http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล(เดือนมิถุนายน 2560)

ทย-เมียนมา พร้อมดันโครงการเขตเศรษฐกิจทวาย

 ไทย-เมียนมา นัดประชุมคณะกรรมการเจซีซี พร้อมแสดงเจตจำนงที่จะร่วมพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่รองรับการลงทุนของภาคเอกชนโดยเร็ว 

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม และประธานคณะกรรมการประสานงานร่วมระหว่างไทย-เมียนมา เพื่อพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย และพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้อง (เจซีซี) กล่าวว่า การประชุมเจซีซี วันนี้ (30 มิ.ย.) ซึ่งถือเป็นการประชุมครั้งแรก หลังจากที่เมียนมาได้มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้น ทั้ง 2 ฝ่าย ได้แสดงเจตจำนงที่จะร่วมพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่รองรับการลงทุนของภาคเอกชนโดยเร็ว

ขณะเดียวกันที่ประชุมยังเห็นชอบที่จะเร่งพัฒนาถนน และพัฒนาโครงการทวายระยะแรก ให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว ด้วยการตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจขึ้น 2 ชุด คือ คณะทำงานเฉพาะกิจว่าด้วยการพัฒนาถนน และคณะทำงานเฉพาะกิจว่าด้วยการพัฒนาโครงการทวายระยะแรก เพื่อหารือรายละเอียด และจัดทำแผนงาน กรอบเวลา และแนวทางการดำเนินงานมาเสนอเจซีซีอีกครั้งภายใน 3 เดือน

จาก https://www.dailynews.co.th  วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ฝนหลวงฯ ปรับตัวเตรียมความพร้อมบุคลากรสู่การเป็น "Smart Officer"

 กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จัดโครงการฝึกอบรมความรู้เกี่ยวเกี่ยวกับพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 เพื่อให้บุคลากรปรับตัวและตอบรับการเปลี่ยนแปลงสู่การเป็น "Smart Officer"

วันนี้ (30 มิ.ย.60) นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ตามนโยบาย "Smart Officer" ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ให้ความสำคัญกับบุคลากรในการเสริมสร้างสมรรถนะด้านผู้นำยุคใหม่ที่ทันสมัย มีอุดมการณ์และจิตสำนึกการเป็นข้าราชการที่ดี มีคุณธรรม จริยธรรม สามารถเข้าใจนโยบายของรัฐบาลและนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการปฏิบัติงานที่เชื่อมโยงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งยังช่วยให้การปรับตัวกับบริบทที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และมีศักยภาพตรงตามสมรรถนะความสามารถของบุคลากร กรมฝนหลวงและการบินเกษตรจึงได้มีการฝึกอบรมโครงการเรื่อง “ความรู้เกี่ยวกับพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และร่างระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความรู้ และสามารถปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้อง โดยการอบรมตามโครงการดังกล่าวจะช่วยให้บุคคลากรพัฒนาทักษะการทำงานด้านระเบียบพัสดุ เพื่อให้การดำเนินการในเรื่องเกี่ยวกับพัสดุของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เป็นไปด้วยความคล่องตัว ถูกต้อง ครบถ้วน สามารถตอบรับนโยบายขององค์กรได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งสอดรับกับนโยบาย "Smart Officer" ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ต้องการให้บุคลากรสามารถปรับตัวและเรียนรู้กับบริบทที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า ทั้งนี้ พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2560 และจะมีผลบังคับใช้ 180 วัน นับแต่วันที่ประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา ซึ่งตรงกับในวันที่ 23 สิงหาคม 2560กรมฝนหลวงและการบินเกษตรจึงต้องการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความเข้าใจ และพร้อมรับกับกฎระเบียบที่เปลี่ยนแปลง และสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใส ให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะด้านการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุที่เป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งของการบริหารงานขององค์กร

จาก http://www.siamrath.co.th   วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ายงานพิเศษ : พด.หนุนจัดตั้งธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ในพื้นที่ ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มรายได้เกษตรกร

นายสุทิน ทองเอ็ม เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ชาวสุโขทัย เปิดเผยว่า ได้ศึกษาและทดลองการดำเนินกิจกรรมไร่นาสวนผสมด้วยตนเอง โดยในระยะแรกทำในพื้นที่ของครอบครัวเป็นหลัก และดูแบบอย่างที่ประสบผลสำเร็จมาปรับใช้ในแปลงของตนเอง เน้นการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาปรับใช้ในชีวิตเพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ในปัจจุบัน ด้วยการ “ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก” เพื่อลดความเสี่ยงและอยู่รอดได้โดยไม่ต้องพึ่งพาใคร

การผลิตลดความเสี่ยงจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว มีรายได้ต่อเนื่องและยั่งยืน เน้นการทำการเกษตรปลอดสารพิษ มีการใช้น้ำหมักชีวภาพ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอกปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ดจากกลุ่ม ทำให้ปลอดภัยทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ที่สำคัญมีบ่อเก็บกักน้ำไว้ใช้อุปโภคและเพื่อการเกษตรได้ตลอดปีปัจจุบันเป็นแหล่งเรียนรู้แปลงไร่นาสวนผสมตัวอย่างของเกษตรกรในชุมชนและข้างเคียง และได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมจากสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 9 จังหวัดพิษณุโลก และสำนักงานเกษตรจังหวัดสุโขทัย ให้เป็นศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) เพื่อเป็นแหล่งถ่ายทอดองค์ความรู้แก่ชุมชนอีกด้วย

“เราต้องเปลี่ยนเรือกสวนไร่นาให้กลายเป็นห้างสรรพสินค้า เพื่อให้คนมาเดินซื้อหาได้เอง เกษตรกรจะได้ไม่ต้องเสียเวลาในการเก็บ และเสียเวลาในการนำผลผลิตออกไปขาย โดยได้มีการจัดสรรที่ดินของตัวเองที่มีอยู่ประมาณเกือบ 30 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่อยู่อาศัย 2 ไร่ ทำนาข้าว 20 ไร่ ส่วนที่เหลือเป็นสวนผสม ปลูกผักสวนครัว ผลไม้ต่างๆ ไผ่ ขุดบ่อเลี้ยงกบ หอยขม ปลาดุก ปลาช่อน ปลาหมอ ปลาบึก ปลาแรด ปลาสวาย ปลานิล ปลาทับทิม ปลาคาร์พ สระบัว ผักบุ้ง รวมทั้งเลี้ยงห่าน นกกระทา ไก่ไข่ ไก่พันธุ์สวยงาม เช่น ไก่ญี่ปุ่น ไก่มินิโคชิน ไก่ซิลกี้ ไก่อียิปฟายูมิ ไก่เหลืองหางขาวไก่บาร์ม่า ไก่โปรแลน ไก่ดำมองโกลเลียไก่ไข่เล็กฮอนขาวหงอนจักร และไก่ไข่บาร์พลีมัทล็อค นอกจากนี้ยังมีเลี้ยงปูนาในวงบ่อกิ้งกือ-ไส้เดือนไว้ผลิตปุ๋ย และเลี้ยงมดแดงบนต้นมะม่วง” นายสุทิน กล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ก.พลังงานสั่งกลุ่มผู้ค้ามาตรา7เร่งจัดเก็บสต็อกไบโอดีเซลเพิ่ม 

          ก.พลังงาน สั่งผู้ค้ามาตรา 7 จัดเก็บสต๊อกไบโอดีเซลเพิ่มเป็น 100 ล้านลิตร ภายในส.ค.นี้ ชี้ช่วยบรรเทาปัญหาปาล์มล้นตลาด ลั่นเตรียมหารือร่วมกัน 4 กระทรวง หวังกำหนดนโยบายเพื่อแก้ปัญหาระยะยาว

          นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ปริมาณผลผลิตปาล์มน้ำมันออกสู่ตลาดเกินกว่าปกติถึง 430,000 ตัน มากกว่าระดับปกติที่อยู่ระดับ 250,000 ตัน ทำให้ปัจจุบันมีปริมาณปาล์มน้ำมันล้นตลาดประมาณ 180,000 ตัน หรือคิดเป็นประมาณ 207 ล้านลิตร ดังนั้น ทางกระทรวงพลังงานจึงได้ประสานไปยังผู้ค้ามาตรา 7 ให้เก็บสต๊อกไบโอดีเซลเพิ่มขึ้นเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าว

          โดยกระทรวงพลังงานได้สั่งการให้ทางกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) ขอความร่วมมือกับผู้ค้ามาตรา 7 ทั้งหมด 8 ราย ทำการเก็บสต๊อกไบโอดีเซลเพิ่มเป็น 80 ล้านลิตร ภายในสิ้นเดือนมิถุนายน 2560 และเพิ่มเป็นจำนวน 100 ล้านลิตร ในช่วงเดือนสิงหาคมนี้  จากเดิมที่เก็บสต๊อกไบโอดีเซลอยู่ที่ 50 ล้านลิตร ซึ่งจะช่วยคลี่คลายปัญหาปาล์มน้ำมันที่ล้นตลาดไปได้ และดูดซับปาล์มน้ำมันออกจากตลาดได้ประมาณ 25-30%

          นอกจากนี้ จากนโยบายเพิ่มสัดส่วนผสมไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลหมุนเร็วเป็น บี 7 จาก บี 5 ที่มีผลตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา จะช่วยดูดซับปาล์มน้ำมันออกจากตลาดได้ประมาณ 5-10% เนื่องจากทำให้มีการใช้ไบโอดีเซลเพิ่มขึ้นเป็น 4 ล้านลิตรต่อวัน จากเดิมที่อยู่ระดับ 2.2 ล้านลิตรต่อวัน

          อีกทั้งภายใน 2-3 สัปดาห์นี้ กระทรวงพลังงาน, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงอุตสาหกรรม มีแผนจะร่วมกันแก้ไขปัญหาปริมาณผลผลิตปาล์มน้ำมันในระยาว โดยกำหนดแผนงานและแบ่งหน้าที่ระหว่างกันให้ชัดเจน เช่น การบริหารจัดการวัตถุดิบทั้งระบบ การกำกับหรือควบคุมจำนวนโรงสกัดให้เหมาะสมกับความต้องการใช้ของประเทศ และการพัฒนาตามศักยภาพของผู้ผลิตให้สามารถแข่งขันกับตลาดในต่างประเทศได้

          “ปีนี้ผลผลิตปาล์มออกมาเยอะกว่าปกติทำให้เกิดปัญหาผลผลิตล้นตลาด กระทรวงพลังงานจึงได้ขอความร่วมมือให้ผู้ค้ามาตรา 7 เก็บสต๊อกไบโอดีเซลเพิ่มขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาเบื้องต้นไปก่อน และจากการที่พูดคุยกับกระทรวงพาณิชย์พบว่า มีแผนที่จะผลักดันให้มีการส่งออกปาล์มน้ำมัน ซึ่งหากมาตรการนี้สำเร็จจะเป็นอีกกลไกสำคัญที่ช่วยแก้ปัญหาได้” นายอารีพงศ์ กล่าว

          ด้านนายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดี ธพ. เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังไม่มีแผนที่จะปรับเพิ่มสัดส่วนผสมไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลหมุนเร็วเป็น  บี 10 จากปัจจุบัน บี 7 เนื่องจากยังมีความกังวลจากผู้ประกอบการรถยนต์หลายรายว่าจะมีปัญหาด้านเทคนิคต่อระบบเครื่องยนต์

          ทั้งนี้ ธพ. จะยังคงนโยบายสัดส่วนผสมไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ที่ระดับบี 7 ไปตลอด หากไม่เกิดปัญหาเรื่องผลผลิตปาล์มขาดตลาด เนื่องจากถือว่าเป็นระดับที่มีความเหมาะสม แต่อย่างไรก็ตาม ธพ. มีแผนระยะยาว 20 ปี ที่ต้องการจะเพิ่มสัดส่วนผสมเป็น บี 10 หรือ บี 20 ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณการใช้ไบโอดีเซลเพิ่มเป็น 14 ล้านลิตรต่อวัน จากปัจจุบันที่อยู่ประมาณ 4 ล้านลิตรต่อวัน

จาก ข่าวหุ้น  วันที่ 29 มิถุนายน 2560

เกษตรกร เฮ! กฟก.ล้างหนี้ ประเดิม 2 พันล้าน

นับถอยหลังคสช.ใช้มาตรา 44 สั่งกฟก.เฉพาะกิจลุยล้างหนี้เกษตรกรกว่า 5 แสนราย มูลหนี้กว่า 8.47 หมื่นล้านใน 180 วัน หนี้ ธ.ก.ส.มาอันดับ 1 เตรียมชง “ฉัตรชัย” ประเดิมซื้อหนี้ 8,000 ราย ค่า 2,000 ล้าน เปิดยืนยันสิทธิ์ 9 ก.ค.-10 ส.ค.

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2560 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ได้ใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งที่ 26/2560 ปลดคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) ชุดเดิมพ้นจากตำแหน่ง และตั้ง “คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจ”  หรือ กฟก.เฉพาะกิจ มีพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน

 เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรของกองทุนฟื้นฟูฯให้ลุล่วงภายใน 180 วันนั้น

นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานอนุกรรมการกลั่นกรอง ตรวจสอบและยืนยันข้อมูลหนี้สินเกษตรกร ใน กฟก.เฉพาะกิจ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรม การ 4 คณะขึ้นมาดำเนินการ ได้แก่ คณะอนุกรรมการจัดทำหลักเกณฑ์การจัดการหนี้ของเกษตรกร กรณีเร่งด่วน, คณะอนุกรรมการกลั่นกรอง ตรวจสอบ และยืนยันข้อมูลหนี้สินเกษตรกร, คณะทำงานตรวจสอบ ข้อมูลหนี้สินเกษตร กรระดับจังหวัด และคณะทำงานตรวจสอบข้อมูลหนี้สินเกษตรกรระดับอำเภอ เพื่อจัดระบบฐานข้อมูลหนี้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนจำนวน 5.12 แสนราย รวม 6.46 ล้านบัญชี มูลหนี้ 8.47 หมื่นล้านบาทให้ถูกต้อง

ทั้งนี้ในส่วนของคณะทำงานตรวจสอบข้อมูลหนี้สินระดับจังหวัด/อำเภอ จะทำหน้าที่ตรวจสอบรายชื่อเกษตร กรและข้อมูลหนี้สิน โดยจัดทำสรุปรายชื่อเกษตรกรจำนวนหนี้  จำแนกวัตถุประสงค์การกู้ กล่าวคือ เป็นหนี้อันเนื่องจากการประกอบอาชีพเกษตรกรรม กับไม่ได้เป็นหนี้จากการประกอบอาชีพเกษตรกรรม จำแนกสถานะหนี้ อาทิ หนี้ไม่ผิดนัดชำระหรือหนี้ปกติ หนี้ผิด นัดชำระ (หนี้ NPL) ทั้งยังไม่ถูกฟ้องดำเนินคดี จนถึงหนี้ผิดนัดชำระที่ถูกฟ้องล้มละลาย หรือจำแนกหลักประกัน เป็นหลักทรัพย์หรือบุคคล ยอดรวมหนี้สิน ไม่เกิน 2.5 ล้านบาทหรือเกิน 2.5 ล้านบาทต่อราย เป็นต้น

นายธีรภัทร กล่าวอีกว่า เมื่อรวบรวมข้อมูลแล้วจะเข้าสู่คณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ และลำดับต่อไปจะเข้าสู่การพิจารณาเห็นชอบในคฟก.เฉพาะกิจ ที่มีรัฐมนตรีเป็นประธาน จะทราบว่าเกษตรกรที่ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือมีทั้งหมดกี่ราย มูลหนี้เท่าไร จากนั้นจะนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)พิจารณาให้ความเห็นชอบในลำดับสุดท้าย ในเร็วๆ นี้จะมีประกาศรายชื่อ ขอให้เกษตรกรไปยืนยันสิทธิ์ได้ที่สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) สาขาจังหวัดตามภูมิลำเนา มั่นใจว่าการจัดการหนี้จะเป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่คสช.ให้เวลา 180 วัน หรือ 6 เดือน (ภายใน 18 ต.ค.60)

ด้านนายสมยศ ภิราญคำ รองเลขาธิการ รักษาการเลขาธิการ กฟก. กล่าวว่า จากข้อมูลผู้ขึ้นทะเบียนหนี้กว่า 5 แสนราย จะมีการประกาศรายชื่อในวันที่ 9 กรกฎาคม-10 สิงหาคมนี้ จึงขอให้เกษตรกรมายืนยันสิทธิ์ เพื่อรับการแก้ไขปัญหา อย่างไรก็ตามในวันที่ 29 มิถุนายนนี้จะมีการประชุมคฟก.เฉพาะกิจที่มีรัฐมนตรีเกษตรฯเป็นประธาน ทาง กฟก.จะส่งรายชื่อเกษตรกรจำนวน 8,000 ราย มูลหนี้กว่า 2,000 ล้านบาทให้พิจารณา ซึ่งกฟก.สามารถซื้อหนี้จากสถาบันการเงินเจ้าหนี้ได้ทันที เพราะมีงบประมาณอยู่แล้ว

แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรฯ เผยว่า หนี้เกษตรกร 5.12 แสนราย แยกเป็นรายสถาบัน ดังนี้ 1. โครงการส่งเสริมของรัฐ จำนวนกว่า 2 หมื่นราย มูลหนี้ 1,082 ล้านบาท 2. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 2.89 แสนราย มูลหนี้ 4.74 หมื่นล้านบาท 3. ธนาคารพาณิชย์ 1.87 หมื่นราย มูลหนี้ 1.45 หมื่นล้านบาท 4. นิติบุคคลกว่า 2 หมื่นราย มูลหนี้กว่า 6,000 ล้านบาท 5. สหกรณ์การเกษตร 1.58 แสน

 ราย มูลหนี้ 1.58 หมื่นล้านบาท และอื่นๆ จำนวนกว่า 5,000 ราย มูลหนี้ 569 ล้านบาท

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 28 มิถุนายน 2560

'อภิรดี'สั่งทูตพณ.ติดตามผลกระทบเทียร์2

รมว.พาณิชย์ สั่งทูตพาณิชย์ติดตามผลกระทบสหรัฐคงเทียร์ 2ไทย เร่งชี้แจงคู่ค้าผ่านกิจกรรมงานแสดงสินค้า ทั่วโลก

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงกรณีไทยได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในกลุ่มที่ 2 บัญชีรายชื่อประเทศที่ต้องจับตามอง หรือเทียร์ 2 Watch list  เป็นปีที่ 2 ว่า ได้สั่งการให้สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศในสหรัฐฯ และทูตพาณิชย์ทั่วโลก ติดตามสถานการณ์การนำเข้าสินค้าไทย หลังจากสหรัฐฯคงเทียร์ 2 ประเทศไทย

โดยกระทรวงพาณิชย์ยังเดินหน้าผลักดันการส่งออก และยืนยันเป้าหมายการส่งออกทั้งปีนี้ ไว้ที่ร้อยละ 5 ซึ่งปัจจัยสนับสนุนคือแนวโน้มการค้าโลกเริ่มฟื้นตัว

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ จะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชนเดินหน้าใช้ช่องทางงานแสดงสินค้าอาหารทะเลในต่างประเทศที่สำคัญ เผยแพร่ประชาสัมพันธ์แนวทางการดำเนินการต่างๆของไทย โดยครึ่งหลังปีนี้จะยังมีกิจกรรมไม่น้อยกว่า 100 กิจกรรม เพื่อส่งเสริมการค้าและทำความเข้าใจได้

จาก http://www.innnews.co.th   วันที่ 28 มิถุนายน 2560

คอลัมน์ ข่าวสั้น: 'ธีระชัย แสนแก้ว' โผล่นั่งบอร์ดกองทุนอ้อย   

          ทำเนียบฯ * พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการบริหารกองทุนตาม พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาล พ.ศ.2527 จำนวน 12 คน ประกอบด้วย 1.นายสุรพงษ์ เจียสกุล ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 2.นายวรัชญ์ เพชรร่วง ผู้แทนกระทรวงการคลัง 3.นายอิทธิพงศ์ คุณากรบดินทร์ ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ 4.นายพสุ โลหารชุน ผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรม 5.น.ส.ชวนชม กิจพันธ์ ผู้แทนสำนักงบประมาณ 6.นายสุวัชชัย ใจข้อ ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย 7.นายธีระชัย แสนแก้ว ผู้แทนชาวไร่อ้อย 8.นายมนตรี เลาห ศักดิ์ประสิทธิ์ ผู้แทนชาวไร่อ้อย 9.นายพนม ตะโกเมือง ผู้แทนชาวไร่อ้อย 10.นายศรายุธ แสงจันทร์ ผู้แทนโรงงาน 11.นายวิณณ์ ผาณิตวงศ์ ผู้แทนโรงงาน และ12.นายรัฐวุฒิ แซ่ตั้ง ผู้แทนโรงงาน.

จาก http://www.thaipost.net วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2560 

สุโขทัยระดมพลเกษตรกร สู้ด้วงหนวดยาว ในกออ้อย

     ว่าที่ร้อยตรีชัยศรี ไชยมณี หัวหน้ากลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรอำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย พร้อมด้วยนายสามารถ แก้วมูล นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองสุโขทัย ลงพื้นที่หมู่ 6 ตำบลเมืองเก่า เพื่อสำรวจแปลงปลูกอ้อยของเกษตรกร

     ตามที่ได้รับแจ้งจากนายสุชาติ นาครินทร์ เกษตรกรชาวไร่อ้อย เบื้องต้น พบการระบาดของด้วงหนวดยาว ในกออ้อย พื้นที่ประมาณ 100 ไร่ อ้อยตอ 1 อายุประมาณ 1-2 เดือน และมีแนวโน้มที่จะแพร่กระจายไปเป็นพื้นที่กว้าง

     เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้แนะนำให้เกษตรกรเปิดร่องให้ชิดกออ้อยแล้วใช้สารเคมี ฟิโพรนิลโรยแล้วกลบ จากนั้นได้นัดหมายให้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยรวมกลุ่มกัน เพื่อสอนการผลิตและใช้เชื้อราเมธาไรเซียม เพื่อควบคุมด้วงในระยะยาวพร้อมทั้งถ่ายทอดวิธีการป้องกันกำจัดที่เหมาะสมต่อไป

     สำหรับเชื้อราเมธาไรเซียมนั้นเป็นเชื้อที่สามารถป้องกัน และกำจัดแมลงศัตรูพืช ได้หลายชนิด เช่น ปลวก ด้วงหนวดยาว ด้วงมะพร้าว ด้วงหมัดผัก ตั๊กแตน เพลี้ยอ่อน เพลี้ยจั๊กจั่น เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล แมลงปากกัดปีกแข็ง หนอนกระทู้คอรวง หนอนกอข้าว หนอนใยผัก หนอนม้วนใบ หนอนหนังเหนียว และแมลงวันผลไม้

     เป็นเชื้อราที่มีสีเขียวหม่น เป็นจุลินทรีย์ชนิดหนึ่งที่มีการนำมาใช้ในการควบคุมแมลงศัตรูพืชหลายชนิด อย่างกว้างขวางในปัจจุบัน และจัดเป็นศัตรูธรรมชาติที่สำคัญของด้วงหนวดยาวเจาะลำต้นอ้อยด้วย สามารถทำลายด้วงหนวดยาวได้ทุกระยะ ตั้งแต่ระยะที่เป็นไข่จนถึงตัวเต็มวัย และทำลายระยะที่เป็นหนอนได้ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ จัดเป็นการควบคุมโดยชีววิธีที่มีประสิทธิภาพมากวิธีหนึ่ง รวมทั้งเชื้อราเมธาไรเซียม สามารถมีชีวิตอยู่ในดินได้นานกว่า 3 ปี ทำให้มีระยะการควบคุมได้นาน

    การควบคุมและทำลายแมลงของเชื้อตัวนี้ เมื่อเชื้อเข้าสู่แมลงทางผิวหนัง หรือช่องว่างของลำตัวรวมทั้งจะสร้างเอนไซม์เพื่อช่วยย่อยผนังบางส่วนและงอกสปอร์แทงผ่านลำตัวเข้าไป เจริญ และเพิ่มปริมาณทำให้แมลงเกิดโรคตาย ในที่สุด แมลงที่ตายด้วยเชื้อราเมธาไรเซียม จะมีลักษณะลำตัวแข็งมีเชื้อราขึ้นปกคลุมลำตัวภายนอกเป็นสีเขียว ซึ่งระยะเวลาในการทำลายจะเร็วหรือช้า ก็ขึ้นกับสภาพแวดล้อมได้แก่อุณหภูมิ ความชื้นและแสงสว่าง ที่เหมาะสมคือ อุณหภูมิ 25-30 องศาเซลเซียส ความชื้น มากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ ส่วนแสงแดด มีรังสียูวีจะมีผลยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา นอกจากนี้ความรุนแรงของเชื้อ จะรุนแรงมากหรือน้อย ยังขึ้นกับลักษณะพันธุกรรมของเชื้อ ความแข็งแรง หรือภูมิต้านทานของแมลงอีกด้วย

   อย่างไรก็ตาม ก็ยังนับเป็นแนวทางที่เหมาะสมในการส่งเสริมให้เกษตรกรนำมาใช้ ด้วยสามารถดำเนินการเองได้ เป็นการประหยัดด้านต้นทุนการผลิต ด้วยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการหาซื้อสารเคมีมาใช้ซึ่งปัจจุบันมีราคาที่แพงแบบปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จาก https://www.dailynews.co.th วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2560 

เกษตรโวยเป็นแพะทุกเรื่องราคาตกต่ำทำไมไม่โทษพาณิชย์-อุตสาหกรรม 

           พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ยอมรับว่าราคาผลผลิตด้านการเกษตร ทั้งราคาข้าวโพด ปาล์ม สับปะรด อยู่ในช่วงตกต่ำ แต่ในเรื่องของการเพาะปลูกและราคาสินค้าเกษตรนั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง ซึ่งทุกหน่วยงานจะต้องทำงานร่วมกัน อาทิ ข้าวโพด และปาล์ม เกี่ยวข้องโดยตรงกับกระทรวงพาณิชย์กล้วยและสับปะรด เกี่ยวข้องกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น" ราคาข้าวโพด และปาล์มน้ำมัน เรื่องนี้ อยากให้ไปถามที่กระทรวงพาณิชย์ว่า ราคาตกเพราะอะไรในเรื่องของราคาข้าวโพดตกต่ำและมีการหยุดรับซื้อเพื่อต่อรองเรื่องของการนำเข้าข้าวสาลีก็เป็นเรื่องของพาณิชย์ ที่จะต้องไปควบคุมการนำเข้าให้เหมาะสมกับปริมาณผลผลิตข้าวโพดของไทย ส่วนเรื่องราคาสินค้าที่ผลผลิตหลายตัวออกมากระจุกตัวกระทรวงพาณิชย์ คงต้องขยายตลาดออกไปให้มากกว่าที่เป็นอยู่"

          สำหรับเรื่องราคาสับปะรด กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย ได้รายงาน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับความคืบหน้าการเข้าไปแก้ไขปัญหา เรื่องผลผลิตที่ล้นตลาดและพยายามเอาผลผลิตนี้ออกไปขายข้างนอกแล้ว แต่ครั้งนี้ปัญหาที่แท้จริงคือ การที่เกษตรกรปลูกสับปะรดในพื้นที่ผิดกฎหมายหรือบุกรุกป่าจำนวนมาก ซึ่งเจ้าหน้าที่ควบคุมยากจึงทำให้ผลผลิตออกมาจำนวนมาก ขณะที่ในพื้นที่ที่กระทรวงเกษตรฯส่งเสริมนั้นไม่มีปัญหา เรื่องราคา และการรับซื้อ

          "ผมไม่เข้าใจราคาสินค้าเกษตรร่วงทุกตัวต้องมาถามกระทรวงเกษตรฯ ทำไมไม่ไปถามกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะผู้ดูแลในเรื่องของราคาผลผลิตปาล์ม ข้าวโพด ต้องถามพาณิชย์ อ้อย กระทรวงอุตสาหกรรมบางที กระทรวงเกษตรไม่ได้ดูทุกเรื่องในพื้นที่ที่เหมาะสมในการปลูกพื้นที่ที่รัฐบาลส่งเสริมหากทำตามไม่รุกพื้นที่ป่าราคาสินค้าก็จะไม่ล้นราคาก็จะไม่ตกต่ำ อาทิ ข้าวกระทรวงเกษตรฯ ก็เดินหน้าแผนข้าวครบวงจรเพื่อให้ผลผลิตกับความต้องการสมดุล ส่วนอีกเรื่องก็คือ เรื่องยางพาราก็พยายามทำให้ยางพารามีเสถียรภาพให้มากที่สุด".

จาก http://www.thairath.co.th วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2560 

รายงานพิเศษ : กรมส่งเสริมฯเร่งปฏิรูปภาคการเกษตร ก้าวสู่‘SMART AGRICULTURE’รองรับเกษตรยุคไทยแลนด์ 4.0

กรมส่งเสริมการเกษตร เร่งปฏิรูปภาคการเกษตรรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต วางแนวทางปั้น Smart Officer เน้นส่งเสริม เจ้าหน้าที่ให้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับการทำเกษตรในยุคไทยแลนด์ 4.0

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ประเทศไทยจะก้าวสู่ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง กรมส่งเสริมการเกษตรในฐานะผู้ขับเคลื่อนงานหลักในพื้นที่การเกษตร วันนี้เราพร้อมแล้วสิ่งที่ต้องเน้นคือเรื่องการพัฒนาสู่ “ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ด้วยการสร้าง “ความเข้มแข็งจากภายใน” ผ่านการขับเคลื่อนตามนโยบายสำคัญ มุ่งปฏิรูปภาคการเกษตร ก้าวสู่ SMART AGRICULTURE “การเกษตรไทยมีศักยภาพ ภายใต้จุดแข็ง มีกลุ่มเป้าหมายเกษตรกรชัดเจน พัฒนาศักยภาพเกษตรกรให้เป็นผู้ประกอบการด้านการเกษตร” ผ่านการปรับระบบการทำงานของนักส่งเสริมการเกษตรทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เรามีสำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอทั่วประเทศ มีศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร ที่เป็นหน่วยบริการในพื้นที่การเกษตร 50 แห่งทั่วประเทศ และที่สำคัญกรมส่งเสริมการเกษตร จะต้องมีฐานข้อมูลที่ทันสมัย รองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้บริการฉับไวและมีประสิทธิภาพเกิดประสิทธิผล ทั้งต่อตัวเกษตรกร และต่อเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร มีผลงานเป็นที่ตั้ง ส่งเสริมแบบใช้ตลาดนำการผลิต และตอบสนองความต้องการของตลาด มุ่งเพิ่มผลผลิตคุณภาพตลอดห่วงโซ่อุปทาน พัฒนาเกษตรกรให้เป็น Smart farmer และต้องยึดหลักธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้ ด้านการพัฒนาการเกษตรเน้นไป ที่ Smart Farmer และ Young Smart Farmerการพัฒนาเกษตรกร ถือเป็น ยุทธศาสตร์สำคัญของทั้งกระทรวงเกษตรฯ และกรมส่งเสริมการเกษตรคือการสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรแนวทางการพัฒนาคือ สร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรเสริมสร้างให้เกิดความภาคภูมิใจและความมั่นคงในการประกอบอาชีพทางการเกษตรบริหารจัดการแรงงานภาคการเกษตรและเทคโนโลยี เพื่อทดแทนแรงงานอย่างเป็นระบบรองรับสังคมเกษตรสูงอายุ

นอกจากการสร้างและพัฒนา Smart Farmer แล้ว กรมส่งเสริมการเกษตรยังได้สร้างและพัฒนา Young Smart Farmer เพื่อเป็นบุคลากรที่สำคัญในภาคการเกษตร เพื่อให้ทันกับการแข่งขันที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งปัจจุบันมีเกษตรกรรุ่นใหม่ เข้าร่วมโครงการ 9,116 ราย และผ่านการประเมินคุณสมบัติเป็น Young Smart Farmer 5,477 ราย ซึ่งเกษตรกรรุ่นใหม่ จะต้องสามารถเป็นผู้นำทางการเกษตร มีความภาคภูมิใจในอาชีพพึ่งพาตนเองได้ และเป็นที่พึ่งให้แก่เพื่อนเกษตรกรได้ฯ ได้สร้าง Future DOAE (นักส่งเสริมการเกษตรรุ่นใหม่ จำนวน 300 คน ทั่วประเทศ)เพื่อเป็น ผู้นำการเปลี่ยนแปลงภาคการเกษตร ทันต่อสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ผ่านการปรับระบบการทำงานของนักส่งเสริมการเกษตรทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ภายใต้โมเดล “ประเทศไทย 4.0” หรือ “ไทยแลนด์ 4.0” ที่ต้องการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ “Value-Based Economy” หรือ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม”โดยการขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใน 3 มิติที่สำคัญ ได้แก่ 1.เปลี่ยนจากการผลิตสินค้าไปสู่สินค้าเชิง นวัตกรรม 2.เปลี่ยนจากการขับเคลื่อนประเทศที่เดิมขับเคลื่อนด้วยภาคอุตสาหกรรมไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม 3.เปลี่ยนจากการเน้นผลิตสินค้าไปสู่ภาคบริการมากขึ้น

นอกจากนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรได้พัฒนาเรื่องของระบบสารสนเทศอยู่ตลอดมา เพราะจะสามารถเป็นตัวช่วยอำนวยความสะดวกให้เกษตรกร ทำให้เข้าถึงหน่วยงานของเราได้ง่ายขึ้น แม้เราจะมีคนอยู่ทั่วทุกพื้นที่ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ต่อความต้องการ วันนี้มี แนะนำให้เกษตรกร รู้จัก Application 3 ตัว ที่สำคัญได้แก่ Application “DOAE Farmbook” เป็น Application อีกอันที่เหมาะกับเกษตรกรรุ่นใหม่ โดยจะรายงาน ผลการขึ้นทะเบียนเกษตรกร รวมทั้งสามารถลงทะเบียนขอรับบริการได้ทาง online โดยการ Log In เข้าระบบผ่านเบอร์โทรศัพท์มือถือซึ่งผู้ใช้ จะสามารถเรียกดูข้อมูลได้ เสมือนมีสมุดทะเบียนเกษตรกร รวมทั้งเป็นช่องทางในการแจ้งข้อมูลข่าวสาร ผ่านระบบออนไลน์ รวมทั้งกรณี การเกิดภัยต่างๆ ทั้งภัยธรรมชาติ หรือ ภัยศัตรูพืช

“แอพพลิเคชั่น “DOAE Smart Check”เป็น Application ที่สามารถแจ้งเตือนข้อมูลแปลงกิจกรรมการเกษตร โดยบอกสถานะอัพเดท ขั้นตอนการขึ้นและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร และ สามารถแจ้งเตือนข้อมูลสิทธิประโยชน์และโครงการภาครัฐ อย่างรวดเร็วและตรงตัวเกษตรกรตามครัวเรือนการเกษตรแอพพลิเคชั่น “Protect plants”เป็น แอพพลิเคชั่นที่รวบรวมการป้องกันและกำจัดศัตรูพืช การวินิจฉัยโรคและแมงศัตรูพืชเบื้องต้นตามชนิดอาการ และตามชนิดพืช การพยากรณ์อากาศ และการพยากรณ์เตือนโรคระบาด ทั้ง 3 App นี้ ดาวน์โหลดฟรี ทั้ง ระบบ android และ iOS” นายสมชาย กล่าวทิ้งท้าย

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2560 

พพ.ผุดแผนใช้ไบโอดีเซล-เอทานอลเพิ่ม

พพ.เตรียมทำแผนปี 64 ส่งเสริมใช้ไบโอดีเซล 3.58 ล้านลิตร/วัน และเอทานอล 4.79 ล้านลิตร/วัน เพิ่มกำลังใช้ E20 และ E85 เร่งสร้างการยอมรับจากผู้ผลิตรถยนต์และผู้บริโภค พร้อมเปิดตัวสติกเกอร์ไลน์ จัดกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ

นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ พพ. ได้วางเป้าหมายการส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพ เพราะประเทศไทยสามารถนำสินค้าเกษตรที่มีศักยภาพเป็นวัตถุดิบ นำมาสู่การผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นชนิดที่มาจากพืช อาทิ มันสำปะหลัง อ้อย ปาล์ม ไม้ยางพารา ที่สามารถผลิตเอทานอล และไบโอดีเซล ส่วนชนิดที่มาจากภาคปศุสัตว์ ที่สามารถพัฒนาเป็นก๊าซชีวภาพ ทำให้ประเทศไทยสามารถบริหารความเสี่ยงในเรื่องของราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีผลต่อราคาเชื้อเพลิงชนิดอื่นๆ

ดังนั้น การผลักดันและการส่งเสริมของ พพ. จะเข้าความผันผวน จะเข้าไปจัดหาและส่งเสริมให้เกิดระบบการผลิต ให้เป็นไปตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP 2015) โดยเป้าหมายการใช้ไบโอดีเซลเฉลี่ยเท่ากับ 3.58 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งถ้าคิดเป็นสัดส่วนของการใช้น้ำมันดีเซลจะประมาณ 10% ของปริมาณการใช้งานภายในปี 2564 และเอทานอลเท่ากับ 4.79 ล้านลิตรต่อวัน ภายในปี 2564 เช่นกัน

“ประเทศไทยถือเป็นแหล่งผลิตเชื้อเพลิงทางชีวภาพที่มีศักยภาพเมื่อเทียบกับหลายประเทศ ซึ่ง พพ.ได้เข้าไปส่งเสริมมาอย่างต่อเนื่อง จนเกิดการยอมรับจากผู้บริโภค นำไปสู่การขยายในระดับรากหญ้าที่สามารถผลิตพลังงานชีวภาพเพื่อใช้ในชุมชน” นายประพนธ์กล่าว

ปัจจุบันการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ ทั้งการใช้เอทานอลและไบโอดีเซลถือเป็นเชื้อเพลิงหลักด้านการขนส่งของประเทศ โดยในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมา พบว่าไบโอดีเซล (B100) มียอดการใช้ 3.37 ล้านลิตรต่อวัน โดยยอดการใช้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามปริมาณการใช้น้ำมันดีเซล ส่วนเอทานอลซึ่งเป็นส่วนผสมหลักในน้ำมันแก๊สโซฮอล์ มียอดการใช้ 28.98 ล้านลิตรต่อวัน โดยเอทานอลที่ใช้ทั้งหมด ผลิตได้ภายในประเทศทั้งสิ้น 3.67 ล้านลิตรต่อวัน หรือใช้กำลังการผลิต 12% โดย พพ.พร้อมจะเร่งผลักดันให้มีการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพทั้งสองประเภทให้เพิ่มมากขึ้น

นายประพนธ์กล่าวว่า พพ.ได้จัดกิจกรรมโรดโชว์เปิดตัวสติกเกอร์ไลน์ DEDE Man and The Gang ภายใต้โครงการรณรงค์ส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ เพื่อสร้างความน่าสนใจเกี่ยวกับเชื้อเพลิงชีวภาพให้แก่คนรุ่นใหม่ ในยุคที่มีการใช้โซเชียลมีเดียในการรับข้อมูลข่าวสาร.

จาก http://www.thaipost.net   วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2560 

เริ่มกระหึ่ม..คนเพชรบูรณ์ต้านผุดโรงงานน้ำตาลเพิ่ม ผวาหิมะดำ-ต่างด้าวทะลัก  

         เพชรบูรณ์ - เครือข่ายภาคประชาชนเมืองมะขามหวานเริ่มปลุกกระแสแผนผุดโรงงานน้ำตาลแห่งที่ 3 หลังข่าวสะพัดนายทุนเริ่มกว้านซื้อที่แล้ว หวั่นส่งผลกระทบสารพัด ทั้งรถขนอ้อยวิ่งทั้งวันทั้งคืน หิมะดำเต็มฟ้า ต่างด้าวเต็มเมือง

               รายงานข่าวแจ้งว่า ขณะนี้ชาวจังหวัดเพชรบูรณ์เริ่มจุดกระแสต่อต้านการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลแห่งที่ 3 หลังจากมีข่าวทางโรงงานฯ เข้ากว้านซื้อที่ดินแถบ ต.ห้วยใหญ่ อ.เมืองเพชรบูรณ์ นอกจากนี้ยังมีข่าวถึงการวิ่งเต้นล็อบบี้นักปกครองท้องที่และนักการเมืองท้องถิ่นในหลายตำบล เพื่อให้เห็นคล้อยตาม-ช่วยเป็นปากเสียงจูงใจชาวบ้านอีกด้วย

               ล่าสุดเครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่ได้ใช้สื่อโซเชียลมีเดียแพร่กระจายข้อมูล และแจ้งเตือนให้ชาวบ้านรู้เท่าทันทางโรงงาน รวมทั้งให้ระมัดระวังการถูกชักนำโดยมีการใช้ผลประโยชน์เข้าล่อ กระทั่งทำให้การตัดสินใจเกิดความผิดพลาด นอกจากนี้ยังให้ช่วยกันสอดส่องการเข้ามาส่งเสริมให้ปลูกอ้อยในพื้นที่อีกด้วย

               โดยนายวิศัลย์ โฆษิตานนท์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์และแกนนำต่อต้านไม่เอาเหมืองแร่ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว หยั่งเสียงชาวเพชรบูรณ์ถึงความคิดเห็นการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลแห่งที่ 3 ซึ่งเหล่าแฟนคลับส่วนใหญ่ต่างไม่สนับสนุน เพราะเห็นว่ามีโรงงานน้ำตาล 2 แห่งก็เพียงพอแล้ว หากมีแห่งที่ 3 เกรงจะส่งผลกระทบด้านมลภาวะและสิ่งแวดล้อม

               ขณะที่ นายเสกสรร นิยมเพ็ง นายกเทศมนตรีเมืองเพชรบูรณ์ ได้ตั้งคำถามผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า หากมีโรงงานน้ำตาลแห่งที่ 3 ห่างจากตัวเมืองราว 20-30 กม. เพชรบูรณ์เมืองอยู่สบายจริงหรือ? ดังนั้นขอให้ประชาชนเตรียมรับปัญหาผลกระทบต่างๆ ที่จะตามมา ทั้งไร่อ้อยที่ทำลายดิน การเผาอ้อยที่จะเกิดหิมะสีดำ รถขนอ้อยไปโรงงานที่จะเกิดอุบัติเหตุ-ทำลายถนน และที่สำคัญแรงงานต่างด้าวจะเข้ามามากมายพร้อมปัญหาสังคมอื่นๆ วิถีชีวิต-บ้านเมืองอันสงบสุขของห้วยใหญ่ก็จะพังพินาศไปตลอด

               ด้านเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อ “สำนึกรักษ์ห้วยใหญ่” มีผู้ใช้ชื่อ Mote Sawat Mapak โพสต์ข้อมูล “รู้เท่าทันกลยุทธ์โรงงานน้ำตาลแห่งที่ 3 เพชรบูรณ์” พร้อมให้เหตุผลถึงผลกระทบและศักยภาพของตำบลห้วยใหญ่ที่จะหายไปหลังมีโรงงานน้ำตาลผุดขึ้น

               โดยระบุถึงกลยุทธ์โรงงานน้ำตาล แห่งที่ 3 เพชรบูรณ์ ว่า จะอยู่ห่างตัวเมือง 20-30 กม. โดยมีแผนดำเนินการดังนี้ 1. ส่งเสริมการปลูกอ้อยในพื้นที่ ตำบล และอำเภอใกล้เคียงให้ได้ปริมาณมากพอเพื่อป้อนเข้าโรงงานในอนาคตโดยการลงทุนให้ก่อน เข้าหาผู้นำหมู่บ้าน ดงมูลเหล็ก บ้านโคก นาป่า ห้วยใหญ่ ช้างตะลูด อีกหลายตำบล พาผู้นำหมู่บ้านไปกินข้าว อย่างอื่นไม่พูดถึง เพื่อกระชับความสัมพันธ์

               2. ในขณะเดียวกันเริ่ม กว้านซื้อที่แถวโนนแดง ไดมอลด์ ในพื้นที่ตำบลห้วยใหญ่เพื่อเตรียมสร้างโรงงาน 3. เมื่อมีประชาชนปลูกอ้อยเยอะพอ ก็จะสร้างโรงงานในพื้นที่แน่นอนครับ

               4. ประชาชนเตรียมตัวรับปัญหาด้านต่างๆ ตามมาเลยครับ ไร่อ้อยที่ทำลายดิน การเผาอ้อยที่จะเกิดหิมะสีดำ และรถขนอ้อยไปโรงงานที่จะเกิดอุบัติเหตุและทำลายถนน .. และที่สำคัญ แรงงานต่างด้าวจะเข้ามามากมายพร้อมปัญหาสังคมอื่นๆ วิถีชีวิตและบ้านเมืองอันสงบสุขของห้วยใหญ่ก็จะพังพินาศไปตลอดกาล 5. ถ้าเขาได้สร้างแล้ว เกิดปัญหาตามมา ประชาชนให้ย้ายโรงงานคงไม่ได้แล้ว

               Mote Sawat Mapak ยังระบุด้วยว่า ศักยภาพห้วยใหญ่เริ่มเป็นที่รู้จักกำลังจะหายไปรึเปล่า 1. วัดป่าพุทธอุทยานที่กำลังก่อสร้าง 2. อ่างเก็บน้ำห้วยใหญ่เพิ่งสร้างเสร็จไม่กี่ปี 3. ทุ่งปอเทือง เพิ่งดังเมื่อปีที่แล้ว 4. วิถีชีวิตชาวบ้านที่เรียบง่าย ภูเขาล้อมรอบ 5. พื้นที่ที่มีเส้นทางคมนาคมขนส่งสินค้าที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เชื่อมต่ออำเภอเมือง หล่มสัก น้ำหนาว หนองไผ่ วิเชียรบุรี บึงสามพัน ศรีเทพ      

        ส่วนสิ่งที่คนห้วยใหญ่และทุกคนในพื้นที่ต้องทำ คือ 1. กระจายข่าวกันออกไปให้มากที่สุดทุกพื้นที่ ใช้ปากต่อปาก ไปตามเพื่อน ญาติพี่น้อง 2. จัดทำข้อมูลเปรียบเทียบข้อดีข้อเสีย โดยศึกษาจากบทเรียนโรงงานน้ำตาลและการปลูกอ้อยในที่อื่นๆ ที่เขาทำกันอยู่ .. ทำเป็นเอกสารแจกไปทุกหลังคาเรือน 3. กระตุ้นคนมีความรู้ โดยเฉพาะลูกหลานที่มีความรู้ ให้ไปบอกพ่อแม่ปู่ย่าตายายให้ทราบข้อมูล 4. เฝ้าระวังการจัดประชุมประชาคมหรือการดำเนินงานต่างๆ โดยชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่รู้เห็น หรือเป็นการให้ข้อมูลด้านเดียว

               อย่างไรก็ตาม ฝ่ายสนับสนุนได้พยายามโต้แย้ง โดยชี้ว่าการปลูกอ้อยทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นและทำให้เกิดการจ้างแรงงานในพื้นที่อีกด้วย 

จาก http://manager.co.th วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2560 

ผู้ส่งออกไทยลุ้นผลคืนนี้!!

เอกชนไทยจับตา “สหรัฐ” ประกาศอันดับสถานการณ์ค้ามนุษย์ มั่นใจไทยได้รับการปรับอันดับขึ้นมาเป็น เทียร์ 2                     

นายสมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย นายกสมาคมกุ้งไทย เปิดเผยว่า การที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (เทียร์) เมื่อคืนวันที่ 27 มิ.ย.ที่ผ่านมา ตามเวลาท้องถิ่นนั้น สมาคมฯ ประเมินว่า สหรัฐน่าจะประกาศปรับเพิ่มอันดับให้ไทยขึ้นมาอยู่ในระดับ เทียร์ 2  จากเดิมที่ไทยถูกจัดอยู่ในอันดับ เทียร์ 2 ที่ต้องจับตามอง เนื่องจากมั่นใจว่า ทั้งภาครัฐบาลและเอกชนของไทย ต่างได้ดำเนินการต่าง ๆ  ทั้งด้านกฎหมาย แรงงาน สวัสดิการ ต่าง ๆ ให้แก่แรงงานต่าง ๆ อย่างดี และต่อเนื่องมาโดยตลอด

 “ปัจจุบันนี้ แม้ว่าไทยจะอยู่ในเทียร์ 2 ที่ต้องจับตามอง แต่ก็ไม่ได้มีผลกระทบต่อการส่งออกไทยสหรัฐ แต่อย่างใด เพราะการส่งออกของไทย ก็ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่หากไทยได้รับการปรับอันดับให้ดีขึ้นกว่าเดิม ก็จะยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยดีขึ้นในสายตานานาชาติ ซึ่งแน่นอนว่า อาจจะทำให้เชื่อมั่นต่อการส่งออกของไทยเพิ่มมากขึ้น และเห็นว่า ไทยได้ดำเนินการแก้ไขทุกด้าน เพื่อให้สถานการณ์ต่าง ๆ ดีขึ้น จนได้รับการจัดอันดับที่ดีขึ้น แต่ทั้งนี้ หากไม่ได้รับการปรับอันดับ ก็ไม่มีผลกระทบ เพราะไม่ได้มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาษี หรือสิทธิพิเศษทางศุลกากรแต่อย่างใด”

 นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า มีแนวโน้มที่ไทยจะได้ปรับอันดับขึ้นมาอยู่ เทียร์ 2 จากเดิมที่อยู่ เทียร์ 2 ที่ต้องจับตามอง เพราะรัฐบาลชุดปัจจุบันได้ให้ความสำคัญอย่างมากที่จะแก้ปัญหา สะท้อนได้จากตั้งแต่ที่ไทยติด 1 ใน 16 ประเทศที่สหรัฐขาดดุลการค้าด้วย ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เร่งดำเนินการ พยายามแก้ไข และชี้แจงทุกอย่างมาโดยตลอด อีกทั้งตั้งแต่นายโดนัลท์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีสหรัฐ ความสัมพันธ์ ระหว่างไทย-สหรัฐก็มีขึ้นมาโดยลำดับด้วย จึงเชื่อว่า โอกาสที่ไทยจะได้รับการปรับขึ้นอันดับมีมาก แต่ทั้งนี้ คงไม่ได้ถึง เทียร์ 1 เพราะช่วงเวลายังน้อยเกินไป พร้อมทั้งคาดว่า จากนี้ไป การส่งออกสินค้าทะเลของไทยจะดีขึ้นด้วย โดยเฉพาะกุ้ง

 จาก https://www.dailynews.co.th  วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2560 

กรมชลฯระบายน้ำเพิ่มเป็น30.45ล้านลูกบาศก์เมตร

กรมชลประทาน เพิ่มการระบายน้ำ 4 เขื่อนหลัก เป็น 30.45 ล้านลูกบาศก์เมตร ตั้งแต่วันนี้ ขณะสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และกลาง มีเพียงพอใช้ตลอดฤดูฝนนี้

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในแม่น้ำสายหลักต่างๆ ส่วนใหญ่ระดับน้ำยังต่ำกว่าตลิ่งค่อนข้างมาก เนื่องจากขณะนี้ได้เข้าสู่ภาวะฝนทิ้งช่วงมีฝนตกน้อยลง แม่น้ำสายหลักต่างๆ จึงสามารถรองรับน้ำได้อย่างปลอดภัย โดยล่าสุดข้อมูล ณ วันที่ 27 มิถุนายน มีปริมาณน้ำไหลผ่านในแม่น้ำเจ้าพระยาที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ 502 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 7.47 เมตร และมีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา 105 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะเห็นได้ว่าน้ำท่าตามธรรมชาติลดลงมาก ในขณะที่ความต้องการใช้น้ำเพิ่มสูงขึ้น จึงจำเป็นต้องเพิ่มการระบายน้ำจาก 4 เขื่อนหลัก รวมกันจากเดิมวันละ 23.89 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็น 30.45 ล้านลูกบาศก์เมตร ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

ส่วนสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 41,962 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 56 มีปริมาณน้ำมากกว่าปี 2559 รวม 9,618 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเพียงพอใช้ตลอดฤดูฝนนี้ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 33,200 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่ต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากมีปริมาณน้ำมาก 4 แห่ง คือ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนทับเสลา และเขื่อนหนองปลาไหล ทางกรมชลประทานได้ให้โครงการชลประทานในพื้นที่ลดระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำ เพื่อให้มีพื้นที่รองรับฝนที่จะตกลงมาอีกในระยะต่อไป ทั้งนี้ เฉพาะในลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก มีปริมาณน้ำรวม 11,385 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 46 ทำให้ 4 เขื่อนหลักยังสามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 13,400 ล้านลูกบาศก์เมตร และสำหรับผลการเพาะปลูกพืชฤดูฝน (ณ 21 มิ.ย.60) ทั้งประเทศ มีการเพาะปลูกไปแล้ว 8.52 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 52 (แผน 16.41 ล้านไร่)

อย่างไรก็ตามสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดลพบุรี ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขังบริเวณ ต.หนองเมือง อ.บ้านหมี่ ประมาณ 500 ไร่ สำนักชลประทานที่ 10 ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 8 เครื่อง คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 1 - 2 วันนี้                                                          

จาก http://www.innnews.co.th   วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2560 

"อุตตม"ดันเกษตรกรรมสู่ยุค4.0 ควบคู่อีอีซีขับเคลื่อนศก.ประเทศ 

 "อุตตม" หนุนภาคเกษตรกรรมก้าวสู่ยุค 4.0 เน้นดึงเทคโนโลยีปรับเปลี่ยนให้ก้าวทันโลก ควบคู่ไปกับการใช้อีอีซีเป็นพื้นที่ตั้งต้นสร้างฐานความเจริญใหม่ให้ประเทศ ด้านบีโอไอเผยหอการค้าญี่ปุ่นสนใจลงทุนอีอีซี

          นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม กล่าวภายในงานสัมมนา "ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย หัวใจอยู่ ที่ชุมชน" ที่จัดโดยหนังสือพิมพ์ สยามรัฐว่า หัวใจของประเทศไทยคือ การเกษตร ดังนั้น จำเป็นต้องปรับเกษตรกรรมไปสู่ยุค 4.0 เพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจที่จะทำให้ความเป็นอยู่ของเกษตรกรไทยดีขึ้นและก่อให้เกิดการสมดุลในการพัฒนาประเทศ

          "ไทยแลนด์ 4.0 จำเป็นต้องปฏิรูปก้าวข้ามปัญหากับดักรายได้ ปานกลาง ดังนั้น จึงต้องปรับภาคการผลิตไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ภาคเกษตรกรรมไปสู่ 4.0 เพื่อสร้างความเข้มแข็งจากภายใน เพราะการมี สินค้า มีเทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นของตัวเอง ไม่ใช่แค่การรับจ้าง ผลิต (โออีเอ็ม)" นายอุตตม กล่าว

          ทั้งนี้ รัฐบาลได้เร่งยกระดับโครงสร้างพื้นฐานประเทศทางกายภาพ เช่น การสร้างเส้นทางคมนาคม การสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานด้านเทคโนโลยี (ดิจิทัล) การพัฒนาผู้ประกอบการไทยในทุกกลุ่มและทุกระดับ โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีที่จะเป็นอนาคตของประเทศ และการพัฒนาคนไทยให้มีทักษะพร้อม เข้าสู่ยุค 4.0 และผลักดันโครงการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ให้เกิดขึ้น เพื่อ ใช้เป็นฐานความเจริญใหม่ในพื้นที่ ภาคตะวันออก ซึ่งเป็นการขยายจากฐานความเจริญเดิมที่มีอยู่

          นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวหลังหารือกับหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ ซึ่งนำโดยนายโซจิ ซาคาอิ ประธานคนใหม่ ว่าหอการค้าญี่ปุ่นได้ยืนยันถึงความสนใจจะ เข้ามาลงทุนในประเทศไทยของนักลงทุนญี่ปุ่น โดยเฉพาะการลงทุน ใน EEC ซึ่งหอการค้าญี่ปุ่นได้ตั้งคณะกรรมการรวม 3 ชุด เพื่อศึกษาโอกาสการลงทุนของญี่ปุ่นในไทย โดยมีทั้งคณะกรรมการที่ศึกษาถึงการลงทุนในอีอีซี คณะกรรมการศึกษาการลงทุนในอุตสาหกรรมอุปกรณ์การแพทย์ และอุตสาหกรรมดิจิทัล.

จาก http://manager.co.th วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2560 

เตรียมรื้อแผนบริหารก๊าซ รับพลังงานทดแทน

พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวในงานสัมมนาความร่วมมือด้านแอลเอ็นจีระหว่างประเทศนอร์เวย์และประเทศไทยว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยใช้ก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ในประเทศ 80% ส่วนที่เหลือ 20-25% ต้องนำเข้าในรูปแบบก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) หรือมีการนำเข้าอยู่ที่ประมาณ 5 ล้านตันต่อปี ซึ่งในอนาคตหากกำลังการผลิตก๊าซฯในอ่าวไทยลดลง อาจจำเป็นต้องนำเข้าแอลเอ็นจีเพิ่ม

การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ได้รับความนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์(โซลาร์เซลล์)และพลังงานลม(วินด์ฟาร์ม)ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจทำให้ความต้องการใช้ก๊าซฯเพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้าหลักลดลง แต่ด้วยเทคโลยีปัจจุบันพลังงานหมุนเวียนยังไม่สามารถทดแทนพลังงานฟอสซิลได้ 100% ดังนั้น การผลิตไฟฟ้าจากฟอสซิลยังจำเป็น และแอลเอ็นจีเป็นเชื้อเพลิงที่สะอาด จัดหาง่าย และราคาไม่สูงเกินไป จึงเป็นทางเลือกอันดับต้นๆที่จะพิจารณา

 “กระทรวงพลังงาน จึงอาจรับฟังข้อมูลจากนอร์เวย์ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจแอลเอ็นจี ที่จะช่วยประเมินถึงความต้องการใช้แอลเอ็นจีในอนาคต เพื่อที่กระทรวงฯจะนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ประกอบการปรับแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ ปี 2558-2579 (Gas Plan2015)ในช่วงปลายปีนี้ให้เหมาะสมกับการใช้แอลเอ็นจีในอนาคต”

ด้านนายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ(ชธ.) กล่าวว่า ภาครัฐอยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางเปิดให้เอกชนมีการแข่งขันนำเข้าแอลเอ็นจี ตามแผน Gas Plan2015 ที่คาดการณ์ว่าจะมีความต้องการใช้แอลเอ็นจี อยู่ที่ 34 ล้านตันต่อปีในปี 2579 จากปัจจุบัน บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) มีสัญญาจัดซื้อแอลเอ็นจีระยะยาว รวมอยู่ที่ 5.2 ล้านตันต่อปี แบ่งเป็น สัญญาซื้อขายจากกาตาร์ 2 ล้านตันต่อปี เชลล์ 1 ล้านตันต่อปี บีพี 1 ล้านตันต่อปี และปิโตรนาส อีก 1.2 ล้านตันต่อปี

ดังนั้น ในส่วนที่เหลือจะเปิดให้เอกชนเข้ามาแข่งขันในการจัดหาแอลเอ็นจี ตามนโยบายเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติในประเทศ (Third Party Access Regime : TPA) ที่เปิดให้บุคคลที่สามสามารถใช้หรือเชื่อมต่อระบบส่งก๊าซธรรมชาติและสถานีแอลเอ็นจีได้ จากปัจจุบัน ปตท.เป็นผู้ให้บริการเพียงรายเดียว เบื้องต้น ภาครัฐได้มอบหมายให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ศึกษานำเข้าแอลเอ็นจี 1.5 ล้านตันต่อปี เพื่อเป็นผู้เล่นรายใหม่ที่จะเข้ามาใช้บริการโครงการขยายกำลังการแปรสภาพแอลเอ็นจี ที่แอลเอ็นจี เทอร์มินอล มาบตาพุด ของ ปตท. เพิ่มเติมอีก 1.5 ล้านตันต่อปี ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 2562 ทำให้มีประสิทธิภาพรองรับแอลเอ็นจีสูงสุดรวมเป็น 11.5 ล้านตันต่อปี

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะแผน Gas Plan 2015 จะต้องทบทวนใหม่ แต่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับแอลเอ็นจี ตามแผนที่วางไว้ยังต้องดำเนินการต่อเนื่อง ทั้งโครงการคลังแอลเอ็นจี แห่งที่ 2 รองรับการนำเข้าแอลเอ็นจี ประมาณ 7.5 ล้านตันต่อปี ก่อสร้างเสร็จปี2565, การศึกษาความเป็นไปได้โครงการคลังแอลเอ็นจีลอยน้ำ (FSRU)ในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศ ขนาด 3 ล้านตัน และศึกษาความเป็นไปได้โครงการ FSRU ที่เมียนมา ขนาด 3 ล้านตัน ของปตท. รวมถึงศึกษาโครงการ FSRU ขนาด 5 ล้านตัน ของ กฟผ.

