|
|
ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล(เดือนมีนาคม 2553) |
แฉ11รายคว้าโควตาน้ำตาลไร้ที่มา
46โรงงานน้ำตาลทรายรับไม่คุ้นตาและรู้จัก 11 รายที่พาณิชย์คัดสรรส่งมาให้รับโควตาพิเศษ 1 ล้านกระสอบ แต่พร้อมจัดสรรให้เริ่ม5 เม.ย.นี้เป็นต้นไป และต้องรับให้หมดภายในเดือนเดียวกัน เพื่อแก้ปัญหาน้ำตาลขาดแคลน กอน.นัดถก 5 เม.ย.นี้ เช็กที่มาของ 11 รายชื่อ
นายวิบูลย์ ผาณิตวงศ์ รองประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า โรงงานน้ำตาลทราย 46 แห่ง ที่เปิดการผลิตน้ำตาลปีนี้ พร้อมจะจัดสรรน้ำตาลทรายโควตาพิเศษของกระทรวงพาณิชย์ตามบัญชีรายชื่อที่ส่งมา 11 รายได้ตั้งแต่วันที่ 5 เม.ย. เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์ได้ยืนยันว่ารายชื่อดังกล่าวคัดเลือกมาอย่างโปร่งใส และขอให้มีการรับน้ำตาลทรายโควตาพิเศษที่จัดสรรให้พาณิชย์ 1 ล้านกระสอบ (1แสนตัน) จากโรงงานทั้งหมดภายในเดือนเม.ย. เพื่อให้สามารถนำน้ำตาลดังกล่าวไปแก้ไขปัญหาภาวะขาดแคลนโดยเร็ว
เราเห็นว่ารายชื่อนั้นพาณิชย์ยืนยันความโปร่งใสมีการคัดเลือกมาอย่างดีแล้ว โรงงาน 46 แห่งจะเฉลี่ยจัดสรรน้ำตาลให้ แต่ก็ยอมรับว่าส่วนตัวไม่เคยเห็นรายชื่อ 11 รายมาก่อนและโรงงานส่วนใหญ่ก็ระบุว่า 11 รายไม่เคยเป็นลูกค้ามาก่อนเช่นกันนายวิบูลย์กล่าว
ทั้งนี้ สมาคมฯ จะทำหนังสือแจ้งไปว่าน้ำตาลที่แต่ละโรงงานมีอยู่นั้นอาจไม่ตรงกับความต้องการของพาณิชย์ทั้งหมด เพราะบางรายเหลือน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ บางรายเหลือขาวธรรมดา และบางรายเป็นกึ่งรีไฟน์ ขณะเดียวกันการส่งมอบน้ำตาลจะทำตามขั้นตอนปกติคือผู้ซื้อจะต้องจ่ายเงินสดมาก่อน ส่วนกรณีที่พาณิชย์อาจขอจัดสรรน้ำตาลเพิ่มอีกนั้น ยอมรับว่าโรงงานส่วนใหญ่ไม่มีน้ำตาลเพียงพอที่จะเพิ่มให้อีก
นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) กล่าวว่า กรณีที่นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ ระบุว่าได้รายชื่อลูกค้า 11 รายที่จะมาซื้อน้ำตาลทรายโควตาพิเศษที่กอน.จัดสรรให้ 1 ล้านกระสอบและล่าสุดขึ้นงวดไปให้แล้วกว่า 8 แสนกระสอบมาจากรายชื่อของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) นั้นคงจะหารือในการประชุมกอน.วันที่ 5 เม.ย.นี้
คงจะต้องเรียกเลขาฯ สอน. มาหารือเรื่องนี้ ซึ่งช่วงนี้เลขาฯ ไปดูงานต่างประเทศ เบื้องต้นเข้าใจว่าพาณิชย์อาจจะนำมาจากฐานข้อมูลของสอน. ก็ได้ แต่จะต้องเช็คให้ดีก่อนว่าใช่ไหมนายวิฑูรย์กล่าว
นายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการสอน. กล่าวว่า ช่วงที่ปริมาณน้ำตาลตึงตัว สอน.ได้ร่วมมือกับพาณิชย์ด้วยการส่งฐานข้อมูลรายชื่อของลูกค้าจากโรงงานไปให้พาณิชย์เพื่อไปตรวจสอบปลายทางว่าจัดส่งให้ถึงมือผู้บริโภคหรือไม่ แต่ยืนยันว่าการคัดเลือกรายชื่อ 11 รายดังกล่าว ทางพาณิชย์เป็นคนเลือกเอง แต่จะนำมาจากฐานลูกค้าของสอน.หรือไม่ขอเช็ครายละเอียดอีกครั้ง
จาก http://www.manager.co.th วันที่ 31 มีนาคม 2553
นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ กล่าวถึงกรณีการตรวจพบข้อมูลว่าบริษัทเอกชนที่เข้ามาซื้อน้ำตาลทรายโควตาพิเศษของกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้รับจัดสรรจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลน 1 แสนตัน (1 ล้านกระสอบ) จำนวน 6 ราย จากทั้งหมด 11 ราย เป็นกลุ่มบริษัทเดียวกันว่า การคัดเลือกเน้นไปที่เรื่องของศักยภาพบริษัทว่ามีเพียงพอที่จะเข้ามาทำหน้าที่ในการกระจายน้ำตาล ในพื้นที่ที่เกิดปัญหาขาดแคลนได้หรือไม่ รวมถึงกำลังเงินด้วย เนื่องจากการเข้ามารับน้ำตาลต้องใช้เงินสดเข้าไปซื้อ และที่สำคัญรายชื่อบริษัทเหล่านี้ ก็นำมาจากบัญชีของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ต่อข้อถามว่า การจดทะเบียนบริษัทกลุ่มนี้ พบว่าบางบริษัทแจ้งจดทะเบียนทำธุรกิจเกี่ยวกับเรื่องเครื่องเสียง นางพรทิวา ตอบเสียงแข็งว่า การจดทะเบียนทางธุรกิจ สามารถแจ้งการจำหน่ายสินค้าได้หลากหลายไม่จำเป็นต้องระบุเฉพาะเจาะจงเรื่องการจำหน่ายน้ำตาลทรายอย่างเดียว
ด้านนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานกอน. กล่าวว่า เท่าที่หารือกับนายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการสอน. ยืนยันว่าเอกชนทั้ง 11 ราย ไม่ใช่รายชื่อของสอน. แต่อาจมาจากฐานข้อมูลที่มีอยู่ โดยจะมีการหารือกับเลขาธิการสอน.ในวันที่ 1 เม.ย. จากนั้นจะนำเข้าหารือในการประชุมกอน.อีกครั้งถึงปัญหาที่เกิดขึ้น
นายวิบูลย์ ผาณิตวงศ์ รองประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กล่าวว่า โรงงานน้ำตาลทราย 46 แห่ง จะเริ่มจำหน่ายน้ำตาลให้ตามรายชื่อ 11 ราย ในวันที่ 5 เม.ย. เพราะได้รับการยืนยันจากกระทรวงพาณิชย์ว่า รายชื่อดังกล่าวคัดเลือกมาอย่างโปร่งใส
จาก http://www.khaosod.co.th วันที่ 31 มีนาคม 2553
พาณิชย์โต้กลับกระจายน้ำตาลโปร่งใส
"พรทิวา" ยืนยันจัดสรรโควตาน้ำตาล 1 ล้านกระสอบ โปร่งใส ย้อนรายชื่อผู้รับน้ำตาลมาจาก สอน. พาณิชย์ทำหน้าที่แค่จัดสรรไปในพื้นที่ขาดแคลน และแบ่งมาทำโครงการธงฟ้า พร้อมสั่งเจ้าหน้าที่เดินหน้าสำรวจการกักตุน
นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยืนยันว่า การจัดสรรโควตาน้ำตาลทราย 1 ล้านกระสอบของกระทรวงพาณิชย์ เป็นไปตามขั้นตอนที่ถูกต้อง และรายชื่อผู้ได้รับจัดสรรไม่ได้ซ้ำซ้อนอย่างที่มีการตั้งข้อสังเกต เพราะรายชื่อผู้รับน้ำตาลเป็นรายชื่อที่สำนักงานอ้อยและน้ำตาล (สอน.) ส่งมาให้ ซึ่งกระทรวงเพียงพิจารณาจัดสรรไปในพื้นที่ขาดแคลน หรือขายเกินราคาเพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคเท่านั้น รวมถึงกันน้ำตาลทรายบางส่วนมาจัดโครงการธงฟ้าราคาถูกแก่ประชาชนกิโลกรัมละ 22 บาท
ส่วนที่บอกว่ารายชื่อซ้ำกัน หรือมีที่อยู่เดียวกัน เป็นเรื่องของเอกชน ต้องไปรวมตัวกันให้ได้จำนวนมากๆ เพื่อไปรับน้ำตาลที่หน้าโรงงาน เพราะการขนส่งมีราคาสูง จะไปรับน้ำตาลแต่ละทีก็ต้องรวมตัวกัน จึงเกิดความเข้าใจผิดว่าจัดสรรไม่ดี แต่คงไม่ใช่ว่าโปร่งใสหรือไม่ นางพรทิวา กล่าวและว่า กระทรวงพาณิชย์ยังได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่กระทรวง ระดับภูมิภาคลงพื้นที่สำรวจสถานการณ์จำหน่ายน้ำตาลทรายว่ามีการกักตุน และขายเกินราคาหรือไม่ เพื่อหาวิธีแก้ปัญหาและนำน้ำตาลไปกระจาย บรรเทาปัญหาขาดแคลนแก่ประชาชน
รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านี้กระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดแนวทางแก้ปัญหาราคาน้ำตาลทรายแพงในหลายจังหวัด หลังจากได้รับรายงานว่า มีถึง 42 จังหวัดยังประสบปัญหาน้ำตาลตึงตัวและราคาแพง โดยเฉพาะภาคเหนือที่ขายน้ำตาลทรายสูงถึง กก.ละ 23.50-30 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กก.ละ 22-29 บาท ภาคกลาง ภาคตะวันออก กก.ละ 23.50-28 บาท และภาคใต้ กก.ละ 24-28 บาท
หลักการบริหารโควตาน้ำตาลทรายพิเศษ 1 ล้านกระสอบ มีเกณฑ์พิจารณาให้ 3 กลุ่ม ได้แก่ ยี่ปั๊ว-ซาปั๊ว รวมถึงห้างค้าปลีกด้วย กลุ่มผู้ใช้รายย่อย เช่น โรงงานผลิตอาหารที่ใช้น้ำตาลโควตา ก. และประชาชนทั่วไปผ่านโครงการธงฟ้า ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอข้อมูลรายชื่อพื้นที่เดือดร้อน จากกระทรวงอุตสาหกรรม ร้านค้า และพาณิชย์จังหวัด เพื่อมาพิจารณาจัดสรรให้อย่างเหมาะสม
จาก http://www.komchadluek.net วันที่ 30 มีนาคม 2553
จากรายงานผลประกอบการไตรมาสแรกปีนี้ของบริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) (KSL) มีกำไรสุทธิเท่ากับ 202 ล้านบาท หรือลดลง 51.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกับปีก่อน(YoY)
สาเหตุหลักมาจากการรับรู้ขาดทุนจากการทำกลยุทธ์ที่ลดความเสี่ยงจากการผันผวนในราคาน้ำตาลล่วงหน้าเท่ากับ 237 ล้านบาท เนื่องจากช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ราคาน้ำตาลในตลาดโลกปรับตัวค่อนข้างผันผวน กอปรกับชาวไร่อ้อยมีทำสัญญาขายล่วงหน้าน้ำตาลเป็นจำนวนมาก
ขณะที่ความต้องการและราคาของตลาดที่ยังสูง กอปรกับไตรมาสแรกปีนี้มีการรับรู้ขาด ทุนจากโรงงานที่ลาว-กัมพูชาที่น้อยลง (73 ล้านบาท) เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี"52 ทำให้กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นถึง 302.7% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน(QoQ)
ส่วนรายได้จากธุรกิจเอทานอลคาดจะยังเติบโตต่อเนื่องตามความต้องการพลังงานทดแทนที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ธุรกิจขายกำลังไฟฟ้าของ KSL ได้รับผลดีจากสภาพอากาศที่ร้อน เพราะจะทำให้ความต้องการใช้ไฟเพื่อเปิดเครื่องปรับอากาศ พัดลม มีมากขึ้น กอปรกับภาวะเงินเฟ้อที่เติบโตเป็นบวก ซึ่งจะมีผลต่อการปรับขึ้นค่าไฟฟ้า KSL ด้วย
บล.ซิกโก้ จึงปรับประมาณการราคาเหมาะสมลงจากเดิมที่ 17 บาท เป็น 13 บาท และปรับลดน้ำหนักการลงทุนจาก ซื้อ เป็น ถือ
จาก http://www.khaosod.co.th วันที่ 30 มีนาคม 2553
เกษตรอำเภอตากฟ้า แนะนำวิธีการดูแลอ้อยตอ
นายประทีป โตสงคราม เกษตรอำเภอตากฟ้า จ.นครสวรรค์ เปิดเผยว่า เกษตรกรจำนวนไม่น้อยที่ปลูกอ้อยส่งโรงงาน อ้อยโรงงานปลูกครั้งเดียว สามารถตัดได้กว่า 3 ปี จำนวนครั้งที่ตัดอ้อย คุณภาพและปริมาณที่ได้รับขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย
ดังนั้น การบำรุงอ้อยตอ จึงมีความจำเป็นที่ชาวไร่อ้อยควรปฏิบัติ คือ คราดใบและยอดที่เหลือจากการตัดอ้อยไปกองไว้ระหว่างแถว 1 แถวเว้น 2 แถวสลับกันไป หรือใช้จอบหมุนสับใบ และยอดให้ผสมคลุกเคล้ากับดิน จะทำให้ดินดีขึ้น ถากตอหรือสับตอหรือเจียนตออ้อยภายหลังการตัดอ้อย เพื่อบังคับให้หน่ออ้อยแตกใหม่จากตอใต้ดิน ซึ่งจะได้หน่ออ้อยที่แข็งแรงเติบโตเร็วและให้ผลผลิตสูงกว่า ใช้ไถสิ่วหรือเครื่องระเบิดดินชั้นล่างระหว่างแถวอ้อย เพื่อตัดรากเก่าให้แตกรากใหม่ และเป็นการพรวนดินไปด้วย ใส่ปุ๋ยให้ลึกลงในดินและให้มากกว่าปกติ เพราะระบบรากจะสู้อ้อยปลูกไม่ได้และดินปลูกจะแน่นกว่า ใช้จอบหมุนตีดินระหว่างแถวอ้อย ก่อนใช้ต้องถอดใบจอบตัวกลางออก เพื่อให้จอบหมุนคร่อมแถวอ้อย และจอบหมุนจะเฉือนบางส่วนของอ้อยออก เพื่อไม่ให้หน่อแน่นเกินไป จะทำให้อ้อยลำเล็กผลผลิตต่ำ และยังเป็นการช่วยรักษาความชื้นในดินอีกด้วย
นายสมควร ไชยมหา นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากชาวไร่อ้อยได้ปฏิบัติตามคำแนะนำก็จะทำให้การตัดอ้อยครั้งต่อไป ได้ทั้งคุณภาพและปริมาณ ชาวไร่ไม่ควรเผาอ้อยหรือเศษวัสดุที่เหลือใช้ในพื้นที่ปลูกอ้อย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาวะโลกร้อนได้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 5624 1387
จาก http://thainews.prd.go.th วันที่ 30 มีนาคม 2553
พรทิวาสั่งคุมเข้ม กระจาย"น้ำตาล" ลอตล้านกระสอบ กันข้อครหาทุจริต
นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์(พณ.) กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาน้ำตาลทรายขาดแคลน และตึงตัว ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างรอข้อมูลจากนายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์ได้รับโควต้าจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายจำนวน 1 ล้านกระสอบ และมีการระบายตามเกณฑ์ที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดไว้แล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม จากที่มีกระแสข่าวว่าถ้ากระทรวงพาณิชย์ไม่ติดตามการจัดสรรโควตาในครั้งนี้ อาจทำให้น้ำตาลทรายไปอยู่ในมือของกลุ่มยี่ปั๊ว ซาปั๊ว หรือกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมบางรายเท่านั้น ซึ่งเป็นการกระจุกตัวและไม่ได้มีการระบายไปแหล่งต่างๆอย่างแท้จริงนั้น ตนจึงกำชับให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์ติดตามดูแลการกระจายน้ำตาลทราย 1 ล้านกระสอบในแต่ละกลุ่มอย่างรัดกุม และกระทรวงพาณิชย์ได้จัดส่งรายชื่อยี่ปั๊ว ซาปั๊ว และกลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องการใช้น้ำตาลทรายไปให้คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายเรียบร้อยแล้ว
"ยอมรับว่าการขอรับน้ำตาลทรายในแต่ละอุตสาหกรรม ถ้ามารับในสัดส่วนที่น้อยก็เป็นสิ่งที่ไม่คุ้มทุนกับผู้ประกอบการ แต่คงต้องมีการติดตามเรื่องดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดข้อครหา และเชื่อว่าการกระจายน้ำตาลจะเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดอย่างแน่นอน" นางพรทิวา กล่าว
จาก http://www.naewna.com วันที่ 30 มีนาคม 2553
ปตท.เตรียมเลิกขายเบนซิน91-95 ดีเซล ลั่นลุยพลังงานทดแทน
ปตท.ประกาศเลิกขายน้ำมันเบนซิน 91 เบนซิน 95 และดีเซล ภายใน 2-3 ปีนี้ โดยหันไปขายน้ำมันที่มีส่วนผสมของพลังงานทดแทน เตรียมเดินหน้าเบนซินตระกูล E10 E20 E50 และดีเซล B2 B3 B5 โดยนำเอทานอลเป็นส่วนผสมเพิ่มขึ้น
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าจะเริ่มเห็นการทยอยเพื่อยกเลิกการจำหน่ายน้ำมันเบนซิน 91 และน้ำมันเบนซิน 95 และเริ่มนำเอทานอลมาผสมในน้ำมันเบนซินมากขึ้น ซึ่งประกอบไปด้วยน้ำมันเบนซิน E10 E20 E85 และปรับเปลี่ยนมาเป็นการใช้แก๊สโซฮอล์มากขึ้น โดยจะทยอยเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต
ส่วนของน้ำมันดีเซล ก็จะมีการทยอยปรับมาใช้เป็นดีเซล B2 ขึ้นมาเป็นดีเซล B3 และปรับมาเป็นดีเซล B5 ในที่สุด ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการกำหนดนโยบายของทางรัฐบาล ซึ่งในส่วนของปั๊มต่างประเทศอาจวางตำแหน่งการดำเนินธุรกิจจำหนายน้ำมันราคาแพง โดยเจาะฐานลูกค้ากลุ่มคนรวย แต่ในส่วนของ ปตท. ยังจำหน่ายน้ำมันตามเกรดปกติเป็นไปตามมาตรฐาน
"ภายใน 2-3 ปีนี้ คิดว่าเราจะยกเลิกการใช้เบนซินและดีเซล และหันมาขายแก๊สโซฮอลล์ E20 มากขึ้น ส่วนดีเซล คงขาย B5 มากขึ้น ซึ่งสุดท้ายเป็นไปตามความต้องการของลูกค้า"
ทั้งนี้ ปตท.มีสถานีบริการน้ำมันขายปลีกจำนวนมาก จึงต้องใช้วิธีค่อยๆ ทยอยการยกเลิกขายน้ำมันดีเซลและเบนซิน ที่ไม่มีส่วนผสมของพลังงานทดแทน ซึ่งปัจจุบัน ปตท.เป็นผู้นำตลาดขายปลีก และมีส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุด
จาก http://www.manager.co.th วันที่ 29 มีนาคม 2553
ล้มดีลซื้อคลังน้ำมันเพชรบุรี บางจากกลับลำขายแพงต้องลงทุนเพิ่ม
บางจากฯหยุดดีลซื้อขายคลังน้ำมันเพชรบุรีเทอร์มินัล บอกสู้ราคาไม่ไหว แถมมีคู่แข่งขอซื้ออีก หากซื้อต้องลงทุนวางท่อส่งน้ำมันเตาเพิ่ม แถมต้องทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม-สุขภาพ (EIA/HIA)
นายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงความคืบหน้าในการเจรจาซื้อคลังน้ำมันของบริษัท แพนเอเซีย สตอเรจ แอนด์เทอร์มินัล จำกัด หรือบริษัทเพชรบุรีเทอร์มินัลในอดีตว่า ขณะนี้ได้หยุดการเจรจาเพื่อซื้อขายคลังน้ำมันดังกล่าวแล้ว หลังจากที่เจรจากันมานาน แต่ไม่สามารถตกลงราคาซื้อขายได้
โดยบริษัทบางจากฯมองว่า ท่อน้ำมันภายในคลังที่มีอยู่ 3 ท่อนั้นไม่สามารถรองรับผลิตภัณฑ์น้ำมันที่มีอยู่ของบริษัทบางจากได้ทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำมันเตา ซึ่งไม่สามารถใช้งานร่วมกับท่อส่งน้ำมันประเภทอื่นได้ ดังนั้น หากบริษัทตัดสินใจ ซื้อคลังน้ำมันดังกล่าว ก็จะต้องลงทุนเพิ่มอีกมาก และที่สำคัญก็คือจะต้อง ดำเนินการ จัดทำรายงานประเมินผลกระทบต่อ สิ่งแวดล้อม (EIA) รวมถึงรายงานผลกระทบต่อสุขภาพ (HIA) เพิ่มเติม ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เวลามากกว่า 1 ปี แต่นโยบายของบริษัทบางจากต้องการ ลงทุนในโครงการที่สามารถทำรายได้ในระยะสั้น ๆ
