http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล(เดือนมิถุนายน 2561)

'โรงงาน-โรงแรม' อ่วม! เซ่น 'พ.ร.บ.น้ำ' ใหม่

เช็กลิสต์ 25 ลุ่มน้ำ พบโรงงาน-โรงแรมกว่า 4 หมื่นแห่ง ต้องจ่ายค่าน้ำสาธารณะตาม พ.ร.บ.ใหม่ หลังใช้ฟรีมานาน ... บิ๊กธุรกิจในนิคมฯ ผวารัฐบีบช่วยแจกจ่ายน้ำในฤดูแล้ง ... สทนช. เตรียมกฎหมายลูกกว่า 40 ฉบับ พ่วงเสนอ สนช. ลุ้นโหวตคว่ำ หรือ ผ่าน

งวดเข้ามาทุกขณะสำหรับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ... ซึ่งจะเป็นกฎหมายแม่บทในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำสาธารณะฉบับแรกของประเทศ ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้รับหลักการมาตั้งแต่วันที่ 2 มี.ค. 2560 และขยายเวลาการพิจารณามาแล้วหลายครั้ง โดยครั้งที่ 7 จะครบกำหนดในวันที่ 24 ก.ค. นี้ ขณะที่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ระบุ ต้องผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย ทำให้ที่ผ่านมา ทางคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายนี้ ได้ลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นครอบคลุม 54 จังหวัด ใน 25 ลุ่มน้ำ มีผู้แทนองค์กร หน่วยงาน และบุคคลทั่วไปกว่า 2,000 คน เข้าร่วม รวมถึงยังเปิดเว็บไซต์รับฟังความคิดเห็นด้วย ล่าสุด มีความคืบหน้าตามลำดับ

พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ... เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ทางคณะกรรมาธิการฯ จะประชุมนัดสุดท้ายในวันที่ 27 มิ.ย. 2561 หลังจากนั้นจะส่งร่างให้รัฐบาลพิจารณาให้ความเห็นชอบอีกครั้ง แต่หากรัฐบาลเห็นควรให้ตัด ปรับปรุง หรือ แก้ไขในมาตราใด ทางคณะกรรมาธิการฯ ก็ยังสามารถกลับมาพิจารณาทบทวนได้ ทั้งนี้ สาเหตุที่ใช้ระยะเวลาพิจารณานาน เนื่องจากมีหลายปัจจัย อาทิ รัฐบาลใช้คำสั่ง คสช. ม.44 ตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) มาบริหารเรื่องน้ำของประเทศแทนกรมทรัพยากรน้ำ ก็ต้องกลับไปแก้กฎหมาย พอใกล้จะเสร็จก็มีเรื่องผังน้ำ พื้นที่น้ำหลาก ก็ต้องบรรจุไว้ในกฎหมาย เพื่อให้รองรับกับกฎหมายผังเมือง เป็นต้น

สำหรับสาระสำคัญของร่างกฎหมาย การใช้น้ำสาธารณะประเภทที่ 1 น้ำเพื่อการดำรงชีพและการอุปโภคบริโภคในครัวเรือน ไม่เก็บค่าน้ำ ส่วนการใช้น้ำประเภทที่ 2 ได้ตัดคำว่า การเกษตร-ปศุสัตว์ เพื่อการพาณิชย์ออกไป เพราะแยกกันไม่ออก ส่วนการใช้น้ำเพื่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เช่น ในโรงแรมรีสอร์ต และการใช้น้ำประเภทที่ 3 จัดเป็นการใช้น้ำในปริมาณมากและส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง จะต้องมีการขออนุญาตใช้น้ำและจะถูกจัดเก็บค่าน้ำแน่นอน ซึ่งการเก็บประเภท 2 และ 3 ให้ทาง สทนช. ไปศึกษาอัตราการจัดเก็บ แต่ทั้งนี้ หลังจากกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้วจะผ่อนปรนยังไม่มีการจัดเก็บค่าน้ำ 2 ปี และจะเปิดรับฟังความเห็นสาธารณะอีกครั้ง แต่ถ้าใช้น้ำของกรมชลประทาน/กรมทรัพยากรน้ำบาดาล บริษัทต่าง ๆ เหล่านี้ ยังต้องเสียค่าน้ำตามปกติไปพลางก่อน

"มั่นใจว่า กฎหมายฉบับนี้จะไม่ถูกคว่ำกลางสภา พร้อมกับกฎหมายลูกที่มีกว่า 40 ฉบับ ที่ สทนช. จะต้องพ่วงเข้าไปด้วยก่อนเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. ส่วนเกษตรแปลงใหญ่ รัฐมีนโยบายไม่เก็บค่าน้ำอยู่แล้ว ขอให้สบายใจได้"

เล็งรีดค่าน้ำ รง.-รร.

ด้าน นายสุรจิต ชิรเวทย์ กรรมาธิการวิสามัญฯ กล่าวว่า จากการตรวจสอบธุรกิจเอกชนที่อยู่ในข่ายต้องจ่ายค่าน้ำสำหรับการใช้น้ำประเภทที่ 2 และ 3 พบมีโรงงานอุตสาหกรรมกว่า 1 หมื่นแห่ง และโรงแรมที่จดทะเบียนกว่า 2 หมื่นแห่ง และไม่จดทะเบียนกว่า 1 หมื่นแห่ง รวมแล้วกว่า 4 หมื่นแห่ง ที่อยู่ในข่ายต้องจ่ายค่าน้ำสาธารณะ ยังไม่นับรวมร้านอาหาร ดังนั้น ต้องให้เวลา สทนช. ไปศึกษาการเก็บค่าน้ำแต่ละลุ่มน้ำว่า ควรจะเก็บอัตราเท่าไร เช่นเดียวกันกับของกรมชลประทานและกรมน้ำบาดาล จะต้องเป็นมาตรฐานเดียวกัน ส่วนเงินที่เก็บค่าน้ำ เบื้องต้น จะส่งเข้าคลังกลางและอีกส่วนหนึ่งมอบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อใช้เป็นค่าบำรุงรักษาลุ่มน้ำในแต่ละปี

กันพื้นที่สำรองน้ำเก็บ

นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ กรรมาธิการวิสามัญ กล่าวว่า ต่อไปนี้การใช้น้ำประเภท 2 และ 3 ไม่เพียงแค่ขอใบอนุญาต จะต้องกันพื้นที่ไว้เพื่อสำรองน้ำเก็บด้วย ไม่ใช่จะมาขอใช้น้ำเพียงอย่างเดียว และกลุ่มนี้อาศัยช่องกฎหมายใช้น้ำฟรีมานานแล้ว ดังนั้น จำเป็นต้องเก็บไม่ละเว้น แต่ก็มีกลุ่มโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเกรงว่าจะไม่เป็นธรรมต่อภาคธุรกิจ หากรัฐมนตรีหรือผู้ซึ่งรัฐมนตรีมอบหมายมีอำนาจสั่งให้นำน้ำในส่วนที่เกินมาใช้สอบเพื่อประโยชน์สาธารณะ กรณีรัฐมนตรีประกาศภาวะน้ำแล้งอย่างรุนแรง โดยผู้นั้นไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ ได้ แต่ในกรณีเช่นนี้ ผู้เก็บกักน้ำมีสิทธิได้รับค่าตอบแทน

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 29 มิถุนายน 2561

เงินบาทอ่อนค่าในรอบ 8 เดือน แตะระดับ 33.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุเงินบาทอ่อนค่าทดสอบแนว 33.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยแตะระดับ 33.208 บาทต่อดอลลาร์ฯ ซึ่งเป็นระดับที่อ่อนค่าที่สุดในรอบเกือบ 8 เดือน (ระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 33.145 บาทต่อดอลลาร์ฯ) อย่างไรก็ดี ทิศทางที่อ่อนค่าของเงินบาทยังคงสอดคล้องกับสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชียท่ามกลางปัจจัยลบจากความกังวลเกี่ยวกับประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้า

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ คาดไว้ที่ 33.00-33.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามยังคงเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับมาตรการกีดกันการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญประกอบด้วย อัตราเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนีราคา Core PCE Price Index ซึ่งเฟดติดตาม รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 29 มิถุนายน 2561

ผู้ว่าธปท. ยันศก.ไทยแกร่ง เสถียภาพการเงินยังดี ไม่ซ้ำรอยวิกฤตปี40แน่นอน

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ออกข่าวประชาสัมพันธ์ เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ว่า ใกล้จะถึงวันที่ 2 กรกฎาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันครบรอบการลอยตัวค่าเงินบาท เมื่อปี 2540 หลายคนคงอดคิดไม่ได้ว่าเศรษฐกิจไทยจะมี โอกาสกลับไปมีปัญหาวิกฤตเหมือนวันนั้นหรือไม่ ยิ่งในช่วงกลางปี 2561 ประเทศตลาดเกิดใหม่หลายแห่ง ประสบความระส่ำระสายทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะตุรกีและอาร์เจนตินา ต่างประสบภาวะเงินทุนไหลออกรุนแรงเพราะภาวะการเงินโลกเริ่มตึงตัวขึ้นและนักลงทุนต่างชาติเริ่มลดการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง ประเทศที่พื้นฐานเศรษฐกิจไม่เข้มแข็งจึงได้รับผลกระทบรุนแรง ในกรณีของอาร์เจนตินาถึงกับต้องขอรับความ ช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) สูงถึง 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

ประเทศไทยได้รับบทเรียนจากปี 2540 และได้เดินผ่านจุดดังกล่าวมาไกลแล้ว ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา เราได้ช่วยกันสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจให้ดีขึ้นมาก เสถียรภาพระบบเศรษฐกิจการเงินไทยมีความมั่นคง และดีกว่าประเทศตลาดเกิดใหม่โดยรวม ยกตัวอย่างเช่นดุลบัญชีเดินสะพัดซึ่งสะท้อนความสามารถในการหารายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศ ปี 2560 เกินดุลบัญชีเดินสะพัดถึง 11.2% ของอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ(จีดีพี) หรือประมาณ 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

ปีนี้คาดว่าจะเกินดุลถึง 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่างจากช่วงก่อนเกิดวิกฤต ปี 2540 ที่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่องกันหลายปี เงินสํารองระหว่างประเทศของเราก็มีความมั่นคง สามารถเป็นกันชนรองรับแรงปะทะจากความผันผวนของตลาดเงินตลาดทุนโลกได้เป็นอย่างดี เงินสำรองระหว่างประเทศของไทยขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 2.1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ไม่รวมฐานะซื้อเงินตรา ต่างประเทศล่วงหน้าสุทธิจพนวนประมาณ 3.3 หมื่นล้านดอลลาร์ สหรัฐ ซึ่งมากกว่าหนี้ต่างประเทศโดยรวมที่ 1.5แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น3.5เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ด้านหนี้ต่างประเทศโดยรวม ปัจจุบันอยู่ที่ 35% ของจีดีพี ลดลงจาก 70% ในช่วงปี 2540

นอกจากนี้ การถือครองพันธบัตร ของนักลงทุนต่างชาติมีสัดส่วนเพียงประมาณ 10% ของมูลค่าตลาดพันธบัตรทางการทั้งหมด ความ เสี่ยงในกรณีของไทยที่เงินทุนไหลออกจะกระทบเสถียรภาพเศรษฐกิจจึงต่ำกว่าประเทศอื่น ซึ่งพึ่งพิงนักลงทุน ต่างชาติในสัดส่วนสูงกว่า บางประเทศรอบบ้านของเรามีนักลงทุนต่างชาติถือครองพันธบัตรสูงกว่า 30% จึงอ่อนไหวในเวลาที่ตลาดการเงินโลกตึงตัวขึ้น

การดําเนินนโยบายเศรษฐกิจ หลังจากปี 2540 นโยบายการเงินของไทยเปลี่ยนมาใช้กรอบ เป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น ควบคู่กับระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว ซึ่งการเคลื่อนไหวของค่าเงินจะถูก กำหนดโดยกลไกตลาด ไม่สร้างความบิดเบือนในระบบอัตราแลกเปลี่ยน และไม่สร้างผลข้างเคียงในระบบ เศรษฐกิจเหมือนกับตอนที่ใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ในช่วงปี 2540 โดยในกรอบปัจจุบัน ธปท. จะ ดูแลอัตราแลกเปลี่ยนในกรณีที่ค่าเงินผันผวนสูงผิดปกติจนอาจกระทบกับภาคเศรษฐกิจจริง

สำหรับการ ตัดสินนโยบายการเงินจะประเมินจากปัจจัยต่าง ๆ อย่างรอบด้านทั้งการเติบโตของเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน เพื่อให้นโยบายการเงินเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศไทยมากที่สุด

ในด้านโครงสร้างพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจการเงิน เราขาดแคลนกลไกหลายด้านในช่วงก่อนเกิดวิกฤตปี 2540 ตลอด 20 ปีเราได้จัดตั้งหน่วยงานและกลไกต่าง ๆ เพิ่มขึ้น อาทิ บริษัทข้อมูล เครดิตแห่งชาติ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ บริษัทบริหารสินทรัพย์ สถาบันคุ้มครองเงินฝาก เป็นต้น หน่วยงานก่ากับดูแล ทั้ง ธปท. ส่านักงานคณะกรรมการก่ากับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ประสานความร่วมมือกัน ใกล้ชิดมากกว่าเดิมมาก ตลอดจนมีความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อช่วยเหลือกันยามเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เช่น มาตรการริเริ่มเชียงใหม่พหุภาคี (CMIM)ประกอบด้วยอาเซียน จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี

โครงสร้างที่ กล่าวมาข้างต้นล้วนเป็นพื้นฐานสำคัญของระบบเศรษฐกิจการเงิน ตั้งแต่การมีระบบข้อมูลที่ดี การแจ้งเตือน เพื่อป้องกันวิกฤต ตลอดจนมีระบบที่พร้อมแก้ไขสถานการณ์หากเกิดวิกฤตขึ้น

ปัจจุบันภาคธุรกิจไทยมีความเข้มแข็งขึ้นมากเมื่อเทียบกับ 20 ปี ก่อน ดูจากผลประกอบการที่ดี ความสามารถในการแข่งขัน ธรรมาภิบาล และมีการระดมทุนที่หลากหลาย มากขึ้นจากทั้งสินเชื่อ ตราสารหนี้ และตราสารทุน นอกจากนี้ ผู้บริหารให้ความส่าคัญกับการบริหารความ เสี่ยงมากขึ้น โดยลงทุนอย่างระมัดระวัง ไม่ก่อหนี้เกินตัว สะท้อนจากสัดส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E ratio) ของภาคธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์ไทยที่ 1.2 เท่า อยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับช่วงวิกฤตปี 2540 ซึ่งมี D/E ratio สูง ถึง 5 เท่า และขณะนี้ไม่ได้พึ่งพิงเงินกู้ระยะสั้นจากต่างประเทศจนเกิดปัญหา currency mismatch เหมือนกับช่วงก่อนปี 2540

ทั้งนี้ สถาบันการเงินไทยมีความเข้มแข็งกว่าเดิมมาก สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ลดลงต่อเนื่องจาก 45.0% เมื่อปี 2542 มาอยู่ที่ 2.9% ในไตรมาส1 ปี 2561 อีกทั้งสถาบัน การเงินมีเงินสำรอง เงินกองทุน และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง สามารถรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ดี อัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) อยู่ที่ 18.0% สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของภูมิภาค

อีกทั้ง ธปท. ได้นําเกณฑ์การกํากับดูแลสํากล (Basel III) มาประยุกต์ใช้เพื่อให้สถาบันการเงินมีความมั่นคงมาก ขึ้น อาทิ การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับสถานการณ์ด้านสภาพคล่องที่มีความรุนแรง (liquidity coverage ratio : LCR) นอกจากนี้ “ธรรมาภิบาล”  เป็นประเด็นที่ทั้ง ธปท. และผู้บริหารของสถาบันการเงินต่างให้ความสําคัญมาก เพื่อให้ระบบการเงินไทยมีการบริหารจัดการที่ดี อาทิ การมีโครงสร้างคณะกรรมการที่ดีและมีคุณสมบัติเหมาะสม การสร้างวัฒนธรรมองค์กรในการดูแลความเสี่ยง การจัดท่าแผนล่วงหน้ารองรับการจัดการดูแลแก้ไขปัญหา (recovery plan) เป็นต้น

ในไตรมาส 4 ปีนี้ ไทยกำลังจะเข้าร่วมการประเมินภาคการเงิน (Financial Sector Assessment Program: FSAP) จัดทำโดยไอเอ็มเอฟและธนาคารโลก ผลการประเมินดังกล่าวจะช่วยให้เราทราบว่ามีจุดอ่อนเรื่องใดบ้างที่ ต้องแก้ไขเพิ่มเติมเรียนรู้จํากอดีต ตื่นตัวกับปัจจุบัน พร้อมรับความท้าทายในอนาคต

แม้เศรษฐกิจไทยจะมีเสถียรภาพเข้มแข็งและคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากความผันผวนของตลาด การเงินโลกน้อยกว่าประเทศตลาดเกิดใหม่อื่น ๆ แต่ทุกคนไม่ควรประมาท บทเรียนในอดีตจากวิกฤตปี 2540 สอนเราว่าความประมาทสามารถสร้างความเสียหายได้มากมายเพียงใด เราต้องลดจุดเปราะบางในระบบ การเงินเช่น การก่ากับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์ และเตรียมรับความผันผวนในตลาดการเงินโลกที่อาจเพิ่ม สูงขึ้นได้อย่างรวดเร็ว โดยความเสี่ยงที่สำคัญในปัจจุบันคือ สภาพคล่องในตลาดการเงินโลกจะตึงตัวมากขึ้น จากการที่ธนาคารกลางของประเทศอุตสาหกรรมหลักลดการผ่อนคลายนโยบายการเงิน

และผลกระทบจาก นโยบายกีดกันทางการค้าที่ตอบโต้กันระหว่างประเทศเศรษฐกิจหลัก ซึ่งจะท่าให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ชะลอลงและตลาดเงินตลาดทุนโลกผันผวนมากขึ้น ภาคธุรกิจจึงควรวางแผนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันรองรับความ เสี่ยงดังกล่าว โดยเฉพาะการบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งมีเครื่องมือทางการเงินหลายชนิดที่ สามารถช่วยลดความเสี่ยงได้

ในวันนี้ที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้นและมีเสถียรภาพที่เข้มแข็ง เราต้องให้ ความสำคัญกับการปฏิรูปเศรษฐกิจในหลายมิติเพื่อลดจุดเปราะบางที่เหลืออยู่ และแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ สะสมมานาน โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับเรื่องแรงงาน คุณภาพการศึกษา ผลิตภาพ และความสามารถในการ แข่งขันของประเทศ เราจะต้องเปลี่ยนแปลงอย่างเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อม ในระบบเศรษฐกิจโลกที่เทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนแปลงเร็วมาก สำหรับอนาคตแล้ว ปัญหาเชิงโครงสร้างเหล่านี้จะเป็น เรื่องที่น่ากังวลมากกว่าเสถียรภาพด้านการเงิน

 จาก https://www.matichon.co.th   วันที่ 29 มิถุนายน 2561

‘พาณิชย์’ถกร่วม 3 กระทรวงหลัก หาทางออกพืชผลเกษตรล้นตลาด ทำราคาตก

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมที่สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ เพื่อหารือ เรื่อง ข้อมูลการผลิต ความต้องการใช้สินค้าเกษตรเพื่อนำไปจัดทำแผนการผลิตการตลาดพืชเกษตรที่สำคัญอย่างครบวงจร โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพาณิชย์ เข้าร่วมการประชุมว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีได้สั่งการในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 19 มิถุนายน 2561 ให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักในการประสานกับกระทรวงเกษตรฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นต้น จัดทำข้อมูลเกี่ยวกับพืชเกษตรอย่างครบวงจร โดยจำแนกเป็นพืชเศรษฐกิจ (ข้าว มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา อ้อย และข้าวโพด) พืชเพื่อการพาณิชย์ พืชเพื่อการบริโภค โดยแสดงให้เห็นถึงการดำเนินการที่เกี่ยวกับพืชแต่ละชนิดดังกล่าว ตลอดห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง เช่น พื้นที่การเพาะปลูก กระบวนการผลิต กระบวนการแปรรูป การจำหน่าย ความต้องการของตลาด ทั้งในประเทศและต่างประเทศ แนวโน้มราคาผลผลิต เป็นต้น และให้นำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ในการสร้างการรับรู้ให้แก่เกษตรกรและประชาชนทั่วไปให้ถูกต้องและทั่วถึงเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการทำการเกษตรของเกษตรกรได้อย่างถูกต้องเหมาะสมต่อไป โดยกระทรวงมหาดไทยจะนำข้อมูลจากที่ประชุมเสนอต่อนายกรัฐมนตรีในเดือนกรกฎาคมนี้

นางสาวชุติมา กล่าวว่า ข้อสรุปจากที่ประชุมคือจะนำข้อมูลแต่ละหน่วยงานมาประมวลและออกแบบให้ตรงกับการนำไปใช้เพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่เกิดความเข้าใจและตระหนักรู้ อาทิ เรื่องของความต้องการซื้อ (ดีมานด์) และซัพพลาย (สินค้า) ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาผลผลิตล้นตลาด โดยจะจัดเก็บข้อมูลพร้อมตัวเลข อาทิ ประมาณผลผลิตของพืชเศรษฐกิจ เสนอความคืบหน้าต่อที่ประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 11 กรกฎาคมนี้ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพหลัก

นางสาวชุติมา กล่าวว่า ปีนี้มีพืชผลทางการเกษตรสำคัญจะออกผลิตเพิ่มเติมอีก 2 ชนิด คือข้าวและมันสำปะหลัง จึงมอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ลงพื้นที่สำรวจพืชผลทางการเกษตรทั้งหมด เพื่อให้ข้อมูลที่ได้รับสอดคล้องกับความเป็นจริง

นางสาวชุติมา กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตสับปะรดตกต่ำในขณะนี้ว่า กระทรวงพาณิชย์ได้วางมาตรการช่วยเหลือ อาทิ การเร่งรัดขยายตลาดส่งออกไปต่างประเทศให้มากขึ้น มาตรการนำสับปะรดส่วนเกินออกจากระบบ โดยการกระจายสับปะรดออกนอกแหล่งผลิตสำหรับบริโภคผลสด และนำไปทำอาหารสัตว์เลี้ยงโคนมโคเนื้อ และจัดให้มีการรณรงค์ให้บริโภคสับปะรดโดยอาศัยเครือข่ายประชารัฐ และได้ขอความร่วมมือไปยังภาคราชการ และภาคเอกชนให้ช่วยรับซื้อสับปะรดจากเกษตรกร เช่น บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) คาดว่าช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2561 สถานการณ์ราคาสับปะรดตกต่ำจะค่อยๆ คลี่คลาย และกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 28 มิถุนายน 2561

พาณิชย์จับมือ 3 กระทรวงหลัก เร่งทำข้อมูลพืชเกษตรครบวงจร

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุมหารือ เรื่อง ข้อมูลการผลิต ความต้องการใช้สินค้าเกษตร เพื่อนำไปจัดทำแผนการผลิต การตลาดพืชเกษตรที่สำคัญอย่างครบวงจร ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา อ้อย และข้าวโพด ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ตลอดห่วงโซ่การผลิต โดยจะนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ในการสร้างการรับรู้ให้แก่เกษตรกรและประชาชน รวมทั้งเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการทำการเกษตรของเกษตรกรได้อย่างถูกต้อง

ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ได้ประสานกับกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำข้อมูลเพื่อใช้ชี้แจงกับเกษตรกรในพื้นที่ โดยเชิญเจ้าหน้าที่ 4 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงมหาดไทย นำข้อมูลที่แต่ละหน่วยงานมีอยู่มาประมวลและออกแบบให้ตรงกับการนำไปใช้ เช่น พื้นที่การเพาะปลูก กระบวนการผลิต กระบวนการแปรรูป การจำหน่าย ความต้องการของตลาดทั้งในประเทศ ต่างประเทศ และแนวโน้มราคาผลผลิต เป็นต้น ทั้งนี้ได้มีการมอบหมายให้แต่ละหน่วยงานรวบรวมข้อมูล เพื่อจัดทำแผนการผลิตพืชเกษตรที่สำคัญให้เสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2561

ด้านสถานการณ์การผลิตข้าวปี 2561/62 กระทรวงเกษตรฯประกาศพื้นที่การส่งเสริมการปลูกข้าวนาปีจำนวน 58.2 ล้านไร่ ผลผลิตข้าว 25.3 ล้านตัน (ข้าวเปลือก) ตามกรอบเป้าหมายความต้องการใช้ข้าว ภายใต้ตลาดนำการผลิต (Demand Driven) สำหรับสถานการณ์ราคาเดือนพฤษภาคม ข้าวเจ้าความชื้น 15% เกษตรกรขายได้อยู่ที่ตันละเฉลี่ย 8,017.94 บาท ราคามันสำปะหลังคละที่เกษตรกรขายได้อยู่ที่กิโลกรัมละ 2.55 บาท ราคาปาล์มน้ำมัน (น้ำหนักมากกว่า 15 กิโลกรัม) ที่เกษตรกรขายได้อยู่ที่กิโลกรัมละ 3.15 บาท ราคายางพาราแผ่นดิบ ชั้น 3 ที่เกษตรกรขายได้อยู่ที่กิโลกรัมละ 45.68 บาท บาท และราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ความชื้น 14.5% ที่เกษตรกรขายได้อยู่ที่กิโลกรัมละ 8.48 บาท

จาก www.thansettakij.com   วันที่ 28 มิถุนายน 2561

เกาะติดสถานการณ์‘ศัตรูพืช’ กรมส่งเสริมฯทำแปลง1.7พันแห่งติดตามการระบาดทั่วปท.

นายประสงค์ ประไพตระกูล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ปัจจุบันสถานการณ์การระบาดของศัตรูพืช เป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรและเกษตรกรเป็นอย่างมาก กรมส่งเสริมการเกษตร จึงได้จัดให้มีแปลงติดตามสถานการณ์ศัตรูพืชในทุกอำเภอ ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน ซึ่งมีมากกว่า 1,764 แห่งทั่วประเทศ เพื่อติดตามสถานการณ์ศัตรูพืช สามารถพยากรณ์หรือคาดการณ์แนวโน้มของศัตรูพืชที่จะเกิดการระบาดขึ้น และแจ้งเตือนภัยแก่เกษตรกรได้ทันท่วงที นำไปสู่การเลือกวิธีการจัดการศัตรูพืชอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ให้เกษตรกรสามารถจัดการศัตรูพืชได้ด้วยตนเอง และเป็นแปลงต้นแบบของการสำรวจติดตามสถานการณ์ศัตรูพืชและเฝ้าระวังศัตรูพืชในระดับท้องถิ่น

แปลงติดตามสถานการณ์ศัตรูพืชจะคัดเลือกแปลงจากชนิดพืชที่เป็นพืชเศรษฐกิจ หรือเป็นพืชที่สำคัญในพื้นที่นั้นๆ โดยเมื่อเริ่มการปลูกพืชจะเริ่มการสำรวจศัตรูพืช ศัตรูธรรมชาติ และสภาพแวดล้อมในแปลงปลูก และเก็บข้อมูลการเจริญเติบโตของศัตรูพืช ศัตรูธรรมชาติทุกระยะ (ระยะไข่ ตัวอ่อน และตัวเต็มวัย) ตลอดจนอาการความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับต้นพืชในขณะนั้นอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้งตลอดฤดูการปลูกพืช บันทึกข้อมูลเพื่อเก็บเป็นสถิตินำมาวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์การระบาดของศัตรูพืชในฤดูปลูกต่อไป นอกจากนั้นแปลงติดตามสถานการณ์ศัตรูพืชยังใช้เพื่อติดตามเฝ้าระวังศัตรูพืชไม่ให้เกิดการระบาดจนกระทบต่อผลผลิตของเกษตรกร และเฝ้าระวังการรุกรานของศัตรูพืชจากแหล่งอื่นที่อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่นั้นๆ

“ข้อมูลจากแปลงติดตามสถานการณ์ศัตรูพืชมีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อเริ่มมีการระบาดของศัตรูพืช จะสามารถใช้เป็นข้อมูลในการแจ้งเตือนการระบาดศัตรูพืชแก่เกษตรกรในหมู่บ้านและบริเวณใกล้เคียง ให้ดำเนินการป้องกันกำจัดตามวิธีการที่เหมาะสมและทันท่วงที ไม่ให้เกิดความเสียหายกับผลผลิตทางการเกษตร อย่างไรก็ตาม เกษตรกรควรหมั่นสำรวจติดตามสถานการณ์ศัตรูพืชและเฝ้าระวังศัตรูพืชในแปลงปลูกพืชของตนเองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย” รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวย้ำ

จาก www.naewna.com  วันที่ 28 มิถุนายน 2561

รัฐลุยทำแผนดูแลราคาสินค้าเกษตร6ชนิด

กระทรวงพาณิชย์ร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำแผนการผลิต-ตลาดสินค้าเกษตร 6 ชนิดตามโยบายบิ๊กตู่                   

น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร  รมช.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมหารือเรื่องข้อมูลการผลิต ความต้องการใช้สินค้าเกษตร เพื่อจัดทำแผนการผลิตและการตลาดพืชเกษตรสำคัญอย่างครบวงจร ตามนโยบายพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่า ที่ประชุมได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ลงพื้นที่ทำการสำรวจแนวโน้มการผลิตสินค้าเกษตรหลัก 6 ตัว คือ ข้าว มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา อ้อย และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้ชัดเจนว่าผลผลิตจะมีเท่าไร รวมไปถึงผลผลิตในปี 61/62

 “ ในระหว่างนี้ ได้มอบหมายให้แต่ละหน่วยงานไปจัดทำข้อมูลที่ตัวเองรับผิดชอบให้ชัดเจน เช่น พื้นที่การเพาะปลูก ความต้องการใช้ในการผลิตและแปรรูป การจำหน่าย ความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ และแนวโน้มราคาผลผลิต เป็นต้น และให้นำข้อมูลที่แต่ละหน่วยงานมี มาหารือร่วมกันอีกครั้งในวันที่ 11 ก.ค. 61 ก่อนจะจัดทำเป็นแผลการผลิตและการตลาดพืชเกษตรที่สำคัญแบบครบวงจรให้แล้วเสร็จภายในเดือนก.ค. 61 จากนั้น จะส่งรายละเอียดให้กับกระทรวงมหาดไทย เพื่อนำข้อมูลไปสร้างการรับรู้ให้แก่เกษตรกรและประชาชนให้สามารถตัดสินใจในการทำการเกษตรได้อย่างถูกต้องต่อไป”

อย่างไรก็ตาม หากจัดทำแผนด้านการผลิตและการตลาดสำหรับสินค้าเกษตรหลัก 6 ตัวเสร็จแล้ว จะมีการจัดทำแผนรับมือสินค้าเกษตรตัวอื่นๆ ต่อไป เช่น ผลไม้ โดยเบื้องต้นคงต้องดูผลผลิตลำไยและลองกอง ที่กำลังจะออกสู่ตลาด ซึ่งจะต้องวางแผนในการช่วยระบายผลผลิต ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อป้องกันปัญหาราคาตกต่ำให้กับเกษตรกร

 สำหรับการคาดการณ์ผลผลผลิตข้าวปี 2561/62 กระทรวงเกษตรฯ ประกาศพื้นที่การส่งเสริมการปลูกข้าวนาปีจำนวน 58.2 ล้านไร่ ผลผลิตข้าว 25.3 ล้านตันข้าวเปลือก ตามกรอบเป้าหมายความต้องการข้าวภายใต้นโยบายการตลาดนำการผลิต โดยราคาข้าวเปลือกเดือนพ.ค.2561 ข้าวเจ้าความชื้น 15% เฉลี่ยตันละ 8,017.94 บาท มันสำปะหลังคละกิโลกรัม (กก.) ละ 2.55 บาท ราคาปาล์มน้ำมัน กก.ละ 3.15 บาท ราคายางพาราแผ่นดิบ ชั้น 3 เฉลี่ยกก.ละ 45.68 บาท และราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ความชื้น 14.5% กก.ละ 8.48 บาท

จาก https://www.dailynews.co.th   วันที่ 28 มิถุนายน 2561

“เสริมความรู้ ระบบ QR Trace- DGT Farm” เพิ่มขีดความสามาถเกษตรกรสู่การแข่งขันทางการค้า

เกษตรฯ เสริมแกร่ง เกษตรกร ให้ความรู้การเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร ด้วยระบบ QR Trace และตลาดสินค้าออนไลน์ DGT Farm เพิ่มความสามารถแข่งขันทางการค้าและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคดียิ่งขึ้น

เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.61 นายยุทธนา นรภูมิพิภัชน์ รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เป็นประธานเปิดการอบรมให้ความรู้ระบบตามสอบสินค้าเกษตรบนระบบคลาวด์ สำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (QR Trace on Cloud) และเว็บไซต์ตลาดออนไลน์ DGT Farm ให้กับเกษตรกรรายเดี่ยว กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ ผู้ประกอบการ โดยมุ่งหวังให้กลุ่มเป้าหมาย เกิดการใช้งานระบบตามสอบสินค้าเกษตร บนระบบคลาวด์และเว็บไซด์ตลาดออนไลน์ DGT Farm เพิ่มความสามารถแข่งขันทางการค้าและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ณ ห้องไพร์มไทม์ 1 โรงแรม PrimeTime บางแสน จังหวัดชลบุรี

นายยุทธนา นรภูมิพิภัชน์ รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวว่า รัฐบาลมีแนวนโยบาย “การตลาดนำการผลิต” เมื่อเกษตรกรผลิตสินค้าเกษตรมาแล้วจะต้องมีตลาดรองรับและเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค ซึ่งในปัจจุบันผู้บริโภคให้ความสำคัญในเรื่องคุณภาพมาตรฐานและความปลอดภัยของสินค้าเกษตรและอาหารเป็นอย่างมาก ผู้ผลิตสินค้าเกษตรจึงจำเป็นต้องใช้ระบบตามสอบสินค้าเกษตร เพื่อสร้างความมั่นใจ เชื่อถือได้ในคุณภาพ ปลอดภัย ของสินค้าเกษตร มกอช. จึงได้ดำเนินการจัดอบรมให้ความรู้ระบบตามสอบสินค้าเกษตรบนระบบคลาวด์ สำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (QR Trace on Cloud) และเว็บไซต์ตลาดออนไลน์ DGT Farm ให้กับกลุ่มเป้าหมายที่เป็น เกษตรกรรายเดี่ยว กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ และผู้ประกอบการ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้งานระบบตามสอบสินค้าเกษตรบนระบบคลาวด์สำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก และเว็บไซต์ตลาดออนไลน์ DGT Farm ให้แก่ผู้มีความประสงค์ใช้งานต่างๆ ทั้งในส่วนผู้ใช้งานเดิมและผู้สนใจรายใหม่

รองเลขาธิการ มกอช. กล่าวว่า QR Trace ระบบตามสอบสินค้าเกษตร มกอช. นำมาใช้ตั้งแต่ ปี 2556 พร้อมส่งเสริม ผลักดันให้เกษตรกรนำระบบดังกล่าวไปใช้งาน ซึ่ง QR Trace เป็นระบบตามสอบสินค้าเกษตรในกลุ่มพืชผักและผลไม้ ที่สามารถให้เกษตรกร ผู้ประกอบการ จัดเก็บข้อมูลตามสอบสินค้าเกษตรและบริหารจัดการการผลิตสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดการเชื่อมโยงข้อมูลตามสอบได้ตลอดห่วงโซ่การผลิต โดยการดำเนินงานที่ผ่านมาได้มีการเชิญชวนและแนะนำการใช้ระบบให้แก่เกษตรกรรายเดี่ยว กลุ่มเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน เพื่อสร้างความเข้าใจและผลักดันการใช้งานระบบ QR Trace ต่อมาในปี 2560 เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น มกอช. ได้พัฒนาระบบตามสอบสินค้าเกษตรบนระบบ Cloud เรียกว่า QR Trace on Cloud ซึ่งเป็นการพัฒนาต่อยอดให้รองรับการใช้งานกลุ่มสินค้าเพิ่มขึ้น คือ กลุ่มสินค้าข้าว ไข่ ประมง ปศุสัตว์ โดยมีการปรับปรุงระบบให้มีความเหมาะสมกับเทคโนโลยีและอุปกรณ์สมัยใหม่

“นอกจากนี้ มกอช .ยังได้พัฒนาเว็บไซต์ตลาดออนไลน์ DGT Farm ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการจับคู่สินค้าที่ผู้ผลิตและผู้ประกอบการต้องการขายกับสินค้าที่ผู้บริโภคต้องการซื้อให้ตรงตามความต้องการของทั้งสองฝ่าย ซึ่งสามารถช่วยสร้างโอกาสทางการค้าให้แก่ผู้ผลิตและผู้ประกอบการ รวมถึงสร้างโอกาสให้แก่ผู้ซื้อและประกอบการที่ต้องการสินค้าที่ดี มีคุณภาพ”นายยุทธนา กล่าว

นายยุทธนา กล่าวเพิ่มเติมว่า มกอช. มีนโยบายที่จะสร้างความเข้าใจและผลักดันให้เกษตรกร และผู้ประกอบการ กลุ่มเป้าหมายต่างๆโดยเฉพาะผู้ผลิตที่มีศักยภาพและมีความโดดเด่นในการผลิตสินค้าเกษตร มีความรู้และนำระบบ QR Trace และตลาดสินค้าเกษตรออนไลน์ DGT Farm ไปใช้เพื่อสร้างความเข้มแข็ง สร้างโอกาสให้แก่ผู้ซื้อและผู้ประกอบการที่ต้องการสินค้าตรงกันเป็นสินค้าดี มีคุณภาพ มีมาตรฐานต่างๆ ที่มีการผ่านการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตร และแหล่งผลิตได้ ส่งผลให้เกษตรกรและผู้ประกอบการในภาคเกษตรและอาหารของไทย สามารถแข่งขันทางการค้า และสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ การจัดอบรมโครงการฯ นี้ เริ่มมาตั้งแต่ ปี 2560 มีเป้าหมาย 20 ครั้ง ครอบคลุมทั่วประเทศ ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 17 โดยผู้เข้ากลุ่มเกษตรกรทั่วไปผู้ใช้ระบบงานรายใหม่ จากสภาเกษตรกรจังหวัดชลบุรี และจังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน 40 คน ผู้รับการอบรมจะได้รับความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับระบบตามสอบสินค้า (Traceability) ขั้นตอนการสมัครใช้งานต่างๆ การสร้าง QR Code ความรู้ระบบตลาดสินค้าเกษตรออนไลน์ DGT Farm การสมัครสมาชิก การบริหารร้านค้า ขั้นตอนต่างๆ ในการลงสินค้าขายและโปรโมชั่น รวมถึงได้รับเกียรติจากมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา มาให้ความรู้ใน เรื่อง เทคนิคการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตร และการออกแบบพัฒนาบรรจุภัณฑ์ อีกด้วย

จาก https://siamrath.co.th  วันที่ 28 มิถุนายน 2561

ร้อง สนช. เร่งโครงการผลิตไฟฟ้าด้วย 'ก๊าซชีวภาพ'

เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนธนาคารต้นไม้ ยื่นหนังสือถึงประธาน กมธ.พลังงาน สนช. เพื่อขอติดตามความคืบหน้าโครงการเกษตรผสมผสานสู่การผลิตไฟฟ้าด้วยก๊าซชีวภาพ ระบุ เป็นแนวทางที่สร้างโอกาสให้กับเกษตรกรและช่วยสืบสานอาชีพเกษตรกรรมต่อจากบรรพบุรุษ

วันที่ 21 มิ.ย. 2561 เว็บไซต์ www.radioparliament.net เผยแพร่ข่าวว่า พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ ประธานคณะกรรมาธิการการพลังงาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รับหนังสือจาก นายสมาน บัวสิงห์ ประธานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนธนาคารต้นไม้ และคณะ จำนวน 110 คน เพื่อขอติดตามความคืบหน้าโครงการเกษตรผสมผสานสู่การผลิตไฟฟ้าด้วยก๊าซชีวภาพ และช่วยเร่งรัดให้โครงการนี้ดำเนินการไปอย่างรวดเร็วและทันต่อการแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกร การปรับเปลี่ยนจากการปลูกพืชไม่เหมาะสม บรรเทาความเดือดร้อนให้ครอบคลุมและเป็นการสร้างเสถียรภาพทางการไฟฟ้าจากพืชพลังงานที่มั่นคง

โดยประธานเครือข่ายฯ กล่าวว่า ทางกลุ่มเห็นว่า การตอบรับของกระทรวงพลังงาน โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ที่แจ้งว่า ยินดีให้การสนับสนุนเงินลงทุนโครงการพัฒนาเกษตรผสมผสานสู่การผลิตไฟฟ้าด้วยก๊าซชีวภาพของเครือข่ายฯ ในลักษณะโครงการนำร่อง และจะรับซื้อไฟฟ้าในราคาขายปลีก ณ ปัจจุบัน ถือเป็นแนวทางที่สร้างโอกาสให้กับเกษตรกรและทำให้มีความหวังในการสืบสานอาชีพเกษตรกรรมต่อจากบรรพบุรุษ และขณะนี้ ทางเครือข่ายฯ ได้คัดเลือกวิสาหกิจชุมชนธนาคารต้นไม้ คัดเลือกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่มีความพร้อมในทุกด้าน มีเกษตรกรที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการครบตามเกณฑ์ที่กำหนดแล้ว รวมถึงได้พิจารณาจัดทำแผนธุรกิจอย่างรอบด้าน เตรียมการประเมินผลโครงการและได้สร้างระบบบริหารจัดการและซอฟต์แวร์สนับสนุนเพื่อพัฒนาวิสาหกิจชุมชนให้เป็นที่ยอมรับและเป็นสากลแล้ว

ด้าน ประธานคณะกรรมาธิการพลังงาน สนช. กล่าวหลังรับการยื่นหนังสือว่า ยินดีนำข้อเรียกร้องดังกล่าวส่งต่อไปยังคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป

จาก www.thansettakij.com วันที่ 28 มิถุนายน 2561

'พาณิชย์' สั่งทุกกรม! รับมือ 'สงครามการค้า'

พาณิชย์สั่งทุกกรมเตรียมความพร้อมมาตรการเชิงรุก! รับมือ 'สงครามการค้า' ลามไทยเต็มพิกัด จี้! กรมการค้าต่างประเทศ-ค้าภายใน หามาตรการป้องกันสินค้าทะลักเข้า รายงานผลใน 10 วัน ผวา 'ข้าวโพด-ถั่วเหลืองมะกัน' ไหลเข้าไทย อีกด้านคาดได้อานิสงส์ส่งสินค้าเกษตรไป 4 ตลาดคู่กัดสหรัฐฯ เพิ่ม

น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้เชิญเอกชนจากสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) , สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย , สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย , สมาคมธนาคารไทย รวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร เหล็ก อะลูมิเนียม ยานยนต์และชิ้นส่วน ร่วมประเมินสถานการณ์การออกมาตรการทางการค้าของสหรัฐฯ รวมถึงมาตรการตอบโต้ของประเทศที่ได้รับผลกระทบ เพื่อประเมินผลกระทบต่อประเทศไทย เพื่อเตรียมรับมือ (26 มิ.ย. 61)

ทั้งนี้ มาตรการของสหรัฐฯ เริ่มส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยแล้ว เช่น การขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าเครื่องซักผ้าและโซลาร์เซลล์ ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ช่วงต้นปี ทำให้ไทยส่งออกสินค้าดังกล่าวไปยังสหรัฐฯ ได้ลดลง เปรียบเทียบมูลค่าส่งออกในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ กับปีก่อนหน้า พบว่า มูลค่าการส่งออกเครื่องซักผ้าลดลงมากกว่า 30% และโซลาร์เซลล์ลดลงมากกว่า 50% ส่วนในสินค้าเหล็กและอะลูมิเนียมก็มีแนวโน้มว่าจะส่งออกไปสหรัฐฯ ลดลงเช่นกัน

"สำหรับการขึ้นภาษีในกลุ่มทรัพย์สินทางปัญญาของจีน จะเริ่มบังคับใช้ในเดือน ก.ค. ซึ่งจากการประเมินของกระทรวงพาณิชย์ในภาพรวมแล้ว ไทยยังไม่ได้รับผลกระทบทางลบ"

ขณะเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์ยังไม่พบการส่งออกสินค้าที่เข้าข่ายถูกขึ้นภาษีระหว่างสหรัฐฯ และจีน ทะลักเข้ามาไทยสูงขึ้นกว่าปกติ แต่ได้เตรียมการรองรับไว้แล้ว โดยกำหนดยุทธศาสตร์ทั้งเชิงรุกและเชิงรับ มาตรการเชิงรุก เช่น การหาตลาดส่งออกใหม่ ๆ เร่งเจรจา FTA หรือ สร้างหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ มาตรการเชิงรับ เช่น การป้องกันเฝ้าระวังและเตรียมมาตรการรองรับสินค้าที่จะทะลักเข้าไทย โดยได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) จัดประชุมรายสินค้า เพื่อจัดทำแผนการดำเนินงาน (Action Plan) ต่อไป

นอกจากนี้ ได้สั่งการให้กรมการค้าต่างประเทศไปดูในเรื่องมาตรการสวมสิทธิ์ รวมถึงมาตรการป้องกันการทะลักของสินค้าเข้ามาในไทย ในสินค้าที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ไม่ให้ทะลักเข้ามา ซึ่งกรมการค้าต่างประเทศจะต้องหารือกับภาคเอกชนและให้รายงานกลับมาภายใน 10 วัน ส่วนกรมการค้าภายในให้รับผิดชอบเรื่องสินค้าเกษตรที่คาดว่าน่าจะทะลักเข้ามา เช่น ข้าวโพด ถั่วเหลือง ซึ่งหากเป็นสินค้าที่ไทยขาดแคลน อาจจะไม่มีผลกระทบ แต่ถ้าเป็นสินค้าที่เข้ามาทดแทน จะต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษและหามาตรการป้องกัน ในขณะที่ กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้สั่งการให้เฝ้าระวังเรื่องสินค้าที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา กรมส่งเสริมการส่งออก ให้ช่วยหาตลาดใหม่มาทดแทนในตลาดที่คาดว่าน่าจะได้รับผลกระทบ และกรมเจรจาการค้าฯ เร่งเจรจาเอฟทีเอที่เป็นประโยชน์กับไทย

ด้าน น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สนค. ประเมินว่า สงครามการค้าทำให้โครงสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างประเทศเปลี่ยนไป โดยกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบมีแรงจูงใจแสวงหาพันธมิตรทางการค้าใหม่ ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงและรักษาเสถียรภาพการค้าในระยะยาว ซึ่งจากการวิเคราะห์ของ สนค. โดยรวมแล้ว ไทยจะยังได้ประโยชน์จาการส่งสินค้าไปขายทดแทนได้ เช่น สินค้ายานยนต์และส่วนประกอบ ไทยมีโอกาสส่งออกทดแทนจีนในตลาดสหรัฐฯ รวมถึงส่งออกสินค้าทดแทนสหรัฐฯ ในตลาดจีนมากขึ้น สินค้าเกษตร อาทิ มันสำปะหลัง มะพร้าว ชิ้นส่วนสัตว์ปีก ไทยมีโอกาสส่งออกสินค้าไปยัง 4 ประเทศ ที่ออกมาตรการตอบโต้สหรัฐฯ ได้แก่ จีน แคนาดา เม็กซิโก และสหภาพยุโรป (อียู) ปลาปรุงแต่ง เนื้อสัตว์ และส่วนประกอบ มีโอกาสทดแทนสินค้าจากสหรัฐฯ ในตลาดจีนและแคนาดา

น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธาน สรท. กล่าวว่า สินค้าที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้านี้จะต้องดูเป็นรายการและรายละเอียดแต่ละสินค้าไป ที่น่าห่วง คือ สินค้าเกษตรที่คาดว่าน่าจะมีสินค้าเข้าทดแทนสินค้าเกษตรของไทย เช่น ถั่วเหลือง ข้าวโพด แต่ถ้าทะลักเข้ามาในส่วนที่ไทยขาด ก็อาจจะมีผลดีในเรื่องราคา แต่ถ้าทะลักเข้ามาในช่วงที่ไทยมีสินค้าอยู่ ก็จะกระทบเรื่องราคาในประเทศได้ ทั้งนี้ ผลกระทบที่ชัดเจนน่าจะเห็นผลใน 2-3 เดือนข้างหน้า

จาก www.thansettakij.com วันที่ 28 มิถุนายน 2561

โลกการค้า : กระทรวงพาณิชย์...ไม่ควรประมาท ผลกระทบจากสงครามการค้า

วันก่อนในการแถลงข่าวตัวเลขการส่งออกเดือนพฤษภาคม ของกระทรวงพาณิชย์...ที่สามารถทำสถิติการขยายตัวสูงสุดได้ในรอบ 7 ปี...กระทรวงพาณิชย์ก็เลยทิ้งท้ายว่า...สงครามการค้า...ระหว่างสหรัฐกับประเทศจีน..ยุโรป...และประเทศอื่นๆ ไม่น่าจะกระทบต่อการส่งออกของไทย....!! ตรงนี้...โลกการค้า...มองว่ากระทรวงพาณิชย์รีบด่วนตัดสินใจไปก่อน หรือไม่ก็ดูเบาปัญหาเกินไปหน่อย...

ผลของสงครามการค้าระหว่างจีนยกแรก...จะเริ่มมีผลก็ต้องหลังวันที่ 6 กรกฎาคม 2561 ไปแล้ว ซึ่งเป็นวันเริ่มเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนในชุดแรก(สงครามยกแรก)...ตัวเลขการส่งออกของไทยจะสะท้อนปัญหานี้ก็ต้องประมาณเดือน 7-8 โน่นแหล่ะถึงจะเห็นผล...จึงไม่ควรรีบพูดแต่ตอนนี้....

ตัวแทนภาคเอกชนไทย...อาทิ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก อาหาร ยานยนต์ ฯลฯ...พยายามจะสะท้อนหรือให้ข้อมูลมาตลอดว่า...มีอุตสาหกรรมของไทยได้รับผลกระทบแล้วทั้งทางตรงและอ้อม...เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก...โดยจากการที่สหรัฐขึ้นภาษีสินค้าเหล็ก ในอัตรา 25%และอะลูมิเนียมของสหรัฐ 10% ...ทำให้ยอดการส่งออกสินค้า 2 ชนิดนี้ของไทยไปสหรัฐลดลงแล้ว....และประมาณการกันว่า ปี 2561 ...ยอดการส่งออกเหล็กไทยไปสหรัฐ จะหายไปประมาณ 2 แสนตัน คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 6,000 ล้านบาท จากปกติที่มีการส่งออกประมาณ 3 แสนตัน มูลค่า 1 หมื่นล้านบาท...ไม่เพียงเท่านั้น...เหล็กจากทั่วโลกที่ถูกสหรัฐ ใช้มาตรการทางภาษีประมาณ 35 ล้านตัน....จะทะลักเข้ามาในไทยด้วย

นอกจากนี้ ยังมีจะมีสินค้าส่งออกของไทยชนิดอื่นๆอีกหลายชนิดที่จะโดนพิษกำแพงภาษีเล่นงาน...ที่โดนแล้วตอนนี้คือกลุ่มสินค้าเครื่องซักผ้า และ โซลาร์เซลล์ ....โดยยอดส่งออกโซลาร์เซลล์ช่วง 5 เดือนของปีนี้ลดลงประมาณ 50% เครื่องซักผ้าลด 30% ....และที่กำลังตามต่อจากนี้คือ เครื่องใช้ไฟฟ้า กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มสินค้าเกษตร เช่น ถั่วเหลือง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ฯลฯ...เท่านั้นไม่พอสินค้าเหล่านี้จากประเทศอื่นๆ ที่ส่งเข้าสหรัฐไม่ได้ก็จะทะลักเข้ามายังประเทศไทยด้วยเหมือนกัน...เหมือนกับที่เกิดกับสินค้าเหล็ก...และยังจะมีประเด็นปลีกย่อยเข้ามาซ้ำเติมอีกคือ...มีสินค้าที่สวมสิทธิ์สินค้าไทยแล้วส่งออกไปสหรัฐ...ซึ่งหากว่าตัวเลขการส่งออกสินค้าตัวนั้นเพิ่มสูงขึ้นมาก...ก็จะทำให้สหรัฐ ประกาศใช้มาตรการตอบโต้การนำเข้าที่เพิ่มขึ้น(เซฟการ์ด)กับสินค้าไทยได้....

ถึงตรงนี้...ฟันธงได้เลยว่าไทยไม่อาจจะหลีกเลี่ยงสงครามการค้าครั้งนี้ได้...แล้วถามว่าเราต้องทำอย่างไร...คำตอบคือ...สิ่งที่กระทรวงพาณิชย์คิดจะทำแค่...ไปชี้แจงและหารือกับ...ผู้แทนการค้าสหรัฐ (ยูเอสทีอาร์)...ไม่เพียงพอจะรับมือ...แต่ต้องทำมากกว่านั้น...ทำแบบจีนเลยก็ได้...เครื่องไม้เครื่องมือเราก็มีอยู่...ทั้ง...การใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (AD/CVD) หรือมาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (เซฟการ์ด)...หรือจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียม (Surcharge) การนำเข้า...เลยก็ยังได้....

เฉพาะหน้าต้องตอบโต้ไปอย่างนี้ก่อนเลย...ส่วนจะไปเจรจาหาตลาดใหม่เพื่อชดเชยตลาดส่งออกที่หดหายไป...ก็เร่งดำเนินการควบคู่กันไป..เพราะเรื่องหาตลาดใหม่ ฝ่ายข้อตกลง FTA หรือข้อตกลงอื่นๆ ไม่ได้เกิดขึ้นทันทีทันใดได้หรอกต้องใช้เวลา...

ที่สำคัญเวลานี้...กระทรวงพาณิชย์...ไม่ควรดูเบาปัญหาและเลิกพูดกว่าสงครามการค้าไม่กระทบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทย...

จาก www.naewna.com  วันที่ 28 มิถุนายน 2561

“อุต” ย้ำห้ามนำเข้าสามซากขยะ ชง “ครม.” ออกคำสั่งห้ามโรงงาน “ใช้วัตถุดิบที่ใช้แล้วจากตปท.”

นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เพื่อแก้ไขสถานการณ์ซากอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติก กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้ออกประกาศกรมฯ ห้ามนำเข้าวัตถุดิบใช้แล้วจากต่างประเทศและระงับการนำเข้าจากต่างประเทศ คือ

1. ห้ามนำเข้าซากอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนใช้แล้วมือสอง

2. ห้ามนำเข้าเศษพลาสติกใช้แล้ว

3. ห้ามนำเข้าสินค้าที่ไม่ใช้แล้วอื่นๆ เช่น เศษโลหะผสม/สายไฟ/มอเตอร์/หม้อแปลง/เครื่องกำเนิดไฟฟ้าและแบตเตอรี่

และ 4.ระงับนำเข้าอุปกรณ์ใช้แล้วมือสองที่นำมาซ่อมแซม/ดัดแปลง/ปรับปรุง โดยส่งออกหรือขายภายในประเทศ ไปแล้วเมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2561

ขณะนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เตรียมเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งห้ามโรงงานใช้วัตถุดิบที่ใช้แล้วจากต่างประเทศมาเป็นวัตถุดิบในการผลิต ประกอบด้วย

1. ซากอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนใช้แล้วมือสอง

2. เศษพลาสติกใช้แล้ว

และ 3. สินค้าที่ไม่ใช้แล้วอื่นๆ เช่น เศษโลหะผสม สายไฟ มอเตอร์ หม้อแปลง เครื่องกำเนิดไฟฟ้า แบตเตอรี่ เป็นต้น

โดยจะบังคับใช้ พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. 2535 มาตรา 32 (2) ที่กำหนดแหล่งกำเนิดของวัตถุดิบ โดยให้โรงงานต่างๆ หันมาใช้วัตถุดิบภายในประเทศแทน เพื่อเป็นการบริหารจัดการทรัพยากรภายในประเทศให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งคาดว่าจะสามารถนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาได้ภายในสัปดาห์หน้า

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ยังได้มีแนวทางระงับการนำเข้าอุปกรณ์ใช้แล้วมือสอง ที่จะนำเข้ามาซ่อมแซม ดัดแปลงหรือปรับปรุง ซึ่งกำลังรวบรวมข้อมูล และนำเสนอให้คณะอนุกรรมการเพื่อการบูรณาการการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่นำเข้าจากต่างประเทศอย่างเป็นระบบให้พิจารณา ก่อนที่จะเสนอให้คณะรัฐมนตรีต่อไป

สำหรับการตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์ กรมโรงงานอุตสาหกรรมจะร่วมกับกรมศุลกากรตรวจสอบทุกตู้ หากพบว่ามีการลักลอบนำเข้า หลีกเลี่ยง หรือสำแดงเท็จ จะต้องดำเนินการผลักดันซากอิเล็กทรอนิกส์กลับสู่ประเทศต้นทางทันที

นายพสุ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากกระแสข่าวที่ออกมามีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่ากระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมพิจารณาอนุโลมให้โรงงานอุตสาหกรรมสามารถนำเข้าขยะ 2 ประเภท ประกอบด้วย

1. ซากอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นชิ้น ยังไม่มีการแกะ

และ 2. เศษพลาสติกสะอาด นั้น กระทรวงอุตสาหกรรมขอยืนยันว่า ยังไม่มีการพิจารณาเรื่องนี้แต่อย่างใด

จาก www.thansettakij.com วันที่ 27 มิถุนายน 2561

เกษตรฯเปิดผลสำเร็จจัดการดินปุ๋ย ผ่านกลไก‘ศดปช.’ช่วยลดต้นทุนเบ็ดเสร็จ43ล้าน

นางจิระนุช ชาญณรงค์กุล ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินงานด้านการส่งเสริมการจัดการดินและปุ๋ย โดยการพัฒนาศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) 882 ศูนย์ อำเภอละ 1 ศูนย์ ให้เป็นศูนย์เรียนรู้ที่เป็นเครือข่ายให้บริการถ่ายทอดความรู้เฉพาะด้านดินและปุ๋ย ของศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนขยายผลการใช้ปุ๋ยเพื่อลดต้นทุนการผลิต โดยการส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินหรือปุ๋ยสั่งตัด ร่วมกับการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ วัสดุอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ยเคมี

ผลการดำเนินงานในปี 2560 สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ปุ๋ยเคมีของเกษตรกร โดยเกษตรกรสมาชิก ศดปช. จำนวน 17,640 ราย ได้ประโยชน์จากการนำเทคโนโลยีการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินหรือปุ๋ยสั่งตัดไปปฏิบัติในพื้นที่ 140,304.75 ไร่ สามารถลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมีได้เฉลี่ย 27.5% คิดเป็นมูลค่ากว่า 43 ล้านบาท และสามารถเพิ่มผลผลิตเฉลี่ยได้ 10.3% นอกจากนี้ ศดปช.ได้ให้บริการวิเคราะห์ดินให้กับสมาชิกและเกษตรกรในชุมชนรวมทั้งสิ้น 37,458 ราย

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบต้นทุนค่าปุ๋ยเคมีของเกษตรกรสมาชิก ศดปช. ที่ใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินหรือปุ๋ยสั่งตัด กับที่ใช้ปุ๋ยตามวิธีของเกษตรกร ในพืชหลัก ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อย มันสำปะหลัง ยางพาราพืชผัก และไม้ผล พบว่า ต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมีตามค่าวิเคราะห์ดินและปุ๋ยสั่งตัด ลดลงจากวิธีเกษตรกร โดยในข้าวต้นทุนค่าปุ๋ยเคมีลดลง 31.5% ส่วนผลผลิตเพิ่มขึ้น 7.1% ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ต้นทุนลดลง 33% ผลผลิตเพิ่มขึ้น 18.3% อ้อย ต้นทุนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 1.1% เนื่องจากเดิมเกษตรกรอาจใช้ปุ๋ยน้อยกว่าที่ควรจะใช้ แต่ผลผลิตเพิ่มขึ้นมากถึง 21.1% มันสำปะหลัง ต้นทุนลดลง 21.4% ผลผลิตเพิ่มขึ้น 13.9% ยางพารา ต้นทุนลดลง 23.6% ผลผลิตเพิ่มขึ้น 12.7% พืชผัก ต้นทุนลดลง 18.3% ผลผลิตเพิ่มขึ้น 12.5% ส่วนไม้ผล ต้นทุนลดลง 27.6% ผลผลิตเพิ่มขึ้น 9.6%

“จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นว่าการจัดการดินและปุ๋ยอย่างถูกต้องเหมาะสม จะช่วยให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้เป็นอย่างดี เกษตรกรที่สนใจอยากลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมีสามารถไปขอคำแนะนำหรือนำตัวอย่างดินไปตรวจวิเคราะห์ได้ที่ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนทั้ง 882 ศูนย์ โดยสอบถามข้อมูลจากสำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน” นางจิระนุช กล่าว

จาก www.naewna.com  วันที่ 27 มิถุนายน 2561

พึ่งรัฐไม่ได้!ชาวบ้านเผาพริกเกลือสาปแช่ง สู้โรงงานน้ำตาลทำลายชุมชน

ชาวบ้านยโสธร-อำนาจเจริญ ลุกขึ้นสู้โรงงานน้ำตาลทำลายชุมชน ลั่นไม่ยอมรับอีไอเอฉบับยัดเยียดทำลายชีวิตสิ่งแวดล้อม  จี้ผู้ว่าฯตั้งกรรมการศึกษาข้อมูลข้อเท็จจริง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร กว่า 100 คน ได้อ่านแถลงการณ์ หยุดยัดเยียดที่อ้างการพัฒนาและความเจริญมาทำลายสิ่งแวดล้อมและชุมชน ทั้งยังเผาหุ่น เผาพริก เผาเกลือ สาปแช่ง ที่มีข้อความ ไม่ยอมรับ อีไอเอโรงงานน้ำตาล มติ(คชก.) และใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4)

นายสาธร ปั้นทอง อายุ 57 ปี กรรมการกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง และอดีตกำนันตำบลเชียงเพ็ง  ระบุว่า โครงการดังกล่าว    คาบเกี่ยวกัน 2 จังหวัด คือ จังหวัดอำนาจเจริญ จ.ยโสธร โดยเฉพาะพื้นที่ จ.ยโสธร ที่อยู่ในพื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตรที่เป็นพื้นที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง ทางกลุ่มมองกระบวนการที่ผ่านมายังขาดในประเด็นการมีส่วนร่วมของชาวบ้านและเนื้อหาหลายประเด็นที่ขัดแย้งกับข้อมูลพื้นที่ แต่ในส่วนการดำเนินการของโรงงานกลับทำไปอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ชาวบ้านก็ยังยืนยันว่าอีไอเอยังขัดแย้งกับข้อมูลชุมชน แล้วโรงงานจะได้ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานมาอย่างไร

นายสาธร ระบุว่า ที่ผ่านมาทางกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร ได้ทำหนังสือคัดค้านมาตลอดโดยเฉพาะกระบวนการและประเด็นในการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่พวกเรายืนยันว่ายังมีประเด็นขัดแย้งกับข้อมูลพื้นที่ดังนี้ 1. ชุมชนที่อยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตร ไม่มีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้นที่แท้จริง โดยเฉพาะพื้นที่ จ.ยโสธร ซึ่งเป็นพื้นที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง และชุมชนที่อาศัยลำน้ำเซบายตลอดทั้งลำน้ำ 2.ไม่มีการทำความตกลงและทำประชาคมกับชุมชนที่อยู่ในลำน้ำเซบายถึงการกำหนดระดับน้ำในการผันน้ำให้อยู่ในระดับที่ชุมชนยอมรับร่วมกันทั้งกลางน้ำ ปลายน้ำ และไม่มีการจัดประชุมประชาคมกลุ่มผู้ใช้น้ำและทรัพยากรในลำน้ำเซบายในประเด็นเรื่องการผันน้ำเข้าไปใช้ในโครงการ 2 ล้าน ลบ.ม./ปี ซึ่งโครงการจะมีแผนในการผันน้ำจากลำน้ำเซบายเข้าพื้นที่โรงงานน้ำตาลในช่วงฤดูน้ำหลาก

ประเด็นที่ 3 ขัดกับนโยบายจังหวัด การดำเนินการโครงการโรงงานน้ำตาลขนาด 20,000 ตันอ้อย/วัน และโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 61 เมกะวัตต์ ถือว่าเป็นโครงการที่ขัดแย้งกับนโยบายแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ พ.ศ.2560 – 2564  โดยเฉพาะ จังหวัด ที่กำลังดำเนินการขยายพื้นที่ปลูกพืชอินทรีย์  และการปฎิบัติของชุมชน โดยเฉพาะการปลูกข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ซึ่งเป็นนโยบายของจังหวัดยโสธรเป็นเมืองแห่งวิถีอีสาน ประเด็นที่ 4 ความไม่เหมาะสมในการดำเนินโครงการเชิงพื้นที่  เพราะใกล้ชุมชน ใกล้แหล่งน้ำ

    ด้านนายสิริศักดิ์ สะดวก ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย กล่าวว่า ทางกลุ่มอยากเรียกร้องให้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธรตั้งกรรมการศึกษาข้อมูลข้อเท็จจริง ในเรื่องกระบวนการมีส่วนร่วมของชาวบ้านต่อโครงการที่จะเกิดขึ้น ศึกษาทรัพยากรชุมชนที่ชาวบ้านได้พึ่งพาอาศัย และศึกษาสุขภาพของชุมชนด้วย เพื่อจะได้รู้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรชุมชนที่ไม่ควรจะมีโรงงานขนาดใหญ่มาก่อตั้งใกล้แหล่งทรัพยากรและชุมชน

ทั้งนี้การก่อสร้างโรงงานน้ำตาลขนาด 20,000 ตันอ้อย/วัน และโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 61 เมกะวัตต์ ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลน้ำปลีก อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ โดยเฉพาะโรงงานน้ำตาลนั้นกำลังดำเนินการก่อสร้างไปอย่างรวดเร็ว หลังจากอีไอมีมติเห็นเห็นชอบจาก (คชก.) และทางบริษัทได้ขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน(ร.ง.4)และทางกระทรวงอุสาหกรรมได้อนุมัติไปแล้วเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา และเงื่อนไขการอนุญาตให้ประกอบกิจการโรงงาน ท่ามกลางการคัดค้านของประชาชนในพื้นที่ ไม่ยอมรับกระบวนการตั้งแต่ก่อนการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 และ 2  ตลอดจนกระบวนการที่ คชก. พิจารณา จนได้มาซึ่งใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน

จาก https://www.thaipost.net    วันที่ 26 มิถุนายน 2561

เปิดแผนจัดการน้ำ"เหนือตอนล่าง-กลางตอนบน"  เร่งพัฒนา"สองบึงใหญ่"ใช้เป็นแก้มลิงรับน้ำ

             ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐเอกชน (กรอ.) ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่ จ.นครสวรรค์ ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยมีตัวแทนจากภาคเอกชน เกษตรกร และผู้ว่าราชการ 4 จังหวัดของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 ประกอบด้วย กำแพงเพชร พิจิตร นครสวรรค์ และอุทัยธานี เข้าร่วมประชุมด้วยนั้น นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ สทนช. ดำเนินการจัดทำแผนพัฒนาแม่น้ำพิจิตรให้เป็นระบบโดยเร็ว เพื่อให้ทันต่อการปรับแผนงบประมาณปี 2561 บางส่วนที่สามารถดำเนินการได้ก็ให้เร่งดำเนินการทันที ส่วนที่เหลือให้บรรจุเป็นแผนงานในปี 2562-2565 พร้อมสั่งการให้เป็นหน่วยงานหลักในการวางแผนแก้ปัญหาเรื่องน้ำของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2

         โดยให้หาแนวทางในการขุดลอกเพิ่มปริมาณความจุของบึงสีไฟ จ.พิจิตร และบึงบรเพ็ด จ.นครสวรรค์ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมในฤดูน้ำหลากและปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง ตลอดจนวางแนวทางในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังสั่งการให้ สทนช. พิจารณาหาแนวทางเพิ่มศักยภาพในการระบายน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากพร้อมให้เร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับส่วนกลางและท้องถิ่น ในการกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ โดยเฉพาะผักตบชวา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ บรรเทาปัญหาน้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้นได้

