http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล(เดือนมิถุนายน 2559)

BRR ยื่น กกพ. ขอปรับรูปแบบการซื้อขายไฟจาก Adder เป็น FiT ช่วยหนุนรายได้จากกลุ่มธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลเพิ่ม 

          'BRR' เด้งรับ กกพ. คลอดเกณฑ์รับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลในช่วงเปลี่ยนผ่าน จากระบบ Adder มาเป็น Feed-in-Tariff (FiT) ที่กำหนดราคาซื้อขายไฟฟ้าเพิ่มเป็น 4.54 บาทต่อหน่วย จากระบบ Adder ที่ให้ 3.60 บาทต่อหน่วย เร่งยื่นเรื่องของปรับเกณฑ์รับซื้อไฟฟ้าโรงไฟฟ้าชีวมวลโรงที่ 1 ที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจำนวน 8 MW มาใช้ระบบ FiT ช่วยหนุนรายได้จากธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลเพิ่ม

          นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR ผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายดิบ น้ำตาลทรายขาวสีรำส่งจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศและนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาลทรายไปต่อยอดสู่ธุรกิจพลังงานทดแทน เปิดเผยว่า แนวโน้มธุรกิจพลังงานทดแทนของกลุ่ม BRR ในปีนี้คาดว่าจะเติบโตได้ดีต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา หลังจากเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานหรือ กกพ. ได้ประกาศปรับรูปแบบรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (ชีวมวล) ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากแบบ Adder เป็นFreed-in Tariff (FiT) โดยกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าอยู่ที่ 4.54 บาทต่อหน่วย ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าAdder ที่กำหนดอยู่ที่ 3.60 บาทต่อหน่วยหรือเพิ่มขึ้น 0.93 บาทต่อหน่วย

          ดังนั้น BRR จึงได้เร่งยื่นเรื่องเปลี่ยนรูปแบบรับซื้อไฟฟ้าจากระบบ Adder ของโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลโรงที่1 ที่ดำเนินการภายใต้บริษัท บุรีรัมย์ พลังงาน จำกัด (BEC) กำลังการผลิต 9.9 MW และมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ขนาด 8 MW เพื่อจำหน่ายให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) มาเป็นรูปแบบของ FiT ให้ กกพ. เป็นผู้พิจารณาซึ่งคาดว่าจ กกพ. จะมีผลการพิจารณาภายในเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งหากได้รับอนุมัติจาก กกพ. ให้ปรับเปลี่ยนการจำหน่ายไฟฟ้าในรูปแบบ FiT ได้แล้ว จะส่งผลต่อรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งที่ 1 มาอยู่ที่หน่วยละ 4.54 บาท หรือมีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดือนละ 19 ล้านบาท เพิ่มเป็น 25 ล้านบาท

          "เดิมโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลโรงที่ 2 ของเราได้ใช้ระบบ FiT อยู่แล้ว แต่โรงไฟฟ้าโรงที่ 1 ยังคงใช้แบบAdder ซึ่งเมื่อภาครัฐมีนโยบายปรับเปลี่ยนจาก Adder มาเป็น FiT ทางเราก็ยื่นเรื่องเพื่อขอปรับเปลี่ยนการขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลแห่งที่ 1 มาใช้ในระบบ FiT ซึ่งส่งผลดีต่อรายได้รวมจากธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลของกลุ่ม BRR ที่คาดว่าจะเติบโตได้ดี" นายอนันต์ กล่าว

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ไทยขึ้นTier2ลุ้นส่งออกเพิ่ม รัฐย้ำแก้ค้ามนุษย์เต็มที่ พาณิชย์นัดถกทูตฯก.ย.นี้

คลัง-พาณิชย์-เอกชน ประสานเสียง สหรัฐปรับอันดับค้ามนุษย์มาอยู่ Tier 2 ส่งผลดีส่งออก ชี้สินค้าประมงได้อานิสงส์เต็มๆ "มาลี" ระบุผู้ซื้อมั่นใจมากขึ้น เตรียมนัดถกทูตพาณิชย์เดือน ก.ย.ประเมินตัวเลขอีกรอบ

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.การคลัง เปิดเผยถึงกรณีมีข่าวว่าสหรัฐเตรียมรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ โดยปรับอันดับไทยดีขึ้น จากปัจจุบันที่อยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 3 (Tier 3) มาเป็นกลุ่มที่ 2 (Tier 2) ว่า จะส่งผลให้การค้าสัตว์น้ำ การประมงดีขึ้น โดยที่ผ่านมารัฐบาลได้พยายามในการแก้ไขเรื่องนี้อย่างมาก ถ้าหลุดจากกลุ่มที่ 3 ได้ การประมงจะดีขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าประมง ซึ่งเป็นสินค้าเพื่อการบริโภค ไม่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ

สำหรับกรณีการลงประชามติของอังกฤษในการออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (Brexit) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะเกิดขึ้นในระยะสั้น ส่วนผลกระทบต่อประเทศไทยนั้น กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และธนาคารพาณิชย์ ได้มีการเตรียมการรับมือเรื่องนี้มานานแล้ว ทุกฝ่ายหันมาดูแลตัวเองและป้องกันผลกระทบ ไม่ให้เกิดความเสี่ยงมากขึ้น ซึ่งยอมรับว่าเมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ การค้าและการลงทุนจะชะลอตัวลงไปพอสมควร

นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ผลจากการที่สหรัฐได้ปรับลดระดับปัญหาการค้ามนุษย์ของไทยจากบัญชี Tier 3 มาอยู่บัญชี Tier 2 จะส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าอาหารทะเลแช่แข็งของไทยในทุกตลาด เพราะผู้ซื้อจะมีความเชื่อมั่นต่อการดูแลเรื่องแรงงานของไทย และส่งผลให้มีการสั่งซื้อสินค้าไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ยอดการส่งออกสินค้าอาหารทะเลแช่แข็งของไทยเพิ่มสูงขึ้น

“เดิม คู่ค้าได้ชะลอการสั่งซื้อสินค้าไทย เพื่อรอดูการประเมินผลการจัดอันดับของสหรัฐ แต่เมื่อผลออกมาในทางที่ดีขึ้น เชื่อว่าการสั่งซื้อจะมีมากขึ้นต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง 2559 หลังจากที่คู่ค้ารู้ว่าไทยมีความจริงจังในการแก้ไขปัญหาด้านแรงงาน จนประสบความสำเร็จ และยังมีความตั้งใจที่จะดูแลปัญหานี้อย่างต่อเนื่อง” นางมาลีกล่าว

อย่างไรก็ตาม กรมยังยืนยันเป้าหมายการส่งออกปีนี้เติบโต 5% เพื่อเป็นเป้าหมายในการทำงาน แต่จะมีการนัดประชุมผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ หรือทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ทั่วโลกในเดือน ก.ย.2559 พร้อมด้วยภาคเอกชนกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อประเมินแนวโน้มการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้ รวมถึงการจัดทำแผนการผลักดันการส่งออกสำหรับปี 2560

นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวว่า การปรับมาอยู่ Tier 2 ซึ่งจะมีการประกาศอย่างเป็นทางการวันที่ 30 มิ.ย.นี้ มองว่าเป็นสถานการณ์ที่ดี เนื่องจากสหรัฐคงเห็นถึงความตั้งใจของไทยในการแก้ไขปัญหาแรงงาน ในเรื่องที่มีการออกกฎหมายแรงงานภาคบังคับใน 4 อุตสาหกรรมของไทย ได้แก่ อุตสาหกรรมกุ้งแช่แข็ง อุตสาหกรรมปลา (ประมง) อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล และอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม ที่เมื่อก่อนมีการมองว่ามีการใช้แรงงานเด็ก และเป็นการค้ามนุษย์.

จาก http://www.thaipost.net วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2559

เนรมิตพื้นที่นับหมื่นตารางเมตร ชูศักยภาพปลูก4พืชเศรษฐกิจ

โดย - ดลมนัส กาเจ

              นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่งานเกี่ยวกับความก้าวหน้าด้านวิทยาการและเทคโนโลยีภาคการเกษตร ที่ใช้พื้นที่กลางแจ้งนับหมื่นไร่สาธิตโชว์ศักยภาพในการใช้งานจริงของอุปกรณ์และเครื่องจักรกล ใน “งานแสดงสินค้าและการประชุมนานาชาติเพื่อธุรกิจการเกษตรครั้งที่ 2” หรือ “ซีมา อาเซียน ไทยแลนด์ 2016” (SIMA ASEAN Thailand 2016) ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 8-10 กันยายน 2559 ณ อาคาร 5-6 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ที่บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด

             งานนี้ บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด จับกับบริษัท คอมเอ็กซ์ โพเซียม จำกัด แห่งฝรั่งเศส ผู้เป็นแม่งานในการจัดงานซีมา ปารีส และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นเจ้าภาพร่วม ทั้งนี้ น.ส.พรพรรณ บุลเนอร์ ผู้อำนวยการอิมแพ็ค ออร์กาไนเซอร์ บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด บอกว่า การที่เจ้าภาพตัดสินใจใช้พื้นที่กลางแจ้งกว่า 1 หมื่นตารางเมตร ริมทะเลสาบเมืองทองธานี ในการสาธิตเครื่องจักรกลการเกษตร เพื่อให้กลุ่มเกษตรกรและผู้ใช้จริงได้เข้าชมศักยภาพการใช้งานจริงของเครื่องจักรกลจากแบรนด์ดังทั่วโลก นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยและอาเซียน โดยเน้นใช้กับพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศไทยทั้งข้าว มันสำปะหลัง หญ้าเนเปียร์ และอ้อย

             นอกจากนี้พื้นที่กลางแจ้งอีกส่วนหนึ่งสำหรับการจัดแสดงเครื่องจักร เทคโนโลยี นวัตรกรรมการเกษตรแบบใหม่ พร้อมมีการจำหน่ายสินค้าเกษตรจากเกษตรกร ที่นอกเหนือไปจากการจัดแสดงในอาคารที่ใช้พื้นที่ 1.3 หมื่นตารางเมตรอยู่แล้ว โดยในพื้นที่กลางแจ้งมีการสาธิตเครื่องจักรกลการ เกษตร เพื่อเป็นการจำลองของจริงที่ใช้กับพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศไทย ทั้งข้าว มันสำปะหลัง หญ้าเนเปียร์ และอ้อย นอกจากนี้ภายในโซนกลางแจ้ง จะมีกิจกรรมต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการให้ความรู้ กิจกรรมนันทนาการ พืชสวน และสินค้าเกษตรของไทย เป็นต้น

              ด้าน นางดาเรศร์ กิตติโยภาส นายกสมาคมวิศวกรรมเกษตรแห่งประเทศไทย และผู้อำนวยการกองส่งเสริมโครงการพระราชดำริ การจัดการพื้นที่และวิศวกรรมเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร ในฐานะประธานที่ปรึกษาการจัดงาน บอกว่า งานจะช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรไทยและเป็นเวทีที่ให้ความรู้แก่เกษตรกรเพื่อนำเทคโนโลยีและการแก้ไขปัญหาไปปรับใช้กับทางธุรกิจได้จริง เพราะเป็นงานแสดงสินค้านานาชาติเพื่อธุรกิจเกษตรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีที่สุดทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมีมากกว่า 20 สมาคมที่ตอบรับในการสนับสนุนการจัดงานในครั้งนี้

              ส่วน นายลอย จุน ฮาว ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด เปิดเผยว่า การที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้าร่วมเป็นเจ้าภาพในงานครั้งนี้ ถือเป็นกุญแจสำคัญต่ออุตสาหกรรมเกษตรทั้งในไทยและภูมิภาคอาเซียน การขยายตัวของอุตสาหกรรมเกษตรจะสามารถขับเคลื่อนไปได้ด้วยการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อที่จะส่งเสริมผลผลิต ลดต้นทุน และเพิ่มการแข่งขันทางการเกษตร ซึ่งงานซีมา อาเซียน จะเป็นพื้นที่ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้เข้าร่วมงานได้เป็นอย่างดี

             ขณะที่ นางมาร์ติน เดอเกรมองท์ กรรมการผู้จัดการงาน ซีมา ปารีส บริษัท คอมเอ็กซ์ โพเซียม จำกัด ผู้ร่วมจัดงานซีมา อาเซียน บอกว่า ได้รับการสนับสนุนการจัดงานจากรัฐบาลไทยเป็นอย่างดีต่อเนื่องกันเป็นปีที่ 2 แล้ว ขณะนี้พื้นที่ถูกจองแล้วกว่า 80% โดยมีผู้ที่สนใจเข้าร่วมแสดงสินค้ามากกว่า 120 บริษัทจาก 15 ประเทศทั่วโลก อาทิ ฝรั่งเศส อิตาลี เกาหลีใต้ จีน ไต้หวัน และตุรกี เป็นต้น

            นับเป็นงานที่ยิ่งใหญ่สำหรับกลุ่มประเทศอาเซียน ที่จะทำให้เกษตรกรได้มีโอกาสเข้าชมและเห็นความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีการเกษตรในระดับโลกจากประเทศที่พัฒนาแล้ว

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2559

พพ.เร่งช่วยโรงงานลดต้นทุนพลังงาน

นายธรรมยศ ศรีช่วย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้พพ.ได้ดำเนินการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม จึงได้ดำเนินโครงการสนับสนุนเพื่อเปลี่ยนหัวเผาหม้อไอน้ำไปเป็นหัวเผาที่ใช้เชื้อเพลิงชีวมวล โดย พพ.พร้อมสนับสนุนโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้สมัครเข้าร่วมโครงการ100 แห่ง ในด้านเงินทุนเพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนระบบหัวเผาหม้อไอน้ำ ซึ่งเดิมใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล อาทิ ก๊าซหุงต้ม น้ำมันเตา ให้เป็นหม้อไอน้ำที่ใช้เชื้อเพลิงจากชีวมวลอัดเม็ด (wood pellets) ซึ่ง พพ.จะสนับสนุนเงินทุนไม่เกิน 30% ของค่าลงทุนทั้งหมด แต่ไม่เกิน 2 ล้านบาทต่อแห่ง

ทั้งนี้งบประมาณส่งเสริมการลงทุนตามโครงการปรับเปลี่ยนหัวเผาหม้อไอน้ำดังกล่าว มาจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งจะมีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2559-กรกฎาคม2560 โดยปัจจุบันได้มีโรงงานที่มีความประสงค์จะเข้าร่วมโครงการ ตามเงื่อนไข คือจะต้องลงทุนเองบางส่วน และมีความพร้อมในด้านสถานที่ และการอำนวยความสะดวกในการให้ทีมงานเข้าไปติดตั้งปรับปรุงระบบ รวมทั้งมีความพร้อมในการจัดซื้อเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงหลักในหม้อไอน้ำต่อไป

โดยเบื้องต้นประโยชน์ของโครงการสนับสนุนเพื่อปรับหัวเผาหม้อไอน้ำให้สามารถใช้เชื้อเพลิงจากชีวมวลอัดเม็ดจะช่วยให้โรงงานที่เข้าร่วมโครงการสามารถลดต้นทุนในการผลิตของโรงงานหรือสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านต้นทุนพลังงานลดลง จากเดิมที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล รวมทั้งประโยชน์ในภาพรวม คือ ลดการใช้เชื้อเพลิงนำเข้าลดการสูญเสียเงินตราไปต่างประเทศเกิดการพึ่งพาพลังงานที่ผลิตได้ในประเทศ และช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม

จาก http://www.naewna.com วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2559

รายงานพิเศษ : กรมหมอดินพร้อมต้อนรับฤดูกาลผลิตใหม่

เมื่อฤดูฝนมาเยือน เป็นการส่งสัญญาณว่า ฤดูแห่งการเพาะปลูกได้เริ่มต้นแล้ว ดังนั้น เพื่อเป็นการต้อนรับฤดูกาลผลิตใหม่ ปี 2559 พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้มีการขับเคลื่อนโครงการดีๆ อย่าง โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Field day) และบริการการเกษตร โดยสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดร่วมกันให้บริการและช่วยเหลือเกษตรกร โดยใช้ศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร จำนวน 882 แห่งทั่วประเทศ ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรทำการผลิตที่สามารถลดต้นทุน พร้อมกับเพิ่มผลผลิตอย่างมีประสิทธิภาพด้วย

นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า ขณะนี้กรมพัฒนาที่ดินได้เตรียมความพร้อมที่จะให้ความรู้แก่เกษตรกรในหลายด้านผ่านศูนย์เรียนรู้แล้ว ไม่ว่าจะเป็น การให้ความรู้เกษตรกรเกี่ยวกับเขตความเหมาะสมของดินในแต่ละภูมิภาค ความเหมาะสมต่อการเพาะปลูกพืช การวิเคราะห์ดินเพื่อเตรียมพื้นที่ ตลอดจนการปรับปรุงบำรุงดินตามความเหมาะสมของสภาพดิน เป็นต้น

โดยล่าสุด ได้มีการเปิดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี (Field day) การพัฒนาเพื่อเพิ่มผลผลิตพืชพลังงาน (มันสำปะหลัง) และการบริการการเกษตรเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ ปี 2559 ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรอำเภอเขาฉกรรจ์ หมู่ที่ 6 ตำบลหนองหว้า อำเภอเขาฉกรรจ์ จังหวัดสระแก้ว ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ในเรื่องของการปลูกมันสำปะหลังแบบครบวงจร ให้เกษตรกรในพื้นที่นำข้อมูลไปวางแผนในการเพาะปลูกเพื่อเตรียมเข้าสู่ฤดูกาลใหม่นี้อย่างถูกต้อง

นอกจากนี้ ศูนย์เรียนรู้ดังกล่าว ยังเป็นแหล่งศึกษาดูงานในพื้นที่ ที่เกษตรกรจะสามารถเรียนรู้และเข้าใจถึงปัจจัยการผลิต เพื่อลดความเสี่ยง และสร้างความเข้มแข็ง ตลอดจนกระตุ้นให้เกษตรกรนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่เหมาะสมไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่การเกษตรของตนเอง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ

“อย่างไรก็ตามเชื่อมั่นว่า หากเกษตรกรมีการวางแผนในการเพาะปลูกที่ดี ใช้พื้นที่อย่างเหมาะสม มีการวิเคราะห์ดินและปรับปรุงบำรุงดินตามความเหมาะสมของสภาพดินและความต้องการของพันธุ์พืชที่จะปลูกแล้ว จะสามารถช่วยลดต้นทุนได้ร้อยละ 20 เลยทีเดียว” อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2559

แจงสี่เบี้ย : จากเกษตรกรดีเด่น‘GAP’เกษตรกรอินทรีย์ที่ยั่งยืน

นายสุระชาติ ประสงค์สันต์ เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาเกษตรดีที่เหมาะสม (GAP) ประจำปี 2557 หัวหน้ากลุ่มเกษตรกรห้วยแถลงโมเดล อ.ห้วยแถลง จ.นครราชสีมา จากจุดเริ่มต้นบนพื้นที่ 50 ไร่ ได้รวมกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ 164 ราย เพื่อผลิตพืชส่งออกต่างประเทศ ในปี 2555 ทำให้ได้รู้จักกับระบบการผลิตพืชตามระบบ GAP และเห็นถึงความสำคัญของระบบ GAP ที่มีผลต่อการส่งออก โดยคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโนนสูง สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 กรมวิชาการเกษตร

จากการได้ใบรับรองการผลิตพืชระบบ GAP ทำให้มีแนวคิดผลิตพืชตามระบบอินทรีย์ เนื่องจากการสังเกตว่า การผลิตพืชตามระบบ GAP มีการใช้สารชีวินทรีย์ต่างๆ เช่น ไตรโครเดอร์ม่า, บีที, บิวเวอร์เรีย สลับกับการใช้สารเคมี ทำให้เห็นว่าสารชีวินทรีย์สามารถป้องกันกำจัดศัตรูพืชได้ และสามารถขยายเชื้อใช้เองได้ ทำให้ประหยัดต้นทุนมากขึ้น จึงเริ่มปรับเปลี่ยนการทำเกษตรตามมาตรฐาน GAP สู่การทำเกษตรตามมาตรฐานอินทรีย์ที่ยั่งยืน โดยผลิตแคนตาลูปอินทรีย์ซึ่งเก็บได้นานถึง 1 เดือน รสชาติและความหวานไม่เปลี่ยนแปลง ขณะที่แคนตาลูปที่ใช้สารเคมีเก็บได้เพียง 1 สัปดาห์ และแคนตาลูปอินทรีย์ยังขายได้ราคาถึงกิโลกรัมละ 35-40 บาท สูงกว่าเดิมกิโลกรัมละ 20 บาท ทำให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น

การผลิตแคนตาลูปอินทรีย์ของกลุ่มห้วยแถลงโมเดล ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากโครงการตามแผนพัฒนาอาชีพเกษตรกรตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาภัยแล้งปี 2558/59 จ.นครราชสีมา จากกลุ่มห้วยแถลงโมเดล จึงปรับเปลี่ยนเป็นกลุ่มเกษตรอินทรีย์ห้วยแถลงโมเดล ได้รับคัดเลือกจากกรมส่งเสริมการเกษตร ให้เป็นศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรด้านการจัดการดินและปุ๋ยอินทรีย์ และเมื่อวันที่ 10-12 มิถุนายน 2559 ได้ทดลองนำแคนตาลูปอินทรีย์ไปเปิดตลาดในงานมหกรรมสินค้าเกษตรปลอดภัยภายใต้ระบบ GAP ณ ห้างเทสโก้โลตัส เอ็กซ์ตร้า อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ทำให้ได้ประสบการณ์ใหม่และ รู้ถึงระบบการเข้าสู่ตลาดที่มีมาตรฐาน เพื่อนำมาปรับใช้ในการผลิตเพื่อการส่งออกและยกระดับราคาสินค้าต่อไป

จาก http://www.naewna.com วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2559

อุตฯเตรียมเปิดอบรม SMEs Spring Up

กระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมเปิดอบรมตามโครงการ SMEs Spring Up อีก 2 รุ่นในสิ้นปี ขณะปี 60 ทุ่ม 80 ล้านบาท ติวเข้มผู้ประกอบการ 4,000 ราย

นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ความคืบหน้าโครงการ SMEs Spring Up ขณะนี้อยู่ระหว่างการฝึกอบรมเป็นเวลา 7 สัปดาห์ โดยจะสิ้นสุดในเดือนกรกฎาคมนี้ และในช่วงปลายปีนี้จะเปิดอบรมอีก 2 รุ่น รวม 200 ราย ประมาณเดือนกันยายนและพฤศจิกายน 2559 ตามลำดับ โดยโครงการดังกล่าวเป็นหลักสูตรการพัฒนา SMEs ระดับสูงสุดเกิดขึ้นภายใต้คณะกรรมการร่วมทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อสร้างผู้ประกอบการที่มีศักยภาพสูง ให้กลายเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในสาขาธุรกิจเพื่อก้าวไปสู่ระดับสากล โดยจะเป็นโครงการต่อเนื่องที่จัดเป็นประจำทุกปี

 ทั้งนี้ ในปี 2560 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ได้รับงบประมาณ 80 ล้านบาท มีเป้าหมายสร้างผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ 4,000 ราย แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มเทคสตาร์ทอัพ 900 ราย ซึ่งส่วนนี้จะเป็นการสร้างธุรกิจด้วยนวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ กลุ่มผู้ประกอบการทั่วไป หรือเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ 2,800 ราย และกลุ่มนักศึกษาจบใหม่ที่เริ่มต้นทำธุรกิจอีก 300 ราย โดยในกลุ่ม "เทค สตาร์ทอัพ" ใช้งบประมาณต่อหัวประมาณ 4-5 หมื่นบาท เน้นด้านบริหารจัดองค์กร และเทคโนโลยี แต่จะเกิดเป็นธุรกิจใหม่ได้น้อยกว่าการสร้างผู้ประกอบการสตาร์ทอัพทั่วไป ที่ใช้งบประมาณต่อหัวประมาณ 2-3 หมื่นบาท

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2559 

บอร์ดบีโอไออนุมัติลงทุนกว่า 1 แสนล้าน กระตุ้นใช้วัตถุดิบกลุ่มเกษตร-ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน   

          นายกรัฐมนตรี นั่งประธานประชุมบอร์ดบีโอไออนุมัติส่งเสริมการลงทุนรวด29 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุนรวมกว่า 101,000 ล้านบาท กลุ่มเกษตรและผลิตผลจากการเกษตรลงทุนพุ่ง คาดกระตุ้นการใช้วัตถุดิบในประเทศมากกว่า 32,000 ล้านบาทต่อปี ขณะที่ผู้ผลิตยางรถยนต์จีน ตั้งโรงงานผลิตยางสำหรับรถบรรทุก และยางออฟเดอะโรดในไทย

          นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่มี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้อนุมัติให้ส่งเสริมการลงทุนแก่กิจการในกลุ่มต่างๆ จำนวน 29 โครงการ เงินลงทุนรวม 101,581 ล้านบาท ประกอบด้วย

          กลุ่มเกษตร และผลิตผลจากการเกษตรเงินลงทุนรวม 32,145 ล้านบาท ใช้วัตถุดิบในประเทศประมาณ 32,611 ล้านบาทต่อปี

          1.บริษัท เบทาโกรเกษตรอุตสาหกรรม จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนขยายกิจการผลิตเนื้อสุกรชำแหละ เงินลงทุนทั้งสิ้น 2,440 ล้านบาท กำลังผลิต 46,430 ตันต่อปีตั้งอยู่ที่ จังหวัดปราจีนบุรี โดยจะเป็นการลงทุนสร้างโรงงานชำแหละสุกรแห่งแรกของบริษัทในภูมิภาค ใช้วัตถุดิบในประเทศ เช่น สุกรขุน และบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น มูลค่ากว่า 3,575 ล้านบาทต่อปี

          โครงการที่ 2-4. MR.BENJAMIN WILLIAM BOOTLE ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตน้ำนมดิบ ปุ๋ยอินทรีย์ และก๊าชชีวภาพ และกิจการผลิตผลิตภัณฑ์จากน้ำนมดิบ รวม 3 โครงการ รวมมูลค่าลงทุนทั้งสิ้น 18,200 ล้านบาท โดย2 โครงการ(เงินลงทุนโครงการละ 5,500 ล้านบาท) เป็นการผลิตน้ำนมดิบกำลังการผลิตโครงการละ 190,000 ตันต่อปี ปุ๋ยอินทรีย์ โครงการละ 17,500 ตันต่อปี และก๊าชชีวภาพ กำลังผลิตโครงการละ 24,940,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี ตั้งอยู่ที่จังหวัดลพบุรี และเชียงใหม่ สำหรับอีกโครงการ(เงินลงทุน 7,200 ล้านบาท)เป็นการผลิตผลิตภัณฑ์จากน้ำนมดิบ กำลังผลิต 380,000 ตันต่อปี ตั้งอยู่ที่จังหวัดลพบุรี โดยจะเป็นการผลิตผลิตภัณฑ์นมคุณภาพสูงเน้นเจาะตลาดคนที่แพ้ Lactose เช่น นมพร้อมดื่มยูเอชที นมเปรี้ยวพร้อมดื่ม เป็นต้น ปัจจุบันยังไม่มีการผลิตในประเทศไทยทั้ง 3 โครงการจะมีการใช้วัตถุดิบในประเทศ มูลค่ารวม 12,904 ล้านบาทต่อปี

          5.บริษัทอายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับส่งเสริมขยายกิจการผลิตเครื่องปรุงรสชนิดผงหรือชนิดก้อน เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,085 ล้านบาท กำลังผลิต 40,000 ตันต่อปี ตั้งอยู่ที่จังหวัดสระบุรี ใช้วัตถุดิบในประเทศมูลค่ากว่า 2,013 ล้านบาทต่อปี เช่น เนื้อสัตว์ เกลือ น้ำตาล ผงชูรส และน้ำมันปาล์ม เป็นต้น

          6.บริษัท บี.ฟู้ดส์โปรดักส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้รับการส่งเสริมลงทุนขยายกิจการผลิตอาหารสำเร็จรูปจากเนื้อสัตว์แช่แข็ง เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,910 ล้านบาท กำลังผลิตปีละ 24,000 ตัน ตั้งอยู่ที่จังหวัดลพบุรี ใช้วัตถุดิบในประเทศ เช่น เนื้อไก่ แป้งผสมอาหาร สิ่งปรุงแต่งอาหาร น้ำมันพืช ถ่านไม้ และบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น มูลค่า 2,395ล้านบาทต่อปี

          7.บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ได้รับส่งเสริมการลงทุนขยายกิจการผลิตอาหารแปรรูปจากเนื้อสัตว์แช่แข็ง เช่น เนื้อหมูปรุงสุก ขาหมูพะโล้ และหมูย่าง เป็นต้น เงินลงทุนทั้งสิ้น 2,510 ล้านบาท กำลังผลิต 13,070 ตันต่อปี ตั้งอยู่ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยโครงการจะมีการลงทุนใหม่ทั้งในส่วนการผลิตก่อสร้างคลังจัดเก็บสินค้าและระบบจัดเก็บทั้งซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ รวมถึงเครื่องกลหุ่นยนต์ควบคุมด้วยระบบอัตโนมัติเพื่อช่วยในการจัดเก็บและลำเลียงสินค้า มีการใช้วัตถุดิบในประเทศ เช่น เนื้อสัตว์ ส่วนผสมอาหารและสิ่งปรุงแต่ง เป็นต้น คิดเป็นมูลค่าปีละ 2,044 ล้านบาท

โครงการที่ 8-11.บริษัทพลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ได้รับส่งเสริมขยายกิจการผลิตน้ำมันกรีนดีเซล และเมล็ดในปาล์มอบแห้ง จำนวน 4 โครงการ เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 6,000 ล้านบาท (เงินลงทุนโครงการละ 1,500 ล้านบาท) กำลังการผลิตน้ำมันกรีนดีเซล รวม 264,960 ตันต่อปี และเมล็ดในปาล์มอบแห้ง รวม 115,200 ตันต่อปี โดย 2 โครงการ ตั้งอยู่ที่จังหวัดชุมพร และอีก 2 โครงการ อยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ทั้งนี้ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีผู้ผลิตกรีนดีเซลที่ใช้วัตถุดิบจากน้ำมันพืช หรือน้ำมันสัตว์โดยตรง ซึ่งคุณสมบัติของน้ำมันกรีนดีเซลจะดีกว่าน้ำมันไบโอดีเซล เนื่องจากจะไม่มี Glycerol ที่ทำให้เกิดการอุดตัน และให้พลังงานต่อหน่วยสูงกว่า มีการใช้วัตถุดิบในประเทศทั้งสิ้นรวมทั้ง 4 โครงการ เช่น ผลปาล์มสด CLAY แป้งฟอกสี กรดฟอสฟอริก และโซดาไฟ เป็นต้น คิดเป็นมูลค่ารวม 9,680 ล้านบาท

          กลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง เงินลงทุน 13,570 ล้านบาท

          12.MR.HUASHUN XIE ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตยางยานพาหนะ ได้แก่ยางรถบรรทุก และรสบัส (TRUCK&BUS RADIAL TIRE) หรือTBRกำลังการผลิต1,200,000 เส้นต่อปีและยางออฟเดอะโรด (OFF THE ROAD TIRE) หรือ OTR ซึ่งเป็นยางขนาดใหญ่ใช้กับธุรกิจก่อสร้างหรือเหมือง จำนวน 30,000 เส้นต่อปี เงินลงทุนทั้งสิ้น 13,570 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ จังหวัดระยอง โดยเป็นโครงการร่วมทุนของจีน-ไทย มีการใช้วัตถุดิบในประเทศ เช่น ยางธรรมชาติ มูลค่า 1,776 ล้านบาทต่อปี

          กลุ่มเคมีภัณฑ์ พลาสติก และกระดาษ เงินลงทุนรวม 8,488 ล้านบาท

13.บริษัทบางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด ได้รับส่งเสริมลงทุนขยายกิจการผลิตก๊าซออกซิเจน ก๊าซไนโตรเจน กำลังผลิตปีละ 792,000 ตัน ออกซิเจนเหลว ไนโตรเจนเหลว และอาร์กอนเหลว กำลังผลิตปีละ 225,500 ตัน เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,968 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดระยอง การผลิตจะใช้เทคโนโลยีการผลิตก๊าซอุตสาหกรรมที่ทันสมัย กระบวนการกลั่นแยกอากาศโดยใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นหลัก ซึ่งไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

          14.นายพรณรงค์ จิรา ได้รับส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตกระดาษพิมพ์เขียน และกระดาษคราฟท์ กำลังการผลิต 200,000 ตันต่อปี เงินลงทุนทั้งสิ้น 3,000 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดลพบุรี โดยกระดาษคราฟท์เป็นกระดาษที่ใช้งานในอุตสาหกรรมเป็นหลัก สำหรับกระดาษพิมพ์เขียนจะมีคุณสมบัติที่เหมาะสำหรับงานพิมพ์คุณภาพสูงมีการใช้วัตถุดิบในประเทศ เช่น เยื่อใยสั้น เศษกระดาษ และแป้ง เป็นต้น มูลค่ารวม 2,852.9 ล้านบาทต่อปี

          15.นายชาญ เสนีย์นันท์ ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตกระดาษพิมพ์เขียน กำลังผลิต 120,000ตันต่อปี เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,320 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดสิงห์บุรี โดยเป็นโครงการร่วมทุนระหว่างผู้ผลิตสิ่งพิมพ์รายใหญ่ของไทยและผู้ประกอบการจากญี่ปุ่นมีการใช้วัตถุดิบในประเทศ เช่น เยื่อกระดาษ เศษกระดาษ และหินปูน เป็นต้น มูลค่ารวมประมาณ 4,100 ล้านบาทต่อปี

          16.บริษัท เอ็นไวรอนเม็นท์พัลพ์แอนด์เปเปอร์ จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนขยายกิจการผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหาร (ชนิด BIODEGRADABLE) ทำจากเยื่อกระดาษชานอ้อย กำลังการผลิต 18,870 ตันต่อปี เงินลงทุนทั้งสิ้น 2,200 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดนครสวรรค์ โดยโครงการนี้เป็นนวัตกรรมสีเขียว เป็นการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่มีคุณสมบัตินอกจากกันน้ำ กันน้ำมัน และมีความยืดหยุ่นสูงแล้วยังสามารถเข้าเตาอบ และเตาไมโครเวฟได้ ไม่มีสารปนเปื้อนก่อมะเร็ง ใช้วัตถุดิบในประเทศ เช่น เยื่อกระดาษชานอ้อย สารเคมี และบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น มูลค่า 459.4 ล้านบาทต่อปี

          กลุ่มกิจการบริการ และสาธารณูปโภค เงินลงทุนรวม 47,378ล้านบาท

          17.บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ แพลนท์ 12 จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนขยายกิจการผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันยางดำ (BLACK LIQUOR)ซึ่งเป็นกากที่เกิดขึ้นจากการผลิตผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ ขนาดการผลิต 135 เมกะวัตต์ ไอน้ำ 464 ตันต่อชั่วโมง และสารเคมีสำหรับการผลิตเยื่อกระดาษ (WHITE LIQUOR) จำนวน 250 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง เงินลงทุนทั้งสิ้น 9,160 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดบุรีรัมย์

18.บริษัท สยามเพาเวอร์ โครงการ 2 จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ ขนาดการผลิต 117 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 20 ตันต่อชั่วโมง เงินลงทุนทั้งสิ้น 4,650 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดระยอง ซึ่งตามโครงการจะเป็นการติดตั้งระบบหัวฉีดเผาไหม้ระบบพิเศษเพื่อลดอุณหภูมิการเผาไหม้ให้ต่ำกว่าระบบการเผาเชื้อเพลิงแบบธรรมดา ทำให้ลดการเกิดก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน

          19.บริษัท เบิกไพรโคเจนเนอเรชั่น จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ ขนาดการผลิต 100 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 10 ตันต่อชั่วโมง เงินลงทุนทั้งสิ้น 5,323.6 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดราชบุรีโดยโครงการจะติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้ากังหันก๊าซ และเครื่องกำเนิดไฟฟ้ากังหันไอน้ำ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีทันสมัยจากประเทศเนเธอร์แลนด์

          20.บริษัทกัลฟ์ เอ็นอาร์วี 1 จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ ขนาด 133 เมกะวัตต์ ไอน้ำ 30 ตันต่อชั่วโมง และน้ำเพื่ออุตสาหกรรม 2,800 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง เงินลงทุนทั้งสิ้น 5,745 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา

          21.บริษัท กัลฟ์ เอ็นอาร์วี 2 จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ ขนาด 133 เมกะวัตต์ ไอน้ำ 30 ตันต่อชั่วโมง และน้ำเพื่ออุตสาหกรรม 2,800 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง เงินลงทุนทั้งสิ้น 5,745 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา

          22.บริษัท กัลฟ์ เอ็นซี จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ ขนาด 133 เมกะวัตต์ ไอน้ำ 30 ตันต่อชั่วโมง และน้ำเพื่ออุตสาหกรรม 2,800 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง เงินลงทุนทั้งสิ้น 5,426 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดปราจีนบุรี

          23.บริษัท ร่วมกำลาภพาวเวอร์ จำกัด ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล (กากอ้อย) ขนาด 37 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 400 ตันต่อชั่วโมง เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,000 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดลพบุรี โดยโครงการมีการใช้เทคโนโลยีกังหันไอน้ำกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจากประเทศญี่ปุ่น

          24.บริษัทมิตรผล ไบโอ-เพาเวอร์ (กุฉินารายณ์) จำกัด ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล (กากอ้อย ชิ้นไม้สับ) ขนาด 45 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 270 ตันต่อชั่วโมง เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,780 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยโครงการจะใช้เทคโนโลยีการผลิตจากประเทศอินเดียและเยอรมนี

          25.บริษัท ทุ่งบัว เพาเวอร์ จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะ (REFUSE DERIVED FUEL) ขนาดการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,250 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดนครปฐม โดยโครงการจะรับขยะจากสถานีขนถ่ายมูลฝอยของกรุงเทพมหานคร ที่โรงงานกำจัดขยะมูลฝอยหนองแขม มีความต้องการขยะประมาณ 83,950 ตันต่อปี

          26.บริษัท ดินสวย น้ำใส จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตไอน้ำ ซึ่งได้จากการนำน้ำกากส่าที่เกิดจากกระบวนการผลิตแอลกอฮอล์มาใช้เป็นวัตถุดิบ กำลังการผลิต 60 ตันต่อชั่วโมง และน้ำเพื่ออุตสาหกรรม 60,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,200 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดชัยนาท

          27.บริษัท พรีเชียส เนปจูน จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการขนส่งทางเรือ โดยเป็นการให้บริการเดินเรือบรรทุกสินค้าเทกองต่างๆ เช่น สินค้าทางการเกษตร เหล็ก ปุ๋ย ถ่านหิน สินแร่ เป็นต้น ในพื้นที่แถบสหรัฐอเมริกา ยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง อินเดีย และประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เงินลงทุนทั้งสิ้น 918 ล้านบาท

          28.บริษัท พรีเชียสวีนัส จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการขนส่งทางเรือ โดยให้บริการเดินเรือบรรทุกสินค้าเทกองต่างๆ เช่น สินค้าทางการเกษตร เหล็ก ปุ๋ย ถ่านหิน สินแร่ เป็นต้น ในพื้นที่แถบสหรัฐอเมริกา ยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง อินเดีย และประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เงินลงทุนทั้งสิ้น 918 ล้านบาท

          29.นายชัยภัทร เขมาภิรักษ์ ได้รับส่งเสริมกิจการเขตอุตสาหกรรม พื้นที่ 1,326ไร่ เงินลงทุนทั้งสิ้น 4,262.5 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดชลบุรี โดยโครงการจะพัฒนาพื้นที่อำเภอบ้านบึง ซึ่งเป็นเป้าหมายในการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งตะวันออก (Eastern Seaboard) นอกจากนี้จะพัฒนาให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์ (Eco-Industrial Estate) โดยวางผังและออกแบบให้สมดุลระหว่างธรรมชาติและเทคโนโลยี อุตสาหกรรมเป้าหมายคือ ชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือแพทย์ แม่พิมพ์ ไบโอเทคโนโลยี เป็นต้น

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2559 

'ฉัตรชัย'แจงสถานการณ์น้ำล่าสุด คุยเกษตรกรรับรู้-เข้าใจภัยแล้ง

พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรฯ เปิดเผยว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้รายงานสถานการณ์ภัยแล้ง โดยมีพื้นที่ที่ยังประสบปัญหาภัยแล้งอีกจำนวน 8 จังหวัด 50 อำเภอ 276 ตำบล 2,498 หมู่บ้าน เมื่อเปรียบเทียบในช่วงเวลาเดียวกัน ปี 2559 เหลือพื้นที่ประสบภัยแล้งเพียงร้อยละ 3 ในขณะที่ ปี 2556 มีพื้นที่ประสบภัยแล้ง ร้อยละ31 ปี 2557 มีพื้นที่ประสบภัยแล้ง ร้อยละ 5.9 และปี 2558 มีพื้นที่ประสบภัยแล้ง ร้อยละ 9.3

สำหรับสถานการณ์น้ำใน 33 เขื่อนหลัก พบว่ามีปริมาณน้ำทั้งสิ้นจำนวน 7,378 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งยังถือว่ามีปริมาณน้ำน้อยกว่าในช่วงเวลาเดียวกัน เมื่อเทียบกับปี 2556 – 2558 ที่ผ่านมา และสำหรับสถานการณ์อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 อ่างฯ ได้แก่ เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยฯ และป่าสักฯ มีปริมาตรน้ำใช้การได้รวม 1,314 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 7 และมีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนในช่วงระหว่างวันที่ 22 – 28 มิถุนายน 2559 ที่ผ่านมา รวมทั้งสิ้น จำนวน 482 ล้าน ลบ.ม. หรือเฉลี่ยวันละ 68 ล้าน ลบ.ม.

ส่วนสถานการณ์การเพาะปลูกข้าว พบว่า ณ วันที่ 15 มิ.ย. 59 มีการเพาะปลูกข้าวในเขตชลประทาน มีการปลูกข้าวแล้ว จำนวน 1.47 ล้านไร่ และนอกเขตชลประทาน จำนวน 4.45 ล้านไร่ รวมทั้งสิ้น 5.9 ล้านไร่ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังคงขอให้เกษตรกรระมัดระวังในการปลูกข้าวอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากยังต้องขอให้เกษตรกรใช้น้ำฝนเป็นหลักในการเพาะปลูก ทั้งนี้ ได้มอบหมายทุกหน่วยงานในสังกัดเร่งสร้างความเข้าใจกับเกษตรกรในพื้นที่ในการสร้างการรับรู้ถึงสถานการณ์ต่อไป

จาก http://www.naewna.com วันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2559

พพ.สนับสนุนรง.เปลี่ยนใช้ชีวมวลฟรี30%

                    พพ.เดินหน้าโครงการเปลี่ยนหัวเผาหม้อไอน้ำให้ใช้เชื้อเพลิงชีวมวล นำร่องโรงงานอุตสาหกรรม 100 แห่ง ใช้งบกองทุนอนุรักษ์ฯ สนับสนุนค่าลงทุนไม่เกิน 30% หวังลดต้นทุนการผลิตให้โรงงาน เพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน                      พุธที่ 29 มิถุนายน 2559 เวลา 10.35 น.                                     

                    นายธรรมยศ ศรีช่วย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า  พพ. ได้ดำเนินการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม จึงได้ดำเนินโครงการสนับสนุนเปลี่ยนหัวเผาหม้อไอน้ำ เป็นหัวเผาที่ใช้เชื้อเพลิงชีวมวล โดย พพ. พร้อมสนับสนุนโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้สมัครเข้าร่วมโครงการ 100 แห่ง ในด้านเงินทุนไม่เกิน 30% ของค่าลงทุนทั้งหมด แต่ไม่เกิน 2 ล้านบาทต่อแห่ง เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนระบบหัวเผา หม้อไอน้ำ จากเดิมใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ก๊าซหุงต้ม น้ำมันเตา ให้เป็นหม้อไอน้ำที่ใช้เชื้อเพลิงจากชีวมวลอัดเม็ด

​ทั้งนี้งบประมาณส่งเสริมการลงทุน ตามโครงการปรับเปลี่ยนหัวเผาหม้อไอน้ำฯ ดังกล่าว มาจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งจะมีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ ก.พ. 59 -  ก.ค.  60 โดยปัจจุบันได้มีโรงงานที่มีความประสงค์จะเข้าร่วมโครงการ ฯ ตามเงื่อนไข คือจะต้องลงทุนเองบางส่วน และมีความพร้อมในด้านสถานที่ และการอำนวยความสะดวกในการให้ทีมงานเข้าไปติดตั้งปรับปรุงระบบ รวมทั้งมีความพร้อมในการจัดซื้อเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงหลักในหม้อไอน้ำต่อไป

​นายธรรมยศ กล่าวเพิ่มว่า เบื้องต้นประโยชน์ของโครงการสนับสนุนเพื่อปรับหัวเผาหม้อไอน้ำให้สามารถใช้เชื้อเพลิงจากชีวมวลอัดเม็ด จะช่วยให้โรงงานที่เข้าร่วมโครงการ สามารถลดต้นทุนในการผลิตของโรงงาน หรือสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านต้นทุนพลังงานลดลงจากเดิมที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล รวมทั้งประโยชน์ในภาพรวมคือลดการใช้เชื้อเพลิงนำเข้า ลดการสูญเสียเงินตราไปต่างประเทศ เกิดการพึ่งพาพลังงานที่ผลิตได้ในประเทศ และช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2559

พณ.ชี้ปรับไทยขึ้นเทียร์2ดันภาพลักษณ์ดีขึ้น-คาดทบทวนเป้าส่งออก

นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การที่สหรัฐปรับยกระดับปัญหาการค้ามนุษย์ของไทย ขึ้นมาอยู่ในบัญชี Tier 2 จากเดิมอยู่ในบัญชี Tier 3 ถือเป็นเรื่องดีต่อภาพลักษณ์ไทยในสายตาต่างชาติดีขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐ และยุโรป ที่มีการชะลอการสั่งซื้อก่อนหน้านี้ และทำให้ผู้ซื้อเกิดความมั่นใจต่อสินค้าไทยมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอาหารทะเลแช่แข็ง

สำหรับผลประชามติอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (อียู) หรือ BREXIT ยังไม่มีผลโดยตรงต่อการส่งออกสินค้าไทยไปอังกฤษที่มีสัดส่วนส่งออก 1.8% หรือตลาดยุโรปที่มีสัดส่วน 9-10% แต่จะมีผลกระทบระยะสั้นด้านจิตวิทยาทำให้ค่าเงินผันผวน ถือเป็นเรื่องเสี่ยงของการส่งออกไทยในครึ่งปีหลัง จึงอยากให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและผู้ส่งออกป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเพราะอาจเป็นปัญหาให้เกิดการขาดทุนจากการส่งออกในระยะสั้น 2-3 เดือนนี้

“กำลังหารือกับภาคเอกชนในแต่ละอุตสาหกรรมต่อเนื่อง พบว่าสถานการณ์การส่งออกในหลายอุตสาหกรรมแนวโน้มดีขึ้น เช่น ผลไม้ รถยนต์ ทูน่ากระป๋อง และตลาดอาเซียนที่ยังขยายตัวได้ดี โดยกรมจะมีการประชุมทูตพาณิชย์ทั่วโลกในเดือนกันยายนนี้ เพื่อดูสถานการณ์และปัจจัยลบต่างๆ รวมถึงดูว่าจะทบทวนเป้าหมายโต 5% หรือไม่ ส่วนตัวยังไม่อยากที่มีการลดเป้าหมาย เพราะที่ตั้งไว้เป็นตัวเลขการทำงาน และยังมั่นใจตัวเลขการส่งออกปีนี้จะเป็นบวก” นางมาลีกล่าว

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ตะลึงไทยนำมาตรการ กีดกันค้า'อาเซียน'สูง 

          นายวินิจฉัย แจ่มแจ้ง ผช. รมต. พาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้เดินทางไปเข้าร่วมการประชุมประจำปีของคณะกรรมการบริหาร สถาบันวิจัยเศรษฐกิจเพื่ออาเซียนและเอเชียตะวันออก ที่สำนักงานเลขาธิการอาเซียน กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย เพื่อวางนโยบายและกำหนดแผนงานสถาบันฯ รวมทั้งรับทราบความคืบหน้าของงานด้านต่าง ๆ ซึ่งปีนี้ได้ศึกษาการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ โดยเน้นเนื้อหาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิกฟิก (ทีพีพี) และผลของทีพีพี ที่มีต่อประเทศอาเซียน 4 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย เวียดนาม ใน 3 หัวข้อ ได้แก่ การลงทุน รัฐวิสาหกิจ และสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา โดยต้องแล้วเสร็จในปีนี้

          ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสถาบันฯ ได้ศึกษาการใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษีในอาเซียน ซึ่งพบว่ามีการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีหลายรูปแบบ ทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนทางการค้า และมีข้อจำกัดในการเข้าสู่ตลาดมากขึ้น และพบว่า ไทยมีมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีในอาเซียนมากที่สุดถึง 1,630 มาตรการ จากทั้งหมดของอาเซียน 5,975 มาตรการ โดยเฉพาะมาตรการสุขอนามัยและโรคพืช สัดส่วนสูงถึง 48% รองลงมาคือ มาตรการอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า 35% ส่วนหน่วยงานไทยที่ใช้มาตรการนี้มากที่สุด คือ กระทรวงสาธารณสุข 42% รองลงมาเป็น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 29% กระทรวงอุตสาหกรรม 14.5% และกระทรวงพาณิชย์ 9.0%.

จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2559 

'ไทย' ใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษีสูงสุดในอาเซียน

          อรวรรณ จันทร์ธิวัตรกุล

          จากการเปิดการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่หลายประเทศทำข้อตกลงดังกล่าวร่วมกันไว้ ด้วยเชื่อว่าจะส่งผลดีต่อการทำการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะสิทธิประโยชน์ภาษีนำเข้าอัตรา 0% ที่ระบุไว้ในกลุ่มสินค้าบางรายการให้เกิดการลื่นไหล แต่ขณะเดียวกันในประเทศต่างๆ ก็มีมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (เอ็นทีเอ็ม) ออกมากำกับดูแล ทั้งเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของผู้ประกอบการท้องถิ่นและผู้บริโภคแต่ละประเทศเช่นกัน

          วินิจฉัย แจ่มแจ้ง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยหลังเข้าร่วมการประชุมประจำปีของคณะกรรมการบริหารสถาบันวิจัยเศรษฐกิจเพื่ออาเซียนและเอเชียตะวันออก (ERIA) ที่สำนักงานเลขาธิการอาเซียน กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย โดย ERIA ได้ทำการศึกษาการใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (เอ็นทีเอ็ม) ในอาเซียน

          โดยพบว่ามีการใช้มาตรการกีดกันทางการค้า หรือเอ็นทีเอที่ไม่ใช่ภาษีหลายรูปแบบ ขณะที่ไทยมีการใช้เอ็นทีเอ็มมากสุดจำนวน 1,630 มาตรการ จากจำนวนทั้งหมด 5,975 มาตรการของอาเซียน

          สำหรับมาตรการเอ็นทีเอ็มที่ไทยใช้มากสุด คือ มาตรการสุขอนามัยและโรคพืช (เอสพีเอส) สัดส่วน 48% รองลงมา คือ มาตรการอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (ทีบีที) สัดส่วน 35% ส่วนหน่วยงานไทยที่ใช้มาตรการเอ็นทีเอ็มมากสุด คือ กระทรวงสาธารณสุข 42% (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา 35%) รองลงมาเป็นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 29% (กรมวิชาการเกษตร 25%) กระทรวงอุตสาหกรรม 14.5% (สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม 11.5%) และกระทรวงพาณิชย์ 9% (กรมการค้าต่างประเทศ 6.9%)

          อย่างไรก็ตาม การใช้เอ็นทีเอ็มหลายอย่างไม่ได้เกิดจากนโยบายเชิงพาณิชย์หรือการค้าโดยตรง แต่เกิดจากนโยบายด้านอื่นๆ ที่กำหนดขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์อื่น และมาตรการหลายอย่างไม่ได้กำหนดขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือกีดกันการค้าเสมอไป เพราะกระทรวงที่เกี่ยวข้องเหล่านี้อาจกำหนดมาตรฐานต่างๆ มาใช้ เพื่อรับประกันว่าผู้บริโภคจะมีความปลอดภัยและอาจใช้ปกป้องผู้ผลิตในประเทศ แต่สุดท้ายก็จะเป็นประโยชน์ในแง่ความเชื่อมั่นและมั่นใจต่อมาตรฐานสินค้า

          สำหรับในปีนี้  ERIA ได้ทำการศึกษาการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ เน้นการศึกษาเนื้อหาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (ทีพีพี) และผลของทีพีพีที่มีต่อ 4 ประเทศอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม โดยผลการศึกษาดังกล่าวได้จำกัดเนื้อหาใน 3 หัวข้อ ได้แก่ การลงทุน รัฐวิสาหกิจ และสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา มีกำหนดศึกษาให้แล้วเสร็จภายในปี 2559 นี้ ซึ่งผลการศึกษาดังกล่าวเพื่อให้ประเทศที่ศึกษาใช้เป็นข้อมูลในการประเมินผลดีผลเสียต่อการเข้าร่วมกรอบทีพีพี

          ขณะเดียวกัน ERIA ยังได้กำหนดที่จะจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลไม้เมืองร้อนในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการดำเนินการร่วมกันระหว่างไทย กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม ปัจจุบัน ERIA เป็นสถาบันวิจัยที่ก่อตั้งขึ้นมาตามมติผู้นำอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา 6 ประเทศ (ออสเตรเลีย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์) ก่อตั้งเมื่อปี 2550

          โดย ERIA มีสถานะเป็นองค์กรระหว่างประเทศตั้งแต่ปี 2551 มีสำนักงานตั้งอยู่ ณ กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย และ ERIA ยังมีเครือข่ายสถาบันวิจัยของประเทศสมาชิก โดยสถาบันวิจัยของไทยที่เป็นเครือข่าย คือ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

จาก http://www.posttoday.com    วันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2559 

รายงานพิเศษ : กรมพัฒนาที่ดินเตรียมพร้อมฤดูกาลเพาะปลูกใหม่ ปรับปรุงดินเปรี้ยว ดินเค็มและพื้นที่นาร้างทั่วประเทศ

กรมพัฒนาที่ดิน นับเป็นหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาปรับปรุงบำรุงดินเพื่อการเกษตรเพื่อให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ เหมาะสมในการผลิตพืชเศรษฐกิจชนิดต่างๆ ให้มีผลผลิตเพิ่มขึ้น แก้ไขป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดินและแก้ไขปัญหาดินเพื่อการเกษตรทุกชนิด โดยขณะนี้ได้เตรียมพร้อมเข้าสู่ฤดูกาลเพาะปลูกปี 2559/60 ให้กับเกษตรกรทั่วประเทศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งการพัฒนาแหล่งน้ำ ธนาคารปุ๋ย การป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดิน แก้ปัญหาดินเปรี้ยว ดินเค็ม ของพื้นที่เกษตรทั่วประเทศ รวมถึงการพลิกฟื้นพื้นที่นาร้างในเขตภาคใต้ตอนล่าง

นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาที่ดินดำเนินงานภายใต้นโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มอบให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ดำเนินการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ฤดูกาลเพาะปลูกปี 2559/60 โดยให้ทุกภาคส่วนทำงานกันเป็นทีม ในส่วนของกรมพัฒนาที่ดินต้องเตรียมความพร้อมให้เกษตรกรทั่งประเทศ คือ 1.ทำอย่างไรให้เกษตรกรรู้ว่าความเหมาะสมของดินในแต่ละภูมิภาคเป็นเขตมีความเหมาะสมจะเพาะปลูกพืชอะไร 2.ต้องให้เกษตรกรทราบว่าในสภาพพื้นที่ของแต่ละภาคมีความเหมาะสมสำหรับทำการเกษตรหรือไม่ โดยการนำดินมาตรวจวิเคราะห์เพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่ทราบว่าพื้นที่ทำเกษตรจุดนั้นมีค่าวิเคราะห์ดินเป็นอย่างไร เพื่อจะได้มีการปรับเปลี่ยนการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินในสภาพพื้นที่นั้นๆ ซึ่ง ณ วันนี้ เกษตรกรมักทำการเกษตรโดยใช้ความรู้สึก ซื้อปุ๋ยมาใช้โดยขาดความเข้าใจจึงทำให้มีต้นทุนการผลิตสูง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่กรมพัฒนาที่ดินจะต้องทำความเข้าใจให้เกษตรกรทั่วประเทศเลือกใช้ปุ๋ยให้ถูกต้องเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ของแต่ละราย เพื่อสนองนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ต้องการให้เกษตรกรลดต้นทุนจากการใช้ปัจจัยการผลิต ดังนั้น หากเกษตรกรนำดินมาวิเคราะห์กับกรมพัฒนาที่ดินก็จะสามารถเลือกใช้ปุ๋ยให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และจะนำไปสู่การใช้ปุ๋ยที่ถูกต้องเหมาะสม และสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ถึง 20 เปอร์เซ็นต์

นอกจากนี้ กรมพัฒนาที่ดินยังเตรียมในแต่ละภูมิภาคในเรื่องของการอนุรักษ์ดินและน้ำ เช่น การจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำบนพื้นที่ลุ่มที่ดอนที่จะต้องเตรียมการ เพราะมีปัญหาของการชะล้างพังทลายของหน้าดินมาก กรมพัฒนาที่ดินจึงต้องเข้าไปวางระบบให้เกษตรกรในพื้นที่ ตามหลักวิชาการของกรมพัฒนาที่ดิน ซึ่งวิธีการป้องกันแก้ปัญหาจากระบบพืชด้วยการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ ที่มีความลาดชันน้อย ทั้งนี้ เนื่องจากหญ้าแฝกถือเป็นพืชมหัศจรรย์ที่สามารถป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดินในสภาพพื้นที่ลาดชันน้อยได้เป็นอย่างดี

“เนื่องจากสภาพดินของแต่พื้นที่ แต่ละภูมิภาคมีความแตกต่างกัน ยกตัวอย่างสภาพดินในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ในเขตรับผิดชอบของสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 12 ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่นาร้าง ซึ่งปัญหานาร้างในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง เกิดจากปัจจัยหลายด้าน โดยเฉพาะปัญหาความอุดมสมบูรณ์ของดินต่ำ ดินเปรี้ยวจัด ดินกรด ประกอบกับเกษตรกรขาดแคลนเงินทุนในการพัฒนาที่ดิน ส่งผลให้ทำนาไม่ได้ผลผลิตเท่าที่ควร จึงเป็นเหตุให้เกษตรกรปล่อยทิ้งร้างและหันไปประกอบอาชีพอื่นแทน กรมพัฒนาที่ดินได้ทำโครงการพัฒนาพื้นที่นาร้างในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และสงขลา เพื่อพัฒนาฟื้นฟูพื้นที่นาร้าง

 ให้สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้ โดยเข้าไปตรวจวิเคราะห์ดินว่า เป็นกลุ่มชุดดินอะไร และดินเกิดปัญหาด้านใดบ้าง เพื่อจะได้สนับสนุนในเรื่องการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานได้ถูกต้องตามหลักวิชาการ เช่น การทำปุ๋ยพืชสด การใช้ สาร พด. การใช้วัสดุปรับปรุงดิน เป็นต้น”

นายสุรเดช กล่าวอีกว่า ขณะนี้ กรมพัฒนาที่ดินเตรียมความพร้อมเข้าสู่ฤดูกาลเพาะปลูกใหม่ทั่วประเทศ เช่น การป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดิน แก้ปัญหาดินเค็ม ดินเปรี้ยว แก้ปัญหานา ร้างในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง โดยใช้กิจกรรมของกรมพัฒนาที่ดินเข้าพัฒนาปรับปรุงบำรุงดิน พร้อมกับเตรียมแหล่งน้ำให้เกษตรกรทั่วประเทศ โดยกรมพัฒนาที่ดินได้ดำเนินการ

 ขุดลอกห้วยหนอง คลองบึง ให้กับเกษตรกร ซึ่งงานพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำของกรมพัฒนาที่ดินในปีนี้มีทั้งหมด 166 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งดำเนินการไปแล้ว และยังอนุมัติงบประมาณเพิ่มอีก 45 แห่ง ดังนั้น ในปีนี้ กรมพัฒนาที่ดินได้พัฒนาแหล่งน้ำเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรทำการเกษตรทั้งสิ้น 211 แห่งทั่วประเทศ ส่วนโครงการแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน ปี 2559 อีกประมาณ 20,000 แห่ง กรมพัฒนาที่ดินก็ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นหมดแล้ว และยังมีงบประมาณเหลือจ่ายเพื่อไปดำเนินการเสริมให้กับเกษตรกรที่มีความต้องการได้อีก 1,800 กว่าแห่ง นอกจากนี้ ยังมีแหล่งน้ำชุมชนอีก 7 แห่ง พร้อมกันนี้ ยังดำเนินการธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ โดยไปส่งเสริมธนาคารปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพ ธนาคารปุ๋ยหมักสูตรพระราชทาน และธนาคารเมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยพืชสด เป็นต้น

จาก http://www.naewna.com วันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2559 

ERIA ศึกษาข้อตกลง TPP

นายวินิจฉัย แจ่มแจ้ง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้เดินทางไปเข้าร่วมการประชุมประจำปีของคณะกรรมการบริหารของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจเพื่ออาเซียนและเอเชียตะวันออก (ERIA) ที่สำนักงานเลขาธิการอาเซียน กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย เพื่อวางนโยบายและกำหนดแผนงานของ ERIA และรับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานในด้านต่างๆ ซึ่งในปีนี้ ERIA ได้ทำการศึกษาการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ โดยเน้นการศึกษาเนื้อหาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิกฟิก (TPP) และผลของ TPP ที่มีต่อประเทศอาเซียน 4 ประเทศ ได้แก่อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม

ทั้งนี้การศึกษาดังกล่าวได้จำกัดเนื้อหาใน 3 หัวข้อ ได้แก่ การลงทุน รัฐวิสาหกิจ และสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา โดยมีกำหนดศึกษาให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ ขณะเดียวกัน ERIA ยังได้กำหนดที่จะจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลไม้เมืองร้อนในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการดำเนินการร่วมกันระหว่างไทย กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม

นายวินิจฉัย กล่าวว่า ที่ผ่านมา ERIA ได้ทำการศึกษาการใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (NTMs) ในอาเซียน ซึ่งพบว่ามีการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีหลายรูปแบบ ทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนทางการค้าและการเข้าสู่ตลาดมีข้อจำกัดมากขึ้น โดยพบว่าไทยมี NTMs มากที่สุดจำนวน 1,630 มาตรการ ในจำนวนทั้งหมดของอาเซียน 5,975 มาตรการ

โดยมาตรการ NTMs ที่ไทยใช้มากที่สุด คือ มาตรการสุขอนามัยและโรคพืช (SPS) 48% รองลงมาคือ มาตรการอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (TBT) 35% ส่วนหน่วยงานไทยที่ใช้มาตรการ NTMs มากที่สุด คือ กระทรวงสาธารณสุข 42% (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา 35% ) รองลงมาเป็นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 29% (กรมวิชาการเกษตร 25%) กระทรวงอุตสาหกรรม 14.5% (สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม 11.5%) และกระทรวงพาณิชย์ 9.0% (กรมการค้าต่างประเทศ 6.9%)

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2559 

BRR ยื่น กกพ. ขอปรับรูปแบบการซื้อขายไฟจาก Adder เป็น FiT ช่วยหนุนรายได้จากกลุ่มธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลเพิ่ม 

          'BRR' เด้งรับ กกพ. คลอดเกณฑ์รับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลในช่วงเปลี่ยนผ่าน จากระบบ Adder มาเป็น Feed-in-Tariff (FiT) ที่กำหนดราคาซื้อขายไฟฟ้าเพิ่มเป็น 4.54 บาทต่อหน่วย จากระบบ Adder ที่ให้ 3.60 บาทต่อหน่วย เร่งยื่นเรื่องของปรับเกณฑ์รับซื้อไฟฟ้าโรงไฟฟ้าชีวมวลโรงที่ 1 ที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจำนวน 8 MW มาใช้ระบบ FiT ช่วยหนุนรายได้จากธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลเพิ่ม

          นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR ผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายดิบ น้ำตาลทรายขาวสีรำส่งจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศและนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาลทรายไปต่อยอดสู่ธุรกิจพลังงานทดแทน เปิดเผยว่า แนวโน้มธุรกิจพลังงานทดแทนของกลุ่ม BRR ในปีนี้คาดว่าจะเติบโตได้ดีต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา หลังจากเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานหรือ กกพ. ได้ประกาศปรับรูปแบบรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (ชีวมวล) ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากแบบ Adder เป็นFreed-in Tariff (FiT) โดยกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าอยู่ที่ 4.54 บาทต่อหน่วย ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าAdder ที่กำหนดอยู่ที่ 3.60 บาทต่อหน่วยหรือเพิ่มขึ้น 0.93 บาทต่อหน่วย

          ดังนั้น BRR จึงได้เร่งยื่นเรื่องเปลี่ยนรูปแบบรับซื้อไฟฟ้าจากระบบ Adder ของโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลโรงที่1 ที่ดำเนินการภายใต้บริษัท บุรีรัมย์ พลังงาน จำกัด (BEC) กำลังการผลิต 9.9 MW และมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ขนาด 8 MW เพื่อจำหน่ายให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) มาเป็นรูปแบบของ FiT ให้ กกพ. เป็นผู้พิจารณาซึ่งคาดว่าจ กกพ. จะมีผลการพิจารณาภายในเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งหากได้รับอนุมัติจาก กกพ. ให้ปรับเปลี่ยนการจำหน่ายไฟฟ้าในรูปแบบ FiT ได้แล้ว จะส่งผลต่อรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งที่ 1 มาอยู่ที่หน่วยละ 4.54 บาท หรือมีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดือนละ 19 ล้านบาท เพิ่มเป็น 25 ล้านบาท

          "เดิมโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลโรงที่ 2 ของเราได้ใช้ระบบ FiT อยู่แล้ว แต่โรงไฟฟ้าโรงที่ 1 ยังคงใช้แบบAdder ซึ่งเมื่อภาครัฐมีนโยบายปรับเปลี่ยนจาก Adder มาเป็น FiT ทางเราก็ยื่นเรื่องเพื่อขอปรับเปลี่ยนการขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลแห่งที่ 1 มาใช้ในระบบ FiT ซึ่งส่งผลดีต่อรายได้รวมจากธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลของกลุ่ม BRR ที่คาดว่าจะเติบโตได้ดี" นายอนันต์ กล่าว

จาก  http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ปัญหาเกษตร ที่นีมีคำตอบ : ภาวะโลกร้อน กับแนวทางแก้ปัญหาภาคเกษตรกรรม

คำถาม ภาวะโลกร้อนอย่างนี้ จะมีแนวทางในการแก้ปัญหาผลกระทบภาวะโลกร้อนต่อภาคเกษตรกรรม อย่างไรบ้างครับ

กิตติพัฒน์ อำนวยโชค  อ.นายายอาม จ.จันทบุรี

คำตอบ แนวทางการแก้ปัญหาและแนวทางการปรับตัว ได้แก่ พืช ประมง ปศุสัตว์ ทรัพยากรน้ำการชลประทาน และป่าไม้ เพื่อรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อภาคการเกษตร นักวิชาการทางด้านการเกษตร ได้ให้คำแนะนำเบื้องต้น พอสรุปได้ดังนี้

ด้านพืช มีผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้ปริมาณฝนตกมากขึ้น ในขณะที่จำนวนวันที่ฝนตกน้อยลง ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วม และการใช้ประโยชน์จากน้ำฝนลดลง เกิดการชะล้างพังทลายของหน้าดินเพิ่มขึ้น อุณหภูมิที่สูงขึ้น มีผลต่อการสุกแก่ของผลไม้ และการระบาดของโรคและแมลง แนวทางการแก้ไขปัญหาคือ ควรส่งเสริมการทำเกษตรแบบผสมผสาน ลดละเลิกการเผา โดยนำเศษวัสดุต่างๆ มาใช้ทำปุ๋ยอินทรีย์แทน และควรต้องมีการวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืชที่ทนร้อน

ด้านประมง อุณหภูมิที่สูงขึ้นน้ำท่วม ภาวะแห้งแล้ง การสึกกร่อน และการเกิดพายุ มีผลต่อระยะเวลาการวางไข่ของสัตว์น้ำ การระบาดของโรคสัตว์น้ำ เกิดปัญหามลพิษ และผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของปะการัง สำหรับสัตว์น้ำที่เลี้ยงในบ่อ หรือกระชัง จะเกิดความเครียด เนื่องจากอยู่ใน บริเวณจำกัด มีผลโดยตรงต่อผลผลิต ปัญหาน้ำท่วมขังและเน่าเสีย มีผลทำให้สัตว์น้ำตาย การรุกล้ำของน้ำเค็ม ทำให้กุ้งในบ่อเลี้ยงช็อกตาย

ด้านปศุสัตว์ เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น ทำให้เกิดโรคใหม่ๆ เพิ่มขึ้น การเจริญเติบโตของสัตว์ลดลง และผลผลิตปศุสัตว์ลดลง เกิดผลกระทบต่อการผลิตอาหารสัตว์ ต้นทุนที่สูงขึ้น อาหารสัตว์แพงขึ้น การลดลงของความหลากหลายทางชีวภาพ มีผลต่อแหล่งอาหารสัตว์ลดลง รวมถึงเกษตรกรไม่สามารถลงทุนด้านเทคโนโลยีใหม่ได้ แนวทางการแก้ไขปัญหา ได้แก่ การปรับปรุงพันธุ์สัตว์ โดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพ เช่น การผลิตน้ำเชื้อ การฝากถ่ายตัวอ่อน การจัดเก็บเชื้อพันธุ์พื้นเมือง การส่งเสริมงานวิจัยด้านต้นทุน การพัฒนาเทคนิคการจัดการฟาร์ม การฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่เกษตรกร รวมถึงการเฝ้าระวังโรคระบาดสัตว์ เพื่อเตรียมตัวและแก้ไขปัญหาได้ทันเหตุการณ์

ด้านทรัพยากรน้ำและชลประทาน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีผลทำให้เกิดน้ำท่วมภาวะภัยแล้ง และส่งผลต่อระบบชลประทาน แนวทางการแก้ไขปัญหาคือ การพยากรณ์ภูมิอากาศล่วงหน้า เพื่อเป็นข้อมูลให้เกษตรกรสามารถเตรียมตัวได้ทัน มีระบบเตือนภัยน้ำท่วมการจัดการระบายน้ำที่ดี และมีการปรับตัวต่อภัยแล้ง ได้แก่ การใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพ การนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ การพัฒนาพันธุ์พืชที่ใช้น้ำน้อยและทนแล้ง การจัดการชลประทาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ

ด้านป่าไม้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีผลกระทบทั้งต่อป่าชายเลน และป่าบกผลจากน้ำทะเลที่สูงขึ้น และการกัดเซาะชายฝั่ง มีผลต่อสัตว์น้ำวัยอ่อน พื้นที่ป่าชายเลนเป็นแหล่งอนุบาลวัยอ่อน และมีความอ่อนไหวต่อผลกระทบได้ง่าย แนวทางการแก้ไขปัญหาคือ มีการกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน และการใช้ไม้ไผ่ปักไว้ เพื่อชะลอและลดผลกระทบจากคลื่น ช่วยลดปริมาณการกัดเซาะชายฝั่ง

เกษตรกร ควรติดตามสถานการณ์ภัยธรรมชาติอย่างใกล้ชิด ต้องเตรียมพร้อมรับมือ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าภัยธรรมชาติจะเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ แต่สามารถป้องกันได้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องเร่งดำเนินการ ให้มีการวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืชที่มีความต้านทานต่อภาวะอุณหภูมิที่สูงขึ้น ต้านทานโรค และแมลง หรือพันธุ์พืชที่ทนแล้ง ทนน้ำท่วมขัง เพื่อเพิ่มโอกาสในการอยู่รอดของเกษตรกรและภาคเกษตรกรรมไทย

การแก้ปัญหาผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ไม่ใช่หน้าที่ของภาคเกษตรเพียงอย่างเดียว ภาคอุตสาหกรรม หรือภาคการผลิตอื่นๆ ก็เป็นส่วนหนึ่งในการทำให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่ผลกระทบหลักกลับตกไปอยู่ที่ภาคเกษตร ซึ่งเป็นภาคการผลิตที่สำคัญในการเป็นแหล่งอาหาร ถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่าย จะต้องร่วมมือกันแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง

จาก  http://www.naewna.com วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2559

เดินหน้ายุทธศาสตร์จัดการน้ำ12ปี ตั้งเป้าขยายพื้นที่ชลประทานทั่วปท.8.7ล้านไร่

นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า นับจากวันที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงสถาปนา กรมคลอง เมื่อ พ.ศ.2445 เพื่อทำหน้าที่ดูแลน้ำของประเทศ ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นกรมทดน้ำและกรมชลประทานในปัจจุบัน โดยตลอดระยะเวลา 114 ปีที่ผ่านมา กรมชลประทานได้พัฒนาแหล่งน้ำด้วยการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางมากกว่า 480 แห่ง สามารถเก็บกักน้ำได้ 80,000 ล้านลูกบาศก์เมตร มีการก่อสร้างระบบชลประทานที่ใช้กระจายน้ำสู่พื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศครอบคลุมพื้นที่ชลประทานกว่า 30.22 ล้านไร่ จากพื้นที่ที่มีศักยภาพทั้งหมด 60.28 ล้านไร่ รวมทั้งยังบริหารจัดการน้ำตามภารกิจและตามที่ได้รับมอบหมายในทุกด้าน

สำหรับโครงการสำคัญๆ ที่กรมชลประทานได้ดำเนินการแล้วเสร็จในปีนี้เช่น โครงการอ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชโลทร อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ชลบุรี และโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองจันทบุรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.จันทบุรี ส่วนโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างที่กำลังจะแล้วเสร็จเร็วๆนี้ เช่น โครงการห้วยโสมงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ปราจีนบุรี โครงการเขื่อนทดน้ำผาจุก จ.อุตรดิตถ์ โครงการอ่างเก็บน้ำมวกเหล็ก จ.สระบุรี โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.อุตรดิตถ์ และโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่ เป็นต้น รวมทั้งยังมีโครงการที่จะเริ่มก่อสร้างในปี 2560 ที่สำคัญอีกอย่างน้อย 2 โครงการคือ โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำปี้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.พะเยา และโครงการอ่างเก็บน้ำคลองพะวาใหญ่ จ.จันทบุรี

นอกจากนี้ กรมชลประทานยังมีภารกิจสำคัญที่จะต้องรับผิดชอบคือ การเร่งดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการทรัพยกรน้ำ 12 ปี (2558-2569) ของรัฐบาล ที่วางเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ชลประทานอีก 8.7 ล้านไร่ และเพิ่มแหล่งเก็บกักน้ำอีก 4,800 ล้านลูกบาศก์เมตร และสามารถบริหารจัดการน้ำให้มีน้ำใช้เพื่อกิจกรรมต่างได้ ประมาณ 9,500 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ซึ่งไม่เรื่องง่ายเพราะการดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำแต่ละโครงการในปัจจุบันจะต้องใช้ระยะเวลาที่ยาวนาน โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม กรมชลประทาน ได้เสนอให้รัฐบาลกำหนดเป็นนโยบายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาบูรณาการทำงานร่วมกัน เพื่อให้การดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำไม่ว่าจะเป็นการสร้างอ่างฯเก็บน้ำขนาดกลาง หรือขนาดใหญ่ได้ตามยุทธศาสตร์บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นคงในเรื่องน้ำให้กับประเทศ และสามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานในพื้นที่ที่มีศักยภาพได้ตามเป้าหมาย

จาก  http://www.naewna.com วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2559

"พิชัย" ชี้ Brexit และปัญหาอียูไม่กระทบ "เออีซี"

"พิชัย" ชี้ Brexit และปัญหาอียูไม่กระทบ "เออีซี" แต่ไทยเป็นตัวถ่วงเออีซี ไทยจะเป็นผู้นำอาเซียนได้จะต้องมีบรรทัดฐานสากล

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว. พลังงาน กล่าวว่า ปัญหา Brexit ที่จะส่งผลกระทบไปทั้งโลกและอาจจะทำให้อียูมีปัญหาถึงขั้นแตกออกได้ แต่จะไม่มีผลกระทบกับการรวมตัวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ตามที่หลายฝ่ายกังวล ทั้งนี้เพราะเออีซีและอียูมีรูปแบบการรวมตัวที่ต่างกัน โดยประเทศในกลุ่มเออีซี ไม่ได้มีการใช้เงินสกุลเดียวกันเหมือนอียูที่ใช้เงินยูโร และ เออีซีเป็นเขตการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของโลก โดยประเทศต่างๆ มีการเจริญเติบโตที่สูงไม่เหมือนอียูที่มีหลายประเทศมีปัญหาทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ยกเว้นประเทศไทยที่มีการเจริญเติบโตที่ต่ำที่สุดในอาเซียนจากปัญหาการเมืองภายในประเทศ ถึงขนาดที่สื่อต่างประเทศวิเคราะห์ว่าไทยกลายเป็นตัวถ่วงของเออีซีไปแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก เพราะประเทศไทยมีศักยภาพที่จะเป็นผู้นำของอาเซียนได้ จากที่ไทยมีการพัฒนาที่มากกว่าและมีตำแหน่งที่ตั้งที่เหมาะสม

อีกทั้งโดยส่วนตัวแล้วอยากเห็นเงินบาทเป็นเงินสกุลหลักของภูมิภาคซึ่งจะทำให้ไทยเป็นผู้นำของอาเซียนได้อย่างแท้จริง โดยแต่ละประเทศก็มีเงินสุกลของตัวเอง แต่อิงกับค่าเงินบาท เพราะปัจจุบันประเทศเพื่อนบ้านก็ใช้เงินบาทกันอย่างแพร่หลายอยู่แล้ว ซึ่งจะทำให้ไทยได้ประโยชน์อย่างมาก ทั้งนี้การที่ประเทศไทยจะเป็นผู้นำอาเซียน ประเทศไทยจะต้องมีบรรทัดฐานสากลเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ โดยต้องเร่งกลับสู่ระบอบการปกครองที่ประชาคมโลกยอมรับ ซึ่งต้องมีรัฐธรรมนูญที่เป็นสากล และต้องมีการป้องกันการทุจริตที่ผู้รับผิดชอบต้องลาออกทันทีที่มีปัญหาเช่นเรื่อง GT 200 และ อุทยานราชภักดิ์ที่ประชาชนยังสงสัย เป็นต้น อีกทั้งต้องไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนจนยูเอ็นและนานาชาติต้องตำหนิ แต่โฆษก คสช. กลับกล้าออกมายืนยันว่ารัฐบาล คสช. ไม่เคยมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน และหากประชามติไม่ผ่านนายกรัฐมนตรีก็ควรจะต้องลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ เนื่องจากรัฐบาลและ คสช. เป็นผู้ตั้ง กรธ. เอง ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีบรรทัดฐานสากลเป็นที่ยอมรับของนานาชาติและจะทำให้เป็นผู้นำของอาเซียนได้

จาก  http://www.prachachat.net  วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2559

'สมคิด' ชี้ไทยจำเป็นต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ

"สมคิด" ชี้ไทยจำเป็นต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ มั่นใจศก.เอเชียจะกลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง คาดจีดีพีอาเซียนขยายตัว 6-8% แม้ศก.โลกถดถอย

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า แม้เศรษฐกิจโลกจะต้องเผชิญกับปัญหา รวมถึงมีกรณีสหราชอาณาจักรลงประชามติออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) แต่หลายฝ่ายได้เตรียมมาตรการรองรับสถานการณ์ไว้แล้ว และเชื่อว่าความผันผวนจะเกิดขึ้นระยะสั้น พร้อมมั่นใจว่าในอนาคตเศรษฐกิจเอเชียจะกลับมาแข็งแกร่งและมีบทบาทสำคัญอีกครั้ง โดยเฉพาะภูมิภาคอาเซียนที่มีผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) ขยายตัว 6 – 8% ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกถดถอย อาเซียนจึงถือเป็นซัพพลายเชนสำคัญของภูมิภาค และเป็นซัพพลายเชนของนักลงทุนจีน ขณะเดียวกันต้องอยู่ภายใต้ความร่วมมืออาเซียนบวก 6 (RCEP) และไทยอยู่ศูนย์กลางของอาเซียนจะเป็นเกตเวย์ที่สำคัญในการเชื่อมการลงทุนในภูมิภาค มีการจัดตั้งระเบียงเศรษฐกิจตะวันออกที่จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 28 มิถุนายน ส่วนร่าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก คาดจะเข้า ครม.ภายในเดือนกรกฎาคมนี้

ทั้งนี้ ประเทศไทยขณะนี้ถึงเวลาต้องเปลี่ยนแปลงก่อนการเลือกตั้ง จึงจำเป็นต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่เคยดำเนินในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา เพื่อก้าวเข้าสู่การเพิ่มมูลค่าให้สินค้านำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ เน้นการวิจัยและความสร้างสรรค์เข้ามาผนวก โดยรัฐบาลกำหนด 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคต รวมทั้งคลัสเตอร์เข้ามารองรับ

สำหรับการพัฒนาดังกล่าวต้องประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก คือ รัฐบาลสนับสนุน เอกชนลงทุน และองค์ความรู้ โดย 2 ส่วนหลังนี้ต้องการนักลงทุนจีนและความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยชิงหัวในสนับสนุนคลัสเตอร์ให้สำเร็จ พร้อมกันนี้ไทยต้องการเชิญเอกชนจีนเข้ามาลงทุนในไทย ซึ่งบีโอไอจะอำนวยความสะดวกในการเข้าพบผู้แทนบริษัทต่าง ๆ ในประเทศไทย โดยใช้โอกาสจากความร่วมมืออาเซียนบวก 6 ที่การเจรจาใกล้จบลงแล้วและเดินหน้าเต็มรูปแบบ หากเข้ามาลงทุนในไทยและพบการทุจริตคอร์รัปชั่น ขอให้แจ้งรัฐบาลจะดำเนินการตามกฎหมายทันที

ทั้งนี้ นายสมคิดได้เข้าพบนายซือ อี้กง รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยซิงหัว โดยมีการหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ณ ห้องตะวันออก สำนักอธิการบดี มหาวิทยาลัยซิงหัว พร้อมร่วมเป็นสักขีพยานการลงนาม Letter of Intent on ระหว่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) และมหาวิทยาลัยซิงหัว

จาก  http://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2559

แรงซื้อบอนด์ยาวหนุนดันบาทแข็ง

ค่าเงินบาทเปิดตลาดแข็งค่า 35.26 บาทต่อดอลลาร์ จากแรงซื้อพันธบัตรระยะยาวกลับเข้ามา คาดวันนี้แกว่ง 35.20-35.50 บาทต่อดอลลาร์

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ รองผู้อำนวยการ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย (ทีเอ็มบี) เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเช้านี้เปิดตลาดที่่ระดับ 35.26 บาทต่อดอลลาร์แข็งค่าเล็กน้อยจากช่วงปิดตลาดวานนี้ที่ระดับ 35.34 บาทต่อดอลลาร์ จากแรงขายพันธบัตรระยะสั้นของนักลงทุนแล้วกลับมาซื้อพันธบัตรระยะยาวแทนเพื่อปิดความเสี่ยง เนื่องจากผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวอายุ 10 ปี ให้ผลตอบแทนดีกว่าที่ 2% จึงทำให้ค่าเงินบาทไม่ได้อ่อนยวบลงไปลึก และตลาดในฝั่งเอเชียกลับมามีความน่าสนใจ ในขณะที่ฝั่งยุโรปและญี่ปุ่นมีปัญหา และในปีนี้มีโอกาสที่เฟดจะไม่ขึ้นดอกเบี้ยและอาจจะลดดอกเบี้ยด้วย

ขณะที่เช้านี้ ค่าเงินปอนด์เปิดตลาดกลับมาแข็งเล็กน้อยที่ระดับ 1.33 ดอลลาร์ต่อปอนด์ ขณะที่วานนี้ ค่าเงินปอนด์ร่วงแรงต่ำสุดในรอบ 31 ปี ปิดตลาดอ่อนค่ามากที่ระดับ 1.325 ดอลลาร์ต่อปอนด์

ส่วนค่าเงินยูโร ขณะที่ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ 1.10 ดอลลาร์ต่อยูโร เท่ากับช่วงปิดตลาดวานนี้ และค่าเงินเยนอ่อนค่าลงเล็กน้อย เปิดตลาด 102.15 เยนต่อดอลลาร์จากปิดตลาดที่ 101.68 เยนต่อดอลลาร์

วันนี้ยังไม่มีปัจจัยใหม่เพิ่มเติมเข้ามากระทบตลาดมองแนวโน้มค่าเงินบาทในกรอบ 35.20-35.50 บาทต่อดอลลาร์ แต่ยังต้องติดตามการรายงานผลประชามติBrexit ของเดวิด คาเมรอน คาดว่าน่าจะมี Action ออกมาในเชิงบวก

จาก  http://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2559

รับของขวัญและรู้จัก “ต้นอ้อย” ให้มากขึ้น ผ่านตู้ Infinite Gift จากมิตรผล

หลายคนอาจจะรู้จัก “ต้นอ้อย” ในฐานะที่เป็นพื้นเศรษฐกิจสำคัญของไทย ที่ส่งออกและใช้ในอุตสาหกรรมผลิตน้ำตาล แต่รู้หรือไม่...ว่าอ้อยมีประโยชน์มากกว่าแค่ให้ความหวาน เพราะส่วนที่เหลือจากการหีบอ้อย สามารถนำมาผ่านกระบวนการเพื่อพัฒนาและต่อยอดให้เป็นพลังงานทดแทน หรือเครื่องใช้ต่างๆ ที่เราอาจจะกำลังใช้งานอยู่ในตอนนี้ก็ได้ และเพื่อให้ได้รู้จัก “ต้นอ้อย” มากขึ้น มิตรผลจึงจัดแคมเปญ Infinite Gift เพื่อมอบของขวัญที่ได้รับมาจากต้นอ้อยให้กับทุกคน

แคมเปญ Infinite Gift นอกจากจะจัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองโอกาสครบรอบ 60 ปีของกลุ่มมิตรผล และสะท้อนให้เห็นถึงแนวคิด “From Waste to Value – ไร้ของเหลือทิ้ง เปลี่ยนเป็นสิ่งมีคุณค่า” ที่ทางกลุ่มมิตรผลใช้เป็นแนวคิดที่ขับเคลื่อนธุรกิจมาอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังต้องการจะให้ทุกคนได้รู้จัก “ต้นอ้อย” มากขึ้น ว่าอ้อยมีประโยชน์มากมาย และเป็นอะไรได้ไม่รู้จบ ซึ่งไฮไลท์ของแคมเปญนี้ คือกิจกรรม Infinite Gift ตู้มอบของขวัญสุดเซอร์ไพรส์จากต้นอ้อย ที่จะสร้างความสุขให้กับคนรับ ซึ่งของแต่ละชิ้นที่ผู้ร่วมสนุกจะได้รับ จะมีส่วนประกอบหรือทำมาจากอ้อยทั้งสิ้น

กิจกรรม Infinite Gift ของขวัญจากต้นอ้อย จะจัดขึ้นตามสถานที่ต่างๆ ทั้งกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ซึ่งคนที่อยู่ใกล้เคียงสถานที่จัดกิจกรรมก็สามารถมาร่วมรับของขวัญสุดเซอร์ไพรส์จากต้นอ้อยกว่า 20,000 ชิ้นได้  สำหรับกิจกรรมครั้งต่อๆ ไป จะจัดขึ้นตามสถานที่ ดังนี้

o    30 มิ.ย. ที่ ตลาดนัดดารา ช่อง 3 เวลา 11.00-13.00 น.

o    2 ก.ค. ที่ เซ็นทรัล เฟสติวัล ขอนแก่น เวลา 11.00-20.00 น.

o    3 ก.ค. ที่ เดอะมอลล์ โคราช เวลา 11.00-20.00 น.

o    8 ก.ค. ที่ หัวหิน มาร์เก็ต วิลเลจ เวลา 11.00–21.00 น.

o    10 ก.ค. ที่ เซ็นทรัล เฟสติวัล หาดใหญ่ เวลา 10.00–22.00 น.

o    16 ก.ค. ที่ มายา เชียงใหม่ เวลา 10.30–22.00 น.

