http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล (เดือนมิถุนายน 2565]

“น้ำตาลบุรีรัมย์” รุกแตกไลน์ขาย ”ขายคาร์บอนเครดิต”

ปัจจุบันองค์การชั้นนำระดับโลกต่างให้ความสำคัญกับการลงทุนเพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อน ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นกลยุทธ์ทางการตลาด นำไปสู่การสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจและความยั่งยืนของธุรกิจในอนาคต

บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BBR เป็นหนึ่งในบริษัทที่มุ่งไปสู่การลงทุน เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการจัดทำคาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กร โดยตั้งเป้าจะนำไปขายเป็นคาร์บอนเครดิต หรือทำการชดเชยคาร์บอนกับองค์กรอื่นๆ ในอนาคต เพื่อมุ่งสู่การเติบโนอย่างยั่งยืน “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “อนันต์  ตั้งตรงเวชกิจ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.น้ำตาลบุรีรัมย์ หรือ BBR หนึ่งในผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมน้ำตาลของภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากว่า 50 ปี ถึงแผนธุรกิจปัจจุบัน และทิศทางการลงทุนในอนาคต

ธุรกิจหลักที่ดำเนินการอยู่

ในอดีตอ้อยใช้ผลิตเป็นน้ำตาลทรายเพียงอย่างเดียว แต่ปัจจุบันนำไปต่อยอดเพื่อใช้ผลิตเป็นพืชพลังงาน ได้แก่เอทานอล เพื่อทดแทนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์  ผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาลทรายยังนำไปต่อยอดเพื่อผลิตปุ๋ยอินทรีย์ กากอ้อยใช้ผลิตไฟฟ้าชีวมวลและผลิตภัณฑ์อื่นๆ เพื่อเพิ่มมูลค่า ทั้งเป็นภาชนะย่อยสลายได้ และผลิตภัณฑ์ชีวภาพต่างๆ ทำให้ปัจจุบันบริษัทแบ่งธุรกิจหลักออกเป็น 4 กลุ่ม

1.กลุ่มน้ำตาลเป็นธุรกิจหลัก จาก 3 โรงงานผลิต ได้แก่ บจ.โรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์(BSF) บจ.โรงงานน้ำตาลชำนิ(CSF) และบจ.น้ำตาลบุรีรัมย์ (BSC) มีกำลังการหีบอ้อยรวม 23,000 ตัน/วัน โดยมีชาวไร่อ้อยที่ไปส่งเสริมไว้กว่า 2 แสนไร่ ซึ่งผลผลิตอ้อยของบริษัทมีค่าความหวานของอ้อย (CCS) อยู่ที่ 13.8 สูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วประเทศ ทั้งนี้น้ำตาลทรายดิบที่ผลิตได้ 70-80 % ส่งออกที่เหลือขายตลาดภายในประเทศให้ลูกค้ากลุ่มโมเดิร์นเทรด ภายใต้แบรนด์ BRUM มีทั้งน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ น้ำตาลทรายขาวสีรำ

2.ธุรกิจปุ๋ย โดยบจ.ปุ๋ยตรากุญแจ(KBF) มีปุ๋ยแคมี กำลังการผลิต 20,000 ตันต่อปี ทั้งแบบเม็ดและแบบน้ำ ปุ๋ยอินทรีย์เคมี และปุ๋ยอินทรีย์ กำลังการผลิต 7 หมื่นตันต่อปี ขึ้นกับอ้อยที่เข้าหีบเริ่มก่อตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยชาวไร่อ้อยในเครือข่าย ตอนนี้เริ่มขยายไปสู่ตลาดภายนอก และจะทำตลาดภายนอกเพิ่มขึ้น เช่น สวนเมล่อนต่างๆ ขณะเดียวกันอยู่ระหว่างการศึกษาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เช่นสมุนไพรต่างๆ อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ได้รับผลกระทบจากแม่ปุ๋ยที่มีราคาสูงขึ้น

3. ธุรกิจโลจิสติกส์ ดำเนินการโดยบจ.บีอาร์อาร์ โลจิสติกส์ แมเนจเมนท์(BRLM) ขนส่งน้ำตาลในกลุ่มบริษัทและมีการทำธุรกิจขนส่งภายนอกด้วย เช่น การขนส่งแร่ทรายแก้ว และธุรกิจต่างๆ

4. ธุรกิจโรงไฟฟ้า ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าชีวมวล 3 แห่ง ได้แก่ บจ.บุรีรัมย์พลังงาน (BEC) บจ.บุรีรัมย์เพาเวอร์(BPC) บจ.บุรีรัมย์เพาเวอร์พลัส (BPP) มีกำลังการผลิตรวม 29.07 เมกะวัตต์  แต่ละแห่งมีกำลังผลิต 9.9 เมกะวัตต์ ใช้วัตถุดิบจากกากอ้อยเป็นหลักแต่สามารถใช้วัตถุดิบอื่นๆได้ ทั้งไม้สับและแกลบมีสัญญาซื้อขายระยะยาวกับทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

นโยบายทิศทางการลงทุน

กลยุทธ์การเติบโตของ BBR  มีแผนมุ่งสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน เนื่องจากสินค้าโภคภัณฑ์มีความผันผวนสูง เพื่อลดการพึ่งพารายได้จากธุรกิจน้ำตาลเพียงอย่างเดียว ต่อไปการพัฒนาการลงทุนของบริษัทจะให้ความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และนโยบายของรัฐบาล หรือที่เรียกสั้นๆว่า ESC(Environment ,Socil,Govermance)ตามทิศทางการพัฒนาของตลาดทุนทั้งในไทยและทั่วโลกให้ความสำคัญ ในปีนี้จะผลักดันเน้นเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ ธุรกิจทุกเซ็กชั่นจะเน้นด้านความยั่งยืนอยู่แล้ว ตั้งแต่ปี 2559 ได้รับใบรับรองการทำคาร์บอนฟุตพรินต์ในการผลิตผลิตภัณฑ์น้ำตาล และจะเริ่มศึกษาการทำคาร์บอนฟุตพรินต์หรือการลดก๊าซเรือนกระจกระดับองค์กรช่วยโลกลดภาวะโลกร้อน เพราะเรื่องคาร์บอนฟุตพรินต์  ภาวะโลกร้อนน่าจะเป็นเรื่องใหญ่ที่หลายธุรกิจจะต้องปรับตัว ดังจะเห็นตัวอย่างในประเทศจีนปรับตัวอย่างแรงในเรื่องนี้

เรามุ่งพัฒนานโยบายโปรดักต์จากอ้อยมาต่อยอดสู่ความยั่งยืน อย่างธุรกิจบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อย และธุรกิจเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง(wood pellet) เป็นการบริหารความเสี่ยงและต่อยอดผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย โดยในส่วนธุรกิจบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อย สำหรับใส่อาหาร บรรจุภัณฑ์ทางการแพทย์และบรรจุภัณฑ์สำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ฯลฯ ภายใต้การดำเนินงานของ บจ.ชูการ์เคนอีโคแวร์(SEW)บริษัทได้หาพันธมิตรที่มีศักยภาพมาร่วมลงทุน ตอนนี้อยู่ระหวางก่อสร้างโรงงานผลิตเยื่อชานอ้อย งบลงทุน 100 ล้านบาท สำหรับเป็นวัตถุดิบให้แก่โรงงานผลิตลรรจุภัณฑ์เป็นโนว์ฮาวของบริษัทเองจะทำให้มีต้นทุนวัตถุดิบในราคาที่ต่ำลงจากที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ คาดว่าในปี 2565 จะกลับมามีกำไร จากการเดินเครื่องได้เต็มกำลังการผลิตสอดคล้องกับคำสั่งซื้อจากลูกค้าต่างประเทศซึ่งเป็นสัญญาจองซื้อระยาวเฟสแรกรวมจำนวนกว่า 15 ล้านชิ้นต่อเดือนและในประเทศประมาณ 3 ล้านชิ้นต่อเดือน โดยเตรียมขยายเฟส 2 ในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 สำหรับลงทุนในเครื่องจักรเพิ่มอีก 14 เครื่อง

ในส่วนธุรกิจเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง(wood pellet) ได้จัดตั้งบริษัท บีอาร์อาร์ กรีน โฮลดิ้ง จำกัด (BGH) ร่วมทุนกับบริษัท Kyuden Mirai Energy หรือ KME ตั้งโรงงานวู้ดพาเลตใน สปป.บาวซึ่งพาร์ตเนอร์ KME มีศักยภาพเป็นทั้งผู้ร่วมลงทุนและให้เงินลงทุนดอกเบี้ยต่ำ พร้อมทำสัญญารับซื้อระยะยาว 15 ปี ตอนนี้อยู่ระหว่างเตรียมก่อสร้างโรงงาน คาดจะเริ่มก่อสร้างโรงงานภายในเดือน มิ.ย.-ก.ค.นี้ และจะเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ได้ตามแผนภายในไตรมาส 2 ปี 2566 มีขนาดกำลังผลิต 100,000 ตัน/ปี จะสร้างรายได้ประมาณ 500 ล้านบาทต่อปี

นอกจากนี้เมื่อช่วงต้นปี 2565 มีการปรับโครงสร้างของธุรกิจนี้ ได้จัดตั้งบริษัทที่ปรึกษาทางด้านวิศวกรรมเพื่อผลิตเครื่องจักรในการผลิตวุ้ดพาเลตขายให้กับบริษัทต่างๆ เพราะในกลุ่มมีผู้เชี่ยวชาญด้านวู้ดพาเลต และจะดำเนินงานอย่างครบวงจร

อนาคตทำวู้ดพาเลตขายคาร์บอนเครดิตได้

ถือเป็นผลพลอยได้ เพราะเรื่องคาร์บอนเครดิต คาร์บอนฟุตพรินต์ต่างๆ เป็นเรื่องใหญ่ โรงงานวู้ดพาเลตที่เราทำอยู่ในอนาคตสามารถหารายได้เพิ่มการขายคาร์บอนเครดิต ถือเป็นผลพลอยได้ที่เป็นกอบเป็นกำขึ้นมาได้ เรามีโนว์ฮาวคนพร้อมมาลงทุนให้เรา เพื่อนำไปเคลมคาร์บอนเครดิต ทำเราไม่ต้องหาเงินกู้เหมือนบริษัทที่ลาว บริษัทญี่ปุ่นมาพร้อมเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ พร้อมซื้อวู้พาเพลตเพื่อนำไปเคลมคาร์บอนเครดิตเป็นหลัก

ตอนนี้แผนการลงทุนวู้ดพาเลตเฟสต่อไปใน สปป.ลาว จริงๆ มีลูกค้าเข้ามาคุยกับเราแล้ว เป็นพาร์ตเนอร์รายใหม่ แต่ก็รอดูทิศทางอีกสักระยะหนึ่ง แต่น่าจะเร็วๆนี้ เพราะในส่วนของวัตถุดิบมีรองรับไปอีก 4-5 ปี เพราะเราได้เข้าไปร่วมทุนกับบริษัท สีพันดอนบอลิเวนพัฒนา จำกัด เป็นบริษัทสัญชาติลาวร่วมทุน  3 ฝ่าย จดทะเบียนในประเทศลาว ซึ่งบริษัทของลาวที่เข้ามาร่วมทุนกัน ถือเป็นบริษัที่มีศักยภาพการลงทุน และมีความเชี่ยวชาญในด้านการลงทุนในประเทศลาว เป็นบริษัทที่ค่อนข้างใหญ่ในระดับประเทศ เป็นพาร์ตเนอร์สำคัญ เรามีที่ดิน 40,000 ไร่ ในแขวงจำปาศักดิ์ สัมปทานระยะเวลา 50 ปี มีไม้ในพื้นที่สามารถนำมาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตอยู่ได้ 1.7 ล้านตัน เราวางแผนเคลียร์พื้นที่ป่าและปลูกไม้โตเร็วเพื่อสนับสนุนตัววัตถุดิบ เฟสแรกตอนนี้เพิ่งใช้พื้นที่เพียง 1-2  พันไร่ ในลาวมีที่ดินพร้อมกว่าในไทย

ต่อไปธุรกิจหลักยังเป็นน้ำตาล แต่ถ้าธุรกิจที่ขายพวกคาร์บอนเครดิตถ้าสดใสมีทิศทางเราคงมุ่งไป เพราะเรามีความเชี่ยวชาญ มีความพร้อมอยู่แล้ว และบริษัทใหญ่ๆ ต่างชาติก็รู้โปรเจ็กต์ไหนมีความน่าจะเป็นมากที่สุด เขาก็รู้ตัวกันอยู่แล้วว่าควรจะคุยกับใคร

แผนรายได้การเติบโตช่วง 5 ปี

บริษัทได้วางแผนการเติบโตในช่วง 5 ปี ภายในปี 2569 ได้ตั้งเป้าหมายรายได้อยู่ที่ 7,451 ล้านบาท โดยจะมีการปรับปรุงในทุกธุรกิจ แต่ธุรกิจน้ำตาลยังเป็นตัวหลัก และรายได้จาก 2 ธุรกิจใหม่ คือธุรกิจบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อยและวู้ดพาเลต

โดยธุรกิจน้ำตาลคาดการณ์รายได้รวมปี 2565 ประมาณ 5,663 ล้านบาท ปี 2569 ตั้งเป้าหมายจะเพิ่มเป็น 6,813 ล้านบาท โดยธุรกิจน้ำตาลวางแผนการเติบโตในการเพิ่มวัตถุดิบ โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ทั้ง GIS/MIS เพื่อดูรายแปลงเลยว่า แปลงไหนถึงเวลาใส่ปุ๋ยถึงเวลาตัดได้ และตัดช่วงไหนจะทำให้มีน้ำตาลสูงสุด เพื่อควบคุมคุณภาพ CCS รวมถึงการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก(Brand Awareness) และเพิ่มช่องทางในการจำหน่ายมากขึ้น

ส่วนธุรกิจไฟฟ้า เป็นสัญญาระยะยาวทำอย่างไรให้มีเชื้อเพลิงสม่ำเสมอต้องบำรุงรักษาเครื่องจักร พัฒนาคุณภาพเชื้อเพลิงต่างๆ เพื่อให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ขณะเดียวกันได้มองธุรกิจใหม่ๆ เช่น สภานีชาร์จแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า,โซลาร์ฟาร์มหรือโซลาร์อื่นๆ อยู่ระหว่างศึกษาคาดการณ์ปี 2565 มีรายได้รวม 978 ล้านบาทตั้งเป้าหมายปี 2569 เพิ่มเป็น 1,026 ล้านบาท

ส่วนธุรกิจปุ๋ยคาดว่าจะเติบโตได้ 100% ในปี 2565 ตอนนี้อยู่ระหว่างการศึกษา เราอาจจะหาโปรดักต์ใหม่ๆ เกี่ยวกับสมุนไพรมาสร้างมูลค่าของตัวผลิตภัณฑ์ และขยายฐานลูกค้าออกไปสู่ตลาดภายนอกมากขึ้น คาดการณ์ปี 2565 มีรายได้รวม 198 ล้านบาทตั้งเป้าหมายปี 2569 เพิ่มเป็น 636 ล้านบาท ธุรกิจโลจิสติกส์ นอกจากขนส่งน้ำตาล จะหารายได้จากการขนส่งภายนอก โดยคาดการณ์รายได้ปี 2565 ประมาณ24 ล้านบาท และตั้งเป้าปี 2569 จะมีรายได้ประมาณ 41 ล้านบาท

ด้านธุรกิจบรรจุภัณฑ์ วางเป้าหมายรายได้จะเติบโตถึง 100% ในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยปี 2565 คาดการณ์มีรายได้ประมาณ 224 ล้านบาท และตั้งเป้าปี 2569 มีรายได้ประมาณ 513 ล้านบาท

โดยแผนการขยายแต่ละเฟสจะยึดตัวสัญญาระยะยาวกับลูกค้าเป็นหลักเน้นการส่งออก 90% เนื่องจากตลาดต่างประเทศค่อนข้างใหญ่มูลค่าตลาดรวม 50,000 - 60,000 ล้านบาท   เพราะผู้บริโภคให้ความสำคัญในส่วนบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น มีอัตราการเติบโตปีละ 6-7% ผลิตภัณฑ์ของบริษัทเป็นส่วนหนึ่งของตลาดเท่านั้นเอง เรายังมีรูมที่จะขยายออกไปได้เรื่อยๆ

ในส่วนธุรกิจวู้ดพาเลต ทางประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีก็เริ่มลดการใช้พลังงานตัวเชื้อเพลิงถ่านหินมาเน้นเชื้อเพลิงชีวมวล เนื่องจากรัฐบาบออกนโยบายต่างๆ มากมาย ซึ่งในญี่ปุ่นมีความต้องการคาดว่าจะเติบโตบวกถึง 58% ในปี 2568 อีกประมาณ 4 ปีข้างหน้าจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากทางรัฐบาลญี่ปุ่นมีนโยบายส่งเสริมการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนประเภทหนึ่ง หรือ Feed-in Tariff  หรือ FiT ตรงนี้ตอบโจทย์ของเรา เรามีการทำสัญญากับลูกค้าญี่ปุ่นไว้แล้ว ซึ่งเป็นทั้งผู้ร่วมทุนและผู้รับซื้อ ซึ่งถือเป็นกุญแจความสำเร็จของเรา ขณะเดียวกันจึงตั้งเป้าหมายอัตราผลตอบแทน (IRR) ในอีก 5 ปีข้างหน้าจะมากกว่า 15%

ราคาน้ำตาลดี รายได้อาจทะลุ 7 พันล้านบาทก่อน 5 ปี

แนวโน้มคงเป็นอย่างนั้น แต่ยังตอบไม่ได้ว่าภายในกี่ปี เพราะรายได้หลักจากน้ำตาลปรับขึ้นในอัตราส่วนที่มากพอสมควร ซึ่งอาจจะถึงเป้าหมาย 7 พันล้านบาทก่อนกำหนด ธุรกิจต่อเนื่องอาจจะขยับได้เร็วกว่าที่วางแผนไว้ ถ้ามีปริมาณและจำนวนลูกค้าที่ทำสัญญาระยะยาวเข้ามาเร็ว เราก็คงต้องขยับเร็วขึ้นกับดีมานด์เป็นหลัก แต่แนวโน้มไปในทิศทางที่เร็วขึ้น ทั้งบรรจุภัณฑ์และวู้พาเลต เราได้คุยโปรเจ็กต์ต่อเนื่องไปแล้ว เพียงแต่เราจะเร่งได้ขนาดไหนก็คงต้องรอดู

โอกาสตั้งโรงงานวู้ดพาเลตในไทย

เรื่องการลงทุนในประเทศไทยมีการคุยกัน เนื่องจากเรามีบริษัทลูกที่รับผลิตเครื่องจักรวู้ดพาเลต มีการดูเรื่องการหาวัตถุดิบจากคนอื่นมาเติม เป็นความยากของธุรกิจ แต่ตอนนี้เรายังไม่มีความชัดเจน จึงยังไม่อยาดพูดออกไปเครื่องผลิตไม้วู้ดพาเลตทำได้ทั้งไม้สับซังข้าวโพด อยู่ในเทรนด์คาร์บอนฟุตพรินต์พวกนี้จะเคลมได้หมด

ขอใบอนุญาตตั้งโรงงานน้ำตาลเพิ่มกับกระทรวงอุตสาหกรรมหรือไม่

มี 2 ใบที่ จ.สุรินทร์และบุรีรัมย์ กำลังการผลิตแห่งละ 2 หมื่นตัน ตอนนี้ยังไม่มีแผนขยายโรงงานน้ำตาลใหม่

อยากฝากอะไรภาครัฐ

รัฐควรต้องมาดูเป็นสินค้าเกษตรเป็นบายโปรดักต์ของสินค้าเกษตรที่ไปทำต่อเนื่องได้ เพราะฉะนั้นถ้ารัฐบาบจะสนับสนุนเกษตรกร เราสามารถเป็น zero waste และไปในทิศทางเรื่องคาร์บอนฟุตพรินต์ รัฐควรต้องหันมาเอาใจใส่ดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง

 จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2565

รายงานพิเศษ : กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจับมือ บพข.-มข. เปิดตัวแพลตฟอร์มอัจฉริยะลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตให้กับชาวไร่อ้อย

ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และในฐานะประธาน Spearhead ด้านเศรษฐกิจในประเด็นแผนงานวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และแผนงานระบบโลจิสติกส์อัจฉริยะ โดยมีรศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ รองผู้อำนวยการด้านบริหารงานวิจัย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ศ.ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ดร. มหิศร ว่องผาติกรรมการ บริษัท เอชจี โรโบติกส์ จำกัด และ นายประวิทย์ ธงชัยระวีวัฒน์ กรรมการ บริษัท โกลบอล ครอปส์ จำกัด ขึ้นแถลงผลสำเร็จของ Spearhead ด้านเศรษฐกิจ “การวิจัยสู่การปฏิบัติ ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต อัปเกรดเกษตรอุตสาหกรรมไทย” ร่วมด้วย นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ดร.อริยาพร อำนรรฆสรเดช ผู้อำนวยการกองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม นางสาวนิลเนตร โลหะพจน์พิลาศ ผู้อำนวยการศูนย์ดีพร้อมเซ็นเตอร์ 5 (DIPROM CENTER 5) คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่นผู้แทนจากหน่วยงานภาคีเครือข่ายภาครัฐ-เอกชน กลุ่มชาวเกษตรกร และสื่อมวลชน ณ อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อ.เมืองขอนแก่น

การวิจัยดังกล่าวเป็นการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายภาคส่วน เพื่อส่งเสริมและพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลที่เป็นกลไกหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อแก้ปัญหาด้านต่างๆ ได้อย่างตรงจุด ด้วยการวิจัยแพลตฟอร์มบริการ FPS (Field Practice Solutions) ซึ่งเป็นนวัตกรรมเทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยส่งเสริมการพัฒนาการเกษตรของไทยให้เป็น Smart Farmer เพื่อใช้ในการกำหนดรูปแบบแนวทางการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลผลิตการเกษตร อาทิ ระบบประมวลผลเพื่อสร้างแผนที่ผลผลิตและการระบาดของโรคพืชจากภาพถ่ายทางอากาศ ระบบประมวลผลเพื่อสร้างฐานข้อมูลในระบบภูมิสารสนเทศจากแผนที่ผลผลิต ระบบผสมสารและบรรจุลงถังบรรจุอัตโนมัติสำหรับโดรน ระบบฉีดพ่นสารแบบแปรผันอัตโนมัติติดตั้งบนโดรน ชุด Mobile-KIT และ Mobile Application สำหรับระบุพิกัดแปลงและติดตามกิจกรรมในแปลง และระบบ AI สำหรับเสนอแนะแผนการทำงาน บันทึกและแสดงผลการทำงานของเครื่องจักรเกษตร และแนะนำการให้ปุ๋ยแบบแม่นยำสูงรายแปลงอัตโนมัติซึ่งระบบจะช่วยเรื่องการตัดสินใจในงานบำรุงรักษา เก็บเกี่ยว และเชื่อมโยงกับระบบตรวจวัดรวมทั้งมีระบบที่จะสามารถรองรับคำสั่งเพื่อให้เกิดการปรับการปฏิบัติงานในฟาร์มไปตามแผนงานใหม่ครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการออกแบบแปลงการปลูก การบำรุงรักษาและอารักขาพืช การเก็บเกี่ยวและการขนส่ง ซึ่งเมื่อนำมาประยุกต์ใช้กับพืชอ้อย ส่งผลให้สามารถกำหนดตารางการเก็บเกี่ยวอ้อยที่น้ำหนักและความหวานสูงสุด มีการใช้งานเครื่องจักรเก็บเกี่ยวได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ส่งผลให้จำนวนเครื่องจักรและค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงลดลง ลดการเสื่อมสภาพของวัตถุดิบ รวมทั้งลดจำนวนวันที่เปิดหีบ เป็นการลดค่าใช้จ่ายในการผลิตน้ำตาลต่อตันได้ และสามารถลดต้นทุนการผลิตน้ำตาลหรือพลังงานชีวมวลได้มากกว่าร้อยละ 20คิดเป็น ประมาณ 50 ล้านบาทต่อปีต่อโรงงาน

พร้อมกันนี้ ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้นำผู้เข้าร่วมงานแถลงข่าว กลุ่มเกษตรกร และคณะสื่อมวลชน เดินทางไปยังไร่สาธิตหมวดพืชไร่ แปลง A11 คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อชมการสาธิตนวัตกรรมใหม่ เครื่องผสมสารอัตโนมัติ โดรนฉีดพ่นอัจฉริยะ ชุดติดตามการทำงานของเครื่องจักรเกษตร พร้อมเห็นภาพการทำงานที่ได้จากการวิเคราะห์แปลงผ่านระบบ FPS ตั้งแต่การสร้างเส้นทางการทำงานของเครื่องจักร การทราบสถานการณ์แบบเรียลไทม์ ตลอดจนการบันทึกขั้นตอนการทำงานเพื่อการทำงานในวันถัดไป นอกจากนี้ ยังได้นำคณะเจ้าหน้าที่ดีพร้อมเข้าเยี่ยมชมการวิจัยระบบต่างๆ รวมทั้งห้องสำหรับประมวลผลและควบคุมการบินของโดรนจากภาพถ่าย ณ ภาควิชาวิศวกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

จาก https://www.naewna.com วันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2565

เอทานอลจ่อขยับ! ชี้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น จากปัจจุบัน 26.49 สู่ระดับ 28 บาท/ลิตร

นายกสมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลไทย เผย ต้นทุนการผลิตต่างๆเพิ่มขึ้น เอทานอลจ่อขยับสู่ระดับ 28 บาท/ลิตร จากปัจจุบันอยู่ที่ 26.49 บาท/ลิตร ขณะที่การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินเดือน”พ.ค.”ลดลงจาก”เม.ย.”เหตุราคาแพง

วันที่ 28 มิ.ย.2565 นายพิพัฒน์ สุทธิวิเศษศักดิ์ นายกสมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลไทย เปิดเผยว่าวันที่ 1 ก.ค.นี้ คาดว่าราคาเอทานอลอ้างอิงจะปรับเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 28 บาท/ลิตร จากปัจจุบันอยู่ที่ 26.49 บาท/ลิตร เนื่องจากต้นทุนการผลิตต่างๆเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะวัตถุดิบหลักทั้งกากน้ำตาล(โมลาส) และมันสำปะหลัง และมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องในไตรมาส 3 นี้ แต่หากเทียบกับราคาเบนซินหน้าโรงกลั่นเฉลี่ยอยู่ที่ 34 บาท/ลิตร เอทานอลก็ยังคงมีราคาที่ต่ำกว่ามาก

อ้อย

ปัจจุบันการผลิตเอทานอลมีสัดส่วนการใช้วัตถุดิบระหว่างโมลาสและมันสำปะหลังเฉลี่ย 50 ต่อ 50 โมลาสที่ได้มาจากอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งหลังการปิดหีบฤดูการผลิตปี 2564/65 (7 ธ.ค.2564-7พ.ค.2565) มีปริมาณอ้อยหีบทั้งสิ้น 92.07 ล้านตัน ได้โมลาสราว 4 ล้านตัน แต่นำมาผลิตเอทานอลเพียง 3 ล้านตันเศษ เพราะ 8 แสนตันนำไปผลิตสุรา จึงทำให้ได้เอทานอลในระบบอ้อย 800-900 ล้านลิตร ที่เหลือจึงต้องพึ่งพิงเอทานอลจากมันสำปะหลัง แต่ขณะนี้มันเส้นปรับราคาเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก เนื่องจากไทยมีการส่งออกมันสำปะหลังไปต่างประเทศมากขึ้น หลังความต้องการสูงจากการสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครน

มัน

“ความต้องการใช้เอทานอลเฉลี่ยอยู่ที่ราว 1,500-1,600ล้านลิตร/ปี การผลิตจากโมลาสไม่เพียงพออยู่แล้ว ต้องอาศัยจากมันสำปะหลังที่ภาพรวมมีราคาสูงมาก โมลาสก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน ประกอบกับต้นทุนต่างๆ ก็สูงขึ้น ทำให้การสั่งซื้อวัตถุดิบต้องประเมินล่วงหน้าระยะยาว แต่บางครั้งการบริหารจัดการทุกอย่างก็เสี่ยง ขณะที่การประมูลขายเมื่อล็อตแรกไม่ได้ก็ต้องประเมินว่าหากกดราคาไปสู้ล็อตใหม่จะไหวไหมเพราะการผลิตเอทานอลไม่นิยมเก็บไว้นานเพราะระเหยง่าย ภาพรวมเอทานอลขณะนี้ไม่ขาดแคลนแต่ราคาจะสูง”

สำหรับกรณีที่มีผู้เสนอแนะกระทรวงพลังงานส่งเสริมการใช้แก๊สโซฮอล์ E20 และ E85 เพิ่มขึ้น เพราะการผสมเอทานอลจะทำให้ราคาลดลงได้ เพราะขณะนี้ต่ำกว่าเบนซินอย่างเดียวนั้น เป็นนโยบายจากภาครัฐสามารถดำเนินการได้ แต่ต้องหารือในภาพรวมและวางแผนล่วงหน้า เพราะปริมาณระหว่างทางอาจมีปัญหาตึงตัวได้เช่นกัน หากเศรษฐกิจฟื้นตัว การใช้อาจสูงขึ้น โดยปัจจุบันรัฐได้นำเอทานอลมาผสมเบนซินเพื่อจำหน่ายเป็นแก๊สโซฮอล์ E85 (ผสมเอทานอลในเบนซินพื้นฐาน 85%) แก๊สโซฮอล์ E20 (ผสมเอทานอล 20%) และแก๊สโซฮอล์ 95 และ 91 (ผสมเอทานอล 10%)

น้ำมันแพง

รายงานข่าวจากกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.)แจ้งว่า การใช้กลุ่มน้ำมันเบนซินในเดือนพ.ค.2565 อยู่ที่ 30.67 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าคิดเป็น 0.9% โดยปรับลงทุกประเภทยกเว้นแก๊สโซฮอล์ 91 ที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากราคาขายปลีกที่สูงขึ้นทำให้ประชาชนมีการประหยัด แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนยังคงเพิ่มขึ้น 16.1%

ขณะที่ภาพรวม 5 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.2565) การใช้กลุ่มเบนซินอยู่ที่ 4,563 ล้านลิตร เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น 0.2% โดยมีการใช้แก๊สโซฮอล์ E20 อยู่ที่ 866.41 ล้านลิตร ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.6% ด้วยราคาที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่การใช้แก๊สโซฮอล์ 91 ลดลง 2.9% เนื่องจากรัฐส่งเสริมการใช้แก๊สโซฮอล์ E95 โดยทำส่วนต่างราคาจูงใจห่างกันเพียง 0.27 บาท/ลิตร เป็นต้น

จาก https://www.khaosod.co.th วันที่ 28 มิถุนายน 2565

BRR ปลื้มทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กรที่ BBB- แนวโน้ม Stable

“น้ำตาลบุรีรัมย์” ปลื้ม! ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กร ที่ “BBB-” ด้วยแนวโน้ม “Stable” สะท้อนผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง ตลอดจนการกระจายความเสี่ยงจากธุรกิจน้ำตาลไปสู่ธุรกิจผลิตไฟฟ้าและบรรจุภัณฑ์ โดยผลการดำเนินงานปรับตัวดีขึ้นอย่างมากไตรมาส 1/2565 และคาคาดฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในอนาคต คาดรายได้รวมของบริษัทอยู่ที่ 5.4-6 พันล้านบาท ปี 2565-2567 ขณะที่ EBITDA จะอยู่ที่ 800-1,000 ล้านบาท

นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR เปิดเผยว่า นับเป็นข่าวดีของบริษัทฯ ล่าสุดบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดอันดับเครดิตองค์กรของบริษัทฯ ที่ระดับ “BBB-” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” ทั้งนี้ การเพิ่มอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงผลการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง และด้วยประสบการณ์ของ BRR ที่สั่งสมมายาวนานถึงเกือบ 60 ปี ในธุรกิจน้ำตาล โดยผลิตภัณฑ์หลักของบริษัทประกอบด้วยน้ำตาลทรายดิบ และน้ำตาลทรายขาวสีรำ ทั้งนี้ บริษัทได้เริ่มขยายการผลิตไปสู่ผลิตภัณฑ์น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ประมาณ 80% ของผลผลิตน้ำตาลของบริษัทได้ส่งออกผ่านตัวแทนการส่งออกระหว่างประเทศ สัดส่วนที่เหลือประมาณ 20% เป็นการจัดจำหน่ายภายในประเทศ

แม้ว่าบริษัทจะเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายเล็ก แต่บริษัทมีประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาลทรายต่อตันอ้อย (Sugar Yield) สูงสุดติดอันดับ 1 ใน 3 จากจำนวน 57 โรงงานน้ำตาลในประเทศ ซึ่งผลผลิตน้ำตาลที่มีคุณภาพของบริษัทมาจากอ้อยคุณภาพดีที่อยู่ในรัศมี 40-50 กิโลแมตรรอบโรงงาน

โดยทริสเรทติ้ง ระบุว่า บริษัทได้ขยายการลงทุนไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอ้อยและน้ำตาล เพื่อใช้ประโยชน์สูงสุดจากอ้อยและผลิตภัณฑ์ผลพลอยได้ โดยธุรกิจเกี่ยวเนื่องหลักคือธุรกิจผลิตไฟฟ้า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้จากธุรกิจผลิตไฟฟ้าประมาณ 9-10% ของรายได้รวมของบริษัท โดยมีโรงไฟฟ้า 3 แห่ง มีกำลังการผลิตติดตั้งของโรงไฟฟ้ารวมที่ขนาด 29.7 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ บริษัทมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จำนวน 16 เมกะวัตต์ โดยธุรกิจผลิตไฟฟ้ามีรายได้มั่นคง ซึ่งจะช่วยลดทอนความผันผวนของราคาน้ำตาลลงได้

นอกจากนี้ ยังได้ขยายไปสู่ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ จากกลยุทธ์ของบริษัทที่มุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์ผลพลอยได้ของธุรกิจน้ำตาลและความนิยมในผลิตภัณฑ์รักษ์สิ่งแวดล้อม บริษัทจึงได้ขยายธุรกิจไปยังบรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้ โดยใช้เยื่อจากชานอ้อยสีน้ำตาลปราศจากการฟอกสีซึ่งเป็นงานวิจัยที่อยู่ระหว่างการขอจดสิทธิบัตรของบริษัทในการผลิตสินค้าบรรจุภัณฑ์ต่างๆ เช่น จานและชาม ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ (ประมาณ 90%) มีเป้าหมายในการส่งออกไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา ยุโรป และประเทศอื่นๆ ภายใต้การรับผลิตสินค้า (OEM) ทั้งนี้ บริษัทยังขายสินค้าภายใต้แบรนด์ของตนเอง “SEW” ภายในประเทศอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานของบริษัทปรับตัวดีขึ้นอย่างมากในไตรมาสแรกของปี 2565 ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณผลผลิตน้ำตาลและราคาในตลาดโลก ทั้งนี้ ผลผลิตอ้อยของบริษัทในฤดูกาลผลิตล่าสุด (ปี 2564/2565) เพิ่มขึ้น 34.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ในขณะที่ราคาเฉลี่ยน้ำตาลเพิ่มขึ้น 14.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 18.6 เซนต์ต่อปอนด์ในไตรมาสแรกของปี 2565 ส่งผลให้รายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทเพิ่มขึ้น 108.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมาอยู่ที่ระดับ 2.3 พันล้านบาทในไตรมาสแรกของปี 2565 ในขณะที่ EBITDA เพิ่มขึ้น 73.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมาอยู่ที่ระดับ 534 ล้านบาท

ถึงแม้ว่าจะมีความท้าทายหลายด้านในอนาคตอันใกล้ทั้งจากปัญหาการขาดแคลนเรือขนส่ง การเพิ่มขึ้นของต้นทุนจากภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ทริสเรทติ้ง คาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในอนาคตข้างหน้า ทั้งนี้ ปริมาณอ้อยที่เพิ่มขึ้นไม่เพียงส่งผลบวกต่อธุรกิจน้ำตาลแต่ยังมีผลดีต่อธุรกิจผลิตไฟฟ้าด้วย

นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าผลประกอบการจากธุรกิจบรรจุภัณฑ์จะดีขึ้น โดยสมมติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าราคาน้ำตาลโลกจะอยู่ที่ระดับประมาณ 20 เซนต์ต่อปอนด์ในปี 2565 ทริสเรทติ้งยังคาดว่ารายได้รวมจากผลการดำเนินงานของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 5.4-6 พันล้านบาท ในปี 2565-2567 ในขณะที่ EBITDA จะอยู่ที่ระดับ 800-1,000 ล้านบาท ในช่วงเวลาเดียวกัน

จาก https://mgronline.com วันที่ 28 มิถุนายน 2565

ครม.ทุ่ม5พันล้าน ตั้ง “กองทุนฯ" รับผลกระทบจาก FTA ในภาคผลิต-บริการ

"รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกรัฐบาล "เผยมติครม.เห็นชอบจัดตั้ง “กองทุนช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิต-บริการที่ได้รับผลกระทบจาก FTA การเปิดเสรีทางการค้า” เงินประเดิม 3 ปีแรก 5,000 ล้านบาท

วันที่ 28 มิ.ย. 65 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบจัดตั้ง "กองทุนช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า(FTA)" ของคณะกรรมการนโยบายการบริหารเงินทุนหมุนเวียน ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ การจัดตั้งกองทุนดังกล่าว

มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับช่วยเหลือ เยียวยา และบรรเทาผู้ที่ได้รับหรือคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าในภาคการผลิตทั้งเกษตร อุตสาหกรรม และภาคบริการ โดยจะขับเคลื่อนผ่านกลไกคณะกรรมการบริการกองทุนฯ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ เช่น กำหนดนโยบาย กำกับการบริหารจัดการ และติดตามการดำเนินงาน พิจารณาอนุมัติแผนการดำเนินงานประจำปี กำหนดอัตราค่าธรรมเนียม หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ที่ได้ประโยชน์จากการเปิดเสรีทางการค้า เป็นต้น

สำหรับงบประมาณและแหล่งรายได้ของกองทุน มาจากการรับทุนประเดิมจากรัฐบาลที่จัดสรรให้ภายใน 3 ปี ประมาณ 5,000 ล้านบาท โดยปีแรกรับจัดสรร 1,000 ล้านบาท ปีที่ 2-3 ปีละ 2,000 ล้านบาท

ส่วนแหล่งที่มาของรายได้ อาทิ การจัดเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ส่งออกที่ได้รับประโยชน์จากการเปิดเสรีทางการค้า โดยจัดเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าเพื่อใช้สิทธิพิเศษทางภาษีสำหรับการส่งออกภายใต้การเปิดเสรีทางการค้า คาดว่า จะสามารถจัดเก็บได้ประมาณ 80 ล้านบาทต่อปี

นางสาวรัชดากล่าวต่อว่า กองทุนช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและภาคบริการฯ ไม่มีความซ้ำซ้อนในการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้ากับกองทุนอื่นๆ อาทิ

กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรม

กองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ

 เนื่องจากกองทุนเพิ่มขีดความสามารถฯ จะให้เงินสนับสนุนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการลงทุน การวิจัยและพัฒนา ในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เน้นลงทุนในเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งไม่ได้ครอบคลุมถึงการให้ความช่วยเหลืออันเกิดจากผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า

ส่วนกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรฯ เน้นช่วยเหลือกลุ่มผู้ผลิตสินค้าเกษตรขั้นต้นเท่านั้น ไม่ครอบคลุมภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าเช่นกัน

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 28 มิถุนายน 2565

ลึก (ไม่) ลับ “เกษตรอินทรีย์” ที่คนไทยควรรู้

นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย เปิดตำราลึก (ไม่) ลับ “เกษตรอินทรีย์” ที่คนไทยควรรู้ ประเทศใด อยู่อันดับ 1 ของโลก แต่สถิติการใช้สารกำจัดศัตรูพืชอยู่อันดับที่ 45 มีค่าเฉลี่ย 0.61 กิโลกรัมต่อไร่ ขณะที่วิกฤติรขาดแคลนอาหารของโลก กำลังใกล้มาไม่กี่เดือน ไทยจะเอายังไง

ดร.จรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กสมาคม “เกษตรอินทรีย์” ที่คนไทยควรรู้ เริ่มครั้งแรกที่ไหน หากพลิกย้อนไป  เกษตรอินทรีย์เริ่มต้นครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่น ในปี ค.ศ 1930 (พ.ศ. 2483) โดย Masanobu Fukuoka ในรูปแบบของเกษตรธรรมชาติ ( Natural Farming) ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2  จากวันนั้นถึงวันนี้ เป็นเวลายาวนาน 90 ปี  ท่านคิดว่าประเทศญี่ปุ่นน่าจะมีสัดส่วนพื้นที่ทำเกษตรอินทรีย์สักเท่าไร

ข้อมูลล่าสุด ญี่ปุ่นมีพื้นที่เกษตรอินทรีย์คิดเป็นสัดส่วน เพียง 0.2% ของพื้นที่ทำการเกษตรทั้งหมดของประเทศ  ทั่วโลก ปัจจุบัน การทำเกษตรอินทรีย์ได้แพร่หลายไปทั่วโลก 187 ประเทศ คิดเป็นพื้นที่ 72.3 ล้านเฮกตาร์ ( 452 ล้านไร่) คิดเป็นสัดส่วน 1.5% ของ พื้นที่เพาะปลูกทั้งโลกจะมีพื้นที่ทั้งหมด 4,820 ล้านเฮกตาร์ (30,125 ล้านไร่) ประเทศ เกษตรอินทรีย์ เป็นอันดับ 1 ของโลก คือประเทศออสเตรีย มีสัดส่วน พื้นที่เกษตรอินทรีย์ 26.1% ซึ่งส่วนใหญ่ของพื้นที่ทำการเกษตรของประเทศออสเตรียเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์

หากท่านนึกภาพไม่ออกก็ลองนึกถึงภาพยนตร์เรื่อง The Sound of Music ที่ใช้สถานที่ถ่ายทำในประเทศออสเตรีย ส่วนอันดับ 2 ของโลกคือสวิตเซอร์แลนด์  มีสัดส่วนพื้นที่เกษตรอินทรีย์อยู่ 16% หากจะดูจากลักษณะภูมิประเทศและภูมิอากาศที่เหมาะสมกับการทำเกษตรอินทรีย์จะเห็นว่าประเทศในยุโรปหรือประเทศในเขตหนาวมีความเหมาะสมมากกว่าประเทศในเขตร้อนเพราะเนื่องจากมีช่วงหิมะตกเป็นการตัดตอนวงจรระบาดของศัตรูพืชต่างกับเขตร้อนที่มีการเพาะปลูกพืชตลอดทั้งปีศัตรูพืชจึงมีจำนวนมากมายมหาศาล

แต่ถึงกระนั้นในภาพรวมของยุโรปทำเกษตรอินทรีย์ได้สัดส่วนเพียง 8% เท่านั้น ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2563 สหภาพยุโรปได้จัดทำนโยบาย EU Green Deal จุดประสงค์เพื่อเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ในยุโรปให้ได้ 25% ภายในปี พ.ศ. 2575 ทวีปยุโรป มีสภาพพื้นที่และสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสม และเอื้ออำนวยต่อการผลิต เกษตรอินทรีย์มาก

แต่สหภาพยุโรปยังไม่ตั้งเป้าหมายที่จะทำเกษตรอินทรีย์ 100% เหมือนบางประเทศในทวีปเอเซีย เช่น #ศรีลังกา ซึ่งได้ลองทำเกษตรอินทรีย์ทั้งประเทศได้ไม่ถึงปี  เศรษฐกิจของศรีลังการก็ล่มสลายไปในพริบตา จากประเทศที่สามารถผลิตข้าวได้เพียงพอสำหรับการบริโภคในประเทศ กลายเป็นประเทศที่มีข้าวไม่พอกิน..ต้องซื้อจากต่างประเทศปีละ 650,000 ตัน

ดร.จรรยา กล่าวว่า  พื้นที่ทำเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้นทั้งโลกข้อมูลที่น่าสนใจ รายงานว่ามี 45 ประเทศที่ลดพื้นที่การทำเกษตรอินทรีย์ลงลง ได้แก่ บัลแกเรีย (-8.6%) กัมพูชา (-6.5% ) แคมเมอรูน (-81.3% ) จีน (-29.3%) โคโมรอส (-45.6%) คิวบา (-61.6%) ไอซ์แลนด์ (-76.9% )ไอร์แลนด์ (-37.7%) นอร์เวย์ (-2.3%) ตุรกี (-19.8%) ซามัว (-57.9%) ติมอร์-เลสเตย์ (-49.2%) senegal (-18.8% ) ตุรกี (-19.8%) อิสราเอล (-5.4%) ไฮติ (-24.3%) ฟิจิ (-45.1%) และมองโกเลีย (-90.4%)

ประเทศออสเตรียหรือประเทศญี่ปุ่นใช้สารเคมีน้อยกว่าประเทศไทยหรือใช้มากกว่า ถึงแม้ประเทศออสเตรียจะทำเกษตรอินทรีย์เป็นอันดับ 1 ของโลกแต่สถิติการใช้สารกำจัดศัตรูพืชต่อหน่วยพื้นที่ของประเทศออสเตรียอยู่อันดับที่ 45 มีค่าเฉลี่ย 0.61 กิโลกรัมต่อไร่

ส่วนประเทศญี่ปุ่นมีพื้นที่ทำเกษตรอินทรีย์ อยู่อันดับที่ 41 ของโลกมีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเป็นอันดับที่ 13 ของโลก โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1.89 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งมากกว่าประเทศไทยถึง 6 เท่า ( ไทยมีการใช้สารเคมีเป็นอันดับที่ 75 ของโลกมีค่าเฉลี่ย 0.28 กิโลกรัมต่อไร่)

ทำไมญี่ปุ่น ใช้สารเคมีมากกว่าเราถึง 6 เท่า แต่คนไทยยังเชื่อว่าสินค้าเกษตรของญี่ปุ่นมีความปลอดภัยสามารถจะรับประทานได้โดยไม่ต้องล้างน้ำ เพราะญี่ปุ่นใช้สารเคมีอย่างถูกต้องและปลอดภัย ด้วยระบบ GAP (Good Agricultural  Practice) โดยควบคุมมาตรฐานสารเคมีตกค้างให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัยต่อการบริโภค สารเคมีตกค้าง ในพืชผักผลไม้เกินค่ามาตรฐาน MRL เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคหรือไม่ไม่เป็นอันตรายเพราะค่ามาตรฐาน MRL เป็นเพียงมาตรฐานทางการค้า (Trading Standard)  ไม่ใช่มาตรฐานความปลอดภัย (Safety Standard )

ค่าMRL มาจากไหน MRL มาจากค่าปริมาณความเข้มข้นสารเคมีที่ให้สัตว์ทดลองกินตลอดอายุขัยโดยไม่เกิดอันตราย และนำมาหารด้วย 100  MRL มีค่าเท่ากันทั่วโลกหรือไม่ไม่เท่ากัน.. แต่ละประเทศจะกำหนดค่า mrl ของตัวเอง เพื่อใช้เครื่องมือกีดกันทางการค้า แทนกำแพงภาษีสินค้าเกษตรที่ถูกยกเลิกไป ภายใต้เงื่อนไข FTA

#MRL ยิ่งมีค่าต่ำเท่าไหร่การผลิตก็ยิ่งยุ่งยากมากขึ้นเท่านั้นดังนั้นหากประเทศที่ผลิตสินค้าชนิดหนึ่งได้ดีอยู่แล้วก็ต้องพยายามกีดกันไม่ให้ประเทศอื่นสามารถส่งมาขายได้ง่ายๆเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรในประเทศของตัวเอง และเอาไว้เป็นเงื่อนไขเจรจาต่อรองทางการค้ากับประเทศคู่ค้าเพื่อให้ลดหย่อนเงื่อนไขในการนำเข้าสินค้าเกษตรของตนเอง

เกษตรอินทรีย์กับปัญหา Food Crisis ยังไม่มีประเทศใดในโลกนี้ที่สามารถทำเกษตรอินทรีย์ได้ 100%  ในภาวะวิกฤตการขาดแคลนอาหารของโลก (Global Food Crisis) ที่กำลังจะเกิดขึ้นภายในไม่กี่เดือนข้างหน้านี้  เกษตรอินทรีย์คงไม่ใช่คำตอบ ในการแก้ปัญหาวิกฤตครั้งนี้ เพราะ ประสิทธิภาพการผลิตที่ต่ำกว่าเกษตรใช้สารเคมีทำให้ผลผลิตมีราคาสูงขึ้นคนจนในโลกนี้คงเข้าไม่สามารถเข้าถึง สินค้า high-end แบบนี้

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 28 มิถุนายน 2565

สยามคูโบต้า จับมือ จ.อุดรฯ สร้างเมืองต้นแบบปลอดการเผา-เพิ่มรายได้เกษตรกร

“สยามคูโบต้า” จับมือ “อุดรธานี” สร้าง เมืองต้นแบบปลอดการเผา และลดโลกร้อน” ขยายความรู้นวัตกรรมเกษตรทดแทนการเผา พร้อมตั้งเป้าลดการเผาให้เป็นศูนย์ เล็งช่วยเพิ่มรายได้เกษตรกร-ประหยัดค่าปุ๋ยพันล้านต่อปี

รายงานจากบริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด เผยว่า ทางบริษัทอยู่ระหว่างขยายโมเดลความสำเร็จ “เกษตรปลอดการเผา และเกษตรลดโลกร้อน” โดยล่าสุดได้จับมือหน่วยงานภาครัฐและเอกชนของจังหวัดอุดรธานี ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ สร้างโมเดล “อุดรธานี เมืองต้นแบบปลอดการเผา และลดโลกร้อน” เป็นจังหวัดที่ 8 โดยดึงองค์ความรู้ KUBOTA (Agri) Solutions เกษตรครบวงจร เอกลักษณ์เฉพาะของคูโบต้า มุ่งแก้ปัญหามลพิษจากฝุ่นละอองในภาคการเกษตร ตลอดจนบริหารจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร พร้อมตั้งเป้าลดการเผาในพื้นที่การเกษตรให้เป็นศูนย์

นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เผยว่า การแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควันฝุ่นละออง PM 2.5 เป็นนโยบายสำคัญที่รัฐบาลให้ความเป็นห่วงพี่น้องประชาชนโดยสั่งการให้เร่งบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาโดยเร็ว โดยขอให้ทุกจังหวัด ยึดนโยบายรัฐบาล ที่จะลดปัญหาไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละอองให้ลดลงกว่าปีที่ผ่านมาร้อยละ 20 สำหรับภาคการเกษตรของจังหวัดอุดรธานี ในช่วงระหว่างเดือนธันวาคม ถึงเมษายนของทุกปี มักมีการเผากำจัดวัชพืชและเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ทำให้เกิดปัญหาไฟป่าหมอกควันปกคลุม ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน

โดยจังหวัดอุดรธานี มีนโยบายแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชนให้เข้ามามีบทบาทในการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควัน ผลักดันนโยบายการงดเผาฟางข้าวและใบอ้อยของภาครัฐ แก้ไขปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและอนุภาค PM 2.5 จากการเผาฟางและใบอ้อยหลังเก็บเกี่ยวของเกษตรกร เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายลดการเผาในพื้นที่การเกษตรของจังหวัดอุดรธานีให้เป็น 0%

ภายใต้แนวคิด “อุดรธานี เมืองต้นแบบปลอดการเผาและลดโลกร้อน” ซึ่งหากมีส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรทดแทนการเผา จะช่วยสร้างการมีส่วนร่วมของเกษตรกรในการป้องกันและแก้ไข ปัญหา รณรงค์และพัฒนากระบวนการผลิตพืชโดยวิธีปลอดการเผา รวมทั้งช่วยส่งเสริมและเผยแพร่องค์ความรู้ให้เกษตรกรในจังหวัดเกิดการพัฒนาศักยภาพด้านการเกษตรให้มีความมั่นคงในอาชีพอย่างยั่งยืน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์การหยุดเผาในพื้นที่การเกษตรของจังหวัดอุดรธานีต่อไป

นายพิษณุ มิลินทานุช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้จัดการทั่วไป สายงานขาย การตลาดและบริการ บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า ประเทศไทยเผชิญกับสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 โดยกว่า 54 % เกิดจากการเผาในที่โล่ง ซึ่งรวมถึงการเผาในพื้นที่ทางการเกษตร ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชน

สยามคูโบต้าจึงดำเนินโครงการ “เกษตรปลอดการเผา หรือ Zero Burn” นับตั้งแต่ปี 2562 ที่ผ่านมา เพื่อรณรงค์และพัฒนากระบวนการผลิตโดยวิธีการทำเกษตรปลอดการเผา ตลอดจนการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่วัสดุเหลือใช้หลังการเก็บเกี่ยว เช่น ฟางข้าว ตอซังข้าว และใบอ้อย ด้วยการนำเอานวัตกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรและองค์ความรู้ด้านการเกษตร ภายใต้ องค์ความรู้ KUBOTA (Agri) Solutions เกษตรครบวงจร มาปรับใช้ โดยในปีนี้ได้ต่อยอดเกษตรลดโลกร้อน เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน

สำหรับโครงการเกษตรปลอดการเผา และเกษตรลดโลกร้อน มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงเครื่องจักรกลการเกษตร เพื่อทำการเกษตรในรูปแบบปลอดการเผา โดยตั้งเป้าให้เกษตรกรในพื้นที่สามารถเข้าถึงเครื่องจักรกลการเกษตร และนำไปใช้ในการทำการเกษตรปลอดการเผา

สอดคล้องกับเป้าหมายภาครัฐในการลดการเผาในพื้นที่การเกษตรให้เป็นศูนย์ โดยที่ผ่านมา สยามคูโบต้าได้จัดกิจกรรมรณรงค์และสัมมนาโครงการฯ รวมถึงดำเนินการจัดลงนามความร่วมมือโครงการเกษตรปลอดการเผา และเกษตรลดโลกร้อน ไปแล้ว 7 จังหวัด ได้แก่ มหาสารคาม อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด ราชบุรี เชียงราย นครสวรรค์ ส่งผลให้ลดการเผาในภาคการเกษตรของจังหวัดที่เข้าร่วมโครงการไปแล้วกว่า 80 % นับตั้งแต่ก่อนเข้าร่วมโครงการ อีกทั้งยังสร้างรายได้และคืนสุขภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้พี่น้องเกษตรกรอีกด้วย

สำหรับสถานการณ์การเผาไหม้ของพื้นที่ภาคเกษตรของจังหวัดอุดรธานีพบว่า พื้นที่การเผาและจุดความร้อนสะสม (Hotspot) ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 พบว่ามีจำนวน 863 จุด โดยมาจากภาคการเกษตร 314 จุด แบ่งเป็น พื้นที่นาข้าว 31 % อ้อย 18 % พื้นที่เกษตรอื่นๆ 19 % ซึ่งจังหวัดอุดรธานีมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวกว่า 2 ล้านไร่ ส่งผลให้มีปริมาณฟางข้าวอัดก้อนถึง 60 ล้านก้อน

นอกจากนี้ยังมีพื้นที่เพาะปลูกอ้อยอีกกว่า 6 แสนไร่ หากจังหวัด อุดรธานีได้มีการทำโครงการเกษตรปลอดการเผาจะทำให้เกิดโอกาสในการลดต้นทุนและสร้างรายได้ จะสามารถประหยัดค่าปุ๋ยได้ เนื่องจากจะช่วยคืนความสมบูรณ์และอินทรีย์วัตถุในดิน โดยเฉพาะธาตุอาหารหลักคิดเป็น 318 ล้านบาท ได้รายได้จากการจำหน่ายฟางข้าวอัดก้อนประมาณ 50-100 บาท/ ไร่ คิดเป็น 100 ล้านบาท นอกจากนี้พื้นที่การเพาะปลูกอ้อยที่มีอยู่กว่า 6 แสนไร่ สามารถประหยัดค่าปุ๋ยได้ 111 ล้านบาท ได้รายได้จากการจำหน่ายใบอ้อยอัดก้อนประมาณ 50-100 บาท/ ไร่ คิดเป็น 30 ล้านบาท ส่งผลให้เกิดรายได้สู่ชุมชนจากบริการรับอัดฟางข้าวถึง 840 ล้านบาท สามารถนำไปจำหน่ายให้ผู้ประกอบการปศุสัตว์หรือโรงไฟฟ้าชีวมวลได้          

สยามคูโบต้ามุ่งมั่นผลักดันแนวคิดเกษตรปลอดการเผา ด้วยการขยายพื้นที่ความร่วมมือของโครงการฯ ในปี 2565 นอกจากนี้ยังเตรียมเปิดต้นแบบหมู่บ้านเกษตรปลอดการเผา เผยความสำเร็จที่สยามคูโบต้าได้เข้าไปสนับสนุนให้เกษตรกรสามารถนำความรู้มาลงมือปฏิบัติจริงกับพื้นที่การเกษตรจนเกิดเป็นต้นแบบเกษตรปลอดการเผาได้จริง พร้อมส่งต่อความรู้ไปยังภาคการเกษตรทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมภาคเกษตรกรรมให้เข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 28 มิถุนายน 2565

