http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล(เดือนมิถุนายน 2562)

กฤษฎา' ขึ้นเวที FAO ยันไทยพร้อมพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน

“กฤษฎา” ขึ้นเวทีโลกที่เอฟเอโอยืนยันไทยพร้อมพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน และแก้ไขปัญหาการอพยพย้ายถิ่นฐาน แจงต้นเหตุเพื่อนบ้านขัดแย้งทางการเมือง พ่วงสงครามอินโดจีน โชว์ศักยภาพแก้ไอยูยูสำเร็จ ดันศาสตร์พระราชาขจัดปัญหาความยากจน

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ขึ้นกล่าวถ้อยแถลงในฐานะผู้แทนประเทศไทย ว่ารัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้น้อมนำศาสตร์พระราชาของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระราโชบายของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มาเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานและดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่เกษตรกรรมของประเทศตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเผยแพร่และขยายผลเพื่อสร้างความมั่นคงอาหาร การพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน การพัฒนาชนบท และการขจัดปัญหาความยากจน รวมทั้งการแก้ไขปัญหาการอพยพย้ายถิ่น(Migration)อย่างเต็มที่

ในที่ประชุมประเทศสมาชิกFAOดังกล่าว ได้ให้ความสำคัญในกล่าวถึงประเด็นปัญหาการอพยพที่เกี่ยวกับภาคการเกษตร ซึ่ง ใน่วนของประเทศไทยนายกฤษฎา บุญราช รมว. เกษตร ได้กล่าวในที่ประชุมว่า “ปัญหาการอพยพย้ายถิ่นฐาน มีสาเหตุมาจากปัญหาทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และสภาพแวดล้อม ในอดีตเมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเคยเผชิญปัญหาผู้อพยพจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง และสงครามอินโดจีน (Indo-China War) ในเวลานั้น ประเทศไทยต้องดูแลเลี้ยงดูคนอพยพจำนวนนับแสนคน แต่ประเทศไทยก็ได้รับความช่วยเหลือจากองค์การข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) รวมถึงมิตรประเทศต่างๆ ที่เข้ามาช่วยเหลือนำผู้ลี้ภัยเหล่านั้นไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่ 3”

ในปัจจุบัน ปัญหาการอพยพย้ายถิ่นฐานมีสาเหตุจากปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่อพยพเข้ามาหางานทำ เพื่อต้องการทำให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นทั้งแรงงานภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ โดยรัฐบาลไทยได้ดูแลคนเหล่านั้นตามหลักมนุษยธรรม โดยได้แก้ไขปัญหาผู้อพยพ โดยมีการขึ้นทะเบียนและอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวสามารถประกอบอาชีพในประเทศไทยได้อย่างถูกต้อง เพื่อแก้ไขปัญหาการหลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย

 ตั้งแต่ปี 2015 ไทยมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างที่สำคัญ เพื่อแก้ไขปัญหาการประมงที่ผิดกฎหมาย ไร้การรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) และปัญหาแรงงานในอุตสาหกรรมประมง ทั้งนี้จากนโยบายด้านแรงงาน ประเทศไทยยังมีการผ่อนปรนให้สิทธิในการมีถิ่นที่อยู่ถาวรแก่บุคคลต่างด้าวที่อาศัยในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 30 ปี และประสงค์ที่จะทำงานในประเทศไทย รวมทั้งบุตรหลานที่เกิดในประเทศไทยให้ได้รับสิทธิการถือสัญชาติไทย สิทธิในการศึกษา และการรักษาพยาบาล เช่นเดียวกับประชาชนไทย ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวนั้น องค์การสหประชาชาติ และ NGOs ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวร่วมกับรัฐบาลไทย

“เน้นย้ำต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่ FAO ว่า รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาการประมงที่ผิดกฎหมาย ไร้การรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) ซึ่งไทยขอขอบคุณ FAO สหภาพยุโรป และ ILO ที่ให้ความช่วยเหลือทางวิชาการในการแก้ไขปัญหา IUU และปัญหาแรงงานทาสในอุตสาหกรรมประมง”

รมว.เกษตรฯ ได้กล่าวว่าประเทศไทย ได้ดำเนินงานร่วมกับสมัชชาความร่วมมือทรัพยากรดินโลก และ FAO เพื่อขับเคลื่อนงานด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งดินและน้ำ ในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อสร้างความมั่นคงอาหารและการพัฒนาเกษตรอย่างยั่งยืน รัฐบาลไทย ขอยืนยันว่าจะขับเคลื่อนวาระทรัพยากรดิน ให้มีการจัดตั้งเป็นองค์กรถาวรภายใต้ธรรมนูญของ FAO

“ประชุมสมัชชาใหญ่ว่า “การพัฒนาชนบท และเกษตรกรรม จะนำมาซึ่งการสร้างงาน สร้างโอกาส สร้างอาชีพ ให้แก่เกษตรกร ให้คนรุ่นหนุ่มสาว และผู้หญิงในชนบท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การพัฒนาชนบทและการแก้ไขปัญหาการอพยพย้ายถิ่นฐานของไทย”

จาก www.thansettakij.com วันที่ 30 มิถุนายน 2562

ครม.เคาะตั้งสทนช.4ภาคดูแล22ลุ่มน้ำ

นายสมเกียรติ  ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีวันที่ 25 มิถุนายน มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ....... มีสาระสำคัญคือ ตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติภาคใน 4 ภูมิภาค ครอบคลุม 22 ลุ่มน้ำใหม่ แบ่งเป็น 1.ภาคเหนือ จ.ลำปาง 2.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น 3.ภาคกลาง จ.สระบุรี และ 4.ภาคใต้ จ.สงขลา มีหน้าที่สำคัญ อาทิ อำนวยการ กำกับ ดูแลถึงพื้นที่ระดับลุ่มน้ำทั้ง 22 ลุ่มน้ำ โดยประสานหน่วยงานรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรผู้ใช้น้ำ บังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับการใช้ พัฒนา บริหารจัดการ บำรุงรักษา ฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวกับการควบคุมมลพิษทางน้ำในลุ่มน้ำให้เป็นไปตามแผนแม่บท รวมถึงตั้งอีก 2 หน่วยงาน อยู่ที่ สทนช.ส่วนกลางได้แก่ กองต่างประเทศ มีภารกิจสำคัญ อาทิ เสนอแนะนโยบาย แผนแม่บท บทบาท และท่าทีของประเทศไทยเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างประเทศด้านทรัพยากรน้ำ และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำระหว่างประเทศ รวมถึงดำเนินความร่วมมือ ประชุมเจรจา จัดทำความตกลงด้านทรัพยากรน้ำกับต่างประเทศ และองค์การระหว่างประเทศ  ทำหน้าที่วิเคราะห์ วิจัย แลกเปลี่ยนความรู้ ข้อมูล เทคโนโลยีนวัตกรรม ด้านทรัพยากรน้ำกับต่างประเทศและองค์การระหว่างประเทศ เพื่อพัฒนาต่อยอดการบริหารจัดการน้ำที่สอดคล้องกับประเทศไทย รวมถึงการแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งอย่างยั่งยีน และกองกฎหมาย เพื่อขับเคลื่อนพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 ซึ่งมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการแล้ว รวมถึงสนับสนุนการดำเนินงานด้านกฎหมาย ตลอดจนหลักเกณฑ์วิธีการที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรน้ำ หลังครม.รับทราบร่างฯดังกล่าวที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้ว สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติจะเสนอนายกฯพิจารณาลงนาม และประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

จาก https://www.naewna.com วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2562

ด่วน! “ราชกิจจาฯ” ประกาศกำหนดปริมาณอ้อยขั้นต้นฤดูกาลผลิต 2562/63 ให้รง.น้ำตาลแล้ว

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้ออกประกาศคณะกรรมการอ้อย

เรื่อง “การจัดสรรปริมาณอ้อยขั้นต้นประจำฤดูการผลิตปี 2562-2563 (บัญชีจัดสรรขั้นต้น)” โดยมีรายละเอียดคือ

โดยที่เป็นการสมควรกำหนดปริมาณอ้อยขั้นต้นประจำฤดูการผลิตปี 2562/2563 ให้แก่โรงงานน้ำตาลทราย

อาศัยอำนาจตามความในข้อ 4 และข้อ5 แห่งระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายว่าด้วยการกำหนดปริมาณอ้อยให้ชาวไร่อ้อยผลิตและการจัดสรรปริมาณอ้อยให้แก่โรงงาน พ.ศ.2552

คณะกรรมการอ้อยจึงออกประกาศกำหนดปริมาณอ้อยขั้นต้นให้กับโรงงานต่าง ๆ ในฤดูการผลิตปี 2562/2563 ตามบัญชีจัดสรรปริมาณอ้อยขั้นต้นประจำฤดูการผลิตปี 2562/2563 แนบท้าย ประกาศนี้

ประกาศ ณ วันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2562

สำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ประธานคณะกรรมการอ้อย

จาก https://mgronline.com  วันที่ 27 มิถุนายน 2562

กกร.ถก 10 ก.ค.จ่อลดเป้า GDP-ส่งออกวอนรัฐลดดอกเบี้ย-ดูแลบาทพยุง ศก.

ส.อ.ท.วอน ธปท.ลดดอกเบี้ยนโยบายลงพร้อมดูแลค่าบาทไม่ให้แข็งค่า หากจะให้ดีควรอยู่ระดับ 32 บาทต่อเหรียญสหรัฐ หวังกระตุ้น ศก. หลังส่งออกปีนี้ส่อโต 0% หรือติดลบ “กกร.” 10 ก.ค.จ่อลดเป้า GDP และส่งออก เกาะติดประชุม G20 ชี้ชะตาอนาคตส่งออกไทย

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.ต้องการให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พิจารณาช่วยลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกแม้ว่าที่ผ่านมาคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.75% ต่อปีแล้วก็ตาม เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะในระดับฐานรากไม่ดีนัก ประกอบกับการส่งออกที่เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมีทิศทางที่จะชะลอตัวต่อเนื่องจากสงครามการค้าและค่าเงินบาทที่แข็งค่า

“ค่าเงินบาทขณะนี้อยู่ระดับ 31 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ซึ่งค่าเฉลี่ยนี้อยู่มาเป็นปีเพราะมีเงินทุนไหลเข้าต่อเนื่องจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (เฟด) ส่งสัญญาณที่จะไม่ขึ้นดอกเบี้ยและอาจปรับลดลงด้วยซ้ำ ดังนั้น ค่าเงินบาทไทยเฉลี่ยหากเป็นไปได้เอกชนอยากเห็น ธปท.ดูแลเคลื่อนไหวอยู่ระดับ 32 บาทต่อเหรียญสหรัฐบวกลบเล็กน้อย เพื่อช่วยให้การแข่งขันการส่งออกของไทยกับประเทศคู่แข่งการค้าใกล้เคียงกัน” นายสุพันธุ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม จากการส่งออกไทยที่ติดลบต่อเนื่องการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) วันที่ 10 ก.ค. กกร.จะมีการพิจารณาทบทวนประมาณการเศรษฐกิจใหม่ทั้งการส่งออก ประมาณการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) โดยยอมรับว่ามีแนวโน้มที่จะปรับลดลงจากประมาณการณ์เดิม

นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า การส่งออกไทยเดือน พ.ค.ลดลง 5.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีแนวโน้มว่าการส่งออกยังลดลงต่อเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวซึ่งได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าสหรัฐอเมริกาและจีน ประกอบกับอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทของไทยที่แข็งค่าจึงมีแนวโน้มว่าการส่งออกไทยปี 2562 มีโอกาสการเติบโตจะเป็น 0% หรือติดลบได้หากการประชุมสุดยอด G20 ที่ญี่ปุ่นวันที่ 28-29 มิ.ย.นี้ สหรัฐฯและจีนไม่สามารถบรรลุข้อตกลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น

“เดิม ส.อ.ท.ประเมินไว้ว่าการส่งออกปีนี้น่าจะโตได้เพียง 1-2% แต่หากสหรัฐฯ และจีนตกลงไม่ได้ในเวทีประชุมจี 20 แล้วขึ้นภาษีฯ ตามที่ขู่ไว้อีกส่งออกไทยติดลบแน่นอน แต่หากดีขึ้นโอกาสที่ส่งออกไทยจะโต 1-2% ก็ยังมีอยู่ อย่างไรก็ตาม ต้องการให้รัฐบาลเมื่อจัดตั้งแล้วเสร็จควรหาทางเจรจาเพื่อทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือ FTA กับประเทศต่างๆ เพื่อเพิ่มช่องทางการส่งออก” นายเกรียงไกรกล่าว

จาก https://mgronline.com  วันที่ 27 มิถุนายน 2562

“พาณิชย์” ยันอาเซียนและคู่เจรจา 16 ประเทศ มุ่งถกอาร์เซ็ปให้จบภายในปีนี้

“พาณิชย์” ยันสมาชิก 16 ประเทศ มุ่งมั่นเจรจาอาร์เซ็ปให้ได้ข้อสรุปภายในปีนี้ หลังเจอข่าวลือ ตัดอินเดียออกจากวงเจรจา ตั้งเป้าประกาศความสำเร็จในเดือน พ.ย. ช่วงประชุมอาเซียนซัมมิต เผยล่าสุดสมาชิกกำลังหารือที่ออสเตรเลีย ผลักดันเรื่องที่ยังเจรจาไม่จบ พร้อมนัดถกระดับรัฐมนตรีอีกครั้งช่วง ส.ค.ที่จีน ตัดสินใจทางการเมืองในเรื่องที่หาข้อสรุปไม่ได้

น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ผู้นำอาเซียนได้ประกาศในการประชุมสุดยอดผู้นำ (อาเซียน ซัมมิต) เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2562 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ โดยตั้งเป้าให้อาเซียนมุ่งมั่นการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ให้มีข้อสรุปภายในปีนี้ และไทยในฐานะประธานอาเซียน ก็ให้ความสำคัญสูงสุดกับการที่สมาชิก 16 ประเทศ คือ อาเซียน และคู่เจรจา 6 ประเทศ คือ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ จะร่วมกันสรุปผลการเจรจาในปีนี้ โดยตั้งเป้าหมายจะประกาศสรุปผลการเจรจาในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียนในเดือน พ.ย. 2562 ที่กรุงเทพฯ

ทั้งนี้ อาร์เซ็ปเป็นความตกลงการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีประชากรกว่า 3,560 ล้านคน หรือเกือบครึ่งของประชากรโลก มีมูลค่าการค้ารวมกว่า 11.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 30% ของมูลค่าการค้าโลก หากการเจรจาประสงความสำเร็จ จะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่การค้าระหว่างประเทศของสมาชิกทั้ง 16 ประเทศ ท่ามกลางวิกฤตสงครามการค้า รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้กับภูมิภาคอาเซียน และอาร์เซ็ป นำไปสู่การขยายตัวทางการค้าและการลงทุน

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดคณะกรรมการเจรจาอาร์เซ็ป อยู่ระหว่างการประชุมที่เมืองเมลเบิร์น เครือรัฐออสเตรเลีย ระหว่างวันที่ 23 มิ.ย. - 3 ก.ค. 2562 เพื่อผลักดันให้เรื่องต่างๆ ที่ยังเจรจาไม่จบ เดินหน้าได้อย่างไม่ติดขัด และจบลงให้ได้ ส่วนประเด็นที่สมาชิกยังไม่สามารถตกลงกันได้ และจำเป็นต้องมีการตัดสินใจระดับการเมือง สามารถนำเสนอให้ที่ประชุมรัฐมนตรีอาร์เซ็ป พิจารณาผลักดันได้ ซึ่งจะมีการประชุมในเดือน ส.ค.นี้ ที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า ได้มีกระแสข่าวจากประเทศอินเดียว่ามาเลเซียเสนอให้ตัดอินเดียออกจากการเจรจา เพื่อให้สมาชิกสามารถจบการเจรจาให้ได้ตามเป้าหมายภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งเรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง เพราะสมาชิกทั้ง 16 ประเทศยังคงร่วมกันเดินหน้าเจรจา และตั้งเป้าหมายจะจบการเจรจาให้ได้ในสิ้นปีนี้ตามเป้าหมายของผู้นำ แต่ก็มีประเด็นที่สมาชิกบางประเทศ เสนอความเห็นให้คู่เจรจาบางประเทศ เช่น อินเดีย ออสเตรเลีย หรือนิวซีแลนด์ เลือกที่จะเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมการลงนามความตกลงก็ได้ หากยังไม่มีความพร้อมที่จะดำเนินการตามความตกลง โดยสมาชิกใดพร้อมก็สามารถลงนามความตกลงร่วมกันได้ทันที หากประเทศใดไม่ลงนามความตกลง ก็จะยังไม่สามารถใช้สิทธิประโยชน์ต่างๆ จากความตกลง

จาก https://mgronline.com  วันที่ 27 มิถุนายน 2562

เงินบาทนิ่งที่ระดับ 30.74บาท/ดอลลาร์ หลังผลประมกนง.ไม่ส่งสัญญาณลดอาร์/พี

ธนาคารกรุงไทยระบุเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 30.74 บาทต่อดอลลาร์  ไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อน

ในคืนที่ผ่านมา นักลงทุนส่วนใหญ่เลือกที่จะขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยง และรอลุ้นผลการเจรจาการค้าระหว่างผู้นำสหรัฐฯและจีนในช่วงการประชุม G20 ส่งผลให้ราคาสินทรัพย์ทั่วโลกปรับตัวลง โดยทั้งดัชนี S&P500 ของสหรัฐฯ ก็ย่อตัวลงเล็กน้อย 0.12% เช่นเดียวกับตลาดบอนด์ที่เริ่มพบกับความจริง เมื่อประธานเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยตามที่หวัง บอนด์ยีลด์สหรัฐฯอายุ10ปี จึงปรับตัวขึ้น 5bps กลับมาที่ระดับ 2.05%

 ในส่วนของเงินบาทวานนี้(เมื่อวันที่26มิถุนายน)เคลื่อนไหวในกรอบกว้าง เนื่องจาก ตลาดคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) จะมีการส่งสัญญาณด้านนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากกว่านี้ ในช่วงเช้าเงินบาทจึงปรับตัวอ่อนค่าขึ้นไปก่อนการประชุมกนง. และถูกซื้อกลับทันทีหลังผลการประชุมออกมาน่าผิดหวังและไม่มีข้อมูลให้ตลาดเพิ่มเติม

 สำหรับวันนี้เชื่อว่าตลาดเงินตลาดทุนฝั่งเอเชียจะเคลื่อนไหวในกรอบแคบเช่นกัน โดยเรามองว่านักลงทุนส่วนใหญ่จะรอฟังผลการพบปะกันระหว่างผู้นำสหรัฐและจีนใน G20 ก่อน

กรอบค่าเงินบาทวันนี้ 30.70 - 30.80 บาทต่อดอลลาร์

จาก www.thansettakij.com วันที่ 27 มิถุนายน 2562

เมื่อรัฐรับบทคุมสารเคมี

          นับตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดให้เกษตรทั่วประเทศ ลงทะเบียนเข้ารับการอบรมการใช้สารเคมี 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเสต และคลอร์ไพริฟอส ผ่านออนไลน์ “ระบบจำกัดการใช้สารเคมี 3 ชนิด” หรือที่สำนักงานเกษตรอำเภอทุกแห่ง ทั้งนี้เป็นผลจากมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่อนุมัติให้กระทรวงเกษตรฯ ดำเนินมาตรการจำกัดการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชและแมลงศัตรูพืชทั้ง 3 ชนิด นอกจากนี้กระทรวงเกษตรฯ ยังออกมาตรการบังคับใช้กับผู้นำเข้า ผู้จำหน่าย ผู้ใช้ และผู้รับจ้าง เข้ารับการอบรมจาก 4 หน่วยงาน คือ กรมส่งเสริมการเกษตรจะอบรมและทดสอบเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน ไม้ผล พืชไร่ ไม้ดอก, การยางแห่งประเทศไทย จะอบรมและทดสอบให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกยางพารา, สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย จะอบรมและทดสอบให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกอ้อย โดยกรมวิชาการเกษตรจะอบรมเจ้าหน้าที่ของ 3 หน่วยงานเพื่อให้เป็นวิทยากรไปอบรมเกษตรกร ผู้รับจ้างพ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และปลัดอบต.

          ตามมาตรการของกระทรวงเกษตรฯ กำหนดไว้ว่า เกษตรกรที่จะใช้สารเคมีสามารถเลือกช่องทางเรียนรู้ได้ 3 ทาง คือ ทางแรก เข้ารับการอบรมโดยวิทยากร ครู ข ใช้เวลาประมาณ 6 ชั่วโมง ทางเลือกที่ 2 เรียนรู้ผ่านระบบ E-learning จากเว็บไซต์ http://elearning.doae.go.th มีทั้งหมด 9 ตอน ใช้เวลาประมาณ 60 นาที หรือจะทดสอบเอง เพราะมีความรู้เพียงพอแล้ว ก็ให้เลือกช่องทางที่ 3 สมัครเข้ารับการทดสอบจากเว็บไซต์ดังกล่าว โดยต้องเลือกสถานที่สอบ วันที่และช่วงเวลาที่ต้องการสอบได้ตามความสมัครใจ ทั้งนี้สำหรับการทดสอบจะเริ่มตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2562 เป็นต้นไป กรณีไม่ผ่านการทดสอบ สามารถเลือกสอบได้อีก 1 รอบ หากยังไม่ผ่าน เกษตรกรจะต้องสมัครเข้าไปเลือกการทดสอบอีกครั้งในระบบออนไลน์ ทั้งนี้มาตรการจำกัดการใช้สารเคมีจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 20 ตุลาคม 2562

          ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ เป็นที่จับตามองของหลายฝ่าย ทั้งภาคเอกชน และภาครัฐ โดยเฉพาะที่เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการใช้สารอันตรายในแปลงเกษตรมาเป็นเวลานาน แต่ในที่สุด คณะกรรมการวัตถุอันตรายก็มีมติเพียงแค่ให้กำจัดการใช้ โดยเข้มงวดกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง 4 กลุ่ม มาตรการที่ออกมานี้ ฝ่ายคัดค้านเห็นว่า นอกจากจะไม่ยกเลิกการใช้แล้ว กลับเป็นการสนับสนุนให้เกษตรกรใช้สารเคมีกันอย่างแพร่หลายมากขึ้นด้วย ทั้งๆ ที่การอบรมนั้นก็เท่ากับเป็นการยอมรับอยู่ในตัวแล้วว่าสารเคมีเป็นอันตรายมาก จึงเสนอว่าควรจะยกเลิกการใช้สารไปเลย แต่ฝ่ายที่สนับสนุนการใช้สารเคมีกลับเห็นว่าพืชบางชนิดยังจำเป็นต้องใช้สารอยู่ต่อไป และการอบรมก็จะทำให้ปลอดภัยทั้งกับผู้ใช้ ผู้บริโภค และสภาพแวดล้อม

          อย่างไรก็ตาม เมื่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติ และกระทรวงเกษตรฯ ออกมาตรการมาแล้ว นับจากนี้จึงเป็นเรื่องของการติดตามตรวจสอบทั้งการจัดอบรมอย่างทั่วถึง ความเข้มข้นในมาตรการ และการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม เป็นต้นไป ซึ่งยังถือเป็นเรื่องน่าห่วงใยอย่างยิ่ง เพราะจำนวนเจ้าหน้าที่อย่างเช่น สารวัตรเกษตรก็มีจำกัด ขณะที่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นคือ กำนันผู้ใหญ่บ้าน ปลัดอบต.บางคนก็เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับสารเคมี ซึ่งท้ายที่สุด อาจจะทำให้ดูแลไม่ทั่วถึงจนมาตรการทำได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ในอีกด้านหนึ่ง กระทรวงเกษตรฯ ควรสนับสนุนการกำจัดวัชพืชศัตรูพืชทางเลือกอื่นผ่านองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นไปพร้อมกันด้วย

จาก www.komchadluek.net วันที่ 26 มิถุนายน 2562

"สภาเกษตรฯ"ล้ำนำเกษตรกรสู่ยุคดิจิทัล

"สภาเกษตรกรแห่งชาติ"ก้าวล้ำนำเกษตรกรสู่ยุคดิจิทัล เทคโนโลยีไม่ทำให้ยุ่งยากแต่อำนวยความสะดวก

25 มิถุนายน  2562 ว่าที่ร้อยตรีสมพูนทรัพย์ กล้าวิกรณ์ เลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า สภาเกษตรกรได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับสำนักส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) 

 โดย นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือทั้งสองหน่วยงานจะร่วมมือกันดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการนำความรู้และเทคโนโลยีดิจิทัลไปประยุกต์ใช้ในภาคการเกษตรด้วยความเหมาะสม พอเพียง อย่างมีแบบแผนโดยมีแนวทางขับเคลื่อนความร่วมมือให้เกิดขึ้น ได้แก่ การพัฒนาองค์ความรู้ของเกษตรกรรุ่นใหม่ด้วยการเรียนรู้ออนไลน์

ซึ่งสภาเกษตรกรฯมีกลุ่มเป้าหมายอยู่อำเภอละอย่างน้อย 1 คน  , การสร้างและใช้แอปพลิเคชันในกระบวนการผลิต รับรองผลผลิต การแปรรูปและการตลาดด้วยการพัฒนาความสามารถของบุคลากรสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ บุคลากรภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารให้เข้าถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในภาคการผลิต แปรรูปและการตลาดตลอดทั้งห่วงโซ่อุปสงค์และอุปทานซึ่งจะเริ่มต้นจากการจัดทำแอปพลิเคชันการเลี้ยงกุ้ง การปลูกผักเพื่อการส่งออก เป็นต้น    

การเข้าถึงบริการข้อมูลเพื่อใช้ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยทราบว่าจะได้รับคูปองจากดีป้า 6,200 ใบ ซึ่งคูปองเหล่านี้จะมอบให้องค์กรเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับสภาเกษตรกรฯเพื่อนำไปใช้เรียนรู้ พัฒนาความต้องการที่แท้จริงของเกษตรกรภายใต้ความร่วมมือกันดำเนินงานหรือโครงการส่งเสริมสนับสนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารก็จะถึงเกษตรกรตัวจริง

 นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ได้กล่าวเสริมว่า การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลคงไม่ทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยนแต่จะทำให้วิถีชีวิตของเกษตรกรหรือชุมชนหรือพื้นที่ต่างๆ สามารถที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถเข้าถึงบริการที่ดีขึ้น สามารถที่จะรู้ถึงข้อมูลและการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในการเพิ่มรายได้และลดต้นทุน 

เราไม่ได้สร้างเทคโนโลยีที่ทำให้เกษตรกรยุ่งยากแต่จะต้องทำเทคโนโลยีที่อำนวยความสะดวกมากที่สุดในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งเกษตรกรราว 5 ล้านครัวเรือน 17 ล้านกว่าคนในประเทศไทยกำลังก้าวสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิตอลและเป็นสังคมดิจิตอลด้วยเราใช้บริการผ่านมือถือกันมากขึ้น สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล

 จึงอยากให้เกษตรกรมาร่วมโครงการกับดีป้าและสภาเกษตรกรฯด้วยกัน ความรู้เหล่านี้จะทำให้เราเดินไปข้างหน้ากับยุคเศรษฐกิจใหม่กับการที่จะทำเกษตรกรรมในรูปแบบใหม่ตั้งแต่ต้นน้ำ การคัดเลือกพันธุ์พืชที่ดี การเพาะปลูกที่มีผลิตผลที่ดี การเก็บเกี่ยวที่มีคุณภาพ และการค้าขายในโลกออนไลน์

จาก www.komchadluek.net วันที่ 26 มิถุนายน 2562

ส.อ.ท.ขอนแก่นทุ่ม 450 ล. ผลิตรถตัดอ้อย

พร้อมใช้ - ขอนแก่นนำร่องใช้รถเกี่ยวอ้อยเพื่อช่วยแก้ปัญหาฝุ่น ควัน PM 2.5 ที่เกิดจากการเก็บเกี่ยว ซึ่งจะช่วยลดต้นทุน เกษตรกรคาดว่าจะสามารถให้บริการเกษตรกรได้ในช่วงฤดูหีบอ้อยปี 2562/2563 โดยมีพื้นที่เป้าหมายแรกที่อำเภอน้ำพอง

ประธานสภาอุตฯขอนแก่น ทุ่ม 450 ล้านบาท ศึกษาออกแบบชุด “รถตัดอ้อย” เฉพาะพื้นที่ให้ชาวไร่เช่าในราคาถูก 100 บาท/ตันอ้อย หวังลดปัญหาการเผาอ้อย ก่อมลพิษ PM 2.5 ตั้งเป้านำร่องให้เกษตรกรในพื้นที่ อ.น้ำพอง 150 กลุ่มทดลองก่อนฤดูหีบอ้อยปี 2562/2563 นี้ พร้อมผนึก 2 มหาวิทยาลัยดังใช้ “โดรน” ช่วยบินวิจัยสีของใบพืช เชื่อมโปรแกรมวิเคราะห์การให้ปุ๋ย-ยา

นายทรงศักดิ์ ทองไทย ผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด เอส พี คอนโทรล ตัวแทนจำหน่ายและติดตั้งเครื่องปรับอากาศ อะไหล่แอร์รถยนต์ ระบบไฟฟ้า และบริการเช่ารถเครน ในฐานะประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันกำลังทำการศึกษาและออกแบบรถตัดอ้อยแบบพิเศษ โดยใช้เงินลงทุนส่วนตัวมูลค่า 450 ล้านบาท ในนามสภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น เพื่อให้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยเช่าไปใช้ในราคาถูกประมาณ 100 บาท/ตันอ้อย เพื่อช่วยแก้ปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 ที่เกิดขึ้นจากผลพวงของการเผาอ้อยก่อนการเก็บเกี่ยว และเพื่อช่วยลดภาระหนี้จากการซื้อรถตัดอ้อยที่มีราคาแพง แต่ใช้งานเพียง 3-4 เดือน/ปี ทำให้เป็นหนี้สินโดยไม่จำเป็น ซึ่งรถเก็บเกี่ยวอ้อยจะช่วยลดต้นทุนเกษตรกร ลดเวลาหีบ และเพิ่มผลผลิต ทั้งนี้ ตามแผนงานที่วางไว้จะมีการจัดทำรถตัดอ้อยแบบพิเศษทั้งหมด 150 ชุด ราคาชุดละ 3 ล้านบาท ภายใน 1 ชุด ประกอบด้วย รถสางใบ รถตัดอ้อย และรถคีบอ้อย คาดว่าจะสามารถให้บริการเกษตรกรได้ในช่วงฤดูหีบอ้อยปี 2562/2563 โดยจะทดลองในพื้นที่อำเภอน้ำพองก่อน มีเกษตรกร เป้าหมาย 150 กลุ่ม รวมปริมาณอ้อยกลุ่มละประมาณ 5,000 ตันอ้อย

“การจะห้ามไม่ให้เกษตรกรเผาอ้อยจำเป็นต้องหาวิธีการทดแทนที่คุ้มทุน ยิ่งไปกว่านั้นการเก็บเกี่ยวด้วยรถตัดอ้อยแบบที่มีในปัจจุบันมีค่าเช่าที่ค่อนข้างสูง และไม่สามารถใช้ได้ในพื้นที่การปลูกอ้อยของจังหวัดขอนแก่น เนื่องจากมีการปลูกที่ไม่ได้แบ่งพื้นที่แบบมาตรฐานเหมือนในต่างประเทศ เพราะเป็นการปลูกแบบอัดแน่นเพื่อให้ได้ปริมาณอ้อย ซึ่งทำให้รถตัดอ้อยแบบปกติเข้าถึงได้ยาก ทั้งนี้ หลังผลการศึกษาและออกแบบแล้วเสร็จทางสภาอุตฯจะนัดประชุมเครือข่ายเกษตรกร เพื่อหารือเรื่องราคาค่าเช่ากันอีกครั้งในเดือนกรกฎาคมนี้ เราจะนำร่องให้เห็นว่าอุตสาหกรรมและการเกษตรต้องคงไว้ แต่ต้องประยุกต์เครื่องมือต่าง ๆ ในการช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงาน” นายทรงศักดิ์กล่าวและว่า

นอกจากนี้ ทางสภาอุตฯขอนแก่นได้ร่วมกับคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น ทำโครงการวิจัยเรื่องสีของใบพืช โดยใช้โดรนบินตรวจสอบพืชทั้งแปลง และนำมาวิเคราะห์ผ่านโปรแกรมที่ได้รับมาจากประเทศสหรัฐอเมริกาที่ทำในเรื่องใบข้าว โดยจะมีการออกแบบโปรแกรมให้สามารถวิเคราะห์สีของใบพืชแต่ละชนิด เช่น ใบมันสำปะหลัง และใบอ้อยในอนาคตต่อไป ทั้งนี้ โปรแกรมดังกล่าวจะวิเคราะห์ได้ว่าหากใบพืชมีสีลักษณะอย่างนี้กำลังขาดธาตุอะไร จะได้บำรุงให้เหมาะสมกับสภาพใบที่เกิดขึ้น ทำให้ลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มความสะดวกสบายในภาคเกษตรกรรม เพราะ 60% ของต้นทุนภาคเกษตรในจังหวัดขอนแก่น คือ ค่าปุ๋ย และยาฆ่าแมลง ดังนั้น การที่สามารถวิเคราะห์สารอาหารที่ตรงกับสภาพพืชที่กำลังปลูกได้จะทำให้ต้นทุนเกษตรกรลดลง