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะไปร่วมรับของขวัญจากต้นอ้อย มารู้จักประโยชน์ที่คาดไม่ถึงของอ้อยกันก่อน อ้อยเป็นพืชที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน เริ่มจากการนำอ้อยสดมาผ่านการหีบอ้อย ได้ออกมาเป็นน้ำอ้อยและเคี่ยวจนเป็นน้ำตาล ส่วนที่เหลือจากกระบวนการนี้ คือ “ชานอ้อย” ที่มีปริมาณกว่า 200,000 ล้านตันต่อปี ซึ่งในอดีตชานอ้อยจะถูกนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิง แต่ปัจจุบัน ด้วยเทคโนโลยีและการพัฒนาต่อยอด ส่วนต่างๆ ที่เหลือจากการหีบอ้อย สามารถนำมาสร้างประโยชน์ได้มากมาย อธิบายง่ายๆ ได้ดังนี้

o    ชานอ้อยที่เหลือจากการหีบอ้อย นำมาทำเป็นเชื้อเพลิงสำหรับผลิตไฟฟ้าชีวมวล

o    กากน้ำตาล (Molasses)หมักกับยีสต์ กลั่นเป็นเอทานอล(Ethanol) เมื่อนำมาผสมกับน้ำมันเบนซิน ก็จะกลายเป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 E85 ที่สามารถนำมาเป็นพลังงานสำหรับรถยนต์ได้

o    ยีสต์จากกระบวนการผลิตเอทานอลผ่านกระบวนการทางเทคโนโลยีชีวภาพ เกิดเป็นยีสต์คุณภาพสูง ใช้เป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์

o    ชานอ้อย กากน้ำตาล กากหม้อกรอง นำมาผ่านกระบวนการ กลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ใช้บำรุงดิน

o    ชานอ้อยนำมาผ่านกระบวนการผลิตออกมาเป็นวัสดุแทนไม้ที่แข็งแรงทนทาน ใช้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ และลดการตัดไม้ทำลายป่า

สำหรับใครที่อยากรู้จักกับต้นอ้อยให้มากขึ้น ก็สามาถไปร่วมกิจกรรม Infinite Gift ซึ่งจะจัดขึ้นตามสถานที่ต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด จนถึงช่วงเดือนกรกฎาคมนี้ แล้วมาร่วมลุ้นว่า ต้นอ้อยจะมอบของขวัญสุดเซอร์อะไรให้กับคุณบ้าง

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2559

เคาะงบ300ล.สร้างระบบน้ำไร่นาชง'ประยุทธ์'ตั้งธนาคารน้ำทั่วปท. 

          สหกรณ์/สถาบันเกษตรกร 6 พันรายเฮ ก.เกษตรฯเคาะงบ 300 ล้าน ให้กู้แห่งละ 5 หมื่น สร้างระบบน้ำในไร่นา ปลอดดอกเบี้ย 5 ปี  เล็งเป้า 50 จังหวัดทั้งในและนอกเขตชลประทาน หวังเพิ่มพื้นที่รับน้ำได้มากกว่า 6 หมื่นไร่ อีกด้านกลุ่มเกษตรกรเตรียมเสนอ "ประยุทธ์" ดันตั้งธนาคารน้ำในกว่า 800 อำเภอทั่วประเทศ ร่วมลงทุนปล่อยสินเชื่อขุดบ่อน้ำ สร้างความยั่งยืนภาคการเกษตรของประเทศ

          นายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ประธานคณะกรรมการกลางกลุ่มเกษตรกรแห่งประเทศไทย ในฐานะกรรมการในคณะกรรมการสงเคราะห์เกษตรกร สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ในการประชุมคณะกรรมการสงเคราะห์เกษตรกร เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2559 ที่มีนายโอภาส กลั่นบุศย์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ในฐานะประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบตามที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ เสนอโครงการสนับสนุนเงินทุนวงเงิน 300 ล้านบาท จากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร เพื่อสร้างระบบน้ำในไร่นาของสถาบันเกษตรกรเพื่อลดความเสี่ยงในการทำเกษตรกรรมจากวิกฤติภัยแล้งในอนาคต

          ทั้งนี้จากแนวคิดเดิมที่เกษตรกรพึ่งพาระบบน้ำในชลประทานและแหล่งน้ำธรรมชาติ ในการทำการเกษตร ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ให้แนวคิดในการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรในระดับไร่นาแบบใหม่ คือเน้นให้เกษตรกรแต่ละรายต้องมีการพัฒนาพื้นที่ของตนให้มีระบบการสำรองน้ำเพื่อการเกษตรไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน โดยมีการขุดสระกักเก็บน้ำไว้ใช้ในไร่นา หรือมีการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล ไว้ใช้ทดแทนน้ำในระบบชลประทานที่ในบางช่วงเวลาเกิดการขาดแคลนน้ำเพื่อใช้ในการทำการเกษตร โดยโครงการดังกล่าวมีพื้นที่เป้าหมาย เป็นสถาบันเกษตรกรทั้งในเขตชลประทานและเขตรับน้ำฝนใน 50 จังหวัด ประกอบด้วย สหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร จำนวน 100 แห่ง มีสมาชิกรวม 6,000 ราย คิดเป็นพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากน้ำเฉลี่ยรายละ 10 ไร่ รวมพื้นที่รับน้ำได้มากกว่า 6 หมื่นไร่

          "โครงการนี้จะสนับสนุนเงินทุนปลอดดอกเบี้ยให้แห่งละ 5 หมื่นบาท มีระยะเวลาคืนเงินทุน 5 ปี ตั้งแต่ปี 2560- 2564  นับตั้งแต่วันที่สมาชิกได้รับเงินกู้ยืม หรือเฉลี่ยชำระคืนปีละ 60 ล้านบาท ซึ่งผู้ที่กู้เงินจะต้องมีวัตถุประสงค์ ได้แก่ 1.ขุดสระเก็บกักน้ำในพื้นที่ประมาณ 1 ไร่ ความลึกไม่น้อยกว่า 2 เมตร พร้อมกับอุปกรณ์เครื่องสูบน้ำ ท่อน้ำ ในระบบน้ำหยด หรือพ่นละอองน้ำ หรือ 2.ขุดเจาะระบบน้ำบาดาล หรือปรับปรุงระบบน้ำบาดาล รวมถึงอุปกรณ์เครื่องสูบน้ำ ทั้งนี้ที่ประชุมจะนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หรือครม. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบในวันที่ 28 มิถุนายนนี้" นายอุบลศักดิ์ กล่าวและว่า

          นอกจากนี้ทางกลุ่มเกษตรกร กำลังทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อให้รัฐบาลตั้งธนาคารน้ำ โดยให้รัฐบาลร่วมลงทุนกับเกษตรกรกว่า 12 ล้านครัวเรือน เพื่อให้เกษตรกรแต่ละหมู่บ้าน ในแต่ละอำเภอใน 77 จังหวัด ได้ตระหนักเห็นถึงความสำคัญในการสำรองน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง หรือวิกฤติน้ำในยามที่ฝนทิ้งช่วง โดยมีโครงการนำร่องในการตั้งธนาคารน้ำในกว่า 800 อำเภอทั่วประเทศ(878 อำเภอ) โดยให้เกษตรกรกู้ยืมเงินไปขุดสระ/บ่อน้ำ หรือขุดลอกของเดิมที่มีอยู่แล้ว หรือขุดบ่อใหม่ ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ โดยดอกเบี้ยให้คืนกลับในรูปเงินปันผลแบบโมเดลสหกรณ์ จะทำให้การแก้ปัญหาน้ำยั่งยืน จากที่ผ่านมาแม้รัฐบาลจะมีโครงการในลักษณะนี้แต่ไม่ถึงเกษตรกรรายย่อยอย่างแท้จริง เนื่องจากยังมีระบบเอื้อต่อพวกพ้อง ดังนั้นหากมีการตั้งธนาคารน้ำในทุกอำเภอ เชื่อว่าจะเกิดผลสำเร็จและจะสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในภาคการเกษตรของประเทศได้อย่างยั่งยืน

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2559

เดินหน้าถ่ายทอดองค์ความรู้‘ปุ๋ย’ เพิ่มประสิทธิภาพผลิต-สกัดถูกหลอกขาย

นายสมเพชร พรหมเมืองดี ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2 (สวพ.2) เปิดเผยว่า ปัญหาประการหนึ่งที่ทำให้การผลิตพืชของเกษตรกรไม่มีประสิทธิภาพ คือ ขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ปุ๋ยที่ถูกต้อง ไม่ทราบความหมายของสูตรปุ๋ยและอัตราการใช้ แต่จะใช้ตามที่เคยใช้กันมาหรือตามคำโฆษณา ทำให้ใช้ปุ๋ยผิดชนิด ผิดเวลา และปริมาณ เช่น ชาวนาจะใช้ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) ปริมาณมากเพื่อให้ใบข้าวมีสีเขียว แต่กลับทำให้ต้นข้าวอ่อนแอ เกิดการระบาดของโรค แมลง ผลผลิตต่ำ ต้นทุนสูง และปัจจุบันมีการผลิตปุ๋ยด้อยคุณภาพหรืออาหารเสริมรูปแบบต่างๆ มาหลอกขายให้เกษตรกร

ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหา สวพ.2 จึงได้ดำเนินโครงการการส่งเสริมการใช้ปุ๋ยอย่างถูกต้องมีประสิทธิภาพ และการผสม

 ปุ๋ยใช้เอง เพื่อให้เกษตรกรมีความรู้เรื่องปุ๋ย สูตรปุ๋ย สามารถใช้ปุ๋ยอย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพ โดยร่วมมือกับ ธ.ก.ส. จังหวัดสุโขทัย และ สกต.สุโขทัย นำร่องในพื้นที่ จ.สุโขทัย

นายวีรวัฒน์ นิลรัตนคุณ ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตพืชที่เหมาะสมกับพื้นที่ ภาคเหนือตอนล่าง กล่าวว่า ได้จัดทำเนื้อหาการบรรยายให้ความรู้เรื่องปุ๋ยอย่างละเอียดเป็นขั้นตอน ตั้งแต่ความหมายของสูตรปุ๋ย หน้าที่ของธาตุอาหารพืช จนถึงวิธีการใช้ปุ๋ยอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ และการผสมปุ๋ยใช้เอง ซึ่งจากการดำเนินโครงการที่ผ่านมา ได้อบรมเกษตรที่เป็นลูกค้าของ ธ.ก.ส.สุโขทัย 1,200 คน และเกษตรกรที่เป็นสมาชิก สกต.สุโขทัย 500 คน หลังการอบรมเกษตรกรมีความพึงพอใจในความรู้ที่ได้รับ และได้นำคำแนะนำไปใช้ในไร่นาของตนเอง พบว่าการใช้ปุ๋ยตามคำแนะนำให้ผลิตเพิ่มสูงขึ้น 10-30% ต้นทุนการใช้ปุ๋ยลดลง การระบาดของโรคแมลงในแปลงนาลดลงจนแทบจะไม่ต้องพ่นสารป้องกันกำจัดโรคแมลง

ปัจจุบัน สวพ.2 ได้เร่งขยายผลการใช้ปุ๋ยอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ และการผสมปุ๋ยใช้เอง ในพื้นที่รับผิดชอบ คือ จังหวัดพิษณุโลก เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร พิจิตร และตาก ผ่านโครงการขับเคลื่อนผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ โครงการบริหารจัดการเขตเกษตรเศรษฐกิจสำหรับสินค้าที่สำคัญ (Zoning Center) โครงการอบรมเพิ่มผลิตภาพการผลิตของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งปี 2558/59 และจากปัญหาราคาสินค้าเกษตร ซึ่งได้รับการตอบรับจากเกษตรกรเป็นอย่างดี ทั้งนี้ เกษตรกรที่สนใจวิธีการใช้ปุ๋ยอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพและการผสมปุ๋ยใช้เอง สามารถสอบถามได้ที่สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2 หมายเลขโทรศัพท์ 0-5531-1990 ในเวลาราชการ

จาก http://www.naewna.com วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ผลกระทบสินค้าส่งออกของไทยจาก BREXIT

โดย ฝ่ายวิจัยธุรกิจ EXIM BANK

ผลการลงประชามติ : สหราชอาณาจักรต้องการออกจาก Eu

สดุท้ายผลการลงประชามติของชาวสหราชอาณาจกัร (UK) แสดงให้เห็นว่า ต้องการที่จะให้อังกฤษแยกตัวออกจากอียู โดยกลุ่มผู้สนับสนุนให้อังกฤษออกจากอียู ได้คะแนนโหวต 52% ขณะที่กลุ่มสนับสนุนให้อยู่ต่อได้ 48% หลังจากนี้อังกฤษยังจะต้องใช้เวลาเจรจากับอียูอีกอย่างน้อย 2 ปี ถึงรูปแบบการออกจากอียู โดยเฉพาะข้อตกลงทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ทำให้ในระยะสั้นยังไม่อาจถือได้ว่าอังกฤษได้ออกจากอียูแล้ว เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความปั่นป่วนให้กับเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะประเด็นความผันผวนของค่าเงินปอนด์ ซึ่งคาดว่าจะเป็นปัจจัยส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในระยะสั้น ขณะที่ผลที่แท้จริงของการออกจากอียู ทั้งภาวะเศรษฐกิจและนโยบายที่เปลี่ยนแปลงไป คาดว่าจะเกิดขึ้นในอีก 2 ปีข้างหน้าเป็นอย่างน้อย

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2559

กรมชลฯส่งสัญญาณ "เกษตรกร" เตรียมเพาะปลูก

กรมชลประทานแนวโน้มสภาพฝนจากสัปดาห์นี้ไปถึงต้นเดือน ก.ค. 2559 จะมีฝนมากกว่าต้นฤดู ส่งผลดีต่อสภาพน้ำทั่วประเทศ

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยภายหลังประชุมคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์น้ำว่า จากการประเมิน แนวโน้มสภาพฝนจากสัปดาห์นี้ไปถึงต้นเดือน ก.ค. 2559 จะมีฝนมากกว่าต้นฤดู เพราะมีอิทธิพลร่องมรสุมกำลังแรงขึ้นทำให้มีฝนตกต่อเนื่องที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคเหนือ

โดยจะมีภาวะฝนทิ้งช่วงเพียงระยะสั้นๆ2-3 วันเท่านั้น ทั้งนี้ล่าสุดในพื้นที่ชลประทานมีการปลูกข้าวแล้วประมาณ 2 ล้านไร่

ทั้งนี้จากสภาพฝนที่ตกทั่วประเทศที่ผ่านมาส่วนมา เป็นฝนตกในพื้นที่ชายขอบประเทศ แต่ก็ส่งผลดีต่อสภาพน้ำทั่วประเทศ อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีฝนมากกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาประมาณ 43% โดยมีน้ำใช้การได้ใน4 เขื่อนหลัก ณ วันที่ 27 มิ.ย. ประมาณ 1,300 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) ซึ่งมีปริมาณน้ำใช้การมากว่าปีที่แล้ว 330 ล้านลบ.ม

เป็นสัญญาณให้เห็นว่าสถานการณ์น้ำต้นทุนฤดูแล้งหน้าปี60 มีน้ำดีขึ้นกว่า2-3ปีที่ผ่านมาประสบภาวะภัยแล้งยาวนาน

สำหรับปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนภูมิพล ช่วง7 วัน มีน้ำสะสม 43 ล้านลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ 48 ล้านลบ.ม เขื่อนแควน้อยฯ 17 ล้านลบ.ม. เขื่อนป่าสักฯ15 ล้านลบ.ม. อย่างไรก็ตามยังคงอัตราระบายวันละ18 ล้านลบ.ม. เพื่อกินใช้และรักษาระบบนิเวศเท่านั้น ยังไม่ปล่อยน้ำเข้าคลองชลประทานเพื่อเพาะปลูก

นายทองเปลว กล่าวว่าปีนี้แนวโน้มมีฝนมากจะเห็นว่าหลายประเทศก็เกิดปัญหาน้ำท่วมแล้ว ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานเตรียมความพร้อมแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ซึ่งพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะรมว.เกษตรฯได้กำชับ กรมชลประทาน บูรณาการทำงานอย่างใกล้ชิด กับกทม.และกระทรวงมหาดไทย เพื่อจัดการระบายให้เร็วในจุดน้ำท่วมขัง โดยกรมชลฯดูแลรอบนอกกรุงเทพฯ ปริมณฑล และในส่วนต่างจังหวัด โดยสำนักงานชลประทาน ทุกแห่งได้ตรวจสอบความพร้อม ประตูน้ำ อาคารชลประทาน มีระบบแจ้งเตือน และเตรียมการขุดลอกคลองต่างๆรองรับปริมาณน้ำได้มากไม่เกิดน้ำท่วมหนักเหมือนปี54

ทั้งนี้ศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรฯ รายงานว่า ผลการปฏิบัติการฝนหลวง ตั้งแต่เริ่มตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธุ์ – 26 มิถุนายน 2559 เปิดหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 16 หน่วย ได้แก่ หน่วยปฏิบัติการจังหวัดเชียงใหม่ พิษณุโลก ตาก นครสวรรค์ กาญจนบุรี ลพบุรี นครราชสีมา อุดรธานี ขอนแก่น อุบลราชธานี จันทบุรี สระแก้ว อำเภอหัวหิน ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี สงขลา และชุมพร ซึ่งปรับเป็นฐานเติมสารฝนหลวง 2 หน่วย ได้แก่ หน่วยปฏิบัติการจังหวัดนครสวรรค์ จันทบุรี และปิดหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 3 หน่วย ได้แก่ หน่วยปฏิบัติการอุดรธานี อำเภอหัวหิน ประจวบคีรีขันธ์ และสงขลา

ปัจจุบันเปิดหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 11 หน่วย ได้แก่ หน่วยปฏิบัติการจังหวัดเชียงใหม่ พิษณุโลก ตาก กาญจนบุรี ลพบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น อุบลราชธานี สระแก้ว สุราษฎร์ธานี และชุมพร

ผลการปฏิบัติการฝนหลวงประจำวันที่ 26 มิ.ย. 2559 มีการปฏิบัติการฝนหลวง 8 หน่วย ได้แก่ หน่วยฯ เชียงใหม่ พิษณุโลก ตาก กาญจนบุรี ลพบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น และสระแก้ว จำนวน 28 เที่ยวบิน

สรุปผลรวมปฏิบัติการตั้งแต่เริ่มตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง (15 ก.พ. - 26 มิ.ย. 2559) มีการขึ้นปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 115 วัน มีวันฝนตกจากการปฏิบัติการฝนหลวงคิดเป็น 93.8% ขึ้นปฏิบัติงานจำนวน 2,638 เที่ยวบิน (3,601:25 ชั่วโมงบิน) จังหวัดที่มีรายงานฝนตกรวม 70 จังหวัดและทำให้มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างสะสม 456.014 ล้าน ลบ.ม

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ตลาดเงินผันผวนหนัก

                    ตลาดเงินยังวุ่นต่อ! บาทผันผวน-ปอนด์และยูโรร่วง คาดป่วนไปทั้งสัปดาห์ หลังรอประเมินผลกระทบจากสหราชอาณาจักรถอนตัวอียู

                    น.ส.รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการ ผู้บริหารฝ่ายวิเคราะห์ตลาดการเงิน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ตลาดเงินช่วงเช้าวันนี้ (27 มิ.ย.59) ยังคงผันผวนต่อเนื่องจากวันศุกร์ที่ 24 มิ.ย.59 เนื่องจากตลาดยังอยู่ช่วงประเมินผลกระทบและความเสียหายจากการที่สหราชอาณาจักรถอนตัวจากสหภาพยุโรป(อียู) ส่งผลให้สกุลเงินปอนด์ และยูโรอ่อนค่าลงอีก โดยล่าสุดปอนด์อ่อนค่าลงอีก 2% อยู่ที่ 1.339 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปอนด์ หลังจากเมื่อวันศุกร์ที่ 24 มิ.ย.อ่อนค่าไปมากกว่า 10% ขณะที่เงินยูโรมีทิศทางอ่อนค่าลง ล่าสุดอยู่ที่ 1.102 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อยูโร

ส่วนค่าเงินบาทยังมีความผันผวนต่อ โดยเปิดตลาดวันนี้ (27 มิ.ย.) ที่ 35.40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่ากว่าปิดตลาดวันศุกร์ (24 มิ.ย.) ที่ 35.35 บาทต่อดอลลาร์ฯ แต่ระหว่างช่วงเช้าได้มีแรงซื้อเข้ามาทำให้กลับมาแข็งค่าขึ้นอยู่ที่ 35.35 บาทต่อดอลลาร์ อย่างไรก็ตามแนวโน้มตลาดเงินยังมีทิศทางผันผวนไปตลอดทั้งสัปดาห์ จนกว่าจะประเมินความเสียหายจากสหราชอาณาจักรแยกตัวออกจากอียูเสร็จ โดยสกุลเงินปอนด์ ยูโร ยังอ่อนค่าได้ต่อ ขณะที่สกุลเงินเยน และดอลลาร์สหรัฐจะแข็งค่าขึ้นได้ ส่วนค่าเงินบาทประเมินทั้งสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวในกรอบ 35.15-35.60 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

จาก http://www.dailynews.co.th   วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ปรับแผนบริหารอนุรักษ์พลังงาน หวังขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ให้ได้ตามเป้า

พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุม “แนวคิดและเครื่องมือในการบริหารจัดการกองทุนแบบบูรณาการและมุ่งผลสัมฤทธิ์” ว่า การบริหารจัดการโครงการจะประสบความสำเร็จ ผู้ปฏิบัติงานต้องมีองค์ประกอบ 4 ประการ คือ 1.ผู้พัฒนาโครงการต้องมีความรู้ (Knowledge) 2.ทีมงานของผู้พัฒนาโครงการจะต้องมีทักษะ (Skill) 3.โครงการที่พัฒนาต้องมีนวัตกรรม (Innovation) และ 4.การประสานงานจะต้องเป็นไปแบบบูรณาการ (Integration)

ทั้งนี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยในการจัดประชุมครั้งนี้ เพื่อส่งสัญญาณการบริหารจัดการกองทุน มุ่งผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ปรับปรุงกระบวนการให้มีความกระชับฉับไวและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และผู้เกี่ยวข้อง ได้นำทักษะความรู้ที่ได้รับมาประยุกต์ใช้ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน และมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการขับเคลื่อนแผนอนุรักษ์พลังงาน และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดในปี 2558-2579

โดยแบ่งเป้าหมายเป็น 2 แผน ได้แก่ 1.แผนอนุรักษ์พลังงาน จะลดความเข้มการใช้พลังงาน (Energy Intensity : EI) 30% ในปี 2579 เมื่อเทียบกับปี 2553 หรือลดการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายของประเทศลง 56,142 พันตัน เทียบเท่าน้ำมันดิบ (ktoe) และ2.แผนพลังงานทดแทน ทำให้สัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนจากเดิม 9,201 ktoe คิดเป็น 11.9% ในปี 2557 เพิ่มเป็น 39,389 ktoe ในปี 2579 คิดเป็น 30% ของปริมาณการใช้พลังงานขั้นสุดท้าย

ในทั้ง 2 แผนจะช่วยบรรเทาการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้พลังงาน 99 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายไทยในการจะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการผลิตและใช้พลังงาน ตามถ้อยแถลง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศสมัยที่ 21 (COP21) ว่าไทยจะพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ระดับ 20-25% หรือประมาณ 111-139 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี ภายในปี 2573 จากกรณีปกติ

ส่วนยุทธศาสตร์การใช้จ่ายเงินกองทุนในปีงบประมาณ 2560-2564 ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) แล้วเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2559 ทั้งนี้กรอบการใช้จ่ายเงินกองทุนเป็นการประมาณการภาพรวมของภาระงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคตระยะ 5 ปี มีลักษณะเป็น Rolling Plan ปรับแผนงาน/โครงการและประมาณการรายจ่ายทุกปี เนื่องจากอาจมีการเปลี่ยนแปลงในปัจจัยต่างๆ เช่น นโยบาย/ยุทธศาสตร์ใหม่ที่รัฐบาลกำหนด สภาพการทางเศรษฐกิจและสังคม ผลการดำเนินงาน เป็นต้น

นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า สนพ.ได้ขานรับนโยบายสู่การปฏิบัติในการกลั่นกรอง ติดตาม และประเมินผลโครงการต่างๆของกองทุน สำหรับโครงการสำคัญที่รองรับยุทธศาสตร์ด้านต่างๆ ในอนาคตเพื่อให้บรรลุเป้าหมายปี 2558-2564 อาทิ กำกับดูแลการอนุรักษ์พลังงานกับเจ้าของโรงงานควบคุม 7,260 โรงงาน และอาคารควบคุม 4,400 อาคาร 90% ดำเนินการจัดการพลังงาน มีเป้าหมายปี 2564 ลดการใช้พลังงานได้ประมาณ 2,237 ktoe เป็นต้น

จาก http://www.naewna.com วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2559

พลิกโฉมธุรกิจไทยด้วย‘ดิจิทัล4.0’

โมเดลปฏิรูปเศรษฐกิจที่เรียกว่า “ประเทศไทย 4.0” ของรัฐบาล กำหนดการขับเคลื่อนในลักษณะ “Innovative Driven Economy”

โดยเกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญใน 3 มิติคือ 1.เปลี่ยนจากการผลิตสินค้า “โภคภัณฑ์” ไปสู่สินค้าเชิง “นวัตกรรม” 2.เปลี่ยนจากการขับเคลื่อนประเทศด้วยภาคอุตสาหกรรมไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม และ 3.เปลี่ยนจากการเน้นภาคการผลิตสินค้าไปสู่การเน้นภาคบริการ หรือ “Smart Enterprise” ที่การแข่งขันไม่ได้ขึ้นอยู่กับขนาดของธุรกิจ แต่เป็นการนำนวัตกรรมและไอเดียมาสร้างเป็นโมเดลธุรกิจที่เพิ่มคุณค่าและสร้างมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ

อุไรพร ชลสิริรุ่งสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์มเมชั่น บริษัท มายรัม (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “นวัตกรรมด้านดิจิทัล” เป็นองค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจตามแนวนโยบายประเทศไทย 4.0 หากมองย้อนหลังไปพบว่าดิจิทัลได้แปลงรูปจากการใช้อินเทอร์เน็ตและเว็บไซต์ทั่วไปในยุค “ดิจิทัล 1.0” มาเป็นแพลตฟอร์มของการตลาดยุคดิจิทัลที่เปิดโอกาสให้ผู้คนสามารถสื่อสารและสร้างคอนเทนท์ผ่านช่องทางโซเชียลในวงกว้างในยุค “ดิจิทัล 2.0”

    สำหรับประเทศไทยในปัจจุบัน ดิจิทัลอยู่กับผู้คนผ่านระบบการสื่อสารในลักษณะคลาวน์คอมพิวติ้ง ที่ข้อมูลเกือบทุกลักษณะถูกจัดเก็บและสามารถถูกเรียกผ่านแพลตฟอร์มทางธุรกิจไม่ว่าจะเป็นออนไลน์เซอร์วิส ออมนิ แชนแนล (Omni-Channel) การดูหนังฟังเพลงหรือแม้กระทั่งการสอบถามข้อมูลจากระบบดิจิทัลสมองกลอัจฉริยะผ่านโมบาย อย่าง Siri หรือ Watson ในยุค “ดิจิทัล 3.0”

    ดังนั้นการเปลี่ยนผ่านของดิจิทัลไปสู่ยุค“ดิจิทัล 4.0” จึงเป็นความสามารถในการทรานส์ฟอร์มธุรกิจของผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์บนความพร้อมขององค์กรและทรัพยากร โดยการประยุกต์ใช้นวัตกรรมข้อมูลเชิงลึก (Analytics) เพื่อรองรับการใช้งานของผู้บริโภคและฝ่ายปฏิบัติงานขององค์กร การออกแบบที่คำนึงถึงผู้ใช้งานเป็นศูนย์กลาง (User-Centered Design) การทำงานและการสื่อสารของอุปกรณ์ในลักษณะ Machine-2-Machine หรืออินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ (IoT) ตลอดจนการปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานเพื่อรองรับความต้องการของธุรกิจและองค์กร สู่การสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ที่เพิ่มมูลค่าและคุณค่าให้กับสินค้าและบริการอย่างก้าวกระโดด

นวัตกรรมขับเคลื่อนธุรกิจ

“ประเทศไทย 4.0” เป็นการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทยไปสู่ “Value-Based Economy” หรือ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” ซึ่งมุ่งเป้าหมายใน 5 กลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม ประกอบด้วย 1. เทคโนโลยีการเกษตร (Agritech) เทคโนโลยีอาหาร (Foodtech) 2. เทคโนโลยีสุขภาพ (Healthtech) เทคโนโลยีการแพทย์ (Meditech) 3.เทคโนโลยีหุ่นยนต์ (Robotech) 4.อินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ (IoT) เทคโนโลยีด้านการเงิน (Fintech) เทคโนโลยีด้านการศึกษา (Edutech) และมาร์เก็ตเพลส 5. เทคโนโลยีการออกแบบ (Designtech) เทคโนโลยีการท่องเที่ยว (Traveltech) ธุรกิจไลฟ์สไตล์ (Lifestyle Business) และการเพิ่มประสิทธิภาพการบริการ (Service Enhancing)

    อุตสาหกรรมคงต้องบุกเบิกและพัฒนาความพร้อมในการสร้างนวัตกรรมหรือประยุกต์ใช้นวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจและสร้างผลลัพธ์ตามเป้าหมาย ตัวอย่าง การใช้หุ่นยนต์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในอุตสาหกรรมที่กลุ่มบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และโมบายในประเทศจีนนำมาใช้ในการกระบวนการผลิต โดย 35 บริษัทผู้ผลิตจากไต้หวันได้ใช้เงินวิจัยและลงทุนกับนวัตกรรมเทคโนโลยีหุ่นยนต์กว่า 4 พันล้านหยวน ทำให้สามารถแทนที่การใช้แรงงานคนจาก 110,000 คนลงเหลือ 50,000 คน ช่วยลดต้นทุนการบริหารจัดการ เพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันและลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุ

    ดังนั้นนอกจากเงินลงทุนกับการพัฒนานวัตกรรมหรือการประยุกต์ใช้นวัตกรรมแล้ว องค์กรต้องมีความพร้อมด้านทรัพยากรบุคคล ความสามารถในการปรับกระบวนการทำงานและความรวดเร็วในการบริหารจัดการธุรกิจ ตลอดจนการใช้ข้อมูลเชิงลึกเพื่อเพิ่มโอกาสในการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือสร้างโมเดลธุรกิจที่ตอบโจทย์การแข่งขัน

มุ่ง‘ดิจิทัลทรานส์ฟอร์ม’

อุไรพร  กล่าวว่าวิสัยทัศน์ของผู้บริหารในการสร้างความรู้และความเข้าใจกับดิจิทัลหรือนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ เป็นโจทย์ที่ “ท้าทาย”ขององค์กรในยุคดิจิทัล4.0 สำหรับองค์กรจำนวนมากในประเทศที่มีความพร้อมทางเทคโนโลยีได้ก้าวข้ามสู่ “ดิจิทัลทรานส์ฟอร์มเมชั่น (Digital Transformation)” เน้นการดำเนินงานที่มุ่งเป้าไปถึงความสำเร็จในการสร้างความสัมพันธ์และความพึงพอใจของธุรกิจและลูกค้าผ่านกระบวนการออกแบบที่คำนึงถึงผู้ใช้งานเป็นศูนย์กลาง

โดยการปรับกระบวนการทำงานเพื่อให้รองรับการใช้งานข้อมูล การทำงานร่วมกันของระบบและฟังก์ชั่นที่ช่วยการทำงานของพนักงาน ตลอดจนการเข้าใจถึงความต้องการที่แท้จริงของตลาดและลูกค้าเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์หรือโมเดลธุรกิจที่ขยายฐานไปยังลูกค้ากลุ่มใหม่ได้อย่างถาวร  เช่น การทรานส์ฟอร์มของจีอี (GE) ในการเป็นผู้นำด้าน Digital Power Plant และ Digital Wind Farm ที่ผู้บริหารระดับสูงกำหนดวิสัยทัศน์และขับเคลื่อนองค์กรไปสู่โมเดลธุรกิจใหม่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงเป้าหมาย

ขับเคี่ยวกลยุทธ์การตลาดยุคดิจิทัล4.0

ความแข็งแกร่งของ “แพลตฟอร์ม”ขนาดใหญ่เช่น เฟซบุ๊ค กูเกิล แอ๊ปเปิ้ลและไลน์ มีอิทธิพลต่อการเข้าถึงผู้บริโภคและลูกค้ามากขึ้นทุกวัน

จาก“โซเชียล มีเดีย”ที่เน้นการสื่อสารระหว่างเพื่อน เปลี่ยนเป็นแพลตฟอร์มในการโฆษณาและกำลังทรานส์ฟอร์มไปเป็นแพลตฟอร์มในการขายออนไลน์ ทำให้แบรนด์และพันธมิตรของแพลตฟอร์มเหล่านี้ต้องวิ่งตามให้ทันต่อการล้วงลึกของข้อมูลที่แพลตฟอร์มสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์ได้

ส่งผลต่อกลยุทธ์การตลาด สื่อสารและการขาย ตลอดจนการแย่งชิงลูกค้าจากแบรนด์อื่น!!

    นวัตกรรม IoT จะเปิดกว้างให้สิ่งของสามารถสื่อสารกันเองและสื่อสารไปยังผู้บริโภค การปรากฎตัวของแบรนด์หรือการสร้างกิจกรรมต่างๆ ตรงไปยังอุปกรณ์เหล่านี้ย่อมมีความเป็นไปได้มาก อาทิ การส่งโปรโมชั่นไปยังตู้เย็น หรือคอนโซลของรถยนต์ การสั่งซื้อสินค้าอัตโนมัติจากเครื่องต้มกาแฟหรือการส่งคูปองไปยังลูกค้าที่เลือกชมสินค้าในโชว์รูมผ่านแอพที่กำลังจะขยายตัวอีกมาก

    ดังนั้นยุคดิจิทัล 4.0 จึงเป็นยุคของการแข่งขันด้านวิสัยทัศน์ ไอเดีย ข้อมูล ความเร็วและบุคลากร ที่จะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมและธุรกิจให้รุกหน้าไปพร้อมกับการสนับสนุนจากภาครัฐและจากการร่วมมือของพันธมิตรในเครือข่ายต่างๆ

คงถึงเวลาแล้วที่องค์กรต้องประยุกต์ใช้ “ดิจิทัลทรานส์ฟอร์มเมชั่น”ให้เหมาะสมและทันการณ์

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2559

3 กูรูโลกชี้ช่องสางปัญหา ไทยดันตั้ง "สภาพัฒน์น้ำ" - แก้ กม.ป่า

นับจากปี 2554 ที่น้ำท่วมหนักมาจนถึงกลางปี 2559 สภาวะน้ำท่วม-น้ำแล้งเกิดการเหวี่ยงตัวค่อนข้างรุนแรง ล่าสุดประเทศไทยเกิดภาวะฝนตกน้อย และแล้งรุนแรงในปี 2557-2558 ต่อเนื่องมาถึง 4 เดือนแรกปี 2559 น้ำในเขื่อนใหญ่แห้งขอด มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จึงได้จัดงาน "Thailand Sustainable Water Management Forum 2016" ประสานความร่วมมือภาครัฐ เอกชน และประชาสังคมส่งเสริมการเรียนรู้และความจำเป็นของการบริหารจัดการน้ำสู่หนทางป้องกันน้ำท่วมน้ำแล้งอย่างยั่งยืนขึ้น โดยมีการเชิญผู้บริหารการจัดการน้ำจากประเทศสิงคโปร์ อิสราเอล และเนเธอร์แลนด์ มาให้องค์ความรู้ระดับโลกสู่ระดับชุมชนที่จะต้องพึ่งตนเองมากขึ้น

สิงคโปร์ยก "น้ำ" นโยบายชาติ

ริสซวน บิน อิสมาอิล ผู้อำนวยการกรรมการลุ่มน้ำและแหล่งน้ำสิงคโปร์ กล่าวว่า รัฐบาลสิงคโปร์โดยอดีตผู้นำ ลี กวน ยู เคยมอบนโยบายไว้ว่า น้ำ คือความมั่นคงของประเทศ การบริหารจัดการน้ำต้องเป็นปัจจัยหลักสำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งในอดีตสิงคโปร์ขาดแคลนทรัพยากรน้ำ จำเป็นต้องซื้อน้ำจากมาเลเซีย รวมถึงภัยธรรมชาติทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วม แต่ปัจจุบันรัฐบาลตั้งหน่วยงานจัดการน้ำทั้งวัฏจักร โดยการกักเก็บน้ำฝน นำน้ำกลับมาใช้ใหม่ให้มากที่สุด และระบบบำบัดน้ำเพื่อส่งต่อไปยังโรงงานอุตสาหกรรมและบำบัดน้ำลงสู่ดิน (Reclem Water) และต้องอาศัยระบบ Hardwere ที่ต้องควบคุมการใช้น้ำเพื่อการอุตสาหกรรมและประชาชนให้สมดุล

เมื่อปี 2550 ต้องเผชิญภัยแล้งหนัก หนึ่งในวิธีการแก้ปัญหาคือ New Water รูปแบบ PPP รัฐและเอกชนตลอดจนประชาชนร่วมแก้ไขปัญหา โดยการนำน้ำเสียจากภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรมมาผ่านกรรมวิธี Microfiltration, Reverse Osmosis ฆ่าเชื้อได้น้ำดิบคุณภาพดี แล้วนำกลับเข้าไปใช้ในกระบวนการผลิตและการหล่อเย็นของภาคอุตสาหกรรม ส่วนที่เหลือจะถูกนำไปรวมกับแหล่งน้ำดิบเพื่อผลิตน้ำประปาสู่ประชาชนอีกครั้ง ที่สำคัญคือยุทธศาสตร์นี้จะเป็นการลดปัญหาความขัดแย้งแย่งชิงทรัพยากรน้ำ

สร้างแผนแม่บทน้ำ 50 ปี

สิงคโปร์มีมาตรการเก็บภาษีน้ำสูง ชนิดที่ว่าหากใครใช้น้ำมาก ค่าใช้จ่ายก็ต้องมาก เช่น 1.กำหนดราคา (Pricing) เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงคุณค่าของน้ำ ซึ่งผู้นำ ลี เซียน ลุง เคยกล่าวไว้ว่า "ถ้าให้ใช้น้ำฟรี มักจะไม่มีใครเห็นคุณค่า" ซึ่งก็เป็นมาตรการที่ค่อนข้างจะได้ผล 2.มาตรการบังคับ เช่น เครื่องซักผ้า อุปกรณ์ครัวเรือนต่าง ๆ จะต้องอยู่ในระบบน้ำที่เหมาะสมถึงจะสามารถวางจำหน่ายได้ หรือหากผู้ใดใช้มากกว่า 60,000 คิวบิกเมตร จะมีระบบตรวจมิเตอร์เฉพาะเพื่อดูว่าจะประหยัดลงอีกหรือไม่ หากยังไม่ปฏิบัติตามจะถูกสั่งให้เขียนแผนลดการใช้น้ำมาให้ภาครัฐพิจารณาปรับตามสมควร และ 3.มาตรการสมัครใจ ประชาชนต้องช่วยกันประชาสัมพันธ์เพื่อนบ้าน เช่น การประกวดการประหยัดน้ำชิงรางวัล เพื่อกระตุ้นตระหนักถึงการใช้น้ำภาคครัวเรือนของประชาชน ทั้งนี้ รัฐบาลยังมีแนวคิดการบริหารน้ำ A B C A=Active B=Beautiful C=Certify สิงคโปร์จะต้องเป็นผังเมืองแห่งสวนน้ำที่สวยและมีคุณภาพ นอกจากนี้สิงคโปร์ยังกำหนดแผนแม่บทยุทธศาสตร์น้ำระยะยาวถึง 50 ปี แบ่งเป็นน้ำภาคครัวเรือน 30% อีก 70% ใช้ด้านอื่น ๆ แล้วนำมาบำบัดใช้ซ้ำแล้วซ้ำอีก และการผลิตน้ำเค็มเป็นน้ำจืด

อิสราเอล น้ำน้อย แต่ไม่แล้ง

ไวเบอร์เกอร์ กราฟเรียน ผู้อำนวยการสถาบันอุทกวิทยาอิสราเอล กล่าวว่า การจัดการน้ำเป็นโจทย์ท้าทายรัฐบาล เรียกได้ว่ากล้าที่จะพัฒนาระบบน้ำโดย "เริ่มจากศูนย์" เพื่อความอยู่รอดก่อน มีการนำน้ำบาดาลมาใช้เพื่อการชลประทานสู่การรียูส แต่ยังไม่มีน้ำเพื่อการอุตสาหกรรมมากนัก

15 ปีที่ผ่านมา อิสราเอลใช้น้ำธรรมชาติมาโดยตลอด ถึงขนาดที่ว่าปี 2004 อิสราเอลต้องทำสัญญานำเข้าน้ำ นั่นเป็นที่มาของจุดเปลี่ยนรัฐบาล จึงได้จัดตั้ง Water Playground ให้หน่วยงานและทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมกันพัฒนาบริหารจัดการน้ำให้เป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพ เริ่มจากนำน้ำทะเลมาทำเป็นน้ำจืดผ่านกระบวนการของโรงงานกว่า 50% ที่สำคัญคือการจัดการระบบน้ำเสีย น้ำทิ้ง รัฐบาลตั้งเป้าว่าในอนาคต ประชาชนต้องได้ดื่มน้ำประปาที่สะอาดและต้องทำให้ได้กว่า 90% โดยรัฐบาลยึดแนวคิดที่ว่า "1 หยด ล้ำหน้าเสมอ"

รัฐบาลอิสราเอลมุ่งเน้นการพัฒนาระบบน้ำ R&D เป็นอันดับหนึ่ง จากเพื่ออยู่รอดต้องนำไปสู่ความยั่งยืน ต้องคิดล่วงหน้าและต่อเนื่อง นั่นคือแนวนโยบายหลัก

น่าสนใจว่าด้วยปัญหาภัยแล้งที่อิสราเอลต้องเผชิญนั้น "การบริหารจัดการเชื่อมโครงข่ายน้ำจืดด้วยระบบท่อใต้ดิน" เพื่อนำน้ำจืดจากทางเหนือลงใต้ การอุปโภคบริโภคและผลิตไฟฟ้าจะเน้นการเติมน้ำลงสู่ใต้ดินบริเวณพื้นที่ทะเลทรายช่วงฤดูหนาว กลั่นน้ำจืดจากน้ำทะเล ปรับวิถีเกษตรแบบใช้น้ำน้อย โดย 70% ของประเทศเป็นระบบชลประทานน้ำหยด อีก 30% ปลูกพืชด้วยระบบสปริงเกิล และมีระบบเตือนภัยด้วยสมาร์ทโฟน

เนเธอร์แลนด์จี้ตั้งผู้นำรับน้ำท่วม

ทีจิต อาร์ โนตา ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการจากสถาบันเดลทาเรส ประเทศเนเธอร์แลนด์บอกว่า เนเธอร์แลนด์มียุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำระยะยาว 100 ปี ทั้งออกแบบผังเมืองจากเทศบาลสู่เมืองหลวงเพื่อวางโครงสร้างบริหารน้ำให้เหมาะสม ขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับสภาวะโลกปัจจุบันClimate Change ต้องตื่นตัวและพร้อมที่จะปรับตัวตลอดเวลาและต้องมองระยะยาวให้มาก จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ไทยจะต้องปรับแผนจากตั้งรับเป็นเชิงรุก วางแผนให้มากกว่า 5-10 ปี เพื่อความยั่งยืน (Sustainable) เปลี่ยนวิธีคิดจากบนลงล่าง เป็นให้ทุกฝ่ายร่วมด้วยช่วยกัน ควรทำเป็นทีม อย่าสะเปะสะปะ

5 ข้อสรุป ที่ไทยต้องแก้

ส่วนทางด้านการหารือภาครัฐและเอกชนของไทย ทั้งในด้านการเพิ่มปริมาณน้ำด้านความต้องการ และการบริหารจัดการน้ำตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำนั้น

ได้ข้อสรุป 5 ข้อ คือ 1.การประสานงานกลาง ควรมีหน่วยงานหลักเปรียบเป็นสภาพัฒน์เรื่องน้ำ 2.อย่ามัวแต่คอยความช่วยเหลือจากรัฐ หรือข้างบน 600 กว่าโครงการในการจัดการน้ำชุมชนได้มีการทำแล้วถือเป็นการทำจากข้างล่าง 3.ปัญหาป่าไม้ยังติดขัดหลายประการ อยู่ในกฎหมายหลายฉบับ ควรทบทวนกฎระเบียบที่ไม่เหมือนกันให้สอดคล้องกันยิ่งขึ้น หากจะจัดการน้ำให้เป็นระบบที่สมบูรณ์ 4.ต้องมีการฟื้นฟูแหล่งน้ำเดิม อย่าปล่อยให้เสื่อมโทรม และ 5.มีระบบการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพ การทำนาที่ใช้น้ำต่อไร่สูงถึง 2,000 ลบ.ม. ควรลดลงมาเหลือเท่าจีน ที่ให้ผลผลิตสูงกว่าแต่ใช้น้ำเพียง 1,000 ลบ.ม.

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2559

"บ่อจิ๋ว" แค่ 2,500บาท พัฒนาที่ดินจัดให้!!

กรมพัฒนาที่ดิน แนะสำรองน้ำด้วย "บ่อจิ๋ว" รับน้ำฝนฤดูกาลนี้ แก้ขาดน้ำ มีแหล่งกักเก็บน้ำเพื่ออุปโภค บริโภค เพาะปลูก เกษตรกรสนใจร่วมโครงการฯ เปิดสายด่วนรับ

             นายปราโมทย์ ยาใจ รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดินด้านปฏิบัติการ เปิดเผยว่า "บ่อจิ๋ว" เป็นอีกหนึ่งโครงการสำคัญของรัฐบาล ในการส่งเสริมศักยภาพการผลิต โดยจัดหาแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำไว้ใช้ในพื้นที่ และเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร โดยการขุดสระเก็บน้ำประจำไร่นาขนาด 1,260 ลูกบาศก์เมตร ในพื้นที่เกษตรกรที่มีเอกสารสิทธิ์ และให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการออกค่าใช้จ่าย 2,500 บาท/บ่อ

              โดยที่ผ่านมา กรมพัฒนาที่ดิน ได้ประชาสัมพันธ์ข้อมูลผ่านสื่อต่างๆ รวมถึงหน่วยงานในพื้นที่ หมอดินอาสา และผู้นำท้องถิ่น เพื่อทำความเข้าใจและสำรวจความต้องการของเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการโดยสมัครใจ ตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบันแล้วทั้งสิ้น 352,690 บ่อ

               รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับในช่วงฤดูฝนปี 2559 โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรมีความพร้อมแล้วที่จะรองรับฤดูฝนที่กำลังจะมาถึงนี้ จึงอยากฝากถึงเกษตรกรให้เตรียมสำรองน้ำเพื่อไว้ใช้ในการเพาะปลูกครั้งต่อไป

               พร้อมระบุ เกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน สามารถแจ้งความจำนงได้ที่หมอดินอาสาใกล้บ้าน หรือสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต,สถานีพัฒนาที่ดินจังหวัด หรือติดต่อสายด่วนกรมพัฒนาที่ดิน เบอร์ 1760

              ทั้งนี้ โครงการ "บ่อจิ๋ว" ให้เจ้าของที่ดินเสียเงินสมทบ จำนวน 2,500 บาทดังกล่าว จะได้บ่อขนาดความจุ 1,260 ลูกบาศก์เมตร ขนาด 34*20*3 เมตร

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ส่งออก5เดือนยังไม่ฟื้น/สั่ง‘ทูตพาณิชย์’รับมือ ผวา‘อียู’ป่วนการค้าโลก

 “พาณิชย์” แถลงยอดส่งออกพ.ค.พบติดลบ 4.4% ส่งผล 5 เดือนติดลบ 1.9% หวั่นกรณีอังกฤษลอยแพ “อียู” ป่วนส่งออกซ้ำ สั่ง “ทูตพาณิชย์” จับตาสถานการณ์ แต่ยังเชื่อส่งออกยังโตตามเป้า

นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ แถลงการส่งออกเดือนพฤษภาคม 2559 ว่า มีมูลค่า 17,616 ล้านเหรียญสหรัฐ ลบ 4.40% เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคมปีก่อน แต่ขยับดีขึ้นจากเดือนเมษายนที่ติดลบ 8%

ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 16,079 ล้านเหรียญสหรัฐ บวก 0.50% จึงได้ดุลการค้า 1,537 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ เมื่อมีการนำการส่งออกเดือนพฤษภาคม มาหักส่งออกสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ที่ติดลบ 18% และทองคำที่บวก 73.8% จะมีมูลค่า 15,216 ล้านเหรียญสหรัฐ จะติดลบ 4.80% ทำให้การส่งออก 5 เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่าส่งออกรวม 86,991 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลบ 1.90% ส่วนนำเข้า 76,543 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 10.25% และทำให้ได้ดุลการค้า 10,447.9 ล้านเหรียญสหรัฐ

“สาเหตุที่เดือนพฤษภาคมยังติดลบ เพราะได้รับอิทธิพลจากกระแสการค้าโลกยังชะลอตัวและมีความไม่แน่นอน จึงกระทบต่อกำลังซื้อและการนำเข้าสินค้า ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรและน้ำมันหดตัวสูงต่อเนื่อง”

โดยกลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร ติดลบ 7.4% โดยเฉพาะข้าวติดลบ 24% มันสำปะหลังติดลบ 36% น้ำตาลติดลบ 11% กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมติดลบ 2.8% เช่น รถแวน 96% จักรยานยนต์ลบ 11% คอมพิวเตอร์ลบ 10% เป็นต้น และกลุ่มสินค้าอื่นๆ ติดลบ 15.7% ด้านตลาดส่งออก ส่วนใหญ่แม้ยังติดลบแต่ติดลบในอัตราลดลง และบางประเทศกลับมาเป็นบวก เช่น สหรัฐ กลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี ออสเตรเลีย และสวิตเซอร์แลนด์

“แนวโน้มส่งออกไตรมาส 3 ยังมีความผันผวนสูง โดยเฉพาะประชามติอังกฤษออกจากอียู(เบร็กซิท) แม้ไทยส่งออกไปอังกฤษเพียง 1% และกว่าขบวนการอังกฤษออกจากอียูจะใช้เวลา 2-3 ปี แต่ระยะสั้นจะสร้างกระแสความไม่แน่นอน เพราะต้องดูผลกระทบจากค่าเงินปอนด์ ค่าเงินยูโร หากดิ่งลงจะกระทบต่อราคาสินค้าไทยสูงขึ้น ดังนั้น อาจกระทบต่อการส่งออกใน 2-3 เดือนจากนี้ ซึ่งไม่แค่อังกฤษ แต่รวมถึงประเทศในยุโรป และประเทศคู่ค้า เช่น สหรัฐ จีน ญี่ปุ่น ถือว่าเป็นเรื่องอ่อนไหวของการส่งออกไทยในช่วงครึ่งปีหลัง”

“สิ่งที่ห่วงคือค่าเงินปอนด์ดิ่งลงไปแล้วจะเกิดอะไรขึ้น เบื้องต้นจะทำให้ราคาสินค้าของไทยแพงขึ้นเมื่อเทียบกับปอนด์ ซึ่งก็น่าจะกระทบต่อการส่งออกของไทยไปอังกฤษในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า คำสั่งซื้ออาจลดลงไปได้”

อย่างไรก็ดี กรณีอังกฤษออกจากอียูจริง มองว่าน่าจะส่งผลดีต่อการค้าของไทยในการที่ไทยจะสามารถเปิดตลาดค้าสินค้าได้โดยตรงกับอังกฤษเลย เพราะประเทศอังกฤษค่อนข้างจะเปิดรับสินค้าไทยมากกว่ายุโรป เช่น สินค้าไก่ จากเดิมยุโรปจะกำหนดเป็นโควตาการนำเข้าไก่ไทย และประเทศที่ค่อนข้างมีปัญหากับไก่ไทยคือฝรั่งเศส เมื่ออังกฤษออกมา และมีส่วนตัดสินใจด้วยตัวเองก็น่าจะเจรจาเปิดตลาดค้าสินค้าได้มากขึ้นได้

 “ยังเชื่อว่าอังกฤษไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบด้านการค้าใดๆ ที่จะแตกต่างออกไปจากการที่ยังอยู่ในอียูมากนัก หรือหากจะมีการปรับเปลี่ยนก็ยังต้องมีขั้นตอนในการเจรจาอีกมาก แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงในระยะสั้นนี้ คือกรณีค่าเงินปอนด์อ่อนค่าลง และยังไม่แน่ใจว่าจะอ่อนค่าลงไปถึงระดับใด”

ด้านนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ได้สั่งการให้ทูตพาณิชย์ประจำในประเทศยุโรป รวมถึงอังกฤษ ติดตามความเคลื่อนไหวและรายงานสถานการณ์ทุกวัน หลังมติเบร็กซิท แต่อย่างไรก็ตาม ยังดำเนินการตามแผนผลักดันการส่งออกให้ได้ตามเป้าหมายคือโต 5%

จาก http://www.naewna.com วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2559

แนะจับตาปท.อื่นอาจแยกตัวEU ธปท.หวั่น'การค้า-ศก.โลก'ป่วน!

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท.กล่าวว่า ตามที่สหราชอาณาจักรได้จัดให้มีการลงประชามติและผลปรากฏเป็นการลงคะแนนเสียงข้างมากเพื่อออกจากสมาชิกของสหภาพยุโรปนั้น ธปท.ประเมินผลกระทบเบื้องต้น ว่า ผลกระทบทางตรงต่อระบบเศรษฐกิจการเงินไทยผ่านช่องทางการค้าและความเชื่อมโยงของสถาบันการเงิน คาดว่าจะค่อนข้างจำกัด แต่ไทยอาจได้รับผลกระทบทางอ้อมจากความผันผวนในตลาดการเงินโลกในระยะสั้นที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งภาวะความไม่แน่นอนจากกระแสการแยกตัวของประเทศอื่นๆ ในสหภาพยุโรป ซึ่งจะกระทบต่อการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ตลอดจนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไป

สำหรับการประเมินผลกระทบในด้านต่างๆ เบื้องต้น มีดังนี้ ผลกระทบผ่านช่องทางการค้า คาดว่าจะมีค่อนข้างจำกัด โดยหากพิจารณาระดับการค้าของไทยกับสหราชอาณาจักรโดยตรง พบว่าไทยมีสัดส่วนการส่งออกไปยังสหราชอาณาจักรคิดเป็นร้อยละ 1.8 ในปี 2558 (เป็นตลาดส่งออกที่มีความสำคัญเป็นอันดับสามในกลุ่มสหภาพยุโรป รองจากเยอรมนี และเนเธอร์แลนด์) อย่างไรก็ดี หากรวมการส่งออกที่รวมกลุ่มสหภาพยุโรป ผลกระทบก็จะเพิ่มมากขึ้น โดยสัดส่วนการส่งออกของไทยไปกลุ่มประเทศดังกล่าว (ไม่รวมสหราชอาณาจักร) มีประมาณร้อยละ 8.4

อย่างไรก็ดี ผลกระทบทางอ้อมคาดว่าจะไม่มากนัก หากปัญหาไม่ลุกลามจนก่อให้เกิดการแยกตัวของประเทศอื่นๆ ในกลุ่มสหภาพยุโรป นอกจากนี้ ยังขึ้นอยู่กับความสามารถในการปรับตัวทางเศรษฐกิจของทั้งสหราชอาณาจักรและกลุ่มสหภาพยุโรปภายหลังจากแยกตัวด้วย

ทางด้านผลกระทบต่อระบบสถาบันการเงินของไทย ประเมินว่ามีในวงจำกัดเช่นกัน เนื่องจากสถาบันการเงินของไทยมีความเชื่อมโยงทางการเงินโดยตรงกับสถาบันการเงินในสหราชอาณาจักร และประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปอื่นเพียงร้อยละ 1.31 ของสินทรัพย์รวม

สำหรับการลงประชามติอังกฤษครั้งนี้เป็นเรื่องที่ทุกคนทราบล่วงหน้ามาหลายเดือน ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยและสถาบันการเงินจึงมีเวลาเตรียมการรับมือไว้ล่วงหน้า โดยสถาบันการเงินในประเทศไทยได้ปิดความเสี่ยงฐานะเงินตราต่างประเทศไว้ล่วงหน้าแล้ว ต่างจากในช่วงวิกฤติการเงินโลกปี 2008 ที่มีการปิดสถาบันการเงินขนาดใหญ่ (Lehman Brothers) คราวนั้นเป็นเหตุการณ์ที่ตลาดไม่ได้คาดมาก่อน จึงมีปฏิกิริยาของตลาดที่รุนแรงกว่าครั้งนี้มาก นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมาสถาบันการเงินไทยได้มีการเตรียมความพร้อมและป้องกันความเสี่ยงสถานะเงินตราต่างประเทศไว้ล่วงหน้าแล้ว

อย่างไรก็ดี ประเทศไทยอาจได้รับผลกระทบจากความผันผวนในตลาดการเงินโลก ทั้งในตลาดเงินตราต่างประเทศและตลาดทุน จากความกังวลของนักลงทุนที่มีเพิ่มขึ้นและการปรับฐานะการลงทุนระหว่างประเทศให้ตอบสนองกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งความผันผวนของราคาสินทรัพย์และเงินทุนเคลื่อนย้ายที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงนี้ ถือเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้ในระยะสั้นและเป็นที่คาดหมายไว้ล่วงหน้าแล้ว

โดยล่าสุดพบว่า ค่าเงินปอนด์สเตอร์ลิงและค่าเงินยูโรปรับอ่อนค่าลงร้อยละ 8.0 และ 3.2 ตามลำดับ (ณ เวลา 13.00 น.) จากวันก่อนประกาศผลการลงประชามติ ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์ สรอ. ค่าเงินเยน รวมทั้ง ราคาทองค าปรับเพิ่มขึ้นตามความต้องการลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย สำหรับค่าเงินบาทปรับอ่อนค่าลง ร้อยละ 0.7 (ณ เวลา 13.00 น.) สอดคล้องกับค่าเงินภูมิภาคอื่นๆ ที่ปรับอ่อนค่าลงเช่นกัน ส่วนผลกระทบต่อตลาดทุนก็จะเผชิญกับความผันผวนในระยะสั้นได้เช่นกัน โดยคาดว่าอาจมีเงินทุนไหลออกจากตลาดหลักทรัพย์และตลาดพันธบัตรของไทยบ้าง แต่จะไม่รุนแรงมากนัก เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติได้ปรับลดการลงทุนในตลาดการเงินไทยไประดับหนึ่งแล้วก่อนหน้านี้

แม้ผลกระทบต่อเศรษฐกิจการเงินไทยในเบื้องต้นจะมีค่อนข้างน้อย กอปรกับปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจของไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะฐานะด้านต่างประเทศที่เข้มแข็ง ซึ่งจะช่วยรองรับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวได้ แต่ผลกระทบจากการปรับแผนธุรกิจของเอกชนและคู่ค้าต่างๆ ของสหภาพยุโรป เพื่อรับมือกับความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนที่จะเปลี่ยนไปจะสร้างความไม่แน่นอนในการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศที่ถ่วงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไป โดย ธปท. จะติดตามพัฒนาการทางเศรษฐกิจและการเงินโลกอย่างใกล้ชิด และพร้อมดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงินหากมีความจ าเป็นรวมทั้งขอแนะน าให้ภาคธุรกิจเอกชนด าเนินการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากยังมีความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาดการเงินได้ในระยะต่อไป

โดยในระยะต่อจากนี้ จะเห็นความผันผวนในตลาดเงินตลาดทุนมากขึ้น ทุกฝ่ายจึงควรให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ผลกระทบจาก Brexit จะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเปราะบางมากขึ้น ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนหลายด้าน โดยเฉพาะผลที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจอังกฤษและโครงสร้างของเศรษฐกิจยุโรปโดยรวม ซึ่งต้องติดตามโดยใกล้ชิดต่อไป

จาก http://www.naewna.com วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ชี้อังกฤษออกจากอียูจะกระทบตลาดเงินรุนแรง เงินบาทจะอ่อนค่าแตะ 36-37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ  

         ผลการลงประชามติชาวอังกฤษส่วนใหญ่ต้องการออกจากอียู ส่งผลเงินปอนด์อ่อนค่าต่ำสุดรอบ 31 ปี นักวิเคราะห์เตือนจะส่งผลกระทบต่อตลาดเงินอย่างรุนแรง ส่วนในระยะกลาง และยาว จะส่งผลต่อเศรษฐกิจยุโรป และประเทศใหญ่ ซึ่งจะลามถึงเศรษฐกิจโลก ส่วนค่าเงินบาทจะอ่อนแตะ 36-37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ด้านผลกระทบต่อการค้าไทยมีไม่มาก

                การนับคะแนนล่าสุดออกมาว่า ชาวอังกฤษส่วนใหญ่ต้องการออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป หรือ อียู อย่างไรก็ตาม ทันทีที่ผลการลงประชามติมีแนวโน้มว่าอังกฤษจะออกจากการเป็นสมาชิกอียู ค่าเงินปอนด์ของอังกฤษอ่อนค่าลงต่ำสุดในรอบ 31 ปี นักวิเคราะห์เตือนว่าจะส่งผลกระทบต่อตลาดเงินอย่างรุนแรง เช่นเดียวกับราคาน้ำมันตลาดเอเชียวันนี้ (24 มิ.ย.) ที่ดิ่งลงกว่าร้อยละ 6 ขณะที่ผู้นำหลายประเทศทั่วโลกเตือนว่า การที่อังกฤษออกจากอียูนั้นจะนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย ขณะที่ตลาดหุ้นเอเชียดิ่งลงไปตามๆ กัน ดัชนีนิกเคอิ ปรับตัวลดลงแล้วถึงร้อยละ 8.30 ส่วนเงินเยนมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น เนื่องจากนักลงทุนแสวงหาสกุลเงินที่ปลอดภัยกว่า

                นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ภาวะตื่นตระหนกผลการลงประชามติของอังกฤษที่สนับสนุนให้อังกฤษออกจากสหภาพยุโรปน่าจะเป็นเพียงแค่ระยะสั้น เพราะสิ่งสำคัญที่ต้องติดตาม คือ นโยบายของอังกฤษ และอียูว่าจะมีทิศทางเป็นอย่างไร เพราะผลจากทั้ง 2 ฝ่ายใกล้ชิดกันมาก

                ดังนั้น นโยบายของรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศ จะต้องสร้างความสบายใจให้ทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการเมือง ถ้าหากนโยบายรัฐบาลไม่มีความชัดเจนจะมีผลกระทบหลายด้านทั้งการค้า และตลาดการเงิน ตลาดทุน โดยเฉพาะจะยิ่งกดดันให้ค่าเงินปอนด์ และยูโรอ่อนค่าลงอีก และจะส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาทอ่อนค่า ซึ่งถ้าหากอังกฤษออกจากยุโรปจริง คาดว่าค่าเงินบาทจะอ่อนค่าแตะ 36-37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

                ส่วนผลกระทบต่อการค้าไทย ยอมรับว่า แม้จะมีสัดส่วนไม่มาก แต่หากค่าเงินปอนด์ และยูโรผันผวนมาก กังวลว่าจะส่งผลต่อมูลค่าการส่งออกของไทยทั้งอังกฤษ และอียู

                นายสมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐกิจและการเมือง กล่าวว่า หากประชามติออกมาว่าอังกฤษออกจากอียูจริง ผลกระทบระยะกลาง และยาวน่ากังวล อาจกระทบต่อเศรษฐกิจของโลกที่ยังมีความเปราะบาง และขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์อย่างน้อยร้อยละ 1 ได้ ซึ่งหากอังกฤษออกจากอียูอาจทำให้เศรษฐกิจของยุโรปทรุดตัวลง และส่งผลต่อเนื่องมายังเศรษฐกิจของประเทศขนาดใหญ่อื่นๆ ทั้งสหรัฐฯ และจีน และในกรณีเลวร้ายจะส่งผลเสียกับเศรษฐกิจโลกมากขึ้น หากประเทศอื่นในอียูทำการลงประชามติเพื่อออกจากอียูด้วย

                ทั้งนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบโดยอ้อมกับการส่งออกของไทย และอาเซียนให้ชะลอตัวลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ได้ และการท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวตาม ดังนั้น สิ่งที่ไทยจะต้องรับมือ คือ การดูแล และกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศด้วยการเร่งลงทุน และเบิกจ่ายภาครัฐให้มากขึ้น เพื่อทำให้เศรษฐกิจต้านทานปัจจัยภายนอกที่จะเข้ามากระทบให้ได้

                ด้าน นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล นักเศรษฐศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและตลาดทุน มองว่า เป็นเรื่องปกติที่ค่าเงิน และหุ้นในตลาดโลกจะผันผวน แต่จะผันผวนในช่วง 1-2 สัปดาห์เท่านั้น ในระยะยาวจะไม่กระทบมาก เพราะอังกฤษต้องใช้เวลาถึง 2 ปีก่อนเตรียมตัวออกจากอียู หากผลประชามติออกมาให้ออกจากอียู แต่สิ่งที่ต้องจับตามองต่อไป คือ เสถียรภาพของอียูว่าจะเข้มแข็งต่อไปหรือไม่ หากประเทศอื่นอยากทำประชามติบ้าง ซึ่งหากเศรษฐกิจอียูมีปัญหาจะส่งผลโดยรวมต่อเศรษฐกิจโลกแน่นอน

 จาก http://manager.co.th  วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ วิกฤติแล้งหนักปี59ผ่านพ้น เริ่มมีสัญญาณบวก จับตาน้ำแล้งหน้า

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า ไทยได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดของวิกฤติภัยแล้งในปี 2559 ไปแล้ว ซึ่งนับว่าเป็นปีที่แล้งหนักที่สุดในรอบ 20 ปี โดยเมื่อเข้าสู่ฤดูฝน ก็เริ่มมีสัญญาณบวกให้เห็น ทั้งปริมาณน้ำฝนที่ตกมากขึ้น ส่งผลต่อระดับน้ำในเขื่อนหลักที่เพิ่มขึ้นมากกว่าปีก่อน อีกทั้งรายได้เกษตรกรที่พลิกขยายตัวเป็นบวก 2 เดือนติดต่อกันในเดือนเม.ย.-พ.ค.2559

ทั้งนี้ คาดว่า ระดับน้ำต้นทุนในเขื่อนหลักของไทยสำหรับแล้งหน้าอาจอยู่ที่ราว 7,000-10,000 ล้านลบ.ม.ซึ่งเป็นระดับที่มากกว่าปีก่อน และคาดว่ารายได้เกษตรกรในปี 2560 อาจให้ภาพที่ดีขึ้นกว่าปี 2559 ที่ภัยแล้งสร้างความสูญเสียต่อรายได้เกษตรกรกว่า 64,161 ล้านบาท แต่ยังคงต้องจับตาสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2559

เลาะรั้วเกษตร : ศพก...กับการลดต้นทุนการผลิต

ช่วงนี้ผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต่างเดินสายเปิดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี และบริการการเกษตร ซึ่งใช้ศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.)ในจังหวัดต่างๆ เป็นสถานที่จัดงาน เพื่อให้หน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ ในจังหวัดนั้นๆ มาบูรณาการกันให้ความรู้แก่เกษตรกรในด้านต่างๆ ตามภารกิจของหน่วยงาน เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรให้เข้าสู่ฤดูการเพาะปลูกด้วยความมั่นใจ โดย ดีเดย์ไปเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา ที่ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรที่ตำบลช้างใหญ่ อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดย รมว.กษ. พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ ไปเปิดงานด้วยตนเอง

งานนี้อธิบดีกรมต่างๆ ต้องไปสิครับ....จะไม่ไปได้อย่างไร....ถ้าไม่ไป..อาจจะถูกให้ไป..(อยู่ที่อื่น)...รัฐมนตรีเองก็ดูจะสนุก ด้วยเหตุที่เป็นทหารช่างมาก่อนจึงขอทดลองคุมเครื่องจักรกลการเกษตรดูบ้าง ภาพที่ท่านทดลองขับรถหยอดข้าว หรือโรยเมล็ดข้าว ก็ดูดีอยู่แต่ไม่เข้ากับเสื้อที่ท่านสวมอยู่สักเท่าไร

ไม่ทราบว่าทำไมจึงเลือก ศพก.บางไทร อาจจะเพราะใกล้ กทม. รัฐมนตรีมีเวลาน้อย ไม่ต้องเดินทางไกล หรือเพราะ ศพก. นี้ เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านข้าว และพื้นที่ของพระนครศรีอยุธยา เป็นพื้นที่ปลูกข้าวที่สำคัญในภาคกลาง กระทรวงเกษตรฯต้องการจะประกาศว่าเวลานี้จะเข้าสู่ฤดูการทำนาแล้ว เกษตรกรชาวนาควรจะมาอัพเดทข้อมูล หรือเทคโนโลยีในการทำนากันหน่อย นอกจากนี้

 เป้าหมายที่เกษตรกรเจ้าของพื้นที่ที่ตั้งของ ศพก.แห่งนี้ พยายามจะทำคือการลดต้นทุนการผลิตข้าว จากไร่ละ 5,200 บาท ลงมาเหลือ 2,700 บาท ให้ได้ ตรงกับนโยบายของกระทรวงเกษตรฯพอดี

ส่วนในความเป็นจริงจะลดได้หรือไม่ได้นั้น อธิบดีกรมการข้าว อนันต์สุวรรณรัตน์ คงต้องระดมสรรพกำลังนักวิชาการระดับหัวกะทิของกรมการข้าวมาช่วยกันเป็นพี่เลี้ยง เพราะรัฐมนตรีว่าการ ท่านออกปากว่า “เป็นเรื่องที่ท้าทาย และทำยากมาก”

อันที่จริงเรื่องของการลดต้นทุนการผลิตข้าวไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องคลาสสิกที่มีมานาน ตัวเลขของนักวิชาการกระทรวงเกษตรฯ ตัวเลขของกระทรวงพาณิชย์ ตัวเลขของพ่อค้า ตัวเลขของเกษตรกร ไม่เคยตรงกัน ยิ่งถ้าเป็นตัวเลขของเกษตรกรยุคที่มีโครงการรับจำนำข้าวด้วยแล้ว ยิ่งสูงแบบน่าจะเลิกทำนากันไปเลย

สมัยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ชื่อ ปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา ก็ทำเรื่องลดต้นทุนการผลิตข้าว ก่อนหน้านั้นย้อนหลังไปอีกหลายรัฐมนตรีก็ทำเรื่องลดต้นทุนการผลิตข้าว ตำรามี คู่มือมี กรมการข้าวทำมาหลายปีแล้ว แต่ทำไมยังลดไม่ได้เสียที..ทำไมจึงยั่งยืนมาจนถึงยุคนี้ นักวิจัยน่าจะดาหน้ากันลงพื้นที่หาคำตอบมาให้ชัดเจน เพื่อแก้ปัญหาให้ตรงจุด

เรื่องของงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีที่จัดขึ้นนี้ ถ้าจะคาดหวังว่าให้เกษตรกรมาร่วมงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี เพียงวันเดียว ได้ความรู้ ได้ข้อมูล แล้วนำไปปฏิบัติเพื่อลดต้นทุนการผลิต อาจจะคาดหวังสูงไปหน่อย เพราะเกษตรกรที่มาร่วมงาน คนในกระทรวงเกษตรฯ รู้ดีว่าเขามากันอย่างไร ชนิดที่สมัครใจมาเอง อยากมาเอง หรือขอมาเอง อย่าได้คาดหวังเด็ดขาด เพราะท่านจะผิดหวังเชื่อว่ากว่า 80% ของเกษตรกรที่มาร่วมงาน ที่หน่วยงานจัด เป็นเกษตรกรที่ “ขอให้มา” แต่เอาเถอะไม่ว่าเกษตรกรจะมาอย่างไรก็หวังว่าสิ่งที่เขาได้รู้ได้เห็น เขาจะนำกลับไปใช้ ไม่ใช้ทันที ก็อาจจะนึกได้ในภายหลัง แล้วกลับมา ศพก. นี้อีกครั้ง

งานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี และบริการการเกษตร ที่กระทรวงเกษตรฯ ตั้งเป้าหมายไว้ 30 ครั้ง ใน 30 ศพก. ก็ทยอยจัดกันไป พอดีกับฝนที่โปรยปรายลงมาสู่ท้องไร่ท้องนาในช่วงนี้ เป็นสัญญาณว่าฤดูการเพาะปลูกเริ่มต้นแล้วนั้น ก็คาดหวังว่าเกษตรกรที่รอคอยฝนจะได้เริ่มต้นเพาะปลูกกันเสียที หลังจากที่ห่างหายจากไร่นาไปนานเพราะฝนไม่ยอมตก แต่หลายพื้นที่เกษตรกรหว่านข้าว หรือปักดำไปก่อนหน้านี้จนข้าวโตแล้วก็ไม่น้อย โดยเฉพาะในภาคอีสาน

เป้าหมายของ รมว.กษ. ที่บอกว่า “คาดหวังจะให้ศพก. เป็นศูนย์ที่จะให้เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดนั้นๆ และพื้นที่ใกล้เคียง มารับองค์ความรู้ และเข้าใจถึงวิทยาการและเทคโนโลยีใหม่ๆ ข้าราชการกระทรวงเกษตรฯก็จะลงมาทำงานพร้อมๆ กัน”

ประโยคหลังนี่แหละที่เกิดยากที่สุด....