ธปท.ชี้ 2ปัจจัยหนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยปี65

2ปัจจัย "อุปสงค์ในประเทศ-นักท่องเที่ยวต่างชาติ"หนุนเศรษฐกิจไทยปี2565 จับตาไตรมาส4 นักท่องเที่ยวแตะ 3หมื่นคน/วัน ย้ำ"ถอนคันเร่งนโยบาย"เป็นกันชนให้พัฒนาการเศรษฐกิจไม่สะดุด ลดแรงกดดันเงินเฟ้อ-ชะลอความผันผวนของค่าเงินบาท

ดร.ปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในที่ประชุมนักวิเคราะห์ (Analyst Meeting) ครั้งที่ 2/2565โดยระบุ ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจโลกและสหรัฐอเมริกา ยังไม่มีสัญญาณที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย(Recessions)ในปีนี้

แต่แนวโน้มปีหน้ามีความเสี่ยงที่ต้องจับตา โดยเฉพาะความเสี่ยงที่จะเกิด ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐจึงเป็นเหตุผลให้ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ปรับนโยบายการเงินค่อนข้างเร็วและแรงเพื่อสกัดเงินเฟ้อไม่ให้ฝังตัวในระบบเศรษฐกิจ

เพราะหากอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นและฝังอยู่ในระบบเศรษฐกิจนาน นอกจากต้องใช้ยาแรงโดยปรับขึ้นดอกเบี้ยมากแล้วยังเป็นการฉุดให้เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย  ในแง่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ประมาณการเศรษฐกิจสหรัฐปีหน้าจะชะลอลงชัดเจนจากปีนี้

สำหรับประเทศไทยภาพใหญ่นั้นธปทติดตามแรงขับเคลื่อนของเงินเฟ้อตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันเนื่องจากปัจจัยด้านซัพพลายช็อคเป็นเหตุผลทำให้ตัวเลขเงินเฟ้อเร่งสูงมากในปีนี้ซึ่งเกิดขึ้นทั่วโลกค่อนข้างอยู่นอกเหนือการควบคุมของนโยบายการเงิน

และมาจากปัจจัยภายนอกเป็นส่วนใหญ่แต่การดำเนินนโยบายการเงินเป็นการมองระยะปานกลางโดยเฉพาะปีหน้า   แต่ความเสี่ยงโอกาสแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ หาก หากนโยบายการเงินไม่ปรับตามการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ

" แนวนโยบายที่คณะกรรมการกนง.จะถอนคันเร่งเพื่อมิให้เศรษฐกิจร้อนแรงและลดแรงกดดันของเงินเฟ้อซึ่งได้มีการคุยเป็นการภายในมาก่อนหน้าแล้วแต่ตอนนี้ถึงเวลาต้องสื่อสารชัดเจนมากขึ้น"

ดร.ปิติกล่าวว่า ความท้าทายนโยบายการเงินทั้งในประเทศไทยและประเทศอื่น คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)มีการชั่งน้ำหนักทั้งระยะสั้นและระยะปานกลาง

ในแง่เศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่เร่งขึ้นช่วงสั้น หรือภาระหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงหากปรับขขึ้นดอกเบี้ย ภาระอาจจะตกกับ กลุ่มผู้มีรายได้น้อยหรือผู้ที่มีภาระหนี้สูง เป็นการชั่งน้ำหนักที่คณะกรรมการกนง.ต้องทำ

สิ่งสำคัญที่ยึดหลักในการชั่งน้ำหนักคือความเสี่ยงอันดับต้นๆถ้าเงินเฟ้อค้างอยู่ในระดับสูงและฝังอยู่ในระบบเศรษฐกิจเป็นเวลานานจะเป็นต้นทุนสูง   ปกติไม่น่าจะมาจากปัจจุยฝั่งอุปทาน ไม่ว่าราคาน้ำมันหรือราคาพืชผลราคาเหล่านี้จะปรับขึ้นระยะสั้นและจะคลี่คลายภายใน 1 หรือ 1 ปีครึ่งซึ่งอยู่ในประมาณการ

แต่ความเสี่ยงของเงินเฟ้อที่อยู่นานจะมาจาก 2 ปัจจัย  ได้แก่

1.เศรษฐกิจที่ร้อนแรงมีการเพิ่มค่าจ้างและส่งให้ผู้ประกอบการตั้งราคาเพิ่มหรือแรับราคาสินค้าเพิ่ม และ

2.คาดการณ์เงินเฟ้อ สูงหลุดกรอบยึดเหนี่ยว  ซึ่งความเสี่ยงทั้ง 2 ส่วนนี้คณะกรรมการกนง.จะพิจารณาเป็นอันดับแรกและเป็นเหตุผลการถอนคันเร่งนโยบายซึ่งประมาณการเศรษฐกิจล่าสุดได้สะท้อนการที่จะถอนคันเร่งไม่ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสะดุด

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำหรือมีหนี้  ภายใต้ประมาณการของธปท.พบว่า ต้นทุนที่มาจากเงินเฟ้อจะเป็นภาระค่าใช้จ่ายสูงประมาณ7-8เท่าต่อครัวเรือนซึ่งสูงกว่าต้นทุนของการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจึงต้องถอนคันเร่ง โดยปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

อย่างไรก็ตาม กรอบการดำเนินนโยบายการเงินจุดประสงค์คือยึดเหนี่ยวเงินเฟ้อคาดการณ์ซึ่งเป็นที่เชื่อถือมาแล้วกว่า 20 ปีส่วนการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้นอาจเป็นรอง  เพราะภาวะปัจจุบันไม่ต้องการดอกเบี้ยอยู่ในอัตราที่ต่ำเกินไป

" ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นมีผลจาก 2 ส่วนคือเงินเฟ้อหลายประเทศสูงขึ้นเพราะอยู่นอกเหนือการควบคุมแต่เงินเฟ้อที่สูงขึ้นทำให้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้นอาจทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงในระยะต่อไป ซึ่งหากปล่อยเป็นธรรมชาติเงินเฟ้อจะสูงในระยะสั้น  รายได้ปรับลดลง เศรษฐกิจชะลอตัวลง และจะดึงเงินเฟ้อลง  ซึ่งนโยบายการเงินไม่ใช่ส่วนหลัก  คือ นโยบายการเงินจะเป็นกันชนให้พัฒนาการของเศรษฐกิจไม่ไปเสริมหรือซ้ำเติมให้เงินเฟ้อเพิ่มสูง และเงินเฟ้อจะคลี่คลายทยอยลดลงในปีหน้า

ต่อข้อถามถึงการปรับลดจำนวนหรือความถี่ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)เหลือ6ครั้งจากเดิม8ครั้งนั้น

ดร.ปิติระบุว่า เป็นเรื่องของข้อมูลเศรษฐกิจที่เข้ามาประมาณ 6-7 สัปดาห์ ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีนัยยะต่อนโยบายได้และเหมาะกับการดูพัฒนาการซึ่งหลายประเทศมีความถี่น้อยกว่าไทย

เช่น  สวีเดนมีการประชุมต่อปี 5 ครั้งไต้หวัน 4 ครั้ง และสิงคโปร์แค่ 2 ครั้ง นอกจากนี้คณะกรรมการกนงก็มีความยืดหยุ่นได้เมื่อจำเป็นดังนั้นเรื่องเงื่อนเวลาที่วางไว้ถือว่าเหมาะสมกับสภาวะทั่วไปและปัจจุบัน ส่วนการประชุมนัดพิเศษนั้นต้องมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นซึ่งหากมองข้อมูลที่มีอยู่ยังอยู่ในวิสัยต่อการดำเนินนโยบาย

สำหรับทิศทางค่าเงินบาทตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน เงินบาทอ่อนค่าไปแล้วกว่า 5% แต่เป็นการอ่อนค่าไปในทิศทางเดียวกับภูมิภาค โดยอ่อนค่าต่ำกว่าประเทศอินโดนีเซีย หรือสูงกว่ามาเลเซีย

แต่โดยรวมในตลาดเกิดใหม่ เป็นการอ่อนค่า ซึ่งมาจาก 2ประเด็นคือ เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด และความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวกว่าคาดการณ์ ทำให้ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนสูงกว่าคาดการณ์  ซึ่งยอมรับว่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงช่วงที่ผ่านมาเป็นภาระทางการคลัง   ผู้ประกอบการและผู้บริโภคสูงขึ้น

แต่การเคลื่อนไหวของเงินบาทใกล้เคียงกับสกุลเงินในภูมิภาคและการแข็งค่าของดอลลาร์จึงเป็นปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวังไม่ให้กดดันเงินเฟ้อ โดย ธปท มองแนวโน้มเงินเฟ้อในสหรัฐและหลายประเทศจะถึงจุดพีคในไตรมาสที่ 3 และแนวโน้มค่าเงินจะกลับมาแข็งค่าได้ในปลายปีนี้

ทั้งนี้ ธปท.ยังติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้มีความผันผวนผิดปกติ และพยายามจะถอนคันเร่งนโยบายการเงินนอกจากเพื่อดูแลเงินเฟ้อ แล้วอาจจะมีส่วนช่วยลดความผันผวนของเงินบาทด้วย

นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท.ตอบข้อถามเรื่องการส่งผ่านนโยบายการเงิน โดยระบุว่า  ในแง่ตลาดพันธบัตรได้ปรับตัวขึ้นไปบ้างแล้ว

แต่ระบบธนาคารพาณิชย์ไม่ได้ขยับมากนัก เพราะภาพรวมเศรษฐกิจแม้ว่าจะฟื้นตัวชัดเจนขึ้น แต่เป็นการพื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป และยังมีความเปราะบางในกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อย และผู้ประกอบการเอสเอ็มอี  จึงจำเป็นต้องมีมาตรการดูแลเฉพาะกลุ่มมากขึ้น

" ธปท.จะมีการสื่อสารมาตรการทางการเงินออกมาโดยดำเนินการแพกเกจเดิมที่ทำอยู่แล้ว ไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่จะเพิ่มจุดเน้นมากขึ้น  เช่น การดูแลภาระหนี้อย่างยั่งยืน ในกลุ่มที่ไม่มีหลักประการหรือกลุ่มผู้มีรายได้น้อย"

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ธปท.ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจปีนี้เป็น 3.3% จาก 3.2% และปี 66 ปรับลดลงจาก 4.4% เหลือ 4.2%  ซึ่ง เครื่องยนต์หลักคือการบริโภคเอกชนขยายตัวปีนี้ที่ 4.9%

ปีหน้า 3.6% จำนวนนักท่องเที่ยวปรับประมาณการเพิ่มขึ้นเป็น 6 ล้านคนในปีนี้จากเดิมอยู่ที่ 5.6 ล้านคนและคงประมาณการเดิมที่จำนวน 19 ล้านคนในปีหน้าและจากผลราคาน้ำมันที่สูงขึ้นทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดปีนี้ลดลง 8 พันล้านดอลลาร์จากเดิมคาด-6พันล้านดอลลาร์

" การฟื้นตัวมาจากอุปสงค์ในประเทศ และนักท่องเที่ยวเป็นสำคัญ  ซึ่ง จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องเห็นได้จากเครื่องชี้และจำนวนนักท่องเที่ยวต่อวันเกือบ 20,000 คนซึ่งมากกว่าที่ประมาณการไว้ช่วงไตรมาส 2-3 และจับตาในไตรมาส 4 ที่ประมาณการไว้ 30,000 คนต่อวัน

ทั้งนี้ ตัวเลขจริงไตรมาสแรกแรงส่งใกล้เคียงประมาณการเดิมภายใต้ข้อสมมติฐานการฟื้นตัวช้าๆและมีความเสี่ยงด้านสูงหากรายได้ปานกลางและรายได้ปรับสูงขึ้นเร็วส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้ปรับประมาณการเพิ่มเป็น 6 ล้านคนจาก5.6ล้านคนและปีหน้าอยู่ที่ 19 ล้านคน

สะท้อนการฟื้นตัวดีขึ้นแม้ว่ายังน้อยกว่าช่วงก่อนโควิด-19

นอกจากนี้  เครื่องชี้ตลาดแรงงานปรับฟื้นตัวต่อเนื่องโดยเริ่มทยอยฟื้นตัวตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับมา  เห็นได้จากจำนวนผู้ว่างงาน  และผู้เสมือนว่างงาน หรือทำงานน้อยกว่า 4 ชั่วโมงปรับลดลงต่อเนื่อง และแนวโน้มเรื่องรายได้ พบว่า

ทั้งกลุ่มรายได้น้อย   รายได้ปานกลาง และรายได้สูงมีรายได้เติบโตเพิ่มขึ้น ในปีนี้และคาดว่าในปี 66 ตลาดแรงงานจะฟื้นตัวดีขึ้นตามกิจกรรมเศรษฐกิจ   ขณะที่ ความเสี่ยงยังคงมีอยู่โดยเฉพาะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของจีนที่มีแนวโน้มยืดเยื้อกว่าที่คาด

ส่วนปัจจัยที่เป็นบวกต่อเศรษฐกิจ คืออุปสงค์ในประเทศ หากมีเพิ่มมากขึ้นกว่าที่ธปท. คาดและจำนวนนักท่องเที่ยวมากกว่า 6 ล้านคนจะทำให้การใช้จ่ายในประเทศ ปรับเพิ่มขึ้นด้วย

ด้านเงินเฟ้อทั่วไปนั้น ธปท.ปรับขึ้นประมาณการเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้มาอยู่ที่ 6.2% จากเดิมอยู่ที่ 4.9%และปีหน้าอยู่ที่ 2.5% ปัจจัยหลักมาจากราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นมากทั้งปีนี้และปีหน้า โดยคาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 105ดอลลาร์/บาเรลและปีหน้ายังคงอยู่ในอัตราเดิม

อีกส่วนที่ทำให้เงินเฟ้อปรับเพิ่มคือ การปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งได้รวมอยู่ในประมาณการครั้งนี้ด้วย   ซึ่งการส่งผ่านต้นทุนไปยังสินค้าต่างคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะสูงสุดในไตรมาสที่ 3 ปีนี้ก่อนจะค่อยๆ ทยอยลดลงในไตรมาส 4ปีนี้ ,ไตรมาส 1ปีหน้า

และ ทยอยเข้าสู่กรอบเป้าหมายระยะปานกลาง( 1-3%) ช่วงกลางปีหน้า เช่นเดียวกับเงินเฟ้อพื้นฐานที่ปรับเพิ่มขึ้นจาก 2.0% เป็น 2.2% ในปีนี้และปีหน้าปรับเป็น 2.0% จาก เดิม 1.7%

นายสุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท.กล่าวว่าแม้ระยะสั้นเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลาง 1 ปีข้างหน้าจากการสำรวจจะปรับสูงขึ้น  สิ่งที่มีนัยต่อนโยบายการเงินในระยะ 5 ปีข้างหน้ายังอยู่กึ่งกลางที่เป้า 1-3% โดยยังเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบเฉลี่ย 2.1-2.3% ซึ่งการเคลื่อนไหว ไม่ได้เป็นสัญญาณที่น่าตกใจ"

ทั้งนี้กลยุทธ์นโยบายการเงินจะต้องสร้างความเชื่อมั่นในการดูแลเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบระยะยาว โดยปัจจุบันทั้งเงินเฟ้อทั่วไปและเงินเฟ้อพื้นฐานต้องให้ความสำคัญกับสาธารณชน  ถ้าราคาจะปรับขึ้นเรื่อยๆ นโยบายการเงินอาจจำเป็นต้องถอนคันเร่งขณะความเสี่ยงของเงินเฟ้อเร่งตัวในระยะข้างหน้า

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 28 มิถุนายน 2565

เศรษฐกิจแบบ Stagflation กับ Recession ต่างกันอย่างไร อะไรน่ากลัวกว่า

เศรษฐกิจแบบ Stagflation กับ Recession ต่างกันอย่างไร ไปดูกัน อะไรน่ากลัวกว่า และวิกฤตเศรษฐกิจรอบใหม่จะเกิดขึ้นไหม แล้วท้ายที่สุดประเทศไทย จะตกอยู่ในภาวะแบบไหน มีทางออกรองรับปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นยังไง ไปฟังคำตอบจากนักวิชาการ รวมทั้งเสนอแนะพร้อมกัน

หลังจากนักวิเคราะห์ออกมาประเมินเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มจะเผชิญ "Stagflation" หรือภาวะเศรษฐกิจชะงักงันและเงินเฟ้อสูง ภายใน 12 เดือนข้างหน้า ซึ่งเป็นความเสี่ยงระยะยาวต่อสหรัฐฯ มากยิ่งกว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือ "Recession" และไม่แน่ว่า อาจจะกลายเป็นวิกฤตรอบใหม่ ซึ่งประเทศไทยก็จำต้องโดนหางเลขไปด้วย

กรณีของ Stagflation ในประเทศไทยนั้น แม้ล่าสุดหลายหน่วยงานทางด้านเศรษฐกิจของไทยจะออกมายืนกรานว่า โอกาสเกิด Stagflation ในไทยจะยังไม่เกิดขึ้น การันตีโดยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งออกมาระบุว่าการที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะนี้ ต้องประกอบด้วย อัตราเงินเฟ้อสูง ควบคู่กับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

แต่ในปัจจุบันแม้อัตราเงินเฟ้อของไทยจะปรับตัวสูงขึ้นเกินกว่ากรอบเป้าหมาย แต่เศรษฐกิจปีนี้ กลับไม่ได้ชะลอตัวแต่อย่างใด และเชื่อว่า มีโอกาสน้อยมากที่เศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโตต่ำกว่าปีก่อน หรือโอกาสที่เศรษฐกิจไทย ปี 2565 จะโตไม่ถึง 2% หรือโตใกล้เคียงกับปีก่อนมีน้อยมาก

เช่นเดียวกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็ออกมายืนยันว่า แม้เกิดภาวะเงินเฟ้อ ราคาสินค้าขึ้น แต่เศรษฐกิจไทยตอนนี้ก็ค่อย ๆ ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ขณะที่การจ้างงานก็เริ่มกลับมา และตัวเลข GDP ยังขยายตัว สะท้อนว่าคนไทยยังมีรายได้ เพียงแต่ความสามารถ หรือ กำลังซื้อลดน้อยลงเท่านั้น

แต่อย่างไรก็ดีการเผชิญปัญหา Stagflation ก็ยังเป็นสิ่งที่มองข้ามไปไม่ได้ ซึ่งกรณีของเศรษฐกิจแบบ Stagflation กับ Recession นั้นมีความแตกต่างกันอย่างไร และเศรษฐกิจแบบไหนน่ากลัวกว่ากันนั้น ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) อธิบายเรื่องนี้กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ดังนี้

ปัญหา Stagflation นับเป็นปัญหาที่แก้ยากกว่า Recession สำหรับเศรษฐกิจโดยปกติจะเป็นวงจร ระหว่าง “เศรษฐกิจเติบโตดี” หรือ เงินหมุนเวียนดี และเงินเฟ้อหรือราคาสินค้าเพิ่มขึ้นสูงเพราะคนมีเงินจับจ่ายใช้สอย แย่งซื้อสินค้าที่ผลิตไม่ทัน กับ “เศรษฐกิจหดตัว” หรือ เงินหมุนเวียนฝืดเคือง และเงินเฟ้อต่ำหรือติดลบเพราะคนไม่มีเงินจับจ่ายใช้สอย ผู้ผลิตมีสินค้าเหลือจึงลดราคา

ดังนั้น หน้าที่ของรัฐ คือ ต้องลดความผันผวนให้เติบโตแบบพอดี เพราะถ้าเศรษฐกิจโตมากไปก็แตะเบรกโดยการลดรายจ่ายภาครัฐ หรือขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อให้คนหรือภาคธุรกิจลดการใช้จ่ายและลงทุนลง แต่ถ้าเศรษฐกิจกลับตัวก็เหยียบคันเร่งเพิ่มรายจ่ายภาครัฐ หรือลดดอกเบี้ยนโยบายลง การแก้แบบนี้ จึงไม่ยากและตรงไปตรงมา

แต่เศรษฐกิจแบบ Stagflation คือ เศรษฐกิจเติบโตต่ำหรือไม่โต แต่เงินเฟ้อกลับสูง ซึ่งทางแก้จะยากกว่า เพราะถ้าจะเหยียบคันเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจก็จะเจอปัญหาเงินเฟ้อที่สูง แต่ถ้าเหยียบเบรกชะลอเงินเฟ้อก็จะทำให้เศรษฐกิจหดตัวไปอีก ทางออกจึงต้องประคองทั้งเศรษฐกิจให้เติบโตและเงินเฟ้อไม่ให้สูงเกินไป ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก

ดร.นณริฏ ระบุว่า ทางออกเท่าที่เห็น คือ เนื่องจากเงินเฟ้อรอบนี้มาจากราคาพลังงาน ซึ่งเกิดจากปัญหาระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และปัญหาการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่ชะงักตัวจากโควิด จึงต้องรอให้ปัญหาทั้งสองคลี่คลายในระดับหนึ่งก่อน

นั่นคือ สหรัฐฯ แก้ไขปัญหาเองได้อย่างจำกัด ต้องรอให้ต้นตอของปัญหาคลี่คลายมากขึ้น จึงทำให้เศรษฐกิจจะชะลอตัวลงเป็นเวลานานระดับ 1-2 ปีเป็นอย่างน้อย และแน่นอนว่าสหรัฐฯ เป็นผู้ซื้อและผู้ขายสินค้าเจ้าใหญ่ของโลก ทำให้ประเทศอื่น ๆ ส่งออกได้ลดลง

นอกจากนี้ การขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ยังจะทำให้เกิดเงินไหลออกจากประเทศกำลังพัฒนาไปยังสหรัฐฯ ทำให้เศรษฐกิจของประเทศที่เปราะบางแย่ลงตามไปด้วย เช่น ประเทศที่มีหนี้ต่างประเทศสูงจะมีหนี้ที่สูงขึ้น ประเทศที่เงินไหลออก ค่าเงินอ่อนจะยิ่งต้องจ่ายเงิน เพื่อซื้อพลังงานแพงขึ้น

“ในส่วนของประเทศไทย ค่าเงินบาทของเราอ่อนลงมาก และราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นทำให้เราเจอปัญหาเงินเฟ้อสูงกระทบประชาชนในวงกว้าง เศรษฐกิจในปีนี้ เคยถูกประเมินว่าจะโตประมาณ 3.5% ล่าสุดลดลงเหลือประมาณ 3% และปีหน้า 2566 ก็ลดลงจากเดิม 4.2% เหลือโตแค่ 3.7% เท่านั้น” ดร.นณริฏ กล่าว

ด้วยผลกระทบดังกล่าว หากจะบริหารนโยบายเศรษฐกิจให้ผ่านพ้นช่วงนี้ไปได้ มีข้อแนะนำว่า

ปีนี้เป็นปีที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวและคนไทยบางส่วนเริ่มมีรายได้สูงขึ้นแล้ว ดังนั้นควรช่วยเหลือแค่คนกลุ่มที่ยังไม่ฟื้นตัวเป็นหลัก เช่น เด็กยากจน คนตกงาน และคนถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

ควรวางแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยเน้นที่การหาโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ๆ และการพัฒนาของเดิมที่เราเข็มแข็ง เช่น การวางแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโดยเน้นการท่องเที่ยวมูลค่าเพิ่มสูง การท่องเที่ยวที่ผูกโยงกับวัฒนธรรม การสร้างแหล่งดึงดูดอื่น ๆ ที่มากกว่า ชายหาด เที่ยวกลางคืน

การพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัล ให้ทุกคนเข้าถึงอินเทอร์เน็ต รวมทั้งใช้เป็นฐานในการเรียนรู้ สร้างรายได้ และเชื่อมโยงกับสวัสดิการของรัฐ

การพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร โดยกลับมาผลักดันเรื่องการปลูกไม้มูลค่าสูง เกษตรอินทรีย์ การใช้พืชสมุนไพรเชิงสร้างสรรค์ และการค้าผ่านรถไฟลาวจีน

การพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่โดยคิดทบทวนและวางแผนอย่างเหมาะสม เช่น คาสิโน คริปโต สินทรัพย์ดิจิทัล และMetaverse เป็นต้น

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 27 มิถุนายน 2565

ไทย-EFTA ประกาศเปิดเจรจา FTA ประวัติศาสตร์การค้าฉบับแรกกับยุโรป

เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมาได้เกิดปรากฏการณ์ที่สร้างประวัติศาสตร์ทางการค้าหน้าใหม่ให้แก่ประเทศไทย นั่นก็คือ การประกาศเปิดการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-สมาคมการค้าเสรียุโรป (EFTA) ซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิก 4 ประเทศ คือ สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ โดยถือเป็น FTA ฉบับแรกที่ไทยทำกับยุโรป หลังจากที่ก่อนหน้านี้ไทยทำ FTA มาแล้ว 14 ฉบับ กับ 18 ประเทศ แต่ไม่มีประเทศในยุโรปแม้แต่ประเทศเดียว

การประกาศเปิดเจรจา FTA ครั้งนี้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ร่วมกับผู้แทนของ 4 ประเทศสมาชิก EFTA ได้แก่ นางธอร์ดิส โคบรุน เรคเฟรียด กิลฟาดอตติร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไอซ์แลนด์ นางโดมินิค ฮาสเลอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ การศึกษาและกีฬาของลิกเตนสไตน์ นางยานิคกะ อันเดรียอัสเซน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของนอร์เวย์ นางมารี เกเบรียล อินไนเชน เฟลช เลขาธิการสํานักงานกิจการเศรษฐกิจของสวิตเซอร์แลนด์ และมีนายอองรี เจทาซ เลขาธิการ EFTA ทำการประกาศเปิดเจรจา ที่ร้านอาหารเองแลนดิงกาวิก (Englendingavík) เมืองบอร์การ์เนส สาธารณรัฐไอซ์แลนด์

ใช้ความพยายามมานานถึง 20 ปี

นายจุรินทร์กล่าวว่า ต้องถือเป็นประวัติศาสตร์ทางการค้าของประเทศไทย และเชื่อว่าเป็นประวัติศาสตร์ของกลุ่มประเทศสมาชิก EFTA ทั้ง 4 ประเทศด้วย หลังจากใช้ความพยายามในการเจรจา FTA ระหว่างกันมาเกือบ 20 ปี เพิ่งมาประสบความสำเร็จในครั้งนี้ จึงถือเป็นการประกาศนับหนึ่งในการเริ่มการเจรจา FTA ระหว่างไทยกับ EFTA โดยตั้งเป้าว่าจะเจรจาให้จบ ภายใน 2 ปี หลังจากนั้นจะเป็นไปตามขั้นตอนกระบวนการกฎหมายของแต่ละประเทศต่อไป

ทั้งนี้ หลังจากประกาศเปิดการเจรจา FTA จะมีการเดินหน้าการเจรจาในทันที โดยไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสหรือที่เรียกว่า SOM ของ EFTA ที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 28-30 มิ.ย. 2565

“ทุกอย่างจะเดินไปเร็ว เพราะมีนโยบายชัดเจนว่าอะไรที่ทำได้เร็ว ควรเร่งทำ ยิ่ง FTA ไทย-EFTA บรรลุผลเร็วเท่าไร ประโยชน์ทางการค้าการลงทุนระหว่างกันของไทยกับกลุ่มประเทศ EFTA ยิ่งเพิ่มมูลค่าระหว่างกันไปเร็วมากยิ่งขึ้น ประโยชน์ที่คนในประเทศทั้ง 5 ประเทศจะได้รับจะมีเพิ่มขึ้นในเวลาที่รวดเร็ว” นายจุรินทร์กล่าว

มั่นใจหนุนการค้า ลงทุน เศรษฐกิจ

นายจุรินทร์กล่าวว่า มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับ EFTA ในปี 2564 มีมูลค่าประมาณ 7,500 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าภายหลังจากที่ FTA ประสบความสำเร็จและเริ่มบังคับใช้จะทำให้มูลค่าการค้าเพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าตัวในเวลาอันรวดเร็ว เพราะความร่วมมือจะมีทั้งเรื่องความร่วมมือการค้าสินค้า บริการ การลดภาษีนำเข้า-ส่งออกระหว่างกัน รวมทั้งในเรื่องการลงทุน อีคอมเมิร์ซ และการอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างกัน และที่สำคัญจะจับมือกันนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจสังคมอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต ซึ่งจะมีรายละเอียดในเรื่องสิ่งแวดล้อมและอื่นๆ ตามมา

เปิดประโยชน์ที่ไทยจะได้รับ

สำหรับผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับไทย นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีผลการศึกษาของสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD) ที่ได้ศึกษาแล้ว พบว่าการลดภาษีทั้งฝ่ายไทยและ EFTA จะทำให้อัตราผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ขยายตัว 0.178% ต่อปี สวัสดิการสังคมเพิ่มขึ้น 801 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องมาจากการบริโภคภายในครัวเรือนเพิ่มขึ้น 0.215% โดยเฉพาะรายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้น 0.96% จากการลดภาษีนำเข้าของฝ่าย EFTA เพราะสินค้าเกษตรหลายชนิดของ EFTA มีการเก็บภาษีนำเข้าที่สูง เช่น ผลิตภัณฑ์เนื้อไก่และเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์อาหารอื่นๆ เป็นต้น รวมทั้งทำให้เกิดการกระจายรายได้ในประเทศไทยมีแนวโน้มดีขึ้น และมีรายได้จากภาษีเพิ่มขึ้น 0.165% มาจากการส่งออกที่เพิ่มขึ้นประมาณ 0.142%

สำหรับการลดภาษีสินค้า ผลการศึกษาพบว่าหากไทยลดภาษีนำเข้าให้แก่ EFTA จะทำให้การนำเข้าเพิ่มขึ้นมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ Optical Products 2. อุปกรณ์ไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า 3. เคมีภัณฑ์ 4. ผลิตภัณฑ์โลหะ 5. เครื่องจักรและอุปกรณ์อื่นๆ และหาก EFTA ลดภาษีนำเข้าให้แก่ไทย จะทำให้ส่งออกเพิ่มขึ้นมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. ผลิตภัณฑ์เนื้อจากสัตว์จำพวกไก่ หมู และเครื่องใน 2. ผลิตภัณฑ์อาหารอื่นๆ เช่น ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากปลา ผัก และผลไม้ ผลิตภัณฑ์จากแป้ง 3. เครื่องแต่งกาย 4. สิ่งทอ 5. ผลิตภัณฑ์โลหะ

ในด้านการลงทุน พบว่าไทยสามารถดึงดูดนักลงทุนของ EFTA เข้ามาใช้ไทยเป็นฐานการผลิต โดยนำเข้าวัตถุดิบจาก EFTA มาผลิตหรือประกอบในไทยเพื่อส่งออกไปยังภูมิภาคเอเชีย

เปิดโอกาสยกระดับมาตรฐาน

ทั้งนี้ ในการจัดทำ FTA ไทย-EFTA จะมีการรวมประเด็นการค้าใหม่ๆ เช่น การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ทรัพย์สินทางปัญญา การแข่งขันทางการค้า และการค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นต้น ซึ่งนางอรมนบอกว่าจะเป็นโอกาสของไทยในการยกระดับมาตรฐานและกฎระเบียบในเรื่องต่างๆ ให้เป็นมาตรฐานสากลมากขึ้นและจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศในภาพรวม แต่ในการจัดทำความตกลง FTA ของ EFTA จะคำนึงถึงความแตกต่างของระดับการพัฒนา และจะให้ความยืดหยุ่นกับคู่เจรจาที่เป็นประเทศกำลังพัฒนา และจะต้องมีระยะเวลาในการปรับตัวที่เหมาะสม

เตรียมมาตรการช่วยเหลือไว้พร้อมแล้ว

ทางด้านการป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการทำ FTA นางอรมนกล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างประสานกระทรวงการคลังและคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียนเพื่อขอจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า โดยกองทุนจำเป็นจะต้องได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลเป็นหลัก ได้แก่ เงินทุนประเดิม 5,000 ล้านบาท และเงินอุดหนุนจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 120-150 ล้านบาทต่อปี เพื่อให้กองทุนสามารถดำเนินงานช่วยเหลือได้อย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง

“ล่าสุด เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2565 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์แจ้งว่า คณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียน โดยกรมบัญชีกลาง ได้มีมติเห็นชอบในหลักการการขอจัดตั้งกองทุน FTA ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ และให้กรมฯ รับข้อสังเกตของคณะกรรมการฯ ไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งให้กรมบัญชีกลางจัดทำความเห็นเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) และต่อมาวันที่ 11 เม.ย. 2565 คณะกรรมการฯ ได้เสนอผลการพิจารณาการขอจัดตั้งกองทุน FTA ต่อ ครม. และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอยู่ระหว่างรวบรวมความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการพิจารณาของ ครม.ต่อไป” นางอรมนกล่าว

นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้พัฒนาระบบเตือนภัยทางการค้า (Trade Monitoring System) เพื่อเฝ้าระวังและเตือนภัยความผิดปกติทางการค้า และให้สามารถใช้มาตรการปกป้องกรณีที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างมากจนเกิดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศ (safeguard) ได้ทันท่วงทีแล้ว

ประชุม JETCO เคาะร่วมมืออังกฤษ 6 ด้าน

ในช่วงการเดินทางไปประกาศเปิดการเจรจา FTA ไทย-EFTA นายจุรินทร์ได้ใช้โอกาสนี้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจและการค้า (JETCO) ไทย-สหราชอาณาจักร (ระดับรัฐมนตรี) ครั้งที่ 1 ร่วมกับนางเพนนี มอร์ดอนท์ รัฐมนตรีด้านนโยบายการค้า กระทรวงการค้าระหว่างประเทศ ของสหราชอาณาจักร ที่ Central Hall Westminster กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร

นายจุรินทร์กล่าวว่า การประชุม JETCO ครั้งนี้ครอบคลุม 6 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านการเกษตร 2. ด้านดิจิทัล 3. อาหารเครื่องดื่ม 4. ด้านการลงทุน 5. ด้านการค้า และ 6. ด้านการเงิน โดยได้ข้อสรุปร่วมกันว่าจะผลักดันความร่วมมือทั้ง 6 ด้านนี้ให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว และมอบหมายให้เจ้าหน้าที่อาวุโสหรือ SOM ประชุมเพื่อกำหนดแผนปฏิบัติการให้ชัดเจน และให้บรรลุเป้าหมายต่อไป

“ได้มีการพูดกันว่าความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในรูปแบบ JETCO จะพัฒนาไปเป็นหุ้นส่วนทางการค้าที่แน่นแฟ้น (Enhanced Trade Partnership : ETP) ซึ่งจะเพิ่มความสัมพันธ์ทางการค้าเศรษฐกิจระหว่างกันในเชิงลึกมากยิ่งขึ้นและแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น จากนั้นจะพัฒนาไปเป็น FTA ต่อไป ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมี FTA 14 ฉบับ กับ 18 ประเทศ หวังว่าไทยกับ UK จะเป็นฉบับต่อๆ ไป ในการกลายเป็น FTA กับประเทศคู่ค้าสำคัญในยุโรปของไทย” นายจุรินทร์กล่าว

ทั้งนี้ นายจุรินทร์มั่นใจว่าความร่วมมือทั้ง 6 ด้านที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้จะช่วยผลักดันให้มูลค่าการค้าระหว่างไทย-สหราชอาณาจักรเพิ่มขึ้น โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามูลค่าการค้าระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักรลดลงมาก ปี 2017 ตัวเลข 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ปีที่แล้วลดลงเหลือ 5,500 ล้านเหรียญสหรัฐ หายไป 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ตั้งเป้าว่าควรทำให้กลับมา 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐเหมือนเดิมให้เร็วที่สุด

สวมบทหัวหน้าเซลส์แมนขายสินค้าไทย

นอกเหนือจากภารกิจในการเปิดประตูการค้าให้กับประเทศไทย ผ่านการประกาศเปิดการเจรจา FTA ไทย-EFTA และสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับสหราชอาณาจักร นายจุรินทร์ยังได้สวมบทหัวหน้าทีมเซลส์แมนของประเทศ ทำหน้าที่ขายสินค้าไทย โดยได้พบปะกับผู้บริหารห้างสรรพสินค้า ILLUM (อิลลุ่ม) ในเดนมาร์ก ได้ข้อสรุปว่า ห้างอิลลุ่มยินดีเปิดโอกาสให้ไทยไปจัด In-Store Promotion ทำการส่งเสริมการขายสินค้าลักชัวรีแบรนด์ เพื่อป้อนตลาดผู้บริโภคกำลังซื้อสูง ตั้งเป้าไว้ว่าจะเริ่มวางขายสินค้าไทยได้วันที่ 1 ต.ค. 2565

ขณะเดียวกัน ได้หารือกับผู้บริหารซูเปอร์มาร์เกต MENY (เมนู) ซึ่งมีสาขาทั่วเดนมาร์ก 100 กว่าสาขา และมีสาขาทั่วโลกเกือบ 200 สาขา พบว่าสินค้าไทยยังมีขายน้อย และสินค้าไทยส่วนใหญ่ต้องไปผ่านเทรดเดอร์ในเนเธอร์แลนด์ และไปเปลี่ยนเป็นแบรนด์ของเขา จึงได้มอบหมายให้ทูตพาณิชย์ประสานให้มีการสั่งซื้อสินค้าไทยโดยตรง ไม่ต้องผ่านการเปลี่ยนยี่ห้อ เปลี่ยนฉลาก เช่น อาหารสดปรุงรส อาหารสำเร็จรูป และผลไม้ ซึ่งส่วนใหญ่นิยมแบบออร์แกนิก โดยเชื่อว่าจะเปิดตลาดได้ ตั้งเป้านำสินค้าไปวางจำหน่ายได้ภายใน 3-6 เดือน

ทั้งนี้ นายจุรินทร์ยังได้หารือกับภาคเอกชนของไอซ์แลนด์ที่เป็นผู้นำเข้าสินค้าไทยและประสงค์นำเข้าสินค้าไทยมากขึ้นในอนาคต จำนวน 7 ราย ทั้งผู้นำกลุ่มนักธุรกิจสตรีจากไอซ์แลนด์ ชาวไทยบางส่วนที่ทำธุรกิจนำเข้าสินค้า และเจ้าของร้านอาหารไทย ซึ่งมีถึง 14 ร้าน โดยทุกคนมีความต้องการนำเข้าสินค้าจากไทยโดยตรงเพิ่มขึ้น จากเดิมมีการนำเข้าตรงและบางส่วนนำเข้าจากเนเธอร์แลนด์ หรือสหราชอาณาจักร โดยได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจัดการเจรจาจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้นำเข้าไอซ์แลนด์กับผู้ผลิตผู้ส่งออกไทยที่ได้คุณภาพมาตรฐานยุโรปผ่านระบบออนไลน์ มั่นใจว่าจะช่วยให้มีการส่งออกตรงไปยังไอซ์แลนด์เพิ่มขึ้น

ปิดดีลที่อังกฤษบิ๊กล็อต 4,600 ล้าน

การทำหน้าที่หัวหน้าทีมเซลส์แมนยังไม่จบเพียงแค่นี้ นายจุรินทร์ได้เป็นประธานลงนาม MOU ระหว่างผู้ประกอบการไทย-สหราชอาณาจักร ที่ห้าง Wing Yip สาขาครอยดอน (Croydon) สหราชอาณาจักร ได้แก่ 1. บริษัท C.P. Trading Group co., Ltd. ลงนามกับบริษัท Manning Impex Ltd สินค้าข้าวหอมมะลิและอาหาร คาดการณ์มูลค่าการสั่งซื้อภายใน 1 ปี 350 ล้านบาท 2.  บริษัท Alisa Inter Co., Ltd. กับบริษัท Thai Tana Ltd. สินค้าอาหารและเครื่องปรุงรส คาดการณ์มูลค่าการสั่งซื้อภายใน 1 ปี 150 ล้านบาท และ 3. บริษัท CPF Co., Ltd. กับ Westbridge Food Group สินค้าไก่แปรรูป คาดการณ์มูลค่าการสั่งซื้อภายใน 1 ปี 4,000 ล้านบาท 4. บริษัท Thai Tana Ltd. กับ บริษัท ท่าเรือมารีน สินค้าอาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง คาดการณ์มูลค่าการสั่งซื้อภายใน 1 ปี 100 ล้านบาท

นอกจากนี้ ได้เป็นประธานจัดกิจกรรมส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าอาหารไทยร่วมกับห้าง Wing Yip ในตลาดสหราชอาณาจักร โดยกิจกรรมจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-28 มิ.ย. 2565 มีกิจกรรมแจกชิมอาหารไทย ได้แก่ ข้าวเหนียวมะม่วง และจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ร้านอาหาร Thai SELECT และสินค้าอาหารไทย ร่วมกับ influencer ในตลาดสหราชอาณาจักร เพื่อกระตุ้นการบริโภคอาหารไทย สร้างการรับรู้อาหารไทย และกระตุ้นให้เกิดการซื้ออาหารไทยและวัตถุดิบอาหารไทยเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันมีร้านอาหาร Thai SELECT ในยุโรปจำนวน 327 แห่ง จาก 1,500 แห่งทั่วโลก (ข้อมูล ณ มิ.ย. 2565)

มอบตรา Thai Select ร้าน "ครัวไทย"

สำหรับกิจกรรมอื่นๆ นายจุรินทร์ได้มอบประกาศนียบัตรตราสัญลักษณ์ Thai select ให้แก่ “ร้านครัวไทย” ที่เมืองเรคยาวิก สาธารณรัฐไอซ์แลนด์ ซึ่งร้านครัวไทยเป็นร้านอาหารไทยแห่งแรกในไอซ์แลนด์ที่ได้รับประกาศนียบัตร Thai Select โดยมีนายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ น.ส.วิมลพัชระ รักษาเกียรติ เอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงออสโล นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน

“ร้านอาหารไทยในไอซ์แลนด์เป็นอาหารไทยแท้ที่ไม่ดัดแปลงจนเสียอัตลักษณ์ จึงได้ให้ตรา Thai Select ซึ่งเป็นตราการันตีความเป็นอาหารที่มีอัตลักษณ์ของความเป็นไทยให้คนไอซ์แลนด์มั่นใจ รวมถึงนักท่องเที่ยว และขอความร่วมมือคนไทยทำอาหารไทยอย่าทำให้เสียความเป็นอัตลักษณ์ของความเป็นไทย ทั้งนี้ ได้ขอให้ทูตพาณิชย์ที่ดูแลร้านอาหารไทยในต่างประเทศทั้งที่ไอซ์แลนด์ และประเทศอื่นๆ ทั่วโลกกำชับและติดตามต่อไปแล้ว” นายจุรินทร์กล่าว

จาก https://mgronline.com วันที่ 27 มิถุนายน 2565

ตลาด RCEP มีดีอะไร  พาณิชย์ชี้ช่องลุยส่งออกสินค้าไทย

กรมเจรจาฯ เตรียมจัดสัมมนาใหญ่ ชี้ช่อง ลุยตลาด RCEP วันที่ 8 ก.ค.นี้ มั่นใจผู้ประกอบการไทยได้ประโยชน์และเพิ่มโอกาสส่งออกไปตลาด RCEP

RCEP เป็นความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement - FTA) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็น FTA ฉบับที่ 14 ของไทย โดยมีสมาชิก 15 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน 10 ประเทศ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ มีประชากรรวมกัน 2,300 ล้านคน (30.2% ของประชากรโลก) GDP รวมมูลค่า 28.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (33.6% ของ GDP โลก) และมูลค่าการค้ารวม 10.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (30.3% ของมูลค่าการค้าของโลก)

สำหรับประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากความตกลง RCEP  เช่น ยกเลิกภาษีนำเข้าที่เก็บกับสินค้าไทย 39,366 รายการ ภาษีเหลือ 0% ทันที จำนวน 29,891 รายการ  โดยจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ จะลดและยกเลิกภาษีศุลกากรกับสินค้าที่ส่งออกจากไทย

เพิ่มเติมจาก FTA ที่มีอยู่ในสินค้า เช่น ผลไม้สดและแปรรูป สินค้าประมง น้ำผลไม้ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์และส่วนประกอบ พลาสติก เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า และคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เป็นต้น

นอกจากนี้ ความตกลง RCEP จะช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าแก่สมาชิก ไม่ว่าจะเป็น สินค้าที่เน่าเสียง่ายจะได้รับการตรวจปล่อยพิธีการศุลกากรภายใน 6 ชั่วโมง และสินค้าปกติภายใน 48 ชั่วโมง และการขยายโอกาสในธุรกิจบริการของไทยสู่ประเทศสมาชิก RCEP เช่น ก่อสร้าง ค้าปลีก สุขภาพ ภาพยนตร์และบันเทิง เป็นต้น

ดังนั้นเพื่อเป็นการสร้างโอกาสและชี้ช่องให้กับผู้ประกอบการในการลุยตลาด RCEP กระทรวงพาณิชย์ ได้จัดจัดสัมมนาใหญ่ ชี้ช่องโอกาส ลุยตลาด RCEP ในวันที่ 8 กรกฎาคมนี้

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการ SMEs และภาคเอกชนไทย ใช้ประโยชน์จากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และสามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีส่งออกไปยังตลาด RCEP   โดยจะมีผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้เกี่ยวกับความตกลง RCEP แนวทางการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้า และคำแนะนำเรื่องธุรกิจด้านสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ

โดยแบ่งออกเป็น 2 หัวข้อ คือ ชี้ช่องใช้ประโยชน์ RCEP  เพื่อให้ผู้ประกอบการได้ใช้โอกาสของไทยจากความตกลง RCEP และขั้นตอนการใช้สิทธิประโยชน์ทาง และหัวข้อ จับคู่กู้เงิน ลุยตลาด RCEP ให้คำแนะนำทางธุรกิจด้านสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ โดยผู้แทนจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เกี่ยวกับสินเชื่อรูปแบบเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำเพียง 2.75% ต่อปี ในวงเงินกู้สูงสุดรายละ 50 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ และ SMEs ที่ต้องการส่งออกไปยังตลาด RCEP

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 26 มิถุนายน 2565

ส่งออกน้ำตาลดันราคาอ้อย อานิสงค์วิกฤติอาหาร-บาทอ่อน

วิกฤติซ้อนวิกฤติไม่ว่าจะเป็น เงินบาทอ่อนค่า วิกฤติความไม่มั่นคงอาหารทั่วโลก สงครามรัสเซีย-ยูเครน ราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น ระบบซัพพลายเชนขาดช่วง แต่ท่ามกลางวิกฤติยังมีโอกาสที่ไทยในฐานะผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลรายสำคัญของโลกกำลังได้รับประโยชน์จากสถานการณ์นี้

ปัจจุบันราคาน้ำตาลในตลาดโลกอยู่ที่ 19-20 เซนต์ต่อปอนด์ ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 20% จากปีก่อนหน้า อีกทั้งยังมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ด้วยประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ทั้งอินเดียและบราซิลออกมาประกาศควบคุมปริมาณการส่งออกเพื่อกันไว้บริโภคในประเทศ

ทั้งนี้ สถานการณ์ข้างต้นถือเป็นปัจจัยบวกที่ส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมน้ำตาลไทยอย่างมีนัยสำคัญ โดยสถิติการส่งออกน้ำตาลทราย 3 เดือนแรกปี 2565 ในเดือน ม.ค. อยู่ที่ 179,695,274 กก. เพิ่มขึ้น 23.98% มูลค่า 3,028 ล้านบาท เดือน ก.พ. อยู่ที่ 215,044,789 กก. เพิ่มขึ้น 49.48% มูลค่า 3.5 พันบาท และเดือน มี.ค. อยู่ที่ 195,762,541 กก. เพิ่มขึ้น 14.76% มูลค่า 3,176พันล้านบาท

ชลัช ชินธรรมมิตร์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำตาล สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ราคาน้ำตาลโลกอยู่ในระดับที่สูงมาตั้งแต่ช่วงกลางปีที่แล้ว เนื่องจากความขาดแคลนในบางพื้นที่ ทำให้มีความต้องการบริโภคจึงเกิดการเข้าซื้อน้ำตาลส่งผลให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ ค่าเงินบาทที่อ่อนลงจาก 31 บาทต่อดอลลาร์ ปัจจุบันอ่อนค่าถึง 35 บาทต่อดอลลาร์ ถือเป็นปัจจัยหนุนให้กับผู้ส่งออกน้ำตาลมีรายรับมากขึ้น โดยส่งผลต่อเนื่องถึงราคาอ้อยที่สูงขึ้นเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยขยายพื้นที่การปลูกอ้อยซึ่งจะทำให้ไทยมีผลผลิตมากขึ้นในปีต่อไป

​เอกภัทร วังสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า สำหรับฤดูกาลผลิตอ้อยปี 2565/66 คาดว่าจะมีปริมาณผลผลิตมากว่า 100 ล้านตัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นตามลำดับเนื่องจากมีฝนตกลงมาต่อเนื่อง โดยพื้นที่การปลูกอ้อยไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนักแต่คาดว่าปริมาณผลผลิตตันต่อไร่สูงขึ้น ในขณะที่ราคาอ้อยในปีนี้ประเมินว่าจะเกินตันละ 1,000 บาท

อย่างไรก็ตาม ยังต้องคำนึงถึงต้นทุนการผลิตของเกษตรกรชาวไร่อ้อยและต้นทุนของผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาล เนื่องจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นและราคาปุ๋ยที่เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจะเป็นปัจจัยหลักในการคำนวณต้นทุนและประเมินว่าราคาอ้อยและน้ำตาลในปีหน้าจะเพิ่มขึ้นหรือไม่ โดย สอน. พยายามรักษาระดับราคาน้ำตาลในปัจจุบันเพื่อไม่ให้กระทบกับผู้บริโภคและส่งผ่านต้นทุนผ่านอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อาทิ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์นม

จากข้อมูลของกระทรวงเกษตรสหรัฐ ระบุว่า ปริมาณการผลิตน้ำตาลในฤดูกาล 2565/66 ของไทยจะอยู่ที่ 10.5 ล้านตัน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อนหน้า ในขณะที่ปริมาณการส่งออกคาดว่าจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 11 ล้านตัน เนื่องจากมีปริมาณส่งออกได้จำนวนมาก ทั้งนี้ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ไทยถือเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ลำดับที่ 4 ของโลก รองจากบราซิล อินเดีย และอียู

ทั้งนี้ การใช้อ้อยผลิตเอทานอลในไทยคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.8 ล้านตัน เนื่องจากมีการตั้งโรงงานเอทานอลแห่งใหม่เพื่อผลิตเชื้อเพลิงเอทานอลโดยจะเริ่มผลิตในรูปแบบอุตสาหกรรมในปี 2566 ซึ่งในขณะนี้อ้อยส่วนใหญ่ยังคงนำไปผลิตเป็นน้ำตาล สำหรับความต้องการบริโภคน้ำตาลคาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 1.5 ล้านตัน สอดคล้องกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในภาคการท่องเที่ยวและบริการภายหลังจากสถานการณ์โควิด-19

จากราคาอ้อยและน้ำตาลที่ทรงตัวสูงแต่อีกด้านหนึ่งต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรหลายรายการก็เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวเช่นกัน ทำให้วิกฤติที่เกิดขึ้นแม้จะเป็นโอกาสของอุตสาหกรรมน้ำตาลแต่ในระยะยาวการวางแผนการผลิตและส่งออกที่เหมาะสมจะเป็นประโยชน์ที่แท้จริงของอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจโลกโดยรวม

จาก https://www.bangkokbiznews.com วันที่ 25 มิถุนายน 2565

อัพเดท ร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายฯ ลุ้น 27 มิ.ย. วุฒิสภา ตั้ง กมธ.