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และโฆษก กกพ. กล่าวว่า ขณะนี้ กลุ่มกัลฟ์ และ กฟผ. ได้เข้ามาหารือ กับ กกพ. เพื่อยื่นขอใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ ( Shipper)โดยกลุ่มกัลฟ์ได้จับมือพันธมิตร คือ มิตซุยในการที่จะนำเข้าแอลเอ็นจี และยังเป็นผู้ค้าปลีกก๊าซฯในนิคมอุตสาหกรรมเหมราช ซึ่งจะเจรจาซื้อก๊าซฯจาก ปตท.เพื่อไปบริการลูกค้าที่เข้ามาซื้อที่ดินในนิคมฯ ขณะที่ กฟผ. มีแผนใช้ก๊าซสำหรับโรงไฟฟ้าของตัวเอง

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2560 

นักวิจัย มจธ.พบความรู้ใหม่ใช้วัสดุนาโนเปลี่ยนน้ำตาลเป็นสารราคาแพง  

         นักวิจัย มจธ. ค้นพบองค์ความรู้ใหม่ใช้วัสดุนาโนเพื่อเปลี่ยนน้ำตาลเป็นสารมูลค่าสูง และเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์เป็นไฟฟ้า ตั้งเป้าเพื่อใช้เพิ่มมูลค่าให้กับผลิตผลทางการเกษตร โดยเฉพาะน้ำตาลจากอ้อยที่ไทยส่งออก

               จากเหตุผลว่าไทยผลิตน้ำตาลได้ติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก และส่งออกเป็นอันดับ 2 ของโลก แต่อ้อยและน้ำตาลกลับมีมูลค่าไม่คงที่และมีแนวโน้มลดลง ทีมนักวิจัยโฟโตแคท (Photocat) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จึงตั้งโจทย์ที่จะเปลี่ยนผลผลิตทางการเกษตรให้เป็นสารที่มีมูลค่าสูง โดยได้คิดนวัตกรรมและวิจัยการใช้วัสดุนาโนที่มีสมบัติเชิงแสงสามารถนำแสงมาเปลี่ยนเป็นพลังงานรูปแบบอื่น หรือใช้เพิ่มมูลค่าให้กับผลิตผลทางการเกษตร

               ผศ.ดร.สุรวุฒิ ช่วงโชติ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องมือและวัสดุ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และอาจารย์ประจำหลักสูตรวิทยาศาสตร์นาโนและเทคโนโลยีนาโน มจธ. หัวหน้าโครงการวิจัยดังกล่าวระบุว่า งานวิจัยกลุ่มนี้คือการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการเปลี่ยนพลังงานชีวมวลและน้ำตาลให้เป็นสารเคมีมูลค่าสูง โดยการใช้กระบวนการเร่งปฏิกิริยาเชิงแสงหรือโฟโตคาตาไลซิส (Photocatalysis) ถือเป็นกระบวนการใหม่ที่สามารถนำมาเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของไทย เช่น การเปลี่ยนน้ำตาลให้เป็นไซลิทอล (Xylitol) สารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่ดีต่อสุขภาพที่ตลาดค่อนข้างเติบโต      

        การผลิตไซลิทอลในอุตสาหกรรมเป็นการเปลี่ยนน้ำตาลซูโครสที่มีราคาสูงให้เป็นไซลิทอล โดยการหมักด้วยยีสต์ที่ต้องใช้เวลานานและต้องมีกระบวนการต่อเนื่องหลายกระบวนการเพื่อแยกยีสต์ออกจากไซลิทอล แต่การศึกษาวิจัยชิ้นนี้ เป็นการประยุกต์ใช้การเร่งปฏิกิริยาเชิงแสงด้วยตัวเร่งปฏิกิริยาระดับนาโนที่ใช้เวลาไม่นาน กระบวนการไม่ซับซ้อน และลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จึงเป็นผลิตภัณฑ์สะอาดหรือกรีนโปรดักส์ ซึ่งกระบวนการนี้ยังสามารถพัฒนาต่อไปเพื่อผลิตพลังงานหรือเคมีภัณฑ์อื่นๆ จากผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรตัวอื่นได้      

        ด้วยแนวคิดนวัตกรรมการเปลี่ยนน้ำตาลให้เป็นสารเคมีมูลค่าสูงนี้ ทีมโฟโตแคทประกอบด้วย ผศ.ดร.สุรวุฒิ และ ศ.ดร.นวดล เหล่าศิริพจน์ อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) มจธ. ดร.วีระวัฒน์ แช่มปรีดา หัวหน้าห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีเอนไซม์ ไบโอเทค น.ส.กมลชนก รุ่งเรือง นักศึกษาปริญญาเอก มจธ. น.ส.ณัฐธิดา ศรีศศิวิมล และ น.ส.อรนุช สิทธิพันธ์ศักดา นักศึกษาปริญญาโท มจธ. จึงได้รับรางวัลชนะเลิศประเภท Smart-Eco Products จากงาน PTTGC Open Innovation Challenge 2016: Smart-Eco Innovation       

        นอกจากผลงานดังกล่าว ผศ.ดร.สุรวุฒิ ยังทำการวิจัยอีก 1 กลุ่มงานคือ การเปลี่ยนพลังงานแสงเป็นพลังงานไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดใหม่โดยใช้วัสดุนาโน เช่น เซลล์แสงอาทิตย์ชนิดสารอินทรีย์และชนิดเพอรอฟสไกต์ (perovskite) ซึ่งทางทฤษฎีนั้นมีประสิทธิภาพในการเปลี่ยนแสงให้เป็นพลังงานไฟฟ้าได้ดีกว่าเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดซิลิคอนที่มีขายอยู่ทั่วไป ประกอบกับการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดซิลิกอนนั้นจะต้องผลิตขึ้นเฉพาะในห้องสะอาดที่ควบคุมปริมาณอนุภาคของฝุ่นละอองและสิ่งปนเปื้อน (Clean Room) เท่านั้น      

        “งานวิจัยส่วนนี้สามารถประกอบเซลล์แสงอาทิตย์จากวัสดุนาโนในห้องปฏิบัติการทั่วไปได้ งานวิจัยอีกส่วนคือการวิจัยการใช้พลังงานไฟฟ้าเพื่อควบคุมคุณสมบัติเชิงแสงของวัสดุ เป็นการใส่พลังงานไฟฟ้าเพียงเล็กน้อยเข้าไปในวัสดุเพื่อให้คุณสมบัติเชิงแสงหรือสีของวัสดุเปลี่ยนไป หรือที่เรียกกันว่าอิเล็กโตรโครมิค (Electrochromic) จนสามารถนำมาใช้ภายในอาคารเพื่อควบคุมแสงที่เข้ามาในอาคาร ช่วยลดความร้อนเข้าสู่อาคาร จึงเป็นการช่วยประหยัดพลังงานในการทำความเย็นในอาคารได้"

                ผศ.ดร.สุรวุฒิ กล่าวตอนท้ายว่า การศึกษาวิจัยทั้ง 2 กลุ่มงานดังกล่าวข้างต้นใช้หลักการเดียวกันคือการใช้วัสดุนาโนกับพลังงานแสงมาประยุกต์ใช้ เพื่อเปลี่ยนเป็นพลังงานอื่น หรือเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตผลทางการเกษตร ส่วนสาเหตุที่ให้ความสนใจและทำงานศึกษาวิจัยเรื่องนี้ก็เพื่อความยั่งยืนของพลังงานและสิ่งแวดล้อมนั่นเอง

 จาก http://manager.co.th วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2560 

ไทยถกคณะทำงานด้านการค้า-ลงทุนกับอียูครั้งแรกรอบ 5 ปี เชื่อบรรยากาศการลงทุนดีขึ้น

ไทยถกคณะทำงานด้านการค้าและลงทุนกับอียูครั้งแรกรอบ 5 ปี เชื่อบรรยากาศการลงทุนทั้งสองฝ่ายดีขึ้น หลังไทยปรับกฎระเบียบและออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0

น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สหภาพยุโรปได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะทำงานด้านการค้าและการลงทุน (WGTI) ไทย-สหภาพยุโรป ครั้งที่ 12 ณ กรุงบรัสเซลส์ ซึ่งถือเป็นการหารือครั้งแรกรอบ 5 ปี หลังจากการหารือครั้งสุดท้ายเมื่อปี พ.ศ. 2555 โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือและแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับพัฒนาการด้านนโยบายและเศรษฐกิจที่สำคัญ อาทิ การขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ยุทธศาสตร์และมาตรการส่งเสริมการลงทุน การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายสำคัญของไทย เพื่อพัฒนาบรรยากาศทางธุรกิจให้ดีขึ้น

ทั้งนี้ ยังได้หารือถึงผลกระทบและแนวนโยบายของอียูต่อการออกจากสมาชิกอียูของเครือสหราชอาณาจักร (เบร็กซิต) ตลอดจนแนวทางการดำเนินความสัมพันธ์ด้านการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ระหว่างภูมิภาคอาเซียนและอียู เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ทั้งสองฝ่ายได้หารือเพื่อแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกัน โดยในด้านการค้าพหุภาคี ได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น เพื่อเตรียมการประชุมระดับรัฐมนตรีขององค์การการค้าโลก (ดับเบิ้ลยูทีโอ) ครั้งที่ 11 ที่จะจัดขึ้นปลายปีนี้ที่ประเทศอาร์เจนตินา โดยเฉพาะในประเด็นสำคัญต่าง ๆ อาทิ ข้อเสนอการยกเลิกการอุดหนุนสินค้าประมง การส่งเสริมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (อี-คอมเมิร์ซ) เป็นต้น รวมทั้งรับทราบความคืบหน้าในการปฏิบัติตามความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้าของแต่ละฝ่าย ซึ่งฝ่ายอียูยินดีต่อความคืบหน้าในการดำเนินการของไทยและขอให้ไทยเป็นผู้นำในการผลักดันและส่งเสริมการดำเนินการตามความตกลงในภูมิภาคอาเซียน

สำหรับด้านการค้าระดับทวิภาคีนั้น ต่างฝ่ายได้หยิบยกประเด็นที่เห็นว่าจะช่วยลดอุปสรรคด้านการค้าระหว่างกันขึ้นมาหารือ โดยฝ่ายไทยได้หยิบยกเรื่องต่างๆ อาทิ มาตรการด้านสุขอนามัยของอียูต่อสินค้าข้าวไทย ซึ่งฝ่ายอียูอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับแก้ไขระดับการตกค้างของสาร propiconazole โดยฝ่ายไทยขอให้อียูพิจารณาอย่างถี่ถ้วนและใช้มาตรฐานระหว่างประเทศเป็นพื้นฐาน และผลการพิจารณาของดับเบิ้ลยูทีโอในข้อพิพาทระหว่างอียูกับจีนที่จะมีผลต่อการจัดสรรโควต้าการนำเข้าสินค้าสัตว์ปีกของอียู

"ฝ่ายไทยย้ำว่า ผลของการหารือใดๆ ระหว่างอียูกับจีนในเรื่องสินค้าสัตว์ปีก จะต้องไม่ทำให้ผลประโยชน์โควต้าสินค้าสัตว์ปีกของไทยลดลงจากเดิม ซึ่งฝ่ายอียูรับทราบ และยืนยันว่าในการพิจารณาจัดสรรโควตาสินค้าสัตว์ปีกจะคำนึงถึงผลประโยชน์ของไทยด้วย"

ขณะเดียวกัน ฝ่ายอียูขอรับทราบในประเด็นต่างๆ อาทิ ขั้นตอนการนำเข้าสินค้าผักและผลไม้ ข้าวสาลี และเนื้อสัตว์ของไทย มาตรฐานผลิตภัณฑ์ยางล้อสำหรับยานพาหนะ มาตรการด้านฉลากและภาษีสรรพสามิตสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น

"การหารือครั้งนี้ถือเป็นความก้าวหน้าทางความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างไทยและอียู โดยเป็นการกลับมาหารือครั้งแรกในรอบ 5 ปี ทั้งสองฝ่ายได้พูดคุยและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในบรรยากาศที่เป็นมิตร และเล็งเห็นถึงประโยชน์ในการมีเวทีหารือในลักษณะนี้ระหว่างกันต่อไป" น.ส.วิบูลย์ลักษณ์กล่าว

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2560 

รัฐเร่งสร้างสมดุลเศรษฐกิจ ผ่านไทยแลนด์ 4.0 ใน 4 มิติหลัก

                      นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผยถึงแผนการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยผ่านการสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชน ว่า นโยบายหลักของรัฐบาลชุดนี้ก็คือการปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจของไทยให้มีความสมดุล ระหว่างเศรษฐกิจที่พึ่งพาตลาดต่างประเทศ และเศรษฐกิจภายในประเทศ ที่จะเน้นให้ธุรกิจในท้องถิ่น และวิสาหกิจชุมชน เอสเอ็มอี มีรายได้เพิ่มขึ้น ผ่านการการเพิ่มเทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมทั้งการขยายโอกาสในการเข้าถึงตลาด ผ่านทางนโยบายประเทศไทย 4.0 ผ่านการขับเคลื่อน 4 มิติ หลัก ได้แก่

              1. ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยเฉพาะเส้นทางคมนาคม ระบบรถไฟ ถนน ท่าเรือ และสนามบิน เพราะสิ่งเหล่านี้มีความจำเป็นในการยกระดับประเทศให้ก้าวพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว และยังเป็นการกระจายโอกาสให้ท้องถิ่นต่างๆเชื่อมโยงไปสู่ตลาดได้ง่ายขึ้น 2. การสนับสนุนด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะในส่วนของวิสาหกิจชุมชน เอสเอ็มอี และกลุ่มสตาร์ทอัพ เพื่อยกระดับเทคโนโลยีการผลิต สร้างนวัตกรรมให้กับสินค้าในการบุกตลาดต่างประเทศ

              3. พัฒนาวิสาหกิจชุมชน และไมโครเอสเอ็มอี ซึ่งผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ จะช่วยเพิ่มรายได้โดยตรงให้กับท้องถิ่นต่างๆทั่วประเทศ และให้ผู้ประกอบการเหล่านี้ เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จากเดิมที่เศรษฐกิจไทยจะขับเคลื่อนจากธุรกิจขนาดใหญ่เพียงส่วนเดียว ซึ่งจะช่วยลดช่องว่างทางเศรษฐกิจของไทยได้อย่างยั่งยืน

               “รัฐบาลได้กำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายในการส่งเสริมด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งใหญ่มาจากฐานการต่อยอดจากจุดแข็งของประเทศ เช่น ภาคการเกษตร จะสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเพิ่มการแปรรูปสินค้าเกษตร และการแปรรูปอาหาร จากเดิมที่เน้นในการขายแต่สินค้าวัตถุดิบเพียงอย่างเดียว ซึ่งจะยกระดับไปสู่เศรษฐกิจชีวภาพที่เป็นสินค้ามูลค่าสูงจำพวกอาหารเฉพาะกลุ่ม เครื่องสำอาง และพลาสติกชีวภาพ ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตร และอุตสาหกรรมการเกษตรในท้องถิ่น” นายอุตตม กล่าว

               และ 4. พัฒนาคนไทย 4.0 ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นสูงสุด เพราะการพัฒนาด้านต่างๆของประเทศจะต้องเริ่มจากคน ดังนั้นจึงจะต้องยกระดับคนไทยให้มีทักษะความรู้ด้านเทคโนโลยี และให้คนไทยทุกระดับและทุกอาชีพตระหนักถึงกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว เพื่อที่จะสามารถรับมือ และฉวยโอกาสใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ เพื่อให้เศรษฐกิจชุมชนได้เติบโต ปรับเปลี่ยนจากเดิมที่ความเจริญจะกระจุกอยู่ในกรุงเทพและหัวเมืองใหญ่ไม่กี่แห่ง โดยในแนวทางนี้ รัฐบาลได้มุ่งพัฒนาเชิงพื้นที่สร้างความเจริญใหม่ๆให้กับชุมชนผ่านแนวทางความร่วมมือประชารัฐประสานความร่วมมือจากภาครัฐ ประชาชน ภาคเอกชน ที่จะลงลึกตั้งแต่ระดับจังหวัด ชุมชน และหมู่บ้าน

               นายอุตตมในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรม ได้จัดทำโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (ซีไอวี) โดยได้นำร่องไปแล้ว 9 หมู่บ้าน และในปีนี้จะขยายให้ได้ 67 หมู่บ้านครอบคลุมทั่วประเทศ ภายใน 4- 5 ปี โดยจะนำเทคโนโลยีการผลิตใหม่ๆเข้าถึงชุมชน ยกระดับสินค้า และบริการของชุมชนให้ส่งไปขายได้ทั่วประเทศ และตลาดส่งออก ผ่านการทางยกระดับมาตรฐานด้านต่างๆ รวมทั้งประสานงานร่วมกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่ในการวิจัยพัฒนาสินค้า และบริการ รวมทั้งประสานงานกับหน่วยงานด้านการท่องเที่ยว ในการดึงนักท่องเที่ยวทั้งภายในประเทศ และต่างชาติ เข้ามาท่องเที่ยวในหมู่บ้าน ซีไอวีเหล่านี้ ขยายตลาดสินค้าให้กว้างออกไปมากขึ้น

              นอกจากนี้ รัฐบาลจะพัฒนาระบบอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ เพื่อให้เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และเอสเอ็มอีในทุกพื้นที่ เชื่อมโยงการค้าไปสู่ตลาดทั่วประเทศ และตลาดโลกได้ง่าย และรวดเร็ว เปิดโอกาสให้ธุรกิจชุมชนเปิดตลาดต่างประเทศได้ด้วยตัวเอง โดยภาครัฐจะให้ความสนับสนุนในทุกๆด้านอย่างใกล้ชิด

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2560 

อียู ออกกฎ ห้ามนำเข้าสินค้าเกษตร มีสารเคมีกำจัดโรคไหม้จากเชื้อรา

กรมการค้าต่างประเทศ เผย อียูออกระเบียบกำหนดให้มีสารตกค้าง Tricyclazole ในสินค้าเกษตร โดยเฉพาะข้าว ได้เพียง 0.01 มก./กก. มีผล 30 มิ.ย.นี้ หลังกำหนดให้สารดังกล่าวเป็นสารต้องห้ามในอียู และไม่อยู่ในบัญชีอนุญาตให้นำเข้าได้

วันที่ 26 มิ.ย. 60 นายวันชัย วราวิทย์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เผยว่า สหภาพยุโรป (อียู) ได้ออกกฎระเบียบ ลงวันที่ 9 มิ.ย.60 เพื่อปรับลดปริมาณสาร Tricyclazole ที่ตกค้างได้สูงสุดในสินค้าเกษตร โดยเฉพาะข้าว ให้เหลือเพียง 0.01 มิลลิกรัม (มก.) ต่อกิโลกรัม (กก.) จากเดิมกำหนดให้ตกค้างได้ไม่เกิน 1 มก.กก. ซึ่งสารดังกล่าวเป็นสารเคมีที่ใช้ในการกำจัดโรคไหม้ที่เกิดจากเชื้อราในสินค้าเกษตร รวมทั้งข้าว

 ทั้งนี้ อียู กำหนดให้สารดังกล่าวเป็นสารเคมีห้ามใช้ในอียู และไม่อยู่ในบัญชีสารเคมีที่อนุญาตให้นำเข้าได้ โดยระเบียบดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 มิ.ย.นี้ เป็นต้นไป ยกเว้นข้าวบาสมาติ ที่นำเข้าหรือเก็บเกี่ยวก่อนวันที่ 30 มิ.ย.นี้

อย่างไรก็ตาม กรมการค้าต่างประเทศจะติดตามความคืบหน้ากฎระเบียบต่างๆ ของอียูอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งจะเผยแพร่ข้อมูลแจ้งให้ผู้ประกอบการไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ เพื่อจะได้ศึกษาและดำเนินการตรวจสอบสารตกค้างของสินค้าเกษตรที่ส่งออกไปยังอียูให้ได้ตามมาตรฐานที่กำหนด.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2560 

บราซิลพอใจแก้อุดหนุนน้ำตาล

 "พาณิชย์" ระบุ บราซิลพอใจไทยแก้กฎหมายอ้อยและน้ำตาล คาดมีผลบังคับใช้ทันเดือน ธ.ค.นี้

          นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้กระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมกับคณะกระทรวงอุตสาหกรรมเดิมทางไปยังประเทศบราซิล เพื่อแจ้งความคืบหน้าการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ให้เป็นไปตามหลักสากลมากยิ่งขึ้น ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง และได้แจ้งให้บราซิลทราบว่า ขณะนี้ร่างแก้ไขกฎหมายดังกล่าวอยู่ในการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คาดว่าน่าจะมีผลบังคับใช้ได้ทันในฤดูกาลเปิดหีบอ้อยในเดือน ธ.ค.นี้

          "การแก้ไขกฎหมายฉบับนี้เพื่อทำให้เป็นไปตามหลักสากลมากขึ้น ต่อไปจะไม่มีระบบโควตาน้ำตาลทรายอีกแล้วเพราะบราซิลเห็นว่าการจัดสรรโควตา ค. เพื่อการส่งออก อาจเข้าข่ายเป็นการอุดหนุนการส่งออก และทำให้ระบบการค้าน้ำตาลทรายของโลกบิดเบือน อาจผิดหลักเกณฑ์องค์การการค้าโลก (ดับเบิ้ลยู ทีโอ) โดยการชี้แจงครั้งนี้บราซิลพอใจมาก" นายบุณยฤทธิ์ กล่าว

          อย่างไรก็ตาม ไทยยืนยันกับบราซิลมาโดยตลอดว่า ระบบอ้อยและน้ำตาลของไทยไม่ได้ผิดหลักการดับเบิ้ลยูทีโอ เพราะการจัดสรรโควตา ค. เพื่อการส่งออกเป็นส่วนที่เหลือจากการบริโภคในประเทศแล้วจึงนำมาส่งออก แต่การที่ต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมายดังกล่าว โดยยกเลิกระบบโควตาก็เพื่อให้เป็นไปตามหลักสากลและให้เกิดความชัดเจนในการดูแลเกษตรกรมากขึ้น

          สำหรับการจะลอยตัวราคาน้ำตาลทรายนั้น ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุป แต่คาดว่าจะทำให้ราคาน้ำตาลทรายของไทยสะท้อนความเป็นจริงมากขึ้น เพราะราคาจะขึ้นลงตามราคาตลาดโลก และน่าจะไม่มีการกำหนดราคาเพดานสูงสุดเหมือนในปัจจุบันที่กำหนดกิโลกรัมละ 23.50 บาท

          รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า ก่อนหน้านี้บราซิลได้ยื่นคำร้องต่อดับเบิ้ลยูทีโอว่าไทยมีมาตรการอุดหนุนการส่งออกและอุดหนุนภายในประเทศในสินค้าน้ำตาล เช่น มีการจัดสรรระบบโควตา ค. เพื่อการส่งออก มีการจ่ายเงินอุดหนุนรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อย มีมาตรการจูงใจให้เกษตรกรปลูกอ้อยมากขึ้น เป็นต้น จนส่งผลกระทบต่อการส่งออกน้ำตาลของบราซิล เพราะทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งไทยได้พยายามหารือกับบราซิลเพื่อหาทางออกในเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าน่าจะเจรจากันได้ในเร็วๆ นี้ โดยไม่ต้องตั้งคณะลูกขุนขึ้นพิจารณาข้อพิพาทครั้งนี้

 จาก http://www.posttoday.com วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2560 

"บราซิล" ชื่นชมไทยแก้กฎหมายอ้อย

          นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเปิดเผยว่า ในการเดินทางร่วมไปกับคณะของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ประเทศบราซิล เพื่อแจ้งความคืบหน้าการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อ้อยและน้ำตาลทราย ให้เป็นไปตามหลักสากลว่า ได้แจ้งให้บราซิลทราบว่าขณะนี้ ร่างแก้ไขกฎหมายดังกล่าว อยู่ในการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ได้ทันในฤดูกาลเปิดหีบอ้อยในเดือน ธ.ค.นี้ การแก้ไขกฎหมายดังกล่าวก็เพื่อทำให้เป็นไปตามหลักสากลมากขึ้นซึ่งต่อไปจะไม่มีระบบโควตาน้ำตาลทรายเพราะบราซิลเห็นว่า การจัดสรรโควตา ค (เพื่อการส่งออก) อาจเข้าข่ายเป็นการอุดหนุนการส่งออก ทำให้ระบบการค้าน้ำตาลโลกบิดเบือน และอาจผิดหลักเกณฑ์องค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) การชี้แจงครั้งนี้ บราซิลมีความพอใจกับเรื่องที่ไทยได้ดำเนินการดังกล่าว

          "ไทยยืนยันกับบราซิลมาโดยตลอดว่า ระบบอ้อยและน้ำตาลของไทยไม่ได้ผิดหลักการดับบลิวทีโอ เพราะการจัดสรรโควตา ค เพื่อการส่งออกเป็นส่วนที่เหลือจากการบริโภคในประเทศแล้วจึงนำมาส่งออก แต่การที่ต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้มีการยกเลิกระบบโควตาก็เพื่อให้เป็นไปตามหลักสากล ให้เกิดความชัดเจนในการดูแลเกษตรกรมากขึ้นส่วนการลอยตัวราคาน้ำตาลยังไม่มีข้อสรุปรวมทั้งอาจจะไม่มีการกำหนดราคาเพดานสูงสุดเหมือนในปัจจุบัน ที่กำหนดกิโลกรัม (กก.) ละ 23.50 บาท"

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่าบราซิลได้ยื่นคำร้องต่อดับบลิวทีโอ ว่าไทยมีมาตรการอุดหนุนการส่งออกและอุดหนุนภายในประเทศในสินค้าน้ำตาล เช่น มีการจัดสรรระบบโควตา, มีการจ่ายเงินอุดหนุนรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยเป็นต้นส่งผลกระทบต่อการส่งออกน้ำตาลของบราซิล เพราะทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2560 

สศอ.เร่งทำฐานข้อมูลคุมกากอุตสาหกรรม 

          "อุตสาหกรรม" เร่งจัดทำฐานข้อมูลกากอุตสาหกรรม เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บ พร้อมนำเทคโนโลยีจีพีเอสติดตามรถขนกากอุตสาหกรรม 24 ชม. ป้องกับการลักลอบทิ้งกากนอกพื้นที่ หากพบทำผิด ก.ม. จะสั่งดำเนินคดีทันที

          นายณัฐพล รังสิตพล ผู้ตรวจราชการ กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงแผนการกำจัดกากอุตสาหกรรมได้สั่งการให้หน่วยงานภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมวางมาตรการการกำจัดกากอุตสาหกรรมให้มีประสิทธิภาพเพื่อให้การขายตัวของอุตสาหกรรมไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชน

          โดยสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการอย่างเร่งด่วน ก็คือการจัดทำฐานข้อมูลกากอุตสาหกรรมให้มีความแม่นยำโดยที่ผ่านมาการประเมินประมาณกากอุตสาหกรรมของแต่ละโรงงานจะคำนวนจากขนาดของเครื่องจักรทำให้ปริมาณกากที่ได้กากความแม่นยำ

          ดังนั้นกระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้ร่วมกับกรมโครงงานอุตสาหกรรมสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) จัดเก็บข้อมูลรายโรงงานอย่างละเอียด รวมทั้งนำการประเมินภาวะอุตสาหกรรมของ สศอ. มาเป็นฐานข้อมูลในการคำนวนกากอุตสาหกรรมในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมเพื่อให้ได้ข้อมูลกากอุตสาหกรรมที่มีความแม่นยำตามภาวะเศรษฐกิจในแต่ละช่วง

          นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่า กรอ.ได้ยกระดับความเข้มข้นในการควบคุมกากอุตสาหกรรมโดยได้ดำเนินการผ่าน 4 มาตรการ ผลักดันได้แก่ แผนการควบคุมกำกับดูแล โดยจะเพิ่มเจ้าหน้าที่ในการประสานงานการดำเนินงานอย่างใกล้ชิดระหว่าง อุตสาหกรรมจังหวัดและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องรวมถึงมีการออกหนังสือแจ้งเตือนถึงผู้ประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมให้ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการกากอุตสาหกรรมอย่างเคร่งครัด และได้นำเทคโนโลยีคอยติดตามและนำกากอุตสาหกรรมเข้าระบบอย่างมีประสิทธิภาพผ่านระบบอฐานข้อมูลและติดตามการขนส่งกากอุตสาหกรรม (จีพีเอสเพื่อติดตามรถขนส่งกากเสียอันตรายด้วย

          พร้อมทั้งยังจะมีการตรวจกำกับผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตครอบครองวัตถุอันตราย (วอ.8) สำหรับรถขนส่งของเสียอันรายหากพบว่าประกอบกิจการไม่เป็นไปตามกฎหมายจะถูงสั่งดำเนินคดีรวมถึงแผนสร้างความร่วมมือและแรงจูงใจกับผู้ประกอบการและประชาชนแนะนำให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการกากอุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบ

          จากข้อมูลเดือนเม.ย.ที่ผ่านมาพบว่าประเทศไทยมีสัดส่วนจำนวนโรงงานผู้ก่อกำเนิดกากอุตสาหกรรมกับจำนวนโรงงานผู้รับบำบัดกำจัด และรีไซเคิล ทั่วประเทศ ประมาณ 40:1 ภาคตะวันออกมีสัดส่วนมากที่สุดคือ 14 : 1 รองลงมาคือภาคกลาง 39 : 1 ภาคตะวันตก 64 : 1 ภาคอีสาน 100 : 1 ภาคเหนือ 120 : 1 และภาคใต้ 125 : 1 ตามลำดับ

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2560 

พาณิชย์ ดึงโรงงานเอทานอลรับซื้อมันสำปะหลังเกษตรกร

              นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าวกรณีที่กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง จ.นครราชสีมา มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ช่วยเหลือเรื่องปัญหาราคามันสำปะหลังตกต่ำนั้น กระทรวงพาณิชย์ได้ประสานความร่วมมือให้โรงแป้งและโรงงานเอทานอลรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรอย่างต่อเนื่องในราคาที่เป็นธรรม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยวผลผลิต

               โดยขณะนี้ เป็นช่วงปลายฤดูการผลิต 2559/60 ซึ่งผลผลิตส่วนใหญ่ได้ออกสู่ตลาดใกล้หมดแล้ว ยังคงเหลือตกค้างอยู่เพียงบางส่วน ซึ่งการประสานโรงงานรับซื้อจะสามารถช่วยดึงราคาให้กับเกษตรกรได้และสำหรับมาตรการรองรับผลผลิตปี 2560/61 ได้มีการหารือร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่อง เกี่ยวกับข้อกำหนด กฎที่เป็นข้อจำกัดในการผลิตและจำหน่ายเอทานอล เพื่อที่จะสามารถผลักดันให้มีการใช้มันสำปะหลังในอุตสาหกรรมเอทานอลได้เพิ่มขึ้น

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 26 มิถุนายน 2560

เร่งพัฒนานักวิชาการส่งเสริมเกษตร เคลื่อน‘Zoning’สู่ความสำเร็จ

   นายเกษม ไตรพิจารณ์ เกษตรจังหวัดพิษณุโลก ทำหน้าที่ ผ.อ.สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 9 จ.พิษณุโลก เปิดเผยว่า ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายการบริหารจัดการเขตเกษตรเศรษฐกิจสำหรับสินค้าเกษตรที่สำคัญ (Zoning) ของกระทรวงเกษตรฯ หน่วยงานในพื้นที่ระดับจังหวัดและอำเภอ จะต้องมีข้อมูลสภาพการผลิตและข้อมูลเชิงพื้นที่ของเกษตรกรแต่ละรายในการสร้างความรู้ ความเข้าใจ ให้เกิดการยอมรับแนวคิดการปลูกพืชที่เหมาะสมกับศักยภาพพื้นที่ สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งในการดูแลเกษตรกร

นายเกษมกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า การขับเคลื่อนนโยบาย Zoning จำเป็นต้องอาศัยปัจจัยหลายด้าน ทั้งในส่วนของความพร้อมของข้อมูลประกอบการตัดสินใจวางแผนในระดับภาพรวมของประเทศ ระดับพื้นที่และระดับบุคคลคือเกษตรกรแต่ละรายความรู้ความเข้าใจของผู้ปฏิบัติงานแต่ละระดับและสิ่งจำเป็นก็คือความรู้ความเข้าใจและการยอมรับของเกษตรกร หน่วยงานต่างๆของกรมส่งเสริมการเกษตรจะต้องมีแผนการจัดการพื้นที่เป็นเครื่องมือหลักในการขับเคลื่อนการดำเนินงานให้บรรลุตามเป้าหมาย โดยจะต้องมีการวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านคน-พื้นที่-สินค้าและจัดทำเป็นแผนการจัดการพื้นที่ในแต่ละระดับที่เชื่อมโยงจากภาพใหญ่ระดับประเทศสู่หน่วยย่อยในระดับพื้นที่ ในส่วนของพื้นที่9 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง กรมส่งเสริมการเกษตรได้กำหนดให้ผู้รับผิดชอบโครงการบริหารจัดการเขตเกษตรเศรษฐกิจสำหรับสินค้าเกษตรที่สำคัญ (Zoning)ระดับจังหวัด ตัวแทนเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบโครงการบริหารจัดการเขตเกษตรเศรษฐกิจสำหรับสินค้าเกษตรที่สำคัญ (Zoning)ระดับอำเภอ ใน 9 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ดำเนินการจัดทำแผนการจัดการพื้นที่ผลิตพืชระดับเขต จำนวน 4 ชนิดพืชที่สำคัญ คือ ข้าว มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แผนการจัดการพื้นที่ผลิตพืชระดับจังหวัด 9 จังหวัดและแผนการจัดการพื้นที่ผลิตพืชระดับอำเภอใน 93 อำเภอ เพื่อแก้ปัญหาระบบการผลิตการเกษตรของเกษตรกร และเป็นแนวทางการส่งเสริมการเกษตรด้านพืชแก่เจ้าหน้าที่ระดับพื้นที่ต่อไป

จาก http://www.naewna.com   วันที่ 26 มิถุนายน 2560

บราซิลพอใจ ไทยแก้กฎหมายอ้อยและน้ำตาล

                    “พาณิชย์” ยันบราซิลพอใจไทยแก้กฎหมายอ้อยและน้ำตาลยกเลิกระบบโควตา คาดกฎหมายมีผลบังคับใช้ทันเปิดหีบอ้อยฤดูกาลใหม่เดือนธ.ค.นี้    

                     นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้ร่วมคณะกระทรวงอุตสาหกรรมเดิมทางไปยังประเทศบราซิล เพื่อแจ้งความคืบหน้าการปรับปรุงแก้ไขพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ให้เป็นไปตามหลักสากลมากยิ่งขึ้นว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งรับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง ได้แจ้งให้บราซิลทราบว่า ขณะนี้ ร่างแก้ไขกฎหมายดังกล่าว อยู่ในการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คาดว่า น่าจะมีผลบังคับใช้ได้ทันในฤดูกาลเปิดหีบอ้อยในเดือนธ.ค.นี้      

”การแก้กฎหมายนี้ ก็เพื่อทำให้เป็นไปตามหลักสากลมากขึ้น ซึ่งต่อไปจะไม่มีระบบโควตาน้ำตาลทรายอีกแล้ว เพราะบราซิลเห็นว่า การจัดสรรโควตา ค เพื่อการส่งออก อาจเข้าข่ายเป็นการอุดหนุนการส่งออก และทำให้ระบบการค้าน้ำตาลทรายของโลกบิดเบือน ซึ่งอาจผิดหลักเกณฑ์องค์การการค้าโลก (ดับเบิ้ลยูทีโอ) โดยการชี้แจงครั้งนี้ บราซิลพอใจมาก”

จาก https://www.dailynews.co.th วันที่ 25 มิถุนายน 2560           

"บิ๊กฉัตร" แจงยึดนโยบายรักษาที่ดินสปก.เพื่อเกษตรกร

พล.อ.ฉัตรชัย  สาริกัลยะ รมว.กษ. เปิดเผยว่ายังคงมีนโยบายในการรักษาที่ดิน ส.ป.ก. เพื่อเกษตรกรให้มากที่สุด แต่ในด้านความมั่นคงของประเทศโดยเฉพาะด้านพลังงานซึ่งเป็นฐานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การพัฒนาความเจริญ การสร้างศักยภาพการแข่งขัน ซึ่งหากได้กำหนดเป็นยุทธศาสตร์ชาติแล้ว จำเป็นต้องใช้พื้นที่ ส.ป.ก. แล้ว ก็ต้องจัดสรรให้ แต่ กษ. โดย ส.ป.ก. จะต้องจัดทำหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการ เพื่อให้มีการชดเชยเกษตรกรที่เสียพื้นที่/เสียโอกาส เช่น มีเงินไปซื้อที่ดินทดแทนให้ มีการจัดการช่วยเหลือด้านสาธารณประโยชน์/ด้านสังคม การส่งค่าเช่าให้กองทุนปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในอัตราที่ดหมาะสม ซึ่งสามารถนำไปใช้พัฒนาพื้นที่ ส.ป.ก. อื่นๆ รวมทั้งต้องมีแผนการฟื้นฟูพื้นที่ที่งในระหว่างดำเนินการ/หลังดำเนินการ ทั้งหมดนี้ หลังจากคำสั่ง หน.คสช. มีผลบังคับใช้แล้ว ส.ป.ก. จะร่วมกับหน่วยที่เกี่ยวข้องจัดทำกฎกระทรวงฯ ให้แล้วเสร็จใน 90 วัน สำหรับขอบเขตในปัจจุบัน/ผลกระทบเกษตรกร แบ่งเป็น พื้นที่ ส.ป.ก. ทั้งหมด 41 ล้านไร่ จัดให้เกษตรกรแล้ว 36 ล้านไร่ และ ยังไม่จัดให้เกษตรกร 5 ล้านไร่ รวม 3 กรณี พื้นที่ 3,695 ไร่ คิดเป็นโอกาสการใช้ที่ดินของเกษตรกร 76 ครัวเรือน (ครัวเรือนละ 50 ไร่)

1. กิจการเหมืองแร่ พื้นที่ 2,408 ไร่ เกษตรกร 49 ครัวเรือน

2. กิจการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลม พื้นที่ 580 ไร่ เกษตรกร 12 ครัวเรือน

3. กิจการปิโตรเลียม พื้นที่ 707 ไร่ เกษตรกร 15 ครัวเรือน รวมพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง 3,695 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.009 ของพื้นที่ ส.ป.ก. ที่จัดให้เกษตรกรแล้ว            

ทั้งนี้ แผนการทำงานโดยนัยของคำสั่ง หน.คสช. นี้ กษ. จะต้องจัดทำกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และ เงื่อนไข ในการขออนุญาต/ให้อนุญาต ภายใน 90 วัน นับตั้งแต่คำสั่ง หน.คสช. นี้ มีผลบังคับใช้            

โดยสาระสำคัญของคำสั่ง หน.คสช. ที่31/2560 เรื่อง การใช้ที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เกษตรกร และ ประโยชน์สาธารณะของประเทศ ให้ คปก. มีอำนาจพิจารณาอนุญาต โดยคำนึงถึงยุทธศาสตร์ชาติ/ประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ โดยผู้รับอนุญาตยังต้องปฏิบัติตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง อาทิ               

กิจการปิโตรเลียม การสำรวจแร่ การทำเหมือง หรือ การทำเหมืองใต้ดิน การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมพลังงานแสงอาทิตย์ กิจการที่เป็นประโยชน์กับเกษตรกร/ประโยชน์สาธารณะของประเทศ โดยให้ กษ. จัดทำกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และ เงื่อนไข ในการขออนุญาต/ให้อนุญาต และให้คปก. กำหนดค่าตอบแทนให้เหมาะสมตามวัตถุประสงค์ โดยเงินค่าตอบแทนให้นำเข้ากองทุนปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม รวมถึงส.ป.ก. จัดให้ผู้ได้รับอนุญาตฯ เยียวยา หรือ จ่ายค่าชดเชยให้เกษตรกรที่เสียโอกาส ส่วนข้อปฏิบัติสำหรับผู้ที่ได้รับอนุญาตก่อนคำสั่ง หน.คสช. นี้ มีผลบังคับใช้ ถือว่าได้รับอนุญาตให้ใช้ที่ดิน ส.ป.ก. ไปพลางก่อน             

อย่างไรก็ดี หลังจากมีกฎกระทรวงฯ แล้ว ให้ขออนุญาตภายใน 60 วัน นับจากวันที่กฎกระทรวงฯ บังคับใช้ ในกรณีที่ผู้รับสัมปทานปิโตรเลียม ไม่สามารถเข้าใช้พื้นที่ที่ขอสงวนไว้ เนื่องจาก คปก. มีมติให้ชะลอนั้น ให้เพิ่มระยะเวลาที่ขอสงวนไว้ เท่ากับ เวลาที่ชะลอไว้ แต่ไม่เกินระยะเวลาที่ขอสงวนไว้ในระหว่างที่ยังไม่มีกฎกระทรวงฯ ให้ใช้หลักเกณฑ์ วิธีการ และ เงื่อนไข เดิมมาบังคับใช้ไปพลางก่อน แต่ไม่เกิน 90 วัน นับตั้งแต่คำสั่ง หน.คสช. นี้ มีผลบังคับใช้ ให้ กษ. เสนอแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ทันสมัยนรม. หรือ ครม. สามารถเสนอ หน.คสช. เปลี่ยนแปลงคำสั่งนี้ได้

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 24 มิถุนายน 2560

“พาณิชย์” ช่วยเหลือเกษตรกร ดึงโรงแป้ง-โรงงานเอทานอลซื้อหัวมันสดปลายฤดู   

         “พาณิชย์” ประสานโรงแป้งและโรงงานเอทานอลรับซื้อมันสำปะหลังจากเกษตรกรในราคาที่เป็นธรรม รองรับผลผลิตที่ยังเก็บเกี่ยวไม่หมด หลังเกษตรกรร้องนายกฯ ขอให้ความช่วยเหลือ ยันที่ผ่านมามีมาตรการดูแลเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังอย่างต่อเนื่อง โดยการเชื่อมโยงตลาดรองรับผลผลิต ขยายตลาดส่งออกแป้งมัน ใช้มาตรการคุมนำเข้าส่งออก และล่าสุดจับมืออุตสาหกรรมเอทานอลเตรียมแผนรองรับผลผลิตปี 2560/61 แล้ว

                นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงกรณีที่กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง จังหวัดนครราชสีมา มีหนังสือกราบเรียนนายกรัฐมนตรี ผ่านนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ช่วยเหลือเรื่องปัญหาราคามันสำปะหลังตกต่ำว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ขอความร่วมมือให้โรงแป้งและโรงงานเอทานอลรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรอย่างต่อเนื่องในราคาที่เป็นธรรม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยวผลผลิต

               “ขณะนี้เป็นช่วงปลายฤดูการผลิตปี 2559/60 ซึ่งผลผลิตส่วนใหญ่ได้ออกสู่ตลาดใกล้หมดแล้ว ยังคงเหลือตกค้างอยู่บ้าง ประกอบกับขณะนี้เป็นช่วงฤดูฝน หัวมันสดที่เก็บเกี่ยวในช่วงนี้มีเปอร์เซ็นต์เชื้อแป้งต่ำ และลานมันส่วนใหญ่ได้หยุดรับซื้อแล้วเนื่องจากไม่สามารถตากมันเส้นได้ เลยส่งผลกระทบให้ราคาหัวมันสดมีแนวโน้มลดลง แต่กระทรวงฯ ได้แก้ปัญหาโดยขอให้โรงแป้งและโรงงานเอทานอลเข้ามาช่วยรับซื้อแล้ว”

               นางอภิรดีกล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ได้มีมาตรการในการดูแลพี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังมาโดยตลอด โดยรัฐบาลปัจจุบันมุ่งเน้นบริหารจัดการสินค้ามันสำปะหลังเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกร ผู้ประกอบการ ตลอดจนอุตสาหกรรมมันสำปะหลังโดยรวมของไทย และรักษาเสถียรภาพราคาโดยไม่มีการแทรกแซงหรือบิดเบือนกลไกตลาด เช่น การลดต้นทุนการเพาะปลูกและเพิ่มผลผลิต การลดภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือนของเกษตรกร เป็นต้น ซึ่งจะสามารถช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น

               นอกจากนี้ ได้มีแนวทางการบริหารจัดการด้านการตลาดมันสำปะหลัง โดยให้มีการเชื่อมโยงตลาดมันเส้นสะอาดของกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร กับโรงงานเอทานอล ผู้ค้า/ผู้ส่งออกมันสำปะหลัง สหกรณ์ผู้เลี้ยงปศุสัตว์ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มมันสำปะหลังนอกเหนือจากการจำหน่ายผลผลิตในรูปหัวมันสดเพียงอย่างเดียว รวมทั้งสร้างอำนาจต่อรองในการจำหน่ายผลผลิตและสามารถกำหนดราคาขายได้ด้วยตนเอง

               ส่วนการขยายตลาดแป้งมัน ได้มีการเชื่อมโยงโดยขยายตลาดแป้งมันสำปะหลังในอุตสาหกรรมแปรรูปขั้นสูงไปตลาดใหม่ในประเทศที่มีศักยภาพ เช่น อินเดีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เป็นต้น ตลอดจนจับคู่เจรจาธุรกิจ (Business Matching) กับผู้ซื้อต่างประเทศ

               ขณะเดียวกัน ได้กำหนดมาตรการนำเข้า-ส่งออก เพื่อเป็นเครื่องมือในการรักษาระดับราคามันสำปะหลัง โดยมาตรการนำเข้า กระทรวงฯ กำหนดให้ผู้ประกอบการสามารถนำเข้ามันสำปะหลังจากประเทศเพื่อนบ้านได้ แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการจัดระเบียบในการนำเข้า คือ ต้องมีหนังสือรับรองประกอบการนำเข้า (หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า/ สุขอนามัยพืช/ มาตรฐานสินค้า) และต้องนำเข้ามาทางด่านศุลกากรที่มีด่านตรวจพืชหรือที่อยู่ในเขตอำนาจของด่านตรวจพืช รวมถึงต้องรายงานการนำเข้า สำหรับมาตรการส่งออกในช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย. ซึ่งเป็นช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมาก กำหนดให้ผู้ส่งออกต้องมีสต๊อกในครอบครองในอัตราส่วน 1.5 : 1 โดยผู้ส่งออกต้องมีสต๊อก 1.5 ส่วน จะสามารถส่งออกได้ 1 ส่วนเพื่อให้ผู้ส่งออกช่วยดูดซับอุปทานภายในประเทศ

               สำหรับมาตรการรองรับผลผลิตฤดูกาลผลิตปี 2560/61 ได้มีการหารือร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่อง เกี่ยวกับข้อกำหนด กฎหรือระเบียบที่เป็นข้อจำกัดในการผลิตและจำหน่ายเอทานอล เพื่อที่จะสามารถผลักดันให้มีการใช้มันสำปะหลังในอุตสาหกรรมเอทานอลเพิ่มขึ้น โดยได้ร่วมกับสมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลไทย และสมาคมเอทานอลจากมันสำปะหลังจัดทำบันทึกความร่วมมือ (MOU) เพื่อเชื่อมโยงรับซื้อมันเส้นสะอาดจากเกษตรกร และยังได้หารือผู้ประกอบการแปรรูป เพื่อนำนวัตกรรมมาใช้ในการแปรรูปเพิ่มมูลค่าให้มันสำปะหลัง รวมทั้งผลักดันให้มีการปลูกมันสำปะหลังอินทรีย์ ซึ่งเกษตรกรจะขายได้ในราคาสูงกว่าปกติหลายเท่า

 จาก http://manager.co.th  วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2560

บริหารจัดการนํ้าโขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง

                    ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์หาแนวทางสร้างความมั่นคงน้ำภาคการผลิตให้เพียงพอกับความต้องการในทุกพื้นที่ 

      ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์หาแนวทางสร้างความมั่นคงน้ำภาคการผลิตให้เพียงพอกับความต้องการในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำให้กับภาคอีสานนั้นมีแนวทางการพัฒนาแหล่งน้ำโดยการพิจารณานำน้ำก่อนไหลลงแม่น้ำโขงมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

      ทั้งนี้ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบนโยบายให้กรมชลประทานพัฒนาแหล่งเก็บน้ำขนาดเล็ก เพื่อเก็บน้ำไว้ให้ได้มากที่สุดก่อนที่จะไหลลงแม่น้ำโขงซึ่งเป็นแม่น้ำนานาชาติ ทั้งนี้รัฐบาลได้อนุมัติและดำเนินการก่อสร้างแก้มลิง จำนวน 30 แห่ง ใน 5 จังหวัดในลุ่มน้ำโขง-อีสาน เสร็จเรียบร้อยแล้ว

      เพื่อสร้างความมั่นคงและแก้ไขปัญหาในระยะยาว มีโครงการที่สำคัญและมีความเป็นไปได้ในทางวิศวกรรม ได้แก่ โครงการบริหารจัดการน้ำโขง-เลย-ชี-มูล โดยแรงโน้มถ่วง เป็นการแก้ไขปัญหาน้ำให้เป็นระบบ โดยใช้หลักการพัฒนาแบบองค์รวมเชื่อมโยงกันระหว่างโครงการที่พัฒนาแล้วกับโครงการที่จะเกิดขึ้นใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาแบบเบ็ดเสร็จรวบยอดเกิดประโยชน์ครอบคลุมทั้งภาคอีสาน

      สำหรับการดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วงนั้น หากจะพัฒนาให้เต็มศักยภาพก็จะมีการสร้างอุโมงค์ ส่งน้ำจำนวน 17 แถว คลองส่งน้ำ สายหลัก 6 สาย ระยะทางรวม 2,084 กม. ซึ่งจะทำให้พื้นที่รับประโยชน์ครอบคลุมถึง 20 จังหวัด 281 อำเภอ สามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทานได้ 33.50 ล้านไร่ โดยแบ่งเป็นพื้นที่ส่งน้ำด้วยแรงโน้มถ่วง 21.78 ล้านไร่ และพื้นที่ส่งน้ำด้วยระบบสูบน้ำอีก 11.72 ล้านไร่ ปริมาณน้ำที่จะส่งในฤดูฝนประมาณ 22,274 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) และในฤดูแล้งประมาณ 10,260 ล้าน ลบ.ม.

    อย่างไรก็ตามในการดำเนินงานนั้น จะพัฒนาโครงการในระยะที่ 1 ก่อน โดยสร้างอุโมงค์ส่งน้ำจำนวน 1 แถว คลองส่งน้ำสายหลัก 2 สาย ระยะทางรวม 244 กม. เมื่อแล้วเสร็จจะมีพื้นที่รับประโยชน์ 6 จังหวัด 22 อำเภอ สามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทานได้ 1.69 ล้านไร่ โดยแบ่งเป็นส่งน้ำด้วยแรงโน้มถ่วง 0.94 ล้านไร่ และส่งน้ำด้วยระบบสูบน้ำ 0.75 ล้านไร่ ปริมาณน้ำส่งในฤดูฝน 1,669 ล้าน ลบ.ม. และปริมาณน้ำส่งในฤดูแล้ง 1,259 ล้าน ลบ.ม.

     นับเป็นการใช้ประโยชน์จากสภาพภูมิประเทศบริเวณปากแม่น้ำเลย อ.เชียงคาน จ.เลย โดยปรับปรุงปากแม่น้ำเลย ขุดคลองชักน้ำ และขุดเจาะปากทางเข้าอุโมงค์ส่งน้ำ เพื่อกระจายน้ำให้กับพื้นที่ต่าง ๆ และนำส่วนที่เหลือไปเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนต่าง ๆ เช่น เขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น เขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ เขื่อนห้วยหลวง จังหวัดอุดรธานี

    นอกจากนี้ผลศึกษายังได้เสนอให้มีการสร้างประตูระบายน้ำเพื่อยกระดับน้ำให้ไหลไปตามลำน้ำเลยเป็นระยะทาง 49 กิโลเมตร ซึ่งจะสามารถเก็บกักตามลำน้ำได้ประมาณ 16 ล้าน ลบ.ม. และเพื่อให้พื้นที่สองฝั่งลำน้ำเลยมีการนำน้ำไปใช้ประโยชน์อย่างเต็มศักยภาพ

    และเสนอให้มีการพัฒนาระบบชลประทานด้วยการสูบน้ำ ซึ่งจะสามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่การเกษตรได้อีกประมาณ 66,905 ไร่ ครอบคลุมตั้งแต่บริเวณบ้านธาตุ อ.เชียงคาน ขึ้นไปจนถึงตัวอำเภอเมืองเลย จังหวัดเลย อีกด้วย

จาก https://www.dailynews.co.th  วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2560

เกษตร เตือนเกษตรกรชาวไร่อ้อย เฝ้าระวังการระบาด ตั๊กแตนไฮโรไกลฟัส

นายประสงค์  ประไพตระกูล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร  เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคแมลงศตรูพืชในขณะนี้พบว่าในพื้นที่จังหวัดราชบุรี อำเภอจอมบึง และอำเภอโพธาราม ซึ่งเป็นแหล่งปลูกอ้อย ที่ใหญ่อีกแห่งหนึ่งในภาคตะวันตกและจังหวัดใกล้เคียง ได้มีการพบว่ามีศัตรูพืช คือ ตั๊กแตนไฮโรไกลฟัส เข้าทำลายแปลงอ้อย เนื่องจากช่วงนี้ตัวอ่อนของตั๊กแตนไฮโรไกลฟัสเริ่มฟักออกจากไข่ ดังนั้นเกษตรกรชาวไร่อ้อยจึงควรหมั่นสำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับผลผลิตอ้อย และหากพบว่าพื้นที่ใดมีการระบาดของตั๊กแตนไฮโรไกลฟัสที่เข้าทำลายอ้อยให้รีบแจ้งสำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้านดำเนินการควบคุมโดยทันที

สำหรับรูปร่างลักษณะตัวเต็มวัยของตั๊กแตนไฮโรไกลฟัสเป็นตั๊กแตนที่มีขนาดกลางยาว 3-5 เซนติเมตร มีสีเหลืองปนเขียวหรือน้ำตาลปนเหลืองน้ำตาลแก่ ตัวอ่อนมีสีต่างๆ กัน เช่น เขียวอ่อน เหลืองอ่อน น้ำตาลแดงและดำทั้งตัว หน้ามีสีดำ ใต้ท้องมีสีดำตลอดตัว วงจรชีวิตของตั๊กแตนไฮโรไกลฟัส การผสมพันธุ์และวางไข่ในช่วงเดือนกันยายน – ตุลาคม เป็นช่วงปลายฤดูฝน ไข่จะฟักตัวอยู่ในดินตลอดฤดูแล้ง อยู่ในดิน 7-8 เดือน ลักษณะไข่คล้ายเมล็ดพุทรา เปลือกหุ้มไข่แข็งมีทั้งชนิดรูปกลมและรี ตัวเมียวางไข่ได้ 3 – 4 ฝัก (1 ฝัก มีไข่จำนวน 30-60 ฟอง) ฟักออกเป็นตัวอ่อนช่วงเดือนเมษายน – มิถุนายน และจะเริ่มเป็นตัวเต็มวัยช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน ของทุกปี โดยที่ตั๊กแตนไฮโรไกลฟัสจะขยายพันธุ์ปีละ 1 ครั้ง

ส่วนลักษณะการทำลายพบการระบาดของตั๊กแตนตั้งแต่วัยที่ 4 โดยเข้าทำลายใบอ้อยจนเหลือแต่ก้านใบ ลักษณะการเข้าทำลายเหมือนตั๊กแตนปาทังก้า คือ จะกัดกินเนื้อใบอ้อยเหลือก้านใบ ไร่อ้อยถูกทำลายอย่างหนักมองเข้าไปเห็นแต่ก้านใบลักษณะคล้ายแส้ ตั๊กแตนชนิดนี้สามารถกินพืชได้หลายชนิด เท่าที่ได้สำรวจพบว่า ข้าว อ้อย ข้าวโพด ฝ้าย ถั่วเหลือง ถั่วลิสง หญ้าคา แฝก สาบเสือ พง อ้อ ไผ่ หญ้าใบไผ่ หญ้าตีนติดใบมันสำปะหลัง ละหุ่ง ปอแห้ว ใบมะพร้าว ใบข่า ใบสับปะรด และใบตะไคร้ เป็นต้น

ซึ่งการป้องกันกำจัดตั๊กแตนไฮโรไกลฟัสนั้น เกษตรกรควรหมั่นดูแลแปลงอ้อยด้วยการไถพรวนดินเพื่อทำลายไข่ก่อนที่ไข่จะฟักออกเป็นตัวอ่อน โดยทำการไถบริเวณที่ตั๊กแตนวางไข่ จากนั้นก็กำจัดวัชพืชที่อยู่หัวไร่ปลายนาเพราะอาจเป็นที่อยู่อาศัยของตัวอ่อนของตั๊กแตนไฮโรไกลฟัสได้ สำหรับวิธีการกำจัดตั๊กแตนไฮโรไกลฟัสในระยะตัวอ่อน สามารถทำได้โดยการใช้สารเคมี ได้แก่ คาร์บาริล 85% EC อัตรา 25 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือกำจัดด้วยไดอะซินอน 60% EC อัตรา 15 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือใช้สารฟิโปรนิล 5% SC อัตรา 20 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร กำจัดตัวอ่อนของด้วงหนวดยาวในแปลงที่พบการทำลายของด้วงหนวดยาวอ้อยร่วมด้วย แต่หากพบว่ามีการระบาดอย่างรุนแรงของตั๊กแตนก็ให้ใช้วิธีการกำจัดด้วยกับดักเหยื่อพิษ โดยผสม czrtap hydrochloride 50% SP อัตรา 20 กรัม เกลือแกง -จ กรัม Ammonium bicarbonate อัตรา 30 กรัม สารจับใบ และน้ำ 1 ลิตร และนำกระดาษขนาด 11 x 15 เซนติเมตร ชุบสารละลายให้โชกและพึ่งลมให้แห้งและนำกระดาษไปวางไว้ที่ร่องระหว่างต้นอ้อย

อย่างไรก็ตามนอกจากการใช้สารเคมีแล้วเกษตรกรควรมีการเก็บทำลายโดยตรง เริ่มจากการสำรวจตรวจสอบใบอ้อยในไร่ เมื่อพบตั๊กแตนกำลังกินให้เก็บตัวตั๊กแตนแล้วนาไปทำลาย หรือนำไปเป็นอาหาร จากนั้นจึงพ่นด้วยสารชีวภัณฑ์ควบคุมแมลงศัตรูพืช เช่น เมตตาไรเซียม หรือบิวเวอเรีย และใช้แมลงศัตรูธรรมชาติแก้ปัญหาร่วมด้วยไปพร้อมกัน ได้แก่ วิธีการใช้แมลงหางหนีบซึ่งเป็นศัตรูของตั๊กแตนไฮไลไกลฟัสในการกำจัดอีกทางหนึ่ง ซึ่งก็จะทำให้การควบคุมมีประสิทธิภาพสามารถกำจัดไข่ตั๊กแตนไฮไลไกลฟัสให้หมดไปได้

จาก https://www.matichon.co.th วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2560

สมคิดหวังศก.โตเกิน3.5% ย้ำธปท.ดูแลค่าบาทได้ดี ยันเร่งลงทุน2.4ล้านล้าน

 “สมคิด” คาดเศรษฐกิจไทยปีนี้มีโอกาสโตเกิน 3.5% หลังส่งสัญญาณฟื้นตัวชัด แถมรัฐเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2.4 ล้านล้านบาท ลุ้นส่งออกขยายตัวด้วยเลข 2 หลัก ย้ำ! เอกชนไม่ต้องห่วงบาทแข็ง มี ธปท.ดูแลได้ดี

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยในงาน “Thailand’s Big Strategic Move” ว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยปี 2560 จะโตที่ระดับ 3.5% หรือมีโอกาสมากกว่า หลังจากเศรษฐกิจเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัว รวมถึงการเร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ โดยเฉพาะคมนาคมที่มากกว่า 2.4 ล้านล้านบาท ทั้งการสร้างถนน ทางด่วนมอเตอร์เวย์ รถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง ท่าเรือ และขนส่งสินค้า

ส่วนภาคการส่งออกเริ่มเห็นการฟื้นตัวดีขึ้น จากเศรษฐกิจคู่ค้าที่เติบโต คาดว่าการส่งออกของไทยปีนี้มีโอกาสโตเป็นเลข 2 หลัก จากปัจจุบันคาดการณ์ไว้ที่ 5% ส่วนที่ภาคเอกชนเป็นห่วงค่าเงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้น อาจกระทบต่อการส่งออกนั้น ยืนยันว่าเอกชนไม่ต้องเป็นห่วง เนื่องจากค่าเงินบาทเป็นสิ่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดูแลได้ดีอยู่แล้ว ในส่วนของภาคเอกชนต้องเร่งพัฒนาคุณภาพของสินค้า ในการสร้างมูลค่าเพิ่ม และนำนวัตกรรมมาใช้เพื่อรองรับกับการแข่งขัน

อย่างไรก็ตาม จากการร่วมงานที่ Nikkei forum ที่กรุงโตเกียว โดยหัวข้อหลักของงาน คือ การมองบทบาทของเอเชียในอนาคต พบว่า ขณะนี้ประเทศกลุ่มเอเชียกำลังเป็นความหวังใหม่ที่จะช่วยค้ำจุนเศรษฐกิจในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว และมีความไม่แน่นอนทั้งเศรษฐกิจและการเมืองจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายของผู้นำสหรัฐ

"ในหลายปีที่ผ่านมา ยอมรับว่าไทยต้องเผชิญกับปัญหาทางการเมือง ซึ่งเป็นตัวฉุดรั้งการเติบโต แต่หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เข้ามาบริหารประเทศ และใช้วิธีวิกฤติเป็นโอกาส ทำให้ประเทศกลับคืนความสุข และมีเสถียรภาพที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ” นายสมคิดกล่าว

ขณะที่ภาคตลาดทุนในประเทศ เริ่มเห็นการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ปี 2554-2559 กำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์เฉลี่ยอยู่ที่ 7% และในไตรมาส 1/2560 ที่ผ่านมา กำไรรวมของ บจ.สูงถึง 300,000 ล้านบาท หรือโต 21% จากปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน ขนาดตลาดได้ขยายตัวถึง 122% ของจีดีพี

นายสมคิดกล่าวว่า สำหรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของประเทศ ด้วยเงินลงทุนกว่า 2.4 ล้านล้านบาท ครอบคลุมช่วงระยะ 5 ปีข้างหน้านั้น ใช้เงินทุนผ่านแหล่งเงินทุนจากงบประมาณ, แหล่งเงินกู้ยืม, การร่วมลงทุนกับเอกชนแบบ PPP fast track ผ่านการสร้างรถไฟฟ้า 5 เส้นทาง คือ เส้นสีเขียว น้ำเงิน ส้ม เหลือง และชมพู และภายในปีนี้จะเริ่มเปิดประมูลอีก 3 เส้นทาง คือ ม่วงใต้ ส้มตะวันตก และสีแดง และในช่วง 2 เดือนข้างหน้าจะสรุปผลการประมูลรถไฟทางคู่อีก 5 เส้นทาง เพื่อเริ่มลงทุนภายในปีนี้.

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2560

เกษตรฯเร่งส่งเสริม‘Smart Officer’ พัฒนาจนท.สู่ผู้นำการเปลี่ยนแปลงสอดรับ‘ไทยแลนด์4.0’

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า การที่ประเทศไทยจะก้าวสู่ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง กรมส่งเสริมการเกษตรในฐานะผู้ขับเคลื่อนงานหลักในพื้นที่การเกษตร มีการเตรียมพร้อมแล้วในหลายด้าน โดยมุ่งเน้นในเรื่องการพัฒนาภาคการเกษตรไปสู่ “ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ด้วยการสร้าง “ความเข้มแข็งจากภายใน” ผ่านการขับเคลื่อนตามนโยบายสำคัญที่มุ่งปฏิรูปภาคการเกษตรของไทยให้ก้าวสู่ SMART AGRICULTURE ด้านการพัฒนาเจ้าหน้าที่กรมฯ ได้สร้าง FutureDOAE นักส่งเสริมการเกษตรรุ่นใหม่ จำนวน300 คน ทั่วประเทศ เพื่อเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงภาคการเกษตร ทันต่อสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ผ่านการปรับระบบการทำงานของนักส่งเสริมการเกษตรทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ภายใต้โมเดล “ประเทศไทย 4.0” หรือ “ไทยแลนด์ 4.0” ที่ต้องการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ “Value–Based Economy” หรือ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม”

โดยการขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใน 3 มิติที่สำคัญ ได้แก่ 1.เปลี่ยนจากการผลิตสินค้าไปสู่สินค้าเชิง นวัตกรรม 2.เปลี่ยนจากการขับเคลื่อนประเทศที่เดิมขับเคลื่อนด้วยภาคอุตสาหกรรมไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม 3.เปลี่ยนจากการเน้นผลิตสินค้าไปสู่ภาคบริการมากขึ้น ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรได้รับนโยบายดังกล่าวมาปฏิบัติ โดยได้จัดฝึกอบรมหลักสูตร “ผู้นำการเปลี่ยนแปลงภาคการเกษตร” ให้แก่นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรของกรมฯ จากทั่วประเทศ ที่มีประสบการณ์การทำงาน 3 ปีขึ้นไป จำนวน 4 รุ่นกว่า 300 คน ในฐานะที่เป็นผู้ช่วยผู้บริหารขององค์กรในการขับเคลื่อนภารกิจหลักไปสู่เป้าหมายที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ต้องได้รับการพัฒนาให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคปัจจุบัน

ในฐานะของผู้นำ จะต้องสามารถมองภาพรวมการพัฒนาประเทศด้วยการเข้าใจภายใต้ข้อจำกัดของทรัพยากรที่อยู่ พร้อมทั้งสามารถบริหารจัดการได้อย่างลงตัวและสมบูรณ์รวมทั้งสามารถนำนโยบายต่างๆ ไปสู่การปฏิบัติด้วยการใช้ทักษะการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงภาคการเกษตร ให้เกิดเป็นรูปธรรมและเห็นผลโดยการเตรียมตัวสู่ “ไทยแลนด์ 4.0” และเกษตร 4.0วัตถุประสงค์ นอกเหนือจากองค์ความรู้ทางการเกษตรแล้ว ผู้เข้ารับการอบรมจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจ และเรียนรู้ประสบการณ์ สามารถเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงภาคการเกษตร ปรับแผนธุรกิจการเกษตรสู่ผู้นำการเปลี่ยนแปลงภาคการเกษตร ให้มีความรู้ความเข้าใจและพร้อมที่จะเรียนรู้ในการเป็นผู้นำการเชิงกลยุทธ์ ในการบริหารการเปลี่ยนแปลง กลยุทธ์การปรับเปลี่ยนองค์ การโดยการบัญชาการ กลยุทธ์การปรับเปลี่ยนองค์การโดยการให้มีส่วนร่วมในวงจำกัด กลยุทธ์การปรับเปลี่ยนองค์การโดยการกระจายอำนาจ สำหรับหลักสูตรดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ เข้ารับการอบรมสามารถประยุกต์เทคนิคการวางแผนพัฒนาตนเองให้ เป็น Smart Office และพัฒนาเกษตรกรให้เป็น Smart Farmer เป็นผู้นำในภาคเกษตรที่จะนำความสำเร็จสู่องค์กรและสถาบันเกษตรกรอย่างมั่นคงและยั่งยืนได้

“ปัจจุบันเรามีสำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอทั่วประเทศ มีศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร ที่เป็นหน่วยบริการในพื้นที่การเกษตร 50 แห่งทั่วประเทศ และที่สำคัญกรมส่งเสริมการเกษตร จะต้องมีฐานข้อมูลที่ทันสมัย รองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้บริการฉับไวและมีประสิทธิภาพเกิดประสิทธิผล ทั้งต่อตัวเกษตรกร และต่อเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร มีผลงานเป็นที่ตั้ง ส่งเสริมแบบใช้ตลาดนำการผลิต และตอบสนองความต้องการของตลาด มุ่งเพิ่มผลผลิตคุณภาพ ตลอดห่วงโซ่อุปทานได้ด้วยSmart Office และ Smart Farmer”อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว

จาก http://www.naewna.com   วันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2560

เกษตรกรได้เฮ! นายกฯเตรียมมอบเอกสารสิทธิ์แก่ผู้ไร้ที่ดินทำกินใน 6 จังหวัด กว่า 1.6 หมื่นไร่ เร็วๆนี้

 นายปริญญา เพ็งสมบัติ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยถึงความก้าวหน้าการดำเนินงานจัดที่ดินและมอบเอกสารสิทธิ์แก่เกษตรกร ว่าภายหลังที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.)ได้ดำเนินการยึดคืนพื้นที่ ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่36/2559เรื่องมาตรการในการแก้ไขปัญหาการครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมโดยมิชอบด้วยกฎหมายซึ่งในปี 2560 ส.ป.ก. มีพื้นที่เป้าหมาย 100,000 ไร่เพื่อนำที่ดินเข้าสู่กระบวนการปฏิรูปที่ดิน โดยในระยะแรก ส.ป.ก. ดำเนินการปรับปรุงพัฒนาพื้นที่แล้วเนื้อที่ 30,000 ไร่ จำนวน 33 แปลง ในพื้นที่ 9 จังหวัด และระยะที่สองในพื้นที่ส่วนที่เหลือเนื้อที่ประมาณ 70,000 ไร่ จำนวน 71 แปลง ในพื้นที่ 14จังหวัด

ด้าน นายสมปอง อินทร์ทองเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กล่าวเพิ่มเติมว่าขณะนี้ ส.ป.ก.สามารถดำเนินการจัดที่ดินและมอบเอกสารสิทธิให้แก่เกษตรกรในรูปแบบสหกรณ์ได้ในพื้นที่ 6 จังหวัด คือ สุราษฎร์ธานี สระแก้ว เชียงใหม่ กาญจนบุรี นครราชสีมาและชลบุรี จำนวน 24 แปลง เนื้อที่ 16,742 ไร่ซึ่งจะสามารถรองรับเกษตรกรผู้ไร้ที่ดินทำกินได้จำนวน 1,384 ราย

การดำเนินการในลำดับต่อไป ส.ป.ก.จะเสนอต่อพลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเชิญฯพณฯ พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการมอบหนังสือเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินให้แก่เกษตรกรในรูปแบบสหกรณ์ณ จังหวัดสระแก้ว ซึ่ง ส.ป.ก. มีการพัฒนาพื้นที่ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานพร้อมทั้งจะส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงโคเนื้อแบบประณีต (โคบาลบูรพา)และส่งเสริมการปลูกหญ้าเนเปียร์ เพื่อเป็นอาหารสัตว์ และลดต้นทุนการผลิตอีกทางหนึ่งด้วย

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2560

อภิรดี ถก USABC ชี้นักลงทุนสหรัฐสนใจเข้าลงทุนไทย หวังขยายตลาดออกไปในกลุ่ม CLMV

อภิรดี ถก USABC ชี้นักลงทุนสหรัฐสนใจเข้าลงทุนไทย หวังขยายตลาดออกไปในกลุ่ม CLMV  พร้อมหนุนนโยบายลงทุน EEC- ไทยแลนด์ 4.0

นางอภิรดี  ตันตราภรณ์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังการหารือกับนักธุรกิจ สภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน (USABC) ว่า  จากการหารือครั้งนี้ พบว่านักลงทุนสหสรัฐ มีความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในไทยเพื่อขยายตลาดออกไปในกลุ่มประเทศ CLMV อาทิ อิเล็กทรอนิกส์ อีคอมเมิร์ซ ดิจิตอล  อาหาร รถยนต์ เป็นต้น  ทั้งนี้ส่วนใหญ่ลงทุนในประเทศไทยอยู่แล้ว อีกทั้ง ยังสนับสนุนนโยบายของรัฐ ที่ส่งเสริมการลงทุน EEC นโยบายไทยแลนด์ 4.0  อย่างไรก็ดี  กระทรวงพาณิชย์ก็ยังชี้แนวทาง นโยบายที่ได้ดำเนินการด้านการส่งเสริมการค้า การลงทุนด้วย

นักลงทุนสหรัฐที่เข้ามาลงทุนในประเทศ เช่น กูเกิล เพลพอล ซึ่งมีความสนใจที่จะขยายลงทุนในส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อีคอมเมิร์ซ อีกทั้งยังมีความร่วมมือกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ของกระทรวงพาณิชย์ ในการส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ในการเข้าไปลงทุนในสหรัฐได้ อีกทั้ง นักลงทุนส่วนใหญ่ก็มีความสนใจที่จะลงทุนในกลุ่มดิจิตอล เนื่องจากผู้ประกอบการไทยมีความสามารถ แต่ก็ให้ความกังวลเรื่องการคุ้มครองงานด้านทรัพย์สินทางปัญญา ที่ต้องการให้ประเทศไทยดูแล

"คนไทยมีความสามารถด้านเอนิเมชั่น การ์ตูน  ด้านบันเทิง งานประดิษฐ์  การออกแบบ การคิดค้นงานต่างๆ แต่เขาต้องการให้ดูแลเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งเราก็ชี้แจงว่าเราได้ดำเนินการอะไรไปบ้าง การเดินหน้าดำเนินการเรื่องคำขอ การหามาตรการเพื่อเข้ามาดูแลเรื่องนี้เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ อีกทั้งให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ออกแบบ คุ้มครองเจ้าของ และไม่กระทบประชาชน เป็นต้น"

นอกจากนี้ ในกลุ่มนักลงทุนด้านอาหารเสริม ก็มีความสนใจลงทุนนประเทศไทยด้วยเช่นกัน เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ซึ่งเห็นเป็นแหล่งวัตถุดิบสำคัญให้กับกลุ่มตลาดผู้สูงอายุ ที่จะขยายลูกค้า กลุ่มรถยนต์ มีความสนใจ แต่ก็ต้องการให้ประเทศไทยช่วยเหลือในการลดอุปสรรคการค้า การลงทุน ในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งยังมีอยู่มาก โดยเฉพาะการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี  ซึ่งเรื่องนี้ก็รับและพร้อมที่จะนำไปในหารือในกลุ่มประเทศอาเซียน และยังมีความสนใจเข้ามาลงทุนด้านการศึกษา อบรมเอสเอ็มอี สินค้าเพื่อการบริโภค เพื่อขยายออกไปในตลาด CLMV ด้วย และก็มีกลุ่มอื่นๆด้วยที่สนใจ

อย่างไรก็ดี ในการหารือไม่ได้มีการพูดคุยเรื่องกฎหมายพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เรื่องนโยบายทรัมป์กรณีประเทศที่สหรัฐขาดดุล แต่เราก็ได้มีการชี้แจงให้กับนักธุรกิจ นักลงทุนที่มาในวันนี้ด้วย ว่าประเทศไทยเดินหน้าเรื่องต่างๆอย่างไร หรือการลงทุนใน EEC เป็นต้น

สำหรับการเข้ามาลงทุนของสหรัฐในประเทศไทย เป็นอันดับที่ 9 มีมูลค่าการลงทุนอยู่ที่ 13.57 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 12.23% ในปี 2559 และการส่งเสริมการลงทุนในไทย ถือว่าสหรัฐเป็นนักลงทุนอันดับที่ 4  รองจากญี่ปุ่น สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ที่ได้รับการส่งเสริมจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ มีโครงการจำนวน 27 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 25,291 ล้านบาท ที่ได้รับการอนุมัติ จากโครงการที่ยื่นขอ 29 โครงการ มูลค่า 9,320 ล้านบาท สาขาที่ลงทุนมากสุด เคมีภัณฑ์ กระดาษ พลาสติก

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2560

เกษตรกรเฮ! นายกฯเตรียมมอบเอกสารสิทธิ์ แก่ผู้ไร้ทำกินใน 6 จังหวัด กว่า 1.6 หมื่นไร่

นายปริญญา เพ็งสมบัติ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยถึงความก้าวหน้าการดำเนินงานจัดที่ดินและมอบเอกสารสิทธิ์แก่เกษตรกร ว่าภายหลังที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.)ได้ดำเนินการยึดคืนพื้นที่ ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่36/2559เรื่องมาตรการในการแก้ไขปัญหาการครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมโดยมิชอบด้วยกฎหมายซึ่งในปี 2560 ส.ป.ก. มีพื้นที่เป้าหมาย 100,000 ไร่เพื่อนำที่ดินเข้าสู่กระบวนการปฏิรูปที่ดิน โดยในระยะแรก ส.ป.ก. ดำเนินการปรับปรุงพัฒนาพื้นที่แล้วเนื้อที่ 30,000 ไร่ จำนวน 33 แปลง ในพื้นที่ 9 จังหวัด และระยะที่สองในพื้นที่ส่วนที่เหลือเนื้อที่ประมาณ 70,000 ไร่ จำนวน 71 แปลง ในพื้นที่ 14จังหวัด

ด้าน นายสมปอง อินทร์ทองเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กล่าวเพิ่มเติมว่าขณะนี้ ส.ป.ก.สามารถดำเนินการจัดที่ดินและมอบเอกสารสิทธิให้แก่เกษตรกรในรูปแบบสหกรณ์ได้ในพื้นที่ 6 จังหวัด คือ สุราษฎร์ธานี สระแก้ว เชียงใหม่ กาญจนบุรี นครราชสีมาและชลบุรี จำนวน 24 แปลง เนื้อที่ 16,742 ไร่ซึ่งจะสามารถรองรับเกษตรกรผู้ไร้ที่ดินทำกินได้จำนวน 1,384 ราย

 การดำเนินการในลำดับต่อไป ส.ป.ก.จะเสนอต่อพลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเชิญฯพณฯ พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการมอบหนังสือเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินให้แก่เกษตรกรในรูปแบบสหกรณ์ณ จังหวัดสระแก้ว ซึ่ง ส.ป.ก. มีการพัฒนาพื้นที่ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานพร้อมทั้งจะส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงโคเนื้อแบบประณีต (โคบาลบูรพา)และส่งเสริมการปลูกหญ้าเนเปียร์ เพื่อเป็นอาหารสัตว์ และลดต้นทุนการผลิตอีกทางหนึ่งด้วย

จาก http://www.banmuang.co.th   วันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2560

อธิบดีฝนหลวงฯ"สั่งทำฝนให้พื้นที่เกษตรแปลงใหญ่

                    "อธิบดีฝนหลวงฯ"สั่งทำฝนให้พื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ มีปริมาณน้ำเพียงพอ ช่วงสภาพอากาศเอื้ออำนวย เร่งเติมน้ำเขื่อนใหญ่หลายจังหวัด   

                  เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่าได้ขึ้นปฎิบัติการฝนหลวงเพื่อสนับสนุนพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ ให้มีน้ำในพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้เกิดการขาดแคลนน้ำฝน จากการลงพื้นที่ติดตามการปฏิบัติงานของศูนย์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือในภารกิจสนับสนุนปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ พบว่าพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือส่วนใหญ่มีการเพาะปลูกข้าว ข้าวโพด และมันสำปะหลัง ปัจจุบันมีปริมาณน้ำเพียงพอ  รวมถึงได้ขึ้นทำฝนเติมน้ำเขื่อน ใช้หน่วยฝนหลวง 3 หน่วย หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดเชียงใหม่ ปฏิบัติการบริเวณพื้นที่อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ และพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เขื่อนแม่กวงอุดมธารา หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดสระแก้ว ปฏิบัติการบริเวณพื้นที่อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา บริเวณลุ่มรับน้ำ   อ่างเก็บน้ำคลองสียัด หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดกาญจนบุรี ปฏิบัติการบริเวณพื้นที่อำเภอสังขละบุรี ทองผาภูมิ ศรีสวัสดิ์ ไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี และพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ์ เขื่อนศรีนครินทร์ ซึ่งได้ผลดีเนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวย.            