          สำหรับแผนพัฒนาแม่น้ำพิจิตรซึ่งประสบปัญหาน้ำจากแม่น้ำน่านไหลเข้าสู่แม่น้ำพิจิตรน้อยมากทำให้ขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งอย่างรุนแรงนั้น สทนช.ได้วางแผนที่จะพัฒนาปรับปรุงแม่น้ำพิจิตรให้เป็นแหล่งเก็บกักน้ำเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยปรับปรุงประตูระบายน้ำดงเศรษฐี พร้อมติดตั้งระบบซูเปอร์ปั๊ม เพื่อผันน้ำเข้าสู่แม่น้ำพิจิตร พัฒนาอาคารระบายน้ำจากคลองชลประทาน (โครงสร้างใหม่) ให้สามารถผันน้ำเข้าสู่แม่น้ำพิจิตรเพิ่มเติมจำนวน 9 จุด รวมทั้งขุดลอกทางน้ำของแม่น้ำพิจิตร 127 กิโลเมตร และขุดลอกทางน้ำของคลองข้าวตอกอีก 58 กิโลเมตร รวมระยะทาง 185 กิโลเมตร โดยกรมทรัพยากรน้ำ และสร้างระบบการบริหารจัดการน้ำ ผังน้ำ ตลอดจนแนวทางในการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะปัญหาการบุกรุกพื้นที่ทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำ ปัญหาวัชพืช แม่น้ำตื้นเขิน น้ำเน่าเสีย และสิ่งกีดขวางทางน้ำซึ่งมีมากถึง 83 แห่ง

           ส่วนแนวทางการเพิ่มความจุของบึงสีไฟ จ.พิจิตร นั้น สนทช.ได้วางแนวทางการพัฒนาโดยให้กรมชลประทานก่อสร้างอาคารท่อระบายน้ำขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.50 เมตร รับน้ำจากคลองส่งน้ำสายใหญ่ C1 พร้อมก่อสร้างคลองเพื่อชักน้ำเข้าสู่บึงสีไฟความยาว 2,063 เมตร ในอัตรา 1.90 ลบ.ม./วินาที พร้อมทั้งขุดลอกเพื่อเพิ่มปริมาณการเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งจาก 4 ล้านลบ.ม. ในปัจจุบันเป็น 8 ล้านลบ.ม. คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 30 ล้านบาท ซึ่งในขณะนี้การเติมน้ำเข้าบึงสีไฟ จะเติมน้ำผ่านประตูระบายน้ำคลอง C67 อัตรา 1.90 ลบ.ม./วินาทีและสถานีสูบน้ำแม่น้ำน่าน อัตรา 0.35 ลบ.ม./วินาที

           ขณะที่บึงบอระเพ็ดนั้นที่ผ่านมาจะประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ เนื่องจากพื้นที่ถูกบุกรุก จากเดิมมีพื้นที่ 132,737 ไร่ ปัจจุบันเหลือพื้นที่ 67,327 ไร่ รวมทั้งยังมีตะกอนสะสมปีละ 2 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้บึงตื้น ที่ผ่านมากรมชลประทานดำเนินการแก้ไขปัญหาได้เพียงแต่การขุดลอกตะกอนดิน ดังนั้นเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน สทนช.จึงศึกษาการพัฒนาและฟื้นฟูบึงบอระเพ็ดโดยบูรณาการหน่วยงานเกี่ยวข้อง โดยจะยกระดับสันฝายขึ้นอีก 1 เมตร ซึ่งสามารถเพิ่มความจุได้ถึง 300 ล้านลบ.ม. การปรับปรุงศักยภาพส่งน้ำให้เป็นบึงอเนกประสงค์ที่สามารถบริหารจัดการรับน้ำหลากและส่งน้ำให้พื้นที่เกษตร ต.ทับกฤช อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ ขุดลอกดินตะกอนในพื้นที่บึงบอระเพ็ด ก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียตามเส้นทางน้ำหลักที่ไหลลงสู่บึง 5 แห่ง ศึกษา สำรวจ ออกแบบ โครงการแก้ไขปัญหาตะกอนดินก่อนไหลลงสู่บึงบอระเพ็ดและฝายดักตะกอนรอบบึง รวมถึงงบก่อสร้างประตูน้ำยกระดับน้ำแม่น้ำน่านเข้าสู่บึงบอระเพ็ดด้วย      

“สทนช.” จัดทัพวางระบบติดตามน้ำหลาก

           ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 1/2561 ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจาก 16 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 2 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ อาคารสำนักงาน ก.พ. (เดิม) ถนนพิษณุโลก เมื่อวานนี้ (25 มิ.ย.) โดยระบุว่าจากการรายงานข้อมูลสถานการณ์น้ำและการคาดการณ์แนวโน้มจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่าสถานการณ์ฝนในปีนี้ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยในช่วงเดือนมิถุนายน ฝนเริ่มลดลงและจะเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงในเดือนกรกฎาคม ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการปรับแผนในการระบายน้ำเขื่อนต่างๆ ให้เหมาะสม ซึ่งปัจจุบันพบว่าเขื่อนขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำที่ต่ำกว่า 30% ของความจุอ่างเก็บน้ำ มีเพิ่มขึ้น ณ วันที่ 1 พฤษภาคม 2561 จาก 49 อ่าง ขณะนี้เพิ่มขึ้นเป็น 51 อ่าง โดยเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ถึง 5 อ่าง เป็นภาคเหนือ 2 อ่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1 อ่าง ภาคกลาง 1 อ่าง และตะวันออก 1 อ่าง รวมถึงการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือพื้นที่เกษตรที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบและเริ่มกลับมามีฝนเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคมบริเวณชายแดนไทย-พม่า คือ ภาคเหนือและภาคอีสาน สำหรับการคาดการณ์พายุที่จะเข้าสู่ประเทศไทยในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการติดตามสภาวะอากาศจะติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอย่างต่อเนื่องและชัดเจนมากขึ้น

    อย่างไรก็ตามจากการวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์น้ำในภาพรวมขณะนี้อยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้ โดยพื้นที่ที่ลุ่มต่ำที่จะได้รับผลกระทบจากน้ำหลากจากฝนที่ตกเฉพาะพื้นที่ ทุกหน่วยงานเตรียมการไว้ล่วงหน้า โดยเฉพาะข้อสั่งการคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์และบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ) เป็นประธาน

ขณะเดียวกันที่ประชุมมีมติเห็นชอบกระบวนการติดตามบริหารจัดการน้ำหลากจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยสทนช.ได้กำหนดจุดติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ พร้อมจัดตั้งเกณฑ์การเฝ้าระวังจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย 1.จุดเฝ้าระวังน้ำท่า  จำนวน 44 แห่ง 2.จุดเฝ้าระวังคุณภาพน้ำ ใน 4 ลุ่มน้ำ ได้แก่ เจ้าพระยา ท่าจีนปราจีน–บางปะกง แม่กลอง 3.การเฝ้าระวังดินโคลนถล่ม  แบ่งเป็น 2 กรณี จุดสีเขียวและจุดสีม่วง ทั้งนี้ข้อมูลทั้งหมดจะถูกประมวลมายังศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สทนช. ซึ่งจะรายงานต่อไปยังคณะอนุกรรมการติดตามสถานการณ์น้ำและนายกรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่อง

  ทั้งนี้เพื่อสร้างการรับรู้มาตรการเตรียมการรับมือสถานการณ์น้ำหลากล่วงหน้า ตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มอบหมายให้สทนช.เป็นหน่วยงานหลักในการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำในฤดูฝนปี 2561 ที่ประชุมได้เห็นชอบแผนการลงพื้นที่สร้างการรับรู้สถานการณ์น้ำหลากในการเสวนาเรื่อง “การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับพื้นที่” ซึ่งเป็นการต่อยอดงานที่จัดในส่วนกลางไปเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2561 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมลงพื้นที่ด้วยจำนวน 4 ครั้ง ครั้งแรกจัดในภาคเหนือ วันที่ 29 มิถุนายน ที่ จ.เชียงใหม่ ครอบคลุมพื้นที่ 17 จังหวัด ครั้งที่ 2 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจัดวันที่ 5 กรกฎาคม ที่ จ.ขอนแก่น ครอบคลุมพื้นที่ 20 จังหวัด ครั้งที่ 3 จัดที่ภาคกลางในวันที่ 26 กรกฎาคม จ.พระนครศรีอยุธยา ครอบคลุมพื้นที่ 26 จังหวัด และครั้งที่ 4 ภาคใต้ในวันที่ 2 สิงหาคม จ.สงขลา ครอบคลุม 17 จังหวัด

จาก www.komchadluek.net   วันที่ 26 มิถุนายน 2561

เครื่องผสม-หยอดปุ๋ยอ้อย "เกษตรแม่นยำ"

      เกษตรแม่นยำ หัวใจหลักของเกษตร 4.0 คือค่าปัจจัยที่เกี่ยวข้องเพื่อปฏิบัติทางการเกษตร ต้องคำนึงถึงเครื่องมือที่เหมาะสม คำนึงถึงหลักเศรษฐศาสตร์ ตัวอย่าง “อ้อย” พืชอุตสาหกรรมที่มีความพร้อมสูงต่อการรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ                   

     เกษตรแม่นยำ ถือเป็นหัวใจหลักของเกษตร 4.0 คือการวัดค่าปัจจัยที่เกี่ยวข้องเพื่อปฏิบัติทางการเกษตรให้พอควร ซึ่งต้องคำนึงถึงการใช้เครื่องมือที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงหลักเศรษฐศาสตร์ ประเทศไทยมีองค์ความรู้การให้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินมาก ขณะที่แรง งานยังไม่แพงมากนักสามารถขุดดินมาส่งวิเคราะห์ได้วันละหลายตัวอย่าง “อ้อย” เป็นพืชอุตสาหกรรมที่มีความพร้อมสูงต่อการรับเทคโน โลยีใหม่ ๆ ดังนั้นเพื่อจะเข้าสู่เกษตร 4.0 สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร จึงได้พัฒนา เครื่องผสมและหยอดปุ๋ยอ้อย “เกษตรแม่นยำ” ที่ใช้สมองกลฝังตัว และให้ปุ๋ยโดยผสมปุ๋ยสูตรต่าง ๆ ตามค่าวิเคราะห์ดิน โดยออกแบบให้เหมาะสมกับประเทศไทย ผู้ผลิตสามารถนำไปต่อยอดผลิตเป็นเชิงพาณิชย์ได้ ง่ายต่อการซ่อมบำรุงช่างท้องถิ่นสามารถซ่อมแซมบำรุงรักษาได้ และเกษตรกรสามารถใช้งานได้

     นายอัคคพล เสนาณรงค์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า เครื่องผสม/หยอดปุ๋ยอ้อย “เกษตรแม่นยำ” ที่ได้พัฒนามี 3 รุ่น รุ่นแรกเป็นรุ่นกล่องควบคุมแบบเลือกสวิตช์ เหมาะสมสำหรับพื้นที่แปลงขนาดต่ำกว่า 10 ไร่ ให้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินสูตรเดียวทั้งแปลง เกษตรกรสามารถใช้ได้ง่ายเพียงกดเลือกค่าตามผลวิเคราะห์ดิน เครื่องจะคำนวณสูตรปุ๋ย และอัตราที่ต้องใช้ให้เองโดยอัตโนมัติ โดยจะผสมปุ๋ยและหยอดปุ๋ยตามผลจากการคำนวณ โดยมีปุ๋ยหลัก 3 ถัง คือ ปุ๋ยสูตร 46-0-0 หรือ 21-0-0, 16-16-8 และ 0-0-60 ค่าจากการวิเคราะห์ดินจะมีอินทรียวัตถุ 4 ระดับ ฟอสฟอรัส 3 ระดับ    โพแทสเซียม 3 ระดับ pH 2 ระดับ และแยกเป็นอ้อยตอกับอ้อยปลูก รวมเป็น 144 ทางเลือก และยังเลือกระยะระหว่างแถวได้ 3 ระดับ

    นอกจากนี้ยังมีรุ่นกล่องควบคุมแบบ ผสม/หยอดปุ๋ยอ้อย สั่งตัดตามพิกัดดาวเทียม เหมาะสมสำหรับพื้นที่แปลงขนาดมากกว่า 10 ไร่ จะแบ่งพื้นที่เป็นกริดขนาด 100x100 เมตร สามารถเปลี่ยนสูตรปุ๋ยและอัตราได้โดยอัตโนมัติตามความอุดมสมบูรณ์ของดินในแต่ละกริด และรุ่นกล่องควบคุมแบบผสม/หยอดปุ๋ยอ้อยใช้เองแบบสมองกลฝังตัว สามารถเลือกอัตราหยอดได้ 7 ระดับ 10-70 กิโลกรัม/ไร่ เลือกสูตรปุ๋ยได้ 5 สูตร และเลือกระยะระหว่างแถวได้ 3 ระดับ

     การทำงานเมื่อรถแทรกเตอร์เคลื่อนที่จะมีใบตัดอ้อยแบบซี่ตัดใบอ้อยให้ขาด จากนั้นมีขาไถเปิดร่องดิน ไถเปิดร่องลึกประมาณ 15-20 เซนติเมตร ขณะเดียวกันปุ๋ยจากทั้ง 3 ถัง จะไหลมารวมกันที่ขาไถเปิดร่องดิน และถูกฝังลงดินความสามารถการทำงานเฉลี่ย 3-3.5 ไร่/ชั่วโมง ความเร็วการเคลื่อนที่ของรถแทรกเตอร์เฉลี่ย 0.8-1 เมตร/วินาที ใช้  Stepping Motor ใน  การควบคุมลูกหยอดปุ๋ยในแต่ละถังปุ๋ย และมีล้อวัดความเร็วการเคลื่อนที่ เพื่อปรับความเร็วมอเตอร์ให้อัตราการหยอดปุ๋ยตรงตามกำหนด ประสิทธิภาพการทำงานเชิงพื้นที่เฉลี่ย 90% ความสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ย 0.4-0.5 ลิตร/ไร่ ยืนยันสามารถประหยัดเงินค่าปุ๋ยต่อไร่ได้นับพันบาท

     “เครื่องผสม/หยอดปุ๋ยอ้อย เกษตรแม่นยำ” สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม ร่วมกับ ศูนย์วิจัยพัฒนาการเกษตรอุทัยธานี และศูนย์วิจัยพัฒนาการเกษตรราชบุรี กรมวิชาการเกษตร ร่วมกันจัดฝึกอบรมโครงการขับเคลื่อนผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ โดยเผยแพร่และสาธิตการใช้ “เครื่องผสม/หยอดปุ๋ยอ้อย เกษตรแม่นยำ” รุ่นกล่องควบคุมแบบเลือกสวิตช์ ที่ให้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินสูตรเดียวทั้งแปลง ตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร และให้เกษตรกรในพื้นที่ยืมใช้เพื่อขยายผลให้ได้อย่างน้อย 200 ไร่ และสถาบันฯยังร่วมกับ ศูนย์วิจัยพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชขอนแก่น ศูนย์วิจัยพัฒนาการเกษตรมหาสารคาม ศูนย์วิจัยพัฒนาการเกษตรโนนสูง และศูนย์วิจัยพัฒนาการเกษตรบุรีรัมย์ กรมวิชาการเกษตร จัดโครงการฝึกอบรมเกษตรกรโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ปีงบประมาณ 61 โดยเผยแพร่และสาธิตการใช้ “เครื่องผสม/หยอดปุ๋ยอ้อย เกษตรแม่นยำ” และให้เกษตรกรในโครงการแปลงใหญ่ ยืมใช้เพื่อขยายผลให้ได้อย่างน้อย 400 ไร่ นอกจากนี้บริษัท ตั้งเซียะปิงโลหะกิจ จำกัด ได้ขอแบบและองค์ความรู้ เพื่อนำไปพัฒนาต่อสำหรับการผลิตเชิงพาณิชย์

จาก https://www.dailynews.co.th  วันที่ 25 มิถุนายน 2561

วิกฤต “เอทานอล” ล้นตลาด 3 ล้านลิตร

ทีพีเค-พรวิไล เตรียมเดินเครื่อง ดันยอดผลิตเอทานอลล้นทะลัก 7 ล้านลิตร แต่ราคาแพงสวนทางที่ 23 บาท/ลิตร ดีมานแค่ 4 ล้านลิตร เอกชนดิ้นหาตลาดส่งออกเช่นจีน พพ.แจงต้นทุนผลิต 80% มาจากวัตถุดิบ

นายพิพัฒน์ สุทธิวิเศษศักดิ์ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปริมาณการผลิตเอทานอลในประเทศกำลังเข้าสู่ภาวะ “ล้นตลาด” จากช่วงปลายปี”60 ที่ล้นระบบอยู่แล้วราว 6 ล้านลิตร/วัน และในช่วงไตรมาส 3 ของปี”61 นี้ จะมีกำลังผลิตใหม่เข้ามาเพิ่มเติม ส่งผลให้ปริมาณเอทานอลเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 7 ล้านลิตร/วัน ขณะที่ความต้องการใช้มีเพียง 4 ล้านลิตร/วัน เท่ากับว่าล้นตลาดอยู่ถึง 3 ล้านลิตร/วัน

โดยกำลังผลิตใหม่มาจาก 1) บริษัท ที พี เค เอทานอล จำกัด ในเฟสที่ 2-3 กำลังผลิต 680,000 ลิตร/วัน และบริษัท พรวิไล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กำลังผลิต 25,000 ลิตร/วัน จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้ผู้ผลิตบางรายโรงต้องหยุดเดินเครื่อง หรือเดินเครื่องผลิตเพียงร้อยละ 50 ของศักยภาพที่มีอยู่ และบางโรงเดินเครื่องตามคำสั่งซื้อของลูกค้าเท่านั้น และเพื่อให้แต่ละโรงงานระบายเอทานอลได้นั้นจึงมีการขาย “ตัดราคา” ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาประกาศของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ที่ 23.59 บาท/ลิตร

เหตุผลที่ผู้ประกอบการลงทุนสร้างโรงงานเอทานอลนั้น มาจากนโยบายที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ปี 2558-2579 วางเป้าหมายว่าในปี 2579 จะมีความต้องการใช้เอทานอลที่ 11.30 ล้านลิตร/วัน และมีแผนที่จะยกเลิกน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 เพื่อให้ผู้บริโภคหันมาใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 แทน แต่ปัจจุบันยังไม่มีการยกเลิกแต่อย่างใด

นายพิพัฒน์กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า แม้ว่าเอทานอลจะล้นตลาด แต่มีการตั้งข้อสังเกตว่าราคาเอทานอลยังแพงเกือบเทียบเท่าน้ำมันปกตินั้น เนื่องจากต้นทุนการผลิตเอทานอลร้อยละ 80 และการส่งเสริมเอทานอลนั้นภาครัฐต้องการช่วยเหลือเกษตรกรให้ราคาพืชผลอยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งหากไม่มีตลาดพลังงานรองรับ ราคาพืชผลทางการเกษตรอาจมีราคาต่ำลงกว่านี้ได้ ปัจจุบันวัตถุดิบในการผลิตเอทานอลหลัก ๆ อยู่ที่กากน้ำตาล (โมลาส) ปัจจุบันราคาอยู่ที่ 3.5-3.8 บาท/กิโลกรัม และมันสำปะหลังราคาอยู่ที่ 3 บาท/กิโลกรัม

“การส่งเสริมเอทานอลจะดีต่อประเทศในระยะยาว ช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันดิบเพื่อรองรับความต้องการใช้มากขึ้น หากไม่ส่งเสริมทั้งประเทศและเกษตรกรไม่ได้ประโยชน์อะไรในกรณีนี้เมื่อราคาน้ำมันตลาดโลกลดลงอย่างมาก ก็มาตั้งถามถึงราคาเอทานอลว่าแพงไปหรือไม่ และลืมไปว่าในช่วงที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลนั้น ผู้บริโภคก็หาพลังงานทางเลือกที่ถูกกว่าโดยเฉพาะการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ที่ผสมเอทานอลตั้งแต่ 10% 20% และ 85%”

ด้านแหล่งข่าวจากวงการผู้ผลิตเอทานอล กล่าวว่า สำหรับโรงงานเอทานอลเฟส 2 และ 3 ของบริษัทที พี เค เอทานอล จำกัด ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างจากเดิมจะต้องเริ่มผลิตเอทานอลตั้งแต่ช่วงปี 2560 แต่เนื่องจากปริมาณเอทานอลในระบบสูงมาก จึงขยับเลื่อน ซึ่งคาดว่าจะเริ่มผลิตในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ โดยจะเดินเครื่องตามคำสั่งซื้อของลูกค้าเป็นหลัก และเตรียมที่จะส่งออกไปยังต่างประเทศเช่น จีน

ขณะที่นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.)กล่าวว่า อุตสาหกรรมเอทานอลเป็นธุรกิจเสรี ผู้ประกอบการสามารถยื่นขอใบอนุญาตได้ที่กระทรวงอุตสาหกรรม ส่วนในกรณีที่ต้องการผลิตเอทานอลเพื่อเป็นเชื้อเพลิงจะต้องขออนุญาตที่กรมธุรกิจพลังงานด้วย ต้องยอมรับว่าขณะนี้ปริมาณเอทานอลในระบบล้นมาก หลายโรงงานใช้วิธีการส่งออกเอทานอลไปต่างประเทศ หรือปรับเกรดเอทานอลให้สามารถป้อนอุตสาหกรรมอาหารได้ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ราคาเอทานอลที่จำหน่ายในประเทศมีราคาสูงกว่าราคาตลาดโลกนั้น เนื่องจากวัตถุดิบคือทั้งโมลาสและมันสำปะหลังมีราคาสูง จึงทำให้ต้นทุนการผลิตเอทานอลสูงตามไปด้วย

โดยหากผลิตเอทานอลจากโมลาสต้องใช้โมลาสถึง 4 กิโลกรัมเพื่อผลิตเป็นเอทานอล 1 ลิตร ซึ่งราคาโมลาสอยู่ที่ประมาณ 3 บาทกว่า/กิโลกรัม เมื่อเปรียบเทียบกับการผลิตในต่างประเทศอย่างสหรัฐ หรือบราซิลมีต้นทุนที่ต่ำกว่าไทยมาก เนื่องจากเป็นพืชดัดแปลงพันธุกรรม (GMO) ราคาเอทานอลจึงต่ำมากเพียง 15 บาท/ลิตรเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในอนาคตความต้องการใช้เอทานอลเพิ่มขึ้นแน่นอน เพราะภาครัฐยังคงสนับสนุนราคาแก๊สโซฮอล์ให้มีราคาต่ำกว่าน้ำมันปกติด้วย

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 25 มิถุนายน 2561

เกษตรฯเปิดผลสำเร็จจัดการดินปุ๋ย ผ่านกลไก'ศดปช.'ช่วยลดต้นทุนเบ็ดเสร็จ43ล้าน

กรมส่งเสริมการเกษตร เผยผลสำเร็จส่งเสริมการจัดการดินปุ๋ยผ่านกลไก ศดปช. ช่วยลดต้นทุนปุ๋ยเคมีได้ 27.5% มูลค่ากว่า 43 ล้านบาท

นางจิระนุช ชาญณรงค์กุล ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินงานด้านการส่งเสริมการจัดการดินและปุ๋ย โดยการพัฒนาศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) 882 ศูนย์ อำเภอละ 1 ศูนย์ ให้เป็นศูนย์เรียนรู้ที่เป็นเครือข่ายให้บริการถ่ายทอดความรู้เฉพาะด้านดินและปุ๋ย ของศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนขยายผลการใช้ปุ๋ยเพื่อลดต้นทุนการผลิต โดยการส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินหรือปุ๋ยสั่งตัด ร่วมกับการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ วัสดุอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ยเคมี

ผลการดำเนินงานในปี 2560 สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ปุ๋ยเคมีของเกษตรกร โดยเกษตรกรสมาชิก ศดปช. จำนวน 17,640 ราย ได้ประโยชน์จากการนำเทคโนโลยีการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินหรือปุ๋ยสั่งตัดไปปฏิบัติในพื้นที่ 140,304.75 ไร่ สามารถลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมีได้เฉลี่ย 27.5% คิดเป็นมูลค่ากว่า 43 ล้านบาท และสามารถเพิ่มผลผลิตเฉลี่ยได้ 10.3% นอกจากนี้ ศดปช.ได้ให้บริการวิเคราะห์ดินให้กับสมาชิกและเกษตรกรในชุมชนรวมทั้งสิ้น 37,458 ราย

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบต้นทุนค่าปุ๋ยเคมีของเกษตรกรสมาชิก ศดปช. ที่ใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินหรือปุ๋ยสั่งตัด กับที่ใช้ปุ๋ยตามวิธีของเกษตรกร ในพืชหลัก ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา พืชผัก และไม้ผล พบว่า ต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมีตามค่าวิเคราะห์ดินและปุ๋ยสั่งตัด ลดลงจากวิธีเกษตรกร โดยในข้าวต้นทุนค่าปุ๋ยเคมีลดลง 31.5% ส่วนผลผลิตเพิ่มขึ้น 7.1% ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ต้นทุนลดลง 33%  ผลผลิตเพิ่มขึ้น 18.3% อ้อย ต้นทุนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 1.1% เนื่องจากเดิมเกษตรกรอาจใช้ปุ๋ยน้อยกว่าที่ควรจะใช้ แต่ผลผลิตเพิ่มขึ้นมากถึง 21.1%  มันสำปะหลัง ต้นทุนลดลง 21.4% ผลผลิตเพิ่มขึ้น 13.9% ยางพารา ต้นทุนลดลง 23.6% ผลผลิตเพิ่มขึ้น 12.7% พืชผัก ต้นทุนลดลง 18.3% ผลผลิตเพิ่มขึ้น 12.5% ส่วนไม้ผล ต้นทุนลดลง 27.6% ผลผลิตเพิ่มขึ้น 9.6%

“จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นว่าการจัดการดินและปุ๋ยอย่างถูกต้องเหมาะสม จะช่วยให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้เป็นอย่างดี เกษตรกรที่สนใจอยากลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมีสามารถไปขอคำแนะนำหรือนำตัวอย่างดินไปตรวจวิเคราะห์ได้ที่ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนทั้ง 882 ศูนย์ โดยสอบถามข้อมูลจากสำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน” นางจิระนุช กล่าว

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 25 มิถุนายน 2561

พลังงานเตรียมใช้ 'บี20' วันที่ 2 ก.ค. นี้

ที่กระทรวงพลังงาน ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานการประชุมของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) โดยที่ประชุมฯ ได้พิจารณาวาระสำคัญ ๆ  คือ โครงสร้างราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วและน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B20

สืบเนื่องจากสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกได้ขยับตัวเพิ่มขึ้นมากอย่างรวดเร็วจากระดับ 60 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ช่วงต้นปี 2561 มาเป็นประมาณ 80 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ในปัจจุบัน ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อต้นทุนราคาเชื้อเพลิงในประเทศเพิ่มขึ้นกว่า 3 บาท/ลิตร ทำให้ราคาขายปลีกดีเซลเพิ่มจากประมาณ 26 บาท/ลิตร เป็น 29บาท/ลิตรในปัจจุบัน

ดังนั้น เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับค่าโดยสารและค่าบริการขนส่งสินค้า กระทรวงพลังงานจึงได้เตรียมป้องกันไม่ให้การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันตลาดโลกที่อาจแตะระดับ 90–100 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล

อันเนื่องมาจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ หรือ การจำกัดการผลิตและส่งออกน้ำมันของผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ ทั้งกลุ่มโอเปกและนอกโอเปก มากระทบค่าครองชีพของประชาชน จึงได้พัฒนาน้ำมันดีเซลเกรดพิเศษขึ้น คือ ดีเซล B20 ซึ่งมีสัดส่วนผสมไบโอดีเซลมากกว่าเกรดปกติ (B7) ที่จำหน่ายในปัจจุบัน เพื่อใช้สำหรับรถบรรทุกสินค้าและรถโดยสารสาธารณะที่ได้มีการปรับสภาพเครื่องยนต์ไว้แล้ว

โดยเป้าหมายหลักในการสนับสนุนน้ำมันดีเซลเกรดพิเศษ มี 2 ประการควบคู่กัน คือ เพื่อช่วยดูดซับปริมาณน้ำมันปาล์มส่วนเกิน สร้างเสถียรภาพราคาปาล์มน้ำมันอยู่ระดับไม่ต่ำกว่า 3.50 บาท/กก. และลดภาระค่าใช้จ่ายของกิจการรถบรรทุกและรถโดยสารสาธารณะ ด้วยการกำหนดให้ราคาขายปลีก B20 ถูกกว่าดีเซลเกรดปกติ 3 บาท/ลิตร โดยใช้กลไกด้านภาษีสรรพสามิตและกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นเครื่องมือ ซึ่ง ครม. ได้มีมติเมื่อ 19 มิ.ย. 61 อนุมัติลดอัตราจัดเก็บภาษีสรรพสามิต B20 ลง 70 สต./ลิตร (จาก 5.85 เป็น 5.152 บาท/ลิตร) ตามข้อเสนอของ กบง. ผลที่เกิดขึ้นจะทำให้สามารถรักษาระดับราคาขายปลีกดีเซล B20 ไม่เกิน 30 บาท/ลิตร แม้ว่าราคาน้ำมันตลาดโลกจะขยับเพิ่มแตะระดับ 100 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ก็ตาม ทำให้ไม่จำเป็นต้องขึ้นราคาค่าโดยสารและค่าบริการขนส่งสินค้า

สำหรับน้ำมันดีเซลเกรดพิเศษ B20 จะเริ่มจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 2 ก.ค. นี้เป็นต้นไป โดยเบื้องต้น ผู้ค้าน้ำมันฯ 7 ราย ตั้งสถานีบริการเป็นการเฉพาะให้แก่ผู้ประกอบการรถขนส่งสินค้า 24 รายทั่วประเทศ รวมทั้งจะเริ่มทดลองใช้กับเรือด่วนเจ้าพระยาในวันเดียวกันด้วย

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 25 มิถุนายน 2561

ไทยไม่หวั่นสงครามการค้า กกร.ลุ้นยอดส่งออกทะลุ 8%

พาณิชย์-หอการค้า เปิดผลวิเคราะห์สงครามการค้าจีน-สหรัฐ ยันไม่สะเทือนไทย ดันตัวเลขส่งออกเพิ่มขึ้น ด้านเอกชนเห็นสัญญาณจีนย้ายฐานลงทุนมาไทยดัน EEC เกิด ลูกค้ากลุ่มใหม่โยกมาซื้อสินค้าไทยแทน กกร.จ่อปรับเป้าส่งออกโตทะลุ 8% กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์เตือนอย่าประมาทเครื่องใช้ไฟฟ้าจีนถล่มไทย ส่วนรถยนต์ได้รับผลกระทบทางอ้อม ขายชิ้นส่วนให้จีนลดลง

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวถึงกรณีที่สหรัฐและจีนออกมาตรการทางการค้าตอบโต้กัน โดยสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ประกาศขึ้นภาษีสินค้าเทคโนโลยี ทรัพย์สินทางปัญญา และนวัตกรรมจากจีน ตามมาตรา 301 เพื่อตอบโต้การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญากับสินค้านำเข้าจากจีน 818 รายการ (รอบที่ 1) คิดเป็นมูลค่าการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ 33,794.29 ล้านเหรียญ จากมูลค่าการค้ารวมของสองประเทศ 526,188.55 ล้านเหรียญ

เบื้องต้นสินค้าที่ USTR ประกาศมีทั้งหมด 9 กลุ่ม (2 พิกัด)ได้แก่ กลุ่มเคมีภัณฑ์อนินทรีย์, สารประกอบอินทรีย์, กลุ่มยาง/ของที่ทำด้วยยาง, กลุ่มเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์/บอยเลอร์/เครื่องจักรเครื่องใช้กล, กลุ่มเครื่องจักรไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้า/เครื่องบันทึก-ถอดเสียง/ภาพทางโทรทัศน์, กลุ่มหัวรถจักรของรถไฟหรือรถราง, กลุ่มยานยนต์, กลุ่มอากาศยาน/ยานอวกาศ, กลุ่มเรือและสิ่งก่อสร้างลอยน้ำ และกลุ่มอุปกรณ์ถ่ายรูป/ถ่ายภาพยนตร์/ทัศนศาสตร์/การแพทย์/การตรวจสอบ/วัดความเที่ยง

ขณะที่ฝ่ายจีนก็มีมาตรการตอบโต้สหรัฐ ด้วยการปรับขึ้นภาษีสินค้าที่นำเข้าจากสหรัฐ (รอบที่ 1) รวม 545 รายการ ครอบคลุม 27 กลุ่มสินค้า ได้แก่ กลุ่มเมล็ดพืชและผลไม้ที่มีน้ำมัน, กลุ่มยานบก, กลุ่มธัญพืช, กลุ่มผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม, กลุ่มของปรุงแต่งที่ทำจากพืชผัก/ผลไม้, กลุ่มฝ้าย, กลุ่มดีบุก/สินค้าจากดีบุก, กลุ่มยางและของที่ทำด้วยยาง, กลุ่มยาสูบ, กลุ่มกากและเศษที่เหลือจากอุตสาหกรรม, กลุ่มไข่มุก, กลุ่มเครื่องดื่ม/สุราและน้ำส้มสายชู, กลุ่มวัสดุถักสานจากพืช, กลุ่มของปรุงแต่งจากเนื้อสัตว์, กลุ่มโลหะสามัญชนิดอื่น, กลุ่มของปรุงแต่งเบ็ดเตล็ด, กลุ่มแก้วและเครื่องแก้ว

“เบื้องต้น สนค.ได้วิเคราะห์ผลกระทบจากกลุ่มสินค้าที่สหรัฐตอบโต้จีนพบว่า มีผลกระทบเชิงบวก (positive) กับประเทศไทย 1,109.6 ล้านเหรียญ และมี

ผลกระทบเชิงลบ (negative) ต่อไทยมูลค่า 420.6 ล้านเหรียญ ซึ่งเมื่อหักลบกันแล้ว การตอบโต้ของสหรัฐต่อจีนจะมีผลกระทบเชิงบวกกับไทยกว่า 688.96 ล้านเหรียญ และเร็ว ๆ นี้จะเชิญผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์ เหล็ก อิเล็กทรอนิกส์ และตัวแทนจากคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) หารือสถานการณ์สงครามการค้าสหรัฐ-จีน และเตรียมหาตลาดใหม่เพื่อรองรับสินค้าที่อาจจะกระทบต่อไป” น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว

ให้ระวังมาตรา 232

ทั้งนี้ มาตรการทางการค้าที่สหรัฐประกาศใช้ตอบโต้ประเทศคู่ค้า (รวมทั้งประเทศไทย) ที่ผ่านมาจะใช้ 3 มาตราจาก กม.การค้าสหรัฐ ได้แก่ มาตรา 201 มาตรา 301 และมาตรา 232 โดยมาตรการที่มีผลกระทบต่อไทยโดยตรงก็คือ มาตรา 232 ที่สหรัฐประกาศจะปรับขึ้นภาษีสินค้าเหล็ก-อะลูมิเนียม ซึ่งขณะนี้ผู้ส่งออกไทยร่วมกับผู้นำเข้าอยู่ระหว่างขอให้หน่วยงานสหรัฐพิจารณา “ยกเว้น” การบังคับใช้มาตรการให้กับประเทศไทย เพราะส่งออกปริมาณ

ไม่มาก ส่วนยานยนต์และชิ้นส่วนประกอบไม่ได้ส่งออกโดยตรง แต่เป็นซัพพลายเชนด้านการผลิตรถยนต์ เช่น ยางรถยนต์ที่ไทยส่งออกไปมากที่สุด ชิ้นส่วนยานยนต์และส่วนประกอบ ซึ่งอยู่ระหว่างที่สหรัฐพิจารณาในการออกมาตรการเข้ามาดูแล

“มาตรการตอบโต้ทางการค้าที่สหรัฐประกาศออกมามีผลต่อการค้าโลกชะลอตัว ส่วนกับไทยเป็นเพียงผลกระทบทางอ้อม เนื่องจากไทยเป็นซัพพลายเชนในการส่งออกสินค้าให้กับจีน และอาจจะมีมาตรา 201 ที่สหรัฐขึ้นภาษีสินค้าเครื่องซักผ้า แผงโซลาร์เซลล์ เหล็ก อะลูมิเนียม ยานยนต์ ที่จะกระทบต่อการส่งออกบ้าง เนื่องจากภาษีสูงขึ้น แต่ยังนำเข้าได้ปกติ เรามองว่าสหรัฐไม่มีมาตรการที่จะพุ่งเป้าหมายมายังประเทศไทยโดยตรง โดยในช่วง 5 เดือนแรก การส่งออกสินค้าไทยโดยรวมขยายตัว 11.4% จึงยังมีโอกาสขยายตัวได้มากกว่าเป้าหมายปี 2561 ที่วางไว้ 8%

ซึ่งหลังจากทราบยอดส่งออกครึ่งปีแรก ก็อาจจะมีการพิจารณาปรับเป้าหมายการส่งออกต่อไป” น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว

2 ด้านผลสงครามการค้า

นายสนั่น อังอุบลกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” หลังจากการวิเคราะห์ข้อมูลการส่งออกมองว่า ผลจากสงครามการค้าสหรัฐ-จีนจะส่งผลดีต่อการส่งออกไทย 0.4% หรือคิดเป็นมูลค่า 1,000 ล้านเหรียญ เนื่องจากสหรัฐอาจหันมานำเข้าสินค้าไทย เพื่อทดแทนสินค้าที่เคยนำเข้าจากจีนมากขึ้น ซึ่งขณะนี้บริษัทศรีไทยฯเองก็เริ่มเห็นสัญญาณว่า มีลูกค้าใหม่ที่เปลี่ยนมาสั่งซื้อสินค้าจากไทยมากขึ้น ในกลุ่มสินค้าที่เคยนำเข้าจากจีน เช่น อิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ไฟฟ้า ไทยมีการส่งไปสหรัฐ สัดส่วนมากกว่า 48% ของมูลค่าการส่งออกจากไทยไปยังสหรัฐ

ผลดีอีกด้านหนึ่งก็คือในระยะต่อไป นักลงทุนจีนอาจจะย้ายฐานการลงทุนเข้ามายังประเทศไทย ซึ่งจะทำให้ยอดการลงทุนตรง (FDI) เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษ (EEC) จะทำให้เกิดการจ้างงานในประเทศและผลดีต่ออัตราแลกเปลี่ยน “ตอนนี้จะเห็นได้ว่า อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเริ่มอ่อนค่าส่งผลต่อการส่งออก จึงประเมินว่าจะยังคงไม่มีการปรับประมาณการส่งออกที่วางไว้ 9% ส่วนผลกระทบเชิงลบที่ไทยต้องเตรียมพร้อมก็คือ สงครามการค้าจะทำให้การค้าโลกโดยรวมชะลอตัวลง จากเดิมที่เคยคาดการณ์ว่าการค้าโลกจะขยายตัว 4.4% จากปี 2560 ที่การค้าโลกขยายตัว 4.7% ก็จะขยายตัวเพียง 4.0% เท่านั้น และอาจจะต่อเนื่องในระหว่างปี 2561-2562” นายสนั่นกล่าว

ทั้งนี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยประเมินว่า ในกรณีเลวร้ายหากทั้ง 2 ฝ่ายทำสงครามการค้าถล่มกันอย่างเต็มที่ (basecase) ตัวเลข GDP ปี 2561 จะหดตัว 0.2% และส่งผลกระทบต่อการส่งออก 0.4% หรือตัวเลขส่งออกรวมเหลือ 8.6% โดยสินค้าที่จะกระทบ ได้แก่ 1) สินค้าไทยที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตที่ส่งมอบวัตถุดิบให้กับจีน เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 2) สินค้าสำเร็จรูปจากจีนที่เคยส่งออกไปสหรัฐได้ก็อาจจะส่งกลับมาที่ประเทศไทย เช่น เครื่องจักรกล, เครื่องใช้ไฟฟ้า, เฟอร์นิเจอร์, เสื้อผ้า, รองเท้า, สินค้าเกษตร, ผลไม้ หรือสินค้าที่สหรัฐผลิต เช่น กลุ่มไอที และมีความเป็นไปได้ว่า สินค้าจากจีนจะกระจายออกไปยังตลาดอื่น ซึ่งเป็นคู่ค้าของไทย เช่น ญี่ปุ่น-อินเดีย และจะทำให้การแข่งขันในตลาดนั้นสูงขึ้น

แม้ว่าตัวเลขการค้าระหว่างไทย-สหรัฐ “จะไม่มากนักเมื่อเทียบกับการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน” แต่ไทยยังต้องระวังการใช้มาตรการทางการค้าของสหรัฐ เนื่องจากไทยติด 1 ใน 16 ประเทศที่ทำให้สหรัฐขาดดุลการค้า โดยในปีที่ผ่านมา การค้าไทย-สหรัฐอยู่ที่ 1.4 ล้านล้านเหรียญ ไทยส่งออก 8.9 แสนล้านเหรียญ และนำเข้า 5.08 แสนล้านเหรียญ มีผลทำให้สหรัฐขาดดุลไทย 3.9 แสนล้านเหรียญ

เตรียมปรับเป้าส่งออก

ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน จะทำให้เกิดโอกาสการส่งออกให้กับผู้ส่งออกไทยในบางกลุ่ม ซึ่งสหรัฐหรือจีนอาจจะหันมานำเข้าสินค้าจากประเทศไทยแทน ประกอบกับภาวะอัตราแลกเปลี่ยนที่มีทิศทางอ่อนค่าลง หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นดอกเบี้ย ทั้งสองปัจจัยนี้จะส่งผลดีต่อภาพรวมการส่งออกของไทย และมีความเป็นไปได้ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ครั้งต่อไปจะพิจารณาปรับเพิ่มเป้าหมายการส่งออกปี 2561 ที่วางไว้จากเดิม 8%

นางกนิษฐ์ เมืองกระจ่าง ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และโทรคมนาคม ส.อ.ท. กล่าวว่า ผู้ประกอบการไทยมีการส่งออกชิ้นส่วนให้กับจีนในการผลิตเพื่อส่งออกไปสหรัฐ “ซึ่งอาจจะได้รับผลกระทบ แต่ยังประเมินตัวเลขไม่ได้ว่ามากน้อยเพียงใด” แต่เชื่อว่าผู้ผลิตจีนอาจจะต้องปรับตัว มีการย้ายฐานการผลิตจากจีนออกไปยังประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน เช่น เวียดนาม, อินโดนีเซีย รวมถึงประเทศไทย น่าจะเป็นโอกาสที่ดีของไทยที่กำลังส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรม แต่อีกด้านหนึ่งก็ต้องระวัง “สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าสำเร็จรูป” จากจีน อาจจะทะลักเข้ามาในประเทศไทย โดยเฉพาะสินค้าที่ไม่มีแบรนด์ ไม่ได้มาตรฐาน

ขณะที่นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รักษาการรองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า กลุ่มยานยนต์ยังคงยืนเป้าหมายการส่งออกยานยนต์ในปีนี้ไว้ที่ 1 ล้านคัน ซึ่งปรับลดลงจากปีก่อนที่ส่งออก 1.139 ล้านคัน หลังจากที่ได้ประเมินผลกระทบทั้งส่วนของสงครามการค้าไปก่อนหน้านี้แล้ว “สงครามการค้าสหรัฐ-จีนจะกระทบกลุ่มยานยนต์และส่วนประกอบทางอ้อม กล่าวคือเมื่อจีนส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐลดลง ก็จะลดการนำเข้าสินค้ายานยนต์และส่วนประกอบที่เคยนำเข้าจากทุกประเทศรวมถึงไทยด้วย และอีกด้านจะทำให้กำลังซื้อของประเทศที่เป็นฐานการผลิตของจีนลดลงด้วย ซึ่งก็จะกระทบต่อการส่งออกของไทย แต่ด้านบวกในบางสินค้าสหรัฐจะหันมานำเข้าจากไทยมากขึ้น เช่น กลุ่มล้อยาง ก็อาจจะได้รับผลดีทำให้การส่งออกเพิ่มขึ้น” นายสุรพงษ์กล่าว

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 25 มิถุนายน 2561

เอกชนย้ำค่าไฟฟ้าชีวมวล 2.40 บาทลงทุนไม่ได้

รัฐบาลเดินหน้าส่งเสริมเอกชนประหยัดพลังงาน และลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ผ่านการประกวดโครงการ  Thailand Energy   Awards  ด้านไทยเบฟฯ วางแผนลงทุนประหยัดพลังงาน6.7 พันล้านบาท วอนรัฐบาลทบทวนรับซื้อไฟฟ้า 2.40 บาท/หน่วย

นางสาวนวลจันทร์ เตชะเสริมสุขกูล รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน หรือ พพ. เปิดเผยว่า พพ.ได้เริ่มส่งเสริมการประกวด Thailand Energy   Awards  ตั้งแต่ปี 2543 จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 19  เพื่อส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์พลังงาน ที่ผ่านมา มีผู้ส่งผลงานร่วมประกวด 3,773 โครงการ มีผู้ได้รับรางวัล 885 รางวัล  ชนะการประกวดระดับอาเซียนมากกว่า 188 รางวัล สามารถประหยัดพลังงานรวมได้กว่า 9,250 ล้านบาท ลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สาเหตุโลกร้อนได้ 1.9 ล้านตัน โดยปีนี้ มีโครงการรับรางวัล  69 รางวัล และ 25 โครงการ เช่น โรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ได้รับคัดเลือกส่งเข้าร่วมประกวด ASEAN Energy Awards 2018 ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนตุลาคม ที่ประเทศสิงคโปร์  โดยที่ผ่านมาประเทศไทยทำสถิติได้รับรางวัลจำนวนสูงสุดของอาเซียนอย่างต่อเนื่อง

ส่วน “โครงการผลิตพลังงานหมุนเวียนจากน้ำกากส่า”ของบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด สาขาบุรีรัมย์ ได้รับรางวัลไทยแลนด์เอ็นเนอร์ยี่ อวอร์ด ใช้เทคโนโลยีระบบบำบัดน้ำเสียแบบปิดที่สามารถผลิตก๊าซชีวภาพนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในหม้อไอน้ำทดแทนน้ำมันเตาได้ 95-100% อีกส่วนหนึ่งนำไปผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

นายปราโมทย์ สมชัยยานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด  เปิดเผยว่า บริษัทซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจรับบำบัดน้ำเสียและดูแลด้านพลังงานให้กับโรงงานผลิตสุรา18 แห่งของกลุ่มไทยเบฟเวอเรจ วางแผนใช้เงินลงทุนราว 6.7 พันล้านบาท พัฒนาโครงการผลิตพลังงานหมุนเวียนจากน้ำกากส่า ในช่วงปี 2559-2563 อย่างไรก็ตาม คาดการใช้เงินคงล่าช้ากว่าแผน เพราะขณะนี้ ดำเนินการได้เพียง 11 แห่งเท่านั้น

โดยมีโรงงานที่ดำเนินโครงการผลิตพลังงานหมุนเวียนจากน้ำกากส่า  8 โรงงาน แบ่งเป็น การผลิตก๊าซชีวภาพ 5 โรงงาน ในพื้นจ.อุบลราชธานี ,บุรีรัมย์ ,ขอนแก่น ,สุราษฎร์ธานี และปราจีนบุรี นำก๊าซฯมาเป็นเชื้อเพลิงในหม้อไอน้ำทดแทนน้ำมันเตาในกระบวนการผลิต มี 2 โรงงาน ที่นำก๊าซเหลือใช้ไปผลิตไฟฟ้าจำหน่าย กฟภ.  กำลังการผลิตแห่งละ 1 เมกะวัตต์  ซึ่งการลงทุนในระบบดังกล่าวใช้เงินลงทุนราว 260 ล้านบาท/แห่ง

ส่วนอีก 3 โรงงาน ป็นการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากระบบเผาน้ำเสีย ซึ่งเป็นสิทธิบัตรของกลุ่มบริษัท อยู่ในจ.กาญจนบุรี จำนวน 2 โครงการ มูลค่าลงทุนรวม 1 พันล้านบาท โดยกระบวนการจะได้ไอน้ำไปใช้ในโรงงาน และไอน้ำอีกส่วนหนึ่งจะใช้ในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งตามโครงการนี้ ได้สัญญาขายไฟฟ้าให้กับ กฟภ. 7.5 เมกะวัตต์ จะเริ่มเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ต้นเดือน ก.ค.นี้ ส่วนอีก 1 โครงการเป็นการผลิตไอน้ำจากระบบเผาน้ำเสียเท่านั้น โดยไม่ได้ผลิตไฟฟ้า ในจ.ปทุมธานี มูลค่าลงทุนราว 300 ล้านบาท

"หากโครงการขายไฟฟ้าได้เข้าระบบจะช่วยคุ้มทุนและนำของเหลือใช้ผลิตไฟฟ้าได้เร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม นโยบายการรับซื้อไฟฟ้าของภาครัฐยังมีความไม่ชัดเจน ซึ่งเบื้องต้นเห็นว่าการที่รัฐบาลจะรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในราคาไม่เกินประมาณ 2.40 บาท/หน่วย จะไม่มีเอกชนดำเนินการได้ แพราะเฉพาะต้นทุนเชื้อเพลิงชีวมวลที่ปัจจุบันอยู่ที่ราว 2.20 บาท/หน่วย ยังไม่นับรวมต้นทุนดอกเบี้ยและแรงงานอีกด้วย"นายปราโมทย์ กล่าว

จาก www.tnamcot.com  วันที่ 25 มิถุนายน 2561

เงินบาทเปิดตลาดอ่อนค่า 32.95 บาทต่อดอลลาร์ฯ สงครามการค้ากดดันค่าเงินโซนเอเชีย

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ระบุ ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 32.95 บาทต่อดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลงเล็กน้อยจาก 32.93 บาทต่อดอลลาร์ฯ ณ สิ้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดยังคงมีความกังวลต่อแนวโน้มการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้า อย่าง จีน และสหภาพยุโรป ซึ่งสามารถกดดันให้ตลาดยังคงไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงกดดันให้ค่าเงินตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะค่าเงินในโซนเอเชียอาจได้รับแรงกดดันให้อ่อนค่า จากการเทขายสินทรัพย์ต่อเนื่อง นอกจากนี้ การปรับตัวลงของราคาน้ำมันดิบ หลังกลุ่ม OPEC ตกลงที่จะเพิ่มกำลังการผลิตขึ้น อาจกดดันดัชนีตลาดหุ้นที่มีสัดส่วนหุ้น กลุ่มพลังงานเป็นส่วนใหญ่ เช่น ดัชนี SET

มองเงินบาทมีแนวโน้มที่ผันผวนมากขึ้นและอาจแกว่งตัวในกรอบกว้าง 32.70-33.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ ได้สัปดาห์หน้า เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่สามารถกระทบตลาดการเงินได้ อาทิ ถ้อยแถลงของเหล่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารกลางหลัก รวมทั้งความกังวลสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้า ที่สามารถกระทบแนวโน้มการยอมรับความเสี่ยงของตลาดในระยะสั้นนี้ สำหรับวันนี้มองเงินบาทมีแนวโน้มที่จะแกว่งตัวในช่วงกรอบ 32.90-33 บาทต่อดอลลาร์ฯ

จาก www.thansettakij.com วันที่ 25 มิถุนายน 2561

ชาวไร่หวั่นกองทุนอ้อยถังแตก ราคาขั้นต้น 880 บาท-ลุ้นน้ำตาลตลาดโลก

ลุ้นราคาน้ำตาลตลาดโลก หลัง ครม.ประกาศราคาอ้อยขั้นต้นที่ 880 บาท/ตันอ้อย ชาวไร่หวั่นกองทุนอ้อยมีเงินไม่พอจ่ายชดเชยให้โรงงานน้ำตาล แนะ 3 ฝ่าย ชาวไร่-โรงงาน-กระทรวงอุตสาหกรรม ต้องนั่งคุยกันเพื่อหาทางออก

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานหลังจากที่ ครม.มีมติกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้นของฤดูการผลิตปี 2560/2561 เป็น 2 ราคาตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ โดยพื้นที่เขตคำนวณราคาอ้อย 1-2-3-4-6-7และ 9 ราคาอ้อยขั้นต้นที่ในอัตรา 880 บาท/ตันอ้อย ณ ระดับความหวานที่ 10 CCS และกำหนดอัตราขึ้น/ลงของราคาอ้อยเท่ากับ 52.80 บาทต่อ 1 หน่วย CCS/เมตริกตัน และผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2560/2561 เท่ากับ 377.14 บาท/ตันอ้อย

ขณะที่ในเขตคำนวณราคาอ้อย 5 กำหนดราคาอ้อยขั้นต้นที่ 830 บาท/ตันอ้อย ณ ระดับความหวานที่ 10 CCS และกำหนดอัตราขึ้น/ลงของราคาอ้อยเท่ากับ 49.80 บาทต่อ 1 หน่วย CCS1/เมตริกตัน และผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2560/2561 เท่ากับ 355.71 บาท/ตันอ้อย โดยการคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (เรื่อง การจัดทำประมาณการรายได้ การกำหนดและการชำระค่าอ้อย และค่าผลิตน้ำตาลทรายและอัตราส่วนของผลตอบแทนระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงาน) พ.ศ. 2561

ด้านนายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงาน สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทยและหัวหน้าสำนักงาน สมาคมชาวไร่อ้อยเขต 7 กล่าวว่า การเคาะราคาอ้อยขั้นต้น 880 บาท/ตันอ้อยเป็นการประเมินราคาในช่วงที่ต้องประกาศตั้งแต่ก่อนเปิดหีบอ้อยคือ ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2560 ซึ่งราคานี้เป็นราคาที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายแล้ว แต่เมื่อมีการปรับระเบียบใหม่ให้เป็นไปตามกรอบ ความตกลงองค์การการค้าโลก (WTO) ไม่ให้รัฐบาลเข้ามาอุดหนุนราคา รวมทั้งการยกเลิกโควตา ก-ข-ค การประกาศลอยตัวราคาน้ำตาล และบริหารจัดการใหม่ภายใต้ระเบียบของกฎหมายใหม่ที่จะตามมาดังนั้นราคาอ้อยขั้นต้นปีนี้จึงถูกประกาศหลัง ครม. ช้ากว่าปกติ

อย่างไรก็ตาม ราคาอ้อยขั้นต้นที่ 880 บาท/ตันอ้อยนั้น เป็นราคาที่ต่ำกว่าต้นทุน (1,056 บาท/ตัน) แต่เมื่อ ครม.ประกาศออกมาแบบนี้แล้วก็ต้องลุ้นว่า ราคาน้ำตาลในตลาดโลกจะอยู่ที่เท่าไร ถ้าเกิดราคาลดลงไปอยู่ที่ 14 เซนต์/ปอนด์จากที่ปีที่แล้วขายได้ประมาณ 16 เซนต์/ปอนด์ “ราคาที่หายไปจะมีกลไกบริหารชดเชยอย่างไร” ซึ่งคาดว่า กองทุนจะมีเงินไม่พอชดเชยให้โรงงานน้ำตาลแน่ ดังนั้นทางออกก็คือ ทั้ง 3 ฝ่าย (กระทรวงอุตสาหกรรม-ชาวไร่อ้อย-โรงงานน้ำตาล) “จะต้องมานั่งคุยกัน ขณะนี้ได้ประเมินกันถึงสถานะเงินกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายที่ต้องมีการชดเชยประมาน 10,000 ล้านบาท” นายนราธิปกล่าว

สำหรับแนวทางการที่คงสถานะกองทุนอ้อยไว้จะต้องเก็บเงินเข้ากองทุนในช่วงที่มีราคาดี นั่นหมายถึงช่วงที่ราคาอ้อยแตะไปถึง 1,000 บาท/ตันอ้อย แล้วแบ่งสัดส่วนแบ่งเข้ากองทุนในระบบ 70 : 30 จึงจะทำให้กองทุนเข้มแข็งขึ้นมาและมีความสามารถชดเชยจ่ายเงินให้โรงงานน้ำตาลได้

นายอำนาจ แก้วกล้า รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทบุรีรัมย์พลังงาน ซึ่งอยู่ในกลุ่มโรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์ กล่าวว่า ราคาอ้อยขั้นต้นปี 2560/61 เป็นราคาที่คำนวณก่อนที่จะมีการปล่อยลอยตัวราคาน้ำตาลเมื่อต้นปี 2561 “ดังนั้นผลกระทบจะเกิดกับชาวไร่อ้อย” ส่วนโรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์มีแผนที่จะขยายการลงทุน ตอนนี้อยู่ระหว่างปรับพื้นที่ใน อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์เพื่อเตรียมก่อสร้างโรงงานผลิตภาชนะจากชานอ้อย โดยแยกสายการผลิตเป็นธุรกิจใหม่อีกธุรกิจหนึ่ง เงินลงทุนประมาณ 350 ล้านบาทคาดว่าโรงงานใหม่จะแล้วเสร็จช่วงปลายปี 2562 และตั้งเป้าหมายจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้ช่วงต้นปี 2562 โดยเบื้องต้นมีแผนจำหน่ายในประเทศ 50% และส่งออกไปยังประเทศในแถบยุโรปรวมถึงเจาะกลุ่มตลาดใหม่ ๆ อีก 50%

ส่วนนายอดิศักดิ์ ตั้งตรงเวชกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บุรีรัมย์พลังงาน จำกัด (BEC) และในฐานะผู้บริหารกลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ กล่าวว่า นอกจากนี้บริษัทยังมีแผนขยายโรงงานน้ำตาลทรายพร้อมโรงไฟฟ้าอีก 2 แห่งที่ อ.ชำนิ จ.บุรีรัมย์ กับ อ.โนนนารายณ์ จ.สุรินทร์ กำลังผลิตน้ำตาลแห่งละ 23,000 ตัน/วัน เงินลงทุนแห่งละ 4,000-5,000 ล้านบาทโดยจะเริ่มที่ อ.ชำนิก่อนในอีก 2-3 ปีข้างหน้านี้ “ตอนนี้เรากำลังอยู่ระหว่างการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) อยู่”

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 24 มิถุนายน 2561

โรดโชว์ไปได้สวย! “อุตตม” เผยอุตสาหกรรมฝรั่งเศสการบิน ระบบราง พลังงานทดแทนเล็งไทยเป้าหมายลงทุน EEC

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการร่วมหารือกับคณะเอกชนไทยในฝรั่งเศส ณ โรงแรม Westin กรุงปารีส เมื่อวันเสาร์ที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมาว่า “ฝรั่งเศสมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 7 ของโลก มีเงินลงทุนทั่วโลกประมาณ 52,000 ล้านยูโร นับเป็นประเทศที่มีแหล่งเงินทุนเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

นอกจากนี้ ยังมีความก้าวหน้าในเทคโนโลยีและวิทยาการหลายด้าน อาทิ การบิน การขนส่งระบบราง และพลังงานทดแทน ที่สำคัญคือสัดส่วนการลงทุนของฝรั่งเศสในทวีปเอเชียยังมีสัดส่วนที่น้อยเพียงร้อยละ 7.6 โดยเฉพาะการลงทุนโดยตรงในประเทศไทยที่มีมูลค่าเพียง 228 ล้านยูโร จึงนับเป็นโอกาสสำคัญในการเชื่อมโยงและชักจูงนักลงทุนฝรั่งเศสไปลงทุนในไทยโดยเฉพาะในพื้นที่อีอีซี เป็นการเปิดโอกาสให้ฝรั่งเศสได้เป็นผู้เล่นรายใหม่ในภูมิภาค รวมถึงอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง CLMV ผ่านความร่วมมือในกรอบพหุภาคี ACMECS และ อาเซียนด้วย”

โดยในการประชุมมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และมีผู้แทนภาคเอกชนของไทย เช่น Thai Union Food, Loxley, มิตรผล, PTTGC, Sea Value, Double A, Michelin Siam, ป่าใหญ่ครีเอชั่น รวมถึงนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเข้าร่วม ซึ่งได้มีการหารือถึงโอกาสและศักยภาพในการขยายการค้าการลงทุนระหว่างทั้งสองประเทศ

โดย นายอุตตมเปิดเผยต่อว่า ”ในขณะนี้บริษัทชั้นนำของฝรั่งเศสมีความตื่นตัวในเรื่องการลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย และการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหรืออีอีซี โดยเบื้องต้นทราบว่าเอกชนฝรั่งเศสมีความสนใจในเรื่องการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบราง ยานยนต์อนาคต การเกษตรและชีวเศรษฐกิจ (Bio-Economy) พลังงานรูปแบบใหม่ เมืองอัจฉริยะ Smart City

รวมไปถึงภาคบริการ เช่น การศึกษา และการท่องเที่ยวด้วย โดยเอกชนฝรั่งเศส เช่น Vinci Group ที่มีความสนใจในเรื่องระบบโครงสร้างพื้นฐาน Transdev ที่เชี่ยวชาญในการบริหารระบบราง หรือ บริษัท Engie ที่เป็นผู้นำในเรื่องพลังงานทางเลือก ต่างต้องการข้อมูลเชิงลึกในเรื่องกระบวนการและขั้นตอนการร่วมลงทุน สภาวะการแข่งขัน สิทธิประโยชน์ต่างๆ ซึ่งผมได้หารือกับท่านสุพันธุ์ฯ ประธานสภาอุตฯ และ นายชิงชัย หาญเจนลักษณ์ ซึ่งเป็นประธานกลุ่มธุรกิจไทย-ฝรั่งเศส เพื่อให้ประสานกับสภาผู้จ้างงานของฝรั่งเศส (Mouvement des entreprises de France – MEDEF) ซึ่งเป็นองค์กรที่มีผู้ประกอบการจากหลากหลายธุรกิจของฝรั่งเศสเป็นสมาชิกมากกว่า 750,000 บริษัท ถือเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในวงการธุรกิจของฝรั่งเศสอย่างใกล้ชิด และเชิญชวนคณะผู้ประกอบการนักลงทุนฝรั่งเศสเดินทางมาเยือนไทยและลงพื้นที่อีอีซีภายในปีนี้”

ทั้งนี้ ในวันจันทร์ที่ 25 มิถุนายน 2561 จะมีการจัดงาน Transforming Thailand : Thailand-France Partnership เพื่อชี้แจงโอกาสและลู่ทางการค้าการลงทุนของไทยในพื้นที่อีอีซี โดยนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธีเปิด และการบรรยายในหัวข้อ “Driving Transformation through Thailand 4.0 and Eastern Economic Corridor” โดย นายอุตตมฯ ต่อด้วยการเสวนาในเรื่องโอกาสสำหรับธุรกิจฝรั่งเศสต่อโครงการอีอีซี โดย นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ เลขาธิการ BOI และเลขาธิการ EEC มีกิจกรรมสร้างเครือข่ายกับกลุ่มผู้ประกอบการฝรั่งเศส – MEDEF

รวมทั้งมีการลงนาม MOU หลายฉบับ อาทิ ความร่วมมือระบบ Digitalization และ Visualization ระหว่างบริษัท PTTGC กับ Dassault System และ ความร่วมมือในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ Smart City ระหว่างบริษัท Loxley กับ POMA เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงพลังในการขับเคลื่อนความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับฝรั่งเศสต่อไปด้วย

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 24 มิถุนายน 2561

ไทยเตรียมจัดการประชุมคณะทำงานด้านการค้าและการลงทุนกับอียู 2-3 ก.ค.นี้

ไทยเตรียมจัดการประชุมคณะทำงานด้านการค้าและการลงทุนกับอียู วันที่ 2-3 ก.ค.นี้ พร้อมใช้โอกาสนี้หารือด้านกฎระเบียบการค้า การลงทุนกับอียู

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะทำงานด้านการค้าและการลงทุนไทย-สหภาพยุโรป (อียู) (TH-EU) ครั้งที่ 13 วันที่ 2-3 ก.ค. โดยไทยจะใช้โอกาสในการประชุมครั้งนี้ หารือกับอียูเรื่องกฎระเบียบการค้า การลงทุนใหม่ๆ ของอียูที่อาจจะมีผลกระทบกับไทย เช่น นโยบายของอียูที่จะทยอยยกเลิกการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพที่ผลิตมาจากน้ำมันปาล์มในปี 2573 เนื่องจากทำลายป่าไม้และเพิ่มก๊าซเรือนกระจก ความคืบหน้าการเจรจาระหว่างอียูกับอังกฤษเรื่องเบร็กซิต การออกกฎระเบียบการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และการจัดเก็บภาษีธุรกรรมดิจิทัล เป็นต้น

ส่วนไทยจะให้อียูได้ทราบถึงการปรับแก้กฎระเบียบหรือออกกฎหมายใหม่ๆ เช่น กฎหมายด้านการแข่งขันทางการค้า กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว รวมถึง พ.ร.บ.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 ที่จะเป็นจุดเด่นในการเชิญชวนนักลงทุนอียูมาลงทุนในอีอีซีของไทย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ การบิน โลจิสติกส์ หุ่นยนต์ และยานยนต์สมัยใหม่ เป็นต้น

ปัจจุบันอียูเป็นคู่ค้าสำคัญลำดับที่ 3 ของไทย ปี 2560 มีมูลค่าการค้า 4.43 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 10.39% โดยไทยส่งออกไปอียู 2.37 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 7.5% และนำเข้า 2.06 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 13.8% โดยไทยมีสัดส่วนการค้าประมาณ 1% ของอียู สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปอียู ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ รถยนต์ อัญมณีและเครื่องประดับ แผงวงจรไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องปรับอากาศ ไก่แปรรูป เป็นต้น ส่วนสินค้าที่ไทยนำเข้าจากอียู ได้แก่ เครื่องจักรกลเครื่องบิน เครื่องร่อน อุปกรณ์การบิน เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องจักรไฟฟ้า และอุปกรณ์ยานยนต์ เป็นต้น

ส่วนในด้านการลงทุน ในปี 2560 อียูมีการลงทุนในไทยมูลค่าประมาณ 6,575 ล้านเหรียญสหรัฐ และไทยมีการลงทุนในอียูมูลค่าประมาณ 1.16 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ โดยอียูมีการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศต่างๆ ทั่วโลกกว่า 40 ประเทศ ในส่วนของอาเซียนสรุปผลเจรจาแล้วกับเวียดนามและสิงคโปร์ และอยู่ระหว่างเจรจากับฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย รวมทั้งเตรียมรื้อฟื้นการเจรจา FTA อาเซียน-สหภาพยุโรป

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2561

BRR พร้อมทุ่มอีกหมื่นล้าน จ่อขยายรง.น้ำตาล โรงไฟฟ้าบุรีรัมย์

นายอดิศักดิ์ ตั้งตรงเวชกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บุรีรัมย์พลังงาน จำกัด (BEC) ในกลุ่มบมจ.น้ำตาลบุรีรัมย์ (BRR) เปิดเผยว่า กลุ่มบริษัทน้ำตาลบุรีรัมย์มีแผนขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลเพิ่มขึ้นในพื้นที่อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ โดยอยู่ระหว่างติดตามนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าจากกระทรวงพลังงานซึ่งหากกำหนดอัตรารับซื้อรูปแบบ FiT (Feed in Tariff) ที่ 2.40 บาทต่อหน่วยก็คงจะไม่ดำเนินการเนื่องจากมองว่าไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน

โดยปัจจุบันกลุ่มบริษัทมีโรงงานน้ำตาลในอ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ มีกากอ้อยจากกระบวนการผลิตน้ำตาลกว่า 7.5 แสนตัน/ปี ใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าของกลุ่มบริษัทที่มีอยู่ 3 แห่ง กำลังผลิตรวม 29.7 เมกะวัตต์ อาทิ บริษัท บุรีรัมย์พลังงาน จำกัด (BEC) บุรีรัมย์เพาเวอร์ จำกัด (BPC) และมีแผนที่จะขยายโรงไฟฟ้าชีวมวลเพิ่มอีก 1 แห่งที่อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์

นอกจากนี้กลุ่มมีแผนขยายโรงงานน้ำตาลทรายพร้อมโรงไฟฟ้า 2 แห่งที่ อ.ชำนิ จ.บุรีรัมย์ และอ.โนนนารายณ์ จ.สุรินทร์ กำลังผลิตน้ำตาลแห่งละ2.3 หมื่นตันต่อวันลงทุนแห่งละ 4,000-5,000 ล้านบาท โดยจะเริ่มที่ อ.ชำนะ ก่อนในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า

นายอำนาจ แก้วกล้า รองกรรมการผู้จัดการ BEC กล่าวว่า กลุ่มโรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์ อยู่ระหว่างปรับพื้นที่ในอ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ เตรียมก่อสร้างโรงงานผลิตภาชนะจากชานอ้อยด้วยใช้เงินลงทุนประมาณ 350 ล้านบาท คาดจะแล้วเสร็จช่วงปลายปี 2562 มีรายงานแจ้งว่า สำหรับแผนขยายการลงทุนของกลุ่มBRR คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท

จาก www.naewna.com วันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2561

‘อุตฯ’เล็งชงครม.ห้ามนำเข้าขยะพิษ

นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยความคืบหน้าแนวทางการจัดการซากอิเล็กทรอนิกส์ และเศษพลาสติก ว่า เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน ได้มีมติห้ามการนำเข้าซากอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติก ซึ่งการห้ามนำเข้าซากอิเล็กทรอนิกส์นั้นกระทรวงอุตสาหกรรมจะดำเนินการสั่งการตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)โรงงาน 2535 ตามมาตรา 32 วรรค 2 ที่กำหนดห้ามใช้วัตถุดิบนำเข้าจากต่างประเทศเพื่อประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ความมั่นคง ความปลอดภัยของประเทศหรือสาธารณชน ส่วนกรณีห้ามนำเข้าเศษพลาสติกนั้น ปัจจุบันอำนาจของพ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า 2522 ของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งมอบอำนาจให้กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการ

ทั้งนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) จะลงนามระงับใบอนุญาตขอนำเข้า และลงนามห้ามนำเข้าทั้ง 2 กรณี คาดว่าจะลงนามเรียบร้อยภายในต้นสัปดาห์หน้า และเสนอ คณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้เร็วๆ นี้

นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการนำเข้าซากอิเล็กทรอนิกส์เพื่อใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบที่อยู่ในซากตามอนุสัญญาบาเซลด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสีย โดยปี 2560 อยู่ที่ 53,000 ตันต่อปี ขณะที่ปี 2561 นำเข้ามาแล้ว 37,000 ตันต่อปี จากผู้ได้รับใบอนุญาตนำเข้า 7 ราย หากไทยเลิกนำเข้าไม่ถือว่าเป็นการผิดอนุสัญญาบาเซลเพราะห้ามเป็นเฉพาะรายการที่อาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทย

ขณะเดียวกันจากผู้นำเข้าทั้งหมดก็มี 5 รายที่กระทำความผิดจึงถูกพักใบอนุญาตอยู่แล้ว และอีก 1 รายที่โควตานำเข้าครบแล้ว เหลือเพียง 1 รายคือ บริษัท ฟูจิ จีร็อกซ์ อีโค-แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด ที่ยังเหลือโควตานำเข้าจำนวน 2,400 ตัน หากต้องการนำเข้าจะมีคณะอนุกรรมการเพื่อบูรณาการการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่นำเข้าจากต่างประเทศอย่างมีระบบ ที่มีพล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน เป็นผู้พิจารณาเป็นกรณีๆไป

“คาดว่าเร็วๆนี้ รัฐบาลจะมีการออกกฎหมาย คือ ร่างพ.ร.บ.การจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์และซากผลิตภัณฑ์อื่น พ.ศ.... เสนอโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเข้ามาควบคุม บริหารจัดการ ซากอิเล็กทรอนิกส์อย่างเต็มประสิทธิภาพ เพราะแม้ไม่มีการนำเข้าแต่ไทยเองมีปริมาณซากอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดจากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอื่นๆ มากถึง 400,000 ตันต่อปี”นายมงคล กล่าว

จาก www.naewna.com วันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ไทยเล็งถกหอการค้าสหรัฐฯ มิ.ย.นี้ คุยวงในช่วยถอนมาตรการตอบโต้ทางการค้า

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หอการค้าไทย เตรียมหารือกับหอการค้าสหรัฐฯ ที่จะเดินทางมาเยือนไทยในช่วงสิ้นเดือน มิ.ย.นี้ ในประเด็นที่ไทยและภาคเอกชนไทยกังวล โดยเฉพาะข้อกังวลจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน ที่อาจบานปลายและส่งผลกระทบถึงไทยได้ในอนาคต เพื่อที่จะได้ให้หอการค้าสหรัฐฯ นำเรื่องส่งต่อเข้าไปยังสภาคองเกรสให้ยกเว้นประเทศไทยออกจากมาตรการตอบโต้ทางการค้า

“แม้ว่าสงครามการค้าตอนนี้ยังกระทบไทยไม่มาก เพราะเมื่อดูสินค้าแต่ละรายการที่อยู่ในลิสต์แล้ว ไม่ได้มีมูลค่าการส่งออกมากนัก แต่อยากให้มองเป็นโอกาสของไทย ที่อาจทำให้ทั้งสหรัฐฯและจีนหันมาซื้อสินค้าไทยมากขึ้นแทน เชื่อว่าสหรัฐฯจะยกเว้นอาเซียน เพราะสหรัฐฯต้องการทำการค้าในอาเซียนมากขึ้น”

อย่างไรก็ตาม หอการค้าสหรัฐฯ ยืนยันว่า ในช่วงปลายเดือน ก.ย.นี้ จะนำคณะนักลงทุนชุดใหญ่ที่เป็นสมาชิกอยู่ในหอการค้าสหรัฐฯ เดินทางมาไทย เพื่อสำรวจลู่ทางการลงทุน และความเป็นไปได้ในการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า จากมาตรการตอบโต้ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ออกมารอบแรกนั้น ภาพรวมยังดูนิ่งอยู่ ทั้งตลาดหลักทรัพย์และตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ จึงต้องรอดูว่านายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดี ของสหรัฐฯ จะพิจารณาเพิ่มวงเงินในการตั้งกำแพงภาษีเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่จำกัดวงเงินอยู่ที่ 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็น 200,000 ล้านเหรียญฯหรือไม่ 

 “หากดูจากสถานการณ์ปัจจุบันถือว่ากระทบไทยน้อยมาก เพราะยังจำกัดอยู่ในวงเงิน 50,000 ล้านเหรียญฯ โดยเมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจของสหรัฐฯที่มากถึง 14 ล้านล้านเหรียญฯ และขนาดเศรษฐกิจจีนที่ 8 ล้านล้านเหรียญฯ ยังถือว่าน้อยมาก แต่ยอมรับว่าอาจมีผลต่อจิตวิทยาบ้างในระยะสั้นๆ แต่ไม่มากนัก เพราะล่าสุดราคาหุ้นไทยปรับตัวดีขึ้นแล้ว และมองว่าสถานการณ์จะไม่ลากยาว เพราะทั้ง 2 ประเทศรู้ดีว่าจะมีผลต่อเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม ศูนย์ฯ ยังคงประมาณการมูลค่าส่งออกไทยปีนี้ที่ 7 -8% และจีดีพีโต 4.4%”.

