก็ตามยังคงมีพื้นที่ยังไม่ได้ดำเนินการอีก 5,612 ไร่ ซึ่งได้จัดเตรียมแผนแม่บทรองรับไว้แล้วในปีงบประมาณ 2558-2662

ผลของการจัดทำโครงการเขตพัฒนาที่ดิน ลุ่มน้ำห้วยแม่งอนสามารถทำให้ผลผลิตของเกษตรกรเพิ่มจากเดิม

เกษตรกรมีความสุขและใช้ชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง จึงเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ต้นแบบในการอนุรักษ์ปรับปรุงดินที่สามารถถ่ายทอดความรู้ไปสู่ชุมชน หรือ ตามพื้นแนวลุ่มแม่น้ำต่างๆ ได้อย่างยั่งยืน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2558

กรมชลกางแผนน้ำตะวันออก มั่นใจรองรับความต้องการใช้ได้ถึง20ปี

นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปี 2558 กรมชลประทานได้รับงบประมาณ 2,217 ล้านบาท สำหรับดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำในภาคตะวันออกทั้งหมด 591 โครงการ ซึ่งมีโครงการประเภทต่างๆ อาทิ การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ ฟื้นฟูอ่างเก็บน้ำ ขุดลอกลำน้ำ สร้างฝายทดน้ำ ก่อสร้างระบบส่งน้ำชลประทาน และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จ 265 โครงการ ส่วนแผนการแก้ไขปัญหาที่เป็นโครงการระยะกลางและระยะยาวที่สำคัญ มีแผนพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำในลุ่มน้ำคลองวังโตนด เช่น อ่างเก็บน้ำวังโตนด อ่างเก็บน้ำคลองหางแมว อ่างเก็บน้ำคลองพะวาใหญ่ เป็นต้น ซึ่งหากดำเนินการได้จะสามารถรองรับความต้องการใช้น้ำในภาคตะวันออกได้ถึง 20 ปี

สำหรับการเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำของอ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง ขณะนี้มีความก้าวหน้ากว่าร้อยละ 80 คาดว่าจะแล้วเสร็จก่อนสิ้นสุดสัญญาก่อสร้างในวันที่ 2 ธันวาคม 2558 ทำให้เพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักจากเดิม 248 ล้าน ลบ.ม. เป็น 295 ล้าน ลบ.ม. อย่างไรก็ตาม ในปี 2559 กรมชลประทานยังจะดำเนินการสร้างระบบท่อส่งน้ำและอาคารประกอบ เชื่อมต่อกับระบบส่งน้ำฝั่งขวาของโครงการประแสร์ 3 แห่ง ใช้งบประมาณ 238 ล้านบาท ทำให้เพิ่มพื้นที่ชลประทานของระบบส่งน้ำฝั่งขวาประมาณได้ 3,000 ไร่ และเพิ่มประสิทธิภาพพื้นที่ชลประทานเดิมของระบบส่งน้ำฝั่งขวา ได้อีกประมาณ 23,321 ไร่

นายเลิศวิโรจน์ กล่าวต่อว่า ในปีงบประมาณ 2560 กรมชลประทานยังมีแผนที่จะดำเนินโครงการระบบชลประทานส่วนขยายอ่างเก็บน้ำประแสร์ ระยะที่ 2 มูลค่าประมาณ 178 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี เมื่อแล้วเสร็จจะเพิ่มประสิทธิภาพพื้นที่ชลประทานเดิมของระบบส่งน้ำส่วนขยายเพิ่มเติมโซน 1, 2 และ 4 ประมาณ 5,750 ไร่ ในเขตต.ป่ายุบในและต.พลงตาเอี่ยม อ.วังจันทร์ ต.ชำฆ้อ อ.เขาชะเมา และเพิ่มพื้นที่ชลประทานในเขตต.กะเฉด อ.เมือง จ.ระยอง ประมาณ 5,000 ไร่

นอกจากนี้ กรมชลประทานยังมีแผนงานเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำของอ่างเก็บน้ำอื่นๆ ในพื้นที่ภาคตะวันออก ได้แก่ อ่างฯคลองสียัด อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา โดยติดตั้งฝายพับ ความสูง 2 เมตร ตลอดความยาวสันฝาย Spillway ทำให้เพิ่มปริมาณเก็บกักของอ่างเก็บน้ำเป็นจาก 325 ล้าน ลบ.ม. เป็น 420 ล้าน ลบ.ม. ใช้งบก่อสร้างประมาณ 234.2 ล้านบาท อ่างฯ คลองหลวงรัชชโลธร อ.เกาะจันทร์ จ.ชลบุรี โดยติดตั้งฝายพับได้ ความสูง 1.00 เมตร ตลอดความยาวสันฝาย Spillway ทำให้เพิ่มปริมาณเก็บกักของอ่างเก็บน้ำจาก 98 ล้าน ลบ.ม. เป็น 140 ล้าน ลบ.ม. ใช้งบก่อสร้าง ประมาณ 218.6 ล้านบาท

จาก http://www.naewna.com วันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2558

กรมพัฒนาที่ดินกับการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ(1), แจงสี่เบี้ย             

ดินเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของจุลินทรีย์หลายชนิด มีทั้งที่เป็นประโยชน์และเป็นโทษ จุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ในดิน มีบทบาทสำคัญทั้งที่เกี่ยวข้องกับการย่อยสลายอินทรีย์สาร การหมุนเวียน และการปลดปล่อยธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์สู่ดิน ผลิตสารที่ส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช ช่วยทำให้ดินจับตัวกันเป็นเม็ด มีความเสถียร และควบคุมศัตรูพืช

“จุลินทรีย์ดิน” เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีขนาดเล็กที่อาศัยอยู่ในดิน มีบทบาทต่อการหมุนเวียนธาตุอาหารและความอุดมสมบูรณ์ของดิน เช่น จุลินทรีย์ย่อยสลายซากพืช ซากสัตว์ ให้มีขนาดเล็กลงจนแปรสภาพเป็นอินทรียวัตถุปรับปรุงบำรุงดิน จุลินทรีย์แปรสภาพสารอนินทรีย์ มีบทบาทในการเปลี่ยนรูปของแร่ธาตุในดินจากที่ไม่เป็นประโยชน์ให้อยู่ในรูปที่เป็นประโยชน์ต่อพืช จุลินทรีย์ตรึงไนโตรเจนเป็นจุลินทรีย์ที่สามารถเปลี่ยนก๊าซไนโตรเจนในอากาศให้อยู่ในรูปประกอบไนโตรเจน ซึ่งพืชนำไปใช้ประโยชน์ได้โดยตรง

จุลินทรีย์เพิ่มประสิทธิภาพการดูดใช้ธาตุอาหาร เช่น ไมคอร์ไรซ่า จะช่วยให้พืชดูดใช้ธาตุอาหารได้มากขึ้น โดยเฉพาะธาตุฟอสฟอรัส จุลินทรีย์สร้างสารเสริมการเจริญเติบโตของพืชเป็นจุลินทรีย์ที่สามารถผลิตฮอร์โมน กระตุ้นการงอกของเมล็ดและรากพืช เร่งการเจริญเติบโต ส่งเสริมการออกดอกและติดผล

กรมพัฒนาที่ดิน จึงคิดค้นนวัตกรรมเป็นผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ พด. ชนิดต่างๆ ใช้เป็นปัจจัยการผลิตทางการเกษตร สนับสนุนการผลิตพืชในระบบเกษตรอินทรีย์ ลดการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีทางการเกษตร โดยมี 8 ผลิตภัณฑ์ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ด้านการปรับปรุงบำรุงดิน เพิ่มธาตุอาหาร และฮอร์โมนพืช ด้านควบคุมศัตรูพืช และด้านรักษาสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังมีการนำผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ พด. มาใช้ร่วมกับการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ที่มีปริมาณธาตุอาหารสูง เรียกว่า ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง สูตรกรมพัฒนาที่ดิน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2558

วิกฤติแล้งคุกคามลามถึงนาปี ถึงคราวชาวนาไทยต้องปรับตัว

: ดลมนัส กาเจ

             ในที่สุด นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องขอความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทยและผู้ว่าราชการจังหวัดในเขตลุ่มเจ้าพระยา 22 จังหวัด ช่วยชี้แจงและสร้างความเข้าใจแก่เกษตรกรในพื้นที่ชลประทานทั้งสองฟากฝั่งลุ่มเจ้าพระยาทั้ง 22 จังหวัด ให้ชะลอการปลูกข้าวนาปีออกไปก่อนรวมพื้นที่กว่า 4 ล้านไร่ จนกว่าฝนจะตกปกติ ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าคงจะราวช่วงกลาง-ปลายเดือนกรกฎาคมนี้

             นอกจากนี้ยังขอความร่วมมือจากผู้ว่าราชการจังหวัด ใช้กลไกของคณะอนุกรรมการด้านการเกษตรระดับจังหวัด ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน เร่งหารือมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ต้องเลื่อนเวลาเพาะปลูกออกไป ทั้งการช่วยเหลือในต้นฤดู กลางฤดู และปลายฤดู โดยมอบให้ นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ประชุมผ่านคอนเฟอร์เรนซ์กับเกษตรและสหกรณ์จังหวัด เพื่อสั่งการให้มีการลงพื้นที่สำรวจความต้องการของเกษตรกรในพื้นที่ทั้ง 22 จังหวัด ที่ยังไม่ลงมือเพาะปลูกอีกราว 4 ล้านไร่ ว่ามีความต้องการจะประกอบอาชีพอะไรก่อนจะออกมาเป็นมาตรการที่ภาครัฐจะให้การสนับสนุนต่อไป

ลดปล่อยน้ำเหลือวันละ 30-35 ลบ.ม.

             ล่าสุดนายชวลิต ระบุถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนว่ามีทุนน้อยและค่อนข้างน่าเป็นห่วง เนื่องจากฝนตกล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็น และมีปริมาณฝนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติทั้งในภาคเหนือและภาคกลาง ทำให้ 4 เขื่อนหลักเหลือน้ำที่ใช้ได้ประมาณ 1,400 ล้าน ลูกบาศก์เมตร ได้แก่ เขื่อนภูมิพล มีปริมาตรน้ำใช้การ 423 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์มีปริมาตรน้ำใช้การ 794 ล้าน ลูกบาศก์เมตร เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีปริมาตรน้ำใช้การ 92 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาตรน้ำใช้การ 91 ล้านลูกบาศก์เมตร หากฝนยังไม่ตกจะสามารถใช้น้ำได้อีก 40 วันเท่านั้น

             ดังนั้นกรมชลประทานจำเป็นต้องบริหารจัดการน้ำที่มีจำกัดอย่างรัดกุม จากเดิมที่สามารถปล่อยน้ำได้ 60 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ลดเหลือเพียงวันละ 30-35 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะสามารถสนับสนุนเพียงพอเฉพาะน้ำที่ใช้ในการอุปโภคบริโภค และน้ำที่ใช้ในการรักษาระบบนิเวศ รวมถึงพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีที่ได้เพาะปลูกแล้วจำนวน 2.84 ล้านไร่ใน 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา ถ้าฝนตกช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ไว้ ก็ยังสามารถเพาะปลูกข้าวนาปีได้" นายชวลิต กล่าว

สั่งกรมฝนหลวงปฏิบัติการทันที 

             อย่างไรก็ตามจากการประชุมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วน ได้มีแนวทางเบื้องต้นว่า ต้องเร่งปฏิบัติการฝนหลวงตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะบริเวณเหนือเขื่อนให้มีความเข้มข้นยิ่งขึ้น ปัจจุบันกรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงรองรับอยู่แล้ว 13ฐานทั่วประเทศไทยหากมีความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศเหมาะสมจะมีการขึ้นบินทำฝนหลวงอย่างเข้มข้นเพื่อเติมน้ำในเขื่อนและสำรองน้ำให้ได้มากที่สุดทันที

             ด้าน นายวราวุธ ขันติยานันท์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวถึงแผนปฏิบัติการเติมน้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำว่า ได้สั่งการให้หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงทุกหน่วยเร่งทำฝนหลวงเพื่อหล่อเลี้ยงพื้นที่การเกษตรที่ประสบภัยแล้งพร้อมกับปฏิบัติการเติมน้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะการเติมน้ำให้พื้นที่ลุ่มรับน้ำของเขื่อนภูมิพล เขื่อนแม่งัด เขื่อนแม่กวง เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนทับเสลา และให้เร่งเติมน้ำให้เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ์ และเขื่อนท่าทุ่งนา เป็นต้น

แนะรวมกลุ่มของบจากรัฐบาล

             ส่วน นายประสิทธิ์ บุญเชย นายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวว่า จากการลงพื้นที่หลายแห่งพบว่าน้ำไม่มีจริงๆ หากทำนาจะได้ผลผลิตที่ไม่มีคุณภาพและชาวนาจะขาดทุน จะเรียกร้องอะไรจากรัฐบาลไม่ได้ เพราะรัฐบาลได้ประกาศขอความร่วมมือแล้ว ทางออกที่ดีชาวนาต้องรวมกลุ่มและกำหนดทิศทางว่าจะทำอะไร จะปลูกพืชระยะสั้น หรือเปลี่ยนอาชีพหรือไม่ จากนั้นเสนอโครงการไปยังรัฐบาลเพื่อขอบประมาณดำเนินการต่อไป

             "ก่อนที่เราให้รัฐบาลช่วยเหลือ เราต้องช่วยเหลือตัวเองด้วย เพราะถ้ารัฐบาลเอางบประมาณลงมาให้ทำโน่นทำนี่ ชาวนาไม่เคยทำมาก่อนก็ทำไม่ได้ เราต้องกำหนดเองว่าจะทำอะไร แล้วเสนอไปรัฐบาลมีประมาณที่จะช่วยเหลืออยู่แล้ว แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าชาวนายุคใหม่มักไม่ค่อยสามัคคีกัน ต่างคนต่างทำ พอคนอื่นไปเรียกร้องมาก็พลอยได้กับเขาด้วย ถึงเวลาที่เราต้องร่วมมือกันเพื่อความอยู่รอดของชาวนาเอง" นายประสิทธิ์ กล่าว

ทิ้งนาไปทำอาชีพอื่น 

             ขณะที่ นายสำราญ คำหอม เกษตรกรชาวนาชาว ต.จระเข้ร้อง อ.ไชโย จ.อ่างทอง บอกว่า ปกติคนในหมู่บ้านจะทำนาปีละ 3 ครั้ง หรืออย่างน้อย 2 ปี 5 ครั้ง แต่มาระยะหลังประสบปัญหาภัยแล้งไม่มีน้ำเพียงพอที่จะทำนา รัฐบาลจึงขอความร่วมมือให้งดการทำนาปรังรอบสอง แล้วมาขออีกให้งดทำนาปรังรอบแรก ล่าสุดมาขอความร่วมมือให้งดทำนาปีอีก เท่ากับว่าชาวนาทำนาไม่ได้ทำนาทั้งปี ลองคิดดูอาชีพของชาวนาเมื่อไม่ทำนาจะเอาอะไรกิน ขณะนี้ชาวบ้านเริ่มงดการทำนามากขึ้นแล้ว เพราะเกรงว่าทำแล้วขาดทุน ทำให้ชาวนาบางคนต้องไปหางานอื่น บางคนอาจปลูกพืชอายุสั้น บางคนไปรับจ้างทั่วไปเพื่อความอยู่รอด

             "คิดว่าคงไม่ใช่ปีนี้ปีเดียว ต่อไปก็อาจจะเป็นแบบนี้อีก อย่างคราวที่แล้วรัฐบาลประกาศขอความร่วมมือให้งดทำนาปรัง แต่ผมไม่มีอาชีพอื่นสำรองก็ต้องทำนาเหมือนเดิม ปรากฏว่าน้ำไม่มี ทำให้ขาดทุนไป ล่าสุดสำนักเกษตรอำเภอไชโยมาชี้แจงถึงสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน พร้อมขอความร่วมมือให้งดทำนาปีอีก ชาวบ้านจำนวนมากคงให้ความร่วมมือ เพราะถ้าทำก็ขาดทุน หากรวมกลุ่มของบประมาณจากรัฐบาลมาปลูกพืชอื่นทดแทนทำนา ก็ไม่แน่ใจว่าจะมีตลาดรองรับหรือไม่ ส่วนตัวผมได้มองถึงอาชีพอื่นแล้ว ตั้งใจจะเปิดร้านขายวัสดุก่อสร้างน่าจะดีกว่า" นายสำราญ กล่าว

             นับเป็นปรากฏการณ์แทบไม่เคยขึ้นมาก่อนในรอบหลายทศวรรษสำหรับชาวนาไทยที่ต้องชะลอหรืองดทำนาปี และปีนี้คงไม่ใช่ปีแรกและปีสุดท้าย หากแต่ยุคแห่งการเปลี่ยนสภาพอากาศของโลก สถานการณ์เช่นอาจซ้ำแล้วซ้ำอีก ถึงเวลาที่เกษตรกรต้องปรับตัวเพื่อสถานการณ์ในอนาคต

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2558

จี้ปลดล็อก100รง.ตั้งริมแม่น้ำรอบ6เดือน พบปล่อยน้ำเสียเกินค่ามาตรฐาน151แห่ง 

          กรมโรงงานฯจี้กฤษฎีกา คลอดกฎกระทรวง ห้ามตั้งโรงงานอุตสาหกรรม ริมแม่น้ำเจ้าพระยา หวังปลดล็อกผู้ประกอบการที่ยื่นขอขยายกิจการกว่า 100 ราย เดินหน้าลงทุนต่อได้ ภายใต้หลักเกณฑ์ใหม่ พร้อมกับคุมเข้ม 5 จังหวัด ในอุตสาหกรรม 5 ประเภท หลังพบมีการปล่อยน้ำเสียสูง ลงพื้นที่ 6 เดือนตรวจสอบพบผู้กระทำผิด 151 โรงงาน

          นายมงคล พฤกษ์วัฒนา รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างการเร่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณาร่างแก้ไข กฎกระทรวง ออกตามความในพ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 เพื่อให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ไปออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมว่าด้วย การกำหนดทำเลที่ไม่เหมาะสมสำหรับการตั้งหรือขยายโรงงานอุตสาหกรรม จำพวกที่ 3 ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เนื่องจากที่ผ่านมามีผู้ประกอบการจำนวนมากกว่า 100 ราย ได้ยื่นเรื่องมายังกรอ.เพื่อขอตั้งและขยายกิจการโรงงานในพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้า พระยาใน 10 จังหวัด แต่ยังไม่สามารถดำเนินการอนุมัติหรือให้งบอนุญาตได้ เพราะต้องรอการแก้ไขกฎกระทรวงประ กาศออกมาใช้บังคับก่อน

          ทั้งนี้ เนื่องจากโรงงานที่ยื่นขออนุญาตมาส่วนใหญ่จะเป็นการขยายกิจการเดิมที่มีอยู่ ซึ่งมีการใช้น้ำเป็นจำนวนมากในกระบวนการผลิต เช่น โรง งานฟอกย้อม แปรรูปอาหารสัตว์ อาหาร เครื่องดื่ม เป็นต้น การควบคุมการตั้งโรงงานหรือขยายกิจการ จึงจำเป็นต้องมีการควบคุม เพื่อเป็นการป้องกันและอนุรักษ์แม่น้ำเจ้าพระยา ไม่ให้ได้รับการปนเปื้อนจากมลพิษเพิ่มมากขึ้นจากที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะการควบคุมปล่อยน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรม ที่ปัจจุบันมีอยู่ไม่ต่ำกว่า 1 พันโรงงาน

          "ขณะนี้ผู้ประกอบการต้องการลงทุนที่จะขยายกิจการจำนวนมาก แต่กรอ.ไม่สามารถอนุมัติใบอนุญาตได้ เพราะติดกฎหมายใหม่ที่กำลังจะออกมาที่กำหนดพื้นที่ที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา 10 จังหวัด เป็นพื้นที่ที่ไม่เหมาะกับการตั้งหรือขยายโรงงานทุกประเภทและทุกขนาด ในระยะ 100 เมตร จากริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาถึงแนวเขตประกอบการ เว้นแต่เป็นการขยายโรงงานในพื้นที่เดิมที่มีการระบายน้ำทิ้งไม่มากกว่าปริมาณ น้ำทิ้งที่ได้รับอนุญาตไว้เดิมขณะที่การตั้งโรงงานในระยะมากกว่า 100-500 เมตร จากริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยากำหนดเป็นพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมกับการตั้งหรือขยายโรงงานทุกประเภท ชนิดหรือขนาด เช่นเดียวกัน ยกเว้นแต่เป็นการตั้งโรงงานที่มีระบบบำบัดน้ำเสียที่มีประสิทธิภาพสูงสามารถบำบัดน้ำเสียที่เกิดจากกระบวน การผลิตและนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด หรือมีระบบเก็บกักที่สามารถเก็บกักน้ำทิ้งทั้งหมด โดยไม่ซึมลงสู่แหล่งน้ำใต้ดิน หรือเป็นการขยายโรงงานที่ไม่มีการระบายน้ำทิ้งมากกว่าปริมาณ น้ำทิ้งที่ได้รับอนุญาตไว้เดิม"

          ดังนั้น ในการเร่งรัดให้กฎกระทรวง ดังกล่าวมีผลใช้บังคับภายในระยะอันใกล้นี้ได้ ก็จะช่วยเป็นการปลดล็อกการตั้งหรือขยายโรงงานในพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาได้ ภายใต้เงื่อนไขตามที่กฎกระทรวงกำหนด ซึ่งจะเป็นผลให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชนเพิ่มมากขึ้น โดยอยู่ภายใต้การควบคุมมลพิษที่จะเกิดขึ้นมา

          นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า นอกจากกรอ.จะควบคุมการตั้งหรือขยายกิจการโรงงานริมแม่น้ำเจ้าพระยาแล้วในส่วนของการติดตามตรวจสอบน้ำเสียที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมที่มีอยู่ประมาณ 3.432 หมื่นแห่ง ได้มีการตั้งเป้าหมายที่จะตรวจติดตามในปีนี้ 9.768 พันแห่ง โดยในรอบ 6 เดือน (ม.ค.-18 มิ.ย. 58) ได้เข้าไปตรวจสอบแล้ว 5.86 พันโรงงาน หรือคิดเป็นประมาณ 60% ของเป้าหมาย ซึ่งในจำนวนนี้มีโรงงานที่มีความเสี่ยงที่จะปล่อยน้ำเสีย 1.417 พันโรงงาน และจากการตรวจตัวอย่างน้ำทิ้งจากโรงงานเหล่านี้ พบว่ามีค่าน้ำทิ้งเกินมาตรฐานที่กำหนด 151 โรงงาน

          โดยโรงงานที่ทำผิดเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะเป็นโรงงานอาหาร สิ่งทอ และฟอกย้อม ซึ่งกรมได้สั่งให้ปิดปรับปรุงโรงงานตามมาตรา 37 ของ พ.ร.บ.กรมโรงงาน พ.ศ. 2535 ไปแล้วทั้งหมด และบางส่วนที่ทำผิดซ้ำซาก จะส่งดำเนินคดีหากศาลตัดสินว่าผิดจริงก็จะมีโทษปรับไม่เกิน 2 แสนบาท จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ทั้งนี้ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ศาลจะลงโทษสั่งปรับ และถ้ายังทำผิดอีกก็จะมีโทษจำคุกแต่ก็จะลดหย่อนเพียงการรอลงอาญา

          ทั้งนี้ กรอ.และอุตสาหกรรมจังหวัด จะเฝ้าระวังการปล่อยน้ำเสียในพื้นที่ 5 จังหวัด เป็นพิเศษ ได้แก่ สมุทร ปราการ สมุทรสาคร พระนครศรีอยุธยา ระยอง และนครปฐม รวมโรงงาน 924 แห่ง เพราะพบว่ามีการระบายน้ำเสียออกจากโรงงานจำนวนมากโดยเฉพาะการจับตาหรือเข้าสุ่มตรวจสอบเป็นพิเศษกับโรงงานประเภทโรงงานบำบัดน้ำเสียรวม โรงงานฟอกย้อม โรงงานผลิตเยื่อกระดาษ โรงงานยางสังเคราะห์และโรงงานผลิตเนื้อสัตว์ที่ไม่ใช่สัตว์น้ำ เป็นต้น

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2558 

กรมชลฯชี้น้ำเขื่อนเหลือใช้40วัน ระบุ'แย่งน้ำ'แค่บางจุด-ไม่รุนแรง

นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่าจากสถานการณ์ภัยแล้งต่อเนื่องอาจเกิดปัญหาแย่งชิงการใช้น้ำในบางจุดได้ โดยขณะนี้ทั้งฝ่ายปกครอง ฝ่ายทหาร เจ้าหน้าที่เกษตร และชลประทานในพื้นที่ ได้ลงพื้นที่ร่วมพูดคุยกับชาวบ้านและชาวนา เร่งจัดรอบเวรการใช้น้ำให้เพียงพอสำหรับพื้นที่ปลูกข้าวไปแล้ว 3.4 ล้านไร่

ทั้งนี้ ยืนยันว่าปริมาณน้ำมีอยู่ 1.2 พันล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนขนาดใหญ่ยังปล่อยระบายวันละ 30 ล้านลูกบาศก์เมตร เพียงพอสำหรับทุกกิจกรรมที่ยังใช้น้ำได้ประมาณ 40 วัน ส่วนที่มีปัญหาเกิดขึ้นในพื้นที่เพาะปลูก ได้ระบายลงไปช่วยพื้นที่ปลูกไปแล้ว มีรอบเวร แต่บางช่วงเกษตรกรอาจมาแย่งน้ำกัน เป็นรายละเอีดยแต่ละพื้นที่ได้เข้าแก้ไขแล้ว เชื่อว่าไม่น่าจะรุนแรงมาก เพราะเกิดเป็นบางจุดเท่านั้นที่เป็นพื้นที่ข้าวนาปรัง ยังไม่เก็บเกี่ยว บริเวณชลประทานอู่ทอง - มะขามเฒ่า โดยเจ้าหน้าที่ลงทำความเข้าใจแล้ว

อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวต่อว่า แม้ได้ประกาศให้ชะลอปลูกข้าวนาปีออกไปปลายเดือน ก.ค.แต่คาดว่ายังมีการขยายพื้นที่ปลูกข้าวเพิ่ม ขณะนี้น่าจะปลูกถึง 4 ล้านไร่แล้ว ซึ่งเป็นพื้นที่คาดหมายอยู่แล้ว ในส่วนพื้นที่ด้านล่างลุ่มเจ้าพระยา ที่ไม่พึ่งพาระบบชลประทาน อาศัยน้ำขึ้นน้ำลงจากแม่น้ำได้

อย่างไรก็ตาม พื้นที่เลื่อนเพาะปลูกข้าว 4 ล้านไร่ ใน 22 จังหวัด คาดว่าฝนจะตกชุกตามปกติในเดือน ก.ค.สามารถปลูกข้าวได้ ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าโอกาสปีนี้มีพายุเข้าไทย อย่างน้อย 1 ลูก

จาก http://www.naewna.com วันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2558

กรอ.สั่งรง.ปล่อยน้ำเสียปิดปรับปรุง151โรง

นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันมลพิษจากน้ำที่ระบายออกจากโรงงาน มีปริมาณเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม โดยกรมเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลโดยตรงในส่วนของน้ำเสียที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งมีพื้นที่รับผิดชอบครอบคลุมเขตกรุงเทพมหานคร สำหรับโรงงานในพื้นที่ต่างจังหวัด สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด (สอจ.) จะเป็นหน่วยงานกำกับดูแลและสั่งการโรงงานในท้องที่แต่ละจังหวัดโดยเฉพาะ

ทั้งนี้ที่ผ่านมากรมมีการตรวจ ติดตาม โดยส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจโรงงานตามแผนการตรวจ ปีละประมาณ 10,000 โรง รวมถึงได้จัดช่องทางการร้องเรียนให้กับประชาชน ผ่านสายด่วน 1564 และเว็บไซต์ เมื่อได้รับเรื่องร้องเรียนแล้ว จะระดมผู้เชี่ยวชาญจากส่วนกลางและท้องถิ่น เข้ามาร่วมกันแก้ไขปัญหาให้เสร็จสิ้นภายใน 30-60 วัน

นายพสุกล่าวว่า จากสถิติในปี 2556 มีการร้องเรียน 162 โรง และในปี 2557 มีการร้องเรียน 207 โรง เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ถึง 28% และตั้งแต่ต้นปี 2558 ถึงวันที่ 18 มิถุนายน 2558 พบว่ามีการร้องเรียน 102 โรง ซึ่งกรมและ สอจ.ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เข้าไปตรวจสอบทุกๆ ข้อร้องเรียนจนแล้วเสร็จ และยุติเรื่องเรียบร้อยแล้ว

สำหรับในปี 2558 ได้ตั้งเป้าที่จะลงพื้นที่ไปตรวจสอบการปล่อยมลพิษจากโรงงาน 9,800 โรง โดยในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา ได้เข้าไปตรวจสอบแล้ว 5,860 โรง หรือคิดเป็นประมาณ 60% ของเป้าหมาย ซึ่งในจำนวนนี้มีโรงงานที่มีความเสี่ยงที่จะปล่อยน้ำเสีย 1,417 โรง และจากการตรวจตัวอย่างน้ำทิ้งจากโรงงานเหล่านี้ พบว่ามีค่าน้ำทิ้งเกินมาตรฐานที่กำหนด 151 โรง โดยโรงงานที่ทำผิดเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเป็นโรงงานอาหาร สิ่งทอ และฟอกย้อม ซึ่งกรมได้สั่งให้ปิดปรับปรุงโรงงานตามมาตรา 37 ของ พ.ร.บ.กรมโรงงาน พ.ศ.2535 ไปแล้วทั้งหมด และบางส่วนที่ทำผิดซ้ำซาก ก็จะส่งดำเนินคดี หากศาลตัดสินว่าผิดจริงก็จะมีโทษปรับไม่เกิน 2 แสนบาท จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ศาลจะลงโทษสั่งปรับ และถ้ายังทำผิดอีกก็จะมีโทษจำคุก แต่ก็จะลดหย่อนเพียงการรอลงอาญา

นอกจากนี้หากวิศวกรมีส่วนรู้เห็นในความผิดก็จะถูกลงโทษด้วยเช่นกัน ซึ่งการใช้บทลงโทษต่างๆเหล่านี้ ก็เพื่อให้

 ผู้ประกอบการเกิดความตระหนักด้านปัญหาสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ใน ปี 2557 เฉพาะในกรุงเทพฯ กรมฯได้ดำเนินคดีการระบายน้ำทิ้งออกนอกโรงงานที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. 2535 จำนวน4 คดี และตั้งแต่ต้นปี 2558 ถึงปัจจุบัน ได้เปรียบเทียบปรับไปแล้ว 5 คดี

ทั้งนี้เพื่อเพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการนำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมสูงสุด กรมได้กำหนด 3 มาตรการสำคัญ คือ 1.มาตรการควบคุมการระบายน้ำทิ้งออกนอกโรงงานอุตสาหกรรม โดยมาตรการดังกล่าวให้ดำเนินการตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด 2.มาตรการติดตั้งอุปกรณ์ส่งสัญญาณตรวจจับน้ำเสีย โดยกำหนดให้โรงงานที่มีน้ำทิ้งมากกว่า 500 ลบ.ม./วัน ต้องติดตั้งอุปกรณ์ส่งสัญญาณตรวจจับน้ำเสีย (BOD/COD online) พร้อมส่งสัญญาณค่าการตรวจวัดแจ้งให้กรมทราบ 274 โรง ซึ่งเกินกว่าเป้าหมายคิดเป็น 113% และ 3.มาตรการกำหนดให้มีบุคลากรด้านสิ่งแวดล้อมประจำโรงงาน ได้แก่ โรงงานที่มีปริมาณน้ำเสีย ตั้งแต่ 500 ลบ.ม./วัน โรงงานที่ใช้สารโลหะหนัก และโรงงานที่ก่อให้เกิดมลพิษสูง มีโรงงานที่เข้าข่ายประมาณ 2,000 โรง ปัจจุบันมีโรงงานที่มีผู้ควบคุมระบบบำบัดมลพิษแล้ว 1,500 โรง ทั้งนี้เพื่อควบคุมการเดินระบบบำบัดน้ำเสียให้มีประสิทธิภาพ

จาก http://www.naewna.com วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2558

กรมโรงงานฯ เปิด 3 มาตรการป้องกันมลพิษน้ำ-ควบคุมการระบายน้ำทิ้ง

กรมโรงงานฯ เปิด 3 มาตรการป้องกันมลพิษน้ำ พร้อมเผย 5 จังหวัด และ 5 ประเภทโรงงานเฝ้าระวังที่มีการระบายน้ำเสียออกจากโรงงานสูงสุด

กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิด 3 มาตรการป้องกันมลพิษน้ำจากโรงงานอุตสาหกรรม ควบคุมการระบายน้ำทิ้ง คุมเข้มติดตั้งอุปกรณ์แสดงสัญญาณตรวจจับน้ำเสีย และสั่งการให้มีบุคลากรด้านสิ่งแวดล้อมประจำโรงงานอุตสาหกรรม พร้อมกำชับให้การปฏิบัติงานด้านการตรวจสอบ และการสั่งการใช้บทลงโทษของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องเข้มข้นโปร่งใส เพื่อให้การแก้ปัญหามลพิษน้ำจากโรงงานอุตสาหกรรมมีประสิทธิผล โดยแผนระยะยาวในการสร้างจิตสำนึกการเฝ้าระวังด้านสิ่งแวดล้อมเตรียมใช้มาตรฐาน ISO14000 และเร่งทบทวนปรับแก้ไขกฎหมายควบคุมการระบายน้ำทิ้งของโรงงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ พร้อมสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานเอกชนและท้องถิ่น

สำหรับผู้ประกอบการและบุคคลทั่วไปสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมโรงงานอุตสาหกรรม 1564 หรือติดตามความเคลื่อนไหวของกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ที่ www.diw.go.th

ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันมลพิษน้ำที่ระบายออกจากโรงงานมีปริมาณเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมโดย กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลโดยตรงในส่วนของน้ำเสียที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรม โดยมีพื้นที่รับผิดชอบครอบคลุมเขตกรุงเทพมหานคร สำหรับโรงงานในพื้นที่ต่างจังหวัด สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด (สอจ.) จะเป็นหน่วยงานกำกับดูแลและสั่งการโรงงานในท้องที่แต่ละจังหวัดโดยเฉพาะที่ผ่านมา กรอ. มีการตรวจติดตามโดยส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจโรงงานตามแผนการตรวจ ปีละประมาณ 10,000 โรง รวมถึงได้จัดช่องทางการร้องเรียนให้กับประชาชนผ่าน สายด่วนกรมโรงงานอุตสาหกรรม 1564 และเว็บไซต์กรมโรงงานอุตสาหกรรม เมื่อได้รับเรื่องร้องเรียนแล้ว จะดำเนินการระดมผู้เชี่ยวชาญจากส่วนกลางและท้องถิ่นเข้ามาร่วมกันแก้ไขปัญหา ลงพื้นที่ตรวจสอบในชุมชนเพื่อหาแหล่งสาเหตุของการเกิดปัญหาโดยเร็วที่สุด และแก้ไขปัญหาร้องเรียนให้เสร็จสิ้นภายใน 30-60 วันแล้วแต่กรณี  จากสถิติการร้องเรียนพบว่า ในปี 2556 มีการร้องเรียน 162 โรง และในปี 2557 มีการร้องเรียน 207 โรง เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ถึง 28% และในปี 2558 ถึง 18 มิถุนายน พบว่ามีการร้องเรียน จำนวน 102 โรง ซึ่งทาง กรอ. และ สอจ. ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เข้าไปตรวจสอบทุกๆข้อร้องเรียนจนแล้วเสร็จและยุติเรื่องเรียบร้อยแล้ว 

ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการนำเสียจากโรงงงานอุตสาหกรรมสูงสุด กรอ. ได้กำหนด 3 มาตรการสำคัญดังนี้

1.มาตรการควบคุมการระบายน้ำทิ้งออกนอกโรงงานอุตสาหกรรม

โดยมาตรการดังกล่าวให้ดำเนินการตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด จากการรวบรวมข้อมูลโรงงานในประเทศ พบว่ามีโรงงานจำพวกที่3 (นอกนิคม) ที่อยู่ในการดูแลของ กรอ. จำนวน 77,547 โรง เป็นโรงงานที่มีน้ำเสีย 34,326 โรง โดยในปี 2558 มีเป้าหมายการตรวจติดตามโรงงานทั้งหมด  9,768 โรง ได้ดำเนินการตรวจติดตามสะสมไปแล้ว 5,860 โรง คิดเป็น 60% ของเป้าหมาย

2. มาตรการติดตั้งอุปกรณ์ส่งสัญญาณตรวจจับน้ำเสีย

โดยกำหนดให้โรงงานที่มีน้ำทิ้ง มากกว่า 500 ลบ.ม / วัน ต้องติดตั้งอุปกรณ์ส่งสัญญาณตรวจจับน้ำเสีย (BOD/COD online) พร้อมส่งสัญญาณค่าการตรวจวัดแจ้งให้ กรอ.ทราบ มีจำนวนทั้งสิ้น  243 โรงงาน ซึ่งโรงงานที่ได้รายงานมายัง กรอ. มีจำนวน 274 โรงงาน ซึ่งเกินกว่าเป้าหมาย คิดเป็น 113%

3. มาตรการกำหนดให้มีบุคลากรด้านสิ่งแวดล้อมประจำโรงงาน

ได้แก่ โรงงานที่มีปริมาณน้ำเสีย ตั้งแต่ 500 ลบ.ม./วัน โรงงานที่ใช้สารโลหะหนัก และโรงงานที่ก่อให้เกิดมลพิษสูง มีโรงงานที่เข้าข่ายดังกล่าวประมาณ  2,000 โรงงาน โดยปัจจุบันมีโรงงานที่มีผู้ควบคุมระบบบำบัดมลพิษแล้วจำนวน 1,500  โรงงาน ทั้งนี้เพื่อควบคุมการเดินระบบบำบัดน้ำเสียให้มีประสิทธิภาพ

ดร.พสุกล่าวต่อว่า  กรอ. มีบทลงโทษ กับโรงงานที่มีการลักลอบปล่อยน้ำเสียโดยตรงที่ไม่ใช้ระบบบำบัดน้ำเสีย หรือโรงงานที่ใช้ระบบบำบัดน้ำเสียที่ไม่มีประสิทธิภาพ โดยบทลงโทษมีตั้งแต่การ สั่งปรับ 20,000 บาท แต่ไม่เกิน 200,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงการสั่งหยุดประกอบกิจการโรงงาน นอกจากนี้ หากวิศวกรมีส่วนรู้เห็นในความผิดก็จะถูกลงโทษด้วย ซึ่งการใช้บทลงโทษต่างๆเหล่านี้ ก็เพื่อให้ผู้ประกอบการเกิดความตระหนักด้านปัญหาสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ใน ปี 2557 เฉพาะในกรุงเทพฯ กรอ. ได้ดำเนินคดีการระบายน้ำทิ้งออกนอกโรงงานที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. 2535 จำนวน 4 คดี   และในปี 2558 ถึงปัจจุบันได้เปรียบเทียบปรับไปแล้ว 5 คดี

นอกจากนี้ จากสถิติการเก็บรวบรวมข้อมูลมลพิษน้ำทั่วประเทศ ผ่านศูนย์เฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม (Industrial Environment Monitoring Center : IEMC) ซึ่งเป็นระบบตรวจวัดมลพิษระยะไกลอย่างต่อเนื่องแบบอัตโนมัติ (Online Pollution Minute System : OPMS)  อันทันสมัยของ กรอ. ที่เชื่อมต่อและรับส่งข้อมูลการระบายน้ำทิ้งจากอุปกรณ์ส่งสัญญาณตรวจจับน้ำเสีย (BOD/COD online) ของโรงงานในระบบแบบเรียลไทม์ตลอด 24 ชั่วโมง โดยอุปกรณ์ฯดังกล่าวจะติดตั้งที่จุดระบายน้ำทิ้งออกนอกโรงงานและส่งสัญญาณเตือนทันทีที่พบค่ามลพิษน้ำเกินมาตรฐาน พบว่า จังหวัดที่มีการระบายน้ำเสียออกจากโรงงานสูงสุดต่อวัน เรียงอันดับ1-5 ได้แก่ สมุทรปราการ จำนวน 98,326 ลบ.ม. สมุทรสาคร จำนวน 84,060 ลบ.ม. พระนครศรีอยุธยา จำนวน 71,906 ลบ.ม. ระยอง จำนวน 63,298 ลบ.ม. และ นครปฐม จำนวน 59,815 ลบ.ม. และประเภทโรงงานเฝ้าระวังที่มีการระบายน้ำเสียออกจากโรงงานสูงสุดต่อวัน เรียงอันดับ 1-5 ได้แก่ โรงงานบำบัดน้ำเสียรวม โรงงานฟอกย้อม โรงงานผลิตเยื่อกระดาษ โรงงานยางสังเคราะห์และโรงงานผลิตเนื้อสัตว์ที่ไม่ใช่สัตว์น้ำ

อย่างไรก็ตาม ในการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างแท้จริงนั้น คือการสร้างจิตสำนึกการเฝ้าระวังด้านสิ่งแวดล้อมให้กับผู้ประกอบการรวมถึงเจ้าหน้าที่ภาครัฐ สำหรับแนวทางการสร้างจิตสำนึกแก่ผู้ประกอบการ กรอ. ได้ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรู้จักการป้องกันมลพิษด้วยเทคโนโลยีสะอาด การบำบัดน้ำเสีย การควบคุมดูแลระบบบำบัดน้ำเสีย และการตรวจสอบคุณภาพน้ำเสียของโรงงานเบื้องต้น  ผ่านโครงการฝึกอบรมให้ผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่องมาร่วม 10 ปี อีกทั้งได้ส่งเสริมการทำระบบจัดการสิ่งแวดล้อม เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ ISO 14000 ภายในสิ้นปีนี้ ที่กำหนดให้ผู้ประกอบการ มีการจัดตั้งระบบการบริหารที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมโดยไม่ขัดต่อกฎหมายและข้อบังคับด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศ ซึ่งจะช่วยสร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้ผู้ประกอบการหันมาดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และในส่วนของภาครัฐ กรอ. จะประสานงานกับกรมควบคุมมลพิษ กรมชลประทาน กรมเจ้าท่า ได้บูรณาการร่วมกันโดยทบทวนและปรับแก้ไขกฎหมายที่ควบคุมการระบายน้ำทิ้งของโรงงาน ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อไม่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบกิจการ พร้อมๆกับการสร้างเครือข่ายกับหน่วยงานภายนอก เช่น สถาบันสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม สมาคมวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย และหน่วยงานท้องถิ่นในการช่วยดูแล สอดส่องการระบายน้ำทิ้งจากโรงงานและการเฝ้าระวังตรวจสอบคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ ดร.พสุกล่าว

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 19 มิถุนายน 2558

กษ.พอใจโครงการสร้างรายได้ฯ ช่วย'เกษตรกร'-กระตุ้นเศรษฐกิจ

นายสมปอง อินทร์ทอง รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการสร้างรายได้ และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชนเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งระดับกระทรวง ว่า จากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 ม.ค.58 ที่มีมติอนุมัติให้ดำเนินโครงการฯ นั้น ความคืบหน้าล่าสุดจากการตรวจสอบ พบว่าได้อนุมัติโครงการไปแล้ว 6,000 โครงการ ครอบคลุมทุกพื้นที่ ส่วนใหญ่โครงการที่ได้ผ่านการอนุมัติแล้ว ได้มีการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อไปดำเนินงานตามโครงการ ซึ่งแบ่งเป็นลักษณะกิจกรรม 4 ลักษณะ ได้แก่ 1.กิจกรรมเพื่อจัดการแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรของชุมชน 2.กิจกรรมปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต 3.กิจกรรมการผลิตทางการเกษตรและการแปรรูปผลผลิตเกษตรเพื่อสร้างรายได้ในฤดูแล้ง 4.กิจกรรมเพื่อลดความสูญเสียผลผลิตเกษตร โดยอนุมัติวงเงินเพื่อไปดำเนินงานแล้ว 3,004 ล้านบาท ครอบคลุม 58 จังหวัด คิดเป็น 98%

ทั้งนี้ ภายในเดือน ก.ค.นี้ ทางคณะกรรมการฯ จะมีการสรุปผลโครงการ โดยจะมีการพิจาณาถึงโครงการที่มีความต่อเนื่อง เร่งด่วน หรือเป็นโครงการที่จะเกิดประโยชน์ต่อเกษตรกร ชุมชน รวบรวมเพื่อนำเสนอ ครม.ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการที่เกี่ยวกับแหล่งน้ำ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เนื่องจากเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ

สำหรับภาพรวมของโครงการฯ ในด้านการช่วยเหลือเกษตรกร ถือเป็นที่น่าพอใจ และต้องขอบคุณทุกชุมชนที่ร่วมแสดงความคิดเห็นในการกำหนดกิจกรรมหรือโครงการร่วมกัน ซึ่งเป็นโครงการที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนของตนเองและขยายผลไปสู่ชุมชนอื่นๆ เช่น การพัฒนาแหล่งน้ำ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านอื่นๆ

อย่างไรก็ดี ที่ประชุมได้มีการพิจาณาจะให้มีการต่อยอดในบางโครงการหรือบางจังหวัด ที่เห็นว่าเมื่อดำเนินการต่อยอดไปแล้วจะเกิดผลประโยชน์มากขึ้น โดยเน้นโครงการหลักๆ ที่จะต่อยอดไปในด้านการพัฒนารูปแบบให้เหมาะสมหรือดีขึ้น เช่น ขยายแหล่งรับน้ำ เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่เป็นโครงการที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลทั้งสิ้น หากชุมชนมีโครงการที่ดีและเป็นประโยชน์ จะนำมารวบรวมเพื่อนำเสนอ ครม.พิจารณาต่อไป

นอกจากนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้รายงานเพิ่มเติมว่า คณะกรรมการในระดับต่างๆ ได้ให้ความสำคัญกับโครงการนี้ รวมทั้งหน่วยงานในพื้นที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ส่งผลให้ชุมชนได้รับประโยชน์โดยตรงจากการจ้างงาน และยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่นอีกด้วย

จาก http://www.naewna.com วันที่ 19 มิถุนายน 2558

Climate Changeกระทบการผลิตภาคเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เผย ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ส่งผลต่อการผลิตภาคการเกษตรลดลงอย่างเด่นชัด เตรียมวางแนวทางรองรับผลกระทบ สู่มาตรการและนโยบาย พร้อมดึงนวัตกรรมมาใช้พัฒนาการเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า ตอบสนองตามสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลง สู่การปฏิรูปภาคเกษตรตามแนวเศรษฐกิจความพอเพียง

นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากกระบวนการภายในและภายนอกหรือเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของบรรยากาศ หรือพื้นดินที่มาจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่อเนื่องของมนุษย์ โดยการเปลี่ยนแปลงจะเห็นได้ชัด เช่น การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ กระแสลม ปริมาณฝน โดยเกิดขึ้นในช่วงเวลาหนึ่งๆ ซึ่งอาจเป็นทศวรรษ (10 ปี) หรือยาวนานกว่านั้น นับเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการปลูกพืช การเลี้ยงสัตว์ ทั้งสัตว์บกและสัตว์น้ำทั้งสิ้น ส่งผลให้พื้นที่สำหรับการผลิตพืชอาหารและผลผลิตภาคการเกษตรลดลง

องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้ออกมาเตือนถึงราคาอาหารของโลก ซึ่งไม่มีทีท่าว่าจะลดลงและคาดการณ์ว่าราคาธัญพืชอาหารหลักของประชากรโลก ได้แก่ ข้าวโพด ข้าวสาลี และข้าว มีแนวโน้มจะสูงขึ้นกว่า 1 ถึง 2 เท่าตัวภายในปี 2573 โดยมีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัจจัยถึง 1/3 หรือครึ่งหนึ่ง และปัจจัยอื่นๆ เช่น การเพิ่มขึ้นของประชากรโลกและการขยายตัวของชนชั้นกลางในประเทศกำลังพัฒนาที่มีกำลังบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ความต้องการอาหารของโลกเพิ่มสูงขึ้นในขณะที่อุปทานลดลงส่งผลให้ราคาอาหารโลกโดยรวมเพิ่มขึ้นด้วย

ในเรื่องดังกล่าว สศก. จึงได้ศึกษาถึงแนวทางมาตรการเพื่อรองรับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว เช่น การปรับปรุงพันธุ์พืชและสัตว์ที่สามารถทนทานหรือปรับตัวต่ออุณหภูมิที่สูงขึ้น การพัฒนานวัตกรรมการผลิตรูปแบบใหม่ และระบบการผลิตสินค้าเกษตรกรรม  ตลอดจนการปรับเปลี่ยนบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน ให้สามารถตอบสนองเป็นไปตามสภาวการณ์ที่มีเปลี่ยนแปลง โดยการสร้างแบบจำลองบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพที่ครอบคลุมทุกมิติของการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศ รวมถึงการพัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพคุ้นเคยกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจที่ถูกต้องและแม่นยำมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม นอกจากปัญหาปัจจัยภายนอกที่มีผลกระทบกับการเกษตรแล้ว ยังมีปัญหาสินค้าเกษตร เช่น ราคายางพาราตกต่ำ ปัญหาข้าวราคาตกต่ำ เนื่องจากปริมาณการผลิตสินค้าทั้งสองชนิดในสต็อกแต่ละปีมีปริมาณสูงขึ้น กล่าวคือ ปริมาณการผลิตสินค้าเกษตรไม่สมดุลกับความต้องการของผู้บริโภค จึงประสบกับปัญหาราคานั่นเอง แต่ขณะเดียวกัน ระบบการผลิตสินค้าเกษตรหลายประเภท เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ยังคงมีแนวโน้มการผลิตที่เพิ่มขึ้นกอปรกับตลาดยังมีความต้องการและสามารถขายได้ราคาที่ดีอยู่ด้วย

สศก. ได้ตระหนักและเล็งเห็นถึงความสำคัญจากสถานการณ์ดังกล่าว จึงได้เสนอแนวทาง มาตรการและนโยบาย เพื่อนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้พัฒนาการเกษตรในหลากหลายด้านทั้งด้านการผลิตและการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร โดยเฉพาะการพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร เช่น การผลิตพลาสติกชีวภาพ (Bio-plastic) จากมันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด ที่สามารถลดมลภาวะได้ อันเกิดจากกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโลก และความกดดันด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ จากนานาประเทศ รวมทั้งมาตรการสร้างความสมดุลระหว่างความต้องการของผู้บริโภคและปริมาณการผลิต เพื่อให้ระดับราคามีเสถียรภาพ เช่น การปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาคการเกษตรจากที่รัฐบาลมีมาตรการลดพื้นที่ปลูกข้าวและให้การปลูกพืชชนิดอื่นที่มีราคาดีกว่าทดแทน คือ อ้อยและพืชอื่นๆ ที่ใช้น้ำน้อย หรือการปรับเปลี่ยนการปลูกยางพาราที่มีปริมาณการผลิตเกินความต้องการ เป็นการปลูกปาล์มน้ำมันทดแทน หรือการปลูกพืชแซมในสวนยางพารา เพื่อให้เป็นการสร้างรายได้ให้เกษตรกรเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่ง

ทั้งนี้ ปัจจัยที่มีต่อภาคการเกษตรต่างๆ ทั้งทางด้านบวกและด้านลบ สศก. ได้เร่งรัดในพัฒนาและกำหนดนโยบายด้านการเกษตร รวมถึงการปฏิรูปภาคการเกษตรเพื่อสนองตอบต่อเศรษฐกิจความพอเพียง อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งคำนึงถึงความมั่นคงเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้จากการประกอบอาชีพทางการเกษตร ซึ่งสามารถเลี้ยงตนเองได้ในระยะยาวได้อย่างยั่งยืนอันนำมาซึ่งประโยชน์สุขของสังคมในประเทศต่อไป

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 19 มิถุนายน 2558

กรมโรงงานฯ ชู 3 มาตรการกำจัดน้ำเสีย

กรมโรงงาน อุตสาหกรรม ชู 3 มาตรการกำจัดน้ำเสีย ตั้งเป้าตรวจติดตาม 9,768 โรงงาน หากพบลักลอบขู่ปรับ จำคุก ถึงสั่งหยุดกิจการ

นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า ที่ผ่านมา กรมโรงงานฯ ได้ตรวจติดตามโรงงานอุตสาหกรรม ด้วยการส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบตามแผนปีละประมาณ 1 หมื่นโรงงาน โดยพบว่าในปี 2556 มีการร้องเรียนจำนวน 162 โรงงาน และปี 2557 ร้องเรียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 28 อยู่ที่ 207 โรงงาน ส่วนครึ่งปีนี้พบว่ามีการร้องเรียนแล้วถึง 102 โรงงาน ดังนั้น กรมโรงงานฯ จึงต้องเร่งเพิ่มศักยภาพการกำจัดน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมด้วย 3 มาตรการ ได้แก่ การควบคุมการระบายน้ำทิ้งออกนอกโรงงานอุตสาหกรรม โดยปีนี้ มีเป้าหมายตรวจติดตามทั้งสิ้น 9,768 โรงงาน ขณะนี้ดำเนินการแล้ว 5,860 โรงงาน  การติดตั้งอุปกรณ์ส่งสัญญาณตรวจจับน้ำเสีย สำหรับโรงงานที่มีน้ำทิ้งมากกว่า 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยโรงงานเหล่านี้ต้องส่งรายงานการตรวจวัดให้กรมโรงงานฯ รับทราบ ขณะนี้ได้รับรายงานแล้ว 274 โรงงาน เกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ร้อยละ 113 และการกำหนดให้มีบุคลากรด้านสิ่งแวดล้อมประจำโรงงาน ในโรงงานที่มีปริมาณน้ำเสียตั้งแต่ 500 ลูกบาศ์เมตรต่อวัน โรงงานที่ใช้สารโลหะหนัก และโรงงานที่ก่อให้เกิดมลพิษสูง เบื้องต้นมีโรงงานที่จัดผู้ควบคุมระบบบำบัดมลพิษแล้ว 1,500 โรงงาน จากทั้งหมด 2,500 โรงงาน

โดยโรงงานที่มีการลักลอบปล่อยน้ำเสีย หรือใช้ระบบบำบัดน้ำเสียที่ไม่มีประสิทธิภาพ จะมีโทษปรับตั้งแต่ 2 หมื่นบาท ถึง 2 แสนบาท หรือจำคุกไม่เกิน 2 ปี รวมถึงสั่งหยุดประกอบกิจการโรงงาน โดยจังหวัดที่มีการระบายน้ำเสียออกจากโรงงานสูงสุดต่อวัน คือ สมุทรปราการ สมุทรสาคร และพระนครศรีอยุธยา ขณะที่ประเภทการประกอบกิจการโรงงานที่มีการระบายน้ำเสียออกจากโรงงานสูงสุด ได้แก่ โรงงานบำบัดน้ำเสีย รองลงมาคือโรงงานฟอก และโรงงานผลิตเยื่อกระดาษ

นอกจากนี้ มั่นใจว่า จำนวนเรื่องร้องเรียนในปีนี้จะไม่เพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีการบังคับใช้ทั้ง 3 มาตรการอย่างเข้มงวด ประกอบกับกฎหมายภายใต้ พ.ร.บ.ประกอบกิจการโรงงาน พ.ศ.2535 ทั้ง 9 ฉบับ ก็มีความเหมาะสมกับการกำกับดูแลแล้ว

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 19 มิถุนายน 2558

ที่ปรึกษา รมว.เกษตรถกแก้ภัยแล้งอีสาน

ที่ปรึกษา รมว.เกษตร ลงพื้นที่เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แก้ไขปัญหาภัยแล้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ที่ห้องประชุมชั้น 4 สำนักงานชลประทานที่ 8 นครราชสีมา พล.ต.อินทรัตน์ ยอดบางเตย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในการประชุมการติดตามผลการดำเนินงานตามแนวทางการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภายหลังจากที่ทางอุตุนิยมวิทยา ได้คาดการณ์ไว้ในช่วง 2-3 เดือนต่อจากนี้ไป ในหลายพื้นที่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีปริมาณฝนที่ตกน้อยแล้ว และอาจเกิดฝนทิ้งช่วง ดังนั้น ก็จะทำให้ในหลายพื้นที่ต้องประสบกับปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก โดยในการประชุมได้มีตัวแทนจากกรมชลประทาน, ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 5-6-7 และ 8 หน่วยงานที่ขึ้นตรงกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และตัวแทนกลุ่มผู้ใช้น้ำ เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพียงกัน

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 19 มิถุนายน 2558

3 สมาคมรง.น้ำตาลหนุน ผลิตไฟฟ้าจากกากอ้อย

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า หลังจากภาครัฐได้เห็นชอบแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2558-2579 หรือแผน PDP 2015 ซึ่งเป็นแผนจัดหาไฟฟ้าในระยะยาว ถือเป็นนโยบายที่ดีที่ภาครัฐมุ่งส่งเสริมให้ภาคเอกชนหรือผู้ประกอบการลงทุนผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้น

“อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพและพร้อมสนับสนุนผลักดันแผน พัฒนากำลังไฟฟ้า PDP 2015 ของภาครัฐให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย เนื่องจากโรงงานน้ำตาลทรายทุกโรงมีกากอ้อยที่นำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตไฟฟ้ามากเพียงพอต่อการผลิตกระแสไฟฟ้าป้อนความต้องการใช้ด้านพลังงานไฟฟ้าที่ขยายตัวสูงขึ้นทุกปี สามารถช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่ประเทศ และมีความพร้อมจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้อย่างสม่ำเสมอเมื่อเทียบกับการผลิตไฟฟ้าที่ใช้วัตถุดิบประเภทอื่นๆ” นายสิริวุทธิ์ กล่าว

ปัจจุบัน กระบวนการผลิตน้ำตาลในแต่ละปีมีปริมาณอ้อยเกินกว่า 100 ล้านตัน โดยมีกากอ้อยที่เหลือใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ประมาณ 18 ล้านตัน สามารถนำไปผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากถึง 1,500 เมกะวัตต์ แต่มีโครงการที่จำหน่ายไฟฟ้าได้ 82 โครงการ คิดเป็นปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้าตามสัญญาเพียง 800 กว่าเมกะวัตต์

จาก http://www.naewna.com วันที่ 19 มิถุนายน 2558

113 ปีกรมชลประทาน

113 ปีกรมชลประทานทุกหมู่บ้านมีน้ำสะอาดอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อการผลิตมั่นคง ความเสียหายจากอุทกภัยลดลง คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน บริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน

ประวัติศาสตร์อันยาวนาน 113 ปีของกรมชลประทาน หน่วยงานหลักของรัฐในด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ บริหารจัดการน้ำ และบรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำของประเทศ ถือกำเนิดในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้ง “กรมคลอง” ขึ้นมาในปี 2445

ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “กรมชล ประทาน” ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และได้ใช้ชื่อนี้มาจวบจนถึงปัจจุบัน

ก้าวย่างขึ้นสู่ปีที่ 114 เป็นปีแรกที่กรมชลประทานมีภารกิจสำคัญ ในการจะดำเนินงานตาม “ยุทธศาสตร์บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ” ของประเทศ ที่ได้กำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า “ทุกหมู่บ้านมีน้ำสะอาดอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อการผลิตมั่นคง ความเสียหายจากอุทกภัยลดลง คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน บริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ภายใต้การพัฒนาอย่างสมดุลโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน”

โดยกำหนดระยะเวลาไว้ 12 ปีตั้งแต่ปี 2558-2569 มียุทธศาสตร์รองรับ 6 ด้าน คือ 1. ยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค 2. ยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการผลิต (เกษตรและอุตสาหกรรม) 3. ยุทธศาสตร์ป้องกันและบรรเทาอุทกภัย 4. ยุทธศาสตร์การจัดการคุณภาพน้ำ 5. ยุทธศาสตร์การฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อม โทรมและป้องกันการพังทลายของดิน และ 6.ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำ

อย่างไรก็ตามแม้ทั้ง 6 ยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะเกี่ยวข้องกับกรมชลประทานทั้งหมดก็ตาม แต่ยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องโดยตรง และเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานก็คือ ยุทธศาสตร์ที่ 2 คือ การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการผลิต (เกษตรและอุตสาหกรรม) ซึ่งได้กำหนดเป้าหมายไว้ว่า

จะต้องจัดหาน้ำเพื่อการเกษตรและเพิ่มประสิทธิภาพระบบชลประทาน เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรทั้งเพื่อเพิ่มผลผลิต และลดความเสี่ยงจากการผันแปรของภูมิอากาศ จัดการน้ำต้นทุนเพื่อการอุตสาหกรรม การอุปโภคบริโภค การรักษาระบบนิเวศ รวมทั้งควบคุมและจัดสรรน้ำให้สมดุลและเพียงพอกับความต้องการในทุกภาคส่วน

โดยให้มีความสมดุลกับน้ำต้นทุนเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายดังกล่าว จึงได้มีการกำหนดแผนการดำเนินการโดยจะขยายพื้นที่การเกษตรในเขตชลประทานให้ได้อีก 18.8 ล้านไร่ ภายในปี 2569 ก็จะมีพื้นที่การเกษตรในเขตชลประทาน ไม่น้อยกว่า 48.8 ล้านไร่ หรือร้อยละ 33 ของพื้นที่การเกษตรทั้งประเทศ

ในปีที่กรมชลประทานครบ 113 ปี ประเทศไทยมีพื้นที่การเกษตรในเขตชลประทานประมาณ 30 ล้านไร่ หรือร้อยละ 20 ของพื้นที่การเกษตรของประเทศซึ่งมีทั้งหมดประมาณ 149 ล้านไร่ ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 119 ล้านไร่ ยังเป็นพื้นที่นอกเขตชลประทานที่ต้องใช้น้ำฝนเป็นหลัก ถือเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงกับภาวะภัยแล้งและน้ำท่วม

ซึ่งจะมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กองทัพบก กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่อไป

นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ในปีที่กรมชล ประทานครบ 113 ปี ในปี 2558 นี้ ถือเป็นปีมหามงคลที่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ 5 รอบ กรมชลประทานจึงได้จัดงาน “60 พรรษา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร ชลประทานทั่วไทย น้อมถวายพระพรชัยมงคล” ระหว่างวันที่ 26-28 มิถุนายน 2558 ณ กรมชลประทาน อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี

โดยภายในงานจะมีการจัดแสดงนิทรรศการพระอัจฉริยภาพและพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จากกรมชลประทาน และหน่วยงานต่าง ๆ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และการแสดงแสงสีเสียงกลางน้ำที่สวยงามอีกด้วย.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 19 มิถุนายน 2558

ธปท.เกาะติดเศรษฐกิจโลก สารพัดปัจจัยต่างประเทศยังเสี่ยงต้องจับตาใกล้ชิด

นายจิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงการปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ลงว่า คาดว่าในปี 2558 จะมีอัตราเติบโต 1.8-2.0% ลดลงจากการคาดการณ์ไว้ที่ 2.3-2.7% และปรับเพิ่มการคาดการณ์อัตราการว่างงานในปีนี้ขึ้นเล็กน้อย จากเดิม 5.0-5.2% เป็น 5.2-5.3% นั้น ทำให้ ธปท.ต้องติดตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯอย่างใกล้ชิด เนื่องจากจะมีผลต่อการตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดต่อไป

ขณะที่ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิมคือ 0-0.25% เป็นไปตามที่ตลาดส่วนใหญ่ได้คาดการณ์ไว้ โดยนางเจเน็ต แยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ แสดงมุมมองนโยบายการเงินในทิศทางที่ผ่อนคลาย โดยระบุว่าช่วงเวลาการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจและแรงกดดันเงินเฟ้อ ซึ่งต้องพิจารณาตัวเลขเศรษฐกิจหลายด้านเพื่อประกอบการตัดสินใจ

“หากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือน ก.ย.อย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์จริง ธปท.คาดว่าตลาดจะไม่ตกใจรุนแรงเหมือนช่วงที่ประกาศลดมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน (คิวอี) ในช่วงปี 2554 เพราะตลาดมาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ภายหลังการประชุมดังกล่าวได้ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ปรับอ่อนค่าลง ส่งผลให้วานนี้ (18 มิ.ย.) ค่าเงินบาทปรับแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย แต่เป็นการเคลื่อนไหวในระดับปกติและสอดคล้องกับเงินสกุลอื่นๆในภูมิภาค ซึ่ง ธปท.มีการติดตามสถานการณ์ต่อเนื่อง”

นายจิรเทพ กล่าวถึงกรณีการหาข้อตกลงการชำระหนี้ของกรีซว่า เป็นส่วนที่อ่อนไหวของเศรษฐกิจยุโรป และอาจจะกระทบต่อเนื่องให้ค่าเงินยูโรมีความผันผวน ส่วนเศรษฐกิจจีน ซึ่งไตรมาสแรกขยายตัวได้ 7% ชะลอตัวต่อเนื่อง และมีการเปลี่ยนแปลงการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยพึ่งพากำลังซื้อภายในประเทศมากขึ้น ซึ่งส่วนนี้อาจจะกระทบการส่งออกของไทย เพราะไทยส่งออกไปจีนในอัตราที่สูงเป็นอันดับ 1 หรือคิดเป็นสัดส่วน 11% ของการส่งออกรวม.

จาก http://www.thairath.co.th   วันที่ 19 มิถุนายน 2558

ศภช.เผยน้ำเขื่อนหลักเกณฑ์พอใช้อีก14แห่งน้ำน้อย

ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติรายงานสภาพน้ำในเขื่อนหลักอยู่ในเกณฑ์พอใช้ ขณะอีก 14 แห่งน้ำน้อย ภัยแล้งแนวโน้มลดลง

ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ รายงานวันที่ 19 มิถุนายน สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ ขนาดใหญ่ และขนาดกลาง ปริมาณน้ำกักเก็บ 34,313 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 46 เฉลี่ยอยู่ในเกณฑ์ที่พอใช้ เว้นเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำ 14 แห่ง ได้แก่ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล จ.เชียงใหม่, เขื่อนกิ่งคอหมา จ.ลำปาง, เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก, เขื่อนห้วยหลวง จ.อุดรธานี, เขื่อนลำปาว จ.กาฬสิน, เขื่อนน้ำพุง จ.สกลนคร, เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนลำตะคอง จ.นครราชสีมา, เขื่อนคลองสียัด จ.ฉะเชิงเทรา, เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก, เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี, เขื่อนบางพระ จ.ชลบุรี และ เขื่อนปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยรวมส่วนใหญ่เขื่อนและแม่น้ำสายหลักหลายแห่งมีปริมาณน้ำเพื่อใช้ในการเกษตรอยู่ในเกณฑ์น้อย

ส่วนสภาพน้ำท่า ภาพรวมปริมาณแม่น้ำสายหลักทุกภาค มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อยบางพื้นที่ แต่ยังอยู่ในเกณฑ์น้อย อย่างไรก็ตามสถานการณ์ภัยแล้งส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นพื้นที่รวม 24 จังหวัด 180 อำเภอ 1,030 ตำบล และ 9436 หมู่บ้าน เนื่องจากมีฝนตกในหลายพื้นที่ จึงทำให้ภาวะความแห้งแล้งมีแนวโน้มลดลงหลายพื้นที่

จาก  www.innnews.co.th วันที่ 19 มิถุนายน 2558

อุตฯอ้อยและน้ำตาลทรายชูความพร้อมด้านวัตถุดิบผลิตกระแสไฟฟ้า

3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย ชูศักยภาพโรงไฟฟ้าชีวมวลจากกากอ้อย พร้อมช่วยหนุนสนับสนุนความมั่งคงด้านพลังงานไฟฟ้าตามแผน PDP 2015 ให้แก่ภาครัฐ โดยมีวัตถุดิบกากอ้อยที่เหลือจากกระบวนการผลิตน้ำตาลทรายสูงถึงปีละ 18 ล้านตัน สามารถใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากถึงปีละ 1,500 เมกะวัตต์ แถมช่วยลดปัญหาการกำจัดของเสีย ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งสอดรับนโยบายโซนนิ่งพืชเศรษฐกิจด้วย

 นายสิริวุทธิ์  เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า หลังจากภาครัฐได้เห็นชอบแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2558-2579 หรือ แผน PDP 2015 ซึ่งเป็นแผนจัดหาไฟฟ้าในระยะยาว ที่พิจารณาตามหลักเกณฑ์สำคัญ 3 ด้าน ประกอบด้วย ด้านความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประเทศ ด้านสิ่งแวดล้อมและด้านเศรษฐกิจ โดยคำนึงถึงการอนุรักษ์พลังงาน การพัฒนาพลังงานทดแทน และพลังงานทางเลือก ซึ่งถือเป็นนโยบายที่ดีที่ภาครัฐมุ่งส่งเสริมให้ภาคเอกชนหรือผู้ประกอบการลงทุนผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้น

ปัจจุบัน กระบวนการผลิตน้ำตาลในแต่ละปีมีปริมาณอ้อยเกินกว่า 100 ล้านตัน โดยมีกากอ้อยที่เหลือใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ประมาณ 18 ล้านตัน สามารถนำไปผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากถึง 1,500 เมกะวัตต์ แต่มีโครงการที่จำหน่ายไฟฟ้าได้ 82 โครงการ คิดเป็นปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้าตามสัญญาเพียง 800 กว่าเมกะวัตต์          

“อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพและพร้อมสนับสนุนผลักดันแผน พัฒนากำลังไฟฟ้า PDP 2015 ของภาครัฐให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย     เนื่องจากโรงงานน้ำตาลทรายทุกโรงมีกากอ้อยที่นำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตไฟฟ้ามากเพียงพอต่อการผลิตกระแสไฟฟ้าป้อนความต้องการใช้ด้านพลังงานไฟฟ้าที่ขยายตัวสูงขึ้นทุกปี        สามารถช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่ประเทศ และมีความพร้อมจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้อย่างสม่ำเสมอเมื่อเทียบกับการผลิตไฟฟ้าที่ใช้วัตถุดิบประเภทอื่นๆ” นายสิริวุทธิ์ กล่าว

นอกจากนี้ การผลิตกระแสไฟฟ้าที่ใช้กากอ้อยเป็นเชื้อเพลิง ยังช่วยตอบโจทย์ตามหลักเกณฑ์แผนพัฒนาไฟฟ้า PDP 2015    ด้านสิ่งแวดล้อมที่สามารถนำเศษวัสดุที่เหลือจากกระบวนการผลิตมาใช้ให้เกิดประโยชน์และสร้างมูลค่าเพิ่ม  อีกทั้งการปลูกอ้อยเป็นทางเลือกแก่เกษตรกรในการประกอบอาชีพ ซึ่งผลผลิตทุกตันอ้อยทางโรงงานน้ำตาลทรายพร้อมรับซื้อจากเกษตรกรทั้งหมด ขณะที่การกำหนดราคาอ้อยมีหน่วยงานรัฐกำกับดูแลให้ได้ราคาที่เป็นธรรม จึงช่วยลดความเสี่ยงด้านราคาผลผลิตของเกษตรกรด้วย

    จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย จับตาเงินเฟ้อสหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 18 มิถุนายน 2558 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ที่ระดับ 33.62/64 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (17/6) ที่ระดับ 33.70/72 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากนักลงทุนผิดหวังที่นางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ไม่ได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าเฟดจะเริ่มต้นปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเมื่อใด โดยนางเยลเลนกล่าวย้ำว่าการตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยยังไม่มีความแน่นอน โดยยังคงต้องจับตาดูการปรับตัวของตลาดแรงงานและอัตราเงินเฟ้อ นอกจากนั้นเฟดได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในปี 2558 ลงจากคาดการณ์เดิมเมื่อการประชุมเดือน มี.ค.ที่ 2.3%-2.7% เป็น 1.8%-2.0% ขณะที่คงคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2559 ที่ 2.4%-2.7%  และคงคาดการณ์เงินเฟ้อในปี 2558 ที่ 0.6%-0.8% และ 1.6%-1.9% ในปี 2559 ตามคาดการณ์เดิม และได้ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราการว่างงานในปี 2558 ขึ้นจากเดิม 5.0%-5.2% เป็น 5.2-5.3% และจะปรับตัวลงในปี 2559 ที่ 4.9%-5.1% ตามคาดการณ์เดิม ส่งผลให้นักลงทุนบางส่วนมองว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยอาจจะล่าช้าออกไป ทั้งนี้ค่าเงินบาทยังได้ปัจจัยหนุนจากการที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีได้ออกมากล่าวว่า จีดีพีของไทยในปี 2558 มีแนวโน้มจะขยายตัวได้นานกว่า 3% โดยได้รับแรงหนุนจากการลงทุนภาครัฐ และการใช้จ่ายภาคเอกชน อย่างไรก็ดี เงินบาทยังคงได้รับแรงกดดันในบางช่วงจากการที่นักลงทุนส่วนหนึ่งยังคงเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจสหรัฐ และคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีโอกาสในการส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐได้ชี้ให้เห็นว่ามีการฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินบาทมีกรอบการเคลื่อนไหวระหว่าง 33.59-33.67 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 33.60/62 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้ (18/6) เปิดตลาดที่ระดับ 1.1358/60 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (17/6) ที่ 1.1258/60 จากตัวเลขเศรษฐกิจของกลุ่มยูโรโซนประกาศออกมาค่อนข้างดี โดยตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเดือน พ.ค. ออกมาอยู่ที่ 0.3% ตามคาดและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือน พ.ค.อยู่ที่ 0.9% สะท้อนถึงการมีพัฒนาการของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นและประสิทธิภาพของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (Quantiative Easing program) อย่างมีนัยสำคัญ โดยปัจจัยสำคัญในวันนี้นักลงทุนจับตามองการประชุม รมว.คลังยูโรโซนอย่างใกล้ชิด โดยหลายฝ่ายมองว่าการประชุมที่จะมีขึ้นในวันนี้เป็นโอกาสสุดท้ายในการหาทางออกการชำระหนี้คืนของกรีซก่อนที่โครงการให้ความช่วยเหลือของสหภาพยุโรป (EU) จะสิ้นสุดลงในเดือนนี้ โดยกรีซมีภาระหนี้ที่ต้องจ่ายคืนกองทุนระหว่างประเทศ (IMF) จำนวน 1,600 ล้านยูโร โดยในช่วงบ่ายวันนี้นายกรัฐมนตรีแองเจลา เมอร์เคล ของเยอรมนีได้ออกมากล่าวว่า ยังคงมีความเป็นไปได้ที่กรีซจะบรรลุข้อตกลงกับกลุ่มเจ้าหนี้ระหว่างประเทศ ซึ่งได้แก่สหภาพยุโรป (อียู), กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) โดยนางเมอร์เคลเน้นย้ำว่า ความพยายามของเยอรมนีมุ่งไปที่การทำให้กรีซอยู่ในยูโรโซนต่อไป โดยที่กรีซก็ต้องดำเนินการปฏิรูปอย่างแข็งขัน จากคำกล่าวของนางเมอร์เคลดังกล่าว ช่วยลดความกังวลของนักลงทุนได้ในระดับหนึ่ง ส่งผลให้ค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวระหว่าง 1.1329/1.149 ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.1410/12 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับค่าเงินเยนวันนี้เปิดตลาดที่ระดับ 123.38/40 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (17/6) ที่ระดับ 123.94/96 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ จากการปรับลดคาดการณ์การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐของเฟดและการที่นางเยลเลนไม่ได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนในการปรับขึ้นดอกเบี้ย ส่งผลให้นักลงทุนบางส่วนเข้าซื้อเงินเยนซึ่งถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (safe heaven) ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวในกรอบ 122.53-123.60 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยไม่มีปัจจัยใหม่มากระทบตลาดอย่างมีนัยสำคัญ ก่อนจะปิดตลาดที่ระดับ 122.55/57 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลทางเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ, อัตราเงินเฟ้อเดือน พ.ค.ของสหรัฐ ผลการประชุม รมว.คลังยูโรโซนหรือยูโรกรุ๊ปในเรื่องกรีซ

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +3.5/3.65 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +5.5/6.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ

    จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2558

น้ำเค็มรุกแหล่งน้ำดิบผลิตปะปา พบเกิน0.37กรัม-กรมชลฯเร่งแก้

นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่าจากการติดตามวัดระดับค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา ล่าสุดพบว่าที่ปากคลองสำแล จ.ปทุมธานี มีค่าความเค็มเกินเกณฑ์มาตราฐานการผลิตน้ำปะปา ที่ระดับ 0.37 กรัมเกลือต่อลิตรโดยมีค่าความเค็มเกินเป็นรายชั่วโมงในบางช่วงของวัน แต่เมื่อนำเฉลี่ยตลอดทั้งวันพบว่า ค่าความเค็มยังอยู่ในเกณฑ์มาตราฐานการผลิตน้ำปะปา ไม่กร่อย ยังอยู่ที่ระดับ 0.25 กรัมเกลือต่อลิตร

"วันนี้ได้ตรวจวัดรายชั่วโมงที่ปากคลองสำแล พบว่ามีค่าความเค็มเกินบางช่วงแต่เมื่อนำมาเฉลี่ยทุกชั่วโมงยังอยู่ในค่าเฉลี่ยไม่เกิน 0.25 กรัมเกลือต่อลิตร โดยมีบางช่วง0.37  กรัมบางช่วง 0.29 และ0.19 กรัม ซึ่งกรมชลประทาน ได้พยายามบริหารจัดการระบายเพิ่มเข้ามาในพื้นที่แหล่งผลิตน้ำปะปาผลักดันน้ำเค็มในอัตราจากระบาย 70 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพิ่มเป็น 75 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที สามารถทำให้ระดับค่าคาวมเค็มเป็นปกติซึ่งน้ำปะปายังไม่กร่อย" นายสุเทพ กล่าว

นายสุเทพ กล่าวว่าในวันอังคารที่ 23 มิ.ย.ได้นัดประชุมส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารน้ำ 10 หน่วยงาน มาประเมินสถานการณ์ทั้งหมดโดยดูปริมาณน้ำเขื่อน ปริมาณฝน สภาพอากาศ เพื่อใช้ในการบริหารน้ำอย่างใกล้ชิดอีกรอบ

สำหรับปริมาณค่าความเค็มที่ลุ่มน้ำท่าจีน วัดที่ปากคลองจินดา ตอนนี้ยังอยู่เกฑณ์บริหารจัดการได้ โดยไม่เกิน จุดเฝ้าระวัง 0.75 กรัมเกลือต่อลิตร จึงยังไม่กระทบกับสวนกล้วยไม้ ส่วนที่แม่น้ำบางปะกง ต่าความเค็มอยู่เกณฑ์ธรรมชาติตามช่วงที่เคยเกิดขึ้น

จาก http://www.naewna.com   วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2558

แล้งหนัก!น้ำเขื่อนแม่งัด-แม่กวงมีใช้ไม่เกิน 2เดือน ชะลอปลูกพืช1.7แสนไร่-รอฟ้าฝน

ในห้วงแห่งสถานการณ์ภัยแล้งปีนี้ (2558) จังหวัดเชียงใหม่นับเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ต้องจับตา เนื่องจากปริมาณน้ำใน 2 เขื่อนใหญ่ซึ่งเป็นหัวใจหล่อเลี้ยงเมืองเชียงใหม่ พบว่า “น้ำเหลือน้อย” คาดว่าจะมีน้ำเหลือใช้อีกเพียงเดือนเศษๆถึง 2 เดือนเท่านั้น

“ประชาชาติธุรกิจ” ลงพื้นที่สำรวจสภาพน้ำในเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่ตำบลลวงเหนือ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ พบว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำเหลือแค่ระดับก้นอ่าง หรือในสัดส่วนเพียงราว 12% หากเทียบจากปริมาณน้ำเต็มเขื่อน ซึ่งเป็นปริมาณที่จะพอเหลือใช้เพียงราวเดือนเศษถึง 2 เดือนเท่านั้น

นายเกื้อกูล มานะสัมพันธ์สกุล หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน โครงการชลประทานเชียงใหม่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์ของปริมาณน้ำใน 2 เขื่อนใหญ่ของจังหวัดเชียงใหม่คือ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ในพื้นที่อำเภอแม่แตง และเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ในเขตพื้นที่อำเภอดอยสะเก็ด มีปริมาณน้ำเหลือค่อนข้างน้อย โดยเขื่อนแม่งัดเหลือปริมาณน้ำราว 79 ล้าน ลบ.ม. หรือราวร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับปี 2557 ที่มีปริมาณน้ำอยู่ที่ 109 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่เขื่อนแม่กวงมีปริมาณน้ำเหลือราว 33 ล้าน ลบ.ม. หรือในสัดส่วนราว 12% เทียบกับปี 2557 ที่มีปริมาณราว 70 ล้าน ลบ.ม.