จาก http://www.naewna.com วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2559

แนะเกษตรกรเตรียมสำรองน้ำด้วย "บ่อจิ๋ว"

   บ่อจิ๋ว ในไร่นานอกเขตชลประทาน ตามโครงการที่กรมพัฒนาที่ดินได้ดำเนินการอยู่นั้น ถือเป็นแหล่งเก็บกักน้ำในพื้นที่ของเกษตรกรที่มีกระจายอยู่ทั่วประเทศ ที่สามารถช่วยสร้างความชุ่มชื้น และฟื้นคืนชีวิตเกษตรกร ให้สามารถทำการเพาะปลูกสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวได้

  นายปราโมทย์ ยาใจ รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า ตามที่กรมฯ ได้ดำเนินการโครงการแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน โดยการขุดสระน้ำในไร่นาขนาด 1,260 ลูกบาศก์เมตร หรือที่เรียกว่า “บ่อจิ๋ว” ในพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิและเกษตรกรมีส่วนร่วมในการออกค่าใช้จ่าย 2,500 บาทต่อบ่อ กระจายอยู่ในพื้นที่ของเกษตรกร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในพื้นที่ทำการเกษตรนอกเขตชลประทาน และในพื้นที่ที่ระบบส่งน้ำไปไม่ถึง เพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาภัยแล้ง เพิ่มผลผลิตและรายได้ให้แก่เกษตรกร โดยเฉพาะพื้นที่ของเกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมักประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ ฝนทิ้งช่วงและภัยแล้งอยู่เสมอ

  สำหรับผลการดำเนินงานที่ผ่านมา กรมพัฒนาที่ดินได้จัดประชุมชี้แจงสถานีพัฒนาที่ดินทั่วประเทศ ให้ประชาสัมพันธ์ในเรื่องนี้ผ่านสื่อต่าง ๆ และประสานหน่วยงานในพื้นที่ เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล หมอดินอาสาประจำหมู่บ้านในชุมชน ผู้นำท้องถิ่น เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแก่เกษตรกรเกี่ยวกับเรื่องแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน รวมทั้งสำรวจความต้องการของเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการขุดแหล่งน้ำโดยความสมัครใจ และสถานีพัฒนาที่ดินจะทำการเรียงลำดับความต้องการของเกษตรกรและรวบรวมจัดทำบัญชีไว้

  กรมพัฒนาที่ดิน ได้ดำเนินการขุดแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทานอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน ประมาณ 352,690 บ่อ ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 81 ดำเนินการกระจายอยู่ในพื้นที่ของเกษตรกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในพื้นที่เกษตรกรรม

และในปี 2559ได้ดำเนิน การขุดบ่อจิ๋วตามงบประมาณที่ได้รับจัดสรรแล้วเสร็จอีกจำนวน 20,000 บ่อ และยังมีเงินงบประมาณเหลือจ่ายสามารถขุดบ่อจิ๋วให้แก่เกษตรกรที่มีความต้อง การเพิ่มเติมได้อีกจำนวน 1,879 บ่อ ซึ่งได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว สำหรับในปีงบประมาณ 2560 ได้นำความต้องการของเกษตรกรเสนอตั้งเป็นคำของบประมาณเรียบร้อยแล้ว จำนวน 44,000 บ่อ

   “ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ช่วงฤดูฝน โครงการพัฒนาแหล่งน้ำในไร่นา

นอกเขตชลประทานเพื่อเกษตรกร “บ่อจิ๋ว” มีความพร้อมแล้วที่จะรองรับน้ำฝนที่กำลังจะมาถึงนี้ จึงอยากจะฝากถึงเกษตรกรให้เตรียมสำรองเก็บน้ำในช่วงที่ฝนจะตกนี้ไว้ใช้ในการเพาะปลูกครั้งต่อไป และเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการแหล่งน้ำในไร่นา

นอกเขตชลประทาน สามารถแจ้งความจำนงได้ที่หมอดินอาสาใกล้บ้าน หรือติดต่อกับสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 1-12 หรือสถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัดทั่วประเทศ” นายปราโมทย์กล่าว

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ค่าเงินบาทอ่อนค่ายวบ! หลัง นลท.เทขายสินทรัพย์เสี่ยงรอผลโหวตอังกฤษออกจากยุโรป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุดค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ 35.10 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าขึ้นจากระดับปิดวานนี้ที่ 35.10 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

โดยนักวิเคราะห์ค่าเงิน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ระหว่างวันค่าเงินอ่อนค่ามาก ไปเคลื่อนไหวที่ 35.40-35.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หลังรอผลประชุมการลงประชามติอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป ล่าสุดผลโหวตยังคงอยู่ที่ประชาชนทั่วไปอยากให้อังกฤษออกจากสหภาพยุโรปเกิน 50% ทำให้นักลงทุนเทขายสินทรัพย์เสี่ยงในภูมิภาค ส่งผลให้ค่าเงินทั้งภูมิภาคอ่อนค่า

ดังนั้นจำเป็นต้องติดตามประเด็นดังกล่าวต่อไป เนื่องจากมีผลต่อการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนของนักลงทุนในสัปดาห์หน้าด้วย

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2559

เคล็ดลับฉบับความหวาน: รอบรู้เรื่องน้ำตาลเพื่อมื้ออาหารสุดเฮลท์ตี้ 

          เคยคิดกันบ้างไหมว่าชีวิตเราจะเป็นอย่างไรหากไม่มีน้ำตาล แน่นอนว่าคงจะจืดชืดไม่ใช่น้อยเลยล่ะ เพราะน้ำตาลช่วยให้อาหารมีรสหวาน อร่อยกลมกล่อมขึ้น และยังทำให้เรารู้สึกอิ่มเอมใจไปกับอาหารแต่ละมื้อ นอกจากนี้ ยังรู้กันดีว่า รสชาติหอมหวานของน้ำตาลช่วยให้รู้สึก "สดชื่นกระปรี้กระเปร่า" และอารมณ์ดีขึ้นได้ทันทีที่เรารู้สึกโหยและอ่อนล้า ในอดีตกาลที่น้ำตาลยังไม่ใช่ของที่หาซื้อได้ทั่วไป เราหาความหวานจากผักและผลไม้มากมายแทน มีข้อมูลที่น่าสนใจพบว่า พระนางคลีโอพัตรา ซึ่งมีพระชนม์ชีพในช่วง 69 ถึง 30 ปีก่อนคริสตกาล ทรงโปรดปรานลูกฟิกและอินทผลัมเป็นของทานเล่น ซึ่งเป็นหนึ่งในผลไม้ที่มีรสหวานที่สุด น้ำตาลเพิ่งกลายมาเป็นส่วนประกอบสำคัญของอาหารที่เราทานเมื่อช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 ที่ผ่านมานี้เอง เมื่อเริ่มมีการทำไร่อ้อยผลิตน้ำตาลและใช้เรือขนน้ำตาลไปค้าขายยังภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก

          น้ำตาลเป็นคาร์โบไฮเดรตชนิดหนึ่ง พบได้ทั่วไปในอาหารหลากหลายประเภท เช่น น้ำตาลแลกโตสในน้ำนม หรือน้ำตาลฟรุกโตสในผลไม้และน้ำผึ้ง อันที่จริงแล้ว น้ำตาลบางชนิดถือว่าส่วนประกอบจำเป็นของอาหารเพราะช่วยเติมเต็มพลังงานให้กับร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นกล้ามเนื้อหรือสมอง ต่างก็ต้องการเชื้อเพลิงมาเพิ่มพลังงานและช่วยให้ร่างกายรู้สึกกระฉับกระเฉงตื่นตัวทั้งนั้น ดังนั้น จึงไม่ควรตัดน้ำตาลออกไปจากมื้ออาหารไปซะหมด แต่ควรรู้จักบริโภคน้ำตาลอย่างเหมาะสมและเข้าใจประโยชน์ของน้ำตาลให้ถ่องแท้เสียก่อน เพื่อจะได้เพลิดเพลินกับรสชาติหวาน ๆ แสนอร่อยโดยไม่ส่งผลร้ายต่อสุขภาพให้รำคาญใจ

ฟรุกโตส กลูโคส และซูโครส

          น้ำตาลมีอยู่ด้วยกันหลายชนิดและมาจากหลายแหล่งที่มา แต่ชนิดที่บริโภคกันมากได้แก่ ฟรุกโตสและกลูโคส ที่มีอยู่ตามธรรมชาติในผักและผลไม้ซึ่งมีเส้นใยและสารต้านอนุมูลอิสระรวมอยู่ด้วยเช่นกัน ส่วนน้ำตาลซูโครสมาจากฟรุกโตสและกลูโคสประกอบกัน กลายเป็นน้ำตาลทรายที่เราซื้อและใช้ประกอบอาหารในชีวิตประจำวันนั่นเอง เมื่อเราบริโภคน้ำตาลเข้าสู่ร่างกาย กลูโคสจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด และเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด ในขณะที่ฟรุกโตสจะต้องถูกเปลี่ยนให้เป็นกลูโคสก่อน จากนั้นก็จะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดต่อไป นับเป็นคาร์โบไฮเดรตชนิดหนึ่งที่มีรสชาติแสนอร่อยชวนติดใจ ทว่าก็ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปหลังจากที่บริโภคเข้าไปแล้ว

          เราคงเคยได้ยินเกี่ยวกับน้ำเชื่อมข้าวโพดชนิดที่มีฟรุกโตสสูง หรือ high fructose corn syrup (HFCS) ซึ่งทำมาจากข้าวโพดกันมาบ้าง เจ้าน้ำเชื่อมตัวนี้เป็นคนละอย่างกับน้ำตาลฟรุกโตส ความจริงแล้วน้ำเชื่อมชนิดนี้มีองค์ประกอบคล้ายกับน้ำตาลทราย และปริมาณครึ่งหนึ่งของน้ำตาลชนิดนี้เป็นน้ำตาลกลูโคส น้ำเชื่อม HFCS พบมากในพวกอาหารแปรรูป และเริ่มนิยมใช้กันมากในยุค 1980 โดยผู้ผลิตเริ่มหันมาใช้น้ำเชื่อมนี้แทนน้ำตาลจากอ้อยเพื่อเพิ่มรสชาติให้กับผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปต่าง ๆ โดยที่หลายคนไม่ได้นึกสงสัยเลยว่าจะมีน้ำตาลชนิดนี้ซ่อนอยู่ในอาหารในชีวิตประจำวันทั่วไป อย่างเช่น ซอสมะเขือเทศ น้ำสลัด แครกเกอร์ และพวกขนมปังต่าง ๆ ซึ่งทำให้คนเราสะสมแคลอรี่เพิ่มขึ้นโดยไม่รู้ตัว นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญว่าทำไมเราจึงควรอ่านฉลากอาหารที่จะทานให้เข้าใจ เพื่อจะได้รู้ว่าบริโภคอะไรเข้าไปบ้างในแต่ละมื้อ

น้ำตาลทานได้ แต่ในปริมาณที่พอดี

          ในบางครั้ง อาหารบางเมนูต้องเติมรสหวานเข้าไปบ้างเพื่อช่วยชูรสอาหารให้อร่อยขึ้น หรือกลบรสขมให้น้อยลง หรืออย่างน้อยก็ให้รู้สึกเพลิดเพลินเวลาทานกันสักหน่อย อย่างไรก็ดี เราก็ต้องรู้จักควบคุมปริมาณน้ำตาลที่เติมให้เหมาะสมด้วย และหันมาลิ้มรสชาติหวาน ๆ ตามธรรมชาติจากอาหารอย่างผลไม้กันให้มากขึ้น

          เราทุกคนรู้ดีว่า ในทางวิทยาศาสตร์นั้น เมื่อพูดถึงการบริโภคน้ำตาล ก็จะเชื่อมโยงไปถึงโรคอ้วน และปัญหาด้านสุขภาพอื่น ๆ ด้วย ดังนั้นการทำความเข้าใจชนิดน้ำตาลต่าง ๆ และความสำคัญของน้ำตาลในอาหารแต่ละมื้อจึงถือเป็นเรื่องสำคัญ โดยข้อมูลจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่า กาแฟขนาด 475 มิลลิลิตรหนึ่งถ้วยที่คนไทยนิยมดื่มกันทั่วไป มีน้ำตาลอยู่ถึง 10.5 ช้อนชาหรือ 52.5 กรัม ในขณะที่ชานมไข่มุกปริมาณ 350 มิลลิลิตรในหนึ่งแก้ว จะมีน้ำตาลทั้งหมด 11.25 ช้อนชาหรือ 56.25 กรัม ซึ่งหากคุณดื่มเครื่องดื่มเหล่านี้แค่เพียงหนึ่งแก้ว จำนวนน้ำตาลที่ควรบริโภคต่อวันก็จะเกือบเกินหรือเกินระดับของเกณฑ์ทางด้านโภชนาการของไทยที่กำหนดไว้ (นั่นคือ แต่ละคนควรบริโภคน้ำตาลเพียงร้อยละ 10 ของปริมาณพลังงานในอาหารที่บริโภคทั้งหมด หรือห้ามมากกว่า 40-55 กรัมต่อวัน)

          ปริมาณน้ำตาลที่สมดุลคือคำตอบ คุณไม่สามารถทานอาหารแบบไม่มีน้ำตาลเลยได้ แต่เราก็ไม่อยากบริโภคน้ำตาลมากเกินไป เพราะนั่นเท่ากับเพิ่มจำนวนแคลอรี่ให้ร่างกาย และอาจทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นด้วย

          ดร. เดวิด ฮีเบอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการที่มีชื่อเสียง อีกทั้งยังดำรงตำแหน่งประธานสถาบันโภชนาการเฮอร์บาไลฟ์และประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านโภชนาการของเฮอร์บาไลฟ์ กล่าวว่าเขาไม่เชื่อเรื่องการตัดน้ำตาลออกจากอาหารที่ทานโดยสิ้นเชิง "เราต้องมีน้ำตาลในอาหารบ้างในทุก ๆ วัน เพราะมันช่วยให้พลังงานแก่สมอง เม็ดเลือด และอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายอย่างรวดเร็ว ช่วยให้ร่างกายทำงานได้ดี หากคุณงดทานคาร์โบไฮเดรตต่าง ๆ คุณก็จะต้องทานโปรตีนเพิ่มมากขึ้น ไม่อย่างนั้นร่างกายของคุณอาจสลายกล้ามเนื้อตัวเองเพื่อสร้างน้ำตาลในร่างกายแทน"

          ดร. ฮีเบอร์ ยังอธิบายด้วยว่า น้ำตาลไม่ใช่ยาพิษตัวร้าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออยู่ในอาหารที่มีแคลอรี่ต่ำ และเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงที่จะไม่ทานน้ำตาลโดยสิ้นเชิงได้ สิ่งสำคัญก็คือการรู้ว่าน้ำตาลมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด และรู้ว่าอาหารที่คุณทานมีปริมาณน้ำตาลมากน้อยเท่าไหร่ ยกตัวอย่างเช่น น้ำตาลฟรุกโตสแบบธรรมชาติที่พบในผัก ผลไม้ และน้ำผึ้ง มีรสหวานมากกว่าน้ำตาลทั่วไป ดังนั้นคุณสามารถลดปริมาณน้ำตาลที่คุณจะบริโภคลงได้ "เพราะน้ำตาลฟรุกโตสมีความหวานกว่าน้ำตาลทรายถึงสองเท่า การใช้น้ำตาลฟรุกโตสก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยลดปริมาณน้ำตาลที่จะใส่ลงไปในอาหาร ตลอดจนสามารถใช้ในแผนการดูแลน้ำหนักได้เป็นอย่างดีด้วย" เขากล่าวเสริม

ผลิตภัณฑ์โปรตีนเชคของเฮอร์บาไลฟ์ที่วางจำหน่ายในประเทศไทยมีปริมาณน้ำตาลฟรุกโตสเพียง 7-9 กรัมต่อการบริโภคหนึ่งครั้ง ซึ่งเป็นปริมาณเดียวกับฟรุกโตสที่พบในแอปเปิ้ลไซส์กลาง ๆ หนึ่งผล และยังถือเป็นปริมาณที่สมเหตุสมผลสำหรับการรับประทานและยังช่วยให้มีรสชาติดีด้วย แต่สำหรับผู้ที่กังวลเกี่ยวกับการบริโภคน้ำตาลฟรุกโตสในปริมาณมาก ๆ นั้นควรต้องพิจารณาองค์ประกอบโดยรวมทั้งหมดของอาหารที่ตนเองจะรับประทานด้วย เพื่อให้รู้ว่าแต่ละวันควรบริโภคน้ำตาลฟรุกโตสและน้ำตาลชนิดอื่น ๆ มากน้อยเท่าไหร่

9 เคล็ดลับ ช่วยลดปริมาณน้ำตาลให้ร่างกาย

          ชิมอาหารทุกครั้ง ก่อนจะเติมน้ำตาลเพิ่ม

          ไม่ควรทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง

          เรียนรู้วิธีอ่านฉลากโภชนาการข้างผลิตภัณฑ์

          รู้จักชื่อน้ำตาลต่าง ๆ อาทิ กากน้ำตาล มอลท์ไซรัป น้ำตาลอ้อย ฯลฯ รวมถึงสารอาหารที่ลงท้ายด้วย "โ-ส" หรือ "ose" เช่น กลูโคส ฟรุกโตส เป็นต้น

          ไม่ควรเติมและบริโภคน้ำตาลต่อวันเกินปริมาณที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำ

          ค่อย ๆ ลดปริมาณน้ำตาลที่ทานทีละน้อย เพื่อให้ร่างกายได้ปรับตัว

          หันมาใช้วานิลลา ซินนามอน หรือผิวเลมอนขูดละเอียดเพื่อเติมรสหวานให้อาหาร

          ทานโปรตีนและอาหารที่มีเส้นใยที่จะช่วยให้คุณอิ่มได้นานกว่า

          เลือกทานผลไม้สด แทนที่จะดื่มน้ำผลไม้หรือสมูทตี้

          *บทความนี้ได้รับการสนับสนุนข้อมูลจากเฮอร์บาไลฟ์ ด้วยความมุ่งมั่นที่จะส่งมอบโภชนาการเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของผู้คนและเพื่อสนับสนุนการสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาพดีและกระฉับกระเฉง

จาก  http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 23 มิถุนายน 2559

4เขื่อนใหญ่น้ำทะลักหมื่นล้านลบ.ม.ชาวนาเฮ!กรมชลฯจ่อไฟเขียวทำนาปรัง7ล้านไร่ 

          เศรษฐกิจไทยคึก ชาวนาได้เฮแน่ กรมชลประทานคาดน้ำใน 4 เขื่อนใหญ่ลุ่มเจ้าพระยาสิ้นเดือนตุลาคมนี้พุ่งเป็น 10,000 ล้าน ลบ.ม. ระบุหากน้ำไหลผ่านนครสวรรค์เพิ่มเป็น 300 ลบ.ม./วินาที พร้อมยกระดับน้ำเขื่อนเจ้าพระยา และบีบอัด ด้วยประตูระบายน้ำปล่อยน้ำให้ชาวนาปลูกข้าวนาปี คาดแล้งหน้านี้ทำนา ทั่วประเทศได้ประมาณ 7 ล้านไร่

          ดร.ทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงสถานการณ์น้ำในขณะนี้ว่า ทางกรมชลประทานได้ทำแบบจำลองถึงปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนใหญ่ลุ่มเจ้าพระยา 22 จังหวัด คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสัก ชลสิทธิ์ โดยอิงจากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยาที่คาดการณ์ปริมาณฝนที่จะตกในแต่ละเดือนของปีนี้พบว่า ทั้ง 4 เขื่อน จะมีปริมาณน้ำที่ใช้การได้จริงรวม 10,000 ล้านลูกบาศก์เมตรเศษ ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2559 ประกอบด้วย เขื่อนภูมิพล ประมาณ 4,000 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ 4,200 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เต็มความจุของเขื่อนที่ 1,060 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อน ป่าสักชลสิทธิ์ เต็มความจุของเขื่อนที่ 960 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยายังคาดการณ์ ว่าจะมีพายุจากทะเลจีนใต้พัดเข้าสู่ภาคอีสาน ตอนบนและภาคเหนือ 1 ลูก ในเดือนสิงหาคมนี้ และอีก 1 ลูกพัดเข้าภาคใต้ในเดือนตุลาคมศกนี้ และเรื่องนี้ อธิบดีกรมชลประทานได้รายงานต่อ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีแล้ว

          ปริมาณน้ำทั้ง 4 เขื่อน หากมีน้ำใช้การได้จริงที่ 5,000 ล้าน ลบ.ม. สถานการณ์ยังน่าเป็นห่วง เหมือนสิ้นเดือนตุลาคม 2558 ที่มีน้ำใช้การได้จริงอยู่ประมาณ 4,000 ล้าน ลบ.ม.เศษ ต้องระงับการปล่อยหรือจัดสรรน้ำเพื่อทำนาปรัง หากมีน้ำใช้การได้จริง 7,000 ล้าน ลบ.ม.ขึ้นไปจะดี พอที่จะจัดสรรให้เกษตรกรได้ ฉะนั้นหากมีน้ำสิ้นเดือนตุลาคมศกนี้ถึงระดับ 10,000 ล้าน ลบ.ม. แผนการจัดสรรน้ำให้กับการทำนาปี ปีการผลิต 2560/2561 จะปลูกได้ เร็วขึ้น ไม่ต้องออกข้อแนะนำเหมือนปีนี้ ที่จะให้ชาวนาลุ่มเจ้าพระยาเริ่มทำนาในเดือนกรกฎาคม 2559 จากปัญหาน้ำในเขื่อนทั้ง 4 แห่ง เหลือในขณะนี้ประมาณ 1,350 ล้าน ลบ.ม.

          "น้ำในเขื่อนภูมิพลเมื่อวันที่ 16 มิถุนายนนี้ เหลือใช้การได้จริง 2% หรือ 207 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์เหลือ 8% หรือ 744 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนป่าสักฯเหลือ 20% หรือ 188 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนแควน้อยฯเหลือ 23% หรือ 203 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่มี การปล่อยน้ำจากเขื่อนทั้ง 4 แห่งเท่าเดิมที่วันละ 18 ล้าน ลบ.ม."

          ต่อประเด็นจะให้ชาวนาในลุ่มเจ้าพระยาที่ไม่ได้อยู่ในเขตที่ลุ่มทำนาได้เมื่อใดนั้น ดร.ทองเปลวกล่าวว่า ต้นสัปดาห์ก่อนน้ำไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์ที่ 170 ลบ.ม./วินาที หากไหลผ่าน 300 ลบ.ม./วินาที กรมชลฯจะใช้ระบบบีบอัดน้ำด้วยประตูระบายน้ำ ที่มีอยู่ให้สูงขึ้น รวมทั้งยกระดับน้ำใน เขื่อนเจ้าพระยาให้สูงขึ้นด้วย เพื่อปล่อยน้ำให้กับชาวนาทำนา ซึ่งเหตุที่ทำได้เพราะไม่ต้องกังวลน้ำเค็มจะรุกไล่เข้าเขตภาคกลางตอนล่างแล้ว เนื่องจากมีฝนตกในบริเวณ กว้างและสม่ำเสมอที่ช่วยผลักดันอยู่

          "แผนการปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2559/2560 ทั่วประเทศ รัฐมนตรีเกษตรฯได้กำหนดร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ไว้ที่ 54.8 ล้านไร่ ส่วนการปลูกข้าวนาปรังในฤดูแล้งหน้าทั่วประเทศจะมีประมาณ 7 ล้านไร่ อยู่ในเขตชลประทาน 4 ล้านไร่ และนอกเขตชลประทาน 3 ล้านไร่ แต่ที่น่าเป็นห่วงและต้องรีบดำเนินการก่อนฤดูฝนจะหมดลงคือ การผันน้ำทางท่อของกรมชลประทานจากคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิตเติมลงอ่างบางพระ ที่ปริมาณน้ำเหลือน้อยมากเพียง 3%" รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าว

จาก  http://www.prachachat.net   วันที่ 23 มิถุนายน 2559

ก.เกษตรฯเพิ่ม30ศูนย์ก่อนเริ่มฤดูผลิตใหม่ 

          กระทรวงเกษตรฯ ขยายผลใช้ศูนย์เรียนรู้ฯ เพิ่มอีก 30 แห่ง หลังจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี (Field Day) ให้บริการด้านการเกษตรแก่เกษตรกร เพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ ปี 2559

          พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ภายหลังจากจัดคิกออฟเปิดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี (Field Day) และบริการการเกษตร เพื่อเริ่มฤดูกาลผลิตใหม่ ปี 2559 เพื่อให้เป็นต้นแบบแห่งแรก ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ทำให้เกษตรกรได้เรียนรู้และสามารถรับบริการจากหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเริ่มฤดูกาลผลิตใหม่เพิ่มมากขึ้น โดยรูปแบบการจัดกิจกรรม Field Day กิจกรรมหลัก มุ่งเน้นการถ่ายทอดความรู้แบบเห็นของจริง เน้นประเด็นการลดต้นทุนการผลิตพืชในพื้นที่นั้นๆ และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร เพื่อให้เกษตรกรสามารถดำรงชีพและมีรายได้เลี้ยงครอบครัวอย่างต่อเนื่อง  โดยขยายผลการจัดงานในทุกภูมิภาคอีก 30 แห่ง ในช่วงเดือนมิถุนายนpกรกฎาคมนี้ เพื่อให้เกษตรกรเตรียมความพร้อมเริ่มฤดูกาลผลิตใหม่ครอบคลุมทุกชนิดพืชเศรษฐกิจ  ซึ่งการเตรียมความพร้อมดูแลเกษตรกรในฤดูกาลผลิตใหม่ กรมส่งเสริมการเกษตรได้เตรียมการไว้คือ 1.การเตรียมความพร้อมองค์ความรู้เพื่อวางแผนการผลิต ภายในศูนย์เรียนรู้ฯ ทั้ง 882 ศูนย์ ทุกอำเภอ อำเภอละ 1 จุด 2.การเข้าถึงปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ ทั้งด้านพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ พันธุ์สัตว์น้ำ การตรวจวิเคราะห์ดิน การใช้เครื่องจักรกลเกษตร

จาก  http://www.komchadluek.net   วันที่ 23 มิถุนายน 2559

กรมชลฯระบุภาพรวมน้ำยังติดลบ เผยน้ำเข้าเขื่อนเพียง16ล้านลบ.ม.

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยสถานการณ์น้ำ ช่วง7 วันที่ผ่านมาว่าปริมาณฝนตกระหว่างวันที่ 17-23 มิ.ย.มีฝนต่อเนื่อง ทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างสำคัญ ลุ่มเจ้าพระยา เช่น เขื่อนภูมิพล มีน้ำเข้า 40 ล้านลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์  44 ล้านลบ.ม. เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน 19 ล้านลบ.ม.เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์  8 ล้านลบ.ม.

โดยมีปริมาณน้ำล่าสุด เขื่อนภูมิพล 4.24 พันล้านลบ.ม  เป็นน้ำใช้การได้224 ล้านลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ มีน้ำ 3,563 พันล้านลบ.ม. ใช้การได้710 ล้านลบ.ม. เขื่อนแควน้อยฯ มี248 ล้านลบ.ม. ใช้การได้ 205 ล้านลบ.ม. เขื่อนป่าสัก มีน้ำ182 ล้านลบ.บ. ใช้การได้179 ล้านลบ.ม. รวมทั้ง 4 เขื่อนเป็นน้ำใช้การ 1,317 ล้านลบ.ม.

"แต่ในภาพรวมยังถือว่าติดลบเพราะมีปริมาณน้ำไหลเข้ารวม4 เขื่อน 16.96 ล้าน ลบ.ม.แต่ระบายน้ำออก18 ล้านลบ.ม.ต่อวัน อย่างไรก็ตามถ้าดูเป็นเขื่อนภมิพล ไหลเข้า 6 ล้านลบ.ม.มากกว่า 3 ล้านลบ.ม.เขื่อนสิริกิติ์ น้ำเข้ามา5 ล้านลบ.ม. แต่ระบายออก10 ล้านลบ.ม.เขื่อนแควน้อย ไหลเข้า 3.2 ล้านลบ.ม. ระบายออก 2.4 ล้านลบ.ม. เขื่อนป่าสักฯ เข้ามา2.5 ล้านลบ.ม.ระบายออก2.2 ล้านลบ.ม.ต่อวัน"นายทองเปลว กล่าว

ทั้งนี้ก็ถือว่าสภาพน้ำก็ดีขึ้นเพราะช่วงเดือนพ.ค.ไม่มีน้ำเข้าเขื่อนเลย ตอนนี้น้ำเริ่มเข้ามาเกือบทุกแล้ว แต่ก็อยู่เกณฑ์น้อย ยืนยันว่ามีน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่33 แห่ง สามารถระบายน้ำใช้ได้ถึงก.ค.แน่นอน

สำหรับเขื่อนมีแนวโน้มได้น้ำมากขึ้นจากตอนนี้ยังมีฝนตกเหนือเขื่อน ภาคเหนือฝนตกจ.แม่ฮ่องสอน ยังมากรวมทั้งภาค อีาน จ.สกลนคร ฝนตกมากว่า30 มิลิลิเมตร ภาคกลาง ปทุมธานี กรุงเทพ มีกลุ่มเฆมมากมีฝนมาก ภาคตะวันออก จ.ตราด มีฝนมาก ซึ่งช่วงนี้มีฝนตกทั่วทุกพื้นที่ และช่วงปลายเดือนมิ.ย.รอยต่อต้นเดือน ก.ค.มีภาวะฝนทิ้งช่วงประมาณสองสัปดาห์ เข้าสู่ฝนเต็มตัวสัปดาห์ที่สองเดือนก.ค. ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานบูรณาการเข้มข้นเพื่อวางแผนป้องกันรับมือน้ำท่วมทุกพื้นที่

ในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีปริมาณฝน ตกแรง กว่า 100-200 มิลลิเมตร รวมทั้งมีกลุ่มเฆมมากและได้รับอธิพลจากมรสุมปลายแหลมญวนทำเกิดตกของฝนได้มากอีกต่อไป โดยนายกรัฐมนตรี มีคำสั่งให้กระทรวงมหาดไทย บูรณาการกับทุกหน่วยงาน เพื่อช่วยระบายน้ำท่วมขังรวดเร็วขึ้นบรรเทาความเดือดร้อนคนกรุงเทพฯได้ทันท่วงที ซึ่งช่วงบ่ายวันนี้ตนไปประชุมร่วมกับ กทม. เพื่อวางแผนการระบายน้ำในทุกเขตและปริมณฑล ในจุดที่มีปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก จุดลุ่มตำ่ พื้นที่ปิดล้อมซึ่งเปราะบางต่อการเกิดน้ำท่วมฉับพลัน ปัญหาจากสภาพแวดล้อมและเขตเมืองที่ขยายมากระบบรองรับไม่ต่อเนื่อง หลังจากนั้นในเวลา 15.00 น. พล.อ.อนุพงศ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เป็นเจ้าภาพประชุมทุกหน่วยงาน และรมว.มหาดไทย เป็นผู้สั่งการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในกทม.โดยตรง

  จาก  http://www.naewna.com    วันที่ 23 มิถุนายน 2559

‘ทูตต่างชาติ’ ยกนิ้วให้ไทย ผู้นำเกษตร-อาหารอาเซียน

จากที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในแหล่งผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารที่สำคัญของโลก โดยในปี 2558 ที่ผ่านมาไทยสามารถส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ได้ถึง 1.3 ล้านล้านบาท และเพื่อตอกย้ำความเชื่อมั่นการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารไทยมีความปลอดภัยและได้มาตรฐานโลกอันจะมีผลต่อการส่งออกที่เพิ่มขึ้น ระหว่างวันที่ 16-17 มิถุนายนที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการ ได้เชิญเอกอัครราชทูต อุปทูต และผู้แทนสถานเอกอัครราชทูต(อัครราชทูตที่ปรึกษา/เลขานุการเอก)จาก 34 ประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม เกาหลีใต้ บราซิล ฯลฯ ร่วมศึกษาดูงานความก้าวหน้าการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารของไทย

สำหรับในการเดินทางครั้งนี้ได้ไปศึกษาดูงานและเยี่ยมชมกระบวนการผลิต 3 แห่ง ได้แก่ 1.การผลิตไก่สดและไก่แปรรูป ของบริษัท จีเอฟพีที นิชิเร(ประเทศไทย) จำกัด ที่จังหวัดชลบุรี 2.ศึกษาดูงานการผลิตผลไม้ และการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ณ สวนละไม จังหวัดระยอง และ 3.ศึกษาดูงานโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำ (โรงงานผลิตบะหมี่เกี๊ยวกุ้ง) ของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด(มหาชน) หรือซีพีเอฟที่จังหวัดระยอง

ทูตยกนิ้วไทยมาตรฐานโลก

นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากการสอบถามบรรดาเอกอัครราชทูต หรือผู้แทนที่เข้าเยี่ยมชมครั้งนี้ เสียงสะท้อนส่วนใหญ่ต่างมีความพอใจ และชื่นชมกระบวนการผลิตสินค้าอาหารของไทยที่ส่งออกไปจำหน่ายทั่วโลก รวมถึงจำหน่ายในประเทศของเหล่าบรรดาทูตว่าสามารถผลิตได้อย่างมีคุณภาพมาตรฐาน ใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทุกขั้นตอน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ สามารถสร้างความเชื่อมั่น และก่อให้เกิดความมั่นใจในการบริโภคสินค้าไทย และนำเข้าสินค้าจากไทยในระดับสูง ซึ่งหวังว่าทูตจากประเทศต่างๆ จะช่วยนำไปบอกต่อกับผู้บริโภคในประเทศของตน ซึ่งจะมีผลช่วยเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทย และจะส่งผลดีต่อพี่น้องเกษตรกรของไทยในระยาว

อินโดฯ-ญวนยาหอมไทยผู้นำ

ขณะที่ Mr.Ahmad Rusdi เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ประจำประเทศไทย ได้กล่าวชื่นชมบทบาทของประเทศไทย และรัฐบาลไทยที่ให้ความสำคัญกับภาคการเกษตรซึ่งเป็นจุดแข็งของไทย รวมทั้งยังสามารถปรับเปลี่ยนไปเป็นเกษตรเชิงท่องเที่ยวได้ด้วย ซึ่งจากที่ได้มาเห็นกระบวนการผลิตของผู้ประกอบการไทยได้สร้างความเชื่อมั่นเรื่องความปลอดภัยในสินค้าเกษตรและอาหารของไทยได้เป็นอย่างมาก รวมถึงในภูมิภาคอาเซียนก็มองว่าไทยมีคุณภาพมาตรฐานสินค้าที่ดีและเป็นผู้นำของอาเซียน

เช่นเดียวกับ Mr.Ngugen Tat Thanh เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ที่กล่าวว่า แม้เวียดนามจะปลูกพืชเกษตรและผลไม้อยู่หลายชนิด แต่ยังขาดประสบการณ์เรื่องการแปรรูป และการเซตมาตรฐาน และการให้การรับรองมาตรฐานการส่งออกที่เวียดนามยังต้องเรียนรู้จากไทย นอกจากนี้ยังสนใจที่จะเรียนรู้ในการแปรรูปข้าวจากไทย เพราะไทยและเวียดนามเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกข้าวที่สำคัญของโลก เช่นเดียวกับผลไม้ของเวียดนามและไทยก็มีคล้ายๆ กัน และรสชาติก็ใกล้เคียงกัน แต่อีกด้านหนึ่งเวียดนามก็อยากนำเข้าผลไม้และข้าวจากไทยเพื่อแลกเปลี่ยนกัน

สหรัฐฯชี้จีเอ็มโอผู้บริโภคตัดสิน

ด้าน Mr.Rey Santella ผู้ช่วยที่ปรึกษาฝ่ายการเกษตร ถานทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย กล่าวว่า อยู่เมืองไทยมา 4 ปีแล้ว และได้เห็นถึงความพยายามของรัฐบาลไทยที่ให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยด้านอาหาร ทั้งนี้ Mr.Rey ยังให้ความเห็นถึงเรื่องพืชและอาหารที่มาจากการดัดแปลงทางพันธุกรรม หรือ จีเอ็มโอ ที่สหรัฐฯ มีเทคโนโลยี และมีความก้าวหน้าในการผลิตสินค้าจีเอ็มโอในระดับสูง และค่อนข้างก้าวหน้าว่า การตัดสินใจจะเลือกซื้อหรือบริโภคสินค้าจีเอ็มโอหรือไม่ในสหรัฐฯขึ้นกับการตัดสินใจของผู้บริโภค เช่นเดียวกับประเทศไทยก็ขึ้นกับผู้บริโภคเช่นกัน

อย่างไรก็ดีจากที่สหรัฐฯเป็นหนึ่งในตลาดส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารที่สำคัญของไทย และที่ผ่านมาไทย-สหรัฐฯก็เป็นหุ้นส่วนทางการค้าที่ดีต่อกัน มีการแก้ไขปัญหาในประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับสินค้าของทั้งสองฝ่าย ซึ่งปัจจุบันไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับต้นๆ ของโลก เป็นผู้ส่งออกสินค้าปศุสัตว์ (ไก่)อันดับ 4 ของโลก แต่ทั้งนี้ประเทศไทยก็ยังต้องปรับตัวและยกระดับสินค้าให้เข้ากับมาตรฐานสากล ขณะที่ในเรื่องการปฏิรูปภาคการเกษตร รัฐบาลไทยก็จำเป็นต้องรวบรมข้อมูลจากผู้บริโภค และต้องตัดสินใจในสิ่งที่ดีที่สุด โดยยึดผู้บริโภคเป็นหลัก

รัสเซียอ้าแขนรับสินค้า-นักลงทุน

ส่วน Mr.Kirill Barsky เอกอัครราชทูตสหพันธรัฐรัสเซีย ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตและส่งออกสินค้าเกษตร และปศุสัตว์ ทั้งไก่ ผักผลไม้ อาหารทะเล ซึ่งจากการเข้าร่วมกิจกรรมศึกษาดูงานด้านการเกษตรกับทูตนานาประเทศในครั้งนี้ทำให้รู้สึกได้ว่า ได้เห็นความมีมาตรฐานด้านสินค้าเกษตรและอาหาร รวมถึงเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตสินค้าเกษตรของไทย ซึ่งไทยก็ทำได้ดีอยู่แล้วไม่มีคำแนะนำอะไรมาก

“นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผมได้มาเยี่ยมชมโรงงานผลิตสินค้าเกษตรและอาหารของไทย ที่ผ่านมาก็เคยไปเยี่ยมชมโรงานไก่แปรรูปของเครือซีพีที่นครราชสีมา โรงงานไก่ของสหฟาร์มที่หัวหิน และไปดูแล็บวิทยาศาสตร์ของเครือเบทาโกรที่รังสิต ซึ่งทุกที่ที่ได้ไปดูมาทำให้เห็นมาตรฐานที่สูงของการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารของไทย และได้เห็นสถิติการส่งออกสินค้าไทยที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ”

ทั้งนี้รัสเซียถือเป็นอีกหนึ่งในตลาดที่ใหญ่ที่ไทยสามารถใช้ประโยชน์ในการส่งออกได้ โดยรัสเซียมีประชากรกว่า 145 ล้านคน หากรวมประเทศในเครืออดีตสหภาพโซเวียตจะมีประชากรรวมกันกว่า 185 ล้านคน ขณะที่รัสเซียก็ยินดีต้อนรับนักธุรกิจไทยเข้าไปลงทุนและค้าขายในรัสเซีย ดังตัวอย่างเครือซีพีที่ได้เข้าไปทำธุรกิจในรัสเซียมากว่า 10 ปีแล้ว ปัจจุบันมีทั้งโรงงานอาหารสัตว์ ฟาร์มเลี้ยงไก่ ฟาร์มเลี้ยงสุกร และมีโรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์ รวมมูลค่าการลงทุนแล้วประมาณ 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สินค้าที่ผลิตได้ก็ส่งจำหน่ายทั่วรัสเซีย ซึ่งทางรัสเซียยินดีต้อนรับนักลงทุนรายอื่นๆ จากไทยด้วยเช่นกัน

  จาก  http://www.thansettakij.com  วันที่ 23 มิถุนายน 2559

น้ำตาลเข้าบัญชีSL หวั่นลักลอบส่งออก

พาณิชย์นำสินค้าน้ำตาลทรายเข้าบัญชีอ่อนไหวเป็นพิเศษ หวั่นลักลอบส่งออกจนในประเทศขาดแคลน

 รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.ที่ผ่านมา รับทราบมาตรการกำกับดูแลสินค้าสำคัญ 250 รายการ และบริการ 20 รายการประจำเดือน มิ.ย.ของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งได้กำหนดสินค้าและบริการที่มีความอ่อนไหวเป็นพิเศษ (SL) ที่ต้องติดตามสถานการณ์และราคาเป็นประจำทุกวันเหลือ 28 รายการ จากเดิม 30 รายการ โดยเพิ่มรายการสินค้าน้ำตาลทรายเข้าไปอยู่ในกลุ่มSL จากเดิมที่อยู่ในกลุ่มสินค้าและบริการที่ติดตามราคาใกล้ชิดเป็นพิเศษสัปดาห์ละ 2 ครั้ง (PWL) และปรับลดสินค้า 3 รายการ คือ สบู่ แชมพู และผงซักฟอก จากเดิมที่อยู่ในกลุ่ม SL ลงไปอยู่ในกลุ่ม PWL

“ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ประสบปัญหาภัยแล้ง จึงอาจมีการลักลอบส่งออกน้ำตาลทราย ซึ่งอาจส่งผลให้น้ำตาลที่ใช้บริโภคในประเทศไม่เพียงพอ จึงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ส่วนการปรับสินค้าสบู่ แชมพู และผงซักฟอกปรับลงมาอยู่ในกลุ่ม PWL เนื่องจากราคาสินค้าส่วนใหญ่ทรงตัว และภาวะการค้ามีการแข่งขันมากขึ้น” รายงานข่าวระบุ สำหรับสินค้าที่อยู่ในบัญชี PWL เพิ่มจาก 5 รายการเป็น  8 รายการ เนื่องจากปรับสินค้าสบู่ แชมพู และผงซักฟอก จากกลุ่ม SL ลงมาอยู่ในกลุ่ม PWL และปรับสินค้าน้ำตาลทรายจากกลุ่ม PWL ไปอยู่ในกลุ่ม SL พร้อมทั้งได้เพิ่มรายการสินค้าจากกลุ่มสินค้าและบริการที่ติดตามราคาและภาวะอย่างใกล้ชิดเป็นประจำทุกปักษ์(WL) มาอยู่ในกลุ่ม PWL จำนวน 1 รายการ คือ ท่อพีวีซี เนื่องจากความต้องการใช้ท่อพีวีซีในการลำเลียงน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากภาวะภัยแล้งต่อเนื่อง ขณะที่กลุ่ม WL ลดลงจาก 170 รายการ เหลือ 169 รายการ

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) เปิดเผยว่า เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ที่ประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายได้จัดสรรโควตา ก. สำหรับน้ำตาลทรายที่บริโภคในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 26 ล้านกระสอบ (2.6 ล้านตัน) จากเดิมที่จัดสรรไว้ 24.5 ล้านกระสอบ(2.45 ล้านตัน) เนื่องจากการบริโภคน้ำตาลในประเทศขยายตัว “การขยายตัวของการบริโภคน้ำตาลในประเทศจะส่งผลให้ไทยต้องลดโควตา ค. สำหรับการส่งออกน้ำตาลทรายดิบลง ประกอบกับอ้อยเข้าหีบปีนี้เหลือเพียง 94 ล้านตัน จึงคาดว่าจะเหลือน้ำตาลส่งออกเพียง 7.1 ล้านตัน จากปีก่อนที่ส่งออก 8.5 ล้านตัน” แหล่งข่าวเปิดเผย

จาก http://www.posttoday.com    วันที่ 23 มิถุนายน 2559

พัฒนาแอพพลิเคชั่น  จัดการดินและปุ๋ยเพื่อลดต้นทุน

                    ปัจจุบันการสื่อสารผ่านสมาร์ทโฟนไม่ว่าจะเป็นระบบ  Android และระบบ IOS เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก เนื่องจากสามารถทำให้เข้าถึงข้อมูล    ต่าง ๆ ได้สะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น                      

    ปัจจุบันการสื่อสารผ่านสมาร์ทโฟนไม่ว่าจะเป็นระบบ  Android และระบบ IOS เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก เนื่องจากสามารถทำให้เข้าถึงข้อมูล    ต่าง ๆ ได้สะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น กรมพัฒนาที่ดินเล็งเห็นความสำคัญของเรื่องดังกล่าว จึงได้เร่งพัฒนาโปรแกรมนำเสนอแผนที่ดิน ผ่านแอพพลิเคชั่น ในชื่อ LDD Soil Guide

   ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นที่นำเสนอแผนที่ดินผ่านทางโทรศัพท์มือถือเพื่อให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงข้อมูลการเพาะปลูกที่เป็นประโยชน์ได้สะดวกยิ่งขึ้น

   นางสาวเบญจพร ชาครานนท์  รองอธิบดี และโฆษกกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า LDD Soil Guide เป็นแอพพลิเคชั่น ที่กรมพัฒนาที่ดินพัฒนาขึ้นเพื่อให้เกษตรกรสามารถเข้าถึง และค้นหาข้อมูลในการเพาะปลูก รวมถึงจัดการดินและปุ๋ยภายในแปลงของเกษตรกร โดยข้อมูลความเหมาะสมของพืช จับพิกัดของผู้ใช้งานจากระบบอ้างอิงตำแหน่งบนพื้นที่โลก (GPS) สามารถสืบค้นข้อมูลชุดดินในรูปแบบแผนที่  แสดงผลได้ทั้งแผนที่ฐาน (Base Map)แผนที่ภาพถ่ายออร์โธสี และแผนที่ Google Map

  ซึ่งจะทำให้สามารถทราบข้อมูลดิน คุณสมบัติดิน ข้อจำกัด และความเหมาะสมของดิน  โดยมีคำแนะนำแนวทางการจัดการดินรวมถึงคำแนะนำการใช้ปุ๋ยกับพื้นที่นั้น ๆ ให้เหมาะสมกับชนิดพืช และข้อจำกัดต่าง ๆ ซึ่งเกษตรกรสามารถโหลดแอพพลิเคชั่น LDD Soil Guide โดยเข้าไปที่ Google Play หรือ App Store ใช้คำค้นหา “LDD Soil Guide” หรือ “กรมพัฒนาที่ดิน” ทำการติดตั้งลงบนสมาร์ทโฟนและเปิดใช้งานได้ทันที 

  ส่วนหน้าจอเริ่มใช้งานก็จะเป็นแผนที่ประเทศไทย การดูข้อมูลทำได้โดยกดเลือกตำแหน่งบนแผนที่ ระบบจะแสดงข้อมูลสถานที่ ตำบล อำเภอ จังหวัด และจุดพิกัด ณ ตำแหน่งที่เลือกไว้ พร้อมทั้งแสดงข้อมูลกลุ่มชุดดินและข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดิน จากนั้นแตะเลือกข้อมูลกลุ่มชุดดินก็จะเจอกับกล่องเครื่องมือที่แสดงถึง คุณสมบัติ ประโยชน์ ความเหมาะสมพืช และชุดดินในกลุ่ม โดยแสดงถึงข้อมูลดิน ข้อมูลการจัดการดินและปุ๋ย ข้อมูลความเหมาะสมของพืช โดยระบบจะแสดงสัญลักษณ์ เขียว (เหมาะสมมาก) เหลือง (ไม่ค่อยเหมาะสม) และแดง (ไม่เหมาะสม)

  เมื่อคลิกเลือกพืชที่ต้องการ แนวทางข้อมูลในการจัดการดินเพื่อเพิ่มผลผลิต รวมถึงคำแนะนำการใช้ปุ๋ยสำหรับกลุ่มชุดดิน ค่าวิเคราะห์ดินพื้นฐาน และคำแนะนำปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน

  รองอธิบดี และโฆษกกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการใช้งานนั้นเกษตรกรควรใช้แอพพลิเคชั่น LDD Soil Guide ในการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นของพื้นที่ก่อน เพื่อให้ทราบคุณสมบัติและลักษณะของดิน พิจารณาความเหมาะสมและข้อจำกัด ตลอดจนแนวทางการจัดการดินและปุ๋ยของดินนั้น ๆ คำแนะนำอาจจะไม่ตรงกับสภาพปัจจุบัน เนื่องจากมีการใช้ที่ดินอย่างเข้มข้นหรือคาดการณ์ว่ามีปุ๋ยตกค้างมาก ก็สามารถเก็บตัวอย่างดินส่งวิเคราะห์ได้ และเมื่อได้รับผลวิเคราะห์ดินแล้ว ผลวิเคราะห์นั้นจะมีคำแนะนำการจัดการดินและปุ๋ยประกอบมาด้วย ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ได้ทันที

  ส่วนการดูข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดิน ระบบจะแสดงชนิดพืชและเนื้อที่ที่ปลูกในบริเวณนั้น สามารถนำไปจัดการพื้นที่ในการเพาะปลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถช่วยเกษตรกรลดต้นทุนได้อีกด้วย

จาก  http://www.dailynews.co.th วันที่ 23 มิถุนายน 2559

ประโยชน์นานัปการกับงานจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมและงานจัดรูปที

สำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง กับภารกิจในการดำเนินงานต่อจากระบบชลประทานหลักสู่การพัฒนาระบบชลประทานในไร่นา

เป็นการแพร่กระจายน้ำให้ทั่วถึงทุกแปลงและมีประสิทธิภาพ ประกอบไปด้วยงานจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมและงานจัดรูปที่ดิน ซึ่งจะเป็นตัวช่วยที่สำคัญของเกษตรกร หากเรามีการบริหารจัดระบบน้ำที่ดี มีการจัดรูปที่ดินที่เหมาะสม จะช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลิต ยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยได้

การจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมเป็นการจัดระบบชลประทานจากทางน้ำชลประทานหรือแหล่งน้ำอื่นใดไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่ที่เหมาะสมแก่การทำเกษตรกรรมได้อย่างทั่วถึง รวมทั้งการจัดสร้างถนนหรือทางลำเลียงในไร่นา

การจัดรูปที่ดินเป็นการดำเนินงานพัฒนาที่ดินที่ใช้เพื่อเกษตรกรรมให้สมบูรณ์ทั่วถึงที่ดินทุกแปลง เพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนในการผลิต โดยการรวบรวมที่ดินหลายแปลงในบริเวณเดียวกันเพื่อจัดผังจัดรูปที่ดินเสียใหม่ ให้มีการจัดระบบชลประทาน จัดสร้างถนนหรือทางลำเลียงในไร่นา การปรับระบบดิน บำรุงดิน การวางแผนการผลิตและการจำหน่ายผลิตผลการเกษตร รวมถึงการแลกเปลี่ยน การรับโอนสิทธิ์ในที่ดิน การให้เช่าซื้อที่ดิน และการอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

ในการดำเนินงานจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมและงานจัดรูปที่ดินนั้น ย่อมมีผลประโยชน์ และมีผลกระทบเกิดขึ้น ดังนี้

ผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินงานจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมและงานจัดรูปที่ดิน

สามารถรับน้ำและระบายน้ำได้ตามต้องการ ช่วยให้ประหยัดน้ำ  มีทางสำหรับการลำเลียงวัสดุทางการเกษตรที่สะดวกขึ้น ส่งผลให้สามารถใช้เครื่องจักรกลได้ ทำให้ที่ดินมีคุณค่าและใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น ทำให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนในการผลิตและเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรได้                                       

ส่วนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินงานจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมและงานจัดรูปที่ดิน นั่นก็คือ

การควบคุมการใช้ที่ดิน มิให้ใช้ทำอย่างอื่นที่มิใช่เกษตรกรรม เว้นแต่ได้รับการอนุญาต เจ้าของที่ดินต้องสละที่ดิน อย่างน้อย 1% แต่ไม่เกิน 7% เพื่อใช้ในการก่อสร้างพื้นที่สาธารณประโยชน์ อาทิ ระบบชลประทาน ถนนทางลำเลียงและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้เจ้าของที่ดินทุกแปลงได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน และคนในชุมชนต้องมีส่วนร่วมในการตั้งคณะกรรมการชุมชน เพื่อกำหนดแนวคูและผังแปลง ในการดำเนินงานนั้นต้องมีค่าใช้จ่าย โดยจัดเก็บ 10-20% แต่สามารถนำราคาประเมินที่ดินมาหักลบได้

เป็นการแพร่กระจายน้ำให้ทั่วถึงทุกแปลงและมีประสิทธิภาพ ประกอบไปด้วยงานจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมและงานจัดรูปที่ดิน ซึ่งจะเป็นตัวช่วยที่สำคัญของเกษตรกร หากเรามีการบริหารจัดระบบน้ำที่ดี มีการจัดรูปที่ดินที่เหมาะสม จะช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลิต ยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยได้

การจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมเป็นการจัดระบบชลประทานจากทางน้ำชลประทานหรือแหล่งน้ำอื่นใดไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่ที่เหมาะสมแก่การทำเกษตรกรรมได้อย่างทั่วถึง รวมทั้งการจัดสร้างถนนหรือทางลำเลียงในไร่นา

การจัดรูปที่ดินเป็นการดำเนินงานพัฒนาที่ดินที่ใช้เพื่อเกษตรกรรมให้สมบูรณ์ทั่วถึงที่ดินทุกแปลง เพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนในการผลิต โดยการรวบรวมที่ดินหลายแปลงในบริเวณเดียวกันเพื่อจัดผังจัดรูปที่ดินเสียใหม่ ให้มีการจัดระบบชลประทาน จัดสร้างถนนหรือทางลำเลียงในไร่นา การปรับระบบดิน บำรุงดิน การวางแผนการผลิตและการจำหน่ายผลิตผลการเกษตร รวมถึงการแลกเปลี่ยน การรับโอนสิทธิ์ในที่ดิน การให้เช่าซื้อที่ดิน และการอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

ในการดำเนินงานจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมและงานจัดรูปที่ดินนั้น ย่อมมีผลประโยชน์ และมีผลกระทบเกิดขึ้น ดังนี้

ผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินงานจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมและงานจัดรูปที่ดิน

สามารถรับน้ำและระบายน้ำได้ตามต้องการ ช่วยให้ประหยัดน้ำ  มีทางสำหรับการลำเลียงวัสดุทางการเกษตรที่สะดวกขึ้น ส่งผลให้สามารถใช้เครื่องจักรกลได้ ทำให้ที่ดินมีคุณค่าและใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น ทำให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนในการผลิตและเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรได้                                        

ส่วนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินงานจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมและงานจัดรูปที่ดิน นั่นก็คือ

การควบคุมการใช้ที่ดิน มิให้ใช้ทำอย่างอื่นที่มิใช่เกษตรกรรม เว้นแต่ได้รับการอนุญาต เจ้าของที่ดินต้องสละที่ดิน อย่างน้อย 1% แต่ไม่เกิน 7% เพื่อใช้ในการก่อสร้างพื้นที่สาธารณประโยชน์ อาทิ ระบบชลประทาน ถนนทางลำเลียงและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้เจ้าของที่ดินทุกแปลงได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน และคนในชุมชนต้องมีส่วนร่วมในการตั้งคณะกรรมการชุมชน เพื่อกำหนดแนวคูและผังแปลง ในการดำเนินงานนั้นต้องมีค่าใช้จ่าย โดยจัดเก็บ 10-20% แต่สามารถนำราคาประเมินที่ดินมาหักลบได้

เป็นการแพร่กระจายน้ำให้ทั่วถึงทุกแปลงและมีประสิทธิภาพ ประกอบไปด้วยงานจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมและงานจัดรูปที่ดิน ซึ่งจะเป็นตัวช่วยที่สำคัญของเกษตรกร หากเรามีการบริหารจัดระบบน้ำที่ดี มีการจัดรูปที่ดินที่เหมาะสม จะช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลิต ยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยได้

การจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมเป็นการจัดระบบชลประทานจากทางน้ำชลประทานหรือแหล่งน้ำอื่นใดไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่ที่เหมาะสมแก่การทำเกษตรกรรมได้อย่างทั่วถึง รวมทั้งการจัดสร้างถนนหรือทางลำเลียงในไร่นา

การจัดรูปที่ดินเป็นการดำเนินงานพัฒนาที่ดินที่ใช้เพื่อเกษตรกรรมให้สมบูรณ์ทั่วถึงที่ดินทุกแปลง เพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนในการผลิต โดยการรวบรวมที่ดินหลายแปลงในบริเวณเดียวกันเพื่อจัดผังจัดรูปที่ดินเสียใหม่ ให้มีการจัดระบบชลประทาน จัดสร้างถนนหรือทางลำเลียงในไร่นา การปรับระบบดิน บำรุงดิน การวางแผนการผลิตและการจำหน่ายผลิตผลการเกษตร รวมถึงการแลกเปลี่ยน การรับโอนสิทธิ์ในที่ดิน การให้เช่าซื้อที่ดิน และการอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

ในการดำเนินงานจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมและงานจัดรูปที่ดินนั้น ย่อมมีผลประโยชน์ และมีผลกระทบเกิดขึ้น ดังนี้

ผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินงานจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมและงานจัดรูปที่ดิน

 สามารถรับน้ำและระบายน้ำได้ตามต้องการ ช่วยให้ประหยัดน้ำ  มีทางสำหรับการลำเลียงวัสดุทางการเกษตรที่สะดวกขึ้น ส่งผลให้สามารถใช้เครื่องจักรกลได้ ทำให้ที่ดินมีคุณค่าและใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น ทำให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนในการผลิตและเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรได้                                       

ส่วนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินงานจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมและงานจัดรูปที่ดิน นั่นก็คือ

การควบคุมการใช้ที่ดิน มิให้ใช้ทำอย่างอื่นที่มิใช่เกษตรกรรม เว้นแต่ได้รับการอนุญาต เจ้าของที่ดินต้องสละที่ดิน อย่างน้อย 1% แต่ไม่เกิน 7% เพื่อใช้ในการก่อสร้างพื้นที่สาธารณประโยชน์ อาทิ ระบบชลประทาน ถนนทางลำเลียงและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้เจ้าของที่ดินทุกแปลงได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน และคนในชุมชนต้องมีส่วนร่วมในการตั้งคณะกรรมการชุมชน เพื่อกำหนดแนวคูและผังแปลง ในการดำเนินงานนั้นต้องมีค่าใช้จ่าย โดยจัดเก็บ 10-20% แต่สามารถนำราคาประเมินที่ดินมาหักลบได้

จาก http://www.komchadluek.net   วันที่ 22 มิถุนายน 2559

คาดค่าเงินบาทครึ่งปีหลังยังผันผวน และอาจกลับมาแข็งค่าต้นปีหน้า  

         นักวิเคราะห์ตลาดเงินคาด กนง.คงดอกเบี้ยนโยบายยาวต่อเนื่องถึงสิ้นปี มองค่าเงินบาท H2/59 ยังผันผวน และอาจกลับมาแข็งค่าต้นปีหน้า       

        น.ส.รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการผู้บริหารกลุ่มวิเคราะห์ตลาดการเงิน บมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) มองว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันนี้ (22 มิ.ย.) ที่ประชุมจะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับเดิมที่ 1.50% และยังน่าจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับนี้ไปจนถึงสิ้นปี เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังเติบโตได้ค่อนข้างช้า ต้องอาศัยการประคับประคองจากนโยบายด้านการคลัง และนโยบายด้านการเงิน โดยเชื่อว่า กนง.น่าจะพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยในภาวะที่มีความคับขัน หรือมีความจำเป็นอย่างมากมากกว่า เช่น กรณีการช็อกของเศรษฐกิจจากปัจจัยภายนอกประเทศ    

        “คาดว่า กนง.จะคงดอกเบี้ยไว้ที่ 1.50% ตลอดทั้งปี เพราะถ้าดูภาวะเศรษฐกิจไทยยังโตช้า แต่ประคองตัวได้ด้วยนโยบายการคลัง และนโยบายการเงินก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งจุดนี้ ธปท.ออกมาย้ำหลายครั้ง เพราะดอกเบี้ยบ้านเราในระดับปัจจุบัน ต้นทุนการเงินไม่แพง เพียงแต่คนขาดความเชื่อมั่น”

                สำหรับแนวโน้มค่าเงินในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ น.ส.รุ่ง ให้กรอบกว้างๆ ไว้ที่ 34.50-36.75 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากมองว่าค่าเงินยังมีความผันผวนจากปัจจัยที่ให้สมมติฐานไว้ว่าอังกฤษไม่ออกจากอียู ส่วนปัจจัยถัดไป คือ แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ที่คาดว่ามีความเป็นไปได้ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% อย่างน้อย 1 ครั้งในปีนี้ ซึ่งน่าจะเป็นช่วงไตรมาส 3

                พร้อมวิเคราะห์ว่า หากเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายโดยพิจารณาจากปัจจัยข้อมูลเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียว ก็เชื่อว่าเฟดคงจะปรับขึ้นดอกเบี้ยไปตั้งแต่ต้นไตรมาส 2 แล้ว แต่มองว่าการที่เฟดชะลอขึ้นดอกเบี้ยไว้ก่อน เพราะมีความกังวลมาจากปัจจัยที่สำคัญ คือ การที่อังกฤษจะลงประชามติในวันที่ 23 มิ.ย.นี้ว่าจะแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (EU) หรือไม่ รวมทั้งกรณีที่สหรัฐอเมริกาจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ในช่วงเดือน พ.ย.นี้ด้วย

       

        “เฟดยังกังวลปัจจัยเรื่อง Brexit รวมทั้งเดือน พ.ย.จะมีเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งช่วงที่การเลือกตั้งใกล้เข้ามา เชื่อว่าเฟดจะไม่ทำอะไรกับดอกเบี้ย น่าจะอยู่เฉยๆ ปกติแล้วการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในอดีตที่ผ่านมา จะไม่ค่อยส่งผลต่อนโยบายการเงิน หรือค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเท่าใดนัก แต่รอบนี้มีผลมาก เนื่องจากตัวเก็งประธานาธิบดีมีนโยบายที่แตกต่างกันมาก รอบนี้จึงต่างไปจากทุกครั้ง” น.ส.รุ่ง ระบุ

                ทั้งนี้ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ประเมินว่า ค่าเงินบาทในช่วงไตรมาส 3/59 จะเฉลี่ยอยู่ที่ 35.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนไตรมาส 4/59 จะเฉลี่ยอยู่ที่ 36.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และไตรมาส 1/60 มีโอกาสคาดกลับมาแข็งค่าอยู่ที่ 35.75 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

                “ต้นปีหน้าบาทจะกลับมาแข็งค่า ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ได้แข็งค่าไปจากปัจจุบัน เพียงแต่ระหว่างช่วงจากนี้ไปจนถึงต้นปีหน้า บาทน่าจะเคลื่อนไหวมาก ที่มองว่าต้นปีหน้าจะกลับมาแข็งค่า เพราะเราคิดว่าเมื่อเฟดขึ้นดอกเบี้ยได้ 1-2 ครั้งแล้ว ตลาดจะรับรู้ข่าวไปแล้ว และในเมื่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวได้ดี เชื่อว่าภูมิภาคนี้ที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลักรวมทั้งไทย เศรษฐกิจจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น”

 จาก http://manager.co.th   วันที่ 22 มิถุนายน 2559

บางจากจ่อเดินเครื่องโรงผลิตไบโอดีเซลเฟส 2 พร้อมลงทุนโรงเอทานอลเพิ่มรองรับนโยบายชีวภาพของรัฐบาล

          นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า โรงผลิตไบโอดีเซล เฟสที่ 2 ของบางจาก ใน อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา เตรียมเปิดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในเดือนหน้า ส่งผลให้กำลังการผลิตไบโอดีเซลของบางจากเพิ่มขึ้นจาก 3.6 แสนลิตรต่อวัน เป็น 8.1 แสนลิตรต่อวัน ขณะเดียวกันบางจากจะรับมอบโรงงานผลิตเอทานอล จ.ฉะเชิงเทรา กำลังการผลิต 1.5 แสนลิตรต่อวันในเดือน ส.ค. นี้ พร้อมหาโอกาสลงทุนโรงงานเอทานอลแห่งใหม่ โดยทั้งหมดเป็นการลงทุนเพื่อรองรับนโยบายเชื้อเพลิงชีวภาพของรัฐบาล

           ล่าสุดบางจากฯ ยังได้ร่วมกับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ในโครงการส่งเสริมการใช้น้ำมันไบโอดีเซลบี 20 ในรถยนต์บรรทุกขนาดใหญ่ โดยมี พล.อ. อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธานเพื่อผลักดันให้เกิดการใช้ไบโอดีเซลบี 20 เชิงพาณิชย์ อย่างไรก็ตาม ไบโอดีเซลบี 20 จะมีราคาสูงกว่าน้ำมันไบโอดีเซลบี 7 ในปัจจุบันราว 2.50 บาทต่อลิตร ดังนั้น กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานจึงต้องช่วยสนับสนุนค่าน้ำมันให้ผู้เข้าร่วมโครงการในอัตรา 11.66% แต่ไม่เกิน 4 บาทต่อลิตร วงเงินสนับสนุนทั้งหมดไม่เกิน 115 ล้านบาท

จาก http://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 22 มิถุนายน 2559

เกษตรฯดึง'ทูตานุทูต 27 ชาติ' สัมผัสคุณภาพภาคเกษตรไทย 

          การสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเรื่องคุณภาพ มาตรฐาน และความปลอดภัยของกระบวนการผลิตสินค้าเกษตรของไทย รวมทั้งเผยแพร่แนวทางการดำเนินงานตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ให้ความสำคัญ ต่อการผลิตสินค้าเกษตร ทั้งการบริโภคภายในประเทศและตลาดโลกจึงได้จัดกิจกรรม เชิญคณะทูตานุทูตกว่า 27 ประเทศศึกษาดูงาน ความก้าวหน้าการผลิตสินค้าเกษตรของไทย

          พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การจัดกิจกรรมครั้งนี้ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจถึง ความก้าวหน้าด้านการเกษตรว่า มีคุณภาพ มาตรฐาน และความปลอดภัยสูง คณะทูตานุทูตที่ศึกษาดูงานจะได้รับรู้ รับทราบถึงสินค้าเกษตรของไทย  โดยเฉพาะความหลากหลายของผลไม้ คุณประโยชน์ และวิธีการบริโภค เกิดความร่วมมือและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้านการเกษตรเพิ่มขึ้นด้วย

          นายกีริล มิไฮโลวิช บัรสกี เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทย กล่าวว่า เป็นครั้งแรก ที่ได้รับเชิญจากหน่วยงานภาครัฐให้เข้าเยี่ยมชมสวนผลไม้ ฟาร์มเพาะเลี้ยงและแปรรูปสัตว์และประมง ที่ผ่านมาเคยเข้าไปตรวจเยี่ยมโรงงานแปรรูปไก่ ของบริษัทสหฟาร์ม ที่จ.นครราชสีมา และห้องปฏิบัติการของบริษัทเบทาโกร จำกัด ทำให้มั่นใจการผลิตสินค้าพืช ประมงและปศุสัตว์ของไทยมีศักยภาพสูงสุด

          รัสเซียที่มีประชากรกว่า 185 ล้านคน ปัจจุบันผลผลิตสินค้าอาหารทั้งพืชสัตว์และประมง แต่ยังไม่เพียงพอกับความต้องการในประเทศ  พร้อมรับ นักธุรกิจจากไทยทั้งการเข้าไปลงทุน การส่งออก สินค้าเหล่านี้ สถานทูตรัสเซียพร้อมจะให้ คำแนะนำปรึกษาขั้นตอนการดำเนินการ

          "ที่ผ่านมาพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  เดินทางไปเยือนรัสเซียแล้ว ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจหรือเอ็มโอยู ร่วมกันระหว่าง บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด(มหาชน) หรือซีพีเอฟ ที่ได้เข้าไปลงทุนที่รัสเซียก่อนหน้านี้ ทั้งโรงงานอาหารสัตว์ ฟาร์มเลี้ยงไก่ ฟาร์มเลี้ยงสุกร และโรงงานแปรรูป"

          ซีพีเอฟ ที่มีการลงทุนในรัสเซียกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ และมีแผนขยายการลงทุนต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการผลิตที่ครบวงจร ส่งผลให้สินค้าของ ซีพีเอฟ สามารถกระจายจำหน่ายได้ทั่วทั้งรัสเซีย มีมูลค่าการค้ากว่า 1,500 ล้านดอลลาร์ต่อปี การเข้าไปค้าขายกับรัสเซียยังเป็นโอกาสที่จะขยายตลาดสู่เครือ รัฐเอกราช อีก 11 ประเทศ ดังนั้นรัสเซียถือเป็น ตลาดที่ใหญ่มาก และน่าสนใจต่อการลงทุนในเวลานี้

          นายอับดุลลาห์ อัลชาฮาน เอกอัครราชทูตคูเวต ประจำประเทศไทย กล่าวว่า มีโอกาสเดินทาง ร่วมคณะกับกระทรวงเกษตรฯ  เพื่อลงพื้นที่ดูระบบ การผลิตอาหารเพื่อการส่งออก ดูสวนผลไม้และได้ปลูกป่า ถือเป็นการได้สัมผัสภาคการเกษตรของ ไทยโดยตรง ไทยเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงในหลายด้านทั้งการส่งออกอาหารที่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก มีแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงาม ที่สำคัญ ไปกว่านั้น คนไทยยังมีการยิ้มแย้มแจ่มใส ต้อนรับแขกผู้มาเยือน

          ส่วนภาคเกษตรไทยถือเป็นภาคที่ยังมีอนาคต จากความเข้มแข็งของภาคเอกชน เป็นภาคเกษตรที่มีผลผลิตที่มีชื่อเสียงมาก เช่น ข้าว เป็นต้น แต่ภาครัฐต้องช่วยเหลือภาคเกษตร โดยการให้ความรู้ เทคโนโลยี ในการพัฒนาสินค้าเกษตรที่ไทยมี ชื่อเสียง และเพิ่มมูลค่าให้สินค้าของเกษตรกร

          ส่วนตัวมาอยู่ที่ไทย 2 ปี 6 เดือน สิ่งที่ได้เห็นและประทับใจคือคนไทยขยันทำงานโดยเฉพาะใน ภาคการเกษตร ขยันและตั้งใจดูแลผลผลิตใกล้ชิด คนไทยมีพระมหากษัตริย์ ที่เป็นผู้ริเริ่มโครงการเศรษฐกิจพอเพียงกว่า 4,000 โครงการ ซึ่งเป็นโครงการที่ดีที่ให้คนไทยสามารถยึดเป็นแบบอย่าง เพื่อการทำการเกษตรที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้

          หากต่างชาติที่เคยมาเมืองไทยเมื่อ 50 ปีก่อน มาอีกครั้งในวันนี้ ทุกคนจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ไทยเปลี่ยนแปลงไปมากในหลายๆเรื่อง จากอดีตมีเพียงการเกษตร แต่ปัจจุบันประเทศไทย มีหลายอย่างที่ดึงดูดต่างชาติ เช่น แหล่งท่องเที่ยว ที่หลากหลายมีชื่อสียง มีอาหารและผลไม้ที่อร่อยอยู่ในแต่ละภาค

          นอกจากนี้ไทยถือเป็นศูนย์กลางการแพทย์ ที่เก่ง การให้การบริการราคาไม่สูง ที่ผ่านมา คนคูเวตเดินทางเข้าไทยจำนวนมากและเพิ่มขึ้นทุกปี จากปี 2556 มีจำนวน 71,000 คน ส่วนใหญ่ นิยมเข้ามาเพื่อรักษาทางการแพทย์ เชื่อมต่อ การท่องเที่ยว ที่สำคัญไทยยังเป็นเมืองแห่งแฟชั่น

          นายเรย์ แซนเทลล่า ผู้ช่วยที่ปรึกษาฝ่ายการเกษตร  กระทรวงเกษตรสหรัฐ กล่าวว่า  รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับเชิญ เข้าร่วมงานครั้งนี้ ส่วนตัว ทำงานตรงนี้มา 4 ปี พบว่าไทยได้ตระหนักถึงความพยายามของรัฐบาลไทยที่ให้ความสนใจด้านคุณภาพสินค้าเกษตร และอาหารปลอดภัย สหรัฐกับไทยมีการค้าแลกเปลี่ยนกันมายาวนาน กว่า 180 ปี เนื่องจากไทยเป็นคู่ค้าที่ดี

          นอกจากนี้การปฏิรูปภาคการเกษตร ไทยจำเป็น ต้องรวบรวมข้อมูลจากผู้บริโภค ดูเรื่องความต้องการของตลาด เพื่อนำมาปรับปรุงสินค้า เพื่อเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับผู้บริโภค และยกระดับสินค้าให้ทัดเทียมกับนานาชาติ โดยเฉพาะมาตรฐานและคุณภาพสินค้า

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 22 มิถุนายน 2559

รัฐเท4หมื่นล้านอุ้มเกษตรกร จ่ายเงินไร่ละพันบาท-ชดเชยดอกเบี้ยพักชำระหนี้-ทำประกันพืชผลฟรี

ครม.ควักเงินอีก 4 หมื่นล้านบาท ช่วยเหลือเกษตรกร ผ่าน 4 โครงการ ทั้งให้เงินช่วยเหลือไร่ละ 1 พันบาทไม่เกิน 10 ไร่/ราย รับภาระดอกเบี้ยจากโครงการพักชำระหนี้ 2 ปี ให้ 50% จ่ายค่าเบี้ยประกันภัยพืชผลให้ทุกราย ที่ขอสินเชื่อกับ ธ.ก.ส. ลงทุนอีกกว่า 500 ล้านบาท แก้ปัญหาชาวนา ชาวไร่ ยากจน ให้มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติเห็นชอบโครงการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในฤดูการผลิตรอบใหม่ ปี 2559/60 ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 4 โครงการ เป็นวงเงินที่ให้ความช่วยเหลือรวมกว่า 4 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น 1.โครงการสนับสนุนเพื่อช่วยเหลือต้นทุนการผลิตแก่เกษตรกร อัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 10 ไร่ จากเดิมที่กำหนดไม่เกิน 15 ไร่ โดยสาเหตุที่ปรับลดลง เพื่อกระจายให้เกษตรกรรายย่อยเพิ่มมากขึ้น คาดจะได้รับความช่วยเหลือ 3.7 หมื่นราย หรือมีวงเงิน 3.7 หมื่นล้านบาท

สำหรับโครงการที่ 2 คือ การพักชำระหนี้เงินต้นให้เกษตรกรเป็นเวลา 2 ปี ลดดอกเบี้ยรวม 3% เพื่อแบ่งเบาภาระเกษตรกร โดย ธ.ก.ส.จะรับภาระดอกเบี้ยครึ่งหนึ่งและได้เงินชดเชยสนับสนุนจากรัฐบาลอีกครึ่งหนึ่งให้กับลูกค้าธ.ก.ส.ทุกรายที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 5 แสนบาท คาดจะมีเกษตรกรได้รับ 2 ล้านราย รวมวงเงิน 5,400 ล้านบาท ส่วนโครงการที่ 3 คือ โครงการอบรมความรู้เชิงปฏิบัติการ เป้าหมายในการช่วยเหลือเกษตรกร 3 แสนราย และจะเพิ่มการอบรมเพื่อให้เป็นเอสเอ็มอีเกษตรกรเพิ่มขึ้นด้วย โดยมีเป้าหมายผลักดัน 1.5 หมื่นราย ให้วงเงิน 258 ล้านบาท

ขณะที่โครงการที่ 4 คือ โครงการประกันภัยนาข้าว เช่น ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม หรือภัยแล้งโดยเชื่อว่าการดำเนินการดังกล่าวจะเป็นต้นแบบในการประกันพืชผลในระยะยาว ซึ่งในหลักการ คือ ให้เกษตรกรที่เป็นลูกค้าของธ.ก.ส. จะต้องทำประกันควบคู่ทุกราย ซึ่ง ธ.ก.ส.จะออกค่าเบี้ยให้ 40 บาทต่อไร่ รวมเป็นเงิน 1,200 ล้านบาท จากการคำนวณลูกค้า 1.5 ล้านราย จำนวน 30 ล้านไร่ ส่วนที่เหลือรัฐบาลจะเป็นผู้ดูแล ซึ่งมองว่าการดำเนินการดังกล่าวนั้นจะทำให้เกษตรกรมีความมั่นคง มีหลักประกันในการป้องกันในอนาคต นอกจากนี้หลังจากการทำประกันในเกษตรกรปลูกข้าวแล้วจะขยายไปยังกลุ่มพืชผลทางการเกษตรอื่นๆ ด้วย

“การประกันพืชผลเป็นสิ่งสำคัญสำหรับประเทศที่ทำการเกษตร ไม่เช่นนั้นรัฐบาลจะต้องเตรียมงบประมาณอุดหนุน มีปัญหาก็ต้องมาจ่ายตลอดเวลา ซึ่งไม่ใช่วิธีที่บริหารความเสี่ยงที่ถูกต้อง โดยวิธีนี้ระบบการประกันภัยพืชผลจะเกิดขึ้นได้” นายอภิศักดิ์ กล่าว

นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส. เปิดเผยว่าที่ประชุม ครม.ยังเห็นชอบโครงการประกันภัยพืชผลฤดูการผลิตปี 2559/60 นำมาใช้กับเกษตรกรทุกรายที่ขอสินเชื่อกับ ธ.ก.ส. โดเกษตรกรไม่ต้องจ่ายเบี้ยประกัน ทั้งนี้ คปภ.ได้เจรจากับบริษัทประกันวินาศภัแล้ว จึงได้กำหนดเบี้ยประกันเป็นอัตราเดียวกันทั้งประเทศ ในราคา100 บาทต่อไร่ จากเดิมกำหนดเบี้ยประกันตามพื้นที่ความเสี่ยงตามพื้นที่ ตั้งแต่ 120-483 บาท เพื่อต้องการส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าสู่ระบบประกัน ธ.ก.ส.จึงจ่ายให้กับลูกค้าของธนาคารในอัตรา 40 บาทต่อไร่ ใช้เงินประมาณ 1,200 ล้านบาทต่อปี ส่วนเบี้ยประกันภัย 60 บาทต่อไร่ รัฐบาลจ่ายอุดหนุนให้กำหนด เป้าหมายพื้นที่ทำนาข้าว 30 ล้านไร่

“หากเกษตรกรประสบปัญหาภัยแล้ง ภัยธรรมชาติน้ำท่วม พายุ จนทำให้พืชเกษตรได้รับความเสียหาย จะได้รับเงินชดเชย 1,113 บาทต่อไร่ คาดว่าจะมีเกษตรกรเข้าระบบประกันภัยพืชผล เพื่อทำให้เกษตรกรมีความมั่นคง มีหลักประกันในการป้องกันในอนาคต นอกจากนี้หลังจากการทำประกันในเกษตรกรปลูกข้าวแล้วจะขยายไปยังกลุ่มพืชผลทางการเกษตรอื่นเพิ่มเติม”