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2561

กลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ลุ้นนโยบายก.พลังงานซื้อไฟชีวมวลยัน2.40บ./หน่วยเกิดยาก

นอกจากนี้กลุ่มฯมีแผนขยายโรงงานน้ำตาลทรายพร้อมโรงไฟฟ้า 2 แห่งที่ อ.ชำนิ จ.บุรีรัมย์ และอ.โนนนารายณ์ จ.สุรินทร์ กำลังผลิตน้ำตาลแห่งละ 2.3 หมื่นตันต่อวันลงทุนแห่งละ 4,000-5,000 ล้านบาทโดยจะเริ่มที่ อ.ชำนะก่อนในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA)เมื่อทำส่วนนี้เสร็จก็จะดำเนินงานในส่วนของจ.สุรินทร์ต่อไป

“ทางกลุ่มกำลังศึกษาและวิจัยที่จะต่อยอดอุตฯอ้อยและน้ำตาลไปสู่อุตสาหกรรมไบโอชีวภาพเพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าและรับกับเทรนด์ของโลกในการใช้พลาสติกย่อยสลายได้ ส่วนเอทานอลนั้นยอมรับว่าเทรนด์โลกรถยนต์จะไปทางไฟฟ้าก็คงต้องดูให้ชัดเจนก่อนแต่ขณะนี้เราไม่ได้ทำ”นายอดิศักดิ์กล่าว

นายอำนาจ แก้วกล้า รองกรรมการผู้จัดการ บ.BEC กล่าวว่า กลุ่มโรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์ อยู่ระหว่างปรับพื้นที่ในอ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์เตรียมก่อสร้างโรงงานผลิตภาชนะจากชานอ้อย แยกสายการผลิตเป็นธุรกิจใหม่อีกผลิตภัณฑ์หนึ่ง เงินลงทุนประมาณ 350 ล้านบาท คาดจะแล้วเสร็จช่วงปลายปี 2562 และตั้งเป้าหมายจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้ช่วงต้นปี 2562 โดยเบื้องต้นมีแผนจำหน่ายในประเทศ 50% และส่งออกไปยังประเทศในแถบยุโรป รวมถึงเจาะกลุ่มตลาดใหม่ๆ อีก 50%

นางสาวนวลจันทร์ เตชะเสริมสุขกูล รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า โรงไฟฟ้า บริษัท บุรีรัมย์พลังงาน จำกัด (BEC) และโรงไฟฟ้า บริษัท บุรีรัมย์เพาเวอร์ จำกัด (BPC) ได้รับรางวัลดีเด่นด้านพลังงานทดแทน ประเภทโคเจนเนอเรชั่น จากการประกวด Thailand Energy Awards ปี 2017-2018 และBECส่งประกวASEAN Renewable Energy Project Competitionและคว้ารางวัลชนะเลิศประเภทโคเจนเนอเรชั่นในปี 60 ส่วน BPC เข้าร่วมประกวด ปี 61 ซึ่งจะตัดสินการประกวดและมอบรางวัลในเดือนต.ค. ที่ประเทศสิงคโปร์

จาก https://mgronline.com    วันที่ 21 มิถุนายน 2561

พพ.ลงพื้นที่ 2 โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนจ.บุรีรัมย์

พพ. ลงพื้นที่จ.บุรีรัมย์ ติดตามผลการดำเนินงานโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมชีวมวล ของกลุ่มบริษัทน้ำตาลบุรีรัมย์ที่คว้ารางวัล Thailand Energy Awardsด้านพลังงานทดแทน ปี 2017 และ 2018         

นางสาวนวลจันทร์ เตชะเสริมสุขกูล รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า ได้นำคณะเจ้าหน้าที่ พพ.และสื่อมวลชน ลงพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อติดตามผลการดำเนินงานและเยี่ยมชม “โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมชีวมวล” ของกลุ่มบริษัทน้ำตาลบุรีรัมย์ ที่ได้รับรางวัลดีเด่นด้านพลังงานทดแทน ประเภทโคเจนเนอเรชั่น (Cogeneration)จากการประกวด Thailand Energy Awards ปี 2017 และ 2018 จำนวน 2 โรงที่ตั้งอยู่ภายในบริเวณเดียวกัน คือ โรงไฟฟ้า บริษัท บุรีรัมย์พลังงาน จำกัด หรือBEC และโรงไฟฟ้า บริษัท บุรีรัมย์เพาเวอร์ จำกัด หรือ BPC ซึ่งมีผลงานดีเด่นจนได้รับคัดเลือกส่งเข้าร่วมการประกวดอาเซียน รีนิวเอเบิล เอนเนอร์ยี่ โปรเจค คอมเพทติชั่น (ASEAN Renewable Energy Project Competition) ทั้งสองแห่ง โดย BEC เข้าร่วมประกวดและคว้ารางวัลชนะเลิศประเภทโคเจนเนอเรชั่นในปี 2017 ส่วน BPC เข้าร่วมประกวด ปี 2018 (ปีนี้) ซึ่งจะตัดสินการประกวดและมอบรางวัลในเดือนตุลาคม ที่ประเทศสิงคโปร์        

ปัจจุบัน บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) มีกำลังการผลิต 23,000ตันอ้อยต่อวันหรือคิดเป็นปริมาณอ้อยรวมมากกว่า 2 ล้านตัน มีกากอ้อยจากกระบวนการผลิตน้ำตาลปีละ750,000 ตัน คาดว่าจะรองรับได้เพิ่มอีก 3 ล้านตัน ในอนาคต โดยใช้เงินลงทุนรวมมากกว่า 1,000 ล้านบาท จัดตั้งโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมชีวมวลขึ้น 2 แห่ง เพื่อนำกากอ้อยดังกล่าวมาผลิตไอน้ำและไฟฟ้าใช้เป็นพลังงาน โดยโรงไฟฟ้า บริษัท บุรีรัมย์เพาเวอร์ จำกัด ที่ได้รางวัลในปีนี้ (Thailand Energy Awards 2018)มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 9.8 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 100 ตัน/ชั่วโมง จำหน่ายไฟฟ้าที่ผลิตได้ 8 เมกะวัตต์ให้ กฟภ. ภายใต้สัญญาผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP)ตามมาตรการส่งเสริมการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Feed-in Tariffหรือ FiT) และส่งไฟฟ้าและไอน้ำบางส่วนกลับไปให้โรงงานน้ำตาลใช้ในกระบวนการผลิต

จาก www.banmuang.co.th   วันที่ 21 มิถุนายน 2561

ยกเลิกเอทานอล-ไบโอดีเซล แก้น้ำมันแพงได้จริงไหม ?

โดย อนุสรณ์ แสงนิ่มนวล สภาปฏิรูปแห่งชาติ

ราคาเอทานอล ไบโอดีเซลที่ผ่านมามีราคาแพงกว่า เนื้อน้ำมันมากราว 9-10 บาท/ลิตร จนมีการกล่าวว่าเป็นสาเหตุของน้ำมันแพง ถ้ายกเลิกการใช้ แน่นอนราคาน้ำมันขายปลีกลดลง ประชาชนทั่วไปมองว่าน่าจะได้ประโยชน์ แต่แท้จริงแล้วผู้ได้ประโยชน์ร่วมด้วยคือโรงกลั่นน้ำมัน เนื่องจากกระบวนการเก็บรักษา-ผสมให้ได้ตามมาตรฐาน ต้องมีถังเก็บจำนวนมาก สำหรับแก๊สโซฮอล์ชนิดต่าง ๆ มีความยุ่งยากมากพอควร โรงกลั่นเองไม่ได้ประโยชน์จากการซื้อเอทานอลและไบโอดีเซล (B100) ราคาสูงมาผสม เพราะต้นทุนที่เกิดขึ้นจะถูกส่งต่อไปยังผู้ใช้น้ำมัน

แต่ที่สำคัญ เมื่อยกเลิกการผสมโรงกลั่นจะได้ประโยชน์มากคือจะขายน้ำมันภายในประเทศได้มากขึ้นทันที โรงกลั่นที่เคยส่งออกน้ำมันบางส่วน จากการที่เอาเอทานอล และไบโอดีเซลมาผสมแทนที่เนื้อน้ำมัน ก็ลดการส่งออกได้ มีรายได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ผู้ค้าสถานีบริการ ก็สามารถลดชนิดน้ำมันแก๊สโซฮอล์ลงได้หลายชนิด ช่วยลดค่าใช้จ่าย และการลงทุนติดตั้งถัง หัวจ่ายน้ำมันจำนวนมาก

ในอดีตกว่าที่จะทำให้โรงกลั่นนำมาใช้ผสม มันยากมาก เพราะกระทบต่อรายได้ที่ลดลง มีการลงทุนที่มากขึ้นแต่ผลตอบแทนต่ำ อย่างไรก็ตาม โรงกลั่นทุกแห่งในประเทศก็พร้อมใจกันนำ เอทานอล และไบโอดีเซลมาผสม ตามนโยบายกระทรวงพลังงาน เพราะเล็งเห็นประโยชน์ที่เกษตรกรปลูกอ้อยมันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน จะได้รับจากราคาพืชเหล่านี้สูงขึ้น ประเทศก็จะประหยัดเงินตราต่างประเทศในการนำเข้าน้ำมันดิบได้มากกว่า 10,000 ล้านบาท/ปี รวมไปถึงช่วยลดก๊าซเรือนกระจก คุณภาพสิ่งแวดล้อมดีขึ้น ถ้าจะเลิกการใช้ แน่นอนจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรไทย และประเทศชาติอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าราคาเอทานอลค่อนข้างสูง เพราะรัฐต้องการช่วยเหลือเกษตรกรไทย ปลูกอ้อย มันสำปะหลัง ให้มีรายได้สูงขึ้น แต่ต้นทุนอ้อยในประเทศมีราคาสูงกว่าอ้อยจากบราซิลมาก เนื่องจากผลผลิตต่อไร่ต่ำกว่ามาก เช่นเดียวกันไม่สามารถแข่งขันกับเอทานอล ที่ผลิตจากสหรัฐ ที่ใช้ข้าวโพดเป็นวัตถุดิบที่อาจมีการปรับพันธุกรรมทำให้ต้นทุนต่ำมาก ดังนั้นราคาเอทานอลที่ผลิตจากบราซิล และสหรัฐจึงถูกกว่าเอทานอลในไทยมาก

แต่ถ้ามองในด้านราคามิติเดียวคงไม่สามารถสู้ได้ ต้องดูมิติอื่นประกอบด้วย 1) เงินจำนวนมาก หลายหมื่นล้านบาทต่อปี อยู่ในประเทศไทย ไม่ต้องเอาไปซื้อน้ำมันของต่างชาติ 2) ช่วยเกษตรกรมีรายได้สูง กระตุ้นเศรษฐกิจ และ 3) สร้างความมั่นคงให้ประเทศ เพราะสามารถพึ่งพาน้ำมันจากพืชได้ระดับหนึ่ง รัฐจึงจำเป็นต้องส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้ โดยเอาเงินกองทุนน้ำมันฯมาชดเชยราคา ถ้ารัฐไม่สนับสนุนเกษตรกรด้วยวิธีนี้ รัฐก็ต้องเอาภาษีที่เก็บจากประชาชนไปช่วยเกษตรกรซึ่งอาจรั่วไหลได้ และท้ายสุดต้องเสียเงินจำนวนมากเพื่อนำเข้าน้ำมัน

ฉะนั้นการสนับสนุนแก๊สโซฮอล์น่าจะดีกว่าโดยรวมของประเทศ นโยบายนี้ต้องการช่วยเหลือเกษตรกรไทยเป็นหลัก ไม่ได้ช่วยเหลือเกษตรกรต่างชาติ จึงไม่มีการนำเข้าทั้งเอทานอลและไบโอดีเซล รวมไปถึงใช้ราคาอ้างอิงซื้อขายในตลาดต่างประเทศ เพราะอย่างที่กล่าวข้างต้น ต้นทุนของเกษตรไทยสูงกว่ามาก ถ้ากำหนดราคาเช่นนี้ ราคาพืชเหล่านี้ต้องลดลงมาก ซึ่งเกษตรไทยไม่สามารถอยู่ได้

เช่นเดียวกับไบโอดีเซลจากน้ำมันปาล์ม ที่ผสมในน้ำมันดีเซล 5-7% รัฐก็ต้องนำเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาช่วยสนับสนุนเช่นกัน เพราะราคาไบโอดีเซลแพงกว่าเนื้อน้ำมันดีเซลมาก แต่ถ้าไม่ทำอย่างนี้ ราคาปาล์มน้ำมันก็จะตกต่ำ รัฐก็ต้องใช้ภาษีเข้าไปสนับสนุนช่วยเหลือเช่นกัน

ทั้งเอทานอล และไบโอดีเซลที่นำมาใช้กว่า 10 ปีที่ผ่านมา ได้ช่วยเหลือเกษตรกรได้เป็นอย่างดี ประหยัดเงินตราต่างประเทศได้จำนวนมาก มันน่าเสียดายถ้าคิดจะยกเลิกการใช้ และกลับไปสู่วังวนในอดีตที่เกษตรกรไทยต้องยากลำบาก

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 21 มิถุนายน 2561

กลุ่มน้ำตาลฯลุ้นรัฐชัดเจนซื้อชีวมวล

กลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ลุ้นนโยบายภาครัฐชัดเจนแผนซื้อไฟฟ้าชีวมวล หวังผุดโรงไฟฟ้าแห่งที่ 4 ในพื้นที่อ.คูเมือง ระบุหากราคารับซื้อ 2.40 บาทต่อหน่วย คงพับแผนลงทุนเหตุไม่คุ้ม       

นายอดิศักดิ์ ตั้งตรงเวชกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บุรีรัมย์พลังงาน จำกัด(BEC)  ในกลุ่มบมจ.น้ำตาลบุรีรัมย์(BRR) เปิดเผยว่า  กลุ่มบริษัทน้ำตาลบุรีรัมย์มีแผนขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลเพิ่มขึ้นในพื้นทีที่อ.คูเมือง จ.บรีรัมย์ โดยอยู่ระหว่างติดตามนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าจากกระทรวงพลังงานซึ่งหากกำหนดอัตรารับซื้อรูปแบบ FiT(Feed in Tariff) อยู่ที่ 2.40 บาทต่อหน่วยก็คงจะไม่ดำเนินการเนื่องจากมองว่าไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน

ปัจจุบันกลุ่มบริษัทมีโรงงานน้ำตาลในอ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ กำลังผลิต 23,000 ตันอ้อย/วัน มีกากอ้อยจากกระบวนการผลิตน้ำตาลกว่า 7.5 แสนตัน/ปี ซึ่งจะใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าของกลุ่มบริษัทที่มีอยู่ 3 แห่ง กำลังผลิตรวม 29.7 เมกะวัตต์ ได้แก่ BEC บุรีรัมย์เพาเวอร์ จำกัด(BPC) ซึ่งขายไฟให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) รวม 16 เมกะวัตต์ สมารถสร้างรายได้แห่งละประมาณ 200 ล้านบาท/ปี ส่วนโรงไฟฟ้าอีก 1 แห่ง จะขายไฟฟ้าให้กับโรงงานน้ำตาลในกลุ่ม BRR สามารถสร้างรายได้ได้ 48 ล้านบาท/ปี    

“ มีแผนที่จะขยายโรงไฟฟ้าชีวมวลเพิ่มอีก 1 แห่งที่อำเภอคูเมืองจ.บุรีรัมย์ เป็นแห่งที่ 4 จากกากอ้อยที่มีเหลือแสนตัน กำลังผลิตประมาณ 8-10 เมกะวัตต์แต่ต้องขอดูความชัดเจนนโยบายรัฐก่อนเพราะหากรับซื้อ 2.40 บาทต่อหน่วยคงทำไม่ได้โดยเห็นว่าระดับ 3.60 บาทต่อหน่วยจึงจะคุ้มค่าการลงทุน”นายอดิศักดิ์กล่าว        

ทั้งนี้กลุ่มฯมีแผนขยายโรงงานน้ำตาลทรายพร้อมโรงไฟฟ้า 2 แห่งที่ อ.ชำนิ จ.บุรีรัมย์ และอ.โนนนารายณ์  จ.สุรินทร์  กำลังผลิตน้ำตาลแห่งละ 2.3 หมื่นตันต่อวันลงทุนแห่งละ 4,000-5,000 ล้านบาทโดยจเริ่มที่ อ.ชำนะก่อนในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA)เมื่อทำส่วนนี้เสร็จก็จะดำเนินงานในส่วนของจ.สุรินทร์ต่อไป

นายอำนาจ แก้วกล้า รองกรรมการผู้จัดการ บ.BEC กล่าวว่า กลุ่มโรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์ อยู่ระหว่างปรับพื้นที่ใน อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ เตรียมก่อสร้างโรงงานผลิตภาชนะจากชานอ้อย แยกสายการผลิตเป็นธุรกิจใหม่อีกผลิตภัณฑ์หนึ่ง เงินลงทุน 350 ล้านบาท คาดจะแล้วเสร็จช่วงปลายปี62 และตั้งเป้าหมายจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้ช่วงต้นปี63 โดยเบื้องต้นมีแผนจำหน่ายในประเทศ 50% และส่งออกไปยังประเทศในแถบยุโรป รวมถึงเจาะกลุ่มตลาดใหม่ๆ อีก 50%

จาก www.banmuang.co.th   วันที่ 21 มิถุนายน 2561

ระดมความคิด ชู 4 มาตรการ “จำกัดการใช้” พาราควอต

ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และประชาชน ระดมความคิดเห็นเสนอแนวทางมาตรการจำกัดการใช้สารพาราควอต คลอร์ไพรีฟอส และไกลโฟเซต เตรียมยื่นข้อสรุป 4 มาตรการแนวทางปฏิบัติให้กรมวิชาการเกษตร นำไปจัดทำร่างแผนมาตรการควบคุมสารทั้งสามชนิด เพื่อเสนอให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย กระทรวงอุตสาหกรรม พิจารณา

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. สุทัศน์ ศรีวัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ กล่าวว่า มติคณะกรรมการวัตถุอันตราย กระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 กำหนดให้ “จำกัดการใช้” สารกำจัดวัชพืช พาราควอต คลอร์ไพรีฟอส และไกลโฟเซต ซึ่งเป็นแนวทางที่เหมาะสมในสถานการณ์ปัจจุบัน โดยมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตร จัดทำร่างแผนมาตรการควบคุมสารทั้งสามชนิด ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายฯ พิจารณาและลงมติเห็นชอบ ก่อนประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา ให้มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายต่อไปนั้น ทางสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ ในฐานะองค์กรภาคการเกษตร จึงได้จัดเวทีระดมความคิดเห็นเรื่อง มาตรการจำกัดการใช้สารพาราควอต คลอร์ไพรีฟอส และไกลโฟเซต ขึ้น เพื่อรวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน แล้วนำเสนอต่อกรมวิชาการเกษตรและภาครัฐผู้มีอำนาจตัดสินใจ

ด้านรองศาสตราจารย์ ดร. พรชัย เหลืองอาภาพงศ์ อุปนายกสมาคมเกษตรปลอดภัย และผู้เชี่ยวชาญด้านวัชพืช กล่าวว่า การระดมความคิดเห็นต่อมาตรการจำกัดการใช้สารพาราควอต คลอร์ไพรีฟอส และไกลโฟเซต ได้รับความเห็นชอบจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง สามารถสรุปได้เป็น 4 มาตรการหลัก ครอบคลุมการนำเข้า การผลิต การจัดจำหน่าย และการใช้สารเคมีทั้งสามชนิด ดังนี้ 1.มาตรการจำกัดการใช้ ด้านการนำเข้าสาร ควรจำกัดปริมาณการใช้ โดยพิจารณาถึงความเหมาะสมต่อการใช้งานจริง เพิ่มมาตรการควบคุมการผลิตและจัดจำหน่ายภายหลังจากขึ้นทะเบียนสารให้มากขึ้น รวมทั้งสื่อสารเรื่องความเสี่ยงของการใช้สาร ปรับปรุงและสร้างการมีส่วนร่วมในกระบวนการติดตามและเฝ้าระวังของกรมวิชาการเกษตรให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น สร้างการรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสารพิษตกค้างให้มากขึ้น และ 5. ส่งเสริมการวิจัยเพื่อจัดหาสารทดแทนหรือทางเลือกที่เหมาะสม

2.มาตรการจำกัดการใช้ ด้านการผลิต ควรประสานความร่วมมือกันระหว่างกรมวิชาการเกษตรและบริษัทผู้ผลิต ควรจัดอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง ปรับปรุงฉลาก เพิ่มรายละเอียดด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และกำหนดมาตรฐานและควบคุมคุณภาพสารให้ตรงตามที่ขึ้นทะเบียน 3.มาตรการจำกัดการใช้ ด้านการจัดจำหน่าย ควรพัฒนาบุคลากรประจำร้านให้มีความเชี่ยวชาญ ปรับปรุงหลักสูตรอบรมร้านค้า เพิ่มเติมในประเด็นด้านสุขภาพ จำหน่ายอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลในราคาประหยัด ห้ามโฆษณาขายสารดังกล่าวผ่านรถเร่ขายและสื่อออนไลน์ สร้างกลไกการติดตามการใช้สารเคมีผ่านบัตรสินเชื่อเกษตรกร สามารถจำหน่ายได้เฉพาะในร้านค้าควบคุมเท่านั้น ยกระดับความสามารถของร้านค้าให้มีความรู้ ความสามารถในการถ่ายทอด และมีความรับผิดชอบ

3.มาตรการจำกัดการใช้ ด้านการใช้สาร ควร พัฒนาหลักสูตรอบรมเกษตรกรให้มีความทันสมัยและเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน กระจายอำนาจให้หน่วยงานปกครองท้องถิ่นเป็นผู้อบรมและพัฒนาความรู้เกษตรกร สร้างกลไกการติดตามการอบรมผ่านบัตรสินเชื่อเกษตรกร ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรเป็นหน่วยงานกลางในการอบรมและให้บริการฉีดพ่นสารเคมีอย่างถูกต้อง ทั้งนี้แนวทางดังกล่าวจะเป็นมาตรการที่สามารถนำไปปฏิบัติใช้ได้จริง ตั้งแต่หน่วยงานที่กำกับดูแล ควบคุมสารเคมีการเกษตร ผู้นำเข้า ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย และเกษตรกร

สำหรับงานเวทีระดมความคิดเห็นเรื่อง “มาตรการจำกัดการใช้สารพาราควอต คลอร์ไพรีฟอส และไกลโฟเซต” ครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากกลุ่มผู้แทน สถาบันการศึกษา องค์กรด้านสุขภาพ สมาคมการค้า เกษตรกร และภาครัฐ ได้แก่ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ภาควิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีกาญจนบุรี สถาบันวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนามาตรฐานสินค้าเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านนาบัว จังหวัดนครพนม สาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ศูนย์ห้องปฏิบัติการและวิจัยทางการแพทย์และการเกษตรแห่งเอเชีย ศูนย์การเรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร จังหวัดสุพรรณบุรี กลุ่มโรงงานน้ำตาลลุ่มแม่น้ำแม่กลอง จังหวัดกาญจนบุรี สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป สมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ ผู้แทนจัดจำหน่ายสารเคมี จังหวัดลพบุรีและสระแก้ว และกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

จาก https://mgronline.com  วันที่ 21 มิถุนายน 2561

BRR เตรียมแผนขยายโรงไฟฟ้ารอความชัดเจนค่าไฟ

BRR เล็งขยายกิจการทั้งธุรกิจชีวภาพ สร้างโรงงานน้ำตาล 2 แห่ง มูลค่าลงทุนแห่งละ 4 - 5 พันล้านบาท  ศึกษาสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่รอความชัดเจนนโยบายรัฐ ชี้ค่าไฟฟ้า 2.40 บาท ไม่คุ้มทุน

นายอดิศักดิ์ ตั้งตรงเวชกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บุรีรัมย์พลังงาน จำกัด ในกลุ่ม บมจ.น้ำตาลบุรีรัมย์ (BRR) เปิดเผยว่า จากที่บริษัทได้รับใบอนุญาตผลิตน้ำตาลทรายใหม่อีก 2 โรงงานในจังหวัดสุรินทร์ และ อ.ชำนิ จ.บุรีรัมย์ กำลังการผลิตแห่งละ 20,000 ตันอ้อย/วัน นั้น คาดว่าจะใช้เงินลงทุนแห่งละประมาณ 4 - 5  พันล้านบาท จะเริ่มดำเนินการหลังจากได้รับความเห็นชอบการจัดทำผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอแล้ว โดยจะดำเนินการเร็วสุดได้ในช่วง 2 - 3 ปีข้างหน้า

นายอดิศักดิ์ กล่าวว่า กลุ่มบริษัทมีโรงงานน้ำตาลใน อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ กำลังผลิต 23,000 ตันอ้อย/วัน มีกากอ้อยจากกระบวนการผลิตน้ำตาลกว่า 7.5 แสนตัน/ปี ซึ่งจะใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าของกลุ่มบริษัทที่มีอยู่ 3 แห่ง กำลังผลิตรวม 29.7 เมกะวัตต์ (MW) โดยโรงไฟฟ้า 2 แห่งขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) รวม 16 เมกะวัตต์ สามารถสร้างรายได้แห่งละประมาณ 200 ล้านบาท/ปี ส่วนโรงไฟฟ้าอีก 1 แห่ง จะขายไฟฟ้าให้กับโรงงานน้ำตาลในกลุ่ม BRR สามารถสร้างรายได้ได้ราว 48 ล้านบาท/ปี

ปัจจุบันโรงงานน้ำตาลอยู่ระหว่างปรับเปลี่ยนหม้อต้มใหม่ ซึ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น จะทำให้ต้นทุนการใช้พลังงานลดลงราว 10 - 15% และทำให้มีกากอ้อยเหลือจากกระบวนการผลิตราว 1 แสนตัน/ปี ตั้งแต่ปี 62 ซึ่งเพียงพอที่จะใช้จัดสรรสำหรับรองรับการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งใหม่ได้อีก 1 แห่ง ขนาด 8-10 เมกะวัตต์ แต่การดำเนินการจะเกิดขึ้นได้หรือไม่นั้น ยังขึ้นกับนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าของภาครัฐบาลด้วย เพราะหากกระทรวงพลังงานประกาศรับซื้อ 2.40 บาทต่อหน่วยคงทำไม่ได้แน่นอน เพราะต้นทุนการผลิตสูงกว่านี้โดยเห็นว่าระดับ 3.60 บาทต่อหน่วยจึงจะคุ้มค่าการลงทุน

นอกจากนี้ปริมาณกากอ้อยที่เหลือยังเพียงพอสำหรับการใช้เป็นวัตถุดิบผลิตภาชนะจากชานอ้อย ที่กลุ่มบริษัทอยู่ระหว่างก่อสร้างโรงงาน ที่มีมูลค่าลงทุนประมาณ 350 ล้านบาท  กำลังการผลิตราว 1 ล้านชิ้น/เดือน

นายอดิศักดิ์ กล่าวว่า กลุ่มบริษัทยังมองโอกาสการลงทุนธุรกิจไบโอชีวภาพ ซึ่งเป็นการต่อยอดธุรกิจ และสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ รวมถึงเป็นทิศทางของโลกที่มุ่งสู่ธุรกิจดังกล่าวด้วย โดยปัจจุบันกลุ่มบริษัทก็มีการศึกษาวิจัยในหลายผลิตภัณฑ์ แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ขณะนี้

นางสาวนวลจันทร์ เตชะเสริมสุขกูล รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า โรงไฟฟ้า บริษัท บุรีรัมย์พลังงาน จำกัด (BEC) และโรงไฟฟ้า บริษัท บุรีรัมย์เพาเวอร์ จำกัด (BPC) ได้รับรางวัลดีเด่นด้านพลังงานทดแทน ประเภทโคเจนเนอเรชั่น จากการประกวด Thailand Energy Awards ปี 2017-2018 และBECส่งประกวดASEAN Renewable Energy Project Competitionและคว้ารางวัลชนะเลิศประเภทโคเจนเนอเรชั่นในปี 60  ส่วน BPC เข้าร่วมประกวด ปี 61 ซึ่งจะตัดสินการประกวดและมอบรางวัลในเดือนต.ค. ที่ประเทศสิงคโปร์.

จาก www.tnamcot.com  วันที่ 21 มิถุนายน 2561

ไทยเจ้าภาพจัดงาน “วันดินโลก” สืบสานศาสตร์พระราชาพัฒนาดิน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เตรียมจัดงานวันดินโลก ร่วมสืบสานศาสตร์พระราชา รำลึกพระเกียรติคุณในหลวง ร.9 FAO เผยเตรียมมอบรางวัล “วันดินโลก” ครั้งแรกในไทย

นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการวันดินโลก ครั้งที่ 2/2561 โดยมีผู้แทนจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และผู้แทนองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (อังกฤษ: United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization) หรือ ยูเนสโก (UNESCO) เข้าร่วมรับฟังแนวทางการจัดงานมอบรางวัล “วันดินโลก” และก่อตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยดินแห่งภูมิภาคเอเชีย (CESRA) ฐานข้อมูลงานวิจัยการฟื้นฟูทรัพยากรดินทั้งระบบนิเวศอาหารเพื่อก้าวสู่เป้าหมายการพัฒนาคุณภาพชีวิต ลดความอดอยากหิวโหยเป็นศูนย์ตามเป้าหมายของสหประชาชาติ ณ ห้องประชุม 115 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ปีนี้ถือเป็นปีสำคัญที่ประชาชนคนไทย จะได้สร้างสรรค์ผลงานจากการน้อมนำศาสตร์พระราชาสู่การปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาดิน ดังคำขวัญของวันดินโลกปีนี้ World Soil Day 2018 : Be the Solution to Soil Pollution หมายถึงการร่วมมือกันสร้างทางออกของปัญหามลพิษในดินทั่วโลก ซึ่งเชื่อมั่นว่าศาสตร์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรทฤษฎีใหม่ประยุกต์จะเป็นหลักคิดใหม่ของการทำการเกษตร ที่มองเห็นความสัมพันธ์ของทั้งระบบการเพาะปลูก ตั้งแต่ดิน น้ำ ป่าต้นน้ำ อากาศ จะเป็นการสร้างระบบการผลิตบนฐานคิดใหม่ (New Paradigm) ซึ่งจะเป็นการปฏิรูประบบการเกษตรทั้งระบบด้วยศาสตร์พระราชา จึงขอเชิญทุกภาคีเครือข่ายไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานราชการ กรมอื่นๆ กระทรวงต่างๆ สถาบันศาสนา สถาบันการศึกษา ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมรวมทั้งประชานทุกคน ที่สำคัญอย่างยิ่งคือสื่อมวลชนได้มาร่วมกันจัดงานแสดง “ผลสำเร็จของการน้อมนำศาสตร์พระราชาสู่การปฏิบัติ” โดยรณรงค์ให้เกิดการขับเคลื่อนกิจกรรมต่อเนื่องตลอดทั้งปี

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ จะมุ่งเน้นด้านการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาดินด้วยการมองทั้งระบบตามศาสตร์พระราชา เพื่อสร้างเป็นโมเดลที่สามารถขยายผลไปยังประเทศอื่นๆ ทั่วโลกที่ยังคงต้องเผชิญภาวะความอดอยากหิวโหย โดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้จัดเตรียมรางวัล “วันดินโลก” (World Soil Day Award) ซึ่งจัดทำขึ้นเป็นครั้งแรกในปีนี้ เพื่อมอบให้กับผู้ที่มีผลงานโดดเด่นในการดูแลดินเพื่อสร้างอาหารที่ปลอดภัยและเพียงพอต่อประชากรโลกซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุด จึงต้องให้ความสำคัญกับปัญหาการป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดิน การปนเปื้อนสารเคมีในดินจากสารพิษและสารเคมี รวมถึงพลาสติกต่างๆ ที่นับวันจะกลายเป็นปัญหาใหญ่และส่งผลต่อคุณภาพอาหาร และตัวเกษตรกรเองในที่สุด

“ในปีนี้นอกจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) จะเตรียมมอบรางวัล “วันดินโลก” (World Soil Day Award) แล้วกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฯ ยังเตรียมพร้อมจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยดินแห่งภูมิภาคเอเชีย (CESRA) เพื่อเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมข้อมูลตัวอย่างความสำเร็จของการแก้ไขปัญหาดินเพื่อการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และจัดกิจกรรมการฟื้นฟูดินอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี จึงขอเชิญชวนทุกภาคส่วนเข้าร่วมระลึกถึง พระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปริมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชผู้ทรงอุทิศพระวรกายศึกษาวิจัยเรื่องดินจนสหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินฯ ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล “นักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม” เป็นการปฏิบัติบูชาตามรอยเบื้องพระยุคลบาทอย่างแท้จริง”นายวิวัฒน์ กล่าว

จาก https://siamrath.co.th   วันที่ 21 มิถุนายน 2561

ส่งออก พ.ค.ยังพุ่งต่อเนื่องร้อยละ 11.4

พาณิชย์เผยเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ดันส่งออกไทยเดือนพฤษภาคมขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ  11.4  แม้ว่าหลายประเทศมีมาตรการกีดกันทางการค้า แต่ไทยยังไม่ได้รับผลกระทบ มั่นใจทั้งปีโตร้อยละ 8

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกเดือนพฤษภาคมมีมูลค่ากว่า 22,256 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 11.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 15 เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าต่าง ๆ ทำให้มีกำลังซื้อดีขึ้นและไทยสามารถกระจายการส่งออกไปตลาดต่าง ๆ ได้ ทั้งญี่ปุ่น ยุโรป จีน และอาเซียน หากหักการส่งออกน้ำมันและทองคำออกการส่งออกของไทยก็ยังคงขยายตัวได้ถึงร้อยละ 8 ซึ่งการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวได้ถึงร้อยละ  12.6 โดยสินค้ากลุ่มรถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ เม็ดพลาสติก ขยายตัวระดับสูง ขณะที่สินค้ากลุ่มเกษครและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว ร้อยละ 1.5 ขณะที่ข้าว ไก่สดแช่แข็งและแปรรูปยังคงส่งออกได้ต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ส่งผลให้การส่งออกในช่วง 5 เดือนแรก มีมูลค่ากว่า 104,031 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 11.6 สูงสุดในรอบ 7 ปี แสดงให้เห็นว่าสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนไม่ได้มีผลกระทบต่อการค้า และการส่งออกของไทยมากนัก และมั่นใจว่าปีนี้จะผลักดันการส่งออกให้ขยายตัวถึงร้อยละ 8 อย่างแน่นอน เนื่องจากค่าเงินบาทเริ่มอ่อนค่าลง ทำให้มีรายได้ในรูปเงินบาทมากขึ้นและจะมีการทบทวนประมาณการส่งออกทั้งปีใหม่ในเดือนกรกฎาคมอีกที เพราะการส่งออกขยายตัวดีกว่าคาด

อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามสงครามการค้าอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะมาตรการกีดกันทางการค้า นโยบายการค้าของสหรัฐ  เพราะจะส่งผลต่อความผันผวนทางการค้าและอัตราแลกเปลี่ยน และอาจมีผลต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจและการค้าโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทุกประเทศ แต่ยังไม่มีผลกระทบต่อไทย เพราะสหรัฐไม่มีมาตรการกีดกันทางการค้าโดยตรงต่อไทยและมีความสัมพันธ์ทางการค้าที่ดีระหว่างกัน แต่อาจจะได้รับผลกระทบทางอ้อม เพราะมีรายการสินค้าส่งออกอยู่ในกลุ่มเดียวกับที่สหรัฐมีมาตรการกีดกันกับประเทศคู่ค้าบางประเทศ เช่น โซลาร์เซล เครื่องซักผ้า เหล็กอลูมิเนียม  เป็นต้น

ส่วนการนำเข้าเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมามีมูลค่า 21,053 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 16.6 จากการนำเข้าเชื้อเพลิง  สินค้าทุนและวัตถุดิบ และไทยยังเกินดุลการค้ากว่า 1,203.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 5 เดือนแรกไทยยังเกินดุลการค้ากว่า 1,877 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และวันที่ 26 มิถุนายนนี้กระทรวงพาณิชย์จะร่วมประชุมกับตัวแทนสมาคมการค้าและอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อประเมินสถานการณ์สงครามการค้าที่ออกมาขณะนี้จะกระทบต่อการค้าของไทยแค่ไหนและเตรียมรับมือกันอย่างไร.

จาก www.tnamcot.com  วันที่ 21 มิถุนายน 2561

จี้กรมวิชาการเกษตร เปิดเผยข้อมูลต่อทะเบียน 3 สารพิษ

 ใช้เวลาพิจารณานาน 5 เดือน กรมวิชาการเกษตรไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลต่อทะเบียนสารพิษ 3 ชนิดขายได้อีก 6 ปี ภาคีสนับสนุนการแบนฯเดินหน้าอุทธรณ์ ชี้ข้อมูลที่เกี่ยวพันกับสุขภาพและสิ่งแวดล้อมต้องเปิดเผยต่อสาธารณะ

เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.61 ตามที่เมื่อ พ.ย.60 กรมวิชาการเกษตร ได้อนุญาตให้มีการต่อทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืช 3 ชนิด คือ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ทั้งที่ขัดกับมติคณะกรรมการขับเคลื่อน ปัญหาการใช้สารเคมีที่มีความเสี่ยงสูงกระทรวงสาธารณสุข

นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานภาคีเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรงเปิดเผยว่า ทางภาคีเครือข่ายฯ ได้ใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญและพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารตามทางราชการ พ.ศ 2540 ขอให้ทางกรมวิชาการเกษตรเปิดเผยข้อมูลเอกสารเกี่ยวกับการต่ออายุใบสำคัญ บัญชีรายการสารเคมีที่ต่อทะเบียน คำจอต่อทะเบียน และรายงานการประชุมที่เกี่ยวข้องแต่กรมวิชาการเกษตรได้ใช้เวลาถึง 5 เดือนเต็มที่จะตอบและยังปฏิเสธในการให้ข้อมูลดังกล่าว โดยอ้างว่าต้องขออนุญาตกับผู้ขอต่อทะเบียนเฉพาะราย และบัญชีรายชื่อสารเคมีที่ได้รับการต่อทะเบียนนั้นไม่ควรเปิดเผยโดยเห็นว่าอาจส่งผลกระทบในวงกว้าง ทางภาคีเครือข่ายฯจึงต้องใช้สิทธิอุทธรณ์ ต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารทางราชการ เพราะข้ออ้างของกรมวิชาการเกษตรนั้นขัดกฎหมายหลายฉบับ

"การที่กรมวิชาการเกษตรมีคำสั่งไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารโดยไม่ได้ชี้แจงแสดงเหตุผลของคำสั่งหรือการใช้ดุลพินิจให้ทราบโดยชัดแจ้ง มีเพียงการกล่าวถึงข้อกฎหมายที่อ้างอิง จึงขัดต่อมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 เอกสารบัญชีรายการต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายเป็นข้อมูลข่าวสารของราชการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ตามประกาศคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ เรื่อง การกำหนดให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเป็นข้อมูลข่าวสารที่ต้องจัดไว้ให้ ประชาชนเข้าตรวจดูได้ตามมาตรา 9(8) แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ซึ่งข้อมูลข่าวสารดังกล่าวมิได้กระทบถึงประโยชน์หรือส่วนได้เสียของผู้ใดเป็นการเฉพาะราย แต่ข้อมูลหรือเอกสารดังกล่าว กระทบถึงส่วนได้เสียสำคัญของประชาชนอันอาจได้รับผลกระทบทางสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นจากการอนุญาตให้ใช้วัตถุอันตรายดังกล่าว"

ทางภาคีเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง ขอข้อมูลข่าวสารที่เป็นเอกสารประกอบคำขอต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทั้งหมดที่มีผู้ยื่นต่อกรมวิชาการเกษตร ไม่ได้ขอข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลที่เป็นความลับทางการค้าตามที่มีกฎหมายห้ามเปิดเผยแต่อย่างใด และไม่เป็นข้อมูลที่หากเปิดเผยจะกระทบต่อประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียอันจะต้องสอบถามความยินยอมจากผู้มีส่วนได้เสียนั้นก่อน ตรงกันข้ามกลับเป็นข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะและสวัสดิภาพความปลอดภัยของประชาชน เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐสามารถใช้ดุลพินิจที่จะมีคำสั่งให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารนั้นได้โดยคำนึงถึงการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของหน่วยงานของรัฐ ประโยชน์สาธารณะ และประโยชน์ของเอกชนที่เกี่ยวข้องประกอบกันตามหลักเกณฑ์มาตรา 15 วรรคหนึ่ง ของพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540

ดังนั้น การที่กรมวิชาการเกษตรมิได้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามคำขอโดยกล่าวอ้างว่าต้องขอความยินยอมจากผู้ยื่นคำขอต่ออายุทะเบียนเป็นรายกรณีเสียก่อนจึงจะเปิดเผยข้อมูลได้นั้น จึงเป็นการใช้ดุลพินิจออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและขัดต่อเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 ด้วย

ทางภาคีเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง จึงตัดสินใจอุทธรณ์และขอให้คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตามคำขอทั้งหมด เพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชนและสร้างบรรทัดฐานที่ดีเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลของราชการโดยมิให้ล่าช้า อันมีลักษณะขัดขวางการเข้าถึงข้อมูลในการใช้สิทธิตามกฎหมายและเพื่อให้หน่วยงานรัฐยึดถือปฏิบัติต่อไป"

หลังการต่อทะเบียนของกรมวิชาการเกษตรให้กับสารเคมีที่มีอันตรายร้ายแรงเหล่านี้ พบว่า มีการนำเข้าอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะ พาราควอต ปี 2560 นำเข้ามากถึง 44.5 ล้านกิโลกรัมเป็นการนำเข้ามากถึง 2 เท่าเมื่อเปรียบเทียบกับ 2557 และมากกว่าการนำเข้าในปี 2559 มากกว่า 41% ในขณะที่มีการนำเข้าคลอร์ไพรีฟอสเพิ่มขึ้นกว่า 60% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2559

จาก www.bangkokbiznews.com  วันที่ 21 มิถุนายน 2561

ใช้ได้แต่ต้องจัดระเบียบ! เกษตรกร-นักวิชาการแนะคุมเข้ม‘พาราควอด-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอส’

นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ ประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร อ.หนองหญ้าไซ จ.สุพรรณบุรี กล่าวในงานประชุมสรุปข้อเสนอมาตรการจำกัดการใช้สารเคมีเกษตร 3 ชนิด คือพาราควอด (Paraquat) ไกลโฟเซต (Glyphosate) และคลอร์ไพริฟอส (Chlorpyrifos) เพื่อนำเสนอต่อกรมวิชาการเกษตร ณ รร.มารวยการ์เด้นท์ ย่านบางเขน กรุงเทพฯ ว่า วันนี้สิ่งแรกที่ต้องทำคือควบคุมการขายสารทั้ง 3 ในร้านค้าเฉพาะให้ได้ก่อน เช่น เมื่อเกษตรกรมาซื้อต้องแจ้งว่าจะซื้อจำนวนเท่าไร ซื้อไปทำอะไร

ซึ่งจะทำให้ตรวจสอบได้ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง รวมถึงควบคุมไม่ให้มีการนำสินค้าด้อยคุณภาพมาขายให้เกษตรกรได้ด้วย เพราะแม้จะเป็นสารเคมีตัวเดียวกันแต่มีผู้ผลิตหลายรายคุณภาพก็อาจไม่เหมือนกัน โดยมีศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศจำนวน 882 ศูนย์เป็นกลไกหลัก พร้อมกับย้ำว่าผู้ผลิตสารเคมีเกษตรต้องเข้ามาร่วมกับภาครัฐให้ความรู้การใช้งานที่ถูกวิธีกับเกษตรกรด้วย

“บริษัทไหนที่ผลิตที่นำเข้า มีธุรกิจมีกำไร ลูกค้าคือเกษตรกร คุณต้องเข้ามาสนับสนุนด้วยการให้ความรู้ ราชการจะเอาเงินที่ไหนมาอบรมคน 5 ล้านครอบครัว ต้องสนับสนุนเงินเข้ามา เราต้องสร้างทีมที่มีทั้งนักวิชาการภาครัฐและบริษัทผู้ค้าหรือผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ขึ้นมาให้ความรู้ ผ่านศูนย์ ศพก. 882 ศูนย์ เรามีสถานที่ที่เหมาะสมอยู่แล้ว อบรมใครบ้าง 1.ให้ผู้ที่ฉีดเอง ใครที่ยังฉีดเองไม่ใช่พวกโทรศัพท์สั่งคนอื่นฉีดก็ให้เข้ามา กับ 2.พวกรับจ้างฉีดทั้งคนไทยและต่างชาติ ต้องอบรมเขา” นายสุกรรณ์ กล่าว

ขณะที่ รศ.ดร.พรชัย เหลืองอาภาพงศ์ อาจารย์ภาควิชาพืชศาสตร์และปฐพีศาสตร์ สาขาวิชาพืชไร่ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) กล่าวว่า ร้านค้าที่จะขายสารเคมีเกษตรควบคุม 3 ชนิดคือพาราควอด ไกลโฟเซตและคลอร์ไพริฟอส ต้องยกระดับตนเองให้เป็นร้าน “คิวช็อป” (Q Shop) หรือโครงการร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพ โดยอย่างน้อยคือต้องมีความรู้เกี่ยวกับสารทั้ง 3 ชนิดนี้ก่อน เช่น รู้จักวิธีการใช้ อันตรายและการป้องกันอันตรายจากการใช้ รวมถึงให้ความรู้กับผู้รับจ้างพ่นสารเคมีด้วย

“จริงๆ แล้วแรงงานต่างชาติเขามีความรู้นะเพราะเขาสัมผัสกับสารเคมีโดยตรง เพียงแต่ต้องกระตุ้นให้รู้สึกว่ามันไม่ใช่สารเคมีที่ปลอดภัยทั้งหมด ให้เขาตระหนักว่าฉีดแล้วมันไม่ไปปนในผลผลิตทางการเกษตร แล้วที่สำคัญที่สุดคือเรื่องสิ่งแวดล้อม อันนี้ก็ต้องให้ความรู้ มีการอบรม วันนี้ที่อยากให้มีคืออบรมผู้อบรม คือคนไม่พอไปอบรมทั้งประเทศ ก็น่าจะมีอาสาสมัครทั้งภาครัฐ ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือภาคการศึกษาที่เรามีมหาวิทยาลัยราชภัฎ มีวิทยาลัยเกษตรทั่วประเทศ ก็ให้คนเหล่านี้ไปให้ความรู้ร้านค้าและเกษตรกร” อาจารย์พรชัย กล่าว

ทั้งนี้สืบเนื่องจากเมื่อ 23 พ.ค. 2561 มีการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ณ กระทรวงอุตสาหกรรม และที่ประชุมมีมติให้พาราควอด ไกลโฟเซตและคลอร์ไพริฟอส ยังใช้ได้ต่อไปในประเทศไทย พร้อมกับมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งจัดทำข้อควบคุมการใช้สารทั้ง 3 ชนิดว่าจะใช้ได้กับพืชใดหรือพื้นที่ใดได้บ้าง ให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากภาคประชาชนบางกลุ่มที่ต้องการให้สินค้าเกษตรไทยปลอดการใช้สารเคมี

จาก www.naewna.com   วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2561

‘พาณิชย์’ หารือเลขาธิการอาเซียน พร้อมรับไม้ต่อเป็นประธานอาเซียนปีหน้า

น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. ที่ผ่านมา ได้หารือร่วมกับ ดาโต๊ะ ปาดูกา ลิม จ็อก ฮอย เลขาธิการอาเซียนคนใหม่ ที่เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือน ม.ค. 2561 ในโอกาสที่เดินทางมาประเทศไทย เพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี–เจ้าพระยา–แม่โขง ครั้งที่ 8 (ACMECS) ระหว่างวันที่ 15–16 มิ.ย. 2561 ซึ่งไทยได้แสดงความยินดีต่อการรับตำแหน่งดังกล่าว และได้หารือถึงความร่วมมือของรัฐบาลไทยและสำนักเลขาธิการอาเซียนในการเตรียมการเป็นประธานอาเซียนของไทยในปี 2562

การหารือครั้งนี้  ไทยได้แสดงความพร้อมที่จะเป็นประธานอาเซียนในปีหน้า โดยในด้านเศรษฐกิจกระทรวงพาณิชย์จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในระดับต่างๆ รวม 7 การประชุม ซึ่งขณะนี้ไทยอยู่ระหว่างการพิจารณาประเด็นด้านเศรษฐกิจที่ไทยจะผลักดันให้มีความคืบหน้าหรือเกิดผลเป็นรูปธรรม โดยตลอดทั้งปี 2562 ที่ประเทศไทยดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน สำนักเลขาธิการอาเซียนจะเป็นกำลังสำคัญหลักในการสนับสนุนการทำงานและความร่วมมือต่างๆ ของประชาคมอาเซียน ซึ่งเลขาธิการอาเซียนแสดงความพร้อมที่จะสนับสนุนการทำงานของไทย รวมทั้งร่วมผลักดันความร่วมมือในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนการรวมตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนให้มีความก้าวหน้าและได้รับประโยชน์ร่วมกัน

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังเห็นร่วมกันว่า เพื่อขับเคลื่อนการทำงานของอาเซียนให้บรรลุเป้าหมายตามวิสัยทัศน์ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในการเป็นประชาคมที่มีความเชื่อมโยง รวมตัวกันอย่างแน่นแฟ้น มีความสามารถในการแข่งขัน มีนวัตกรรม และมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง รวมทั้งสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสมโดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 อาเซียนควรให้ความสำคัญกับการทำงานในประเด็นที่มีความคาบเกี่ยว (cross-cutting) ทั้งระหว่างเสาประชาคม และระหว่างองค์กรรายสาขามากขึ้น รวมทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนด้วย

ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือเกี่ยวกับการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) โดยเห็นพ้องกันว่าอาเซียนและคู่เจรจา 6 ประเทศ ต้องมุ่งมั่นตั้งใจร่วมกันที่จะสรุปการเจรจาอาร์เซ็ปให้ได้ในปี 2561 ผู้นำของแต่ละประเทศจะต้องให้ท่าทีในการเจรจากับผู้แทนของประเทศตนที่ยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อเร่งรัดให้การเจรจามีความคืบหน้าและสามารถสรุปได้โดยเร็วที่สุด โดยเฉพาะเรื่องการเปิดตลาด นอกจากนี้ ในแต่ละรอบการเจรจาทุกประเทศจะต้องพยายามอย่างเต็มที่ ในการทยอยสรุปประเด็นที่จะอยู่ในความตกลงให้ได้ตามแผนงานที่กำหนดร่วมกันไว้ ซึ่งขณะนี้สามารถสรุปได้แล้ว 2 เรื่องจากทั้งหมด 18 เรื่อง ทั้งนี้ ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการเจรจาจัดทำความตกลงอาร์เซ็ป ครั้งที่ 23 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ในวันที่ 17-27 ก.ค. 2561 ซึ่งจะเป็นการประชุมรอบสำคัญก่อนการประชุมรัฐมนตรีอาร์เซ็ป ครั้งที่ 6 ในช่วงต้นเดือน ก.ย. 2561

จาก www.thansettakij.com วันที่ 20 มิถุนายน 2561

เปิดเกมสู้ยักษ์เคมีข้ามชาติ - ไทยกรีนฯลุยตั้งดีลเลอร์ 77 จังหวัด

กรณีสมาคมสภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน(USABC) ซึ่งทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้กับบริษัทอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรรายใหญ่ของสหรัฐฯอาทิ Cargill, Archer Daniel Midlands, Coca Cola, Elanco Animal Health and Monsanto, Dopont, MSD Animal Health,Pepsi, Syngenta, Yum Brands และ Zoetis เป็นต้น ได้สนับสนุนให้คงการใช้สารพารา

ควอตและไกลโฟเสตในประเทศไทย อ้างเหตุผลจากการวิจัยพบว่ามีความปลอดภัยหากมีการใช้อย่างถูกต้อง และได้รับการจดทะเบียนอนุญาตใช้ 160 ประเทศทั่วโลก และที่สำคัญการห้ามใช้จะส่งผลกระทบต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในอุตสาหกรรมดังกล่าวที่จะลดน้อยลงนั้น

จี้เร่งแบนพาราควอต

นายมนตรี บุญจรัส กรรมการผู้จัดการบริษัท ไทยกรีนอะโกร จำกัด และประธานกรรมการชมรมเกษตรปลอดสารพิษ ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การใช้สารพาราควอตและไกลโฟเสตในไทยปัจจุบันยังมีการใช้อย่างแพร่หลาย และส่งผลกระทบต่อแหล่งเพาะปลูก รวมถึงผลิตผลภาคการเกษตร ที่ส่งต่อเป็นอาหารเลี้ยงคนในประเทศโดยจะมีสารพิษของยาฆ่าหญ้าเหล่านี้ตกค้างปนเปื้อนไปยังอาหารที่คนบริโภค

การที่รัฐบาลโดยคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติที่ประชุม (23 พ.ค. 61) ยังคงไม่ยกเลิกการใช้วัตถุอันตรายทั้ง 3 ชนิด (พาราควอต คลอร์ไพริฟอส ไกลโฟเสต โดยให้เหตุผลว่าข้อมูลผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพยังไม่เพียงพอ) ซึ่งขัดแย้งกับความเห็นของประชาคมวิชาการและมติของสภาเกษตรกรแห่งชาติที่สนับสนุนการแบนสารพิษอันตรายร้ายแรงนั้น นอกจากจะทำให้ประเทศไทยเสียเงินตราออกนอกประเทศหลายหมื่นล้านบาทต่อปีเพื่อนำเข้าสารดังกล่าวแล้ว คนไทยยังได้รับความเสี่ยงต่อการเกิดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ  จากการรับประทานอาหาร และผัก ผลไม้ที่มีการปนเปื้อนของสารพิษจากยาฆ่าแมลงที่สะสมอยู่ตามดิน เทือกเขา แหล่งนํ้า ลำธารต่างๆ ที่เป็นแหล่งเพาะปลูกพืช

“ไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลปล่อยให้มีการต่ออายุและอนุญาตนำเข้าสารเคมีเหล่านี้ ทั้งที่งบประมาณในการดูแลรักษาผู้ป่วยของคนไทยก็ไม่เพียงพอ ก็ไม่ทราบด้วยเหตุผลลึกๆ ประการใดที่รัฐบาลยังปล่อยให้สารพิษเหล่านี้เข้ามาในบ้านเรา ทั้งที่หลายประเทศไม่ต้องการ”

ปรับแผนใหม่สู้เคมีเกษตร

สำหรับชมรมเกษตรปลอดสารพิษและไทยกรีนอะโกร พยายามต้อสู้ และสนับสนุนให้เกษตรกรไทยทำเกษตรแบบปลอดสารพิษ หรือเกษตรอินทรีย์ ซึ่งเป็นเทรนด์ของโลกมาโดยตลอด โดยสนับสนุนให้ใช้ผลิตภัณฑ์ชีวภาพในการป้องกันโรค และแมลง และบำรุงรักษาพืช ไม่ใช้สารเคมี ที่เป็นอันตรายต่อคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม และพร้อมที่จะเป็นหัวหอกในการแข่งขันกับบริษัทผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เคมีและสารเคมีข้ามชาติ

“ผลิตภัณฑ์ชีวภาพของบริษัทมีเป็น 100 ไอเทม แต่สามารถแบ่งออกได้ 5 กลุ่ม ที่เรียกว่า 5 เสือจุลินทรีย์ชีวภาพ ได้แก่ จุลินทรีย์ที่ทำหน้าที่ควบคุม ทำลาย หรือยับยั้งเชื้อราในดิน, ป้องกันกำจัดศัตรูพืชจำพวกแมลง, ผลิตภัณฑ์กำจัดปลวก และกำจัดหนอนแบบปลอดสารพิษ

ซึ่งผลิต ภัณฑ์ชีวภาพในเรื่องเกษตรปลอดสารพิษเราถือเป็นอันดับ 1 ของประเทศ ตอบโจทย์พืชทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นพืชผัก ผลไม้ พืชไร่ ข้าว อ้อย ปาล์ม ยางพารา แต่ยังมียอดขายไม่มากระดับ 50-60 ล้านบาทต่อปี เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่ยังเป็นเกษตรเคมีเสียส่วนใหญ่(เกษตรเคมี 90%) ต้องใช้เวลาในการสร้างความรู้ความเข้าใจในสินค้าของบริษัท”

สำหรับสินค้าของไทยกรีน ทำตลาดภายใต้แบรนด์ “ใบไม้ลายธงชาติ” มีจำหน่ายในร้านสาขาของบริษัทเอง 20 สาขา และในร้านค้าตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรกว่าที่รับสินค้าของบริษัทไปจำหน่าย(คู่กับเคมีเกษตร) 500 แห่งทั่วประเทศ ทั้งนี้เพื่อทำการตลาดเชิงรุก และลดค่าใช้จ่ายในร้านสาขาของบริษัทที่มีต้นทุนเรื่องค่าเช่าที่ ค่าคนเฝ้าร้าน ค่าฝึกอบรมคนเฝ้าร้านและอื่นๆ  ปีนี้ได้ปรับนโยบายใหม่โดยอยู่ระหว่างเจรจากับดีลเลอร์ที่เป็นผู้จำหน่ายเคมีเกษตรใน 5 อันดับแรกของทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อให้ดีลเลอร์เหล่านี้ที่มีความพร้อมเรื่องคน เรื่องคลังสินค้า และเครือข่าย/สาขา ทำหน้าที่นำสินค้าของบริษัทไปกระจายและวางจำหน่ายควบคู่กับเคมีเกษตรเพื่อสร้างทางเลือกแก่เกษตรกรแต่เพียงผู้เดียวในแต่ละจังหวัด

“เรามีแผนจะปิดร้านสาขาเดิมของบริษัทเองทั้งหมด และใช้ระบบดีลเลอร์ 1 รายใหญ่ต่อ 1 จังหวัดแทน โดยจะมีการเซ็นสัญญาและตกลงเป้าหมายร่วมกัน ซึ่งปีนี้เป็นปีแรกที่เราจะทำตลาดในระบบดีลเลอร์ จะทำให้เรามียอดขายโตแบบก้าวกระโดด เป้าหมาย 70-100 ล้านบาทภายใน 3 ปี ซึ่งเมื่อเทียบกับการนำเข้าปุ๋ยเคมีของไทยปีหนึ่งกว่าแสนล้านบาท รวมกับยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าเชื้อรา ยาฆ่าแมลงปีหนึ่งอีกเกือบแสนล้านบาท รวมกันเกือบ 2 แสนล้านบาท ขณะที่มีการนำเข้าสารชีวภัณฑ์เข้ามาเพียงปีละ 5-10 ล้านบาทแล้วถือว่าเกษตรปลอดสารพิษของไทยยังต้องใช้เวลาต่อสู้กับเกษตรเคมีอีกนาน”

จาก www.thansettakij.com วันที่ 20 มิถุนายน 2561

ครม.เคาะราคาอ้อยขั้นต่ำ 880 บ. ยัน”บราซิล”ไม่ข้องใจช่วงชาวไร่

ด้าน พล.ท.สรรเสริญ  แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2560/2561 โดยกำหนดราคาอ้อยขั้นต้น ในอัตรา 880 บาทต่อตัน กำหนดอัตราขึ้นลงที่ 52.80 บาท ขณะที่ผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้นที่ 377.14 บาทต่อตัน ส่วนในเขตคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นที่ 5 กำหนดราค้าอ้อยขั้นต้นที่ 830ด บาทต่อตัน ขณะที่ผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลขั้นต้นอยู่ที่ 355.71 บาทต่อตัน ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สอบถามใน ครม.ว่า การใช้เงินกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายช่วยชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลจะมีปัญหากับประเทศบราซิลหรือไม่ ซึ่ง รมว.อุตสาหกรรมได้ยืนยันว่าไม่มีปัญหาแต่อย่างใด

จาก www.thairath.co.th  วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2561

‘อุต’ฟันรง.ขยะพิษ พักใบอนุญาต-ตีกลับ1.4หมื่นตัน

นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้มีคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตบริษัทนำเข้าซากอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 5 ราย ได้แก่ บริษัท ไวโรกรีน(ไทยแลนด์) จำกัด บริษัท โอ.จี.ไอจำกัด บริษัท เจ.พี.เอส เมทัลกรุ๊ปอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัท หย่งถัง ไทย จำกัด และบริษัท เอส.เอส.อิมปอร์ตเอ็กปอร์ต อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด โดยไม่ให้มีการนำเข้าซากอิเล็กทรอนิกส์เป็นระยะเวลา 1 ปี ฐานกระทำผิดเงื่อนไขส่งซากอิเล็กทรอนิกส์ให้กับโรงงานอื่นที่ไม่มีใบอนุญาตคัดแยกแทน

ส่วนโรงงานที่รับซากอิเล็กทรอนิกส์จาก 5 โรงงานดังกล่าว มาคัดแยกหรือครอบครองโดยที่ไม่มีใบอนุญาตตามอนุสัญญาบาเซล กรมโรงงานอุตสาหกรรมจึงได้ร่วมกับ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ออกคำสั่งตามมาตรา 52 วรรค 1 แห่ง พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ให้ทำการส่งชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ที่มีไว้ในครอบครองคืนบริษัทต้นทางจำนวนกว่า 14,000 ตัน

ทั้งนี้ กรอ.ได้ร่วมกับ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา ออกคำสั่งให้ บริษัท ดับบลิว เอ็ม ดี ไทย รีไซคลิ้ง จำกัด ส่งซากอิเล็กทรอนิกส์กลับคืนบริษัทต้นทาง หลังพบข้อเท็จจริงว่า บริษัทดับบลิว เอ็ม ดี ไทยฯ ไม่ได้มีใบอนุญาตนำเข้าซากอิเล็กทรอนิกส์ จึงไม่มีสิทธิ์คัดแยกหรือครอบครองชิ้นส่วนดังกล่าว ตาม พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ทั้งนี้ กรอ.พบว่าบริษัทดังกล่าวได้รับซากอิเล็กทรอนิกส์จาก 3 บริษัทผู้นำเข้ารวมทั้งสิ้น 1,590 ตัน ได้แก่ บริษัท ไวโรกรีน(ไทยแลนด์) จำกัด จำนวน 1,120 ตัน บริษัท โอ.จี.ไอ จำกัด จำนวน 350 ตัน และบริษัท เจ.พี.เอส เมทัลกรุ๊ปอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จำนวน 120 ตัน

นอกจากนี้ บริษัท ดับบลิว เอ็ม ดีไทยฯ ยังต้องดำเนินการส่งซากอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวไปยังบริษัทผู้นำเข้าภายใน 30 วันหลังจากที่ได้รับคำสั่ง โดย กรอ.จะกำชับเรื่องกระบวนการขนส่งให้เป็นไปอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพตามมาตรฐานของกรมโดยการใช้ระบบ GPS พร้อมทั้งให้ทางบริษัทจัดส่งบันทึกเส้นทางการเดินรถตั้งแต่ต้นทางจนถึงบริษัทผู้นำเข้าเพื่อป้องกันการลักลอบทิ้งระหว่างทางขนส่งอย่างเข้มงวด

นายมงคลกล่าวว่า กรอ.ได้ส่งเจ้าหน้าที่ร่วมกับ กรมศุลกากร ประจำการที่ท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อร่วมตรวจสอบตู้สินค้า ที่อาจเข้าข่ายต้องควบคุมตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พร้อมกับลงพื้นที่