ทั้งนี้ เมื่อรวมปริมาณน้ำของทั้ง 2 เขื่อนจะอยู่ที่ราว 113 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 21 ซึ่งถือว่าปริมาณน้ำที่มีอยู่ทั้งหมดนี้ น้อยกว่าปี 2557 ราว 66 ล้าน ลบ.ม. นอกจากนี้ ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางจำนวน 12 แห่ง ในหลายพื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่ ในปีนี้พบว่ามีปริมาณน้ำอยู่ที่ราว 16 ล้าน ลบ.ม. หรือราวร้อยละ 18 เทียบกับปี 2557 ที่มีปริมาณน้ำราว 24 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งมีแนวโน้มลดลง

สำหรับเขื่อนขนาดใหญ่ทั้ง 2 แห่งคือ เขื่อนแม่งัดและเขื่อนแม่กวง สามารถรองรับปริมาณน้ำได้อีกราว 414 ล้าน ลบ.ม. และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางทั้ง 12 แห่ง สามารถรองรับปริมาณน้ำได้อีกราว 70 ล้าน ลบ.ม.

นายเกื้อกูล กล่าวว่า ปริมาณน้ำในเขื่อนแม่กวง ลดน้อยลงมาตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งสถานการณ์ล่าสุดที่เหลือน้ำเพียงราวร้อยละ 12 ก็ถือว่าค่อนข้างวิกฤติ เนื่องจากน้ำในเขื่อนแม่กวงจะถูกสงวนไว้เพื่อผลิตน้ำประปาให้กับจังหวัดเชียงใหม่ทั้งหมด โดยปัจจุบันจะต้องส่งปริมาณน้ำดิบให้กับการประปาวันละราว 38,000 ลบ.ม. และขณะนี้จำเป็นต้องปรับแผนให้เกษตรกรที่ทำการเกษตรอยู่บริเวณท้ายเขื่อน อาทิ พื้นที่อำเภอดอยสะเก็ด, อำเภอสันทรายและอำเภอสันกำแพง ซึ่งมีจำนวนพื้นที่รวมกันราว 170,000 ไร่ ต้องชะลอการปลูกพืชไปราว 1 เดือนเศษนับจากนี้ และอาจเริ่มปลูกได้ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมเพื่อรอฝน ซึ่งปริมาณน้ำที่มีอยู่เพียงร้อยละ 12 ในเขื่อนแม่กวง จะพอเหลือใช้ได้อีกราว 2 เดือนเท่านั้น

ขณะที่ปริมาณน้ำในเขื่อนแม่งัด ที่มีอยู่ราว 79 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 30 ได้ส่งน้ำจากเขื่อนแห่งนี้มารักษาระบบนิเวศแม่น้ำปิงเดือนละ 9 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งการบริหารจัดการน้ำในส่วนของเขื่อนแม่งัดยังสามารถจัดสรรน้ำได้ไปจนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม แม้ว่าไม่มีฝนตกลงมาเลย

“หากพูดถึงระดับความวิกฤติของเชียงใหม่ สถานการณ์ตอนนี้ยังไม่ถึงขั้นนั้น แต่อยู่ในเกณฑ์ที่เขื่อนมีน้ำน้อย ซึ่งคาดว่าในช่วงเดือนสิงหาคมฝนจะตกลงมาแน่นอน เพราะเป็นช่วงที่เข้าสู่ฤดูฝนเต็มตัว ภาวะตอนนี้อยู่ในสถานการณ์ที่รับมือได้”

นายเกื้อกูล กล่าวต่อว่า การเตรียมการรับสถานการณ์ภัยแล้งที่สำคัญในขณะนี้คือ ได้วางแผนกำหนดพื้นที่เพาะปลูกพืชให้เหมาะสมสัมพันธ์กับปริมาณน้ำต้นทุน โดยสำหรับฤดูกาลผลิตปี 2558 ในพื้นที่เขตชลประทาน จังหวัดเชียงใหม่ มีการวางแผนการปลูกพืชฤดูฝน 361,830 ไร่ แบ่งเป็นข้าวนาปี 224,384 ไร่ พืชไร่-พืชผัก 18,887 ไร่ ไม้ผล-ไม้ยืนต้น 115,403 ไร่ บ่อปลา 3,066 ไร่ และอื่นๆอีก 450 ไร่ ซึ่งปริมาณน้ำที่เหลือในเขื่อนใหญ่ทั้ง 2 แห่ง และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางทั้ง 12 แห่ง โดยทั้งหมดสามารถเป็นน้ำต้นทุนเพื่อการอุปโภค-บริโภค การรักษาระบบนิเวศ และกิจกรรมด้านการเกษตรของจังหวัดเชียงใหม่ได้จนถึงเดือนกรกฎาคม 2558

ปริมาณน้ำใน 2 เขื่อนใหญ่ อันเป็นหัวใจหลักของเมืองเชียงใหม่ ยังพอหล่อเลี้ยงได้อีกราวเดือนเศษ-2 เดือน นับจากนี้คงต้องรอเพียงฟ้าฝนที่จะตกลงมา เท่านั้น

  จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2558

งัดแผนฉุกเฉินสั่งลดระบายน้ำ "ภูมิพล-สิริกิติ์" วิกฤตน้ำทุบสินค้าเกษตร-นิคมอุตฯตั้งรับ

งัดแผนฉุกเฉินสั่งลดระบายน้ำ "ภูมิพล-สิริกิติ์" เขื่อนอื่นให้หยุดปล่อย ยื้อเวลารอฝน 40 วัน อีสานอ่วม "ปักธงชัย-พิมาย-แก้งคร้อ" จ่ายน้ำวันเว้นวันประปาภูมิภาควิกฤต กปน.แนะคนกรุงตุนน้ำดื่ม 1 เดือนจี้รัฐจ่ายชดเชยงดปลูกข้าวนาปี นิคมอุตฯกางแผนรับน้ำขาด

หลังที่กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศให้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนตั้งแต่เดือนพฤษภาคม เวลาผ่านไป 1 เดือนก็ยังไม่มีฝนตกเหนืออ่างเก็บน้ำในเขื่อนหลักของประเทศ ล่าสุดกรมชลประทานได้ออกมายอมรับว่าสถานการณ์น้ำเข้าขั้นคับขัน จากปริมาตรน้ำใช้การได้จริง 4 เขื่อนหลักในภาคเหนือตอนล่างต่อภาคกลาง ขณะนี้มีเพียงพอเฉพาะน้ำใช้อุปโภคบริโภค กับผลักดันน้ำเค็มเท่านั้น ในขณะน้ำเพื่อการเกษตรจำเป็นต้องงดการจัดสรรให้ และขอให้ชาวนาในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาชะลอปลูกข้าวนาปี 2558/59 ออกไป

ฝนไม่ตกเขื่อนหลักไม่ระบายน้ำ

ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลฯ รายงานสภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ณ 16 มิถุนายน 2558 ปรากฏเขื่อนภูมิพลเหลือปริมาตรน้ำใช้การได้จริงแค่ 372 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 4% น้ำไหลเข้าอ่าง, เขื่อนสิริกิติ์ปริมาตรน้ำ 712 ล้าน ลบ.ม.หรือ 11.15% น้ำไหลเข้า 3.52 ล้าน ลบ.ม. รวม 2 เขื่อนมีปริมาตรน้ำ 1,084 ล้าน ลบ.ม.หรือ 7% โดยกรมชลฯสั่งระบายน้ำลดลงจากเดิมที่เคยระบาย 60-65 ล้าน ลบ.ม./วัน เหลือ 31.03 ล้าน ลบ.ม./วัน

ส่วนเขื่อนหลักแห่งอื่น ๆแทบไม่มีการระบายน้ำออก เนื่องจากเหลือน้ำใช้การได้จริงน้อยมาก

นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรม ชลประทาน เปิดเผยว่า น้ำใช้การได้จริง 4 เขื่อนหลักลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา (ภูมิพล-สิริกิติ์-แควน้อยบำรุงแดน-เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) ขณะนี้เหลืออยู่ 1,257 ล้าน ลบ.ม. จากช่วงต้นฤดูที่มีน้ำใช้การอยู่ 3,800 ล้าน ลบ.ม. สาเหตุที่น้ำในเขื่อนทั้ง 4 ลดลงมากเพราะกรมชลฯเริ่มปล่อยน้ำเพื่อเพาะปลูกข้าวนาปีตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2558 โดยคาดว่าจะมีฝนตกเหนือเขื่อน แต่ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล มีน้ำไหลลงอ่าง 4 เขื่อนหลักเพียง 240 ล้าน ลบ.ม. จากคาดการณ์ว่าจะมี 990 ล้าน ลบ.ม.

"กรมชลฯจำเป็นต้องประกาศให้ชาวนาชะลอทำนาปีอีกกว่า 4 ล้านไร่ไปถึงปลายเดือนกรกฎาคม ซึ่งกรมอุตุฯคาดว่าจะมีฝน โดยระบายน้ำวันละ 30-35 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็นน้ำอุปโภคบริโภค 6-8 ล้าน ลบ.ม./วัน รักษาระบบนิเวศ 4-5 ล้าน ลบ.ม./วัน ปลูกข้าวนาปีที่เริ่มปลูกไปแล้ว 3.4 ล้านไร่

40 วันฝนไม่ตก งัดน้ำฉุกเฉิน

จากปริมาตรน้ำคงเหลือใช้การได้จริง 4 เขื่อนหลักที่ปัจจุบันเหลืออยู่ 1,257 ล้าน ลบ.ม. เนื่องจากไม่มีน้ำไหลเข้า "ยกเว้น" เขื่อนสิริกิติ์ (วันละ 3.52 ล้าน ลบ.ม.) หากคำนวณเฉพาะน้ำคงเหลือโดยไม่มีฝนตกเหนือเขื่อน เขื่อนภูมิพลจะมีน้ำเหลือใช้การได้จริง 38 วัน เขื่อนสิริกิติ์ 30-40 วัน แควน้อยบำรุงแดน 50 วัน และป่าสักชลสิทธิ์ 46 วัน

"กรมชลฯคำนวณไว้จะมีน้ำใช้การได้จริงอีก 40 วัน หากรวมน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนสิริกิติ์อีกวันละ 6-7 ล้าน ลบ.ม. จะทำให้มีน้ำใช้การเพิ่มขึ้นอีก 280 ล้าน ลบ.ม. ต่อลมหายใจจากปลายเดือนกรกฎาคมออกไป 10-15 วัน แต่เป็นไปได้ต่ำมากที่จะไม่มีฝนตกเลยช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ดังนั้นจะไม่วิกฤตถึงขั้นนั้น"

นอกจากนี้กรณีเลวร้ายเขื่อนหลักทั้ง 4 เขื่อนยังมี "น้ำตาย (Dead Storage)" สามารถดึงมาใช้ฉุกเฉินได้ แต่ปกติจะไม่นำมาใช้เพราะเป็นพื้นที่รับตะกอนเขื่อน โดยเขื่อนภูมิพลมีน้ำตาย 3,800 ล้าน ลบ.ม. สิริกิติ์มี 2,850 ล้าน ลบ.ม. แควน้อยบำรุงแดนมี 43 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนป่าสักฯมี 3 ล้าน ลบ.ม.

ส่วนการระบายน้ำดันน้ำเค็มล่าสุดจุดเฝ้าระวังท่าน้ำกรมชลฯสามเสนมีค่าความเค็ม 2.99 กรัม/ลิตร จุดเฝ้าระวังท่าน้ำนนทบุรี 2.04 กรัม/ลิตร ทั้ง 2 จุดเกินค่ามาตรฐาน (ผลิตน้ำประปาต้องไม่เกินกว่า 0.25 กรัม/ลิตร) และปากคลองสำแล ปทุมธานี จุดสูบทำน้ำประปา ค่าความเค็มยังปกติที่ 0.18 กรัม/ลิตร กรมชลฯยังปล่อยน้ำผลักดันน้ำเค็มไหลผ่าน อ.บางไทร 80 ล้าน ลบ.ม./วินาที โดยใช้น้ำเขื่อนสิริกิติ์เป็นหลัก

ห้ามทัพชาวนาตีกันแย่งน้ำ

 นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯร่วมกับกระทรวงมหาดไทย จะลงพื้นที่ศึกษาความต้องการเกษตรกรที่ยังไม่ได้ปลูกข้าวนาปี 4 ล้านไร่ ประเมินไว้ 3 ทางเลือก

1) รอเพาะปลูกข้าวเมื่อฝนมาปลายเดือนกรกฎาคม 2) ปลูกพืชทดแทนที่ตลาดต้องการ 3) อาชีพเสริมอื่น "เราเป็นห่วงมากที่สุดคือการแย่งน้ำ จึงขอความร่วมมือ พี่น้องเกษตรกร ให้ช่วยกันไม่ปลูกข้าวเพิ่ม"

ส่วนนายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า ในแง่ชดเชยเป็นเงินช่วยเหลือ ต้องรอให้ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติก่อน เมื่อพืชผลเสียหายจริงจึงจ่ายเงินชดเชยได้ไร่ละ 1,113 บาท สอดคล้องกับที่นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า "ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป" เบื้องต้นจะจ่ายเงินชดเชยต้นทุนให้ไร่ละ 1,000 บาทเหมือนที่เคยจ่ายชาวนาและชาวสวนยาง แต่กำลังหาวิธีช่วยเหลือแบบอื่น ๆ ด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวนากว่า 500 คน ในจังหวัดสุพรรณบุรีได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาข้อยุติในการจัดสรรน้ำทำนา มีมติให้กรมชลฯปล่อยปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นให้เพียงพอความต้องการ แบ่งรอบผลัดกันสูบน้ำคนละ 7 วัน โดยมีผู้นำท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่ทหารคอยดูแลการผลัดรอบเวร ลดความขัดแย้งระหว่างชาวนาจากปัญหาการแย่งน้ำทำนา โดยปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นแทบทุกพื้นที่ปลูกข้าวลุ่มน้ำเจ้าพระยา

ด้านนายวิเชียร พวงลำเจียก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า ปริมาณผลผลิตข้าวจะลดลงมากกว่า 50% จากการขาดน้ำส่วนการชดเชยค่าใช้จ่ายที่รัฐบาลจ่ายมา 1,000 บาทต่อตัน กำหนดให้รายละ 15 ไร่ ยังไม่เพียงพอ

กปน.แนะคนกรุงตุนน้ำ 1 เดือน

นายธนศักดิ์ วัฒนฐานะ ผู้ว่าการการประปานครหลวง (กปน.) กล่าวว่า กปน.มีมาตรการลดการจ่ายประปาในช่วงหน้าแล้ง จากวันละ 5.4 ล้าน ลบ.ม.เหลือวันละ5.2 ล้าน ลบ.ม. ควบคู่กับการจัดตั้งศูนย์วิกฤตน้ำประปา มั่นใจว่าสามารถให้บริการน้ำประปาอย่างเพียงพอในพื้นที่บริการ 3 จังหวัดคือ กรุงเทพฯ นนทบุรี สมุทรปราการ

"น้ำดิบหรือน้ำต้นทุนในการผลิตประปายังมีเพียงพอ แต่ไม่ได้ประมาท เริ่มลดการผลิตและการจ่ายน้ำแล้ว ช่วงกลางคืนที่เคยจ่ายน้ำเยอะก็จ่ายน้อยลง ลดแรงดันน้ำลง กลางวันตอนเช้าและเย็นจ่ายปกติ"

ล่าสุดการประปาแนะนำถ้าประชาชนกังวลปัญหาน้ำดื่มให้สำรองน้ำครอบครัวละ 60 ลิตร ซึ่งเพียงพอต่อการดื่ม 1 เดือน

ประปาภูมิภาควิกฤต 9 สาขา

นายธนัช ศิริเจริญ ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ บมจ.ทีทีดับบลิว กล่าวว่า เฝ้าระวังสถานการณ์ภัยแล้งและน้ำทะเลหนุนอย่างใกล้ชิด ล่าสุดได้ส่งเจ้าหน้าวัดค่าคลอไรด์ในน้ำวันละ 3 เวลา มั่นใจว่าจะรับมือได้ เพราะปริมาณน้ำดิบสำรองยังสามารถผลิตน้ำประปาได้ปริมาณที่มาก

ขณะที่นางรัตนา กิจวรรณ ผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาค กล่าวว่า ปัจจุบันมี กปภ. 9 สาขา ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง คือ กปภ.สาขาปักธงชัย จ.นครราชสีมา หน่วยบริการห้วยแถลงและหน่วยบริการเมืองคง กปภ.สาขาพิมาย กปภ.สาขาเกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี กปภ.สาขาแก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ กปภ.สาขากระนวน จ.ขอนแก่น กปภ.สาขาหนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ กปภ.สาขาวิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ หน่วยบริการไพศาลี กปภ.สาขาท่าตะโก และหน่วยบริการลืออำนาจ กปภ.สาขาอำนาจเจริญ โดยต้องแบ่งจ่ายน้ำเป็นช่วงเวลาหรือจ่ายวันเว้นวัน แต่หน่วยบริการลืออำนาจ ต้องงดจ่ายน้ำแล้วใช้รถบรรทุกน้ำแจกจ่ายน้ำแทน

นิคมตั้งรับใช้น้ำบาดาล/น้ำฝน

นางสาวกฤตยาพร ทัพภะทัต รองผู้ว่าการสายงานปฏิบัติการ 2 การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า ตามประกาศพื้นที่ที่ประสบภัยแล้ง 29 จังหวัดในขณะนี้ยังไม่มี จังหวัดพระนครศรีอยุธยาตามที่ กนอ.เป็นห่วง ประกอบกับได้สั่งการให้รองผู้ว่าการ กนอ.ติดตามสถานการณ์และลงพื้นที่เฝ้าระวังโดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยากับปทุมธานี ที่มีนิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (มีระบบน้ำ/แหล่งน้ำกักเก็บไว้ใช้งานได้ 6,000 ลบ.ม.)-นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน (มีบ่อบาดาล/บ่อกักเก็บน้ำใสที่ผ่านการบำบัดของตัวเองรองรับน้ำได้ 13,000 ลบ.ม.)-นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร ได้ทดลองนำน้ำบาดาลขึ้นมาใช้เพื่อเตรียมรับมือการขาดน้ำเพื่อการอุตสาหกรรมไว้แล้ว

"ในช่วง 4 เดือน (เมษายน-สิงหาคม 2558) หากพบว่าปริมาณน้ำเจ้าพระยาลดลงหรือต่ำกว่าปกติ จะต้องเตรียมความพร้อมและบ่อบาดาลพร้อมใช้ ส่วนโรงงานอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดหากเกิดการขาดแคลนน้ำจริง ๆ คือ อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ หรือโรงงานผลิตแผงวงจรต่าง ๆ เราก็ต้องเตือนเป็นกรณีพิเศษ"

ด้านนายนิพิฐ อรุณวงษ์ ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการ บริษัท นวนคร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปีนี้ไม่ได้กังวลเรื่องของภาวะภัยแล้ง เนื่องจากนิคมมีแหล่งน้ำ โรงผลิตน้ำไว้ใช้อยู่แล้ว ในกรณีที่แม่น้ำเจ้าพระยาลดลง นิคมอุตสาหกรรมก็จะนำน้ำจากแหล่งน้ำและน้ำประปามาใช้ อย่างในนิคมอุตสาหกรรมปริมาณการใช้น้ำประปาเฉลี่ย 50,000-100,000 คิว/วัน ที่เหลือเป็นการผลิตเพื่อใช้เอง

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมที่ต้องจับตาเป็นพิเศษหากได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำใช้ ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมยา อุตสาหกรรมน้ำดื่ม รวมถึงอุตสาหกรรมที่ผลิตน้ำเกลือใช้ในโรงพยาบาลและของเหลวที่ใช้ทางการแพทย์

รง.เครื่องดื่มไม่กระทบ

นายทนุ เนาวรัตน์พงษ์ รองกรรมการผู้จัดการ บจ. ยูนิ-เพรสซิเดนท์ (ประเทศไทย) ผู้ผลิตเครื่องดื่มน้ำผัก, น้ำผลไม้, น้ำผลไม้รวม, ชา กาแฟ แบรนด์ยูนิฟ, ยูนิฟ กรีนที ฯลฯ เปิดเผยว่า จากการประชุมกับโรงงานผลิตยังไม่ได้รับรายงานถึงผลกระทบจากภัยแล้ง เนื่องจากใช้แหล่งน้ำเพียงพอต่อการผลิต

เช่นเดียวกับที่แหล่งข่าวจากบริษัทเสริมสุข ผู้ผลิตน้ำดื่มคริสตัล และนางสาวพิชชา ประกายเลิศลักษณ์ ผจก.ฝ่ายการตลาด บจ.กินกันตัน ในเครืออิชิตันกรุ๊ป ที่ระบุว่า ปัญหาภัยแล้งเป็นหนึ่งในความเสี่ยงในการผลิตเครื่องดื่ม และเตรียมตัวรับสถานการณ์แล้ว แต่ขณะนี้ยังไม่ได้รับผลกระทบ

  จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2558

กนอ.เตรียมแผนพร้อมรับมือภัยแล้งป้องกันอุตสาหกรรมขาดน้ำ 

         “กนอ.” เกาะติดภัยแล้ง หวั่นอุตสาหกรรมขาดแคลนน้ำในการผลิตใน2 พื้นที่ นิคมฯ ภาคตะวันออก และนิคมฯ พื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา มั่นใจภาคตะวันออกไม่ซ้ำรอยเดิมให้โรงงานลดการผลิตลงหลังฝนเริ่มตก ส่วนพื้นที่อยุธยาหากวิกฤตจริงเพราะเกี่ยวข้องกับน้ำในเขื่อนเตรียมฟื้นบ่อบาดาลสำรองใช้ฉุกเฉิน

               นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กนอ.อยู่ระหว่างการติดตามสถานการณ์ภัยแล้งใกล้ชิดใน 2 พื้นที่ที่อาจกระทบต่อการดำเนินงานของภาคอุตสาหกรรมการผลิต คือ พื้นที่นิคมฯ ในเขตพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก หรืออีสเทิร์นซีบอร์ด และภาคกลางบริเวณจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่มีนิคมอุตสาหกรรมตั้งอยู่ โดยขณะนี้ได้เตรียมมาตรการรองรับไว้แล้วหากภาวะภัยแล้งเข้าขั้นวิกฤตจริงจะสามารถนำมาปฏิบัติได้ทันที

               ทั้งนี้ พื้นที่ภาคตะวันออกล่าสุดการบริหารจัดการน้ำโดย บมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก หรืออีสต์วอเตอร์ ยังคงสามารถรองรับความต้องการน้ำในภาคอุตสาหกรรมได้ โดยปริมาณน้ำจากอ่างหลักๆ ได้แก่ ดอกกราย หนองปลาไหล และคลองใหญ่ ยังบริหารได้เป็นไปตามแผน โดยเฉพาะที่คลองใหญ่ได้มีการผันน้ำจากประแสร์เข้ามาเพิ่มเติม แต่ทั้งนี้ สิ่งที่กังวลคือจะต้องติดตามปริมาณฝนใกล้ชิดหากตกลงมาไม่มากนักอาจจะกระทบต่อน้ำต้นทุนในปี 2559 ที่ลดต่ำได้

               สำหรับนิคมฯ แถบจังหวัดอยุธยาที่มีอยู่ประมาณ 3 แห่งที่ต้องติดตามใกล้ชิดเนื่องจากจะมีการใช้น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและป่าสักที่จะเกี่ยวพันกับการปล่อยน้ำจากเขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์ลงมา ซึ่งปัจจุบันทั้ง 2 มีปริมาณน้ำต่ำมากเหลือใช้ไม่ถึง 30 กว่าวันเท่านั้นหากไม่มีฝนเข้ามาเพิ่มเติม แต่สิ่งที่กังวลคือปริมาณน้ำเค็มที่เริ่มดันเข้ามาสูงก็ได้ประสานไปยังการประปานครหลวงและภูมิภาคเพื่อเฝ้าระวัง อย่างไรก็ตาม หากวิกฤตจริงในพื้นที่ดังกล่าว กนอ.มีแผนสำรองฉุกเฉินไว้รองรับด้วยการนำน้ำบาดาลที่เป็นน้ำสำรองกลับมาใช้รองรับได้ระยะหนึ่งที่จะช่วยประคับประคองให้ผ่านสถานการณ์ไปได้

               “ในพื้นที่ภาคตะวันออก จากที่ประเมินยังไม่ได้เลวร้ายถึงขั้นให้เอกชนลดการผลิตเพื่อลดการใช้น้ำที่เคยเกิดขึ้นในอดีต โดยหากพบว่าสถานการณ์ไม่ดีจริงจะเป็นการขอให้เอกชนลดการใช้น้ำลงก่อน แต่เชื่อว่าฝนที่ตกมาช่วงนี้ในภาคตะวันออกน่าจะไม่มีปัญหา ส่วนนิคมฯ อยุธยาถ้าวิกฤตจริงสามารถนำเอาบ่อบาดาลที่อดีตแต่ละนิคมฯ มีการขุดเจาะไว้แห่งละ 10 บ่อแต่ต่อมารัฐบาลยกเลิกใช้น้ำบาดาลจึงเป็นบ่อสำรองไว้ใช้ฉุกเฉินก็นำกลับมาใช้ได้ แต่คงใช้เป็นน้ำสำรองได้ 30%” นายวีรพงศ์กล่าว 

  จาก http://manager.co.th   วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ผอ.เขื่อนศรีนครินทร์ ขอความร่วมมือ 7 จังหวัด ใช้น้ำอย่างประหยัด เหตุ 2 เขื่อนน้ำเหลือน้อย

นายธนรัชต์ ภุมมะกสิกร ผู้อำนวยการเขื่อนศรีนครินทร์ เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 164.88 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง เป็นปริมาณน้ำ 12,096 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 68.17 เปอร์เซ็นต์ มีปริมาณน้ำที่ใช้งานได้ 1,831 ล้านลูกบาศก์เมตร สำหรับเขื่อนวชิราลงกรณ สถานการณ์น้ำอยู่ที่ระดับ 137.75 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง คิดเป็นปริมาณน้ำ 3,591 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 40.53 เปอร์เซ็นต์ มีปริมาณน้ำที่ใช้งานได้ 579 ล้านลูกบาศก์เมตร

 ด้านสถานการณ์น้ำในปัจจุบันที่ฝนตกน้อยกว่าทุกปี ถึงแม้จะตกลงมาบ้าง แต่ส่วนใหญ่ตกที่หน้าเขื่อน จึงทำให้หลายภาคส่วน มีความเป็นห่วงว่าจะมีน้ำเพียงพอใช้หรือไม่ ทางเขื่อนศรีนครินทร์จึงได้คลายข้อสงสัยด้วยการเปิดเผยข้อมูลสถานการณ์น้ำ ว่าจากปริมาณน้ำที่กักเก็บไว้มีปริมาณน้ำที่สามารถใช้ได้ของทั้งสองเขื่อน รวมกันเป็นจำนวน 2,400 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งทั้ง 2 เขื่อนระบายน้ำรวมกันได้ประมาณ 17 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน

 จากสถานการณ์ดังกล่าวทางเขื่อนศรีนครินทร์จึงขอความร่วมมือไปยังประชาชน ที่อาศัยอยู่ในลุ่มน้ำแม่กลองทั้ง 7 จังหวัด ประกอบด้วย จ.กาญจนบุรี จ.ราชบุรี จ.นครปฐม จ.สุพรรณบุรี จ.เพชรบุรี จ.สมุทรสงคราม และ จ.สมุทรสาคร ใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด และร่วมกันประหยัดน้ำ เพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอใช้ เนื่องจากระยะนี้ฝนยังทิ้งช่วง ปริมาณน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณ ฤดูฝนในปี 2558 ยังไม่มากเพียงพอ

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ทุ่ม4พันล.กองทุนพัฒนาสหกรณ์ สางปัญหาเกษตรกรทั้งระบบ-รองรับเขตศก.พิเศษ

นายโอภาส กลั่นบุศย์  อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2558 กองทุนพัฒนาสหกรณ์ (กพส.) ได้รับงบประมาณ 4,400 ล้านบาท โดยเบื้องต้นได้แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 การสนับสนุนการดำเนินงานของสหกรณ์ตามโครงการปกติ ในงบประมาณ 2,700 ล้านบาท เป็นการสนับสนุนตามวัตถุประสงค์ของ กพส. เพื่อการดำเนินงานของสหกรณ์ในกิจกรรมต่างๆ เช่น การดำเนินธุรกิจรวบรวมผลผลิตข้าวเปลือก ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์จะมีการบริหารจัดการงบประมาณเพื่อให้เข้าถึงสมาชิกสหกรณ์ โดยการสำรวจความต้องการใช้เงินกู้ของสหกรณ์ทุกปี และมีการติดตามประเมินผลโครงการรวมถึงการตรวจสอบใช้เงินกู้ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ตลอดจนการติดตามเร่งรัดหนี้ เพื่อให้สามารถนำเงินมาสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ขนาดเล็กที่ยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ อย่างไรก็ตาม ภายใต้กรอบวงเงินที่มีอยู่จำกัดแนวทางการดำเนินงานของ กพส. จะสนับสนุนสหกรณ์ขนาดเล็กที่ยังไม่สามารถแหล่งทุนได้ รวมถึงสหกรณ์ในพื้นที่โครงการพระราชดำริและโครงการหลวง เพื่อให้สหกรณ์เหล่านี้เข้าถึงแหล่งเงินทุนและสามารถนำไปช่วยเหลือสมาชิกสหกรณ์ให้ได้มากที่สุด

ส่วนที่ 2 การสนับสนุนให้สหกรณ์ดำเนินการเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาให้แก่สมาชิก ซึ่งเป็นการใช้เงินกู้ กพส. เพื่อสนับสนุนงานตามนโยบายของรัฐบาล วงเงิน 1,700 ล้านบาท ซึ่งในปีงบประมาณ 2558 มีจำนวน 14 โครงการ เช่น โครงการสนับสนุนเงินกู้ให้สหกรณ์ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ โครงการบริหารจัดการธุรกิจรวบรวมผลไม้ในสถาบันเกษตรกร โครงการส่งเสริมและพัฒนาตลาดสินค้าสหกรณ์ตลอดห่วงโซ่คุณค่า (ศูนย์กระจายสินค้าสหกรณ์) และโครงการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจปาล์มน้ำมันของสหกรณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

 “ที่ผ่านมา การบริหารเงินกู้ กพส. หลังจากที่ได้ดำเนินการจ่ายเงินให้กับสหกรณ์ มีการชำระหนี้คืน 98% เชื่อว่าเงินกู้ กพส. จะสามารถช่วยเหลือสหกรณ์ที่จะสร้างศักยภาพให้มีความเข้มแข็งขึ้นตามนโยบายรัฐบาล โดยในพื้นที่ภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี ระยอง และตราด กพส. ได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 200 ล้านบาท เพื่อจัดสรรให้กับสหกรณ์ไปดำเนินการรวบรวมผลผลิตผลไม้ตามฤดูกาล เช่น ทุเรียน เงาะ มังคุด พร้อมกับมีการอุดหนุนตะกร้าเพื่อใช้ในการรวบรวมผลไม้ เป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับสหกรณ์ และเพิ่มประสิทธิภาพการรวบรวมผลไม้ที่ยังคงคุณภาพ ซึ่งจะทำให้มีราคาที่แน่นอนและมั่นคงมากขึ้น” อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2558

พด.ชงพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก สางปัญหานอกเขต“ชลประทาน”

ดร.อภิชาต จงสกุล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า ได้หารือร่วมกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อติดตามงานตามยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก ในโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก ซึ่งกรมพัฒนาที่ดิน ได้นำเสนอแนวทางในการดำเนินโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ด้านการสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต ซึ่งกรมพัฒนาที่ดินมีการดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่มีขนาดเล็ก งบประมาณไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อโครงการ กระจายลงในพื้นที่เขตพัฒนาที่ดินและพื้นที่นอกเขตชลประทานซึ่งมีอยู่ประมาณ 126 ล้านไร่ โดยการจัดหาแหล่งเก็บกักน้ำและสร้างระบบกระจายน้ำ เพื่อฟื้นฟูแหล่งน้ำเกษตรน้ำฝนและการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร ซึ่งมีโครงการที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 1.งานแหล่งน้ำเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ 2.งานพัฒนาแหล่งน้ำชุมชน และ 3.งานแหล่งน้ำไร่นานอกเขตชลประทาน

โดยโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่ต่างๆ ที่กรมพัฒนาที่ดินได้ดำเนินการ นับว่าเป็นการสร้างความมั่นคงของน้ำเพื่อสำหรับใช้ในภาคการเกษตร เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องรีบดำเนินการ เพื่อเป็นการอนุรักษ์ดินและน้ำให้เกษตรกรสามารถมีแหล่งน้ำไว้ใช้ทำการเกษตรอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการทำนาหรือปลูกพืชนอกฤดูกาล และมีน้ำสำรองไว้ใช้ช่วงฤดูแล้ง นอกจากนี้ยังเป็นส่วนที่สำคัญในการช่วยอนุรักษ์และเก็บกักน้ำไม่ให้ไหลบ่าไปกัดเซาะดินในพื้นที่ตอนล่างให้เกิดความเสียหายได้อีกด้วย

จาก http://www.naewna.com วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2558

เร่งลงทุนซ่อมสร้างถนน-บริหารจัดการน้ำ อัดเงิน 8 หมื่นล.เข้าระบบศก.

คลังเร่งทำสัญญาก่อหนี้ผูกพันลงทุนซ่อมสร้างถนน-บริหารจัดการน้ำรวมมูลค่า 8 หมื่นล้านบาท ปั๊มเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ตั้งเป้าภายในปีงบประมาณ’58 ต้องได้หมื่นล้านบาท ด้านกสทช. ไฟเขียวให้คลังยืมเงิน 1.43 หมื่นล้านบาท โดย

 ไร้ดอกเบี้ย จากกองทุน กสทช. ตามนโยบายคสช.ทดแทนการกู้เงินบางส่วน

นายธีรัชย์ อัตนวานิช รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า โครงการลงทุนโครงการซ่อมสร้างถนน และบริหารจัดการน้ำ วงเงินรวม 8 หมื่นล้านบาท มีการทำสัญญาก่อหนี้ผูกพันไปแล้วครึ่งหนึ่ง ที่เหลือจะทำสัญญาได้ทั้งหมดภายในสิ้นปีงบประมาณ 2558 นี้

ทั้งนี้การกู้เงินเพื่อใช้ในโครงการดังกล่าว ได้มีการกู้มาแล้ว 3,000 ล้านบาท และจะเริ่มมีการเบิกจ่ายภายในเดือนนี้เป็นต้นไป ซึ่ง สบน. จะประเมินการเบิกจ่ายเงินกู้ก้อนแรก และจะได้วางแผนกู้เงินก้อนที่สองจากสถาบันการเงินต่อไป

สำหรับแผนที่ได้ทำไว้โครงการทั้งหมดจำนวน 8 หมื่นล้านบาทดังกล่าว เป็นโครงการขนาดเล็กที่ดำเนินการเสร็จภายใน 1 ปี เพื่อให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้รวดเร็ว ภายในปีงบประมาณ 2558 จะมีการเบิกเงินกู้ลงทุนทั้งหมดประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ที่เหลือจะเบิกจ่ายในปีงบประมาณ 2559 อีก 5 หมื่นกว่าล้านบาท และในปีงบประมาณ 2560 อีก 7,000 ล้านบาท

นายธีรัชย์กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจติดตามแผนการลงทุนของกระทรวงคมนาคมว่าโครงการไหนทำได้ไม่ได้ตามแผน ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือเรื่องดังกล่าว ซึ่งในปีงบประมาณ 2558 มีโครงการลงทุนรถไฟรางคู่ของกระทรวงคมนาคมบรรจุไว้ในแผนการก่อหนี้ แต่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะยังไม่ผ่านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และในบางส่วนของเส้นทางรถไฟรางคู่ยังออกแบบไม่เสร็จ โดย สบน. ได้ทำเรื่องไปยังกระทรวงคมนาคมให้เร่งหน่วยงานที่รับผิดชอบให้ดำเนินการโครงการลงทุนเป็นไปตามแผนที่วางไว้

นอกจากนี้สบน. ยังอยู่ระหว่างการเจรจาเงินกู้จากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจก้า) เพื่อลงทุนโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะที่ 3 ที่เหลือก้อนสุดท้ายประมาณ 3 หมื่นล้านบาท จากที่ก่อนหน้านี้เพิ่งเซ็นสัญญาเงินกู้ระยะที่ 2 วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งญี่ปุ่นสนใจปล่อยกู้ให้กับโครงการนี้จนสิ้นสุดโครงการ

สำหรับสถานะหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 30 เมษายน 2558 อยู่ที่ 5.77 ล้านล้านบาท หรือ 43.6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) โดยหนี้เพิ่มสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 4.2 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากการกู้ของรัฐบาลเพื่อการขาดดุลงบประมาณ 2558 สบน.คาดว่าหนี้สาธารณะสิ้นปีงบประมาณจะอยู่ที่ 44-45% ของจีดีพี

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมบอร์ด กสทช. เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2558 ที่ผ่านมาว่า ที่ประชุมกสทช.มีมติเห็นชอบให้แก่กระทรวงการคลัง กรณียืมเงิน 14,300 ล้านบาท จากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 26 พฤษภาคม 2558 เพื่อนำไปใช้แทนเงินกู้

 บางส่วนสำหรับโครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำ และระบบขนส่งทางถนนระยะเร่งด่วน

โดยสำนักงานงบประมาณ กระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างทำแผนงาน เพื่อกำหนดว่าจะต้องส่งงบประมาณที่ยืมไปคืนให้ คณะกรรมการบริหารกองทุนกทปส. ได้เมื่อไหร่ เพื่อให้สอดคล้องกับการใช้จ่ายงบประมาณของกสทช. สำหรับการอนุมัติ จะสอดคล้องตามประกาศของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ฉบับที่ 80/2557 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยองค์กรการจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ข้อ 6 ส่งเสริมและสนับสนุน ด้านงบประมาณให้กระทรวงการคลังสามารถยืมเงิน กองทุน กทปส. เพื่อนำไปใช้ในกิจการของรัฐอันเป็นประโยชน์สาธารณะ

อย่างไรก็ตามการให้ยืมครั้งนี้ไม่มีดอกเบี้ย จากปัจจุบันกองทุน กทปส. มีงบประมาณ กว่า 19,000 ล้านบาท การให้กระทรวงการคลังยืมไปครั้งนี้ สำนักงบประมาณจะต้องทำแผนการคืนเงินมาให้ กสทช. ซึ่งโครงการกองทุน กทปส. ตอนนี้ ทาง คสช. สั่งระงับทุกโครงการไว้ทำให้เงินในกองทุนที่มีอยู่ไม่ได้ถูกนำไปใช้

“โดยเหตุผลที่ให้ยืม เนื่องจากมีเงินค้างอยู่ในบัญชีกองทุน กทปส. มานาน หากไม่นำไปลงทุน ก็ไม่ก่อให้เกิดสร้างงาน หรือเศรษฐกิจของประเทศในขณะนี้ ซึ่งกรรมการบริหารกองทุนฯ ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นประโยชน์จึงอนุมัติ แต่มีเงื่อนไขว่า ต้องส่งคืนเงินกลับมาในระยะเวลาที่กำหนด กสทช.จึงเห็นว่า ไม่มีความเสี่ยงใดๆ ในระยะเวลา 3 ปีนี้ เช่น ในปี 2558 หากมี

 การเบิกจ่ายเงินตามงวดงานที่เกิดขึ้นในโครงการใดๆ เมื่อมีการลงนามสัญญาแล้ว ก็ต้องจ่ายเงินในปี 2559 หรือ ปี 2560 ซึ่งการกู้เงิน 14,300 ล้านบาท ส่วนกรณีที่ไม่ได้คิดอัตราดอกเบี้ยนั้น เพราะมองว่า ไม่ได้มีการนำไปแบ่งปันผลเหมือนกองทุนหน่วยงานอื่นๆ แต่เพื่อให้เกิดความแน่ใจว่าจะได้เงินคืน ทางสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะจะเป็นผู้ทำสัญญากับ กสทช.” เลขาธิการ กสทช. กล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2558

วิกฤต! ลำตะคองออกประกาศงดการจ่ายน้ำเพื่อการเกษตรไม่มีกำหนด คาดฝนจะทิ้งช่วงนาน

นายสุทธิโรจน์ กองแก้ว ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนลำตะคอง อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นเขื่อนหลักที่ผลิตน้ำใช้ในการอุปโภคบริโภคของพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดนครราชสีมา ประกอบด้วย อำเภอสีคิ้ว สูงเนิน ขามทะเลสอ เมือง และเฉลิมพระเกียรติ ล่าสุดเขื่อนลำตะคอง มีปริมาณน้ำใช้การได้อยู่ที่ประมาณ 60 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 19% ของความจุเขื่อนทั้งหมด 314.49 ล้านลูกบาศก์เมตร

จากสถานการณ์ปริมาณฝนที่ตกลงมาในพื้นที่นั้นอยู่ในเกณฑ์ที่น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ อีกทั้งก็ตกอยู่ในพื้นที่ท้ายอ่างฯ จึงทำให้ไม่มีปริมาณน้ำที่เป็นน้ำท่าไหลเข้าอ่างฯเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำกักเก็บ เพียงแต่จะเป็นผลดีต่อปริมาณน้ำตามลำคลองต่างๆ ที่มีปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นไม่มากก็น้อย แต่หากหลังวันที่ (25มิ.ย.58) ที่ทางอุตุฯ ได้คาดการณ์ไว้ว่าในพื้นที่จังหวัดนคราชสีมา นั้นจะเกิดฝนทิ้งช่วง ก็จะทำให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่นั้นมีไม่เพียงพอ เนื่องจากในช่วง 2-3 เดือนต่อจากนี้ไป มีความต้องการใช้น้ำอยู่ที่ประมาณ 108 ล้านลูกบาศก์เมตร

 ดังนั้นทางโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการออกประกาศ เพื่อขอสงวนปริมาณน้ำภายในอ่างฯ ไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภค , การประปา และการรักษาระบบนิเวศน์และคุณภาพน้ำภายในลำตะคองตลอดสาย ในพื้นที่ 5 อำเภอ ประกอบด้วยอำเภอสีคิ้ว สูงเนิน ขามทะเลสอ เมือง และเฉลิมพระเกียรติ ให้เพียงพอเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคของประชาชน ทางโครงการจึงขอเลื่อนการจ่ายน้ำช่วยเหลือนาปี 2558 ออกไปโดยไม่มีกำหนด จนกว่าจะมีปริมาณฝนที่ตกเพิ่มขึ้น อ่างเก็บน้ำลำตะคองมีปริมาณน้ำไหลเข้าเพิ่มขึ้นมีน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้นและพ้นจากภาวะความเสี่ยงต่อปัญหาการขาดแคลนน้ำที่อาจเกิดขึ้นได้ ลงวันที่ 17มิถุนายน2558

ขณะที่สถานการณ์ปริมาณน้ำภายในอ่างเก็บน้ำหลักอีก 4 แห่ง โดยอ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย ปริมาณน้ำ 30 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 27 เปอร์เซ็นต์ ของความจุที่ระดับกักเก็บ 110 ล้าน ลบ.ม. , อ่างเก็บน้ำลำแชะ อ.ครบุรี มีปริมาณน้ำ 99 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 36 เปอร์เซ็นต์ ของความจุที่ระดับกักเก็บ 275 ล้าน ลบ.ม. อ่างเก็บน้ำมูลบน อ.ครบุรี มีปริมาณน้ำ 54 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 38 เปอร์เซ็นต์ จากความจุกักเก็บทั้งหมด 141 ล้าน ลบ.ม. และอ่างเก็บน้ำลำปลายมาศ อ.เสิงสาง มีปริมาณน้ำอยู่ที่ 51 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 52 เปอร์เซ็นต์ จากความจุกักเก็บทั้งหมด 98 ล้าน ลบ.ม.

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2558

KSL จ่อแยกธุรกิจเอทานอล เข็นเข้าตลาดหุ้นในปีหน้า 

          “น้ำตาลขอนแก่น” จ่อแยกธุรกิจเอทานอลออกมาเพื่อนำเข้าระดมทุนในตลาดหุ้น คาดชัดเจนในปีนี้ พร้อมทั้งเปิดหาพันธมิตรใหม่เข้ามาร่วมทุนธุรกิจน้ำตาลในลาวและกัมพูชา หลังขาดทุนมาตลอด 7 ปี ยอมรับปีนี้กำไรวูบต่ำกว่าปีก่อนที่ 1.62 พันล้านบาทจากราคาน้ำตาลโลกต่ำ

                นายชลัช ชินธรรมมิตร์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานจัดหาวัตถุดิบ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) (KSL) เปิดเผยว่า บริษัทฯ มีแผนปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ โดยแยกธุรกิจเอทานอลออกมาและนำเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ อย่างเร็วในกลางปีหน้า ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาและหารือกับคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เกี่ยวกับกฎระเบียบเรื่องธุรกิจเอทานอลต้องพึ่งพาวัตถุดิบจากบริษัทแม่ คาดว่าจะมีความชัดเจนในปีนี้ โดยบริษัทฯ ไม่มีแผนที่จะแยกธุรกิจพลังงานไปรวมกิจการในบริษัท ทีเอส ฟลาวมิลล์ จำกัด (มหาชน) (TMILL)เพื่อเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทางอ้อม (Backdoor Listing) ตามที่มีข่าวลือก่อนหน้านี้

               การแยกเอทานอลออกมานั้นจะทำให้เกิดความชัดเจนของธุรกิจมากขึ้น และยังลดสัดส่วนอัตราหนี้สินต่อทุนของ KSL ลงด้วย ขณะเดียวกัน ธุรกิจเอทานอลก็สามารถขยายการลงทุนไปทำธุรกิจพลังงานอื่นๆ ได้จากเดิมแทบไม่มีการขยายตัวของธุรกิจเลย

               นายชลัชกล่าวยอมรับว่า ผลกำไรของบริษัทในปีนี้ (1 พ.ย. 57-31 ต.ค. 58) จะลดลงจากปีก่อน 1.62 พันล้านบาท แม้ว่ารายได้รวมจะใกล้เคียงปี 2557อยู่ที่ 1.96 หมื่นล้านบาท เนื่องจากมีกำลังการผลิตน้ำตาลเพิ่มขึ้นจากเดิมแต่มาร์จิ้นลดลง เนื่องจากราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกลดลงจากปีก่อนอยู่ที่ 18 เซ็นต์/ปอนด์ เหลือเพียง 15 เซ็นต์/ปอนด์ เป็นไปตามทิศทางการอ่อนค่าเงินบราซิล และอินเดียมีกำลังการผลิตน้ำตาลในปีนี้เพิ่มขึ้นด้วย

               นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีแผนหาพันธมิตรใหม่เข้ามาร่วมทุนในธุรกิจน้ำตาลในลาวและกัมพูชาด้วย หลังจากโรงงานในต่างประเทศประสบปัญหาการขาดทุนมาโดยตลอด7 ปีที่ผ่านมา โดยเปิดโอกาสให้พันธมิตรใหม่เข้าถือหุ้นใหญ่ได้ ทั้งนี้ บริษัทมีกำลังผลิตน้ำตาลที่กัมพูชาประมาณ 6 พันตันอ้อย/วัน และมีพื้นที่ปลูกอ้อย 1.2 แสนไร่ ส่วนที่ลาวมีกำลังการผลิต 3 พันตันอ้อย/วัน และพื้นที่ปลูกอ้อย 6 หมื่นไร่ โดยปัจจุบันมีการใช้พื้นที่ปลูกอ้อยเพียง 40% ของพื้นที่ทั้งหมด ส่วนโรงงานน้ำตาลเดินเครื่องเพียง 20-30% ของกำลังการผลิตเท่านั้น      

        ส่วนแผนการตั้งโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ที่จังหวัดสระแก้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการรอการอนุมัติจากกระทรวงอุตสาหกรรม โดยบริษัทฯ มีแผนจะตั้งโรงงานน้ำตาลขนาดหีบอ้อย 3 หมื่นตันอ้อย/วัน และโรงไฟฟ้าชีวมวล 100 เมกะวัตต์ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 1 หมื่นล้านบาท

 จาก http://www.manager.co.th วันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ชี้'รง.4'แรงดันลงทุนโรงงานใหม่เพิ่ม30% 

          กรมโรงงานเผยยอด5เดือน ระบุนักลงทุนญี่ปุ่นมองไทยเป็นศูนย์กลางอาเซียน

          กรมโรงงานเผย 5 เดือนธุรกิจตั้งโรงงานใหม่มูลค่าลงทุน1.4 แสนล้าน เพิ่มขึ้นเกือบ 30% ระบุเร่งออกใบอนุญาต"รง.4"ส่งผลให้มีการ ลงทุนกว่า 1.6 แสนล้าน มั่นใจทั้งปีโต 15%

          นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวถึงภาพรวมการตั้งโรงงาน 5 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-พ.ค.)  ว่า ยอดการตั้งโรงงานใหม่ในเดือนพ.ค.ที่ผ่านมามีจำนวน 374 โรงงาน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของ ปีที่ผ่านมา 10.6 %  ขณะที่มูลค่าการลงทุนมีมูลค่า 19,011  ล้านบาท ลดลง 5.2 % เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่งผลให้ภาพรวมการตั้งโรงงานใหม่ในช่วง5 เดือน มีจำนวน 1,728  โรงงาน เพิ่มขึ้น 1.76% เมื่อเทียบกับปีก่อน  มียอดเงินลงทุนรวม 146,894   ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29.85 % เมื่อเทียบกับกับปีก่อน

          ขณะที่ยอดการตั้งโรงงานใหม่เดือนพ.ค. เทียบกับเดือนเม.ย.2558 มีโรงงานเพิ่มขึ้น 5% มูลค่าการลงทุนลดลง 72% ทั้งนี้มูลค่าที่ลดลงเนื่องจากโครงการที่เปิดกิจการใหม่ส่วนใหญ่ เป็นโครงการขนาดเล็ก

          ส่วนการขยายกิจการในเดือนพ.ค.มีจำนวน 60  โรงงาน เพิ่มขึ้น 13 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ยอดเงินลงทุน 11,798 ล้านบาท ลดลง 46 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ช่วง 5 เดือน  มีจำนวน  292  โรงงาน เพิ่มขึ้น21.16%  เมื่อเทียบกับปีก่อน  ขณะที่ยอดเงินลงทุนรวม  50,495   ล้านบาท ลดลง 13.17%  เทียบกับปีก่อน

          "ยอดเปิดกิจการใหม่และขยายกิจการ ในช่วง 5 เดือน พบว่ามีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 197,390  ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา  15.24%  เนื่องจากผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นใน ขั้นตอนการออกใบอนุญาตกิจการโรงงาน(รง.4)  ที่มีความโปร่งใสและความสะดวกรวดเร็วขึ้นจากเดิม ใช้ระยะเวลาจาก 90 วัน เป็น 30 วัน  ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2557 โดยช่วง 5 เดือนที่ผ่านมามีผู้ประกอบการที่ได้รับใบรง.4 แล้ว และมีการลงทุนจริงมูลค่า กว่า 1.6 แสนล้านบาท  นอกจากนี้สภาพเศรษฐกิจใน ช่วง5 เดือนของปีนี้มีอัตราการเติบโตขึ้นในทางที่ดี และความมีเสถียรภาพของรัฐบาลทำให้บรรยากาศการลงทุนของภาคเอกชนคึกคักขึ้น ดังนั้นคาดว่าครึ่งปีแรกปีนี้ จะมียอดการเปิดกิจการใหม่ และขยายกิจการเติบโตประมาณ 15%" นายพสุ กล่าว

          ก่อนหน้านี้ นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ระบุว่าตั้งแต่เดือน ก.ย.2557 จนถึงขณะนี้มียอดการออก ใบอนุญาต รง.4 ไปแล้ว 4 พันราย ในจำนวนนี้ 60% ได้ทำการลงทุนสร้างโรงงานแล้ว มีมูลค่าประมาณ 2.5 แสนล้านบาท จากผู้มาขอรับการส่งเสริมการลงทุน มูลค่ากว่า 2 ล้านล้านบาท จะเห็นผลการลงทุนตั้งโรงงานชัดเจนในช่วงปลายปีนี้ สะท้อนให้เห็นว่า ภาคเอกชนยังคงมั่นใจการขยายตัวของเศรษฐกิจ

          สำหรับอุตสาหกรรมที่มีจำนวนเปิดกิจการ และขยายกิจการที่มีมูลค่ามากที่สุดในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา ได้แก่อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ จากปิโตรเลียม มีจำนวน 27 โรงงาน มูลค่า 34,080 ล้านบาท อุตสาหกรรมอาหาร มีจำนวน 217 โรงงาน มูลค่า 33,120 ล้านบาท อุตสาหกรรม ผลิตยานพาหนะและชิ้นส่วน มีจำนวน 168 โรงงาน มูลค่า 16,381 ล้านบาท อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์จาก ยางพารา มีจำนวน 34 โรงงาน มูลค่า 8,930 ล้านบาท

          ทั้งนี้หากรวมยอดตั้งโรงงานแปรรูปไม้ ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมและกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สามารถจัดตั้ง คณะทำงานร่วมกันแล้ว โดยคณะทำงานจะร่วมกัน ในการออกใบอนุญาตแปรรูปไม้แก่โรงงานอุตสาหกรรมที่คำขอติดค้างมาตั้งแต่ปลายปี 2557 ถึงปัจจุบัน รวมกับเรื่องการออกใบ รง.4 ให้กับ โรงไฟฟ้า ซึ่งกรมโรงงานส่งให้คณะกรรมการกำกับ กิจการพลังงาน(เรกูเลเตอร์)  พิจารณาอยู่  เชื่อว่าจะก่อให้เกิดการขยายตัวในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น

          ขณะที่นักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะญี่ปุ่นมีความเชื่อมั่นกับเศรษฐกิจไทยและมองไทยเป็น ศูนย์กลางอาเซียน เริ่มกลับมาลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการเปิดตัวประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี ซึ่งกรมโรงงานตั้งเป้าไว้ว่ายอดตั้งโรงงาน ใหม่และขยายกิจการใหม่เพิ่มขึ้น 15-20%

จาก http://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2558

เขื่อนป่าสักวิกฤติเหลือน้ำไม่ถึง10%

เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เตือนเกษตรกร 3 จังหวัด ชะลอการเพาะปลูกข้าวนาปี หลังน้ำในเขื่อนวิกฤติ ปริมาณเหลือไม่ถึง 10 %

สถานการณ์น้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี ถือว่าอยู่ในขั้นวิกฤติ ระดับน้ำต่ำสุด ในรอบหลายปี จากการได้ลงพื้นที่สำรวจปริมาณในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ตำบลหนองบัว อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี พบว่าระดับน้ำลดต่ำกว่าสัปดาห์ก่อนเป็นอย่างมาก ล่าสุด ระดับน้ำในเขื่อนป่าสักฯ ได้ลดต่ำกว่าประตูระบายน้ำทั้ง 7 บาน จนขณะนี้ น้ำไม่สามารถไหลผ่านสปริลเวย์ได้แล้ว

ขณะที่ นายปัญญา กัลปสุข ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ สำนักชลประทานที่ 10 ได้ฝากขอความร่วมมือเกษตรกรผู้อยู่ท้ายน้ำ ของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ รวม 3 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดสระบุรี พระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี ให้ชะลอการเพาะปลูกข้าวนาปีออกไปอีกระยะหนึ่ง จนกว่าสถานการณ์น้ำในเขื่อนจะดีขึ้น

ทั้งนี้ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำในเขื่อนเหลืออยู่เพียง 84.96 ล้านลูกบาทเมตร หรือเหลืออยู่เพียงร้อยละ 8.85 เท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมาก ทางเขื่อนต้องใช้วิธีการระบายน้ำผ่านประตูระบายน้ำฉุกเฉิน เพื่อรักษาระบบนิเวศน์ ของแม่น้ำป่าสัก และเพื่อการอุปโภคบริโภคเท่านั้น ส่วนเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชัง ให้ขยับกระชังปลาลงไปอีก  เพื่อป้องกันความเสียงของระดับน้ำที่ลดลงต่อเนื่อง

จาก http://www.innnews.co.th   วันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2558

เร่งพัฒนาด่านสินค้าเกษตร เพิ่มศักยภาพตรวจสอบ-คลุมพื้นที่ศก.พิเศษ

นายศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีแผนเร่งขับเคลื่อนการบูรณาการเพิ่มศักยภาพด่านตรวจสินค้าเกษตร เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี (AEC) โดยมีเป้าหมายดำเนินการตั้งด่านตรวจสินค้าเกษตรในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก สระแก้ว มุกดาหาร สงขลา และตราด มุ่งบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างด่านตรวจพืช ด่านตรวจสัตว์น้ำ และด่านกักสัตว์ เพื่อให้มีคุณภาพมาตรฐานระดับสากล เพิ่มประสิทธิภาพการควบคุม กำกับ และตรวจสอบสินค้าเกษตรและอาหารที่นำเข้า

“ปัจจุบันได้ตั้งด่านตรวจสินค้าเกษตรนำร่องไปแล้วที่ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ โดยมีการตั้งจุดตรวจร่วมระหว่าง 3

ด่านดังกล่าว ขณะเดียวกัน ยังมีทีมตรวจการณ์เฝ้าระวังสินค้าลักลอบนำเข้าในพื้นที่เสี่ยงตามแนวชายแดนด้วย ในส่วนของมกอช.ได้เร่งทบทวนและปรับปรุงกฎระเบียบภายใต้พระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร ให้สอดคล้องกับกฎระเบียบหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สามารถควบคุมมาตรฐานและความปลอดภัย และช่วยอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายสินค้าเกษตรที่นำเข้า-ส่งออก อีกทั้งยังจัดคู่มือการทำงานของแต่ละด่าน พร้อมเร่งเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ แบบครบวงจร ผ่านระบบ National Single Windows (NSW)” เลขาธิการ มกอช.กล่าว

ด้าน นายอานัติ วิเศษรจนา ผู้อำนวยการสำนักควบคุมมาตรฐาน มก.อช. กล่าวว่า มกอช. ได้พัฒนาระบบฮาร์ดแวร์ (Hardware) ให้กับด่านตรวจสินค้าเกษตร 19 ด่าน โดยจัดซื้ออุปกรณ์คอมพิวเตอร์และไอทีส่งมอบให้ด่านฯเพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพและอำนวยความสะดวกในการทำงาน

ทั้งนี้ การบูรณาการเพิ่มศักยภาพด่านตรวจสินค้าเกษตร ถือเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยปกป้องภาคการเกษตรของประเทศจากความเสี่ยงเรื่องโรคและแมลงศัตรูพืชกักกัน สิ่งปนเปื้อน และสารตกค้างที่อาจติดมากับสินค้าเกษตรขณะที่เคลื่อนย้าย ขณะเดียวกันยังช่วยเพิ่มศักยภาพการควบคุมและตรวจสอบสินค้าที่นำเข้า-ส่งออก รวมทั้งการลดอุปสรรคการนำเข้า-ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร ที่สำคัญยังช่วยปกป้องผู้บริโภคในประเทศให้มีความปลอดภัย

จาก http://www.naewna.com   วันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2558

พด.เปิดหลักสูตร ติวเข้มเจ้าหน้าที่ ปั้น‘หมอดินน้อย’

นายอภิชาต จงสกุล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า โครงการเกษตรอินทรีย์ในโรงเรียนและยุวหมอดิน เป็นโครงการที่กรมพัฒนาที่ดินจัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2549 เพื่อสนับสนุนโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันในโรงเรียนในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้กับนักเรียนในถิ่นทุรกันดารหรือในหมู่บ้านยากจน โดยจะดำเนินการฝึกอบรมให้ความรู้พื้นฐานด้านการพัฒนาที่ดิน ด้านการใช้เทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์พัฒนาที่ดินแก่ครูและเด็กในโรงเรียน รวมทั้งคัดเลือกนักเรียนมาทำการฝึกอบรมเป็นยุวหมอดินเพื่อสืบทอดอาชีพเกษตรกรรมต่อไป

ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานเกิดความสำเร็จ กรมพัฒนาที่ดินได้จัดทำโครงการอบรมเตรียมความพร้อมวิทยากรระดับพื้นที่ เพื่อสนับสนุนโครงการหมอดินน้อยปี 2558 โดยฝึกอบรมนักวิชาการเกษตร นักสำรวจดิน นักวิทยาศาสตร์ เพื่อเป็นที่ปรึกษาให้กับครูเกษตรและนักเรียน ในการจัดทำแผนงานโครงการวิจัยเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ทางดินแก่นักเรียน ให้เป็นแกนนำช่วยรณรงค์และขยายผลไปสู่ผู้ปกครองและเกษตรกรทั่วไป ซึ่งเชื่อว่าผู้ที่เข้าร่วมอบรม จะสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปเพิ่มศักยภาพในการเป็นที่ปรึกษาให้กับครูและนักเรียนในการทำโครงการวิจัยเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ทางดินได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

จาก http://www.naewna.com   วันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2558

รายงานพิเศษ : 113ปีกรมชลประทานกับงานที่ท้าทายความสามารถ

ประวัติศาสตร์อันยาวนาน 113 ปีของกรมชลประทาน หน่วยงานหลักของรัฐในด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ บริหารจัดการน้ำ และบรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำของประเทศ ถือกำเนิดในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้ง “กรมคลอง” ขึ้นมาในปี 2445 ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “กรมชลประทาน” ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และได้ใช้ชื่อนี้มาจวบจนถึงปัจจุบัน

เลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ

ก้าวย่างขึ้นสู่ปีที่ 114 เป็นปีแรกที่กรมชลประทานมีภารกิจสำคัญในการจะดำเนินงานตาม “ยุทธศาสตร์บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ” ของประเทศ ที่ได้กำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า “ทุกหมู่บ้านมีน้ำสะอาดอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อการผลิตมั่นคง ความเสียหายจากอุทกภัยลดลง คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน บริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ภายใต้การพัฒนาอย่างสมดุลโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน”

ยุทธศาสตร์บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ได้กำหนดระยะเวลาไว้ 12 ปี คือ ตั้งแต่ปี 2558-2569 ซึ่งได้วางยุทธศาสตร์รองรับไว้ 6 ด้าน คือ 1.ยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค 2.ยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการผลิต (เกษตรและอุตสาหกรรม) 3.ยุทธศาสตร์ป้องกันและบรรเทาอุทกภัย 4.ยุทธศาสตร์การจัดการคุณภาพน้ำ 5.ยุทธศาสตร์การฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและป้องกันการพังทลายของดิน และ 6.ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำ

อย่างไรก็ตาม แม้ทั้ง 6 ยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะเกี่ยวข้องกับกรมชลประทานทั้งหมดก็ตาม แต่ยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องโดยตรง และเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานก็คือ ยุทธศาสตร์ที่ 2 คือ การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการผลิต (เกษตรและอุตสาหกรรม) ซึ่งได้กำหนดเป้าหมายไว้ว่า

“....จะต้องจัดหาน้ำเพื่อการเกษตรและเพิ่มประสิทธิภาพระบบชลประทาน เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรทั้งเพื่อเพิ่มผลผลิต และลดความเสี่ยงจากการผันแปรของภูมิอากาศ จัดการน้ำต้นทุนเพื่อการอุตสาหกรรม การอุปโภคบริโภค การรักษาระบบนิเวศน์ รวมทั้งควบคุมและจัดสรรน้ำให้สมดุลและเพียงพอกับความต้องการในทุกภาคส่วน โดยให้มีความสมดุลกับน้ำต้นทุน....”

เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายดังกล่าว ยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการผลิต (เกษตรและอุตสาหกรรม) จึงได้มีการกำหนดแผนการดำเนินการไว้ว่า จะต้องขยายพื้นที่การเกษตรในเขตชลประทานให้ได้อีก 18.8 ล้านไร่ ภายในปี 2569 หรืออีก 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยก็จะมีพื้นที่การเกษตรในเขตชลประทาน รวมทั้งหมดไม่น้อยกว่า 48.8 ล้านไร่ หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 33 ของพื้นที่การเกษตรทั้งประเทศ

ในปีที่กรมชลประทานครบ 113 ปี ประเทศไทยมีพื้นที่การเกษตรในเขตชลประทานประมาณ 30 ล้านไร่ หรือร้อยละ 20 ของพื้นที่การเกษตรของประเทศซึ่งมีทั้งหมดประมาณ 149 ล้านไร่ ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 119 ล้านไร่ ยังเป็นพื้นที่นอกเขตชลประทานที่ต้องใช้น้ำฝนเป็นหลัก ถือเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงกับภาวะภัยแล้งและน้ำท่วม

การขยายพื้นที่ชลประทานให้ได้อีก 18.8 ล้านไร่ ภายใน 10 ปี อาจจะไม่มากมาย เมื่อเทียบกับพื้นที่การเกษตรทั้งประเทศ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆที่จะสามารถทำได้ เพราะที่ผ่านมา 113 ปี สามารถขยายพื้นที่ชลประทานได้ 30 ล้านไร่ หากนำมาเฉลี่ยต่อปี ตกประมาณปีละ 265,000 ไร่ ถ้ายังขยายพื้นที่ชลประทานในอัตราเดิม อีก 10 ปีจะมีพื้นที่ชลประทานเพิ่มอีกเพียง 2.65 ล้านไร่เท่านั้น ต่ำกว่ายุทธศาสตร์ที่วางไว้อย่างแน่นอน

ดังนั้น จึงถือเป็นเรื่องที่ท้าทายความสามารถของกรมชลประทานมากที่จะต้องขยายพื้นที่ชลประทานให้ได้อีก 18.8 ล้านไร่ ภายในปี 2569

การดำเนินงานให้ได้ตามยุทธศาสตร์ดังกล่าวนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจะต้องบูรณาการทำงานร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กองทัพบก กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นครับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น จะปล่อยให้ กรมชลประทานเพียงหน่วยงานเดียวทำงานคงไม่สำเร็จ เพราะการเพิ่มพื้นที่ชลประทานนั้น ไม่ใช่ว่าจะพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำ หรือ สร้างอ่างเก็บน้ำแห่งใหม่เพิ่มขึ้นเท่านั้น ยังต้องดำเนินการด้านอื่นๆควบคู่กันไปด้วย เช่น การพัฒนาและฟื้นฟูแหล่งน้ำในพื้นที่เกษตรน้ำฝน การเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำและระบบชลประทานที่มีอยู่เดิม การจัดการด้านความต้องการ การบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าในการเพิ่มพื้นที่ชลประทานอีก 18.8 ล้านไร่นั้น แม้จะดำเนินงานตามมาตรการดังกล่าวแล้วปริมาณน้ำที่ได้มา คงจะไม่สามารถขยายพื้นที่ชลประทานได้ตามเป้าหมายแน่นอน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาแหล่งน้ำเพิ่มขึ้น ซึ่งตามยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการผลิต ในระยะสั้นภายในปี 2559 จะต้องพัฒนาแหล่งน้ำแห่งใหม่ ให้สามารถกักเก็บน้ำได้ 1,400 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนในระยะกลางและระยะยาวภายในปี 2569 ได้นำไปกำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ระดับลุ่มน้ำว่า จะต้องพัฒนาแหล่งน้ำใหม่ ให้สามารถ กักเก็บให้ได้ถึง 3,400 ล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ หากสามารถดำเนินการสำเร็จตามเป้าหมายเชื่อว่า ภายในปี 2569 ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาความยากจน สร้างความมั่นคงด้านเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ และลดความเสี่ยงที่จะเกิดการขาดแคลนน้ำได้ อย่างแน่นอน

นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงการแก้ไขวิกฤติสถานการณ์น้ำ โดยเฉพาะลุ่มเจ้าพระยาว่า ฤดูฝนปีนี้สถานการณ์ยังน่าห่วงมาก เนื่องจากฝนตกน้อยมากต่ำกว่าค่าเฉลี่ยถึงร้อยละ 69 ทำให้มีน้ำไหลเข้าเขื่อนหลักๆที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุนของลุ่มเจ้าพระยาคือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธื์ เพียงวันละประมาณ 3ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น ในขณะที่ต้องระบายออกเพื่อใช้ในกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะการทำนาปี มากถึงประมาณวันละ 60 ล้านลูกบาศก์เมตร

ปริมาณน้ำในเขื่อนลดลงอย่างต่อเนื่องล่าสุดทั้ง 4 เขื่อนมีปริมาณน้ำที่ใช้งานได้ไม่ถึง 1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร หากยังระบายน้ำเช่นนี้อยู่จะเกิดวิกฤติขาดแคลนน้ำในฤดูฝนแน่นอน ดังนั้นกรมชลประทานจำเป็นจะต้องปรับแผนการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูฝนใหม่ โดยจะลดปริมาณการระบายน้ำของเขื่อนทั้ง 4 แห่งให้เหลือวันละ 30-35 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะเพียงพอเฉพาะน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการประปา น้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศน์ และการผลักดันน้ำเค็ม รวมทั้งน้ำเพื่อทำนาปีที่เกษตรกรปลูกแล้ว 2.8 ล้านไร่เท่านั้น

ส่วนพื้นที่ที่ยังไม่ทำนาปีขอให้เลื่อนการทำนาปีออกไปก่อน จนกว่าฝนจะตกตามปกติ!!!