ประกอบกับราคาซื้อขายที่บริษัทแพน เอเซียฯ ยื่นเสนอมานั้น เป็นวงเงินที่ค่อนข้างสูงมาก แม้ว่าในปีที่ผ่านมา ผลประกอบการและกระแสเงินสดของบริษัทบางจากจะค่อนข้างดีก็ตาม แต่ในปีนี้ยังมีการลงทุนมากกว่า 5,000 ล้านบาท หากต้องลงทุนเพื่อซื้อคลังน้ำมันดังกล่าว อาจส่งผลต่อกระแสเงินสดได้ และเท่าที่ทราบ ขณะนี้ไม่ได้มีเพียงบริษัทบางจากเพียงบริษัทเดียวเท่านั้นที่สนใจในคลังน้ำมันแห่งนี้ ล่าสุดยังมีนักลงทุนที่สนใจเข้ามาเจรจาขอซื้อคลังน้ำมันดังกล่าวด้วย
"ตอนนี้ถือว่าหยุด Activities ทุกอย่างกับคลังน้ำมันเพชรบุรีเทอร์มินัลไว้ก่อน เพราะเราอยากลงทุนแล้วสร้างรายได้ทันทีในช่วงสั้น ๆ ยิ่งเมื่อประเมินเงินที่ต้องซื้อกับสร้างท่อเพิ่ม มันยิ่งดูแล้วไม่คุ้ม เพราะเดิมทีเรามองถึงตลาดส่งออกและคลังของเพชรบุรีเทอร์มินัลมีทั้งท่าเรือและขนาดความจุมากถึง 500 ล้านลิตรที่เราจะนำมาต่อยอดธุรกิจได้ แต่หากว่าอนาคตสุดท้ายแล้วยังไม่มีรายใดเข้ามาซื้อและสามารถเจรจากันได้ ก็อาจที่จะกลับมาเจรจาซื้อขายกันใหม่ก็ได้"
นายอนุสรณ์กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ว่าจะ ไม่ได้ซื้อคลังน้ำมันดังกล่าวแล้วก็ตาม แต่ ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเป้าหมายของบริษัทบางจากที่จะรุกตลาดส่งออกพลังงานทดแทนและส่งออกผลิตภัณฑ์อื่น ๆ โดยบางจากได้วางแผนที่จะใช้คลังน้ำมันในอำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มาใช้เป็นฐานเพื่อการส่งออกแทน เพราะสามารถขนส่งได้ทั้งทางรถ และยังมีท่าเรือที่สามารถเชื่อมต่อไปยังท่าเรือหลักต่าง ๆ เพื่อการส่งออกได้ด้วย
อีกเหตุผลก็คือขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนหาผู้ร่วมทุนในโครงการผลิตเอทานอล กำลังผลิต 200,000 ลิตร/วัน มูลค่าโครงการประมาณ 1,000 ล้านบาท เพราะเงื่อนไขการส่งออกเอทานอลจะต้องมีสถานะเป็น ผู้ผลิตด้วย แต่บริษัทบางจากเป็นเพียงผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 เท่านั้น จึงไม่สามารถส่งออกได้ ช่วงเวลาที่เหลือนี้ยังพอให้สามารถวางแผนรองรับได้ ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าคลังน้ำมันบางปะอินยังรองรับการส่งออก เอทานอลได้
สำหรับบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ในปี 2552 ที่ผ่านมามีกำไรที่ดีมาก หรืออยู่ที่ 7,524 ล้านบาท เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันได้ขึ้นระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำมัน หรือ PQI (Product Quality Imprement) ที่ลงทุนไปประมาณ 15,000 ล้านบาท ทำให้มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 100,000 บาร์เรล/วัน จากเดิมที่มีอยู่ 80,000 บาร์เรล/วัน
จาก http://www.prachachat.net วันที่ 29 มีนาคม 2553
จีดีพีเกษตรขยาย4% รับอานิสงส์เศรษฐกิจฟื้นไตรมาสแรก/สศก.ยังห่วงปัญหาแล้ง-ศัตรูพืช
สศก. เผยจีดีพีภาคเกษตรไตรมาสแรกขยายตัว 4% แต่ห่วงภาพรวมทั้งปีอาจมีปัจจัยอื่นฉุด เช่น ปัญหาโรคแมลงศัตรูพืช ภัยแล้ง
นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จากการประเมินภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาสแรก ปี 2553 พบว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคการเกษตร หรือจีดีพี มีอัตราการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้น 4.08% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมฟื้นตัว อุตสาหกรรมการผลิตในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ เช่น อินเดีย และจีน มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ความต้องการบริโภคและการผลิตสินค้าต่างๆ ขยายตัวตามไปด้วย ทั้งนี้ คาดว่าเศรษฐกิจโดยรวมทั้งปีน่าจะขยายตัวอยู่ที่ 3-4% จากการส่งออกและการลงทุนของภาครัฐเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญ
ในส่วนของจีดีพีภาคเกษตรในไตรมาส 2 นั้น คาดว่าจะขยายตัวใกล้เคียงกับไตรมาสแรก เนื่องจากยังคงมีปัจจัยสนับสนุนจากเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวต่อเนื่อง ประเทศต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติยังไม่ฟื้นตัว ทำให้มีความต้องการสินค้าอาหารอยู่มาก นอกจากนี้ จากการติดตามสถานการณ์ของตลาดซื้อขายสินค้าล่วงหน้าที่ชิคาโกยังมีแนวโน้มดี
อย่างไรก็ตาม จีดีพีภาคเกษตรในไตรมาส 3 นั้น ยังไม่สามารถประเมินได้ในขณะนี้ เพราะต้องรอดูสถานการณ์ราคาและผลผลิตสินค้าเกษตรในช่วงครึ่งปีหลังก่อน เพราะในช่วงนั้นจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมาก โดยเฉพาะอ้อย ที่จะส่งผลให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกผันผวน ส่งผลกระทบต่อราคาอ้อยในประเทศ อีกทั้งยังมีปัจจัยเสี่ยงด้านต่างๆ เช่น ปัญหาการระบาดของเพลี้ยแป้งในมันสำปะหลัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในข้าว ที่ทำให้ผลผลิตลดลงจากที่ตั้งเป้าไว้ ตลอดจนปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงขึ้น ก็เป็นอีกปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่ออัตรากรขยายตัวทางเศรษฐกิจการเกษตร
จาก http://www.naewna.com วันที่ 29 มีนาคม 2553
ระยะหลังนี้ราคาน้ำตาลภายในประเทศมีราคาแพงกว่าราคาควบคุมที่กระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดไว้ที่ ก.ก.ละ 21-22 บาท บางแห่งราคาได้ถีบตัวสูงขึ้นไปถึง ก.ก.ละ 25-30 บาท
ตัวเลขการผลิตน้ำตาลเท่าที่อ่านจากหนังสือพิมพ์ตามการประมาณการของสำนักงานอ้อยและน้ำตาล เห็นว่ามีปริมาณสูงขึ้นจากปีก่อนเป็นอันมาก กล่าวคือผลผลิตจะมีถึงประมาณ 7 ล้านตัน คือเพิ่มขึ้นจากตัวเลขของปีกลายเป็นจำนวนมาก
ขณะเดียวกันปริมาณการใช้บริโภคในประเทศก็มีเพียงประมาณ 2.2 ล้านตัน หรือที่เรียกว่าโควตา ก. อีก 500,000 ตัน เป็นโควตาส่งออกของบริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย หรือโควตา ข. ดังนั้นจึงเหลือน้ำตาลส่งออก หรือโควตา ค.อีกประมาณ 4.5 ล้านตัน แล้วทำไมน้ำตาลภายในประเทศจึงได้ขาดแคลน ไม่พอกับความต้องการภายในประเทศ ทำให้ราคาน้ำตาลถีบตัวสูงขึ้นกว่าราคาควบคุมโดยกระทรวงพาณิชย์
สำหรับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลนั้นมิได้เป็นอุตสาหกรรมที่เราเปิดเสรี มีการควบคุมโดย พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาล
กฎหมายที่ตราขึ้นมาเพื่อควบคุมการผลิตและการจำหน่ายอ้อยและน้ำตาลนั้น ได้ตราขึ้นมาในยุคที่ราคาน้ำตาลตกต่ำอย่างมาก บางช่วงราคาน้ำตาลตกต่ำลงถึงปอนด์ละแค่ 4-5 เซนต์ และอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ประมาณ 25 บาทต่อหนึ่งดอลลาร์สหรัฐ เมื่อแปลออกมาเป็นราคาอ้อยก็ได้เป็นราคาประมาณ 500-600 บาทต่อตันอ้อยเท่านั้น
สาระสำคัญของกฎหมายก็เพื่อให้ผู้บริโภคน้ำตาลในประเทศเป็นผู้จ่ายเงินชดเชยราคาให้กับชาวไร่อ้อย โดยกำหนดราคาน้ำตาลในประเทศให้สูงกว่าราคาน้ำตาลในตลาดโลก โดยคำนวณว่าแต่ละปีความต้องการบริโภคน้ำตาลในประเทศจะมีเท่าใด แล้วก็จัดสรรโควตาให้โรงงานที่จดทะเบียนไว้กับสำนักงานอ้อยและน้ำตาลทั้ง 46 โรง ตามสัดส่วนของกำลังการผลิต ที่เหลือก็ให้ส่งออก สิ้นปีค่อยมาคิดรายได้กัน แล้วก็แบ่งรายได้กับชาวไร่อ้อยตามระบบที่เรียกว่าระบบ 30:70 ขณะเดียวกันต้องมีการห้ามนำเข้าและมีการควบคุมไม่ให้โรงงานขายน้ำตาลในปริมาณที่เกินกว่าโควตาที่ตนได้รับ
ระบบเช่นว่านี้ออกแบบสำหรับภาวะราคาน้ำตาลโลกตกต่ำ ต่อมาเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป ตลาดโลกเปลี่ยนไป กล่าวคือราคาน้ำตาลในตลาดโลกถีบตัวสูงขึ้น เมื่อระดับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีน ของอินเดีย และรัสเซียเปลี่ยนไป และในปัจจุบันที่อ้อยกลายเป็นพืชพลังงานที่ใช้ผลิตแก๊สโซฮอล์ทดแทนน้ำมัน เมื่อราคาน้ำมันมีราคาแพงขึ้นก็กลายเป็นสาเหตุผลักดันให้ราคาอ้อยซึ่งเป็นพืชน้ำมันและน้ำตาลพลอยมีราคาสูงขึ้นไปด้วย
เมื่อสถานการณ์ในขณะนี้เปลี่ยนไป กล่าวคือราคาน้ำตาลในตลาดโลกเมื่อคิดเป็นเงินบาทมีราคาสูงกว่าราคาน้ำตาลในประเทศ ถ้าคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลจะดำเนินการตามที่ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลอย่างเคร่งครัด ก็เท่ากับว่าเรากำลังจะเอารายได้จากการส่งออกมาชดเชยผู้บริโภคภายในประเทศ
การปฏิบัติตาม พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลจึงกลับกัน ตอนที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกต่ำกว่าราคาภายในประเทศ ผู้ผลิตย่อมอยากจะขายผลผลิตของตนภายในประเทศให้มากที่สุด ถ้าจะแอบขายเกินโควตาที่ได้รับได้ก็อยากจะทำ การควบคุมโรงงานน้ำตาลก็จะควบคุมไม่ให้โรงงานน้ำตาลขายน้ำตาลภายในประเทศเป็นจำนวนเกินกว่าโควตาที่ตนได้รับ ขณะเดียวกันก็คอยควบคุมมิให้มีการนำน้ำตาลเข้าประเทศ เช่น ผู้ผลิตแจ้งว่าส่งน้ำตาลออกนอกประเทศไปแล้วก็นำน้ำตาลวกกลับเข้ามา ส่วนการส่งออกเห็นจะไม่ต้องควบคุม เพียงแต่ให้รู้ปริมาณเพื่อประโยชน์ในการยืนยันตอนแบ่งผลประโยชน์ 70:30 ในตอนจบ
เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไปเป็นว่าราคาส่งออกสูงกว่าราคาควบคุมภายในประเทศ พฤติกรรมของผู้ผลิตย่อมจะเปลี่ยนไป กล่าวคือจะพยายามขายในประเทศให้น้อยที่สุดถ้าเป็นไปได้ และจะพยายามส่งออกให้มากที่สุดหากเป็นไปได้
การควบคุมดูแลให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ก็ต้องเปลี่ยนไป คือการควบคุมดูแลให้มีปริมาณการขายในประเทศให้มีปริมาณเพียงพอกับการบริโภคในประเทศ ขณะเดียวกันก็ต้องควบคุมการส่งออกมิให้มีปริมาณมากเกินไป จนปริมาณน้ำตาลที่มีขายอยู่ในตลาดภายในประเทศมีไม่พอกับการบริโภคและมีราคาเป็นไปตามที่รัฐบาลควบคุม
การดำเนินการที่กลับกันภายใต้กฎหมายที่ออกแบบขึ้นมาภายใต้สมมติฐานว่าราคาในตลาดต่างประเทศต่ำกว่าราคาควบคุมในประเทศ จึงดำเนินการได้ยาก
การควบคุมให้น้ำตาลที่ออกจากโรงงานไปยังพ่อค้า ทั้งพ่อค้าขายส่งและพ่อค้าขายปลีก นำไปขายให้ผู้บริโภคหรือผู้ผลิตขนมหวาน น้ำหวาน น้ำอัดลม บางทีก็ทำได้ยาก เพราะพ่อค้าขายส่งและพ่อค้าขายปลีกอาจจะเป็นผู้สนับสนุนการลักลอบส่งออกเสียเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลักลอบส่งออกตามชายแดนของประเทศ เช่น ชายแดนมาเลเซีย พม่า ลาว กัมพูชา หรือแม้แต่การลักลอบส่งออกทางทะเลไปประเทศอื่น ๆ ปรากฏการณ์น้ำตาลขาดตลาดสำหรับตลาดทางการจึงเกิดขึ้น แต่ขณะเดียวกันตลาดมืดก็เกิดขึ้นทันที และเป็นเรื่องที่ควบคุมได้ยาก
ในขณะเดียวกันอุตสาหกรรมที่ต้องใช้น้ำตาลมากที่สุดก็คือ อุตสาหกรรมน้ำหวาน และน้ำอัดลม นมข้นหวาน และอุตสาหกรรมขนมหวานของรับประทานเล่น
สำหรับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่รัฐบาลไม่ได้ควบคุมราคาอาจจะไม่มีปัญหา อาจจะซื้อน้ำตาลในราคาตลาดมืด แล้วออกใบเสร็จและใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มให้ในราคาควบคุม คงจะพอกล้อมแกล้มกันไปได้
สำหรับในกรณีบริษัทน้ำหวาน น้ำอัดลม นมข้นหวาน ที่มีการควบคุมราคาก็จะมีปัญหาค่อนข้างมาก เพราะคงจะหาน้ำตาลในราคาควบคุมไม่ได้ ต้องไปหาซื้อในราคาตลาดมืด แม้ว่าอาจจะออกใบกำกับภาษีหรือใบเสร็จรับเงินในราคาควบคุม บริษัทที่ผลิตสินค้าที่มีการควบคุมราคาก็น่าจะมีปัญหา
การควบคุมราคาจึงสร้างปัญหาหลายอย่างหลายประการเป็นลูกโซ่ ไม่ใช่ปัญหาชั้นเดียวง่าย ๆ อย่างที่เราเห็น น้ำตาลขาดตลาดหรือราคาน้ำตาลในตลาดถีบตัวสูงกว่าราคาที่รัฐบาลควบคุมอย่างที่เป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ และมีการวิเคราะห์วิจารณ์กันไปต่าง ๆ นานา แต่ส่วนมากจะวิเคราะห์ไปในทางให้ควบคุมราคาน้ำตาลกลับมาอยู่ในระดับราคาที่รัฐบาลควบคุมให้ได้
คำถามที่มักถูกถามกันเสมอว่าประเทศเราผลิตน้ำตาลถึงปีละ 7 ล้านตัน แต่เราใช้น้ำตาลภายในประเทศเพียง 2.2 ถึง 2.5 ล้านตัน แล้วเหตุใดจึงมีน้ำตาลไม่เพียงพอกับการบริโภคภายในประเทศ คำตอบก็คือสินค้าจะขาดแคลน ณ ราคาเท่าใด แต่ถ้ามีการปล่อยให้ราคาภายในประเทศขึ้นลงเสรี อย่างไรเสียน้ำตาลภายในประเทศก็จะไม่มีวันขาดแคลน อย่างไรเสียราคาน้ำตาลภายในประเทศก็จะต้องต่ำกว่าราคาในตลาดโลก อย่างน้อยก็เท่ากับค่าขนส่งจากประเทศไทยไปยังตลาดในต่างประเทศ
ในกรณีอ้อยและน้ำตาล การทบทวนนโยบายของรัฐบาลอาจจะมีความจำเป็น เพราะในระยะข้างหน้าหากราคาพลังงานยังไต่ระดับสูงขึ้นเรื่อย ๆ เช่นว่านี้ ราคาน้ำตาลในตลาดโลกก็คงจะมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ เพราะจะมีการนำอ้อยไปผลิตพลังงานมากขึ้นเรื่อย ๆ
หากจะยังคงยึดเอาระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลให้อยู่เหมือนเดิม เหมือนสมัยเมื่อมีการจัดระบบอ้อยและน้ำตาลตามกรอบและสมมุติฐานที่ว่า ราคาน้ำตาลในตลาดโลกจะอยู่ในระดับต่ำ เพราะผลผลิตของโลกมีสูงกว่าความต้องการ
ถ้าเป็นอย่างนั้นปัญหาเรื่องน้ำตาลขาดแคลนก็จะเกิดขึ้นทุกปีไป ตลาดน้ำตาลในประเทศก็จะมีทั้งตลาดปกติและตลาดมืด ซึ่งโครงสร้างอย่างนี้เป็นโครงสร้างของตลาดที่ไม่มีประสิทธิภาพ เป็นการบังคับให้ทั้งผู้ผลิตน้ำตาล ผู้ผลิตสินค้าอุตสาหกรรม ต้องทำผิดกฎหมาย ทำให้รายได้ที่เป็นภาษีมูลค่าเพิ่มและอื่น ๆ ถูกบิดเบือนไป
หากจะมีการสังคายนาพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลใหม่ ก็คงต้องพิจารณาอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมที่นำอ้อยและน้ำตาลไปผลิตแก๊สโซฮอล์ อุตสาหกรรมน้ำหวาน น้ำอัดลม เครื่องดื่ม และอุตสาหกรรมอื่น ๆ พร้อม ๆ กันไป
แต่เรื่องของชาวไร่อ้อยและอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ต่อเนื่องไปถึงอุตสาหกรรมเครื่องดื่มและอื่น ๆ เป็นอุตสาหกรรมที่มีผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่สมาคมชาวไร่อ้อย เจ้าของโรงงานน้ำตาล ซึ่งล้วนแล้วแต่มีอิทธิพลในทางการเมืองทั้งสิ้น การจะเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขจึงเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ง่ายนัก
แต่ถ้าหากเหตุการณ์ราคาน้ำตาลยังมีแนวโน้มจะสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ อย่างนี้ การไม่ปรับปรุงแก้ไขระบบซึ่งใช้มากว่า 25 ปี จนสถานการณ์เปลี่ยนไปหมดแล้ว ปัญหาก็จะเกิดขึ้นทุกปี และทำให้เกิดความไม่มีประสิทธิภาพในระบบ แต่ไม่น่าจะมีใครคิดปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอะไรได้ในบรรยากาศการเมืองที่เป็นอยู่อย่างนี้
ปัญหาจึงคงจะยังเป็นอย่างนี้ต่อไป
จาก http://www.prachachat.net วันที่ 29 มีนาคม 2553
ภัยแล้งคุกคาม" จีน" แม่น้ำโขงก็แห้งขอด
สัปดาห์หน้า จะมีการประชุมใหญ่ระดับภูมิภาคเอเชียในเมืองไทย ที่หัวหิน เกี่ยว ข้องกับวิถีชีวิตของคนมากมายกว่า 60 ล้านคน
เริ่มด้วยการประชุมวิชาการลุ่มน้ำนานาชาติจากภูมิภาคทั่วโลก วันที่ 2-3 เม.ย. ตามด้วยการประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง วันที่ 4-5 เม.ย.2553
เวทีแรกมีนักวิชาการจากทั่วโลก ส่วนเวทีหลังเป็นการประชุมระดับผู้นำของประเทศภาคีสมาชิกลุ่มน้ำโขงตอนล่าง 4 ประเทศ กัมพูชา ลาว ไทย เวียดนาม (Mekong River Commis sion - MRC) รวมถึงผู้นำประเทศคู่เจรจา จากจีนและพม่า เพื่อแสดงจุดยืนร่วมกันในการพัฒนาลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืน
การประชุมมีขึ้นหลังเกิดข้อสังเกตในทรัพยากร "น้ำ" และ "ภัยแล้ง" ที่กำลังคุกคามภูมิภาคนี้ ในนาม "วิกฤตน้ำในแม่น้ำโขง"
จีนเป็นชาติที่ถูกโจมตีว่า ปิดกั้นเส้นทางน้ำที่มีต้นกำเนิดจากที่ราบสูงทิเบต เป็นเหตุให้แม่น้ำโขงตอนล่างแห้งขอดที่สุดในรอบ 20 ปี
ตัวแทนจีนปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ พร้อมอธิบายว่า เขื่อนที่มณฑลยูนนาน ก็ประสบปัญหาภัยแล้งใหญ่ที่สุดในรอบ 100 ปีเช่นกัน
ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา จีนรายงานสถานการณ์ภัยแล้งในประเทศที่ตึงเครียดขึ้น
พื้นที่ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ทั้ง กว่างซี กุ้ยโจว เสฉวน ฉงชิ่ง และยูนนาน ประสบภัยแล้งสาหัสที่สุดในรอบหลายสิบปี
มณฑลกุยโจวเผชิญกับภัยแล้งหนักที่สุดในรอบ 80 ปี ส่วนกว่างซีย่ำแย่ที่สุดในรอบ 50 ปี
เจ้าหน้าที่ทรัพยากรที่ดินมณฑลกว่างซี กล่าวว่า ทางการส่งเจ้าหน้าที่ออกไปขุดบ่อกักเก็บน้ำฉุกเฉินตามพื้นที่ประสบภัยแล้งร้ายแรงแล้ว
แต่ขณะนี้สถานศึกษากว่า 1,100 แห่งปิดไปแล้ว ส่งผลกระทบต่อข้าราชการครูและนักเรียนกว่า 190,000 คน
สำหรับเกษตรกรในกว่างซี ภัยแล้งทำลายผลผลิตการปลูกอ้อย กระทบต่อยอดการผลิตน้ำตาลอย่างหนัก
บริษัทผู้ผลิตน้ำตาล 67 รายต้องปิดกิจการลง ถือเป็นปริมาณสองเท่าเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
สําหรับมณฑลยูนนาน ประชาชนกว่า 5.4 ล้านคนขาดน้ำอุปโภคบริโภค ทางการจีนต้องระดมเจ้าหน้าที่ออกขุดบ่อน้ำฉุกเฉินกว่า 1,035 แห่ง โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จได้ภายในสิ้นเดือนพ.ค.นี้ โดยล่าสุดคืบหน้าไปเพียง 52 แห่ง ซึ่งจีนคาดว่าบ่อน้ำฉุกเฉินดังกล่าวจะช่วยบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำได้ร้อยละ 20
เจ้าหน้าที่ทหารนำน้ำดื่มไปแจกจ่ายเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า
ขณะเดียวกันทาง การจีนพยายามที่จะทำฝนเทียม เริ่มจากการเลี้ยงเมฆให้มีความชื้นในระดับที่เพียงพอ แต่ดูเหมือนจะไม่ได้ผลเท่าที่ควร
นักวิทยาศาสตร์ กล่าวถึงเทคนิคการเลี้ยงเมฆว่ายังไม่มีข้อพิสูจน์ว่าวิธีการดังกล่าวนั้นจะใช้ได้ผลจริง ดังนั้น หากไม่มีฝนตกลงมาจะส่งผลร้ายต่อบ่อน้ำฉุกเฉินดังกล่าวที่นกกระจอกไม่ทันกินน้ำก็คงจะต้องแห้งขอดลงในไม่ช้า
ภัยแล้งของจีนลากยาวมาจากปีก่อน มีผู้ได้รับผลกระทบกว่า 61 ล้านคน และพื้นที่กว่า 49 ล้านตารางกิโลเมตรกลายเป็นพื้นที่แห้งแล้ง
เนื่องจากประเทศจีนมีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล ทำให้เผชิญกับภัยธรรมชาติหลากหลายรูปแบบได้พร้อมๆ กัน
พื้นที่หนึ่งอาจเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง และอุทกภัยร้ายแรง ในขณะที่อีกพื้นที่หนึ่งอาจแห้งแล้งขาดแคลนน้ำใช้
เช่น เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาพายุทรายพัดเข้าปกคลุมกรุงปักกิ่งและเมืองทางภาคเหนือของจีนจนเกือบกลายสภาพเป็นทะเลทราย
ฝุ่นทะเลทรายซัดตลบไปไกลถึงเกาะฮ่องกง และไต้หวัน ถึงขั้นต้องออกประกาศเตือนภัยด้านสุขภาพ
สาเหตุของความแห้งแล้งในมณฑลยูนนาน ทางผ่านของแม่น้ำสายสำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างแม่น้ำโขง เริ่มส่อแววมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เมื่อปริมาณฝนที่ตกลงมานั้นลดน้อยลงส่งผลให้ผลิตผลทางการเกษตรในพื้นที่เสียหายเป็นมูลค่ากว่า 1.1 แสนล้านบาท
คณะกรรมการลุ่มแม่น้ำโขง ระบุว่า เป็นผลลัพธ์จากปริมาณฝนที่ตกลงมาน้อยเนื่องจากลมมรสุมในภูมิภาค
นักอุตุนิยมวิทยาส่วนหนึ่งยืนยันว่า ภัยแล้งที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้เป็นผลจากสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลง หรือ "ภาวะโลกร้อน" แต่ถือเป็นการผันแปรของภูมิอากาศที่อาจเกิดขึ้นได้ในบางปี เนื่องจากปรากฏการณ์ เอลนิโญ่
ไม่ว่าจะเป็นด้วยเหตุผลใด การที่ภัยแล้งนั้นดุร้ายขึ้นทุกปี ทำให้รัฐบาลในภูมิภาคเริ่มตระหนักแล้วว่า จะต้องแก้ปัญหาร่วมกัน มากกว่าต่างคนต่างแก้
จาก http://www.khaosod.co.th วันที่ 28 มีนาคม 2553
หลังจากราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกพุ่งไปอยู่ที่ 30 เซ็นต์/ปอนด์ น้ำตาลทรายขาวทะยานขึ้นไปสูงกว่า 700 เหรียญสหรัฐ/ตัน จนทำให้ราคาน้ำตาลขายปลีกในประเทศพุ่งไปถึงกิโลกรัมละ 25-30 บาท ถึงขั้นน้ำตาลขาดแคลน
แต่ล่าสุดราคาน้ำตาลทรายขาวในตลาดโลกเริ่มดิ่งเหว เหลือประมาณ 500 เหรียญสหรัฐ/ตัน จากการเทขายของนักเก็งกำไร
ขณะที่กูรูน้ำตาลออกมาระบุว่า ราคาน้ำตาลที่อยู่ในระดับสูงอย่างนี้จะทรงอยู่ได้อีก 2 เดือน เพราะหลังจากนั้นผลผลิตน้ำตาลจากประเทศแถบอเมริกาใต้จะเริ่มออกมาสู่ตลาดโลก
ดังนั้น น้ำตาลทรายขาวที่ 700 เหรียญสหรัฐ/ตัน ในอนาคตคงไม่เกิดขึ้นง่ายๆ อีกแล้ว
เพราะเมื่อราคาน้ำตาลดีก็เป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยทั่วโลกที่เป็นผู้ผลิตน้ำตาลเร่งขยายพื้นที่การปลูก
ปริมาณน้ำตาลจะไหลสู่ตลาดโลกมากขึ้น ซึ่งการขยายขณะนี้อาจถึงขั้นมีน้ำตาลส่วนเกินจากความต้องการภายในระยะเวลา 2 ปีนับจากนี้ด้วยซ้ำ
โดยฤดูการผลิต ปี"53/54 ปริมาณน้ำตาลตลาดโลกจะเข้าสู่ภาวะสมดุลในระดับ 140-150 ล้านตัน ราคาน้ำตาลทรายดิบน่าจะอยู่ในระดับ 14-16 เซ็นต์/ปอนด์
ส่วนในปี"54/55 คาดว่าผลผลิตน้ำตาลจะมีส่วนเกินจากความต้องการ กดดันให้ราคาปรับลดเหลือ 12-13 เซ็นต์/ปอนด์
ชาวไร่ที่คิดว่าจะปลูกอ้อยเพิ่มต้องระวังเพราะราคาร่วงลงมาขนาดนี้ขาดทุนแน่
จาก http://www.khaosod.co.th วันที่ 27 มีนาคม 2553
เปิดเครือข่าย5บ.คว้าโควต้าน้ำตาล พบผู้บริหาร-ที่อยู่แห่งเดียวกัน "พาณิชย์-สอน." โยนกลองวุ่น
เปิดข้อมูล 11 บริษัทกวาดโควต้าน้ำตาลทราย 8 แสนกระสอบ พบอย่างน้อย 5 แห่งมีผู้ถือหุ้นกลุ่มเดียวกันไดัรับจัดสรรกว่าครึ่ง ด้านปลัดพาณิชย์ระบุกลุ่มเสียประโยชน์โวยดักคอ ทั้งที่ยังไม่ได้ทำอะไร ยันได้รายชื่อจาก สอน. ลั่นไม่ล้มการจัดสรร ขณะที่รองเลขาฯ สอน.โต้ไม่เกี่ยวข้อง มีหน้าที่ประสานงานเท่านั้น
ความคืบหน้ากรณีศูนย์อำนวยการบริหารจัดการน้ำตาลทราย กระทรวงพาณิชย์ มีหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เพื่อให้ประสานไปยังโรงงานน้ำตาลทรายจัดสรรน้ำตาลทราย จำนวน 8 แสนกระสอบให้กับบริษัทเอกชน 11 แห่ง จากโควต้าน้ำตาลทรายที่กระทรวงพาณิชย์ได้รับทั้งหมด 1 ล้านกระสอบ เพื่อบรรเทาภาวะการตึงตัวของน้ำตาลทรายภายในประเทศ และมีแนวโน้มเริ่มขาดแคลนและมีราคาสูงในบางพื้นที่ ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตว่ากระบวนการคัดเลือกบริษัทได้ดำเนินการอย่างถูกต้อง ชอบธรรมหรือไม่
นอกจากนั้น ยังมีการวิพากษ์วิจารณ์ในวงการค้าน้ำตาลทราย ซึ่งได้รับการติดต่อจากบุคคลบางกลุ่มเสนอจะจัดหาน้ำตาลทรายมาให้ โดยคิดค่าดำเนินการกระสอบละ 300 บาท หากคิดจากปริมาณน้ำตาลทราย 8 แสนกระสอบ จะมีผลประโยชน์เป็นวงเงินสูงถึง 240 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าว "มติชน" ได้ตรวจสอบข้อมูลการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเอกชน ทั้ง 11 ราย พบว่า ในส่วนของพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งมี 4 บริษัท ที่ได้รับจัดสรรโควต้า คือ บริษัท อาร์.ซี.อาร์.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัทสยาม ส.ว.พ. จำกัด บริษัท วี.พี.เอส.ไทย จำกัด และบริษัทลาภวารินทร์ จำกัด รวมปริมาณน้ำตาลทราย 442,590 กระสอบ มีผู้บริหารกลุ่มเดียวกันและบางบริษัทมีสถานที่ตั้งแห่งเดียวกัน อาทิ บริษัท อาร์.ซี.อาร์.ฯแจ้งจดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2537 ทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท ตั้งอยู่เลขที่ 279-281 ถนนมังกร แขวงป้อมปราบ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร 10100 ระบุประเภทธุรกิจจำหน่ายเครื่องเสียง-ค้าส่ง ปรากฏชื่อนายวิบูลย์ ทวีรุจจนะ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ ส่วนกรรมการคนอื่นประกอบด้วย นายไพบูลย์ ทวีรุจจนะ และนาย วิชัย รัตนาวสิกุล
ขณะที่บริษัท ลาภวารินทร์ จดทะเบียนเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2521 มีทุน 1 ล้านบาท ประกอบธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์-ผู้ผลิต ปรากฏชื่อนายวิชัย รัตนาวสิกุล และนายวิบูลย์ ทวีรุจจนะ เป็นกรรมการและผู้มีอำนาจ และมีนายสิทธิบุญ ทวีรุจจนะ เป็นกรรมการ และผู้ถือหุ้นใหญ่
ส่วนบริษัท วี.พี.เอส.ไทย จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2537 ทุน 10 ล้านบาท ที่ตั้งอยู่เลขที่เดียวกับ บริษัท อาร์.ซี.อาร์.ฯ คือ 279-281 ถนนมังกร แขวงป้อมปราบ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร 10100 ประกอบธุรกิจประเภทจำหน่ายเครื่องเสียง-ค้าปลีก,ค้าส่ง เป็นธุรกิจขนาดเล็ก ปรากฎชื่อ นาย วิบูลย์ ทวีรุจจนะ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ และผู้ถือหุ้นใหญ่ จำนวน 77.1240%
ส่วนบริษัท สยาม ส.ว.พ. จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2542 ทุน 1 ล้านบาท ตั้งอยู่เลขที่ 161 ถนนพลับพลาไชย แขวงป้อมปราบ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร 10100 ประกอบธุรกิจจำหน่ายเครื่องเสียง-ค้าปลีก มีนายวิศรุต ทวิรุจจนะ ถือหุ้นใหญ่ และพบว่ามีที่อยู่เดียวกับบริษัท พอสซี่ เซอร์วิส จำกัด ประกอบธุรกิจจำหน่ายและบริการติดตั้งอะไหล่รถยนต์,เครื่องใช้ไฟฟ้า มีนาย วิชัย รัตนาวสิกุล เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ
นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ในขั้นตอนการคัดเลือกบริษัทเหล่านี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ใช้ข้อมูลเดิมจากศูนย์บริหารจัดการน้ำตาลทรายของ สอน. ที่มีอยู่แล้ว ส่วนบริษัทฯไหนจะมีความสัมพันธ์อย่างไร ไม่ทราบรายละเอียด เพราะไม่ได้มีหน้าที่ และยืนยันว่าจะไม่มีการยกเลิกการจัดสรรโควต้าน้ำตาลทรายครั้งนี้อย่างแน่นอน
"การจัดโควต้าน้ำทรายครั้งมี กระทรวงพาณิชย์ มีวัตถุประสงค์ ที่จะเข้าไปบริหารจัดการให้มีการกระจายน้ำตาลทรายอย่างทั่วถึง ไม่ให้ไปอยู่ที่ใครคนใดคนหนึ่งมากจนเกินไป แต่ขณะนี้ ยังไม่ได้ทำอะไรเลย ก็มีคนออกมาโวยวายดักหน้าดักหลังไม่ให้ทำแล้ว ซึ่งในส่วนของผู้ที่ออกมาโวยวาย ผมมองว่าเป็นพวกผี หรือพวกนอมินี เป็นคนที่กลัวว่าจะไม่ได้รับการจัดสรรให้มากกว่า" นายยรรยงกล่าว
นายพงษ์เทพ จารุอำพรพรรณ รองเลขาธิการ สอน. กล่าวยืนยันว่า สอน.มีหน้าที่เพียงการจัดสรรน้ำตาลทรายตามโควต้าที่ให้ไป และประสานกับโรงงานน้ำตาลทราย พร้อมทั้งมอบรายชื่อโรงงานและสถานที่ตั้ง รวมถึงรายละเอียดการขึ้นงวดน้ำตาล ทรายให้กับกระทรวงพาณิชย์เท่านั้น ส่วนรายชื่อบริษัทที่จะซื้อไม่เกี่ยวข้องกับ สอน.แต่อย่างใด
จาก http://www.matichon.co.th วันที่ 26 มีนาคม 2553
โรงงานน้ำตาลถก "พาณิชย์" 29 มี.ค. จัดสรรให้ลูกค้า 11 ราย กอน. มึนบางรายขายอาหารสัตว์-เครื่องใช้ไฟฟ้า แต่ขอซื้อน้ำตาล จี้ตรวจสอบอีกรอบ หวั่นสอดไส้
แหล่งข่าวจาก 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ในวันที่ 29 มี.ค. โรงงานน้ำตาลจะหารือร่วมกับกระทรวงพาณิชย์และผู้เกี่ยวข้อง เพื่อจัดสรรน้ำตาลทรายในส่วนที่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) จัดสรรให้กระทรวงพาณิชย์เป็นกรณีพิเศษ 1 ล้านกระสอบ (1แสนตัน) เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลน ซึ่งล่าสุดสมาคมได้รับหนังสือบัญชีรายชื่อผู้ซื้อน้ำตาลทรายจากกระทรวงพาณิชย์ทั้งหมด 11 ราย แต่ตรวจสอบเบื้องต้นมีบางรายผิดปกติ เช่น ทำธุรกิจร้านขายอาหารสัตว์ ขายเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งต้องตรวจสอบรายละเอียดให้แน่ชัดอีกครั้ง
นอกจากนี้ พาณิชย์ยังแจ้งตั้งศูนย์บริหารการจัดการน้ำตาล มีผู้ตรวจราชการเป็นประธานมีอำนาจในการดูแลบริหารน้ำตาล 1 ล้านกระสอบ ซึ่งแบ่งเป็น 7 แสนกระสอบให้ยี่ปั๊วซาปั๊ว อีก 1.5 แสนกระสอบให้ผู้ผลิตอุตสาหกรรม และ 1.5 แสนกระสอบให้รายย่อยและธงฟ้า
นายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์คงต้องหารือในรายละเอียดกับโรงงานน้ำตาลโดยตรงในการส่งมอบให้ชัดเจน เนื่องจากศูนย์บริหารการผลิต การจำหน่ายและการขนย้ายน้ำตาล สอน. ต้องออกใบขนย้ายเมื่อโรงงานน้ำตาลแจ้งมา
นางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) รายงานดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือน ก.พ.53 อยู่ที่ 183.31 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 31.1% เป็นการฟื้นตัวเป็นบวก 4 เดือนติดต่อกันตั้งแต่เดือน พ.ย.52 ตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยอุตสาหกรรมหลัก เช่น ยานยนต์ ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ เหล็กและเหล็กกล้า และแปรรูปสัตว์น้ำ ยังมียอดผลิตและจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น
ล่าสุด ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังอยู่ที่ระดับ 183.21 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 8% และมีอัตราการใช้กำลังการผลิต 60.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 50% ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจในอีก 2 เดือนจะปรับตัวดีขึ้น.
จาก http://www.thaipost.net วันที่ 26 มีนาคม 2553
โรงงานน้ำตาลโวย พาณิชย์ ไม่ส่งบัญชีรายชื่อลูกค้าให้ส่งมอบน้ำตาล หลังได้รับจัดสรร 1 ล้านกระสอบ เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลน
แหล่งข่าวจาก 3 สมาคมโรงงานน้ำตาล เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ยังไม่ได้มอบหมายให้โรงงานน้ำตาลทรายจัดสรรน้ำตาลตามที่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) อนุมัติจัดสรรให้พาณิชย์จำนวน 1ล้านกระสอบ เพื่อแก้ไขปัญหาภาวะการขาดแคลนแต่อย่างใด หลังจากที่ล่าสุดน้ำตาลได้ขึ้นงวดไปแล้วจำนวน2งวดประมาณ8 แสนกว่ากระสอบ โดยต้องการให้กระทรวงพาณิชย์ส่งบัญชีรายชื่อลูกค้าให้โรงงานส่งมอบน้ำตาลในสัปดาห์นี้ เพราะหากไม่ติดต่อมา และหากเหลือค้างไว้ โรงงานจะมีภาระเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ปริมาณน้ำตาลทรายบริโภคในประเทศ (โควตา ก.) ที่กอน.มีมติจัดสรรน้ำตาลเพิ่มจากเดิม 21ล้านกระสอบเป็น 22 ล้านกระสอบนั้น ถือเป็นปริมาณที่มาก โดยในช่วงแรกยอมรับว่าปริมาณน้ำตาลในประเทศตึงตัวจริง เนื่องจากราคาน้ำตาลทรายต่างประเทศขยับไปสูงถึง 700เหรียญสหรัฐต่อตัน ราคาจึงสูงกว่าราคาหน้าโรงงานของไทยที่กำหนดไว้กิโลกรัมละ 19 บาทถึงกก.ละ 3-4 บาท ทำให้น้ำตาลไหลออกไปยังเพื่อนบ้านแถบชายแดน และผู้ผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกที่ได้สิทธิใช้น้ำตาลโควตาค. (ส่งออก) หันไปใช้โควตาก.แทน แต่ล่าสุดน้ำตาลทรายตลาดโลกลดลงมาแตะระดับ 500 เหรียญสหรัฐต่อตัน เฉลี่ยใกล้เคียงกับราคาหน้าโรงงานแล้วที่ 19 บาทต่อกก. ทำให้น้ำตาลไม่ไหลออกและผู้ส่งออกก็หันมาใช้โควตา ค. ตามเดิม
จาก http://www.manager.co.th วันที่ 24 มีนาคม 2553
TTCLได้งานโรงเอทนอล5พันล. รุกต่างประเทศต่อเนื่องลดเสี่ยง
โตโย-ไทยฯ คว้างานสร้างโรงงานเอทานอล 2 โรงของกลุ่มปิโตรเคมีในเวียดนาม ป้อนโรงกลั่นผลิตแก๊สโซฮอล์มูลค่ารวมเกือบ 5 พันล้านบาท พร้อมลุยงานในต่างประเทศต่อเนื่องหลังพบกำไรสูงกว่างานในประเทศและลดความเสี่ยง เผยอยู่ระหว่างเสนองานรับเหมาครบวงจรอีกหลายโครงการมูลค่ารวมกว่า 39,000 ล. ฟุ้งโอกาสชนะสูง