ในจังหวัดนครปฐม สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และชลบุรี เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของทั้ง 148 โรงงาน ที่รับรีไซเคิลซากอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ ยังจะมีการทบทวนกฎระเบียบการควบคุมการเคลื่อนย้ายของเสียอันตรายและการกำจัดข้ามแดนร่วมกับคณะอนุกรรมการอนุสัญญาบาเซล เสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อเป็นทิศทางในการกำหนดนโยบายการนำเข้าชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นวัตถุอันตราย เช่นเดียวกับกรณีแบตเตอรี่ตะกั่ว-กรด โดยคาดว่าจะรู้ผลภายในเดือนมิถุนายน 2561

จาก www.naewna.com วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ดันตั้งสวัสดิการ‘เกษตรกร’ เกษตรฯเล็งปรับกองทุนสงเคราะห์ฯสร้างความมั่นคงอาชีพ

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯได้รวบรวมปัญหาของเกษตรกร เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาระยะยาวอย่างยั่งยืน ซึ่งพบปัญหาหลักๆ อาทิ มีการลงทุนสูงแต่รายได้ต่ำ สภาพดินฟ้าอากาศแปรปรวน ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ เป็นต้น ถึงแม้ว่าขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ มีแผนการผลิตที่เชื่อมโยงกับความต้องการของตลาด แต่เกษตรกรยังขาดแรงจูงใจที่จะทำตามแผนดังกล่าว ประกอบกับเมื่อเกษตรกรประสบปัญหาขาดทุน ประสบภัยพิบัติ เกิดความล้มเหลวในอาชีพก็ไม่มีใครช่วยเหลือ กระทรวงเกษตรฯ จึงมีแนวความคิดให้อาชีพเกษตรกร เป็นอาชีพที่มั่นคงเทียบเท่าข้าราชการ หรือ กรรมกรที่มีสวัสดิการรองรับเมื่อประสบปัญหาในการประกอบอาชีพ  โดยได้นำพระราชบัญญัติกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร พ.ศ.2554 ซึ่งมีทุน 2,900 กว่าล้านบาท มาดำเนินงานต่อ โดยมีเงื่อนไขให้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกร และปลูกพืชตามแผนที่กระทรวงเกษตรฯ กำหนด หากในอนาคตเกิดปัญหา ไม่ว่าจะเป็นราคาสินค้าตกต่ำ ประสบภัยพิบัติ ฯลฯ เกษตรกรจะได้รับความช่วยเหลือจากกองทุน ทั้งนี้ คาดว่าจะใช้เวลา 1 เดือนในการวางแผนดำเนินงาน และหางบสนับสนุนเพิ่มเติม

โดยจากสถิติการใช้งบประมาณช่วยเหลือเกษตรกรพบว่า บางปีภาครัฐใช้เงินกว่า 200,000 ล้านบาท ในการเข้าไปอุดหนุนหรือช่วยเหลือเกษตรเมื่อประสบปัญหา แต่หากนำเงินส่วนนี้มาตั้งเป็นกองทุนเพื่อดูแลสวัสดิการแก่เกษตรกร น่าจะใช้งบน้อยกว่า และมีแรงจูงใจให้เกษตรกรปลูกพืชตามแผนที่กระทรวงเกษตรฯ วางไว้ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาภาคเกษตรได้อย่างยั่งยืน สำหรับแนวทางการตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนสวัสดิการให้เกษตรกรนั้น กระทรวงเกษตรฯได้มีการเสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรียบร้อยแล้ว เบื้องต้นนายกรัฐมนตรีเห็นด้วย และสั่งการให้ดำเนินการเรื่องสวัสดิการการดูแลเกษตรกร รวมไปจนถึงเรื่องของการเสียชีวิตแล้วมีค่าชดเชย เหมือนการประกอบอาชีพอื่น เพื่อยกระดับอาชีพเกษตรกรรม โดยเกษตรกรทุกสาขาจะต้องมีสวัสดิการดูแล มีเงินจากกองทุนคุ้มครอง เหมือนกับเกษตรกรต่างประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น เป็นต้น ที่มีการให้สวัสดิการแก่เกษตรกรดูแลตลอดชีพจนกระทั่งเสียชีวิต มีเงินเยียวยาเกษตรกรเมื่อเจอปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ อาทิ น้ำท่วม ภัยแล้ง เป็นต้น

นายกฤษฎา กล่าวอีกว่า เรื่องสวัสดิการเกษตรกร จะมีการดำเนินการอย่างรอบคอบ เนื่องจากอาจจะมีไปซ้ำซ้อนกับกองทุนอื่น อาทิ เรื่องบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตร 30 บาท) / กฎหมายของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) มีการกำหนดการดูแลสวัสดิการไว้ แต่เป็นเงินจ่ายขาด หากมีการจัดตั้งกองทุนดูแสสวัสดิการเกษตรกร จะต้องนำเกษตรกรชาวสวนยางเข้ามาดูแลด้วย แต่การดำเนินการเรื่องนี้ ต้องเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายอย่าง ต้องดูในข้อกฎหมายในเรื่องงบประมาณในการตั้งกองทุนและงบบริหารว่าขัดต่อพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลังหรือไม่ ต้องดูเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.กองทุนสงเคราะห์เกษตรกร พ.ศ.2554 และ พ.ร.บ.เศรษฐกิจการเกษตร ปี 2522 หรือไม่ต้องนำมาปรับถ้อยคำเพิ่มเติมบางมาตราเพื่อให้คุ้มครองการทำเกษตรกรรม

จาก www.naewna.com วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2561

บาทเปิดตลาดเช้านี้แข็งค่า 32.71 บาทต่อดอลลาร์

 ตลาดเริ่มสงบหลังปรับตัวลงแรงวานนี้ คาด "กนง." คงดอกเบี้ย 1.5% บาทแกว่งตัวกรอบแคบลง

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 32.71 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากปิดตลาดวานนี้ที่ระดับ 32.82 บาทต่อดอลลาร์

ในคืนที่ผ่านมาตลาดการเงินยังคงปิดรับความเสี่ยง (Risk Off) และนักลงทุนมีความระมัดระวังมากขึ้น เนื่องจากปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนเริ่มทวีความรุนแรง ดัชนี Dow Jones ของสหรัฐปรับตัวลงถึง 1.4% ขณะที่บอนด์ยิลด์สหรัฐอายุ 10ปีก็ปรับตัวลงมาที่ระดับ 2.90% ด้วย

สำหรับวันนี้เชื่อว่าตลาดจะเริ่มสงบลงบ้างหลังปรับตัวลงแรงไปเมื่อวันก่อนเนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องสงครามการค้า ขณะที่นักลงทุนในไทยจะจับตาไปที่การประชุมกนง.ในวันนี้ที่คาดว่าจะ “คง” อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.50% เช่นเดิม แต่ตลาดบอนด์ก็อยู่ในโหมดระมัดระวังตัวเพราะมีความเป็นไปได้ที่กนง.จะส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้

เราเชื่อว่าความเสี่ยงสงครามการค้า นโยบายการเงินที่เข้มงวดของเฟด และราคาน้ำมันที่สูง เป็นสามปัจจัยที่ส่งผลให้เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าต่อ และมองว่าเงินบาทอาจอ่อนค่าไปที่ระดับ 33.20 บาทในช่วงไตรมาสที่สามปีนี้ ขณะที่เงินดอลลาร์น่าจะอ่อนค่ากลับลงมาจากเศรษฐกิจในประเทศและการเมืองที่ผันผวนในช่วงปลายปี มองดอลลาร์สิ้นปีที่ระดับ 32.50 บาท

สำหรับเงินบาทช่วงต้นสัปดาห์อ่อนค่าเร็วเมื่อเทียบกับสกุลเงินเพื่อนบ้าน เราเชื่อว่าปัจจัยหลักมาจากแรงขายสินทรัพย์เสี่ยง หุ้นไทยยังไม่น่าสนใจถ้าการค้าโลกมีโอกาสชะลอตัว ขณะที่บอนด์ยิลด์ไทยก็มีโอกาสปรับตัวขึ้นถ้าเงินบาทอ่อนค่าต่อ เชื่อว่ามีโอกาสแกว่งตัวในกรอบแคบลงในวันนี้ มองกรอบเงินบาทระหว่างวันที่ระดับ 32.68-32.78 บาทต่อดอลลาร์

จาก www.bangkokbiznews.com  วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2561

 "แตกตัวทั่วไทย เอามื้อสามัคคี"  รวมพลังเกษตรอินทรีย์"วันดินโลก"

                รวมพลังคนสร้างสรรค์โลกตามรอยพ่อของแผ่นดินส่งต่อองค์ความรู้เกษตรอินทรีย์สู่เกษตรกรทั่วไทย หวังให้ประเทศไทยเป็นครัวของโลก แหล่งผลิตอาหารปลอดสารพิษ ตามวาระแห่งชาติเกษตรอินทรีย์ของรัฐบาล ที่มี “อ.ยักษ์” วิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหัวเรือใหญ่ในการผลักดันเชิงนโยบายด้วยการระดมเครือข่ายพันธมิตร 5 ภาคส่วน

            อันประกอบด้วย  ภาครัฐ  เอกชน นักวิชาการ  ประชาชนและสื่อสารมวลชน มาร่วมเกี่ยวก้อย รวมพลังขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ทั่วไทย ภายใต้โครงการ “แตกตัวทั่วไทย เอามื้อสามัคคี” หรือการลงแขกช่วยเหลือกันพัฒนาพื้นที่ต่างๆ ก่อนระดมพลเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ครั้งใหญ่ใน “วันดินโลก” วันที่ 5 ธันวาคม ที่จะถึงนี้ เพื่อป่าวประกาศให้ตัวแทนประเทศต่างๆ ที่มาร่วมงาน 108 ประเทศรับรู้ว่า ประเทศไทยคือแหล่งผลิตอาหารปลอดภัย ปราศจากสารพิษทั้งปวง

               “คม ชัด ลึก” ถือโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ "อ.ยักษ์" ในโอกาสเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ “แตกตัวทั่วไทย เอามื้อสามัคคี” ครั้งที่ 2 ที่สวนอิสรีย์เกษตรอินทรีย์และฟาร์มม้าเมืองจันท์  ต.เขาบายศรี อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี เมื่อวันก่อน

+ ทำไมต้องวาระแห่งชาติเกษตรอินทรีย์

              ตอนนี้รัฐบาล ทุกกระทรวง แผนชาติ พ.ร.บ.ทุกฉบับ แม้แต่รัฐธรรมนูญย้ำชัดเลยว่าจะเดินตามรอยพ่อในหลวงรัชกาลที่ 9  รัชกาลที่ 10 ท่านก็ทรงย้ำ เพราะทุกแผนระบบเกษตรต้องพึ่งตนเองให้ได้ ไม่ใช่ยังไปนำเข้าสารพิษ นำเข้าสารเคมีต่างๆ อย่างนี้การพึ่งตนเองก็จะได้น้อยลง มันก็ไม่สอดคล้องกับปรัชญาความพอเพียง คือต้องยืนด้วยลำแข้งตัวเองให้ได้ มีรับสั่งเรื่องนี้ไม่รู้กี่ครั้ง ทรงย้ำแล้วย้ำอีก  ไม่ใช่เขียนไว้แต่ในแผน ต้องลงมือปฏิบัติกันอย่างจริงจังด้วย

             ในแผนชาติเขียนไว้ชัดเจนว่าระบบเกษตรผลิตอาหารมี 2 ระบบคือ 1.เกษตรอินทรีย์กำหนดชัดเลยว่าเป็นมาตรฐานอินทรีย์ที่สากลยอมรับต้องทำให้ได้ เป้าอยู่ที่ 6 แสนไร่

              2.ระบบเกษตรที่กว้างกว่าเกษตรอินทรีย์ เรียกว่าเกษตรยั่งยืน หมายความว่าระบบเกษตรอินทรีย์ต้องไม่เจ๊ง ต้องอยู่ยั่งยืนถึงลูกหลาน การปลูกพืชเดี่ยวๆ ไม่ยั่งยืนจะต้องเป็นเกษตรผสมผสาน เกษตรทฤษฎีใหม่และเกษตรรูปแบบอื่นๆ เช่นพุทธเกษตร แต่ที่สำคัญที่สุดยึดแนวพระราชดำริว่าให้สอดคล้องกับภูมิศาสตร์ในแต่ละสังคม พระองค์ท่านใช้คำว่าภูมิสังคม เพราะแต่ละสังคมไม่เหมือนกัน จะไปทำมาตรฐานเดียวกันไม่ได้ อันนี้เป้าหมาย 5 ล้านไร่เป็นอย่างน้อย

+ ความคืบหน้าขับเคลื่อนนโยบายเกษตรอินทรีย์ 

             รัฐบาลนี้เอาจริง ตอนนี้ได้ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนถึง 2 คณะ คณะกรรมการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ระดับชาติ มีรองนายกฯ สมคิด (จาตุศรีพิทักษ์) เป็นประธาน ส่วนระดับกระทรวง มีผมทำหน้าที่ประธานคณะอนุกรรมการเกษตรอินทรีย์ต้องทำให้เกิดให้ได้ แล้วมันต้องโยงไปอีกหลายกระทรวง ไม่ใช่กระทรวงเกษตรฯ ทำอย่างเดียว แต่มีกระทรวงอื่นเข้ามาร่วมด้วย

                 อย่างเช่นกระทรวงสาธารณสุข มาดูแลเรื่องตลาดให้ พันกว่าโรงพยาบาลของทั้งประเทศต่อไปต้องมีอาหารปลอดภัย ให้หมอ พยาบาล คนไข้และญาติ คุณภาพอาหารต้องเป็นไปตามสเปกที่หมอกำหนด คนไข้แต่ละคนจะกินอาหารแบบไหน จะปล่อยชุ่ยๆ แบบเดิมไม่ได้แล้ว

                  กระทรวงศึกษาธิการก็เข้ามาร่วม เด็กในโรงเรียนต้องได้กินอาหารดีมีประโยชน์ไม่ใช่ปล่อยปละละเลยเหมือนทุกวันนี้ ประเทศไม่รอดแน่ ฉะนั้นเอาจริงในเรื่องอาหารของเด็ก กว่า 3.6 หมื่นโรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาฯ มหาวิทยาลัยอีก 200 กว่าแห่ง ต้องเอาจริงเอาจังในเรื่องคุณภาพของอาหาร

                คนที่ค้าขายสารพิษเขาก็รู้อยู่เต็มอก แต่ที่ลุกขึ้นมาต้านก็ว่ากันไปตามเกม แต่จริงเขาไม่ยอมกินหรอก ลูกเขาก็ไม่อยากกิน กระทรวงท่องเที่ยวฯ เขาก็ต้องการให้อาหารปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยว 35 ล้านคนที่มาเที่ยวเมืองไทยต้องมีอาหารปลอดภัย เขาจะได้ไปประชาสัมพันธ์ได้ว่าเราเป็นหนึ่งในโลกที่ดูแลนักท่องเที่ยวให้มีอาหารปลอดภัย เพราะฉะนั้นเรื่องเกษตรอินทรีย์เดิมทีปีหนึ่งประชุมสักครั้งสองครั้ง พอผมมามีประชุมทุกเดือนแล้วไม่ได้ประชุมในห้องแอร์อย่างเดียว เราจะลงประชุมในพื้นที่ ตามจังหวัดต่างๆ ตอนนี้ขับเคลื่อนทีละ 4 จังหวัด เวลาประชุมเอาผู้ว่าฯ มาลงนามไว้ จะเคลื่อนอย่างนี้ทั้งประเทศจะต้องเกิดให้ได้ในยุคนี้ อีก 7 เดือนจากนี้ไปต้องเร่งสปีด

+ โครงการนี้ช่วยขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์อย่างไรบ้าง

                 ถ้าเราฟังพระองค์ท่านดีๆ อย่างไม่มีอคติ หนึ่งท่านลงมือทำให้ดู มีตัวอย่างความสำเร็จให้ดูเต็มไปหมดเลย สองท่านก็เริ่มค่อยๆ ประสานหน่วยงานอื่นๆ แล้วทำ จนปีนี้เราประกาศว่า “แตกตัวทั่วไทย เอามื้อสามัคคี” เอามื้อนี่คือการฟื้นฟูพลังของสังคมไทยเป็นการทำตามหลักภูมิสังคม คนไทยเป็นสังคมที่่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันไม่มีแบมือรอขอให้รัฐมาช่วยอย่างเดียว รัฐมีหน้าที่แค่คอยหนุนให้ประชาชนทุกภาคส่วนทำ ไม่ใช่รัฐไปทำแข่งกับประชาชน นั่นผิดกติกาที่นายกฯ ไปเซ็นสัญญาไว้ทั่วโลกว่าเปิดเสรี แล้วรัฐจะไปแข่งได้ไง ต้องให้ประชาชนทำให้มันเกิดสิ่งดีๆ

              นโยบายท่านนายกฯ พูดชัดมาก แต่ผู้ปฏิบัติยังง็อกแง็กกันอยู่ ต้องทำให้เกษตรกรแข็งแรง ต้องมั่งคั่ง หลุดพ้นจากความยากจนให้ได้ พ่อแม่อดอยากยากจนแล้วลูกที่ไหนจะมาทำเกษตร มันก็ไม่อยากทำ ต้องทำชนบทให้แข็งแรงให้ได้ ประชุมทุกครั้งท่านนายกฯ ก็ย้ำทุกครั้งจนผมสงสารท่าน

 + มีหน่วยงานใดบ้างมาช่วยขับเคลื่อน

                   มาจาก 5 ภาคส่วน คือ 1.ภาครัฐเป็นผู้ประสานให้คนอื่นทำ จะไปทำทุกเรื่องไม่ได้มันผิดกติกาสากล 2.ภาควิชาการ มหาวิทยาลัย โรงเรียนต้องลุกขึ้นมาทำสอนเรื่องเหล่านี้แก่ประชาชน เด็ก เยาวชนอย่างจริงจัง 3.ภาคประชาชนก็ต้องรวมกันไม่ใช่แบมือรอขอความช่วยเหลืออย่างเดียวมันจะไปไม่รอด ภาคเอกชนนี่สำคัญต้องเข้ามาช่วย คุณอาทิตย์(เชฟรอน) ผมไม่ได้มาชมต่อหน้า เขาเอาจริงเอาหลายปีแล้ว สื่อมวลชนเองมีความสำคัญมากเพราะว่าสื่อนี่ออกปั๊บมันไปถึงคนทุกระดับเลย เพราะฉะนั้นจังที่จะมาทุ่มเทเพราะเห็นประโยชน์ ประโยชน์ท่านก็ได้ ประโยชน์สังคมก็ได้ ก็มาทุ่มเทอย่างจริงจังมาบทบาทของสื่อ บทบาทของมูลนิธิ ภาคประชาสังคม หรือบทบาทของพระสงฆ์ทั้งหมดนี้คือพลังสามัคคีจะต้องร่วมมือกัน

              เรามีกษัตริย์ที่ดีที่สุดในโลกในสายตาที่คนอื่นเขามอง นี่บรูไนเขาเชิญผมไปบรรยายให้ฟัง เขาบอกเขาจะผลิตข้าวให้พอ เพราะเขารู้ในอนาคตเขาจะไม่มีสตางค์ซื้อ เพราะน้ำมันไม่มีความมั่นคง แต่ผู้นำเขาฟังพระเจ้าอยู่หัวเรา เขาศรัทธาเขาจึงเชิญผมไป กรมการข้าวส่งคนไปแล้ว 2 ปีกว่ายังไม่ทำอะไรเลย ยังไม่เห็นอะไรเปลี่ยนแปลง เขาระบุเชิญให้ผมไปเอง เพื่อไปช่วยพัฒนาคนของเขาผลิตข้าวให้พอกิน

+ ปัญหาการขับเคลื่อนล่าช้าเพราะอะไร

                 ถ้าให้ผมฟันธง มาจาก 3 ส่วน ภาควิชาการบทบาทไม่เห็นแก่ประชาชนจริง เห็นแก่ตัวเอง เห็นแก่ตำแหน่งของตัวเอง ทำงานเพื่อเอายศเอาตำแหน่งเอาเงิน อันนี้แรงนะ แต่ที่ผมเจตนาพูดแรงๆ เพราะอยากให้เห็นการเปลี่ยนแปลง ภาคราชการก็เดินตามภาควิชาการ เดินตามภาคธุรกิจเอกชน อะไรที่เป็นพิษแม้จะนิดเดียวก็ต้องหยุดทันทีไม่ใช่ประคองเพื่อจะเอาเงินกันอย่างนี้ ราชการต้องเห็นแก่สุขภาพประชาชน เห็นแก่เด็กประชาชนเป็นหลัก ที่มันเคลื่อนไม่ออกก็เพราะ 3 ส่วนนี้ไม่ร่วมมืออย่างจริงจัง ผมพูดเรื่องนี้มานานแล้ว 30 กว่าปีแล้ว วันนี้ก็ยังจะยืนยันอยู่ว่า 3 ส่วนนี้ ภาคราชการ ภาคธุรกิจและนักวิชาการจับมือกันแล้วไม่เคยฟังประชาชนเลย ประชาชนเขาทำสำเร็จขนาดไหนไม่เคยสนใจที่จะรับฟังเลย

จาก www.komchadluek.net   วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ส.ป.ก. สร้างเกษตรกรต้นแบบภาคกลาง 21 จังหวัด

               นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึง นโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร ส่งเสริมการทำเกษตรยั่งยืน ด้วยการน้อมนำพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ในด้านการเกษตรกรรม ภายใต้แนวคิด “การสืบสานงานของพ่อ สานต่อศาสตร์พระราชา” และได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ให้สอดคล้องกับนโยบายดังกล่าว โดย สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.) ได้น้อมนำแนวพระบรม ราโชบาย เพื่อปรับใช้ให้สอดคล้องกับภารกิจหลักของส.ป.ก.ในการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ในที่ดิน งานพัฒนาพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดินและพัฒนาเกษตรกรให้มีความเป็นอยู่และมีคุณภาพชีวิตที่พอเพียง พึ่งพาตนเองและอาศัยอยู่ในที่ดินของ ส.ป.ก. มีความเป็นอยู่ขั้นพื้นฐาน ที่มั่นคง

                 อันประกอบด้วย มีกิน มีอยู่ มีใช้ และพอร่มเย็น โดยได้ดำเนินโครงการส่งเสริมเกษตรทฤษฎีใหม่ ในเขตปฏิรูปที่ดิน ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาและเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมแบบยั่งยืน เพื่อสร้างต้นแบบ การนำศาสตร์แห่งพระราชาไปปรับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยนำเกษตรกรและเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก. มาเรียนรู้อบรมที่แปลงต้นแบบเกษตรทฤษฎีใหม่ ในเรื่องของการบริหารจัดการ แปลงเกษตรกรรม การพัฒนาอาชีพและการสร้างรายได้ให้กับตนเอง รวมถึงความปลอดภัยด้านอาหาร การสร้าง สิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างยั่งยืน เกษตรกรจะได้นำทักษะและประสบการณ์ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ตนเองอย่างเหมาะสม เพื่อพัฒนาเป็นแปลงต้นแบบการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ในเขตปฏิรูปที่ดินต่อไป”

                  นายรัตนะ สวามีชัย รองเลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าวว่า “โครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ส่งเสริมเกษตรทฤษฎีใหม่ในเขตปฏิรูปที่ดิน ได้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ ๓ ที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง ตำบลหนองบอนแดง อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๖๑ โดยมีเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก. และเกษตรกรผู้ผ่านการคัดเลือกให้เป็นต้นแบบเกษตรทฤษฎีใหม่ในเขตปฏิรูปที่ดิน ภาคกลาง ๒๑ จังหวัด จำนวน ๘๒ ราย ซึ่งการอบรมจัดเป็น ๔ รุ่น รุ่นที่๑ ภาคเหนือ รุ่นที่ ๒ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รุ่นที่ ๓ ภาคกลาง และรุ่นที่ ๔ ภาคใต้ รวมผู้เข้ารับการอบรม ๒๘๘ ราย (เป็นเกษตรกรที่ผ่านการคัดเลือกให้เป็นต้นแบบเกษตรทฤษฎีใหม่ ในเขตปฏิรูปที่ดิน จำนวน ๗๒ จังหวัดๆละ ๓ ราย และเจ้าหน้าที่ส.ป.ก.จังหวัด จำนวน ๗๒ จังหวัดๆละ ๑ ราย) ใช้งบประมาณทั้งสิ้น ๑,๕๗๒,๔๐๐ บาท (ใช้ฐานคิดกับเกษตรกร ๒๑๔ ราย เจ้าหน้าที่ ๗๒ ราย วิทยากร ๓ ราย โดยเฉลี่ยรุ่นละ ๗๐ ราย)

             ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรม เกิดประสิทธิผลในทางปฏิบัติ และเพื่อให้เกษตรกรตลอดจนผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมีความรู้ความเข้าใจใน เกษตรทฤษฎีใหม่ในทิศทางเดียวกัน และนำความรู้และความเข้าใจในแนวเกษตรทฤษฏีใหม่ ให้สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง น้อมนำไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม สามารถ พึ่งพาตนเองได้ และมีความเป็นอยู่ขั้นพื้นฐานที่มั่นคง มีกิน มีอยู่ มีใช้ และพอร่มเย็น”

จาก www.komchadluek.net   วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ครม.เห็นชอบกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นฤดูกาลผลิตปี 2560/2561

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม.เห็นชอบการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2560/2561 เป็น 2 ราคา ตามมติคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ในการประชุมเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2561 ซึ่งได้ดำเนินการตามประกาศคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เรื่อง การจัดทำประมาณการรายได้ การกำหนดและการชำระราคาอ้อยและค่าผลิตน้ำตาลทราย และอัตราส่วนของผลตอบแทนระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงาน พ.ศ. 2561 และตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ดังนี้

1.กำหนดราคาอ้อยขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2560/2561 ในเขตคำนวณราคาอ้อยที่ 1, 2, 3, 4, 6, 7 และ 9 ในอัตรา 880 บาท/ตันอ้อย ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. และกำหนดอัตราขึ้น/ลง ของราคาอ้อยเท่ากับ 52.80 บาท ต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส. ต่อเมตริกตัน และผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิต ปี 2560/2561 เท่ากับ 377.14 บาท/ตันอ้อย

2.กำหนดราคาอ้อยขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2560/2561 ในเขตคำนวณราคาอ้อยที่ 5 ในอัตรา 830 บาท/ตันอ้อย ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. และกำหนดอัตราขึ้น/ลง ของราคาอ้อยเท่ากับ 49.80 บาท ต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส. ต่อเมตริกตัน และผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2560/2561 เท่ากับ 355.71 บาท/ตันอ้อย

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พิจารณาแล้วให้ความเห็นชอบ เนื่องจากการกำหนด ราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิต ปี 2560/61 ได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณที่กฎหมายกำหนดไว้ และกระทรวงอุตสาหกรรมได้เตรียมมาตรการดูแลผู้ที่เกี่ยวข้องกับการลอยตัวราคาน้ำตาลทราย ในภาวะที่ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกต่ำลงมากจนเกษตรกรได้รับความเดือดร้อน ทั้งยังมีกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายเป็นกลไกในการช่วยเหลือดูแลเกษตรกรชาวไร่อ้อยตลอดจนมีการสำรองน้ำตาลทรายเพื่อให้เพียง

จาก www.thansettakij.com   วันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ครม.เคาะ ราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิต 2560/2561 แบ่งเกรด 2 ราคา 880 และ 830 บาทต่อตันอ้อย

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 19 มิถุนายน ที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2560/2561 เป็น 2 ราคา ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ ดังนี้

1. ในเขตคำนวณราคาอ้อย 1, 2, 3, 4, 6, 7 และ 9 ในอัตรา 880 บาทต่อตันอ้อย ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. และกำหนดอัตราขึ้น/ลง ของราคาอ้อยเท่ากับ 52.80 บาทต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส. ต่อเมตริกตันและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2560/2561 เท่ากับ 377.14 บาทต่อตันอ้อย

2. ในเขตคำนวณ ราคาอ้อย 5 ในอัตรา 830 บาทต่อตันอ้อย ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. และกำหนดอัตราขึ้น/ลง ของราคาอ้อยเท่ากับ 49.80 บาทต่อ1 หน่วย ซี.ซี.เอส. ต่อเมตริกตัน และผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2560/2561 เท่ากับ 355.71 บาทต่อตันอ้อย ทั้งนี้ พล.ท.สรรเสริญชี้แจงว่าสาเหตุที่ต้องแยกเขต 5 เป็นอีกราคาหนึ่ง เนื่องจากคุณภาพของอ้อยในพื้นที่เขต 5 บริเวณจังหวัดสุพรรณบุรีมีศักยภาพผลผลิตไม่ดีเท่ากับเขตอื่น

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2561

มิตรผลสร้างแรงบันดาลใจเกษตรกรรุ่นใหม่

จากปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมการเกษตร ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของไทย กลุ่มมิตรผล จึงได้ดำเนินกิจกรรมที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจด้านการเกษตรให้กับเยาวชนรุ่นใหม่ ภายใต้ชื่อ “โมเดิร์นฟาร์ม ดิ คอมพาส” (Modern Farm the Compass) มอบทุนการศึกษาให้กับนักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประจำปี 2561 และยังเปิดโอกาสให้น้องๆ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงในแวดวงเกษตรกรรม ทั้งของไทยและทั่วโลก

ภายในกิจกรรม “โมเดิร์นฟาร์ม ดิ คอมพาส” มีกิจกรรม “ล้อมวงคุย ลุยกลางไร่” ซึ่ง “บรรเทิง ว่องกุศลกิจ” ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มมิตรผล ได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับการทำการเกษตรสมัยใหม่ของมิตรผล ที่ผ่านมาตรฐาน Bonsucro หลังจากนั้น น้องๆ นักศึกษาได้เรียนรู้แนวทางการทำไร่อ้อยสมัยใหม่แบบ “มิตรผล โมเดิร์นฟาร์ม” ที่ไร่กุดจอก อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ผ่านฐานการเรียนรู้ทั้ง 6 ฐาน ได้แก่ 1. การเตรียมดินและปลูกพืชตระกูลถั่ว 2. การควบคุมรอยล้อเครื่องจักร 3. การลดการไถพรวน 4. การตัดอ้อยสดและทิ้งใบอ้อยคลุมดิน

5. การให้นํ้าและระบบให้นํ้า และ 6. อากาศยานไร้คนขับ (UAV)

“บรรเทิง” บอกว่า กลุ่มมิตรผล ได้พัฒนาเรื่อง Smart Farming มากว่า 5 ปี และได้ถ่ายทอดแนวทางนี้สู่ชาวไร่อ้อย ภายใต้ชื่อของการทำไร่อ้อยสมัยใหม่แบบ “มิตรผล โมเดิร์นฟาร์ม” ซึ่งเป็นการนำองค์ความรู้และการบริหารจัดการไร่อ้อยมาตรฐานระดับโลกจากหลายประเทศ เข้ามาปรับใช้ให้เหมาะสมกับประเทศไทย โดยเน้นเรื่องการ

บูรณาการเทคโนโลยี ร่วมกับการใช้เครื่องจักรและการบริหารจัดการไร่ ทำให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น ใช้แรงงานน้อย ลดต้นทุน แต่ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ น้องๆ นักศึกษา ยังได้ร่วมทัวร์บริษัท มิตรผลวิจัย พัฒนาอ้อยและนํ้าตาล จำกัด (RDI) โรงงานนํ้าตาล โรงงานผลิตกระแสไฟฟ้า และโรงงานผลิตเอทานอล ของกลุ่มมิตรผล เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการทั้งหมด ในการนำอ้อยมาใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าทุกส่วน (From Zero Waste to Value Creation)

จาก www.thansettakij.com   วันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2561

รับมือสึนามิการค้าโลก

สงครามการค้าโลกได้ปะทุขึ้นแล้ว เมื่อสหรัฐฯประกาศตอบโต้การค้ากับคู่ค้าโดยเฉพาะจีน โดยสหรัฐฯประกาศใช้มาตรการเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเป็นการตอบโต้มูลค่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ก่อนที่จีนประกาศสงครามตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีสหรัฐฯ รวม 128 รายการ 25% มูลค่าประมาณ 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา และล่าสุดจีนประกาศรายชื่อสินค้าจากสหรัฐฯ 659 รายการที่จะขึ้นภาษีนำเข้า 25% มูลค่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

สหรัฐฯยังได้ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมจากสหภาพยุโรป แคนาดา เม็กซิโก โดยขึ้นภาษีเหล็กเป็น 25% อะลูมิเนียม 10% ส่งผลให้เม็กซิโก แคนาดา และสหภาพยุโรป ประกาศตอบโต้เช่นเดียวกันโดยยุโรปถึงกับออกแถลงว่าเป็นวันที่เลวร้ายของการค้าโลกและยุโรปไม่มีทางเลี่ยงที่จะดำเนินการขึ้นภาษีตอบโต้เรื่องนี้ พร้อมกับจะนำเรื่องเข้าหารือในองค์การการค้าโลก (WTO)

กระทรวงพาณิชย์จีนออกแถลงการณ์ด้วยท่าทีแข็งกร้าว โดยพร้อมใช้มาตรการทุกรูปแบบตอบโต้หากสหรัฐฯขึ้นภาษีสินค้าจากจีนอีก โดยการกระทำของสหรัฐฯละเมิดการเจรจาและสงครามการค้าจะสร้างความเสียหายให้กับประชาชน 2 ประเทศ และสร้างความผิดหวังต่อประชาคมโลก เป็นท่าทีล่าสุดที่ออกมาหลังประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ สั่งให้สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ(USTR)ทำบัญชีสินค้าในการเก็บภาษีเพิ่ม 10% มูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

การประกาศและดำเนินการตอบโต้ทางการค้าระหว่าง 2 ชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและมียุโรป แคนาดา เม็กซิโก เข้าร่วมวงสร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลก เห็นได้จากความปั่นป่วนที่เกิดขึ้นกับตลาดเงิน ตลาดทุนโลกทันที หลังจากทั้ง 2 ฝ่ายพร้อมละเมิดกฎเกณฑ์การค้าโลกในทุกนาที แน่นอนสถานการณ์ที่เกิดขึ้นย่อมส่งผลกระทบกับชาติเล็กๆอย่างไทยที่เศรษฐกิจพึ่งพาภาคการค้าระหว่างประเทศกว่า 70% มูลค่าการค้า 4.58 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นประเทศผู้ส่งออกอันดับ 21 ของโลก

หน่วยงานภาครัฐทั้งกระทรวงพาณิชย์ คลัง เกษตร อุตสาหกรรม ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)จะต้องหารือร่วมกันอย่างเร่งด่วน เพื่อประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากสึนามิการค้าลูกนี้ โดยต้องประเมินผลกระทบทั้งระดับเบื้องต้นและรุนแรง พร้อมกับกำหนดมาตรการรับมือในสิ่งที่จะเกิดขึ้น หาช่องว่างโอกาสที่จะเกิดในท่ามกลางวิกฤติ ให้แผนรับมือที่ว่ามีความยืดหยุ่นที่พร้อมปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ตลอดเวลาหรือให้รุก-รับรวดเร็ว ภาครัฐต้องเป็นผู้นำดำเนินการทันที ไม่วางตัวนิ่งเฉยเหมือนกับทุกวันนี้

จาก www.thansettakij.com   วันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2561

เงินทุนต่างชาติไหลออกถ่วงบาทอ่อนค่า

ค่าเงินบาทเดินหน้าอ่อนค่าไม่หยุด ล่าสุดแตะระดับ 32.84 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เหตุต่างชาติเทขายหุ้นไทย-พันธบัตรต่อเนื่อง หลังเฟดมีนโยบายชัดเจนขึ้นดอกเบี้ย               

 น.ส.รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการผู้บริหารกลุ่มวิจัยและวิเคราะห์ตลาดการเงิน ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแลโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า   ค่าเงินบาทอ่อนค่าสุดที่ระดับ 32.84 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 6 เดือน นับจาก 27 ธ.ค.60 ที่อยู่ระดับ 32.85 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ  เนื่องจากต่างชาติยังขายหุ้นไทยและพันธบัตรอย่างต่อเนื่อง หลังธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดมีนโยบายชัดเจนปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในช่วงที่เหลือของปี

อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)วันที่ 20 มิ.ย.นี้ว่าส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยเมื่อใดหากมีความชัดเจนจะทำให้ตลาดหุ้นกลับมารีบาวด์จากเงินทุนไหลกลับเข้ามาในประเทศ   การเคลื่อนไหวสกุลเงินในภูมิภาคพบว่า  ดอลลาร์-ไต้หวันอ่อนค่าสุดที่ 0.65% บาท-ไทย 0.61% หยวน-จีน 0.57%  ดอลลาร์-สิงคโปร์ 0.53% รูปี-อินเดีย  0.48% วอน-เกาหลีใต้ 0.38%

จาก www.thansettakij.com   วันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2561

เอ็นไอเอ-จุฬาฯ หนุนพืชเศรษฐกิจ 3 ชนิดต่อยอดสู่อุตฯพลังงาน

 "เอ็นไอเอ" ปักหมุด ศูนย์ ABC Center สู่ศูนย์เมคโอเวอร์ สินค้าเกษตรไทยด้วยนวัตกรรม ชี้ 5 ข้อต้องเปลี่ยนรับ เกษตรกรรมไทยยุคใหม่

เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2561 สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA โดยศูนย์สร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรมการเกษตร (Agro Business Creative Center: ABC Center) ร่วมกับวิทยาลัยปิโตรเลียม และปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกาศความร่วมมือการพัฒนาอุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรี่ สู่ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งเป็นการสนับสนุนการดำเนินงานด้านการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ของประเทศจากการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมการเกษตรและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง

ดร. สุภาพ อัจฉริยศรีพงศ์ กรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า "NIA ได้มุ่งพัฒนานวัตกรรมในภาคเกษตรมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเร่งสร้างและยกระดับความสามารถด้านนวัตกรรมของกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมการเกษตรที่สร้างสรรค์และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหาด้านการเกษตร ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดระบบนิเวศของการสร้างธุรกิจนวัตกรรมเกษตร โดย "ธุรกิจไบโอรีไฟเนอรี่" ถือเป็นอีกหนึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรที่มีโอกาสเติบโตและหลายภาคส่วนให้ความสนใจ โดยเป็นการแปรรูปวัตถุดิบทางการเกษตรหรือของเหลือทิ้งจากการเกษตรด้วยกระบวนการทางเทคโนโลยีชีวภาพโดยใช้ จุลินทรีย์ แบคทีเรีย ยีสต์ เอ็นไซม์ หรืออื่นๆ ให้ทำหน้าที่เสมือนโรงงาน (cell factory) ให้ได้เป็นผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น เช่น เชื้อเพลิงและพลังงาน ชีวเคมีภัณฑ์ อาหารสัตว์แห่งอนาคต อาหารแห่งอนาคต และชีวเภสัชภัณฑ์"

"ดังนั้น NIA โดย ABC Center จึงได้ร่วมกับวิทยาลัยปิโตรเลียม และปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาความเป็นเป็นไปได้ในการสร้างธุรกิจไบโอรีไฟเนอรี่ในอนาคตของประเทศไทย ในพืชเศรษฐกิจหลัก 3 ชนิด ได้แก่ อ้อย มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน ซึ่งหากประเทศไทยสามารถผลักดันและสนับสนุนให้เกิดการก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรมในรูปแบบของ Biorefinery Industry Complex ในลักษณะคลัสเตอร์อุตสาหกรรม พร้อมทั้งประกาศมาตรการสนับสนุนสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับจากภาครัฐ ตลอดจนการส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศของการสร้างธุรกิจนวัตกรรมเกษตรสาขาธุรกิจไบโอรีไฟเนอรี่อย่างจริงจังได้ จะเกิดผลดีทั้งในการช่วยกระตุ้นการลงทุนขนาดใหญ่ในกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปชีวมวล พร้อมขับเคลื่อนให้ไทยเป็นผู้นำของธุรกิจดังกล่าวได้ในภูมิภาค และยังจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบทางการเกษตรของประเทศได้อีกไม่ต่ำกว่า 10 เท่า โดยเฉพาะมันสำปะหลัง และอ้อย ที่ไทยส่งออกเป็นอันดับที่ 1 และ 2 ของโลก"

ด้าน ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)กล่าวว่า "การจัดตั้งศูนย์ ABC Center มีเป้าหมายในการปรับเปลี่ยน "เกษตรแบบดั้งเดิม" ไปสู่ "เกษตรอุตสาหกรรม" และก้าวไปสู่ "เกษตรบริการหรือธุรกิจเกษตร" ที่มีการใช้นวัตกรรมเป็นหลักในการขับเคลื่อน โดยมุ่งสร้างรูปแบบธุรกิจนวัตกรรมการเกษตรใน 7 สาขา ได้แก่ 1) ธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพ 2) ธุรกิจเกษตรดิจิทัล 3) ธุรกิจเครื่องจักรกลเกษตร หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ 4) ธุรกิจการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวและการขนส่ง 5) ธุรกิจไบโอรีไฟเนอรี่ 6) ธุรกิจการบริการทางธุรกิจเกษตร และ 7) ธุรกิจรูปแบบการจัดการฟาร์มแบบใหม่ อย่างไรก็ตาม ในปี 2561 นี้ NIA ยังได้ตั้งเป้าหมายที่จะใช้ ABC center ในการพลิกโฉมด้านการเกษตร (Agriculture Transformation) ของประเทศไทย รวมถึงเพื่อให้ตอบโจทย์กับธุรกิจไบโอรีไฟเนอรี่ 5 ด้าน ได้แก่ ด้านเทคโนโลยี - เปลี่ยนจากเกษตรที่ใช้แรงงาน พึ่งพาฤดูกาล ไม่สามารถคาดการณ์ผลผลิตได้ เป็นการใช้เทคโนโลยีเพื่อควบคุม ตรวจสอบคุณภาพ ปรับปรุงระบบเกษตรให้แม่นยำ และมีประสิทธิภาพมากขึ้น,ด้านเศรษฐกิจ - เปลี่ยนจากเกษตรที่ต้องพึ่งพาพ่อค้าคนกลางในการผลิตและการขาย เป็นเกษตรที่เกิดรายได้ในตัวเอง, ด้านการวางตำแหน่ง – เปลี่ยนจากการเป็นผู้ตามทางการเกษตร ให้เป็นผู้นำทางการเกษตร โดยอาศัยความพร้อมทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ผนวกกับความหลากหลายในด้านการเกษตร , ด้านสิ่งแวดล้อม – เปลี่ยนจากการใช้ทรัพยากรที่หลากหลายอย่างฟุ่มเฟือยและไม่คุ้มค่า ให้มีการสร้างรูปแบบธุรกิจการเกษตรสมัยใหม่ที่มีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าขึ้น เช่น การเพาะปลูกในระบบปิดที่ประหยัดน้ำมากกว่าร้อยละ 90, ด้านการตลาด – เปลี่ยนจากตลาดการเกษตรแบบเฉพาะกลุ่ม (ทุนขนาดใหญ่) มาสู่ตลาดที่กระจายแบบเท่าเทียมกัน"

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม รองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า "ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีพื้นฐานด้านเกษตรกรรม จึงจำเป็นต้องยกระดับการเกษตรสู่เกษตรสมัยใหม่ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนพัฒนาอุตสาหกรรม วิจัย และนวัตกรรม อันจะนำไปสู่การยกระดับการเกษตร และคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี ซึ่งเป็นผู้นำทางด้านวิชาการ ความรู้ทางนวัตกรรม และมีประสบการณ์โดยเน้นหนักทางด้านเทคโนโลยีปิโตรเลียม เทคโนโลยีปิโตรเคมี และพอลิเมอร์ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าว และตระหนักถึงการลดลงของพลังงานฟอสซิลซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการของโลกที่มากขึ้น จึงเป็นโอกาสอันดีที่วิทยาลัยฯ จะมีบูรณาการองค์ความรู้ต่างๆ ที่ผ่านมาเพื่อเปลี่ยนภาพจากโรงกลั่นน้ำมันไปสู่ไบโอรีไฟเนอรี่รวมถึงการการศึกษาแนวโน้ม ทิศทาง และความเป็นไปได้ในการพัฒนาเพื่อการบ่งชี้แนวโน้มและทิศทางการพัฒนาธุรกิจไบโอรีไฟเนอรี่ในอนาคตของประเทศไทย เพื่อนำไปสู่การพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมการเกษตรและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องไปสู่เศรษฐกิจฐานชีวภาพอย่างยั่งยืน"

ศาสตราจารย์ ดร. สุวบุญ จิรชาญชัย คณบดีวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า "เศรษฐกิจฐานชีวภาพจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน ซึ่งหัวใจหลักคือ กระบวนการการแปรรูปทรัพยากรหมุนเวียนชีวภาพและชีวมวลให้กลายเป็นสารผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายคล้ายกับระบบโรงกลั่นปิโตรเคมี โดยการสกัดเอาองค์ประกอบเคมีทุกชนิดในชีวมวลมาใช้ประโยชน์อย่างครบถ้วนหรือเรียกว่า "ไบโอรีไฟเนอรี่ (biorefinery)" ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ได้จากไบโอรีไฟเนอรี่ สามารถจำแนกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ 1) ชีวเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพ 2) พลังงานชีวภาพ และ 3) ผลิตภัณฑ์พลอยได้สำหรับอาหาร/อาหารสัตว์"

"ประเทศไทยมีความได้เปรียบทางด้านวัตถุดิบและความหลากหลายทางชีวภาพ ดังนั้น เมื่อนำความรู้ทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในการผลิต จะสามารถสร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพที่มากกว่ากว่ามูลค่าจากการส่งออกสินค้าการเกษตรเกือบ 2 เท่า ทั้งนี้ ในการผลักดันธุรกิจไบโอรีไฟเนอรี่จำเป็นต้องมีการลดข้อจำกัดทางด้านกฎหมายและพรบ. การเชื่อมโยงระหว่างภาคการศึกษาและอุตสาหกรรมเพื่อให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมรวมถึงการขยายผล การส่งเสริมด้านการตลาดโดยเฉพาะในตลาดโลก เช่น ส่งเสริมให้ใช้ผลิตภัณฑ์ทางชีวภาพในผลิตภัณฑ์ใช้แล้วทิ้ง การกำหนดมาตรฐานพร้อมทั้งรับรองและตรวจสอบผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และการปลูกจิตสำนึกให้ตระหนักถึงความสำคัญของผลิตภัณฑ์ทางชีวภาพ ซึ่งจะเห็นได้ว่าปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อธุรกิจไบโอรีไฟเนอรี่ คือ การบูรณาการและการร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยวิทยาลัยฯ และ NIA จะร่วมกันศึกษาเพื่อกำหนดทิศทาง แนวโน้มในอนาคต และนโยบายการสนับสนุนที่สำคัญของการพัฒนาธุรกิจไบโอรีไฟเนอรี่ของประเทศไทย พร้อมระบุปัญหาและความท้าทายของพัฒนาธุรกิจไบโอรีไฟเนอรี่ รวมไปถึงทิศทางการพัฒนาธุรกิจไบโอรีไฟเนอรี่ให้ตรงกับบริบทของประเทศไทย เพื่อนำไปใช้เป็นแผนที่นำทางในการพัฒนาธุรกิจไบโอรีไฟเนอรี่ของประเทศต่อไป"

สำหรับผู้ประกอบการ หรือผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 02-0175555 เว็บไซต์ www.nia.or.th หรือ facebook.com/niathailand

จาก www.bangkokbiznews.com  วันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2561

เสริมบทบาทศูนย์ดินปุ๋ยชุมชน

นายอาชว์ชัยชาญ เลี้ยงประยูร เกษตรจังหวัดพิษณุโลก ทำหน้าที่ ผอ.สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 9 จังหวัดพิษณุโลก กรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ใน 9 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง มีศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) ตั้งอยู่ประจำทุกอำเภอ รวมทั้งหมด 93 ศูนย์ ซึ่งในปี 2561 กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาศูนย์เรียนรู้ดังกล่าว โดยจัดให้มีการประกวด ศดปช. ดีเด่นระดับเขต เพื่อสนับสนุนและพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้และให้บริการแก่ชุมชนอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน

ทั้งนี้ ศดปช. เริ่มจากการคัดเลือกกลุ่มเกษตรกรที่มีต้นทุนการผลิตสูง ได้สมัครใจเข้าร่วมโครงการ โดยเริ่มจากบริการตรวจวิเคราะห์ดิน การถ่ายทอดความรู้ในการตรวจวิเคราะห์ดินขั้นพื้นฐาน ซึ่งช่วยให้เกษตรกรสามารถทำการวิเคราะห์ดินได้ด้วยตนเอง ในส่วนนี้ เกษตรตำบล จะมีบทบาทสำคัญในการแนะนำ อธิบาย และชี้แจงให้เกษตรกรได้เห็นถึงการตรวจวิเคราะห์ดินขั้นพื้นฐาน ควบคู่ไปกับความรู้เรื่องการเลือกใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน หรือปุ๋ยสั่งตัด เพื่อให้ดินได้รับประโยชน์สูงสุด จากนั้นจะยกระดับความรู้ในเรื่องการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดิน ซึ่งจากการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่า เกษตรกรร้อยละ 90 เกิดการยอมรับในองค์ความรู้เรื่องปุ๋ยและดิน มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและนำไปปฏิบัติจริง

จากความสำคัญดังกล่าว ศดปช. จึงเป็นศูนย์เรียนรู้ในชุมชนที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาให้เกษตรกรมีความเข้มแข็ง มั่นคง และยั่งยืน ตลอดจนเป็นการอนุรักษ์ดิน และทรัพยากรธรรมชาติให้มีความอุดมสมบูรณ์อีกทางหนึ่งด้วย

จาก www.naewna.com วันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2561

เร่งทำฝนหลวง หวั่นพื้นที่เกษตรขาดน้ำ

รมว.เกษตรฯ สั่งขึ้นทำฝนหลวง หวั่นพื้นที่เกษตรขาดน้ำ ช่วงกลางเดือนมิ.ย.-ก.ค.เกิดฝนทิ้งช่วง ย้ำให้ปฎิบัติการช่วยเหลือประชาชนอย่างทั่วถึง

เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2561 นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยพี่น้องเกษตรกรอาจมีน้ำสำหรับการเกษตรไม่เพียงพอให้ทุกหน่วยเฝ้าระวังติดตามช่วยเหลือประชาชนอย่างใกล้ชิด

โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทาน ระหว่างกลางเดือนมิ.ย.ถึงกลางเดือนก.ค.มีสภาวะฝนทิ้งช่วง ในขณะนี้ปริมาณและการกระจายตัวของฝนมีน้อยและไม่สม่ำเสมอ ซึ่งจะส่งผลกระทบการเกษตรได้ โดยได้สำรวจปริมาณฝนตกสะสม 7 วันที่ผ่านมา มีฝนน้อยกว่า 10 มิลลิเมตร ในหลายพื้นที่ เช่น พิจิตร เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ ชัยนาท กาญจนบุรี สุพรรณบุรี นครราชสีมา บุรีรัมย์ มหาสารคาม เป็นต้น ได้สั่งการให้ทุกหน่วยปฏิบัติการติดตามสถานการณ์และสภาพอากาศประจำวันอย่างใกล้ชิด เพื่อขึ้นปฎิบัติการทำฝนในพื้นที่ที่ประสบปัญหาทันที

อธิบดีกรมฝนหลวงฯกล่าวว่า สำหรับผลปฏิบัติการหน่วยฝนหลวงพิษณุโลก ลพบุรี กาญจนบุรี นครราชสีมา และขอนแก่น ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงที่เกษตรกรที่ร้องขอ ทำให้มีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลางหลายอำเภอ จ.เพชรบูรณ์ พิจิตร นครสวรรค์ ลพบุรี สระบุรี บุรีรัมย์ สุรินทร์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด โดยขอให้ประชาชนมั่นใจว่าการปฎิบัติการทำฝนช่วยเหลือการเกษตรทั่วถึงทุกพื้นที่โดยหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่อยู่ในระยะเก็บเกี่ยว

จาก www.bangkokbiznews.com  วันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ค่าเงินเปิดตลาดทรงตัว 32.68 บาทต่อดอลลาร์ฯ สงครามการค้ากดดันค่าเงิน

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ระบุ ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 32.68 บาทต่อดอลลาร์ฯ ทรงตัวจาก 32.68 บาทต่อดอลลาร์ฯ ณ สิ้นวันทำการที่ผ่านมา ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลอื่น ๆ หลังค่าเงินยูโรกลับมาแข็งค่าขึ้น เหนือระดับ 1.16 ดอลลาร์ต่อยูโร ทั้งนี้ ตลาดจะให้ความสนใจงานประชุมของเหล่านักการธนาคารกลาง “Forum on Central Banking” ซึ่งจัดโดย ธนาคารกลางยุโรปที่ประเทศโปรตุเกส ซึ่งตลาดจะจับตา ถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางหลัก เพื่อหาสัญญาณแนวโน้มเศรษฐกิจและปัจจัยกระทบต่อการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินที่อาจจะกระทบแนวโน้มค่าเงินได้

อย่างไรก็ดี มองว่าความกังวลเรื่องสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ จะยังคงกดดันภาพรวมตลาดการเงินต่อสักระยะ ทำให้สินทรัพย์เสี่ยง และค่าเงินในโซนตลาดเกิดใหม่เอเชียยังเผชิญแรงเทขายได้ต่อ สำหรับวันนี้ มองเงินบาทมีแนวโน้มที่จะแกว่งตัวในช่วงกรอบ 32.60-32.75 บาทต่อดอลลาร์ฯ

จาก www.thansettakij.com   วันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2561

อัพเกรดซากอ้อย-ปาล์ม-มันสำปะหลัง เป็น 'อุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรี่' ... สนง.นวัตกรรมฯ ตั้งเป้าพลิกโฉมเกษตร 5 ด้าน สร้างมูลค่าเพิ่มให้ 10 เท่า

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA โดยศูนย์สร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรมการเกษตร (Agro Business Creative Center : ABC Center) ร่วมกับวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกาศความร่วมมือการพัฒนาอุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรี่ สู่ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งเป็นการสนับสนุนการดำเนินงานด้านการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ของประเทศจากการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมการเกษตรและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง

ดร.สุภาพ อัจฉริยศรีพงศ์ กรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า NIA ได้มุ่งพัฒนานวัตกรรมในภาคเกษตรมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับความสามารถด้านนวัตกรรมของกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมการเกษตร ให้เกิดระบบนิเวศของการสร้างธุรกิจนวัตกรรมเกษตร โดยเฉพาะ "ธุรกิจไบโอรีไฟเนอรี่" ถือเป็นอีกหนึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรที่มีโอกาสเติบโตและหลายภาคส่วนให้ความสนใจ เป็นการแปรรูปวัตถุดิบทางการเกษตรหรือของเหลือทิ้งจากการเกษตรด้วยกระบวนการทางเทคโนโลยีชีวภาพโดยใช้ จุลินทรีย์ แบคทีเรีย ยีสต์ เอ็นไซม์ หรืออื่น ๆ ให้ทำหน้าที่เสมือนโรงงาน (Cell Factory) ให้ได้เป็นผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น เช่น เชื้อเพลิงและพลังงาน ชีวเคมีภัณฑ์ อาหารสัตว์แห่งอนาคต อาหารแห่งอนาคต และชีวเภสัชภัณฑ์

"ดังนั้น NIA โดย ABC Center จึงได้ร่วมกับวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาความเป็นเป็นไปได้ในการสร้างธุรกิจไบโอรีไฟเนอรี่ในอนาคตของประเทศไทย ในพืชเศรษฐกิจหลัก 3 ชนิด ได้แก่ อ้อย มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน ซึ่งหากประเทศไทยสามารถผลักดันและสนับสนุนให้เกิดการก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรมในรูปแบบของ Biorefinery Industry Complex ในลักษณะคลัสเตอร์อุตสาหกรรม พร้อมทั้งประกาศมาตรการสนับสนุนสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับจากภาครัฐ ตลอดจนการส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศของการสร้างธุรกิจนวัตกรรมเกษตรสาขาธุรกิจไบโอรีไฟเนอรี่อย่างจริงจังได้ จะเกิดผลดีทั้งในการช่วยกระตุ้นการลงทุนขนาดใหญ่ในกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปชีวมวล พร้อมขับเคลื่อนให้ไทยเป็นผู้นำของธุรกิจดังกล่าวได้ในภูมิภาค และยังจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบทางการเกษตรของประเทศได้อีกไม่ต่ำกว่า 10 เท่า โดยเฉพาะมันสำปะหลังและอ้อย ที่ไทยส่งออกเป็นอันดับที่ 1 และ 2 ของโลก"

ด้าน ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ในปี 2561 นี้ NIA ได้ตั้งเป้าหมายที่จะใช้ ABC Center ในการพลิกโฉมด้านการเกษตร (Agriculture Transformation) ของประเทศไทย รวมถึงเพื่อให้ตอบโจทย์กับธุรกิจไบโอรีไฟเนอรี่ 5 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านเทคโนโลยี เปลี่ยนจากเกษตรที่ใช้แรงงาน พึ่งพาฤดูกาล ไม่สามารถคาดการณ์ผลผลิตได้ เป็นการใช้เทคโนโลยีเพื่อควบคุม ตรวจสอบคุณภาพ ปรับปรุงระบบเกษตรให้แม่นยำ และมีประสิทธิภาพมากขึ้น 2.ด้านเศรษฐกิจ เปลี่ยนจากเกษตรที่ต้องพึ่งพาพ่อค้าคนกลางในการผลิตและการขาย เป็นเกษตรที่เกิดรายได้ในตัวเอง 3.ด้านการวางตำแหน่ง เปลี่ยนจากการเป็นผู้ตามทางการเกษตร ให้เป็นผู้นำทางการเกษตร โดยอาศัยความพร้อมทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ผนวกกับความหลากหลายในด้านการเกษตร

4.ด้านสิ่งแวดล้อม เปลี่ยนจากการใช้ทรัพยากรที่หลากหลายอย่างฟุ่มเฟือยและไม่คุ้มค่า ให้มีการสร้างรูปแบบธุรกิจการเกษตรสมัยใหม่ที่มีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าขึ้น เช่น การเพาะปลูกในระบบปิดที่ประหยัดน้ำมากกว่า 90% 5.ด้านการตลาด เปลี่ยนจากตลาดการเกษตรแบบเฉพาะกลุ่ม (ทุนขนาดใหญ่) มาสู่ตลาดที่กระจายแบบเท่าเทียมกัน

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2561

'พาณิชย์' เผย FTA ปี 61 ยอดพุ่งแรง

 ‘พาณิชย์’ เผยยอดการใช้สิทธิ FTA ส่งออก 4 เดือนของปี 2561 เพิ่มขึ้น และ GSP ส่งออกพุ่งเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกว่าปีก่อน

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยถึงภาพรวมการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และการใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ในช่วง 4 เดือนของปี 2561 (ม.ค.-เม.ย.) ว่า ไทยมีการส่งออกไปยัง 17 ประเทศซึ่งเป็นคู่เจรจา FTA มูลค่า 45,695 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 12.78 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 ซึ่งมีมูลค่า 40,516 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และเป็นการส่งออกโดยใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA มูลค่า 21,706 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 20.33% คิดเป็นสัดส่วน 73.06% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ได้รับสิทธิภายใต้ FTA ที่มีมูลค่าถึง 29,709 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

โดยกรอบความตกลง FTA ที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อาเซียน 8,090 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อาเซียน-จีน 5,364 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไทย-ออสเตรเลีย 3,006 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไทย-ญี่ปุ่น 2,285 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และอาเซียน-อินเดีย 1,156 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และประเทศคู่ค้าที่มีอัตราการใช้สิทธิ FTA สูงที่สุด 5 ประเทศ คิดตามสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ได้แก่ ชิลี ออสเตรเลีย เปรู ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า การใช้สิทธิ FTA ส่งออกไปจีนได้เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก เพราะตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2561 เป็นต้นมา จีนมีการลดภาษีภายใต้ FTA อาเซียน-จีนเพิ่มเติม โดยเฉพาะสินค้ากระปุกเกียร์และส่วนประกอบบางรายการที่เป็นสินค้าอ่อนไหว (sensitive list) จากเดิมในปี 2560 หากมีหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form E ภายใต้ FTA อาเซียน-จีน จะถูกเก็บอากรขาเข้าจีน 10% ได้ลดลงเหลือ 5% ในปี 2561 ส่งผลให้การใช้สิทธิ FTA ส่งออกสินค้ากระปุกเกียร์และส่วนประกอบในช่วง 4 เดือนของปี 2561 ขยายตัวทะลุกว่า 5 เท่าตัว เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

สำหรับสินค้าที่ครองแชมป์ใช้สิทธิฯ FTA สูงสุดอันดับแรกของแต่ละกรอบ FTA ได้แก่ อาเซียน (ATIGA) รถยนต์ขนส่ง/รถกระบะ อาเซียน-จีน (ACFTA) ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ อาเซียน-อินเดีย (AIFTA) ลวดทองแดงเจือ อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (AANZFTA) ส่งไปออสเตรเลีย เครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณทำหรือชุบด้วยเงินอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (AANZFTA) ส่งไปนิวซีแลนด์ โพลิเอทิลีนความถ่วงจำเพาะ 0.94 ขึ้นไป อาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) แผ่นแถบทำด้วยอลูมิเนียมเจือ อาเซียน-เกาหลี (AKFTA) แผ่นไม้อัด (พาร์ติเคิลบอร์ด) ไทย-อินเดีย (TIFTA) เครื่องปรับอากาศ ไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) รถยนต์ขนส่งของ น้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 5 ตัน ไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) เนื้อไก่และเครื่องในไก่ที่ปรุงแต่งหรือทำไว้ไม่ให้เสีย ไทย-เปรู (TPCEP) เครื่องรับวิทยุกระจายเสียง และไทย-ชิลี (TCFTA) รถยนต์สำหรับขนส่ง น้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 5 ตัน

สำหรับการส่งออกไปยังประเทศที่ให้ GSP กับไทยในช่วง 4 เดือนของปี 2561 มีมูลค่ารวม 18,632 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 11.65% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 ซึ่งมีมูลค่า 16,461.16 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และในจำนวนนี้เป็นการส่งออกโดยใช้สิทธิ GSP มูลค่า 1,470.95 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 0.13% คิดเป็นสัดส่วน 55.38% ของการส่งออกสินค้าที่ได้รับสิทธิ GSP ทั้งหมด

โดยตลาดส่งออกที่ใช้สิทธิ GSP สูงที่สุด คือ สหรัฐฯ มีมูลค่าการส่งออกรวม 1,368 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 4.12% คิดเป็นสัดส่วน 93% ของมูลค่าการใช้สิทธิ GSP รวมทุกระบบ เนื่องจากเมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2560 สหรัฐฯ ได้เพิ่มรายการสินค้าในบัญชีที่ได้รับ GSP เช่น เครื่องใช้ในการเดินทาง (Travel Goods) จำนวน 27 รายการ และเม็ดพลาสติกเซลลูโลสไนเทรต (Cellulose nitrates) ทำให้มีการขอใช้สิทธิ GSP ส่งออกเพิ่มขึ้น โดยสินค้าเซลลูโลสไนเทรต มีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นถึง 5.76% ส่วนสินค้าเครื่องใช้ในการเดินทางที่มีการใช้สิทธิ GSP สูง ได้แก่ กระเป๋าถือด้านนอกทำจากหนัง กระเป๋าถือด้านนอกทำจากหนังอัด กระเป๋ากีฬา กระเป๋าถือทำจากหนังเคลือบเงา เป็นต้น ส่วนตลาดส่งออกที่ใช้สิทธิ GSP รองลงมา คือ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช มีมูลค่าการใช้สิทธิรวม 53 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สวิตเซอร์แลนด์ 41 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นอร์เวย์ 4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และญี่ปุ่น 4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

สำหรับรายการสินค้าที่ใช้สิทธิ GSP สูง ส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุตสาหกรรม มีสัดส่วนการใช้สิทธิ 82% ของมูลค่าการใช้สิทธิ GSP ทั้งหมด ได้แก่ ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศเครื่องดื่มอื่นๆ ถุงมือยาง อาหารปรุงแต่ง รถจักรยานยนต์ เลนส์แว่นตา ส่วนประกอบยานยนต์ แผนวงจรไฟฟ้า ผลไม้ปรุงแต่ง และหม้อแปลงไฟฟ้า ส่วนสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป มีสัดส่วน 18% สินค้าที่ใช้สิทธิสูง เช่น เครื่องดื่มอื่นๆ อาหารแปรรูป ผลไม้แปรรูป ซอสปรุงรส เส้นก๋วยเตี๋ยว และขนมทำจากน้ำตาล เป็นต้น

“แนะนำผู้ผลิตที่ส่งออกสินค้าไปยังประเทศที่ไทยมี FTA หรือส่งออกไปยังประเทศที่ให้สิทธิ GSP กับไทย ขอให้ตรวจสอบก่อนว่าสินค้าที่ตัวเองผลิตและส่งออกนั้นได้รับสิทธิพิเศษภายใต้ FTA หรือ GSP หรือไม่ ถ้าได้ ก็ควรที่จะขอใช้สิทธิประโยชน์ เพื่อลดต้นทุนและสร้างแต้มต่อให้กับสินค้าไทย เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ เมื่อเทียบกับสินค้าของคู่แข่ง ที่ไม่ได้ลดหย่อนภาษีภายใต้ FTA หรือ GSP”

ล่าสุดระบบ GSP สวิตเซอร์แลนด์และนอร์เวย์ กำลังจะมีการปรับเปลี่ยนเอกสารประกอบการใช้สิทธิฯ จากการใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form A เป็นการรับรองตนเองของผู้ส่งออกภายใต้ระบบ “REX” (Registered Exporter system) ตั้งแต่ 1 ก.ค. 2561 เป็นต้นไป

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2561

'กฤษฎา'สั่งทำฝนหลวง หวั่นพื้นที่เกษตรขาดน้ำช่วงมิ.ย.-ก.ค.