“เราจะนำกล้องที่มีความละเอียดสูงทดลองบิน จากนั้นเก็บข้อมูลมาวิเคราะห์เปรียบเทียบ ทั้งสารอาหารของพืช ความชื้นสัมพัทธ์ ค่าสารเคมีในดิน กับสีของใบพืช เพื่อให้การวัดสีสะท้อนถึงสภาพสารอาหารในดินได้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงที่สุด” นายทรงศักดิ์กล่าว

อนึ่ง สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กระทรวงอุตสาหกรรม รายงานการผลิตอ้อยของประเทศไทย ประจำปีการผลิต 2560/2561 ในส่วนของจังหวัดขอนแก่นถือเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกอ้อย และปริมาณอ้อยสูงเป็นอันดับ 3 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองจากอุดรธานีที่มีพื้นที่ปลูกอ้อย 711,900 ไร่ ปริมาณอ้อย 8,343,466 ตัน และนครราชสีมามีพื้นที่ปลูกอ้อย 672,952 ไร่ ปริมาณอ้อย 7,893,730 ตัน โดยขอนแก่นมีพื้นที่ปลูกอ้อย 650,196 ไร่ ปริมาณอ้อย 7,587,787 ตัน หรือคิดเป็นมูลค่าอ้อยขั้นต้นเฉลี่ยทั่วประเทศอยู่ที่ประมาณ 680 บาท/ตัน ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. คิดเป็นมูลค่าที่เกษตรกรชาวไร่อ้อยจะได้รับเงินประมาณ 6,000 กว่าล้านบาทต่อฤดูกาลผลิต

อย่างไรก็ตาม ในฤดูกาลผลิตที่ผ่านมาทาง สอน.ได้มีหนังสือแจ้งไปยังสมาคมชาวไร่อ้อย และโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศให้กำชับชาวไร่อ้อยงดการเผาอ้อยก่อนตัดส่งโรงงานน้ำตาล หากมีการเผาอ้อยในกรณีใดก็ตามถือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 220 วรรคแรก ผู้ใดกระทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุใด ๆ แม้เป็นของตนเอง จนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 14,000 บาท และมาตรา 25 วรรค 4 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 การกระทำใด ๆ อันเป็นเหตุให้เกิดกลิ่น แสง รังสี ความร้อน สิ่งมีพิษ ความสั่นสะเทือน ฝุ่น ละออง เขม่า เถ้า หรือกรณีอื่นใด จนเป็นเหตุให้เสื่อมหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 26 มิถุนายน 2562

การค้าโลกฉุด MPI พฤษภาคม 62 หดตัว 3.99%

สศอ. แจงดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนพฤษภาคม 62 หดตัวลง 3.99% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน  ชี้ได้รับผลกระทบจากแนวโน้มการค้าโลกที่ชะลอตัวต่อเนื่องตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว

นายณัฐพล  รังสิตพล  ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม  เปิดเผยถึงดัชนีอุตสาหกรรม (PMI) เดือนพฤษภาคมปี 2562 ว่า ตัว หดตัวลง 3.99% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน  โดยได้รับผลกระทบจากแนวโน้มการค้าโลกที่ชะลอตัวต่อเนื่องตั้งแต่เดือน พ.ย. 2561 ที่เป็นปัจจัยภายนอก  ซึ่งมูลค่าการส่งออกโลกในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2561 ถึง เมษายน 2562 หดตัว 1.01% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้ MPI ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2561 ถึงพฤษภาคม 2562 หดตัว 0.63% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน   โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนพฤษภาคมหดตัวลง 3.99% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน  แต่ขยายตัวเพิ่มขึ้น 8.63% เมื่อเทียบจากเดือนก่อน

ทั้งนี้  อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนี MPI เดือนพฤษภาคม 2562 ได้แก่ ปุ๋ยเคมี รถยนต์ และเครื่องยนต์ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องประดับแท้ และ Hard Disk Drive สาเหตุหลักมาจากความต้องการบริโภคภายในประเทศและคำสั่งซื้อจากตลาดต่างประเทศชะลอตัวลง

ขณะที่อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลบวกต่อ MPI ได้แก่ เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน ขยายตัวเพิ่มขึ้น 13.77% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากตลาดในประเทศเนื่องจากสภาพอากาศร้อนจัดและการเร่งทำตลาดของผู้ผลิตโดยเฉพาะชนิดอินเวอร์เตอร์ และตลาดส่งออกได้รับคำสั่งซื้อจากประเทศเวียดนาม อินโดนีเซียและญี่ปุ่น รวมถึงอินเดียที่เป็นลูกค้าใหม่ ,น้ำมันปาล์ม  ขยายตัวเพิ่มขึ้น 26.91% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มดิบ  ที่ได้มีการลงนามสัญญาซื้อขายน้ำมันปาล์มของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

,เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์และน้ำดื่ม ขยายตัวเพิ่มขึ้น 16.48% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน  จากน้ำอัดลม  น้ำดื่มให้พลังงาน  และน้ำดื่มบริสุทธิ์ ได้อานิสงส์จากสภาพอากาศที่ร้อนจัด รวมถึงผู้ผลิตออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ และการทำกิจกรรมส่งเสริมการขาย รวมถึงการขยายตลาดในประเทศจีน  และเวียดนาม  โดยเบียร์ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 22.21% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน การปรับเปลี่ยนรูปแบบและขนาดบรรจุภัณฑ์ใหม่ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ที่ลดลง รวมถึงการส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้าน CLMV ที่ขยายตัว

,เหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน ขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.40% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน  จากผลิตภัณฑ์เหล็กแผ่นรีดร้อนที่กลับมาผลิตปกติหลังจากผู้ผลิตหยุดผลิตชั่วคราว และผลิตภัณฑ์เหล็กเส้นชนิดต่าง ๆ โดยเฉพาะเหล็กเส้นกลมและเหล็กเส้นข้ออ้อย ได้มีการเร่งผลิตชดเชยการหยุดซ่อมบำรุงในเดือนก่อนของผู้ผลิต

                นายณัฐพล  กล่าวต่อไปอีกว่า ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการผลิตเดือนมิถุนายน 2562 ประกอบด้วย การชะลอตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลกจากการดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯที่มีต่อจีนโดยยังคงเป็นประเด็นที่ต้องเฝ้าระวัง  และติดตามอย่างใกล้ชิด  รวมถึงมูลค่าการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบหักทองเดือนพฤษภาคมติดลบ 2.3% ติดลบเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน  อาจส่งผลต่อ MPI ในช่วงเวลาข้างหน้า

จาก www.thansettakij.com   วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2562

กลุ่ม KTIS คาดรายได้ขายไฟฟ้าปีนี้โตเกิน 20 %

นายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น

หรือกลุ่ม KTIS เปิดเผยว่า ปัจจุบันธุรกิจของกลุ่มบริษัทฯ ดำเนินตามกลยุทธ์ที่มุ่งเพิ่มรายได้จากสายธุรกิจชีวภาพ ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีสัดส่วนกำไรขั้นต้นสูงและมีความผันผวนของรายได้ต่ำกว่าสายธุรกิจน้ำตาลทรายที่ผันผวนตามราคาน้ำตาลตลาดโลก

โดยครึ่งปีแรกของงบการเงินปี 2562 (ต.ค. 2561 –มี.ค. 2562) สัดส่วนรายได้เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน สายธุรกิจชีวภาพขยับเพิ่มขึ้นจาก 35.8% เป็น 39.2% ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ และในอนาคตก็มีโอกาสที่รายได้จากสายธุรกิจชีวภาพจะสูงกว่าสายธุรกิจน้ำตาล

ทั้งนี้ สายธุรกิจชีวภาพซึ่งประกอบด้วย ธุรกิจผลิตและจำหน่ายเอทานอล ธุรกิจผลิตและจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล และธุรกิจผลิตและจำหน่ายเยื่อกระดาษชานอ้อย ในช่วง 6 เดือนแรกของรอบบัญชี 2562 การจำหน่ายเอทานอลมีปริมาณสูงถึง 40.2 ล้านลิตร เพิ่มขึ้นจาก 30.0 ล้านลิตร หรือเพิ่มขึ้น 34.1% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน

ส่วนการจำหน่ายไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงชานอ้อยและใบอ้อยสามารถขายได้ 201,845 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นจาก 164,832เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้น 22.5% เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนปริมาณการจำหน่ายเอทานอลและพลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างมากทำให้รายได้จากการขายเอทานอลเพิ่มขึ้น 21.4% และรายได้จากการขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเพิ่มขึ้น 23.5% สำหรับครึ่งปีแรกของรอบบัญชีสิ้นสุดเดือนมี.ค. 2562 และมั่นใจว่า 2 สายธุรกิจนี้จะสร้างรายได้ที่ดีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันการผลิตเอทานอลดำเนินการเต็มกำลังอยู่แล้ว

ในส่วนธุรกิจไฟฟ้ายังมีแนวโน้มที่จะปรับปรุงประสิทธิภาพให้สามารถผลิตไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายได้มากขึ้น จึงเชื่อว่าในรอบบัญชีปี 2562 นี้ รายได้จากสายธุรกิจผลิตไฟฟ้าจะสูงขึ้นกว่าปี 2561ไม่น้อยกว่า 20 %

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2562

โชว์นวัตกรรมใหม่ติดตามเครื่องจักรกล กรมชลฯเตรียมใช้รับมือน้ำหลากปีนี้

นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม ผู้อำนวยการสำนักเครื่องจักรกล กรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมประดิษฐ์นวัตกรรมใหม่ ชื่อว่า “ระบบติดตามเครื่องจักรกล” เป็นอุปกรณ์ควบคุม-ติดตามเครื่องจักรเครื่องมือของกรมที่ออกปฏิบัติหน้าที่ช่วงฤดูฝนปีนี้กว่า 3,000 รายการ ทำให้ติดตามสถานะการทำงาน และตรวจวัดตำแหน่งเครื่องจักรเครื่องมือแบบทันท่วงที (Real Time) จากศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) ที่ผ่านมาการบริหารเครื่องจักรเครื่องมือหลายพันรายการในความดูแลของกรมชลประทานยังไม่เป็นระบบ Real Time เนื่องด้วยใช้กำลังคน ทำให้เกิดความล่าช้าในการเข้าแก้ไขเหตุการณ์ ซึ่งนวัตกรรมระบบติดตามเครื่องจักรกลดังกล่าว จะช่วยแก้ปัญหาได้ทั้งหมด การใช้งานคือ เมื่อ SWOC วิเคราะห์ประมวลผลว่าพื้นที่ใดต้องการเครื่องจักรเครื่องมือลงพื้นที่ปฏิบัติการ เครื่องมือที่อยู่ใกล้ที่เกิดเหตุจะถูกสั่งการจาก SWOC ให้ออกปฏิบัติงานพร้อมรายงานผลทันที