นายสุวิทย์ มโนมัยยานนท์ กรรมการและรองประธานฝ่ายขาย บริษัท โตโย-ไทย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TTCL แจ้งว่าขณะนี้ บริษัทได้รับหนังสือแจ้งความจำนงเพื่อทำสัญญาก่อสร้างโรงงานผลิตเอทานอลพร้อมกัน 2 โครงการ โดยโครงการแรกเป็นโรงงานผลิตเอทานอลของ " กลุ่มปิโตร เวียตนาม (Petro Vietnam) " ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทน้ำมันและปิโตรเคมีที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนาม และโครงการที่ 2 เป็นโรงงานผลิตเอทานอลของ กลุ่มทุนจากประเทศญี่ปุ่น โดยทั้ง 2 โครงการมีมูลค่างานโครงการละ 2,000 ล้านบาท รวมเป็นมูลค่ารวม 4,000 ล้านบาท ทำให้ TTCL มีปริมาณงานเพิ่มเป็นกว่า 10,000 ล้านบาท ซึ่งบริษัทสามารถเริ่มรับรู้รายได้ทันที่ในปีนี้ มีกำหนดเริ่มก่อสร้างภายในปี 53 และจะแล้วเสร็จภายในปี 55 ซึ่งทั้ง 2 โครงการนี้มีกำลังการผลิตเอทานอล เท่ากันคือ โรงงานละ 300,000 ลิตรต่อวัน โดยผลผลิตเอทานอลที่ได้จะนำไปใช้ในการผลิตน้ำมันแก๊สโซฮอล์ภายในประเทศเวียดนาม
" การที่เรา ชนะการเสนองานทั้ง 2 โครงการนั้น เป็นเพราะ TTCL มีประสบการณ์ในการออกแบบและก่อสร้างโรงงานขนาดใหญ่ในต่างประเทศรวมถึงในประเทศเวียดนามมากว่า 13 ปี และยังมีบริษัท โตโย-เวียดนามเป็นบริษัทลูก ช่วยสนับสนุนการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ TTCL ใช้กลยุทธ์รุกขยายงานในต่างประเทศ เพื่อสร้างผลประกอบการให้เติบโตยิ่งขึ้น เนื่องจากงานในต่างประเทศมีอัตรากำไรสูงกว่างานในประเทศ เพราะได้เปรียบในการแข่งขันเนื่องจากมีผลงานการก่อสร้างในต่างประเทศ ที่สร้างความมั่นใจให้กับเจ้าของโครงการ "
นอกจากนี้ ยังมีต้นทุนถูกกว่า จากอัตราค่าจ้างวิศวกรไทย น้อยกว่าค่าจ้างวิศวกรในประเทศต่าง ๆ และการรับงานในต่างประเทศจะช่วยยกระดับจากบริษัทก่อสร้างแบบครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดของประเทศสู่การเป็นบริษัทรับเหมาแบบครบวงจรระดับนานาชาติ และยังเป็นการกระจายความเสี่ยงจากสถานการณ์มาบตาพุด ซึ่งโครงการก่อสร้างของบริษัทฯ ไม่ได้รับผลกระทบเนื่องจากดำเนินงานก่อสร้างแล้วเสร็จเกือบ 100% แล้ว นอกจากนี้ TTCL อยู่ระหว่างเสนอ งานรับเหมาครบวงจร EPC อีกหลากหลายโครงการ มูลค่าโครงการรวมกว่า 39,000 ล้านบาท อาทิ โรงงานปุ๋ยที่ประเทศเวียดนามและโมร็อคโค คาดว่าบริษัทจะสามารถชนะงานประมูลได้
อนึ่ง TTCL เป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่มีผลกำไรสุทธิสูงที่สุด 2 ปีซ้อน คือ 327 ล้านบาท (ปี 52) แถมมีค่า PE เพียง 9.44เท่า (ถูกที่สุดในกลุ่มรับเหมาฯ) และเป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่รายเดียวที่จ่ายเงินปันผลสูงสุดในปีนี้ คือ 35 สตางค์ต่อหุ้นหรือ 5.31% คิดเป็นการจ่ายปันผลอัตรา 50.33% ของกำไรสุทธิ โดยบริษัทจะจ่ายเงินปันผลงวดครึ่งปีหลังอีก 0.195 สตางค์ต่อหุ้น ในวันที่ 30 เมษายนนี้ อีกทั้งยังมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งด้วยมูลค่าเงินสดและเงินลงทุนชั่วคราวกว่า 2,700 ล้านบาท โดยไม่มีภาระหนี้เงินกู้เลย
จาก http://www.manager.co.th วันที่ 23 มีนาคม 2553
กลุ่มมิตรผลกับซีเอสอาร์ถึงแก่นธุรกิจ
>>การนำความรับผิดชอบต่อสังคมมาเป็นแก่นในการดำเนินธุรกิจจน ประสบความสำเร็จของกลุ่มมิตรผลอาจ กล่าวได้ว่ามีรากเหง้าจากสำนึกที่ดีของผู้เป็นเจ้าของ ซึ่งต้องการตอบแทนคุณแผ่นดินที่ตนอาศัย และในที่สุดกลายเป็น ปณิธานในการพัฒนาธุรกิจควบคู่กับการ สร้างสรรค์ชุมชนและเศรษฐกิจไทยให้พัฒนาสู่ความยั่งยืนในแบบ ร่วมอยู่... ร่วมเจริญ ซึ่งผนวกเป็นกลยุทธ์สำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจของกลุ่มมิตรผลนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ธุรกิจของกลุ่มมิตรผลเริ่มต้นจากการผลิตน้ำเชื่อมเข้มข้นส่งโรงงานน้ำตาล และต่อมาได้ขยายกิจการจนกลายเป็นผู้นำในการผลิตและส่งออกน้ำตาลของประเทศไทย สิ่งที่มิตรผลใส่ใจตลอดมา คือ การมีส่วนร่วมกับชุมชนในการพัฒนาผล ผลิตและการจัดการที่ก่อให้เกิดผลกำไรอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ โดยเชื่อว่าถ้าเราช่วยทำให้การปลูกอ้อยเป็นอาชีพที่ยั่งยืนได้ การทำธุรกิจน้ำตาลของมิตรผลก็จะยั่งยืน ด้วย ฐานคติดังกล่าวทำให้กลุ่มมิตรผลทุ่มเทกับการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยี การจัดการเพื่อเพิ่มผลผลิตให้กับชาว ไร่อ้อย ซึ่งรวมถึงการพัฒนาสายพันธุ์อ้อย การพัฒนาแหล่งน้ำในชุมชน การพัฒนาเครื่องจักรกลในการเพาะปลูก และการส่ง เสริมให้นำชีววิธีต่างๆ มาใช้ในการควบ คุมศัตรูพืช เช่น การเบียนแตน การใช้ ราเขียว เป็นต้น เหล่านี้ถือเป็นโครงการหลักของงานวิจัยพัฒนาอ้อยและน้ำตาลและของสายงานอ้อยที่แสดงให้เห็นถึงการ นำหลักซีเอสอาร์มาใช้ในกระบวนการทำงานแบบที่เรียกว่า In Process ถึงแก่น ของการพัฒนาศักยภาพชุมชนและการวางรากฐานที่มั่นคงในการพัฒนาธุรกิจของกลุ่มมิตรผล
นอกจากการร่วมพัฒนาศักยภาพชุมชนผ่านโครงการต่างๆ แล้ว มิตรผลยังนำแนวคิดของการดูแลสิ่งแวดล้อมและการใส่ใจต่อผู้บริโภค มาใช้ในทุกขั้นตอนการผลิตอีกด้วย โดยมุ่งใช้ทรัพยากร การผลิตทุกชนิดอย่างคุ้มค่า จนเรียกว่าไม่มีของเสียเหลือทิ้ง (Zero Waste) โดยเฉพาะการนำพลังงานความร้อนรูปแบบต่างๆ เช่น น้ำร้อน ไอน้ำและกระแสไฟฟ้า กลับมาใช้ในการผลิตอย่างเต็มประสิทธิ ภาพ การบำบัดน้ำเสียจนกลายเป็นน้ำดีที่สามารถนำกลับมาใช้ได้อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังนำไฟฟ้าชีวมวล พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาใช้ในทุกพื้นที่ของโรงงาน การดำเนินงานดังกล่าวล้วนอยู่ภายใต้การจัดการสิ่งแวดล้อมและการควบ คุมคุณภาพตามมาตรฐานสากล ทำให้ทุกเกล็ดน้ำตาลของมิตรผลเปี่ยมล้นไปด้วยคุณภาพ
นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์น้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลกรวด ภายใต้ตรามิตรผล รวมทั้งผลิตภัณฑ์ น้ำตาลแร่ธรรมชาติ ตรา มิตรผลโกลด์ ยังได้รับการรับรองฉลาก คาร์บอน (Carbon Label) จากองค์กรบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ถือเป็นผลิตภัณฑ์น้ำตาลรายแรกที่ได้รับการรับรองฉลากคาร์บอนในประเทศไทย สะท้อนประสิทธิภาพการผลิต และความใส่ใจในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ถึงแก่นของความรับผิดชอบ ต่อสิ่งแวดล้อมและการให้คุณค่าแก่การบริโภค ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญของการดำเนินธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคมเช่นกัน
เมื่อธุรกิจเติบใหญ่และมิตรผลต้องตัดสินใจแผ่กิ่งก้านสาขา การเลือกลงทุนในธุรกิจไม้เลียนแบบธรรมชาติ ไฟฟ้า ชีวมวลและเอธานอล ตามลำดับ ตั้งแต่ปี 2533 ถือเป็นภาพสะท้อนของความพยายามในการสร้างความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพิ่มคุณค่าทางเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับเกษตรกรไทยอย่างถึงแก่นของการดำเนินธุรกิจที่รับผิด ชอบต่อสังคม เช่น ธุรกิจไม้เลียนแบบธรรมชาติที่ทำจากชานอ้อยหรือเศษไม้ยาง เป็นทางเลือกที่ช่วยลดการตัดไม้ทำลายป่าในประเทศไทยถึงปีละกว่า 25,7000 ไร่ ขณะที่ธุรกิจไฟฟ้าชีวมวลและเอธานอลช่วยเสริมรายได้ให้กับเกษตรกร และเพิ่มทางออกด้านพลังงานให้กับประเทศชาติ (ใช้พลังงานทดแทนแสนสะอาดที่ปลูกได้บนแผ่นดินไทยแทนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงจากฟอสซิลที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ)
นอกจากการนำแนวคิดซีเอสอาร์ หรือการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคมมาใช้ในทุกระบวนการจัดการ ตั้งแต่การตัดสินใจในการลงทุน การขยายกิจการ และการปฏิบัติงานในทุกสายงาน แล้ว กลุ่มมิตรผลยังมองหาโอกาสในการเกื้อกูลต่อสังคมในรูปแบบอื่นๆ นอกขอบ ข่ายของการดำเนินธุรกิจ (After Process) ด้วย เช่น การมอบทุนการศึกษา การจัดกิจกรรมค่ายเยาวชน การบริจาค และร่วมกิจกรรมด้านวัฒนธรรม ศิลปกรรมและศาสนาร่วมกับชุมชนในแต่ละท้องถิ่นตามความเหมาะสม ทั้งนี้ โดยเชื่อว่าการเอื้อเฟื้อและใส่ใจต่อกันจะประสานสายสัมพันธ์ที่นำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน ตอบโจทย์ปณิธานของการเข้าถึงแก่น
ซีเอสอาร์ นั่นคือการพัฒนาธุรกิจควบคู่กับการสร้างสรรค์ชุมชนและเศรษฐกิจไทยให้พัฒนาสู่ความยั่งยืนในแบบ ร่วมอยู่...ร่วมเจริญ ของกลุ่มมิตรผล
จาก http://www.siamturakij.com วันที่ 23 มีนาคม 2553
ราคาน้ำตาลโลกหกคะเมนทรุดหนักต่ำสุดในรอบหลายเดือน ล่าสุดน้ำตาลทรายขาวร่วงลงมาอยู่ที่ 532.6 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน น้ำตาลดิบจาก 30เซ็นต์/ปอนด์ หล่นมาอยู่ที่ 19 เซ็นต์/ปอนด์ เผย 5 สาเหตุทำราคาผันผวนหนักสุดในช่วงนี้ ทั้งกองทุนเก็งกำไรเทขาย บราซิลผลิตอ้อยได้มากขึ้น ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่า เบียดราคาน้ำตาลบริโภคในประเทศ/กิโลกรัมสูงกว่าราคาตลาดโลกทันที ด้านโรงงานอุตสาหกรรมยังไม่ถึงคาด ถูกตัดสิทธิ์โควตาค. 5 ปี รีบกลับลำหันมาใช้น้ำตาลโควตาค.ตามสิทธิ์มากขึ้นแล้ว
สืบเนื่องจากที่ "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามรายงานข่าวสถานการณ์ราคาน้ำตาลในตลาดโลกและความเคลื่อนไหวของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในประเทศมาอย่างต่อเนื่อง โดยวงการน้ำตาล บริษัทวิจัย และบรรดาเทรด ดิ้งต่างประเมินว่า ปี 2553 จะเป็นช่วงที่อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลขาขึ้น กำลังการผลิตขาด ความต้องการใช้สูง ราคาก็จะพุ่งตาม หลังจากที่มีการคาดการณ์ว่าประเทศที่ผลิตและใช้น้ำตาลรายใหญ่ จะลดกำลังการผลิตลง เช่น อินเดีย บราซิล ซึ่งต่างเผชิญปัญหาภัยธรรมชาติรุนแรงในประเทศ ทั้งแล้งจัดและหนาวจัดในหลายพื้นที่ แต่ล่าสุดสถานการณ์กลับพลิกผันไปอีก เมื่อราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่ทรงตัวในระดับสูงนั้นกลับอ่อนตัวลงไปอย่างฮวบฮาบ
-ราคาน้ำตาลโลกร่วง เรื่องนี้นายสุรัตน์ ธาดาชวสกุล ผู้จัดการ บริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด (อนท.) เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงสถานการณ์ราคาน้ำตาลในตลาดโลกในช่วงนี้ว่า เป็นจังหวะที่ราคาผันผวนอย่างรุนแรง เนื่องจากมีราคาทรุดลงในระดับต่ำสุดในรอบหลายเดือนที่ผ่านมา โดยราคาน้ำตาลทรายขาวในตลาดโลกในขณะนี้ราคาจะลงมาอยู่ที่ 532.6 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน หรือราคา 17.20 บาท/กิโลกรัม หากคำนวณตามอัตราแลกเปลี่ยนที่ 32.3 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ เปรียบเทียบกับราคาช่วงปลายปี 2552 ถึงต้นปี 2553 อยู่ที่ 700 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน และเดือนมกราคมปีนี้ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 760 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน ก่อนที่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ราคายังคงผันผวนอยู่ระหว่าง740-760 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน หรือราคาตั้งแต่ 23.90 -24.55 บาท/กิโลกรัม ส่วนราคาน้ำตาลทรายดิบขณะนี้ลงมาอยู่ที่ 19.01 เซ็นต์/ปอนด์ หรือ 419.10 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน หรือราคา 13.54 บาท/กิโลกรัม เมื่อคำนวณจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ 32.3 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ หลังจากนั้นในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ราคาน้ำตาลทั้ง 2 ชนิดในตลาดโลกเริ่มถดถอยร่วงลงมาต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เทียบจากราคาน้ำตาลทรายดิบเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ราคาอยู่ที่ 30.40 เซ็นต์/ปอนด์ ก่อนที่จะอ่อนตัวลงมาต่ำกว่า 30 เซ็นต์/ปอนด์ ในช่วงก่อนหน้านี้
ทั้งนี้ราคาดังกล่าวเป็นราคาตลาดที่ยังไม่รวมค่าพรีเมียม ค่าขนส่งและค่าอื่น ๆ ซึ่งราคาพรีเมียมก่อนหน้านี้จะอยู่ที่ 40-45 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน
-5 ต้นตอโยงราคาผันผวนหนัก ผู้จัดการ อนท.ชี้แจงว่า สาเหตุที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกผันผวนหนักมากในช่วงนี้ เกิดจาก 5 สาเหตุหลักคือ 1.กองทุนเก็งกำไรน้ำตาลเทขายน้ำตาลออกมามากอย่างต่อเนื่องในช่วงระยะนี้ เพราะตอนที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกสูง ทำให้การบริโภคน้ำตาลน้อยลง ซึ่งเป็นไปตามพฤติกรรมของผู้บริโภค เมื่อราคาสูงก็ซื้อน้อยลง 2. พื้นฐานของตลาดเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไป จากที่ก่อนหน้านี้มีการคาดการณ์ว่าปริมาณน้ำตาลจะลดลงมาก แต่เมื่อมีการประเมินใหม่กลับพบว่าสูงกว่าเป้าที่ตั้งไว้ เช่น อินเดีย เมื่อฤดูการผลิตปี 2551/2552 ผลผลิตน้ำตาลในประเทศลดลงไปมาก เหลือปริมาณน้ำตาลที่ผลิตได้ 14.7 ล้านตัน จากที่ปี 2550/2551 อินเดียผลิตน้ำตาลได้สูงถึง 26.3 ล้านตัน และจากเดิมที่อินเดียมีการส่งออกน้ำตาลไปยังตลาดโลก 5 ล้านตัน/ปี แต่ปี 2551/2552 อินเดียไม่มีการส่งออก และกลับต้องนำเข้าน้ำตาลจากตลาดโลก 4-5 ล้านตัน แต่ในปีการผลิต 2552/2553 นี้ เดิมทีคาดกันว่าอินเดียจะผลิตน้ำตาลได้ 15-15.5 ล้านตัน แต่เมื่อมีการประเมินสถานการณ์ใหม่พบว่า ผลผลิตน้ำตาลของอินเดียกลับพุ่งสูงขึ้นกว่าเดิมโดยทั้งปีคาดการณ์ว่าจะมีผลผลิตน้ำตาลประมาณ 17 ล้านตัน เมื่อผลผลิต/ไร่ดีขึ้น จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกอ่อนตัวลงมา นายสุรัตน์แจงต่อว่า ประการที่ 3 ผลผลิตอ้อยของบราซิลในฤดูผลิตใหม่ปี 2553/2554 ที่จะเริ่มต้นในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2553 คาดว่าจะมากกว่าปี 2552 ประมาณ 10% จากที่บราซิลมีปริมาณอ้อยในพื้นที่ภาคกลางตอนใต้ ซึ่งมีปริมาณอ้อยประมาณ 90% ของประเทศ โดยมีปริมาณอ้อย 530 ล้านตันอ้อย/ปี ก็จะเพิ่มเป็น 580 ล้านตันอ้อย/ปี จึงทำให้ผลผลิตน้ำตาลในบราซิลจะเพิ่มขึ้นด้วย 4.ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่แข็งค่าขึ้นมาในช่วงนี้ ส่งผลทำให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกอ่อนตัวลงมาด้วย และยังเป็นช่วงที่คาดการณ์ยาก ว่าตลาดน้ำตาลล่วงหน้าจะเป็นอย่างไร 5. บรรดาบริษัทวิจัยและการค้าต่าง ๆ ออกมาคาดการณ์ไปในทิศทางบวก กรณีปริมาณน้ำตาลในตลาดโลกจะขาดแคลนลดลง เช่น บริษัท F.O.LICHT บริษัทวิจัยจากเยอรมนี ที่ออกมาคาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า ปี 2553/2554 หากสภาพดินฟ้าอากาศดี บวกกับที่ราคาอ้อยและราคาน้ำตาลดีขึ้นมากในปี 2552/2553 ก็จะไปกระตุ้นให้เกิดการผลิตมากขึ้น ก็อาจทำให้ปริมาณน้ำตาลในตลาดโลกขาดแคลนน้อยลง หรืออาจจะเกินการบริโภคเล็กน้อยเมื่อเทียบกับ 2 ปีที่ผ่านมา
"เมื่อปี 2552-2553 มีกำลังการผลิตน้ำตาลน้อยกว่าการบริโภคอยู่จำนวน 7.7 ล้านตัน เพราะมีการลดกำลังการผลิตน้ำตาลในบราซิล จีน ไทย และปากีสถาน ทำให้ตลาดโลกขาดน้ำตาล เทียบกับปี 2551/2552 มีผลผลิตน้ำตาลโลกส่วนขาดอยู่ที่ 13.2 ล้านตัน รวม 2 ปีที่ผ่านมาตลาดโลกขาดน้ำตาลไปแล้วถึง 20.9 ล้านตัน"
-รง.อาหารกลับลำใช้โควตา ค. ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากการผันผวนของราคาน้ำตาลในตลาดโลกในขณะนี้ ทำให้ราคาน้ำตาลทรายขาวในตลาดโลกตกลงมาเหลือกิโลกรัมละ16-17 บาท ถึงแม้จะยังไม่รวมค่าพรีเมียม ก็เริ่มมองเห็นได้ชัดเจนว่า ราคาน้ำตาลในตลาดโลกเริ่มสูงกว่าราคาน้ำตาลสำหรับบริโภคในประเทศ (น้ำตาลโควตาก.) แล้ว โดยน้ำตาลโควตา ก.หน้าโรงงานอยู่ที่ 19-20 บาท/กิโลกรัม ราคาขายปลีกอยู่ที่ 22-23.50 บาท/กิโลกรัม "ด้วยเหตุนี้ทำให้โรงงานอุตสาหกรรมที่ผลิตอาหารเครื่องดื่มและขนม เพื่อการส่งออก หันกลับมาใช้น้ำตาลโควตา ค. (น้ำตาลส่งออก) มากขึ้นแล้ว จากเดิมที่เคยได้รับสิทธิ์โควตาค. แล้วไม่ใช้ เพราะมีราคาสูงกว่าโควตา ก. แต่ขณะนี้เหตุการณ์กลับตรงข้ามกัน บวกกับก่อนหน้านี้มาตรการรัฐเข้มงวดขึ้นโดยจะตัดสิทธิ์ห้ามใช้โควตา ค. 5 ปี สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อส่งออก ที่ไม่มาใช้สิทธิ์ตามสัดส่วนที่ได้รับ ทำให้ผู้ประกอบการห่วงถึงต้นทุนระยะยาว ที่อาจจะสูงขึ้นได้ และจากการสำรวจการใช้น้ำตาลโควตา ค. ขณะนี้จึงยังไม่มีผู้ประกอบการรายใดถูกตัดสิทธิ์ดังกล่าว"