"ธีระชัย" แจ้งข่าว วุฒิสภา นัดประชุม 27 มิ.ย. ตั้ง กมธ.ร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายฯ มีใครบ้าง ลุ้นผลโหวต เห็นชอบ หรือ ไม่ ต้องติดตาม โรงงานน้ำตาลแห่งประเทศไทย แจ้งอัพเดทเงินช่วยค่าตัดอ้อย ลดฝุ่น pm2.5 ที่อัตรา 120 บาทต่อตัน จ่ายแน่นอน สอน. อยู่ระหว่างดำเนินการ

เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2565 ที่ประชุมมสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว ซึ่งเป็นการพิจารณาต่อการประชุมครั้งที่ผ่านมา มีสมาชิกขอสงวนความเห็นเกี่ยวกับบทบัญญัติในมาตรา 2/1 ผลพลอยได้หมายถึงกากอ้อย กากน้ำตาล และผลพลอยได้อื่นที่รวมถึงอ้อยน้ำตาลทราย เพื่อนำไปคำนวณในระบบแบ่งปันผลประโยชน์ ได้ผ่านร่าง พ.ร.บ.มีมติเห็นชอบวาระที่ 3 ด้วยคะแนนเสียง 290 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี จากนี้จะดำเนินการส่งไปยังวุฒิสภาพิจารณาต่อไป

จากมติดังกล่าวนี้ ส่งผลให้กลุ่มโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศรวม 57 โรง ที่รับอ้อยเข้าหีบในโรงงานฤดูการผลิตปี 2564/2565 ในปริมาณ 92 ล้านตัน ผลิตน้ำตาลทรายได้ 9.9 ล้านตันแสดงความไม่พอใจ โดยในการประชุมกลุ่มสมาชิกทั้งหมด เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2565 ได้มีมติร่วมกันว่า จะทำหนังสือลาออกจากคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทั้ง 5 คณะนั้น ล่าสุดมีความคืบหน้าตามลำดับ

นายธีระชัย แสนแก้ว ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในวันที่ 27 มิถุนายนนี้ ทางวุฒิสภา จะมีการแต่งตั้งกรรมาธิการเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... ต้องติดตามว่าใครจะเข้าไปกลั่นกรอง ส่วนในเรื่องที่ผ่านมามีปัญหาจากความไม่พอใจของฝ่ายโรงงานน้ำตาล ที่ไม่ได้มีโอกาสเข้าไปนำเสนอเป็นกรรมาธิการด้วย เป็นการมัดมือชก มีแต่ชาวไร่อ้อย และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เท่านั้น

“ ในส่วนของเราเกษตรกรชาวไร่อ้อยมองว่าเป็นเรื่องของสภาได้มีการพิจารณาไปแล้ว ผ่านวาระ 3 ไปแล้ว มาแก้ไขไม่ได้ ถ้าจะแก้ไขก็ในขั้นตอนวุฒิสภา ก็ให้ไปชี้แจงในวุฒิสภาเอา ส่วนจะเห็นชอบหรือไม่ก็ต้องกลับมาที่สภาผู้แทนอีก ให้ว่าไปตามขั้นตอนจะเป็นแบบนี้ มองว่าเป็นเรื่องศักดิ์ศรีมากกว่า”

นายธีระชัย กล่าวว่า ส่วนของกากอ้อย คิดเป็น 2 อย่าง  ในตอนแรกกากอ้อย ไม่มีประโยชน์ เป็นของเสีย แต่ภายหลังสามารถนำไปทำกากไฟฟ้าได้ มีผลพลอยได้ในรูปผลิตภัณฑ์อื่นๆด้วย ในเมื่อมีโอกาสได้แก้กฎหมายก็คิดว่าหากบริษัทนำกากอ้อย เป็นรายได้ เมื่อคิดค่าใช้จ่ายแล้วก็นำมาแบ่งปันผลประโยชน์ด้วย ไม่ดีกว่าหรือ

ทางโรงงานก็บอกว่ามีต้นทุน กากอ้อยไปทำโรงงานไฟฟ้า แล ะกากอ้อยราคาไม่แน่นอน บางทีที่ได้นำไปใช้ไฟฟ้า ก็นำไปผลิตเป็นน้ำตาลมาแบ่งปันผลประโยชน์ ไม่ต้องเสียต้นทุนค่าใช้จ่ายจากไฟฟ้าข้างนอก มองว่าก็มีเหตุผลของสองฝ่าย แต่ทั้งนี้ก็สู้กันไปมาในคณะกรรมาธิการ จนถอนวาระออกไปก่อน พอเข้าวาระ 2 ก็นำเรื่องนี้เข้ามาพิจารณาใหม่ สุดท้ายก็ผ่าน วาระ 2 และ 3 ทำให้โรงงานน้ำตาลถูกมัดมือชก ทำให้คณะกรรมการขอลาออก

“แต่ในฐานะที่เราเป็นผู้นำชาวไร่อ้อย คิดว่าเป็นเรื่องของสภา จะต้องแก้ไขในชั้นวุฒิสภา โดยในชั้นนี้คณะวุฒิสภาจะต้องแต่งตั้งโรงงานน้ำตาลให้ไปชี้แจง แก้ไขได้หรือไม่ ขั้นตอนถึงจุดนี้แล้ว ขึ้นอยู่กับการบริหารการบังคับใช้กฎหมายยังไม่ได้คลอดออกมา ลาออก ก็เดินไม่ได้ ขึ้นอยู่กับการบริหารแล้วรัฐมนตรี-ปลัด ก็ต้องลงมาคุย หาทางออก เลขาสำนักอ้อยและชาวไร่ ต้องเรียกมาคุยทางออกจะเอาอย่างไร ต้องมีทางออก ไม่สามารถล้มระบบแบ่งปันได้ เพราะรัฐบาลต้องเอาคนส่วนใหญ่ไว้

ด้านนายสรวุฒิ  เนื่องจำนงค์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่ ..) พ.ศ.....  กล่าวว่า รู้สึกไม่หนักใจ เพราะกระบวนการพิจารณาในสภาโดยคณะกรรมาธิการเสร็จสิ้นไปแล้ว ผ่านวาระ 1 2 และ 3 ไปแล้ว หลักการจะส่งไปให้วุฒิสภาภายใน 30 วัน  เพราะเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงิน แล้วถ้าวุฒิสภาพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายใน 30 วัน สามารถต่อระยะเวลาได้อีกครั้งหนึ่งไม่เกิน 30 วัน หากไม่มีการแก้ไข หรือวุฒิสภาเห็นด้วยก็ผ่าน หรือวุฒิสภา แต่ถ้าไม่เห็นด้วย ก็ต้องมาสู่คณะกรรมาธิการร่วมกันระหว่างสองสภา โดยหลักการเป็นอย่างนี้

โดยส่วนตัวก็เป็นสิทธิ์ เพราะโดยระบบบแบ่งปันผลประโยชน์ก็มีความคิดหลายหลาก ระบบบแบ่งปันผลประโยชน์ก็เห็นใจทางฝั่งโรงงาน แต่ชาวไร่ก็เรียกร้องในส่วนนี้ ผมเป็นประธาน กมธ. ก็มีการพูดคุยทั้งใน กมธ. หนทางที่ดีที่สุดหากไม่สามารถตกลงกันได้ระหว่างฝ่ายโรงงานกับชาวไร่การบรรจุวาระเข้าไปก่อนก็คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ในระยะยาวทุกฝ่าย แต่ว่าอย่างไรก็ตาม ทางฝ่ายโรงงานและชาวไร่ และสอน. จะต้องมาพูดคุยกัน เพราะเหมือนคนในครอบครัวเดียวกัน ในนามกรรมาธิการขั้นตอนต่อไปจะต้องส่งให้ สว.พิจารณา

นายสรวุฒิ   กล่าวว่า กฎหมายนี้คิดว่าจะเป็นประโยชน์ที่สุดให้ทั้งสองฝ่ายไม่อยากให้เทน้ำหนักไปข้างใดข้างหนึ่งอยากให้เข้าใจทั้งสองฝ่ายตกลงกันบนพื้นฐานความเข้าใจจะดีที่สุด พยายามทำกฎหมายให้ดีที่สุดในขณะนั้นก็มีการพูดคุย เรื่องค่าใช้จ่ายที่คิดจากระบบเช่น การอุดหนุนส่งออก การแปรสภาพน้ำตาลทราย ค่าขนส่งน้ำตาลจากโรงงานไปท่าเรือ เป็นสิ่งที่ทางโรงงานก็รับฟัง และทางชาวไร่ก็เห็นด้วย แต่การเจรจาด้วยข้อจำกัดต่างๆไม่สามารถยุติได้ในเวลาอันสั้น เพราะฉะนั้นในขั้นตอนการทำกฎหมายให้ผ่านสภาชุดนี้จำเป็นที่จะต้องทำงานให้เสร็จตามกรอบเวลาด้วย

 “ผมคิดว่าเป็นธรรมเบื้องต้น แต่จะเป็นประโยชน์หรือเปล่าไม่กล้าตอบ ต้องขึ้นอยู่กับฟังเหตุผลทั้งสองฝ่าย ความแตกต่างของตัวโรงงานในอุตสาหกรรมนี้ ใน 57 โรง เป็นการร่วมกัน 3 สมาคม 3 สมาพันธ์ ความแตกต่างของโรงงาน และฐานะศักยภาพ เรื่องการลงทุน เช่น บางกลุ่ม บางบริษัทก็สามารถไปทำโรงไฟฟ้าได้ บางกลุ่มก็ไปทำชีวภาพได้ บางกลุ่มก็นำประโยชน์ของชานอ้อยทำผลิตภัณฑ์ต่างๆมากมาย ในขณะเดียวกันการประกอบธุรกิจดังกล่าวนี้ก็มีต้นทุน “

นายสรวุฒิ  กล่าวว่า ในสภาก็มีการพูดคุยกันรุนแรงมากหาว่าไปรับเงินมาจากโรงงาน ผมคิดว่าเป็นเรื่องไร้สาระสิ้นดี ในเรื่องนี้ไม่มีใครเสียเปรียบ ยกตัวอย่างอ้อยเวลาหีบอ้อย สิ่งที่เป็นโปรดักส์ต้องการก็คือน้ำอ้อย จะไปแปรสภาพเป็นน้ำตาลทราย ในน้ำตาลทรายจะ มีน้ำตาลทรายดิบ นำไปแปรรูปเป็นน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ จะเป็นว่าทุกกระบวนมีค่าใช้จ่าย ระบบการแบ่งปันผลประโยชน์จำเป็นที่จะต้องมีการชาร์จค่าใช้จ่ายตรงนี้ไปนำมาคำนวณในสัดส่วนรายได้ 70: 30 ช้อแรก พักไว้เรื่องกากากน้ำตาล ในอดีตใช้ประโยชน์ไม่ได้ แต่ต่อมาสามารถหมักเป็นแอลกอฮอล์ได้ ปั่นไฟฟ้า ทำเชื้อเพลิงได้ เริ่มมีการเรียกร้องให้มาคำนาณ จึงมีการนำเอากากน้ำตาลมาคำนวณ ประมาณกว่า 700 บาท

หีบอ้อยลำหนึ่งมีน้ำเชื่อม มีกากน้ำตาล กากอ้อยและกากตะกอนกรอง ซึ่ง 3 ตัวนี้ ใครมองก็ทราบว่าเป็นผลพลอยได้โดยตรง แต่บางคนก็เลยเถิดไปว่าจะเอาแอลกอฮอล์ด้วย จะเอาไฟฟ้าด้วย ตรงนี้มองว่าเลยเถิดไป ไม่ถูกต้อง แต่ถ้าชาวไร่กับโรงงานไม่เข้าใจกันก็จะไม่เป็นประโยชน์ ส่วนเป็นธรรมหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ก็มีการด่าทอว่ากรรมาธิการโง่หรือเปล่า กากอ้อยเป็นผลพลอยได้โดยตรง

"ทุกคนเข้าใจอยู่แล้ว แต่การใส่เข้าไปทำให้เกิดความขัดแย้ง แต่สุดท้ายก็ต้องจบแบบนี้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่ว่าฝ่ายค้านฝ่ายรัฐบาลเรียกร้องให้ใส่กากอ้อยเข้าไปตามความต้องการของเกษตรกร ซึ่งผมก็ตอบในที่ประชุมไปหมดแล้วว่าทุกอย่างทุกปัจจัยใส่ไปแล้วไม่มีประโยชน์ทำให้ทะเลาะกันเราก็ต้องพิจารณาสิ่งเหล่านี้ด้วย แต่ในเมื่อผมก็เป็นแค่เสียงเดียว ผมเองก็ยอมรับความคิดเห็นเสียงส่วนใหญ่ในสภาคิดแบบนี้ จึงเป็นที่มาของโรงงานถอนตัวเราก็ต้องยอมรับ"

เพจเฟซบุ๊ค โรงงานน้ำตาลแห่งประเทศไทย โพสต์ ความคืบหน้า สอน. อยู่ระหว่างดำเนินการ เงินช่วยค่าตัดอ้อยสด ลดฝุ่น pm2.5 ที่อัตรา 120 บาทต่อตัน สำหรับเอกสารจำนวนอ้อยสดของชาวไร่อ้อยแต่ละราย สำเนาบัตรประชาชน สำเนาบัตรชาวไร่อ้อย สำเนาเลขที่บัญชี ธกส. ของชาวไร่อ้อย แต่ละโรงงานน้ำตาล ได้ทยอยส่งให้ เจ้าหน้าที่ สบน.ประจำโรงงาน

หากคำนวณเวลาที่มีการเดินเรื่องตามลำดับขั้นตอน ยังต้องเสนอผ่านบอร์ด กอน. ครม. ธกส. เพื่อลงมติเห็นชอบหรือให้การรับรอง คาดว่าการโอนเงินช่วยค่าตัดอ้อยสด 120 บาทต่อตัน จาก ธกส. ถึงบัญชีชาวไร่อ้อย จะทำได้เร็วสุดประมาณกลางเดือนสิงหาคม หรือต้นเดือนกันยายน 2565

 สำหรับรายได้ค่าอ้อย ปีการผลิต 64/65 พี่น้องชาวไร่อ้อยยังมีเพิ่มเติมอีก ประกอบด้วย เงินช่วยค่าตัดอ้อยสด โดยหลายเขตจะมีเงินค่าอ้อยขั้นสุดท้ายและค่าความหวานขั้นสุดท้าย คำนวณเมื่อปิดรอบปี 64/65 ในเดือนกันยายน และผลตอบแทนค่าอ้อยและการผลิตน้ำตาล จะสรุปประมาณเดือนตุลาคม 65

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 25 มิถุนายน 2565

กลุ่มมิตรผล เดินหน้าสร้าง เมืองคาร์บอนต่ำ

กลุ่มมิตรผล ผนึกกำลัง กระทรวงทรัพยากรฯ และจังหวัดสุพรรณบุรี เปิดตัว “สุพรรณบุรี Carbon Neutrality Model” ปั้นอุทยานมิตรผลด่านช้าง สู่โมเดลโรงงานต้นแบบความเป็นกลางทางคาร์บอน พร้อมบริหารจัดการลดการเผาอ้อย และปลูกต้นไม้กักเก็บคาร์บอน 1.5 หมื่นไร่

“วราวุธ ศิลปอาชา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การเดินหน้าประเทศสู่ Net Zero ปี 2065 เป็นการทำงานที่ต้องดำเนินการร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชน และต้องทำทั้งเรื่องของการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และการกักเก็บคาร์บอน ผ่านการปลุกป่า ไปพร้อมๆ กัน ซึ่ง โครงการ “สุพรรณบุรี Carbon Neutrality Model” ที่อุทยานมิตรผล ถือว่าได้เริ่มดำเนินการแล้ว ทั้งการสร้างโมเดลโรงงานที่ใช้พลังงานทดแทน และการตั้งเป้าปลูกป่า 15,000 ไร่ที่จังหวัดสุพรรณบุรี

 “บรรเทิง ว่องกุศลกิจ” ประธานกรรมการบริษัทและประธานกรรมการบริหาร กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า กลุ่มมิตรผลเป็นภาคเกษตรอุตสาหกรรม ที่พยายามช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยการปลูกต้นไม้เพิ่ม และไม่เผาอ้อย และนำสิ่งที่ได้จากอ้อยมาเป็นเชื้อเพลิง สร้างเป็นพลังงานทดแทน รวมทั้งติดตั้งโซล่ารูฟผลิตพลังงานไฟฟ้าให้โรงงาน เพื่อลดการใช้พลังงานฟอสซิลและน้ำมัน

สำหรับที่สุพรรณบริษัทฯ ตั้งเป้าปลูกต้นไม้จำนวน 15,000 ไร่ หรือประมาณ 7 แสนต้น โดยจนถึงปี 2050 กลุ่มมิตรผลมีเป้าหมายปลูกต้นไม้รวม 5 ล้านต้น

ส่วนการเผาอ้อยบริษัทฯ พยายามรณรงค์ให้เลิกการเผาอ้อย ซึ่งขณะนี้ ที่สุพรรณยังเหลืดเกษตรกรที่เผาอ้อยประมาณ 30% และภายใน2 ปี ตามเป้าหมายของสำนักงานอ้อยจะทำให้ได้ 95-100%

ส่วนแนวทางการดำเนินงานของอุทยานมิตรผลมีทั้งหมด 6 ด้าน

เพื่อการเป็นต้นแบบเมืองคาร์บอนต่ำ ประกอบด้วย การใช้พลังงานทดแทน (Renewable Energy) เช่น พลังงานจากชีวมวล (Biomass) หรือพลังงาน

แสงอาทิตย์ (Solar Cell) ในกระบวนการผลิต, การจัดการไร่อ้อยสมัยใหม่และ

รับซื้ออ้อยสด ใบอ้อย เป็นวัตถุดิบ เพื่อลดการเผาอ้อย, การพัฒนาต่อยอดอ้อยและน้ำตาลสู่ธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ (Bio-Based Product) ตามแนวทาง Bio-Circular-Green Economy Model หรือ BCG Model เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตร เช่น บรรจุภัณฑ์จากพลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้ กลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อสุขภาพ, การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม ด้วยระบบบำบัดน้ำเสียที่มีประสิทธิภาพ

ควบคู่กับการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนตามหลัก 4Rs (Resource-Reduce-Reuse-Recycle) และการคัดแยกขยะภายในโรงงานอย่างเหมาะสม, การปลูกป่า เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์อย่างต่อเนื่อง พร้อมริเริ่มโครงการ OASIS สร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อการเกษตรขนาดใหญ่ ตลอดจนการชดเชยคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit Offsetting) ของกลุ่มมิตรผล

แนวทางทั้งหมด เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายด้านความยั่งยืนของประเทศไทย ทั้งในส่วนของ เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ปี ค.ศ. 2065 สอดคล้องไปกับเป้าหมายด้านความยั่งยืนของกลุ่มมิตรผล ที่ต้องการเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ. 2030 และ Net Zero ปี ค.ศ. 2050

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 25 มิถุนายน 2565

ส.อ.ท.จับมือพันธมิตร ล้อมคอก 800 โรงงาน ทิ้งกากอุตฯ ออกนอกระบบ

ส.อ.ท. ผนึกพันธมิตร สร้างมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ด้วยตราสัญลักษณ์ Eco Factory For Waste Processor ไล่บี้ตรวจประเมินโรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรม 800 แห่ง ตอบสนองนโยบาย BCG ของภาครัฐ และลดการทิ้งกากอุตฯ ออกนอกระบบ

นายธีระพล ติรวศิน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า จากที่คณะกรรมการจากภาคส่วนต่าง ๆ อาทิเช่น กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจัดการกากของเสีย ได้ร่วมกันจัดทำข้อกำหนดในการส่งเสริมมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และได้ประกาศใช้ข้อกำหนดมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศสำหรับผู้ประกอบการจัดการของเสีย (Eco Factory For Waste Processor) ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา เพื่อยกระดับและส่งเสริมผู้ประกอบการกำจัดและบำบัดกากอุตสาหกรรม ให้มีการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ มุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน มีโรงงานรีไซเคิล บำบัด หรือกำจัดกากอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจำนวนมาก และพบว่ามีการทิ้งกากอุตสาหกรรมออกนอกระบบเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการดำเนินธุรกิจที่ไม่ได้มาตรฐาน และต้องการลดต้นทุนการดำเนินการ ซึ่งมีตัวอย่างโรงงานรีไซเคิลบางแห่งมีการแจ้งนำกากอุตสาหกรรมเข้าไปกำจัดในโรงงาน แต่เมื่อภาครัฐเข้าไปตรวจสอบพบว่าไม่มีเครื่องจักรตามที่แจ้งดำเนินการไว้ ซึ่งทำให้กากอุตสาหกรรมที่รับมานั้นไม่ได้รับการบำบัดหรือกำจัดใด ๆ และนำไปสู่การทิ้งกากอุตฯออกนอกระบบ สร้างผลกระทบและภาพลักษณ์ที่เสียหายต่อผู้ประกอบการที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้ และส่งผลกระทบต่อความยั่งยืนภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในภาพรวมด้วยเช่นกัน

ดังนั้นเพื่อการสร้างมาตรฐานและความเชื่อมั่นให้กับทุกภาคส่วน กลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม จึงได้ร่วมมือกับสถาบันนํ้าและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องในการช่วยพัฒนามาตรฐานตราสัญลักษณ์ที่แสดงว่าผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจัดการของเสีย มีการดำเนินธุรกิจที่ได้มาตรฐาน มีความรับผิดชอบต่อสังคม คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ และสอดคล้องตาม BCG Model จึงได้ร่วมกันสนับสนุนและส่งเสริมให้สมาชิกในกลุ่มฯ รวมทั้งผู้ประกอบการจัดการของเสียอุตสาหกรรมที่อยู่ราว 800 แห่ง ได้รับการรับรองมาตรฐาน Eco Factory for Waste Processor ภายใน ปี 2568

“ส.อ.ท.ตั้งเป้าหมายไว้ว่าภายในปี 2568 ผู้ประกอบการจัดการของเสียที่เป็นสมาชิกของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยต้องได้รับการรับรองมาตรฐาน Eco Factory for Waste Processor 100% และผู้ประกอบการจัดการของเสียที่ประกอบกิจการอยู่ในปัจจุบัน จะต้องได้รับการรับรองมากกว่า 80% ของผู้ประกอบกิจการทั้งหมด มีการดำเนินธุรกิจที่ได้มาตรฐานหลักวิชาการ ถูกต้องตามกฎหมาย คำนึงถึงการประกอบการที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนให้เติบโตควบคู่กับเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สอดคล้องตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน”

นายธีระพล กล่าวเสริมว่า สำหรับการตรวจประเมินตามมาตรฐาน Eco Factory For Waste Processor จะดำเนินงานตรวจประเมินตามเกณฑ์ที่กำหนดทุก ๆ 3 ปี ภายใต้การรับรองของคณะกรรมการที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ จากราชการและเอกชน ที่จะเป็นผู้ตรวจสอบ ซึ่งเท่ากับว่าจะมีโรงงานต้องถูกตรวจประเมินปีละประมาณ 300 แห่ง

ล่าสุดได้มีบริษัทผู้นำด้านการจัดการกากอุตสาหกรรม ได้เข้าร่วมแสดงเจตนารมณ์เพื่อขอรับรองมาตรฐาน Eco Factory for Waste Processor นำร่องแล้ว 16 ราย ตั้งอยู่ในจังหวัดสระบุรี 7 ราย ประกอบด้วย บริษัท เอส ซี ไอ อีโค่ เซอร์วิสเซส จำกัด บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) 2 แห่ง บริษัท อินทรี อีโคไซเคิล จำกัด บริษัท ทีเออาร์เอฟ จำกัด บริษัท ไพโร เอนเนอร์ยี่ จำกัด และอยู่ในจังหวัดชลบุรี 3 แห่ง ได้แก่ บริษัท มัตซึดะ ซังเกียว (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ส.กนกการจัดการสิ่งเเวดล้อม จำกัด และ บริษัท ซิมสุลาลัย จำกัด และจังหวัดอื่นๆ เช่น บริษัท สยามเอ็นไวรอนเมนทอลเทคโนโลยี่ จำกัด จ.ระยอง บริษัท โปรเฟสชั่นแนล เวสต์ เทคโนโลยี (1999) จำกัด (มหาชน) สระแก้ว  บริษัท ไฟเบอร์ พัฒน์ จำกัด สมุทรปราการ บริษัท มัตซึดะ ซังเกียว (ประเทศไทย) จำกัด พระนคร ศรีอยุธยา บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด และบริษัท ปูนซีเมนต์ไทย (ทุ่งสง) จำกัด นครศรีธรรมราช

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้กล่าวว่า ตราสัญลักษณ์ Eco Factory For Waste Processor เป็นความร่วมมือระหว่าง ส.อ.ท. และ กนอ.เพื่อให้เกิดความยั่งยืนของภาคอุตสาหกรรมในการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งตอบสนองนโยบาย BCG ของภาครัฐ ในการใช้ประโยชน์กากอุตสาหกรรมตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนหรือ Circular Economy ทั้งนี้ สภาอุตสาหกรรม จะประชาสัมพันธ์และเชิญชวนให้โรงงานต่าง ๆ ที่เป็นสมาชิกของ ส.อ.ท. สนับสนุนและเลือกใช้บริการจากโรงงาน รีไซเคิล หรือบำบัด หรือ กำจัดกากอุตสาหกรรมที่ได้รับการรับรองตราสัญลักษณ์นี้ เท่านั้น

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่าง กนอ. และ ส.อ.ท. ในการพัฒนามาตรฐาน Eco Factory For Waste Processor ในครั้งนี้จะเป็นความร่วมมือที่สำคัญ ในการยกระดับผู้ประกอบการจัดการของเสียให้มีการดำเนินการที่สอดคล้องตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน โดย กนอ. จะดำเนินการส่งเสริมให้ Waste Processor ในนิคมอุตสาหกรรมที่มีอยู่ประมาณ 80 แห่ง ได้รับรองมาตรฐานนี้ครบ 100% ภายในปี 2568 และจะส่งเสริมให้โรงงานอุตสาหกรรมในนิคมฯ เลือกใช้บริการบำบัดและกำจัดของเสียจากผู้ประกอบการจัดการของเสียที่ได้รับรองมาตรฐาน และที่สำคัญคือการผลักดันสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้กับ Waste Processor ที่ได้รับรองมาตรฐานนี้

จากข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ปีงบประมาณ 2565 ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 ถึงมีนาคม 2565 กรอ.ได้ตั้งเป้าหมายปริมาณกากอุตสาหกรรมที่เป็นของเสียอันตรายได้รับการจัดการอยู่ที่ 1.3 ล้านตันต่อปี โดยในช่วง 6 เดือนดังกล่าว สามารถดำเนินการได้ 0.58 ล้านตัน ขณะที่ปริมาณกากอุตสาหกรรมเข้าสู่ระบบตั้งเป้าหมายที่ 17 ล้านตันต่อปี ในช่วง 6 เดือน สามารถดำเนินการได้ 8.03 ล้านตัน

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 24 มิถุนายน 2565

เกษตรกรกระอัก! พาณิชย์ไฟเขียวขึ้นราคาปุ๋ย

“ปุ๋ย”ฉุดไม่อยู่ พาณิชย์ ไฟเขียวผู้ประกอบปรับขึ้นราคาแล้ว ตามต้นทุนวัตถุดิบนำเข้า ป้องกันปัญหาปุ๋ยขาดแคลน ชี้กระทบราคาจำหน่ายปลีกน้อยที่สุด

นายจักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า กรมฯ ได้อนุมัติให้มีการปรับราคาปุ๋ยหน้าโรงงานหลายสูตรตามที่ผู้ผลิต/ผู้นำเข้าเสนอมา โดยเป็นการปรับให้สอดคล้องกับต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้นตามราคาในตลาดโลก จากหลายปัจจัย โดยเฉพาะสงครามรัสเซียและยูเครน ราคาพลังงานเชื้อเพลิงที่ปรับสูงขึ้นทั่วโลกซึ่งส่งผลต่อทั้งต้นทุนวัตถุดิบและค่าขนส่ง

และค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลง ซึ่งปัจจุบันไทยพึ่งพาการนำเข้าปุ๋ยจากต่างประเทศเกือบ 100% ดังนั้นเพื่อให้ผู้ผลิต/ผู้นำเข้าสามารถนำปุ๋ยเข้ามาจำหน่ายให้แก่เกษตรกรได้และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการขาดแคลนปุ๋ยจึงจำเป็นต้องมีการปรับราคา

อย่างไรก็ตาม กรมฯ จะติดตามและกำกับดูแลปริมาณและราคาอย่างใกล้ชิดให้มีปริมาณเพียงพอและมีผลกระทบกับราคาจำหน่ายปลีกน้อยที่สุด

ส่วนสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ ที่อยู่ในบัญชี สินค้าจำเป็น 18 รายการนั้น ยืนยันว่ายังไม่มีการอนุมัติให้ปรับขึ้นราคา โดยกรมฯ ได้ขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการช่วยตรึงราคาออกไปก่อน

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 24 มิถุนายน 2565

พาณิชย์เล็งนำเข้าปุ๋ยจากซาอุฯ 8แสนตัน ช่วยเกษตรกรแก้ปัญหาวัตถุดิบแพง

พาณิชย์เล็งนำเข้าปุ๋ยจากซาอุฯ8แสนตัน ช่วยเกษตรกรแก้ปัญหาต้นทุนผลิตแพง เจรจาผู้ซื้อจากซาอุดีอาระเบียกว่า 100 ราย พร้อมนำเข้าปุ๋ยราคาพิเศษเพิ่มอีกรวม 3 ราย

นายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์  รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียในโอกาสที่คณะนักธุรกิจซาอุดีฯ เดินทางเยือนไทย กับ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ส่งออกสินค้าทางเรือ ผู้แทนภาครัฐและเอกชน ว่าที่ประชุมหารือเรื่องการนำเข้าปุ๋ยเป็นกรณีพิเศษจากซาอุดีอาระเบีย เพื่อเตรียมการนำเข้าปุ๋ยอย่างเป็นรูปธรรม

โดยการนำเข้าปุ๋ยจากซาอุดีอาระเบีย ซึ่งปกติประเทศไทยนำเข้าปุ๋ยจากซาอุดีอาระเบียผ่านบริษัทยักษ์ใหญ่ที่สุดคือ บริษัท SABIC (Saudi Basic Industries Corporation) ซึ่งมีผลผลิตปุ๋ยยูเรียปีละ 2.2 ล้านตันต่อปี และไทยเป็นลูกค้ารายสำคัญของบริษัท

ซึ่งข่าวดีขณะนี้คือทางการซาอุฯได้เปิดโอกาสให้บริษัทที่ผลิตปุ๋ยของซาอุฯ อีก 2 บริษัทสามารถเจรจาขายปุ๋ยให้กับประเทศไทยได้ จะมี 3 บริษัทใหญ่นอกจาก บริษัท SABIC จะมีบริษัท MA'ADEN (Saudi Arabian Mining Co.) และบริษัท ACO group ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มของ Alim Investment Co. Ltd. Saudi Arabia ซึ่งเป็นผู้ผลิตปุ๋ยรายใหญ่ลำดับต้นของซาอุดีอาระเบีย

ทั้งนี้ไทยมีการรวบรวมตัวเลขผ่านสภาหอการค้าและสมาคมการค้าปุ๋ยไทยเบื้องต้นมีความประสงค์ซื้อปุ๋ยจากซาอุดีอาระเบียรวม 8 แสนตัน เป็น ยูเรีย 5.9 แสนตัน ปุ๋ยฟอสเฟต 1.93 แสนตัน และปุ๋ยโพแทสเซียม2.5 หมื่นตัน และในวันที่ 29 มิถุนายนนี้ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจะจัด Business Matching จับคู่ธุรกิจให้มีการพบกันระหว่างผู้ส่งออกปุ๋ยรายใหญ่ 3 รายของซาอุฯ กับผู้นำเข้าปุ๋ยของไทยทั้งหมดที่สนใจ ช่วยให้การเจรจาซื้อปุ๋ยจากซาอุฯเป็นรูปธรรม เพื่อแก้ปัญหาทั้ง 2 ข้อ 1.ให้ประเทศไทยมีปริมาณปุ๋ยพอใช้สำหรับเกษตรกร มีหลักประกันมากขึ้นเพราะมีแหล่งนำเข้าพิเศษเพิ่มเติม และ2.เรื่องของราคาให้เป็นหน้าที่ของเอกชนเจรจาหวังว่าจะได้ต้นทุนที่ต่ำลงเป็นกรณีพิเศษจากความสัมพันธ์ที่มีต่อกันต่อไป

“ภาคเอกชนของซาอุดีอาระเบียที่จะเดินทางมาเยือนไทยในช่วงวันที่4-6ก.ค. โดยมีหอการค้าไทยเป็นเจ้าภาพร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงพาณิชย์ เพื่อตอบรับกิจกรรมการค้าการลงทุนระหว่างกัน  ก็จะมีการจัดกิจกรรมจับคู่เจรจาธุรกิจให้ระหว่างผู้นำเข้าของซาอุดีอาระเบียที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยประมาณ 100 ราย และผู้ส่งออกไทยร่วมกิจกรรมไม่ต่ำกว่า 120 ราย  เพื่อจับคู่เจรจาธุรกิจระหว่างกัน หวังว่าจะเพิ่มยอดตัวเลขการส่งออกของไทยไปซาอุฯมากขึ้น ซึ่งจะมีสินค้าที่มีความหลากหลายทั้ง สาขาโทรคมนาคม ไอที ท่องเที่ยว อัญมณี อาหาร เสื้อผ้า แฟชั่น สุขภาพความงาม และบริการโลจิสติกส์ ด้านอิเล็กทรอนิกส์” 

ทั้งนี้ปี 2564 การค้ารวมไทยซาอุดีอาระเบียมีมูลค่า 233,075 ล้านบาท ซึ่งประเทศไทยส่งออกไปซาอุดีอาระเบียมีมูลค่า 51,500 ล้านบาทและไทยนำเข้าจากซาอุดีอาระเบีย 181,524 ล้านบาท

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 24 มิถุนายน 2565

พิษค่าเงินบาทอ่อน กดนำเข้าวูบ 2 ล้านล้าน ต้นทุนพุ่ง-วงจรศก.ป่วน

เงินเฟ้อกดเศรษฐกิจโลกสู่ภาวะถดถอย เงินบาทอ่อนค่า 35 บาทต่อดอลลาร์ ทุบซ้ำนำเข้าสินค้าแพงขึ้น ม.หอการค้าฯ คาดส่งผลไทยนำเข้าลดลงปีนี้กว่า 2 ล้านล้านบาท สรท.ห่วงกระทบต้นทุน-ราคาสินค้าพุ่งไม่หยุดผู้บริโภครับกรรมอีกระลอกใหญ่ สายการบิน-แฟชั่นแบรนด์ โอดแบกต้นทุนอ่วม

เงินบาทที่อ่อนค่ามากสุดในรอบ 5 ปี ที่ระดับมากกว่า 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯในเวลานี้ จากเงินทุนไหลออกจากตลาดทุน หลังธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (เฟด) ประกาศปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% สูงสุดในรอบ 28 ปี และเตรียมปรับขึ้นอีกหลายรอบ ส่งผลธนาคารกลางของชาติต่าง ๆ ได้ประกาศปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายตาม ทั้งสวิตเซอร์แลนด์ อังกฤษ ฮังการี บราซิล ไต้หวัน และอื่น ๆ เป้าหมายหลักเพื่อสกัดเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ทั่วโลก

นอกจากนี้เงินบาทที่อ่อนค่า ยังมีแรงกดดันจากแรงขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ การเทขายทองเพื่อทำกำไรดอลลาร์ เป็นต้น การอ่อนค่าของเงินบาทในครั้งนี้แม้จะส่งผลดีต่อความสามารถในการแข่งขันส่งออกสินค้าไทยเพิ่มขึ้นจากราคาสินค้าถูกลง แต่อีกด้านส่งผลกระทบต่อการนำเข้าสินค้าที่ต้องใช้เงินบาทต่อดอลลาร์เพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าเพื่อส่งออก และเพื่อขายในประเทศปรับตัวสูงขึ้น

จับตานำเข้าวูบ 2 ล้านล้าน

รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เงินบาทไทยเคยอ่อนค่ามากสุดในปี 2545 ที่ 43 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และแข็งค่ามากสุดในปี 2554 ที่ 30.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ปี 2564 ค่าเงินบาทเฉลี่ยที่ 31.90 บาทต่อดอลลาร์ และอัตราแลกเปลี่ยนล่าสุด ณ วันที่ 23 มิ.ย. 2565 อ่อนค่าอยู่ที่ 35.38 บาทต่อดอลลาร์

จากสถิติใน 20 ปีที่ผ่านมา หากเงินบาทอ่อนค่า 1% จะทำให้การนำเข้าสินค้าลดลง 2.5% หากเปรียบเทียบค่าเงินบาท ณ ปัจจุบันกับค่าเฉลี่ยปี 2564 จะอ่อนค่าลงไป 10% ซึ่งจากปี 2564 ไทยมีการนำเข้าสินค้าทุกกลุ่มจากต่างประเทศ มูลค่ากว่า 8.52 ล้านล้านบาท ภายใต้สมมุติฐานนี้ คาดในปีนี้การนำเข้าสินค้าของไทยจะลดลงจากปีที่ผ่านมากว่า 2.13 ล้านล้านบาท (ภายใต้สมมุติฐานปัจจัยอื่น ๆ คงที่)

อย่างไรก็ดีกรณีที่ดี หากสงครามรัสเซีย-ยูเครนสามารถคลี่คลายลงช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ จะส่งผลเศรษฐกิจ การค้าโลกกลับมาขยายตัวได้ดีขึ้น การบริโภคของโลกเพิ่มขึ้น เงินเฟ้อปรับตัวลดลง การนำเข้าของไทยอาจลดลงไม่สูงถึงที่ตั้งสมมุติฐานไว้ข้างต้น แต่หากสถานการณ์ทุกอย่างยังไม่คลี่คลาย เงินบาทยังอ่อนค่าเฉลี่ยทั้งปีที่ระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์ ก็มีโอกาสสูงที่การนำเข้าสินค้าของไทยปีนี้จะลดลงในระดับดังกล่าว

“คาดการนำเข้าในครึ่งหลังปีนี้จะชะลอตัวลงกว่าครึ่งปีแรก เหตุผลคือ 1.หากอัตราดอกเบี้ยของไทยไม่เปลี่ยนแปลง เงินไหลออก ค่าเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่ากว่าปี 2564 และอ่อนค่ากว่าครึ่งปีแรก 2.เงินเฟ้อครึ่งปีหลังจะสูงกว่าครึ่งปีแรก ส่งผลต่อกำลังซื้อและต้นทุนในการผลิตที่สูงขึ้น และ 3.เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยชะลอตัวในครึ่งปีหลัง โดยเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) ในตลาดหลักคือ สหรัฐฯ และยุโรป ที่มีสัดส่วนรวมกันประมาณ 20% ของมูลค่าการส่งออกของไทย รวมถึงภาวะเงินเฟ้อทั่วโลก ผู้บริโภคกำลังซื้อลดลง ทำให้การนำเข้าชะลอตัวลง อย่างไรก็ดีเงินบาทมีผลต่อการส่งออก 20% อีก 80% เป็นผลจากเศรษฐกิจโลก”

นำเข้าผลิตส่งออกชะลอ

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก กล่าวว่า เงินบาทที่อ่อนค่า ส่งผลด้านบวกต่อภาคการส่งออกแน่นอน โดย 4 เดือนแรกปีนี้มีส่วนสำคัญช่วยให้ส่งออกไทยขยายตัว 13.7% (รูปดอลลาร์สหรัฐฯ) แต่อีกด้านจะกระทบต่อการนำเข้าวัตถุดิบที่จะนำมาเป็นสต๊อกใหม่เพื่อใช้ในการผลิต สินค้าทุนพวกเครื่องจักรอุปกรณ์ต่าง ๆ รวมถึงสินค้าเชื้อเพลิง ที่มีต้นทุนการนำเข้าที่สูงขึ้นอาจส่งผลให้การนำเข้าชะลอตัวลง ที่ห่วงคือสินค้าที่จำหน่ายในประเทศราคาจะปรับตัวสูงขึ้นอีกหากสต๊อกวัตถุดิบเก่าหมดลง และใช้สต๊อกวัตถุดิบใหม่ที่มีต้นทุนสูงขึ้นในการผลิต

“บาทอ่อน และเงินเฟ้อสูง ของถูกไม่มีแล้ว ขณะช่วงไตรมาสสุดท้ายปีนี้เข้าสู่ช่วงหน้าหนาวความต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นยุโรปบอยคอตน้ำมันและก๊าซจากรัสเซียจะเอาพลังงานเพิ่มจากไหน หากโอเปก หรือโอเปกพลัสไม่เพิ่มกำลังผลิต ดังนั้นจะเกิดความผันผวนด้านปริมาณ และราคาพลังงานที่จะปรับขึ้นและหากสงครามรัสเซีย-ยูเครนยังไม่คลี่คลาย โอกาสน้ำมันดิบในตลาดโลกอาจสูงกว่า 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมัน และราคาสินค้าในไทยพุ่งไม่หยุด แต่ในแง่ส่งออกยังไม่น่าห่วง คาดปีนี้จะขยายตัวได้มากกว่า 5% หรืออาจขยายตัวได้สูงถึง 8%"

ทั้งนี้หลายกลุ่มสินค้าการส่งออกยังขยายตัวได้ดี เช่นในกลุ่มอาหาร ได้แก่ ข้าว ไก่ น้ำตาล สินค้าเกษตร เช่น ผลิตภัณฑ์มันสำหลัง สินค้าอุตสาหกรรม เช่น เม็ดพลาสติก ชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งแม้เศรษฐกิจยุโรปซึ่งเป็นอีกตลาดสำคัญเศรษฐกิจจะชะลอตัวแล้วจากภาวะเงินเฟ้อ และราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้น และเศรษฐกิจสหรัฐฯอีกหนึ่งตลาดหลักคาดจะชะลอตัวในไตรมาสที่ 4 ปีนี้ จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบียเพื่อชะลอเงินเฟ้อ ทำให้การนำเข้ามีแนวโน้มลดลง แต่ก็มีอีกหลายตลาดที่ผู้ประกอบการต้องเร่งขยายเพื่อมาทดแทนหลังเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว ได้แก่ อาเซียน จีน อินเดีย ตวันออกกกลาง ”

ด้าน นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า แนวโน้มเงินบาทยังอ่อนค่าและน่าจะเป็นจุดพีคในเดือน มิ.ย และจะกลับมาอ่อนค่า 36 บาทต่อดอลลาร์ในเดือน ก.ค.หลังจากเริ่มมีรายได้จากการท่องเที่ยวกลับเข้ามา และปลายปีนี้คาดจะอยู่ที่ระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

สายการบินแบกอ่วมน้ำมัน

นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันแม้การเปิดประเทศจะส่งผลให้ธุรกิจการบินเริ่มกลับมาฟื้นตัวขึ้น แต่สายการบินก็มีต้นทุนสูงขึ้นกว่าเดิมเพิ่มขึ้นเท่าตัวด้วยเช่นกัน จากหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็น การอ่อนค่าของเงินบาท ทำให้สายการบินมีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ โดยเฉพาะค่าเช่าเครื่องบินเพิ่มขึ้น เพราะจ่ายค่าเช่าเป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ต้องใช้เงินบาทแลกมากขึ้น

รวมไปถึงการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันอากาศยาน จากเดิมอยู่ที่ 80 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ได้ขยับขึ้นต่อเนื่อง ขณะนี้อยู่ที่ 170 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาเรลแล้ว และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้สายการบินมีค่าใช้จ่ายด้านต้นทุนน้ำมันที่คิดเป็นสัดส่วน 50% ของต้นทุนเพิ่มขึ้น

“แม้สายการบินจะสามารถคิดค่าธรรมเนียมน้ำมัน (Fuel Surcharge) กับผู้โดยสารได้ แต่ก็ยังตามไม่ทันกับราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพราะตอนที่เราขายตั๋วล่วงหน้าเมื่อ 1-2 เดือนก่อนตอนนั้นน้ำมันอยู่อีกราคา พอผู้โดยสารจะเดินทางน้ำมันปรับขึ้นไปอีก เราก็ยังต้องแบกรับการขาดทุนจากช่องว่างตรงนี้อยู่ อย่างไรก็ดีแม้สายการบินจะมีต้นทุนต่าง ๆ ที่เพิ่มสูงขึ้นแต่จะไปผลักภาระให้กับผู้บริโภคทั้งหมดก็ไม่ได้ เพราะยังมีปัจจัยแวดล้อมจากสภาพตลาดหลังโควิด-19 ที่กลับมาได้ยังไม่เหมือนเดิม รวมถึงผู้บริโภคเองก็มีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้นด้วย” นายธรรศพลฐ์ กล่าว

แฟชั่นแบรนด์ดังยันไม่ขึ้นราคา

นายธนพงษ์  จิราพาณิชกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่ม บริษัท ธนจิรา กรุ๊ป ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าไลฟ์สไตล์ แฟชั่นแบรนด์จากต่างประเทศ ภายใต้ชื่อ แพนดอร่า (Pandora) มารีเมกโกะ (Marimekko) แคท คิดสตัน (Cath Kidston) และ หาญ (HARNN) กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าอัตราแลกเปลี่ยนในขณะนี้สวิงมาก และมีผลต่อธุรกิจโดยตรง  เมื่อค่าเงินบาทอ่อนก็ดีต่อการส่งออก แต่การนำเข้าลำบาก ที่สำคัญคือจะทำอย่างไรให้บาลานซ์  ขณะที่ผู้ประกอบการนำเข้าเอง ต้องป้องกันไม่ให้กระทบ ซึ่งเราเองคุยกับต้นทางว่า จะไม่ให้กระทบกับราคาสินค้าที่จำหน่ายในปัจจุบัน แม้ต้นทุนจะสูงขึ้น

“อัตราแลกเปลี่ยนที่สวิงอยู่ในขณะนี้ และสูงกว่า 35 บาทต่อดอลลาร์ส่งผลกระทบพอควร หากจะให้ดีค่าบาทควรอยู่ที่ 33-34 บาทต่อดอลลาร์ ยืนยันว่าแบรนด์สินค้าต่าง ๆ ที่วางจำหน่ายในขณะนี้จะยังไม่มีการปรับขึ้นราคา  ซึ่งบริษัทต่างชาติก็เข้าใจ ขณะที่มีเพียงแบรนด์แพนดอร่า ที่ปรับขึ้นราคาครั้งแรกในรอบ 10 ปี ไปเมื่อ 2 เดือนก่อน เพราะต้นทุนที่สูงขึ้นโดยเฉพาะค่าโลจิสติกส์”

ด้าน นายระบิล สิริมนกุล ผู้อํานวยการฝ่ายการตลาด  บริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ จํากัด กล่าวว่า ต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้นได้แก่ แพ็คเกจจิ้ง การขนส่ง และวัตถุดิบ เพราะสงครามรัสเซีย-ยูเครนทำให้ซัพพลายจากฝั่งยุโรปช็อตและใช้เวลานานขึ้นในการขนส่ง ส่วนใหญ่ศรีจันทร์กรุ๊ปจะนำเข้าวัตถุดิบจากญี่ปุ่นยุโรป และอเมริกา จากเงินบาทที่อ่อนค่าทำให้ต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบสูงขึ้น บริษัทพยายามตรึงราคาไว้ ขณะที่แบรนด์คู่แข่งใหญ่ ๆ ก็ทยอยปรับขึ้นราคา จากเดิมที่เราเคยแพงกว่า ตอนนี้เราถูกกว่าเขามาก หากมองอีกมุมก็จะเป็นโอกาสทางการค้า

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 24 มิถุนายน 2565

57 โรงงานน้ำตาลถอยไม่ลาออก 5 กรรมการ สอน.พร้อมจัดเวทีถกชาวไร่เคลียร์ปัญหา

57 โรงงานน้ำตาลยอมถอย ชะลอลาออกคณะกรรมการ 5 คณะ หลัง สอน.กล่อมให้เห็นแก่อนาคตอุตสาหกรรมในภาพรวม ช่วยกันขับเคลื่อนไปข้างหน้า สอน.พร้อมเป็นตัวกลางจัดเวทีถกชาวไร่ เคลียร์ปมแบ่งปันผลประโยชน์ “ผลพลอยได้” โรงงานพร้อมแจงเวทีวุฒิสภาให้ทบทวน ขณะชาวไร่เชียร์เดินหน้า

จากที่ร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่) พ.ศ. .... ได้ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร (สภาล่าง) และกำลังจะนำเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา สาระสำคัญได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามของคําว่า “ผลพลอยได้” ให้ครอบคลุมผลพลอยได้อื่นที่ได้จากการผลิตน้ำตาล เช่น เอทานอล กากอ้อย และชานอ้อย ที่มีคุณค่าและมูลค่าทางเศรษฐกิจในยุคปัจจุบัน ทั้งนี้เพื่อแบ่งปันผลประโยชน์ในระบบ 70 : 30 ที่ใช้มาตั้งแต่ฤดูกาลผลิต 2525/26 (ชาวไร่อ้อย 70 โรงงาน 30) ให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

อย่างไรก็ดีจากร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้แก้ไขเพิ่มเติมนี้ กำลังสร้างความปั่นป่วนให้กับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทยทั้งระบบ จากกลุ่มโรงงานน้ำตาล 57 รายทั่วประเทศ มองว่าไม่เป็นธรรม และไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว โดยระบุไม่ได้อยู่ในหลักเกณฑ์การแบ่งปันผลประโยชน์ที่มีมาแต่ในอดีต และมีกระแสข่าวโรงงานน้ำตาลได้มีมติร่วมกันว่า จะทำหนังสือลาออกจากคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทั้ง 5 คณะนั้น ล่าสุด (21 มิ.ย.65) ทางสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้เชิญตัวแทนจากกลุ่มโรงงานน้ำตาลร่วมประชุมหารือ

หลังการหารือ นายเอกภัทร วังสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรมเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากการหารือร่วมกับตัวแทนกลุ่มโรงงานครั้งนี้ ทาง สอน.ได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของคณะกรรมการในชุดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ที่ยังต้องมีคณะกรรมการที่เป็นตัวแทนจาก 3 ฝ่าย คือ ภาครัฐ โรงงาน และชาวไร่อ้อย ร่วมพิจารณาในหลายเรื่องสำคัญเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไปข้างหน้า ซึ่งทางฝ่ายโรงงานที่เข้าร่วมหารือในวันนี้ ได้รับปากจะยังไม่ลาออกจากคณะกรรมการในชุดต่าง ๆ

“แม้ตัวแทนฝ่ายโรงงานจะไม่เห็นด้วยกับหลักเกณฑ์การแบ่งปันผลประโยชน์เรื่องผลพลอยได้ที่เพิ่มเติมเข้ามา แต่ก็เห็นความสำคัญของอุตสาหกรรมที่ต้องขับเคลื่อนไปข้างหน้า ซึ่งคณะกรรมการชุดต่าง ๆ จำเป็นต้องมีตัวแทนจากฝ่ายโรงงาน ดังนั้นจึงยังไม่ลาออกในช่วงนี้ อย่างไรก็ดี ทาง สอน. จะเป็นตัวกลางในการจัดเวทีหารือร่วมระหว่างโรงงานกับชาวไร่อ้อยเพื่อหาทางออกร่วมกันต่อไป จากเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างมีความละเอียดอ่อน”

แหล่งข่าวจากโรงงานน้ำตาลที่เข้าร่วมประชุม เผยว่า อ้อยและน้ำตาลทรายของไทยมีกฎหมายพิเศษดูแลโดยเฉพาะมาตั้งแต่ปี 2527 มีหลักการและหลักเกณฑ์การแบ่งปันผลประโยชน์อย่างชัดเจน ทำให้อุตสาหกรรมน้ำตาลของไทยเติบใหญ่ โรงงานมีการขยายกำลังผลิต ช่วยให้ชาวไร่อ้อยขยายพื้นที่เพาะปลูกได้ทั่วประเทศ แต่จากสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ผลพลอยได้จากอ้อย ส่วนหนึ่งโรงงานได้ไปคิดค้นนวัตกรรม และลงทุนให้เกิดคุณค่าทางเศรษฐกิจ ทางชาวไร่จะมาขอแบ่งผลประโยชน์ในส่วนนี้จึงมองว่าไม่เป็นธรรม

“กฎหมายอ้อยและน้ำตาลทรายเวลาผ่านไป บางฝ่ายอาจเกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ซึ่งในการหารือกับ สอน.ครั้งนี้ได้ข้อตกลงที่เราจะยังเดินต่อไปร่วมกัน แต่จะเดินอย่างไรต่อจะได้จัดเวทีหารือร่วมกัน 3 ฝ่าย เพื่อกำหนดกรอบข้อตกลงร่วมกันต่อไป และจากที่ร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ฉบับแก้ไขนี้ได้ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว และกำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา ทางตัวแทนโรงงานน้ำตาลจะได้เข้าไปชี้แจงถึงที่มาที่ไปของหลักการแบ่งผลประโยชน์ รวมถึงเหตุและผลที่คัดค้านต่อไป”

แหล่งข่าวจากชาวไร่อ้อย กล่าวว่า เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการบรรจุกากอ้อย หรือชานอ้อย ซึ่งเป็นผลพลอยได้เข้ามาอยู่ในหลักการแบ่งปันผลประโยชน์ในร่างกฎหมายฉบับแก้ไขปรับปรุงนี้ เพราะปัจจุบันกากอ้อย และชานอ้อยมีประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากขึ้น เช่น เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้า เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า และอื่น ๆ ดังนั้นชาวไร่อ้อยก็ควรได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นในส่วนนี้ด้วย

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 23 มิถุนายน 2565

ชาวไร่อ้อยเฮ! ดีพร้อม นำทีมผลักดันงานวิจัยสมาร์ทฟาร์มสู่ไร่อ้อย ช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต อัปเกรดเกษตรอุตสาหกรรม

ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และในฐานะประธาน Spearhead ด้านเศรษฐกิจ ในประเด็นแผนงานวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และแผนงานระบบโลจิสติกส์อัจฉริยะ นำทีมกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม (DIPROM) ผนึกกำลังทีมนักวิจัยไทยแก้ปัญหาชาวไร่อ้อย ผ่านแพลตฟอร์มบริการ FPS (Field Practice Solutions) ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตให้กับชาวไร่อ้อยและกลุ่มอุตสาหกรรมไร่อ้อย เพื่อลดปัญหาคุณภาพของอ้อยต่ำกว่าเกณฑ์และมีความหวานไม่คงที่ ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตต่อตันน้ำตาลสูงขึ้น ซึ่งสามารถลดต้นทุนการผลิตน้ำตาล หรือพลังงานชีวมวลจากการใช้งานระบบได้มากกว่าร้อยละ 20 คิดเป็น ประมาณ 50 ล้านบาทต่อปีต่อโรงงาน

ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธาน Spearhead ด้านเศรษฐกิจ ในประเด็นแผนงานวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และแผนงานระบบโลจิสติกส์อัจฉริยะ รวมถึงนโยบายของ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ได้สั่งการให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ส่งเสริมและพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลที่เป็นกลไกหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงปัจจุบันพบว่าชาวไร่อ้อยกำลังเผชิญกับปัญหาไม่สามารถควบคุมคุณภาพรวมถึงปริมาณการเก็บเกี่ยวได้ ประกอบกับปัญหาคุณภาพของอ้อยต่ำกว่าเกณฑ์และมีความหวานไม่คงที่ ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตต่อตันน้ำตาลสูงขึ้น ซึ่งทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลลดลง ดังนั้น การนำนวัตกรรมเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามามีบทบาท ในการพัฒนาการเกษตรของไทยให้เป็น Smart Farmer รวมถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อใช้ในการกำหนดรูปแบบแนวทางการสร้างมูลค่าเพิ่ม (value added) ให้แก่ผลผลิตการเกษตร โดยการนำใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาช่วยแก้ปัญหาการทำเกษตรอย่างถูกต้อง ตลอดจนการจัดการแบบเกษตรแม่นยำ ทำให้สามารถเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนทั้งในด้านวัตถุดิบและเวลาให้กับชาวไร่อ้อยได้นั้น

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) จึงได้นำนโยบาย DIPROM CARE มาประยุกต์ใช้ผ่านการพัฒนาและวิจัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมมาเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนทั้งในด้านวัตถุดิบและเวลาให้กับภาคการเกษตร รวมถึงการบูรณาการระหว่างพันธมิตรภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้คนไทยสามารถวิจัยแพลตฟอร์มบริการ FPS (Field Practice Solutions) ได้สำเร็จ อาทิ ระบบประมวลผลเพื่อสร้างแผนที่ผลผลิตและแผนที่การระบาดของโรคพืชจากภาพถ่ายทางอากาศ ระบบประมวลผลเพื่อสร้างฐานข้อมูลในระบบภูมิสารสนเทศ (GIS) จากแผนที่ผลผลิต ระบบผสมสารและบรรจุลงถังบรรจุอัตโนมัติสำหรับโดรน ระบบฉีดพ่นสาร แบบแปรผันอัตโนมัติติดตั้งบนโดรนชุด Mobile-KIT และ Mobile Application สำหรับระบุพิกัดแปลงและติดตามกิจกรรมในแปลง และระบบ AI สำหรับเสนอแนะแผนการทำงาน บันทึกและแสดงผลการทำงานของเครื่องจักรเกษตร และแนะนำการให้ปุ๋ยแบบแม่นยำสูงรายแปลงอัตโนมัติซึ่งระบบจะช่วยเรื่องการตัดสินใจในงานบำรุงรักษา เก็บเกี่ยว และเชื่อมโยงกับระบบตรวจวัด รวมทั้งมีระบบที่จะสามารถรองรับคำสั่งเพื่อให้เกิดการปรับการปฏิบัติงานในฟาร์มไปตามแผนงานใหม่ ครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการออกแบบแปลงการปลูก การบำรุงรักษาและอารักขาพืช การเก็บเกี่ยวและการขนส่ง และสามารถปรับรูปแบบตามความต้องการของผู้ใช้บริการแต่ละราย หรือพืชแต่ละชนิด ซึ่งช่วยลดการสูญเสียในด้านคุณภาพของผลผลิต ลดเวลารอคอยที่ไม่เกิดงานและเพิ่มความสามารถของเครื่องจักรได้ เช่น กรณีของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายจะช่วยให้สามารถลดต้นทุนการผลิตน้ำตาลหรือพลังงานชีวมวลได้มากกว่าร้อยละ 20 คิดเป็น ประมาณ 50 ล้านบาทต่อปีต่อโรงงาน ซึ่งสามารถกำหนดตารางการเก็บเกี่ยวอ้อยขณะที่อ้อยแต่ละแปลงมีน้ำหนักและความหวานสูงสุด สามารถใช้งานเครื่องจักรเก็บเกี่ยวได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ทำให้สามารถลดจำนวนเครื่องจักรและลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง และจัดการให้มีวัตถุดิบอ้อยเข้าโรงงานที่มีคุณภาพและมีปริมาณเต็มศักยภาพการผลิตของโรงงานในแต่ละวัน ลดการเสื่อมสภาพของวัตถุดิบ ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย รวมทั้งสามารถลดจำนวนวันที่เปิดหีบ ทำให้ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการผลิตน้ำตาลต่อตันได้

รศ. ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ รองผู้อำนวยการด้านบริหารงานวิจัย  หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กล่าวเสริมว่า “โครงการนี้นับเป็นตัวอย่างความสำเร็จจากความร่วมมือของคณะวิจัยจากสถาบันการศึกษาและบริษัทเอกชนในการต่อยอดงานวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณส่วนหนึ่ง ภายใต้แผนงาน Spearhead ด้านเศรษฐกิจ โดยมี สวทช.เป็นหน่วยงานบริหารจัดการและส่งมอบผลลัพธ์ หรือ ODU ช่วยกำกับดูแล และสามารถผลักดันผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้จริงต่อภาคเกษตรอุตสาหกรรมของไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้นำการส่งออกระดับโลก การทำงานในพื้นที่เพาะปลูกด้วยเทคโนโลยีเกษตรแม่นยำ และการบริหารจัดการไร่อ้อยแบบอัตโนมัติด้วยระบบแนะนำแผนการทำงานเพื่อการตัดสินใจ ผ่านแพลตฟอร์มบริการ FPS (Field Practice Solutions) ของโครงการ จะช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลิตภาพให้กับกลุ่มเกษตรกรพืชไร่ และเพิ่มระดับขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับกลุ่มโรงงานแปรรูปในห่วงโซ่อุปทานด้านอุตสาหกรรมเกษตรด้วยเทคโนโลยีแพลตฟอร์มที่โครงการได้พัฒนาขึ้น”

รศ.ดร.ขวัญตรี แสงประชาธนารักษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กล่าวว่า “เกษตรกรที่ปลูกอ้อยนั้นทราบถึงปัญหาเรื่องต้นทุนการผลิตและอยากลดรายจ่ายส่วนนี้ แต่ปัญหาคือที่ผ่านมายังไม่มีเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใด ๆ ที่เข้ามาช่วยเกษตรกรประเมินความเสี่ยงในการลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตในไร่อ้อยได้อย่างแม่นยำ ตนเองจึงได้ทำการวิจัยและพัฒนาร่วมกับภาคเอกชนเพื่อพัฒนาระบบวิเคราะห์และแปลผลภาพถ่ายทางอากาศที่ได้จากอากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรน เพื่อนำข้อมูลที่จำเป็นไปสู่ขั้นตอนของการวิเคราะห์ และวางแผนการผลิต เพื่อลดความเสี่ยงในการจัดการไร่อ้อยของเกษตรกรหรือผู้ประกอบการ” ทางทีมวิจัยจึงร่วมมือกับบริษัท เอชจี โรโบติกส์ จำกัด ที่มีความเชี่ยวชาญด้านระบบ Artificial Intelligence (AI) และ บริษัท โกลบอล ครอปส์ จำกัด โดยการนำโดรนมาใช้ในการสำรวจ เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาให้ตรงจุด ตามหลักการ “เกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture)”

ด้าน ดร.มหิศร ว่องผาติ บริษัท เอชจี โรโบติกส์ จำกัด กล่าวเสริมว่า จากผลสำเร็จดังกล่าวส่งผลให้มีการขยายผลไปสู่เชิงพาณิชย์บ้างแล้ว โดยในปัจจุบันมีโรงงานน้ำตาลหลายแห่งสนใจจะจ่ายค่า Service ให้ทีมไปทดลองทำตั้งแต่ปีแรกของโครงการ ส่วนในปีที่สอง จะเน้นไปที่การควบคุมต้นทุนในการผลิตและการจัดการแปลง เช่น การให้ปุ๋ยหรือยาที่เหมาะสม ซึ่งเป็นการจัดการเฉพาะจุด ส่วนปีสุดท้ายจะเป็นการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ให้เกิดเป็นข้อมูลที่ใช้ในการตัดสินใจวางแผนระยะยาว รวมถึงให้ข้อมูลว่าแต่ละวิธีหรือแต่ละทางออก มีต้นทุน มีความเสี่ยงเท่าไหร่ เพื่อให้เกษตรกรหรือโรงงานตัดสินใจต่อไป