จาก https://www.dailynews.co.th   วันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2560

รมว.อุตฯย้ำเดินหน้าลงทุนEECให้เกิดขึ้นจริง

รมว.อุตสาหกรรม ยืนยันเดินหน้าโครงการ EEC เห็นการลงทุนจริงเกิดขึ้น เอกชนญี่ปุ่นสนใจลงทุนรถไฟฟ้า

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในงานสัมมนาผู้ลงทุนในตลาดทุนระดับนานาชาติ Thailand Big Strategic Move ว่า รัฐบาลเตรียมคัดสรรผู้ลงทุนหลักที่จะเข้าลงทุนในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งในปีหน้าเป็นต้นไปจะเห็นการลงทุนจริงเกิดขึ้น เช่น โครงการพัฒนาสนานบินอู่ตะเภา ที่ทางแอร์บัสได้ลงนามความร่วมมือกับบริษัทการบินไทยจำกัด (มหาชน) แล้ว และขณะนี้กำลังเตรียมเรื่องการลงทุนร่วม PPP โครงการที่ 2 คือ รถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยงระหว่างกรุงเทพมหานครกับจังหวัดระยอง โครงการที่ 3 โครงการท่าเรือมาบตาพุด-แหลมฉบัง โครงการที่ 4 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่เชื่อมโยงกับโครงการ EEC ซึ่งมีความคืบหน้า เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ที่จะต่อยอดไปสู่การผลิตรถไฟฟ้า หรือ EV ที่ล่าสุดมีเอกชนจากญี่ปุ่นสนใจลงทุนแล้ว 2 ราย วงเงินลงทุนรวม 20,000 ล้านบาท เป็นรายเล็กต้องการผลิตรถไฟฟ้า และรายใหญ่ต้องการผลิตรถยนต์ไฮบริด โดยเริ่มลงทุนตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป โครงการผลิตหุ่นยนต์ จะลงทุนในปีหน้าประมาณ 12,000 ล้านบาท รวมถึงอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ การดูแลสุขภาพใน EEC                                                        

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2560

กรมชลฯ ทุ่ม2.9หมื่นล. ขยายผลศาสตร์พระราชาแก้น้ำท่วม พร้อมรุกสร้างแก้มลิง 69 แห่งเหนือนครสวรรค์

 กรมชลประทาน นำ “ศาสตร์พระราชา” มาขยายผล ดำเนินโครงการแก้มลิงพื้นที่ลุ่มต่ำเหนือจังหวัดนครสวรรค์ 69 แห่งมูลค่า 29,000 ล้านบาท ครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัดสามารถตัดยอดน้ำได้กว่า 2,000 ล้านลบ.ม. เผยมีประชาชนได้รับประโยชน์กว่า 5 แสนคน และยังช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการแก้มลิงพื้นที่ลุ่มต่ำเหนือจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นพื้นที่ทุ่งนาที่มีน้ำท่วมประจำเกือบทุกปี ให้สามารถใช้เป็นที่ควบคุมน้ำชั่วคราวในช่วงอุทกภัย และนำน้ำที่เก็บไว้นั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์เปรียบเสมือนลิงที่กักตุนอาหารไว้ในกระพุ้งแก้มแล้วนำมาเคี้ยวกินในภายหลัง ตาม “ศาสตร์พระราชา” ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เคยมีพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมว่า "ลิงโดยทั่วไปถ้าเราส่งกล้วยให้ ลิงจะรีบปอกเปลือก เอาเข้าปากเคี้ยว แล้วนำไปเก็บไว้ที่แก้มก่อน ลิงจะทำอย่างนี้จนกล้วยหมดหวีหรือเต็มกระพุ้งแก้ม จากนั้นจะค่อยๆ นำออกมาเคี้ยวและกลืนกินภายหลัง"

รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สำหรับการศึกษาในครั้งนี้ ได้ดำเนินการภายใต้การมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้ผลสรุปว่า โครงการแก้มลิงพื้นที่ลุ่มต่ำเหนือจังหวัดนครสวรรค์ ประกอบด้วย พื้นที่แก้มลิงย่อยทั้งหมด 69 แห่ง ในเขตจังหวัดสุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร และนครสวรรค์ ครอบคลุมพื้นที่ 153 ตำบล24 อำเภอ สามารถเก็บกักน้ำไว้ชั่วคราวเพื่อรอการระบายได้ 2,049 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) โดยแบ่งเป็นทุ่งนาในเขตชลประทาน 723 ล้าน ลบ.ม. และทุ่งนานอกเขต ชลประทาน 1,326 ล้าน ลบ.ม.

ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม เพื่อให้บริหารจัดการแก้มลิงทั้ง 69 แห่งดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องมีการก่อสร้างหรือปรับปรุงอาคารชลประทาน เช่น ประตูระบายน้ำ ถนนหรือคันคลองที่ใช้เป็นคันกั้นน้ำ สถานีสูบน้ำ เป็นต้น พร้อมทั้งจะต้องมีกฎหมายหรือกฎระเบียบในการบริหารจัดการพื้นที่แก้มลิงรองรับด้วย ซึ่งคาดว่า จะใช้งบประมาณในการลงทุนทั้งหมดประมาณ 29,000 ล้านบาท และค่าบริหารจัดการและค่าบำรุงรักษารวมทั้งค่าสูบน้าด้วยไฟฟ้าอีกประมาณปีละ1,350 ล้าน บาท

 “เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จครบทั้ง 69 พื้นที่ดังกล่าว ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แก้มลิง 57,325 ครัวเรือนหรือประมาณ 163,672 คนได้รับประโยชน์โดยตรง ทำให้น้ำไม่ท่วมบ้านเรือนในช่วงฤดูฝน เพราะจะควบคุมน้ำให้อยู่ในพื้นที่ทุ่งนา นอกจากนี้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำยม แม่น้ำน่าน ตั้งแต่ท้ายพื้นที่แก้มลิงไปจนถึงจุดบรรจบแม่น้ำปิงที่จังหวัดนครสวรรค์ ประมาณ 122,315 ครัวเรือน หรือประมาณ 348,309 คน รวมทั้งประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาอีกจำนวนมหาศาลก็ได้รับประโยชน์ด้วยเพราะจะช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมลดความเสียหายได้อย่างมีประ สิทธิภาพ เพิ่มผลประโยชน์ที่จะลดความเสียหายลงเฉลี่ยประมาณปีละ 11,300 ล้านบาท” ดร.สมเกียรติ กล่าว

รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ การดำเนินงานพัฒนาพื้นที่ลุ่มต่ำทั้ง 69 พื้นที่ ใช้งบประมาณค่อนข้างมาก ไม่สามารถจัดสรรงบประมาณในการพัฒนาได้ทั้งหมดในปีเดียว กรมชลประทานจึงจัดทำแผนพัฒนาต่อเนื่อง 5 ปี โดยเริ่มดำเนินการจากโครงการแก้มลิงที่มีความพร้อม และไม่ต้องดำเนินการด้านกฎหมาย รวมทั้งประชาชนในพื้นที่ให้ความร่วมมือในการบริหารจัดการแก้มลิงเป็นอย่างดีก่อน หลังจากนั้นค่อยขยายผลไปดำเนินการในพื้นที่อื่นๆ จนครบ 69 พื้นที่ภายในระยะเวลา 5 ปี                                                      

จาก http://www.siamrath.co.th   วันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2560

บาทแข็งฉุดขาดทุน สินค้าเกษตรอ่วมสุด

เอกชนห่วงค่าบาทฉุดส่งออกไตรมาส 3-4 สินค้าเกษตรใช้วัตถุดิบในประเทศหนักสุดขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน นำทีมหารือแบงก์ชาติช่วยดูแล ขณะยางราคาร่วงจับตาส่งออกมิ.ย.มีสิทธิ์ติดลบ ด้านพาณิชย์ยังมั่นใจส่งออกยังมีโอกาสโต 5%

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าจากเงินบาทที่แข็งค่าระดับ33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯในเวลานี้และยังมีความผันผวนภาคเอกชนมีความกังวลจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในช่วงไตรมาส 3-4 ของปีนี้ ซึ่งคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดโดยสินค้าที่ได้รับผลกระทบจะเป็นสินค้าเกษตรที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลักเช่น ข้าว ยางพารา ปาล์มรวมถึงสินค้าเกษตรแปรรูปต่าง ๆ ที่ส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ได้รายรับกลับมาในรูปเงินบาทที่ลดลง จะฉุดราคาสินค้าเกษตรตกตํ่าลงไปอีก

“ค่าเงินบาทของไทยในขณะนี้ถือว่าอยู่ในระดับกลาง แข็งค่ากว่าเวียดนามแต่อ่อนค่ากว่ามาเลเซีย ถือเป็นการแข็งค่าที่สอดคล้องกับภูมิภาค ยังไม่กระทบกับการส่งออกของไทยมากนักแต่เอกชนเอ

appP1-2-3075งไม่อยากเห็นค่าเงินบาทแข็งค่าไปกว่านี้ โดยสรท.ได้เข้าหารือกับแบงก์ชาติ(20 มิ.ย. 60) เพื่อรับฟังข้อมูลและเสนอแนะถึงข้อกังวลของภาคเอกชนที่อยากให้แบงก์ชาติเข้ามาดูแลค่าเงิน”

อย่างไรก็ดี สรท.คงคาดการณ์ส่งออกของไทยทั้งปีนี้ขยายตัวที่ 3-3.5% โดยคาดการส่งออกเดือนพฤษภาคมน่าจะขยายได้ 5% ส่วนเดือนมิถุนายนน่าเป็นห่วงเพราะราคายางลดลงมากว่า 20% จะเป็นตัวฉุดให้การส่งออกในเดือนมิถุนายนอาจจะติดลบได้

 ด้านนางมาลี โชคลํ้าเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า กรมยังคงเป้าส่งออกปีนี้ขยายตัวที่ 5% ปัจจัยบวกคือตลาดหลักยังมีความต้องการสินค้าต่อเนื่อง ส่วนประเด็นเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาราว 5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ไม่ได้สูงเกินกว่าสกุลเงินอื่นในภูมิภาค จึงเชื่อว่าส่งออกไทยในปีนี้ยังมีโอกาสและมีขีดความสามารถทางการแข่งขันสูง ทั้งนี้ผู้ประกอบการต้องประเมินสถานการณ์และเตรียมรับมือด้วยเครื่องมือทางการเงิน

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2560

เอกชนหวั่นพิษบาทแข็งฉุดเชื่อมั่นทรุด

เอกชนหวั่นพิษบาทแข็งฉุดดัชนีเชื่อมั่นทรุด ต่ำสุดรอบ 7 เดือน วอนรัฐเร่งขยายช่องทางส่งออกสินค้าเพิ่มช่วยเอสเอ็มอี                  

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงผลสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทยในเดือนพ.ค.ว่า  ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอยู่ที่ 85.5 ลดลงจากเดือนเม.ย. อยู่ที่ 86.4  เป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และต่ำสุดในรอบ 7 เดือน ตั้งแต่เดือนต.ค. 59 เนื่องจากผู้ประกอบการกังวลเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนที่มีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อการบริหารต้นทุนของผู้ประกอบการส่งออก รวมทั้งผู้ประกอบการเอสเอ็มอี มีปัญหาเรื่องเงินทุนหมุนเวียน การขาดแคลนแรงงาน และต้นทุนด้านราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 99.6 ลดลงจากเดือนก่อนอยู่ที่ 100.0 เนื่องจากผู้ประกอบการยังมีความกังวลเกี่ยวกับกำลังซื้อภายในประเทศ โดยเฉพาะในส่วนภูมิภาค ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต้องการให้ภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

อย่างไรก็ตามในเดือนพ.ค.นี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่ขายสินค้าในประเทศเป็นหลักลดลงอย่างเห็นได้ชัดอยู่ที่ระดับ 81.4 จากเดือนก่อนอยู่ที่ระดับ 84.0 แต่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่เน้นจำหน่ายสินค้าไปยังต่างประเทศเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 99.6 จากเดือนก่อนอยู่ที่ระดับ 96.2

“ภาคเอกชนอยากให้ภาครัฐเร่งขยายโอกาสตลาดให้ผู้ส่งออกเอสเอ็มอีให้มากขึ้น เช่น การจัดงานแสดงสินค้า เจรจาหาผู้ซื้อ จับคู่พันธมิตรทางธุรกิจ และโรดโชว์ในตลาดอาเซียนเพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าไทยที่ตลาดยังให้การยอมรับและเชื่อมั่นในคุณภาพ แม้ผู้ประกอบการจะต้องเผชิญความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนก็ตาม แต่ยังมีโอกาสค้าขายได้อีกมากในตลาดอาเซียน”

จาก https://www.dailynews.co.th วันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2560

รมว.อุตฯหนุนเทคโนโลยีลงทุนในEEC

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เร่งขับเคลื่อนส่งเสริมลงทุนเทคโนโลยีใหม่หนุน EEC เป็นศูนย์กลางผลิตรถยนต์ไฟฟ้า

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวปาฐกถาพิเศษในการเปิดงาน Automotive Summit 2017 ในหัวข้อ Driving toward Automotive Industry 4.0 ว่า มาตรการภาครัฐ Thailand 4.0 เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนสำคัญ เกิดการลงทุนในระบบโครงสร้างสาธารณูปโภค เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างแข็งแกร่งและสร้างโอกาสในระยะยาว โดยกระทรวงได้เตรียมความพร้อมมาตรการต่างๆ เพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุนจากต่างประเทศโดยตรงใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ไปสู่การส่งเสริมการสนับสนุนด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งในส่วนของยานยนต์ ในปี 2559 ไทยถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 12 ของฐานการผลิตยานยนต์ของโลก มีข้อได้เปรียบเรื่องตลาดภายในประเทศ และปัจจุบันผู้ผลิตยานยนต์รายใหญ่ของโลกมีความเชื่อมั่นในโรงงานและฝีมือแรงงานของไทยที่สามารถเพิ่มศักยภาพการผลิตในภูมิภาค และมาตรการจูงใจ ซึ่งภาครัฐได้มีนโยบายส่งเสริมสนับสนุนเพื่อนำเทคโนโลยีใหม่ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า รถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ รถยนต์ Hybrid และการส่งเสริมการผลิตชิ้นส่วนสำคัญที่เกี่ยวข้อง เช่น แบตเตอรี่ ระบบควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ในกิจการสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนด้านเทคโนโลยี ซึ่งจะหนุนให้เขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) กลายเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า และการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมในอุตสาหกรรมยานยนต์

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ตั๊กแตนไฮโรไกลฟัสระบาดไร่อ้อย n เตือน6จังหวัดภาคตะวันตก n เฝ้าระวังถูกทำลายผลผลิต

นายสมคิด เฉลิมเกียรติ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืชจังหวัดสุพรรณบุรี เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์การระบาดศัตรูอ้อยในพื้นที่ปลูกหมู่ที่ 7 ต.ปากช่อง อ.จอมบึง จ.ราชบุรี เริ่มพบตั๊กแตนไฮโรไกลฟัสหรือตั๊กแตนข้าว ประมาณวัยที่ 1-2 ในแปลงอ้อยและรอบๆ ที่มีวัชพืชขึ้นอย่างหนาแน่น แต่ยังไม่พบการทำลายในอ้อย จึงขอแจ้งเตือนให้เกษตรกรเฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง โดยพื้นที่การระบาดมักจะระบาดในดงวัชพืชรอบๆ แปลง ตั๊กแตนไม่ได้ฟักเป็นตัวอ่อนในแปลงอ้อยแต่จะวางไข่และฟักเป็นตัวอ่อนที่หัวไร่ปลายนา แล้วระบาดเข้าในแปลงปลูกอ้อย ตราบใดที่หัวไร่ปลายนาไม่ได้ขยายแปลงหรือไถดิน ตั๊กแตนก็จะระบาดทุกปี แต่ถ้าพื้นที่ใดถูกชาวไร่ไถด้วยรถแทรกเตอร์ตั๊กแตนจะลดน้อยลงไปทุกปีสุดท้ายก็จะหายไปเอง

สำหรับวิธีการป้องกันกำจัดตั๊กแตนไฮโรไกลฟัส มีดังนี้ 1.การเขตกรรม ตั๊กแตนชนิดนี้จะวางไข่บริเวณหัวไร่ปลายนา หรือขอบแปลงอ้อยที่วัชพืชขึ้นหนาแน่น หากได้กำจัดวัชพืชโดยการใช้รถแทรกเตอร์ไถกลับไป-มา ไข่ของตั๊กแตนจะถูกทำลาย โดยจะต้องทำหลังจากตั๊กแตนวางไข่ ประมาณเดือนตุลาคม-มีนาคม หรือไปจนถึงเดือนเมษายน 2.การดักจับตัวเต็มวัยในช่วงกลางคืนเพื่อนำไปประกอบเป็นอาหารใช้รับประทาน 3.การวางกับดักเหยื่อพิษ เพื่อล่อให้ตั๊กแตนมากินและตายในที่สุด 4.การฉีดพ่นสารเคมี การฉีดพ่นสารเคมีจะทำก็ต่อเมื่อมีการระบาดรุนแรงและมีความเสียหายต่อผลผลิต สารเคมีที่แนะนำ Carbaryl (เซฟวิน 85% ดับเบิลยูพี) ใช้ได้ผลดีกับตั๊กแตนในระยะตัวอ่อน นอกจากนี้ในธรรมชาติยังมีศัตรูธรรมชาติไว้คอยควบคุมอีกด้วย ได้แก่ ต่อ หมาร่า ด้วงน้ำมัน แตนเบียนไข่ตั๊กแตน แมลงหางหนีบ และเชื้อราเอนโทมอฟธอร่ากริลไล

ทั้งนี้ ขอให้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยในเขตพื้นที่ 6 จังหวัด ในเขตภาคตะวันตก ได้แก่ จังหวัดราชบุรี กาญจนบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี เพชรบุรีและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เฝ้าติดตามสถานการณ์การระบาดของตั๊กแตนไฮโรไกลฟัสอย่างต่อเนื่อง

จาก http://www.naewna.com วันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2560

แนะ‘เกษตรกร’เร่งขึ้นทะเบียน ย้ำไม่เกิน60วันหลังปลูกฤดูใหม่

นายประสงค์ ประไพตระกูล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ในปี 2560 นี้ กรมส่งเสริมการเกษตร ได้กำหนดการขึ้นและปรับปรุงข้อมูลทะเบียนเกษตรกร โดยมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังนี้ 1.เกษตรกรสามารถแจ้งข้อมูลกับเจ้าหน้าที่เกษตรตำบล หลังจากปลูกพืชแล้วไม่น้อยกว่า 15 วัน และไม่เกิน 60 วัน 2.เกษตรกรที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ปลูก สามารถแจ้งปรับปรุงข้อมูลได้กับอาสาสมัครเกษตรของหมู่บ้านท่าน (อกม.) หรือไปที่องค์การบริหารส่วนตำบล หรือที่ว่าการอำเภอ ที่เป็นหน่วยงานภาคีกับกรมส่งเสริมการเกษตร โดยนำบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงมาเป็นหลักฐานในการแจ้งปรับปรุงข้อมูล

3.เกษตรกรที่ยังไม่เคยขึ้นทะเบียนมาก่อนหรือซื้อที่ดินเพื่อเพาะปลูกเพิ่มเติม ให้แจ้งขึ้นทะเบียนใหม่ ที่สำนักงานเกษตรอำเภอที่ตั้งแปลงปลูก โดยนำบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงและแสดงหลักฐานแสดงสิทธิ์การถือครองที่ดินตัวจริง พร้อมสำเนาที่มีการรับรองสำเนาจากผู้ครอบครอง หรือหลักฐานการเช่า หลังจากที่เจ้าหน้าที่เกษตรตำบลรับแจ้งแล้ว จะบันทึกข้อมูลเข้าระบบทะเบียนเกษตรกรของกรมส่งเสริมการเกษตร และจะมีการตรวจสอบข้อมูลกับสำนักทะเบียนราษฎร กรมการปกครองเพื่อยืนยันตัวบุคคล ไม่ให้มีการขึ้นทะเบียนซ้ำซ้อนของคนในทะเบียนบ้านเดียวกัน

4.หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จะทำการตรวจสอบข้อมูลการแจ้งปลูกพืชของเกษตรกร โดยจะพิมพ์รายชื่อและข้อมูลออกไปติดประกาศในชุมชน หรือวาดขอบเขตแปลงเพื่อตรวจสอบพื้นที่จริง หากพบว่าข้อมูลเป็นจริงจะยืนยันผลในระบบ และถือว่าการแจ้งปรับปรุงข้อมูลหรือขึ้นทะเบียนสำเร็จสมบูรณ์ 5.เกษตรกรที่ผ่านการตรวจสอบข้อมูลแล้ว สามารถนำสมุดทะเบียนเกษตรกรมาปรับปรุงข้อมูล 6.หากเมื่อใดที่รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรจำเป็นต้องมีคณะกรรมการตรวจสอบและรับรองสิทธิ์ภายในชุมชนอีกครั้งหนึ่ง

กรมส่งเสริมการเกษตรจึงขอความร่วมมือจากเกษตรกรแจ้งข้อมูลตามความเป็นจริง หากมีข้อสงสัยหรือไม่เข้าใจสำหรับเกษตรกรรายใหม่ที่มารับช่วงต่อจากรุ่นพ่อรุ่นแม่ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้านท่าน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ครม.ไฟเขียวงบกลางฯปี 60 จำนวน 212 ล้านบาท ใช้จ่ายเป็นค่าบริหารสำนักงานอีอีซี

รัฐบาลเดินหน้าขับเคลื่อนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี โดยอนุมัติงบประมาณให้กับสำนักงานเพื่อการพัฒนาอีอีซี วงเงินกว่า 212 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหาร โดยงบประมาณส่วนนี้ส่วนมากใช้เพื่อจัดทำแผนการลงทุน

ก่อนหน้านั้น กระทรวงอุตสาหกรรมของบประมาณเพิ่มเติมประจำปี 2560 สำหรับการบริหารสำนักงาน จำนวน 498 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายรายการค่าตอบแทนบุคลากร ค่าเบี้ยประชุม ค่าสำนักงาน ค่าประชาสัมพันธ์ ค่าจัดทำแผนการลงทุน ค่าชักชวนนักลงทุนรายสำคัญ เมื่อวันที่ 10 ก.พ.ที่ผ่านมา

 แต่สำนักงบประมาณ พิจารณาอนุมัติให้เบิกจ่ายจากงบรายจ่ายประจำปี 2559 งบกลาง ในรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ซึ่งได้กันเงินไว้เหลื่อมปี จำนวน 71.52 ล้านบาท

แต่กระทรวงอุตสาหกรรม ไม่ได้ตั้งงบประมาณในการบริหารสำนักงาน ซึ่งเป็นค่าจัดทำแผนการลงทุน เสริมสร้างภาพลักษณ์และการสื่อสาร การจัดทำมาตรการชักชวนนักลงทุนและค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการต่างประเทศ ดังนั้นจึงต้องขอเบิกงบกลางปี จำนวน 212.27 ล้านบาท

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้จัดสรรเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2560 จำนวน 212.27 ล้านบาทให้กับสำนักงานอีอีซี เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารสำนักงานอีอีซี ค่าจัดทำแผนการลงทุน ค่าเสริมสร้างภาพลักษณ์และการสื่อสาร ค่าจัดทำมาตรการชักชวนนักลงทุน ค่าใช้จ่ายในการเดินทางและดำเนินกิจกรรมในต่างประเทศ โดยให้เบิกจ่ายจากงบกลาง ในรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็น เนื่องจากกระทรวงอุตสาหกรรมไม่ได้ตั้งงบประมาณไว้ก่อนหน้านี้  

สำหรับงบประมาณส่วนนี้ แบ่งเป็น ค่าใช้จ่ายบริหารสำนักงาน 10.90 ล้านบาท ค่าจัดทำแผนการลงทุน 121.96 ล้านบาท ค่าเสริมสร้างภาพลักษณ์และการสื่อสาร 30 ล้านบาท ค่าจัดทำมาตรการชักชวนนักลงทุน 11.05 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายเดินทางไปต่างประเทศ 38.35 ล้านบาท  

ทั้งนี้กระทรวงอุตสาหกรรมรายงานว่า มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการจัดทำแผนการพัฒนาอีอีซีใน 8 แผนงานย่อย คือ 1.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 2.การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือสัตหีบและบริการโลจิสติกส์ต่อเนื่อง3. การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย 4.การพัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นที่ 5.การพัฒนาศูนย์กลางการเงิน 6.การพัฒนาบุคลากร การศึกษา การวิจัยและเทคโนโลยี 7.การพัฒนาเมืองใหม่ ฉะเชิงเทรา-พัทยา-ระยอง และ 8.การประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ที่เป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศของประเทศ

ก่อนหน้านี้นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานอีอีซี ระบุว่า อีอีซีเป็นทางออกสำคัญที่จะนำไปสู่การเป็นประเทศไทย 4.0 โดยสานต่อจากโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดเดิม ให้เป็นอีอีซี เช่นเดียวกับที่ญี่ปุ่นที่ดึงโตเกียวเป็นศูนย์กลางแล้วดึงจังหวัดรอบ ๆ มาพัฒนาเชื่อมโยงระหว่างกัน หรือเช่นเดียวกับเกาหลีใต้ที่ใช้อินชอลเชื่อมโยงกับกรุงโซล เช่นเดียวกับโครงการอีอีซี ที่ใช้กรุงเทพฯเชื่อมการพัฒนาออกไปยังจังหวัดรอบ ๆ เพื่อให้เมืองต่างจังหวัดเติบโตไปด้วย อีอีซีจึงเป็นฐานของการสร้างเทคโนโลยี ฐานของการสะสมการลงทุน

อย่างไรก็ตามจากการศึกษาโครงการอีอีซีทั้งหมด มั่นใจได้ว่าอีอีซีจะทำให้โครงสร้างการลงทุนของไทยเปลี่ยนไปและทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้เฉลี่ยปีละ 4.5-5% โดยมีเงินลงทุนเฉลี่ยปีละ 3 แสนล้านบาท โดยภายในต้นปี 2561

5 โครงการที่สำคัญลำดับต้นจะมีความคืบหน้าเห็นเป็นรูปเป็นร่างได้แน่นอน ทั้งสนามบินอู่ตะเภาที่จะเป็นเมืองการบินภาคตะวันออกรองรับระบบนักท่องเที่ยวสูงสุด 30 ล้านคน มีมูลค่าการลงทุน 2 แสนล้านบาท ท่าเรือน้ำลึกมาบตาพุดระยะที่ 3 มูลค่าลงทุน 10,150 ล้านบาท ท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 มูลค่าลงทุน 88,000 ล้านบาท โครงการรถไฟความเร็วสูง 1.58 แสนล้านบาท และโครงการรถไฟทางคู่ มูลค่า 64,300 ล้านบาท

จาก http://www.komchadluek.net วันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ครม.ไฟเขียวม.44ปลดล็อกที่ส.ป.ก.3.6พันไร่ใช้ใน 3กิจการ

การประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) วันที่ 20 มิ.ย.60มีมติเห็นชอบในหลักการในการออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติมาตรา 44 เพื่อปลดล็อกการใช้ที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ครอบคลุมกิจการที่เกี่ยวข้องกับการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม กิจการผลิตไฟฟ้าจากกังหันลม และกิจการสำรวจเหมืองแร่

คำสั่งดังกล่าวเฉพาะในพื้นที่ ซึ่งเอกชนมีสัญญาผูกพันกับรัฐจากการที่ได้มีการขออนุญาตในการดำเนินการใช้ประโยชน์ที่ดิน ส.ป.ก.และมีการดำเนินมาแล้วซึ่งครอบคลุมพื้นที่ทั้งสิ้น 3,695 ไร่ หรือคิดเป็น 0.09% ของที่ดิน ส.ป.ก.ทั่วประเทศที่มีอยู่กว่า 41 ล้านไร่

 พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าการออก ม.44 เพื่อแก้ไขปัญหาในครั้งนี้ไม่ครอบคลุมพื้นที่ซึ่งอยู่ระหว่างการขออนุญาตใช้ประโยชน์ที่ดิน ส.ป.ก.และที่ประชุมฯได้มีข้อสรุปร่วมกันว่าในการอนุมัติให้เอกชนมีการใช้ที่ดิน ส.ป.ก.ให้เป็นการพิจารณาเป็นกรณีๆ โดยต้องคำนึงถึงความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมทั้งมีการกำหนดค่าตอบแทนที่ดินที่จะให้กับเกษตรกรและการพัฒนาเกษตรกรอย่างชัดเจน การกำหนดแผนงานคืนประโยชน์ให้กับสังคม และแผนการฟื้นฟูที่ดิน ส.ป.ก.หลังจากมีการใช้ประโยชน์เป็นระยะๆ

“ที่ประชุม คสช.ได้มีการหารือและสอบถามถึงแนวทางแก้ปัญหาอื่นๆ เช่น แนวทางการแก้ไขนิยามของการปฏิรูปที่ดิน ส.ป.ก.ซึ่งจะใช้ระยะเวลานาน หรือการเพิกถอนที่ดิน ส.ป.ก.ก็จะเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุดเหมือนกับการสาดน้ำหมึกลงกระดาษ และยังมีประเด็นเรื่องของการถอนสภาพที่ดิน ส.ป.ก.แล้วจะกลายเป็นที่ดินราชพัสดุทำให้เกษตรกรที่ใช้ที่ดินในพื้นที่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ที่มีปัญหาเสียประโยชน์ไปด้วย ที่ประชุมฯจึงได้ข้อสรุปว่าการใช้ ม.44 ในการแก้ปัญหานี้เหมาะสมที่สุดโดยคำสั่งฉบับนี้จะมีการประกาศต่อไปเมื่อมีการประกาศแล้วจะกิจการของเอกชนที่มีการหยุดชะงักตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดไปก่อนหน้านี้ก็จะสามารถกลับมาดำเนินการได้ในทันที” พล.ท.สรรเสริญ กล่าว

ด้านนายสมปอง อินทร์ทอง เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กล่าวว่า ส.ป.ก.จะเร่งออกกฎกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้แล้วเสร็จภายใน 90 วันหลังจากมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบให้ใช้ม.44 เปิดทางให้ใช้ที่ดินเพื่อเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศได้ หลังจากนั้นเมื่อมีผู้มาขอใช้พื้นที่ ส.ป.ก. จะพิจารณาตามขั้นตอนของ พระราชบัญญัติ(พรบ.) การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518

 “ขณะนี้ ร่างพระราชบัญญัติอยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไข จะเพิ่มเติมเนื้อหาเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์เพื่อสาธารณะนี้ไปด้วย”

นายสมปอง กล่าวว่า การใช้ประโยชน์เพื่อสาธารณะจะครอบคลุมกิจกรรมด้านพลังงานลม ปิโตรเลียม เหมืองแร่ ซึ่งจะพิจารณาเป็นรายกรณี ตามขั้นตอนที่มีอยู่ ที่สำคัญการลงทุนต้องให้ผลตอบแทนกับส.ป.ก. รายได้จะสมทบกับกองทุนการปฏิรูปที่ดิน เพื่อใช้ประโยชน์กับเกษตรกรในเขตปฏิรูป และเกษตรกรที่ถือครองที่ดินอยู่ต้องได้รับประโยชน์จากนักลงทุนในทางตรงด้วย

“ในขณะนี้ผมยังไม่เห็นรายละเอียดของมติ ครม. และการพิจารณาจะยึดหลักเกณฑ์ที่ออกมาใหม่นี้เป็นหลัก การทำงานจะมีความชัดเจนขึ้น แต่จะไม่มีการพิจารณาย้อนหลังถึงการลงทุนที่มีมาก่อนหน้า ที่สำคัญทุกโครงการต้องไม่กระทบกับเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่และเป็นประโยชน์กับสังคมด้วย” นายสมปอง กล่าว

 ส่วนพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการลงทุนขณะนี้ได้สั่งการให้ ส.ป.ก.จังหวัด ออกสำรวจแล้ว โดยในเบื้องต้นยังไม่พบว่ามีจุดใดบ้าง แต่ให้ทุกหน่วยงานเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

จาก http://www.komchadluek.net วันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2560

เชื่อมเครือข่ายแปลงใหญ่ทั่วปท. ยกมาตรฐานสินค้าเกษตรกร เชื่อมโยงการผลิต-การตลาด

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ได้เป็นประธานประชุมประธานเครือข่ายแปลงใหญ่ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงการขับเคลื่อนและพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรแบบแปลงใหญ่ และเพื่อให้เกษตรกรสมาชิกทั่วประเทศ มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรแบบแปลงใหญ่ พร้อมกันนี้ได้แต่งตั้งคณะกรรมการเครือข่ายแปลงใหญ่ขึ้น 3 ระดับ คือระดับจังหวัด 77 คณะ ระดับเขต 9 คณะ และระดับประเทศ 1 คณะ โดยคณะกรรมการระดับประเทศประกอบด้วยประธาน คณะกรรมการเครือข่ายแปลงใหญ่ระดับเขต 9 เขต รวม 9 คนคณะกรรมการแต่ละระดับมีหน้าที่ 1) จัดทำแนวทางการขับเคลื่อนและวางแผนการดำเนินงานเครือข่ายแปลงใหญ่ 2) ขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานเครือข่ายแปลงใหญ่ และ3) รายงานผลการดำเนินงานเครือข่ายแปลงใหญ่

สิ่งที่คณะกรรมการเครือข่ายแปลงใหญ่ทุกระดับจะต้องดำเนินการต่อไปเพื่อให้บรรลุปฏิญญาการขับเคลื่อนการพัฒนาแปลงใหญ่ ได้แก่ การถอดองค์ความรู้แปลงใหญ่ที่ประสบความสำเร็จทั่วประเทศ เพื่อนำไปเผยแพร่ให้เกษตรกรแปลงใหญ่อื่นๆ นำไปใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรแบบแปลงใหญ่ การจัดตั้งกองทุนบริหารจัดการแปลงใหญ่ระดับต่างๆ ตั้งแต่ระดับจังหวัดจนถึงระดับประเทศ โดยเกษตรกรริเริ่มก่อตั้งเองตามชนิดสินค้าและสภาพพื้นที่ การพัฒนาแหล่งน้ำและชลประทานในพื้นที่ห่างไกล สำรวจแปลงใหญ่ที่ยังขาดแหล่งน้ำ แล้วประสานหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องในการเขียนโครงการเพื่อเสนอขอการสนับสนุนจากกรมชลประธาน พัฒนาแปลงใหญ่ให้เข้าสู่เกษตรอุตสาหกรรม โดยสนับสนุนการแปรรูปผลผลิตจากแปลงใหญ่ เพื่อเพิ่มมูลค่าก่อนจำหน่าย ผลักดันการยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าแปลงใหญ่ โดยใช้ตลาดเป็นตัวนำ รวมถึงเชื่อมโยงเครือข่ายตลาดสินค้าเกษตรแปลงใหญ่ เช่น นำสินค้าต่างๆ จากแปลงใหญ่อื่นๆ เข้ามาจำหน่ายในพื้นที่ที่กำลังซื้อสูง เช่น ตลาดเครือข่ายของ ธ.ก.ส. ศกต.

จาก http://www.naewna.com วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2560

รายงานพิเศษ : กรมส่งเสริมการเกษตรเป็นเจ้าภาพจัดประชุม ส่งเสริมและฝึกอบรมด้านการเกษตรอาเซียน

กรมส่งเสริมการเกษตร เป็นเจ้าภาพจัดประชุมคณะทำงานสาขาส่งเสริมและฝึกอบรมด้านการเกษตรอาเซียน (ASEAN Sectoral Working Group on Agricultural Training and Extension ) หรือ AWGATE ครั้งที่ 24 เมื่อวันที่ 7-11 มิถุนายน 2560 ที่ผ่านมาณ โรงแรมไมด้า รีสอร์ท จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อพัฒนาเยาวชนเกษตรไทยและรัฐสมาชิกอาเซียนให้มีศักยภาพด้านการผลิต การใช้เทคโนโลยีทางการเกษตร การบริหารจัดการและการตลาดสินค้าเกษตร

นางวัชรีพร โอฬารกนกนักวิชาการเกษตรเชี่ยวชาญ ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิด้านพัฒนาระบบการผลิตสินค้าเกษตรเปิดเผยว่า AWGATE เป็นคณะทำงานสาขาหนึ่งภายใต้การดำเนินงานในกรอบความร่วมมือด้านอาหาร การเกษตร และป่าไม้ของอาเซียน ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ภายใต้คณะทำงานฯ โดยรัฐสมาชิกอาเซียนหมุนเวียนสลับกันเป็นเจ้าภาพจัดประชุม ซึ่งในปี 2560 ประเทศไทยรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพจัดประชุม รวมทั้งทำหน้าที่เป็นประธาน บทบาทของ AWGATE เน้นการเสริมสร้างจิตวิญญาณแห่งความเป็นอาเซียนผ่านการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์การปฏิบัติงานความร่วมมือในสาขาส่งเสริมและฝึกอบรมด้านการเกษตรของอาเซียน ซึ่งประกอบด้วย

1.การเพิ่มปริมาณ/คุณภาพของผลิตภัณฑ์เกษตรอย่างยั่งยืน 2.การส่งเสริมการอำนวยความสะดวกทางการค้า การรวมตัวทางเศรษฐกิจ และการเข้าถึงตลาด 3.ความมั่นคงทางอาหาร ความปลอดภัยทางอาหาร การมีโภชนาการที่ดี และการกระจายที่เป็นธรรม รวมถึงความเท่าเทียมกันทางเพศ 4.การพัฒนาด้านการปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ ภัยธรรมชาติ และภัยอื่นๆ 5.ช่วยเหลือผู้ผลิตรายย่อย และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม อีกบทบาทหนึ่งคือให้ความสำคัญในการเตรียมและให้การศึกษาแก่คนรุ่นใหม่ให้ตระหนักถึงความสำคัญของภาคการเกษตรและป่าไม้ และความมั่นคงทางด้านอาหาร รวมทั้งมีการดำเนินการที่เหมาะสมเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยี องค์ความรู้เกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ในปัจจุบัน การปรับตัวเพื่อรับมือกับสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง เนื่องจากเกษตรกรและเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตรยังมีความรู้ที่จำกัดในประเด็นดังกล่าว

สำหรับผู้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ประกอบด้วย ผู้แทนจากรัฐสมาชิกอาเซียนได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม บรูไน ดารุสซาลาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ผู้แทนสำนักงานเลขาธิการอาเซียน ผู้แทนความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมนี และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานประชุม รวม 61 คน นอกจากการประชุมได้เดินทางศึกษาดูงาน ณ ศูนย์ส่งเสริมเยาวชนเกษตร และศูนย์เรียนรู้ของนายพัฒน์พงษ์ มงคลกาญจนคุณ ซึ่งเป็นเกษตรกรที่ได้รับรางวัล FAO สาขาไร่นาสวนผสม ก่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ประสบการณ์ และสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาการเกษตรของประเทศตนเองได้เป็นอย่างดี

นางวัชรีพร กล่าวต่ออีกว่า ความสำเร็จที่ประเทศไทยได้จากการประชุมครั้งนี้คือการยอมรับจากผู้แทนสมาชิกในแต่ละประเทศให้เป็นผู้นำด้านการบริหารจัดการตลาดสินค้าเกษตร เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีสารทนเทศ ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรจะต้องจัดทำเว็บไซต์ AWGATE และให้บริการเว็บไซต์ผ่านระบบ Server ของกรม รวมถึงผู้นำด้านความร่วมมือในการพัฒนาเยาวชนด้านการเกษตรระหว่างรัฐสมาชิกอาเซียน เพื่อปลูกฝังเยาวชนให้สนใจการทำเกษตรเพื่อนำไปสู่ Young Smart Farmer และ Smart Farmer เนื่องจากในปัจจุบันเกษตรกรในภูมิภาคอาเซียนส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นเก่า สูงวัย จึงจำเป็นต้องปลูกฝังคนรุ่นใหม่ให้สนใจการทำเกษตรแบบสมัยใหม่มากขึ้น และการเป็นผู้นำของเราจะเป็นการได้เปรียบประเทศอื่นๆ เนื่องจากเราต้องทราบข้อมูลของทุกประเทศ ซึ่งจะช่วยให้เรามีโอกาสวางแผนต่างๆ ได้อย่างสอดคล้องกับสถานการณ์

จาก http://www.naewna.com วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ฝนหลวงฯ เติมน้ำเขื่อนทางภาคเหนือแนวโน้มดีขึ้น

 กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ปฏิบัติการฝนหลวงเติมน้ำให้เขื่อนทางภาคเหนือที่มีปริมาณน้ำน้อย และพื้นที่การขอรับบริการฝนหลวงประสบผลสำเร็จ

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและแนวโน้มสถานการณ์น้ำประจำสัปดาห์ เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2560 พบว่า สถานการณ์น้ำในเขื่อนทางภาคเหนือบางเขื่อน ได้แก่ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ยังคงมีปริมาณน้ำเก็บกักน้อย ซึ่งอาจส่งผลให้มีน้ำไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตรในภาวะที่ฝนมีปริมาณลดลง ประกอบกับมีการขอรับบริการฝนหลวงจากบริเวณพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ต้องการน้ำเพื่อการเกษตร กรมฝนหลวงฯ จึงมอบหมายให้ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ ติดตามสถานการณ์น้ำและเร่งปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเติมน้ำให้กับเขื่อนและพื้นที่ดังกล่าว

อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าว่า จากผลการปฏิบัติการฝนหลวงประจำวันที่ 19 มิถุนายน 2560 หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือจังหวัดเชียงใหม่ ปฏิบัติภารกิจ จำนวน 1 ภารกิจ 7 เที่ยวบิน 9:40 ชั่วโมงบิน พื้นที่เป้าหมายบริเวณเขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน พบว่า มีฝนตกเล็กน้อยและกระจายตัวดีบริเวณพื้นที่อำเภอแม่แตง พร้าว ดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน และพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เขื่อนแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่ อ่างเก็บน้ำห้วยจองจาย อ่างเก็บน้ำห้วยอัสดง อ่างเก็บน้ำห้วยสายแล และอ่างเก็บน้ำห้วยใกล้รุ่ง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ส่วนหน่วยปฏิบัติการ ฝนหลวง จังหวัดตาก ปฏิบัติภารกิจ จำนวน 1 ภารกิจ 2 เที่ยวบิน 3:35 ชั่วโมงบิน พบว่า มีฝนตกเล็กน้อย บริเวณพื้นที่อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ และพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนภูมิพลตอนล่าง จังหวัดตาก โดยมีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนแม่กวงอุดมธารา 0.23 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล 0.30 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนภูมิพล 6.29 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์ 6.92 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน 4.49 ล้านลูกบาศก์เมตร

นายสุรสีห์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ยังคงติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยเน้นเติมน้ำให้กับเขื่อนที่มีความต้องการน้ำ และประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อช่วยให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทางเกษตรที่ไม่ต้องการน้ำ ทั้งจากการระบายน้ำจากเขื่อนและการปฏิบัติการฝนหลวง สำหรับประชาชนและผู้ที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างต่อเนื่องได้ที่ เพจ Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร หรือเว็บไซต์กรมฝนหลวงและการบินเกษตร

จาก http://www.siamrath.co.th  วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2560

สภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดกลยุทธ์สื่อถึงตัวเกษตรกรคลิ๊กเดียวทั่วประเทศ

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า โลกปัจจุบันการสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง เกษตรกรยุคนี้ต้องมีแอพฯ ไลน์ เพื่อให้ทันกับข้อมูลข่าวสาร ทันสถานการณ์เพื่อการตัดสินใจประกอบอาชีพเกษตรกรรม สภาเกษตรกรแห่งชาติเห็นความสำคัญนี้จึงใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่สร้างเครือข่ายเกษตรกรให้สามารถสื่อสารถึงกันทั่วประเทศ โดยนำข้อมูลที่สำคัญทั้ง เช่น นโยบาย แผนงาน โครงการ แนวโน้มการผลิต การตลาด สื่อลงไปถึงตัวเกษตรกร พร้อมกันนั้นก็รับข้อมูลสถานการณ์การเกษตรในพื้นที่ รวมทั้งข้อเสนอ,ปัญหาจากเกษตรกรได้ภายในคลิ๊กเดียว ซึ่งวิธีการดำเนินการคือเมื่อปี 2557 สภาเกษตรกรฯ ได้จัดตั้งคณะผู้ปฏิบัติงานระดับอำเภอที่ประกอบด้วยตัวแทนเกษตรกรในแต่ละตำบล กับคณะผู้ปฏิบัติระดับตำบลที่ประกอบด้วยตัวแทนเกษตรกรในแต่ละหมู่บ้าน ปี 2558–2559 ได้จัดประชุมเครือข่ายคณะผู้ปฏิบัติงานระดับทั้งสองระดับเพื่อรับข้อมูลสถานการณ์ปัญหาและความต้องการทางการเกษตรในแต่ละพื้นที่ นำมาประมวลจัดทำแผนพัฒนาเกษตรกรรมจังหวัด

ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า ทั้งนี้ การทำงานในรูปแบบเครือข่ายมีมาอย่างต่อเนื่อง จนปี 2560 นี้ สภาเกษตรกรฯ ได้นำเทคโนโลยีกลุ่มไลน์ มาใช้ในการสื่อสารของเครือข่ายสภาเกษตรกรที่จัดตั้งขึ้น จนเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2560 ข้อมูลสมบูรณ์ครบถ้วนทั้ง 77 จังหวัด สภาเกษตรกรมีเครือข่ายการสื่อสารแบบกลุ่มไลน์จำนวน 1,955 กลุ่ม โดยมีผู้แทนส่วนราชการ องค์กรเกษตรกร ตัวแทนเกษตรกรตั้งแต่ระดับหมู่บ้านขึ้นมารวมทั้งสิ้น 52, 928 คน ดังนั้น ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปสภาเกษตรกรแห่งชาติสามารถสื่อสารข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรส่งถึงตัวเกษตรกรทุกจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ภายในคลิ๊กเดียว ขณะเดียวกันเกษตรกร ทุกหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ก็สามารถสื่อสารถึงสภาเกษตรกรแห่งชาติได้ภายในคลิ๊กเดียวเช่นกัน และนอกจากการสื่อสารถึงเกษตรกรแล้ว สภาเกษตรกรแห่งชาติก็พร้อมเป็นสื่อกลางระหว่างภาครัฐ เอกชน กับเกษตรกร หากส่วนงานใดต้องการสื่อสารกับเกษตรกรทั่วประเทศอย่างทันการณ์สามารถติดต่อประสานงานได้ที่สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดทุกจังหวัด หรือที่สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ

จาก http://www.siamrath.co.th  วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2560

สรท. และ ธปท. เห็นพ้องในการช่วยเหลือผู้ส่งออกจากปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่า

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ร่วมกับ คณะกรรมการ สรท. ได้เข้าพบ คุณวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และคณะผู้บริหาร ธปท. เมื่อวันอังคารที่ 20 มิถุนายน 2560 เวลา 10.30-12.00 น. ณ ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยคณะกรรมการ สรท. ได้ยืนยันว่าสถานการณ์ค่าเงินบาทแข็งค่าในปัจจุบันส่งผลกระทบอย่างมากต่อการส่งออกของไทยตั้งแต่ไตรมาส 3 เป็นต้นไป

โดยเฉพาะการกำหนดราคาขายสินค้ากับคู่ค้าที่เศรษฐกิจประสบภาวะเงินเฟ้อและค่าเงินอ่อนค่า เพราะจะทำให้สินค้าไทยแพงขึ้นอย่างมากในสายตาของผู้บริโภค โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งสำคัญทางการค้า อย่างเช่น จีน เวียดนาม และประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนซึ่งค่าเงินแข็งค่าน้อยกว่าค่าเงินบาทของไทย อาทิ มาเลเซีย อินโดนีเซีย รวมถึงฟิลิปปินส์ที่ค่าเงินอ่อนค่า เป็นต้น

ทั้งนี้ คณะกรรมการ สรท. เสนอให้ ธปท. ดำเนินการอย่างสม่ำเสมอในการรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนให้ไม่สูงกว่าประเทศคู่แข่งทางการค้าที่สำคัญ การให้ข้อมูลและทิศทางของค่าเงินบาท รวมถึงสาเหตุของการแข็งค่าและอ่อนค่าในแต่ละครั้งว่าเกิดจากเหตุใด เพื่อให้ผู้ประกอบการภาคการส่งออกเข้าใจและสามารถใช้เป็นแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้อย่างเหมาะสม ตลอดจนเสนอให้ ธปท. พิจารณาแนวทางสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs ของไทย สามารถเข้าถึงบริการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนให้มากขึ้นและมีต้นทุนที่ ไม่สูงเกินไป อาทิ การลดค่าธรรมเนียม การเพิ่มวงเงินสำหรับการใช้บริการป้องกันความเสี่ยง เป็นต้น

ซึ่งจะทำให้ผู้ส่งออกมีการใช้บริการป้องกันความเสี่ยงอย่างต่อเนื่องมากขึ้น คณะกรรมการ สรท. ได้รับฟังคำชี้แจงแนวทางการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนของ ธปท. ในปัจจุบัน ตลอดจนแนวทางการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องในอนาคต ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาเกิดจากความเข้มแข็งทาง เศรษฐกิจของประเทศไทยเอง และมีปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้หลายประการ โดยเฉพาะการเมืองระหว่างประเทศและการ เข้ามาลงทุนในตลาดทุนและตลาดการเงินระยะสั้น ซึ่งทำให้เกิดการแข็งค่าอย่างรวดเร็วและรุนแรง โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องให้มีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างทั้งสององค์กร ทั้งการจัดประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและวิเคราะห์ สถานการณ์การค้าระหว่างประเทศร่วมกัน เพื่อหาข้อสรุปและทิศทางของอัตราแลกเปลี่ยนสำหรับแจ้งให้กับผู้ส่งออก ได้รับทราบสถานการณ์ที่แท้จริงและรับมือได้ทัน การร่วมมือกันส่งเสริมศักยภาพในการแข่งขันของผู้ประกอบการส่งออก การผลักดันการอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

รวมถึงการ ผลักดันให้มีการใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการซื้อขายสินค้ากับประเทศคู่ค้าที่มีความตกลงกันในเรื่องดังกล่าวให้มากขึ้น โดยเฉพาะการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้คณะกรรมการ สรท. ได้หารือกับคณะผู้บริหาร ธปท. ถึงประเด็นด้านการเงินอื่นที่เกี่ยวกับการ ประกอบธุรกิจ อาทิ ความแตกต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายและดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ซึ่งเป็นต้นทุนที่สำคัญของ ผู้ประกอบการโดยมีความเห็นร่วมกันว่าในส่วนของธนาคารพาณิชย์จำเป็นต้องยกระดับประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจให้ดีขึ้นเพื่อลดต้นทุน ตลอดจนหันมาให้ความสำคัญกับ FINTECH ให้มากขึ้น เพื่อให้มีความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการและทำให้ต้นทุนในการทำธุรกรรมแต่ละครั้งลดต่ำลง

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ค่าบาท 'อ่อนค่า' ตามภูมิภาค

บาทเปิดตลาดเช้านี้อ่อนค่า "33.99บาทต่อดอลลาร์" หลังตลาดสหรัฐกลับมาคึกคัก คาดบาทอ่อนตามภูมิภาคยืนเหนือระดับ34บาทต่อดอลลาร์

 นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 33.99บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากระดับ 33.95 บาทต่อดอลลาร์ในช่วงปิดสิ้นสัปดาห์ก่อน

ในคืนที่ผ่านมาตลาดสหรัฐกลับมาคึกคัก หุ้นสหรัฐปรับตัวบวกขึ้นทำสถิติใหม่ บอนด์ยีลด์ในสหรัฐกลับฟื้นขึ้นมา ขณะที่ราคาทองและน้ำมันปรับตัวลดลงหลังจากที่นาย William Dudley ประธานเฟดสาขา New York (มีสิทธ์โหวต) ออกมาความเห็นว่ามีความพอใจกับการทิศทางนโยบายการเงินปัจจุบัน สนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยต่อ และมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะไม่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้

สำหรับตลาดไทยวันนี้เรายังเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ที่ค่าเงินบาทจะอ่อนค่าตามภูมิภาคและกระแสการแข็งค่าของดอลลาร์ โดยถ้าสามารถกลับขึ้นมายืนเหนือระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์ได้ในระยะสั้น จะเริ่มมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อได้อีกเล็กน้อย

มองกรอบเงินดอลลาร์ที่ระดับ 33.94-34.04

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 20 มิถุนายน 2560

ดึงแบงก์ใหญ่รับทำประกันความเสี่ยงเอสเอ็มอีจากเงินแข็ง  

นายวินิจฉัย แจ่มแจ้ง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ กระทรวงพาณิชย์ (แฟ้มภาพ)

         “พาณิชย์” เผยธนาคารพาณิชย์รายใหญ่พร้อมหนุนและรับทำประกันความเสี่ยงเอสเอ็มอีจากภาวะค่าเงินบาทแข็ง เชื่อยังไม่กระทบการส่งออก ด้าน สรท.จี้หน่วยงานเกี่ยวข้องดูแลไม่ให้อัตราผันผวนมากจนเกินไป

               นายวินิจฉัย แจ่มแจ้ง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในงานสัมมนา “ค่าเงินบาทแข็ง เอสเอ็มอีแก้ได้อย่างไร” จัดโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ว่า รัฐบาลเร่งหาแนวทางช่วยเหลือและประกันความเสี่ยงให้เอสเอ็มอีไทยหลังเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น จึงเชิญธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ ตลอดจนภาคเอกชนที่มีประสบการณ์มาให้ความรู้และเทคนิคบริหารจัดการความเสี่ยงด้านค่าเงินบาท

               ทั้งนี้ ธนาคารรายใหญ่พร้อมให้การสนับสนุนและกรณีที่เอสเอ็มอีต้องการทำประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าภาวะเงินบาทแข็งยังจะไม่กระทบต่อการแข่งขันทางการส่งออก เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่าอยู่ในระดับใกล้เคียงกับประเทศคู่แข่ง ดังนั้นจึงมั่นใจว่าตัวเลขการส่งออกของไทยเฉลี่ยทั้งปีนี้จะขยายตัวร้อยละ 5 ตามเป้าหมาย

               ด้านนางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมาทาง สรท.มีการประเมินผลกระทบจากค่าเงินบาทต่อการส่งออกไตรมาส 3 และ 4 เนื่องจากไตรมาส 3 การส่งออกของไทยจะมีปริมาณน้อยกว่าทุกไตรมาสและจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นไตรมาส 4 ดังนั้น หลังจากนี้ไปอยากให้หน่วยงานที่กำกับดูแลอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้มีความผันผวนมากเกินไป ขณะเดียวกันภาคเอกชนจะต้องมีการทำประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนโดยเฉพาะภาคธุรกิจเอสเอ็มอี โดยทาง สรท.ประเมินไว้ว่าปีนี้การส่งออกของไทยจะขยายตัวร้อยละ 3.5 และยังไม่มีการปรับประมาณการตัวเลขการส่งออก แต่ยังต้องมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

จาก http://manager.co.th  วันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2560 

มิตรผลจัดค่ายศิลปะปีที่ 4 บ่มเพาะปรัชญาการใช้ชีวิตพอเพียงสู่เยาวชน

กลุ่มมิตรผลจัด “ค่ายศิลปะกลุ่มมิตรผล ปีที่ ภายใต้แนวคิด “สุขจากสิ่งที่พ่อทำ” เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ทรงทุ่มเทเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน และหลักการใช้ชีวิตอย่างพอเพียงอันนำมาซึ่งความสุข โดยปลูกฝังให้เยาวชนได้เรียนรู้ปรัชญาดังกล่าวผ่านการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่สื่อให้เห็นถึงความสุขจากการยึดหลักคำสอนของพระองค์ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความสุขจากสุขภาวะร่างกายที่แข็งแรง ความสุขจากจิตใจที่ผ่องใส ความสุขจากคุณภาพชีวิตที่ดี และสังคมชุมชนเป็นสุข

นายคมกริช นาคะลักษณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานองค์กรสัมพันธ์และบริหารองค์กรเพื่อความยั่งยืน กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า “การบ่มเพาะเยาวชนให้เข้าใจถึงหลักการดำเนินชีวิตในอนาคตต้องใช้วิธีโน้มน้าวให้เกิดความมีส่วนร่วมและพร้อมเปิดใจเรียนรู้ ซึ่งการเรียนรู้ผ่านงานศิลปะเป็นรูปแบบหนึ่งที่เยาวชนชื่นชอบ “ค่ายศิลปะกลุ่มมิตรผล ปีที่ จึงจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “สุขจากสิ่งที่พ่อทำ” เพื่อปลูกฝังให้เด็กๆ รู้จักความสุขที่ยั่งยืนจากการใช้ชีวิตอย่างพอเพียงตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9  โดยปีนี้ได้นำเยาวชนลงพื้นที่เพื่อสัมผัสประสบการณ์สุขอย่างพอเพียงและเพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งานศิลปะให้แก่เยาวชน เช่น ชมวิถีชีวิตแบบพอเพียง ณ แปลงเกษตรผสมผสาน หมู่บ้านนาหว้า-นาคำ อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น ชมโครงการอุโมงผันน้ำลำพะยังภูมิพัฒน์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นต้น พร้อมๆ กับการซึมซับแนวคิด “ร่วมอยู่ ร่วมเจริญ” ของกลุ่มมิตรผลที่ส่งเสริมให้ชุมชนเติบโตไปด้วยกันแบบยั่งยืน ด้วยการพัฒนา 5 ด้าน คือ    ด้านเศรษฐกิจ รู้จักใช้จ่ายพอประมาณ รู้จักออมเงิน ด้านสังคม เรียนรู้จากต้นแบบที่ดี รู้จักแบ่งปันการเรียนรู้ ด้านสุขภาวะ รู้จักดูแลสร้างเสริมสุขภาพที่ดี ด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม รู้จักการใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสมและพิทักษ์สิ่งแวดล้อม  และด้านจิตใจ รู้จักรักและช่วยเหลือกันในครอบครัวและชุมชน”

ค่ายศิลปะกลุ่มมิตรผล ปีที่ 4 มีเยาวชนเข้าร่วมทั้งสิ้นกว่า 300 คน ซึ่งเป็นนักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับโรงงานน้ำตาลมิตรผล อันประกอบด้วย โรงงานน้ำตาลมิตรผลด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี โรงงานน้ำตาลมิตรผลภูเวียง จังหวัดขอนแก่น โรงงานน้ำตาลมิตรผลภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ โรงงานน้ำตาลมิตรผลภูหลวง จังหวัดเลย และโรงงานน้ำตาลมิตรผลกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์  โดยทีมที่ชนะเลิศอันดับ 1 จะได้รับทุนการศึกษาเป็นเงิน 10,000 บาท ทีมรองชนะเลิศอันดับ 1 จะได้รับทุนการศึกษาเป็นเงิน 8,000 บาท และทีมรองชนะเลิศอันดับ 2 จะได้รับทุนการศึกษาเป็นเงิน 5,000 บาท

อาจารย์สังคม ทองมี  ผู้อำนวยการศูนย์ศิลป์สิรินธร จังหวัดเลย วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิผู้สอนศิลปะให้กับเยาวชนในกิจกรรมค่ายศิลปะกลุ่มมิตรผล ปี 2017 กล่าวว่า “ครูก็ยึดหลักการใช้ชีวิตพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มาเป็นหลักปฏิบัติในชีวิต ครูพอใจในสิ่งที่ตนเป็นอยู่ และมุ่งมั่นเปิดพื้นที่ทางศิลปะ ด้วยการเผยแพร่ความรู้ด้านศิลป์ให้กับเยาวชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ได้มีโอกาสเรียนรู้และพัฒนาทักษะทางศิลปะ ศิลปะจะเป็นสื่อกลางที่ช่วยปลูกฝังและส่งเสริมค่านิยมและทัศนคติที่ดีให้กับเยาวชน เช่น การจัดค่ายศิลปะกลุ่มมิตรผลปีที่ 4 นี้ เด็กๆ จะได้ซึมซับแนวคิดการใช้ชีวิตอย่างพอเพียงผ่านการเรียนรู้และสร้างสรรค์ผลงานด้วยเทคนิค “ศิลปะสื่อผสม” ที่นอกจากจะช่วยพัฒนาทักษะความคิดสร้างสรรค์แล้ว เด็กๆ ยังได้เรียนรู้ว่าเศษวัสดุเหลือใช้ในครัวเรือนก็สามารถนำมาสร้างสรรค์ผลงานศิลปะได้ รู้จักใช้ทรัพยากรหมุนเวียน เห็นคุณค่าว่าศิลปะเกิดจากสิ่งที่มีอยู่รอบตัวก็สามารถสร้างสุขได้”

นางสาวกาญจนา ชัยปลื้ม นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนภูเวียงวิทยาคม จังหวัดขอนแก่น สมาชิกจากทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 จากเขตพื้นที่จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า “ดีใจมากคะที่เข้าร่วมค่ายศิลปะ        กลุ่มมิตรผลครั้งนี้ ทำให้มีโอกาสได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ เกี่ยวกับปรัชญาการใช้ชีวิตพอเพียงและยิ่งรูสึกซาบซึ้งถึงพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงร.9 เป็นแรงบันดาลใจให้ทีมช่วยกันสร้างสรรค์ผลงานศิลปะตามแนวคิด “สุขจากที่พ่อทำ” เพื่อสื่อถึงการทำเกษตรผสมผสาน ทั้งปลูกพืชผัก ทำนา เลี้ยงปลา ผ่านผลงานศิลปะสื่อผสม ซึ่งได้เรียนรู้และลองทำเป็นครั้งแรก ได้รู้จักการใช้วัสดุจากสิ่งของเหลือใช้ต่างๆ เช่น กระดาษจากชานอ้อย เศษเปลือกไม้ ข้าวเปลือก มาสร้างสรรค์และคุมโทนภาพทั้งหมดให้เป็นสีน้ำตาลทอง เพื่อสื่อความว่าแผ่นดินไทยแผ่นดินทองของพ่อหลวง และพอได้รับรางวัลชนะเลิศด้วยยิ่งดีใจและตื่นเต้นมากๆ ค่ะ”

นายณัฐพล ธาตุบุรมย์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนภูเวียงวิทยาคม จังหวัดขอนแก่น สมาชิกจากทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 จากเขตพื้นที่จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า “กิจกรรมที่ได้ลองทำที่แปลงเกษตรผสมผสาน ทำให้ได้เรียนรู้ว่าการใช้ชีวิตแบบพอเพียงนั้นทำได้ไม่ยาก และนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้จริงๆ เช่น การแบ่งพื้นที่ปลูกพืชสวนครัวไว้กินเอง การทำสบู่จากพืชสวนครัว เป็นต้น กิจกรรมนี้ทำให้เข้าใจแนวคิด “สุขจากที่พ่อทำ” ของการประกวดครั้งนี้ชัดเจนขึ้น จนทีมเราสามารถถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานศิลปะสื่อผสม ที่สร้างจากเศษวัสดุธรรมชาติ ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศด้วย ผมก็จะกลับไปถ่ายทอดให้คนรอบข้างผมนำหลักการใช้ชีวิตพอเพียงนี้ไปใช้เพื่อส่งความสุขต่อไปครับ”

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2560 

ปรับเปลี่ยนปลูกข้าว หนุนเกษตรกรบุรีรัมย์ ปลูกอ้อยเพิ่มรายได้

นายชิตชนก สมประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 8 กรมชลประทาน เปิดเผยว่า สำนักงานชลประทานที่ 8 ได้นำนโยบายนำแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agricultural Map for Adaptive Management : Agri-Map) ไปขยายผลดำเนินการที่บ้านขมิ้น ต.นาโพธิ์ จ.บุรีรัมย์ หลังจากประสบผลสำเร็จในการดำเนินโครงการนำร่องที่ ต.ตูม อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา ที่สามารถปรับเปลี่ยนให้เกษตรกรที่เคยปลูกข้าวคุณภาพไม่ดี หันไปปลูกอ้อย และทำการเกษตรแบบผสมผสานมาแล้ว

สำหรับเกษตรกรที่บ้านขมิ้น เดิมจะปลูกข้าวและมันสำปะหลัง เป็นส่วนใหญ่ และใช้น้ำจากน้ำฝนเพียงอย่างเดียว เมื่อใช้ Agri-Map ตรวจสอบพื้นที่ไปพบว่า เป็นพื้นที่ที่ไม่เหมาะจะปลูกข้าว ทำให้ได้ข้าวคุณภาพไม่ดี ผลผลิตต่ำ แต่เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการปลูกอ้อย และยังอยู่ใกล้กับโรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์อีกด้วย จึงแนะนำให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนมาทำไร่อ้อยแทน 700 ไร่ นอกจากนี้ทางโรงงานน้ำตาลยังเข้ามาสนับสนุนให้ความรู้เรื่องพันธุ์อ้อย และกรรมวิธีการปลูกอ้อยให้ได้คุณภาพอีกด้วย

จาก http://www.naewna.com   วันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2560 

ชงครม.ไฟเขียวงบ 616 ล้าน พาณิชย์เดินหน้า 14 โครงการอุ้มชาวไร่มัน

พาณิชย์ เตรียมชง ครม. 14 มาตรการช่วยเหลือชาวไร่มันสำปะหลัง เล็งของบประมาณ 616 ล้านบาทบริหารจัดการผลผลิตมันสำปะหลังปี 60/61 พร้อมมาตรการเร่งด่วนดูดซัพพลายเข้าโรงงานเอทานอล 2 ล้านตัน-ดึงโรงแป้งช่วยซื้อหวังดึงราคาหัวมันสดไม่ให้ต่ำกว่า กก.ละ 1.60 บาท

แหล่งข่าวจากวงการมันสำปะหลัง เปิดเผยกับประชาชาติธุรกิจ ว่า ในวันที่ 19 มิถุนายนนี้ กระทรวงพาณิชย์เรียกประชุม 4 สมาคมมันสำปะหลัง และตัวแทนสมาพันธ์ชาวไร่มันสำปะหลัง เพื่อติดตามสถานการณ์ราคามันสำปะหลังในช่วงปลายฤดูการผลิตปี 2559/2560 พร้อมทั้งกำหนดมาตรการช่วยเหลือดูแลบริหารจัดการผลผลิตช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ และเตรียมความพร้อมสำหรับมันสำปะหลังฤดูการผลิตปี 2560/2561 ก่อนที่จะสรุปเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาภายในเดือนนี้