ล่าสุดกรมชลประทานได้ออกประกาศอย่างเป็นทางการ พร้อมทำหนังสือชี้แจงถึงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อนำเสนอให้

 คณะรัฐมนตรีรับทราบต่อไป พร้อมขอช่วยเหลือจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ในการเข้ามาช่วยควบคุมเพื่อที่จะไม่ให้วิกฤติขาดแคลนน้ำเกิดขึ้น

“ขอให้ประชาชนทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัด และให้ความร่วมมือกับภาครัฐในปฏิบัติตามแผนการจัดสรรน้ำที่วางไว้ กรมชลประทานมั่นใจว่า ฝนจะต้องตกลงมาในช่วงเดือน สิงหาคม-กันยายน 2558 อย่างแน่นอน แต่อาจจะมีปริมาณไม่มาก หรือ ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย แต่น่าจะเพียงพอที่จะให้เกษตรกรในลุ่มเจ้าพระยาทำนาปีได้” อธิบดีกรมชลประทาน กล่าว

อย่างไรก็ดี ปีที่กรมชลประทานครบ 113 ปี ถือเป็นปีมหามงคลที่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุครบ 5 รอบ กรมชลประทานจึงได้จัดงาน “60 พรรษา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร ชลประทานทั่วไทย น้อมถวายพระพรชัยมงคล” ระหว่างวันที่ 26-28 มิถุนายน 2558 ณ กรมชลประทาน อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ภายในงานจะมีการจัดแสดงนิทรรศการพระอัจฉริยภาพและพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จากกรมชลประทาน และหน่วยงานต่างๆ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และการแสดงจากศิลปินดาราชื่อดัง ตลอดจนการแสดงแสงสีเสียงกลางน้ำที่สวยงามตระการตา

จาก http://www.naewna.com   วันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ไทยเข้าสู่วิฤกติน้ำแล้ง "รอยล"ชี้เหลือใช้อีก30วัน แฉเตือนหลายครั้งแต่ไม่ฟัง

กรมชลฯเต้นประชุม23มิย. เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน นายรอยล จิตรดอน ผู้อำนวยสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร สํานักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แห่งชาติ เปิดเผยว่าขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่โมดวิฤกติการณ์น้ำแล้ง สถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ เช่นเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติส์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อยู่ในระดับวิฤกติสุดแล้ว ซึ่งปริมาณน้ำสำรองแทบไม่มีทำให้พื้นที่ภาคกลาง มีน้ำใช้อีก30วัน ต้องชะลอปลูกข้าวนาปี 4 ล้านไร่ใน22จังหวัดออกไปอีก1เดือน

“ควรไปถามนายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรฯและพล.อ.ฉัตรชัย สาลิกัลยะ รมว.พาณิชย์ ที่ทั้งสองท่านรับผิดชอบดูแลผลผลิตการภาคเกษตร หากฝนไม่ตกช่วงปลายเดือนกรกฎาคมนี้จะแก้ปัญหาให้เกษตรกรอย่างไร ทั้งพื้นที่ในเขต และนอกเขตชลประทานกว่าร้อยละ 80 ทั่วประเทศมีแผนรองรับหรือไม่ ซึ่งราชการต้องปรับวิธีคิดในการทำงาน หันมาสร้างแหล่งเก็บน้ำขนาดเล็ก ขยายแหล่งเก็บน้ำธรรมชาติเตรียมไว้รองรับน้ำฝน เกษตรกรในพื้นที่จะอยู่รอดได้”

ทั้งนี้ นายรอยล กล่าวอีกว่าก่อนหน้านี้ ทั้งกรมอุตุนิยมวิทยา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)ออกมาเตือน กรมชลประทาน หลายครั้งถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนที่ไม่เพียงพอกับภาคเกษตร แม้แต่นายกรัฐมนตรี ได้เตือนมาเกือบสองเดือน และสั่งการไปแล้ว แต่หน่วยงาน ไม่รับไปปฏิบัติ ส่วนจะทำอย่างไร ต้องไปถาม รมว.เกษตรฯกับรมว.พาณิชย์ จะแก้อย่างไรทั้งปัญหาน้ำกิน น้ำใช้ด้วย รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้วางมาตรการไว้รองรับหรือไม่

ด้านนายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า  ได้ประชุมทางไกลผ่านวีดีคอนเฟอร์เรนท์กับสำนักงานชลประทานและเจ้าหน้าที่การเกษตรทั้ง 22 จังหวัดลุ่มเจ้าพระยาและ7 จังหวัดลุ่มน้ำแม่กลอง โดยสั่งการให้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจรองรับสถานการณ์น้ำน้อยจากฝนทิ้งช่วงและให้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับปริมาน้ำแต่ละพื้นที่และจำแนกพื้นที่ปลูกข้าวแล้วกับยังไม่ปลูก พร้อมจะต้องเน้นให้เร่งทำความเข้าใจกับเกษตรกรในส่วนที่ปลูกข้าวแล้วให้ใช้น้ำอย่างคุ้มค่า ส่วนที่ยังไม่ปลูก ให้เลื่อนออกไปอีก1เดือน และได้สอบถามข้อมูลความต้องการจากเกษตรกรเพื่อที่จะประมวลความช่วยเหลือ เสนอต่อนายกรัฐมนตรี ส่วนเขื่อนวิฤกติสุดคือป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำเหลือใช้การได้เพียง 7 เปอร์เซนต์เท่านั้น ถือว่าวิฤกติมาก

นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงสถานการณ์น้ำขาดแคลนว่าในสัปดาห์หน้าวันที่23 มิถุนายน จะประชุมคณะอนุกรรมการวิเคาระห์และติดตามสถานการณ์น้ำ เพื่อประเมินสถานการณ์น้ำอีกรอบ จะดูปริมาณฝนที่ไหลเข้าเขื่อน เพราะขณะนี้สถานการณ์น้ำในอ่างขนาดใหญ่ส่อเค้าว่าจะรุนแรง และได้เตรียมเครื่องสูบน้ำเพื่อไปช่วยพื้นที่อาจมีปัญหาขาดแคลนน้ำ เหตุการณ์นี้ เป็นวงรอบ17 ปี เพิ่งมาเกิดภาวะแล้งต้นฤดูฝนช่วงนี้ยังพอประคองไปได้แต่ขอความร่วมมือไม่ให้ปลูกข้าวเพิ่ม ให้รอปลายเดือน ก.ค.ฝนจะมาตามปกติ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าทางศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน ได้ประเมินถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ล่าสุด อยู่ในเกณฑ์น้อย ทั้ง 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทั้ง เขื่อนภูมิพลเขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน ประมาณ 1,257 ล้านลูกบาศก์เมตร ถือว่าสถานการณ์ปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์น้อย จึงขอความร่วมมือจากประชาชนทุกภาคส่วนร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัดเพื่อให้มีน้ำสำรองในเขื่อนให้มากที่สุด เก็บไว้ใช้ในยามขาดแคลนที่อาจเกิดวิกฤติในอนาคต

นายณัฐวุฒิ แจ่มแจ้ง ผู้อำนวยการเขื่อนภูมิพล อ.สามเงา จ.ตาก เผยว่าตอนนี้สถานการณ์น้ำกักเก็บในเขื่อนภูมิพลเข้าสู่ภาวะวิกฤต เป็นครั้งที่4ในรอบ51 ปีของการก่อสร้างเขื่อน ซึ่งปัจจุบัน เขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำกักเก็บ คงเหลือ4,172ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น30.99% เหลือน้ำใช้ได้เพียง 372 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น3.85% ได้ลดการระบายน้ำเหลือวันละ10 ล้านลูกบาศก์เมตร หากฝนยังทิ้งช่วงต่อไป จะลดการระบายน้ำเหลือ5-4-3ล้านลูกบาศก์เมตรตามลำดับ

เช่นเดียวกับ เขื่อนสิริกิติ์ มีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำจำนวน3.52 ล้านลูกบาศก์เมตร คงเหลือน้ำกักเก็บทั้งหมดเพียง3,561ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 37.45% สามารถระบายได้เพียง711 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 10.69% โดยเขื่อนสิริกิติ์ ลดการระบายน้ำเหลือเพียง 22ล้านลูกบาศก์เมตร

ต่อมาเวลา14.15น.พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ได้ปรารถเรื่องปัญหาภัยแล้ง โดยกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหามาตราการรับมือและช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

ขณะที่นายสุพัฒน์ ฤทธิชู ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำนางรอง อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ กล่าวว่าได้ขอความร่วมมือและแจ้งเตือนเกษตรกรทั้งในและนอกเขตชลประทาน ให้ชะลอการเพาะปลูกข้าวออกไปก่อน เป็นช่วงปลายเดือนกรกฎาคม หรือต้นเดือนสิงหาคมเพื่อลดความเสี่ยงผลผลิตข้าวที่จะขาดน้ำหล่อเลี้ยง จากภาวะฝนทิ้งช่วง ปัญหาภัยแล้งหลังฝนตกน้อย ส่งผลให้น้ำในเขื่อนลำนางรอง มีปริมาณน้ำกักเก็บเพียงร้อยละ52.16 หรือ 63.33 ล้านลูกบาศก์เมตรรวมทั้งน้ำใน 4 อ่าง มีปริมาณน้ำลดลงมาก

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2558

เขื่อนภูมิพลวิกฤติน้ำเหลือน้อยในรอบ 51 ปี

เขื่อนภูมิพล ระดับน้ำกักเก็บเข้าขั้นวิกฤติครั้งที่ 4 ในประวัติศาสตร์ 51 ปีของการสร้างเขื่อน เหลือน้ำใช้ได้เพียง 3.85%

นายณัฐวุฒิ แจ่มแจ้ง ผู้อำนวยการเขื่อนภูมิพล การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อ.สามเงา จ.ตาก กล่าวว่า ตอนนี้สถานการณ์น้ำกักเก็บในเขื่อนภูมิพล เข้าสู่ภาวะวิกฤติเป็นครั้งที่ 4 ในรอบ 51 ปีของการก่อสร้างเขื่อน โดยวิกฤติน้ำน้อยครั้งแรกเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2535, ครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2553 (พอปี พ.ศ. 2554 น้ำท่วมใหญ่ประเทศไทย) และครั้งที่ 3 เมื่อปี พ.ศ. 2557 ที่ผ่านมา ปริมาณน้ำกักเก็บที่ลดต่ำยังส่งผลกระทบต่อเครื่องกำเนิดไฟฟ้าตัวที่ 8 เป็นระบบที่ทันสมัยที่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่สามารถสูบน้ำกลับเข้าไปที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนได้ เพราะมีปริมาณน้ำต่ำเกินไป แต่จะไม่กระทบต่อการผลิตกระแสไฟฟ้า เนื่องจากยังมีไฟฟ้าจากแหล่งผลิตอื่นๆ ที่สำคัญ เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน สำหรับการวางแผนการระบายน้ำในภาวะวิกฤตนี้จะงดการระบายน้ำเพื่อการชลประทานและการเกษตร คงทำการระบายเพื่อการอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศพื้นที่ท้ายน้ำเท่านั้น

ทั้งนี้ ปัจจุบันเขื่อนภูมิพลมีปริมาณน้ำกักเก็บคงเหลือ 4,172 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 30.99% เหลือน้ำใช้ได้เพียง 372ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 3.85% โดยวันนี้ ได้ปรับลดการระบายน้ำเหลือวันละ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร และจากปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่เหนือเขื่อน ทำให้เมื่อวานที่ผ่านมา (15 มิถุนายน 2558) มีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำจำนวน 1.88 ล้านลูกบาศก์เมตร

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2558

นายกฯ สั่งเจาะน้ำบาดาลช่วยภัยแล้ง

นายกฯ ยันมีมาตรการดูแลเกษตรกร สั่งเจาะบาดาลช่วยภัยแล้ง ด้าน 'ปีติพงศ์'เล็งถกผู้ว่าฯ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 17 มิ.ย.นี้ ยังบริหารน้ำในเขื่อนได้ แต่ต้องประหยัด

เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาภัยแล้งว่า เรามีมาตรการดูแลเกษตรกร ทั้งเตรียมการปลูกพืช หรือหาอาชีพให้มีรายได้ ขอสื่ออย่าเขียนให้เลวร้ายไปกว่าเดิม ต้องเขียนว่าทำไมฝนถึงไม่ตก เพราะไม่มีป่า ป่าถูกทำลายไปกว่า 26 ล้านไร่ จะฟื้นป่าทันทีในปีนี้คงไม่ทัน และวันหน้าอาจจะไม่มีฝนเลยก็ได้ จะบังคับฝนไม่ได้ ทำฝนเทียมก็ไม่ตก เพราะไม่มีเมฆ ไม่มีความชื้น ต้องสอนคนให้เข้าใจ ไม่ใช่ว่าจะมากำหนดว่าต้องทำนาให้ได้ จะให้ทำอย่างไร จะให้ชดเชยพื้นที่การเกษตรทั้งหมดทุกไร่ ตัวเลขกว่าแสนล้านจะเอาเงินที่ไหน เพราะภาษีก็ยังไม่ได้เพิ่ม

 ด้านนายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ปัญหาหลักอยู่ที่บริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา แต่เดิมประมาณการว่า ฝนจะตกตามฤดูกาล แต่ปรากฏว่าฝนไม่ตกตามที่คาดไว้ และจากการสำรวจพบว่า มีการปลูกข้าวไปแล้ว 3.4 ล้านไร่ ซึ่งยังบริหารน้ำในเขื่อนได้ แต่ต้องใช้อย่างประหยัด และตนได้ให้เจ้าหน้าที่ไปสำรวจพื้นที่ที่เหลือว่ามีการปลูกข้าวหรือไม่

ทั้งนี้ในวันที่ 17 มิ.ย.นี้ ตนจะหารือร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดที่อยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อดูให้ชัดเจนว่าจะทำอะไรได้บ้าง เพราะน้ำที่ใช้ได้ขณะนี้ โดยเฉลี่ยเหลือประมาณ 40 วัน แต่ถ้าฝนตกลงมาก็สามารถใช้ได้ออกไปอีก อีกทั้งกรมอุตุนิยมวิทยาได้ประมาณการว่า ฝนจะตกลงมาในช่วงเดือน ก.ค.นี้ ส่วนการทำฝนเทียมนั้น เราพยายามทำทุกแห่ง แต่ความชื้นไม่พอ ได้ผลไม่ตรงตามต้องการ

ขณะที่พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม.ว่า นายกฯ ได้ปรารภและสั่งการในที่ประชุม ครม.ถึงปัญหาภัยแล้งว่าก่อนหน้านี้มีข้อมูลว่าประเทศไทยจะประสบปัญหาภัยแล้ง น้ำแล้ง เนื่องจากฝนไม่ตกในพื้นที่ที่เป็นแหล่งรับน้ำ โดยเฉพาะในเขื่อนใหญ่ ทำให้มีน้ำน้อยมาก จึงอยากให้ดูเรื่องการปลูกข้าวนาปรัง

ซึ่งที่ผ่านมาที่รัฐบาลสนับสนุนให้ปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย และให้ค่าใช้จ่ายในการจ้างงานการลดต้นทุนการผลิต แต่มีเกษตรกรส่วนหนึ่งที่ยังอาจจะไม่เข้าใจในเรื่องที่รัฐบาลทำ ก็พยายามจะปลูกข้าวทำให้แผนการใช้น้ำผิดพลาดไป วันนี้กรมชลประทานได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด 22 จังหวัดว่าอยากให้ชี้แจงทำความเข้าใจในการเลื่อนเวลาปลูกข้าวออกไปก่อน ซึ่งรัฐบาลเข้าใจว่าเกษตรกรอยากทำนาปีละสองรอบ แต่ฟ้าฝนบังคับไม่ได้ ก็อยากให้ฝ่าฟันปัญหาด้วยกัน และให้ทุกหน่วยเตรียมมาตรการช่วยชาวนา ถ้าฝนไม่ตก จนไม่มีน้ำทำนา อาจจะปลูกพืชน้ำน้อย และอาจจะต้องใช้น้ำบาดาลมากยิ่งขึ้น

"ทราบว่าตอนนี้มีการใช้น้ำบาดาลเพียง 10% เท่านั้น แต่ปัจจุบันมีเครื่องที่จะขุดได้ลึกมากกว่านั้น แต่ก็ต้องดูเปอร์เซ็นต์ของน้ำที่จะนำขึ้นมาที่ต้องไม่ส่งผลเสียต่อดินที่ทำให้ผิวหน้าดินแห้งแล้ง มีเกลือของดิน จึงขอให้รัดกุมและนำเสนอเข้าที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจครั้งหน้าที่จะมีการประชุมเร็ว ๆ นี้" พล.ต.สรรเสริญ กล่าว“

จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ครม. ห่วงภัยแล้ง สั่งการทุกหน่วยงานเร่งหามาตรการช่วยเหลือเกษตร

คณะรัฐมนตรี เป็นห่วงปัญหาภัยแล้ง สั่งการทุกหน่วยงานเร่งหามาตรการช่วยเหลือเกษตร โดยการแก้ปัญหาต้องคำนึงถึงภาพรวมของคนทั้งประเทศ

พลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงสถานการณ์ภัยแล้งขณะนี้ โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ครอบคลุมพื้นที่ 22 จังหวัดที่กำลังได้ผลรับกระทบ ว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำชับทุกหน่วยงานเตรียมพร้อมในการหามาตรการช่วยเหลือเกษตรกร หากฝนไม่ตกในพื้นที่กักเก็บน้ำจะกระทบการเพาะปลูก โดยใช้มาตรการสนับสนุนการปลูกพืชใช้น้ำน้อย และการจ้างแรงงาน ด้านแนวทางในการสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ เนื่องจากปัจจุบันมีการใช้เพียงร้อยละ 10 แต่จะต้องมีการวางแผนให้รอบครอบ เพื่อไม่ให้หน้าดินได้รับผลกระทบ ทั้งนี้การแก้ไขปัญหาน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัด ต้องคำนึงถึงผลกระทบในหลายด้าน ทั้งการเกษตร น้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และรักษาระบบนิเวศน์ ซึ่งถือเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขร่วมกัน

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กรมประชาสัมพันธ์ ดำเนินการประชาสัมพันธ์การใช้น้ำอย่างประหยัด และนำเสนอข้อมูลสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ประชาชนรับทราบสถานการณ์น้ำของประเทศอย่างชัดเจน

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2558

กรมชลฯถกประเมินสถานการณ์! ชี้น้ำเขื่อนส่อเค้ารุนแรงรอบ17ปี

นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยสถานการณ์น้ำขาดแคลน ว่า ในสัปดาห์หน้าวันที่ 23 มิ.ย.จะประชุมคณะอนุกรรมการวิเคราะห์และติดตามสถานการณ์น้ำ เพื่อประเมินสถานการณ์น้ำอีกรอบ โดยจะดูปริมาณฝนที่ไหลเข้าเขื่อน ซึ่งในขณะนี้สถานการณ์น้ำในอ่างขนาดใหญ่ส่อเค้าว่าจะรุนแรง

ทั้งนี้ จากการประชุมคณะอนุกรรมการฯ ในสัปดาห์ที่แล้ว หลังจากเกิดสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงตั้งแต่ต้นฤดูฝน ได้ปรับลดการระบายน้ำจากเขื่อนลงเหลือ 30 - 35 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน จัดรอบเวรใหม่ในพื้นที่ปลูกข้าวไปแล้ว ยืนยันไม่มีปัญหา 3.4 ล้านไร่ และได้เตรียมเครื่องสูบน้ำเพื่อไปช่วยพื้นที่อาจมีปัญหาขาดแคลนน้ำ ช่วงนี้ยังพอประคองไปได้ แต่ขอความร่วมมือไม่ให้ปลูกข้าวเพิ่ม ให้รอปลายเดือน ก.ค.ฝนจะมาตามปกติ

นอกจากนี้ นายสุเทพ กล่าวต่อว่า เมื่อเข้าฤดูฝนเต็มที่และมีน้ำไหลลงอ่างน้ำพอสมควร จะประกาศให้ปลูกเพิ่ม เหตุการณ์นี้เป็นวงรอบ 17 ปี เพิ่งมาเกิดภาวะแล้งต้นฤดูฝน ถ้าปล่อยให้ปลูกข้าวน้ำในอ่างหมดแน่ ในช่วงนี้ปีที่แล้วระบายน้ำวันละ 48 ล้าน ลบ.ม.ซึ่งปลูกข้าวเต็มพื้นที่ 7.5 ล้านไร่ ในพื้นที่เขตชลประทาน

จาก http://www.naewna.com   วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2558

หยุดทำนา22จังหวัดสินค้าเกษตรโดนหางเลขภัยแล้งผลผลิตตกตํ่า-ต้นทุนพุ่ง ลุ้นฝนตกก.ค.

    ฝนทิ้งช่วง ไทยแล้งหนักรอบ 23 ปี กรมชลฯนับถอยหลังน้ำ 4 เขื่อนใหญ่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเหลือใช้อีกแค่ 40 วัน หากไม่มีฝนเติมเข้าขั้นวิกฤติ หนนี้นาข้าวเสียหายยับกว่า 1.19 ล้านไร่ ก.เกษตรฯวอนชาวนาชะลอปลูกข้าวนาปีไปปลายเดือนก.ค. เชื่อกรมอุตุฯ ฝนจะมาตามนัด ขณะสินค้าเกษตรโดนหางเลขยกแผง หมู ไก่ไข่ ยางพารา ปาล์มนํ้ามัน ผลผลิตตกตํ่า ซํ้าต้นทุนพุ่ง โอดของมีน้อยราคาพุ่ง แต่ไม่มีขายขณะแล้ง-ร้อนดันราคาพืชผักแพงขึ้น   

    จากฤดูฝนของไทยที่ปกติจะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม แต่ปีนี้ผ่านมาจนถึงกลางเดือนมิถุนายนแล้ว ปริมาณน้ำฝนยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ย  ล่าสุดมีผลให้ปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนใหญ่ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา (สิริกิติ์ ภูมิพล แควน้อยบำรุงแดน และป่าสักชลสิทธิ์) เหลือน้ำที่ใช้การได้รวมกันเพียงประมาณ 1.40 พันล้านลูกบาศก์เมตร(ณ 11 พ.ค.58) ต่ำสุดในรอบ 23 ปี ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ชี้ว่าหากไม่มีฝนตกเลยจะสามารถใช้น้ำได้อีกเพียง 40 วัน ถือเป็นความเสี่ยงและน่ากังวลอย่างยิ่ง

101++ฝนล่าสั่งเลื่อนปลูกข้าว6ล้านไร่

    นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ล่าสุด เมื่อวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมาได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดโดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัดที่มีพื้นที่ชลประทานราว 13 ล้านไร่ ครอบคลุม 22 จังหวัด เพื่อแจ้งขอความร่วมมือเกษตรกรให้ชะลอการเพาะปลูกข้าวนาปีและขอให้ผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัด ประกอบด้วย จังหวัดตาก กำแพงเพชร อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี สระบุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม กรุงเทพฯ ฉะเชิงเทรา นครนายก สมุทรปราการ และสมุทรสาคร

    "สถานการณ์ฝนปีนี้มีปริมาณฝนตกน้อยกว่าเกณฑ์ที่ประเมินไว้ และจากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา สรุปว่าเดือนพฤษภาคมปริมาณฝนในภาคเหนือและภาคกลางต่ำกว่าค่าปกติ  ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนในเกณฑ์น้อย และต้องระบายน้ำจากเขื่อนจำนวนมากกว่าแผนที่วางไว้เพื่อเสริมน้ำฝนที่น้อยกว่าปกติ ทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนลดลงอย่างต่อเนื่อง"

    นายเลิศวิโรจน์ กล่าวว่า จากการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ (9 มิ.ย.)ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ระบายน้ำจากเขื่อนทั้ง 4 แห่งในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2558 อัตรารวมเฉลี่ยวันละ 30-35 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถสนับสนุนเพียงพอเฉพาะเพื่อการอุปโภค-บริโภค รักษาระบบนิเวศและอื่นๆ รวมถึงพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีที่ได้เพาะปลูกแล้วจำนวนร่วม 3 ล้านไร่เท่านั้น จากสภาวะดังกล่าว กรมชลประทานจึงขอความร่วมมือให้เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ยังไม่ได้เพาะปลูกข้าวนาปีอีกประมาณ 6 ล้านไร่ ให้ชะลอการเพาะปลูกข้าวไปจนกว่าจะเริ่มมีฝนตกชุกหรือมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูก ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาคาดฝนจะตกลงมาตามปกติประมาณปลายเดือนกรกฎาคมนี้

++นับถอยหลัง40วันงดปล่อยน้ำ

    นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า พื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่กรมชลฯได้อนุญาตให้เพาะปลูกข้าวไปแล้วร่วม 3 ล้านไร่ เนื่องจากเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก ในส่วนนี้ทางกรมชลฯจะดูแลเป็นกรณีพิเศษเพื่อไม่ให้ผลผลิตได้รับความเสียหาย เนื่องจากในรอบนาปรังที่ผ่านมา ชาวนาให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีโดยลดการเพาะปลูกข้าวจากเดิม 9 ล้านไร่ เหลือเพียง 6 ล้านไร่ พื้นที่ดังกล่าวนี้จะระบายน้ำทำนาข้าว ไม่ให้เกิดความเสียหาย อย่างไรก็ดีจากการที่ล่าสุดกรมชลฯได้ปรับเปลี่ยนการระบายน้ำจาก 4 เขื่อนใหญ่ลดลงจากวันละ 60 ล้านลูกบาศก์เมตร เหลือเฉลี่ยวันละ 30-35 ล้านลูกบาศก์เมตร หากฝนไม่ตกเลยจะสามารถใช้น้ำได้อีก  40 วัน หรือถึงประมาณสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนกรกฎาคม ในจำนวนนี้แบ่งเป็นน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค 6-8 ล้านลูกบาศก์เมตร/วัน รักษาระบบนิเวศ 4-5 ล้านลูกบาศก์เมตร/วัน และเพื่อการเกษตร 20-22 ล้านลูกบาศก์เมตร/วัน

++น้ำอุตฯภาคตะวันออกมีพอใช้

    ขณะที่ในส่วนของน้ำเพื่อการอุตสาหกรรม ซึ่งมีฐานผลิตใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกที่หลายฝ่ายแสดงความเป็นห่วงเกรงว่าจากภัยแล้งจะส่งผลให้น้ำมีไม่เพียงพอใช้ และจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนทั้งคนไทยและต่างชาตินั้น นายสุเทพยืนยันให้ความมั่นใจว่า น้ำเพื่อการอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกในปีนี้จะมีเพียงพอใช้อย่างแน่นอน ทั้งที่ระยอง และชลบุรี เพราะในปีที่ผ่านมามีฝนตกดีพอสมควรและใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ย ซึ่งจากการที่พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมชายฝั่งภาคตะวันออก ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาประแสร์ จังหวัดระยอง(10 มิ.ย.) ทางกรมได้ให้ข้อมูลไปว่าน้ำมีเพียงพอใช้ ซึ่งหากจากนี้ฝนไม่ตกเลยจะยังมีน้ำใช้ไปได้ถึงเดือนพฤศจิกายน

++นาข้าวเสียหายยับกว่าล้านไร่

    แหล่งข่าวศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากสถานการณ์ภัยแล้งช่วงเดือนตุลาคม 2557- ปัจจุบัน (วันที่ 12 มิ.ย.58) มีจังหวัดที่ประกาศให้เป็นเขตประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินกรณีภัยแล้งที่ต้องให้ความช่วยเหลือแล้ว 29 จังหวัด ประกาศยุติสถานการณ์แล้ว 9 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี สตูล มหาสารคาม กาฬสินธุ์ พังงา จันทบุรี เพชรบุรี กระบี่และสุโขทัย  ยังมีพื้นที่ประสบภัย  10 จังหวัด อาทิ นครสวรรค์ ขอนแก่น มหาสารคาม สกลนคร นครราชสีมา และ บุรีรัมย์  เป็นต้น มีเกษตรกรได้รับผลกระทบทั้งสิ้น  1.33 แสนราย พื้นที่เสียหาย 1.25 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าว 1.19 ล้านไร่ พืชไร่และอื่นๆ 0.06 ล้านไร่ คิดเป็นวงเงินช่วยเหลือ 1.4 พันล้านบาท

++เพลี้ยระบาดซ้ำมัน 14จ. อ่วม

    นายโอฬาร  พิทักษ์  อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ช่วงนี้อากาศแล้ง และร้อนมีผลให้เกิดการระบาดของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง ใน 14 จังหวัด ได้แก่ สระบุรี ลพบุรี กาญจนบุรี ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ขอนแก่น มุกดาหาร นครราชสีมา ชัยภูมิ อุบลราชธานี แพร่ อุทัยธานี และพิษณุโลก  และยังพบมีปัญหาโคนเน่า-หัวเน่าของมันสำปะหลังด้วย เรื่องนี้กำลังประเมินสถานการณ์ความรุนแรงเป็นรายสัปดาห์ ปัจจุบันเกษตรกรต้องเผชิญความเสี่ยงในด้านต่างๆ ทางกรมได้เตรียมความพร้อมทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อรองรับสถานการณ์ ดังกล่าว เป็นแนวทางที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรได้รับรู้เพื่อประกอบในการทำการเกษตรในฤดูการผลิตใหม่ (ปลายเดือนกรกฎาคม)ผ่านศูนย์เรียนรู้ประจำอำเภอ จำนวน 882 ทั่วประเทศ

++หมูต้นทุนพุ่ง-ราคาขยับ

    นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวถึงสถานการณ์ราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์ม ณวันที่ 11 มิถุนายน 2558 อยู่ที่ 68-72 บาท/กิโลกรัม ราคาขยับเพิ่มเล็กน้อยเนื่องจากอากาศร้อนอบอ้าว ทำให้สุกรกินอาหารลดลง และดื่มนํ้าเพิ่มมากขึ้นทำให้สุกรเติบโตช้า ต้องใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงมากขึ้น ทำให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้นขณะเดียวกันก็มีต้นทุนใหม่เกิดขึ้น เพราะต้องซื้อนํ้าให้สุกรดื่ม รวมถึงเพิ่มนํ้าเพื่อให้สุกรลงไปแช่นํ้าคลายความร้อนอบอ้าวด้วย

++คาดผลผลิตข้าวปีนี้ลด30%

    นายประสิทธิ์  บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาข้าวไทย กล่าวว่า นอกจากพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาในเขตชลประทานที่ปลูกข้าวนาปีไปแล้วเกือบ 3 ล้านไร่ ในภาคอื่นๆ ทั้งในเขตชลประทานและนอกเขตที่มีน้ำจำนวนหนึ่งก็ได้มีการเพาะปลูกข้าวแล้วเช่นเดียวกัน เพราะหากรออาจจะไม่มีน้ำทำ ขอไปตายดาบหน้า ซึ่งจากผลกระทบจากภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้นคาดจะทำให้ผลผลิตของเกษตรกรส่วนหนึ่งจะได้รับความเสียหายหากไม่มีฝนตกลงมา ประกอบกับเวลานี้ราคาข้าวไม่จูงใจทำให้เกษตรกรลดพื้นที่เพาะปลูก คาดในปีนี้ผลผลิตข้าวเปลือกของไทยจะลดลงจากปีที่ผ่านมา 20-30%

    "ข้าวทั่วประเทศที่อยู่ระหว่างเก็บเกี่ยวเวลานี้มีน้อยมาก ขายได้ราคาเฉลี่ย 7-8 พันบาทต่อตัน  ซึ่งจากซัพพลายข้าวเปลือกที่มีน้อยตามหลักการราคาต้องเพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่เพิ่ม เพราะราคาข้าวสารในตลาดโลกไม่เพิ่ม พ่อค้าจึงซื้อในราคาไม่สูง ขณะที่ประเทศอื่น เช่นกัมพูชา เมียนมา ลาว เวียดนามก็พัฒนาผลผลิตและการส่งออกได้มากขึ้น ส่งผลถึงราคาข้าวเปลือกของไทยไม่สามารถปรับขึ้นได้ ทำให้ชาวนาถอดใจลด/เลิกทำนา รายที่ยังทำนาก็เจอภัยแล้งอีกกระทบกับเศรษฐกิจและกำลังซื้อในประเทศแน่ ๆ"

    เช่นเดียวกับนายวิเชียร พวงลำเจียก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวถึงกรณีทีกรมชลประทนให้เกษตรกรชะลอการทำนาปีออกไปว่า ชาวนาไม่ให้ทำนาแล้วจะให้ไปทำอาชีพอะไร หากเลื่อนการเพาะปลูกไปก็กลัวจะเก็บเกี่ยวไม่ทัน ช่วงสิงหาคม-ตุลาคม หากมีฝนตกชุกมีน้ำหลากจะเก็บเกี่ยวไม่ได้ ตอนนี้ก็มีการเพาะปลูกไปแล้ว ก็ใช้น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำ คูคลองต่างๆ วิด สูบเข้านา เพื่อหล่อเลี้ยงข้าว เพราะราชการไม่ช่วยก็ต้องช่วยตัวเอง ไม่ใช่ดื้อรั้น แต่ชาวนามีความจำเป็นที่ต้องปลูกเช่นเดียว ทั้งที่ราคาข้าวเปลือกโดยเฉลี่ยขายได้ 5-7 พันบาท/ตัน เท่านั้นจากถูกโรงสีกดราคารับซื้อ

++แล้งกรีดยางไม่ออก-ราคาพุ่ง

    นายวรเทพ วงศาสุทธิกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์คอร์ปอเรชั่น กล่าวถึงสถานการณ์ปีนี้ค่อนข้างร้อน แล้งนาน ทำให้ราคาน้ำยางสดในประเทศขยับขึ้น  โดยราคาณ วันที่ 11 มิถุนายน 2556 น้ำยางสดท้องถิ่นอยู่ที่ 59 บาท/กิโลกรัม ราคายางแผ่นดิบอยู่ที่ 60 บาท/กิโลกรัม คาดว่าเป็นราคาที่เกษตรกรน่าจะพอใจ แต่จากภัยแล้งมีผลให้ช่วงนี้เกษตรกรกรีดน้ำยางไม่ออก หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้และยืดเวลาออกไปอีก ราคาน่าจะแตะขึ้นที่กิโลกรัมละ 70 บาทได้ไม่ยาก แต่ปัญหาคือ ค่าแรงงานกรีดยางไม่คุ้ม เพราะน้ำยางออกน้อย หรือแทบไม่ออกเลย หากฝืนกรีด อาจจะทำให้ต้นยางตายได้

    สอดคล้องกับนายอุดมศักดิ์ ศุทธิเวทิน ผู้จัดการสหกรณ์กองทุนสวนยางจันดี จำกัด จังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวถึงสถานการณ์ยางพาราในภาคใต้ กลางวันร้อนมาก กลางคืนฝนตก จึงทำให้น้ำยางปีนี้ไม่ออกมาเลย ประกอบกับแรงงานขาดแคลน เนื่องจากราคายางตกต่ำก่อนหน้านี้ ประเมินว่าสวนขนาดกลาง น่าจะเจ๊งไปก่อนเพราะรายได้ไม่มีเข้ามาเลย

++แล้งฉุดผลผลิตไข่ไก่ลด

    นายเจริญ นันโท ประธานสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่เชียงใหม่-ลำพูน จำกัด กล่าวราคาไข่ไก่ เบอร์ 0 วันที่ 12 มิถุนายน 2558 ราคาอยู่ที่ 3.50 บาท เป็นราคาค่อนข้างดี มาจากมาตรการการปลดแม่ไก่ ของรัฐบาล ประกอบอากาศช่วงนี้ร้อนมาก  ทำให้ไก่เครียด กินอาหารน้อยลง  ทำให้ปริมาณไข่ลดลงฟองเล็กลง มีบางวันที่มีอากาศร้อนจัดมาก ไก่เกิดอาการเครียด ไม่กินอาหาร และตายในที่สุด บางฟาร์ม ต้องซื้อน้ำดื่มให้สัตว์เลี้ยงกิน เป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น

    อนึ่ง จากการตรวจสอบราคาพืชผัก ณ ตลาดวัฒนานันท์ เขตดอนเมือง วันที่ 12 มิถุนายน 2558 เปรียบเทียบกับวันที่ 12 พฤษภาคม 2558 มีพืชผักจำเป็นต่อการประกอบอาหารหลายรายการปรับตัวสูงขึ้นจากผลกระทบภัยแล้ง เช่น ราคากะหล่ำปลีปรับตัวสูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 25 เป็น 30 บาท พริกขี้หนูแดง(จินดา)จากกิโลกรัมละ 80 เป็น 100 บาท มะนาวแป้นเบอร์ 1-2 จาก 7 บาท/ผลเป็น 10 บาท/ผล ผักชีจากกิโลกรัมละ 60 เป็น 80 บาท เป็นต้น

จาก http://www.thanonline.com วันที่ 16 มิถุนายน 2558

กรมชลฯรายงานสถานการณ์น้ำเจ้าพระยา ฝนยังน้อย น้ำในเขื่อนลดลง วอนใช้น้ำอย่างประหยัด

ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ล่าสุด (16 มิ.ย. 58) ที่เขื่อนภูมิพล จ.ตาก มีปริมาณน้ำ 4,172 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 31 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 372 ล้านลูกบาศก์เมตร

เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีปริมาณน้ำ 3,562 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 37 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 712 ล้านลูกบาศก์เมตร

เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก มีปริมาณน้ำ 134 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 14 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 91 ล้านลูกบาศก์เมตร

เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มีปริมาณน้ำ 85 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 9 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 82 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมทั้ง 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 1,257 ล้านลูกบาศก์เมตร

สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ยังคงมีปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์น้อย เนื่องจากทางตอนบนฝนยังไม่ตกชุกกระจายเท่าที่ควร ส่งผลให้มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำน้อยตามไปด้วย ซึ่งปริมาณน้ำที่มีอยู่จะใช้สนับสนุนกิจกรรมการใช้น้ำ เพื่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศน์ รวมทั้งพื้นที่ปลูกข้าวนาปีที่ทำการเพาะปลูกไปแล้วตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา

ส่วนพื้นที่ที่ยังไม่ได้ทำการเพาะปลูก ขอความร่วมมือให้ชะลอการเพาะปลูกไว้ก่อน รอจนกว่าฝนจะตกชุกกระจาย ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ไว้ว่าฝนจะมาปกติในช่วงประมาณกลาง-ปลายเดือนกรกฎาคมนี้

อย่างไรก็ตามเพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์อย่างเท่าเทียมกันทั้งลุ่มน้ำ กรมชลประทานจึงขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งในพื้นที่ตอนบนและตอนล่างของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ให้ร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้มีปริมาณน้ำสำรองในเขื่อนให้มากที่สุด สำหรับเก็บไว้ใช้ในยามขาดแคลนที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต

จาก  http://www.prachachat.net  วันที่ 16 มิถุนายน 2558

พาณิชย์นำทีมเจรจาชิลี-เปรู ช่วยขยายช่องทางการค้า              

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านได้เดินทางเยือนลาตินอเมริกา และนำคณะสภาหอการค้าฯ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือฯ และเอกชน 21 บริษัท ไปขยายตลาดสินค้าไทย สร้างความสัมพันธ์ทางการค้า และการเจรจาจับคู่ธุรกิจกับกับผู้บริหารสภาอุตสาหกรรม ในชิลี และเปรู ซึ่งการเดินทางครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง

โดยไทยได้ขอให้ ชิลี เร่งรัดดำเนินกระบวนการภายใน ตามความตกลงการค้าเสรี(FTA) ไทย-ชิลี ให้เสร็จโดยเร็ว หรือให้ประกาศใช้ได้ภายในช่วงการประชุมผู้นำเขต เศรษฐกิจเอเปก เดือนพฤศจิกายน 2558 เพื่อให้มีผลบังคับใช้ได้ในต้นปี 2559 ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการค้าการลงทุนระหว่างกันมาก และไทยยังเสนอให้ชิลีจัดคณะผู้แทนภาคเอกชนเดินทางมาเยือนไทยในช่วงปลายปีนี้ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน

“ไทยจะใช้ชิลีเป็นประตูการค้าเปิดตลาดสินค้าไทยไปสู่ภูมิภาคลาตินอเมริกา ขณะที่ชิลีก็ใช้ประโยชน์จากไทยในการบุกตลาดอาเซียนได้ โดยที่ผ่านมาชิลี ได้เข้ามาลงทุน ในไทยแล้ว คือ บริษัท Sigdo Kopper ซึ่งประกอบธุรกิจเหมืองแร่รายใหญ่ที่สุดในชิลี และมีแผนที่จะขยายกิจการเพิ่มขึ้นโดยจะใช้ไทยเป็นฐานการผลิตลูกเหล็ก ที่ใช้เป็นส่วนประกอบสำคัญในการถลุงแร่ เพื่อกระจายไปในภูมิภาคเอเชีย

สำหรับในปีที่ผ่านมา การค้าระหว่างไทย-ชิลี มีมูลค่า 1,026 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยใน 4 เดือนแรกปีนี้ มูลค่าการค้าระหว่าง กัน 337 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 1.18%

ส่วนการเยือนเปรู ได้มีการหารือกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการค้าต่างประเทศ และการท่องเที่ยวเปรู โดยไทยและเปรู ได้ตั้งเป้าหมายร่วมกันว่าให้มีการลงนาม FTAไทย-เปรู ฉบับสมบูรณ์ ได้ทันในช่วงการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปกนี้ และให้มีผลบังคับใช้ได้ทันปีหน้าเช่นกัน ซึ่ง FTAไทย-เปรู ฉบับสมบูรณ์ เป็นส่วนขยายพิธีสารใน FTAเพื่อเร่งลดภาษีสินค้าทั้งหมด 5,000 รายการ จากที่ปัจจุบัน ได้มีการทำ FTA ในสินค้าเร่งลดภาษีไปแล้วซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อปี 2554 ได้มีการลดภาษีนำเข้าสินค้าระหว่างกันไปแล้ว 70% ของปริมาณรายการสินค้าทั้งหมด รวมถึงไทย และเปรู ตกลงที่จะจัดทำแผนงานเพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างกันให้มากยิ่ง เช่น การจัดคณะนักธุรกิจเพื่อเจรจาธุรกิจ การส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตรและประมง และการแลกเปลี่ยนความร่วมมือทางเทคโนโลยีการเกษตร

ปีที่ผ่านมามูลค่าการค้าไทย-เปรูมีมูลค่า ประมาณ 700 ล้านเหรียญสหรัฐ โดย 4 เดือนแรกปีนี้มีมูลค่าการค้าสองฝ่าย 232 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 11.98% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และฝ่ายไทยได้แจ้งถึงการจัดตั้ง ผู้แทนทางการค้าของไทยประจำประเทศเปรู เพื่อขยายโอกาสทางการค้าระหว่างไทย-เปรู ให้เพิ่มมากขึ้นต่อไปในอนาคต

ส่วนสินค้าต่างๆ ที่ไปเปิดตลาดของทั้งชิลี และเปรูสินค้าไทย ที่มีการส่งออกไปมากได้แก่ ชิ้นส่วนยานยนต์ วัสดุก่อสร้าง เครื่องจักรกลการเกษตร เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก และผลิตภัณฑ์ยาง โดยเฉพาะรถกระบะของไทยที่ได้รับความนิยม ส่วนสินค้าที่ไทยนำเข้ามา จาก 2 ประเทศดังกล่าวคือ สินค้าประมง และเกษตรกรรม ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการสนับสนุนในอุตสาหกรรมอาหาร

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2558

อุตฯมั่นใจศก.ฟื้น-เอกชนเริ่มก่อสร้างโรงงานเงินลงทุนสะพัดกว่า2.5

          "จักรมณฑ์" มั่นใจเศรษฐกิจโต 3% ส่งออกไม่ติดลบ กระทรวงอุตฯไฟเขียวใบอนุญาต รง. 4 กว่า 4 พันราย ลงทุนแล้ว 60% คิดเป็นมูลค่ากว่า 2.5 แสนล้านบาท ด้านบิ๊กแบงก์กรุงเทพชี้การลงทุนภาครัฐจะเป็นเครื่องยนต์หลักที่จะเข้ามาขับเคลื่อนระบบ

          นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รมว.อุตสาหกรรม กล่าวเศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโต 3% โดยไตรมาสแรกที่ผ่านมาขยายตัว 3% แต่เศรษฐกิจนอกระบบไม่นับ รวมในผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)หายไป ทำให้การใช้จ่ายส่วนนี้หายไป ด้านการส่งออกแม้ที่ผ่านมาจะติดลบ 4% แต่ทั้งปีเชื่อว่าจะไม่ติดลบ ซึ่งครึ่งหลังจะเป็นบวก ทำให้เฉลี่ยทั้งปีเท่ากับปีที่ผ่านมา หรือขยายตัว 0%

          ดังนั้นเศรษฐกิจไทยจึงขึ้นอยู่กับการบริโภค การผลิตและการใช้จ่ายของภาครัฐ ในการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ซึ่งจะเกิดขึ้นปลายปีนี้ทั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งทางบก ทางน้ำ และอากาศ ขณะนี้มีสัญญาณการเตรียมตัวของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องการก่อสร้าง โดยกระทรวงอุตสาหกรรมออกประทานบัตรวัสดุก่อสร้าง เพื่อเตรียมพร้อมรองรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่แล้ว ปีหน้าเมื่อการก่อสร้างเกิดขึ้นจริง เชื่อว่าจะสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนและนักลงทุนระยะยาว

          สำหรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศภาพรวมไม่น่าห่วงแม้ปีนี้จะลดลง เนื่องจากปีที่ผ่านมามีการขอมามากถึง 2 ล้านล้านบาท เพราะเป็นการเร่งขอก่อนสิ้นสุดนโยบายส่งเสริมการลงทุนชุดเก่าที่ปีนี้จะเน้นเทคโนโลยีสูงขึ้น โดยขณะนี้เริ่มเตรียมตัว ลงทุนและจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยระยะต่อไป จึงมั่นใจว่าด้านการลงทุนจากต่างประเทศของไทย ไม่ได้ชะงักแต่อย่างใด

          ส่วนการลงทุนที่ไม่ขอการส่งเสริมจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากการออกใบอนุญาต รง.4 ซึ่งตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันออกไปแล้ว กว่า 4,000 ใบ มีการลงทุนแล้วถึง 60% โดยลงทุนสร้าง โรงงานแล้วคิดเป็นมูลค่ากว่า 2.5 แสนล้านบาท ทำให้ มั่นใจว่าการลงทุนในประเทศไม่มีการชะงักอย่างแน่นอน

          นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฏ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้น่าจะเติบโตประมาณ 3% หรืออาจต่ำกว่าเล็กน้อย เพราะมีปัจจัยเสี่ยงเรื่องการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่เข้ามากดดันภาคการส่งออกของไทย ทำให้คาดว่าการส่งออกปีนี้ จะติดลบแน่นอน

          "ปีนี้คงลุ้นให้การส่งออก มาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ได้ยาก จากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก และยังเป็นเรื่องอำนาจของผู้ซื้อที่ลดลงด้วย แม้ว่าเราจะพยายามผลิต แต่หากผู้ซื้อไม่มีความต้องการก็ไม่เป็นผล ดังนั้น มีความเป็นไปได้สูงที่การส่งออกปีนี้จะติดลบ"

          ปัจจัยที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้คงมีเพียงการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ส่วนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ขนาดใหญ่คงไม่มีผลในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทยในช่วงนี้เพราะต้องใช้เวลาในการขับเคลื่อนการลงทุนพอสมควรจึงน่าจะส่งผลดีในระยะต่อไปมากกว่า แต่ยอมรับว่าเป็นความพยายามที่ดีของรัฐบาล

          นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพกล่าวถึงภาพรวมอัตราดอกเบี้ยที่ 1.50% ถือว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เป็นอยู่ ส่วนแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในระยะต่อไปคงขึ้นอยู่กับกลไกและความจำเป็นของเศรษฐกิจเป็นหลัก

          "ภาพรวมเศรษฐกิจไทยแม้จะฟื้นตัวอย่างเปราะบางแต่มีสัญญาณขยายตัวได้เรื่อยๆ อย่างไรก็ดีมองว่ารัฐบาลเองก็มีความพยายามอย่างเต็มที่ ให้การกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งอยู่ในกระบวนการวางรากฐานสร้างระบบเศรษฐกิจและการลงทุนใน ระยะยาว รวมถึงอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบัน มองว่าเป็นระดับที่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ แม้ธนาคารอาจได้รับผลกระทบบ้างจากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย ก็จำเป็นต้องเร่งขยายฐานลูกค้า เพิ่มยอด ธุรกรรมต่างๆ มากขึ้น ด้วยการขยายสาขาในต่างประเทศ และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยหาช่องทางตลาดใหม่ๆ ขยายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีต้นทุน ต่ำกว่า ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน อาจช่วยหนุนสภาพเศรษฐกิจโดยรวมได้อีกทางหนึ่ง

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2558

กระทรวงพาณิชย์ จัดพิธีลงนามข้อตกลง (MOU) กับกระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงแรงงาน พร้อมจัดสัมมนา "Thailand Trust Mark Sustainable Day"   

          วันพฤหัสบดีที่ 18 มิถุนายน 2558 เวลา 10.00 - 16.15 น. นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ร่วมลงนามข้อตกลง (MOU) กับ นายปณิธาน จินดาภู รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และ นายพีรพัฒน์ พรศิริเลิศกิจ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงานในการบูรณาการรับรองคุณภาพด้านสิ่งแวดล้อมและมาตรฐานแรงงานไทยให้แก่ผู้ได้รับตราสัญลักษณ์ THAILAND TRUST MARK (TTM) และขอเชิญชวนผู้ประกอบการ ผู้ส่งออก และผู้สนใจเข้าร่วมสัมมนา "Thailand Trust Mark Sustainable Day" โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ณ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ (ถนนรัชดาภิเษก) สนใจเข้าร่วมกิจกรรมและสำรองที่นั่งได้ที่ โทร.0-2513-3560 และ 0-93008-2355 ในวันและเวลาราชการ

จาก http://www.matichon.co.th   วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ก.อุตสาหกรรมจัด'Thailand Industry Expo 2015' ดันมหกรรมซื้อของไทยใช้ของดีนำร่องสู่อาเซียน 

           กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งจัดงานครั้งใหญ่แห่งปี  "Thailand Industry Expo 2015" ภายใต้แนวคิด "มหกรรมซื้อของไทย ใช้ของดี  อุตสาหกรรมไทยก้าวหน้า พัฒนาด้วยนวัตกรรม" ณ อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ 22 - 27 กันยายน 2558  เพื่อเสริมศักยภาพอุตสาหกรรมไทยในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

          นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากความสำเร็จของการจัดงาน Thailand Industry Expo 2014 ในปีที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรมได้เล็งเห็นว่าการจัดงานในลักษณะนี้ เป็นประโยชน์ทั้งต่อภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยถือเป็นเวทีสำคัญของภาคอุตสาหกรรมไทย ในการแสดงศักยภาพ ความหลากหลายในเรื่องของสินค้าและบริการฝีมือคนไทย โดยงานนี้ถือเป็นการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงวิสาหกิจชุมชนด้วย รวมทั้งยังเป็นเวทีเผยแพร่ความรู้และทักษะในการดำเนินธุรกิจ แก่ผู้ประกอบธุรกิจ และผู้ที่สนใจสร้างอาชีพในวงกว้างด้วย รวมทั้งได้รับผลตอบรับที่เกินความคาดหมาย โดยมี บริษัทชั้นนำและหน่วยงานเข้าร่วมสนับสนุนการจัดงาน กว่า 70 บริษัท ผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมรวมถึงวิสาหกิจชุมชน ร่วมแสดง ร้านค้า กว่า 1,200 ร้านค้า ผู้เข้าเยี่ยมชมงาน สูงกว่า 200,000 คน และมียอดการใช้จ่ายภายในงานประมาณ 300 ล้านบาท

          สำหรับวัตถุประสงค์ของการจัดงานในครั้งนี้มีสาระสำคัญ เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ในฐานะพระผู้ทรงเป็นต้นแบบของการพัฒนาอาชีพ และสร้างวิสาหกิจชุมชนให้เข้มแข็งบนแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง นอกจากนี้ยังเป็นเวทีสำคัญสำหรับภาคอุตสาหกรรม ในการเตรียมความพร้อม สร้างโอกาสทางธุรกิจ และเชื่อมโยง เครือข่ายทางธุรกิจให้แก่ภาคธุรกิจ เพื่อเสริมศักยภาพอุตสาหกรรมไทยในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และการค้าในเวทีโลก

          ดร.อรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงแนวคิดหลักของการจัดงานในครั้งนี้ว่า ทางกระทรวงอุตสาหกรรมใช้ชื่อธีมงานว่า "มหกรรมซื้อของไทย ใช้ของดี  อุตสาหกรรมไทยก้าวหน้า พัฒนาด้วยนวัตกรรม" โดยปีนี้เราเน้นให้ความสำคัญในเรื่องของการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรม เพื่อความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมไทย เนื่องจากการพัฒนาอุตสาหกรรมในปัจจุบันนั้น นวัตกรรมถือเป็นเครื่องมือ หรือเป็นอาวุธสำคัญในการสร้างข้อได้เปรียบให้แก่ผู้ประกอบการ ทั้งในเรื่องของการลดต้นทุน การเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต การแข่งขัน และการสร้างความแตกต่าง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการส่งเสริมสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม เพื่อใช้ในประเทศ และลดการนำเข้า โดยเฉพาะในภาคการผลิตของไทยนอกจากนี้ การจัดงานนี้ ยังถือเป็นกิจกรรมส่งเสริมการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย โดยเราต้องการส่งเสริมการจับจ่ายใช้สอยของภาคประชาชน โดยเน้นที่การซื้อของไทย ใช้ของดี สนับสนุน และอุดหนุนผู้ประกอบการไทย

          ทางด้านความยิ่งใหญ่ของงาน Thailand Industry Expo 2015  มีจุดเด่นคือ 3 พ. ได้แก่ 1.พื้นที่ จัดงานเต็มพื้นที่ 60,000 ตารางเมตร ของอาคารชาเลนเจอร์ 1-3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี 2.พันธมิตร คือ ผนึกกำลังความร่วมมือจากผู้ประกอบการร่วมจัดแสดงผลงาน ที่เราตั้งเป้าไว้ว่าจะไม่น้อยไปกว่าปีที่แล้ว คือผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมชั้นนำของประเทศ มากกว่า 70 หน่วยงาน ผู้ประกอบการ SMEs และวิสาหกิจชุมชน หรือ OTOP จากทั่วประเทศ ประมาณ 1,300 ราย หน่วยงานภาครัฐ ที่เกี่ยวข้องกับการการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมไทย และส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้คือ 3.พลัง งานนี้จะเป็นการแสดงพลังของภาคอุตสาหกรรมไทย ความเป็นหนึ่งเดียวกันที่มีความพร้อมและศักยภาพ ร่วมกันขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมไทยเข้มแข็ง แข็งแรง และเพื่อตอกย้ำบทบาทของประเทศไทย ในฐานะศูนย์กลางภาคการผลิตของ AEC

          "สำหรับงาน Thailand Industry Expo 2015 ถือเป็นงานที่เกิดจากความตั้งใจจริงของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ต้องการแสดงศักยภาพของอุตสาหกรรมไทยและผู้ประกอบไทย ตั้งแต่ผู้ประกอบการรายใหญ่ ที่ประสบความสำเร็จ และมีชื่อเสียงระดับนานาชาติ ผู้ประกอบการ SME ซึ่งถือเป็นอีกกลุ่มธุรกิจที่สำคัญของประเทศไทย จนถึงวิสาหกิจชุมชน ที่ถือเป็นอีกฟันเฟืองหนึ่งในการสร้างสรรค์เศรษฐกิจของภาคชุมชน คาดว่าจะมีผู้เข้าเยี่ยมชมงานไม่น้อยกว่า 200,000 คน  และคงมียอดการใช้จ่ายภายในงาน ไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท"         

 จาก ทันหุ้น วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2558 

'จักรมณฑ์'ยันติดเครื่องลงทุนอุตฯรัฐนำร่องเอกชนเพิ่มความเชื่อมั่น 

          "จักรมณฑ์"ระบุเร่งออกใบ ร.ง.4 ไปแล้วเกือบ 4 พันราย ตั้งโรงงานไปแล้ว 60% มูลค่ากว่า 2.5 แสนล้านบาท ชงโครงการสร้างศูนย์ทดสอบรถยนต์ 4 พันล้านบาทเข้าครม.วันนี้

          นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงแนวโน้มการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม ว่า ตั้งแต่เดือน ก.ย.2557 จนถึงขณะนี้มียอดการออกใบอนุญาตประกอบการกิจการ (ร.ง.4) ไปแล้วประมาณ 4 พันราย สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีประมาณ 3.3 พันราย และในจำนวนนี้ 60%ได้ทำการลงทุนสร้างโรงงานแล้ว มีมูลค่าประมาณ 2.5 แสนล้านบาท จากผู้มาขอรับการส่งเสริมการลงทุนมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านบาท ซึ่งจะเห็นผลการลงทุนตั้งโรงงานชัดเจนในช่วงปลายปีนี้ สะท้อนให้เห็นว่าภาคเอกชนยังคงมีความมั่นใจในการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย

          นอกจากนี้ ยังมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐทยอยออกมาเป็นจำนวนมาก ทั้งโครงการก่อสร้างระบบรางทั่วประเทศ การขยาย ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และในจังหวัดต่างๆ ที่จะเริ่มเซ็นสัญญาได้ในช่วงปลายปีนี้ ในปัจจุบันเริ่มเห็นถึงการลงทุนเพิ่มของภาคเอกชน เพื่อรองรับโครงการภาครัฐเหล่านี้แล้ว และจะเกิดการลงทุนอย่างเห็นได้ชัดในปีหน้า

          ปัญหาราคาพื้นผลการเกษตรที่ลดลง ทำให้ประชาชนไม่มั่นใจจับจ่ายใช้สอย รวมทั้งการส่งออก ที่ลดลง แต่ทั้งนี้ยอดการส่งออกก็ค่อยๆปรับตัวดีขึ้น และคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังจะดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และมั่นใจว่ายอดการส่งออกรวมทั้งปี จะยังคงอยู่ในแดนบวก ขณะที่การขยายตัวของจีดีพี ก็ยังคงเป็นไปตามเป้าหมายขยายตัวที่ 3% เพราะราคาน้ำมันที่ลดลง ทำให้ในภาพรวมไทยยังคงได้ดุลการค้าอยู่

          ในส่วนของโครงการลงทุนก่อสร้างสนามทดสอบยานยนต์มูลค่ากว่า 4 พันล้านบาทนั้น ขณะนี้ได้บรรลุข้อตกลงการขอใช้ที่ดินของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเนื้อที่ 1.2 พันไร่ จ.ฉะเชิงเทรา ในการก่อสร้างสนามทดสอบฯนี้ ซึ่งจะนำเรื่องเข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้ (16 มิ.ย.) ซึ่งคาดว่าจะเดินหน้าได้ตามเป้าหมาย

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2558 

กรมชลจับตา‘แล้ง’ช่วงฤดูฝน ‘เอลนิโญ’ถล่มหนัก-เตือนเลื่อนปลูก‘นาปี’

นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในลุ่มเจ้าพระยายังน่าห่วง เนื่องจากฝนตกน้อยมากต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงเดียวกันถึงร้อยละ 69 โดยฝนที่ตกลงมาในขณะนี้ส่วนใหญ่จะตกท้ายเขื่อน ทำให้มีน้ำไหลเข้าเขื่อนที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุนของลุ่มเจ้าพระยาคือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธื์ เพียงวันละประมาณ 3 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)เท่านั้น ในขณะที่ต้องระบายออกเพื่อใช้ในกิจกรรมต่างๆ และการเกษตรโดยเฉพาะการทำนาปี ประมาณวันละ 60 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนดังกล่าวลดลงอย่างต่อเนื่อง

สำหรับปริมาณน้ำในเขื่อนทั้ง 4 แห่งดังกล่าว ล่าสุด ณ วันที่ 10 มิถุนายน 2558 มีปริมาณน้ำที่ใช้งานได้รวมกันเหลือเพียง 1,480 ล้าน ลบ.ม.เท่านั้น กรมชลประทานจำเป็นจะต้องปรับแผนการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูฝนใหม่ โดยจะลดปริมาณการระบายน้ำของเขื่อนทั้ง 4 แห่งให้เหลือวันละ 30-35 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งจะเพียงพอเฉพาะน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการประปา น้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศน์ และการผลักดันน้ำเค็ม รวมทั้งน้ำเพื่อทำนาปีที่เกษตรกรปลูกไปแล้ว 2.8 ล้านไร่

ทั้งนี้กรมชลประทานจะทำหนังสือชี้แจงถึงผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาทั้ง 22 จังหวัด และ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เพื่อช่วยรณรงค์และประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรที่ยังไม่ทำนาปี เลื่อนการทำนาปีออกไปอีกจนกว่า สถานการณ์ฝนจะเข้าสู่ภาวะปกติ

“ปริมาณน้ำที่เหลืออยู่ในเขื่อนทั้ง 4 แห่งดังกล่าว หากไม่มีฝนตกลงมาเลย จะสามารถใช้งานได้อีกประมาณ 40 วันเท่านั้น ซึ่งจากสภาวะดังกล่าว กรมชลประทานจึงขอความร่วมมือให้เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ยังไม่ได้เพาะปลูกข้าวนาปีชะลอการเพาะปลูกไปก่อน จนกว่าจะเริ่มมีฝนตกชุกหรือมีน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูกประมาณปลายเดือนกรกฎาคม และขอให้ประชาชนทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัด ให้ความร่วมมือกับภาครัฐในปฏิบัติตามแผนการจัดสรรน้ำที่วางไว้ อย่างไรก็ตามกรมชลประทานเชื่อว่า ฝนจะต้องตกลงมาแน่นอน โดยเฉพาะในช่วงเดือน สิงหาคม-กันยายน 2558 แต่อาจจะมีปริมาณไม่มาก หรือ ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย”

นายเลิศวิโรจน์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ได้เกิดปรากฏการณ์เอลนิโญ ค่อนข้างชัดเจนกว่าร้อยละ 90 ส่งผลให้ไม่มีพายุพัดผ่านประเทศไทยเลย หรือถ้าหากเกิดพายุก็จะพัดขึ้นประเทศจีนทั้งหมด ฝนที่ตกในประเทศไทยจะน้อยกว่าทุกๆที่ผ่านมา อาจจะใกล้เคียงกับเมื่อปี 2541 ที่ภัยแล้งเกิดขึ้นในช่วงฤดูฝน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2558

กลุ่มมิตรผลปลื้มแผนใช้พลังงานทดแทนจากโซลาร์เซลล์ ชูโครงการภูเขียวลดใช้น้ำมันดิบปีละกว่า 100 ตัน

ซลาร์เซลล์ ชูโครงการภูเขียวลดใช้น้ำมันดิบปีละกว่า 100 ตัน 

โรงงานน้ำตาลมิตรภูเขียว ในเครือมิตรผล เป็นอีกโรงงานที่นำพลังงานทดแทนหลากชนิด มาใช้อย่างเป็นรูปธรรม

         ศูนย์ข่าวขอนแก่น - กลุ่มน้ำตาลมิตรผลปลื้มแผนการใช้พลังงานทดแทนประสบความสำเร็จ ทุ่ม 56 ล้านบาทผลิตไฟฟ้าบนหลังคาอาคารโมลาส “โซลาร์รูฟท็อป” ที่โรงงานน้ำตาลมิตรภูเขียว สามารถลดการใช้น้ำมันดิบได้กว่าปีละ 100 ตัน ขายไฟฟ้าเข้าระบบ กฟภ.กว่า 1.3 ล้านหน่วยต่อปี ทั้งสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่ประเทศ

               เมื่อเร็วๆ นี้ นายสุมาลี สุมามาลย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และคณะลงพื้นที่พร้อมสื่อมวลชนไปยังอุทยานมิตรผล อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ เพื่อเยี่ยมชมและศึกษาโครงการ “โซลาร์รูฟท็อป” บนหลังคาบ่อเก็บโมลาส และธุรกิจในกลุ่มพลังงานหมุนเวียนของโรงงานน้ำตาลกลุ่มมิตรผล ที่ประสบความสำเร็จในการจัดการด้านพลังงานทดแทนเพื่อจำหน่ายให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตและใช้ในเครือโรงงานน้ำตาลมิตรผล

               นายประวิทย์ ประกฤตศรี กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจพลังงานหมุนเวียนกลุ่มมิตรผล เปิดเผยว่า กลุ่มมิตรผลนำแนวนโยบายการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าของ สนพ.มาปรับใช้กับพื้นที่ที่ไม่สามารถปลูกอ้อยได้ โดยติดตั้ง “โซลาร์รูฟท็อป” บนหลังคาอาคารที่ไม่ได้ใช้ ต่อยอดไปสู่การนำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อผลิตไฟฟ้า โดยเริ่มโครงการ “โซลาร์รูฟท็อป” แห่งแรกที่โรงไฟฟ้ามิตรผล ไบโอ-เพาเวอร์ ภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ใช้งบประมาณลงทุนกว่า 56 ล้านบาท ติดตั้งแผงโซลาเซลล์ ขนาด 989 กิโลวัตต์ บนหลังคาอาคารบ่อเก็บโมลาส

               ประโยชน์ที่เกิดขึ้นทำให้โรงงานน้ำตาลมิตรภูเขียวและบริษัทในเครือสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน และสามารถผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้มากกว่า 1.3 ล้านหน่วยต่อปี เทียบเท่ากับการลดใช้น้ำมันดิบได้มากกว่า 100 ตันต่อปี และช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้กว่า 700 ตันคาร์บอนต่อปี

               นอกจากนี้ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของพลังงานหมุนเวียนที่สามารถสร้างได้เอง จึงเดินหน้าพัฒนาธุรกิจพลังงานหมุนเวียน คือโรงไฟฟ้าชีวมวลและโรงงานผลิตเอทานอล เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่ประเทศด้วย

               อุทยานมิตรผล อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ถือเป็นแหล่งผลิตพลังงานหมุนเวียนที่สำคัญของกลุ่มมิตรผลเพื่อใช้เชื้อเพลิงให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเปลี่ยนของเหลือทิ้งให้เป็นสิ่งที่มีคุณค่า ด้วยการนำวัสดุที่เหลือใช้จากกระบวนการผลิตน้ำตาล คือ ชานอ้อย มาใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าทดแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และนำโมลาส (กากน้ำตาล) หมักกับยีสต์เพื่อผลิตเป็นเอทานอล สำหรับผสมในน้ำมันแก๊สโซฮอล์

       ลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ เป็นการนำทรัพยากรมาใช้อย่างคุ้มค่า ลดการผลิตใหม่และเพิ่มคุณค่าให้แก่วัสดุที่เหลือใช้ได้อย่างสูงสุด

               ขณะที่นายสุมาลี สุมามาลย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานตระหนักถึงความสำคัญด้านความมั่นคงทางพลังงาน โดยลดการพึ่งพิงเชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติ และกระจายประเภทเชื้อเพลิงให้หลากหลาย สอดคล้องตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2558-2579 (PDP 2015) มุ่งส่งเสริมเชื้อเพลิงที่เป็นพลังงานหมุนเวียนซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนภาคเกษตรเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่ใช้เชื้อเพลิงหมุนเวียนสัดส่วน 8% ของเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้า เป็น 15-20% ในปี 2579 ซึ่งเป็นปีสิ้นสุดของแผน PDP 2015

              “สำหรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) เป็นหนึ่งในพลังงานหมุนเวียนที่กระทรวงพลังงานให้ความสำคัญ และกำหนดเป้าหมายส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ตามแผน ADEP 2012-2021 รวม 3,800 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโซลาร์เซลล์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (Solar Farm) 2,800 เมกะวัตต์, แบบติดตั้งบนหลังคา (Solar PV Rooftop) 200 เมกะวัตต์ และแบบติดตั้งบนพื้นดินสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์การเกษตรอีก 800 เมกะวัตต์ ซึ่งกระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างดำเนินการกำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการ” รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าว 

จาก http://manager.co.th   วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2558 

กรมบัญชีกลางอนุมัติสิทธิพิเศษให้บัญชีนวัตกรรมไทยกว่า 100 รายการ

คณะกรรมการพิจารณาสิทธิพิเศษอนุมัติผู้ขายหรือผู้ให้บริการที่มีรายชื่อตามบัญชีนวัตกรรมไทย กว่า 100 รายการ ได้รับสิทธิพิเศษในการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีกรณีพิเศษ คาดเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา

นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาสิทธิพิเศษของหน่วยงานและรัฐวิสาหกิจ ครั้งที่ 2/2558 ในวันนี้ (11 มิ.ย.) ว่า คณะกรรมการพิจารณาสิทธิพิเศษฯ ได้อนุมัติให้ผู้ขายหรือผู้ให้บริการที่มีรายชื่อตามบัญชีนวัตกรรมไทยตามที่หน่วยงานจัดทำบัญชีนวัตกรรมไทยที่ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรี ได้รับสิทธิพิเศษ โดยให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการแผ่นดินส่วนท้องถิ่น หน่วยงานอื่นซึ่งมีกฎหมายบัญญัติให้มีฐานะเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานอื่นของรัฐที่ประสงค์จะจัดซื้อหรือจัดจ้างจากผู้ขายหรือผู้ให้บริการที่มีรายชื่อตามบัญชีนวัตกรรมไทยได้ โดยวิธีกรณีพิเศษ หากผลิตภัณฑ์หรือบริการนวัตกรรมที่จัดซื้อหรือจัดจ้างมีผู้ขายหรือผู้ให้บริการที่มีรายชื่อตามบัญชีนวัตกรรมไทยตั้งแต่ 2 รายขึ้นไป ให้ดำเนินการแจ้งผู้ขายหรือผู้ให้บริการที่มีรายชื่อตามบัญชีนวัตกรรมไทยทุกรายเข้าเสนอราคาแล้วจัดซื้อจากรายที่เสนอราคาต่ำสุด

อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวต่อว่า ขณะนี้มีผลงานวัตกรรมไทยที่ได้ขึ้นบัญชีแล้วกว่า 100 รายการ เช่น เครื่องรบกวนสัญญาณโทรศัพท์มือถือ T-Box ที่ใช้ตัดสัญญาณการจุดชนวนระเบิดด้วยโทรศัพท์มือถือ  เสื้อเกราะกันกระสุนเซรามิกส์น้ำหนักเบา  เครื่องช่วยฟังดิจิทัล PO2 ช่วยในการฟังของผู้ที่บกพร่องทางการได้ยิน  นาฬิกาเพื่อสุขภาพ Wellograph เป็นเครื่องที่มีเซนเซอร์วัดการเต้นของหัวใจอย่างแม่นยำ  รถพยาบาลนาโน เคลือบสีผนังด้วยสารนาโนที่มีฤทธิ์ในการฆ่าและยับยั้งการเติบโตของเชื้อโรค  เก้าอี้ทำฟันสำหรับผู้พิการ  รถตัดอ้อย ใช้ทดแทนแรงงานในการตัดอ้อย  และ เครื่องฆ่ามอดข้าวด้วยคลื่นวิทยุ

“หลังจากนี้ จะนำเสนอผลการพิจารณาของคณะกรรมการฯ ดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป นโยบายนี้จะช่วยกระตุ้นผู้ประกอบการไทยให้หันมาผลิตและให้บริการสินค้าที่เป็นนวัตกรรม ซึ่งสร้างมูลค่าเพิ่มได้สูงกว่าผลิตภัณฑ์และบริการแบบเดิม รวมทั้งยังช่วยผลักดันการวิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ยิ่งขึ้น ทำให้มีการต่อยอดนวัตกรรมของไทยให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน” นายมนัส กล่าว

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2558 

กฟผ.เตรียมเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันเตาหลังน้ำแล้ง

กฟผ. วอนทุกฝ่ายประหยัดน้ำ หลังฝนไม่ตกทำน้ำในเขื่อนลดเหลือใช้แค่ 36 วัน เผยเตรียมใช้น้ำมันเตาผลิตไฟฟ้าทดแทนน้ำ ทำต้นทุนค่าไฟฟ้าพุ่ง

นายสุธน บุญประสงค์ รองผู้ว่าการระบบส่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประไทย (กฟผ.) กล่าวว่า จากปริมาณน้ำในเขื่อนเหลือน้อยมาก ดังนั้น ปีนี้จึงคาดว่าการผลิตไฟฟ้าจากน้ำจะมีสัดส่วนลดลงจากปกติจะมีสัดส่วนร้อยละ 5 ของเชื้อเพลิงทั้งหมดเป็นคาดว่าไม่เกินร้อยละ 3 ดังนั้น ในส่วนของการผลิตไฟฟ้าทดแทนคงจะต้องมาจากน้ำมันเตา เพราะปัจจุบันเชื้อเพลิงประเภทอื่นโดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติมีการผลิตที่เต็มกำลังผลิตไปแล้ว

“การผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันเตายอมรับจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ขณะนี้หวังว่าฝนเหนือเขื่อนจะตกลงมาแก้ปัญหาภัยแล้งได้ ซึ่งการบริหารน้ำเน้นเรื่องการเกษตรและอุปโภคบริโภคเป็นหลัก บริหารโดยคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดูแล ขณะที่การผลิตไฟฟ้าเป็นผลพลอยได้เท่านั้น” นายสุธน กล่าว

ส่วนการเตรียมพร้อมรับแหล่งก๊าซธรรมชาติเจดีเอ หยุดซ่อมบำรุงเดือนกรกฏาคมนี้ ทาง กฟผ.วางแผนไว้พร้อม โดยประสานงานกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และกระทรวงพลังงานในการดูแลไฟฟ้าไม่ขาดแคลน มีทั้งการเตรียมพร้อมส่งไฟฟ้าจากภาคกลาง การซื้อไฟฟ้าจากมาเลเซีย การปรับให้โรงไฟฟ้าจะนะสามารถใช้น้ำมันเตาได้ แต่อย่างไรก็ตามต้องขอความร่วมมือภาคประชาชนลดการใช้ไฟฟ้าเพื่อลดความเสี่ยงไฟตก-ไฟดับ

นายวันชัย ประไพสุวรรณ ผู้อำนวยการฝ่ายสำรวจ กฟผ. เปิดเผยว่า ภาพรวมปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์ยังต้องตามเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดว่าในช่วงปลายเดือนมิถุนายน หรือต้นเดือนกรกฎาคมจะมีฝนตกตามฤดูกาลหรือไม่ เนื่องจากเกิดปรากฎการณ์เอลนีโญ ทำให้ฝนตกลงมาน้อยน้ำไหลเข้าเขื่อนเขื่อนภูมิพล 4 ล้านลูกบาศก์เมตร/วัน มีน้ำใช้งานได้ 392 ล้านลูกบาศก์เมตร

ขณะที่เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อน 3.5 ล้านลูกบาศก์เมตร/วัน น้อยกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 46 หากฝนไม่ตกลงมากังวลว่าน้ำเพื่อการเกษตรจะไม่เพียงพอ เนื่องจากปริมาณน้ำในส่วนนี้ต้องสำรองไว้ใช้เพื่อการอุปโภคและบริโภค และรักษาระบบนิเวศน์ด้วย นอกจากนี้ บางส่วนต้องจ่ายน้ำเพื่อการเกษตร 2.8 ล้านไร่ ดังนั้น จะใช้น้ำได้เพียง 36 วัน จากเดิม 40 วัน

 “ช่วงนี้ภาครัฐจึงขอให้เกษตรกรชะลอการทำนาปี เพื่อรอให้ฝนตกลงมาก่อนและรณรงค์ให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อไม่ให้กระทบปริมาณน้ำต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า” นายวันชัย กล่าว

สำหรับปริมาณน้ำภาคตะวันตก เช่น เขื่อนศรีนครินทร์และภาคใต้ เช่น เขื่อนรัชชประภา และเขื่อนบางลางไม่น่ากังวล เพราะมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนเพียงพอ ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต้องติดตามปริมาณน้ำในเขื่อนจุฬาภรณ์ ที่ปริมาณน้ำลดลงดช่นกัน

จาก http://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2558 

คอลัมน์ เห็นมาอย่างไรเขียนไปอย่างนั้น: กากอุตสาหกรรม 

          อนุภพ

          ปัญหาหนึ่ง ของประเทศไทยในขณะนี้คือ การจัดการกากอุตสาหกรรม

          กากอุตสาหกรรม คือ กากอุตสาห กรรมที่เกิดขึ้นจาก กระบวนการผลิต การเก็บวัตถุดิบจนเสื่อมสภาพ ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้คุณภาพหรือเสื่อมสภาพ ภาชนะบรรจุที่ มีของปนเปื้อน และของเหลือใช้

          ประเภทของกากอุตสาหกรรม คือ กากอุตสาหกรรมไม่อันตราย กับ กากอุตสาหกรรมที่เป็นอันตราย

          กากอุตสาหกรรมที่ไม่อันตราย หมาย ถึง สิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่ ไม่มี องค์ประกอบ หรือ ปนเปื้อนสารอันตรายหรือมีลักษณะเช่นเดียวกับมูลฝอยชุมชน เช่น เปลือกไม้ เศษเหล็กจากการตะไบบรรจุภัณฑ์ที่เป็นกระดาษ และของเสียที่ไม่ติดเชื้อ เป็นอาทิ

          กากอุตสาหกรรมที่เป็นอันตราย หมายถึง สิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว ที่มี องค์ประกอบ หรือ ปนเปื้อนสารอันตรายหรือมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างดังนี้ สารไวไฟ สารกัดกร่อน สารพิษ สารที่มีองค์ประกอบของสิ่งเจือปน ที่เป็นอันตรายเกินค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ เช่น กรดกำมะถัน กรดซัลฟูรัส บรรจุภัณฑ์ที่ปนเปื้อนหรือสารอันตรายตกค้าง สารเคมีที่มีอันตราย และกากตะกอน ก้นกรองที่มีสารอันตรายเป็นต้น

          จะเป็นอันตรายหรือไม่เป็นอันตรายกากอุตสาหกรรม ต่างต้องการ การจัดการที่ดีและถูกต้องเป็นสำคัญ

          เท่าที่ผ่านมา แม้ประเทศของเราจะมีกฎหมายและกฎระเบียบเกี่ยวกับกาก อุตสาหกรรมอยู่มากมาย แต่ปัญหาคือ การบังคับใช้กฎหมายและโทษที่บางเบา

          ถ้าปล่อยให้ โรงงานอุตสาหกรรมทั้งหลายปล่อยทิ้งกากอุตสาหกรรมอย่างไม่เป็นระบบ ผลที่ตามมาคือ สิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษและเป็นภัยต่อ สุขภาพ ของคนไทยทุกคน

          เรื่องกากอุตสาหกรรมจึงเป็น เรื่องที่ไม่เล็ก แม้จะดูว่าเล็กก็ตาม ถ้ากระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ไม่เอาใจใส่ ในเรื่องเหล่านี้ สังคมไทยจะเต็มไปด้วย สารพิษ ซึ่งยากแก่การแก้ไข

          ดีใจที่ทราบว่า กระทรวงอุตสาหกรรมภายใต้การนำของรัฐมนตรีที่ชื่อ "จักรมณฑ์ผาสุกวนิช" ได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม มีการ เร่งรัดผลักดัน ให้ผู้ประกอบการโรงงานต้องนำกากอุตสาหกรรม เข้าสู่ระบบ การจัดการอย่างจริงจังภายใต้ แผนยุทธศาสตร์การจัดการกากอุตสาหกรรมในระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2558-2562) โดยได้กำหนดให้โรงงานจำพวกที่ 3 ประมาณ 68,000 รายต้องเข้าสู่ระบบ ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 90

          นอกจากนี้มีการ เพิ่มบทลงโทษ ผู้ลักลอบทิ้งขยะ จากเดิม ปรับสูงสุดไม่เกิน 2 แสนบาทอายุความ 1 ปีไม่มีโทษจำคุก เป็น เพิ่มโทษจำคุก 2 ปี ปรับ 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้คดี มีอายุความ 10 ปี ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนปรับแก้กฎหมาย

          ขณะเดียวกัน ได้มี การเพิ่มมาตรการติดตามระบบขนส่งกากอุตสาหกรรมอันตราย ทั่วประเทศ ซึ่งรถขนส่งกากอุตสาหกรรมต้องดำเนินการติดตั้ง ระบบจีพีเอส เพื่อป้องกันการลักลอบทิ้งกาก

          มี การกำชับ ผู้บริหารกระทรวงและอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศให้เข้มงวดในเรื่องนี้

          คุณภาพชีวิตของคนไทย เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ กากอุตสาหกรรม เป็นเรื่องหนึ่ง ที่บั่นทอนสุขภาพของคนไทย ดังนั้น การที่ "จักรมณฑ์" เอาจริงเอาจังเกี่ยวกับเรื่องกากอุตสาหกรรมจึงเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม.