จาก https://www.banmuang.co.th วันที่ 23 มิถุนายน 2565

ส่อง 10 สินค้านำเข้าไทยไม่รู้ไม่ได้แล้ว

ส่อง 10 สินค้านำเข้าไทยไม่รู้ไม่ได้แล้ว 6กลุ่มสินค้านำเข้า มี5กลุ่มที่ยอดยังพุ่ง มีเพียงยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่งที่นำเข้าติดลบ21% 4 เดือนไทยนำเข้าขยายตัว 19.2% มูลค่า 99,975 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำไทยขาดดุล2,852 ล้านดอลลาลร์สหรัฐ จากต้นทุนสินค้านำเข้าสูง

การนำเข้าสินค้าเข้าประเทศไทยเป็นกลไกทางเศรษฐกิจอีกด้านที่มีความสำคัญไม่แพ้การส่งออก เพราะการนำเข้าสินค้าทุนและสินค้าที่เป็นวัตถุดิบเพื่อการผลิตนั้นจะช่วยทำให้เพิ่มศักยภาพการผลิตและการส่งออกได้มากขึ้น

โดยตลาดนำเข้าที่สำคัญของไทยนั้น โครงสร้างการนำเข้าสินค้าของไทยนั้น แบ่งออกเป็น 6ประเภทหลัก ได้แก่ สินค้าเชื้อเพลิง  สินค้าทุน สินค้าวัตุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง และสินค้าอาวุธ ยุทธปัจจัยและสินค้าอื่นๆ

ทั้งนี้เมื่อแยกรายหมวดสินค้าพบว่าการนำเข้ามีเพิ่มขึ้นทุกหมวดโดยหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค เดือนเมษายน ไทยนำเข้า 1.2%หรือมูลค่า2,611.4ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ 4เดือน(ม.ค.-เม.ย.)ไทยนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคมีสัดส่วน 8.4%หรือมีมูลค่า11,174ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนกลุ่มสินค้าน้ำมันเชื้อเพลิง ในเดือนเมษายนมีสัดสวนนำเข้าสูงสุดถึง99.3% หรือมีมูลค่า5,773ล้านดอลลาร์สหรัฐ 4 เดือน(ม.ค.-เม.ย.)มีสัดส่วนสูงถึง89.9%หรือมีมูลค่า2,0040 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ไทยนำเข้าสินค้าพลังงานสูงและท่ามกลางวิกฤติราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นส่งผลให้ราคาน้ำมันทยานขึ้นอย่างต่อเนื่อง และไทยเองยังต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศอยู่

ขณะที่ สินค้าทุน เดือนเมษายน ไทยนำเข้า 10.9% หรือมูลค่า5,762.4ล้านดอลลาร์สหรัฐ 4เดือน(ม.ค.-เม.ย.)มีสัดส่วน11.7% หรือมีมูลค่า23,082ล้านดอลลาร์สหรัฐ  สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป เดือนเมษายนไทยนำเข้า 11.8% หรือมูลค่า10,101.1ล้านดอลลาร์สหรัฐ 4เดือน(ม.ค.-เม.ย.)มีสัดส่วน8.4%หรือมีมูลค่า40,448ล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นสัดส่วนการนำเข้าสูงที่สุด แสดงให้เห็นว่าสินค้าพวกสัตว์น้ำ แช่เย็นแช่แข็งแปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป  เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์จากเม็ดพลาสติก  ทองคำ อัญมณี เหล็กและเหล็กกล้า เป็นต้น มีต้นทุนที่สูงขึ้นและขาดแคลนบ้างรายการ

สินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่งเดือนเมษายนไทยนำเข้าติดลบ25.2%มีมูลค่า888.7ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้สาเหตุที่นำเข้ากลุ่มยานพาหนะฯติดลบเนื่องจากปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนอย่างชิป ส่งผลให้4เดือน(ม.ค.-เม.ย.)มีสัดส่วนการนำเข้า 21.4% และมีมูลค่า38,942ล้านดอลลาร์สหรัฐ  และกลุ่มสุดท้ายคือสินค้าอาวุธ ยุทธปัจจัยและสินค้าอื่นๆ มีสัดส่วน890% มีมูลค่า293.1ล้านดอลลาร์สหรัฐ เดือน(ม.ค.-เม.ย.)มีสัดส่วน1,567% หรือมีมูลค่า1,335.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

และล่าสุดกระทรวงพาณิชย์แถลงตัวเลขนำเข้าสินค้าไทยเดือนเมษายนพบว่าการนำเข้า ขยายตัว 21.5% มีมูลค่า 25,429 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่4เดือน ขยายตัว 19.2% มีมูลค่า 99,975 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้า 2,852 ล้านดอลลาลร์สหรัฐ  

10 ลำดับสินค้าที่นำเข้าประเทศไทยในช่วง4เดือนนี้ มีดังนี้

น้ำมันดิบ  

เคมีภัณฑ์ 

เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ

เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ                            

ก๊าชธรรมชาติปิโตเลียม                                              

เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ **เฉพาะทองคำไทยนำเข้ามูลค่า 2,295ล้านดอลลาร์สหรัฐ

เครื่องใช้ไฟฟ้า                                                            

ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์                           

น้ำมันสำเร็จรูป                                                             

ปุ๋ย และยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์                               

อย่างไรก็ตามคาดว่าการนำเข้าสินค้าไทยเพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตยังคงมีสัดส่วนที่สูงขึ้น และต้นทุนการนำเข้าเองก็จะสูงขึ้นตามราคาพลังงานโลกที่ยังคงผันผวนประกอบกับสงครามรัสเซีย-ยูเครนยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลายส่งผลให้การส่งออกสินค้าของ2ประเทศยังดำเนินการได้ไม่เต็มที่ดังนั้นสินค้าไทยที่ต้องนำเข้าจาก2ประเทศอาจจะขาดแคลน ซึ่งทำให้ผู้ส่งออก-นำเข้าต้องหาตลาดอื่นและราคาสินค้าที่แพงขึ้นเพื่อเข้ามาผลิตสินค้าในไทย

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2565

FTA ฉบับแรกไทยกับ4ชาติยุโรป  “สวิส นอร์เวย์ ลิกเตนสไตน์ ไอซ์แลนด์”

FTA ฉบับแรกไทยกับยุโรป“สวิส นอร์เวย์ ลิกเตนสไตน์ ไอซ์แลนด์”ตั้งเป้าจะเจรจาให้จบ ภายใน 2 ปี   “จุรินทร์”ประกาศเริ่มเจรจา FTA ไทย-เอฟตาวันนี้ก่อนไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุม SOM ที่กรุงเทพในวันที่ 28 -30 มิถุนายนนี้

นายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร่วมพิธีประกาศเริ่มการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-สมาคมการค้าเสรียุโรป (EFTA) ระหว่างรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กับผู้แทนของ 4 ประเทศสมาชิก EFTA (สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์และลิกเตนสไตน์) ที่ เมืองบอร์การ์เนส สาธารณรัฐไอซ์แลนด์

“วันนี้ถือเป็นวันประวัติศาสตร์ทางการค้า ทั้งทางเศรษฐกิจการค้าของประเทศไทยและเชื่อว่าของกลุ่มประเทศสมาชิกเอฟตา 4 ประเทศด้วยประกอบด้วยสวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์และลิกเตนสไตน์ ซึ่งไทยใช้ความพยายามในการเจรจา FTA ระหว่างกันมาเกือบ 20 ปี เพิ่งมาประสบความสำเร็จเที่ยวนี้ วันนี้ถือเป็นการประกาศนับหนึ่งในการเริ่มการเจรจา FTA ระหว่างไทยกับเอฟตา ซึ่งไทยตั้งเป้าว่าจะเจรจาให้จบ ภายใน 2 ปี หลังจากนั้นจะเป็นไปตามขั้นตอนกระบวนการกฎหมายของแต่ละประเทศต่อไป”

สำหรับมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับเอฟตาปีที่แล้วประมาณ 7,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคาดว่าภายหลังจากที่ FTA ประสบความสำเร็จเริ่มบังคับใช้ จะทำให้มูลค่าการค้าเพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าตัวในเวลาอันรวดเร็วเพราะความร่วมมือนี้ มีทั้งเรื่องความร่วมมือการค้า สินค้าบริการ และการลดภาษีนำเข้า-ส่งออกระหว่างกัน รวมทั้งในเรื่องการลงทุนอีคอมเมิร์ซและการอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างกัน

และที่สำคัญจะจับมือกันนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจสังคมอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต ซึ่งจะมีรายละเอียดในเรื่องสิ่งแวดล้อมและอื่นๆตามมา ที่เห็นชัดในรูปธรรมเร็วที่สุดคือหลังจากประกาศเริ่มการเจรจา FTA ไทย-เอฟตาวันนี้ ภายในหนึ่งสัปดาห์ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้บริหารระดับอาวุโสหรือที่เรียกว่า SOM ของเอฟตาทันทีที่กรุงเทพในวันที่ 28 -30 มิถุนายนเดือนนี้

ด้านนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่าผู้แทนของแต่ละประเทศที่เข้าร่วมพิธีประกาศเริ่มการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-สมาคมการค้าเสรียุโรป (EFTA) ประกอบด้วย นางธอร์ดิส โคบรุน เรคเฟรียด กิลฟาดอตติร์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไอซ์แลนด์ นางโดมินิค ฮาสเลอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ การศึกษาและกีฬาของลิกเตนสไตน์

นางยานิคกะ อันเดรียอัสเซน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของนอร์เวย์ นางมารี เกเบรียล อินไนเชน เฟลช เลขาธิการสํานักงานกิจการเศรษฐกิจของสวิตเซอร์แลนด์ และนายอองรี เจทาซ เลขาธิการเอฟตา

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2565

อาเซียน-อินเดีย’ เตรียมประกาศรับรอง AITIGA พร้อม  ตั้ง JC เริ่มเจรจา ก.ย.นี้

‘อาเซียน-อินเดีย’ เตรียมประกาศรับรอง AITIGA พร้อมจัดตั้งคณะกรรมการร่วม JC และเริ่มเจรจาทบทวนความตกลงฯ อย่างเป็นทางการ ก.ย.นี้ ด้านไทยเน้นย้ำให้ AITIGA เปิดกว้างการเข้าถึงตลาด ทันสมัย และลดอุปสรรคการค้า เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าสองฝ่ายให้มากขึ้น

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงผลการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน – อินเดีย ครั้งที่ 35  ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ว่า ที่ประชุมได้เร่งรัดให้ประเทศสมาชิกดำเนินกระบวนการภายในเพื่อรับรองเอกสารขอบเขตการทบทวนความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน – อินเดีย (ASEAN – India Trade in Goods Agreement: AITIGA)

พร้อมทั้งเห็นชอบข้อเสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน – อินเดีย ครั้งที่ 19 ในการรับรองขอบเขตการทบทวนความตกลง AITIGA และจัดตั้งคณะกรรมการร่วม (Joint Committee: JC) เพื่อกำกับดูแลการทบทวนความตกลง AITIGA

โดยหลังจากที่อาเซียนและอินเดียสามารถสรุปขอบเขตการทบทวนความตกลง AITIGA เมื่อวันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายได้เร่งเดินหน้าผลักดันการรับรองขอบเขตฯ AITIGA ให้บรรลุผลโดยเร็ว ซึ่งที่ประชุมเห็นพ้องให้รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและอินเดีย ประกาศรับรองขอบเขตการทบทวนความตกลง AITIGA พร้อมทั้งจัดตั้ง JC และประกาศเริ่มการเจรจาทบทวนความตกลง AITIGA อย่างเป็นทางการ ในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจฯ ครั้งที่ 19 ในเดือน ก.ย.นี้

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือถึงโครงสร้างการทำงานของ JC และคณะทำงานด้านต่างๆ ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน – อินเดีย ซึ่งประกอบด้วยความตกลงทั้งหมด 3 ฉบับ ได้แก่ ความตกลงการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน

โดยไทยเน้นย้ำเป้าหมายให้ความตกลง AITIGA เปิดกว้างในการเข้าถึงตลาด มีความทันสมัย ลดอุปสรรคการค้า และจะต้องอำนวยความสะดวกให้กับธุรกิจการค้ามากยิ่งขึ้น เพื่อจะเป็นกลไกสำคัญในการเพิ่มการค้าของทั้งสองฝ่ายที่มีขนาดตลาดผู้บริโภครวมกันกว่า 2,000 ล้านคน

ทั้งนี้ ในปี 2564 การค้าระหว่างอาเซียนกับอินเดีย มีมูลค่า 91,491.77 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (-39.26%) จากปีก่อนหน้า โดยอาเซียนส่งออกไปยังอินเดีย มูลค่า 53,749.77 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากอินเดีย มูลค่า 37,742 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการค้าระหว่างไทยกับอินเดีย มีมูลค่า 14,940.49 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (+52.52%) โดยไทยส่งออกไปอินเดีย มูลค่า 8,534.10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการใช้สิทธิ์ภายใต้ความตกลงฯ มูลค่า 4,377.29 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 51.29% ของมูลค่าส่งออกไปอินเดียทั้งหมด สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ โทรทัศน์ ลวดทองแดง น้ำมันดิบ เคมีภัณฑ์ และยานยนต์และส่วนประกอบ

และไทยนำเข้าจากอินเดีย มูลค่า 6,406.39 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการใช้สิทธิ์ภายใต้ความตกลงฯ มูลค่า 748.36 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 11.68% ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมดจากอินเดีย สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ ผลไม้สด ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ ยานยนต์และส่วนประกอบ เหล็กกล้า และหม้อแปลงไฟฟ้า

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2565

‘สวิส-เกาหลี’ยกระดับEEC สู่นิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับทราบและยินดีกับความร่วมมือของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กับภาคเอกชนชั้นนำจากต่างประเทศ เพื่อร่วมเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้เติบโตอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

โดยช่วงที่ผ่านมา พื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ได้รับความสนใจจากภาคเอกชนชั้นนำต่างประเทศเป็นจำนวนมาก โดยล่าสุด ผู้นำเอกชนจากสวิตเซอร์แลนด์ และเกาหลีใต้ กระชับความร่วมมือเพื่อพัฒนาทักษะบุคลากรในพื้นที่ EEC ด้านการแพทย์ และการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมสู่นิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ

โดยผู้นำเอกชนสวิตเซอร์แลนด์ บริษัท เอบีบี ออโตเมชั่น จํากัด (ประเทศไทย) บริษัท เอบีบี อิเล็คทริฟิเคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (ABB) บริษัท โรช ไทยแลนด์ (Roche) และคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อผลักดันการพัฒนาเทคโนโลยีและบุคลากรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งผลจากความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยผลักดันและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล 5G ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการผลักดันให้ประเทศไทยเดินหน้าไปสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 อย่างมีศักยภาพมากขึ้น

ด้านภาคเอกชนเกาหลีใต้ บริษัท Korea Land and Housing Corporation ได้ร่วมกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ (Smart Industrial Estate)ยกระดับนิคมอุตสาหกรรมสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ส่งเสริมให้เกิดการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการเกิดของเสีย ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

จาก https://www.naewna.com วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2565

จับตามองโอกาสการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ตลาดเงินยังคงมีความกังวลอย่างมาก ในประเด็นเศรษฐกิจถดถอย ท่ามกลางตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เริ่มย่ำแย่

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money…week) โดย...กฤติกา บุญสร้าง, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่า เงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 34.80-35.70 ในสัปดาห์นี้ ภายหลังจากเฟดขึ้นดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 1994 แต่ตลาดยังคงมีความกังวลอย่างมาก ในประเด็นเศรษฐกิจถดถอย ท่ามกลางตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เริ่มย่ำแย่ โดยเฉพาะในตลาดบ้านที่สร้างคำถามต่อการดำเนินนโยบายของเฟดในระยะที่ผ่านมา และการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในระยะนี้ โดยในสัปดาห์นี้สหรัฐฯ จะมีการประกาศตัวเลขการขายบ้าน ซึ่งจะเปิดเผยเรื่องราวและสะท้อนภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปัจจุบันได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ด้านประเทศไทย กระทรวงพาณิชย์จะเปิดเผยตัวเลขส่งออก-นำเข้าในสัปดาห์นี้ ซึ่งเป็นที่จับตามองอย่างมากจากประเด็นการส่งออกและการท่องเที่ยว เป็นปัจจัยหลักสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ และยังเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสะท้อนถึงเงินเฟ้อที่เร่งขึ้นจากการนำเข้าพลังงาน นอกจากนี้ เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของธนาคารแห่งประเทศไทยยังเป็นที่จับตามองในระยะที่เงินบาทผันผวนหนัก และอ่อนค่าไปเหนือระดับ 35.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ภาพรวมตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงวันที่ 13 – 17 มิถุนายน 2022 เงินบาทผันผวนในฝั่งอ่อนค่า ผู้ว่าการ ธปท. มองทิศทางดอกเบี้ยไทยขึ้นกับบริบทไทยเป็นสำคัญ แต่การปรับขึ้นช้าไปอาจต้องปรับขึ้นมากขึ้นอีก และปฏิเสธการนัดประชุมฉุกเฉิน ทางด้านรัฐบาลไทยเป็นห่วงดอกเบี้ยขึ้นจะกระทบต่อการใช้จ่ายและเศรษฐกิจของประเทศ และประกาศเก็บภาษีจากบริษัทพลังงาน เพื่อนำมาอุดหนุนราคาพลังงาน ซึ่งคาดว่าจะสามารถเก็บได้เดือนละ 6-7 พันล้านบาท การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเสนอขอยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่า ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม-31 ธันวาคม 2022 ทั้งวีซ่านักท่องเที่ยวที่มีค่าธรรมเนียม 1,000 บาทต่อคน และวีซ่าหน้าด่านที่มีค่าธรรมเนียม 2,000 บาทต่อคน นอกจากนี้เสนอขยายระยะเวลาพำนักของวีซ่าท่องเที่ยว จากไม่เกิน 30 วัน เป็นไม่เกิน 45 วัน ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม -31 ธันวาคม 2565

เฟดประกาศขึ้นดอกเบี้ย 75bps ซึ่งเป็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 1994 ทำให้ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 1.50-1.75% พร้อมเปิดเผยคาดการณ์มุมมองอัตราดอกเบี้ยของสมาชิกเฟดที่ 3.25%- 3.50% ในปี 2022 และ 3.75% ในปี 2023 โดยเฟดระบุถึงความตั้งใจอย่างแรงกล้าในการดึงเงินเฟ้อให้กลับลงมาอยู่ที่ 2% นอกจากนี้ เฟดปรับลดคาดการณ์จีดีพีในปีนี้ลงเหลือ 1.7% จาก 2.8% และปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อปีนี้เป็น 5.2% จาก 4.3% และคาดอัตราว่างงานในปีนี้สูงขึ้นเป็น 3.7% จากคาดการณ์เดิมที่ 3.5% ในแถลงการณ์ โพเวลระบุว่าการขึ้นดอกเบี้ย 75bps ไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นเป็นปกติ แต่ยังเปิดโอกาสการขึ้นดอกเบี้ย 50bps หรือ 75bps ในการประชุมครั้งหน้า พร้อมระบุยังไม่เห็นสัญญาณของเศรษฐกิจชะลอลง

อีซีบีนัดประชุมฉุกเฉินเพื่อพิจารณาความเสี่ยงจากพันธบัตรที่โดนเทขาย โดยมีการหารือเรื่องเครื่องมือใหม่เพื่อรับมือภาวะวิกฤต พร้อมระบุเตรียมเข้าช่วยหากตลาดผันผวนมากเกินไป ทั้งนี้ อีซีบีพิจารณาจะลงทุนต่อเนื่องในพันธบัตรโครงการ PEPP และจะดำเนินการแบบยืดหยุ่นโดยอาจลงทุนต่อเนื่องในประเทศที่เศรษฐกิจอ่อนแอ อังกฤษวางแผนจะออกกฎหมายแทนที่ Northern Ireland Protocol ซึ่งสร้างความตึงเครียดกับยุโรป โดยอังกฤษต้องการแก้ข้อตกลงกับยุโรปเรื่องไอร์แลนด์เหนือ ทำให้ยุโรปออกมากล่าวหากอังกฤษละเมิดข้อตกลง Brexit อาจทำให้เกิดสงครามการค้าได้ และอียูเตรียมจะออกกฎหมายสองฉบับเพื่อตอบโต้

ธนาคารกลางจีนคงดอกเบี้ยเงินกู้ระยะกลาง 1 ปีที่ 2.85% และอัดฉีดเงิน 2 แสนล้านหยวนเข้าสู่ระบบ ในขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจจีนดีขึ้นหลังการเปิดเมือง โดยยอดค้าปลีกในเดือนพฤษภาคมลดลง 6.7%YoY ดีกว่าเดือนก่อนหน้าที่ -11.1%YoY ในขณะที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมจีนขยายตัว 0.7%YoY ดีขึ้นจาก -2.9%YoY ในเดือนก่อนด้านภูมิรัฐศาสตร์ สีจิ้นผิงและปูตินพูดคุยทางโทรศัพท์ และสีจิ้นผิงกล่าวว่าจีนพร้อมสนับสนุนอธิปไตยและความมั่นคงของรัสเซีย พร้อมระบุว่าจีนจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาในยูเครน ด้านรัสเซียสั่งบริษัทแก๊สพรอมปิดเครื่องส่งก๊าซอีก 1 เครื่อง ทำให้บริษัทแก๊ซพรอมส่งก๊าซเพียง 65% ของปริมาณก๊าซที่อียูเรียกร้องส่งผลให้ราคาก๊าซพุ่งขึ้น 20%

ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเคลื่อนไหวผันผวนตลอดทั้งสัปดาห์ สืบเนื่องจากการประกาศตัวเลขอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯในเดือนพฤษภาคมพุ่งขึ้นสู่จุดสูงสุดใหม่ในรอบ 40ปีที่ 8.6% สร้างความกังวลต่อนักลงทุนว่าเฟดจะต้องขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้ก่อนหน้าที่ 50 bps เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่ยังปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้นักลงทุนเทขายพันธบัตรรัฐบาลออกมาก่อนการประชุมของเฟดและผลักดันให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 2 ปีปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ในรอบ 15 ปี ที่ 3.45% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ในรอบ 11ปี ที่ 3.50% รวมไปถึงได้ reprice โอกาสที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิถุนายนจาก 50 bps เป็น 75 bps ซึ่งผลการประชุมได้ออกมาเป็นไปตามที่นักลงทุนได้คาดการณ์ไว้คือเฟดประกาศขึ้นดอกเบี้ย 75 bps ทำให้ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 1.50-1.75% พร้อมกับเปิดเผยประมาณการอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) ชี้ให้เห็นว่าสมาชิกเฟดส่วนใหญ่คาดหวังอัตราดอกเบี้ย ณ สิ้นปี 2022 ที่ 3.25-3.50% และ 3.75% ในปี 2023 อย่างไรก็ตามดูเหมือนการตอบสนองของตลาดภายหลังการประชุมของเฟดจะเริ่มแสดงถึงความกังวลต่อการเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอีกรอบ ทำให้เห็นเม็ดเงินในช่วงท้ายของสัปดาห์ไหลกลับเข้าสู่สินทรัพย์ปลอดภัย โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีปรับตัวลดลงมาอยู่แถวระดับ 3.25% หรือคิดเป็นการปรับตัวลดลง 20 bps เทียบกับจุดสูงสุดของสัปดาห์

ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวสูงขึ้นตามปัจจัยในต่างประเทศ รวมถึงนักลงทุนได้ reprice โอกาสในการขึ้นดอกเบี้ยของกนง. มาอยู่ที่การประชุมในเดือนสิงหาคมนี้ ส่งผลให้เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวโดยมีความชันลดลง ซึ่งเป็นการขึ้นของอัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรระยะสั้นที่ปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าระยะยาวเพื่อสอดรับกับความคาดหวังของการขึ้นดอกเบี้ยในระยะอันใกล้ ขณะที่กระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาไหลออกจากตลาดตราสารหนี้เป็นมูลค่าสุทธิประมาณ 13,448 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 1,420 ล้านบาท ขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 2,874 ล้านบาทและมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 9,154 ล้านบาท ส่งผลให้ ณ วันที่ 17 มิถุนายน 2565 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 1.09% 1.75% 2.15% 2.60% 2.84% และ 3.05% ตามลำดับ

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2565

ค่าเงินบาทวันนี้เปิด “อ่อนค่า”ที่ระดับ  35.23 บาท/ดอลลาร์

ค่าเงินบาทวันนี้ยังมีโอกาสผันผวนในฝั่งอ่อนค่าไปทดสอบแนวต้านในโซน 35.40 บาทต่อดอลลาร์ หากราคาทองคำมีการรีบาวด์ขึ้นมา อาจมีโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ ซึ่งจะช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  35.23 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่า”ลงเล็กน้อยจากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 35.21 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน  พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทยระบุว่าสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดการเงินโดยรวมปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ท่ามกลางความกังวลเศรษฐกิจโลกอาจชะลอลงหนักตามการขึ้นดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลาง

ในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของประธานเฟด รวมถึงเจ้าหน้าที่เฟด หลังจากล่าสุดเฟดได้เร่งขึ้นดอกเบี้ยกว่า 0.75% และยังมีแนวโน้มเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง

โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้

ฝั่งสหรัฐฯ – หลังจากที่เฟดได้เร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% สู่ระดับ 1.50%-1.75% พร้อมกับส่งสัญญาณทยอยขึ้นดอกเบี้ยจนอาจแตะระดับสูงสุดที่ 4.00% ในปีหน้า ทำให้ ผู้เล่นในตลาดจะจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดอย่างใกล้ชิด ถึงมุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ หากเฟดขึ้นดอกเบี้ยได้ตาม Dot Plot

ล่าสุด ผู้เล่นในตลาดกลับมากังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจชะลอลงหนักและเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ นอกจากนี้ ตลาดจะจับตาการแถลงต่อสภาคองเกรสของประธานเฟด (Powell’s Testimony) โดยเฉพาะผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ จากนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นของเฟด

ในส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจนั้น ตลาดประเมินว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจขยายตัวต่อเนื่องในอัตราที่ชะลอลงจากผลกระทบของปัญหาเงินเฟ้อสูงและนโยบายการเงินของเฟดที่เข้มงวดมากขึ้น สะท้อนผ่านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing PMI) เดือนมิถุนายน ที่อาจลดลงสู่ระดับ 56 จุด (ดัชนีเกิน 50 จุด หมายถึง ภาวะขยายตัว) ส่วนภาคการบริการอาจขยายตัวดีขึ้นในช่วงไฮซีซั่นของการเดินทางท่องเที่ยว โดยดัชนี PMI ภาคการบริการ อาจเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 53.7 จุด

ฝั่งยุโรป – ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรปอาจชะลอตัวลงหนัก จากการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของบรรดาธนาคารกลาง ทำให้ตลาดจะติดตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด โดยในฝั่งอังกฤษ ตลาดคาดว่า อัตราเงินเฟ้อ CPI เดือนพฤษภาคมจะอยู่ในระดับสูงถึง 9.1% กดดันให้การใช้จ่ายของผู้คนอาจชะลอตัวลง ซึ่งจะสะท้อนผ่านยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนพฤษภาคมที่อาจหดตัว -0.7%m/m

นอกจากนี้ ภาคการผลิตและการบริการของอังกฤษก็มีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการในเดือนมิถุนายน อาจลดลงสู่ระดับ 53.7 จุด และ 53 จุด ตามลำดับ เช่นเดียวกันกับในฝั่งยุโรป ความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัว จะสะท้อนผ่านดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจเยอรมนี (IFO Business Climate) ที่จะลดลงสู่ระดับ 92.7 จุด ในเดือนมิถุนายน

นอกจากนี้ ทั้งภาคการผลิตและการบริการของยุโรปก็มีแนวโน้มชะลอตัวลงเช่นกัน ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อสูง โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการในเดือนมิถุนายน อาจลดลงสู่ระดับ 53.8 จุด และ 55.5 จุด ตามลำดับ ทั้งนี้ ตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยเฉพาะประธาน ECB ที่อาจให้มุมมองแนวโน้มเศรษฐกิจและทิศทางนโยบายการเงินของ ECB ที่ชัดเจนขึ้น

ฝั่งเอเชีย – ตลาดประเมินว่า แนวโน้มการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน หลังจากที่ทางการจีนสามารถทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown จะช่วยให้ธนาคารกลางจีน (PBOC) สามารถคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกหนี้ชั้นดี (LPR) ประเภท 1 ปี และ 5 ปี ไว้ที่ระดับ 3.70% และ 4.45% ตามลำดับ

ส่วนในฝั่งญี่ปุ่น ก็มีแนวโน้มได้รับอานิสงส์จากการทยอยฟื้นตัวของจีน ทำให้ ตลาดมองว่า ภาคการผลิตของญี่ปุ่นอาจขยายตัวดีขึ้นในเดือนมิถุนายน โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตอาจปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 53.5 จุด นอกจากนี้ การทยอยฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจในประเทศจากการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown จะหนุนการขยายตัวต่อเนื่องของภาคการบริการ โดยดัชนี PMI ภาคการบริการอาจปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 53 จุด

ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อ CPI ของญี่ปุ่นในเดือนพฤษภาคม ก็มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 2.5% จากการปรับตัวขึ้นของราคาสินค้าพลังงานและอาหาร รวมถึงการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ทว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะยังคงใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อ เพื่อประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ส่วนธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 2.50% หลังเงินเฟ้อยังคงเร่งตัวสูงขึ้นกว่าเป้าหมายของ BSP ไปมาก

ฝั่งไทย – ดุลการค้าในเดือนพฤษภาคมอาจขาดดุลราว -1.5 พันล้านดอลลาร์ เนื่องจากต้นทุนสินค้าที่สูงขึ้นและปัญหาเงินบาทอ่อนค่าจะยิ่งหนุนให้ยอดการนำเข้าโตกว่า +18%y/y ในขณะที่ยอดการส่งออกอาจโตเพียง +8%y/y

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาทยังมีโอกาสผันผวนในฝั่งอ่อนค่าไปทดสอบแนวต้านในโซน 35.40 บาทต่อดอลลาร์ โดยแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าอาจยังคงมาจากฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติไหลออกในช่วงตลาดปิดรับความเสี่ยง รวมถึงทิศทางเงินดอลลาร์ที่ยังคงไม่อ่อนค่าได้ง่ายนัก จนกว่าตลาดจะมั่นใจว่าเฟดจะไม่เร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงต่อเนื่อง

ทั้งนี้ เรามองว่า หากราคาทองคำมีการรีบาวด์ขึ้นมา ก็อาจมีโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ ซึ่งจะช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้ นอกจากนี้ เงินบาทจะยังไม่อ่อนค่าไปทดสอบแนวต้านระดับ 36.00 บาทต่อดอลลาร์ หากตลาดไม่ได้กังวลการเริ่มใช้มาตรการ Lockdown อีกครั้งในบางพื้นที่ของจีน จนหันมาเทขายสินทรัพย์ฝั่ง EM Asia ทั้งหุ้นและบอนด์ อย่างรุนแรง

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เราประเมินว่า เงินดอลลาร์ยังคงมีแรงหนุนฝั่งแข็งค่า ตามความผันผวนในตลาดการเงิน ท่ามกลางความกังวลภาวะเศรษฐกิจถดถอย อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์อาจย่อตัวลงได้ หากบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดไม่ได้ส่งสัญญาณพร้อมเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงต่อเนื่อง หรือ ตลาดเริ่มทยอยกลับมาเปิดรับความเสี่ยงได้บ้าง

ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากปัจจัยเสี่ยงหลายประการ ทั้งความเสี่ยงสงคราม ปัญหาการระบาดของโอมิครอนในจีน และความกังวลเกี่ยวกับทิศทางนโยบายการเงินเฟด เราแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 34.90-35.50 บาท/ดอลลาร์

ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.15-35.35 บาท/ดอลลาร์

จาก ttps://www.thansettakij.com  วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2565

ถอดรหัส"ชานอ้อย"เขย่าอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย 2.5 แสนล้าน

จับตา ร่างพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย เขย่าอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย มูลค่ากว่า 2.5 แสนล้าน ปั่นป่วน หลังโรงงานน้ำตาลไม่ยอมแบ่งผลประโยชน์ “ชานอ้อย” ให้ชาวไร่ พร้อมขู่ถอนตัวออกจากคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย กำลังเกิดความปั่นป่วนอย่างหนัก หลังจากร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)อ้อยและน้ำตาลทราย(ฉบับที่) พ.ศ. .... ที่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ได้มีการกำหนดให้นำ กากอ้อย หรือ ชานอ้อย เข้าไปอยู่ในหลักเกณฑ์แบ่งปันผลประโยชน์ให้กับชาวไร่อ้อย สร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศ 57 โรง ขู่ลาออกจากคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทั้ง 5 คณะ เพื่อแสดงปฏิกิริยาตอบโต้ คัดค้านไม่เห็นด้วยในเรื่องดังกล่าว

ในวันที่ 21 มิถุนายน 2565 นี้ โรงงานน้ำตาลททั่วประเทศ จะมีการหารือเพื่อลงมติร่วมกันในการยื่นหนังสือลาออกอีกครั้งในการประชุมคณะกรรมการบริหาร บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) ซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์บริการกลางให้กับทั้ง 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลและประสานงานติดต่อกับภาครัฐ

รู้จัก ระบบแบ่งปันผลประโยชน์อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทาย

เอกสารวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร วิเคราะห์ปัญหาเกี่ยวกับระบบแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างโรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อยไว้อย่างน่าสนใจว่า

ตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 กำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณอัตราส่วนของผลตอบแทนระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงานตามมาตรา 17 (23) ที่เรียกว่า ระบบการแบ่งปันผลประโยชน์ โดยกำหนดไว้ 70 : 30 ใช้หลักเกณฑ์นี้มาตั้งแต่ฤดูการผลิต 2525/26

แต่เนื่องจากขั้นตอนการคำนวณราคาอ้อยเกิดยุ่งยากซับซ้อนและหลายขั้นตอน การขาดเสถียรภาพของราคา มีคณะกรรมการหลายคณะมีอำนาจทับซ้อนกัน แต่ละปีการผลิตจะมีหลักเกณฑ์แตกต่างกัน ทำให้เกิดความขัดแย้งเกี่ยวกับฐานการคำนวณผลประโยชน์ระหว่างชาวไร่อ้อยกับโรงงาน

เช่น หลักเกณฑ์การนำตัวเลขอ้างอิงเกี่ยวกับการคำนวณผลประโยชน์ ต้นทุนการผลิต ราคาจำหน่ายน้ำตาลทรายดิบ น้ำตาลทรายขาวและกากน้ำตาลไปต่างประเทศกับต้นทุนจริงในการจำหน่ายน้ำตาล อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท การคำนวณค่าขนส่งน้ำตาล การแบ่งเขตคำนวณราคาอ้อย

โดยเฉพาะเกี่ยวกับปัญหาการนำผลพลอยได้มาคำนวณรายรับ จึงทำให้เกษตรกรไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะในปัจจุบันอ้อยสามารถนำไปผลิตสินค้าอื่น ๆ ที่มีมูลค่าสูงขึ้นเช่น เอทานอล ผลิตภัณฑ์ชีวเคมี พลาสติกชีวภาพ อีกทั้งระบบปัจจุบันไม่ส่งเสริมหรือจูงใจเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ เป็นต้น

ทำให้คณะรัฐมนตรีต้องพิจารณาชี้ขาดตัดสิน หรือส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ หรือบางครั้งอาจต้องนำคดีขึ้นสู่ศาล เช่น คดีศาลแพ่ง คดีหมายเลขแดงที่ ปค.8/2546 เพิกถอนประกาศคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2541 เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการจัดทำงบประมาณการรายได้ การกำหนดและการชำระราคาอ้อย และค่าผลิตน้ำตาลทราย และอัตราส่วนของผลตอบแทนระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล

นอกจากนี้ยังมีคดีศาลปกครองสูงสุดหมายเลขแดงที่ ฟ.43/2551 เพิกถอนประกาศคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เรื่อง การกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิตปี 2544/2545 เป็นต้น

ข้อเสนอแก้ปัญหาระบบแบ่งปันผลประโยชน์อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทาย

ปัจจุบันอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเป็นแหล่งสร้างงานแก่ชาวไร่อ้อยและแรงงานเก็บเกี่ยวอ้อยในชนบทมากกว่า 600,000 คน มีการขยายโรงงานน้ำตาลเพิ่มขึ้นรวมทั้งสิ้นจำนวน 58 โรงงาน สร้างรายได้จากการส่งออก การจำหน่ายน้ำตาลทรายและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องได้ถึงปีละกว่า 250,000 ล้านบาท

โดยมีสัดส่วนการส่งออกมากกว่าการบริโภคภายในประเทศ ประมาณ 2 ใน 3 ของผลผลิตน้ำตาลทราย ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลทรายเป็นอันดับสองของโลก

จากประเทศที่นำเข้าน้ำตาลทรายจนก้าวมาสู่ประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลทราย เป็นอันดับที่สองของโลกได้ นับว่าเป็นการพัฒนาระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายจนประสบผลสำเร็จและนำผลประโยชน์มาสู่ประเทศไทย

อย่างไรก็ตามเนื่องจากระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยเป็นระบบที่เรียกว่าแบ่งปันผลประโยชน์คือ เมื่อเอารายได้จากการขายน้ำตาลทั้งในและต่างประเทศมาหักลบกับค่าใช้จ่าย ซึ่งจะนำมาแบ่งกันระหว่างเกษตรกรชาวไร่อ้อยกับโรงงานน้ำตาลในสัดส่วน 70 : 30

โดยร้อยละ 70 จะเป็นส่วนของเกษตรกรชาวไร่อ้อย และร้อยละ 30 เป็นส่วนของผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายของโรงงาน ซึ่งรายได้ของระบบทั้ง 2 ส่วนมาจากการขายน้ำตาลภายในและการส่งออก

อย่างไรก็ดียังมีผลประโยชน์ในส่วนที่เรียกว่า ผลพลอยได้จากการผลิตน้ำตาลทราย ที่จะต้องนำไปรวมกับผลตอบแทนการผลิตน้ำตาลทราย หากการระบุหรือกำหนดว่า เป็น หรือ ไม่เป็น ผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากผลพลอยได้ ย่อมส่งผลให้มีผู้ได้หรือเสียผลประโยชน์ทันที ดังนั้น จึงมีการเสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมคำนิยามของคำว่า “ผลพลอยได้” ให้ครอบคลุมถึงผลพลอยได้อื่นที่ได้จากการผลิตน้ำตาลทรายอย่างแท้จริง เช่น เอทานอล กากอ้อย หรือ ชานอ้อย ปริมาณอ้อย-กากน้ำตาล และวัตถุดิบอื่นๆที่ใช้ผลิตเอทานอล

ปริมาณอ้อย-กากน้ำตาล และวัตถุดิบอื่นๆที่ใช้ผลิตเอทานอล

นอกจากนี้ยังมีการเสนอให้ศึกษาถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่สำคัญ ได้แก่ โมลาส ไฟฟ้าชีวมวล เยื่อกระดาษ วัสดุทดแทนไม้ ผลิตภัณฑ์ชีวภาพว่าผลิตภัณฑ์ใดที่จะเป็นผลพลอยได้จากการผลิตน้ำตาลทรายการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายด้วยการส่งเสริมการผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพซึ่งประเทศไทยสามารถนำอ้อยและน้ำตาลไปต่อยอดในการผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพ เพื่อบรรเทาภาวะปริมาณผลผลิตอ้อยและน้ำตาลทรายที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง และราคาที่ยังขึ้นอยู่กับสถานการณ์ความไม่แน่นอนในตลาดโลก

เนื่องจากโรงงานน้ำตาลที่มีการผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่หลากหลายจะมีความได้เปรียบในการสลับผลัดเปลี่ยนนำอ้อยและผลพลอยได้จากการผลิตน้ำตาล ไปผลิตผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม ตามสถานการณ์ราคาน้ำตาลที่ไม่แน่นอน ซึ่งจะช่วยให้โรงงานน้ำตาลสามารถบริหารจัดการต้นทุนและรายได้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

หากพิจารณาจากผลการศึกษาทางวิชาการจะพบว่า การนำผลพลอยได้จากการผลิตน้ำตาลทรายมาคำนวนแบ่งปันผลประโยชน์ จะทําให้มีผลต่อการกําหนดราคาอ้อยให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น การแก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามของคําว่า น้ำตาลทราย ผลพลอยได้ น้ำอ้อย และเอทานอล ในร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย(ฉบับที่) พ.ศ. ....ให้มีความชัดเจน เป็นรูปธรรม สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ดูเหมือนว่าจะเกิดประโยชน์กับระบบอุตสาหกรรม อ้อยและน้ำตาลทราย อีกทั้งยังช่วยคุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ของชาวไร่อ้อยให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ตามหากดูจากผลรับฟังความเห็นร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย(ฉบับที่) พ.ศ. ... พบว่าโรงงานน้ำตาลไม่เห็นด้วยกับเรื่องดังกล่าว โดยให้เหตุผล ดังนี้

1. กากอ้อย กากตะกอนกรอง เป็นของเสีย จากกระบวนการผลิตน้ำตาล ซึ่งไม่ใช่ผลพลอยได้ โดยโรงงานต้องมีภาระที่จะต้องจัดการกําจัดในมุมของโรงงานน้ำตาล

2. โรงงานต้องมีภาระที่จะต้องจัดการกําจัดกากอ้อย กากอ้อยซึ่งเป็นสิ่งปฏิกูลจากกระบวนการผลิตตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 เพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยโรงงานต้องหาวิธีการนํากากของเสียดังกล่าวไปสร้างมูลค่า ซึ่งต้องลงทุน เองทั้งหมด ทั้งในด้านการจัดการสถานที่จัดเก็บไม่เกิดผลกระทบต่อชุมชน และการลงทุน สร้างโรงงานแปรรูปของเสียไปผลิตภัณฑ์อื่น คิดเป็นมูลค่าเป็นพันล้านบาท

3. โรงงานซื้ออ้อยเพื่อผลิตเป็นน้ำตาล โดยคิด ตามน้ำหนักและค่าความหวานในสัดส่วน 40/60 ส่วนกากอ้อย กากตะกอนกรอง หรือเศษหิน ดินทราย และสิ่งปนเปื้อนอื่น ซึ่งติดมากับอ้อย ที่ส่งเข้าหีบนั้น ไม่สามารถนํามาผลิตเป็นน้ำตาลได้ และโรงงานได้ซื้อรวมอยู่ในน้ำหนักอ้อยไปแล้ว

4. โรงงานต้องใช้กากอ้อยเป็นเชื้อเพลิงเพื่อใช้ ในกระบวนการผลิตน้ำตาล ซึ่งในอดีตแต่ละโรงงานจะไม่มีกากอ้อยเหลือใช้ แต่ต่อมาเมื่อโรงงานได้ลงทุน ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตให้สูงขึ้น ทําให้มีกากอ้อยคงเหลือจากการใช้ประโยชน์ โดยแต่ละโรงงาน มีปริมาณกากอ้อยที่เหลือแตกต่างกัน

5. หากนํากากอ้อย มารวมเป็นผลพลอยได้ โดยนํามาแบ่งปันผลประโยชน์ด้วย ย่อมก่อให้เกิด ความไม่เป็นธรรม และกระทบสัดส่วนการแบ่งปันเดิม ซึ่งหลักข้อตกลงระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงาน ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมและ กระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การกําหนดปริมาณ การผลิตน้ำตาลทราย และเงื่อนไข และราคา ในการรับซื้ออ้อย สําหรับฤดูการผลิตปี 2525/2526 ถึงปี 2529/2530 ที่กําหนดให้มีการแบ่งปันรายได้สุทธิ จากการขายน้ำตาลทรายทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศ ในสัดส่วน 70:30

นอกจากน้ำตาลทรายแล้ว ผลพลอยได้ทุกชนิดจากการหีบอ้อย ผลิตน้ำตาลทราย ให้ตกเป็นของโรงงาน อันเป็นไป ตามสัญญาซื้อขายอ้อยระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงาน ลงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2525 และต่อมาทั้งสองฝ่าย ได้เห็นพ้องต้องกันให้รวมกากน้ำตาลเป็นผลพลอยได้ด้วย โดยระบุอย่างชัดเจนในพระราชบัญญัติอ้อยและ น้ำตาลทราย พ.ศ. 2527

6. หากมีการเพิ่มกากอ้อย หรือกากตะกอนกรอง รวมเป็นผลพลอยได้ ทั้งสองฝ่ายต้องมีการเจรจาต่อรอง เพื่อแก้ไขระบบการแบ่งปันรายได้ร่วมกันใหม่ ซึ่งอาจนําไปสู่ข้อขัดแย้ง ต้องใช้ระยะเวลานานกว่า จะเห็นพ้องต้องกันได้ ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นแล้วในอดีตความเห็นจากการเปิดรับฟั

สรุปความเห็นฝ่ายโรงงานน้ำตาลทราย

ไม่เห็นด้วยกับกรณีที่มีการนําผลพลอยได้มารวม เพื่อคํานวณราคาอ้อยและผลตอบแทนการผลิตและจําหน่ายน้ำตาลทราย ให้หมายความรวมถึงผลพลอยได้ด้วยเนื่องจากเห็นว่าผลิตภัณฑ์ชนิดอื่น ๆ มิได้อยู่ภายใต้ระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย และบริษัทผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ชนิดอื่น ๆ ก็เป็นคนละนิติบุคคลกับโรงงานน้ำตาลทราย

จากนี้ต้องจับตาดูว่า ร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย(ฉบับที่) พ.ศ. .... ที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของวุฒิสภา จะออกมาอย่างไร หากผลไม่เป็นไปตามที่โรงงานน้ำตาลทรายเสนออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายจะเกิดความขัดแย้งขึ้นหรือไม่

จาก ttps://www.thansettakij.com  วันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2565

“สุริยะ” คุมเข้ม ปล่อยมลพิษจากปล่องโรงงานกว่า 600 โรงงาน สั่งติดตั้งระบบ CEMS ดีเดย์บังคับใช้ 10 มิ.ย. ปีหน้า

“สุริยะ” คุมเข้มโรงงานระบายมลพิษขนาดใหญ่กว่า 600 โรงงานทั่วประเทศ สั่งติดตั้งระบบ CEMS (Continuous Emission Monitoring Systems) มีผลบังคับใช้ 10 มิถุนายน 2566 ซึ่งเป็นการยกระดับเฝ้าระวังการควบคุมมลพิษอากาศจากปล่องโรงงานแบบ Real time พร้อมกันนี้มีแผนดึงภาคประชาชนร่วมตรวจสอบผ่านแอปพลิเคชัน POMS

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกประกาศ เรื่อง กำหนดให้โรงงานต้องติดตั้งเครื่องมือหรือเครื่องอุปกรณ์พิเศษ เพื่อรายงานมลพิษอากาศจากปล่องโรงงาน พ.ศ. 2565 ให้โรงงานขนาดใหญ่ 13 ประเภทที่ระบายมลพิษจากปล่องกว่า 600 โรงงานทั่วประเทศ ต้องติดตั้งระบบตรวจสอบการระบายมลพิษอากาศจากปล่องแบบอัตโนมัติต่อเนื่อง (Continuous Emission Monitoring Systems : CEMS) และเชื่อมโยงข้อมูลไปยังกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เพื่อควบคุมเฝ้าระวังการระบายมลพิษอากาศจากปล่องแบบ Real time ตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไป โรงงานที่ขออนุญาตใหม่ต้องติดตั้ง CEMS ให้แล้วเสร็จก่อนเริ่มประกอบกิจการโรงงาน ส่วนโรงงานเก่าต้องติดตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 9 มิถุนายน 2567

“นอกจากเจ้าหน้าที่จะสามารถดูค่าการระบายมลพิษได้ตลอด 24 ชั่วโมงแล้ว ยังเปิดให้ประชาชนเข้าดูค่าการระบายมลพิษจากปล่องผ่านแอปพลิเคชัน POMS เพื่อเป็นการแสดงความจริงใจของภาคอุตสาหกรรมที่จะไม่ระบายมลพิษเกินค่ามาตรฐานที่กำหนด และพร้อมให้ภาคประชาชนตรวจสอบ โดยสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน POMS ได้ทั้งระบบ ไอโอเอส และแอนดรอยด์”

โรงงานทั่วประเทศ ต้องติดตั้งระบบตรวจสอบการระบายมลพิษอากาศจากปล่องแบบอัตโนมัติต่อเนื่อง (Continuous Emission Monitoring Systems : CEMS) และเชื่อมโยงข้อมูลไปยังกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.)

โรงงานทั่วประเทศ ต้องติดตั้งระบบตรวจสอบการระบายมลพิษอากาศจากปล่องแบบอัตโนมัติต่อเนื่อง (Continuous Emission Monitoring Systems : CEMS) และเชื่อมโยงข้อมูลไปยังกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.)