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์  มีความห่วงใยพี่น้องเกษตรกรอาจมีน้ำสำหรับการเกษตรไม่เพียงพอให้ทุกหน่วยเฝ้าระวังติดตามช่วยเหลือประชาชนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทาน ระหว่างกลางเดือน มิ.ย.ถึงกลางเดือน ก.ค.มีสภาวะฝนทิ้งช่วง ในขณะนี้ปริมาณและการกระจายตัวของฝนมีน้อยและไม่สม่ำเสมอ ซึ่งจะส่งผลกระทบการเกษตรได้ โดยได้สำรวจปริมาณฝนตกสะสม 7 วันที่ผ่านมา มีฝนน้อยกว่า 10 มิลลิเมตร ในหลายพื้นที่ เช่น พิจิตร เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ ชัยนาท กาญจนบุรี สุพรรณบุรี นครราชสีมา บุรีรัมย์ มหาสารคาม เป็นต้น ได้สั่งการให้ทุกหน่วยปฏิบัติการติดตามสถานการณ์และสภาพอากาศประจำวันอย่างใกล้ชิด เพื่อขึ้นปฏิบัติการทำฝนในพื้นที่ที่ประสบปัญหาทันที

อธิบดีกรมฝนหลวงฯกล่าวว่าสำหรับผลปฏิบัติการหน่วยฝนหลวงพิษณุโลก ลพบุรี กาญจนบุรี นครราชสีมา และขอนแก่น ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงที่เกษตรกรที่ร้องขอ ทำให้มีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลางหลายอำเภอ จังหวัดเพชรบูรณ์  พิจิตร นครสวรรค์ ลพบุรี  สระบุรี บุรีรัมย์ สุรินทร์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด โดยขอให้ประชาชนมั่นใจว่าการปฎิบัติการทำฝนช่วยเหลือการเกษตรทั่วถึงทุกพื้นที่โดยหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่อยู่ในระยะเก็บเกี่ยว

จาก www.naewna.com วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ม็อบต้านพาราควอตเตรียมกดดันรัฐบาล ประกาศพรุ่งนี้ไปทวงคำตอบ'บิ๊กตู่'

นายอำนาจ เกตุขาว แกนนำเครือข่ายคนอินทรีย์วิถีเมืองลุง พร้อมกลุ่มเครือข่ายต้านวัตถุอันตราย พาราควอต คลอร์ไพลิฟอส ไกลโซเฟส กว่า 50 คน โดยปักหลักประท้วงหน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาเป็นเวลา 4 วัน ได้ประกาศการเคลื่อนไหวว่า วันที่19 มิ.ย. จะเดินยาตรากราบพระแม่ธรณี จากหน้ากระทรวงเกษตรฯถึงทำเนียบรัฐบาล

นายอำนาจ กล่าวว่าพรุ่งนี้มีการประชุม ครม.จะมีแกนนำจากเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ มาร่วมเสริมเดินยาตราไปทวงคำตอบจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้มีคำสั่งแบนสารกำจัดวัชพืช 3 ชนิดและห้ามนำเข้าประเทศไทยทันที และไม่เห็นด้วยกับรูปแบบการตั้งคณะกรรมการ เพราะเป็นเรื่องจอมปลอม  ไม่มีอำนาจแท้จริง ในแทบทุกปัญหาไม่เคยมีทางออกให้กับประชาชน

“วันนี้ได้ยื่นหนังสือขอให้มีคำสั่งแบนสารเคมีอันตรายตามความเห็นของกระทรวงสาธารณสุข ถึงนายกรัฐมนตรี โดยผ่าน รมว.เกษตรฯ ซึ่งได้ให้ผู้ตรวจกระทรวงเกษตรฯ ลงมารับ หากนายกฯมีคำสั่งแบนวันนี้จะเดินทางกลับ ถ้าไม่มีจะเดินไปที่ประตู 1 ทำเนียบฯ ปักหลักชุมนุมต่อไป”นายอำนาจ กล่าว

 ต่อจากนั้น พ.ต.อ.กัมปนาท อรุณคีรีโรจน์ ผู้กำกับ สน.นางเลิ้ง ได้เข้ามาสอบถามเหตุการณ์เดินยาตราไปทำเนียบฯเพราะไม่สามารถให้ไปถึงประตู 1 ทำเนียบฯ ซึ่งเป็นเขตห้ามชุมนุมในรอบรัศมี 150 เมตร ซึ่งจะต้องนำเรื่องหารือระดับผู้บังคับบัญชาเพื่อวางมาตรการดูแลม็อบนี้

 ด้านนางศรีจันทร์ หงษ์พาณิชย์ แนวร่วมเครือข่ายสันติอโศก กล่าวว่าวันนี้ตนและเพื่อนเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ไร้สารพิษ จะโพสต์เฟซบุ๊ก เพื่อเรียกให้อาจารย์ยักษ์ หรือนายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รมช.เกษตรฯ ลงมาดูเพื่อนๆ บ้าน เคยอยู่ในม็อบด้วยกัน อ.ยักษ์ เป็นแกนนำเกษตรอินทรีย์ ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง มาตลอดชีวิตทำไมไม่ลงมาจากห้อง รมช.เกษตรฯช่วยสนับสนุนกันด้วย  พวกเรามาอยู่ 4 วัน ไม่ใช่ไม่รู้นั่งรถเข้าออกกระทรวงก็เห็นพวกเรา แต่ไม่ลงมาหาเลย ได้มาเป็นรมช.เกษตรฯ เพราะอะไรก็เพราะมีความคิดในเรื่องเกษตรอินทรีย์ ถ้าไม่อย่างนั้นก็ควรลงมาบอกสิ่งที่อ.ยักษ์ สอนคนมาทั่วประเทศไม่ใช่เรื่องจริง

จาก www.naewna.com วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2561

เร่งเครื่องแก้สินค้าเกษตรราคาร่วง‘กฤษฎา’พลิกมาตรการ4ด้านสั่งผู้บริหารหน่วยงานทั่วปท.วางแนวทางสางปัญหายั่งยืน

 กระทรวงเกษตรฯ เดินเครื่องแก้ปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาด-ราคาตกต่ำ “กฤษฎา” สั่งผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดทั่วประเทศ เร่งหาวิธีการและมาตรการรองรับ ภายใต้กรอบดำเนินงาน 4 ด้าน เพื่อแก้ปัญหาระยะยาวอย่างยั่งยืน

นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันเกษตรกรต่างทำเกษตรกรรมโดยไม่มีการวางแผนการผลิตทางเกษตรกรรม หรือวางแผนทำการเกษตร ซึ่งเป็นการไม่คำนึงถึงความต้องการของตลาดหรือผู้บริโภค และเมื่อผลผลิตออกมาในเวลาไล่เลี่ยกันทำให้ผลผลิตเหล่านั้นล้นตลาด ส่งผลให้ราคาตกต่ำและนำมาซึ่งการเรียกร้องหรือกดดันให้รัฐช่วยเหลือในเรื่องการจ่ายเงินชดเชยส่วนที่ขาดทุน หรือการรับจำนำ หรือการประกันราคาผลผลิตที่ไม่อิงราคาตลาด หรือขอให้ใช้งบประมาณรัฐมาซื้อผลผลิตในราคานำตลาด ซึ่งมาตรการเหล่านี้ รัฐบาลได้ดำเนินการมาแล้วหลายครั้ง แต่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน โดยปัจจุบันยังมีการเรียกร้องขอความช่วยเหลือจากเกษตรกรกลุ่มต่างๆตามฤดูกาลผลิตตลอดมาเป็นระยะๆ

ดังนั้น เพื่อให้การดูแลช่วยเหลือและคุ้มครองผู้มีอาชีพเกษตรกรรมจำนวนประมาณ 7 ล้านครอบครัว หรือ 24 ล้านคน จึงได้สั่งการถึงผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค เร่งดำเนินการเกี่ยวกับการวางแผนและปฏิบัติตามแผนการผลิต เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการเกษตรกรรม ซึ่งในเบื้องต้นการวางแผนของกระทรวงเกษตรฯทั้งส่วนกลางและภูมิภาค จะมีการวางแนวทางไว้ 4 ด้าน คือ

1.ถ้ากระทรวงเกษตรฯและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะกำหนดแผนการผลิตทางการเกษตร ควรกำหนดชนิดหรือประเภทของพืชและหรือปศุสัตว์อะไรบ้าง ที่ควรบรรจุอยู่ในแผนการผลิตและควรมอบหมายให้หน่วยงานใด หรือควรแต่งตั้งคณะกรรมการจากหน่วยใดบ้างให้เป็นผู้รับผิดชอบจัดทำหรือกำหนดแผนการผลิตทางการเกษตรกรรมของประเทศ 2.ในแผนการผลิตทางการเกษตรกรรมข้างต้นควรมีรายละเอียดหรือองค์ประกอบในแผนการผลิตอย่างไรบ้าง

3.ขอให้นำ พ.ร.บ.เศรษฐกิจการเกษตร พ.ศ.2522 และพ.ร.บ. กองทุนสงเคราะห์เกษตรกร พ.ศ.2554 ซึ่งเป็นกฎหมายที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้รักษาการตามกฎหมายอยู่แล้วมาพิจารณาว่า มีสาระหรือบทบัญญัติที่จะนำมาใช้ดำเนินการจัดทำแผนการผลิตทางการเกษตรกรรมได้หรือไม่ รวมทั้งให้ศึกษาว่ามีวิธีการอย่างไรบ้างที่จะทำให้เกษตรกรปฏิบัติตามแผนการผลิต ทั้งนี้อาจนำจุดแข็งและจุดอ่อนของการวางแผนข้าวครบวงจร หรือการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาอ้อยตามกฎหมายอ้อยและน้ำตาลมาพิจารณาประกอบด้วยก็ได้และ 4.กระทรวงเกษตรฯ ควรกำหนดเงื่อนไข หรือควรจัดบริการใดๆ

(Incentives)ให้แก่เกษตรกรเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน หรือแรงจูงใจให้เกษตรกรทำการเกษตรตามแผนการผลิตทางการเกษตรกรรมอย่างจริงจังต่อไป พร้อมกันนี้ ปลัดกระทรวงเกษตรฯ จะต้องแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาหาแนวทางการพัฒนาและแก้ไขปัญหาการเกษตรกรรมดังกล่าวข้างต้นให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือนด้วย

จาก www.naewna.com วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2561

“สมคิด” ไร้กังวลกรณีเงินทุนไหลออก-ค่าเงินบาทที่อ่อนค่า เผยแบงก์ชาติดูแล

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักวิเคราะห์ตลาดเงินและตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทวันที่ 18 มิถุนายน ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ 32.62 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากปิดสัปดาห์ก่อนที่ 32.42 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และเคลื่อนไหวไปอ่อนค่าสุดที่ 32.75 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะย่อตัวลงมาที่ 32.73 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ สำหรับปัจจัยมีผลต่อค่าเงินบาทคือดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้นหลังจากธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย 4 ครั้งในปีนี้ และต้องติดตามนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรปอีซีบีว่าจะมีการใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวดหรือไม่ ซึ่งจะสร้างแรงกดดันกับตลาดทุนทั่วโลกและสกุลเงินเอเชีย รวมทั้งบาทมีโอกาสอ่อนค่าได้จากการปิดรับความเสี่ยง มองกรอบค่าเงินบาทที่ 32.35-32.85 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่การประชุมนโยบายการเงินของไทยในวันที่ 20 มิถุนายนนี้ คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโนบายที่ 1.50%

ด้านกลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา คาดว่าค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 32.55-32.90 ต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยเงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 6 เดือน สอดคล้องกับทิศทางสกุลเงินภูมิภาคหลังอีซีบีส่งสัญญาณเลื่อนการขึ้นดอกเบี้ยออกไป ซึ่งกระตุ้นแรงซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทยด้วยมูลค่า 2.47 หมื่นล้านบาท และ 2.7 พันล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่เงินดอลลาร์แข็งค่าเทียบกับทุกสกุลเงินหลัก แม้อีซีบีระบุว่าจะยุติการเข้าซื้อพันธบัตรก่อนสิ้นปีนี้ แต่การประกาศเลื่อนปรับขึ้นดอกเบี้ยของอีซีบี สวนทางกับแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่เร็วกว่าคาดของเฟดทำให้ตลาดปรับคาดการณ์ใหม่ว่าอีซีบีจะขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือนกันยายน 2562 ซึ่งล่าช้ากว่าที่เคยคาดไว้ 3 เดือน เหตุการณ์นี้สร้างความผันผวนให้กับค่าเงินในวงกว้าง โดยเงินยูโรอ่อนค่าลงอย่างรุนแรงและส่งแรงกระเพื่อมไปยังสกุลเงินอื่นๆ ให้อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐด้วย ทั้งนี้ นักลงทุนทั่วโลกปรับลดการถือครองสินทรัพย์ตลาดเกิดใหม่รวมถึงไทย อย่างไรก็ดี ค่าเงินดอลลาร์ยังคงเผชิญปัจจัยลบเชิงโครงสร้าง อาทิ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลงบประมาณของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น รวมถึงนโยบายและเป้าหมายด้านการค้าของประธานาธิบดีทรัมป์ หรือแม้แต่การเปิดฉากสงครามการค้ากับจีน บ่งชี้ว่าสหรัฐฯ ไม่ต้องการให้เงินดอลลาร์แข็งค่า ประเด็นนี้สนับสนุนมุมมองที่ว่าเงินบาทมีโอกาสกลับมาแข็งค่าในช่วงปลายปีนี้ ด้านสำหรับปัจจัยภายในประเทศ กนง. จะมีมติคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 1.50% ในที่ประชุมวันที่ 20 มิถุนายน แต่การเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลายแห่งในภูมิภาค ส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยของสหรัฐฯและไทยที่กว้างขึ้น รวมถึงกระแสเงินทุนไหลออกที่เร่งตัว อาจทำให้การรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนเป็นหนึ่งในปัจจัยที่มีน้ำหนักต่อการตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยนโยบายภายในสิ้นปีนี้ แม้ว่าเงินเฟ้อของไทยจะฟื้นตัวอย่างช้าๆ ก็ตาม

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีเงินทุนไหลออกและค่าเงินบาทที่อ่อนค่าในช่วงนี้ว่า ไม่มีความกังวลต่อเรื่องนี้ เพราะธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ดูแลใกล้อยู่แล้ว

ด้านนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ค่าบาทที่อ่อนค่าก็ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ ซึ่งประเมินว่าแม้จะมีเงินทุนไหลออกไปแต่ยังไม่น่ากังวลเพราะยังมีเงินทุนต่างชาติเหลือในประเทศอีกมาก ทั้งนี้ ส่วนคำถามทิศทางอัตราดอกเบี้ยของไทยจะยังทรงตัวหรือไม่ นายอภิศักดิ์ กล่าวว่า ไม่ความจำเป็นว่าจะต้องไปปรับขึ้นไปทำไม

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2561

กษตรฯ วางแนวทางใช้สารเคมีในพืช

ก.เกษตรฯ พร้อมปฏิบัติตามมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย ชี้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอสเป็นทางเลือกเกษตรกร

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวถึงข้อกังวลเกี่ยวกับการใช้สารเคมีพาราควอตกำจัดวัชพืชและสารคลอร์ไพริฟอสกำจัดแมลงว่าจะตกค้างในผลผลิตจนเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค รวมทั้งตกค้างในดินและน้ำจนเป็นอันตรายสิ่งแวดล้อม ว่า ได้รับรายงานจากกรมวิชาการเกษตรว่าคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานมีมติให้ใช้สารทั้ง 2 ชนิดได้ภายใต้การกำกับดูแลที่ดี ซึ่งจะทำให้เกษตรกรยังมีทางเลือกในการกำจัดวัชพืชและแมลงศัตรูพืช โดยจะไม่เกิดผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ คณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณาจากผลการศึกษาของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการควบคุมวัตถุอันตรายพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโซเฟต ซึ่งระบุว่าไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างการได้รับสารนี้กับโรคพาร์กินสันและโรคเนื้อเน่าหนังเน่า รวมทั้งกรมวิชาการเกษตรและกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมตรวจไม่พบสารพาราควอตในตัวอย่างน้ำ ดินเกษตรกรรมที่ใช้สารนี้และตะกอนดิน

ปัจจุบันมี 86 ประเทศที่ยังคงใช้พาราควอต และมี 51 ประเทศห้ามใช้สารกำจัดวัชพืชอื่นยังมีประสิทธิภาพทัดเทียม ดังนั้น การใช้สารอื่นทดแทนหรือการใช้แรงงานกำจัดวัชพืชจะเพิ่มต้นทุนแก่เกษตรกรมากและไม่พบการตกค้างในผลผลิตในปริมาณสูง ส่วนสารคลอร์ไพริฟอสยังคงใช้ใน 100 ประเทศ ห้ามใช้ใน 30 ประเทศ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และองค์การอนามัยโลก (WHO) ยังคงให้ใช้สารนี้ในอาหาร อีกทั้งไม่มีข้อมูลบ่งชี้ว่ามีผลกระทบต่อสมองทารก

นายกฤษฎา กล่าวย้ำว่า อำนาจการอนุญาตให้ใช้หรือไม่ให้ใช้เป็นของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ไม่ใช่อำนาจของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไม่มีอำนาจและไม่ได้เสนอชื่ออนุกรรมการเฉพาะกิจฯ พิจารณาการควบคุมวัตถุอันตรายพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโซเฟต ดังนั้น การใช้สารพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสจึงเป็นทางเลือกของเกษตรกรที่จะใช้กำจัดวัชพืชและแมลงศัตรูได้ต่อไปภายใต้การกำกับดูแลที่ดีตามมติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย.

จาก www.tnamcot.com  วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ดึงนวัตกรรมพัฒนาพืชเศรษฐกิจ 3 ชนิด

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติจับมือจุฬาฯ เตรียมพัฒนาพืชเศรษฐกิจไทย สู่อุตสาหกรรมพลังงาน เพื่อเพิ่มรายได้ให้ภาคการเกษตร 10 เท่า 

นายสุภาพ อัจฉริยศรีพงศ์ กรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ NIA กล่าวว่า NIA ได้มุ่งพัฒนานวัตกรรมในภาคเกษตรมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเร่งสร้างและยกระดับความสามารถด้านนวัตกรรมของกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมการเกษตรที่สร้างสรรค์และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เพื่อแก้ไขปัญหาด้านการเกษตร ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดระบบนิเวศของการสร้างธุรกิจนวัตกรรมเกษตร โดย “ธุรกิจไบโอรีไฟเนอรี่” ถือเป็นอีกหนึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรที่มีโอกาสเติบโตและหลายภาคส่วนให้ความสนใจ โดยเป็นการแปรรูปวัตถุดิบทางการเกษตรหรือของเหลือทิ้งจากการเกษตรด้วยกระบวนการทางเทคโนโลยีชีวภาพ โดยใช้จุลินทรีย์ แบคทีเรีย ยีสต์ เอ็นไซม์ หรืออื่น ๆ ให้ทำหน้าที่เสมือนโรงงานให้เป็นผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น เช่น เชื้อเพลิงและพลังงาน ชีวเคมีภัณฑ์ อาหารสัตว์แห่งอนาคต อาหารแห่งอนาคต และชีวเภสัชภัณฑ์

ดังนั้น NIA โดย ABC Center จึงร่วมกับวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างธุรกิจไบโอรีไฟเนอรี่ในอนาคตของประเทศไทยในพืชเศรษฐกิจหลัก 3 ชนิด ได้แก่ อ้อย มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน หากไทยสามารถผลักดันและสนับสนุนให้เกิดการก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรมในรูปแบบของ Biorefinery Industry Complex ในลักษณะคลัสเตอร์อุตสาหกรรม พร้อมทั้งประกาศมาตรการสนับสนุนสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับจากภาครัฐ ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศของการสร้างธุรกิจนวัตกรรมเกษตรสาขาธุรกิจไบโอรีไฟเนอรี่อย่างจริงจังได้ จะเกิดผลดีทั้งช่วยกระตุ้นการลงทุนขนาดใหญ่ในกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปชีวมวล พร้อมขับเคลื่อนให้ไทยเป็นผู้นำของธุรกิจดังกล่าวได้ในภูมิภาค และยังจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบทางการเกษตรของประเทศได้อีกไม่ต่ำกว่า 10 เท่า โดยเฉพาะมันสำปะหลัง และอ้อย ที่ไทยส่งออกเป็นอันดับที่ 1 และ 2 ของโลก

นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม รองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศที่มีพื้นฐานด้านเกษตรกรรม จึงจำเป็นต้องยกระดับการเกษตรสู่เกษตรสมัยใหม่ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนพัฒนาอุตสาหกรรม วิจัย และนวัตกรรม นำไปสู่การยกระดับการเกษตรและคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี ซึ่งเป็นผู้นำทางด้านวิชาการ ความรู้ทางนวัตกรรม และมีประสบการณ์โดยเน้นหนักทางด้านเทคโนโลยีปิโตรเลียม เทคโนโลยีปิโตรเคมีและพอลิเมอร์ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าว และตระหนักถึงการลดลงของพลังงานฟอสซิล ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการของโลกที่มากขึ้น จึงเป็นโอกาสอันดีที่วิทยาลัยฯ จะมีบูรณาการความรู้ต่าง ๆ ที่ผ่านมา เพื่อเปลี่ยนภาพจากโรงกลั่นน้ำมันไปสู่ไบโอรีไฟเนอรี่ รวมถึงศึกษาแนวโน้ม ทิศทาง และความเป็นไปได้ในการพัฒนา เพื่อบ่งชี้แนวโน้มและทิศทางการพัฒนาธุรกิจไบโอรีไฟเนอรี่ในอนาคตของประเทศไทย เพื่อนำไปสู่การพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมการเกษตรและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องไปสู่เศรษฐกิจฐานชีวภาพอย่างยั่งยืน-

จาก www.tnamcot.com  วันที่ 18 มิถุนายน 2561

สำนักข่าวไทยพาณิชย์หารือการค้าอิสราเอล ดึงนวัตกรรมเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรไทย

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้นำคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (JTC) ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 6 มิถุนายนที่ผ่านมา ที่ประเทศอิสราเอล โดยได้ประชุมร่วมกับนายโอฮาด โคเฮ็น ปลัดกระทรวงเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมรัฐอิสราเอล ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายได้หารือขยายการค้าและการลงทุน เพื่อบรรลุเป้าหมายการค้า 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2563 และเนื่องจากอิสราเอลเป็นประเทศที่มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง จึงเป็นโอกาสที่ไทยจะร่วมมือกับอิสราเอลนำวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมมาเพิ่มมูลค่าและประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรของไทย

นอกจากนี้ ยังได้หารือเรื่องความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาความปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งอิสราเอลประสงค์จะเชิญไทยเข้าร่วมงานแสดงนวัตกรรมและสัมมนาด้านความมั่งคงของประเทศ (HLS & Cyber 2018) ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-15 พฤศจิกายน 2561 ที่ประเทศอิสราเอล และไทยจะเชิญอิสราเอลเข้าร่วมงาน Digital Thailand Big Bang ที่กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 19-23 กันยายน 2561 ที่กรุงเทพฯ นอกจากนี้ ไทยยังได้เชิญชวนให้อิสราเอลเข้ามาลงทุนในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EECi ในสาขาที่อิสราเอลมีความเชี่ยวชาญ เช่น การแพทย์ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ การบริหารจัดการน้ำ เป็นต้น

นางนันทวัลย์กล่าวว่า อิสราเอลอยู่ระหว่างดำเนินกระบวนการเปิดตลาดและพิจารณาวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชให้กับสินค้าลำไยของไทย ขณะที่อิสราเอลสนใจส่งออกทับทิมมาไทยและได้แสดงความสนใจที่จะนำเข้าสับปะรดจากไทย เพราะเป็นที่นิยมของผู้บริโภคชาวอิสราเอล ซึ่งรู้จักสับปะรดไทยจากการเดินทางมาเที่ยว นอกจากนี้ ฝ่ายไทยได้เชิญชวนให้ชาวอิสราเอลเดินทางมาเที่ยวไทยมากขึ้นผ่านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การท่องเที่ยววิถีไทย เป็นต้น โดยปัจจุบันนักท่องเที่ยวอิสราเอลเดินทางมาไทยอันดับหนึ่งในภูมิภาคตะวันออกกลางปีละกว่า 170,000 คน

ปัจจุบันอิสราเอลเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 5 ของไทยในกลุ่มภูมิภาคตะวันออกกลาง ขณะที่ไทยเป็นคู่ค้าสำคัญลำดับที่ 19 ของอิสราเอลในตลาดโลก หรือลำดับ 1 ในอาเซียน ตามด้วยสิงคโปร์ และเวียดนาม ตามลำดับ ในปี 2560 การค้า 2 ฝ่ายมีมูลค่า 1,301.22 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 21.74% จากปี 2559 สินค้าที่ไทยมีศักยภาพในอิสราเอล ได้แก่ สินค้ารถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ สินค้าข้าว อาหาร สินค้าอุปโภค บริโภคต่างๆ เฟอร์นิเจอร์ ของประดับบ้าน และสาขาที่ไทยมีศักยภาพเข้าไปลงทุน ได้แก่ ธุรกิจท่องเที่ยว ร้านอาหาร การผลิตอาหารโครเชอร์

จาก www.naewna.com วันที่ 18 มิถุนายน 2561

นักวิชาการจี้ไทยรับมือ สงครามการค้า‘จีน-สหรัฐ’

ที่มหาวิทยาลัยรังสิต เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2561 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป ได้รายงานผลกระทบสงครามการค้าสหรัฐอเมริกา-จีน รอบใหม่ต่อเศรษฐกิจโลก

ทั้งนี้เป็นผลหลังจาก สหรัฐอเมริกา ได้ประกาศบัญชีรายการสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งจะถูกเรียกเก็บภาษี 25% ตอบโต้การที่จีนละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐ โดยสินค้าลอตแรกจะถูกเรียกเก็บภาษีในวันที่ 6 กรกฎาคม 2561 ขณะที่จีนประกาศจะตั้งกำแพงตอบโต้สหรัฐฯในอัตราที่เท่ากัน

ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตได้กล่าวว่า ภาคส่งออกไทยคงหลีกเลี่ยงผลกระทบไม่ได้ เพราะไทยมีสินค้าส่งออกที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของทั้ง 2 ประเทศ ขณะที่เศรษฐกิจไทยอาจเผชิญปัญหาสินค้าบางชนิดไหลทะลักเข้า เนื่องจากประเทศต้นทางต้องการระบายสินค้า แต่ไทยก็อาจได้ประโยชน์จากการปรับเปลี่ยนแผนการลงทุนของจีน หรือได้ประโยชน์ในกรณีที่สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าจากไทยมากขึ้น

พร้อมแนะนำว่าให้เตรียมความพร้อมในการรับมือสินค้าทุ่มตลาดจากจีนเนื่องจากจีนส่งออกไปสหรัฐฯได้ลดลง พร้อมขอให้แสวงหาโอกาสในการส่งออกไปยังตลาดจีนและตลาดสหรัฐอเมริกา ในสินค้าที่สหรัฐฯและจีนตอบโต้ด้วยการตั้งกำแพงภาษีต่อกันและเป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการแข่งขันได้ โดยคาดว่า ไทยน่าจะส่งออกสินค้าเกษตรไปยังจีนได้มากขึ้น

อีกทั้งขอให้ศึกษาผลกระทบต่อกลุ่มสินค้า 932 รายการ ที่ไทยส่งออกและนำเข้า โดยสินค้าเหล่านี้อยู่ในกลุ่มสินค้าที่มีการตอบโต้ทางการค้ากันระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาโดยปรับเพิ่มภาษีนำเข้า 25%

จาก www.naewna.com วันที่ 18 มิถุนายน 2561

สทนช.ตรวจแนวรับน้ำ"12ทุ่งเจ้าพระยาตอนล่าง"บูรณาการเตรียมรับมือก่อนถึงฤดูน้ำหลาก

            การลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่เพื่อวางแผนใช้พื้นที่ลุ่มต่ำ 12 ทุ่งในลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างของเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) “ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์” และคณะ ถือเป็นครั้งแรกในการติดตามและประเมินผลการบูรณาการบริหารจัดการน้ำของหน่วยงานต่างๆ อย่างเป็นทางการเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือปัญหาในฤดูน้ำหลากและเก็บกักน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง ผ่านโครงการสำคัญๆ อย่างโครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร ตามมติครม.เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2560  แผนปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาผักไห่ในปีงบประมาณ 2561-2564 และแก้มลิงทุ่งมะขามหย่อง เป็นต้น

          ขณะเดียวกันเป็นการติดตามผลดำเนินงานตามมติที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2561 รับทราบแผนการบริหารจัดการน้ำในฤดูฝนปี 2561 ของคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ซึ่งมี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานอนุกรรมการที่ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการในด้านต่างๆ เช่น การจัดทำแผนการบริหารจัดการน้ำ กำจัดสิ่งกีดขวางทางระบายน้ำ ซ่อมแซมอาคารควบคุมน้ำให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน เตรียมความพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือ ในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ตลอดจนการแก้ไขปัญหาและผลกระทบจากรับน้ำเข้าพื้นที่ลุ่มต่ำให้ทันก่อนการรับน้ำหลากในฤดูฝนที่กำลังจะมาถึงในอีก 1-2 เดือนข้างหน้าด้วย

         ดร.สมเกียรติ เผยว่า กลุ่มลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญด้านเศรษฐกิจและฐานการผลิตของประเทศ โดยในช่วงฤดูฝนปี 2560 รัฐบาลได้ดำเนินการนำร่องปรับปฏิทินการปลูกข้าวในพื้นที่ลุ่มต่ำ 12 ทุ่ง ประมาณ 1.15 ล้านไร่ ประกอบไปด้วย ทุ่งเชียงราก จ.สิงห์บุรี ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก ทุ่งท่าวุ้ง จ.ลพบุรี ทุ่งบางกุ่ม ทุ่งบางกุ้ง ทุ่งป่าโมก จ.อ่างทอง ทุ่งผักไห่ ทุ่งเจ้าเจ็ด ทุ่งพระยาบรรลือ ทุ่งโพธิ์พระยา ทุ่งบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และทุ่งรังสิตใต้ให้เร็วกว่าปกติ เพื่อหลีกเลี่ยงผลผลิตได้รับความเสียหายจากฤดูน้ำหลาก และให้เป็นพื้นที่รับน้ำหรือเป็นแก้มลิงธรรมชาติในการหน่วงน้ำได้ประมาณ 1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ในช่วงปลายฤดูฝน

        “แม้ผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมาจะประสบผลสำเร็จอย่างน่าพอใจ แต่ก็ยังประสบปัญหาในบางพื้นที่ที่มีน้ำท่วมบ้านเรือนราษฎร ถนนที่ใช้สัญจร การนำน้ำเข้าทุ่งและระบายออกจากทุ่งไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ดังนั้น สทนช.จึงได้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมชลประทาน กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมโยธาธิการและผังเมือง ร่วมกันวางแผน เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำพร้อมกับแก้ไขปัญหาดังกล่าวไม่ให้เกิดขึ้นอีกครั้งในฤดูน้ำหลากปี 2561 นี้”

       เลขาธิการสทนช.กล่าวต่อไปว่า การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำทั้ง 12 ทุ่งดังกล่าว มีโครงการสำคัญๆ เช่น โครงการประตูระบายน้ำปากคลองบางบาล พร้อมสร้างบันไดปลา จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อใช้ในการบริหารจัดการน้ำหลากและเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง บรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาจนถึงอ่าวไทย และเพิ่มศักยภาพในการใช้น้ำเพื่อเกษตรกรรมจำนวน 229,138 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ อ.พระนครศรีอยุธยา อ.บางบาล อ.บางไทร อ.บางปะอิน อ.ผักไห่ อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา และ อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง เมื่อแล้วเสร็จจะมีประสิทธิภาพในการระบายน้ำได้สูงสุดถึง 500 ลบ.ม./วินาที ทั้งนี้คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2563 ใช้งบทั้งสิ้นประมาณ 266.7 ล้านบาท ดำเนินการโดยกรมชลประทาน

         นอกจากนี้ยังมีแผนที่ปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาผักไห่ ในปีงบประมาณ 2561–2564 เช่น การก่อสร้างคันกั้นน้ำคลองระบายน้ำใหญ่สุพรรณและอาคารประกอบ การก่อสร้างสถานีสูบน้ำวัดคงษา การก่อสร้างท่อระบายน้ำปากคลองระบายน้ำใหญ่แม่น้ำน้อย การก่อสร้างประตูระบายน้ำคลองเจ๊ก การปรับปรุงติดตั้งเครื่องสูบน้ำและตู้ควบคุมประตูระบายน้ำกุฎี การปรับปรุงประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำคลองวัดใบบัว การปรับปรุงประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำคลองตานึ่ง การปรับปรุงประตูระบายน้ำปลายคลองผักไห่-เจ้าเจ็ด เป็นต้น

         ส่วนในพื้นที่ลุ่มต่ำอื่นๆ ได้มีการวางแผนบริหารจัดการน้ำโดยการใช้สิ่งปลูกสร้างที่มีอยู่และกำลังก่อสร้าง เช่นในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ได้วางแผนพร่องน้ำออกจากแก้มลิง 2 แห่ง เพื่อรอรับน้ำหลากที่จะไหลลงท่วมพื้นที่เกาะในตัวเมือง คือ แก้มลิงทุ่งมะขามหย่อง สามารถรองรับน้ำได้ 1.2 ล้านลบ.ม. และแก้มลิงทุ่งภูเขาทอง รองรับน้ำได้ 2.0 ล้านลบ.ม. พร้อมใช้ประตูระบายน้ำ 3 แห่ง ในการบริหารจัดการน้ำ คือ ประตูระบายน้ำหันตรา ประตูระบายน้ำข้าวเม่า และประตูระบายน้ำกระมัง

         ทั้งนี้ยังใช้มาตรการไม่ใช้สิ่งปลูกสร้าง เช่น การกำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำ การเตรียมเครื่องมือ เครื่องจักร เครื่องสูบน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ เป็นต้น รวมทั้งยังมีการวางแผนบริหารจัดการน้ำในเขื่อนสำคัญให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสมและใช้ในการหน่วงน้ำ การวางแผนจัดจราจรทางน้ำเพื่อให้การระบายน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

         อย่างไรก็ตาม ด้วยกลุ่มลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่มีความสำคัญด้านเศรษฐกิจและฐานการผลิตของประเทศ การบริหารจัดการน้ำจะต้องมีประสิทธิภาพสูงสุด สทนช.ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินโครงการศึกษาติดตามและประเมินผลการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ กลุ่มลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 8 ลุ่มน้ำหลักคือ ลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน เจ้าพระยา ป่าสัก สะแกกรัง และท่าจีน มีพื้นที่ลุ่มน้ำรวม 99.12 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ป่า 47.10 ล้านไร่ พื้นที่การเกษตร 37.96 ล้านไร่ ที่เหลือเป็นพื้นที่เมืองและอื่นๆ โดยจะศึกษาเพื่อประเมินผลการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำพื้นที่กลุ่มลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่อย่างเป็นรูปธรรม พร้อมกำหนดแนวทางปรับปรุงการดำเนินงานและการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่กลุ่มลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยคาดว่าจะศึกษาแล้วเสร็จภายในปี 2561 นี้

จาก www.komchadluek.net  วันที่ 18 มิถุนายน 2561

เงินบาทเปิดที่32.62อ่อนค่ารอบ6เดือน

เงินบาทเช้านี้เปิดตลาดที่ 32.62 อ่อนค่าในรอบ 6 เดือน มองกรอบ 32.55-32.75 บาทต่อดอลลาร์

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน) หรือ BAY เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ที่ 32.62 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าในรอบ 6 เดือน และ อ่อนค่าจากปิดตลาดสัปดาห์ก่อนที่ 32.41 บาทต่อดอลลาร์ หลังตลาดกังวลสงครามครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ ซึ่งสกุลเงินในตลาดเกิดใหม่ถูกเทขาย และ อ่อนค่า เมื่อเทียบกับดอลลาร์มาตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ระหว่างวันคาดว่าค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 32.55-32.75 บาทต่อดอลลาร์

จาก https://www.innnews.co.th   วันที่ 18 มิถุนายน 2561

ชงไทยผู้นำอุตฯชีวภาพอาเชียน

ผลวิจัยจากนักวิชาการไบโอเทคชูไทยผู้นำอาเซียนในอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ระบุได้เปรียบด้านวัตถุดิบเกษตร ขณะที่องค์ความรู้เชิงลึกและเทคโนโลยีขั้นสูงต้องได้รับการส่งเสริมอย่างเร่งด่วน

ผลวิจัยจากนักวิชาการไบโอเทคชูไทยผู้นำอาเซียนในอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ระบุได้เปรียบด้านวัตถุดิบเกษตร ขณะที่องค์ความรู้เชิงลึกและเทคโนโลยีขั้นสูงต้องได้รับการส่งเสริมอย่างเร่งด่วน

นางสาววรินธร สงคศิริ หัวหน้าโครงการศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทางด้านการจัดการและใช้ประโยชน์จากของเสียอุตสาหกรรมการเกษตร ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะเป็นผู้นำอาเซียนทางด้านอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ เนื่องจากมีความพร้อมด้านวัตถุดิบการเกษตรทั้งแป้ง น้ำตาล เซลลูโลส ปาล์มน้ำมัน แต่เทคโนโลยียังล้าหลังพอสมควรเมื่อเทียบกับประเทศชั้นนำ จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาอย่างเร่งด่วน

ภาครัฐควรให้การสนับสนุนอย่างเร่งด่วนทั้งการพัฒนาองค์ความรู้เชิงลึก เทคโนโลยีการผลิตที่ได้มาตรฐานและน่าเชื่อถือ รวมทั้งสนับสนุนงานวิจัยที่พร้อมนำไปต่อยอดในภาคอุตฯ เข้มแข็งขึ้น ขณะที่ในส่วนของบุคลากรวิจัยไทยนั้น พบว่ามีศักยภาพและความสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีไม่แพ้ชาติใดๆ

“เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพเป็น 1 ในอุตฯ เป้าหมายที่สร้างมูลค่าสูง ทั้งเป็นกลุ่มที่จะเติบโตเร็วในอนาคตจากฐานความพร้อมทางด้านวัตถุดิบทางการเกษตร โดยเฉพาะเมื่อเราเป็นผู้ส่งออกมันสำปะหลังรายใหญ่ที่สุดของโลก อีกทั้งมีอุตฯเคมีและเชื้อเพลิงเอทานอลที่พัฒนาแล้ว” นางสาววรินธร กล่าว

นักวิจัย กล่าวอีกว่า สถานการณ์เศรษฐกิจฐานชีวภาพในระดับนานาชาติ มีการคาดการณ์มูลค่าตลาดพลาสติกชีวภาพโลกจะเพิ่มขึ้น 2.03 แสนล้านบาทในปี 2564 โดยสหรัฐผลิตและใช้สินค้าฐานชีวภาพมากกว่า 1.4 หมื่นรายการ และรัฐบาลมีมาตรการบังคับให้หน่วยงานภาครัฐต้องซื้อสินค้าฐานชีวภาพ ขณะที่สหภาพยุโรปผลักดันสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพให้ได้ 20% ในปี 2563

ในส่วนของประเทศไทย แนวทางส่งเสริมผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพควรจะนำร่องที่ผลิตภัณฑ์ต่อยอดจากเอทานอล กรดแลคติคจากแป้งมันสำปะหลังและน้ำตาล ผลิตภัณฑ์ต่อยอดไบโอดีเซล กลีเซอรอล เมทิลเอส เทอรันโฟเนต ที่มาจากพืชน้ำมัน (ปาล์ม) ซึ่งเป็นโจทย์จากภาคอุตฯที่ต้องการสร้างมูลค่าเพิ่มโดยเน้นการทำสารตั้งต้นมูลค่าสูง

ทั้งนี้ ข้อเสนอดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งจากผลงานวิจัย “การจัดทำแนวทางพัฒนาเทคโนโลยีและการจัดทำแผนที่นำทาง กรณีศึกษาอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ” ได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อนำเสนอแพลทฟอร์มการออกแบบเชิงนโยบายให้เกิดนวัตกรรมในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่จะเป็น “หัวรถจักร” นำพาประเทศให้พ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง

จาก www.bangkokbiznews.com  วันที่ 17 มิถุนายน 2561

กรมเจรจาการค้าฯ เตรียมพร้อมไทยเป็นเจ้าภาพอาเซียนปี’62 เร่งทำเอฟทีเอ3ปท.

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เตรียมพร้อมไทยเป็นเจ้าภาพอาเซียนปี’62 – เร่งทำเอฟทีเอ 3 ประเทศ ปากีสถาน ตุรกีและบังคลาเทศ หวังขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุน เดินหน้าเตรียมการใช้ประโยชน์เอฟทีเออาเซียน-ฮ่องกง 1 ม.ค.62 – ลงพื้นที่ช่วยผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จากการค้าเสรี ทั้งโคนม ชา ลำไย

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้ฝ่ายไทยจะมีการพิจารณากำหนดแนวคิดในการเตรียมการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมอาเซียนในปี 2562 ในฐานะที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพและประธานอาเซียน โดยในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ได้มีการตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อกำหนดประเด็นด้านเศรษฐกิจแล้ว โดยมีประเด็นที่จะผลักดัน เช่น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) การอำนวยความสะดวกทางการค้า และการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นต้น

สำหรับแผนการเจรจาการค้าระหว่างประเทศในช่วงครึ่งปีหลัง 2561 ว่า กรมฯ เจรจาจัดทำข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทยกับประเทศคู่เจรจา 3 ประเทศ คือ ปากีสถาน ตุรกี และบังคลาเทศ ให้สำเร็จโดยเร็ว เพื่อขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนของไทย เพราะทั้ง 3 ประเทศถือเป็นตลาดสำคัญที่ไทยต้องการที่จะเปิดตลาด และภาคเอกชนก็เห็นด้วยกับการจัดทำ FTA กับทั้ง 3 ประเทศ

สำหรับ FTA ไทย-ปากีสถาน จะมีการเร่งสรุปผลการเจรจาเปิดเสรีการค้าสินค้าระหว่างไทย-ปากีสถาน และจัดทำร่างกรอบการเจรจาด้านการค้าบริการและการลงทุนภายใต้ เพื่อเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ส่วน FTA ไทย-ตุรกี จะเร่งการเจรจาเปิดเสรีการค้าสินค้าให้ได้ข้อสรุปโดยเร็ว และ FTA ไทย-ศรีลังกา จะผลักดันให้มีการลงนาม MOU ว่าด้วยการพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับศรีลังกา และเตรียมเปิดการเจรจา FTA ซึ่งคาดว่าจะมีการเจรจารอบแรกในเดือนก.ค.2561

สำหรับกรอบการค้าเสรีอื่นๆ จะดำเนินกระบวนการภายในประเทศเพื่อให้ FTA อาเซียน-ฮ่องกง มีผลใช้บังคับได้ทันวันที่ 1 ม.ค.2562 และการลงนามพิธีสารอนุวัติข้อผูกพันเปิดตลาดบริการชุดที่ 10 ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยบริการอาเซียน โดยจะมีการลงนามในเดือนส.ค.2561 รวมทั้งจะเร่งสรุปผลการเจรจาสาระสำคัญของความตกลง RCEP ให้มากที่สุด และรายงานสถานะต่อผู้นำภายในปลายปี 2561 โดยไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการเจรจา RCEP ครั้งที่ 23 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 17-27 ก.ค.2561 ที่กรุงเทพฯ

นอกจากนี้ กรมฯ ยังมีแผนจะเสริมสร้างความรู้ การเตรียมความพร้อม และการใช้ประโยชน์จากการเปิดเสรีการค้าให้กับผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง โดยจะผลักดันให้ผู้ประกอบการโคนมไทยบุกตลาดต่างประเทศโดยใช้ประโยชน์จากการลดภาษีภายใต้ FTA การลงพื้นที่แหล่งปลูกชาที่เชียงรายในวันที่ 26-27 มิ.ย.2561 การประชุมและเยี่ยมชมเขตเศรษฐกิจพิเศษระหว่างวันที่ 12-13 ก.ค.2561 ที่เชียงราย และลงพื้นที่แหล่งปลูกลำไยระหว่างวันที่ 15-16 ส.ค.2561 ที่ใหม่ เป็นต้น

ส่วนประเด็นอื่นๆ จะจัดการประชุมและสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนเกี่ยวกับความตกลง CPTPP อย่างต่อเนื่อง โดยจะมีการสัมมนาใหญ่ในช่วงเดือนก.ย.2561 และจะเดินหน้าแก้ไขอุปสรรคทางการค้า เช่น การกดดันเวียดนามให้ยกเลิกมาตรการควบคุมการนำเข้ารถยนต์อย่างเข้มข้นทั้งในเวทีเจรจาสองฝ่าย อาเซียน และ WTO รวมทั้งเตรียมพิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดทำความตกลงยอมรับร่วม (MRA) มาตรฐานยานยนต์ไทย-เวียดนาม และยกระดับกดดันอินโดนีเซียให้ยกเลิกมาตรการจำกัดการนำเข้าพืชสวน ซึ่งสินค้าเกษตรที่ไทยได้รับผลกระทบมี 3 รายการ คือ ลำไย ทุเรียน และหอมแดง โดยไทยได้หยิบยกข้อร้องเรียนนี้ในทุกระดับ และเตรียมมาตรการเพื่อต่อสู้กับการใช้มาตรการที่ไม่เป็นธรรมด้วย

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 17 มิถุนายน 2561

"เงินบาท"เดินหน้าอ่อนค่า หลังจีนเก็บภาษีตอบโต้สหรัฐฯ

 แนวโน้มค่าเงินบาทสัปดาห์หน้าคาดว่าเคลื่อนไหว 32-32.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ  ชี้แนวโน้มยังอ่อนค่าต่อเนื่อง หลังจีนเก็บภาษีสินค้านำเข้าตอบโต้สหรัฐฯ  "เชาว์" แนะนักลงทุนติดตามข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯรายสัปดาห์                   

นายเชาว์  เก่งชน  กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด  เปิดเผยว่า  ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลง หลังจากที่เกิดปัญหาสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน  ซึ่งตามปกติแล้วหากมีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนที่ธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจะทำให้ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง แต่รอบนี้เกิดหลังเฟดประชุมเสร็จในวันที่ 12 มิ.ย. ทำให้ดอกลลาร์แข็งค่า ดังนั้นต้องติดตามดูว่าเฟดสามารถปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในช่วงที่เหลือของปีนี้ตามที่ส่งสัญญาณไว้หรือไม่  แต่ถ้าหากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯพลิกล็อคไม่เป็นไปตามคาด และเฟดไม่สามารถขึ้นดอกไม้ได้ตามที่ประกาศไว้ได้อาจทำให้ดอลลาร์อ่อนค่าและค่าเงินบาทกลับมาแข็งค่าอีกครั้งจากเงินทุนไหลกลับเข้าไทย

ทั้งนี้เห็นว่านักลงทุนต้องติดตามสถานการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ สัปดาห์ต่อสัปดาห์ และเชื่อว่าแนวโน้มต้นทุนดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจากการกู้ยืมต่างประเทศ บริษัทเอกชนที่ระดมเงินทุนด้วยการออกหุ้นกู้ได้ก็มีการล็อคต้นทุนยาวล่วงหน้าไว้แล้ว ส่วนการแข่งขันเรื่องเงินฝากขึ้นกับสินเชื่อหากสินเชื่อเติบโตดีก็จะเห็นการระดมเงินฝากกลับมา นอกจากนี้เห็นว่าการเบิกจ่ายงบประมาณที่เพิ่มขึ้นจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ คาดว่าในช่วงที่เหลือของปีจีดีพีจะโตไม่ต่ำกว่า 4%

รายงานข่าวจากธนาคารซีไอเอ็มบีไทยแจ้งว่า  แนวโน้มค่าเงินบาทในสัปดาห์หน้าระว่างวันที่ 18-22 มิ.ย. คาดว่า เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 32-32.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ  โดยต้องติดตามปัญหาสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน   หลังจากที่สหรัฐขึ้นภาษีนำเข้าสินค้า 25% กับจีน  ขณะเดียวกันจีนตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีกับสินค้าที่นำเข้าจากสหรัฐจำนวน 659 รายการ และเรียกเก็บภาษี 25% คิดเป็นมูลค่ารวม 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเช่นกัน

ทั้งนี้จีนจะบังคับใช้กับสินค้านำเข้าจากสหรัฐล็อตแรกจำนวน 545 รายการ คิดเป็นมูลค่า 34,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กับสินค้าด้านการเกษตร ยานยนต์ และสินค้าทางทะเล โดยจะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 6 ก.ค.นี้เป็นต้นไป ส่วนการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจำนวนที่เหลือนั้น จะมีการประกาศอีกครั้ง  อย่างไรก็ตาม  ต้องดูว่าประกาศรายชื่อสินค้าออกมาจะกระตุ้นความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสองประเทศมากขึ้นละมีความเป็นไปได้สูงที่ปัจจัยนี้จะกดดันดอลลาร์สหรัฐฯให้อ่อนค่าเมื่อเทียบกับค่าเงินส่วนใหญ่    

จาก https://www.dailynews.co.th วันที่ 17 มิถุนายน 2561

รีเซ็ตแผนผลิต10พืชเศรษฐกิจ ป้องล้นตลาดราคาดิ่ง

นายกฤษฏา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า มีความกังวลในเรื่องระยะเวลาทำความเข้าใจกับเกษตรกรสวนยาง สำหรับโครงการปรับเปลี่ยนปลูกยางทดแทนยางอายุ 25 ปี และโครงการปรับเปลี่ยนอาชีพ พื้นที่เป้าหมาย 1.5 แสนไร่ งบประมาณ 5 พันล้านบาท จ่ายชดเชยให้เกษตรกรที่สมัครใจร่วมโครงการไร่ละ 1.6 หมื่นบาท ไม่เกิน 10 ไร่ต่อราย ในโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ตนขอให้กรมส่งเสริมการเกษตร ลงไปช่วยดำเนินการร่วมกับการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) เพราะไม่ใช่โค่นยางทั้งหมด อาจโค่นบางส่วน หรือแถวเว้นแถว

ทั้งนี้ จะสั่งการให้ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ทำหนังสือเร่งรัดให้ลงพื้นที่ร่วมกันโครงการปรับเปลี่ยนยาง อายุ 25 ปีขึ้นไป ปลูกพืชอื่น ต้องไปดูเปลี่ยนจริงหรือไม่ เอายางไปใส่กี่ต้น หรือพืชอื่น ตนมั่นใจศักยภาพ กรมส่งเสริมการเกษตร ช่วยทำงานร่วมกับ กยท.

“วันนี้มีคนมาถามผมว่ากระทรวงพาณิชย์ แถลงผลงานแล้วทำราคานิวไฮส์ ทั้งข้าว มันสำประหลัง ข้าวโพด ส่วนกระทรวงเกษตรฯไม่แถลงบ้างหรือ ซึ่งผมเห็นว่ากระทรวงพาณิชย์แถลงเรื่องราคาก็ถูกต้องแล้ว ส่วนกระทรวงเกษตรฯจะแถลงก็คือเรื่องผลผลิต เช่น ยาง 1ไร่ กรีดได้น้ำยางได้มากขึ้น หรือน้อยลง ข้าว 1 ไร่ ได้เพิ่มขึ้นไหม ขอแซว รมว.พาณิชย์ ว่าขอช่วยลดราคาปุ๋ยให้เกษตรกรด้วย เพราะผมต้องตากหน้าไปคุยขอลดราคากับเอกชน ใช่หน้าที่กระทรวงเกษตรหรือไม่ แต่ก็ต้องช่วยกัน” นายกฤษฏา กล่าว

นายกฤษฏา กล่าวว่า ปัญหาสับปะรด ที่ปีนี้ตกต่ำเหลือ 2 บาทต่อกิโลกรัมเพราะปีที่แล้วราคาขึ้นไปถึง 12 บาท ก็แห่กันปลูกมากมาเกิดปัญหาราคามาตอนนี้ ส่วนทุเรียนตอนนี้กิโลกรัมละ 100 กว่าบาท โดยเฉพาะต้นพันธุ์มีราคาแพงมาก เกษตรกรกำลังจะโค่นยางไปปลูกทุเรียน  ซี่งกระทรวงเกษตรฯจะไปสั่งอย่าโค่นหรือให้ปลูกอย่างอื่นได้ไหม นี่เป็นปัญหาวนเวียนทุกฤดูกาลของภาคเกษตร ตนกำลังหาทางแก้ไข พืชเศรษฐกิจ 10 กว่าชนิด หากกำหนดแผนการผลิตรัดกุม ต้องมีราคารองรับ จึงทำให้นโยบายการตลาดนำการผลิตได้ผล เช่น กระทรวงพาณิชย์ ต้องบอกว่าปลูกเท่าไหร่ ไม่ล้นตลาด ถ้าให้ปลูกอย่างอื่นก็จะต้องขายได้ด้วย

โดยตนได้หารือกับนายกรัฐมนตรีแล้ว เรื่องมีกองทุนดูแลสวัสดิการเกษตรกร เพื่อจูงใจให้ทำตามแผนการตลาดนำการผลิต เมื่อเกิดโรคระบาด น้ำท่วม ได้เงินช่วยเท่าราคาต้นทุน หรือเกิดราคาตกต่ำได้ชดเชย ในระหว่างนี้กำลังหาเงินมาสนับสนุนกองทุนเพื่อทำให้อาชีพเกษตรกรมั่นคง เมื่อก่อนหักเงินค่าส่งออกข้าว มาเข้ากองทุนสงเคราะห์เกษตรกร แต่ได้ยกเลิกไป ซึ่งอาจนำกลับมาดูด้วย ได้สั่งการปลัดกระทรวง รองปลัดฯช่วยกันเซ็ตระบบใช้เวลา 1 เดือน

จาก www.naewna.com วันที่ 16 มิถุนายน 2561

“อุตตม” ลัดฟ้าแดนอาทิตย์อุทัย หารือ 'METI' ดันอุตสาหกรรมไทย 4.0 ต่อยอด ITC

 “อุตตม” บุกญี่ปุ่นรุดหารือ ‘METI’ เร่งผลักดันภาคอุตสาหกรรมไทยไปสู่ยุค 4.0 ต่อยอด ITC พร้อมชักจูงภาคเอกชนลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายจัดตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงในไทย

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และคณะได้เดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 10-13 มิ.ย. 2561 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกล่าวปาฐกถาในการประชุมประจำปี International Conference on the Future of Asia (Nikkei Forum) ครั้งที่ 24 และการเข้าพบหารือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนภายใต้กรอบการพัฒนาอุตสาหกรรมสู่ Industry 4.0

นายอุตตม ได้รับมอบหมายจากนายกฯ ให้เข้าร่วมกล่าวปาฐกถาในการประชุมประจำปี International Conference on the Future of Asia (Nikkei Forum) ครั้งที่ 24 วันที่ 12 มิ.ย. 2561 ณ โรงแรมอิมพิเรียล กรุงโตเกียว  โดยกล่าวถึงปัจจัยความเสี่ยงที่จะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ซึ่งขณะนี้เป็นความจำเป็นและโอกาสสำคัญที่ประเทศในเอเชียจะต้องร่วมมือกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ภายใต้ 3 ปัจจัยสำคัญ คือ 1. ความเชื่อมโยง (Connectivity) 2. ความร่วมมือ (Collaboration) และ 3. ความสามารถในการปรับตัว (Ability to Change พร้อมกันนี้ ยังได้กล่าวถึงนโยบายและความคืบหน้าของ EEC เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนญี่ปุ่นในการเข้ามาลงทุนใน EEC มากยิ่งขึ้นด้วย

โดยการเดินทางมาในครั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เข้าพบกับ นาย Hiroshige SEKO รมว. METI ของประเทศญี่ปุ่น เพื่อขยายความร่วมมือภายใต้กรอบ Connected Industries และการพัฒนา SME ที่ทำความร่วมมือกันไว้ในปีที่ผ่านมา โดยกระทรวง METI ได้สนับสนุนงบประมาณให้ Denso มาช่วยพัฒนาศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม หรือศูนย์ ITC 4.0 ในด้านเทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่สำหรับ SME ซึ่งผลการดำเนินงานที่ผ่านมาได้รับความสนใจจาก SME เข้ามารับบริการเป็นจำนวนมาก จึงได้ขอให้ METI ขยายความร่วมมือนี้ออกไปยังศูนย์ ITC ทั้ง 11 ศูนย์ภาค ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

โดยนาย SEKO มีความยินดีและขอให้ทีมงานทั้ง 2 ฝ่ายเร่งประสานงานกันโดยเร็วต่อไป พร้อมกันนี้ ยังได้เน้นย้ำการสนับสนุนให้นักลงทุนญี่ปุ่นพิจารณาการลงทุนใน EEC อย่างต่อเนื่อง หลังจากที่เมื่อเดือน ก.ย. ปีที่ผ่านมา ได้นำนักลงทุนญี่ปุ่นเข้าไปเยี่ยมชมใน EEC กว่า 500 ราย และในโอกาสนี้เพื่อยืนยันความต่อเนื่องของความร่วมมือภายใต้กรอบความร่วมมือ Connected Industries กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวง METI ได้ร่วมลงนาม MOC เรื่อง The Smart Industrial Safety System in Thailand เพื่อสนับสนุนการนำเทคโนโลยีดิจิทัล ระบบ AI ระบบ IOT และ Big data มาใช้ เพื่อการพัฒนาระบบ Safety& Maintenance ให้กับภาคอุตสาหกรรมได้ต่อยอดไปสู่ Industry 4.0 ด้วย

นอกจากนี้ นายอุตตม ยังได้เข้าพบนายทาเคชิ อูชิยามาดะ ประธานสมาคมส่งเสริมเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTECS - Japan-Thailand Economic Cooperation Society) (JTEC เป็นสมาคมที่ก่อตั้งขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่น มีจุดมุ่งหมายเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน) และยังเป็นประธานกรรมการบริษัท Toyota ประเทศญี่ปุ่นด้วย รวมถึงนายโคจิ อาริมะ CEO บริษัท Denso Corporation

ทั้งนี้ จากการหารือเห็นพ้องต้องกันว่า JTEC จะให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (Robotic) และระบบอัตโนมัติ (Automation) โดยจะช่วยให้ SME ไทยสามารถเข้าถึงและเข้าใจการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ควบคู่ไปกับการพัฒนาบุคลากรที่จำเป็น เช่น ด้าน S.I. (System Integrator) โดยตั้งเป้าการพัฒนาบุคลากรในด้านนี้ไว้จำนวน 1,400 ราย ภายในระยะเวลา 3 ปี นอกจากนี้ ทั้ง 2 ฝ่ายยังมีข้อตกลงร่วมกันที่จะตั้งกลุ่ม Consortium โดยกระทรวง METI สมาคมส่งเสริมเศรษฐกิจไทย – ญี่ปุ่น หรือ JTECS และสำนักงาน JETRO กรุงเทพฯ ฝ่ายญี่ปุ่น ร่วมกับ ฝ่ายไทย โดยกระทรวงอุตสาหกรรม และสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยีไทยญี่ปุ่น (สสท) จะเร่งจัดทำแผนการดำเนินการดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์

ขณะเดียวกันยังได้เข้าหารือกับ นายฮิโรชิ ทาคาดะ ประธานองค์การส่งเสริมและพัฒนา SME ของญี่ปุ่น หรือ SMRJ - Organization for SMEs and Regional Innovation เรื่องความร่วมมือของ SME ทั้ง 2 ประเทศ ให้เร่งดำเนินงานโครงการ T-GoodTech ในระยะที่ 2 พร้อมเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลเว็บไซต์ J GoodTech ให้ได้โดยเร็ว เพื่อให้ SME ของทั้ง 2 ประเทศ สามารถขยายความร่วมมือในลักษณะพื้นที่สู่พื้นที่ หรือในระดับจังหวัดสู่จังหวัด โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะเป็นหน่วยงานหลักในการประสานความเชื่อมโยงดังกล่าวต่อไป

นายอุตตม ยังได้ใช้โอกาสในการเดินทางครั้งนี้ชักจูงนักลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 2 ราย โดยหลังจากการเข้าพบนายยาซูฮิโร่ ฮาระ CEO ของบริษัท Ryoki Tool ผู้ผลิต Aerospace tooling ที่มีส่วนแบ่งการตลาดที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น มีความสนใจเข้ามาลงทุนจัดตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานในภาคพื้นเอเชีย (MRO) ในพื้นที่ EEC โดยจะเข้ามาสำรวจลู่ทางการลงทุนในเร็วนี้ ขณะที่บริษัท Nachi Fujikochi Corporation ผู้จำหน่ายแขนกลหุ่นยนต์ อันดับ 2 ในไทย ก็มีความสนใจเข้ามาลงทุนในสายการผลิตแขนกลหุ่นยนต์ในประเทศไทยด้วยเช่นกัน

การเดินทางมาประเทศญี่ปุ่นในครั้งนี้ เป็นการต่อยอดและขยายผลความร่วมมือให้มีความใกล้ชิดและร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมสู่ Industry 4.0 และสนับสนุนการลงทุนในพื้นที่ EEC โดยได้รับการตอบรับที่ดีจากทั้งหน่วยงานรัฐ เช่น กระทรวง METI หน่วยงาน SMRJ รวมถึงภาคเอกชนอย่างเช่น JTEC และ Denso ที่ยืนยันจะร่วมมือกับหน่วยงานไทยอย่างใกล้ชิดเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมนำพาให้ประเทศก้าวสู่ยุค 4.0 ได้โดยเร็วต่อไป นายอุตตมฯ กล่าวทิ้งท้าย

จาก www.thansettakij.com   วันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2561

'ม็อบต้านพาราควอต'ปักหลัก! ทำพิธีสาปแช่งผู้เกี่ยวข้องสาร3ชนิด

รมว.เกษตรฯ กฤษฎา บุญราช วัตถุอันตราย สารพิษ ม็อบต้านพาราควอต พาราควอต คลอร์ไพริฟอส ไกลโฟเซต

"ม็อบต้านพาราควอต"ปักหลักหน้ากระทรวงเกษตรฯ ทำพิธีสาปแช่งผู้เกี่ยวข้องสาร3ชนิด ขู่ชุมนุมจนกว่า"นายกฯตู่"ประกาศยกเลิก-ห้ามนำเข้าสารเคมีใช้ในระบบผลิตอาหาร

ที่บริเวณหน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอำนาจ เกตุขาว และนายประสิทธิ์ชัย หนูนวล นำกลุ่มเกษตรกร 50 คน เครือข่ายคนอินทรีย์วิถีเมืองลุง และภาคีเครือข่ายต้านสารเคมีวัตถุอันตราย 3 ชนิด พาราควอต - คลอร์ไพริฟอส - ไกลโฟเซต ได้มาปักหลักชุมนุมอย่างไม่มีกำหนด และติดป้ายโดยรอบพื้นที่โจมตีกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงอุตสาหกรรม และรัฐบาล ที่ไม่มีมติยกเลิกใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด

โดย นายอำนาจ ระบุว่า จะยืนหยัดนั่งอยู่หน้ากระทรวงเกษตรฯจนกว่ารัฐบาลประกาศแบน 3 สารเคมี และห้ามนำเข้าประเทศไทย จึงจะเดินทางกลับ ตนพร้อมผู้ชุมนุม 3 คน ได้แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ โดยนำเชือกมาแขวนคอไว้ตลอดเวลา เพื่อให้รัฐบาลเห็นว่าพวกเรากำลังจะตายกันหมดประเทศจากสารเคมี ซึ่งวันนี้ได้ทำพิธีสาปแช่งผู้เกี่ยวข้องกับสารเคมี และมีพิธีบูชาเทพทั้ง 3 ซึ่งนายอำนาจ เป็นผู้ทำพิธีไหว้จอมปลวก หมายถึงพระแม่ธรณี , น้ำ หมายถึงพระแม่คงคา และรวงข้าว หมายถึงพระแม่โพสพ เป็นทั้งสามเทพเป็นแม่ผู้หล่อเลี้ยงชีวิตและมวลมนุษย์ให้ดำรงชีวิตมาตั้งโลกนี้ก่อกำเนิด หากปราศจากน้ำ ดิน ข้าวปลาอาหาร เราก็ไม่มีชีวิต

ปัจจุบันเราใช้สารเคมีที่ทำให้ดินเสื่อม น้ำปนเปื้อน อากาศเป็นพิษ ทำลายสิ่งเป็นรากฐานชีวิต อัตราการเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็ง โรคอื่นมากขึ้น จนประเทศต่างๆ กว่า 53 ประเทศ ให้ยกเลิกใช้สารเคมีมากว่า 10 ปี เพราะปกป้องคนของเขา แต่ประเทศไทยยังคงปล่อยให้มีการใช้ไม่สามารถยกเลิกได้ คณะกรรมการวัตถุอันตรายยังคงต่อใบอนุญาตให้กับบรรษัทนำเข้าและจำหน่ายต่อไป นั่นหมายถึงการหยิบยื่นใบอนุญาตการฆ่าสุขภาพคนไทยต่อไป

"จึงมาเรียกร้องให้รัฐบาลตัดสินใจรักษาชีวิตประชาชนมากกกว่าผลประโยชน์ของบรรษัท โดยเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องประกาศยกเลิกทันทีสำหรับสารเคมี 3 ชนิด ไม่อนุญาตให้สารเคมีอื่นใดที่เป็นอันตรายใช้ในระบบการผลิตอาหาร รัฐบาลต้องมีนโยบายส่งเสริมเกษตรอินทรีย์อย่างเป็นรูปธรรม" นายอำนาจ กล่าว และว่า ไม่ต้องการยื่นหนังสือให้กระทรวงใด เพราะก็จะได้รับคำตอบแบบเดิม คือ จะตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆ เพื่อดึงเวลา และเดาผลสรุปล่วงหน้าได้เลยว่าหน่วยงานรัฐอยู่ข้างไหน แต่หากนายกฯ ออกมาประกาศยกเลิกวันนี้ก็พร้อมเดินทางกลับทันที และให้รับบาลหันมาส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ เปลี่ยนจากเกษตรเคมีทั่วประเทศให้ได้ โดยให้ไปดู จ.พัทลุง ได้เริ่มทำเกษตรพึ่งตนเองในกลุ่มตนมีสมาชิกกว่า 1 พันไร่ เป็นแปลงเรียนรู้ไม่พึ่งสารเคมี ผลิตยาปุ๋ยจากสมุนไพรใช้เอง เราเดินตามพ่อ

จาก www.naewna.com  วันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2561

แตกใบอ่อน : คุมเข้มสารเคมี

สัปดาห์ที่แล้ว ได้รับข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เกี่ยวกับการควบคุมการใช้งานสารเคมีอันตรายจากคณาจารย์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ภายหลังจาก “คณะกรรมการวัตถุอันตราย” มีมติไม่ยกเลิกการใช้วัตถุอันตราย 3 ชนิด คือ “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส-ไกลโซเฟต” ซึ่งเห็นว่ามีหลายประเด็นที่น่าสนใจ และควรอย่างยิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องต่างๆ โดยเฉพาะหน่วยงานที่มีหน้าที่กำหนดกรอบข้อบังคับเกี่ยวกับการใช้สารเคมีอันตรายต้องนำไปคิดอ่านกันต่อ จึงขออนุญาตสรุปมานำเสนอให้ทุกท่านนำไปพิจารณา ดังนี้ครับ

ผศ.ดร.ดุสิต อธินุวัฒน์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัย คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคพืช และการจัดการเกษตรอินทรีย์ บอกว่า “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส-ไกลโซเฟต” เป็นสารเคมีที่รู้จักกันดีในแวดวงเกษตรกรไทย และนิยมใช้ในการกำจัดวัชพืช เพราะมีราคาที่ไม่สูงมากและเห็นผลเร็ว แต่ขณะเดียวกันในระยะยาว ก็ส่งผลเสียขั้นรุนแรงทั้งต่อสุขภาพของเกษตรกร ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม ซึ่งในหลายประเทศทั่วโลก มีมาตรการห้ามใช้สารเคมีดังกล่าวเป็นการถาวรมากว่า 10 ปี รวมถึงมีการใช้สารชนิดอื่นเข้ามาทดแทน เนื่องจากคุณภาพชีวิตของประชากรและสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ทางภาครัฐต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก

ขณะที่เกษตรในหลายพื้นที่ ยังขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้สารในปริมาณที่เหมาะสม ซึ่งควรใช้ในปริมาณที่ฉลากแนะนำ โดยบางรายใช้ปริมาณเกินกว่าที่ฉลากกำหนด และส่งผลตามมา โดยหนึ่งในกรณีที่เห็นได้ชัดเจนคือ การตรวจพบสารเคมีตกค้างในกระแสเลือดของเกษตรกรจังหวัดยโสธร 81 ราย จากทั้งหมด 82 ราย ดังนั้นจึงถึงเวลาที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องเข้ากำหนดกรอบหรือวางข้อบังคับการใช้สารเคมีอย่างชัดเจน อาทิ กำหนดให้เกษตรกรที่มีความประสงค์ใช้สารอันตรายต้องมีใบอนุญาต เพื่อสามารถจำกัดกลุ่มผู้ใช้ และสามารถให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่เกษตรกรที่จำเป็นต้องใช้สารอันตราย ทั้งอัตราการใช้ ความถี่ของการใช้ การแต่งกายขณะใช้สารเคมี และวิธีการจัดการในกรณีได้รับพิษจากสารเคมี รวมทั้งมีการควบคุมการใช้ตามขนาดพื้นที่อย่างเคร่งครัด พร้อมกำหนดคณะติดตามผล เพื่อเข้าตรวจสอบ ชี้วัดถึงความอันตรายต่อคุณภาพชีวิตเกษตรกร ประชาชนในพื้นที่ และสิ่งแวดล้อมโดยรอบแบบรัดกุม ทั้งนี้ในปี 2560 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการนำเข้าสารอันตราย พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส-ไกลโซเฟต เป็นจำนวนกว่า 44,501 ตัน 3,700 ตัน และ 59,872 ตัน ตามลำดับ (ที่มา : กรมวิชาการเกษตร, 2560) ซึ่งสะท้อนถึงปัญหาที่ทั้งเกษตรกรไทยและภาครัฐ ยังไม่ตระหนักถึงผลกระทบของการใช้สารเคมีอันตรายได้อย่างชัดเจน

ขณะที่ ผศ.ดร.บัณฑิต อนุรักษ์ อาจารย์ประจำสาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ผู้เชี่ยวชาญด้านสารเคมีในภาคการเกษตร ชี้ว่า นอกจากประเด็นการควบคุมการใช้วัตถุอันตรายแล้ว ยังมีกรณี “ปุ๋ยปลอม” ที่ยังไม่ได้รับการเพ่งเล็งหรือตรวจสอบจากภาครัฐเท่าที่ควร ด้วยข้อจำกัดของเจ้าหน้าที่วิเคราะห์และตรวจสอบสารพิษที่มีไม่เพียงพอ โดยมีกรณีศึกษาจากการพบเกษตรกรใน อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี มีการใช้สารเคมีหลายชนิด มากกว่า 2 เท่าของค่ามาตรฐานที่ฉลากกำหนด เนื่องจากเกษตรกรไม่สามารถตรวจสอบคุณภาพของปุ๋ยที่ซื้อมาได้ จึงจำเป็นต้องผสมร่วมกับปุ๋ยเคมีชนิดอื่นในการฉีดพ่น ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อเกษตรกรผู้ฉีดพ่น ที่ตรวจพบสารเคมีตกค้างในเลือดกว่า 60% ของจำนวนเกษตรกรทั้งหมด ปริมาณสารพิษตกค้างกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟสในนาข้าวและผลกระทบต่อสุขภาพเกษตรกร

ทั้งนี้ หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถแก้ไขได้อย่างครบวงจร จะสามารถเยียวยาและยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทย ไม่ให้ถูกหลอกลวงจากการใช้ปุ๋ยปลอม และประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อปุ๋ยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จาก www.naewna.com  วันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ตั้งกองทุนสวัสดิการเกษตรกร สร้างอาชีพการเกษตรอย่างยั่งยืน