-พรีเมียมพุ่งรง.หันซื้อคืนโควตา ค. นายภิรมย์ศักดิ์ สาสุนีย์ ผู้จัดการทั่วไปบริษัท ค้าผลผลิตน้ำตาล จำกัด กล่าวว่า การที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกอ่อนตัวลงในช่วงนี้ จะมีผลกับโรงงานผลิตน้ำตาล ที่จะกลับไปซื้อน้ำตาลโควตา ค.ที่ขายล่วงหน้าไปแล้วคืน เพื่อนำกลับมาจัดสรรให้สำหรับน้ำตาลโควตา ก.ให้ครบ 22 ล้านกระสอบ ตามมติคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ก่อนหน้านั้น โดยขึ้นอยู่กับราคาตอนที่โรงงานน้ำตาลขายออกไปล่วงหน้า และเมื่อต้องซื้อกลับมาตอนนี้ราคาไม่ได้ต่ำลงตามตลาดโลก เพราะมีค่าพรีเมียมที่สูงขึ้นตามมา จากค่าพรีเมียม 40-45 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน เพิ่มเป็น 60 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน ฉะนั้นโรงงานที่ซื้อโควตา ค. กลับมาจะต้องเจ็บตัวแน่นอน โดยมีปริมาณน้ำตาลที่จัดสรรเพิ่ม รวมแล้วทั้งหมดประมาณ 1 ล้านกระสอบ ที่โรงงานผลิตน้ำตาลแต่ละแห่งจะจัดสรรกันไป
ทั้งนี้ ค่าพรีเมียมในแต่ละช่วงจะมีอัตราที่ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับความต้องการใช้น้ำตาลและกำลังการผลิตน้ำตาลในตลาดโลก
จาก http://www.thanonline.com วันที่ 22 มีนาคม 2553
เสียงจากกูรูน้ำตาล... "พิชัย คณิวิชาภรณ์" ไม่เกิน 2 ปี ได้เห็นน้ำตาลราคา 12 เซนต์/ปอนด์
ปรากฏการณ์ราคาน้ำตาลทรายดิบกับน้ำตาลทรายขาวใน ตลาดโลกที่พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ถึง 30 เซนต์/ปอนด์ หรือ 700 เหรียญสหรัฐ/ตัน ตามลำดับได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่ใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย โดยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาได้เกิดภาวะน้ำตาลภายในประเทศตึงตัว ผู้ซื้อบางราย ยี่ปั๋ว-ซาปั๊ว รวมถึงผู้บริโภคไม่สามารถ หาซื้อน้ำตาลได้
โดยการขาดแคลนเกิดจากหลายปัจจัย ทั้งการกักตุน การลักลอบส่งออก และการหันมาแย่งน้ำตาลภายในประเทศ (โควตา ก.) ของโรงงานผู้ผลิตอาหาร "ประชาชาติธุรกิจ" ได้สัมภาษณ์ นายพิชัย คณิวิชาภรณ์ ประธานคณะทำงานด้าน ต่างประเทศของบริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) ในฐานะผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมน้ำตาล ได้ประเมินถึงสถานการณ์และทิศทางของอุตสาหกรรมน้ำตาลโลก สะท้อนมาถึงอุตสาหกรรมน้ำตาลไทย ให้มุมมองที่แตกต่างจากหลายฝ่ายที่เห็นว่า ช่วง 2-3 ปีนับจากนี้ยังเป็นช่วงขาขึ้น หรือปีทองของอุตสาหกรรมนี้อยู่
- สถานการณ์น้ำตาลโลกในปัจจุบัน
ตอนนี้ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกเริ่มลดลงแล้ว จากการเทขายของนักเก็งกำไร ซึ่งมีการซื้อน้ำตาลล่วงหน้า โดยน้ำตาลทรายขาวเหลือประมาณ 500 เหรียญสหรัฐ/ตัน หรือประมาณ 20 บาท/กิโลกรัม ดังนั้นภาวะตึงตัวภายในประเทศในความเห็นของผมจึงไม่น่ากังวล การลักลอบไม่มี ผู้ผลิตสินค้าก็ควรจะกลับไปซื้อน้ำตาลส่งออก (โควตา ค.) เหมือนเดิม สถานการณ์กำลังกลับเข้าสู่ภาวะปกติ การเพิ่มปริมาณน้ำตาลในประเทศ (โควตา ก.) อีก 1 ล้านกระสอบ จึงเป็นเพียงแค่ผลทางจิตวิทยาเท่านั้น แท้จริงน้ำตาลไม่ได้ขาดแคลน
ผมมองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในปีนี้เป็นกรณีพิเศษมาก นาน ๆ 10-15 ปีจึงจะเกิดสักที นับเป็นเหตุบังเอิญทางด้านสภาพอากาศของประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ 2 ประเทศ คือ บราซิล กับอินเดีย ฝนตกเยอะและน้อยเกินไป ทำให้ผลผลิตอ้อยลดลงอย่างมาก ส่งผลให้น้ำตาลขาดแคลน ประกอบกับผลทางจิตวิทยา การเก็งกำไร ผลักดันให้ราคาน้ำตาลสูงกว่าดีมานด์และซัพพลายที่แท้จริงอย่างมาก เหมือนกับสินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ ที่นักเก็งกำไรมองเห็นลู่ทางในการทำกำไร ก็เข้ามาแทรกแซง ซึ่งสินค้าบางรายการก็ทำสำเร็จ บางรายการก็ไม่สำเร็จ ขาดทุนไปก็มี แต่สำหรับน้ำตาล การที่นักเก็งกำไร เข้ามาแทรกแซงตลาดถือว่า ประสบความสำเร็จมาก สามารถผลักดันราคาให้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นราคา ที่สูงเกินจริง และเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น
- แนวโน้มของราคาน้ำตาล
ราคาน้ำตาลที่อยู่ในระดับสูงอย่างนี้ผมคิดว่าจะทรงอยู่ได้อีกประมาณ 2 เดือน เพราะหลังจากนั้นผลผลิตน้ำตาลจากประเทศแถบอเมริกาใต้ก็จะเริ่มออกมาสู่ตลาดโลกแล้ว ดังนั้นราคาน้ำตาลทรายดิบที่ 30 เซนต์/ปอนด์ กับน้ำตาลทรายขาวที่ 700 เหรียญสหรัฐ/ตันนั้น ผมคิดว่าอนาคตคงไม่เกิดขึ้นง่าย ๆ อีกแล้ว เพราะปัจจัยราคามีผลอย่างมาก เมื่อเห็นราคา พืชเกษตรตัวไหนดี เกษตรกรก็หันมาปลูกพืชตัวนั้น กันมากขึ้น ราคาน้ำตาลดีก็เป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยทั่วโลกที่เป็นผู้ผลิตน้ำตาลเร่งขยายพื้นที่ การปลูกอ้อย โรงงานน้ำตาลก็ขยายการผลิต ปริมาณน้ำตาลจะไหลสู่ตลาดโลกมากขึ้น ซึ่งการขยายขณะนี้อาจถึงขั้นมีน้ำตาลส่วนเกินจากความต้องการภายในระยะเวลา 2 ปีนับจากนี้ด้วยซ้ำ
โดยฤดูการผลิต 2553/2554 ปริมาณน้ำตาลตลาดโลกจะเข้าสู่ภาวะสมดุลในระดับ 140-150 ล้านตัน ราคาน้ำตาลทรายดิบน่าจะอยู่ในระดับ 14-16 เซนต์/ปอนด์ เป็นฐานของราคาน้ำตาลที่แท้จริง ส่วนในปี 2554/2555 คาดว่าผลผลิตน้ำตาลจะมีส่วนเกินจากความต้องการ กดดันให้ราคาปรับลดเหลือ 12-13 เซนต์/ปอนด์
- แม้ปัจจุบันน้ำตาลขาดแคลนอยู่ 20 กว่าล้านตัน
อ้อยไม่ใช่ต้นไม้ยืนต้นที่ต้องใช้เวลาปลูก 2-3 ปี ถึงจะออกผล แต่อ้อยปลูกแค่ 1 ปี ก็ได้ผลผลิตแล้ว ดังนั้นผลผลิตอ้อยจำนวนมากก็ออกมาให้เห็นในฤดูการผลิต 2553/2554 จนเข้าสู่ภาวะสมดุลกับความต้องการที่ 140-150 ล้านตัน ไม่ขาดแคลน ยกเว้นเสียแต่สภาวะอากาศไม่เป็นปกติ เกิดวิกฤตภัยแล้งหรือฝนตกมากเกินไป ทำให้ผลผลิตไม่เป็นตามเป้าหมาย ก็อาจจะทำให้ปริมาณน้ำตาลยังตึงตัวอยู่บ้าง หรือเกิดสภาวะอากาศไม่ปกติ ฝนตกมาก หรือฝนไม่ตก ผลผลิตอ้อย น้อยลง แต่ถ้าปกติผลผลิตจากการขยายการปลูกอ้อยจะสูงขึ้น อาจจะเข้าสู่ภาวะส่วนเกินได้ เกษตรกรเมื่ออ้อยราคาดีก็เป็นแรงบันดาลใจให้เกษตรกรหันมา ปลูกอ้อยกันมากขึ้น
- อีก 2-3 ปีจึงไม่ใช่ปีทองของอ้อยและน้ำตาลไทย
ก็อาจจะเป็นอย่างนั้น ทุกคนอาจจะคิดหวือหวาได้ ก็ทำให้ชีวิตมีรสชาติ มีสีสัน มากขึ้น แต่ถามว่า ในการดำเนินธุรกิจ ผู้ประกอบการเขาก็ไม่ได้ละเลย เขาได้มีการติดตามประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว คิดจากสถานการณ์ปกติ วิธีการทำงานไม่เปลี่ยนแปลง คิดว่าจะทำอย่างให้โรงงานลดต้นทุนการผลิตของเราให้ได้มาก มีความพร้อมในการแข่งขัน
จาก http://www.prachachat.net วันที่ 22 มีนาคม 2553
"รง.เอทานอล"อาการหนัก สต๊อกค้างอื้อ-ผู้ค้าน้ำมันลุยผลิตเอง
นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี นายกสมาคมผู้ผลิตเอทานอลไทย กล่าวว่า ปัจจุบันสต๊อกเอทานอลของโรงงานผลิตอยู่ที่ 57 ล้านลิตร ซึ่งเป็นปริมาณที่สูงมากผิดจากช่วงปกติที่มีเพียง 10 ล้านลิตร เนื่องจากปริมาณความต้องการใช้ในไทยมีไม่มาก เพราะระยะหลังนโยบายการส่งเสริมพลังงานทดแทนของรัฐบาลเน้นพลังงานลม ก๊าซชีวภาพ และไบโอดีเซล จนให้การใช้น้ำมันที่ผสมเอทานอลลดลง ส่งผลให้โรงงานหลายแห่งต้องหยุดผลิตชั่วคราว เพื่อระบายสต๊อกให้เหลือน้อยที่สุด
นอกจากนี้ ผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ยังมีแผนสร้างโรงงานผลิตเอทานอลเป็นของตนเอง ก็ยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์ของโรงงานเอทานอลที่จะขายสินค้าได้ลำบากขึ้นอีก ดังนั้นรัฐบาลต้องเพิ่มความต้องการใช้ของตลาดในประเทศให้มากขึ้น จากเดิมที่เฉลี่ยเพียงวันละ 1.2 ล้านลิตร
"สต๊อก 57 ล้านลิตร ไม่รวมสต็อกเอทานอลของปั๊มน้ำมันอีก 40 ล้านลิตร สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้ผลิตอย่างมาก เพราะความไม่ชัดเจนของรัฐบาลโดย และผู้ค้ารายใหญ่อย่าง ปตท.ที่มีข่าวว่าจะปรับลดปั๊มน้ำมันที่จำหน่ายแก๊สโซฮอล์จาก 300 แห่ง เหลือ 140 แห่ง แล้วหันไปส่งเสริมไบโอดีเซลแทน ขณะที่บางจากฯที่จะเพิ่มปั๊มแก๊สโซฮอล์ อี20 จาก 120 แห่ง เป็น 300 แห่ง ส่วนการพัฒนาให้มีการใช้เอทานอลอย่างแพร่หลายในรถยนต์ก็มีความล่าช้า" นายสิริวุทธิ์ กล่าว
ทั้งนี้ ในไตรมาส 3 ของปีนี้อาจเกิดปัญหาเอทานอลในประเทศขาดแคลนได้ เพราะวัตถุดิบในการผลิตมีราคาสูงขึ้น โดยเฉพาะกากน้ำตาล(โมลาส) ส่วนมันสำปะหลังอาจหาซื้อยากขึ้น เพราะผลผลิตน้อยลงจากปัญหาเพลี้ยระบาด ส่งผลให้ยอดผลิตมันสำปะหลังปีนี้เหลือเพียง 20 ล้านตัน จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ 30 ล้านตัน ซึ่งปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจะทำให้ผู้ผลิตขาดทุนได้ เพราะราคาคุ้มทุนควรอยู่ที่ลิตรละ 27-28 บาท แต่ปัจจุบันราคาอ้างอิงอยู่ที่ลิตรละ 23-24 บาทเท่านั้น
จาก http://www.naewna.com วันที่ 22 มีนาคม 2553
เอกชนจี้รัฐถกมาเลย์-ฟิลิปปินส์ลดภาษีน้ำตาล
ผู้ส่งออกน้ำตาล จี้พาณิชย์เจรจามาเลย์-ฟิลิปปินส์ลดภาษีนำเข้า หวังสร้างโอกาสขยายตลาดอาเซียนมากขึ้น โดยใช้ความได้เปรียบด้านต้นทุนขนส่งต่ำ
นายผรินทร์ อมาตยกุล คณะทำงานด้านต่างประเทศ บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลไทยต้องการขยายตลาดอาเซียนมากขึ้น ในฐานะที่ไทยเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของโลกและอาเซียน ประกอบกับต้นทุนค่าขนส่งในอาเซียนถูกกว่าค่าขนส่งไปภูมิภาคอื่น อย่างไรก็ตามการขยายตลาดน้ำตาลในอาเซียนยังมีปัญหาอยู่
แม้จะมีข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียนหรืออาฟตา เพราะหลายประเทศยังจัดให้น้ำตาลเป็นสินค้าในบัญชีอ่อนไหว มีเพียงสิงคโปร์และบรูไนที่เปิดเสรีตลาดน้ำตาล ส่วนที่เหลือจะปกป้องตลาดในประเทศ เช่น ลาว กัมพูชา เก็บภาษี 5-10% ฟิลิปปินส์ 38%
"เอกชนต้องการให้เจรจาเปิดตลาดน้ำตาลคืบหน้า ซึ่งการเจรจากับฟิลิปปินส์ล่าสุดเมื่อปลายปี 2552 หลังจากนั้นไม่มีการเจรจา ซึ่งตามข้อตกลงอาฟตาฟิลิปปินส์ต้องลดภาษีนำเข้าเหลือ 0% ในปีนี้ แต่ฟิลิปปินส์ขอนำน้ำตาลอยู่ในบัญชีสินค้าอ่อนไหว รวมทั้งที่ผ่านมาไทยและฟิลิปปินส์ตกลงจะลดภาษีน้ำตาลแบบขั้นบันไดจากที่ต้องลด 0% ทันที หรือลดภาษีจาก 38% เหลือ 35% ปีถัดไปลดปีละ 5% จนถึงปี 2558"
ที่ผ่านมาไทยไม่สามารถส่งออกน้ำตาลไปฟิลิปปินส์ได้มาก หากลดภาษีนำเข้าลงเชื่อว่าจะทำให้ส่งออกไปได้มากขึ้น เนื่องจากต้นทุนของฟิลิปปินส์สูงกว่าไทย และข้อตกลงอาฟตาทำให้ผู้ผลิตสินค้าที่มีต้นทุนสูงต้องออกไปจากตลาด โดยเหลือเฉพาะผู้ปรับตัวได้จึงจะอยู่รอด ซึ่งหากฟิลิปปินส์ยอมลดภาษีแบบขั้นบันได เหมือนอินโดนีเซียจะทำให้เอกชนไทยหันไปร่วมมือกับเอกชนฟิลิปปินส์เหมือนอินโดนีเซียที่ยอมลดภาษีน้ำตาล
ส่วนการส่งออกไปมาเลเซียนั้น ก็ยังมีปัญหาการใช้มาตรการคุมเข้มการนำเข้าสินค้าเกษตร ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ควรเร่งเจรจาลดอุปสรรคดังกล่าวเพื่อแก้ปัญหา 2 ประเด็น คือ 1.ลดภาษีน้ำตาลทรายดิบ 2.ยกเลิกห้ามนำเข้าน้ำตาลทรายขาว เพราะอาจขัดข้อตกลงขององค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) และตามข้อตกลงอาฟตากำหนดไม่ให้ตั้งโควตาเพื่อจำกัดการนำเข้า อย่างไรก็ตามการเจรจาคงต้องสร้างสมดุลของน้ำตาลกับปาล์มน้ำมัน เพราะขณะนี้มาเลเซีย ก็มีปัญหากรณีไทยห้ามนำเข้าปาล์มน้ำมัน
ทั้งนี้ยอดส่งออกน้ำตาลในตลาดอาเซียนปี 2552 พบว่าส่งออกไปอินโดนีเซียมากสุด 973,957 ตัน กัมพูชา 469,632 ตัน สิงคโปร์ 126,764 ตัน เวียดนาม 126,350 ตัน ฟิลิปปินส์ 77,553 ตัน ลาว 64,496 ตัน และมาเลเซีย 50,522 ตัน
จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 22 มีนาคม 2553
นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี นายกสมาคมผู้ผลิตเอทานอลไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันสต๊อกเอทานอลของโรงงานผลิตอยู่ที่ 57 ล้านลิตร ซึ่งสูงมากผิดจากช่วงปกติที่มี เพียง 10 ล้านลิตร เนื่องจากปริมาณความต้องการใช้ในไทยไม่มากตามที่ประเมินไว้ เพราะระยะหลังนโยบายการส่งเสริมพลังงานทดแทนของรัฐบาลเน้นพลังงานลม ก๊าซชีว ภาพ และไบโอดีเซลมาผสมในน้ำมันดีเซลเป็นหลักจนทำให้ความสำคัญในการใช้น้ำมันที่ผสมเอทานอลลดลง ส่งผลให้โรงงานผลิตเอทานอลหลายรายต้องหยุดการผลิตชั่วคราวเพื่อระบายสต๊อกให้เหลือน้อยสุด
ขณะเดียวกันผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่มีแผนที่จะสร้างโรงงานผลิตเอทานอลเป็นของตนเองยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์ให้โรงงานเอทานอลขายสินค้าได้ลำบากอีก เพราะปัจจุบันโรงงานในไทยมี 17 แห่ง กำลังการผลิต 2.7 ล้านลิตรต่อวันแต่ใช้กำลังการผลิตเพียง 60-70% ดังนั้นรัฐบาลควรเพิ่มความต้องการ ใช้ในตลาดในประเทศให้มากขึ้น จากเดิมที่เฉลี่ยเพียงวันละ 1.2 ล้านลิตร
สต๊อก 57 ล้านลิตรไม่รวมสต๊อก เอทานอลของปั๊มน้ำมันอีก 40 ล้านลิตร ซึ่งสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้ผลิตอย่างมาก เพราะความไม่ชัดเจนของรัฐบาล.
จาก http://dailynews.co.th วันที่ 22 มีนาคม 2553
ยำแผนแก๊สโซฮอล์สต็อกเอทานอลทะลัก
โวยนโยบายส่งเสริมแก๊สโซฮอล์ยังไม่ชัดเจน สต็อกเอทานอลพุ่งกว่า 5 เท่า หลายรายหยุดผลิตชั่วคราว เร่งระบาย แต่สุดท้ายอาจเกิดปัญหาขาดแคลนช่วงปลายปี เพราะหาซื้อวัตถุดิบยาก
นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี นายกสมาคมผู้ผลิตเอทานอลไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันสต็อกเอทานอลของโรงงานผลิตอยู่ที่ 57 ล้านลิตร ซึ่งสูงมากจากปกติที่มีสต็อกเพียง 10 ล้านลิตร เนื่องจากปริมาณความต้องการใช้ในไทยไม่มาก เพราะระยะหลังนโยบายการส่งเสริมพลังงานทดแทนของรัฐบาลเน้นพลังงานลม ก๊าซชีวภาพและไบโอดีเซล ส่งผลให้โรงงานผลิตเอทานอลหลายรายต้องปิดการผลิตชั่วคราว เพื่อระบายสต็อกให้เหลือน้อยสุด
ขณะเดียวกัน ผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่มีแผนสร้างโรงงานผลิตเอทานอล ยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์ของโรงงานเอทานอลที่จะขายสินค้าได้ลำบากอีก เพราะขณะนี้โรงงานเอทานอลในไทย 17 แห่ง กำลังผลิต 2.7 ล้านลิตรต่อวัน แต่ใช้กำลังการผลิตเพียง 60-70% ดังนั้นรัฐบาลต้องเพิ่มความต้องการใช้ตลาดในประเทศมากขึ้นจากเดิมเฉลี่ยเพียงวันละ 1.2 ล้านลิตร
"สต๊อกเอทานอล 57 ล้านลิตร ยังไม่รวมสต๊อกในส่วนผู้ค้าน้ำมันอีก 40 ล้านลิตร ทำให้สร้างความเดือดร้อนให้ผู้ผลิตเอทานอลมาก เบื้องต้นผู้ผลิตเอทานอลรายใหญ่แก้ปัญหาโดยการส่งออกมากขึ้น แต่ห่วงรายเล็กที่อาจเจอปัญหาต้นทุนการขนส่งเพิ่มขึ้นเท่าตัว โดยการส่งออกต้องมีต้นทุนขนส่งจากโรงงานไปท่าเรือเฉลี่ยลิตรละ 2 บาท แต่ส่งจำหน่ายให้ผู้ค้าน้ำมันในประเทศเฉลี่ยลิตรละ 1 บาท" นายสิริวุทธิ์กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในไตรมาส 3 อาจเกิดปัญหาขาดแคลน เพราะวัตถุดิบราคาสูงขึ้น โดยเฉพาะโมลาสเฉลี่ย 5 บาท/กก. และหาซื้อยากมาก ส่วนมันสำปะหลัง 2.6 บาท/กก. เพราะเจอปัญหาเพลี้ยระบาดส่งผลให้ยอดผลิตเหลือเพียง 20 ล้านตันจากเดิม 30 ล้านตัน.