ด้านนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.ยังมีมติเห็นชอบให้ใช้งบที่เหลือจากโครงการแก้ไขปัญหาเกษตรกรยากจนที่ไม่มีที่ดินทำกิน ที่เคยให้สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดินไปรับซื้อที่ดินจากบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย(บสท.) โดยมีวงเงินเหลือจากที่ดำเนินการ 690 ล้านบาท จึงได้ให้นำวงเงินที่เหลือดังกล่าวไปดำเนิน 5 โครงการ ก่อนจะยกระดับจากสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดินเป็นธนาคารที่ดิน

สำหรับ 5 โครงการ ประกอบด้วย 1.โครงการศึกษากระบวนการธนาคารที่ดินในต่างประเทศ โดยจะตั้งที่ปรึกษาขึ้นมาเพื่อศึกษาให้เกิดเป็นกรอบในการดำเนินการ 2.โครงการแก้ไขปัญหาเกษตรกรและผู้ยากจน ที่สูญเสียสิทธิในที่ดินทำกินจากการจำนองและขายฝาก 3.โครงการนำร่อง ธนาคารที่ดิน 5 ชุมชนที่ไม่มีที่ดินทำกิน และไม่ประกอบอาชีพ 520 ครัวเรือนใน จ.ลำพูน และ จ.เชียงใหม่ 4.ศึกษาโครงการต้นแบบต่างๆว่าจะสามารถจัดสรรที่ดินให้กับผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนได้อย่างไร โดยตั้งเป้าในปีนี้ 8 พื้นที่ และอีก 4 พื้นที่ในปี 2560 และ 5.ให้ศึกษาวิจัยข้อมูลต่างๆ ของโครงการ เพื่อยกระดับเป็นธนาคารที่ดินในอนาคต

ด้านนายสุรพงษ์ เจียสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงภาพรวมราคาสินค้าเกษตรซึ่งวัดจากดัชนีราคาสินค้าเกษตรเดือนพฤษภาคม 2559 พบว่า เพิ่มขึ้น 2.57% เมื่อเทียบกับเดือนเมษายนที่ผ่านมา สินค้าราคาสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ยางพารา สับปะรดโรงงานสุกร และไข่ไก่ โดยข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ราคาสูงขึ้น เนื่องจากผลผลิตลดลงจากเดือนที่ผ่านมายางพารา ราคาปรับตัวสูงขึ้นตามการปรับตัวของราคาน้ำมันและราคาตลาดล่วงหน้า TOCOM สับปะรดโรงงาน ราคาสูงขึ้นจากผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดต่างประเทศ สุกร และไข่ไก่ ราคาสูงขึ้น เพราะความต้องการในช่วงเปิดเทอม สินค้าที่มีราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ลองกอง เงาะ และมังคุดราคาลดลง เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมากกว่าเดือนที่ผ่านมา

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 22 มิถุนายน 2559

แจงสี่เบี้ย : การอนุรักษ์ดินและน้ำ (5)

วิธีการอนุรักษ์ดินและน้ำที่สำคัญ

2.มาตรการวิธีกล มาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำโดยวิธีกล วิธีการและการใช้ประโยชน์

คันชะลอความเร็วของน้ำ เป็นสิ่งก่อสร้างที่สร้างขึ้นในพื้นที่ที่มีการชะล้างพังทลายของดินแบบร่องลึก เพื่อชะลอความเร็วของน้ำ และช่วยให้เกิดการตกตะกอนทับถมในร่องน้ำ ทำให้ร่องน้ำตื้นเขิน ช่วยให้พืชต่างๆ ในร่องน้ำที่เพิ่งงอกใหม่ไม่ถูกน้ำพัดพาไปสามารถเจริญเติบโตขึ้นปกคลุมร่องน้ำได้เร็วขึ้น โดยสร้างขวางเป็นช่วงๆ ในร่องน้ำที่มีการกัดเซาะ อาจสร้างด้วยเศษไม้ เศษพืชหิน ดิน หรือคอนกรีตก็ได้ หรือเป็นสิ่งก่อสร้างที่ช่วยลดปัญหาการกัดเซาะในทางระบายน้ำที่ปูด้วยหญ้า หรือใช้กับพื้นที่ที่มีการชะล้างพังทลายแบบร่องลึก หรือในทางระบายน้ำ

ทางระบายน้ำ เป็นสิ่งก่อสร้างที่สร้างขึ้นเพื่อรับน้ำจากพื้นที่ต่างๆ ที่ถูกเบนมา เพื่อให้น้ำไหลไปยังแหล่งที่ต้องการ เช่น อ่างเก็บน้ำ ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ และแหล่งธรรมชาติ เป็นต้น

บ่อน้ำในไร่นา เป็นพื้นที่ที่สร้างขึ้นโดยการขุดหรือทำคันดินล้อมรอบสำหรับเก็บกักน้ำไว้ใช้ในพื้นที่การเกษตร หรือถมดินขวางกั้นทางเดินน้ำหรือร่องน้ำ เพื่อรับน้ำจากคันดินแบบน้ำลงมากักเก็บและนำน้ำไปใช้ในพื้นที่ทำการเกษตรในช่วงที่มีฝนทิ้งช่วงและในช่วงฤดูแล้ง นอกจากนี้ยังใช้เพื่อการอุปโภค บริโภค เลี้ยงสัตว์ และลดปัญหาน้ำท่วม ใช้สำหรับพื้นที่ที่เป็นที่ลุ่มมีน้ำขังโดยขุดดินตรงจุดต่ำสุดเพื่อกักเก็บน้ำ กรณีที่มีคลองหรือลำธารอยู่ข้างเคียงพื้นที่ก็ใช้วิธีสูบน้ำหรือระบายน้ำมากักเก็บไว้ในบ่อที่สร้างขึ้นถ้าในบริเวณพื้นที่มีน้ำหรือตาน้ำที่ไหลมาจากน้ำพุที่เป็นน้ำสะอาดก็สามารถขุดบ่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ได้ รวมทั้งพื้นที่ที่มีน้ำไหลมาก็ทำคันกั้นปิดน้ำมากักเก็บไว้

บ่อดักตะกอน เป็นบ่อขนาดเล็กที่สร้างขึ้นเพื่อดักตะกอนที่ไหลมาตามทางระบายน้ำก่อนลงสู่บ่อน้ำประจำไร่นา เพื่อดักตะกอนที่ไหลมาตามน้ำไม่ให้ไหลลงไปทับถมบ่อน้ำประจำไร่นา ทำให้อายุการใช้งานของบ่อน้ำยาวนานขึ้นและเป็นการรักษาคุณภาพน้ำ สร้างเนื้อพื้นที่อ่างเก็บน้ำ ก่อนที่น้ำจะพัดพาตะกอนดินไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำ ซึ่งทำให้อ่างเก็บน้ำตื้นเขินอย่างรวดเร็ว

ทางลำเลียง ทางลำเรียงในไร่นา หมายถึง ทางลำเลียงที่สร้างโดยการทำคันดินให้มีขนาดใหญ่สำหรับใช้เป็นทางลำเลียงผลิตผลการเกษตรสู่ตลาด เพื่อความสะดวกในการขนส่งผลิตผลจากพื้นที่เกษตรสู่ตลาด และเพื่อเป็นถนนให้เครื่องจักรกลเข้าทำงานในพื้นที่เพาะปลูก ใช้ในพื้นที่ทำการเกษตรที่มีความลาดเท 2-12 เปอร์เซ็นต์

การไถพรวน การไถพรวนน้อยครั้ง เป็นการไถพรวนในขั้นตอนของการเตรียมดินสำหรับการปลูกพืชที่เน้นให้มีจำนวนครั้งของการไถพรวนน้อยที่สุด เพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดินและการอัดแน่นเป็นแผ่นแข็งของผิวดินประหยัดพลังงาน และแรงงานในการเตรียมดินปลูกพืช เหมาะสมสำหรับพื้นที่ที่มีดินร่วน ดินร่วนปนทราย และมีการระบายน้ำดี และไม่เหมาะสมสำหรับพื้นที่ที่มีดินเนื้อละเอียด เช่น ดินร่วนปนดินเหนียว ดินทรายแป้ง และดินเหนียวที่มีการระบายน้ำไม่ดี

การปลูกพืชโดยไม่ไถพรวน เป็นการปลูกพืชโดยไม่มีการไถพรวนดินในขั้นตอนการเตรียมดินเลย ช่วยให้ปริมาณธาตุอาหารและอินทรียวัตถุยังคงอยู่ในดินไม่ถูกชะล้าง สงวนรักษาความชื้นของดิน และควบคุมอุณหภูมิบริเวณผิวดินในตอนกลางวันไม่ให้ร้อนจัดเกินไป รวมทั้งช่วยรักษาโครงสร้างทางกายภาพของดิน เช่น ความหนาแน่นของดินไม่ให้เกิดความแน่นทึบจากการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร ซึ่งไม่เหมาะสมสำหรับดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ และดินควรมีการระบายน้ำดี ไม่เหมาะสมสำหรับการปลูกพืชที่มีหัวใต้ดิน ควรใช้หรือมีวัสดุดินจึงจะได้ผล รวมทั้งช่วงการปลูกพืช ดินควรมีความชื้นพอดีไม่เปียกแฉะจนเกินไป

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 22 มิถุนายน 2559

รายงานพิเศษ : แนะเกษตรกรเตรียมสำรองน้ำด้วย‘บ่อจิ๋ว’

 “บ่อจิ๋ว” ในไร่นานอกเขตชลประทาน ตามโครงการที่กรมพัฒนาที่ดินได้ดำเนินการอยู่นั้น ถือเป็นแหล่งเก็บกักน้ำในพื้นที่ของเกษตรกรที่มีกระจายอยู่ทั่วประเทศ ที่สามารถช่วยสร้างความชุ่มชื้น และฟื้นคืนชีวิตเกษตรกร ให้สามารถทำการเพาะปลูกสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวได้

นายปราโมทย์ ยาใจ รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า ตามที่กรมฯ ได้ดำเนินการโครงการแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน โดยการขุดสระน้ำในไร่นาขนาด 1,260 ลูกบาศก์เมตร หรือที่เรียกว่า “บ่อจิ๋ว” ในพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิและเกษตรกรมีส่วนร่วมในการออกค่าใช้จ่าย 2,500 บาท/บ่อกระจายอยู่ในพื้นที่ของเกษตรกร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในพื้นที่ทำการเกษตร นอกเขตชลประทานและในพื้นที่ที่ระบบส่งน้ำไปไม่ถึง เพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาภัยแล้ง เพิ่มผลผลิตและรายได้ให้แก่เกษตรกร โดยเฉพาะพื้นที่ของเกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมักประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ ฝนทิ้งช่วงและภัยแล้งอยู่เสมอ

สำหรับผลการดำเนินงานที่ผ่านมา กรมพัฒนาที่ดินได้จัดประชุมชี้แจงสถานีพัฒนาที่ดินทั่วประเทศ ให้ประชาสัมพันธ์ในเรื่องนี้ผ่านสื่อต่างๆ และประสานหน่วยงานในพื้นที่ เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล หมอดินอาสาประจำหมู่บ้านในชุมชน ผู้นำท้องถิ่นเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจกับเกษตรกรเกี่ยวกับเรื่องแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน รวมทั้งสำรวจความต้องการของเกษตรกร ที่สนใจเข้าร่วมโครงการขุดแหล่งน้ำโดยความสมัครใจ และสถานีพัฒนาที่ดินจะทำการเรียงลำดับความต้องการของเกษตรกรและรวบรวมจัดทำบัญชีไว้

นายปราโมทย์กล่าวต่อไปว่า กรมพัฒนาที่ดิน ได้ดำเนินการขุดแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทานอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน ประมาณ 352,690 บ่อ ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 81 ดำเนินการกระจายอยู่ในพื้นที่ของเกษตรกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในพื้นที่เกษตรกรรม และในปี 2559 ได้ดำเนินการขุดบ่อจิ๋วตามงบประมาณที่ได้รับจัดสรรแล้วเสร็จอีก จำนวน 20,000 บ่อ และยังมีเงินงบประมาณเหลือจ่ายสามารถขุดบ่อจิ๋วให้แก่เกษตรกรที่มีความต้องการเพิ่มเติมได้อีก จำนวน 1,879 บ่อ ซึ่งได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว สำหรับในปีงบประมาณ 2560 ได้นำความต้องการของเกษตรกรเสนอตั้งเป็นคำของบประมาณเรียบร้อยแล้ว จำนวน 44,000 บ่อ

“ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ช่วงฤดูฝน โครงการพัฒนาแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทานเพื่อเกษตรกร “บ่อจิ๋ว” มีความพร้อมแล้วที่จะรองรับน้ำฝนที่กำลังจะมาถึงนี้ จึงอยากจะฝากถึงเกษตรกรให้เตรียมสำรองเก็บน้ำในช่วงที่ฝนจะตกนี้ไว้ใช้ในการเพาะปลูกครั้งต่อไป และเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน สามารถแจ้งความจำนงได้ที่หมอดินอาสาใกล้บ้านหรือติดต่อกับสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 1-12 หรือสถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัดทั่วประเทศ” นายปราโมทย์ กล่าวทิ้งท้าย

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 22 มิถุนายน 2559

"แอพดิน-ปุ๋ย" สุดยอดตัวช่วยเกษตรกร

พด.แนะนำแอพพลิเคชั่น เพื่อเกษตรกรจัดการดินและปุ๋ยได้ตรงสภาพความต้องการของพืชที่ปลูกในพื้นที่

               น.ส.เบญจพร ชาครานนท์ โฆษกกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาที่ดินได้จัดทำโปรแกรมบนโทรศัพท์มือถือ หรือโมบายแอพพลิเคชั่น ให้คำแนะนำจัดการดินและปุ๋ยขึ้น 2 แอพพลิเคชั่น ได้แก่ LDD Soil Guide ซึ่งนำเสนอแผนที่ดิน ข้อมูลดิน สมบัติดินพร้อมคำแนะนำในการจัดการดิน ปุ๋ย ความเหมาะสมสำหรับพืชและข้อจำกัดต่างๆ ในเบื้องต้น และปุ๋ยรายแปลงแอพพลิเคชั่นที่เน้นให้คำแนะนำจัดการดินและปุ๋ยเมื่อมีการเก็บตัวอย่างดิน มีผลวิเคราะห์ดินเป็นรายแปลง

                โดยในการใช้งาน เกษตรกรและเจ้าหน้าที่ควรใช้แอพพลิเคชั่น LDD Soil Guide ในการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นของพื้นที่ก่อน เพื่อให้ทราบสมบัติ ลักษณะของดิน ข้อจำกัด แนวทางจัดการดินและปุ๋ยของดินนั้นๆ หากหาแนวทางการจัดการดิน ปุ๋ยได้ตามต้องการ สอดคล้องกับสภาพที่เป็นจริงในพื้นที่แล้วก็สามารถนำคำแนะนำนั้นไปปรับใช้ได้ทันที

                โฆษกกรมพัฒนาที่ดินกล่าวอีกว่า กรณีมีข้อสงสัยในคำแนะนำที่อาจไม่ตรงกับสภาพปัจจุบันเนื่องจากมีการใช้ที่ดินอย่างเข้มข้นหรือคาดการณ์ว่ามีปุ๋ยตกค้างมากก็ให้เก็บตัวอย่างดินส่งวิเคราะห์ได้ ต่อเมื่อได้รับผลวิเคราะห์แล้ว ก็จะมีคำแนะนำการจัดการดินและปุ๋ยประกอบมาด้วย ซึ่งนำไปปรับใช้ได้ทันที

               ทั้งนี้ หากเกษตรกรยังต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม หรือต้องการปรับผลวิเคราะห์ดินใช้ในกรณีอื่นๆ ให้ปรึกษาเจ้าหน้าที่เพื่อให้เจ้าหน้าที่ใช้โปรแกรมปุ๋ยรายแปลงเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบข้อมูลและคำนวณการผสมปุ๋ยได้

               สำหรับ LDD Soil Guide นอกจากใช้บนโทรศัพท์มือถือแล้วยังใช้บนคอมพิวเตอร์ทั่วไปได้ด้วย โดยเข้าไปในเว็บไซต์กรมพัฒนาที่ดิน <http://www.ldd.go.th หรือดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นได้ที่ Google Play หรือ App Store ใช้คำค้นหา “LDD Soil Guide” หรือ “กรมพัฒนาที่ดิน” หรือ สแกนผ่านคิวอาร์โค้ดเพื่อติดตั้งแอพพลิเคชั่น (Install) และเปิดใช้งานได้ทันที

จาก http://www.komchadluek.net   วันที่ 22 มิถุนายน 2559

บาทเปิด35.24/26บาทต่อดอลล่าร์ อ่อนค่า

เงินบาทเปิดตลาด 35.24/26บาทต่อดอลล่าร์ อ่อนค่าหลังดอลล์แข็งขานรับถ้อยแถลง"เยลเลน"-จับตาผลเบร็กซิต นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ระดับ 35.24/26 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าจากช่วงเย็นวานนี้ที่ปิดตลาดที่ระดับ 35.17 บาท/ดอลลาร์

เหตุที่เงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลง เป็นผลจากที่ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นหลังจากที่นางเจเน็ต เยเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้แถลงนโยบายการเงินและรายงานภาวะเศรษฐกิจในรอบครึ่งปีต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารของวุฒิสภาสหรัฐฯ โดยแสดงความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย หากในท้ายสุดแล้วผลประชามติจะออกมาว่าอังกฤษจะแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป EU) แต่อย่างไรก็ดีจะติดตามสถานการณ์เรื่องนี้อย่างใกล้ชิด

ส่วนปัจจัยในประเทศจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันนี้ คาดว่าจะยังคงดอกเบี้ยไว้ในระดับเท่าเดิมที่ 1.50% เพราะขณะนี้คงต้องรอดูทิศทางจากการทำประชามติของอังกฤษประกอบด้วย

นักบริหารเงิน คาดว่า วันนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 35.20-35.40 บาท/ดอลลาร์

จาก http://www.posttoday.com   วันที่ 22 มิถุนายน 2559

'หอการค้าไทย' คาดเศรษฐกิจปีนี้โต 3.2-3.5%

"หอการค้าไทย" คาดเศรษฐกิจไทยปีนี้โต 3.2 - 3.5% ประเมินครึ่งปีหลังโตถึง 3.3% มองส่งออกโต 0.8% พร้อมจับตาศก.โลก-นโยบายกระตุ้นศก.ภาครัฐ

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หอการค้าไทยฯ ได้ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 59 เติบโตที่ 3.2-3.5% จากประมาณการเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 3% โดยเป็นผลจากเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลังเติบโตได้ดี โดยคาดว่าจะเติบโตได้ 3.3% หลังจากช่วงครึ่งปีแรกเศรษฐกิจไทย เผชิญกับปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัว อย่างไรก็ตามการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ยังขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ที่จะส่งผลต่อการภาคการส่ง ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐเป็นรูปธรรมจะมีส่วนในการกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน

"เราได้ปรับจีดีพีปีนี้เพิ่มขึ้นจากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 3% เป็น 3.2-3.5% เพราะเราเห็นการกระตุ้นการลงทุนของรัฐบาล โดยเฉพาะของคมนาคม ที่คาดว่าจะมีโครงการลงทุนทั้งสิ้น 11 โครงการคิดเป็นเม็ดเงิน 4.8 แสนล้านบาท จากทั้งหมด 20 โครงการ คิดเป็นเม็ดเงิน 1.7 ล้านล้านบาท

ซึ่งถือว่าเป็นเม็ดเงินการลงทุนขนาดใหญ่ที่จะมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังให้มีการขยายตัวที่ดีกว่าในครึ่งปีแรก" นายอิสระ กล่าว

สำหรับการส่งออกในครึ่งปีหลัง คาดว่าจะเติบโต 2.6% ทำให้ทั้งปี 59 มีโอกาสที่การส่งออกจะเติบโต 0.8% จากเดิมที่ประเมินไว้ว่าการส่งออกจะติดลบ ส่วนอัตราเงินเฟ้อในครึ่งปีหลังจะอยู่ที่ 0.9% ทำให้เงินเฟ้อทั้งปีจะอยู่ที่ 0.4%

ส่วนปัจจัยบวกที่มีผลต่อเศรษฐกิจไทยปีนี้ ประกอบด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเพราะจะมีผลต่อการบริโภค การลงทุนของภาคเอกชน ภาคการท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง การส่งออกเริ่มมีสัญญาณของการฟื้นตัว รัฐบาลเร่งเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำและงบรายจ่ายลงทุน การดำเนินนโยบายการเงินผ่านการใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับที่ต่ำใกล้เคียง 1.5% ซึ่งมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น การลงทุนพัฒนาโครงการพื้นฐานขนาดใหญ่ และการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าวมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นอย่างดี

ขณะที่ปัจจัยลบที่มีผลต่อเศรษฐกิจไทยไทย เช่น ปัญหาภัยแล้งและราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ มีผลทำให้กำลังการซื้อของเกษตรกรหดหายไป ประกอบกับสถาบันการเงินเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับตัวเลขสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ เอ็นพีแอล รวมถึงสหภาพยุโรปตัดสิทธิพิเศษ ทางการค้า (GSP) ปัญหาการแบนสินค้าประมงของไทยชั่วคราว (IUU) และเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอตัวจากการปรับนโยบายเศรษฐกิจ โดยเน้นพึ่งพาสินค้าในประเทศและลดการนำเข้า

"ราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันโลก ซึ่งจากรายงานประจำเดือน มิ.ย.ของสำนักงานพลังงานสากล หรือ IEA คาดว่าตลาดน้ำมันโลกจะเข้าสู่ภาวะสมดุลในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ซึ่งถือเป็นการกลับมาที่จุดสมดล หลังอุปทานมากกว่าอุปสงค์อยู่เป็นเวลา 2 ปี

เนื่องจากอุปทานน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลงจากภาวะขัดข้องด้านการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปกและนอกกลุ่มโอเปก ประกอบกับอุปสงค์น้ำมันโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้นจะส่งผลให้สถานการณ์รายได้ของเกษตรกรเพิ่มขึ้น เช่น ราคาข้าว ยางพารา และน้ำมันปาล์ม ซึ่งเป็นสินค้าหลักที่สำคัญของไทยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น มีผลทำให้กำลังซื้อของเกษตรกรเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง" นายอิสระ กล่าว

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ครม.ไฟเขียว 690 ล้านบาท นำร่องรับซื้อที่ดินช่วยเกษตรกรที่นำไปจำนอง-ขายฝาก-หลุดมือเกษตรกร

เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2559 เวลา 15.00 น. นายกอบศักดิ์ ภู่ตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้ว่าที่ประชุมมีมติเห็นชอบนำเงินงบประมาณ 690 ล้านบาท มอบให้สถาบันบริหารจัดการที่ดิน (องค์กรมหาชน) นำเงินไปจัดซื้อที่ดินทางการเกษตร ซึ่งถูกนำไปจำนอง ขายฝาก และหลุดมือจากเกษตรกร โดยซื้อจาก บสก.และบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท เพื่อนำไปให้เกษตรเจ้าของรายเดิมได้เช่า ประกอบอาชีพและขอซื้อกลับคืนได้ในอนาคต

นายกอบศักดิ์กล่าวต่อว่า โครงการดังกล่าวเป็นการทดลองนำร่องและเตรียมการใช้ระบบดังกล่าวไปพลางก่อน เนื่องจาก พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน อยู่ระหว่างการพิจาณาของ สปท. และส่งเรื่องให้ ครม.และ สนช.พิจารณา เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้จะได้เริ่มดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ในวงเงิน 690 ล้านบาทดังกล่าวจะแบ่งเพื่อนำไปใช้สำหรับศึกษาเพื่อจัดตั้งธนาคารที่ดิน 4 ล้านบาท ศึกษาบริหารจัดการที่ดินแบบครบวงจร 261 ล้านบาท และนำไปใช้แก้ปัญหาให้กับเกษตรกร ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการขายฝาก จำนองที่ดิน

โดยจะทดลองนำรองในกลุ่มเกษตรกร 250 ราย ใน 5 ชุมชน ในจังหวัดลำพูนและเชียงใหม่ โดยปล่อยสินเชื่อ 5-5.7 แสนบาทต่อราย ใช้เงินประมาณ 167 ล้านบาท จากนั้นจึงขยายไปยังจังหวัดอื่น เช่น นครสวรรค์ ขอนแก่น นราธิวาส รวมทั้งการศึกษาแผนจัดตั้งธนาคารที่ดินในต่างประเทศ เพื่อนำมาใช้พัฒนากับประเทศไทย เมื่อ พ.ร.บ.ธนาคารที่ดินผ่านความเห็นชอบจากสภา สนช.แล้ว จะได้ทำหน้าที่เหมือนกับบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่ดินเกษตร (AMC)

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ครม.อนุมัติโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 1,400 ล้านบาท สร้างแก้มลิง-สถานีสูบน้ำ

เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2559 เวลา 15.00 น. นายกอบศักดิ์ ภู่ตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้ว่า ที่ประชุมมีมติอนุมัติแผนงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำและเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ และการใช้เงินกู้เพื่อพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ตามที่ ครม.เมื่อ 17 มี.ค.58 ได้อนุมัติกรอบวงเงินกู้ 78,294 ล้านบาท เพื่อดูแลปัญหาน้ำของประเทศไทย โดยจัดสรรให้กรมชลประทาน 23,856 ล้านบาท ดำเนินการไปแล้ว 725 โครงการ ยังเหลืออีก 1,400 กว่าล้านบาท

โดยครม.ได้มีมติอนุมัติใช้วงเงินส่วนที่เหลือเข้ามาช่วยแก้ปัญหาน้ำในโครงการแก้มลิง 22 แห่ง สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า 5 แห่ง ระบบผันน้ำ ระบบส่งน้ำและกระบวนการเพิ่มความจุของแหล่งน้ำ ซึ่งจะช่วยประชาชนได้เกือบ 4 หมื่นครัวเรือน คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 150,000 ไร่

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2559

‘สมคิด’ชงครม.อุ้มเกษตรกร ลดเหลื่อมล้ำ/จ่อใช้‘ม.44.’ทลายกำแพงลงทุน

รองนายกฯเผยที่ประชุมครม. 21 มิ.ย.นี้ เตรียมเสนอมาตรการช่วยเกษตรกรอีกลอต พร้อมกระตุ้นเอกชนให้รับไม้ต่อจากภาครัฐเร่งลงทุน หวังพลิกฟื้นเศรษฐกิจ เผยนายกฯอาจจะมีการใช้ ม.44 เพื่อทลายกำแพงการลงทุนร่วมกันระหว่างไทย-อินเดีย

เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2559 หอการค้าไทย-จีนประชุมทิศทางเศรษฐกิจปี 2559 ในหัวข้อ “อนาคตเศรษฐกิจไทยยุค 4.0” ณ ตึก THAI CC

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีกล่าวปาฐกถา “อนาคตเศรษฐกิจไทยในยุค 4.0” ในงานสัมมนา หอการค้าไทย-จีน ว่า รัฐบาลใช้เวลาอย่างเต็มที่6 เดือนไม่ให้เศรษฐกิจไทยทรุดลงท่ามกลางการทรุดตัวของเศรษฐกิจโลก เพื่อให้คนไทยอยู่ได้ โดยเฉพาะเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ซึ่งในวันที่ 21 มิ.ย. จะเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชุดใหม่ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของรายได้และช่วยเหลือเกษตรกรในฤดูการผลิตใหม่ที่ กำลังจะมาถึงในเดือนต.ค. 2559 เป็นต้นไป

พร้อมกันนนี้ นายสมคิด ได้เรียกร้องให้ภาคธุรกิจเอกชนเพิ่มการลงทุนภายในประเทศไทยให้มากขึ้น โดยมองว่าในระยะ 2-3 ปี จากนี้จะเป็นจุดพลิกผันสำคัญของประเทศ ซึ่งภาคธุรกิจจะต้องแสดงพลังเพื่อร่วมกันช่วยพลิกฟื้นประเทศ เพราะลำพังรัฐบาลเพียง 36 คน และงบประมาณที่มีอยู่จำกัดคงไม่อาจทำให้ประเทศเดินหน้าได้อย่างเต็มที่

โดยในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ ประคับประคองไม่ให้เศรษฐกิจไทยทรุดตัวไปตาม เศรษฐกิจโลก ล่าสุดจะเห็นได้ จากตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของไทยไตรมาสแรกปีนี้อยู่ที่ 3.2% ถือว่าเกิน เป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งต้องจับตาในช่วงที่เหลือของปีนี้ต่อว่าจะเป็นอย่างไร เพราะหลายอย่างขึ้นอยู่กับปัจจัยที่อยู่เหนือการควบคุม

“ประเทศจะอยู่ได้เอกชนตัองเป็นตัวนำต้องเสียสละประเทศจึงจะเดินได้ เราโชคดีที่มีนายกฯที่เสียสละ จริงจัง ไม่ทุจริต พวกท่านไม่ต้องจ่ายค่าต๋ง ถ้าจ่ายให้ใครบอกชื่อมา รับรองว่าคนนั้นไปแน่นอน อยากให้ใช้หน้าต่างแห่งโอกาสของรัฐบาลนี้ที่เหลืออีกแค่ 1 ปี ปฏิรูปวางรากฐานให้ประเทศเราต้องให้พวกท่านช่วย พวกผมจะทำงานอย่างเต็มที่ เหนื่อยไม่ว่า” นายสมคิดกล่าว

ทั้งนี้ หลังจากกลับมาจากอินเดีย นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา อาจจะมีการใช้ ม.44เพื่อทลายกำแพงการลงทุนร่วมกันระหว่างไทย-อินเดีย โดยอินเดียและอีกหลายประเทศมองไทยเป็นตลาดสู่อาเซียน และไทยเรามองอินเดียเป็นประตูสู่กลุ่มอ่าวเบงกอ ขณะเดียวกันไทยต้องช่วยประเทศเพื่อนบ้านให้พัฒนาขึ้นด้วย เพราะถ้าภูมิภาคดีต่างชาติก็มาลงทุน

นายจิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี ประธานหอการค้าไทย-จีน และนายกสมาคมค้าทองคำ กล่าวว่าระหว่างวันที่ 26-30 มิถุนายนนี้จะร่วมคณะกับนายสมคิด เดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนจีนมาไทยหลังจากปี 2558 นักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุด แซงหน้านักลงทุนญี่ปุ่นเป็นปีแรก และคาดว่าปีนี้นักลงทุนจีนจะยังรักษาตำแหน่งต่างชาติที่มาลงทุนในไทยมากที่สุดอย่างต่อเนื่อง

ส่วนผลการลงประชามติว่าอังกฤษจะออกจากสหภาพยุโรปหรืออียูหรือไม่ในวันที่ 23 มิ.ย.นี้ นายจิตติเชื่อว่า อังกฤษจะยังคงอยู่กับอียูต่อไป แต่หากผลประชามติออกมาว่าอังกฤษถอนตัวออกจากอียู จะมีผลทำให้ราคาทองคำปรับเพิ่มขึ้น ถึงระดับ1,350 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อออนซ์ หรือประมาณ 22,000 บาทต่อบาท ทองคำแต่คงเป็นการปรับเพิ่มขึ้นระยะสั้นเท่านั้นจากภาวะการตกใจ

จาก http://www.naewna.com วันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2559

แจงสี่เบี้ย : การอนุรักษ์ดินและน้ำ (4)

วิธีการอนุรักษ์ดินและน้ำที่สำคัญ

2.มาตรการวิธีกล มาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำโดยวิธีกล วิธีการและการใช้ประโยชน์

คันดินฐานกว้าง เป็นคันดินที่มีลาดด้านหน้าและลาดด้านหลังน้อย เพื่อลดความยาวของความลาดเทของพื้นที่ ควบคุมอัตราการชะล้างพังทลายของดิน และอนุรักษ์ความชื้นในดินช่วยให้พืชเจริญเติบโตได้ดี ความกว้างของคันดินประมาณ 4 เมตร มีทั้งแบบระดับและลดระดับ ใช้สำหรับพื้นที่ที่มีความลาดเทไม่เกิน 8% และแบบระดับใช้กับดินซึมน้ำเร็วแต่แบบลดระดับใช้กับดินซึมน้ำช้ากว่าโดยลดระดับตั้งแต่ 0.1-0.6%

คันดินเบนน้ำ เพื่อเบนน้ำส่วนใหญ่ออกจากพื้นที่ไปยังร่องน้ำหรือทางน้ำธรรมชาติ ช่วยป้องกันพื้นที่ตอนล่างจากการไหลบ่าของน้ำ โดยมีการลดระดับเพื่อเบนน้ำที่ไหลบ่าลงมาจากพื้นที่ด้านบนไปยังทางระบายน้ำ ก่อสร้างตอนบนสุดของพื้นที่ ต้องออกแบบอย่างถูกต้อง ป้องกันความเสียหายให้คันดินส่วนล่าง

ขั้นบันไดดิน เพื่อลดความยาวและระดับของความลาดเท ป้องกันการไหลบ่าของน้ำและควบคุมการชะล้างพังทลายของดิน รวมทั้งเก็บกักน้ำไว้ใช้ ควรใช้ในบริเวณที่มีฝนตกน้อยกว่า 650 มิลลิเมตรต่อปี และดินลึกมีอัตราซาบซึมน้ำปานกลางถึงสูง สำหรับขั้นบันไดดินแบบเอียงเข้าในบริเวณที่ฝนตกมากกว่า 650 มิลลิเมตรต่อปี ดินลึก

 ไม่มากและอัตราการซาบซึมน้ำปานกลางถึงต่ำ ขันบันไดดินแบบลาดเอียงออกใช้ในที่มีความลาดชันปานกลาง ฝนตกหนัก และดินลึกถึงลึกมาก

คูรับน้ำขอบเขา สร้างบริเวณขอบเขาตามแนวระดับหรือลดระดับเป็นรูปสามเหลี่ยมหรือสี่เหลี่ยมคางหมู เพื่อลดความยาวของความลาดเทสูงออกเป็นช่วงๆ สามารถเก็บกักน้ำหรือระบายน้ำไปในทิศทางที่ต้องการ เหมาะสำหรับพื้นที่ที่มีความลาดเทน้อยกว่า 40% ถ้าใช้ร่วมกับขั้นบันไดดินแบบลาดเอียงออก หรือแถบหญ้าแฝกจะสามารถใช้ได้ในพื้นที่ลาดเทมากกว่า 40% ถ้าพื้นที่ระหว่างคูรับน้ำขอบเขามีการปลูกหญ้าก็สามารถใช้ในพื้นที่ที่มีความลาดเทได้ถึง 55%

จาก http://www.naewna.com วันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ดินดี น้ำดี พร้อมแล้ว  ในฤดูกาลผลิต 59/60

                    พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ประกาศ เปิดตัว โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Field day) และบริการการเกษตร เพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ ปี 2559 อย่างเป็นทางการ                     

       พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ประกาศ เปิดตัว โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Field day) และบริการการเกษตร เพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ ปี 2559 อย่างเป็นทางการเมื่อวันก่อน

     โดยได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ด้านการผลิต และเข้าใจถึงความต้องการของเกษตรกร และในปีฤดูกาลผลิต 2559 นี้ตั้งเป้าไว้ว่า จะทำให้การเกษตรของประเทศ ทำเกษตรที่มีประสิทธิ ภาพอย่างแท้จริง

    โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการทำการผลิตที่สามารถลดต้นทุนการผลิตให้ได้ ขณะเดียวกัน ก็ต้องเพิ่มผลผลิตอย่างมีคุณภาพด้วย ซึ่งได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดบูรณาการร่วมกันให้บริการและช่วยเหลือเกษตรกร โดยใช้ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร จำนวน 882 แห่งทั่วประเทศ

    เป็นศูนย์ให้บริการแก่เกษตรกร พร้อมทั้งเป็นแหล่งศึกษาดูงานในพื้นที่ ที่เน้นให้เกษตรกรได้เรียนรู้และเข้าใจถึงปัจจัยการผลิตลดความเสี่ยง สร้างความเข้มแข็ง ตลอดช่วงฤดูกาลเพาะปลูก ล่าสุดได้เปิดศูนย์เรียนรู้ โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายจากเดิมที่มีต้นทุนการทำนาอยู่ที่ 5,200 บาท ให้เหลือ 2,700 บาท อันจะเป็นผลให้เกษตรกรมีรายได้ที่สูงขึ้น

ด้าน นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานร่วมบูรณาการกันทำงาน โดยในส่วนของกรมพัฒนาที่ดินได้มีการเตรียมความพร้อม ที่จะดำเนินการแล้วในขณะนี้  หลายอย่างด้วยกัน ประกอบด้วย  การทำอย่างไรให้เกษตรกรรู้ว่าเขตความเหมาะสมของดินในแต่ละภูมิภาคนั้นเป็นเขตความเหมาะสมในการทำการเพาะปลูกอะไร

   และต้องทำให้เกษตรกรรู้ว่าสภาพพื้นที่ดินของตนนั้นมีความเหมาะสมต่อการเพาะปลูกพืชชนิดใดบ้าง  ซึ่งก็จะต้องนำดินมาทำการวิเคราะห์เพื่อให้เกษตรกรเตรียมพื้นที่ และปรับปรุงบำรุงดินตามความเหมาะสมของสภาพดินและความต้องการของพันธุ์ที่จะปลูก ซึ่งจะเป็นไปตามค่าวิเคราะห์ของดิน ซึ่งสามารถลดต้นทุนได้ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์

ในส่วนของแหล่งน้ำเพื่อเก็บกักน้ำในพื้นที่ให้กับเกษตรกร โดยเฉพาะแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน ในปีงบประมาณ 2559 ได้รับการส่งเสริมจากทางรัฐบาลเพื่อการจัดสร้างจำนวน 20,000 แห่ง ตอนนี้กรมพัฒนาที่ดินดำเนินการเสร็จเรียบร้อยหมดแล้ว และจะสามารถใช้เงินเหลือจ่ายนำไปขุดเพิ่มเติมได้อีก 1,800 กว่าแห่ง เพื่อเป็นการเสริมให้กับเกษตรกรที่มีความต้องการได้เพิ่มขึ้น

            ณ วันนี้ กรมพัฒนาที่ดินได้เตรียมความพร้อมให้กับเกษตรกรเพื่อเข้าสู่ฤดูกาลเพาะปลูกปี 59/60 แล้วโดย  การช่วยปรับปรุงบำรุงดินที่มีปัญหาทั้ง หมด ควบคู่กับการสร้างแหล่งน้ำในระดับไร่นาให้เกษตรกร ได้ตามเป้าหมาย เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของเกษตรกรตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์” อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าว

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2559

"Brexit" โหวตสะเทือนโลกการเงิน คาดเงินบาทอ่อนค่าต่อไม่ว่าอังกฤษจะอยู่หรือไป

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics คาดทั้งโลกการเงินจะจับตาไปที่ผล Brexit ในวันที่ 23 มิ.ย.นี้ และมองว่าทองคำ เงินปอนด์ และเงินเยน จะมีความผันผวนสูงที่สุดในช่วงประกาศผล ส่วนค่าเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าต่อเนื่องจากแนวโน้มการลดความเสี่ยงในสินทรัพย์ตลาดเกิดใหม่ทั้งในกรณี Brexit และ Bremain

ในสัปดาห์นี้ไม่ว่าจะเป็นประเด็นอะไรในตลาดเงินก็จำต้องหลบให้กับการลงประชามติของสหราชอาณาจักร (อังกฤษ หรือ UK) ว่าจะยัง “คง” หรือจะ “ออก” จากสถานภาพเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (EU) ต่อไปหรือไม่ ในวันที่ 23 มิถุนายน

การลงประชามติของสหราชอาณาจักรในครั้งนี้ถูกเรียกกันในโลกการเงินว่า “Brexit” (มาจาก British รวมกับ Exit) กลายมาเป็นประเด็นสำคัญในตลาดการเงินที่ใหญ่ไม่แพ้การโหวตว่ากรีซจะ “ออก” จากสถานภาพเป็นสมาชิกของอียู (Grexit) ในช่วงปีที่แล้ว หลังโพลในอังกฤษชี้ว่ามีความเป็นไปได้แทบจะเท่ากันระหว่างโอกาสที่อังกฤษจะ “อยู่” หรือจะ “ออก” จากอียู

ศูนย์วิเคราะห์ฯ พบว่าตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาปัญหา Brexit เริ่มเข้ามามีบทบาทกับตลาดการเงินและทวีความรุนแรงขึ้นหลังจากที่โพลในอังกฤษระบุว่า ผู้สนับสนุนฝั่ง Brexit เพิ่มขึ้นจนเริ่มที่จะมากกว่าฝั่ง “Bremain” (ฝั่งที่สนับสนุนให้สหราชอาณาจักรยังคงสถานะสมาชิกสหภาพยุโรปต่อ) ส่งผลให้สินทรัพย์ในตลาดการเงินโลก ปรับตัวผันผวนอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา อาทิเช่น ทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นราว 20% มาที่ระดับ 1,282 เหรียญต่อออนซ์ ขณะที่ค่าเงินเยนก็แข็งค่าขึ้นราว 15% มาอยู่ที่ระดับ 104 เยนต่อดอลลาร์จากปลายปีมาถึงปัจจุบัน เนื่องจากนักลงทุนทั่วโลกมองว่าตลาดการเงินมีความไม่แน่นอนสูง จึงต้องการที่ลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยมากขึ้น ขณะที่ค่าเงินปอนด์ก็ปรับตัวลดลงถึง 5% มาอยู่ที่ระดับ 1.41 ดอลลาร์ต่อปอนด์ในปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นการตอกย้ำว่านักลงทุนในตลาดการเงินมีความกังวลกับปัญหานี้เป็นอย่างมาก

  จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 20 มิถุนายน 2559

ราคาน้ำตาลข้ามผ่านจุดต่ำสุดแนวโน้มอุตสาหกรรมเริ่มฟื้นตัว

            จากกระแสเก็งกำไรในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ในช่วงปี 2548-2554 ซึ่งถือเป็นยุคขาขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์เกษตร ผนวกกับความต้องการอ้อยเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมเอทานอลทั่วโลกเพิ่มขึ้นหลังราคาน้ำมันพุ่งสูง เป็นปัจจัยให้ราคาน้ำตาลโลกปรับสูงขึ้นถึง 3 เท่า จึงมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกอ้อย ขยายโรงงานและเพิ่มกำลังการผลิตน้ำตาลในหลายประเทศ

            แต่หลังปี 2554 ผลจากการขยายตัวอย่างมากของอุตสาหกรรมน้ำตาลโลก และกระแสเก็งกำไรในตลาดล่วงหน้าที่อ่อนแรงลง มีผลให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกเป็นทิศทางขาลงเช่นเดียวกับสินค้าโภคภัณฑ์เกษตรอื่นๆ โดยราคาน้ำตาลในตลาดโลกปรับลดลงต่อเนื่องจากระดับสูงสุดที่ 32.1 เซนต์ต่อปอนด์ ในเดือนมกราคม 2554 มาสู่ระดับต่ำสุดที่ 10.7 เซนต์ต่อปอนด์ ในเดือนกรกฎาคม 2558

            สำหรับสถานการณ์และแนวโน้มของอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายในระยะ 1-3 ปีข้างหน้านั้น สายงานวิจัยธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มองว่า ผลประกอบการของอุตสาหกรรมน้ำตาลของไทยจะค่อยๆ ปรับดีขึ้น เป็นผลจากราคาที่กลับมาเป็นขาขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากอุปสงค์โลก หรือความต้องการฟื้นตัว โดยเฉพาะอินเดีย (ประเทศผู้บริโภคน้ำตาลอันดับหนึ่งของโลก) และกลุ่มประเทศอาเซียนที่มีความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้นตามการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งความต้องการของผู้ผลิตที่มีต้นทุนสูง อาทิ สหภาพยุโรป (อียู) และจีน ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 10% ต่อปี หลังจากปิดโรงงานภายในประเทศ

            นอกจากนี้ความกังวลต่อปริมาณผลผลิตน้ำตาลที่มีแนวโน้มลดลง อาจมีผลให้หลายประเทศเพิ่มการนำเข้าน้ำตาลมากขึ้น โดยผลผลิต หรืออุปทานโลกลดลงเฉลี่ย 3-5% ต่อปี จากการที่ราคาน้ำตาลโลกที่เป็นขาลงในช่วงหลายปี ทำให้กระแสการขยายพื้นที่เพาะปลูกอ้อยลดลง ประกอบกับผลจากสภาพอากาศแปรปรวนรุนแรง และการคงกำลังการผลิตเอทานอลของบราซิล ซึ่งช่วยลดความกังวลของการเพิ่มการผลิตและส่งออกน้ำตาลของบราซิล

            จากภาวะอุปสงค์-อุปทานดังกล่าวส่งผลให้สต็อกน้ำตาลของโลกในอีก 2-3 ปีข้างหน้ามีแนวโน้มลดลง และมีผลให้ราคาขยับเพิ่มขึ้นได้ แต่แรงกดดันจากสต็อกน้ำตาลโลกที่อยู่ในระดับสูง ราคาน้ำมันที่คาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำลากยาว และภาวะซบเซาของตลาดเก็งกำไรในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ จะมีผลให้ราคาน้ำตาลปรับเพิ่มขึ้นไม่มากนัก โดยคาดราคาน้ำตาลในตลาดโลกจะเฉลี่ยอยู่ที่ 14.5-16 เซนต์ต่อปอนด์ ในปี 2559

            อย่างไรก็ตามผลกระทบจากภาวะภัยแล้งรุนแรงอาจทำให้ผลผลิตอ้อยและน้ำตาลไทยมีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะในปี 2559-2560 ก่อนที่จะกลับมามีสถานการณ์ด้านผลผลิตที่ดีขึ้นในปี 2561 ในขณะที่โรงงานผลิตน้ำตาลยังทำกำไรได้ต่อเนื่อง จากความต้องการบริโภคน้ำตาลทั้งในตลาดส่งออกและตลาดในประเทศมีแนวโน้มสูงขึ้น ผนวกกับราคาน้ำตาลมีแนวโน้มปรับตัวดี

            นอกจากนี้ รายได้จากอุตสาหกรรมต่อเนื่องของโรงงานน้ำตาลยังเติบโตได้ดี แต่การขยายโรงงานเพิ่มขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะในแหล่งที่มีต้นทุนการผลิตสูง อาจเป็นความเสี่ยงของกิจการในอนาคต เนื่องจากอาจจะไม่คุ้มค่าการลงทุน อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการของโรงงานน้ำตาลแต่ละรายอาจแตกต่างตามความสามารถในการบริหารสต็อกและการคาดการณ์ทิศทางราคาน้ำตาลโลก เนื่องจากการค้าน้ำตาลมักเป็นการซื้อขายกันล่วงหน้า

            ทั้งนี้ ในระยะ 1-5 ปีข้างหน้าภาวะผลผลิตอ้อยและน้ำตาลของไทยมีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้น จากการขยายการลงทุนโรงงานใหม่ ซึ่งจะมีโรงงาน/กำลังการผลิตใหม่อีกกว่า 0.3 ล้านตันอ้อยต่อวัน (โรงงานดำเนินการหีบอ้อยเฉลี่ย 120 วันต่อปี) หรือผลิตน้ำตาลได้เพิ่มอีกกว่า 3.5 ล้านตันต่อปี ผลจากการเพิ่มใบอนุญาตขยายโรงงานน้ำตาลของภาครัฐ

            “ไทยมีบทบาทสำคัญต่อการส่งออกน้ำตาลเป็นอันดับ 2 ของโลกด้วยสัดส่วน 15% รองจากบราซิล แต่โครงสร้างอุตสาหกรรมน้ำตาลไทยมีความแข็งแกร่งและศักยภาพในการแข่งขันสูง และแม้ในภาวะราคาน้ำตาลโลกตกต่ำ แต่ระบบอุตสาหกรรมน้ำตาลไทยที่ควบคุมโดยทางการก็ช่วยให้โรงงานน้ำตาลไทยยังสามารถทำกำไรได้ เช่น การคุ้มครองจากทางการจำกัดใบอนุญาตดำเนินการของโรงงานน้ำตาลและผู้ค้าหรือผู้ส่งออก มีระบบจัดสรรผลผลิตน้ำตาลเพื่อใช้ในประเทศและส่งออก หรือระบบโควตา และการกำหนดราคาจำหน่ายในประเทศเป็นราคาคงที่ รวมทั้งมีระบบแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างเกษตรกรและโรงงานน้ำตาล” รายงานระบุ

  จาก http://www.komchadluek.net   วันที่ 20 มิถุนายน 2559

พัฒนาข้อมูลเกษตรกร‘Farmer ONE’ เชื่อมระบบทะเบียนอิเล็กทรอนิกส์ทุกหน่วยงานเป็นหนึ่งเดียว

พล.อ.ประสาท สุขเกษตร เลขานุการ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สรอ. ในการพัฒนาฐานข้อมูลเกษตรกรกลาง (Farmer ONE) พัฒนาฐานข้อมูลเกษตรกรให้มีความถูกต้อง ครบถ้วน เป็นปัจจุบัน และให้มีความน่าเชื่อถือมากที่สุด เพื่อใช้ในการดำเนินการตามโครงการ และมาตรการสำคัญของรัฐบาล ให้มีระบบการปรับปรุงข้อมูลเกษตรกรที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี และเกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาฐานข้อมูลเกษตรกร เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

สำหรับขอบเขตความร่วมมือกันในครั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์ จะให้การสนับสนุนข้อมูลทะเบียนเกษตรกร และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร จะเป็นหน่วยงานดูแลและจัดการระบบฐานข้อมูลดังกล่าว เพื่อรวบรวมข้อมูลเกษตรกรผู้ประกอบอาชีพทั้งด้านพืช ปศุสัตว์ ประมง และอาชีพการเกษตรอื่นๆ ไว้ในฐานเดียวกัน รองรับการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล ส่วนกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสนับสนุนด้านเทคโนโลยีระบบขึ้นทะเบียนเกษตรกรอิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีการบูรณาการร่วมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินด้านการเกษตร และสรอ. สนับสนุนบริการระบบเครือข่ายสารสนเทศภาครัฐ Government Information Network หรือ GIN รวมทั้งระบบการจัดเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ของภาครัฐโดยใช้ Government Cloud Service

นายคมสัน จำรูญพงษ์ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า ความร่วมมือดังกล่าวจะดำเนินการให้บรรลุผลในปี 2560 โดยปี 2559 จะเร่งจัดทำฐานข้อมูลเกษตรกรและบูรณาการเชื่อมโยงกันภายในกระทรวงซึ่งจะเน้นข้อมูลรายบุคคลให้เป็นเอกภาพ เพื่อให้มีข้อมูลครบถ้วนใช้ประโยชน์เชิงนโยบายได้ ระยะต่อมาคือปี 2560 จะเป็นการบูรณาการเชื่อมโยงฐานข้อมูลร่วมกันเพิ่มเติมทั้งหน่วยงานภายในและภายนอกกระทรวงเกษตรฯ โดยใช้เลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลักเป็นดัชนี และเชื่อมกับระบบฐานข้อมูลของสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง เพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงนโยบายอย่างเต็มที่โดยจัดทำระบบบริการฐานข้อมูลเกษตรกรกลาง (Farmer ONE Data Service) และรายงานข้อมูลแบบ Real time ที่สามารถเข้าถึงได้หลายช่องทาง สามารถใช้ในการบริหารจัดการเชิงนโยบาย และนำไปสู่การพัฒนาด้านต่างๆ ต่อไป

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 20 มิถุนายน 2559

แจงสี่เบี้ย : การอนุรักษ์ดินและน้ำ (3)

วิธีการอนุรักษ์ดินและน้ำที่สำคัญ

1.มาตรการวิธีพืช มาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำโดยวิธีพืช วิธีการและการใช้ประโยชน์

การปลูกพืชเหลื่อมฤดู เป็นการปลูกพืชต่อเนื่องคาบเกี่ยวกัน โดยปลูกพืชที่สองระหว่างแถวของพืชแรกในขณะที่พืชแรกให้ผลผลิตแต่ยังไม่แก่เต็มที่ โดยพืชที่สองควรเป็นพืชตระกูลถั่วอายุสั้น ทนร่มเงา ทั้งนี้พืชแรกและพืชที่สองควรเป็นพืชต่างตระกูลเพื่อขจัดปัญหาโรคและแมลงสะสม

คันซากพืช เป็นการนำซากพืชจากการบุกเบิกพื้นที่หรือที่เหลือหลังการเก็บเกี่ยวมาช่วยลดความเร็วของน้ำไหลบ่าและดักตะกอนดิน โดยนำมาวางสุมให้สูงประมาณ50 ซม. เป็นคันตามแนวระดับเป็นระยะๆ ห่างกันประมาณ 20-40 เมตร หรือตามแนวคันดิน

ยกร่องตามแนวระดับ เป็นการยกร่องปลูกพืชโดยใช้ร่องน้ำเป็นตัวแปรสันดิน เพื่อลดการชะล้างพังทลายของดิน และเพิ่มการกักเก็บน้ำไว้สำหรับการปลูกพืช วิธีนี้ใช้ได้ดีในพื้นที่มีความลาดเทไม่เกิน 12 เปอร์เซ็นต์ และพื้นที่ที่ค่อนข้างแห้งแล้งมีปริมาณน้ำฝนน้อย

2.มาตรการวิธีกล มาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำโดยวิธีกล วิธีการและการใช้ประโยชน์

การสร้างคันดิน เป็นการสร้างคันดินและร่องน้ำขวางความลาดเทของพื้นที่ แบ่งออกเป็นช่วงๆ เพื่อเก็บกักน้ำไหลบ่าในแต่ละช่วงและป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน คันดินแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ คันดินฐานกว้างและคันดินฐานแคบ มีทั้งแบบระดับและลดระดับ ใช้สำหรับพื้นที่ลาดเท 2-12% และคันดินระดับความยาวไม่จำกัด ใช้ในบริเวณที่มีฝนตกน้อย รวมทั้งคันดินลดระดับ ความยาวไม่เกิน 300-600 เมตร

คันดินฐานแคบ เป็นคันดินที่มีลาดด้านหน้าและลาดด้านหลังมาก เครื่องจักรกลขึ้นทำงานยาก เพื่อเป็นการลดความยาวของความลาดเทของพื้นที่ และควบคุมอัตราการชะล้างพังทลายของดิน ความกว้างของคันดินประมาณ 1-2 เมตร มีทั้งแบบระดับ และแบบลดระดับ ใช้ในพื้นที่ลาดเท 2-12%

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 20 มิถุนายน 2559

น้ำเข้าเขื่อนยังน้อย อย่ารีบเร่งเพาะปลูก กรมชลลุ้นกรกฎา ร่องฝนจีนผ่านไทย

เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำทั่วประเทศขณะนี้ว่า ยังมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนน้อยกว่าเกณฑ์เฉลี่ย เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในช่วงฤดูฝนปกติ โดยเฉพาะเขื่อนภูมิพลมีน้ำไหลเข้าเพียงวันละ 5-7 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หากเป็นปีฝนปกติจะมีน้ำเข้าเกือบ 100 ล้านลบ.ม.ต่อวัน ซึ่งเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน มีน้ำไหลเข้า 7 ล้านลบ.ม. ระบายออก 3 ล้านลบ.ม. ก็ยังถือว่าไม่ติดลบ แต่ยังได้น้ำไม่มาก รวมทั้งเขื่อนสิริกิติ์มีน้ำไหลเข้าเพียง 5 ล้านลบ.ม. เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนไหลเข้า 5 แสน-1 ล้าน ลบ.ม เขื่อนป่าสักฯไหลเข้า 6-9 แสนลบ.ม. ถือว่าน้อยกว่าปกติเกิดการผันแปรช่วงต้นฤดู ทำให้ปริมาณฝนตกไม่ตกสม่ำเสมอ

นายสุเทพกล่าวต่อว่า คาดว่าเดือนกรกฎาคมจะได้น้ำเข้าเขื่อนเพิ่มขึ้น โดยกรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์สภาพอากาศร่องฝนมีทิศทางที่ดีขยับจากประเทศจีนลงมาไทย สัปดาห์ที่สองในเดือนกรกฎาคมทำให้มีฝนตกเหนือเขื่อนมากขึ้น

“ช่วงนี้ฝนที่ตกเป็นย่อมๆทำให้ได้น้ำเข้าเขื่อนไม่ดีเลย หวังว่าเดือนกรกฎาคม ทิศทางน่าจะดีขึ้นมั่นใจว่าสถานการณ์น้ำของประเทศดีกว่าปี2558 เพราะกรมอุตุฯก็คาดการณ์ปริมาณฝนดีกว่า ปี59กรมชลประทานจะพยายามให้มีน้ำสำหรับทำการเกษตรในฤดูแล้งปี 59/60 ตั้งเป้าเก็บต้นทุนน้ำเขื่อนให้ได้50%”นายสุเทพ กล่าว

และว่า ขณะนี้สถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 30,991 ล้านลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 44 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 7,562 ล้านลบ.ม. เขื่อนใหญ่ทั้งประเทศยังสามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 39,400 ล้านลบ.ม. ซึ่งตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีน้ำไหลลงอ่างฯสะสมมากขึ้น โดยเขื่อนภูมิพล จ.ตากจำนวน 31.12 ล้านลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์จำนวน 51.44 ล้านลบ.ม. เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลกจำนวน 8.04 ล้านลบ.ม. เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนครจำนวน 5.73 ล้านลบ.ม. เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่นจำนวน 4.81 ล้านลบ.ม. เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์จำนวน 6.21 ล้านลบ.ม. และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรีจำนวน 4.80 ล้านลบ.ม. ในภาพรวมปริมาณน้ำในเขื่อนต่างๆ ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ไม่มาก

อธิบดีกรมชลประทานกล่าวอีกว่า สำหรับเขื่อนใหญ่ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำไม่มากฝนตกเหนือเขื่อนน้อย โดยมีน้ำรวมกัน 8,045 ล้านลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 32 มีน้ำใช้การได้ 1,349 ล้านลบ.ม. คงอัตราระบายวันละ18 ล้านลบ.ม.สำหรับการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศน์ ซึ่งทุกภาคส่วนควรประหยัดน้ำและขอให้เกษตรกรใช้น้ำฝนเป็นหลัก หรือรอจนกว่าฝนตกชุกตามปกติ จึงค่อยลงมือทำนาเพาะปลูก

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 20 มิถุนายน 2559

กรมชลฯขุดลอกคูคลอง 76 โครงการพระราชดำริทั่วประเทศ

          นายสัญชัย เกตุวรชัย ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เปิดเผยว่า เนื่องในโอกาสมหามงคลเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 70 ปี รัฐบาลได้กำหนดจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัว ขึ้นในวันที่ 9 มิถุนายน 2559 โดยมีกระทรวงกลาโหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย และกรุงเทพ มหานคร เป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการดำเนินการจัดกิจกรรม

          สำหรับในส่วนของกรมชลประทานได้มีการจัดแสดงนิทรรศการ "การจัดงานฉลองสิริราชสมบัติ ครบ 70 ปี" ที่แสดงถึงพระอัจฉริยภาพด้านน้ำในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งจัดแสดงในวันที่ 9 มิถุนายน 2559 ที่ผ่านมา ณ กรมชลประทาน ถนนสามเสน

          และกิจกรรมขุดลอกคูคลองเฉลิมพระเกียรติ 76 โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั่วทั้ง 76 จังหวัด รวมความยาวประมาณ 456 กิโลเมตร โดยจัดขึ้นในวันเดียวกัน โดยมีผู้บริหารกรมชลประทาน เจ้าหน้าที่กรมชลประทาน เกษตรกร ประชาชนทั่วไป รวมถึงหน่วยงานอื่นเข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 15,400 คนทั่วประเทศ

          ด้าน นายพงศ์ศักดิ์ อรุณวิจิตรสกุล ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 11 กรมชลประทาน เปิดเผยว่า สำนักงานชลประทานที่ 11 เป็นตัวแทนภาคกลาง ในการจัดกิจกรรมขุดลอกคูคลองเฉลิมพระ เกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ โครงการก่อสร้างประตูป้องกันน้ำท่วมและน้ำเค็มอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (ประตูระบายน้ำคลองบางไผ่ใหญ่) ตำบลบางไผ่ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี

          โดยร่วมดำเนินการกับหน่วยงานท้องถิ่น ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบลบางไผ่ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี  องค์การบริหารส่วนตำบลบางสีทอง อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี เทศบาลเมืองบางกรวย อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี และผู้ใหญ่บ้าน  กำนัน เกษตรกร  กลุ่มผู้ใช้น้ำ หมู่ 1-5 ตำบลบางไผ่ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี ร่วมขุดลอกคูคลองเพื่อเฉลิมพระ เกียรติในครั้งนี้.

จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 20 มิถุนายน 2559

เล็งหั่นภาษีน้ำหวาน เพื่อจูงใจผู้ประกอบการลดส่วนประกอบน้ำตาลลง  

         “คลัง” เผยความคืบหน้าเก็บภาษีน้ำหวาน คาดได้ข้อสรุปในเดือน มิ.ย.นี้ หรืออย่างช้าต้นเดือนหน้า ลั่นต้องพิจารณาเรื่องความเป็นธรรม โดยแนวทางการเก็บภาษีน้ำหวานไม่ควรเก็บเพิ่มขึ้นกว่าที่เก็บอยู่เดิมปัจจุบัน และจูงใจให้ผู้ประกอบการน้ำหวาน ลดส่วนประกอบน้ำตาลให้ลดลง โดยจะเสียภาษีอัตราต่ำกว่าเดิม

                นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้ตั้งคณะทำงานพิจารณาแนวทางการเก็บภาษีน้ำหวาน โดยมี นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เป็นประธาน มีผู้บริหารจากกรมสรรพสามิต และตัวแทนจากภาคเอกชน ซึ่งที่ผ่านมา ได้มีการประชุมกันไปบ้างแล้ว และคาดว่าประชุมอีก 1-2 ครั้ง ก็จะสามารถสรุปได้ว่าจะเก็บหรือไม่เก็บภาษีน้ำหวาน

                ทั้งนี้ หากคณะทำงานสรุปว่าจะเก็บภาษี ก็ต้องพิจารณาเรื่องความเป็นธรรมในการเสียภาษี เพราะผู้ประกอบการน้ำหวานอาจจะโต้แย้งว่าทำไมไม่เก็บขนมหวาน ทองหยิบ ฝอยทอง โรตี ซึ่งมีส่วนผสมน้ำตาลมากกว่าน้ำหวาน มีผลกระทบกับสุขภาพมากกว่า ซึ่งกระทรวงการคลังไม่มีนโยบายเก็บภาษีขนมหวานอยู่แล้ว เพราะจะกระทบกับผู้ประกอบการโอท็อป

                อย่างไรก็ตาม แนวทางการเก็บภาษีน้ำหวานไม่ควรเก็บเพิ่มขึ้นกว่าที่เก็บอยู่เดิมในปัจจุบัน และจูงใจให้ผู้ประกอบการน้ำหวานลดส่วนประกอบน้ำตาลให้ลดลง โดยจะเสียภาษีอัตราต่ำกว่าเดิม เหมือนกับการเก็บภาษีน้ำมัน หากน้ำมันไหนปล่อยมลพิษมากเสียภาษีมาก น้ำมันไหนปล่อยมลพิษน้อยก็เสียภาษีน้อย

                “แนวทางการเก็บภาษีน้ำหวานดีที่สุด คือ ไม่เก็บภาษีเพิ่ม แต่ควรลดลงเพื่อจูงใจให้มีการผลิตลดส่วนผสมน้ำตาลลง คลังไม่อยากเก็บภาษีแล้วไม่ทำให้เกิดความเป็นธรรม และกระทบกับขนมหวาน ซึ่งเป็นสินค้าโอท็อปที่รัฐบาลส่งเสริม” นายสมชัย กล่าว

                นายสมชัย กล่าวว่า หากคณะทำงานสรุปว่าไม่ควรเก็บภาษีน้ำหวาน ก็ต้องมีแนวทางอื่นเพื่อให้สอดคล้องข้อเสนอของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ สปท. โดยแนวทางหนึ่งเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. กำหนดส่วนผสมน้ำตาลในน้ำหวานให้ลดลง ซึ่งสามารถทำได้ เพราะ อย.เป็นผู้มีอำนาจกำกับดูแลด้านนี้โดยตรง

                ทั้งนี้ คณะทำงานจะสรุปผลการเก็บภาษีน้ำหวานได้ภายในเดือน มิ.ย.นี้ หรือต้นเดือนหน้า หลังจากนั้นกระทรวงการคลังก็จะเสนอให้รัฐบาลพิจารณาเห็นชอบต่อไป

 จาก http://manager.co.th  วันที่ 20 มิถุนายน 2559

อังกฤษตื่นตัวร้องรัฐคุมผู้ผลิตอาหารลดเกลือ-น้ำตาล เล็งห้ามเป็นสปอนเซอร์กีฬาด้วย

นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยรายงานสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษว่า กลุ่มองค์กร 12 พันธมิตรด้านอาหารของอังกฤษ ได้เรียกร้องให้รัฐบาลอังกฤษออกมาตรการให้บริษัทผู้ผลิตอาหารลดสัดส่วนการใส่เกลือและน้ำตาลในสินค้าหรือผลิตภัณฑ์อาหาร รวมทั้งจำกัดการเป็นสปอนเซอร์ของสินค้าดังกล่าวในกีฬาต่างๆ เพื่อยับยั้งอัตราการเสียชีวิตของชาวอังกฤษในกลุ่มที่ป้องกันได้จำนวน 250,000 คน ภายในปี 2568 และสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายขององค์กรอนามัยโลกในการลดอัตราการเสียชีวิตของประชากรก่อนวัยอันควรให้ได้ 25% ภายในปี 2568

ทั้งนี้ อังกฤษเป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรอันดับ 6 ของตลาดส่งออกทั้งหมด โดยสินค้าสำคัญที่ไทยส่งออก อาทิ ไก่แปรรูป อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ข้าวและสิ่งปรุงรสอาหาร เป็นต้น ขณะที่ผู้บริโภคชาวอังกฤษให้ความสำคัญกับสินค้าออร์แกนิกและอาหารที่มีวัตถุดิบหลักจากธรรมชาติและดีต่อสุขภาพมากขึ้น อีกทั้งกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) ด้านอาหารเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาตรการกับบริษัทที่ผลิตอาหารที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างจริงจัง ดังนั้น ผู้ผลิตและผู้ส่งออกไทย ควรพัฒนาสินค้าอาหารที่เป็นประโยชน์และคำนึงต่อสุขภาพและหลีกเลี่ยงการใช้สารปรุงแต่งรสในอัตราที่ไม่เหมาะสม ขณะเดียวกันเป็นโอกาสของสินค้าออร์แกนิคของไทยจะขยายตลาดอังกฤษได้มากขึ้น

“การจำกัดการเป็นสปอนเซอร์ของสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่มีเกลือและน้ำตาลสูงนั้น หากรัฐบาลของอังกฤษออกมาตรการและเพิ่มความเข้มงวดเรื่องนี้ จะส่งผลกระทบต่อสินค้าไทยที่เข้าร่วมเป็นสปอนเซอร์ให้กับสโมสรฟุตบอลของอังกฤษ และส่งผลต่อกลยุทธ์การตลาดการขยายสินค้าแบรนด์ไทยในอังกฤษ ” นางมาลี กล่าว

จาก http://www.matichon.co.th วันที่ 19 มิถุนายน 2559

คลัง ย้ำศก.ไทยเริ่มฟื้นตัวแล้ว มั่นใจเติบโตต่อเนื่องปีที่ 3

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เศรษฐกิจในช่วงนี้เริ่มฟื้นตัว และไม่ใช่ตัวแอลอย่างที่นายวีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มองไว้ เนื่องจากถ้าดูตัวเลขจีดีพีย้อนหลัง พบว่า ปีนี้การขยายตัวจีดีพี คาดว่าจะโตได้ 3.3% ดีกว่า 2 ปีที่ผ่านมา ที่ปี2557โต 0.8% และปี2558 โต 2.8%

“เห็นด้วยกับนายวีรพงษ์ในประเด็นกับดักสภาพคล่อง เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ไม่ปล่อยกู้ และระมัดระวังการปล่อยกู้สูง เห็นได้จากสัดส่วนทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่สูงกว่า 17% สูงกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กำหนดไว้ว่าอยู่ที่ 8.5% ส่วนการลงทุนภาคเอกชน ธุรกิจไม่จำเป็นต้องกู้ เนื่องจากยังมีกำลังการผลิตส่วนเกินอยู่ เรื่องนี้เป็นปัญหาไม่ใช่เฉพาะเมืองไทย แต่เป็นทั้งโลก เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว ”

นายกฤษฎา กล่าวต่อว่า ในการแก้ปัญหาเรื่องกับดับสภาพคล่องนั้น ที่รัฐบาลพยายามผลักดันให้มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุน โดยยืนยันว่าภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้คงไม่ถึงกับวิกฤต เห็นด้วยกับที่นายวีรพงษ์มอง คือไม่เหมือนต้มยำกุ้ง เพราะเสถียรภาพของเศรษฐกิจไทยยังดี หนี้สาธารณะไม่สูง หนี้ต่างประเทศไม่เยอะ เงินทุนสำรองเพียงพอ ธนาคารพาณิชย์ มีทุนเพียงพอ

จาก http://www.matichon.co.th วันที่ 18 มิถุนายน 2559

แจงสี่เบี้ย : การอนุรักษ์ดินและน้ำ (2)

วิธีการอนุรักษ์ดินและน้ำที่สำคัญ

1.มาตรการวิธีพืช มาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำโดยวิธีพืช วิธีการและการใช้ประโยชน์

การปลูกพืชคลุมดิน เป็นการปลูกพืชตระกูลหญ้าหรือพืชตระกูลถั่วคลุมดิน ช่วยควบคุมการชะล้างพังทลายของดินและปรับปรุงบำรุงดิน ป้องกันเม็ดฝนมิให้กระทบผิวดินโดยตรง ลดการชะล้างผิวหน้าดิน เพิ่มอินทรียวัตถุในดิน ปรับปรุงคุณสมบัติทางกายภาพของดิน ควบคุมพืช รวมทั้งช่วยปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม และเหมาะสมอย่างยิ่งกับการปลูกคลุมดินสวนไม้ผล บนพื้นที่ที่มีความลาดชันสูงเกิน 20% และเป็นดินเลวใช้ปลูกพืชเศรษฐกิจไม่คุ้มค่า

การปลูกพืชสลับเป็นแถบ เป็นการปลูกพืชที่มีระบบปลูกชิดและห่างเป็นแถบสลับกัน ขวางความลาดเทของพื้นที่ตามแนวระดับ หรือไม่ก็ปลูกไปตามแนวระดับ เพื่อลดปริมาณการเคลื่อนย้ายหน้าดินและลดอัตราการไหลบ่าของน้ำฝนผ่านพื้นที่เพาะปลูกตามแนวความลาดเท ปรับปรุงบำรุงดิน ลดความเสี่ยงของพืชที่ปลูก ลดการระบาดของโรคและแมลง ใช้ในพื้นที่ที่มีความลาดเทไม่เกิน 15%

การปลูกพืชหมุนเวียน เป็นการปลูกพืชสองชนิดหรือมากกว่า หมุนเวียนกันลงบนพื้นที่เดียวกัน โดยจัดชนิดของพืชและเวลาปลูกให้เหมาะสม ให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ มีความสามารถการให้ผลผลิตพืชสูงและนาน ช่วยหมุนเวียนการใช้ธาตุอาหารของพืช มีอัตราการเสี่ยงน้อยกว่าการปลูกพืชชนิดเดียว และเพิ่มรายได้แก่เกษตรกรโดยตรง สามารถควบคุมการะบาดของโรค แมลง และวัชพืช

การปลูกแซม เป็นการปลูกพืชตั้งแต่ 2 ชนิด บนพื้นที่ในเวลาเดียวกัน โดยปลูกพืชที่สองแซมระหว่างแถวของพืชหลัก ช่วยลดการระเหยน้ำจากผิวดิน ลดความเสี่ยงต่อความเสียหายของพืช เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตต่อพื้นที่ให้สูงขึ้น โรค แมลง และวัชพืชน้อยลง แต่พืชแซมควรมีอายุสั้นกว่าพืชหลัก ควรเป็นพืชตระกูลถั่วระบบรากของพืชหลักและพืชแซมควรแตกต่างกัน พืชแซมควรเลือกพืชที่สามารถทำรายได้ดี รวมทั้งไม่ควรเป็นที่อยู่อาศัยและเป็นต้นกำเนิดของโรค

จาก http://www.naewna.com วันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ชาวไร่อ้อย1.6 แสนรายเตรียมเฮ รัฐโอนเงินให้เพิ่ม 1.5 หมื่นล้านเข้าบัญชีกลางก.ค.นี้

นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย(กท.) ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงความคืบหน้าการช่วยเหลือชาวไร่อ้อย และมีมติให้กท.กู้เงินจากธนาคารกรุงไทย วงเงิน 15,047 ล้านบาท เพื่อเพิ่มเงินค่าอ้อยอัตรา 160 บาทต่อตันอ้อย ปริมาณอ้อยเข้าหีบ 94 ล้านตันอ้อย อัตราดอกเบี้ย 4% ต่อปี คิดเป็นชาวไร่อ้อยที่ได้รับความช่วยเหลือประมาณ 160,000 ราย วิธีใช้คืน คือ จะหักเงินจากการจำหน่ายน้ำตาลทราย 5 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) สำหรับเงินเพิ่มค่าอ้อยดังกล่าวจะช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้ชาวไร่ได้มีเงินทุนเพื่อลงทุนในฤดูผลิตใหม่ 2559/2560 และการซื้อสินค้าอื่นในชีวิตประจำวัน กระตุ้นเศรษฐกิจได้ทางหนึ่ง โดยเงินกู้ดังกล่าวกท.คาดว่าชาวไร่จะได้รับเงินก้อนแรกตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคมนี้ และจะใช้เวลาจ่ายเงินทั้งสิ้น 1 เดือน ทั้งนี้เมื่อรวมเงินเพิ่มค่าอ้อยกับราคาอ้อยขั้นต้นฤดูผลิต 2558/2559 ซึ่งอยู่ที่ 808 บาทต่อตันอ้อย จะทำให้ชาวไร่ได้เงินจากการขายอ้อยอย่างน้อย 968 บาทต่อตัน

“ขณะนี้ราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกปรับตัวดีขึ้น ล่าสุดอยู่ระดับ 19 เซนต์ต่อปอนด์ บริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย หรืออนท.สามารถทำราคาส่งออกน้ำตาลทรายได้ดี ดังนั้นคาดว่าราคาอ้อยขั้นปลายฤดูผลิต 2558/2559 จะอยู่ที่ 860 บาทต่อตันอ้อย สูงกว่าราคาขั้นต้น จึงเป็นข่าวดี และคาดว่าชาวไร่จะได้เงินจริง 835 บาทต่อตันอ้อย เพราะต้องหักเงินอ้อย 25 บาทต่อตันอ้อยตามเงื่อนไขเรื่องการจ่ายเงินเพิ่ม 160 บาทต่อตันอ้อยว่ากรณีที่เงินขั้นปลายสูงกว่าขั้นต้นจะต้องหักเงิน 25 บาทต่อตันเข้ากท.”นายพสุกล่าว

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2559

บอร์ดกองทุนอ้อยฯ เคาะกู้แบงก์กรุงไทยเพิ่มค่าอ้อย เริ่ม ก.ค.นี้  

        ชาวไร่อ้อยทั่วประเทศ 1.6 แสนรายเตรียมรับเงินเพิ่มค่าอ้อยอีกตันละ 160 บาทภายในกลาง ก.ค.นี้ หลังบอร์ดกองทุนฯ เคาะกู้แบงก์กรุงไทยเพิ่มค่าอ้อยวงเงิน 1.54 หมื่นล้านบาท ดอกเบี้ยต่ำ 4% ต่อปี

                นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (บอร์ด กท.) เปิดเผยหลังประชุมบอร์ด กท.เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ว่า ได้มีมติเห็นชอบให้กองทุนอ้อยฯ กู้เงินจากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) วงเงิน 1.547 หมื่นล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 4% ต่อปี เพื่อที่จะนำไปช่วยเหลือเพิ่มราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 58/59 จำนวน 160 บาทต่อตัน โดยคาดว่าจะปล่อยเงินกู้ดังกล่าวให้ชาวไร่อ้อย 1.6 แสนรายภายในกลางเดือน ก.ค.นี้     

        “การกู้เงินดังกล่าวมีกำหนดชำระหนี้ภายใน ส.ค. 2561 มีอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 4% ต่อปี ซึ่งก็ถือว่าเราไม่ได้ให้รัฐช่วยเหลือเพิ่มค่าอ้อยเพราะเป็นการกู้เงินจากสถาบันการเงินและนำรายได้ของระบบมาชำระหนี้ และแนวโน้มราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกที่ขยับมาสูงเกือบ 20 เซ็นต์ต่อปอนด์ทำให้ราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 59/60 น่าจะสูงเพียงพอที่กองทุนอ้อยฯ ไม่จำเป็นต้องกู้เงินมาเพิ่มค่าอ้อยเช่นที่ผ่านมาอีก” นายพสุกล่าว

                นายวีระศักดิ์ ขวัญเมือง ผู้อำนวยการกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวว่า ราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 58/59 ที่กำหนดราคาเฉลี่ยเป็นรายเขตที่ระดับ 808 บาทต่อตันอ้อยการกู้เพื่อเพิ่มค่าอ้อย 160 บาทต่อตันมีเงื่อนไขว่าหากราคาอ้อยขั้นสุดท้ายฤดูการผลิตปี 59/60 สูงกว่าระดับ 25 บาทต่อตันจะต้องหักนำเงินส่งเข้ากองทุนอ้อยเพื่อชำระหนี้ ซึ่งจากการประเมินล่าสุดคาดว่าราคาอ้อยขั้นสุดท้ายปี 58/59 จะอยู่ที่ระดับ 860 บาทต่อตัน ซึ่งจะทำให้สามารถหักเงินส่วนต่างนี้ 25 บาทต่อตันเข้ากองทุนฯ เป็นรายได้เฉลี่ย 2,000 ล้านบาท

                “เงินดังกล่าวจะเป็นรายได้เพิ่มเติมในการไปชำระหนี้นอกเหนือจากรายได้หลักของกองทุนฯ ที่ได้จากการหักเงินจากการขึ้นราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงาน 5 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) วงเงิน 1.2 หมื่นล้านบาทต่อปีมาชำระหนี้” 

จาก http://manager.co.th   วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ชาวไร่เฮ จ่อรับค่าอ้อยเพิ่ม 160 บาท/ตัน กลางเดือนก.ค.นี้

ชาวไร่อ้อยทั่วประเทศ 1.6 แสนรายเตรียมรับเงินเพิ่มค่าอ้อยอีกตันละ 160 บาท กลางก.ค.นี้ หลังบอร์ดกองทุนฯเคาะกู้แบงก์กรุงไทยเพิ่มค่าอ้อยวงเงิน 1.54 หมื่นล้านบาท ดอกเบี้ยต่ำ 4% ต่อปี               

 นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย(บอร์ดกท.) เปิดเผยหลังประชุมบอร์ดกท.ว่า ได้มีมติเห็นชอบให้กองทุนอ้อยฯกู้เงินจากธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน) วงเงิน 15,700 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 4% ต่อปี เพื่อนำไปช่วยเหลือเพิ่มราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 58/59 จำนวน 160 บาทต่อตันโดยคาดว่าจะปล่อยเงินกู้ดังกล่าวให้กับชาวไร่อ้อย 1.6 แสนรายภายในกลางเดือนก.ค.นี้

“การกู้เงินดังกล่าวมีกำหนดชำระหนี้ภายในส.ค. 61 มี อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 4% ต่อปีซึ่งก็ถือว่าเราไม่ได้ให้รัฐช่วยเหลือเพิ่มค่าอ้อยเพราะเป็นการกู้เงินจากสถาบันการเงินและนำรายได้ของระบบมาชำระหนี้ และแนวโน้มราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกที่ขยับมาสูงเกือบ 20 เซ็นต์ต่อปอนด์ทำให้ราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 59/60 น่าจะสูงเพียงพอที่กองทุนอ้อยฯไม่จำเป็นต้องกู้เงินมาเพิ่มค่าอ้อยเช่นที่ผ่านมาอีก”

นายวีระศักดิ์ ขวัญเมือง ผู้อำนวยการกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวว่า  ราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 58/59 ที่กำหนดราคาเฉลี่ยเป็นรายเขตที่ระดับ 808 บาทต่อตันอ้อยการกู้เพื่อเพิ่มค่าอ้อย 160 บาทต่อตันมีเงื่อนไขว่าหากราคาอ้อยขั้นสุดท้ายฤดูการผลิตปี 59/60 สูงกว่าระดับ 25 บาทต่อตันจะต้องหักนำเงินส่งเข้ากองทุนอ้อยเพื่อชำระหนี้ ซึ่งจากการประเมินล่าสุดคาดว่าราคาอ้อยขั้นสุดท้ายปี 58/59 จะอยู่ที่ระดับ 860 บาทต่อตันซึ่งจะทำให้สามารถหักเงินส่วนต่างนี้ 25 บาทต่อตันเข้ากองทุนฯเป็นรายได้เฉลี่ย 2,000 ล้านบาท

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2559

นายกฯห่วงภาคเกษตรต้องเร่งพัฒนาร่วมกัน

รัฐมนตรีฯ พาณิชย์ เผย นายกฯ ห่วงภาคเกษตร ต้องเร่งพัฒนาร่วมกัน มั่นใจการส่งออกไทย ไป CLMV ยังขยายตัวได้

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงความร่วมมือระหว่าง CLMVT ว่า จากการจัดประชุม CLMVT Forum 2016 นายกรัฐมนตรีของไทย แสดงความเป็นห่วงถึงภาคสินค้าเกษตรของไทย โดยเฉพาะข้าว อย่าทำให้เกิดการแข่งขันมากเกินไป แต่จะต้องทำให้เกิดการพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าของสินค้า ป้องกันแรงงานออกนอกภาคเกษตร เพราะมีแนวโน้มแรงงานในภาคเกษตรลดลง อาจส่งผลต่อการผลิตได้

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ประเทศไทยตั้งเป้าหมายการส่งออกไปยัง CLMV ขยายตัวร้อยละ 13.6 จากมูลค่าการส่งออกในปีที่ผ่านมา 2.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่ตัวเลขการส่งออกของไทย ไป CLMV ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ยังติดลบ คิดเป็นมูลค่า 6,800 ล้านเหรียญสหรัฐ และสำหรับการลงทุนของไทย ใน CLMV นั้น มีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 10 ของการลงทุนไทยในตลาดโลก และมั่นใจว่ามีโอกาสที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นได้

จาก http://www.innnews.co.th   วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ธ.ก.ส.เปิดหลักสูตรทายาทเกษตรรุ่น 3 – รับสมัครถึง 15 ก.ค.