โดยเบื้องต้นมาตรการบริหารจัดการมันสำปะหลังปี 2560/2561 ตามที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสำปะหลัง (นบมส.) เห็นชอบ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2560 ประกอบด้วยมาตรการระยะปานกลาง 14 มาตรการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต การสนับสนุนสินเชื่อให้กลุ่มเกษตรกร/วิสาหกิจชุมชน/สหกรณ์รับซื้อและแปรรูปเป็นมันเส้นสะอาด สนับสนุนเครื่องสับมันเพื่อทำมันเส้นสะอาดให้กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และสหกรณ์เพื่อเพิ่มมูลค่า รวมทั้งสนับสนุนเครื่องชั่งน้ำหนักให้ด่านที่มีการนำเข้ามัน และกำกับดูแลการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน คาดว่าจะใช้วงเงินในการดำเนินการทั้งหมด 616.234 ล้านบาทพร้อมทั้งติดตามผลการดำเนินมาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงปลายฤดูการผลิตปี 2559/2560 ซึ่งก่อนหน้านี้นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมการค้าภายใน ได้ประชุมกับ4 สมาคมมันสำปะหลัง และตัวแทนสมาพันธ์ชาวไร่มันสำปะหลัง ติดตามผลผลิตช่วงปลายฤดูการผลิตปี 2559/2560 คาดว่าจะมีผลผลิต 31 ล้านตันออกสู่ตลาดแล้วเกินกว่า 82% ทางชาวไร่แจ้งว่าสถานการณ์ราคามันสำปะหลังสด เปอร์เซ็นต์แป้ง 25% ปรับลดลงไปเหลือต่ำสุด กก.ละ 1.55-1.60 บาท ทางกรมจึงประสานให้โรงงานเอทานอลช่วยรับซื้อมันเส้นสับมือโดยตรงจากเกษตรกร 2 ล้านตัน ให้สูงกว่าราคาตลาดเพิ่มขึ้น กก.ละ 30 สตางค์ คาดว่าจะมีโรงงานเอทานอลเปิดเพิ่มอีก 5 แห่งในจังหวัดสุรินทร์ อุดรธานี อำนาจเจริญ สระแก้ว และสกลนคร พร้อมทั้งขอให้ทางโรงงานแป้งขยายระยะเวลาเดินเครื่องเพื่อรับซื้อมันสำปะหลังจากเกษตรกร โดยปกติโรงแป้งจะมีกำหนดปิดปรับปรุงช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ซึ่งทางโรงแป้งยินดีรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบปัญหาการนำเข้าตามแนวชายแดน โดยกรมการค้าต่างประเทศได้จัดชุดลงพื้นที่ตามแนวชายแดน ส่วนกรมการค้าภายในกำกับดูแลการขนย้ายในพื้นที่อำเภอที่เพาะปลูกที่มีเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยในปี 2560 จับกุมแล้ว 20 ราย

สำหรับการส่งออกมันสำปะหลัง 4 เดือนแรก (มกราคม-เมษายน) 2560 มูลค่า 32,746.15 ล้านบาท ลดลง 15.14% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยตลาดส่งออกหลัก เช่น จีน 20,268.14 ล้านบาท ลดลง 11.57% สัดส่วน 61.89% ญี่ปุ่น 2,694.11 ล้านบาท ลดลง 7.91% สัดส่วน 8.23% อินโดนีเซีย 2,009.67 ล้านบาท ลดลง 54.89% สัดส่วน 6.14% ไต้หวัน 1,452.67 ล้านบาท ลดลง 15.08% สัดส่วน 4.44% และมาเลเซีย 1,341.14 ล้านบาท ลดลง 14.06% สัดส่วน 4.10% โดยราคาส่งออกมันเส้น ตันละ 155-158 เหรียญสหรัฐ ราคาแป้งมัน ตันละ 340 เหรียญสหรัฐ

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2560

เตรียม 7,800 ล้านรับมือ! ก.เกษตรฯ คาด 47 จังหวัดเสี่ยงอุทกภัย-ดินโคลนถล่มปีนี้

แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตรปี 2560 ซึ่งมี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน ว่า การประชุมเพื่อเตรียมรับมืออุทกภัยด้านการเกษตร ที่อาจเกิดฝนตกหนักในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2560 ทั้งนี้ในเดือนสิงหาคม-กันยายนอาจมีฝนตกหนักและพายุเกิดขึ้นในเมืองไทยอีก 2 ลูก จนอาจก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก รวมทั้งน้ำล้นตลิ่งในหลายพื้นที่เนื่องจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยจะกลับมามีกำลังแรงขึ้น โดยกระทรวงเกษตรเตรียมแผนรับมือ ภายใต้งบประมาณ 7,807.64 ล้านบาท

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้จัดทำแผนรับมือภัยพิบัติด้านการเกษตรในช่วงฤดูฝนอย่างเป็นระบบไม่ให้ประสบปัญหาเหมือนที่ผ่านมา เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดต่อการเกษตรของเกษตรกร และรับมือสถานการณ์รุนแรงทางธรรมชาติ ดังนั้นก่อนเกิดภัยพิบัติต้องป้องกันและลดผลกระทบด้วยการบริหารจัดการน้ำ ปริมาณน้ำ วิเคราะห์และประเมินความเสี่ยง เพื่อวางแผนการบริหารจัดการน้ำ ให้สอดคล้องกับความต้องการใช้น้ำในฤดูกาลเพาะปลูก สำรองน้ำในช่วงฝนทิ้งช่วง และจัดสรรน้ำเพื่ออุปโภคและบริโภค

สำหรับพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย และดินโคนถล่มในปี 2560 คาดว่าจะมีทั้งหมด 47 จังหวัด เนื้อที่ 2.88 ล้านไร่ แบ่งเป็น ภาคกลาง มีน้ำท่วมขัง 11 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท นครนายก นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรีสระบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี และอ่างทองคิดเป็นพื้นที่ 1.01 ล้านไร่ และมีพื้นที่เฝ้าระวังพิเศษคาดว่าจะมีโอกาสสูงที่จะเกิดน้ำท่วมขังเป็นวงกว้างและระยะนานส่งพื้นผลให้พืชที่ปลูกได้รับความเสียหายและผลผลิตลดลงจำนวน 8 จังหวัดได้แก่ พิจิตร สุโขทัย พิษณุโลก นครสวรรค์ ชัยนาท พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี และ นครศรีธรรมราช ภาคเหนือพื้นที่เกษตรที่มีโอกาสสูงที่จะเกิดน้ำท่วมขังทั้งหมด 11 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร เชียงราย นครสวรรค์ พะเยา พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ลำปาง สุโขทัย อุตรดิตถ์และอุทัยธานี คิดเป็นพื้นที่ 1.12 ล้านไร่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือพื้นที่เกษตรที่มีโอกาสที่จะเกิดน้ำท่วมขัง 17 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม นครราชสีมา บึงกาฬ บุรีรัมย์ ยโสธร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานีและอุบลราชธานีคิ ดเป็นพื้นที่ 0.32 ล้านไร่ ภาคตะวันออก พื้นที่เกษตรที่มีโอกาสสูงที่จะเกิดน้ำท่วมขังมี 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ปราจีนบุรี คิดเป็นพื้นที่ 0.09 ล้านไร่ และภาคใต้พื้นที่เกษตรที่มีโอกาสสูงที่จะเกิดน้ำท่วมขังมี 5 จังหวัดได้แก่ นครศรีธรรมราช นราธิวาส พัทลุงสงขลา และสุราษฎร์ธานี คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 0.34 ล้านไร่

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2560 

"ทีพีเค" ชวดซื้อข้าวเสื่อมดับฝันเบอร์ 1 ผู้ผลิตเอทานอล

เปิดเบื้องลึก "ที พี เค เอทานอล" วิ่งโร่ร้องนายกฯตู่ พลาดเป้าประมูลข้าวสารเสื่อมรัฐ เหตุหวังตุนสต๊อกป้อนโรงงานที่ขยายกำลังการผลิตรวม 1 ล้านตัน จ่อขึ้นแท่นเบอร์ 1 ผู้ผลิตเอทานอลจากมันเส้นไทย

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัท ที พี เค เอทานอล จำกัด ได้เข้ายื่นร้องเรียนว่าประมูลข้าวสารในสต๊อกของรัฐเข้าสู่อุตสาหกรรมและเป็นผู้เสนอราคาซื้อข้าวในสต๊อกครบทุกคลังสินค้า จำนวน 157 คลัง โดยเป็นผู้เสนอราคาซื้อสูงสุด จำนวน 74 คลัง ปริมาณ 5.25 แสนตัน ราคาเฉลี่ยตันละ 2,332 บาท แต่ไม่ได้รับการพิจารณาอนุมัติจำหน่าย พร้อมทั้งขอให้ภาครัฐตรวจสอบบริษัทที่ชนะการประมูลว่าสามารถนำข้าวไปใช้ตามวัตถุประสงค์ได้หรือไม่

นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบข้อมูลของคณะทำงานร่วมกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และกรมโรงงาน พบว่า บริษัท ที พี เค เอทานอล ถือเป็นผู้ขาดคุณสมบัติในการเป็นผู้เสนอซื้อมาตั้งแต่ต้น เพราะกรรมการของบริษัท ที พี เค เอทานอล จำกัด เคยเป็นกรรมการในนิติบุคคล 2 ราย ซึ่งเป็นจำเลยที่กระทำผิดสัญญาตามโครงการยกระดับราคาหัวมันสำปะหลังโดยผ่านกลไกการผลิตและการตลาดปี 2536/37 ซึ่งศาลฎีกามีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน พร้อมดอกเบี้ยคืนแก่กรมการค้าต่างประเทศ แต่จนบัดนี้ทั้ง 2 รายยังไม่ชำระหนี้ ซึ่งขัดต่อหลักเกณฑ์ตามประกาศคณะทำงานดำเนินการระบายข้าวในสต๊อกของรัฐ เรื่องการจำหน่ายข้าวในสต๊อกของรัฐเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคนและสัตว์ ครั้งที่ 1/2560 ลงวันที่ 12 เมษายน 2560 ข้อ 2.คุณสมบัติผู้เสนอซื้อ ระบุไว้ชัดเจนว่าผู้เสนอซื้อจะถูกพิจารณาให้เป็นผู้ขาดคุณสมบัติ หากเคยมีหรือมีพฤติกรรมที่เป็นผลเสียหายแก่ทางราชการหรือการค้าระหว่างประเทศ หรือโครงการแทรกแซงสินค้าเกษตรภายใต้นโยบายของรัฐบาล

"วัตถุประสงค์ต้องการให้การระบายข้าวในสต๊อกของรัฐเป็นไปด้วยความโปร่งใส รัดกุม และป้องกันความเสียหายที่จะเกิดจากผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้ที่เคยกระทำความเสียหายแก่ทางราชการ กรมได้ดำเนินการตามประกาศอย่างเคร่งครัด โดยนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อคณะทำงานดำเนินการระบายข้าว และคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว พิจารณาตามขั้นตอน รวมทั้งได้เสนอให้ประธานกรรมการ นบข. ให้ความเห็นชอบแล้ว และกรมในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว ได้มีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาให้บริษัท ที พี เค เอทานอล จำกัด ทราบแล้ว ซึ่งบริษัทมีสิทธิจะชี้แจงหรือโต้แย้งได้ตามขั้นตอนทางกฎหมายต่อไป"

ในส่วนประเด็นที่บริษัท ที พี เคเอทานอล จำกัด ขอให้ภาครัฐตรวจสอบการนำข้าวไปใช้ของผู้ชนะการประมูลแต่ละรายนั้น เป็นเรื่องอยู่ในกระบวนการที่ นบข.ได้กำหนดให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) จัดมาตรการและดำเนินการตรวจสอบและติดตามการนำข้าวไปใช้อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันข้าวดังกล่าวรั่วไหลเข้าสู่ตลาดปกติ หากพบว่ามีผู้ซื้อรายใดนำข้าวไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ตามประกาศ จะต้องถูกดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญา และหากผู้ใดมีเบาะแสการกระทำผิด สามารถแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจติดตามอย่างใกล้ชิดอีกทางด้วย

แหล่งข่าวจากวงการเอทานอลเปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า บริษัทที พี เค เอทานอล ไม่ใช่ผู้ประกอบการหน้าใหม่ในวงการ เดิมเป็นผู้ผลิตและส่งออกมันสำปะหลัง และเป็นโรงงานที่ผลิตเอทานอลจากมันเส้นรายใหญ่อันดับ 2 ของประเทศ ตั้งอยู่ อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา มีกำลังการผลิต 3.4 แสนตัน รองจากบริษัท อุบลไบโอเอทานอล จำกัด

"ตั้งข้อสังเกตว่าการเสนอซื้อข้าวสารปริมาณมาก เพราะบริษัทกำลังขยายกำลังการผลิตโรงงานทั้ง 2 เฟส เฟสละ 3.4 แสนตัน จากเดิมที่มี 3.4 แสนตัน หากก่อสร้างแล้วเสร็จบริษัทนี้จะมีกำลังการผลิต 1 ล้านตัน และกลายเป็นผู้ผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลังอันดับ 1 ของประเทศทันที"

อย่างไรก็ตาม ยังต้องประเมินว่าการประมูลข้าวเพื่อมาผลิตเอทานอลจะคุ้มค่าหรือไม่ เพราะ 1) บริษัทมีต้นทุนในการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรจากมันสำปะหลังเส้นมาเป็นข้าว หากวัตถุดิบมีไม่ต่อเนื่องอาจจะไม่คุ้มค่า 2) เปอร์เซ็นต์แป้งในข้าวเสื่อมจะมากเท่ากับเปอร์เซ็นต์แป้งในมันเส้นหรือไม่ หากไม่เท่ากันจะต้องใช้วัตถุดิบในปริมาณมากขึ้น ทำให้ประเมินได้ยากว่าจะใช้ข้าวเท่าไร แป้งเท่าไร ส่วนเอทานอลที่ผลิตจากโมลาสจะมีกระบวนการที่แตกต่างจากข้าวและมันสำปะหลัง ทำให้ไม่มีผู้ผลิตเอทานอลโมลาสมาร่วมประมูล

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2560 

ชงโครงสร้างพื้นฐาน'อีอีซี'6.4หมื่นล. 

          สั่งกนอ.กำหนดพื้นที่ส่งเสริม อุตสาหกรรมเป้าหมาย รายคลัสเตอร์

          "สมคิด" เผยหน่วยงานเตรียมชง โครงสร้างพื้นฐาน 6.4 หมื่นล้านเข้าบอร์ดนโยบายอีอีซี พบประธานเจซีซีย้ำญี่ปุ่นพร้อมดึงนักลงทุนสนับสนุนโครงการกระทรวงเมติ เตรียมเยือนไทย ก.ย.นี้ ด้าน"อุตตม" สั่ง กนอ. จัดหาพื้นที่เหมาะสมรายคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมายใน อีอีซี ประกาศเป็นเขตส่งเสริมพิเศษ พร้อมจัดพื้นที่นิคมฯละ 40 ไร่ สร้างโรงงานสำเร็จรูปรองรับเอสเอ็มอี พร้อมตั้งห้องแล็บพัฒนาสินค้าต้นแบบ ด้าน สมาพันธ์ นักธุรกิจยุโรป สนลงทุนอุตฯชีวภาพ อาหารแปรรูป ดิจิทัล ลงทุนพัฒนาบุคลากรรองรับระยะยาว

          นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เร็วๆ นี้ที่ประชุมจะหารือโครงการสำคัญต่างๆ ที่จะช่วยผลักดันโครงการอีอีซีให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะในด้านการการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังจัดเตรียมรายละเอียดด้านต่างๆ มานำเสนอให้นายกฯ พิจารณา

          รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า ในการประชุมบอร์ดอีอีซีครั้งนี้ จะหารือกันถึงแผนผลักดันโครงการลงทุนโครงสร้าง พื้นฐานด้านต่างๆ เข้ามาให้นายกฯพิจารณา โดยเฉพาะโครงการรถไฟทางคู่ เพื่อขนส่งทั้งผู้โดยสารและสินค้า วงเงินประมาณ 64,300 ล้านบาท โดยจะเป็นทางคู่ที่เชื่อม 2 ท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือน้ำลึกมาบตาพุด ซึ่งเป็นรถไฟทางคู่สายใหม่ 2 เส้นทาง คือ เส้นทางแหลมฉบัง - ปลวกแดง -ระยอง ที่เป็นโครงการภายใต้แผนยุทธศาสตร์การให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในกิจการของรัฐและเส้นทางมาบตาพุด - ระยอง -จันทบุรี - ตราด ที่กำลังอยู่ระหว่างขั้นตอนการศึกษา

          สำหรับการหารือกับนายโซจิ ซาคาอิ ประธานหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (เจซีซี) เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมาประธานเจซีซี ยืนยันว่าจะช่วยประสานสมาชิกที่เป็น นักธุรกิจญี่ปุ่นให้เข้ามาสนับสนุนโครงการอีอีซีของไทย และเป็นตัวกลางเชื่อมโยงนักธุรกิจญี่ปุ่นกับไทย พร้อมกันนี้ยังรับทราบว่า ในวันที่11ก.ย.นี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจการค้า และอุตสาหกรรม (เมติ) ของญี่ปุ่น จะนำคณะนักธุรกิจญี่ปุ่นมาเยือนไทยด้วย

          นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่าได้สั่งการให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ลงไปกำหนดพื้นที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายรายคลัสเตอร์ให้ชัดเจน เช่น เขตพื้นที่คลัสเตอร์ปิโตรเคมี คลัสเตอร์ไฟฟ้า อิเล็กทอรนิกส์ คลัสเตอร์หุ่นยนต์ คลัสเตอร์เมดิคัลฮับ คลัสเตอร์ยานยนต์ เป็นต้น เพื่อให้นักลงทุนตัดสินใจตั้งฐานผลิตได้ง่ายขึ้น และภาครัฐก็จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับได้อย่างเหมาะสม เช่น คลัสเตอร์ หุ่นยนต์ ก็ควรจะอยู่ใกล้ฐานการผลิต รถยนต์เดิม เพราะใช้ชิ้นส่วนที่ใกล้เคียงกัน คลัสเตอร์เครื่องมือทางการแพทย์ และ เมดิคัลฮับ ก็ควรจะอยู่ใกล้สนามบินอู่ตะเภา เพราะสะดวกในการเข้าออกของผู้ป่วย หรือเข้ามาพักฟื้นร่างกายชาวต่างชาติ

          "ขณะนี้ กนอ. กำลังศึกษาศักยภาพของแต่ละพื้นที่ในอีอีซีอย่างละเอียด เพื่อกำหนดพื้นที่ที่เหมาะสมในอุตสาหกรรมเป้าหมายต่างๆ ซึ่งเป็นการย่นเวลาการศึกษาพื้นที่ของนักลงทุน และเกิดการลงทุนได้ เร็วขึ้น ซึ่งหลังจากที่ได้พื้นที่ในแต่ละคลัสเตอร์ชัดเจนแล้วก็จะประการเป็นเขตส่งเสริมพิเศษต่อไป"

          นอกจากนี้ ยังให้ กนอ. ลงไปจัดทำพื้นที่ เพื่อส่งเสริมเอสเอ็มอีเป็นการเฉพาะในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆใน อีอีซี รวมทั้งจะมีการกำหนดพื้นที่ส่วนกลางตั้ง "โคเวิร์คกิ้งสเปซ" ที่จะมีเครื่องมือ อุปกรณ์เบื้องต้น เช่น เครื่องพิมพ์ 3 มิติ เครื่องสแกน 3 มิติ เป็นต้น ให้เป็นพื้นที่ส่วนกลางให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้ามาระดมสมองวิจัยพัฒนาสินค้าต้นแบบใหม่ๆ ซึ่งอาจจะร่วมมือกับบริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด หรือ เซ็นทรัล แล็บ ไทย เข้ามาต้องห้องแล็บ พื้นที่ อีอีซี รวมทั้งประสานกับ สถาบันการศึกษาต่างๆในการเปิดให้ ห้องแล็บให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าไปใช้งาน ส่วนการผลักดันเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนทั้ง 10 แห่งนั้น รัฐบาลได้ มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมดูแลคณะอนุกรรมการด้านการตลาด ซึ่งจะมุ่งเน้น ในการดึงดูดเอสเอ็มอีเข้าไปลงทุนให้เข้มข้นขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา กนอ. ได้ดูแลจัดตั้งนิคมฯ ใน 3 เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนได้อย่างเป็นที่น่าพอใจ จึงมีแผนที่จะให้ กนอ. เข้าไปพัฒนานิคมฯในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนแห่งอื่นๆเพิ่ม ขณะนี้กำลังศึกษาว่าควรจะเข้าไปทำในพื้นที่ใดบ้าง

          นายอุตตม กล่าวว่า ที่ผ่านมาสมาพันธ์ นักธุรกิจยุโรป ที่มีสำนักงานใหญ่ที่ประเทศสิงคโปร์ ได้เข้ามาหารือเรื่องการลงทุนใน อีอีซี ซึ่งอุตสาหกรรมเป้าหมายที่นักลงทุนยุโรปต้องการเข้ามาตั้งจะอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมชีวภาพ อาหารแปรรุป ดิจิทัลที่ใช้ Internet of Things(IoT) รวมทั้งยังเสนอที่จะเข้ามาช่วยในเรื่องการพัฒนาบุคลากร เพื่อรองรับอุตสาหกรรม 4.0 รองรับอุตสาหกรรมในอนาคต เพราะนักลงทุนเหล่านี้ต้องการดำเนินธุรกิจระยะยาวในไทย จึงต้องสร้างคน ขึ้นมารองรับ

          นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า กนอ. กำลังศึกษาหาพื้นที่ว่างในนิคมต่างๆในพื้นที่ อีอีซี ที่มีจำนวน 12 แห่ง เป็นของ กนอ. 1 แห่ง ที่เหลือเป็นของเอกชน เพื่อหาพื้นที่ที่เหมาะสมในอุตสาหกรรมเป้าหมายต่างๆ เพื่อให้โรงงานที่เข้ามาตั้งสามารถ เชื่อมโยงการผลิตตั้งแต่ต้นนำถึงปลายน้ำ ซึ่งใน 1 นิคมฯอาจจะมีพื้นที่สำหรับหลายคลัสเตอร์อุตสาหกรรมได้

          ในส่วนของการจัดหาพื้นที่รองรับ เอสเอ็มอีนั้น ได้เข้าไปหารือผู้พัฒนานิคมฯทั้ง 12 แห่ง เพื่อกันพื้นที่ประมาณ 40 ไร่ ต่อ 1 นิคมฯ จัดทำโรงงานสำเร็จรูปสำหรับจำหน่ายหรือให้เอสเอ็มอีเช่า มีพื้นที่ตั้งแต่ 500-1,000 ตารางเมตร เพื่อตั้งโรงงานขนาดเล็ก มีอัตราค่าเช่าประมาณ 90-140 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน ซึ่งเป็นราคาพิเศษในการสนับสนุนเอสเอ็มอี โดยในขณะนี้นิคมฯของเอกชนบางแห่งก็ได้จัดสรรพื้นที่สำหรับเอสเอ็มอี ไว้แล้ว เพื่อรองรับอุตสาหกรรมชิ้นส่วนที่เข้ามา รองรับการผลิตในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่เข้ามาตั้งฐานการผลิต

          อุตสาหกรรมเป้าหมายที่นักลงทุนยุโรปต้องการเข้ามา

          อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมชีวภาพ อาหารแปรรุป ดิจิทัลที่ใช้ Internet of Things เพื่อรองรับอุตสาหกรรม 4.0

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2560 

รัฐเเจ้งเกษตรกร รีบปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรหลังเพาะปลูกแล้ว 15วัน เพื่อวางเเผนตลาดล่วงหน้า

กรมส่งเสริมการเกษตร ประชาสัมพันธ์เร่งรัดให้เกษตรกรมาปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรหลังเพาะปลูกแล้ว 15 วัน ซึ่งในปี 2560 นี้ กรมส่งเสริมการเกษตรได้เน้นย้ำให้เกษตรกรมาแจ้งปลูกไม่เกิน 60 วันหลังการเพาะปลูก  เพราะภาครัฐต้องการทราบสถานการณ์การเพาะปลูกเพื่อนำข้อมูลไปวางแผนจัดการตลาดล่วงหน้าได้

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ในปีนี้เข้าสู่ฤดูกาลปกติ ปริมาณฝนตกมากเพียงพอต่อการทำนา หลังจาก 2 ปีที่ผ่านมาเราประสบภัยแล้งทำนาช้า แต่ปีนี้ทำนาได้เร็วจึงได้ให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่เร่งรัดประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรมาแจ้งปรับปรุงข้อมูลในทะเบียนเกษตรกรที่สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน โดยแจ้งเพียงว่าท่านปลูกพืชอะไร  พันธุ์อะไร เนื้อที่เท่าใดและคาดว่าจะได้ผลผลิตเท่าใด

ข้อมูลในฐานทะเบียนเกษตรกรนี้รัฐบาลได้นำไปใช้ในการกำหนดมาตรการต่างๆ  เช่น การจัดทำนโยบายข้าว โครงการช่วยเหลือต่างๆ รวมทั้งโครงการประกันภัยข้าวนาปี ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการขออนุมัติดำเนินโครงการต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  กระทรวงการคลัง และสมาคมประกันวินาศภัย กำหนดค่าเบี้ยประกันไร่ละ 90 บาท หากเกษตรกรทำประกันภัยไว้ เมื่อประสบภัยพิบัติจะได้รับเงินชดเชยเพิ่มเติมอีกไร่ละ 1,260 บาท หากที่นาแปลงที่ซื้อประกันไว้นั้นเกิดประสบภัยพิบัติเสียหาย

นอกจากจะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐปกติไร่ละ 1,113 บาทแล้วยังจะได้รับเงินชดเชยเพิ่มเติมจากบริษัทประกันภัยอีก 1,260บาท ทำให้ชาวนาที่ทำประกันจะได้รับเงินช่วยเหลือรวม 2,373 บาทต่อไร่  การขายประกันจะสิ้นสุดในวันที่ 31 สิงหาคม 2560 นี้

อย่างไรก็ตาม ชาวนาจะต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนเกษตรกรจึงจะมีสิทธิ์ทำประกันดังกล่าว โดยกรมส่งเสริมการเกษตรจะเป็นหน่วยงานต้นทางส่งข้อมูลทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์นำไปให้ชาวนาที่ต้องการซื้อประกันภัยได้เลือกแปลงนาที่ต้องการทำประกัน จึงขอให้ชาวนาผู้สนใจรีบมาแจ้งปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรโดยเร็วเพื่อจะได้ไม่เสียโอกาสในสิทธ์การทำประกัน

อนึ่งในช่วงวันที่ 20 มิถุนายน ถึง 22 สิงหาคม 2560 นี้ กรมส่งเสริมการเกษตรได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์  สมาคมประกันวินาศภัย ออกเดินสายชี้แจง ทำความเข้าใจแก่เจ้าหน้าที่ข้าราชการในพื้นที่  ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  พนักงาน ธกส. ใน 9 จังหวัด คือ ขอนแก่น  นครสวรรค์ สุโขทัย  ฉะเชิงเทรา  เพชรบุรี   บุรีรัมย์  ร้อยเอ็ด  สกลนคร และสงขลา

ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ กรมส่งเสริมการเกษตร โทร 029551640

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2560 

เงินบาทแข็งค่าสุดในรอบ 23 เดือน จับตาทิศทางนโยบายการเงินสหรัฐฯ

“เงินบาทแข็งค่าสุดในรอบ 23 เดือน ก่อนลดช่วงบวกลงบางส่วนปลายสัปดาห์ ขณะที่ หุ้นไทยปรับเพิ่มขึ้นตลอดสัปดาห์”

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า เงินบาททำสถิติแข็งค่าสุดในรอบ 23 เดือน ก่อนลดช่วงบวกลงบางส่วนในช่วงปลายสัปดาห์ ทั้งนี้ เงินบาทแข็งค่าทะลุแนว 34.00 ไปที่ 33.82 บาทต่อดอลลาร์ฯ ซึ่งเป็นระดับแข็งค่าสุดในรอบ 23 เดือนครั้งใหม่ ท่ามกลาง sentiment ที่อ่อนแอของเงินดอลลาร์ฯ ในช่วงก่อนการประชุมเฟด และความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองภายในของสหรัฐฯ นอกจากนี้ เงินหยวนที่ขยับแข็งค่าก็เป็นปัจจัยบวกต่อสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค รวมถึงเงินบาทด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดี เงินบาทต้องลดช่วงบวกลง และกลับมาทยอยอ่อนค่าในช่วงปลายสัปดาห์ สอดคล้องกับเงินดอลลาร์ฯ ที่ฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วน หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ตอกย้ำโอกาสการขึ้นดอกเบี้ยในครึ่งหลังของปี

สำหรับในวันศุกร์ (16 มิ.ย.) เงินบาทอยู่ที่ 33.95 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับ 34.07 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (9 มิ.ย.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (19-23 มิ.ย.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 33.85-34.10 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยต้องติดตามสัญญาณเกี่ยวกับทิศทางนโยบายการเงินสหรัฐฯ จากถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ขณะที่ ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ประกอบด้วย ยอดขายบ้านใหม่และยอดขายบ้านมือสองเดือนพ.ค. และดัชนี PMI ภาคบริการ (เบื้องต้น) เดือนมิ.ย. นอกจากนี้ ตลาดน่าจะรอติดตามดัชนี PMI (เบื้องต้น) เดือนมิ.ย. ของหลายๆ ประเทศ รวมถึงประเด็นจากฝั่งยุโรป ทั้งการจัดตั้งรัฐบาลอังกฤษ และจุดยืนเรื่องการเจรจา Brexit

ส่วนตลาดหุ้นไทยดัชนีหุ้นไทยปรับเพิ่มขึ้น ตามแรงซื้อของกลุ่มสถาบัน โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,576.58 เพิ่มขึ้น 0.63% จากสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันลดลง 10.39% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 38,840.94 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai ปิดที่ 570.31 จุด เพิ่มขึ้น 1.07% จากสัปดาห์ก่อน

ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับเพิ่มขึ้นตลอดสัปดาห์ โดยได้รับแรงหนุนในช่วงแรกจากการคาดการณ์ว่า เฟดน่าจะส่งสัญญาณไม่เร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยหลังอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ออกมาต่ำกว่าที่คาด นอกจากนี้ SET Index ยังมีปัจจัยหนุนเพิ่มเติมจากหุ้นบางกลุ่มที่ได้รับอานิสงส์จากมาตรการการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับธุรกิจพลังงาน และความชัดเจนในการลงทุนของโครงการภาครัฐ อย่างไรก็ดี ความกังวลเกี่ยวกับการผิดนัดชำระหนี้ B/E กดดันหุ้นบางกลุ่ม และจำกัดการปรับตัวขึ้นของตลาดในภาพรวมในระหว่างสัปดาห์

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (19-23 มิ.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,565 และ 1,555 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,590 และ 1,600 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ ทิศทางเงินทุนเคลื่อนย้ายในตลาดเกิดใหม่ และสำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านมือสองและยอดขายบ้านใหม่ และข้อมูลสต็อกน้ำมันคงคลังของสหรัฐฯ ขณะที่ ข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศที่สำคัญ อาทิ รายงานการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น และดัชนี PMI (เบื้องต้น) เดือนมิ.ย. ของหลายๆ ประเทศ

จาก https://www.matichon.co.th วันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2560

"อุตตม" เร่งกำหนดขอบเขตลงทุน 4 โครงสร้างพื้นฐานอีอีซี-ที่ตั้ง 10 อุตฯเป้าหมาย

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า อยู่ระหว่างติดตามความคืบหน้าโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ก่อนสรุปประเด็นเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายอีอีซี ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานช่วงปลายเดือนมิถุนายนถึงต้นเดือนกรกฎาคม โดยเฉพาะความคืบหน้า 4 โครงการลงทุนเร่งด่วนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่จะลงทุนภายในปีนี้ ประกอบด้วย สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา ท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 2 ท่าเรือมาบตาพุด เฟส 2 และรถไฟความเร็วสูง โดยจะหารือรูปแบบการลงทุนว่าจะเปิดให้ผู้สนใจเข้าลงทุนอย่างไร จะกำหนดขอบเขตการลงทุนที่ชัดเจน

นอกจากนี้จะหารือเรื่องการกำหนดพื้นที่ลงทุนของ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่อีอีซีว่าควรจัดกลุ่มอย่างไร และตำแหน่งพื้นที่ของอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดความ สะดวกต่อเอกชนในการเลือกพื้นที่ ทั้งผู้ประกอบการขนาดใหญ่ และผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เบื้องต้นกลุ่มการลงทุนที่สำนักงานอีอีซีได้พิจารณาไว้ อาทิ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์อาจให้อยู่ใกล้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมการแพทย์ สุขภาพ อาจให้อยู่ใกล้กับสนามบินอู่ตะเภา เพื่อให้ผู้มาใช้บริการ หรือนักลงทุนสะดวกต่อการเดินทาง ขณะที่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีมีฐานการผลิตอยู่แล้ว

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2560 

ลุ้นระทึก‘เฟด’ขึ้นดบ. ธปท.คุมใกล้ชิดหลังบาทแข็งค่า

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าหลุด 34 บาทต่อดอลลาร์ มาอยู่ที่ 33.90 บาทต่อดอลลาร์ ในการเปิดตลาดในช่วงเช้าของวันที่ 14มิถุนายน 2560 เกิดจาก 2 ปัจจัย ประกอบด้วยคือ ปัจจัยภายนอก ความไม่มั่นใจต่อค่าเงินดอลลาร์ที่ปรับตัวอ่อนค่าลง และปัญหาการเมืองในสหรัฐ ที่มีข้อมูลและนโยบายที่ไม่แน่นอนส่งผลให้เกิดความไม่มั่นใจต่อนโยบายการคลัง ที่มีบทบาทน้อยลง ธปท.จึงต้องดูแลค่าเงินอย่างใกล้ชิด

มีรายงานแจ้งว่า ตลาดการเงิน ตลาดทุนโลก กำลังจับตาการประชุมของ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ระหว่างวันที่ 13-14 มิถุนายน 2560 นี้ โดยมีกระแสคาดการณ์เป็นวงกว้างว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมครั้งนี้ หาก เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จะทำให้มีเม็ดเงินลงทุนไหลเข้าไปที่สหรัฐส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น และส่งผลต่อเนื่องให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง

ด้าน นายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการ การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) และอดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO)กล่าวว่าที่ผ่านมาประเทศมหาอำนาจใช้นโยบายมาตรการผ่อนคลายในเชิงปริมาณการเงิน (QE) ออกมาจำนวนมาก ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเอเชีย เพราะเงินทุนต่างชาติไหลเข้ามาในตลาดเอเชีย ทำให้เงินสกุลเอเชียแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งปัจจัยจากภายนอกยังเป็นปัจจัยหลักที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจเอเชีย ทั้งนโยบายการเงินที่ไม่สมดุลของโลก ปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ ดังนั้น มีความจำเป็นที่ประเทศในเอเชียต้องผนึกกำลังกันให้แน่น เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและเติบโตไปด้วยกัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเอเชีย

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี ระบุว่าการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐ ทำให้นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าเฟดจะสามารถปรับขึ้นดอกเบี้ยได้อีก 2 ครั้งในปีนี้ คืออยู่ที่ระดับ 1.25%-1.50% ณ ปลายปีนี้ เท่ากับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่ 1.50% นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟดยังคาดอีกว่าเฟดจะขึ้นได้ต่อเนื่องอีกสามครั้งในปีหน้าซึ่งจะทำให้ดอกเบี้ยเฟดแพงกว่าดอกเบี้ยไทย หาก ธปท. ยังไม่ขึ้นดอกเบี้ยตาม ความแตกต่างของระดับอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวจะส่งผลกระทบกับการเคลื่อนย้ายเงินทุนและอัตราแลกเปลี่ยน

“อย่างไรก็ดี เพื่อลดความกดดันจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่มากขึ้นเรื่อยๆ ศูนย์วิเคราะห์ฯ คาดว่า ธปท. จะเริ่มทยอยขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยได้ในปีหน้า เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวได้ต่อเนื่องและอัตราเงินเฟ้อที่จะทยอยสูงขึ้นโดยคาดว่าจะขึ้น 2 ครั้ง ในปี 2561 และทยอยขึ้นต่อเนื่องในปีต่อไปดังนั้นจะเห็นได้ว่า ปี 2561 จะเป็นปีที่มีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก ทั้งค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มผันผวนมากขึ้น และอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่จะเริ่มทยอยปรับเพิ่มขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการควรเตรียมพร้อมรับมือกับทั้งความผันผวนจากค่าเงินบาทและจากต้นทุนทางการเงินที่จะเพิ่มสูงขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับสูงขึ้น”ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี ระบุ

จาก http://www.naewna.com วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2560

เกษตรฯ เดินหน้าแผนเตรียมความพร้อมเพื่อลดความเสี่ยงจากอุทกภัยด้านการเกษตร ปี 2560

            พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่ได้มอบหมายให้กรมชลประทานบริหารจัดการน้ำในระยะยาวไปถึง 2 ปีข้างหน้า โดยให้คำนึงถึงปริมาณน้ำสำหรับกักเก็บไว้ใช้สำหรับการเกษตรในฤดูแล้งรอบหน้า อีกทั้งได้คาดการณ์ปริมาณน้ำฝนที่จะทำให้การบริหารน้ำในพื้นที่เขตชลประทานมีความมั่นคงและแก้ปัญหาได้ชัดเจนมากขึ้น นอกจากนี้ ยังได้ให้ความสำคัญพื้นที่นอกเขตชลประทาน โดยได้นำข้อมูลจากสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) และข้อมูลจากศูนย์เมขลา นำมาวิเคราะห์ร่วมกับกรมชลประทาน             ที่จะสามารถทำให้ทราบสถานการณ์น้ำท่วมบริเวณไหนและจะบริหารจัดการน้ำได้อย่างไร อีกทั้งยังพยากรณ์ได้ว่าในสิ้นฤดูฝนจะปล่อยน้ำในพื้นที่ชลประทานได้มากน้อยเพียงใด และจะปล่อยน้ำให้พื้นที่การเกษตรได้มากน้อยขนาดไหน ทั้งนี้       กรมชลประทานเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการทั้งหมด

              นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ปัจจุบัน (13 มิ.ย. 60) สถานการณ์อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศมีปริมาณน้ำในอ่างฯ 41,830 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 56 ของความจุอ่างฯ รวมกันทั้งหมด มากกว่าปี 2559 รวม 9,320 ล้าน ลบ.ม. เป็นน้ำใช้การได้ 18,011 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 35 (ปี 2559 มีน้ำใช้การได้ 8,812 ล้าน ลบ.ม.) สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 33,300 ล้าน ลบ.ม. โดยจากสถานการณ์อุทกภัยและการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น ตั้งแต่ 16 พ.ค. 2560 – ปัจจุบัน พบว่า จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม 27 จังหวัด ขณะนี้เข้าสู่สถานการณ์ปกติแล้ว 24 จังหวัด เหลือเพียง 3 จังหวัดที่ยังมีน้ำท่วมอยู่ ได้แก่ 1. จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางบาล 2. จังหวัดสุพรรณบุรี มีน้ำท่วมในบริเวณทุ่งสองพี่น้อง 3. จังหวัดชลบุรี มีน้ำขังในพื้นที่ลุ่มต่ำในเขต        อ.พนัสนิคม ระดับน้ำสูง 10 – 15 ซม. ซึ่ง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน ได้ให้ความช่วยเหลือโดยสนับสนุนเครื่องสูบน้ำ 112 เครื่อง และเครื่องผลักดันน้ำ 26 เครื่อง รวมถึง สนับสนุนพืชอาหารสัตว์ 50,260 กิโลกรัม ดูแลสุขภาพสัตว์ 13,580 ตัว และสนับสนุนเวชภัณฑ์ ยาปฏิชีวนะ 601 ชุด ในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร เชียงใหม่ สุโขทัย และเลย ทำให้สามารถลดพื้นที่ได้รับผลกระทบลดลง (ข้อมูล ณ วันที่ 2 มิ.ย. 60) จาก 1.01 ล้านไร่      (18 จังหวัด) ปัจจุบันลดลงเหลือ 0.91 ล้านไร่ (19 จังหวัด)

                ขณะเดียวกันได้เดินหน้าแผนเตรียมความพร้อมเพื่อลดความเสี่ยงจากอุทกภัยด้านการเกษตร ปี 2559/60 วางเป้าหมายในการป้องกัน ลดความเสี่ยง และความเสียหายของภาคเกษตรรวมทั้งฟื้นฟูให้เกษตรกรกลับสู่ภาวะปกติหรือพัฒนาให้ดีกว่าเดิม แบ่งออกเป็น 4 แผนงาน 41 กิจกรรม คือ 1. การป้องกันและลดผลกระทบเตรียมความพร้อม ประกอบด้วย 1.1 ด้านการบริหารจัดการน้ำ ประกอบด้วยติดตามสภาพอากาศ/ปริมาณน้ำแผนบริหารจัดการน้ำรายจังหวัดกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำและบำรุงรักษาพื้นที่รับน้ำปฏิบัติการฝนหลวง 1.2 ด้านการผลิตสินค้าเกษตร ประกอบด้วยการปรับรอบการผลิตในพื้นที่ลุ่มต่ำการจัดทำคันป้องกัน/Flood Wayการปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรการแนะนำการลดความเสี่ยงตรวจสอบฟาร์มสัตว์ดุร้ายแผนอพยพปศุสัตว์/บริหารพื้นที่อพยพจัดทำบัญชีทรัพยากร เครื่องมือ อุปกรณ์ เสบียงสัตว์ เวชภัณฑ์ 1.3 ด้านสร้างความเข้าใจความเสี่ยง ประกอบด้วยการซักซ้อมแนวปฏิบัติกับเจ้าหน้าที่การซักซ้อมระบบแจ้งเตือนสร้างความเข้าใจความเสี่ยง 2.การเผชิญเหตุ ประกอบด้วย 2.1 ด้านการบริหารจัดการน้ำ โดยปรับแผนการบริหารน้ำติดตั้งเครื่องจักรเร่งระบายน้ำเสริมคันกันน้ำ ทำนบชั่วคราวแจ้งเตือนพื้นที่ท้ายน้ำ 2.2 ด้านการผลิตสินค้าเกษตร ประกอบด้วยเสริมคันป้องกัน/สร้าง Flood Wayเก็บผลผลิตเกษตร สัตว์น้ำ จำหน่ายอพยพปศุสัตว์/บริหารพื้นที่ส่งกำลังบำรุงเข้าพื้นที่ 2.3 ด้านการช่วยเหลือและสื่อสารสถานการณ์ จะระดมเจ้าหน้าที่ให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นและแนะนำเกษตรกรสื่อสารข้อมูลสถานการณ์น้ำและพื้นที่ปลอดภัย

               3. การหยุดยั้งความเสียหาย ประกอบด้วย 3.1 ด้านการบริหารจัดการน้ำ ประกอบด้วยการสำรวจพื้นที่น้ำท่วมขังเกษตรเสริมกำลัง เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่เกษตรลุ่มต่ำและพื้นที่การเกษตรที่สำคัญ 3.2 ด้านการผลิตสินค้าเกษตร ประกอบด้วยตรวจ วินิจฉัย ป้องกันและกำจัดโรคพืช สัตว์ ประมงสนับสนุนเวชภัณฑ์เพื่อป้องกันการระบาดของโรคที่เกิดจากน้ำบำบัดน้ำเสียและขจัดกลิ่นเหม็นในพื้นที่เกษตรกรรมโดยใช้น้ำหมักชีวภาพ พด.6 3.3 ด้านการช่วยเหลือเยี่ยมเยียน ประกอบด้วยคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ประเมินความเสียหายแจ้งสิทธิการช่วยเหลือตามกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง และ     

                   4. การฟื้นฟูให้ดีกว่าเดิม ประกอบด้วย 4.1 ด้านการบริหารจัดการน้ำ ประกอบด้วยซ่อม/สร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านชลประทานและ Flood Wayจัดทำระบบป้องกันพื้นที่เกษตรที่สำคัญ 4.2 ด้านการผลิตสินค้าเกษตร ประกอบด้วยวิเคราะห์ความเสียหายและประเมินความต้องการ/ความจำเป็นในการฟื้นฟูและจัดทำแผนฟื้นฟูของจังหวัดฟื้นฟูของสภาพดิน ปรับปรุงบำรุงดินการสร้างรายได้ระยะสั้นและส่งเสริมการผลิตให้ดีกว่าเดิมการช่วยเหลือตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และ 4.3 ด้านการให้ความรู้ในการฟื้นฟู ประกอบด้วยการปรับเปลี่ยนกิจกรรม การผลิตการปรับรองการผลิตการจัดทำแนวป้องกัน

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2560

กรมฝนหลวงปรับแผนเติมน้ำในเขื่อน 

กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ปรับแผนการปฏิบัติการฝนหลวงเสริมกำลังการปฏิบัติการเติมน้ำในเขื่อนที่ยังคงมีปริมาณน้ำน้อย

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า จากสภาพอากาศในปัจจุบันมีฝนตกค่อนข้างกระจายตัวดีและบางพื้นที่มีฝนตกหนัก ทำให้สถานการณ์น้ำในพื้นที่การเกษตรมีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำแล้ว แต่สถานการณ์น้ำใช้ของเขื่อนสำคัญบางเขื่อนยังมีปริมาณที่น้อยอยู่ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จึงปรับแผนปฏิบัติการฝนหลวง ตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายน 2560 จาก 8 หน่วยปฏิบัติการ คงเหลือ 6 หน่วยปฏิบัติการ โดยย้ายเครื่องบินจากหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดขอนแก่น ช่วยเสริมกำลังเติมน้ำในเขื่อนสำคัญต่างๆ ในพื้นที่ความรับผิดชอบของ 6 หน่วยปฏิบัติการ ได้แก่ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดเชียงใหม่ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดตาก หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดกาญจนบุรี หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดลพบุรี หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดนครราชสีมา หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดสระแก้ว

ทั้งนี้ สำหรับพื้นที่การเกษตรที่ยังมีความต้องการน้ำ แต่ยังอยู่ในบริเวณพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง เช่น พื้นที่อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ในแต่ละภูมิภาค ลงพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจกับพี่น้องเกษตรกร ในเรื่องการปฏิบัติภารกิจและการขอรับบริการฝนหลวงเรียบร้อยแล้ว

จาก http://www.innnews.co.th   วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2560

KSL กำไรโต246%ราคาน้ำตาลพุ่ง-เอทานอลดี

น้ำตาลขอนแก่น อวดงบไตรมาส 2 กำไร 640 ล้านบาท เติบโต 246% อานิสงส์ราคาน้ำตาลในตลาดโลกพุ่ง ธุรกิจเอทานอลดี ส่วนธุรกิจโรงไฟฟ้าขายไฟเพิ่มขึ้น 45%

บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือ KSL แจ้งผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 2 สิ้นสุดวันที่ 30 เม.ย.2560 มีกำไรสุทธิ 639.85 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.145 บาท เพิ่มขึ้น 246% จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 184.88 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.042 บาท ส่วนงวด 6 เดือนมีกำไรสุทธิ 1,092.91 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.248 บาท เพิ่มขึ้น 102% จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 541.43 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.123 บาท

นายจำรูญ ชินธรรมมิตร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือ KSL เปิดเผยว่า งวดไตรมาส 2 บริษัทมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 246% จากงวดเดียวกันของปีก่อน สาเหตุมาจากราคาขายน้ำตาลต่างประเทศเฉลี่ยสูงขึ้น 44% จากการส่งมอบน้ำตาลตามสัญญา ซึ่งบริษัทได้ทำสัญญาในช่วงที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น โดยในไตรมาส 2 นี้มีปริมาณขายน้ำตาลรวม 177,461 ตัน ลดลงลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ 191,093 ตัน หรือลดลง 7% ซึ่งปริมาณน้ำตาลขายต่างประเทศลดลงเพียง 3%

นอกจากนี้ธุรกิจเอทานอล ราคาขายเฉลี่ยในไตรมาส 2 สูงขึ้นมาอยู่ที่ 25.18 บาทต่อลิตร เมื่อเทียบงวดเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 23.25 บาทต่อลิตร หรือสูงขึ้น 8% และปริมาณการขายเอทานอลมีจำนวน 21.57 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบงวดเดียวกันของปีก่อน

 ส่วนธุรกิจไฟฟ้าปริมาณขายเพิ่มขึ้นเป็น 104,780 เมกะวัตต์-ชั่วโมง หรือเพิ่มขึ้น 45% เมื่อเทียบงวดเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากไตรมาส 2 ปี2559 โรงไฟฟ้าสาขาบ่อพลอยหยุดซ่อมบำรุงเครื่องจักร ราคาขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าโดยเฉลี่ยปรับตัวลดลงจาก 3,047 เมกะวัตต์-ชั่วโมง ในไตรมาส 2 ปี 2559 เป็น 2,764 บาทต่อเมกะวัตต์-ชั่วโมง ในไตรมาส 2 ปี 2560

นอกจากนี้บริษัทได้รับเงินคืนจากค่ารักษาเสถียรภาพ ซึ่งบริษัทได้ฟ้องคดีผ่านศาลปกครองสูงสุด รับรู้เป็นรายได้อื่น 85.74 ล้านบาท ซึ่งส่งผลให้บริษัทรับรู้กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 68.59 ล้านบาทและรวมสะสม 6 เดือนปี 2560 บริษัทรับรู้กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจากการได้รับเงินค่ารักษาเสถียรภาพรวม 192.96 ล้านบาท

 ปัจจุบันบริษัทมีสินทรัพย์รวม 47,407 ล้านบาท หนี้สินรวม 30,103 ล้านบาทและส่วนของผู้ถือหุ้น 17,304 ล้านบาท โดยมีอัตราสวนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น 1.74 เท่าและอัตราหนี้สินที่มีดอกเบี้ยต่อส่วนผู้ถือหุ้น 1.53 เท่าและมีเงินสดจ่ายที่เกี่ยวกับกิจกรรมดำเนินงาน 5,149 ล้านบาท มีเงินสดจ่ายที่ใช้ไปในกิจกรรมลงทุน 1,576 ล้านบาทและเงินสดรับที่เกี่ยวกับกิจกรรมจัดหาเงิน 7,153 ล้านบาท

 ด้านราคาหุ้น KSL เปิดตลาดเช้าวันที่ 14 มิ.ย. อยู่ที่ 5.50 บาท บวก 0.05 บาท ซึ่งเป็นราคาต่ำสุดของวัน ก่อนปรับขึ้นแตะสูงสุดที่ 5.70 บาท และล่าสุดเวลา 15.53 น. อยู่ที่ 5.60 บาท บวก 0.15 บาท หรือ 2.75% มูลค่าซื้อขาย 66.91 ล้านบาท

จาก http://www.thansettakij.com วันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2560 

บาทแข็งรอบเกือบ 3 ปี

                    บาทแข็งโป๊กรอบ 3 ปี หลุดทะลุ 33 บาท เงินทุนต่างชาติทะลักครึ่งปี 1.37 แสนล้าน ผู้ว่าแบงก์ชาติรับบาทแข็งมาจากเงินไหลเข้า หลังสหรัฐมีปัญหา และพื้นฐานเศรษฐกิจไทยดี แต่พบสัญญาณถือบอนด์ระยะสั้นลดลง  

                    นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐในวันที่ 14 มิ.ย. แข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ 33.9 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงสุดในรอบเกือบ 3 ปี รับตั้งแต่เดือนก.ค.58 โดยแข็งค่าขึ้นจากปิดตลาดเมื่อวันที่ 13 มิ.ย.ที่ระดับเกิน 34 บาทต่อดอลลาร์  โดยสาเหตุที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาจากการปัญหาของสหรัฐทำให้นักลงทุนไม่มั่นใจในการถือครองดอลลาร์ฯ ส่งผลให้มีเงินทุนต่างประเทศเคลื่อนย้ายเข้ามาในไทยตลอดทั้งปีเกินกว่า 1 แสนล้านบาท

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงสถานการณ์การแข็งค่าของเงินบาท ซึ่งแข็งค่าหลุดระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐว่า มาจาก 2 ปัจจัย ปัจจัยแรกจากปัจจัยภายนอก ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่าข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ออกมาในช่วงนี้ส่งผลให้ความมั่นใจต่อทิศทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ โดยเฉพาะนโยบายการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะมีบทบาทน้อยลง ทำให้นักลงทุนมั่นใจต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐลดลง  ส่วนปัจจัยที่สอง มาจากปัจจัย การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเริ่มมีแนวโน้มที่ชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ทั้งจากรายได้การส่งออก และการท่องเที่ยว นอกจากนี้ ยังมีนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาเพิ่มทุนในสถาบันการเงินในไทยอีกด้วย

สำหรับมาตรการ ธปท.ทยอยลดปริมาณการออกพันธบัตรระยะสั้นลง เพื่อต้องการลดการนำเงินเข้ามาเก็งกำไรระยะสั้นจากนักลงทุน ถือว่าได้ผลในระดับหนึ่ง ซึ่งทำให้นักลงทุนหันไปลงทุนในพันธบัตรระยะยาว และต้องรับความเสี่ยงสูงขึ้น  อย่างไรก็ตามปริมาณการไหลเข้าของเงินตราต่างประเทศเข้ามาในพันธบัตรไทย ไม่ได้ต่างไปจากประเทศอื่น  ส่วนการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ  เชื่อว่าตลาดเงินคาดการณ์ไว้แล้วจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ดังนั้นจึงไม่น่าจะมีผลกระทบหรือมีความผันผวน

จาก https://www.dailynews.co.th  วันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2560 

กนอ.เตรียมแหล่งน้ำรองรับโรงงานลงทุน 5 หมื่นไร่พื้นที่อีอีซี

นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กนอ.มีการเตรียมความพร้อมด้านปริมาณน้ำ เพื่อเป็นส่วนสนับสนุนกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี)ที่คาดว่าจะใช้พื้นที่ลงไม่ต่ำกว่า 50,000 ไร่ โดยร่วมกับกรมชลประทานหารือแนวทางการบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ประเมินว่าหากมีการลงทุนในพื้นที่คาดว่าจะมีความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว จากการใช้น้ำในปัจจุบันของทุกนิคมฯ ที่อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉลี่ยอยู่ที่วันละ 5 แสนลูกบาศก์เมตร หรือ ประมาณ 180 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

โดยปัจจุบันในพื้นที่ภาคตะวันออกมีอ่างกักเก็บน้ำ จำนวน 3 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำดอกกลาย อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหลและอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่  โดยอ่างเก็บน้ำดอกกลายปัจจุบันมีน้ำประมาณ 58 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 73%  จากระดับกักเก็บน้ำสูงสุดที่ 79 ล้านลูกบาศก์เมตร  อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหลมีปริมาณน้ำ ประมาณ 134 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 82% จากระดับกักเก็บน้ำสูงสุดที่ 163ล้านลูกบาศก์เมตร และอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่มีปริมาณน้ำประมาณ 33 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 82 % จากความจุสูงสุดประมาณ 40 ล้านลูกบาศก์เมตร

 “ขณะนี้รัฐบาลได้เร่งขับเคลื่อนแผนพัฒนาอีอีซีครอบคลุม 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรีและระยอง อย่างต่อเนื่อง ตั้งเป้าหมายในระยะเวลา 5 ปี จะมีการการลงทุนเกิดขึ้นในพื้นที่ ประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท ดังนั้น กนอ.จึงต้องเตรียมความพร้อมสาธารณูปโภคอื่นๆ รองรับ ซึ่งโครงการดังกล่าวจะช่วยต่อยอดอุตสาหกรรมจากโครงการอิสเทิร์นซีบอร์ดที่มีศักยภาพอยู่แล้ว โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย จึงถือเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญให้ประเทศไทยมีการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ” นายวีรพงศ์ กล่าว

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2560 

จีนจีบเหมืองโพแทชตั้งรง.แม่ปุ๋ย 

          นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้นายฮู ซูปิง ผู้แทนคณะทำงานภาครัฐมณฑลชานซี สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้มาหารือถึงแนวทางความร่วมมือ ทางด้านอุตสาหกรรมไทย-จีน และแสดงความสนใจตั้งโรงงานผลิตแม่ปุ๋ย โดยต้องการหาบริษัทพันธมิตรที่ดำเนินกิจการเหมืองแร่โพแทชเพื่อร่วมลงทุน ทั้งนี้ นักลงทุนจะรอดูความชัดเจนของนโยบาย และแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ทั้งระบบของประเทศไทย ภายใต้ พ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่ก่อน เนื่องจากแร่แต่ละประเภทมีการพัฒนาที่แตกต่างกัน เบื้องต้นขอให้กระทรวงช่วยเป็นที่ปรึกษาประสานไปยังเหมืองต่าง ๆ

          นายสมบูรณ์ ยินดียั่งยืน อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กล่าวว่า บริษัท โรงปัง ไมนิง จำกัด อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา มีแผนลงทุนทำโรงงานแม่ปุ๋ย น่าจะเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่จีนต้องการ ซึ่งโรงปังฯได้อาชญาบัตรพิเศษปี 2558 เริ่มขุดเจาะสำรวจพื้นที่ 20,000 ไร่ พบ 3-4 หลุมจากทั้งหมด 16 หลุม มีแร่โพแทชมากพอจะนำขึ้นมาผลิตเป็นแม่ปุ๋ยโพแทสเซียม จึงเตรียมยื่นขอประทานบัตรขุดเจาะ

          สำหรับผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ (คนร.) ครั้งที่ 1/2560 ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานนั้น ที่ประชุมได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำแนวทางแร่เศรษฐกิจ โดยมีนายสมชาย ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน และแต่งตั้งคณะผู้แทนเจรจากับทางบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด จำกัด ผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ดำเนินกิจการเหมืองแร่ทองคำที่ยังคงระงับการทำเหมืองส่วนของโรง โลหกรรมเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2559 ภายใต้ คำสั่ง คสช. ตามมาตรา 44

          ที่ประชุมจะมีมติเห็นชอบผ่านยุทธศาสตร์บริหารจัดการแร่ทองคำ แต่ในยุทธศาสตร์ได้กำหนดว่าการทำเหมืองทองจะต้องยกระดับการบริหารจัดการแร่ โดยมีมาตรฐานการป้องกันแก้ไขปัญหาผลกระทบต่อชุมชน สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ ซึ่งอัคราฯยังไม่มีผลสรุปด้านสุขภาพชัดเจน จึงต้องรอผลการสำรวจก่อน

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2560 

เตือนขึ้นทะเบียนเกษตรกร ปรับปรุงฐานข้อมูลการผลิต-รักษาสิทธิประโยชน์ตัวเอง

นายไพศาล สังข์มงคล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จ.สงขลา เปิดเผยว่า ระยะนี้เป็นช่วงเวลาเริ่มฤดูกาลผลิตใหม่ ปี 2560 หากเกษตรกรรายใดวางแผนเตรียมเพาะปลูกพืชใหม่หรือปรับเปลี่ยนชนิดพืชและพื้นที่ในการเพาะปลูก ก็ขอเชิญชวนให้มาขึ้นทะเบียนปรับปรุงข้อมูลทะเบียนเกษตร ปี 2560 เพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่น การช่วยเหลือกรณีประสบภัยพิบัติ หรือ การสนับสนุนการดำเนินงานตามนโยบายต่างๆของรัฐบาล ซึ่งจะสามารถช่วยเหลือหรือสนับสนุนได้ต่อเมื่อเป็นผู้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรหรือปรับปรุงข้อมูลการเกษตรแล้วเท่านั้น

สำหรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขขึ้นทะเบียนปรับปรุงข้อมูลทะเบียนเกษตรกร เกษตรกรรายเดิมหลังเพาะปลูก 15-60 วัน ให้มาแจ้งปรับปรุงข้อมูลทะเบียนเกษตรกรกับเจ้าหน้าที่เกษตรตำบล ที่สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน แต่ถ้าเป็นเกษตรกรรายใหม่ไม่เคยขึ้นทะเบียนมาก่อน ให้ไปแจ้งขึ้นทะเบียน ณ สำนักงานเกษตรอำเภอที่ตั้งแปลงปลูก เพื่อกรอกคำร้องขอขึ้นทะเบียนเกษตรกรพร้อมแนบสำเนาเอกสารสิทธิที่ดินที่ทำการเกษตร สัญญาเช่าที่ดิน (กรณีเช่า) บัตรประจำตัวประชาชน ยื่นต่อเจ้าหน้าที่เพื่อบันทึกข้อมูลเข้าระบบ

หลังจากที่เจ้าหน้าที่เกษตรตำบลรับแจ้งขึ้นทะเบียนแล้ว จะตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล แล้วแจ้งให้เกษตรกรนำสมุดทะเบียนเกษตรกรมาปรับปรุงข้อมูลลงบนสมุดทะเบียนเกษตรกร จัดเก็บไว้เพื่อแสดงตัวตน หากเมื่อใดที่รัฐบาลมีมาตรการ

 ช่วยเหลือเกษตรกรจำเป็นต้องมีคณะกรรมการตรวจสอบและรับรองสิทธิ์ภายในชุมชนอีกครั้งหนึ่ง ในส่วนของภาคใต้ตอนล่างพืชเศรษฐกิจส่วนใหญ่เป็นไม้ยืนต้น ไม้ผล เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง ไม่มีการเพาะปลูกใหม่ แต่ยังมียืนต้นอยู่ก็ขอให้เกษตรกรมาปรับปรุงข้อมูลทุกปี

นายไพศาลกล่าวอีกว่าสำหรับ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง มีเป้าหมายในการขึ้นทะเบียนและปรับปรุงข้อมูลทะเบียนเกษตรกร จำนวน 561,590 ครัวเรือน ปัจจุบันมีเกษตรกรมาขึ้นทะเบียนเกษตรกรและปรับปรุงข้อมูลแล้ว จำนวน 300,397 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 53.49 ดังนั้น จึงขอเชิญชวนพี่น้องเกษตรกร ไปขึ้นทะเบียน/ปรับปรุงข้อมูลทะเบียนเกษตรกร กันเยอะๆ และขอความร่วมมือจากเกษตรกรแจ้งข้อมูลตามความเป็นจริงเพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ของตนเอง โดยนำเอกสารประกอบการขึ้นทะเบียน/ปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร ไปติดต่อขอรับบริการได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอทั่วประเทศ ในวันและเวลาราชการ

จาก http://www.naewna.com   วันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2560 

'ชลประทาน'เตือนปลายมิ.ย.ฝนทิ้งช่วง น้ำเหนือเริ่มลดลง-หวั่นขาดน้ำการเกษตร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุชาติ เจริญศรี ผู้อำนวยการสำนักงานสำนักชลประทานที่ 12 ชัยนาท เปิดเผยว่า เช้าวันนี้ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าสู่เขื่อนเจ้าพระยาผ่านจุดวัดน้ำค่ายจิรประวัติ อ.เมืองนครสวรรค์ มีแนวโน้มลดลง โดยวัดได้1,139 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลให้ระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาพื้นที่ อ.มโนรมย์ อ.วัดสิงห์ และ อ.เมืองชัยนาท มีระดับน้ำทรงตัว

โดยที่ระดับน้ำที่จุดวัดน้ำเขื่อนเจ้าพระยา ต.บางหลวง อ.สรรพยา จ.ชัยนาท เช้าวันนี้ เหนือเขื่อนยังทรงตัวอยู่ที่ 16.50 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง โดยเขื่อนเจ้าพระยาคงอัตราการระบายน้ำไว้ที่ 699 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ต่อเนื่องเป็นวันที่12 ส่วนระดับน้ำท้ายเขื่อนเริ่มลดลงเช่นกัน โดยวัดได้ 10.40 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งจะทำให้พื้นที่ท้ายเขื่อนตั้งแต่ อ.สรรพยา จ.ชัยนาทลงไปถึง จ.สิงห์บุรี จ.อ่างทอง และ จ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำจะลดลงอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ผู้อำนวยการสำนักงานสำนักชลประทานที่ 12 ชัยนาท แจ้งเพิ่มเติมว่าหลังจากนี้ประมาณปลายเดือนมิถุนายนนี้ จะเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง ซึ่งจะส่งผลให้ในหลายพื้นที่โดยเฉพาะลุ่มเจ้าพระยา ที่อาจจะเกิดภาวะขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร เกษตรกรที่ทำการเพาะปลูกจึงควรเตรียมแหล่งน้ำสำรองรับสถานการณ์ ซึ่งประเทศไทยจะเริ่มกลับมามีปริมาณฝนอีกครั้งในเดือนสิงหาคม

จาก http://www.naewna.com   วันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2560 

"บิ๊กฉัตร" เปิดตัวศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ เชื่อมข้อมูลน้ำทุกหน่วย จัดการเป็นระบบช่วงแล้ง-น้ำท่วม

“พล.อ.ฉัตรชัย” เปิดตัวศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ เชื่อมข้อมูลน้ำจากทุกหน่วยเพื่อใช้บัญชาการบริหารจัดการสถานการณ์น้ำอย่างเป็นระบบช่วงวิกฤตน้ำท่วม/ภัยแล้ง

พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในโอกาสเปิดศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (Smart Water Operation Center ) หรือ SWOC  อย่างเป็นทางการ ณ อาคาร “99 ปี หม่อมหลวงชูชาติ กำภู” ภายในกรมชลประทาน  สามเสน กรุงเทพฯ  ว่า  ได้มอบนโยบายให้กรมชลประทานพัฒนาศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ หรือ SWOC โดยบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ซึ่งศูนย์ฯนี้จะทำหน้าที่เป็นศูนย์บัญชาการบริหารจัดการน้ำ และ ศูนย์ประชาสัมพันธ์ ในช่วงวิกฤติที่เกิดอุทกภัย และภัยแล้ง สามารถบูรณาการวางแผนร่วมกันติดตามแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ทันเวลา และ มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้เกษตรกรวางแผนทำการเกษตรได้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ หน่วยที่เกี่ยวข้องสามารถช่วยเหลือเกษตรทั้งในระยะสั้น/ระยะยาว ลดผลเสียหายให้เหลือน้อยที่สุด

อย่างไรก็ตาม กรมชลประทานจะนำข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ  การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมอุทกศาสตร์ทหารเรือ การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค เป็นต้น  มาเชื่อมโยงและจัดทำเป็นฐานข้อมูลกลาง สะดวกต่อการใช้งาน สามารถนำมาติดตาม วิเคราะห์ และคาดการณ์สถานการณ์น้ำ เป็นข้อมูลสำหรับสนับสนุนการตัดสินใจในการบริหารจัดการน้ำของผู้บริหารประเทศได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ รวดเร็ว น่าเชื่อถือ ทันเหตุการณ์

สำหรับส่วนประกอบของศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก คือ 1 ระบบข้อมูลบริหารจัดการน้ำซึ่งเป็นฐานข้อมูลกลาง ได้แก่ ข้อมูลโทรมาตรปริมาณน้ำฝน ปริมาณน้ำในลำน้ำธรรมชาติ ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ ข้อมูลระบบส่งน้ำ/ระบบระบายน้ำทั้งประเทศ ทั้งที่เป็นสถิติ และ Real Time รวมไปถึงฐานข้อมูล Agri-Map 2.  ระบบวิเคราะห์ข้อมูล โดยการประยุกต์แบบจำลองคณิตศาสตร์กับระบบ MIS (Management Information System) และ DSS ( Decision Support System ) โดยทั้ง  2 ระบบ จะพยากรณ์และให้ข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจแก่ผู้บริหารทั้งในด้านสถานการณ์น้ำและการจัดการความเสี่ยง ที่มีผลกับเขื่อนและการบริหารจัดการน้ำอย่างทรงประสิทธิภาพ และส่วนที่ 3  คือ ระบบการนำเสนอข้อมูลแบบบูรณาการ ประกอบด้วย 2 ส่วนแสดงผล ได้แก่  1. ส่วนแสดงผลการติดตามสถานการณ์น้ำแบบ real time จากกล้องวงจรปิดจากโครงการชลประทานทั่วประเทศ  และ 2 ส่วนแสดงข้อมูลจากระบบโทรมาตร ทั่วประเทศ 700 กว่าสถานี เพื่อให้เทคโนโลยีรองรับซึ่งกันและกัน พร้อมทั้งมีการเชื่อมโยงข้อมูลจากทุกหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้องด้านน้ำ และสำนักงานชลประทาน 17 สำนักงานทั่วประเทศเข้าด้วยกันด้วยระบบ Video Wall Management และ Video Conference เพื่อช่วยให้การนำเสนอข้อมูลและสั่งการในการบริหารจัดการน้ำ สามารถดำเนินไปได้อย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพและทันสถานการณ์ตลอดเวลา

“ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะนี้จะเชื่อมโยงข้อมูลกับทุกหน่วยงาน ทำหน้าที่บริหารจัดการน้ำทั้งในและนอกเขตชลประทานเพื่อให้ผ่านสถานการณ์วิกฤติไปได้ แตกต่างจากศูนย์อื่นๆ เช่น สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) ทำหน้าที่คาดการณ์สภาพอากาศ, ศูนย์ของกรมทรัพยากรน้ำ ทำหน้าที่วางแผนน้ำในอนาคต เป็นต้น จึงไม่มีความซ้ำซ้อนกัน เนื่องจากภารกิจของกรมชลประทานต้องบริหารจัดการน้ำด้วยระบบชลประทาน และ ประสานหน่วยอื่นๆ ทำงานไปในแนวทางเดียวกัน”พลเอก ฉัตรชัย กล่าว