กฤษฎา" ชู พรบ.กองทุนสงเคราะห์เกษตรกร พ.ศ.2554 เตรียมต่อยอดตั้งกองทุนหนุนสวัสดิการแก่ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม หวังสร้างความเชื่อมั่นให้เกษตรกรเพาะปลูกตามแผน ช่วยลดปัญหาด้านเกษตรอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.61 นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการบรรยายพิเศษในหัวข้อ แนวทางพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน ในงานเปิดปฏิบัติการโครงการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนอย่างยั่งยืน โดยศาสตร์พระราชาตามแนวทางประชารัฐ ณ อิมแพคเมืองทองธานี ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รวบรวมปัญหาของเกษตรกรเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาระยะยาว พบปัญหาหลักๆ อาทิ มีการลงทุนสูงแต่รายได้ต่ำ สภาพดินฟ้าอากาศแปรปรวน ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ เป็นต้น ซึ่งแม้ว่าขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ มีแผนการผลิตที่เชื่อมโยงกับความต้องการของตลาดแล้วก็ตาม แต่เกษตรกรยังขาดแรงจูงใจที่จะทำตามแผนดังกล่าว ขณะเดียวกัน เมื่อประสบปัญหาขาดทุน ประสบภัยพิบัติ เกิดความล้มเหลวในอาชีพก็ไม่มีใครช่วยเหลือ กระทรวงเกษตรฯ จึงมีแนวความคิดให้อาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพที่มั่นคงเทียบเท่าข้าราชการ หรือกรรมกรที่มีสวัสดิการรองรับเมื่อประสบปัญหาในการประกอบอาชีพ โดยได้นำพระราชบัญญัติกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร พ.ศ. 2554 ซึ่งมีทุน 2,900 กว่าล้านบาทนั้น มาดำเนินงานต่อ โดยมีเงื่อนไขให้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกร และปลูกพืชตามแผนที่กระทรวงเกษตรฯ กำหนด หากในอนาคตเกิดปัญหา ไม่ว่าจะเป็นราคาสินค้าตกต่ำ ประสบภัยพิบัติ ฯลฯ จะได้รับความช่วยเหลือจากกองทุน ทั้งนี้ คาดว่าจะใช้เวลา 1 เดือนในการวางแผนดำเนินงาน และหางบสนับสนุนเพิ่มเติม

"มีสถิติว่า บางปีภาครัฐใช้เงินกว่า 200,000 ล้านบาท ในการเข้าไปอุดหนุนหรือช่วยเหลือเกษตรเมื่อประสบปัญหา แต่หากนำเงินส่วนนี้มาตั้งเป็นกองทุนเพื่อดูแลสวัสดิการแก่เกษตรกร น่าจะใช้งบน้อยกว่า และมีแรงจูงใจให้เกษตรกรปลูกพืชตามแผนที่กระทรวงเกษตรฯ วางไว้ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาภาคเกษตรได้อย่างยั่งยืนจริงๆ" นายกฤษฎา กล่าว

จาก https://siamrath.co.th วันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2561

เงินบาทอ่อนค่า 32.10 บาทต่อดอลลาร์ฯ จับตาผลประชุมอีซีบี กดดันค่าเงินยูโรแข็งค่า

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ระบุเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 32.10 บาทต่อดอลลาร์ฯ อ่อนค่าขึ้นเล็กน้อยจาก 32.09 บาทต่อดอลลาร์ฯ ณ สิ้นวันทำการที่ผ่านมา ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลอื่นๆ แม้ว่า เฟดจะขึ้นดอกเบี้ย 0.25% และมองว่าเฟดจะสามารถขึ้นดอกเบี้ยได้ถึง 4 ครั้งในปีนี้ หลังเฟดมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯจะสามารถขยายตัวได้ดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเฟดได้ปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจ อาทิ อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน และอัตราว่างงาน ดีขึ้นจากตัวเลขคาดการณ์เดือนมีนาคม อย่างไรก็ดี ตลาดส่วนใหญ่จะรอลุ้นผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ในช่วงค่ำของวันนี้ ทำให้ค่าเงินอาจจะเคลื่อนไหวในกรอบไปก่อน

สำหรับวันนี้ ตลาดคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางยุโรปอาจจะเริ่มมีการพิจารณาการลดหรือยุติโครงการซื้อสินทรัพย์ (คิวอี) โดยถ้าหากธนาคารกลางยุโรปเปิดเผยแผนการยุติโครงการซื้อสินทรัพย์ จะสามารถทำให้ ค่าเงินยูโรกลับมาแข็งค่าได้ต่อ ที่สำคัญควรจับตาว่า ธนาคารกลางยุโรปจะมีความกังวลต่อสถานการณ์การเมืองในอิตาลี และสเปน รวมทั้ง ความตึงเครียดด้านการค้ากับสหรัฐฯ อย่างไรบ้าง มองเงินบาทมีแนวโน้มที่จะแกว่งตัวในช่วงกรอบ 32.05-32.15 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันนี้

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2561

เกษตรฯเชิดชูเกียรติ‘อกม.’ หนุนบทบาทส่งเสริมเกษตรกรทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

ว่าที่ ร.ต.สมสวย ปัญญาสิทธิ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ จัดให้มีอาสาสมัครเกษตรขึ้นตั้งแต่ปี 2551 เพื่อพัฒนาให้เป็นผู้นำด้านการเกษตรในชุมชน และสนับสนุนนโยบายของรัฐด้านการเกษตรในพื้นที่ อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา การส่งเสริมให้มีอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน เป็นการดำเนินงานที่ไม่ได้มีหลักการหรือแบบแผนในการกำกับดูแล้วอย่างชัดเจน แต่ปัจจุบันอาสาสมัครเกษตรถือเป็นบุคคลสำคัญที่มีส่วนช่วยผลักดันการดำเนินงานของภาครัฐด้านการเกษตร จึงได้ออกระเบียบว่าด้วยการบริหารงานอาสาสมัครเกษตร พ.ศ.2551 เพื่อกำกับดูแลและให้การดำเนินงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยจะคัดเลือกอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) หมู่บ้านละ 1 คน เพื่อดูแลและช่วยเหลือขับเคลื่อนการทำงานด้านการเกษตรร่วมกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งในปัจจุบันมีจำนวนอาสาสมัครเกษตรทั้งสิ้น 75,181 คนทั่วประเทศ

สำหรับบทบาทภารกิจของ อกม. ประกอบด้วย การจัดเก็บรวบรวมข้อมูลพื้นฐานการเกษตรของหมู่บ้าน ร่วมกับกรรมการหมู่บ้านและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประสานงานในการถ่ายทอดความรู้และการแก้ไขปัญหาของเกษตรกรในหมู่บ้าน และติดตามสถานการณ์การเกษตรในหมู่บ้านและรายงานเหตุการณ์ฉุกเฉินเร่งด่วนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้บทบาทดังกล่าวมีส่วนช่วยในการทำงานของเจ้าหน้าที่ในทุกสาขาของกระทรวงเกษตรฯ เป็นอย่างมาก เนื่องจากในการดำเนินการดังกล่าวจำเป็นต้องมีอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ที่มากพอ สามารถดูแลเกษตรกรได้ทั่วถึง แต่ในสภาพความเป็นจริงอัตรากำลังเจ้าหน้าที่มีน้อยและน้อยลงทุกปีแต่ภารกิจของเจ้าหน้าที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ อันอาจเป็นสาเหตุที่ไม่สามารถดูแลและให้คำปรึกษาแก่เกษตรกรได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ

“การเป็น อกม. ซึ่งทำงานให้กับสังคมโดยไม่มีรายได้นั้น เป็นการเสียสละตนเองที่ยิ่งใหญ่ นอกจากการเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับชุมชนแล้ว กระทรวงเกษตรฯจึงได้เล็งเห็นว่าควรจะมีการยกย่องเชิดชูเกียรติอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน โดยปีนี้ได้ให้สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1-9 หน่วยงานในสังกัดจัดเวทีเชิดชูเกียรติอาสาสมัครเกษตรด้วยการมอบโล่รางวัลและเกียรติบัตรทั่วประเทศ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการร่วมดำเนินงานกับเจ้าหน้าที่ได้อย่างมีความภาคภูมิใจยิ่งขึ้น” รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว

จาก www.naewna.com วันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2561

อาเซียนถกแก้กฏระเบียบ เพิ่มความคล่องตัว

อาเซียนเตรียมตัวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมครั้งที่ 4  เดินหน้าพัฒนานวัตกรรม-เทคโนลยี-โครงสร้างพื้นฐาน  พร้อมรับข้อเสนอทำข้อตกลงเอฟทีเอกับนานาประเทศเพิ่ม เล็งแก้กฏระเบียบของประเทศสมาชิกให้เกิดประโยชน์สูงสุด                   

น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยผลการประชุมคณะทำงานระดับสูงว่าด้วยการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน  ที่ประเทศสิงคโปร์ว่า  ได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นที่จะช่วยเสริมความเข้มแข็งภายในอาเซียน เช่น หลักการสำคัญของแนวปฏิบัติที่ดีด้านกฎระเบียบของอาเซียน ซึ่งจะช่วยให้การออกกฎหมาย/กฎระเบียบ ของประเทศสมาชิกอาเซียนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับบริบทต่างๆ เกิดประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน โดยที่ประชุมได้เห็นชอบหลักการดังกล่าว ก่อนที่จะเสนอให้รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนรับรองและคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนให้การรับรอง

ส่วนการจัดทำแนวทางการดำเนินการกับมาตรการที่มิใช่ภาษี (NTMs) จะช่วยเพิ่มความโปร่งใส และทำให้ผู้ประกอบการในอาเซียนมีความเชื่อมั่นว่า การออกมาตรการที่มิใช่ภาษีดังกล่าวจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการค้าสินค้าระหว่างกันในภูมิภาค รวมทั้งการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของอาเซียน เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทในปัจจุบัน และประเด็นใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง เพื่อเป็นการหารือในระดับนโยบายและให้แนวทางการดำเนินการต่างๆ โดยเฉพาะสำหรับประเด็นใหม่ๆ หรือประเด็นที่อาเซียนให้ความสำคัญเป็นพิเศษ

นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้หารือถึงการเตรียมความพร้อมของอาเซียนในการรับมือกับการเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หรือ4IR   ซึ่งประเทศสมาชิกจะต้องร่วมมือกันดำเนินการทั้งในระดับภูมิภาคและระดับประเทศใน 5 มิติ ได้แก่ ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ กฎหมาย/กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง โครงสร้างพื้นฐานและความเชื่อมโยง รวมทั้งการพัฒนาที่ยั่งยืนและครอบคลุมทุกภาคส่วน ซึ่งสิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย ถือเป็นประเทศที่มีความพร้อมในการรับมือการเข้าสู่ยุค 4IR โดยมีคะแนนขีดความสามารถทางการแข่งขันของเวิลด์อีโคโนมิคฟอรั่ม (WEF) ปี 60 อยู่ในลำดับที่ 12 และในปี 61 อยู่ลำดับที่

ด้านความสัมพันธ์กับประเทศคู่เจรจาว่า อาเซียนได้รับข้อเสนอประเด็นใหม่ๆ จากประเทศที่แสดงความสนใจจัดทำความตกลงทางการค้า (FTA) กับอาเซียนในอนาคต เช่น สหภาพยุโรป (อียู)  และแคนาดา รวมทั้งข้อเสนอในการยกระดับความร่วมมือทางการค้าจากประเทศคู่เจรจาในปัจจุบัน เช่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ อาทิ ประเด็นด้านพลังงานและวัตถุดิบ ทรัพย์สินทางปัญญา การค้ากับการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเด็นแรงงานและสิ่งแวดล้อม การค้าดิจิทัลและพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสมาชิกอาเซียนอยู่ระหว่างการพิจารณากำหนดจุดยืนของอาเซียนในการเจรจาร่วมกัน เพื่อประกอบการจัดทำกลยุทธ์การเจรจาของอาเซียนกับประเทศต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศสมาชิกโดยรวม และคงไว้ซึ่งบทบาทความเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคของอาเซียน

จาก https://www.dailynews.co.th วันที่ 13 มิถุนายน 2561

ก.อุตฯ ตั้งเป้าลงทุนด้านหุ่นยนต์ใช้ในไทยได้เอง 2 แสนล้าน ภายใน 5 ปี

นายณัฐพล รังสิตพล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และรักษาราชการแทนตำแหน่งผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวในงานเปิดตัวโครงการ Robotics Cluster Pavillion เผยมาตรการสนับสนุนเอสเอ็มอีใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ว่าปัจจุบันผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) จำเป็นต้องปรับตัวเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้มากขึ้น

โดย สศอ. ตั้งเป้าหมายจะมีการลงทุนด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติใช้ในไทยได้เอง 200,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปี ช่วยลดการนำเข้าหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติจากต่างประเทศได้ 30% หรือประมาณ 80,000 ล้านบาท และยังตั้งเป้าหมายไทยสามารถส่งออกหุ่นยนต์ได้ในปี 2569

นายชิต เหล่าวัฒนา กรรมการคลัสเตอร์หุ่นยนต์ กล่าวว่า จากการสำรวจความต้องการใช้หุ่นยนต์ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีภาคการผลิตมีประมาณ 1 แสนราย ที่ต้องการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรมาใช้หุ่นยนต์ จากจำนวนทั้งสิ้นที่มีกว่า 3 แสนราย ซึ่ง 85% ให้ความเห็นว่าหากไม่ปรับเปลี่ยนธุรกิจจะอยู่ไม่ได้ ซึ่งปัจจุบันมีการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติปีละ 1.4 แสนล้านบาท และคาดปีนี้จะมีการลงทุนปรับเปลี่ยนมาใช้หุ่นยนต์เพิ่มขึ้นอีกกว่า 6 หมื่นล้านบาท ทำให้ผู้ผลิตหุ่นยนต์จากต่างประเทศให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น

สำหรับผลการเดินทางเยือนต่างประเทศของนายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เพื่อพบผู้ผลิตหุ่นยนต์จากญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน ต่างให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในไทย โดยเจเทค ประเทศญี่ปุ่น มีนโยบายสนับสนุนให้บริษัทในประเทศญี่ปุ่นเข้ามาร่วมมือกับบริษัทญี่ปุ่นที่อยู่ในไทยเปลี่ยนมาใช้หุ่นยนต์ รวมถึงเข้ามาลงทุนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ในไทยด้วย

ทั้งนี้ จากที่ผ่านมามีบริษัท นาชิ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตหุ่นยนต์รายใหญ่ของญี่ปุ่นได้เข้ามาลงทุนในไทยแล้ว ในลักษณะผลิตหุ่นยนต์ป้อนโรงงานอุตสาหกรรมไฮเทคที่เข้ามาตั้งโรงานในไทย เช่น โรงงานผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า อากาศยาน รถยนต์ไฟฟ้า ชีวภาพ เป็นต้น ซึ่งระยะต่อไปจะขยายผลิตหุ่นยนต์สำหรับอุตสาหกรรมทั่วไป ส่วนเกาหลีใต้ ก็มีผู้ผลิตหุ่นยนต์รายใหญ่เตรียมเข้ามาลงทุนในไทยเช่นกัน

นายชิต กล่าวว่า ในระยะแรกไทยมีแนวทางสนับสนุนผู้ประกอบการออกแบบและบูรณาการระบบหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (เอสไอ) ของไทยให้เพิ่มขึ้นเป็น 1,400 รายภายใน 5 ปี จากปัจจุบันมี 250 ราย เป็นการสร้างรากฐานการผลิตหุ่นยนต์ในไทย ควบคู่กับสร้างความต้องการใช้หุ่นยนต์เพิ่มขึ้น โดยผู้ประกอบการญี่ปุ่นมองว่าจะต้องผลิตหุ่นยนต์ให้ได้ 6,000-6,500 ตัวต่อปี จึงจะคุ้มทุน แต่ไทยมองว่าหากผลิตหุ่นยนต์ได้ปีละ 500 ตัว ก็คุ้มค่าต่อการลงทุนแล้ว เพราะเป็นโรงงานขนาดเล็ก

ด้านนายประพิณ อภินรเศรษฐ นายกสมาคมผู้ประกอบการระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ไทย (ทารา) เปิดเผยว่า ทางสมาคมฯ อยู่ระหว่างรวบรวมข้อเสนอและแนวทางส่งเสริมการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติให้รัฐบาลพิจารณาภายใน 1 เดือน เพื่อสนับสนุนให้เกิดการใช้หุ่นยนต์แพร่หลายในประเทศ เช่น เสนอให้ภาครัฐจัดซื้อจัดจ้างระบบอัตโนมัติใช้ในหน่วยงานราชการให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น โดยเน้นที่ผลิตหรือลงทุนในประเทศเพื่อกระตุ้นให้เกิดความต้องการใช้ในประเทศให้มีมากพอที่จะสามารถจูงใจผู้ประกอบการให้เข้ามาลงทุน

ล่าสุดมีบริษัท แองก้า ผู้ผลิตหุ่นยนต์จากออสเตรเลีย กำลังยื่นขอสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มูลค่าการลงทุนประมาณ 100 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมที่มีความจำเป็นต้องใช้ระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้ในการดำเนินธุรกิจ เช่น อุตสาหกรรมอาหาร การผลิตทุกชนิด เกษตรแปรรูป การผลิตชิ้นส่วนจากพลาสติก ขึ้นรูปและการประกอบ สิ่งทอ

นายสมหวัง บุญรักษ์เจริญ ผู้อำนวยการสถาบันไทยเยอรมัน กล่าวว่า สถาบันฯ ตั้งเป้าหมายให้เอสเอ็มอีไทย นำระบบอัตโนมัติมาใช้ในสถานประกอบการ 800 รายภายในปีหน้า ซึ่งในปี 2560 สถาบันฯ ได้ให้การส่งเสริมไปแล้ว 100 ราย ส่วนปีนี้คาดอยู่ที่ 200 ราย และปีหน้าคาดจะส่งเสริมเพิ่มได้อีก 500 ราย ขณะที่ปัจจุบันมีผู้ประกอบการสนใจยื่นคำขอรับส่งเสริมการลงทุนกับบีโอไอแล้ว 10 ราย วงเงินลงทุนประมาณ 1,600 ล้านบาท

จาก https://www.khaosod.co.th  วันที่ 13 มิถุนายน 2561

116 ปีกรมชล มุ่งแก้ปัญหาน้ำ"ภาคเกษตร"ยั่งยืน

รัฐมุ่งแก้ปัญหาน้ำ"ภาคเกษตร"ยั่งยืน เร่งขยายผลนวัตกรรม"ศูนย์น้ำไฮเทค"

           “ปีนี้กรมชลฯ มีอายุ 116 ปี พื้นที่ในระบบชลประทานของประเทศมีแค่ 20 เปอร์เซ็นต์เอง ถ้าเป็นแบบนี้อีกกี่ร้อยปีประเทศไทยจะมีพื้นที่ระบบชลประทาน 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีประเทศไทยจะต้องมีระบบชลประทานครบทุกพื้นที่ 100 เปอร์เซ็นต์”

          วิวัฒน์ ศัลยกำธร หรือ อ.ยักษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวระหว่างเป็นประธานในพิธีเปิดงานแตกตัวทั่วไทย เอามื้อสามัคคี รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดินปีที่ 6 ณ สวนอิสรีย์เกษตรอินทรีย์และฟาร์มม้าไทย ต.เขาบายศรี อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ที่ผ่านมา โดยระบุว่าน้ำมีความสำคัญที่สุดในภาคการเกษตร การพัฒนาระบบชลประทานให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ จึงเป็นเป้าหมายหลักของรัฐบาลตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ(ด้านทรัพยากรน้ำ) 20 ปี

ในวันที่ 13 มิถุนายน 2561  กรมชลประทานมีอายุครบ 116 ปี ว่ากันว่า เป็นปีที่การทำงานประสบผลสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นผลงานตามศาสตร์พระราชา บริหารจัดการน้ำที่ผ่านวิกฤติน้ำท่วม-น้ำแล้ง บูรณาการสร้างบางระกำโมเดลที่สามารถขยายผลแก้ปัญหาน้ำในลุ่มน้ำอื่นๆ การพัฒนา SWOC เป็นศูนย์บัญชาการน้ำไฮเทค พร้อมทั้งวางแผนไปสร้างในส่วนภูมิภาคอีก 17 แห่ง การปรับระบบโทรมาตรใหม่ทั้งประเทศให้มีประสิทธิภาพ การเร่งพัฒนาแหล่งน้ำเพิ่มพื้นที่ชลประทาน การจัดทำฐานข้อมูลบิ๊กดาต้า การเชื่อมโยง 25 ลุ่มน้ำ เป็นต้น

 ขณะที่ ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ยืนยันว่า ความสำเร็จดังกล่าวเป็นโมเดลที่กรมชลประทานมีการบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในพื้นที่และส่วนกลาง โดยในปีนี้ได้เพิ่มพื้นที่โครงการทุ่งบางระกำจาก 2.6 แสนไร่ เป็น 3.8 แสนไร่ และขยายผลไปดำเนินการในลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูล และพื้นที่อื่นๆ ที่สามารถดำเนินการได้อีกด้วย ในส่วนของการแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่อื่นๆ ช่วงปี 2560 ที่ผ่านมา สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็วทันต่อสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นที่ จ.สกลนคร หรือ จ.เพชรบุรี กรมชลประทานได้สนับสนุนเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ รถแบ็กโฮเสริมคันตลิ่ง ทำให้สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติเพียงแค่ 2 วัน ส่วนพื้นที่อื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน ได้มีการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ไว้ล่วงหน้า จึงสามารถลดความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้

“ความสำเร็จในการบริหารจัดการน้ำในปี 2560 ส่วนหนึ่งมาจากการทำงานของศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (Smart Water Operation Center : SWOC) ซึ่งเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีสารสนเทศ คลังข้อมูลกรมชลประทาน และเป็นศูนย์กลางติดตามสถานการณ์น้ำแบบเรียลไทม์ รวบรวมวิเคราะห์ คาดการณ์ เพื่อประกอบการตัดสินใจบริหารจัดการน้ำในสภาวะวิกฤติต่างๆ ทำให้สามารถสั่งการได้อย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพ”

อธิบดีกรมชลประทาน เผยต่อว่า กรมชลประทานมีแผนที่จะขยายผลศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะให้ครอบคลุมครบทั้ง 17 สำนักงานชลประทานในส่วนภูมิภาค รวมทั้งสร้างห้องปฏิบัติการด้านส่งน้ำระดับโครงการชลประทานทุกโครงการ คาดว่าในปีงบประมาณ 2561 จะสามารถดำเนินการได้ 172 โครงการ

นอกจากนี้ ยังจะปรับปรุงระบบการบริหารจัดการน้ำและการพยากรณ์น้ำท่า ด้วยการทบทวนระบบโทรมาตรทั้งหมดของกรมชลประทานทั้ง 25 ลุ่มน้ำ โดยในปี 2561 จะดำเนินการใน 4 ลุ่มน้ำที่มีความสำคัญในการบริหารจัดการน้ำ เช่น เจ้าพระยา ท่าจีน บางปะกง เป็นต้น ส่วนที่เหลืออีก 21 ลุ่มน้ำจะดำเนินการให้เสร็จภายในปี 2564 รวมทั้งพัฒนาระบบเมคคาทรอนิกส์ ช่วยในการบริหารงานส่งน้ำและการควบคุมอาคารบังคับน้ำชลประทาน นำร่องใช้ใน 5 พื้นที่ในภาคเหนือ อีสาน กลาง ตะวันออกและภาคใต้ ตลอดจนพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม และแอพพลิเคชั่นในการทำงานต่างๆ อีกด้วย

ทองเปลว ระบุว่า ปัจจุบัน SWOC มีนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นมาในรูปแบบแอพพลิเคชั่น เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมลูและรับรู้สถานการณ์น้ำอย่างครบถ้วนและสมบูรณ์ ซึ่งมี 4 แอพพลิเคชั่น คือ 1.FLOWTO เป็นเครื่องมือสำหรับรายงาน บันทึกและติดตามเหตุการณ์ต่างๆ แสดงผลในรูปแบบแผนที่สามารถใช้งานได้ทั้งบนสมาร์ทโฟนและเว็บบราวเซอร์ 2.WMSC เป็นข้อมูลของกรมชลประทาน เช่น สถานการณ์น้ำในอ่าง ปริมาณฝน ปริมาณน้ำท่า เป็นต้น 3.CPY MONITOR เป็นระบบโทรมาตรเพื่อการพยากรณ์น้ำและเตือนภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยา และ 4.WATER SMART เป็นการบริหารจัดการน้ำอย่างเหมาะสมเพื่อปฏิรูปภาคการใช้น้ำ เกษตรกรรมของประเทศไทย  

 สำหรับเป้าหมายในการขับเคลื่อนกรมชลประทานขึ้นสู่ปีที่ 117 นั้น อธิบดีกรมชลประทานย้ำว่าจะเร่งรัดการดำเนินงานโครงการตามพระราชดำริที่ยังไม่ได้ดำเนินการ 157 โครงการให้แล้วเสร็จภายในปี 2562 ปรับปรุงกระบวนการจัดทำแผนงานและงบประมาณทั้งระบบ เร่งรัดการพัฒนาแหล่งน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทาน รวมทั้งจัดทำแผนงานรองรับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำด้วยการต่อยอดศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะให้สามารถพยากรณ์และเตือนภัยได้อย่างแม่นยำ โดยมีการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกขั้นตอน  พร้อมน้อมนำศาสตร์พระราชาไปสู่การปฏิบัติผ่านหลักสูตรการอบรมเตรียมการรองรับแผนปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ด้านทรัพยากรน้ำ) โดยเร็ว  

  จัดงานใหญ่ย้อนรอย“116ปีกรมชลฯ” 

           มนัส กำเนิดมณี รองอธิบดีกรมชลประทาน ฝ่ายบริหาร เป็นประธานเปิดกิจกรรมการจัดแสดงนิทรรศการ “ย้อนรอย 116 ปี กรมชลประทาน สืบสานศาสตร์พระราชา พัฒนานวัตกรรมชลประทาน" เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนากรมชลประทาน ครบรอบ 116 ปี ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-14 มิถุนายน ณ กรมชลประทาน สามเสน กรุงเทพฯ โดยกรมชลประทานมีอายุครบ 116 ปี ในวันที่ 13 มิถุนายน 2561 ภายในงานดังกล่าวมีการจัดแสดงผลงานและนวัตกรรมต่างๆ ของกรมชลประทาน อาทิ การจำลองการทำงานของศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) การจัดแสดงบอร์ดนิทรรศการบิ๊กดาต้าด้านบริหารจัดการน้ำชลประทาน การก่อสร้างประตูระบายน้ำ การพัฒนาเครื่องจักรกลด้านชลประทาน และร่วมตื่นตาตื่นใจกับนวัตกรรมชลประทานที่นำมาจัดแสดงให้ชมกันอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างถนนลูกรังผสมยางพารา นวัตกรรมเครื่องมือสำรวจชลประทาน กังหันน้ำชัยพัฒนา เครื่องตอกทดลองเพื่อหาการรับน้ำหนักของดิน เรือกำจัดวัชพืชขนาดเล็ก พร้อมสัมผัสการสาธิตการใช้โดรนชนิดต่างๆ ที่ใช้ในการสำรวจงานชลประทาน เป็นต้น

      นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจ ให้ร่วมสนุกอีกมากมาย ทั้งคลินิกพัสดุ บูธการออกบัตรราชการแบบรอรับได้ทันที ร่วมสนุกไปกับเกมบริหารจัดการน้ำบนจอยักษ์ 50 นิ้ว พร้อมรับของแจกและของรางวัลมากมายภายในงาน หรือจะร่วมสร้างโลกสีเขียวด้วยกล้าไม้ ที่นำมาแจกจ่ายกันถึงที่กว่า 1 หมื่นต้น พร้อมอุดหนุนสินค้าจากแผนส่งเสริมอาชีพที่มีให้เลือกกันมากมายจากร้านค้าชุมชน ตลอดจนเพลิดเพลินไปกับวงดนตรีชลประทาน Smart Surveryor band และ ICT band อีกด้วย

       “สำหรับนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปผู้สนใจ สามารถเข้าร่วมชมงานนิทรรศการวันคล้ายวันสถาปนา 116 ปี กรมชลประทานได้ ตั้งแต่วันที่ 12 - 14 มิถุนายน 2561 นี้ ตั้งแต่เวลา 09.00 – 16.30 น. ณ สนามหญ้าบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา กรมชลประทาน สามเสน กรุงเทพมหานคร” รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าวในตอนท้าย

จาก www.komchadluek.net วันที่ 13 มิถุนายน 2561

ช่างสุโขทัยผลิตรถตัดอ้อยไทยทำไร้คนขับสำเร็จ-ใช้ได้จริง ถูกและทนกว่าชัวร์

สุดยอด..ทีมช่างชาวสุโขทัยผลิตรถตัดอ้อยไทยทำ “ไร้คนขับ” คันแรกสำเร็จแล้ว ทั้งประหยัดน้ำมันวันละ 200 ลิตร ทนทาน ซ่อมง่าย แถมถูกกว่ารถนอกถึง 6 ล้าน พร้อมลงมือต่อรถคันที่ 2 เอาแบบให้เหนือชั้นกว่าของนอกเต็มที่

วันนี้ (12 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ที่บ้านเลขที่ 157/1 หมู่ 2 ต.ในเมือง อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย ซึ่งเปิดเป็นศูนย์ทดลองสร้างรถตัดอ้อย ได้สร้างรถตัดอ้อยแบบไร้คนขับจนสำเร็จ และมีการทดสอบใช้รถลุยตัดอ้อยในไร่เกษตรกรมาแล้ว ทั้งในกลางวันและกลางคืน ถึง 11,000 ตัน ซึ่งพบว่าการทำงานดีกว่ารถที่ซื้อจากต่างประเทศด้วยซ้ำ

นายบุญฤทธิ์ สุวรรณสาร อายุ 59 ปี อดีตวิศวกรสร้างโรงกลั่น-วางท่อน้ำมันกลางทะเล ซึ่งเป็นผู้ออกแบบและสร้างรถตัดอ้อยไร้คนขับ เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวว่า รถคันนี้เป็นรถต้นแบบ แฮนด์เมด โดยทีมช่างชาวสุโขทัย 10 คน ทำไปหาอะไหล่ไป ใช้เวลาสร้างนาน 6 เดือน

นายบุญฤทธิ์บอกว่า รถตัดอ้อยต่างประเทศราคาราว 13 ล้านบาท แต่รถไทยประดิษฐ์คันนี้แค่ 6 ล้านบาท รถนอกถ้ารื้อสายไฟออกมาก็ได้เป็นเข่ง และแพงมาก ชุดหนึ่ง 3-4 หมื่นบาท แต่สายไฟของเราแทบไม่มี เพราะใช้ระบบไร้สาย กล่องสมอง ECU รถนอกราคาก็ตกอยู่ 2-3 แสนบาท แต่ของเรา ECU ไร้สายแค่ 5,000 บาท ส่วนตัวลูกที่รับคำสั่งทำงานก็แค่ตัวละ 800 บาท เจ้าของรถถอดเปลี่ยนเองได้เลย

“ถือเป็นรถตัดอ้อยออกแบบได้ดีที่สุดในโลก ไม่ว่าจะให้คนนั่งขับเอง หรือบังคับด้วยชุดควบคุมไร้สายก็ทำงานได้อย่างสมบูรณ์ ไม่มีข้อบกพร่อง ที่สำคัญประหยัดน้ำมันกว่ารถต่างประเทศถึง 200 ลิตรต่อวัน ส่วนใบมีดกงจักรก็จะไม่คั้นน้ำอ้อยที่หน้ามีดสับท่อน ทำให้ลดอัตราสูญเสียน้ำอ้อยและน้ำหนักของอ้อยได้เยอะมาก”

ขณะนี้ยังร่วมกันลงมือสร้างรถตัดอ้อยคันที่สอง ซึ่งแล้วเสร็จไปราว 90 เปอร์เซ็นต์แล้ว เป็นการสร้างโดยเอาข้อดีของรถตัดอ้อยจากอเมริกาและออสเตรเลียรวมไว้ด้วยกัน ทำให้โครงสร้างรถแข็งแกร่งทนทานกว่าเดิม ระบบไม่ซับซ้อน อะไหล่ถูก หาง่าย ช่างใกล้บ้านก็ซ่อมได้

“ที่เหนือชั้นกว่ารถต่างประเทศคือ เกียร์ตัดโคนจะนั่งหน้าดินเวลาล้อหน้าลงหลุม มีดตัดโคนไถไปไม่สามารถจะแทงรื้อตออ้อยพันธุ์ได้ ชาวไร่ไม่ต้องซ่อมอ้อยอีกต่อไปแล้ว”

นายบุญฤทธิ์กล่าวอีกว่า ในอนาคตจะมีการพัฒนารถคันนี้จนไม่ต้องใช้คนขับ เพราะกล่องสมองคอมพิวเตอร์บนรถเป็นระบบโดรน สามารถเปิดรับพิกัดดาวเทียมให้เดินตัดอ้อยเองได้ คนควบคุมมีหน้าที่เพียงแค่คอยระวังไม่ให้รถล้มเวลากลับรถตรงหัวร่องที่มีหลุม และระวังไม่ให้อ้อยร่วงจากรถบรรทุกเท่านั้น

จาก https://mgronline.com   วันที่ 12 มิถุนายน 2561

KTIS มั่นใจปีนี้สายธุรกิจไฟฟ้า-เยื่อกระดาษโตเด่น

กลุ่ม KTIS เปิดตัวเลขหลังปิดหีบ ได้ผลผลิตอ้อย 11.6  ล้านตัน ผลิตน้ำตาลทรายได้ 11.8 ล้านกระสอบ สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้อุตสาหกรรมต่อเนื่องมีวัตถุดิบมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจจำหน่ายไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวลโตโดดเด่นตั้งแต่ไตรมาสแรก รายได้เพิ่มขึ้นถึง 82.5% ส่วนธุรกิจผลิตและจำหน่ายเยื่อกระดาษและบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อย มีโอกาสเป็นพระรองในช่วงที่เหลือ เพราะราคาเยื่อกระดาษทรงตัวในระดับสูง อีกทั้งกระแสลดการใช้วัสดุและบรรจุภัณฑ์ประเภทโฟมและพลาสติก จะช่วยให้มีความต้องการบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อยเพิ่มมากขึ้น

นายณัฎฐปัญญ์  ศิริวิริยะกุล  รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เปิดเผยว่า หลังจากปิดหีบอ้อยฤดูการผลิตปี 2560/2561 กลุ่ม KTIS มีอ้อยเข้าหีบ 11.6 ล้านตัน ผลิตน้ำตาลทรายได้ 11.8 ล้านกระสอบ เพิ่มขึ้น 25.5% จากปีก่อนที่ได้น้ำตาลทราย 9.4 ล้านกระสอบ

“ปริมาณอ้อยที่เพิ่มขึ้นอย่างมากนี้ ทำให้มีวัตถุดิบป้อนให้กับโรงงานต่างๆ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องมากขึ้น โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล ซึ่งมีรายได้จากการขายไฟฟ้าไตรมาสแรกปีนี้ 449 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 82.5% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีก่อนที่มีรายได้ 246 ล้านบาท” นายณัฎฐปัญญ์ กล่าว

 สำหรับโรงงานผลิตเยื่อกระดาษชานอ้อยและบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากเยื่อชานอ้อยก็มีวัตถุดิบมากขึ้นเช่นกัน ประกอบกับราคาขายเยื่อกระดาษปีนี้สูงกว่าปีก่อน จึงเชื่อว่ารายได้จากสายธุรกิจนี้จะมีการเติบโตที่ดี นอกจากนี้ กระแสการรณรงค์ให้ลดใช้วัสดุและบรรจุภัณฑ์ประเภทโฟมและพลาสติก จะช่วยหนุนให้ความต้องการบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อยเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้รายได้จากการขายบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากชานอ้อยของกลุ่ม KTIS เติบโตได้ดีด้วย

ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของกลุ่ม KTIS ในไตรมาสแรกปี 2561 (มกราคม – มีนาคม 2561) มีรายได้จากการขายและการให้บริการ 4,157.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 323.5 ล้านบาท หรือ 8.4% เมื่อเทียบกับปี 2560 ที่มีรายได้จากการขายและการให้บริการ 3,833.8 ล้านบาท  และมีกำไรสุทธิไตรมาสแรกปีนี้ 86.8 ล้านบาท โดยรายได้สายธุรกิจน้ำตาลเพิ่มขึ้น 4.7% จากปริมาณการขายน้ำตาลที่เพิ่มขึ้น สายธุรกิจผลิตเยื่อกระดาษฟอกขาวจากชานอ้อย เพิ่มขึ้น 7.9% เนื่องจากราคาขายเยื่อกระดาษเพิ่มขึ้นแม้ว่าปริมาณการขายจะลดลงเล็กน้อย ส่วนสายธุรกิจเอทานอล รายได้ลดลง 18.7% จากราคาขายเฉลี่ยที่ลดลง

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 12 มิถุนายน 2561

เปิด 7 อุตสาหกรรม กำลังผลิตพุ่งเกิน 80%

Big Data Analysis เปิด 7 อุตสาหกรรม กำลังผลิตพุ่งเกิน 80%

เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกที่ขยายตัวได้ 4.8% สูงกว่าที่สำนักวิจัยหลายแห่งคาดการณ์เอาไว้ ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าเป็นผลจากอัตราการใช้ “กำลังการผลิต” ของภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นทำสถิติสูงสุดในรอบ 5 ปี โดยอุตสาหกรรมที่สำคัญ 21 กลุ่ม มี 7 กลุ่มที่ใช้กำลังการผลิตเกินกว่า 80% ถือเป็นสัญญาณที่นำไปสู่การลงทุนเพิ่มเติม

ทั้ง 7 กลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าว ได้แก่การผลิตน้ำตาล ใช้กำลังผลิตในช่วงไตรมาสแรกปี 2561 ที่ 134.1% การผลิตพลาสติกและยางกำลังการผลิต 98.5% การผลิตรถยนต์ 93.4% การผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม 88.1% การแปรรูปและถนอมเนื้อสัตว์ 86.3% การผลิตจักรยานยนต์ 80.2% และ การผลิตคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง 80.1%

ส่วนอุตสาหกรรมที่ใช้กำลังการผลิตในช่วง 70-79% มี 1 อุตสาหกรรม คือการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และแผ่นวงจร ใช้กำลังการผลิต 76.2% ขณะที่ อุตสาหกรรมที่ใช้กำลังการผลิตช่วง 60-69% มี 5 อุตสาหกรรม คือการผลิตยางล้อและยางใน 69.1% การผลิตเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย 67.2% การผลิตเครื่องจักรอื่นๆ 66.8% การผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติก 63.8% และการผลิตเครื่องใช้ในครัวเรือน 63.7%

การใช้อัตรากำลังการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นสัญญาณบ่งใช้ให้เห็นถึงแนวโน้มการลงทุนภาคเอกชนที่น่าจะเริ่มกลับมาได้ในเร็วๆ นี้ หลังจากที่การลงทุนเอกชนชะลอตัวลงต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

จาก www.bangkokbiznews.com    วันที่ 12 มิถุนายน 2561

กรมชลฯ ตั้งเป้าเพิ่มพื้นที่ชลประทานกว่า 2 ล้านไร่ในปีนี้

กรมชลประทานตั้งเป้าเพิ่มพื้นที่ชลประทานอีกกว่า 2 ล้านไร่ในปีนี้ พร้อมเร่งรัดโครงการพระราชดำริ 157 โครงการเสร็จในปี 62

นายมนัส เกิดมณี รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานเปิดงานวันครบรอบวันสถาปนา 116 ปี กรมชลประทาน ซึ่งตรงกับวันที่ 13 มิถุนายน  โดยระบุว่ากรมชลประทานประสบผลสำเร็จในการทำงานที่สำคัญโดยเฉพาะโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและการนำศาสตร์พระราชามาสานต่อในการแก้ปัญหาและพัฒนาแหล่งน้ำต่าง ๆ ที่เห็นผลเป็นรูปธรรม

ส่วนสำคัญมาจากการทำงานของศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) ซึ่งเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีสารสนเทศ คลังข้อมูล ติดตามสถานการณ์น้ำแบบ real time ทำให้สามารถสั่งการไปยังสำนักชลประทานทั่วประเทศได้อย่างถูกต้องรวดเร็ว  ในปีที่ 116 กรมชลประทานมีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ชลประทาน จาก 30.3 ล้านไร่ เป็น 32.7 ล้านไร่ รวมทั้งเพิ่มแหล่งเก็บกักน้ำและเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน จากเดิมปีละประมาณ 800,000 ลูกบาศก์เมตร เป็น 1.943 ล้านลูกบาศก์เมตร

สำหรับเป้าหมายการขับเคลื่อนกรมชลประทานขึ้นสู่ปีที่ 117 คือ จะเร่งรัดการดำเนินงานโครงการตามพระราชดำริอีก 157  โครงการให้เสร็จภายในปี 2562  ปรับปรุงกระบวนการจัดทำแผนงานและงบประมาณทั้งระบบ เร่งรัดการพัฒนาแหล่งน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทาน รวมทั้งจัดทำแผนงานรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำด้วยการต่อยอดศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะให้สามารถพยากรณ์และเตือนภัยได้อย่างแม่นยำ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกขั้นตอน          

ทั้งนี้ ภายในงานมีการแสดงนิทรรศการ  "ย้อนรอย 116 ปี กรมชลประทาน สืบสานศาสตร์พระราชา พัฒนานวัตกรรมชลประทาน"  จัดแสดงผลงานและนวัตกรรมต่าง ๆ ของกรมชลประทาน อาทิ การจำลองการทำงานของศูนย์ SWOC การจัดแสดงบอร์ดนิทรรศการ Big Data ด้านบริหารจัดการน้ำชลประทาน การก่อสร้างประตูระบายน้ำ การพัฒนาเครื่องจักรกล รวมทั้งนวัตกรรมชลประทานเช่น ก่อสร้างถนนลูกรังผสมยางพารา เครื่องมือสำรวจชลประทาน กังหันน้ำชัยพัฒนา เครื่องตอกทดลองเพื่อหาการรับน้ำหนักของดิน เรือกำจัดวัชพืชขนาดเล็ก การสาธิตการใช้โดรนชนิดต่าง ๆ ที่ใช้ในการสำรวจงานชลประทาน

จาก www.tnamcot.com    วันที่ 12 มิถุนายน 2561

เอกชนเสนอรัฐพัฒนาอุตฯชีวภาพครบวงจรในภาคเหนือตอนล่าง

"บิ๊กตู่"ถกพัฒนาเศรษฐกิจภาคเหนือตอนล่าง แจงพิจารณาให้งบกลุ่มจังหวัดตามความเหมาะสมและความเร่งด่วนเน้นใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุด

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยระหว่างเป็นประธาน การประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 (นครสวรรค์ กำแพงเพชร พิจิตร และอุทัยธานี) ร่วมกับคณะรัฐมนตรี(ครม.) ผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการผู้แทนภาคเอกชน ผู้แทนภาคการเกษตรกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ว่า การพิจารณาสนับสนุนงบประมาณในโครงการต่างๆ ที่ภาคเอกชนเสนอ จะให้ตามความเหมาะสมของแผนงาน โครงการและความเร่งด่วน ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับงบประมาณของแผ่นดิน โดยจะไม่สนับสนุนงบประมาณทุกอย่างตามที่กลุ่มจ.เสนอขอมา เพราะต้องการบูรณาการใช้จ่ายงบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุด

นายวิโรจน์ วิรัฐิติกาลโชติ ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคเหนือกล่าวภายหลังร่วมประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง2 ร่วมกับคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่าในภาคเอกชนได้เสนอ ครม.ในการการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพครบวงจร (Bio Hab) เพื่อต่อยอดอุตสาหกรรมชีวภาพในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างให้นำไปสู่การแปรรูปมากยิ่งขึ้น ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้รับเรื่องไว้พิจารณาและให้หารือกับทั้งกระทรวงวิทยาศาสตร์และกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อวางแนวทางการสนับสนุนต่อไป

นอกจากนี้ เอกชนในจ.นครสวรรค์ได้เสนอให้ปรับเปลี่ยนที่ตั้งของจุดพักรถบรรทุก(Logistic rest area) จากเดิมที่จะตั้งอยู่ที่อ.บรรพตพิสัยให้มาอยู่ที่ย่านมัทรี อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ ห่างจากจุดเดิมที่กระทรวงคมนาคมมีแผนจะก่อสร้างประมาณ 55 กม.เนื่องจากเป็นเส้นทางขนส่งหลัก ซึ่งที่ประชุม ครม. จะรับไปพิจารณาเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม สำนักงานการท่องเที่ยวจังหวัดนครสวรรค์ได้เสนอให้มีการพัฒนาสนามบินนครสวรรค์เพื่อรองรับการท่องเที่ยว ในประเด็นนี้นายกรัฐมนตรียังมีข้อคำถามกับเอกชนว่าหากมีสนามบินแล้วจะมีผู้โดยสารใช้มากน้อยแค่ไหน เพราะปัจจุบันการเดินทางมายังนครสวรรค์จากกรุงเทพฯ มีทั้งรถไฟทางคู่ และทางถนนที่ใช้เวลาไม่นาน

นายวิรัช ตั้งประดิษฐ์ ประธานหอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 กล่าวว่าในข้อเสนอทั้ง 5 ด้าน ครม.ได้รับข้อเสนอของเอกชนไปพิจารณาทั้ง ด้านการพัฒนาไบโอฮับ การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ทรัพยกรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านโครงสร้างพื้นฐานและการท่องเที่ยว ซึ่งนายกรัฐมนตรีสั่งให้หน่วยงานต่างๆ ซึ่งร่วมประชุมรับแผนที่ภาคเอกชนเสนอ โดยเฉพาะในด้านโลจิสติกส์ให้เร่งดำเนินการออกมาโดยเร็วในปีนี้หรือปีหน้า โดยเฉพาะโครงการที่อยู่ในแผนของกระทรวงคมนาคมอยู่แล้วและบางส่วนได้จัดสรรงบประมาณไปแล้ว

นายเจนศิลป์ เจริญบวรศักดิ์ ประธานหอการค้า จังหวัดพิจิตร กล่าวว่า ทางจังหวัดพิจิตรเสนอให้ ครม. ทราบถึงความจำเป็นในการฟื้นฟูแม่น้ำพิจิตร ซึ่งเป็นแม่น้ำสำคัญแต่ถูกปล่อยให้มีการพัฒนาอย่างกระจัดกระจายไม่มีเอกภาพทำให้มีการก่อสร้างต่างๆ ที่ไม่สอดคล้องกันทั้งสะพาน ประตูน้ำ ถนน รวม 99 จุด บางส่วนมีการก่อสร้างปิดทางน้ำ โดยหากสามารถฟื้นฟูแม่น้ำแห่งนี้ที่มีความยาว 127 กม. ได้จะส่งผลให้ภาคเกษตรในพื้นที่ จ.พิจิตรได้ประโยชน์กว่า 5 หมื่นไร่ ซึ่งในส่วนนี้เอกชนยังไม่ได้เสนอของบประมาณกับทางที่ประชุม แต่เสนอให้ ครม. เห็นถึงความจำเป็น ส่วนจะมีการจัดงบประมาณให้หรือไม่เพียงใด ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์อุทยานเมืองเก่าพิจิตร ที่ปัจจุบันมีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญเชิงประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยสุโขทัยอยู่จำนวนมาก ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มผลักดันเป็นพื้นที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้

อย่างไรก็ตาม มีอีกประเด็นที่อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแก้ไขปัญหา แต่ก็ไม่ได้มีการหยิบยกขึ้นหารือในที่ประชุม คือ นิคมอุตสาหกรรมพิจิตร ภายใต้การดูแลของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) ที่ปัจจุบันยังมีผู้เข้าไปลงทุนน้อยคือมีเพียงอาหารสัตว์ 1 ราย และโรงบรรจุก๊าซ 1 ราย ซึ่งเท่าที่หารือกับเอกชนด้วยกันพบว่ามีปัญหาสำคัญคือ เนื่องจากที่ของนิคมฯ ไม่สามารถซื้อขาดเป็นของเอกชนเพราะที่เป็นที่ราชพัสดุ ทำให้เมื่อไปทำเรื่องขอกู้กับธนาคารแล้วจะค่อนข้างลำบาก

จาก https://www.posttoday.com    วันที่ 12 มิถุนายน 2561

KTIS หวังธุรกิจไฟฟ้าพยุง หลังราคาน้ำตาลโลกดิ่ง

“เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์” มั่นใจปีนี้มีธุรกิจไฟฟ้าและเยื่อกระดาษช่วยพยุงหลังราคาน้ำตาลโลกดิ่ง ลุ้นรายได้ปีนี้โตกว่าปีก่อนที่ 1.8 หมื่นล้านบาท

นายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS เปิดเผยว่า ในปีนี้ธุรกิจไฟฟ้าและเยื่อกระดาษจากชานอ้อยจะช่วยเพิ่มรายได้ให้บริษัททดแทนรายได้จากธุรกิจน้ำตาลที่ลดลงจากปริมาณน้ำตาลในตลาดโลกล้นเกินความต้องการถึง 12 ล้านตันในปีนี้ ส่งผลกดดันให้ราคาน้ำตาลโลกอ่อนตัวลงมาอยู่ที่12 เซ็นต์/ปอนด์

ทั้งนี้ บริษัทมีอ้อยเข้าหีบอ้อยฤดูการผลิตปี 2560/2561 อยู่ 11.6 ล้านตันอ้อย ผลิตน้ำตาลทรายได้ 11.8 ล้านกระสอบ เพิ่มขึ้น 25.5% จากปีก่อน และได้น้ำตาลทราย 9.4 ล้านกระสอบ ซึ่งปริมาณอ้อยเข้าหีบที่เพิ่มขึ้นทำให้มีวัตถุดิบคือชานอ้อยมากขึ้น และบริษัทรับซื้อใบอ้อยจากเกษตรกรมาเป็นเชื้อเพลิงด้วยทำให้ปีนี้บริษัทจะสามารถผลิตไฟฟ้าชีวมวลได้นานถึงเดือนสิงหาคม

“ปริมาณอ้อยที่เพิ่มขึ้นอย่างมากนี้ทำให้มีวัตถุดิบป้อนให้กับโรงงานต่างๆ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องมากขึ้น โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล ซึ่งมีรายได้จากการขายไฟฟ้าไตรมาสแรกปีนี้ 449 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 82.5% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีก่อนที่มีรายได้ 246 ล้านบาท” นายณัฎฐปัญญ์กล่าว

สำหรับโรงงานผลิตเยื่อกระดาษชานอ้อยและบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากเยื่อชานอ้อยก็มีวัตถุดิบมากขึ้นเช่นกัน ประกอบกับราคาขายเยื่อกระดาษปีนี้สูงกว่าปีก่อน จึงเชื่อว่ารายได้จากสายธุรกิจนี้จะมีการเติบโตที่ดี

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้บริษัทมั่นใจว่ารายได้จากการขายและให้บริการจะเติบโตดีกว่าปีที่ผ่านมาที่มีรายได้ 18,193.03 ล้านบาท เนื่องจากมีปริมาณการผลิตน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนแม้ว่าราคาน้ำตาลโลกจะไม่ดีและรับรู้รายได้จากธุรกิจไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น

ผลการดำเนินงานของกลุ่ม KTIS ในไตรมาสแรกปี 2561 (มกราคม-มีนาคม 2561) บริษัทมีรายได้รวม 4.22 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 และมีกำไรสุทธิไตรมาสแรกปีนี้ 86 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบจากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 412 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่ลดลงมาก

จาก https://mgronline.com  วันที่ 11 มิถุนายน 2561

กระทรวงวิทย์ฯ ใช้เทคโนโลยีพัฒนาปุ๋ยอินทรีเพื่อช่วยเกษตรกรลดต้นทุน

ชัยนาท - กระทรวงวิทย์ฯ ใช้เทคโนโลยีพัฒนาปุ๋ยอินทรีย์จากของเหลือทิ้งอุตสาหกรรมน้ำตาล ช่วยเกษตรกรลดต้นทุนการผลิต

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมคณะ ตรวจติดตามผลการดำเนินงานของ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย(วว.) ณ. บริษัทเกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในการนำ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม(วทน.) ดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ จากของเหลือทิ้งอุตสาหกรรมน้ำตาล และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง รวมทั้งโครงการวิจัยและพัฒนาการผลิตปุ๋ยอินทรีย์เคมี เพื่อวิจัยและพัฒนาการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ สำหรับใช้ในการปรับปรุงดินและทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี เพื่อจะช่วยลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกร และสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับดินอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย(วว.) ได้ร่วมมือกับ บริษัทเกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ดำเนินโครงการวิจัยฯ ดังกล่าว มาตั้งแต่เดือนกันยายน 2560 ซึ่งประสบผลสำเร็จในการดำเนินงาน คือ ได้กรรมวิธีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ โดยการหมักของเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมน้ำตาล และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และสามารถใช้เชื้อจุลินทรีย์ ร่นระยะเวลาการย่อยสลายความสมบูรณ์ของปุ๋ยลงเหลือเพียง 1 เดือน จากปกติที่ต้องใช้ระยะเวลาถึง 3 เดือน จึงจะได้ปุ๋ยอินทรีย์ ที่มีคุณสมบัติในการปรับปรุงดินและทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี

โดยปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตได้วันละ 60 ตันต่อวัน ทางโรงงานฯ จะนำไปขายในราคาถูก ให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อย ในพื้นที่ จ.ชัยนาท/ นครสวรรค์/ อุตรดิตถ์ ที่เป็นคู่สัญญาในพื้นที่เขตส่งเสริมอ้อยของโรงงานเกษตรไทยฯ ซึ่งมีประมาณ 10,000 ราย บนเนื้อที่กว่า 500,000 ไร่ เพื่อนำไปใช้ในการเพาะปลูกอ้อยและพืชอื่นๆ ทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรได้ร้อยละ 30 หรือประมาณ 500 บาทต่อไร่

จาก https://mgronline.com  วันที่ 11 มิถุนายน 2561

รมว.พลังงาน เดินหน้าระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ช่วยภัยแล้ง และพัฒนาอาชีพเสริมด้วยระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์

ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วย ธรรมยศ ศรีช่วย ปลัดกระทรวงพลังงาน และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพลังงานได้เดินทางลงพื้นที่ตรวจราชการในจังหวัดนครสวรรค์ เมื่อวันที่ 11 มิถุนายนนี้ ซึ่งเป็นภารกิจส่วนหนึ่งของการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ โดยกระทรวงพลังงานได้ติดตามโครงการด้านพลังงานที่สำคัญๆ ทั้งด้านการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการสูบน้ำให้กับเกษตรกรในพื้นที่ห่างไกล และพัฒนาอาชีพเสริมด้วยระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ รวมทั้งติดตามต้นทุนการผลิตเอทานอลจากโรงงานที่ใช้กากน้ำตาลเป็นวัตถุดิบ

การตรวจเยี่ยมโครงการที่สำคัญๆ ได้แก่ โครงการระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์สู้ภัยแล้ง ณ บ้านหนองขาม ต.ตาคลี อ.ตาคลี จำนวน 2 แห่ง เป็นระบบสูบน้ำเพื่อการเกษตร ที่ช่วยสูบน้ำจากบ่อบาดาลโดยใช้เครื่องสูบน้ำพลังงานไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ ไม่มีค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน และเข้าเยี่ยมชมโครงการ “ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์” ให้กับกลุ่มครัวเรือน กลุ่มเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน/OTOP” ณ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านทัพชุมพล หมู่ที่ 1 ต.หนองกรด อ.เมือง จ.นครสวรรค์

ทั้งสองโครงการดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ในการเก็บข้อมูลการนำพลังงานแสงอาทิตย์ไปใช้ประโยชน์ในการเสริมฐานสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้แก่เกษตรกรตามแนวทางของโครงการ “ไทยนิยม ยั่งยืน” ซึ่งในอนาคตกระทรวงพลังงานจะมีการติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ อีกจำนวน 5,000 ระบบ ภายใต้วงเงินงบประมาณ 3,500 ล้านบาท ภายในปี 2561 เมื่อรวมกับที่มีอยู่แล้ว จำนวน 1,088 ระบบ รวมเป็น 6,088 ระบบ ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้ประโยชน์รวมทั้งประเทศไม่ต่ำกว่า 350,000 ครัวเรือน รวมพื้นที่กว่า 1 ล้านไร่

ส่วนโครงการระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs) กว่า 300 แห่ง ในปี 2561 จะช่วยลดระยะเวลาการอบแห้งในกระบวนการแปรรูปผลิตภัณฑ์ได้มากกว่า 50% และเพิ่มคุณภาพของผลิตผลการเกษตรตามความต้องการของตลาดโดยทั้งสองโครงการมีเป้าหมายเพื่อสร้างฐานรายได้ให้กับเกษตรกรทั้งประเทศไม่ต่ำกว่า 1,300 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะเป็นการเสริมฐานความมั่นคงทางรายได้ให้กับเกษตรกร ทำให้เกษตรกรทั้งประเทศมีรายได้ที่แน่นอนส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น

นอกจากนี้ ยังได้ตรวจเยี่ยมการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพเอทานอลจากกากน้ำตาลที่เป็นผลิตภัณฑ์ผลพลอยได้จากการผลิตน้ำตาล ของบริษัท เคทิส ไบโอเอทานอล จำกัด ที่ ต.หนองโพ อ.ตาคลี ซึ่งมีโครงการขยายกำลังการผลิตจาก 230,000 ลิตร/วัน เป็นประมาณ 1 ล้านลิตร/วัน เพื่อศึกษาต้นทุนในการผลิตเอทานอลที่จะลดลงจากการใช้เทคโนโลยีใหม่ให้ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น

นอกจากเข้าเยี่ยมชมโครงการด้านพลังงานต่าง ๆ ดังกล่าวแล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยังได้มอบนโยบายการดำเนินงานให้แก่ พลังงานจังหวัดในเขตพื้นที่ ได้แก่ กำแพงเพชร พิจิตร อุทัยธานี นครสวรรค์ ลพบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง และสระบุรี และตรวจความพร้อมในการดำเนินโครงการ “ไทยนิยม ยั่งยืน”

จาก https://mgronline.com  วันที่ 11 มิถุนายน 2561

อุตฯหารือเอกชนเหนือตอนล่าง2 เร่งโครงการ bio complexจ่อชงครม.เดือนนี้

รมช.อุตสาหกรรมหารือเอกชนภาคเหนือตอนล่าง2 เร่งโครงการ bio complexเตรียมเสนอครม.พิจารณาภายในเดือนนี้

นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้หารือร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการและภาคเอกชนในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 (นครสวรรค์ พิจิตร อุทัยธานี และกำแพงเพชร) ในระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 4/2561 ณ จังหวัดนครสวรรค์

โดยนายสมชายฯ กล่าวว่า ภาคเอกชนในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง มีข้อเสนอให้รัฐบาลส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพครบวงจร (bio complex) ในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ งบประมาณในการลงทุน 41,000 ล้านบาท ซึ่งโครงการดังกล่าวฯทางสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมได้บรรจุเป็นโครงการนำร่อง bio complex ในมาตรการเร่งรัดการลงทุนในประเทศ ภายใต้มาตรการพัฒนา อุตสาหกรรมชีวภาพของไทย พ.ศ. 2561 - 2570 แล้ว

ทั้งนี้โครงการนำร่อง bio complex มีมาตรการสำคัญ 4 มาตรการ ได้แก่ 1)การกระตุ้นให้เกิดความต้องการของตลาดในประเทศ 2)การเร่งรัดการลงทุนภายในประเทศ โดยจะผลักดันภาคเอกชนลงทุนด้านชีวภาพของประเทศใน 3 พื้นที่นำร่อง ได้แก่ พื้นที่จังหวัดขอนแก่น จังหวัดนครสวรรค์ และเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) 3)มาตรการเพิ่มขีดความสามารถของผู้ผลิต โดยพิจารณาทบทวนปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ และ4)มาตรการสร้างเครือข่ายในรูปแบบของศูนย์กลางความเป็นเลิศด้านชีวภาพ (Center of Bio Excellence: COBE) โดยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา มีหน้าที่หลักในด้านการวิจัยและพัฒนา ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ

หากมีการขับเคลื่อน bio complex ให้เป็นรูปธรรมได้ตามแผนเร่งรัดการลงทุนในประเทศ จะสามารถทำให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมชีวภาพของประเทศได้ประมาณ 190,000 ล้านบาท และในปี 2570 เกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็นปีละ 75,000 บาทต่อครัวเรือน โดยคาดว่าจะสามารถนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาได้ภายในเดือนนี้

นอกจากนี้ภาคเอกชนในพื้นที่ยังได้เสนอโครงการจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและอุตสาหกรรมฐานชีวภาพ เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่จากพืชหลักในพื้นที่ เช่น ข้าว อ้อย และมันสำปะหลัง โดยภาคเอกชน ขอให้ช่วยสนับสนุน 3 ข้อ คือ การเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวงหมายเลข 3212 จากการจราจร 2เลนให้เป็นถนน 4เลน เพื่อเชื่อมต่อกับทางหลวงสายเอเชีย การวางท่อส่งน้ำเข้าไปในพื้นที่การเกษตร และการวิจัยพัฒนาอุตสาหกรรมฐานชีวภาพ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมมีแนวทางในการส่งเสริมให้จังหวัดกำแพงเพชร เป็นศูนย์กลางในการผลิตมันสำปะหลัง มีการผลักดันการใช้เชื้อเพลิงจากผลิตผลการเกษตรให้มากขึ้นด้วย

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 11 มิถุนายน 2561

รายงานพิเศษ : ใช้ชีวภัณฑ์กำจัดศัตรูพืชแทนเคมี ประหยัดและปลอดภัย

ศัตรูพืชเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย เกษตรกรมักเคยชินกับการใช้สารเคมีกำจัด ทำให้ต้นทุนการผลิตสูง อีกทั้งสารเคมียังเป็นอันตรายต่อสุขภาพของเกษตรกรผู้ใช้ รวมทั้งมีพิษตกค้างในผลผลิตส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้น หากใช้สารเคมีต่อเนื่อง ศัตรูพืชต้านทานต่อสารเคมี ทำให้การกำจัดเป็นไปอย่างยุ่งยาก จะต้องใช้สารเคมีในปริมาณที่สูงขึ้น ใช้บ่อยขึ้นหรือใช้สารที่มีพิษมากขึ้น ยิ่งทำให้เกิดผลเสียมากมาย จึงมีความพยายามหาวิธีในการกำจัดศัตรูพืชที่มีประสิทธิภาพ ประหยัดและปลอดภัย ซึ่งหนึ่งในวิธีนั้นได้แก่ การใช้ชีวภัณฑ์

ชีวภัณฑ์ คือ ผลิตภัณฑ์ที่เป็นสิ่งมีชีวิต ที่ใช้ในการควบคุมศัตรูพืช ได้แก่ ตัวห้ำ ตัวเบียน และเชื้อจุลินทรีย์ ในที่นี้

จะพูดถึงเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นเชื้อรา 3 ชนิด ได้แก่ เชื้อรากำจัดเชื้อราสาเหตุโรคพืชคือ เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า เชื้อราที่ใช้กำจัดแมลงศัตรูพืช คือ เชื้อราบิวเวอเรีย และเชื้อราเมตตาไรเซี่ยม ซึ่งปัจจุบันได้รับความนิยม และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

เชื้อราดังกล่าวมีคุณสมบัติเหมือนสารเคมี ในการกำจัดโรคพืชและแมลงศัตรูพืชหลายชนิด แต่ไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้ ผู้บริโภค และไม่มีฤทธิ์ตกค้างในสิ่งแวดล้อมเหมือนสารเคมี และที่สำคัญเกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิตลงได้ เพราะเกษตรกรสามารถผลิตขยายใช้เองได้ และเชื้อจุลินทรีย์เป็นสิ่งมีชีวิตเมื่อใช้แล้วสามารถขยายพันธุ์ ได้เองในธรรมชาติไม่ต้องใช้บ่อยเหมือนสารเคมี

 นายประสงค์ ประไพตระกูล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรเป็นหน่วยงานที่ส่งเสริมการใช้เชื้อจุลินทรีย์เพื่อลดละเลิกการใช้สารเคมี โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ แบ่งเป็นในส่วนกลางคือกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย (กอป.) และหน่วยงานที่อยู่ในภูมิภาคต่างๆ ระดับเขต คือ ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช (ศทอ.) มีทั้งหมด 9 ศูนย์ และมีหน่วยงานในระดับผู้ปฏิบัติในพื้นที่ คือ ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.) ซึ่งประกอบด้วย ศจช.หลัก 882 ศูนย์ และศจช.เครือข่ายอีก 882 ศูนย์ รวมทั้งสิ้น 1,764 ศูนย์

กระบวนการส่งเสริมการผลิตสารชีวภัณฑ์ ทาง กอป.จะทำหน้าที่ผลิตหัวเชื้อบริสุทธิ์และแข็งแรง ส่งให้กับ ศทอ. ซึ่งศทอ.จะใช้เชื้อดังกล่าวผลิตเป็นหัวเชื้อขยายส่งให้ ศจช.ตามความต้องการ จากนั้น ศจช.ซึ่งมีสมาชิกเป็นเกษตรกรในชุมชนก็จะร่วมกันผลิตขยายเชื้อตามความต้องการใช้จริง โดยมีเจ้าหน้าที่จาก ศทอ. จังหวัดและอำเภอ คอยเป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำอย่างต่อเนื่อง เพื่อการผลิตและนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เนื่องจากการใช้ชีวภัณฑ์ได้รับความนิยมจากเกษตรกรและบุคคลทั่วไปมาก ทำให้มีการผลิตและการใช้จุลินทรีย์อย่างกว้างขวาง แต่ถ้ามีการผลิตและการใช้เชื้อโดยขาดความรู้และความเข้าใจมักทำให้เกิดการปนเปื้อน และเมื่อใช้จุลินทรีย์ไม่บริสุทธิ์นอกจากทำให้ใช้ควบคุมศัตรูพืชไม่ได้ผลแล้ว ยังทำให้เกิดความเสียหายและอาจเป็นอันตรายได้ กรมส่งเสริมการเกษตรในฐานะที่เป็นหน่วยงานแรกๆ ที่แนะนำและส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตและใช้เชื้อราในการควบคุมศัตรูพืชได้ตระหนักถึงปัญหานี้และได้มีนโยบายให้ ปี 2560 เป็นปีแห่งการยกระดับมาตรฐานชีวภัณฑ์ โดยกำหนดมาตรฐานชีวภัณฑ์ที่นำมาใช้ในการกำจัดศัตรูพืช และส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตขยายชีวภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน เพื่อให้นำไปใช้ควบคุมศัตรูพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดต้นทุนการผลิต มีความปลอดภัยต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม

ทุกหน่วยงานในกรมส่งเสริมการเกษตรที่รับผิดชอบเรื่องนี้ทุกระดับ ต้องมีการรณรงค์ให้เกษตรกรผลิตขยายเชื้ออย่างถูกต้องและมีการสุ่มตรวจมาตรฐานอย่างเป็นระบบ ทั้งยังแนะนำให้เกษตรกรสามารถวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับฤดูกาลผลิตเพื่อสามารถใช้เชื้อในช่วงระยะเวลาที่มีประสิทธิภาพที่สุด และลดภาระในการเก็บรักษาเชื้อด้วย

จาก www.naewna.com วันที่ 11 มิถุนายน 2561

โมเดิร์นเทรดแข่งดุตัดราคาน้ำตาลทรายถุง

 สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย จับตาน้ำตาลทรายถุง 1 กก.ส่อแข่งดุ หลังโชว์ห่วยทยอยเจ๊ง หมดยุคตักแบ่งขาย ส่งผลโมเดิร์นเทรดต้องการพุ่ง สนองผู้บริโภค                   

นายบุญถิ่น โคตรศิริ ผู้อำนวยการสำนักบริหารอ้อยและน้ำตาลทราย สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานเฉลี่ยยังคงทรงตัวในระดับ 17-18 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ส่งให้ราคาขายปลีกเฉลี่ยเคลื่อนไหวระดับ 21-21.50 บาทต่อกก. เป็นน่าจับตาว่าราคาน้ำตาลทรายบรรจุถุงขนาด 1 กก. มีแนวโน้มจะเกิดการแข่งขันมากขึ้น เช่น อาจเห็นการแข่งขันเรื่องราคา การจัดโปรโมชั่นต่างๆ เนื่องจากมีความต้องการจากธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่หรือโมเดิร์นเทรดเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง     

  “ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าสะดวกซื้อ ซุปเปอร์มาร์เก็ต ฯลฯ มีความต้องการน้ำตาลบรรจุถุงหนึ่งกก.มากขึ้นเพราะคนไทยนิยมไปเดินจับจ่ายใช้สอย และส่วนหนึ่งร้านค้าโชว์ห่วยก็เริ่มปิดกิจการไปจากการเข้ามาแทนที่ของโมเดิร์นเทรดทำให้ความต้องการน้ำตาลบรรจุถุง 50 กก.ที่ต้องนำไปตักแบ่งขายเช่นอดีตเริ่มลดไปมากทำให้โรงงานน้ำตาลเริ่มมาทำบรรจุภัณฑ์ขนาด 1 กก.มากขึ้นเพื่อรองรับความต้องการพร้อมไปกับการสร้างแบรนด์”

จาก https://www.dailynews.co.th  วันที่ 10 มิถุนายน 2561

“พาณิชย์”เฟ้นหาตัวกก.แข่งขันทางการค้า

เปิด TOR สรรหาคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าชุดใหม่ ดีเดย์รับสมัคร 1 มิ.ย.