นายชวลินทร์ สายหล้า ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส.ได้ร่วมกับมูลนิธิอาจารย์จำเนียร สาระนาค (มจส.) จัดทำโครงการทายาทเกษตรกรมืออาชีพเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่มารับช่วงงานด้านเกษตรแทนเกษตรกรรุ่นเก่าที่มีอายุมากขึ้น ปีนี้ถือเป็นรุ่นที่ 3 รับสมัครจำนวน 200 คน เปิดรับสมัครจนถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2559

ทั้งนี้ ผู้ที่เข้าโครงการจะได้รับโอกาสในการเรียนรู้ และลงมือปฏิบัติจริงกับผู้ประกอบการที่ประสบผลสำเร็จ ทั้งการวิเคราะห์เชื่อมโยง การทำแผนธุรกิจ แผนการผลิต การแปรรูป การตลาด การเงินการลงทุน การบริหารจัดการ การสร้างเครือข่ายอย่างครบวงจร ซึ่ง ธ.ก.ส.พร้อมสนับสนุนทั้งด้านการเรียนรู้ พัฒนาผลิตผล การตลาดและเงินทุนอย่างครบวงจร เพื่อพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ให้เป็นผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรต่อไป

ด้านนายฐานิศร์ สุทธสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อพัฒนาการเกษตรและชนบท (สจส.) ภายใต้มูลนิธิอาจารย์จำเนียร สาระนาค (มจส.) กล่าวว่า คุณสมบัติผู้สมัครต้องมีที่ดินในการทำการเกษตร อายุตั้งแต่ 20-35 ปี ตั้งใจสืบทอดการเกษตร และต้องมีเวลาเข้าร่วมโครงการสม่ำเสมอ สามารถการขอใบสมัครที่ ธ.ก.ส.ทุกสาขาทั่วประเทศ มูลนิธิอาจารย์จำเนียร สาระนาค (ธ.ก.ส. สาขาอาคารนางเลิ้ง) หรือ download จาก www.chamnien.org

“ผู้ที่ผ่านการสมัครจะเป็นผู้ออกแบบหลักสูตรของตนเอง สามารถทดลองจริงทำจริง แลกเปลี่ยนประสบการณ์จากผู้รู้จริง ซึ่ง ธ.ก.ส.ในฐานะพี่เลี้ยงผู้คอยติดตามดูแลตลอดระยะเวลา 9 เดือน ตามหลักสูตรในโครงการทายาทเกษตรกรมืออาชีพ” นายฐานิศร์กล่าว

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2559

โครงการสูบน้ำ 'ท่อล้อ-อู่ทอง' ใกล้เสร็จ-จุน้ำได้ 2.5 ล้านลูกบาศก์เมตร 

          โครงการสูบน้ำท่าล้อ-อู่ทอง เติมอ่างเก็บน้ำหนองนาทะเล อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี ก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จ ทั้งสถานีสูบน้ำและท่อส่งน้ำ รอขุดตะกอนดินจากอ่างให้เรียบร้อย จุน้ำได้ 2.5 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนท่อแยกเข้าวัดทิพย์สุคนธาราม เติมน้ำ 3 สระ ความจุ 3.4 แสนลูกบาศก์เมตร ใช้การได้ตั้งแต่ปลายปี 2558 ช่วยบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำทั้งอำเภอ แถมยังขยายโครงการสูบน้ำไปเติมสระเพิ่มอีก 6 แสนลูกบาศก์เมตร

          นายประพิศ จันทร์มา ผู้อำนวยการกองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง กรมชลประทาน เปิดเผยว่า โครงการก่อสร้างสถานีสูบน้ำและระบบส่งน้ำจากคลองท่าล้อ-อู่ทอง เติมอ่างเก็บน้ำหนองนาทะเล อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี ระยะทางกว่า 16 กิโลเมตร คืบหน้าไปมากแล้ว โดยก่อสร้างสถานีสูบน้ำแล้วเสร็จ และวางท่อส่งน้ำสายหลักไปถึงอ่างเก็บน้ำหนองนาทะเลเรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่ได้สูบน้ำไปเติม เนื่องจากต้องรอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขุดลอกตะกอนดินเสร็จก่อน คาดว่าจะจุน้ำได้ประมาณ 2.5 ล้านลูกบาศก์เมตร

          อย่างไรก็ตาม ในส่วนท่อแยกส่งน้ำเข้าวัดทิพย์ สุคนธาราม เพื่อเติมน้ำในสระ 3 แห่ง ความจุรวม 3.4 แสนลูกบาศก์เมตรในวัดนั้น ก่อสร้างแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2558 และสูบน้ำเข้าไปเติมจนเต็ม ช่วยให้ราษฎรและส่วนราชการต่างๆ บรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำที่เกิดขึ้นตลอดช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมาได้

          "การเติมน้ำในสระทั้ง 3 แห่งเกิดประโยชน์มาก

          เพราะใช้กันทั้งอำเภอห้วยกระเจา ไม่ว่าส่วนราชการ อบต. และประชาชน ต่างใช้น้ำจากที่นี่ กรมชลประทานเองก็ขนน้ำไปช่วยจุดเดือดร้อนที่ห่างไกล เช่นเดียวกับวัดทิพย์สุคนธารามเองก็ต้องการน้ำวันละ 1,000 ลูกบาศก์เมตร สำหรับดูแลสวนขนาดใหญ่" นายประพิศ กล่าว

          นายประพิศ กล่าวอีกว่า เนื่องจากเป็นอำเภอที่แห้งแล้งและอยู่บนที่สูง จึงประสบปัญหาขาดแคลนน้ำรุนแรงจนได้ชื่อเป็นอีสานของ จ.กาญจนบุรี ล่าสุด พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้กรมชลประทานขยายพื้นที่ส่งน้ำไปถึง ต.วังไผ่ ของ อ.ห้วยกระเจา เพิ่มเติม เนื่องจากราษฎรเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคอย่างหนัก โดยขยายท่อส่งน้ำเติมสระสาธารณะใน ต.วังไผ่ ความจุประมาณ 6 แสนลูกบาศก์เมตร

          โครงการดังกล่าวมีระยะเวลาก่อสร้าง 5 ปี (พ.ศ.2556-2560) นอกจากช่วยให้ราษฎร อ.ห้วยกระเจา ได้มีน้ำอุปโภคบริโภคแล้ว ยังจะช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกได้อีกประมาณ 15,000 ไร่

          สำหรับวัดทิพย์สุคนธารามเป็นวัดประดิษฐานพระพุทธรูปยืนองค์ใหญ่ปางขอฝน "พระพุทธเมตตาประชาไทยไตรโลกนาถคันธารราฐอนุสรณ์" ความสูง 32 เมตร จัดสร้างเมื่อปี 2555 ในโอกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา

จาก http://www.banmuang.co.th   วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2559

แจงสี่เบี้ย : การอนุรักษ์ดินและน้ำ (1)

การอนุรักษ์ดินและน้ำ หมายถึงการกระทำที่ก่อให้เกิดผลดีกับดินและน้ำ หรือใช้ประโยชน์ดินและน้ำอย่างเหมาะสม มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ คือ 1.ลดการชะล้างพังทลายของดิน 2.รักษาปริมาณอาหารธาตุและระดับความอุดมสมบูรณ์ของดิน 3.รักษาระดับอินทรียวัตถุในดิน 4.รักษาสมบัติทางกายภาพและเคมีของดินให้เหมาะต่อการเจริญเติบโตของพืช 5.รักษาน้ำและความชื้นในดิน โดยแนวคิดการอนุรักษ์ดินและน้ำในพื้นที่เกษตร แบ่งออกเป็นพื้นที่ต่างๆ ดังนี้

1.พื้นที่นา (นาดอน) 1) การทำนาตามแนวระดับ โดยให้สม่ำเสมอตลอดทั้งแปลง เพื่อให้มีน้ำขังมากขึ้นและป้องกันการขาดน้ำ 2) ลดปริมาณคันนาเพื่อขยายแปลงนาให้ใหญ่ขึ้น มีเนื้อที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้น 3) ปรับปรุงสภาพคันนาให้เหมาะสม 4)

 ปรับปรุงบำรุงดินให้อุดมสมบูรณ์ โดยใส่ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยเคมีตามความเหมาะสม

2.พื้นที่ปลูกพืชไร่ (พื้นที่ลาดเท 1-3%) 1) การเตรียมดิน ให้ไถพรวนขวางความลาดเทของพื้นที่ ป้องกันดินถูกกัดเซาะ 2) ไถพรวนในระยะที่ดินมีความชื้นเหมาะสมไม่แห้งหรือแฉะเกินไป 3) ปลูกพืชตามแนวระดับขวางความลาดเทของพื้นที่ 4) มีการปลูกพืชหมุนเวียนและพืชคลุมดินเพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำ 5) รปรับปรุงบำรุงดิน โดยใส่ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ร่วมกับปุ๋ยเคมีตามความเหมาะสม 6) ควรไกลบเศษพืชและซากพืชลงไปในดิน

3.พื้นที่ลาดเท 3-10% 1) ต้องทำคันดินกั้นน้ำพร้อมทางน้ำแบบลดระดับในพื้นที่ 2) ปลูกพืชคลุมดิน 3) ในกรณีที่ต้องการปลูกไม้ยืนต้นหรือไม้ผล อาจทำคันดินแล้วแต่ความเหมาะสม

4.พื้นที่ลาดเท 10-20% 1) ถ้าพื้นที่มีดินดี ดินบนลึก ต้องทำคันดินแบบขั้นบันได ไถพรวนน้อยที่สุด ป้องกันน้ำไหลบ่าและการพังทลายของดิน 2) ถ้าพื้นที่มีดินดี หน้าดินลึก การปลูกไม้ยืนต้นต้องทำคันดินแบบขั้นบันไดที่มีทางระบายน้ำ 3) ถ้าพื้นที่มีดินเลวและดินบนตื้น ควรใช้สำหรับปลูกไม้โตเร็วไว้ใช้สอย 4) การใช้ประโยชน์พื้นที่นี้ทางการเกษตรกรรม จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงต้องพิถีพิถันในการจัดการ

5.พื้นที่ลาดเทเกินกว่า 35% ไม่ควรทำการเกษตร ถ้ามีความจำเป็นต้องใช้ ควรบริหารจัดการเป็นพิเศษ

จาก http://www.naewna.com วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ก.เกษตรฯจับมือ ก.วิทย์ และสรอ.พัฒนาข้อมูลเกษตรกรสู่FarmerONE   

          กระทรวงเกษตรฯ จับมือกระทรวงวิทย์ และสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (สรอ) เร่งพัฒนาข้อมูลเกษตรกรกลางให้ครบถ้วน สมบูรณ์หวังพัฒนาให้ข้อมูลเกษตรกรสู่ ระบบบริการฐานข้อมูลเกษตรกรกลาง (Farmer ONE)

          พลเอกประสาท สุขเกษตร เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ มีการดำเนินการขึ้นทะเบียนเกษตรกรมาตั้งแต่ปี 2535 โดยข้อมูลของ เกษตรกรนั้นมีความหลากหลายและแตกต่างกันตามภารกิจของแต่ละหน่วยงานที่รับผิดชอบ เช่น กรมส่งเสริมการเกษตร ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้เพาะปลูกพืช จัดเก็บเป็นครัวเรือน กรมปศุสัตว์ ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้เลี้ยงปศุสัตว์เป็นรายคน กรมประมงขึ้นทะเบียนเกษตรกรเป็นรายฟาร์ม เป็นต้น ประกอบกับฐานข้อมูลเกษตรกรขาดการเชื่อมโยงกับหน่วยงานภายในและภายนอกกระทรวง เกษตรฯ ขณะที่ความต้องการใช้ประโยชน์จากข้อมูล เกษตรกรเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะข้อมูลรายละเอียดของเกษตรกรรายบุคคล ข้อมูลด้านรายได้ การใช้ประโยชน์ที่ดินทางการเกษตรและการถือครอง ที่ดิน รวมถึงการบูรณาการเชื่อมโยงฐานข้อมูลเกษตรกรร่วมกับหน่วยงานทั้งภายในและภายนอก

          ดังนั้นกระทรวงเกษตรฯ ได้ร่วมมือกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สรอ. ในการพัฒนาฐานข้อมูลเกษตรกรกลาง (Farmer ONE) เพื่อพัฒนาฐานข้อมูลเกษตรกรให้มีความถูกต้อง ครบถ้วน เป็นปัจจุบัน และให้มีความน่าเชื่อถือมากที่สุด เพื่อใช้ในการดำเนินการตามโครงการ และมาตรการสำคัญของ รัฐบาล ให้มีระบบการปรับปรุงข้อมูลเกษตรกร ที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี และเกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน การพัฒนาฐานข้อมูลเกษตรกร เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดสำหรับขอบเขตความร่วมมือกันในครั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์ จะให้การสนับสนุนข้อมูลทะเบียนเกษตรกร และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร จะเป็นหน่วยงานดูแลและจัดการระบบฐานข้อมูลดังกล่าว เพื่อรวบรวมข้อมูลเกษตรกรผู้ประกอบอาชีพทั้งด้านพืช ปศุสัตว์ ประมง และอาชีพการเกษตรอื่นๆ ไว้ ในฐานเดียวกัน รองรับการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล ส่วนกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมสนับ สนุนด้านเทคโนโลยีระบบขึ้นทะเบียนเกษตรกรอิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีการบูรณาการร่วมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินด้านการ เกษตร และทาง สรอ. จะให้การสนับสนุนบริการระบบเครือข่ายสารสนเทศภาครัฐ Government Information Network หรือ GIN รวมทั้งสนับสนุนระบบการจัดเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ของภาครัฐ โดยใช้ Government Cloud Service

          นายคมสัน จำรูญพงษ์ รองเลขาธิการสำนัก งานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวเสริมว่า บันทึกความร่วมมือดังกล่าว จะดำเนินการให้บรรลุผลในปี 2560 โดยในปี 2559 จะเร่งจัดทำฐานข้อมูลเกษตรกรและบูรณาการเชื่อมโยงกันภายในกระทรวง ซึ่งจะเน้นข้อมูลรายบุคคลให้เป็นเอกภาพ เพื่อให้มีข้อมูลครบถ้วนใช้ประโยชน์เชิงนโยบายได้ ระยะต่อมาคือปี 2560 จะเป็นการ บูรณาการเชื่อมโยงฐานข้อมูลร่วมกันเพิ่มเติมทั้งหน่วยงานภายในและภายนอกกระทรวงเกษตรฯ โดยใช้เลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลักเป็นดัชนี และเชื่อมโยงกับระบบฐานข้อมูลของสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง กระทรวงมหาด ไทย เพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงนโยบายอย่างเต็มที่ โดยจะจัดทำระบบบริการฐานข้อมูลเกษตรกร กลาง (Farmer ONE Data Service) และรายงานข้อมูลแบบ Real time ที่สามารถเข้าถึงได้หลายช่องทาง สู่เป้าหมายร่วมกันในการพัฒนาประเทศชาติให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีฐานข้อมูลเกษตรกรกลาง ทั้งระดับครัวเรือนและ ระดับรายบุคคลที่สามารถใช้ในการบริหารจัดการเชิงนโยบาย และนำไปสู่การพัฒนาด้านต่างๆ ต่อไป.

จาก http://www.manager.co.th วันที่ 15 มิถุนายน 2559

เกษตรฯขอเลื่อนใช้ม.44ยึดที่สปก. 

กระทรวงเกษตรฯ เลื่อนใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. ยึดคืนที่ดิน ส.ป.ก.กว่า 4 แสนไร่ ใน 25 จังหวัด

          พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังไม่เสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.ที่ผ่านมาพิจารณาใช้อำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 เรียกคืนที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ในพื้นที่ 25 จังหวัด จำนวนกว่า 4 แสนไร่ เนื่องจากอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของกฤษฎีกา

          "เรื่องนี้ได้ทำผิดมาตั้งแต่แรกแล้วที่มีการนำที่ดิน ส.ป.ก.ไปขายต่อ และก็เกิดขึ้นมายาวนานก่อนผมจะเข้ามา แต่จะต้องแก้ไขให้เรียบร้อยในขณะที่ดำรงตำแหน่งอยู่ ต้องยึดคืน และทำให้เกิดผลกระทบกับประชาชนน้อยที่สุด" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

          อนึ่ง ก่อนนี้นายสรรเสริญ อัจจุตมานัส เลขาธิการ ส.ป.ก. ระบุว่า ได้ทำร่างประกาศคำสั่งหัวหน้า คสช.เพื่อใช้อำนาจตามมาตรา 44 เรียกคืนที่ดิน ส.ป.ก. ตามคำสั่งของ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เสร็จแล้ว และเตรียมเสนอต่อ ครม. เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.

          ทั้งนี้ ภายในคำสั่งดังกล่าวจะทำแผนที่ แนบท้ายทั้ง 25 จังหวัดใน 425 แปลงที่ครอบครองมากกว่า 500 ไร่ พื้นที่รวมทั้งหมด 428,390 ไร่ จากเดิมที่ตั้งเป้าจะยึดคืนในพื้นที่ 34 จังหวัด กว่า 5 แสนไร่ หลังจากประกาศคำสั่งแล้วผู้ครอบครองที่ดินในพื้นที่ดังกล่าวจะต้องมาแสดงตัว และเมื่อตรวจสอบเสร็จจะขอกำลังทหารและฝ่ายความมั่นคงเข้าเคลียร์พื้นที่ เพื่อจัดสรรให้กับเกษตรกรไม่มีที่ดินทำกินในรูปสหกรณ์

          นายสรรเสริญ กล่าวอีกว่า เมื่อดำเนินการในส่วนของผู้ที่ครอบครองที่ดินมากกว่า 500 ไร่ขึ้นไปแล้ว เป้าหมายต่อไปจะยึดคืนที่ ส.ป.ก.ที่มีผู้ครอบครองตั้งแต่ 100 ไร่ขึ้นไป

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 15 มิถุนายน 2559

ปัดฝุ่นงบ3 พันล้านแก้หนี้เกษตรกร

เตรียมปัดฝุ่นงบ 3,000 ล้าน แก้หนี้เกษตรกร ภารกิจเร่งด่วนบอร์ด กฟก.

               ในที่สุดคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (บอร์ด กฟก.) ชุดใหม่ ได้ปัดฝุ่นขออนุมัติใช้งบกลางหมวดรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาหนี้ของเกษตรกร ในวงเงิน 3,000 ล้านบาท หลังจากที่บอร์ด กฟก.ชุดเก่าทำเรื่องเสนอไปก่อนหน้านี้แล้ว แต่รัฐบาลยังไม่ทันอนุมัติบอร์ด กฟก.ชุดเก่าหมดวาระลงก่อน

               ล่าสุด เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา การประชุมบอร์ด กฟก.ได้เห็นชอบขออนุมัติใช้งบกลางเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้เร่งด่วนให้แก่เกษตรกรสมาชิกอีกครั้ง ในวงเงิน 3,000 ล้านบาท เพื่อเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือนมิถุนายน 2559 นี้

                นายวัชระพันธุ์ จันทรขจร เลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) เปิดเผยว่า การขออนุมัติใช้งบกลางหมวดรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นในวง 3,000 ล้านบาทนั้น บอร์ด กฟก.ชุดเก่าเสนอไปเมื่อครั้งที่ นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เสนอต่อ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร หลังจากกระบวนการขออนุมัติเสร็จสิ้นลง บอร์ด กฟก.ได้หมดวาระลง หลังจากมีบอร์ด กฟก.ชุดใหม่แล้ว จึงนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของบอร์ด กฟก. ก่อนนำเสนอ ครม.ได้พิจารณาเรื่องการกำหนดกรอบงบประมาณให้ กฟก. เพื่อนำไปแก้ไขปัญหาหนี้เร่งด่วนให้แก่เกษตรกร

              สอดคล้องกับ นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ได้ออกมาชี้แจงว่า การประชุมบอร์ด กฟก.ครั้งล่าสุดมีมติเห็นชอบขออนุมัติใช้งบกลางในการแก้ไขปัญหาหนี้เร่งด่วนของเกษตรกรในวงเงิน 3,000 ล้านบาท ต่อ ครม. พร้อมทั้งได้ตรวจสอบคุณสมบัติของเกษตรกรสมาชิก วัตถุประสงค์การกู้ยืม สถานะหนี้ มูลหนี้ และหลักประกัน กับสถาบันการเงินเจ้าหนี้เพื่อให้ถูกต้องตามระเบียบ กฎหมาย เพื่อเตรียมจัดการหนี้ให้เกษตรกร รวม 19,494 ราย เป็นเงิน 3,000 ล้านบาท จากนี้บอร์ด กฟก.จะเร่งดำเนินการเสนอ ครม.พิจารณาอนุมัติให้เร็วที่สุด

              นอกจากนี้คณะกรรมการ กฟก.ได้มีมติเห็นชอบรายชื่อเกษตรกรสมาชิกที่ขอขึ้นทะเบียนเกษตรกร กรณีลูกหนี้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และสหกรณ์ ระหว่างเดือนมิถุนายน 2557- มีนาคม 2559 จำนวน 73 จังหวัด จำนวน 9,490 ราย จำนวน 19,440 บัญชี จำนวนเงิน 2,229,899.50 บาท ด้วย ต่อไปจะได้ฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร การแก้ไขปัญหาหนี้ของเกษตรกรเป็นไปด้วยความคล่องตัว

             อย่างไรก็ตาม ในช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมา นายธีรภัทรระบุว่า นโยบายของ กฟก.ชุดนี้ไม่ได้แค่ต้องการจะใช้หนี้อย่างเดียว แต่ต้องการสร้างระบบที่จะตัดวงจรระบบของการเป็นหนี้ด้วย นั่นคือการฟื้นฟู สร้างรายได้ และลดค่าใช้จ่ายในเรื่องของต้นทุนการผลิตของเกษตรกรให้ได้ ซึ่งตรงนี้จะเป็นโครงการในปี 2559 ที่จะดำเนินการต่อไป

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 15 มิถุนายน 2559

รายงานพิเศษ : ‘อ้อยพันธุ์สะอาด’เทคโนโลยีแก้ปัญหาโรคใบขาว ช่วยชาวไร่อ้อยภาคอีสาน

อ้อยเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีพื้นที่ปลูก 4,018,989 ไร่ ได้ผลผลิตรวม 44,914,001ตัน ผลผลิตเฉลี่ย 11.18 ตันต่อไร่ แต่ด้วยปัญหาการระบาดของศัตรูพืช โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคใบขาวอ้อยที่ระบาดรุนแรงมาตั้งแต่ปี 2533 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ได้สร้างผลกระทบต่อเกษตรกรชาวไร่อ้อยพื้นที่ภาคอีสานคิดเป็นมูลค่าความเสียหายนับพันล้านบาท

ดร.นฤทัย วรสถิตย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการผลิตพืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า โรคใบขาวอ้อย นับเป็นอุปสรรคสำคัญของเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบการระบาดในหลายจังหวัดที่เป็นแหล่งปลูกสำคัญ เช่น ขอนแก่น บุรีรัมย์ นครราชสีมา และอุดรธานี มาตั้งแต่ปี 2533 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โรคใบขาวอ้อย มีเชื้อไฟโตพลาสมาเป็นเชื้อสาเหตุ และมีเพลี้ยจักจั่น เป็นแมลงพาหะนำโรค ต้นอ้อยที่เป็นโรคจะมีใบสีขาวหรือเขียวอ่อน หรือขาวสลับเขียวอ่อน เนื่องจากคลอโรฟิลล์ถูกทำลาย อ้อยแตกกอเป็นพุ่มฝอยคล้ายกอหญ้า ไม่เจริญเติบโตและตายไปในที่สุด

สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 และศูนย์วิจัยต่างๆ ในพื้นที่ ได้เข้าไปแก้ไขปัญหา โดยจัดทำโครงการนำร่องเพื่อแก้ปัญหาโรคใบขาวอ้อย ภายใต้โครงการขับเคลื่อนผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ ของกรมวิชาการเกษตร เริ่มจากการนำอ้อยพันธุ์ดี ได้แก่ พันธุ์ขอนแก่น 3 ที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อยอดอ่อน ปลอดจากการติดเชื้อสาเหตุโรคใบขาว และโรคที่สำคัญอื่นๆ ผลิตเป็นพันธุ์สะอาดโดยการปลูกเป็นแปลงพันธุ์และเป็นแปลงเรียนรู้ในศูนย์วิจัย นำต้นอ้อยที่ได้ไปให้เกษตรกรปลูกหรือมีการขยายเพิ่มปริมาณโดยการตัดชำข้อปลูกเป็นต้นพันธุ์ก่อนจะกระจายให้เกษตรกรนำไปปลูกเป็นแปลงพันธุ์ ในแปลงที่มีการกำจัดต้นอ้อยเป็นโรคและเศษซากออกจากแปลง ใส่ปุ๋ยและดูแลรักษาตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร และหมั่นตรวจแปลงเพื่อเฝ้าระวังการเกิดโรค เกษตรกรจะได้พันธุ์อ้อยที่สมบูรณ์แข็งแรง และเรียนรู้การดูแลรักษาและเตรียมแปลงพันธุ์ไว้ใช้เอง ก่อนจะนำท่อนพันธุ์เหล่านี้ไปปลูกเพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตส่งโรงงานต่อไป

ในอนาคต เมื่อพันธุ์อ้อยที่ผลิตและดูแลจัดการอย่างดี และเป็นพันธุ์สะอาด กระจายอยู่ในศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจังหวัดต่างๆ ของกรมวิชาการเกษตร ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งในแปลงเกษตรกรที่เป็นเกษตรกรต้นแบบ จะทำให้มีพันธุ์อ้อยพันธุ์ดีและมีคุณภาพเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เกษตรกรนำไปปลูกเป็นแปลงพันธุ์ใช้เอง และติดต่อซื้อพันธุ์สะอาดจากหน่วยงานของกรม ไปใช้ใหม่ทุกๆ 3-4 ปี หากดำเนินการได้ตามนี้จะไม่เกิดการสะสมของโรคในแปลง ปัญหาการระบาดและความเสียหายจากโรคใบขาวก็จะลดลงได้

ผลการดำเนินงานในพื้นที่ 13 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งแต่ปี 2555/56 จนถึงปัจจุบัน สามารถผลิตต้นกล้าอ้อยสะอาดแจกจ่ายให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจังหวัดต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการ นำไปปลูกเป็นแปลงพันธุ์และแปลงเรียนรู้ คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 120 ไร่เกษตรกรนำไปปลูกเป็นแปลงพันธุ์ต้นแบบรวม 435 ไร่ และผลิตต้นอ้อยชำข้อกระจายให้เกษตรกรรายอื่นๆ ในพื้นที่รวม2,600,000 ต้น ทั้งนี้พบว่าต้นอ้อยจากแปลงเรียนรู้และแปลงต้นแบบไม่เป็นโรคใบขาว ยกเว้นในบางพื้นที่ และบางแปลงที่เกษตรกรปลูกอ้อยในบริเวณที่ยังมีโรคระบาดรุนแรง อ้อยตอจะแสดงอาการของโรคใบขาวแต่พบในปริมาณน้อยมาก (น้อยกว่า 1%)และให้ผลผลิตเฉลี่ยสูงถึง 15-18 ตัน/ไร่

ตัวอย่างหนึ่งที่พิสูจน์ผลสำเร็จของโครงการ คือ การดำเนินงานของศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรอุดรธานี ซึ่งนายอมฤต วงษ์ศิริ นักวิชาการเกษตรชำนาญการ ได้ให้ข้อมูลว่าจังหวัดอุดรธานีมีพื้นที่ปลูกอ้อยมากเป็นอันดับ 1 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในฤดูปลูกปี 2557/58 มีพื้นที่ปลูก685,528 ไร่ แต่มีปัญหาการระบาดของโรคใบขาวเช่นเดียวกันกับแหล่งปลูกอ้อยอื่นทำให้เกษตรกรหันไปปลูกพืชอื่นทดแทน ก่อให้เกิดปัญหาต่ออุตสาหกรรมการผลิตอ้อยและน้ำตาลทราย เนื่องจากจังหวัดอุดรธานีมีโรงงานน้ำตาลทรายขนาดใหญ่4 โรงงานและโรงงานน้ำตาลขนาดเล็กที่ผลิตน้ำตาลทรายแดง 1 โรงงาน

ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรอุดรธานีได้นำต้นอ้อยจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ พันธุ์ขอนแก่น 3 จากศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่นและศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรขอนแก่นมาปลูกในศูนย์ฯพื้นที่ 1 ไร่ ใช้ต้นกล้า 1,800-2,000 ต้น เมื่อเก็บเกี่ยวและนำมาตัดชำข้อแล้วนำไปให้เกษตรปลูกจะปลูกได้พื้นที่ 50-100 ไร่ การผลิตอ้อยพันธุ์สะอาดโดยวิธีนี้ อ้อยมีการแตกกอดีมาก ถ้าเกษตรกรดูแลรักษาดีตามคำแนะนำ เกษตรกรจะได้อ้อยพันธุ์สะอาดนำไปขยายพันธุ์ต่อได้ 10-15 ไร่ จากแปลงพันธุ์ 1 ไร่แม้ว่าต้นทุนการผลิตของการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อและผลิตพันธุ์สะอาดให้แก่เกษตรกรจะสูง เพราะมีการดูแลรักษาอย่างดี ตามหลักวิชาการเพื่อให้ได้ต้นอ้อยที่สมบูรณ์ มีอาหารสะสมในลำต้นอย่างเพียงพอ ทำให้มีจำนวนลำมาก 12,000-15,000 ลำต่อไร่ เมื่ออ้อยอายุได้ 10 เดือน ตัดท่อนพันธุ์อ้อยแล้วนำไปหั่นข้อ ข้อละ 1 ตา นำไปปักชำในวัสดุเพาะ เมื่ออ้อยอายุ 60 วัน สามารถนำไปปลูกเพื่อขยายพันธุ์ต่อไปได้

ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรอุดรธานี ได้เริ่มดำเนินการโครงการนี้มาตั้งแต่ปี 2554 ในลักษณะของการทดสอบเทคโนโลยีกับเกษตรกรกลุ่มแรกที่บ้านหินฮาว ต.เวียงคำ อ.กุมภวาปีจ.อุดรธานี จำนวน 5 ราย โดยนำเกษตรกรเข้าอบรมหลักสูตรการผลิตพันธุ์อ้อยสะอาด สร้างความรู้ ความเข้าใจการดูแลรักษาตามหลักวิชาการ และมีการกำจัดต้นเป็นโรคทิ้งตั้งแต่อายุ 3-4 และ 6 เดือน จนได้แปลงพันธุ์อ้อยที่สะอาดและแข็งแรงไว้สำหรับทำพันธุ์ ทั้งนี้ มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ดังกล่าวมาจนถึงปัจจุบันโดยนำอ้อยชำข้อที่มาจากพันธุ์สะอาดไปให้เกษตรกรปลูกเพื่อลดการระบาดของโรคใบขาวในพื้นที่ โดยร่วมมือกับเกษตรกร ให้เกษตรกรปฏิบัติเองโดยมีนักวิชาการเป็นผู้ให้คำแนะนำ รวมแล้วมากกว่า 150 ราย เกษตรกรที่ประสบความสำเร็จ เช่น นายสมศักดิ์ เภาพาน ได้นำอ้อยไปปลูกในพื้นที่1ไร่ ขยายพันธุ์ได้10 ไร่ และกระจายพันธุ์ให้เกษตรกรอื่นอีก 7 ไร่ มีความพอใจกับเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก ปัจจุบันเกษตรกรในพื้นที่มีความต้องการอ้อยพันธุ์สะอาดอีกมาก ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรอุดรธานีให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรรายย่อยซึ่งเข้าถึงเงินทุนและเทคโนโลยีได้ยากและพยายามปลูกฝังความรู้และจิตสำนึกในการตระหนักถึงภัยจากโรคใบขาวอ้อย และกระตุ้นให้เกษตรกรร่วมมือกัน จึงจะประสบความสำเร็จ ทำให้การปลูกอ้อยในพื้นที่ได้ผลผลิตดี คุ้มค่าต่อการลงทุนและทำให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลยั่งยืนต่อไป

หากเกษตรกรประสบปัญหา หรือต้องการคำแนะนำสามารถติดต่อสอบถามได้ที่สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรอุดรธานี หรือศูนย์วิจัยฯในพื้นที่ได้

จาก http://www.naewna.com วันที่ 15 มิถุนายน 2559

ส่องเกษตร : ....การบริหารจัดการน้ำ เพื่อความยั่งยืนของไทย

เห็นฝนห่าใหญ่ที่ตกลงมาหลายพื้นที่ในช่วงนี้ ซึ่งเข้าสู่ฤดูฝนเต็มตัวมาได้พอสมควรแล้ว ขณะที่วันก่อนอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร-เลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ บอกว่า “ไทยพ้นภัยแล้งแล้ว” แต่ผมก็อยากให้ทราบกันด้วยว่า น้ำในเขื่อนทั่วประเทศยังคงมีปริมาณไม่มากนัก อันเป็นผลจากการที่ไทยเราต้องเผชิญกับภาวะวิกฤติภัยแล้งมาหลายปี จนน้ำหลายเขื่อนพากันแห้งขอด

รายงานสถานการณ์น้ำช่วงฤดูฝนปี 2559 ของกรมชลประทาน ณ วันจันทร์ที่ 13 มิ.ย.ที่ผ่านมา ระบุว่า ปริมาตรน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางฯตอนนี้มีเพียง 32,535 ล้านลบ.ม.หรือ 43%ของความจุ (มีน้ำที่ใช้การได้ 17% หรือ 8,812 ล้านลบ.ม.) เมื่อเทียบกับปี 2558 ที่มีปริมาตรน้ำ34,620 ล้านลบ.ม.หรือ 46%ของความจุแล้ว ตอนนี้ยังน้อยกว่าอยู่ 2,085 ล้าน ลบ.ม. โดยมีปริมาณน้ำไหลลงอ่าง 92.59 ล้านลบ.ม. ขณะที่ระบายน้ำ 62.34 ล้านลบ.ม. และยังสามารถรับน้ำได้อีก 42,319 ล้านลบ.เมตร

ที่เขียนถึงสถานการณ์น้ำอีกครั้ง ด้วยอยากตอกย้ำว่า การบริหารจัดการน้ำเป็นเรื่องที่สำคัญมาก และนับวันจะสำคัญยิ่งขึ้นเรื่อยๆ เพราะขณะที่“น้ำคือชีวิต” ไทยเราต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นในทุกกิจกรรมไม่ว่าภาคเศรษฐกิจ,การอุปโภคบริโภค รวมถึงการรักษาสิ่งแวดล้อม แต่น้ำก็มีปัญหามากขึ้นเรื่อยๆเช่นกัน ไม่ว่า ภาวะน้ำแล้งหรือน้ำท่วมจากสภาพอากาศโลกที่แปรปรวน เกิดปรากฏการณ์เอลนิโญหรือลานีญาถี่ขึ้น

ดังนั้นจึงอยากเชิญชวนให้ติดตามงานสัมมนาใหญ่ระดับชาติน่าสนใจยิ่ง ที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 20 มิ.ย.ที่จะถึงนี้ คืองาน “Thailand Sustainable Water Management Forum 2016-การบริหารจัดการน้ำเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทย“จัดโดยเครือเอสซีจี ร่วมกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัล ลาดพร้าว

งานนี้ทางเครือเอสซีจีทุ่มเทจัดขึ้นโดยเชิญผู้เชี่ยวชาญการบริหารจัดการน้ำจากหน่วยงานด้านน้ำของ 3 ประเทศที่ได้รับการยกย่องว่า เป็นประเทศที่มีการบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วมที่ดีที่สุดในโลก ได้แก่ สิงคโปร์,อิสราเอล และเนเธอร์แลนด์ มาแลกเปลี่ยนความรู้แนวทางการบริหารจัดการน้ำกับผู้เชี่ยวชาญของไทย เพื่อประยุกต์ใช้กับการบริหารจัดการน้ำในประเทศไทย

ตลอดจนระดมแนวคิดจากความสำเร็จการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาน้ำของไทยเองที่มีการร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนตัวอย่างในระดับพื้นที่ 9 ชุมชนได้แก่ เครือข่ายคนรักษ์ลุ่มน้ำลาว จ.เชียงราย,เครือข่ายลุ่มน้ำแม่ละอุป จ.เชียงใหม่,บ้านห้วยปลาหลด อ.แม่สอด จ.ตาก,เครือข่ายลุ่มน้ำชี บ้านโนนเขวา บ้านภูถ้ำภูกระแต จ.ขอนแก่น,ชุมชนต.บุ้งคล้า อ.เมือง จ.บึงกาฬ,เครือข่ายลุ่มน้ำมูลหนองกุดใหญ่ จ.สุรินทร์,ชุมชนบ้านเปร็ดอ.เมือง จ.ตราด,ตลาดน้ำคลองลัดมะยม ตลิ่งชันกทม.,ชุมชนบ้านศาลาดิน อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม กับการบริหารจัดการน้ำเอกชนที่ประสบความสำเร็จอีก 2 แห่ง ได้แก่ การบริหารจัดการน้ำภาคตะวันออก และการบริหารจัดการน้ำภาคอุตสาหกรรม ซึ่งงานนี้ยังจัดนิทรรศการแสดงตัวอย่างความสำเร็จดังกล่าวที่มาจากการปฏิบัติจริง พร้อมส่งเสริมให้เป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ เกิดแหล่งถ่ายทอดและขยายผลความสำเร็จระดับพื้นที่ต่อไป

โดยคาดหวังว่า การระดมความคิดจากข้อมูลตัวอย่างความสำเร็จทั้งในประเทศและต่างประเทศดังกล่าว จะได้แนวทางนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม ที่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำของไทยตั้งแต่พื้นที่ป่าต้นน้ำ พื้นที่น้ำท่วมและน้ำแล้ง ประสานความร่วมมือเป็นระบบในการจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศที่ดีในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับประเทศถึงระดับชุมชน ให้ชุมชนบริหารจัดการน้ำได้ด้วยตนเอง สามารถติดตามข้อมูลสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง สามารถคำนวณสมดุลน้ำและปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ประสานการดำเนินงานโดยภาครัฐที่มุ่งมั่นพัฒนาเต็มที่ทุกภาคส่วน ประกอบกับเอกชนสนับสนุนในการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อให้มีน้ำสำหรับทำเกษตร อุปโภค บริโภคและรักษาระบบนิเวศน์อย่างพอเพียง บรรเทาปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง เกิดประโยชน์ต่อชุมชนทั้งด้านทรัพยากร สังคมและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการจัดการพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมน้ำแล้ง เพื่อลดความเสียหายต่อประเทศ

เกิดรูปแบบใหม่ของการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศไทย ที่ประชาชน รัฐ และเอกชน ร่วมกันเป็น “ประชารัฐ”

ซึ่งงานนี้ได้ตั้งเป้าเชิญผู้บริหารประเทศ รวมถึงกระทรวงเกษตรฯมารับข้อสรุปการงานสัมมนา เพื่อนำไปใช้เป็นแนวทางบริหารจัดการน้ำต่อไปจึงเป็นงานสัมมนาใหญ่ ที่ไม่ควรพลาดอย่างยิ่ง!!!

จาก http://www.naewna.com วันที่ 15 มิถุนายน 2559

ปัญหาเกษตรที่นี่มีคำตอบ : ปุ๋ยเคมี กับภาวะโลกร้อน

คำถาม ในขณะที่ ภาคเกษตรและเกษตรกร ยังคงใช้ปุ๋ยเคมีกันเป็นจำนวนมาก จะมีผลเสียและผลกระทบต่อภาวะโลกร้อนอย่างไรบ้างครับ

คำตอบ การทำการเกษตร โดยใส่เฉพาะปุ๋ยเคมี หรือปุ๋ยวิทยาศาสตร์กันอย่างมากมาย เป็นเวลานาน และต่อเนื่อง รวมถึงการใช้สารเคมีปราบศัตรูพืช ยาฆ่าแมลง ยากำจัดวัชพืช ยาฆ่าเชื้อรา โดยมิได้มีการรักษาสภาพดิน หรือคำนึงถึงจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อพืชในดิน จนในที่สุดดินที่เคยอุดมสมบูรณ์ ก็จะเสื่อมสภาพลง จนมีผลให้เกิดปัญหาดินเสีย โครงสร้างของดินจะเปลี่ยนแปลง ทั้งทางกายภาพ ทางเคมี และทางชีววิทยา ดินจะแน่น หน้าดินแข็ง ทำให้การระบายน้ำและอากาศได้ไม่ดี ดินมีความเป็นกรดจัด และมีค่า pH ต่ำ ซึ่งเป็นบ่อเกิดของโรคพืชในดินต่างๆ รวมทั้งอินทรียวัตถุ และฮิวมัส ที่มีประโยชน์ในดินก็ลดน้อยลง หรือแทบจะหมดไป

การใช้ปุ๋ยเคมี เป็นเทคโนโลยีการเกษตรทางด้านพืช เพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตต่อหน่วยพื้นที่ให้มากขึ้น ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่เป็นการช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร เกษตรกรจึงหันมาใช้ปุ๋ยเคมีกันมาก เพราะใช้สะดวก มีสูตรต่างๆ ให้เลือกตามความต้องการ และเห็นผลเร็ว

ผลเสีย และผลกระทบจากการใช้ปุ๋ยเคมี นักวิชาการด้านการเกษตร ได้ให้คำแนะนำต่างๆ ไว้ พอสรุปได้ดังนี้

1.ในพื้นที่การเกษตรที่มีอากาศร้อนแห้งแล้ง การใช้ปุ๋ยเคมีจะไม่มีประสิทธิภาพของปุ๋ยเคมีต่ำกว่าที่ควรจะเป็น เนื่องจากถ้าภูมิอากาศไม่อำนวย เช่น ฝนตกหนัก มีภัยแล้งติดต่อกัน ธาตุไนโตรเจนอาจสูญหายไปเกือบ 40-50 เปอร์เซ็นต์ ดินเสื่อมโทรม หรือถูกกัดเซาะ และมีอินทรียวัตถุไม่มาก ประสิทธิภาพของปุ๋ยเคมี ก็ยิ่งจะลดต่ำลงไปอีก

2.ปุ๋ยเคมี ทำลายสมดุลของระบบนิเวศดิน และส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในดิน ปุ๋ยเคมีจะเร่งอัตราการสลายตัวของอินทรียวัตถุ ทำให้โครงสร้างของดินเสื่อมลง ทำให้ดินกระด้าง ไม่อุ้มน้ำ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพืช อีกทั้งการใส่ปุ๋ยเคมีที่มีธาตุไนโตรเจนมากๆ จะทำให้ดินเป็นกรด ส่งผลต่อธาตุฟอสฟอรัสที่มีอยู่ในดินแปรสภาพไปจากเดิม ซึ่งพืชจะไม่สามารถนำมาใช้ได้

3.การใช้ปุ๋ยเคมีธาตุหลัก ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโปรแทสเซียม ติดต่อกัน จะทำให้เกิดปัญหาการขาดธาตุรอง เช่น สังกะสี เหล็กทองแดง แมงกานีส แมกนีเซียม ซึ่งถ้าเกิดปัญหานี้ขึ้น จะส่งผลกระทบต่อพืช และกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ และสัตว์ผู้บริโภค ทั้งยังมีผลต่อผลผลิตลดลง เกิดโรค และแมลงศัตรูพืชเข้าทำลายได้อีกด้วย

4.การใช้ปุ๋ยเคมี มีผลกระทบทางเศรษฐกิจ เพราะแหล่งวัตถุดิบของปุ๋ยมีอยู่จำกัด โดยเฉพาะฟอสเฟต การใช้ปุ๋ยเคมีมากๆ ย่อมทำให้เกิดปัญหาปุ๋ยขาดแคลน และมีราคาแพงขึ้น ต้องนำเข้าปุ๋ยเคมี หรือวัตถุดิบจากต่างประเทศ เป็นการเพิ่มปัญหาการขาดดุลการค้าระหว่างประเทศ

5.การใช้ปุ๋ยเคมี ส่งผลกระทบต่อภาวะโลกร้อน โดยเฉพาะการปล่อยก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ สู่บรรยากาศ ก๊าซนี้จะทำลายชั้นโอโซน ซึ่งช่วยทำหน้าที่ดูดซับ และกรองคลื่นแสงอินฟาเรดเอาไว้ เมื่อชั้นโอโซนลดลง รังสีจากดวงอาทิตย์ที่แผ่มายังโลกก็จะเพิ่มขึ้น ทำให้อุณหภูมิโลกร้อนขึ้น เกิดภาวะเรือนกระจก และความผันผวนของภูมิอากาศ เกิดวิกฤตการณ์โลกร้อน ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น และส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง

เกษตรกรต้องเริ่มต้นจากตัวเกษตรกรเอง ช่วยกันปรับรูปแบบการใช้ปุ๋ยเคมี โดยหันมาใช้ควบคู่กับปุ๋ยอินทรีย์ให้มากขึ้น การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ปุ๋ยพืชสด และการใช้พืชตระกูลถั่ว เพื่อตรึงไนโตรเจน จนถึงขั้นลดละเลิกใช้ปุ๋ยเคมีเลย ก็จะเป็นการช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อนได้อีกทางหนึ่ง

จาก http://www.naewna.com วันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2559

กระทรวงอุตฯต้องเปลี่ยน! จากบทบาท‘เรกูเลเตอร์’มาเป็นส่งเสริมมากขึ้น

ดร.สมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม คนใหม่ให้สัมภาษณ์พิเศษฐานเศรษฐกิจเป็นฉบับแรก ถึงภารกิจสำคัญและนโยบายหลักของกระทรวงอุตสาหกรรม ในยุคที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการทำงานที่รวดเร็วและคล่องตัวมากขึ้น โดยเฉพาะในยุคที่อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ หรือ New S-curve ถูกยกระดับให้มีบทบาท โดยมีรายละเอียดดังนี้

1ปีในเก้าอี้ปลัดกระทรวงอุตฯ

ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวแสดงจุดยืนถึงการมานั่งทำงานในตำแหน่งปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมที่มีระยะเวลาเพียง 1 ปีก็พ้นอายุราชการนั้น ถามว่านานมั้ย! ก็ไม่นาน เพราะผมเกษียณอายุราชการเดือนกันยายนปี2560 แต่โชคดีตรงที่เป็น1 ปีที่มีอายุงานที่เหลือเท่ากับอายุรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)พอดี ดังนั้นภารกิจหลักของผมประการแรก จะต้องเข็นงานที่เป็นนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ออกมาให้เป็นรูปธรรมมากที่สุด โดยเฉพาะในงานที่ได้รับมอบหมาย ตรงนี้คือภารกิจเร่งด่วนที่จะต้องรีบดำเนินการภายใน 1 ปีนี้ ซึ่งผมพร้อมสตาร์ททันที!

ประการที่ 2 จะต้องวางรากฐานของงานที่จำเป็นหลายๆด้านที่เป็นภารกิจพื้นฐานและสำคัญของกระทรวงอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบของงานที่เคยทำในอดีตที่ทำอยู่ อาจจะปรับเปลี่ยนรูปแบบให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ยกตัวอย่าง กระทรวงอุตสาหกรรมที่ทุกคนรู้ว่า ภารกิจหลักเราเป็นเรกกูเรเตอร์ หรือผู้กำกับดูแลด้านนโยบาย เมื่อมองเข้ามา มักจะนึกถึงเรื่องกฏระเบียบ เป็นหลัก เหล่านี้เราจะต้องคำนึงถึงว่า ทุกวันนี้โลกกำลังเปลี่ยนไป มันมีเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามา มีวิทยาการใหม่ๆเข้ามา ก็ถึงเวลาที่เราจะต้องดูแลใหม่ มาจัดกระบวนการใหม่ให้ทันตามกระแสโลกให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ผมใช้หลักการหรือวิธีคิดง่ายๆ เลยคือ

1.จะต้องสร้างเครือข่ายหรือเนตเวิอร์คและการกำกับดูแล พัฒนาอุตสาหกรรม ซึ่งอาจจะต้องมีงานบางส่วนให้คนอื่นเข้ามาดูแลแทน โดยในส่วนของการกำกับเราอาจจะต้องคำนึงถึง ”เติร์สปาร์ตี้”มากขึ้น ที่อาจจะมาในรูปขององค์กร สมาคม หรือเอกชนที่เข้ามา โดยกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้คุมคุณภาพ โดยมีระเบียบออกมา ยกตัวอย่าง เช่น ห้องแลป อาจจะไปใช้แลปเอกชนก็ได้ แต่จะต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่เรากำหนด เพื่อจะได้ไม่ต้องรอนาน หน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรมคือไปกำหนดให้แลปเหล่านั้นต้องเป็นไปในมาตรฐานเรา

“ยกตัวอย่างเหมือนเราต่อทะเบียนอายุรถเมื่อเกิน7 ปี ที่ปัจจุบันเราสามารถไปตรวจที่อู่ไหนที่มีบริการได้ พอตรวจเสร็จก็นำเอกสารมายื่นไม่เช่นนั้นแล้วต้องไปรอคิวที่กรมขนส่งซึ่งนานมาก ซึ่งตรงนี้จะช่วยให้การทำงานเร็วขึ้น”

 รวมถึงงานด้านอนุญาตทุกอย่าง เหล่านี้เราอาจจะต้องไปดูเรื่องการแก้ไขกฎหมายบางส่วน ซึ่งจำเป็นต้องแก้ และถ้าเราคิดโดยเอากฎหมายมาวางงานก็จะเหมือนเดิม แต่วิธีการผมคือ ต้องถอดกฎหมายออกไปก่อนแล้วมาดูว่าแบบนี้ดีมั้ย ถ้าดี หลังจากนั้นเราก็ไปปรับปรุงกฏหมาย ไปปรับปรุงระเบียบให้ดำเนินการตามนั้น เหล่านี้คือการสร้างเนตเวิร์คในการจัดการดูแล

2.ต้องกระจายอำนาจของกระทรวงอุตสาหกรรมให้มากขึ้นโดยเฉพาะการกำกับดูแล เช่น บางงาน เราสามารถมอบหมายให้กับท้องถิ่นได้ ที่ไม่มีผลกระทบต่อประชาชนเยอะ 3.เราต้องเปลี่ยนจากเรกกูเรเตอร์ มาเป็นการส่งเสริมมากขึ้น เช่น แทนที่จะออกมาตรฐานและกำกับดูแลตรวจสอบคุณภาพ เราอาจจะไปพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมให้ดีขึ้น ยกระดับให้ได้มาตรฐานโลก รวมทั้งพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้เข้าใจ ให้รู้และสามารถปรับประสิทธิภาพของตัวเองให้ได้มาตรฐานต่างๆ โดยเราเปลี่ยนบทบาทจากที่เป็นคนออกใบอนุญาตเป็นคนกำกับดูแล ก็มาเป็นบทบาทของผู้ส่งเสริมมากขึ้น แต่การกำกับดูแลยังต้องดูแลต่อ เพียงแต่เปลี่ยนวิธีการกำกับใหม่

“การพัฒนาผู้ประกอบการให้เข้าใจและพัฒนาตัวเองได้ เพราะทุวันนี้เรามีระเบียบ มีบุคลากรเต็มไปหมดแม้กระทั่งมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนเราก็เข้าไปช่วยให้เขาได้มาตรฐานได้ เช่น สินค้าพื้นบ้าน”

4.เร่ง 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ หรือ New S-curve ให้สามารถขยายตัวและโดยเฉพาะการพัฒนาเอสเอ็มอีให้เข้าไปมีส่วนร่วมในซัพพายเชนของกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่และซุปเปอร์คลัสเตอร์ได้อย่างไร

5.พยายามออกแบบและวางแนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมทั้งระยะสั้นและระยะยาวตามกรอบไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งกรอบนี้อาจจะแยกขอบเขตของคำว่า”อุตสาหกรรม(อินดัสตรี) กับบริการที่อาจต้องผสมผสานกันโดยใช้เรื่องของครีเอทีฟและเทคโนโลยีมากขึ้น

คนในกระทรวงเริ่มสมองไหล

ส่วนกรณีที่มีการตั้งคำถามว่าคนในกระทรวงฯเริ่มสมองไหล หาคนเก่งยากขึ้นนั้น โดยส่วนตัวผมกลับมองว่าคนในกระทรวงเก่งโดยเฉพาะคนในกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.)ในระดับผู้อำนวยการทุกคนเก่งในงานที่ดำเนินการอยู่แล้ว ถ้าถัดไปอีกรุ่นก็ยังมีช่องว่าง เนื่องจากเราเปลี่ยนกระบวนการทำงานไปค่อนข้างมาก เพราะหน่วยงานของรัฐในยุคหลังๆ มักเน้นการเป็นผู้ประสานงาน เป็นผู้กำกับดูแลมากกว่าที่จะลงมือทำเองเหมือนในอดีตที่ผ่านมา ก็จะทำให้อาจมีคนที่มีความชำนาญอีกด้านที่ไม่ใช่ด้านในทางปฎิบัติมากนัก แต่ที่ผมดูถ้าเราเข้าไปเติมเต็มในระบบการพัฒนาโดยเฉพาะเรื่องการบริหารให้กับคนรุ่นหลังมากขึ้น ซึ่งตรงนี้ก็คงมีระบบการจัดการในเรื่องการพัฒนาบุคคลกร ค่อนข้างต่อเนื่อง เพียงแต่ระบบราชการอาจทำให้ในบางช่วงมีการจำกัด การรับราชการ ถ้าจำนวนราชการน้อยลงอาจเป็นอุปสรรคในการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งพอสมควร เช่น อยากดันคนเก่ง คนหนุ่มให้ขึ้นมาเร็วขึ้นก็ทำยาก ไม่สามารถย้ายข้ามหัวใครได้ คือสามารถโปรโมตได้ แต่มีข้อจำกัดในระดับหนึ่ง ซึ่งเหล่านี้มันมีระเบียบที่วางไว้ มีเงื่อนไขที่ค่อนข้างรัดกุมก็เหมือนดาบสองคม เพื่อไม่ให้เกิดการใช้เส้นใช้สาย หรือในบางช่วงที่เศรษฐกิจดี อาจจะมีคนเก่งที่มีทางเลือกอื่น แต่ก็อาจจะมีอุปสรรคสำหรับคนหนุ่มที่เก่ง

ระเบียบใหม่ที่ก.พ.จะออกมาใช้

ระเบียบใหม่ที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) จะออกมาต่อไปนี้ ถ้าจะก้าวขึ้นไปสู่อีกตำแหน่งก็มีเงื่อนเวลา เช่น คนที่จะขึ้นซี9 ผู้อำนวยการจะต้องผ่านประสบการณ์มาจากหน่วยงานด้านต่างๆมาแล้ว 6 ปีโดยจะต้องต่างงาน ต่างพื้นที่ ต่างตำแหน่งคือจะต้องย้ายมาอย่างน้อย3 ที่ ที่ละ2 ปี รวม6 ปี แบบนี้แต่ก็จะมีข้อดีที่ทำให้คนมีความรอบรู้มากขึ้น ผ่านประสบการณ์มาหลายด้าน แต่ก็มีข้อจำกัดเรื่องระยะเวลา การก้าวขึ้นต่อไปจะต้องเรียงไล่ จากปัจจุบันถ้าซี8จะขึ้นซี9 จะต้องมีประสบการจากที่ต่างๆมาอย่างน้อย 4 ปี

สำหรับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เรื่องนี้ถ้ามองในแง่ข้าราชการ เราเป็นข้าราชการก็ต้องเดินตามกติกาที่ชัดเจน สิ่งหนึ่งที่จะต้องเดินก็เพราะเป็นนโยบายของรัฐในฐานะหน่วยงานที่ต้องกำกับ ประการต่อมาคือจะต้องถูกระเบียบ ถูกกฎหมาย อย่างชัดเจน เพราะไม่เช่นนั้นแล้วนโยบายที่ท่านนายกรัฐมนตรีสั่งชัดเจนว่าจะต้องดำเนินการตามกฎหมาย ถ้าไม่ดำเนินการตามกฎหมายมันก็ไม่ศักดิ์สิทธิ์ ข้าราชการมีระเบียบที่ชัดเจน อย่างกรณีที่มีข้อขัดแย้งอะไรก็แล้วแต่ เราก็รับข้อมูลของความเห็นของทั้ง2ฝ่ายมาพิจารณา แต่สุดท้ายเราก็ยังยืนหยัดอยู่ 2 ประการคือนโยบายและกฎระเบียบกฎหมายที่ถูกต้อง ไม่อย่างนั้นแล้วก็ไม่เกิดประโยชน์ในการบริหารประเทศ ซึ่งก็เป็นนโยบายของท่านนายกรัฐมนตรีด้วยว่าข้าราชการจะต้องเดินตามนโยบายและตามกฏหมายอย่างเคร่งครัด

เร่งพัฒนางานด้านสมอ.

ส่วนงานด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เมื่อมานั่งเป็นปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมก็จะให้นโยบาย โดยในเบื้องต้นจะเร่งพัฒนาในการออกมาตรฐานให้ครอบคลุมจำนวนสินค้าให้มากขึ้น และต้องเล่นบทส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาตัวเองให้เข้าสู่มาตรฐานใหม่ได้ รวมถึงการไปส่งเสริมให้ประชาชนมีความเข้าใจในเรื่องมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(มอก.) ให้มากขึ้น เช่นเวลาเลือกซื้อของ เมื่อเห็นเครื่องหมายมอก.ก็มั่นใจได้การซื้อสินค้าที่มีมอก.มากขึ้น รวมถึงให้ความรู้ผู้ประกอบการในการพัฒนาตัวเองให้มากขึ้น เราจะต้องเล่นในบาทบาทเหล่านี้มากขึ้น ส่วนบทที่ต้องกำกับดูแล และออกใบอนุญาตก็ดำเนินการตามพรบ.อยู่ แต่จะเน้นในเรื่องของการให้บริการที่ดีขึ้น ไวขึ้นโดยการมีเติร์สปาร์ตี้เข้ามาดำเนินการร่วมอย่างไร ตรงนี้จะใช้หลักการเดียวกันเข้ามาช่วยดูแล ทั้งหมดนี้คือภารกิจเบื้องต้น ก่อนทิ้งท้ายว่าหลังจากนี้อีก 3 เดือนค่อยมาสัมภาษณ์ใหม่ขอเวลาทำงานในบทบาทปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมก่อนซักระยะ

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2559

พด.เปิดตัวแอพ‘LDD Soil Guide’ ช่วยแนะนำจัดการดิน-ปุ๋ยผ่านสมาร์ทโฟน

นางสาวเบญจพร ชาครานนท์ โฆษกกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาที่ดินได้จัดทำโปรแกรมสำหรับโทรศัพท์มือถือหรือโมบายแอพพลิเคชั่น สำหรับให้คำแนะนำการจัดการดินและปุ๋ย จำนวน 2 แอพพลิเคชั่น ได้แก่ LDD Soil Guide เป็นแอพพลิเคชั่นที่นำเสนอแผนที่ดินข้อมูลดินสมบัติดิน พร้อมทั้งคำแนะนำในการจัดการดิน การจัดการปุ๋ยความเหมาะสมสำหรับพืชและข้อจำกัดต่างๆในเบื้องต้น และปุ๋ยรายแปลง เป็นแอพพลิเคชั่นที่เน้นการให้คำแนะนำการจัดการดินและปุ๋ยเมื่อมีการเก็บตัวอย่างดิน และมีผลวิเคราะห์ดินเป็นรายแปลง

“กรมพัฒนาที่ดินจัดทำโปรแกรมทั้ง 2 ตัวนี้ ด้วยวัตถุประสงค์การใช้งานที่แตกต่างกันและการแยกเป็นสองโปรแกรมเพื่อให้โปรแกรมมีประสิทธิภาพในการประมวลผลโดยรวมสูงขึ้น โดยในการใช้งานนั้นเกษตรกรและเจ้าหน้าที่ควรใช้แอพพลิเคชั่น LDD Soil Guide ในการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นของพื้นที่ก่อนเพื่อให้ทราบสมบัติและลักษณะของดิน พิจารณาความเหมาะสมและข้อจำกัดตลอดจนแนวทางการจัดการดินและปุ๋ยของดินนั้นๆ หากเกษตรกรและเจ้าหน้าที่สามารถหาแนวทางการจัดการดินและปุ๋ยได้ตามต้องการ และสอดคล้องกับสภาพที่เป็นจริงในพื้นที่แล้ว ก็สามารถนำคำแนะนำนั้นไปปรับใช้ได้ทันที”

โฆษกกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับกรณีเกษตรกรและเจ้าหน้าที่มีข้อสงสัยในคำแนะนำ ที่อาจจะไม่ตรงกับสภาพปัจจุบัน เนื่องจากมีการใช้ที่ดินอย่างเข้มข้นหรือคาดการณ์ว่ามีปุ๋ยตกค้างมาก ก็สามารถเก็บตัวอย่างดินส่งวิเคราะห์ได้ ซึ่งเมื่อมีการส่งตัวอย่างดินวิเคราะห์ และได้รับผลวิเคราะห์ดินแล้วผลวิเคราะห์นั้น จะมีคำแนะนำการจัดการดินและปุ๋ยประกอบมาด้วย ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ได้ทันที

ทั้งนี้ หากเกษตรกรยังต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม หรือต้องการปรับผลวิเคราะห์ดินใช้ในกรณีอื่นๆ นอกเหนือจากที่ผู้วิเคราะห์ดินแปลผลให้ ก็สามารถปรึกษาเจ้าหน้าที่เพื่อให้เจ้าหน้าที่ใช้โปรแกรมปุ๋ยรายแปลงเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบข้อมูลและคำนวณการผสมปุ๋ยได้

สำหรับ LDD Soil Guide นอกจากใช้บนโทรศัพท์มือถือแล้วสามารถใช้ในบนคอมพิวเตอร์ทั่วไปได้ทาง http://lddsoilguide.ldd.go.th/soilguide/#/app/map

จาก http://www.naewna.com วันที่ 13 มิถุนายน 2559

พ้นวิกฤตแล้งเกษตรลุยทส.เร่งโครงการน้ำ 

 "อธิบดีฝนหลวง" ชี้ปีนี้รอดพ้นวิกฤตภัยแล้ง เกษตรฯ เร่งโครงการบริหารจัดการน้ำ

          นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ปีนี้ถือว่าได้ก้าวข้ามวิกฤตภัยแล้งแล้ว เพราะแนวโน้มฝนตกเหนือเขื่อนเพิ่มขึ้น โดยวันที่ 12 มิ.ย.มีน้ำไหลเข้าเขื่อนภูมิพล 7 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) มากกว่าที่ระบายออกวันละ 3 ล้าน ลบ.ม.

          ทั้งนี้ แผนทำฝนหลวงตั้งเป้าหมายเพิ่มน้ำต้นทุนอีก 3,000 ล้าน ลบ.ม. โดยอาศัยอิทธิพลจากร่องฝนช่วงเดือน มิ.ย.ส.ค.และพายุจรจากมหาสมุทรแปซิฟิกระหว่างเดือน ก.ย.-พ.ย. พร้อมเร่งทำฝนหลวงเติมน้ำเข้าเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน

          นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทานฝ่ายวิชาการ กล่าวว่า พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้เข้าหารือกับ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เพื่อขับเคลื่อนโครงการของกรมชลประทานตามยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำ 12 ปีของรัฐบาล (ปี 2558-2569) โดยมี 7 โครงการ ที่ได้รับอนุมัติงบประมาณแล้วในปีนี้ แต่ยังติดขั้นตอนการอนุญาตใช้พื้นที่ของ ทส.ทั้งกรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

          "แม้บางโครงการจะผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม รวมทั้ง คสช.ได้มีคำสั่งที่ 9/2559 แล้ว แต่ ทส.ยังไม่อนุญาตให้เข้าใช้พื้นที่ ทำให้หลายโครงการจะไม่สามารถตั้งในปี 2560 ซึ่ง รมว.ทส.รับไปพิจารณาเพื่อให้งานเดินตามยุทธศาสตร์" นายสมเกียรติ กล่าว

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 13 มิถุนายน 2559

ระบุปีนี้รอดพ้นวิกฤต'ภัยแล้ง'แล้ว เร่งทำฝนหลวงเติมน้ำเขื่อนใหญ่

นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ปีนี้ถือว่าได้ก้าวข้ามวิกฤตภัยแล้งไปแล้ว เพราะมีแนวโน้มจากฝนตกเหนือเขื่อนเพิ่มขึ้น โดยวันนี้มีน้ำไหลเข้าเขื่อนภูมิพล 7 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ซึ่งน่าดีใจที่เป็นครั้งแรกที่เขื่อนภูมิพล มีน้ำไหลเข้ามากกว่าระบายออกวันละ 3 ล้าน ลบ.ม.ส่วนเขื่อนสิริกิติ์ มีน้ำไหลเข้า 8 ล้าน ลบ.ม.แต่ยังระบายวันละ 10.5 ล้าน ลบ.ม.และเขื่อนวชิราลงกรณ มีน้ำเข้ามากที่สุด 28 ล้าน ลบ.ม.

ทั้งนี้ ปริมาณน้ำใช้การได้ปัจจุบัน เขื่อนภูมิพล 190 ล้าน ลบ.ม.ร้อยละ 2 , เขื่อนสิริกิติ์ 774 ล้าน ลบ.ม. , เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน 214 ล้าน ลบ.ม. , เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 190 ล้าน ลบ.ม.รวม 1,368 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็นร้อยละ 7

จากนี้แนวโน้มฝนตกในพื้นที่ต้นน้ำมากขึ้นโดยเฉพาะภาคเหนือ ขณะนี้แผนทำฝนหลวงตั้งเป้าหมาย 2 ช่วง อาศัยอิทธิพลจากร่องฝน เดือน มิ.ย. - ส.ค.เพิ่มน้ำต้นทุน 3 พันล้าน ลบ.ม.และรอพายุจร จากมหาสมุทรแปซิฟิกเข้าไทย ระหว่างเดือน ก.ย. - พ.ย.มาเติมได้อีก โดยเร่งระดมทำฝนหลวงเติมน้ำเขื่อนภูมิพล , เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ตั้งฐานฝนหลวง 3 แห่ง ในภาคเหนือ มีเครื่องบินขึ้นปฎิบัติการทำฝนเฉลี่ยวันละ 2 เที่ยว ที่ จ.เชียงใหม่ , ตาก และพิษณุโลก รวม 7 ลำ

"ขณะนี้มีน้ำต้นทุนมีปริมาณน้อยลงทุกวัน เพราะระบายออกมากกว่า แต่ถือว่าปีนี้รอด เข้าหน้าฝนแล้ว แต่ห่วงปีหน้า ยังเป็นปัญหาไม่มีน้ำให้การเกษตรต้องกักเก็บไว้เพื่อกินใช้เป็นหลัก โดยเฉพาะเขื่อนภูมิพล เหลือน้ำใช้การไม่ถึง 2% มีน้ำต้นทุนน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ หวังว่าปฏิบัติการฝนหลวง มีอิทธิพลจากร่องฝนและพายุมาช่วยเสริมเร่งรีบทำฝนหลวงให้มากที่สุด และภาคอีสาน เพิ่มฐานที่ จ.อุบลราชธานี เติมน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ ย้ายฐานมาจาก จ.จันทบุรี  ส่วนภาคกลาง ได้เสริมฐานฝนหลวงที่ จ.ลพบุรี 2 ลำ ภาคตะวันตก ตั้งฐานฝนหลวง จ.กาญจนบุรี 3 ลำ จากขึ้นปฏิบัติการตั้งแต่ ก.พ.จนถึงปัจจุบันกว่า 100 วัน ขึ้นบินจำนวน 2.2 พันเที่ยวบิน ได้ฝน 93 วัน ปริมาณน้ำ 237 ล้าน ลบ.ม." อธิบดีกรมฝนหลวงฯ กล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2559

3 องค์กรชั้นนำ ลงนามบันทึกข้อตกลง ‘โครงการความร่วมมือเพื่อสร้างโอกาสในการพัฒนาผลิตภัณฑ์พลาสติก’

จากรายงานของ The European Bioinformatics Institute ระบุว่า กำลังการผลิตพลาสติกชีวภาพทั่วโลกมีแนวโน้มการเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 350% ภายในปี 2019 โดยในปี 2014 อุตสาหกรรมหลักที่ใช้พลาสติกชีวภาพมากที่สุด คือ อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ รองลงมาคือเส้นใย และสินค้าอุปโภค-บริโภคตามลำดับ ซึ่งภาพรวมกำลังการผลิตพลาสติกชีวภาพปี 2014 คิดเป็น 1.7 ล้านตัน และประมาณการว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 7.85 ล้านตัน ในปี 2019 โดยส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ในแถบเอเชียทั้งในปี 2014 และปี 2019 คิดเป็น 58.1% และ 80.6% ตามลำดับ ตัวเลขเหล่านี้ พิสูจน์ให้เห็นว่า พลาสติกชีวภาพหรือที่เรียกกันอย่างแพร่หลายว่า “ไบโอพลาสติก” จัดเป็นนวัตกรรมคลื่นลูกใหม่ที่กำลังได้รับความสนใจจากทั่วโลก เป็นทางเลือกในการรักษาสิ่งแวดล้อมและเข้ามามีบทบาทสำหรับในอุตสาหกรรมต่างๆ ทั่วโลก ก่อให้เกิดการพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวได้

เมื่อย้อนกลับมามองประเทศไทย แม้ยังมีการใช้พลาสติกชีวภาพไม่มากนัก แต่การส่งเสริมให้ผู้บริโภคและผู้ประกอบการมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง จะช่วยส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ และเกิดตลาดรองรับภายในประเทศ สอดคล้องกับการเติบโตอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพและแนวโน้มการรักษาสิ่งแวดล้อมของโลก เพราะเล็งเห็นความสำคัญเหล่านี้เมื่อเร็วๆ นี้ พิธีลงนามบันทึกข้อตกลง “โครงการความร่วมมือเพื่อสร้างโอกาสในการพัฒนาผลิตภัณฑ์พลาสติก” จึงได้เกิดขึ้นจากความร่วมมือของ 3 องค์กรชั้นนำ ได้แก่ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC), สถาบันพลาสติก และสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย (TBIA) ที่มุ่งจัดกระบวนการเรียนรู้และพัฒนานักออกแบบให้เข้าใจกระบวนการผลิตพลาสติก หวังลดการใช้พลาสติกสู่การใช้วัสดุทดแทนให้ผู้ประกอบการโรงงานพลาสติกที่ต้องการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า ตอบรับกระแสโลกธุรกิจสีเขียว

อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้และผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์

 งานออกแบบ (TCDC) เผยว่า เป็นที่ทราบดีว่าพลาสติกเป็นวัสดุสำคัญในการผลิตสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน หากแต่ก็เป็นวัสดุที่สร้างปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อม ดังนั้นการลดปริมาณการใช้พลาสติกและการใช้พลาสติกชีวภาพทดแทนพลาสติกทั่วไปนั้น จำต้องมีการปรับกระบวนการคิดและการผลิตแบบใหม่ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบโจทย์การใช้งานและความต้องการของตลาด ซึ่งกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการก่อให้เกิดการทำงานร่วมกันของนักออกแบบและนักวิจัยในสาขาต่างๆ เพื่อค้นหาไอเดีย/วิจัยผู้บริโภคและการหาความเป็นไปได้ในการผลิตจากต้นแบบและวัสดุต่างๆ ด้วยปัจจัยเหล่านี้จึงเป็นที่มาของการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้

 “นวัตกรรมไบโอพลาสติก ถือเป็นเรื่องใหม่ ทุกคนในโลกจึงถือว่าเริ่มต้นพร้อมกัน ต่างจากยุคริเริ่มปิโตรเลียม ยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น ถือว่าพัฒนาไปไกลแล้ว แต่สำหรับไบโอพลาสติก ประเทศเหล่านี้นำไปไม่ถึงก้าวจึงเป็นโอกาสให้ไทยพัฒนาศักยภาพทัดเทียมไปสู่นานาชาติได้ซึ่งในเร็ววันนี้ไทยกำลังก้าวไปสู่การเป็นไบโอพลาสติกฮับ (Bioplastic Hub) แห่งที่ 2 ของโลก รองจากอเมริกามีไบโอพลาสติกคอมเพล็กซ์ และไบโอเคมีคัล อินดัสทรีใหญ่ที่สุดในโลก” ดร.เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันพลาสติก ฉายให้เห็นศักยภาพของไทยในการเป็นไบโอพลาสติกฮับของโลก

เช่นเดียวกับ กิตติพงศ์ ลิ่มสุวรรณโรจน์ ผู้อำนวยการสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย (TBIA) ยอมรับว่ากระแสเศรษฐกิจสีเขียวมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดไบโอพลาสติก ซึ่งประเทศไทยมีความพร้อมอย่างมากในการเป็นผู้ผลิตไบโอโปรดักส์ แต่สิ่งที่ขาดคือ “การตลาด”เพราะตลาดไบโอพลาสติกมีต้นทุนสูง ด้วยอุปสรรคด้านเทคโนโลยีการผลิตของตัวมันเอง แต่สิ่งที่น่าสนใจคือตลาดไบโอโปรดักส์มีดีมานด์มากขึ้นเรื่อยๆ หนทางหนึ่งที่จะกระตุ้นให้เกิดกำลังการผลิตไบโอโปรดักส์ นั่นคือการนำแนวทางการออกแบบและสร้างสรรค์มาใช้

ทั้งนี้ สมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย รายงานว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมชีวภาพของไทยในปัจจุบัน แบ่งได้เป็น 4 ประเภทหลัก ได้แก่ เชื้อเพลิงชีวภาพพลังงานชีวภาพ เคมีชีวภาพ และพลาสติกชีวภาพ โดยวัตถุดิบหลัก

 มาจากสินค้าเกษตรที่ผลิตได้ในประเทศ เช่น อ้อยมันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ปิดโปรเจ็กต์ช่วยภัยแล้งปี59 ใช้งบร่วมแสนล้าน/เตือนฝนมา 12 จ.เสี่ยงดินถล่ม 

          ก.เกษตรฯพอใจ ประกาศปิดโปรเจ็กต์ช่วยภัยแล้งปี 59  เผยอัดงบร่วมแสนล้าน อุ้มเกษตรกรฝ่าวิกฤติกว่า 6 ล้านครัวเรือนฉลุย เตรียมดันเป็นโมเดลตัวอย่างในฤดูแล้งปีหน้า ขณะหน้าฝนปีนี้กรมพัฒนาที่ดิน คาดการณ์พื้นที่เกษตรเสี่ยงน้ำท่วมขังใน 51 จังหวัด พื้นที่ 1.94 ล้านไร่ และ 12 จังหวัดเสี่ยงสูงเกิดดินถล่ม

          นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงสถานการณ์ภัยแล้ง ในปี 2559 ที่ถือมีความวิกฤติและรุนแรงในรอบ 20 ปี ว่า ทางกระทรวงโดย พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งหน่วยงานของกระทรวงต่างๆ ได้บูรณาการการทำงานช่วยเหลือเกษตรกรกว่า 6 ล้านครัวเรือนให้ผ่านพ้นวิกฤติได้เป็นผลสำเร็จ เพราะ 1. ภัยแล้งเกิดขึ้นจากธรรมชาติและ 2.วิกฤติแล้งของปีนี้ปริมาณน้ำ โดยเฉพาะลุ่มน้ำพระยามีปริมาณน้อยมากที่ผ่านมาแนวทางการแก้ปัญหาภัยแล้งเดิมที่เคยปฏิบัติมา จะแก้ปัญหาเมื่อเกิดวิกฤติ มีการบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานของแต่ละกระทรวงเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหามีน้อย และมีความล่าช้า รวมทั้งการจ่ายเงินเยียวยาแก่เกษตรกรส่วนใหญ่กว่าจะแล้วเสร็จก็เข้าสู่ช่วงฤดูฝนถึงฤดูแล้งของปีถัดไป ไม่ทันกาล ที่สำคัญการลงพื้นที่ติดตามงานมีน้อยทำให้มีเกษตรกรร้องเรียนจำนวนมาก

          "เปรียบเทียบในปีนี้ ทางกระทรวงได้มีการเตรียมความพร้อมมา 5 เดือนเพื่อรับมือกับภัยแล้งคือ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2558  2.ตั้งคณะกรรมการอำนวยการบูรณาการแก้ไขปัญหาวิกฤติภัยแล้งปี 2558/2559 โดยมีพล.อ.ฉัตรชัย เป็นประธาน พร้อมกันนี้ได้ตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาภัยแล้งระดับชาติ และระดับจังหวัด โดยมี ปลัดกระทรวงเกษตรฯ และผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้อำนวยการ เพื่อทำหน้าที่เฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง ช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ พร้อมทั้งรายงานสถานการณ์ให้คณะอำนวยการบูรณาการ ร่วมกับ 11 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติภัยแล้งรับทราบเป็นระยะๆรวมทั้งมีการออก 8 มาตรการแก้ปัญหาภัยแล้งล่วงหน้าผนวกกับ9 มาตรการของกระทรวงอื่นๆ ที่ได้ขอความเห็นจากคณะรัฐมนตรี รวมเม็ดเงินที่ลงไปช่วยเกษตรกรร่วมแสนล้านบาท"

          นายธีรภัทร กล่าวอีกว่า การทำงานที่ผ่านมาแม้จะแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที แต่ยอมรับว่ามีปัญหาบ้าง เสียหายบ้าง แต่ในภาพรวมแล้วไม่มากอย่างที่ประเมินไว้ก่อนหน้าที่เหตุการณ์จะเกิดขึ้นจริงว่าจะมีความรุนแรงมาก อย่างไรก็ดีแม้ว่าจะเตรียมการดีแล้ว รัฐมนตรียังเปรยว่าการจ่ายเงินยังมีความล่าช้า ยังติดขัดในระยะแรก แต่โมเดลนี้จะเป็นบทเรียนที่จะนำไปเป็นแผนปฏิบัติการในฤดูแล้งปีหน้า ขณะนี้กำลังเตรียมแผนรับมือภัยพิบัติในฤดูฝน ที่คาดการณ์พื้นที่เกษตรมีโอกาสเกิดน้ำท่วมซ้ำซาก แผ่นดินถล่ม หวังว่าจะช่วยลดผลกระทบให้เกษตรกรเช่นเดียวกับฤดูแล้งที่ผ่านมา

          แหล่งข่าวจากกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า ในปี 2559 คาดการณ์พื้นที่เกษตรจะมีโอกาสเกิดน้ำท่วมขัง รวม 51 จังหวัด คิดเป็นพื้นที่ 1.94 ล้านไร่ ได้แก่ 1. ภาคเหนือ พื้นที่ประมาณ 0.27 ล้านไร่ ที่มีโอกาสที่จะเกิดน้าท่วมขังใน 13 จังหวัด อาทิ  นครสวรรค์ พิษณุโลก อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ และเชียงใหม่ เป็นต้น 2. ภาคกลาง พื้นที่เกษตรประมาณ 0.79 ล้านไร่ ที่มีโอกาสที่จะเกิดน้าท่วมขังใน 12 จังหวัด อาทิ สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยาลพบุรี

          3. ภาคตะวันออก มีโอกาสที่จะเกิดน้ำท่วมขังใน  4 จังหวัด อาทิ ปราจีนบุรีฉะเชิงเทรา ชลบุรี และสระแก้ว 4. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีโอกาสที่จะเกิดน้ำท่วมขังใน 16 จังหวัด อาทิ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม เป็นต้น ล้านไร่ และ 5. ภาคใต้ ที่มีโอกาสที่จะเกิดน้ำท่วมขังใน 6 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช สงขลา พัทลุง นราธิวาส สุราษฎร์ธานี และ ปัตตานี

          แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า จังหวัดที่ควรเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ในช่วงที่มีฝนตกหนักและคาดการณ์พื้นที่มีโอกาสเกิดดินถล่มสูงมีทั้งหมด 12 จังหวัด ได้แก่ พื้นที่ภาคใต้ จำนวน 4.82 หมื่นไร่ มี 8 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช ภูเก็ต สงขลา ชุมพร พังงา ระนอง พัทลุง และตรัง ส่วนภาคกลางมี 2 จังหวัด  ได้แก่ กาญจนบุรีและราชบุรี ภาคเหนือ มี 3 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ตาก และเชียงราย

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2559

นักวิจัย ม.ขอนแก่นพบยีสต์สายพันธุ์ใหม่ ผลิตเอทานอลสูง ยับยั้งจุลินทรีย์ในการผลิตน้ำตาล

น.ส.นิภา มิลินทวิสมัย นักวิจัยจากภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เปิดเผยว่า ได้ค้นพบยีสต์สายพันธุ์ใหม่ที่มีความสามารถผลิตเอทานอลได้สูงที่สุด เมื่อทดลองเปรียบเทียบในกลุ่มยีสต์ที่ผลิตเอทานอลได้ในระดับสูงด้วยกัน และได้รับการขึ้นทะเบียนเชื้อจุลชีพในชื่อว่า Saccharomyces cerevisiae KKU 6M4.1 หรือเรียกว่ายีสต์สายพันธุ์ มข.นอกจากจะมีคุณสมบัติในการผลิตเอทานอลได้สูง เจริญได้อย่างรวดเร็ว เจริญดีในอาหารที่ใช้เลี้ยงยีสต์ที่มีสภาพความเป็นกรดด่างในช่วงกว้าง (ค่า pH 5-8) และยังทนต่อไบโอไซด์ ซึ่งเป็นสารที่ใช้ยับยั้งจุลินทรีย์ในกระบวนการผลิตน้ำตาล และปนมากับกากน้ำตาล หรือโมลาส ที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเอทานอล

น.ส.นิภากล่าวอีกว่า เนื่องจากโรงงานอุตสาหกรรมผลิตเอทานอลโดยทั่วไปในประเทศไทย จะนำเข้าเทคโนโลยีการผลิตเอทานอลพร้อมยีสต์จากต่างประเทศ จึงยังไม่มีการผลิตยีสต์เชิงอุตสาหกรรมใช้เองภายในประเทศ เพื่อขยายผลงานวิจัยสู่ระดับอุตสาหกรรมการผลิตเอทานอล คณะนักวิจัยฯ จึงได้นำเสนอประสิทธิภาพของยีสต์สายพันธุ์ KKU 6M4.1 ยีสต์สายพันธุ์ มข.แก่ บริษัท ขอนแก่นแอลกอฮอล์ จำกัด ซึ่งให้ความสนใจ และไว้วางใจให้ดำเนินการวิจัย และทดสอบยีสต์สายพันธุ์นี้ในระดับอุตสาหกรรมในโรงงานของบริษัทฯ ได้ ภายใต้ข้อตกลงการใช้ตัวอย่างวัตถุจากงานวิจัย หรือ MTA (Material Transfer Agreement) ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2558 ซึ่งผลการศึกษาในระดับโรงงานอุตสาหกรรม พบว่ายีสต์สายพันธุ์นี้มีประสิทธิภาพการผลิตเอทานอลสูงกว่ายีสต์ที่โรงงานใช้อยู่เดิม โดยคำนวณตั้งแต่กระบวนการใช้กากน้ำตาลเป็นวัตถุดิบ การผลิตเชื้อยีสต์ และกระบวนการหมักจนถึงกระบวนการกลั่นเอทานอล ได้ประสิทธิภาพผลผลิต หรือเปอร์เซ็นต์ yield efficiency สูงกว่าประมาณ 6.4 เปอร์เซ็นต์ จากกำลังการผลิตของโรงงาน 150,000 ลิตรต่อวัน

“นอกจากนี้ คณะนักวิจัยฯ ยังได้วิจัยสารสกัดจากยีสต์สายพันธุ์ มข.ซึ่งสามารถใช้ผลิตเป็นอาหารเสริม ผลิตภัณฑ์อาหาร หรือเครื่องสำอาง และสารสกัดจากผนังเซลล์ของยีสต์ อุดมไปด้วยเบต้ากลูแคน เป็นสารประเภทโพลีแซคคาไรด์ ซึ่งมีประโยชน์มาก โดยเฉพาะคุณสมบัติเด่นในการกระตุ้นภูมิต้านทานของร่างกาย” น.ส.นิภากล่าว

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2559

แบงก์ชาติประกาศก้อง!!!หากค่าบาทผันผวนจะดูแลไม่ให้กระทบศก.

นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานอบรมหลักสูตรธนาคารกลางเพื่อสื่อมวลชน เรื่องบทบาทธนาคารกลางภายใต้วิวัฒนาการและความผันผวนของเศรษฐกิจโลก : การเปลี่ยนแปลงของโลกการเงินกับเทคโนโลยีใหม่ จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ว่า ค่าเงินบาทช่วงที่ผ่านมาแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย เป็นผลมาจากปัจจัยภายนอกประเทศ คือ การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) หลังจากเฟดส่งสัญญาณว่าจะไม่ขึ้นดอกเบี้ยในเร็วๆ นี้ ทำให้เงินไหลกลับเข้ามายังประเทศตลาดเกิดใหม่ อัตราแลกเปลี่ยนจึงแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตามเป็นการแข็งค่าขึ้นสอดคล้องกับภูมิภาคและหากเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาคอัตราการแข็งค่าน้อยกว่าประเทศอื่น จึงยังรักษาความสามารถในการแข่งขันได้ และที่ผ่านมาอัตราแลกเปลี่ยนไม่ได้ผันผวนมากนัก

“เดือนมิถุนายนนี้ต้องติดตามผลการประชุมเฟด และการลงประชามติของสหราชอาณาจักรว่าจะออกจากสหภาพยุโรปหรือไม่ ซึ่งความเห็นของนักวิเคราะห์มองว่าน่าจะไม่ออกจากสหภาพยุโรป แต่หากความผันผวนมีมากขึ้น ธปท.พร้อมที่จะเข้าไปดูแลให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมไม่กระทบกับการขยายตัวเศรษฐกิจ” นายเมธีกล่าว

จาก http://www.matichon.co.th วันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ราคาน้ำตาลตลาดโลกฟื้นคืนชีพ 

          หวานได้อีก..สำหรับบมจ.น้ำตาลครบุรี หรือ KBS หลังกระบวนการหีบอ้อยหยุดลง ตอนนี้ก็เข้าสู่ช่วงฤดูทำละลาย ปีนี้ขอบอก.. บริษัทฯ ทำลายสถิติปริมาณอ้อยเข้าหีบเยอะกว่าปีก่อน ๆ ดังนั้น สบายใจหายห่วงได้เลยปริมาณผลผลิตน้ำตาลทั้งในส่วนโควต้าและส่งออกจะเพียงพอต่อความต้องการทั่วถึงๆ แน่นอน ขณะที่ด้านคุณภาพเวลานี้ ยังเป็นที่ยอมรับจนต้องยกนิ้วให้ แว่วๆ ห้างโมเดิร์นเทรดขนาดใหญ่ สั่งออเดอร์เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แถมตอนนี้ราคาน้ำตาลดิบในตลาดโลกที่เคยสะดุดไปพักใหญ่.. ล่าสุดฟื้นคืนชีพ มาอยู่แถว ๆ 18 เซ็นต์/ปอนด์..ว้าวๆๆ มีแต่เรื่องดีๆ ใครถือ KBS อยู่ตอนนี้สบายใจได้เลยจร้า

กล่าว

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2559

เกษตรฯบุกทลายโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์เถื่อนรายใหญ่ อายัดของกลาง 214.5 ตัน !

กรมวิชาการเกษตรบุกทลายโรงงานปุ๋ยอินทรีย์เถื่อนรายใหญ่ในเมืองราชบุรี พบลักลอบผลิตโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียน ตะลึงของกลางพร้อมขายอื้อ สั่งอายัดกว่า 214.5 ตัน  ชี้หากหลุดสู่พื้นที่เพาะปลูกทำเกษตรกรพังยับ

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า จากการที่กรมวิชาการเกษตรได้มอบหมายให้สารวัตรเกษตรและเครือข่ายสารวัตรเกษตรทั่วประเทศ ติดตามเฝ้าระวังและควบคุมแหล่งผลิตและสถานที่จำหน่ายปุ๋ย วัตถุอันตรายทางการเกษตร และเมล็ดพันธุ์พืชอย่างใกล้ชิด ล่าสุดสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ได้ประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดความเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค เข้าตรวจสอบโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ของห้างหุ้นส่วนจำกัด อมรพันธุ์ไม้ เอ เอ็ม พี เลขที่ 107 หมู่ 9 ตำบลโพพัก อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี พบว่า โรงงานดังกล่าวเป็นโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์เถื่อนรายใหญ่ โดยมีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ที่ต้องขึ้นทะเบียนแต่มิได้ขึ้นทะเบียน และผลิตปุ๋ยอินทรีย์โดยไม่ได้รับอนุญาต

เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้สั่งอายัดของกลางเป็นปุ๋ยอินทรีย์บรรจุกระสอบพร้อมจำหน่าย ตราหัวใจคู่ และตราช้างแดงคู่ ประมาณ  214.5 ตัน รวมทั้งอายัดวัตถุดิบ เครื่องจักรกลและอุปกรณ์ในการผลิต โดยมีการเก็บตัวอย่างของกลางเพื่อตรวจวิเคราะห์คุณภาพ รวมถึงปริมาณธาตุอาหารด้วยว่าเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดหรือไม่ หากปุ๋ยอินทรีย์ล็อตนี้หลุดลอดไปสู่พื้นที่เพาะปลูกได้ อาจสร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรค่อนข้างมาก เนื่องจากนำไปใช้แล้วอาจได้ผลตอบแทนไม่คุ้มค่าการลงทุน

นายสมชายกล่าวอีกว่า เนื่องจากมีการแจ้งเบาะแสว่า มีพ่อค้ารถเร่นำปุ๋ยอินทรีย์ยี่ห้อนี้ไปเร่ขายตามหมู่บ้าน และมีเกษตรกรแปลง GAP ในพื้นที่จังหวัดราชบุรีได้ซื้อปุ๋ยอินทรีย์ยี่ห้อดังกล่าวไปใช้ ซึ่งเจ้าหน้าที่พบว่า ที่ข้างกระสอบปุ๋ยมีการบรรยายสรรพคุณเหนือปุ๋ยเคมีและดีกว่าปุ๋ยทุกชนิด จึงมีการติดตามตรวจสอบสืบค้นแหล่งที่มาจนนำมาสู่การจับกุมครั้งนี้ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งข้อหาดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด กรณีที่ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ที่ต้องขึ้นทะเบียนแต่มิได้ขึ้นทะเบียน ต้องระวางโทษ 1 ใน 4 ของโทษจำคุกตั้งแต่ 5-15 ปี และปรับตั้งแต่ 200,000 ถึง 2,000,000 บาท ส่วนกรณีผลิตปุ๋ยอินทรีย์โดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท 

ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายน 2559 สารวัตรเกษตรได้ร่วมกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดความเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ได้เข้าจับกุมดำเนินคดีผู้ฝ่าฝืนกฎหมายแล้ว จำนวน 20 ราย พร้อมยึดของกลางทั้งหมดกว่า 777.13 ตัน มูลค่ารวมกว่า 40.13 ล้านบาท

“ขณะนี้ได้สั่งการให้ทีมสารวัตรเกษตร เครือข่ายสารวัตรเกษตร และสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรทั้ง 8 เขต ติดตามตรวจสอบสถานที่ผลิตและร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตรทั่วประเทศเข้มงวดมากขึ้น เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงฤดูเพาะปลูกและเกษตรกรมีความต้องการใช้ปัจจัยการการผลิตสูง นอกจากนั้น ยังขอความร่วมมือเกษตรกรและประชาชนในการแจ้งเบาะแสผู้เข้าข่ายกระทำความผิด เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้เข้าตรวจสอบต่อไป” อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าว

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ชาวไร่ลุ้นราคาอ้อยขั้นต้นทะลุ1พันบาท

นายธีระชัย แสนแก้ว ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด หรือ อนท. ได้เริ่มทยอยทำราคาขายน้ำตาลทรายดิบส่งออก (โควตา ข.ปริมาณ8 แสนตัน) แล้ว คิดเป็นสัดส่วน 30% ของปริมาณน้ำตาลทรายเฉลี่ยราคาระดับ 19 เซนต์ต่อปอนด์ หาก อนท.ยังสามารถทำราคาดังกล่าวได้ต่อเนื่อง มีความเชื่อมั่นว่าราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2559/60 ที่จะประกาศช่วงเดือนตุลาคม 2559 นั้น จะอยู่ในระดับราคาไม่น้อยกว่า 1,000 บาทต่อตัน

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทยและหัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 7 กล่าวว่า ขณะนี้ อนท.มีการทำราคาขายน้ำตาลทรายดิบส่งออกล่วงหน้าไปแล้ว 30% ของปริมาณน้ำตาลส่งออกที่ 8 แสนตัน ราคาเฉลี่ย 19 เซนต์ต่อปอนด์ ซึ่งถือเป็นราคาที่ค่อนข้างสูง และมีแนวโน้มราคาจะยังคงทรงตัวในระดับดังกล่าวอยู่ เนื่องจากปริมาณน้ำตาลทรายตลาดโลกยังอยู่ในภาวะตึงตัว หลังจากที่สต๊อกน้ำตาลทั่วโลกลดลงในช่วงที่ผ่านมาจากปัญหาวิกฤติภัยแล้ง

“ค่อนข้างมั่นใจว่าหากราคายังยืนระดับ 18-19 เซนต์ต่อปอนด์ จะทำให้ราคาอ้อยมีโอกาสสูงที่จะเกิน 1,000 บาทต่อตัน และถือว่าที่ผ่านมาได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วที่เฉลี่ยราคาอ้อย 2 ฤดูการผลิตอยู่ระดับ 800-850 บาทต่อตันเท่านั้น อย่างไรก็ตาม คงต้องติดตามแนวโน้มผลผลิตอ้อยปี 2559/60 อย่างใกล้ชิด เนื่องจากหลายพื้นที่เริ่มมีฝนตก แต่หากไม่ตกต่อเนื่อง ก็อาจทำให้ตออ้อยที่ปลูกใหม่ได้รับผลกระทบ ดังนั้นหลายฝ่ายจึงมองว่าปริมาณอ้อยน่าจะใกล้เคียงกับปี 2558/59 ที่อยู่ระดับ 94.06 ล้านตัน” นายนราธิป กล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2559 

เร่งเครื่องยุทธศาสตร์พัฒนาอุตฯไทย20ปี 

          สปริงบอร์ดเร่งผลักดันยุทธศาสตร์พัฒนาอุตฯ ไทย 20 ปี เตรียมเสนอ ครม.เห็นชอบเดือนมิถุนายนนี้ เผยแพร่เร่งด่วน 5 ปีแรกเน้นเพิ่มขีดแข่งขัน ตั้งเป้าลงทุนโตเฉลี่ย 8% ต่อปี

          นายอาทิตย์ วุฒิคะโร อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะคณะกรรมการชี้นำยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนการเพิ่มผลิตภาพนวัตกรรม และมาตรฐานภาคอุตสาหกรรม หรือสปริงบอร์ด เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแต่งตั้งตนและนายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เป็นกรรมการในสปริงบอร์ดเพิ่มเติม โดยสปริงบอร์ดได้เห็นชอบในหลักการยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทยระยะ 20 ปี เพื่อกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนและพัฒนาอุตสาหกรรมไทยสู่อินดัสทรี 4.0 ภายใต้ไทยแลนด์ 4.0           

          พร้อมกันนี้ที่ประชุมได้แสดงความคิดเห็นใน 2 ประเด็นหลักที่ต้องนำกลับไปหารือให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนก่อนนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบภายในเดือนมิถุนายนนี้ โดยกรรมการเห็นควรว่ากระทรวงอุตสาหกรรมเร่งประสานไปยังกระทรวงวิทยาศาสตร์กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันระดมความเห็นกำหนดรายละเอียดและเป้าหมายเชิงบูรณาการให้ยุทธศาสตร์มีความเชื่อมโยงไทยไปสู่เศรษฐกิจโลก อีกทั้งควรเร่งรัดให้ยุทธศาสตร์ดังกล่าวมีผลในทางปฏิบัติเป็นรูปธรรมภายใน 1-2 ปีนี้

          ทั้งนี้ ในแผนเร่งด่วนระยะ 5 ปีแรกจะเน้นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยตั้งเป้าหมายให้มีการลงทุนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 8% ต่อปี และเพิ่มขึ้นเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 10% ต่อปี ในปีที่ 20 รักษาอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) เฉลี่ยอย่างน้อยอยู่ที่ 3% ต่อปี และปีที่ 20 เพิ่มขึ้นเป็น 5% รวมทั้งเพิ่มงบลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาอย่างน่อย 2% ต่อปี และเพิ่มเป็น 4% ในปีที่ 20 เพื่อพยายามขับเคลื่อนการจัดอันดับด้านการใช้นวัตกรรมในภาคอุตสาหกรรมการผลิตของเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม อยู่ในอันดับไม่เกินที่ 40 จากปัจจุบันอันดับที่ 48

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2559 

กรมโรงงานชี้กากอันตราย ลดลงตามเศรษฐกิจโลก

นายสมคิด วงศ์ไชยสุวรรณ รองอธิบดี กรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) กล่าวว่า กรมโรงงาน ได้ตั้งเป้าหมายในการนำกากอันตรายเข้าสู่ระบบให้ได้ 1.5 ล้านตัน ภายในก.ย.ปีนี้เพิ่มจากปีที่ผ่านมาที่มีการกำจัดกากอุตสาหกรรมอันตรายได้1.3 ล้านตัน ตามแผนยุทธศาสตร์การจัดการกากอุตสาหกรรม5 ปี ตั้งแต่ปี 2558-2562 โดยจะเร่งรัดให้โรงงานประมาณ 8 หมื่นโรงงานเข้าสู่ระบบไม่น้อยกว่า 90%

อย่างไรก็ตามตั้งแต่เดือน ต.ค.2558 ถึงปัจจุบัน สามารถนำกากอุตสาหกรรมอันตรายได้เพียง 8 แสนตันเท่านั้น อาจเกิดมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ตกต่ำ ส่งผลให้การลงทุนของภาคเอกชนลดลง โดยเฉพาะยอดการผลิตสินค้าที่ลดลงทำให้จำนวนกากอันตรายลดลงตามด้วย ซึ่งอาจจะสังเกตได้จากยอดจำนวนขอใบอนุญาต รง.4 และการขยายโรงงานในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ก็มีจำนวนลดลงเช่นกัน แต่มั่นใจว่าช่วงที่เหลือของปีนี้จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของภาครัฐจะส่งผลให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภคกลับมาอีกครั้ง และจะส่งผลให้การลงทุนและการผลิตสินค้าออกมาสู่ตลาดมากขึ้น และอาจจะทำให้จำนวนกากอุตสาหกรรมกลับมาเพิ่มสูงขึ้นและเข้าระบบได้ตามเป้า ที่วางไว้ได้”นายสมคิดกล่าว

ทั้งนี้กรมโรงงานอยู่ระหว่างศึกษาการจ่ายเงินสินบนรางวัลนำจับให้กับประชาชน ที่ชี้เบาะแสโรงงานอุตสาหกรรมที่ลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมผิดกฎหมายด้วย

จาก http://www.naewna.com วันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2559 

ส.อ.ท.เล็งถกแนวทางบริหารน้ำ หนุนอุตฯรายใหญ่ให้ความรู้SME

สอท.เตรียมประชุมคณะกรรมการสถาบันน้ำเพื่อความยั่งยืน ในเดือนมิ.ย.นี้ จัดหาแผนบริหารจัดการน้ำใช้ในภาคอุตสาหกรรม ก่อนนำเสนอรัฐบาล คาดแล้วเสร็จในปีนี้ พร้อมสนับสนุนอุตฯ รายใหญ่สร้างเครือข่ายกระจายความรู้เอสเอ็มอี

นายสมชาย หวังวัฒนาพาณิช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยหลังเป็นประธาน พิธีเปิดงานสัมมนามอบรางวัลสถานประกอบการอุตสาหกรรมต้นแบบฯ ว่า ภายในเดือน มิ.ย.59 นี้ จะเรียกประชุมคณะกรรมการสถาบันน้ำเพื่อความยั่งยืน เพื่อจะร่วมกันหารือกำหนดแนวทางแผนบริหารจัดการน้ำในอนาคต ก่อนรวบรวมเสนอให้ทางรัฐบาลต่อไป เพื่อเป็นแนวทางในการวางกรอบบริหารจัดการน้ำให้แล้วเสร็จภายในปี 2559 นี้ โดยเบื้องต้นมองว่าควรจะนำระบบการบริหารจัดการน้ำในภาคตะวันออกมาเป็นแม่แบบ โดยการทำอ่างน้ำพวง หรือการวางท่อส่งน้ำเชื่อมต่อไปยังอ่างเก็บน้ำหลายๆ แห่ง เพื่อให้แต่ละอ่างเก็บน้ำมีน้ำใช้อย่างเพียงพอในฤดูแล้ง

นายสมชายกล่าวว่า ขณะนี้ภาคอุตสาหกรรมยังไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งมากนัก เนื่องจากมีการใช้น้ำเพียง 3% จากการใช้น้ำทั้งประเทศ โดยอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำมากที่สุด จะเป็นการผลิตอาหาร และเครื่องดื่ม ซึ่ง ส.อ.ท.จะส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมทั้งหมดลดการใช้น้ำลง และรีไซเคิลน้ำกลับมาใช้ใหม่ให้ได้มากที่สุด และยังมีแนวทางที่จะให้อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่มีระบบการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ มาสร้างเครือข่ายรวมกับผู้ประกอบการขนาดเล็กเพื่อร่วมให้ความรู้เรื่องการบริหารจัดการน้ำ

“สมาชิก ส.อ.ท. มีจำนวนกว่า 9 พันราย ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่มากกว่า 50% มีระบบการบริหารจัดการน้ำที่ดี ซึ่งจะผลักดันให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ออกไปช่วยเหลือรายเล็กในโครงการพี่สอนน้องสร้างเครือข่ายการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ” นายสมชายกล่าว

นายสุพจน์ เจิมสวัสดิพงษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่าการใช้น้ำบาดาลในภาคบริการ และอุตสาหกรรมของไทยในปีที่ผ่านมามีประมาณ 6.7 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน แต่ในปีนี้เกิดภัยแล้งทำให้มีการใช้น้ำบาดาลเพิ่มขึ้นเป็น 8.6 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน แต่ก็ยังเป็นระดับการใช้น้ำที่ปลอดภัย เพราะปริมาณน้ำบาดาลที่รองรับการใช้ได้สูงสุดได้ถึง 2.1 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยที่ไม่ทำให้แผ่นดินทรุด.

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2559 

ให้รางวัลนำจับคนชี้เป้า บรรดาโรงงานอุตสาหกรรมลอบทิ้งขยะพิษ 

          นายสมคิด วงศ์ไชยสุวรรณ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.)เปิดเผยว่า กรอ.กำลังศึกษาการจ่ายเงินสินบนรางวัลนำจับให้กับประชาชนที่ชี้เบาะแสโรงงานอุตสาหกรรมที่ลักลอบทิ้งกากาอุตสาหกรรมผิดกฎหมายเนื่องจากประชาชนในพื้นที่มีความสำคัญในการช่วยภาครัฐ เป็นหูเป็นตาในการตรวจสอบและช่วยแก้ปัญหา เนื่องจากกำลังคนของ กรอ.มีจำกัด ล่าสุดกากอุตสาหกรรมอันตรายเข้าสู่ระบบกำจัดกากถูกต้องตามกฎหมายระหว่างเดือน ต.ค.58 ถึงขณะนี้มีปริมาณ 800,000 ล้านบาท ยังห่างจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1.5 ล้านตัน ภายใน ก.ย.นี้อีกมาก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวทำให้การขยายกำลังการผลิตของโรงงาน ชะลอตัวเช่นกัน

          ทั้งนี้ กรอ.ได้ออกมาตรการเร่งรัดให้ผู้ประกบอการนำกากอุตสาหกรรมอันตรายเข้าสู่ระบบกำจัดให้มากขึ้น โดยเฉพาะจากโรงงานอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ต้องส่งกากเข้ารับการกำจัด 26,600 แห่ง จาก 80,000 แห่งทั่วประเทศ ที่ยังไม่เข้าสู่ระบบกำจัดกากอุตสาหกรรมให้ถูกต้องตามกฎหมาย ใน 20 ประเภทโรงงานอุตสาหกรรมที่มีกากของเสียอันตราย เช่น โรงงานหมัดวัตถุดิบ, โรงงานชำแหละ, โรงงานกระดาษ, โรงกลั่นปิโตรเลียม, โรงงานผลิตปุ๋ยเคมี ซึ่ง กรอ.จะประสานงานกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดลงพื้นที่ตรวจสอบ นอกจากนี้ กรอ.ยังได้เพิ่มอำนาจให้ผู้อำนวยการสำนักโรงงานอุตสาหกรรมรายสาขาของกรอ.มีอำนาจพิจารณาอนุญาตให้โรงงานอุตสาหกรรมสามารถนำกากอุตสาหกรรมไปกำจัดได้ จากเดิมมีเพียงเจ้าหน้าที่ของสำนักบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม 10 คน เป็นผู้อนุญาต ส่งผลให้มีการร้องเรียนว่าการอนุมติล่าชา จึงมั่นใจว่าวิธีการนี้จะช่วยแก้ปัญหาได้.

จากhttp://www.thairath.co.th  วันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ชาวไร่มีลุ้นข่าวดี! ราคาอ้อยขั้นต้นปี 59/60 จ่อทะลุพันบาท/ตัน  

         ชาวไร่อ้อยมีลุ้นราคาอ้อยขั้นต้นปี 2559/2560 จะกลับมาสู่ขาขึ้นในระดับทะลุ 1,000 บาทต่อตันอีกครั้งจากที่ตกต่ำต่อเนื่อง เหตุราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกพุ่งแตะระดับ 19 เซ็นต์ต่อปอนด์ “อนท.” ฉวยจังหวะเร่งระบายขายทำราคา จับตาอาจไม่ต้องกู้ ธ.ก.ส.เพิ่มราคา              

        นายธีระชัย แสนแก้ว ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด หรือ อนท. ได้เริ่มทยอยทำราคาขายน้ำตาลทรายดิบส่งออก (โควตา ข. ปริมาณ 8 แสนตัน) แล้วคิดเป็นสัดส่วน 30% ของปริมาณน้ำตาลทราย เฉลี่ยราคาระดับ 19 เซ็นต์ต่อปอนด์ หาก อนท.ยังสามารถทำราคาดังกล่าวได้ต่อเนื่องมีความเชื่อมั่นว่าราคาอ้อยขั้นต้นฤดูกาลผลิตปี 2559/60 ที่จะประกาศช่วงเดือน ต.ค. 2559 นั้นจะอยู่ในระดับราคาไม่น้อยกว่า 1,000 บาทต่อตัน       

        “อนท.เองก็ติดตามใกล้ชิด หากระดับราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกยังยืนอยู่ระดับ 19-20 เซ็นต์ต่อปอนด์และหากทำราคาได้ระดับดังกล่าวเกินกว่า 60% ราคาอ้อยจะเฉลี่ยระดับ 1,000 บาทต่อตัน และหากทำได้ 100% จะเกินกว่า 1,000 บาทต่อตันทันที ดังนั้น ปีนี้เชื่อว่าจะเป็นปีที่สดใสอีกครั้งที่ราคาอ้อยจะเห็นระดับ 1,000 บาทต่อตัน ถือเป็นราคาที่กลับมาอยู่ระดับเดิมในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา และมีโอกาสที่จะไม่ต้องกู้เงินธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) มาอุดหนุนราคาเพิ่มเติมเช่นที่ผ่านมา” นายธีระชัยกล่าว       

        นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และหัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 7 กล่าวว่า ขณะนี้ อนท.มีการทำราคาขายน้ำตาลทรายดิบส่งออกล่วงหน้าไปแล้ว 30% ของปริมาณน้ำตาลส่งออกที่ 8 แสนตัน ราคาเฉลี่ย 19 เซ็นต์ต่อปอนด์ ถือเป็นราคาที่ค่อนข้างสูงและมีแนวโน้มราคาจะยังคงทรงตัวในระดับดังกล่าวอยู่เนื่องจากปริมาณน้ำตาลทรายตลาดโลกยังอยู่ในภาวะตึงตัวหลังจากที่สต๊อกน้ำตาลทั่วโลกลดลงในช่วงที่ผ่านมาจากปัญหาวิกฤตภัยแล้ง       

        “เราค่อนข้างมั่นใจว่าระดับราคาหากยังยืนระดับ 18-19 เซ็นต์ต่อปอนด์จะทำให้ราคาอ้อยมีโอกาสเกินระดับ 1,000 บาทต่อตันสูง และถือว่าที่ผ่านมาเราได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วที่เฉลี่ยราคาอ้อย 2 ฤดูที่ผ่านมาอยู่ระดับเพียง 800-850 บาทต่อตันเท่านั้น” นายนราธิปกล่าว       

        สำหรับผลผลิตอ้อยแนวโน้มปี 2559/60 คงจะต้องติดตามใกล้ชิดเนื่องจากหลายพื้นที่เริ่มมีฝนตก แต่หากไม่ตกต่อเนื่องก็อาจทำให้ตออ้อยที่ปลูกใหม่ได้รับผลกระทบ ดังนั้นปริมาณอ้อยที่หลายฝ่ายมองขณะนี้น่าจะใกล้เคียงกับปี 2558/59 ที่อยู่ระดับ 94.06 ล้านตัน 

จาก http://manager.co.th วันที่ 9 มิถุนายน 2559

ยก "ยโสธร" เกษตรอินทรีย์ต้นแบบ ไทยปูพรมหวังยึดหัวหาดตลาดออแกนิก 

          นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯได้มอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบูรณาการขยายผลการพัฒนาด้านเกษตรอินทรีย์ โดยนำ “ยโสธรโมเดล” ซึ่งเป็นเมืองเกษตรอินทรีย์ต้นแบบ (Model) ไปพัฒนาต่อยอดการผลิตเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ พร้อมขยายผลไปสู่จังหวัดอื่นที่มีศักยภาพด้านการผลิตเพิ่มไม่น้อยกว่า 10 จังหวัด อาทิ พัทลุง หนองคาย อุบลราชธานี ลำพูน ลำปาง เพชรบูรณ์ สงขลา กาฬสินธุ์ สุรินทร์ ร้อยเอ็ด เป็นต้น

          ทั้งนี้ ภายในปี 2561 ตั้งเป้าพื้นที่จังหวัดยโสธรเข้าสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้น 60,000 ไร่ จากเดิม 40,000 ไร่ รวมเป็น 100,000 ไร่ คาดว่าจะได้ผลผลิตข้าวเปลือกอินทรีย์กว่า 35,000 ตัน รวมทั้งผลิตผลอินทรีย์อื่นๆ อาทิ แตงโม ผักต่างๆ รวมถึงสัตว์น้ำและไข่ไก่ ป้อนเข้าสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ ขณะเดียวกัน ยังมุ่งขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์ทั้งประเทศเพิ่มขึ้นปีละไม่น้อยกว่า 10% และมีเป้าหมายส่งเสริมขยายตลาดเกษตรอินทรีย์หรือออแกนิก (Organic) ได้ประมาณ 20-30%

          ด้าน น.ส.ดุจเดือน ศศะนาวิน เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันไทยมีพื้นที่ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทร์ ประมาณ 160,000 ไร่ เกษตรกรกว่า 5,000 ราย ได้ผลผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ ประมาณ 50,000 ตัน ส่วนใหญ่เป็นข้าวอินทรีย์ คิดเป็น 60% ที่เหลือเป็นพืชอื่นๆ สมุนไพร รวมทั้งสินค้าประมง และปศุสัตว์อินทรีย์ มีมูลค่ารวมไม่น้อยกว่า 2,000 ล้านบาท.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 9 มิถุนายน 2559

"สอน." วิ่งโร่แก้ต่างบราซิลฟ้อง WTO กล่าวหาไทยอุดหนุนชาวไร่อ้อย

สอน.บินด่วนไปสวิสแจง WTO ถกปมบราซิลฟ้องทำราคาน้ำตาลตก ขอยืดเจรจาอีก 3-6 เดือน หวั่น EU ร่วมแจม

นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า สืบเนื่องจากสมาคมผู้ผลิตอ้อยและน้ำตาลของประเทศบราซิล ได้เรียกร้องให้รัฐบาลบราซิลฟ้องต่อองค์การการค้าโลก (WTO) ดำเนินคดีทางการค้ากับประเทศไทย โดยกล่าวหาว่ารัฐบาลไทยให้เงินอุดหนุนแก่ชาวไร่อ้อยในการเพาะปลูก ส่งผลให้เกษตรกรชาวไร่ให้ความสนใจมาเพาะปลูกอ้อยมากขึ้น ทำให้ปริมาณผลผลิตเพิ่มและผลิตน้ำตาลทรายเข้าสู่ตลาดโลกมากกว่าปกติ จึงเป็นสาเหตุให้ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกตกลงมาถึงเฉลี่ยที่ประมาณ 13-15 เซนต์ในช่วงที่ผ่านมา

ดังนั้น เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2559 สอน.จึงเดินทางร่วมกับทีมกฎหมายเพื่อไปเจรจาหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพราะกังวลว่า นอกจากบราซิลแล้วจะมีผู้ร่วมฟ้องไทยเพิ่ม อาทิ สหภาพยุโรป (EU) ซึ่งเบื้องต้นภาคเอกชนตั้งแต่ชาวไร่กลุ่มใหญ่ ผู้ส่งออกน้ำตาลโควตา ข. และ ค. หรือประกอบด้วย บริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด (อนท.) 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กลุ่มชาวไร่อ้อย จะหารือร่วมกันก่อน และประชุมกับ สอน.ถึงแนวทางการชี้แจงต่อบราซิล

สำหรับการเจรจาระหว่างทีมกฎหมายของแต่ละประเทศ สาระสำคัญในเวทีเจรจาครั้งนี้ คือ ไทยต้องการขอใช้เวลา 3-6 เดือน เพื่อชี้แจงเหตุผลต่าง ๆ ในกรณีที่ขอยืดเวลาไม่สำเร็จ สอน.จะกลับมาหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมอีกครั้ง เพื่อหาแนวทางอื่นและปรึกษาทนายก่อนที่จะต้องเข้าสู่กระบวนการของการขึ้นศาลอีก 9 เดือนข้างหน้า

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 9 มิถุนายน 2559

กรมวิชาการเร่งวางมาตรการแก้ไขปัญหาปุ๋ยปลอม 

          กรมวิชาการเกษตรหารือสมาคมปุ๋ยเพื่อวางมาตรการแก้ไข้ปัญหาปุ๋ยปลอม พร้อมสั่งการสารวัตรเกษตรลงพื้นที่ตรวจ ร้านค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน พร้อมย้ำผู้ประกอบการต้องมีจิตสำนึกรับผิดชอบร่วมกัน

          นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ ได้ให้นโยบายในการลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร โดยเฉพาะเรื่องปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่ต้องมีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ป้องกันการเอาเปรียบเกษตรกร ซึ่งได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรและหน่วยที่เกี่ยวข้องดำเนินการควบคุมคุณภาพปัจจัยการผลิตด้าน ปุ๋ย วัตถุอันตรายและพันธุ์พืชให้มีคุณภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเตรียมการเข้าฤดูเพาะปลูกใหม่ของเกษตรกร โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการลงนามในข้อตกลงตามโครงการ "สานพลังประชารัฐเพื่อปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ" ระหว่างภาคราชการ คือ กรมวิชาการเกษตร กรมการข้าว กรมส่งเสริมสหกรณ์ และ ธ.ก.ส. กับภาคเอกชน คือสมาคมผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับปัจจัยการผลิตชนิดต่างๆ 7 สมาคม โดยมีผู้ประกอบ การซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคมต่างๆ ดังกล่าวเข้าร่วมโครงการรวม 238 ราย

          สำหรับปุ๋ย กรมวิชาการเกษตรมีมาตรการดำเนินงาน 6 มาตรการ ได้แก่ มาตรการที่ 1 การควบคุมโดยออกใบอนุญาตและการขึ้นทะเบียน/มาตรการที่ 2 การควบคุมการนำเข้าปัจจัยการผลิตทางการเกษตร/มาตรการที่ 3 การควบคุม การผลิตและการจำหน่ายภายในประเทศ/มาตรการที่ 4 การประชาสัมพันธ์ / มาตรการที่ 5.โครงการร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพ (Q shop) / และมาตรการที่ 6.การปราบปรามผู้ฝ่าฝืนกฎหมายและควบคุมการโฆษณา ด้วยแนวคิดนี้กรมวิชาการเกษตรจึงได้เชิญสมาคมปุ๋ยทั้ง 3 สมาคมเข้ามาหารือเพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหาปุ๋ยปลอมที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็สรุปได้ว่า กรมวิชาการเกษตรและสมาคมปุ๋ยทั้ง 3 สมาคม จะทำงานร่วมกัน โดยที่ภาครัฐจะให้ความช่วยเหลือในเรื่องของการตรวจสอบและดูแลคุณภาพปุ๋ย ส่วนผู้ประกอบการทั้งหมดจะต้องผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานและมีความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม

          นายสมชาย กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ยังได้กระจายแนวคิดไปยังปัจจัยการผลิตชนิดอื่น เช่น เมล็ดพันธุ์ และวัตถุอันตรายทางการเกษตร โดยได้ร่วมหารือกับทุกสมาคมว่าจะมีมาตรการอย่างไรบ้าง เช่น เรื่องมาตรการดูแลคุณภาพต้องรับผิดชอบตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนถึงมือเกษตรกร ซึ่งจะมีการตรวจสอบปัจจัยการผลิตด้วยระบบการดูแลคุณภาพผลผลิต GAP ภายใต้ มาตรฐานสากลของ FAO เป็นมาตรฐาน หลักในการรับรอง ซึ่งมีขั้นตอนดำเนินการตรวจรับรองระบบการผลิต ตรวจสอบผลผลิตโดยการสุ่มตรวจ โดยในปีนี้มีแผนออกสุ่มตรวจผลผลิตจำนวน 8,905 ตัวอย่าง จากแปลงของเกษตรกร เน้นตรวจสอบสารเคมี ตกค้างและจุลินทรีย์ ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ได้มีการสุ่มตัวอย่างผลผลิตจากแปลงเพาะปลูกของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการแล้ว 3,588 ตัวอย่าง พบเพียง 7 ตัวอย่าง ที่มีการปนเปื้อนของสารเคมีเกินมาตรฐาน ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการยกเลิกการรับรองระบบการผลิต GAP ในทันที

          อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่าโดย บทบาทและหน้าที่หลักของกรมวิชาการเกษตร ต้องควบคุมดูแลวัตถุอันตรายทางการเกษตร 3 ด้านสำคัญคือ 1. การนำเข้าสารเคมี หรือวัตถุ อันตรายทางการเกษตรทุกชนิดต้องมีใบอนุญาต ถูกต้อง 2. การนำเข้ามาจะต้องผ่านการวิเคราะห์ตรวจสอบ 3. เมื่อเข้ามาสู่กระบวนการผลิตโดยวัตถุดิบทั้งหมดจะถูกป้อนเข้าสู่โรงงานกรมวิชาการเกษตรจะอบรมผู้ประกอบการให้ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน โดยจะรับรองให้เป็นคิว แฟ็กทอรี่ (Q Factory) ทั้งนี้ใช้เวลา 3 เดือน ในการพัฒนาให้เป็นผู้ผลิตที่ดีมีคุณภาพขึ้นไปเรื่อยๆ เนื่องจากแนวคิดนี้หวังผลระยะยาว

          ทั้งนี้กรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการปล่อยขบวนสารวัตรเกษตร เพื่อหาข้อมูลและตรวจสอบอย่างเข้มงวด ตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2559 ที่ผ่านมา เพื่อรวบรวบข้อมูลจากผลการตรวจสอบเป็นฐานในการแจ้งให้สารวัตรเกษตรเครือข่ายเข้มงวดในการควบคุมโรงงานที่ผลิตสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพ เพื่อประกอบการดำเนินคดี และพักใบอนุญาตหรือปิดโรงงานต่อไป

จาก http://www.matichon.co.th วันที่ 9 มิถุนายน 2559

รายงานพิเศษ : พลิกโฉมวงการเกษตรไทยด้วยแผนพัฒนาฯฉบับ12

การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ความผันผวนทางภาวะเศรษฐกิจโลก กฎ กติกาการค้าใหม่ที่มีมาตรการกีดกันทางการค้าในรูปแบบต่างๆ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงภายในประเทศไทยเอง ไม่ว่าจะเป็นนโยบายของรัฐที่เปลี่ยนแปลงตามการเมือง ปัญหาภัยพิบัติ ความเสื่อมโทรมของทรัพยากร ล้วนส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรทั้งสิ้น

นางสาวจริยา สุทธิไชยา รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า ในวาระที่แผนพัฒนาการเกษตร ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2555 กำลังจะสิ้นสุดในปี 2559 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้วางยุทธศาสตร์แนวทางพัฒนาการเกษตร ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ที่จะเริ่มใช้ตั้งแต่ 2560-2564 ไว้แล้ว โดยปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์และแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ที่ตั้งเป้าให้ภาคเกษตรสู่ความเป็นเลิศ เป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรกรรมยั่งยืน

ฉะนั้นแผนพัฒนาภาคเกษตรฉบับใหม่จะมุ่งเน้นไปที่ความผาสุกของเกษตรกรและชุมชนการเกษตรมีความเข้มแข็งขึ้นเป็นลำดับแรก เนื่องจากเกษตรกรเป็นอนุภาพสำคัญของภาคเกษตร เหมือนกับเป็นอะตอมเล็กๆ ประมาณ 6.7 ล้านครัวเรือน คิดเป็นเกษตรกรไทยทั้งหมดประมาณ 28 ล้านคน เกษตรกรเป็นผู้ขับเคลื่อนการผลิตสินค้าเกษตร จึงเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาภาคเกษตร หากเกษตรกรมีความผาสุกจากการผลิตสินค้าที่ดีมีคุณภาพ ลดต้นทุนการผลิต สร้างรายได้เพิ่มขึ้น ปัญหาหนี้สินลดลง สามารถพึ่งพาตนเองได้ ส่งผลให้ชุมชนเกษตรมีความเข้มแข็งขึ้น นำไปสู่การพัฒนาภาคเกษตรด้านอื่นต่อๆ ไปได้ด้วย

ทั้งนี้ ได้ตั้งเป้าหมายดัชนีความผาสุกของเกษตรกรจะต้องเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ร้อยละ 77 ขยับขึ้นเป็นร้อยละ 85 สถาบันเกษตรกรทำธุรกิจมีรายได้สุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ต่อปีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจภาคเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 ต่อปี โครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตรได้รับการฟื้นฟูใช้ประโยชน์ได้อย่างสมดุลและยั่งยืน

การจะไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ ต้องดำเนินการภายใต้ตามยุทธศาสตร์ทั้ง 4 ด้าน ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ที่ 1 สร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ด้วยการน้อมนำแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาขยายผลให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้ ส่งเสริมการทำเกษตรกรรมยั่งยืน เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรอินทรีย์ สร้างองค์ความรู้ผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.882 ศูนย์) พัฒนาสู่การเป็นเกษตรกรปราดเปรื่อง รวมทั้งสร้างความภาคภูมิใจและความมั่นคงในอาชีพเพื่อดึงเกษตรกรรุ่นใหม่เข้ามาทดแทนแรงงานเกษตรที่ขาดแคลนรวมทั้งแก้ปัญหาสังคมเกษตรผู้สูงวัย

ยุทธศาสตร์ที่ 2 เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการสินค้าเกษตรตลอดโซ่อุปทาน ซึ่งยุทธศาสตร์นี้จะมุ่งเน้นไปที่กลุ่มเกษตรกรที่อยู่ในระดับกลางหรือระดับบนที่มีความสามารถในการผลิตเพื่อการค้าหรือการส่งออก ให้มีการพัฒนากระบวนการผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานรองรับความต้องการของตลาด สามารถเพิ่มผลผลิตต่อหน่วยและเพิ่มมูลค่าสินค้า ส่งเสริมให้ทำการเกษตรแบบ Cluster สร้างเครือข่ายและทำข้อตกลงซื้อขาย Contract Farming เพื่อมุ่งสู่อุตสาหกรรมแปรรูป

ยุทธศาสตร์ที่ 3 เพิ่มความสามารถในการแข่งขันภาคการเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นเรื่องของงานวิจัยพัฒนาการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นวิจัยเชิงทฤษฎี เช่น พันธุ์พืชที่ทนต่อสภาพการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ พืชใช้น้ำน้อย หรือพันธุ์สัตว์ที่ต้านทานต่อโรค การวิจัยพัฒนาอาหารสัตว์ หรือนวัตกรรมเครื่องมือทางการเกษตร เครื่องจักรกลการเกษตรที่เหมาะสม เป็นต้น สำหรับยุทธศาสตร์ที่ 4 การบริหารจัดการทรัพยากรการเกษตรและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืนมุ่งเน้นไปที่การดูแลเรื่องทรัพยากรดินให้มีความอุดมสมบูรณ์เป็นปัจจัยขั้นพื้นฐานในการผลิตทางการเกษตรที่ดีต่อไป ที่สำคัญทรัพยากรน้ำต้องมีการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ชลประทาน พร้อมกับเพิ่มและปรับปรุงแหล่งน้ำขนาดเล็กในไร่นาและแหล่งน้ำชุมชน ควบคู่กับการส่งเสริมการทำเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วย

“การขับเคลื่อนนโยบายหรือทิศทางภาคเกษตรไทย ภายใต้แผนพัฒนาการเกษตร ในช่วงแผนพัฒนาฯฉบับที่ 12 จะเน้นหนักไปที่การสร้างความผาสุกของเกษตรกร ด้วยการเข้าถึงแหล่งข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาระบบการผลิตทางการเกษตรที่เหมาะสมกับพื้นที่และสภาพแวดล้อม พัฒนาเกษตรกรให้มีความรอบรู้ทุกด้านเป็น Smart Farmer อย่างแท้จริง เช่น เปลี่ยนจากเกษตรกรที่เก่งด้านการผลิตอย่างเดียวมาเป็นเกษตรกรนักปรับปรุงพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ หรือเป็นเกษตรกรนักการตลาด ที่รู้ว่าผลิตสินค้ามาแล้วตลาดอยู่ที่ไหน สินค้าอะไรที่ตลาดมีความต้องการ ระบบโลจิสติกส์การขนส่งสินค้าจากฟาร์มไปถึงแหล่งรับซื้อแบบไหนจึงจะประหยัดต้นทุนได้ดีที่สุด เป็นต้น ที่สำคัญคือเกษตรกรต้องมีสังกัด ไม่เป็นเกษตรกรรายเดี่ยวต้องมี

จาก http://www.naewna.com วันที่ 9 มิถุนายน 2559

บาทเปิด 35.10/11 บาทต่อดอลล่าร์ แนวโน้มยังแข็งค่า

เงินบาทเปิดตลาด 35.10/11 บาทต่อดอลล่าร์ แนวโน้มยังแข็งค่าต่อหลังดอลล์อ่อน มองกรอบ 35.05-35.20บาทต่อดอลล่าร์

นักบริหารเงิน เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 35.10/11 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าจากเย็นวานนี้ที่ปิดตลาดที่ระดับ 35.22 บาท/ดอลลาร์

"วันนี้ลุ้นแนวรับแรก 35.05 ถ้าหลุดก็อาจจะได้เห็น Figure ส่วนข้างบนแนวต้านแรก 35.15 บาท แนวต้านถัดไป 35.20 บาท/ดอลลาร์" นักบริหารเงิน กล่าว

นักบริหารเงิน กล่าว่า ดอลลาร์ยังคงลงอย่างต่อเนื่องประเด็นที่ตลาดรอคือการประชุม FOMC สัปดาห์หน้า ซึ่งตลาดค่อนข้างแน่ใจ 100% แล้วว่าไม่น่าจะมีการขึ้น Rate แล้ว ประเมินกรอบวันนี้ 35.05-35.20 บาท/ดอลลาร์

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 9 มิถุนายน 2559

ค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง ตามค่าเงินในภูมิภาค

ผู้สื่อข่าวรายงานค่าเงินบาท ประจำวันที่ 8 มิ.ย. โดยค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ 35.29 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดวานนี้ แต่ล่าสุดค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ที่ 35.23 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐเท่าราคาปิดวานนี้

โดยนักวิเคราะห์ค่าเงินบาท ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งถือว่าเป็นไปตามค่าเงินในภูมิภาค หลังดอลลาร์ยังคงอ่อนค่า หลังสหรัฐไม่มีการส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยในเร็ววันนี้

ส่วนปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ การประกาศตัวเลขส่งออกของจีน หากออกมาปรับตัวลดลง ก็เชื่อว่าจะกดดันความเชื่อในการลงทุนในตลาดเงินเอเชียได้

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 8 มิถุนายน 2559

คลังขีดเส้น30วันสรุปภาษีน้ำตาล 

          คลังขอเวลา 1 เดือนศึกษาข้อดีข้อเสียการ เก็บภาษีจากเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเป็นส่วนผสม ระบุ การจัดเก็บภาษีเป็นหนึ่งแนวทางช่วยลดบริโภค น้ำตาลของคนไทย ขณะที่กำหนดปริมาณน้ำตาลในสูตรอาหาร และเครื่องดื่ม ก็เป็นอีกหนึ่งในแนวทางที่ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเช่นกัน

          นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงกรณีมีข้อเสนอของสภาขับเคลื่อน การปฏิรูปประเทศ (สปท.) ให้เก็บภาษีจากเครื่องดื่ม ที่มีน้ำตาลเป็นส่วนผสมว่า นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาให้แล้วเสร็จใน 1 เดือน โดยได้ตั้งคณะทำงานที่มีกรมสรรพสามิตและภาคเอกชนเข้าร่วมศึกษาเรื่องดังกล่าว

          "ช่วงที่ผ่านมา มีภาคเอกชนได้เข้าหารือและให้ข้อมูลกับผมในเรื่องนี้ โดยภาคเอกชนชี้แจงว่า หน่วยงานรัฐ ได้รับขณะนี้เป็นข้อมูลด้านลบกับอุตสาหกรรมเครื่องดื่มและน้ำตาล ดังนั้นผม จึงสั่งให้ตั้งคณะทำงานร่วมกัน เพื่อหาข้อสรุปเรื่องนี้ โดยให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน"

          การจัดเก็บภาษีเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดการบริโภคน้ำตาล หรือลดการบริโภคความหวานของคนไทย อย่างไรก็ดี ยังมีทางเลือกอื่นๆ ที่ตอบสนองวัตถุประสงค์ของสปท.ที่ต้องการให้คนไทยลดการบริโภคน้ำตาล เพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น อาทิ การกำหนดปริมาณน้ำตาลในสูตรอาหาร หรือ กำหนดปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่ม เป็นต้น โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะต้องเป็นผู้ดำเนินการ ในเรื่องนี้ เท่าที่หารือ ผู้ประกอบการก็พร้อมที่จะปรับสูตรอาหารและเครื่องดื่มเพื่อลดความหวานลง โดยขอเวลาปรับตัว 5 ปี

          "สัปดาห์ที่ผ่านประกอบการหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง บอกว่าข้อมูลที่สปท.ได้รับนั้น เป็นข้อมูลด้านลบ ยังมีวิธีอื่นทำให้คนไทยบริโภคน้ำตาลน้อยลง อาทิ การกำหนดสูตรในอาหารว่าห้ามเกินเท่าไหร่  ซึ่งตามหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ระบุว่าถ้าบริโภคน้ำตาลเกิน 10 กรัมเป็นโทษ หรือเกิน 2 ช้อนชาเป็นโทษ ดังนั้น หากให้ทุกคนลดการบริโภค ควรกำหนดสูตรอาหารและเครื่องดื่มไปเลย แต่ของแบบนี้ อยู่ที่คนว่าจะเลือกบริโภคอย่างไร ถ้ากำหนดไว้ 2 ช้อนชาต่อขวด แต่บางคนดื่มวันละ 10 ขวด ก็ได้รับน้ำตาลเกินกว่าที่กำหนด" นายสมชัย กล่าวว่า

          ขณะนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยังไม่ได้ฟันธงว่า ต้องเก็บภาษีเครื่องดื่มเพิ่ม โดยมอบให้กรมสรรพสามิตไปดูข้อมูลที่มีอยู่นั้นว่า เป็นอย่างไร ถ้าไปดูข้อมูลไปแล้วพบว่าเก็บต้องเก็บ แต่ถ้าข้อมูลบอกว่าไม่ต้องเก็บ ต้องมีทางเลือกอื่น เพราะการลดการบริโภคน้ำตาลด้วยการให้กระทรวง การคลังเก็บภาษีถือว่าง่าย แต่ต้องดูว่าจะเป็นธรรม ด้วยเพราะน้ำตาลไม่ได้ถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม 100% แต่นำมาใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม 12-13% นม 13-14% อาหาร 20-30%

          ดังนั้น หากเก็บภาษีเครื่องดื่มอย่างเดียวคงไม่เป็นธรรม แต่ถ้าจะไปเก็บภาษีจากขนม ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ด้วยคงไม่ได้ เพราะเป็นสินค้าโอท็อป และถ้าเก็บภาษีจากเครื่องดื่ม จะมี ข้อโต้แย้งว่านมที่มีความหวานทำไมไม่เก็บ

จาก http://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 8 มิถุนายน 2559

ธุรกิจพลังงานทดแทนดันเม็ดเงินสะพัด ชี้มูลค่าลงทุนช่วงปี’59-61 แตะ1.1-1.5 แสนล้านบาท

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จัดทำบทวิเคราะห์พลังงานทดแทน โดยประมาณการว่า มูลค่าการลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทนเพื่อการผลิตไฟฟ้าของไทยในช่วงปี 2559-2561 น่าจะอยู่ที่ราว 1.1-1.5 แสนล้านบาท พร้อมคาดว่าจะมีเม็ดเงินสะพัดในธุรกิจพลังงานทดแทนเพื่อการผลิตไฟฟ้าถึง 5.35 แสนล้านบาท โดยเป็นการลงทุนในพลังงานแสงอาทิตย์มากที่สุด รองลงมาคือ พลังงานลม ชีวมวลและขยะ ตามลำดับ

โดยตั้งแต่ครึ่งหลังปี 2559 อาจจะเห็นภาพการลงทุนในกลุ่มพลังงานทดแทนประเภทพลังงานแสงอาทิตย์มากขึ้น ภายหลังจากที่มีการปลดล็อกข้อจำกัดต่างๆ ทำให้โครงการที่ได้รับคัดเลือกสามารถเดินหน้าผลิตไฟฟ้าได้ ส่วนในระยะต่อไป คาดว่า กลุ่มพลังงานขยะและพลังงานลม เป็นกลุ่มที่น่าจับตาว่าจะมีผู้ประกอบการให้ความสนใจเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น เนื่องจากกำลังการผลิตยังอยู่ห่างไกลเป้าหมายที่วางไว้

ความท้าทายและประเด็นที่น่าจับตาสำหรับธุรกิจพลังงานทดแทนในระยะข้างหน้า คือ การอุดหนุนจากภาครัฐในรูปแบบการรับซื้อไฟฟ้าแบบ Feed-in-Tariff (FIT) อาจมีแนวโน้มค่อยๆ ลดลง จุดนี้น่าจะเป็นแรงผลักดันให้ผู้ประกอบการหันมาปรับปรุงกระบวนการผลิต ด้วยการแสวงหาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตให้ได้กระแสไฟฟ้ามากขึ้นกว่าเทคโนโลยีที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน รวมถึงมีการบริหารจัดการฝั่งของต้นทุน เพื่อลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นควบคู่กันไป เพื่อเพิ่ม

 ขีดความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจ

สำหรับแนวโน้มธุรกิจพลังงานทดแทนครึ่งหลังปี 2559 ไปจนถึงปี 2561 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ยังสามารถเติบโตต่อไปได้ ทั้งนี้ อาจจะเห็นภาพการลงทุนในกลุ่มพลังงานทดแทนประเภทพลังงานแสงอาทิตย์มากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังปี 2559 ภายหลังจากที่มีการปลดล็อคข้อจำกัดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความคืบหน้าของโครงการโซลาร์ฟาร์มราชการและสหกรณ์การเกษตร รวมถึงการเปิดเสรีโซลาร์รูฟท็อป ที่เป็นโครงการนำร่องและส่งเสริมให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้า (จำนวน 100 เมกะวัตต์) ซึ่งในส่วนนี้น่าจะเอื้อต่อผู้ประกอบการในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิต-จำหน่าย-ติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์เซลล์ กลุ่มธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงกลุ่มผู้ประกอบการวัสดุก่อสร้าง ที่จะได้ประโยชน์ในเชิงธุรกิจเพิ่มมากขึ้น จากตัวโครงการที่ผ่านการคัดเลือกและพร้อมจะดำเนินการภายในสิ้นปี 2559 คิดเป็นมูลค่าการลงทุนราว 23,000 ล้านบาท

ส่วนในระยะต่อไป คาดว่า กลุ่มพลังงานขยะ เป็นกลุ่มที่น่าจับตาว่าจะมีผู้ประกอบการให้ความสนใจเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น เนื่องจากกำลังการผลิตในปัจจุบันยังอยู่ห่างไกลเป้าหมายที่วางไว้ ประกอบกับปัญหาขยะล้นเมืองที่ภาครัฐต้องการผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติที่ต้องรีบแก้ไข เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ภาครัฐเร่งรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนกลุ่มนี้เพิ่มมากขึ้น สะท้อนจากตัวโครงการพลังงานขยะที่ได้รับการเซ็นสัญญา                    

 จาก http://www.naewna.com วันที่ 8 มิถุนายน 2559

ชสท.พัฒนาการตลาดยุคดิจิตอลเปิดโครงการตลาดสินค้าสหกรณ์ออนไลน์

           ปัจจุบัน การซื้อขายผ่านระบบออนไลน์ในประเทศไทย และประเทศอื่นๆ ทั่วโลก มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดเนื่องจากมีนวัตกรรมในการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ควบคู่กับการพัฒนาระบบอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวกสบายในการมองหาเลือกซื้อสินค้า และราคารวมถึงการชำระเงินและการจัดส่งที่มีประสิทธิภาพ จนกล่าวได้ว่า อีก 5 ปี ธุรกิจที่ไม่ได้ทำการตลาดออนไลน์ จะล่มสลาย

          ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด (ชสท.) ได้ตระหนักถึงเรื่องดังกล่าวว่า จึงได้มีการศึกษาระบบการตลาดแบบออนไลน์ (E-COMMERCE) เพื่อนำมาพัฒนาระบบการตลาดสินค้าสหกรณ์รองรับการให้บริการแก่สหกรณ์สมาชิก และเครือข่ายสหกรณ์ ได้เข้ามาใช้ประโยชน์ร่วมกันในการซื้อขายสินค้าสหกรณ์ โดยได้จัดทำโครงการตลาดสินค้าสหกรณ์ออนไลน์ (E-COMMERCE) ขึ้น ซึ่งได้เปิดตัวโครงการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม2559 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันครบรอบ 64 ปีของการก่อตั้งชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด และเป็นหนึ่งกิจกรรมในการเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปี สหกรณ์ไทย โดยมีดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นประธานเปิด และเป็นผู้ใช้บริการสั่งซื้อสินค้าสหกรณ์ระบบออนไลน์ ผ่าน Application Co-op Click เป็นคนแรก

          ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข กล่าวว่าโครงการตลาดสินค้าสหกรณ์ออนไลน์ (ECOMMERCE) จะเป็นช่องทางหนึ่งทำให้สมาชิก และสหกรณ์การเกษตร ในการจำหน่ายสินค้ามาตรฐานของขบวนการสหกรณ์เพิ่มมากขึ้น เช่น ข้าวสาร กาแฟ ผลิตภัณฑ์แปรรูป ถือเป็นมิติใหม่ของการค้าขายในขบวนการสหกรณ์ไทย ซึ่งตลาดออนไลน์เป็นตลาดที่ทั่วโลกสามารถเข้ามาสั่งซื้อสินค้าผ่าน Application Co-op Click พร้อมมีบริการส่งสินค้า ทั้งนี้ ชุมนุมสหกรณ์แห่งประเทศไทย จำกัด ยังเป็นศูนย์กระจายสินค้าสหกรณ์ ที่มีเครือข่ายทั่วประเทศในการจัดส่งสินค้าให้กับผู้บริโภค รวมทั้งปัจจุบันประชาชน ได้มีการใช้สมาร์ทโฟนอย่างกว้างขวางจะเป็นโอกาสในการใช้สมาร์ทโฟนในการดาวน์โหลด Application Co-op Click เพื่อสามารถเข้าสู่ตลาด E-COMMERCE ของชุมนุมสหกรณ์แห่งประเทศไทย จำกัด

          นอกจากนี้ โครงการตลาดสินค้าสหกรณ์ออนไลน์ (E-COMMERCE) เป็นส่วนหนึ่งในการสนองนโยบายรัฐบาล ที่ต้องการพัฒนาสหกรณ์ให้มีความเข้มแข็ง สร้างธุรกิจสหกรณ์ให้มีความก้าวหน้า และมีการเติบโตมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการสนองนโยบายประชารัฐ โดยการบูรณาการร่วมกันของภาคประชาชน คือ ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด และภาครัฐ คือ กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อีกทั้งในอนาคตจะมีการประสานภาคเอกชน คือ สภาหอการค้าไทย ในการขยายตลาด อาจก้าวไกลเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรที่มีศักยภาพซึ่งรัฐบาล โดยการนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มุ่งหวังให้สหกรณ์เป็นสถาบันที่มีศักยภาพในการพึ่งตนเองและเป็นหน่วยหนึ่งสามารถประกอบธุรกิจด้านการค้าระหว่างประเทศได้ด้วยตนเอง

          อย่างไรก็ตาม Co-op Click เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการเกษตร คือ การใช้ตลาดเป็นตัวนำการผลิต ตามแนวนโยบายรัฐบาลและพลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องการใช้ตลาดเป็นตัวนำพาเรื่องการผลิตให้กับเกษตรกร โดย Co-op Click เป็นทิศทางหนึ่งที่เป็นองค์ประกอบ ทำให้เกษตรกรที่อยู่ในขบวนการสหกรณ์ ได้รับรู้ว่าตลาดของผู้บริโภคต้องการสินค้าประเภทไหน ซึ่งชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัดเป็นตัวกลางที่จะส่งต่อความต้องการไปสู่สถาบันเกษตรกร หรือเกษตรกรทั่วไป ได้ผลิตสินค้าที่เป็นไปตามความต้องการ จะทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคงมากขึ้น รวมทั้งการผลิตสามารถช่วยลดต้นทุน และสามารถสร้างโอกาสในการแข่งขันให้กับสินค้าเกษตร

          ด้าน นายศิริชัย ออสุวรรณ ประธานกรรมการดำเนินการสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัดกล่าวว่า ตลาดสินค้าสหกรณ์ออนไลน์ หรือCo-op Click มีสินค้าหลากหลายมากมาย มีคุณภาพเต็ม 100 % เพื่อให้บริการผู้บริโภคได้สั่งซื้อ โดยจุดเด่นของ Co-op Click  สหกรณ์หรือผู้ผลิต เป็นผู้กำหนดราคาขายเอง ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดโดยผู้บริโภคจะได้รับความเป็นธรรมเรื่องของราคา พร้อมมีการจัดโปรโมชั่นประจำสัปดาห์ในทุกเดือน ทั้งนี้ Application Coop Click สามารถดาวน์โหลดได้ฟรีทั้งระบบAndroid และ IOS เมื่อคลิกเข้าไปพบกับรายการสินค้าต่างๆ ที่มีความหลากหลายในกลุ่มสินค้าหลักของระบบสหกรณ์ และศูนย์กระจายสินค้าสหกรณ์ นอกจากนี้สามารถลิงก์ข้อมูลไปยังเว็บไซต์ต่างๆ ของส่วนราชการ และมหาวิทยาลัย รวมทั้งโครงการต่างๆ ที่รัฐบาลได้จัดทำ ซึ่งApplication Co-op Click จะมีการอำนวยความสะดวกในทุกเรื่อง ทั้งด้านสินค้าและแหล่งท่องเที่ยว เชื่อว่าจะเกิดประโยชน์ทั้งคนไทย และชาวต่างประเทศ เพราะสามารถเปลี่ยนภาษาเพื่อรองรับผู้บริโภคชาวต่างชาติ

จาก http://www.siamrath.co.th วันที่ 8 มิถุนายน 2559

BRR รับซื้อใบอ้อยใช้เป็นเชื้อเพลิงให้แก่โรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล 

          ถือเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นก 3 ตัว สำหรับ BRR เมื่อ 'อนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ' ผู้บริหาร น้ำตาลบุรีรัมย์ จะรับซื้อใบอ้อยที่ถูกทิ้งในไร่จากการจัดเก็บผลผลิต เพื่อนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงให้แก่โรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล เพราะนอกจากชาวไร่มีรายได้จากการขายใบอ้อยให้แก่โรงงานที่ช่วยเพิ่มเงินในกระเป๋าให้แก่เกษตรกรแล้ว ยังช่วยลดปัญหาอ้อยไฟไหม้ในช่วงฤดูการจัดเก็บที่ส่งผลต่อคุณภาพผลผลิตอ้อยและปัญหาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย วิน-วิน กันทุกฝ่ายแบบนี้ ต้องบอกว่าวิสัยทัศน์ผู้บริหารแหลมคมจริงๆ

จาก http://news.thaiquest.com  วันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2559

กรมฝนหลวง-ทอ.จับมือปฏิบัติการยิงพลุสารดูดความชื้น หวังเติมน้ำ “เขื่อนภูมิพล” 

         ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - กรมฝนหลวงและการบินเกษตรจับมือกองทัพอากาศเปิดปฏิบัติการวิจัยพลุสารดูดความชื้นเสริมการปฏิบัติการฝนหลวงเมฆอุ่น ปี 2559 เพื่อช่วยเพิ่มขนาดก้อนเมฆและทำให้เม็ดฝนใหญ่ขึ้น ส่งผลปริมาณฝนตกมากกว่าเดิม เน้นเป้าหมายหลักเติมน้ำเข้า “เขื่อนภูมิพล” และเพิ่มปริมาณน้ำลุ่มน้ำปิง หวังปริมาณน้ำฝนตกตลอดช่วงปฏิบัติการ 3,000 ล้านลูกบาศก์เมตร

                วันนี้ (7 มิ.ย. 59) ที่กองบิน 41 จังหวัดเชียงใหม่ นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร พร้อมด้วย นาวาอากาศเอก ชาตินนท์ สท้านไผท ผู้บังคับการกองบิน 41, นาวาอากาศเอก นพนันท์ เกิดศิริ ผู้อำนวยการกองสนับสนุนการวิจัยยุทโธปกรณ์ กองทัพอากาศ

                นาวาอากาศเอก มนูญ รู้กิจนา รองผู้อำนวยการสำนักยุทธการและการฝึก กรมยุทธการทหารอากาศ กองทัพอากาศ และ ดร.รัชนีวรรณ ตาฬุมาศสวัสดิ์ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีฝนหลวง รวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันประชุมหารือ และทำการเปิดโครงการความร่วมมือระหว่างกรมฝนหลวงและการบินเกษตรกับกองทัพอากาศ “การปฏิบัติการวิจัยพลุสารดูดความชื้นเสริมการปฏิบัติการฝนหลวงเมฆอุ่น ปี 2559”

                โครงการนี้เป็นการร่วมมือกันระหว่างกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับกองทัพอากาศ โดยศูนย์บรรเทาสาธารณภัยและศูนย์วิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการบินและอวกาศจัดทำโครงการวิจัยและพัฒนาพลุสารดูดความชื้นขึ้นเสริมการปฏิบัติการสวนหลวง เพื่อลดปัญหาการใช้สารฝนหลวงชนิดถุงที่ใช้อยู่ในปัจจุบันที่มีความละเอียดมาก และยังคงประสบปัญหาในการเก็บรักษา เนื่องจากมีการจับตัวกันเป็นก้อนได้ง่ายเพราะมีคุณสมบัติที่ไวต่อการดูดความชื้น ทำให้มีความยุ่งยากหรือเสียเวลาในการบดซ้ำก่อนนำขึ้นเครื่องบิน       

        ทั้งนี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตรจึงพยายามหาวิธีปรับปรุงร่วมกับหน่วยงานต่างๆ จนสามารถผลิตพลุสารดูดความชื้นขึ้น โดยใช้หลักการเผาไหม้สารจำพวกเกลือแกง หรือโซเดียมคลอไรด์ เพื่อให้อนุภาคของเกลือที่ถูกเผาไหม้ทำหน้าที่เป็นแกนกลั่นตัวของเม็ดฝน       

        ด้านกรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้ดำเนินการศึกษาค้นคว้าและวิจัยมาตั้งแต่ปี 2547 จนสามารถผลิตต้นแบบของพลุสารดูดความชื้น รวมทั้งออกแบบสร้างอุปกรณ์ติดตั้งและควบคุมการจุดพลุกับเครื่องบิน AU-23A ของกองทัพอากาศได้สำเร็จในปี 2549 และได้เริ่มนำมาทดสอบกับกลุ่มเมฆฝนจริงตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน

                อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตรเปิดเผยว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้ร่วมกับศูนย์วิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการบินและอวกาศ กองทัพอากาศ ในการประดิษฐ์และคิดค้นวิธีการทำพลุสารดูดความชื้นจนสำเร็จจำนวน 2 ชนิด คือ พลุสารแคลเซียมคลอไรด์ และพลุสารโซเดียมคลอไรด์ ใช้ติดตั้งกับเครื่องบิน AU-23A ของกองทัพอากาศ เพื่อปฏิบัติการทดลองการทำฝนหลวงเมฆอุ่น       

        เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มเมฆที่ทำฝนกับเมฆธรรมชาติที่ไม่มีการใช้พลุ พบว่าพลุสารดูดความชื้นทั้ง 2 ชนิดสามารถทำให้เมฆฝนมีขนาดใหญ่ขึ้น และก่อยอดได้สูงขึ้น ส่งผลทำให้เม็ดน้ำมีขนาดใหญ่และเพิ่มจำนวนมากขึ้น ซึ่งมีผลทำให้ปริมาณน้ำฝนเพิ่มมากขึ้นกว่าฝนที่ตกจากธรรมชาติ       

        อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นพลุสารดูดความชื้นทั้ง 2 ชนิดนี้ยังถือว่าอยู่ในช่วงทดลองใช้ร่วมกับสารชนิดผงละเอียดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการปฏิบัติการฝนหลวง       

        สำหรับการปฏิบัติการวิจัยพลุสารดูดความชื้นเสริมการปฏิบัติการฝนหลวงเมฆอุ่น ปี 2559 นั้น นายเลอศักดิ์บอกว่า ปฏิบัติการในช่วงระหว่างวันที่ 1 มิ.ย. 59-31 ส.ค. 59 โดยใช้เครื่องบินฝนหลวงทำการบินโปรยสารฝนหลวง แล้วประยุกต์เสริมด้วยการใช้เครื่องบินของกองทัพอากาศยิงพลุสารแคลเซียมคลอไรด์ และพลุสารโซเดียมคลอไรด์       

        เมื่อปฏิบัติการร่วมกันจะช่วยเสริมประสิทธิภาพ ทำให้ก้อนเมฆฝนใหญ่ขึ้นและมีฝนตกลงมามากขึ้น ทั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อมุ่งเน้นการเติมน้ำลงสู่เขื่อนภูมิพลตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์       

        ขณะนี้ฝนหลวงได้มีการย้ายฐานปฏิบัติการมาตั้งอยู่ที่จังหวัดตากแล้ว พร้อมมีการตั้งหน่วยปฏิบัติการสนับสนุนภารกิจอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเพิ่มปริมาณฝนตกในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำปิงที่ไหลลงเขื่อนภูมิพล ซึ่งการปฏิบัติการจะมีการประเมินสถานการณ์และวางแผนร่วมกันทุกวันตอนเช้า จากข้อมูลสภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถานีเรดาร์ตรวจสภาพอากาศที่อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งตลอดช่วงปฏิบัติการคาดหวังทำให้มีปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมา 3,000 ล้านลูกบาศก์เมตร       

        ขณะที่รองผู้อำนวยการสำนักยุทธการและการฝึก กรมยุทธการทหารอากาศ กองทัพอากาศ กล่าวว่า ทางกองทัพอากาศให้การสนับสนุนการปฏิบัติการของกรมฝนหลวงและการบินเกษตรอย่างเต็มที่ใน 3 ส่วนหลัก ได้แก่ 1. เครื่องบินและเจ้าหน้าที่ 2. สนามบินของกองทัพอากาศทุกแห่ง และ 3. การวิจัย ซึ่งที่ผ่านมามีความร่วมมือกันด้วยดีตลอดมา เพื่อให้การปฏิบัติการฝนหลวงเกิดประสิทธิภาพและได้ผลสำเร็จตามเป้าหมายมากที่สุด

 จาก http://www.manager.co.th   วันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2559

สัมภาษณ์พิเศษ: รื้อโครงสร้างอุตสาหกรรมรับ'ประเทศไทย 4.0'

          หลังจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งให้ทุกกระทรวง ปรับโครงสร้างการทำงาน เพื่อให้ สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล รองรับการ เติบโตของประเทศในอนาคต ในระยะสั้นภายในปี 2560 และระยะยาวภายใน 20 ปี

          นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ระยะสั้นช่วงปี 2559-2560 โดยปรับโครงสร้างการบริหารงานภายในองค์กร ปรับแผนการทำงานทุกกรม และสถาบันเครือข่ายต่างๆภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ คล่องตัวมากขึ้น ตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจสู่"ประเทศไทย 4.0"หรือ "เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม" การทำงานต้องสอดรับกับนโนบายต่างๆ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจ เช่น นโยบายส่งเสริม10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ นโยบายสร้าง ผู้ประกอบการรายใหม่(สตาร์ทอัพ) ทุกหน่วยงานต้องเร่งทำแผนยุทธศาสตร์ภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) ภายใน 1 เดือน

          การปรับโครงสร้างใหม่ของกระทรวงอุตสาหกรรม จะเน้นหน่วยงานที่เป็นแกนหลักในการพัฒนาผู้ประกอบการ

          กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.) เป็น หน่วยงานที่ต้องปรับโครงสร้างมากที่สุด เพื่อรองรับนโยบายรัฐบาล ในการสร้าง ผู้ประกอบการใหม่ และพัฒนาเอสเอ็มอีรายเดิมให้เข้มแข็ง รวมทั้งการพัฒนาผู้ประกอบการ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เน้นการส่งเสริมรายคลัสเตอร์มากขึ้น

          สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เร่งปรับโครงสร้างรองรับการออกมาตรฐานผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ โดยเฉพาะในกลุ่ม New S- curve ที่เป็นอุตสาหกรรมใหม่ยังไม่มีมาตรฐานกำหนด ที่ชัดเจน  สินค้าในกลุ่มนวัตกรรม รวมทั้งการออกมาตรฐานสินค้าต่างๆ เพื่อยกระดับมาตรฐาน การผลิตของประเทศไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ยัง ต้องปรับขั้นตอนการออกมาตรฐานต่างๆ ให้รวดเร็วขึ้นจากเดิมที่ติดขั้นตอนต่างๆ ทำให้ ใช้เวลาหลายปีกว่าจะออกแต่ละมาตรฐานได้ จะปรับลดเวลาให้ไม่เกิน 1 ปี

          "สมอ.ต้องดูว่า กรณีเจ้าหน้าที่ไปตรวจ โรงงานในต่างประเทศ เพื่อรับรองมาตรฐานสินค้าจากต้นทาง ทำให้ต้องใช้เวลานานเพราะมีเจ้าหน้าที่ไม่พอ จึงต้องกำหนดให้ชัดว่า จะโอนถ่ายภารกิจไหนไปให้เอกชนที่เชี่ยวชาญ ดำเนินการ และต้องเพิ่มงานการส่งเสริม หรือ โปรโมชั่นมากขึ้น เพื่อยกระดับเอสเอ็มอีให้ได้มาตรฐาน"นางอรรชกา กล่าว

          กรมโรงงานอุตสาหกรรม ต้องเร่งแก้ กฎหมายที่เป็นอุปสรรคหรือลดขั้นตอนการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการแก้ไขพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ....ที่มีคำนิยาม"โรงงาน"จากเดิม"โรงงาน"คิดที่ 5 แรงม้าขึ้นไป หรือคนงาน 7 คนขึ้นไป ต่อไปต้องคิดที่25 แรงม้าขึ้นไปหรือคนงาน 25 คนขึ้นไปทำให้โรงงานที่เข้าข่ายการกำกับดูแลลดลง เพื่อกรมโรงงานอุตสาหกรรม มีเวลากำกับดูแล โรงงานขนาดใหญ่ และโรงงานที่เข้าข่ายมีปัญหาได้

          ส่วนโรงงานขนาดเล็ก อาจปรับไปอยู่ภายใต้ การกำกับดูแลตามกฎหมายอื่นๆ เช่นกฎหมายของกระทรวงสาธารณสุข หรือโอนย้ายไปอยู่ภายใต้การกำกับดูแลขององค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น (อปท.)