จาก http://www.dailynews.co.th   วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2558 

อธิบดีกรมชลประทาน ระบุ ปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักยังน่าเป็นห่วง แนะให้เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาชะลอทำการเกษตร และติดตามข่าวสารจากภาครัฐอย่างใกล้ชิด

  แหล่งที่มา : Radio-สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย 

อธิบดีกรมชลประทาน ระบุ ปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักยังน่าเป็นห่วง แนะให้เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาชะลอทำการเกษตร และติดตามข้อมูลจากภาครัฐอย่างใกล้ชิด

นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยสถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักว่า ยังมีความเสี่ยงเนื่องจากปริมาณฝนที่ตกยังมีปริมาณน้อย ทำให้น้ำไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูกข้าวนาปีในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ดังนั้น กรมชลประทานจึงได้ประกาศแจ้งเตือนให้ชะลอการส่งน้ำเพื่อให้ปริมาณน้ำมีเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคและการเพาะปลูก สำหรับปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ขณะนี้มีปริมาณน้ำ 1,400 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งกรมชลประทานจะส่งน้ำสำหรับทำการเกษตรวันละ 22 ล้านลูกบาศ์กเมตร และเพื่อการอุปโภคและบริโภควันละ 58 ล้านลูกบาศ์กเมตร

อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวย้ำว่า ได้ขอความร่วมมือเกษตรกรให้ชะลอการเพาะปลูกข้าวนาปีออกไปจนกว่าฝนจะตกตามสภาวะปกติ พร้อมแนะเกษตรกรให้ติดตามสถานการณ์ และคำแนะนำจากภาครัฐอย่างใกล้ชิด

จาก http://thainews.prd.go.th   วันที่ 14 มิถุนายน 2558 

หน่วยบินฝนหลวงภาคอีสาน จัดหนักขึ้นโปรยสารเคมี วันละ 6 เที่ยวบิน บรรเทาภัยแล้ง

     ที่ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กองบิน 1 นครราชสีมา เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 14 มิ.ย.58 นายสินชัย พึ่งตำบล นักวิทยาศาสตร์ ชำนาญการพิเศษ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมเจ้าหน้าที่ได้ลำเลียงสารเคมีที่ใช้ทำฝนหลวง ขึ้นบนเครื่องบิน AU-23 เพื่อเตรียมปฏิบัติภารกิจบรรเทาภัยแล้งให้พื้นที่เพาะปลูกด้าน อ.ปากช่อง อ.สีคิ้ว และ อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา

    นายสินชัย ฯ นักวิทยาศาสตร์ ฯ เปิดเผยว่า สาเหตุของฝนทิ้งช่วง เกิดจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ไม่สามารถเคลื่อนผ่านเทือกเขาดงพญาเย็น หรือผืนป่ามรดกโลกแห่งที่ 5 เขาใหญ่-ทับลาน ทำให้เกิดฝนตกในเขต จ.ปราจีนบุรี เป็นส่วนใหญ่ ภารกิจเที่ยวบินนี้ ใช้เทคนิคพิเศษให้เกิดการยกตัวของเมฆที่มีความชื้นลอยข้ามเขาใหญ่ เพื่อให้ฝนตกในพื้นที่เป้าหมาย นอกจากจะช่วยพื้นที่เพาะปลูกที่ประสบปัญหาฝนทิ้งช่วง และเติมน้ำลงในอ่างเก็บน้ำลำตะคอง อย่างไรก็ตาม การทำฝนหลวง ต้องมีปัจจัยสำคัญเช่นทิศทางลม การก่อตัวและขนาดของกลุ่มเมฆ ความชื้นของอากาศรวมทั้งอุณหภูมิความร้อนจากผิวดินคู่ขนานด้วย จึงจะได้ประสิทธิภาพสูงสุด ขณะนี้ ศูนย์ปฏิบัติการ ฯ ได้เตรียมเครื่องบิน AU-23 จำนวน 2 ลำ และเครื่องบิน BT-67 จำนวน 1 ลำ ขึ้นปฏิบัติการโจมตีกลุ่มเมฆ เฉลี่ยวันละ 6 เที่ยวบิน ตามกำหนดถึงกลางเดือนตุลาคม รวม 244 วัน

    ด้านนางอุมาลี พ่วงจันทึก อายุ 53 ปี เกษตรกร ต.ลาดบัวขาว อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา กล่าวว่า ขณะนี้พื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลัง อ้อย และข้าวโพด หลายหมื่นไร่ กำลังประสบปัญหาภัยแล้งฝนทิ้งช่วงนานร่วม 1 เดือน ทำให้เกิดเพลี้ยระบาด ซึ่งเป็นศัตรูพืชไร่ ที่ชื่นชอบความแห้งแล้งเป็นพิเศษ ภายใน 7 วัน หากไม่มีฝนตกลงมาสร้างความชุ่มชื้น เกษตรกรหลายอำเภอ ต้องสิ้นเนื้อปะดาตัวอย่างแน่นอน

จาก http://www.siamrath.co.th  วันที่ 14 มิถุนายน 2558 

ปลัดเกษตรฯ ลงพื้นที่ชัยนาท-อยุธยาติดตามสถานการณ์น้ำ-ชงครม.ช่วยเหลือ

ปลัดเกษตรฯ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำ จ.ชัยนาท และ จ.พระนครศรีอยุธยาเร่งเตรียมการรับมือสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดพร้อมหามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรในเบื้องต้น นำเข้า ครม.ภายในวันอังคารนี้

นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจราชการ จ.ชัยนาทและ จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อรับฟังสรุปสถานการณ์น้ำและการผลิตสินค้าเกษตร(ข้าว) ในพื้นที่ รวมถึงผลกระทบจากการประกาศกรมชลประทาน เรื่องชะลอการเพาะปลูกข้าวนาปีในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัดโดยปัจจุบัน จ.ชัยนาท มีสถานการณ์การปลูกข้าวนาปี ปี 2558/59มีพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด 831,487 ไร่ ปลูกไปแล้ว 357,811 ไร่หรือคิดเป็นร้อยละ 43.03 และยังไม่ได้ทำการเพาะปลูก 473,676 ไร่หรือคิดเป็นร้อยละ 56.97 ซึ่งจากสถานการณ์ดังกล่าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยสำนักงานชลประทานที่ 12 กรมชลประทานได้มีแผนการจัดสรรน้ำและการเพาะปลูกพืชฤดูฝน ปี 2558  (ตั้งแต่วันที่ 1พ.ค. 58 – 31 ต.ค. 58) จัดสรรน้ำในลุ่มเจ้าพระยา 5,501 ล้าน ลบ.ม. ได้แก่

เขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์ 4,600 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน 450ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 450 ล้าน ลบ.ม.รวมผลการจัดสรรน้ำถึงปัจจุบัน ใช้น้ำไปแล้ว 2,529 ล้าน ลบ.ม.หรือคิดเป็นร้อยละ 46 ของแผนการจัดสรรน้ำในลุ่มเจ้าพระยาโดยมีการเตรียมความพร้อมและการให้ความช่วยเหลือ โดยสำนักงานชลประทานที่12 ได้เตรียมเครื่องสูบน้ำเพื่อช่วยเหลือพื้นที่นาปีและพืชไร่ รวมทั้งหมด107 เครื่อง ปัจจุบันออกใช้งาน 13 เครื่อง ได้แก่ ชัยนาท 7 เครื่อง

อ่างทอง 1 เครื่อง สุพรรณบุรี 3 เครื่อง อุทัยธานี 1 เครื่องและพระนครศรีอยุธยา 1 เครื่อง

ทั้งนี้ สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดชัยนาทได้ประสานหน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการในเบื้องต้นโดยการประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรได้ทราบผ่านทางสถานีวิทยุแห่งประเทศไทยจังหวัดชัยนาทซึ่งครอบคลุม 8 จังหวัด ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทองสุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี และนครสวรรค์

สำหรับการช่วยเหลือในระยะสั้นจะมีการขึ้นทะเบียนเกษตรกรทุกรายที่ได้ดำเนินการปลูกข้าวไปก่อนแล้วประมาณ 40 % และแนะนำให้ทำการประกันภัยข้าว

หากมีการประกาศภัยพิบัติจะได้รับการชดเชยความเสียหายไร่ละ 1,111 บาทส่วนเกษตรกรที่ยังไม่ได้ปลูก และชะลอการปลูกตามประกาศของกรมชลประทานต้องขึ้นทะเบียนเพื่อให้ทราบจำนวนทุกรายรวมถึงได้มีการแนะนำให้ปลูกพืชใช้น้ำน้อย เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ถั่วเขียว และส่งเสริมด้านปศุสัตว์ เป็นต้น

สำหรับ จ.พระนครศรีอยุธยา มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปี ในช่วงวันที่ 1 พ.ค.58 – 12 มิ.ย. 58 ทั้งสิ้น 16 อำเภอ รวม 440,647.25 ไร่มีพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบเมื่อเกิดการขาดแคลนน้ำ ได้แก่อำเภอพระนครศรีอยุธยา อำเภอบางปะหัน และอำเภอเสนา รวม 64,661 ไร่ซึ่งมีแนวทางการช่วยเหลือโดยการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรมีการจัดทำกิจกรรมการเกษตรที่ให้ผลผลิตในระยะสั้นเพื่อให้มีรายได้ทดแทนอีกทั้งยังต้องการให้ภาครัฐชดเชยการสูญเสียรายได้ให้แก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ

“กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้หน่วยงานในพื้นที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเข้าไปสร้างความเข้าใจกับเกษตรกร ถึงสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน

ซึ่งหากมีเรื่องของฝนทิ้งช่วง จะมีการส่งเสริมให้ปลูกพืชแบบแห้งสลับเปียกและสำหรับพื้นที่ที่ยังไม่ได้มีการเพาะปลูกจะส่งเสริมให้ปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน เช่น พืชที่ใช้น้ำน้อย นอกจากนี้ยังต้องเร่งปฏิบัติการฝนหลวงตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีโดยเฉพาะบริเวณเหนือเขื่อน ให้มีความเข้มข้นยิ่งขึ้นซึ่งปัจจุบันมีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการรองรับอยู่แล้วถึง 13 ฐานนอกจากนี้ในระยะยาว จะมีการสนับสนุนระบบแหล่งน้ำในไร่นาระบบหมุนเวียนการใช้น้ำ และบ่อน้ำตื้น เป็นต้นเพื่อให้เกษตรกรเกิดการใช้น้ำให้ได้รับประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทาน จะดูในภาพรวมทั้ง 22 จังหวัดและจะนำเสนอสถานการณ์น้ำ ผลกระทบ ความเดือดร้อนของเกษตรกรและแนวทางการช่วยเหลือในเบื้องต้น เพื่อเสนอเข้า ครม.ภายในวันอังคารที่จะถึงนี้และจะเร่งหามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรอย่างเร่งด่วนต่อไป” นายชวลิต กล่าว

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 14 มิถุนายน 2558 

อุตฯเล็งให้ประเภทกิจการไม่ต้องขอใบรง.4

อุตฯเล็งให้ประเภทกิจการไม่ต้องขอใบรง.4โรงงานเฮ ! อุตฯ จ่อแก้กฎกระทรวงให้ประเภทกิจการไม่ต้องขอรง.4 ทั้งโรงอบเบเกอรี่ในห้าง ฯ โรงซักผ้าใต้อาคารที่พักอาศัย โรงซ่อมนาฬิกา

 รายงานข่าวจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างแก้กฎกระทรวงเพื่อปรับให้โรงงานอุตสาหกรรมบางประเภทที่เคยขอใบอนุญาตตั้งโรงงาน(รง.4)ไม่ต้องขอใบ รง.4 อีกต่อไป แม้จะมีการใช้เครื่องจักรเกิน 5 แรงม้าก็ตามเช่น อุตสาหกรรมบริการ โรงอบเบเกอรี่ในห้างสรรพสินค้า โรงซักผ้าใต้อาคารที่พักอาศัยโรงซ่อมนาฬิกา เนื่องจากไม่เข้าข่ายเป็นโรงงานอุตสาหกรรมทั้งนี้เพี่อให้เกิดความสะดวกในการติดตามของกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) และดูแลผู้ประกอบการได้ทั่วถึงมากขึ้น

ทั้งนี้ในปัจจุบันโรงงานที่ต้องขอใบ รง.4 จัดอยู่ในกลุ่ม 107 ประเภทอุตสาหกรรมที่กรอ.กำหนด และต้องเป็นโรงงานประเภท 2คือ โรงงานประเภท ชนิดและขนาด ที่เมื่อจะประกอบกิจการโรงงาน ต้องแจ้งให้ผู้อนุญาตทราบก่อนและโรงงานประเภท3คือ โรงงานประเภท ชนิด และขนาดที่การตั้งและต่ออายุใบอนุญาตจะต้องได้รับใบอนุญาตก่อนจึงจะดำเนินการได้

อย่างไรก็ตามปัจจุบันโรงงานประเภทที่2และ 3 มีทั้งหมด 88,000 โรงงาน ส่วนโรงงานประเภทที่ 1ที่ต้องแจ้ง กรอ.เพื่อทราบ แต่ไม่ต้องต่อใบอนุญาตและชำระค่าธรรมเนียมรายปีมีทั้งสิ้น30,000 โรงงาน

ดังนั้นหากมีการจัดประเภทโรงงานใหม่อาจจะทำให้โรงงานเดิมที่เคยจัดอยู่ในประเภทที่1 บางกิจการหายไปจากระบบ รวมถึงจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในประเภทที่ 2และ 3ด้วย ซึ่งจะทำให้โรงงานอุตสาหกรรมที่เคยขอ รง.4หายไปกว่าหมื่นโรงงาน จากปัจจุบันมีโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศประมาณ80,000 โรงงาน

“กฎหมายปัจจุบันค่อนข้างล้าสมัยเป็นปัญหาในการทำงานและเป็นภาระกับผู้ประกอบการ อย่างกรณีโรงอบขนมปังในห้างสรรพสินค้าที่มีจำนวนแรงงม้าเข้าข่ายโรงงานอุตสาหกรรมก็ไม่สมควรต้องขอรง.4 เพราะไม่จัดอยู่ในประเภทโรงงานที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน”

จาก http://www.dailynews.co.th   วันที่ 14 มิถุนายน 2558 

เสนอของบ 1 แสนล้าน ‘อีสานเขียว’ ทำชลประทาน ต่อท่อยักษ์ผันน้ำ

กรมชลประทานเตรียมเสนอนายกฯ ทำโครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล ‘อีสานเขียว’ เฟสแรก 1 แสนล้านบาท เพิ่มพื้นที่ชลประทานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 30 ล้านไร่ ต่อท่อยักษ์ 2 เส้น ผันน้ำจากจ.เลย ชี้ประเทศไทยยังต้องการกักเก็บน้ำให้ได้อีก 5 หมื่นล้านลบ.ม.

แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า สัปดาห์หน้ากรมชลประทานเตรียมเสนอ 2 โครงการเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำให้กับพื้นที่ทำการเกษตรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และในเขื่อนภูมิพล ต่อนายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก่อนเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีพิจารณาเป็นการเร่งด่วน ได้แก่

1)โครงการเติมน้ำเขื่อนภูมิพล เพื่อเพิ่มน้ำในเขื่อนประมาณ 2,000 ล้านลบ.ม. และ 2)โครงการ โขง เลย ชี มูล เพื่อเพิ่มน้ำใช้ในภาคอีสานประมาณ 4 หมื่นล้าน ลบ.ม. โดยโครงการโขง เลย ชี มูล เป็นโครงการเก่าที่ศึกษามานานแล้ว แต่ได้นำมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง

สำหรับ โครงการเติมน้ำเขื่อนภูมิพล และ โครงการโขง เลย ชี มูล เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ นายกฯได้สั่งการมายังกรมชลประทานให้เร่งทำยุทธศาสตร์2 โครงการนี้ ให้เกิดขึ้นได้ภายในรัฐบาลนี้ โดยเป็นโครงการปีงบประมาณ 2558-2559 ซึ่งเป็นโครงการเพิ่มเติมจากโครงการปกติ จะใช้งบประมาณเฟสแรกประมาณ 1 แสนล้านบาท

แหล่ง ข่าวกล่าวต่อว่า ตัวโครงการนี้จะใช้ระบบการผันน้ำตามแรงโน้มถ่วงของโลกในภาคเหนือและภาคตะวัน ออกเฉียงเหนือมาเก็บไว้ในระบบท่อ และมีการหมุนเวียนเหมือนระบบโลหิต โดยโครงการโขง เลย ชี มูล จะสูบน้ำจากจ.เลยเข้ามาใช้ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือผ่านท่อขนาดใหญ่ 2 ขนาด คือกว้าง10 ม. ยาว 50 กม.จำนวน 1 ท่อ และ ท่อกว้าง 10 ม.ยาว 80 กม.จำนวน 1 ท่อ

โครงการโดยสมบูรณ์มีระยะเวลา 20 ปี หากทำสำเร็จจะสามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานในภาคอีสานได้อีกประมาณ 30 ล้านไร่ มีน้ำเพียงพอ พัฒนาอุตสาหกรรม การบริการ การท่องเที่ยว และสร้างงานได้ โดยการดำเนินการจะไม่ใช้น้ำนานาชาติ แต่จะใช้น้ำในประเทศไทย เพราะในแต่ละปีน้ำในประเทศไทยมีจำนวนมหาศาล แต่ไทยไม่สามารถเก็บเข้าเขื่อน หรือเก็บในอ่างได้ จำเป็นต้องทำระบบบริหารจัดการเพื่อเก็บน้ำในอ่าง

ทั้งนี้ หลังจากเมินปริมาณจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น การขยายของชุมชนเมือง หากไทยไม่สามารถจัดหาแหล่งน้ำกินน้ำใช้ได้เพิ่ม อีก 10 ปีข้างหน้าไทยจะมีปัญหาการขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้แน่นอน ซึ่งจากการตั้งสมมติฐานปริมาณน้ำฝนความต้องการใช้ และความสามารถในการเก็บกักในปัจจุบันและอนาคต พบว่า ประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์ในเรื่องทรัพยากรน้ำก็จริง แต่ไม่สามารถจัดเก็บได้

โดยในปี 2557 มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 2.9 แสนล้านลบ.ม. จากปริมาณความต้องการใช้น้ำทั้งการอุปโภคบริโภค ระบบนิเวศ อุตสาหกรรมและภาคเกษตร รวมประมาณ 1.5 แสนล้านลบ.ม. แต่ระบบชลประทานที่เก็บกักน้ำฝนไว้สามารถจัดการได้เพียง 1 แสนล้านลบ.ม. จึงมีความต้องการน้ำที่รัฐบาลไม่สามารถจัดหาให้ได้อีกประมาณ 5 หมื่นล้านลบ.ม.

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 13 มิถุนายน 2558

KTIS รุกเพิ่มรายได้ขายไฟฟ้าพลังชีวมวล บริหารการจัดหาเชื้อเพลิง ยืดเวลาผลิตไฟ

          KTIS เดินหน้าซื้อรถตัดอ้อยเพิ่มอีก 13 คัน และรถเก็บใบอ้อยอีก 3 คัน หวังได้อ้อยสดเข้าหีบเพิ่ม และได้ใบอ้อยไปใช้ในโรงงานผลิตไฟฟ้า เพิ่มรายได้จากการขายไฟฟ้าด้วยระยะเวลาผลิตไฟฟ้าที่นานขึ้น

          นายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายธุรกิจชีวพลังงานและผลิตภัณฑ์ บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ซื้อรถตัดอ้อยเพิ่มเติมอีกจำนวน 13 คัน และรถเก็บใบอ้อยอีก 3 คัน ซึ่งจะทำให้สามารถเพิ่มปริมาณอ้อยสด ลดอ้อยไฟไหม้ และได้เชื้อเพลิงชีวมวลที่จะนำมาผลิตไฟฟ้าได้มากขึ้น

          “ทางกลุ่ม KTIS ได้ใช้ความพยายามมาตลอด ที่จะทำให้ชาวไร่อ้อยนำอ้อยสดส่งเข้าโรงงานแต่ก็ติดปัญหาเรื่องของแรงงานตัดอ้อยที่ขาดแคลน กลุ่มเราจึงได้ลงทุนในเรื่องของรถตัดอ้อย โดยปัจจุบันมีรถตัดอ้อยจำนวน..........คัน นอกจากนี้ ยังมีการรณรงค์ให้ความรู้กับชาวไร่อ้อย การตั้งหมู่บ้านอ้อยสด การจูงใจด้วยการมอบรางวัลอ้อยสดประจำปี และปีนี้เรามีโครงการรับซื้อใบอ้อยด้วย ซึ่งหากอ้อยถูกไฟไหม้ก็จะไม่มีใบอ้อยมาขาย จึงเชื่อว่าโครงการนี้จะได้ผลในการลดสัดส่วนของอ้อยไฟไหม้ลง”นายณัฎฐปัญญ์กล่าว

          ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายธุรกิจชีวพลังงานและผลิตภัณฑ์KTISกล่าวว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา มีใบอ้อยจำนวนมากที่ถูกไฟไหม้ และอีกจำนวนมากที่ไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ ซึ่งการเอาจริงเอาจังกับการจัดเก็บใบอ้อยมาใช้ประโยชน์นี้ จะทำให้ได้เชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าได้ยาวนานขึ้น และสร้างรายได้มากขึ้นสำหรับกลุ่ม KTIS

          ทั้งนี้ โรงไฟฟ้า KTBP ที่จังหวัดนครสวรรค์ ขนาด 60 เมกะวัตต์ ที่ผ่านมาสามารถเปิดเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 9 เดือนต่อปี แต่ในปีนี้บริษัทฯ พยายามยืดระยะเวลาของการผลิตไฟฟ้าให้ยาวนานขึ้น ด้วยการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลต่อหน่วยพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในโรงงานน้ำตาลให้น้อยลงและการเพิ่มปริมาณเชื้อเพลิงชีวมวลใหม่ๆ

          “ชานอ้อยที่เป็นผลิตผลเหลือใช้จากการผลิตน้ำตาลนั้น ส่วนหนึ่งจะนำไปใช้ผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ภายในโรงงานน้ำตาล ซึ่งโรงไฟฟ้าเดิมที่ใช้อยู่จะได้แรงดันไอน้ำไม่สูงเท่าโรงไฟฟ้าใหม่ ดังนั้น บริษัทฯ จึงได้ปรับเปลี่ยนมาใช้ไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเทคโนโลยีใหม่มากขึ้น ทำให้ใช้ปริมาณชานอ้อยต่อหน่วยพลังงานไฟฟ้าน้อยลง และเหลือชานอ้อยที่ช่วยยืดระยะเวลาของการผลิตไฟฟ้าให้ยาวนานขึ้นด้วย” นายณัฎฐปัญญ์กล่าว

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 12 มิ.ย. 2558

2เขื่อนใหญ่วิกฤตสุดรอบ51ปี แนะเกษตรกรชะลอ'เพาะปลูก'

นายณัฐจพนธ์ ภูมิเวียงศรี ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยสถานการณ์น้ำของเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ปัจจุบันอยู่ในภาวะวิกฤตน้ำแล้ง มีปริมาณน้ำสามารถใช้งานได้น้อยมาก อีกทั้งยังไม่มีปริมาณน้ำไหลเข้ามาเติมในเขื่อน เหมือนปีที่ผ่านมา

นายณัฐจพนธ์ ภูมิเวียงศรี กล่าวต่อไปว่า ฤดูฝนปี 2558 แม้จะเริ่มขึ้นแล้วเมื่อวันที่ 22 พ.ค.58 ตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา แต่ปริมาณฝนที่ตกลงมาน้อยกว่าค่าปกติร้อยละ 55 ในพื้นที่ภาคเหนือ และน้อยกว่าค่าปกติมากถึงร้อยละ 69 ในพื้นที่ภาคกลาง ส่งผลให้ไม่มีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนภูมิพล ซึ่งตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. -11 มิ.ย.58 มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนภูมิพลเพียง 4 ล้าน ลบ.ม. เท่านั้น  น้อยที่สุดในรอบ 51 ปี หรือตั้งแต่มีการเก็บกักน้ำมา ขณะที่มีความต้องการใช้น้ำจากเขื่อนจำนวนมากเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปี ซึ่งเริ่มทำการเพาะปลูกตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.58 เป็นต้นมา ทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพล ลดลงอย่างต่อเนื่อง จนถึงระดับวิกฤต ปัจจุบัน เหลือปริมาณน้ำใช้งานได้เพียง 410 ล้าน ลบ.ม.ไม่สามารถระบายน้ำเพื่อการเกษตร เนื่องจากปริมาณน้ำส่วนนี้ต้องสำรองไว้ใช้เพื่อการอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศ

ขณะที่เขื่อนสิริกิติ์ แม้จะมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนบ้างแต่อยู่ในเกณฑ์ที่น้อยมาก ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมากถึงร้อยละ 46 ลดลงในระดับวิกฤต เหลือปริมาณน้ำใช้งานได้ 779 ล้าน ลบ.ม. สามารถระบายน้ำเพื่อการเกษตรได้บางส่วนเท่านั้น

จากสถานการณ์น้ำแล้งดังกล่าว ประกอบกับการคาดการณ์สภาพอากาศโดยกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งปีนี้ปริมาณฝนในภาพรวมจะน้อยกว่าค่าปกติและน้อยกว่าปีที่แล้ว เนื่องจากปรากฏการณ์เอลนิโญ ทำให้คณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ซึ่งมีรองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธาน และมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตัดสินใจให้เกษตรกรที่ยังไม่ได้เริ่มทำการเพาะปลูกข้าวนาปี ชะลอการเพาะปลูกออกไปก่อนจนกว่าจะมีฝนตกชุกตามปกติ และให้ปรับลดการใช้น้ำจากเขื่อนทั้งสี่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาลง เพื่อประคองปริมาณน้ำที่เหลืออยู่ให้สามารถระบายเพื่อการอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศ ตลอดจนเจียดจ่ายน้ำบางส่วนให้กับพื้นที่นาที่ได้ทำการเพาะปลูกไปแล้วได้เพียงพอในช่วง 40 วันหรือจนกว่าจะมีปริมาณฝนธรรมชาติเพียงพอ สำหรับเขื่อนภูมิพลมีการปรับลดการระบายน้ำจากวันละ 22 ล้าน ลบ.ม. ลงเหลือวันละ 10 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนสิริกิติ์ มีการปรับลดการระบายน้ำจากวันละ 33 ล้าน ลบ.ม. ลงเหลือวันละ 22 ล้าน ลบ.

สถานการณ์น้ำของเขื่อนทั้งสองนับว่าอยู่ในขั้นวิกฤต ทั้งในแง่ของปริมาณน้ำในอ่างฯ และปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ ซึ่งในอดีตเขื่อนทั้งสองเคยมีปริมาณน้ำในอ่างฯ ต่ำสุดในปี 2535 ซึ่งจากสถานการณ์น้ำดังกล่าว คณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ จึงขอความร่วมมือจากเกษตรกร ปฏิบัติตามข้อแนะนำของกรมชลประทาน และทุกภาคส่วนต้องร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัดเพื่อให้สามารถผ่านพ้นช่วง 40 วันนี้ไปได้”

อนึ่ง เขื่อนของ กฟผ. ทุกเขื่อนเป็นเขื่อนเอนกประสงค์ มีหน้าที่กักเก็บน้ำไว้เพื่อใช้ประโยชน์ด้านการเกษตรกรรม และการอุปโภคบริโภค ส่วนการผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นเพียงผลพลอยได้เท่านั้น ทั้งนี้ การระบายน้ำจากเขื่อนเป็นไปตามการควบคุมของคณะกรรมที่กำกับดูแลเรื่องการบริหารจัดการน้ำในแต่ละพื้นที่ โดยมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อพิจารณาตัดสินใจบริหารน้ำร่วมกันอย่างใกล้ชิด

จาก http://www.naewna.com วันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2558 

จับตาโรงงานน้ำตาลให้ใบอนุญาต10ราย 

         อุตสาหกรรมจ่อคิว คาดอนุมัติตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ 10 โรง ปลายเดือน ก.ค.นี้

          แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กำลังพิจารณาคุณสมบัติของโรงงานน้ำตาลทรายที่ยื่นขอใบอนุญาตตั้งโรงงานเข้ามาตั้งแต่ปี 2552 ถึงปี 2558 กว่า 60 คำขอ โดยแบ่งเป็นคำขอตั้งโรงงานใหม่ของผู้ประกอบการรายเก่าประมาณ 40 คำขอ คำขอตั้งโรงงานใหม่ของผู้ประกอบการรายใหม่ 13-14 คำขอ และขอขยายกำลังผลิตในพื้นที่เดิม 10-20 ราย หลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้โรงงานน้ำตาลทรายปรับลดเกณฑ์ระยะห่างโรงงานจาก 80 กม. เป็นไม่ต่ำกว่า 50 กม.

          ทั้งนี้ คาดว่าจะอนุมัติใบรับรองว่าสามารถตั้งโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ได้ 10 แห่ง กำลังผลิตเฉลี่ย 1.8 หมื่นตัน/ปี ทำให้กำลังผลิตเพิ่มขึ้น 1.8 แสนตัน/ปี โดยพื้นที่เหมาะสมคือ สุโขทัย พิษณุโลก นครราชสีมา ชัยภูมิ เพชรบูรณ์ ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ ยโสธร ศรีสะเกษ มูลค่าต่อโรง 5,000-10,000 ล้านบาท

          สำหรับขั้นตอนการอนุมัติตั้งโรงงานน้ำตาลทราย น่าจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 25 มิ.ย.นี้ จากนั้นจะเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมลงนาม และประกาศเป็นราชกิจจานุเบกษาในเดือน ก.ค.นี้

จาก http://www.posttoday.com วันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2558 

อุตฯจ่อเคาะใบอนุญาต10โรงงานน้ำตาล 

          กระทรวงอุตฯเตรียมพิจารณาตั้งโรงน้ำตาลใหม่ เผยเอกชนแห่ขอตั้ง 60 โรง คาดจะอนุมัติได้เพียง 10 โรง ด้าน สอน. เล็งหาเงิน 1.2-1.3 หมื่นล้าน จ่ายชาวไร่ชดเชยค่าอ้อยขั้นปลายต่ำกว่าขั้นต้น

          รายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมแจ้งว่า ภายหลังครม.มีมติให้ปรับหลักเกณฑ์การอนุญาตโรงงานน้ำตาลใหม่ เป็นต้องมีระยะห่างระหว่างโรงงานน้ำตาลไม่ต่ำกว่า 50 กิโลเมตร (กม.) จากเดิมไม่ต่ำกว่า 80 กม. และจะต้องมีแผนการเตรียมปริมาณอ้อย และมีเกษตรกรที่ไม่เป็นคู่สัญญากับโรงงานน้ำตาลที่ตั้งอยู่เดิม เมื่อต้นเดือนพ.ค.นั้น ล่าสุดขั้นตอนอนุญาตโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ อยู่ระหว่างส่งเรื่องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมลงนาม และคาดว่าจะประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาช่วงกลางเดือนก.ค. 2558

          จากนั้นสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) จะเริ่มพิจารณาคำขอตั้งโรงงานน้ำตาลทรายภายใน 1-2 เดือน ซึ่งมีประมาณ 60 แห่ง แบ่งเป็นผู้ประกอบการเดิมที่ต้องการตั้งโรงงานน้ำตาลเพิ่มในพื้นที่ใหม่ ประมาณ 40 แห่ง ผู้ประกอบการเดิมที่ต้องการขยายโรงงานในพื้นที่เดิม ประมาณ 10-20 แห่ง และผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่ต้องการตั้งโรงงานน้ำตาล ประมาณ 15 แห่ง

          ทั้งนี้ จากการประเมินศักยภาพพื้นที่ทั่วประเทศ ที่มีการปลูกอ้อยประมาณ 10 ล้านไร่ หากประมาณระยะห่าง 50 กม. พบว่าส่วนใหญ่ต่างมีโรงงานน้ำตาลตั้งอยู่แล้ว จึงคาดว่าจะสามารถอนุมัติใบรับรองว่าสามารถตั้งโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ ได้ประมาณ 10 แห่งเท่านั้น รวมกำลังผลิตประมาณ 1.8 แสนตันต่อปี กระจายอยู่ในจังหวัดสุโขทัย พิษณุโลก นครราชสีมา ชัยภูมิ เพชรบูรณ์ ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ ยโสธร และศรีสะเกษ มีมูลค่าการลงทุนแห่งละประมาณ 5 พัน -1 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันมีโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศรวม 52 แห่ง นอกจากนี้ยังมีโรงงานน้ำตาลที่มีใบอนุญาต ร.ง.4 พร้อมตั้งโรงงานจำนวน 3 แห่ง ประกอบด้วย โรงงานน่ำตาลสระบุรี จ.ลพบุรี โรงงานน้ำตาลระยอง 2 จ.ชัยภูมิ และโรงงานน้ำตาลไทยอุตสาหกรรมน้ำตาล จ.เพชรบุรี และมีโรงงานที่ผ่านมติครม.แล้วอีก 10 แห่ง

          นายพิชัย ตั้งชนะชัยอนันต์ เลขาธิการสอน. กล่าวว่า ผลจากการหีบอ้อยประจำฤดูการผลิตที่ผ่านมา(2557/2558) จากชาวไร่ 3 แสนครัวเรือน มีอ้อยเข้าหีบรวม 105.96 ล้านตัน จำนวนนี้ สามารถผลิตน้ำตาลทรายได้ 11.3 ล้านตัน หรือ 113 ล้านกระสอบ ค่าความหวาน 12.23 ซีซีเอส โดยปริมาณน้ำตาลทรายที่ผลิตได้ลดลงแม้จำนวนอ้อยที่ผลิตจะเพิ่มขึ้น ทั้งจากราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกที่ลดลงอยู่ที่ 15.1 เซ็นต์ ต่อปอนด์ ลดลงจากราคาประเมินซึ่งอยู่ที่ 18 เซ็นต์ ต่อปอนด์ ทำให้คาดว่าราคาน้ำตาลทรายขั้นสุดท้ายจะต่ำกว่าราคาขั้นต้น คิดเป็นวงเงินที่กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายต้องหาเงินเข้าชดเชยไม่ต่ำกว่า 1.2 -1.3 หมื่นล้านบาท

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2558 

กรมชลฯเดินหน้า3ยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำแก้ปัญหาน้ำภาคตอ.

กรมชลประทาน เผยพร้อมดำเนินการพัฒนาและบริหารจัดการน้ำตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำ หวังแก้ปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วมพื้นที่เกษตร/พื้นที่เศรษฐกิจ พร้อมสร้างความมั่นคงให้ทุกภาคการใช้น้ำในภาคตะวันออก

นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า การดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในภาคตะวันออกของกรมชลประทาน มีทั้งหมด 3 ยุทธศาสตร์ด้วยกัน ประกอบด้วย 1. ยุทธศาสตร์การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต(เกษตรและอุตสาหกรรม) เป้าหมายในการจัดหาแหล่งน้ำให้ได้ 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ภายในปี 2569 โดยในพื้นที่เกษตรน้ำฝนจะบูรณาการร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และกรมพัฒนาที่ดิน ในการสนับสนุนแหล่งน้ำนอกเขตชลประทาน 2. ยุทธศาสตร์การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย มีเป้าหมายเพื่อจัดทำระบบระบายน้ำ คลองผันน้ำในพื้นที่วิกฤตภาคตะวันออก ได้แก่ เมืองจันทบุรี ปราจีนบุรี และชลบุรี รวมทั้งรองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษอรัญประเทศ จ.สระแก้ว และ 3. ยุทธศาสตร์การเพิ่มประสิทธิภาพบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เน้นการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วน

สำหรับการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก นั้น จะมีลักษณะเป็นโครงข่ายเชื่อมโยงแหล่งน้ำ ประกอบไปด้วยอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 3 แห่ง และขนาดกลาง 8 แห่ง รวม 11 แห่ง ความจุที่ระดับเก็บกักรวมกัน 702 ล้านลูกบาศก์เมตร แบ่งเป็น โครงข่ายในเขตจ.ชลบุรี มีทั้งหมด 7 อ่างฯ ใช้อ่างเก็บน้ำบางพระเป็นหลัก ในการจ่ายน้ำให้กับจ.ชลบุรีและจ.ฉะเชิงเทรา ส่วนในเขตจ.ระยอง ประกอบไปด้วยเครือข่ายอ่างเก็บน้ำ 4 อ่างฯ มีอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหลเป็นหลัก โดยมีอ่างเก็บน้ำประแสร์เป็นอ่างฯสำรอง เพื่อจ่ายน้ำให้กับจ.ระยองและจ.ชลบุรี ซึ่งปัจจุบันในพื้นที่จ.ระยองและชลบุรี มีความต้องการใช้น้ำรวมกันประมาณ 657 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ในขณะที่ความสามารถในการบริหารจัดการน้ำได้อย่างมั่นคงประมาณ 560 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ยังขาดปริมาณน้ำอีกประมาณ 90 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่ปัจจุบันกรมชลประทานกำลังดำเนินการจัดหาน้ำเพิ่มเติม โดยมีแนวทางในการดำเนินการ 2 แนวทาง คือ การเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายน้ำ และการเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักของอ่างเก็บน้ำที่มีอยู่ในปัจจุบัน

การเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายน้ำ ในพื้นที่จ.ชลบุรี มีโครงการที่กำลังดำเนินการคือ โครงการสถานีสูบน้ำพานทอง เพื่อสูบน้ำจากคลองชลประทานพานทอง ส่งน้ำไปยังอ่างเก็บน้ำบางพระ มีแผนก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2560  ส่วนในพื้นที่ จ.ระยอง มีโครงการที่กำลังดำเนินการก่อสร้างคือ การผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ไปยังอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล โดย บริษัท East Water คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2558 นอกจากนี้ กรมชลประทาน ยังได้ดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำในอ่างเก็บน้ำ 4 แห่ง ให้มีปริมาณน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้นอีก 92 ล้านลูกบาศก์เมตร ได้แก่ อ่างเก็บน้ำดอกกราย และอ่างเก็บน้ำประแสร์ มีแผนแล้วเสร็จในปี 2558 ส่วนอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหลและอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ จะเริ่มดำเนินการและมีแผนแล้วเสร็จในปี 2559 ทั้งนี้ ในส่วนของโครงการเพิ่มความจุให้กับอ่างเก็บน้ำประแสร์ นั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน เพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค การอุตสาหกรรม ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก โดยการเพิ่มความสูงของระดับเก็บกักน้ำขึ้นอีก 1 เมตร ทำให้สามารถเก็บกักน้ำได้เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 47 ล้านลูกบาศก์เมตร มีแผนดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2558

นอกเหนือจากงานที่ได้กล่าวมาข้างต้น กรมชลประทาน ยังมีโครงการสำคัญๆที่กำลังดำเนินการอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออก ได้แก่ โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยโสมง และอ่างเก็บน้ำพระสทึง จ.ปราจีนบุรี และอ่างเก็บน้ำประแกด จ.จันทบุรี ซึ่งในระยะยาว กรมชลประทานได้วางแผนพัฒนาแหล่งน้ำตามศักยภาพของพื้นที่ เพื่อให้มีปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ 1.28 ล้านไร่

สำหรับงานตามยุทธศาสตร์ป้องกันอุทกภัยที่สำคัญ ได้แก่ โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองจันทบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ปัจจุบันมีความก้าวหน้าไปกว่าร้อยละ 82 โดยในปี 2558 กรมชลประทาน ได้รับงบประมาณเพิ่มเติมในส่วนของโครงการศึกษาความเหมาะสมบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งในแม่น้ำปราจีนบุรี รวมไปถึงแผนงานที่กำลังจะขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการศึกษาบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่เศรษฐกิจในเขตอ.อรัญประเทศ จ.ปราจีนบุรีด้วย

“ในปีงบประมาณ 2558 กรมชลประทานได้รับงบประมาณ จำนวน 2,217 ล้านบาท สำหรับดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำในภาคตะวันออกทั้งหมด 591 โครงการ ซึ่งมีโครงการประเภทต่าง ๆ อาทิ การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ ฟื้นฟูอ่างเก็บน้ำ ขุดลอกลำน้ำ สร้างฝายทดน้ำ ก่อสร้างระบบส่งน้ำชลประทาน และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จ 265 โครงการ สำหรับแผนการแก้ไขปัญหาที่เป็นโครงการระยะกลางและระยะยาวที่สำคัญ มีแผนพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำในลุ่มน้ำคลองวังโตนด อย่างเช่น อ่างเก็บน้ำวังโตนด อ่างเก็บน้ำคลองหางแมว อ่างเก็บน้ำคลองพะวาใหญ่ เป็นต้น ซึ่งหากสามารถดำเนินการได้จะสามารถรองรับความต้องการใช้น้ำในภาคตะวันออกได้ถึง 20 ปี”อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวในตอนท้าย

จาก http://www.thanonline.com   วันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2558 

สั่งทำฝนหลวงแก้น้ำในเขื่อนน้อย เร่งช่วยเหลือพื้นที่เกษตร2.8ล.ไร่

นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าในเรื่องปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นว่า ล่าสุด ตนได้กำชับให้น่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงเกษตรฯ ได้ทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะกรมชลประทาน ถึงกรณีสถานการณ์น้ำตามข้อเท็จจริง เนื่องจากขณะนี้น้ำในเขื่อนที่มีทั้งหมดมีอยู่ค่อนข้างน้อยกว่าปีที่ผ่านมา และยังเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง จึงทำให้ไม่สามารถปล่อยน้ำให้เกษตรกรตามความต้องการได้ จึงจำเป็นต้องใช้อย่างจำกัด ขณะเดียวกันยังขอให้กรมชลประทานวางแผนการบริหารจัดการน้ำที่มีอย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์​สูงสุด โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาต้องวางแผนในการบริหารจัดการน้ำ ช่วยเหลือประชาชนที่มีการเพาะปลูกข้าวซึ่งมีการปลูกแล้วไปกว่า 2.8 ล้านไร่ จากพื้นที่ปลูกข้าวทั้งหมดกว่า 10 ล้านไร่

นอกจากนั้น ยังกำชับให้ทางกรมการฝนหลวงและการบินเกษตร เร่งรัดปฎิบัติการฝนหลวงทันทีที่มีภาวะความชื้นเหมาะสม เพื่อเติมน้ำในเขื่อนทั้งหมดให้ได้มากที่สุด ซึ่งเชื่อว่า การทำฝนหลวงน่าจะสามารถเร่งทำได้ เนื่องจากภาวะความชื้นมีมากขึ้น จึงน่าจะขึ้นบินปฎิบัติการฝนหลวงได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมา ขณะเดียวกันยังสั่งการให้ทางกรมส่งเสริมการเกษตรหามาตรการในการปลูกพืชทดแทน ในช่วงภาวะภัยแล้งในระยะสั้นที่ยังไม่สมารถปลูกข้าวได้ ซึ่งจะให้ใช้งบประมาณปกติไปก่อน หากไม่พอจะขออนุมัติงบเพิ่มเติมจาก ครม.เพื่อช่วยเหลือโดยเร็ว

"ตอนนี้ ผมได้สั่งการให้กรมชลประทาน ทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ให้เร็วที่สุดตามข้อเท็จจริง เพราะตอนนี้น้ำในเขื่อนค่อนข้างน้อย ประกอบกับฝนทิ้งช่วง จึงไม่สามารถปล่อยน้ำให้กับประชาชนได้ทั้งหมด ซึ่งกรมชลประทานจะต้องบริหารจัดการในการปล่อยน้ำช่วยเหลือเกษตรกที่ปลูกไปแล้วกว่า 2.8 ล้านไร่ให้ได้ ส่วนกรมฝนหลวงได้สั่งการไปแล้วให้เร่งทำฝนหลวง ผมเชื่อว่าจากภาวะฝนตกหนักในหลายพื้นที่ น่าจะทำให้ช่วงนี้ทางฝนหลวงน่าจะสามารถทำฝนหลวงได้มากขึ้นอย่างแน่นอน" นายชวลิต กล่าว

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2558 

รศ.ดร.สมชายรับตลาดจีนทำส่งออกไทยมีปัญหา

นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง เชื่อ ธปท. ปรับอัตราดอกเบี้ย ไม่ส่งผลกระทบเศรษฐกิจไทย ยอมรับตลาดประเทศจีน ทำส่งออกไทยมีปัญหา

รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง/ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจโลก เปิดเผยกับ สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. เรื่องการเติบโตของเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ ว่า แบงก์ชาติ ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยมาแล้ว 2 ครั้ง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ปกติ และคงไม่มีการปรับลดอีกเป็นครั้งที่ 3 ในระยะเวลาที่ไล่เลี่ยกัน ทางแบงก์ชาติ ได้มีมาตรการช่วยเหลือ อาทิ อัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนตัวลง ต้นทุนดอกเบี้ยที่ลดลง แต่เป็นการช่วยทางอ้อม ซึ่งประเด็นสำคัญของเศรษฐกิจไทยนั้น มาจากเศรษฐกิจโลก โดยเศรษฐกิจโลกในปีนี้ถือว่าดีขึ้น เพราะแต่ละประเทศปรับตัวเป็นบวก ยกเว้นในส่วนของประเทศจีน ที่เป็นตลาดการส่งออกที่สำคัญของไทยที่ปรับตัวลดลง จึงทำให้การส่งออกของไทย ได้รับผลกระทบไปด้วย ทั้งนี้ สิ่งที่การส่งออกไทยต้องปรับแก้ คือ การเปลี่ยนแปลงการส่งออก เพราะความสามารถในการแข่งขันของโลกเปลี่ยนแปลง แต่ไทยยังส่งออกเหมือนเดิม ซึ่งจะต้องรอดูต่อไปว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง พร้อมยืนยันว่า การส่งออกครึ่งปีหลังของไทยจะมีการเปลี่ยนแปลงดีขึ้นอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.สมชาย กล่าวว่า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง มีแนวโน้มปรับ GDP ประเทศไทยลดลงนั้น มองว่า ไม่น่าเป็นห่วงอะไรเพราะหลายครั้ง ยังคงมีการปรับลดลง เพื่อให้เห็นสภาพความเป็นจริงมากขึ้น แต่ที่ผ่านมา สามารถปรับตัวขึ้นได้ทุกครั้งอยู่แล้ว ส่วนกรณีที่ตลาดหุ้นฮ่องกง ปรับตัวลดลงนั้น ยืนยัน ไม่มีผลกระทบกับประเทศไทยอย่างแน่นอน

จาก http://www.innnews.co.th   วันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2558 

"นายกฯ"ยันบริหารน้ำไม่ได้เอื้อเฉพาะอุตสาหกรรมแนะเกษตรรู้จักปรับตัว

     เมื่อเวลา 15.30 น.ที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาประแสร์ อ.วังจันทร์ จ.ระยอง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการลงพื้นที่จ.ฉะเชิงเทรา และระยองว่า มาเยี่ยมประชาชนทั้ง 2 จังหวัดและมี 2 ภารกิจคือ ดูแลป่า ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวงทั้งเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทยและการบริหารจัดการน้ำ วันนี้มีการปรับทุกอย่างและอำนวยการขั้นที่ 1 ของปี 2557 ในการนำงบประมาณค้างท่อมาใช้ในหลายโครงการ โดยปัญหาเร่งด่วนคือ การแก้ปัญหาเรื่องน้ำ แหล่งกักเก็บน้ำขนาดเล็ก เพราะตอนนี้ยังสร้างเขื่อนอะไรไม่ได้ ในพื้นที่แล้งซ้ำซาก มีปัญหาน้ำท่วมเราต้องเตรียมการเหล่านี้ไว้ ซึ่งต้องแก้ปัญหาให้ได้ ตั้งแต่การกักเก็บน้ำ ระบายน้ำ ส่งน้ำ อุทกภัย ภัยแล้งซ้ำซาก จนถึงการจัดหาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร อุตสาหกรรม ประปา การอุปโภคบริโภค

    นายกฯ กล่าวว่า สำหรับการเกษตรนั้น ทั้งข้าว พืชไร่ ล้วนใช้น้ำทั้งสิ้น วันนี้ที่มีการยกระดับอ่างเก็บน้ำประแสร์ขึ้นมาเพื่อให้มีการกักเก็บน้ำมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาในช่วงหน้าน้ำเมื่อน้ำล้นขอบทำให้น้ำไหลกลับลงสู่แม่น้ำประแสร์เช่นเดิม ทำให้ใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ เมื่อยกระดับขอบอ่างเก็บน้ำให้สูงขึ้น ทำให้ส่งน้ำได้เพิ่มมากขึ้น ไม่ใช่ปล่อยทิ้งกลับไปข้างล่าง ส่วนข้อเรียกร้องจากชาวบ้านให้มีการใช้อ่างเก็บน้ำแห่งนี้จัดการผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อเกษตรกรด้วยนั้น จะส่งไปยังหน่วยที่เกี่ยวข้องด้านการผลิตไฟฟ้า เพื่อพิจารณาว่าคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่ ไม่ใช่อยากได้อะไรก็ทำทั้งหมด นอกจากนี้ทางอีส วอเตอร์ จะมีการติดตั้งท่อส่งน้ำประปา 15 จุด และจะแล้วเสร็จภายใน 3 เดือน และให้ชาวบ้านได้ใช้น้ำฟรี ทีเรื่องอย่างนี้ทำไมไม่พูดบ้าง

     ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่อีสวอเตอร์ ได้เปลี่ยนตัวผู้บริหารคนใหม่จะทำให้สามารถแก้ไขปัญหาเดิมได้อย่างชัดเจนใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า อย่ามาบอกว่าแก้ปัญหา ทุกคนที่เข้ามานั้นทำเหมือนกับตน เอาทุกเรื่องที่มีความเดือดร้อนมาแก้ คสช.ก็เข้ามาแบบนั้น เอาปัญหาที่หมักหมม ซ้ำซาก ไม่เกิดผลสัมฤทธิ์โดยเร็วมาปรับใหม่ อันไหนก่อนหลัง เร็วช้า จะทำอย่างไร และไม่ให้เกิดผลประโยชน์รั่วไหล ไม่มีทุจริต ยืนยันว่า การบริหารจัดการน้ำไม่ได้เน้นเฉพาะภาคอุตสาหกรรม เพราะทุกคนมีปริมาณการใช้น้ำอยู่แล้ว แต่ถ้าจะบอกว่าไม่ดูอุตสาหกรรมนั้นไม่ได้ ประเทศนี้ต้องอยู่ด้วยหลายอย่าง เกษตรกรรมอย่างเดียวก็อยู่ไม่ได้ วันหน้าจะปลูกไปขายใคร ตนจึงได้บอกว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลงการปลูกพืชว่าต้องกำหนดอุปสงค์ อุปทาน ที่เหลือต้องไปทำอาชีพอะไร และอย่าสอนให้คนคิดในทางที่ไม่ถูกตลอด เพราะโลกเปลี่ยนแปลง ประเทศก็ต้องเปลี่ยนแปลงให้ทันกับสภาวะแวดล้อม ไม่ใช่อะไรก็เรียกร้องทุกอย่างเหมือนเดิมมันจะได้ไหมเล่า

    เมื่อถามว่า มีเสียงเรียกร้องจากเกษตรกรให้นำกำลังทหารมาช่วยในเรื่องการขุดคลอง นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ก็ทำอยู่ แต่มีกว่า 200 โครงการ ทหารจะขุดไหวไหม ทหารมีเท่าไหร่รู้หรือไม่ มีเพียงกรมการทหารช่างเพียงกรมเดียวและมีเครื่องมือไม่เท่ากับบริษัทเอกชน ฉะนั้นโครงการไหนที่เร่งด่วน ทหารจะทำ เพราะไว้ใจได้ แต่บางอย่างที่ต้องกระจายเพื่อให้เกิดงานก็ต้องให้บริษัทเอกชนดำเนินการ ไม่อย่างนั้นก็เจ๊งกันเป็นแถบ อยากให้เข้าใจบ้าง สื่อต้องมองภาพให้เยอะๆ ทุกจุด ตนไม่ได้โกรธ แต่ได้พยายามพูดมา 2 ปีแล้ว ในการสอนวิธีการคิดท่านมาบอกว่า ตนตอบไม่ตรงคำถามตลอด แต่ที่ตอบนั้นต้องการให้เรียนรู้ ตนเรียนรู้สื่อ สื่อต้องเรียนรู้ตนบ้าง

จาก http://www.siamrath.co.th   วันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2558 

'จักรมณฑ์'นำทีมร่วมเวิลด์เอ็กซ์โปชูสินค้าเกษตรไทยขยายฐานส่งออก 

           "จักรมณฑ์" เตรียมเยือนเวียนนา- มิลาน ร่วมงาน World Expo 2015 ดันอุตสาหกรรมเกษตรอาหารไทย พร้อมร่วมประชุม UNIDO หารือแนวทางสนับสนุนอุตสาหกรรมเชื้อเพลิง

          นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ในวันที่ 17-22 มิ.ย. 2558 กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียม เดินทางไปยังกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย และกรุงมิลาน ประเทศอิตาลี เพื่อเข้าร่วมงาน World Expo 2015 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 พ.ค.-31 ต.ค. 2558 ณ กรุงมิลาน ประเทศอิตาลี โดยในปีนี้ประเทศไทยชูอุตสาหกรรมการเกษตรมาเป็นตัวชูนวัตกรรมต่าง ๆ ให้กับต่างประเทศได้ชม โดยใช้สัญลักษณ์งอบ เพื่อให้ตรงกับแนวคิดการจัดงานปีนี้ว่า "อาหารหล่อเลี้ยงโลก พลังงานหล่อเลี้ยงชีวิต" เนื่องจากไทยมีจุดเด่นด้านอาหาร ดังนั้นจึงจะใช้โอกาสนี้ หารือในเรื่องของอุตสาหกรรมภาคการผลิตสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมการเกษตร

          ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศระบุว่า สินค้าไทยที่มีศักยภาพในการส่งออกไปอิตาลี ประกอบด้วย อาหาร อัญมณี เครื่องประดับ น้ำมันปาล์ม ตลอดถึง เสื้อผ้า สิ่งทอ และอาหารสัตว์ ส่วนสินค้าที่ไทยนำเข้าจากอิตาลี มีอัญมณีและ เครื่องประดับเป็นสินค้าอันดับ 1

          พร้อมกันนี้ในช่วงวันที่ 17 มิ.ย. 58 นายจักรมณฑ์จะเดินทางพร้อมคณะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อร่วมประชุมระดับรัฐมนตรี ตามคำเชิญองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Industrial Development Organization) หรือ UNIDO เพื่อหารือเรื่องของอุตสาหกรรมเชื้อเพลิง

          นายจักรมณฑ์กล่าวเพิ่มเติมว่า การเดินทางครั้งนี้นับว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะ ส่งเสริมให้นักลงทุนไทยขยายการลงทุนออกไปยังตลาดต่างประเทศ ไทยมีนักลงทุน ที่มีศักยภาพสูงสามารถออกไปลงทุนได้ เพราะนักลงทุนไทยจำเป็นที่ต้องออกไปหาตลาดใหม่ก็เพื่อขยายฐานการผลิตและขยายธุรกิจ เนื่องจากฐานตลาดในประเทศอาจอิ่มตัว ที่ผ่านมาผู้ประกอบการ รายใหญ่ อาทิ เซ็นทรัล ซีพี ไทยเบฟเวอเรจ ปูนซิเมนต์ไทยออกไปลงทุนนานแล้ว ส่วนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีก็เริ่มได้รับการสนับสนุนจากหลายหน่วยงาน เช่น ก่อนหน้านี้มีบางหน่วยงานรัฐที่จัดทำโครงการให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ช่วยเหลือ ผู้ประกอบการรายเล็กออกไปลงทุน ถือเป็น การตอบสนองนโยบายรัฐบาลที่ต้องการช่วยเหลือ SMEs ให้เป็นวาระแห่งชาติ

          อย่างไรก็ตาม เอสเอ็มอียังมีข้อจำกัดในการออกไปลงทุนในภูมิภาคอื่น เช่น สหรัฐ หรือในสหภาพยุโรป เนื่องจากคุณภาพของสินค้าบางประเภทอาจยังไม่ตอบโจทย์ของประเทศนั้น ๆ เพราะกลุ่มประเทศดังกล่าวเน้นคุณภาพระดับพรีเมี่ยม แต่ศักยภาพของ SMEs ไทยสามารถออกไปลงทุนยังกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน ในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ซึ่งสินค้าไทยนับว่า คุณภาพดีที่สุด ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการเร่งพัฒนาคุณภาพสินค้าเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2558 

3 กระทรวงใหญ่จับมือพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศของประเทศไทย เน้นการพึ่งพาอาศัยกันของอุตสาหกรรม สังคมและสิ่งแวดล้อม 

          จรัส พิบูลย์ปุญญโชติ/รายงาน

          เมื่อวันก่อน ดร.อรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานเปิดงาน ความร่วมมือ "การพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศของประเทศไทย" ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย และ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ณ ห้องมัฆวาน AB สโมสรทหารบก

          ดร.อรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า "กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ของประเทศที่ส่งเสริมการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Growth) ซึ่งยึดแนวคิดการพัฒนาแบบบูรณาการเป็นองค์รวม จากที่รัฐบาลได้เห็นถึงทิศทางการพัฒนาประเทศที่กำลังประสบปัญหาความไม่สมดุลระหว่างเศรษฐกิจ ชุมชน และสิ่งแวดล้อม จึงมีมติคณะรัฐมนตรีกำหนดให้มีเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่เป็นเมืองต้นแบบ โดยมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษารูปแบบการจัดทำเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในพื้นที่อุตสาหกรรมเดิม

          ทั้งนี้ในส่วนการดำเนินงานของกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เริ่มผลักดันความเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2552 และมีพัฒนาการความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรมเป็นลำดับขั้นตอน จนได้คุณลักษณะซึ่งเป็นกุญแจสำคัญ ในการพัฒนาใน 5 มิติ คือ มิติกายภาพ มิติเศรษฐกิจ มิติสังคม มิติสิ่งแวดล้อม และมิติการบริหารจัดการ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบหมายให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบการขับเคลื่อนเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศให้เห็นเป็นรูปธรรมและได้จัดสรรงบประมาณให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม จัดทำโครงการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โดยมีโครงการย่อยที่กำหนดกิจกรรมเพื่อให้การดำเนินงานครอบคลุมทุกแผนงานที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ ดังจะขอยกตัวอย่างแผนแม่บทการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรม เชิงนิเวศ และการดำเนินงานขับเคลื่อนแผนงาน ในจังหวัดระยอง ซึ่งเป็นจังหวัดที่กระทรวงอุตสาหกรรมผลักดันให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศต้นแบบ โดยจากผลการศึกษาได้กำหนดเป้าหมายสำหรับการวางนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาภายในระยะเวลา 5 ปี

          ดร.อรรชกา สีบุญเรือง กล่าวเพิ่มเติมว่า "การที่จะผลักดันหรือขับเคลื่อนให้พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ หรือ Low Carbon Society ซึ่งเป็นตัวชี้วัดในลำดับสูงสุด เป็นเรื่องที่มีความท้าทายเป็นอย่างมาก เนื่องจากทุกองค์กร ทุกหน่วยงาน รวมถึงทุกคนต้องรับรู้และตระหนักถึงความสำคัญของการปฏิบัติตนให้เป็นส่วนหนึ่งของเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากทุกภาคส่วนในวันนี้ไม่ประสานความร่วมมือ โดยเฉพาะหน่วยงานหลัก 3 กระทรวง คือ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้รับมอบหมายจากรัฐบาล ให้ร่วมมือกันผลักดันเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งหน่วยงานส่วนกลาง และส่วนท้องถิ่นที่แสดงเจตนาร่วมมือกันในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศประเทศไทย เพื่อเป้าหมายสูงสุดของการเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ เป็นสังคมแห่งการเกื้อกูล เกิดความเชื่อมั่นและไว้วางใจซึ่งกันและกัน"

          ด้าน ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า "กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบการดำเนินโครงการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) ซึ่งได้มีการดำเนินงานพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศมาอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันได้ดำเนินการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศใน 15 จังหวัดทั่วประเทศ อันประกอบด้วยจังหวัดปทุมธานี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดนครปฐม จังหวัดราชบุรี จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี จังหวัดระยอง จังหวัดสระบุรี จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดขอนแก่น จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดสงขลา อีกทั้งมีการส่งเสริมให้พื้นที่อุตสาหกรรมในจังหวัดข้างต้น จัดทำแผนงาน และส่งเสริมกิจกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเชิงพื้นที่ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการรองรับแผนแม่บทเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่จะเกิดขึ้น

          สำหรับปี 2558 นี้ ได้ดำเนินการครอบคลุมพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ ราชบุรี, นครปฐม, นคราชสีมา, ขอนแก่น, สุราษฎร์ธานี และสงขลา โดยมีเป้าหมายให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ประชาชน ตลอดจนเยาวชนในพื้นที่ มีความรู้ ความเข้าใจและตระหนักถึงความเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศมากขึ้น สามารถพัฒนาไปสู่ความเจริญก้าวหน้าที่ยั่งยืนทางเศรษฐกิจของประเทศต่อไป"

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2558 

'อุ๋ย'มองไทยแข่งขันดีขึ้นดอกเบี้ยต่ำ-บาทอ่อน 

          หม่อมอุ๋ยมองบวก เงินบาทอ่อนลงเกือบ 3%  ดอกเบี้ยต่ำสุดในภูมิภาค ช่วยสินค้าเกษตร ฟื้นแล้ว

          ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า กรณีที่ค่าเงินบาทอ่อนลงเกือบ 3% จากระดับ 32.80 บาท/เหรียญสหรัฐ มาอยู่ที่ 33.70 บาท/เหรียญสหรัฐนั้น มีผลให้ภาคการส่งออก โดยเฉพาะสินค้าเกษตร เริ่มกลับมาฟื้นตัว จากก่อนหน้านี้ ประกอบการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเป็นจำนวนมาก และเชื่อว่ามีโอกาสที่เงินบาทจะปรับตัวอ่อนค่าลงอีก ส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบายขณะนี้ที่ 1.5% ถือว่าเป็นระดับที่ต่ำสุดในภูมิภาคแล้ว

          "ดอกเบี้ยนโยบายของไทย ที่ต่ำสุดในภูมิภาค ทำให้การแข่งขันของไทยอยู่ในระดับที่ดี สามารถแข่งขันกับเพื่อนบ้านได้มากขึ้น ส่งผลดีต่อผู้ประกอบการ เพราะได้กำไรจากการส่งออกมากกว่าช่วงก่อนหน้านี้" ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว

          สำหรับประเด็นเรื่องค่าแรง ขั้นต่ำ ยืนยันว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันไม่เคยพูดถึงการปรับขึ้นค่าแรง ขั้นต่ำเกินกว่า 300 บาท/วัน เพราะเป็นสิทธิของผู้ประกอบการที่จะตัดสินใจปรับหรือไม่ปรับขึ้นก็ได้ แต่จะไม่มีการปรับลดค่าแรงขั้นต่ำลงอย่างแน่นอน

          "ในอดีตมีการปรับขึ้นค่าแรงแบบเร่งขึ้นไปที่ 300 บาทเร็วเกินไป ก็เป็นอุปสรรคต่อการแข่งขัน แต่ตอนนี้ก็ถือว่าอยู่ตัวแล้ว การที่จะไปปรับลดค่าแรงก็คงทำไม่ได้ แต่การจะให้ลอยตัวตอนนี้ก็ลอยตัวอยู่ แต่ต้องอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ต่ำกว่านี้ ขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการ" ม.ร.ว. ปรีดิยาธร กล่าว

          ขณะที่ จักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำควรเป็นไปตามความเหมาะสมของพื้นที่ เนื่องจากบางพื้นที่มีอัตราค่าครองชีพต่ำ แต่กลับมีค่าแรงเท่ากับพื้นที่มีค่าครองชีพสูง เช่น กรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดมีค่าแรงเท่ากัน ซึ่งมองว่าไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง แต่ควรใช้ค่าแรง 300 บาทเป็นฐาน  ผู้ประกอบการรายใดจะให้มากกว่าก็ต้องขึ้นอยู่กับรายนั้นๆ

          เมธี สุภาพงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า กนง.มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ประเมินว่าเศรษฐกิจยังคงฟื้นตัวใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน โดยแรงส่งทางเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสแรก และเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ยังชะลอตัวลงจากการบริโภคภาคเอกชนที่ยังเปราะบาง และการส่งออกที่หดตัวต่อเนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและเอเชียและการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการค้าโลก

          อย่างไรก็ดี การเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐที่ทำได้เพิ่มขึ้น และการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดีต่อเนื่องมีบทบาทในการช่วยพยุงเศรษฐกิจในระยะต่อไป และมีแนวโน้มปรับดีขึ้นอย่างช้าๆ

          แต่มีความเสี่ยงจากโอกาส ที่เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวช้ากว่า ที่ประเมินไว้ โดยเฉพาะ เศรษฐกิจจีนและเอเชีย ส่วนยุโรปปรับตัว ได้ดีตามที่คาดไว้ กรณีกรีซไม่น่าจะมีผลกระทบกับเศรษฐกิจไทย แต่อาจจะมีผลกระทบให้ตลาดการเงินในตลาดโลกผันผวนบ้าง ส่วนการ ปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คาดว่าจะปรับดอกเบี้ยขึ้นในเดือน ก.ย.ปีนี้ ซึ่ง กนง.ก็จะติดตามต่อไป

          สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบต่อเนื่องจากต้นทุนด้านพลังงานและอาหารสดเป็นหลักแต่เงินเฟ้อจะสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังจากแนวโน้มราคาน้ำมันและอาหารสดที่เพิ่มขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังเป็นบวก แต่แนวโน้มลดลงบ้างตามแรงกดดันจากความต้องการใช้จ่ายในประเทศที่มีจำกัด แต่ กนง.ประเมินว่าโอกาสของการเกิดภาวะเงินฝืดยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากการอุปโภคบริโภคยังขยายตัวราคาสินค้าและบริการส่วนใหญ่ยังมีแนวโน้มทรงตัวหรือเพิ่มขึ้น และการคาดการณ์เงินเฟ้ออยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับเป้าหมายเงินเฟ้อ

          ทางด้านความเคลื่อนไหวของเงินบาท เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2558  ปิดตลาดเย็นอยู่ที่ระดับ 33.66 บาท/เหรียญสหรัฐ แข็งค่าจากเปิดตลาดช่วงเช้าที่ระดับ 33.70/72 บาท/เหรียญสหรัฐ เคลื่อนไหวตามค่าเงินภูมิภาค และผลประชุม กนง.ออกมามีมติคงดอกเบี้ย ขณะเดียวกันมีแรงซื้อหุ้นธนาคารพาณิชย์กลับคืนด้วย  จากก่อนหน้านี้ตลาดกังวลว่าหากลดดอกเบี้ยแล้วจะส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์มีส่วนต่างดอกเบี้ยลดลงตาม  รวมถึงปัญหาหนี้เสียที่เพิ่มขึ้น จึงมีแรงขายหุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์อย่างรุนแรง

จาก http://www.posttoday.com วันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2558 

‘อุ๋ย’สั่งแก้ลำโดนต่างชาติกีดกัน ทำมาตรฐานสินค้าไทย-สมอ.ลุยปราบจัดหนัก

  ‘หม่อมอุ๋ย’เร่งทำมาตรฐานสินค้าไทยป้องกันต่างชาติกีดกัน เน้น 10 กลุ่มผลิตภัณฑ์ อาทิเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ด้านสมอ.ระบุ 7 เดือนจับสินค้าไม่ได้มาตรฐาน 102 ราย พร้อมประสานกรมศุลฯตรวจเข้ม

 ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษในโอกาสเป็นประธานเปิดงานสัมมนาเนื่องใน ‘วันรับรองระบบงานโลก และวันมาตรวิทยาโลก’ เรื่อง “การมาตรฐานแห่งชาติกับการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศไทย” ว่าปัจจุบันการแข่งขันด้านคุณภาพมีความสำคัญและเข้มข้นมากกว่าการแข่งขันด้านราคา ไทยจึงจำเป็นต้องเคร่งครัดให้การผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานทุกราย เพื่อให้ประเทศคู่ค้าไม่สามารถหาเหตุผลที่จะนำมาปฏิเสธการรับรองมาตรฐานของไทยได้

 โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์ 10 สาขาที่ต้องจัดทำมาตรฐานเร่งด่วน ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า, อิเล็กทรอนิกส์, ยา, ยานยนต์และชิ้นส่วน, วัสดุก่อสร้าง, เครื่องสำอาง, เครื่องมือแพทย์, อาหารแปรรูป, ยาแผนโบราณและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร, และผลิตภัณฑ์ไม้

 ด้านนายหทัย อู่ไทย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์(สมอ.) กล่าวว่า สมอ.ทำงานเชิงรุกร่วมกับอุตสาหกรรมทั่วประเทศ เพื่อตรวจสอบผู้ผลิตและร้านจำหน่ายสินค้าอุตสาหกรรมที่ไม่ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(มอก.) โดยช่วง 7 เดือนของปีงบประมาณ 2558 (ต.ค.2557-พ.ค.2558) จับกุมร้านค้าและผู้ผลิตที่กระทำผิดกฎหมาย จำหน่ายและผลิตสินค้าไม่ได้มาตรฐานรวม 102 ราย

  ส่วนใหญ่กระจายอยู่ในจังหวัดที่มีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก อาทิ ระยอง สมุทรปราการ ประมาณ 95% เป็นร้านค้าจำหน่าย ที่เหลือเป็นโรงงานผลิต มูลค่าสินค้าที่จับได้หลักล้านบาท ถือว่าไม่มาก แต่หากดูผลกระทบในภาพสินค้าดังกล่าวจะทำให้ระบบเศรษฐกิจเสียหาย

  สมอ.ยืนยันจะดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำผิดทั้ง 102 รายให้ถึงที่สุด ซึ่งตามกฎหมายจะให้เวลา 30 วันในการปรับปรุงตัว หากผู้จำหน่ายมีความผิดมีโทษปรับ 5,000-50,000 บาท หรือจำคุก 1 เดือน ส่วนผู้ผลิตมีโทษปรับไม่เกิน 1,000,000 ล้านบาท หรือจำคุก 1 ปี หากพ้น 30 วันยังดำเนินการผิดกฎหมายอยู่จะพักใช้ใบอนุญาต 90 วัน สั่งหยุดผลิตชั่วคราวหากดำเนินการตามกรอบไม่ได้ จะถึงขั้นเพิกถอนใบอนุญาต

  นอกจากนี้จะประสานกับกรมศุลกากรในการเข้มงวดด่านชายแดนถาวรที่มีมากกว่า 50 แห่ง เพราะเป็นจุดที่อาจมีการลักลอบนำเข้าสินค้าไม่ได้มาตรฐาน