ด้านนายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลา 115 ปีกรมชลประทาน มีบทบาทภารกิจในการพัฒนาแหล่งน้ำ บริหารจัดการน้ำ บรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำ และเสริมสร้างการมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาแหล่งน้ำและบริหารจัดการน้ำ  โดยได้มีการพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่องตามยุทธศาสตร์บริหารทรัพยากรน้ำ และตอบสนองนโยบายรัฐบาลไทยแลนด์ 4.0 (Thailand 4.0) ซึ่งเป็นช่วงการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจไปสู่ Value Based Economy หรือ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” ที่จะนำไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ ที่เน้นการบริหารจัดการและใช้เทคโนโลยีหรือ Smart Farming ให้เกษตรกรมีความร่ำรวยขึ้น  ดังนั้น กรมชลประทานจึงได้กำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า กรมชลประทานเป็นองค์กรอัจฉริยะที่มุ่งสร้างความมั่นคงด้านน้ำ (Water Security) เพื่อเพิ่มคุณค่าการบริการ ภายในปี 2579 และการเปิดศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่กรมชลประทาน 4.0 (RID 4.0)

“SWOC นอกจากมีเป้าหมายเพื่อความรวดเร็วในการบริหารจัดการน้ำแล้ว ยังมั่นใจว่าศูนย์ฯดังกล่าวจะเป็นศูนย์กลางข้อมูลเรื่องน้ำที่จะช่วยสนับสนุนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยการให้ข้อมูลพร้อมคาดหมายสถานการณ์น้ำล่วงหน้าแก่เกษตรกร ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันให้ทำการเกษตรประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย และทำให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น”  อธิบดีกรมชลประทาน กล่าว

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2560

เร่งแก้ด่วนปัญหาแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่ ส.ป.ก.! ก.พลังงานเตรียมถกเวทีประชุม ป.ย.ป. 19 มิ.ย.นี้

กระทรวงพลังงานเตรียมเสนอประเด็นแก้ไขปัญหาแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่ส.ป.ก.ในเวทีประชุมป.ย.ป.ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานวันที่ 19 มิ.ย.นี้ ล่าสุดได้หารือใกล้ชิดกับรองวิษณุ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วเบื้องต้น ย้ำจะเร่งแก้ไขให้เร็วที่สุด

จากกรณีเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2560 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้เพิกถอนระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เรื่อง การให้ความยินยอมในการนำทรัพยากรธรรมชาติในเขตปฏิรูปที่ดินไปใช้ประโยชน์ตามกฎหมายอื่น ซึ่งคำพิพากษาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการดำเนินการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในเขตพื้นที่ ส.ป.ก.ที่ต้องหยุดผลิตและสำรวจรวม 7 บริษัท

วันที่ 13 มิ.ย.2560 นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานจะนำเสนอประเด็นปัญหาดังกล่าวในวันที่ 19 มิถุนายน ซึ่งจะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อหารือและนำไปสู่การแก้ไขต่อไป

"โดยที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ ได้มอบหมายให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี หารือร่วมกับกระทรวงพลังงานและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อย่างใกล้ชิด รวมถึงหน่วยงานราชการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้รวดเร็วที่สุด" นายอารีพงศ์กล่าว

นายอารีพงศ์กล่าวอีกว่า ยอมรับว่าได้มีการอนุญาตให้สำรวจและผลิตทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในพื้นที่แหล่งปิโตรเลียมมานานก่อนที่จะมีการกำหนดเป็นพื้นที่ ส.ป.ก. แต่เมื่อศาลมีคำสั่งออกมาก็ต้องหยุดดำเนินการเพื่อไม่ให้ขัดกับกฎหมาย โดยจากนี้กระทรวงพลังงานก็คงต้องพิจารณาว่าจะสามารถนำทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่เกษตรมาสร้างมูลค่าให้กับประเทศได้อย่างไร ซึ่งอาจจะมีกฎหมายมารองรับใหม่หรือไม่ ก็คงจะต้องหารือในวันที่ 19 มิ.ย.นี้ อย่างไรก็ตาม ในต่างประเทศนั้นพบว่าหลายประเทศสามารถพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่เกษตรร่วมกันได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันมีบริษัทผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมที่เข้าไปดำเนินการในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการขออนุญาตเข้าใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตพื้นที่ ส.ป.ก.และพื้นที่ป่าไม้ มีจำนวนทั้งสิ้น 7 บริษัท ซึ่งครอบคลุมพื้นที่การดำเนินงาน ดังนี้ 1.บริษัท ปตท.สผ.สยาม จำกัด แปลงสัมปทานในพื้นที่ จ.กำแพงเพชร จ.พิษณุโลก จ.สุโขทัย จ.อุตรดิตถ์ จ.พิจิตร 2.บริษัท ซีเอ็นพีซีเอชเค (ไทยแลนด์) จำกัด แปลงสัมปทานในพื้นที่ จ.กำแพงเพชร จ.สุโขทัย 3.บริษัท อีโค่ โอเรียนท์ รีซอสเซส (ประเทศไทย) จำกัด แปลงสัมปทานพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์

4.บริษัท พีทีทีอีพี เอสพี ลิมิเต็ด แปลงสัมปทานพื้นที่ จ.ขอนแก่น จ.อุดรธานี 5.บริษัท อพิโก้ (โคราช) จำกัด แปลงสัมปทานพื้นที่ จ.ขอนแก่น จ.อุดรธานี จ.กาฬสินธุ์  6.บริษัท ทวินซ่า ออยล์ ลิมิเต็ต แปลงสัมปทานพื้นที่ จ.พิษณุโลก และ 7.บริษัท ย่านฉาง ปิโตรเลียม (ไทยแลนด์) จำกัด แปลงสัมปทานพื้นที่ จ.บุรีรัมย์

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ชู'ธนาคารที่ดิน'แก้ปัญหาเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมให้เกษตรกร-คนจน 

นายสถิตย์พงษ์ สุดชูเกียรติ ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน กล่าวว่า ธนาคารที่ดินว่าเป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมในการถือครองที่ดิน ช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจน สนับสนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยการกระจายการถือครองที่ดิน การป้องกันและแก้ไขปัญหาการสูญเสียสิทธิในที่ดิน ตลอดจนส่งเสริมการใช้ประโยชน์ในที่ดินอย่างเต็มศักยภาพ หรือภารกิจใดๆที่เป็นการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในเรื่องที่ดินพร้อมทำข้อมูลในเรื่องสิทธิและการใช้ที่ดินทั่วประเทศ ตามลำดับความเร่งด่วนก่อนหลังอย่างเป็นธรรม ธนาคารที่ดินจึงเป็นศูนย์ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพื่อเกษตรกรและผู้ยากจน โดยจะสนับสนุนและมุ่งเน้นการใช้ประโยชน์ในที่ดินของเกษตรกรอย่างเต็มศักยภาพ เป็นแหล่งทุนเพื่อให้เกษตรกรมีที่ดินเป็นของตนเอง

“ธนาคารที่ดินเข้าไปช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจนให้มีที่ดินทำกินและแก้ไขปัญหาเรื่องหนี้สินและการใช้ประโยชน์ในที่ดิน โดยทำงานอย่างเป็นระบบเรื่องการใช้ข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำของผู้ไร้ที่ทำกิน ผู้จะสูญเสียสิทธิในที่ดิน ผู้ไม่ใช้ประโยชน์ในที่ดิน และให้การช่วยเหลืออย่างเป็นธรรมตามลำดับก่อนหลังตามกำลังงบประมาณที่มี โดยให้ท้องถิ่นและชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการในทุกๆด้านเพื่อใช้ในการบริหารจัดการเกี่ยวกับเรื่องที่ดินของประเทศต่อไป” นายสถิตย์พงษ์ กล่าว

สำหรับบจธ.นั้น ได้จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2554 โดยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องที่ดิน และได้พิจารณาแต่งตั้งกรรมการ บจธ. จนครบองค์ประกอบ โดยมอบหมายให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้กำกับดูแล ปัจจุบันมี พล.ท.ชาญชัย ภู่ทอง เป็นประธานกรรมการ มีการบริหารงานในรูปแบบของคณะกรรมการ ปัจจุบันมี นายสถิตย์พงษ์ สุดชูเกียรติ เป็นผู้อำนวยการสถาบันฯ โดยดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่ วันที่ 9 กันยายน 2558 จนกระทั่งปัจจุบัน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2560

กลุ่ม 'โรงไฟฟ้า' เดินหน้าระดมทุน

กลุ่มโรงไฟฟ้าเดินหน้า "ระดมทุน" น้ำตาลบุรีรัมย์ขาย "กองอินฟราฯ" หวังเงินไม่เกิน 3.85 พันล้าน อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ เอสพีวี1ขายหุ้นกู้เกลี้ยง 1.15 หมื่นล้าน

 น้ำตาลบุรีรัมย์คาดกำหนดราคาขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ได้เร็วๆ นี้ คาดระดมทุนไม่เกิน3.85 พันล้าน นำเงินลงทุนในสิทธิในรายได้สุทธิในอนาคตของโรงไฟฟ้าชีวมวล 2 แห่ง ขณะที่อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ เอสพีวีขายหุ้นกู้ 1.15 หมื่นล้านเกลี้ยง

นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR เปิดเผยว่า BRR ร่วมกับ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด จัดตั้ง เพื่อเสนอขายให้แก่นักลงทุนทั่วไปเป็นครั้งแรก โดยจะมีจำนวนหน่วยลงทุนที่เสนอขายต่อผู้จองซื้อทั่วไปประมาณ 115.5 ล้านหน่วย จากทั้งหมด 350 ล้านหน่วย มูลค่าระดมทุนไม่เกิน 3,850 ล้านบาท โดยช่วงราคาที่เสนอขายจะกำหนดต่อไป

เงินที่ระดมทุนได้จะนำไปลงทุนในสิทธิในรายได้สุทธิที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจากการประกอบกิจการโรงไฟฟ้าชีวมวลของ บริษัท บุรีรัมย์พลังงาน จํากัด (BEC) และบริษัท บุรีรัมย์เพาเวอร์ จํากัด (BPC) ทั้งนี้กองทุนฯจะได้รับรายได้สุทธิฯ ตามสูตรการคํานวณภายใต้สัญญาโอนสิทธิรายได้สุทธิฯ โดยกองทุนฯ มีนโยบายปันผลปีละ 2 ครั้ง ในอัตราไม่น้อยกว่า 90% ของกำไรสุทธิที่ปรับปรุงแล้ว

นายสุทธิพงศ์ พัวพันธ์ประเสริฐ รองกรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจ Real Estate & Infrastructure Investment บลจ. บัวหลวง จำกัด ในฐานะบริษัทจัดการกองทุน กล่าวว่า กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์จะลงทุนในกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่มีศักยภาพ และสามารถสร้างผลตอบแทนในระยะยาวให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุน

ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้พิจารณานับหนึ่งแบบไฟล์ลิ่ง กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ แล้ว เมื่อวันที่ 6 มิถุนายนที่ผ่านมา โดย BRRGIF จะเป็นกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานที่ลงทุนในโรงไฟฟ้าชีวมวลโรงแรก ซึ่งเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

ด้านนางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทย่อย 3 แห่งของ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) รวมตัวตั้งบริษัท อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ เอสพีวี1 ระดมทุนผ่านหุ้นกู้ รวม 11 รุ่น มูลค่ารวม 11,500 ล้านบาท ด้วยยอดจองทะลุ 2.3 เท่า

โดย 3 บริษัทย่อยประกอบด้วย บริษัท อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ 3 จำกัด, บริษัท อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ (ระยอง) 1 จำกัด และบริษัท อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ (ระยอง) 2 จำกัด เนื่องจากโรงไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งมีขนาดกำลังการผลิตที่ใกล้เคียงกัน ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเหมือนกัน สามารถสร้างกระแสเงินสดได้ในระดับเดียวกัน

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2560

'เขื่อนเจ้าพระยา'ระบายน้ำต่อเนื่อง รอรับน้ำฝนเพิ่มขึ้น17-18มิ.ย.

13 มิ.ย.60 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้อำนวยการสำนักงานสำนักชลประทานที่12 ชัยนาท เปิดเผยว่า เช้าวันนี้ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าสู่เขื่อนเจ้าพระยาผ่านจุดวัดน้ำค่ายจิรประวัติ อ.เมืองนครสวรรค์ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยวัดได้1,151 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลให้ระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาพื้นที่ อ.มโนรมย์ อ.วัดสิงห์ และ อ.เมืองชัยนาท มีระดับน้ำเพิ่มขึ้น ขณะที่ระดับน้ำที่จุดวัดน้ำเขื่อนเจ้าพระยา ต.บางหลวง อ.สรรพยา จ.ชัยนาท

โดยเช้าวันนี้เหนือเขื่อนยังทรงตัวอยู่ที่16.50 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง โดยเขื่อนเจ้าพระยาคงอัตราการระบายน้ำไว้ที่ 699 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ต่อเนื่องเป็นวันที่ 11 ส่วนระดับน้ำท้ายเขื่อนทรงตัวต่อเนื่องเช่นกัน โดยวัดได้ 10.42เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งจะทำให้พื้นที่ท้ายเขื่อนตั้งแต่ อ.สรรพยา จ.ชัยนาทลงไปถึง จ.สิงห์บุรี จ.อ่างทอง และ จ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำจะทรงตัวและลดลงได้ได้ 5-10 เซนติเมตร

ทั้งนี้ เขื่อนเจ้าพระยายังจำเป็นต้องคงการระบายน้ำไว้ในเกณฑ์ 700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีต่อไป เพื่อรองรับปิมาณน้ำฝนที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงวันที่ 17-18 มิถุนายน จากอิทธิพลของหย่อมความกดอากาศต่ำ ที่ปกคลุมบริเวณอ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมประเทศไทย ตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา

จาก http://www.naewna.com วันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ฝนหลวงปรับแผนปฏิบัติการ เร่งบินเติมน้ำเขื่อนภาคเหนือ

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่าสถานการณ์น้ำในเขื่อนทางภาคเหนือหลายแห่ง ยังมีปริมาณน้ำกักเก็บค่อนข้างน้อยและมีความต้องการให้เพิ่มปริมาณน้ำกักเก็บในเขื่อน จึงได้มอบหมายให้ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ ประสานงานกับศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคกลาง จ.นครสวรรค์ ปรับแผนปฏิบัติการฝนหลวง เพิ่มปริมาณน้ำกักเก็บในเขื่อนทางภาคเหนือ โดยเน้นการปฏิบัติการในพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนภูมิพล และเขื่อนแม่กวงอุดมธารา

สำหรับการดูแลพื้นที่การเกษตรบางส่วนที่มีพื้นที่อยู่ใกล้หน่วยปฏิบัติการใด ให้พิจารณาความเหมาะสมในการดำเนินงาน เช่น พื้นที่การเกษตรบางส่วนใน จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือรับผิดชอบ แต่เนื่องจากหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.ตาก มีภารกิจเติมน้ำในเขื่อนอยู่ทางภาคเหนือและอยู่ไกลจากพื้นที่ จึงต้องประสานให้หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.ลพบุรี ช่วยปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าและครอบคลุมภารกิจทั้งการเติมน้ำในเขื่อนและดูแลพื้นที่การเกษตร

โดยผลการปฏิบัติการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน มีการขึ้นบินปฏิบัติการจำนวน 8 เที่ยวบิน จำนวนชั่วโมงบิน 8:35 ชั่วโมง ใช้สารฝนหลวงจำนวน 8.2 ตัน พบว่ามีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลาง ในบริเวณพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนภูมิพล และเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ทำให้มีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนภูมิพล 11.52 ล้านลูกบาศก์เมตร และปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนแม่กวงอุดมธารา0.12 ล้านลูกบาศก์เมตร

จาก http://www.naewna.com วันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ค่าบาท 'แข็งค่า' ลุ้นเฟดขึ้นดอกเบี้ย

บาทเปิดตลาดเช้านี้แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยที่ "34.06 บาทต่อดอลลาร์" ตลาดยังเงียบ ลุ้นเฟดขึ้นดอกเบี้ยรอบนี้

 นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 34.06 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากช่วงปิดสิ้นวันก่อนที่ระดับ 34.07 บาท ตลาดค่อนข้างเงียบและนักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงรอการประชุม FOMC ที่จะมีขึ้นในวันอังคารถึงพุธนี้

ในคืนที่ผ่านมา แม้ตลาดเงินจะค่อนข้างเงียบ แต่ตลาดหุ้นทั้งในยุโรปและอเมริกาปรับตัวลง ส่งผลให้นักลงทุนส่วนใหญ่มีมุมมองปิดรับความเสี่ยง (Risk-off) ค่าเงินเยนแข็งค่าลงแตะระดับต่ำกว่า 110 เยน/ดอลลาร์ อย่างไรก็ตามบอนด์ยีลด์เริ่มไม่ปรับตัวลงต่อแล้ว เนื่องจากตลาดมองว่าเฟดจะ “ขึ้นดอกเบี้ย” อีก 0.25% ในการประชุมวันอังคารถึงพุธนี้ค่อนข้างแน่นอน

สำหรับค่าเงินบาท ยังคงแกว่งตัวแคบตามที่เรามองไว้ มีเพียงสถาบันการเงินต่างชาติบางกลุ่มที่ซื้อดอลลาร์ ขณะที่ผู้ค้าส่วนใหญ่ยังคงหยุดรอความชัดเจนของการขึ้นดอกเบี้ยในฝั่งสหรัฐวันพุธนี้ก่อน มองกรอบค่าเงินระหว่างวันที่ระดับ 34.00-34.10 บาทต่อดอลลาร์

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ครั้งแรกของรัฐบาล! จัดสรรงบบูรณาการพัฒนาศักยภาพการผลิตภาคเกษตรกว่า9.6พันล้าน

นางจันทร์ธิดา มีเดช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) เปิดเผยว่า ร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว ในวาระที่ 1 แล้ว วงเงินรวม 2,900,000 ล้านบาท กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับจัดสรร 106,437.22 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2560 จำนวน 7,731.74 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 7.83%  โดยกรมชลประทาน ได้รับสูงสุด 57,521.75 ล้านบาท รองลงมาคือกรมส่งเสริมการเกษตร 6,758.80 ล้านบาท กรมปศุสัตว์ 6,256.72 ล้านบาท

นางจันทร์ธิดา กล่าวอีกว่า ในงบประมาณปี 2561 เป็นครั้งแรกที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับแผนบูรณาการพัฒนาศักยภาพการผลิตภาคเกษตร ให้วงเงิน 9,698.0717 ล้านบาท เป้าหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการสินค้าเกษตรตลอดห่วงโซ่อุปทาน ในสินค้าข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน อ้อย สับปะรด ไม้ผล ยางพารา ปศุสัตว์ วงเงิน 4,973.9668 ล้านบาท ประกอบด้วย การพัฒนาศักยภาพกระบวนการผลิตหรือต้นทาง วงเงิน 4,231.6416 ล้านบาท การพัฒนากระบวนการแปรรูปสินค้าเกษตรหรือกลางทาง วงเงิน 246.5323 ล้านบาท เพื่อเพิ่มโอกาสในการแข่งขันและการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นการพัฒนาเกษตรสมัยใหม่สู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2560 

คอลัมน์ ทันประเด็น: "นับถอยหลัง" ลอยตัวราคาน้ำตาลทราย

          เหลือเวลาไม่ถึง 6 เดือนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย โดยเฉพาะการปล่อยให้ราคาเป็นไปตามกลไกตลาดโลก หรือการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายก็จะเกิดขึ้นก่อนการเปิดหีบอ้อยฤดูกาลผลิตปี 2560/61 หรือในช่วงต้นเดือนธันวาคม 2560 ตามเป้าหมายที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดไว้

          การปรับโครงสร้างดังกล่าวก็เป็นส่วนหนึ่งที่ไทยจะต้องดำเนินการให้เห็นผลในทางปฏิบัติหลังจากที่บราซิลในฐานะผู้ค้าน้ำตาลอันดับ 1 ของโลกได้ยื่นหนังสือต่อองค์การการค้าโลก (WTO) ให้ไต่สวนไทยในฐานะผู้ส่งออกอันดับที่ 2 ของโลกที่อาจมีการใช้นโยบายอุดหนุนผู้ประกอบการในการส่งออก และอุดหนุนเกษตรให้หันมาปลูกอ้อย ส่งผลให้สถานการณ์ราคาน้ำตาลในช่วงที่ผ่านมาตกต่ำอย่างหนัก

          ปัญหาดังกล่าวทำให้ไทยโดยเฉพาะกระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องส่งเจ้าหน้าที่เดินทางไปหารือร่วมกันระหว่างคณะผู้แทนรัฐบาลไทยกับบราซิลแล้วถึง 3 ครั้งนับตั้งแต่กลางปี 2559 และไทยได้กางแผนให้เห็นถึงแนวทางการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายที่ได้นำ 4 ข้อกังวลของบราซิลบรรจุลงในแผนเพื่อปรับใหม่นั่นก็คือ

          1. การจ่ายเงินช่วยเหลือเพิ่มค่าอ้อยแก่ ชาวไร่อ้อย ในอัตราตันละ 160 บาท 2. การกำหนดระบบโควตาน้ำตาล เป็น 3 ส่วนคือ โควตา ก (น้ำตาลทรายขาวที่ใช้เพื่อการบริโภคภายในประเทศ)  โควตา ข คือ น้ำตาลทรายดิบ เพื่อการส่งออกไปยังต่างประเทศ และโควตา ค คือ น้ำตาลทรายดิบ หรือน้ำตาลทรายขาว ที่เหลือจากการจัดสรร   3. การกำหนดราคาน้ำตาลทรายของไทยที่ควบคุมอยู่ 23.50 บาทต่อกิโลกรัม และ4. การกำหนดราคาอ้อยและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้นและขั้นสุดท้าย

          แม้ว่าตลอดการเจรจาไทยได้แสดงให้เห็นถึงแนวทางแก้ไขข้อกังวลโดยจะยกเลิกแนวทางดำเนินการใน 4 ข้อดังกล่าวแต่บราซิลเองก็ยังต้องการเห็นความชัดเจนของไทยในทางปฏิบัติมากกว่าและล่าสุด นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมได้นำคณะทำงานเจรจาเดินทางไปพบรัฐบาลบราซิลเพื่อเข้าร่วมกระบวนการหารือ (Consultation) กรณีข้อพิพาทการอุดหนุนน้ำตาลระหว่างไทยกับบราซิล ระหว่างวันที่ 9-16 มิถุนายน เป็นครั้งที่ 4

          คงจะต้องเกาะติดว่าการเดินทางครั้งนี้จะได้ข้อสรุปเป็นที่พึงพอใจและไม่จำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการพิจารณา (Panel) หรือไม่หรือต้องขยายเวลาการหารือออกไปอีก และหากที่สุดกรณีเลวร้ายบราซิล ตั้งคณะ Panel แล้วฟ้องไทยหลายคนอาจมองว่าขั้นตอนใช้เวลานับ 10 ปีแต่กระนั้นก็คงไม่ดีต่อการส่งออกน้ำตาลทรายของไทยแน่ .แต่ที่แย่กว่านั้นคือจะเป็นบรรทัดฐานให้สินค้าเกษตรอื่นๆ ของไทยถูกเพ่งเล็งในการยื่นฟ้องเช่นกัน และนั่นจะเป็นปัญหาหนัก

          การเจรจากับบราซิลก็ต้องว่ากันไปตามกระบวนการ .แต่เหนือสิ่งอื่นใดการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องเร่งดำเนินการมากกว่าเพราะไม่ใช่เพียงแค่บราซิลจะจับจ้องอยู่ แต่มติ "ครม." เองก็กำหนดกรอบ 5 แผนงานให้กระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาดำเนินการไว้แล้วตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2559 และ 1 ใน 5 แผนงานคือการยกเลิกการกำหนดราคาน้ำตาลภายในประเทศซึ่งก็คือการนำไปสู่ระบบเสรีราคาให้สะท้อนกลไกตลาดโลก

          ไม่อาจปฏิเสธว่าการ "ลอยตัวราคาน้ำตาล" ในอดีตของไทยมีความพยายามมาหลายครั้งแต่ก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้  และครั้งนี้มีกรณีบราซิลและไทยเองก็ต้องคำนึงถึงระบบการค้าเสรีที่สุดจะหลีกเลี่ยงได้ยาก.การลอยตัวราคาน้ำตาลในเดือน ธ.ค.นี้แนวโน้มราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกที่ค่อนข้างลดต่ำน่าจะเป็นจังหวะที่ดีที่ราคาจะไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมค่อนข้างสูง ...แต่ขั้นตอนก็ยังมีรายละเอียดพอสมควรในการปฏิบัติ

          ขณะที่เวลาก็ใกล้งวดออกมาแล้วนั้น.แต่เมื่อหันมาดูหัวหอกคนสำคัญเพื่อเดินหน้าแผนปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งนายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะประธานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) และนายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) จะเกษียณอายุราชการในเดือน ก.ย. 60 นี้ซะแล้ว

          ดังนั้น หากไม่เร่งสรุปแผนงานก่อนที่ทั้งสองท่านจะเกษียณ นั่นหมายถึงผู้ที่จะมาแทนที่โดยเฉพาะสอน.จะต้องเป็นบุคคลที่รู้เรื่องเป็นอย่างดีจึงจะสามารถรับไม้ต่อเพื่อวิ่งได้อย่างรวดเร็วและทันเวลา.เพราะการเจรจากับชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลไม่ง่ายเลยจริงๆ.

จาก http://manager.co.th วันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2560 

นับไฟล์ลิ่ง กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์   

           ก.ล.ต.นับหนึ่งไฟล์ลิ่ง กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ จัดตั้งโดย "น้ำตาลบุรีรัมย์และ บลจ.บัวหลวง เตรียมเสนอขายหน่วยลงทุน 350 ล้านหน่วย เพื่อลงทุนในสิทธิในรายได้สุทธิฯ ของโรงไฟฟ้าชีวมวล "บุรีรัมย์พลังงาน "และ "บุรีรัมย์เพาเวอร์ " ชูจุดเด่น “พลังงานสีเขียว” ผลิตไฟฟ้าและไอน้ำจากกากอ้อย พร้อมได้เมย์แบงก์ กิมเอ็ง รับหน้าที่ FA

                นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR เปิดเผยว่า BRR ร่วมกับ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด จัดตั้ง “กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์” หรือ BRRGIF เพื่อเสนอขายให้แก่นักลงทุนทั่วไปเป็นครั้งแรก โดยจะมีจำนวนหน่วยลงทุนที่เสนอขายต่อผู้จองซื้อทั่วไปประมาณ 115.5 ล้านหน่วย จากทั้งหมด 350 ล้านหน่วย มูลค่าระดมทุนไม่เกิน 3,850 ล้านบาท โดยช่วงราคาที่เสนอขายจะกำหนดต่อไป

               สำหรับเงินที่ระดมทุนได้นั้น จะนำไปลงทุนในสิทธิในรายได้สุทธิฯ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจากการประกอบกิจการโรงไฟฟ้าชีวมวลของ บริษัท บุรีรัมย์พลังงาน จํากัด (BEC) และบริษัท บุรีรัมย์เพาเวอร์ จํากัด (BPC) ทั้งนี้กองทุนฯจะได้รับรายได้สุทธิฯ ตามสูตรการคํานวณภายใต้สัญญาโอนสิทธิรายได้สุทธิฯ ซึ่งประกอบด้วย (1) รายได้ค่าซื้อขายไฟฟ้า (2) รายได้ค่าซื้อขายไอน้ำ (3) รายได้อื่นที่ได้รับจากการประกอบกิจการโรงไฟฟ้า หักด้วย (4) ค่าใช้จ่ายของโรงไฟฟ้า โดยกองทุนฯ มีนโยบายปันผลปีละ 2 ครั้ง ในอัตราไม่น้อย

       กว่า 90% ของกำไรสุทธิที่ปรับปรุงแล้ว

               นายสุทธิพงศ์ พัวพันธ์ประเสริฐ รองกรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจ Real Estate & Infrastructure Investment บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด ในฐานะบริษัทจัดการกองทุน กล่าวว่า กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์จะลงทุนในกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่มีศักยภาพ และสามารถสร้างผลตอบแทนในระยะยาวให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุน

               การเข้าไปลงทุนในสิทธิรายได้สุทธิฯ ของ BEC และ BPC นั้น น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตประเภทพลังงานความร้อนร่วม (Cogeneration System) สามารถผลิตและจำหน่ายได้ทั้งไฟฟ้าและไอน้ำ โดยใช้กากอ้อยซึ่งเป็นเศษวัสดุเหลือใช้จากกระบวนการหีบอ้อยและผลิตน้ำตาลของโรงงานน้ำตาลในกลุ่มบริษัทฯ เป็นเชื้อเพลิงหลัก ถือเป็น “โรงไฟฟ้าสีเขียว” ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ การเข้าทำสัญญาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายไฟฟ้า ไอน้ำ และวัตถุดิบชีวมวล จะเป็นสัญญาระยะยาว มีการกำหนดราคาเริ่มต้น ตลอดจนสูตรการคำนวณราคา/เกณฑ์การปรับราคาที่ชัดเจน

               ทั้งนี้ BEC และ BPC มีกําลังการผลิตไฟฟ้าโรงละประมาณ 9.9 เมกะวัตต์ โดยได้เข้าทําสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับ กฟภ. ประเภทผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (Very Small Power Producer : VSPP) ที่ผลิตไฟฟ้าด้วยระบบพลังงานชีวมวล โดยกําหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าแบบ Feed in Tariff (“FiT”) ในปริมาณพลังไฟฟ้าสูงสุด 8 เมกะวัตต์ ในขณะที่ไอน้ำที่ผลิตได้ จะจำหน่ายกลับไปยังโรงงานน้ำตาลต่อไป

               นายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทหลักทรัพย์เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้พิจารณานับหนึ่งแบบไฟล์ลิ่ง “กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์” เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 6 มิถุนายนที่ผ่านมาBRRGIF จะเป็นกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานที่ลงทุนในโรงไฟฟ้าชีวมวลโรงแรก ซึ่งเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ การจัดตั้งกองทุน BRRGIF นอกจากจะสนองตอบนโยบายภาครัฐด้านการพัฒนาพลังงานทางเลือกให้เติบโตอย่างมั่นคงแล้ว ยังเป็นทางเลือกการลงทุนที่น่าสนใจอย่างยิ่ง สำหรับผู้ลงทุนทุกกลุ่มทั้งสถาบันและบุคคลธรรมดา เนื่องจากจุดเด่นของกองทุนฯ ที่มีความมั่น

       คงของเชื้อเพลิงชีวมวลที่ป้อนโรงไฟฟ้า โครงสร้างกระแสรายได้ที่ค่อนข้างมั่นคง และยังได้จัดให้มีหลักประกันทรัพย์สินของโรงไฟฟ้าทั้งสองแห่งแก่กองทุนฯเพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติหน้าที่ของ BRR BEC และ BPC อีกด้วย

               นอกจากนี้ ผู้ลงทุนเองยังได้รับสิทธิประโยชน์ด้านลดหย่อนภาษีเงินปันผล จากการลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานตามประเภทของผู้ลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับบุคคลธรรมดาสัญชาติไทยจะได้รับยกเว้นภาษีเงินปันผลหัก ณ ที่จ่าย เป็นระยะเวลา 10 ปีภาษีนับแต่ปีภาษีที่มีการจดทะเบียนจัดตั้งกองทุน

 จาก http://manager.co.th วันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2560 

รัฐเร่งแผนอนุรักษ์พลังงานในโรงงานจ่อคลอดเกณฑ์FECคุม  

         "พพ."ลงนามร่วม"กรอ." เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานทดแทนในโรงงานอุตสาหกรรมเน้นเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานให้เกิดรูปธรรมมากขึ้น "กรอ."จ่อของบปี 2561 จากกองทุนฯหนุน 100 ล้าน พร้อมเล็งคลอดเกณฑ์ประสิทธิภาพการใช้พลังงานในโรงงานอุตสาหกรรม(FEC ) เหมือนกรณีBEC

                 นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) เปิดเผยภายหลังการลงนาม(MOU) ร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และการใช้พลังงานทดแทนเพื่อสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยในภาคอุตสาหกรรมที่จะบูรณาการในการร่วมมือในการยกระดับประสิทธิภาพของการอนุรักษ์พลังงานในภาคอุตสาหกรรมให้เกิดเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมมีการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายในสาขาเศรษฐกิจคิดเป็น (36.5%) รองจากภาคขนส่ง และยังมีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการใช้พลังงานของประเทศไทย

               " กรอ.จะดูแลมาตรฐานด้านความปลอดภัย และหลังจากลงนามจากนี้ไปจะดูเรื่องประสิทธิภาพการใช้พลังงานในภาคโรงงานด้วย โดยจะบูรณาการการดำเนินงานดังกล่าวจะประกอบด้วย 5 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านกฎหมาย ระเบียบและข้อบังคับ 2.ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน 3.ด้านระบบฐานข้อมูล 4.ด้านการวิจัย พัฒนาองค์ความรู้ และสร้างสรรค์นวัตกรรม และ 5.ด้านพัฒนาบุคลากรและประชาสัมพันธ์"นายประพนธ์กล่าว      

        ทั้งนี้ปีงบประมาณ 2560 กรอ.ได้รับงบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์พลังงานในโรงงานนำร่องวงเงิน 10 ล้านบาทและในปีงบประมาณ 2561 กรอ.เองก็กำลังยื่นของบสนับสนุนจากกองทุนฯเพื่อต่อยอดการดำเนินงานอีก 100 ล้านบาทเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ให้กับวิศวกรที่จะมีส่วนสำคัญต่อการใช้พลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูง เช่น การดูแลระบบหม้อน้ำ พร้อมกันนี้กรอ.ยังอยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางจัดทำกฏหมายพลังงานโรงงานที่ว่าด้วยการกำหนดเกณฑ์การมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานในโรงงานอุตสาหกรรมหรือ Factory Energy Code (FEC) ซึ่งจะเหมือนกับเกณฑ์การมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานของอาคาร(Building energy Code หรือ BEC )       

        นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.)กล่าวว่า โรงงานอุตสาหกรรมที่กรอ.กำกับอยู่ปัจจุบันมีราว 8 หมื่นแห่งปีนี้มีโครงการที่เน้นโรงงานใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพคาดหวังว่าจะมีโรงงานมาร่วมโครงการนำร่องมากกว่า 100 แห่ง โดยแนวทางหลักๆ ที่จะดำเนินการคือการส่งเสริมให้โรงงานปรับเปลี่ยนอุปกรณ์และเครื่องจักรโดยเฉพาะระบบไอน้ำเพื่อให้เกิดการใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่าและอีกส่วนเป็นการลดภาวะมลพิษ      

        " โรงงานนำร่องเบื้องต้นจะมุ่งเน้นโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานจำนวนมากเมื่อเข้ามาก็จะคัดเลือก ซึ่งกลุ่มหลักๆ จะเน้นหม้อไอน้ำซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำ เช่นเหล็ก "นายมงคลกล่าว

 จาก http://manager.co.th วันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2560 

คอลัมน์ 108-1009: เลาะแผนแม่บทพัฒนาเกษตรกรรม

          คุณวัฒนรินทร์ สุขีวัย ประชาสัมพันธ์สภาเกษตรกรแห่งชาติส่งข้อมูลข่าวถึงผม  เป็นข้อความการให้สัมภาษณ์ของคุณประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ สรุปใจความว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2560 ครม.มีมติเห็นชอบร่างแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม พ.ศ.2560-2564 ตามที่สภาเกษตรฯเสนอ

          คุณประพัฒน์ บอกว่าแผนแม่บทฉบับนี้ทำโดยเกษตรกร ทำจากล่างสู่บน ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันทำ  ทำกันนาน 3 ปี จัดเวทีหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด รวมกันเข้ามากลายเป็นแผนแม่บทซึ่งมียุทธศาสตร์หลากหลายเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรทั้งที่ยังพึ่งตนเองไม่ได้และที่ต้องเข้าสู่กระบวนการแข่งขัน แผนนี้จึงครอบคลุมในทุกมิติทุกด้านของเกษตรกรไทย

          ในรายละเอียดถ้อยแถลงของคุณประพัฒน์บอกว่า "ที่ผ่านมาเกษตรกรได้เคยพยายามเสนอแนะแนวนโยบายโครงการต่างๆ ไม่เคยได้ผล แต่ครั้งนี้ด้วยกฎหมายของสภาเกษตรกรฯที่ได้บัญญัติไว้ 1 มาตราว่า สภาเกษตรกรฯมีหน้าที่ทำแผนแม่บทต่อจากนี้จะเป็นการขับเคลื่อนแผนไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งจะไม่ใช่บทบาทหน้าที่ของสภาเกษตรกรฯ แต่จะเป็นอำนาจหน้าที่ที่แต่ละส่วนงาน คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นต้น ที่จะนำไปทำเป็นแผนปฏิบัติการตามแผนงานโครงการของแต่ละหน่วยงาน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายของเกษตรกรคือ "องค์กรเกษตรกรเครือข่ายเข้มแข็ง โครงสร้างพื้นฐานและการจัดการทั่วถึง เกษตรกรพึ่งตนเองได้" โดยอยากเห็นการทำแผนปฏิบัติลงไปถึงระดับตำบลซึ่งเป็นส่วนที่เล็กที่สุด หลังจากนี้ก็จะเป็นการ นัดประชุมกับรัฐมนตรีและผู้บริหารกระทรวงต่างๆ เพื่อที่จะสร้างกลไก กระบวนการให้เกิดแผนปฏิบัติการขึ้นมา สภาเกษตรฯจะเป็นส่วนหนึ่งเพื่อให้เกิดการประสานความร่วมมือกัน"

          ผมยังไม่มีโอกาสได้อ่านร่างแผนแม่บทฯ  แต่อ่านถ้อยแถลงของคุณประพัฒน์ในส่วนที่ว่า "อำนาจหน้าที่ที่แต่ละส่วนงาน" นำไปทำเป็นแผนปฏิบัติแล้ว อดเป็นห่วงไม่ได้ เนื่องจากที่ผ่านมา ไม่ว่าแผนแม่บทฯจะดีเยี่ยมแค่ไหน  แต่มักต้องใช้เวลานานกว่าจะได้เห็นแผนปฏิบัติการ

          ด้วยความที่เกิดในต่างจังหวัด  มีเพื่อนหลายคนเป็นลูกเกษตรกร ทำ ให้คุ้นชินกับอาชีพนี้มาแต่เด็กๆ ทำให้ได้รู้ว่า อาชีพเกษตรกรนั้นเป็น "เบี้ยล่าง" ในภาคการผลิตของประเทศมาตลอด  ผมเห็นรุ่นพ่อ รุ่นพี่ รุ่นเพื่อน จนถึงตอนนี้รุ่นหลานหลายคนร่ำรวยด้วยการเป็นพ่อค้าสินค้าเกษตร และเคยเขียนถึงจุดอ่อนการเกษตรไทยไปหลายครั้ง ระบุไว้ชัดเจนว่า เกษตรกรไทยนั้น มีแต่ปัญญาปลูก ไม่มีปัญญาขาย  ต้องอาศัยจมูกคนอื่นหายใจ

          ผมเชื่อว่าหลายท่านที่ร่วมร่างแผนแม่บทก็คงรู้เรื่องนี้ดี และมีการบรรจุเอาไว้ในแผนค่อนข้างแน่ แต่โดยส่วนตัวผมอยากให้มีการแบ่งแยกทำแผนปฏิบัติการด้านการตลาดให้เป็นรูปธรรม มีหน่วยงานมารองรับให้ชัดเจน

          ที่แน่ๆ ขอไม่เอาแบบที่เราตั้งองค์การตลาดเพื่อเกษตรกรแล้วไปทำหน้าที่เป็นตลาดรองรับพ่อค้าแม่ค้านะ

          นอกจากการตลาดแล้ว ที่ควรทำอย่างยิ่งก็คือ การควบคุมการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ในแผนปฏิบัติการจะต้องล้มล้างวัฒนธรรมเกษตรปลูกตามกันเพราะเห็นราคาดีให้ได้

          ผมเห็นของผมอย่างนี้นะ

จาก สยามธุรกิจ วันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2560 

1ธ.ค.ลอยตัวราคาน้ำตาล ใช้สูตรลอนดอนNo.5+ไทยพรีเมียม3% 

          กนอ.มีมติประกาศลอยตัวราคาน้ำตาลตุลาคม 2560 นี้ ให้มีผลบังคับใช้พร้อมกันทั่วประเทศ 1 ธันวาคม 2560 ทันฤดูการผลิต 2560/2561 ก่อนบินแจงข้อมูลรัฐบาลบราซิลสัปดาห์หน้า เผยใช้หลักเกณฑ์อิงราคาตลาดลอนดอน No.5 บวกราคาไทยพรีเมี่ยม 3% หวั่นราคาน้ำตาลภายใน และต่างประเทศจะมีช่องว่างมาก เหตุต่างชาติเล่นเก็งกำไรหนัก

          นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ในการประชุม กอน.เมื่อ วันที่ 7 มิ.ย.60 ที่ประชุมกำหนดให้มีการเปิดเสรีระบบอ้อยและน้ำตาล โดยกำหนดหลักการในการประกาศราคาทุกเดือน ซึ่งจะใช้ราคาอ้างอิงจากราคาปิดเฉลี่ยขายน้ำตาลทรายรายวันของตลาดลอนดอน No.5 ย้อนหลังไป 1 เดือน บวกราคาน้ำตาลไทยพรีเมี่ยม ประมาณ 3% โดยจะมีการออกเป็นระเบียบ และประกาศเป็นระเบียบของ กอน.ภายในเดือนตุลาคม 2560 และต้องลงในราชกิจจานุเบกษา ภายใต้ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย 2527 เพื่อให้มีผลบังคับใช้เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2560 ซึ่งเข้าสู่ฤดูการผลิต 2560/2561 เป็นต้นไป ดังนั้น เมื่อถึงเดือนตุลาคม 2560 ทุกอย่าง จะชัดเจน ซึ่งรัฐบาลบราซิลคงจะไม่มีการฟ้องร้องประเทศไทย เพราะได้มีการแก้ไขทุกอย่างตามข้อตกลงขององค์การการค้าโลก (WTO) และจะได้ไปหารือกันในสัปดาห์นี้

          โดยจะยกเลิกระบบการจัดสรรน้ำตาลโควตา ก. สำหรับบริโภคภายในประเทศ, น้ำตาลโควตา ข. คือ น้ำตาลทรายดิบที่ส่งมอบให้บริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด (อนท.) กำหนดราคา และส่งออก จำนวน 8 แสนตัน เพื่อใช้ราคาขายของ อนท.มาทำราคาในการคำนวณราคาน้ำตาลส่งออก และน้ำตาลโควตา ค. คือ น้ำตาลที่โรงงานส่งออก

          ทั้งนี้ หากเปิดเสรียกเลิกโควตา ก.น้ำตาลภายในประเทศ จะมีการเปลี่ยนแปลงใน 3 ส่วน ได้แก่ 1.เพื่อไม่ให้กระทบผู้บริโภคภายในประเทศ มีการกำหนดให้โรงงานต้องทำการสำรองสต๊อกน้ำตาลไว้ประมาณ 250,000 ตันต่อเดือน โดยตัวเลขดังกล่าวคำนวณจากความต้องการบริโภคภายในประเทศประมาณ 3 ล้านตันต่อปีมาเฉลี่ย 2.เงินที่เคยหักเก็บ 5 บาทจากราคาขายน้ำตาลภายในประเทศเข้าสู่กองทุนอ้อยและน้ำตาล เพื่อช่วยเหลือชาวไร่อ้อยจะถูกยกเลิกไป ส่วนในอนาคตการเก็บเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพราคารูปแบบจะออกมาเป็นอย่างไรเป็นเรื่องที่โรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อยจะไปตกลงกันเอง 3.การประกาศราคาน้ำตาลจะทำทุกเดือน สำหรับน้ำตาลโควตา ข. ยังคงให้ อนท.เป็นผู้กำหนดราคาเหมือนเดิม

          "ตอนนี้กังวลว่า หากเปิดเสรีลอยตัวราคาน้ำตาล หรือลอยตัวสินค้าใดก็ตาม สิ่งที่เราปรารถนามากที่สุด คือ ราคาภายใน ประเทศ และภายนอกประเทศเท่ากัน จะทำให้ราคาไม่เปลี่ยนแปลงมากมาย แต่ปีนี้น้ำตาลในตลาดโลก มีนักเก็งกำไรเข้ามาเล่นเก็งกำไร ทำให้ราคาน้ำตาลปัจจุบันอาจจะไม่สะท้อนราคาที่แท้จริง แต่เรายังมีเวลาอีกประมาณ 2-3 เดือนในการดูทิศทางราคา วันนี้ราคาน้ำตาลเริ่มลงไปบ้างแล้ว หากเราลอยตัวตอนนี้ในตลาดที่ราคามีความแตกต่าง จะเกิดการเก็งกำไรกันเกิดขึ้น เป็นเรื่องธรรมชาติของธุรกิจ

          ยกตัวอย่าง หากลอยตัววันนี้ราคาน้ำตาล อาจจะถูกกว่าราคาปัจจุบันไป 2-3 บาทต่อ กก. วันนี้ราคาน้ำตาลทรายขาว ตลาดลอนดอน No.5 อยู่ที่ 420 เหรียญสหรัฐต่อตัน หากแปลงมาเป็นราคาน้ำตาลทรายในประเทศ เทียบค่าเงินบาทประมาณ 34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ตกประมาณ 15 บาทต่อ กก. ขณะที่ราคาส่งหน้าโรงงานน้ำตาลตอนนี้ 19 บาทต่อ กก. แต่ราคาขายปลีกประมาณ 22.50-23.50 บาท ถ้าลอยตัวราคาน้ำตาลในประเทศไทยวันนี้ราคาน้ำตาลจะลงมาประมาณ 4-5 บาท" นายสมศักดิ์กล่าว

          นายสมศักดิ์กล่าวต่อไปว่า หลังเจรจากับรัฐบาลบราซิล ตนจะไปดูงานในส่วนการวิจัย และพัฒนาด้านไบโอชีวภาพของบราซิลด้วย

          นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ในฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ว่า ในวันที่ 9 มิ.ย.นี้จะนำคณะเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กรมเจรจาการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ รวมถึงตัวแทนจาก 3 สมาคมโรงงานน้ำตาล และตัวแทนชาวไร่อ้อย เดินทาง ไปเจรจากับทางรัฐบาลบราซิลเพื่อชี้แจงความก้าวหน้าในการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายตามมติ ครม.ที่ได้เคยหารือกันไว้ และบางมาตราใน พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ที่ต้องรอรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ได้แสดงถึงความพยายามเพื่อแก้ปัญหาเรื่องที่รัฐบาลไม่ได้มีการสนับสนุนเงินชดเชยการปลูกอ้อยให้ชาวไร่ รวมถึงการที่บราซิลมีความกังวลการแบ่งโควตาน้ำตาลขายภายในประเทศ และโควตาส่งออก โดยต่อไปไทยจะไม่มีการบังคับหรือกำหนดปริมาณการส่งออกอีกต่อไป โรงงานน้ำตาลสามารถขายในประเทศหรือส่งออกก็ได้ ซึ่งกติกาใหม่ของไทยที่ใช้นั้นจะเริ่มที่ฤดูกาลการผลิตใหม่ 2560/2561 นี้

          ข้อสรุปที่จะไปเจรจาทั้งหมดได้มีการหารือในที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2560 การเจรจาครั้งนี้ ทางรัฐบาลไทยไม่ได้กังวล เนื่องจากได้แสดงความจริงใจถึงการแก้ไขที่ได้เคยรับปากจะแก้ไขทั้งระบบ ตามมติ กอน. ก็ดำเนินการตามนั้น ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ได้เปิดเผยไว้บนเว็บไซต์ของกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  ดังนั้นไทยคาดหวัง ให้บราซิลเข้าใจว่า ไทยไม่มีเจตนาอุดหนุนน้ำตาล และเพื่อที่จะยังคงเป็นสมาชิกที่ดีในเวทีโลก

          ลอยตัว - การประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กนอ.) ล่าสุดได้มีมติชัดเจนให้มีการประกาศลอยตัวราคาน้ำตาล โดยมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ธันวาคม 2560 หลังจากที่ปัญหาเรื่องการเปิดเสรีระบบอ้อยและน้ำตาลทรายระหว่างชาวไร่อ้อย และโรงงาน ถกเถียงกันมานานกว่า 20 ปี

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2560 

พลังงานเตรียมลดเป้าการใช้เอทานอล-ไบโอดีเซล

พลังงานเตรียมลดเป้าการใช้เอทานอล-ไบโอดีเซลนแผน“เออีดีพี”ใหม่

                 รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงาน ว่ากระทรวงฯได้ส่งการให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) ทบทวนแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ.2558-2579(เออีดีพี2015) ให้สอดรับกับสถานการณ์พลังงานของโลกที่มุ่งเน้นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพื่อลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิล รวมถึงเป็นไปตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการใช้เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเป็น 40% ของกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศ

               ในเบื้องต้น จากการหารือร่วมกับผู้เกี่ยวข้อง พบว่าในส่วนของเชื้อเพลิงชีวภาพ คือ เอทานอล และไบโอดีเซล โดยแต่ละเชื้อเพลิงอาจจะต้องปรับลดสัดส่วนลงอยู่ที่ 7 ล้านลิตรต่อวัน ในปลายแผนปี 2579 เนื่องจากสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมาก จากสมมุติเดิมประมาณการราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยอยู่ที่ 90-100 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่ปัจจุบันราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณกว่า 50 ดอลลาร์/บาร์เรล และคาดว่าจะอยู่ในระดับนี้ต่อเนื่อง 2-3 ปี เพราะภาวะเศรษฐกิจโลกยังต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัว ขณะที่ ต้นทุนการผลิตเอทานอล และไบโอดีเซล ปัจจุบันยังอยู่ในระดับสูง

             “เดิมการส่งเสริมเอทานอลและไบโอดีเซล มีเป้าหมายเพื่อลดผลกระทบจากการนำเข้าน้ำมันดิบที่มีราคาแพงและทะลุ 100 ดอลลาร์/บาร์เรล รวมถึงเพื่อเป็นการส่งเสริมเกษตรกรผู้ปลูกพืชพลังงานทดแทนในประเทศ แต่ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันดิบที่ลดลงอย่างมาก อาจส่งผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำมันในอนาคต”

               ทั้งนี้ ตามแผนเออีดีพี ปัจจุบันกำหนดเป้าหมายการใช้เอทานอล ปลายแผนปี 2579 อยู่ที่ 11.30 ล้านลิตร/วัน และไบโอดีเซล อยู่ที่ 14 ล้านลิตร/วัน ซึ่งแผนเออีดีพีใหม่ ปรับลดเหลือเชื้อเพลิงละ 7 ล้านลิตร/วันในปี 2579 เท่ากับเอทานอล ลงประมาณ 4.4%และไบโอดีเซลลดลงประมาณ 7% ปัจจุบัน การใช้เอทานอลของไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 3.70 ล้านลิตร/วัน และการใช้ไบโอดีเซลเฉลี่ยอยู่ที่เฉลี่ย 3.30 ล้านลิตร/วัน

               นายอุกฤษฏ์ อัษฎาธร นายกสมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลไทย กล่าวว่า ผู้ผลิตเอทานอลอยู่ระหว่างติดตามข้อมูลการทบทวนแผนเออีดีพีของภาครัฐ เพื่อเตรียมความพร้อมในการวางแผนการลงทุนธุรกิจเอทานอลในอนาคตให้สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐ โดยยังไม่ทราบข้อมูลที่ชัดเจนว่าภาครัฐจะมีการพิจารณาปรับสัดส่วนการใช้เอทานอลเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไร

                  ทั้งนี้ หากภาครัฐปรับลดเป้าหมายการใช้เอทานอลลดลงจาก 11.30 ล้านลิตร/วัน เชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบต่อผู้ผลิตเอทานอลรายใหม่ เพราะยังสามารถรอดูความชัดเจนของแผนเออีดีพีที่จะปรับใหม่ได้ แต่ในส่วนของผู้ผลิตเอทานอลที่อยู่ระหว่างลงทุนขยายโรงงาน อาจต้องเตรียมความพร้อมและติดตามสถานการณ์ต่อไป

                   สำหรับสถานการณ์ราคาเอทานอลในปัจจุบันอยู่ที่ 24-25 บาท/กิโลกรัม สูงขึ้นจากปีที่ผ่านมา โดยต้นทุนการผลิตเอทานอลจากมันถูกลงอยู่ที่ 1.5 บาท/กิโลกรัม ขณะที่โมลาสอยู่ที่ตันละ 5,000 บาท เพิ่มขึ้นจากช่วงที่ผ่านมาอยู่ที่ตันละ 3,000-4,000 บาท

                 ด้านนายศาณินทร์ ตริยานนท์ นายกสมาคมผู้ผลิตไบโอดีเซลไทย กล่าวว่า เบื้องต้น ผู้ผลิตไบโอดีเซลได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงกรณีการปรับแผนเออีดีพีที่จะปรับสัดส่วนการใช้ไบโอดีเซลลง แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะปรับลดลงในสัดส่วนเท่าไหร่

                “ยอมรับว่า แผนเออีดีพีปัจจุบันที่กำหนดสัดส่วนการใช้ไบโอดีเซล ปลายแผนปี 2579 อยู่ที่ 14 ล้านลิตร/วัน ถือว่าสูงเกินไป ซึ่งหากภาครัฐจะปรับลดเป้าหมายลงมาก็ควรปรับให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง และมีข้อมูลที่อ้างอิงได้ เพื่อให้ผู้ผลิตไบโอดีเซลสามารถวางแผนการผลิตได้สอ

จาก http://www.komchadluek.net วันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2560

พณ.จับมือธปท.ถกแก้ค่าเงินบาทแข็ง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จับมือ ธปท. ภาคเอกชนถกปัญหาค่าเงินบาทแข็ง เพื่อลดผลกระทบSME - สั่งยกระดับบุคลากรยุค4.0

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในวันที่ 19 มิถุนายน นี้ กระทรวงพาณิชย์ จะจัดงานเสวนา ค่าเงินบาทแข็ง SMEs แก้ได้อย่างไร เนื่องจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ได้ทราบถึงการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงของค่าเงินที่มีความผันผวน ส่งผลกระทบต่อธุรกิจนำเข้า-ส่งออก และส่งผลกระทบแบบลูกโซ่ไปยังภาคธุรกิจอื่นๆ ของประเทศไทย ซึ่งหลายหน่วยงานได้พยายามผลักดันการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการออกนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการความเสี่ยงในเรื่องค่าเงิน หรือแม้แต่การพัฒนาองค์ความรู้ ลดปัญหาความผันผวน ที่จะกระทบกับผู้ประกอบการ SMEs ไทย

โดยงานสัมมนาดังกล่าว กระทรวงพาณิชย์ ได้ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย และธนาคารพันธมิตร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย และ สมาคมธนาคารไทยจัดขึ้นที่ ห้องบุรฉัตรไชยากร กระทรวงพาณิชย์ จังหวัดนนทบุรี

นางอภิรดี ยังเปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญถึงการพัฒนาบุคลากร ซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศเข้าสู่ประเทศไทย 4.0  เพื่อให้มีความรู้และสามารถปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ยกระดับการทำงานของภาครัฐให้มีประสิทธิภาพ ปฏิบัติงานได้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล และภารกิจของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกการขับเคลื่อนและเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ

โดยล่าสุดในปี 2560 กระทรวงพาณิชย์ ได้มีการจัดอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากรภายในกระทรวงมาแล้ว จำนวน 17 หลักสูตร ซึ่งแต่ละหลักสูตรมุ่งเน้นพัฒนาบุคลากรอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจการค้า

จาก http://www.innnews.co.th วันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ.2560

ก.เกษตรฯชงครม.อังคารนี้ เคาะ4 มาตรการอุ้มราคายาง

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า วันที่ 13 มิถุนายนนี้ กระทรวงเกษตรฯ เตรียม 4 มาตรการช่วยเหลือชาวสวนยางพารา ตามมติของคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ซึ่งมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน  เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ ประกอบด้วยมาตรการขยายเวลาโครงการสนับสนุนสินเชื่อ วงเงิน 10,000 ล้านบาท อีก 1 ปี สิ้นสุด 31 มีนาคม 2561  มาตรการขยายระยะเวลาโครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง (เพิ่มเติม) ออกไปอีก 90 วัน รองรับเกษตรกรตกค้าง 11,460 หมื่นครัวเรือน

อีก 2 มาตรการ คือ ขยายระยะเวลาโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตร เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง และ โครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง ออกไปถึงเดือนพฤษาคม 2563  และมาตรการขยายระยะเวลาโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง วงเงิน 10,000 ล้านบาท ออกไปเป็นเดือนพฤษภาคม 2560- เมษายน 2562 โดยรัฐบาลช่วยสนับสนุนดอกเบี้ยเงินกู้ที่ธนาคารในอัตราไม่เกิน 3% โดยใช้งบประมาณ 300 ล้านบาท

 นางจินตนา ชัยยวรรณาการ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ราคายางเริ่มปรับตัวสูงขึ้นแล้ว และแนวโน้มยังสูงขึ้นอีก ซึ่งเดือนมิถุนายน ราคายางร่วง มาจากปัจจัยค่าเงินบาทแข็งค่า ราคาน้ำมันผันผวน  นโยบายสหรัฐฯต้องการลดการนำเข้าสินค้าจากประเทศจีน  ส่งผลให้ทางผู้ส่งออกจีนต้องเร่งปรับตัว และเร่งระบายสินค้าเข้าสู่สหรัฐโดยเร็ว จึงต้องนำยางพาราในสต็อกกว่า 1 แสนตันออกสู่ตลาด

ทั้งนี้ ราคายาง ณ วันที่ 9 มิถุนายน ราคายางแผ่นดิบ ณ ตลาดท้องถิ่น เพิ่มขึ้น 1 บาทต่อกก. อยู่ที่ 52.60 บาทต่อกก. ราคายางแผนดิบ ณ ตลาดกลางยางพารา อ.หาดใหญ่ เพิ่มขึ้น 1.29 บาทต่อกก. อยู่ที่ 56.07 บาทต่อกก. ยางแผ่นรมควัน ชั้น 3 ณ ตลาดกลางยางพาราฯ เพิ่มขึ้น 1.35 บาทต่อกก. อยู่ที่ 58.95 บาทต่อกก. และยางแผ่นรมควัน ชั้น 3 ณ ตลาดส่งออก ท่าเรือคลองเตย กรุงเทพฯ (เอฟโอบี) เพิ่มขึ้น 1.35 บาทต่อกก. อยู่ที่ 63.05 บาทต่อกก.

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ.2560

ชงกก.ยุทธศาสตร์ แก้ปมปิโตรฯสปก.

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติยัน สั่งหยุดผลิตและสำรวจปิโตรเลียมในพื้นที่ส.ป.ก.ต่อเนื่อง แม้คำพิพากษาไม่มีผลย้อนหลัง ชงแนวทางแก้ปัญหาให้ครม.และบยศ.ชี้ขาด ด้านส.ป.ก.ระบุ พบบริษัทลูกปตท.สผ.ทำการละเมิดใช้พื้นที่ก่อนได้รับอนุญาต

 นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ รองอบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า จากกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2560 ให้เพิกถอนระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เรื่องการให้ความยินยอมในการนำทรัพยากรธรรมชาติในเขตปฏิรูปที่ดินไปใช้ประโยชน์ตามกฎหมายอื่น แม้ว่าทางสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จะไม่มีหนังสือสั่งหยุดดำเนินการในพื้นที่ แต่กรมฯมองว่า ควรหยุดผลิตปิโตรเลียมหรือสำรวจไปก่อน จนกว่าจะมีความชัดเจน และมีกฎหมายรองรับการใช้พื้นที่ ส.ป.ก. ซึ่งมองว่าคำสั่งศาลฯจะเป็นตัวกระตุ้นการแก้ไขปัญหาให้มีความชัดเจนมากขึ้น ภายหลังจากเรื่องดังกล่าวยืดเยื้อมาตั้งแต่ปี 2556

สำหรับแนวทางการดำเนินงานนั้น ขณะนี้ได้เรียบเรียงข้อมูลเสนอไปยังพล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานแล้ว เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่าจะมีแนวทางการแก้ไขอย่างไร หรือเสนอเรื่องเข้าหารือในคณะกรรมการบริหารแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์(บยศ.) ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ร่วมเป็นประธาน ซึ่งอยู่ภายใต้คณะกรรมการบริหารราชแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง(ป.ย.ป.) ส่วนจะมีการพิจารณาเพื่อใช้ ม.44 หรือไม่นั้น เชื่อว่าจะเป็นทางเลือกสุดท้าย ซึ่งแนวทางการแก้ไขปัญหาจะเลือกแนวทางใดนั้นขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐมนตรีต่อไป

 อย่างไรก็ตามส่วนตัวมองว่าหากสามารถหารือใน บยศ.ได้ อาจแก้ไขปัญหาได้รวดเร็ว ซึ่งแนวทางการแก้ไขปัญหาในระยะยาวจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมาย และมีระเบียบเข้ามารองรับการใช้พื้นที่ ส.ป.ก.ในการทำประโยชน์ด้านปิโตรเลียม ซึ่งเกษตรกรก็ได้ประโยชน์ด้วย

 สำหรับผู้ประกอบการ 7 บริษัท ที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่เป็นแหล่งเอส1 ของบริษัท ปตท.สผ. สยาม ที่กำลังการผลิตน้ำมันดิบหายไป 1.5 หมื่นบาร์เรลต่อวัน ,พื้นที่ผลิตหนองสระ พื้นที่ผลิตบึงม่วงใต้ ของบริษัท ซีเอ็นพีซีเอชเค และพื้นที่ผลิตบ่อรังเหนือ ของบริษัท อีโค่ กำลังการผลิตหายไป 1 พันล้านบาร์เรลต่อวัน ส่วนอีก 4 แปลงที่เหลืออยู่ระหว่างการสำรวจ

 ทั้งนี้ ในส่วนของผลกระทบประเทศ จากการหยุดผลิตปิโตรเลียมหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา(3-9 มิ.ย.) ทำให้ค่าภาคหลวงหายและภาษีเงินได้ปิโตรเลียมหายไปแล้ว 182 ล้านบาท ขณะที่ปตท.สผ.สยาม รายได้หายจากผลิตนํ้ามันดิบไม่ตํ่ากว่า 150 ล้านบาท

 นายสมปอง อินทร์ทองเลขาธิการ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.)เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ไม่ได้มีผลย้อนหลังถึงโครงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่ ส.ป.ก.ยินยอม และอนุญาตให้ใช้พื้นที่ที่ได้ดำเนินการไปแล้วก่อนหน้านี้ ดังนั้น จึงสามารถดำเนินการต่อไปได้ แต่ในส่วนของรายใหม่ที่จะมาขออนุญาตไม่สามารถทำได้ เพราะไม่มีระเบียบรองรับให้พิจารณา

 ทั้งนี้ จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า มีผู้ประกอบการที่อยู่ระหว่างดำเนินการขอรับความยินยอมจากคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(คปก.) ปส.ป.ก.จำนวน 4 บริษัทได้แก่ บริษัท แพนโอเรียนท์รีซอสเซส (ประเทศไทย) จำกัดที่ตั้งอยู่ใน อำเภอวิเชียร จังหวัดเพชรบูรณ์ ที่อยู่ระหว่างการขอเสนอคปก. ซึ่งยังไม่มีการออกหนังสือยินยอมให้ทำการผลิตปิโตรเลียมจำนวน 5 แปลง

 บริษัท ซีเอ็นนีซีเอชเค(ไทยแลนด์) จำกัด ที่ตั้งอำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชรจำนวน 5 แปลง โดยทางส.ป.ก.อยู่ระหว่างคิดค่าเสียหาย เนื่องจากบริษัทดังกล่าวทำการละเมิดในการผลิตปิโตรเลียมโดยไม่ได้รับการยินยอม และบริษัท ปตท.สผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ที่ตั้งอำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร จำนวน 1 แปลง เนื้อที่ 580ไร่ ซึ่งอยู่ระหว่างการคิดค่าเสียหายกรณีทำละเมิดผลิตปิโตรเลียมโดยไม่ได้รับความยินยอม

 นายสมปอง กล่าวอีกว่าสำหรับค่าเสียหายที่เกิดขึ้นของทั้ง 2 บริษัทดังกล่าว คิดตั้งแต่วันกระทำละเมิดจนถึงวันที่30 พฤศจิกายน 2558 เป็นเงินประมาณ 20 ล้านบาท ซึ่งส.ป.ก.จังหวัดกำลังดำเนินการจัดเก็บค่าเสียหาย อันเกิดจากการกระทำละเมิด เนื่องจากยังอยู่ในระหว่างการสำรวจพื้นที่ที่บริษัทกระทำละเมิดเพิ่มเติม หากได้เนื้อที่ที่แน่นอนแล้ว ส.ป.ก.จังหวัดจะคำนวณค่าเสียหายเพิ่มเติมและเรียกให้บริษัทผู้ประกอบการชดใช้ค่าเสียหายอีกครั้ง

 ขณะที่บริษัท อพิโก้ แอลแอลฯ ที่ตั้งจังหวัดอุดรธานี ที่ยื่นขอใช้พื้นที่มา ไม่สามารถเข้าดำเนินการในพื้นที่ได้ เนื่องจากมีปัญหาร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่

จาก http://www.thansettakij.com   วันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ.2560

ก.พลังงานปรับแผนเออีดีพี20ปี ลดเป้าเชื้อเพลิงชีวภาพ-ใช้ก๊าซ

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงฯได้มอบหมายให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.)ปรับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก(เออีดีพี 2015 )ปีพ.ศ.2558-79 ให้สอดรับกับสถานการณ์พลังงานโลกในระยะยาวและนโยบายของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ให้เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟจากพลังงานทดแทนเป็น 40% เบื้องต้นในส่วนของเชื้อเพลิงชีวภาพได้แก่ เอทานอลและไบโอดีเซล จะปรับลดสัดส่วนการใช้มาอยู่ที่อย่างละ 7 ล้านลิตรต่อวันในปี 2579 จากแผนเดิมนั้นใช้เอทานอล 11.30 ล้านลิตรต่อวัน และไบโอดีเซล 14 ล้านลิตรต่อวันในปี 2579

สาเหตุหลักการปรับแผน มาจากการประเมินแนวโน้มราคาน้ำมันระยะยาวมีการเปลี่ยนแปลง จากแผนเดิมมองว่าราคาน้ำมันดิบโลกจะสูงเฉลี่ยในระดับ90-100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่แนวโน้มราคาพลังงานในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาและแนวโน้มในอนาคต กลับพบว่าราคาเริ่มไม่สูงมากนัก คาดว่าจะทรงตัวในระดับต่ำ โอกาสจะเห็น 90-100 เหรียญฯต่อบาร์เรล คงจะยากขึ้น เว้นแต่กรณีการเกิดสงครามเท่านั้น

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า กรมฯได้หารือ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ถึงการปรับแผนบริหารจัดการก๊าซ(ก๊าซ แพลน)เป็นผลมาจากปัญหาความล่าช้าของโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งการปรับแผนจะต้องคำนึงถึงการพยากรณ์ความต้องการใช้พลังงานในภาพรวมก่อน จึงจะสามารถปรับแผนที่ชัดเจนได้ และต้องสอดรับกับแผนอื่นๆ คือ แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า(พีดีพี2015 )แผนบริหารจัดการน้ำมัน(ออยล์ แพลน)แผนอนุรักษ์พลังงาน (อีอีพี)และเออีดีพี

สำหรับความคืบหน้าการเปิดประมูลแหล่งก๊าซธรรมชาติที่จะหมดอายุลง 2 แหล่ง ได้แก่ บงกชและเอราวัณ ล่าสุดได้เปิดรับฟังความคิดเห็นร่างกฏกระทรวงกำหนดแบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต(พีเอสซี) พ.ศ….ไปแล้ว ทั้งช่องทางเซ็บไซต์ของกรมฯ และการรับฟังความเห็นกลุ่มย่อย(โฟกัส กรุ๊ป)เพื่อให้กลุ่มผู้ลงทุนที่เกี่ยวข้องโดยตรงแสดงความเห็น และนำความเห็นและข้อกังวลบางประการมาปรับปรุงแก้ไขต่อไป หลังจากนั้น จะเปิดรับฟังความเห็นของร่างกฏกระทรวงกำหนดแบบสัญญาบริการ

“ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน สั่งการให้ได้ผู้ชนะประมูลเดือนกุมภาพันธ์ 2561ซึ่งเวลาประมูลจะใช้เวลา 6-7 เดือน ดังนั้นปลายกรกฎาคมหรือต้นสิงหาคม น่าจะเปิดประมูลได้ โดยแนวทางประมูลจะเปิดให้ยื่นพร้อมกัน แต่จะแยกแปลงระหว่างแหล่งเอราวัณ และแหล่งบงกช ส่วนรูปแบบจะเป็นระบบสัมปทาน พีเอสซี และเอสซี หรือจะให้เอกชนเป็นผู้เสนอเข้ามายังไม่สามารถสรุปได้”นายสราวุธ กล่าว

จาก https://www.matichon.co.th   วันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ.2560