          กรมโรงงานอุตสาหกรรม ควรลดเวลาการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) ให้เร็วขึ้นและมีความคล่องตัว ต้องผ่อนผันให้โรงงานที่ไม่มีกระแสคัดค้านจากชาวบ้านในพื้นที่ สามารถออกใบ ร.ง.4 ได้ก่อน เพื่อให้จัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) ได้เร็วขึ้น สามารถใช้เป็นหลักประกันในการยื่นขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินได้  เพื่อให้เกิดการลงทุนได้เร็วขึ้น  จากนั้นค่อยจัดทำรายละเอียดตามเงื่อนไขใบอนุญาตซึ่งยื่นเพิ่มเติมในภายหลัง  กรมโรงงานอุตสาหกรรมสามารถตรวจสอบอย่างละเอียด อีกครั้ง ก่อนที่จะอนุญาตให้เปิดดำเนินการผลิต

          การต่อใบอนุญาต ต้องกำหนดระยะเวลาให้ชัดเจน และต้องออกตรวจโรงงานสม่ำเสมอโดยเฉพาะโรงงานที่มีความเสี่ยง เพื่อลดผลกระทบ ด้านสิ่งแวดล้อมต่อชุมชน

          กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ต้องกำหนดมาตรฐานที่เข้มข้น ในการออก ไปตรวจสอบ ติดตาม ประเมินผลกระทบในพื้นที่ที่มีการก่อตั้งเหมืองในแต่ละประเภท เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาผลกระทบด้านสุขอนามัยในพื้นที่ซ้ำรอยอดีต  ต้องแก้ไขขั้นตอนการอนุญาตการออก อาชญาบัตรสำรวจแร่ และการออกประทานบัตรเหมืองแร่  ต้องตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมทั้งทางน้ำ และอากาศ ก่อนทำเหมืองว่าคุณภาพสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไร เพื่อจะได้มีค่าตัวเลขอ้างอิงหลังการทำเหมืองแร่ว่า ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่  สร้างความเป็นธรรมให้กับทุกฝ่ายและชุมชนรอบเหมืองแร่

          "เราจะนำประสบการณ์ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น  มาจัดทำระเบียบกฎเกณฑ์ใหม่ๆ ให้รัดกุม เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อง และความขัดแย้งที่เกิดขึ้น  หลังจากแก้ไขกฎเกณฑ์ต่างๆ แล้ว จะ

          นำไปใช้ในเหมืองโปแตชทันที เพราะเป็นโครงการ

          ขนาดใหญ่ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศ

          หากบริหารจัดการไม่ดี อาจจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้" นางอรรชกา กล่าว

          ส่วนของสถาบันเครือข่ายภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม จะต้องปรับโครงสร้างครั้งใหญ่

          เพื่อรองรับนโยบาย 10 อุตสาหกรรม เป้าหมาย ต้องมีหน่วยงานเข้ามากำกับดูแลให้เป็นไป ตามแผน คือ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ อาจจะปรับเป็น"องค์กรมหาชน" เพื่อให้มีอิสระในการทำงาน และขยายขอบข่ายการพัฒนา ผู้ประกอบการ จากเดิมที่มุ่งแต่ภาคการผลิต แต่ต้องเพิ่มผลผลิตของภาคธุรกิจทั้งประเทศ  เพื่อขับเคลื่อนประสิทธิภาพการผลิตในระดับประเทศ ไม่ใช่แค่ระดับกระทรวงอย่างเดียว

          ที่ผ่านมายังมีการทำงานที่ซ้ำซ้อน ขาดการบูรณาการ ขาดความคล่องตัวในการพัฒนาองค์กร ส่งผลต่อการปฏิบัติงานตามนโยบายของกระทรวง

          "สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ต้องเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพิ่มขีดความสามารถเอสเอ็มอี เพื่อยกประสิทธิภาพการผลิตของไทยไปสู่อุตสาหกรรม4.0ต้องเร่งปรับบทบาท โดยเฉพาะการเพิ่มผลผลิตภาคการเกษตร เพราะเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของประชากรส่วนใหญ่ โดยเฉพาะเกษตรแปลงใหญ่ " นางอรรชกา กล่าว

          สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ต้องปรับไปเป็นสถาบันแฟชั่น เพิ่มบทบาทจากเดิมที่มุ่งเน้นแต่อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ไปสู่การเป็นสถาบันแฟชั่นทั้งหมด เช่น เครื่อง นุ่งห่ม รองเท้า กระเป๋า เป็นต้น และปรับบทบาทการทำงานให้ชัดเจน

          'การทำงานต้อง สอดรับกับนโยบายเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนโครงสร้าง'

จาก http://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ธปท.ไม่ตกใจค่าบาทแข็งเร็วอ้างตามกลไกตลาด ยอมรับเห็นเงินไหลจากแบงก์ไปซื้อกองทุน

นางจันทรวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผยว่ากรณีที่ค่าเงินบาทในช่วงเช้าวันที่ 6 มิ.ย.ที่ผ่านมาที่ปรับแข็งค่ารวดเร็ว นั้นยืนยันว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเป็นไปในทิศทางเดียวกับสกุลอื่นๆ ในภูมิภาค โดยค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเป็นอันดับ 3 ของภูมิภาคที่ 0.7% ด้านค่าเงินมาเลเซียแข็งค่าขึ้น 1.02%ส่วนค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้น 2% ซึ่งเป็นผลมาจากค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวอ่อนค่าลง หลังจากที่นักลงทุน และตลาดมีการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด จะเลื่อนปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปที่เดือนกันยายนนี้

“เป็นเรื่องที่ตลาดคาดการณ์เรื่องดอกเบี้ยของเฟดในเดือนกันยายนนี้ จึงทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงมา และเป็นวัฏจักรที่หมุนเวียนแบบนี้ตลอด 6 สัปดาห์ ที่จะประชุมในแต่ละรอบ ส่วนในเรื่องของเงินทุนเคลื่อนย้ายนั้น คงจะยังประเมินว่า เพราะกว่าจะเห็นตัวเลขเงินไหลเข้า หรือออกของนักลงทุนต่างชาตินั้นมันต้องใช้เวลา 2-3 วัน”นางจันทรวรรณ กล่าว

ด้านนางทองอุไร ลิ้มปิติ รองผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน กล่าวว่า ขณะนี้เริ่มเห็นพฤติกรรมถอนเงินฝากไปลงทุนกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน กองทุนอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวม หรือ บลจ. ต่างๆที่เห็นผลตอบแทนดี ส่งผลให้หลายธนาคารเริ่มปรับเปลี่ยนจากผลิตภัณฑ์เงินฝากไปยังผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นๆ ซึ่งหลังจากนี้ธปท.จะมีการออกข้อกำหนดต่างๆ เกี่ยวกับการขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินออกมาให้มีความเข้มข้นมากขึ้นด้วย

“ในส่วนของสภาพคล่องของแบงก์ที่ล้นนั้น ยืนยันว่า ปัจจุบันสภาพคล่องทางการเงินนั้นอยู่ในระดับสูงก็จริง แต่ยังไม่ถึงกับบริหารจัดการไม่ได้ แต่ก็ยอมรับว่า สภาพคล่องที่อยู่ในระดับสูงนั้น เป็นภาระและต้นทุนในการบริหารจัดการของธนาคาร สิ่งที่เกิดขึ้น บางครั้งอาจจะเป็นเพราะเรายังไม่คุ้นเคย อย่างญี่ปุ่น ดอกเบี้ยมันก็ติดลบด้วยซ้ำ แต่เขาก็เลิกฝากเงิน แต่ไปซื้อตู้เซฟแทน ส่วนเรื่องที่สะท้อนว่าถึงเวลาหรือที่ประเทศเราเป็นดอกเบี้ยติดลบ หรือ 0% นั้น ไม่ขอตอบในเรื่องของอัตราดอกเบี้ยแต่อยู่ที่แต่ละธนาคารจะบริหารจัดการมากกว่า”นางทองอุไร กล่าว

นางทองอุไรยังกล่าวถึงการดำเนินงานภายใต้ The New Landscape of Financial Technology ว่า ขณะนี้ธปท.อยู่ระหว่างการหารือกับสมาคมธนาคารไทย เพื่อกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมในการให้บริการ Any ID โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จก่อนเปิดให้ประชาชนเข้ามาลงทะเบียนในวันที่ 16 กรกฎาคมนี้อย่างแน่นอน

“ขณะนี้ยังบอกไม่ได้ว่าจะคิดอัตราเท่าไหร่ แต่เรามีตัวเลขในใจอยู่แล้ว อย่างที่หลายคนกังวลว่า ถ้าซื้ออาหารราคา 30 เสียค่าธรรมเนียม (ค่าฟี) 25 มันจะควรใช้ไหม ยืนยันว่าโจทย์ที่เราให้ไป เรายกตัวอย่าง เช่น อังกฤษ หรือสิงคโปร์ในการใช้ระบบ Any ID ในการซื้อสินค้าเราไม่คิดค่าฟี แต่เราไปคิดกับภาคธุรกิจ เพราะว่าเป็นฝ่ายที่ได้ประโยชน์ แต่ในบางประเทศก็เก็บเหมือนกัน เช่น มาเลเซีย เกาหลี แต่ก็เป็นราคาที่ต่ำมาก”นางทองอุไร กล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ค่าเงินเคลื่อนไหวกรอบแคบ เทรดล่าสุด 35.30 บาทต่อดอลล์

ผู้สื่อข่าวรายงาน ค่าเงินบาทวันที่ 7 มิ.ย. ค่าเงินเปิดตลาดที่ 35.28 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เท่าราคาปิดวานนี้ ขณะที่ซื้อขายล่าสุดที่ 35.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

โดยนักวิเคราะห์ค่าเงินบาท ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ค่าเงินวันนี้เคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ หลังประธานธนาคารกลางสหรัฐ ไม่ได้ออกมาพูดกรอบในการขึ้นดอกเบี้ย ทำให้นักลงทุนคาดการณ์ว่า การขึ้นดอกเบี้ยน่าจะเกิดขึ้นในเดือน ธ.ค. ส่งผลให้การเคลื่อนไหวค่าเงินดอลลาร์ยังคงเคลื่อนไหวอ่อนค่า โดยวันนี้คาดการณ์ค่าเงินเคลื่อนไหวในกรอบ 35.20-35.40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

โดยปัจจัยที่ต้องติดตาม คือการแถลงนโยบายการเงินของประเทศออสเตรเรีย จีน เป็นต้น

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2559

กระทรวงเกษตรฯ แจงคืบหน้า Zoning จัดทำแผนที่เขตความเหมาะสมของที่ดินสำหรับปลูกพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิด ถ่ายทอดความรู้ผ่านศูนย์การเรียนรู้เพื่อพัฒนาการเกษตร กว่า 882 ศูนย์ทั่วประเทศ พร้อมสนับสนุนปัจจัยการผลิตหากเกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชที่เหมาะสม 

          นายสุรพล จารุพงศ์ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากนโยบายของรัฐบาลที่จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (Zoning) ให้เห็นเป็นรูปธรรมในพื้นที่ หน่วยงานต่างๆภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมกันบูรณาการจัดทำแผนปฏิบัติการในการขับเคลื่อนการบริหารพื้นที่เกษตรกรรมทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมพัฒนาที่ดิน ได้ดำเนินการขับเคลื่อนฯ ตามมาตรการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการเตรียมความพร้อมและประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ โดยเฉพาะการสร้างการรับรู้ของเกษตรกรในพื้นที่รอบๆ หรือในตำบลที่ตั้งศูนย์การเรียนรู้เพื่อพัฒนาการเกษตร (ศพก.) จำนวน 882 ศูนย์ซึ่งมีการชี้แจงให้เกษตรกรเห็นความสำคัญของการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม และรู้จักใช้ข้อมูลแผนที่ในพื้นที่ของตนเอง ครบทั้ง 882 ศูนย์ และมีเกษตรกรได้รับการชี้แจงกว่า 180,000 ราย มีการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับความสำคัญ และประโยชน์ของการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรมผ่านทาง Facebook (https://www.facebook.com/agrizoning) วิทยุชุมชน จดหมายข่าว และเว็บไซด์ของหน่วยงาน กว่า 1500 ครั้ง ในส่วนของมาตรการที่สองสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้กำหนดแนวโน้มความต้องการสินค้าเกษตรพืชเศรษฐกิจทั้ง 13 ชนิดที่สำคัญในปี 2559 คือ อ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน ข้าว ยางพารา มะพร้าว กาแฟ สับปะรด เงาะ ทุเรียน ลำไย และมังคุด ทำให้ทราบว่าพืชแต่ละชนิดมีความต้องการใช้ในประเทศปริมาณเท่าใด การส่งออกมีปริมาณมากน้อยเพียงใด

          นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้กรมพัฒนาที่ดิน ได้ดำเนินการจัดทำแผนที่เขตความเหมาะสมของที่ดินสำหรับการผลิตสินค้าเกษตรสำหรับพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิดรายชนิดพืช ในระดับประเทศระดับจังหวัด และระดับอำเภอ และทำการส่งมอบข้อมูลแผนที่ดังกล่าวให้แก่ศูนย์การเรียนรู้เพื่อพัฒนาการเกษตรนำไปใช้เป็นข้อมูลในการขับเคลื่อนและส่งเสริมในระดับพื้นที่ ครบทั้ง 882 ศูนย์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ในส่วนภูมิภาคของหน่วยงานภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการดำเนินการขับเคลื่อนการปฏิบัติ และส่งเสริมในพื้นที่เขตเหมาะสม (S๑ และ S๒) มีการอบรมให้เกษตรกรสามารถดูและใช้แผนที่ความเหมาะสมของที่ดินสำหรับพืชเศรษฐกิจในพื้นที่ของตนเอง ว่ามีความเหมาะสมในระดับใด หรือไม่เหมาะสมกับพืชชนิดใด หากมีความเหมาะสมแล้วจะต้องทำการเพิ่มศักยภาพในการผลิตแบบไหนเพื่อลดต้นทุนในการผลิต หากไม่เหมาะสมจะต้องปรับเปลี่ยนพื้นที่ไปทำการเกษตรด้านอื่น

          นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้เกษตรกรได้ดูงานความสำเร็จของการปลูกพืชในเขตเหมาะสม ผ่านทางศูนย์เรียนรู้ฯ (ศพก.) ที่เป็นต้นแบบที่อยู่ในจังหวัด ซึ่งได้มีการอบรมให้แก่เกษตรกรไปแล้วจำนวน 400 กว่าศูนย์ มีเกษตรเข้ารับการอบรมจำนวนกว่า 90,000 ราย ส่วนการขับเคลื่อนการปฏิบัติและส่งเสริมในพื้นที่ที่ทำการผลิตไม่เหมาะสม (S๓ และ N) หรือ การปรับโครงสร้างการผลิต ได้ดำเนินการประชุม ชี้แจงถึงผลกระทบจากการทำเกษตรกรรมในพื้นที่ไม่เหมาะสม และเสนอทางเลือกการผลิตในรูปแบบต่างๆ ทดแทน ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่นั้นๆ ไปแล้ว จำนวน 231 ศูนย์ มีเกษตรกรเข้าร่วมการชี้แจงกว่า 64,000 ราย มีจำนวนเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ฯ จำนวน 475 ราย ใน 17 จังหวัด รวมทั้งการสนับสนุนปัจจัยการผลิตด้านต่างๆ ให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการปรับเปลี่ยนด้วย ไม่ว่าจะเป็นสระเก็บน้ำในไร่นา วัสดุปรับปรุงดิน เป็นต้น

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2559

บอร์ดกฟก.ผ่านงบ3,000ล้าน ชงเข้า'ครม.'มิ.ย.นี้ช่วยเกษตรกร

          จากที่มีการสรรหาคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรอยู่นาน  เพราะต้องผ่านกระบวนการกลั่นกรองที่เหมาะสมนั้น  บัดนี้ก็ได้คณะกรรมการตาม พ.ร.บ.เพื่อเข้ามาทำหน้าที่แล้ว ซึ่งหลังจากได้คณะกรรมการไม่นาน คณะกรรมการแต่ละคณะก็ต้องเร่งพิจารณาเรื่องด่วนให้เร็วที่สุด ซึ่งขณะนี้ได้มีวาระในการจัดการหนี้ที่ถือว่ารอไม่ได้แล้ว คือประชุมและเห็นชอบขออนุมัติใช้งบกลางเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้เร่งด่วนให้กับเกษตรกรสมาชิก 3,000 ล้านบาท โดยต้องเร่งอนุมัติเพื่อเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีภายในเดือน มิ.ย.59

          นายวัชระพันธุ์  จันทรขจร เลขาธิการสำนักงานกอง ทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร(กฟก.) เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. มอบหมายให้ทีมรัฐมนตรีเศรษฐกิจ พิจารณาเรื่องการกำหนดกรอบงบประมาณให้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้เร่งด่วนให้แก่เกษตรกร  หลังจากนั้นคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 7 พ.ค. 58 รับทราบมติคณะกรรมการรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เรื่อง การกำหนดกรอบงบประมาณให้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้เร่งด่วนให้แก่เกษตรกร ซึ่งขณะนี้ กฟก.มีบอร์ดครบทั้ง 3 คณะ ได้แก่ คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร คณะกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร และคณะกรรมการจัดการหนี้ของเกษตรกรครบถ้วนตาม พ.ร.บ. กฟก. แล้ว

          นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เปิดเผยว่าที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบเสนอคณะรัฐมนตรี ขออนุมัติใช้งบกลางในการแก้ไขปัญหาหนี้เร่งด่วนของเกษตรกร 3,000 ล้านบาท พร้อมทั้งได้ตรวจสอบคุณสมบัติของเกษตรกรสมาชิก วัตถุประสงค์การกู้ยืม สถานะหนี้ มูลหนี้ และหลักประกัน กับสถาบันการเงินเจ้าหนี้เพื่อให้ถูกต้องตามระเบียบ กฎหมาย เพื่อเตรียมการจัดการหนี้ให้เกษตรกร รวม 19,494 ราย เป็นเงิน 3,000 ล้านบาท หลังจากนี้สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร จะเร่งดำเนินการดังกล่าวเสนอ ครม. พิจารณาอนุมัติต่อไป

          นอกจากนี้คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ได้มีมติเห็นชอบรายชื่อเกษตรกรสมาชิกที่ขอขึ้นทะเบียนเกษตรกร กรณีลูกหนี้ ธ.ก.ส.และ สหกรณ์ ระหว่างเดือนมิถุนายน 2557-เดือนมีนาคม 2559 จำนวน 73 จังหวัด จำนวน 9,490 ราย จำนวน 19,440 บัญชี จำนวนเงิน 2,229,899.50 บาท ซึ่งเกษตรกรจำนวนดังกล่าวจะได้รับการจัดการหนี้ตามมาตรา 37/3 (1) และระเบียบประกาศ มติที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเห็นชอบแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปี 2559 ซึ่งจะทำให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณของสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ  ทั้งในด้านการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร  การแก้ไขปัญหาหนี้ของเกษตรกรเป็นไปด้วยความคล่องตัว

          นอกจากนี้ในมติที่ประชุมคณะกรรมการจัดการหนี้ของเกษตรกร ครั้งที่ 10/2557 เรื่องให้เสนอรายชื่อเกษตรกรที่ขอขึ้นทะเบียนเกษตรกร เพื่อเสนอเข้าพิจารณารับรอง เป็น 2 กรณี คือ (1) กรณีที่ส่งรายชื่อเข้าตรวจสอบกับสถาบันเจ้าหนี้ (2) กรณีไม่ส่งรายชื่อเข้าตรวจสอบกับสถาบัน เจ้าหนี้ ได้แก่ สหกรณ์ 4 ประเภท (1.สหกรณ์การเกษตร 2. สหกรณ์ประมง 3. สหกรณ์นิคม 4. สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน) ธ.ก.ส. และ กลุ่มเกษตรกร ตาม พ.ร.บ.สหกรณ์

          ในส่วนของสำนักงานฯ สาขาจังหวัดในฐานะนายทะเบียน ได้รวบรวมข้อมูลเกษตรกรสมาชิก  และได้รับรองการเป็นสมาชิกองค์กรเกษตรกรตามพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่  2) พ.ศ.  2544 ที่ยื่นคำขอขึ้นทะเบียนเกษตรกร ตามประกาศคณะกรรมการจัดการหนี้ของเกษตรกร เรื่องการยื่นคำขอขึ้นทะเบียนเกษตรกร พ.ศ. 2557 ให้อำนาจคณะอนุกรรมการฯ จังหวัดพิจารณาคำขอขึ้นทะเบียนเกษตรกร ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ จังหวัด จำนวน 77 จังหวัด ได้พิจารณาอนุมัติรายชื่อสมาชิกเกษตรกรให้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรเรียบร้อยแล้ว ในการประชุมคณะอนุกรรมการฯ จังหวัดแต่ละครั้ง   และสาขาจังหวัดได้บันทึกข้อมูลของเกษตรกรสมาชิกที่ผ่านการอนุมัติแล้ว ลงในระบบสารสนเทศโดยถูกต้องครบถ้วน.

จาก http://www.dailynews.co.th   วันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ชี้น้ำเขื่อนภูมิพลน้อยสุดรอบ52ปี เผย'บิ๊กฉัตร'นำร่องแก้เขาหัวโล้น

4 มิ.ย. 59 นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนทั่วประเทศ ว่ายังอยู่ในเกณฑ์น้อย โดยเฉพาะเขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำต้นทุนน้อยสุดในรอบ 52 ปี ซึ่งฝนเพิ่งเริ่มตก คาดว่าเข้าฤดูฝนเต็มที่เดือนก.ค. จะมีฝนมาเติมมากขึ้น

"ช่วงนี้ดินแห้ง แม้มีฝนตกเหนือเขื่อนก็ดูดลงดินหมด รอสักพักค่อยๆ ปล่อยลงมาตามลำน้ำธรรมชาติ ต้องใจเย็นๆ ชาวไร่ชาวนาใช้น้ำฝนทำเกษตร  ส่วนเขื่อนภูมิพลลดระบายน้ำเหลือวันละ3ล้านลบ.ม. เพื่อกินใช้และรักษาระบบนิเวศ ตามหลักการทุกเขื่อนเก็บน้ำหน้าฝน  หน้าแล้งปล่อยออกมา"นานธีรภัทรกล่าว

ปลัดกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า เกษตรกรต้องปรับตัวและปรับเปลี่ยนปลูกพืชด้วย ให้เข้ากับสภาพธรรมชาติที่เปลี่ยนไปจากพื้นที่ป่ามีน้อยลง จากปัญหาภูเขาหัวโล้นซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำ ตอนนี้ทุกหน่วยงงาน ระดมความร่วมมือแก้ไขหลายมิติ  ซึ่งพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรฯ มีแนวคิดโครงการโปรยเมล็ดพันธุ์ไม้ ไปพร้อมกับการขึ้นบินทำฝนหลวงในแต่ละเที่ยวบินนำเมล็ดพันธุ์ไปโปรยด้วย โดยรมว.เกษตรฯเห็นว่า ทำให้เมล็ดพันธุ์ไม้เจริญเติบโตได้ผลเร็วเพราะมีความชุ่มชื้นจากฝนลงไปในพื้นที่จะเริ่มเปิดเที่ยวแรก ที่จ.นครสวรรค์ วันที่ 13 มิ.ย. โดย รมว.เกษตรฯ แถลงเปิดโครงการโปรยเมล็ดพันธุ์พืชเพื่อสร้างความชุ่มชื้นและเพิ่มผื้นป่าทั่วประเทศไทยเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ วันจันทร์ ที่ 6 มิ.ย. นี้

จาก http://www.naewna.com วันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ส่งออกส่อติดลบเป็นปีที่4 รับหลายรายถอดใจลดผลิต

สรท.ฟันธงส่งออกไตรมาส 2 ยังอยู่ในแดนลบ2% ถึงขยายตัว 0% รอประเมินคาดการณ์ส่งออกใหม่ จี้รัฐเร่งแอกชันแผนงาน นโยบายให้เป็นรูปธรรม ห่วงเอสเอ็มอีไม่มีตลาดส่งออกเหตุลูกค้าลดลง ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงยังรุมเร้าทั้งค่าเงิน ราคาน้ำมัน เศรษฐกิจโลก ยอมรับหลายเริ่มลดผลิตทั้งเพื่อขายในประเทศและส่งออก

นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) หรือสภาผู้ส่งออกกล่าวว่า การส่งออกในเดือนเมษายน 2559 ที่กลับมาติดลบ 8% โดยมีมูลค่าส่งออกที่ 1.55 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ถือผิดจากที่คาดการณ์ไว้ เพราะเป็นเดือนที่มีการส่งออกน้อยที่สุดในรอบ 6 ปี และเป็นการติดลบต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 17 (ถ้าหักการส่งออกทองและอาวุธออกไป) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มของการค้าและเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว และมีความเสี่ยงว่าจะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ได้ อย่างไรก็ดี เบื้องต้นสรท.ยังคาดการณ์ส่งออกทั้งปีไว้ที่ 0-2% โดยจะประเมินการส่งออกอีกครั้งหลังจบไตรมาส 2

“หากมองในแง่ดี แม้ไตรมาส 2 การส่งออกติดลบ 2% หรือโต 0% แต่เชื่อว่าการส่งออกไตรมาส 3 และ4 การส่งออกจะกลับมาเป็นบวก ซึ่งจะทำให้ทั้งปีการส่งออกขยายตัว 0-2% ซึ่งเป็นเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ แต่จะเป็นไปตามคาดหมายหรือไม่ ต้องดูผลการส่งออกในไตรมาส 2 ก่อน ทั้งนี้คาดว่าเศรษฐกิจในสหรัฐฯจะดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยพื้นฐานในเดือนมิถุนายน นี้ ขณะที่ราคาน้ำมันดิบและสินค้าโภคภัณฑ์ ปรับตัวสูงขึ้น แต่ต้องขึ้นอยู่ มาตรการภาครัฐในด้านโยบายต่างประเทศ การผลักดันการส่งออก และการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน”นายนพพรกล่าว และว่า

หากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัวในเดือนมิถุนายน จากปัจจัยเสี่ยงจะกลายเป็นปัจจัยลบที่มากขึ้น เช่น ปัญหาเศรษฐกิจจีน ปัญหาเศรษฐกิจสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และประเทศอื่นทั่วโลก สงครามการค้าและค่าเงิน ราคาน้ำมันดิบ และสินค้าโภคภัณฑ์ การออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปของอังกฤษ ความขัดแย้งทางการเมืองในหลายภูมิภาคการก่อการร้าย ปัญหาผู้ลี้ภัย ภัยธรรมชาติ และโรคระบาด และหลายประเทศไม่สามารถปฏิรูปเศรษฐกิจ และร่วมมือแก้ไขปัญหาได้อย่างจริงจัง โลกก็จะเข้าสู่ภาวะถดถอยและเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยส่งออกติดลบเป็นปีที่ 4ดังนั้นภาคเอกชนอยากเห็นความคืบหน้าของแผนงานนโยบาย มาตรการต่างๆของหน่วยงานภาครัฐรวมถึงแผนการปฏิบัติ โดยเฉพาะโครงการประชารัฐที่ยังไม่มีความคืบหน้า

ซึ่งสรท.ห่วงใน 3 ประเด็นคือ 1.ขณะนี้ผู้ส่งออกและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกตลอดห่วงโซ่ เริ่มได้รับผลกระทบจากการส่งออกที่ถดถอยต่อเนื่องกันมาหลายปี หลายรายต้องปิดกิจการหรือปลดคนงานออก จึงขอให้ภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือ เช่นเดียวกับภาคเกษตรกร ผู้ที่มีรายได้ต่ำ และผู้ประกอบการเอสเอ็มอี พร้อมเตรียมรับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้น 2.การเตรียมการและการใช้ประโยชน์จากข้อตกลงความร่วมมือทางการค้าและหุ้นส่วนเศรษฐกิจกับนานาประเทศ เช่น AEC RCEP TPP และFTA ไทย-สหภาพยุโรป และ 3.การยกระดับมาตรฐานการบริหารราชการและรัฐวิสาหกิจ การอำนวยความสะดวกทางการค้าและธุรกิจ และธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ให้ได้มาตรฐานสากล ซึ่งต้องการให้ภาครัฐเข้ามาดูแลช่วยเหลือต่อไปเพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศไทย

ด้านนายวัลลภ วิตนากร รองประธาน สรท.กล่าวว่า เอกชนหลายรายได้ลดการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ รวมถึงการส่งออกมากขึ้น เห็นได้จากมีการนำเข้าสินค้าทุนลดลง สาเหตุเพราะเอกชนยังไม่มีความเชื่อมั่นด้านการลงทุน เศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศซึ่งยังไม่เอื้อต่อการค้า การส่งออก

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2559

รมว.อุตสาหกรรมชี้ภัยแล้งไม่กระทบโรงงาน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เร่งดำเนินการ 10 อุตสาหกรรม ขณะภัยแล้ง ไม่กระทบผู้ประกอบการ

ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยกับ สำนักข่าว INN  ว่า 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย กับกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต ที่ร่วมกับ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI อยู่ระหว่างการดำเนินการ ตามนโบายของรัฐบาล ขณะที่ การผลักดันเศรษฐกิจพิเศษ ล่าสุด เมื่อสัปดาห์ก่อนมีการจัดสัมมนาที่ จ.สระแก้ว ซึ่งได้รับผลตอบรับอย่างดีจากนักลงทุน ทั้งนี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ได้กำหนดให้ จ.ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา เป็นระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกด้วย

อย่างไรก็ตาม สำหรับสถานการณ์ภัยแล้ง ในส่วนของอุตสาหกรรม ทางนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มีมาตรการดูแลอย่างดี โดยได้มีการจัดซื้อน้ำจากภาคเอกชน เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ ซึ่งภาพรวมไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง

จาก http://www.innnews.co.th   วันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ไทยได้รับเลือกเป็นฮับด้านการพัฒนาสิ่งแวดล้อมอาเซียน

ไทยได้รับเลือกเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนและสนับสนุนการพัฒนาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมในอาเซียน

พลตรีวีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 2 มิ.ย 2569 – องค์กรความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของเยอรมัน(GIZ)ได้เลือกให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนและสนับสนุนการพัฒนาอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ทั้งนี้ Petra Mutlu ผู้บริหารองค์กรฯกล่าวระหว่างการประชุมว่าประเทศไทยเป็นประเทศแนวหน้าที่เป็นฐานสำคัญในการศึกษาและวิจัยงานด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน จากตำแหน่งที่ตั้งและสภาพแวดล้อมที่เหมาะจะเป็นศูนย์กลางแล้ว

GIZ จึงหวังที่จะให้ไทยเป็นศูนย์กลางขององค์กรในการแลกเปลี่ยน และทดลองงานและรวบรวมองค์ความรู้ด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อนำไปขยายผลใช้ต่อในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

จาก http://www.posttoday.com    วันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2559

"ศิรินารถ ใจมั่น" 3 ผลศึกษารอ กนศ. ตัดสินใจร่วมไม่ร่วม TPP

การประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) นัดแรกที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เดิมกำหนดไว้ในวันที่ 6 มิถุนายนนี้ แต่ต้องเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด หลังถูกสังคมจับจ้องว่าไทยจะตัดสินใจกระโดดร่วมการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) กับสมาชิกเดิม 12 ประเทศหรือไม่ แล้วจะดำเนินการอย่างไรกับปัญหาความไม่ลงตัวหลาย ๆ ประเด็น ทั้งการเปิดตลาดสินค้าเกษตร การเจรจาประเด็นทรัพย์สินทางปัญญา การคุ้มครอง และการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน (ISDS) การเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาด้านพันธุ์พืช (UPOV 1991)

"นางสาวศิรินารถ ใจมั่น" อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ "ประชาชาติธุรกิจ" ยืนยันว่า "นโยบายของไทยมีความสนใจเข้าร่วม แต่ยังต้องใช้เวลาศึกษาผลดี-ผลเสียในช่วงนี้ว่า ภาคส่วนใดได้รับผลกระทบ และรัฐบาลสามารถช่วยลดผลกระทบได้อย่างไรบ้าง ซึ่งรัฐบาลจะตัดสินใจต่อเมื่อประเทศได้ประโยชน์"

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2559

‘กลุ่มมิตรผล’ภาคีเครือข่ายอนาคตไทย

ผลักดันพฤติกรรมไร้หนี้ให้พนักงานในองค์กร “อย่าให้ใครว่าคนมิตรผลฟุ้งเฟ้อ”

กลุ่มมิตรผล หนึ่งในภาคีเครือข่ายอนาคตไทย ร่วมรณรงค์ “อย่าให้ใครว่าคนมิตรผลฟุ้งเฟ้อ” ชูประเด็นปรับทัศนคติและสร้างค่านิยม “ลดความฟุ้งเฟ้อ”หวังแก้ไขปัญหาภาระหนี้ให้แก่พนักงานกลุ่มมิตรผลอย่างเป็นระบบและให้เกิดความยั่งยืน ผ่านโครงการ “ปลอดหนี้ ชีวีมีสุข”เพื่อลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ช่วยเหลือพนักงานให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ตามหลัก “ชีวิตที่พอเพียง”

เครือข่ายอนาคตไทย เป็นการรวมตัวกันของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อร่วมดำเนินกิจกรรมรณรงค์ระดับประเทศThailand Campaign ภายใต้ชื่อ "อย่าให้ใครว่าไทย" มุ่งกระตุ้นให้คนไทยปรับเปลี่ยนทัศนคติลดเลิกพฤติกรรมเชิงลบ (โกง ฟุ้งเฟ้อ มักง่าย ขาดสติ )  โดย 6 องค์กรหลักผู้ริเริ่ม ได้แก่ มูลนิธิมั่นพัฒนา สำนักงานปลัด สำนักนายกรัฐมนตรี กรมประชาสัมพันธ์ สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรและสภาหอการค้าไทย ปัจจุบันมีภาคีเครือข่ายรวม105 องค์กร “กลุ่มมิตรผล” ถือเป็นอีกหนึ่งภาคีเข้มแข็งที่ร่วมขับเคลื่อนภารกิจเครือข่ายอนาคตไทย โดยมีการสร้างแคมเปญรณรงค์สำหรับกลุ่มพนักงานภายในองค์กรโดยใช้ชื่อว่า  “อย่าให้ใครว่าคนมิตรผลฟุ้งเฟ้อ” เพื่อรณรงค์ให้พนักงานมีการใช้จ่ายที่เหมาะสมและลดภาระหนี้สินของพนักงาน

คุณคมกริช นาคะลักษณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานองค์กรสัมพันธ์และบริหารองค์กรเพื่อความยั่งยืน กลุ่มมิตรผล กล่าวถึงที่มาของแคมเปญ “อย่าให้ใครว่าคนมิตรผลฟุ้งเฟ้อ” ว่ามีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่การพิจารณาเข้าร่วมเป็นเครือข่ายอนาคตไทย ด้วยเห็นว่าแคมเปญ “อย่าให้ใครว่าไทย”โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องความฟุ้งเฟ้อ มีความสอดคล้องเป็นอย่างยิ่งกับโครงการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนของกลุ่มมิตรผลที่ดำเนินการอยู่แล้วตามพื้นที่โดยรอบโรงงานน้ำตาลมิตรผลจำนวน 9 ตำบล ใน 7 จังหวัด ได้แก่ เลย ชัยภูมิ สุพรรณบุรี สิงห์บุรี กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด และขอนแก่น เพื่อพัฒนาให้คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีใน 5 ด้าน ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ  สังคม  สิ่งแวดล้อม  สุขภาวะ และคุณธรรม จึงได้เริ่มนำเรื่องลดความฟุ้งเฟ้อเข้ามาขับเคลื่อนอย่างจริงจัง

“เราพบว่าในเชิงเศรษฐกิจของคนในชุมชนกว่า90% ซื้อของกินทุกอย่างจากรถขายของและสินค้าทั้งที่ชาวบ้านเองมีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง แต่ไม่ได้ปลูกพืชผักกินเอง  ทำให้ชาวบ้านมีรายจ่ายมากกว่ารายได้ เราจึงคิดจัดตั้งกลุ่มเพื่อลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นตลอดจนเพิ่มรายได้จากอาชีพเสริม เช่นทำแปลงปลูกผักปลอดสารพิษทำปุ๋ยหมัก น้ำยาอเนกประสงค์ น้ำดื่มชุมชน รวมทั้งให้มีการจัดทำบัญชีครัวเรือน ซึ่งโครงการได้ช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มและลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นไปได้มาก”

ความสำเร็จชุมชนยั่งยืน สู่ แคมเปญ “อย่าให้ใครว่าคนมิตรผลฟุ้งเฟ้อ”

ภายหลังจากโครงการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน เพื่อลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ของชุมชนประสบความสำเร็จด้วยดี ซึ่งเห็นผลอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม อย่างเช่นกรณีความสำเร็จของโครงการพัฒนาชุมชนพื้นที่ตำบลหนองใหญ่ อ.โพนทอง จ.ร้อยเอ็ดที่ได้ลงมือทำเกษตรแบบผสมผสานและหลุมพอเพียง พบว่า สมาชิกครัวเรือนอาสามีรายได้เพิ่มขึ้น 3 หมื่นบาท/ปี/ครัวเรือน  รวมทั้งยังมีพืชผักเพียงพอต่อการบริโภคในครัวเรือนทำให้สมาชิกครัวเรือนอาสาลดค่าใช้จ่ายประจำวันลงได้ถึง10%

นอกจากนั้น พืชผักสวนครัวที่เหลือจากการบริโภคในครัวเรือน ยังสามารถแบ่งไปขายในตลาดนัดสีเขียว ช่วยสร้างรายได้เสริมให้กับชาวบ้าน ช่วยลดหนี้สินลงได้อีกทั้งยังมีการบริหารจัดการโครงการน้ำดื่มชุมชน ยกตัวอย่างเช่น บ้านดอนชาติ ต.หนองใหญ่ ช่วยลดรายจ่ายค่าน้ำดื่มเฉลี่ย244บาท/ครัวเรือน และทำให้สมาชิกครัวเรือนในชุมชนสามารถมีน้ำสะอาดดื่มอย่างเพียงพอเฉลี่ย5 ลิตร/วัน/คน

จากความสำเร็จของโครงการดังกล่าวนี้เอง  ทำให้คณะผู้บริหารหันกลับมาตั้งคำถามถึงปัญหาของคนภายในองค์กรเองที่ก็ต้องการความช่วยเหลือเช่นกัน บริษัทจึงเริ่มจากการสำรวจภาระหนี้สินของพนักงานในเครือทั้งหมดราว  5,000คนพบว่า มีพนักงานถึง 600 คนที่เข้าข่ายมีหนี้สินเกินตัวมีรายได้ไม่พอรายจ่าย เนื่องจากการมีหนี้นอกระบบและหนี้บัตรเครดิตต่างๆ  คิดเป็นมูลค่าหนี้กว่า 200 ล้านบาททีเดียว  ด้วยเหตุนี้บริษัทจึงได้คิดกิจกรรม “ลดฟุ้งเฟ้อ” ผ่านโครงการ “ปลอดหนี้ ชีวีมีสุข” ขับเคลื่อนแคมเปญ“อย่าให้ใครว่าคนมิตรผลฟุ้งเฟ้อ” เพื่อรณรงค์ให้พนักงานมีการใช้จ่ายที่เหมาะสมลดความฟุ้งเฟ้อ ซึ่งปัจจุบันมีพนักงานสมัครใจเข้าร่วมโครงการแล้วประมาณ 200-300 คน กว่า 100 ครัวเรือน

ส่วนวิธีการดำเนินโครงการปลอดหนี้ ชีวิตมีสุข คุณคมกริช กล่าวว่า บริษัทเริ่มจากการปรับทัศนคติให้ความรู้เรื่องการจัดการหนี้ก่อนเช่น การปลูกฝังความคิดเรื่องปลอดหนี้ชีวีมีสุข  การบรรยายกลุ่มย่อยเรื่องชีวิตพอเพียง  ส่วนการบริหารจัดการหนี้ มีการจัดที่ปรึกษาบริหารจัดการหนี้ อย่าง “โจ-มณฑานี ตันติสุข” ผู้ประกาศข่าวมากความสามารถ ที่ในอดีตมีปัญหาหนี้สินมากมายจากคนเกือบล้มละลาย ก้าวสู่แท่นผู้รู้หรือ “กูรู” ทางการเงินมาสร้างแรงบันดาลใจ และความเข้าใจในแนวทางการพิชิตหนี้ให้แก่พนักงานทั้งกลุ่มวิกฤติและไม่วิกฤติ

จากนั้นจึงมา “พัฒนาคุณภาพชีวิต” พนักงานให้ดีขึ้นตามหลักการชีวิตที่พอเพียง  โดยเน้น “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้”  เช่น การลดรายจ่ายด้วยการจัดทำบัญชีครัวเรือน  ส่งเสริมการออม  ส่วนช่องทางเพิ่มรายได้ให้แก่พนักงานและครอบครัว เช่น ทำแปลงเกษตรปลูกผักปลอดสารพิษในพื้นที่โรงงานการฝึกอาชีพ  ตั้งชมรมแม่บ้าน  จัดให้มีตลาดผลิตภัณฑ์ชุมชน เป็นต้น

ทั้งนี้ บริษัทยังได้มีการจัดตั้งกองทุนจากเงินรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายในการจำหน่ายน้ำมันจากปั้มน้ำมันที่บริษัทได้จัดไว้ให้สำหรับรถขนอ้อยในแต่ละโรงงาน เพื่อใช้เป็นงบประมาณในกิจกรรมของโครงการ รวมถึงปรับปรุงคุณภาพชีวิตของพนักงาน  และปรับปรุงสภาพแวดล้อม มุมพักผ่อน โรงอาหาร บ้านพักพนักงาน ระบบสาธารณูปโภคต่างๆ

“เราเริ่มโครงการปลอดหนี้ชีวีมีสุข กับพนักงานที่สมัครใจเข้ามาหาเรา  มีความกล้าเปิดเผยหนี้สิน และพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางการเงินของตัวเองและครอบครัว ตลอดจนการเข้าโปรแกรมสัญญาและสาบาน เพื่อปลดหนี้สินของครอบครัว และหาช่องทางสร้างรายได้เสริม”

คุณคมกริช นาคะลักษณ์ ยังกล่าวถึงเป้าหมายของโครงการว่า  ณ ปัจจุบันในส่วนของพนักงานภายในองค์กรที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการได้มีการปลดหนี้ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายแล้วจำนวนหนึ่ง ซึ่งจะต้องเดินหน้าต่อไปให้ครอบคลุมทั่วถึง และสำหรับชุมชนรอบโรงงานของเรา เราต้องการขยายผลจาก 9 ตำบลให้เพิ่มเป็น 24 ตำบล เพื่อให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยมีรายได้เสริมเพิ่มมากขึ้น  ขณะเดียวกันก็ต้องลดรายจ่ายลงโดยกลุ่มบริษัทจะเน้นให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการได้ด้วยตนเอง ด้วยการสนับสนุนให้แต่ละชุมชนจัดตั้งคณะกรรมการชุมชนขึ้นมา เพื่อขับเคลื่อนชุมชนให้อยู่ได้อย่างยั่งยืน

“ผมเชื่อว่าการลดความฟุ้งเฟ้อ เป็นการเปลี่ยนวิธีคิดและวิถีชีวิตของคนเรา จึงต้องแก้ไขกันที่ตัวเราทุกคนก่อน ไม่ต้องรอใครด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายใหม่ ไม่ฟุ่มเฟือย และหารายได้เสริม”

สุดท้าย คุณคมกริช อยากเชิญชวนองค์กรต่างๆให้เข้ามาร่วมเครือข่าย ว่า แคมเปญอย่าให้ใครว่าไทย เป็นการเตือนสติ  สร้างจิตสำนึกว่าสังคมจะดีได้ต้องเริ่มที่ตัวเองก่อน  ถ้าอยากเห็นบ้านเมืองดีขึ้น  ก็ไม่ต้องรอใคร แต่ให้ลุกขึ้นมาลงมือทำเลย หรือเข้ามาเป็นเครือข่ายร่วมกับ 105 องค์กรได้ เพื่อมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน และเป็นแรงบันดาลใจให้แก่คนอื่นต่อไป

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2559

เดินหน้าลุยร้านปัจจัยผลิตไร้คุณภาพ เกษตรฯถกภาคเอกชนวางมาตรการแก้ปุ๋ยปลอม

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการควบคุมคุณภาพปัจจัยการผลิตด้านปุ๋ย วัตถุอันตราย และพันธุ์พืชให้มีคุณภาพ ในช่วงเตรียมการเข้าฤดูเพาะปลูกใหม่ของเกษตรกร

สำหรับการควบคุมคุณภาพด้านปุ๋ย กรมวิชาการเกษตร มี 6 มาตรการดำเนินงาน ได้แก่ 1.การควบคุมโดยออกใบอนุญาตและขึ้นทะเบียน 2.การควบคุมการนำเข้าปัจจัยการผลิต 3.การควบคุมการผลิตและจำหน่ายภายในประเทศ 4.การประชาสัมพันธ์ 5.โครงการร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพ (Q shop) 6.การปราบปรามผู้ฝ่าฝืนกฎหมายและควบคุมการโฆษณา พร้อมกับเชิญสมาคมปุ๋ย 3 สมาคม มาหารือแนวทางแก้ปัญหาปุ๋ยปลอม ซึ่งได้ข้อสรุปว่า กรมวิชาการเกษตรและสมาคมปุ๋ยทั้ง 3 แห่งจะทำงานร่วมกัน โดยภาครัฐจะให้ความช่วยเหลือเรื่องการตรวจสอบและดูแลคุณภาพ ส่วนผู้ประกอบการต้องผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานและมีความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม

นอกจากนี้ ยังได้กระจายแนวคิดไปยังปัจจัยการผลิตชนิดอื่น เช่น เมล็ดพันธุ์ และวัตถุอันตรายทางการเกษตร โดยได้หารือกับทุกสมาคมว่าจะมีมาตรการอย่างไรบ้าง เช่น เรื่องการดูแลคุณภาพต้องรับผิดชอบตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนถึงมือเกษตรกร ซึ่งจะมีการตรวจสอบปัจจัยการผลิตด้วยระบบการดูแลคุณภาพผลผลิต GAP ภายใต้มาตรฐานสากลของ FAO เป็นมาตรฐานหลักในการรับรอง โดยในปีนี้มีแผนออกสุ่มตรวจผลผลิต 8,905 ตัวอย่างจากแปลงของเกษตรกร เน้นตรวจสอบสารเคมีตกค้างและจุลินทรีย์ ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาได้สุ่มตัวอย่างแล้ว 3,588 ตัวอย่าง พบเพียง 7 ตัวอย่าง ที่มีการปนเปื้อนของสารเคมีเกินมาตรฐาน จึงสั่งยกเลิกการรับรองระบบการผลิต GAP ในทันที

นายสมชายกล่าวต่อว่า กรมวิชาการเกษตร ต้องควบคุมดูแลวัตถุอันตรายทางการเกษตร 3 ด้านสำคัญคือ 1.การนำเข้าสารเคมีหรือวัตถุอันตรายทางการเกษตรทุกชนิดต้องมีใบอนุญาตถูกต้อง 2.การนำเข้าจะต้องผ่านการวิเคราะห์ตรวจสอบ 3.เมื่อเข้าสู่กระบวนการผลิตโดยวัตถุดิบทั้งหมดจะถูกป้อนเข้าสู่โรงงาน กรมวิชาการเกษตรจะอบรมผู้ประกอบการให้ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน โดยรับรองเป็น “คิว แฟ็กทอรี่” (Q Factory) ทั้งนี้ใช้เวลา 3 เดือน ในการพัฒนาให้เป็นผู้ผลิตที่ดีมีคุณภาพขึ้นไปเรื่อยๆ เนื่องจากแนวคิดนี้หวังผลระยะยาว

ทั้งนี้กรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการปล่อยขบวนสารวัตรเกษตร เพื่อหาข้อมูลและตรวจสอบอย่างเข้มงวด ตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2559 ที่ผ่านมา เพื่อรวบรวบข้อมูลจากผลการตรวจสอบเป็นฐานในการแจ้งให้สารวัตรเกษตรเครือข่ายเข้มงวดในการควบคุมโรงงานที่ผลิตสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพ เพื่อประกอบการดำเนินคดี และพักใบอนุญาตหรือปิดโรงงานต่อไป

จาก http://www.naewna.com วันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2559

สศก.ส่งทีมสำรวจ โครงการขุดบ่อจิ๋ว เกษตรกรรายได้ดี

นางสาวจริยา สุทธิไชยา รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สศก.ได้ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินโครงการแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน “บ่อจิ๋ว” เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในพื้นที่ทำการเกษตรนอกเขตชลประทานและพื้นที่ที่ระบบส่งน้ำไปไม่ถึง เป็นการบรรเทาปัญหาภัยแล้ง เพิ่มผลผลิตและรายได้ให้แก่เกษตรกร โดยขุดสระเก็บน้ำประจำไร่นาขนาด 1,260 ลบ.ม. แต่เกษตรกรร่วมออกค่าใช้จ่าย 2,500 บาท/บ่อ

จากการลงพื้นที่ติดตามผล หลังมีการขุดสระน้ำตั้งแต่ปีงบประมาณ 2555-2557 ไปแล้ว 159,631 บ่อ พบว่าแหล่งน้ำที่ขุดไว้ ปัจจุบันมีที่คงสภาพสามารถเก็บน้ำได้ตลอดทั้งปีร้อยละ 73 ส่วนที่เหลือร้อยละ 27 กักเก็บน้ำได้ในบางฤดูเกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์ในการเกษตร ได้แก่ เลี้ยงต้นกล้าในระยะฝนทิ้งช่วง ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น ปลูกผักตามขอบสระ ปลูกพืชไร่ รวมทั้งเลี้ยงปลาในสระไว้เพื่อบริโภคในครัวเรือน ทั้งนี้ บ่อจิ๋วยังส่งผลให้เกษตรกรมีผลผลิตทางการเกษตรต่อไร่เพิ่มขึ้น เช่น ข้าว เพิ่มขึ้น 50 กิโลกรัม มันสำปะหลังเพิ่มขึ้น 567 กิโลกรัม กล้วยเพิ่มขึ้น 328 กิโลกรัม พืชผักเพิ่มขึ้น 304 กิโลกรัม และปลาเพิ่มขึ้น 291 กิโลกรัม ทำให้มีรายได้ทางการเกษตรเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5,113 บาทต่อครัวเรือนต่อปี

จาก http://www.naewna.com วันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ปลูกอ้อยด้วยเครื่องปลูกอ้อยแบบไม่ไถพรวน

เครื่องปลูกอ้อยแบบไม่ไถพรวน เป็นผลงานการคิดค้นของ ดร.อิศรา เซาระกำและนายอเนก สุขเจริญ  ฝ่ายเครื่องจักรกลการเกษตรแห่งชาติ มหวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน   โทร 034-351397

ทั้งนี้ ดร.อิศราบอกว่า  ในกระบวนการเพาะปลูกอ้อยในปัจจุบันของไทยเราซึ่งส่วนใหญ่จะอาศัยกระบวนการเตรียมดินเพื่อใช้ในการเพาะปลูกมาเป็นระยะเวลาอันยาวนานหลายสิบปี มีผลทำให้คุณสมบัติต่างๆของดินนั้นเสื่อมสภาพลง เช่น ความอุดมสมบูรณ์ ความชื้น แร่ธาตุต่างๆ รวมถึงสิ่งแวดล้อมในดินด้วย

กระบวนการเพาะปลูกอ้อยที่ใช้กันมา ยังสูญเสียพลังงานจำนวนมาก ซึ่งหมายถึงต้นทุนค่าใช้จ่ายของเกษตรกรที่ค่อนข้างสูง ประกอบกับการขาดแคลนแรงงานของภาคเกษตรในทุกวันนี้ มีผลทำให้กระบวนการผลิตอ้อยเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมมีความยุ่งยากและลำบากเพิ่มมากขึ้น

จาก http://www.khaosod.co.th วันที่ 5 มิถุนายน 2559

กรมชลฯเปิดแผนพัฒนาระบบชลประทานในไร่นา

กรมชลฯเปิดแผนพัฒนาระบบชลประทานในไร่นาปี 59 วางเป้าจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม พร้อมจัดรูปที่ดินคลุมพื้นที่กว่า 95,000 ไร่ กระจายน้ำสู่แหล่งเพาะปลูกทั่วถึงตามนโยบาย ก.เกษตรฯ

 นายสิริวิชญ กลิ่นภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง กรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปี 2559 นี้ กรมชลประทานได้มอบหมายให้สำนักงานจัดรูปที่ดินกลางเร่งขับเคลื่อนและพัฒนางานจัดรูปที่ดินตามพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2558 โดยเบื้องต้นมีเป้าหมายพัฒนาพื้นที่ระบบชลประทานในไร่นา รวม 95,293 ไร่ แยกเป็น การพัฒนาจัดรูปที่ดิน จำนวน 8,060 ไร่ และพัฒนาเป็นงานจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม จำนวน 87,233 ไร่ คาดว่า จะสามารถกระจายน้ำไปสู่แหล่งเพาะปลูกได้อย่างทั่วถึง นอกจากนั้น ยังเตรียมแผนดำเนินการศึกษาแผนงานก่อสร้างใหม่ขอบเขตพื้นที่ที่มีประสิทธิภาพ ประมาณ 40 ล้านไร่ ที่มีความเหมาะสมที่จะพัฒนาระบบชลประทานในไร่นาได้

 ปัจจุบันสำนักงานจัดรูปที่ดินกลางอยู่ระหว่างเร่งจัดทำแผนแม่บทการจัดรูปที่ดิน ตามพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินฯซึ่งเป็นกฎหมายใหม่ โดยดึงเกษตรกร เจ้าของที่ดิน และชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม มีเป้าหมายพัฒนาพื้นที่การเกษตรทั้งในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทานให้มีระบบแพร่กระจายน้ำในไร่นาอย่างทั่วถึง ทั้งในรูปแบบการจัดระบบน้ำและการจัดรูปที่ดิน ซึ่งแผนแม่บทแบ่งเป็น 4 ระยะ คือ 1.ระยะเร่งด่วน (ปี 2560) 2.แผนระยะสั้น (ปี 2561-2564) 3.แผนระยะกลาง (ปี 2565-2569) และ4.แผนระยะยาว (ปี 2570-2579) เพื่อพัฒนาและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับนานาประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

สำหรับงานจัดรูปที่ดินนั้น กรมชลประทานมุ่งพัฒนาที่ดินที่ใช้เพื่อเกษตรกรรมให้สมบูรณ์ทั่วถึงทุกแปลง โดยทำการรวบรวมที่ดินหลายแปลงในบริเวณเดียวกัน เพื่อวางผังจัดรูปที่ดินใหม่ พร้อมจัดระบบชลประทาน จัดสร้างถนนหรือทางลำเลียงในไร่นา มีการปรับระดับพื้นที่ดิน ปรับปรุงบำรุงดิน ขณะเดียวกันส่งเสริมการวางแผนการผลิตและการจำหน่ายผลผลิตการเกษตร รวมถึงการแลกเปลี่ยน การโอน การรับโอนสิทธิในที่ดิน การให้เช่าซื้อที่ดิน และอื่นที่เกี่ยวข้องกับการจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมด้วย

“ส่วนการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม ได้มีเป้าหมายจัดระบบชลประทานจากทางน้ำชลประทานหรือแหล่งน้ำอื่นๆ นำไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่การเกษตรอย่างทั่วถึง มีทั้งการสร้างระบบส่งน้ำแบบคูส่งน้ำรูปสี่เหลี่ยมคางหมู ระบบส่งน้ำแบบ U-Shape และระบบส่งน้ำแบบท่อ เพื่อกระจายน้ำไปหล่อเลี้ยงพื้นที่เพาะปลูก ทำให้เกษตรกรมีน้ำใช้อย่างพอเพียงและเหมาะสมกับการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นนาข้าว อ้อย ปาล์มน้ำมัน สับปะรด มะม่วง และยางพารา เป็นต้น สามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลผลิตให้กับเกษตรกรตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขณะเดียวกันยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ ทำให้เกษตรกรมีโอกาสผลิตสินค้าเกษตรป้อนเข้าสู่ตลาดเพิ่มมากขึ้น และมีรายได้สูงขึ้น อันจะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นด้วย” ผอ.สำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง กล่าว

จาก http://www.siamrath.co.th  วันที่ 5 มิถุนายน 2559

กระทรวงเกษตรสางหนี้แล้ว 9.4 พันล้าน ‘ธีรภัทร’จี้ทุกกรมเร่งดันงานด่วน

ก.เกษตร เดินหน้าสางหนี้นอกระบบคืบ ฟุ้งเจรจาประนอมหนี้สำเร็จแล้ว 5.21 หมื่นราย มูลหนี้ กว่า 9.48 พันล้าน จากผู้ที่ยื่นคำร้องมาทั้งสิ้น 8.56 หมื่นราย ยอมรับเจรจาไม่สำเร็จกว่า 3 หมื่นราย ด้านปลัดเกษตรเข้มสั่งทางไลน์กระตุ้นถึงอธิบดีทุกรมในสังกัด โหมโรงเร่งคลอดแผนคิกออฟอุ้มเกษตรกรทั่วประเทศ ต้องให้เสร็จภายในสิ้นเดือน มิ.ย.นี้

แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.)เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร (หนี้นอกระบบ) ตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 9 สิงหาคม 2558 ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับ กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาแนวทางการให้ความช่วยเหลือ ประชาชนผู้มีรายได้น้อยและมอบให้กระทรวงเกษตรฯดำเนินการ โดยใช้กลไกกองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจน ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรฯ

ความคืบหน้าล่าสุดมีเกษตรกรได้ยื่นคำร้องมาแล้วทั้งสิ้น 8.56 หมื่น ราย มูลหนี้รวม 1.54 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ทางกระทรวงได้ ดำเนินการไกล่เกลี่ยจำนวน 8.26 หมื่นราย มูลหนี้ 1.51 หมื่นล้านบาท เจรจาสำเร็จ จำนวน 5.21 หมื่นราย ราย มูลหนี้ 9.48 พันล้านบาท เจรจาไม่สำเร็จประมาณ 3 หมื่นราย มูลหนี้ 5.62 พันล้านบาท ส่วนการปลดเปลื้องหนี้สิน จำนวน 1.32 หมื่นราย มูลหนี้ 1.72 พันล้านบาท จำแนกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ 1. ส่งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ (ธ.ก.ส.) พิจารณา จำนวน 8.53 พันราย มูลหนี้ 1.1 พันล้านบาท อีกด้านหนึ่งให้คณะอนุกรรมการช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจน(อชก.) ส่วนกลาง ได้มีมติอนุมัติเงินกู้จากกองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจนเพื่อให้กู้เกษตรกรกู้จำนวน 4.67 พันราย มูลหนี้กว่า 600 ล้านบาทเพื่อแก้ไขจัดการหนี้ต่อไป

แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยอีกว่า เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคมที่ผ่านมานายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการสั่งงานผ่านแอพพลิเคชันไลน์ ถึงอธิบดีทุกกรมในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ เพื่อให้เร่งรัดการดำเนินงานตามแผนเร่งด่วนที่ต้องแล้วเสร็จภายในวันที่ 30 มิถุนายนนี้ โดยมีนโยบายสำคัญๆ อาทิ ให้กรมส่งเสริมการเกษตร เร่งรัดดำเนินการจัดทำแผนการสนับสนุนปัจจัยการผลิตช่วงต้นฤดูการเพาะปลูกรายอำเภอ และจะต้องมีแผนเปิดตัวเพื่อให้บริการคำแนะนำเกษตรกร รวมทั้งแผนการเปิดตัวโครงการเกษตรแปลงใหญ่ด้วย ส่วนกรมการข้าว จะต้องบูรณาการกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร รวมถึงการจัดงานวันข้าวและชาวนาแห่งชาติ ระหว่างวันที่ 3-5 มิถุนายนนี้

ขณะที่ กรมพัฒนาที่ดินและกรมชลประทาน จะต้องเร่งรัดส่งแผนที่และคู่มือ Agri-Map ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ประสานกรมปศุสัตว์ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กรมการข้าว กรมพัฒนาที่ดิน กรมหม่อนไหม เพื่อส่งมอบต่อให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) และกรมส่งเสริมสหกรณ์เร่งรัดดำเนินการนำร่องตามแผนปรับโครงสร้างการผลิตตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก Agri-Map พร้อมสั่งให้กรมปศุสัตว์เตรียมเปิดตัวโครงการนำร่องปรับโครงสร้างการผลิตเปลี่ยนจากพืชเกษตรเป็นการเลี้ยงสัตว์ นอกจากนี้ยังเร่งรัดให้จัดทำรายงานเสนอ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องข้อมูลที่ดิน ส.ป.ก. ทั่วประเทศแปลงใหญ่ที่ถูกบุกรุกที่จะใช้อำนาจตามมาตรา 44 ยึดกลับคืนมา

“ยังมีเรื่องสำคัญ ๆ อีกหลายเรื่องที่เร่งรัด เช่น การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ให้เร่งจัดทำแผนการบริหารจัดการยางพาราครบวงจรเพื่อเตรียมการเปิดฤดูกรีดยางใหม่ และให้กรมวิชาการเกษตร โอนทรัพย์สินและครุภัณฑ์ระหว่างกรมวิชาการเกษตรกับ กยท.ให้เรียบร้อย ส่วนกรมประมงเร่งรัดดำเนินการตามแผนการแก้ไขปัญหาการประมงผิดกฎหมาย เป็นต้น”

จาก http://www.thansettakij.com วันที่ 5 มิถุนายน 2559

เอกชนจี้รัฐหนุนใช้เอทานอล ดันยอดแก๊สโซฮอล์อี20พุ่ง

สมาคมเอทานอลจี้รัฐเร่งทำความเข้าใจรถยนต์ใช้แก๊สโซฮอล์อี20 หวังดันยอดใช้เอทานอลเพิ่มจากปัจจุบัน 3.5 ล้านลิตรต่อวัน เผยปีนี้โรงงานเอทานอลจากมันสำปะหลังจะเข้าระบบอีก 1 ล้านลิตรต่อวัน หวั่นปริมาณล้นตลาดกดราคาขายต่ำลงอีก ปัจจุบันอยู่ที่ 22 บาทต่อลิตร ฟากนักวิชาการเสนอเปลี่ยนสูตรเอทานอล อิงราคานำเข้าบวกพรีเมียมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

นายอุกฤษฎ์ อัษฎาธร กรรมการผู้จัดการกลุ่มบริษัท น้ำตาลไทยรุ่งเรืองฯ ในฐานะนายกสมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัจจุบันมีรถยนต์ที่สามารถใช้แก๊สโซฮอล์อี20 เพิ่มขึ้นจำนวนมากคิดเป็นประมาณ 50-60% ของรถยนต์ทั้งหมด แต่พบว่ารถยนต์กลุ่มนี้ใช้แก๊สโซฮอล์อี20 เพียง 10-20% ของจำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ใช้แก๊สโซฮอล์อี20ได้ เท่านั้น ดังนั้นต้องการให้ทางกระทรวงพลังงานเร่งหามาตรการเพื่อทำความเข้าใจกับผู้บริโภคหันมาใช้แก๊สโซฮอล์อี20 เพิ่มขึ้น ซึ่งวิธีการติดสติกเกอร์ชนิดน้ำมันที่รถยนต์ก็จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นกับผู้บริโภคมากขึ้น

ขณะที่ยอดใช้เอทานอลปัจจุบันทรงตัวอยู่ที่ 3.5 ล้านลิตรต่อวัน เทียบกับกำลังการผลิตเต็มกำลัง รวมอยู่ที่ 4 ล้านลิตรต่อวัน และในปีนี้คาดว่าจะมีโรงงานเอทานอลจากมันสำปะหลังเข้าระบบอีก 4-5 แห่ง กำลังการผลิตรวมประมาณ 1 ล้านลิตรต่อวัน โดยมี 1 โรงงาน กำลังผลิต 3 แสนลิตรต่อวันที่ก่อสร้างเสร็จแล้วและเตรียมผลิตเอทานอลเข้าระบบแล้ว ส่วนที่เหลือจะ

สำหรับราคาขายเอทานอล ทางกระทรวงพลังงานได้ปรับสูตรอ้างอิงราคาเอทานอลเพื่อสะท้อนต้นทุนมากขึ้น ปัจจุบันอยู่ที่ 23 บาทต่อลิตร แต่ราคาขายเอทานอลจริงอยู่ที่ 22 บาทต่อลิตร เนื่องจากตลาดยังเป็นของผู้ซื้อ จากปริมาณการผลิตที่ล้นเกินความต้องการ ดังนั้นสูตรอ้างอิงที่กำหนดออกมา ไม่สามารถนำมาใช้ได้ แต่เป็นเพียงเพดานควบคุมไม่ให้สูงจากราคาอ้างอิงเท่านั้น จึงทำให้เอทานอลมีราคาต่ำลงมาจากการกดราคาของผู้ซื้อ

ส่วนยอดใช้แก๊สโซฮอล์อี 85 ที่ลดลง ปัจจุบันไม่ถึง 1 ล้านลิตรต่อวัน เป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่อ่อนตัวลง แต่ทางสมาคมไม่กังวลสำหรับยอดใช้ในส่วนนี้ เนื่องจากยอดใช้แก๊สโซฮอล์อี85 ในช่วงที่ผ่านมาไม่ได้สูงมากนัก เมื่อเทียบกับแก๊สโซฮอล์อี10 และอี 20 ดังนั้นการผลักดันให้เกิดการใช้แก๊สโซฮอล์อี 20 เพิ่มขึ้น ก็จะช่วยเพิ่มยอดใช้เอทานอลได้

ด้านนายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมน้ำมัน เปิดเผยว่า สูตรคำนวณราคาเอทานอลของไทย ควรมีการปรับปรุง จากปัจจุบันใช้คำนวณจากต้นทุนวัตถุดิบ บวกค่าใช้จ่ายของโรงงาน(Cost plus) แต่ควรเปลี่ยนมาใช้สูตรคำนวณจากราคาเอทานอลนำเข้า แบ่งเป็นต้นทุนเอทานอลจากบราซิล ค่าขนส่ง และค่าประกันภัย และบวกค่าพรีเมียมจำนวนหนึ่งโดยกำหนดระยะเวลาส่งเสริมที่แน่นอน เพื่อให้โรงงานเอทานอลในประเทศเกิดการแข่งขันที่มีประสิทธิภาพ จากนั้นก็ทยอยลดค่าพรีเมียมลง ซึ่งวิธีการนี้จะทำให้โรงงานสามารถซื้อวัตถุดิบได้ในราคาไม่สูงมาก โดยเกษตรกรไม่ถูกกดราคา นอกจากนี้จะช่วยให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไม่ต้องอุดหนุนราคา

จาก http://www.thansettakij.com วันที่ 4 มิถุนายน 2559

กรมวิชาการเกษตรหารือสมาคมปุ๋ยเพื่อวางมาตรการแก้ไขปัญหาปุ๋ยปลอมพร้อมสั่งการสารวัตรเกษตรลงพื้นที่ตรวจร้านค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน ย้ำผู้ประกอบการต้องมีจิตสำนึกรับผิดชอบร่วมกัน   

          นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่าตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ ได้ให้นโยบายในการลดต้นทุนการผลิตของเกษตร โดยเฉพาะเรื่องปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่ต้องมีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ป้องกันการเอาเปรียบเกษตรกร ซึ่งได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรและหน่วยที่เกี่ยวข้องดำเนินการการควบคุมภาพปัจจัยการผลิตด้านปุ๋ยวัตถุอันตรายและพันธุ์พืชให้มีคุณภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเตรียมการเข้าฤดูเพราะปลูกใหม่ของเกษตรกร โดยเมื่อเร็วๆ นี้ได้มีการลงนามในข้อตกลงตามโครงการ "สานพลังประชารัฐเพื่อปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ" ระหว่างภาคราชการ คือ กรมวิชาการเกษตร กรมการข้าว กรมส่งเสริมสหกรณ์และ ธ.ก.ส.กับภาคเอกชน คือ สมาคมผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับปัจจัยการผลิตชนิดต่างๆ 7 สมาคม โดยมีผู้ประกอบการซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคมต่างๆ ดังกล่าวเข้าร่วมโครงการรวม 238 ราย

          สำหรับปุ๋ย กรมวิชาการเกษตรมีมาตรการดำเนินงาน 6 มาตรการได้แก่ มาตรการที่ 1 การควบคุมโดยออกใบอนุญาตและการขึ้นทะเบียน/มาตรการที่ 2 การควบคุมการนำเข้าปัจจัยการผลิตทางการเกษตร/มาตรการที่ 3 การควบคุมการผลิตและการจำหน่ายภายในประเทศ/มาตรการที่ 4 การประชาสัมพันธ์/มาตรการที่ 5.โครงการร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพ(Q shop)/และมาตรการที่ 6.การปราบปรามผู้ฝ่าฝืนกฏหมายและควบุคมการโฆษณา ด้วยแนวคิดนี้กรมวิชาการเกษตรจึงได้เชิญสมาคมปุ๋ยทั้ง 3 สมาคมเข้ามาหารือเพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหาปุ๋ยปลอมที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็สรุปได้ว่ากรมวิชาการเกษตรและสมาคมปุ๋ยทั้ง 3 สมาคม จะทำงานร่วมกัน โดยที่ภาครัฐจะให้ความช่วยเหลือในเรื่องของการตรวจสอบและดูแลคุณภาพปุ๋ย ส่วนผู้ประกอบการทั้งหมดจะต้องผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานและมีความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม

          นายสมชาย กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ยังได้กระจายแนวคิดไปยังปัจจัยการผลิตชนิดอื่น เช่น เมล็ดพันธุ์ และวัตถุอันตรายทางการเกษตรโดยได้ร่วมหารือกับทุกสมาคมว่าจะมีมาตรการอย่างไรบ้าง เช่น เรื่องมาตรการดูแลคุณภาพต้องรับผิดชอบตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนถึงมือเกษตรกร ซึ่งจะมีการตรวจสอบปัจจัยการผลิตด้วยระบบการดูแลคุณภาพผลผลิต GAP ภายใต้มาตรฐานสากลของ FAO เป็นมาตรฐานหลักในการรับรอง ซึ่งมีขั้นตอนดำเนินการตรวจรับรองระบบการผลิตตรวจสอบผลผลิตโดยการสุ่มตรวจ โดยในปีนี้มีแผนออกสุ่มตรวจผลผลิตจำนวน 8,905 ตัวอย่าง จากแปลงของเกษตรกร เน้นตรวจสอบสารเคมีตกค้างและจุลินทรีย์ ตั้งแต้ต้นปีที่ผ่านมาได้มีการสุ่มตัวอย่างผลผลิตจากแปลงเพาะปลูกของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการแล้ว 3,588 ตัวอย่างพบเพียง 7 ตัวอย่าง ที่มีการปนเปื้อนของสารเคมีเกินมาตรฐาน ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการยกเลิกการรับรองการผลิต GAP ในทันที

          อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่าโดยบทบาทและหน้าที่หลักของกรมวิชาการเกษตร ต้องควบคุมดูแลวัฒถุอันตรายทางการเกษตร 3 ด้านสำคัญคือ 1.การนำเข้าสารเคมี หรือวัตถุอันตรายทางการเกษตรทุกชนิดต้องมีใบอนุญาตถูกต้อง/2.การนำเข้ามาจะต้องผ่านการวิเคราะห์ตรวจสอบ/3.เมื่อเข้ามาสู่กระบวนการผลิตโดยวัตถุดิบทั้งหมดจะถูกป้อนเข้าสู่โรงงาน กรมวิชาการเกษตรจะอบรมผู้ประกอบการให้ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน โดยจะรับรองให้เป็นคิว แฟ็กทอรี่(Q Factory) ทั้งนี้ใช้เวลา 3 เดือน ในการพัฒนาให้เป็นผู้ผลิตที่ดีมีคุณภาพขึ้นไปเรื่อยๆ เนื่องจากแนวคิดนี้หวังผลระยะยาว

          ทั้งนี้กรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการปล่อยขบวนสารวัตรเกษตรเพื่อหาข้อมูลและตรวจสอบอย่างเข้มงวด ตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2559 เพื่อรวบรวมข้อมูลจากผลการตรวจสอบเป็นฐานในการแจ้งให้สารวัตรเกษตรเครือข่ายเข้มงวดในการควบคุมโรงงานที่ผลิตสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพ เพื่อประกอบการดำเนินคดี และพักใบอนุญาตหรือปิดโรงงานต่อไป

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 3 มิถุนายน 2559

แห่ตีปี๊บศก.ไทยบวกชี้'ไอเอ็มดี'ให้เครดิตก.เกษตรฯชง3เกณฑ์ช่วย'ชาวสวน'สู้

           ก.เกษตรฯชงหลักเกณฑ์ช่วยเกษตรกร จ่ายชดเชยยืดหนี้-กู้ดอกเบี้ยต่ำ ภาคธุรกิจ-นักวิชาการชี้ทางการเร่งลดขั้นตอนทำธุรกิจ

          ไอเอ็มดีมองไทย2ปัจจัยบวก

          กรณีสถาบันระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาการจัดการ หรือไอเอ็มดี ประกาศผลการจัดอันดับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศสมาชิกทั่วโลกประจำปี 2559 จากทั้งหมด 61 ประเทศ โดยยกระดับให้ไทยขึ้นมาอยู่อันดับที่ 28 จากปีที่แล้วอยู่ในอันดับที่ 30 เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน นายสมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระ ด้านเศรษฐศาสตร์-การเมือง กล่าวว่า เป็นผลมาจากปัจจัยบวก 2 ประการคือ ศักยภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งคาดว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจครึ่งปีหลังจะดีขึ้น ขยายตัวไปในทางบวก และประสิทธิภาพการทำงานของภาครัฐ รวมถึงการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะการลดขั้นตอนการทำธุรกิจการลงทุน

          เสนอ3ข้อหลักดันการค้า

          นายสมชายกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยลบอีก 2 ประการต้องปรับปรุงคือ ประสิทธิภาพการทำงานของภาคเอกชน และโครงสร้างพื้นฐาน ต้องเร่งให้มีการทำงานที่ชัดเจนและรวดเร็วขึ้น ดัชนีไอเอ็มดีอาจจะ ไม่ได้ช่วยเรื่องการค้าขายโดยตรง แต่จะเป็นการฉายภาพชัดขึ้นเพื่อเกิดการลงทุนมากขึ้น ขณะเดียวกัน ต้องพิจารณาจากปัจจัยอื่นด้วย อาทิ เสถียรภาพทางการเมือง จึงมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลเพื่อให้การค้าขายของไทยดีขึ้น ในปัจจัยสำคัญ 3 ประการคือ 1.การวางตำแหน่งเชิงกลยุทธ์ จะทำให้ประสิทธิภาพการผลิตสินค้าและบริการมีมูลค่าเพิ่มขึ้น ด้วยการพัฒนาศักยภาพบุคลากร 2.พัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน และ 3.การพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) สำหรับเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ เนื่องจากมองว่าการค้าขายการส่งออกไทยที่ยังติดลบ นอกจากปัจจัยทางเศรษฐกิจแล้ว มองว่าไทยยังผลิตสินค้าไม่ตรงกับตลาดและผลิตสินค้าซ้ำกับประเทศอื่นในอาเซียน จึงต้องปรับปรุงในส่วนนี้ การให้ความสำคัญกับการเพิ่มมูลค่าสินค้าจะทำให้การค้าขายดีขึ้น

          แนะปรับปรุงระบบภาษี

          นายสมเกียรติ อนุราษฎร์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า อันดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทยดีขึ้น เป็นผลจากทั้งภาครัฐ หน่วยงานราชการ รวมถึงภาคธุรกิจเอกชนร่วมกันผลักดัน ที่ผ่านมาอันดับไทยตกลงไปเพราะการขออนุญาตทำธุรกิจต่างๆ รวมถึงขั้นตอนของหน่วยงานราชการใช้เวลามากเกินไป เมื่อปรับปรุงลดขั้นตอนลง ทั้งการขอใบอนุญาตตั้งโรงงาน การก่อสร้าง ทำให้ลดเวลาลงไปมาก

          นายสมเกียรติกล่าวว่า นับจากนี้เพื่ออันดับการแข่งขันของไทยดีขึ้นต่อเนื่อง ควรจะปรับปรุงเพิ่มเติมในเรื่องภาษีทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาให้เอื้ออำนวยต่อการลงทุนและทำธุรกิจ จะช่วยดึงผู้ค้าและนักลงทุนจากต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มมากขึ้น เพราะอัตราภาษีมีผลอย่างมากต่อการดึงดูดนักลงทุน นอกจากนี้ หน่วยงานรัฐและภาคธุรกิจควรจะนำไอที รวมถึงการใช้อินเตอร์เน็ตให้มากขึ้น จะอำนวยความสะดวกให้การทำงานง่ายขึ้น และสามารถเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกันได้รวดเร็วขึ้น ตรงนี้ก็จะสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับไทยดีขึ้นได้อีกทางหนึ่ง

          ให้เครดิต'สมคิด'ผลักดัน

          นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ขีดความสามารถด้านการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นของไทย จะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือในการลงทุนมากขึ้น คาดว่าปัจจัยหลักน่าจะมาจากมาตรการกระตุ้นการลงทุนจากภาครัฐ ทั้งการกำหนดสินเชื่อเพื่อเอสเอ็มอี การอัดฉีดเงินเข้าระบบ โดยเฉพาะระดับหมู่บ้าน และตำบล และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนการเร่งแก้ปัญหาการประกอบธุรกิจให้เกิดความสะดวกสบายมากขึ้น

          นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า การปรับขึ้นอันดับดังกล่าว ถือว่ารัฐบาลเดินมาถูกทางและต้องยกให้เป็นผลงานของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญเรื่องนี้มาตั้งแต่รับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี โดยหยิบยกเรื่องความง่ายในการทำธุรกิจ (ease of doing business) เป็นวาระสำคัญ หลังจากนั้น ก็มีความคืบหน้าในการแก้ไขกฎระเบียบ อุปสรรคในการทำธุรกรรมกับภาครัฐ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และการส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชนก็ดูมีความคืบหน้าไปค่อนข้างมาก

          นายวัลลภกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาลจะเดินหน้าค่อนข้างมากแล้ว แต่ภาคเอกชนก็ยังต้องการให้รัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงการคลังเดินหน้าต่อไป รวมทั้งเร่งแก้ไขปัญหาที่ ไอเอ็มดีแนะนำไทย โดยเฉพาะเรื่องการศึกษาและการเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานในประเทศ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็มีส่วนสำคัญเหมือนกันที่จะช่วยให้อันดับของไทยดียิ่งขึ้นในปีต่อไป

          สรรพากรแจงขยายกรอบหักภาษี

          สำหรับแนวทางปฏิบัติภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม เห็นชอบการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกาปรับปรุงมาตรการภาษีเพื่อการลงทุนในประเทศ ด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 604) พ.ศ.2559 ที่ได้รับอนุมัติจาก ครม.เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2558 กำหนดให้การลงทุนในทรัพย์สินประเภทต่างๆ ระหว่างวันที่ 3 พฤศจิกายน 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2559 สามารถหักรายจ่ายได้เป็นจำนวน 2 เท่า โดยปรับปรุงเงื่อนไขในส่วนของทรัพย์สินประเภทเครื่องจักรและอาคารถาวร จาก "ต้องได้ทรัพย์สินนั้นมาและอยู่ในสภาพพร้อมใช้การได้ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2559" เป็น "ไม่จำเป็นต้องได้ทรัพย์สินนั้นมาและอยู่ในสภาพพร้อมใช้การได้ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2559 แต่ให้เริ่มใช้สิทธิเมื่อได้ทรัพย์สินนั้นมาและอยู่ในสภาพพร้อมใช้การได้แล้ว" ซึ่งจะทำให้การลงทุนในเครื่องจักรและอาคารถาวรขนาดใหญ่ ซึ่งใช้เวลาในการติดตั้งหรือก่อสร้างนานกว่าการลงทุนในทรัพย์สินประเภทอื่นๆ ได้รับสิทธิตามมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศ

          นายชุมพร เสนไสย นิติกรเชี่ยวชาญ กรมสรรพากร กล่าวว่า การแก้ไขกฎหมายฉบับดังกล่าวทำให้การลงทุนไม่จำเป็นต้องเสร็จภายในปีนี้ แต่ให้เริ่มใช้สิทธิในการลงทุนในปีนี้ เช่น กรณีซื้อเครื่องจักรมูลค่า 100 ล้านบาท อาจยังติดตั้งไม่เสร็จภายในปีนี้ แต่มีการจ่ายเงินบางส่วนให้แก่ผู้ขายไปแล้วในปีนี้ ในจำนวน 50 ล้านบาท กรณีเช่นนี้ก็สามารถนำรายจ่าย 50 ล้านบาทของปีนี้มาลงเป็นรายจ่ายเพื่อคำนวณภาษีได้ โดยสามารถทยอยหักเป็นเวลา 5 ปี ส่วนอีก 50 ล้านบาทที่จ่ายให้แก่ผู้ซื้อในปีถัดไป ไม่สามารถนำมาลงเป็นรายจ่ายได้

          รวมหักค่าเสื่อมได้ลดหย่อน2เท่า

          นายชุมพรกล่าวว่า นอกเหนือจากให้นำรายจ่ายลงทุนในปีนี้มาหักลดหย่อนภาษีได้แล้วนั้น การหักค่าเสื่อมของเครื่องจักร หรืออาคารที่เกิดจากการลงทุนดังกล่าวยังสามารถหักค่าเสื่อมได้ตามปกติ โดยทยอยหักได้ 5 ปี ปีละ 20% เมื่อรวมการให้นำรายจ่ายลงทุน มาหักลดหย่อนภาษีกับการหักค่าเสื่อมตามปกติแล้ว ทำให้ผู้ที่ลงทุนในปีนี้สามารถหักรายจ่ายได้เป็นสองเท่า จากปกติเท่าเดียว

          นายชุมพรกล่าวว่า ตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาลที่กำหนดให้ปีนี้เป็นปีแห่งการลงทุน กำหนดให้ผู้ประกอบการที่ลงทุนในปีนี้สามารถนำรายจ่ายเพื่อลงทุนในทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการดำเนินธุรกิจของกิจการนั้น ได้แก่ การซื้ออุปกรณ์, เครื่องมือเครื่องใช้, โปรแกรมคอมพิวเตอร์, ยานพาหนะ, อาคารถาวร (ไม่รวมที่ดินและอาคารที่พักอาศัย) มาหักเป็นรายจ่ายเท่าที่จ่ายจริง สำหรับการลงทุนตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน 2558-31 ธันวาคม 2559 นั้น ดังนั้นผู้ประกอบการที่ลงทุนในปีนี้จำนวนเท่าไรก็สามารถหักเป็นรายจ่ายทางภาษีได้เท่านั้น เช่นลงทุน 1 ล้านบาท ก็หักเป็นรายจ่ายได้ 1 ล้านบาท ซึ่งเท่ากับประหยัดภาษีนิติบุคคลที่จ่ายในอัตรา 20%

          เงินเฟ้อพ.ค.สูงขึ้น0.46%

          นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อ) ทั่วไป เดือนพฤษภาคม ว่า มีอัตรา 107.02 สูงขึ้น 0.56% จากเดือนเมษายนที่ผ่านมา และสูงขึ้น 0.46% เมื่อเทียบเดือนพฤษภาคม 2558 เป็นอัตราขยายตัวเป็นบวกเดือนที่ 2 ของปี และสูงสุดในรอบ 1 ปี 5 เดือน ทำให้เฉลี่ยเงินเฟ้อ 5 เดือนแรก ติดลบเหลือ 0.20% ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน(หักอาหารและเชื้อเพลิง) เท่ากับ 106.58 สูงขึ้น 0.05% จากเดือนเมษายนที่ผ่านมา และสูงขึ้น 0.78% เทียบเดือนเดียวกันปีก่อน เฉลี่ย 5 เดือนปีนี้สูงขึ้น 0.72%

          นายสมเกียรติกล่าวว่า ปัจจัยที่มีผลต่อเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเดือนพฤษภาคม จากสินค้า 450 รายการที่นำมาคำนวณเงินเฟ้อ เพิ่มขึ้น 193 รายการ ส่วนใหญ่ในกลุ่มผัก เนื้อสัตว์ อีก 187 รายการราคาไม่เปลี่ยนแปลง และมี 70 รายการที่ราคาลดลง โดยหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอลล์ สูงขึ้น 1.05% โดยเฉพาะพริกสด ถั่วฝักยาว เนื้อสุกร ไข่ไก่ อาหารสำเร็จรูป เนื่องจากผลกระทบภัยแล้ง ราคาบุหรี่สูงขึ้น 13.15% ค่าธรรมเนียมการศึกษาอุดมศึกษา ค่าคนไข้นอก ค่าตรวจโรค และเครื่องนุ่งห่ม รองเท้า ขยับสูงขึ้น

          "เงินเฟ้อไตรมาส 3 ยังผันผวนอาจลดลงหรือเพิ่มขึ้นกับอากาศและราคาพืชผลเกษตร เนื้อสัตว์ และราคาน้ำมันขยับไม่มาก โอกาสเงินเฟ้อไตรมาส 3 สูงขึ้น 1% และเพิ่มเป็น 2% ในไตรมาส 4 ได้" นายสมเกียรติกล่าว

          ผู้ว่าการธปท.ชี้ศก.โลกเปราะบาง

          ที่โรงแรมเรเนซองส์ นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาในงาน "Krungsri Business Forum 2016 : Thailand's Opportunity" ว่า ตั้งแต่ต้นปี 2559 ตลาดการเงินและตลาดทุนโลกมีความผันผวนสูงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ราคาน้ำมันที่ปรับลดลง และทิศทางการดำเนินนโยบายของประเทศเศรษฐกิจหลัก ซึ่งช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาความผันผวนลดลง จากทางการจีนผ่อนคลายนโนบายการเงินการคลังควบคู่กับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ราคาน้ำมันปรับดีขึ้น และประเทศเศรษฐกิจหลักยังมีทิศทางการดำเนินนโนบายการเงินผ่อนปรน ซึ่งแม้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเริ่มส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย 2-3 เดือนข้างหน้า ดังนั้นโดยรวมเศรษฐกิจโลกจึงยังเปราะบาง ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามคือแนวโน้มการชะลอตัวเศรษฐกิจจีน การลงประชามติว่าจะออกจากสหภาพยุโรปหรือไม่ รวมทั้งการดำเนินนโยบายของประเทศเศรษฐกิจหลัก เป็นต้น เพราะปัจจัยเหล่านี้จะทำให้เกิดความผันผวนได้อีก

          แนวโน้มไทยฟื้นตัวชัด

          นายวิรไทกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม แนวโน้มเศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวชัดเจนขึ้น โดยมีแรงส่งจากการเบิกจ่ายและลงทุนรัฐบาล ที่ผ่านมาเป็นการลงทุนขนาดเล็ก ส่วนโครงการลงทุนขนาดใหญ่คาดว่าชัดเจนครึ่งปีหลัง และภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดี ส่วนการส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม) ขยายตัวได้ต่อเนื่อง ธปท.คาดว่าจีดีพีปีนี้จะขยายตัว 3.1% แต่แรงส่งเศรษฐกิจยังไม่เข้มแข็ง เพราะการส่งออกไม่รวมทองคำติดลบ จากความต้องการในตลาดโลกและมีปัญหาเชิงโครงสร้าง ทำให้การลงทุนเอกชนขยายตัวต่ำ ทั้งนี้ การบริโภคขยายตัวต่ำ ซึ่งการดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. จะเป็นแบบผ่อนปรนเพื่อช่วยเสริมการขยายตัวเศรษฐกิจ

          คลังปัดถกภาษีรถเกิน7ปี

          นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า รัฐบาลพยายามสร้างการขยายการเติบโตเศรษฐกิจแบบยั่งยืน มีเสถียรภาพและมีคุณภาพ โดยที่ผ่านมามีการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการต่างๆ โดยเป็นการลงทุนก่อน เพราะเอกชนยังขาดความเชื่อมั่นที่จะลงทุน ขณะนี้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นน่าจะเพียงพอแล้ว ต่อไปต้องมีการปรับโครงสร้างเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

          นายสมชัยกล่าวว่า ในการปฏิรูปในระยาว กระทรวงการคลังได้ปฏิรูปด้านภาษี ทั้งภาษี เงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา รวมทั้งจะมีการผลักดันภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้ออกมาในรัฐบาลนี้ ส่วนภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลสูงอยู่ระหว่างการศึกษาคาดสรุปได้ภายใน 1 เดือน สำหรับข้อเสนอการจัดเก็บภาษีรถยนต์ที่ใช้งานนานเกิน 7 ปี ตามแนวคิดของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ยังไม่เคยมีการหารือกันในกรณีดังกล่าวแต่อย่างใด

          ก.เกษตรฯชงเกณฑ์ช่วยเกษตรกร

          ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ภัยแล้งที่ผ่านมาทำให้เกิดผลกระทบต่อสวนผลไม้ของเกษตรกร โดยเฉพาะชาวสวนลำไย กระทรวงเกษตรฯภายใต้คณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการ ผลไม้จึงเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนผลไม้ ได้แก่ 1.กรณีที่ไม้ผลได้รับความเสียหายอย่างสิ้นเชิง จำนวน 25,000 ไร่ รัฐบาลจะให้การชดเชยก่อน วงเงิน 1,690 บาท/ไร่ ตามระเบียบของกระทรวงการคลัง ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัด (ก.ช.ภ.จ.) 2.ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ขยายระยะเวลาชำระคืนเงินกู้ของเกษตรกร ที่ผ่านการรับรองจาก ก.ช.ภ.จ. ออกไปเป็นระยะเวลา 2 ปี และลดอัตราดอกเบี้ยจากอัตราเดิมที่เกษตรกรต้องชำระลง 3% โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส.แทนเกษตรกร ในวงเงินกู้รายละไม่เกิน 200,000 บาท เป็นระยะเวลา 2 ปี

          ให้กู้ปลูกทดแทนดอกเบี้ยต่ำ

          พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวว่า 3.ให้ ธ.ก.ส.สนับสนุนสินเชื่อเพื่อการปลูกใหม่ทดแทนต้นเดิมที่เสียหายจากภัยแล้ง และการดูแลรักษา ในอัตราไร่ละ 10,000 บาท รายละไม่เกิน 15 ไร่ หรือ 150,000 บาท/ราย ครอบคลุมพื้นที่รวมทั้งหมดไม่เกิน 120,000 ไร่ ให้แก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการของรัฐที่ผ่านการรับรองจาก ก.ช.ภ.จ.แล้ว วงเงินสินเชื่อไม่เกิน 1,000 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส.คิดดอกเบี้ยในอัตราเอ็มอาร์อาร์-2 หรืออัตราดอกเบี้ย 5% และรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส. แทนเกษตรกร 3% เป็นระยะเวลาไม่เกิน 4 ปี สำหรับกำหนดชำระคืนและหลักประกันเงินกู้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ ธ.ก.ส.กำหนด

          พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวว่า 4.สนับสนุนสินเชื่อ เพื่อลงทุนสร้างสระน้ำสำรองของเกษตรกร ระบบการให้น้ำแบบประหยัด และการขุดบ่อน้ำใต้ดิน เป็นต้น ในพื้นที่ของเกษตรกรเอง ซึ่งผ่านการรับรองจาก ก.ช.ภ.จ.แล้ว รายละไม่เกิน 130,000 บาท โดยขนาดของสระน้ำสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมของพื้นที่ของเกษตรกร วงเงินสินเชื่อไม่เกิน 845 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส.คิดดอกเบี้ยในอัตราเอ็มอาร์อาร์-2 และรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ 3% เป็นระยะเวลาไม่เกิน 4 ปี โดยกระทรวงเกษตรฯเตรียมเสนอมาตรการทั้งหมดเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเร็วๆ นี้

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 3 มิถุนายน 2559

ฝนตกใต้เขื่อนแล้งหน้าวิกฤต 

ลานินญาทำฝนตกใต้เขื่อน นักวิชาการหวั่นกระทบแล้งปีหน้า เตือนรัฐเตรียมรับมือ

          นายวิษณุ อรรถวานิช รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า สถานการณ์ฝนในขณะนี้จำเป็นที่รัฐบาลต้องวางแผนรับมืออย่างระมัดระวัง เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาและนักวิชาการระบุปรากฏการณ์ลานินญาจะเริ่มมีอิทธิพล โดยฝนจะเริ่มเดือน ก.ค. และจะมากช่วงเดือน ก.ย.