นายวันชัย พนมชัย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรอ. ได้ดำเนินการปรับปรุงประกาศกระทรวงฉบับดังกล่าวแล้วเสร็จ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา 10 มิถุนายน 2565แล้ว โดยจะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 365 วันนับถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป คือวันที่ 10 มิถุนายน 2566 เป็นการขยายพื้นที่บังคับใช้ให้โรงงานติดตั้ง CEMS เพื่อรายงานมลพิษอากาศจากปล่องระบายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ จากเดิมบังคับใช้ในจังหวัดระยองแห่งเดียว รวมทั้งปรับปรุงประเภทโรงงาน และชนิดของมลพิษที่ต้องตรวจวัด เพื่อควบคุมกำกับดูแลการระบายมลพิษอากาศในกลุ่มโรงงานขนาดใหญ่ ที่มีการระบายมลพิษสูงหรือกระบวนการผลิตสุ่มเสี่ยงจะมีการระบายสารมลพิษ เช่น โรงไฟฟ้าที่มีกำลังการผลิตต่อหน่วย 10 เมกกะวัตต์(MW) ขึ้นไป หม้อน้ำที่มีขนาด 30 ตันไอน้ำต่อชั่วโมงขึ้นไป หน่วยผลิตที่มีการเผาไหม้เชื้อเพลิง 100 ล้านบีทียู (MMBTU) ต่อชั่วโมงขึ้นไป โรงเหล็ก โรงกลั่นน้ำมัน โรงปูนซีเมนต์ โรงกระดาษ โรงผลิตกรด เตาเผาขยะ โรงผลิตแก้ว เป็นต้น รวมถึงหน่วยผลิตอื่นที่ถูกกำหนดให้ติดตั้ง CEMS ตามเงื่อนไขรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA) โดยกำหนดให้ต้องมีการตรวจวัดค่าความทึบแสง ฝุ่นละออง ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ออกไซด์ของไนโตรเจน ไฮโดรเจนซัลไฟด์ คาร์บอนมอนอกไซด์ ปรอท ไฮโดรเจนคลอไรด์ หรือค่าอื่น ๆ ตามที่กฎหมายกำหนด

“โรงงานที่จะต้องติดตั้งระบบ CEMS เมื่อประกาศมีผลบังคับใช้ กว่า 50% เป็นโรงงานที่ทำ EIA และถูกกำหนดให้มีการติดตั้งระบบ CEMS อยู่แล้ว กรอ. เชื่อมั่นว่ามาตรการเฝ้าระวังการระบายมลพิษจากปล่องโรงงานแบบ Real Time จะช่วยส่งเสริมให้เกิดประสิทธิภาพในการประกอบกิจการ และเป็นมาตรการหนึ่งในแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน” อธิบดีกรมโรงงานฯ กล่าวปิดท้าย

จาก https://mgronline.com  วันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2565

“สุริยะ” พลิกวิกฤตเป็นโอกาส ดันส่งออกอาหารแปรรูปไทยสู่ 1 ใน 10 ประเทศผู้ส่งออก

“สุริยะ” มั่นใจส่งออกอาหารแปรรูปปีนี้คาดแตะระดับ 1.3 ล้านล้านบาท “ครม.” ล่าสุด 7 มิ.ย.รับทราบแนวทาง ขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562-2570) พร้อมพลิกวิกฤตเป็นโอกาสรับมือสถานการณ์ความมั่นคงด้านอาหารโลก ก้าวสู่ 1 ใน 10 ประเทศผู้ส่งออก

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2565 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบความคืบหน้าและแนวทางการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562-2570) ที่กระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะหน่วยงานหลักได้รับมอบหมายให้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ คาดว่าการส่งออกอาหารแปรรูปของไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 จะมีมูลค่าประมาณ 600,000 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.4 ส่วนภาพรวมปี 2565 คาดจะถึงจุดสูงสุดเดิมและมีมูลค่ากว่า 1.3 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นการพลิกวิกฤตเป็นโอกาสในการรับมือกับสถานการณ์ความมั่นคงด้านอาหารโลก และก้าวสู่ 1 ใน 10 ประเทศผู้ส่งออก ผ่านการขับเคลื่อน 4 มาตรการหลักตามแผนปฏิบัติการ เพื่อเร่งสร้างโอกาสสู่การขยายตัวของอุตสาหกรรมในอนาคต โดยมีความคืบหน้า ดังนี้

มาตรการที่ 1 การสร้างนักรบอุตสาหกรรมอาหารพันธุ์ใหม่ (Food Warriors) ผ่าน 4 หน่วยงานของกระทรวงอุตสาหกรรม (สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด และสถาบันอาหาร) ในการพัฒนายกระดับผู้ประกอบการ สถานประกอบการและวิสาหกิจชุมชน ผ่านการอบรมและให้คำปรึกษาด้านการเพิ่มผลิตภาพ พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานสากลและมาตรฐานฮาลาล (HALAL) ถ่ายทอดความรู้เชิงธุรกิจและการนำนวัตกรรมมาใช้ในการผลิต เช่น การยกระดับศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมเพื่อขับเคลื่อน SMEs สู่สากล การพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปสู่การเป็นโรงงานอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้งสิ้น 3,218 ราย (4,836 คน) พัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรแปรรูปให้มีมูลค่าเพิ่มสูงกว่า 390 ผลิตภัณฑ์

มาตรการที่ 2 การสร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต มีการเชื่อมโยงกลไกและให้บริการด้านการวิจัยและพัฒนาผ่านเครือข่ายเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) ในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย โดยมีผู้ประกอบการได้รับการเสริมสร้างความสามารถในการดำเนินธุรกิจนวัตกรรม 651 ราย สร้างนักวิจัยให้สามารถผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารมูลค่าสูง เช่น การวิจัยและพัฒนาสารสกัดที่มีฤทธิ์ต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรังสำหรับผู้สูงอายุ และจัดให้มีศูนย์บริการด้านการบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมอาหารให้บริการครบวงจร นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทยจัดทำโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP ให้มีคุณภาพมาตรฐานกว่า 791 ราย

มาตรการที่ 3 การสร้างโอกาสทางธุรกิจยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบให้สอดคล้องกับสถานการณ์โควิด-19 โดยในปี 2564 กระทรวงพาณิชย์จัดงานแสดงสินค้าระดับโลกในไทย จำนวน 2 ครั้ง มีจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการที่ลงทะเบียนในแฟลตฟอร์มทั้งสิ้น 2,363 ราย 2,088 บริษัท 97 ประเทศ มูลค่าการสั่งซื้อรวมประมาณ 3,122.8069 ล้านบาท ด้านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ให้การส่งเสริมกิจการอุตสาหกรรมแปรรูปที่เป็น SMEs มูลค่า 322 ล้านบาท และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จัดทำและปรับปรุงฐานข้อมูล SMEs ประเทศไทย และเชื่อมโยงข้อมูลเข้าสู่ระบบ SMEs Big Data

และมาตรการที่ 4 สร้างปัจจัยพื้นฐานเพื่อเร่งการพัฒนาอุตสาหกรรม โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมได้จัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอาหารจำนวน 14 เรื่อง สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย จัดทำโครงการสร้างนวัตกรรมเพื่อการผลิตอ้อยพันธุ์ดีและส่งเสริมอ้อยพันธุ์ใหม่ ขณะที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดทำโครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) โครงการพัฒนาศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ นอกจากนี้ ได้มีการตรวจสอบและรับรองคุณภาพสินค้าประมง การยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตรโดยการจดทะเบียนตรวจสอบรับรองแหล่งผลิตพืช GAP และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จัดทำโครงการเตรียมความพร้อม Smart Farmer ร่วมกับเครือข่ายภาครัฐและเอกชน

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า จากสถานการณ์วิกฤตอาหารโลก ปี 2565 ที่ผลผลิตลดลงและราคาปรับตัวสูงขึ้น สร้างความกังวลถึงผลกระทบต่อความมั่นคงอาหารในหลายมิติ ทั้งทางด้านความเพียงพอ การเข้าถึงอาหาร โภชนาการ รวมถึงความปลอดภัยนั้น ประเทศไทยเป็นทั้งประเทศที่เป็นผู้ผลิตและส่งออกอาหารที่สำคัญของโลก โดยมีสินค้าหลักที่ส่งออก ได้แก่ ข้าว (ผลิต 22 ล้านตัน บริโภค 10 ล้านตัน) แป้งมันสำปะหลัง (ผลิต 7 ล้านตัน บริโภค 2 ล้านตัน) โปรตีนจากไก่ และสุกร ขณะเดียวกันยังเป็นประเทศที่พึ่งพิงการนำเข้าอาหาร เช่น ปลาทะเลแช่แข็ง ข้าวสาลี และข้าวโพด ซึ่งในส่วนของสินค้าที่ต้องนำเข้านั้นทางภาครัฐจะมีกลไกในการควบคุม ดูแลไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน และเมื่อพิจารณาในภาพรวมด้านอุปทาน (supply) อาหารของไทยแล้ว คาดว่าประเทศไทยจะไม่ประสบปัญหาวิกฤตความมั่นคงด้านอาหารอย่างแน่นอน

จาก https://mgronline.com  วันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2565

ป่วน “สารไกลโฟเซต” ขาดตลาด กมธ.เกษตรฯ รับปากแก้ปัญหา

เกษตรกร เฮลั่น “อัญชุลี” แจ้งข่าว กมธ.เกษตรฯ รับปากแก้ปัญหา สารไกลโฟเซต” ขาดตลาด ทำอาชีพเกษตรกรรมลำบาก เดือดร้อน

สืบเนื่องจากประธานคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา ได้รับหนังสือจากประธานเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง เรื่อง ขอร้องเรียนความเดือดร้อนของเกษตรกร กรณีขาดแคลนสารไกลโฟเซตใช้ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม และคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมาธิการปัจจัยการผลิต ในคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา เป็นผู้พิจารณาศึกษารวบรวมข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาในเรื่องดังกล่าว เพื่อเสนอต่อคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา ล่าสุดมีความคืบหน้า ตามลำดับ

นางสาวอัญชุลี ลักษณ์อำนวยพร ประธานเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ตอนนี้ได้หนังสือจาก พล.อ.ดนัย มีชูเวท รองประธาน กมธ.การเกษตรและสหกรณ์ ปฎิบัติหน้าที่แทนประธานคณะกรรมาธิการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา ใน เรื่องการดำเนินในประเด็นเรื่อง ร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรกรณีขาดแคลนสารไกโฟเชตใช้ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม

ทั้งนี้ทางคณะอนุกรรมาธิการปัจจัยการผลิต ได้ดำเนินการรวบรวมข้อมูลและข้อเท็จจริง ได้พิจารณาศึกษาปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรกรณีขาดแคลนสารไกลโฟเขตใช้ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยมีประเด็นการพิจารณาใน 2 ประเด็น

1. กรณีขาดแคลนสารไกลโฟเซต เพื่อใช้ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมและผลกระทบจากมาตรการในการจำกัดสารไกลโฟเซต

2. กรณีให้ยุติการรับสมัครและการทดสอบการฝึกอบรมโครงการอบรมเกษตรกรผู้ปลูกพืชที่ต้องใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด ได้แก่ สารพาราควอต สารไกลโฟเซต และสารคลอร์ไพริฟอส

นางสาวอัญชุลี  กล่าวว่าทางคณะอนุกรรมาธิการปัจจัยการผลิต ในคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภาได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาร่วมประชุมเพื่อให้ข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการพิจารณา ดังนี้

1) สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตรและผู้ร้องเรียน มาให้ข้อมูลในประเด็นที่เกี่ยวกับ (๑) กรณีขาดแคลนสารไกลโฟเซต เพื่อใช้ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมและผลกระทบจากมาตรการในการจำกัดสารไกลโฟเซต และ (๒) กรณีให้ยุติการรับสมัครเข้ารับการฝึกอบรมโครงการอบรมเกษตรกรผู้ปลูกพืชที่ต้องใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด ได้แก่ สารพาราควอตสารไกลโฟเซต และสารคลอร์ไพริฟอส

ผู้ประกอบการนำเข้าและจำหน่ายวัตถุอันตรายเพื่อกำจัดศัตรูพืช (ไกลโฟเซต)ประกอบด้วย สมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย สมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร สมาคมอารักขาพืชไทย และผู้แทนกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกพืช 5 ชนิดและไม้ผล มาให้ข้อมูลในประเด็นที่เกี่ยวกับกรณีขาดแคลนสารไกลโฟเซต และเหตุผลการใช้สารดังกล่าว เพื่อใช้ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมและผลกระทบจากมาตรการในการจำกัดการใช้สารไกลโฟเชต

คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา ได้ประชุมพิจารณาจากข้อมูลข้อเท็จจริงตามข้อ 2 ทั้งหมดแล้วเห็นสมควรดำเนินการ ดังนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ควรดำเนินการ ดังนี้

1. ประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึงให้หน่วยงานราชการ (เช่น กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท การรถไฟแห่งประเทศไทย) ภาคเอกชน และเกษตรกรที่มีความต้องการใช้สารไกสโฟเซตในการกำจัดวัชพืช ให้ทราบถึงหลักปฏิบัติในการจำกัดการใช้สารไกลโฟเซตในการกำจัดวัชพืช ซึ่งมาตรการจำกัดการใช้สารไกลโฟเชต ผู้ที่ประสงค์จะใช้สารไกลโฟเชตต้องผ่านการทดสอบความรู้ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนด และจะอนุญาตให้ใช้สำหรับพืชไร่ 5 ชนิด

(อ้อย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลังปาล์มน้ำมัน ยางพารา) และไม้ผลเท่านั้น (ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง การจำกัดการใช้การกำหนดฉลากและภาชนะบรรจุวัตถุอันตรายที่เกี่ยวกับไกลโฟเซตที่กรมวิชาการเกษตรรับผิดชอบพ.ศ. 2562 และเรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการผลิต การนำเข้า การส่งออก การมีไว้ในครอบครอง และกำหนดให้มีบุคลากรเฉพาะรับผิดชอบในการควบคุมการขายซึ่งวัตถุอันตรายที่เกี่ยวกับไกลโฟเซต คลอร์ไพริฟอส และพาราควอต ที่กรมวิชาการรับผิดชอบ พ.ศ. 2562)

2. ประชาสัมพันธ์แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการ เพื่อเปิดเผยข้อมูลรายปีเกี่ยวกับจำนวนพื้นที่ปลูกพืชไร่ 5 ชนิดและไม้ผลทั่วประเทศ และพื้นที่ที่อนุญาตให้ใช้สารไกลโฟเชตรวมถึงจำนวนผู้ที่ผ่านการทดสอบความรู้ ปริมาณที่ผู้ประกอบการขออนุญาตนำเข้าสารไกลโฟเซต ปริมาณที่อนุญาตให้นำเข้าสารไกลโฟเซตและปริมาณที่นำเข้าสารไกลโฟซตจริง ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในระบบการนำเข้าและการใช้สารไกลโฟเซตและนวัตกรรมการเกษตรอื่น ๆ เพื่อประโยชน์แก่เกษตรกรและผ้ประกอบการให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ตามประกาศและข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง

3. กำกับดูแลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เรื่อง การจำกัดการใช้ การกำหนดฉลากและภาชนะบรรจุวัตถุอันตรายที่เกี่ยวกับไกลโฟเซต ที่กรมวิซาการเกษตรรับผิดชอบ พ.ศ. 2562 และเรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการผลิต การนำเข้าการส่งออก การมีไว้ในครอบครอง และกำหนดให้มีบุคลากรเฉพาะรับผิดชอบในการควบคุมการขายซึ่งวัตถุอันตรายที่เกี่ยวกับไกลโฟเซต คลอร์ไพริฟอส และพาราควอต ที่กรมวิชาการรับผิดชอบ พ.ศ. 2562อย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้ เพื่อให้เกษตรกรที่ลงทะเบียนเกษตรกรและผ่านการทดสอบความรู้สามารถหาซื้อสารไกลโฟเซตมาใช้ประกอบอาชีพกษตรกรรมได้ ตลอดจนผู้ประกอบการนำเข้าสามารถขออนุญาตนำเข้าสารไกลโฟเชตได้ตามปริมาณที่สอดคล้องกับพื้นที่และจำนวนเกษตรกรที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนดและทันห้วงเวลาเพาะปลูกพืชไร่ 5 ชนิดและไม้ผลของเกษตรกร

นอกจากนี้สมควรจัดระบบการพิจารณาอนุมัติของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เช่นการนำเข้าสารไกลโฟเซต การออกบอนุญาตต่าง ๆ จะต้องดำเนินการโดยต่อเนื่อง หากผู้รับผิดชอบในการพิจารณาอนุมัติมีเหตุจำเป็นใด ๆ ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้จะต้องมีผู้ทำหน้าที่แทนได้ตลอดเวลา

4.ผลักดันและสนับสนุนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ศึกษาโครงสร้างของต้นทุนการผลิตภาคเกษตรในการใช้ปัจจัยการผลิตและแรงงานในกระบวนการผลิตของภาคการเกษตรในอนาคตหากต้นทุนการผลิตภาคการเกษตรสูงจะส่งผลให้ไม่สามารถเกิดความมั่นคงในภาคการเกษตรและไม่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ รวมทั้งให้มีการค้นคว้า วิจัย ทดลอง พัฒนาและทดสอบให้ได้วิธีการหรือแนวทางที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการกำจัดวัชพืช เพื่อเป็นทางเลือกหรือทดแทนการใช้สารเคมีโดยมีความเหมาะสมกับพืช สภาพแปลงและพื้นที่ที่จะนำไปใช้

5.จัดให้มีแปลงสาธิตการใช้วิธีการหรือแนวทางอื่น ๆ ตามคำแนะนำในการกำจัดวัชพืชเพื่อเป็นทางเลือกในการลดการใช้สารเคมีหรือไม่ใช้สารเคมีในการป้องกันและกำจัดวัชพืชที่ประสบผลสำเร็จทั้งด้านการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิตและได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่าเป็นที่ประจักษ์ให้เกษตรกรได้เห็นเป็นตัวอย่าง

6.จัดให้มีการอบรมการใช้สารไกลโฟเซตและการทดสอบความรู้ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนดแก่เกษตรกรที่ปลูกพืชไร่ 5 ชนิดและไม้ผล โดยต่อเนื่องและประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรรับทราบทั่วประเทศ ทั้งนี้ เพื่อให้เกษตรกรเข้ารับการอบรมและเข้ารับการสอบ เพื่อปฏิบัติให้ถูกต้องตามระเบียบและใช้อย่างถูวิธี ลดอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนป้องกันมิให้มีการใช้สารผิดประเภทที่ไม่ถูกต้อง

ส่วนเกษตรกรต้องดำเนินการตามมาตรการจำกัดการใช้สารไกลโฟเซตตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนดอย่างเคร่งครัด โดยต้องผ่านการทดสอบเพื่อแสดงเจตนาในการใช้สารไกลโฟเซต

สำหรับ ร้านค้าหรือผู้จำหน่ายสารไกลโฟเซต ร้านค้าหรือผู้จำหน่ายสารไกลโฟเซต ควรมีการตรวจสอบข้อมูลเกษตรกรว่าเป็นผู้ผ่านการทดสอบซึ่งสามารถตรวจสอบข้อมูลผ่าน Appication ของกรมวิชาการเกษตรซึ่งมีการเชื่อมโยงข้อมูลเกษตรกรผู้ผ่านการทดสอบกับข้อมูลทะเบียนเกษตรกรของกรมส่งเสริมการเกษตร ก่อนที่จะทำการจำหน่ายให้กับเกษตรกรโดยต้องไม่จำหน่ายให้กับผู้ที่ไม่มีสิทธิรวมทั้งหน่วยงานราชการทุกหน่วยที่ไม่มีสิทธิในการใช้สารไกลโฟเซต

ทั้งนี้ ข้อเสนอแนะแนะเกี่ยวกับปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกร กรณีขาดแคลนสารไกลโฟเซตใช้ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา จะทำหนังสือไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อทราบและดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องและมีหนังสือแจ้งให้ผู้ร้องเรียนเพื่อทราบต่อไป

จาก https://www.thansettakij.com   วันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2565

อุตฯ น้ำตาลป่วน 57 โรงงานขู่ลาออกจากกรรมการ 5 คณะ

อุตสาหกรรมน้ำตาลป่วน 57 โรงงาน ขู่ลาออกจากคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับอ้อยและน้ำตาลทรายทั้ง 5 คณะรวด ตอบโต้ภาครัฐ หลังร่างแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายผ่านสภาล่าง บรรจุแบ่งปันผลประโยชน์จากชานอ้อย โวยไม่เป็นธรรมกับโรงงาน

จากที่ร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย(ฉบับที่) พ.ศ. .... ได้ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร (สภาล่าง) และกำลังจะนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา โดยมีการนำชานอ้อยเข้ามากำหนดในการพิจารณาราคาอ้อยขั้นต้นด้วยนั้น กำลังสร้างความปั่นป่วนให้กับวงการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เนื่องจากบรรดากลุ่มโรงงานน้ำตาลไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว  โดยให้เหตุผลว่าเป็นการสร้างความไม่เป็นธรรมให้กับผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาล

แหล่งข่าวจากวงการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า จากการนำกากชานอ้อยเข้าไปอยู่ในหลักเกณฑ์แบ่งปันผลประโยชน์ให้กับชาวไร่อ้อย จากที่สภาล่างได้ผ่านร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวแล้ว ส่งผลให้กลุ่มโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศรวม 57 โรง ที่รับอ้อยเข้าหีบในโรงงานฤดูการผลิตปี 2564/2565 ในปริมาณ 92 ล้านตัน ผลิตน้ำตาลทรายได้ 9.9 ล้านตันแสดงความไม่พอใจ โดยในการประชุมกลุ่มสมาชิกทั้งหมด เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2565 ได้มีมติร่วมกันว่า จะทำหนังสือลาออกจากคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทั้ง 5 คณะ

ประกอบด้วย คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.), คณะกรรมการอ้อย (กอ.), คณะกรรมการบริหารกองทุน (กท.), คณะกรรมการบริหาร (กบ.) และคณะกรรมการน้ำตาลทราย (กน.) เพื่อเป็นการแสดงปฏิกิริยาตอบโต้  และคัดค้านไม่เห็นด้วยในเรื่องดังกล่าว จากที่เคยคัดค้านไปแล้วก่อนหน้านี้ แต่ภาครัฐไม่รับฟัง และยังนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ โดยในวันที่ 21 มิถุนายนนี้ ในการประชุมคณะกรรมการบริหาร บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) ซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์บริการกลางให้กับทั้ง 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลและประสานงานติดต่อกับภาครัฐจะมีการหารือเพื่อลงมติร่วมกันในการยื่นหนังสือลาออกอีกครั้ง

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการบริหาร TSMC กล่าวว่า การแสดงจุดยืนของฝ่ายโรงงานครั้งนี้เนื่องจากเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม   ไม่มีโอกาสให้เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการร่าง พ.ร.บ.อ้อยฯ ที่ผ่านการพิจารณาวาระ 2 และ 3 ของสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว ทั้ง ๆ ที่ฝ่ายโรงงานเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญ และหากกฎหมายฉบับนี้นำออกมาบังคับใช้จะต้องมีการบริหารอุตสาหกรรมนี้ร่วมกันทั้ง   3 ฝ่าย จะขาดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมิได้  และหากมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยอมรับแล้วก็จะนำมาซึ่งปัญหาความขัดแย้งตามที่โรงงานน้ำตาล 57 โรงงาน  ได้มีหนังสือ 11 ฉบับ ชี้แจงให้ทั้งฝ่ายบริหารภาครัฐและฝ่ายนิติบัญญัติทราบแล้วว่า

 (1) ร่างกฎหมายดังกล่าวขัดแย้งกับร่าง พ.ร.บ.อ้อยฯ ที่ ครม.เสนอ และขัดกับหลักการ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 และข้อตกลงแบ่งปันรายได้ที่เคยตกลงร่วมกันไว้

(2) การกำหนด พ.ร.บ. ครั้งนี้  ขัดกับหลักนิติธรรม ไม่ให้ความเป็นธรรมแก่โรงงาน เป็นการเอาประโยชน์จากฝ่ายหนึ่งไปให้อีกฝ่ายหนึ่ง โดยฝ่ายสูญเสียไม่มีสิทธิปกป้อง ไม่มีส่วนร่วมในการแก้ไขกฎหมาย

(3) หากมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใดไม่ยอมรับ จะนำไปสู่ข้อขัดแย้งไม่สิ้นสุด หน่วยงานทีกำกับดูแลกฎหมายจะไม่สามารถบริหารจัดการอุตสาหกรามนี้ได้ด้วยความเรียบร้อย

(4) การกำหนดนโยบายที่ผิดพลาด จะทำให้อุตสาหกรรมล่มสลาย เกิดผลเสียหายร้ายแรง ดังเช่นที่เกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศ

ทั้งนี้หากตัวแทนของกลุ่มโรงงานน้ำตาลลาออกจากคณะกรรมการทั้ง 5 คณะจะส่งผลให้คณะกรรมการชุดต่าง ๆ มีกรรมการไม่ครบ 3 ฝ่าย ที่ประกอบด้วยภาครัฐ  ชาวไร่อ้อย  และโรงงานน้ำตาล ซึ่งจะส่งผลต่อการพิจารณาโครงสร้างต่าง ๆ ของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย โดยเฉพาะการพิจารณาโครงสร้างราคาน้ำตาล และการพิจารณากำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้ายของฤดูการผลิต 2565/2566 ที่อาจต้องสะดุด และส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมน้ำตาลไทยในภาพรวม

“กลุ่มโรงงานน้ำตาล ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขหลักเกณฑ์ดังกล่าว เนื่องจากจะเป็นการทำลายอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายที่ดำเนินการมา 40 ปีที่มีการนำระบบแบ่งปันผลประโยชน์ 70 : 30 มาใช้ ซึ่งถือว่ามีความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย เพราะหากนำชานอ้อยมาแบ่งผลประโยชน์ให้กับชาวไร่อ้อยอีก โรงงานน้ำตาลก็ไม่สามารถอยู่รอดได้ จากที่การดำเนินงานในปัจจุบันก็แทบไม่มีกำไรอยู่แล้ว อีกทั้งราคาน้ำตาลก็ไม่สามารถปรับได้ตามกลไกตลาด เพราะถูกควบคุมจากภาครัฐ ขณะที่ราคาส่งออกแม้จะราคาสูงกว่าราคาในประเทศ แต่ก็ไม่สามารถดำเนินการส่งออกได้ทั้งหมด”

ขณะที่อ้อยที่โรงงานซื้อมาจากชาวไร่เป็นการซื้อขาด ซึ่งตามหลักการแล้วผลพลอยได้ก็ต้องเป็นของโรงงานที่จะนำไปใช้ประโยชน์อื่น ๆ ต่อไปได้ หรืออย่างกรณีการนำชานอ้อยมาผลิตไฟฟ้าใน 57 โรง ก็ไม่ได้ขายไฟฟ้าออกไปทั้งหมด ส่วนใหญ่ก็จะผลิตเอง ใช้เอง จึงทำให้ไม่มีรายได้จากการขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมา หากยังต้องนำชานอ้อยมาคำนวณเพื่อแบ่งปันผลประโยชน์เพิ่มให้กับชาวไร่อ้อยอีกก็ถือว่าไม่มีความเป็นธรรม เพราะเท่ากับว่าเมื่อซื้ออ้อยมาแล้วยังต้องจ่ายค่าชานอ้อยให้กับชาวไร่อีก กลายเป็นสองเด้ง”

ดังนั้นการลาออกของคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ของตัวแทนกลุ่มโรงงานน้ำตาลถือเป็นการตอบโต้ที่ภาครัฐไม่รับฟังเสียงคัดค้านในช่วงที่ผ่านมา

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2565

ยื่นจดสิทธิบัตร-อนุสิทธิบัตร กว่า 50 รายการ ป้องนวัตกรรมอ้อยน้ำตาลทราย

สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย จับมือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เริ่มโครงการจดสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร กว่า 50 รายการ หวังปกป้องอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ชาวไร่อ้อยของไทย ล่าสุดยื่นแจ้งจดอนุสิทธิบัตรเครื่องฆ่าเชื้อข้อตาอ้อยด้วยความร้อนขนาดเล็กต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาเรียบร้อย

วันที่ 15 มิถุนายน 2565 นายเอกภัทร วังสุวรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า สอน.มีกระบวนการในการวิจัยและพัฒนาอ้อยมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในส่วนของ “โครงการสร้างนวัตกรรมเพื่อการผลิตอ้อยพันธุ์ดีและส่งเสริมอ้อยพันธุ์ใหม่” ซึ่งมีนวัตกรรมและองค์ความรู้เกิดขึ้นมากมาย รวมถึงพันธุ์อ้อยที่มีหลากหลายสายพันธุ์ก็เป็นผลจากการวิจัยในโครงการดังกล่าว ดังนั้นจำเป็นต้องสร้างกลไกในการจดสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร เพื่อขอรับรองชนิดพันธุ์พืชอ้อยและคุ้มครองกระบวนการพร้อมกลไกกระบวนการวิจัยและพัฒนาพันธุ์อ้อยของประเทศไทย

โดยมีเป้าหมายเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของประเทศไทย และปกป้องเกษตรกรชาวไร่อ้อยของประเทศไทย ให้สามารถพัฒนาขับเคลื่อนต่อไปได้ และยังคงสามารถแข่งขันในระดับโลกต่อไป จึงได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการดำเนินโครงการจดสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร ซึ่งสามารถนำไปสู่ขบวนการจดสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรและอื่น ๆ ได้ ดังนี้

1.จดสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร จำนวน 11 รายการ 2.ความลับทางการค้า จำนวน 8 รายการ 3.ลิขสิทธิ์ จำนวน 10 รายการ 4.จดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ (สิทธิบัตรพันธุ์พืช) จำนวน 20 รายการ 5.จดทะเบียนแบบผังภูมิของวงจรรวม 1 รายการ โดยได้ดำเนินการยื่นแจ้งจดอนุสิทธิบัตรกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาไปแล้ว 1 รายการ คือ เครื่องฆ่าเชื้อข้อตาอ้อยด้วยความร้อนขนาดเล็ก

ทั้งนี้ สอน.ยังประสบความสำเร็จในการศึกษา Whole Genome Sequence Sugarcane BA16017-01 โดยการวิเคราะห์ข้อมูลทาง DNA ของอ้อยพันธุ์ BA16017-01 ด้วยเทคนิค DNA Sequencing เพื่อบันทึกข้อมูล DNA ของอ้อยลงในฐานข้อมูล NCBI ซึ่งเป็นฐานข้อมูลที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ โดยมีขนาดของการบันทึกถึง 111 G of Bases ถือได้ว่าเป็นข้อมูลทาง DNA ที่มีขนาดใหญ่มากระดับ Meta ซึ่งน่าจะเป็นขนาดใหญ่ที่สุดขนาดหนึ่งเท่าที่ได้เคยรับการบันทึกจากประเทศไทย ถือเป็นสิ่งที่น่าภูมิใจในงานวิชาการด้าน Bio-Tech ของกระทรวงอุตสาหกรรม

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2565

กรอ.คุมเข้มโรงงาน เฝ้าระวังการปล่อยมลพิษ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกประกาศ เรื่อง กำหนดให้โรงงานต้องติดตั้ง เครื่องมือหรือเครื่องอุปกรณ์พิเศษ เพื่อรายงานมลพิษอากาศจากปล่องโรงงาน พ.ศ. 2565ให้โรงงานขนาดใหญ่ 13 ประเภทที่ระบายมลพิษจากปล่องกว่า 600 โรงงานทั่วประเทศ ต้องติดตั้งระบบตรวจสอบการระบายมลพิษอากาศจากปล่องแบบอัตโนมัติต่อเนื่อง (Continuous Emission MonitoringSystems : CEMS) และเชื่อมโยงข้อมูลไปยังกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เพื่อควบคุมเฝ้าระวังการระบายมลพิษอากาศจากปล่องแบบ Real Time ตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งแต่วันที่10 มิถุนายน 2566 โรงงานที่ขออนุญาตใหม่ต้องติดตั้ง CEMS ให้แล้วเสร็จก่อนเริ่มประกอบกิจการ โรงงานเก่าต้องติดตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 9 มิถุนายน 2567

นอกจากนี้ ยังเปิดให้ประชาชนเข้าดูค่าการระบายมลพิษจากปล่องผ่านแอปพลิเคชั่นPOMS เพื่อแสดงความจริงใจของภาคอุตสาหกรรมที่จะไม่ระบายมลพิษเกินค่ามาตรฐานที่กำหนด

นายวันชัย พนมชัย อธิบดีกรอ.กล่าวว่ากรอ. ได้ปรับปรุงประกาศกระทรวงฉบับดังกล่าวแล้วเสร็จ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา10 มิถุนายน 2565 โดยจะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 365 วันนับถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป คือวันที่ 10 มิถุนายน 2566 เป็นการขยายพื้นที่บังคับใช้ให้โรงงานติดตั้ง CEMS เพื่อรายงานมลพิษอากาศจากปล่องระบายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ จากเดิมบังคับใช้ในจังหวัดระยอง รวมทั้งปรับปรุงประเภทโรงงาน และชนิดของมลพิษที่ต้องตรวจวัด เพื่อควบคุมกำกับดูแลการระบายมลพิษอากาศในกลุ่มโรงงานขนาดใหญ่

“เชื่อมั่นว่ามาตรการเฝ้าระวังการระบายมลพิษจากปล่องโรงงานแบบ Real Time จะช่วยส่งเสริมให้เกิดประสิทธิภาพในการประกอบกิจการ และเป็นมาตรการหนึ่งในแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง”อธิบดีกรมโรงงานฯ กล่าว

จาก https://www.naewna.com วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2565

เงินเฟ้อร้ายกว่าดอกเบี้ย แบงก์ชาติเตรียมขึ้นดอกเบี้ย 3 ครั้ง

ค่าเงินบาท พุธที่ 15 มิถุนายน อ่อนค่าลงไปที่ 35.05 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 5 ปี นักลงทุนวิตกการปรับขึ้นดอกเบี้ยแรงของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่จะประกาศในคืนวันที่ 15 มิถุนายน (ผมเขียนบทความนี้ก่อนเฟดประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยราว 10 ชั่วโมง) นักวิเคราะห์คาดว่า เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยแรงร้อยละ 0.75 เพื่อกดเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 40 ปี 8.6% ในเดือนพฤษภาคม จากการประเมินสถานการณ์ผิดพลาดของธนาคารกลางสหรัฐฯ สินเชื่อบ้านก็เพิ่มขึ้นอีก 1% เป็น 6.28% ชาวอเมริกันผ่อนไม่ไหวต้องทิ้งบ้าน กลายเป็นคนไร้บ้านไปนอนในที่สาธารณะและริมถนนมากมาย จนไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นสภาพบ้านเมืองของประเทศมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลก

เฟดเริ่มขึ้นดอกเบี้ย 0.25% เดือนมีนาคม เพื่อกดเงินเฟ้อแต่ไม่สำเร็จ พฤษภาคมเฟดขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.50% ก็กดเงินเฟ้อไม่สำเร็จ เงินเฟ้อกลับพุ่งขึ้นไปสูงสุดในรอบ 40 ปี การประชุมวันที่ 14-15 มิถุนายน คาดว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยแรง 0.75% และคาดว่าการประชุมครั้งหน้า 26–27 กรกฎาคม เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75% เพื่อกดเงินเฟ้อให้ได้ การประชุมที่เหลืออีก 3 ครั้งในเดือนกันยายน/พฤศจิกายน/ ธันวาคม เฟดอาจต้องขึ้นดอกเบี้ยอีกถ้ายังกดเงินเฟ้อลงมาที่ 2% ไม่ได้

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร ให้ความเห็นว่า วันนี้เฟดกำลังเจอปัญหาหนักจากการที่ไม่ขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ขึ้นแล้วต้องเร่งขึ้น แรงเงินเฟ้อปีก่อนอยู่ที่ 2% แต่ปีนี้อยู่ที่ 8% ดังนั้น หากเฟดจะขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ถือว่ากระจอกเลย เพราะเงินเฟ้อระดับนี้ลงยาก การทำให้เงินเฟ้อลงได้ ต้องอัดยาแรงให้เกินเงินเฟ้อ หากเงินเฟ้อค้างนานที่ 8% เฟดอาจต้องขึ้นดอกเบี้ยไปถึง 9% จึงจะเอาเงินเฟ้อลงมาได้ เหมือน เงินเฟ้อสหรัฐฯในอดีตที่ขึ้นสูงสุด 13% เฟดต้องขึ้นดอกเบี้ยไปถึง 20% ถึงจะเอาอยู่

เงินเฟ้อไทยเดือนพฤษภาคม ก็พุ่งขึ้นไปถึง 7.1% สูงสุดในรอบ 3 ปี จากราคาพลังงานและอาหารที่สูงขึ้น นักเศรษฐศาสตร์ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจมีการนัดประชุมรอบพิเศษ เพื่อปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% และ ขึ้นอีก 0.25% ในการประชุมรอบปกติวันที่ 10 สิงหาคม และขึ้นอีก 0.25% ในการประชุมวันที่ 28 กันยายน รวม 3 ครั้ง 0.75% ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายขึ้นไปอยู่ที่ 1.25% ส่วนการประชุม กนง.นัดสุดท้ายในรอบปี 30 พฤศจิกายน คาดว่าจะไม่ขึ้น

วันก่อน ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ได้ออกมาส่งสัญญาณชัดเจนว่า “หมดยุคดอกเบี้ยต่ำ” แล้ว และ ปรับเงินเฟ้อไทยปีนี้ขึ้นไปที่ 6.2% พร้อมกับ แสดงความเป็นห่วงว่าหาก “เครื่องยนต์เงินเฟ้อติด” โดยเฉพาะ เงินเฟ้อพื้นฐาน (ดัชนีราคาผู้บริโภค) จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ปีก่อนอยู่ที่ 0.2% ปีนี้น่าจะเห็น 2% หากเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้น โอกาสที่เงินเฟ้อทั่วไป (จากทุกกลุ่มราคาสินค้า) จะต่ำเป็นไปได้ยาก

ดร.เศรษฐพุฒิ ชี้ว่า หากเงินเฟ้อมีความผันผวนสูง การวางแผนธุรกิจจะลำบาก การลงทุนอาจชะงัก กลุ่มคนรายได้น้อยจะถูกกระทบมากที่สุด ค่าจ้างปกติจะต่ำกว่าเงินเฟ้อ ครัวเรือนต้องบริโภคอาหารเครื่องดื่มและพลังงาน ซึ่งเป็นหมวดเงินเฟ้อสูงสุด แบงก์ชาติมีหน้าที่ทำให้เครื่องยนต์เงินเฟ้อไม่ติด ที่ผ่านมา ดอกเบี้ยไทยต่ำที่สุดในภูมิภาค แต่เงินเฟ้อติดอันดับสูงสุดในภูมิภาค หากขึ้นดอกเบี้ยช้าเกินไป มีโอกาสจะต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรงในตอนหลัง ธปท. ไม่อยากให้ออกมาแนวนั้น ส่วนจะขึ้นกี่ครั้ง แค่ไหน ไม่ได้มีเป้าในใจ

ดร.เศรษฐพุฒิ สรุปภาพให้เห็นชัดเจนว่า การขึ้นดอกเบี้ย ทำให้ต้นทุนการกู้ยืมเพิ่มขึ้น แต่หากไม่ทำอะไรเลย ครัวเรือนจะยิ่งกระทบหนัก การคำนวณค่าใช้จ่ายเงินเฟ้อกับดอกเบี้ย หากขึ้นดอกเบี้ย 1% กับเงินเฟ้อ 4–5% ค่าใช้จ่ายแตกต่างกันถึง 7 เท่า การขึ้นดอกเบี้ยดีกว่าให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นแน่นอน บทเรียนในสหรัฐฯเป็นตัวอย่างให้เห็นแล้ว.

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2565

ยื่นจดสิทธิบัตร-อนุสิทธิบัตร กว่า 50 รายการ ป้องนวัตกรรมอ้อยน้ำตาลทราย

สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย จับมือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เริ่มโครงการจดสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร กว่า 50 รายการ หวังปกป้องอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ชาวไร่อ้อยของไทย ล่าสุดยื่นแจ้งจดอนุสิทธิบัตรเครื่องฆ่าเชื้อข้อตาอ้อยด้วยความร้อนขนาดเล็กต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาเรียบร้อย

วันที่ 15 มิถุนายน 2565 นายเอกภัทร วังสุวรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า สอน.มีกระบวนการในการวิจัยและพัฒนาอ้อยมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในส่วนของ “โครงการสร้างนวัตกรรมเพื่อการผลิตอ้อยพันธุ์ดีและส่งเสริมอ้อยพันธุ์ใหม่” ซึ่งมีนวัตกรรมและองค์ความรู้เกิดขึ้นมากมาย รวมถึงพันธุ์อ้อยที่มีหลากหลายสายพันธุ์ก็เป็นผลจากการวิจัยในโครงการดังกล่าว ดังนั้นจำเป็นต้องสร้างกลไกในการจดสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร เพื่อขอรับรองชนิดพันธุ์พืชอ้อยและคุ้มครองกระบวนการพร้อมกลไกกระบวนการวิจัยและพัฒนาพันธุ์อ้อยของประเทศไทย

โดยมีเป้าหมายเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของประเทศไทย และปกป้องเกษตรกรชาวไร่อ้อยของประเทศไทย ให้สามารถพัฒนาขับเคลื่อนต่อไปได้ และยังคงสามารถแข่งขันในระดับโลกต่อไป จึงได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการดำเนินโครงการจดสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร ซึ่งสามารถนำไปสู่ขบวนการจดสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรและอื่น ๆ ได้ ดังนี้

1.จดสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร จำนวน 11 รายการ 2.ความลับทางการค้า จำนวน 8 รายการ 3.ลิขสิทธิ์ จำนวน 10 รายการ 4.จดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ (สิทธิบัตรพันธุ์พืช) จำนวน 20 รายการ 5.จดทะเบียนแบบผังภูมิของวงจรรวม 1 รายการ โดยได้ดำเนินการยื่นแจ้งจดอนุสิทธิบัตรกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาไปแล้ว 1 รายการ คือ เครื่องฆ่าเชื้อข้อตาอ้อยด้วยความร้อนขนาดเล็ก

ทั้งนี้ สอน.ยังประสบความสำเร็จในการศึกษา Whole Genome Sequence Sugarcane BA16017-01 โดยการวิเคราะห์ข้อมูลทาง DNA ของอ้อยพันธุ์ BA16017-01 ด้วยเทคนิค DNA Sequencing เพื่อบันทึกข้อมูล DNA ของอ้อยลงในฐานข้อมูล NCBI ซึ่งเป็นฐานข้อมูลที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ โดยมีขนาดของการบันทึกถึง 111 G of Bases ถือได้ว่าเป็นข้อมูลทาง DNA ที่มีขนาดใหญ่มากระดับ Meta ซึ่งน่าจะเป็นขนาดใหญ่ที่สุดขนาดหนึ่งเท่าที่ได้เคยรับการบันทึกจากประเทศไทย ถือเป็นสิ่งที่น่าภูมิใจในงานวิชาการด้าน Bio-Tech ของกระทรวงอุตสาหกรรม

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2565

"ชาดา" ภูมิใจดัน พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลผ่านวาระ 2 เชื่อชาวไร่อ้อยได้ประโยชน์

"ชาดา" ภูมิใจดัน พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลผ่านวาระ 2 สภา หลังเดินหน้าเป็นปี เชื่อชาวไร่อ้อย 3 ล้านครอบครัว ได้ประโยชน์ ย้ำ "ภูมิใจไทย" พูดแล้วทำ

นายชาดา ไทยเศรษฐ  ส.ส. อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Chada Thaised  ระบุ ว่าเมื่อวานนี้ 15 มิ.ย. มีเรื่องที่สำคัญกับชาวไร่อ้อยอย่างมาก เป็นเรื่องที่ชาวไร่อ้อย 3 ล้านครอบครัว ประมาณเกือบ 10 ล้านคน ที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้น คือ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาล ที่ผ่านสภาๆ วาระ 2 กฎหมายนี้ใช้เวลาปีกว่า คณะกรรมาธิการร่วมกันทำ ร่วมเจรจากับผู้เกี่ยวข้องทั้งโรงงาน/ชาวไร่/ราชการ

นายชาดา ยอมรับว่าส่วนตัวเครียด  และตนได้สงวนคำแปรญัตติไว้ 2 มาตรา ซึ่งได้รับความเข้าใจจากกรรมาธิการให้เป็นเสียงส่วนมาก ตนต้องขอบคุณท่านประธานกรรมาธิการ ,กรรมาธิการ และท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกท่าน แต่เราจะต้องไปผ่านวุฒิสมาชิกอีก

"ผมภูมิใจกับพ.ร.บ.ฉบับนี้พอสมควร อาจจะไม่สมบูรณ์แบบ แต่พอใจในระดับหนึ่ง ตอนนี้สมาคมโรงงาน ก็ร้องไปทั่ว มีความพยายามจะล้มพ.ร.บ. ฉบับนี้ แต่ที่ภูมิใจมาก คือ นโยบายของพรรคภูมิใจไทย ที่ประกาศไว้เพียงพรรคเดียว ที่มีนโยบายเรื่องอ้อยประสบความสำเร็จ นี่คือความจริงที่ว่า  ภูมิใจไทย พูดแล้วทำ  พูดแล้วทำ คือ ภูมิใจไทย" นายชาดา กล่าว

จาก https://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2565

เกษตรฯจับมือสถาบันอาหาร ดันไทยขึ้นแท่นผู้ส่งออกท็อปเทนโลก

เกษตรฯจับมือสถาบันอาหาร ดันเกษตรมูลค่าสูง ตั้งเป้าขึ้นแท่นประเทศผู้ส่งออกอาหารท็อปเทนของโลก ตอบโจทย์ความมั่นคงด้านอาหารและเพิ่มรายได้เกษตรกรยั่งยืน

วันที่ 16 มิถุนายน 2565 นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังร่วมประชุมหารือความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับสถาบันอาหาร ร่วมกับนางอรรชกา สีบุญเรือง ประธานกรรมการสถาบันอาหาร ว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีแนวทางขับเคลื่อนด้านเกษตรและอาหาร ที่สำคัญดังนี้

1.โครงการอาหารแห่งอนาคต (Future Food) โดยพัฒนาต่อยอดโครงการโปรตีนทางเลือกใหม่ (Alternative proteins) จากพืชและแมลง เช่น ถั่วเขียว เห็ด สาหร่าย ผำ และแมลง 2.โครงการส่งเสริม Start Up เกษตร และ SMEs เกษตรเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 3.โครงการมหานครผลไม้และการพัฒนาอุตสาหกรรมผลไม้ 4.โครงการ Eastern Thailand Food Valley และ 5.โครงการพัฒนาสินค้าประมงขององค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น

6.การพัฒนาสินค้าฮาลาลซึ่งมีตลาดกว่า 2 พันล้านคน เป็นต้น โดยการหารือความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับสถาบันอาหาร ครั้งนี้เพื่อเป็นการขยายความร่วมมือในการพัฒนาสินค้าเกษตรอาหาร สู่เกษตรมูลค่าสูง โดยเน้นการนำองค์ความรู้ และงานวิจัยในส่วนต่าง ๆ ที่มีมาใช้ในการแปรรูป การวิจัยตลาด การออกแบบผลิตภัณฑ์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์และการสร้างแบรนด์สินค้าเกษตรอาหารให้สอดรับกับความต้องการของกลุ่มลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ

นายอลงกรณ์กล่าวว่า โลกกำลังเกิดปัญหาความมั่นคงด้านอาหารจากวิกฤตโควิด-19 สงครามรัสเซีย-ยูเครนและความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ จึงเป็นโอกาสของประเทศไทยในฐานะประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรและส่งออกอาหารลำดับ 13 ของโลกจะเร่งพัฒนาภาคการผลิตผลผลิตทางการเกษตรและสร้างมูลค่าเพิ่มสู่เกษตรมูลค่าสูง หนึ่งในหมุดหมายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เพื่อสร้างรายได้ให้กับประเทศและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรอย่างยั่งยืน ตอบโจทย์อนาคตแห่งโอกาสของประเทศไทย

ดังนั้นความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรมจึงมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนสู่เป้าหมายการนำประเทศไทยในฐานะครัวโลกสู่ประเทศผู้ส่งออกอาหารท็อปเทนของโลกตามมติของคณะรัฐมนตรี

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2565

3 สมาคมโรงงานน้ำตาล ยื่นหนังสือค้าน เพิ่มนิยาม “กากอ้อย” เข้าสภา 15 มิ.ย.

57 โรงงานน้ำตาลทราย ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา ผู้ตรวจการแผ่นดิน และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง คัดค้าน หากสภาผู้แทนฯ แปรญัตติ เพิ่มคำนิยาม “กากอ้อย” เป็นผลพลอยได้ ในร่างแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ฉบับใหม่ ขัดต่อหลักการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตามเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับเดิม และข้อตกลงการแบ่งปันรายได้ที่ชาวไร่อ้อยและโรงงานตกลงกันไว้ ชี้หากมีผลบังคับใช้หวั่นทำลายระบบอุตสาหกรรมล่มสลาย

วันที่ 14 มิถุนายน 2565 นายปราโมทย์ วิทยาสุข ประธาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย หรือ TSMC เปิดเผยว่า ฝ่ายโรงงานน้ำตาลไม่ได้รับสิทธิให้เข้าร่วมในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณากฎหมายนี้เลย ทั้ง ๆ ที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมนี้โดยตรง

โรงงานน้ำตาลทั้ง 57 โรงงานทั่วประเทศได้ทำหนังสือด่วนที่สุด เพื่อยื่นต่อนายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา ผู้ตรวจการแผ่นดิน ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม/พาณิชย์/เกษตรและสหกรณ์ และประธานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายและเลขาฯคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เพื่อคัดค้านร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ฉบับใหม่ ซึ่งจะเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 15 มิ.ย. 2565 นี้

โดยหากมีการเพิ่มคำว่า “กากอ้อย” อยู่ในคำนิยามอีกครั้งหนึ่ง ทั้งที่การพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ มีมติเสียงข้างมาก ให้ตัดคำว่า “กากอ้อย” ออกจากคำนิยามแล้ว

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทั้ง 57 โรง ไม่เห็นด้วยในการเพิ่มคำนิยามดังกล่าว เพราะจะนำมาซึ่งความขัดแย้งที่รุนแรงของผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรม

เนื่องจากขัดแย้งกับ ร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายฉบับที่คณะรัฐมนตรีเสนอ ซึ่งได้ผ่านการประชาพิจารณ์ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเสนอความคิดเห็นเรียบร้อยแล้ว อีกทั้งยังขัดต่อหลักการของ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ที่เน้นหลักจริยธรรมแห่งการอยู่ร่วมกันระหว่างชาวไร่และโรงงาน สร้างความร่วมมือ ความยั่งยืนและความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย

นอกจากนี้ คำนิยาม “ผลพลอยได้” ตามกฎหมายฉบับเดิม ทำให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเติบโตมาอย่างมั่นคง จากที่เคยมีผลผลิตอ้อยจำนวน 23.91 ล้านตัน ในฤดูการผลิตปี 2525/2526 เพิ่มเป็น 134.92 ล้านตันอ้อย ในฤดูการผลิตปี 2560/2561

และยังมีอีกหลายแนวทางที่ใช้ปรับปรุงการบริหารอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเพื่อเพิ่มรายได้ และทำให้ราคาอ้อยสูงขึ้นได้ ซึ่งที่ผ่านมาชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลตกลงร่วมกันกำหนดระบบประกันราคาอ้อยในอัตราตันละ 1,200 บาท โดยเห็นพ้องกันว่าจะไม่กำหนดคำว่า “กากอ้อย” ในคำนิยาม “ผลพลอยได้”

เนื่องจากไม่ต้องการเห็นความขัดแย้งในอุตสาหกรรม ซึ่งจะส่งผลให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายที่เป็นองค์กรกำกับดูแลตามกฎหมายนี้ไม่สามารถบริหารอุตสาหกรรมนี้ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

“เรามองว่า ร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. …. (ฉบับที่ …) ของรัฐบาลที่จัดทำโดยกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่ายและคณะรัฐมนตรีก็มีมติเห็นชอบแล้ว เป็นร่างกฎหมายที่มีความเหมาะสมและสร้างความเสมอภาคให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ตามปรัชญาการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เป็นธรรม แต่กลับไม่นำมาใช้เป็นร่างหลักในการพิจารณาปรับปรุงกฎหมาย

และขอยืนยันว่า การคัดค้านครั้งนี้ไม่ได้ต้องการขัดขวางการปรับปรุงกฎหมาย แต่ต้องการกฎหมายที่นำไปปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทุกฝ่ายยอมรับ ไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง จนนำไปสู่การล่มสลายของอุตสาหกรรมเหมือนที่เกิดขึ้นในประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์และคิวบา ที่ล้วนเกิดจากการกำกับดูแลที่ผิดพลาดทั้งสิ้น” นายปราโมทย์กล่าว

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2565

บริหารจัดการน้ำ ลดผลกระทบห่วงโซ่อุปทานอาหารของไทย

นายกฯ เปิดงานสัมมนาการบริหารจัดการน้ำนานาชาติ ย้ำการบริหารจัดการน้ำสำคัญ ลดปัญหาอุทกภัย ฝากทุกภาคส่วนร่วมดูแล ขณะที่ดร.คุณหญิงกัลยา ระบุน้ำคือชีวิต บริหารจัดการน้ำได้ดีช่วยลดผลกระทบห่วงโซ่อุปทานอาหารของไทย เปิดหลักสูตรชลกร สร้างความรู้การเกษตรทันสมัย

วันนี้ (16 มิ.ย.2565) พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานงานสัมมนาการบริหารจัดการน้ำนานาชาติ ครั้งแรกในประเทศไทย “Water and Waste Management International Conference & Expo Thailand : Water for Life” ในโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชนตามแนวพระราชดำริ  ตอนหนึ่งว่าการประชุมครั้งนี้ จะเป็นการหารือแลกเปลี่ยน และร่วมมือกับต่างประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไทยต้องพัฒนาต่อไป ซึ่งไทยมีโครงการเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำจำนวนมาก ซึ่งรัฐบาลได้มีการดำเนินการสืบสานโครงการต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง

“จากการประชุมครั้งนี้ คาดว่าจะมีแนวการดำเนินการใหม่ๆ มากขึ้น อันนำไปสู่การบริหารจัดการน้ำ และการทำให้ประชาชนมีความสุข  เพราะน้ำมีความสำคัญอย่างมาก เราได้กำหนดบทบาทน้ำ ทั้งเพื่อการบริโภคอุปโภค น้ำเพื่ออุตสาหกรรม น้ำเพื่อการเกษตร และน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ”พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

การใช้ชีวิตของไทยอาจจะแตกต่างจากประเทศอื่นๆ การประชุมนานาชาติแลกเปลี่ยนกัน เกิดความร่วมมือขับเคลื่อนโครงการเกี่ยวกับน้ำให้ได้มากขึ้น  ส่วนหลักสูตรชลกร ขอให้มีการติดตามนักศึกษา เมื่อจบแล้วจะไปเรียนต่อ หรือทำงานอะไร เพื่อเป็นการเก็บข้อมูล ให้ได้เห็นผลเป็นรูปธรรมชัดเจน

บริหารจัดการน้ำ ลดปัญหาอุทกภัยทางน้ำ

นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ส่งให้มีปัญหาเรื่องน้ำจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น น้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำเป็นปัจจัยพื้นฐานของชีวิต ไม่ว่าจะคนหรือสัตว์ล้วนต้องใช้น้ำ หากทำให้การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน และลดปัญหา ความเสียหายจากอุทกภัยเกี่ยวกับน้ำ

นอกจากการบริหารจัดการน้ำแล้ว ต้องมีการให้ความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชน ซึ่งรัฐบาลได้มีการให้ความสำคัญบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ และมียุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำ ให้เกิดความยั่งยืน พอเพียงแก่คนไทย

“อยากให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำ และสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลทรัพยากรน้ำ ซึ่งแต่ละปี รัฐบาลมีแผนในการดำเนินงานตลอด แต่จะไม่เห็นผลเป็นสำเร็จหากทุกคนไม่ช่วยกัน รวมถึงในส่วนของภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจต้องมีการจัดการน้ำ ไม่ปล่อยน้ำเสียลงสู่แม่น้ำ ลำคลอง อีกทั้งจะมีการจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับน้ำ  สร้างนวัตกรรม และแหล่งบริการให้แก่ประชาชนได้รู้และเข้าใจ ใช้ประโยชน์จากน้ำโดยเป็นมิตรกับคนและสิ่งแวดล้อม” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่ารัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญการบริหารจัดการน้ำ ภายใต้แผนแม่บทการจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศปี 2561-2580  ซึ่งได้มีการดำเนินงานมาตลอด จนเป็นผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์รูปธรรมอย่างชัดเจน โดยงานสัมมนาการบริหารจัดการน้ำนานาชาติครั้งนี้ ถือเป็นบทบาทสำคัญในเวทีโลกของประเทศไทย

น้ำคือชีวิต ช่วยจัดการห่วงโซ่อุปทานอาหาร

ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าวต่อว่าได้มีโอกาสถวายงานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นเวลาหลาย 10 ปี  ทำให้ซึมซับพระราชปณิธานในการบริหารจัดการน้ำโดนชุมชนตามแนวพระราชดำริ ด้วยหลักการ 3 ประการ  คือ ประหยัด ให้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ และที่สำคัญที่สุด ต้องให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ

“เมื่อน้ำ คือชีวิต และน้ำเป็นจุดเริ่มต้นของทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้าไม่บริหารจัดการน้ำฝนนอกเขตชลประทานอย่างเป็นระบบ  จะทำให้เกิดปัญหาตามมาและเกิดผลกระทบหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะเมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 และภาวะสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ส่งผลกระทบให้ประเทศไทยประสบปัญหาห่วงโซอุปทานด้านอาหาร ผู้คนดำรงชีวิตด้วยความยากลำบากมากขึ้น ประเทศต่างๆ จึงตระหนักถึงสถานการณ์เหล่านี้ รวมถึงประเทศไทย”ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าว

“หลักสูตรชลกร” พัฒนาเกษตรสมัยใหม่จัดการน้ำ

รมช.ศธ. กล่าวต่อไปว่าไทย เป็นประเทศเกษตรกรรม และเป็นประเทศ 1 ใน 6 ของโลกที่ผลิตอาหารเลี้ยงชาวโลก ด้วยจิตสำนึกและสนองพระราชปณิธาน โดยได้มีการจัดทำหลักสูตรชลกร ซึ่งเป็นหลักสูตรที่เกิดจากความร่วมมือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตร เป็นการจัดการเรียนการสอนระดับประกาศนียบัตรขั้นสูง (ปวส) ขึ้นเป็นครั้งแรกในไทย เพื่อให้ประชาชนสามารถบริหารจัดการน้ำฝนนอกเขตชลประทาน ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้

ทั้งนี้ หลักสูตรดังกล่าว มีการปฎิรูปองค์ความรู้ตามศาสตร์พระราชามาผสมผสานกับองค์ความรู้สากล  เป็นการทำให้เห็นถึงความสำคัญในการเรียนการสอนเกษตร เพื่อช่วยประเทศอีกทางหนึ่ง ให้ผู้เรียนมีรายได้มากขึ้น

โดยการเรียนหลักสูตรชลกร จะใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมนำมาปรับใช้ร่วมกับอุปกรณ์การเรียนที่ทันสมัย ฉะนั้น ต่อจากนี้ไป การเรียนทางการเกษตร จะเป็นเกษตรสมัยใหม่ ให้นักเรียนจบออกมาเป็นเกษตรกรทันสมัย มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และเมื่อมีน้ำแล้วทุกอย่างก็จะทำให้ทุกคนพึ่งพิงตนเองได้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

“เมื่อเกษตรกรมีน้ำ มีอาหารแล้วก็จะนำมาสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ กล่าวได้ว่าการเกษตรจะนำไปสู่การก้าวข้ามวิกฤตในทุกรูปแบบได้  การจัดสัมมนาครั้งนี้ ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ จะสร้างคุณูปการสังคมไทยและสังคมโลก โดยเฉพาะเรื่องน้ำ การจัดการน้ำเสีย และทำให้ทุกตนตระหนักถึงความสำคัญของน้ำ ที่ถือเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่ายิ่ง”ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าว

12 วิทยาลัยเกษตรฯเปิดสอนหลักสูตรชลกร

ทั้งนี้ สำหรับหลักสูตรชลกร นั้น วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี เป็นแหล่งพัฒนาองค์ความรู้เกิดเป็น "หลักสูตรชลกร" ครั้งแรกในประเทศไทย โดยได้บรรจุเข้าสู่หลักสูตรระดับประกาศนียบัตรขั้นสูง (ปวส) ซึ่งได้เปิดสอนเป็นรุ่นที่ 2 แล้ว ในปีการศึกษา 2565 ใน 12 วิทยาลัยฯ ได้แก่ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีมหาสารคาม, วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีร้อยเอ็ด, วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศรีสะเกษ, วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีอุบลราชธานี

 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยียโสธร, วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครราชสีมา, วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีบุรีรัมย์, วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีขอนแก่น, วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีอุดรธานี, วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชัยภูมิ, วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสระแก้ว และวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุโขทัย โดยได้รับความสนใจจากนักเรียนสมัครเรียนเข้ามาเป็นจำนวนมากเช่นเดียวกับปีการศึกษาที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายเพื่อปั้นนักบริหารจัดการน้ำในชุมชน ช่วยเหลือเกษตรกร ให้มีน้ำกิน น้ำใช้ แก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม โครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชนฯ ได้มีการขับเคลื่อนโครงการมาจนถึงปัจจุบันก้าวสู่ปีที่ 3 ซึ่งถือเป็นปีที่จะยกระดับองค์ความรู้จากไทยสู่สากล โดยได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งภาคประชาสังคม เอกชน และสถาบันการศึกษา จัดงาน Water And Waste Management International Conference & Expo Thailand : Water for Life ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่มีการจัดงานสัมมนาเรื่องการบริหารจัดการน้ำ โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำระดับโลกกว่า 30 คนจากหลากหลายประเทศมาร่วมแลกเปลี่ยนและให้องค์ความรู้เรื่องการบริหารจัดการน้ำ โดยงานจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 16-17 มิ.ย.2565 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์  กรุงเทพมหานคร

ในงานดังกล่าวนอกจากจะมีผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการน้ำมาให้ความรู้แล้วยังมีเจ้าหน้าที่จากทางภาครัฐ ผู้กำหนดนโยบาย ผู้สร้างสรรค์นวัตกรรม นักวิชาการ และนักวิจัยอื่นๆ จากหลายประเทศเข้าร่วมงาน ซึ่งนอกจากนักเรียนและอาจารย์หลักสูตรชลกรจะได้รับองค์ความรู้ในระดับสากลแล้ว จะก่อให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการต่อยอดองค์ความรู้และความร่วมมือในด้านต่างๆ ทั้งการวางแผน การบริหารจัดการและนวัตกรรมในอุตสาหกรรมการบริหารจัดการน้ำร่วมกันต่อไป

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2565

“สุริยะ” คุมเข้มปล่อยมลพิษจากปล่องโรงงานกว่า 600แห่งสั่งติดตั้งCEMS เริ่ม10 มิถุนายน 2566

“สุริยะ” คุมเข้มโรงงานระบายมลพิษขนาดใหญ่กว่า 600 โรงงานทั่วประเทศ สั่งติดตั้งระบบ CEMS มีผลบังคับใช้ 10 มิถุนายน 2566 ยกระดับเฝ้าระวังการควบคุมมลพิษอากาศจากปล่องโรงงานแบบ Real time พร้อมดึงภาคประชาชนร่วมตรวจสอบผ่านแอปพลิเคชัน POMS

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกประกาศ เรื่อง กำหนดให้โรงงานต้องติดตั้งเครื่องมือหรือเครื่องอุปกรณ์พิเศษ เพื่อรายงานมลพิษอากาศจากปล่องโรงงาน พ.ศ. 2565 ให้โรงงานขนาดใหญ่ 13 ประเภทที่ระบายมลพิษจากปล่องกว่า 600 โรงงานทั่วประเทศ ต้องติดตั้งระบบตรวจสอบการระบายมลพิษอากาศจากปล่องแบบอัตโนมัติต่อเนื่อง (Continuous Emission Monitoring Systems : CEMS) และเชื่อมโยงข้อมูลไปยังกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เพื่อควบคุมเฝ้าระวังการระบายมลพิษอากาศจากปล่องแบบ Real time ตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไป โรงงานที่ขออนุญาตใหม่ต้องติดตั้ง CEMS ให้แล้วเสร็จก่อนเริ่มประกอบกิจการโรงงาน ส่วนโรงงานเก่าต้องติดตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 9 มิถุนายน 2567