พิษกาตาร์สะเทือนส่งออกไทย ตลาดอาหรับ2.2แสนล.ส่อวูบ-ปิดพรมแดนรอขนสินค้ากลับ

กาตาร์เอฟเฟกต์ทำส่งออกไทยไปกลุ่มอ่าวอาหรับ 2.2 แสนล้านสะเทือนสรท.เผยดูไบฮับท่าเรือใหญ่ตะวันออกกลาง สั่งปิดประตูการค้า ห้ามถ่ายลงเรือเล็กไปกาตาร์ทำสินค้าไทยตกค้างรอขนกลับ ด้านกลุ่มรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ยาง เร่งประเมินผลกระทบ

 จากที่หลายชาติในตะวันออกกลาง ได้แก่ ซาอุดิอาระเบีย สหรฐอาหรับเอมิเรต อียิปต์ และบาห์เรนได้ตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับกาตาร์ และปิดพรมแดนทั้งทางบก เรือ และอากาศ เมื่อวันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านหลังกล่าวหากาตาร์ให้การสนับสนุนกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงและอิหร่านนั้น

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปกาตาร์ที่ต้องผ่านทางรัฐดูไบ ของสหรัฐเอมิเรตส์(ยูเออี) ซึ่งเป็นศูนย์กลาง(ฮับ)การขนส่งทางเรือและทางรถยนต์ไปยังกาตาร์ และตะวันออกกลางในภาพรวม

 โดยขณะนี้ทุกสายเดินเรือที่รับขนส่งสินค้าไปยัง Doha และ Hammad สองท่าเรือสำคัญของกาตาร์ และต้อง tranship (ถ่ายสินค้าลงเรือเล็กไปกาตาร์) ที่ท่าเรือ Jebel Ali ของยูเอี ขณะนี้สายเรือต่างๆไม่รับ Booking (จองเรือ)แล้ว นอกจากนี้ตู้สินค้าทุกตู้ที่ไปกาตาร์ สายเดินเรือบังคับให้ลงที่ดูไบทั้งหมด จะไม่อนุญาต Tranship เพื่อไปที่กาตาร์ ซึ่งเท่ากับปิดประตูสินค้าเข้ากาตาร์อย่างสิ้นเชิง

"สำหรับผู้ส่งออกที่ส่งสินค้าเข้าไปแล้วสามารถเคลียร์ของจากปลายทางกลับมายังไทยได้ แต่มีค่าใช้จ่ายในการขนกลับเอง ซึ่งจากข้อมมูลมีสมาชิกของสภาผู้ส่งออกบางรายของไปถึงที่ดูไบแล้วส่งต่อไปกาตาร์ไม่ได้อยู่ระหว่างทำเรื่องขอนำสินค้ากลับโดยมีทูตพาณิชย์ที่ดูไบช่วยประสาน ซึ่งสินค้าที่ไปแล้วมี 2 ทางเลือกคือจะนำกลับโดยเสียค่าใช้จ่ายเอง หรือหากรายใดมั่นใจว่าเหตุการณ์จะคลี่คลายลงได้ในระยะสั้นอาจเช่าคลังสินค้าที่ดูไบเก็บไว้ก่อน หรืออาจขายให้ลูกค้ารายอื่นหากเป็นสินค้าที่เปลี่ยนมือได้"

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ และรองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่มสินค้าส่งออกอันดับ2 ของไทยไปกาตาร์ และสินค้าอันดับ 1 ที่ไทยส่งออกไปยังกลุ่มประเทศคณะมนตรีความมั่นคงรัฐอ่าวอาหรับ(หรือกลุ่ม GCC ซึ่งเป็นตลาดส่งออกของไทยมูลค่ากว่า 2.2 แสนล้านในปีที่ผ่าน) กล่าวว่า ได้ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด แต่ยังเร็วเกินไปที่จะประเมินผลกระทบได้อย่างชัดเจน ที่ผ่านมาการส่งออกรถยนต์ และชิ้นส่วนของไทยไปกาตาร์คิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.6% ของยอดส่งออกไปทั่วโลก ขณะที่การส่งออกรถยนต์ของไทยไปตะวันออกกลางซึ่งส่วนใหญ่เป็นปิคอัพตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมาได้ลดลงค่อนข้างมาก จากเคยมีสัดส่วนยอดส่งออก 25% ของภาพรวม ลดเหลือเพียง 8% ผลจากการสู้รบในตะวันออกกลาง และราคาน้ำมันที่ลดลง

สอดคล้องกับนายวิษณุ ลิ่มวิบูลย์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และโทรคมนาคม ส.อ.ท. ที่กล่าวว่า สินค้าสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไทยส่งออกไปกาตาร์ และตะวันออกกลางมีทั้งส่งออกทางตรงและทางอ้อมผ่านทางดูไบ ในภาพรวมเป็นเครื่องปรับอากาศ และตู้เย็น ตู้แช่แข็ง ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินผลกระทบได้อย่างชัดเจน แต่โดยหลักการโดยหลักการเมื่อเส้นทางบก และทางเรือจากดูไบไปกาตาร์ถูกปิด ทางดูไบก็คงไม่สั่งสินค้าไทยเพื่อกระจายต่อไปยังกาตาร์ สถานการณ์ความตึงเครียดนี้หวังทางคูเวตจะเป็นผู้แกนกลางในการไกล่เกลี่ยให้สถานการณ์คลี่คลายโดยเร็ว

 ขณะที่นายชโย ตรังอดิศัยกุล รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง ส.อ.ท ที่กล่าวว่า ในภาพรวมกลุ่ม GCC และตะวันออกกลางเป็นหนึ่งในตลาดใหญ่ของผลิตภัณฑ์ยางจากไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งยางรถยนต์นั่งและรถบรรทุก เรื่องนี้ทางกลุ่มอยู่ระหว่างประเมินผลกระทบ

 ส่วนนายพจน์ เทียมตะวัน นายกสมาคมผู้ประกอบการพืชผัก ผลไม้ไทย กล่าวว่า ตลาดตะวันออกกลางเป็นตลาดใหญ่ของผักผลไม้ไทยสัดส่วน 35% ของการส่งออกในภาพรวม ส่วนใหญ่จะส่งทางเครื่องบิน เพราะเป็นของเน่าเสียง่าย สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเวลานี้ไม่ได้รับผลกระทบมาก เพราะยังสามารถบินตรงจากไทยไปกาตาร์ได้

จาก http://www.thansettakij.com   วันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ.2560

ชี้ไทยแลนด์ 4.0 เป้าหมายให้ชัดก่อนถึงฝัน 

          ช่วงเวลาอีก 1 ปีเศษของการทำงานรัฐบาลชุดปัจจุบันก่อนมีการเลือกตั้ง หลายนโยบายถูกเร่งผลักดัน หนึ่งเรื่องในนั้นคือการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจด้วยนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งถูกนำไปผนวกต่อท้ายในชื่อของหลายกิจกรรมของกิจกรรมของรัฐ

          ในมุมของนักวิชาการที่ติดตามการดำเนินนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ยังค่อนข้างจะเป็นห่วงว่ารัฐบาลจะไม่สามารถผลักดันเรื่องนี้ให้ไปถึงเป้าหมายได้ด้วยหลายประเด็น

          ดร.ประมวล สุธีจารุวัฒน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หลังจากรัฐบาลได้ประกาศนโยบายไทยแลนด์ 4.0 มาปีกว่าแล้ว ยังมองไม่เห็นเนื้อหาสาระของนโยบายมากนัก ส่วนใหญ่ที่เห็นยังคงเป็นเอกสารการนำเสนอ ขณะที่ผู้ที่น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) คนที่กระทรวงอุตสาหกรรมตอนนี้ดูผ่านๆ อาจเหมือนคุยเรื่องเดียวกัน แต่เชื่อว่ายังไม่มีความเข้าใจที่ชัดเจนที่ตรงกันว่าไทยแลนด์ 4.0 ที่ทางรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สุวิทย์ เมษิน ทรีย์ พยายามจะเผยแพร่อยู่ในขณะนี้มีความหมายว่าอะไร

          ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญภาวะหนึ่งที่เรียกว่า อุตสาหกรรมถดถอยก่อนเวลาอันควร (Premature Industria lization) หลายประเทศก็มีการถดถอย แต่ของไทยเป็นการถดถอยเร็วกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งเป็นผลจากการเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่เป็นแค่ฐานการผลิตแต่ไม่ได้พัฒนาเทคโนโลยีของตัวเองต่อไปด้วย ประเทศที่เคยมาลงทุนในไทยเพราะอยากได้แรงงานราคาถูก ถ้าต่อมาค่าแรง

จาก  http://www.posttoday.com วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2560

แบนกาตาร์ไม่กระทบไทย แนะหาแหล่ง'LNG'เพิ่ม คลังเชื่อธปท.คุมบาทอยู่

 “พรายพล” ชี้แบนกาตาร์ ไทยได้รับผลกระทบน้อย แนะรัฐบาลเร่งหาแหล่งก๊าซธรรมชาติใหม่ ชี้เป็นจังหวะดีหลังราคาลด ขุนคลังเชื่อแบงก์ชาติคุมค่าบาทอยู่

นายพรายพล คุ้มทรัพย์ นักวิชาการด้านพลังงานอิสระ เปิดเผยถึงกรณีที่ 6 ชาติอาหรับ ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย อียิปต์ บาห์เรน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เขตปกครองพิเศษด้านตะวันออกของลิเบีย และเยเมน ประกาศตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับกาตาร์ ว่า เบื้องต้นประเมินว่าสถานการณ์ดังกล่าวไม่น่าจะส่งผลกระทบกับประเทศไทยมากนัก รวมถึงไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าด้วย แต่ก็ต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดด้วย โดยเฉพาะเรื่องการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เนื่องจากที่ผ่านมาไทยมีการนำเข้าก๊าซ LNG จากกาตาร์ เฉลี่ยปีละ 5 ล้านตัน ดังนั้นหากสถานการณ์ดังกล่าวลุกลามและรุนแรงมากขึ้น ก็อาจส่งผลกระทบต่อการนำเข้าก๊าซ LNG ของไทยด้วย

ทั้งนี้ ที่ผ่านมากระทรวงพลังงานได้ตระหนักถึงสถานการณ์ก๊าซ LNG และก๊าซธรรมชาติอื่นๆ ที่ปรับตัวลดน้อยลง จึงได้สั่งการให้ บมจ.ปตท.เร่งหาแหล่งก๊าซใหม่ๆ เพิ่มเติม และให้หาซื้อก๊าซธรรมชาติจากแหล่งสปอร์ตที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ใช่เพียงผูกติดกับประเทศกาตาร์ หรือประเทศในกลุ่มตะวันออกกลางเท่านั้น เพื่อให้มีแหล่งก๊าซเข้ามาทดแทนในส่วนที่กำลังมีปัญหาอยู่

“สถานการณ์ก๊าซ LNG ในตลาดโลกขณะนี้ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีของผู้ซื้อ เพราะราคามีการปรับตัวลดลง และกำลังการผลิตในตลาดโลกก็มีอยู่จำนวนมาก ดังนั้นการจะหาแหล่งก๊าซอื่นมาทดแทนในส่วนที่มีปัญหาก็ไม่ใช่เรื่องยาก โดยในระยะต่อไปรัฐบาลจะต้องเตรียมแผนรองรับในการหาก๊าซ LNG ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวเพื่อรองรับความต้องการใช้ที่มากขึ้น” นายพรายพลกล่าว

นายพรายพลกล่าวอีกว่า การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทนั้น ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับสถานการณ์การเลือกตั้งของประเทศอังกฤษ โดยมองว่าการที่เงินบาทยังแข็งค่าอยู่สอดคล้องกับเงินสกุลต่างๆ ในภูมิภาค

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.การคลัง ยังกล่าวถึงกรณีปัญหาค่าเงินบาทที่มีความผันผวนขณะนี้ ว่า สาเหตุมาจากตลาดเงินหลักยังมีความไม่มั่นคง นักลงทุนจึงย้ายเงินทุนมาในไทย ซึ่งเป็นตลาดเงินทุนใหม่ที่มีความมั่นคงสูง จึงส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น โดยเรื่องนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และมีมาตรการต่างๆ ออกมา เช่น การลดปริมาณการออกพันธบัตรระยะสั้น เพื่อไม่ให้มีการเก็งกำไรหรือเกิดการผันผวนมากเกินไป

อย่างไรก็ดี ยืนยันว่ากระทรวงการคลังจะไม่เข้าไปแทรกแซงการทำงานของ ธปท. แต่ก็อยากฝากให้ผู้ประกอบการที่ทำการค้าขายกับต่างชาติ เข้ามาทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนไว้ด้วยเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการขาดทุนจากค่าเงินซึ่งเป็นวิธีที่ธุรกิจรายใหญ่ทำกัน.

จาก http://www.thaipost.net   วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ชงครม.ออก4มาตรการ ช่วยสวนยางรับราคาร่วง

  พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 13 มิ.ย. นี้ จะเสนอ4 มาตรช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง ตามมติของคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.)ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ประกอบด้วย ประกอบด้วย 1.มาตรการขยายเวลาโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อรวมยางพาราภายใต้แนวทางยางพาราทั้งระบบ วงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มสภาพคล่องและดูดซับผลผลิตที่จะออกมาสู่ตลาด โดยรัฐบาลจะชดเชยรับภาระดอกเบี้ยไม่เกิน 3%คิดเป็นงบประมาณที่รัฐต้องชดเชยทั้งสิ้น 300 ล้านบาท คาดการณ์ว่าจะสามารถดูดซับผลผลิตออกจากระบบได้ประมาณ 2 แสนตันในปี 60

2.มาตรการขยายระยะเวลาโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกร เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง วงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท ซึ่งหมดอายุไปเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2560 ออกไปอีก 1 ปี

 3.มาตรการขยายระยะเวลาโครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง (เพิ่มเติม) ออกไปอีก 90 วัน เพื่อรอรับเกษตรกรตกค้างประมาณ 1.1 หมื่นครัวเรือน และ 4.มาตราขยายระยะเวลาโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายางเพื่อเพิ่มสภาพคล่องหรือบัฟเฟอร์ฟันด์ ออกไปจนถึงวันที่ 31 พ.ค. 2563

“ข้อเท็จจริงในช่วงนี้ใกล้เข้าสู่ช่วงปิดกรีดยาง ทำให้เป็นธรรมดาที่ระดับราคายางในตลาดจะมีการแกว่งตัวขึ้นลงอย่างมาก ซึ่งเมื่อวันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา ได้สั่งการให้ทางการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) หารือกับ 5 ผู้ส่งออกรายใหญ่เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันไม่ให้มีการบิดเบี้ยวกลไกตลาด ผ่านการใช้เทคนิคของผู้ซื้อ ให้ราคาเป็นธรรมมากที่สุด ซึ่งจากนี้ไปเชื่อว่า ราคาน่าจะมีทิศทางที่ดีมา “พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว

นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) กล่าวว่า ใน 4 มาตรการที่จะเสนอครม. ทั้ง 5 บริษัทผู้ส่งออกยางรายใหญ่พร้อมให้ความร่วมมือ รวมทั้งกยท. ได้ส่งหนังสือไปยังประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย เพื่อนัดประชุมวาระพิเศษในเดือนนี้ ถึงการออกมาตรการงดการส่งออกยางพารา พร้อมกันทั้ง 3 ประเทศ เพื่อยกระดับราคาให้สูงขึ้น

จากการติดตามสถานการณ์ราคายางของกยท. พบว่าตลาดได้ตอบสนองเชิงบวกต่อการดำเนินการในภาพรวม ส่งผลให้ราคายางพาราในวันที่ 8 มิ.ย. มีการปรับตัวสูง โดยราคายางแผ่นดิบณ ตลาดกลางยางพารา อ.หาดใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.14 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) อยู่ที่54.78บาทต่อกก.ยางแผ่นรมควัน ชั้น 3 ณ ตลาดกลางยางพาราฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.90 บาทต่อกก. อยู่ที่57.60บาทต่อกก.และยางแผ่นรมควัน ชั้น 3 ณ ตลาดส่งออก ท่าเรือคลองเตย กรุงเทพฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.90บาทต่อกก. อยู่ที่61.70 บาทต่อกก.

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2560

คลังยันไม่แทรกบาทแข็งอุ้มส่งออก วางใจธปท.ดูแล – รับลูกนายกฯ แจกเงินคนรายได้ต่ำ 3 หมื่นบาท

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ปัญหาค่าเงินบาทที่มีความผันผวนขณะนี้ สาเหตุมาจากตลาดเงินหลักยังมีความไม่มั่นคง นักลงทุนจึงย้ายเงินทุนมาในไทย ซึ่งเป็นตลาดเงินทุนใหม่ที่มีความมั่นคงสูง จึงส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำลังดูแลอยู่ โดยลดปริมาณการออกพันธบัตรระยะสั้น เพื่อไม่ให้มีการเก็งกำไรหรือเกิดการผันผวนมากเกินไป แต่กระทรวงการคลังจะไม่เข้าไปแทรกแซง และอยากฝากให้ผู้ประกอบการที่ทำการค้าขายกับต่างชาติ เข้ามาทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนไว้ด้วยเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการขาดทุนจากค่าเงินซึ่งเป็นวิธีที่ธุรกิจรายใหญ่ทำกัน

ขณะเดียวกันก็มีนโยบายให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) ทำให้การช่วยเหลืออัตราแลกเปลี่ยนแก่ลูกค้ารายย่อยเช่นมีการไปซื้อค่าเงินในอัตราที่เหมาะสม และจากนั้นนำไปขายต่อให้กับธุรกิจรายย่อยโดยแนวทางนี้ยังอยู่ได้ดำเนินการมาแล้วแต่ยังไม่เสร็จซึ่งหลังจากนี้จะต้องมีการเดินหน้าต่อ

นายอภิศักดิ์ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งให้กระทรวงการคลังเร่งดูแลผู้ลงทะเบียนโครงการสวัสดิการแห่งรัฐ ที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี ให้มีรายได้พ้นเส้นความยากจนและสามารถดำรงชีวิตได้ ซึ่งขณะนี้กระทรวงการคลัง กำลังพิจารณาเติมเงินให้คนกลุ่มนี้ให้มีรายได้เพิ่มขึ้น แบบเนกาทีฟ อินคัม แท็กซ์ เช่น มีรายได้ปีละ 25,000 บาท ก็ต้องเพิ่มรายได้ให้อีก 5,000 บาทต่อปี รวมเป็น 30,000 บาท แต่ต้องมีเงื่อนไขต้องทำงานหรือเข้าโครงการฝึกอาชีพสร้างรายได้แลกกับการได้รับความช่วยเหลือด้วย เพื่อให้สามารถพ้นความยากจนได้อย่างยั่งยืน

 “แนวคิดก็คือ หากขาดเงินเท่าไรรัฐจะเข้าไปช่วยเติมให้ โดยเป็นการทยอยให้เงินเป็นรายเดือน ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่จะแจกให้ผู้ลงทะเบียน เพื่อให้สามารถดำรงชีพได้ แต่มีเงื่อนไขต้องพัฒนาตัวเองให้พ้นความยากจนด้วย ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงการคลัง ต้องคิดอย่างรอบคอบ และอยู่ระหว่างการพิจารณาจำนวนผู้ผ่านคุณสมบัติที่มาลงทะเบียนว่ามีจำนวนเท่าไร โดยให้นักศึกษาไปช่วยลงพื้นที่จัดเก็บข้อมูลว่าเป็นคนจนจริงหรือไม่ รวมถึงจะตรวจดูข้อมูลกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อมาดูด้วย เพื่อให้สามารถรู้ว่าจะใช้งบประมาณที่มีได้เพียงพอหรือไม่ หรือหากไม่พอก็ต้องนำมาเฉลี่ย เช่น หากพบเป็นภรรยาไม่มีอาชีพแต่มีสามีคอยให้เงินก็ไม่เข้าข่ายให้ความช่วยเหลือ และหลังจากนี้จะสรุปแนวทางให้ความช่วยเหลือได้ภายใน 1 เดือน”

สำหรับงบประมาณเตรียมไว้ 80,000 ล้านบาทในก้อนแรก 30,000 ล้านบาท เป็นตัวงบประมาณประจำ จากเดิมที่ใช้ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยในส่วนของน้ำไฟฟรี รถเมล์รถไฟฟรีอยู่แล้ว แต่มาในปีนี้จะนำงบประมาณมาจัดความช่วยเหลือให้ตรงเฉพาะกลุ่มมากขึ้น ส่วนอีก 50,000 ล้านบาทเป็นกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ที่จะเข้ามาช่วยพัฒนาคนยากจนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในรูปแบบที่แตกต่างกัน เช่น คนเป็นช่าง เป็นเกษตรกร แนวทางความช่วยเหลือก็ไม่เหมือนกัน และขณะนี้กำลังหารือกับกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงแรงงานเพื่อจัดแนวทางที่เหมาะสมอยู่

จาก https://www.khaosod.co.th   วันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ไทย-ศรีลังกาพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนทางศก.

ไทย - ศรีลังกา พัฒนาความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ เร่งฟื้นความสัมพันธ์ ก่อนเจรจา FTA

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะอนุกรรมการด้านการค้า ระหว่างไทย - ศรีลังกา ครั้งที่ 2 เพื่อหารือแนวทางกระชับความสัมพันธ์ทางการค้า การสร้างหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ ตลอดจนแนวทางการจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย - ศรีลังกา โดยการประชุมครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จ หลังจากว่างเว้นการประชุมครั้งแรกมานานกว่า 12 ปี โดยครั้งนี้ถือเป็นการรื้อฟื้นกลไกความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนที่สำคัญระหว่างไทยและศรีลังกา สามารถผลักดันให้เกิดความเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจระหว่างกันมากขึ้น ทั้งนี้ ในการประชุมได้มีการหารือแนวทางความเป็นไปได้ในการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทย - ศรีลังกา ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะต้องดำเนินการตามกระบวนการภายในประเทศเพื่อขอความเห็นชอบ ให้สามารถเริ่มการเจรจาต่อไปได้

โดยศรีลังกาถือเป็นตลาดใหม่ที่มีความน่าสนใจ เนื่องจากในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ย ร้อยละ 6.5 อีกทั้งตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์เดินเรือตามเส้นทางสายไหมทางทะเลของจีนอีกด้วย

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ฝนหลวงฯ ปรับแผนเร่งเติมน้ำในเขื่อนทางภาคเหนือและบูรณาการช่วยพื้นที่การเกษตรอย่างต่อเนื่อง

 กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เร่งปฏิบัติการฝนหลวงเติมน้ำในเขื่อนทางภาคเหนือที่ยังมีปริมาณน้ำกักเก็บค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะเขื่อนแม่กวงอุดมธาราที่มีปริมาณน้ำอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ ซึ่งจากรายงานสถานการณ์น้ำในเขื่อนโดยกรมชลประทาน ระบุว่า ปัจจุบันระดับน้ำกักเก็บในเขื่อนแม่กวง อุดมธารายังมีปริมาณน้อยกว่า 20%

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า จากการประชุมวิเคราะห์การปฏิบัติการฝนหลวงและแนวโน้มสถานการณ์น้ำประจำวัน และการประสานข้อมูลกับสำนักชลประทานที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อติดตามสถานการณ์และความต้องการน้ำในพื้นที่ทางภาคเหนือ พบว่าสถานการณ์น้ำในเขื่อนทางภาคเหนือหลายแห่ง ยังมีปริมาณน้ำกักเก็บค่อนข้างน้อย และมีความต้องการให้เพิ่มปริมาณน้ำกักเก็บในเขื่อน จึงได้มอบหมายให้ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ ประสานงานกับศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคกลาง จังหวัดนครสวรรค์ ร่วมกันปรับแผนปฏิบัติการฝนหลวงเพิ่มปริมาณน้ำกักเก็บในเขื่อนทางภาคเหนือ โดยเน้นการปฏิบัติการในพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนภูมิพล และเขื่อนแม่กวงอุดมธารา สำหรับการดูแลพื้นที่การเกษตรบางส่วนที่มีพื้นที่อยู่ใกล้หน่วยปฏิบัติการใดให้พิจารณาความเหมาะสมในการดำเนินงาน เช่น พื้นที่การเกษตรบางส่วนในจังหวัดเพชรบูรณ์ซึ่งเป็นพื้นที่ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือรับผิดชอบ แต่เนื่องจากหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จังหวัดตาก มีภารกิจเติมน้ำในเขื่อนอยู่ทางภาคเหนือและอยู่ไกลจากพื้นที่ จึงต้องประสานให้หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จังหวัดลพบุรี ช่วยปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ดังกล่าว ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าและครอบคลุมภารกิจทั้งการเติมน้ำในเขื่อนและดูแลพื้นที่การเกษตร โดยผลการปฏิบัติการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา มีการขึ้นบินปฏิบัติการจำนวน 8 เที่ยวบิน จำนวนชั่วโมงบิน 8:35 ชั่วโมง ใช้สารฝนหลวงจำนวน 8.2 ตัน พบว่ามีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลาง ในบริเวณพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนภูมิพล และเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ทำให้มีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนภูมิพล 11.52 ล้านลูกบาศก์เมตร และปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนแม่กวงอุดมธารา 0.12 ล้านลูกบาศก์เมตร

อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า ในการขึ้นบินเพื่อปฏิบัติภารกิจต่างๆ ทุกครั้ง ให้ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงทุกแห่งระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการปฏิบัติการในพื้นที่น้ำหลาก น้ำท่วมขัง และพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ยังคงติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อช่วยให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไป อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทางเกษตรที่ไม่ต้องการน้ำ ทั้งจากการระบายน้ำจากเขื่อนและการปฏิบัติการฝนหลวง สำหรับประชาชนและผู้ที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างต่อเนื่องได้ที่ เพจ Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร หรือเว็บไซต์กรมฝนหลวงและการบินเกษตร

จาก http://www.siamrath.co.th   วันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2560

สั่งลุยเกษตรอินทรีย์เป้าปี 64 เพิ่มพื้นที่ 1.3 ล้านไร่

กระทรวงเกษตรฯ เดินหน้ายกระดับไทยเป็นผู้นำเกษตรอินทรีย์ในอาเซียน รุกขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ 5 ปี ตั้งเป้าปี 2564 ขยายพื้นที่ผลิตกว่าล้านไร่ พร้อมส่งเสริมเกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์เพิ่มกว่า 9 หมื่นราย

 พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงผลการดำเนินงานขับเคลื่อนนโยบายการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ ว่า กระทรวงเกษตรฯกำหนดนโยบายปฏิรูปภาคการเกษตร โดยมุ่งเน้นการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิต และยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร ตลอดทั้งผลิตสินค้าให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งแนวโน้มปัจจุบันมีความต้องการสินค้าที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ กระทรวงเกษตรฯ จึงได้กำหนดเป็นนโยบายการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ ซึ่งได้ประโยชน์ทั้งเกษตรกรที่จำหน่ายสินค้าเกษตรที่ได้ราคาสูงขึ้น และผู้บริโภคมีทางเลือกสินค้าที่ปลอดจากสารเคมีตกค้าง

 ทั้งนี้กระทรวงเกษตรฯ ได้เสนอยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2560-2564 ต่อคณะรัฐมนตรีและได้ผ่านความเห็นชอบ โดยจะใช้เป็นแนวทางขับเคลื่อนและพัฒนาเกษตรอินทรีย์ ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ 11 กลยุทธ์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 ส่งเสริมการวิจัย การสร้างและเผยแพร่องค์ความรู้และนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาการผลิตสินค้าและบริการเกษตรอินทรีย์ยุทธศาสตร์ที่ 3 พัฒนาการตลาดสินค้าและบริการ และการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ และยุทธศาสตร์ที่ 4 การขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์

ทั้งนี้ การขับเคลื่อนนโยบายเกษตรอินทรีย์ของกระทรวงเกษตรฯ ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ปี 2560-2564 มีเป้าหมายที่จะเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ในปี 2564 ไม่น้อยกว่า 1.33 ล้านไร่ และมีจำนวนเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 9.66 หมื่นราย เพิ่มสัดส่วนตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ในประเทศ 40% และตลาดต่างประเทศ 60% รวมทั้งยกระดับกลุ่มเกษตรอินทรีย์วิถีพื้นบ้านเพิ่มขึ้น โดยมุ่งให้ความสำคัญกับกลุ่มเกษตรอินทรีย์ที่มีความพร้อมเป็นผู้นำต้นแบบในการดำเนินการเพื่อให้มีอาหารปลอดภัยและได้มาตรฐาน

“ผลผลิตจากเกษตรอินทรีย์จะทำให้เกษตรกรผู้ผลิตมีรายได้เพิ่มมากขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยปัจจุบันมีพื้นที่ผลิตเกษตรอินทรีย์ทั่วโลกรวม 318 ล้านไร่ ใน 183 ประเทศ ในขณะที่ด้านการตลาดมีมูลค่าสินค้าเกษตรอินทรีย์ทั่วโลกรวม 3 ล้านล้านบาท สำหรับในประเทศไทยมีพื้นที่ผลิตรวม 0.3 ล้านไร่ โดยไทยเป็นอันดับที่ 8 ของเอเชีย และอันดับที่ 60 ของโลก ซึ่งสินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทยที่สำคัญ ได้แก่ กะทิ เครื่องแกง ซอส มูลค่า 1,201 ล้านบาท ข้าว 552 ล้านบาท และอื่นๆ  เช่น มะพร้าวน้ำหอม ชา กาแฟ และสมุนไพร 558 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่ารวม 2,310 ล้านบาท โดยยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติจะช่วยผลักดันประเทศไทยเป็นผู้นำในระดับภูมิภาคด้านการผลิต การค้า การบริโภค และการบริการเกษตรอินทรีย์ที่มีความยั่งยืนและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล” พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว

 นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวถึงผลการดำเนินงานขับเคลื่อนนโยบายเกษตรอินทรีย์ในปี 2560 ว่า ได้แบ่งพื้นที่การดำเนินงานออกเป็น 2 ส่วน คือ จังหวัดยโสธร ซึ่งมีการปลูกข้าวอินทรีย์เป็นพืชหลัก ปลูกพืชผักหลังนา และเลี้ยงไก่อินทรีย์เป็นกิจกรรมเสริม และพื้นที่ทั่วไป ซึ่งมีกิจกรรมหลากหลายทั้งพืช ทั้งนี้ ผลการตรวจรับรองเกษตรอินทรีย์ใน       ปี 2560 พื้นที่รวมทั้งประเทศ 1.09 แสนไร่ แยกเป็นข้าว 9.82 หมื่นไร่ และพืชผสมผสาน 9,103 ไร่

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2560

บาทแข็งลากยาวไตรมาส 2 ปีหน้า

แบงก์กรุงศรีฯประเมินปัจจัยต่างประเทศยังกดดันทิศทางค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่องถึงไตรมาส 2 ปี 2561

ความท้าทายช่วงที่เหลือของปี 2560 ต่อตลาดเงินยังโฟกัสปัจจัยต่างประเทศเป็นหลัก ไม่ว่าการเลือกตั้งทั่วไปในอังกฤษการประกาศดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) รวมทั้งธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา(เฟด) ประชุมวันที่ 13-14 มิถุนายนนี้ หรือมาตรการคุมเข้มนโยบายการคลังชุดใหม่ของรัฐบาลกรีซการเลือกตั้งทั่วไปในเยอรมนี หรือ แนวโน้มที่รัฐบาลอิตาลียุบสภาและการเลือกตั้งในอิตาลี เหล่านี้ ล้วนส่งผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้าย ซึ่งต้องจับตาการเคลื่อนไหวของเงินบาทในระยะข้างหน้า

นายตรรก บุนนาค ประธานเจ้าคณะหน้าที่ด้านโกลบัลมาร์เก็ตธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน) กล่าวว่าแนวโน้มตลาดเงินและทิศทางอัตราดอกเบี้ยครึ่งหลังปี 2560 เงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่า เนื่องจากนักลงทุนกังวลต่อการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางประเทศสำคัญๆตลาดรอความชัดเจนทั้งนโยบาย เฟดและอีซีบี ขณะที่เฟดอาจปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.50% สู่ 1.25-1.5% ในปีนี้ท่ามกลางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและคาดการณ์เงินเฟ้อที่สูงขึ้น ประกอบกับตัวแปรที่ต้องติดตามไม่ว่าการเมืองโลกและสหรัฐฯ ความเสี่ยงที่ทรัมป์จะเผชิญกระบวนการถอดถอนจากตำแหน่งประธานาธิบดีเสถียรภาพเศรษฐกิจจีนรวมถึงค่าเงินหยวน

“เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่องถึงไตรมาส 2 ปี 2561ที่ระดับ 33.75 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในกรอบ 32.75-34.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันเงินบาทแข็งค่า5.1% สอดคล้องกับสกุลเงินในภูมิภาค แต่ในบางช่วงเงินบาทแข็งค่ากว่าสกุลเงินของประเทศคู่แข่งและคู่ค้ากระทบความสามารถแข่งขันด้านราคาของผู้ส่งออกไทย”

ขณะที่คาดการณ์ไตรมาสแรกปีหน้าดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯแตะ 1.41% อังกฤษ 0.50% ญี่ปุ่นติดลบ 0.10% ยูโรโซน 0.00%โดยกนง.อาจส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยในปีหน้าหลังสิ้นปีนี้ยังทรงตัวที่ 1.50%

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2560

แบงก์ชาติพร้อมถกกกร. จัดการปัญหาค่าบาทแข็ง

นางจันทรวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายทรัพยากรบุคคลและพัฒนาองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

เปิดเผยถึงกรณีที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบันประกอบด้วย สภาหอการค้าไทย สมาคมธนาคารไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) จะหารือกับ ธปท. เพื่อประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการทำประกันความเสี่ยงภายหลังจากค่าเงินบาทแข็งค่าเร็วจนกระทบความสามารถในการแข่งขัน และจะหาแนวทางกำหนดให้มีมาตรการป้องกันเงินทุนไหลเข้า-ออก ระยะสั้นด้วยนั้น ในเบื้องต้น ธปท.ยังไม่ได้รับการติดต่อมาจากกกร. ในเรื่องการหารือดังกล่าว

ทั้งนี้ ธปท.ยืนยันว่า พร้อมที่จะหารือเพื่อร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นกับคณะทำงานกลุ่มดังกล่าว ในเรื่องของสถานการณ์เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก รวมถึงการค้าโลก และความสามารถในการแข่งขันในระยะข้างหน้าด้วย

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นางสาววชิรา อารมณ์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธปท. ได้ระบุว่า ธปท. ยังติดตามดูแลสถานการณ์ของอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด ซึ่งยอมรับว่า หากพบการเก็งกำไรเกิดขึ้นที่รุนแรง ก็มีความเป็นไปได้ที่จะออกมาตรการดูแลตามความเหมาะสม และที่ผ่านมา ภาคเอกชนได้หารือกับธปท.ในเรื่องดังกล่าว เช่น สภาหอการค้าไทย ได้มาหารือกับธปท. โดยสภาหอการค้าไทยระบุว่า ภาคเอกชนมีความเข้าใจว่าสถานการณ์ค่าเงินบาทที่ผันผวนในขณะนี้ เกิดจากเศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวน และเป็นปัจจัยภายนอกเป็นหลัก ดังนั้นจึงไม่อยากให้กังวลมากในเรื่องดังกล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2560

โลกการค้า : ก.อุตสาหกรรมเอ๊ย...มันน่าโดน ม.157...

หลังจาก...โลกการค้า...เมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา..ได้นำเสนอบทความกรณีความเดือดร้อนของชาวบ้านอำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว ได้รับความเดือดร้อนจากกรณีที่โรงงานบ่อกำจัดกากอุตสาหกรรมที่มีพิษและไม่มีพิษ...ปล่อยให้เกิดกลิ่นเหม็นรุนแรงและปล่อยให้เกิดการรั่วซึมและปนเปื้อนของโลหะหนัก...ทั้งสารปรอท สารตะกั่ว และโคเมียม...ในน้ำใต้ดินและแหล่งน้ำทั่วไปในชุมชนนั้น...สำนักปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ทำเอกสารชี้แจงซึ่ง...โลกการค้า....จะสรุปใจความสำคัญมาให้อ่านกันดังนี้....สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสระแก้ว (สอจ.สก.) ได้รับเรื่องร้องเรียน พร้อมลงพื้นที่ร่วมกับชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ภายในวันที่ 11 เมษายน 2560 ทันที เพื่อตรวจสอบว่ามีปัญหาที่ใด โดยพบว่ามีจุดบกพร่องรวม 3 จุด คือ 1.บ่อฝังกลบ L6 ที่ส่งกลิ่นค่อนข้างรุนแรง เนื่องจากมีการทำฝนเทียม ทำให้เกิดน้ำขังอยู่ในบ่อจำนวนมาก จึงเป็นเหตุให้เกิดกลิ่นรบกวนชาวบ้าน 2.อาคารเก็บผง ฝุ่นตะกรันอะลูมิเนียม หรือดรอส เป็นอาคารโล่งซึ่งอาจจะก่อให้เกิดการปลิวออกมาภายนอก และ 3.ห้องปรับเสถียรมีการแตกร้าวของกล่องเหล็กซึ่งอาจทำให้เกิดการรั่วซึมของสารเคมีได้

... สอจ.สก.ได้สั่งการด้วยวาจาในวันนั้นให้รีบดำเนินการแก้ไขในส่วนที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนเรื่องกลิ่นก่อนโดยด่วน และออกคำสั่งตามมาตรา 37 เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2560 ให้แก้ไขปรับปรุงให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2560...ซึ่งการแก้ไขโดยในส่วนของบ่อฝังกลบ L6 ได้ดำเนินการปรับสภาพขยะในบ่อ โดยทำคันดินรอบบ่อสูงเพิ่ม 2 เมตร และใช้พลาสติกคลุมปากบ่อทั้งหมดแล้วเสร็จโดยกลิ่นไม่ไปรบกวนชาวบ้านแล้ว...ส่วนห้องเก็บผงฝุ่นตะกรันอะลูมิเนียมได้มีการทำผนังกั้นห้องทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว...สำหรับกรณีห้องปรับเสถียรซึ่งจะต้องมีการขุดเอากล่องเหล็กขนาดใหญ่ที่ฝังในดินออกมาก่อนและตรวจสอบว่าคอนกรีตหนา 0.60 เมตร มีความเสียหายด้วยหรือไม่ และทำกล่องเหล็กกล่องใหม่ฝังแทนตัวเดิม ซึ่งในส่วนนี้ต้องใช้เวลามากทางบริษัทได้ทำหนังสือแจ้งมายัง สอจ.สก.ขอขยายเวลาจากวันที่ 15 พฤษภาคม 2560 ไปเป็นวันที่ 5 มิถุนายน 2560 โดยทางบริษัทได้แจ้งการหยุดรับกากทั้งหมดจนกว่าการปรับปรุงแก้ไขจะเสร็จสมบูรณ์จึงทำให้ขณะนี้ภายในโรงงานไม่มีการดำเนินการแต่อย่างใด

....นอกจากนี้จังหวัดสระแก้วยังได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานไตรภาคีเพื่อแก้ปัญหาด้านมลพิษและกลิ่นเหม็น...โดยเน้นการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว เป็นประธาน...คณะทำงาน มีหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดสระแก้ว ผู้แทนภาคประชาชน ผู้ร้องเรียนและผู้ได้รับผลกระทบ ผู้แทนฝ่ายโรงงาน ผู้แทนสมาคมผู้สื่อข่าวจังหวัดสระแก้ว...นั่นคือสิ่งที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้ทำเอกสารชี้แจงมาครับพี่น้อง...!! โลกการค้า..ทราบมาว่าล่าสุดเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน ที่ผ่านมา...มีการประชุมของคณะกรรมการไตรภาคี ที่จังหวัดสระแก้วตั้งขึ้น...แต่ชาวบ้านและผู้ได้รับกระทบกลับต้องผิดหวังและหวาดหวั่นต่อมลพิษและผลร้ายต่อสุขภาพเช่นเดิม...เพราะที่ประชุมไม่มีข้อสรุปใดๆเลย...ไม่มีการเก็บตัวอย่างดินและตัวอย่างน้ำ..ไปตรวจสอบหาโลหะหนักอย่างที่ชาวบ้านเรียกร้อง...แม้ว่าชาวบ้านจะยินดีออกค่าใช้จ่ายเองโดยใช้เงินกองทุนสิ่งแวดล้อม ต.โนนหมากเค็ง...ที่ประชุมก็ไม่สั่งการให้ดำเนินการ...!! ทำไม???...ก็ไหนบอกว่า ให้เน้นการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน

...เขาร้องขอขนาดนี้ทำไมไม่ทำ...จะให้โลกการค้า...คิดไปอย่างอื่นได้อย่างไรนอกจากนี้เป็นการพยายามจะปกป้องร่องรอยความผิด...การปนเปื้อนของโลหะหนักในดินนั้น...หากมีการอัดน้ำลงไปหรือมีฝนตกลงมามากๆ ระยะหนึ่งความเข้มข้นก็เจือจางลงได้....!! แต่ปัญหามันอยู่ที่ว่า....น้ำที่ชะล้างโลหะหนักไปนั้นก็ไหลซึมลงน้ำใต้ดินและไหลไปสู่แหล่งน้ำสาธารณะต่อไป...ในที่สุดสารพิษเหล่านี้ก็ไปสะสมอยู่ในร่างกายของชาวบ้าน...!! ทำงานกันแบบ “แก้ผ้าเอาหน้ารอด” แบบนี้...สมควรโดน ม.157 กันจริงๆ นะเนี่ย....!!

จาก http://www.naewna.com วันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2560

"ศุภชัย" ชี้ทางรอดเกษตร กล้าเปลี่ยนนอกกรอบ-เปิดเสรีราคา

หลังจาก"ศุภชัย เจียรวนนท์" ขึ้นรับไม้ต่อประธานคณะผู้บริหาร อาณาจักรเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) ด้วยบทบาทของคนรุ่นใหม่ เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้มาเปิดมุมมอง เกษตรทันสมัยและการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายใต้การปาฐกถาในหัวข้อ "Smart Agriculture and Food Management for Sustainability" ซึ่งจัดโดยสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) ในงานประชุมวิชาการระดับชาติปัญญาภิวัฒน์ ครั้งที่ 7

แนะกล้าเปลี่ยนสู่ Startup 4.0

โดยศุภชัยสะท้อนว่า ปัจจุบันภาคการเกษตรและอาหารโลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุค Smart Agriculture เป็นโลกแห่งการเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง แบ่งออกเป็น 4 ยุค คือ ยุคแรกเป็นการผลิตอาหารเพื่อปากท้อง ยุคที่สอง มีการค้นพบพลังงานน้ำมันเพื่อผลิตเป็นอุตสาหกรรมเบา เป็นจุดเริ่มต้นของ ซี.พี. ในฐานะอุตสาหกรรมเกษตร ยุคที่สาม ยุคของอุตสาหกรรมหนัก การทำธุรกิจจะเริ่มเชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจโลก และยุคที่สี่ เป็นยุคของนวัตกรรม การสร้างมูลค่าเพิ่ม คือ ยุคปัจจุบัน

เมื่อผู้คนหันมาใส่ใจ "สุขภาพและสิ่งแวดล้อม" จึงส่งผลต่อ "ธุรกิจอาหารและการเกษตร" จำเป็นต้องพัฒนาคุณภาพควบคู่ไปกับความเชื่อมโยงที่รวดเร็วและใช้เวลาสั้นลง ดังนั้นผู้ประกอบการต้องกล้าปรับเปลี่ยนตัวเองให้อยู่ในรูปแบบของ Startup

เห็นได้จากกลุ่มบริษัทที่เป็น Big Data ทั้ง Apple, Google เป็นกลุ่ม Startup ที่ประสบความสำเร็จในระยะเวลาอันรวดเร็ว เหล่านี้จะกลายเป็นพื้นฐานสำคัญของระบบเศรษฐกิจ เรียกว่า Digitization ฉะนั้น การทำงานแบบ Startup จะเป็นระบบวันต่อวัน

ยกตัวอย่าง 7-Eleven ธุรกิจที่ใกล้เคียง แต่ยังไม่ถึงรูปแบบดิจิทัล เพราะยังไม่สามารถเชื่อมโยงตลาดใหญ่หรือระดับมหภาคได้ ตรงกันข้ามจะเห็นกลุ่มธุรกิจไอทีอย่าง Nokia อดีตบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ไม่สามารถปรับตัวได้ ต้องหายไปโดยปริยาย ฉะนั้นการปรับตัวให้เท่าทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบันจึงสำคัญ โดยเฉพาะการลงทุนด้านนวัตกรรมจึงมีส่วนสำคัญมาก

จี้รัฐแก้วังวนราคาสินค้าเกษตร

การผลักดันนโยบายไทยแลนด์4.0 จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่พัฒนานวัตกรรมและการเชื่อมโยงข้อมูลอย่างจริงจังและต้องกล้าปรับเปลี่ยน ไม่อย่างนั้นแล้วอาจจะถูกมาเลเซีย เวียดนาม ทิ้งห่างออกไป

ขณะเดียวกันนานาประเทศมีนโยบายให้ความสำคัญในการวางโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาภาคอุตสาหกรรม เช่น อังกฤษ เน้นด้านการศึกษา จีนมีนโยบายยกระดับการเป็น Hub ภูมิภาค ภายใต้แผน Ecomomic Zoning รูปแบบ One Belt One Road เส้นทางสายไหม โดยมองทุกอย่างเป็นการเกื้อกูลระดับภูมิภาค

กลับมามองที่ภาคการเกษตรของไทย ถือเป็นฐานหลักระบบเศรษฐกิจ พบมีทั้งข้อดี-ข้อเสีย ไทยได้เปรียบด้านสภาพภูมิอากาศ ภูมิประเทศที่สมบูรณ์เอื้อต่อการทำเกษตรในทุกมิติ แต่สินค้าเกษตรหลักกลับมีผลเฉลี่ยต่ำ และต้นทุนสูงหากเทียบกับประเทศผู้ผลิตเดียวกัน จึงจำเป็นอย่างยิ่งต้องพัฒนาให้มีเทคโนโลยีทันสมัยเข้ามาตอบสนอง

รวมไปถึงเกษตรกรไทยยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและสถาบันการเงินทำให้เกิดปัญหาการกู้หนี้ยืมสิน ประกอบกับต้องเผชิญความเสี่ยงภัยธรรมชาติทั้งปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม ปัญหาราคาตลาดที่ผันผวน ความไม่แน่นอนทางการเมืองต่าง ๆ ทำให้เกษตรกรไทยอยู่ในวังวนการมีหนี้สิน

แม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลได้พยายามแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรแต่เพื่อไม่ให้กระทบต่อภาพรวม และค่าครองชีพ จึงทำให้ราคาไม่ขยับขึ้น ขณะเดียวกันการถูกควบคุมราคายังถือเป็นปัญหา

ดึง สหกรณ์ ออกนอกกรอบ กม.

ปัจจุบันรัฐบาลมีความพยายามที่จะขจัดความยากจน โดยให้ Agenda แรก ภาคเอกชนต้องเข้ามามีบทบาทในการลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาศักยภาพและยกระดับคุณภาพมนุษย์

เห็นตัวอย่างจากหลายประเทศ เช่น เยอรมนี ได้ข้ามผ่านจาก 1.0 สู่ 4.0 ด้วยระบบสหกรณ์ที่เข้มแข็ง สหรัฐอเมริกาใช้ระบบเกษตรพันธสัญญา(Contract Farmimg) ลักษณะ "ปลาใหญ่กินปลาเล็ก" จึงเป็นการเกษตรรวมกลุ่มรูปแบบฟาร์มขนาดใหญ่ และมีพื้นที่จำนวนมาก สามารถใช้เครื่องจักรเพิ่มประสิทธิภาพ

ส่วนไทยกลับเผชิญปัญหาการบริหารจัดการ ปัญหาการเมืองท้องถิ่น หรืออย่างระบบสหกรณ์มีปัญหาและขาดความชัดเจนในแต่ละบทบาท และขาดการเชื่อมโยง Contract Farming จึงถูกมองเป็นเรื่องความไม่น่าไว้วางใจ ทั้งนี้ ทั้งหมดเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องร่วมกันคิด ร่วมกันแก้ไข ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่ง

โมเดลที่จะสามารถพัฒนาเกษตรกรไทยไปสู่ Industrialization จะเป็นการจัดตั้งสหกรณ์รูปแบบใหม่ หรือ Social Enterprise ให้ผู้ประกอบการเป็นพาร์ตเนอร์กับเกษตรกร และเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุในอนาคต คนรุ่นใหม่จะสนใจภาคเกษตรหรือไม่อย่างไร

"ถ้าคนรุ่นใหม่กลับไปทำ ลักษณะคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่งที่เป็นพาร์ตเนอร์ชิปกับเกษตรกร เช่น การจัดตั้งองค์กรสหกรณ์ที่ไม่ได้อยู่ในกรอบของกฎหมายปัจจุบัน หรือ Social Enterprise หรือให้คนรุ่นใหม่สามารถ Operate แบบ Startup ให้มีการตั้งกองทุนเข้ามาส่งเสริม หรือเป็นไปได้หรือไม่ว่าจะมี Tax Insentive เข้ามาช่วย โดยทำให้เกษตรกรเป็นพาร์ตเนอร์หรือเป็นผู้ถือหุ้นในองค์กรที่จัดตั้งขึ้นมา เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในที่สุด"

รับผิดชอบต่อสังคมไม่ใช่ CSR

การทำธุรกิจในปัจจุบันต้องรับผิดชอบต่อสังคมที่ไม่ใช่เพียง CSR ต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและความเป็นธรรมกับผู้บริโภค

ยกตัวอย่าง ภาคเหนือลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่สูง เดิมปลูกฝิ่น เปลี่ยนมาปลูกข้าวโพด พืชทนแล้ง แต่การปลูกข้าวโพดกลับไม่คุ้มทุนเพราะผลผลิตเฉลี่ยเพียง 400-500 กก./ไร่ และมีค่าขนส่งสูง ขณะที่การปลูกข้าวโพดในพื้นที่ราบให้ผลผลิตเฉลี่ยสูงถึง 1,200-1,500 กก./ไร่

ดังนั้น กาแฟ และชา น่าจะเป็นพืชทางเลือกของเกษตรกรในภาคเหนือ ยกตัวอย่างเครือ ซี.พี. ที่ อ.ท่าวังผา จ.น่าน มีการส่งเสริมปลูกกาแฟแทนข้าวโพด โดยตั้งกองทุนเพื่อลดพื้นที่การปลูกข้าวโพดบนที่สูง จากเดิม 100% เหลือเพียง 30% ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการปลูกกาแฟ และไม้ยืนต้น

นายศุภชัยกล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมา บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เผชิญกับการถูกกล่าวหาเรื่องการใช้แรงงานทาส จากกรณีการส่งออกกุ้ง โดยมีปลาป่นเป็นวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์ ปัจจุบันได้หยุดการซื้อปลาป่นจากเรือประมง และให้หน่วยงานวิจัยศึกษาวัตถุดิบที่จะมาทดแทนปลาป่น โดยเน้นต้องเป็นวัตถุดิบที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้เท่านั้น เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับภาครวมสินค้าเกษตรไทยกับประเทศคู่ค้า

เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีมาตรการลดเครื่องมือและขนาดเรือจับปลาเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการสากลการขับเคลื่อนสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนและเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องหารือและร่วมกันดำเนินการ ซี.พี. เพียงหน่วยงานเดียวไม่สามารถดำเนินการได้ แต่เราพร้อมเป็นหนึ่งในองค์กรที่จะขับเคลื่อนสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2560

บาทแข็งลากยาวไตรมาส 2 ปีหน้า

แบงก์กรุงศรีฯประเมินปัจจัยต่างประเทศยังกดดันทิศทางค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่องถึงไตรมาส 2 ปี 2561

ความท้าทายช่วงที่เหลือของปี 2560 ต่อตลาดเงินยังโฟกัสปัจจัยต่างประเทศเป็นหลัก ไม่ว่าการเลือกตั้งทั่วไปในอังกฤษการประกาศดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) รวมทั้งธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา(เฟด) ประชุมวันที่ 13-14 มิถุนายนนี้ หรือมาตรการคุมเข้มนโยบายการคลังชุดใหม่ของรัฐบาลกรีซการเลือกตั้งทั่วไปในเยอรมนี หรือ แนวโน้มที่รัฐบาลอิตาลียุบสภาและการเลือกตั้งในอิตาลี เหล่านี้ ล้วนส่งผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้าย ซึ่งต้องจับตาการเคลื่อนไหวของเงินบาทในระยะข้างหน้า

นายตรรก บุนนาค ประธานเจ้าคณะหน้าที่ด้านโกลบัลมาร์เก็ตธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน) กล่าวว่าแนวโน้มตลาดเงินและทิศทางอัตราดอกเบี้ยครึ่งหลังปี 2560 เงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่า เนื่องจากนักลงทุนกังวลต่อการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางประเทศสำคัญๆตลาดรอความชัดเจนทั้งนโยบาย เฟดและอีซีบี ขณะที่เฟดอาจปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.50% สู่ 1.25-1.5% ในปีนี้ท่ามกลางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและคาดการณ์เงินเฟ้อที่สูงขึ้น ประกอบกับตัวแปรที่ต้องติดตามไม่ว่าการเมืองโลกและสหรัฐฯ ความเสี่ยงที่ทรัมป์จะเผชิญกระบวนการถอดถอนจากตำแหน่งประธานาธิบดีเสถียรภาพเศรษฐกิจจีนรวมถึงค่าเงินหยวน

“เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่องถึงไตรมาส 2 ปี 2561ที่ระดับ 33.75 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในกรอบ 32.75-34.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันเงินบาทแข็งค่า5.1% สอดคล้องกับสกุลเงินในภูมิภาค แต่ในบางช่วงเงินบาทแข็งค่ากว่าสกุลเงินของประเทศคู่แข่งและคู่ค้ากระทบความสามารถแข่งขันด้านราคาของผู้ส่งออกไทย”

ขณะที่คาดการณ์ไตรมาสแรกปีหน้าดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯแตะ 1.41% อังกฤษ 0.50% ญี่ปุ่นติดลบ 0.10% ยูโรโซน 0.00%โดยกนง.อาจส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยในปีหน้าหลังสิ้นปีนี้ยังทรงตัวที่ 1.50%

จาก http://www.thansettakij.com   วันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ชาวสวนโวยยางก้อนถ้วย 5 โล 100 แกนนำ 9 องค์กรบุกกรุงจี้รัฐบาลเร่งแก้

ชาวสวนโวยราคายางร่วงเหลือ 5 โลร้อย แกนนำ 9 องค์กร บุกกรุงเตรียมหารือเคลื่อนไหว 9 มิ.ย. จี้รัฐบาลเร่งแก้ สยยท.ออกตัวแรงไม่เอาแทรกแซงราคา หนุน กยท.แข่งซื้อพ่อค้าชี้นำตลาด 60 บาท/กก. "ฉัตรเฉลิม" แย้มชง ครม.ช่วยเร็วๆ นี้

 ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา(29 พ.ค.-5 มิ.ย.60) ราคายางแผ่นดิบ ณ ตลาดกลางสงขลา ตกต่ำลงเฉลี่ย 13.87 บาท/กก. ส่งผลให้ชาวสวนยางใน 64 จังหวัดเริ่มมีการเคลื่อนไหว ทั้ง ๆ ที่เพิ่งจะเริ่มเปิดกรีดยางได้ไม่เท่าไร แต่ทำไมราคายางจึงตกต่ำลง

 นายอภิชาติ กรณ์โคกกรวด เกษตรกรชาวสวนยางพารา อ.ดอยหลวง จ.เชียงราย มีพื้นที่เปิดกรีด 30 ไร่ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ราคายางก้อนถ้วย วันที่ 5 มิถุนายน 2560 ขายผ่านพ่อค้าคนกลางราคา 20 บาท/กก. หรือ 5 กก.ขายได้ 100 บาท ขณะที่สัปดาห์ที่แล้วขายได้ 25 บาท/กก. ซึ่งไม่ทราบสาเหตุทำไมราคาตกต่ำ จากทุกวันนี้กรีดน้ำยางไม่ได้ทุกวัน เพราะมีฝนตกชุก จึงอยากให้ทางรัฐบาลลงมาดูแลและแก้ไขปัญหาเร่งด่วน

สอดคล้องกับ นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สยยท.) กล่าวว่าในวันที่ 9 มิถุนายน 2560 ทางแกนนำ 9 องค์กรยางทั่วประเทศจะมาหารือที่กรุงเทพฯ เพื่อหาแนวทางให้รัฐบาลช่วยเหลือยางราคาตกต่ำ ซึ่ง ทาง สยยท.เสนอให้ กยท.ตั้งบริษัทลูกซื้อยางชี้นำราคาที่ 60 บาทต่อกิโลกรัม แบบซื้อมาขายไปไม่เก็บสต๊อกยอมขาดทุนเล็กน้อย แต่ไม่เอาโครงการแทรกแซง เนื่องจากที่ผ่านมารายย่อยเข้าไม่ถึงโครงการ ทั้งนี้ยางก้อนถ้วยภาคใต้ราคาที่ 18 บาท/กก. ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ที่ 20 บาท/กก

 ขณะที่ พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เผยว่า สถานการณ์ราคายางตลาดกลางยางพาราจังหวัดสงขลา ณ วันที่ 5 มิถุนายน ยางแผ่นดิบแตะระดับ 56.01 บาท/กก. ปรับตัวลดลง 6.34 บาท/กก. และยางแผ่นรมควัน 57.79 บาท/กก. ปรับตัวลดลง 5.99 บาท/กก. ราคาดังกล่าวผิดปกติแน่นอน เพราะปริมาณยางในตลาดมีน้อย แทบทุกวันมีฝนตกทั่วทุกภาค ชาวสวนแทบไม่ได้กรีดยาง

 อย่างไรก็ดีขอให้ชาวสวนกรีดยางแล้วให้เก็บไว้ก่อน ในเร็ว ๆ นี้ทาง กยท.มีหลายมาตรการที่จะนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความช่วยเหลือ

จาก http://www.thansettakij.com   วันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2560

บอร์ดน้ำตาลบุรีรัมย์ โปรยยาหอมให้สิทธิผู้ถือหุ้นซื้อ IPO หุ้น BRRGIF ชูผลตอบแทนระยะยาว  

           ผู้บริหารน้ำตาลบุรีรัมย์ ชี้บอร์ดมีมติให้สิทธิผู้ถือหุ้น BRR ซื้อไอพีโอ BRRGIF ในอัตรา 17.8484 : 1 เหมาะสม ระบุคำนึงผลประโยชน์ผู้ถือหุ้นเป็นหลัก หลังมองกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ ให้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว

               นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวันที่ 6 มิถุนายนที่ผ่านมา ได้อนุมัติแผนการเสนอขายหน่วยลงทุนที่ออกใหม่ หรือ ไอพีโอ ของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ (BRRGIF) ซึ่งเป็นการลงทุนในสิทธิในรายได้สุทธิจากการประกอบกิจการโรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัทย่อย โดยจะนำหน่วยลงทุนของกองทุนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)

                ทั้งนี้ คณะกรรมการได้มีมติกำหนดให้สิทธิผู้ถือหุ้นสามัญของน้ำตาลบุรีรัมย์ ตามสัดส่วนการถือหุ้นสามัญในบริษัท ในการจองซื้อหน่วยลงทุนไอพีโอ BRRGIF เพื่อรักษาสิทธิ (Pre-emptive Right) จำนวนไม่เกิน 45.5 ล้านหน่วย หรือไม่เกิน 13% ของจำนวนหน่วยลงทุนของกองทุน โดยกำหนดสัดส่วน 17.8484 หุ้นสามัญของ BRR ต่อ 1 หน่วยลงทุนของ BRRGIF ส่วนราคาเสนอขายเป็นราคาเดียวกับการเสนอขายต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก โดยผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ มีสิทธิที่จะจองซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนฯ เกินกว่าสิทธิของตนตามอัตราส่วนที่กำหนดไว้ได้ (Oversubscription)

                โดยให้วันที่ 20 มิถุนายน 2560 เป็นวันกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัทที่มีสิทธิจองซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนในการเสนอขายต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (Record Date) และกำหนดให้วันที่ 21 มิถุนายน 2560 เป็นวันปิดสมุดทะเบียนเพื่อรวบรวมรายชื่อผู้ถือหุ้น โดยบริษัทเตรียมขึ้นเครื่องหมาย XB หรือ วันที่ผู้ถือหุ้น BRR ไม่ได้รับสิทธิจองซื้อหน่วยลงทุนไอพีโอ BRRGIF ในวันที่ 16 มิถุนายน 2560

                ส่วนราคาเสนอขาย กำหนดการจองซื้อ และวิธีชำระค่าหุ้น รวมไปถึงรายละเอียดอื่นๆ อยู่ในระหว่างการดำเนินการจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง

               “การกำหนดสิทธิครั้งนี้ถือว่าเหมาะสม เนื่องจากบริษัทมีนโยบายคำนึงผลประโยชน์ผู้ถือหุ้นของ BRR เป็นหลัก ต้องการให้ได้รับผลตอบแทนที่ดี และต่อเนื่องในระยะยาว จากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ ที่มีจุดเด่นในด้านการเป็นพลังงานทดแทน มีรายได้จากโรงไฟฟ้าชีวมวลที่มีวัตถุดิบแน่นอน เนื่องจากใช้กากอ้อย ซึ่งเป็นผลพลอยได้จาการผลิตน้ำตาล และลดความเสี่ยงด้านปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ” นายอนันต์ กล่าว

               สำหรับกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ เป็นการโอนสิทธิรายได้จากการประกอบกิจการโรงไฟฟ้าของบริษัทในเครือ 2 แห่ง ประกอบด้วย บริษัท บุรีรัมย์พลังงาน จำกัด (BEC) และ บริษัทบุรีรัมย์เพาเวอร์ จำกัด (BPC) เข้ากองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ ซึ่งโรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่ง มีกำลังการผลิตรวม 19.8 เมกะวัตต์ และมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ (COD) กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ปริมาณรับซื้อพลังงานไฟฟ้าสูงสุดรวม 16 เมกะวัตต์ ในรูปแบบ Freed-in Tariff (FiT) ที่กำหนดราคาซื้อขายไฟฟ้าอยู่หน่วยละ 4.54 บาท

 จาก http://manager.co.th  วันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2560 

กาตาร์เอฟเฟกต์-บาทแข็งกระทบส่งออกพาณิชย์เล็งปรับเป้าใหม่

กาตาร์เอฟเฟกต์-บาทแข็ง ส่งผลกระทบ พาณิชย์เล็งทบทวนปรับเป้าส่งออกใหม่ สงวนท่าทีรอผลศึกษา จับตาสถานการณ์ในตะวันออกกลางกระทบเส้นทางการขนส่ง

 น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า  (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เผยถึง กรณีชาติอาหรับตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับกาตาร์ว่า หากเหตุการณ์ยังยืดเยื้อจะส่งผลกระทบต่อตัวเลขประมาณการณ์ส่งออกในภาพรวม เพราะอาจจะส่งผลต่อราคาน้ำมันในตลาดโลก รวมทั้งสินค้าอุตสาหกรรมหลักๆคือรถยนต์ เครื่องปรับอากาศ และอาหารที่คิดเป็นสัดส่วนรวมกันประมาณ 35% ของมูลค่าการส่งออกไทยไปตะวันออกกลางหากมีปัญหาด้านการขนส่งก็จะมีผลต่อการส่งออกของไทยในกลุ่มสินค้าดังกล่าวไปด้วย ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์จะติดตามผลกระทบจากเหตุการณ์ต่อการค้าของไทยอย่างใกล้ชิด และแจ้งเตือนผู้ส่งออกเป็นระยะต่อไป

 ขณะเดียวกันจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจะส่งผลกระทบอย่างแน่นอนต่อตัวเลขการส่งออกไทยโดยสนค.ประมาณการณ์ส่งออกไว้ที่ 2.5-3.5% ภายใต้สมมุติฐาน ค่าเงินบาท 35.5-37.5  บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯราคาน้ำมันดิบที่ 50-60 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล โดยขณะนี้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างมาก แตะที่ 34.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเกือบถึงประมาณการณ์ขั้นต่ำของสนค.แล้ว หากยังเป็นแบบนี้ต่อไปก็ต้องมีการปรับประมาณการณ์ตัวเลขส่งออก อย่างไรก็ตามขอเวลาศึกษาก่อนว่าจำเป็นต้องทบทวนหรือไม่ เพราะโดยปกติแล้วการทบมวนตัวเลขส่งออกจะทำเพียงปีละ 2 ครั้งคือต้นปีและปลายปี ส่วนเป้าหมายการส่งออกของรัฐบาลยังอยู่ที่  5% เหมือนเดิม

 ด้านนางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกล่าวว่า ได้รับรายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าฯ ณ เมืองดูไบ ว่าผลกระทบต่อการค้าของไทยเบื้องต้นคือ การขนส่งสินค้าทางถนนผ่านทางดูไบไปกาตาร์จะไม่สามารถดำเนินการได้ แต่การส่งสินค้าทางอากาศจากไทยมายังกาตาร์ยังทำได้โดยใช้สายการบิน Qatar Airways ซึ่งบินตรงกรุงเทพฯ-กรุงโดฮา ส่วนการส่งออกทางเรือหากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป การส่งออกของไทยไปยังกาตาร์จะต้องส่งตรงเข้าท่าเรือโดฮา(Doha Port) แทนการส่งผ่านดูไบ ในเบื้องต้นสินค้าไทยที่ส่งออกไปกาตาร์ที่ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ได้แก่ อัญมณี และผักผลไม้สด เพราะส่วนใหญ่ใช้การขนส่งทางอากาศเป็นหลัก แต่สินค้าที่จะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก คือ รถยนต์, เครื่องปรับอากาศและตู้เย็น ที่ปัจจุบันใช้การขนส่งผ่านแดนจากดูไบ แต่เนื่องจากตัวเลขการค้าผ่านแดน ระหว่างดูไบไปยังกลุ่มประเทศ GCC เป็นตัวเลขที่ไม่เปิดเผยทำให้เป็นการยากที่จะระบุมูลค่าที่แน่นอนของการส่งออกของไทยผ่านดูไบไปกาตาร์

 สำหรับการค้าระหว่างไทยกับกาตาร์ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ไทยส่งออกตรงไปยังกาตาร์มูลค่า 102.17 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 21.43% โดยสินค้าส่งออก 5 อันดับแรกประกอบด้วย อัญมณี มูลค่า 27.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, รถยนต์ 24.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, เครื่องปรับอากาศ 16.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ,อาหารทะเลกระป๋อง  มูลค่า 3.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และตู้เย็น  3.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

จาก http://www.thansettakij.com   วันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2560

บราซิล-จีนเปิดศึกทุบส่งออกน้ำตาลดิ่ง

          วิกฤตส่งออกน้ำตาลเจอศึก 2 บราซิลจ่อฟ้อง WTO ไทยลุ้นผลหารือรอบ 4-จีนตลาดส่งออกเบอร์ 6 รีดภาษี เซฟการ์ดน้ำตาลนำเข้า 3 ปีบวกภาษีคุมโควตา ดันต้นทุนภาษีพุ่ง 95% จับตาเทรดเดอร์ชะลอซื้อกระทบราคาอ้อยฤดูกาลหน้า

          แหล่งข่าวจากวงการอ้อยน้ำตาล เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 9-16 มิถุนายนนี้ นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม จะนำคณะทำงานเจรจาเดินทางไปพบรัฐบาลบราซิล ที่ประเทศบราซิล เพื่อเข้าร่วมกระบวนการหารือ (Consultation) กรณีข้อพิพาทการอุดหนุนน้ำตาลระหว่างไทยกับบราซิล ครั้งที่ 4

          "ประเด็นที่จะหารือครั้งนี้ จะชี้แจงถึงความคืบหน้าในการปรับปรุงระบบอ้อยน้ำตาล เพื่อยกโควตา ก. โควตา ข. และโควตา ค. รวมถึงการทำงานของภาครัฐเพื่อสนับสนุนให้ระบบน้ำตาลเป็นไปอย่างเสรี และการปรับปรุงกฎหมายภายในของไทยเพื่อให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ หากการหารือครั้งนี้ได้ข้อสรุปที่น่าพอใจอาจจะไม่จำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการพิจารณา (Panel) แต่หากยังไม่ได้ข้อสรุปอาจมีการขยายระยะเวลาในการหารือรอบต่อไปก็เป็นได้"

          อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การส่งออกน้ำตาลในอนาคตยังเป็นเรื่องที่ท้าทาย หากบราซิลตั้งคณะ Panel และฟ้องไทย จะใช้ระยะเวลาพิจารณาประมาณ 3-4 ปี และหลังจากมีผลการพิจารณาตัดสินจะใช้เวลาอีก 4-5 ปีในการปฏิบัติตามผล การตัดสิน รวมระยะเวลาเกือบ 10 ปี อีกทั้งล่าสุดไทยถูกรัฐบาลจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับ 6 ประกาศใช้มาตรการเรียกเก็บอากรปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น (เซฟการ์ด) เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศเป็นระยะเวลา 3 ปี