จาก http://www.khaosod.co.th วันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2558 

โรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ ระดมทุกภาคส่วนเสนอปัญหา เล็งขยายกำลังผลิตเอทานอล

ที่ลานอเนกประสงค์โรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ นายสิริรัฐ ชุมอุปการ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ นายสมชาย จันทร์เศรษฐี ผู้อำนวยการโรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ นายไพฑูรย์ ประภาถะโร ผู้ช่วยผู้จัดการสายงานอ้อย นายฉัตรกุล ปาณินห์ ผู้อำนวยการโรงงานบริษัท มิตรผลไบโอฟูเอล จำกัด พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ร่วมเปิดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เพื่อกำหนดขอบเขตและแนวทางประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ตามแผนขยายกำลังการผลิตลดการนำเข้าด้านพลังงานเชื้อเพลิง และพลังงานจากต่างประเทศตามโครงการโรงงานเอทานอลมิตรผล โดยมีผู้นำชุมชน ตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตัวแทนส่วนราชการและประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมกว่า 600 คน 

นายสมชาย กล่าวว่า บริษัท ไบโอฟูเอล (กุฉินารายณ์) จำกัด บริษัทในเครือมิตรผล ก่อตั้งขึ้นเพื่อผลิตเอทานอลบริสุทธิ์จากโมลาส เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงเอทานอลพลังงานทดแทนน้ำมันจากฟอสซิล ซึ่งปัจจุบันมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ดังนั้นบริษัทจึงเล็งเห็นความสำคัญนำวัตถุดิบที่ผลิตได้เอง คือ กากน้ำตาลมาหมักเปลี่ยนน้ำตาลเป็นเอทานอล แล้วกลั่นและแยกน้ำออก จนกลายเป็นเอทานอลที่มีความบริสุทธิ์ถึง 99.5% สามารถนำไปผสมน้ำมันเบนซินใช้เป็นเชื้อเพลิง ที่สามารถเกิดประโยชน์ในท้องถิ่นและประเทศได้

 นอกจากนี้ นายสมชาย กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาบริษัทได้ตระหนักและมุ่งเน้นพัฒนาสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่ประเทศ ลดการนำเข้าด้านเชื้อเพลิงและพลังงานไฟฟ้าจากต่างประเทศ จึงมีแนวคิดขยายกำลังการผลิต เพื่อตอบสนองความต้องการด้านพลังงานในประเทศ โดยเฉพาะการเพิ่มกำลังผลิตเอทานอลอีก 320,000 ลิตรต่อวัน และการเพิ่มกำลังผลิตเพื่อขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิต เป็น 45 เมกะวัตต์ โดยทั้ง 2 โครงการมีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นอย่างต่อเนื่อง เพื่อกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพให้ภาครัฐและประชาชนได้รับทราบ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ เพื่อระดมความคิดเห็นต่างๆ ไปพิจารณาป้องกันผลกระทบ สร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นแก่ชุมชนเพื่อความยั่งยืนต่อไป

จาก http://www.matichon.co.th วันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2558 

ปลัด ก.อุตฯ ลั่นนำกากอุตฯ เข้าระบบเพิ่ม แก้ปัญหาลอบทิ้งที่ต้นทาง 

         กระทรวงอุตสาหกรรม จัดสัมมนาการจัดการกากอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ ณ ห้องประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี สมุทรปราการ โดยมีผู้เกี่ยวข้อง และผู้ประกอบการโรงงานในจังหวัดเข้าร่วมการสัมมนา เมื่อวันที่ 8 มิถุนายนที่ผ่านมา

       อรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า นโยบายการจัดการกากอุตสาหกรรมอันตรายนั้นเป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ เพราะกากอุตสาหกรรมอันตรายหากลักลอบทิ้งจะก่ออันตรายต่อประชาชนและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล และตรวจสอบสถานประกอบการ ได้จัดทำโครงการอุตสาหกรรมทั่วไทย ร่วมใจจัดการขยะอุตสาหกรรมขึ้น เพื่อเร่งรัดการนำกากอุตสาหกรรมเข้าสู่ระบบ ทำให้การบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมเป็นไปอย่างเบ็ดเสร็จครบวงจร โดยจะเป็นการวางพื้นฐานสำหรับการแก้ไขปัญหาในระยะยาว

       “จ.สมุทรปราการ มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) สูงเป็นอันดับ 3 ของประเทศรองจากกรุงเทพมหานคร และจังหวัดระยอง โดยรายได้หลักของจังหวัดส่วนใหญ่มาจากภาคอุตสาหกรรม คิดเป็นร้อยละ 49 ของรายได้ทั้งหมด และมีจำนวนโรงงาน 7,355 โรงงาน ซึ่งข้อมูลปริมาณกากอุตสาหกรรมภายในจังหวัดต่อปีมีประมาณ 1,6 ล้านตัน แบ่งเป็น กากของเสียที่ไม่อันตราย 1.25 ล้านตัน และกากของเสียที่อันตราย 3.5 แสนตัน ซึ่งปัจจุบันจังหวัดสมุทรปราการสามารถนำกากของเสียเข้าสู่ระบบการจัดการได้แล้วประมาณ 1.2 ล้านตันต่อปี คิดเป็นร้อยละ 75 ของปริมาณกากทั้งหมด ส่วนกากของเสียที่อันตรายคาดว่ายังไม่เข้าสู่ระบบการจัดการที่ถูกต้อง มีเหลือประมาณ 6 หมื่นตันต่อปี ซึ่งเรื่องนี้มีความจำเป็นที่กระทรวงอุตสาหกรรมต้องช่วยกำกับดูแล และเข้มงวด ในการนำกากอุตสาหกรรมดังกล่าวเข้าสู่ระบบการจัดการที่ถูกต้องให้เพิ่มขึ้น เพื่อลดปัญหาการทิ้งกากอุตสาหกรรมปะปนกับขยะชุมชน หรือแอบไปทิ้งฝังกลบรวมในบ่อขยะของเทศบาล” ปลัดอรรชกา กล่าว

       ทั้งนี้ ในส่วนของการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมได้วางแผนยุทธศาสตร์การจัดการกากอุตสาหกรรม ในระยะ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2558-2562 โดยมีเป้าหมายในการนำกากของเสียที่เป็นอันตราย จำนวน 1.5 ล้านตัน เข้าสู่ระบบให้ถูกต้อง และให้โรงงานผู้ก่อกำเนิดของเสียทั้งหมดเข้าสู่ระบบด้วยการอบรม ให้ความรู้ ความเข้าใจ และทราบถึงบทลงโทษหากดำเนินการไม่ถูกต้องตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ โดยเริ่มต้นที่จังหวัดสมุทรปราการเป็นที่แรก ก่อนขยายไปทุกจังหวัดทั่วประเทศ นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีมาตรการหาพื้นที่รองรับกากอุตสาหกรรมสำหรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในระยะ 20 ปีข้างหน้า อย่างน้อย 6 พื้นที่ และจะนำร่องสร้างเตาเผาขยะอุตสาหกรรม มูลค่า 1,800 ล้านบาท โดยเป็นการร่วมลงทุนกับรัฐบาลญี่ปุ่น ขณะเดียวกันในปีนี้ยังจะออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมบังคับให้ผู้ขนส่งกากอุตสาหกรรม ต้องติดตั้งระบบ GPS ทุกคัน และกำหนดบทลงโทษเพิ่มเติมหากมีการลักลอบทิ้งกาก

จาก http://manager.co.th  วันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2558 

น้ำตาลลง 

          รายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกได้ปรับลดลงต่อเนื่อง โดยราคาน้ำตาลทรายดิบซื้อขายล่วงหน้าส่งมอบเดือนก.ค.  58 ลดลงมาเหลือ 12.5 เซนต์ต่อปอนด์ ถือว่าเป็นราคาที่ต่ำกว่าต้นทุนที่ใช้ในการคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นปีการผลิต  57/58 ที่ 18 เซนต์ต่อปอนด์ เนื่องจากปริมาณน้ำตาลที่ล้นตลาดโดยเฉพาะจากบราซิลซึ่งเป็นผู้ผลิตส่งออกรายใหญ่

จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2558 

ภารกิจการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

ตามที่ประเทศไทยจะเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนอย่างเป็นทางการในวันที่ 31 ธันวาคมนี้ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีนโยบายเตรียมความพร้อมการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยกำหนดให้ทุกส่วนราชการจัดทำแผนงาน โครงการรองรับเข้าสู่ประชาคมอาเซียนและดำเนินการตามภารกิจที่รับผิดชอบ เพื่อให้การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของประเทศไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงทั้งความปลอดภัยและความมั่นคง ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการเตรียมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนและคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิบัติเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน จัดทำแผนแม่บท จัดทำโครงการสำคัญเร่งด่วน ซึ่งได้ทำเป็นโรดแม็ป 3 ระยะด้วยกัน

ทั้งนี้ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร.ได้มอบหมายให้ พล.ต.อ.วุฒิ ลิปตพัลลภ รอง ผบ.ตร.ทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิบัติเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

ปี 2558 และ ผอ.ศูนย์อำนวยการเตรียมการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ปี 2558

โดยกำหนดเป็น แผนยุทธศาสตร์แนวทางปฏิบัติของหน่วยงานต่างๆ 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ บริหารจัดการชายแดนและแก้ปัญหาภัยคุกคามทุกรูปแบบเพื่อความมั่นคงของประเทศ

 ยุทธศาสตร์ สร้างความเชื่อมโยง ด้านการท่องเที่ยว การบริการ และการลงทุน กับประเทศในสมาชิกอาเซียน ยุทธศาสตร์สร้างความร่วมมือ ด้านการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทั้งในและนอกอาเซียน และยุทธศาสตร์การบริหารจัดการและการพัฒนาองค์กร

ให้ความสำคัญและปฏิบัติตามข้อตกลงของตำรวจ ASEANAPOL 9 เรื่องได้แก่ การลักลอบค้ายาเสพติด การก่อการร้าย การลักลอบขนอาวุธ การลักลอบค้ามนุษย์ การฉ้อโกงทางทะเล อาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ความผิดเกี่ยวกับธนาคารและการปลอมแปลงบัตรเครดิต อาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ การปลอมแปลงเอกสารเดินทาง การฉ้อโกงระหว่างประเทศ

ให้ความสำคัญเกี่ยวกับ การท่องเที่ยวและการลงทุน กำหนดการรักษาความปลอดภัย การอำนวยความสะดวกให้กับผู้เดินทางเข้าประเทศ

ให้ความสำคัญในการรองรับนโยบายของรัฐบาลที่จะ จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทั้ง 10 พื้นที่ ได้แก่ จ.ตาก จ.สระแก้วจ.ตราด จ.มุกดาหาร จ.สงขลา จ.เชียงราย จ.กาญจนบุรี  จ.นครพนม และ จ.นราธิวาส

สำหรับศูนย์อำนวยการเตรียมการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน จะสามารถประสานงานกับตำรวจประเทศสมาชิกในอาเซียนให้กับรัฐบาล หน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งด้านความมั่นคง อาชญากรรมข้ามชาติและการท่องเที่ยวเพิ่มประสิทธิภาพในการรวมอาเซียนให้เป็นหนึ่งเดียว.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2558 

แจงสี่เบี้ย : สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 2 เร่งสานต่อโครงการเกษตรสีเขียว (2)

สถานีพัฒนาที่ดินจันทบุรี ได้ดำเนินการโครงการเมืองเกษตรสีเขียวอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2558 นี้ การถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการพัฒนาที่ดิน จัดฝึกอบรมและถ่ายทอดนวัตกรรมด้านการพัฒนาที่ดินให้แก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ โดยมุ่งเน้นให้เกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการเมืองเกษตรสีเขียวและการผลิตและใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทดแทนปุ๋ยเคมี ส่งเสริมการปรับปรุงบำรุงดินในสวนของเกษตรกร เพื่อให้ดินมีความเหมาะสมต่อการเพาะปลูกไม้ผลแต่ละชนิดด้วยการใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงที่ผลิตขึ้นใช้เอง อีกทั้งยังมีการใช้วัสดุปรับปรุงดินกรดอย่างปูนโดโลไมท์

นอกจากนี้ จะเน้นการเก็บตัวอย่างดินไปตรวจวิเคราะห์ ซึ่งแนะนำให้เกษตรกรเก็บตัวอย่างดินก่อนจะมีการปรับปรุงดินในพื้นที่มาวิเคราะห์เพื่อคำนวณอัตราการใช้ปุ๋ยที่เหมาะสม และให้สอดคล้องกับการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งหลังจากทำการปรับปรุงดินตามคำแนะนำของกรมพัฒนาที่ดินแล้วก็จะให้นำตัวอย่างดินมาวิเคราะห์อีกครั้งเพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างก่อนและหลังการปรับปรุงดิน

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาของการดำเนินการในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการให้การตอบรับเป็นอย่างดีโดยเฉพาะมีการนำความรู้ที่ได้จากการฝึกอบรมไปผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง รวมถึงมีการปรับปรุงบำรุงดินตามคำแนะนำของกรมพัฒนาที่ดินมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม สถานีพัฒนาที่ดินจันทบุรี ยังคงเดินหน้าทำโครงการดังกล่าวต่อไป โดยมุ่งเน้นสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ควบคู่กับการสร้างองค์ความรู้ให้เกษตรกรรายใหม่ด้วย

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2558 

ก.พลังงานเตรียมรับมือไฟดับ

ก.พลังงานเตรียมรับมือไฟดับเร่งระดมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมรับมือแหล่งก๊าซฯเจดีเอหยุดซ่อม ป้องกันไฟดับภาคใต้วันอังคารที่ 9 มิถุนายน 2558 เวลา 23:41 น.

นายทวารรัฐ สูตะบุตร รองปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงาน เตรียมเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประเมินความพร้อมกรณีแหล่งก๊าซธรรมชาติพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (เจดีเอ- เอ18 ) จะหยุดซ่อมบำรุงปรับปรุงระบบระหว่างวันที่ 19-23 ก.ค. นี้

ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อโรงไฟฟ้าจะนะ ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง มีกำลังการผลิตหายไป 800 เมกะวัตต์ เพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของการใช้ไฟฟ้าในภาคใต้ ไม่ให้เกิดปัญหาไฟฟ้าดับในวงกว้าง

“ขณะนี้ ประเด็นหลักที่จะต้องให้ความสำคัญคือการจัดหากำลังผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอ

โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ปรับปรุงให้โรงไฟฟ้าจะนะชุดที่ 1 สามารถเปลี่ยนไปใช้น้ำมันดีเซลแทนก๊าซฯได้ เบื้องต้นจะเดินเครื่องได้ทันในเดือนก.ค.นี้ แต่ในทางปฏิบัติ จะต้องได้รับการยืนยันว่า สามารถเดินเครื่องได้24 ชม. ด้วย ขณะเดียวกันจะต้องจัดเตรียมสต๊อกน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาสำรองไว้ใช้กับโรงไฟฟ้า และการดูแลระบบสายส่งไฟฟ้าให้พร้อมมากที่สุด”

นายเริงชัย คงทอง ผู้อำนวยการฝ่ายควบคุมระบบกำลังไฟฟ้า กฟผ. กล่าวว่า กฟผ.ได้เตรียมแผนรับมือช่วงแหล่งก๊าซฯเจดีเอหยุดจ่ายไว้แล้วทั้งด้านการผลิตไฟฟ้า จะเดินเครื่องโรงไฟฟ้าจะนะชุดที่ 1ด้วยดีเซล ขณะที่ให้ชะลอการซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้าในภาคใต้ เช่น โรงไฟฟ้ากระบี่ โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนรัชชประภา โรงไฟฟ้าพลังน้ำ , ด้านระบบส่ง การบำรุงรักษาสายส่งไฟฟ้าให้มีความพร้อม

เนื่องจากปัจจุบันยังต้องส่งกำลังไฟฟ้าจากภาคกลางไปยังภาคใต้ รวมทั้งการประสานไปยังการไฟฟ้ามาเลเซีย เพื่อซื้อไฟฟ้าไว้ใช้กรณีฉุกเฉิน ไม่เกิน 300 เมกะวัตต์ เป็นมาตรการรองรับไว้ แต่ถ้าทุกอย่างปกติก็ไม่จำเป็นต้องซื้อไฟฟ้าเพิ่มส่วนการเตรียมสำรองน้ำมันดีเซลไว้ใช้กับโรงไฟฟ้าจะนะ 20 ล้านลิตร และน้ำมันเตา 25 ล้านลิตร ไว้ใช้กับโรงไฟฟ้ากระบี่ และขอความร่วมมือกับภาคประชาชนและผู้ประกอบการเอกชน เพื่อลดใช้ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็น

โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.)จะนำโครงการความร่วมมือลดใช้ไฟฟ้า มาใช้อีกครั้ง เป็นเชิญชวนให้ผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่เข้าร่วมโครงการลดใช้ไฟฟ้าในช่วงที่แหล่งก๊าซฯเจดีเอหยุดจ่าย

นายไกรสีห์ กรรณสูต กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (เรคกูเลเตอร์) กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณานำโครงการความร่วมมือลดใช้ไฟฟ้า มาใช้กับผู้ใช้ไฟฟ้าทางภาคใต้ โดยตั้งเป้าหมายจะลดการใช้ไฟฟ้าได้ไม่เกิน 100 เมกะวัตต์ ส่วนอัตราค่าไฟฟ้าที่จะชดเชยให้กับผู้ที่ลดใช้ไฟฟ้าได้ ยังอยู่ระหว่างการหารือเพื่อให้ได้ตัวเลขที่เหมาะสมแต่คงไม่ถึง 4 บาทต่อหน่วย เนื่องจากเป็นการรณรงค์เฉพาะผู้ใช้ไฟฟ้าในภาคใต้เท่านั้น

จาก  http://www.dailynews.co.th  วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2558

แจงสี่เบี้ย : สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต2 เร่งสานต่อโครงการเกษตรสีเขียว (1)

โครงการเมืองเกษตรสีเขียว เป็นโครงการสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่สอดคล้องกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประเทศของรัฐบาล ซึ่งเน้นให้ความสำคัญกับการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตลอดจนห่วงโซ่การผลิตและการบริโภค โดยมีการคัดเลือกพื้นที่เป้าหมายจากจังหวัดที่มีศักยภาพและความโดดเด่นในการผลิตสินค้าเกษตรเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง รวม 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ หนองคาย ศรีสะเกษ ราชบุรี จันทบุรี และพัทลุง

กรมพัฒนาที่ดิน ถือเป็นหน่วยงานหนึ่งในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ที่มีส่วนในการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านของการพัฒนาดิน ซึ่งกรมพัฒนาที่ดินจะเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งการปรับปรุงดินและการใช้วัสดุปรับปรุงดิน นอกจากนี้ยังดำเนินการประสานข้อมูลเชิงพื้นที่ไปที่จังหวัดโดยตรง และจะคอยเป็นผู้ติดตามข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ นอกจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยแปลงฐานข้อมูลให้มาอยู่ในรูปข้อมูลเชิงพื้นที่

ทั้งนี้ จะเน้นการรายงานสถานการณ์ที่แท้จริงตามสภาพภูมิประเทศ โดยใช้ระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ช่วยอธิบายความเปลี่ยนแปลงในทุกไตรมาส ซึ่งเมื่อเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างน้อย 4 ครั้ง ในรอบปี พื้นที่ตัวแทน 6 พื้นที่ต้นแบบ จะสามารถเห็นถึงการพัฒนาการของการขับเคลื่อนจากทุกภาคส่วน โดยจังหวัดจะได้ประโยชน์ในการดำเนินยุทธศาสตร์ของจังหวัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะโครงการ เมืองเกษตรสีเขียวซึ่งได้ถูกตัดความซ้ำซ้อนจากโครงการอื่นอย่างเด่นชัด อีกทั้งจะเป็นผู้กระชับข้อมูลให้มีความทันสมัยและอยู่ในรูปแบบดิจิตอล บนเว็บไซต์ของจังหวัดและกระทรวงเกษตรฯอีกด้วย

จังหวัดจันทบุรี ซึ่งอยู่ในการดูแลของสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 2 และนับเป็น 1 ใน 6 จังหวัดที่ได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ได้รับการพัฒนาเป็นเมืองเกษตรสีเขียว โดยที่ผ่านมา สถานีพัฒนาที่ดินจันทบุรี ได้ดำเนินการขับเคลื่อนเมืองเกษตรสีเขียวจังหวัดจันทบุรีด้านการพัฒนาที่ดิน ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่อง 5 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2557-2561 โดยในปีแรกได้ดำเนินการในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอท่าใหม่ ขลุง นายายอาม เมือง และแหลมสิงห์ มีเกษตรกรเข้าร่วมจำนวน 2,200 ราย

จาก  http://www.naewna.com วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2558

กองทุนฟื้นฟูจับมือมหาดไทย เตรียมเลือกตั้งผู้แทนเกษตรกร

ดำเนินการจัดการเลือกตั้งผู้แทนเกษตรกรเพื่อเป็นกรรมการในคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ตามพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ. 2542

สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ร่วมกับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยดำเนินการจัดการเลือกตั้งผู้แทนเกษตรกรเพื่อเป็นกรรมการในคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ตามพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ. 2542 โดยมีวันเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 28 มิ.ย. 58 ซึ่ง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทยได้ให้การสนับสนุนและมอบหมายให้กรมการปกครองเป็นผู้ดำเนินการจัดการเลือกตั้งผู้แทนเกษตรกร พ.ศ. 2558 นี้

นายวัชระพันธุ์ จันทรขจร เลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ กล่าวว่า กรมการปกครองได้จัดทำแผนบริหารการจัดการเลือกตั้งผู้แทนเกษตรกร พ.ศ. 2558 โดยได้กำหนดให้มีการจัดการอบรมเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเลือกตั้งผู้แทนเกษตรกรซึ่งวัตถุประสงค์เพื่อชี้แจงนโยบายในการบริหารจัดการเลือกตั้งผู้แทนเกษตรกร และซักซ้อมขั้นตอนการปฏิบัติในการบริหารจัดการเลือกตั้งผู้แทนเกษตรกร พ.ศ. 2558 ให้ผู้เกี่ยวข้องได้รับทราบโดยทั่วกัน

ผู้เข้าสัมมนาสามารถบริหารจัดการเลือกตั้ง และนำความรู้ ไปอบรมสัมมนาเจ้าหน้าที่ระดับอำเภอ และเขต ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเปิดโอกาสให้ผู้เข้าสัมมนาได้ซักถามและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการบริหารจัดการเลือกตั้งผู้แทนเกษตรกร พ.ศ.2558 และนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง เพื่อเป็นไปตามขั้นตอนตามที่คณะกรรมการอำนวยการเลือกตั้ง ได้มีมติเห็นชอบ และเนื่องจากการดำเนินการเลือกตั้งผู้แทนเกษตรกรมีกฎหมายกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ ซึ่งแตกต่างจากการเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกสภาท้องถิ่น เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ชี้แจงข้อกฎหมายและแผนบริหารจัดการเลือกตั้งให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบทั้งการจัดการเลือกตั้งและการติดตามประเมินผลได้รับทราบ

ที่ผ่านมาได้จัดสัมมนาในภูมิภาคต่าง ๆไปแล้ว ได้แก่ ภูมิภาคที่หนึ่ง สัมมนาในวันที่ 25-26 พ.ค. 2558 ณ โรงแรมเชียงใหม่ภูคำ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ภูมิภาคที่สอง ในวันที่ 28-29 พ.ค. 2558 ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ มหานาค กรุงเทพมหานคร ภูมิภาคที่สามในวันที่ 4-5 มิ.ย. 2558 ณ โรงแรมหาดใหญ่พาราไดซ์แอนด์รีสอร์ท อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และจะจัดภูมิภาคที่สี่ ในวันที่ 8-9 มิ.ย. 2558 ณ โรงแรมเจริญโฮเต็ล อ.เมือง จ.อุดรธานี

สำหรับที่มาของการมีผู้แทนเกษตรกร กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร นั้น เกิดจาก พ.ร.บ. กองทุนฟื้นฟูฯ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 กำหนดให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการมี รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นรองประธาน โดยมีปลัดกระทรวงมหาดไทยร่วมเป็นกรรมการและมีผู้แทนเกษตรกรจำนวน 20 คนเป็นกรรมการ

โดยผู้แทนดังกล่าวให้ รมว.เกษตรและสหกรณ์ แต่งตั้งผู้แทนเกษตรกร ซึ่งได้รับเลือกตั้งจากสมาชิกองค์การเกษตรกรในสี่ภูมิภาค อย่างน้อยภูมิภาคละ 2 คน ส่วนที่เหลือให้เป็นไปตามสัดส่วนของสมาชิกเกษตรกรในแต่ละภูมิภาค

ส่วนผู้แทนเกษตรกรในคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรที่มาจากการเลือกตั้ง 20 คน ครบวาระการดำรงตำแหน่ง เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2557 ที่ผ่านมาซึ่งจะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งผู้แทนเกษตรกรเพื่อเข้ามาเป็นกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ทดแทนตำแหน่งที่ว่างลงตามความในมาตรา 12 มาตรา 13 มาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ. 2542 และกฎกระทรวงที่กำหนดการแบ่งภูมิภาคและการเลือกตั้งผู้แทนเกษตรกร พ.ศ. 2544 และกฎกระทรวงกำหนดแบ่งภูมิภาคและการเลือกตั้ง

ซึ่งนี่คือที่มาของการเลือกตั้งในครั้งนี้เพื่อสรรหาตัวแทนเกษตรกรไปช่วยกันพัฒนาการเกษตรของไทยให้บรรลุตามเป้าวัตถุประสงค์ต่อไป.

จาก  http://www.dailynews.co.th  วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ก.อุตสาหกรรม เร่งจัดการกากอุตสาหกรรมทุกจังหวัด นำร่องมุทรปราการ

นางอรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวภายหลังเปิดการสัมมนาการจัดการกากอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ ว่า นโยบายนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เพราะกากอุตสาหกรรมอันตรายหากลักลอบทิ้งจะเป็นอันตรายต่อประชาชนและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม  กระทรวงอุตสาหกรรม จึงจัดทำโครงการอุตสาหกรรมทั่วไทย ร่วมใจจัดการขยะอุตสาหกรรมขึ้น เพื่อเร่งรัดการนำกากอุตสาหกรรมเข้าสู่ระบบ ทำให้การจัดการเป็นไปอย่างเบ็ดเสร็จครบวงจร พร้อมวางแผนแก้ไขปัญหาในระยะยาว โดยพบว่าจังหวัดสมุทรปราการ มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) สูงเป็นอันดับ 3ของประเทศ รองจากกรุงเทพมหานคร และจังหวัดระยอง ซึ่งรายได้หลักของจังหวัดส่วนใหญ่มาจากภาคอุตสาหกรรม คิดเป็นร้อยละ 49ของรายได้ทั้งหมด และมีจำนวนโรงงาน 7,355โรงงาน ซึ่งข้อมูลปริมาณกากอุตสาหกรรมภายในจังหวัดต่อปีมีประมาณ 1.6ล้านตัน แบ่งเป็น กากของเสียที่ไม่อันตราย 1.25ล้านตัน และกากของเสียที่อันตราย 3.5แสนตัน ซึ่งปัจจุบันจสามารถนำกากของเสียเข้าสู่ระบบได้แล้วประมาณ 1.2ล้านตันต่อปี คิดเป็นร้อยละ 75ของปริมาณกากทั้งหมด ส่วนกากของเสียที่อันตราย คาดว่ายังไม่เข้าสู่ระบบยังมีประมาณ 6หมื่นตันต่อปี ซึ่งเรื่องนี้จำเป็นที่กระทรวงอุตสาหกรรมต้องช่วยกำกับดูแลและเข้มงวด

สำหรับการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมทั่วประเทศ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้วางแผนยุทธศาสตร์การจัดการกากอุตสาหกรรม ในระยะ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2558 - 2562 โดยมีเป้าหมายในการนำกากของเสียที่เป็นอันตราย จำนวน 1.5 ล้านตัน เข้าสู่ระบบให้ถูกต้อง และให้โรงงานผู้ก่อของเสียทั้งหมดเข้าสู่ระบบ และทราบถึงบทลงโทษหากไม่ดำเนินการตามกฎหมาย โดยเริ่มต้นที่จังหวัดสมุทรปราการเป็นที่แรก ก่อนขยายไปทุกจังหวัดทั่วประเทศ นอกจากนี้ กระทรวงฯ ยังมีมาตรการหาพื้นที่รองรับกากอุตสาหกรรมสำหรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในระยะ 20 ปีข้างหน้า อย่างน้อย 6 พื้นที่ และจะนำร่องสร้างเตาเผาขยะอุตสาหกรรม มูลค่า 1,800 ล้านบาท

จาก  http://www.thanonline.com  วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2558

เปิด5ยุทธศาสตร์'สินค้าอินทรีย์' พณ.หวังเป็นศูนย์กลางอาเซียน

นายวุฒิชัย ดวงรัตน์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ในฐานะผู้รับผิดชอบ เรื่องการส่งเสริมการตลาดสินค้าอินทรีย์ ได้กำหนดยุทธศาสตร์พัฒนาตลาดสินค้าอินทรีย์ปี 2557-2559 ไว้ 5 ยุทธศาสตร์สำคัญ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ 1.การสร้างความรู้ ความเข้าใจ 2.พัฒนาฐานข้อมูลให้ทันสมัย เพื่อใช้ในการวางแผนการตลาดเชิงรุก 3.การขยายตลาดสินค้าอินทรีย์ทั้งในและต่างประเทศ 4.สร้างความหลากหลายของสินค้าให้ตรงความต้องการของตลาด และ 5.การสนับสนุนเชิงนโยบาย หวังให้ไทยเป็นศูนย์กลางสินค้าอินทรีย์ในอาเซียน เพราะขณะนี้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออก ซึ่งกระทรวงฯ ได้วางรูปแบบการพัฒนา 3 รูปแบบ แบ่งเป็น ท้องถิ่น ประเทศ และต่างประเทศ รวมถึงยังสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชน ในการรณรงค์เพื่อสร้างความตะหนักรับรู้แก่ผู้บริโภค ผลักดันสินค้าอินทรีย์เข้าสู่ร้านอาหาร การรณรงค์เรื่องสุขภาพ ในการส่งเสริมเกษตร ผู้ผลิต ผู้ประกอบการสินค้าอินทรีย์อย่างครบวงจร ตั้งแต่การผลิตถึงตลาด และในระหว่างวันที่ 23-26 ก.ค.2558 กระทรวงฯ เตรียมจัดงานแสดงสินค้า Organic & Natural Expo 2015 ครั้งที่ 5 ขึ้นที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อรณรงค์ให้ผู้บริโภค ชาวไทยหันมาให้ความนิยมบริโภค อาหารปลอดภัยและเพื่อสุขภาพ

สำหรับสถานการณ์ตลาดสินค้าอินทรีย์ในปี 2556 เติบโตมากถึง 72,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และในช่วง 10 ปีที่ผ่าน (2547-2556) ตลาดขยายตัวกว่า 2.5 เท่า ทั้งที่ช่วงดังกล่าวเกิดวิกฤตทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา แต่สินค้าอินทรีย์กับมีแนวโน้มของการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ตลาดออร์แกนิคในสหรัฐอเมริกาในปัจจุบันเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก สัดส่วน 43% หรือ 35,000 ล้านเหรียญฯ คาดว่าในปี 2557-2558จะเติบโตถึง 11% รองมาคือยุโรป 40% จีน 4% แคนนาดา 4% สวิสเซอร์แลนด์ 3% ญี่ปุ่น 2% และตลาดอื่นๆ 4%

ส่วนตลาดอินทรีย์ในประเทศมีโอกาสเติบโตอีกมากทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งตลาดในประเทศมีผู้บริโภคเพิ่มสูงขึ้นโดยเทรนด์การรักษาสุภาพ โดยสินค้าหลักที่นิยมคือ ผักและผลไม้ สำหรับสินค้าอินทรีย์ที่ไทยส่งออกมาก ประกอบด้วย ข้าวหอมมะลิ มีสัดส่วนการส่งออก 68% รองมาเป็น กลุ่มผัก สัดส่วน 12% กลุ่มผลไม้สัดส่วน 8% ชาสัดส่วน 8% และผลิตภัณฑ์สมุนไพรและอื่นๆ 4%

จาก  http://www.naewna.com วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2558

รายงานพิเศษ : ‘เกษตรแปลงใหญ่’ แนวทางบริหารจัดการภาคเกษตรแบบบูรณาการ

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดนโยบายสำคัญในการส่งเสริมการเกษตรให้เป็นแปลงใหญ่และการปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตรระดับพื้นที่ ที่มีการดำเนินงานในลักษณะการรวมกลุ่มของเกษตรกรรายย่อยหลายๆ ราย เพื่อวางระบบการผลิตและการบริหารจัดการในแนวทางเดียวกัน เพื่อประหยัดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต แต่เกษตรกรยังคงเป็นเจ้าของพื้นที่และทำการผลิตเองอย่างเช่นเคย

นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากสภาพการณ์ของภาคเกษตรของประเทศไทย ที่ส่วนใหญ่จะเป็นเกษตรกรรายย่อย มีพื้นที่ถือครองทางการเกษตรขนาดเล็ก โดยเฉลี่ยรายละ 24 ไร่/ครัวเรือน และเป็นการผลิตที่มีลักษณะต่างคนต่างทำ ประกอบกับการผลิตภาคเกษตรของไทยเผชิญกับข้อจำกัดต่างๆ เช่น ต้นทุนการผลิตที่สูง การผลิตที่ขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศ ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ การพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ยังจำกัดหรือการไม่สามารถเพิ่มปัจจัยการผลิตทั้งที่ดินและแรงงานได้มากเหมือนเช่นในอดีต

ดังนั้น การปรับระบบส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ จะก่อให้เกิดความร่วมมือในการผลิตโดยเกษตรกรหรือองค์กรเกษตรกรในพื้นที่ที่มีการดำเนินกิจกรรมที่ติดต่อกันเป็นแปลงใหญ่ ทำให้เกิดขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ขึ้น (Economy of Scale) เป็นการเพิ่มอำนาจการต่อรองของเกษตรกรตลอดกระบวนการผลิต และห่วงโซ่อุปทาน ได้แก่ การจัดการปัจจัยการผลิต เทคโนโลยี การเก็บเกี่ยว การจัดการหลังการผลิต การแปรรูปเบื้องต้น และการตลาด อีกทั้งยังก่อให้เกิดความสะดวกในการรวบรวมสรรพกำลังของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ และผู้เกี่ยวข้องให้เข้าไปดำเนินการส่งเสริมสนับสนุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย

สำหรับการกำหนดพื้นที่เป้าหมายของเกษตรแปลงใหญ่ แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1.เขตชลประทาน 2.เขตที่มีพื้นที่ชัดเจน เช่น พื้นที่ ส.ป.ก. สหกรณ์นิคม และ 3.เขตที่มีการเพาะปลูกหรือมีกิจกรรมทางการเกษตรเป็นพิเศษ เช่น พื้นที่ที่สามารถทำข้าวพิเศษต่างๆได้อย่างพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้แหล่งผลิตข้าวหอมมะลิ พื้นที่ปลูกผลไม้ พื้นที่ปลูกยางพารา และพื้นที่ชายฝั่ง เป็นต้น

โดยขณะนี้คณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ของจังหวัด ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ได้ประชุมและคัดเลือกพื้นที่แปลงใหญ่เรียบร้อยแล้วทั้ง 76 จังหวัด แบ่งเป็น 28 สินค้า จำนวน263 แปลง ประกอบด้วย ด้านพืช 21 ชนิด จำนวน 241 แปลง ได้แก่ ข้าว 138 แปลง ยางพารา 3 แปลง ปาล์มน้ำมัน 12 แปลง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 10 แปลง อ้อยโรงงาน 5 แปลง มันสำปะหลัง 17 แปลง ผลไม้ 45 แปลง พืชผักอื่นๆ อีก 13 แปลง ที่เหลือจะเป็นด้านปศุสัตว์ 3 ชนิด ได้แก่ ไก่พื้นเมือง โคเนื้อ และโคนม ด้านประมง 3 ชนิด ได้แก่ กุ้งขาว หอยแครงและปลาน้ำจืด

นายเลอศักดิ์กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่เกษตรกรจะได้รับจากการทำเกษตรแปลงใหญ่ คือคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากการนำแนวทางการเพิ่มผลผลิตมาปรับใช้ในการผลิตทางการเกษตร มุ่งเน้นการรวมกลุ่มเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรอง และการผลิตที่ประหยัดต่อขนาด และด้วยการพัฒนาเชิงพื้นที่ตามศักยภาพที่มีการจัดทำแผนการผลิต ร่วมกันทุกภาคส่วนของจังหวัดนั้นๆ ทำให้มีเป้าหมายการดำเนินงานของกลุ่มอย่างความชัดเจน ประกอบกับการจัดการฟาร์มแบบ Modernization มาประยุกต์ใช้กับการบริหารจัดการน้ำ และการใช้ประโยชน์จากศูนย์วิจัยหรือศูนย์พัฒนาในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตในพื้นที่ซึ่งจะสอดรับกับการพัฒนาสินค้าเกษตรทั้งปริมาณและคุณภาพ สอดคล้องกับความต้องการของตลาดในแต่ละสินค้า ก็จะก่อให้เกิดการบริหารจัดการอุปสงค์อุปทานสินค้าเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ จึงเชื่อมั่นว่าแนวโน้มการผลิตสินค้าเกษตรของประเทศไทยในอนาคตจะมุ่งไปสู่การผลิตตามคำสั่งซื้อ หรือ (Produce to Order –PTO) มากขึ้นด้วย

จาก  http://www.naewna.com วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2558

เปลี่ยนนาข้าวเป็นนาอ้อย นโยบายที่ต้องทบทวน 

          นโยบายรัฐบาล  พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่สนับสนุนการเปลี่ยน "นาข้าวให้เป็นนาอ้อย"ในระยะสั้น 7 แสนไร่ เพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร อาจจะเป็นแนวทางการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกทางก็เป็นไปได้

          เมื่อแหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกได้ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยราคาน้ำตาลทรายดิบซื้อขายล่วงหน้าส่งมอบเดือน ก.ค. 2558 ลดลงมาเหลือ 12.5 เซนต์/ปอนด์ ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่ต่ำกว่าต้นทุนที่ใช้ในการคำนวณราคาอ้อยขั้นต้น ปีการผลิต 2557/2558 ที่ 18 เซนต์/ปอนด์ ซึ่งได้ราคาอ้อยขั้นต้นที่โรงงานน้ำตาลจ่ายให้แก่ชาวไร่ที่ 900 บาท/ตันอ้อย

          ปัจจัยสำคัญที่กดให้ราคาน้ำตาลลดลงต่อเนื่องนี้ เป็นผลจากปริมาณน้ำตาลที่ล้นตลาด โดยเฉพาะจากบราซิล ซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกรายใหญ่ของโลก ในขณะที่ความต้องการในตลาดไม่ได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว

          ประกอบกับขณะนี้ค่าเงินเรียลของบราซิลได้อ่อนค่าลงกว่า 50% จากเดิม 2 เรียล/เหรียญสหรัฐ มาเป็น 3.5 เรียล/เหรียญสหรัฐ ทำให้ประเทศบราซิลยิ่งต้องเร่งส่งออกน้ำตาลมากขึ้นอีก

          ประเด็นที่น่ากังวลคือ ถ้าราคาน้ำตาลในตลาดโลกยังตกต่ำต่อเนื่องแบบนี้ อาจจะทำให้ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายที่จะประกาศเมื่อสิ้นฤดูกาลออกมาต่ำกว่าอ้อยขั้นต้น ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นจะทำให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายจะต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับโรงงานน้ำตาลในส่วนของส่วนต่างระหว่างราคาอ้อยขั้นต้นและขั้นสุดท้าย

          สำหรับจำนวนเงินที่ต้องจ่ายชดเชยโรงงานน้ำตาลนั้น จากการประเมินเบื้องต้นคาดว่าอยู่ที่ 1.3 หมื่นล้านบาท ประเมินจากน้ำตาลที่บริษัทอ้อยและน้ำตาลไทยขายน้ำตาลออกไปแล้ว 87% ได้ราคาเฉลี่ยประมาณ 15 เซนต์/ปอนด์ ถ้าขายส่วนที่เหลืออีก 13% ในราคาปัจจุบันคือ 12 เซนต์/ปอนด์ คาดว่าราคาน้ำตาลเฉลี่ยที่ขายได้ในปีนี้จะอยู่ที่ 15.1 เซนต์/ปอนด์ ต่างจากราคาที่ใช้คำนวณอ้อยขั้นต้นที่ 18 เซนต์/ปอนด์ อยู่ 2.9 เซนต์/ปอนด์

          "เรื่องนี้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายได้รายงานต่อ จักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รมว.อุตสาหกรรม แล้ว และ รมว.อุตสาหกรรมก็รายงานสถานการณ์ให้ที่ประชุม ครม.ทราบแล้ว โดยถ้าต้องจ่ายในจำนวนดังกล่าวและโรงงานน้ำตาลต้องการเงินเลย กองทุนน้ำตาลเองมีเงิน ที่นำออกมาใช้ได้ 7,000-8,000 ล้านบาท อาจต้องการการจัดสรรงบประมาณหรือกู้เพิ่มอีก 5,000 ล้านบาท" แหล่งข่าว เปิดเผย

          ในส่วนของเงินที่จะนำไปจ่ายเป็นเงินเพิ่มค่าอ้อยฤดูผลิต 2558/ 2559  นั้น ล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 1.6 หมื่นล้านบาท ทำให้หนี้ล่าสุดที่กองทุนฯ จะต้องชำระให้ ธ.ก.ส. ล่าสุดอยู่ที่ 1.7 หมื่นล้านบาท

          การที่กองทุนฯ ยังมีหนี้เพิ่มขึ้น เพราะเงินที่เก็บมาชำระหนี้ ธ.ก.ส.มีเพียงจากช่องทางการเก็บเงินจากค่าน้ำตาล ในขณะที่รัฐบาลพยายามส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปลูกอ้อย ในโครงการเปลี่ยนนาข้าวเป็นไร่อ้อยอีกหลายล้านไร่ หากไม่ปรับเปลี่ยนกลไกการบริหารจัดการ อาจทำให้อ้อยกลายเป็นพืชอีกหนึ่งชนิดที่มีปัญหาเหมือนยางพารา

          ประเด็นข้อกังวลนี้ จักรมณฑ์ได้รายงานต่อที่ประชุม ครม. แล้ว รวมถึงกรณีที่บราซิลและอินเดียเตรียมจะฟ้องต่อองค์การการค้าโลก (WTO) กรณีที่รัฐบาลใช้นโยบายอุดหนุนผู้ผลิตอ้อย ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ มีคำสั่งในที่ประชุม ครม. ให้กระทรวงไปปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายโดยด่วน

          ปัจจุบัน บราซิลเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลทรายเป็นอันดับ 1 ของโลก ในจำนวน 30 ล้านตัน/ปี ไทยส่งออกเป็นอันดับ 2 ประมาณ 8 ล้านตัน/ปี

          โอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า โครงการส่งเสริมการปลูกพืชให้เหมาะกับพื้นที่ โดยการปรับพื้นที่ปลูกข้าวมาปลูกอ้อย ซึ่งจะเป็นโครงการ 2 ปี (ปี 2558-2559) พื้นที่เป้าหมาย 7 แสนไร่ ใน 17 จังหวัด แบ่งเป็นปี 2558 จำนวน 3.5 แสนไร่ และปี 2559 จำนวน 3.5 แสนไร่ เป็นโครงการนำร่อง โดยจะเป็นเพียงการช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย ไม่เกิน 20 ไร่/ครัวเรือน จะได้รับการชดเชยดอกเบี้ย 3%

          แหล่งข่าวจากวงการอ้อยและน้ำตาล เปิดเผยว่า นโยบายการสนับสนุนการเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวนาดอนมาเป็นการปลูกอ้อยต้องพิจารณาให้เหมาะสม เพราะไทยมีพื้นที่ปลูกอ้อย 10.78 ล้านไร่ มีปริมาณอ้อยรวม 113.26 ล้านตัน/ปี และมีปริมาณอ้อยที่ส่งเข้าหีบ 103 ล้านตัน/ปี หากมีการสนับสนุนนาดอนเป็นพื้นที่ปลูกอ้อยจะทำให้เพิ่มเป็นปีละ 110 ล้านตัน/ปี

          ปัจจัยเสี่ยงที่จะตามมาคือ ราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกที่ลดลงเป็นแรงกดดันให้ราคาอ้อย ขั้นต้นฤดูกาล 2558/2559 ลดลงเรื่อยๆ ซึ่งจะทำให้ปริมาณอ้อยที่เพิ่มขึ้นไม่สอดคล้องกับปริมาณและความสามารถของโรงงานน้ำตาล ที่ปัจจุบันเริ่มตึงตัว

          นี่อาจเป็นแรงกดดันให้ราคาอ้อยที่ดีต่อเนื่องปรับตัวลดลงในอนาคตได้

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ลุยกำหนดมาตรฐานสารตกค้าง มกอช.เดินหน้าผลักดันอาเซียนรับรอง-ลดปมกีดกันนำเข้า

นายศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เผยว่า มกอช. มีบทบาทในการกำหนดค่ามาตรฐานสารพิษตกค้างหรือปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดที่ยอมให้มีได้ในสินค้าเกษตร (MRL) ของอาเซียนมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้เข้าร่วมประชุมคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญอาเซียนเพื่อร่วมกำหนดค่า MRL ของภูมิภาคอาเซียน ครั้งที่ 19 ณ เมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา โดยได้มีการกำหนดค่า MRL ของอาเซียนไปแล้ว 925 ค่า จากสารเคมีทางการเกษตร 73 ชนิด ซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐานโคเด็กซ์ (Codex) ในจำนวนนี้เป็นค่า MRL ที่กำหนดตามข้อมูลของประเทศสมาชิกอาเซียน 48 ค่า โดยเป็นข้อมูลของไทยถึง 40 ค่า ในพืชอาหารที่สำคัญ

นายศักดิ์ชัยกล่าวอีกว่า มกอช. มีแผนเร่งผลักดันให้ประเทศสมาชิกอาเซียนร่วมกันกำหนดค่า MRL ของอาเซียนมากยิ่งขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าสินค้าเกษตรระหว่างกัน พร้อมลดปัญหากีดกันทางการค้าที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งผลักดันให้ ASEAN MRLs เป็น National MRLs หรือเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ซึ่งคาดว่าจะเอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการและผู้ส่งออกของไทย ทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไทยไปสู่ตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี (AEC) และตลาดโลกเกิดความคล่องตัวมากขึ้น และจะช่วยนำรายได้เข้าประเทศเพิ่มสูงขึ้น

นอกจากนี้ มกอช.ยังได้ร่วมจัดทำมาตรฐานพืชสวนและพืชอาหารอาเซียน ผ่านคณะทำงานชุดต่างๆ ภายใต้รัฐมนตรีเกษตรและป่าไม้ (AMAFF) โดยปัจจุบันอาเซียนได้ประกาศรับรองมาตรฐานผลไม้ มาตรฐานผักและมาตรฐานพืชอื่นๆ แล้ว 40 เรื่อง เน้นเกณฑ์คุณภาพของสินค้าซึ่งสามารถใช้อ้างอิงทางการค้าระหว่างประเทศสมาชิก และใช้อ้างอิงสำหรับสินค้านอกอาเซียนด้วย ในปี 2558 นี้ อาเซียนได้มีแผนร่วมกำหนดมาตรฐานพืชสวนเพิ่มเติม 6 รายการ ได้แก่ บร็อกโคลี่ กะหล่ำดอก ผักกาดหอม มะระ บวบ และพริกไทยดำ

“ขณะเดียวกัน มกอช. ได้ปรับปรุงมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหาร หรือ GAP พืชอาหาร (มกษ. 9001) และมาตรฐานสินค้ากุ้งให้สอดคล้องกับมาตรฐานของอาเซียนแล้ว ทั้งยังได้ร่วมผลักดันมาตรฐานอาหารฮาลาลอาเซียน รวมถึงมาตรฐานเกษตรอินทรีย์อาเซียน ซึ่งเทียบเคียงกับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของเอเชีย (AROS) โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างผลักดันแนวทางการปฏิบัติในการเลี้ยงสัตว์สำหรับไก่เนื้อและไก่ไข่ให้เป็นมาตรฐานของอาเซียนด้วย” เลขาธิการ มกอช.กล่าว

จาก  http://www.naewna.com วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2558

รัฐจ่อควัก5พันล้านชดเชย'กองทุนอ้อยฯ

          บราซิล-อินเดียจ่อฟ้อง ดับบลิวทีโอ หากไทยใช้นโยบายอุดหนุนชาวไร่อ้อย

          พิษราคาน้ำตาลตกต่ำ รัฐบาลจ่อควักเพิ่ม 5 พันล้าน ชดเชยกองทุนอ้อยและน้ำตาล หลังปริมาณผลิตน้ำตาลล้นตลาด"จักรมณฑ์" แจงครม.หวั่นกระทบนโยบายโซนนิ่งเกษตร  เปลี่ยนนาข้าวปลูกอ้อยแทน

          แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม  เปิดเผยว่า ปัจจุบันราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลก ได้ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง โดยราคาน้ำตาลทรายดิบซื้อขายล่วงหน้างวดส่งมอบเดือน  ก.ค. 2558 ราคาลดลงเหลือ 12.5 เซนต์ต่อปอนด์ ถือเป็นราคา ที่ต่ำกว่าต้นทุน ที่ใช้คำนวณราคาอ้อยขั้นต้น ปีการผลิต  2557/58 อยู่ที่ 18 เซนต์ต่อปอนด์ ซึ่งตัวเลขดังกล่าวได้นำมาคำนวณราคาอ้อยขั้นต้น ให้แก่ชาวไร่ที่  900 บาทต่อตันอ้อย

          แหล่งข่าวกล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคา น้ำตาลลดลงต่อเนื่อง   เป็นผลจากปริมาณน้ำตาล ที่ล้นตลาด  โดยเฉพาะจากบราซิล ซึ่งเป็นผู้ผลิต และส่งออกรายใหญ่ของโลก  ขณะที่ความต้องการในตลาดไม่ได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยัง ไม่ฟื้นตัว  ค่าเงินเรียลของบราซิลได้อ่อนค่าลง กว่า 50% จากเดิม 2 เรียลต่อดอลลาร์ มาเป็น 3.5 เรียลต่อดอลลาร์ ทำให้บราซิลต้องเร่งส่งออก น้ำตาลเพิ่มขึ้น ปัจจุบันบราซิลเป็นประเทศผู้ส่งออก น้ำตาลทรายอันดับ 1 ของโลก ในปริมาณ  30 ล้าน ตันต่อปี ขณะที่ไทยส่งออกอันดับ 2 ปริมาณ 8 ล้านตัน ต่อปี  ส่วนอินเดียการส่งออกอยู่ 2  ล้านตันต่อปี

          สำหรับจำนวนเงินที่ต้องจ่ายชดเชยโรงงานน้ำตาลเพิ่ม จากราคาน้ำตาลที่ปรับตัวลดลงจากการ ประเมินเบื้องต้นคาดว่าอยู่ที่  1.3  หมื่นล้านบาท ซึ่งประเมินจากน้ำตาลที่บริษัทอ้อยและน้ำตาลไทยขายน้ำตาลออกไปแล้ว  87%  ราคาเฉลี่ย 15 เซนต์ ต่อปอนด์  ถ้าขายส่วนที่เหลืออีก 13%  ราคาปัจจุบัน คือ 12 เซนต์ต่อปอนด์ คาดว่าราคาน้ำตาลเฉลี่ย ที่ขายได้ปีนี้จะอยู่ที่ 15.1 เซนต์ต่อปอนด์

          แหล่งข่าว กล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวลถ้าราคาน้ำตาลในตลาดโลกยังตกต่ำต่อเนื่อง  อาจจะทำให้ ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายที่จะประกาศเมื่อสิ้นฤดูกาลออกมาต่ำกว่าอ้อยขั้นต้น ถ้าเป็นแบบนี้จะทำให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายต้องจ่ายเงินชดเชย ให้กับโรงงานน้ำตาลในส่วนของส่วนต่างระหว่างราคาอ้อย  ขั้นต้นและขั้นสุดท้ายเพิ่มขึ้น  เรื่องนี้ สำนักงานอ้อยและน้ำตาลทรายได้รายงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และรัฐมนตรีแล้ว  ถ้าต้องจ่ายจำนวนดังกล่าวและโรงงานน้ำตาลต้องการเงินเลยกองทุนน้ำตาล มีเงินที่นำออกมาใช้ได้ประมาณ  7,000-8,000 ล้านบาท อาจต้องจัดสรรงบประมาณหรือ กู้เพิ่มอีก 5,000 ล้านบาท

          "ข้อกังวลนี้ นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รมว.อุตสาหกรรมได้รายงานที่ประชุมครม. แล้ว  รวมถึงกรณีที่บราซิลและอินเดียเตรียมจะฟ้องต่อองค์การการค้าโลก(WTO)  กรณีที่รัฐบาลใช้นโยบายอุดหนุนผู้ผลิตอ้อยด้วย ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้สั่งที่ประชุมครม. ให้กระทรวงอุตสาหกรรมไปปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายโดยด่วน  ศึกษาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับการทำนโยบายโซนนิ่งเกษตรส่งเสริม ให้ปลูกอ้อย แทนการปลูกข้าว   หากมีการปลูกอ้อย เพิ่มขึ้นแต่ราคาน้ำตาลตกต่ำ" แหล่งข่าว กล่าว สำหรับเงินที่จะนำไปจ่ายเป็นเงินเพิ่ม ค่าอ้อยฤดูผลิต 2558/59  ล่าสุดครม.ได้อนุมัติให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลกู้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร  (ธกส.)จำนวน 1.6 หมื่นล้านบาท ทำให้หนี้ ล่าสุดที่กองทุนอ้อยและน้ำตาลต้องชำระให้ ธ.ก.ส. ล่าสุดอยู่ที่ 1.7  หมื่นล้านบาท  โดย หนี้จากฤดูกาลก่อนหน้าแทบไม่เหลือ เนื่องจาก กองทุนอ้อยและน้ำตาลได้นำเงินที่มีอยู่ไป ชำระกับ ธ.ก.ส.ก่อนประมาณ 6,000 ล้านบาท เพื่อลดภาระดอกเบี้ย

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ชลประทาน 8 โคราชมั่นใจแก้ขาดน้ำอย่างยั่งยืน

ชลประทาน 8 โคราช มั่นใจแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคได้อย่างยั่งยืน เผยต้องวางท่อส่งน้ำแบบปิดทั้งระบบ พร้อมดึงการประปาเข้าผลิตน้ำตั้งแต่ต้นทางจนถึงประชาชน

นครราชสีมา/ นายชิตชนก สมประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 8 เปิดเผยถึงสถานการณ์ปริมาณน้ำภายในอ่างเก็บน้ำหลังทั้ง 5 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ที่ยังคงมีปริมาณน้ำที่ลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดมีปริมาณกักเก็บเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 35 เปอร์เซ็นต์ของความจุกักเก็บทั้งหมด โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำลำตะคอง ที่ถือได้ว่าเป็นแหล่งน้ำที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากในการส่งปริมาณน้ำดิบ เข้ามาผลิตเป็นน้ำอุปโภคบริโภคตั้งแต่พื้นที่ใต้อ่างเก็บน้ำลำตะคอง จนถึงตัวเมืองนครราชสีมา เป็นระยะทางกว่า 100 กิโลเมตร โดยล่าสุดมีปริมาณน้ำที่เหลือใช้การอยู่ที่ประมาณ 66 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 21 เปอร์เซ็นต์ของความจุทั้งหมด ดังนั้นตนเองจึงคิดว่ามาตรการณ์ ในการป้องกันปัญหาภัยแล้ง ในเรื่องของน้ำอุปโภคบริโภคในระยะยาวได้นั้น ในปัจจุบันในช่วงฤดูแล้งทางชลประทานได้มีการจัดส่งน้ำลงมาตามลำคลองหรือแหล่งน้ำต่างๆ เพื่อส่งน้ำเข้าโรงผลิตน้ำประปาในแต่ละพื้นที่ ในการนำน้ำไปผลิตเป็นน้ำอุปโภคบริโภคนั้น จะเป็นระบบเปิด แต่หากได้มีการช่วยเหลือในการผลักดันในโครงการที่จะให้ทางประปาส่วนภูมิภาคหรือผู้ผลิตน้ำรายใหญ่ นั้นสามารถที่จะมาผลิตน้ำที่อ่างเก็บน้ำได้โดยตรง และสามารถที่จะเชื่อมต่อกับระบบประปาในแต่ละพื้นที่ เช่น ประปาของเทศบาลนครนครราชสีมา ประปาหมู่บ้าน หรือจะเป็นประปาส่วนภูมิภาค ในระบบท่อปิด แล้วทำการจ่ายน้ำออกมาตามท่อส่งน้ำที่จะสามารถแยกน้ำอุปโภคบริโภคออกจากน้ำที่ใช้ในการเกษตรได้อย่างแน่นอน

นายชิตชนก กล่าวว่า หากโครงการดังกล่าวถูกผลักดัน และสามารถดำเนินการในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาได้ก็จะเป็นผลดีต่อปริมาณน้ำที่ได้มีการจัดส่งออกไป และมีปริมาณน้ำที่เพียงพอต่อความต้องการ ส่วนหากมีการผลักดันโครงการดังกล่าวได้ จะมีผลกระทบกับเกษตรกรที่อาศัยติดอยู่กับแหล่งน้ำหรือไม่นั้น ตนคิดว่าเกษตรกรก็จะต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง และจะสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำได้ในระยะยาว ขณะที่สถานการณ์ปริมาณน้ำภายในอ่างเก็บน้ำหลักอีก 4 แห่ง โดยอ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย ปริมาณน้ำ 29 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 26 เปอร์เซ็นต์ ของความจุที่ระดับกักเก็บ 110 ล้าน ลบ.ม. อ่างเก็บน้ำลำแชะ อ.ครบุรี มีปริมาณน้ำ 109 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 40 เปอร์เซ็นต์ ของความจุที่ระดับกักเก็บ 275 ล้าน ลบ.ม. อ่างเก็บน้ำมูลบน อ.ครบุรี มีปริมาณน้ำ 56 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 40 เปอร์เซ็นต์ จากความจุกักเก็บทั้งหมด 141 ล้าน ลบ.ม. และอ่างเก็บน้ำลำปลายมาศ อ.เสิงสาง มีปริมาณน้ำอยู่ที่ 49 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 50 เปอร์เซ็นต์ จากความจุกักเก็บทั้งหมด 98 ล้าน ลบ.ม.

จาก  http://www.banmuang.co.th  วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2558

บราซิล’ กล่าวหา ‘ไทย’ อุดหนุนชาวไร่เพาะปลูกอ้อย

          3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย ชี้แจงหลังสมาคมผู้ผลิตอ้อยและน้ำตาลทรายของบราซิล เสนอให้รัฐดำเนินการฟ้องไทยต่อ WTO กล่าวหาไทยอุดหนุนผู้เพาะปลูกอ้อย หลังผลผลิตน้ำตาลเพิ่ม ชี้การเพาะปลูกอ้อยของไทยที่ขยายตัว เนื่องจากอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยมีระบบ/กลไกในการรักษาเสถียรภาพ ทำให้เกษตรกรมั่นใจและให้ความสนใจเพาะปลูกอ้อยเพิ่ม ด้านโรงงานน้ำตาลทรายวางเป้าหมายในอนาคตมุ่งนำผลผลิตที่เพิ่มขึ้น สร้างมูลค่าเพิ่มสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องมากกว่าการผลิตน้ำตาลทรายเพียงอย่างเดียว

          นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย(Mr.Sirivuth Siamphakdee, President of the Thai Sugar Millers Corporation Limited’ s public relations working group) เปิดเผยว่าจากกรณีที่สมาคมผู้ผลิตอ้อยและน้ำตาลของบราซิลเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินคดีทางการค้าต่อไทยและอินเดีย โดยกล่าวหาว่ารัฐบาลให้เงินอุดหนุนแก่ชาวไร่อ้อยในการเพาะปลูก ส่งผลให้เกษตรกรชาวไร่ให้ความสนใจมาเพาะปลูกอ้อยมากขึ้น ทำให้ปริมาณผลผลิตเพิ่มและผลิตน้ำตาลทรายเข้าสู่ตลาดโลกได้มากขึ้น และเป็นสาเหตุให้ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกตกต่ำลงนั้นซึ่งข้อกล่าวหาดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด

          เนื่องจากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาที่มีปริมาณผลผลิตอ้อยเพิ่มขึ้นนั้น มาจากความชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลทรายร่วมมือกันพัฒนาประสิทธิภาพการเพาะปลูกอย่างจริงจัง เพื่อมุ่งเพิ่มผลผลิตต่อไร่และให้ได้คุณภาพอ้อยที่ดียิ่งขึ้น ขณะที่ฝ่ายโรงงานน้ำตาลทรายได้ลงทุนพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตมาโดยตลอด พร้อมนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตไปต่อยอดสู่ธุรกิจอื่นๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น นำชานอ้อยไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าหรือการนำกากน้ำตาลไปผลิตเป็นเอทานอล ซึ่งสอดคล้องแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพลังงานทดแทนของภาครัฐที่มีเป้าหมายเพิ่มการผลิตและใช้พลังงานทดแทนให้มากยิ่งขึ้น เพื่อลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ

          “ที่ผ่านมา ทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมได้ช่วยเหลือกันเอง เพื่อส่งเสริมการผลิตอ้อยแต่เมื่อราคาในตลาดโลกลดลง โรงงานน้ำตาลต้องหาช่องทางเพิ่มรายได้เพื่อความอยู่รอด โดยมองว่าอ้อยไม่ได้เป็นพืชอาหารเพียงอย่างเดียวแต่เป็นพืชพลังงานด้วย จึงนำอ้อยและของเสียจากกระบวนการผลิตน้ำตาลไปสร้างมูลค่าเพิ่มในธุรกิจพลังงานทดแทน ทำให้ปัจจุบันมีหลายโรงงานมีความต้องการผลผลิตอ้อยเพิ่มขึ้น โดยเข้าไปส่งเสริมด้านการเพาะปลูกให้แก่เกษตรกรและให้ความมั่นใจว่าจะรับซื้อผลผลิตอ้อยทั้งหมด ทำให้เกษตรกรมั่นใจมีตลาดรองรับและหันมาให้ความสนใจเพาะปลูกอ้อยเพิ่มขึ้น” นายสิริวุทธิ์ กล่าว

          นอกจากนี้ รูปแบบโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยที่มีเสถียรภาพ โดยใช้ระบบแบ่งปันผลประโยชน์ 70/30 ที่สร้างความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย จึงเอื้อต่อการเติบโตที่ดีและมีกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งจัดเก็บรายได้บางส่วนจากการจำหน่ายน้ำตาลที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันของชาวไร่และโรงงานน้ำตาลมาช่วยรักษาเสถียรภาพของอุตสาหกรรม ทั้งกระบวนการผลิต โดยเฉพาะกลุ่มชาวไร่อ้อยให้มีความเข้มแข็ง โดยไม่ต้องพึ่งพาภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือแต่อย่างใด ขณะเดียวกันก็มีการดูแลผู้บริโภคให้มีน้ำตาลเพียงพอต่อการบริโภคในราคาที่เหมาะสม ซึ่งเห็นได้จากราคาน้ำตาลในไทยต่ำกว่าประเทศอื่นมาก เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านและประเทศผู้ผลิตอื่นๆ

จาก http://news.thaiquest.com  วันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2558 

กลุ่มมิตรผล ให้การต้อนรับนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐ ฟิจิ ในโอกาสเยี่ยมชมกระบวนการผลิตน้ำตาลและพลังงานหมุนเวียน ที่มีมาตรฐานระดับโลก

          กลุ่มมิตรผล นำโดย นางอัมพร กาญจนกำเนิด (แถวหน้า ที่ 3 จากขวา) ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจน้ำตาลประเทศไทย ให้การต้อนรับ มร.โจเซเอีย โวเรเก ไบนีมารามา(แถวหน้า ที่ 4 จากขวา) นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐฟิจิ และคณะ พร้อมด้วย ว่าที่ร้อยตรี สุพีร์พัฒน์ จองพาณิช (แถวหน้า ที่ 3 จากซ้าย) ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี ในโอกาสศึกษาดูงานการจัดการไร่อ้อยและเยี่ยมชมกระบวนการผลิตน้ำตาลและพลังงานหมุนเวียนของกลุ่มมิตรผล ณ อุทยานมิตรผล ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี

          ในโอกาสนี้ มร.โจเซเอีย ได้ให้ความสนใจแนวทางการวิจัยและการพัฒนาพันธุ์อ้อย รวมทั้งการเพิ่มผลผลิตน้ำตาลของกลุ่มมิตรผล ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำตาลอันดับหนึ่งของไทย และอันดับที่สี่ของโลก เพื่อนำไปปรับใช้กับอุตสาหกรรมน้ำตาลของฟิจิ โดยเฉพาะการให้ความรู้แก่เกษตรกรตามแนวทาง 'มิตรผล โมเดิร์นฟาร์ม' ที่ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการไร่อ้อย การใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในกระบวนการผลิตทุกขั้นตอน เพื่อคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ และการใช้ทรัพยากรโดยไม่เหลือทิ้ง หรือ ‘From Waste to Value’ โดยนำส่วนที่เหลือจากกระบวนการผลิตน้ำตาล มาพัฒนาต่อยอดเป็น เอทานอล ไฟฟ้าชีวมวลและปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด

          ทั้งนี้ สาธารณรัฐฟิจิ มีพื้นที่ปลูกอ้อยคิดเป็นสัดส่วนถึง 75% ของพื้นที่เกษตรกรรมทั้งประเทศ อีกทั้งอุตสาหกรรมน้ำตาลยังถือเป็นภาคการผลิตที่ก่อให้เกิดการจ้างงานมากที่สุดในฟิจิ กลุ่มมิตรผลจึงหวังว่าการศึกษาดูงานของนายกรัฐมนตรีฟิจิ และคณะ ในครั้งนี้ จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของฟิจิ โดยเฉพาะในด้านการพัฒนาธุรกิจอ้อยและน้ำตาลอย่างยั่งยืน

จาก http://news.thaiquest.com  วันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2558 

จี้ไทยแก้ปัญหาใบอนุญาตช้า 

          นายปราโมทย์ วิทยาสุข ผู้ช่วยรมว.อุตสาหกรรม กล่าวภายหลังการเข้าพบของคณะตัวแทนจากจังหวัดไซตามะ ประเทศญี่ปุ่น ว่าการเยือนครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 2 หลังลงนามความร่วมมือกันเมื่อปีที่แล้ว ภายใต้ความเข้าใจสนับสนุนการลงทุนด้านอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ ซึ่งนักลงทุนญี่ปุ่นต้องการให้กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งสะสางปัญหาการออกใบอนุญาตก่อตั้งโรงงานล่าช้า รวมถึงปัญหาด้านภาษี และปัญหาของการทำธุรกิจ อาทิ การซื้อที่ดินไม่ได้

          "นับเป็นปัญหามากของผู้ประกอบการขนาดกลางและรายย่อย(เอสเอ็มอี) ที่ไม่สามารถซื้อที่ดินเพื่อก่อสร้างได้ หากเราสามารถหาที่ดินให้เขา เชื่อว่าการเข้ามาลงทุนจะมากกว่านี้"

          ขณะนี้มีเอกชน 2-3 ราย ทำธุรกิจจัดหาสถานที่หรือออฟฟิศสำเร็จรูปไว้ให้เช่า คล้ายกับนิคมอุตสาหกรรมขนาดเล็ก ที่ให้เอกชนสร้างโรงงานสำเร็จรูปขึ้นมาแล้วนักลงทุนก็เข้ามาเช่าดำเนินธุรกิจได้เลย มั่นใจว่าภายในปีนี้จะมีเอสเอ็มอีญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในไทย 500 ราย ตามเป้าหมายที่คาดไว้" นายปราโมทย์กล่าว

          ด้านนายยาสุโอะ อิวาซากิ รองผู้ว่าราชการจังหวัดไซตามะ กล่าวว่า มีนักลงทุนทยอยเข้ามาลงทุนในประเทศไทยอีกกว่า 30 บริษัท จากเดิมที่มียอดการลงทุนในไทยจากจังหวัดดังกล่าวแล้ว 96 บริษัท ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมด้านการแพทย์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โดยนักลงทุนรายใหม่ 30 บริษัท เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั้งสิ้น

จาก http://www.khaosod.co.th วันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2558 

แจงสี่เบี้ย : สารเร่งพด.กับการปรับปรุงดินในพื้นที่ภาคตะวันออก

จากการที่กรมพัฒนาที่ดินมีผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีชีวภาพ สารเร่งพด.ที่สามารถนำไปผลิตเป็นปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง ตลอดจนผลิตเป็นปุ๋ยหมักสูตรพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่เกษตรกรสามารถผลิตไว้ใช้เองได้จากวัตถุดิบที่มีในไร่นาหรือในครัวเรือน ซึ่งเป็นการช่วยลดต้นทุนในการผลิต อีกทั้งการใช้สารอินทรีย์ยังสามารถช่วยฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน ให้นำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในส่วนของสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 2 ที่ดูแลรับผิดชอบพื้นที่ภาคตะวันออก ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นแหล่งผลิตไม้ผล ผลิตภัณฑ์ พด.ที่ได้รับความนิยมจากเกษตรกรในพื้นที่ ได้แก่ สารเร่งซุปเปอร์ พด.1 ในการผลิตปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง สารเร่งซุปเปอร์ พด.2 ผลิตน้ำหมักชีวภาพ และสารเร่งซุปเปอร์ พด.3

นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้เกษตรกรปรับปรุงดินกรดด้วยปูนโดโลไมท์ ควบคู่กับการใช้ปุ๋ยหมักผสมสารเร่งซุปเปอร์ พด.3 ที่เป็นจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติควบคุมเชื้อราสาเหตุโรคในดิน สามารถป้องกันและยับยั้งการเจริญของเชื้อสาเหตุโรคพืชที่ทำให้เกิดอาการรากเน่าหรือโคนเน่าได้เป็นอย่างดี

ที่ผ่านมา สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 2 ได้นำแนวทางการปรับปรุงดินกรดด้วยปูนโดโลไมท์และการใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด.3 ไปแก้ปัญหาโรครากเน่าโคนเน่าในทุเรียนได้สำเร็จ โดยทำการทดลองปฏิบัติจริงและเห็นผลสำเร็จเป็นรูปธรรมแล้วที่ศูนย์พัฒนาไม้ผล ตามพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี จึงได้รับความเชื่อมั่นจากเกษตรกรโดยการนำไปปฏิบัติตามในพื้นที่ของตนเองมากขึ้น

จาก http://www.naewna.com วันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2558 

‘บิ๊กตู่’ดิ้นยกเครื่องเกษตร ดันรากแก้วไทยแข็งแกร่ง

เป็นที่รู้กันว่าพืชเกษตร...ทั้งข้าว-ยางพารา-มันสำปะหลัง-ปาล์มน้ำมัน-อ้อย ต่างเป็นพืชการเมือง! ที่อยู่คู่กับสังคมไทยมานานแสนนาน ไม่ว่าพรรคใด รัฐบาลใด ต่างชู...ต่างหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นหลักเพื่อขอแลกกับคะแนนเสียง

โดยเฉพาะการตั้งราคาช่วยเหลืออย่างสูงลิ่ว จนกลายเป็นการเสพติดประชานิยมเต็มรูปแบบแต่สุดท้าย! ผลลัพธ์ที่ได้แทนที่จะได้ผลดี กลับสร้างความปั่นป่วนให้กับกลไกตลาด และบิดเบือนกลไกราคา มิหนำซ้ำรัฐยังต้องสูญงบประมาณจำนวนมหาศาลไปกับการอุ้มราคาจนสุดท้ายก่อเกิดเป็นภาระหนี้พอกพูนให้คอยตามใช้คืนกันไม่หวาดไหวขณะเดียวกันผลผลิตของพืชแต่ละชนิดที่รัฐบาลหยิบมาสร้างเป็นฐานเสียง ต่างมีปริมาณล้นทะลัก ขายไม่ออก ส่งผลให้ราคาตกต่ำลงเรื่อย ๆ จนทำให้ที่ผ่านมา...

จึงเห็นเทศกาลม็อบเกษตรสารพัดชนิดออกมาชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือกันจนชินตา ที่หนักหน่อยก็กดดันด้วยการปิดถนนพาทุกคนเดือดร้อนกันถ้วนหน้าส่วนวิธีที่รัฐบาลโดดเข้าไปช่วยก็แก้แบบเสียไม่ได้ ไม่ได้คลายปมที่ต้นตอ ในที่สุดต้องมาตามแก้กันไปเรื่อยวนเวียนไม่รู้จบ!!

นอกจากนี้ภาพที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันเกษตรกรไทยยังผจญกับพิษของภัยแล้งที่เริ่มมีสัญญาณรุนแรงและเกิดขึ้นเร็วกว่าปกติ รวมทั้งเจอปัญหาราคาสินค้าเกษตรตลาดโลกตกต่ำซ้ำเข้าไปอีกทำให้รายได้เกษตรกรตอนนี้ลดลงไปแล้วกว่า 12.6%ด้วยปัญหาสารพันที่เกิด...