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2561 นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการสรรหา ได้ออกประกาศเปิดรับสมัครบุคคลที่สนใจเข้ารับการคัดเลือกเป็นกรรมการแข่งขันทางการค้า ชุดแรก ตามมาตรา 11 พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ซึ่งออกมาแทน พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 โดยแยกความเป็นอิสระให้กรรมการแข่งขันทางการค้า ไม่ให้อยู่ภายใต้กำกับของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์

ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถยื่นสมัครด้วยตนเองตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.-2 ก.ค. 2561 ที่สำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า หลังจากนั้นคณะกรรมการสรรหาจะประกาศรายชื่อผู้สมัครภายใน 7 วัน เพื่อเปิดโอกาสให้มีการคัดค้านผู้สมัครภายใน 15 วันนับจากวันประกาศ จากนั้นจะมีการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัคร และเปิดให้ผู้สมัครเข้าแสดงวิสัยทัศน์อีกครั้ง หากไม่สามารถแสดงวิสัยทัศน์ตามวันเวลาที่กำหนดจะถือว่าสละสิทธิ์

โดยกรรมการสรรหาแต่ละคนจะมีเกณฑ์การให้คะแนนรวมทั้งหมด 100 คะแนน โดยใช้วิธีการลงคะแนนลับ โดยแบ่งสัดส่วนการให้คะแนนด้าน

ผลงาน สัดส่วนร้อยละ 20 ซึ่งจะพิจารณาจากวุฒิการศึกษา ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ การปฏิบัติงาน การฝึกอบรมหรือการดูงานที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าและอื่น ๆ ซึ่งเป็นตามมาตรา 8 ส่วนอีกร้อยละ 80 จะเป็นการให้คะแนนด้านความรู้และวิสัยทัศน์ ซึ่งจะพิจารณาจากการตอบคำถามที่คณะกรรมการสรรหากำหนด

“คณะกรรมการสรรหาจะนำคะแนนจากทั้งสองด้านมารวมกัน แล้วเรียงลำดับผู้สมัครที่ได้คะแนนรวมสูงสุดไปจนครบจำนวนที่ประกาศรับสมัคร (7 คน) โดยผู้ที่จะได้รับคัดเลือกต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของคะแนนรวม แต่หากได้คะแนนเท่ากันเกินจำนวน 7 คน ให้พิจารณาว่ารายใดมีคะแนนด้านผลงานสูงกว่า แต่หากคะแนนด้านผลงานเท่ากัน ให้คณะกรรมการสรรหาออกเสียงลงคะแนนลับจนครบตามจำนวน”

สุดท้ายให้เสนอบัญชีรายชื่อดังกล่าวต่อรัฐมนตรี เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบลงนามคำสั่งแต่งตั้ง แต่หากไม่มีผู้ใดเหมาะสมคณะกรรมการสรรหาจะดำเนินการเปิดรับสมัครใหม่ รายงานข่าวระบุว่า นายสันติชัยสารถวัลย์แพศย์ อดีตรองอธิบดีกรมการค้าภายใน ที่ดูแลด้านแข่งขันฯมานานจะร่วมลงสมัครในครั้งนี้ด้วย

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 10 มิถุนายน 2561

จับตาเฟดขึ้นดอกเบี้ยเขย่าค่าบาท-หุ้นไทย

 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย  จับตาผลการประชุมนโยบายการเงินเฟด ในสัปดาห์ห้า จะมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่ เพราะจะกระทบกับค่าเงินบาท และดัชนีหุ้นไทย                   

รายงานข่าวจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในช่วงสัปดาห์หน้า (11-15 มิ.ย.) ไว้ที่ 31.80-32.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยจุดสนใจของตลาดน่าจะอยู่ที่ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ในวันที่ 12-13 มิ.ย.นี้ ว่าเฟดจะมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่ ขณะเดียวกันยังต้องติดตามข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญอื่นๆ ทั้ง ผลสำรวจกิจกรรมการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์ก ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (เบื้องต้น) เดือนมิ.ย. ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนพ.ค. และตัวเลขเงินทุนไหลเข้าสุทธิสู่ตลาดการเงินสหรัฐฯ เดือนเม.ย. นอกจากนี้ ตลาดอาจรอติดตามผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (เพื่อประเมินสัญญาณที่อาจสะท้อนว่า ธนาคารกลางยุโรป เตรียมที่จะยุติโครงการซื้อสินทรัพย์ในเดือนก.ย.นี้) และสถานการณ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้า

ส่วนดัชนีหุ้นไทยในสัปดาห์หน้า บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,710 และ 1,700 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,735 และ 1,750 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คือ ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อื่นๆ ที่ต้องติดตามมีทั้ง การประมาณการเศรษฐกิจของคณะกรรมการนโยบายการเงิน ดัชนีราคาผู้บริโภค และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนพ.ค. ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ คือ ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของยูโรโซนและจีน ตลอดจนสถานการณ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้า

จาก https://www.dailynews.co.th  วันที่ 10 มิถุนายน 2561

น้ำตาลทราย หมดยุคตักแบ่งขาย ไปพร้อมกับโชห่วยเจ๊ง

นายบุญถิ่น โคตรศิริ ผู้อำนวยการสำนักบริหารอ้อยและน้ำตาลทราย สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานเฉลี่ยยังคงทรงตัวระดับ 17-18 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) ส่งให้ราคาขายปลีกเฉลี่ยเคลื่อนไหวระดับ 21-21.50 บาทต่อกก. โดยเป็นที่น่าจับตาว่าราคาน้ำตาลทรายบรรจุถุงขนาด 1 กก.มีแนวโน้มจะเกิดการแข่งขันมากขึ้น เนื่องจากมีความต้องการจากธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่หรือโมเดิร์นเทรดเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากพฤติกรรมคนไทยนิยมไปเดินจับจ่ายใช้สอย ประกอบกับร้านค้าโชห่วยส่วนหนึ่งที่นิยมตักแบ่งขายเริ่มปิดกิจการ

ทำให้ความต้องการน้ำตาลบรรจุถุง 50 กก.ที่ต้องนำไปตักแบ่งขายเช่นอดีตเริ่มลดไปมาก ส่งผลต่อโรงงานน้ำตาลหันบรรจุภัณฑ์ขนาด 1 กก.มากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการ พร้อมไปกับการสร้างแบรนด์ และอาจมีการแข่งขันด้านราคามากขึ้น ส่วนจะแพงหรือถูกต้องขอดูอีกระยะ

นายบุญถิ่นกล่าวว่า ปริมาณน้ำตาลทรายบริโภคในประเทศ แม้จะไม่ได้กำหนดโควต้าเช่นอดีตเพื่อให้สอดรับกับระเบียบใหม่ หลังการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายตามแนวทางการเปิดเสรี แต่รัฐได้บริหารจัดการที่จะกันน้ำตาลไว้รองรับการบริโภคในประเทศไม่ให้ขาดแคลนซึ่งฤดูการผลิตปี 2560/61 ไม่ต้องกังวลเพราะคาดว่าจะมีผลผลิตอ้อยและน้ำตาลทรายสูงเป็นประวัติการณ์ โดยมีอ้อยเข้าหีบกว่า 134.9 ล้านตัน และมีปริมาณน้ำตาลสูงกว่า 14.6 ล้านตัน

ขณะที่ความเคลื่อนไหวราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลก ล่าสุดเฉลี่ย 11-12 เซนต์ต่อปอนด์ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากกรณีที่บราซิลประสบภัยแล้ง ขณะที่อินเดียเดิมจะส่งออกส่วนเกิน ล่าสุดชะลอการส่งออกด้วยการเก็บสต๊อกไว้แทน ภาพรวมประเมินว่าราคาน้ำตาลดิบตลาดโลกเฉลี่ยไม่น่าจะเกิน 14-15 เซนต์ต่อปอนด์เพราะปริมาณผลผลิตทั่วโลกภาพรวมยังคงสูง

แหล่งข่าวจากชาวไร่อ้อย กล่าวว่า ชาวไร่เตรียมหารือกับโรงงานน้ำตาลทรายถึงปัญหาของระบบอ้อยและน้ำตาล ที่อาจประสบปัญหาทั้งในแง่ราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตใหม่ 2561/62 ที่มีแนวโน้มจะตกต่ำเฉลี่ยราคาไม่เกินระดับ 800 บาทต่อตัน ขณะที่ฐานะกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) ไม่สามารถกู้เงินมาเพิ่มราคาอ้อยได้เช่นอดีต เพราะอยู่ระหว่างเปลี่ยนผ่านให้สอดรับกับการเปิดเสรีเพื่อไม่ให้บราซิลฟ้องร้องได้ ซึ่งจะทำให้ชาวไร่อ้อยอาจประสบภาวะขาดทุน

ปัจจุบัน กท.มีเงินบริหารอยู่หมื่นล้านบาท แต่มีภาระจ่ายเพิ่มค่าอ้อยขั้นต้นปี 2560/61 รวม 6,285 ล้านบาท นอกจากนี้ราคาอ้อยขั้นสุดท้าย 2560/61 แนวโน้มจะต่ำกว่าขั้นต้น เมื่อรวมกับรายได้ที่เข้ามาจะเหลือเงินที่อาจต้องค้างจ่ายโรงงาน 5,000 ล้านบาท ทำให้ช่วงต้นปีหน้า กท.จะอยู่ในสภาพถังแตกไม่สามารถบริหารเพิ่มค่าอ้อยได้ จึงต้องหารือเร่งด่วนเพื่อที่จะแก้ไขล่วงหน้า

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 10 มิถุนายน 2561

"สนธิรัตน์" กางแผนรับมือสินค้าเกษตรล่วงหน้า -ใช้นโยบายด้านการตลาดนำการผลิต

 “สนธิรัตน์” กางแผนรับมือสินค้าเกษตรล่วงหน้าเป็นรายตัว พร้อมใช้นโยบายด้านการตลาดนำการผลิตเข้าไปส่งเสริมให้เกษตรกรเพาะปลูก ก่อนหาตลาดรองรับทั้งในและต่างประเทศ เผยราคาข้าวยังพุ่งต่อเนื่อง ข้าวเปลือกหอมมะลิราคาดีสุดรอบ 10 ปี แนะเกษตรกรอย่าเพิ่มผลผลิต ให้เน้นคุมคุณภาพ และเพาะปลูกข้าวที่ตลาดต้องการทั้งข้าวพื้นนิ่ม และข้าว กข43 ส่วนข้าวโพดราคาพุ่งไม่แพ้กัน 9.50-9.70 บาท ต่อกก. และมันสำปะหลัง 3.15 บาทต่อกก. สูงสุดรอบ 10 ปีเช่นกัน ด้านเกษตรกรรวมตัวขอบคุณ หลัง “พาณิชย์”ช่วยเหลือจนมีรายได้เพิ่มขึ้น

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยในการปาฐกถาพิเศษ “สถานการณ์พืชผลการเกษตรของไทย” ที่จัดโดยสมาคมการค้าพืชไร่ ว่า กระทรวงพาณิชย์มีแผนในการดูแลราคาสินค้าเกษตรสำคัญของประเทศ ทั้งข้าวเปลือก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง และสินค้าเกษตรอื่นๆ เป็นรายตัว โดยได้มีการประเมินสถานการณ์ล่วงหน้าทุกรายการ และวางแผนช่วยเหลือเป็นการล่วงหน้า โดยเฉพาะการช่วยเหลือด้านการตลาดที่จะนำนโยบายการตลาดนำการผลิตมาใช้ ด้วยการส่งเสริมและผลักดันให้เกษตรกรเพาะปลูกตามที่ตลาดต้องการ และกระทรวงพาณิชย์จะช่วยหาตลาดรองรับให้ ทั้งการจำหน่ายภายในและส่งออกต่างประเทศ รวมถึงการจำหน่ายผ่านช่องทางการค้าออนไลน์

ทั้งนี้ ในส่วนของราคาข้าวปัจจุบัน พบว่า ราคายังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการที่ประเทศ ผู้นำเข้าข้าวสำคัญ เช่น แอฟริกา จีน ยังมีความต้องการซื้อข้าวเพิ่ม และไทยชนะการประมูลขายข้าวให้กับหลายประเทศ เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์และมาเลเซีย ทำให้มีความต้องการข้าวเพื่อส่งมอบ ทั้งในรูปแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) และรัฐต่อเอกชน (จีทูพี) และไทยยังอยู่ระหว่างการเจรจาตกลงราคาซื้อขายข้าวจีทูจีกับจีน 1 แสนตันที่ 6 รวมทั้งติดตามและเจรจาให้จีนซื้อข้าวจีทูจีสัญญา 1 ล้านตันที่ 2 ซึ่งหากสำเร็จ ก็จะทำให้มีตลาดรองรับผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าปีนี้ไทยจะส่งออกข้าวได้ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านตัน เพิ่มจากเป้าเดิมที่กำหนดไว้ที่ 9.5 ล้านตัน

อย่างไรก็ตาม จากการที่ข้าวเปลือกหอมมะลิมีราคาสูงขึ้น โดยปัจจุบันราคาส่งออกอยู่ที่ตันละ 1,295 เหรียญสหรัฐ และราคาข้าวเปลือกหอมมะลิอยู่ที่ตันละ 18,800 บาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ที่ตันละ 11,200 บาท โดยเป็นราคาที่สูงสุดในรอบ 10 ปี ซึ่งกระทรวงพาณิชย์มีความกังวลว่าเกษตรกรจะหันมาเพาะปลูกกันมากขึ้น และเมื่อผลผลิตออกมามาก ก็จะส่งผลกระทบต่อราคาได้ จึงขอให้เกษตรกรเพาะปลูกเท่าเดิม และเน้นการควบคุมคุณภาพให้ดี รวมทั้งหันไปเพาะปลูกข้าวที่มีศักยภาพและตลาดต้องการสูง โดยเฉพาะข้าวพื้นนุ่น เช่น ข้าวกข21 กข59 เพื่อชิงตลาดจากเวียดนาม และข้าว กข43 ที่มีโอกาสทางการตลาดสูงมาก

ส่วนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปัจจุบันราคาก็เพิ่มขึ้นมาก โดยความชื้น 30% ราคา 7.50-7.70 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) เมื่อเทียบกับปีก่อน 5.00-5.10 บาทต่อกก. ความชื้น 14.5% ราคา 9.50-9.70 บาทต่อกก. เทียบกับปีก่อนที่ 6.70-6.90 บาทต่อกก. ส่วนราคาโรงงานอาหารสัตว์รับซื้ออยู่ที่ 10.25-10.55 บาทต่อกก. สูงกว่าปีก่อนที่ 7.90-8.00 บาทต่อกก. ซึ่งราคายังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง เพราะเป็นช่วงปลายฤดูเก็บเกี่ยว โดยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูกาลใหม่ กระทรวงพาณิชย์ได้เตรียมแผนและมาตรการสำหรับรับมือไว้ล่วงหน้าแล้ว ทั้งการประสานผู้ผลิตอาหารสัตว์ และสหกรณ์ผู้เลี้ยงสัตว์เข้าไปรับซื้อ การใช้มาตรการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ ผู้รวบรวมที่รับซื้อข้าวโพด เพื่อให้สามารถติดตามดูแลได้ การเชื่อมโยงการซื้อขายระหว่างเกษตรกร ผู้รวบรวม และโรงงานอาหารสัตว์ และกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาการกำหนดสัดส่วนการนำเข้าข้าวสาลีต่อการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยจะคำนึงถึงผลประโยชน์ของทุกฝ่าย

สำหรับมันสำปะหลัง ปัจจุบันราคาหัวมันสด เชื้อแป้ง 25% ราคา 3.15 บาทต่อกก. ซึ่งเป็นราคาสูงที่สุดในรอบ 10 ปีเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นผลสำเร็จมาจากการที่กระทรวงพาณิชย์ ได้เดินหน้าหาตลาดส่งออกให้กับผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ทั้งตลาดจีน ญี่ปุ่น เกาหลี และหาตลาดใหม่ เช่น ตุรกี และนิวซีแลนด์ ร่วมมือกับสมาคมที่เกี่ยวข้องกับมันสำปะหลังในการทำตลาด และยังได้ใช้มาตรการกำหนดให้ผู้ซื้อ ผู้จำหน่าย ผู้ครอบครองมันสำปะหลัง ต้องแจ้งปริมาณ สถานที่เก็บ รวมถึงการผลักดันให้นำมันสำปะหลังไปใช้ในการผลิตเอทานอล และที่สำคัญ ได้กำกับดูแลการนำเข้ามันสำปะหลังจากประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อป้องกันการลักลอบนำเข้า จนกระทบต่อราคาภายในประเทศ

นายทรงศักด์ ส่งเสริมอุดมชัย นายกสมาคมการค้าพืชไร่ กล่าวว่า สมาคมฯ และเกษตรกร ขอขอบคุณกระทรวงพาณิชย์ โดยเฉพาะนายสนธิรัตน์ และทีมงานของกระทรวงพาณิชย์ที่ได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือเกษตรกร ทั้งการรับฟังปัญหา การช่วยหาวิธีการแก้ไขปัญหา การดำเนินมาตรการหาตลาดรองรับให้กับผลผลิตของเกษตรกร จนทำให้ปีนี้ ราคาข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง มีราคาดี ไม่มีปัญหา ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น

“ในการเดินทางมาครั้งนี้ของนายสนธิรัตน์ ท่านได้บอกกับพวกเราว่า กระทรวงพาณิชย์จะไม่ทอดทิ้งเกษตรกร จะทำงานอย่างหนักเพื่อดูแลเกษตรกร โดยท่านยังได้ชี้แจงถึงสถานการณ์การผลิตสินค้าเกษตรของไทย ทั้งด้านความต้องการใช้ กำลังการผลิต การตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยใช้นโยบายการตลาดนำการผลิต เพื่อให้เกษตรกรนำไปใช้เป็นข้อมูลการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการ ซึ่งถือเป็นมิติใหม่ในการดูแลสินค้าเกษตร ซึ่งเกษตรกรพอใจและพร้อมที่จะปฏิบัติตาม” นายทรงศักด์กล่าว

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 9 มิถุนายน 2561

จัด3.6พันล้าน หนุนผลิต 'ปุ๋ยสั่งตัด'

 “ธ.ก.ส.” จัดสินเชื่อ 3.6 พันล้าน ดอกเบี้ยต่ำร้อยละ 2 ให้ดำเนินการผลิตปุ๋ยสั่งตัด ลดต้นทุนปัจจัยการผลิตให้แก่เกษตรกร

เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2561 นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่านายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินโครงการการผลิตและจัดทำปุ๋ยสั่งตัดเพื่อลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกร คาดว่าช่วยลดต่อไร่ 500 บาท ซึ่งสหกรณ์จะเป็นตัวกลางรับตัวอย่างดินจากสมาชิกส่งให้กรมพัฒนาที่ดินวิเคราะห์ ธาตุอาหารในดิน ก่อนจะจัดทำฐานข้อมูลสำรวจความต้องการใช้ปุ๋ยจากสมาชิกเพื่อเตรียมผลิตปุ๋ยให้ตรงกับความต้องการและเติมธาตุอาหารของดินให้สมบูรณ์

โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ภายใต้โครงการสนับสนุนการผลิตหรือจัดหาปุ๋ยสั่งตัดผ่านสถาบันเกษตรกร วงเงินสินเชื่อ 3,600 ล้านบาท โดยการปล่อยสินเชื่อ สหกรณ์ภาคการเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และพิจารณาขีดความสามารถด้วย ให้กู้แห่งละไม่เกิน 3 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเพียง 2% ปีเท่านั้น

ทั้งนี้ เพื่อให้สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนนำไปเป็นทุนหมุนเวียนจัดหาแม่ปุ๋ย เพื่อนำมาบริการผสมปุ๋ย หรือผลิต ให้ตรงตามความต้องการและสอดคล้องกับสภาพดินแต่ละพื้นที่ของสมาชิก เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2561 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 ซึ่งโครงการนี้มีกลุ่มเป้าหมาย คือ สถาบันเกษตรกร จำนวน 500 แห่ง แยกเป็นสหกรณ์การเกษตรและกลุ่มเกษตรกร จำนวน 300 แห่ง และวิสาหกิจชุมชน 200 แห่งทั่วประเทศ

ขณะนี้ สหกรณ์การเกษตรและกลุ่มเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการ ให้จัดทำฐานข้อมูลสมาชิกว่ามีปริมาณความต้องการใช้ปุ๋ยมากน้อยเพียงใด โดยให้สมาชิกเก็บตัวอย่างดิน ในไร่ นา หรือสวนของตนเอง เพื่อนำมาบริการตรวจดิน เพื่อหาธาตุอาหาร N-P-K รวมทั้ง คำแนะนำการใช้ปุ๋ย ที่สหกรณ์ จะให้บริการตรวจดิน ในพื้นที่ปลูกข้าว ข้าวโพด ใช้ KU Soil Test Kit และแนะนำการใช้ "ปุ๋ยสั่งตัด" ในกรณีข้าว และข้าวโพด โดยใช้ข้อมูลชุดดินร่วมกับค่าวิเคราะห์ดิน ส่วนพืชเศรษฐกิจชนิดอื่น ๆ ใช้คำแนะนำปุ๋ย ตามค่าวิเคราะห์ดินจากกรมพัฒนาที่ดิน เพื่อเพิ่มคุณค่าธาตุอาหารในดินได้ตรงกับความต้องการของพืชแต่ละชนิดจะเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตและยังช่วยปรับสภาพดินได้ดีขึ้นด้วย

จาก www.bangkokbiznews.com   วันที่ 9 มิถุนายน 2561

รมว. เกษตรฯ เร่งปฏิรูปการเกษตรทั้งระบบ

กรุงเทพฯ 9 มิ.ย.- กระทรวงเกษตรฯ จะแก้ไขปัญหาการทำเกษตรกรรมทั้งระบบแก้ปัญหาราคาตกต่ำจะดำเนินการภายใน 1 เดือนนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทำหนังสือสั่งการปลัดกระทรวงและผู้บริหารกระทรวงทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคให้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาหาแนวทางแก้ไขปัญหาเกษตรกรรมซึ่งพบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ขาดการวางแผนการผลิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ได้คำนึงถึงความต้องการของตลาดหรือผู้บริโภค ทำให้ผลผลิตล้นตลาดและราคาตกต่ำ เมื่อประสบความเดือดร้อนได้มาเรียกร้องให้รัฐช่วยเหลือ กดดันให้จ่ายเงินชดเชยส่วนที่ขาดทุน ขอให้รับจำนำหรือประกันราคาผลผลิตที่ไม่ใช่ราคาอ้างอิงของตลาด รวมทั้งขอให้รัฐรับซื้อผลผลิตในราคานำตลาด มาตรการเหล่านี้รัฐดำเนินการมาแล้วหลายครั้ง แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน ยังคงมีการเรียกร้องเช่นนี้จากเกษตรกรกลุ่มต่างๆ ตามฤดูกาลผลิตเป็นระยะ

นายกฤษฎาสั่งการให้ผู้บริหารทุกระดับระดมความคิด เชิญชวนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการด้านเศรษฐกิจการเกษตรและผู้แทนกลุ่มเกษตรกร สถาบันเกษตรกร ตลอดจนภาคเอกชนมาช่วยกันหามาตรการแก้ปัญหาดังกล่าว ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรที่มีมากถึง 7 ล้านครัวเรือนหรือ 24 ล้านคน อันเป็นพลังสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ในข้อสั่งการได้กำหนดว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องกำหนดแผนการผลิตโดยจำแนกชนิดพืชและปศุสัตว์แล้วพิจารณาว่า จะแต่งตั้งคณะกรรมการจากหน่วยงานใดมารับผิดชอบวางแผนการผลิตของประเทศ

นอกจากนี้ยังให้นำพ.ร.บ. เศรษฐกิจการเกษตร พ.ศ. 2522 และพ.ร.บ. กองทุนสงเคราะห์เกษตรกร พ.ศ. 2554 มาพิจารณาว่า มีบทบัญญัติใดที่จะนำมาใช้จัดทำแผนการผลิตทางการเกษตรได้ รวมทั้งให้นำจุดแข็งและจุดอ่อนของการวางแผนข้าวครบวงจรและการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาอ้อยและน้ำตาลมาพิจารณาประกอบ อีกทั้งควรกำหนดเงื่อนไขหรือจัดหาบริการที่จะเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรทำการเกษตรตามแผนการผลิตอย่างจริงจัง โดยให้ปลัดกระทรวงเกษตรแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาหาแนวทางพัฒนาและแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้แล้วเสร็จใน 1 เดือน

จาก www.tnamcot.com วันที่ 9 มิถุนายน 2561

ไตรมาสแรก ปี 61 'ผู้ส่งออกไทย' ใช้สิทธิ FTA เต็มจำนวน ดันยอดการค้าไทย-ชิลี ขยายตัวกว่า 16%

กรมเจรจาฯ เผย ไตรมาสแรกของปี 2561 ผู้ส่งออกไทยใช้สิทธิ FTA เต็มจำนวนดันยอดการค้าไทย-ชิลี ขยายตัวกว่า 16%

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า จากการติดตามสถิติการค้าระหว่างไทยกับชิลีในช่วงที่ผ่านมา พบว่า มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากความตกลงการค้าเสรี ไทย-ชิลี ที่เริ่มมีผลใช้บังคับเมื่อปลายปี 2558 โดยในไตรมาสแรกของปี 2561 การค้าระหว่างไทยกับชิลี มีมูลค่า 357 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนหน้า 16.9% แบ่งเป็นการส่งออก 238 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และนำเข้า 118 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งในมูลค่าการส่งออกไปชิลีนั้น มีการใช้สิทธิส่งออกภายใต้ FTA ไทย-ชิลี สูงถึง 235.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ เต็มจำนวนรายการสินค้าที่ได้รับสิทธิ ขณะที่ นำเข้าโดยใช้สิทธิ 10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็น 8.4% ของมูลค่าการนำเข้ารวม ขณะนี้ จึงถือว่าผู้ส่งออกไทยใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าส่งออกภายใต้ FTA ไทย–ชิลี สูงเป็นอันดับ 1 เมื่อเทียบกับ FTA อื่น ๆ ของไทย

ปัจจุบัน ชิลีและไทยได้ลดภาษีระหว่างกันเหลือ 0% ไปแล้วประมาณ 90% ของรายการสินค้าทั้งหมด เช่น ยานยนต์ ปลากระป๋อง โพลิเมอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้าง เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์จากยาง และอัญมณี เป็นต้น ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทย ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 10 จะทยอยลดภาษีเหลือ 0% ในปี 2563 และปี 2566 เช่น เนื้อไก่ ข้าวสาลี ข้าว และน้ำตาล เป็นต้น อย่างไรก็ดี ในส่วนสินค้าที่มีความอ่อนไหวสูง 23 รายการของไทย เช่น ข้าว นมผงขาดมันเนย กาแฟ ชา เป็นต้น แม้ภาษีในโควตาจะลดเหลือ 0% แล้ว แต่ไทยจะยังคงภาษีนอกโควตาอยู่ในอัตรา 36-226%

ไทยและชิลีมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันมาโดยตลอด และพัฒนาความสัมพันธ์มากขึ้นตามลำดับ ทั้งในด้านการค้าและการลงทุน โดยทั้ง 2 ฝ่าย สามารถใช้ประโยชน์จาก FTA ขยายความร่วมมือทางการค้าระหว่างกัน โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเนื้อสัตว์ เนื้อปลา ผัก ผลไม้สด และอาหารแปรรูป ขณะเดียวกัน ชิลีได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดเล็กและขนาดย่อม รวมถึงกลุ่มผู้ประกอบการ Startup ซึ่งสอดคล้องยุทธศาสตร์การค้าของไทยที่เน้นพัฒนาศักยภาพและความสามารถทางการแข่งขันของผู้ประกอบการรายย่อยเช่นกัน

ทั้งนี้ ชิลีเป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของไทยในภูมิภาคอเมริกาใต้ รองจากบราซิลและอาร์เจนตินา โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปชิลี ในปี 2561 ช่วงไตรมาสแรก ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เครื่องซักผ้าและเครื่องซักแห้งฯ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบฯ และผลิตภัณฑ์ยาง สินค้านำเข้าสำคัญของไทย สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปฯ ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้ เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ และปุ๋ย ยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ เป็นต้น

จาก www.thansettakij.com   วันที่ 8 มิถุนายน 2561

ลุ้นส่งออกไทยแตะ 9% ธสน.ชี้ค้าโลกดี-อีอีซีช่วย

นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือเอ็กซิมแบงก์ เปิดเผยว่า การส่งออกในปี 2561 มีแนวโน้มขยายตัว เนื่องจากมูลค่าส่งออกในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2561 ขยายตัวถึง 11.5% สูงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ ธสน. จึงได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของภาคการส่งออกไทยเติบโตของภาคการส่งออกไทยทั้งปี 2561 จากเดิม ธสน.คาดการณ์ไว้ที่ 5-8% เป็น 7-9%

ทั้งนี้ ปัจจัยบวกมาจากเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้น โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดว่า เศรษฐกิจโลกปี 2561 จะขยายตัว 3.9% สูงสุดในรอบ 7 ปี พร้อมปรับเพิ่มมูลค่า การค้าโลกจากเดิมที่ขยายตัว 4.6% เป็น 5.1% รวมทั้งราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นสูงขึ้น ขณะที่ผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกยังใช้ไทยเป็นฐานผลิตที่สำคัญและลงทุนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยได้อานิสงส์จากโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่คืบหน้าและชัดเจนมากขึ้น

 “การส่งออกของไทยในปี 2561 มีแนวโน้มขยายตัวได้มากกว่าที่เคยคาดการณ์ในทุกตลาด โดยเฉพาะตลาดยุโรป ญี่ปุ่น และอาเซียน เดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้สูงกว่า 9% เช่นเดียวกับตลาดใหม่อย่าง CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาและเวียดนาม) และตลาดใหม่อื่นๆที่ปรับเพิ่มคาดการณ์เป็น 8.5% และ 6.3% แสดงให้เห็นถึงโอกาสของผู้ประกอบการไทยในเวทีการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ ซึ่ง ธสน.พร้อมสนับสนุนทั้งด้านข้อมูลข่าวสารและบริการทางการเงิน ครบวงจร”.

จาก https://www.thairath.co.th    วันที่ 8 มิถุนายน 2561

กลุ่มเกษตรกรไร่อ้อยบ้านหนองระกำ จ.นครสวรรค์ เฮ ! ปลดหนี้สำเร็จภายใน 3 ปี ชีวิตดี..เพราะมีน้ำ (บาดาล)

     สมาชิกกลุ่มเกษตรกรบ้านหนองระกำ หมู่ที่ 5 ตำบลเขาชายธง อำเภอตากฟ้า จังหวัดนครสวรรค์ สร้างรายได้จากการพลิกฟื้นไร่อ้อยแห้งตายเป็นไร่เกษตรเชิงผสมผสานตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ สร้างอาชีพที่มั่นคงและรายได้ที่มั่งคั่งจนสามารถปลดหนี้การเกษตรได้ภายในระยะเวลาเพียง 3 ปี ด้วยแหล่งน้ำบาดาลที่มีศักยภาพ

     บ้านหนองระกำ หมู่ที่ 5 ตำบลเขาชายธง อำเภอตากฟ้า จังหวัดนครสวรรค์ เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่เคยประสบปัญหาขาดแคลนแหล่งน้ำในการเพาะปลูกของเกษตรกร เนื่องจากในอดีตต้องรอน้ำฟ้าในช่วงฤดูฝนเพียงอย่างเดียวและยังเป็นพื้นที่นอกเขตชลประทานล้อมรอบด้วยภูเขา ทำให้พืชไร่ที่ปลูกไว้ยืนต้นตาย อาทิ อ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง แต่เมื่อพื้นที่ดังกล่าวได้รับการสนับสนุนโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบภัยแล้ง รูปแบบที่ 1 จากกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ในปี พ.ศ. 2558 จึงทำให้พื้นที่การเกษตรดังกล่าวมีแหล่งน้ำบาดาลเพียงพอในการเพาะปลูกตลอดทั้งปี โดยสมาชิกกลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำบาดาลนิยมเพาะปลูกพืชไร่แบบผสมผสาน อาทิ อ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง ทานตะวัน กล้วย ไผ่หวาน มะขามเทศ มะเขือยาว มะนาว มะพร้าว และมะม่วง โดยผลผลิตดังกล่าวสามารถเก็บเกี่ยวจำหน่าย ได้ตลอดทั้งปีสร้างรายได้ที่มั่นคงสม่ำเสมอให้แก่เกษตรกรทุกครัวเรือน นอกจากนี้ กลุ่มเกษตรกรหลายรายยังสามารถ ปลดหนี้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและหนี้นอกระบบได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

     สำหรับยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยพลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้วางแนวทางในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำโดยการสร้างความมั่นคงน้ำภาคการผลิตด้านเกษตรกรรม โดยได้มอบหมายให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลสำรวจและพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรให้  พี่น้องเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก รวมถึงพื้นที่ที่อยู่นอกเขตชลประทานซึ่งประสบปัญหาขาดแคลนแหล่งน้ำ มาโดยตลอด ทั้งนี้ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้ดำเนิน “โครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบ ภัยแล้ง” ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2556 จนถึงปัจจุบัน สำหรับพื้นที่บ้านหนองระกำ หมู่ที่ 5 ตำบลเขาชายธง อำเภอตากฟ้า จังหวัดนครสวรรค์ ได้รับระบบกระจายน้ำบาดาลประกอบด้วย บ่อน้ำบาดาล 2 บ่อ เครื่องสูบน้ำไฟฟ้าขนาด 3 แรงม้า ติดตั้งหอถังพักน้ำความจุ 30 ลูกบาศก์เมตร พร้อมวางท่อส่งน้ำรวมระยะทางเกือบ 4 กิโลเมตร สามารถกระจายน้ำบาดาลได้ครอบคลุมพื้นที่กว่า 216 ไร่ ปัจจุบันมีสมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำบาดาลกว่า 11 ราย สร้างรายได้เฉลี่ย 300,000 – 400,000 บาทต่อปี  เพิ่มมากขึ้น 3 – 4 เท่าตัว

นายสมควร เทพทรัพย์ ประธานสมาชิกกลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำบาดาลบ้านหนองระกำ เปิดเผยว่า เมื่อก่อนพื้นที่ตรงนี้ต้องรอน้ำฟ้าน้ำฝนอย่างเดียว ปีไหนฝนแล้งป่าอ้อย ป่าข้าวโพดก็ยืนต้นตายเพราะขาดน้ำ ปีนั้นก็จะลงทุนเสียเปล่าต้องไถกลบทิ้งอย่างเดียว เกษตรกรก็เดือดร้อนต้องไปหางานรับจ้างทำหรือไม่ก็เข้ากรุงเทพหางานอย่างอื่นทำ แต่พอได้บ่อน้ำบาดาลมาก็ดีขึ้นมาก เพราะเรามีน้ำใช้ตลอดทั้งปีคิดจะปลูกอะไรก็ทำได้หมดไม่เดือดร้อนเหมือนเมื่อก่อน รายได้ก็มีมากขึ้นปลดหนี้ ธกส. ได้หมดแล้ว ลูกหลานก็กลับมาช่วยกันทำเกษตรอยู่บ้านเราไม่ต้องไปทำงานที่อื่นแล้ว

     ทั้งนี้ หากประชาชนทั่วไป กลุ่มเกษตรกร หรือหน่วยงานท้องถิ่น มีความประสงค์ขอรับการสนับสนุนโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบภัยแล้ง สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ กองสื่อสารและการมีส่วนร่วม กรมทรัพยากรน้ำบาดาล โทรศัพท์ 0 2666 7000 หรือ สายด่วนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม Green Call 1310 กด 4 ในวันและเวลาราชการ หรือติดต่อโดยตรง ณ สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 1 – 12 ทั่วประเทศ

จาก https://www.khaosod.co.th   วันที่ 7 มิถุนายน 2561

กรมชลฯเกาะติดสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา นำศาสตร์พระราชาเดินหน้า"โคก หนอง นา โมเดล"

กระทรวงเกษตรฯเกาะติดสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา กรมชลประทานยืนยันการบริหารจัดการน้ำเป็นไปตามแผน 4 เขื่อนใหญ่ยังสามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 10,000 ล้านลบ.ม. พร้อมสั่งเดินหน้า "โคก หนอง นา โมเดล" นำศาสตร์พระราชามาขยายผล สร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

 เมื่อเร็วๆนี้ ดร.วิวัฒน์ ศัลยกําธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อม ด้วย ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ลงพื้นที่ตรวจติดตามการบริหารจัดการน้ำทุ่ง เจ้าพระยา และสถานการณ์น้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ พร้อมทั้งเร่งรัดการพัฒนาระบบกสิกรรมด้วยศาสตร์พระราชา 5 ลุ่มน้ำ ตลอดจนติดตามแก้ไขปัญหา ต่างๆ ให้กับเกษตรกร

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาอยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยในปัจจุบัน 4 เขื่อนหลักที่ใช้ในการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาคือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 12,979 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 52 ยังสามารถรองรับปริมาณฝนรวมกันได้มากกว่า 10,000 ล้านลบ.ม.

สําหรับเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ขณะนี้ปริมาณน้ำในอ่าง 239 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 25 ของปริมาณการกักเก็บซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่วางแผนไว้ ซึ่งจะช่วยต้นฤดูฝนจะพร่องน้ำให้เหลือในอ่างไม่มากนัก เพื่อรองรับปริมาณน้ำเหนือที่จะหลากลงมาในช่วงกลางถึงปลายฤดูฝน ซึ่งคาดว่าเมื่อสิ้นสุดฤดูฝน ณวั นที่ 1 พฤศจิกายน 2561 ปริมาณน้ำจะเต็มอ่าง อย่างเแน่นอน

ส่วนของผลการเพาะปลูกข้าวนาปีในพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสัก ในเขตจังหวัดเพชรบูรณ์ ลพบุรี สระบุรี และพระนครศรีอยุธยาปัจจุบันมกีารเพาะปลูกแล้วรวม855,367ไร่

นอกจากนี้ อธิบดีกรมชลประทานยังกล่าวถึงโครงการพัฒนาระบบกสิกรรมด้วยศาสตร์พระราชาโคก (โคก หนอง นา โมเดล) นำร่องในพื้นที่ 5 ลุ่มน้ำคือ ลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำน่าน ลุ่มน้ำป่าสัก ลุ่มน้ำปราจีน (ลุ่มน้ำย่อยห้วยโสมง) ซึ่งกรมชลประทานได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบ 2 ลุ่มน้ำ คือ ลุ่มน้ำห้วยโสมง และลุ่มน้ำาป่าสักนั้นว่า กรมชลประทานได้ดำเนินโครงการดังกล่าวประสบผลสำเร็จในลุ่มน้ำห้วยโสมง จ.ปราจีนบุรี ขณะนี้ได้ นํามาต่อยอดในพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสัก

อย่างไรก็ตามในส่วนประชาชนที่ยังประสบกับปัญหาไม่มีอาชีพทํากินนั้น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อเสนอแนะ แนวทางในการพัฒนาด้านอาชีพให้กับประชาชน โดยให้มีตัวแทนจากประชาชนในพื้นที่เข้ามาร่วมเป็น คณะกรรมการด้วยเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำให้กรม ชลประทานบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสัก ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน

สำหรับ "โคก หนอง นา โมเดล" เป็นการนำศาสตร์พระราชาในเรื่อง ทฤษฏีใหม่ มาปรับประยุกต์ สู่การปฏิบัติโดยเป็นการจัดการพื้นที่ซึ่งเหมาะในการทำการเกษตร ซึ่งมักอยู่ในพื้นที่กลางน้ำ ด้วยการผสมผสานเกษตรทฤษฎีใหม่เข้ากับภูมิปัญญาพื้นบ้าน ซึ่งจะแบ่งพื้นที่การเกษตร เป็นสัดส่วน 30 : 30 : 30 : 10 โดย 30% แรกสำหรับแหล่งน้ำ โดยการขุดบ่อทำหนองและคลองไส้ไก่ อีก 30% สำหรับทำนา ปลูกข้าว และอีก 30% สำหรับทำโคกหรือป่า ปลูกป่า 3 อย่าง คือ 1.ปลูกไม้ใช้สอย 2.ไม้กินได้ และ3.ไม้เศรษฐกิจ เพื่อให้ได้ประโยชน์ 4 อย่าง ได้แก่ 1.มีกิน คือ ผัก มีอาหารไว้กิน 2.มีอยู่ คือ สามารถตัดไม้ไปสร้างบ้าน ทำที่อยู่ได้ 3.มีใช้ คือ มีไว้ใช้สอยในครัวเรือน ใช้เป็นยาและสมุนไพร ใช้เป็นฟืน เป็นเครื่องมือใช้สอยในบ้าน และ4. มีความสมบูรณ์ และความร่มเย็น ส่วน 10% สุดท้าย สำหรับที่อยู่อาศัย และเลี้ยงสัตว์ เช่น ไก่ ปลา วัว และควาย เป็นต้น

ทั้งนี้การออกแบบ "โคก หนอง นา โมเดล" แต่ละพื้นที่จะไม่เหมือนกันขึ้นกับภาวะภูมิสังคม ถือเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญของการออกแบบพื้นที่ ภูมิ คือ สภาพทางกายภาพ เช่น สภาพดิน นํ้า ลม สังคม คือ วัฒนธรรม ความเชื่อภูมิปัญญาดั้งเดิมที่อยู่ในพื้นที่นั้น ซึ่งในการออกแบบจะให้ความสำคัญกับ “สังคม” มากกว่า “ภูมิ” คือต้องออกแบบตามสังคมและวัฒนธรรมของคนที่อยู่ แม้ว่าภูมิประเทศจะเหมือนกันก็ตาม หากสังคมต่างกันการออกแบบก็จะต่างกันโดยสิ้นเชิง นอกจากนี้การกักเก็บน้ำ เป็นเรื่องสำคัญของ "โคก หนอง นา โมเดล" ซึ่งกรมชลประทานจะแนะนำวิธีการกักเก็บน้ำไว้ในพื้นที่ ซึ่งมี 3 วิธี คือ 1. เก็บน้ำไว้ในหนอง ด้วยการขุดหนองจะต้องขุดให้คดโค้ง และมีระดับตื้นลึกแตกต่างกันไปในแต่ละจุด ก่อนขุดต้องมีการคำนวณปริมาตรนํ้าที่สามารถเก็บได้ในหนองเพื่อให้พอใช้งาน 2. เก็บน้ำไว้บนโคก ทำได้โดยการปลูกป่าและเก็บในระบบรากของต้นไม้ที่ปลูกไว้ 5 ระดับ ได้แก่ ไม้ระดับสูง ไม้ชั้นกลาง ไม้ชั้นเตี้ย ไม้เรี่ยดิน และไม้หัวใต้ดิน เพื่อสร้างความหลากหลายของระบบราก เมื่อฝนตกลงมาระบบรากจะช่วยอุ้มน้ำไว้ในดินได้ และ 3.เก็บไว้ในนา ยกคันนาให้สูงและกว้าง สามารถเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงฝนทิ้งช่วง นอกจากนี้เรายังสามารถปลูกพืชผักไว้บนคันนาได้อีกด้วย ซึ่งการดำเนินโครงการนี้จะทำให้เกษตรกรหลุดพ้นจากความทุกข์ยาก อยู่อย่างพอเพียง สร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน อย่างแน่นอน

"เพื่อให้การดำเนินโครงการ "โคก หนอง นา โมเดล" ในส่วนที่กรมชลประทานรับผิดชอบประสบผลสำเร็จ และเกษตรกรสามารถนำไปปฏิบัติได้จาก จึงได้จัดให้มีการอบรมเชิง ปฏิบัติการ ระหว่างวันที่ 18 - 20 มิ.ย. 61 นี้ ณ โครงการส่งน้ำและบํารุงรักษาป่าสักชลสิทธิ์ เพื่อให้เกษตรกรมี ความรู้ความเข้าใจในศาสตร์พระราชา และได้แบบแปลงกสิกรรมตามหลัก โคก หนอง นา โมเดล ซึ่งขณะนี้มีมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการฝึกอบรมประมาณ100ราย" อธิบดีกรมชลประทานกล่าวในตอนท้าย

จาก www.komchadluek.net วันที่ 7 มิถุนายน 2561

"กษ."ฟุ้งโชว์แปลงใหญ่ลดต้นทุน – เพิ่มรายได้

"กษ.ฟุ้งโชว์แปลงใหญ่รอบ 3 ปี ลดต้นทุน – เพิ่มรายได้เกษตรกรพุ่ง ยกผลงานเด่น นาข้าวแปลงใหญ่ ลดต้นทุน 449 ล้านบาท มีรายได้เพิ่ม 1.5 พันล้านบาท"

           7 มิถุนายน 2561  "เกษตร"ฟุ้งโชว์แปลงใหญ่รอบ 3 ปี ลดต้นทุน – เพิ่มรายได้เกษตรกรพุ่ง ยกผลงานเด่น นาข้าวแปลงใหญ่ ลดต้นทุน 449 ล้านบาท มีรายได้เพิ่ม 1.5 พันล้านบาท"

            นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่าผลการดำเนินงานของเกษตรแปลงใหญ่ ได้เข้าไปส่งเสริมให้เกษตรกรเกิดการรวมกลุ่มเข้าร่วมแปลงใหญ่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องซึ่งเป็นผลสำเร็จของนโยบายเกษตรแปลงใหญ่ที่รัฐบาลผลักดันปฎิรูปภาคเกษตร เป้าหมายหลักคือการลดต้นทุน และการเพิ่มผลผลิต มีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ15-20%ต่อปี สอดรับแผนเกษตร4.0 และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี 

           จากในปี 2559 มีจำนวนแปลงใหญ่เข้าร่วมโครงการ 597 แปลง ในพื้นที่ 1,403,438.41 ไร่ รวมเกษตรกรจำนวน 95,169 ราย เพิ่มขึ้นในปี 60 มีจำนวนแปลงใหญ่ใหม่อีก 1,934 แปลง พื้นที่ 1,965,875 ไร่ เกษตรกรรายใหม่ 153,789 ราย โดยในปีนี้จะเข้าเพิ่มอีก 1,838 แปลง ซึ่งขณะนี้เข้าร่วมแล้ว 1,636 แปลง พื้นที่กว่า 1.85 ล้านไร่ เกษตรกรรายใหม่ 74,483 ราย

           "ปัจจุบันเกษตรแปลงใหญ่ข้าว มีจำนวน 1,685 แปลง ในช่วง 3 ปีนี้พบว่าสามารถลดต้นทุนสะสมไปได้ถึง 449.51 ล้านบาท ผลผลิตเพิ่มขึ้น 1,579.10 ล้านบาท เช่นเดียวกับแปลงใหญ่พืชไร่ ประเภทมันสำปะหลัง ลดต้นทุนสะสม 121.57 ล้านบาท ผลผลิตเพิ่ม 302.29 ล้านบาท เป็นต้น"นายสมชาย กล่าว

จาก www.komchadluek.net วันที่ 7 มิถุนายน 2561

"แบน"สารเคมีกำจัดวัชพืช เสียงสะท้อนจากเกษตรกร...ตัวจริง

ผลกระทบ"แบน"สารเคมีกำจัดวัชพืช เสียงสะท้อนจากเกษตรกร...ตัวจริง

 เข้าทำนอง คนร้องไม่ได้ใช้ คนใช้(เกษตรกรส่วนใหญ่)กลับไม่มีปากเสียง สำหรับมติที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายครั้งที่ 3-1/2561 เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ไฟเขียวให้ใช้สารเคมีอันตรายอย่าง พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และการจำกัดการใช้ไกลโฟเสทต่อไป  เพียงแต่ให้จำกัดการใช้แทน โดยหลังจากนี้จะให้กรมวิชาการเกษตร ซึ่งเป็นผู้ดูแลการนำเข้าและการใช้ กลับไปจัดทำหลักเกณฑ์การจำกัดการใช้ภายใน 2 เดือน เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการวัตถุอันตราย ก่อนจะประกาศบังคับใช้ต่อไป

ภายหลังการประชุม สมบูรณ์ ยินดียั่งยืน รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ก็ออกมาชี้แจงผลการพิจารณาในวันนั้น โดยคณะกรรมการได้พิจารณาจากข้อมูลที่คณะอนุกรรมการเสนอเข้ามา ทั้งข้อมูลด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ทั้งจากฝ่ายผู้สนับสนุนและคัดค้านอย่างรอบคอบแล้ว จึงเห็นว่ายังมีเหตุผลไม่มากพอที่จะประกาศยกเลิกการใช้ 

ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน เครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อมประมาณ 100 คน นำโดยเครือข่ายต้านพาราควอต ได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล ขอให้ทบทวนมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายให้ใช้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส โดยมี กฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ รับหนังสือแทน โดยมีข้อเสนอ 3 ข้อได้แก่ 1.ให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายทบทวนมติและพิจารณายกเลิกพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสเพื่อให้เป็นไปตามเจตนาของ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535

2.ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ศึกษาหาวิธีการทดแทนตามมติของสภาเกษตรกรแห่งชาติ เพื่อปกป้องคุ้มครองสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค 3.ในช่วงก่อนการยกเลิกหากพบมีผลกระทบต่อต้นทุนของเกษตรกรเสนอให้เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ

ขณะที่กระทรวงเกษตรฯ จะรับเป็นเจ้าภาพในการเสนอข้อเท็จจริงใหม่ให้คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาอีกครั้ง เพราะด้วยวิธีปฏิบัติแล้วไม่สามารถยกเลิกได้ในทันที พร้อมยืนยันว่ารัฐบาลต้องการให้ทุกชีวิตปลอดภัย โดยเห็นสุขภาพของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญที่สุด 

และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ยืนยันอีกครั้งภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) จะให้เวลาในการเปลี่ยนแปลงภายในปี 2562 จะต้องได้ข้อสรุปที่ชัดเจน แต่ต้องกลับไปดูตรงต้นทางด้วยว่าเกษตรกรว่าอย่างไร ต้องการอะไร มันอยู่ที่ทุกคนเคารพกติกา ควบคุมได้ ป้องกันตนเองได้ ไม่ใช้มากเกินไป ซึ่งมีตัวอย่างอยู่ในหลายประเทศ  

ในมุมมองของ ระวี รุ่งเรือง นายกสมาคมเครือข่ายชาวนาไทย เห็นด้วยว่าสมควรแบนพาราควอต เนื่องจากพื้นที่นาข้าวไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้สารเคมีอันตรายชนิดนี้ จะใช้ก็เพียงตามคันนาเท่านั้น เพราะวัชพืชขึ้นปกคลุมกำจัดยาก แต่หากมีสารตัวอื่นทดแทนที่ไม่เป็นอันตรายก็จะดี แต่ต้องราคาไม่แพงไปกว่าพาราควอต หรือหากใช้ชีวภัณฑ์จากธรรมชาติก็จะดีมาก เพราะการที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นครัวของโลกทุกอย่างจะต้องปลอดสารเคมี

“ผมไม่ได้ปฏิเสธสารเคมี ไม่ได้ปฏิเสธยาฆ่าหญ้า แต่หากจะให้ประเทศไทยเป็นครัวของโลกได้ ต่างชาติมีความเชื่อมั่นในคุณภาพอาหารไทย วัตถุดิบที่จะนำมาผลิตอาหารจะต้องปลอดสารเคมี เพราะถ้าไม่เช่นนั้นจะเป็นไปได้ยาก สรุปก็คือเห็นด้วยหากแบนสารพาราควอตหรืออาจจำกัดการใช้เฉพาะกับพืชบางตัว” นายกสมาคมเครือข่ายชาวนาไทยให้มุมมอง

แม้ระวีเห็นด้วยในการห้ามใช้สารพาราควอต เนื่องจากพืชเศรษฐกิจอย่างข้าวไม่มีความจำเป็นต้องใช้สารเคมีชนิดนี้ในการทำลายวัชพืช ทว่ายังมีพืชบางตัวมีความจำเป็น ไม่ว่าจะเป็นอ้อย ยางพารา และไม้ผล บางครั้งยังมีความจำเป็น เนื่องจากการใช้แรงงานคนอาจมีปัญหาในเรื่องต้นทุนที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการขาดแคลนแรงงานด้วย   

ขณะที่ อุทัย สอนหลักทรัพย์  ประธานสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรยางพาราแห่งประเทศไทย(สยยท.)ยืนยันอย่างหนักแน่นว่าชาวสวนยางพารายังจำเป็นต้องใช้สารพาราควอตในการกำจัดวัชพืช เหตุเพราะว่ามีประสิทธิภาพสูง ราคาถูกและยังไม่มีสารตัวใดมาทดแทนได้ ที่มีอยู่ในท้องตลาดก็มีราคาแพงกว่าพาราควอต 4-5 เท่า แต่ประสิทธิภาพสู้พาราควอตไม่ได้ แถมยังต้องใช้ในปริมาณที่มากกว่าพาราควอตด้วย ยิ่งทำให้ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรชาวสวนยางเพิ่มขึ้น

“เห็นด้วยถ้ารัฐบาลให้มีการควบคุมหรือจำกัดการใช้ แต่ไม่เห็นด้วยกับการแบนหรือยกเลิกไปเลย เพราะเกษตรกรยังมีความจำเป็นต้องใช้ ถ้าไม่มีพาราควอตจะมีสารอะไรมาทดแทนที่ถูกและดีเหมือนพาราควอต  เพราะมันจะยิ่งเพิ่มต้นทุนให้แก่เกษตรกร พวกคุณที่ไปประท้วงเย้วๆ เคยลงไปดูไปคลุกคลีชาวสวนยางบ้างหรือไม่ว่าเขาคิดอย่างไร  ใช้สมองคิดกันหน่อย ยิ่งตอนนี้น้ำมันแพงแต่ทำไมยางยังถูก เห็นบอกว่าถ้าน้ำมันแพง ยางจะแพงตาม นักวิชาการออกมาชี้แจงหน่อยได้ไหม” อุทัยกล่าวอย่างมีอารมณ์

อุทัยยอมรับว่าหากมีการแบน เกษตรกรชาวสวนยางมีปัญหาแน่นอนในเรื่องต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในการกำจัดวัชพืช โดยเฉพาะยางปลูกใหม่ ในขณะที่แรงงานก็มีปัญหา ทั้งค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น อย่าง จ.ระยอง ตอนนี้ค่าแรงอยู่ที่ 330 บาทต่อวัน และยังหาแรงงานยากด้วย จึงอยากฝากไปยังรัฐบาลขอให้พิจารณาอย่างรอบคอบอย่าตัดสินใจท่ามกลางแรงกดดันจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย

ทวีศักดิ์ สุทิน อดีตนายกสมาคมการค้าและผู้ผลิตปุ๋ยไทย ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งหากรัฐบาลมีมติให้ยกเลิกการใช้สารพาราควอต โดยไม่มีสารทดแทนชนิดอื่นที่ปลอดภัยมาใช้เกษตรกรใช้ เนื่องจากมองว่าสารเคมีกำจัดวัชพืชอย่างพาราควอตยังมีความจำเป็นต่อเกษตรกร แม้ว่าจะมีอันตรายแต่หากรู้จักวิธีการใช้ก็ไม่มีปัญหา ซึ่งสารตัวนี้ไม่ใช่เพิ่งมีมาใช้กัน แต่ใช้กันมานานเป็นสิบๆ ปีแล้ว ทำไมเพิ่งมาเรียกร้องกันตอนนี้

“ยาฆ่าหญ้ายังมีความจำเป็นต่อเกษตรกร ถามว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพไหม ก็อันตรายนะหากใช้ไม่ถูกวิธี แล้วมีสารอะไรที่ปลอดภัยไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมาทดแทนหรือไม่ ทางออกถ้ายกเลิกจะต้องมีสารมาทดแทน ถ้าไม่มีคงวุ่นวายแน่นอน หรือไม่ก็ให้จำกัดการใช้” ทวีศักดิ์ย้ำทิ้งท้าย      

 ยก“พาราควอต”ยาสามัญประจำฟาร์ม 

สุกรรณ์ สังข์วรรณะ เกษตรกรดีเด่น ปี 2557 สาขาไร่นาสวนผสม ในฐานะเลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย กล่าวกับ “คม ชัด ลึก” ว่าหากรัฐยกเลิกการใช้พาราควอตจะส่งผลกระทบภาคเกษตรทั้งระบบ เนื่องจากปัจจุบันเกษตรกรส่วนใหญ่ที่ทำระบบเกษตรกรปลอดภัย (GAP) ยังมีความจำเป็นต้องใช้สารเคมี ดังนั้น การยกเลิกเท่ากับเป็นการซ้ำเติมเกษตรกรทั้งในเรื่องต้นทุนการผลิตและปริมาณผลผลิตที่ได้รับ

“สมาพันธ์ยืนยันเจตนารมณ์ที่ต้องการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภาคการเกษตรของไทย ด้วยการให้ความรู้แก่เกษตรกรในการใช้สารเคมีทางการเกษตรอย่างปลอดภัย ภายใต้มาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practice)”

สุกรรณ์ยอมรับว่าเขาเห็นด้วยที่จะให้มีการควบคุมหรือจำกัดการใช้ โดยใช้เฉพาะพืชทีี่มีความจำเป็นเท่านั้น แต่ไม่เห็นด้วยให้มีการยกเลิกโดยสิ้นเชิง เนื่องจากเป็นสารที่เกษตรกรใช้มานาน รู้ดีในประสิทธิภาพเทียบไม่ได้กับสารเคมีตัวอื่น และมีราคาถูก ทำให้มีผลต่อต้นทุนการผลิตของเกษตรกรโดยตรง ที่สำคัญก็จะมีพาราควอตปลอมระบาดมากขึ้น ซึ่งขณะนี้ได้รับการร้องเรียนจากเกษตรกรใน จ.ฉะเชิงเทรา ว่าเริ่มมีพาราควอตปลอมระบาดในพื้นที่แล้ว

ส่วนการควบคุมการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดนั้น เขาเสนอว่าผู้จำหน่ายจะต้องมีใบอนุญาตโดยเฉพาะสารเคมี 3 ตัวนี้ ร้านค้าทั่วไปไม่สามารถจำหน่ายได้อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ในขณะที่ผู้ซื้อหรือผู้ใช้จะต้องมีใบรับรองการอบรมหลักสูตรวิธีการใช้สารเคมีเหล่านี้จากทางราชการ จึงสามารถซื้อผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไปใช้การได้

“อยากให้พาราควอตเป็นยาสามัญประจำฟาร์ม เพราะมันเป็นพิษต่อคนน้อยมาก ผมอยู่กับมันมากว่า 40 ปีแล้ว ไม่เห็นเป็นอะไรเลย ก็เห็นด้วยให้มีการควบคุมการขายและจำกัดการใช้ ร้านค้าทั่วไปจะขายไม่ได้จะต้องขายอยู่ในร้านคิวช็อปเท่านั้น และที่ตั้งร้านก็จะต้องอยู่ในศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทั้ง 882 ศูนย์ทั่วประเทศ มีการดูแลอย่างเข้มงวด เพราะเป็นสารควบคุม ส่วนบริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์จะต้องส่งเจ้าหน้าที่มาประจำร้านและเป็นผู้ให้คำปรึกษาแนะนำวิธีการใช้อย่างถูกต้อง มีการจัดอบรมวิธีการใช้ให้แก่เกษตรกรกลุ่มเป้าหมาย หากบริษัทใดไม่ทำตามระเบียบก็ให้ยกเลิกสัญญาได้ทันที” เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัยกล่าวย้ำ

จาก www.komchadluek.net วันที่ 7 มิถุนายน 2561

กรมส่งเสริมการเกษตรมั่นใจปีนี้แปลงใหญ่ทะลุเป้า

กรมส่งเสริมการเกษตรเผยผลสำเร็จเกษตรแปลงใหญ่ 3 ปี ลดต้นทุน เพิ่มรายได้ ล่าสุดมีแปลงใหญ่ 1,636 แปลง มั่นใจทั้งปีเกินเป้า 1,800 แปลง

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ปี 2561 มีเป้าหมายเพิ่มจำนวนแปลงใหญ่อีก 1,838 แปลง ซึ่งข้อมูลล่าสุดเดือนเมษายนที่ผ่านมา พบว่ามีจำนวนแปลงใหญ่เพิ่มขึ้น 1,636 แปลง พื้นที่รวมกว่า 1.85 ล้านไร่ รวมเกษตรกรรายใหม่ 74,483 ราย กรมฯ จึงมั่นใจว่าปีนี้จะมีแปลงใหญ่เพิ่มขึ้นเกินกว่าเป้าหมาย เพราะเป็นรูปแบบการทำเกษตรกรที่สามารถลดต้นทุนการผลิต เพิ่มปริมาณผลผลิต และเพิ่มคุณภาพของผลผลิตส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

นายสมชาย กล่าวว่า การทำเกษตรกรรมรูปแบบแปลงใหญ่วัตถุประสงค์หลักต้องการสนับสนุนให้เกษตรกรบริหารจัดการร่วมกันนำไปสู่การลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต ซึ่งพบว่าที่ผ่านมาทำได้ดีเยี่ยม เช่น เกษตรแปลงใหญ่ข้าว 1,685 แปลง ข้อมูลการเข้าร่วมแปลงใหญ่ระหว่างปี 2559 – 2560 พบว่าสามารถลดต้นทุนสะสมถึง 449.51 ล้านบาท ผลผลิตเพิ่มขึ้น 1,579.10 ล้านบาท เช่นเดียวกับแปลงใหญ่พืชไร่ ประเภทมันสำปะหลัง ลดต้นทุนสะสม 121.57 ล้านบาท ผลผลิตเพิ่ม 302.29 ล้านบาท

ส่วนการดำเนินนโยบายแปลงใหญ่ 3 ปีที่ผ่านมาได้ผลตอบรับจากเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง จากปี 2559 มีจำนวนแปลงใหญ่เข้าร่วมโครงการ 597 แปลง ในพื้นที่ 1,403,438.41 ไร่ รวมเกษตรกร 95,169 ราย เพิ่มขึ้นปี 2560 มีจำนวนแปลงใหญ่ใหม่อีก 1,934 แปลง พื้นที่ 1,965,875 ไร่ เกษตรกรรายใหม่ 153,789 ราย

จาก www.tnamcot.com  วันที่ 7 มิถุนายน 2561

"อุตตม"เผยนักลงทุนต่างชาติ9รายสนพัฒนาเมืองอัจฉริยะในอีอีซี

"อุตตม" แย้มมีนักลงทุนต่างชาติ 9 รายให้ความสนใจที่จะพัฒนาเมืองอัจฉริยะหรือ Smart City ซึ่งจะทำให้เกิดการขับเคลื่อนอีอีซีอย่างมีศักยภาพ พร้อมเตรียมเดินสายโรดโชว์ร่วมรัฐบาลนำร่องอังกฤษและฝรั่งเศสปลายเดือนนี้โชว์ศักยภาพไทยเอาจริงเดินหน้าโครงสร้างพื้นฐานให้เป็นไปตามแผน

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสากรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้มีนักลงทุน 9 รายจากต่างชาติแสดงความสนใจที่จะร่วมดำเนินการพัฒนาเมืองอัจฉริยะหรือ Smart City ในพื้นที่เขตพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ที่รัฐบาลต้องการผลักดันให้เกิดขึ้นเนื่องจากเป็นโครงสร้างสำคัญพื้นฐานอย่างหนึ่งต่อการขับเคลื่อนอีอีซีเพราะจะก่อให้เกิดเมืองใหม่ที่รองรับทั้งภาคอุตสาหกรรม และความเป็นอยู่ของคนที่มีระบบอำนวยความสะดวกที่ทันสมัยและดูแลสิ่งแวดล้อม

" การพัฒนาเมืองอัจฉริยะเป็นอีกเป้าหมายหนึ่งของการพัฒนาอีอีซีนอกเหนือจากโครงสร้างพื้นฐานหลักๆ 5 โครงการใหญ่ ซึ่งล่าสุดบอร์ดอีอีซีก็ได้รับทราบความก้าวหน้าในเรื่องนี้โดยเฉพาะมาตรการส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ซึ่งการลงทุนในอีอีซีรัฐบาลไม่ได้ตั้งเป้าหมายไว้แต่ล่าสุดตัวเลขการลงทุนจากบีโอไอก็พบว่ามีประมาณ 3 แสนล้านบาทในขณะนี้ "นายอุตตมกล่าว

อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการชักชวนให้เกิดการลงทุนในอีอีซีและให้นักลงทุนต่างชาติเห็นภาพที่ชัดเจนหลังจากที่พ.ร.บ.อีอีซีพ.ศ.2561 ได้ประกาศใช้แล้วตั้งแต่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมารัฐบาลโดยการนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และคณะที่เกี่ยวข้องจะเดินทางไปโรดโชว์ที่ยุโรปเป็นแห่งแรกคือ อังกฤษและฝรั่งเศสช่วงปลายเดือนนี้โดยเบื้องต้นคาดว่าจะเป็นช่วง 20-25 มิ.ย. โดยในส่วนของอังกฤษนั้นมีเป้าหมายชักจูงการลงทุนไบโอชีวภาพและยานยนต์ไฟฟ้า ขณะที่ฝรั่งเศสเป็นการสานต่อและขยายความร่วมมือหลังจากที่บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) ได้ลงนามกับบริษัทแอร์บัส เมื่อธันวาคม 2560 ในโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา

นอกจากนี้ยังจะเน้นย้ำให้นักลงทุนต่างชาติเห็นว่ารัฐบาลต้องการผลักดันให้ลงทุนจริง และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่จะเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้หลังจากที่รัฐบาลประกาศเชิญชวนการลงทุน และเตรียมเปิดขายซอง ประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินในวันที่ 18 มิ.ย.นี้

จาก https://mgronline.com  วันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2561

หวั่นครึ่งปีหลังน้ำตาลดิ่งเหว 3ส.ขอส่วนต่างราคาอ้อยคืน

ครึ่ปีหลังอ้อยล้นราคาดิ่ง จึ้รัฐแก้ปมชดเชยส่วนต่างค่าอ้อย หวั่นพ.ร.บ.อ้อยฯ คลอดไม่ทันเปิดหีบปี 61/62 ต้องใช้กฎหมายเก่า เลี่ยงถูกฟ้อง WTO ซ้ำอีก

นายสิริวุทธิ์  เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการ บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) ในฐานะนายกสมาคมผู้ผลิตเอทานอลไทย และประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคม โรงงานน้ำตาล เปิดเผยว่า แนวโน้มน้ำตาลโลกครึ่งหลัง (ก.ค.-ธ.ค.2561) จะมีผลผลิต 45 ล้านตัน มากกว่าความต้องการ(over supply) ส่งผลให้ราคามีแนวโน้มลดลง

พร้อมกันนี้ 3 สมาคมขอให้รัฐหาแนวทางชดเชยส่วนต่างราคาอ้อย หลังจากประกาศลอยตัวน้ำตาลเมื่อวันที่ 15 ม.ค.2561 ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายที่ตันละ 780 บาท แต่ราคาอ้อยปีการผลิต “60/61ที่ประกาศตันละ 880 บาท ทำให้มีส่วนต่างราคาตันละ 100 บาท หากคิดรวมมูลค่าส่วนต่างจากปริมาณอ้อยที่เข้าหีบทั้งฤดูกาล จะมีส่วนต่างถึง 13,489 ล้านบาท ขณะที่เงินกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายมีเพียง 9,000 ล้านบาทเท่านั้น ดังนั้น อาจต้องใช้วิธีกู้จากธนาคารกรุงไทย หรือออกพันธบัตร เพื่อนำมาชดเชยคืนให้กับโรงงานน้ำตาล

ส่วนความคืบหน้าของ ร่างพ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาลทราย แม้ว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของกฤษฎีกาแล้ว แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่อง “ผลพลอยได้” อาจทำให้กฎหมายเสร็จไม่ทันฤดูการผลิตเปิดหีบปี 61/62 ต้องกลังไปใช้ พ.ร.บ.อ้อยฯฉบับเก่า ซึ่งรัฐต้องกลับมาอุดหนุน โดยให้กลไกของกองทุนอ้อยฯนำเงินมาชดเชยให้กับโรงงาน เสี่ยงที่บราซิลรวมถึงออสเตรเลีย และกัวเตมาลาจะร่วมฟ้องไทยต่อองค์การการค้าโลก (WTO)