          นายวันชัย วราวิทย์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2560 กระทรวงพาณิชย์สาธารณรัฐประชาชนจีนได้ประกาศผลการไต่สวนชั้นที่สุดให้เรียกเก็บอากรปกป้อง จากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น (เซฟการ์ด) สินค้าน้ำตาลจากทั่วโลก ภายใต้พิกัดอัตราศุลกากรขาเข้าของจีน 7 พิกัด ได้แก่ 1701.1200 1701.1300 1701.1400 1701.9100 1701.9910 1701.9920 และ 1701.9990 ซึ่งได้เริ่มเปิดไต่สวนมาตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน 2559 โดยเรียกเก็บอากรเซฟการ์ดเป็นเวลา 3 ปี ระหว่างวันที่ 22 พฤษภาคม 2560-21 พฤษภาคม 2563 กำหนดอัตราปีแรก 45% จากนั้นผ่อนคลายลงปีละ 5% ทำให้ปีสุดท้ายอากรปกป้องอยู่ที่ 35% ทั้งนี้ เป็นการเรียกเก็บเพิ่มจากที่มีการกำหนดอากรขาเข้าอยู่แล้ว โดยแบ่งเป็นภาษีในโควตา 15% อัตรานอกโควตา 50%

          ทั้งนี้ การนำเข้าสินค้าน้ำตาลของจีนในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2557-2559) ไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับ 2 โดยใน ปี 2557 มีปริมาณการนำเข้า 535,650 ตัน ปี 2558 มีปริมาณ 602,926 ตัน และล่าสุดปี 2560 มีปริมาณ 179,554 ตัน รองจากบราซิลซึ่งในปี 2557 มีปริมาณการนำเข้า 2,101,227 ตัน ปี 2558 ปริมาณ 2,741,442 ตัน และปี 2560 ปริมาณ 1,995,934 ตัน

          "ไทยได้เปรียบด้านการขนส่ง หากเทียบกับบราซิลซึ่งเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ อย่างไรก็ตาม กรมจะประสานงานกับสำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงปักกิ่ง เพื่อติดตามการใช้มาตรการดังกล่าวต่อไป"

          นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า มาตรการนี้เป็นการปกป้องอุตสาหกรรมน้ำตาลในจีน ซึ่งจะมีผลใช้บังคับกับทุกประเทศที่ส่งออกน้ำตาลไปตลาดจีนรวมถึงไทย

          เมื่อรวมอัตราภาษีเซฟการ์ดปีแรก 45% กับภาษีส่งออกน้ำตาลนอกโควตา 50% จะทำให้ไทยต้นทุนราคาน้ำตาล นำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้น 95% จากปกติ ซึ่งก็ถือว่าเป็นอัตราที่สูง และหากเทียบกับน้ำตาลในโควตาที่มีภาษี 15% ด้วย ก็ยิ่งกระทบ แม้ว่าไทยจะมีความ ได้เปรียบคู่แข่งอื่น เช่น บราซิล ในเรื่องต้นทุนค่าขนส่ง แต่ด้วยความที่จีนเป็นตลาดส่งออกสำคัญท็อป 5 (อินโดนีเซียเป็นตลาดเบอร์ 1) ก็น่าจะกระเทือนเราโดยตรง แต่ยังรอดูอีกระยะว่าผู้บริโภคจีนจะรับผลกระทบจากราคาน้ำตาล ที่เพิ่มขึ้นได้เพียงใด และต้องรอจนว่าสต๊อกที่ผู้นำเข้าได้สั่งออร์เดอร์ ก่อนที่มาตรการเซฟการ์ดจะออก หมดไป จึงจะประเมินผลกระทบต่อการ ส่งออกได้

          อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าแต่ละปีโรงงานน้ำตาลในจีนผลิตไม่เพียงพอต่อการบริโภค ยังจำเป็นต้องนำเข้าปีละกว่า 2 ล้านตัน ขึ้นอยู่กับว่าเทรดเดอร์จะชะลอสั่งซื้อจากไทยหรือไม่ หากชะลอมีโอกาสจะกระทบส่งออกและราคาอ้อยในประเทศในฤดูกาลต่อไป หรืออาจจะยังสั่งแต่ปรับเปลี่ยนส่งออกไปยังตลาดอื่นแทนก็อาจไม่กระทบ ผู้ส่งออกไทยในระบบโควตาซึ่งมีประมาณ 6-7 ราย แต่บางราย เช่น มิตรผล เข้าไปลงทุนตั้งโรงงานในจีนก็อาจจะไม่กระทบ ส่วนทางบริษัทมีโรงงาน 51-52 โรงผลิตและส่งผ่านบริษัท

          รายงานข่าวระบุว่า บริษัทผู้ส่งออกน้ำตาล 5 อันดับแรกของไทย ได้แก่ บริษัท ค้าผลผลิตน้ำตาล จำกัด, บริษัท แปซิฟิก ซูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัท ที.ไอ.เอส.เอส. จำกัด และบริษัท ส่งออกน้ำตาลสยาม จำกัด ส่วนเทรดเดอร์น้ำตาลรายใหญ่ เช่น บังกี้ มารุเบนนี มิซูบิชิ เป็นต้น

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2560 

ธุรกิจยั่งยืน "โคคา-โคลา" ยกระดับคุณภาพชีวิตสตรีชาวไร่อ้อย

เพราะ โคคา-โคลา มีเป้าหมายที่จะเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจให้กับผู้หญิงที่อยู่ในแวลูเชนให้ได้ 5 ล้านคน ภายในปี 2020 ภายใต้โครงการ 5by20 ทำให้ กลุ่มธุรกิจโคคา-โคลา ในประเทศไทย สานต่อนโยบายระดับโลกโดยดำเนินโครงการธุรกิจยั่งยืนกับโคคา-โคลา เพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจเกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อย ภายใต้ความร่วมมือของกลุ่มน้ำตาลไทยรุ่งเรือง และสถาบันคีนันแห่งเอเซีย

โดยล่าสุดมีการลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าของโครงการ ซึ่งมีการจัดอบรมนำร่องเกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อยใน จ.เพชรบูรณ์ และ จ.อุทัยธานี ไปแล้วกว่า 625 คน และจากการประเมินผลพบว่าเกษตรกรเริ่มมีการนำทักษะ และความรู้ที่ได้รับจากการอบรมไปใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งการประเมินสุขภาพทางการเงิน การควบคุมค่าใช้จ่าย ตลอดจนการเตรียมตัวเริ่มต้นทำไร่อ้อยในฤดูกาลใหม่

นันทิวัต ธรรมหทัย ผู้อำนวยการองค์กรสัมพันธ์และการสื่อสาร บริษัท โคคา-โคลา (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า โคคา-โคลา มีพันธกิจในการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบ ซึ่งครอบคลุมการจัดหาวัตถุดิบที่มีคุณภาพอย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันยังมุ่งพัฒนาศักยภาพของผู้หญิงที่ทำงานเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจ ภายใต้โครงการ

จากพันธกิจดังกล่าว จึงเป็นที่มาของโครงการธุรกิจยั่งยืนกับโคคา-โคลา ที่นำร่องกับเกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อยในเครือข่ายของกลุ่มน้ำตาลไทยรุ่งเรือง และจากการดำเนินงานที่ผ่านมามีเกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อยเข้าร่วมโครงการถึง 625 คน ทั้งยังมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเชิงบวกมากขึ้น อย่างไรก็ตาม โครงการนำร่องเป็นเพียงจุดเริ่มต้น เพราะการสร้างทัศนคติที่ถูกต้อง และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างยั่งยืน ต้องใช้เวลา และการทำงานร่วมอย่างต่อเนื่อง

ปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานอำนวยการและรองประธานกรรมการ สถาบันคีนันแห่งเอเซีย กล่าวเสริมว่า ก่อนเริ่มโครงการมีการลงพื้นที่รับฟังปัญหาของเกษตรกร จากนั้นจึงนำข้อมูลมาพัฒนาเป็นหลักสูตรฝึกอบรม เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกรใน 5 หัวข้อ คือ 1) การตั้งเป้าหมายชีวิตและเป้าหมายทางการเงิน 2) การใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพและการทำบัญชีครัวเรือน 3) การบริหารจัดการหนี้ 4) การออม และ 5) การลงทุนและทักษะการเป็นผู้ประกอบการ

การอบรมจะเน้นการมีส่วนร่วม เข้าใจง่าย และสามารถนำความรู้ไปใช้ได้ทันที และจากการดำเนินโครงการในช่วงผ่านมาพบว่าเกษตรกรสตรีมีความรู้ด้านการจัดการการเงินเพิ่มขึ้นร้อยละ 29 เกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ร้อยละ 20 อีกทั้งยังมีความพึงพอใจต่อโครงการในภาพรวมถึงร้อยละ 80 ที่สำคัญคือเกษตรกรจำนวนหนึ่งเริ่มตั้งเป้าหมายการเงิน โดยหลายคนเริ่มทำบัญชีรายรับ รายจ่าย และออมเงิน ทำอาชีพเสริมเพื่อลดหนี้และเพิ่มรายได้

ดร.ณัฐพล อัษฎาธร กรรมการบริหาร กลุ่มน้ำตาลไทยรุ่งเรือง กล่าวเสริมว่า บริษัทมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างความมั่นคงให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อย ผ่านแนวคิดการส่งเสริมการเกษตรที่ยั่งยืน โดยบริษัทคัดเลือกพนักงานจากเพชรบูรณ์ 19 คน และอุทัยธานี 10 คน เข้ารับการฝึกอบรมเป็นวิทยากรจากสถาบันคีนันแห่งเอเซีย

"เราใช้ความสัมพันธ์ที่ดีของพนักงานกลุ่มนี้ที่ต้องทำงานใกล้ชิดกับเกษตรกรในการค่อย ๆ สร้างความเข้าใจ ถ่ายทอดความรู้ ให้คำปรึกษาตลอดจนช่วยปรับพฤติกรรมด้านการบริหารการเงินในครัวเรือน และการทำธุรกิจไร่อ้อยอย่างต่อเนื่อง"

นอกจากนี้ บริษัทยังนำโครงการช่วยเกษตรกรลดรายจ่าย เพิ่มผลผลิต และรายได้ ที่ดำเนินการอยู่แล้วเข้ามาเสริม ทั้งการทำน้ำหมักชีวภาพ และการจัดการน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เมื่อนำผนวกกับความรู้ด้านการบริหารการเงินที่เกษตรกรได้รับ จึงน่าจะทำให้คุณภาพชีวิตของสตรีชาวไร่อ้อยมั่นคง และยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

"ณัฐวรรณ ทองเกล็ด" สตรีชาวไร่อ้อยรุ่นใหม่ จาก จ.เพชรบูรณ์ ที่เข้าร่วมโครงการบอกว่า ก่อนหน้าที่จะเข้าร่วมโครงการนี้ ตนเองทำเกษตรเชิงเดี่ยว และเมื่อมีปัญหาเข้ามาหรือไร่อ้อยเสียหาย เราไม่มีแผน หรือรายได้สำรอง

หลังจากเข้าร่วมโครงการจึงนำความรู้การบริหารการเงินมาใช้ ด้วยการจดบันทึกต้นทุน รายรับ รายจ่าย ทำให้มองเห็นภาพรวมการทำงาน และการเงินของตัวเองมากยิ่งขึ้น เรารู้ว่ารายจ่ายส่วนไหนเยอะเกินความจำเป็น หรือไม่จำเป็น เพื่อมาปรับลดได้ถูกจุด"

อีกทั้งยังได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำเกษตรมาเป็นแบบผสมผสาน โดยปลูกมะเขือเทศราชินี ข้าวโพดเทียน มะนาว เพื่อเพิ่มรายได้ ลดความเสี่ยงจากการทำไร่อ้อยเพียงอย่างเดียว สิ่งเหล่านี้สอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 หากเราลดความต้องการลง มองเห็นว่าตัวเองกำลังอยู่จุดไหน ทำอะไร ปรับเปลี่ยนให้พอดี การใช้ชีวิตก็จะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น"

ถึงตรงนี้ "นันทิวัต" กล่าวเพิ่มเติมว่า โคคา-โคลามีแผนที่จะขยายโครงการไปสู่ซัพพลายเออร์น้ำตาลรายอื่น ๆ ในระยะต่อไป แต่อย่างไรก็ตามจะต้องมีการประเมินด้วยว่า พันธมิตรรายใหม่มองเห็น คุณค่าร่วม (Shared Value) จากโครงการมากน้อยเพียงใด

"เพราะการปรับเปลี่ยนทัศนคติ และพฤติกรรม ต้องทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง และพันธมิตรต้องเห็นคุณค่าจากผลลัพธ์ของโครงการ และพร้อมที่จะลงทุน ลงแรงด้วยกัน เราหวังว่าผลจากโครงการนำร่องที่จะแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม 2560 จะช่วยทำให้ทุกฝ่ายเห็นว่าการประสานความร่วมมือบนฐานของการสร้างคุณค่าร่วมกัน" อันจะช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับภาคอุตสาหกรรมภาคเกษตรกรรมและภาคสังคมในระยะยาวต่อไป

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2560 

มอเตอร์เวย์ ช่วงกาญจนบุรี-บ้านพุน้ำร้อน ลุ้นท่าเรือน้ำลึกทวายแจ้งเกิดได้จริง

แม้ว่าโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์)ช่วงบางใหญ่-กาญจนบุรี (หมายเลข81) จะเริ่มเข้าพื้นที่ก่อสร้างไปแล้วบางส่วน โดยมีแผนจะเปิดให้บริการประมาณปี 2562 ซึ่งโครงการดังกล่าวนี้เพื่อให้เชื่อมต่อกับท่าเรือนํ้าลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายของเมียนมาแต่มีแผนดำเนินการในระยะแรกไปสิ้นสุดในเขตจังหวัดกาญจนบุรีก่อนนั้น

 ล่าสุดกรมทางหลวง (ทล.)ยังอยู่ระหว่างการสรุปผลการศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการมอเตอร์เวย์ช่วงกาญจนบุรี-ชายแดนไทย/เมียนมา (บ้านพุนํ้าร้อน) เพื่อให้แนวเส้นทางไปเชื่อมกับชายแดนไทย-เมียนมาเอาไว้ก่อน ส่วนการก่อสร้างเส้นทางจากชายแดนไปยังท่าเรือนํ้าลึกทวายจะเกิดขึ้นได้เมื่อไหร่นั้นยังต้องรอรัฐบาลเมียนมาตัดสินใจลงทุนโครงการดังกล่าว

 สำหรับแนวมอเตอร์เวย์กาญจนบุรี-ชายแดนบ้านพุนํ้าร้อน จะครอบคลุมพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี 4 อำเภอ 18 ตำบล74 หมู่บ้าน แนวเส้นทางรูปแบบทางเลี่ยงเมืองกาญจนบุรีด้านทิศตะวันออก ดังนั้นรถบรรทุกที่จะไปยังทวาย-บ้านพุนํ้าร้อนจึงไม่ต้องวิ่งผ่านใจกลางเมืองกาญจนบุรีให้เกิดสภาพการจราจรติดขัด แนวเส้นทางเป็นพื้นที่ราบมากกว่าเนินและภูเขาจึงก่อสร้างได้ง่ายกว่า โดยต่อเนื่องจากจุดสิ้นสุดมอเตอร์เวย์ช่วงบางใหญ่-กาญจนบุรี ประมาณกม.84+600 ตำบลวังศาลาอำเภอท่าม่วง ผ่านไปในเขตพื้นที่อำเภอด่านมะขามเตี้ย จากนั้นแนวจะเข้าสู่ตำบลบ้านเก่า อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี บริเวณกม.53 โดยมีบางช่วงจะเป็นการขุดเจาะอุโมงค์ยาว 2 กิโลเมตรช่วงกม.74 ก่อนจะไปสิ้นสุดโครงการที่กม.82 จุดเชื่อมต่อด่านพรมแดนที่บ้านพุนํ้าร้อน รวมระยะทางประมาณ 82กิโลเมตร

 รูปแบบด่านจัดเก็บค่าผ่านทางขนาด 4 เลน เขตทางทั่วไป 70 เมตร แยกทิศทางละ 2 ช่องจราจร ควบคุมทางเข้า-ออกโดยสมบูรณ์ มีรั้วกั้น ช่วงเส้นทางใกล้ชุมชนจะก่อสร้างทางบริการให้ประชาชนสัญจรโดยไม่เก็บค่าผ่านทาง ดังนั้นจึงมีทั้งแนวเส้นทางระดับดินและ แบบทางยกระดับ อีกทั้งยังมีศูนย์ควบคุมทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองจะอยู่ในบริเวณจุดตัดทางหลวงหมายเลข 3209 บริเวณอำเภอด่านมะขามเตี้ย ช่วงกม.34+800-35+800 ซึ่งเชื่อมโยงสู่ตัวเมืองกาญจนบุรีได้อย่างสะดวก นอกจากนั้นยังจะมีพื้นที่บริการทางหลวงอยู่ใกล้ๆ กับศูนย์ควบคุมทางพิเศษดังกล่าวทั้ง 2ฝั่งเพื่อแยกการให้บริการในแต่ละทิศทาง และจุดพักรถ บ้านทุ่งยาว ช่วงกม.50+200 อีกจุดหนึ่งด้วย

ในส่วนงบประมาณใช้ก่อสร้างมอเตอร์เวย์เส้นทางนี้ซึ่งจะครอบคลุมทั้งงานก่อสร้างเส้นทางโครงการ อาทิ ถนน งานโครงสร้างสะพาน งานก่อสร้างอุโมงค์ งานระบบระบายนํ้า และงานอื่นๆ ประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาท และงานก่อสร้างอาคารสถานที่ในเส้นทาง อาทิ ศูนย์บริการและควบคุมทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ด่านเก็บเงินค่าผ่านทาง จุดพักรถ วงเงินประมาณ 2,762 ล้านบาท ค่าดำเนินการและค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด 5,827 ล้านบาท คิดเป็นวงเงินรวมประมาณ 4.4 หมื่นล้านบาท

 โดยเมื่อเปิดให้บริการจะคาดว่า จะสามารถรองรับการจราจรในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศที่คาดว่าจะมีแนวโน้มการขยายตัวเพิ่มขึ้นในอนาคตช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งของโครงข่ายทางหลวงระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านให้มีความสะดวก ปลอดภัยและรวดเร็วในการเดินทาง ตลอดจนการส่งเสริมศักยภาพทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศไปสู่พื้นที่เขตเศรษฐกิจและประตูการค้าอื่นๆได้เป็นอย่างดี ส่วนจะได้รับอนุมัติให้ดำเนินการได้เมื่อไหร่นั้นคงต้องลุ้นให้ท่าเรือนํ้าลึกทวายเปิดให้บริการและมีปริมาณรถใช้เส้นทางดังกล่าวหนาแน่นจึงจะได้เห็นโครงการมอเตอร์เวย์เส้นทางนี้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม

จาก  http://www.thansettakij.com  วันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2560 

ชี้‘บาทแข็ง’ฉุดส่งออก เอกชนจี้ธปท.งัดภาษีสกัดเงินผันผวน

คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.)ที่ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) ได้ประชุมร่วมกันเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา

นายกลินทร์ สารสิน ประธานกรรมการ สภาหอการค้าฯในฐานะทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.)เปิดเผยว่าแม้ว่าภาวะเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวต่อเนื่องและคาดว่าเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังจะฟื้นตัวกว่าครึ่งปีแรกแต่ที่ประชุมกกร.ยังคงกังวลประเด็นทางการเมืองทั้งในสหรัฐอเมริกาและยุโรปว่าจะมีทิศทางอย่างไรจึงได้ตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบให้ชัดเจน รวมไปถึงการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) 13-14 มิถุนายนนี้ที่มีแนวโน้มจะปรับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นซึ่งจะมีผลต่อทิศทางค่าเงินบาทของไทย

ส่วนภาวะเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นค่อนข้างเร็วในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมจนถึงขณะนี้มีผลกระทบต่อการแข่งขันด้านการส่งออกของไทยแต่คู่แข่งเองก็แข็งค่าเช่นกัน ดังนั้นกกร.จึงคิดว่าควรที่จะมีมาตรการสนับสนุนดูแลผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม(เอสเอ็มอี)จึงเตรียมร่วมมือกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ให้ผู้ประกอบการรายย่อยมีเครื่องมือในการทำกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน(เฮดจิ้ง) เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น เพราะปัจจุบันมีรายย่อยทำประกันความเสี่ยงเพียง  10-20% เท่านั้น

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(สอท.)  กล่าวว่า สอท.อาจจะหารือกับธปท.เพื่อที่จะกำหนดให้มีมาตรการป้องกันเงินทุนไหลเข้า-ออกระยะสั้นในการป้องกันไม่ให้ค่าเงินบาทผันผวนหรือแข็งค่าเร็วเกินไปโดยเฉพาะมาตรการทางด้านภาษี ทั้งนี้เนื่องจากไทยเองเป็นประเทศที่ไม่ได้มีระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่พอจำเป็นจะต้องดูแลเพื่อลดผลกระทบต่อภาคการส่งออก

“ธปท.พยายามออกมาตรการดูแลค่าเงินบาทเป็นอย่างดี แต่ธปท.คงจะต้องมีมาตรการด้านภาษีในการสกัดเงินที่จะเข้า-ออก ระยะสั้น”นายเจนกล่าว

นายตรรก บุนนาค ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านโกลบอล มาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ค่าเงินบาทขณะนี้แข็งค่าเร็วกว่าที่คาดไว้จากที่คาดว่าในช่วงไตรมาส 2/60 ค่าเงินบาทจะอยู่ที่ระดับ 34.75-35.75 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งล่าสุดเคลื่อนไหวหลุดระดับ 34.00 บาท/ดอลลาร์ ลงมาแตะ ที่ 33.95 บาท/ดอลลาร์

เนื่องจากนักลงทุนในตลาดผิดหวังนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ รวมทั้งภัยก่อการร้ายที่สร้างความผันผวนในตลาดหุ้น ตลาดพันธบัตร และการเคลื่อนย้ายเงินทุนของโลก ซึ่งคาดว่าภายในไตรมาส 2 นี้ค่าเงินบาทจะแข็งค่าสุดที่ 33.50 บาท/ดอลลาร์ โดยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่า 5.1% สร้างความกังวลต่อความสามารถการแข่งขันการส่งออก และภาคท่องเที่ยว แต่ค่าเงินบาทยังเคลื่อนไหวสอดคล้องกับค่าเงินภูมิภาค โดยคาดว่าการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) วันที่ 13-14 มิถุนายนนี้ จะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยคาดว่าจะยังคงไว้ที่ 1.5% ถึงสิ้นปีนี้ เพื่อเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

จาก http://www.naewna.com วันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2560 

นายก ส.เกษตรกรชายแดน ยื่นหนังสือ รมว.แรงงาน เร่งแก้ปัญหาแรงงานกัมพูชา  

         สระแก้ว - นายกสมาคมเกษตรกรชายแดนบูรพา นำตัวแทนชาวไร่อ้อยในพื้นที่ จ.สระแก้ว และปราจีนบุรี ยื่นหนังสือต่อ รมว.แรงงาน ให้เร่งรัดการยกระดับจุดผ่อนปรนบ้านเขาดิน อ.คลองหาด เป็นจุดผ่านแดนถาวรอีกแห่ง เพิ่มความรวดเร็วในการตรวจหนังสือผ่านแดนชั่วคราวแรงงานชาวกัมพูชาที่เข้ามาทำงานในไร่อ้อย แก้ปัญหาแรงงานขาดแคลน

               วันนี้ (6 มิ.ย.) นายมนตรี คำพล นายกสมาคมเกษตรกรชายแดนบูรพา พร้อมด้วย นายเนย สุขประเสริฐ และคณะกรรมการบริหารสมาคมเกษตรกรชายแดนบูรพา สาขาปราจีนบุรี และตัวแทนชาวไร่อ้อยในพื้นที่ จ.สระแก้ว และปราจีนบุรี ได้เดินทางเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อยื่นหนังสือร้องเรียนเรื่องการแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานต่างด้าวใน จ.สระแก้ว และปราจีนบุรี หลังถูกเจ้าหน้าที่เรียกเก็บส่วยแรงงานต่างด้าวหัวละ 30,000-35,000 บาท และยังเรียกเก็บรายหัวเป็นรายเดือนอีกหัวละ 500 บาท

               นายมนตรี เผยว่า ในทุกฤดูหีบอ้อย เกษตรกร และสมาชิกสมาคมฯ ต้องใช้แรงงานต่างด้าวถึง 20,000 คน โดยส่วนใหญ่เป็นแรงงานชาวกัมพูชาที่สามารถใช้หนังสือผ่านแดนชั่วคราว หรือ Border pass ประทับตราที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง จุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก อ.อรัญประเทศ ซึ่งมีเพียงแห่งเดียวจนทำให้เกิดปัญหาล่าช้า เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวผ่านเข้าออกอีกจำนวนมาก

               “ทางสมาคมฯ และสมาชิกชาวไร่อ้อย ได้มาเรียกร้องต่อท่านรัฐมนตรีแรงงาน ในฐานะเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการอนุญาต และดูแลการอนุญาตขอใช้แรงงานต่างด้าว ให้มีการเร่งรัดการเปิดช่องทางการประทับตรา Border pass ในจุดผ่อนปรนบ้านเขาดิน อ.คลองหาด โดยให้ยกระดับเป็นจุดผ่านแดนถาวรอีกแห่ง พร้อมขอให้เพิ่ม อ.กบินทรบุรี จ.ปราจีนบุรี ที่จะสามารถใช้แรงงานต่างด้าวที่มีใบ Border pass สำหรับทำงานในภาคเกษตรได้ เนื่องจากที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่อาศัยช่องว่างเรียกรับส่วยจำนวนมาก” นายสมาคมเกษตรกรชายแดนบูรพา กล่าว

               ทั้งนี้ ตัวแทนเกษตรกรชาวไร่อ้อยยังได้นำรายละเอียดเกี่ยวกับพื้นที่เพาะปลูกอ้อยใน จ.ปราจีนบุรี ปี 2558/59 ที่มีกว่า 82,000 ไร่ พร้อมรายชื่อเกษตรกรที่เดือดร้อน จำนวน 439 ราย ยื่นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อขอให้ดำเนินการตามคำขออีกด้วย

 จาก http://manager.co.th  วันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2560 

'ชลประทาน'วางแผน20ปี ทุ่ม80,000ล้านเดินหน้าแก้ปัญหาน้ำ

ชลประทานวางแผน 20 ปี แก้ปัญหาน้ำทุ่มงบกว่า 80,000 ล้านบาท เดินหน้าแก้ปัญหาน้ำหนุนโครงการ EEC เตรียมเพิ่มปริมาณความจุอ่างเก็บน้ำ พร้อมวางแผนผันน้ำมาจากกัมพูชารองรับความต้องการใช้น้ำของภาคอุตสาหกรรมและการเกษตร

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ล่าสุดกรมชลประทานได้วางแผนในการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำ สนับสนุนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัดชายฝั่งทะเลตะวันออกคือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และ จันทบุรี ซึ่งมีความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุก ๆ ปี คาดว่าภายในปี 2580 หรืออีก 20 ปี จะมีความต้องการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและอุตสาหกรรมเพิ่มสูงถึง 1,200 ล้านลบ.ม./ปี ทั้งนี้ เนื่องจากมีการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมและภาคการท่องเที่ยว จำเป็นจะต้องวางแผนจัดหาน้ำให้เพียงพอกับความต้องการในทุกภาคส่วน

ทั้งนี้ ในปัจจุบันภาคตะวันออกทั้งภูมิภาค มีแหล่งกักเก็บน้ำทั้งขนาดใหญ่ กลางและเล็ก กักเก็บน้ำได้รวมกัน ประมาณ 2,337 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นเพียงร้อยละ 9.5 ของปริมาณน้ำท่าในธรรมชาติเท่านั้น ในขณะที่มีความต้องการใช้น้ำในทุกภาคส่วนประมาณ 19,585 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อปี โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัด EEC คือ จ.ฉะเชิงเทรา จ.ชลบุรี และ จ.ระยอง ซึ่งเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมหลักของประเทศ

สำหรับแผนการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำเพื่อสนับสนุน EEC นั้น ในระยะ 5 ปีแรก จะเป็นการจัดหาน้ำจากแหล่งภายในประเทศ โดยจะทำการเพิ่มความจุของอ่างเก็บน้ำที่มีอยู่ 6 แห่ง เพื่อให้งานให้เต็มศักยภาพ คือ อ่างฯคลองใหญ่ อ่างฯหนองปลาไหล อ่างฯคลองสียัด อ่างฯหนองค้อ อ่างฯบ้านบึง และ อ่างฯมาบประชัน ซึ่งจะสามารถกักเก็บน้ำเพิ่มขึ้นรวมกันได้อีก 84 ล้าน ลบ.ม. ใช้เงินลงทุนประมาณ 1,190 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังจะทำการสร้างอ่างฯแห่งใหม่ในพื้นที่ลุ่มน้ำวังโตนด 4 แห่ง ได้แก่ อ่างฯคลองพะวาใหญ่ อ่างฯคลองหางแมว และ อ่างฯคลองวังโตนด มีความจุรวมกัน 308.5 ล้าน ลบ.ม.โดย อ่างฯคลองประแกด ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จในเร็วๆนี้ อ่างฯคลองพะวาใหญ่และอ่างฯคลองหางแมว จะเริ่มก่อสร้างปี 2561 ส่วนอ่างฯคลองวังโตนด กำลังดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม ( EHIA) คาดว่าจะสามารถก่อสร้างได้ในปี 2563  พร้อมทั้งจะมีการสร้างท่อผันน้ำจากคลองวังโตนดมายังอ่างฯประแสร์ จ.ระยอง  โดยจะผันน้ำส่วนเกินในฤดูฝนมาไว้ที่อ่างฯประแสร์ เพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคและอุตสาหกรรม 60 ล้าน ลบ.ม./ปี และสามารถเพิ่มเป็น 100 ล้านลบ.ม./ปีได้ในอนาคต คาดว่าจะใช้เงินลงทุนอีกประมาณ 2,493 ล้านบาท ซึ่งไม่รวมอ่างฯคลองประแกดที่กำลังดำเนินการก่อสร้าง

นอกจากนั้นในอนาคตอีกประมาณ 10 ข้างหน้า กรมชลประทานยังมีแผนการผันน้ำจากประเทศเพื่อนบ้านที่ดำเนินการร่วมกับการพัฒนาด้านพลังงาน  โดยผันจากเขื่อนสตึงนัมประเทศกัมพูชา มายังอ่างฯประแสร์  เพื่อนำมาใช้ในการอุปโภคบริโภคและอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC  จำนวน 300 ล้านลบ.ม.ต่อปี คาดว่าจะใช้วงเงินลงทุนจากการประเมินเบื้องต้นรวมทั้งหมดประมาณ 74,000 ล้านบาท ซึ่งสามารถรองรับความต้องการในอีก 20 ปีข้างหน้าได้

ขณะเดียวกันในระยะเร่งด่วนการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำ ในบางพื้นที่กรมชลประทานได้นำระบบสูบน้ำกลับมาใช้  โดยได้ทำการการปรับปรุงระบบสูบน้ำท้ายอ่างฯหนองปลาไหลกลับไปเก็บไว้ในอ่างฯ ได้ปีละ 5 ล้าน ลบ.ม. และการสูบน้ำจากคลองสะพานไปเก็บไว้ในอ่างฯ ประแสร์ปีละ 10 ล้านลบ.ม. ใช้วงเงิน 710 ล้านบาท คาดว่าสามารถดำเนินการได้ในปี 2561

สำหรับปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ 3 จังหวัด EEC เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่กรมชลประทานได้ดำเนินการป้องกันแก้ไขควบคู่กับการวางแผนจัดหาแหล่งน้ำเพราะเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่สร้างความเสียหายให้ระบบเศรษฐกิจเป็นมูลค่าจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.เมือง จ.ระยอง ซึ่งเกิดจากปริมาณน้ำหลากจากคลองทับมาที่ไหลผ่านตัวเมืองเนื่องจากลำน้ำแคบ มีเป็นลักษณะเป็นคอขวด และที่ อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรีที่เป็นพื้นอุตสาหกรรม ซึ่งเกิดจากน้ำหลากที่มา จากคลองท่าลาด และคลองหลวง ประกอบกับความสามารถการในระบายน้ำต่ำ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ดิน มีกีดขวางทางน้ำต่าง ๆเกิดขึ้นมากมาย   ซึ่งสามารถแก้ปัญหาได้โดย การสร้างประตูระบายน้ำ  สร้างระบบสูบน้ำที่มีประสิทธิภาพ ท่อระบายน้ำหลาก  เป็นต้น ใช้เงินลงทุน 2,225 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ในปี 2561

จาก http://www.naewna.com วันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2560

“กกร.” ชี้ค่าบาทแข็งเร็วไป! เกาะติดเฟด-การเมืองโลกใกล้ชิด   

         “กกร.” เผยทิศทางค่าเงินบาทแข็งค่าเร็วไปหน่อย! เตรียมร่วมมือ ธปท.หนุนเอสเอ็มอีไทยเร่งทำประกันความเสี่ยงเพื่อลดผลกระทบ ด้าน “ส.อ.ท.” จ่อหารือ ธปท.หนุนใช้มาตรการทางภาษีสกัดเงินไหลเข้า-ออกระยะสั้น

               นายกลินทร์ สารสิน ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยในฐานะทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ประกอบด้วย สภาหอฯ สมาคมธนาคารไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวต่อเนื่องและคาดว่าเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังจะฟื้นตัวกว่าครึ่งปีแรก แต่ กกร.ยังคงกังวลประเด็นทางการเมืองทั้งในสหรัฐอเมริกาและยุโรปว่าจะมีทิศทางอย่างไร จึงได้ตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบให้ชัดเจน รวมไปถึงการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) 13-14 มิ.ย.นี้ที่มีแนวโน้มจะปรับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อทิศทางค่าเงินบาทของไทย

               “คงจะต้องดูเฟดว่าจะปรับขึ้นหรือลงแล้วจะกระทบอย่างไร ซึ่งทิศทางน่าจะปรับขึ้นมากกว่า แต่ประเด็นการเมืองโลกเองก็มีผลต่อทิศทางของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเช่นกันคงจะต้องติดตามใกล้ชิด ซึ่งเราเองก็ต้องรอให้มีการเลือกตั้งโดยเฉพาะอังกฤษวันที่ 8 มิ.ย. และเยอรมนีในเดือน ก.ย.เสร็จก่อนคณะทำงานจึงจะสรุปว่าจะมีผลดีผลเสียอย่างไรที่ชัดเจนต่อกรณีนี้” นายกลินทร์กล่าว

               อย่างไรก็ตาม ภาวะเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นค่อนข้างเร็วในช่วงปลายเดือน พ.ค.จนถึงขณะนี้มีผลกระทบต่อการแข่งขันด้านการส่งออกของไทยแต่คู่แข่งเองก็แข็งค่าเช่นกัน ดังนั้น กกร.จึงคิดว่าควรที่จะมีมาตรการสนับสนุนดูแลผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) จึงเตรียมร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทยให้ผู้ประกอบการรายย่อยมีเครื่องมือในการทำประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (เฮดจิ้ง) เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น เพราะปัจจุบันมีรายย่อยทำประกันความเสี่ยงเพียง 10-20% เท่านั้น

               ทั้งนี้ กกร.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีหลังปี 2560 น่าจะขยายตัวได้ดีกว่าครึ่งปีแรกจากปัจจัยหนุนด้านฤดูกาล ทั้งการเร่งเบิกจ่ายงบ คำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ตลอดจนนโยบายพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (EEC) ที่น่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น ดังนั้นจึงยังคงกรอบประมาณการอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยในปีนี้ไว้ที่ 3.5-4% และคาดว่าส่งออกจะโต 2-3.5%

                นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท.อาจจะหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อที่จะกำหนดให้มีมาตรการป้องกันเงินทุนไหลเข้า-ออกระยะสั้นในการป้องกันไม่ให้ค่าเงินบาทผันผวนหรือแข็งค่าเร็วเกินไปโดยเฉพาะมาตรการทางด้านภาษี ทั้งนี้ เนื่องจากไทยเองเป็นประเทศที่ไม่ได้มีระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่พอจำเป็นจะต้องดูแลเพื่อลดผลกระทบต่อภาคการส่งออก

               “ผมมองว่าบาทแข็งค่าเร็วไปนิดหนึ่ง ที่ผ่านมา ธปท.ก็พยายามออกมาตรการดูแลก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ ธปท.คงจะต้องมีมาตรการด้านภาษีในการสกัดเงินที่จะเข้าออกระยะสั้น อย่างไรก็ตาม เฟดเองน่าจะขึ้นดอกเบี้ยซึ่งจะมีผลให้ดอลลาร์แข็งค่าและบาทน่าจะอ่อนค่าลงบ้าง แต่ก็ยังไม่ใช่เสมอไปเพราะคงต้องดูนโยบายของผู้นำสหรัฐฯ เพราะไม่มีอะไรแน่นอนก็จะมีผลต่อทิศทางเงินดอลลาร์เช่นกัน” นายเจนกล่าว

 จาก http://manager.co.th  วันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ค่าเงินบาทแข็งค่า 33.94 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

 ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์ค่าเงินบาทประจำวันที่ 6 มิ.ย. 2560 ระบุว่าค่าเงินบาทเช้าวันนี้เปิดตลาดที่ระดับ 33.99 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากการปิดตลาดวันจันทร์ (5 มิ.ย.) ที่ระดับ 34.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยปัจจุบัน (10.00 น.) มีการใช้จ่ายค่าเงินบาทอยู่ที่ 33.94 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้น จากเมื่อวานนี้ตลาดเห็นว่าทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาตรการเกี่ยวกับการปฏิรูประบบแลกเปลี่ยนเงินเพื่อให้เกิดความสะดวกในการทำธุรกิจของภาคเอกชน (ease of doing business) ซึ่งต่างจากที่ตลาดคาดการณ์ไว้ว่าจะธปท.จะออกมาตรการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อดูแลค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

ธนาคารกสิกรไทยคาดการณ์กรอบการเคลื่อนไหวค่าเงินบาทระหว่างวันนี้ไว้ที่ 33.90-34.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ระหว่างวันไม่มีตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ส่วนสัปดาห์นี้นักลงทุนจับตามองผลการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) และการเลือกตั้งในประเทศอังกฤษ

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2560 

กาตาร์เอฟเฟกต์ลามกระทบส่งออกไทยแล้ว

ชาติอาหรับตัดสัมพันธ์กาตาร์ลามถึงไทย ทูตพาณิชย์รายงานกระทบขนส่งสินค้าทางถนนผ่านแดนจากดูไบไปกาตาร์ไม่สามารถทำได้ 3 สินค้าไทยรถยนต์ เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็นโดนเต็มๆ  ขณะบินตรงกรุงเทพฯ-โดฮายังไม่มีปัญหา ส่งสินค้าทางเรือต้องส่งตรงท่าเรือโดฮาแทนผ่านดูไบ จับตาเหตุการณ์ทุบศก.กาตาร์อ่วม 3 ด้าน ทำรายได้วูบ

 จากกรณีความขัดแย้งของประเทศในตะวันออกกลางที่ ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อิยิปต์ และบาห์เรน ได้ประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศกาตาร์ รวมทั้งปิดพรมแดนทั้งทางบก ทางอากาศ และทางเรือเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2560 โดยกล่าวหาว่ากาตาร์ให้การสนับสนุนกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงและอิหร่านซึ่งกาตาร์ได้ปฏิเสธข้อหากล่าวดังกล่าว ความขัดแย้งครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ร้ายแรงที่สุดในรอบหลายปีของกลุ่มประเทศสมาชิกของคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (GCC)

นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าฯ ณ เมืองดูไบถึงผลกระทบต่อการค้าของไทยเบื้องต้นคือ การขนส่งสินค้าทางถนนผ่านทางดูไบไปกาตาร์จะไม่สามารถดำเนินการได้ แต่การส่งสินค้าทางอากาศจากประเทศไทยไปยังกาตาร์ยังทำได้โดยใช้สายการบิน Qatar Airways ซึ่งบินตรงระหว่างกรุงเทพฯและกรุงโดฮา หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป การส่งออกของไทยมายังกาตาร์จะต้องส่งตรงเข้า Doha Port แทนการส่งผ่านดูไบ ในเบื้องต้นสินค้าไทยที่ส่งออกไปกาตาร์ที่ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ได้แก่ อัญมณี และผักผลไม้สด ซึ่งส่วนใหญ่ใช้การขนส่งทางอากาศเป็นหลักอยู่แล้ว ส่วนรถยนต์ เครื่องปรับอากาศและตู้เย็น อาจจะได้รับผลกระทบค่อนข้างมากเพราะปัจจุบันใช้การขนส่งผ่านแดนจากดูไบ

สำหรับตัวเลขการค้าผ่านแดน (Transshipment) ระหว่างดูไบไปยังกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ(GCC)เป็นตัวเลขที่ไม่เปิดเผยทำให้เป็นการยากที่จะระบุมูลค่าที่แน่นอนของการส่งออกของไทยผ่านดูไบไปกาตาร์ซึ่งเป็นตลาดสำคัญอันดับ 3 ของไทยใน GCCรองจากซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์  แต่สำหรับการค้าระหว่างไทยกับกาตาร์นั้น ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ไทยส่งสินค้าตรงไปยังกาตาร์มีมูลค่า 102.17 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 21.43% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าส่งออก 5 อันดับแรกประกอบด้วย อัญมณีและเครื่องประกับ (มูลค่าส่งออก 4 เดือนแรก 27.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ), รถยนต์ (24.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ), เครื่องปรับอากาศ (16.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ), อาหารทะเลกระป๋อง (3.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) และตู้เย็น (3.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า และโฆษกกระทรวงพาณิชย์ ชี้แจงผลกระทบในภาพรวมเศรษฐกิจการค้าจากกรณีดังกล่าวว่า ผลกระทบต่อราคาน้ำมันในระยะสั้นอาจจะมีไม่มากนัก แม้ว่าจะเพิ่มความกังวลในประเด็นความร่วมมือในการลดกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันออก (OPEC) อยู่บ้าง แต่เนื่องจากกาตาร์มีสัดส่วนการผลิตน้ำมันประมาณเพียง 6.4 แสนบาร์เรล ต่อวัน หรือ 1.9% ของการผลิตน้ำมันรวมของ OPEC และตามข้อตกลงในการลดกำลังการผลิตน้ำมันนั้น กาตาร์จะต้องปรับลดกำลังการผลิตประมาณ 3 หมื่นบาร์เรลต่อวัน ซึ่งหากกาตาร์ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงก็จะทำให้ปริมาณผลผลิตน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มขึ้นประมาณ 3 หมื่นบาร์เรลต่อวัน ถือว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อความสมดุลตลาดน้ำมันโลกอย่างรุนแรง ทั้งนี้ สนค. คาดว่ากาตาร์จะยังคงให้ความร่วมมือในการรักษาระดับการผลิตน้ำมันตามข้อตกลงเดิม ซึ่งเทียบจากกรณีอิหร่านที่ยังคงให้ความร่วมมือกับ OPEC ในการปรับลดกำลังการผลิต แม้ว่าจะมีข้อขัดแย้งอย่างรุนแรงกับซาอุดิอาระเบีย อย่างไรก็ตาม สนค. ได้ติดตามภาวะตลาดน้ำมันดิบในตลาดโลก    อย่างใกล้ชิด พบว่า ปริมาณผลผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกให้ลดลง ซึ่งอาจจะส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ช่วง 50-60 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ทั้งนี้ราคาน้ำมันดิบดูไบในวันที่ 5 มิ.ย. 2560 อยู่ที่ 48.59 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ซึ่งราคาน้ำมันจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทยโดยตรง

โฆษกกระทรวงพาณิชย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ยังติดตามผลกระทบต่อการเมืองระหว่างประเทศอย่างใกล้ชิด แต่คาดว่าในชั้นนี้ความขัดแย้งน่าจะอยู่ในระดับจำกัด เห็นได้จากท่าทีของสหรัฐฯ โดยนายเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ กล่าวว่าสถานการณ์ความขัดแย้งของกลุ่มประเทศ GCCจะไม่ส่งผลกระทบต่อการต่อสู้กับกลุ่มขบวนการรัฐอิสลาม และเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกกลุ่มประเทศ GCC คลี่คลายความขัดแย้งของตนเอง ทั้งนี้กาตาร์เป็นประเทศที่มีทหารสหรัฐฯ ประจำการมากสุดในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง โดยมีประมาณ 1.1 หมื่นคน สะท้อนความสัมพันธ์ในเกณฑ์ดีของกาตาร์และสหรัฐฯ ซึ่งอาจจะมีส่วนช่วยในการคลี่คลายวิกฤติของกาตาร์ในครั้งนี้

 ด้านการค้าระหว่างไทยกับกาตาร์อาจจะได้รับผลกระทบบ้างจากเศรษฐกิจของกาตาร์ที่มีความเสี่ยงจะชะลอตัว โดย สนค. มองว่า มีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจกาตาร์อาจจะกระทบอย่างมีนัยสำคัญ ใน 3 ด้าน คือ (1) ด้านสายการบิน Qatar Airwaysไม่สามารถให้บริการและบินผ่านน่านฟ้าของประเทศที่ประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตทำให้รายได้ลดลงและต้นทุนเพิ่มขึ้น (2) ความเสี่ยงด้านอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น เนื่องจาก 40% ของอาหารที่นำเข้าต้องผ่านชายแดนเพื่อนบ้าน ดังนั้น ต้นทุนของอาหารจะเพิ่มขึ้นและ อาจเกิดการขาดแคลนได้ และ (3) รายได้จากการส่งออกก๊าซธรรมชาติอาจจะลดลง โดยกาตาร์เป็นผู้ผลิตก๊าซ NPG รายใหญ่สุดของโลก (ประมาณ 30% ของการผลิตทั้งหมด) และตลาดส่งออกที่สำคัญ ประกอบด้วย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อิยิปต์ และจอร์แดน ดังนั้น ผลกระทบทางเศรษฐกิจของกาตาร์อาจจะส่งผลให้การนำเข้าสินค้าจากไทยลดลง

 กระทรวงพาณิชย์จะติดตามผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวต่อการค้าของไทยอย่างใกล้ชิด และแจ้งเตือนผู้ส่งออกและผู้ประกอบการเป็นระยะต่อไป

จาก http://www.thansettakij.com วันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2560 

ชาวสวนยางอ่วมราคาร่วง เหลือกก.ละ50 บาท แฉมีองค์กรในไทย-จับมือพ่อค้าทำเสียหาย

เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ กรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) และประธานสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรสวนยางแห่งประเทศไทย (สยยท.) เปิดเผยว่าปัจจุบันราคายางตกลงมาอยู่ที่กิโลกรัมละ 50 บาท ชาวสวนยางพาราเดือดร้อน เพราะสวนทางกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ทาง สยยท.ทั่วประเทศ จะยื่นหนังสือให้รัฐบาล แก้ไขปัญหาพร้อมกัน ในวันที่ 7 มิถุนายนโดยผ่านศูนย์ดำรงธรรมประจำจังหวัด เพื่อเสนอให้การยางแห่งประเทศไทย(กยท.) ตั้งบริษัทลูกขึ้นมา เพื่อบริหารจัดการซื้อยาง ชี้นำราคาที่ตลาดกลางยางพารา ของ กยท. ทั่วประเทศและให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อสนับสนับสนุนชาวสวนยางพารา

นายชำนาญ เมฆตรง ประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย จำกัด (ชสยท.) กล่าวว่าสถานการณ์ยางพาราปั่นป่วนหมดเพราะตลาดล่วงหน้าซื้อขายกระดาษต่างประเทศ ต่างมีนักลงทุนไทยเข้าไปร่วมเคาะราคาที่ตลาดซื้อขายทำให้นักลงทุน พ่อค้า รู้ชั้นเชิงยางดี ทั้งนี้เครือข่ายยางทั่วประเทศจะมีการประชุมใหญ่ ในวันที่ 9 มิถุนายนที่กรุงเทพฯหาข้อสรุปยื่นรัฐบาล เพราะปัญหาที่เกิดขึ้น น่าจะมีองค์กรภายในประเทศบางแห่ง ให้การร่วมมือกับพ่อค้า จนเกิดความเสียหายแก่ชาวสวนยาง ทั้งๆที่ไม่มียางในสต๊อกภายในประเทศ

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2560 

‘เขื่อนเจ้าพระยา’ เร่งพร่องน้ำรับฝนตกหนักรอบใหม่

เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน เมื่อคืนที่ผ่านมาเขื่อนเจ้าพระยา ต.บางหลวง อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ได้ปรับเพิ่มการระบายน้ำจากเดิม 699 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ขึ้นไปที่ 714 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อพร่องน้ำรับสถานการณ์ฝนตกชุกและน้ำป่าไหลหลากทางภาคเหนือ ระหว่างวันที่ 5-9 มิถุนายน ที่คาดว่าจะมีปริมาณน้ำก้อนใหม่ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาตามการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งล่าสุดระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาสูงขึ้น 8 เซนติเมตร โดยวัดได้ 16.78 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ส่วนทางด้านท้ายเขื่อนระดับน้ำสูงขึ้นเช่นกันโดยวัดได้ 10.50 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

จากปริมาณฝนจากทางตอนบนของประเทศประกอบกับการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยาที่ปรับเพิ่มขึ้น จะทำให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ตั้งแต่ อ.สรรพยา จ.ชัยนาทลงไป ถึง จ.สิงห์บุรี จ.อ่างทอง และ จ.พระนครศรีอยุธยา มีระดับน้ำเพิ่มขึ้นอีก 5-10 เซนติเมตร ดังนั้นพื้นที่ลุ่มต่ำและพื้นที่เสี่ยงริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะบริเวณ ต.บางหลวงโดด อ.บางบาล และ ต.บ้านกระทุ่ม ต.หัวเวียง อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา ควรเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ และประกาศจากทางราชการอย่างใกล้ชิด

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2560 

‘หมอดิน’เร่งเครื่องขุดบ่อจิ๋ว ตั้งเป้าปีหน้าลุยเพิ่ม4หมื่นแห่ง

นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาที่ดินดำเนินโครงการแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน หรือ บ่อจิ๋ว โดยให้เกษตรกรเจ้าของที่ดินมีส่วนร่วมออกค่าใช้จ่ายในการขุดสระ2,500 บาท ต่อบ่อขนาดความจุ 1,260 ลูกบาศก์เมตร หรือ ขนาด 34 x 20 x 3 เมตรกระจายอยู่ในพื้นที่ของเกษตรกร ใช้ในการกักเก็บน้ำในช่วงฤดูฝน เพื่อให้มีแหล่งน้ำไว้ใช้ทำการเกษตรในฤดูแล้งโดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทาน

อธิบดีกรมพัฒนาที่ดินกล่าวต่อว่า ตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปี 2559 กรมได้ดำเนินการขุดแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทานอย่างต่อเนื่อง ประมาณ 374,807 บ่อ ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 81 ดำเนินการกระจายอยู่ในพื้นที่ของเกษตรกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และในปี 2560 ได้ขุดบ่อจิ๋วตามงบประมาณที่ได้รับจัดสรรอีก 44,000 บ่อ และยังมีเงินงบประมาณเหลือจ่ายสามารถขุดบ่อจิ๋วให้แก่เกษตรกรที่มีความต้องการเพิ่มเติมได้อีก 3,092 บ่อ ซึ่งได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว 45,527 บ่อคิดเป็นร้อยละ 96.67 สำหรับในปีงบประมาณ 2561 กรมพัฒนาที่ดินได้นำความต้องการของเกษตรกรเสนอตั้งเป็นคำของบประมาณ 45,000 บ่อซึ่งอยู่ระหว่างการเสนอเข้าพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติในช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2560

“ขณะนี้ประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูฝนอย่างเต็มตัว โครงการพัฒนาแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน หรือ บ่อจิ๋ว มีความพร้อมที่จะรองรับปริมาณน้ำฝนที่กำลังตกอยู่ในขณะนี้ ดังนั้น เกษตรกรจึงควรเตรียมสำรองเก็บน้ำไว้ใช้ในการเพาะปลูกครั้งต่อไป อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นว่า จำนวนบ่อจิ๋วที่กระจายอยู่ทุกพื้นที่ของประเทศไทย กว่า 400,000 บ่อ จะช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งหน้าได้เป็นอย่างดี พร้อมทั้งสามารถที่จะสำรองน้ำไว้ใช้ในภาพรวมได้ไม่น้อยกว่า 400 ล้าน ลูกบาศก์เมตร” อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ไทยสะเทือนจีนใช้ SG ป้องน้ำตาล แฉอุตฯภายในอ่อนแอ-เตรียมโละสต๊อก 3 ล้านตันลดนำเข้า

ส่งออกน้ำตาลไทยไปแดนมังกรสะเทือน หลังรัฐบาลจีนสั่งเก็บภาษีเซฟการ์ดสูงลิ่ว อ้างตัวเลขนำเข้าพุ่ง วงการชี้ผลพวงเพื่อป้องอุตสาหกรรมภายใน-ดันราคาอ้อยช่วยชาวไร่ "อิสระ"บอสใหญ่กลุ่มมิตรผลเผยจีนเตรียมระบายสต๊อก 3 ล้านตันลดนำเข้า

 กรณีกระทรวงพาณิชย์ของจีนได้เปิดไต่สวนเพื่อใช้มาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าน้ำตาลจากประเทศไทยที่เพิ่มมาก(มาตรการเซฟการ์ดหรือ SG)โดยล่าสุดกรมการค่าต่างประเทศของไทยได้เผยแพร่ข่าวว่า เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2560 กระทรวงพาณิชย์ของจีนได้ประกาศผลไต่สวนชั้นที่สุด กำหนดให้เรียกเก็บอากรปกป้องฯ เป็นเวลา 3 ปี (ระหว่าง 22 พ.ค.2560 – 21 พ.ค.2563) อัตราภาษี SG ที่ 45-35%(ผ่อนคลายลงปีละ5%) ซึ่งเป็นการเรียกเก็บเพิ่มจากที่มีการกำหนดอากรขาเข้าอยู่แล้วโดยเก็บอัตราในโควตา 15% และนอกโควตา 50%

SUGGGทั้งนี้นายวันชัย วราวิทย์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ระบุ การนำเข้าสินค้าน้ำตาลของจีนในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2557 - ปี 2559) มีไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับที่ 2 มีปริมาณการนำเข้า 535,650 ตัน 602,926 ตัน และ 179,554 ตัน ตามลำดับ ส่วนผู้ส่งออกอันดับที่ 1 คือ บราซิล มีปริมาณการนำเข้า 2,101,227 ตัน 2,741,442 ตันและ 1,995,934 ตัน ตามลำดับ

 นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ บริษัท ไทย ชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด(TSMC) เปิดเผบกับ "ฐานเศรษฐกิจ" การเรียกเก็บภาษีเซฟการ์ดของจีนต่อสินค้าน้ำตาลนำเข้าจากไทยในหลักการแล้วจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกน้ำตาลไทยไปจีนที่ลดลงในปีนี้ เนื่องจากมีผู้ค้าหรือผู้นำเข้ามีภาระภาษีเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ปัจจุบันการส่งออกน้ำตาลของไทยไปจีนโดยส่วนใหญ่จะผ่านทางเทรดเดอร์หรือผู้ค้าจากต่างประเทศ เช่นเทรดเดอร์จากฮ่องกง สิงคโปร์ ญี่ปุ่น หรือออสเตรเลีย การส่งออกโดยตรงจากผู้ส่งออกไทยมีไม่มากนัก

"จีนเรียกเก็บภาษีเซฟการ์ด มองว่าเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมน้ำตาลในประเทศที่เขาผลิตได้ไม่เพียงพอต่อการบริโภค ขณะที่ต้นทุนการผลิตยังสูงไม่สามารถแข่งขันได้ ถือเป็นสิทธิ์ของเขาที่จะเลือกใช้วิธีนี้"

ด้านนายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการ กลุ่มมิตรผล เผยว่า จีนมีการบริโภคน้ำตาลปีละประมาณ 14 ล้านตัน ผลิตได้ในประเทศราว 9 ล้านตัน ต้องนำเข้า 5 ล้านตัน การเรียกเก็บภาษีเซฟการ์ดในครั้งนี้มองว่าเพื่อปกป้องผู้ผลิตภายในของจีน รวมถึงเวลานี้จีนมีสต๊อกน้ำตาลประมาณ 8-9 ล้านตัน มีเป้าหมายจะระบายออกมาในปีนี้ 2-3 ล้านตัน ทั้งนี้การลดการนำเข้าเพื่อสร้างสมดุลทำให้ราคาอ้อยในจีนปรับตัวสูงขึ้นเพื่อช่วยเหลือเกษตรที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ปลูกรายย่อย และมีต้นทุนการผลิตสูง

"ราคาน้ำตาลขายส่งในจีนตกประมาณ 6,800 หยวนต่อตัน(ราว 3.4 หมื่นบาท) ขณะที่ราคาขายปลีกน้ำตาลทรายสูงกว่าเรา 1 เท่าตัว ผมมองว่าเขาพยายามสร้างสมดุลให้ราคาอ้อยในประเทศปรับตัวสูงขึ้นเพื่อช่วยเกษตรกร และช่วยให้โรงงานน้ำตาลภายในที่มีเป็นร้อยโรงให้แข่งขันได้ ทั้งนี้ในส่วนของกลุ่มมิตรผลได้ไปร่วมทุนกับรัฐบาลท้องถิ่นของจีนในมณฑลกวางสีตั้งโรงงานน้ำตาลในจีนมา 23 ปีแล้ว ปัจจุบันมี 5 โรงผลิตน้ำตาลได้รวม 1 ล้านตันต่อปี"

ผู้สื่อข่าวตรวจสอบข้อมูลของกรมการค้าต่างประเทศล่าสุดพบว่า นอกจากสินค้าน้ำตาลที่ถูกใช้มาตรการเซฟการ์ดแล้ว ยังมีสินค้าไทยถูกจีนใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด(เอดี) 2 รายการได้แก่ Terephthalic Acid และ Methyl Methacrylate Acid และอยู่ระหว่างเปิดไต่สวนเพื่อใช้มาตรกาเอดีอีก 1 รายการได้แก่ Polyformaldehyde Copolymer

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2560 

ทีพีพี กับการค้าระหว่างประเทศ

ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภูมิภาคแปซิฟิก (ทีพีพี) ดูจะกลับเข้ามาสู่ความสนใจของผู้รับผิดชอบระดับนโยบายของบ้านเราอีกครั้งนะครับ หลังจากประเทศคู่เจรจาที่เหลือ 11 ประเทศ ซึ่งต่างก็อยู่ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกและล้วนเป็นสมาชิกเอเปค ได้ใช้โอกาสที่เดินทางมาร่วมการประชุมเอเปคเมื่อช่วงกลางเดือน หารือกันนอกรอบเพื่อประเมินอนาคตของทีพีพีหลังจากสหรัฐฯ ได้ถอนตัวออกไป

 สมาชิกทีพีพีที่เหลือ11 ประเทศ (ทีพีพี 11) ซึ่งได้แก่ ออสเตรเลีย บูรไน แคนาดา ชิลี ญี่ปุ่น มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์และเวียดนาม ได้มีแถลงการณ์ร่วมกันออกมา แต่ทั้ง 11 ประเทศยังคงไม่ได้ข้อสรุปว่า จะเอาอย่างไรดี โดยกำหนดเวลาไว้ว่าจะประชุมกันอีกครั้งในเดือนกรกฎาคมและหาข้อยุติให้ได้ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ ทั้งนี้ มีรายงานว่าทีพีพี 11 มีทางเลือกอยู่ 2 ทาง คือ ทำให้ทีพีพีดังที่เป็นอยู่มีผลใช้บังคับแม้ไม่มีสหรัฐฯ หรือ เปิดให้สมาชิกที่เหลือเจรจาเพื่อหาสมดุลใหม่เมื่อไม่มีสหรัฐฯ แล้ว

 ญี่ปุ่นเป็นหัวหอกในความพยายามที่จะหาทางออกให้ทีพีพีมีผลใช้บังคับโดยไม่มีสหรัฐฯ แม้จะทำให้มูลค่าการค้าระหว่างสมาชิกทีพีพีเหลือเพียง 40% ก็ตาม เพราะญี่ปุ่นมองว่าหากทีพีพีมีผลใช้บังคับ ก็อาจดึงดูดสหรัฐฯ กลับมาได้ในที่สุด นอกจากนี้ญี่ปุ่นยังต้องการใช้ทีพีพีคานอำนาจทางเศรษฐกิจของจีน ซึ่งเด่นชัดในกรอบความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ ทีพีพีจะเป็นความตกลงการค้าฉบับแรกที่กำหนดกฎเกณฑ์การอำนวยความสะดวกทางการค้าให้แก่เศรษฐกิจดิจิตอล ซึ่งการค้าระหว่างประเทศในศตวรรษที่ 21 จะมีขึ้นในโลกออนไลน์มากขึ้นเรื่อย ๆ

 หากเลือกแนวทางแรก ทีพีพี 11 เพียงแค่แก้ไขตัวบทความตกลงในเรื่องการมีผลใช้บังคับซึ่งขณะนี้กำหนดให้ประเทศที่ให้สัตยาบันแล้วต้องมีจีดีพีรวมกันไม่ต่ำกว่า 85% ของสมาชิกทั้งหมด (เนื่องจากหากไม่มีสหรัฐฯ จีดีพีของทีพีพี 11 รวมกันมีแค่ะ 40% เท่านั้น) และตัดภาคผนวกที่เกี่ยวข้องกับสหรัฐฯ ออกไป ซึ่งแนวทางนี้สามารถทำให้ความตกลงฯ มีผลใช้บังคับได้โดยเร็วเนื่องจากไม่ต้องเจรจาเนื้อหาสาระใหม่ และเป็นแนวทางที่ญี่ปุ่น ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ สนับสนุน

 ขณะที่เวียดนามและมาเลเซียมีท่าทีต้องการเสนอให้เปิดเจรจาใหม่เพื่อหาสมดุลเมื่อไม่มีสหรัฐฯ ในภาพแล้ว ทั้งนี้ เนื่องจากข้อแลกเปลี่ยนของทั้งสองประเทศนี้ภายใต้ทีพีพี ซึ่งได้แก่ พันธกรณีที่จะปฏิรูปกฎระเบียบภายในของตนครั้งใหญ่ มีพื้นฐานอยู่บนผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการเข้าตลาดสหรัฐฯ เมื่อสหรัฐฯ ถอนตัวออกไปแล้ว 2 ประเทศนี้จึงไม่ค่อยเต็มใจที่คงข้อแลกเปลี่ยนดังกล่าวภายใต้ทีพีพีไว้ เวียดนามสัญญาที่จะปฎิรูประบบรัฐวิสาหกิจของตนขณะที่มาเลเซียจะเปิดตลาดการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเป็นครั้งแรก อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตว่า สหรัฐฯ มีอากรศุลกากรสำหรับสินค้านำเข้าต่ำอยู่แล้ว ทั้ง 2 ประเทศสามารถเข้าตลาดสหรัฐฯ ได้โดยไม่ต้องอาศัยเอฟทีเอ จะมีก็เพียงไม่กี่สาขา ได้แก่ สิ่งทอ รองเท้า เกษตรและสินค้ายานยนต์บางประเภท เท่านั้นที่เรียกได้ว่ามีการเปิดตลาดเฉพาะในทีพีพี

 ไทยไม่ได้ร่วมการเจรจาทีพีพีมาแต่ต้น การเข้าร่วมจะขึ้นอยู่กับความยินยอมของทีพีพี 11 ซึ่งสามารถมีข้อเรียกร้องจากไทย อาทิ ในเรื่องการเปิดตลาด เป็นการเฉพาะเพิ่มจากพันธกรณีภายใต้ทีพีพีขณะนี้ เรียกได้ว่าจะมี “ค่าผ่านประตู” สำหรับไทยเป็นแน่ ดังนั้น ไทยควรพิจารณาความพร้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งความพร้อมที่จะเปิดตลาดการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน หากแค่พร้อมที่จะผูกพันเท่ากับของเดิมไม่มาก อาทิ เท่าพันธกรณีที่มีที่ WTO หรือเท่าที่เปิดให้ประเทศอื่นตามเอฟทีเอแล้วนั้น เกรงว่าคงจะไม่พอ และที่สำคัญไทยมีความพร้อมที่จะปฏิรูประบบภายในของเราแค่ไหน โดยเฉพาะเรื่องที่เป็นประเด็นใหม่ ๆ เช่นการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และประเด็นที่เรามีปัญหามาตลอดเช่นการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา

 สำหรับผลประโยชน์ที่ไทยอาจได้รับจากการเข้าร่วมทีพีพี ที่ชัดเจนน่าจะได้แก่ การเปิดตลาดแคนาดาและเม็กซิโก ซึ่งเป็นเพียง 2 ประเทศในทีพีพี 11 ที่ไทยยังไม่มีเอฟทีเอด้วย และที่สำคัญพันธกรณีภายใต้ทีพีพีสามารถนำไปสู่การเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันให้แก่ไทยในตลาดโลก ทั้งจากการปฏิรูปโครงสร้างและการปรับตัวเข้าสู่กฎเกณฑ์ทางการค้ายุคดิจิตอล ก็ต้องลองคิดกันดูครับ

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2560 

ปลื้มรง.4เดือนพ.ค.พุ่งจี้68โรงปรับแก้น้ำเสีย 

          กรอ.ปลื้มยอด ขอ รง.4 เดือน พ.ค. โต 18.31% มูลค่าลงทุนทะลุ 5 หมื่นล้านบาท สูงสุดในปีนี้ ด้าน "สมชาย" เผยจับตาโรงงานติดแม่น้ำ สั่งปรับปรุงน้ำเสีย 68 โรง

          นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่าในเดือน พ.ค. 60 มีการยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการ (รง.4) และการขยายกิจการจำนวนโรงงานขอทั้งสิ้น 433 โรงงาน เพิ่มขึ้น 18.31% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการลงทุนรวม 50,240 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 120.94% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นเดือนที่มีมูลค่าการลงทุนสูงที่สุดในปีนี้ แบ่งเป็นเปิดกิจการใหม่จำนวน 361 โรงงาน เพิ่มขึ้น 11.08% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายกิจการ 72 โรงงาน เพิ่มขึ้น 75.61% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

          โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการจดประกอบกิจการใหม่มากที่สุด 3 อันดับแรก คือ อุตสาหกรรมอาหาร 46 โรงงาน มูลค่าการลงทุนเพิ่ม ขึ้นอยู่ที่ 5,691 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 50.83% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์โลหะ 40 โรงงาน มูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 1,680 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 181.53% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และอุตสาหกรรมพลาสติก 32 โรงงาน มูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้น 1,473 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 114.11% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

          นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ได้ทำการตรวจสอบคุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก 7 สายทั่วประเทศประกอบด้วย แม่น้ำท่าจีน เจ้าพระยาตอนบน และล่าง น้ำพอง บางปะกง แม่กลอง และทะเล สาบสงขลา จำนวน 1,400 โรง ตรวจสอบเสร็จแล้ว 1,044 โรง คิดเป็น 75% พบว่า คุณภาพน้ำจากปลายปล่องน้ำทิ้งโรงงาน มีค่าเป็นไปตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดเป็นส่วนใหญ่ โดยโรงงานที่มีผลการตรวจวัดเกินกว่าเกณฑ์ฯ มีจำนวน 68 โรง ซึ่งได้มีคำสั่งให้แก้ไขปรับปรุงตาม พ.ร.บ.โรงงาน ปี 2535 มาตรา 37 แล้ว

          "ในปี 60 สถานการณ์น้ำเสียในแม่น้ำต่างๆ ไม่ได้ มีต้นเหตุจากโรงงานอุตสาห กรรม เพราะเราตรวจติดตามเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด และเชื่อว่าต่อจากนี้ ไม่น่าจะเกิดปัญหาน้ำเสียจากโรงงานอีก เพราะหากดูจากสถิติที่ผ่านมา เมื่อเข้าฤดูฝนจะทำให้ปริมาณน้ำมีมาก ฝุ่นละอองในอากาศถูกไอน้ำจับตัว ทำให้ปัญหาคุณภาพอากาศลดลงไปด้วย" นายสมชายกล่าว.