“นอกจากเจ้าหน้าที่จะสามารถดูค่าการระบายมลพิษได้ตลอด 24 ชั่วโมงแล้ว ยังเปิดให้ประชาชนเข้าดูค่าการระบายมลพิษจากปล่องผ่านแอปพลิเคชัน POMS เพื่อเป็นการแสดงความจริงใจของภาคอุตสาหกรรมที่จะไม่ระบายมลพิษเกินค่ามาตรฐานที่กำหนด และพร้อมให้ภาคประชาชนตรวจสอบ โดยสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน POMS ได้ทั้งระบบ ไอโอเอส และแอนดรอยด์”นายสุริยะกล่าว

นายวันชัย พนมชัย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรอ. ได้ดำเนินการปรับปรุงประกาศกระทรวงฉบับดังกล่าวแล้วเสร็จ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา 10 มิถุนายน 2565แล้ว โดยจะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 365 วันนับถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป คือวันที่ 10 มิถุนายน 2566 เป็นการขยายพื้นที่บังคับใช้ให้โรงงานติดตั้ง CEMS เพื่อรายงานมลพิษอากาศจากปล่องระบายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ จากเดิมบังคับใช้ในจังหวัดระยองแห่งเดียว

รวมทั้งปรับปรุงประเภทโรงงาน และชนิดของมลพิษที่ต้องตรวจวัด เพื่อควบคุมกำกับดูแลการระบายมลพิษอากาศในกลุ่มโรงงานขนาดใหญ่ ที่มีการระบายมลพิษสูงหรือกระบวนการผลิตสุ่มเสี่ยงจะมีการระบายสารมลพิษ เช่น โรงไฟฟ้าที่มีกำลังการผลิตต่อหน่วย 10 เมกกะวัตต์(MW) ขึ้นไป หม้อน้ำที่มีขนาด 30 ตันไอน้ำต่อชั่วโมงขึ้นไป หน่วยผลิตที่มีการเผาไหม้เชื้อเพลิง 100 ล้านบีทียู (MMBTU) ต่อชั่วโมงขึ้นไป โรงเหล็ก โรงกลั่นน้ำมัน โรงปูนซีเมนต์ โรงกระดาษ โรงผลิตกรด เตาเผาขยะ โรงผลิตแก้ว เป็นต้น รวมถึงหน่วยผลิตอื่นที่ถูกกำหนดให้ติดตั้ง CEMS ตามเงื่อนไขรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA) โดยกำหนดให้ต้องมีการตรวจวัดค่าความทึบแสง ฝุ่นละออง ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ออกไซด์ของไนโตรเจน ไฮโดรเจนซัลไฟด์ คาร์บอนมอนอกไซด์ ปรอท ไฮโดรเจนคลอไรด์ หรือค่าอื่น ๆ ตามที่กฎหมายกำหนด

“โรงงานที่จะต้องติดตั้งระบบ CEMS เมื่อประกาศมีผลบังคับใช้ กว่า 50% เป็นโรงงานที่ทำ EIA และถูกกำหนดให้มีการติดตั้งระบบ CEMS อยู่แล้ว กรอ. เชื่อมั่นว่ามาตรการเฝ้าระวังการระบายมลพิษจากปล่องโรงงานแบบ Real Time จะช่วยส่งเสริมให้เกิดประสิทธิภาพในการประกอบกิจการ และเป็นมาตรการหนึ่งในแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน” อธิบดีกรมโรงงานฯ กล่าว

จาก https://mgronline.com   วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2565

เจาะลึก 6 เส้นทางความยั่งยืน "อุทยานมิตรผลด่านช้าง"

เจาะลึก 6 เส้นทางความยั่งยืนของอุทยานมิตรผลด่านช้าง พิชิตเป้าหมายสู่โมเดลโรงงานต้นแบบด้าน Carbon Neutrality แห่งแรก สร้างเมืองคาร์บอนต่ำร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและจังหวัดสุพรรณบุรี

เมื่อพูดถึงความยั่งยืน หรือการใส่ใจสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน การมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) มักถูกพูดถึงและปักธงเป็นเป้าหมายสำคัญที่หลายองค์กรในแวดวงอุตสากรรมทั่วโลกต่างเดินหน้าร่วมมือกันพิชิต เพื่อยับยั้งไม่ให้เกิดปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่เกิดจากอุณหภูมิบนพื้นผิวโลกสูงขึ้น และอาจทำให้โลกเข้าสู่จุดวิกฤติหากยังไม่เร่งแก้ไขอย่างจริงจัง

โดยประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายร่วมกับนานาประเทศในเวทีการประชุม COP26 ที่จะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2065 พร้อมนำพาประเทศไทยก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืนในอนาคต

Carbon Neutrality VS Net Zero

ความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือที่นิยมเรียกว่า Carbon Neutrality คือ การลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ ผ่านการลดการปลดปล่อยตั้งแต่ต้นทางของการดำเนินธุรกิจ เช่น การปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีความยั่งยืนและใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น เพิ่มแหล่งเก็บกักคาร์บอนด้วยการปลูกต้นไม้ หรือใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ และซื้อคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) มาชดเชยในส่วนที่ไม่สามารถลดการปล่อยได้ ในขณะที่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) เป็นเหมือนความท้าทายขั้นกว่า ที่องค์กรต้องปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ตลอดห่วงโซ่การดำเนินธุรกิจ โดยไม่สามารถนำคาร์บอนเครดิตมาชดเชยแทนได้ ซึ่งสองระยะเป้าหมายนี้ จึงกลายเป็นภารกิจสำคัญที่หลาย ๆ องค์กรในภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกต่างร่วมกันปรับตัวเพื่อสะท้อนความรับผิดชอบ และความตั้งใจในการดูแลโลกของเราให้ดีขึ้น

๐ เส้นทางความยั่งยืนของมิตรผล

เช่นเดียวกับกลุ่มมิตรผล ในฐานะผู้นำด้านการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนในแวดวงเกษตอุตสาหกรรมของประเทศไทย พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมนำพาประเทศไทยก้าวสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ด้วยการต่อยอดแนวคิด “เปลี่ยนแปลงสิ่งที่ไร้ค่าให้เป็นสิ่งที่มีคุณค่า หรือ From Waste to Value Creation” ด้วยการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนอย่างมีคุณค่าโดยไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตั้งเป้ามุ่งสู่องค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2030 และมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2050 สอดรับแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับประเทศ ผ่านแผนการดำเนินงานเพื่อสร้างความยั่งยืนอย่างครอบคลุมในทุกองค์ประกอบ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำของห่วงโซ่คุณค่าธุรกิจผ่านนวัตกรรมเทคโนโลยีและองค์ความรู้ที่สั่งสมมาโดยตลอด นอกจากนั้น ยังผลักดันให้ อุทยานมิตรผลด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี ก้าวสู่การเป็นโมเดลโรงงานต้นแบบที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2023 ภายใต้โครงการ “สุพรรณบุรี Carbon Neutrality Model” ผ่าน 6 แนวทางการดำเนินงาน

ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความยั่งยืนอย่างแท้จริง

๐ เจาะลึกเบื้องหลังเส้นทางสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของอุทยานมิตรผลด่านช้าง

1. เลือกใช้พลังงานทดแทนในกระบวนการผลิต (Green Energy)

จากการบริหารจัดการและหมุนเวียนวัสดุเหลือใช้จากอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น นำชานอ้อย และใบอ้อย มาใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าชีวมวลเพื่อวนใช้ภายในโรงงาน พร้อมยกระดับกระบวนการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดการสูญเสียพลังงาน ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 180,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

2. ผลักดันผลิตภัณฑ์ ภายใต้หลัก BCG จากผลผลิตทางการเกษตร

สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจใน 3 มิติของประเทศ ที่มุ่งเน้นในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ ( Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ผ่านการต่อยอดสู่ธุรกิจต่อเนื่องจากผลผลิตอ้อยและน้ำตาล เช่น พลังงานไฟฟ้าชีวมวล เม็ดพลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์พรีไบโอติกส์ (Prebiotics) จากอ้อยธรรมชาติที่ทั้งมีประโยชน์ต่อร่างกายและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 65,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

3. ส่งเสริมการตัดอ้อยสด ลดการเผา มุ่งสู่เกษตรสมัยใหม่อย่างยั่งยืน

ผ่านความร่วมมือกับชาวไร่ ชุมชน และภาครัฐ ในการสนับสนุนให้เกิดการซื้อ-ขายอ้อยสด เช่น การรับซื้อใบอ้อยจากเกษตรกรเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าชีวมวล การทำ MOU ร่วมกับ 7 โรงงานน้ำตาลในการรณรงค์ตัดอ้อยสด การจัดทำแนวกันไฟในพื้นที่ไร่อ้อย หรือการจัดกิจกรรมเชิญชวนตัดอ้อยสดกับชาวไร่โดยตรง ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 15,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

4. บริหารจัดการน้ำเสีย และจัดการขยะในโรงงาน

ด้วยระบบบำบัดน้ำเสียรวม (Activated Sludge) ทำให้กลุ่มมิตรผลสามารถเพิ่มพื้นที่จัดเก็บน้ำดิบ ลดความเสี่ยงจากภัยแล้ง และยังสามารถนำน้ำหลังการบำบัดมาใช้เป็นน้ำต้นทุนหมุนเวียนได้อีกด้วย พร้อมกำหนดแนวทางในการจำแนกประเภทขยะในโรงงานเพื่อนำไปรีไซเคิลอย่างเคร่งครัด ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 10,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

5. ขยายพื้นที่ปลูกป่า และดูแลต้นน้ำ

ภายใต้โครงการพลิกฟื้นผืนป่าสู่ธรรมชาติที่ยั่งยืนของกลุ่มมิตรผล จากความร่วมมือกับชาวไร่ ชุมชนรอบโรงงาน กรมป่าไม้ และมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์อย่างต่อเนื่อง ด้วยเป้าหมายการปลูกต้นไม้กว่า 700,000 ต้นในจังหวัดสุพรรณบุรี ทั้งยังริเริ่มโครงการ OASIS หรือการสร้างอ่างกักเก็บน้ำเพื่อการเกษตรขนาดใหญ่เพื่อกักเก็บน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากมาไว้สำหรับใช้ในฤดูแล้ง

6. ชดเชยคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit Offsetting)

จากใบรับรองสิทธิในการเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และคาร์บอนเครดิตที่กลุ่มมิตรผลสั่งสมจากการดำเนินงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ผ่านมา

จะเห็นได้ว่าแนวทางการดำเนินงานอย่างครอบคลุมทั้ง 6 ด้านของอุทยานมิตรผลด่านช้าง สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างน้อย 270,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า อีกทั้งยังช่วยสนับสนุนจังหวัดสุพรรณบุรีในการบรรลุเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อก้าวสู่การเป็นเมืองคาร์บอนต่ำในอนาคต ด้วยการใช้ทรัพยากรอย่างมีคุณค่า สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลผลิต ตลอดจนเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้ไปพร้อมๆ กัน

การขับเคลื่อนเพื่อผลักดันให้อุทยานมิตรผลด่านช้างมีความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2023 นับว่าเป็นก้าวที่สำคัญของกลุ่มมิตรผล บนเส้นทางที่จะมุ่งสู่เป้าหมายใหญ่ในการเป็นองค์กรที่จะมีความเป็นกลางทางคาร์บอน และมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในภายภาคหน้า ซึ่งเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ในฐานะผู้นำด้านความยั่งยืน ที่แสดงถึงบทบาทของผู้รู้จริง ทำจริง เพื่อนำพาให้ภาคเกษตรอุตสาหกรรม และประเทศไทย ก้าวสู่เมืองคาร์บอนต่ำและเติบโตสู่อนาคตที่ยั่งยืนอย่างแท้จริงไปด้วยกัน

จาก https://mgronline.com   วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2565

‘บาฟส์-มิตรผล’ร่วมดันไทย ศูนย์ผลิตน้ำมันชีวภาพอากาศยาน

เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2565 บมจ.บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ หรือ บาฟส์ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการศึกษา Bio Jet Fuel กับ บริษัท มิตรผล ไบโอฟูเอล จำกัด ที่ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว

หม่อมหลวงณัฐสิทธิ์ ดิศกุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ หรือ บาฟส์ เปิดเผยว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมการบินมีสัญญาณเริ่มฟื้นตัว ซึ่งในอนาคตการเติบโตส่วนใหญ่ของอุตสาหกรรมการบินโลก จะมาจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นหลัก แต่อุตสาหกรรมการบินยังต้องเผชิญกับความท้าทายสำคัญ คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่กำลังทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง แนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สามารถเริ่มได้เลย คือ การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ ที่สามารถผสมเข้ากับน้ำมันอากาศยาน และสามารถผลิตได้จากวัตถุดิบเดียวกันกับที่ใช้ผลิตเอทานอล และไบโอดีเซล และยังเป็นมาตรการหลักที่ทั้งองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) และสมาคมการบินระหว่างประเทศ (International Air Transport Association: IATA) ให้การสนับสนุน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ในปี ค.ศ. 2050

“ผมเชื่อมั่นว่า ด้วยความเป็นผู้นำในการผลิตเอทานอลรายใหญ่ในเอเชียของกลุ่มมิตรผล และศักยภาพของวัตถุดิบเชื้อเพลิงชีวภาพในภาคการเกษตรของไทย ความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการมุ่งสู่เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงานและอุตสาหกรรมการบิน เพื่อขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็น ศูนย์กลางการผลิตน้ำมันอากาศยานแบบยั่งยืน ของภูมิภาคต่อไป” หม่อมหลวงณัฐสิทธิ์กล่าว

ทั้งนี้กลุ่มมิตรผลได้พัฒนาธุรกิจเอทานอล ในชื่อ บริษัท มิตรผล ไบโอฟูเอล จำกัด เพื่อผลิตแปรรูป และพัฒนาวัตถุดิบจากอ้อยให้เป็นน้ำมันเอทานอลที่มีคุณภาพ โดยนำเอาโมลาส หรือกากน้ำตาลที่เหลือจากกระบวนการผลิตน้ำตาลของกลุ่มมิตรผลและน้ำอ้อยมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเอทานอลบริสุทธิ์ที่ความบริสุทธิ์ 99.5% ตั้งแต่ปีค.ศ. 2005 จนถึงปัจจุบัน กลุ่มมิตรผลมีโรงงานผลิตเอทานอลทั้งหมด 5 แห่งมีกำลังผลิตรวมประมาณ 1.5 ล้านลิตรต่อวัน หรือ 500 ล้านลิตรต่อปี ถือเป็นผู้ผลิตรายใหญ่อันดับ 1 ในอาเซียน

นายวีระเจตน์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจน้ำตาลประเทศไทย พลังงาน และธุรกิจใหม่ กลุ่มมิตรผล กล่าวถึงที่มาของความร่วมมือในครั้งนี้ว่า ธุรกิจเอทานอลในกลุ่มมิตรผล พร้อมที่จะยกระดับการพัฒนาการผลิตเอทานอลจากอ้อยเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ สู่อุตสาหกรรมการบินขนาดใหญ่

“เพื่อบรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของประเทศไทยทั้งสองบริษัทจะร่วมกันทำการศึกษาความเป็นไปได้ ในด้านของเทคโนโลยี การผลิต การตลาด กฎระเบียบและมาตรฐาน ที่เกี่ยวข้องกับ Bio Jet เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของการผลิตและใช้เชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ” นายวีระเจตน์ กล่าว

จาก https://www.naewna.com วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2565

ไทยคาดการณ์อ้อยปี’65/66แตะ106ล้านตันจับตาต้นทุนผลิตพุ่ง

คณะกรรมการอ้อย(กอ.)คาดการณ์ผลผลิตอ้อยเบื้องต้นปี 2565/66 อยู่ที่ระดับ 106 ล้านตันสูงกว่าปีที่ผ่านมา 14 ล้านตันจากปริมาณฝนที่มาเร็วและต่อเนื่อง แต่ยังคงต้องเฝ้าติดตามใกล้ชิด ชาวไร่อ้อยรับยังคงกังวลต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นมากทั้งปุ๋ย ยาฆ่าแมลง น้ำมัน ฯลฯ ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตแตะ 1,500 บ.ต่อตันสูงกว่าปีที่ผ่านมาถึง 300 บาทต่อตัน

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า คณะกรรมการอ้อย(กอ.)ที่มีอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานได้เห็นชอบการจัดสรรปริมาณอ้อยขั้นต้นประจำฤดูการผลิตปี 2565/66 (บัญชีจัดสรรขั้นต้น) ให้กับโรงงานน้ำตาล 57 แห่ง ทั่วประเทศไทยโดยคาดการณ์ปริมาณอ้อยปี 65/66 (ปีการผลิตหน้า)อยู่ที่ประมาณ 106 ล้านตันเมื่อเทียบกับปริมาณอ้อยปี 2564/65 ซึ่งมีผลผลิตอยู่ที่ 92.07 ล้านตันจะสูงกว่าประมาณ 14 ล้านตัน ทั้งนี้เนื่องจากพบว่าปริมาณฝนมาเร็วและยังคงตกต่อเนื่องทำให้อ้อยตอมีการเติบโตได้ดี

“ ตัวเลขที่คาดการณ์ถือว่าผลผลิตอ้อยจะกลับมาสู่ระดับสูงสุดในรอบ 4 ปีนับตั้งแต่ฤดูการผลิตปี 2562/63 ซึ่งข้อมูลดังกล่าวเป็นการรวบรวมจากทั้งชาวไร่อ้อย โรงงานและ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) เบื้องต้นโดยยังคงต้องติดตามภาวะฝนว่าจะตกสม่ำเสมอหลังจากนี้หรือไม่ เพราะบางฤดูกาลฝนมาดีในช่วงแรกและอาจไปเจอภาวะแล้งได้เช่นกัน “นายนราธิปกล่าว

อย่างไรก็ตามยอมรับว่าสิ่งที่กังวลขณะนี้คือต้นทุนการผลิตอ้อยของชาวไร่ยังคงมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั้งราคาปุ๋ย ยาปราศัตรูพืช น้ำมันดีเซล ฯลฯ ส่งผลให้คาดการณ์เบื้องต้นว่าต้นทุนการผลิตอ้อยปี 2565/66 จะสูงถึง 1,500 บาทต่อตันจากฤดูผลิตปี 64/65 อยู่ที่ระดับ 1,100 บาทต่อตัน โดยขณะนี้ราคาปุ๋ยสูงขึ้นถึง 3 เท่าตัวแต่รัฐยังคงไม่มีมาตรการที่ชัดเจนในการที่จะทำให้ระดับราคาปุ๋ยลงมาได้มากนัก

ขณะที่ระดับราคาอ้อยขั้นต้นฤดูหีบปี 2565/66 ที่เบื้องต้นโรงงานน้ำตาลแม้จะมีการประกันราคารับซื้ออ้อยไม่ต่ำกว่า 1,200บาทต่อตันต่อเนื่องจากปีก่อนหน้านี้แต่ก็ไม่ชัดเจนว่าเมื่อราคาอ้อยขั้นสุดท้ายคำนวณออกมาต่ำกว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ อย่างไรก็ตามหากพิจารณาจากราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกที่จะมีส่วนสำคัญในการคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2565/66 นั้นเฉลี่ยยังอยู่ระดับ 18-19 เซนต์ต่อปอนด์ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ใกล้เคียงกับฤดูที่ผ่านมา มีเพียงปัจจัยบวกในส่วนของค่าเงินบาทที่อ่อนค่าที่จะทำให้การส่งออกน้ำตาลทรายเมื่อคิดกลับมาเป็นมูลค่าเงินบาทจะสูงขึ้นแต่บาทที่อ่อนค่าก็ส่งผลต่อต้นทุนอื่นๆ เช่น น้ำมันที่แพงขึ้นเช่นกัน

“ ราคาอ้อยขั้นต้นปี64/65 คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.)เห็นชอบ ที่ระดับ 1,070 บาทต่อตัน (ค่าความหวาน 10 ซี.ซี.เอส.) หากพิจารณา ณ ปัจจุบันราคาอ้อยขั้นต้นปี 2565/66 น่าจะใกล้เคียงหรือมากกว่าเล็กน้อยซึ่งยังต้องดูปัจจัยต่างๆ ใกล้ชิดเนื่องจากปัจจัยตางๆมีความผันผวนสูงจากการเกิดวิกฤติการสู้รบรัสเซีย-ยูเครน อย่างไรก็ตามขณะนี้ชาวไร่อ้อยรอคณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบที่จะช่วยเหลือเงินตัดอ้อยสด 120 บาทต่อตัน ตามโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสด เพื่อลดฝุ่น pm2.5 ปีการผลิต 2564/65 หลังจากกอน.ได้เห็นชอบและจัดทำตัวเลขเสนอเรื่องไปแล้ว โดยมีจำนวนอ้อยสด 65.95 ล้านตัน”นายนราธิปกล่าว

จาก https://mgronline.com  วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2565

สอน. -ม.เกษตรพัฒนาโครงการจดสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรป้องอุตฯอ้อยน้ำตาลไทย

สอน.จับมือมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เร่งเครื่องจดสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทย ล่าสุดยื่นแจ้งจดอนุสิทธิบัตรกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว 1 รายการ คือ เครื่องฆ่าเชื้อข้อตาอ้อยด้วยความร้อนขนาดเล็ก

นายเอกภัทร วังสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) มีกระบวนการในการวิจัยและพัฒนาอ้อยมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในส่วนของ “โครงการสร้างนวัตกรรมเพื่อการผลิตอ้อยพันธุ์ดีและส่งเสริมอ้อยพันธุ์ใหม่” ซึ่งมีนวัตกรรมและองค์ความรู้เกิดขึ้นมากมาย รวมถึงพันธุ์อ้อยที่มีหลากหลายสายพันธุ์ก็เป็นผลจากการวิจัย ในโครงการดังกล่าว สอน. ได้เล็งเห็นว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างกลไกในการจดสิทธิบัตร หรืออนุสิทธิบัตร เพื่อขอรับรองชนิดพันธุ์พืชอ้อยและคุ้มครองกระบวนการพร้อมกลไกกระบวนการวิจัยและพัฒนาพันธุ์อ้อยของประเทศไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของประเทศไทย และปกป้องเกษตรกรชาวไร่อ้อยของประเทศไทย ให้สามารถพัฒนาขับเคลื่อนต่อไปได้ และยังคงสามารถแข่งขันในระดับโลกได้ต่อไป จึงได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในการดำเนินโครงการจดสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทย

สำหรับผลการวิจัยตามโครงการดังกล่าว สามารถนำไปสู่ขบวนการจดสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร และอื่นๆ ได้ ดังนี้ 1. จดสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร จำนวน 11 รายการ 2. ความลับทางการค้า จำนวน 8 รายการ 3. ลิขสิทธิ์ จำนวน 10 รายการ 4. จดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ (สิทธิบัตรพันธุ์พืช) จำนวน 20 รายการ 5. จดทะเบียนแบบผังภูมิของวงจรรวม 1 รายการ โดยได้ดำเนินการยื่นแจ้งจดอนุสิทธิบัตรกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาไปแล้ว 1 รายการ คือ เครื่องฆ่าเชื้อข้อตาอ้อยด้วยความร้อนขนาดเล็ก

นายเอกภัทรฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า สอน. ยังประสบความสำเร็จในการศึกษา Whole Genome Sequence Sugarcane BA16017-01 โดยการวิเคราะห์ข้อมูลทาง DNA ของอ้อยพันธุ์ BA16017-01 ด้วยเทคนิค DNA Sequencing เพื่อบันทึกข้อมูล DNA ของอ้อยลงในฐานข้อมูล NCBI ซึ่งเป็นฐานข้อมูลที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ โดยมีขนาดของการบันทึกถึง 111 G of Bases ถือได้ว่าเป็นข้อมูลทาง DNA ที่มีขนาดใหญ่มากระดับ Meta ซึ่งน่าจะเป็นขนาดใหญ่ที่สุดขนาดหนึ่งเท่าที่ได้เคยรับการบันทึกจากประเทศไทย ถือเป็นสิ่งที่น่าภูมิใจในงานวิชาการด้าน Bio -Tech กระทรวงอุตสาหกรรม

จาก https://mgronline.com  วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2565

เจาะลึก 6 เส้นทางความยั่งยืน "อุทยานมิตรผลด่านช้าง"

เจาะลึก 6 เส้นทางความยั่งยืนของอุทยานมิตรผลด่านช้าง พิชิตเป้าหมายสู่โมเดลโรงงานต้นแบบด้าน Carbon Neutrality แห่งแรก สร้างเมืองคาร์บอนต่ำร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและจังหวัดสุพรรณบุรี

เมื่อพูดถึงความยั่งยืน หรือการใส่ใจสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน การมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) มักถูกพูดถึงและปักธงเป็นเป้าหมายสำคัญที่หลายองค์กรในแวดวงอุตสากรรมทั่วโลกต่างเดินหน้าร่วมมือกันพิชิต เพื่อยับยั้งไม่ให้เกิดปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่เกิดจากอุณหภูมิบนพื้นผิวโลกสูงขึ้น และอาจทำให้โลกเข้าสู่จุดวิกฤติหากยังไม่เร่งแก้ไขอย่างจริงจัง

โดยประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายร่วมกับนานาประเทศในเวทีการประชุม COP26 ที่จะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2065 พร้อมนำพาประเทศไทยก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืนในอนาคต

Carbon Neutrality VS Net Zero

ความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือที่นิยมเรียกว่า Carbon Neutrality คือ การลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ ผ่านการลดการปลดปล่อยตั้งแต่ต้นทางของการดำเนินธุรกิจ เช่น การปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีความยั่งยืนและใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น เพิ่มแหล่งเก็บกักคาร์บอนด้วยการปลูกต้นไม้ หรือใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ และซื้อคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) มาชดเชยในส่วนที่ไม่สามารถลดการปล่อยได้ ในขณะที่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) เป็นเหมือนความท้าทายขั้นกว่า ที่องค์กรต้องปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ตลอดห่วงโซ่การดำเนินธุรกิจ โดยไม่สามารถนำคาร์บอนเครดิตมาชดเชยแทนได้ ซึ่งสองระยะเป้าหมายนี้ จึงกลายเป็นภารกิจสำคัญที่หลาย ๆ องค์กรในภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกต่างร่วมกันปรับตัวเพื่อสะท้อนความรับผิดชอบ และความตั้งใจในการดูแลโลกของเราให้ดีขึ้น

๐ เส้นทางความยั่งยืนของมิตรผล

เช่นเดียวกับกลุ่มมิตรผล ในฐานะผู้นำด้านการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนในแวดวงเกษตอุตสาหกรรมของประเทศไทย พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมนำพาประเทศไทยก้าวสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ด้วยการต่อยอดแนวคิด “เปลี่ยนแปลงสิ่งที่ไร้ค่าให้เป็นสิ่งที่มีคุณค่า หรือ From Waste to Value Creation” ด้วยการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนอย่างมีคุณค่าโดยไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตั้งเป้ามุ่งสู่องค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2030 และมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2050 สอดรับแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับประเทศ ผ่านแผนการดำเนินงานเพื่อสร้างความยั่งยืนอย่างครอบคลุมในทุกองค์ประกอบ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำของห่วงโซ่คุณค่าธุรกิจผ่านนวัตกรรมเทคโนโลยีและองค์ความรู้ที่สั่งสมมาโดยตลอด นอกจากนั้น ยังผลักดันให้ อุทยานมิตรผลด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี ก้าวสู่การเป็นโมเดลโรงงานต้นแบบที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2023 ภายใต้โครงการ “สุพรรณบุรี Carbon Neutrality Model” ผ่าน 6 แนวทางการดำเนินงาน

ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความยั่งยืนอย่างแท้จริง

1. เลือกใช้พลังงานทดแทนในกระบวนการผลิต (Green Energy)

จากการบริหารจัดการและหมุนเวียนวัสดุเหลือใช้จากอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น นำชานอ้อย และใบอ้อย มาใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าชีวมวลเพื่อวนใช้ภายในโรงงาน พร้อมยกระดับกระบวนการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดการสูญเสียพลังงาน ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 180,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

2. ผลักดันผลิตภัณฑ์ ภายใต้หลัก BCG จากผลผลิตทางการเกษตร

สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจใน 3 มิติของประเทศ ที่มุ่งเน้นในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ ( Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ผ่านการต่อยอดสู่ธุรกิจต่อเนื่องจากผลผลิตอ้อยและน้ำตาล เช่น พลังงานไฟฟ้าชีวมวล เม็ดพลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์พรีไบโอติกส์ (Prebiotics) จากอ้อยธรรมชาติที่ทั้งมีประโยชน์ต่อร่างกายและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 65,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

3. ส่งเสริมการตัดอ้อยสด ลดการเผา มุ่งสู่เกษตรสมัยใหม่อย่างยั่งยืน

ผ่านความร่วมมือกับชาวไร่ ชุมชน และภาครัฐ ในการสนับสนุนให้เกิดการซื้อ-ขายอ้อยสด เช่น การรับซื้อใบอ้อยจากเกษตรกรเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าชีวมวล การทำ MOU ร่วมกับ 7 โรงงานน้ำตาลในการรณรงค์ตัดอ้อยสด การจัดทำแนวกันไฟในพื้นที่ไร่อ้อย หรือการจัดกิจกรรมเชิญชวนตัดอ้อยสดกับชาวไร่โดยตรง ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 15,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

4. บริหารจัดการน้ำเสีย และจัดการขยะในโรงงาน

ด้วยระบบบำบัดน้ำเสียรวม (Activated Sludge) ทำให้กลุ่มมิตรผลสามารถเพิ่มพื้นที่จัดเก็บน้ำดิบ ลดความเสี่ยงจากภัยแล้ง และยังสามารถนำน้ำหลังการบำบัดมาใช้เป็นน้ำต้นทุนหมุนเวียนได้อีกด้วย พร้อมกำหนดแนวทางในการจำแนกประเภทขยะในโรงงานเพื่อนำไปรีไซเคิลอย่างเคร่งครัด ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 10,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

5. ขยายพื้นที่ปลูกป่า และดูแลต้นน้ำ

ภายใต้โครงการพลิกฟื้นผืนป่าสู่ธรรมชาติที่ยั่งยืนของกลุ่มมิตรผล จากความร่วมมือกับชาวไร่ ชุมชนรอบโรงงาน กรมป่าไม้ และมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์อย่างต่อเนื่อง ด้วยเป้าหมายการปลูกต้นไม้กว่า 700,000 ต้นในจังหวัดสุพรรณบุรี ทั้งยังริเริ่มโครงการ OASIS หรือการสร้างอ่างกักเก็บน้ำเพื่อการเกษตรขนาดใหญ่เพื่อกักเก็บน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากมาไว้สำหรับใช้ในฤดูแล้ง

6. ชดเชยคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit Offsetting)

จากใบรับรองสิทธิในการเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และคาร์บอนเครดิตที่กลุ่มมิตรผลสั่งสมจากการดำเนินงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ผ่านมา

จะเห็นได้ว่าแนวทางการดำเนินงานอย่างครอบคลุมทั้ง 6 ด้านของอุทยานมิตรผลด่านช้าง สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างน้อย 270,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า อีกทั้งยังช่วยสนับสนุนจังหวัดสุพรรณบุรีในการบรรลุเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อก้าวสู่การเป็นเมืองคาร์บอนต่ำในอนาคต ด้วยการใช้ทรัพยากรอย่างมีคุณค่า สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลผลิต ตลอดจนเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้ไปพร้อมๆ กัน

การขับเคลื่อนเพื่อผลักดันให้อุทยานมิตรผลด่านช้างมีความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2023 นับว่าเป็นก้าวที่สำคัญของกลุ่มมิตรผล บนเส้นทางที่จะมุ่งสู่เป้าหมายใหญ่ในการเป็นองค์กรที่จะมีความเป็นกลางทางคาร์บอน และมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในภายภาคหน้า ซึ่งเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ในฐานะผู้นำด้านความยั่งยืน ที่แสดงถึงบทบาทของผู้รู้จริง ทำจริง เพื่อนำพาให้ภาคเกษตรอุตสาหกรรม และประเทศไทย ก้าวสู่เมืองคาร์บอนต่ำและเติบโตสู่อนาคตที่ยั่งยืนอย่างแท้จริงไปด้วยกัน

จาก https://mgronline.com   วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2565

บาทอ่อนสุดรอบเกือบ 6 ปี ธปท.ลั่นพร้อมดูแลหากผันผวนผิดปกติ - หอการค้าชี้กดดันเงินเฟ้อพุ่ง

บาทอ่อนสุดรอบเกือบ 6 ปี – น.ส.ดารณี แซ่จู ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงเงินบาทที่อ่อนค่าแตะ 35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2565 ว่า ค่าเงินบาทที่เคลื่อนไหวผันผวนและอ่อนค่าแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 6 ปี เป็นผลจากการคาดการณ์ของตลาดว่าการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐในคืนนี้ จะเร่งดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นกว่าเดิม และความกังวลต่อโอกาสที่เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลง

ทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าทำสถิติสูงสุดในรอบเกือบ 20 ปี ขณะที่สกุลเงินภูมิภาครวมทั้งเงินบาทอ่อนค่าลงต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ต้นปีเงินบาทปรับอ่อนค่าลง 4.5% ส่วนเงินสกุลอื่นในภูมิภาคอ่อนค่าระหว่าง 3% ถึง 7% สำหรับการลงทุนของต่างชาติยังมีฐานะเป็นซื้อสุทธิในสินทรัพย์ไทยประมาณ 1.5 แสนล้านบาท นับตั้งแต่ต้นปี โดยแบ่งเป็นหุ้น 1.3 แสนล้านบาท และพันธบัตร 2 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ ธปท. ได้ติดตามการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด และพร้อมเข้าดูแลเมื่อความผันผวนมากผิดปกติ

ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ เปิดเผยถึงค่าเงินบาที่อ่อนค่าทะลุ 35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ว่า ในระยะสั้นจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบและน้ำมันเชื้อเพลิง อาจจะกดดันเร่งให้เงินเฟ้อปรับสูงขึ้นอีก ขณะที่ผู้ประกอบการอาจมีปัญหาขาดสภาพคล่องจากต้นทุนนำเข้าที่เพิ่มขึ้น อาจจส่งผลกระทบทำให้เศรษฐกิจไทยซึมมากขึ้น

แต่ในระยะยาวมองว่าเงินบาที่อ่อนค่าจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจไทยมากกว่า เพราะการส่งออกจะดีขึ้น จะมีเงินดอลลาร์ไหลเข้าไทยมากขึ้น

“ต้องจับตาการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด หากเฟดขึ้นดอกเบี้ยแรง อาจจะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลงอีก ไหลไปอยู่ที่ 35.50-36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐหากธปท. ไม่ปรับขึ้นดอกเบี้นนโยบาย แต่ถ้าธปท. ขึ้นดอกเบี้ยเงินบาทจะแข็งค่าขึ้น มาอยู่ในระดับที่สมดุลกับเศรษฐกิจไทย”

จาก https://www.khaosod.co.th  วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2565

ค่าเงินบาท "อ่อนค่า"เข้าใกล้แนว 35.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ

ค่าเงินบาท ในช่วงเช้าวันนี้ "อ่อนค่า"ไปที่ระดับ 34.985 บาทต่อดอลลาร์ฯ (9.35 น.) ซึ่งเป็นระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 5 ปี 3 เดือนตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมี.ค. 2560

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทอ่อนค่าเข้าใกล้แนว 35.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ เงินบาทอ่อนค่าไปที่ระดับ 34.985 บาทต่อดอลลาร์ฯ (9.35 น.) ซึ่งเป็นระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 5 ปี 3 เดือน (นับตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมี.ค. 2560 เป็นต้นมา)

โดยยังคงเป็นทิศทางอ่อนค่าที่ต่อเนื่องจากระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 34.83 บาทต่อดอลลาร์ฯ การอ่อนค่าของเงินบาทยังคงเป็นไปตามกระแสแรงเทขายสินทรัพย์เสี่ยงและสกุลเงินเอเชีย

ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ปรับแข็งค่าขึ้นตามทิศทางบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ท่ามกลางการคาดการณ์ว่า เฟดอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 75 basis points ในการประชุมสัปดาห์นี้ หลังตัวเลขเงินเฟ้อ (CPI) สหรัฐฯ ล่าสุดเดือนพ.ค. ทะยานขึ้นทำจุดสูงสุดในรอบกว่า 40 ปี ครั้งใหม่

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 34.85-35.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ (หากผ่านแนว 35.00 ได้ ก็อาจทดสอบระดับถัดไปที่ 35.10 บาทต่อดอลลาร์ฯ) โดยปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ ทิศทางบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนพ.ค. ของสหรัฐฯ และข้อมูลการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนเม.ย. ของญี่ปุ่นและอียู

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 14 มิถุนายน 2565

3 สมาคมโรงงานน้ำตาลร่อนหนังสือทุกที่ ค้านเพิ่มกากอ้อยเป็นผลพลอยได้

3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา ผู้ตรวจการแผ่นดิน และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง คัดค้าน หากสภาผู้แทนฯ แปรญัตติ เพิ่มคำนิยาม ‘กากอ้อย’ เป็นผลพลอยได้ในร่างแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ฉบับใหม่ หากมีผลบังคับใช้หวั่นทำลายระบบอุตสาหกรรมล่มสลาย

นายปราโมทย์ วิทยาสุข ประธาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย หรือ TSMC เปิดเผยว่า โรงงานน้ำตาลทั้ง 57 โรงงานทั่วประเทศได้ทำหนังสือด่วนที่สุด เพื่อยื่นต่อ นายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา ผู้ตรวจการแผ่นดิน ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม/พาณิชย์/เกษตรและสหกรณ์ และประธานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายและเลขาคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เพื่อคัดค้านร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ฉบับใหม่ ที่จะเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันพุธที่ 15 มิย. นี้ที่จะมีการเพิ่มคำว่า ‘กากอ้อย’ อยู่ในคำนิยามอีกครั้งหนึ่ง ทั้งที่ การพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ มีมติเสียงข้างมาก ให้ตัดคำว่า ‘กากอ้อย’ ออกจากคำนิยามแล้ว

“ โรงงานไม่เห็นด้วยในการเพิ่มคำนิยามดังกล่าว เพราะจะนำมาซึ่งความขัดแย้งที่รุนแรงของผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรม เนื่องจากขัดแย้งกับร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายฉบับที่คณะรัฐมนตรีเสนอ ซึ่งได้ผ่านการประชาพิจารณ์ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเสนอความคิดเห็นเรียบร้อยแล้ว อีกทั้งยังขัดต่อหลักการของ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ที่เน้นหลักจริยธรรมแห่งการอยู่ร่วมกันระหว่างชาวไร่กับโรงงาน สร้างความร่วมมือ ความยั่งยืนและความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย” นายปราโมทย์กล่าว

นอกจากนี้ คำนิยาม ‘ผลพลอยได้’ ตามกฎหมายฉบับเดิม ทำให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเติบโตมาอย่างมั่นคง จากที่เคยมีผลผลิตอ้อยจำนวน 23.91 ล้านตันในฤดูการผลิตปี 2525/2526 เพิ่มเป็น 134.92 ล้านตันอ้อย ในฤดูการผลิตปี 2560/2561 และยังมีอีกหลายแนวทางที่ใช้ปรับปรุงการบริหารอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเพื่อเพิ่มรายได้ และทำให้ราคาอ้อยสูงขึ้นได้ ซึ่งที่ผ่านมา ชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลตกลงร่วมกันกำหนดระบบประกันราคาอ้อยในอัตราตันละ 1,200 บาท โดยเห็นพ้องกันว่าจะไม่กำหนดคำว่า ‘กากอ้อย’ ในคำนิยาม “ผลพลอยได้” เนื่องจากไม่ต้องการเห็นความขัดแย้งในอุตสาหกรรม ซึ่งจะส่งผลให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายที่เป็นองค์กรกำกับดูแลตามกฎหมายนี้ไม่สามารถบริหารอุตสาหกรรมนี้ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

“เรามองว่าร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. (ฉบับที่ ....) ของรัฐบาลที่จัดทำโดยกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งที่ได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่ายและคณะรัฐมนตรีก็มีมติเห็นชอบแล้ว เป็นร่างกฎหมายที่มีความเหมาะสมและสร้างความเสมอภาคให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ตามปรัชญาการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เป็นธรรม แต่กลับไม่นำมาใช้เป็นร่างหลักในการพิจารณาปรับปรุงกฎหมาย และขอยืนยันว่าการคัดค้านครั้งนี้ไม่ได้ต้องการขัดขวางการปรับปรุงกฎหมาย แต่ต้องการกฎหมายที่นำไปปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพทุกฝ่ายยอมรับ ไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง จนนำไปสู่การล่มสลายของอุตสาหกรรมเหมือนที่เกิดขึ้นในประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์และคิวบา ที่ล้วนเกิดจากการกำกับดูแลที่ผิดพลาดทั้งสิ้น” นายปราโมทย์กล่าว

จาก https://mgronline.com  วันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2565

ก.อุตฯ ติวเข้มเจ้าหน้าที่ ผู้ประกอบการ รับ “BCG Model”

กระทรวงอุตสาหกรรมเปิดสัมมนาเชิงปฏิบัติการชี้แจงแนวทางการพัฒนาผู้ประกอบการตามกรอบแนวคิด BCG ให้แก่กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อขับเคลื่อนใน 4 เป้าหมาย คือสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางสังคม ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และตอบโจทย์สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs ภายใต้คอนเซ็ปต์ภาคอุตสาหกรรมนำไปใช้ประโยชน์ในองค์กรและเกิดประโยชน์สูงสุด!

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เพื่อชี้แจงแนวทางการพัฒนาผู้ประกอบการตามกรอบแนวคิด BCG ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดเป้าหมายการขับเคลื่อนนโยบาย BCG Model ไว้ใน 4 ด้านหลัก คือ สร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ สร้างความมั่นคงทางสังคม สร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และตอบโจทย์สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs โดยเป้าหมายและกลไกการขับเคลื่อน BCG Model ของกระทรวงอุตสาหกรรมตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals - SDGs) 14 เป้าหมาย ใน 17 เป้าหมาย ที่ครอบคลุมมิติการพัฒนาคน เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยการขับเคลื่อน BCG Model ของกระทรวงฯ มุ่งเน้น 3 ด้าน ประกอบด้วย

1) ด้านเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy : BE) กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ เกษตร อาหาร ยาและการแพทย์ พลังงานชีวภาพ เคมีชีวภาพ และพลาสติกชีวภาพ ในปี 2565 กำหนดเป้าหมายการขับเคลื่อนอัตราการเติบโตอุตสาหกรรมชีวภาพเพิ่มขึ้น 3% และมูลค่าการลงทุนอุตสาหกรรมชีวภาพเพิ่มขึ้น 30,000 ล้านบาท และในปี 2570 มีอัตราการเติบโตอุตสาหกรรมชีวภาพเพิ่มขึ้น 10% และมูลค่าการลงทุนอุตสาหกรรมชีวภาพเพิ่มขึ้นสะสม 190,000 ล้านบาท

2) ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy : CE) กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ พลาสติก ยางรถยนต์ วัสดุก่อสร้าง เหล็กและโลหะอื่นๆ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เซลล์แสงอาทิตย์ และแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า และในปี 2565 กำหนดเป้าหมายขับเคลื่อน เกิดอุตสาหกรรมแบบพึ่งพา (Industrial Symbiosis) ใน 5 พื้นที่อุตสาหกรรม (นิคมอุตสาหกรรมหนองแค นิคมอุตสาหกรรมอาร์ไอแอล ท่าเรือมาบตาพุด นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และนิคมอุตสาหกรรมเอเชีย) และนำข้อมูลกากอุตสาหกรรมเข้าสู่ระบบให้ครบ 100% โดยในขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำระบบ E-Fully Manifest สำหรับกากอุตสาหกรรมที่ไม่อันตราย โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในปีงบประมาณ 2565 ในปี 2570 เกิดอุตสาหกรรมแบบพึ่งพา (Industrial Symbiosis) เพิ่มเป็น 15 พื้นที่อุตสาหกรรม และมีการนำกากอุตสาหกรรมไปใช้ประโยชน์ 90%

3) ด้านเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy : GE) กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายในทุกสาขาอุตสาหกรรม ในปี 2565 กำหนดเป้าหมายขับเคลื่อนโรงงานเข้าสู่อุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry : GI) 60% และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 1.22 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และในปี 2570 โรงงานเข้าสู่อุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) 100%

และมากกว่า 50% ได้รับเครื่องหมายอุตสาหกรรมสีเขียว (GI) ระดับ 3 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2.30 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

สำหรับกิจกรรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อชี้แจงแนวทางการพัฒนาผู้ประกอบการตามกรอบแนวคิด BCG ให้แก่สถานประกอบการ หน่วยงานส่วนราชการและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และเป็นแนวทางในการนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาและต่อยอดให้แก่สถานประกอบการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ และเติบโตอย่างยั่งยืน จัดขึ้นเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 ผ่านระบบ Web Conference (Zoom Meeting) มีผู้เข้าร่วมสัมมนา ประกอบด้วย ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี บุคลากรจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องในระดับจังหวัดและภูมิภาค รวมทั้งสิ้นกว่า 300 คน

จาก https://mgronline.com  วันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2565

‘สุริยะ’ชี้อุตฯไทยได้อานิสงส์ ค่าเงินบาทอ่อนค่าระดับ34.46บ.

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.)ได้ศึกษาผลกระทบค่าเงินบาทอ่อนต่อการผลิตภาคอุตสาหกรรมไทย โดยพบว่าสถานการณ์ค่าเงินบาทอ่อนค่าในปัจจุบัน (ณ วันที่ 7 มิ.ย. 2565 อยู่ที่ระดับ 34.46 บาทต่อเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับวันที่ 30 ธ.ค.2564 อยู่ที่ระดับ 33.38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ) ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมโดยรวม เนื่องจากสถานการณ์ค่าเงินบาทอ่อนค่าเป็นบวกต่อการส่งออก ทำให้สินค้าไทยมีราคาถูกลงและสามารถส่งออกได้มากขึ้น แม้ว่าในภาคอุตสาหกรรมที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบจะได้รับผลกระทบจากราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น แต่เมื่อพิจารณาโครงสร้างการผลิตอุตสาหกรรมพบว่า การอ่อนค่าของเงินบาทจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่างๆ แตกต่างกันตามสัดส่วนการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง และสัดส่วนการส่งออกสินค้า โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการนำเข้าวัตถุดิบน้อยและมีสัดส่วนการส่งออกมากจะเป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสศอ. กล่าวว่า จากการวิเคราะห์ผลกระทบของการอ่อนค่าของเงินบาทโดยใช้แบบจำลองเศรษฐมิติมหภาค กรณีถ้าหากเงินบาท อ่อนค่าลง 5%ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่แท้จริง (RGDP) จะขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.40%ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่แท้จริงภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.35% มูลค่าการส่งออกเมื่อคิดเป็นสกุลเงินบาทจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.14% มูลค่าการนำเข้าเมื่อคิดเป็นสกุลเงินบาทจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.94% ด้านการบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.21% เนื่องจากผู้ประกอบการมีรายได้เพิ่มมากขึ้นการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.31%และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะขยายตัวที่ 0.57%

ทั้งนี้ จากการศึกษาข้อมูลปัจจัยการผลิตและผลผลิตสามารถแบ่งกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการอ่อนค่าของเงินบาทแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้ 1.กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการนำเข้าวัตถุดิบน้อยและมีสัดส่วนการส่งออกมาก เป็นกลุ่มที่มีการใช้วัตถุดิบในประเทศในการผลิตเป็นหลักและมีการส่งออกมาก ทำให้ได้รับประโยชน์จากรายรับที่สูงขึ้นมากกว่าผลเสียจากต้นทุนการนำเข้าสินค้าที่สูงขึ้น ได้แก่ ปลากระป๋องผลไม้กระป๋อง เม็ดพลาสติก ยางแผ่น ยางแท่ง ยางนอกและยางใน น้ำตาล และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน (ไมโครเวฟ เตารีด และพัดลม)

2.กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการนำเข้าวัตถุดิบมากและมีสัดส่วนการส่งออกมาก เป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากรายรับที่สูงขึ้นจากการอ่อนค่าของเงินบาท แต่ก็ได้รับผลกระทบจากต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์อุปกรณ์การแพทย์ และเครื่องสำอาง

3.กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการนำเข้าวัตถุดิบน้อยและมีสัดส่วนการส่งออกน้อย เป็นกลุ่มที่มีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเป็นส่วนใหญ่หรือไม่ได้พึ่งพิงตลาดส่งออกเป็นหลัก ประกอบกับการใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นส่วนใหญ่ จึงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ได้แก่ ยานยนต์ จักรยานยนต์ ยาสูบ เครื่องมือเครื่องใช้ในสำนักงาน (เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า และคอมพิวเตอร์) ทอผ้า เครื่องแต่งกาย และเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์

4.กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการนำเข้ามากและสัดส่วนการส่งออกน้อย เป็นกลุ่มผู้นำเข้าหลักที่มีสัดส่วนการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางเพื่อใช้ในการผลิตเป็นจำนวนมาก จึงได้รับผลกระทบจากต้นทุนการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบที่สูงขึ้นมากกว่าประโยชน์จากรายรับจากการส่งออกที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ เหล็กแผ่นเหล็กเส้น ยารักษาโรค น้ำมันดิบ และน้ำมันสัตว์

จาก https://www.naewna.com วันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2565

ไทยส่งออกอาเซียน4เดือน พุ่ง17%  สินค้ากลุ่มเกษตรและเกษตรอุตสาหกรรมรุ่ง

ไทยส่งออกอาเซียน4เดือน พุ่ง17%  สินค้ากลุ่มเกษตรและเกษตรอุตสาหกรรมรุ่ง ตลาดสิงคโปร์มาแรง ตามด้วยอินโดนีเซีย และเมียนมา  แนะผู้ประกอบการไทยใช้ประโยชน์ FTA เจาะตลาดอาเซียน

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ติดตามสถานการณ์การส่งออกของไทยไปยังประเทศสมาชิกอาเซียน ในช่วง 4 เดือน (ม.ค. – เม.ย. 2565) พบว่า มีมูลค่า 24,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 17% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และมีอัตราการขยายตัวสูงกว่าการส่งออกของไทยไปโลกถึง 14%

อาเซียนถือเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย คิดเป็นสัดส่วน 24.7% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด โดยการส่งออกของไทยไปยังประเทศสมาชิกอาเซียนขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นที่น่าพอใจ อาทิ สิงคโปร์ (+60%) อินโดนีเซีย (+34%) เมียนมา (+24%) มาเลเซีย (+11%) ฟิลิปปินส์ (+11%) สปป.ลาว (+8%) กัมพูชา (+7%) เวียดนาม (+0.4%)

โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทยที่มีการเติบโตเพิ่มขึ้น อาทิ สินค้ากลุ่มเกษตรและเกษตรอุตสาหกรรม มีสัดส่วนการส่งออก 16% ของการส่งออกไทยไปอาเซียน อาทิ น้ำตาลทราย (+140%) ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ (+12%) ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ (+81%) อาหารสัตว์เลี้ยง (+21%) และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (+72%)

และสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรม มีสัดส่วนการส่งออก 72% ของการส่งออกไทยไปอาเซียน อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (+1.4%) เม็ดพลาสติกและเคมีภัณฑ์ (+14%) แผงวงจรไฟฟ้า (+27%) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล (+21%) และเครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ (+8%)

ทั้งนี้ ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันให้กับสินค้าของไทย ช่วยลดต้นทุนสินค้าและวัตถุดิบจากการนำเข้าได้ในราคาที่ถูกลง โดยไทยได้ร่วมจัดทำความตกลงการค้าเสรีอาเซียนกับประเทศสมาชิก อีก 9 ประเทศ ได้แก่ บรูไนฯ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม กัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมา และได้ตกลงเปิดตลาดการค้าสินค้าระหว่างกัน นับตั้งแต่ปี 2536 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งสมาชิกอาเซียนได้ยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรระหว่างกันเกือบทุกรายการสินค้าแล้ว

“จากการคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 การเปิดประเทศของสมาชิกอาเซียน ความต้องการอาหารที่เพิ่มขึ้น และการห้ามส่งออกของบางประเทศ จะทำให้การส่งออกของไทยไปอาเซียนในช่วงครึ่งปีหลังมีโอกาสขยายตัวมากขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรเร่งศึกษาสิทธิประโยชน์ รวมถึงพิจารณาใช้ประโยชน์จาก FTA ที่ไทยมีอย่างเต็มที่ ควบคู่ไปกับการพัฒนาสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และมีความโดดเด่นแตกต่างจากคู่แข่ง ซึ่งนอกจากจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าแล้ว ยังช่วยให้สินค้าไทยสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน”

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2565

เปิดแผน “เน็ตซีโร่” มิตรผล พัฒนาผลิตภัณฑ์ “บีซีจีโมเดล”

กลุ่มมิตรผลชู 6 แนวทาง โมเดลต้นแบบสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ส่งเสริมไม่เผาอ้อย 100% ใช้พลังงานหมุนเวียน กำหนดเป้าปลูกป่า 7 แสนต้นในจังหวัดสุพรรณบุรี และ 5 ล้านต้นทั่วประเทศ เพิ่มความสามารถการดูดซับคาร์บอน

ภายหลังจากที่ไทยได้ประกาศจุดยืนเป้าหมายสู่ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2065 บนเวที COP26 เอกชนรายใหญ่เริ่มออกมาประกาศเป้าหมายธุรกิจสู่ความยั่งยืน

กลุ่มมิตรผล ได้เข้าร่วมเป็น 1 ใน 53 องค์กรพันธมิตรของ Thailand Carbon Neutral Network (TCNN) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคท้องถิ่น ในการลดก๊าซเรือนกระจก โดยมีเป้าหมายร่วมกันในการมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ และร่วมมือกันสนับสนุนการดำเนินงานพัฒนาตลาดคาร์บอนภายในประเทศเพื่อขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกในไทย

รวมทั้งได้ทบทวนกลยุทธ์ แนวทางการจัดการตลอดห่วงโซ่อุปทาน และเป้าหมาย การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ (Science-based Targets) และเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593

นอกจากนี้ ได้มีการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ด้วยการบริหารจัดการพลังงานที่สอดคล้องกับ ระบบการจัดการพลังงานตามมาตรฐานสากล ISO 50001 และดำเนินโครงการอนุรักษ์พลังงานในโรงงาน โดยปรับปรุงกระบวนการผลิต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ในปี 2564 บริษัทดำเนินโครงการอนุรักษ์พลังงาน 47 โครงการ ช่วยลดการใช้พลังงาน 1,049 ล้านเมกะจูล ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 37,952 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ 336 ล้านบาท

นอกจากนี้ บริษัทยังมีการดึงคาร์บอนไดออกไซด์จากหม้อไอน้ำของโรงไฟฟ้าชีวมวล มาใช้ในกระบวนการผลิตน้ำตาลรีไฟน์ ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 10,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าในปี 2564

ล่าสุดได้ผลักดันโครงการ “สุพรรณบุรีโมเดล” ต้นแบบโรงงานที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน ตามขบวนเตรียมพร้อมรับกติกาโลกใหม่

บรรเทิง ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ไทยซึ่งเป็นประเทศเกษตรกรรมได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้งและอุทกภัยอย่างรุนแรงช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบให้ผลผลิตทางการเกษตรมีปริมาณต่ำลง ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาความมั่นคงทางอาหารของไทย รวมถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น พลังงานทดแทน และไบโอเบส ทำให้ตั้งแต่ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ รวมถึงผู้บริโภคต้องเร่งปรับตัวเพื่อสร้างความยั่งยืนเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นระยะยาว

กลุ่มมิตรผลในฐานะธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับภาคส่วนต่างๆ อย่างกว้างขวางจึงให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจด้วยแนวคิด การพัฒนาของเสียสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่า หรือ Waste to Value Created เพื่อการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ลดการสูญเสีย ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อสร้างความมั่นคงให้เกษตรกรไทย

ทั้งนี้ กลุ่มมิตรผลพร้อมสร้างความร่วมมือในทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและชุมชน เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ตามที่ได้ตั้งเป้าหมายเป็นองค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2030 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ภายในปี 2050

โดยในวันที่ 6 มิ.ย.2565 ถือเป็นการประกาศคิกออฟโครงการ “สุพรรณบุรี Carbon Neutrality Model” ขับเคลื่อนให้อุทยานมิตรผลด่านช้าง ตั้งอยู่ที่ตำบลหนองมะค่าโมง อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นโรงงานต้นแบบด้านความเป็นกลางทางคาร์บอน ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 270,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าในปี 2023 ด้วยการดำเนินงาน 6 ด้าน ได้แก่

1.ใช้พลังงานทดแทนในการดำเนินธุรกิจ 100% อาทิ ไฟฟ้าพลังงานชีวมวล และพลังงานแสงอาทิตย์