นอกจากนี้ นวัตกรรมระบบติดตามเครื่องจักรกลทำให้ทราบสภาพการณ์ของเครื่องจักรเครื่องมือว่ากำลังปฏิบัติงาน หรือเกิดความเสียหาย โดยติดตามเครื่องจักรจากหน้าจอระบบปฏิบัติการ ใช้ระบบสื่อสารแบบ NB-IOT ใช้พลังงานจากโซลาร์เซลล์และแบตเตอรี่ ทำให้ระบบมีราคาถูกและประหยัดค่าใช้จ่ายในการใช้งาน

ผอ.สำนักเครื่องจักรกล กรมชลประทานกล่าวต่อว่า ขณะนี้เตรียมนวัตกรรมระบบติดตามเครื่องจักรกลไว้ 10 ชุดสำหรับใช้ในพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก เช่น หาดใหญ่ พิษณุโลก ตั้งเป้าผลิตไม่น้อยกว่า 100 ชุด สำหรับใช้ในกรมชลประทานทั่วประเทศ นวัตกรรมที่เราคิดค้นครั้งนี้ตอบโจทย์การทำงานช่วงภาวะวิกฤติ ลดระยะเวลาการทำงาน ตัดขั้นตอนการรายงาน หากเกิดปัญหาหน้างานจะเข้าแก้ไขได้ทัน หรือเมื่อเจ้าหน้าที่ติดตั้งเครื่องจักรเสร็จก็ไปทำงานบริเวณอื่นต่อได้ ไม่จำเป็นต้องใช้คนเฝ้าเครื่องจักร 24 ชั่วโมง รวมทั้งสนองนโยบายกระทรวงเกษตรฯยุค 4.0 ที่ต้องสร้างสรรค์สิ่งใหม่บริหารจัดการน้ำได้มีประสิทธิภาพ

จาก https://www.naewna.com วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2562

“ลิน” ตอกย้ำภาพลักษณ์ที่ 1 น้ำตาลสำหรับเค้กเบเกอรีจัดงานประกวดเค้กแห่งปี Lin Thailand Sweet Creation 2019

นางสว่าง มั่นคงเจริญ กรรมการบริหาร กลุ่มน้ำตาลไทยรุ่งเรือง เจ้าของผลิตภัณฑ์น้ำตาลลิน เปิดเผยว่า ได้เปิดงาน Lin Thailand Sweet Creation 2019 โดยงานดังกล่าวถือเป็นอีเว้นท์ใหญ่แห่งปีของน้ำตาลลิน โดยครั้งนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 4 นับว่าเป็นงานที่ประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้นกว่าทุกปีที่ผ่านมาทั้งจำนวนผู้เข้าร่วมประกวดเค้ก ผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 20,000 คน และครั้งนี้มีพันธมิตรที่มาร่วมสนับสนุนการจัดงานมากมาย อาทิ S&P Anchor Shugaa กลุ่มเบเกอรีโซไซตี้ ห้องรวมสูตรขนมไทยและเบเกอรี และโครงการเข้าครัวด้วยกัน รวมถึง กูรูเค้กและเบเกอรีชื่อดังอีกมากมายที่เข้ามาร่วมจัดกิจกรรม นับเป็นโอกาสดีตั้งแต่เริ่มทำประชาสัมพันธ์ก่อนงาน หลังจากมีการเผยแพร่ผ่านช่องทางออนไลน์ และออฟไลน์ เรื่องการจัดงานออกไป มีผู้สนใจลงทะเบียนเข้าร่วมงานกว่า 10,000 คน มีผู้สมัครเข้าร่วมกิจกรรม Workshop เต็มโควต้าตั้งแต่ 2 วันแรกของการเปิดรับสมัคร มีผู้เข้าร่วมส่งผลงานประกวดรวมกว่า 50 ชิ้นงาน แม้กระทั่งศิลปินน้ำตาลปั้นจากจีน พอทราบข่าวยังขอร่วมส่งชิ้นงานประกวดด้วยถึง 4 ชิ้น ซึ่งเราก็เปิดโอกาสให้งานนี้ได้เป็นเวทีระดับนานาชาติ เพื่อเป็นการสร้างความตื่นตัวให้กับวงการเค้กน้ำตาลปั้นในบ้านเราด้วย

นางสว่างกล่าวว่า สำหรับไฮไลท์ในงานครั้งนี้มีการเปิดตัวเค้กน้ำตาลปั้น ธีมเจ้าหญิงในเทพนิยายขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยความสูงกว่า 2 เมตร สร้างสรรค์โดยสุดยอดกูรูเค้กดีไซเนอร์ระดับแถวหน้าในวงการ คุณโอปอล์ ลิปปกร ปรียาภาบูลกิต ที่ร่วมกับ S&P และยังมีผลงานปั้นเค้กสุดอลังการ อาทิ ม้ายูนิคอร์น นกยูง ปราสาท จากสุดยอดศิลปินท่านอื่นๆอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการสาธิตเมนูไฮไลท์ โดยเชฟเซเลบบริตี้ชื่อดัง คุณพล ตัณฑเสถียร พร้อมด้วยการเปิดตัว 2 ผลิตภัณฑ์ใหม่เอาใจคนรักเค้กและเบเกอรี ได้แก่ Modelling Paste ผลิตภัณฑ์น้ำตาลปั้นตกแต่งเค้กสำหรับปั้นตุ๊กตารูปทรงสามมิติ และ Natural Caster Sugar น้ำตาลอ้อยธรรมชาติสำหรับเบเกอรี ซึ่งนำมาใช้ในการทำเมนูพิเศษโชว์ภายในงานด้วย

ในงานประกวด Lin Thailand Sweet Creation 2019 ยังได้จัดกิจกรรมหลากหลายด้านการทำเค้ก มี Workshop เสริมองค์ความรู้ให้แก่ผู้ที่สนใจ และในส่วนของผู้ชนะการประกวดที่ได้รับรางวัล Best in Show ทางน้ำตาลลิน จะให้ทุนสนับสนุนในการเข้าร่วมประกวดงาน Cake International 2019 ณ ประเทศอังกฤษ เพื่อเปิดโอกาสให้เป็นตัวแทนคนไทยไปสร้างผลงานและชื่อเสียงในระดับโลก นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมให้ศิลปินที่มาคว้ารางวัลจากเวทีงานประกวดของลิน ได้มีโอกาสต่อยอดในการเป็นเค้กดีไซเนอร์มืออาชีพ และกระตุ้นให้คนวงการเค้กบ้านเราเห็นถึงคุณค่าของศิลปะการทำเค้กน้ำตาลปั้น ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม ให้กับเค้ก และช่วยต่อยอดทางธุรกิจสำหรับคนที่สนใจทำเป็นอาชีพได้ด้วย

สำหรับรายชื่อผู้ที่ได้รับรางวัลจากงานประกวดเค้กน้ำตาลปั้นครั้งนี้ ได้แก่รางวัล Best in show ชื่อผลงาน Pure’s Powerโดย คุณ เดโชกุล สิงห์อำไพ

จาก https://www.naewna.com วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2562

ส่งออกทรุด-บาทแข็งสูงสุดรอบ6ปีซ้ำ-งานหินทีมเศรษฐกิจรัฐบาลใหม่นำนาวาฝ่าคลื่นวิกฤติคืนความสุขให้ชาวบ้าน

รัฐบาลใหม่ภายใต้การนำทีมของ”บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีงานหนักรออยู่ และมีอำนาจบริการเต็มที่อยู่กับมือที่จะเดินหน้าเร่งแก้ปัญหาหลายเรื่อง โดยเฉพาะเศรษฐกิจขาลงที่ไม่ใช่เฉพาะเมืองไทยเท่านั้น แต่เป็นปัญหาลามไปทั่วโลก

โดยการส่งออกของไทยในเดือนพ.ค.62 หดตัวลง สอดคล้องกับแนวโน้มการค้าโลกและอุปสงค์ของคู่ค้าสำคัญที่ชะลอตัวลงตามปัจจัยร่วมเช่น ข้อพิพาททางการค้า และภาวะการเงินโลกที่ตึงตัว และปัจจัยเฉพาะของแต่ละประเทศเช่น ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองในยุโรป เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การส่งออกไทยยังได้รับผลกระทบน้อยกว่าหลายประเทศในภูมิภาค และขยายตัวได้ดีในหลายตลาดทั้งตลาดสำคัญเดิมเช่น สหรัฐฯ และอินเดีย และตลาดดาวรุ่งใหม่เช่น แคนาดา และรัสเซียและ CIS

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยเดือน พ.ค.62 มีมูลค่า 21,017.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว 5.79% จากตลาดคาดหดตัว 5% ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 20,836.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว 0.64% ดุลการค้าเดือน พ.ค. เกินดุล 181.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

โดยเดือนพ.ค.62 การส่งออกหดตัวจากปัจจัยภายนอกเป็นสำคัญ โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากไทยเป็นห่วงโซ่การผลิตของจีน รวมทั้งการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันและทองคำที่ชะลอตัวลงจากปัจจัยราคา มูลค่าการส่งออกที่ 21,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯในเดือนนี้ถือว่ารับได้ ซึ่งถ้าอยู่ในระดับ 20,000-21,000ล้านเหรียญสหรัฐฯ ถือว่าทำได้ดีแล้ว การส่งออกของไทยในเดือนพ.ค.62 ที่ -5.79% ถือเป็นการลดลงมากสุดในรอบ 34 เดือนนับตั้งแต่เดือน ก.ค.59 ที่การส่งออกไทย -6.27%

ขณะที่ภาพรวมภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยในช่วง 5 เดือนปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.) การส่งออกมีมูลค่า 101,561.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว -2.70% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 100,830.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว -0.99% ดุลการค้าเกินดุล 731.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ทั้งนี้มองว่าปัจจัยเชิงบวกที่ยังช่วยสนับสนุนต่อการส่งออกของไทยคือ ภาพลักษณ์ของสินค้าไทยที่ดีในสายตาของต่างชาติ รวมถึงมาตรการส่งเสริมการค้าเชิงรุกเจาะตลาดรายพื้นที่ โอกาสในการทดแทนสินค้าท่ามกลางข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน อย่างไรก็ดีต้องเฝ้าระวังปัจจัยเสี่ยงภายนอก เช่น ความยืดเยื้อของข้อพิพาททางการค้าที่กลับมากดดันบรรยากาศการค้าโลกอีกครั้ง ราคาน้ำมัน และอัตราแลกเปลี่ยนที่มีความผันผวน นโยบายการค้า และการมีผลบังคับใช้ของ FTA ในประเทศต่างๆกระทบต่อความสามารถในการส่งออกของไทย

โดยในภาวะการค้าที่มีความท้าทายสูง การวางกลยุทธ์เจาะตลาดรายพื้นที่ การสนับสนุนสินค้าใหม่ที่มีศักยภาพเข้าสู่ตลาด และการขยายความร่วมมือทางการค้าในภูมิภาคจะช่วยสนับสนุนการขยายโอกาสส่งออกในหลายตลาดและสินค้า