จึงทำให้รัฐบาลปัจจุบันที่มี “พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นนายกรัฐมนตรีฉุกคิดได้ว่า ภาคการเกษตรของไทยหากจะเดินไปตามรูปแบบเดิมคงลงเหว จึงได้ออกเป็นนโยบายหลัก “ปฏิรูปภาคการเกษตรทั้งระบบ” โดยพยายามใช้เวลาอันสั้นของรัฐบาลชุดนี้เร่งแก้ไขปัญหาสะสม และวางรากฐานให้กับประเทศในระยะยาวโดยเน้นการสร้างความเข้มแข็ง เพิ่มรายได้ให้เกษตรกรกลุ่มที่จนที่สุดอย่างเหมาะสมควบคู่กับการลดต้นทุนการผลิต แทนการมุ่งทำนโยบายเอาใจ ลด แลก แจก แถม แบบสุดลิ่มเหมือนที่ผ่าน ๆ มาหมักหมมต้องเร่งปฏิรูปที่ผ่านมาภาคการเกษตรของไทยมีปัญหาสะสมหลายด้านทั้งตัวของเกษตรกรเอง ที่ส่วนใหญ่เริ่มมีอายุมากขึ้นไม่มีคนมาสืบต่ออาชีพมีปัญหาหนี้สินสะสม ทำให้เกษตรกรที่มีอยู่หลายรายเลิกทำการเกษตรหันไปทำงานในโรงงานและภาคบริการกันหมด

ขณะที่สถาบันเกษตรกร โครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตรและการบริหารงานของภาครัฐยังไม่มีประสิทธิภาพช่วยพัฒนาระบบการทำเกษตรกรรมที่ยั่งยืน โดยเฉพาะการบริหารงานของหน่วยงานรัฐหลายแห่งไม่ได้รวมงานเป็นงานเดียวกัน ทำให้เกิดปัญหาต่างคนต่างทำเผางบประมาณไปเรื่อยและไม่มีผลสัมฤทธิ์แบบห้าดาวเหมือนที่อ้างไว้ตอนของบประมาณยกเครื่องเกษตรทั้งระบบ

เมื่อเห็นถึงปัญหาจึงทำให้รัฐบาลต้องกำหนดแนวทางปฏิรูปใหม่ โดยยกเครื่องภาคเกษตรกันทั้งระบบมีประเด็นสำคัญแยกออกเป็น 4 ด้านใหญ่ ๆ คือพัฒนาเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร พัฒนาการผลิตและการตลาดสินค้าเกษตร พัฒนาทรัพยากรการเกษตรและโครงสร้างพื้นฐาน และพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ

ซึ่งต้องเน้นหนักไปที่ตัวเกษตรกรเป็นอันดับแรกด้วยการวางรากฐานการแก้หนี้สินที่ยั่งยืนคือ การลดต้นทุนทางการเกษตรให้ได้ อย่างเช่น รัฐอาจออกมาตรการมาช่วยเหลือเรื่องเครื่องมือทำการเกษตรที่เหมาะสมไม่ใช่หว่านเงินไปทั่วโดยไม่มีจุดหมายแต่ที่สำคัญเกษตรกรไทยต้องปรับวิธีคิดแบบเดิม ลดการปลูกแต่พืชเดิม ๆ ในปริมาณมาก ๆ ต้องพัฒนาตัวเอง และหาวิธีแปลงผลผลิตที่มีด้วยไอเดียใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าและราคาให้มากขึ้นดันสหกรณ์เข้มแข็ง

ขณะที่สถาบันเกษตรกรสหกรณ์การเกษตร ต้องปรับบทบาทเป็นผู้บริหารจัดการสินค้าเกษตรตั้งแต่ต้นน้ำยันส่งขายก้าวขั้นไปสู่การแปรรูป และนำนวัตกรรมมาใช้เพื่อสร้างความเข้มแข็งและอำนาจการต่อรองได้ และที่สำคัญอาจต้องสร้างจุดเด่นของสินค้าในท้องถิ่นด้วยการใส่รายละเอียดที่มาประวัติสินค้า เพื่อดึงดูดความสนใจให้ผู้ซื้อเห็นว่ามีคุณค่าขณะที่เรื่องของกฎระเบียบต่าง ๆ รัฐบาลก็พร้อมปรับปรุงให้เหมาะกับปัจจุบันส่วนการพัฒนาการผลิตและตลาด

จากนี้จะนึกปลูกอะไรส่ง ๆ ไม่ได้แล้วเพราะต้องดูความต้องการของตลาดแทนความต้องการของตัวเองเพื่อไม่ให้เป็นช่องทางสร้างประโยชน์ของบรรดานักการเมืองและต้องดูความเหมาะสมของพื้นที่ ด้วยการจัดทำเขตเกษตรเศรษฐกิจ หรือโซนนิ่ง ควบคู่กับกระจายผลผลิตตลอดปี

โดยการวางแผนการผลิตนอกฤดูในรูปแบบเกษตรพันธสัญญาผ่านสถาบันเกษตรกรด้วยเช่นเดียวกับการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานหลักทั้งที่ดิน และแหล่งน้ำ ส่วนภาครัฐเองก็ต้องปรับการทำงานโดยทบทวนหน้าที่ไปช่วยเหลือเกษตรกรให้ได้อย่างเต็มที่เน้นปลูกพืชเหมาะกับพื้นที่

“บิ๊กตู่” ประกาศตั้งแต่วันเริ่มต้นเข้ามาเป็นรัฐบาลว่า พร้อมแก้ปัญหาที่ค้าง ๆ อยู่โดยเฉพาะด้านการเกษตร จะไปปลูกข้าวปลูกยางพาราอย่างเดียวตลอดทั้งปีคงไม่ได้โดยได้มอบให้หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยมีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นแม่งานหาแนวทางส่งเสริมให้เกษตรกรลดพื้นที่การเพาะปลูกพืชชนิดเดิมแล้วส่งเสริมปลูกพืชชนิดใหม่ให้หลากหลายโดยเฉพาะลดพื้นที่ปลูกข้าวที่ไม่เหมาะสมมาเป็นปลูกพืชชนิดอื่นที่มีโอกาสทางการตลาด เช่น อ้อยโรงงานที่มีตลาดรองรับแน่นอนแทน

ซึ่งตอนนี้ก็มีเกษตรกรหลายรายพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการปลูกแล้วขณะเดียวกันยังขอความร่วมมือกับหน่วยงานด้านการพัฒนาอย่างมูลนิธิปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริช่วยให้ความรู้และส่งเสริมเกษตรกรปลูกข้าวแค่ปีละครั้ง และเน้นปลูกพืชหลังนาตามความเหมาะสมในพื้นที่ควบคู่ไปกับการเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจไว้ขาย ทั้งปลา หมู และวัว

ซึ่งหากเกษตรกรทำได้จะช่วยให้มีรายได้หมุนเวียนตลอดทั้งปีทยอยลดภาระหนี้สินที่ติดค้าง และลืมตาอ้าปากได้อย่างยั่งยืนแก้ปัญหาแล้งซ้ำซากปัญหาสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยอยู่เป็นประจำ คือปัญหาภัยแล้งเพราะทุก ๆ ปีพอถึงหน้าแล้งก็แล้งใจหาย แต่ปีนี้พิเศษยิ่งกว่าทุกปีเพราะแล้งเร็วกว่าปกติจึงไม่ต้องนึกภาพเลยว่า เกษตรกรจะเดือดร้อนกันมากมายขนาดไหน

ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงต้องออกหนทางมาแก้แล้งโดยด่วน โดยไฟเขียวกรอบวงเงินช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งปี57/58วงเงิน1,582.06ล้านบาทนอกจากนี้ยังเห็นชอบให้ทำโครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรกับชุมชนเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง

โดยมีพื้นที่เกษตรที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบภัยแล้งในปี57/58 จำนวน3,051 ตำบล ใน58จังหวัด ผ่าน 4 กิจกรรมหลัก คือ กิจกรรมการจัดการแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรของชุมชน กิจกรรมด้านการผลิตทางการเกษตรและการแปรรูปผลผลิตเกษตรเพื่อสร้างรายได้ในฤดูแล้งกิจกรรมการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และกิจกรรมการจัดการเพื่อลดความสูญเสียผลผลิตเกษตร

“บิ๊กตู่” คาดโทษเอาไว้ว่า หลังจากสั่งการให้ส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ไปทำแล้วต้องให้ติดตามอย่างใกล้ชิด หากแก้ไม่ได้ยังมีปัญหาอีก แล้งซ้ำซากอีก คนที่เกี่ยวข้องต้องถูกเล่นงานเห็นได้ว่าทุก ๆ แนวทางยกเครื่องภาคการเกษตรไทย ที่รัฐบาลปัจจุบันขับเคลื่อนอยู่นี้ หลาย ๆ โครงการกำลังเดินหน้าผ่านการทำงานของหน่วยงานที่รับผิดชอบซึ่งเนื้อแท้ของทุกโครงการ ล้วนเป็นสิ่งเหมาะสม และช่วยแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนก็จริงหากทำต่อเนื่อง

แต่...ติดที่ว่า เวลาของรัฐบาลเหลืออีกไม่มาก หากแก้ไม่สะเด็ด พอมีรัฐบาลใหม่เข้ามาแล้วรื้อโครงการใหม่หมดเชื่อว่าไม่นาน...ไทยคงสิ้นชื่อเจ้าแห่งเกษตรกรรมทันที!!.

วสวัตติ์ โอดทวี

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2558 

กรมชลฯประเมินสถานการณ์น้ำหลังฝนมาช้า

กรมชลประทาน ประเมินสถานการณ์น้ำ หลังฝนมาช้า อาจขยายเวลาส่งน้ำให้ชาวนาทำนาออกไปอีก

นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ในปีนี้ฤดูฝนมาล่าช้า ทิ้งช่วงนาน จึงต้องประเมินสถานการณ์น้ำ สิ้นเดือนมิถุนายน คาดว่าน้ำในเขื่อนที่สามารถใช้ได้ในปัจจุบันมีประมาณ 5,500 ล้านลูกบาศก์เมตร จะไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูกพืชของเกษตรกร จึงเตรียมประกาศงดส่งน้ำเพื่อทำการเพาะปลูก โดยในวันที่ 9 มิถุนายน นี้ จะหารือกับกรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อประเมินสถานการณ์น้ำฝน หากมีความชัดเจนว่า ฝนไม่ตก ก็จะประกาศงดส่งน้ำเพื่อทำการเพาะปลูกต่อไป

สำหรับปริมาณน้ำ 4 เขื่อนในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เหลือสนับสนุนการเพาะปลูกน้อยมาก โดย เขื่อนภูมิพล เหลือน้ำใช้ได้ประมาณ 558 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำใช้ได้ 946 ล้านลูกบากศ์เมตร เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เหลือน้ำใช้ได้ 109 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เหลือน้ำใช้ได้ 105 ล้านลูกบากศ์เมตร

ที่ผ่านมา กรมชลประทาน ระบายน้ำเพื่อสนับสนุนการเพาะปลูกประมาณวันละ 62 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งหากฝนไม่ตก จะทำให้เกษตรกรไม่มีน้ำเพาะปลูกพืช เพราะน้ำต้นทุนจากเขื่อนเหลือน้อย

จาก www.innnews.co.th วันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ.2558

‘บิ๊กตู่’ จี้สารพัดรับอาเซียน บี้หน่วยงานร่วมมือเดินหน้า

อีกไม่นาน...คนไทยทั้งประเทศจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน หรือเออีซี ได้อีกต่อไป เพราะทั้ง 10 ชาติอาเซียน ได้ตกลงปลงใจร่วมกันชัดเจนแล้วว่าได้หลอมรวมประชากรกว่า 600 ล้านคน เข้าด้วยกัน

ด้วยหวังว่าจะให้ภูมิภาคนี้กลายเป็นอีกซีกโลกสำคัญ ที่กลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดการลงทุนจากทั่วโลกมารวมกันอยู่ที่ซีกโลกแห่งนี้ได้ ...

 อย่างไรก็ตามการเปิดประตูก้าวไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียน แม้ว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ แม้ว่าไม่ใช่เรื่องที่ไม่มีใครรับรู้รับทราบ แม้ว่าไม่ใช่เรื่องที่ทุกคนไม่ตื่นตัว

แต่...อีกเพียง 180 วัน เท่านั้น ที่เวลาแห่งความเป็นจริงจะมาถึงณ เวลานี้ เชื่อได้ว่าทุกฝ่ายต่างเตรียมตัวเตรียมพร้อม รองรับเวลาแห่งความเป็นจริงกันอย่างเต็มที่แล้ว

โดยเฉพาะผู้มีส่วนได้เสียสำคัญอย่างภาคเอกชน...ทั้งรายใหญ่...รายเล็ก...รายน้อยแต่ในแง่มุมของภาครัฐที่เป็นผู้กำกับดูแลนโยบายภาพรวมแล้ว... ได้เดินหน้ากันไปถึงไหน ?

รายงานความคืบหน้า ครม. ล่าสุด...กระทรวงการต่างประเทศ ได้รายงานให้ ครม.รับทราบเมื่อวันที่ 2 มิ.ย.ที่ผ่านมา ถึงความคืบหน้าการเตรียมความพร้อมประเทศไทยในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

โดย พล.อ. ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการในหลายแนวทาง ทั้งในด้านของภาพรวม ทั้งในด้านของการเมืองและความมั่นคง ทั้งในเรื่องของเศรษฐกิจ และเรื่องสังคมวัฒนธรรม เรียกได้ว่าครบทั้ง 3 เสาหลักของเออีซีกันทีเดียวเน้นกฎหมาย-ประชาสัมพันธ์ แต่ไม่ได้มีเฉพาะเรื่องของเสาหลักเท่านั้น

นายกฯเอง ต่างให้ความสำคัญเรื่องของกฎหมายและด้านการประชาสัมพันธ์ด้วย เพราะถือเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องหลักที่จะรองรับการรวมตลาดใหญ่ในครั้งนี้ โดยในภาพรวมแล้ว แม้ว่าการเดินหน้าของทั้ง 3 เสาหลักจะมีอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่ทั้งหมดต้องมีการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบไม่ใช่ปล่อยให้เสาใดเสาหนึ่งเดินหน้า แต่ที่เหลือเดินไล่ตามไม่ทัน

โดยต้องบูรณาการกันอย่างมีประสิทธิภาพมีการตั้งเป้าหมาย มีวิสัยทัศน์ล่วงหน้า 10 ปี และมีการวางแผนระยะ 5 ปี และ 10 ปี ซึ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรมและนำไปสู่การปฏิบัติที่ชัดเจนโดยอาจให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานผลการดำเนินงานรายไตรมาส

ขณะที่ส่วนราชการเอง ควรคำนึงถึงการผลักดันประเด็นสำคัญต่าง ๆ ในกรอบอาเซียนด้วย ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทยคิดถึงประโยชน์คนไทย

นอกจากนี้ยังให้ส่วนราชการดำเนินงานโดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากการเข้าสู่เออีซี อย่างเป็นรูปธรรมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับเออีซี อย่างรอบด้าน เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ และสามารถรับมือกับผลกระทบจากการรวมตัวในครั้งนี้ได้ทันท่วงที

ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรร่วมมือกันและดำเนินงานในลักษณะครบวงจรโดยกำหนดหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพหลักหน่วยงานรอง หน่วยงานเสริมที่ชัดเจน มีการวิเคราะห์วิกฤติ โอกาสความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบของไทยและอาเซียนด้วยมท.รับหน้าแรงงานต่างด้าว

ขณะที่ในภาพของเสาการเมืองและความมั่นคงนั้น...การบริหารจัดการชายแดนและจุดผ่านแดนหน่วยงานต่าง ๆ ต้องดำเนินงานอย่างบูรณาการและอาจพิจารณาให้ศูนย์อาเซียนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีภารกิจครอบคลุมประเด็นอาชญากรรมข้ามชาติการค้ามนุษย์ และอื่น ๆ เพิ่มเติมรวมทั้งให้บูรณาการการทำงานระหว่างกระทรวงมหาดไทยกระทรวงแรงงาน และกระทรวงการต่างประเทศเกี่ยวกับปัญหาแรงงานต่างด้าวโดยให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลัก และอาจพิจารณาหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่ไทย ต้องรับภาระเรื่องการให้การศึกษาและการรักษาพยาบาลแก่แรงงานต่างชาติบริเวณชายแดนด้วยส่วนด้านเสาเศรษฐกิจ...

นายกฯและครม.ได้เห็นชอบให้ไทยผลักดันประเด็นเรื่องของ “ASEAN Access” เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิตอลในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 27 ในเดือน พ.ย. นี้ โดยคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อกำหนดทิศทางในการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยภายใต้ประชาคมอาเซียนรับจะศึกษาและจัดทำกรอบแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ต่อไป

ขณะเดียวกันต้องผลักดันทุกเรื่องในกรอบของอาเซียนอย่างต่อเนื่อง เช่น การให้ความสำคัญกับภาคเกษตร การพัฒนาตราสินค้าอาเซียน การส่งเสริมเอสเอ็มอี การส่งเสริมความเชื่อมโยงในทุกด้าน รวมไปถึงการให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งน้ำสะอาด การแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า เป็นต้น

หนุนวิจัยและพัฒนา ไม่เพียงเท่านี้ทุกฝ่ายยังต้องสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา ร่วมกันในอาเซียนรวมทั้งการสร้างเครือข่ายของทุกภาคส่วน เพื่อให้ดำเนินงานอย่างเป็นหุ้นส่วนกัน ไม่ใช่แข่งขันกันเองโดยเฉพาะผลผลิตด้านการเกษตร ทั้งข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ขณะเดียวกันยังต้องเร่งรัดกระบวนการตรวจสอบ การรับรองมาตรฐานสินค้าไทยให้สามารถส่งไปขายยังต่างประเทศได้หวั่นสูญฮับการแพทย์ สำหรับเสาสังคมและวัฒนธรรม ...

นายกฯและ ครม. กำชับให้ทุกหน่วยงานเร่งแก้ไขปัญหาราคายา และค่ารักษาพยาบาลที่สูงขึ้นมากซึ่งทำให้ไทยสูญเสียการเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์โดยอาจหาแนวทางควบคุม และมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในการพิจารณาต่อไปไม่เพียงทั้ง 3 เสาเท่านั้น

ทั้งนายกฯและครม.เอง ต่างให้ความสำคัญกับเรื่องของ “กฎหมาย” ที่เกี่ยวข้อง โดยให้เร่งรัดทำข้อมูลกฎหมายที่ต้องดำเนินการตามพันธกรณีและเพื่อเตรียมความพร้อมประเทศไทยโดยให้ฝ่ายเลขานุการของคณะอนุกรรมการฯทั้งสามเสาติดตามข้อมูลกฎหมายจากหน่วยงานต่าง ๆ จัดส่งให้คณะทำงานด้านกฎหมายเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนต่อไปและให้เจ้ากระทรวงทุกกระทรวง แจ้งยืนยันข้อมูลกฎหมายของหน่วยงานไปยังคณะทำงานฯ เพื่อยืนยันความถูกต้องรวมไปถึงความพร้อมของแต่ละกระทรวงย้ำให้คนไทยเข้าใจ

ขณะเดียวกันในเรื่องของประชาสัมพันธ์ ก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน โดยหลักการสำคัญต้องมีโครงสร้างการประชาสัมพันธ์ที่เน้นใน 3 เรื่อง ทั้งการสร้างความรับรู้ของประชาชนเกี่ยวกับเออีซีผลกระทบจากการเข้าสู่ประชาคมที่ควรเตรียมพร้อมรับมือและโอกาสที่ประชาชนจะได้รับจากอาเซียน

ที่สำคัญต้องสร้างความเข้าใจของประชาชนเกี่ยวกับประเทศไทยกับอาเซียน รวมถึงความสำคัญของอาเซียนในเวทีประชาคมโลก เพื่อให้คนไทยเข้าใจอย่างถ่องแท้ก่อนหน้านี้นายกฯบิ๊กตู่ ได้สั่งการให้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ไปร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำวิสัยทัศน์ของประเทศไทย

ในด้านประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ระยะยาว 10 ปี ตั้งแต่ปี 2558-2568 ว่าจากนี้ไปไทยต้องทำอะไร ต้องใช้งบประมาณอย่างไร ต้องประเมินผลกันอย่างไร รวมไปถึงการเตรียมตัวรองรับระบบเศรษฐกิจใหม่ ที่เน้นเรื่องเทคโนโลยีและเศรษฐกิจดิจิตอลมากขึ้น

ขณะเดียวกันในช่วง 5 ปีแรกที่เข้าสู่เออีซี ต้องประเมินผลเพื่อติดตามความคืบหน้าแม้ทุกฝ่ายเวลานี้จะเดินหน้าเตรียมพร้อมรับมือมากน้อยเพียงใด เชื่อได้ว่าเมื่อถึงเวลาที่แท้จริง จะเป็นบทพิสูจน์สำคัญ! ว่าทุกอย่างที่ผ่านมา...ใช่ของแท้หรือไม่?.ทีมเศรษฐกิจบอกต่อ

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2558 

ชาวนาระทึกสิ้นมิ.ย.ไร้น้ำปลูกข้าว กรมชลฯเผยฝนทิ้งช่วง-4เขื่อนหลักอาการหนัก

กรมชลฯ หัวหมุนฝนไม่ตกตามฤดูกาล ทำให้น้ำในเขื่อนหลัก 4 แห่งเหลือน้อยมาก เผยปกติฝนต้องเริ่มตกถี่ช่วงปลายเดือนพ.ค. แต่ผ่านมาถึงต้นเดือนมิ.ย.ยังมีไม่มากนัก คาดถึงสิ้นเดือนนี้อาจต้องงดส่งน้ำเพาะปลูก เพราะต้องสำรองไว้เพื่อการบริโภค-ระบบนิเวศ

นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดี กรมชลประทาน กล่าวว่าอยู่ระหว่างประเมินสถานการณ์น้ำ ภายหลังจากฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล คาดว่าภายในสิ้นเดือนมิ.ย. น้ำในเขื่อนที่สามารถใช้ได้ในปัจจุบันมีประมาณ 5,500 ล้านลบ.ม. คงจะหมดและไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก กรมชลประทานจึงเตรียมประกาศงดส่งน้ำเพื่อเพาะปลูก เพื่อให้มีน้ำรักษาระบบนิเวศ และการบริโภค

ในวันที่ 9 มิ.ย.นี้กรมชลประทาน จะหารือกับกรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อประเมินสถานการณ์น้ำฝน หากร่วมประเมินสถานการณ์แล้วมีความชัดเจนว่าฝนไม่ตก ก็จะประกาศงดส่งน้ำเพื่อทำการเพาะปลูกต่อไป

“ที่ผ่านมาปริมาณน้ำต้นฤดูกาลที่ใช้เพาะปลูกได้จะมีปริมาณใกล้เคียงกับปีก่อนคือ 3,800 ล้านลบ.ม. ซึ่งใช้ได้ประมาณ 2 เดือนคือ มิ.ย.-ก.ค. แต่ช่วงต้นฤดูฝนปกติประมาณสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพ.ค. จะต้องมีฝนตกลงมาเพื่อเติมน้ำในเขื่อน แต่ปีนี้เข้าสู่เดือนมิ.ย.แล้วยังไม่มีฝนตกปริมาณน้ำในเขื่อนจึงไม่เพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อฤดูกาลเพาะปลูกปี 2558/59

ปกติพื้นที่เพาะปลูกในเขตชลประทานของลุ่มน้ำเจ้าพระยา จะมีประมาณ 9.2 ล้านไร่ ต้องใช้น้ำประมาณ 1 หมื่นล้านลบ.ม. แต่ปัจจุบันหลังจากกรมชลประทานปล่อยน้ำเพื่อทำการเกษตรเมื่อพ.ค.ทำให้น้ำในเขื่อนที่เหลือใช้ มีเพียงประมาณ 1,700 ล้านลบ.ม. หรือใช้ได้อีกประมาณ 20 วันเท่านั้น

สำหรับปริมาณน้ำ 4 เขื่อนในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เหลือสนับสนุนการเพาะปลูกน้อยมาก โดยเขื่อนภูมิพลเหลือน้ำใช้ได้ประมาณ 558 ล้านลบ.ม., เขื่อนสิริกิติ์มีปริมาณน้ำใช้ได้ 946 ล้านลบ.ม., เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนเหลือน้ำใช้ได้ 109 ล้านลบ.ม. และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เหลือน้ำใช้ได้ 105 ล้านลบ.ม.

อย่างไรก็ตามหลังจากที่กระชลประทานประกาศปล่อยน้ำเพื่อสนับสนุนการทำการเพาะปลูกเมื่อ 1 พ.ค. เกษตรกรก็เริ่มทำการเพาะปลูกและทำการเกษตรไปแล้ว 2 ล้านไร่ โดยเฉพาะการทำนา เหลือพื้นที่ทำการเกษตรอีกมากกว่า 7 ล้านไร่ ที่ไม่มีน้ำสำหรับทำการเพาะปลูก แต่เมื่อสถานการณ์น้ำต้นทุนเหลือน้อย ถือเป็นสถานการณ์ที่บังคับให้กรมชลต้องบริหารจัดการน้ำที่เหลืออยู่ในได้นานที่สุด เพื่อประคองพื้นที่เกษตรที่ทำไปแล้ว

จาก http://www.khaosod.co.th   วันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2558 

แล้งหนักมาก! กรมชลฯส่อชะลอส่งน้ำทำนาปี เหลือน้ำใช้การแค่ 25 วัน

กรมชลประทานส่อชะลอส่งน้ำทำนาปี 58/59 เหตุฝนไม่มาตามนัด เหลือน้ำใช้ทำการเกษตรเพียง 25 วัน 9 มิ.ย.นี้ถกเครียดกรมอุตุนิยมวิทยาประเมินสถานการณ์น้ำฝนก่อนตัดสินใจ

นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานจะเข้าหารือกับกรมอุตุนิยมวิทยาในวันที่ 9 มิ.ย. 58 เพื่อประเมินสถานการณ์น้ำฝน หลังจากฝนไม่ตกตามที่เคยประเมินว่าฤดูฝนจะเริ่มในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพ.ค. ขณะนี้กำลังเข้าสู่สัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมิ.ย. ยังคงไม่มีฝนมาเติมน้ำในเขื่อนเพียงพอ ทำให้น้ำในเขื่อนหลักมีน้ำใช้การเหลือประมาณ 1,500 ล้านลบ.ม. สำหรับทุกกิจกรรม ซึ่งถ้าหากประเมินร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยาแล้วว่าจะยังไม่มีฝนตกต่อไป กรมชลประทานจะประกาศชะลอส่งน้ำเพื่อทำการเพาะปลูกนาปี 2558/59  เพื่อให้มีน้ำเหลือพอรักษาระบบนิเวศและการอุปโภคบริโภค

นายสุเทพกล่าวว่า ปกติในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาจะมีการทำนาประมาณ 9.2 ล้านไร่ ใช้น้ำเดือนละประมาณ 1,500 ล้านลบ.ม. ส่งน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคเดือนละ 150 ล้านลบ.ม. และรักษาระบบนิเวศ (ผลักดันน้ำเค็ม) เดือนละ 180 ล้านลบ.ม. รวมใช้น้ำชลประทานประมาณเดือนละ 1,800-1,900 ล้านลบ.ม. ดังนั้นน้ำใช้การที่เหลืออยู่ หากมีการทำนาเต็มพื้นที่ตามปกติจะเหลือน้ำใช้เพียง 25 วันเท่านั้น

ซึ่งหลังจากกรมชลประทานเริ่มปล่อยน้ำทำการเกษตรไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา มีเกษตรกรเริ่มเพาะปลูกข้าวนาปีแล้ว 2 ล้านไร่ทั้งในที่ลุ่มและที่ดอน ถ้าหากประเมินแล้วพบว่าฝนจะยังคงไม่ตกต่อเนื่องไปอีก อาจต้องประกาศชะลอส่งน้ำทำนาปี และขอให้เกษตรกรที่ยังไม่เพาะปลูกชะลอการเริ่มเพาะปลูกไปก่อนจนกว่าจะเข้าสู่ฤดูฝน ส่วนพื้นที่ 2 ล้านไร่ที่ทำการเพาะปลูกแล้ว กรมชลประทานจะส่งน้ำให้พอประคองตัวจนกว่าจะถึงฤดฝน

สำหรับปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา เขื่อนภูมิพลเหลือน้ำใช้ได้ประมาณ  558 ล้านลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์มีปริมาณน้ำใช้ได้ 946 ล้านลบ.ม. เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนเหลือน้ำใช้ได้ 109 ล้านลบ.ม. และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เหลือน้ำใช้ได้ 105 ล้านลบ.ม. กรมชลประทานมีการระบายน้ำเพื่อสนับสนุนการเพาะปลูกประมาณวันละ 62 ล้านลบ.ม.

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 5 มิถุนายน 2558

ก.เกษตรผนึกอปท.เดินหน้าลุย ปั้น 'ช่างเกษตร' ประจำหมู่บ้าน

                      การใช้เทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตร สามารถทดแทนแรงงาน ลดต้นทุนการผลิต รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพทางการเกษตรทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ และเวลา เพื่อยกระดับความก้าวหน้าในการใช้เทคโนโลยีทางการผลิตสินค้าเกษตรของประเทศ กรมส่งเสริมการเกษตร จึงได้มีการส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร โดยกำหนดแนวทางการพัฒนาให้ชุมชนเป็นแหล่งผลิตหลักทางการเกษตร มีเครื่องจักรกลการเกษตรใช้เป็นอุปกรณ์สำคัญในการผลิต ลดความเหนื่อยล้า และเพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่เกษตรกร

                       โอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวถึงภาพรวมของการผลิตภาคการเกษตรปัจจุบันได้มีการปรับตัวเอง โดยการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรเพิ่มขึ้นจำนวนมาก แต่เครื่องจักรกลที่ใช้ยังเป็นเครื่องจักรกลขนาดเล็กที่มีต้นทุนต่ำสำหรับใช้เฉพาะในครัวเรือนและพื้นที่ขนาดเล็ก เพื่อรองรับสถานการณ์ดังกล่าวจำเป็นต้องมีการพัฒนาบุคลากรทางเทคนิคในท้องถิ่น ด้วยการพัฒนาช่างซ่อมแซมเครื่องจักรกลการเกษตรประจำชุมชนหรือท้องถิ่น โดยร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานด้านพัฒนาฝีมือแรงงาน และภาคเอกชน ในการสนับสนุนให้เกษตรกรได้พัฒนาทักษะและเทคนิคการซ่อมแซมเครื่องยนต์เกษตรที่เป็นต้นกำลังของเครื่องจักรกลการเกษตร ที่ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 2.8 ล้านเครื่อง ให้แก่ช่างในท้องถิ่นให้รองรับการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วได้และเพียงพอ รวมทั้งเพิ่มทักษะการให้บริการเครื่องจักรกลเกษตรในชุมชน แก่องค์กรเกษตรกร และผู้ประกอบการทั่วไปที่ดำเนินธุรกิจการให้บริการเครื่องจักรกลเกษตรในชุมชนด้วย

                       "การปั้นช่างเกษตรหมู่บ้านจะสามารถทำให้เกษตรกรสามารถลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมเฉลี่ย 2,000 บาท ต่อเครื่องต่อปี ในส่วนกรมส่งเสริมการเกษตรเองก็จะมีฐานข้อมูลผู้ให้บริการเครื่องจักรกลการเกษตรระดับประเทศ เพื่อให้เกษตรกรใช้ประโยชน์ในการตัดสินใจเข้ารับบริการ ตลอดจนให้ภาครัฐเป็นฐานข้อมูลในการวางแผนการพัฒนาการส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรต่อไป" อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรกล่าวย้ำ

                       ณรงค์ ปัญญา รักษาการผู้อำนวยการกองส่งเสริมวิศวกรรมเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเสริมว่า การดำเนินโครงการส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรทดแทนแรงงานเกษตรในปี 2558 นี้ มีเป้าหมายในการพัฒนาความรู้ในด้านเทคนิคการใช้ บำรุงรักษา และซ่อมแซมเครื่องจักรกลการเกษตรประจำท้องถิ่น จำนวน 3,000 ราย โดยคัดเลือกจาก 40 จังหวัดเพื่อพัฒนาทักษะและเทคนิคที่ถูกต้องในด้านการใช้งานเครื่องยนต์เกษตร บำรุงและรักษาเครื่องยนต์ก่อนและหลังการใช้งาน การเลือกใช้น้ำมันเครื่องและการจำแนกและเลือกใช้อะไหล่แท้จากบริษัทผู้ผลิต ซึ่งภายหลังการอบรมจะส่งผลให้เกษตรกรสามารถนำความรู้ไปปฏิบัติเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมเครื่องจักรกลของตนเองได้ ตลอดจนสามารถถ่ายทอดความรู้เรื่องการใช้และบำรุงรักษาเครื่องยนต์เกษตรให้เพื่อนบ้านได้        

                       "หลักสูตรช่างเกษตรท้องถิ่น ระดับ 2 มีระยะเวลาการอบรม 3 วัน โดยจะคัดเลือกจากเกษตรกรที่ผ่านการอบรมในระยะที่ 1 และมีทักษะที่พร้อมจะเป็นช่างเกษตรท้องถิ่นจำนวน 125 ราย มาอบรม เพื่อแก้ไขข้อขัดข้องของเครื่องยนต์ได้ส่วนในระดับ 3 นั้นจะมีระยะเวลาในการอบรม 3 วัน โดยคัดเลือกเกษตรกรที่ผ่านการอบรมในหลักสูตรลำดับที่ 2 และมีทักษะที่พร้อมเป็นช่างเกษตรท้องถิ่น เป้าหมายจำนวน 50 คน สนใจสอบถามกองส่งเสริมวิศวกรรมเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร"

                       นับเป็นอีกก้าวของกรมส่งเสริมการเกษตรในการสนองนโยบายรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรลดต้นทุนการผลิตในด้านการซ่อมบำรุงเครื่องจักรกลการเกษตร ด้วยการผลิตช่างเกษตรประจำหมู่บ้าน

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 5 มิถุนายน 2558

บราซิลฟ้องร้องรัฐบาลไทยอุดหนุนชาวไร่ ทำราคาน้ำตาลในตลาดโลกตกต่ำ  3ส.โรงงานฯแจงไม่เป็นความจริง 

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า จากกรณีที่สมาคมผู้ผลิตอ้อยและน้ำตาลของบราซิล เรียกร้องให้รัฐบาลบราซิลดำเนินการฟ้องร้องไทยและอินเดีย ต่อองค์การการค้าโลก (WTO) โดยกล่าวหาว่ารัฐบาลไทยและอินเดียให้เงินอุดหนุนแก่ชาวไร่อ้อยในการเพาะปลูก ส่งผลให้เกษตรกรชาวไร่ให้ความสนใจมาเพาะปลูกอ้อยมากขึ้น ทำให้ปริมาณผลผลิตเพิ่มและผลิตน้ำตาลทรายเข้าสู่ตลาดโลกได้มากขึ้น และเป็นสาเหตุให้ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกตกต่ำลงนั้น ข้อกล่าวหาดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด

ทั้งนี้ เนื่องจากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีปริมาณผลผลิตอ้อยเพิ่มขึ้นนั้น มาจากชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลทราย ร่วมมือกันพัฒนาประสิทธิภาพการเพาะปลูกอย่างจริงจัง เพื่อมุ่งเพิ่มผลผลิตต่อไร่ และให้ได้คุณภาพอ้อยที่ดียิ่งขึ้น ขณะที่ฝ่ายโรงงานน้ำตาลทรายได้ลงทุนพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตมาโดยตลอด พร้อมนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตไปต่อยอดสู่ธุรกิจอื่นๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น นำชานอ้อยไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้า หรือการนำกากน้ำตาลไปผลิตเป็นเอทานอล ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพลังงานทดแทนของภาครัฐ ที่มีเป้าหมายเพิ่มการผลิตและใช้พลังงานทดแทนให้มากยิ่งขึ้น เพื่อลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ

“ที่ผ่านมาทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมได้ช่วยเหลือกันเอง เพื่อส่งเสริมการผลิตอ้อย แต่เมื่อราคาในตลาดโลกลดลง โรงงานน้ำตาลทรายต้องหาช่องทางเพิ่มรายได้เพื่อความอยู่รอด โดยมองว่าอ้อยไม่ได้เป็นพืชอาหารเพียงอย่างเดียว แต่เป็นพืชพลังงานด้วย จึงนำอ้อยและของเสียจากกระบวนการผลิตน้ำตาลไปสร้างมูลค่าเพิ่มในธุรกิจพลังงานทดแทน ทำให้ปัจจุบันหลายโรงงานมีความต้องการผลผลิตอ้อยเพิ่มขึ้น โดยเข้าไปส่งเสริมด้านการเพาะปลูกให้แก่เกษตรกร และให้ความมั่นใจว่าจะรับซื้อผลผลิตอ้อยทั้งหมด ทำให้เกษตรกรมั่นใจว่ามีตลาดรองรับ และหันมาให้ความสนใจเพาะปลูกอ้อยเพิ่มขึ้น”นายสิริวุทธิ์ กล่าว

นอกจากนี้รูปแบบโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยมีเสถียรภาพ โดยใช้ระบบแบ่งปันผลประโยชน์ 70:30 ที่สร้างความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย จึงเอื้อต่อการเติบโตที่ดี และมีกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งจัดเก็บรายได้บางส่วนจากการจำหน่ายน้ำตาลที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันของชาวไร่และโรงงานน้ำตาลทรายมาช่วยรักษาเสถียรภาพของอุตสาหกรรมทั้งกระบวนการผลิต โดยเฉพาะกลุ่มชาวไร่อ้อย ให้มีความเข้มแข็ง โดยไม่ต้องพึ่งพาภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือแต่อย่างใด ในขณะเดียวกันก็มีการดูแลผู้บริโภคให้มีน้ำตาลเพียงพอต่อการบริโภคในราคาที่เหมาะสม ซึ่งเห็นได้จากราคาน้ำตาลในไทยต่ำกว่าประเทศอื่นมาก เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านและประเทศผู้ผลิตอื่นๆ

จาก http://www.naewna.com วันที่ 5 มิถุนายน 2558

พัฒนาฐานข้อมูลดินสำเร็จรูป

พัฒนาฐานข้อมูลดินสำเร็จรูปในปี พ.ศ. 2510 นักวิชาการทางดินของประเทศไทยได้เริ่มนำระบบการจำแนกใหม่ที่เสนอโดยกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา เรียกว่า ระบบอนุกรมวิธานดิน เข้ามาใช้ในระบบการสำรวจและจำแนกดินของประเทศไทย

ประเทศไทยได้ดำเนินการด้านการสำรวจจำแนกดินมาก่อนปี พ.ศ. 2478 ซึ่งก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เสียอีก โดยมี ดร.โรเบิร์ต แอล เพนเดิลตัน นักวิทยาศาสตร์ทางดินซึ่งเข้ามาปฏิบัติงานในฐานะที่ปรึกษาของกระทรวงเกษตราธิการในขณะนั้น โดยมีนักวิชาการฝ่ายไทย คือ ดร.สาโรช มนตระกูล เป็นผู้ดำเนินงาน

ต่อมาในปี พ.ศ.2504ดร.เอฟ อาร์ มอร์แมนผู้เชี่ยวชาญขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เข้ามาปฏิบัติงานในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญการสำรวจดิน ทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย ศึกษาและปรับปรุงการจำแนกดินของประเทศไทย จนกระทั่งปี พ.ศ.2506ได้จัดตั้งกรมพัฒนาที่ดินขึ้น สังกัดกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ

ในปี พ.ศ.2510นักวิชาการทางดินของประเทศไทยได้เริ่มนำระบบการจำแนกใหม่ที่เสนอโดยกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา เรียกว่า ระบบอนุกรมวิธานดิน เข้ามาใช้ในระบบการสำรวจและจำแนกดินของประเทศไทย

และในปี พ.ศ. 2539 ได้พัฒนาระบบฐานข้อมูลดินโดยนำเอกสารแผนที่ดินเข้าสู่ข้อมูลดินในรูปดิจิตอลด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ เพื่อให้ผู้ใช้ทราบข้อมูลดินและความเหมาะสมในการใช้ประโยชน์เป็นรายจังหวัด โดยให้บริการข้อมูลดินและที่ดินครบทุกจังหวัดของประเทศไทย ซึ่งเป็นผลงานที่ได้รับการยอมรับมาจนถึงปัจจุบันการสำรวจดินของนักวิชาการ มีทั้งหมด 4 ขั้นตอน คือ

1. การตรวจสอบดินในสนาม 2. การทำคำอธิบายหน้าตัดดินและการเก็บตัวอย่างดินเพื่อนำมาวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ 3. การวิเคราะห์ตัวอย่างดินในห้องปฏิบัติการ และ 4. การทำรายงานสำรวจดิน

ทั้งนี้ผลงานด้านการสำรวจทรัพยากรดินในรอบ 50 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2506 ถึง พ.ศ.2556 มีทั้งหมด 1,558 ฉบับ แบ่งเป็นผลงานการสำรวจจำแนกดินในรูปของแผนที่และรายงานการสำรวจดิน จำนวน 999 ฉบับ เอกสารวิชาการ จำนวน 559 ฉบับ

นางกุลรัศมิ์ อนันต์พงษ์สุข รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดินในฐานะโฆษกกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า กรมพัฒนาที่ดินมีแนวคิดในการพัฒนาบริการ การเข้าถึงข้อมูลของดินในประเทศไทยได้อย่างรวดเร็วแก่ผู้ขอรับบริการ โดยได้คิดและพัฒนาเพื่อจัดทำฐานข้อมูลสำเร็จรูปขึ้นมา 1 ชุด เรียกว่า “แผนที่และสารสนเทศดินเพื่อการใช้และบริหารจัดการที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด” ซึ่งเป็นฐานข้อมูลที่รวบรวมแผนที่กลุ่มชุดดินทั้งหมด 62 กลุ่ม ทั่วทั้งประเทศ

โดยสามารถสืบค้นแผนที่กลุ่มชุดดิน ข้อมูลลักษณะและคุณสมบัติของดิน แนวทางการจัดการสำหรับปลูกพืชเศรษฐกิจประเทศไทย มีทั้งหมด 6 ชนิดพืช ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ซึ่งได้นำข้อมูลดังกล่าวมาจัดทำแผนที่ความเหมาะสมของดินสำหรับพืชเศรษฐกิจในประเทศไทย จำนวน 6 แผนที่ และแผนที่ความเหมาะสมของดินสำหรับใช้ประโยชน์ด้านวิศวกรรมในประเทศไทย ด้วยระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ จำนวน 11 แผนที่

ทั้งนี้ข้อมูลดินทั้งหมดนั้นสามารถสืบค้นรายละเอียดได้ถึงระดับตำบลทุกตำบลทั่วประเทศไทยนอกจากนี้การพัฒนาฐานข้อมูลสำเร็จรูป หรือ “แผนที่และสารสนเทศดินเพื่อการใช้และบริหารจัดการที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด” ได้จัดลำดับชั้นความเหมาะสมของดินในรูปแบบใหม่ ออกเป็น 3 แบบ คือ 1. เหมาะสม 2. ไม่ค่อยเหมาะสม และ 3. ไม่เหมาะสม จากเดิมที่แบ่งความเหมาะสมของดินออกเป็น 5 แบบ คือ 1. เหมาะสมดีมาก 2. เหมาะสมดี 3. เหมาะสมปานกลาง 4. ไม่ค่อยเหมาะสม และ 5. ไม่เหมาะสม เพื่อความสะดวกในการจัดทำฐานข้อมูลและแผนที่สำหรับ 6 ชนิดพืช

แผนที่และสารสนเทศดินเพื่อการใช้และบริหารจัดการที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด จะต้องมีการประชาสัมพันธ์และต้องมีการทำงานแบบบูรณาการระหว่างหน่วยงานเพิ่มมากขึ้น พร้อมกับการสร้างเครือข่ายหมอดินหรือเกษตรกรให้มีประสิทธิภาพและมากยิ่งขึ้น

ซึ่งการศึกษาลักษณะและคุณสมบัติของดินจำนวน 62 กลุ่มชุดดินนี้ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งด้านวิศวกรรม และเกษตรกรรม ซึ่งเกษตรกรสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ประกอบในการตัดสินใจในการเลือกปลูกพืชให้เหมาะสมกับลักษณะและคุณสมบัติของดินได้เพื่อช่วยในการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มรายได้แก่เกษตรกร อีกทั้งหากนำไปใช้ด้านวิศวกรรมก็จะสามารถช่วยในการประหยัดงบประมาณในการศึกษาหาข้อมูลเบื้องต้นประกอบการวางแผนพัฒนาประเทศ ไทยต่อไปได้เป็นอย่างดี.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 5 มิถุนายน 2558

เปิด 8 อุตสาหกรรมผลักดันเศรษฐกิจ

นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า จากการที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินอัตราการเติบโตผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ปี 58 ที่จะเติบโต 3-4% ทำให้ สศอ.คาดการณ์ว่า GDP ภาคอุตสาหกรรมปีนี้จะโต 2-3% หรือคิดมูลค่า 2.69-2.71 ล้านล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 57 ที่ติดลบ 0.4%จากปี 56 ทั้งนี้ ปัจจัยหนุนที่ทำให้ GDP อุตสาหกรรมเติบโตปีนี้มาจากการเติบโตของอุตสาหกรรมหลัก 8 สาขาได้แก่ 1. อาหารและเครื่องดื่มที่คาดว่าจะโต 0.86-1.61% มูลค่าที่เพิ่มขึ้น 4,470-8,350 ล้านบาท จากปีที่แล้ว 2.ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ขยายตัว 1.48-2.34% เพิ่มขึ้น 3,150-5,000 ล้านบาท 3.เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์โต 1.67-3.52% เพิ่มขึ้น 9,000-19,000 ล้านบาท

4.อุตสาหกรรมเคมีและผลิตภัณฑ์เคมีโต 1.39-3.64% คิดเป็นมูลค่าที่เพิ่มขึ้น 2,570-6,760 ล้านบาท 5.อุตสาหกรรมปิโตรเลียมโต 1.71-3.18% เพิ่มขึ้น 1,950-3,620 ล้านบาท 6.ผลิตภัณฑ์แก้ว ซีเมนต์ คอนกรีต กระเบื้องและเซรามิกขยายตัว 3.06-4.67% เพิ่มขึ้น 3,680-5,610 ล้านบาท 7.อุตสาหกรรมการผลิตเหล็กโต 4.37-7.26% เพิ่มขึ้น 314-522 ล้านบาท 8.สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเติบโต 1.12-2.46% เพิ่มขึ้น 2,060-4,520 ล้านบาท

ทั้งนี้ การเติบโตดังกล่าวเป็นไปตามการโตของเศรษฐกิจภาพรวม แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามครึ่งปีหลัง ได้แก่ 1.ภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งมีเพียงสหรัฐอเมริกาที่เศรษฐกิจโตขึ้น ที่เหลือการเติบโตชะลอตัวทั้งจีน ญี่ปุ่น ส่งผลให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 58 เหลือ 3.5% จากเดิม 3.8% 2.ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจอาเซียน ที่จะทำให้การส่งออกลดต่ำลง 3.นโยบายปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศคู่แข่งทางการค้า 4.อัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวนและมีแนวโน้มอ่อนค่าลง 5.ทิศทางราคาน้ำมันดิบที่มีความผันผวน.

จาก http://www.thairath.co.th   วันที่ 5 มิถุนายน 2558

มิตรผลกัดฟันทำน้ำตาลในลาว ปัญหาเพียบเพิ่มกำลังผลิตไม่ได้

        กลุ่มมิตรผล ยังกัดฟันทำธุรกิจน้ำตาลในสปป.ลาว หลังดำเนินงานมา 9 ปี เจอปัญหารุมเร้า ส่งเสริมพื้นที่ปลูกไม่ได้ตามเป้า เจอโรคใบขาวระบาด ส่งผลแผนขยายกำลังหีบอ้อยที่ 1 ล้านตัน พลาดเป้า ต้องทุ่มงบ ใน 5 ปี อีก 1 พันล้านบาท แก้ปัญหา โดยมั่นใจในปี 2562 ทำได้แน่ พร้อมเร่งเจรจารัฐบาลลาวขอขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 10 เมกะวัตต์  หลังมีชานอ้อยเหลือ 

    นายบรรเทิง ว่องกุศลกิจ กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานพัฒนาและจัดการด้านอ้อย กลุ่มมิตรผล เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า จากที่กลุ่มมิตรผลได้เข้าไปลงทุนตั้งโรงงานน้ำตาลในสปป.ลาวภายใต้บริษัท น้ำตาลมิตรลาว จำกัด โดยได้สัมปทานปลูกอ้อยในแขวงสะหวันนะเขต พ้นที่ 6.25 หมื่นไร่  ตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา ด้วยเงินลงทุนกว่า 2.3 พันล้านบาท ซึ่งวางแผนที่จะหีบอ้อยให้ได้ 6 แสนตันต่อปี หรือผลิตน้ำตาลทรายแดงได้ 7.2 หมื่นตันต่อปี และมีแผนที่จะขยายกำลังการหีบอ้อยขึ้นเป็น 1 ล้านตันต่อปี หรือผลิตน้ำตาลทรายได้ราว 1 แสนตันต่อปี ภายในปี 2557 ที่ผ่านมา

    แต่จากการดำเนินงานที่ผ่านมา ทางบริษัทน้ำตาลมิตรลาวไม่สามารถดำเนินงานได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ เนื่องจากสภาพพื้นที่การปลูกอ้อยไม่เหมือนกับประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ดอน ประกอบกับทางรัฐบาลเห็นว่า การเพิ่มพ้นที่ปลูกอ้อยมาเกินไป จะส่งผลให้พื้นที่ปลูกข้าวที่ใช้บริโภคในประเทศลดลง ที่สำคัญในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พื้นที่ปลูกอ้อยประสบปัญหาศัตรูพืช ในเรื่องของโรคใบขาวในอ้อยที่ระบาดอย่างหนัก รวมถึงปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้น ทำให้ปริมาณอ้อยลดลงอย่างมาก ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ จึงกระทบต่อแผนการขยายกำลังการผลิตที่ตั้งไว้

    จากสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้ฤดูหีบอ้อยที่ผ่านมา มีปริมาณอ้อยเข้าหีบได้เพียงประมาณ 4 แสนตันอ้อย จากพื้นปลูกอ้อยของบริษัท ประมาณ 2 หมื่นไร่ และของเกษตรกรประมาณ 2.5 หมื่นไร่ หรือผลิตน้ำตาลทรายได้ราว 4 หมื่นตัน ซึ่งการดำเนินงานในปีนี้บริษัทจะเร่งแก้ปัญหาโรคใบขาวในอ้อยให้แล้วเสร็จ และในปีหน้าจะเริ่มนำพันธุ์อ้อยต้านโรคใบขาวมาทำการเพาะปลูก เนื่องจากบริษัทมีศูนย์เพาะเชื้อที่ใหญ่สุดในภูมิภาคนี้ ที่จะสามารถป้อนพันธุ์อ้อยเข้าไปทดแทนของเดิมได้

    อย่างไรก็ตาม จากการเข้าไปส่งเสริมการปลูกอ้อยของเกษตรกรปีละประมาณ 10% หรือประมาณ 2.5 พันไร่ และรวมกับการเพิ่มผลผลิตของอ้อยที่บริษัทปลูกอีกปีละ 10% จะช่วยให้ปลายปีหน้าหรือฤดูหีบ 2559/2560 มีปริมาณเข้าหีบเพิ่มขึ้นอีกอีก 1 แสนตันอ้อยต่อปี รวมกับของเดิมเป็น 5 แสนตันอ้อยต่อปี จนไปสู่ระดับกำลังการผลิตที่ 6 แสนตันอ้อยต่อปีในปีถัดไป

    นายบันเทิงกล่าวอีกว่า ส่วนการจะขยายกำลังการหีบอ้อยขึ้นไปถึง 1 ล้านตันอ้อยต่อปีนั้น ในช่วง 5 ปีนับจากนี้ไปบริษัท น้ำตาลทรายมิตรลาว คงต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 1 พันล้านบาท สำหรับบริหารจัดการในโมเดิร์นฟาร์มของบริษัทที่มีอยู่ประมาณ 1 พันไร่ เช่น การเพิ่มระบบชลประทาน รวมถึงการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ และการส่งเสริมการปลูกอ้อยพันธุ์ปลอดโรค

    โดยบริษัทเชื่อว่าหลังจากแก้ไขปัญหาต่างๆ เสร็จสิ้นแล้ว จะทำให้มีปริมาณอ้อยเพิ่มขึ้นมาตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ได้ในปี 2562 บริษัทจะใช้เงินลงทุนสำหรับการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลมารองรับการหีบอ้อยที่ 1 ล้านตันต่อปีได้ ซึ่งจะใช้เงินลงทุนอีกราว 2.5 พันล้านบาท สำหรับการขยายกำลังผลิตน้ำตาลทราย เพื่อรองรับตลาดในภูมิภาคนี้ ภายหลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซีไปแล้ว เนื่องจากปัจจุบันน้ำตาลที่ผลิตได้จะส่งขายไปยังสหภาพยุโรปเป็นหลัก 80% และอีก 20% จำหน่ายในสปป.ลาว

    นอกจากนี้ ในส่วนของโรงไฟฟ้าชีวมวลจากชานอ้อย ซึ่งปัจจุบันมีกำลังการผลิต 9.7 เมกะวัตต์ ด้วยเงินลงทุนกว่า 300 ล้านบาท ใช้ในโรงงานน้ำตาล 6.7 เมกะวัตต์ และที่เหลืออีก 3 เมกะวัตต์ ส่งจำหน่ายให้กับรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว โดยขณะนี้กำลังจะพิจารณาว่า จะขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าที่จำหน่ายให้กับการไฟฟ้าลาวเพิ่มขึ้นเป็น 10 เมกะวัตต์ ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจาคาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็วๆ นี้ โดยจะใช้เงินลงทุนอีกเมกะวัตต์ละ 60-80 ล้านบาท

    "การเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้า มีปัจจัยที่จะต้องไปพิจารณาว่ามีปริมาณชานอ้อยในฤดูหีบในฤดูนี้จะเหลือมากน้อยเพียงใด  รวมถึงความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่มีมากน้อยเพียงใด เพราะหากความต้องการยังต่ำอยู่ การขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าก็คงไม่สามารถเพิ่มได้มากอย่างที่ตั้งใจไว้

จาก http://www.thanonline.com วันที่ 4 มิถุนายน 2558

ก.เกษตรฯ ลุยแปลงใหญ่ยกชั้นเกษตรกร เพิ่มรายได้แตะ 2 แสน/ปี – นำร่อง “สิงห์บุรี - กำแพงเพชร”  

          ก.เกษตรฯ ประกาศยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน เร่งดำเนินการปรับโครงสร้างการผลิต ด้วยระบบการส่งเสริมเกษตรให้เป็นแปลงใหญ่ เพื่อสร้างความสมดุล ระหว่างความต้องการสินค้ากับผลผลิต โดยปรับโครงสร้างการเกษตร ทั้งด้านพืช ด้านประมง และด้านปศุสัตว์ มุ่งเน้นการส่งเสริมการเกษตรที่ยึดพื้นที่และสินค้าเป็นหลัก

          นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การขับเคลื่อนระบบส่งเสริมการเกษตรให้เป็นแปลงใหญ่จะสำเร็จ ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝาย ภายใต้การดูแลของคณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตร ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และมีผู้จัดการแปลง ทำหน้าที่บริหารจัดการทุกกิจกรรมของโครงการ ตั้งแต่การจัดหาปัจจัยการผลิต การผลิต คุณภาพผลผลิต การเก็บเกี่ยว การบริหารจัดการโลจิสติกส์ และการตลาด รวมถึงการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

          “เบื้องต้นมอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้คัดเลือกผู้จัดการแปลง แต่ในอนาคตอาจจะจ้างผู้บริหารมืออาชีพเข้ามาบริหาร และยืนยันว่า การทำเกษตรแปลงใหญ่ ไม่ได้นำกรรมสิทธิ์มารวมกัน แต่จะเชื่อมโยงการทำการเกษตร ให้เป็นกลุ่มเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ช่วยลดต้นทุนได้ประมาณ 5% เพิ่มรายได้ประมาณ 20% ต่อปี เพราะหลังจากนี้หากเกษตรกรไม่ปรับตัว จะไม่สามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้ ทั้งในส่วนของต้นทุน ผลผลิตและราคา และเชื่อว่าไม่เกิน 5 ปี สินค้าไทยจะหายไป โครงการแปลงใหญ่นี้แสดงให้เห็น ว่ารัฐบาลไม่ได้แทรกแซงกลไกตลาด แต่เป็นการสร้างโอกาสให้กับเกษตรกร”

          +ผู้ว่าราชการจังหวัดเลือกแล้ว 263 พื้นที่

          นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนกงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า การขับเคลื่อนการบริหารจัดการสินค้าเกษตรของจังหวัด และระบบการส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ปี 2558 เพื่อให้เกษตรเกิดความร่วมมือในการผลิต หรือองค์กรเกษตรกรในพื้นที่ ทำให้เกิดขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ (Economy of Scale) ซึ่งคณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ของจังหวัด ได้ประชุมคัดเลือกพื้นที่แล้วเสร็จเมื่อเดือนเม.ย. 2558 จาก 76 จังหวัด 28 สินค้า จำนวน 263 แปลง มีรายชื่อผู้จัดการแปลงจำนวน 263 คน ประกอบด้วย 1. พืช รวม 21 ชนิด จำนวน 241 แปลง ได้แก่ ข้าว 138 แปลง ยางพารา 3 แปลง ปาล์มน้ำมัน 12 แปลง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 10 แปลง อ้อยโรงงาน 5 แปลง มันสำปะหลัง 17 แปลง ผลไม้ 45 แปลง และพืชอื่น ๆ ได้แก่ พืชผัก/อื่น ๆ 12 แปลง 2 . ปศุสัตว์ 3 ชนิด ได้แก่ ไก่พื้นเมือง โคเนื้อ และโคนม 3. ประมง 3 ชนิด ได้แก่ กุ้งขาว หอยแครง และปลาน้ำจืด

          +ปี 2559 พร้อมจัดสรรงบลงแปลงใหญ่

          สำหรับงบประมาณในการดำเนินการปี 2558 ใช้งบประมาณจากแหล่งต่างๆ ได้จัดสรรไว้แล้ว เพื่อปฏิบัติงานแบบบูรณาการ ได้แก่ งบประมาณรายจ่ายประจำปีของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยจัดสรรให้กับหน่วยงานในระดับจังหวัดไปดำเนินการตามภารกิจ, งบกลาง ที่มีการจัดสรรเพื่อดำเนินการในจังหวัด, งบกลุ่มจังหวัด/จังหวัด, งบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และงบอื่นๆ อาทิ เงินกู้ยืมจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร เงินกู้ยืมจากธนาคารเพื่อการเกษตร และสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทั้งนี้คณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ของจังหวัด และผู้จัดการพื้นที่เป็นผู้ประสานงานให้ได้งบประมาณสนับสนุนกิจกรรมตามแผนการผลิตในแต่ละพื้นที่ ซึ่งปี 2559 กรมที่เกี่ยวข้องจะพิจารณาจัดสรรงบประมาณ เพื่อสนับสนุนกิจกรรมตามระบบส่งเสริมการเกษตรให้เป็นแปลงใหญ่ โดยโครงการเกษตรกรรมแบบแปลงใหญ่มีอายุ 5 ปี กำหนดเวลาชำระคืนเงินกู้ได้ภายใน 5 ปี

          +“สิงห์บุรี-กำแพงเพชร” นำร่องแปลงใหญ่

          รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า เตรียมเดินหน้าโครงการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรมแบบแปลงใหญ่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยยกจังหวัดสิงห์บุรีและกำแพงเพชร เป็นตัวอย่างนำร่อง ซึ่งพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีพื้นที่เกษตรทั้งหมด 9.24 ล้านไร่ คิดเป็น 72.04 % ของพื้นที่ทั้งหมดในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ครอบคลุม 16 จังหวัด 91 อำเภอ 673 ตำบล และ 5,287 หมู่บ้าน มีประชากร 5.62 ล้านคน (ไม่รวมพื้นที่กทม.) ในจำนวนนี้ 11.39% ประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยแบ่งพื้นทำนาข้าว 5.84 ล้านไร่ หรือ 45.59% ของพื้นที่ทั้งหมด ทำพืชผลัก 0.094 ล้านไร่ หรือ 0.73% ของพื้นที่ทั้งหมด พืชไร่ 2.39 ล้านไร่ หรือ 18.66% ของพื้นที่ทั้งหมด ไม้ผล-ไม้ยืนต้น 0.609 ล้านไร่ หรือ 4.75% ของพื้นที่ทั้งหมด เกษตรอื่นๆ 0.29 ล้านไร่ หรือ 2.31% ของพื้นที่ทั้งหมด ป่าไม้ 0.63 ล้านไร่ หรือ 4.94% ของพื้นที่ทั้งหมด และพื้นที่อื่นๆ 2.95 ล้านไร่ หรือ 23.01% ของพื้นที่ทั้งหมด

          +ปีก่อนผลผลิตการทำนา ขาดทุนไร่ละ 3,240 บาท

          สำหรับวัตถุประสงค์ เพื่อปรับโครงสร้างการผลิตไปสู่การผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ และการใช้ทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพตามกระบวนการจัดทำโซนนิ่งที่เหมาะสม โดยแนะนำให้เกษตรกรรวมกลุ่มให้มีพื้นที่เพาะปลูกอย่างน้อย 30 ไร่ และนำแผนการเพาะปลูกตามกิจกรรมที่กระทรวงส่งเสริม รวมทั้งแนะนำให้เกษตรกรเลือกชนิดการปลูกให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เพื่อลดปัญหาขาดทุนจากการทำนาอย่างต่อเนื่องของเกษตรกร โดยรัฐบาลมีการสำรวจการทำนาในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา 3 รอบ/ปี คือรอบแรกเดือน พ.ค.-ก.ค. รอบที่ 2 เดือนส.ค.-พ.ย. และรอบที่ 3 เดือนธ.ค.-เม.ย. ในปี 2557/58 ขาดทุนกว่า 3,240 บาท/ไร่

          +เข้าโครงการแปลงใหญ่ต้นทุนลด-ผลผลิตเพิ่ม

          สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ศึกษาต้นทุนการผลิตหากดำเนินการตามการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรมแบบแปลงใหญ่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภายใต้พื้นที่ 30ไร่/ราย พบว่า ต้นทุนการผลิตปี 2558/59 ลดลง เนื่องจากเกษตรกรสนับสนุนการใช้ปุ๋ยสั่งตัด สนับสนุนให้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง และสนับสนุนเงินลงทุนซื้อเครื่องจักกลทางการเกษตร เช่น รถหยอดข้าว รถเกี่ยวข้าว ฯลฯ ทั้งนี้ราคาสินค้าเกษตรจะตอบสนองต่อนโยบายรัฐบาล ต้นทุนที่ลดลง 5% รายได้เพิ่มขึ้น เพื่อให้เกิดความยั่งยืนของเกษตรกรรม และสนับสนุนให้เกษตรกรไทยมีงานทำตลอดทั้งปี ช่วยยกระดับรายได้เกษตรกรในโครงการจำนวน 2.2 แสนราย ให้มีรายได้ในระยะ 5 ปี เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 20% มีผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น 5% ต่อปี ตลอดระยะเวลาของโครงการ

          +รายได้สุทธิเพิ่มเป็น 78,000-207,600 บาท/ปี

          สำหรับรายได้สุทธิหักต้นทุน อยู่ที่ 78,000-207,600 บาท/ปี ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานตามเกณฑ์สมาร์ทฟาร์มเมอร์ ที่มีรายได้ไม่หักต้นทุนที่ 180,000 บาท/ราย โดยคิด 1 ปีการผลิต หากทำเกษตรกรรมแบบแปลงใหญ่ตามนโยบายรัฐบาล รอบแรกเดือน พ.ค.-ก.ค. ปลูกข้าวขาว รอบที่ 2 เดือนส.ค.-พ.ย. ข้าวหอมปทุม และรอบที่ 3 เดือนธ.ค.-เม.ย. หากปลูกถั่วเขียว จะมีรายได้ 4,670 บาท/ไร่ หรือรายได้ 140,100 บาท/ราย/ปี หากปลูกถั่วลิสง จะมีรายได้ 6,920 บาท/ไร่ หรือ 207,600 บาท/ไร่/ปี ปลูกถั่วหลือง จะมีรายได้ 2,600 บาท/ไร่ หรือรายได้ 78,000 บาท/ราย/ปี และหากปลูกข้าวโพด จะมีรายได้ 3,620 บาท/ไร่ หรือ 108,600 บาท/ราย/ปี

          ขณะที่โครงการนำร่องแปลงใหญ่จังหวัดสิงห์บุรี มีพื้นที่รวม 197,091 ไร่ เป็นพื้นที่เกษตรกรรม 155,324 ไร่ และเป็นพื้นที่นา 146,021 ไร่ คิดเป็น 94.01% ของพื้นที่เกษตรกรรมอำเภออินทร์บุรี และมีเกษตรกรขึ้นทะเบียนการทำนาจำนวน 4,463 ราย มีเป้าหมายในพื้นที่ 100,000 ไร่ เกษตรกร 4,500 ราย คาดมีรายได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 20% ในช่วงระยะเวลา 5 ปี และเกษตรกรอินทร์บุรีประสบปัญหาภัยแล้งในปี 2558 ไม่สามารถประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้ตลอดทั้งปี แม้จะมีระบบชลประทาน แต่ยังไม่เพียงพอต่อการทำนาของเกษตรกรที่นิยมทำนาตลอดทั้งปี รวมทั้งปัญหาราคาสินค้าเกษตรในปี 2558 ตกต่ำ โดยเฉพาะราคาข้าว ที่เป็นปัญหามาจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย และความต้องการของตลาดโลกและประเทศไทยลดลง

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 4 มิถุนายน 2558

กอน.ย้ำไม่ขึ้นราคาน้ำตาล

เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน นายพิชัย ตั้งชนะชัยอนันต์ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เปิดเผย จากมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน เห็นชอบให้ความช่วยเหลือเพิ่มค่าอ้อยในอัตราตันละ 160 บาท กับเกษตรกรในฤดูการผลิต 2557/2558 และมีการเห็นชอบให้คงการปรับขึ้นราคาน้ำตาลทรายภายในประเทศกิโลกรัมละ 5 บาท เพื่อนำเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายสำหรับชำระหนี้จากการกู้เงินมาช่วยเหลือเพิ่มค่าอ้อยให้เกษตรกรต่างๆ ขอย้ำว่าเป็นการคงการปรับขึ้นราคาน้ำตาลทรายให้อยู่ที่ 5 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) ตามมติเดิมตั้งแต่สมัยรัฐบาลนายสมัคร  สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่ได้เป็นการปรับขึ้นราคาน้ำตาลทรายอีก 5 บาทต่อกก. ดังนั้นราคาน้ำตาลทรายตามท้องตลาดจะไม่ขยับขึ้นแน่นอน

นายพิชัย กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีหลักการในการเพิ่มค่าอ้อยเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง คือ ครม.จะมีมติอนุมัติให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) หรือธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ในอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน เพื่อนำมาช่วยเหลือเพิ่มค่าอ้อยในฤดูกาลผลิตนั้นๆ ในอัตราตันอ้อยละ  160 บาท ซึ่งครม.ได้มีการปรับขึ้นราคาน้ำตาลทรายภายในประเทศ 5 บาทต่อ กก. เพื่อนำไปชำระหนี้ที่กู้มาช่วยเหลือค่าอ้อยจนกว่าหนี้จะหมด ซึ่งทำมาเป็นระยะเวลานานแล้ว ดังนั้น ในมติครม. เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน ได้เห็นชอบในหลักการให้คงการขึ้นราคาน้ำตาลทรายไว้ที่ 5 บาทต่อ กก.เช่นเดิม

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 4 มิถุนายน 2558

ไทยยึดแชมป์ใช้พลังงานมากสุด

     นายพรายพล คุ้มทรัพย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพลังงาน เปิดงาน RENEWABLE ENERGY ASIA 2015 และ THAI WATER EXPO 2015 พร้อมระบุว่า หากจัดอันดับของประเทศที่มีการใช้พลังงานทดแทนแล้ว ประเทศไทยจัดเป็นประเทศที่มีการใช้มากที่สุดในอาเซียน อย่างไรก็ตามรัฐบาลยังคงเดินหน้าส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนใช้พลังงานทดแทนเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน ทั้งนี้ประเทศไทยอยู่ระหว่างการประกาศแผนปฏิรูปพลังงานฉบับใหม่ปี 2558-2579 หรือ PDP 2015 ซึ่งวางแนวทางการพัฒนาพลังงาน การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การใช้พลังงานทดแทน รวมถึงน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ

      โดยตามแผนนี้มีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน จากที่ปีนี้ประเทศไทยใช้พลังงานทดแทนคิดเป็นร้อยละ 11.9 ของการใช้พลังงานในภาพรวมให้เพิ่มเป็นร้อยละ 25 ในปี 2564 ส่วนการผลิตไฟฟ้าที่ได้จากพลังงานทดแทนคาดว่าจะเพิ่มจากร้อยละ 11 ปัจจุบันเป็นประมาณร้อยละ 20 ในอีก 20 ปีข้างหน้า โดยการผลิตพลังงานทดแทนของไทยส่วนใหญ่ได้จากเศษวัสดุทางการเกษตรเหลือใช้ ซึ่งยังต้องให้การส่งเสริมต่อไป ช่วยให้เกษตรกรไทยมีรายได้เพิ่มเติมนอกเหนือจากการขายผลิตผลทางการเกษตรเท่านั้น และยังส่งเสริมการผลิตไบโอดีเซลให้เพิ่มจากที่ปัจจุบันผลิตได้วันละประมาณ 3 ล้านลิตรให้เป็น 7-9 ล้านลิตรต่อวัน ขณะที่เอทานอลปัจจุบันผลิตได้วันละ 2 ล้านลิตร ก็จะส่งเสริมให้มีการผลิตเพิ่มเป็น 9 ล้านลิตรต่อวัน

     สำหรับ RENEWABLE อย่าง ENERGY ASIA 2015 เป็นงานแสดงด้านพลังงานทดแทนที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน มีการจัดแสดงเกี่ยวกับพลังงานทดแทน และ THAI WATER EXPO 2015 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-6 มิ.ย.นี้ คาดว่าจะมีผู้เข้าชมงานรวม 200,000 คนจาก 40 ประเทศ

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 4 มิถุนายน 2558

ฝนหายไทยเสี่ยงภาวะแล้งลากยาว

นายวราวุธ ขันติยานันท์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า สถานการณ์หน้าฝนปีนี้ยังค่อนข้างน่าเป็นห่วง แม้ว่ากรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศว่าประเทศไทยเข้าสู่ช่วงฤดูฝนตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่าสภาวะฝนที่เกิดขึ้นยังน้อยมาก หรือภาษาชาวบ้านเรียกว่าฝนแรกยังไม่มา ทำให้เกษตรกรนอกเขตพื้นที่ชลประทานยังไม่สามารถกักน้ำเข้านาเพื่อเตรียมแปลงเพาะปลูกได้

“แนวโน้มฝนในช่วงที่เหลือของปีกรมอุตุฯ ยังมองว่าเป็นไปในทิศทางเอลนินโญหรือแห้งแล้ง โดยยังไม่มีสัญญาณว่าจะมีพายุนำน้ำมาเติมในเขื่อนแม้แต่ลูกเดียว”

ทั้งนี้ ตนได้หารือกับนายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า จะลงพื้นที่สำรวจสภาพอากาศทางภาคเหนือ ใน จ.เชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง เพื่อเตรียมทำฝนหลวงในพื้นที่เหนือเขื่อนภูมิพล ซึ่งมีน้ำใช้การต่ำกว่าปกติ เป้าหมายการทำฝนหลวงครั้งนี้ คงไม่ใช่การเติมน้ำเข้าเขื่อน เนื่องจากพื้นดินยังมีความแห้งแล้งมาก หากทำฝนหลวงน้ำก็จะซึมลงดินหมดไม่ไหลลงเขื่อนอยู่ดี ดังนั้น จะมุ่งเน้นทำฝนหลวงให้แก่พื้นที่การเกษตรของเกษตรกรก่อน และทำให้ผืนดินอุ้มน้ำไว้ในระดับหนึ่ง เมื่อฝนมาน้ำฝนก็จะได้ไหลลงเขื่อนได้ทันที

“ปีนี้เป็นปีที่ 3 หรือปีสุดท้ายที่ครบรอบวงจรน้ำแล้งของประเทศไทย และควรจะเข้าสู่ช่วงที่มีฝนมาก แต่หากสัญญาณน้ำฝนยังมีน้อย ยาวนานต่อเนื่อง ภาวะแล้งลากยาวมากกว่า 3 ปี ภาคการเกษตรคงต้องเหนื่อยกันอีก และคงจะต้องเตรียมมาตรการรองรับและช่วยเหลือเกษตรกรที่ขาดแคลนน้ำเหมือนกับปีที่ผ่านมา”

นายเสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ภาครัฐควรขยับตัวเพื่อรับมือกับปัญหาแล้งได้แล้ว เนื่องจากจนถึงวันนี้ฝนของไทยมาล่าช้ากว่าที่กรมอุตุฯประกาศไว้ถึง 3 สัปดาห์แล้ว ในขณะที่ในประเทศรอบๆ ของไทยทั้งอินเดีย และฟิลิปปินส์ถูกอิทธิพลเอลนินโญเล่นงานจนผลผลิตทางการเกษตรได้รับผลกระทบหนัก และมีแนวโน้มมากว่าปีนี้เอลนินโญในไทยจะรุนแรงครั้งประวัติศาสตร์

นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงปัญหาภัยแล้งว่า สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ประสานมาว่าปลายเดือน มิ.ย.นี้ จะมีการลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ และพิษณุโลก เพื่อติดตามปัญหาความยากจน และสถานการณ์น้ำ โดยให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงเกษตรฯ เตรียมมาตรการแก้ไขปัญหา.