2.มุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามหลักบีซีจีโมเดล เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุด

3.แก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้ ด้วยการจูงใจรับอ้อยสดเป็นวัตถุดิบ 95-100% ในฤดุกาลผลิตปี 2023/2024 ด้วยการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี สร้างความเข้าใจชาวไร่อ้อยสร้างแนวกันไฟ และจูงใจด้วยการรับซื้อใบอ้อย

4.การบริหารจัดการของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ ตามแนวทาง Resource Reuse Reduce Recycle ส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน

5.ปลูกป่า ในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม ป่าชุมชน และพื้นที่การเกษตร ตั้งเป้าปลูกป่า 15,000 ไร่ เพิ่มความสามารถดูดซับคาร์บอน และสร้างแหล่งกักเก็บน้ำเพื่อการเกษตรขนาดใหญ่เพื่อป้องกันปัญหาภัยแล้ง

6.เป็นผู้ผลิตคาร์บอนเครดิต และพลังงานทดแทนที่สำคัญเพื่อสร้างกลไกชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ

“กลุ่มมิตรผลเชื่อมั่นว่าแนวทางดังกล่าวจะช่วยลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งมีส่วนช่วยสนับสนุนเป้าหมายการก้าวสู่เมืองคาร์บอนต่ำของสุพรรณบุรี และเป็นต้นแบบให้โรงงานในเครือและองค์กรอื่นในภาคอุตสาหกรรม”

วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า มิตรผลจะเป็นหนึ่งในต้นแบบที่สนับสนุนให้ไทยได้ขยับไปถึงเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2065 ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ท้าทายขณะที่ปัจจุบันไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 300-350 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

“การเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิต การปรับสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน รวมถึงการจัดการของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ ถือเป็นการลงทุนเพื่อการรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม แม้จะเป็นการสร้างต้นทุนที่สูงขึ้นแต่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องลงทุนเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ”

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2565

“บอร์ดน้ำแห่งชาติ”จี้อุตฯ ผุดแหล่งสำรองน้ำของตัวเอง

แม้ลักษณะภูมิอากาศของไทยจะเอื้อต่อการเพาะปลูก และเป็นที่ตั้งของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ แต่การที่ไทยขาดแหล่งน้ำ จึงเป็นอุปสรรคสำคัญและมีการแย่งน้ำ เกิดขึ้นให้เห็นบ่อยครั้ง ดังนั้น คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.)จึงย้ำชัดว่าทุกหน่วยงานให้สำรองน้ำไว้ใช้เอง

พล อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) และผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่าเพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ รัฐบาลได้กำหนด 13 มาตรการ พร้อมทั้งตั้งศูนย์ส่วนหน้าเพื่อประเมินผลคาดการณ์ก่อนเกิดภัย จากนั้นให้ ซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ ตรวจสอบพนังกั้นน้ำ อาคาร เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

รวมทั้งได้สั่งการให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ขอความร่วมมือกับ การประปาทุกแห่งทุกพื้นที่ บริษัทอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ให้มีแหล่งน้ำสำรองเป็นของตนเอง ทั้งนี้เพื่อไม่ให้หน่วยงานเหล่านี้มาใช้น้ำในลุ่มน้ำของพื้นที่ ซึ่งจะส่งผลกระทบกับแผนบริหารจัดการน้ำ

“บอร์ดน้ำแห่งชาติ”จี้อุตฯ  ผุดแหล่งสำรองน้ำของตัวเอง

นอกจากนี้ให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนอย่างเคร่งครัด พร้อมติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากอย่างต่อเนื่อง เพื่อดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุได้อย่างทันท่วงที รวมถึงวางแผนเก็บกักน้ำสำรองทุกแหล่ง ทั้งน้ำผิวดินและน้ำใต้ดินไว้รองรับฤดูแล้งหน้าด้วย

“ส่วนการบริหารจัดการน้ำในระดับพื้นที่ ได้กำชับให้คณะกรรมการลุ่มน้ำและอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด เร่งบูรณาการข้อมูลและสนับสนุนการแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรน้ำในเชิงพื้นที่ด้วย สำหรับหน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณไปแล้ว ทั้งงบปกติและงบกลางในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อป้องกันการเกิดอุทกภัยและบรรเทาปัญหาภัยแล้ง"

ประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า การเก็บน้ำเพื่อใช้ในฤดูแล้งปี 2565/66 ภาพรวมคาดว่าจะเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค การรักษาระบบนิเวศ และเพื่อการเกษตรตามแผนเพาะปลูกที่กำหนดไว้

ทั้งนี้เพื่อเตรียมรับมือน้ำหลาก กรมชลประทานได้จัดปฏิทินการเพะปลูกในพื้นที่ลุ่มต่ำก่อน เพื่อลดผลกระทบภัยน้ำท่วม พร้อมทั้ง ขจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ซ่อมบำรุงอาคารสถานที่ควบคุม และเตรียมเครื่องมือเพื่อให้การช่วยเหลืออย่างทันท่วงที โดยจะปฏิบัติตาม 13 มาตรการอย่างเคร่งครัด

สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. ในฐานะรองผู้อำนวยการ กอนช. กล่าวว่า ทุกหน่วยงานได้ร่วมบูรณาการตามกรอบปฏิทินการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฤดูแล้ง ทั้งก่อนฤดู ระหว่างฤดู และสิ้นสุดฤดู โดยวางแผนบริหารจัดการน้ำ คาดการณ์พื้นที่เสี่ยงภัย กำหนด 9 มาตรการรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำฤดูแล้ง ปี 64/65 พร้อมรายงานผลการดำเนินงานตามมาตรการเป็นระยะ

อีกทั้ง ครม.ได้มีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ปี 2565 รวม 2,525 โครงการ มีพื้นที่รับประโยชน์ 67,616 ไร่ ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 33.88 ล้าน ลบ.ม. และประชาชนได้รับประโยชน์ 76,004 ครัวเรือน นอกจากนี้ ทุกหน่วยงานยังได้ร่วมถอดบทเรียนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฤดูแล้ง เมื่อวันที่ 31 พ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อนำไปปรับปรุงมาตรการรับมือภัยแล้งในปีถัดไปด้วย

สำหรับการบริหารจัดการน้ำฤดูฝน ปี 2565 ที่มีปริมาณน้ำต้นทุนของแหล่งน้ำทั่วประเทศ (ณ 1พ.ค.65) รวม 46,660 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 57% ซึ่งในภาพรวมมีปริมาณน้ำต้นทุนมากกว่าปี 2564 ดังนั้น หนึ่งในมาตรการสำคัญที่ กอนช.ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันผลกระทบในช่วงฤดูฝน คือ คาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมรายเดือนตั้งแต่เดือนพ.ค.–ธ.ค.65 ที่มีข้อมูลระบุรายพื้นที่ระดับจังหวัด อำเภอ และตำบล เพื่อให้หน่วยงานได้เตรียมพร้อมแผนปฏิบัติในเชิงพื้นที่ได้อย่างตรงจุด

รวมถึงการใช้แผนที่ฝน one map ติดตามสภาพฝนรายภาคในระยะ 3 เดือนนี้อย่างใกล้ชิด (มิ.ย. - ส.ค.) เพื่อเป็นข้อมูลให้หน่วยงานที่รับผิดชอบการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนต่าง ๆ นำไปวางแผนเก็บกักน้ำหรือระบายน้ำเกิดความสมดุลมากที่สุด

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2565

‘อาเซียน’ ถกแผนพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ ลุยอัพเกรด FTA อาเซียนกับคู่เจรจา

เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน (SEOM) ถกแผนพัฒนาโครงการอุตสาหกรรมใหม่ หนุนการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของภูมิภาค ช่วยบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตโควิด ทั้งด้านสาธารณสุข อาหาร การเกษตร พลังงาน และอุตสาหกรรมใช้เทคโนโลยีสูง อาทิ วัคซีน และอุปกรณ์ทางการแพทย์ พร้อมนัดหารือคู่เจรจา มุ่งอัพเกรด FTA เน้นการค้าดิจิทัล MSMEs และการพัฒนาอย่างยั่งยืน 

นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม) ให้เข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน (SEOM) ครั้งที่ 2/53 ผ่านระบบการประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 6-8 มิถุนายน ที่ผ่านมา โดยได้มีการหารือถึงข้อริเริ่มที่จะพัฒนาโครงการอุตสาหกรรมใหม่ๆ เพื่อส่งเสริมการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของภูมิภาคให้แน่นแฟ้น ยิ่งขึ้น ตอบสนองต่อความต้องการของภาคเอกชนเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทาน และเพิ่มการมีส่วนร่วมของอาเซียนในห่วงโซ่มูลค่าโลก โดยมุ่งให้ความสำคัญกับสาขาอุตสาหกรรมที่ช่วยบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 และความท้าทายในปัจจุบัน อาทิ สาธารณสุข อาหาร การเกษตร พลังงาน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง อาทิ วัคซีน และเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยที่ประชุมได้มอบสำนักเลขาธิการอาเซียนศึกษาประเมินแนวทางที่เป็นไปได้ และนำเสนอให้ประเทศสมาชิกพิจารณาต่อไป

นางสาวโชติมา เสริมว่า ที่ประชุมยังได้เตรียมการจัดการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสกับคู่เจรจา FTA ของอาเซียน ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ อินเดีย และแคนาดา เพื่อมุ่งเพิ่มความร่วมมือและยกระดับความตกลง FTA ที่มีอยู่ให้ลึกซึ้งและครอบคลุมมากขึ้น โดยเฉพาะการค้าดิจิทัล MSMEs ห่วงโซ่อุปทาน และการพัฒนาอย่างยั่งยืน

สำหรับในช่วง 4 เดือน (ม.ค.-เม.ย. 2565) การค้ารวมของไทยกับอาเซียน มีมูลค่า 41,997.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 18.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ทั้งนี้ ในเดือน เม.ย. 2565 ไทยส่งออกไปอาเซียน มูลค่า 6,094.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 19% สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก น้ำตาลทราย ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ไก่แปรรูป ผลไม้กระป๋อง และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และไทยนำเข้าจากอาเซียน มูลค่า 4,777.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 22.7% สินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ สินค้าเชื้อเพลิง และสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2565

5ทศวรรษพัฒนาที่ดิน ชูหัวข้อ‘ทีมดีดินดี59ปี’ ให้เกษตรกรได้ประโยชน์ มุ่งความมั่นคงการผลิต

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานวันสถาปนากรมพัฒนาที่ดิน ครบรอบ 59 ปี ในหัวข้อ “ทีมดี ดินดี 59 ปี กรมพัฒนาที่ดิน” โดยมี ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรฯ น.ส.เบญจพร ชาครานนท์ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน และผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ เข้าร่วม ซึ่งมีการมอบรางวัลแก่ข้าราชการพลเรือนดีเด่น 2 รางวัล บุคคลากรผู้มีคุณธรรมและจริยธรรมดีเด่น

6 รางวัล หมอดินอาสาดีเด่น 12 รางวัล หน่วยงานชนะเลิศการยกระดับองค์กร 4.0 จำนวน 8 รางวัล มอบทุนการศึกษามูลนิธิพัฒนาที่ดินฯ แก่บุตรหลานบุคลากรกรมพัฒนาที่ดิน และเยี่ยมชมนิทรรศการเนื่องในงานวันดังกล่าว

ดร.เฉลิมชัยกล่าวว่า กรมพัฒนาที่ดินมีหน้าที่ในการดูแลพี่น้องเกษตรกรทั้งในส่วนของการปรับปรุงดิน การดูแลสภาพพื้นดิน และในส่วนของแหล่งน้ำขนาดเล็ก และมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเกษตรของประเทศไทยให้มีความเจริญก้าวหน้า และเป็นรากฐานของการผลิตภาคการเกษตร โดยเฉพาะการผลิตพืช ซึ่งมีบทบาทสำคัญตั้งแต่การวางแผนกำหนดพื้นที่ที่เหมาะสมในการปลูกพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ การสนับสนุนส่งเสริมการพัฒนาที่ดิน ด้วยการอนุรักษ์ดินและน้ำ การวางแผนการผลิตที่สอดคล้องกับการตลาด ตามนโยบาย “ตลาดนำการผลิต” การจัดการดินและปุ๋ยให้เหมาะสมกับพืช ช่วยลดต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะในสถานการณ์ปุ๋ยเคมีราคาแพง พร้อมเน้นย้ำในเรื่องงานวิจัย ที่จะต้องนำมาต่อยอดให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ซึ่งจะเป็นแนวทางที่จะช่วยพัฒนาภาคการเกษตรให้มีความมั่นคงเป็นอย่างดี

จาก https://www.naewna.com วันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2565

หอการค้าเผยดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค พ.ค. 65 ต่ำสุดในรอบ 9 เดือน กังวล เศรษฐกิจฟื้นช้า

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือนพ.ค.65 อยู่ที่ระดับ 40.2 ลดลงจากเดือนเม.ย.65 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 40.7

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 34.3, ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำ อยู่ที่ 37.8 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 48.5

โดยมีปัจจัยลบ ได้แก่

ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นเดือนแรกหลังจากที่รัฐบาลได้ตรึงราคาไว้

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ รายงานตัวเลข GDP ในไตรมาส 1/65 ขยายตัว 2.2% และได้ปรับคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจไทยปี 65 จากเดิม 3.5-4.5% เหลือ 2.5-3.5% โดยมีค่ากลาง 3% เนื่องจากเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งรัสเซียกับยูเครนทำให้ราคาพลังงานโลกสูง ส่งผลมายังราคาสินค้าไทยปรับขึ้นและเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น

ผู้บริโภคยังกังวลปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ทรงตัวในระดับสูง รวมถึงรายได้ที่ไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น

ความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังเกิดขึ้นทั่งประเทศ ยังคงส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน การทำธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตโดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวและบริการต่างๆ

ดัชนี SET เดือนพ.ค. 65 ปรับตัวลดลง 4.03 จุด โดยปรับลดลงจาก 1,667.44 จุด ณ สิ้นเดือนเม.ย.เป็น 1,663.41 จุด

เงินบาทปรับตัวอ่อนค่าเล็กน้อย

ขณะที่ปัจจัยบวกได้แก่

ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าประเทศ โดยยกเลิกการกักตัวทุกรุปแบบ สำหรับคนไทยไม่ต้องลงทะเบียน Thailand Pass รวมทั้งผ่อนคลายสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ กลับมาเปิดบริการได้ในพื้นที่เฝ้าระวัง (สีเขียว) และพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว (สีฟ้า)

การฉีดวัคซีนทั่วโลกและในประเทศเป็นรูปธรรมากขึ้น ทำให้ประชาชนคลายกังวล รวมทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง

การส่งออกในเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 9.90% ขณะที่การนำเข้าเพิ่มขึ้น 21.49% ส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุล 1,908 ล้านเหรียญสรอ.

ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้นหรือส่งตัวในระดับที่ดี โดยเฉพาะ ข้าว ปาล์มน้ำมัน ยางพารา มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยวสัตว์ ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น ทำให้กำลังซื้อในต่างจังหวัดปรับตัวดีขึ้น

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ค. 65 ต่ำกว่าระดับปกติทุกรายการ และปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ผลจากเศรษฐกิจโดยรวมยังไม่ฟื้นตัว และรายได้ประชาชนยังไม่ขยายตัว อยู่ระดับทรงตัวต่ำ และการจ้างงานยังไม่กลับมา

“ความเชื่อมั่นของภาวะปัจจุบันปรับตัวสูงขึ้น ไม่ได้ทรุดตัวลง เป็นการต่อสู้สถานการณ์โควิดที่คลี่คลายกับความกังวลเรื่องเกี่ยวกับต้นทุนค่าครองชีพ แต่ประชาชนห่วงอนาคต เพราะรู้ว่าน้ำมันกำลังจะแพง ข้าวของกำลังจะแพง และกังวลว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวดีหรือไม่ ดังนั้นหักกลบลบหนี้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 5 ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้ความเชื่อมั่นยังเป็นขาลง” นายธนวรรธน์ กล่าว

ทั้งนี้ ผู้บริโภคยังมีความกังวลเรื่องปัญหาค่าครองชีพ ที่มีดัชนีต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่มีการสำรวจมา 17 ปี 1 เดือน แต่ที่น่ากังวลหนักกว่านั้น คือเรื่องรายได้ ซึ่งดัชนีต่ำสุดในรอบ 23 ปี 8 เดือน เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจปรับตัวลดลง มีผลต่อภาคการส่งออก ทำให้ภาวะเศรษฐกิจไทยยังคงไม่ดี และเป็นตัวบั่นทอนทางเศรษฐกิจ และยังคงเห็นว่าต้องหาแนวทางทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวในไตรมาสที่ 3 อย่างเห็นได้ชัดก่อนปรับขึ้นดอกเบี้ย

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า สัปดาห์หน้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จะมีการปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจไทย ซึ่งขณะนี้ยังประเมินกรอบ GDP ปีนี้ไว้ที่ 2.5-3.5% โดยสถานการณ์ปัจจุบันยังมีทั้งปัจจัยบวกและปัจจัยลบ แต่มีโอกาสที่จะปรับลดประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจลงได้

จาก https://www.sanook.com  วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2565

ค่าเงินบาทแข็งค่า34.51บาท จับตาผลECB มีโอกาสผันผวนหนัก

เงินบาทเปิดตลาดวันนี้ 9 มิ.ย.65 แข็งค่า 34.51 บาทต่อดอลลาร์ จับตาผลประชุมธนาคารกลางยุโรปกำหนดทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย เตือนระหวังเงินบาทผันผวนหนักได้ คาดกรอบระหว่างวัน 34.40-34.60 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ 9 มิ.ย.65 ที่ระดับ 34.51 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.54 บาทต่อดอลลาร์ โดยมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.40-34.60 บาทต่อดอลลาร์

ทั้งนี้ ตลาดการเงินยังคงผันผวนและเผชิญแรงกดดันจากแนวโน้มเฟดอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง เพื่อควบคุมปัญหาเงินเฟ้อ หลังจากราคาน้ำมันดิบพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ยังคงกังวลแนวโน้มเงินเฟ้อในฝั่งสหรัฐฯ ซึ่งที่ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในวันศุกร์นี้ อย่างใกล้ชิด

ความกังวลปัญหาเงินเฟ้อและการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดได้หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พุ่งสูงขึ้นกลับสู่ระดับ 3.03% อีกครั้ง ซึ่งความกังวลดังกล่าวได้กดดันให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาปรับตัวลดลง โดยดัชนี S&P500 ปรับตัวลดลง -1.08% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังถูกกดดันจากความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงหนักและอาจเสี่ยงที่จะเข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอย หลัง แบบจำลอง GDPNow Tracker ของเฟดสาขาแอตแลนตา ได้ชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจโตเพียง 0.9% ในไตรมาสที่ 2 หลังจากที่หดตัวกว่า -1.5% ทำให้เศรษฐกิจเผชิญความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยได้

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ การประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยตลาดมองว่า ECB จะคงอัตราดอกเบี้ย Deposit Facility Rate ไว้ที่ ระดับ -0.50% ในการประชุมครั้งนี้ ก่อนที่จะทยอยขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.25% ในการประชุมที่เหลือของปีนี้ และทยอยขึ้นอัตราดอกเบี้ย จนอัตราดอกเบี้ย Deposit Facility Rate แตะระดับ 1.00% ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาประมาณการเศรษฐกิจใหม่ของ ECB รวมถึง ถ้อยแถลงของประธาน ECB ในช่วง Press Conference เพื่อประเมิน โอกาสที่ ECB อาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยราว 0.50% หรือมากกว่านั้น ในการประชุมครั้งถัดไป เพื่อคุมเงินเฟ้อ

ขณะที่แนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทยังมีแนวโน้มผันผวน โดยในช่วงแรกเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าลงบ้าง ตามแนวโน้มเงินดอลลาร์ที่ยังคงแข็งค่าขึ้นจากภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดและแนวโน้มเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ย อย่างไรก็ดี ในช่วงก่อนและหลังรับรู้การประชุม ECB (เวลาประมาณ 18.45 น. ตามเวลาในประเทศไทย และ 19.30 น. สำหรับ Press Conference) เงินบาทมีโอกาสผันผวนหนักในช่วงดังกล่าว โดยเราประเมินว่า หาก ECB ส่งสัญญาณพร้อมขึ้นดอกเบี้ยชัดเจนและเตรียมยุติการอัดฉีดสภาพคล่องผ่านการทำคิวอี ก็อาจหนุนให้ เงินยูโร (EUR) กลับมาแข็งค่าขึ้น และกดดันเงินดอลลาร์ให้อ่อนค่าลงได้บ้าง ซึ่งภาพดังกล่าวพอจะช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้บ้าง

อย่างไรก็ดี เรามองว่า เงินดอลลาร์อาจไม่ได้อ่อนค่าลงต่อเนื่องชัดเจน แม้ว่า ECB จะส่งสัญญาณพร้อมขึ้นดอกเบี้ย จนกว่าตลาดจะรับรู้รายงานเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในวันศุกร์นี้ ซึ่งหากเงินเฟ้อชะลอตัวลงชัดเจนก็จะช่วยลดความกังวลแนวโน้มเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงและทำให้เงินดอลลาร์อาจอ่อนค่าลงได้

ทั้งนี้ เราขยับกรอบแนวต้านของค่าเงินบาท หลังจากที่บรรดาผู้ส่งออกเริ่มประเมินเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าลงในระยะสั้น ซึ่งคาดว่าระดับ 34.70-34.80 บาทต่อดอลลาร์จะเป็นโซนแนวต้านที่สำคัญ ซึ่งผู้ส่งออกอาจรอทยอยขายเงินดอลลาร์ในโซนดังกล่าว นอกจากนี้ หากเงินบาทไม่ได้อ่อนค่าทะลุระดับดังกล่าว ก็มีโอกาสที่ฝั่งผู้เล่นต่างชาติอาจกลับเข้ามาเก็งกำไรการแข็งค่าของเงินบาทได้อีกครั้ง ซึ่งต้องจับตายอดฟันด์โฟลว์บอนด์ระยะสั้นอย่างใกล้ชิด

จาก https://www.dailynews.co.th  วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2565

เกษตรฯหนุนปลูกพืชพลังงานเพิ่มรายได้

นายสมชวน รัตนมังคลานนท์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมการสร้างความมั่นคงอย่างยั่นยืนให้แก่เกษตรกรด้วยการผลิตไฟฟ้าและพลังงานความร้อนจากพืชพลังงาน เพื่อชุมชนและเศรษฐกิจฐานราก ครั้งที่ 1/2565 โดยมีนางดาเรศร์ กิตติโยภาส คณะที่ปรึกษา รมว.เกษตรฯ ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมการฯ และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม

นายสมชวนกล่าวว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ มีความห่วงใยต่อพี่น้องเกษตรกรที่ทำการเพาะปลูกในพื้นที่ทำการเกษตรที่ขาดศักยภาพ จึงวางแนวทางในการส่งเสริมการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรโดยการปลูกพืชพลังงานในพื้นที่ทำการเกษตรที่ยังขาดศักยภาพ รวมถึงส่งเสริมให้มีการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มประสิทธิภาพเพื่อสร้างเสถียรภาพทางด้านพลังงานให้แก่ประเทศ

นายสมชวน กล่าวต่อว่า จากแนวทางดังกล่าว กระทรวงเกษตรฯ จึงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงนามความร่วมมือการสร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืนให้แก่เกษตรกรด้วยการผลิตไฟฟ้าและพลังงานความร้อนของพืชพลังงาน เพื่อชุมชนและเศรษฐกิจฐานราก เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2564 มีวัตถุประสงค์ คือ 1.เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินการสร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืนให้แก่เกษตรกรด้วยการผลิตไฟฟ้าและพลังงานความร้อนจากพืชพลังงาน 2.เพื่อชุมชนและเศรษฐกิจฐานรากภายใต้แนวทางตลาดนำการผลิต และ 3.เพื่อเป็นทางเลือกให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืนและสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศ ซึ่งภายใต้ร่างความร่วมมือฯ ดังกล่าว รมว.เกษตรฯ ได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรรมการฯ ด้วยการผลิตไฟฟ้าและพลังงานความร้อนจากพืชพลังงาน เพื่อชุมชนและเศรษฐกิจฐานราก

ในการนี้ ที่ประชุมได้รับทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการฯ 7 กิจกรรม และให้ความเห็นชอบร่างกรอบแนวทางการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ ขับเคลื่อนแต่ละกิจกรรมให้บรรลุวัตถุประสงค์

จาก https://www.naewna.com  วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2565

น้ำตาลราชบุรีเปิดตัว “เม็ดอมสารสกัดกระชายขาวซี ซิงค์”

กลุ่มบริษัท น้ำตาลราชบุรี เปิดตัวผลิตภัณฑ์ ”เม็ดอมสารสกัดกระชายขาว ซี ซิงค์” วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาลผลิตจากอ้อย 100% ไม่ทำให้ระดับน้ำตาลในเส้นเลือดสูง ผู้เป็นเบาหวานก็สามารถรับประทานได้อย่างปลอดภัย

นายสุนทร อรุณานนท์ชัย ประธานกลุ่ม บริษัท น้ำตาลราชบุรี จำกัด เป็นประธานเปิดตัวผลิตภัณฑ์ ”เม็ดอมสารสกัดกระชายขาว ซี ซิงค์” โดยทางบริษัท อีทเวลล์ จำกัดในกลุ่มบริษัท น้ำตาลราชบุรี  ร่วมมือกับคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น คิดค้นวิจัยสูตรลูกอมสมุนไพรกระชายขาว ผสมวิตามิน ซี ซิงค์ และใช้พาลาทีน เป็นส่วนประกอบให้ความหวาน

ทั้งนี้ โดยสารสกัดกระชายขาว มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อไวรัส วิตามินซีช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายแข็งแรง สารสกัดซิ้งค์ ช่วยเสริมระบบภูมิคุ้มกัน และพาลาทีน วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาลผลิตจากอ้อย 100% ไม่ทำให้ระดับน้ำตาลในเส้นเลือดสูง ผู้เป็นเบาหวานก็สามารถรับประทานได้อย่างปลอดภัย

จาก https://tna.mcot.net วันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2565

ค่าเงินบาทวันนี้ (8 มิ.ย.) อ่อนค่าที่ 34.44 บาท บทวิเคราะห์ล่าสุด

ค่าเงินบาทวันนี้ (8 มิ.ย.) เปิดตลาดอ่อนค่าที่ 34.44 บาท โดยกรอบแนวรับที่ 34.40 บาท แนวต้าน 34.50 บาท

วันที่ 8 มิถุนายน 2565 รายงานจากห้องค้าเงิน ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทวันนี้ (8 มิ.ย.) เปิดตลาดอ่อนค่าที่ 34.44 บาทต่อดอลลาร์ เมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดสิ้นวันทำการก่อนหน้า โดยกรอบการเคลื่อนไหววันนี้คาดการณ์แนวรับที่ 34.40 บาท แนวต้านที่ 34.50 บาท

โดยปัจจัยขับเคลื่อนตลาดมาจากการที่นางเจเน็ต เยลเลน รมว.คลังสหรัฐ ระบุว่าสหรัฐกำลังเผชิญกับเงินเฟ้อที่สูงในระดับที่เกินยอมรับได้ และมีแนวโน้มว่าเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับสูงต่อไป

ขณะที่ธนาคารโลกปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปีนี้ ลงเหลือ 2.9% จาก 4.1%

ด้านธนาคารกลางออสเตรเลียขึ้นดอกเบี้ย 50bps มาอยู่ที่ 0.85% สูงกว่าคาดการณ์ของตลาดที่ 0.60%

ส่วนในประเทศ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีแนวโน้มจะคงดอกเบี้ยเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ

สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตามในช่วงที่เหลือของสัปดาห์นี้ (8-10 มิ.ย.) ได้แก่ การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันนี้, การประชุมธนาคารกลางนุโรป (อีซีบี) ในวันพฤหัสบดี และตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐ และความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐในวันศุกร์

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2565

กังวลเงินเฟ้อ!!

ดัชนีหุ้นไทยวันที่ 7 มิ.ย.65 ปิดที่ 1,631.92 จุด ลดลง 14.16 จุด มีมูลค่าซื้อขาย 62,740.76 ล้านบาท ต่างชาติขายสุทธิ 606.28 ล้านบาท

หุ้นมูลค่าซื้อขายสูงสุด BANPU ปิด 13.30 บาท บวก 0.40 บาท, AOT ปิด 68.50 บาท ลบ 1 บาท, BDMS ปิด 25 บาท ลบ 1 บาท, PTTEP ปิด 169 บาท บวก 0.50 บาท, KTB ปิด 15.60 บาท ลบ 0.10 บาท

หุ้นลงแรง นักลงทุนผวาเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นทั่วโลก เงินเฟ้อทั่วไปของไทย เดือน พ.ค.ก็ปรับขึ้นสูงสุดในรอบ 13 ปี ขณะที่ต้องติดตามการประชุม กนง.เรื่องทิศทางอัตราดอกเบี้ย

บล.โกลเบล็ก ประเมินทิศทางตลาดหุ้นไทย แกว่งตัวผันผวน นักลงทุนวิตกว่า ข้อมูลจ้างงานที่แข็งแกร่งของสหรัฐฯ โดยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 390,000 ตำแหน่งในเดือน พ.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 325,000 ตำแหน่ง

OR ผนึกพันธมิตรจีน ฝรั่งเศส รุกธุรกิจเติมน้ำมันอากาศยานสนามบินกรุงพนมเปญ

ส่วนอัตราการว่างงานทรงตัวที่ระดับ 3.6% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.5% ส่งผลให้เฟดยังคงเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะที่ราคาน้ำมันดิบ WTI ที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ช่วยพยุงหุ้นกลุ่มพลังงาน คาดสัปดาห์นี้ ดัชนีเคลื่อนไหวในกรอบ 1,630-1,665 จุด

ทั้งนี้ ยังคงต้องจับตาปัจจัยต่างๆ อาทิ การแถลงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของหอการค้าไทย และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย การแถลงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนและอัปเดตสถานการณ์ลงทุนของสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ผลการประชุม กนง. ครั้งที่ 3/65 และผลการประชุม ECB ในสัปดาห์นี้ รวมทั้งผลประชุม FOMC ของธนาคารกลางสหรัฐฯกลางเดือนนี้

แนะกลยุทธ์ลงทุน หุ้นที่ได้ประโยชน์จากการประกาศกระทรวงสาธารณสุขให้พืชกัญชาไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ.2565 นับตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย.65 ส่งผลบวกต่อบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับกัญชา ได้แก่ GUNKUL, KWM, RS, BC, IP, DOD และ RBF

มีบทวิเคราะห์ บล.ทิสโก้ ระบุในภาวะเงินเฟ้อพุ่งอาหารแพง แนะนำหุ้นกลุ่ม AGRI & FOOD โดยเฉพาะหุ้นส่งออกอาหาร เพราะได้ประโยชน์จากราคาอาหารที่สูงขึ้นและเงินบาทอ่อนค่า แนะนำ CPF, GFPT, TFG, TU, TWPC รวมทั้งหุ้น ASIAN, CFRESH

ขณะที่หุ้น Defensive Value ที่คาดว่าจะสามารถต่อสู้ภาวะเงินเฟ้อได้ ชอบ ADVANC, BDMS, DCC, EGCO!!

จาก https://www.thairath.co.th   วันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2565

อุ้มโรงงาน!ครม.ไฟเขียวขยายเวลายกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีอีก 1 ปี

ครม.ไฟเขียวขยายเวลายกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีให้แก่ผู้ประกอบกิจการโรงงานต่อไปอีก 1 ปี คาดรัฐสูญรายได้ 280 ล้านบาท แต่จะช่วยพยุงสถานะของโรงงานให้ประกอบกิจการต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง

7 มิถุนายน 2565 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีให้แก่ผู้ประกอบกิจการโรงงาน ซึ่งเป็นการขยายระยะเวลาการยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีที่เรียกเก็บตามพระราชบัญญัติโรงงาน ให้แก่ผู้ประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 2  คือโรงงานที่มีเครื่องจักรไม่เกิน 50 แรงม้า และมีคนงานไม่เกิน 50 คน และจำพวกที่ 3 คือมีเครื่องจักรเกินกว่า 50 แรงม้า และมีคนงานเกินกว่า 50 คน ทุกขนาดเป็นเวลา 1 ปี โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2565 ถึงวันที่ 9 มิถุนายน 2566 ซึ่งเป็นการยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีเป็นปีที่ 3 เนื่องจากผู้ประกอบกิจการโรงงานยังคงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้ประมาณการสูญเสียรายได้จากการยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีให้กับผู้ประกอบกิจการโรงงาน 1 ปีครั้งนี้ จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 280 ล้านบาท  แต่จะมีประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับคือ เป็นการลดภาระและบรรเทาผลกระทบของผู้ประกอบกิจการโรงงาน อันเนื่องมาจากภาวะทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิด 19 และเพื่อเป็นการพยุงสถานะของโรงงานให้ประกอบกิจการต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง โดยจะเกิดผลดีต่อภาคอุตสาหกรรมซึ่งมีมูลค่ามากกว่ารายได้ที่รัฐจะต้องสูญเสียไป

จาก https://www.naewna.com วันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2565

สรท.มั่นใจส่งออกปีนี้โต5-8% จี้แบงก์ชาติดูค่าเงิน-ตรึงราคาน้ำมัน

สรท.เชื่อส่งออกปีนี้ยังโตได้5-8% แม้จะมีความเสี่ยงรอบด้าน โดยเฉพาะราคาพลังงานที่ทรงตัวสูงอย่างต่อเนื่อง พร้อมจี้แบงก์ชาติดูค่าเงิน-ตรึงราคาน้ำมันหวังช่วยเอกชนลดต้นทุน

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย หรือ สรท. เปิดเผยว่า การส่งออกไทยยังคงมีปัญหาเสี่ยงรอบด้าน โดยเฉพาะอุปสรรคสำคัญ อย่าง ราคาพลังงานที่ทรงตัวในระดับสูง จากสถานการณ์ระหว่างยูเครนและรัสเซียที่ยังคงยืดเยื้อ ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสินค้า และต้นทุนการขนส่งปรับตัวสูงขึ้นตามกลไกราคาพลังงานในตลาดโลก ส่งผลให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคปรับตัวสูงขึ้นทั่วโลก

สถานการณ์อัตราเงินเฟ้อโลกที่เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 9.2 ส่งผลกระทบต่อ ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้น กำลังซื้อผู้บริโภคทั่วโลกหดตัวลง และสถานการณ์ระวางเรือยังคงตึงตัวในหลายเส้นทางรวมถึงค่าระวางขนส่งสินค้าทางทะเลยังทรงตัวในระดับสูง เนื่องจากเรือแม่ยังไม่สามารถเข้าเทียบท่าในไทยได้มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่แม้ค่าระวางเริ่มมีการปรับลดลงในหลายเส้นทาง

นอกจากนี้ยังมีปัญหาวัตถุดิบขาดแคลนและราคาผันผวน อาทิ เซมิคอนดักเตอร์, เหล็ก, ธัญพืช เช่น ข้าวสาลี ถั่วเหลือง ข้าวโพด เมล็ดทานตะวัน แป้งสาลี อาหารสัตว์ ปุ๋ย ส่งผลให้หลายประเทศเริ่มออกมาตรการจำกัดการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร

ซึ่งเรื่องนี้ สรท.ขอให้ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)หรือแบงก์ชาติ รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทให้อยู่ไม่ให้แข็งค่าเกินกว่า 33–34 บาทต่อดอลล่าสหรัฐ เพื่อไม่เป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการที่ต้องแบกรับต้นทุนในส่วนอื่นที่ผันผวนสูง และขอให้ กนง. คงระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0.5

เพื่อประคองให้การฟื้นตัวภาคธุรกิจยังคงดำเนินการได้ รักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันในประเทศให้อยู่ระดับที่เหมาะสม ผ่านเครื่องมือด้านการลดภาษีสรรพาสามิตและเงินกองทุนน้ำมัน หรือกลไกในการควบคุมต้นทุนการนำเข้าไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการและผู้บริโภคมากจนเกินไป และ การควบคุมราคาสินค้าในประเทศจำเป็นต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับต้นทุนผู้ประกอบการ เพื่อมิให้เป็นภาระต้นทุนของผู้ประกอบการมากเกินไป ขอให้พิจารณาลดต้นทุนสินค้าขาเข้า ลดเงื่อนไขและขั้นตอนในกลุ่มสินค้าที่ขาดแคลนและจำเป็น

“ส่งออกไทยในเดือนเมษายน 2565 ยังเติบโตได้ดี เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยมีมูลค่ากว่า 23,521 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว ร้อยละ 9.9  และในช่วง 4 เดือนแรกของปี ขยายตัวร้อยละ 13.7 ทำให้คาดการณ์การว่าส่งออกไทยในไตรมาสที่สองของปีจะเติบโตร้อยละ 3-5 และทั้งปีขยายตัวได้ร้อยละ 5-8 แน่นอน”

จาก https://www.naewna.com วันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2565

กรมชลฯรุกบริหารจัดการ อ่างเก็บน้ำรับมือฤดูฝนปี2565

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ไปยังสำนักงานชลประทานที่1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำแหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่างๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ โดย ดร.ทวีศักดิ์กล่าวว่า ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศมีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 42,435 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 56 ของความจุอ่างฯ รวมกัน มีน้ำใช้การได้ประมาณ 18,499 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีก 33,649 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 9,844 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 40 ของความจุอ่างฯ มีน้ำใช้การได้ 3,148 ล้าน ลบ.ม. รับน้ำได้อีก 15,027 ล้าน ลบ.ม. ภาพรวมสถานการณ์น้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ

ขณะนี้เข้าสู่ฤดูฝนแล้ว กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศว่าปี 2565 คาดว่ามีปริมาณฝนมากกว่าค่าปกติ 62% จึงขอให้เตรียมความพร้อมการบริหารจัดการน้ำรับมือฤดูฝน โดยกำชับให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ ดำเนินการตามมาตรการรับมือฤดูฝนปี 2565 ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ ทั้ง 13 มาตรการอย่างเคร่งครัดพร้อมติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำท่าอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะให้บริหารจัดการน้ำภายในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดและสอดคล้องกับสถานการณ์ คำนึงถึงปริมาณ เวลา ผลกระทบ ความมั่นคงของอาคารชลประทาน และระเบียบกฎหมาย เป็นหลัก หมั่นตรวจสอบความมั่นคงของอาคารชลประทานให้พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ พร้อมกับจัดทำแผนเผชิญเหตุเพื่อรับมือสถานการณ์น้ำ

จาก https://www.naewna.com วันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2565

แผนศักยภาพโลจิสติกส์ ดัน“แลนด์ลิงค์”สู่เศรษฐกิจโลก

ครึ่งปี ที่เส้นทางรถไฟลาว -จีน เปิดให้บริการ แม้ยังไม่เชื่อมกับระบบรางของไทย แต่นับว่าเป็นประโยชน์ต่อการส่งออกสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้นกว่า 63 % ดังนั้นความร่วมมือเพื่อเปลี่ยนพื้นที่“แลนด์ล็อค เป็น แลนด์ลิงค์” จึงเป็นโอกาสทางการค้าและการลงทุนให้ทุกฝ่าย

เมื่อเร็วๆนี้พันคำ วิพาวัน นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว)เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของรัฐบาลไทย (Official Visit)  การหารือกับพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีด้านการคมนาคมขนส่ง ไทยยินดีสนับสนุนนโยบายของ สปป.ลาวในการเปลี่ยนให้เป็นประเทศ land-linked ผ่าน4 โครงการ ได้แก่ 1. การเชื่อมต่อรถไฟลาว-จีนกับระบบรางของไทย

2. การก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ – บอลิคำไซ)3. การก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 6 (อุบลราชธานี – สาละวัน) และ 4. การพัฒนาเส้นทางหมายเลข 12 (R12) (แขวงคำม่วน (นครพนม) – นาเพ้า)

ทั้งนี้เพื่อให้การหารือระดับผู้นำมีผลในทางปฎิบัติ ล่าสุด รถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการพัฒนาพื้นที่ย่านสถานีอุดรธานี สถานีหนองตะไก้ สถานีนาทา และสถานีหนองคาย เพื่อติดตามความก้าวหน้าแผนการดำเนินโครงการก่อสร้างเชื่อมทางรถไฟ จากสถานีหนองตะไก้ ถึงพื้นที่ ICD นิคมอุสาหกรรมอุดรธานี และแผนพัฒนาย่านสถานีหนองคาย รวมทั้งแผนพัฒนาย่านเปลี่ยนถ่ายสินค้า (CY) สถานีนาทา สำหรับเพิ่มการอำนวยความสะดวกระบบขนส่งโลจิสติกส์ รองรับการเติบโตทางการค้า การลงทุนของไทย และสปป.ลาวในอนาคต

จิรุตม์ วิศาลจิตร ประธานกรรมการรฟท. กล่าวว่า   โครงการก่อสร้างทางรถไฟเพื่อใช้เป็นจุดเชื่อมต่อการขนส่งสินค้า เพื่อสนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ การท่องเที่ยวและพัฒนาพื้นที่ จากสถานีหนองตะไก้ ไปยังนิคมอุสาหกรรมอุดรธานี ระยะทาง 3.702 กิโลเมตร(กม.) มีการเสนอให้สร้างทางรถไฟไปจนถึงเขตพื้นที่ของโครงการ ระยะทางประมาณ 2.802 กม. ส่วนที่เหลือโครงการจะลงทุนสร้างทางรถไฟ รองรับการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาต่อไป

ส่วนที่สถานีนาทา และสถานีหนองคายซึ่งมีการขนส่งสินค้าทางรถไฟระหว่างประเทศ ไทย - สปป.ลาว ซึ่งปัจจุบันมีการขนส่งสินค้าหลากหลายชนิด โดยรฟท.ได้มีการพัฒนาพื้นที่ย่านสถานีหนองคาย และ CY สถานีนาทา รวมถึงการเพิ่มขบวนรถสินค้า ทั้งรถจักร และรถพ่วง

“เพื่อให้สอดรับกับยุทธศาสตร์การพัฒนาโลจิสติกส์ของประเทศ ในการสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง”

ตลอดจนรองรับปริมาณการขนส่งสินค้าข้ามแดนไทย - สปป.ลาว ที่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังการเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูง สปป.ลาว - จีน

ภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ด่านตรวจพืชหนองคายมีมีสินค้านำเข้า-ส่งออก ที่หลากหลายไม่เพียงแต่ทุเรียน ในอนาคตหากรถไฟเชื่อมกันเสร็จจะเป็นอีกด่านหนึ่งที่รองรับการส่งออกได้มากขึ้น และเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกสินค้า

ส่วนในขั้นตอนของการตรวจปล่อยทุเรียนส่งออกไปยังประเทศจีน ไม่มีปัญหาความล่าช้า เนื่องจากกรมวิชาการเกษตรได้อำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการโดยมีห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่ สามารถตรวจและเคลื่อนย้าย ทำให้ย่นระยะเวลาลง รวมถึงนำระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาช่วยในการปฎิบัติงาน

ทั้งนี้ ด่านตรวจพืชหนองคายได้เปิดให้บริการ เพื่อให้เป็นด่านนำเข้าและส่งออกผลไม้ระหว่างไทยและจีน ตามพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรคและตรวจสอบสำหรับการส่งออกและนำเข้าผลไม้ไทยผ่านประเทศที่สาม สู่สาธารณรัฐประชาชนจีน ตั้งแต่วันที่ 10 ม.ค. 2565 ที่ผ่านมา เพื่อให้ผู้ประกอบการได้มีช่องทางส่งออกเพิ่มขึ้น

ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีคู่มือมาตรฐานการปฏิบัติงาน (SOP) ให้ชัดเจนและครอบคลุมมาตรการป้องกันแพร่การระบาดโควิด19 โดยมุ่งเน้นให้สินค้าเกษตรและอาหารมีความปลอดภัย เสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารในภูมิภาค ที่จะส่งผลกระทบทางการค้าระหว่างกันให้น้อยที่สุด

“เมื่อก่อนส่งออกสินค้าทางรถบรรทุกไปสปป.ลาวได้แห่งเดียวต่อมามีรถไฟก็ส่งไปลาวและจีนได้ ทำให้มีปริมาณการส่งออกสินค้าผ่านเส้นทางรถไฟไตรมาส1ปี2565  เพิ่มขึ้นถึง63.92%เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน”

ความร่วมมือที่เกิดขึ้นกำลังจะสร้างความเปลี่ยนแปลงที่น่าจับตามองซึ่งจะมาเปลี่ยนพื้นที่“แลนด์ล็อค เป็น แลนด์ลิงค์”ที่สร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุนให้ทุกฝ่ายที่อยู่ในโครงข่ายการเชื่อมโยงนี้

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2565

สอน.ยันไทยไม่ขาดแคลนน้ำตาล ไม่ต้องห้ามส่งออก

นายเอกภัทร วังสุวรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ประเทศไทยไม่มีปัญหาน้ำตาลทรายไม่เพียงพอต่อการบริโภคถึงขั้นต้องจำกัดการส่งออก เนื่องจากมีระบบการบริหารจัดการน้ำตาลทราย ซึ่งโรงงานทุกแห่ง ทั้ง 57 โรง จะมีการกันสำรองน้ำตาลทรายไว้ 100,000 ตัน/เดือน รวมประมาณ 5,700,000 ตัน ขณะที่ประเทศไทยบริโภคน้ำตาลอยู่ที่ประมาณ 2,400,000-2,600,000 ตัน/ปี ซึ่งเป็นปริมาณที่กันไว้ขายในประเทศอยู่แล้ว ที่เหลือคือการส่งออกทั้งหมด โดยในฤดูกาลผลิตปี 2564/2565 ปิดหีบอยู่ที่ 92,000,000 ตัน มีปริมาณน้ำตาล 10,150,000 ตัน

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากราคาต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งราคาปุ๋ยและน้ำมัน แต่ไม่มีการขึ้นราคาน้ำตาลทรายมาหลายปีแล้ว ซึ่งจะต้องประคองราคาน้ำตาลทรายไว้ให้นานที่สุด และต้องระมัดระวังเรื่องการลักลอบนำไปขาย เนื่องจากทิศทางราคาน้ำตาลในตลาดโลกกำลังปรับเพิ่มขึ้น โดยราคาซื้อขายน้ำตาลตลาดล่วงหน้า นิวยอร์ก (no.11) ราคาอยู่ที่ 19.44 เซนต์ต่อปอนด์ ลอนดอน (no.5) อยู่ที่ 578.10 เหรียญสหรัฐต่อตัน หรือโดยเฉลี่ยแล้วราคาจะอยู่ที่ 19-20 เซนต์ต่อปอนด์

จาก https://mgronline.com   วันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2565

อาเซียน เตรียมถกคู่เจรจา FTA 7 ประเทศ  6-10มิ.ย.นี้

อาเซียน’ เตรียมจัดประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน กับคู่เจรจา FTA 7 ประเทศ 6-10 มิ.ย.นี้ มุ่งยกระดับความตกลงแล เตรียมการเจรจาอาเซียน-แคนาดา สร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศนอกภูมิภาค ทั้งสหรัฐฯ และยูเค ติดตามการมีผลใช้บังคับของ RCEP

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า อาเซียนกำหนดจัดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน (SEOM) ครั้งที่ 2/53 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 6-10 มิ.ย. นี้ ณ กรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ติดตามความคืบหน้าและผลักดันประเด็นสำคัญภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

การประชุมครั้งนี้ ถือเป็นการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสครั้งแรกของปีนี้ กับคู่เจรจา FTA ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย และแคนาดา โดยมุ่งหารือยกระดับความตกลงของอาเซียนกับประเทศต่างๆ ให้ลึกซึ้งและครอบคลุมมากขึ้น อาทิ การอัพเดทความตกลงอาเซียน-ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ การเตรียมการเจรจาอาเซียน-แคนาดา การเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศที่อาเซียนยังไม่มี FTA อาทิ สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นก้าวสำคัญของอาเซียนสำหรับความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับนอกภูมิภาค

นอกจากนี้ ที่ประชุมจะติดตามความคืบหน้าการมีผลใช้บังคับของความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) กับทุกประเทศ และอัพเกรดความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้การค้าภายในอาเซียนมีความสะดวก ทันสมัย และสอดคล้องกับโลกปัจจุบันมากขึ้น โดยประเด็นดังกล่าวเป็นการดำเนินงานภายใต้ประเด็นด้านเศรษฐกิจที่กัมพูชาผลักดันให้อาเซียนดำเนินการให้สำเร็จในปีนี้ ซึ่งมี 19 ประเด็น ภายใต้ยุทธศาสตร์หลัก 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการส่งเสริมความเชื่อมโยงทางดิจิทัล วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ด้านการลดช่องว่างการพัฒนาเพื่อความสามารถในการแข่งขันของอาเซียน ด้านการส่งเสริมการบูรณาการและความสามารถในการแข่งขันที่มากขึ้นของอาเซียน และด้านการเป็นส่วนสำคัญของประชาคมโลกเพื่อการเติบโตและการพัฒนา

ทั้งนี้ ในไตรมาสแรกของปีนี้ (ม.ค. - มี.ค.) การค้าของไทยกับอาเซียน มีมูลค่า 31,125 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 17.2% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยไทยส่งออกไปอาเซียน มูลค่า 17,907 ล้านดอลลาร์ขยายตัว 17%และไทยนำเข้าจากอาเซียน มูลค่า 13,219 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว17.4% ตลาดที่มีมูลค่าสูงสุด 5 อันดับแรกของไทย ได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ ซึ่งมูลค่าการค้าขยายตัวทุกประเทศ และขยายตัวเกือบทุกหมวดสินค้าทั้งส่งออกและนำเข้า โดยสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป อัญมณีและเครื่องประดับ เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์ และสินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันดิบ เคมีภัณฑ์ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ก๊าซธรรมชาติ และเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2565

เปิดแผนงบบูรณาการปี 66 ขับเคลื่อน “อีอีซี” 1.1หมื่นล้าน

งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 จำแนกตามโครงสร้างแผนงานตามยุทธศาสตร์ ซึ่งรัฐบาลได้จัดทำไว้ 11 แผนงาน วงเงินรวม 218,477.7 ล้านบาท  ในจำนวนดังกล่าวรวมถึงแผนงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจําปี 2566 กำหนดให้แผนงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เป็นกลไกขับเคลื่อนโครงการหน่วยงานต่างๆ ใน เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) วงเงิน 11,086.9 ล้านบาท

สำหรับการจัดสรรงบประมาณดังกล่าวเพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนใน EEC ส่งเสริมการพัฒนา กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทันสมัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีโครงสร้างพื้นฐานและระบบ สาธารณูปโภคที่มีประสิทธิภาพมีความต่อเนื่อง เข้าถึงได้โดยสะดวกและเชื่อมโยงกันเป็นระบบโดยสมบูรณ์ พัฒนาเมืองให้น่าอยู่ มีความทันสมัยระดับนานาชาติ เหมาะสมต่อการอยู่อาศัยอย่างสะดวกปลอดภัยเข้าถึงได้ทั่วหน้า สามารถประกอบกิจการอย่างมีคุณภาพและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนใน EEC

รวมทั้งตลอดจนเสริมสร้าง บทบาทของไทยในฐานะประตูเอเชีย ยกระดับศักยภาพท่าเรือนน้ำลึกและท่าเทียบเรืออเนกประสงค์ ผลิตและพัฒนาบุคลากรให้มีสมรรถนะตามความต้องการผู้ประกอบการ โดยผ่านความร่วมมือและการสนับสนุนจากผู้ประกอบการ

ทั้งนี้ การดำเนินการตามแผนแม่บทดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อให้ไทยเป็นประตูการค้าการลงทุนภูมิภาค รวมทั้งผลักดันให้ไทยเป็นห่วงโซ่อุปทานของภูมิภาค การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมของ EEC เพิ่มขึ้น และมีการลงทนเพิ่มขึ้นแบ่งตามหน่วยงาน ดังนี้

สํานักนายกรัฐมนตรี โดยสํานักงานสงเสริมการจดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) ดำเนินโครงการบูรณาการสงเสริมการทองเที่ยวในอีอีซี 27.21 ล้านบาท

กระทรวงกลาโหม 716.69 ล้านบาท โดยกองทัพเรือดำเนินโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภคและระบบดิจิทัล , โครงการพฒนาบุคลากรการศึกกษา การวิจัย เทคโนโลยและนวัตกรรม และโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตสร้างความสมดุลทางเศรษฐกิจ

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 2.62 ล้านบาท โดยกรมพัฒนาที่กินดำเนินโครงการเพิ่มผลิตภาพการเกษตร บนฐานทรัพยากรด้านใน EEC

กระทรวงคมนาคม วงเงิน 4,857.43 ล้านบาท โดยกรมทางหลวงดำเนินโครงการพัฒนาทางหลวงรองรับEEC 4,116.51 ล้านบาท , กรมทางหลวงชนบท โครงการพัฒนาทางหลวงชนบทเพื่อขับเคลื่อน EEC 737.60 ล้านบาท, สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) พัฒนาระบบการจราจรและขนส่งอัจฉริยะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการจราจรและการขนส่งกลุ่มจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ดำเนินโครงการขับเคลื่อนสู่ Net Zero EEC เพื่อสนับสนุนการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ 2.52 ล้านบาท

กระทรวงมหาดไทย 617.28 ล้านบาท โดยกรมการปกครอง ดำเนินโครงการพัฒนาประสิทธิภาพงานบริการเพื่อเสริมความมั่นคงในพื้นที่ EEC และกรมโยธาธิการและผังเมือง ดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ EEC

กระทรวงแรงงาน 10.25 ล้านบาท โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพแรงงานชั้นสูงใน EEC

กระทรวงศึกษาธิการ 69.44 ล้านบาท โดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ดำเนินโครงการผลิตและพัฒนากำลังคนสนับสนุนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 6 9.44 ล้านบาท

กระทรวงสาธารณสุข 258.44 ล้านบาท โดยสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ดำเนินโครงการพัฒนา EEC แบบบูรณาการ , กรมควบคุมโรค ดำเนินโครงการพัฒนาการดำเนินงานการเฝ้าระวังโรคและภัยสุขภาพใน EEC , กรมอนามัย ดำเนินโครงการยกระดับการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมใน EEC , สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ดำเนินโครงการพัฒนายกระดับการให้บริการการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่นำร่อง EEC

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 782.03 ล้านบาท โดยกรมวิทยาศาสตร์บริการ ดำเนินโครงการสร้างสนามทดสอบรถอัตโนมัติ CAV Proving Ground ระยะที่ 2

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) พัฒนาแพลตฟอร์มบริการข้อมูลดาวเทียมวงโคจรระดับต่ำแห่งชาติสำหรับเชื่อมโยงอุตสาหกรรมและบริการใน EEC

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โครงการโครงการพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) โครงการพัฒนาทักษะบุคลากรใหมี้คุณภาพรองรับความต้องการของผู้ประกอบการและอุตสาหกรรมเป้าหมายใน EEC และโครงการขยายผลเทคโนโลยีแพลตฟอร์มการจัดการโคเนื้อเขตร้อนชื้นด้วยปัญญาประดิษฐ์

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างความสมดุลทางเศรษฐกิจ

สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ดำเนินโครงการเร่งรัดและขยายผลการจัดหลักสูตรพัฒนาบุคลากรตามแนวทาง CWIE+EEC Model Type A (CWIE+EEC Model Type A Master Class) ในสถาบันอุดมศึกษา

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) 2,114.37 ล้านบาท ดำเนินโครงการพัฒนาและขับเคลื่อนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก , โครงการจัดตั้งศูนย์เครือข่ายในการผลิตและพัฒนาบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อรองรับความต้องการของอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) 463.17 ดำเนินโครงการก่อสร้างสถานีรถไฟอู่ตะเภา , โครงการก่อสร้างปรับปรุงทางรถไฟเข้าพื้นที่ท่าเรือจุกเสม็ด และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ดำเนินโครงการน้ำประปาที่ให้บริการแก่ประชาชนในส่วนเขตพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก 998.68 ล้านบาท

การประปานครหลวง (กปน.) ดำเนินโครงการรื้อย้ายท่อประปาเดิมและวางท่อประปาใหม่ทดแทนเพื่อรองรับงานก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน 41.86 ล้านบาท

กรุงเทพมหานคร ดำเนินโครงการปรับปรุงระบบระบายน้ำและระบบสัญญาณไฟจราจรทีได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินจากพญาไทถึงดอนเมือง 124.86 ล้านบาท

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2565

ธ.ก.ส.คาดราคาสินค้าเกษตร มิ.ย.65 มีปรับขึ้นหลายรายการ

นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรในเดือนมิถุนายน 2565 จะมีการปรับราคาขึ้นหลายรายการ โดยเฉพาะข้าวเปลือก สุกร โคเนื้อ กุ้งขาวแวนนาไม ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ น้ำตาลทรายดิบ และปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นผลจากมาตรการเปิดประเทศ เปิดสถานบันเทิง และค่าเงินบาทอ่อนค่า ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น แต่สินค้าที่มีแนวโน้มราคาลดลง ได้แก่ มันสำปะหลัง และยางพาราดิบ