สำหรับแนวโน้มและมาตรการส่งเสริมการส่งออกปี 2562 กระทรวงพาณิชย์มีแผนผลักดันการส่งออก โดยใช้นโยบายการค้าควบคู่กับการลงทุนและการบริการเช่น กลยุทธ์รายพื้นที่ขยายโอกาสการส่งออกในกลุ่มตลาดที่แข็งแกร่งเช่น สหรัฐฯ,อินเดีย และ CLMV และเปิดตลาดใหม่ที่เริ่มเห็นสัญญาณการขยายตัวต่อเนื่องเช่น รัสเซีย และแคนาดา อีกทั้งให้ความสำคัญกับสินค้าที่ขยายตัวสูง และมีศักยภาพในการส่งออกทดแทน อาทิ สินค้าเกษตร ประมงและอาหาร(สดและแปรรูป)ไก่ รวมถึงการผลักดันสินค้าดาวรุ่งใหม่ๆที่มีศักยภาพ ด้วยภาพลักษณ์ของสินค้าไทยที่มีคุณภาพดี มาตรฐานระดับสากล ช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค เพื่อชดเชยการชะลอตัวของสินค้าหลักกลุ่มเดิมเช่น รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ นาฬิกาและส่วนประกอบ เครื่องดื่ม เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์บำรุงผิว เป็นต้น

ทั้งนี้ในช่วงที่อัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวน ผู้ส่งออกควรเร่งทำประกันความเสี่ยง และจูงใจให้ผู้นำเข้าทำสัญญาระยะยาวเพื่อเป็นหลักประกันการซื้อขายและลดผลกระทบจากความไม่แน่นอนของข้อพิพาททางการค้าอัตราแลกเปลี่ยนในเดือนพ.ค.62 ที่แข็งค่าเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 31.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯนั้น มีผลกระทบต่อการส่งออกของไทยโดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเกษตร ซึ่งเงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่องได้อีก ดังจะเห็นได้จากล่าสุดเมื่อวันที่ 20 มิ.ย.62 เงินบาทลงไปแตะที่ระดับ 30.94 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ถือเป็นการแข็งค่าสุดในรอบ 6 ปี

“ยอมรับว่าเงินบาทที่แข็งค่าได้สร้างแรงกดดันต่อการส่งออกของไทย ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) คงไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงเงินบาทเพื่อให้เกิดความได้เปรียบทางการค้าได้ แต่เชื่อว่าเรื่องนี้ ธปท.ได้พยายามดูแลค่าเงินบาทอย่างเต็มที่แล้ว ทั้งนี้ต้องการให้ผู้ส่งออกให้ความสำคัญอย่างจริงจังกับการทำประกันความเสี่ยง รวมทั้งภาครัฐเองที่อาจมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเพื่อช่วยเพิ่มแต้มต่อให้กับการส่งออกของไทย”

ขณะที่ น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ยังมั่นใจจะผลักดันการส่งออกในปี 2562 ให้ขยายตัว 3% ตามเป้าหมาย แม้ตัวเลขส่งออกในเดือน พ.ค.62 ติดลบ 5.8% และ 5 เดือนติดลบ 2.7% โดยคาดว่าตัวเลขการติดลบจะลดลงต่อเนื่องตั้งแต่เดือน มิ.ย.62 ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับแผนการรุกตลาดใหม่ เน้นการกระจายความเสี่ยง ปูพรมให้สินค้าได้เข้าถึงทุกตลาดและเจาะลึกในพื้นที่และกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น โดยมีการจัดตั้งทีมเฉพาะ 5 ชุดเพื่อดูแลโดยตรงถึงกลุ่มเป้าหมายและแก้ปัญหาได้ทันทีหากมีปัญหา ซึ่งเป็นการทำงานกับภาคเอกชน

ส่วนเงินบาทแข็งค่าเชื่อว่าจะเป็นช่วงสั้นๆ ไม่น่าจะแข็งหลุดกว่า 30 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯนาน ขณะนี้เมื่อมีรัฐบาลใหม่เชื่อว่าจะเข้ามาดูแลในเรื่องนี้ เงินบาทแข็งน่าจะกระทบต่อการส่งออกจากนี้ลดลง และดีขึ้นตั้งแต่เดือนมิ.ย.62เป็นต้นไป

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยกล่าวว่า สถาการณ์ค่าเงินบาทขณะนี้แม้ทุกฝ่ายกำลังรอดูความชัดเจนในการเจรจาระหว่างผู้นำสหรัฐฯและจีนในการกำหนดนโยบายการตอบโต้ระหว่างกัน ซึ่งมีผลต่อสถานการณ์การค้าโลก รวมถึงการส่งออกของประเทศไทย แต่ในช่วงนี้อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประคับประคองสถานการณ์ค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ ไม่แข็งค่ามากจนเกินไป เพราะนอกจากจะมีผลกระทบโดยตรงกับการส่งออกของประเทศแล้วยังมีผลต่อรายได้ของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นเครื่องจักรสำคัญในการ ในการทำให้เศรษฐกิจของประเทศขยายตัว

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผยว่า ได้ประเมินค่าเงินบาทสัปดาห์นี้อยู่ที่ 30.60-31.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยต้องติดตามผลประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ในวันที่ 26 มิ.ย.62 และรายงานเศรษฐกิจการเงินเดือนพ.ค. ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญได้แก่ สัญญาณเกี่ยวกับแนวโน้มดอกเบี้ยของสหรัฐฯ จากถ้อยแถลงเจ้าหน้าที่เฟด ตลอดจนการประชุมจี 20 ประเด็นด้านการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน รวมถึงสถานการณ์ในตะวันออกกลาง

สำหรับเงินบาทสัปดาห์ที่ผ่านมาแข็งค่าสุดในรอบ 6 ปี โดยเงินบาทขยับอ่อนค่าลงช่วงสั้นๆ ต้นสัปดาห์ท่ามกลางแรงซื้อคืนเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แต่เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นและแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 6 ปีที่ 30.79 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ หลังผลการประชุมเฟด ซึ่งแม้ว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิมในการประชุมรอบนี้ แต่ได้ส่งสัญญาณว่าอาจจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า ท่ามกลางความกังวลต่อประเด็นสงครามการค้าและแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจ

ขณะที่ความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย ดัชนีหุ้นไทย แตะระดับสูงสุดที่ 1,727.83 จุด ก่อนจะกลับมาปิดปลายสัปดาห์ที่ 1,717.14 จุด เพิ่มขึ้น 2.68% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 75,145.66 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 56.78% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai เพิ่มขึ้น 0.97% จากสัปดาห์ก่อน มาปิดที่ 359.30 จุด

โดยดัชนีตลาดหุ้นไทยย่อตัวลงช่วงสั้นๆ ต้นสัปดาห์ ตามแรงขายของนักลงทุนต่างชาติ ก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นในเวลาต่อมา มีปัจจัยหนุนจากความคืบหน้าเกี่ยวกับการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ความคาดหวังเชิงบวกต่อการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมถึงสัญญาณการลดดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ขณะที่ นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิหุ้นไทยต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ดัชนีหุ้นไทยลดช่วงบวกลงเล็กน้อยช่วงปลายสัปดาห์ หลังจากตัวเลขการส่งออกของไทยเดือนพ.ค. ยังคงหดตัวลง

สำหรับสัปดาห์นี้(24-28 มิ.ย.)บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,710 และ 1,700 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,740 และ 1,765 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามได้แก่ การประชุม กนง.ในวันที่ 26 มิ.ย.62 การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนในการประชุม G20 วันที่ 28-29 มิ.ย.62 สถานการณ์ในตะวันออกกลาง รวมถึงถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดระดับสูง ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯที่สำคัญได้แก่ ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศ ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน รวมถึงรายได้และรายจ่ายส่วนบุคคลเดือนพ.ค.62 ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจเดือนมิ.ย.62 ของยูโรโซน

มาถึงวันนี้ ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ต้องทำงานทันที ไม่มีฮันนีมูน และต้องมีนโยบายด้านเศรษฐกิจที่เด่น เร่งสร้างผลงานให้ปรากฎภายใน 3-6 เดือน นโยบายต้องเร่งดำเนินการเป็นพิเศษคือ ปากท้องของประชาชน ทั้งในเรื่องผลักดันราคาสินค้าเกษตรให้สูงขึ้น ถ้าราคาสินค้าเกษตรสูงขึ้นทำให้เศรษฐกิจในต่างจังหวัดปรับตัวดีขึ้น กระจายการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐไปให้พื้นที่ เพื่อให้เกิดการจ้างงานของคนต่างจังหวัดมากขึ้น ถ้าทำได้ทั้งหมดจะทำให้เศรษฐกิจต่างจังหวัดคึกคัก

ขณะที่การรับมือเศรษฐกิจต่างประเทศจากปัญหาสงครามการค้า คาดว่าจะสร้างผลกระทบต่อการส่งออกของไทย ทำให้ส่งออกของไทยในปีนี้อยู่ในระดับกว่า 3% รัฐบาลต้องผลักดันการส่งออกผ่านทูตพาณิชย์ รวมถึงต้องอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการเพื่อให้การส่งออกของไทยขยายตัว รวมทั้งต้องดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าเกินไป ส่วนนโยบายด้านการท่องเที่ยวต้องให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว รวมถึงต้องดูแลอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวให้ผ่าน ตม.เข้ามาเที่ยวเมืองไทยรวดเร็วมากขึ้น จากขณะนี้นักท่องเที่ยวต้องต่อแถวยาวเพื่อผ่านตม.เข้ามาในไทย ซึ่งใช้เวลาพอสมควร

งานนี้ถือเป็นวิกฤติซ้ำในวิกฤติต้องเร่งเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนกลับมาให้เร็วที่สุด รัฐบาลชุดใหม่เป็นคณะรัฐมนตรีที่ชาวบ้านคาดหวังในการทำงานสูง โดยเฉพาะทีมเศรษฐกิจส่วนนี้จะเป็นการพิสูจน์มันสมองของทีมเศรษฐกิจว่าจะมีไม้เด็ดอะไรออกมารับมือกับสถานการณ์ที่ทั้งส่งออกติดลบมากสุดในรอบ 34 เดือน-เงินบาทแข็งโป๊กในรอบ 6 ปี-ผลกระทบจากสงครามการค้าของสหรัฐฯกับจีนที่ยืดเยื้อยาวนาน

บททดสอบทางเศรษฐกิจครั้งนี้ ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่จะแก้ปัญหาได้จริง และทำได้ทันทีหรือไม่ ต้องจับตาเมื่อเริ่มบริหารประเทศว่าจะนำพาเมืองไทยฝ่าคลื่นเศรษฐกิจลูกใหญ่ได้อย่างไร อีกไม่นานรู้กันผลงานจะเป็นเครื่องพิสูจน์

จาก https://siamrath.co.th  วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2562

กลุ่มปตท.ลงทุน1แสนล้าน ผุดท่าเรือรับอีอีซี-ผลิตพลังงานสะอาด

นางอรวดี โพธิสาโร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลยุทธ์องค์กร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)(ปตท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ปตท. เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2562มีมติอนุมัติให้ทบทวนแผนการลงทุน ของ ปตท.และบริษัทย่อยที่ ปตท. ถือหุ้น 100% ทั้งหมดโดยอนุมัติให้ปรับเพิ่มแผนการลงทุนสำหรับปี 2562 จากเดิม 70,501 ล้านบาท เป็น 103,697 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 33,196 ล้านบาท