จาก http://www.thaipost.net วันที่ 22 มีนาคม 2553
รัฐจับมือวังขนายเพิ่มผลผลิตอ้อยปลูก100ตันต่อไร่
โชว์ผลงาน"โครงการปลูกอ้อย 100 ตันต่อไร่"มั่นใจช่วยชาวไร่เพิ่มผลผลิตและรายได้สูงขึ้น ชี้ผลสำเร็จขึ้นอยู่กับการเอาใจใส่และความขยัน
นายสุรพล ถ้ำกระแสร์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายภาคที่ 1 จ.กาญจนบุรี กล่าวในการแถลงผลงานคิดค้น "โครงการปลูกอ้อย 100 ตันต่อไร่" ซึ่งเป็นความร่วมมือของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล กระทรวงอุตสาหกรรม และกลุ่มวังขนาย ว่า โครงการดังกล่าวเป็นนวัตกรรมใหม่ในการเพิ่มผลผลิตอ้อย ซึ่งปกติเกษตรกรจะปลูกได้ประมาณ 10-12 ตันต่อไร่ โดยจะเพิ่มเป็น 100 ตันต่อไร่ หรือคิดเป็น 10 เท่าของการปลูกแบบดั้งเดิม
"ปัจจุบันเกษตรกรในพื้นที่ได้ทำการปลูกอ้อยให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ส่งผลทำให้มีรายได้น้อย และยากจน สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย จึงมีนโยบายที่จะหาทางเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น และมีต้นทุนในการผลิตที่ต่ำ จึงได้ขอความร่วมมือกับกลุ่มวังขนายในการคิดค้นหาวิธีการ จนมาประสบความสำเร็จ ซึ่งจะแก้ปัญหาในเรื่องการเพิ่มผลผลิตได้เป็นอย่างดี นายสุรพลกล่าว
ด้าน นายธิป โรจนกิจ ผู้อำนวยการอาวุโส กลุ่มวังขนาย กล่าวว่า การปลูกอ้อยด้วยวิธีใหม่นี้ กลุ่มวังขนายตั้งเป้าหมายในการทดลองปลูกให้ได้ผลผลิต 100 ตันต่อไร่ ซึ่งขึ้นอยู่กับความขยัน ดูแลเอาใจใส่รายละเอียด และประสบการณ์ของเกษตรกร และถึงจะมีต้นทุนในการปลูกสูงแต่ก็ให้ผลคุ้มค่า เกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมแน่นอน เหมาะสำหรับเกษตรกรที่มีพื้นที่ในการเพาะปลูกอ้อยไม่มากนัก เพราะจะสามารถดูแลได้ทั่วถึงอย่างเต็มที่
"หัวใจหลักของการปลูกอ้อย 100 ตันต่อไร่นั้น ขึ้นอยู่กับการเตรียมดิน พันธุ์อ้อย น้ำ และปุ๋ย นอกจากนี้แปลงอ้อยควรอยู่ห่างไกลจากแหล่งก่อให้เกิดมลพิษ เพื่อหลีกเลี่ยงจากสารเคมี นายธิปกล่าว
จาก http://www.komchadluek.net วันที่ 21 มีนาคม 2553
ทั่วโลกรุมทึ้งน้ำตาลไทย-บราซิล
วิกฤติน้ำตาลโลก ลามหลายประเทศผลผลิตไม่เพียงพอกับการบริโภค ทำหลายประเทศแห่นำเข้าจากไทย และบราซิล ด้านกอน.ไฟเขียวเพิ่มโควตาก. แสนตัน หนุนบริโภคในประเทศเพิ่มเป็น 22 ล้านกระสอบ รง.น้ำตาล แลกโยกเงิน 500 ล้านบาท ตัดเข้าระบบอ้อยและน้ำตาล ไม่ต้องส่งเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาล 3 สมาคมน้ำตาลแจ้งข่าวดีไทยและอินโดนีเซีย จับมือลงนามบันทึกความเข้าใจในการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลเป็นครั้งแรก
นายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ขณะนี้ปัญหาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลกำลังจะกลายเป็นปัญหาวิกฤติน้ำตาลโลก เมื่อผลผลิตที่ออกมาไม่เพียงพอกับการบริโภค ทำให้หลายประเทศ จำเป็นต้องนำเข้าน้ำตาล เช่น สหรัฐอเมริกา มีการนำเข้า 3.6 ล้านตัน รัสเซียมีการนำเข้า 2.2 ล้านตัน เม็กซิโก มีการนำเข้า 0.5 ล้านตัน จีนมีการนำเข้า 1.1 ล้านตัน อินเดียมีการนำเข้า4-5 ล้านตัน อินโดนีเซีย นำเข้า 2.2 ล้านตัน ปากีสถาน 1.2 ล้านตัน เวียดนาม 150,000 ตัน และฟิลิปปินส์ 150,000 ตัน เป็นต้น
ทั้งนี้เนื่องจากทั่วโลกเผชิญปัญหาจากภัยธรรมชาติ บางพื้นที่อากาศร้อนเกินไป ขณะที่บางพื้นที่ต้องเผชิญกับสภาพอากาศหนาวจัด ทำให้หลายประเทศสั่งนำเข้าน้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายดิบจากประเทศบราซิลและประเทศไทยในจำนวนที่มากขึ้น สำหรับประเทศไทยคาดว่าปีนี้ผลผลิตอ้อยของไทยจะอยู่ที่ 67-69 +ล้านตัน และได้ผลผลิตน้ำตาลเพียง 6.7-6.9 ล้านตัน
เลขาธิการสอน. กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีคณะกรรมการน้ำตาลทราย(กน.)ได้เสนอให้มีการพิจารณาปริมาณน้ำตาลสำหรับบริโภคในประเทศ(โควตาก.)ไปตามกลไกระบบของตลาดและกฎหมายอ้อยและน้ำตาล โดยถ้าปริมาณน้ำตาลสำหรับบริโภคในประเทศไม่เพียงพอก็จัดสรรเพิ่ม โดยกน. ได้เสนอให้คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.) ขอปรับเพิ่มปริมาณน้ำตาลโควตาก.จาก 21 ล้านกระสอบ หรือ 2.1 ล้านตัน เพิ่มเป็น 22 ล้านกระสอบ หรือ 2.2 ล้านตัน ซึ่งเรื่องนี้กอน.ได้มีการประชุมและอนุมัติไปแล้วเมื่อเร็วๆนี้
โดยการอนุมัติให้เพิ่มน้ำตาลโควตาก.มีวิธีการคือ โรงงานน้ำตาลต้องจัดสรรน้ำตาลจากโควตาค.(น้ำตาลส่งออก)มาเป็นโควตาก.ให้เพียงพอก่อนจำนวน 1 ล้านกระสอบหรือ100,000 ตัน ซึ่งเรื่องนี้ ก่อนหน้านั้นกระทรวงพาณิชย์ได้ทำเรื่องขอให้กอน.จัดสรรน้ำตาลโควตาก.มาให้กระทรวงพาณิชย์บริการจัดการเองจำนวน 400,000 ตันหรือ 4 ล้านกระสอบนั้น ขณะนี้ กอน.อนุมัติให้ได้เพียง 100,000 ตัน
ในแง่ของโรงงานน้ำตาลก็ยอมจัดสรรให้เพิ่มน้ำตาลโควตาก.อีก 100,000 ตัน ทำให้ปริมาณน้ำตาลเพิ่มเป็น 22 ล้านกระสอบ โดยมีเงื่อนไขว่า เงินค่าน้ำตาล 5 บาท/กิโลกรัมที่เดิมส่งเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลเพื่อใช้หนี้ ก็ให้ตัดออกมาเป็นค่าน้ำตาลตามระบบแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างโรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อยในสัดส่วน 30/70 เฉพาะส่วนที่จ่ายให้น้ำตาลก้อนพิเศษจำนวน 100,000 ตันนี้เท่านั้น โดยคำนวณออกมาเป็นเงินจำนวน500 ล้านบาท
สำหรับวิธีการจัดสรรน้ำตาลก้อนพิเศษจำนวน 100,000 ตันมาขึ้นงวดนั้น จะเลื่อนการขึ้นงวดน้ำตาลให้เร็วขึ้น 3 วัน โดยดึงงวดที่ 51 และงวดที่ 52 มาขึ้นงวดก่อน(ใน1ปีจะมีการจัดสรรน้ำตาลโควตาก.แบ่งเป็น 52 งวด) ซึ่งเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2553 ได้มีการดึงน้ำตาลงวดที่52 มาขึ้นงวดเพิ่มจากงวดปกติก่อนจำนวน 40,300 ตัน และงวดที่ 51 จะไปขึ้นงวดพร้อมกับงวดปกติในวันที่ 22 มีนาคมนี้อีกจำนวน 40,300 ตัน และอีกจำนวน 19,400 ตัน มติกอน.ให้ไปดูความเหมาะสมก่อน
ด้านนายวิบูลย์ ผาณิตวงศ์ รองประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กล่าวภายหลังพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ(MOU)ในการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลระหว่างไทยกับอินโดนีเซียในนาม Indonesian Refined Sugar Association เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2553 ว่าการลงนามMOU ครั้งนี้ว่าด้วยความร่วมมือและการพัฒนาเชิงการค้าในอุตสาหกรรมน้ำตาลทราย จะเป็นการสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายของไทยในระยะยาว โดยกรอบบันทึกความเข้าใจนี้จะครอบคลุมในเรื่องของความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูล และความคิดเห็น รวมถึงการร่วมผลักดันการทำข้อตกลงเสรีการค้าโดยผ่านการหารือในระดับพหุภาคีและทวิภาคี ซึ่งจะมีการร่วมประชุมหารือกันอย่างเป็นทางการระหว่างไทยและอินโดนีเซียอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และหากความร่วมมือนี้เป็นไปด้วยดีก็จะเชิญให้สมาชิกในอาเซียน เช่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ เข้ามาเป็นพันธมิตรของเราด้วย
ทั้งนี้ Indonesian Refined Sugar Association เป็นสมาคมที่เกิดการรวมตัวของ 8 บริษัทเอกชนซึ่งเป็นผู้ที่น้ำตาลทรายดิบเพื่อมาทำเป็นน้ำตาลทรายขาว โดยใช้ปริมาณน้ำตาลทรายดิบจำนวน 2.2 ล้านตัน ในจำนวนนี้เมื่อปี 2551 จะนำเข้ามาจากประเทศไทยประมาณ 1.2 ล้านตัน(รวมทั้งน้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายดิบ) ปี2552 นำเข้าจากประเทศไทยรวมเกือบ 1 ล้านตันแบ่งเป็นน้ำตาลทรายดิบ 700,000-800,000 ตัน ที่เหลือเป็นน้ำตาลทรายขาว โดยปัจจุบันอินโดนีเซียนำเข้าน้ำตาลจากไทยเสียภาษีอากรขาเข้า 30% แต่ขณะนี้รัฐบาลอินโดนีเซียกำลังผ่อนปรนให้ภาษีลดลงตามข้อตกลงอาเซียนเหลือเพดานภาษี 25% ในปี2554
อย่างไรก็ตามเมื่อปี 2551 ไทยส่งออกน้ำตาลไปอินโดนีเซียเป็นอันดับหนึ่งถึง 1.642 ล้านตัน มูลค่า 449.727 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 14,865 ล้านบาท ในปี 2552 ไทยส่งออกน้ำตาลไปอินโดนีเซีย 1.035 ล้านตัน มูลค่า 360.127 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 12,276 ล้านบาท
จาก http://www.thanonline.com วันที่ 18 มีนาคม 2553
EUเผยยังไม่มีแผนออกใบอนุญาตส่งออกน้ำตาล
คณะกรรมาธิการอียู ระบุ ยังไม่มีแผนออกใบอนุญาต ส่งออกน้ำตาลทรายนอกโควตา หลังอนุมัติส่งออกน้ำตาลทรายเพิ่มถึง 5 แสนตัน ในช่วงที่ผ่านมา
รายงานข่าวจากสำนักข่าวรอยเตอร์ส เปิดเผยว่า นายลาร์ส โฮลการ์ด รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาชนบทและการเกษตร สำหรับคณะกรรมาธิการยุโรป ระบุว่า คณะกรรมาธิการอียูยังไม่มีแผนการที่จะออกใบอนุญาตส่งออกน้ำตาลนอกโควตา หลังจากที่เมื่อปลายเดือน ม.ค.ได้อนุญาตส่งออกน้ำตาลอีก 500,000 ตันสำหรับ ปีการตลาด 2009/2010 อียู จะอนุญาตให้มีการส่งออกน้ำตาล เพิ่มขึ้นในเวลา ที่ราคาน้ำตาลโลกปรับตัวขึ้นสูงกว่าต้นทุนการผลิตในอียู ซึ่งจะรับประกันว่า การขายน้ำตาลดังกล่าวไม่ต้องอาศัยเงินอุดหนุนจากรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม การอนุญาตส่งออกน้ำตาลทรายเพิ่มขึ้นอีก 5 แสนตันของอียู ได้ทำให้เกิดความไม่พอใจ จากประเทศผู้ส่งออกอื่นๆได้แก่ ออสเตรเลีย, บราซิล และไทย
จาก http://www.innnews.co.th วันที่ 18 มีนาคม 2553
ขึ้นงวดน้ำตาล8แสนกระสอบ รอ"คน."จัดสรรแก้ขาดแคลน
นายบุญถิ่น โคตรศิริ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารการผลิต การจำหน่ายและการขนย้ายน้ำตาลทราย สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้ทางศูนย์ได้มีการปรับเพิ่มปริมาณการขึ้นงวดน้ำตาลทรายเพื่อจำหน่ายในประเทศอีก 1 เท่าตัวแล้ว จากเดิมขึ้นงวดละ 4.03 แสนกระสอบ (กระสอบละ 100 กิโลกรัม) เป็น 8.06 แสนกระสอบ
การเพิ่มการขึ้นงวดน้ำตาลดังกล่าวเป็นไปตามมติของคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ที่มีนายวิฑูรย์ สิมะ โชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2553 ให้มีการเพิ่มปริมาณน้ำตาลทรายจำหน่ายในประเทศ (โควตา ก.) อีก 1 ล้านกระสอบ จาก 21 ล้านกระสอบเป็น 22 ล้านกระสอบ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากภาวะน้ำตาลทรายภายในประเทศขาดแคลน สำหรับน้ำตาลที่ขึ้นงวดเพิ่มขึ้น จะจัดสรรให้แก่ผู้ซื้อที่หาซื้อน้ำตาลทรายไม่ได้ โดยกระทรวงพาณิชย์จะเป็นผู้ตรวจสอบและรวบรวมรายชื่อของผู้ซื้อมาให้กับโรงงานเพื่อจัดสรรน้ำตาลให้กับผู้ซื้อนั้น ๆ
อย่างไรก็ตาม การปรับเพิ่มน้ำตาลโควตา ก.อีก 1 ล้านกระสอบ จะต้องนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ เนื่องจากมติ กอน.เห็นชอบตามข้อเสนอของ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายให้ "ยกเว้น" หักเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายสำหรับปริมาณน้ำตาล 1 ล้านกระสอบที่เพิ่มขึ้นหรือคิดเป็นมูลค่า 500 ล้านบาท โดยให้ส่งเงินจำนวนเข้าสู่ระบบมาแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างชาวไร่และโรงงานน้ำตาล (สัดส่วน 70 : 30) แทน จึงมีความจำเป็นต้องแก้ไขมติ ครม.เดิม ในสมัยที่นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี ที่ได้มีการอนุมัติขึ้นราคาน้ำตาลในประเทศกิโลกรัมละ 5 บาท โดยให้นำเงินที่ได้จากการขึ้นราคานำส่งเข้ากองทุนเพื่อชำระหนี้ทั้งหมด
"ในช่วงที่มีเหตุการณ์ชุมนุมของคน เสื้อแดง รัฐบาลคงให้น้ำหนักไปในเรื่องของการป้องกันและความมั่นคงเป็นหลัก ดังนั้นประเด็นน้ำตาลที่จะขอให้ ครม.พิจารณาแก้ไขมติ ครม.เดิม คงต้องรอให้สถานการณ์การชุมนุมคลี่คลายไปก่อน ซึ่งกระบวนการต่าง ๆ รอได้ ไม่มีผลต่อการขึ้นงวดน้ำตาล เพราะวิธีการดำเนินการขึ้นงวดน้ำตาลเพิ่มขึ้น 1 ล้านกระสอบ เป็นลักษณะของการนำน้ำตาลงวดที่ 51 และ 52 (งวดปลายปี) มาขึ้นล่วงหน้าก่อน ซึ่งหลังจาก ครม.มีมติอนุมัติการเพิ่มโควตา ก.ก็ค่อยนำไปชดเชยงวด 51 และ 52 ได้" นายบุญถิ่นกล่าว
ด้านนายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์จะนำน้ำตาลทรายโควตา ก. (ใช้ภายในประเทศ) 100,000 ตันที่ได้รับการจัดสรรจากคณะ กรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) มากระจายไปยังพื้นที่มีปัญหาการขาดแคลนน้ำตาลทรายภายในวันพุธที่ 17 มีนาคม โดยได้แบ่งการจัดสรรน้ำตาลทรายดังกล่าวออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มยี่ปั๊ว-ซาปั๊ว ซึ่งรวมถึงห้างค้าปลีกด้วย กลุ่มผู้ใช้รายย่อย เช่น โรงงานผลิตอาหารที่ใช้น้ำตาลโควตา ก.และประชาชนทั่วไปผ่านโครงการธงฟ้า
จาก http://www.prachachat.net วันที่ 18 มีนาคม 2553
กอน.เชื่อปริมาณน้ำตาลทรายในประเทศเพียงพอ ไม่จำเป็นต้องจัดสรรเพิ่มแล้ว... นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ใน ฐานะประธานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ กอน.มีมติจัดสรรปริมาณน้ำตาลให้กับ กระทรวงพาณิชย์ จำนวน 1 แสนตัน (1 ล้านกระสอบ) เพื่อนำไปบริหารจัดการเพื่อแก้ไขภาวะขาดแคลน รวมถึงการเพิ่มปริมาณน้ำตาลทรายโควตา ก (บริโภคในประเทศ) อีก 100,000 ตัน (1 ล้านกระสอบ) หรือเพิ่มขึ้นจากกำหนดไว้เดิม 21 ล้านกระสอบ เป็น 22 ล้านกระสอบ ในปีนี้จึงมั่นใจว่าจะเพียงพอต่อความต้องการบริโภคในประเทศแล้ว จึงเห็นว่าหากกระทรวงพาณิชย์จะขอจัดสรรเพิ่มอีก คงจะไม่สามารถจัดสรรให้เพิ่มได้
ผู้สื่อข่าวรายงานจาก 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำตาลที่ กอน.จัดสรรด้วยการนำน้ำตาลทรายงวดที่ 52 ที่จะมีการขึ้นงวดจำหน่ายในเดือน พ.ย. มาขึ้นงวดเมื่อวันที่ 12 มี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อจัดสรรให้กระทรวงพาณิชย์รอบแรก 403,826 กระสอบ ปริมาณน้ำตาลดังกล่าว ยังคงค้างกระดานไว้ เพื่อรอให้กระทรวงพาณิชย์สั่งการมาว่าจะจัดสรรอย่างไร ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้ถูกระบายไปยังลูกค้าของกระทรวงพาณิชย์ เพราะการปล่อยน้ำตาลออกจากโกดังของโรงงานน้ำตาล จะต้องมีการโอนเงินมาให้โรงงานน้ำตาลก่อน ขณะที่การนำงวดที่ 51 มาเพิ่มขึ้นงวดในวันที่ 22 มี.ค. 403,826 กระสอบ ก็ต้องรอออกไปก่อน จนกว่าน้ำตาลในส่วนของกระทรวงพาณิชย์รอบแรก เมื่อวันที่ 12 มี.ค. จะจำหน่ายออกไปหมด
ทั้งนี้ หากกระทรวงพาณิชย์จะขอเพิ่มปริมาณน้ำตาล ตามที่เคยเสนอไว้ก่อนหน้านี้ให้ครบ 400,000 ตัน (4 ล้านกระสอบ) โรงงานน้ำตาลไม่เห็นด้วย เนื่องจากหากปริมาณน้ำตาลดังกล่าวมีปริมาณที่มากขึ้น หากมีการฝากไว้กับโรงงาน ก็จะทำให้น้ำตาลตึงตัวได้ในระยะต่อไป.
จาก http://www.thairath.co.th วันที่ 18 มีนาคม 2553
พณ.สั่งคุมเข้มราคาน้ำตาลรับบางพื้นที่ขาดแคลน
ยรรยง ระบุในวันที่ 22 มี.ค.นี้จะส่งมอบน้ำตาลงวดที่ 1-2 จำนวนกว่า 8 แสนกระสอบ พร้อมสั่งสนง.พณ.คุมเข้มราคา หลังพบบ้างพื้นที่ขาดแคลน...
นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์ ได้รับโควตาน้ำตาลทราย จำนวน 1 ล้านกระสอบ จากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จะมีการส่งมอบน้ำตาลทรายในงวดที่ 1 และงวดที่ 2 จำนวน 807,600 กระสอบ ภายในวันที่ 22 มีนาคมนี้ และจะมีการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำตาลทรายในสถานการณ์พิเศษ ซึ่งจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคของกระทรวงพาณิชย์ ทำหน้าที่กระจายน้ำตาลทรายที่ได้รับ ไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศอย่างเพียงพอ และปริมาณน้ำตาลทรายส่วนที่เหลือ ทาง สอน. จะดำเนินการจัดส่งให้กระทรวงพาณิชย์ต่อไป
ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวต่อว่า จากการติดตามสถานการณ์ราคาน้ำตาลทรายในขณะนี้ ยอมรับว่า ในบางพื้นที่ยังมีปัญหาการตึงตัวและขาดแคลน อีกทั้ง ใน 42 จังหวัด อาทิ แม่ฮ่องสอน แพร่ ประจวบคีรีขันธ์ ลพบุรี ราคาน้ำตาลทรายมีการจำหน่ายสูงถึง กิโลกรัมละ 30 บาท โดยอ้างในเรื่องของค่าขนส่ง
ดังนั้น จึงได้สั่งการให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัด กำหนดราคากลางของน้ำตาลทรายชนิดต่างๆ ให้เกิดความชัดเจนและห้ามให้มีการจำหน่ายเกินกว่าราคาที่ภาครัฐกำหนดไว้ หากยังพบพฤติกรรมการจำหน่ายเกินราคาที่กำหนดจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ซึ่งมีโทษจำคุก 7 ปี ปรับ 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ.
จาก http://www.thairath.co.th วันที่ 18 มีนาคม 2553
นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาราคาและปริมาณน้ำตาลทรายตึงตัวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดสรรน้ำตาลทรายโควตา ก เพื่อใช้บริโภคในประเทศ มาให้กระทรวงพาณิชย์แล้ว 807,600 กระสอบ โดยจัดสรรให้ 2 งวด งวดละประมาณ 403,826 กระสอบ (กระสอบละ 100 ก.ก.) งวดแรกเมื่อวันที่ 12 มี.ค. งวดที่ 2 วันที่ 22 มี.ค. และจะจัดสรรให้ครบ 1 ล้านกระสอบในงวดถัดไป
สำหรับการกระจายน้ำตาลทรายไปยังพื้นที่ทีมีปัญหานั้นจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกจะกันไว้ทำน้ำตาลทรายธงฟ้าจำนวน 7,000 กระสอบ คิดเป็น 700,000 ก.ก. ส่วนที่เหลือจะนำไปจัดสรรให้แก่ ผู้ค้าส่ง ค้าปลีก ผู้บริโภค และผู้ใช้น้ำตาลทรายในอุตสาหกรรม ยกเว้นผู้ใช้ที่ได้รับสิทธิใช้น้ำตาลในโควตา ค เพื่อการส่งออก เพราะต้องการเน้นให้ความช่วยเหลืออุตสาหกรรมในประเทศเท่านั้น โดยตนได้ลงนามจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำตาลทรายในสถานการณ์พิเศษขึ้นมาทำหน้าที่บริหารจัดการโควตาน้ำตาลทรายที่จะจัดสรรไปตามพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการจัดสรรโควตา
"เบื้องต้นจะกระจายไปจังหวัดที่มีปัญหาหนักก่อน เช่น นครปฐม สุพรรณบุรี ลพบุรี เป็นต้น โดยคาดว่าจะสามารถกระจายน้ำตาลทรายไปยังจุดต่างๆ ได้ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 22 มี.ค.นี้ เป็นต้นไป นอกจากนี้ ยังได้ส่งหนังสือไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด 42 จังหวัด ซึ่งมีปัญหา ขอให้ประกาศราคาจำหน่ายปลีกควบคุมน้ำตาลทราย เพื่อใช้เป็นกลไกลในการดูแลราคาให้เข้มงวดมากยิ่งขึ้น" นายยรรยงกล่าว
จาก http://www.khaosod.co.th วันที่ 17 มีนาคม 2553
ชี้42จังหวัดวิกฤติขาย30บาท เทช่วยทุกพื้นที่สัปดาห์หน้า นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าสั่งการให้ทุกจังหวัด ออกประกาศราคาขายปลีกน้ำตาลทราย เพื่อควบคุมราคาน้ำตาลทราย และแก้ปัญหาราคาน้ำตาลแพงทั่วประเทศ หลังจากได้รับรายงานว่าขณะนี้มีถึง 42 จังหวัดยังประสบปัญหาน้ำตาลตึงตัวและราคาแพงโดยเฉพาะภาคเหนือที่ขายน้ำตาลทรายสูงถึงกก.ละ 23.50-30 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กก.ละ 22-29 บาท ภาคกลาง ภาคตะวันออกกก.ละ 23.50-28 บาทและภาคใต้กก. ละ 24-28 บาท
กระทรวงพาณิชย์ประกาศราคาขายปลีกน้ำตาลทรายใน 5 จังหวัด ได้แก่ กรุง เทพฯ สมุทรปราการ สมุทรสงคราม นนทบุรี และปทุมธานี ทำให้ควบคุมราคาน้ำตาลทรายได้ดี ต่อไปจะให้ทุกจังหวัดประกาศราคาในพื้นที่ตัวเองด้วย เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ควบคุมราคา และป้องกันการขายเกินราคา ซึ่งการพิจารณาราคาแต่ละจังหวัด อาจแตกต่างกันตามต้นทุน ปริมาณการใช้และระยะทางขนส่ง
นายยรรยง กล่าวว่าความคืบหน้าการบริหารโควตาน้ำตาลทรายพิเศษ ที่กระทรวงพาณิชย์ได้รับจัดสรรโควตา ก. จากคณะกรรม การอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เพื่อใช้แก้ปัญหาการขาดแคลนในประเทศ ขณะนี้ได้รับจัดสรรมาแล้ว 807,600 กระสอบ จากโควตา 1 ล้านกระสอบและภายในสัปดาห์หน้าจะเริ่มกระจายไปในพื้นที่ขาดแคลนได้ โดยพิจารณาจัดสรรให้ 3 กลุ่ม ได้แก่ ยี่ปั๊ว-ซาปั๊ว รวมถึงห้างค้าปลีกด้วย กลุ่มผู้ใช้รายย่อย เช่น โรงงานผลิตอาหารที่ใช้น้ำตาลโควตา ก. และประ ชาชนทั่วไปผ่านโครงการธงฟ้า ซึ่งอยู่ระหว่างรอข้อมูลรายชื่อพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อนจากกระทรวงอุตสาหกรรม ร้านค้าและพาณิชย์จังหวัด เพื่อพิจารณาจัดสรรให้เหมาะสม
การจัดสรรน้ำตาลทรายยืนยันว่ามีความโปร่งใส โดยได้ตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำ ตาลทรายในสถานการณ์พิเศษขึ้นมาดูแลโดยตรงยึดหลัก 3 แนวทาง ได้แก่ การจัดสรรจะไม่กระทบกับระบบการค้าตลาดเดิม ซึ่งจะอยู่ในกลุ่มของยี่ปั๊ว-ซาปั๊ว โดยพิจารณาว่าในช่วงที่เกิดปัญหาน้ำตาลขาดแคลน มียี่ปั๊วรายเดิมที่ได้รับการจัดสรรลดน้อยลง อาจไปชดเชยส่วนนั้นให้รวมถึงห้างค้าปลีกด้วย เน้นเรื่องความทั่วถึงเป็นหลัก คือทำให้น้ำตาลทรายถึงมือประชาชนอย่างแท้จริง
นายวิบูลย์ ผาณิตวงศ์ รองประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กล่าวว่า ปัจจุบันราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกอยู่ที่ 19 เซนต่อปอนด์ ลด ลงจาก ม.ค. 53 กว่า 30% เนื่องจากกองทุนเฮดฟันด์เทขายเก็งกำไร หลังผลผลิตจาก บราซิลและอินเดียใกล้ออกสู่ตลาดมาก ส่งผลให้สถานการณ์น้ำตาลทรายในไทยตึงตัวลดลง และใกล้สู่ภาวะสมดุล เพราะผู้ผลิตอาหาร เพื่อส่งออกบางรายกลับไปใช้น้ำตาลโควตา ค. (น้ำตาลทรายขาวส่งออก) เหมือนเดิม และปริมาณลักลอบไปประเทศเพื่อนบ้านลดลง.