จาก http://www.thairath.co.th    วันที่ 4 มิถุนายน 2558

ธนาคารโลกทำนายเศรษฐกิจไทย ระบุเป็นห่วง "ส่งออก"

 นายอูริช ซาเคา ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปีที่ผ่านมาขยายตัวได้ 0.9% ต่อปี เนื่องจากปัญหาการเมืองและการส่งออกที่ขยายตัวได้น้อย สำหรับปีนี้คาดว่าเศรษฐกิจขยายตัวได้ 3.5% ต่อปี เนื่องจากราคาน้ำมันลด เศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปดีขึ้น ทำให้การส่งออกของไทยโตช้าๆ

 “ธนาคารโลกเป็นห่วงเรื่องโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเรื่องการส่งออก และการศึกษาของไทย โดยการส่งออกของไทยที่ผ่านมาในช่วงปี 2540-2545 ขยายตัวได้เฉลี่ยปีละ 13% แต่ตั้งแต่ปี 2546-2548 ขยายตัวได้ไม่ถึง 1% จากผลกระทบการปรับค่าแรง คุณภาพสินค้า ทำให้ประสิทธิภาพการส่งออกของไทยลดลง”

 ด้านน.ส.กิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลก กล่าวว่า ประเมินแนวโน้มการส่งออกของไทยปีนี้น่าจะเติบโตได้ 0.5% โดยเชื่อว่าการส่งออกของไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้จะเติบโตได้ดีกว่าครึ่งปีแรก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเทียบกับฐานในปีก่อนที่อยู่ในระดับต่ำ ทำให้การส่งออกปี 2558 ทั้งปีน่าจะเติบโตได้ 0.5%

จาก http://www.khaosod.co.th   วันที่ 4 มิถุนายน 2558

ทริสฯจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่เกิน 126 ล้านหยวน “บ. น้ำตาลมิตรผล” ที่ระดับ “A+/Stable”

ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตให้แก่หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันในวงเงินไม่เกิน 126 ล้านหยวนของ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ที่ระดับ “A+” พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของบริษัทที่ระดับ “A+” เช่นกัน โดยแนวโน้มยังคง “Stable” หรือ “คงที่” ทั้งนี้ อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งของบริษัทในอุตสาหกรรมน้ำตาลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตลอดจนแบรนด์สินค้าที่มีชื่อเสียง กระบวนการผลิตน้ำตาลที่มีประสิทธิภาพ และการขยายกิจการสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำตาล นอกจากนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงสถานการณ์ราคาน้ำตาลที่อยู่ในระดับต่ำในปัจจุบัน รวมถึงความเสี่ยงด้านกฎระเบียบและการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ และความเสี่ยงจากความผันผวนของปริมาณผลผลิตอ้อยด้วย

                แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่ากลุ่มมิตรผลจะยังคงดำรงสถานะผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลทั้งในประเทศไทยและจีนได้ต่อไป ระบบการแบ่งปันรายได้ของอุตสาหกรรมน้ำตาลในประเทศ ตลอดจนการกระจายตัวของแหล่งรายได้จะช่วยให้บริษัทสามารถประคองตัวอยู่ได้ในช่วงที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ ปัจจัยที่มีผลเชิงลบต่ออันดับเครดิตได้แก่ราคาน้ำตาลที่ตกต่ำอย่างต่อเนื่องและอัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทลดลงเป็นระยะเวลานาน หรือมีการลงทุนขนาดใหญ่ที่ใช้เงินกู้จำนวนมากซึ่งส่งผลให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างทุนอ่อนแอลง ในขณะที่ปัจจัยเชิงบวกต่ออันดับเครดิตของบริษัทมีอยู่ไม่มากในภาวะที่ราคาน้ำตาลยังอยู่ในระดับต่ำ               

บริษัทน้ำตาลมิตรผลก่อตั้งในปี 2489 โดยตระกูลว่องกุศลกิจซึ่งถือหุ้นในบริษัทเต็ม 100% ผ่าน บริษัท น้ำตาลมิตรสยาม จำกัด บริษัทน้ำตาลมิตรผลมีโรงงานน้ำตาลในประเทศไทย จีน ลาว และออสเตรเลีย ในฤดูการผลิต 2556/2557 บริษัทมีผลผลิตน้ำตาลจาก 4 ประเทศรวมทั้งสิ้น 4.08 ล้านตัน              

บริษัทเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในประเทศไทยมาอย่างยาวนานโดยเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดในประเทศ ทั้งนี้ ในฤดูการผลิต 2556/2557 บริษัทผลิตน้ำตาลได้ 2.3 ล้านตัน หรือคิดเป็นสัดส่วน 20.3% ของปริมาณน้ำตาลทั้งประเทศ บริษัทยังเป็นเจ้าของและบริหารโรงงานน้ำตาล 7 แห่งในประเทศจีนโดยมีผลผลิตน้ำตาล 1.17 ล้านตันในปีการผลิต 2556/2557 ปัจจุบันบริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาด 8.7% ในประเทศจีนซึ่งถือเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 2 ส่วนโรงงานน้ำตาลของบริษัทในประเทศลาวผลิตน้ำตาลได้ 0.04 ล้านตัน และในประเทศออสเตรเลีย (โรงงาน MSF Sugar -- MSF) ผลิตได้ 0.56 ล้านตันในฤดูการผลิต 2556/2557             

 ในปี 2557 บริษัทมีรายได้รวม 89,378 ล้านบาท ธุรกิจน้ำตาลเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ในสัดส่วนที่สูงที่สุดของบริษัท โดยรายได้จากธุรกิจน้ำตาลมีสัดส่วน 80% ของรายได้รวม และรายได้จากธุรกิจน้ำตาลในไทยมีสัดส่วน 44% ในขณะที่รายได้จากประเทศจีนมีสัดส่วน 29% ของรายได้รวม ส่วนรายได้จากธุรกิจน้ำตาลในประเทศลาวและออสเตรเลียมีจำนวน 7% ของรายได้รวม

                นอกเหนือจากธุรกิจน้ำตาลแล้ว บริษัทยังขยายการลงทุนไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอ้อยและน้ำตาลเพื่อใช้ประโยชน์สูงสุดจากอ้อยด้วย อาทิ ธุรกิจผลิตไฟฟ้า ธุรกิจผลิตเอทานอล ธุรกิจผลิตวัสดุทดแทนไม้ และธุรกิจผลิตกระดาษ บริษัทได้ขยายกำลังการผลิตเอทานอลและไฟฟ้ามาอย่างต่อเนื่อง ณ เดือนธันวาคม 2557 โรงงานผลิตเอทานอลของบริษัทมีกำลังการผลิตที่ 974,500 ลิตรต่อวัน นอกจากนี้ บริษัทยังเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าซึ่งมีกำลังการผลิตรวม 442.8 เมกะวัตต์ด้วย ในปี 2557 รายได้จากธุรกิจไฟฟ้าและเอทานอลรวมกันคิดเป็นสัดส่วน 15% ของรายได้รวมของบริษัท นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างการพัฒนาโรงไฟฟ้าที่ใช้ชานอ้อยเป็นเชื้อเพลิงอีก 126 เมกะวัตต์ และบริษัทได้วางเป้าหมายว่าภายในปี 2563 บริษัทจะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนอีก 200 เมกะวัตต์               

ราคาน้ำตาลในตลาดโลกปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องในปี 2557 เนื่องจากยังคงมีอุปทานน้ำตาลส่วนเกินทั่วโลกต่อเนื่องกันเป็นปีที่ 4 แม้ว่าราคาน้ำตาลจะลดลงมากกว่า 10% ในปี 2557 แต่รายได้ของบริษัทในปี 2557 ก็ยังคงอยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดยรายได้เพิ่มขึ้น 6.0% เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็น 89,378 ล้านบาท เนื่องจากปริมาณขายน้ำตาลจากการดำเนินงานในประเทศไทยเพิ่มขึ้น 12.3% ในขณะที่รายได้จากธุรกิจเอทานอลและไฟฟ้ารวมกันเพิ่มขึ้น 25.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม กำไรจากธุรกิจน้ำตาลลดลงตามราคาน้ำตาลที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ธุรกิจน้ำตาลในประเทศจีนยังเผชิญกับปัญหาต้นทุนอ้อยที่สูงจากนโยบายการกำหนดราคาอ้อยของรัฐบาลจีนเพื่อช่วยเหลือชาวไร่ด้วย อัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจึงลดลงเป็น 14.5% ในปี 2557 จาก 16.8% ในปีก่อน กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ลดลง 4.0% อยู่ที่ 14,803 ล้านบาทในปี 2557 เมื่อเทียบกับปี 2556 ที่ 15,424 ล้านบาท

ทั้งนี้ เป็นผลจากกำไรจากการดำเนินงานของธุรกิจเอทานอลและไฟฟ้าที่เติบโตซึ่งช่วยบรรเทาการลดลงของกำไรจากการดำเนินงานของธุรกิจน้ำตาล ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 ผลการดำเนินงานของบริษัทยังอยู่ในระดับที่น่าพอใจ รายได้เติบโต 3.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็น 22,515 ล้านบาท ขณะที่ EBITDA เท่ากับ 7,027 ล้านบาท เติบโต 14.9% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 ของปีก่อน อัตราส่วน EBITDA ต่อดอกเบี้ยจ่ายยังคงอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ในช่วงที่อุตสาหกรรมน้ำตาลชะลอตัว โดยอัตราส่วน EBITDA ต่อดอกเบี้ยจ่ายลดลงมาอยู่ในระดับ 6.0 เท่าเมื่อเปรียบเทียบกับระดับ 6.7 เท่าในปี 2556 อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมยังอยู่ในระดับเพียงพอที่ 19.1% และ 18.5% (ปรับเป็นอัตราส่วนเต็มปีด้วยผลการดำเนินงานย้อนหลัง 12 เดือน) ในปี 2557 และไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 ตามลำดับ อัตราส่วนการก่อหนี้ของบริษัทอยู่ในระดับปานกลาง โดยอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนเพิ่มขึ้นเป็น 51.0% ณ เดือนธันวาคม 2557 จากระดับ 49.0% ณ เดือนธันวาคม 2556 บริษัทมีแผนใช้เงินลงทุนปีละประมาณ 6,000-8,000 ล้านบาทในระหว่างปี 2558-2559 คาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะยังคงชะลอตัวในช่วงอุตสาหกรรมน้ำตาลประสบภาวะตกต่ำตามวัฏจักร คาดว่า EBITDA จะอยู่ระดับประมาณ 13,000-15,000 ล้านบาทต่อปี กระแสเงินสดดังกล่าวยังเพียงพอต่อการลงทุนตามแผนและการจ่ายเงินปันผลประจำปี ดังนั้น คาดว่าบริษัทจะยังคงรักษาระดับหนี้และความสามารถในการชำระหนี้ให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้              

 ในปี 2557/2558 ผลผลิตอ้อยในประเทศไทยยังคงดีต่อเนื่องที่ 106.0 ล้านตันซึ่งเป็นระดับสูงเป็นประวัติการณ์ แต่ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยลดลงมาอยู่ในระดับ 106.66 กิโลกรัมต่อตันอ้อยจาก 109.32 กิโลกรัมต่อตันอ้อยในปีก่อน ผลผลิตน้ำตาลในประเทศไทยจึงคงมีจำนวน 10.33 ล้านตันใกล้เคียงกับปีก่อน อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมน้ำตาลยังอยู่ภายใต้แรงกดดันของราคาน้ำตาลที่อ่อนแอ ราคาเฉลี่ยน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกปรับตัวลงต่อเนื่องถึง 15% ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ มาอยู่ที่ระดับ 13.84 เซนต์ต่อปอนด์เมื่อเทียบกับราคาเฉลี่ย 16.34 เซนต์ต่อปอนด์ในปี 2557 เป็นผลจากปริมาณน้ำตาลคงเหลือจำนวนมากทั่วโลก  นอกจากนี้ ค่าเงินรีลของประเทศบราซิลซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลที่ใหญ่ที่สุดของโลกอ่อนตัวลงอย่างมากเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตามบริษัทยังคงได้รับผลดีจากการมีธุรกิจที่หลากหลายและกระจายธุรกิจในหลายประเทศ ซึ่งจะช่วยบรรเทาผลกระทบดังกล่าว คาดว่าธุรกิจน้ำตาลในประเทศจีนจะฟื้นตัวขึ้นจากระดับต่ำในปี 2557 ปัญหาความแห้งแล้งในประเทศจีนส่งผลให้ราคาน้ำตาลในประเทศจีนปรับตัวสูงกว่าราว 10% ในปัจจุบันเมื่อเทียบกับราคาขายเฉลี่ยในปี 2557 นอกจากนี้ รัฐบาลจีนได้ประกาศปรับลดราคาอ้อยในประเทษจีนลง 9% เป็น 400 หยวนต่อตัน ขณะที่คาดว่าธุรกิจไฟฟ้าและเอทานอลจะยังคงให้ผลกำไรที่ดี การที่รัฐบาลไทยยังคงนโยบายส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้นจะช่วยสนับสนุนความต้องการใช้เอทานอล

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2558

"สมหมาย"เชื่อธปท.ติดตามดูแลค่าเงินบาทใกล้ชิดหากเฟดขึ้นดบ.

นายสมหมาย ภาษี  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า   หากธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในปีนี้จริงตามที่คาดการณ์ก็จะส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)มีการติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด คงไม่จำเป็นต้องมีการหารือเป็นพิเศษ

รมว.คลัง กล่าวว่า ที่ผ่านมาผู้ประกอบการในภาคส่งออกมีการเรียกร้องอยากให้เงินบาทอ่อนค่าลง แม้ว่าปัจจุบันเงินบาทจะอ่อนค่าแล้วก็ตาม แต่เมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียน เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย หรือเกาหลี เงินบาทยังอ่อนค่าน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม การที่เงินบาทอ่อนค่าคงมีบางส่วนพอใจ แต่ถ้าอ่อนค่ามากเกินไป อาจต้องพิจารณาว่าจะมีมาตรการใดออกมาหรือไม่

สำหรับสิ่งที่ต้องติดตามหลังจากนี้ คือ ต้องดูว่าเงินบาทของไทยจะผันผวนรุนแรงหรือไม่อย่างไร แต่เชื่อว่าหน่วยงานที่ดูแลสามารถรับมือได้อยู่แล้ว ต้องปล่อยเป็นหน้าที่ของเขา

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2558

เกษตรโชว์ผลงานเครือข่าย 3ก สู่ Smart Group และ Smart Product

นายสงกรานต์ ภักดีคง รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้กำหนดนโยบายและแนวทางการดำเนินงาน ภายใต้ยุทธศาสตร์ประเทศ (Country strategy) ปี 2556-2561 ตามแผนปฏิบัติการด้านการเกษตร ที่มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร พร้อมๆ ไปกับการพัฒนาขีดความสามารถในการผลิตการจัดการสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพปลอดภัย และการพัฒนาสินค้าเกษตรเพื่ออุตสาหกรรม โดยการนำนโยบายสู่การปฏิบัติในพื้นที่ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดเพื่อให้เกิดความเหมาะสมแต่ละสภาพพื้นที่ และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อเกษตรกร โดยกำหนดแนวทางด้านการพัฒนาเกษตรกร รวมถึงองค์กรเกษตรกรในการเสริมสร้างศักยภาพผู้นำเกษตรกรและเครือข่าย ทั้งในด้านการบริหารจัดการการผลิต การตลาดสินค้าเกษตร เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในการสู่ประชาคมอาเซียน และเพื่อการพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การส่งเสริมและพัฒนาองค์กรเกษตรกรให้มีความเข้มแข็งและสามารถพึ่งพาตนเองได้นั้น ต้องเกิดจากการนำกระบวนการจัดตั้งกลุ่ม การบริหารจัดการกลุ่มในขั้นพื้นฐานไปสู่การเชื่อมโยงเครือข่าย การมีส่วนร่วม การเสริมสร้างกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเกษตรกรให้ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เพื่อให้มีความสามารถในการแสวงหาข้อมูล การวิเคราะห์ปัญหา กำหนดแนวทางในการพัฒนา การจัดการทรัพยากรในท้องถิ่นอย่างชาญฉลาด รวมทั้งการนำความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น นวัตกรรมเทคโนโลยีการผลิต มาใช้ในการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าและผลิตภัณฑ์เกษตร และประยุกต์ใช้ในการขับเคลื่อนพัฒนางานส่งเสริมการเกษตรที่จะก่อให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือทั้งในด้านธุรกิจและสังคมเพื่อพัฒนาองค์กรเกษตรกรให้เข้มแข็ง กรมฯ จึงได้มอบหมายให้สำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตทั้ง 9 เขต จัดสัมมนาเครือข่ายกลุ่มส่งเสริมอาชีพการเกษตร กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร กลุ่มยุวเกษตรกร (3ก) สู่ Smart Group และ Young Smart Farmer เพื่อใช้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และแสดงผลงานขององค์กรเกษตรกรทั้ง 3 กลุ่มดังกล่าว รวมทั้งเครือข่าย Young Smart Farmer ให้สามารถนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้ ไปพัฒนาองค์กรของตน ให้มีความเข้มแข็ง สามารถนำองค์ความรู้มาสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้า ผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหาร รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดผู้นำกลุ่ม 3ก ที่มีความสามารถ เข้ามามีส่วนร่วมในเวทีการบริหารงานเกษตรในระดับต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ คาดว่าจากการจัดงานดังกล่าว กลุ่มส่งเสริมอาชีพการเกษตร

กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร กลุ่มยุวเกษตรกร และ Young Smart Farmer ในแต่ละเขตจะเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ มีการนำองค์ความรู้มาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหาร นำไปสู่การพัฒนากลุ่มและองค์กรเกษตรกรก้าวสู่การเป็น Smart Group ที่จะเป็นเครือข่ายและเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาอาชีพและความเป็นอยู่ของเกษตรกรในพื้นที่ และนำไปสู่การพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ให้เป็น Smart Product ที่เป็นสินค้าที่มีคุณภาพ สะท้อนแหล่งที่มา วิถีการผลิต และอัตลักษณ์ของพื้นที่ จนทำให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคได้อย่างกว้างขวางทั้งในและต่างประเทศต่อไป

จาก http://www.banmuang.co.th   วันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2558

อุตฯห้ามตรวจโรงงานโดยพลการ กันทุจริตรีดไถเอกชนช่วงเทศกาล

รายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมแจ้งว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ประชุมเพื่อมอบนโยบายและติดตามการดำเนินงานของอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ โดยกำชับอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศและข้าราชการส่วนกลางบังคับใช้กฎหมายกับสถานประกอบการที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และกรณีที่ไม่ได้ดำเนินการทางอาญา หรือมีการเปรียบเทียบปรับ ให้มีการบันทึกและรายงานเหตุผลของการดำเนินการให้กระทรวงทราบด้วยเพื่อป้องกันปัญหาการทุจริต ทั้งนี้นายจักรมณฑ์ยังแจ้งแก่ข้าราชการว่ากระทรวงได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ว่าประกอบการว่าที่ผ่านมาในช่วงเทศกาลต่างๆ อาทิ ปีใหม่ ตรุษจีน สงกรานต์ มีเจ้าหน้าที่ไปตรวจโรงงานทั้งที่ไม่มีเหตุอันควร ทำให้ดูเหมือนว่าใช้การปฏิบัติงานบังหน้าเพื่อเรียกร้องผลประโยชน์หรือสิ่งของ เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ภาพลักษณ์กระทรวงเสียหาย และเป็นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการในช่วงที่เศรษฐกิจไทยชะลอตัวด้วย

"กระทรวงได้ขอความร่วมมืออุตสาหกรรมจังหวัดและข้าราชการทุกคนปฏิบัติหน้าที่ด้วยความโปร่งใส และหากจะเข้าตรวจโรงงานต้องมีแผนปฏิบัติการชัดเจน และมีต้องมีการลงชื่อชัดเจน หากไม่ใช่เรื่องด่วน หรือโรงงานถูกร้องเรียน ก็ต้องแจ้งให้โรงงานทราบก่อนเข้าตรวจ" รายงานข่าวระบุ

รายงานข่าวระบุว่า นายจักรมณฑ์ได้กำชับให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดลงพื้นที่สำรวจปริมาณขยะอุตสาหกรรมอย่างละเอียด เพื่อกำหนดแผนในการบริหารจัดการ และพิจารณาโรงงานที่มีความเสี่ยงในการก่อมลพิษ ซึ่งทั้งประเทศมีโรงงานเข้าข่ายนี้ประมาณ 2,000 โรง จากโรงงานทั่วประเทศ 80,000 โรง ทำให้จำนวนโรงงานที่ต้องตรวจสอบแคบลง และดูแลได้อย่างทั่วถึง

นอกจากนี้ยังได้กำชับให้เข้าไปกวดขันป้องกันอัคคีภัยมากขึ้น เพราะไม่เพียงแต่จะสร้างความเสียหายด้านทรัพย์สิน แต่ยังก่อมลพิษอย่างรุนแรง โดยล่าสุดมีแผนที่จะเข้าไปขอความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและโรงเรียนอาชีวะต่างๆ ทั่วประเทศ ที่มีความรู้ด้านโรงงาน เข้าไปตรวจสอบระบบป้องกันความปลอดภัยโรงงานในพื้นที่ตามที่กระทรวงกำหนด เพื่อแก้ปัญหาการขาดกำลังคน และสามารถดูแลโรงงานได้ทั่วถึง

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ร่วมพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว รับวันสิ่งแวดล้อมโลก

                      “ย่างเข้าเดือนหก ฝนก็ตกพรำๆ” เวลานี้ เดือนนี้ ในอดีตเราจะร้องเพลงนี้ในอากาศเย็นสบายๆ กับสายฝน แต่ปัจจุบันคงต้องร้องเพลงนี้ขณะที่แดดจ้าจนแสบตา อากาศร้อนอบอ้าวจนแทบไม่อยากก้าวเท้าออกจากบ้านหรือที่ทำงานในตอนกลางวัน สาเหตุที่ทำให้ร้อนแบบนี้ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่เกิดขึ้นเพราะกระแสน้ำอุ่นพัดแทนที่กระแสน้ำเย็น ทำให้ฤดูกาลคลาดเคลื่อนไป แต่นี่เป็นเพียงจุดเล็กๆ ที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน

                   ประเด็นสำคัญอยู่ที่ปริมาณการใช้ทรัพยากรธรรมชาติสูงขึ้นและมีการทำลายอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ “ป่าไม้” ข้อมูลจากกรมป่าไม้ชี้ว่าในรอบ 7 ปีที่ผ่านมาพื้นที่ป่าของไทยลดลงไปกว่า 5 ล้านไร่ และเรื่องการลักลอบตัดไม้ไปขายก็เป็นมหากาพย์ที่แก้ไม่จบ เพราะเมื่อมีคนต้องการซื้อ ย่อมมีคนพยายามขวนขวายหามาขายจนได้ โดยเฉพาะไม้พะยูง ไม้ทำเงิน ราคาลูกบาศก์เมตรละ 100,000–1,000,000 บาท ในปีที่ผ่านจับผู้ลักลอบได้กว่า 1,368 คดี แน่นอนว่าเมื่อขาดผืนป่าย่อมส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมตามมาด้วยความรุนแรงจากภัยธรรมชาติที่เพิ่มขึ้น

                      กรมควบคุมมลพิษ เคยออกมาบอกว่าคนไทยมีพฤติกรรมสร้างขยะในแต่ละวันเพิ่มขึ้น และปริมาณขยะทั้งประเทศสะสมเกือบจะเท่ากับตึกใบหยก 2 หรือสูงถึง 882 เมตร รวมถึงขยะพลาสติกหรือโฟม ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ใช้ง่ายแต่กำจัดได้ยาก ใช้เวลาย่อยสลายนานกว่า 450 ปี นอกจากนี้ยังมีเรื่องการใช้รถส่วนตัวในการสัญจรบนท้องถนนเพิ่มขึ้น 8.6 ล้านคัน รถยนต์เหล่านี้ปล่อยมลพิษออกมาทุกวัน ฯลฯ สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน หลากหลายพฤติกรรมที่ทำให้ เราๆ ท่านๆ บ่นเป็นเสียงเดียวกันว่า “ร้อนมาก” ยังร้อนได้อีก เพราะผลการศึกษาขององค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) ระบุว่าอีก 40 ปีข้างหน้าสภาพภูมิอากาศในลุ่มน้ำโขงตอนล่างจะสูงขึ้นอีก 4-6 องศา นึกภาพไม่ออกเลยว่าจะอยู่อย่างไร ถ้าอากาศร้อนแบบนั้น

                      จึงอยากให้ เราๆ ท่านๆ หันมาร่วมกันรับผิดชอบตั้งแต่วันนี้ ในสัปดาห์วันสิ่งแวดล้อมโลก โดยร่วมกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ร่วมกันเดินหน้าเศรษฐกิจสีเขียว... เริ่มจากภาครัฐ จะต้องเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว ด้วยการตั้งเป้าให้มีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น, ส่งเสริมให้คนขับขี่จักรยานแทนการใช้รถยนต์ส่วนตัว, จัดเขตฟรีโซนปลอดการใช้รถยนต์, ขยายเส้นทางรถไฟฟ้าหรือรถไฟใต้ดิน สนับสนุนภาคธุรกิจให้หันมาใช้พลังงานธรรมชาติ และต้องมีส่วนร่วมในเชิงปฏิบัติ สนับสนุนส่งเสริมด้านความรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกับภาคเอกชน เพื่อจะได้ติดตามและร่วมกันวิเคราะห์ด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นการผนึกกำลังร่วมกันผลักดันประเทศเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวให้ได้

                      ถัดมาที่ภาคธุรกิจ เท่าที่ทราบมา...มีหลายองค์กรที่มีนโยบายเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังและชัดเจนมานานพอสมควร อาทิ ปตท.ก็จะร่วมกันปลูกป่า, เอสซีจี ร่วมกันทำฝายรักษาแหล่งน้ำ, โตโยต้า ก็จะเน้นที่ถนนสีขาวเพื่อความปลอดภัย, ซีพี ออลล์ รณรงค์เชิญชวนคนไทยลดใช้ถุงพลาสติก และยังมีหลายหน่วยงานหลายภาคส่วนของสังคมที่ร่วมกันใส่ใจสิ่งแวดล้อม ที่ทำดีแล้วก็ควรทำต่อไปอย่างจริงจังและยั่งยืน เพราะการจะลดภาวะโลกร้อน ไม่ใช่แค่ปลูกป่าทดแทน ไม่ใช่แค่ประหยัดน้ำ ไม่ใช่แค่ลดขยะ ไม่ใช่แค่ลดการใช้พลังงาน และไม่ใช่แค่ วันนี้ วันเดียว แต่ต้องทำในองค์รวม ทำพร้อมๆ กันในหลายๆ ด้าน ทำอย่างจริงจังและต่อเนื่องไปตลอด

                      ยังไม่สายหากวันนี้ เราๆ ท่านๆ จะมีส่วนร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อมในทุกกิจกรรมของการใช้ชีวิต เริ่มจากวันสิ่งแวดล้อมโลก และต่อไปทุกๆ วันเพื่อโลกของเรา เพื่อลูกหลานของเรา

จาก http://www.komchadluek.net    วันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2558

การพัฒนาแหล่งน้ำ โจทย์หินสุดในโครงสร้างพื้นฐาน

         ถ้าเอาประวัติศาสตร์มาว่ากัน มันก็เหมือนประวัติศาสตร์ซ้ำรอย

               ระหว่างการก่อสร้างทางรถไฟกับการสร้างเขื่อนเจ้าพระยาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 สุดท้ายเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ต้องหลีกทางให้ทางรถไฟ

               แม้ลุล่วงถึงรัชกาลที่ 6 ต่อเนื่องถึงรัชกาลที่ 8 เขื่อนเจ้าพระยาก็ไม่ได้ลงมือก่อสร้างด้วยเหตุผลเดียวคือไม่มีเงิน

               แต่เมื่อก่อสร้างเขื่อนเจ้าพระยาในรัชกาลที่ 9 เขื่อนนี้มีบทบาทสำคัญในการทดน้ำเหนือเขื่อนออกไปทางสองฝั่งลำน้ำ ส่งไปยังพื้นที่นาข้าวของลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่มีความสมบูรณ์ในตัวอยู่แล้ว รอเพียงความมั่นคงด้านน้ำอย่างเดียว

               จนเต็มขีดความสามารถของเขื่อนทดน้ำเจ้าพระยา ซึ่งเก็บกักน้ำไว้ในลำน้ำได้อย่างจำกัด รัฐบาลจึงต้องหันไปสร้างความมั่นคงของแหล่งน้ำต้นทุนเหนือเขื่อนเจ้าพระยา นั่นคือเขื่อนเก็บกักน้ำภูมิพล เขื่อนภูมิพล เป็นแหล่งน้ำต้นทุน ก่อสร้างปิดกั้นลำน้ำปิงที่ จ.ตาก แล้วโรยน้ำลงมาให้เขื่อนเจ้าพระยาที่ จ.ชัยนาท เพื่อทดน้ำและส่งกระจายไปยังสองฟากฝั่งนับล้านๆ ไร่ เป็นจุดเริ่มต้นของการผลิตข้าวอย่างเป็นล่ำเป็นสันในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา

                ฟังดูสวยงามดี แต่กว่าจะสร้างเขื่อนภูมิพลได้ก็ต้องต่อสู้ทางความคิดระหว่างนักการเมือง นักวิชาการ และประชาชนกันยกใหญ่ เป็นความโชคดีที่ส่วนใหญ่เอาด้วย โครงการเขื่อนภูมิพลจึงถือกำเนิดขึ้นมาได้ และตามมาด้วยโครงการแหล่งน้ำขนาดใหญ่อื่นๆ อีก 32 แห่ง

               ในระยะหลัง การพัฒนาโครงการเขื่อนและอ่างเก็บน้ำกระทำได้ยากชนิดเลือดตาแทบกระเด็น เพราะสถานที่ก่อสร้างเขื่อนที่มีศักยภาพล้วนอยู่ในพื้นที่ป่าเขาแทบทั้งสิ้น ดังนั้นจึงต้องเผชิญแรงต้านจากกลุ่มเอ็นจีโอ กลุ่มนักอนุรักษ์ธรรมชาติ รวมทั้งส่วนงานราชการบางหน่วย ซึ่งมองในแง่มุมอนุรักษ์เพียงด้านเดียว

               ในขณะที่โครงสร้างพื้นฐานด้านอื่น เช่น ถนน ทางหลวง รถไฟฟ้าใต้ดิน บนดิน รถไฟความเร็วสูง ท่าอากาศยาน โครงข่ายโทรคมนาคม และ ฯลฯ แทบไม่พบการต่อต้านใดๆ หรือหากมีก็น้อยเต็มที เป็นอาการเดียวกับในประวัติศาสตร์ดังกล่าวข้างต้น

               โครงการตามแผนยุทธศาสตร์น้ำในรัฐบาลปัจจุบันที่ใช้วงเงินลงทุน 9 แสนล้านบาท ซึ่งก็ไม่ได้มากกว่าหรือมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับการลงทุนโครงการพื้นฐานอื่น แต่กลับเป็นข่าวเงียบๆ กลับกันมีข่าวต่อต้านคัดค้านตามหลังประปรายเช่นกัน

               โครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำ ได้สร้างคุณูปการยิ่งใหญ่แก่สังคมไทยมายาวนานกว่า 5 ทศวรรษ และยังต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ไม่ต่างจากโครงสร้างพื้นฐานด้านอื่น ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ เป็นปัจจัยการผลิตสินค้าเกษตรหรืออาหารที่สำคัญ ทำให้ประเทศไทยได้รับการกล่าวขวัญว่า เป็นครัวโลกแห่งหนึ่ง

               การต่อต้านคัดค้านโดยมุ่งว่าเป็นโครงการหากินของนักการเมืองนั้น ก็ถูกเพียงส่วนหนึ่ง ซึ่งก็ไม่ได้แตกต่างจากโครงสร้างพื้นฐานอื่น ในทางกลับกันมันเป็นการจับเกษตรกรเป็นตัวประกันอย่างน่าตกใจ

               โครงการพัฒนาแหล่งน้ำหลายแห่งทั่วประเทศถูกคัดค้าน ถูกต่อต้าน ท่ามกลางความต้องการน้ำของเกษตรกรและประชาชนที่ขาดแคลนน้ำซ้ำซาก พอๆ กับเผชิญปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากเช่นกัน

               หลายๆ พื้นที่ราษฎรประสบภัยน้ำ ทั้งน้ำท่วมและการขาดแคลนน้ำในลักษณะซ้ำซากทุกปี ปีแล้วปีเล่า จนไม่อาจเปรียบเปรยชะตาทรามนี้อย่างไรดี      

        ถ้ายังขืนปล่อยให้พัฒนาต่อไปในรูปแบบนี้ คนไทยบางส่วนอาจมีสภาพเป็นโรฮิงญาที่ต้องละทิ้งถิ่นฐานอพยพเข้าไปหากินในเมือง ยิ่งสร้างปัญหาให้เมืองหนักหนาขึ้น หลังจากที่เคยแก้ไขปัญหาได้สำเร็จระดับหนึ่งมาแล้วตลอด 50 ปีที่ผ่านมา นั่นคือการพัฒนาแหล่งน้ำนั่นเอง 

จาก http://www.komchadluek.net    วันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2558

รายงานพิเศษ : เกษตรฯเร่งปรับโครงสร้างการผลิต ดันเกษตรแปลงใหญ่ครอบคลุมทั่วประเทศ

ปัจจุบันปัญหาทางเศรษฐกิจ กลายเป็นปัญหาระดับโลกไปแล้ว ซึ่งหลายประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นประเทศทั้งในอาเซียน และประชาคมโลกต่างก็ประสบปัญหานี้เช่นกัน ประเทศไทยเองก็หนีไม่พ้น โดยได้รับผลกระทบจากการส่งออกสินค้าทางการเกษตร ทำให้ราคาผลผลิตตกต่ำลง ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามที่จะยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยให้มีความมั่นคง และยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งแนวทางหนึ่งที่รัฐบาล โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้นำมาใช้ในการปรับโครงสร้างการผลิต คือ การปรับกลไกบริหารจัดการสินค้าในระดับจังหวัดให้มีกลไกที่เป็นเอกภาพในการวางแผนบริหารจัดการสินค้า และระบบการส่งเสริมเกษตรให้เป็นแปลงใหญ่ เพื่อสร้างความสมดุล ความต้องการสินค้า และปริมาณสินค้าที่ผลิตได้ภายในจังหวัด

นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ในเรื่องของการทำงานด้านการพัฒนาการเกษตรนั้น ที่ผ่านมากระทรวงเกษตรฯ ได้ทำงานร่วมกับ กระทรวงมหาดไทย และฝ่ายความมั่นคง โดยทุกฝ่ายเข้าใจถึงการทำงานร่วมกันเป็นอย่างดี โดยเฉพาะมาตรการแก้ปัญหาภัยแล้งที่ผ่านมา เรื่องของการปรับโครงการผลิตสินค้าเกษตรที่จะต้องดำเนินการวางรากฐานในอนาคต กระทรวงเกษตรฯ วางระบบการแก้ปัญหาภัยแล้ง และวางมาตรการแก้ปัญหาสินค้าเกษตร ซึ่งเป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพียงอย่างเดียว โดยจากนี้ไปจะเข้าสู่ช่วงฤดูเพาะปลูก จึงต้องทำความเข้าใจ ที่จะต้องดำเนินการร่วมกัน ซึ่งเป็นภารกิจที่จังหวัดจะต้องกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน โดยจะต้องมีขบวนการจัดการระดับจังหวัด ทั้งระบบ ขบวนการรับรู้ และกลไกการดำเนินงานร่วมกันทั้ง 3 ฝ่าย อย่างแนบแน่นในการปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตรอย่างเป็นระบบ

ทั้งนี้ จะต้องมีการปรับเปลี่ยนจากเดิมที่เกษตรกรต้องเดินเข้ามาหาเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะเข้ามาในศูนย์เรียนรู้ต่างๆ ซึ่งจะใช้วิธีการทำพื้นที่ใหญ่ๆ เช่น พื้นที่ปลูกข้าว ปลูกมันสำปะหลัง พื้นที่ปลูกอ้อย พื้นที่ทำเรื่องพืชสวนและพืชผักต่างๆ โดยกำหนดพื้นที่ให้มีความชัดเจน เป็นแปลงใหญ่ๆ โดยแต่ละแปลงจะมีผู้จัดการโครงการ มีฝ่ายต่างๆ เข้ามาร่วม ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการส่วนภูมิภาค ข้าราชการส่วนกลาง รวมพลังกันในการที่จะดำเนินการในพื้นที่ที่กำหนดไว้ชัดเจนว่ามีกี่ไร่ กี่คน มีพื้นที่เท่าไหร่ เพื่อจะได้มีการวัดผลที่ชัดเจน และแปลงใหญ่นี้ถ้าได้ผลดีก็จะมีการขยายไปยังพื้นที่ต่างๆ ต่อไป

สำหรับการกำหนดพื้นที่แปลงใหญ่ แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1. เขตชลประทาน 2. เขตที่มีพื้นที่ชัดเจน เช่น เขตพื้นที่ ส.ป.ก. เขตสหกรณ์นิคม และ 3. เขตที่มีการเพาะปลูกหรือมีกิจกรรมทางการเกษตรเป็นพิเศษ เช่น พื้นที่ที่สามารถทำข้าวพิเศษต่างๆได้ พื้นที่ที่ปลูกผลไม้ พื้นที่ที่ปลูกยางพารา และพื้นที่ชายฝั่ง เป็นต้น ถ้าส่วนราชการในส่วนภูมิภาค หรือทางจังหวัด สามารถกำหนดพื้นที่ให้มีความชัดเจนได้ ช่วงปลายฤดูก็จะสามารถประเมินผลได้ว่าได้ทำอะไรกับภาคเกษตรไปได้บ้าง อีกทั้งยังสามารถเชื่อมโยงการตลาดในต่างจังหวัดได้ เป็นการสร้างโอกาสให้เกษตรกรผู้ผลิตสามารถที่จะเข้ามาดูแลในเรื่องนี้ได้อย่างชัดเจนด้วยตัวเอง

“หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทางผู้ว่าราชการจังหวัดหรือรองผู้ว่าราชการจังหวัด จะเป็นหัวเรือใหญ่ในการขับเคลื่อนขบวนการพัฒนาด้านการเกษตรให้ได้ เนื่องจากการพัฒนาด้านการเกษตรที่ผ่านมายังมีการทำงานที่ขาดการบูรณาการอย่างชัดเจน โดยเฉพาะข้อมูลด้านการผลิตสินค้าเกษตร ทั้งยางพารา ข้าว มันสำปะหลัง ตัวเลขที่มีการรายงานมายังส่วนกลาง และตัวเลขที่เป็นข้อเท็จจริงในพื้นที่หลายครั้งที่ยังไม่ตรงกัน จึงทำให้ยากต่อการวางแผน จากปัญหาที่เกิดขึ้น นายกรัฐมนตรีจึงสั่งการอย่างเร่งด่วน ทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรฯ และฝ่ายความมั่นคงทำงานร่วมกัน ที่จะสร้างความรับรู้ให้กับเกษตรกรได้เข้าถึงข้อมูล เพราะการเข้าถึงข้อมูลจะนำไปสู่ความสำเร็จได้ ซึ่งจากนี้ไปข้าราชการของกระทรวงเกษตรฯในระดับพื้นที่จะต้องเข้าไปทำหน้าที่สร้างความเข้าใจให้กับเกษตรกรในแนวทางนโยบายในเรื่องการส่งเสริมสินค้าเกษตรแนวใหม่ซึ่งเป็นแปลงใหญ่ ที่จะวัดผลและสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกรในอนาคต โดยเจ้าหน้าที่จะต้องทำหน้าที่ในการเข้าไปสอบถามข้อมูลกับเกษตรกร และนำข้อมูลมานำเสนอต่อสาธารณชนผ่านโซเชียลเนตเวิร์ก เพื่อที่จะประมวลด้านข้อมูลในการนำสู่การประมวลผลและวางแผนนโยบายด้านการเกษตรที่ชัดเจน โดยเบื้องต้นในส่วนของเครือข่ายโซเชียลเนตเวิร์กของกระทรวงเกษตรฯ มีอยู่แล้วกว่า 5 แสนราย อาจจะมีการถ่ายคลิปของเกษตรกรที่มีการรวมกลุ่มและแสดงความต้องการด้านต่างๆมานำเสนอต่อกระทรวงเกษตรฯ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างเป็นระบบ” รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าว

นายปีติพงศ์กล่าวทิ้งท้ายว่า นอกจากการวางระบบการส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ กระทรวงเกษตรฯยังจะมีการวางแนวทางการแก้ปัญหาเรื่องน้ำให้เป็นระบบ ซึ่งจะต้องมีการวางแผนการใช้น้ำอย่างชัดเจน โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าวที่สำคัญของประเทศไทย โดยจะต้องมีการจัดสรรน้ำจากเขื่อนต่างๆ ให้เป็นระบบ เพราะปัญหาเรื่องข้าวที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งมาจากการบริหารจัดการพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาด้วย ซึ่งกระทรวงเกษตรฯจะมีการวางระบบที่ชัดเจนต่อไป

จาก http://www.naewna.com วันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2558

นายกฯรื้อใหม่ โครงสร้างอ้อย 

           พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลใหม่หลังมีปัญหาสะสมมานาน

          ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 2 มิ.ย. 2558 พล.อ.ประยุทธ์ ได้สั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรมนำงานวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มาปรับปรุงอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายโดยเร่งด่วน ให้เริ่มดำเนินการทันทีและต่อไปนี้ให้กำหนดราคาอ้อยขั้นต้นให้สอดคล้องกับความเป็นจริงมากที่สุด เพื่อแก้ปัญหาการชดเชยและโยกเงินไปมา

          พร้อมอนุมัติตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ เพื่อให้การช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อยในฤดูกาลผลิตปี 2557/2558 โดยให้ความช่วยเหลือเพิ่มค่าอ้อยในอัตราตันละ 160 บาท ตามมติคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) โดยอนุมัติให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายกู้เงิน (Straight Loan) จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยให้จ่ายตรงกับชาวไร่อ้อยในทุกตันอ้อยที่ส่งเข้าหีบในโรงงานน้ำตาลทรายในฤดูกาลผลิตปี 2557/2558 จากประมาณการผลผลิตอ้อยเบื้องต้น 102.20 ล้านตัน จำเป็นต้องใช้วงเงินช่วยเหลือทั้งสิ้น 16,352 ล้านบาท

          นอกจากนี้ ให้คงการเก็บเงินจากราคาน้ำตาลในสัดส่วน 5 บาท/กิโลกรัม เพื่อนำไปเป็นรายได้ของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย สำหรับนำไปชำระหนี้เฉพาะเงินกู้แก่ ธ.ก.ส.

          สำหรับหลักการจ่ายเงินชดเชยแก่ชาวไร่อ้อยในฤดูกาลผลิต 2557/2558 นี้ เป็นแนวทางเดียวกับฤดูการผลิตที่ผ่านมา โดยมีราคาอ้อยขั้นต้นอยู่ที่ 900 บาท/ตันอ้อย เงินเพิ่มอยู่ที่ 160 บาท/ตันอ้อย แต่หากเมื่อสิ้นฤดูการผลิตปรากฏว่าราคาอ้อยขั้นสุดท้ายสูงกว่าราคาอ้อยขั้นต้นรวมกับเงินเพิ่มหรือสูงกว่า 1,060 บาท โรงงานน้ำตาลจะต้องจ่ายเงินเพิ่มให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อย แต่หากปรากฏว่าราคาอ้อยขั้นสุดท้ายออกมาต่ำกว่า 1,060 บาท กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายจะต้องจ่ายเงินชดเชยแก่โรงงานน้ำตาล

          สำหรับฤดูกาลที่ผ่านมา กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายได้กู้เงินจาก ธ.ก.ส.มาจ่ายให้แก่ชาวไร่ทั้งสิ้น 16,565 ล้านบาท คาดว่าจะจ่ายหมดในเดือน มิ.ย.นี้

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2558 

‘พลังงานชีวมวล’ โดดเด่นในไทย ผลักดันก้าวไกลใช้ประโยชน์ในอาเซียน

พลังงานชีวมวล’ โดดเด่นในไทย ผลักดันก้าวไกลใช้ประโยชน์ในอาเซียนสำหรับพลังงานทดแทนที่โดดเด่นของประเทศไทย คือ “พลังงานชีวมวล” เพราะว่าประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมวันพุธที่ 3 มิถุนายน 2558 เวลา 6:00 น. คำสำคัญ: พลังงานชีวมวล โดดเด่น ในไทย ผลักดัน ก้าวไกล ใช้ประโยชน์ ในอาเซียน ปัจจุบันในหลายประเทศพยายามเลือกใช้เทคโนโลยีพลังงานทดแทนรูปแบบต่าง ๆ เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียนมีความต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากปัจจัยเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้น จึงต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันและก๊าซอย่างมาก ในขณะเดียวกันพลังงานชีวมวลก็เป็นแหล่งพลังงานทดแทนที่สำคัญและโดดเด่นในประเทศไทย ซึ่งเรามีขีดความสามารถในการพัฒนาไปได้อีกมากและถือเป็นโอกาสทางธุรกิจที่น่าจับตามอง

โดย ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร รองปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในปัจจุบันประเทศไทยใช้พลังงานทดแทนหลากหลายรูปแบบ ปีล่าสุดมีการใช้เพิ่มขึ้นประมาณ 12 เปอร์เซ็นต์ของการใช้พลังงานทั้งประเทศ ถือว่าเป็นตัวเลขที่เยอะเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ซึ่งพลังงานทดแทนรูปแบบแรก ได้แก่ เชื้อเพลิงชีวภาพ แก๊สโซฮอล์ ไบโอดีเซล รูปแบบที่ 2 คือไฟฟ้า เช่น การผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ พลังงานชีวมวล ได้แก่ เศษวัสดุทางการเกษตร แก๊สชีวภาพที่หมักจากขี้หมูหรือน้ำเสียได้เป็นแก๊สชีวภาพสามารถนำมาผลิตไฟฟ้าได้ และพลังงานลม คือกังหันลมผลิตไฟฟ้า และรูปแบบที่ 3 คือความร้อน เช่น ชีวมวลสามารถเผาให้ความร้อนได้โดยตรง ตู้อบแสงอาทิตย์ ซึ่งการใช้พลังงานทดแทนหลัก ๆ จะเป็น 3 รูปแบบนี้มีใช้อยู่ทั่วพื้นที่ภูมิภาคของประเทศไทย โดยเฉพาะตู้อบแสงอาทิตย์ ไบโอดีเซล เป็นเทคโนโลยีที่ใช้ง่ายสามารถผลิตเองได้ในชุมชน และมีการใช้กันมานานอย่างต่อเนื่องสำหรับพลังงานทดแทนที่โดดเด่นของประเทศไทย คือ “พลังงานชีวมวล” เพราะว่าประเทศไทยเป็นประเทศเกษตร กรรม

ดังนั้นจึงมีพวกผลิตผลเหลือใช้ทางการเกษตรมากมาย ได้แก่ แกลบ ชานอ้อย ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่ได้มีการส่งเสริมให้ใช้พลังงานทดแทนจึงเผาทิ้งหรือปล่อยทิ้งไว้อย่างไม่มีมูลค่า แต่หลังจากที่เราส่งเสริมวัสดุเหล่านี้ก็กลับมีคุณค่าและมีประโยชน์ขึ้นมา ซึ่งการผลิตไฟฟ้าจากพวกชีวมวลสามารถแพร่กระจายไปได้ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ จึงเป็นพลังงานทดแทนที่นอกเหนือจากการนำสิ่งต่าง ๆ ที่เหลือใช้ มาใช้ประโยชน์แล้ว ยังเป็นการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรและชุมชนด้วยที่สำคัญในกลุ่มของเทคโนโลยีด้านชีวมวลสำหรับการผลิตความร้อนและพลังงานกระบวนการเผาไหม้เป็น กระบวนการที่ถูกใช้มากที่สุดในทุกประเทศในกลุ่มอาเซียน ยกเว้นบรูไนและสิงคโปร์ไม่มีหรือมีแหล่งทรัพยากร ชีวมวลที่จำกัด

สำหรับประเทศไทย มาเลเซีย และเวียดนาม การเผาไหม้สำหรับการผลิตไฟฟ้า ความร้อนและการผลิตไฟฟ้าและความร้อน ร่วม ถือเป็นการทำการค้าอย่างเต็มตัวกับประสิทธิภาพภายในประเทศสำหรับผู้ผลิต โครงการโรงผลิตพลังงานชีวมวลขนาดใหญ่ถูกดำเนินการในลาวและฟิลิปปินส์โดยบริษัทต่างชาติเท่านั้น ประเภทต่าง ๆ ของเทคโนโลยีส่วนใหญ่เป็นเตาไฟ และมีบางประเภทเป็นเตาเผาแบบใช้ตัวกลางนำความร้อนสำหรับประเทศไทยเทคโนโลยีการเผาไหม้ชีวมวลถูกสร้างขึ้นเพื่อความร้อน พลังงานและพลังงานไฟฟ้าและความร้อนร่วมมีการรายงานว่าสมรรถนะของโครงการชีวมวลต่าง ๆ มีส่วนช่วยในการผลิตความร้อนได้มากกว่า 4,300 ตันเทียบเท่าน้ำมันดิบผลิตพลังงานได้เกือบ 2,000 มิลลิวัตต์

ในปี ค.ศ. 2013 และเกือบทั้งหมดของการใช้งานเทคโนโลยีการเผาไหม้ การผลิตก๊าซชีวภาพจะเปลี่ยนอินทรียวัตถุโดยผ่านกระบวนการทางชีววิทยาโดยปราศจากอากาศในก๊าซมีเทน (60 เปอร์เซ็นต์) ซึ่งยังสามารถใช้ในการผลิตพลังงานได้อีกด้วย ประเทศไทยจึงถือว่าเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีในกลุ่มประเทศอาเซียนทั้งสำหรับการพัฒนาและการดำเนินงานด้านการผลิตก๊าซชีวภาพพลังงานทดแทนที่โดดเด่นอีกประเภท คือเรื่องของเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ ประเทศไทยมีแสงแดดเยอะ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์สามารถทำได้ เพราะเกือบทั่วภูมิภาคสามารถใช้เทคโนโลยีโซลาร์เซลล์ได้ ยกเว้นภาคใต้ที่มีฝนมากอาจจะไม่ได้ปริมาณมากเท่าภาคอื่น ๆ

ทั้งนี้เรื่องของการพัฒนาพลังงานทดแทน ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่ายังมีต้นทุนสูงกว่าพลังงานทั่วไปอยู่ แต่ว่าทิศทางจะลดลงเรื่อย ๆ แล้วจากการพัฒนาของเทคโนโลยี เช่น ปัจจุบันต้นทุนการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ลดลงแล้ว สามารถส่งเสริมได้มากขึ้นโดยไม่เป็นภาระต่อคนอื่นการพัฒนาพลังงานทดแทนควรทำควบคู่กับการสร้างแรงจูงใจให้คนมาผลิตพลังงานทดแทนด้วย เพื่อเป็นแรงจูงใจในการลงทุนสามารถทำให้คืนทุนเร็วขึ้นไม่ใช้เวลานานในการคืนทุน ซึ่งเป็นเรื่องที่ทางกระทรวงและรัฐบาลเข้ามาส่งเสริม รวมถึงเชื้อเพลิงชีวภาพ เช่น อี 85 เรามีการสนับสนุนส่วนหนึ่งเพื่อให้ราคาจูงใจคนจึงหันมาใช้มากขึ้น เพราะถ้ารอการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างเดียวมันอาจจะไม่ทำให้เกิดการพัฒนาการขยายการผลิตได้มากเท่าที่ควร จึงต้องมีมาตรการส่งเสริมจากภาครัฐด้วยในขณะเดียวกันหากมองศักยภาพการผลิตพลังงานทดแทนของประเทศอื่นในอาเซียนเราพบว่าประเทศอินโดนีเซียและ มาเลเซียมีศักยภาพในการทำไบโอดีเซล แต่ว่าการใช้ยังไม่แพร่หลายเท่ากับประเทศไทย ซึ่งประเทศไทยค่อนข้างมาไกลในเรื่องของพลังงานทดแทน เพราะเวลามีการจัดการประชุมและประกาศรางวัลระดับอาเซียน ชื่อประเทศไทยมักจะมาในระดับต้น ๆ ของอาเซียนที่ได้รับรางวัล แต่อย่างไรก็ตามประเทศอื่น ๆ ที่มีสมรรถภาพด้านพลังงานทดแทน ได้แก่ อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์มีกำลังด้านพลังงานจากความร้อนใต้พิภพ ลาวและเมียนมามีศักยภาพด้านพลังงานน้ำ และเวียดนามมีจุดเด่นอยู่ที่การพัฒนาลม ซึ่งทุกประเทศสามารถแบ่งปันผลประโยชน์และความเชี่ยวชาญจากธรรมชาติได้เพื่อส่วนรวมของภูมิภาคประชาคมอาเซียนนอกเหนือสิ่งอื่นใดหากทุกประเทศหันมาใช้พลังงานทดแทนจะสามารถช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมให้โลกของเราได้หลายประการ ซึ่งประการแรก คือถ้ามองในเรื่องของก๊าซเรือนกระจก คาร์บอนไดออกไซด์ พลังงานทดแทนโดยปกติมาจากพืช ซึ่งพืชจะดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศมาสร้างใบ กิ่ง ก้าน ในส่วนนี้พอเรานำชีวมวลมาใช้ ถึงแม้จะมีการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มาแต่การปล่อยจะเป็นศูนย์ เพราะตอนที่พืชสร้างใบ กิ่ง เนื้อไม้มันก็ดึงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาผลิต เมื่อนำไปเผาก็คืนสู่กลับธรรมชาติเท่ากับไม่ได้สร้างอะไรเพิ่มขึ้น ประการต่อมาเป็นพวกโซลาร์เซลล์ หรือลม เป็นพลังงานหมุนเวียนไม่มีวันหมดสามารถนำมาใช้ได้เรื่อย ๆ และไม่ได้ปลดปล่อยพวกสารพิษอะไรออกมาในกระบวน การผลิตพลังงาน จึงช่วยในเรื่องของการรักษาสิ่งแวดล้อม และประการสุดท้ายคือพลังงานขยะ ซึ่งรัฐบาลส่งเสริมในเรื่องของสิ่งแวดล้อมแทนที่ขยะจะหมักหมมไว้เกิดเป็นก๊าซมีเทนในอากาศและเกิดเป็นผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เราก็ดึงมาผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า ส่งผลให้ลดผลกระทบเรื่องของขยะได้ จึงถือเป็นเรื่องของเชื้อเพลิงที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมดังนั้นหากนักลงทุน ผู้ประกอบธุรกิจ และผู้สนใจทั่วไปที่ชอบแสวงหาความรู้เกี่ยว กับเทคโนโลยีของพลังงานทดแทนเพื่อต่อยอดธุรกิจหรือลงทุนไม่ควรพลาดงาน “Renewable Energy Asia 2015” ที่กระทรวงพลังงานร่วมกับบริษัท ยูบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด จัดขึ้นใน วันที่ 3-6 มิถุนายน 2558 ณ ไบเทคบางนา ภายในงานจะมีการแสดงเทคโนโลยีเครื่องจักรอุปกรณ์การใช้เกี่ยวกับพลังงานทดแทน รวมถึงโครงการพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานความร้อนใต้พิภพ พลังงานน้ำ พลังงานชีวมวล และเทคโนโลยีสีเขียวอื่น ๆไฮไลต์ของงานคือ การร่วมกันจัดงานแสดงเทคโนโลยีระดับนานาชาติ ด้านการบริหารจัดการน้ำดีและน้ำเสียที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค (Thai Water Expo 2015)

 นอกจากนี้ยังมีการประชุมสัมมนาอีกว่า 100 หัวข้อที่น่าสนใจ เช่น “Energy Talk” และเป็นประโยชน์อย่างมาก ซึ่งเราจะได้เห็นถึงความก้าวหน้าในการพัฒนาพลังงานทดแทน รวมถึงเห็นโอกาสในการลงทุน ถือว่าเป็นงานด้านพลังงานทดแทนระดับชาติที่จะช่วยกระตุ้นภาคเอกชนและภาคเศรษฐกิจว่าพลังงานทดแทนอย่างชีวมวลของไทยจะสามารถผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์ในอาเซียนต่อไปได้ในอนาคต.ชญานิษฐ คงเดชศักดา“

จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2558 

ร่วมพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว รับวันสิ่งแวดล้อมโลก

เล่าสู่กันฟัง : ร่วมพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว รับวันสิ่งแวดล้อมโลก : โดย...บัญญัติ คำนูณวัฒน์

                      “ย่างเข้าเดือนหก ฝนก็ตกพรำๆ” เวลานี้ เดือนนี้ ในอดีตเราจะร้องเพลงนี้ในอากาศเย็นสบายๆ กับสายฝน แต่ปัจจุบันคงต้องร้องเพลงนี้ขณะที่แดดจ้าจนแสบตา อากาศร้อนอบอ้าวจนแทบไม่อยากก้าวเท้าออกจากบ้านหรือที่ทำงานในตอนกลางวัน สาเหตุที่ทำให้ร้อนแบบนี้ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่เกิดขึ้นเพราะกระแสน้ำอุ่นพัดแทนที่กระแสน้ำเย็น ทำให้ฤดูกาลคลาดเคลื่อนไป แต่นี่เป็นเพียงจุดเล็กๆ ที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน

                      ประเด็นสำคัญอยู่ที่ปริมาณการใช้ทรัพยากรธรรมชาติสูงขึ้นและมีการทำลายอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ “ป่าไม้” ข้อมูลจากกรมป่าไม้ชี้ว่าในรอบ 7 ปีที่ผ่านมาพื้นที่ป่าของไทยลดลงไปกว่า 5 ล้านไร่ และเรื่องการลักลอบตัดไม้ไปขายก็เป็นมหากาพย์ที่แก้ไม่จบ เพราะเมื่อมีคนต้องการซื้อ ย่อมมีคนพยายามขวนขวายหามาขายจนได้ โดยเฉพาะไม้พะยูง ไม้ทำเงิน ราคาลูกบาศก์เมตรละ 100,000–1,000,000 บาท ในปีที่ผ่านจับผู้ลักลอบได้กว่า 1,368 คดี แน่นอนว่าเมื่อขาดผืนป่าย่อมส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมตามมาด้วยความรุนแรงจากภัยธรรมชาติที่เพิ่มขึ้น

                      กรมควบคุมมลพิษ เคยออกมาบอกว่าคนไทยมีพฤติกรรมสร้างขยะในแต่ละวันเพิ่มขึ้น และปริมาณขยะทั้งประเทศสะสมเกือบจะเท่ากับตึกใบหยก 2 หรือสูงถึง 882 เมตร รวมถึงขยะพลาสติกหรือโฟม ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ใช้ง่ายแต่กำจัดได้ยาก ใช้เวลาย่อยสลายนานกว่า 450 ปี นอกจากนี้ยังมีเรื่องการใช้รถส่วนตัวในการสัญจรบนท้องถนนเพิ่มขึ้น 8.6 ล้านคัน รถยนต์เหล่านี้ปล่อยมลพิษออกมาทุกวัน ฯลฯ สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน หลากหลายพฤติกรรมที่ทำให้ เราๆ ท่านๆ บ่นเป็นเสียงเดียวกันว่า “ร้อนมาก” ยังร้อนได้อีก เพราะผลการศึกษาขององค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) ระบุว่าอีก 40 ปีข้างหน้าสภาพภูมิอากาศในลุ่มน้ำโขงตอนล่างจะสูงขึ้นอีก 4-6 องศา นึกภาพไม่ออกเลยว่าจะอยู่อย่างไร ถ้าอากาศร้อนแบบนั้น

                      จึงอยากให้ เราๆ ท่านๆ หันมาร่วมกันรับผิดชอบตั้งแต่วันนี้ ในสัปดาห์วันสิ่งแวดล้อมโลก โดยร่วมกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ร่วมกันเดินหน้าเศรษฐกิจสีเขียว... เริ่มจากภาครัฐ จะต้องเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว ด้วยการตั้งเป้าให้มีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น, ส่งเสริมให้คนขับขี่จักรยานแทนการใช้รถยนต์ส่วนตัว, จัดเขตฟรีโซนปลอดการใช้รถยนต์, ขยายเส้นทางรถไฟฟ้าหรือรถไฟใต้ดิน สนับสนุนภาคธุรกิจให้หันมาใช้พลังงานธรรมชาติ และต้องมีส่วนร่วมในเชิงปฏิบัติ สนับสนุนส่งเสริมด้านความรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกับภาคเอกชน เพื่อจะได้ติดตามและร่วมกันวิเคราะห์ด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นการผนึกกำลังร่วมกันผลักดันประเทศเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวให้ได้

                      ถัดมาที่ภาคธุรกิจ เท่าที่ทราบมา...มีหลายองค์กรที่มีนโยบายเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังและชัดเจนมานานพอสมควร อาทิ ปตท.ก็จะร่วมกันปลูกป่า, เอสซีจี ร่วมกันทำฝายรักษาแหล่งน้ำ, โตโยต้า ก็จะเน้นที่ถนนสีขาวเพื่อความปลอดภัย, ซีพี ออลล์ รณรงค์เชิญชวนคนไทยลดใช้ถุงพลาสติก และยังมีหลายหน่วยงานหลายภาคส่วนของสังคมที่ร่วมกันใส่ใจสิ่งแวดล้อม ที่ทำดีแล้วก็ควรทำต่อไปอย่างจริงจังและยั่งยืน เพราะการจะลดภาวะโลกร้อน ไม่ใช่แค่ปลูกป่าทดแทน ไม่ใช่แค่ประหยัดน้ำ ไม่ใช่แค่ลดขยะ ไม่ใช่แค่ลดการใช้พลังงาน และไม่ใช่แค่ วันนี้ วันเดียว แต่ต้องทำในองค์รวม ทำพร้อมๆ กันในหลายๆ ด้าน ทำอย่างจริงจังและต่อเนื่องไปตลอด

                      ยังไม่สายหากวันนี้ เราๆ ท่านๆ จะมีส่วนร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อมในทุกกิจกรรมของการใช้ชีวิต เริ่มจากวันสิ่งแวดล้อมโลก และต่อไปทุกๆ วันเพื่อโลกของเรา เพื่อลูกหลานของเรา

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2558 

ครม.สั่งปรับโครงสร้างอุตฯอ้อยและน้ำตาลลดภาระจ่ายเงินชดเชย

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้รายงานต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ถึงผลการดำเนินงานในการช่วยเหลือชาวไร่อ้อยในปี 56/57 ว่า จากมติ ครม.เมื่อเดือน มิ.ย.57 ที่ให้ชดเชยราคาอ้อยแก่เกษตรกรเพิ่มอีกตันละ 160 บาท และให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.) ไปกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) มาจ่ายเป็นค่าชดเชยแก่เกษตรกร โดยให้ ธ.ก.ส.คิดดอกเบี้ยในอัตราต่ำเป็นพิเศษ รวมทั้งการปรับราคาจำหน่ายน้ำตาลทรายเพิ่มอีก ก.ก.ละ 5 บาทนั้น ผลการดำเนินงานล่าสุด ณ วันที่ 28 เม.ย.58 พบว่า กอน.ได้จ่ายเงินชดเชยค่าอ้อยให้แก่เกษตรกรไปแล้ว 16,565 ล้านบาท คิดเป็นปริมาณอ้อย 103 ล้านตัน หรือคิดเป็น 99.87% โดยปริมาณอ้อยที่เหลืออีก 1.3 แสนตันนั้น ประกอบด้วย ชาวไร่อ้อยที่ยังอยู่ระหว่างการขึ้นทะเบียนไมีเป็นที่เรียบร้อยอีก 489 ราย ซึ่งคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จและรับเงินชดเชยได้ในช่วงต้นเดือน มิ.ย.นี้ ขณะที่ชาวไร่อ้อยอีก 61 ราย หรือคิดเป็นปริมาณผลผลิตอ้อย 4 พันตัน ได้แสดงความประสงค์จะไม่ขอรับเงินชดเชย       

  ส่วนแนวทางการให้ความช่วยเหลือชาวไร่อ้อยในปี 57/58 นั้น หลักการยังคงเป็นไปตามแนวทางเดิม คือ จ่ายชดเชยค่าอ้อยตันละ 160 บาท และนำหนี้เก่าที่เกิดจากการกู้ยืมเงิน ธ.ก.ส.ในปี 56/57 มารวมกับหนี้ใหม่ในปี 57/58 แล้วบริหารจัดการใช้ในรอบเดียวกัน โดยเงินที่นำมาใช้คืนนี้จะเกิดจากการที่ขายน้ำตาลทรายในราคาเพิ่มขึ้น 5 บาท/กก.         

ที่ประชุม ครม.ยังมีมติเพิ่มเติม โดยเห็นว่าโครงสร้างการผลิตอ้อยและน้ำตาลและการจำหน่ายยังคงมีปัญหาอยู่ตลอด จึงมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำผลการวิจัยของทีดีอาร์ไอไปพิจารณาปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลโดยเร่งด่วน ซึ่งนายกรัฐมนตรีกำชับให้เริ่มดำเนินการตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป และขอให้คณะกรรมการที่เกี่ยวขัองไปกำหนดต้นทุนของราคาอ้อยขั้นต้นให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความเป็นจริง รวมทั้งการจะนำผลผลิตอ้อยไปผลิตเป็นเอทานอลนั้นขอให้เร่งดำเนินการเช่นกัน เพื่อจะได้ใช้ประโยชน์จากอุตสาหกรรมอ้อยได้เต็มที่มากขึ้น และลดภาระของรัฐบาลในการจ่ายเงินชดเชยให้น้อยลง

  จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ก.เกษตรฯ ยกชั้นเกษตรกร เพิ่มรายได้แตะ 2 แสน/ปี

นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การขับเคลื่อนระบบส่งเสริมการเกษตรให้เป็นแปลงใหญ่จะสำเร็จ ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝาย ภายใต้การดูแลของคณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตร ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และมีผู้จัดการแปลง ทำหน้าที่บริหารจัดการทุกกิจกรรมของโครงการ ตั้งแต่การจัดหาปัจจัยการผลิต การผลิต คุณภาพผลผลิต การเก็บเกี่ยว การบริหารจัดการโลจิสติกส์ และการตลาด รวมถึงการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

“เบื้องต้นมอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้คัดเลือกผู้จัดการแปลง แต่ในอนาคตอาจจะจ้างผู้บริหารมืออาชีพเข้ามาบริหาร และยืนยันว่า การทำเกษตรแปลงใหญ่ ไม่ได้นำกรรมสิทธิ์มารวมกัน แต่จะเชื่อมโยงการทำการเกษตร ให้เป็นกลุ่มเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ช่วยลดต้นทุนได้ประมาณ 5% เพิ่มรายได้ประมาณ 20% ต่อปี เพราะหลังจากนี้หากเกษตรกรไม่ปรับตัว จะไม่สามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้ ทั้งในส่วนของต้นทุน ผลผลิตและราคา และเชื่อว่าไม่เกิน 5 ปี สินค้าไทยจะหายไป โครงการแปลงใหญ่นี้แสดงให้เห็น ว่ารัฐบาลไม่ได้แทรกแซงกลไกตลาด แต่เป็นการสร้างโอกาสให้กับเกษตรกร”

+ผู้ว่าราชการจังหวัดเลือกแล้ว 263 พื้นที่

นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนกงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า การขับเคลื่อนการบริหารจัดการสินค้าเกษตรของจังหวัด และระบบการส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ปี 2558  เพื่อให้เกษตรเกิดความร่วมมือในการผลิต หรือองค์กรเกษตรกรในพื้นที่ ทำให้เกิดขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ (Economy of Scale) ซึ่งคณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ของจังหวัด ได้ประชุมคัดเลือกพื้นที่แล้วเสร็จเมื่อเดือนเม.ย. 2558 จาก 76 จังหวัด 28 สินค้า จำนวน 263 แปลง มีรายชื่อผู้จัดการแปลงจำนวน 263 คน ประกอบด้วย 1. พืช รวม 21 ชนิด จำนวน 241 แปลง ได้แก่ ข้าว 138 แปลง ยางพารา 3 แปลง ปาล์มน้ำมัน 12 แปลง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 10 แปลง อ้อยโรงงาน 5 แปลง มันสำปะหลัง 17 แปลง ผลไม้ 45 แปลง และพืชอื่น ๆ ได้แก่ พืชผัก/อื่น ๆ 12 แปลง 2 . ปศุสัตว์ 3 ชนิด ได้แก่ ไก่พื้นเมือง โคเนื้อ และโคนม 3. ประมง 3 ชนิด ได้แก่ กุ้งขาว หอยแครง และปลาน้ำจืด

+ปี 2559 พร้อมจัดสรรงบลงแปลงใหญ่

สำหรับงบประมาณในการดำเนินการปี 2558 ใช้งบประมาณจากแหล่งต่างๆ ได้จัดสรรไว้แล้ว เพื่อปฏิบัติงานแบบบูรณาการ ได้แก่ งบประมาณรายจ่ายประจำปีของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยจัดสรรให้กับหน่วยงานในระดับจังหวัดไปดำเนินการตามภารกิจ, งบกลาง ที่มีการจัดสรรเพื่อดำเนินการในจังหวัด, งบกลุ่มจังหวัด/จังหวัด, งบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และงบอื่นๆ อาทิ เงินกู้ยืมจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร เงินกู้ยืมจากธนาคารเพื่อการเกษตร และสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทั้งนี้คณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ของจังหวัด และผู้จัดการพื้นที่เป็นผู้ประสานงานให้ได้งบประมาณสนับสนุนกิจกรรมตามแผนการผลิตในแต่ละพื้นที่ ซึ่งปี 2559 กรมที่เกี่ยวข้องจะพิจารณาจัดสรรงบประมาณ เพื่อสนับสนุนกิจกรรมตามระบบส่งเสริมการเกษตรให้เป็นแปลงใหญ่ โดยโครงการเกษตรกรรมแบบแปลงใหญ่มีอายุ 5 ปี กำหนดเวลาชำระคืนเงินกู้ได้ภายใน 5 ปี

+“สิงห์บุรี-กำแพงเพชร” นำร่องแปลงใหญ่

รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า เตรียมเดินหน้าโครงการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรมแบบแปลงใหญ่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยยกจังหวัดสิงห์บุรีและกำแพงเพชร เป็นตัวอย่างนำร่อง ซึ่งพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีพื้นที่เกษตรทั้งหมด 9.24 ล้านไร่ คิดเป็น 72.04 % ของพื้นที่ทั้งหมดในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ครอบคลุม 16 จังหวัด 91 อำเภอ 673 ตำบล และ 5,287 หมู่บ้าน มีประชากร 5.62 ล้านคน (ไม่รวมพื้นที่กทม.) ในจำนวนนี้ 11.39% ประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยแบ่งพื้นทำนาข้าว 5.84 ล้านไร่ หรือ 45.59% ของพื้นที่ทั้งหมด ทำพืชผลัก 0.094 ล้านไร่ หรือ 0.73% ของพื้นที่ทั้งหมด พืชไร่ 2.39 ล้านไร่ หรือ 18.66% ของพื้นที่ทั้งหมด ไม้ผล-ไม้ยืนต้น 0.609 ล้านไร่ หรือ 4.75% ของพื้นที่ทั้งหมด เกษตรอื่นๆ 0.29 ล้านไร่ หรือ 2.31% ของพื้นที่ทั้งหมด ป่าไม้ 0.63 ล้านไร่ หรือ 4.94% ของพื้นที่ทั้งหมด และพื้นที่อื่นๆ 2.95 ล้านไร่ หรือ 23.01% ของพื้นที่ทั้งหมด

+ปีก่อนผลผลิตการทำนา ขาดทุนไร่ละ 3,240 บาท

สำหรับวัตถุประสงค์ เพื่อปรับโครงสร้างการผลิตไปสู่การผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ และการใช้ทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพตามกระบวนการจัดทำโซนนิ่งที่เหมาะสม โดยแนะนำให้เกษตรกรรวมกลุ่มให้มีพื้นที่เพาะปลูกอย่างน้อย 30 ไร่ และนำแผนการเพาะปลูกตามกิจกรรมที่กระทรวงส่งเสริม รวมทั้งแนะนำให้เกษตรกรเลือกชนิดการปลูกให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เพื่อลดปัญหาขาดทุนจากการทำนาอย่างต่อเนื่องของเกษตรกร โดยรัฐบาลมีการสำรวจการทำนาในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา 3 รอบ/ปี คือรอบแรกเดือน พ.ค.-ก.ค. รอบที่ 2 เดือนส.ค.-พ.ย. และรอบที่ 3 เดือนธ.ค.-เม.ย. ในปี 2557/58 ขาดทุนกว่า 3,240 บาท/ไร่

+เข้าโครงการแปลงใหญ่ต้นทุนลด-ผลผลิตเพิ่ม

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ศึกษาต้นทุนการผลิตหากดำเนินการตามการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรมแบบแปลงใหญ่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภายใต้พื้นที่ 30ไร่/ราย พบว่า ต้นทุนการผลิตปี 2558/59 ลดลง เนื่องจากเกษตรกรสนับสนุนการใช้ปุ๋ยสั่งตัด สนับสนุนให้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง และสนับสนุนเงินลงทุนซื้อเครื่องจักกลทางการเกษตร เช่น รถหยอดข้าว รถเกี่ยวข้าว ฯลฯ ทั้งนี้ราคาสินค้าเกษตรจะตอบสนองต่อนโยบายรัฐบาล ต้นทุนที่ลดลง 5% รายได้เพิ่มขึ้น เพื่อให้เกิดความยั่งยืนของเกษตรกรรม และสนับสนุนให้เกษตรกรไทยมีงานทำตลอดทั้งปี ช่วยยกระดับรายได้เกษตรกรในโครงการจำนวน 2.2 แสนราย ให้มีรายได้ในระยะ 5 ปี เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 20% มีผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น 5% ต่อปี ตลอดระยะเวลาของโครงการ

+รายได้สุทธิเพิ่มเป็น 78,000-207,600 บาท/ปี

สำหรับรายได้สุทธิหักต้นทุน อยู่ที่ 78,000-207,600 บาท/ปี ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานตามเกณฑ์สมาร์ทฟาร์มเมอร์ ที่มีรายได้ไม่หักต้นทุนที่ 180,000 บาท/ราย โดยคิด 1 ปีการผลิต หากทำเกษตรกรรมแบบแปลงใหญ่ตามนโยบายรัฐบาล รอบแรกเดือน พ.ค.-ก.ค. ปลูกข้าวขาว รอบที่ 2 เดือนส.ค.-พ.ย. ข้าวหอมปทุม และรอบที่ 3 เดือนธ.ค.-เม.ย. หากปลูกถั่วเขียว จะมีรายได้ 4,670 บาท/ไร่ หรือรายได้ 140,100 บาท/ราย/ปี หากปลูกถั่วลิสง จะมีรายได้ 6,920 บาท/ไร่ หรือ 207,600 บาท/ไร่/ปี ปลูกถั่วหลือง จะมีรายได้ 2,600 บาท/ไร่ หรือรายได้ 78,000 บาท/ราย/ปี และหากปลูกข้าวโพด จะมีรายได้ 3,620 บาท/ไร่ หรือ 108,600 บาท/ราย/ปี

ขณะที่โครงการนำร่องแปลงใหญ่จังหวัดสิงห์บุรี มีพื้นที่รวม 197,091 ไร่ เป็นพื้นที่เกษตรกรรม 155,324 ไร่ และเป็นพื้นที่นา 146,021 ไร่ คิดเป็น 94.01% ของพื้นที่เกษตรกรรมอำเภออินทร์บุรี และมีเกษตรกรขึ้นทะเบียนการทำนาจำนวน 4,463 ราย มีเป้าหมายในพื้นที่ 100,000 ไร่ เกษตรกร 4,500 ราย คาดมีรายได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 20% ในช่วงระยะเวลา 5 ปี และเกษตรกรอินทร์บุรีประสบปัญหาภัยแล้งในปี 2558 ไม่สามารถประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้ตลอดทั้งปี แม้จะมีระบบชลประทาน แต่ยังไม่เพียงพอต่อการทำนาของเกษตรกรที่นิยมทำนาตลอดทั้งปี รวมทั้งปัญหาราคาสินค้าเกษตรในปี 2558 ตกต่ำ โดยเฉพาะราคาข้าว ที่เป็นปัญหามาจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย และความต้องการของตลาดโลกและประเทศไทยลดลง

  จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2558

นักวิชาการศศินทร์เตือนรัฐจัดการแรงงาน

๐ ก่อนเกิดวิกฤติเข้าเออีซี-ขาดแรงงานหนัก

นักวิชาการด้านบริหารงานบุคคลแห่งศศินทร์ ออกโรงเตือนรัฐบาลเร่งพัฒนาบุคลากรทั้งระบบแบบจัดเต็มทั้งระยะสั้นและระยะยาว เตรียมรองรับความต้องการแรงงานหลังเปิดเสรีอาเซียน ย้ำชัดอีก 3 ปีมีปัญหาขาดแคลนแรงงานทั้งปริมาณและคุณภาพขั้นรุนแรงในทุกระดับ พร้อมแนะทางแก้ให้รัฐพัฒนาคนโดยอิงกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ

รศ.ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข ผู้อำนวยการหลักสูตรการบริหารงานบุคคล สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศศินทร์) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเตรียมความพร้อมของนายจ้างลูกจ้างในกลุ่มประเทศอาเซียนช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเข้าสู่ AEC ในปลายปีนี้อย่างชัดเจนว่า “ประเทศไทยยังไม่พร้อม” ในแง่ปริมาณและคุณภาพของแรงงานรวมถึงความสามารถในการบริหารทรัพยากรบุคคล โดยที่ไทยขาดแคลนปริมาณแรงงานค่อนข้างรุนแรงในแทบทุกระดับ และแรงงานไทยมีคุณภาพในระดับปานกลางเท่านั้น ส่วนประเทศที่ขาดปริมาณแรงงานรุนแรงแต่แรงงานมีคุณภาพสูงคือประเทศสิงคโปร์ ส่วนประเทศที่แรงงานมีปริมาณมากและมีคุณภาพพอสมควรสามารถเผื่อแผ่ให้เพื่อนบ้านได้ใช้ คือ ประเทศฟิลิปปินส์ สำหรับประเทศมาเลเซียนั้น มีปริมาณแรงงานและคุณภาพของแรงงานหนุ่มสาวที่เพียงพอใช้สำหรับประเทศตัวเอง แต่ประเทศที่มีปริมาณแรงงานมากมายและคุณภาพย่อมเยาคือประเทศอินโดนีเซีย