จาก http://www.thaipost.net วันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2560 

‘อารีพงศ์’รับมือวิกฤติก๊าซปี’64-66 เร่งสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า ในการประชุม คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) วันที่ 7 มิถุนายน 2560 จะมีการพิจารณาราคาก๊าซหุงต้ม(แอลพีจี)ประจำเดือนมิถุนายน 2560 ให้สอดคล้องกับต้นทุนราคาตลาดโลก โดยสถานการณ์ราคาตลาดโลกลดลงแต่คาดว่าคงจะไม่มากเท่ากับเดือนที่ผ่านมาซึ่งขึ้นอยู่กับว่าที่สุดกบง.จะพิจารณาราคาก๊าซแอลพีจีอย่างไร โดยขณะนี้แอลพีจีขายปลีกอยู่ที่ 20.49 บาท/กิโลกรัม(กก.) โดยกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงส่วนบัญชีแอลพีจี ยังชดเชยราคาอยู่ที่ 1.59 บาทต่อกก. นอกจากนี้ที่ประชุมจะมีการรายงานสถานการณ์ภาพรวมของสถานการณ์พลังงาน

สำหรับการรองรับสภาวะวิกฤติก๊าซธรรมชาติ ปี 2564-2566 ขณะนี้สนพ.อยู่ระหว่างการสรุปแผนรายละเอียดเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับสภาวะวิกฤติก๊าซธรรมชาติ ปี 2564-2566 เนื่องจากความล่าช้าการบริหารจัดการแหล่งก๊าซในอ่าวไทยทำให้การผลิตลดลงประกอบกับโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผนจะส่งผลกระทบต่อก๊าซฯหายไปราว 2 ล้านตันหรือเทียบเท่ากับโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติหายไป 1,700 เมกะวัตต์ โดยคาดว่าจะทำรายละเอียดทั้งหมดเสร็จภายในเดือนกันยายน-ตุลาคมนี้

สำหรับแผนเบื้องต้นได้แก่การลดความต้องการใช้ไฟฟ้า (Demand Side) ด้วยการเสนอแนวคิด ส่งเสริมติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคา (Solar Rooftop) เพื่อลดความต้องการไฟฟ้าช่วงพีคกลางวันที่คาดว่าจะมีการเสนอการรับซื้อระดับ 1,000 เมกะวัตต์ อย่างไรก็ตาม ยังไม่ได้ข้อสรุปเพราะต้องหารือแนวทางการปฏิบัติรายละเอียด รวมถึงการใช้มาตรการ Demand Response (DR) เพื่อประหยัดไฟฟ้าตามช่วงเวลาที่ภาครัฐกำหนดเป็นการเฉพาะ

ด้าน นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างจัดทำแผนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนรายภูมิภาค เพื่อทำให้ภาพรวมกำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศมีความสมดุล มีศักยภาพ ไม่กระทบต่อค่าไฟฟ้าของประชาชน โดยได้มอบหมายให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) และสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) ศึกษาศักยภาพการผลิตไฟฟ้าของแต่ละพื้นที่ว่ามีเชื้อเพลิงประเภทที่เหมาะสมและเพียงพอหากมีการผลิตขึ้นจริง นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)สำรวจความต้องการใช้ไฟฟ้าในแต่ละภูมิภาคว่ามีความต้องการแท้จริงเท่าไร พื้นที่ใดใช้ไฟฟ้ามาก น้อย เพื่อนำข้อมูลมาประกอบการพิจารณากำลังผลิตไฟฟ้าที่เพียงพอ

“แผนนี้มีความจำเป็น เพราะที่ผ่านมาการสร้างโรงไฟฟ้าของไทยไม่มีศักยภาพ บางกรณีมีการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล แต่เมื่อดำเนินการแล้วกลับไม่มีเชื้อเพลิงป้อนอย่างเพียงพอ หรือบางพื้นที่มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แต่สุดท้ายแสงแดดไม่เพียงพอ ทำให้รัฐบาลต้องมีการลงทุนด้านสายส่งเพิ่มเติม สูญเสียงบประมาณประเทศ ต้นทุนดังกล่าวได้กระทบกับค่าไฟประชาชน ดังนั้นแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าของประเทศต่อจากนี้จะมีความชัดเจนขึ้น คาดว่าแผนดำเนินการจะเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือกพช. ทันภายในปีนี้” นายอารีพงศ์กล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2560 

กรมชลเดินหน้ายุทธศาสตร์น้ำ ผุด50โครงการคลุมพื้นที่ล้านไร่

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ได้ปรับยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ให้สอดคลองกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดย กรมชลประทาน ได้เสนอแผนงานแก้ไขปัญหาเร่งด่วน สามารถดำเนินการได้ทันที เช่น แก้มลิง ฝาย ประตูระบายน้ำ ระบบส่งน้ำ และการเพิ่มปริมาณความจุของแหล่งเก็บน้ำเดิม ซึ่งจะทำให้มีน้ำต้นทุนมากกว่า 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) และพัฒนาระบบส่งน้ำเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้อีก 1.59 ล้านไร่ พร้อมทั้งได้ทำการศึกษาวางรากฐานของการพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาทั้งท่วมและน้ำแล้ง เชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ โดยได้บรรจุไว้ในแผนปฏิบัติการของยุทธศาสตร์น้ำช่วง 5 ปีแรก (2560-2564) อีกด้วย

นอกจากนี้ จากผลการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการพัฒนาแหล่งน้ำในระยะกลางและระยะยาวพบว่า โครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่จะก่อสร้างได้ภายในปี 2562 มีมากกว่า 50 โครงการ ประกอบด้วย โครงการสร้างอ่างเก็บน้ำ ซึ่งจะสามารถเก็บน้ำเพิ่มขึ้น 1,200 ล้านลบ.ม. และมีระบบส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานได้ 1.1 ล้านไร่ โครงการพัฒนาอาคารบังคับน้ำในลำน้ำหลัก เช่น ประตูระบายน้ำ ฝาย เป็นต้น เพื่อเก็บกักน้ำในลำน้ำก่อนไหลออกนอกลุ่มน้ำ ในแม่น้ำยมแม่น้ำอิง แม่น้ำมูล แม่น้ำวังโตนด และแม่น้ำเลย จะสามารถเก็บกักน้ำในลำน้ำกว่า 300 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่ชลประทานกว่า 700,000 ไร่ รวมทั้งยังมีแผนเพิ่มปริมาณน้ำให้กับเขื่อนภูมิพล จ.ตาก โดยการผันน้ำจากกลุ่มน้ำสาละวินและสาขา ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษา จะสร้างความมั่นคงกับน้ำอุปโภคบริโภค น้ำอุตสาหกรรมและน้ำเพื่อการเกษตรซึ่งจะทำให้เพิ่มพื้นที่ชลประทานได้มากกว่า 1 ล้านไร่

จาก http://www.naewna.com วันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2560 

ยอดขอตั้งรง.ใหม่‘พ.ค.’เริ่มคึกคัก พบผู้สนใจยื่น433โรง มูลค่าลงทุน5หมื่นล.

นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า การขอใบอนุญาตประกอบกิจการ โรงงาน หรือใบ ร.ง.4 และการขยายกิจการใน 5 เดือนแรก(มกราคม-พฤษภาคม)ของปี 2560 มีจำนวน 1,975 โรงงาน ลดลง 0.36% ขณะที่มูลค่าการลงทุนรวม 167,283 ล้านบาท ลดลง 11.58 % จากช่วงเดียวกันของปี 2559

อย่างไรก็ดี การขอใบอนุญาตประกอบกิจการ ร.ง.4 และการขยายกิจการ เฉพาะเดือนพฤษภาคม 2560 เดือนเดียวเริ่มขยายตัวโดยมีจำนวนโรงงานขอทั้งสิ้น 433 โรงงาน เพิ่มขึ้น 18.31% มูลค่าการลงทุนรวม 50,240 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 120.94% จากช่วงเดียวกันของปี 2559 ซึ่งเป็นเดือนที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุดในปีนี้ แบ่งเป็น 1.เปิดกิจการใหม่จำนวน 361 โรงงาน เพิ่มขึ้น 11.08% แรงงาน 12,469 คน เพิ่มขึ้น 57.48% มูลค่าการลงทุน 36,430 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 147.86% 2. ขยายกิจการ 72 โรงงาน เพิ่มขึ้น 75.61% แรงงาน 5,000 คน เพิ่มขึ้น 56.84% มูลค่าการลงทุน 13,810 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 71.74% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2559

โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการจดประกอบกิจการใหม่มากที่สุด 3 อันดับแรกในเดือนพฤษภาคม คือ อุตสาหกรรมอาหาร 46 โรงงาน อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์โลหะ 40 โรงงาน อุตสาหกรรมพลาสติก 32 โรงงาน

นายมงคลกล่าวว่า สำหรับการขยายกิจการมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ อุตสาหกรรมอาหาร 12 โรงงาน มูลค่าการลงทุนอยู่ที่ 895 ล้านบาท อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์โลหะ 7 โรงงาน มูลค่าการลงทุนอยู่ที่ 142 ล้านบาท อุตสาหกรรมพลาสติก 7 โรงงาน มูลค่าการลงทุน 446 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม สำหรับข้อมูล การขอใบอนุญาตประกอบกิจการและขยายกิจการโรงงานเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2560 มีจำนวน 1,975 โรงงาน แรงงาน 82,610 คน มูลค่าการลงทุนรวม 167,283 ล้านบาท ส่วนการแจ้งเริ่มประกอบกิจการและแจ้งเริ่มส่วนขยายกิจการ จำนวน 1,527 โรงงาน แรงงาน 66,255 คน มูลค่าการลงทุนรวม 145,867 ล้านบาท

สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมที่กำลังเตรียมประกอบกิจการ และเตรียมขยายโรงงาน ทางกรมโรงงานฯ มีมาตรการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการในการขอใบอนุญาต ร.ง.4 เพิ่มความสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น เพื่อลดอุปสรรคต่อการลงทุนของผู้ประกอบการ

จาก http://www.naewna.com วันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2560 

เอาแน่เก็บภาษี"ลาภลอย" รายได้อานิสงส์รัฐลงทุน มูลค่า50ล้านบาทขึ้นไป

คลังเอาแน่เก็บภาษีลาภลอย รายได้ของผู้ที่ได้ประโยชน์จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ สศค.เปิดประชาพิจารณ์ รับฟังข้อดี-ข้อเสียก่อนนำเสนอ ครม. กำหนดรายได้เกิน 50 ล้านบาทขึ้นไปต้องเสียภาษี

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า สศค.ได้เปิดรับฟังความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีการได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐ พ.ศ. .... หรือที่รู้จักกันว่า การเก็บภาษีลาภลอย

เนื่องจากรัฐบาลได้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งในปัจจุบันและอนาคตจำนวนมาก ทำให้ผู้มีที่ดินหรือที่อยู่อาศัยได้ประโยชน์มูลค่าเพิ่มขึ้น เช่น โครงการลงทุนด้านคมนาคมของรัฐบาล 1.79 ล้านล้านบาท ในช่วงปี 2558-2565 ทำให้มูลค่าที่ดินและห้องชุดบริเวณโครงการเพิ่มสูงขึ้นมาก โดยดูจากราคาประเมินปี 2559-2562 เพิ่มขึ้น 100-150% เทียบกับราคาประเมินช่วง 4 ปีก่อนหน้า จึงเห็นว่าควรเก็บภาษีลาภลอยขึ้น

สำหรับสาระสำคัญของกฎหมาย กำหนดผู้เสียภาษีลาภลอย คือ ผู้ขายที่ดินหรือห้องชุด เจ้าของที่ดินหรือห้องชุดที่ใช้ประโยชน์ในที่ดินเชิงพาณิชย์ที่มีมูลค่าสูงกว่า 50 ล้านบาท และผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นเจ้าของห้องชุดรอการจำหน่าย ซึ่งอยู่รอบพื้นที่ที่มีโครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐ

ทั้งนี้ โครงการที่จัดเก็บภาษีคือ โครงการรถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน สนามบิน ท่าเรือ โครงการทางด่วนพิเศษ และโครงการอื่นๆ ที่กำหนดในกฎกระทรวง

ขณะที่การจัดเก็บภาษีใน 2 กรณี คือ กรณีที่ 1.การจัดเก็บในระหว่างการดำเนินโครงการฯ จะจัดเก็บจากการขาย หรือเปลี่ยนกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือห้องชุดทุกครั้ง รอบพื้นที่โครงการในรัศมีที่กำหนด กรณีที่ 2 คือ การจัดเก็บเมื่อการดำเนินโครงการฯ แล้วเสร็จ จะจัดเก็บจากที่ดินหรือห้องชุดที่ใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ที่มีมูลค่าสูงกว่า 50 ล้านบาท ยกเว้นใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัยและทำเกษตรกรรม และเก็บจากห้องชุดของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่รอการจำหน่าย ซึ่งอยู่รอบพื้นที่ที่มีโครงการฯ โดยให้เก็บภาษีดังกล่าวในปีถัดจากปีที่โครงการฯ แล้วเสร็จเพียงครั้งเดียว

สำหรับพื้นที่จัดเก็บภาษีกำหนดขอบเขตไว้ ดังนี้ 1.โครงการฯ และพื้นที่ ที่อยู่ในรัศมีของโครงการรถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน 2.5 กิโลเมตร รอบสถานี 2.โครงการฯ และพื้นที่ ที่อยู่ในรัศมีสนามบิน 5 กิโลเมตร จากแนวเขตห้ามก่อสร้างของสนามบิน 3.โครงการฯ และพื้นที่ ที่อยู่ในรัศมี ท่าเรือ 5 กิโลเมตร จากแนวเขตที่ดินของท่าเรือ และ 4.โครงการฯ และพื้นที่ ที่อยู่ในรัศโครงการทางด่วนพิเศษ 2.5 กิโลเมตร รอบทางขึ้นและทางลง

ทั้งนี้ ผู้จัดเก็บภาษีคือกรมที่ดิน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยอัตราการเก็บภาษีกำหนดเพดานสูงสุด 5% แต่จัดเก็บจริงจะพิจารณากำหนดโดยคณะกรรมการพิจารณากำหนดพื้นที่จัดเก็บภาษี โดยออกเป็นกฎกระทรวงเพื่อบังคับใช้ต่อไป

นายกฤษฎากล่าวว่า กระทรวงการคลังได้ศึกษาการเก็บภาษีลาภลอยนี้มานานแล้ว และที่ผ่านมา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้เสนอให้เก็บภาษีดังกล่าว สศค. จึงนำร่างกฎหมายนี้มารับฟังความเห็นจากประชาชน เพื่อดูข้อดีข้อเสียของกฎหมาย ก่อนจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ.

จาก http://www.thaipost.net วันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2560 

“อภิรดี” สั่งปั๊มยอดค้าชายแดน ปั้นกองทัพ SMEs ลุยขาย CLMV

        “อภิรดี” สั่งพาณิชย์จังหวัดที่อยู่ในจังหวัดติดประเทศเพื่อนบ้านสร้างกองทัพ SMEs แล้วพาลุยเจาะตลาด CLMV เพื่อเพิ่มยอดการค้าชายแดน หลังปีนี้ตั้งเป้าไว้ถึง 1.8 ล้านล้านบาท ล่าสุดอยู่ระหว่างจัดทีมบุก 3 เมืองพม่า ด้านพาณิชย์จังหวัดตากระบุการค้าผ่านด่านแม่สอดจะทะลุ 1 แสนล้านได้ในเร็วๆ นี้ เผยสินค้าดาวรุ่ง น้ำตาลทรายมาแรง ตามด้วยเครื่องดื่มบำรุงกำลัง เบียร์ เครื่องจักรกลการเกษตร และเมล็ดพันธุ์พืช

               นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้สั่งการให้พาณิชย์จังหวัดที่มีพื้นที่ติดชายแดนทั่วประเทศไปหาช่องทางในการขยายการค้าการลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะการสร้างกองทัพผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) และผู้ประกอบการท้องถิ่น ให้มีโอกาสในการส่งออกไปตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาด CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว พม่า และเวียดนาม) ซึ่งเป็นตลาดที่อยู่ใกล้ชิดกับไทยและมีโอกาสในการค้าขายสูง เพราะแต่ละประเทศนิยมสินค้าไทยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

               “การขยายการค้าชายแดนที่ผ่านมามักจะดำเนินการโดยผู้ประกอบการรายใหญ่ หรือผู้ส่งออกรายใหญ่ และเป็นการค้าขายระหว่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ แต่กระทรวงฯ เล็งเห็นว่าถ้าสามารถผลักดันให้ SMEs และผู้ประกอบการท้องถิ่นทำการส่งออกได้ ทำเป็นกลุ่มเล็กๆ กองทัพเล็กๆ ออกไปเจรจาค้าขายกับเพื่อนบ้าน ก็จะยิ่งผลักดันให้มูลค่าการค้าชายแดนมีการขยายตัวได้มากขึ้น อีกทั้งปีนี้กระทรวงฯ ได้ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดนไว้สูงถึง 1.8 ล้านล้านบาท ก็ต้องทำทุกทาง ทั้งการเพิ่มยอดการค้าระหว่างประเทศและการค้าผ่านแดน”

               ทั้งนี้ ล่าสุดได้รับรายงานจากพาณิชย์จังหวัดตากว่าจะมีการจัดคณะผู้แทนการค้าภาครัฐและเอกชนในกลุ่ม 5 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง (ตาก พิษณุโลก อตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ และสุโขทัย) เดินทางไปเจรจาการค้ากับภาคเอกชนในเมืองผาอัน เมาะละแหม่ง และย่างกุ้ง ประเทศพม่า ในระหว่างวันที่ 2-6 ก.ค. 2560 เพื่อนำสินค้าเด่นจาก 5 จังหวัดดังกล่าวไปเจรจาจับคู่ธุรกิจกับภาคเอกชนของพม่า ส่วนจังหวัดอื่นๆ ที่มีพื้นที่ติดชายแดนอยู่ระหว่างการดำเนินการ

               อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการผลักดันให้การค้าชายแดนมีการขยายตัวได้มากขึ้น กระทรวงฯ มีแผนที่จะเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อให้มีการเปิดด่านการค้าเพิ่มขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกในด้านการค้าขาย และการท่องเที่ยวระหว่างกัน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา

               นายภาณุ ขันธ์แก้ว พาณิชย์จังหวัดตาก กล่าวว่า ก่อนหน้านี้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดตากได้นำคณะผู้ประกอบการท้องถิ่นไปเจรจาการค้ากับผู้ประกอบการในพนมเปญ และที่โฮจิมินห์ สามารถเชื่อมโยงให้เกิดการค้าขายได้เพิ่มขึ้น และที่จะไปพม่าก็มั่นใจว่าจะประสบความสำเร็จ และคาดว่าจะช่วยส่งเสริมการค้าชายแดนให้เพิ่มขึ้น โดยในส่วนของมูลค่าการค้าที่ด่านแม่สอด มั่นใจว่าจะเพิ่มเป็น 1 แสนล้านบาทได้ในเร็วๆ นี้ จากปัจจุบันมีมูลค่า 8.4 หมื่นล้านบาท

               สำหรับสินค้าส่งออกที่มีโอกาสส่งออกไปพม่าขณะนี้ น้ำตาลทรายถือเป็นสินค้าดาวรุ่ง เพราะเดิมขนส่งผ่านด่านเชียงของ แต่ติดปัญหาชนกลุ่มน้อยเยอะ มีการเรียกค่าผ่านทางสูง จึงหันมาส่งออกผ่านด่านแม่สอดแทน และสินค้ารองลงมาคือ เครื่องดื่มบำรุงกำลัง โทรศัพท์และอุปกรณ์ รถจักรยานยนต์ และเบียร์ ขณะที่สินค้าในกลุ่มเครื่องจักรกลการเกษตร เมล็ดพันธุ์พืช ถือเป็นกลุ่มใหม่ที่มีแนวโน้มเติบโต เพราะรัฐบาลพม่าให้การส่งเสริมภาคการเกษตร ทำให้สินค้าเป็นที่ต้องการของตลาด เช่นเดียวกับกลุ่มสินค้าวัสดุก่อสร้าง โทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์ ที่ยังเป็นที่ต้องการในตลาดอยู่

  จาก http://manager.co.th  วันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2560 

ไทยจับตาสหรัฐถอนตัวความตกลงปารีส

ประเทศไทย จับตา สหรัฐ ถอนตัวความตกลงปารีส ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกกระทบส่งออกสินค้าสิ่งแวดล้อม

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าตามที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ประกาศว่า จะถอนตัวจากความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งเป็นความตกลงที่มีวัตถุประสงค์เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมีสมาชิก 195 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย มีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลสหรัฐฯ จะลดความสำคัญต่อการดำเนินการ ด้านการป้องกันและแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมลง เนื่องจากสหรัฐฯ ไม่มีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตามแล้ว และอาจส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวกับสินค้าและบริการด้านสิ่งแวดล้อมภายในสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบ เนื่องจากความต้องการที่ลดลง และเป็นไปได้ว่าสหรัฐฯ อาจจะนำเข้าสินค้าและบริการด้านสิ่งแวดล้อมจากต่างประเทศลดลงด้วย นอกจากนี้ ยังทำให้สหรัฐฯ สามารถลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจได้ในระยะสั้น เนื่องจากไม่ต้องมีการลงทุนเพื่อปรับกระบวนการผลิต เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะส่งผลในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคาสินค้าส่งออกจากสหรัฐฯ

ทั้งนี้ คาดว่ากระบวนการในการถอนตัวจากการเป็นภาคีความตกลงปารีสจะใช้ระยะเวลาประมาณ 4 ปี ก่อนที่การถอนตัวจากความตกลงปารีสจะเสร็จสิ้นอย่างเป็นทางการ โดยการถอนตัวของสหรัฐฯ คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 ซึ่งกระทรวงพาณิชย์  จะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดต่อไป

  จาก http://www.innnews.co.th   วันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2560 

กรมโรงงานฯ ดันโรงงานสีเขียวเพิ่ม 2,000 แห่ง นำร่อง 10 คลัสเตอร์อุตฯ เทคโนโลยี  

        กรมโรงงานอุตสาหกรรม รุกส่งเสริมแผนโรงงานสีเขียวเพิ่มอีก 2,000 แห่ง ในปี 60 จากเดิมมีกว่า 26,000 แห่ง ทั่วประเทศ เน้นสร้างความรู้ด้านเทคโนโลยีใหม่แก่องค์กร พร้อมระดมความรู้อุตสาหกรรมสีเขียว หวังลดใช้พลังงาน และทรัพยากร นำร่อง 10 คลัสเตอร์อุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม สนองนโยบายอุตสาหกรรม 4.0

                นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรมโรงงานฯ ได้สานต่อแผนของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่จะส่งเสริมโรงงานสีเขียวเพิ่มขึ้นอีกกว่า 2,000 แห่ง ภายในปี 2560 จากปัจจุบันที่มีอยู่แล้วกว่า 26,000 แห่ง ทั้งนี้แผนงานที่จะส่งเสริมให้มีโรงงงานสีเขียวเพิ่มมากขึ้น จะเน้นการส่งเสริมให้มีการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ จากแต่ละบริษัท และองค์กรจากทั่วโลก พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมสีเขียว การลดการใช้พลังงาน ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ทั้งยังช่วยเพิ่มผลผลิต และลดอัตราการสูญเสียทรัพยากร โดยกรมโรงงานฯ จะมุ่งหน้าสื่อสารและมอบองค์ความรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมสีเขียว ให้แก่ภาคธุรกิจผ่านในงาน ASEAN Sustainable Energy Week 2017

                “เป้าหมายของกรมโรงงานฯ คือ ส่งเสริมโรงงานอุตสาหกรรมให้เป็นโรงงานสีเขียวให้ได้มากที่สุด หรือให้มากกว่า 50,000 แห่งในอนาคต โดยมีภารกิจหลักคือการส่งเสริมการเพิ่มผลผลิต ลดการใช้วัตถุดิบ พลังงาน น้ำ ไฟ และลดการก่อมลภาวะ ซึ่งกระแสการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมนั้นได้เกิดขึ้นทั่วโลก โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศอันดับต้น ๆ ในภูมิภาคที่ได้ตื่นตัวและจัดกิจกรรมในเรื่องดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในงาน ASEAN Sustainable Energy Week 2017 ปีนี้ คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานเพื่อศึกษาแนวโน้มและองค์ความรู้ด้านความยั่งยืนมากเพิ่มขึ้นกว่าเดิม เพื่อตอบสนองการพัฒนาสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยคำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย รวมถึงการอนุรักษ์อีกด้วย” นายมงคลกล่าว

               ทั้งนี้กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมที่เป็นเป้าหมายหลักในการส่งเสริมให้เป็นโรงงานสีเขียวนั้น ได้แก่ 10 คลัสเตอร์อุตสาหกรรม ที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่รัฐบาลมีแผนจะส่งเสริมภายใต้นโยบายอุตสาหกรรม 4.0 อาทิ อุตสาหกรรมรถยนต์และส่วนประกอบอิเลคทรอนิกส์, อุตสาหกรรมเกษตรและ แปรรูปอาหาร เป็นต้น โดยในปีนี้กรมโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งเป็นหนึ่งหน่วยงานหลักที่ให้การสนับสนุนการจัดงาน Entech Pollutech Asia 2017 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในงาน ASEAN Sustainable Energy Week 2017 (ASE 2017) ร่วมกับ บริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด มาโดยตลอด จะจัดให้มีกิจกรรมที่เป็นไฮไลท์ มาเผยแพร่ให้กับกลุ่มผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมได้รับรู้และก่อให้เกิดการปรับปรุงพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการองค์กรให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดในการใช้พลังงานในรูปแบบต่าง ๆ ขององค์กรอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ เช่น เทคโนโลยีความปลอดภัย หรือ best practice สำหรับโรงงาน การใช้เทคโนโลยีหม้อต้มไอน้ำให้มีประสิทธิภาพสูงสุดในการประหยัดพลังงาน และลดมลภาวะ เทคโนโลยีเปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงาน

               นอกจากนี้ภายในงาน ยังมีการจัดสัมมนาในหัวข้อ “สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย ก้าวไกลสู่อุตสาหกรรม 4.0” และมีการประชุมและสัมมนาในหัวข้อต่างๆ ที่น่าสนใจอีกกว่า 100 หัวข้อ และในระหว่างวันที่ 8-9 มิถุนายน กรมโรงงานฯ ได้จัดการสัมมนา เพื่ออัพเดทกฎหมายและข้อบังคับใหม่ๆ เกี่ยวกับความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับทราบแนวทางและปรับตัวให้เท่าทันในยุค

               อย่างไรก็ตามงาน ASEAN Sustainable Energy Week 2017 เป็นงานแสดงเทคโนโลยีและการประชุมด้านพลังงานหมุนเวียนการใช้พลังงานให้เกิดประสิทธิภาพ และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนขานรับความต้องการของกลุ่มลูกค้าในทุกมิติอย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งเป็นการรวม 3 งานหลัก ที่มีความสำคัญและครบวงจรด้านพลังงานและการอนุรักษ์และบริหารทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดมาไว้ในงานเดียวกัน ได้แก่ Renewable Energy Asia, Energy Efficiency Expo และ Entech Pollutec Asia โดยคาดว่าจะมีผู้จัดแสดงงานกว่า 1,500 แบรนด์ชั้นนำ จาก 35 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วม อีกทั้งมีพาวิลเลียนชั้นนำ จาก 11 ประเทศ อาทิ เยอรมนี สิงคโปร์ จีน ไต้หวัน เนเธอร์แลนด์ อเมริกา อิสราเอล เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และมาเลเซีย นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมและสัมมนาในหลากหลายประเด็น เกี่ยวกับด้านพลังงานทดแทน สิ่งแวดล้อม และการอนุรักษ์พลังงาน โดยมีคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 27,000 ราย จาก 45 ประเทศ โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มภูมิภาคอาเซียน เข้าร่วมกิจกรรมและชมงานในครั้งนี้

               สำหรับงาน ASEAN Sustainable Energy Week 2017 งานแสดงเทคโนโลยีและการประชุมด้านพลังงานหมุนเวียน การใช้พลังงานให้เกิดประสิทธิภาพและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน จัดร่วมกับงาน Renewable Energy Asia Energy Efficiency Expo และ Entech Pollutec Asia จัดขึ้นในระหว่างวัน 7-10 มิถุนายน พ.ศ.2560 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา

 จาก http://manager.co.th  วันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2560 

ชูพลังงานแสงอาทิตย์ช่วยเกษตรกรสู้ภัยแล้ง เพิ่มผลผลิตเกือบ200ล้าน

พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ได้ลงพื้นที่ตรวจโครงการสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์สู้ภัยแล้งในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ว่า กระทรวงพลังงานดำเนิน “โครงการสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์สู้ภัยแล้ง” เพื่อสนับสนุนความรู้ เทคโนโลยีการสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อใช้ในพื้นที่เกษตรกรรมที่เคยประสบปัญหาภัยแล้ง ให้มีอีกทางเลือกหนึ่งในการบริหารจัดการน้ำ ไม่ให้พืชที่เพาะปลูกเสียหายจากการขาดแคลนน้ำเมื่อประสบปัญหาภัยแล้ง และช่วยลดต้นทุนจากการทดแทนการใช้น้ำมัน อีกทั้งยังมีส่วนช่วยเกษตรกรให้สามารถพึ่งพาตัวเองได้ โดยโครงการสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ จ.นครราชสีมา กระทรวงพลังงานได้จัดทำโครงการจำนวน 53 ระบบ ช่วยเหลือเกษตรกรจำนวน 410 ราย พื้นที่ได้รับประโยชน์จำนวน 4,600 ไร่ สามารถใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้นจำนวน 133 กิโลวัตต์ นอกจากนี้ยังทำใน จ.ลพบุรี จำนวน 4 ระบบ ช่วยเหลือเกษตรกรจำนวน 31 ราย พื้นที่ได้รับประโยชน์จำนวน 364 ไร่ ซึ่งสามารถใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้นจำนวน 10 กิโลวัตต์

สำหรับโครงการสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์สู้ภัยแล้งได้เริ่มดำเนินการเมื่อเดือนกรกฎาคม 2559 ดำเนินการส่งเสริมระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 846 ระบบ พื้นที่ 56 จังหวัดในเขตพื้นที่ภัยแล้งทั่วประเทศ ให้การช่วยเหลือเกษตรกรไม่น้อยกว่า 9,000 ราย ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศไม่น้อยกว่า 40,000 ไร่ สามารถเพิ่มการใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้น จำนวน 2,115 กิโลวัตต์ คาดการณ์ว่าจะสามารถเพิ่มมูลค่าผลผลิตของเกษตรกรได้ไม่น้อยกว่า 199 ล้านบาท

จาก https://www.matichon.co.th   วันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2560 

นักบริหารเงินและนักวิชาการเห็นพ้องค่าเงินบาทระยะสั้นมีความผันผวน   

         นักบริหารเงินและนักวิชาการเห็นพ้องค่าเงินบาทระยะสั้นมีความผันผวน โดยปัจจัยสำคัญยังคงต้องจับตาเงินทุนไหลเข้าลงทุน หรือเก็งกำไรในระหว่างที่รอความชัดเจนเรื่องระยะเวลาการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเฟด แต่แนวโน้มระยะกลาง และระยะยาวมีโอกาสแข็งค่าขึ้น

               น.ส.รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแลโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) มองแนวโน้มค่าเงินบาทในระยะสั้นว่า ยังมีโอกาสผันผวน หลังจากที่เงินบาทในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ปรับตัวแข็งค่าสุดในรอบเกือบ 2 ปี แต่ยังไม่หลุดแนวรับสำคัญที่ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จึงทำให้มีแรงซื้อดอลลาร์สหรัฐคืน

               ขณะที่เงินบาทในสัปดาห์นี้เริ่มปรับอ่อนค่าลง หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาระบุว่า พร้อมจะใช้มาตรการดูแลเงินบาทที่แข็งค่าอย่างรวดเร็วนี้ โดยจะใช้เครื่องมือที่มีอยู่เพื่อลดแรงจูงใจที่นักลงทุนต่างชาติจะนำเงินเข้ามาลงทุน หรือเก็งกำไรระยะสั้น ซึ่งส่วนใหญ่ คือ พันธบัตรระยะสั้น

               “สัปดาห์ที่แล้วเรามองว่า บาทอาจจะแข็งค่าหลุดไปอยู่ 33.90 บาทได้ แต่พอผู้ว่าฯ ธปท.ออกมาพูดเมื่อต้นสัปดาห์นี้ sentiment เลยช่วยให้บาทอ่อนลงไปบ้าง โดยผู้ว่าฯ ธปท. บอกว่า ห่วงเรื่องทุนไหลเข้าระยะสั้น และจะเข้ามาดูแล พอมีปัจจัยนี้ เรามองว่า 1 เดือนข้างหน้า บาทน่าจะอยู่ในทิศทางอ่อนค่าได้ หลังจากไม่หลุด 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐลงไป เราให้ไว้ที่ 34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วง มิ.ย.” น.ส.รุ่ง กล่าว

               ส่วนแนวโน้มเงินบาทในช่วงสิ้นปี 60 นั้น ยังขึ้นกับปัจจัยอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เป็นสำคัญ เพราะหากเฟด ไม่ส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่า จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องในช่วงการประชุมที่เหลืออยู่ในครึ่งปีหลัง (ก.ย., ธ.ค.60) จะทำให้เกิดแรงขายดอลลาร์สหรัฐเพื่อทำกำไรได้ บาทจะกลับมาแข็งค่าอยู่ในช่วง 34 บาทต้นๆ แต่ในทางกลับกันหากเฟด ส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่า จะปรับขึ้นดอกเบี้ย เงินบาทอาจจะไปอยู่แถวระดับ 34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐได้ ขณะที่ประเมินว่า เงินบาท ณ สิ้นปี 60 จะอยู่ที่ระดับ 34.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ      

        “ช่วงที่เหลือของปี ถ้าเฟด ไม่ส่งสัญญาณอะไรเลย ก็เป็นไปได้ว่า แนวโน้มเงินทุนจะไหลเข้ากลับมาในภูมิภาค ตลาดรอความชัดเจนในจุดนี้ เพราะนโยบายการคลังของสหรัฐฯ ก็ดูเหมือนจะสะดุด ความหวังที่ฝากไว้กับรัฐบาลทรัมป์ ก็เจอปัญหาการเมือง และขาดความชัดเจนว่า นโยบายใดบ้างที่จะทำได้จริงในปีนี้” น.ส.รุ่ง กล่าว

               ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแลโกลบอลมาร์เก็ตส์ BAY กล่าวว่า การใช้มาตรการของ ธปท.ด้วยการทยอยปรับลดปริมาณการออกพันธบัตร ธปท.ระยะสั้น เพื่อหวังจะลดแรงจูงใจของนักลงทุนต่างชาติในการนำเงินเข้ามาลงทุน หรือเก็งกำไรระยะสั้น อันจะส่งผลกระทบให้เงินบาทผันผวนนั้น ส่งผลในทางจิตวิทยาอยู่บ้าง เพราะนักลงทุนเริ่มกังวลว่า ธปท.จะมีการออกมาตรการที่เข้มงวดขึ้นอีกหรือไม่

               แต่อย่างไรก็ตาม ในส่วนของเม็ดเงินลงทุนต่างชาติก็ยังคงเข้ามาต่อเนื่อง ซึ่งดูได้จากตลาดตราสารหนี้ของไทยที่พบว่า นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิเช่นเดิม เพียงแต่เปลี่ยนไปลงทุนในพันธบัตรที่มีระยะเวลานานขึ้น

               น.ส.รุ่ง มองว่า ปัจจัยสำคัญถึง 80% ที่มีผลต่อทิศทางค่าเงินบาท คือ นโยบายอัตราดอกเบี้ยของเฟด เพราะไม่เพียงแต่มีผลต่อทิศทางค่าเงินบาทแล้ว ยังมีผลต่อทิศทางของค่าเงินสกุลหลักอื่นๆ ในตลาดโลกด้วย ส่วนปัจจัยที่เหลืออีก 20% ที่จะมีผลต่อทิศทางค่าเงินบาทนั้น คงมาจากการดำเนินนโยบายทางการเงิน หรือมาตรการที่ ธปท.จะเลือกนำมาใช้ในการดูแลค่าเงิน

             ส่วนแนวโน้มเงินบาทในปี 61 น.ส.รุ่ง เชื่อว่า ดอลลาร์สหรัฐจะอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินบาท และสกุลเงินหลักอื่นๆ เนื่องจากปีหน้าธนาคารกลางของหลายประเทศมีแนวโน้มจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย พร้อมกับการทยอยลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจลง ขณะที่เฟดได้เริ่มทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยไปตั้งแต่ปีนี้แล้ว ดังนั้น ภาวะดังกล่าวจึงทำให้เงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่า โดยมองว่า ในไตรมาสแรกของปี 61 เงินบาทจะอยู่ในช่วง 34 บาทถ้วน ในขณะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยนั้น คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงจะเริ่มปรับขึ้นตั้งแต่กลางปีหน้าเป็นต้นไป และเชื่อว่า ณ สิ้นปีนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยยังคงทรงตัวอยู่ที่ระดับ 1.50%

                “ปีหน้าดอลลาร์น่าจะอ่อนค่า และบาทจะแข็ง แนวโน้มดอกเบี้ยของไทยคงเป็นครึ่งปีหลัง เพราะ กนง.ไม่ต้องการให้บาทแข็ง และยังให้ความสำคัญเกี่ยวกับการ support เศรษฐกิจ ประกอบกับเงินเฟ้อในไทยยังอยู่ระดับต่ำ ยังไม่เข้ากรอบเป้าหมายของ กนง.” น.ส.รุ่ง กล่าว

               น.ส.กาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย กลุ่มงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทยคาดเงินบาทในช่วงกลางปีนี้ไว้ที่ระดับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่วนช่วงครึ่งปีหลัง ให้มุมมองไว้ในทิศทางที่บาทยังอ่อนค่า จากสาเหตุที่เชื่อว่า เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกหนึ่งครั้ง รวมเป็น 3 ครั้งภายในปีนี้ ต่อจากเดือน มี.ค.และ มิ.ย. ซึ่งหากเป็นไปตามที่คาดการณ์ ก็จะส่งผลให้ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลอื่นๆ รวมทั้งเงินบาท โดยธนาคารคาดว่า สิ้นปีนี้เงินบาทจะอยู่ที่ระดับ 34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการปรับปรุงคาดการณ์เงินบาทในช่วงสิ้นปีล่าสุด จากก่อนหน้านี้ที่มองไว้ที่ 35.70 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

               อย่างไรก็ตาม ภายในปีนี้เงินบาทคงไม่อ่อนค่าไปได้มากนัก เพราะตลาดเงินตลาดทุนในไทยยังถือว่าเป็นที่สนใจของต่างชาติจะนำเงินเข้ามาลงทุน หรือทำกำไรในช่วงสั้นๆ ระหว่างที่รอความชัดเจนเรื่องระยะเวลาการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งการที่ยังมีเงินทุนไหลเข้าไทย ก็จะเป็นปัจจัยที่ทำให้เงินบาทไม่สามารถอ่อนค่าไปได้มากนัก

               “ต่างชาติจะกระจายการลงทุนไปก่อน ในระหว่างที่ยังไม่มีความชัดเจนว่า เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงไหน ตลาดในฝั่งเอเชียเป็นเป้าหมายของการลงทุน เขาก็จะกระจายเงินทุนมาที่ไทย ที่เกาหลี มี inflow เพราะเรายังเป็นตัวเลือกของนักลงทุนต่างชาติในช่วงนี้” น.ส.กาญจนา กล่าว

               นอกจากนี้ อีกปัจจัยที่เงินบาทปีนี้จะไม่อ่อนค่าไปมากเกินกว่าระดับที่ธนาคารคาดไว้ เนื่องจากสหรัฐฯ ยังมีประเด็นปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมือง โดยเฉพาะจากประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งปัจจัยนี้จะเป็นตัวกดให้ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า แม้ที่ผ่านมา การส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด จะเป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนให้ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นก็ตาม

               “ครึ่งปีหลังสหรัฐฯ ยังมีประเด็นการเมืองที่ต้องติดตาม ดังนั้น ปัจจัยนี้จะเป็นการจำกัดกรอบการแข็งค่าของดอลลาร์กลายๆ แม้การที่เฟด ขึ้นดอกเบี้ยจะเป็นซัปพอร์ตของดอลลาร์สหรัฐก็ตาม แต่ซัปพอร์ตนั้น จะถูกลดทอนลงไปจากประเด็นของทรัมป์” น.ส.กาญจนา กล่าว

               ส่วนมุมมองเรื่องอัตราดอกเบี้ยของไทยนั้น เชื่อว่าภายในปีนี้ยังไม่มีปัจจัยให้ กนง.ต้องตัดสินใจปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นไปจากระดับปัจจุบันที่ 1.50% เนื่องจากเศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัว ดังนั้น การรักษาดอกเบี้ยในระดับนี้ถือว่าเหมาะสมที่จะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ ยังไม่ได้สร้างแรงดันให้จำเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยภายในปีนี้ ดังนั้น หาก กนง.จะพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็คาดว่า จะอยู่ในช่วงปี 2561

                นายมนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรการจัดการภาครัฐและภาคเอกชนสำหรับนักบริหาร (MPPM Executive program) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) มองสถานการณ์ค่าเงินบาทในระยะสั้น จะมีความผันผวนตามปัจจัยทั้งภายใน และภายนอกประเทศ แต่แนวโน้มระยะกลาง และระยะยาว มีโอกาสแข็งค่าขึ้น เนื่องจากเงินทุนต่างประเทศไหลเข้ามาในตลาดทุน (พันธบัตร) ตลาดหุ้น และการลงทุนจริง หลังนักลงทุนต่างชาติเกิดความเชื่อมั่นในเสถียรภาพทางการเมือง และศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ เมื่อมีความคืบหน้าของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง รวมถึงการจัดการเลือกตั้งตามโรดแมปที่รัฐบาลประกาศไว้

               “บาทเคยแข็งค่าลงไปอยู่ที่ 28-29 บาทต่อดอลลาร์ และในอดีตเคยอ่อนค่าไปถึง 57 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งสะท้อนจากปัจจัยทางการเมืองในประเทศที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนจากต่างประเทศ” นายมนตรี กล่าว

               สถานการณ์ค่าเงินบาทในระยะสั้นจะมีความผันผวนไปตามปัจจัยที่เข้ามาในแต่ละช่วงเวลา การที่เงินบาทมีทิศทางแข็งค่าในปัจจุบันเกิดจากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากปัญหาการเมืองของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นปัจจัยชั่วคราว ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนในเชิงเปรียบเทียบ แต่ในระยะยาวคงต้องดูปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ

               “เงินบาทแข็งค่าไปตามกลไกตลาด เราอยู่เฉยๆ แต่ดอลลาร์อ่อนค่า ถึงแม้แบงก์ชาติจะสามารถเข้าไปแทรกแซงค่าเงินได้ แต่คงจะไม่สามารถทำให้บาทแข็งค่า หรืออ่อนค่ามากเกินไป เพราะจะเกิดช่องว่างที่ทำให้มีการเก็งกำไร” นายมนตรี กล่าว

               ผู้อำนวยการหลักสูตร MPPM นิด้า กล่าวอีกว่า เงินบาทมีทิศทางแข็งค่าขึ้นในอนาคต โดยมีปัจจัยจากความชัดเจนทางการเมือง หากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในปลายปีนี้ตามโรดแมปของรัฐบาลก็มีโอกาสที่เงินบาทจะแข็งค่าต่ำกว่า 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และแข็งค่าลงไปต่ำกว่า 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐได้ หากมีความคืบหน้าของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานตามที่รัฐบาลได้กำหนดไว้ ซึ่งจะเป็นแรงดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามา

               “ที่ผ่านมา แม้มียอดบีโอไอสูง แต่ไม่ได้มีการลงทุนจริง หลังจากนี้ หากนักลงทุนมั่นใจ ก็จะมีเม็ดเงินเข้ามาลงทุนมากขึ้น ซึ่งทำให้เงินบาทแข็งค่าไปตามกลไกตลาด ความจริงน่าจะเป็นข่าวดีมากกว่า” นายมนตรี กล่าว

               ผู้อำนวยการหลักสูตร MPPM นิด้า กล่าวว่า สถานการณ์ค่าเงินในขณะนี้มีความเปราะบาง เนื่องจากประเทศไทยยังต้องพึ่งพาการส่งออก ที่มีสัดส่วนมากถึง 72% ทำให้ต้องมีการดูแลค่าเงินอย่างระมัดระวังไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการส่งออก แต่ในทางตรงกันข้ามกลุ่มผู้ประกอบการ ที่ต้องอาศัยการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อนำผลิตสำหรับส่งออกมากกว่า 50% ขึ้นไป จะได้ประโยชน์ เพราะต้นทุนถูกลง

               “ผู้ประกอบการคงต้องเตรียมความพร้อมในการรองรับสถานการณ์ ทั้งการปรับปรุงคุณภาพสินค้า การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต เพื่อลดต้นทุน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ไม่ใช่อาศัยความได้เปรียบจากเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเพียงอย่างเดียว” นายมนตรี กล่าว

               ผู้อำนวยการหลักสูตร MPPM นิด้า กล่าวว่า ทิศทางการลงทุนในอนาคตของประเทศไทยมีมากขึ้นในอีก 10 ปีข้างหน้าหลังรวมกลุ่ม AEC เนื่องจากมีศักยภาพในเรื่องทรัพยากร และตลาดที่มีประชาชนราว 650 ล้านคน ซึ่งจะเป็นปัจจัยดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาในภูมิภาคนี้

               ขณะที่ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การที่เงินบาทมีทิศทางแข็งค่าในขณะนี้เป็นเพียงสถานการณ์ชั่วคราวเท่านั้น เนื่องจากเกิดปัญหาการเมืองภายในสหรัฐฯ ทำให้นักลงทุนขาดความมั่นใจเรื่องความคืบหน้าในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจตามที่ประธานาธิบดีทรัมป์ ได้ประกาศไว้ ซึ่งหากสถานการณ์ดังกล่าวคลี่คลายก็เชื่อว่า ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐจะกลับมาแข็งค่าตามเดิม

               “เงินบาทแข็งค่าช่วงสั้นๆ ตามสกุลเงินอื่นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่มีปัญหาการเมืองภายใน ทำให้นักลงทุนลังเลว่าการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจตามที่ทรัมป์ เคยประกาศไว้ อาจชะลอออกไป แต่ถ้าสถานการณ์คลี่คลาย ค่าเงินดอลลาร์ก็คงกลับมาแข็งค่าตามเดิม เพราะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังขยายตัว จะเห็นว่า ช่วงที่สหรัฐฯ มีปัญหาขัดแย้งกับเกาหลีเหนือ ก็ไม่ส่งผลให้ดอลลาร์อ่อนค่า” นายกอบศักดิ์ กล่าว

               ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัญหาเงินบาทแข็งค่าอาจส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกสินค้าเกษตรบ้าง แต่ก็มีแนวทางแก้ไขด้วยการถือครองดอลลาร์ไว้ก่อนเพื่อรอจังหวะให้เงินบาทกลับมาอ่อนค่าในระดับที่พอใจ ส่วนผู้ส่งออกทั่วไปก็ต้องปรับตัว โดยเฉพาะผู้ที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบเข้ามาผลิตเพื่อส่งออกก็ควรอาศัยจังหวะนี้

               “ผู้ส่งออกคงต้องอดทนต้องจังหวะเวลาที่เหมาะสม เพื่อมีเวลาที่จะถือครองดอลลาร์ไว้ หรือหากเป็นผู้ที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบมาผลิตก็อาศัยจังหวะนี้ เพราะไม่ได้เป็นการเก็งกำไร” นายกอบศักดิ์ กล่าว

               ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทิศทางเงินบาทไม่น่าจะแข็งค่าจนทำให้การแข่งขันทางการค้าในตลาดโลกลดลง เพราะในขณะที่ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าก็ทำให้เงินทุกสกุลกลับมาแข็งค่ามากบ้างน้อยบ้างเช่นเดียวกับเงินบาท และหากธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับขึ้นดอกเบี้ยก็จะส่งผลให้ดอลลาร์สหรัฐกลับมาแข็งค่า

               ในอนาคตอันใกล้นี้ รัฐบาลมีโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องอาศัยการนำเข้าเป็นมูลค่ามหาศาล ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เงินบาทอ่อนค่ามากขึ้น ส่วนข้อกังวลว่า หลังจากโครงสร้างพื้นฐานเสร็จแล้ว จะมีเงินทุนต่างประเทศไหลเข้ามาเป็นจำนวนมาก จะส่งผลให้เงินบาทแข็งค่านั้น ก็ไม่น่าจะมีปัญหา เพราะกว่าจะถึงเวลานั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็มีมาตรการออกมารองรับได้ทัน

               “คงบอกไม่ได้ว่า ค่าเงินบาทควรจะอยู่ที่ระดับไหน ขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมในขณะนั้น” นายกอบศักดิ์ กล่าว

 จาก http://manager.co.th  วันที่ 2 มิถุนายน 2560

รัฐร่งบูรณาการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์

         นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ที่ผ่านมา รองนายกรัฐมนตรี พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง ประธานกรรมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ได้ประชุมคณะกรรมการฯ เพื่อเร่งรัดการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2564 ซึ่ง ครม. เห็นชอบ เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2560 โดยให้หน่วยงานที่รับผิดชอบจัดทำแผนปฏิบัติการแบบบูรณาการภายใต้ยุทธศาสตร์ 4 ประเด็นคือ 1) ส่งเสริมการวิจัยและเผยแพร่องค์ความรู้ และนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ 2) พัฒนาการผลิตสินค้าและบริการเกษตรอินทรีย์ 3) พัฒนาการตลาดสินค้าและบริการ และการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ 4) การขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ นอกจากนี้ ยังได้เพิ่มเติมประเด็นสำคัญคือ การประชาสัมพันธ์แก่เกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค เพื่อให้รับรู้ถึงประโยชน์ของเกษตรอินทรีย์

             ทั้งนี้ การขับเคลื่อนภายใต้คณะกรรมการระดับชาติกำหนดให้มีกลไก 2 ระดับ คือ ระดับส่วนกลางจะให้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ จากผู้แทนภาครัฐ เกษตรกร ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคการศึกษา และระดับพื้นที่ให้คณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ของจังหวัด แต่งตั้งคณะทำงานเกษตรอินทรีย์ เพื่อพิจารณาโครงการเพิ่มเติมมาจากความต้องการของเกษตรกร

                โดยคัดเลือกจังหวัดที่มีความพร้อมด้านเกษตรอินทรีย์เป็นจังหวัดนำร่อง โดยในปี 60 จะเริ่มดำเนินการกิจกรรมที่เร่งด่วน เช่น การส่งเสริมความรู้แก่เกษตรกรและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง การสร้างความตระหนักรู้แก่ผู้ผลิตผู้บริโภคการสร้างเครือข่าย และการเชื่อมโยงตลาดสินค้าอินทรีย์         

            สำหรับการประชุมในครั้งนี้ เป็นการเร่งผลักดันขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ไปสู่การปฏิบัติ เนื่องจากรัฐบาลชุดนี้ มีความมุ่งมั่นในการยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรโดยเฉพาะเกษตรอินทรีย์ โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มพื้นที่เพาะปลูก 2 เท่าจากระดับปัจจุบัน (เพิ่มเป็น 600,000 ไร่) และให้มีสัดส่วนการจำหน่ายภายในประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อตอบสนองผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับเกษตรกรให้มีความปลอดภัยและมีรายได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งลดการนำเข้าและการใช้ยาปราบศัตรูพืช ปุ๋ยเคมี และสารเคมี เพื่อการเกษตรต่าง ๆ

จาก http://www.komchadluek.net   วันที่ 2 มิถุนายน 2560

บาทเปิด 34.14 บาทต่อดอลล่าร์ แนวโน้มอ่อนค่า

เงินบาทเปิดตลาด 34.14 บาทต่อดอลล่าร์ แนวโน้มอ่อนค่า จากดอลล์แข็งหลังตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนสหรัฐฯสูงเกินคาด

นักบริหารเงินจากธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ระดับ 34.14 บาท/ดอลลาร์ ใกล้เคียงจากเย็นวานนี้ที่ปิดตลาดที่ระดับ 34.13 บาท/ดอลลาร์

วันนี้เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า หลังจากเมื่อวานดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับหลายสกุล เนื่องจาก ADP รายงานตัวเลขการจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐเดือนพ.ค.ปรับตัวสูงขึ้นเกินคาด ทำให้ตลาดคาดการณ์ว่าตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร (Nonfarm Payroll) ของสหรัฐในเดือนพ.ค.ที่จะประกาศคืนนี้ จะเป็นตัวเลขที่ออกมาดีเช่นกัน

นอกจากนี้ ยังมีแรงซื้อดอลลาร์จากความต้องการดอลลาร์ที่มีมากในช่วงต้นเดือน ซึ่งเป็นแรงหนุนทำให้ดอลลาร์แข็งค่า"ดอลลาร์แข็งค่าในวงกว้าง

หลังจากเมื่อวานตัวเลขที่ ADP ประกาศออกมาดี ตลาดเลยมองว่าตัวเลข Nonfarm คืนนี้ น่าจะออกมาดีด้วย ประกอบกับต้นเดือนจะมีความต้องการดอลลาร์มาก จึงหนุนให้ดอลลาร์แข็งค่า" นักบริหารเงิน ระบุนักบริหารเงิน คาดว่าวันนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 34.10-34.20 บาท/ดอลลาร์

จาก http://www.posttoday.com วันที่ 2 มิถุนายน 2560

กลุ่ม “เกษตรไทย อินเตอร์ฯ” มั่นใจรายได้ปีนี้ทะลุ 2 หมื่น ล.  

           กลุ่ม “เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น” ตั้งเป้ารายได้ปี 60 จากปริมาณน้ำตาลที่ผลิตได้ปีนี้เทียบกับปี 57-58 ประกอบกับรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการขายไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงชีวมวล คาดรายได้รวมปีนี้ทะลุ 20,000 ล้านบาท ส่วนกำไรสุทธิไตรมาสแรกทำได้ 412 ล้านบาท โตกว่าปี 59 ถึง 730% ผู้บริหารเผยผลผลิตอ้อยสูงขึ้น ทั้งปริมาณ และคุณภาพ นอกจากจะส่งผลดีโดยตรงต่อสายธุรกิจน้ำตาลแล้ว สายธุรกิจเอทานอล โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวล โรงงานผลิตเยื่อกระดาษชานอ้อย และบรรจุภัณฑ์จากเยื่อชานอ้อย 100% ก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้นด้วย

               นายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาล และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เปิดเผยว่า หากพิจารณาจากผลประกอบการย้อนหลังของบริษัทฯ จะเห็นว่า รายได้ในแต่ละปีมีความสัมพันธ์กับปริมาณน้ำตาลทรายที่ผลิตได้ และราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลก เนื่องจากสัดส่วนรายได้ของบริษัทฯ กว่า 75% มาจากการผลิต และจำหน่ายน้ำตาลทราย

               สำหรับปี 2560 กลุ่ม KTIS ผลิตน้ำตาลทรายได้ 9.4 ล้านกระสอบ ราคาเฉลี่ยที่ได้ในไตรมาสแรกค่อนข้างสูง คือ 17,158.9 บาทต่อตัน

               “เมื่อดูจากปริมาณ และราคาน้ำตาลในปีนี้เทียบกับปีที่ผ่านๆ มา ประกอบกับรายได้ที่เพิ่มมากขึ้นจากการจำหน่ายไฟฟ้าที่ผลิตจากโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวล จึงมั่นใจว่า รายได้ของปี 2560 นี้ ไม่น่าจะต่ำกว่าปี 2557, 2558 คือ ประมาณ 20,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ไตรมาสแรกของปี 2560 นี้ ทำอัตรากำไรสุทธิได้ค่อนข้างสูงคือ 10.45% เนื่องจากต้นทุนขายลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และถึงแม้ว่าราคาน้ำตาลในตลาดโลกอาจลดลงบ้าง แต่ก็เชื่อว่า ตลอดทั้งปีกลุ่ม KTIS น่าจะยังคงทำกำไรเติบโตได้ดี โดยไตรมาสแรกปีนี้กำไรสุทธิเติบโตถึง 730%” นายณัฎฐปัญญ์ กล่าว

               รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่ม KTIS กล่าวด้วยว่า ผลประกอบการไตรมาสแรกปี 2560 มีรายได้รวม 3,943.8 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 412.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 729.8% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2559 ซึ่งมีกำไรสุทธิ 49.7 ล้านบาท โดยปีนี้ KTIS มีอ้อยเพิ่มมากขึ้น 15.4% และจากคุณภาพที่ดีมาก ทำให้ผลิตน้ำตาลได้มากกว่าปีก่อนถึง 29.8% โดยราคาขายน้ำตาลเฉลี่ยในไตรมาสแรก อยู่ที่ตันละ 17,158.9 บาท เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งราคาเฉลี่ยอยู่ที่ตันละ 13,363.1 บาท คิดเป็นเพิ่มขึ้น 28.4%

                “รายได้ทั้งปีที่คาดว่า จะทำได้ไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาทนั้น นอกจากสายธุรกิจน้ำตาล ซึ่งมีน้ำตาลอีกปริมาณมากที่จะทยอยส่งมอบ และรับรู้รายได้ในอีก 3 ไตรมาสที่เหลือของปีนี้ ในสายธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล ก็จะรับรู้รายได้มากขึ้น เพราะโรงไฟฟ้าชีวมวลของกลุ่ม KTIS สามารถผลิตไฟฟ้า และขายไฟให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้ครบทั้ง 3 โรงแล้ว นอกจากนั้น ในสายธุรกิจผลิตเยื่อกระดาษจากชานอ้อย ก็ได้รับผลดีจากการที่มีปริมาณอ้อยเข้าหีบมาก ทำให้มีปริมาณชานอ้อยมากขึ้นด้วย” นายณัฎฐปัญญ์ กล่าว

 จาก http://manager.co.th  วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2560

รายงานพิเศษ : พด.เตรียมขับเคลื่อนนวัตกรรมด้าน‘ดิน-ปุ๋ย’ ก้าวสู่ยุค‘เกษตร4.0’

จากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรในปัจจุบัน ส่งผลให้ทรัพยากรที่มีอยู่ในธรรมชาติเกิดการนำไปใช้มากขึ้น โดยเฉพาะดินซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญต่อภาคการเกษตร มีบทบาทหลักต่อการเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารและภูมิคุ้มกันของประเทศ ถูกนำไปใช้ประโยชน์อย่างไม่ถูกต้องและขาดการดูแลรักษา โดยการขยายพื้นที่ผลิตและบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ ส่งผลให้เกิดปัญหาดินเสื่อมโทรม ขาดความอุดมสมบูรณ์ ทำให้ผลผลิตพืชลดน้อยลงและต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น การวิจัยพัฒนาความรู้และการใช้เทคโนโลยีด้านดินและปุ๋ย จึงจำเป็นต้องมีการส่งเสริม สนับสนุน และสร้างความเข้าใจอย่างต่อเนื่องในทุกภาคส่วน เพื่อให้การจัดการดินและการใช้ปุ๋ยถูกต้องตามหลักวิชาการที่เหมาะสม จนสามารถรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดิน รวมทั้งทำให้ดินมีศักยภาพการผลิตเพิ่มขึ้นและผลผลิตมีคุณภาพดีขึ้นได้ รวมทั้งมีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์ทรัพยากรและช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมของประเทศอีกด้วย

นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า ในกระแสโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีความก้าวหน้าของการพัฒนาเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด ขณะที่ประเทศมีแนวโน้มปัญหาการขาดแคลนทรัพยากร สภาพดินเสื่อมโทรมลง ป่าไม้ถูกทำลาย ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง มีความถี่และรุนแรงมากขึ้น ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม เกษตรกรยากจนและไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ปัญหาขาดวัยแรงงานเกษตร ทำให้ต้นทุนการผลิตภาคการเกษตรสูงและราคาผลผลิตไม่แน่นอน รัฐบาลจึงมีแนวคิดเกี่ยวกับการปฏิรูปภาคการเกษตรของไทยสู่เกษตร 4.0 : เกษตรกรมั่งคั่ง ประเทศมั่นคงด้านอาหาร และเกษตรกรรมยั่งยืน โดยมีความสอดคล้องกับโมเดลไทยแลนด์ 4.0 การปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เน้นการใช้เทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้า ความคิดสร้างสรรค์ และการบริการที่เป็นเลิศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของภาคการเกษตรของประเทศไทย โดยพัฒนาเทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดปัจจัยต้นทุนการผลิตทางการเกษตร ลดสิ่งเหลือใช้และขยะ ให้เกิดมีการใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพเท่ากับอัตราที่พืชต้องการและไม่มีการสูญเสีย ขณะเดียวกันส่งเสริมเกษตรกรให้เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร นำความรู้มาใช้ในการบริหารจัดการฟาร์มได้อย่างมีประสิทธิภาพและสร้างรายได้เพิ่มขึ้น

ดังนั้น กรมพัฒนาที่ดินจึงได้เป็นเจ้าภาพร่วมกับสมาคมดินและปุ๋ยแห่งประเทศไทย และสมาคมอนุรักษ์ดินและน้ำแห่งประเทศไทย จัดการประชุมวิชาการดินและปุ๋ยแห่งชาติ ครั้งที่ 5 หัวข้อ “ขับเคลื่อนนวัตกรรมด้านดินและปุ๋ย ก้าวสู่เกษตร 4.0” ระหว่างวันที่ 1-2 สิงหาคม 2560 ณ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ ถ.แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ เพื่อเปิดโอกาสให้นักวิชาการจากสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรอื่นๆ ทั่วประเทศ ใช้เป็นเวทีเผยแพร่ผลงานวิจัย แลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น และประสบการณ์ในสาขาวิชาด้านดินและปุ๋ย ส่งเสริมการพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพ รวมทั้งเป็นเวทีอภิปรายเสวนา สร้างความรู้และความเข้าใจถึงแนวทางการขับเคลื่อนนวัตกรรมด้านดินและปุ๋ย สู่เกษตร 4.0 ที่มีเป้าหมายการพัฒนาการเกษตรของประเทศ เพื่อสร้างความเข้มแข็งของเกษตรกร เพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ส่งเสริมการปรับตัวและสร้างภูมิคุ้มกันภายใต้กระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก และมีการบริหารจัดการทรัพยากรดินที่มีความสมดุลและยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้สนใจต้องการนำเสนอผลงานสามารถส่งบทความเข้ามาได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 15 มิถุนายน จากนั้นผู้ทรงคุณวุฒิจะร่วมกันพิจารณาบทความและแจ้งผู้ส่งผลงานปรับปรุงแก้ไข ภายใน 15 กรกฎาคม - 30 มิถุนายน พร้อมกับแจ้งรายชื่อผู้มีสิทธิ์นำเสนอผลงานภาคบรรยายและนิทรรศการ ในวันที่ 30 มิถุนายน และประกาศรายชื่อผู้นำเสนอผลงาน 15 กรกฎาคม 2560โดยผลงานที่จะนำเสนอภาคบรรยาย จะต้องส่งทั้งบทคัดย่อและเรื่องเต็ม สำหรับผลงานที่จะเสนอภาคนิทรรศการ จะต้องส่งบทคัดย่อ หรือส่งบทคัดย่อและเรื่องเต็มในกรณีที่มีความประสงค์ให้ลงพิมพ์ผลงานในเอกสารประกอบการประชุม (proceeding) สำหรับผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่http://www.ldd.go.th/WEB_NSFC/index.htm

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ไทย - รัสเซีย ตั้งเป้าขยายการค้า 5 เท่า ใน 5 ปีนี้

                    ครบรอบ 120 ปี สัมพันธ์ไทย – รัสเซีย  ตั้งเป้าขยายมูลค่าการค้าร่วมกันให้ได้ 5 เท่า ใน 5 ปี มูลค่ารวม 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ด้านสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ระบุ ปัจจุบันไทยได้ดุลการค้าสินค้าเกษตรกับรัสเซีย มูลค่ากว่า 2,200 ล้านบาท มีการค้าสินค้าเกษตรเฉลี่ยปี 2557 – 2559 มูลค่า 6,431 ล้านบาท

                 นางสาวจริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เปิดเผยว่า ไทยและรัสเซีย มีความสัมพันธ์อันดีมาอย่างยาวนาน ซึ่งปี 2560 นับว่าครบ 120 ปีของความสัมพันธ์ร่วมกัน โอกาสทางการค้าและความร่วมมือในด้านต่างๆ ได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่องทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน มีการตั้งเป้าขยายมูลค่าการค้าร่วมกันเป็น 5 เท่า ภายใน 5 ปี (ปี 2560 – 2564) ให้ได้มูลค่ารวม 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

                 ล่าสุด ไทยและรัสเซีย ได้จัดประชุมคณะอนุกรรมาธิการว่าด้วยความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจ ครั้งที่ 3 (The 3rd Session of Sub-Commission on Trade and Economic Cooperation of the Joint Russian-Thai Commission on Bilateral Cooperation) เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ณ โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพมหานคร  โดยในส่วนของการค้าสินค้าเกษตร ทั้งสองฝ่ายเห็นด้วยที่จะสนับสนุนและส่งเสริมการส่งออกและการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารระหว่างกัน ซึ่งไทยเสนอให้ฝ่ายรัสเซียนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารที่ไทยมีศักยภาพ เช่น ข้าว น้ำตาล ผักผลไม้ เนื้อไก่ เนื้อหมู อาหารทะเล เป็นต้น และมีความพร้อมในการเป็นแหล่งวัตถุดิบสินค้ายางพาราธรรมชาติเพื่อรองรับนโยบายการเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ของรัสเซีย อีกทั้งไทยพร้อมที่จะสนับสนุนนโยบายด้านความมั่นคงทางอาหารของรัสเซียอย่างต่อเนื่อง

                นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะลดและขจัดอุปสรรคทางการค้า โดยเฉพาะการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานสินค้า ด้วยการสนับสนุนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านแนวปฏิบัติและกฎระเบียบด้านการตรวจสอบและรับรองด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชและสัตว์ ตลอดจนเร่งรัดกระบวนการตรวจรับรองด้วย           ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนการอำนวยความสะดวกทางการค้าเพิ่มมากขึ้น

              ทั้งนี้ รัสเซียเป็นประเทศที่พึ่งพิงการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหาร และยังเป็นแหล่งนำเข้าวัตถุดิบสินค้าเกษตรเพื่อนำมาผลิตสินค้าเกษตรแปรรูปเพื่อการส่งออกของไทย โดยปัจจุบันไทยได้ดุลการค้าสินค้าเกษตรกับรัสเซีย คิดเป็นมูลค่ากว่า 2,200 ล้านบาท โดยการค้าสินค้าเกษตรเฉลี่ยในระหว่างปี 2557 – 2559 มีมูลค่า 6,431 ล้านบาท สินค้าเกษตรที่ส่งออกสำคัญ ได้แก่ พืชผักผลไม้แช่อิ่ม เชื่อม หรือฉาบ สับปะรดปรุงแต่ง ทูน่าปรุงแต่ง ข้าว อาหารแมวและสุนัข ข้าวโพดหวานปรุงแต่ง ปลาแห้งและผลิตภัณฑ์จากปลาแช่เย็นจนแข็ง กุ้งแช่เย็นจนแข็ง และยางธรรมชาติ สำหรับสินค้าเกษตรนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ ตับและไข่ของปลาแช่เป็นจนแข็ง ปลาแซลมอนแช่เย็นจนแข็ง สัตว์น้ำแช่เย็น แช่แข็ง แห้ง หรือรมควัน ชาดำหมัก ปลาค็อดแช่เย็นจนแข็ง ปูแช่เย็นจนแข็ง ปลาแห้ง แป้งสาลี และเมล็ดทานตะวัน

จาก http://www.komchadluek.net   วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2560

คณะรัฐมนตรีเปิดไฟเขียวแผนแม่บท เดินหน้าพัฒนาภาคเกษตรกรรม5ปี

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม มีมติเห็นชอบร่างแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม พ.ศ.2560-2564 ซึ่งต้องขอบคุณครม.ไว้ ณ โอกาสนี้ เพราะในการจัดทำแผนแม่บทตามกฎหมายโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นแผนที่มาจากการระดมความคิดเห็นของเกษตรกรเองจากล่างสู่บนโดยใช้เวลา 3 ปี จัดเวทีหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัดแต่ละจังหวัด รวมกันเข้ามากลายเป็นแผนแม่บท ซึ่งมียุทธศาสตร์หลากหลายเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรทั้งที่ยังพึ่งตนเองไม่ได้และที่ต้องเข้าสู่การแข่งขัน แผนนี้จึงครอบคลุมในทุกมิติทุกด้านของเกษตรกรไทย ที่ผ่านมาเกษตรกรได้เคยพยายามเสนอแนะแนวนโยบายโครงการต่างๆไม่เคยได้ผล แต่ครั้งนี้ด้วยกฎหมายของสภาเกษตรกรฯที่ได้บัญญัติไว้ 1 มาตราว่าสภาเกษตรกรฯมีหน้าที่ทำแผนแม่บทต่อจากนี้จะเป็นการขับเคลื่อนแผนไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งจะไม่ใช่บทบาทหน้าที่ของสภาเกษตรกรฯ แต่จะเป็นอำนาจหน้าที่ที่แต่ละส่วนงาน คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นต้น ที่จะนำไปทำเป็นแผนปฏิบัติการตามแผนงาน โครงการของแต่ละหน่วยงาน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายของเกษตรกรคือ “องค์กรเกษตรกรเครือข่ายเข้มแข็ง โครงสร้างพื้นฐานและการจัดการทั่วถึง เกษตรกรพึ่งตนเองได้” โดยอยากเห็นการทำแผนปฏิบัติลงไปถึงระดับตำบลซึ่งเป็นส่วนที่เล็กที่สุด หลังจากนี้ก็จะเป็นการนัดประชุมกับรัฐมนตรีและผู้บริหารกระทรวงต่างๆ เพื่อที่จะสร้างกลไก กระบวนการให้เกิดแผนปฏิบัติการขึ้นมา สภาเกษตรฯจะเป็นส่วนหนึ่งเพื่อให้เกิดการประสานความร่วมมือกัน

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2560