สำหรับงบประมาณการลงทุนปี 2562 ที่ได้มีการปรับเพิ่มขึ้นนั้น ปตท. จะมุ่งเน้นการลงทุนบริษัทในเครือ เพื่อขยายธุรกิจไฟฟ้าและพลังงานทดแทน และลงทุนในธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 พร้อมเร่งแสวงหาโอกาสในการเรียนรู้เทคโนโลยีและตลาดใหม่ๆ ในต่างประเทศ รวมถึงการลงทุนต้นแบบด้านเครื่องจักรกล และปัญญาประดิษฐ์ (Robotics/AI) หรือการลงทุนในรูปแบบ Venture Capital เพื่อการเติบโตในระยะยาว

นอกจากนี้ ปตท. อยู่ระหว่างการพิจารณาทิศทางกลยุทธ์ขององค์กร และเตรียมปรับ Portfolio ของการลงทุนในอีก10 ปีข้างหน้า โดยเน้นการพัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์ด้วยนวัตกรรม การเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในพลังงานสะอาด ตลอดจนการดำเนินธุรกิจที่ช่วยสนับสนุนให้สังคมและชุมชนอยู่ได้อย่างยั่งยืน

“ปตท. เตรียมนำแผนการลงทุนระยะยาวดังกล่าว เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ ปตท.ในเดือนธันวาคม 2562 ต่อไป” นางอรวดี กล่าว

มีรายงานแจ้งว่า สำหรับแผนลงทุนของบริษัทในเครือปตท. ก่อนหน้านี้ พีทีที แทงค์มีแผนลงทุนในโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1) โดยมีกลุ่มกิจการร่วมค้ากัลฟ์ เป็นพันธมิตร

นอกจากนี้ ยังมีโครงการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ที่ร่วมโครงการลงทุนในนามกลุ่มกิจการร่วมค้าจีพีซี (ประกอบด้วยบมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์, บจ.พีทีทีแทงค์ เทอร์มินัล และ บจ.ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จากประเทศจีน)

จาก https://www.naewna.com วันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2562

กรมฝนหลวงฯบินช่วยพื้นที่เกษตร

กรมฝนหลวงฯ สรุปผลการปฏิบัติงาน 20 มิ.ย.62 รวม 6 หน่วย เป้าหมายช่วยพื้นที่เกษตรตามร้องขอ

กรมฝนหลวงและการบินเกษตร สรุปผลการปฏิบัติงาน ประจำวันที่ 20 มิถุนายน 2562 จำนวน 6 หน่วยฯ มีดังนี้

1.หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดตาก บินปฏิบัติการฝนหลวง เวลา 15:04 น. โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่มีการร้องขอ จ.เพชรบูรณ์ ทำให้มีฝนตกเล็กน้อยบริเวณพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์(บึงสามพัน วิเชียรบุรี)

2.หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดนครราชสีมา บินปฏิบัติการฝนหลวง เวลา 14:24 น. โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักในพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนลำพระเพลิง ทำให้มีฝนตกเล็กน้อยบริเวณพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนลำพระเพลิง จ.นครราชสีมา(วังน้ำเขียว)

3.หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดลพบุรี บินปฏิบัติการฝนหลวง เวลา 11:18 น. โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่มีการร้องขอ จ.เพชรบูรณ์ จ.ลพบุรี จ.นครสวรรค์ และเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักในพื้นที่ลุ่มรับน้ำอ่างเก็บน้ำกุดตาเพ็ชร ทำให้มีฝนตกเล็กน้อยบริเวณพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์(วิเชียรบุรี) จ.ลพบุรี(ลำสนธิ) จ.นครสวรรค์(ท่าตะโก) และพื้นที่ลุ่มรับน้ำ อ่างเก็บน้ำกุดตาเพ็ชร จ.ลพบุรี

4.หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดราชบุรี บินปฏิบัติการฝนหลวง เวลา 11:15 น. โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่มีการร้องขอ จ.ราชบุรี จ.กาญจนบุรี และเพิ่มปริมาณน้ำกักเก็บในพื้นที่ลุ่มรับน้ำอ่างเก็บน้ำห้วยสำนักไม้เต็ง ทำให้มีฝนตกเล็กน้อยบางแห่งบริเวณพื้นที่ จ.ราชบุรี(จอมบึง สวนผึ้ง บ้านคา ปากท่อ เมืองราชบุรี) จ.กาญจนบุรี (ด่านมะขามเตี้ย ท่าม่วง) และพื้นที่ลุ่มรับน้ำอ่างเก็บน้ำห้วยสำนักไม้เต็ง จ.ราชบุรี

5.หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดสระแก้ว บินปฏิบัติการฝนหลวง เวลา 10:50 น. โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่มีการร้องขอ จ.ฉะเชิงเทรา ทำให้มีฝนตกเล็กน้อยบริเวณพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา(พนมสารคาม สนามชัยเขต)

6.หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดสุราษฎร์ธานี บินปฏิบัติการฝนหลวง เวลา 10:47 น. โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่มีการร้องขอ จ.นครศรีธรรมราช ทำให้มีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลางบริเวณพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช(นบพิตำ)

จาก https://www.innnews.co.th วันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2562

ครม.คลอดแผนแม่บทจัดการน้ำ20ปี

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)เมื่อวันที่ 18 มิถุนายนที่ผ่านมา ผ่านความเห็นชอบแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี พ.ศ.2561 – 2580 ประกอบด้วย 6 ด้านหลักได้แก่ 1.จัดการน้ำอุปโภคบริโภค 2.สร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต 3.จัดการน้ำท่วมและอุทกภัย 4.จัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ 5.อนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและป้องกันการพังทลายของดิน และ 6.การบริหารจัดการทั้งนี้ แผนแม่บทบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี เป็นส่วนหนึ่งของ 3 เสาหลักบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ ประกอบด้วย เสาแรกคือ กฎหมายได้ประกาศใช้พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2562 เสาที่สอง แผนแม่บท ซึ่ง ครม.ผ่านความเห็นชอบแผนแม่บทบริหารจัดการทรัพยากรน้ำดังกล่าว และเสาที่สาม หน่วยงานหลักบริหารจัดการน้ำที่มีเอกภาพ ซึ่งหัวหน้า คสช.มีคำสั่งที่ 46/2560 จัดตั้งสทนช.ให้เป็นหน่วยงานหลักด้านนโยบายบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ เพื่อลดความซ้ำซ้อนของหน่วยงานด้านน้ำที่มีอยู่กว่า 40 หน่วยงานใน 7 กระทรวง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้ปรับปรุงบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศเพิ่มเสาหลักที่ี่สี่คือ พัฒนาองค์ความรู้ นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่จะขับเคลื่อนแผนแม่บทให้ไปสู่เป้าหมายตามวิสัยทัศน์ที่กำหนดไว้คือ ทุกหมู่บ้านมีน้ำสะอาดอุปโภค บริโภค น้ำเพื่อการผลิตมั่นคง โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

สำหรับสาระสำคัญในแผนแม่บทน้ำฯประกอบด้วย 3 ประเด็นหลักคือ 1.กำหนดตัวชี้วัดเชิงผลผลิตเพิ่มเติม 2.กำหนดหน่วยงานหลักและหน่วยงานสนับสนุน มีภาคเอกชนมาร่วมด้วย และ3.กำหนดพื้นที่เป้าหมายที่ต้องการแก้ปัญหาร่วมกัน โดยเฉพาะแก้ปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ (Area Based) 66 พื้นที่ 34.62 ล้านไร่ ทั้งนี้ เพื่อให้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี เป็นกลไกบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างบูรณาการ สร้างความสมดุลระหว่างพัฒนาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน โดยตั้งเป้าหมายให้ทุกหมู่บ้านเข้าถึงดื่มสะอาดได้มาตรฐานและราคาที่เหมาะสม 75,032 หมู่บ้าน ภายในปี 2573 มีการพัฒนาน้ำต้นทุน 27,299 ล้าน ลบ.ม. ทั้งแหล่งน้ำใหม่และพื้นที่เกษตรน้ำฝน เพิ่มพื้นที่กระจายน้ำ 31 ล้านไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ชลประทาน 18 ล้านไร่ และพื้นที่เกษตรน้ำฝน 13 ล้านไร่ พัฒนาแหล่งน้ำชุมชนเพื่อการเกษตร 10,000 แห่ง ได้ปริมาณน้ำ 6,000 ล้าน ลบ.ม. ป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ 764 แห่ง ลดผลกระทบจากอุทกภัย 15 ล้านไร่ พัฒนาระบบบำบัดน้ำเสีย 741 แห่ง ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ 3.5 ล้านไร่ สร้างฝายชะลอน้ำ 541,894 แห่ง

 “สทนช.ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางอำนวยการกำกับขับเคลื่อนแผนแม่บทบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ติดตามประเมินผลดำเนินงานของหน่วยงานให้เป็นไปตามเป้าหมายแผนแม่บทบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปีที่กำหนดไว้สอดคล้องตามพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561” เลขาธิการ สทนช. กล่าว

จาก https://www.naewna.com วันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2562

สอน.ลงพื้นที่กาฬสินธุ์ตรวจสอบข้อเท็จจริง หลังโรงงานน้ำตาลอีสาน ถูกร้องเรียนผลกระทบสิ่งแวดล้อม

นายสมพล โนดไธสง รองเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวถึงการลงพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลังโรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาลอีสานถูกร้องเรียนจากชุมชนเรื่องการสร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยระบุว่าสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ไม่ได้เพิกเฉยต่อสถานการณ์ดังกล่าว เพื่อศึกษาผลกระทบด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบทางอากาศ ที่เกิดจากฝุ่นละออง ได้มีการปรับปรุงแก้ไขนำแผ่นยางพลาสติกปกคลุมเพื่อป้องกันการฟุ้งกระจาย ผลกระทบด้านกลิ่น ที่เกิดจากกระบวนการผลิตต้มเคี่ยวน้ำตาล ปัจจุบันโรงงานได้หยุดการผลิตแล้ว และผลกระทบด้านเสียงดัง ที่เกิดจากการที่บรรทุกอ้อยวิ่งผ่านหมู่บ้าน ได้แก้ปัญหาด้วยการทำถนนเส้นทางเลี่ยงหมู่บ้าน

“สอน.มีหน้าที่ในการให้คำแนะนำให้โรงงานมีมาตรการป้องกันปัญหาไม่ให้ก่อผลกระทบ ให้โรงงานมีความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชน มีกิจกรรมช่วยเหลือ โดยเฉพาะในด้าน CSR สร้างความไว้วางใจให้กับชุมชนโดยรอบโรงงาน” นายสมพล กล่าว

ด้าน นายพิพัฒน์ จรรยาจรัสพร ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทอุตสาหกรรมน้ำตาลอีสาน กล่าวว่า โรงงานได้ปรับปรุงระบบสายพานลำเลียงที่เป็นระบบ เพื่อไม่ให้ฝุ่นเล็ดรอดออกมา แต่ถ้ามีฝุ่นออกมา ทางโรงงานได้มีการเตรียมระบบสเปรย์น้ำ หรือถ้ามีกองขยะ ก็จะมีผ้าสีฟ้าคลุมกองกาก นอกจากนี้ ก็ได้มีสแลนสำหรับกันฝุ่น กันลมด้วย.