          "หากเป็นเช่นนั้นคาดว่าเขื่อนต่างๆ ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะไม่ได้อานิสงส์ของฝนในครั้งนี้ ซึ่งอาจกระทบต่อปริมาณน้ำต้นทุนในสองเขื่อนหลักของประเทศ เนื่องจากช่วงดังกล่าวฝนจะอยู่ในภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออกและลงภาคใต้ ซึ่งกรมอุตุฯ คาดว่าจะมีพายุเข้าใน  ส.ค. และ ต.ค. ซึ่งช่วงนั้นร่องฝนจะอยู่ในภาคกลางตอนล่างและอาจเสี่ยงน้ำท่วม ในขณะที่เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ อาจเก็บน้ำได้น้อย" นายวิษณุ ระบุ

          ด้าน นายภูมิศักดิ์ ราศรี ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการ บูรณาการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้เตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการน้ำ การปล่อยน้ำให้ใช้จนหมดเขื่อนจะไม่เกิดขึ้นอีก

          นอกจากนี้ ได้มอบให้กรมส่งเสริมการเกษตรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปตรวจสอบว่าโครงการที่เกษตรกรและชุมชนเสนอมาในมาตรการ 4 ของ 8 มาตรการรัฐที่ช่วยเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากแล้ง 1,500 โครงการ งบประมาณ  4,000-5,000 ล้านบาท ที่กระทรวงเกษตรฯ ไม่อนุมัติเพราะไม่ผ่านเกณฑ์นั้น จะสามารถนำมาปรับใช้ในฤดูฝนหรือในฤดูถัดไปได้หรือไม่ ซึ่งผลการเบิกจ่ายงบประมาณ ใน 8 มาตรการแก้แล้งของกระทรวงเกษตรฯ ได้รับงบ 3.3 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันเบิกจ่ายได้ 2.3 หมื่นล้านบาท

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 3 มิถุนายน 2559

กรมวิชาการเกษตรเร่งมอบป้าย โชว์จุดเด่นให้เกษตรกรเข้าถึงง่าย

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ล่าสุดกรมวิชาการเกษตรได้มอบหมายให้สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1-8 (สวพ.1-8) เร่งมอบป้ายสัญลักษณ์ปัจจัยการผลิตคุณภาพประชารัฐให้กับผู้ผลิตและผู้ประกอบการร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่เข้าร่วมโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อปัจจัยการผลิตทางการเกษตรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยช่วงเปิดตัวโครงการฯจะมอบป้ายสัญลักษณ์ปัจจัยการผลิตคุณภาพประชารัฐให้กับร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพ (Q shop) จำนวนกว่า 2,600 ร้านค้า

 ร้านค้าเครือข่ายสมาคมการค้าปัจจัยการผลิตทางการเกษตร 7 สมาคม ประมาณ 500 ร้านค้า รวมถึงร้านของสหกรณ์การเกษตร และร้านสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. (สกต.) ที่ผ่านการประเมิน ซึ่งในช่วงเดือนแรกนี้คาดว่า จะมอบป้ายสัญลักษณ์ฯได้ไม่น้อยกว่า 5,000 ร้านค้าทั่วประเทศโดยเกษตรกรสามรถซื้อปัจจัยการผลิตในร้านที่ตราสัญลักษ์ได้ตลอดฤดูกาลโดยไม่ต้องรีบซื้อเก็บ

ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการนำตราสัญลักษณ์ไปติดบนผลิตภัณฑ์ และให้ร้านจำหน่ายปัจจัยผลิตนำป้ายสัญลักษณ์ดังกล่าวไปติดตั้งในร้านให้เกษตรกรเห็นเด่นชัด เพื่อช่วยส่งเสริมการขายให้กับผู้ประกอบการ และให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตคุณภาพประชารัฐได้ง่ายขึ้น เพื่อรองรับการฤดูกาลผลิตปี 2559/60 นี้ ซึ่งนอกจากจะช่วยให้เกษตรกรได้รับปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์  ปุ๋ยชีวภาพ วัตถุอันตรายทางการเกษตร และเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพแล้ว ยังสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกรได้อีกด้วย

เนื่องจากสมาคมการค้าปัจจัยการผลิตทางการเกษตร 7 สมาคมที่เข้าร่วมโครงการฯได้มีเจตนารมณ์ที่จะจำหน่ายปัจจัยการผลิตคุณภาพในราคายุติธรรมและถูกกว่าราคาท้องตลาดโดยวันแรกที่เปิดตัวโครงการฯ กรมวิชาการเกษตรได้มอบป้ายสัญลักษณ์ปัจจัยการผลิตคุณภาพประชารัฐไปแล้วกว่า 1,600 ร้านค้า อย่างไรก็ตาม ภายใน 3 เดือนนี้ กรมวิชาการเกษตรได้มีแผนเร่งตรวจประเมินร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตที่สมัครเข้าร่วมโครงการฯเพิ่มเติม โดยตั้งเป้าส่งเสริมให้เป็นร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตคุณภาพประชารัฐไม่น้อยกว่า 20,000 ร้านค้า จากนั้นจะผลักดันและยกระดับให้เป็นร้าน Q Shop ต่อไป

อย่างไรก็ตามกรมวิชาการเกษตรได้เน้นย้ำให้ สวพ.ทั้ง 8 เขต ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสร้างความรู้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการเลือกซื้อปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน ทั้งยังแนะนำให้เลือกใช้ปุ๋ย วัตถุอันตรายทางการเกษตร และเมล็ดพันธุ์อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ รวมทั้งใช้อย่างถูกวิธี ปลอดภัยและคุ้มค่าการลงทุน ไม่ใช้เกินความจำเป็นซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น

นอกจากนั้น กรมวิชาการเกษตรยังเร่งประสานกรมส่งเสริมสหกรณ์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อร่วมจัดตลาดนัดปัจจัยการผลิตคุณภาพประชารัฐ โดยเบื้องต้นกรมส่งเสริมสหกรณ์จะเปิดตลาดนัดปัจจัยการผลิตคุณภาพประชารัฐ จำนวน 9 แห่ง ได้แก่ จังหวัดสุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา เพชรบุรี ปทุมธานี อุทัยธานี นครราชสีมา ชัยนาท ร้อยเอ็ด และบุรีรัมย์ ซึ่งมีแผนดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในเดือนมิถุนายนนี้

ในส่วนของกรมวิชาการเกษตรได้สั่งการให้ทุก สวพ. ที่ดูแลพื้นที่จังหวัดดังกล่าว ให้เตรียมความพร้อมสนับสนุนและเข้าร่วมจัดแสดงนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับการเลือกซื้อ และเลือกใช้ปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ รวมถึงวิธีการใช้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการขณะเดียวกันยังให้จัดแล็ป (Lab) เคลื่อนที่ เพื่อบริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพปัจจัยการผลิตที่นำเข้ามาจำหน่ายในตลาดนัดปัจจัยการผลิตคุณภาพประชารัฐ เพื่อควบคุมคุณภาพสินค้า เกษตรกรที่เข้ามาเลือกซื้อปัจจัยการผลิตในตลาดฯประชารัฐ จงมั่นใจได้ว่าได้รับปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพแน่นอน หากตรวจพบว่า ปัจจัยการผลิตไม่มีคุณภาพและด้อยมาตรฐานจะไม่อนุญาตให้นำมาจำหน่ายอย่างเด็ดขาด

จาก http://www.naewna.com วันที่ 2 มิถุนายน 2559

ภัยแล้งเป็นเหตุ! พิจิตรเลิกทำนาแล้ว 2 แสนไร่ หันปลูกอ้อย-มัน-กล้วยแทน 

         ภัยแล้งติดต่อกัน 2 ปี ทำให้ถึงจุดเปลี่ยนชาวนาพิจิตรหันไปปลูกพืชอื่นทดแทน ทั้งมันสำปะหลัง อ้อย กล้วย และพืชอื่นที่สามารถสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัว เกษตรจังหวัดระบุพื้นที่ปลูกข้าวลดลงไปแล้วเกือบ 2 แสนไร่       

        นายสุรพล ทองเที่ยง เกษตรจังหวัดพิจิตร เปิดเผยว่า อดีตชาวนาพิจิตรเคยปลูกข้าวอายุสั้น 90 วัน ทำได้ปีละ 2 ครั้ง เพื่อเข้าสู่โครงการรับจำนำข้าว แต่ในเมื่อปีนี้ไม่มีโครงการรับจำนำข้าว ประกอบกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ออกมาส่งเสริมให้เน้นการปลูกข้าวคุณภาพที่ต้องลดต้นทุนอย่างน้อย 10% และต้องเพิ่มรายได้อย่างน้อย 15% โดยได้มีการจัดอบรมให้ความรู้เกษตรกร 3,000 คน ทำให้เกิดจุดเปลี่ยน ชาวนาจากที่เคยปลูกข้าวอะไรก็ได้จำนำได้เป็นพอใจ       

        หลังจากประสบปัญหาภัยแล้ง 2 ปีติดต่อกัน ทำให้ทุกวันนี้เกษตรกรลดพื้นที่การทำนาไปแล้วจากเดิมมีการทำนา 1.8 ล้านไร่ ตอนนี้ลดลงไปแล้วเกือบ 2 แสนไร่ โดยส่วนใหญ่หันไปปลูกอ้อย, มันสำปะหลัง และปลูกกล้วย รวมทั้งพืชผักต่างๆ แทนการปลูกข้าว เหตุเพราะภัยแล้ง       

        ในการทำนาปี 2559 ชาวนาพิจิตรส่วนใหญ่จะหันไปปลูกข้าวหอมมะลิ, ข้าวหอมจังหวัด ซึ่งเป็นข้าวดีมีคุณภาพ อายุ 120 วัน จึงทำให้ปีนี้ปริมาณข้าว 5% หรือข้าวเปลือกทั่วไปของ จ.พิจิตรจะมีปริมาณลดลง ส่วนพื้นที่นาหลังเก็บเกี่ยวข้าวหอมมะลิชาวนาพิจิตรก็จะปลูกถั่วเขียว-ถั่วเขียวผิวดำ หรือถั่วแขก ที่นำไปใช้ทำวุ้นเส้นหรือส่วนผสมของแป้งโรตี ที่ขณะนี้มีใบสั่งซื้อมาเป็นจำนวนมากแต่ผลผลิตไม่พอขาย

 จาก http://manager.co.th  วันที่ 2 มิถุนายน 2559

กรมโรงงานฯ เผยสถิติจดทะเบียนเครื่องจักร 5 เดือนแรก เพิ่ม8% คาดปี59พุ่ง

กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เผยยอดการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักร 5 เดือน ยอดพุ่งอยู่ที่ 508 ราย รวมมูลค่ากว่า 3.4 หมื่นล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยคาดว่าสิ้นปี 2559  จะมีผู้ประกอบการจดทะเบียนเครื่องจักรเพิ่มขึ้นกว่า 1,300 ราย รวมมูลค่ากว่า 8 หมื่นล้านบาท

พร้อมกันนี้ กรมโรงงานฯ ยังได้ร่วมมือสำนักงานวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เตรียมอัดงบปีละ 15 ล้านบาท ระยะเวลา 3 ปีดำเนินโครงการแปลงเครื่องจักรเป็นทุนและการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรสำหรับผู้ประกอบการ SMEs เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและเพิ่มการลงทุนตามนโยบายของรัฐบาล

สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานทะเบียนเครื่องจักรกลาง โทร. 02 202 4058 หรือสอบถามข้อมูลโครงการอื่นๆ ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม โทร.0 2202 4014 หรือเข้าไปที่ www.diw.go.th หรืออีเมล์ pr@diw.mail.go.th

ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม รองโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า  สถิติการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักรเพิ่มขึ้นในช่วง 5 เดือนแรก โดยมีการจดทะเบียนเครื่องจักรแล้ว 508 ราย จำนวน 3,353 เครื่อง รวมมูลค่าทุนจดทะเบียนเครื่องจักร 3.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้น 8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มียอดจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักร 470 ราย จำนวน 2,085 เครื่อง โดยปี 2557 มีการจดทะเบียนเครื่องจักร 1,449 ราย จำนวน 6,750 เครื่อง รวมมูลค่าทุนจดทะเบียนเครื่องจักร 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งสูงกว่าปี 2558 ที่มีการจดทะเบียนเครื่องจักร 1,150 ราย จำนวน 5,936 เครื่อง รวมมูลค่าทุนจดทะเบียนเครื่องจักร 3.4 แสนล้านบาท  ซึ่งจากข้อมูลสถิติตั้งแต่ปี 2515 ถึงปัจจุบันมีโรงงานจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักรรวม 57,595 ราย จำนวน 800,528 เครื่อง รวมมูลค่าทุนจดทะเบียนเครื่องจักร 6.8 ล้านล้านบาท

ดร.พสุ กล่าวต่อว่า ในปี 2559 นี้ คาดการณ์ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจมีทิศทางดีขึ้น โดยพิจารณาจากผู้ประกอบการจะมีการลงทุนในการขยายธุรกิจมากขึ้น และจะมีการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักรเพิ่มขึ้นประมาณ 1,300 ราย รวมมูลค่าทุนจดทะเบียนกว่า 8 หมื่นล้านบาท จากสถิติเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม 2559 พบว่า กลุ่มอุตสาหกรรมที่จดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักรสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.กลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อื่นที่ทำจากโลหะ 113 ราย จดทะเบียนเครื่องจักร 354 เครื่อง  2.อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์จากพลาสติก 53 ราย จดทะเบียนเครื่องจักร 317 เครื่อง 3.อุตสาหกรรมการพิมพ์ 53 ราย จดทะเบียนเครื่องจักร 104 เครื่อง 4.อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์จากอโลหะอื่น 33 ราย จดทะเบียนเครื่องจักร 56 เครื่อง และ 5.อุตสาหกรรมการขัด การสี การโม่หรือการป่นเมล็ด/หัวพืช เผาถ่านจากกะลา/บดถ่าน 28 ราย จดทะเบียนเครื่องจักร 259 เครื่อง

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมตามนโยบายของรัฐบาลที่ให้จัดทำโครงการช่วยเหลือกลุ่มอุตสาหกรรม SMEs กรมโรงงานฯ เตรียมเปิดโครงการช่วยเหลือผู้ประกอบการโรงงาน SMEs คือ การแปลงเครื่องจักรเป็นทุน จำนวน 500 ราย/ปี  และการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร จำนวน 1,000 ราย/ ปี โดยได้รับเงินสนับสนุนการดำเนินงาน ระยะเวลา 3 ปี จากสำนักงานวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) รวม 45 ล้านบาท  โดยจะเปิดตัวโครงการในเดือนมิถุนายน 2559 นี้ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของกลุ่มอุตสาหกรรม SMEs  และให้ผู้ประกอบการได้มีเงินทุนหมุนเวียนจากการใช้เครื่องจักรเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันและมีการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานและด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งส่งเสริมให้มีการใช้นวัตกรรมในกลุ่มอุตสาหกรรม SMEs มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของประเทศสูงขึ้น ดร.พสุ กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ โครงการแปลงเครื่องจักรเป็นทุนและการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ได้ที่ สำนักงานทะเบียนเครื่องจักรกลาง โทร. 02 202 4058 หรือสอบถามข้อมูลโครงการอื่นๆ ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม โทร.0 2202 4014 หรือเข้าไปที่ www.diw.go.th หรืออีเมล์ pr@diw.mail.go.th

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 2 มิถุนายน 2559

ย้ายฐานทำฝนเติมเขื่อนภูมิพล   

 "ฉัตรชัย" เผยเขื่อนภูมิพลวิกฤตหนัก น้ำฝนไม่ลงเขื่อนทำปริมาณน้ำใช้การได้เหลือ 2% สั่งทำฝนหลวงเติมด่วน

          พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ย้ายฐานปฏิบัติการฝนหลวงจาก จ.พิษณุโลก มาไว้ จ.ตาก ทั้งหมด เพื่อปฏิบัติการเติมน้ำในเขื่อนภูมิพล เนื่องจากขณะนี้มีปริมาณน้ำในระดับต่ำ เหลือน้ำใช้การได้เพียง 2% ของความจุ หรือ 214 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เท่านั้น เพราะแม้ว่าจะเริ่มมี ฝนตกทั่วประเทศในช่วงที่ผ่านมา แต่ยังไม่มีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนภูมิพล ในขณะที่เขื่อนทั่วประเทศ โดยเฉพาะเขื่อนขนาดใหญ่มีน้ำไหลเข้าแล้ว 400 ล้าน ลบ.ม.

          "ยืนยันว่ามีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภค และใช้เพื่อรักษานิเวศ แต่จะยังไม่มีการปล่อยน้ำเพื่อการเกษตร จึงขอให้เกษตรกรใช้น้ำฝนเป็นหลักในการเพาะปลูก ซึ่งเราเป็นห่วงน้ำในเขื่อนภูมิพลมากกว่า เพราะปริมาณกักเก็บน้ำอยู่ในระดับต่ำมากจนอาจมีปัญหาไปถึงปีหน้า แต่ขณะนี้ยังต้องอาศัยน้ำจากฝนอย่างเดียว ส่วนการเติมน้ำในเขื่อนจากแม่น้ำนานาชาติอยู่ระหว่างการศึกษา" รมว.เกษตรฯ กล่าว

          นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า ได้นำเครื่องบินทำฝนหลวง และเครื่องบินกาซ่า รวม 11 ลำ ย้ายฐานปฏิบัติการจาก จ.พิษณุโลก ไป จ.ตาก และจะเริ่มปฏิบัติการทำฝนหลวงเติมเขื่อนภูมิพลตั้งแต่ วันที่ 1 มิ.ย.นี้ เนื่องจากมีปัญหาว่าน้ำยังไม่ไหลลงเขื่อนเลย อย่างไรก็ตาม คาดว่าอิทธิพลร่องความกดอากาศต่ำจะทำให้เกิดฝนตั้งแต่ปลายเดือน มิ.ย.เป็นต้นไป และมีน้ำไหลลงเขื่อนมากขึ้น

          นอกจากนี้ กรมจะปรับย้ายฐานฝนหลวงจาก จ.อุดรธานี ไป จ.อุบลราชธานี และจาก จ.จันทบุรี ไป จ.สระแก้ว เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในภาวะฝนทิ้งช่วงปลายเดือน มิ.ย. ถึงกลางเดือน ก.ค.

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 2 มิถุนายน 2559

ดูปองท์ ร่วมโครงการรณรงค์สู้ภัยแล้ง ถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกอ้อยแบบยั่งยืน

นายไพสิฐ พงศ์ชัยฤกษ์ ผู้จัดการธุรกิจเคมีเกษตร บริษัท ดูปองท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า สืบเนื่องจากวิกฤตปัญหาภัยแล้งในประเทศไทยที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรง ได้ส่งผลกระทบให้ปริมาณผลผลิตทางการเกษตรลดลง ซึ่งทำให้เกษตรกรมีรายได้น้อยลงไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ประกอบกับในช่วงระยะเวลา 1-2 ปีที่ผ่านมา อ้อยซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศและเป็นวัตถุดิบหลักของอุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาลที่สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและประเทศได้อย่างมาก ต้องเผชิญกับปัญหาผลผลิตตกต่ำ ไม่เพียงพอต่อความต้องการของโรงงานผลิตน้ำตาลในประเทศ ซึ่งปัญหาหลักเกิดจากการแพร่ระบาดของหนอนกออ้อยในแหล่งปลูกอ้อย ดังนั้น บริษัท ดูปองท์ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมมือกับ จังหวัดสระแก้ว บริษัท น้ำตาลและอ้อยตะวันออก จำกัด (มหาชน) และสมาคมเกษตรกรชายแดนบูรพา จัดโครงการรณรงค์สู้ภัยแล้งและการควบคุมหนอนกออ้อยโดยวิธีผสมผสาน ให้แก่ตัวแทนเกษตรผู้ปลูกอ้อยจังหวัดสระแก้ว กว่า 400 คน

ด้วยประวัติการดำเนินธุรกิจในฐานะผู้นำด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีการเกษตรที่เป็นที่ยอมรับในระดับโลก มากว่า 200 ปี และกว่า 40 ปีในประเทศไทย ดูปองท์มีความมุ่งมั่นในการถ่ายทอดความรู้เทคโนโลยีให้กับเกษตรกร โดยยึดถือหลักปฏิบัติด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน เพื่อช่วยปกป้องผลผลิตจากการทำลายของแมลงและศัตรูพืชต่างๆ ซึ่งถือเป็นอุปสรรคและความท้าทายที่เกษตรกรไทยต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย ที่ต้องประสบปัญหาการระบาดของหนอนกออ้อยซึ่งทำความเสียหายอย่างมากต่อผลผลิตอ้อยในแต่ละปี

 “โครงการรณรงค์สู้ภัยแล้งและการควบคุมหนอนกออ้อยโดยวิธีผสมผสาน ซึ่งทางดูปองท์ได้ร่วมกับจังหวัดสระแก้วในครั้งนี้ ทางบริษัทฯ เราร่วมส่งเสริมและพัฒนาความรู้ของเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย ในด้านการป้องกันและกำจัดศัตรูพืชในไร่อ้อย โดยการใช้สารเคมีอย่างถูกวิธี และผสมผสานกับการควบคุมกำจัดด้วยแมลงมีประโยชน์ทางธรรมชาติ เพื่อให้เกษตรกรได้ผลผลิตอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยผลิตภัณฑ์เคมีเกษตร ดูปองท์™ พรีวาธอน™ (DuPont™ Prevathon®) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่วิจัยและพัฒนาในระดับโลกมาเพื่อการกำจัดหนอนกออ้อยโดยเฉพาะ”

จาก http://www.siamrath.co.th   วันที่ 2 มิถุนายน 2559

ก.เกษตรสางหนี้แล้ว 9.4 พันล้าน'ธีรภัทร'จี้ทุกกรมเร่งดันงานด่วน 

          ก.เกษตรฯ เดินหน้าสางหนี้นอกระบบคืบ ฟุ้งเจรจาประนอมหนี้สำเร็จแล้ว 5.21 หมื่นราย มูลหนี้ กว่า 9.48 พันล้าน จากผู้ที่ยื่นคำร้องมาทั้งสิ้น 8.56 หมื่นราย ยอมรับเจรจาไม่สำเร็จกว่า 3 หมื่นราย ด้านปลัดเกษตรฯเข้มสั่งทางไลน์กระตุ้นถึงอธิบดีทุกกรมในสังกัด  โหมโรงเร่งคลอดแผนคิกออฟอุ้มเกษตรกรทั่วประเทศ ต้องให้เสร็จภายในสิ้นเดือน มิ.ย.นี้

          แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร (หนี้นอกระบบ) ตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 9 สิงหาคม 2558 ที่พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับ กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาแนวทางการให้ความช่วยเหลือ ประชาชนผู้มีรายได้น้อยและมอบให้กระทรวงเกษตรฯดำเนินการ โดยใช้กลไกกองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจน ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรฯ

          ความคืบหน้าล่าสุดมีเกษตรกรได้ยื่นคำร้องมาแล้วทั้งสิ้น 8.56 หมื่นราย มูลหนี้รวม 1.54 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ทางกระทรวงได้ดำเนินการไกล่เกลี่ยจำนวน 8.26 หมื่นราย มูลหนี้ 1.51  หมื่นล้านบาท เจรจาสำเร็จ จำนวน 5.21 หมื่นราย มูลหนี้ 9.48 พันล้านบาท เจรจาไม่สำเร็จประมาณ 3 หมื่นราย มูลหนี้ 5.62 พันล้านบาท  ส่วนการปลดเปลื้องหนี้สิน จำนวน 1.32 หมื่นราย มูลหนี้ 1.72 พันล้านบาท จำแนกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ 1. ส่งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. พิจารณา จำนวน 8.53 พันราย มูลหนี้ 1.1 พันล้านบาท อีกด้านหนึ่งให้คณะอนุกรรมการช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจน(อชก.) ส่วนกลาง ได้มีมติอนุมัติเงินกู้จากกองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจนเพื่อให้กู้เกษตรกรจำนวน 4.67 พันราย มูลหนี้กว่า 600 ล้านบาทเพื่อแก้ไขจัดการหนี้ต่อไป

          แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยอีกว่า เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคมที่ผ่านมา นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการสั่งงานผ่านแอพพลิเคชันไลน์ ถึงอธิบดีทุกกรมในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ เพื่อให้เร่งรัดการดำเนินงานตามแผนเร่งด่วนที่ต้องแล้วเสร็จภายในวันที่ 30 มิถุนายนนี้ โดยมีนโยบายสำคัญๆ อาทิ ให้กรมส่งเสริมการเกษตร เร่งรัดดำเนินการจัดทำแผนการสนับสนุนปัจจัยการผลิตช่วงต้นฤดูการเพาะปลูกรายอำเภอ และจะต้องมีแผนเปิดตัวเพื่อให้บริการคำแนะนำเกษตรกร รวมทั้งแผนการเปิดตัวโครงการเกษตรแปลงใหญ่ด้วย ส่วนกรมการข้าว จะต้องบูรณาการกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร รวมถึงการจัดงานวันข้าวและชาวนาแห่งชาติ ระหว่างวันที่ 3-5 มิถุนายนนี้

          ขณะที่ กรมพัฒนาที่ดินและกรมชลประทาน จะต้องเร่งรัดส่งแผนที่และคู่มือ Agri-Map ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  อาทิ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ประสานกรมปศุสัตว์ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กรมการข้าว กรมพัฒนาที่ดิน กรมหม่อนไหม  เพื่อส่งมอบต่อให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) และกรมส่งเสริมสหกรณ์เร่งรัดดำเนินการนำร่องตามแผนปรับโครงสร้างการผลิตตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก Agri-Map พร้อมสั่งให้กรมปศุสัตว์เตรียมเปิดตัวโครงการนำร่องปรับโครงสร้างการผลิตเปลี่ยนจากพืชเกษตรเป็นการเลี้ยงสัตว์ นอกจากนี้ยังเร่งรัดให้จัดทำรายงานเสนอ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องข้อมูลที่ดิน ส.ป.ก. ทั่วประเทศแปลงใหญ่ที่ถูกบุกรุกที่จะใช้อำนาจตามมาตรา 44 ยึดกลับคืนมา

          "ยังมีเรื่องสำคัญ ๆ  อีกหลายเรื่องที่เร่งรัด เช่น การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ให้เร่งจัดทำแผนการบริหารจัดการยางพาราครบวงจรเพื่อเตรียมการเปิดฤดูกรีดยางใหม่ และให้กรมวิชาการเกษตร โอนทรัพย์สินและครุภัณฑ์ระหว่างกรมวิชาการเกษตรกับ กยท.ให้เรียบร้อย ส่วนกรมประมงเร่งรัดดำเนินการตามแผนการแก้ไขปัญหาการประมงผิดกฎหมาย เป็นต้น"

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 2 มิถุนายน 2559

จัดทำแผนที่ที่ดินโซนนิ่งพืชเศรษฐกิจผ่าน882ศูนย์ทั่วไทย

          กระทรวงเกษตรฯ แจงความคืบหน้าการจัดทำแผนที่เขตความเหมาะสมของที่ดินสำหรับปลูกพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิด ถ่ายทอดความรู้ผ่านศูนย์การเรียนรู้เพื่อพัฒนาการเกษตร 882 ศูนย์ทั่วประเทศ พร้อมสนับสนุนปัจจัยการผลิตหากเกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชที่เหมาะสม

          สุรพล จารุพงศ์ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากนโยบายของรัฐบาลที่จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (โซนนิ่ง) ให้เห็นเป็นรูปธรรมในพื้นที่ หน่วยงานต่างๆ ภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกันบูรณาการจัดทำแผนปฏิบัติการในการขับเคลื่อนการบริหารพื้นที่เกษตรกรรมทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมพัฒนาที่ดินดำเนินการขับเคลื่อนตามมาตรการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการเตรียมความพร้อมและประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ โดยเฉพาะการสร้างการรับรู้ของเกษตรกรในพื้นที่รอบๆ หรือในตำบลที่ตั้งศูนย์การเรียนรู้เพื่อพัฒนาการเกษตร (ศพก.) จำนวน 882 ศูนย์ซึ่งมีการชี้แจงให้เกษตรกรเห็นความสำคัญของการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม และรู้จักใช้ข้อมูลแผนที่ในพื้นที่ของตนเอง  ส่วนมาตรการที่สองสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กำหนดแนวโน้มความต้องการสินค้าเกษตรพืชเศรษฐกิจทั้ง 13 ชนิดที่สำคัญในปี 2559 คือ อ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน ข้าว ยางพารา มะพร้าว กาแฟ สับปะรด เงาะ ทุเรียน ลำไย และมังคุด ทำให้ทราบว่าพืชแต่ละชนิดมีความต้องการใช้ในประเทศปริมาณเท่าใด การส่งออกมีปริมาณมากน้อยเพียงใด

          ขณะที่ สุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้กรมพัฒนาที่ดินดำเนินการจัดทำแผนที่เขตความเหมาะสมของที่ดินสำหรับการผลิตสินค้าเกษตรสำหรับพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิดรายชนิดพืช ในระดับประเทศ ระดับจังหวัด และระดับอำเภอ และส่งมอบข้อมูลแผนที่ดังกล่าวให้แก่ศูนย์การเรียนรู้เพื่อพัฒนาการเกษตรนำไปใช้เป็นข้อมูลในการขับเคลื่อนและส่งเสริมในระดับพื้นที่ครบทั้ง 882 ศูนย์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ในส่วนภูมิภาคของหน่วยงาน ภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีการดำเนินการขับเคลื่อนการปฏิบัติ และส่งเสริมในพื้นที่เขตเหมาะสม (S1 และ S2) มีการอบรมให้เกษตรกรสามารถดูและใช้แผนที่ความเหมาะสมของที่ดินสำหรับพืชเศรษฐกิจในพื้นที่ของตนเองว่ามีความเหมาะสมในระดับใด หรือไม่เหมาะสมกับพืชชนิดใด  หากไม่เหมาะสมจะต้องปรับเปลี่ยนพื้นที่ไปทำการเกษตรด้านอื่น

จาก http://www.komchadluek.net วันที่ 2 มิถุนายน 2559

คลังปฏิรูปเศรษฐกิจครั้งใหญ่

ชี้ชะตาคนไทยอีก 16 ปีรายได้เดือนละ 4 หมื่น

คลังยันเดินหน้าปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ มั่นใจอนาคตอีก 16 ปี คนไทยมีรายได้เฉลี่ย 4 หมื่นบาทต่อเดือน คนจนที่สุดของประเทศมีรายได้ 1.5 หมื่นบาท ด้าน ธปท.จับตาความผันผวนเศรษฐกิจโลกส่งผลกระทบเงินทุนเคลื่อนย้ายและค่าเงินบาท “วิรไท” พร้อมเข็มมาตรการรองรับกรณีฉุกเฉิน

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “Moving Thailand Forward for Sustainable Growth” ในงานสัมมนา “Half Year Economic Outlook” ซึ่งจัดโดยธนาคารกรุงศรีอยุธยา เมื่อวานนี้ (1 มิ.ย.) ว่า ในช่วงที่ผ่านมา กระทรวงการคลังได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งระยะสั้น ปานกลางและระยะยาว ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจในไตรมาสแรก ขยายได้ถึง 3.2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) แสดงให้เห็นว่า มาตรการระยะสั้นของรัฐบาลได้ผล แต่สิ่งที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยมีเสถียรภาพ และมีความมั่นคงในอนาคตคือ มาตรการระยะปานกลางและระยะยาวจะต้องได้ผลด้วย ถึงจะทำให้เกิดการลงทุนจากภาคเอกชน

“ที่ผ่านมา มาตรการของรัฐบาลในเรื่องสนับสนุนการลงทุนออกมาจำนวนมาก ทั้งในเรื่องของการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคลรวมถึงมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนให้เกิดการลงทุน ซึ่งล่าสุด เมื่อวันที่ 31 พ.ค.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้ผู้ประกอบการสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่า หากมีการลงทุนใหม่แม้การก่อสร้างจะไม่เสร็จภายในปีนี้ก็ตาม ซึ่งเป็นมาตรการสนับสนุนการลงทุนที่รัฐบาลให้มากที่สุดแล้วในเวลานี้”

นายสมชัยกล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดในครั้งนี้ จึงไม่ใช่แค่การเปลี่ยนแปลงอย่างธรรมดา แต่ถือเป็นการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทย เพราะรัฐบาลมีความต้องการที่จะพัฒนาขีดความแข่งขันของประเทศไทยให้ทัดเทียมกับประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่การปฏิรูปในครั้งนี้ จะพึ่งพาการลงทุนของรัฐบาลจากโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องได้รับแรงสนับสนุนและการลงทุนจากภาคเอกชนมาเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ โดยเฉพาะ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมในอนาคต ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ หรือ S Curve เช่น อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ และยังนำระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรืออี-เพย์เมนต์ มาใช้ภายในปีนี้อีกด้วย เพื่อเปลี่ยนผ่านประเทศไทยให้รอดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่มีรายได้ขั้นสูง

 โดยตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มรายได้เฉลี่ยให้คนไทยในปี พ.ศ.2575 หรืออีก 16 ปีข้างหน้า ประชากรไทยจะมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อคนเดือนละ 40,000 บาท และคนที่จนที่สุดของประเทศจะมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อคน 15,000 บาท ซึ่งมีความเป็นไปได้ หากการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจในครั้งนี้ ประสบความสำเร็จ

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “บทบาทของ ธปท.ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านของเศรษฐกิจ” ว่าการเปลี่ยนผ่านของเศรษฐกิจในขณะนี้เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของภาครัฐ ผู้ดำเนินนโยบายและผู้ประกอบการ โดย ธปท.มองว่า การยกระดับโครงสร้างและความจำเป็นในการปฏิรูปเศรษฐกิจในระยะยาว มีความสำคัญกว่า การมองตัวเลขเศรษฐกิจในระยะสั้นๆ

สำหรับภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในขณะนี้เป็นการขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และเห็นการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้นเมื่อเทียบ 2 ปีที่ผ่านมา โดยมีการท่องเที่ยว และการใช้จ่ายภาครัฐเป็นตัวขับเคลื่อน ท่ามกลางภาวะตลาดเงินตลาดทุนโลกที่ยังคงมีความผันผวนสูงต่อเนื่องในช่วง 1-2 ปีต่อจากนี้ ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยยังคงมีปัจจัยเสี่ยงและความท้าทายใหม่ของเศรษฐกิจโลกหลายประการในระยะต่อไปที่จำเป็นต้องติดตาม และคาดว่า จะส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงเศรษฐกิจไทย เช่น การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และผลกระทบจากการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจีนต่อการส่งออกทั่วโลก การตัดสินใจคงอยู่ หรือออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ (Brexit) และธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้ออกมาส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า

“ปัจจัยเหล่านี้ยังคงสร้างความผันผวนต่อเนื่องให้กับเงินทุนเคลื่อนย้ายและค่าเงินบาท ซึ่งแนวทางของ ธปท.ในการดูแลค่าเงินบาทคือ การใช้เครื่องมือที่มีอยู่ดูแลไม่ให้ความผันผวนของค่าเงินบาทผันผวนเร็วและมากเกินไปจนกระทบต่อภาคธุรกิจ โดยดูตามปริมาณความต้องการซื้อขายเงินตราต่างประเทศ และกรณีค่าเงินบาทมีการเคลื่อนไหวอย่างรุนแรง หากมีความจำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการเพิ่มเติมเพื่อรองรับความผันผวนที่เกิดขึ้น ธปท.จะพิจารณาใช้มาตรการในการดูแลเงินทุนเคลื่อนย้ายและค่าเงินบาทอย่างเหมาะสม”.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 2 มิถุนายน 2559

ครม.อนุมัติ 3 โครงการอุ้มเกษตร

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังประชุมผู้บริหารกระทรวงฯ ว่า ครม.มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรฯ เสนอ 3 โครงการ วงเงิน 928.79 ล้านบาท โครงการแรก ขออนุมัติจัดหาเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี 8,000 ตันให้เกษตรกร เป้าหมาย 23 จังหวัด จำนวน 1,280 หมู่บ้าน 64,000 ครัวเรือน พื้นที่ 640,000 ไร่ ครัวเรือนละไม่เกิน 125 กิโลกรัม นำไปปลูกในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 10 ไร่ โดยใช้งบประมาณของกรมการข้าว 206 ล้านบาท

โครงการ 2 ขออนุมัติ ครม.ให้มีการปรับเปลี่ยนจากปลูกข้าวไปปลูกพืชที่หลากหลายในฤดูนาปรังปี 2560 โดยกรมส่งเสริมการเกษตรจะให้การส่งเสริมและสนับสนุน เป้าหมายเกษตรกร 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา จำนวน 60,000 ครัวเรือน พื้นที่ 300,000 ไร่ วงเงิน 636.52 ล้านบาท และโครงการ 3 สนับสนุนสินเชื่อให้กลุ่มชาวนาผู้ผลิตข้าวแบบแปลงใหญ่ปี 2559/2560 โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะสนับสนุนสินเชื่อวงเงิน 2,130 ล้านบาท ดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ต่อปีให้แก่สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชน

ทั้งนี้ พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวด้วยว่า วันที่ 1 มิถุนายนเป็นวันแรกของการเริ่มต้นโครงการเกษตรประชารัฐ หลังจากนี้ไป 882 ศูนย์เรียนรู้ทั่วประเทศจะต้องทำงานหนักขึ้นและผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ จะลงพื้นที่ไปเยี่ยมเกษตรกร รวมทั้งให้ความรู้ใหม่ๆ แก่เกษตรกรผ่านศูนย์เรียนรู้ทั่วประเทศ

ทั้งนี้จากสถานการณ์ฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่องในช่วงนี้ นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน รายงานว่ามีน้ำไหลเข้าเขื่อนทั่วประเทศแล้วประมาณ 400 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลัก เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อย และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ยังอยู่ในเกณฑ์น้อย เนื่องจากเพิ่งเข้าหน้าฝน

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวต่อว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศให้วันที่ 18 พ.ค.59 เป็นวันเริ่มต้นฤดูฝน ปี 2559 อย่างเป็นทางการนั้น ขณะนี้มีปริมาณฝนสะสมรายภาค (1-29 พ.ค.59) ทั่วทุกภาคมีปริมาณฝนตก ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย (ยกเว้นภาคใต้ฝั่งตะวันตก) และเมื่อเทียบกับปี 58 ทั่วทุกภาคจะมีปริมาณฝนตกสูงกว่าปี 58 (ยกเว้นภาคใต้ฝั่งตะวันออก)

ขณะที่สถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 31,255 ล้านลูกบาศก์เมตรหรือคิดเป็นร้อยละ 44 ของความจุอ่างฯ รวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 7,814 ล้านลูกบาศก์เมตร หากเปรียบเทียบกับปี 2558 ที่ผ่านมา ณ วันเดียวกันจะเห็นว่าในปีนี้มีปริมาณน้ำน้อยกว่าประมาณ 2,641 ล้านลูกบาศก์เมตร

ทั้งนี้เขื่อนขนาดใหญ่ทั้งประเทศ ยังสามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 39,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งได้กำชับให้ทุกโครงการชลประทานทั่วประเทศ เก็บกักน้ำไว้ในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ให้ได้มากที่สุด โดยให้สอดคล้องกับปริมาณฝนที่ตกลงมาและไม่กระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายเขื่อน พร้อมกันนี้ได้เร่งสั่งการให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เน้นปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเติมน้ำในเขื่อนโดยเฉพาะเขื่อนภูมิพล ซึ่งจะย้ายฐานปฏิบัติการจากหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.พิษณุโลกไปยัง จ.ตากอีกด้วย

จาก http://www.banmuang.co.th   วันที่ 2 มิถุนายน 2559

4 กระทรวงผนึกกำลังสัมมนาสร้างเชื่อมั่น!

  นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญกับกิจกรรมด้านการรับรองระบบงานและมาตรวิทยา (การทดสอบและการวัด) ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของระบบการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่ช่วยอำนวยประโยชน์ให้เกิดคุณภาพ สร้างความเชื่อมั่นในสินค้า บริการ การบริหารจัดการของภาคอุตสาหกรรมที่มุ่งสู่สมดุลในเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดย สมอ.เป็นหน่วยรับรองระบบงานของประเทศหน่วยหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศในด้านการตรวจสอบรับรอง สร้างการยอมรับร่วม ลดการตรวจสอบซ้ำจากประเทศคู่ค้า สร้างความเชื่อมั่นในผลการตรวจสอบและรับรองที่ดำเนินการในประเทศว่าเป็นไปตามมาตรฐานสากล

  นายธวัช ผลความดี เลขาธิการ สมอ. กล่าวว่า ในฐานะผู้แทนประเทศไทยในการเป็นสมาชิกขององค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการรับรองระบบงานและองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการรับรองห้องปฏิบัติการ ทั้ง 2 องค์การได้กำหนดให้วันที่ 9 มิถุนายนของทุกปีเป็น “วันรับรองระบบโลก (World Accreditation Day)” มาตั้งแต่ปี 2551

จาก http://www.banmuang.co.th   วันที่ 2 มิถุนายน 2559

ภัยแล้งดันเงินเฟ้อพ.ค.สูงสุด17เดือน

                    ภัยแล้งดันเงินเฟ้อพ.ค.สูงสุดรอบ 17 เดือน เพิ่มขึ้น 0.46% แต่เฉลี่ย 5 เดือนเงินเฟ้อยังลด 0.20% พาณิชย์คงเป้าหมายเงินเฟ้อทั้งปี 0.0-1.0% ตามเดิม                                         

                    นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อ) เดือนพ.ค.ที่ผ่านมา เท่ากับ 107.02 สูงขึ้น 0.46% เทียบกับพ.ค. 59 เมื่อเทียบกับเดือนเม.ย. 59 เงินเฟ้อสูงขึ้น 0.56% ถือว่า เป็นการปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และเติบโตสูงที่สุดในรอบ 17 เดือน หรือ 1 ปี 5 เดือน นับตั้งแต่เดือนธ.ค.57 ที่เงินเฟ้อขยายตัว 0.60%  แต่ทั้งนี้ เมื่อดูเงินเฟ้อเฉลี่ยช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา ยังลดลง 0.20% ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน ไม่รวมอาหารและเชื้อเพลิง เท่ากับ 106.58 สูงขึ้น 0.05% จากเดือนเม.ย. 59 และสูงขึ้น 0.78% จากพ.ค. 58 หรือเฉลี่ย 5 เดือนสูงขึ้น 0.72%

ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น 0.46% เพราะปัญหาภัยแล้ง ที่ทำให้ราคาสินค้าเกษตรหลายรายการ เพิ่มสูงขึ้น โดยดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เพิ่มขึ้น 2.97% อาทิ ผักสดเพิ่มขึ้น 27.16% เนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ เพิ่มขึ้น 2.37% ไข่และผลิตภัณฑ์นม เพิ่มขึ้น 2.20% อาหารบริโภคนอกบ้านเพิ่มขึ้น  0.88% อาหารบริโภคในบ้านเพิ่มขึ้น 1.07% เครื่องประกอบอาหารเพิ่มขึ้น 0.31% แต่อย่างไรก็ดี ดัชนีหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มนั้น ลดลง 0.94%  โดยน้ำมันเชื้อเพลิง ลดลง 9.32%  ส่วนสินค้าที่ราคาแพงขึ้น เช่น หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เพิ่มขึ้น 13.15% จากการเก็บภาษีสรรพสามิตบุหรี่

สำหรับเงินเฟ้อทั้งปีนี้ กระทรวงพาณิชย์ ยังประมาณการเท่าเดิม คือ ขยายตัวระหว่าง 0.0-1.0% ภายใต้สมมุติฐานเศรษฐกิจโต 2.8-3.8% น้ำมันดิบตลาดดูไบ ราคา 30-40 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยน 36-38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และยังมีปัจจัยหนุนคือ การลงทุนภาครัฐ ที่จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่อง สถานการณ์น้ำมันในตลาดเริ่มคลี่คลาย ความต้องการน้ำมันในตลาดโลกยังสูง

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2559

กำจัดหนอนกออ้อยฉบับสระแก้ว

ปีนี้คนปลูกอ้อยบ้านเราเหนื่อยหนัก กับปัญหาอ้อยไม่หวาน ราคาไม่ดี ผลผลิตน้อยจากปัญหาภัยแล้ง แถมมีหนอนกออ้อยระบาดหนัก

โดยเฉพาะ จ.สระแก้ว พื้นที่ปลูกอ้อยกว่า 380,000 ไร่ เคยสร้างรายได้ให้เกษตรกรกว่าปีละ 4,000 ล้านบาท มีหนอนกออ้อยระบาดเกือบ 100,000 ไร่ ในจำนวนนี้ระบาดรุนแรงแล้วราว 10,000 ไร่ ถ้าไม่รีบจัดการ คงยากที่จะควบคุม ยิ่งฝนมาช้าด้วยแล้ว ยิ่งจะมีปัญหาหนัก

เพราะวิธีแก้ปัญหาแต่เดิม ต้องรอฝน หนอนพวกนี้ก็จะหายไป เพราะฝนไม่เอื้อต่อการวางไข่ของผีเสื้อกลางคืน แต่ปีนี้ต่างออกไป ร้อนจัดเป็นประวัติการณ์...ไม่เพียงจะปลุกเร้าสัญชาตญาณการเอาตัวรอดของแมลงที่ต้องสืบเผ่าพันธุ์ ร้อนแล้ง แมลงมีพืชให้กินน้อยลง อ้อยเลยเป็นเป้าล่ออย่างดี

อีกวิธีการแก้ปัญหา ฉีดพ่นสารเคมี ไซเปอร์เมทริน หรือคลอร์ไพริฟอส แต่วิธีนี้เกษตรกรต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายไร่ละ 500 บาท แถมต้องฉีดถึง 3 รอบ เพราะเมื่อฤทธิ์ยาหมด มันก็มาใหม่ เสี่ยงต่อการเกิดสารตกค้าง...ปลูกอ้อยแค่ 10 ไร่ ต้นทุนเพิ่มไปอีกเท่าไร ลองบวกลบคูณหารกันเอง

อีกอย่างฉีดพ่นยาไปแล้ว ศัตรูธรรมชาติของหนอนกออ้อย อย่างแมลงช้างหนีบ แตนเบียน พลอยตายไปด้วย

ด้วยเหตุนี้ บริษัท ดูปองท์ (ประเทศไทย) เลยร่วมกับ จ.สระแก้ว บริษัทน้ำตาลและอ้อยตะวันออก จำกัด (มหาชน) สมาคมเกษตรกรชายแดนบูรพา ทดลองใช้เคมีภัณฑ์ที่วิจัยและพัฒนา เพื่อกำจัดหนอนกออ้อยโดยเฉพาะ “พรีวาธอน” ถือเป็นผลิตภัณฑ์ตัวแรกที่ขึ้นทะเบียนได้ในอ้อย

และจากการทดลองใช้จริงในแปลงของเกษตรกร ที่ทำมาแล้วก่อนหน้านี้ ปรากฏว่า สามารถกำจัดหนอนกออ้อยได้เป็นอย่างดี ไม่ทำลายแมลงช้างหนีบ แตนเบียน แถมไร้สารตกค้าง ใช้เพียงครั้งเดียวหนอนกออ้อยก็ไม่สามารถมาก่อกวนไร่อ้อยได้อีก

ยิ่งใช้ควบคู่กับศัตรูธรรมชาติ ยิ่งเห็นผล เพราะมีฤทธิ์ทำลายหนอนในต้นอ้อยโดยตรง ส่วนแมลงช้างหนีบและแตนเบียน ยังมีชีวิตช่วยกำจัด ไข่หนอนตามใบอ้อยได้ตามธรรมชาติ.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2559

“ครม.” ขยายเวลาโครงการช่วยเหลือเกษตรกรรับผลกระทบภัยแล้งปี 58 - 59

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอดังนี้ 1. ขยายระยะเวลาการปฏิบัติงานโครงการแผนพัฒนาอาชีพตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาภัยแล้งปี 2558/59 และการเบิกจ่ายงบประมาณของชุมชนและศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล (ศอบต.) จากวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 เป็นวันที่ 31 กรกฎาคม 2559

2. ให้กรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการสรุปผลการปฏิบัติงานโครงการฯ และการเบิกจ่ายงบประมาณให้ดำเนินการแล้วเสร็จภายในวันที่ 30 กันยายน 2559 และ 3. ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด มีอำนาจอนุมัติการปรับเปลี่ยนแผนการปฏิบัติงานโครงการและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ โดยยึดวัตถุประสงค์ กิจกรรม และอัตราการจ้างแรงงานของโครงการเดิมทุกประการ และต้องอยู่ภายใต้วงเงินงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรและการปฏิบัติให้ยึดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามคู่มือโครงการดังกล่าว กรณีที่ไม่มีข้อกำหนดไว้ในคู่มือให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาวิกฤติภัยแล้ง ปี 2558/59 พิจารณาอนุมัติ

จาก http://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ตัวเลขขอตั้งโรงงาน5เดือนวูบ ชี้สาเหตุวันหยุดยาวเยอะ ‘พสุ’มั่นใจทั้งปีโตถึง5%

นายพสุ โลหารชุน อธิบดี กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยตัวเลขการขอใบอนุญาต(รง.4) และขยายกิจการช่วง 5 เดือนแรกปี 2559 (1.ม.ค.- 27 พ.ค.)ว่า มีจำนวนโรงงานทั้งสิ้น 1,914 โรงงาน ลดลงช่วงเดียวกันในปี 2558 ที่มีอยู่ที่ 2,033 โรงงาน หรือ ลดลง 5.85% ขณะที่มูลค่าการลงทุนอยู่ที่ 1.85แสนล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2558 ที่อยู่ที่ 2 แสนล้านบาท หรือลดลง 7.54%

ขณะที่ยอดการเปิดกิจการใหม่ และขยายกิจการในเดือนพ.ค.(1พ.ค.- 27พ.ค.)มีจำนวน 317โรงงาน ลดลง  27.95% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่มีอยู่ 440 โรงงาน ขณะที่มูลค่าการลงทุน 2 หมื่นล้านบาท  ลดลง 35.10% เมื่อเทียบกับปีก่อน อยู่ที่3.08 หมื่นล้านบาท  มีการจ้างงาน 9,559 คน ลดลง 33.49% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 1.43 หมื่นคน

โดยอุตสาหกรรมที่มีจำนวนเปิดกิจการใหม่และขยายกิจการที่มีมูลค่ามากที่สุดในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2559 ได้แก่การผลิตยานพาหนะ และอุปกรณ์รวมทั้งการซ่อมยานพาหนะและอุปกรณ์ มูลค่าการลงทุน 6.9 หมื่นล้านบาท ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ 2.9 หมื่นล้านบาท  อุตฯอาหาร 2 หมื่นล้านบาท ผลิตภัณฑ์จากพืช 1 หมื่นล้านบาท ผลิตภัณฑ์โลหะ 9.4 พันล้านบาท เป็นต้น

“ยอดขอ รง.4 และขยายกิจการในช่วง 5 เดือนแรกลดลง แต่ก็ไม่มากนัก อาจะมาจากในช่วงต้นปีที่มีวันหยุดยาวและจำนวนมาก ทำให้ยอดขอใบ รง.4 ไม่สูงนักแต่เมื่อเข้าสู่ครึ่งปีหลังก็จะมีการขอที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี สังเกตจากยอดตัวเลขทั้งปีของปีที่ผ่านๆ มาเฉลี่ยอยู่ที่ 5.5 – 6 พันโรงงาน มูลค่าการลงทุนอยู่ที่ 6 แสนล้านบาท และเชื่อว่าในปีนี้ยอดการขอใบ รง.4 อาจจะสูงขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากภาครัฐมีนโยบายและมาตรการกระตุ้นการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น อย่างเช่น นโยบายการพัฒนาคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต, ไทยแลนด์ 4.0 อินดัสเทรียล4.0 เป็นต้น ซึ่งโครงการดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นมากขึ้น ทำให้คาดว่าในปีนี้การขอ รง.4 และขยายกิจการน่าจะใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาหรือโตขึ้นประมาณ 5%” นายพสุ กล่าว

ทั้งนี้พบว่าจำนวนแรงงานเริ่มมีแนวโน้มที่ลดลง เนื่องจากรัฐบาลมีการผลักดันและมีนโยบายสนับสนุนให้มีการลงทุนในด้านของเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ทำให้มีการใช้แรงงานที่ลดลง แต่แรงงานที่มีทักษะจะมีความต้องการมากขึ้นในอนาคตซึ่งสอดคล้องกับ New S- curve ที่ภาครัฐเร่งขับเคลื่อน ทั้งอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมดิจิตอล เป็นต้น

สำหรับการแจ้งประกอบ และเริ่มส่วนขยายโรงงานในช่วง 5 เดือนแรกของปีพบว่า มีจำนวน 1,570 โรงงาน ลดลง  24.59% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (2,080 โรงงาน)  มูลค่าการลงทุน 1.94 แสนล้านบาท ลดลง  0.51% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (1.95 แสนล้านบาท)

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) วันที่1 มิ.ย.2559 สำนักงานกสทช.ได้เสนอวาระผลสรุปในการตรวจสอบความเสียหาย กรณีที่ บริษัทแจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัดละทิ้งใบอนุญาตหลังชนะการประมูล4G บนคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์(MHz)

ทั้งนี้ คณะทำงานตรวจสอบความเสียหายแจส ที่มี นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์อธิบดีสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตเป็นประธานได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 24 พ.ค. ที่ผ่านมาสรุปแล้วว่าจะเรียกค่าเสียหายแจสจำนวน 131 ล้านบาท เพิ่มเติมจากที่สำนักงานกสทช.ยึดเงินประกันการประมูลจำนวน 644 ล้านบาท

“การเรียกเก็บความเสียหายจากแจสในจำนวน 131 ล้านบาท เป็นจำนวนที่น้อยเกินจริง เพราะต้องนำเอาค่าเสียโอกาสในการเปิดประมูล 4Gที่ล่าช้าออกไปมาคำนวณด้วย นอกจากนี้ ยังต้องพิจารณาค่าใช้จ่ายในการจัดประมูลคลื่น 900 ครั้งก่อน และครั้งล่าสุดที่จัดไปเมื่อวันที่ 27 พ.ค.มาประกอบด้วย ล่าสุดค่าเสียหายที่เรียกจากแจสนั้น จะเสนอต่อบอร์ดกทค.จะมากกว่ามูลค่าที่คณะกรรมการตรวจสอบความเสียหายสรุปมาอย่างแน่นอน แต่ยังขอไม่เปิดเผยตัวเลขเพราะต้องให้เกียรติบอร์ดและคณะกรรมการฯด้วย” นายฐากร กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมบอร์ดกทค.ด้วย โดยมีวาระที่น่าจับตาคือเรื่องการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งกำหนดมาตรการบังคับทางปกครองกรณี บริษัทแอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัดบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด และ บริษัททรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่นจำกัดไม่ปฏิบัติตามประกาศหลักเกณฑ์บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่และเงื่อนไขแนวทางปฏิบัติการโอนย้ายผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้ให้บริการด้วย

จาก http://www.naewna.com วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ผวาวิกฤติเศรษฐกิจโลก ลากส่งออกไทยดิ่งเหว4ปีติดต่อกัน-ธปท.ยาหอมไทยฟื้นตัวอย่างช้าๆ

สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือ เผยส่งการออกไทยปี’59 อาจติดลบเป็นปีที่ 4 ต่อเนื่อง เหตุเศรษฐกิจโลกมีโอกาสเข้าสู่ภาวะชะงักงันหรือถึงเกิดวิกฤติ หากมาตรการต่างๆ ของประเทศยักษ์ใหญ่ไม่คืบหน้า ซ้ำภาวะความผันผวนของค่าเงินจะเป็นปัจจัยลบสำคัญในช่วงครึ่งปีหลัง ส่วนแบงก์ชาติ ปลอบขวัญ แจงหลายปัจจัยบวกช่วยศก.ไทยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป

นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) หรือสภาผู้ส่งออกเปิดเผยว่า การส่งออกในเดือน เม.ย. 2559 ติดลบอย่างมาก จนน่าตกใจ ผิดจากที่คาดการณ์ไว้มาก โดยมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 15,545 ล้านเหรียญสหรัฐลดลง 8% เมื่อเทียบเดือน เม.ย. 2558 ซึ่งการส่งออกเดือน เม.ย. 2559 มีมูลค่าน้อยที่สุดในรอบ 6 ปี เมื่อนับเฉพาะเดือนเม.ย. ของปีที่ผ่านๆมา และหากหักการส่งออกทองและอาวุธซึ่งเป็นสินค้าไม่สะท้อนการส่งออกที่แท้จริงออก ตัวเลขการส่งออกจะติดลบติดต่อกันเป็นเดือนที่ 17 ขณะที่ 4 เดือนแรกของปี(ม.ค.-เม.ย.) ส่งออกติดลบ 1.24% เมื่อหักส่งออกทองคำและอาวุธ จะติดลบ5.36% ซึ่งมองว่าการที่ส่งออกลดลงนั้น เป็นผลมาจากการค้า และเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1 ยังไม่ฟื้นตัวปัญหาเศรษฐกิจในจีน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป(อียู) รวมถึงการไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) สะท้อนเศรษฐกิจยังมีปัญหา การจะออกจากอียูของอังกฤษ การก่อการร้าย ภัยธรรมชาติ และความขัดแย้งทางการเมืองในหลายภูมิภาคล้วนเป็นปัจจัยบั่นทอน

ทั้งนี้สภาผู้ส่งออกยังคงเป้าการส่งออกปี 2559 จะขยายตัวได้ 0 ถึง 2% โดยเป็นการคงตัวเลขคาดการณ์ไว้ก่อน จนกว่าจะเห็นตัวเลขการส่งออกที่ชัดเจนในไตรมาสที่ 2 ซึ่งอาจมีการปรับเป้าใหม่ แต่ทั้งนี้หากในเดือนมิ.ย. นี้ เศรษฐกิจโลกยังไม่เริ่มดีขึ้น และปัจจัยลบต่างๆ ยังคงทวีความรุนแรง รวมถึงหากนานาประเทศไม่สามารถปฏิรูปเศรษฐกิจและร่วมมือแก้ปัญหาจริงจังได้ โลกอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยและเกิดวิกฤติเศรษฐกิจอีกครั้ง นั่นอาจส่งผลให้ไตรมาส 2 นี้ การส่งออกไทยอาจติดลบ 2 ถึง 0% และทั้งปีนี้การส่งออกไทยอาจติดลบต่อกันเป็นปีที่ 4 ดังนั้นภาครัฐ และคณะประชารัฐที่ขับเคลื่อนส่งออก ควรทบทวนผลงานใน 6 เดือนที่ผ่านมาว่ามีข้อดีและด้อยอย่างไรจากที่เดินหน้าเจรจาการค้า และจัดกิจกรรมทางธุรกิจ นำมาปรับใช้กับปัจจุบัน เพราะหากรัฐและคณะประชารัฐไม่ทำอะไรเลย การส่งออกคงเป็นบวกได้ยาก

สำหรับค่าเงินที่ยังคงผันผวน ทั้งจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีกรอบของเฟด จีนนำเงินหยวนเข้าเป็นสกุลหลักของโลกในการค้าและแลกเปลี่ยน อียูอาจมีมาตรการผ่อนคลายทางการเงินอีกรอบ ปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลต่อค่าเงินบาทให้ผันผวน ซึ่งมองว่าทั้งปีนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวเฉลี่ยในกรอบ 34-36.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ

“จากภาวะที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวไทยควรเร่งปฏิรูปการส่งออกและการค้าของประเทศ โดยต้องมีแผนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการค้าเพื่อรองรับการแข่งขันตามแผนยุทธศาสตร์ในการผลักดันการส่งออกปี 2559 ให้เป็นรูปธรรมทุกด้านอย่างชัดเจนและนำไปปฏิบัติได้จริงที่จะช่วยส่งเสริมให้ภาคการส่งออกไทยกลับมาดีขึ้นและเห็นว่าภาครัฐควรจะมีการทบทวนมาตรการต่าง ๆ ที่ใช้อยู่อย่างเร่งด่วน ไม่ควรปล่อยให้เอกชนเป็นผู้แก้ไขปัญหาและดำเนินการเองฝ่ายเดียว”

ด้านนางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/2559 คาดว่ายังคงฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องจากไตรมาสแรกที่ขยายตัว 3.2%จากการท่องเที่ยวและการลงทุนภาครัฐเป็นปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญ ส่วนทั้งปีนั้นจะปรับประมาณการอีกครั้งในสิ้นเดือนนี้ จากปัจจุบันที่คาดว่าจะขยายตัว 3.1% ทั้งนี้ทางธปท.ยังต้องติดตามตัวเลขเศรษฐกิจเพื่อประกอบการพิจารณาในการปรับประมาณการ อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เหลือของปีนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตามอง คือ เศรษฐกิจจีน และเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง และการส่งออกที่ยังน่าเป็นห่วง

ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจไทยในเดือนเมษายน 2559 ที่ผ่านมาขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีแรงส่งจากภาคบริการ โดยเฉพาะจากภาคการท่องเที่ยวที่เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศขยายตัว 9.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยส่วนหนึ่งได้รับประโยชน์จากการขยายเส้นทางการบินระหว่างประเทศของสายการบินต้นทุนต่ำ

ส่วนภาคการส่งออกในเดือนเมษายนที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยหดตัว 7.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่หากหักผลของการส่งออกทองคำที่มีมูลค่า 289 ล้านดอลลาร์แล้ว มูลค่าการส่งออกหดตัวในอัตราเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 7.9% โดยการส่งออกยังคงหดตัวสูงในหลายหมวดสินค้า เช่น ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ปิโตรเคมี และเคมีภัณฑ์ ซึ่งหดตัวทั้งด้านราคาและปริมาณ เนื่องจากราคายังอยู่ในระดับต่ำตามราคาน้ำมันดิบและปริมาณยังคงได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและอาเซียน

ขณะที่การนำเข้าในเดือนเมษายนติดลบ 13.4%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าที่หดตัวสูง คือ หมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง ซึ่งหดตัวสูงจากมูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบและเคมีภัณฑ์ตามทิศทางราคาในตลาดโลก ด้านดุลการค้าในเดือนเมษายนยังเกินดุล 2.5 พันล้านดอลลาร์ จากมูลค่าการนำเข้าที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนเกินดุล 0.7 พันล้านดอลลาร์โดยหลักมาจากรายรับภาคการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวดี ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 3.2 พันล้านดอลลาร์

อย่างไรก็ตาม ด้านการบริโภคภาคเอกชน โดยรวมค่อนข้างทรงตัวจากเดือนก่อน แม้การใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนขยายตัว 0.9% จากเดือนก่อน จากการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง และการใช้จ่ายในสินค้าอุปโภคบริโภคที่สะท้อนจากดัชนีสินค้าอุปโภคบริโภคหมุนเวียนเร็ว แต่ครัวเรือนยังระมัดระวังในการใช้จ่าย สะท้อนจากรายได้เกษตรกรที่อยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับรายได้นอกภาคเกษตรที่ลดลงจากเดือนก่อน รวมถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ยังไม่ฟื้นตัว เนื่องจากยังมีความกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ภาวะภัยแล้งและหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้การใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนหดตัว 4.1% จากเดือนก่อน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ภัยแล้งกระทบจีดีพี 0.1%

คลังมั่นใจการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวเป็นบวก

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ภัยแล้งปี 2559 ที่เกิดขึ้น กระทบต่อจีดีพี ประมาณ 0.1% โดยกระทรวงการคลัง ได้ออกมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยเพื่อบรรเทาผลกระทบ แต่อย่างไรก็ตาม ผลจากการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ทำให้จีดีพี ไตรมาส 1 ที่ผ่านมาขยายตัวได้ดีที่ประมาณ 3.2% และในช่วงไตรมาส 2-3 ก็จะทยอยออกมาตรการอีก

  ขณะที่การลงทุนของภาคเอกชนนั้น ก็มีมาตรการภาษีเพื่อที่จะส่งเสริมให้เกิดการลงทุน ซึ่งเชื่อว่าในปีนี้การลงทุนของภาคเอกชน จะขยายตัวเป็นบวกที่ประมาณ 3% หลังจากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาหดตัว พร้อมระบุว่าการเมืองที่มีเสถียรภาพ ก็จะช่วยทำให้เศรษฐกิจไทย ปี 59 ขยายตัวได้ 3.3%

  น.ส.กุลยา กล่าวว่า ส่วนการส่งออก เม.ย. ที่ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ ประกาศตัวเลขออกมาติดลบ 8% สะท้อนให้เห็นว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกยังคงเปราะบาง แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ก็ถือว่าไทยติดลบน้อยกว่า

  ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานว่า ภาวะเศรษฐกิจเดือน เม.ย.59 ขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีแรงส่งที่ดีจากภาคบริการ ขณะที่ภาคการผลิตยังขยายตัวค่อนข้างต่ำ เพราะการส่งออกสินค้ายังคงซบเซาตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ ประกอบกับกำลังซื้อภายในประเทศได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ส่งผลต่อเนื่องให้การลงทุนภาคเอกชนยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ต่อเนื่องอย่างชัดเจน สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐแผ่วลงเล็กน้อยหลังจากที่เร่งไปมากในเดือนก่อน

  ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับมาเป็นบวกเล็กน้อยตามการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารสดและราคาน้ำมัน อัตราการว่างงานทรงตัวจากเดือนก่อน ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล จากมูลค่าการนำเข้าที่อยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับรายได้จากภาคการท่องเที่ยวที่ดี

  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานในการประชุม โดยจะมีการพิจารณาวาระที่สำคัญ ได้แก่ กระทรวงการคลัง เสนอพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ หรือ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยสาระสำคัญ ของร่างนี้จะไม่เก็บภาษีกับบ้านหลังแรก ที่ใช้เพื่ออยู่อาศัย เนื่องจากเป็นปัจจัยดำรงชีพขั้นพื้นฐาน เบื้องต้นการจัดเก็บภาษีจะกำหนดราคาบ้านที่อยู่อาศัยที่มูลค่าเกินระดับหนึ่งให้เสียภาษี แต่จะเป็นอัตราที่ไม่สูง ส่วนบ้านที่ไม่ใช้อาศัยแต่ให้คนอื่นเช่าหรือใช้สำหรับพักตากอากาศจะต้องเสียภาษีในอัตราปกติ โดยคาดว่าหากมีการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะทำให้รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้ รายได้เพิ่มขึ้น 3-4 หมื่นล้านบาท

  ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะเสนอปรับปรุงมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศจากเดิมที่กำหนดให้เป็นโครงการลงทุนที่เริ่มและแล้วเสร็จเฉพาะในปี 59 จึงจะสามารถนำมาหักลดหย่อนภาษี 2 เท่า เป็นโครงการที่เริ่มลงทุนในปี 2559 แต่ไม่จำเป็นต้องเสร็จภายในปีเดียว เช่นลงทุน 5 ปี ก็สามารถไปใช้สิทธิหักลดหย่อนภาษีเมื่อโครงการเสร็จก็ได้ เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้โครงการลงทุนขนาดใหญ่ ได้ใช้สิทธิภาษีในโครงการดังกล่าวของรัฐบาลด้วย นอกจากนี้ยังเสนอให้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์อีกด้วย

  ขณะที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเสนอที่ประชุม ครม.พิจารณาการลดหย่อนค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม, เสนอแนวทางการช่วยเหลือในการทำเกษตรแปลงใหญ่ โดยจะให้เกษตรกรที่มีการรวมตัวเป็นเกษตรแปลงใหญ่และผ่านเงื่อนไขของกระทรวง สามารถกู้เงินในอัตราดอกเบี้ย 0.1% ผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รวมทั้งจะขอความเห็นชอบใช้งบกลางวงเงิน 206 ล้านบาท จากทั้งหมดเกือบ 3 พันล้านบาท เพื่อแจกเมล็ดพันธุ์ข้าว 8 พันตัน ช่วยเหลือเกษตรกรปลูกข้าวคุณภาพดี หลังประสบปัญหาภัยแล้ง ส่งผลให้พันธุ์ข้าวของเกษตรกรด้อยคุณภาพอีกด้วย

  นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการจัดงานแสดงสินค้า “ไทยเฟ็กซ์-เวิลด์ ออฟ ฟู้ด เอเชีย 2559” (THAIFEX-World of Food Asia 2016) ว่า “ภายในงาน มีเงินสะพัดกว่า 9,641 ล้านบาท โดยมีมูลค่าการซื้อขายภายในวันเจรจาธุรกิจ 3 วันแรก (25-27 พ.ค.59) กว่า 9,558 ล้านบาท ในมูลค่านี้มียอดซื้อขายทันที 1,559 ล้านบาท คาดการณ์ยอดขายภายใน 1 ปีประมาณ 7,999 ล้านบาท และสำหรับยอดขายปลีกภายในงาน (28-29 พ.ค.59) กว่า 83 ล้านบาท”

 “นอกเหนือจากผู้เข้าชมงานที่เพิ่มขึ้นอย่างมากแล้ว กรมฯ ยังให้บริการอำนวยความสะดวกการจับคู่เจรจาธุรกิจผ่าน Thaitrade.com ระหว่างวันที่ 25-27 พ.ค.59 ที่ผ่านมา เกิดการเจรจาธุรกิจแล้ว 326 คู่ โดยมี Seller 262 ราย และ Buyer 83 ราย จากกว่า 40 ประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย เบลเยียม บรูไน แคนาดา จีน อินเดีย ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นต้น

  ในภาพรวมมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 150,000 ราย เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 7.32% แบ่งเป็นภาคเอกชนและผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมอาหาร (Trade Visitors) 40,488 ราย เพิ่มขึ้น 23.93% ขณะที่บุคคลทั่วไปมีจำนวนกว่า 100,000 ราย ทั้งนี้มีจำนวนผู้เข้าชมงานจากทั่วโลก 113 ประเทศ และ 10 ประเทศแรกที่เข้าชมงานสูงสุด ได้แก่ มาเลเซีย จีน สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง เวียดนาม สหรัฐอเมริกา ฟิลิปปินส์ และอินเดีย เป็นต้น

จาก http://www.banmuang.co.th วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2559