ส่วนกลุ่มประเทศที่มีปริมาณแรงงานพอประมาณและมีคุณภาพย่อมเยาคือ กลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม) สุดท้ายคือบรูไน เป็นประเทศที่มีปริมาณแรงงานไม่มากนักแต่มีคุณภาพของแรงงานที่ใช้ได้ ส่วนในด้านขององค์กรนายจ้าง เมื่อพิจารณาความพร้อมจากความสามารถในการสรรหา พัฒนาและรักษาพนักงานที่มีคุณภาพนั้น ในแง่มุมนี้ ผลสำรวจ Global Talent Index (ดัชนีวัดความสามารถในการบริหารจัดการพนักงานคุณภาพระดับโลก) ชี้ว่าสิงคโปร์นำหน้าประเทศอื่นๆ ในอาเซียนแบบทิ้งห่าง อันดับสองคือมาเลเซีย ตามด้วยฟิลิปปินส์ ไทย เวียดนาม และรั้งท้ายด้วยอินโดนีเซีย

สำหรับทางด้านการเคลื่อนย้ายแรงงานเข้า-ออกนั้น รศ.ดร.ศิริยุพา กล่าวว่า ถึงแม้ว่าจะไม่มี AEC เกิดขึ้น ก็มีการเคลื่อนย้ายแรงงานเข้า-ออก ประเทศไทยก่อนหน้านั้นมาเป็นสิบปีแล้ว โดยแรงงานทุกระดับที่เป็นช่างฝีมือและแรงงานที่มีทักษะความเชี่ยวชาญสูง เช่น แพทย์ พยาบาล ก็เดินทางออกนอกประเทศไปหารายได้ที่ดีกว่ามานานแล้ว ส่วนแรงงานระดับล่างที่ไม่ค่อยมีฝีมือจากประเทศเพื่อนบ้านก็เดินทางเข้าไทยมารับจ้างนับเป็นล้านๆ คน เนื่องจากแรงงานระดับล่างไทยไม่พอ เพราะไทยเราได้เข้าสู่สังคมสูงอายุมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 โดยไทยมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปในอัตรา 10.5% เมื่อ10 ปีมาแล้ว

 “แรงงานไทย พวกช่างฝีมือต่างๆ ของบ้านเราเป็นที่ต้องการของต่างชาติ เช่น สิงคโปร์ ประเทศในตะวันออกกลาง ไต้หวัน มานานแล้ว แรงงานไทยพวกนี้จึงเดินทางไปทำงานต่างประเทศที่จ่ายค่าจ้างดีกว่า ดังนั้นสถานการณ์แรงงานช่างฝีมือ ช่างเทคนิคที่จบการศึกษาระดับประถมศึกษาถึงระดับโรงเรียนอาชีวะศึกษาจึงขาดแคลนมาก และจะเห็นว่าแรงงานระดับนี้ไม่ค่อยตกงาน ซึ่งต่างจากคนที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีสายสังคมศาสตร์ที่จะตกงานมากกว่า เพราะไม่ใช่สายวิชาที่นายจ้างต้องการ นอกจากนี้นายจ้างยังมีปัญหาเรื่องบัณฑิตจบใหม่ที่ขาดทักษะความพร้อมในการทำงานอีกด้วย และสำหรับบัณฑิตที่จบสายวิชาที่ตลาดต้องการ เช่น วิศวกรรมศาสตร์บัญชี ไอที การตลาดและการขาย นายจ้างก็ประสบปัญหาที่พนักงานรุ่นใหม่ชอบเปลี่ยนงานเป็นว่าเล่น อยู่ทำงานไม่ทน ทำให้นายจ้างรู้สึกไม่คุ้มค่าการลงทุนในการจ้างและฝึกอบรมพนักงานใหม่” รศ.ดร.ศิริยุพา กล่าว

ทั้งนี้หลังจากเปิด AEC การเคลื่อนย้ายเข้ามาของแรงงานระดับล่างจากประเทศเพื่อนบ้านอาจจะลดน้อยลงเพราะหากมีชาวต่างชาติเข้าไปลงทุนในประเทศเหล่านี้มากขึ้น แรงงานพวกนี้ก็ไม่จำเป็นต้องเดินทางมาทำงานในประเทศไทย ไทยอาจจะขาดแคลนแรงงานระดับล่างมากยิ่งขึ้นไปอีก ส่วนแรงงานที่เป็นผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญระดับกลาง คงจะไม่มีการเคลื่อนย้ายเข้า-ออกมากนัก ที่จะมีมาน่าจะเป็นบุคลากรสายการแพทย์และพยาบาลที่มาจากฟิลิปปินส์ เพราะค่าจ้างของไทยอยู่ในระดับรองลงมาจากสิงคโปร์ มาเลเซีย ส่วนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญระดับสูงนั้น แต่ละประเทศในอาเซียนจ่ายค่าตอบแทนให้ในระดับพอๆกัน และผู้บริหารระดับสูงในอาเซียนมักอยู่ในวัยที่อาวุโส มีครอบครัวแล้ว ไม่อยากโยกย้ายถิ่นฐาน จึงไม่น่ามีการเคลื่อนย้ายเข้า-ออกมานัก แต่น่าจะออกมาในรูปแบบของการเดินทางข้ามประเทศเพื่อปฏิบัติงานเป็นระยะๆ มากกว่า ซึ่งจะมีมากขึ้นตามกระแสความเป็นนานาชาติที่ทำให้บทบาทการทำงานของผู้บริหารต้องมีความเป็น “อินเตอร์” มากขึ้น การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะสูงในทุกระดับของไทยจะส่งผลให้ความสามารถในการผลิตสินค้าและบริการของไทยลดลง และนักลงทุนต่างชาติจะให้ความสนใจไปลงทุนในประเทศที่มีแรงงานมากกว่าในแง่คุณภาพและ/หรือปริมาณ ซึ่งจะมีประเทศที่มีในแง่ปริมาณและคุณภาพคือ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ในแง่ปริมาณคือ อินโดนีเซียและกัมพูชา

สำหรับแรงงานระดับผู้บริหารชั้นต้นและระดับกลาง องค์กรไทยก็ค่อนข้างขาดแคลนเช่นกัน แต่สถานการณ์ยังไม่วิกฤติเท่าการขาดแคลนช่างฝีมือดังที่กล่าวแล้ว แต่ในอีก 3 ปีข้างหน้านี้ ข่าวร้ายของประเทศไทยคือไทยจะเป็นประเทศที่มีแรงงานสูงวัยมากขึ้น และมีแรงงานหนุ่มสาวน้อยลง อีกทั้งผลสำรวจหนี้ครัวเรือนทั่วประเทศก็พบว่าคนไทยในแต่ละครัวเรือนมีหนี้มากขึ้น มีการออมลดลง สุขภาพของคนไทยก็แย่ลงทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต สรุปภาพในอีก 3 ปีข้างหน้าคือ ตลาดแรงงานไทยจะเป็นคนสูงวัย ไม่มีเงินเก็บ และอ่อนแอ

“ปัญหา HR เป็นปัญหาระดับชาติที่จะมารอแก้โดยองค์กรที่เป็นปลายทางของกระบวนการพัฒนาคนไม่ได้ เพราะมันไม่ทันการและไม่มีประสิทธิภาพ สิ่งที่องค์กรนายจ้างจะทำได้ในฐานะที่อยู่ปลายทางก็คือ การปรับปรุงระบบการปฐมนิเทศพนักงานให้เรียนรู้งานเร็วขึ้น พัฒนาการฝึกอบรมพนักงานทุกระดับให้มีผลลัพธ์ดีขึ้นเร็วขึ้น ในราคาต้นทุนที่ต่ำลง เพราะนายจ้างต้องง้อลูกจ้างที่เข้า-ออกงานเป็นว่าเล่น ระบบการพัฒนาคนจึงต้องปรับให้มีความยืดหยุ่น เรียนรู้ไว ใช้งานได้เร็ว สนุก ดึงดูดใจพนักงานรุ่นใหม่ที่อยากพัฒนาตัวเองให้อยากมาทำงานกับองค์กรเข้ากับสถานการณ์แรงงาน ทั้งนี้ตัวหัวหน้างานและผู้จัดการจะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาลูกทีมของตนมากขึ้น จะหวังพึ่งแต่แผนก HR ไม่ได้ แต่ที่ต้องทำก็คือ รัฐบาลต้องมีการทบทวนแผนการบริหารบุคคลของชาติในระยะยาวอย่างมีวิสัยทัศน์ ต้องเข้าใจเรื่องแนวโน้มประชากรของชาติที่จะเดินหน้าสู่สังคมสูงอายุอย่างรวดเร็ว ต้องพัฒนาคนโดยอิงกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ มิฉะนั้นไทยเราจะขาดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว ซึ่งจะแก้ไขสถานการณ์ได้ยากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนในระยะสั้นคือเวลานี้ก็ต้องร่วมมือกับนายจ้างและสถาบันการศึกษาหาทางปรับปรุงระบบการฝึกอบรมคนให้มีความสามารถทันใช้งานและรักษาคนให้อยู่กับองค์กรแบบเร่งด่วน” รศ.ดร.ศิริยุพา ให้ความเห็นสรุป

  จาก http://www.banmuang.co.th   วันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ครม.อนุมัติวงเงิน 16,352 ล.ช่วยเหลือชาวไร่อ้อยฤดูการผลิต 57/58

        พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) หรือธนาคารพาณิชย์อื่นตามนัยมาตรา 27 (6) แห่งพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 ในอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน เพื่อนำมาช่วยเหลือเพิ่มค่าอ้อยในฤดูการผลิตปี 2557/2558 ในอัตราตันอ้อยละ 160 บาท โดยให้จ่ายตรงให้กับชาวไร่อ้อยในทุกตันอ้อยที่ส่งเข้าหีบในโรงงานน้ำตาลทรายในฤดูการผลิตปี 2557/2558 จากประมาณการผลผลิตอ้อยเบื้องต้น 102.20 ล้านตัน จำเป็นต้องใช้วงเงินช่วยเหลือทั้งสิ้นประมาณ 16,352 ล้านบาท หรือจำนวนเงินที่จะต้องจ่ายตามปริมาณอ้อยเข้าหีบจริง ฤดูการผลิตปี 2557/2558 ตามแผนชำระหนี้ของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ใช้ระยะเวลาประมาณ 18 เดือน โดยให้ อตก. ควบคุม ตรวจสอบ กำกับดูแลการจ่ายเงินช่วยเหลือชาวไร่อ้อยให้ถึงมือชาวไร่อ้อยที่มีสิทธิ์ให้ถูกต้อง ครบถ้วน สมบูรณ์ มีการบันทึกบัญชีให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยเป็นลูกหนี้ของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย และให้มีข้อมูลลูกหนี้แยกเป็นรายให้ชัดเจน อีกทั้งจัดระบบควบคุม ตรวจสอบ และกำกับดูแลโดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมดำเนินการด้วย

               นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรียังเห็นชอบให้ความช่วยเหลือเพิ่มค่าอ้อยในอัตราตันละ 160 บาท ตามมติคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล (กอน.) เพื่อให้ชาวไร่อ้อยได้รับค่าอ้อยในระดับที่ใกล้เคียงกับต้นทุนการผลิตและมีเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการปลูกอ้อยในฤดูการผลิตถัดไป รวมทั้งสามารถลดภาระหนี้สินและสร้างความมั่นคงในอาชีพให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยโดยรวมต่อไป

               พร้อมทั้งเห็นชอบให้คงการปรับขึ้นราคาน้ำตาลทรายภายในประเทศกิโลกรัมละ 5 บาท เพื่อนำไปเป็นรายได้ของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย สำหรับนำไปชำระหนี้เฉพาะเงินกู้ที่นำมาช่วยเหลือเพิ่มค่าอ้อยในฤดูการผลิตปี 2557/2558 จนกว่าจะใช้หนี้หมดเท่านั้น

  จาก http://manager.co.th วันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2558

"มิตรผลลาว"เทงบ3.5พันล้าน เพิ่มไร่อ้อย-โรงไฟฟ้าชีวมวล

"มิตรผล" เตรียมเม็ดเงินอีก 3,500 ล. ขยายการลงทุนลาว 5 ปี ผลิตอ้อยแตะล้านตัน เร่งหารือรัฐซื้อไฟฟ้าเพิ่ม

นายบรรเทิง ว่องกุศลกิจ กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานพัฒนาและจัดการด้านอ้อย กลุ่มมิตรผล เปิดเผยถึงแผนดำเนินธุรกิจใน สปป.ลาวช่วง 5 ปีต่อจากนี้ว่า บริษัทเตรียมลงทุนขยายธุรกิจในลาวเม็ดเงิน 3,500 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการลงทุนในส่วนโรงงานน้ำตาลมิตรลาว 2,500 ล้านบาท และลงทุนพื้นที่ปลูกอ้อยเพื่อใช้ในโรงไฟฟ้าอีก 800-900 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายเพิ่มการผลิตน้ำตาลเป็น 10,000 ตันอ้อย/วัน หรือ 1 ล้านตันอ้อย/ปี ผลิตเป็นน้ำตาลได้ 1 แสนตัน/ปี โดยหลังจากนี้มีแผนจะเพิ่มสัดส่วนจำหน่ายในประเทศลาวจาก 10% เป็น 20% และลดสัดส่วนส่งออกจาก 90% เหลือ 80%

"น้ำตาลมิตรลาวจำหน่ายที่ขนาด 1 กิโลกรัม ราคา 24 บาท และขนาด 500 กรัม ราคา 12 บาท ใกล้เคียงกับราคาที่จำหน่ายในไทย และในปีนี้จะทำแพ็กเกจใหม่ให้มีความทันสมัยและยังคงเน้นกลุ่มตลาดผู้บริโภคเป็นหลัก" อย่างไรก็ตาม การเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อย 1 ล้านตัน/ปี ยังต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายอย่าง โดยเฉพาะการแก้ปัญหาโรคใบขาว ว่าจะหมดในปีนี้ได้หรือไม่ หากเกิดโรคในพืชแค่เพียง 10% ก็ทำให้ขาดทุนได้ ดังนั้นจึงได้มีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อให้พันธุ์อ้อยแข็งแรงเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทั้งยังมีความกังวลเรื่องภาวะภัยแล้งที่อาจส่งผลกระทบต่อการปลูก ดังนั้นจึงสูบน้ำจากริมน้ำโขงมาช่วยเสริม และใช้น้ำที่มีอยู่ในแหล่งเก็บน้ำมาช่วยชดเชยอ้อยที่ขาดน้ำในช่วงแล้งนี้

นายบรรเทิงกล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนธุรกิจโรงไฟฟ้าชีวมวลจากชานอ้อย ปัจจุบันสามารถผลิตไฟฟ้าและส่งจำหน่ายให้การไฟฟ้าลาวรวมกำลังผลิต 3 เมกะวัตต์ ขณะนี้ได้หารือกับรัฐบาลลาวเพื่อเสนอให้รับซื้อไฟฟ้าจากบริษัทเพิ่มเป็น 6-10 เมกะวัตต์ เพื่อให้สอดรับกับปริมาณอ้อยที่จะเพิ่มถึง 1 ล้านตัน จึงมีชานอ้อยมาเป็นเชื้อเพลิงได้มากขึ้น และเป็นไปได้สูงที่การไฟฟ้าลาวจะรับซื้อไฟฟ้าจากบริษัทเพิ่มขึ้น คาดว่าจะชัดเจนได้ภายในปีนี้

สำหรับปัญหาราคาน้ำตาลโลกที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 นั้น ไม่ได้ทำให้บริษัทชะลอการลงทุน แต่หันมาเพิ่มมูลค่าของสินค้า อย่างการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์น้ำตาลจากอ้อยออร์แกนิก ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้และความต้องการของตลาด เนื่องจากการปลูกอ้อยแบบออร์แกนิกต้องควบคุมพื้นที่ไม่ให้ปนเปื้อนสารเคมี ส่งผลให้ราคาขายน้ำตาลในตลาดแพงขึ้น 5-6 เท่า

อนึ่ง บริษัท น้ำตาลมิตรลาว จำกัด เริ่มลงทุนตั้งแต่ปี49 บนพื้นที่แขวงสะหวันนะเขตพื้นที่ 62,500 ไร่ ที่มีอายุสัมปทาน 40 ปี

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2558

เกษตรเตรียมความพร้อม ก่อนเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรแบบครบวงจร

นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่าการเกษตรนับว่ามีความสำคัญยิ่งต่อประเทศไทย รัฐบาลจึงได้ให้ความสำคัญกับเกษตรกรและมุ่งมั่นที่จะพัฒนาภาคการเกษตร รวมถึงการแก้ไขและยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้ดีขึ้น ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินงานเพื่อตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาล โดยได้มีการจัดทำโครงการต่างๆ ที่จะช่วยเหลือเกษตรกร โดยเรื่องสำคัญที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ คือ การปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรแบบครบวงจร ทั้งข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน ปศุสัตว์ และประมง ให้มีประสิทธิภาพการผลิตและได้มาตรฐานตามความต้องการของตลาด

ด้านนายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า “แนวทางการบริหารจัดการพัฒนาการเกษตรแบบมีส่วนร่วมของเกษตรกร รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ความสำคัญกับระบบการส่งเสริมการเกษตร และกลไกการขับเคลื่อนที่เป็นแบบการรับรู้และให้มีส่วนร่วม 3 มิติ คือ

1.การจัดการองค์ความรู้ด้านการเกษตรโดยการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร 882 ศูนย์ทั่วประเทศ และการปรับระบบการส่งเสริมการเกษตรโดยยึดหลักที่เรียกว่า “MRCF” โดยการจัดทำและใช้ข้อมูลในลักษณะแผนที่ทางการเกษตรในแต่ละพื้นที่เพื่อสนับสนุนเกษตรกรอย่างตรงเป้าหมาย จัดระบบการส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าถึงข้อมูลได้รวดเร็วฉับไวผ่านการสื่อสารระยะไกล และบูรณการกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และให้เกษตรกรในพื้นที่มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่รวมทั้งการให้บริการเกษตรกรอย่างเฉพาะเจาะจงในพื้นที่ พัฒนาเกษตรตามความต้องการของเกษตรกรอย่างมีเป้าหมาย

2.การใช้กลไกการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและการมีส่วนร่วมแบบ 2 ทาง คือการรับรู้ข้อมูลด้านนโยบาย แนวทาง มาตรการของรัฐบาลด้านการเกษตรรวมทั้งการถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยีและวิทยาการสมัยใหม่ให้กับเกษตรกร

รวมทั้งสร้างกระบวนการที่มีส่วนร่วมจากชุมชนท้องถิ่นโดยผ่านศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล (ศบกต.) โดยให้เชื่อมโยงกับศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรอำเภอละ 1 จุด 882 ศูนย์ทั่วประเทศ ทำให้การแก้ไขปัญหาและพัฒนาการเกษตรของประเทศมีความรวดเร็วทั่วถึงและแก้ไขปัญหาได้ตรงตามความต้องการของประชาชนหรือเกษตรกรในพื้นที่และเป็นรากฐานในการพัฒนาเกษตรกรให้ยั่งยืน

 3.การแก้ไขปัญหาโดยใช้การบริหารจัดการแบบบูรณาการภายในจังหวัด ซึ่งอาศัยกลไกที่เรียกว่าอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ของจังหวัดโดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และทำให้เกษตรกรก้าวสู่การเป็นเกษตรกรที่เรียกว่า เกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหลังปี 2558 เป็นต้นไปให้ได้” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรกล่าว

จาก http://www.banmuang.co.th วันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ปัญหาเกษตร ที่นีมีคำตอบ : ดินชั้นดาน กับการปลูกพืช

คำถาม พื้นที่ที่เป็นดินชั้นดาน จะมีแนวทางในการแก้ปัญหาอย่างไรครับ ช่วยยกตัวอย่างการปลูกพืชแบบต่างๆ ให้ด้วยครับ

แสงทอง มิ่งดี  อ.พรานกระต่าย จ.กำแพงเพชร

คำตอบ ชั้นดาน เป็นชั้นดินที่อัดตัวแน่นทึบ หรือชั้นที่มีสารเชื่อมอนุภาคดินมาจับตัวกันแน่นทึบ และแข็ง จนเป็นอุปสรรคต่อการชอนไชของรากพืช การไหลซึมของน้ำและอากาศ นักวิชาการเกษตร ได้ศึกษาและให้คำแนะนำไว้ดังนี้ ชั้นดาน แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

1.ชั้นดานแข็ง เป็นชั้นแข็งเชื่อมกัน

 แน่นโดยสารเชื่อม สารเชื่อมมีหลายชนิด และมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป ขึ้นกับชนิดของสารเชื่อม เช่น เหล็ก อินทรียวัตถุ คาร์บอเนต ซิลิก้า

2.ชั้นดานเปราะ เป็นชั้นดานที่มีความหนาแน่นสูงกว่าชั้นดินบนและล่าง ชั้นดานนี้เกิดขึ้นเนื่องจากการอัดตัวของดินเหนียว ทรายแป้ง และทราย มีการเชื่อมยึดตัวแน่น เมื่อแห้งจะเปราะ เมื่อชื้นน้ำซึมผ่านได้ช้ามาก และมีปริมาณอินทรียวัตถุต่ำ พบในดินทั่วๆ ไป ชั้นดานเปราะ ประกอบด้วย ชั้นดินดานเหนียว ชั้นดานไถพรวน การแยกชั้นดานแข็งออกจากชั้นดานเปราะจะพิจารณาจากการละลายน้ำ ถ้าหากไม่ละลายน้ำ

จะเป็นชั้นดานแข็ง ถ้าละลายน้ำได้ จะเป็นชั้นดานเปราะ ชั้นดานเปราะมีข้อจำกัดในการใช้ประโยชน์น้อยกว่าเนื่องจากละลายน้ำได้

ปัญหาของชั้นดานต่อการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตพืช

ถ้าพบชั้นดานอยู่ตื้นกว่า 50 เซนติเมตร จะมีผลต่อการปลูกพืชเป็น

 อย่างมาก บริเวณนี้ ควรปลูกสร้างสวนป่า หรือ

 สงวนไว้เป็นต้นน้ำลำธาร แต่ถ้าจำเป็นต้องทำการเกษตรแล้ว ควรปลูกพืชไร่ที่มีรากสั้น หรือทำทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ ถ้าจะปลูกไม้ผลไม้ยืนต้น ต้องมีการปรับปรุงบำรุงดินเฉพาะหลุม แต่ถ้าชั้นดานอยู่ระหว่างความลึก 50-100 เซนติเมตร จะมีผลต่อการปลูกพืชบ้าง แต่ไม่มากนัก สามารถปลูกพืชไร่ ไม้ผล ไม้ยืนต้น แต่ต้องมีการจัดการที่ดีด้วย ถ้าชั้นดานอยู่ลึกมากกว่า 100 เซนติเมตร ดินไม่มีข้อจำกัดใดๆ ทั้งสิ้น สามารถปลูกพืชต่างๆได้ อาจพบปัญหาเพียงเล็กน้อย หรือไม่มีเลย

วิธีการจัดการดินและปลูกพืชในพื้นที่ที่มีชั้นดาน

1. พื้นที่เพาะปลูกพืชไร่ ได้แก่ พื้นที่

 ปลูกอ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด สับปะรด

วิธีที่ 1 ใช้ไถลึก (Ripper) ไถเบิกดินดาน โดยใช้ระยะห่าง 50 เซนติเมตร

วิธีที่ 2 ปลูกหญ้าแฝก โดยปลูกเป็นแถวสลับกับแถวพืชหลัก

วิธีที่ 3 วิธีการผสมระหว่างการใช้ไถลึก และปลูกหญ้าแฝก คือ เริ่มด้วยการใช้ไถลึก ระยะห่าง 50 เซนติเมตร จากนั้นปลูกหญ้าแฝกสลับแถวพืช 5 หรือ 10 แถว ต่อหญ้าแฝก 1 แถว

วิธีการปลูกหญ้าแฝก

ให้ปลูกในช่วงต้นฤดูฝน เป็นแถวตามแนวระดับ ขวางความลาดเทของพื้นที่ ภายหลังจากที่ไถเตรียมดินแล้ว โดยการขุดหลุมในร่องที่ไถไว้ สำหรับเป็นแนวระดับยาว ตามพื้นที่ให้แต่ละต้นห่างกัน 5 เซนติเมตร หญ้าแฝกแนวต่อไป ก็จะปลูกขนานกับแนวแรก โดยมีระยะห่างขึ้นกับสภาพความลาดชันของพื้นที่ เช่น ถ้าระยะตามแนวดิ่ง คือ 2 เมตร แนวรั้วหญ้าแฝก ที่ความลาดเอียง 5% 10% และ 15% จะอยู่ห่างกัน 40 เมตร 15 เมตร และ 10 เมตร ตามลำดับ ควรระมัดระวังในการไถเตรียมดิน โดยให้รักษาแนวหญ้าแฝกไว้ นอกจากนี้ควรตัดใบหญ้าแฝกให้อยู่ระดับ 30-50 เซนติเมตร และปลูกหญ้าแฝกซ่อมแซมให้หนาแน่นเป็นแนว

ข้อดีของการปลูกหญ้าแฝกนั้น ช่วยให้รากหญ้าแฝกจะชอนไชเข้าไปในชั้นดานและแทรกไปในชั้นดาน เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาดินดานขึ้นมาในพื้นที่ นอกจากทำให้ผลผลิตสูงตลอดแล้ว ยังเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายในการทำลายชั้นดาน นะครับ

จาก http://www.naewna.com วันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ชาวไร่ลุ้นครม.เคาะกู้ธ.ก.ส.เพิ่มค่าอ้อย "ส่งซิกราคาโลกวูบอาจพึ่งงบประมาณ

  ชาวไร่อ้อยลุ้น  "ครม." สัปดาห์นี้เร่งรัดเคาะปล่อยเงินกู้ ธ.ก.ส. 1.6 หมื่นล้านบาทเพื่อเพิ่มราคาอ้อยขั้นต้นปี '57/58 อีกตันละ 160 บาทหลังชงเรื่องไปตั้งแต่ เม.ย. ส่งสัญญาณเตือนรัฐส่งเสริมฯปลูกอ้อยมากเกินไประวังภาระจะย้อนกลับต้องใช้งบประมาณแผ่นดินอุดหนุน

          นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย เผยว่าเมื่อเร็วๆ นี้สหพันธ์ชาวไร่อ้อยได้ไปยื่นหนังสือถึงเลขาฯคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้ช่วยติดตามและเร่งรัดการพิจารณาเพิ่มราคาอ้อยขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 57/58 อีกตันละ 160 บาทจากที่ประกาศไว้ตันละ 900 บาทด้วยการสนับสนุนแหล่งเงินกู้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ผ่านกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายวงเงินประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาทเนื่องจากหากล่าช้าจะกระทบต่อสภาพคล่องของชาวไร่อ้อยในการบำรุงตออ้อยและปลูกอ้อยใหม่

          "เรื่องนี้ทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้ส่งมาตั้งแต่ เม.ย.แล้วแต่ได้รับการชี้แจงว่าต้องเวียนขอความเห็นจากกระทรวงที่เกี่ยวข้องซึ่งรัฐก็รับปากไว้ว่าจะนำเสนอเข้า ครม.ในสัปดาห์นี้ชาวไร่เองก็หวังเช่นนั้นเพราะปีนี้ฝนมาเร็วปกติพอหีบอ้อยเสร็จจะแล้งแต่ฝนมาก็น่าจะเป็นจังหวะที่เหมาะสมที่ชาวไร่จะได้นำเงินไปบำรุงอ้อยตอและปลูกอ้อยใหม่เพื่อให้ผลผลิตดีหากช้าก็จะกระทบต่อคุณภาพอ้อยได้" นายนราธิปกล่าว

          อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ชาวไร่อ้อยวิตก เกี่ยวกับราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกที่ยังคงทรงตัวในระดับต่ำเพียง 14 เซ็นต์ต่อปอนด์ ซึ่งจะส่งผลให้ราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 58/59 เฉลี่ยอาจอยู่ระดับเพียง 700 กว่าบาทต่อตันเท่านั้น ดังนั้นการที่รัฐส่งเสริมให้นำนาข้าวมาปลูกอ้อยจะต้องไม่มากจนเกินไปไม่เช่นนั้นปัญหาจะย้อนกลับมายังรัฐที่อาจต้องจ่ายเงินงบประมาณในการดูแลระดับราคาอ้อยได้

          "รัฐคงจะต้องรับรู้ร่วมกันว่าทิศทางเวลาที่ราคาพืชเกษตรดีๆ ก็ไม่ใช่ไปส่งเสริมฯให้ปลูกกันมากเกินไปเพราะพืชเศรษฐกิจเช่นอ้อยมีวัฏจักรขึ้นลงหากการปลูกมากไปภาระเหล่านี้ระบบอาจไม่สามารถดูแลได้แม้ว่าตลอดเวลาที่ผ่านมาราคาอ้อยจะดูแลได้ด้วยการให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายกู้เงินผ่าน ธ.ก.ส.เพราะเงินจุดนี้ต่อไปอาจไม่พอที่สุดอาจเป็นงบประมาณแผ่นดิน"นายนราธิปกล่าว

          ทั้งนี้ หนี้กองทุนอ้อยฯหาก ครม.อนุมัติเมื่อรวมกับหนี้เดิมที่มีอยู่ 8 พันล้านบาทจะเป็นวงเงิน 2.4 หมื่นล้านบาทการชำระหนี้กับ ธ.ก.ส. จะไปสิ้นสุดช่วง เม.ย. 2560 และหากมองเรื่องของราคาน้ำตาลที่ตกต่ำราคาอ้อยขั้นสุดท้ายปี 57/58 โอกาสต่ำกว่าขั้นต้นมีสูง และเบื้องต้นประมาณการว่าจะติดลบ 5-8 พันล้านบาท วงเงินหนี้ก็จะส่อแตะระดับ 3 หมื่นล้านบาทการกู้ใหม่ในอนาคตก็จะลำบากในการดูแลราคาอ้อยหากฤดูการผลิตปี 58/59 ที่ตกต่ำอีกและยังมีปริมาณอ้อยที่คาดว่าจะมีจำนวนมากในการดูแลราคาเพิ่มอีกเพราะหลายฝ่ายคาดว่าปริมาณอ้อยจะสูงกว่าฤดูหีบปีนี้

จาก http://manager.co.th  วันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2558

'จักรมณฑ์'จ่อเชือดอุตสาหกรรมจว.โทษจัดการกากอันตรายพลาดเป้า เล็งย้าย64รายแค่'อ่างทอง'เข้าตา 

          จับตากระทรวงอุตสาหกรรม พิจารณาโทษอุตสาหกรรมจังหวัด บริหารจัดการกากอันตรายพลาดเป้า เผย 64 จังหวัด ผลงาน 4 เดือน เข้าระบบต่ำกว่า 10% 'จักรมณฑ์'ลั่นต้องพิจารณาตาม เนื้อผ้า เตรียมตกรางวัลเลื่อนขั้นอุตฯอ่างทอง

          แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เร่งประสานกับอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ 77 จังหวัด เดินหน้านโยบายจัดการกากอุตสาหกรรมให้เข้าระบบมากขึ้น โดยเฉพาะกากอันตราย เพราะมีผลต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยตรง และเป็นนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลกำชับให้กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการ นอกเหนือจากปัญหาใบอนุญาตโรงงาน (ร.ง.4) ล่าช้า ที่นายจักรมณฑ์ได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว โดยผลงานการจัดการกากอุตสาหกรรมประจำปีงบประมาณ 2558 หากไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ อาจมีผลต่อการโยกย้ายอุตสาหกรรมทั้ง 77 ราย ซึ่งเป็นระดับซี 8

          "เป้าหมายของการจัดเก็บกากอันตรายเข้าระบบประจำปีนี้ อยู่ที่ 1.2-1.5 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ที่ 1 ล้านตัน ซึ่งจากการประเมินภาพรวมการทำงานของอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ พบว่า มีถึง 64 จังหวัด ที่มีความเสี่ยงจะไม่ได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้น แถมยังมีโอกาสที่จะถูกย้ายไปจังหวัดที่มีโรงงานอุตสาหกรรมน้อยลง เท่ากับเป็นการลงโทษ ซึ่งการโยกย้ายอาจเกิดขึ้นได้ทุกเวลา แต่การประเมินผลงานเพียง 4 เดือนอาจน้อยเกินไป ช่วงปลายปีน่าจะสามารถประเมินผลงานได้ชัดเจนที่สุด" แหล่งข่าวกล่าว

          แหล่งข่าวกล่าวว่า ตัวเลขการจัดการกากอันตรายอย่างเป็นทางการของอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ ช่วง 4 เดือนแรกปี 2558 พบว่า กลุ่มแรกกากอันตรายเข้าระบบเกินเป้าหมาย 100% มีจังหวัดเดียว คือ อ่างทอง กลุ่มสอง มีปริมาณกากอันตรายเข้าระบบ 30-70% มี 3 จังหวัด คือ พระนครศรีอยุธยา สระบุรี และระยอง กลุ่มสาม มีปริมาณกากอันตรายเข้าระบบ 10-30% มี 9 จังหวัด คือ ชลบุรี กระบี่ ฉะเชิงเทรา น่าน นครราชสีมา กรุงเทพฯ ปทุมธานี สมุทรปราการ และปราจีนบุรี และกลุ่มสี่ มีปริมาณกากอุตสาหกรรมน้อยกว่า 10% กระจายอยู่ใน 64 จังหวัดที่เหลือ ซึ่งกลุ่มนี้ต้องจับตาผลงานหลังจากนี้ โดยนายจักรมณฑ์ได้เน้นย้ำแก่อุตสาหกรรมจังหวัดทุกคนแล้ว โดย 4 เดือนมีปริมาณกากอันตราย 2.8 แสนตัน คิดเป็น 23% จากเป้าหมาย ขณะที่โรงงาน

          ผู้ก่อกำเนิดกากอุตสาหกรรม ทั่วประเทศ มี 7.1 หมื่นโรงงาน แยกเป็น ในนิคมอุตสาหกรรม 4 พันโรงงาน นอกนิคมอุตสาหกรรม 6.6 หมื่นโรงงาน ในจำนวนนี้มีโรงงานปฏิบัติตามกฎหมายกากอุตสาหกรรม 1.5 หมื่นโรงงาน หรือคิดเป็น 21% ของจำนวนโรงงาน ทั้งประเทศ

          นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า นโยบายการจัดการกากอันตรายอุตสาหกรรม เป็นเรื่องเร่งด่วนของรัฐบาลชุดนี้ เพราะกากอันตราย หากลักลอบทิ้งจะเป็นอันตรายต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งตนได้เน้นย้ำกับข้าราชการกระทรวงอุตสาหกรรมทุกคน หากมีการประเมินผลงานแล้ว พบว่ามีจังหวัดใดได้ตามเป้าหมายหรือต่ำกว่าเป้าหมาย ต้องว่ากันตามเนื้อผ้า เช่น อ่างทอง เกินเป้าหมาย 100% ก็ต้องพิจารณาเลื่อนขั้นให้แน่นอน ส่วนจังหวัดที่กากอันตรายเข้าระบบน้อยก็ต้องพิจารณา

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2558 

กระทรวงอุตสาหกรรม คาดหวังมูลค่าการลงทุนโต ปลัดมั่นใจปี2558 ตลอดทั้งปีทะลุ 1 ล้านล้านบาท 

          ดร.อรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงการคาดการณ์มูลค่าการลงทุนภาคอุตสาหกรรม ตลอดทั้งปี 2558 ซึ่งมีแนวโน้มทะลุ 1 ล้านล้านบาท ว่า แม้ทิศทางการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมไทยในปีนี้ ยังคงเป็นไปในทิศทางที่ค่อนข้างสดใส ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการขออนุญาตตั้งประกอบกิจการ หรือใบอนุญาต รง.4 ที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง แต่ผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัวในขณะนี้ส่งผลต่อบรรยากาศการลงทุนภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทย ทำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อผลิกฟื้นสถานการณ์ดังกล่าวให้ดีขึ้น โดยในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมนั้น ได้เดินหน้าส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการไทยอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการเพิ่มผลิตภาพ การพัฒนาด้านนวัตกรรม การสำรวจช่องทางการตลาด และการจับคู่ธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการในกลุ่มSMEเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมั่นคงท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจผันผวน

          กระทรวงอุตสาหกรรมจึงจัดให้มีพิธีการมอบรางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี 2558 เพื่อส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการไทย ให้สามารถแข่งขันได้อย่างทัดเทียมในระดับนานาชาติ โดยรางวัลแบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ 1.รางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยม 1 รางวัลมอบให้กับองค์กรที่ประสบความสำเร็จสูงสุดระดับประเทศ ในการบริหารงานด้านต่างๆ เพื่อเป็นแบบอย่างและแรงจูงใจให้กับองค์กรอื่น เร่งพัฒนาและยกระดับการบริหารงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นและ 2.รางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 7 ประเภท ได้แก่ 1.ประเภทการเพิ่มผลผลิต2.ประเภทการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม 3.ประเภทการบริหารความปลอดภัย4.ประเภทการบริหารงานคุณภาพ 5.ประเภทการจัดการพลังงาน 6.ประเภทการบริหารอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมและ 7.ประเภทการจัดการโลจิสติกส์

          ดร.อรรชกา กล่าวต่อว่า ในระยะเวลาอันใกล้นี้การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในช่วงสิ้นปี อาจทำให้มูลค่าโดยรวมของภาคอุตสาหกรรมไทยขยายตัวสูงขึ้น เนื่องจากตลาดอาเซียนมีกำลังซื้อสูงมาก เพราะมีประชากรรวมกันกว่า 600 ล้านคน มีสัดส่วนจีดีพีรวมกันสูงถึง 62 ล้านล้านบาทโดยปัจจุบันจีดีพีของประเทศไทยอยู่ที่ 11 ล้านล้านบาท ซึ่งร้อยละ 60 ของจีดีพี หรือกว่า 7 ล้านล้านบาท มาจากภาคการส่งออก โดยในจำนวนนี้เป็นการส่งออกไปยังตลาดอาเซียนสูงสุดร้อยละ 25ดังนั้นการขยายสัดส่วนการส่งออกภาคอุตสาหกรรมไทย ไปยังตลาดอาเซียนในอนาคตยังคงมีโอกาสสูงมากซึ่งในภาพรวมจะสามารถช่วยเพิ่มรายได้เข้าสู่ประเทศได้ค่อนข้างมาก เนื่องจากผู้บริโภคในอาเซียนมีความเชื่อมั่นในคุณภาพของสินค้าและผลิตภัณฑ์จากประเทศไทย

          สำหรับ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่สนใจสมัครเข้ารับการคัดเลือกรางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี 2558 สามารถเข้าไปดาวน์โหลดใบสมัครที่www.dip.go.thและจัดส่งใบสมัครมายัง ฝ่ายบริหารงานทั่วไป สำนักบริหารกลางชั้น 3 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ 6 เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400 หรืออุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ หรือศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1-11 ได้ตั้งแต่วันนี้ - วันที่ 30 พฤษภาคม 2558 หรือเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่www.facebook.com/pmindustryaw ardและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่โทร.02-202-4461 , 02-202-4522 , 02-202-4413

จาก พิมพ์ไทย วันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2558 

ชาวไร่ชายแดนสระแก้วระส่ำหลังภัยแล้งรุนแรง 

           สระแก้ว-ชาวไร่มัน และไร่อ้อยตามแนวชายแดนสระแก้ว เดือดร้อนอย่างหนัก หลังภัยแล้งรุนแรงทำให้ต้นมันฯ ต้นอ้อย และข้าวโพด ยืนแห้งตาย

               สถานการณ์ความแห้งแล้งในจังหวัดสระแก้ว เริ่มส่อเค้าวิกฤตอย่างหนัก หลังจากอากาศร้อน และแห้งแล้งมาอย่างยาวนาน ทำให้ผืชผัก รวมถึงพืชเกษตร เช่น อ้อย ข้าวโพด เริ่มยืนแห้งตาย ชาวไร่พยายามแก้ไขโดยการนำน้ำไปรด แต่เนื่องจากน้ำบริเวณใกล้เคียงทั้งในห้วย หนอง คลอง บึง ขณะนี้แห้งขอดหมดแล้ว จึงต้องยอมรับชะตากรรมปล่อยให้ยืนแห้งตายไปจนเกือบหมด

               ผู้สื่อข่าวได้เข้าไปยังไร่มันสำปะหลังของ นายศุภรัตน์ ภูมี อายุ 30 ปี อยู่บ้านเลขที่ 55/2 ม.7 ต.ผ่านศึก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว นายศุภรัตน์ ได้บอกว่า ตนเองได้ทำการซ่อมมันสำปะหลังไปแล้ว 3 ครั้ง จนรู้สึกท้อแท้แล้ว แปลงติดกันเริ่มปลูกตั้งแต่เดือนมีนาคม 58 ป่านนี้เพิ่งจะโตเพียงเล็กน้อย

               ตนเองนำรถไปเที่ยวซื้อต้นมันสำปะหลังมาจาก อ.เสิงสาง จ.บุรีรัมย์ ในราคามัดละ 30 บาท แต่เมื่อนำมาปลูกเจอแล้งมันก็ตายจนหมด ตอนนี้ยังไม่รู้เลยว่าปีหน้าจะเอาอะไรกินเข้าไป 

จาก http://manager.co.th  วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2558

อุดรฯร้อนจัดไฟลุกไม้กองชานอ้อย1.4แสนตันวอด

ไฟไหม้กองชานอ้อย 1.4 แสนตันภายในโรงงานน้ำไทยอุดรธานีเสียหายหนัก เจ้าหน้าที่เร่งคุมเพลิง เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. ร.ต.อ.ศุภเกียรติ วรสาร ร้อยเวร สภ.บ้านเทื่อม อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี ได้รับแจ้งเพลิงลุกไหม้กองชานอ้อยจึงรุดไปสอบที่เกิดเหตุพบนายชายันต์ ประวานปัทธ์กุล รองประธานกรรมการ เป็นผู้สั่งการดับเพลิงโดยมีรถดับเพลิงและรถน้ำของโรงงาน และจาก ทต.คำบง,ทต.บ้านผือ, อบต.หายโศก , อบต.หนองหัวคู และ อบต.ข้าวสาร อ.บ้านผือกว่า 10 คันระดมฉีดน้ำจากพื้น และส่งพนักงานขึ้นไปดับด้านบนความพยายามฉีดน้ำดับเพลิงไม่เป็นผล.... อ่านต่อได้ที่ : http://www.posttoday.com/กทม.-ภูมิภาค/ภาคอีสาน/368122/อุดรฯร้อนจัดไฟลุกไม้กองชานอ้อย1-4แสนตันวอด

อย่างไรก็ตามเมื่อมีลมกรรโชกแรงจากทิศเหนือ ทีมดับเพลิงที่อยู่ทางทิศใต้ต้องล่าถอยออกมา และยังทำให้เพลิงลุกโหมมากขึ้น ขณะที่ลมก็มีลักษณะหมุนเป็นระยะ ทีมดับเพลิงก็ต้องล่าถอยออกมาไม่มีวี่แววจะดับได้ ขณะอุปกรณ์ดับเพลิงบนกองชานอ้อยที่จะมีหัวฉีดน้ำดังเพลิงติดตั้งอยู่ ก็ยังติดตั้งไม่สมบูรณ์ ส่วนท่อน้ำดับเพลิงรอบกองชานอ้อย ก็มีปัญหาแรงดันน้ำไม่เพียงพอ เชื่อมน้ำเข้ากับรถดับเพลิง จึงยังต้องใช้รถบรรทุกน้ำขนมามาเพิ่มเติม

ด้านนายยอดชาย พันสุระ หัวหน้าชุดดับเพลิง ศูนย์ป้องกันบรรเทาสาธารภัยเขต เขต 14 นำรถดับเพลิงแรงดันสูง 2 คัน มาสมทบโดยติดตั้งไว้เหนือลม ฉีดพรมกองชานอ้อยให้ความรุนแรงลดลง ก่อนร่วมประชุมสรุปสถานการณ์ วางแผนการดับเพลิงโดยนำประสบการณ์เหตุเพลิงไหมโรงงานย่อยสับไม้ที่ อ.เพ็ญ จ.อุดรธานี มาใช้ โดยเบื้องต้นแบ่งชุดดับเพลิงเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย รถดับเพลิง รถน้ำ รถแบ็คโฮ และพนักงาน ไปประจำอยู่บริเวณต้นลม ใช้เครื่องจักรเขี่ยไฟที่ครุอยู่ภายในขึ้นมาใช้รถดับเพลิงฉีดน้ำให้ดับสนิท และคืบขึ้นไปเรื่อยๆ และรถรับการสนับสนุนรถและคนเพิ่มเติม

นายชายันต์ รองประธานกรรมการ กล่าวว่า กองชานอ้อยที่เกิดเพลิงไหม้มีราว 1.4 แสนตัน เพื่อเก็บไว้ผลิตกระแสไฟฟ้าขายให้ กฟภ.ในช่วงปิดหีบอ้อย โดยเครื่องกำเนินไฟฟ้าชีวะมวลขนาด 15 เม็กกะวัตต์ 2 ชุด มีการเตรียมรับการไฟไหม้กองชานอ้อยมีการวางท่อดับเพลิงโดยรอบ และซักซ้อมแผนอยู่เป็นระยะ เพราะรู้อยู่แล้วว่าโอกาสที่กองชานอ้อย จะหมักตัวจนมีอุณหภูมิสูงขึ้น แล้วไฟจะเกิดขึ้นมาเองได้ ซึ่งตลอดฤดูร้อนก็ป้องกันไว้ได้ แต่ครั้งนี้อากาศร้อนมาก 3-4 วันติดต่อกัน ฝนที่ตั้งเค้ามาก็ไม่ตก จนช่วงก่อนเที่ยงไฟก็เกิดไม้ขึ้นและลมพัดแรงมาก ไฟลุกลามอย่างรวดเร็ว ขณะที่เครื่องสูบน้ำมีปัญหา จึงลุกลามไปเกือบทั้งหมดแต่เชื่อว่าจะสามารถดับได้

จาก http://www.posttoday.com   วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2558

รายงานพิเศษ : กรมหมอดินพัฒนาฐานข้อมูลดินสำเร็จรูป

ประกอบการตัดสินใจในการเลือกปลูกพืชให้เหมาะสมของเกษตรกร

ประเทศไทยได้ดำเนินการด้านการสำรวจจำแนกดินมาก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ประมาณปี พ.ศ.2478 โดยมี ดร.โรเบิร์ต แอล

เพนเดิลตัน (Dr. R.L. Pendleton) นักวิทยาศาสตร์ทางดินซึ่งเข้ามาปฏิบัติงานในฐานะที่ปรึกษาของกระทรวงเกษตราธิการ

 ในขณะนั้น พร้อมกับมีนักวิชาการฝ่ายไทย คือ ดร.สาโรช มนตระกูล ต่อมาในปี พ.ศ. 2504 ดร.เอฟ อาร์ มอร์แมน(Dr. F.R. Moormann) ผู้เชี่ยวชาญขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เข้ามาปฏิบัติงานในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญการสำรวจดิน ทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย ศึกษาและปรับปรุงการจำแนกดินของประเทศไทย จนกระทั่งปี พ.ศ. 2506 ได้จัดตั้งกรมพัฒนาที่ดินขึ้น สังกัดกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ

ต่อมาในปี พ.ศ. 2510 นักวิชาการทางดินของประเทศไทยได้เริ่มนำระบบการจำแนกใหม่ที่เสนอโดยกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA) เรียกว่า ระบบอนุกรมวิธานดิน (Soil Taxonomy) เข้ามาใช้ในระบบการสำรวจและจำแนกดินของประเทศไทย และในปี พ.ศ. 2539 ได้พัฒนาระบบฐานข้อมูลดินโดยนำเอกสารแผนที่ดินเข้าสู่ข้อมูลดินในรูปดิจิตอลด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (Geographic information system : GIS) เพื่อให้ผู้ใช้ทราบข้อมูลดินและความเหมาะสมในการใช้ประโยชน์เป็นรายจังหวัด โดยให้บริการข้อมูลดินและที่ดินครบทุกจังหวัดของประเทศไทย ซึ่งเป็นผลงานที่ได้รับการยอมรับมาจนถึงปัจจุบัน

การสำรวจดินของนักวิชาการ มีทั้งหมด 4 ขั้นตอน คือ 1.การตรวจสอบดินในสนาม 2.การทำคำอธิบายหน้าตัดดินและการเก็บตัวอย่างดินเพื่อนำมาวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ 3.การวิเคราะห์ตัวอย่างดินในห้องปฏิบัติการ และ 4.การทำรายงานสำรวจดิน ทั้งนี้ ผลงานด้านการสำรวจทรัพยากรดินในรอบ 50 ปี ระหว่างพ.ศ. 2506 ถึง พ.ศ.2556 มีทั้งหมด 1,558 ฉบับ แบ่งเป็นผลงานการสำรวจจำแนกดินในรูปของแผนที่และรายงานการสำรวจดิน จำนวน 999 ฉบับ เอกสารวิชาการ จำนวน 559 ฉบับ

นางกุลรัศมิ์ อนันต์พงษ์สุข รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ในฐานะโฆษกกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า กรมพัฒนาที่ดินมีแนวคิดในการพัฒนาบริการ การเข้าถึงข้อมูลของดินในประเทศไทยได้อย่างรวดเร็วแก่ผู้ขอรับบริการ โดยได้คิดและพัฒนาเพื่อจัดทำฐานข้อมูลสำเร็จรูปขึ้นมา 1 ชุด เรียกว่า “แผนที่และสารสนเทศดินเพื่อการใช้และบริหารจัดการที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด” ซึ่งเป็นฐานข้อมูลที่รวบรวมแผนที่กลุ่มชุดดินทั้งหมด 62 กลุ่ม ทั่วทั้งประเทศ โดยสามารถสืบค้นแผนที่กลุ่มชุดดิน ข้อมูลลักษณะและคุณสมบัติของดิน แนวทางการจัดการสำหรับปลูกพืชเศรษฐกิจประเทศไทย มีทั้งหมด 6 ชนิดพืช ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ซึ่งได้นำข้อมูลดังกล่าวมาจัดทำแผนที่ความเหมาะสมของดินสำหรับพืชเศรษฐกิจในประเทศไทย จำนวน 6 แผนที่ และแผนที่ความเหมาะสมของดินสำหรับใช้ประโยชน์ด้านวิศวกรรมในประเทศไทย ด้วยระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ จำนวน 11 แผนที่ ทั้งนี้ ข้อมูลดินทั้งหมดนั้นสามารถสืบค้นรายละเอียดได้ถึงระดับตำบลทุกตำบลทั่วประเทศไทย

นอกจากนี้การพัฒนาฐานข้อมูลสำเร็จรูป หรือ “แผนที่และสารสนเทศดินเพื่อการใช้และบริหารจัดการที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด” ได้จัดลำดับชั้นความเหมาะสมของดินในรูปแบบใหม่ ออกเป็น 3 แบบ คือ 1.เหมาะสม 2.ไม่ค่อยเหมาะสม และ3.ไม่เหมาะสม จากเดิมที่แบ่งความเหมาะสมของดินออกเป็น 5 แบบ คือ 1.เหมาะสมดีมาก 2.เหมาะสมดี 3.เหมาะสมปานกลาง 4.ไม่ค่อยเหมาะสม และ5.ไม่เหมาะสม เพื่อความสะดวกในการจัดทำฐานข้อมูลและแผนที่สำหรับ 6 ชนิดพืช

นางกุลรัศมิ์กล่าวทิ้งท้ายว่า “แผนที่และสารสนเทศดินเพื่อการใช้และบริหารจัดการที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด”

จะต้องมีการประชาสัมพันธ์และต้องมีการทำงานแบบบูรณาการระหว่างหน่วยงานเพิ่มมากขึ้น พร้อมกับการสร้างเครือข่ายหมอดินหรือเกษตรกรให้มีประสิทธิภาพและมากยิ่งขึ้น ซึ่งการศึกษาลักษณะและคุณสมบัติของดินจำนวน 62 กลุ่มชุดดินนี้ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งด้านวิศวกรรม และเกษตรกรรม ซึ่งเกษตรกรสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ประกอบในการตัดสินใจในการเลือกปลูกพืชให้เหมาะสมกับลักษณะและคุณสมบัติของดินได้ เพื่อช่วยในการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มรายได้แก่เกษตรกร อีกทั้งหากนำไปใช้ด้านวิศวกรรมก็จะสามารถช่วยในการประหยัดงบประมาณในการศึกษาหาข้อมูลเบื้องต้นประกอบการวางแผนพัฒนาประเทศไทยต่อไป

จาก http://www.naewna.com วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ดัน'7มาตรการ'ประหยัดพลังงาน30%ใน20ปี 

          พลังงานเตรียมชง 7 มาตรการ ตามแผนอนุรักษ์พลังงานลงสู่ภาคปฏิบัติ เน้นโรงงานและอาคารควบคุม กำหนดเป้าหมายสูงลดการใช้พลังงาน 30% ภายในปี2579

          นายทวารัฐ สูตะบุตร รองปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า แผนอนุรักษ์พลังงาน(พ.ศ.2558-2579) ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ไปแล้วนั้นได้ตั้งเป้าที่จะลดความเข้มข้นของการใช้พลังงานให้ได้ 30% ภายในปี2579 เมื่อเทียบกับปี 2553

          ทั้งนี้มี 7 มาตรการที่กระทรวงพลังงานจะต้องไปดำเนินการผลักดันให้เกิดเป็น รูปธรรมในทางปฏิบัติหลังจากนี้ไป

          มาตรการแรก คือ การจัดการพลังงานในโรงงานและอาคารควบคุม โดยมีแนวทางที่จะประสานกับกระทรวงอุตสาหกรรม ในการปฏิบัติของโรงงานและอาคารควบคุมให้เป็นไปตามกฎกระทรวงและใช้มาตรการลงโทษอย่างจริงจัง การเข้าไปตรวจสอบในการดำเนินการที่จะขึ้นทะเบียน ผู้ตรวจสอบการจัดการพลังงาน ,การพัฒนาระบบการติดตาม การสอบทานข้อมูลและการบริหารจัดการข้อมูลที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้สามารถวิเคราะห์ประสิทธิภาพการใช้พลังงานของโรงงานได้ รวมไปถึงการกำหนดแนวทางการกำกับดูแลโรงงานควบคุมที่จะสร้างขึ้นใหม่

          มาตรการที่สอง การใช้เกณฑ์มาตรฐานอาคาร (Building Energy Code-BEC) โดยประสานกับกรมโยธาธิการและกรุงเทพมหานครและหน่วยงานในท้องถิ่นในการกำหนดให้อาคารที่จะก่อสร้างใหม่หรืออาคารเดิมที่มีการดัดแปลง ที่มีพื้นที่รวมกันทุกชั้นในหลังเดียวกันตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป ต้องมีการออกแบบให้เป็นไปตามมาตรฐานและหลักเกณฑ์ในการออกแบบตามกฎกระทรวงเพื่อให้เกิดการอนุรักษ์พลังงาน

          มาตรการที่สาม ใช้เกณฑ์มาตรฐานและติดฉลากอุปกรณ์ (HEPs&MEPs) โดยกำหนดมาตรฐานเครื่องจักรอุปกรณ์อนุรักษ์พลังงานประสิทธิภาพขั้นสูง (High Efficiency Performance-HEPs) และกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำ (Minimum Efficiency Performance -MEPs) เพื่อป้องกันการนำเข้าอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพต่ำ

          มาตรการที่สี่ สนับสนุนด้านการเงิน ทั้งใน รูปของการอุดหนุนแบบให้เปล่า การให้สินเชื่อแบบผ่อนปรน บริษัทจัดการพลังงาน (ESCO Fund) และมาตรการทางด้านภาษี สำหรับโครงการที่ผ่านการพิจารณา

          มาตรการที่ห้า ส่งเสริมอุปกรณ์หลอดไฟฟ้า แอลอีดี ที่สามารถจะลดค่าไฟฟ้าลงได้จากอุปกรณ์แบบเดิมถึง30-85% ซึ่งจนถึงปี 2563 ตั้งเป้าที่จะเปลี่ยนเป็นหลอดแอลอีดีให้ได้ 450,000 หลอด e

          มาตรการที่หก การประหยัดพลังงาน EERs (Energy Efficiency Resource Standard) โดยกำหนดเกณฑ์บังคับให้ภาคธุรกิจพลังงานขนาดใหญ่ ดำเนินการช่วยให้ผู้ใช้พลังงานเกิดการประหยัดพลังงานเป็นจำนวนเปอร์เซ็นต์ของปริมาณการใช้ไฟฟ้าเดิม หรือที่คาดว่าจะใช้ในอนาคต

          นายทวารัฐ กล่าวว่า มาตรการสำคัญที่จะช่วยลดการใช้พลังงานลงได้มากคือมาตรการที่เจ็ด  เป็นการประหยัดพลังงานในภาคขนส่ง เช่น สนับสนุนการใช้ยานยนต์ประหยัด พลังงาน ภาษีและฉลากแสดงประสิทธิภาพ ซึ่งตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2559 นี้ ผู้ผลิตและผู้นำเข้ารถยนต์ใหม่ ต้องติด Eco Sticker แสดงข้อมูลรถยนต์ที่ผ่านการทดสอบมาตรฐาน เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจใช้เป็นข้อมูลใน การเลือกซื้อรถยนต์

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2558 

ชาวไร่ชายแดนสระแก้วระส่ำหลังภัยแล้งรุนแรง 

           สระแก้ว-ชาวไร่มัน และไร่อ้อยตามแนวชายแดนสระแก้ว เดือดร้อนอย่างหนัก หลังภัยแล้งรุนแรงทำให้ต้นมันฯ ต้นอ้อย และข้าวโพด ยืนแห้งตาย

               สถานการณ์ความแห้งแล้งในจังหวัดสระแก้ว เริ่มส่อเค้าวิกฤตอย่างหนัก หลังจากอากาศร้อน และแห้งแล้งมาอย่างยาวนาน ทำให้ผืชผัก รวมถึงพืชเกษตร เช่น อ้อย ข้าวโพด เริ่มยืนแห้งตาย ชาวไร่พยายามแก้ไขโดยการนำน้ำไปรด แต่เนื่องจากน้ำบริเวณใกล้เคียงทั้งในห้วย หนอง คลอง บึง ขณะนี้แห้งขอดหมดแล้ว จึงต้องยอมรับชะตากรรมปล่อยให้ยืนแห้งตายไปจนเกือบหมด

               ผู้สื่อข่าวได้เข้าไปยังไร่มันสำปะหลังของ นายศุภรัตน์ ภูมี อายุ 30 ปี อยู่บ้านเลขที่ 55/2 ม.7 ต.ผ่านศึก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว นายศุภรัตน์ ได้บอกว่า ตนเองได้ทำการซ่อมมันสำปะหลังไปแล้ว 3 ครั้ง จนรู้สึกท้อแท้แล้ว แปลงติดกันเริ่มปลูกตั้งแต่เดือนมีนาคม 58 ป่านนี้เพิ่งจะโตเพียงเล็กน้อย

               ตนเองนำรถไปเที่ยวซื้อต้นมันสำปะหลังมาจาก อ.เสิงสาง จ.บุรีรัมย์ ในราคามัดละ 30 บาท แต่เมื่อนำมาปลูกเจอแล้งมันก็ตายจนหมด ตอนนี้ยังไม่รู้เลยว่าปีหน้าจะเอาอะไรกินเข้าไป 

จาก http://manager.co.th  วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2558

อุดรฯร้อนจัดไฟลุกไม้กองชานอ้อย1.4แสนตันวอด

ไฟไหม้กองชานอ้อย 1.4 แสนตันภายในโรงงานน้ำไทยอุดรธานีเสียหายหนัก เจ้าหน้าที่เร่งคุมเพลิง เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. ร.ต.อ.ศุภเกียรติ วรสาร ร้อยเวร สภ.บ้านเทื่อม อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี ได้รับแจ้งเพลิงลุกไหม้กองชานอ้อยจึงรุดไปสอบที่เกิดเหตุพบนายชายันต์ ประวานปัทธ์กุล รองประธานกรรมการ เป็นผู้สั่งการดับเพลิงโดยมีรถดับเพลิงและรถน้ำของโรงงาน และจาก ทต.คำบง,ทต.บ้านผือ, อบต.หายโศก , อบต.หนองหัวคู และ อบต.ข้าวสาร อ.บ้านผือกว่า 10 คันระดมฉีดน้ำจากพื้น และส่งพนักงานขึ้นไปดับด้านบนความพยายามฉีดน้ำดับเพลิงไม่เป็นผล.... อ่านต่อได้ที่ : http://www.posttoday.com/กทม.-ภูมิภาค/ภาคอีสาน/368122/อุดรฯร้อนจัดไฟลุกไม้กองชานอ้อย1-4แสนตันวอด

อย่างไรก็ตามเมื่อมีลมกรรโชกแรงจากทิศเหนือ ทีมดับเพลิงที่อยู่ทางทิศใต้ต้องล่าถอยออกมา และยังทำให้เพลิงลุกโหมมากขึ้น ขณะที่ลมก็มีลักษณะหมุนเป็นระยะ ทีมดับเพลิงก็ต้องล่าถอยออกมาไม่มีวี่แววจะดับได้ ขณะอุปกรณ์ดับเพลิงบนกองชานอ้อยที่จะมีหัวฉีดน้ำดังเพลิงติดตั้งอยู่ ก็ยังติดตั้งไม่สมบูรณ์ ส่วนท่อน้ำดับเพลิงรอบกองชานอ้อย ก็มีปัญหาแรงดันน้ำไม่เพียงพอ เชื่อมน้ำเข้ากับรถดับเพลิง จึงยังต้องใช้รถบรรทุกน้ำขนมามาเพิ่มเติม

ด้านนายยอดชาย พันสุระ หัวหน้าชุดดับเพลิง ศูนย์ป้องกันบรรเทาสาธารภัยเขต เขต 14 นำรถดับเพลิงแรงดันสูง 2 คัน มาสมทบโดยติดตั้งไว้เหนือลม ฉีดพรมกองชานอ้อยให้ความรุนแรงลดลง ก่อนร่วมประชุมสรุปสถานการณ์ วางแผนการดับเพลิงโดยนำประสบการณ์เหตุเพลิงไหมโรงงานย่อยสับไม้ที่ อ.เพ็ญ จ.อุดรธานี มาใช้ โดยเบื้องต้นแบ่งชุดดับเพลิงเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย รถดับเพลิง รถน้ำ รถแบ็คโฮ และพนักงาน ไปประจำอยู่บริเวณต้นลม ใช้เครื่องจักรเขี่ยไฟที่ครุอยู่ภายในขึ้นมาใช้รถดับเพลิงฉีดน้ำให้ดับสนิท และคืบขึ้นไปเรื่อยๆ และรถรับการสนับสนุนรถและคนเพิ่มเติม

นายชายันต์ รองประธานกรรมการ กล่าวว่า กองชานอ้อยที่เกิดเพลิงไหม้มีราว 1.4 แสนตัน เพื่อเก็บไว้ผลิตกระแสไฟฟ้าขายให้ กฟภ.ในช่วงปิดหีบอ้อย โดยเครื่องกำเนินไฟฟ้าชีวะมวลขนาด 15 เม็กกะวัตต์ 2 ชุด มีการเตรียมรับการไฟไหม้กองชานอ้อยมีการวางท่อดับเพลิงโดยรอบ และซักซ้อมแผนอยู่เป็นระยะ เพราะรู้อยู่แล้วว่าโอกาสที่กองชานอ้อย จะหมักตัวจนมีอุณหภูมิสูงขึ้น แล้วไฟจะเกิดขึ้นมาเองได้ ซึ่งตลอดฤดูร้อนก็ป้องกันไว้ได้ แต่ครั้งนี้อากาศร้อนมาก 3-4 วันติดต่อกัน ฝนที่ตั้งเค้ามาก็ไม่ตก จนช่วงก่อนเที่ยงไฟก็เกิดไม้ขึ้นและลมพัดแรงมาก ไฟลุกลามอย่างรวดเร็ว ขณะที่เครื่องสูบน้ำมีปัญหา จึงลุกลามไปเกือบทั้งหมดแต่เชื่อว่าจะสามารถดับได้

จาก http://www.posttoday.com   วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2558

รายงานพิเศษ : กรมหมอดินพัฒนาฐานข้อมูลดินสำเร็จรูป

ประกอบการตัดสินใจในการเลือกปลูกพืชให้เหมาะสมของเกษตรกร

ประเทศไทยได้ดำเนินการด้านการสำรวจจำแนกดินมาก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ประมาณปี พ.ศ.2478 โดยมี ดร.โรเบิร์ต แอล

เพนเดิลตัน (Dr. R.L. Pendleton) นักวิทยาศาสตร์ทางดินซึ่งเข้ามาปฏิบัติงานในฐานะที่ปรึกษาของกระทรวงเกษตราธิการ

 ในขณะนั้น พร้อมกับมีนักวิชาการฝ่ายไทย คือ ดร.สาโรช มนตระกูล ต่อมาในปี พ.ศ. 2504 ดร.เอฟ อาร์ มอร์แมน(Dr. F.R. Moormann) ผู้เชี่ยวชาญขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เข้ามาปฏิบัติงานในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญการสำรวจดิน ทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย ศึกษาและปรับปรุงการจำแนกดินของประเทศไทย จนกระทั่งปี พ.ศ. 2506 ได้จัดตั้งกรมพัฒนาที่ดินขึ้น สังกัดกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ

ต่อมาในปี พ.ศ. 2510 นักวิชาการทางดินของประเทศไทยได้เริ่มนำระบบการจำแนกใหม่ที่เสนอโดยกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA) เรียกว่า ระบบอนุกรมวิธานดิน (Soil Taxonomy) เข้ามาใช้ในระบบการสำรวจและจำแนกดินของประเทศไทย และในปี พ.ศ. 2539 ได้พัฒนาระบบฐานข้อมูลดินโดยนำเอกสารแผนที่ดินเข้าสู่ข้อมูลดินในรูปดิจิตอลด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (Geographic information system : GIS) เพื่อให้ผู้ใช้ทราบข้อมูลดินและความเหมาะสมในการใช้ประโยชน์เป็นรายจังหวัด โดยให้บริการข้อมูลดินและที่ดินครบทุกจังหวัดของประเทศไทย ซึ่งเป็นผลงานที่ได้รับการยอมรับมาจนถึงปัจจุบัน

การสำรวจดินของนักวิชาการ มีทั้งหมด 4 ขั้นตอน คือ 1.การตรวจสอบดินในสนาม 2.การทำคำอธิบายหน้าตัดดินและการเก็บตัวอย่างดินเพื่อนำมาวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ 3.การวิเคราะห์ตัวอย่างดินในห้องปฏิบัติการ และ 4.การทำรายงานสำรวจดิน ทั้งนี้ ผลงานด้านการสำรวจทรัพยากรดินในรอบ 50 ปี ระหว่างพ.ศ. 2506 ถึง พ.ศ.2556 มีทั้งหมด 1,558 ฉบับ แบ่งเป็นผลงานการสำรวจจำแนกดินในรูปของแผนที่และรายงานการสำรวจดิน จำนวน 999 ฉบับ เอกสารวิชาการ จำนวน 559 ฉบับ

นางกุลรัศมิ์ อนันต์พงษ์สุข รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ในฐานะโฆษกกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า กรมพัฒนาที่ดินมีแนวคิดในการพัฒนาบริการ การเข้าถึงข้อมูลของดินในประเทศไทยได้อย่างรวดเร็วแก่ผู้ขอรับบริการ โดยได้คิดและพัฒนาเพื่อจัดทำฐานข้อมูลสำเร็จรูปขึ้นมา 1 ชุด เรียกว่า “แผนที่และสารสนเทศดินเพื่อการใช้และบริหารจัดการที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด” ซึ่งเป็นฐานข้อมูลที่รวบรวมแผนที่กลุ่มชุดดินทั้งหมด 62 กลุ่ม ทั่วทั้งประเทศ โดยสามารถสืบค้นแผนที่กลุ่มชุดดิน ข้อมูลลักษณะและคุณสมบัติของดิน แนวทางการจัดการสำหรับปลูกพืชเศรษฐกิจประเทศไทย มีทั้งหมด 6 ชนิดพืช ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ซึ่งได้นำข้อมูลดังกล่าวมาจัดทำแผนที่ความเหมาะสมของดินสำหรับพืชเศรษฐกิจในประเทศไทย จำนวน 6 แผนที่ และแผนที่ความเหมาะสมของดินสำหรับใช้ประโยชน์ด้านวิศวกรรมในประเทศไทย ด้วยระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ จำนวน 11 แผนที่ ทั้งนี้ ข้อมูลดินทั้งหมดนั้นสามารถสืบค้นรายละเอียดได้ถึงระดับตำบลทุกตำบลทั่วประเทศไทย

นอกจากนี้การพัฒนาฐานข้อมูลสำเร็จรูป หรือ “แผนที่และสารสนเทศดินเพื่อการใช้และบริหารจัดการที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด” ได้จัดลำดับชั้นความเหมาะสมของดินในรูปแบบใหม่ ออกเป็น 3 แบบ คือ 1.เหมาะสม 2.ไม่ค่อยเหมาะสม และ3.ไม่เหมาะสม จากเดิมที่แบ่งความเหมาะสมของดินออกเป็น 5 แบบ คือ 1.เหมาะสมดีมาก 2.เหมาะสมดี 3.เหมาะสมปานกลาง 4.ไม่ค่อยเหมาะสม และ5.ไม่เหมาะสม เพื่อความสะดวกในการจัดทำฐานข้อมูลและแผนที่สำหรับ 6 ชนิดพืช

นางกุลรัศมิ์กล่าวทิ้งท้ายว่า “แผนที่และสารสนเทศดินเพื่อการใช้และบริหารจัดการที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด”

จะต้องมีการประชาสัมพันธ์และต้องมีการทำงานแบบบูรณาการระหว่างหน่วยงานเพิ่มมากขึ้น พร้อมกับการสร้างเครือข่ายหมอดินหรือเกษตรกรให้มีประสิทธิภาพและมากยิ่งขึ้น ซึ่งการศึกษาลักษณะและคุณสมบัติของดินจำนวน 62 กลุ่มชุดดินนี้ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งด้านวิศวกรรม และเกษตรกรรม ซึ่งเกษตรกรสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ประกอบในการตัดสินใจในการเลือกปลูกพืชให้เหมาะสมกับลักษณะและคุณสมบัติของดินได้ เพื่อช่วยในการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มรายได้แก่เกษตรกร อีกทั้งหากนำไปใช้ด้านวิศวกรรมก็จะสามารถช่วยในการประหยัดงบประมาณในการศึกษาหาข้อมูลเบื้องต้นประกอบการวางแผนพัฒนาประเทศไทยต่อไป

จาก http://www.naewna.com วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ดัน'7มาตรการ'ประหยัดพลังงาน30%ใน20ปี 

          พลังงานเตรียมชง 7 มาตรการ ตามแผนอนุรักษ์พลังงานลงสู่ภาคปฏิบัติ เน้นโรงงานและอาคารควบคุม กำหนดเป้าหมายสูงลดการใช้พลังงาน 30% ภายในปี2579

          นายทวารัฐ สูตะบุตร รองปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า แผนอนุรักษ์พลังงาน(พ.ศ.2558-2579) ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ไปแล้วนั้นได้ตั้งเป้าที่จะลดความเข้มข้นของการใช้พลังงานให้ได้ 30% ภายในปี2579 เมื่อเทียบกับปี 2553

          ทั้งนี้มี 7 มาตรการที่กระทรวงพลังงานจะต้องไปดำเนินการผลักดันให้เกิดเป็น รูปธรรมในทางปฏิบัติหลังจากนี้ไป

          มาตรการแรก คือ การจัดการพลังงานในโรงงานและอาคารควบคุม โดยมีแนวทางที่จะประสานกับกระทรวงอุตสาหกรรม ในการปฏิบัติของโรงงานและอาคารควบคุมให้เป็นไปตามกฎกระทรวงและใช้มาตรการลงโทษอย่างจริงจัง การเข้าไปตรวจสอบในการดำเนินการที่จะขึ้นทะเบียน ผู้ตรวจสอบการจัดการพลังงาน ,การพัฒนาระบบการติดตาม การสอบทานข้อมูลและการบริหารจัดการข้อมูลที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้สามารถวิเคราะห์ประสิทธิภาพการใช้พลังงานของโรงงานได้ รวมไปถึงการกำหนดแนวทางการกำกับดูแลโรงงานควบคุมที่จะสร้างขึ้นใหม่

          มาตรการที่สอง การใช้เกณฑ์มาตรฐานอาคาร (Building Energy Code-BEC) โดยประสานกับกรมโยธาธิการและกรุงเทพมหานครและหน่วยงานในท้องถิ่นในการกำหนดให้อาคารที่จะก่อสร้างใหม่หรืออาคารเดิมที่มีการดัดแปลง ที่มีพื้นที่รวมกันทุกชั้นในหลังเดียวกันตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป ต้องมีการออกแบบให้เป็นไปตามมาตรฐานและหลักเกณฑ์ในการออกแบบตามกฎกระทรวงเพื่อให้เกิดการอนุรักษ์พลังงาน

          มาตรการที่สาม ใช้เกณฑ์มาตรฐานและติดฉลากอุปกรณ์ (HEPs&MEPs) โดยกำหนดมาตรฐานเครื่องจักรอุปกรณ์อนุรักษ์พลังงานประสิทธิภาพขั้นสูง (High Efficiency Performance-HEPs) และกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำ (Minimum Efficiency Performance -MEPs) เพื่อป้องกันการนำเข้าอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพต่ำ

          มาตรการที่สี่ สนับสนุนด้านการเงิน ทั้งใน รูปของการอุดหนุนแบบให้เปล่า การให้สินเชื่อแบบผ่อนปรน บริษัทจัดการพลังงาน (ESCO Fund) และมาตรการทางด้านภาษี สำหรับโครงการที่ผ่านการพิจารณา

          มาตรการที่ห้า ส่งเสริมอุปกรณ์หลอดไฟฟ้า แอลอีดี ที่สามารถจะลดค่าไฟฟ้าลงได้จากอุปกรณ์แบบเดิมถึง30-85% ซึ่งจนถึงปี 2563 ตั้งเป้าที่จะเปลี่ยนเป็นหลอดแอลอีดีให้ได้ 450,000 หลอด e

          มาตรการที่หก การประหยัดพลังงาน EERs (Energy Efficiency Resource Standard) โดยกำหนดเกณฑ์บังคับให้ภาคธุรกิจพลังงานขนาดใหญ่ ดำเนินการช่วยให้ผู้ใช้พลังงานเกิดการประหยัดพลังงานเป็นจำนวนเปอร์เซ็นต์ของปริมาณการใช้ไฟฟ้าเดิม หรือที่คาดว่าจะใช้ในอนาคต

          นายทวารัฐ กล่าวว่า มาตรการสำคัญที่จะช่วยลดการใช้พลังงานลงได้มากคือมาตรการที่เจ็ด  เป็นการประหยัดพลังงานในภาคขนส่ง เช่น สนับสนุนการใช้ยานยนต์ประหยัด พลังงาน ภาษีและฉลากแสดงประสิทธิภาพ ซึ่งตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2559 นี้ ผู้ผลิตและผู้นำเข้ารถยนต์ใหม่ ต้องติด Eco Sticker แสดงข้อมูลรถยนต์ที่ผ่านการทดสอบมาตรฐาน เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจใช้เป็นข้อมูลใน การเลือกซื้อรถยนต์

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2558