“ไม่แน่ใจว่าสุดท้าย ร่างพ.ร.บ.อ้อยฯจะเป็นแบบไหน สมาคมยอมรับได้ทุกเรื่องยกเว้นเรื่องผลพลอยได้ เพราะไม่ใช่แค่อ้อยที่ได้เป็นน้ำตาล แต่ชาวไร่ยังขอปันผลประโยชน์จากผลพลอยได้ ที่มาจากกากน้ำตาล ซึ่งเราจะไม่ยอมหากกฤษฎีกาตีความให้เป็นไปตามที่ชาวไร่ขอก็จะไปสู้คัดค้านตอนที่เรียกชี้แจง”

นายวิบูลย์  ผาณิตวงศ์  ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ไทยชูการ์ฯ กล่าวว่าขณะนี้ยังเหลือโรงงานอ้อยสระบุรีเพียง 1 โรง จากทั้งหมด 54 โรงที่ยังไม่ปิดหีบ หากครบทั้งหมดปีนี้ฤดูกาล 60/61 จะมีอ้อยเข้าหีบถึง 134.89 ล้านตันอ้อย เพิ่มขึ้น 40-45 %  จากปีก่อนที่มีอ้อยเข้าหีบ 93 ล้านตันอ้อย สามารถผลิตน้ำตาลได้ 15 ล้านตัน แบ่งเป็นบริโภคในประเทศ 3 ล้านตัน ส่งออก 12 ล้านตัน เพิ่มจากปีก่อน 9 ล้านตันเท่านั้น และ ณ ขณะนี้ราคาน้ำตาลโลก (4 มิ.ย.2561) ตลาดลอนดอน NO.5 ปอานด์ละ 12-15 เซนต์ ราคาหน้าโรงงานในประเทศ กก.ละ 17-18 บาท

“ปริมาณฝนปีนี้ดี แม้เดือนหน้าอาจฝนทิ้งช่วงบ้างแต่คงไม่นาน ปริมาณอ้อยเข้าหีบปีหน้าคงไม่ต่ำกว่าปีนี้เท่าไร”

นายเชิดพงษ์  สิริวิชช์ ประธานกรรมการ บริษัท ไทยชูการ์ฯ กล่าวว่า วันที่ 14 มิ.ย. 2561 บริษัท ไทยชูการ์ฯ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมจัดงาน  “Thai Sugar Dinner 2018”  เพื่อหารือถึงสถานการณ์อ้อยและน้ำตาล และแนวทางการดำเนินการหลังการเปลี่ยนระบบจัดการอ้อยและน้ำตาลใหม่ ตลอดจนการวิจัยและพัฒนาต่อยอด

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ยกระดับมาตรฐานชีวภัณฑ์ ใช้ควบคุมศัตรูพืช-ลดสารเคมี-สร้างประโยชน์ยั่งยืน

นางจิระนุช ชาญณรงค์กุล ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ช่วงที่ผ่านมา การใช้ชีวภัณฑ์โดยเฉพาะที่เป็นเชื้อจุลินทรีย์ในการควบคุมแมลงศัตรูพืชและโรคพืชได้รับความนิยมจากเกษตรกรอย่างมาก ทำให้มีการผลิตและใช้จุลินทรีย์อย่างกว้างขวาง แต่ถ้ามีการผลิตและใช้โดยขาดความรู้ความเข้าใจมักทำให้เกิดการปนเปื้อน และเมื่อใช้จุลินทรีย์ไม่บริสุทธิ์นอกจากทำให้ใช้ควบคุมศัตรูพืชไม่ได้ผลแล้ว ยังทำให้เกิดความเสียหายและอาจเป็นอันตรายได้ กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้กำหนดมาตรฐานชีวภัณฑ์ที่ใช้ในการควบคุมศัตรูพืช เพื่อเป็นแนวทางในการส่งเสริมการใช้ชีวภัณฑ์อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรอย่างยั่งยืน

นางสาวอารีวรรณ ใจเพ็ชร ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมการควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธี กล่าวว่า มาตรฐานชีวภัณฑ์ที่ใช้ในการควบคุมศัตรูพืชของ กรมส่งเสริมการเกษตร จัดทำขึ้นเพื่อยกระดับคุณภาพการผลิตเชื้อจุลินทรีย์ให้มีคุณภาพตรงตามมาตรฐาน และสามารถใช้ควบคุมศัตรูพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจุลินทรีย์ที่นิยมใช้ในการควบคุมศัตรูพืช ได้แก่ เชื้อราไตรโคเดอร์มา เชื้อราบิวเวอเรีย และเชื้อราเมตาไรเซียม ดังนั้น มาตรฐานชีวภัณฑ์จะมีข้อกำหนด ดังนี้ ถ้ามองด้วยตาเปล่าลักษณะของเชื้อจุลินทรีย์จะมีสีตรงตามลักษณะของเชื้อต้องไม่มีการปนเปื้อนจากเชื้ออื่น ถ้ามองภายใต้กล้องจุลทรรศน์จะพบลักษณะสปอร์ตรงตามชนิดของเชื้อ และรายละเอียดของภาชนะบรรจุ ต้องระบุชื่อเชื้อ วัน เดือน ปีที่ผลิต ปริมาณ และวิธีการเก็บรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสมอย่างชัดเจน ลักษณะถุงบรรจุต้องปิดมิดชิด ไม่ฉีกขาด ไม่รั่ว ไม่มีหยดน้ำหรือไอน้ำเกาะ สำหรับการนำชีวภัณฑ์ไปใช้ ก่อนอื่นต้องสำรวจสถานการณ์ศัตรูพืชสัปดาห์ละครั้ง ใช้ชีวภัณฑ์เมื่อพบศัตรูพืช ใช้เชื้อในสภาพที่เหมาะสมและถูกต้อง ถูกเป้าหมาย ถูกเวลา ถูกวิธี ปริมาณเชื้อที่เหมาะสมคือ 1 กิโลกรัม/น้ำ 20 ลิตร หลังการใช้ปริมาณศัตรูพืชต้องลดลงไม่น้อยกว่า 50%

ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร แนะนำให้เกษตรกรใช้ชีวภัณฑ์ที่มีคุณภาพตรงตามมาตรฐานเท่านั้น และหากมีการผลิตใช้เองต้องผลิตในสภาพที่สะอาด ปลอดเชื้อ พร้อมทั้งบ่มและเก็บเชื้อในสถานที่ที่เหมาะสม ถ้ามีการซื้อชีวภัณฑ์มาใช้ควรซื้อชีวภัณฑ์ที่มีการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายจากกรมวิชาการเกษตร เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการควบคุมศัตรูพืช เกษตรกรที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่ ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช (ศทอ.) ใกล้บ้าน หรือกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย โทร. 0-2579-3664

จาก www.naewna.com วันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2561

บาทเปิด 31.92 บาทต่อดอลลาร์ แนวโน้มแข็งค่า

เงินบาทเปิดตลาด 31.92 บาทต่อดอลลาร์ แนวโน้มแข็งค่าตามภูมิภาค มองกรอบวันนี้ 31.83-32.00นักบริหารเงินจากธนาคารซีไอเอ็มบีไทย เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ระดับ 31.92 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าเล็กน้อยจากเย็นวานนี้ที่ปิดตลาดที่ระดับ 31.95 บาท/ดอลลาร์

ล่าสุดเงินบาทย่อลงมาอยู่ที่ระดับ 31.90 บาท/ดอลลาร์ โดยคาดว่าวันนี้เงินบาทอาจเคลื่อนไหวไม่มากนัก แต่ทิศทางยังแข็งค่า เนื่องจาก sentiment ของตลาดในเอเชียปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับ set index ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1,730 จุด ส่งผลให้สกุลเงินในเอเชียและตลาดเกิดใหม่ปรับตัวแข็งค่าขึ้น"ทิศทางเงินบาทวันนี้น่าจะแข็งค่าขึ้น แต่คงไม่มากนัก เพราะวันนี้ไม่ได้มีการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญอะไรมาก แต่น่าจะแข็งค่าขึ้นด้วย sentimentของตลาดในเอเชียที่ปรับตัวดีขึ้น" นักบริหารเงินระบุนักบริหารเงิน คาดว่า วันนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 31.83-32.00 บาท/ดอลลาร์

จาก https://www.posttoday.com วันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ม็อบต้านพาราควอต สารพิษ วัตถุอันตราย พาราควอต คลอร์ไพริฟอส กฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรฯ

นายสุนทร รักษ์รงค์ นายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยางพารา 16 จังหวัดภาคใต้ กล่าวว่า ภายใน 3 สัปดาห์หลังจากนี้ จะมีการจัดประชุมใหญ่ของเครือข่ายต้านสารพิษวัตถุอันตราย พาราควอตคลอร์ไพริฟอส โดยมีตัวแทนจากสมาชิกเครือข่ายทั้ง 700 องค์กร เข้าร่วม เพื่อประกาศปฏิบัติการและท่าทีของเครือข่าย หาก นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรฯ ไม่ดำเนินการตามข้อเสนอที่ยื่นต่อนายกรัฐมนตรี ให้แต่งตั้งกรรมการอิสระเพื่อให้มีการทบทวนมติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย โดยมีกรอบการทำงานภายใน 60 วัน แต่ยืนยันให้มีการแต่งตั้งตัวแทนกรรมการโดยรัฐบาล และให้เป็นกรรมการที่ปลอดจากผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างแท้จริง อีกทั้งต้องยึดหลักการเอาเรื่องสุขภาพเป็นหัวใจสำคัญในการตัดสินใจแบนหรือไม่แบนสารพิษร้ายแรง ซึ่งเป็นคำกล่าวของ รมว.เกษตรฯ ต่อหน้าผู้ชุมนุมเอง

นายสุนทร กล่าวว่า เครือข่ายไม่อาจยอมรับข้อเสนอที่จะให้กระทรวงเกษตรฯ เป็นเจ้าภาพในการดำเนินการเรื่องนี้ เพราะไม่ได้เป็นหน่วยงานที่เชี่ยวชาญเรื่องสุขภาพ อีกทั้งมีบทบาททับซ้อนในฐานะที่มีหน้าที่ส่งเสริมและดูแลเกี่ยวกับประสิทธิภาพของการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเป็นหลัก มองมิติเพียงประสิทธิภาพของการใช้สารเคมีเป็นหลัก

"จะติดตามความชัดเจนของรัฐบาล และกระทรวงเกษตรฯ จะแถลงและดำเนินการในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด โดยต้องเป็นข้อเสนอของเครือข่ายฯ 3 ข้อ ที่ต้องยกเลิกการใช้สารดังกล่าวในเดือน ธ.ค.62 โดยกระทรวงเกษตรฯ เร่งหาวิธีการทดแทนการใช้สารเคมีวัตถุอันตราย ทั้งนี้ จากการสำรวจของเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช พบว่า เกษตรกรผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ ข้าว อ้อย ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน ยางพารา และมันสำปะหลัง ร้อยละ 63 ไม่ได้ใช้พาราควอตในการกำจัดวัชพืช นั่นหมายถึงมีสารกำจัดวัชพืชชนิดอื่นและวิธีการในการจัดการวัชพืชที่มีประสิทธิภาพมากกว่าพาราควอตอยู่แล้ว หากแต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่ได้รวบรวมองค์ความรู้เหล่านี้มาเผยแพร่ในวงกว้าง รวมทั้งช่วงนี้หากเกษตรกรและผู้บริโภคได้รับผลกระทบ ต้องมีมาตรการเยียวยาและส่งเสริมการทำเกษตรไม่สารตกค้าง จะลดผลกระทบจากการถูกกีดกันทางการค้าจากความไม่ปลอดภัยของสารพิษตกค้าง ซึ่งทำให้ไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกในระยะยาว" นายสุนทร กล่าว

จาก www.naewna.com  วันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2561

เกษตรกรได้เฮ! นายกฯไฟเขียวตั้งกองทุนสวัสดิการเกษตรกร-กำชับต้องดูแลตลอดชีพ

เกษตรกรได้เฮ! นายกฯไฟเขียวตั้งกองทุนสวัสดิการเกษตรกร-กำชับต้องดูแลตลอดชีพ พร้อมอัดฉีด2หมื่นล้าน จูงใจชาวนาเลิกปลูกข้าวปรับอาชีพ จ่ายไร่ละ 2 พันบาท

นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้นำเสนอแนวทางการตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนสวัสดิการให้เกษตรกร ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรียบร้อยแล้ว เบื้องต้นนายกรัฐมนตรีเห็นด้วย และสั่งการให้ดำเนินการเรื่องสวัสดิการการดูแลเกษตรกร รวมไปจนถึงเรื่องของการเสียชีวิตแล้วมีค่าชดเชย เหมือนการประกอบอาชีพอื่น เพื่อยกระดับอาชีพเกษตรกรรม โดยเกษตรกรทุกสาขาจะต้องมีสวัสดิการดูแล มีเงินจากกองทุนคุ้มครอง เหมือนกับเกษตรกรต่างประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น เป็นต้น ที่มีการให้สวัสดิการแก่เกษตรกรดูแลตลอดชีพจนกระทั่งเสียชีวิต มีเงินเยียวยาเกษตรกรเมื่อเจอปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ อาทิ น้ำท่วม ภัยแล้ง เป็นต้น

สำหรับเงื่อนไขกองทุนฯและรายละเอียดต่างๆจะสามารถสรุปได้ประมาณ 2 เดือนจากนี้ แต่ในเรื่องสวัสดิการเกษตรกร ต้องดำเนินการให้รอบคอบ เพราะ มันไปซ้ำซ้อนกับกองทุนอื่น อาทิ เรื่องบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตร 30 บาท) กฏหมายของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) มีการกำหนดการดูแลสวัสดิการไว้ แต่เป็นเงินจ่ายขาด หากมีการจัดตั้งกองทุนดูแสสวัสดิการเกษตรกร จะต้องนำเกษตรกรชาวสวนยางเข้ามาดูแลด้วย แต่การดำเนินการเรื่องนี้ ต้องเกี่ยวข้องกับกฏหมายหลายอย่าง ต้องดูในข้อกฏหมายในเรื่องงบประมาณในการตั้งกองทุนและงบบริหารว่าขัดต่อพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลังหรือไม่ ต้องดูเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.กองทุนสงเคราะห์เกษตรกร พ.ศ.2554 และ พ.ร.บ.เศรษฐกิจการเกษตร ปี 2522 หรือไม่ต้องนำมาปรับถ้อยคำเพิ่มเติมบางมาตราเพื่อให้คุ้มครองการทำเกษตรกรรม

“ตั้งใจทำเรื่องสวัสดิการเกษตรกรให้เกิดในรัฐบาลนี้ ระหว่างนี้กระทรวงเกษตรฯ กำลังทำหลักการให้ชัดเจน ไม่ให้ขัดกับหลักการขององค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) หรือวินัยทางการคลังที่กำหนดการใช้เงินของภาครัฐไว้ แต่ทุกสาขาอาชีพเกษตรกรต้องมีสวัสดิการดูแลทั้งหมด และได้รับกองทุนคุ้มครอง ซึ่งชาวนาประกอบอาชีพสุจริตมาตลอดชีวิต น่าจะมีสวัสดิการคุ้มครองแล้ว จนวันที่เสียชีวิตต้องได้รับเงินชดเชยเหมือนอาชีพอื่นๆ”

นายกฤษฎากล่าวว่า กระทรวงเกษตรเตรียมงบประมาณ 20,000 ล้านบาท เพื่อปรับเปลี่ยนอาชีพเกษตรกรโดยลดการปลูกข้าว ไปปลูกพืชอื่น อาทิ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พืชตระกูลถั่ว เป็นต้นหากชาวนาสนใจเข้าร่วมโครงการจะต้องไปลงทะเบียนกับ กรมส่งเสริมการเกษตร โดยรัฐบาลจะชดเชยเงินสำหรับการเปลี่ยนอาชีพ 2,000 บาท/ไร่ โดยสามารถลงทะเบียนได้ไม่เกิน 30 ก.ย.นี้ ซึ่งการเปลี่ยนชาวนาให้ไปประกอบอาชีพอื่น เพื่อเป็นการลดปริมาณข้าวที่อาจมีมากเกินความจำเป็นส่งผลให้ราคาตกต่ำ

ทั้งนี้ แผนการดำเนินการปลูกข้าวครบวงจร ปีนี้กำหนดพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ 58 ล้านไร่ ขณะนี้เพิ่งปลูกเพียง 3 ล้านไร่ มั่นใจว่าผลลิตข้าวจะไปตามแผนแน่นอน เพราะปัจุจบันเกษตรกรมีการเรียนรู้แล้วว่า ถ้าปลูกข้าวมาจำนวนมากจะได้ไม่คุ้มเสีย ส่วนพื้นที่ที่เคยปลูกเกินนั้น รัฐมีมาตรการจูงใจในการปรับเปลี่ยนปลูกพืชอื่น

นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า กำลังส่งเสริมชาวนาให้รวมกลุ่มทำนาข้าวแปลงใหญ่ จากเป้าหมายพื้นที่ปลูกทั่วประเทศ 58 ล้านไร่ โดยในปี 2564 จะต้องมีการรวมกลุ่มแปลงใหญ่ 30% หรือ 19 ล้านไร่ อย่างไรก็ตาม 2 ปีที่เริ่มโครงการแปลงใหญ่เกษตรกรสามารถลดต้นทุนในการผลิตไปได้ถึง 20% และเกษตรกรมีความสนใจมาก จึงคาดว่าแปลงใหญ่จะได้ตามเป้าหมายที่วางไว้แน่นอน ส่วนในพื้นที่ภาคอีสาน ปัจจุบันมีแปลงใหญ่ข้าวจำนวนทั้งหมด 1,700 แปลง ซึ่งกรมการข้าวจะคัดแปลงข้าวที่ดีที่สุด 20 แปลง มาเป็นต้นแบบผลิตข้าวระดับพรีเมียม โดยใช้เทคโนลียสมัยใหม่เพิ่มประสิทธิภาพการทำนา

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2561

"นายกฯ"ลั่นแก้ปัญหาพาราควอตในปี 62

"นายกฯ"รับเรื่องแบนสารพิษพาราควอตลั่นแก้ปัญหาให้เสร็จในปี 62  บอกเห็นใจเกษตรกร แต่ให้ความสำคัญกับผู้บริโภค ตลาดโลกด้วย

5 มิถุนายน 2561 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกรณีเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง ยื่นหนังสือ

           โดยขอให้ยกเลิกการใช้วัตถุอันตรายพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสว่า ขอบคุณคณะที่มา ซึ่งคงเดินทางกลับแล้ว โดยตนให้ความสำคัญ และได้ส่งตัวแทนจากสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงสาธารณะสุข และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปรับเรื่อง ชี้แจง และทำความเข้าใจ รับข้อเสนอมาทั้งหมด ตนให้เกียรติทุกคน แต่หากจะให้ตนลงไปพบเองคงลำบาก เพราะจะเยอะ หลายเรื่อง

           วันนี้ข้อสรุปออกมาว่า จะให้เวลาในการเปลี่ยนแปลงภายในปี 62 ว่าจะต้องมีแผนการลดพื้นที่ มีการลดใช้ปริมาณสารเคมี ลดการนำเข้า หรืออาจจะทำได้เร็วกว่านี้ รัฐบาลกำลังดำเนินการต่อไป มีการประชุมร่วมกันตลอดระยะเวลา เพื่อติดตามความก้าวหน้า ก็อย่าไปปลุกกันขึ้นมาอีกเลย 

           นายกฯ กล่าวว่า ตรงนี้รัฐบาลให้ความสำคัญในเรื่องของผู้บริโภคอยู่แล้ว ต้องกลับไปดูตรงต้นทางว่าเกษตรกรว่าอย่างไร ต้องการอะไร มันอยู่ที่ทุกคนเคารพกติกา ควบคุมได้ ป้องกันตนเองได้ ไม่ใช้มากเกินไป ซึ่งมีตัวอย่างอยู่ในหลายประเทศ แต่บ้านเราก็ไม่ได้แล้วในตอนนี้ ซึ่งภายในปี 62 ต้องแก้ปัญหาเหล่านี้ให้ได้

           ขณะเดียวกันขอฝากไปถึงเกษตรกรที่ใช้สารเคมีบ้างในจำนวนที่จำกัด และไม่ใช้สารเคมีเลย ซึ่งกฎหมายมีทุกตัว ต้องไปดูพื้นที่ใดบ้างที่ใช้สารเคมีต้องลดลงเพื่อให้ไปขึ้นมาตรฐานจีเอ็มพีได้ ตนเห็นใจเกษตรกร แต่เราให้ความสำคัญกับผู้บริโภคเป็นหลัก รวมถึงในตลาดโลกด้วย เรื่องผัก ผลไม้ เหล่านี้ต้องระมัดระวัง เกษตรกรเองก็ต้องปรับตัว ทั้งนี้การประชุมร่วมกันก็ขอให้เอาภาคผู้ใช้ ภาคเกษตรกรมาหาทางออกด้วย

จาก  www.komchadluek.net    วันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2561

รง.น้ำตาลแนะใช้”ม.44 ปลดล็อกชดเชยราคาอ้อย

โรงงานน้ำตาลห่วงพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายฉบับใหม่รอคลอด แบกภาระส่วนต่างราคาอ้อยขั้นปลายสูงกว่าราคาอ้อยขั้นต้นกว่า 1.35 หมื่นล้าน แนะรัฐพิจารณาใช้อำนาจ ม. 44 หาช่องกฎหมายนำเงินจ่ายชดเชยให้โรงงานแก้ปัญหาเฉพาะหน้าชี้ไม่ขัดหลักการค้า”ดับเบิลยูทีโอ”

นายสิริวุทธิ์  เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการ บริษัทไทยชูการ์มิลเลอร์ จำกัด (ทีเอสเอ็มซี) เปิดเผยว่าหลังจากที่โรงงานน้ำตาลขายน้ำตาลหมดแล้วคำนวณเป็นราคาอ้อยขั้นปลายอยู่ที่ 780 บาทต่อตัน ต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้นที่ตั้งไว้ 880 บาทต่อตัน ทำให้มีส่วนต่าง 100 บาทต่อตัน ซึ่งเมื่อคูณกับปริมาณอ้อยทั้งหมด 134.87 ล้านตัน ทำให้โรงงานชดเชยไปทั้งหมด 1.38 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นภาระที่โรงงานน้ำตาลจ่ายให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยไปก่อนหน้านี้แล้ว ในอดีตที่ผ่านมาหากราคาอ้อยขั้นต่ำสูงกว่าราคาอ้อยขั้นปลาย รัฐบาลจะให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายกู้เงินจากสถาบันการเงินของรัฐ มาชดเชยให้กับโรงงานน้ำตาล

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่บราซิลฟ้องร้องต่อองค์การการค้าโลก(ดับเบิลยูทีโอ) กล่าวหาว่ารัฐบาลไทยเข้ามาอุดหนุนราคาน้ำตาล ทำให้รัฐบาลต้องออกกฎหมาย ม.44 ประกาศลอยตัวราคาน้ำตาลทราย และอยู่ระหว่างการออก พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายฉบับใหม่ที่ภาครัฐจะไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการบริหารงานน้ำตาลทราย และเลิกอุดหนุนทุกประเภท เพื่อให้ไม่ขัดต่อข้อกำหนดของดับเบิลยูทีโอ

ทั้งนี้กระบวนการอออกพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ฉบับใหม่ ยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งยังมีความขัดแย้งอยู่หลายประเด็น ทำให้คาดว่าจะไม่สามารถมีผลบังคับใช้ได้ทันในช่วงเดือนต.ค.2561 ที่โรงงานอ้อยจะต้องนำเงินไปซื้ออ้อยจากเกษตรกรในช่วงเปิดหีบอ้อยเดือนพ.ย.2561 ทำให้ต้องใช้กฎหมายเดิมมาดำเนินการ

โดยรัฐจะต้องสั่งการให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายไปกู้เงินจากสถาบันการเงินรัฐมาให้กับโรงงาน ซึ่งหากไทยทำตามกฎหมายเดิมแล้ว ก็จะผิดหลักการของดับเบิลยูทีโอ ซึ่งเชื่อว่าบราซิล และประเทศอื่นๆ จะไม่ยอมแน่ และจะฟ้องร้องกับดับเบิลยูทีโออย่างแน่นอน

ดังนั้น มองว่า รัฐบาลควรออกม.44 ที่กำหนดอย่างชัดเจนว่าเงินส่วนต่างที่โรงงานออกไปให้ชาวไร่อ้อยจำนวน 1.35 หมื่นล้านบาท จะเก็บจากส่วนไหนมาชดเชยให้โรงงานโดยไม่ขัดต่อหลักการของดับเบิลยูทีโอ

จาก www.bangkokbiznews.com วันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2561

สั่ง38หน่วยงานบูรณาการเน้นบริหารจัดการน้ำยั่งยืน

นายกฯสั่ง 38 หน่วยงานบูรณาการบริหารจัดการน้ำ เน้นความยั่งยืนสทนช. คาดปริมาณน้ำฝนปีนี้ น้อยกว่าปกติ 5-10 % แต่น้ำต้นทุนสำหรับทำเกษตรเพิ่มขึ้นกว่า 1 หมื่นล้านลบ.ม. จับตาพายุเข้าไทย 2 ลูก ช่วง ส.ค.-ก.ย.นี้

วานนี้ (4 มิ.ย.) พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่างการเป็นประธานเปิดการเสวนาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศไทย โดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ร่วมกับ 38 หน่วยงานว่า ขณะนี้แม้จะมีหน่วยงานหลักคือสทนช.ขึ้นมาดูแลการบริหารจัดการน้ำของประเทศแล้ว แต่ในภาพรวมจะได้ผล หน่วยงานต่างๆ จะต้องทำงานร่วมกันอย่างมีเอกภาพ และมีความร่วมมือกันในทุกภาคส่วนสอดคล้องกันในทุกมิติอย่างสมดุลและยั่งยืน

โดยรัฐบาลมีแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบ ตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ ทั้งการบริหารจัดการน้ำบนดินและน้ำใต้ดิน เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วม น้ำเสีย การขาดแคลนน้ำ รวมทั้งการรักษาระบบนิเวศ การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ตลอดจนการเชื่อมโยงโครงข่ายลุ่มน้ำอย่างเป็นระบบ

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์  เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝนปี 2561 คาดว่า จะมีค่าฝนเฉลี่ยน้อยกว่าปกติ 5 -10 %  ซึ่งน้อยกว่าปี 2560 โดยอาจจะเกิดฝนทิ้งช่วงในเดือนมิ.ย.2561 และจะมีโอกาสเกิดพายุเข้าไทยจำนวน 1-2 ลูก ในช่วงเดือนส.ค. – ก.ย.2561 และจะมีโอกาสมีการวางแผนจัดสรรน้ำเพื่อใช้ในทุกภาคส่วน รวม 88,771 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)

ทั้งนี้หลังสิ้นฤดูฝนคาดว่า จะมีน้ำต้นทุนสำหรับพื้นที่การเกษตรฤดูแล้งปี 2561/62 ประมาณ 60,064 ล้านลบ.ม.มากกว่าปี 2560 จำนวน 10,910 ล้านลบ.ม.

จาก www.bangkokbiznews.com วันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ผลักดันศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน 882แห่งทั่วปท.ให้บริการข้อมูลครบวงจร

นางชัญญา ทิพานุกะ ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมการจัดการดินปุ๋ย กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตรมุ่งยกระดับความรู้เรื่องการจัดการดินและปุ๋ยที่ถูกต้องให้แก่เกษตรกร ผ่านการจัดกระบวนการเรียนรู้ ณ ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน ซึ่งกระจายอยู่ทุกอำเภอ อำเภอละ 1 ศูนย์ รวม 882 ศูนย์ มีเกษตรกรสมาชิกอย่างน้อย 17,640 รายทั่วประเทศเพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรมีการจัดการดินและการใช้ปุ๋ยอย่างถูกต้องเหมาะสม สามารถลดต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะค่าปุ๋ยเคมี ซึ่งนับเป็นปัจจัยการผลิตที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนของเกษตรกรมากที่สุด

ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน หรือ ศดปช. มีบทบาทสำคัญเป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้เรื่องการจัดการดินและปุ๋ยที่ถูกต้องให้กับเกษตรกรในชุมชนผ่านการจัดกระบวนการเรียนรู้และแปลงเรียนรู้ ให้บริการตรวจวิเคราะห์ดิน และให้คำแนะนำการจัดการดินและปุ๋ยเบื้องต้น ทำให้เกษตรกรที่มารับบริการทราบว่าปริมาณธาตุอาหารหลักในดินของพื้นที่ตนเองนั้นมีมากน้อยแค่ไหน ควรจะต้องใส่ปุ๋ยอย่างไรให้เหมาะสมกับความอุดมสมบูรณ์ของดินและความต้องการของพืช ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ยเคมี ยังช่วยเพิ่มปริมาณและคุณภาพผลผลิต การใช้ปุ๋ยในปริมาณที่เหมาะสมทำให้ต้นพืชแข็งแรง ไม่อ่อนแอต่อการเข้าทำลายของโรคและแมลง ทำให้ลดการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ที่ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมและตัวของเกษตรกร

การใช้ปุ๋ยเคมีตามค่าวิเคราะห์ดินหรือปุ๋ยสั่งตัด ช่วยให้เกษตรกรสมาชิก ศดปช. ลดต้นทุนการผลิตอันเนื่องจากปุ๋ยเคมี คิดเป็นค่าเฉลี่ย 27% มูลค่าถึง 43 ล้านบาท และสามารถเพิ่มผลผลิตได้เฉลี่ยไม่น้อยกว่า 10% และนอกจากการใช้ปุ๋ยเคมีอย่างเหมาะสมเพื่อลดต้นทุนการผลิตแล้ว กรมส่งเสริมการเกษตรยังส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพด้วย ซึ่งผลจากการใช้ปุ๋ยเคมีตามค่าวิเคราะห์ดินหรือปุ๋ยสั่งตัด ร่วมกับปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์ ในข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อย และมันสำปะหลัง สามารถช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนลงได้อีก คิดเป็นต้นทุนที่ลดลงเฉลี่ย 43% นอกจากนี้ ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนจำนวนหนึ่ง ยังสามารถยกระดับพัฒนาต่อยอดเป็นแหล่งรวบรวมและจัดหาปุ๋ยเคมี รวมทั้งแม่ปุ๋ยที่นำมาใช้ผสมให้ได้สูตรปุ๋ยตามคำแนะนำตามค่าวิเคราะห์ดินมาบริการให้กับสมาชิก เกิดเป็นธุรกิจชุมชนที่สร้างรายได้ให้กับคนในท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืน อีกทางหนึ่ง” ผอ.ชัญญา กล่าว

จาก www.naewna.com วันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2561

เท 2 อุตสาหกรรมใน "ทวาย"

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยหลังการประชุมร่วมกับคณะผู้แทนจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่นประจำประเทศไทย (ไจก้า) ว่า ไจก้ามานำเสนอผลการศึกษาเพิ่มเติมการจัดทำแผนแม่บทโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือน้ำลึกทวาย ประเทศเมียนมา ซึ่งเป็นความร่วมมือ 3 ฝ่าย ระหว่างไทย ญี่ปุ่น เมียนมา ซึ่งผลการศึกษาได้มีข้อเสนอที่แตกต่างจากแผนแม่บทของ 2 ฝ่าย ระหว่างไทยกับเมียนมาหลายประเด็น คือ 1.ประเภทของอุตสาหกรรมที่จะส่งเสริมให้เกิดขึ้นในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย โดยญี่ปุ่นเห็นว่าไม่มีความจำเป็นที่ต้องส่งเสริมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ หรืออุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง แต่ควรส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงาน เช่น การผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ เพื่อให้เกิดการจ้างงานที่ไม่ต้องใช้ทักษะขั้นสูงมากนัก ให้เป็นประโยชน์ต่อเมียนมาโดยตรง

2.ระยะการพัฒนาตามแผนแม่บท ญี่ปุ่นเสนอให้มีการขยายเวลาการพัฒนาตามแผนแม่บทออกไปอีก เพื่อให้เกิดความพร้อมเรื่องของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้เรียบร้อยก่อนเพื่อให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจและกล้าที่จะเข้ามาลงทุน โดยจะจัดทำเป็น 3 ระยะ โดยระยะที่ 1 ปี 2573 ระยะที่ 2 ปี 2583 ระยะที่ 3 ปี 2593

“ล่าสุด ญี่ปุ่นและไทยเห็นร่วมกันแล้วว่าให้ถอนอุตสาหกรรมหนักออกไปจากทวาย คือ ปิโตรเคมี และเหล็กต้นน้ำ และหันไปส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานแทน เพื่อเอื้อประโยชน์กับเมียนมา

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2561

วงเสวนาบริหารจัดการน้ำ ย้ำตั้งสทนช.บูรณาการ-กำหนดยุทธศาสตร์

ที่ทำเนียบรัฐบาล สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) จัดเสวนาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ โดยมีนายสมเกียรติ ประจําวงษ์ เลขาธิการ สทนช. นายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา นายทองเปลว ทองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย และพล.ท.ณัฏฐพัชร สกุลรังสฤษฏ์  เสนาธิการ หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย โดยนายสมเกียรติ กล่าวว่า ประเทศไทยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านน้ำกว่า 38 หน่วย แต่มีปัญหาคือบางหน่วยทำงานไม่มีประสิทธิภาพ และทำงานซ้ำซ้อน  ซึ่งสทนช.ตั้งขึ้นมาเพื่อบูรณาการและกำหนดยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำ ให้แต่ละหน่วงงานทำงานได้อย่างเต็มที่ มีประสิทธิภาพ เช่น เมื่อเกิดพายุ สทนช.จะแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือ จากนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมาตัดสินใจร่วมกันในการบริหารจัดการ ข่าวสารต่างๆ โดยจะต้องนำมากลั่นกรองก่อน จึงจะเผยแพร่ข่าวสารประชาชน สำหรับแผนงานในปีนี้ 1.คาดการณ์สถานการณ์น้ำ 2.ป้องกันพื้นที่น้ำซ้ำซาก 3.ตรวจสอบอ้างกักเก็บน้ำ 4.กำหนดขั้นตอนการแก้ไขปัญหา และ 5.ประเมินผล

ด้านนายทองเปลว กล่าวว่า ภายหลังการตั้ง สทนช. ได้มีการแบ่งงานอย่างชัดเจนมากขึ้น 1.พื้นที่ความรับผิดชอบ โดยกรมชลประทานรับผิดชอบในพื้นที่เขตชลประทาน 2.ลักษณะงานความรับผิดชอบ 3.ทรัพยากรความรับผิดชอบ เช่น เครื่องมือ และ 4.วิธีจัดการปัญหา เป็นการดำเนินงานคล้ายการแก้ไขวิกฤตน้ำในห้วงที่ผ่านมา

ขณะเดียวกันนายวันชัย กล่าวว่า จากนี้เมื่อเราได้ข้อมูลมาว่าจะมีพายุเข้ามา ก็ต้องประสานหน่วยงานที่เกี่ยวของก่อน เช่น สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (จีสด้า) และสทนช. เป็นต้น นำข้อมูลเบื้องต้นมาวิเคราะห์ ก่อนที่จะประกาศว่าเกิดพายุ แต่ยืนยันว่ากรมอุตุฯยังมีหน้าที่เหมือนเดิมในการประกาศหากพายุลูกใหญ่ๆเข้ามา นอกจากนี้ ปัญหาตอนนี้คือสื่อโซเชียลมีเดียปล่อยข้อมูลเรื่องพายุเข้าให้ประชาชนเตรียมเทียน เตรียมมีด และปืน ซึ่งเป็นการให้ข้อมูลที่ผิดพลาด ซึ่งการทำงานร่วมกันจะป้องกันข้อมูลที่สับสนให้น้อยลง ในเรื่องการพยากรณ์อากาศ

ขณะที่พล.ท.ณัฏฐพัชร  กล่าวว่า กองทัพมีศูนย์บรรเทาสาธารณภัยของกระทรวงกลาโหม มีการแบ่งความรับผิดชอบทุกอำเภอทั่วประเทศ กองทัพเตรียมพร้อมตลอดเวลาเพื่อรับมืออุทกภัย เป็นหน่วยเสริม โดยทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชน

จาก www.naewna.com   วันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ม็อบเกษตรบุกทำเนียบร้องนายกฯแบนพาราควอตพรุ่งนี้

ม็อบเกษตรสวนยาง ขนเกษตรกร 500 คน ร่วมต้านพาราควอต-คลอร์ไพริฟอส ยื่น บิ๊กตู่ -กฤษฏา ทบทวนมติไม่แบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง                   

เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. นายสุนทร รักษ์รงค์ นายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยางพารา16 จังหวัดภาคใต้ เปิดเผยว่า ในวันที่5 มิ.ย. จะเดินทางไปทำเนียบรัฐบาล พร้อมด้วยม็อบเกษตรกรกว่า 500 คน ร่วมกับเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง 369 องค์กร เพื่อยื่นหนังสือขอให้นายกรัฐมนตรีและนายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ทบทวนมติบอร์ดคณะกรรมการวัถตุมีพิษอันตราย ไม่แบนการใช้สารพาราวควอต และสารคลอร์ไพริฟอส

จาก https://www.dailynews.co.th    วันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ก.เกษตรฯ ตั้งเป้าไทยมหาอำนาจทางการเกษตร

กระทรวงเกษตรฯ มุ่งขับเคลื่อนภาคเกษตรไทยด้วยนวัตกรรม หวังสร้างมูลค่าเพิ่มและศักยภาพการแข่งขัน ขึ้นแท่นมหาอำนาจทางการเกษตรโลก

นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดงานประชุมวิชาการกรมวิชาการเกษตร ประจำปี 2561 หัวข้อ “เกษตรก้าวไกลด้วยนวัตกรรม สู่ตลาดนำการผลิต” กล่าวว่า ภาคเกษตรเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมานาน ทำให้เกิดการจ้างงานระดับท้องถิ่น แต่ยังต้องเผชิญกับความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมและรายได้เมื่อเทียบกับภาคธุรกิจอื่น ๆ และการติดกับดักประเทศรายได้ปานกลางมายาวนานมาก ขณะที่ความท้าทายของภาคเกษตรกรไทย คือ การเพิ่มความสามารถการแข่งขันภาคเกษตรไทย การขาดแคลนแรงงาน เพราะภาคเกษตรไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แล้ว และภาวะโลกร้อนส่งผลให้เกิดภัยพิบัติต่าง ๆ สภาพอากาศแปรปรวนกระทบการเพาะปลูกของเกษตรกร

ทั้งนี้ ภาคเกษตรไทยยังเป็นความหวังของสังคมไทย โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะมุ่งขับเคลื่อนภาคเกษตรตามยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 - 2579) ตั้งเป้าเป็นมหาอำนาจทางการเกษตร โดยมุ่งเน้นให้คนในภาคเกษตรกรที่มีกว่า 25 ล้านคน  มีรายได้สูงและอยู่ได้อย่างยั่งยืน ซึ่งไทยเป็นผู้เล่นสำคัญด้านการผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรในเวทีโลกด้วยพื้นฐานทางพืชเกษตรเขตร้อนและข้อได้เปรียบด้านความหลากหลายทางชีวภาพที่สามารถพัฒนาต่อยอดโครงสร้างธุรกิจการเกษตรด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่ม เน้นเกษตรคุณภาพสูง และขับเคลื่อนการเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้ความสำคัญกับการเพิ่มผลิตภาพการผลิตทั้งในเชิงปริมาณและมูลค่า และความหลากหลายของสินค้าเกษตรเพื่อรักษาฐานรายได้เดิมและสร้างฐานอนาคตใหม่ที่สร้างรายได้สูง ทั้งเกษตรปลอดภัยที่ควบคุมป้องกันอันตรายจากฟาร์มถึงโต๊ะอาหาร  เกษตรชีวภาพ ซึ่งไทยมีศักยภาพที่จะเป็นผู้นำผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรระดับโลก เกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น เพื่อส่งเสริมการนำอัตลักษณ์พื้นถิ่นและภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ในการผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์เกษตรที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เกษตรอัจฉริยะที่นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการพัฒนาเป็นฟาร์มอัจฉริยะที่ใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการแปรรูปสินค้าเกษตรขั้นสูง ปรับใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมการส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรพรีเมี่ยมสู่ตลาดโลก นอกจากนี้ ภาคเกษตรจะสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยนวัตกรรม สะอาด ปลอดภัย ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ส่วนงานวิจัย คือ กลไกสำคัญของการพัฒนาการเกษตรของประเทศให้ก้าวหน้า  โดยเกษตรกรสามารถนำความก้าวหน้าของเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและผลผลิตมีคุณภาพที่ดีขึ้น โดยงานประชุมวิชาการ กรมวิชาการเกษตร ประจำปี 2561 “เกษตรก้าวไกลด้วยนวัตกรรม สู่ตลาดนำการผลิต” เปิดเวทีให้นักวิจัยกรมวิชาการเกษตรทั่วประเทศกว่า 800 คน แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์เพื่อใช้เป็นแนวทางการดำเนินงานวิจัยในอนาคต นอกจากนี้ ยังมีการมอบรางวัลผลงานวิจัยดีเด่น 13 ผลงาน และมอบรางวัลให้แก่เกษตรกรดีเด่นสาขาการใช้วิชาการเกษตรที่ดีเหมาะสม (GAP) ประจำปี และเกษตรกรดีเด่นสาขาการปลิตพืชอินทรีย์ดีเด่น รวมทั้งผู้ประกอบการโรงงานแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรดีเด่นสาขาระบบการผลิตตามหลักปฏิบัติที่ดี (GMP) และระบบวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤติที่ต้องควบคุม (HACCP) ด้วย.

จาก www.tnamcot.com  วันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2561

สอน.ของบตั้งศูนย์อุตฯชีวภาพ ช่วยเอสเอ็มอีกลุ่มอ้อย-น้ำตาลทราย

นายวิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ รองเลขาธิการ คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) อยู่ระหว่างจัดตั้งกองอุตสาหกรรมชีวภาพ เพื่อรองรับการจัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมชีวภาพ ที่ จ.ชลบุรี โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในอุตสาหกรรมเกี่ยวข้องและโรงงานน้ำตาลทรายขนาดกลางในการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายตลอดจนผลพลอยได้ที่เกี่ยวข้อง

“เบื้องต้น สอน.ได้ของบประมาณในการก่อสร้างศูนย์ฯ รวมทั้งสิ้น 75 ล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณในการก่อสร้างอาคาร 45 ล้านบาท งบประมาณในการซื้อเครื่องมือ 30 ล้านบาท โดยคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2562 และเปิดดำเนินการได้ในปี 2563 โดยภายในศูนย์จะมีห้องปฏิบัติการ ห้องทดลอง เป็นต้น” นายวิฤทธิ์กล่าว

รายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม แจ้งว่า ไม่มั่นใจว่าแผนพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (ไบโออีโคโนมี) ที่ขยายจากเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ไปยังพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง คือ จ.นครสวรรค์ และกำแพงเพชร และภาคอีสานตอนกลาง จ.ขอนแก่น จะสามารถเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้ภายในเดือนมิถุนายนนี้หรือไม่ หลังเลื่อนมาตั้งแต่ปลายปี 2559 เนื่องจากผู้รับผิดชอบรายละเอียดคือคณะกรรมการพัฒนาคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต(ดี 5) ซึ่งมีภาคเอกชนร่วมทำงานอยู่ด้วย โดยล่าสุดทราบว่าขั้นตอนที่ยังไม่เสร็จ คือการทำวีดีโอ พรีเซ็นเทชั่น ที่กระชับและเข้าใจง่าย เพื่อเสนอในที่ประชุมครม.อนุมัติ

สำหรับแผนดังกล่าวจะมี การลงทุนจากภาคเอกชนแบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะแรกปี 2560-64 และระยะที่ 2 ช่วงปี 2565-69 อย่างไรก็ตามการพัฒนาโครงการดังกล่าวไม่จำเป็นต้องประกาศเป็นพื้นที่ส่งเสริมพิเศษ โดยสามารถใช้สิทธิประโยชน์ การลงทุนตามประเภทกิจการที่สำนักงานส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ดำเนินการอยู่ได้ทันที เน้นต่อยอดมูลค่าสินค้าเกษตรในพื้นที่ อาทิ อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์ม ที่จะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าเกษตรของไทย

โดยแผนทั้งหมด 10 ปีนี้จะทำให้ผลผลิตของเกษตรกรโต 10% รายได้เกษตรกรเพิ่มเป็น 8.5 หมื่นบาทต่อปีต่อคน การจ้างงานเพิ่มขึ้นกว่า 8 แสนครัวเรือน และจะเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรได้อีก 4 แสนล้านบาทต่อปี ขณะที่เม็ดเงินการลงทุนในอุตฯ ไบโอชีวภาพรวมกับการลงทุนพื้นที่ อีอีซีปี 2560-64 อยู่ที่ประมาณ 1.3 แสนล้านบาท ปี 2565-69 เม็ดเงินลงทุน 6.8 หมื่นล้านบาท

จาก www.naewna.com วันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2561

กรมชลฯได้ฤกษ์ KICK OFF ไทยนิยมยั่งยืนหนุนนโยบายรัฐแก้ปัญหาน้ำทุกพื้นที่

 เมื่อเร็วๆนี้ ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม kick off โครงการไทยนิยม ยั่งยืน ณ วัดตาล ตำบลบางตะไนย์  อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี  ทั้งนี้นายเอกกร อนุวัตรนิติการปลัดอำเภอปากเกร็ด  นายพงศ์ศักดิ์ อรุณวิจิตรสกุล ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่11 และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ          

รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศด้วยการบรูณาการภาคส่วนต่างๆทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่สำคัญภาคประชาชน ตำบลบางตะไนย์มีพื้นที่ประมาณ 4.3 ตารางกี่โลเมตรประมาณ 2800 ไร่แบ่งเขตการปกครองประมาณ 5 หมู่บ้าน มีวัดทั้งสิ้น 4 วัด ชาวบางตะไนย์มีวิถีชีวิตที่อยู่ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา มีคลองสายหลักคือคลองบางตะไนย์ซึ่งแบ่งเขตการปกครองระหว่างจังหวัดนนทบุรีและจังหวัดปทุมธานีเพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือในเรื่องของน้ำ          

สำหรับการดำเนินโครงการไทยนิยม ยั่งยืนเป็นนโยบายที่สำคัญของรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาในด้านต่างๆโดยครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ บูรณาการขับเคลื่อนงานของหน่วยงานต่างๆตามแนวทางประชารัฐ โดยในส่วนของกรมชลประทาน ตามที่หมอบหมายให้สำนักงานชลประทานต่างๆ จะมี 4โครงการ ได้แก่ 1.คนไทยไม่ทิ้งกัน 2.ชุมชนน่าอยู่ 3.รู้กลไกการบริหารราชการ 4.งานตามภารกิจของส่วนราชการและหน่วยงาน ซึ่งในส่วนของสำนักงานชลประทานที่ 11 มีโครงการดำเนินงานที่เกี่ยวกับการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน 3 โครงการได้แก่

1.โครงการจ้างแรงงานชลประทานสร้างรายได้แก่เกษตรกรใน 7 จังหวัด จำนวน 12 แผนงาน แรงงานที่จ้างตามแผนงาน 508 คน

2.โครงการพัฒนา แหล่งน้ำสนับสนุนโครงการอันเนื่องมาจากพระราบดำริ ใน 2 จังหวัด จำนวน 3 แผนงาน แรงงานที่จ้างตามแผนงาน 75 คน          

3.โครงการพัฒนา ฟื้นฟูแหล่งน้ำชลประทาน เพื่อปิ้งกันและบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้ง ใน 7 จังหวัด จำนวน 113 แผนงานตามยุทธศาสตร์กลไกการบริหารราชการ จำนวน 1228 คนรวมแผนงานทั้ง 3 โครงการ จำนวน 128 แผนงาน แรงงานที่จ้างตามแผนงาน 1,811 คน

การจัดกิจกรรม มีหัวหน้าหน่วยงานราชการในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอำเภอปากเกร็ด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานความมั่นคง เกษตรกรผู้ใช้น้ำ และเจ้าหน้าที่ของสำนักงานชลประทานที่ 11 ผู้แทนของเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี ภาคประชาชน ร่วมในงาน ณ บริเวณวัดตาล ตำบลบางตะไนย์ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ในวันนี้ 150 ท่าน และในวันนี้สำนักงานชลประทานที่ 11 ได้จัดบอร์ดนิทรรศการเกี่ยวกับโครงการไทยนิยม ยั่งยืน เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์โครงการ รวมถึงได้เปิดรับสมัครการจ้างแรงงานโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ตามหลักเกณฑ์ เน้นการจ้างงานจริง โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ

และนอกจากได้จัดกิจกรรม kick off โครงการไทยนิยม ยั่งยืน แล้ว  สำนักงานชลประทานที่ 11 สำนักเครื่องจักรกล ได้ร่วมกับอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี และองค์การบริหารส่วนตำบลบางตะไนย์ และเกษตรกรผู้ใช้น้ำในเขตจังหวัดนนทบุรี ร่วมกันกำจัดผักตบชวาและวัชพืช ทางน้ำสาธารณะ คลองบางตะไนย์ ซึ่งเป็นนโยบายที่สำคัญอีกประการของรัฐบาล ได้มอบหมายให้จังหวัด หน่วยงานต่างๆ ท้องถิ่น และภาคประชาชนช่วยกันดูแล เพื่อมิให้เป็นอุปสรรคกีดขวางการระบายน้ำ ส่งผลกระทบความเดือดร้อนต่อประชาชน           

“ส่วนที่ต้องขอความร่วมมือจากองค์การบริหารตำบลส่วนท้องถื่น จังหวัดนนทบุรี มีลำน้ำเยอะมาก  และมีน้ำมากเช่นกันจึงต้องมีการจัดการกับน้ำต่างๆเมื่อมีน้ำหลาก หากเมื่อใดที่น้ำเกิดเหตุขัดข้องต่างๆสามารถโทรแจ้งให้กับกรมเพื่อให้ส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบและในเรื่องของสิ่งกีดขวางทางน้ำไม่ว่าจะเป็นเศษขยะ หากท่านใดพบเหตุก็เก็บขึ้นมาอย่าให้ลงไปในแม่น้ำ และที่สำคัญคือผักตบชวาเป็นปัญหาที่สำคัญมาก ให้ช่วยกันเก็บคนละนิดหากพบเห็นก็ช่วยกันเก็บ ขอให้ทุกภาคส่วนช่วยกันร่วมแรงร่วมใจร่วมพัฒนาเพื่อประโยชน์สุขของพี่น้องประชาชน เพื่อความมั่งคั่ง มั่นคง ยั่งยืนของประเทศ”  รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าวในที่สุด

จาก www.banmuang.co.th  วันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ห้ามพลาด! "E-Commerce Big Bang : วิถีการค้าไทย ... สู่วิถีออนไลน์" สร้างโอกาสคนตัวเล็กก้าวไปแข่งขันในตลาดโลก

เมื่อโลกพลิกผันเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ถึงเวลาแล้วที่คนไทย ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร หรือ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จะต้องคว้าชัยชนะ และฝ่าทุกความท้าทาย เปลี่ยนวิถีการค้าแบบดั้งเดิมสู่ยุค 4.0

กระทรวงพาณิชย์พร้อมแล้ว ที่จะพาคนไทย ไม่ว่าจะเป็นคนตัวเล็กหรือคนตัวใหญ่ก้าวไปแข่งขันในตลาดโลก ด้วยแพลตฟอร์มของคนไทย 'THAITRADE.COM' ผ่านการจัดงาน "E-Commerce Big Bang : วิถีการค้าไทย...สู่วิถีออนไลน์" ออนไลน์ ในวันที่ 7 มิถุนายนนี้ เวลา 09.30-16.30 น. ณ ห้องประชุมบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ และในวันเดียวกัน ยังจัดงานสัมนาครั้งใหญ่ "E-Commerce Big Bang มิติใหม่ Thaitrade.com for All" เปลี่ยนธุรกิจไทยสู่โลก เพื่อเสริมเขี้ยวเล็บให้กับเอสเอ็มอีในการก้าวสู่โลกออนไลน์ แม้แต่คนไทยตัวเล็ก ๆ ก็มีสิทธิก้าวขึ้นเวทีโลกได้อย่างง่ายดาย โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญมาเป็นวิทยากรให้ความรู้ ผู้เข้าร่วมงานได้ฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพียงแค่ลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ที่ https://goo.gl/UZuzoM

โลกวันนี้กำลังก้าวเข้าสู่ "โลกยุคใหม่" เทคโนโลยีเป็นตัวเร่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด ทุกอย่างรวดเร็วขึ้นและมีประสิทธิภาพสูงกว่าเดิมหลายเท่าตัว โครงสร้างทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม หรือแม้แต่ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลก็จะเปลี่ยนแปลงไป รวมถึงกระบวนการผลิตสินค้าและบริการ การดำเนินธุรกิจ (Business Model) พฤติกรรมผู้บริโภค ความต้องการของลูกค้า ตลาดแรงงาน วิธีการทำการตลาด หรือ การทำธุรกรรมทางการเงินด้วย การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยียุคนี้ ยังได้เชื่อมโยงส่วนต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ส่งผลให้เส้นแบ่งระหว่างผลิตภัณฑ์หรือการบริการต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศ ที่คนในวงกว้างจะสามารถได้รับประโยชน์ได้ ตรงกันข้าม หากใครไม่ยอมเปลี่ยนแปลงก็จะอยู่ได้ยากขึ้น

กระทรวงพาณิชย์ หวังจะสร้างความร่วมมือกันทุกภาคส่วน ร่วมตอกย้ำถึงพลังเครือข่ายประชารัฐที่ช่วยกันขับเคลื่อนและยกระดับผู้ประกอบการคนไทยในทุกระดับเพื่อก้าวสู่ยุค 4.0 ได้อย่างราบรื่น ทั้งเป็นการเปิดพื้นที่ให้กับเอสเอ็มอีได้มีโอกาสรู้จักซึ่งกันและกันได้สร้างเครือข่าย และแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จมาช่วยถ่ายทอดแนวคิดและเคล็ดลับ อีกทั้งผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ต้องการพัฒนาตนเองจะมีโอกาสได้เรียนรู้ ทำความเข้าใจแนวทาง กลไกในการยกระดับ การปรับเปลี่ยนธุรกิจ สู่การเป็นสู่การค้าออนไลน์ระดับโลก รวมไปถึงเกษตรกรที่ต้องการเปลี่ยนตัวเองสู่นักธุรกิจเกษตร , ผู้ประกอบการโอท็อป และสตาร์ทอัพ อีกด้วย

คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า งาน "E-Commerce Big Bang : วิถีการค้าไทย...สู่วิถีออนไลน์" หวังให้คนไทยได้ตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลง และมองเห็นโอกาสซึ่งเป็นการสนับสนุนของภาครัฐ ซึ่งต้องเรียกว่าครบถ้วน เพื่อมอบให้ผู้ประกอบการทุกระดับ ตั้งแต่เพิ่งเริ่มต้นจนกระทั่งเติบโตระยะหนึ่ง ให้มีโอกาสเข้าถึงเครื่องมือและเทคโนโลยี พร้อมกับช่วยปูช่องทางการตลาดสมัยใหม่ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเติบโตเพื่อก้าวไปแข่งขันในตลาดโลกได้

โดยภายในงานจะมีกิจกรรมที่น่าสนใจตลอดทั้งวัน ดังนี้

ในช่วงเช้า นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงความสำคัญและวัตถุประสงค์ของการจัดงานในครั้งนี้ว่า คนไทยจะได้อะไร? พร้อมวีดิทัศน์ ประวัติความเป็นมาของ www.Thaitrade.com

จากนั้น ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดโครงการพร้อมปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "เปลี่ยนธุรกิจไทยสู่โลกออนไลน์"

ในช่วงบ่าย จะมีการเสวนาในหัวข้อ "ทิศทาง E-Commerce ของประเทศไทย" โดยมี นายพรวิช ศิลาอ่อน ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ , นางอารดา เฟื่องทอง ผู้อำนวยการสำนักพาณิชย์ตลาดดิจิทัล , ดร.ณพพงศ์ ธีระวร ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และนายเกียรติชัย พิตรปรีชา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดีเอชแอล อีคอมเมิร์ซ ประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร่วมเสวนา

จากนั้นจะพบกับอีกหนึ่งวงเสวนาระดับโลกในหัวข้อ "การเพิ่มช่องทางการขายสินค้าไทยโดย Platform เด็ดระดับโลก" โดยมี Mr.Jason Lee "e-Bay  Managing Director" e-Bay Southeast Asia and Israel , Ms.Agatha  Soh , "Head of Marketing" at Shopee Thailand และ Mr.Jeon Hong Cheol (Charlie Jeon) "Chief Executive of 11street (Thailand)" ร่วมแบ่งปันประสบการณ์การค้าระดับโลกยุคใหม่

จากนั้นจะนำเข้าสู่ช่วงเสวนาในหัวข้อ "Success Case : E-commerce ทั้งไทยและต่างประเทศทำอย่างไรให้สำเร็จ" โดยนายรวิศ หาญอุตสาหะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด , นางสาววิริยา พรทวีวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เชียงใหม่ไบโอเวกกี้ จำกัด และนางสาวระวิวรรณ  จันทร์เนตร ผู้ก่อตั้งและออกแบบ Lunar Queen Scarf มาถ่ายทอดประสบการณ์

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีบูธผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจผ่าน Thaitrade.com ที่ประสบความสำเร็จมาจัดแสดง เพื่อแลกเปลี่ยนและแบ่งปันกลยุทธและวิทีคิดในการประกอบธุรกิจบน Thaitrade.com อย่างไรให้รวยได้ ให้กับผู้ที่เข้าร่วมงาน และยัง Thaitrade.com ที่จะยกทัพศูนย์ปฏิบัติการมาให้คนไทยได้ชมและได้เห็นถึงศักยภาพ Thaitrade.com ของกระทรวงพาณิชย์ ว่า มีความพร้อมแล้วที่จะเปิดโอกาสนำผู้ประกอบการคนไทยทุกระดับสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ มากไปกว่านี้ ภายในงานยังมีบูธพันธมิตรด้าน E -Commerce กว่า 20 คูหา ที่พร้อมช่วยผู้ประกอบการค้าขายออนไลน์อย่างเต็มที่ เพื่อเป็นเครื่องมือที่จะช่วยปรับเปลี่ยน และยกระดับเอสเอ็มอีสู่สากล

พิเศษสุด!! ภายในงานสามารถรับ Code ฟรีค่าขนส่งทั่วประเทศ สำหรับช้อปสินค้าในเว็บไซต์ thaitradeshop.com

ฉะนั้นห้ามพลาด! งาน E-Commerce Big Bang : วิถีการค้าไทย...สู่วิถีออนไลน์ หากพลาดงานนี้ คุณจะเสียโอกาสก้าวไปแข่งขันในตลาดโลกและตกเทรนด์การค้าในโลกยุคดิจิทัล

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2561

กรมชลฯ สั่งเตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนัก

กรมชลประทานสั่งชลประทานทั่วประเทศเตรียมรับมือฝนตกหนัก หลังจากกรมอุตุนิยมฯ แจ้งเตือนพายุดีเปรสชั่นในทะเลจีนใต้ตอนล่าง และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา แจ้งเตือนว่าเมื่อเวลา 04.00 น.ของวันนี้พายุดีเปรสชั่นบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง มีศูนย์กลางอยู่ห่างไปทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองดานัง ประเทศเวียดนาม ประมาณ 490 กิโลเมตร พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศเหนือค่อนตะวันตกเล็กน้อย คาดว่าพายุนี้จะมีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อนวันนี้ (3 ม.ย.) และจะเคลื่อนตัวขึ้นสู่ทะเลจีนใต้ตอนบนใกล้กับเกาะไหหลำ ประเทศจีน ในช่วงวันที่ 4-6 มิถุนายน 2561 ซึ่งพายุนี้ยังไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ในช่วงวันที่ 4-7 มิถุนายน 2561 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้บริเวณประเทศไทยมีฝนเพิ่มมากขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนักและฝนที่ตกสะสมไว้ด้วย

นายทวีศักดิ์ กล่าวว่า เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำที่อาจมีผลกระทบต่อพื้นที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมเดิม ได้สั่งการให้โครงการชลประทานทั่วประเทศจัดเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ในพื้นที่ หากเกิดฝนตกหนักจะได้เข้าไปแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งกำชับให้ติดตามตรวจสอบอาคารและระบบชลประทานให้สามารถรองรับสถานการณ์น้ำได้อย่างเต็มศักยภาพตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละช่วงเวลา รวมทั้งบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมอย่างเคร่งครัด สำหรับพื้นที่ที่เคยเกิดน้ำท่วมเป็นประจำให้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเครื่องมืออื่นเตรียมพร้อมไว้ด้วยแล้ว

นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำให้ทุกโครงการฯ ชลประทานติดตามสภาวะอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาและสถานการณ์น้ำในพื้นที่ของตนอย่างใกล้ชิด โดยให้ร่วมบูรณาการกับผู้ว่าราชการจังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ฝ่ายความมั่นคง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนให้เตรียมรับมือสถานการณ์น้ำได้อย่างทันท่วงที หากเกิดสถานการณ์น้ำหลากขึ้นในพื้นที่

สำหรับการเตรียมพร้อมเพื่อช่วยเหลือประชาชนหากเกิดสถานการณ์น้ำหลาก ได้ให้ทุกโครงการฯเตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ รถแบคโฮ/รถขุด รถเทรลเลอร์ เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ เครื่องผลักดันน้ำ ไว้ประจำในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมแล้ว ซึ่งสามารถนำไปช่วยเหลือประชาชนได้ทันที ทั้งนี้ หากองค์กรปกครองท้องถิ่นหรือประชาชนในพื้นที่ใดต้องการความช่วยเหลือสามารถประสานไปยังโครงการชลประทานในพื้นที่ เจ้าหน้าที่ทุกคนยินดีและพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือนร้อนตลอดเวลา.

จาก www.tnamcot.com   วันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ค่าเงินบาท4-8มิ.ย. 31.80-32.30/$

ซีไอเอ็มบี ไทย คาด ค่าเงินบาท 4-8 มิ.ย. อยู่ในกรอบ 31.80-32.30 บาทต่อดอลลาร์ มอง เงินเฟ้อขยับบีบ กนง. ขึ้นดอกเบี้ย

สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) คาดเงินบาทสัปดาห์ข้างหน้า 4-8 มิถุนายน 2561 จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 31.80-32.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยยังคงต้องติดตามนโยบายการค้า ระหว่างประเทศของ ปธน. ทรัมป์อย่างต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องการเจรจาการค้าสหรัฐฯกับจีน การเจรจาระหว่างสหรัฐฯกับเกาหลีเหนือ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้ตลาดการเงินมีความผันผวนอย่างเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีตัวเลข,ดัชนีที่สำคัญทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ที่จะประกาศออกมาด้วยเช่นกัน

ขณะเดียวกัน ในปี 2561 นี้ สำนักวิจัยยังคงมองว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง จากราคาเชื้อเพลิงเป็นหลัก ขณะที่ในช่วงไตรมาสที่ 2 ฐานในปีที่ผ่านมาค่อนข้างต่ำก็จะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ CPI ปรับเพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทิศทางของอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนอาจส่งผลให้มีความเป็นไปได้และโอกาสที่ กนง. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยได้ อย่างไรก็ดี ในการประชุม กนง. ในวันที่ 20 มิ.ย. นี้ยังคาดว่า กนง. จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยต่อไป

จาก https://www.innnews.co.th วันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2561

กนอ.พร้อมจัด1.5หมื่นไร่ รองรับตั้งโรงงานในพื้นที่อีอีซี

นางสุวัฒนา กมลวัทนนิศา รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ตามแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) รัฐบาลได้สั่งการให้ กนอ. จัดหาพื้นที่ใน อีอีซี 1.5 หมื่นไร่ ภายในปี 2560-2564 เพื่อรองรับการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่ง กนอ. ในฐานะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว จึงได้เร่งดำเนินการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคที่มีประสิทธิภาพเพื่อรองรับการลงทุนและการดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในกลุ่ม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยในขณะนี้ กนอ. มีพื้นที่พร้อมที่จะเข้าไปลงทุน 1.2 หมื่นไร่ คงเหลือที่จะต้องหาเพิ่มเติมอีกประมาณ 3 พันไร่

นายชัยพล พรพิบูล ผู้ช่วยผู้อำนวยการ บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทได้ลงนามร่วมกับ กนอ. ในการตั้งนิคมฯโรจนะแหลมฉบัง จ.ชลบุรี มีพื้นที่ 843.41 ไร่ ใช้เงินลงทุนพัฒนาโครงการประมาณ 2.5 พันล้านบาท มีเป้าหมายรองรับอุตสาหกรรม อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และยานยนต์แห่งอนาคต ขณะนี้มีนักลงทุนหลายรายได้เข้ามาติดต่อแล้ว คาดว่าจะขายพื้นที่หมดภายใน 3 ปี โดยหลังจากนี้จะยื่นคณะกรรมการ อีอีซี เพื่อขอยกนิคมฯนี้ขึ้นเป็นเขตส่งเสริมพิเศษต่อไป

ทั้งนี้บริษัท ยังมีแผนที่จะตั้งนิคมฯแหล่งใหม่ ที่ อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี มีเนื้อที่ประมาณ 2 พันไร่ คาดว่าจะยื่นขอกับ กนอ. ได้ในช่วงปลายปี 2561 คาดว่าจะใช้งบพัฒนา 2 พันล้านบาท และจะเริ่มพัฒนาในช่วงกลางปี 2562 โดยจะเน้นในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และยานยนต์แห่งอนาคต ทั้งนี้หลังจากที่ พ.ร.บ.อีอีซี ประกาศใช้แล้วนักลงทุนให้ความสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะรายใหม่ที่อยู่นอกพื้นที่ อีอีซี มีแผนย้ายเข้ามาอยู่ในเขตนิคมฯ ภายใน อีอีซี

จาก www.naewna.com วันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ชาวไร่อ้อยวอนรัฐช่วย! แก้ปัญหาโรงงานไม่รับซื้อ

ตัวแทนเกษตรกรชาวไร่อ้อยในพื้นที่จังหวัดลพบุรีประมาณ 200 คนรวมตัว โดยยื่นหนังสือผ่านทางจังหวัดให้กับรัฐบาลขอให้ช่วยเหลือชาวไร่อ้อยกรณีโรงน้ำตาลไม่รับซื้ออ้อย

นายวิชัย เปาวิมาน นายกสมาคมชาวไร่อ้อยลพบุรี ได้นำตัวแทนเกษตรกรชาวไร่อ้อยอำเภอต่าง ๆ ในจังหวัดลพบุรีกว่า 200 คนมารวมตัวกันที่หน้าศาลากลางจังหวัดลพบุรี เพื่อขอพบและยื่นหนังสือให้กับ นายสุปกิจ โพธิ์ปภาพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี เพื่อที่จะได้ส่งต่อไปยังนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่รับผิดชอบ แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรีไปราชการให้ นายวรากร บำรุงชีพโชต อุตสาหกรรมจังหวัดลพบุรี มาเป็นผู้รับหนังสือและพบกับนายกสมาคมและตัวแทนของเกษตรกรชาวไร่อ้อย ทั้งนี้ได้เชิญตัวแทนของเกษตรกรชาวไร่อ้อยประมาณ 30 คนไปพูดคุยปัญหาที่เกิดขึ้นในห้องประชุมสำนักงานอาสาสมัครรักษาดินแดน

 พร้อมทั้งได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วยเกษตรและสหกรณ์จังหวัดลพบุรี เกษตรจังหวัดลพบุรี ร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ด้วย ซึ่งตัวแทนชาวไร่อ้อยได้ยื่นหนังสือกรณีที่ทางโรงงานน้ำตาลปิดรับซื้ออ้อยจากเกษตรกร ขณะที่อ้อยจำนวนมากยังคงอยู่ในไร่และบางส่วนก็ได้ตัดไปแล้ว นอกจากนี้ส่วนที่บรรทุกใส่รถไปส่งหน้าโรงงานต้องนำอ้อยมาเททิ้ง ทางเกษตรกรชาวไร่อ้อยขอให้ทางรัฐบาลได้ให้การช่วยเหลือในเรื่องของการเยี่ยวยาจ่ายค่าทดแทนความเสียหายไร่ละ 3 – 4 พันบาท รวมทั้งขอให้ทาง ธกส. และ ทางโรงน้ำตาลได้หยุดการคิดดอกเบี้ย ซึ่งทางอุตสาหกรรมจังหวัดลพบุรีก็ได้รับข้อร้องเรียนดังกล่าวและจะนำส่งไปยังหน่วยงาน ผู้บังคับบัญชาที่รับผิดชอบในระดับสูงที่จะได้หาแนวทางช่วยเหลือต่อไป

จาก www.banmuang.co.th วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2561