จาก http://dailynews.co.th วันที่ 17 มีนาคม 2553
42 จังหวัดวิกฤตน้ำตาลพุ่งโล 30 บาท พาณิชย์ สั่งทุกจังหวัดคุมราคา
พาณิชย์ สั่งทุกจังหวัด ประกาศราคาขายปลีกน้ำตาล แก้ปัญหาขายเกินราคา หลังพบ 42 จังหวัดวิกฤต น้ำตาลทะยานกก.ละ 30 บาท เตรียมกระจายโควตาพิเศษ 1 ล้านตัน เริ่มสัปดาห์หน้า ให้ยี่ปั๊ว-ซาปั๊ว ห้างค้าปลีก โรงงานผลิตอาหาร และธงฟ้า
นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้พาณิชย์จังหวัด พิจารณาประกาศราคาขายปลีกน้ำตาลทรายในทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อควบคุมราคาน้ำตาลทรายราคา และแก้ปัญหาราคาน้ำตาลแพงในหลายจังหวัด หลังจากได้รับรายงานว่า มีถึง 42 จังหวัดยังประสบปัญหาน้ำตาลตึงตัวและราคาแพง โดยเฉพาะภาคเหนือที่ขายน้ำตาลทรายสูงถึงกก.ละ 23.50-30 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กก.ละ 22-29 บาท ภาคกลาง ภาคตะวันออก กก.ละ 23.50-28 บาท และภาคใต้ กก.ละ 24-28 บาท
ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ ประกาศราคาขายปลีกน้ำตาลทรายใน 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ สุมทรสงคราม นนทุบรี และปทุมธานี ทำให้ควบคุมปัญหาราคาน้ำตาลทรายได้ดี แต่จากนี้ไป จะให้ทุกจังหวัดประกาศราคาน้ำตาลทรายของพื้นที่ตัวเองด้วย เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ควบคุมราคา และป้องกันการขายเกินราคาได้ ซึ่งการพิจารณาราคาแต่ละจังหวัด อาจแตกต่างกันตามต้นทุน ตามปริมาณที่ใช้ และระยะทางขนส่ง
นายยรรยง กล่าวว่า สำหรับการบริหารโควตาน้ำตาลทรายพิเศษที่กระทรวงพาณิชย์ได้รับจัดสรรโควตา ก.จากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เพื่อใช้แก้ปัญหาการขาดแคลนในประเทศ ขณะนี้ได้รับจัดสรรมาแล้ว 807,600 กระสอบ จากโควตา 1 ล้านกระสอบ และภายในสัปดาห์หน้า จะเริ่มกระจายไปในพื้นที่ขาดแคลนได้ โดยมีเกณฑ์พิจารณาไป 3 กลุ่ม ได้แก่ ยี่ปั๊ว-ซาปั๊ว และห้างค้าปลีก กลุ่มผู้ใช้รายย่อย เช่น โรงงานผลิตอาหารที่ใช้น้ำตาลโควตา ก. และประชาชนทั่วไป ผ่านโครงการธงฟ้า ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอข้อมูลรายชื่อพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อน จากกระทรวงอุตสาหกรรม ร้านค้า และพาณิชยัจังหวัด เพื่อมาพิจารณาจัดสรรให้อย่างเหมาะสม
การจัดสรรน้ำตาลทราย ยืนยันว่า มีความโปร่งใส โดยได้ตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำตาลทรายในสถานการณ์พิเศษขึ้นมาดูแลโดยตรง และจะยึดหลัก 3 แนวทาง ได้แก่ การจัดสรรจะไม่กระทบกับระบบการค้าตลาดเดิม ซึ่งจะอยู่ในกลุ่มของยี่ปั๊ว-ซาปั๊ว โดยพิจารณาว่าในช่วงที่เกิดปัญหาน้ำตาลขาดแคลน มียี่ปั๊วรายเดิมที่ได้รับการจัดสรรลดน้อยลง อาจไปชดเชยส่วนนั้นให้ รวมถึงห้างค้าปลีกด้วย เน้นเรื่องความทั่วถึงเป็นหลัก คือ ทำให้น้ำตาลทรายถึงมือประชาชนอย่างแท้จริง โดยดูจากสถิติย้อนหลัง เช่น พื้นที่ใดที่มีการร้องเรียนว่าน้ำตาลขาดแคลนจะเข้าไปดูแลจุดนั้นให้ และสุดท้ายจะประสานงานทุกฝ่าย โดยให้เจ้าหน้าที่กระทรวงฯ และพาณิชย์จังหวัดเข้าไปยังพื้นที่เกี่ยวข้องที่มีปัญหา และจัดสรรน้ำตาลให้
ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้ให้กระทรวงพาณิชย์รับดำเนินการเป็นผู้จัดสรรโควตา ซึ่งกระทรวงจะมอบหมายให้สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ และกรมการค้าภายใน เป็นผู้จัดสรรน้ำตาลไปยังพื้นที่ต่างๆ ให้ทั่วถึง ส่วนโควตาคำขอที่ต้องการ 4 แสนตัน ก็อยู่ระหว่างการพิจารณา หากน้ำตาลยังมีปัญหาตึงตัวและแพง อาจพิจารณาขอโควตาเพิ่มเติมได้
จาก http://www.manager.co.th วันที่ 17 มีนาคม 2553
พณ.เตรียมประชุม กกร.พิจารณาปรับราคาน้ำตาลทราย
นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เตรียมเรียกประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ หรือ กกร. เพื่อพิจารณาการปรับราคาและนำน้ำตาลทรายใหม่ โดยเฉพาะในต่างจังหวัด ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของผู้ว่าราชการจังหวัด โดยจะพิจารณาตามความเหมาะสมของระยะทาง เพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้ประกอบการและผู้บริโภค
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวอีกว่า น้ำตาลทรายจำนวน 1 ล้านกระสอบ ที่ได้รับจัดสรรจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย หรือ กอน.จะเร่งกระจายไปยังพื้นที่ที่ประสบปัญหาตื่นตัวรุนแรงก่อน 42 จังหวัด พร้อมกำชับให้ตรวจสอบคุณสมบัติพ่อค้าคนกลาง ที่ขอรับการจัดสรรอย่างเข้มงวดด้วย เพื่อป้องกันการฉวยโอกาสจากส่วนต่างราคาน้ำตาลทรายในตลาด
จาก http://www.manager.co.th วันที่ 17 มีนาคม 2553
ยรรยง สั่งพาณิชย์จังหวัดคุมราคาน้ำตาล
"ยรรยง" สั่งพาณิชย์จังหวัดประกาศราคาขายปลีกน้ำตาลทราย แก้ปัญหาขายเกินราคา ระบุ 42 จังหวัดวิกฤติ ราคาพุ่งกก.ละ 30 บาท
นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตนได้สั่งการให้พาณิชย์จังหวัดพิจารณาประกาศราคาขายปลีกน้ำตาลทรายในทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อควบคุมราคาน้ำตาลทราย แก้ปัญหาน้ำตาลแพงในหลายจังหวัด หลังได้รับรายงานว่ามีถึง 42 จังหวัด ประสบปัญหาน้ำตาลตึงตัวและราคาแพง โดยเฉพาะภาคเหนือที่ขายน้ำตาลทรายกก.ละ 23.50-30 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กก.ละ 22-29 บาท ภาคกลาง ภาคตะวันออก กก.ละ 23.50-28 บาท และภาคใต้ กก.ละ 24-28 บาท
กระทรวงพาณิชย์ ประกาศราคาขายปลีกน้ำตาลทรายใน 5 จังหวัด กรุงเทพฯ สมุทรปราการ สมุทรสงคราม นนทบุรี และปทุมธานี ทำให้ควบคุมปัญหาราคาน้ำตาลทรายได้ดี ต่อไปจะให้ทุกจังหวัดประกาศราคาพื้นที่ตัวเองด้วย เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ควบคุมราคา และป้องกันการขายเกินราคาได้ ซึ่งการพิจารณาราคาแต่ละจังหวัด อาจแตกต่างกันตามต้นทุน ตามปริมาณที่ใช้ และระยะทางขนส่งนายยรรยง กล่าว
ส่วนการบริหารโควตาน้ำตาลทรายพิเศษ 1 ล้านกระสอบ ที่กระทรวงพาณิชย์ได้รับจัดสรรโควตา ก. จากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เพื่อใช้แก้ปัญหาการขาดแคลนในประเทศ สัปดาห์หน้าจะเริ่มกระจายได้ โดยพิจารณาให้ยี่ปั๊ว-ซาปั๊ว ห้างค้าปลีก กลุ่มผู้ใช้รายย่อย เช่น โรงงานผลิตอาหารที่ใช้น้ำตาลโควตา ก. และประชาชนทั่วไปผ่านโครงการธงฟ้า ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอข้อมูลพื้นที่ ซึ่งการจัดสรรโปร่งใสแน่นอน โดยตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำตาลทรายในสถานการณ์พิเศษขึ้นดูแลโดยตรง
นายวิบูลย์ ผานิตวงศ์ รองประธานกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยภายหลังลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่าง 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กับ Indonesian Refined Sugar Association ว่า ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมน้ำตาลไทยและอินโดนีเซีย จะมีความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำตาลทราย ในด้านข้อมูลการค้า ราคาน้ำตาลและแก้ปัญหาอุปสรรคร่วมกัน ซึ่งไทยส่งออกน้ำตาลไปอินโดนีเซียมากที่สุด โดยปี 2552 ส่งออก 973,957 ตัน ปีนี้คาดว่าจะส่งออก 1 ล้านตัน จากปริมาณนำเข้าทั้งหมด 2 ล้านตัน
นายแซทเทรีย กวงกา รองประธาน Indonesian Refined Sugar Association กล่าวว่า ไทยเป็นผู้ผลิตน้ำตาลที่มีความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ โดยใช้เวลาในการขนส่งไป 5-6 วัน ซึ่งอินโดนีเซียนำเข้าน้ำตาลทรายดิบ 2 ล้านตัน ทรายขาว 500,000 ตัน โดยนำเข้าน้ำตาลจากไทย 45-50%
นายวิบูลย์ กล่าวว่า ปีนี้คาดว่าไทยจะผลิตน้ำตาลได้ 6.8 ล้านตัน ส่งออก 4.6 ล้านตัน บริโภคในประเทศ 2.2 ล้านตัน โดยสัปดาห์ที่ผ่านมาได้จัดสรรน้ำตาลในประเทศเพิ่ม ซึ่งสมาคมเชื่อว่าน่าจะเพียงพอ ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ได้รับน้ำตาลไปดูแลแล้ว ก็ควรบริหารให้หมด
นายผรินทร์ อมาตยกุล คณะทำงานด้านต่างประเทศ บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด กล่าวว่า ในช่วง 6 สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำตาลในตลาดโลกลดลง โดยน้ำตาลทรายดิบนิวยอร์กลดลงจากปอนด์ละ 30 เซนต์ เหลือ 19 เซนต์ และราคาน้ำตาลทรายขาวลดลงจากตันละ 700 ดอลลาร์ เหลือ 500 ดอลลาร์ โรงงานน้ำตาลเห็นว่าในช่วง 3-6 เดือน โลกยังขาดแคลนน้ำตาล 8-10 ล้านตันแต่โอกาสที่ราคาจะไปเท่ากับเดือน ม.ค.2553 เป็นไปได้ยาก โดยราคาน่าจะอยู่ อยู่ที่ 550-600 ดอลลาร์
จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 17 มีนาคม 2553
พาณิชย์เร่งกระจายน้ำตาลแก้ปัญหา ดึงทำธงฟ้า 7 พันกระสอบ-กำชับผู้ว่าฯ คุมราคาเข้ม
พาณิชย์เร่งจัดสรรน้ำตาลทราย 1 ล้านกระสอบแก้ปัญหาราคาแพง หาซื้อยาก ดึงทำน้ำตาลทรายธงฟ้า 7,000 กระสอบ ส่วนที่เหลือแบ่งให้ร้านค้าปลีกค้าส่งขายผู้บริโภคทั่วไป คาดเริ่มกระจายน้ำตาลได้วันที่ 22 มี.ค.นี้ กำชับผู้ว่าฯ คุมราคาเข้มงวด บางจังหวัดพุ่งถึงโลละ 30 บาท
นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาราคาและปริมาณน้ำตาลทรายตึงตัวว่า ขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรมจัดสรรน้ำตาลทรายโควตา ก. มาให้กระทรวงพาณิชย์แล้ว 2 งวด งวดละ 403,826 กระสอบ (กระสอบละ 100 กก.) รวมจำนวน 807,652 กระสอบ และคาดว่าจะจัดสรรให้ครบ 1 ล้านกระสอบในงวดถัดไป ขณะนี้ได้ตั้งคณะทำงานภายใต้ศูนย์บริหารจัดการน้ำตาลทรายในสถานการณ์พิเศษเพื่อจัดสรรน้ำตาลทรายไปยังพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการจัดสรรโควตา
ทั้งนี้การกระจายน้ำตาลทรายไปยังพื้นที่ที่มีปัญหานั้น จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรกจะกันไว้ทำน้ำตาลทรายธงฟ้า 7,000 กระสอบ และจะส่งจำหน่ายภายในงานธงฟ้าของกรมการค้าภายในโดยกระทรวงพาณิชย์จะสนับสนุนในส่วนของค่าขนส่ง ส่วนที่เหลือจะนำไปจัดสรรให้แก่ผู้ค้าส่งค้าปลีก ผู้บริโภค และผู้ใช้น้ำตาลทรายในอุตสาหกรรม ยกเว้นผู้ใช้ที่ได้รับสิทธิ์ใช้น้ำตาลในโควตา ค. ซึ่งเป็นโควตาที่ใช้ผลิตเพื่อการส่งออก เพราะต้องการเน้นให้ความช่วยเหลือแก่อุตสาหกรรมในประเทศเท่านั้น
การจัดสรรน้ำตาลทรายไปยังที่ต่างๆ นั้น เราจะใช้กลไกที่มีอยู่เดิม โดยจะพิจารณาจากข้อมูลของศูนย์บริหารการผลิต สำนักงานอ้อยและน้ำตาล ข้อมูลจากอนุกรรมการน้ำตาลทรายจังหวัดซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละพื้นที่ดูแลและดูจากประวัติการใช้น้ำตาลทรายของผู้ใช้ ผู้ค้ารายใหญ่ และรายย่อย ประกอบกันว่าส่วนไหนขาดแคลนจำนวนเท่าไหร่ ก็จะจัดสรรให้ตามความเหมาะสม เบื้องต้นคาดว่าจะกระจายไปจังหวัดที่มีปัญหาหนักก่อน เช่น นครปฐม สุพรรณบุรี ลพบุรี เป็นต้น คาดว่าจะสามารถกระจายน้ำตาลทรายไปยังจุดต่างๆ ได้ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 22 มีนาคมนี้ เป็นต้นไป นายยรรยงกล่าว
นอกจากนี้ยังได้ส่งหนังสือไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด 42 จังหวัด ซึ่งพบว่ามีปัญหาในเรื่องของราคาจำหน่ายที่แพงเกินความเป็นจริง จึงขอให้ประกาศราคาจำหน่ายปลีกควบคุมน้ำตาลทราย เพื่อใช้เป็นกลไกในการดูแลราคาให้เข้มงวดมากยิ่งขึ้น เพราะจากการออกสำรวจราคาของเจ้าหน้าที่พบว่ามีเพียง 7 จังหวัดเท่านั้นที่มีปริมาณและราคาจำหน่ายปกติ
ราคาจำหน่ายปลีกน้ำตาลทรายในหลายจังหวัดขณะนี้มีความหลากหลายมาก แถบภาคเหนือราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 25-30 บาท โดย จ.แม่ฮ่องสอนและ จ.แพร่ ราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 30 บาท ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 22-29 บาท ภาคกลางและภาคตะวันออก ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 23.50-28 บาท ขณะที่ภาคใต้ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 24-28 บาท นายยรรยงกล่าว
จาก http://www.komchadluek.net วันที่ 17 มีนาคม 2553
กรุงเทพฯ 16 มี.ค.- นายวิบูลย์ ผาณิตวงศ์ รองประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย คาดว่าปัญหาการขาดแคลนน้ำตาลทรายในท้องตลาดน่าจะคลี่คลายแล้ว หลังโรงงามร่วมมือกับภาครัฐเพิ่มน้ำตาลถึง 1 ล้านกระสอบ แต่วอนภาครัฐคุมเข้มกองทัพมดลอบส่งออกและโรงงานขนมที่นำโควตา ก.ไปใช้
นายวิบูลย์ กล่าวว่า โรงงานน้ำตาลทรายได้ทยอยซื้อโควตา ค. หรือส่งออก 1 ล้านกระสอบนำมาขายในประเทศ หรือโควตา ก. ตามที่รัฐบาลสั่งการให้เพิ่มโควตา ก.จาก 21 เป็น 22 ล้านกระสอบ เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำตาลในประเทศ ซึ่งทางโรงงานพร้อมให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี แม้การซื้อคืนจะประสบปัญหาขาดทุนก็ตาม โดยไทยเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลทรายอันดับที่ 2 ของโลก ทางโรงงานก็ไม่ต้องการเห็นภาพการขาดแคลนในประเทศ
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าปริมาณโควตา ก. ทำไมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากปี 2552 ที่ 19 ล้านกระสอบ เพิ่มขึ้นอีก 3 ล้านกระสอบในปีนี้ ซึ่งหากเกิดเฉพาะเรื่องอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทางสมาคมฯ ก็รับได้ แต่หากเกิดจากปัญหาการลักลอบส่งออกน้ำตาลทรายตามแนวชายแดน เพื่อหวังกำไรจากส่วนต่างราคา และเรื่องของโรงงานอุตสาหกรรมอาหาร หันมาใช้ โควตา ก. แทนโควตา ค. เพื่อลดต้นทุนราคานั้น ก็เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง จึงต้องร้องขอให้ภาครัฐตรวจสอบไม่ให้เกิดการกระทำผิดเช่นนี้
สำหรับสถานการณ์ราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกล่าสุดราคาได้ลดลงจาก 30 เซนต์/ปอนด์ เหลือประมาณ 19-20 เซนต์/ปอนด์ ซึ่งเกิดจากการเก็งกำไรของนักเก็งกำไร อย่างไรก็ตาม คาดว่าราคาจะไม่ลดต่ำไปมากกว่านี้อีกแล้ว เนื่องจากสตอกน้ำตาลในตลาดโลกได้ลดลงจากปกติ 40 ล้านตัน เหลือประมาณ 22-25 ล้านตัน ในขณะที่ปริมาณการบริโภคทั่วโลกยังคงเพิ่มขึ้น โดยมีประมาณ 140-150 ล้านตัน. สำนักข่าวไทย
จาก http://www.mcot.net วันที่ 16 มีนาคม 2553
สมาคมน้ำตาลไทย-อินโดนีเซียทำเอ็มโอยูร่วมมือการค้า
3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย ลงนามบันทึกความเข้าใจเบื้องต้น (MOU) กับสมาคมน้ำตาลทรายแห่งอินโดนีเซีย Indonesian Refined Sugar Association ร่วมพัฒนาเชิงการค้า โดยอินโดนีเซียเป็นตลาดส่งออกรายใหญ่ที่สุดของไทย
นายวิบูลย์ ผาณิตวงศ์ รองประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า นักธุรกิจอินโดนีเซียระบุว่าไม่หวั่นปัญหาการชุมนุมในประเทศไทย เพราะเป็นเรื่องปกติตามระบอบประชาธิปไตยจึงเดินทางมาลงนาม MOU ในวันนี้ ซึ่งจะครอบคลุมในเรื่องของความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็น รวมถึงการร่วมผลักดันการทำข้อตกลงเสรีการค้าส่งผลให้เกิดความร่วมมือที่ดีของสองประเทศและเป็นการแก้ไขปัญหาการส่งออกระหว่างกันด้วย การเซ็น MOU ในครั้งนี้ถือเป็นครั้งประวัติศาสตร์ของอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายไทย เพราะเป็นครั้งแรกที่ไทยจะขยายขอบเขตความร่วมมืออย่างชัดเจนในการพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายทั้งข้อมูลด้านการค้า ราคาน้ำตาล และประเด็นปัญหา อุปสรรค ในการค้าน้ำตาลระหว่างกัน รวมถึงจะมีการสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนและการประชุมระหว่าง 2 ประเทศอย่างต่อเนื่อง นายวิบูลย์ กล่าว
ทั้งนี้ ประเทศอินโดนีเซียมีการนำเข้าน้ำตาลประมาณ 2.5 ล้านตันต่อปี และถือเป็นตลาดผู้ซื้อน้ำตาลอันดับ 1 ของไทย โดยปี 2551 นำเข้าจากไทย 1.642 ล้านตัน มูลค่า 449.727 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 14,865 ล้านบาท และในปี 2552 ไทยส่งออก 1.035 ล้านตัน มูลค่า 360.127 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 12,276 ล้านบาท ขณะเดียวกันความตกลงการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ที่จะมีการลดภาษีร้อยละ 5 ต่อปี จากปัจจุบันภาษีอยู่ที่ร้อยละ 30 โดยจะเริ่มลดภาษีร้อยละ 5 ต่อปีในปี 2554 จนภาษีนำเข้าขั้นสุดท้ายจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 5 จะทำให้สินค้าน้ำตาลของไทยมีความสามารถแข่งขันดีขึ้นในตลาดอินโดนีเซีย.-สำนักข่าวไทย
จาก http://www.mcot.net วันที่ 16 มีนาคม 2553
หึ่งวงการ!แอบอ้างจัดสรรโควตาแสนตัน ยี่ปั๊วโวยถูกรีดเงินน้ำตาลก.ก.ละ3บ.