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 12 มิถุนายน 2562

เร่งช่วยชาวไร่อ้อยยืมเงินร่วมลงทุนบริษัทน้ำตาลถูกฟ้อง

กาฬสินธุ์ประชุมคณะทำงานให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อย ที่ยืมเงินร่วมลงทุนบริษัทน้ำตาลและถูกฟ้องร้องทางแพ่ง

จากกรณีเกษตรกรชาวไร่อ้อยใน อ.หนองกุงศรี จ.กาฬสินธุ์ จำนวน 16 คน ซึ่งเป็นผู้ที่ได้โควตาอ้อยส่งให้กับบริษัทน้ำตาลแห่งหนึ่งในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ เดินทางเข้าร้องทุกข์และขอความเป็นธรรมกับศูนย์ปฏิบัติการป้องกันปราบปราม การฉ้อโกงทรัพย์สินของประชาชน ตำรวจภูธร จ.กาฬสินธุ์ โดยชาวบ้านระบุว่าได้ทำสัญญาร่วมทุนกับบริษัทน้ำตาลดังกล่าว แล้วนำโฉนดที่ดินและเอกสารเกี่ยวกับหลักทรัพย์ต่างๆ มาวางเป็นหลักค้ำประกัน ก่อนที่จะยืนเงินไปลงทุนรับซื้ออ้อยจากเกษตรกร เพื่อป้อนให้กับโรงงาน ซึ่งทางโรงงานจะทำการหักเงินเพื่อใช้หนี้ โดยเกษตรกรได้ส่งอ้อยเข้าสู่โรงงานจำนวนหลายร้อยตันเป็นเวลาหลายปี แต่หนี้สินที่ยืมมากลับไม่ลดลง แถมยังมียอดหนี้เพิ่มขึ้น และไม่มีเอกสารชี้แจงรายละเอียดใดๆ ทำให้เกษตรกรหลายรายถูกทางบริษัทดังกล่าวฟ้องร้องล่าสุดที่ห้องประชุมดอกพะยอม ศาลากลาง จ.กาฬสินธุ์ นายสนั่น พงษ์อักษร รองผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานการประชุมคณะทำงานให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อย โดยมีคณะทำงาน เข้าร่วมประชุมเพื่อสอบถามข้อเท็จจริง และเร่งช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่อ้างว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม จากกรณีเกษตรกรชาวไร่อ้อย ซึ่งเป็นผู้ที่ได้โควตาอ้อยส่งให้กับบริษัทน้ำตาลแห่งหนึ่ง ได้ทำสัญญาร่วมทุนกับบริษัทน้ำตาล แล้วนำโฉนดที่ดินมาวางเป็นหลักค้ำประกันยืมเงินไปลงทุนรับซื้ออ้อยจากเกษตรกร เพื่อป้อนให้กับโรงงาน โดยมีการหักหนี้ทุกครั้ง แต่หนี้สินที่ยืมมากลับไม่ลดลง ทำให้เกษตรกรหลายรายถูกทางบริษัทดังกล่าวฟ้องร้อง จนศาลตัดสิน ถูกยึดที่นา และอยู่ระหว่างการบังคับคดีขายที่นา

ทั้งนี้ในการช่วยเหลือในเบื้องต้น คณะทำงานฯ ได้มอบหมายให้ศูนย์ดำรงธรรม จ.กาฬสินธุ์ประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อค้นหาข้อมูล เอกสาร และหลักฐานที่เกษตรกรชาวไร่อ้อยอ้างว่าได้ส่งอ้อยเข้าสู่โรงงาน เพื่อนำไปหักล้างหนี้สิน และให้ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดทำหนังสือเชิญเจ้าหนี้และลูกหนี้มาประชุมร่วมกันเพื่อไกล่เกลี่ย ไม่ให้เข้าสู่กระบวนการฟ้องร้อง โดยทางจังหวัดกาฬสินธุ์จะให้ความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย

จาก https://www.innnews.co.th วันที่ 12 มิถุนายน 2562

ครม.ไฟเขียว แก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้ ภายใน3ปี รับเข้าหีบได้0-5% ต่อวัน

ครม.เคาะแก้ปัญหาอ้อยไฟไฟไหม้ ภายใน 3 ปี ต้องลดเหลือ0-5%ต่อวันเท่านั้น พร้อมขยายสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร  3 ปี รวมวงเงิน 6,000 ล้านบาท

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า(11 มิ.ย.62) ว่า ครม.มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอก่อน ในการแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้ รวม3 มาตรการดังนี้    1.มาตรการทางกฎหมาย  โดยจะมีการออกระเบียบให้ทันในฤดูการผลิตปี 2562/2563 กำหนดให้โรงงานน้ำตาลจะรับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบได้ไม่เกินร้อยละ 30 ต่อวัน  สำหรับในฤดูการผลิต ปี 2563 /2564 โรงงานน้ำตาลจะรับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบได้ไม่เกินร้อยละ 20 ต่อวัน  และในฤดูการผลิตปี 2564/2565 จะลดปริมาณอ้อยไฟไหม้เข้าหีบเพียงร้อยละ 0-5 ต่อวัน  ซึ่งจะทำให้อ้อยไฟไหม้หมดไปภายในภายใน 3 ปี

    2.มาตรการสนับสนุนจากภาครัฐในการสนับสนุนเครื่องจักรกลการเกษตร  ซึ่งจะขยายโครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจรปี 2562 - 2564 รวมทั้งจะนำเสนอมาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการผลิตรถตัดอ้อยไทยด้วยการเพิ่มศักยภาพการผลิตและจำหน่ายให้เพียงพอกับความต้องการและส่งเสริมการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน   โดยการใช้รถตัดอ้อย และเครื่องจักรกลการเกษตรอื่น ๆ นำไปจดทะเบียนเครื่องจักรตามกฎหมายกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม  เพื่อนำไปเป็นสินทรัพย์ค้ำประกันกับแหล่งเงินกู้ได้อีกด้วย

   3. มาตรการขอความร่วมมือด้านการบริหารจัดการเพื่อเป็นต้นแบบการเก็บเกี่ยวและการขนส่งอ้อยให้โรงงาน  โดยความร่วมมือจากโรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อยในฤดูการผลิต ปี 2562/2563 เพื่อกำหนดพื้นที่ปลอดการเผาอ้อย  เป็นจังหวัดต้นแบบปลอดการเผาอ้อย  ตัดอ้อยสด  ร้อยละ 100 ในแต่ละภาค รวม 5 จังหวัดได้แก่  จังหวัดกาญจนบุรี  จังหวัดราชบุรี  จังหวัดชัยภูมิ  จังหวัดเลย  และจังหวัดอุตรดิตถ์  การจัดการพื้นที่ลดการเผาอ้อยรอบชุมชนในรัศมี 5 กิโลเมตร   และรอบโรงงานน้ำตาลในรัศมี 10 กิโลเมตร  และการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำหนดคิวรับอ้อยสดและอ้อยไฟไหม้

    นอกจากนี้ ครม.ยังเห็นชอบขยายโครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร  ปี 2562 - 2564  โดยโครงการส่งเสริมสินเชื่อฯ ให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณที่สนับสนุนสินเชื่อแก่เกษตรกร  กลุ่มเกษตรกร  สหกรณ์การเกษตร สถาบันชาวไร่อ้อย  กลุ่มบุคคลและวิสาหกิจชุมชน  วงเงินกู้ปีละ 2,000 ล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 6,000 ล้านบาท (งบประมาณปี พ.ศ. 2562-2564) จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยใช้จากวงเงิน 10,000 ล้านบาท  ของเงินกู้ยืมสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการปลูกอ้อย (เงินเกี๊ยว) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2549 และเห็นควรให้ ธ.ก.ส. เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี  ตามผลการดำเนินการจริงตามขั้นตอนต่อไป   ภายในกรอบวงเงินงบประมาณชดเชยดอกเบี้ยประมาณ 599.43 ล้านบาท  โดยให้โรงงานน้ำตาลเป็นผู้ค้ำประกันและให้รัฐบาลช่วยรับภาระชดเชยดอกเบี้ยส่วนเกิน  ดังนี้

  1. กำหนดระยะเวลาการชำระคืนเงินกู้เสร็จสิ้นตามโครงการเช่นเดียวกับโครงการเดิมโดยแยกตามวัตถุประสงค์การกู้เงิน  หากเป็นเงินกู้เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำและการบริหารจัดการน้ำในไร่อ้อยและปรับพื้นที่ปลูกอ้อย กำหนดชำระคืนเงินกู้เสร็จสิ้นไม่เกิน 4 ปี  และหากเป็นเงินกู้เพื่อซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรกำหนดชำระคืนเงินกู้เสร็จสิ้นไม่เกิน 6 ปี

  2.สำหรับอัตราดอกเบี้ย   เห็นควรยึดตามหลักการของโครงการเดิมที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติไว้  เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2559 เนื่องจากการดำเนินโครงการตามนโยบายรัฐบาลในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ผ่านมาในลักษณะที่คล้ายคลึงกันได้ชดเชยดอกเบี้ยในอัตราไม่เกินร้อยละ 3 ต่อปี  ประกอบกับเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ผ่านการพิจารณาของ ธ.ก.ส. แล้ว ประกอบด้วย

    สำหรับเกษตรกรรายบุคคล  คิดดอกเบี้ยในอัตรา MRR  (ปัจจุบัน MRR เท่ากับร้อยละ 7 ต่อปี) โดยเรียกเก็บจากผู้กู้ในอัตรา MRR  - 5  (หรือปัจจุบันเท่ากับร้อยละ 2 ต่อปี) รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส. แทนผู้กู้ในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี  และ  ธ.ก.ส. รับภาระในอัตราร้อยละ 2 ต่อปี

    ส่วนกลุ่มเกษตรกร  สหกรณ์การเกษตร  สถาบันชาวไร่อ้อย  กลุ่มบุคคลและวิสาหกิจชุมชน คิดดอกเบี้ยในอัตรา MLR (ปัจจุบัน MLR เท่ากับร้อยละ 5 ต่อปี) โดยเรียกเก็บจากผู้กู้ในอัตรา MLR - 3 (หรือปัจจุบันเท่ากับร้อยละ 2 ต่อปี) รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส. แทนผู้กู้ในอัตราร้อยละ 2 ต่อปี และ ธ.ก.ส. รับภาระในอัตราร้อยละ 1 ต่อปี

   กรณีการกู้เงินเพื่อจัดซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร  ประเภทรถแทรกเตอร์หรือรถบรรทุกคิดดอกเบี้ยในอัตรา MLR - 1 (หรือปัจจุบันเท่ากับร้อยละ 4 ต่อปี) จากประเภทผู้กู้  (เกษตรกรรายบุคคล    กลุ่มเกษตรกร  สหกรณ์การเกษตร  สถาบันชาวไร่อ้อย  กลุ่มบุคคล และวิสาหกิจชุมชน) รัฐบาลไม่ต้องชดเชยดอกเบี้ยในส่วนนี้  และ ธ.ก.ส. รับภาระในอัตราร้อยละ 1 ต่อปี

  โดยให้กระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้ถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย  มติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องและพันธกรณีระหว่างประเทศ   รวมทั้งให้รับความเห็นของกระทรวงพาณิชย์   กระทรวงมหาดไทย   สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 11 มิถุนายน 2562