จาก https://mgronline.com   วันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2565

ชาวไร่อ้อยเฮ! รัฐทุ่ม 6,000 ล้าน ให้กู้ดอกเบี้ย 2% ซื้อรถตัดอ้อย

“สุริยะ” เผย ครม. อนุมัติวงเงิน 6,000 ล้านบาท ปี 2565-2567 ให้ชาวไร่อ้อย 1.5 ล้านไร่ กู้ดอกเบี้ย 2% ผ่านแบงก์ ธกส. ซื้อรถตัดอ้อย พัฒนาแหล่งน้ำ ปรับพื้นที่ หวังเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อย ลดอ้อยไฟไหม้ แก้ฝุ่น PM 2.5

วันที่ 2 มิถุนายน 2565 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติ เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2565 เห็นชอบ โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อย สำหรับบริหารจัดการแหล่งน้ำและซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรในไร่อ้อย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยและลดอ้อยไฟไหม้ แก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ปี 2565 – 2567

ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโครงการที่เกิดขึ้นตามนโยบายแก้ไขปัญหา มลพิษด้านฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

กระทรวงอุตสาหกรรมได้ผลักดันโครงการดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยสามารถกู้เงินจาก ธ.ก.ส. ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ 2% ต่อปี เพื่อจัดซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรใช้ในไร่อ้อย แก้ไขปัญหาภัยแล้ง ซึ่งจะช่วยลดปริมาณการเผาอ้อยก่อนตัดเป็นการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ที่ต้นเหตุ ทั้งยังเพิ่มผลผลิตอ้อยตันต่อไร่สูงขึ้น

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) กล่าวเพิ่มเติมว่า

โครงการนี้ ธ.ก.ส. ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำในอัตรา 2% ต่อปีให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อย วงเงินปีละ 2,000 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการ 3 ปี ตั้งแต่ปี 2565 – 2567 รวมเป็นเงิน 6,000 ล้านบาท ซึ่ง ครม. อนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณชดเชยดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส. เป็นเงิน 789.75 ล้านบาท

โดยมี 3 เป้าหมาย คือ 1.กู้เงินเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำ การบริหารจัดการน้ำในไร่อ้อย และปรับพื้นที่ปลูกอ้อย รายละไม่เกิน 500,000 บาท เฉพาะปรับพื้นที่ปลูกอ้อย อัตราไม่เกินไร่ละ 2,500 บาท ชำระคืนเสร็จสิ้นไม่เกิน 6 ปี ผู้กู้จ่ายดอกเบี้ยในอัตราคงที่ 2% ต่อปี

2.กู้เงินเพื่อจัดซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร เช่น รถตัดอ้อย รายละไม่เกิน 15 ล้านบาท รถคีบอ้อย รายละไม่เกิน 2 ล้านบาท รถแทรกเตอร์ รายละไม่เกิน 6 ล้านบาท ชำระคืนเสร็จสิ้นไม่เกิน 8 ปี ผู้กู้จ่ายดอกเบี้ยในอัตราคงที่ 2% ต่อปี

3.กู้เงินเพื่อซื้อรถบรรทุกและพ่วงบรรทุก ชำระคืนเสร็จสิ้นไม่เกิน 8 ปี ผู้กู้จ่ายดอกเบี้ยในอัตราคงที่ 4% ต่อปี

ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย จึงได้ร่วมกับ ธ.ก.ส. เร่งประชาสัมพันธ์โครงการเพราะจะช่วยลดภาระดอกเบี้ยให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ต้องการซื้อเครื่องจักร เพื่อแก้ไขปัญหาแรงงาน และจัดทำระบบน้ำเพื่อเพิ่มผลผลิตอ้อยในไร่ ที่จะส่งผลให้มีต้นทุนในการผลิตอ้อยที่ต่ำลง โดยโครงการนี้จะมีพื้นที่ปลูกอ้อยได้รับประโยชน์ประมาณ 1.5 ล้านไร่

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2565

KTIS แย้มขายน้ำตาลเกลี้ยงสต็อกหลัง ราคาพุ่ง - จ่อลงทุนไบโอคอมเพล็กซ์ เฟส 2

KTIS แย้มขายน้ำตาลเกลี้ยงสต็อกจากงวดปีนี้ผลิตได้ 6.3 ล้านกระสอบ หลังราคาพุ่ง 19-20 เซนต์ - จ่อลงทุนไบโอคอมเพล็กซ์ เฟส 2 คาดรายได้ครึ่งปีหลังสดใสจากการเริ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์อาหาร

นายสมชาย สุวจิตตานนท์ ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เกษตรไทย  อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS เผยว่าในปีนี้ บริษัทมีผลผลิตน้ำตาลอยู่ที่ 6.3 ล้านกระสอบในงวดปี 2565/2566 ซึ่งได้ขายเกือบหมดแล้ว ซึ่งอยู่ในระหว่างการส่งมอบให้กับลูกค้า  เพราะราคาน้ำตาลโลกที่ปรับสูงขึ้นอยู่ที่ 19-20 เซนต์ ในช่วงก่อนหน้านี้จึงได้เร่งขายออกไป

"สงครามยูเครน-รัสเซีย ส่งผลทำให้ราคาพลังงานเพิ่มขึ้น ซึ่งผลดีต่อราคาน้ำตาลเช่นกัน ประกอบกับประเทศบราซิลที่ปรับลดการขายน้ำตาลลง เพื่อนำไปผลิตเอทานอนมากขึ้น  ดังนั้นทำให้ราคาน้ำตาลส่งออก ทั้งน้ำตาลทราย ปรับตัวดีขึ้น "

สำหรับผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีหลัง ปี 2565 มีแนวโน้มที่ดีขึ้น เนื่องจาก บริษัทจะมีรายได้จากโครงการ Food Packging ที่จะเริ่มขายผลิตภัณฑ์บรรจุอาหารได้ในเดือนก.ค. 2565 นี้ และเริ่มรับรู้รายได้จากการขายทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เช่น สหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น และจีน โดยคาดว่างวดปีหน้าจะมีรายได้จากธุรกิจผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารที่ 1,000-2,000 ล้านบาท จากการผลิตเต็มปี

"ผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ชานอ้อยของกลุ่ม KTIS ผลิตจากเยื่อชานอ้อยของโรงงานที่ได้การรับรองมาตรฐานความปลอดภัยในเกรดของอาหาร (Food Grade) ไม่มีสารอันตรายในกระบวนการผลิต และการฟอกขาว แล้ว ยังเป็นเยื่อชานอ้อยใหม่ 100% ไม่มีการรีไซเคิล จึงมั่นใจว่าตลาดของสินค้าจะมีความมั่นคง และเติบโตได้อย่างยั่งยืน เพราะสอดคล้องกับเทรนด์ของโลกในเรื่องของการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม"

นอกจากนี้บริษัทมีแผนลงทุนโครงการไบโอคอมเพล็กซ์ เฟส 2 ที่จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งบริษัทได้เตรียมที่ดินไว้กว่า 2,000 ไร่  และมีความพร้อมทั้งไฟฟ้า ไอน้ำ และน้ำดิบ โดยคาดว่าจะมีผู้สนใจหลายรายเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการดังกล่าว

สำหรับแผนยุทธศาสตร์ 3 ปี ของบริษัท จะมีการเพิ่มปริมาณอ้อยทั้งกลุ่มเป็น 12 ล้านตัน จากปัจจุบัน 6.2 ล้านตัน และต้องการเสริมสร้างธุรกิจในบริษัทให้มีความแข็งแกร่งทั้งธุรกิจน้ำตาล เอทานอล และ Food Packging พร้อมทั้งการศึกษาร่วมทุนในอนาคต

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2565

“วิกฤติพลังงาน-อาหาร”โลกส่อยืดเยื้อโอกาสและความเสี่ยงที่ไทยต้องรับมือ

การเกิดขึ้นของโควิด-19 ก่อนหน้านี้ได้ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิต (Supply Chains )ไปแล้วระดับหนึ่ง แต่ การสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครนได้เข้ามาขยายปัญหานี้ให้ใหญ่ขึ้นเพราะได้นำมาซึ่งทั้งวิกฤติพลังงานและวิกฤติการขาดแคลนอาหาร โดยปัจจัยดังกล่าวทำให้อัตราเงินเฟ้อของประเทศต่างๆทั่วโลกต่างปรับตัวเพิ่มขึ้นจากผลพวงของระดับราคาสินค้าและน้ำมันที่พาเหรดกันทยอยขึ้นราคา

ล่าสุดทำเอาผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)ถึงกับต้องออกมาเตือนถึงเศรษฐกิจโลกที่กำลังเข้าสู่สภาวะยุ่งเหยิง หลัง 30 ประเทศมีการจำกัดการส่งออกอาหารแล้ว ซึ่งนั่นถือเป็นปรากฏการณ์กักตุนสินค้าเกษตรที่ร้ายแรงที่สุดในรอบ 15 ปี นับตั้งแต่ช่วงที่เกิดวิกฤติราคาอาหาร เมื่อปี 2550 - 2551

สำหรับไทยในฐานะประเทศผู้นำเข้าน้ำมันเราจึงต้องเผชิญกับราคาน้ำมันที่แพงขึ้น แต่ด้วยรัฐได้ใช้กลไกให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาอุดหนุนดีเซลและมีการปรับลดภาษีสรรพสามิตมาช่วยต่อเนื่องจึงทำให้ดีเซลขณะนี้ยังอยู่ที่เพียง 32.94 บาท/ลิตร โดยล่าสุดกองทุนน้ำมันฯควักจ่ายดูแลเฉพาะน้ำมันฯสูงถึงกว่า 4 หมื่นล้านบาทและเมื่อรวมกับการอุดหนุนราคาแอลพีจีก็ทะลุไปแล้ว 8.1 หมื่นล้านบาท ขณะที่ภายในมิ.ย.นี้เพดานดีเซลจะต้องขยับไปสู่ระดับ 34.94 บาท/ลิตรเพื่อไม่ให้กระทบกับสภาพคล่องชองกองทุนฯตามมติครม.เมื่อ 22 มี.ค.65ที่ให้ลดการอุดหนุนเหลือกึ่งหนึ่ง

ส่วนการขาดแคลนอาหารนับว่าคนไทยมีความโชคดีเพราะไทยมีภาคการเกษตร ปศุสัตว์ และฐานการผลิตอาหารสำเร็จรูป ที่เข้มแข็งจนกลายเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารอยู่อันดับที่ 13 ของโลก ภาวะที่สินค้าจะหายไปจากชั้นจำหน่ายสินค้าแบบดื้อๆเหมือนสหรัฐและยุโรปจึงยังไม่ค่อยพบเห็น มีเพียงแต่ราคาที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่กระนั้นจากปัญหาปุ๋ย อาหารสัตว์ที่ราคาแพงยังเป็นสิ่งที่ต้องติดตามใกล้ชิด....

แนะรัฐเร่งดูแลความมั่นคงพลังงาน-อาหาร

นายธรรศ ทังสมบัติ นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า สงครามรัสเซีย-ยูเครนหากจำกัดวงอยู่เช่นปัจจุบันโอกาสของไทยในการส่งออกสินค้าอาหารจะมีมากขึ้นแม้ว่าระดับราคาสินค้าจะมีแนวโน้มราคาสูงขึ้นจากต้นทุนทั้งราคาน้ำมัน วัตถุดิบ บรรจุภัณฑ์ที่แพงก็ตาม แต่หากยืดเยื้อและขยายวงไปสู่ภูมิภาคอื่นๆ และที่สุดนำไปสู่สงครามใหญ่บริบทจะเปลี่ยนไปทันทีและสิ่งสำคัญมากกว่าการส่งออกที่ไทยต้องเตรียมพร้อมไว้คือ ความมั่นคงทั้งด้านพลังงานและอาหารที่จะเพียงพอดูแลคนในประเทศ

“ หลายประเทศเขามีการคิดที่จะดูแลคนในประเทศ โดยการจำกัดการส่งออก และมีการสำรองอาหารกันไว้บ้างแล้ว แต่ไทยเองผมยังไม่เห็นว่ารัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมี Action Plan ใดๆ ที่จะทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นได้ว่าหากเกิดกรณีเลวร้ายขึ้นมาคนไทยจะมีอาหารเพียงพอในภาพรวม และหากถามว่าพอไหมคงต้องถามรัฐเพราะจะรู้ปริมาณการผลิตของแต่ละฤดูเก็บเกี่ยว และสต็อกสินค้าแต่ละชนิด ว่าถึงจุดที่ต้องจำกัดการส่งออกหรือยัง รวมไปถึงคาดการณ์ในฤดูการผลิตถัดไปเป็นอย่างไรในการเตรียมรับมือ”นายธรรศกล่าว

ทั้งนี้โลกไม่เหมือนอดีตเพราะมีการแบ่งขั้วชัดเจนคือฟากที่สนับสนุนเงินดอลลาร์ และ ฟากหนึ่งที่ไม่สนับสนุนดังนั้นการส่งออกของไทยที่ได้เงินในรูปเหรียญดอลลาร์สหรัฐเพิ่มขึ้น แต่ต้องจ่ายค่าพลังงานและอื่นๆ ที่สูงตามไปด้วยหรืออาจจะแพงกว่า การส่งออกเพิ่มก็เปล่าประโยชน์ ดังนั้นทำอย่างไรที่รัฐจะบริหารจัดการที่จะทำให้สินค้าอาหาร และพลังงานไม่แพงเกินไปซึ่งส่วนของน้ำมันนั้นเข้าใจว่าไทยต้องนำเข้าเป็นหลักจึงควรมองหาและส่งเสริมพลังงานทางเลือกในการช่วยเหลือในการดูแลห่วงโซ่การผลิต เช่น การส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับกลุ่มประมงพื้นถิ่น เป็นต้น

นายธรรศกล่าวสรุปว่า อนาคตไม่มีใครมองเห็นว่าสงครามจะดีหรือแย่ไปกว่านี้แต่ยืดเยื้อแน่นอนเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตนเองหรือเศรษฐกิจพอเพียงคือความมั่นคงระยะยาว เพราะคุณก็รู้หรือเคยได้ยินว่า “ เงินทองนั้นเป็นของมายา ข้าวปลานั้นของจริง”

ส.อ.ท.ชี้สงครามไทยมีทั้งความเสี่ยงและโอกาส

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า สงครามรัสเซีย-ยูเครนยังคงไม่มีทีท่าว่าจะจบลงและจำเป็นต้องติดตามใกล้ชิดว่าจะขยายไปยังภูมิภาคอื่นๆ ทั้งตะวันออกลาง และเอเชีย แปซิฟิกหรือไม่ ซึ่งจากความตึงเครียดที่มีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จึงทำให้มีการมองว่าสงครามจะยืดเยื้อไปถึงปีหน้า ขณะที่สงครามส่งผลกระทบทำให้ระดับราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นและต่อเนื่องมายังวิกฤติการขาดแคลนอาหารโดยเฉพาะ 10 กว่าประเทศที่ระงับส่งออกเพื่อไว้บริโภคภายในประเทศจึงทำให้ปัญหานี้จะรุนแรงขึ้นในไตรมาส3-4

“ ธนาคารโลกมองวิกฤติอาหารจะยืดเยื้อถึงปีหน้า จุดนี้ไทยเราอาจเจอทั้งความเสี่ยงและโอกาส เพราะทั้งน้ำมันที่แพงขึ้นย่อมกระทบให้ค่าขนส่งและราคาสินค้าปรับตัวเพิ่มต่อเนื่องและสิ่งที่ต้องเผชิญตามมาคือภาวะเงินเฟ้อที่สูง แต่โอกาสของไทยคือการส่งออกสินค้าอาหารที่เพิ่มขึ้นซึ่งขณะนี้เรามีคำสั่งซื้อมาจากทางยุโรปมาค่อนข้างมากแต่เราต้องบริหารจัดการวัตถุดิบให้เพียงพอ”นายเกรียงไกรกล่าว

ไทยในฐานะประเทศผู้ผลิตอาหารและส่งออกอันดับต้นๆ ของโลกจะไม่เผชิญวิกฤติขาดแคลนอาหารเช่นประเทศอื่นๆ แต่นั่นหมายถึงไทยเองต้องบริหารจัดการวัตถุดิบได้อย่างเพียงพอ เนื่องจากปัจจัยการผลิตพื้นฐานที่สำคัญของสินค้าอาหารไม่ว่าจะเป็น ปุ๋ย อาหารสัตว์ ยาฆ่าแมลง ล้วนเป็นสิ่งที่ไทยยังต้องพึ่งพิงนำเข้าหากขาดแคลนก็จะกระทบต่อผลผลิตที่ลดลงได้ทันที

ดังนั้นจำเป็นที่ผู้ประกอบการต้องหาแหล่งวัตถุดิบใหม่ๆ ที่มีศักยภาพมาทดแทนโดยมองหาการทำสัญญาซื้อขายระยะยาว รวมไปถึงการปรับสูตรการผลิตใหม่ที่เน้นพึ่งพาห่วงโซ่การผลิต(ซัพพลายเชน )ในประเทศให้มากขึ้นเพื่อทดแทนการนำเข้าเพื่อความมั่นคงระยะยาว โดยภาครัฐจำเป็นต้องหามาตรการส่งเสริมให้ผู้ผลิตขนาดกลางและย่อม(เอสเอ็มอี)ของไทยได้รับโอกาสในห่วงโซ่การผลิตให้มากขึ้น

นอกจากนี้ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าเกินไปแม้ว่าจะเป็นผลบวกกับรายได้การส่งออกรูปเงินบาทที่จะเพิ่มขึ้น รวมไปถึงภาคการท่องเที่ยวก็ตามแต่ภาพรวมจะไม่เป็นผลดีต่อการนำเข้าพลังงานและวัตถุดิบที่จำเป็นต่อการผลิตสินค้าของไทยที่จะมีราคาสูงขึ้น ไทยจึงต้องบริหารค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพที่เหมาะสม อย่างไรก็ตามเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจไทยปี 2565 นอกเหนือจากส่งออกที่เป็นกลไกหลักแล้วหลังจากที่รัฐบาลได้เปิดการท่องเที่ยวรับต่างชาติแบบเต็มรูปแล้วจะทำให้ภาคท่องเที่ยวเป็นอีกหนึ่งเครื่องยนต์ที่จะมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้ชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังเพราะคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างน้อยมาไทยราว 6-8 ล้านคน

ไทยต้องไม่ทิ้งจุดแข็ง”ครัวของโลก

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย)และในฐานะผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์ กล่าวว่า แม้ว่าไทยจะไม่เกิดวิกฤติขาดแคลนอาหารเพราะเป็นประเทศที่มีภาคเกษตร ฐานการผลิตอาหารสำเร็จรูปเพื่อการส่งออกที่ติดอันดับโลกแต่ก็ต้องไม่ตั้งอยู่บนความประมาทเพราะสงครามรัสเซีย-ยูเครนยังยืดเยื้อและยังไม่แน่นอนว่าจะไปในทิศทางใดแน่ ดังนั้นไทยต้องเช็คสต็อกสินค้าเพื่อป้องกันกรณีหากเหตุฉุกเฉินจะได้สามารถจำกัดโควตาการส่งออกได้

“ ราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ประกอบกับราคาวัตถุดิบต่างๆ สูง ย่อมทำให้ราคาสินค้าจะแพง กลุ่มอาหารก็เช่นกันราคาจะแพงขึ้นแน่นอนจึงไม่เกิดวิกฤติขาดแคลน แต่ถ้าสงครามใหญ่เกิดขึ้นก็เป็นอีกเรื่องนะ แต่เราก็ไม่ควรทำตัวประมาทเพราะหากเราปล่อยภาคเกษตรให้เป็นอย่างเช่นทุกวันนี้ต่อไปประเทศเพื่อนบ้านจะได้เปรียบในแง่ต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าโดยเฉพาะค่าแรง ที่สุดเราอาจจะเป็นผู้นำเข้าแทนก็ได้“นายธนิตกล่าว

ทั้งนี้ไทยถือว่าเดินมาถูกทางนั่นคือการส่งเสริมให้ไทยเป็นครัวโลกจึงอย่าทิ้งจุดแข็งนี้แล้วมัวแต่ไปมุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมไฮเทคโนโลยีที่ไม่ใช่เทคโนโลยีของไทย จนลืมไปว่าไทยเป็นเมืองเกษตรมานานแล้วและควรจะต่อยอดในการสร้างมูลค่าเพิ่ม วิจัยและพัฒนาให้มากขึ้น ประเทศอื่นๆที่พัฒนาแล้วเขายังไม่เคยละทิ้งภาคเกษตรแต่อย่างใดและทำให้เกษตรกรมีความเข้มแข็งได้แต่ไทยกลับละเลยสิ่งเหล่านี้

สำหรับพลังงานที่ผ่านมาถือเป็นวิกฤติของโลกและของไทยเนื่องจากราคาได้ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ไทยต้องพึ่งพิงการนำเข้าเป็นหลักจึงไม่อาจหลีกเลี่ยงผลกระทบได้ซึ่งหากสงครามยืดเยื้อและบานปลายไทยจะเผชิญปัญหานี้หนักเพิ่มขึ้น การเตรียมพร้อมรับมือของภาครัฐจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะราคาพลังงานและสินค้าที่ปรับขึ้นต่อเนื่องจะทำให้อัตราเงินเฟ้อของไทยปีนี้หลายคนคาดว่าจะก้าวแตะไปสู่ระดับ 5% จึงเป็นเรื่องที่ต้องระวัง

สรุปความเห็นจากมุมมองบางส่วนของภาคเอกชนต่างก็ส่งสัญญาณไปในทิศทางเดียวกันว่า สงครามยังคงยืดเยื้อและมีเค้าลางที่อาจก้าวไปสู่การขยายพื้นที่การสู้รบเพิ่มได้ตลอดเวลา ดังนั้นวิกฤติราคาพลังงาน วิกฤติอาหาร ทั่วโลกเผชิญแม้ไทยอาจกระทบไม่เต็มที่เพราะอยู่ในฐานะครัวโลก...แต่ก็ไม่ควรตั้งอยู่บนความประมาทท่ามกลางระบบโลกที่เปลี่ยนไป

จาก https://mgronline.com  วันที่ 2 มิถุนายน 2565

ผลติดตาม 6 โครงการ แผนแม่บทย่อยเกษตรชีวภาพ สร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์

สศก.เผยผลติดตาม 6 โครงการ ในรอบ 6 เดือน (ตุลาคม 2564 – มีนาคม 2565) แผนแม่บทย่อยเกษตรชีวภาพ สร้างมูลค่าเพิ่มสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินการขับเคลื่อนแผนแม่บทย่อยเกษตรชีวภาพ ภายใต้แผนแม่บทประเด็นการเกษตร ประจำปีงบประมาณ 2565 ซึ่งแผนแม่บทย่อยเกษตรชีวภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มจากเกษตรชีวภาพไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง รวมถึงการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพในการผลิตและแปรรูปสินค้าเกษตร ประกอบด้วย  6 โครงการ ได้แก่

1) โครงการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสมุนไพร

2) โครงการสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรชีวภาพสู่เชิงพาณิชย์ 

3) โครงการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรเศรษฐกิจชีวภาพตามความต้องการของตลาด           

4) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตแมลงเศรษฐกิจ

5) โครงการผลิตและขยายสัตว์น้ำพันธุ์ดี  กระจายพ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำพันธุ์ดีสู่ภาคการผลิต

และ 6) โครงการศึกษาวิเคราะห์เชิงเศรษฐกิจของการนำผลพลอยได้และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องและพลังงานทางเลือก

โดยทั้ง 6 โครงการ เป็นการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คือ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กรมประมง และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ซึ่งจากการติดตามผลการดำเนินงานของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ในรอบ 6 เดือน (ตุลาคม 2564 – มีนาคม 2565)  ภาพรวมทั้ง 6 โครงการ ดำเนินการแล้ว ร้อยละ 42  ของเป้าหมาย โดยมีการปรับแผนการดำเนินงาน เช่น ใช้วิธีการจัดอบรมด้วยสื่อออนไลน์ให้แก่เกษตรกรมากขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด - 19 

ด้าน ดร.ทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการ สศก. กล่าวในรายละเอียดของผลการดำเนินโครงการ ว่าสำหรับโครงการที่สามารถดำเนินการไปได้อย่างรวดเร็ว ได้แก่ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตแมลงเศรษฐกิจ ซึ่งสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้และศึกษาดูงานให้เกษตรกรในการผลิตแมลงเศรษฐกิจได้ 560 ราย คิดเป็นร้อยละ 93 ของเป้าหมาย 600 ราย มีการจัดทำจุดเรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพและมูลค่าการผลิตแมลงเศรษฐกิจ 4 ศูนย์ คิดเป็นร้อยละ 80 ของเป้าหมาย 5 ศูนย์  โครงการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสมุนไพร ซึ่งดำเนินการพัฒนาความรู้และศักยภาพเกษตรกรบริหารจัดการการผลิตพืชสมุนไพร รวม 960 ราย คิดเป็นร้อยละ 86 ของเป้าหมาย 1,110 ราย 

และ โครงการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรเศรษฐกิจชีวภาพตามความต้องการของตลาด ดำเนินการจัดทำฐานข้อมูลสมุนไพรและแผนการผลิตตามความต้องการตลาด 28 จังหวัด คิดเป็นร้อยละ 88 ของเป้าหมาย 32 จังหวัด ก่อสร้างโรงอบพลังงานแสงอาทิตย์ต้นทุนต่ำในเขตปฏิรูปที่ดิน 34 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 85 ของเป้าหมาย 40 แห่ง และการฝึกอบรมหลักสูตรการใช้ประโยชน์และการดูแลรักษาโรงอบพลังงานแสงอาทิตย์ต้นทุนต่ำ               151 ราย คิดเป็นร้อยละ 101  ของเป้าหมาย 150 ราย  

ขณะที่ อีก 3 โครงการจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องในไตรมาส 3 และ ไตรมาส 4 เนื่องจากบางกิจกรรมต้องใช้ระยะเวลาในการเพาะขยายพันธุ์ กระจายพันธุ์ให้อยู่ในช่วงเวลาที่เหมาะสม ประกอบด้วย โครงการผลิตและขยายสัตว์น้ำพันธุ์ดี  ขณะนี้ ได้ผลิตพันธุ์สัตว์น้ำพันธุ์หลัก และพ่อแม่พันธุ์ขยายแล้วจำนวน 487,600 ตัว คิดเป็นร้อยละ 36 ของเป้าหมาย 1,339,000 ตัว และผลิตและสนับสนุนพันธุ์สัตว์น้ำพันธุ์ดี ให้แก่เกษตรกร 401,400 ตัว คิดเป็นร้อยละ 33 ของเป้าหมาย 1,207,200 ตัว  โครงการสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรชีวภาพสู่เชิงพาณิชย์ ดำเนินการกระจายพันธุ์พืชสมุนไพร 12,303 ต้น/กิโลกรัม/หัว              คิดเป็นร้อยละ 40 ของเป้าหมาย 30,526 ต้น/กิโลกรัม/หัว   และโครงการศึกษาวิเคราะห์เชิงเศรษฐกิจของการนำผลพลอยได้และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องและพลังงานทางเลือก ซึ่งดำเนินการโดยสำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร               ของ สศก. มีดำเนินการสำรวจและเก็บรวบรวมข้อมูลงานวิจัยในพื้นที่แล้วร้อยละ 57   ทั้งนี้ สศก. มีแผนจะลงพื้นที่ในเดือน กรกฎาคม – สิงหาคม 2565 ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พิ้นที่จังหวัด  ศรีสะเกษ และภาคกลาง พื้นที่จังหวัดนครนายก สระบุรี ปทุมธานี เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง

จาก https://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 1 มิถุนายน 2565

ทางรอดจากวิกฤต Perfect Storm มรสุมเศรษฐกิจรอบนี้ไทยยังพอมีทางออก

ทางรอดจากวิกฤต Perfect Storm มรสุมเศรษฐกิจรอบใหม่มีวิธีการตั้งรับยังไง ประเทศไทยมีอะไรที่ต้องทำเพื่อให้รอดปลอดภัยจากวิกฤตครั้งนี้ ภาคเกษตร ท่องเที่ยว การลงทุน จะได้รับอานิสงส์อย่างไร ไปฟังคำตอบกัน

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่และเลขานุการ บริษัท ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Kobsak Pootrakool โดยระบุว่า ทางรอดจากวิกฤต Perfect Storm ทุกวิกฤต ไม่กระทบทุกคนเท่ากัน มีคนได้ คนเสีย มีคนรอด มีคนล้ม

สำหรับวิกฤต Perfect Storm ที่กำลังก่อตัวจากปัญหาในยุโรป สหรัฐ และจีน ก็เช่นเดียวกัน กำลังเปิดโอกาสบางอย่างให้เราหยิบฉวย และยังมีเวลาพอ ให้เราเตรียมการเพื่อก้าวข้ามความท้าทายที่รออยู่ข้างหน้า

1. จะเกิดอะไรขึ้นในช่วงต่อไป ?

ความยืดเยื้อของความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและสหรัฐ จะนำมาซึ่งผลกระทบต่อราคาพลังงาน และราคาอาหารโลก เพราะสิ่งที่เกิดในรอบนี้ ไม่ใช่ความขัดแย้งปกติ แต่อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของดุลอำนาจโลก ที่มหาอำนาจยักษ์ใหญ่กำลังเล่นเกมแรง เอาอนาคตเป็นเดิมพัน รุกไล่รัสเซียให้โดดเดี่ยว จนมุม ไม่สามารถเป็นคู่แข่งของตนได้ในอนาคต

ล่าสุด เมื่อคืนนี้ สหภาพยุโรปประกาศ Sanctions รอบใหม่ ที่จะห้ามนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย (ทางเรือ) และจะลดการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียไป 90% ในช่วงปลายปี  ทั้งหมด จะกระทบต่อราคาพลังงานโลกให้อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง

แต่ที่ไม่ค่อยมีคนพูดถึงกัน ก็คือ ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อนี้จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคการเกษตร เพราะว่ารัสเซียเป็นผู้ส่งออกปุ๋ยยูเรียอันดับหนึ่งของโลก ที่ประมาณ 13-14% ของตลาด และ รัสเซียกับเบลาลุส (รวมกัน) เป็นผู้ส่งออกโปแตสอันดับหนึ่งของโลก ที่ประมาณ 40-41% ของตลาด

เมื่อราคาพลังงานและราคาสินค้าเกษตรสูงยืดเยื้อ ปัญหาเงินเฟ้อของประเทศต่างๆ ก็จะไม่จบง่าย เพิ่มดีกรีความรุนแรงให้กับ "สงครามกับเงินเฟ้อ" ของเฟดและธนาคารกลางประเทศต่างๆ ไปอีกระดับ เพราะสิ่งที่สำคัญกับธนาคารกลางเหล่านี้ ไม่ใช่แค่เงินเฟ้อ Peak แล้ว ไม่ขึ้นต่อ แต่เงินเฟ้อต้องลงมา และต้องลงมาที่เป้าหมาย 2% หรือ 3% แล้วแต่ละประเทศ

มีนัยยะว่า ดอกเบี้ยนโยบายต้องขึ้นไปสูงพอสมควร สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์กันไว้ เพื่อจัดการปัญหาเรื่องนี้ รวมหมายถึง การเร่งดูดสภาพคล่องกลับ ทั้งหมดนี้ จะสร้างความผันผวน แปรปรวนให้กับตลาด เหวี่ยงขึ้นลงไปมา ระหว่างที่ตลาดเดาใจว่า Next move ของธนาคารกลาง คืออะไร และนักลงทุนจะอ่อนไหวต่อคำพูดของบางคน อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ทั้งด้านบวกและลบ

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่น่าแปลกใจว่า ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ฟองสบู่ที่เคยพองโตขึ้นในช่วงโควิด เช่น Dow Jones, Nasdaq, ราคาพันธบัตร, ราคาคริปโต ก็ได้แฟบลงมาพอสมควร

ล่าสุด ฟองสบู่ตลาดอสังหาของสหรัฐก็กำลังเริ่มออกอาการเช่นกัน ทั้งนี้ ดอกเบี้ยที่จะขึ้นสูงเพื่อสู้เงินเฟ้อ จะนำมาซึ่งการชะลอตัวของเศรษฐกิจในหลายๆ ประเทศ ในที่สุด และอาจจะนำไปสู่ภาวะถดถอยหรือ Recession ใน 1-2 ปีข้างหน้า

ยิ่งไปกว่านั้น Emerging Markets หลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศเล็กๆ ที่กู้ยืมเงินมามาก ตั้งแต่ก่อนโควิดและระหว่างโควิด ก็จะเริ่มเข้าสู่ช่วงคับขัน และอาจเข่าอ่อน กลายเป็นวิกฤต เช่น ศรีลังกา ปากีสถาน และอาจลุกลามไปอีกหลายๆ ประเทศ

เมื่อนักลงทุนได้โจมตีประเทศเล็กๆ เรียบร้อยหมดแล้ว ก็จะค่อยๆ มองหาประเทศที่ใหญ่ขึ้น ภายใต้คำถามว่า "Who is next?" หรือ เหยื่อรายต่อไปจะเป็นใคร ทั้งหมดนี้อาจทำให้ Emerging markets ทั้งกลุ่ม อยู่ภายใต้แรงกดดันจากการโจมตีของนักลงทุนเหล่านี้ ในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า

ท้ายสุด สิ่งที่จีนกำลังเผชิญอยู่ ปัญหาวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นปัญหาภายในที่สะสมมาหลายสิบปี ก็จะต้องใช้เวลาในการแก้ไข จากประสบการณ์จากประเทศต่างๆ พบว่า อย่างน้อยๆ เศรษฐกิจจีนจะไม่ค่อยโตไปอีกระยะ และคงต้องใช้เวลา 2-3 ปีขึ้นไป ในการล้างหนี้เสียต่างๆ ให้เรียบร้อย (ไม่ต่างจากไทยหลังปี 1997 และสหรัฐหลังปี 2008)

การที่จีนซึ่งเป็นพลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก โตไม่ได้ จะซ้ำเติมให้ผลกระทบจาก "สงครามในยุโรป" และ "สงครามกับเงินเฟ้อ" แย่ลงไปจากเดิม ก็ได้แต่หวังใจว่า จะมีสิ่งมาช่วยให้ทั้งหมดไม่เกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นแต่เบากว่าที่คาดไว้ เพราะครั้งนี้ ถ้าไม่มีใครเปลี่ยนใจ ไม่มีใครถอย ในยุโรป ทุกอย่างก็จะเป็น Slow motion train wreck หรือรถไฟที่เบรกแตกรอชนกำแพง

2. ถ้าเป็นเช่นนี้ โอกาสของเราอยู่ตรงไหน ?

โอกาสของไทยมีอยู่หลายจุด

ภาคเกษตร - ในฐานะที่เราเป็นผู้ผลิตอาหารและสินค้าเกษตรให้กับโลก รวมไปถึงเป็นผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค เราจะได้รับประโยชน์จากวิกฤตที่เกิดขึ้น ล่าสุด ราคาปาล์ม ราคายาง ดีเป็นพิเศษ ก็ช่วยให้ภาคใต้ของเรา ภาคเกษตรของเราไปได้ดีขึ้น การส่งออกอาหาร จะเป็นอีกอย่างที่ทุกประเทศต้องการจากเรา โดยเฉพาะในยุคข้าวยากหมากแพง และในยุคที่หลายๆ ประเทศกำลังห้ามการส่งออกอาหารเพื่อปกป้องประชาชนของเขาเอง

ภาคท่องเที่ยว - ในฐานะพื้นที่ที่สงบสุดในโลก และการเปิดประเทศที่จะเอื้ออำนวย ไทยก็จะเป็นจุดหมายต้นๆ ในการกลับมาของนักท่องเที่ยว ล่าสุด ตลาดอสังหาฯ ที่ภูเก็ต ปีนี้ยอดขายคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 50% จากการซื้อของคนยุโรป รัสเซีย และสหรัฐ ที่หาบ้านหลังที่สอง หลบร้อนมาหาเย็น

ภาคการลงทุน - ความขัดแย้งเผชิญหน้าระหว่างสหรัฐ-รัสเซีย ระหว่างสหรัฐ-จีน ที่กำลังลุกลามบานปลาย จะส่งผลให้นักลงทุนจำนวนมากต้องมองหาพื้นที่ใหม่ในการลงทุน ซึ่งหมายความว่าอาเซียนจะเป็นจุดการลงทุนที่น่าสนใจที่สุดในโลกในช่วงต่อไป

ยิ่งอินเดียยังสั่งซื้อสิ่งต่าง ๆ จากรัสเซีย ยังคงความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัสเซียเอาไว้ อาเซียนก็จะยิ่งดูโดดเด่นยิ่งขึ้น ในสายตาของนักลงทุนที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจเอเชีย ประเทศไทยก็จะได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ ส่วนจะได้มากได้น้อยก็จะอยู่กับฝีมือในการจับปลาของเรา

3. แล้วเราต้องเตรียมการอย่างไร เพื่อรับมือกับ Perfect Storm ?

ยามที่มีโรคระบาด เราต้องสุขภาพดี ยามที่ฝนจะมา เราต้องหาเสื้อมากันฝน ยามที่พายุไต้ฝุ่นเข้า ชาวประมงต้องรู้จักหลบอยู่บ้าน ใช้เวลาเตรียมการซ่อมแหอวน พร้อมหยิบฉวยโอกาสจับปลาหลังจากนั้น ซึ่งจะมีปลามากมายรออยู่

เรื่องแรกที่ต้องทำ คือ การบรรเทาผลกระทบจากราคาพลังงาน ซึ่งในส่วนนี้ คงต้องช่วยผ่อนหนักเป็นเบาให้ประชาชน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย-ปานกลาง ที่กว่าเงินเดือนจะปรับขึ้นให้ทันกับเงินเฟ้อก็ต้องอีกระยะหนึ่ง โดยสำหรับพนักงานปกติ ก็คงต้องต้นปีหน้า

อย่างไรก็ตาม จากความยืดเยื้อของวิกฤตในยุโรป ราคาพลังงานโลกอาจจะสูงไป 1-2 ปี รัฐคงสามารถช่วยพยุงราคาได้เพียงระยะหนึ่ง แล้วคงต้องค่อยๆ ปล่อยให้เพิ่มเป็นขั้นบันได (ชะลอไว้ได้มากที่สุด ก็ปลายปี) เพราะไม่เช่นนั้น หากฝืนเอาไว้ เมื่อรัฐหมดเงิน ไปปล่อยทีเดียว ก็จะช็อคระบบ แล้วจะเสียหายมาก

เรื่องที่สองที่ต้องทำ คือ "สร้าง Momentum ให้เศรษฐกิจไทย" เพื่อให้มีกำลังพอ ที่จะสามารถผ่านวิกฤตลูกนี้ไปให้ได้ การหยิบฉวยโอกาสต่างๆ ที่เปิดขึ้น ในภาคเกษตร ในภาคท่องเที่ยว ในภาคการลงทุน จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยยังสามารถขยายตัวได้ และเป็นภูมิคุ้มกันภัยให้กับประเทศ

ราคาอาหารโลกที่เพิ่มขึ้นจากวิกฤตครั้งนี้ จะช่วยคนไทยในภาคเกษตรประมาณ 20 ล้านคน แต่สิ่งที่รัฐต้องช่วยทุกคน ก็คือ การเตรียมการเรื่องปุ๋ย ที่ราคาแพงและอาจขาดแคลนในอนาคต

หากทำได้ คน 1/3 ของประเทศ ก็จะได้ประโยชน์จากวิกฤต Perfect Storm

ภาคท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ที่ไม่มีใครมาเที่ยวไทยกว่า 2 ปี ก็จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ในการฟันฝ่าปัญหารอบนี้ ภาคท่องเที่ยวโดยรวม มีขนาดประมาณ 15% ของ GDP จ้างงานคนที่เกี่ยวเนื่องนับ 10 ล้านคน

ส่วนที่เป็นการเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ มีขนาดประมาณ 2/3 หรือ 10% ของ GDP ที่หายไปมา 2 ปีกว่าๆ ถ้าเราพลิกฟื้นมาได้ 20-30% ก็จะหมายความว่า GDP ของไทยปีนี้ จะขยายตัวได้เพิ่มจากส่วนอื่นๆ อีก 2-3%

ล่าสุด ตัวเลขของนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดือนพฤษภาคม ที่ประมาณ 5 แสนคน มีนัยยะต่อไปว่า โรงแรมต่างๆ เริ่มที่จะเรียกพนักงานกลับมา และช่วงของการฟื้นตัวของภาคนี้กำลังมาถึง

สอดรับกับภาพของสนามบินสุวรรณภูมิที่กำลังคึกคักขึ้นอย่างผิดหูผิดตา หากเราบุกเรื่องชวนคนมาเที่ยวไทยอย่างเต็มที่ ก็จะมีส่วนสำคัญในการสร้าง Momentum ให้เศรษฐกิจไทย ให้พร้อมที่จะเข้าไปสู่ช่วง Perfect Storm ต่อไป

โดยสองส่วนนี้ หมายความว่า คนภาคเกษตร 20 ล้านคน และคนภาคท่องเที่ยวอีก 10 ล้านคน ได้รับประโยชน์บางส่วนจากวิกฤตที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ เมื่อรวมถึงการขับเคลื่อนเรื่องโครงการลงทุนใน EEC ที่อนุมัติไว้แล้ว การลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน การปลดแก้ไขกฏระเบียบต่างๆ เพื่อให้ต่างชาติมาลงทุนในไทยได้ง่ายขึ้น ก็จะเป็นเม็ดเงินหนึ่งอีกส่วนหนึ่ง ที่มาช่วยหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจไทย ช่วยให้พอจะเดินไปข้างหน้าได้

เรื่องสุดท้ายที่ต้องทำ คือ ปิดจุดอ่อน ทำให้ไทยไม่ดูอ่อนแอ เพราะสิ่งที่รออยู่ ใน 2 ปีข้างหน้า คือ วิกฤต Emerging Markets ที่ประเทศไทยต้องพยายามทำตัวให้ดี ให้แตกต่าง ไม่เป็นเป้าของการโจมตี ในช่วงดังกล่าว นักลงทุนจะพยายามหาว่าใครที่จะเป็นเป้าหมายถัดไป ใครจะเป็นประเทศที่ล้มรายต่อไป ซึ่งหัวใจของเรื่องนี้อยู่ที่ "การไม่ล่อเป้า"

ประเทศที่ไม่อยู่ใน Lists โจมตีของนักลงทุน คือ ประเทศที่มีฐานะการคลังไปได้ ไม่ขาดดุลจนเกินไป ไม่มีหนี้ภาครัฐมากจนเกินไป ดังนี้

ถ้าประเทศไทยสามารถใช้ช่วงเวลาที่เหลือ สร้าง Momentum ให้กับเศรษฐกิจไทย ให้ยังขยายตัวได้ จากการดูแลภาคการเกษตร การโปรโมทเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศให้กลับคืนมาใน 2 ปีข้างหน้า ให้ได้สักครึ่งหนึ่งของอดีต (หรือ 15-20 ล้านคนต่อปี) เราก็จะดูดี ในสายตาของนักลงทุน

รายได้จากภาคเกษตรและภาคท่องเที่ยว จะช่วยให้ดุลบัญชีเดินสะพัดดีขึ้น และ GDP ที่ขยายตัวจากส่วนนี้ จะช่วยให้หนี้ภาครัฐต่อ GDP ปรับลดลง ปิดจุดอ่อนของเราไปในตัว

ดังนั้น ในช่วงข้างหน้า เราคงต้องเลือกใช้เงินงบประมาณที่มีจำกัด ให้ไปสู่เรื่องที่สำคัญต่อความเป็นตายของประเทศ ทำให้เงินที่ออกไป 1 บาท มีค่ามากที่สุด ในเรื่องที่ใช่ที่สุด (โครงการอะไรที่เริ่มส่งผลน้อยแล้ว ก็เอาเงินส่วนนั้นมาให้กับโครงการที่ใช่ โครงการที่บรรเทาผลกระทบต่อประชาชน) ฐานะการคลังของเราก็จะดีขึ้นอีกด้านเช่นกัน

ส่วนภาคเอกชนก็สามารถช่วยในการฝ่าวิกฤตได้ โดยดูแลฐานะของตนเองให้อยู่ในระดับที่ดี ให้พร้อมที่จะรับกับความผันผวนที่จะเกิดขึ้น ถ้าเราเตรียมการดีในช่วงเวลาที่พอมีอยู่ เราก็จะผ่านปัญหารอบนี้ไปได้ ถ้าเราไม่เตรียมการ เราอาจจะเอาตัวไม่รอด ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคนครับ

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 1 มิถุนายน 2565

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทวันนี้เปิด "อ่อนค่า"ที่ระดับ34.31บาท/ดอลลาร์

ค่าเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.20-34.40 บาท/ดอลลาร์ -ความกังวลปัญหาเงินเฟ้อของเฟดอาจหนุนให้เงินดอลลาร์ยังมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นได้ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันเงินบาทอ่อนค่า

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.31 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.24 บาทต่อดอลลาร์

 นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทยระบุว่าแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า ความผันผวนในตลาดการเงินที่เพิ่มขึ้น จากความไม่แน่นอนของการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ตามความกังวลปัญหาเงินเฟ้อ อาจหนุนให้เงินดอลลาร์ยังมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นได้บ้าง ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันเงินบาทอ่อนค่า นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจทยอยปิดสถานะเก็งกำไรการแข็งค่าของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าทดสอบแนวต้านแถว 34.40 บาทต่อดอลลาร์ได้

อย่างไรก็ดี เงินบาทอาจไม่ได้อ่อนค่าทะลุแนวต้านไปมาก เนื่องจากระดับดังกล่าวเป็นโซนที่ผู้ส่งออกต่างรอทยอยขายเงินดอลลาร์ อีกทั้ง ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติอาจไม่ได้ไหลออกรุนแรง เนื่องจากภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย รวมถึงเศรษฐกิจจีนก็เริ่มดีขึ้น ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันต่อสินทรัพย์ฝั่ง EM Asia หากตลาดกลับมาปิดรับความเสี่ยง

 ทั้งนี้ เรามองว่า กรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในช่วงนี้ อาจอยู่ในโซน 34.00-34.40 จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาปรับเปลี่ยนทิศทางการเคลื่อนไหวของเงินบาท อนึ่ง ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง เราคงแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ ใช้ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

 มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.20-34.40 บาท/ดอลลาร์

ผู้เล่นในตลาดการเงินพลิกกลับมาอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวมากขึ้น ท่ามกลางความไม่แน่นอนของแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด หลังจากที่ล่าสุด หนึ่งในคณะกรรมการนโยบายการเงินเฟด (FOMC) Christopher Waller ได้ออกมาสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ต่อเนื่องติดต่อกัน จนกว่าเฟดจะสามารถคุมเงินเฟ้อได้ ซึ่งมุมมองดังกล่าวได้ทำให้ ผู้เล่นในตลาดเริ่มกลับมามองว่า เฟดอาจขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุม 3 ครั้งถัดไป (ข้อมูลจาก CME FedWatch Tool)

 ความกังวลโอกาสเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง รวมถึงความผันผวนของราคาน้ำมัน หลังจากที่ราคาน้ำมันได้พุ่งขึ้นใกล้จุดสูงสุดในปีนี้รับข่าวสหภาพยุโรปมีมติระงับการนำเข้าน้ำมันบางส่วนจากรัสเซีย ก่อนที่จะปรับตัวลงอย่างรวดเร็ว จากรายงานว่า กลุ่มโอเปกพลัสอาจพิจารณาระงับการมีส่วนร่วมของรัสเซียในข้อตกลงเกี่ยวกับการผลิตน้ำมัน ได้เป็นปัจจัยที่กดดันบรรยากาศในตลาดการเงินฝั่งสหรัฐฯ ส่งผลให้ดัชนี S&P500 ย่อตัวลง -0.63% เช่นเดียวกันกับฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลดลง -0.72% จากความกังวลแนวโน้มนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นของธนาคารกลางยุโรป (ECB) และผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากภาวะเงินเฟ้อสูง หลังจากที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ในเดือนพฤษภาคม พุ่งขึ้นแตะระดับ 8.1% สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 7.7% และการปรับตัวขึ้นของราคาสินค้าเริ่มขยายเป็นวงกว้างมากขึ้น

ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ แนวโน้มเฟดอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องเพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ ได้หนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นแตะระดับ 2.86% อย่างไรก็ดี จะเห็นได้ว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ยังมีอยู่อย่างจำกัด เนื่องจากผู้เล่นบางส่วนยังคงรอจังหวะยีลด์ปรับตัวขึ้นในการเข้ามาซื้อบอนด์ เพื่อถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ซึ่งเรามองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มแกว่งตัว sideways จนกว่าตลาดจะรับรู้ความชัดเจนของการขึ้นดอกเบี้ยเฟด ผ่าน Dot Plot ใหม่จากการประชุมเดือนมิถุนายน

 ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 101.8 จุด หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังจากที่ตลาดมองว่าเฟดยังมีโอกาสเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อคุมเงินเฟ้อ นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังได้กดดันให้ เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) อ่อนค่าต่อเนื่องแตะระดับ 128.8 เยนต่อดอลลาร์ และหนุนการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ ทั้งนี้ การปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ราคาทองคำปรับตัวลดลงแตะระดับ 1,838 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเรามองว่า ยังมีความเสี่ยงที่ราคาทองคำอาจปรับตัวลดลงต่อทดสอบแนวรับใกล้ระดับ 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งอาจเป็นจุดที่ผู้เล่นต่างรอจังหวะเข้าซื้ออีกรอบ

 สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอจับตาแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรม (ISM Manufacturing PMIs) ในเดือนพฤษภาคม โดยตลาดคาดว่า ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นท่ามกลางปัญหาเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงและผลกระทบจากมาตรการ Lockdown ของจีนในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ปัญหา Supply Chain ยังคงยืดเยื้อ อาจกดดันให้ภาคการผลิตสหรัฐฯ ขยายตัวในอัตราชะลอลง สะท้อนจาก ดัชนี PMI ภาคการผลิตที่อาจลดลงเล็กน้อยสู่ระดับ 55 จุด (ดัชนีเกิน 50 จุด หมายถึง ภาวะขยายตัว)

 นอกจากนี้ ตลาดจะรอติดตาม รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจโดยเฟดสาขาต่างๆ หรือ Fed Beige Book ในช่วงเช้ามืดของวันพฤหัสฯ เพื่อช่วยประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยรายงานอาจยังคงระบุแนวโน้มการขยายตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจ ทว่าภาคธุรกิจอาจมีความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจมากขึ้นจากปัญหาเงินเฟ้อและการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด

 ส่วนในฝั่งไทย นักวิเคราะห์มองว่า ภาคการผลิตอุตสาหกรรมอาจขยายตัวในอัตราชะลอลงจากผลกระทบของนโยบาย Zero COVID ในจีนรวมถึงต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตในเดือนพฤษภาคมอาจลดลงสู่ระดับ 51.5 จุด เช่นเดียวกันกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ (Business Sentiment) ก็มีแนวโน้มปรับตัวลดลงสู่ระดับ 47.5 จุด สะท้อนความกังวลของภาคธุรกิจท่ามกลางปัญหาเงินเฟ้อสูงและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ที่อาจกระทบเศรษฐกิจไทยได้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่าเงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 34.33-34.35 บาทต่อดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 34.22 บาทต่อดอลลาร์ฯ เงินบาทอ่อนค่าลง ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ทยอยแข็งค่าขึ้นตามทิศทางบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ รับความเป็นไปได้ที่จะเห็นสัญญาณคุมเข้มนโยบายการเงินอย่างต่อเนื่องของธนาคารกลางสหรัฐฯ

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 34.20-34.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ และสถานการณ์ยูเครน-รัสเซีย ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ประกอบด้วย ดัชนี PMI/ISM ภาคการผลิตเดือนพ.ค. ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงานเดือนเม.ย. และรายงาน Beige Book ของเฟด

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 1 มิถุนายน 2565

“พาณิชย์”เตือน Check ถิ่นกำเนิดสินค้าก่อนส่งออก ป้องถูกตรวจสอบย้อนหลัง

“พาณิชย์”เตือน Check ถิ่นกำเนิดสินค้าก่อนส่งออกประเภท Form CO ทั่วไป เพื่อรับรองว่าเป็นสินค้าไทย  ป้องกันการถูกตรวจสอบย้อนหลังจากประเทศปลายทาง หรือถูกเรียกเก็บอากรเพิ่ม

นายพิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา หน่วยงานศุลกากรสหรัฐฯ (U.S. Customs and Boarder Protection: CBP) และหน่วยงานป้องกันการฉ้อฉลด้านศุลกากรแห่งคณะกรรมาธิการยุโรป (European Anti-Fraud Office: OLAF) ได้ขอความร่วมมือกรมฯ ตรวจสอบถิ่นกำเนิดสินค้าจำนวน 15 สินค้า จากผู้ส่งออกจำนวน 29 ราย

เนื่องจากสงสัยว่าผู้ผลิตจากประเทศที่สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปมีมาตรการทางการค้า เช่น มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping Measure: AD) อาจแอบอ้างว่าไทยเป็นแหล่งกำเนิดสินค้า เพื่อหลบเลี่ยงการถูกเรียกเก็บอากร AD ของสหรัฐฯ/สหภาพยุโรป เป็นต้น

โดยผลการตรวจสอบ พบว่า ผู้ส่งออกไทยรวม 13 ราย หรือร้อยละ 45 ของผู้ส่งออกที่ถูกตรวจสอบได้แอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าว่าเป็นสินค้าไทย 8 สินค้า ได้แก่ ฟูก สปริงในฟูก อะลูมิเนียมฟอยล์ น้ำผึ้ง ตะปู โซลาร์และแผงโซลาร์ จักรยานไฟฟ้า และแบตเตอรี่ลิเทียม ซึ่งมีรูปแบบการหลบเลี่ยงต่างๆ เช่น นำเข้าชิ้นส่วนมาประกอบในไทย หรือนำเข้ามาผลิตและแปรสภาพเพียงเล็กน้อย ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้าที่สหรัฐฯ หรือสหภาพยุโรปกำหนด จึงทำให้สินค้ายังคงถิ่นกำเนิดเดิม ไม่ใช่ไทย

ทั้งนี้ ไตรมาสแรกของปี 2565 สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปได้จับตามองสินค้าของไทย ได้แก่ ท่อเหล็กไร้ตะเข็บ ชิ้นส่วนยานยนต์ ยางสำหรับรถบัสหรือรถบรรทุก ไฟเบอร์กลาส เฟอร์นิเจอร์ไม้ และข้อต่อท่อทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า เป็นต้น

“ผู้ส่งออกไทยจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับหลักเกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้าที่ประเทศนำเข้าปลายทาง เช่น สหรัฐฯ หรือสหภาพยุโรปกำหนด โดยตรวจสอบว่าสินค้าที่จะส่งออกนี้ มีกระบวนการผลิตที่ได้ตามถิ่นกำเนิด มิใช่นำเข้าสินค้ามาเพื่อแอบอ้างเป็นถิ่นกำเนิดไทยเพื่อหลบเลี่ยงมาตรการทางการค้าที่ประเทศนำเข้ากำหนด เนื่องจากกรมฯ กังวลว่าหากถูกประเทศปลายทางขอตรวจสอบย้อนหลัง

และพบว่าสินค้าผลิตไม่ถูกต้องตามกฎถิ่นกำเนิดที่ประเทศปลายทางกำหนด จะส่งผลให้ผู้ส่งออกถูกเรียกเก็บอากรเพิ่มจากประเทศปลายทาง และไทยอาจถูกมองว่าเป็นฐานในการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าได้ ดังนั้น ผู้ส่งออกควรตรวจสอบว่าสินค้าที่จะส่งออกมีการผลิตถูกต้องตามกฎถิ่นกำเนิดที่ประเทศปลายทางกำหนดหรือไม่ เพื่อป้องกันผลเสียหายดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต”

ทั้งนี้กรมฯ ได้เฝ้าระวังสินค้าที่อาจแอบอ้างไทยเป็นถิ่นกำเนิด โดยใช้ฐานข้อมูลระบบตรวจพิสูจน์ถิ่นกำเนิดสินค้าและติดตามสถานการณ์การนำเข้าเพื่อตรวจสอบสถิติการนำเข้า-ส่งออก รายการสินค้าที่สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปใช้มาตรการทางการค้าต่อประเทศอื่นๆ เช่น จีน เพื่อวิเคราะห์ติดตามว่า ไทยนำเข้าสินค้าดังกล่าวจากจีนและส่งออกไปสหรัฐฯ หรือสหภาพยุโรปในปริมาณใกล้เคียงกันหรือไม่ นอกจากนี้ กรมฯ ได้ให้ความร่วมมือและประสานใกล้ชิดกับหน่วยงาน CBP และหน่วยงาน OLAF เพื่อตรวจสอบโรงงานและพิจารณาว่าเป็นสินค้าที่ผลิตได้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้าหรือไม่

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 1 มิถุนายน 2565