รายงานข่าวจากแวดวงน้ำตาล เปิดเผยว่า หลังจากที่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) มีมติจัดสรรน้ำตาลโควตา ก ให้กระทรวงพาณิชย์เพื่อไปแก้ปัญหาตึงตัว 1 ล้านกระสอบ หรือ 1 แสนตัน ในการประชุมเมื่อวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา ขณะนี้พบว่ามีผู้แอบอ้างโทร.ไปหาผู้ค้าส่ง(ยี่ปั๊ว) หลายรายว่า สามารถประสานงานเพื่อให้ยี่ปั๊วซื้อน้ำตาลที่จัดสรรเพิ่มดังกล่าว โดยจะจำหน่ายให้ในราคาขายส่ง แต่ยี่ปั๊วจะต้องมีค่าใช้จ่ายในการไปขอออกใบอนุญาตขนย้ายน้ำตาลให้กับผู้แอบอ้างดังกล่าวในอัตรา 300 บาท/กระสอบ หรือประมาณ 3 บาท/ก.ก. หากยี่ปั๊วรายใดต้องการน้ำตาลก็ต้องโอนเงินมาให้ก่อนและขอให้รีบตัดสินใจ ถ้ายี่ปั๊วทำตามผู้แอบอ้างคิดเป็นเงินถึง 300 ล้านบาท
นายพงษ์เทพ จารุอำพรพรรณ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า สอน.หารือกับกระทรวงพาณิชย์เกี่ยวกับการดำเนินการหลังจากกอน.มีมติจัดสรรน้ำตาลให้ 1 ล้านกระสอบ โดยสอน.จะเพิ่มการขึ้นงวดน้ำตาลใน 2 สัปดาห์อีกเท่าตัว จากปกติขึ้นงวด 4.03 แสนกระสอบ เป็น 8.06 แสนกระสอบ โดยเริ่มขึ้นงวดแรกไปเมื่อ 12 มี.ค. และจะขึ้นงวดที่ 2 ในวันที่ 22 มี.ค. หลังจากนั้นจะเฉลี่ยจากงวดปกติจนครบ 1 ล้านกระสอบ
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์แจ้งให้สอน.ทราบว่า น้ำตาลที่ได้รับจัดสรร 1 ล้านกระสอบ จะแบ่งการจัดสรรเป็น 3 ส่วน คือ 1.ให้ยี่ปั๊วในพื้นที่ที่มีการขาดแคลนน้ำตาล 2.ให้โรงงานอุตสาหกรรมที่หาซื้อน้ำตาลไม่ได้ 3.จัดจำหน่ายให้ผู้บริโภคโดยตรง โดยกระทรวงพาณิชย์จะเข้าไปสำรวจว่าพื้นที่ใดขาดแคลนน้ำตาลและเกิดการขาดแคลนจริงหรือไม่ รวมทั้งตรวจสอบว่าเป็นยี่ปั๊วจริงหรือไม่ โดยกระทรวงพาณิชย์ไม่ต้องการให้น้ำตาลที่ได้จัดสรรมาถูกยี่ปั๊วกักตุน
นายพงษ์เทพ กล่าวว่า ยี่ปั๊วจะซื้อน้ำตาลทรายขาวหน้าโรงงานในราคา 19 บาท/ก.ก. ขาวบริสุทธิ์ 20 บาท/ก.ก. และยี่ปั๊วนำไปจำหน่ายในราคาขายปลีกที่กรมการค้าภายในประกาศ โดยเป็นราคาที่บวกภาษีมูลค่าเพิ่มและค่าขนส่ง โดยสอน.แจ้งให้กระทรวงพาณิชย์ทราบว่ายี่ปั๊วที่มีสิทธิ์ซื้อน้ำตาลส่วนนี้จะต้องโอนเงินมาที่โรงงานน้ำตาลก่อน หลังจากนั้นจะดำเนินการขอใบอนุญาตขนย้ายน้ำตาล รวมทั้งขอให้กระทรวงพาณิชย์แจ้งมาที่โรงงานน้ำตาลล่วงหน้าก่อนที่จะให้ยี่ปั๊วรายใดมาซื้อน้ำตาล เพราะโรงงานน้ำตาลบางแห่งยังไม่มีน้ำตาลและต้องใช้เวลาในการไปซื้อน้ำตาลโควตา ค กลับคืนมา และโรงงานน้ำตาลต้องการให้ยี่ปั๊วซื้อน้ำตาลในปริมาณที่โรงงานน้ำตาลค้าขายปกติไม่ต่ำกว่าครั้งละ 13 ตัน หรือ 1 รถบรรทุก 10 ล้อ เพื่อความสะดวกในการจัดการ
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์จะเป็นผู้ประเมินเองว่าจะทยอยระบายน้ำตาลในระยะเวลาเท่าใด และจะจัดสรรน้ำตาลให้กับพื้นที่ใดเพื่อแก้ปัญหาน้ำตาลตึงตัว
จาก http://www.khaosod.co.th วันที่ 15 มีนาคม 2553
แก๊งน้ำตาลอาละวาดรีดยี่ปั๊ว300ล้าน
สอน. หารือ "พาณิชย์" กำหนดกรอบจำหน่ายน้ำตาล 1 ล้านกระสอบภายในสัปดาห์นี้ เล็งขายยี่ปั๊ว โรงงานและผู้บริโภคโดยตรง เร่งจัดสรรพื้นที่ขาดแคลนก่อน ด้านโรงงานน้ำตาลแฉแก๊งอาละวาดอ้างเป็นนายหน้ารีดเงินยี่ปั๊ว 300 ล้าน
นายพงษ์เทพ จารุอำพรพรรณ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า สอน. ได้หารือกับกระทรวงพาณิชย์ในสัปดาห์ที่แล้วเกี่ยวกับการดำเนินการหลังจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เพิ่มน้ำตาลโควตา ก. (บริโภคในประเทศ) 1 ล้านกระสอบ เพื่อแก้ปัญหาตลาดตึงตัว ซึ่งผู้ค้าส่ง (ยี่ปั๊ว) จะซื้อน้ำตาลทรายขาวหน้าโรงงานในราคากิโลกรัมละ 19 บาท ขาวบริสุทธิ์ 20 บาท และยี่ปั๊วนำไปจำหน่ายในราคาขายปลีกตามราคาประกาศของกรมการค้าภายใน โดยเป็นราคาบวกภาษีมูลค่าเพิ่มและค่าขนส่ง
ทั้งนี้ สอน. แจ้งให้กระทรวงพาณิชย์ทราบว่ายี่ปั๊วที่มีสิทธิ์ซื้อน้ำตาลส่วนนี้ต้องโอนเงินมาที่โรงงานน้ำตาลก่อน หลังจากนั้นจะขอใบอนุญาตขนย้ายน้ำตาลและขอให้กระทรวงพาณิชย์แจ้งโรงงานน้ำตาลล่วงหน้าก่อนให้ยี่ปั๊วรายใดมาซื้อน้ำตาล เพราะโรงงานน้ำตาลบางแห่งยังไม่มีน้ำตาลและต้องใช้เวลาซื้อน้ำตาลโควตา ค. กลับคืนมา ซึ่งโรงงานต้องการให้ยี่ปั๊วซื้อน้ำตาลในปริมาณค้าขายปกติไม่ต่ำกว่าครั้งละ 13 ตันหรือ 1 รถบรรทุก 10 ล้อ เพื่อความสะดวกในการจัดการ
ด้านกระทรวงพาณิชย์แจ้งว่า น้ำตาล 1 ล้านกระสอบ แบ่งการจัดสรรเป็น 3 ส่วน คือ 1.จัดสรรให้ยี่ปั๊วในพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำตาล 2.จัดสรรให้โรงงานอุตสาหกรรมที่หาซื้อน้ำตาลไม่ได้ 3.จัดจำหน่ายให้ผู้บริโภคโดยตรง โดยกระทรวงพาณิชย์จะสำรวจพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำตาลและตรวจสอบว่าเป็นยี่ปั๊วจริงหรือไม่ เพื่อไม่ให้น้ำตาลที่ได้จัดสรรมาถูกยี่ปั๊วกักตุน
"กระทรวงพาณิชย์จะประเมินเองว่าจะทยอยระบายน้ำตาลในระยะเวลาเท่าใด และจัดสรรน้ำตาลให้พื้นที่ใดเพื่อแก้ปัญหาน้ำตาลตึงตัว ซึ่งคาดว่ากำหนดรายละเอียดเสร็จภายในสัปดาห์นี้และคงไม่เร่งระบายน้ำตาลในระยะเวลาสั้น" นายพงษ์เทพกล่าว
แหล่งข่าวจากแวดวงน้ำตาลเปิดเผยว่า หลัง กอน. มีมติเพิ่มน้ำตาลโควตา ก. อีก 1 ล้านกระสอบ เป็น 22 ล้านกระสอบ มีผู้แอบอ้างโทรหายี่ปั๊วหลายรายว่าสามารถประสานงานซื้อน้ำตาลได้ แต่ต้องมีค่าใช้จ่ายในการขอออกใบอนุญาตขนย้ายน้ำตาลให้ผู้แอบอ้าง 300 บาทต่อกระสอบ โดยโอนเงินมาให้ก่อนและขอให้รีบตัดสินใจ ซึ่งถ้ายี่ปั๊วทุกรายดำเนินการตามผู้แอบอ้างดังกล่าวจะต้องเสียเงินรวมกันถึง 300 ล้านบาท.
จาก http://www.prachachat.net วันที่ 15 มีนาคม 2553
เพิ่ม"โควตาก."ล้านกระสอบ รง.เฮแก้ปัญหาน้ำตาลขาด
กระทรวงพาณิชย์เฮ ! หลังล็อบบี้ กอน. สำเร็จ ให้ปรับเพิ่มน้ำตาลทรายโควตา ก. อีก 1 ล้านกระสอบ งานนี้โรงงานน้ำตาลได้ประโยชน์ด้วย เหตุต่อรองไม่ต้องหักเงินเข้ากองทุนอ้อยมูลค่า 500 ล้านบาท แต่ให้นำเงินที่ขายโควตา ก. อีก 1 ล้านกระสอบเข้าระบบแบ่งปัน 70/30 แทน อ้างต้นทุนต้องซื้อน้ำตาลที่ขายล่วงหน้ากลับคืนมา
ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานการประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ที่มีนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานในวันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมานี้ว่า ที่ประชุมได้มีการหารือและเห็นชอบให้มีการปรับปริมาณน้ำตาลทรายภายในประเทศ (โควตา ก.) เพิ่มขึ้นอีก 1 ล้านกระสอบ (กระสอบละ 100 กิโลกรัม) จาก 21 ล้านกระสอบ เป็น 22 ล้านกระสอบ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากภาวะน้ำตาลทรายภายในประเทศขาดแคลน
ทั้งนี้มติดังกล่าวเป็นไปตามข้อเสนอของคณะกรรมการน้ำตาลทราย (กน.) ที่มีนาย วิจักร วิเศษน้อย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เป็นประธาน นอกจากนั้น กอน.ยังเห็นชอบตามที่ 3 สมาคม โรงงานน้ำตาลทรายเสนอให้ "รายได้" ที่มาจากปริมาณน้ำตาลทรายที่เพิ่มขึ้นอีก 1 ล้านกระสอบ ไม่ต้องหักเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย กิโลกรัมละ 5 บาท แต่ให้นำเงินเข้าสู่ระบบเพื่อนำไปคำนวณเป็นรายได้แบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างชาวไร่และโรงงานน้ำตาล (สัดส่วน 70 : 30) แทน โดยโรงงานน้ำตาลให้เหตุผลว่า ต้องมีต้นทุนไปซื้อน้ำตาลส่งออก (โควตา ค.) ที่มีการขายล่วงหน้าไปแล้วกลับคืนมาเพิ่มให้กับโควตา ก.
อย่างไรก็ตามมติ กอน.ข้างต้นจะต้องนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติอีกครั้ง เนื่องจากมติ ครม.เดิมในสมัยที่นายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ได้มีการอนุมัติขึ้นราคาน้ำตาลทรายในประเทศกิโลกรัมละ 5 บาท ระบุไว้ว่า เงินที่ได้จากการขึ้นราคาจะต้องนำส่งเข้ากองทุนอ้อยฯเพื่อนำไปชำระหนี้ทั้งหมด ดังนั้นเมื่อ กอน.เห็นชอบตามข้อเสนอของ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายไม่ต้องหักเงินเข้ากองทุนอ้อยฯก็ต้องเสนอให้ ครม.พิจารณาเห็นชอบแก้ไขมติ ครม.เดิม ให้มีการ "ยกเว้น" การเก็บเงินเข้ากองทุนอ้อยเป็นกรณีพิเศษ
สำหรับปริมาณน้ำตาลทราย 1 ล้านกระสอบที่ปรับเพิ่มขึ้น คำนวณเป็นมูลค่าที่ยกเว้นการหักเข้ากองทุนอ้อยฯจะอยู่ที่ประมาณ 500 ล้านบาท ทั้งนี้ปัจจุบันการจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในประเทศ ณ หน้าโรงงาน น้ำตาลทรายธรรมดาอยู่ที่ 19 บาท/กิโลกรัม และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ 20 บาท/กิโลกรัม
ด้านนายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังการประชุม กอน.ว่า ในความเป็นจริง กระทรวงพาณิชย์จะขอปรับเพิ่มน้ำตาลโควตา ก. อีก 4 ล้านกระสอบ แต่เนื่องจาก กอน.เห็นว่าสถานการณ์ราคาน้ำตาลในตลาดเริ่มลดลงแล้ว การลักลอบนำน้ำตาลภายในไปส่งออกก็น่าจะลดลงตาม ดังนั้นการปรับเพิ่มอีก 1 ล้านกระสอบ จึงน่าจะเพียงพอต่อความต้องการบริโภคภายใน
ส่วนน้ำตาลทราย 1 ล้านกระสอบที่ปรับเพิ่มขึ้นนั้น จะมีคณะทำงานที่ประกอบด้วยตัวแทนจาก 3 หน่วยงานหลักคือ กระทรวงพาณิชย์-ศูนย์บริหารการผลิต การจำหน่ายและการขนย้ายน้ำตาลทราย-โรงงานน้ำตาล เป็นผู้ดูแลควบคุมบริหารจัดการ จัดสรรน้ำตาลไปในพื้นที่ที่มีการขาคแคลนตามที่กระทรวงพาณิชย์ได้ลงพื้นที่ไปสำรวจตรวจสอบ
ขณะที่นายบุญถิ่น โคตรศิริ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารการผลิต การจำหน่ายและการขนย้ายน้ำตาลทราย กล่าวว่า วิธีการบริหารจัดการน้ำตาลในส่วนที่เพิ่มขึ้นนี้ จากเดิมที่มีการขึ้นงวดการจำหน่ายน้ำตาลทุกวันจันทร์ของแต่ละสัปดาห์ประมาณ 4.03 แสนกระสอบ ก็จะปรับมาขึ้นงวดเพิ่มอีก 1 เท่า หรือประมาณ 8.06 แสนกระสอบ เป็นระยะเวลา 2 งวด โดยจะเพิ่มตั้งแต่งวดแรกของวันจันทร์ที่ 15 มีนาคมนี้และวันจันทร์ที่ 22 มีนาคม 2553 เป็นลักษณะของการนำน้ำตาลงวดที่ 51 และ 52 มาขึ้นล่วงหน้าก่อน
นายวิบูลย์ ผาณิตวงค์ ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัทไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด กล่าวว่า การที่ กอน.ปรับเพิ่มโควตา ก. 1 ล้านกระสอบ และไม่หักเงินเข้ากองทุนอ้อยฯกิโลกรัมละ 5 บาท ในส่วนที่ปรับเพิ่ม ถือเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล เพราะโรงงานต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อน้ำตาล (โควตา ค.) ที่ขายล่วงหน้ากลับคืนมา ไม่เสียโอกาสการส่งออก เพราะราคาใกล้เคียงกัน
จาก http://www.prachachat.net วันที่ 15 มีนาคม 2553
ราคาโลกพุ่งดึงน้ำตาลหายจากระบบ1ล้านตันแนะเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อย80ล้านตันรับการขยายตัว
โรงงานน้ำตาลคาด เหตุราคาตลาดโลกพุ่ง ดึงน้ำตาลหายจากระบบปกติ 1 ล้านตัน ฉุดปริมาณภายในประเทศตึงตัว คาดราคาน้ำตาลยังอยู่ในเกณฑ์ลูงไปจนถึงปีหน้า เพราะประเทศผู้ผลิตอื่นๆประสบภัยแล้ว แนะรัฐส่งเสริมขยายพื้นที่เพาะปลู่ให้ได้ 80 ล้านตัน รองรับกำลังการผลิตโรงงานที่เพิ่มขึ้น พร้อมส่งเสริมการใช้เอทานอล และอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากโรงงานน้ำตาล เพื่อให้เกิดการใช้วัตถุดิบที่คุ้มค่าสูงสุด
สิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ กล่าวว่า กล่าวว่าปริมาณอ้อยที่เข้าหีบโรงงานน้ำตาลในปีนี้คาดว่าจะมีปริมาณเท่ากับปีที่ผ่านมามีจำนวน 67-68 ล้านตัน แต่ในส่วนของปริมาณน้ำตาลจะผลิตได้น้อยลง เรื่องจากปีนี้อ้อยมีความหวานลดลง จากปีก่อนที่อ้อย 1 ตัน จะผลิตน้ำตาลได้ประมาณ 115 กิโลกรัม ส่วนในปีนี้คาดว่าอ้อย 1 ตันจะผลิตได้เพียง 101-102 กิโลกรัม หรือมีปริมาณน้ำตาลประมาณ 6.9 ล้านตันโดยในจำนวนนี้จะเป็นการส่งออกประมาณ 70% และอีก 30% ขายในประเทศ ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำตาลอย่างแน่นอน
โดยตลาดส่งออกน้ำตาลของไทยส่วนใหญ่จะอยู่ในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น อินเดีย กัมพูชา เป็นต้น โดยในช่วยเดือนมกราคม มียอดการส่งออกขยายตัวสูงถึง 72% เนื่องจากสภาวะภูมิอากาศทั่วโลกเกิดวามแห้งแล้ง ทำให้หลายประเทศมีปริมาณอ้อยลดลง โดยเฉพาะอินเดียที่มีปริมาณนำเข้าเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งคู่แข่งของไทยในภูมิภาคนี้จะเป็นออสเตรเลีย เนื่องจากมีระยะทางการขนส่งที่ใกล้เคียงกับไทย ส่วนประเทศผู้ผลิตรายใหญ่อย่างบราซิล หรือกัวเตมาลายังแย่งตลาดในภูมิภาคนี้จากไทยไปได้ยากเพราะมีต้นทุนค่าขนส่งที่แพงกว่า ซึ่งคู่แข่งอย่างประเทศออสเตรเลียนั้นจะได้เปรียบไทยในเรื่องของพื้นที่เพาะปลูกเป็นแปลงขนาดใหญ่ มีการใช้เครื่องจักรที่ทันสมัยในการเก็บเกี่ยว และการผลิต ในขณะที่ไทยเป็นพื้นที่แปลงเล็ก ใช้เครื่องมือเก็บเกี่ยวได้ยากกว่า แต่ไทยก็ยังมีจุดแข็งในเรื่องของแรงงานการเก็บเกี่ยว แต่ในขณะนี้จุดแข็งเรื่องค่าแรงก็ลดลงเรื่อยๆ ทำให้ในขณะนี้เริ่มมีเครื่องจักรรถเก็บเกี่ยวอ้อยเข้ามาใช้งานภายในประเทศมากขึ้น
ส่วนราคาโดยรวมในปีนี้นั้นมั่นใจว่าราคายังอยู่ในเกณฑ์ที่สูงต่อเนื่องไปจนถึงปี2554 เพราะประเทศผู้ผลิตน้ำตาลในเอเชียหลายประเทศประสบกับภัยแล้ง และการที่จะขยายพื้นที่เพาะปลูกก็ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปี ส่วนในปี 2555 ราคาจะขึ้นอยู่กับปริมาณฝน ถ้าประเทศคู่แข่งผลิตได้มาก ราคาก็จะลดลง อย่างไรก็ตามขณะนี้แต่ละโรงงานต่างก็เร่งเพิ่มกำลังการผลิตของโรงงาน เพื่อรองรับการขยายตัวของตลาดโลก และปริมาณการใช้เอทานอลที่เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่เนื่องที่การเพาะปลูกกลับคงที่ 6.2-6.3 ล้านไร่ ดังนั้นภาครัฐควรส่งเสริมขยายพื้นที่เพาะปลูกเพื่อให้ได้ผลผลิตประมาณ 80 ล้านตัน จึงจะเพียงพอต่อกำลังการผลิตของโรงงาน
สำหรับสถานการน้ำตาลตึงตัวที่เกิดขึ้นในขณะนี้ มั่นใจว่าไม่ได้เกิดจากโรงงานน้ำตาลอย่างแน่นอน เพราะผลิตน้ำตาลมาป้อนตลาดในประเทศในปริมาณที่เป็นปกติสัปดาห์ละ 4.3 แสนตัน แต่เหตุที่เกิดการตึงตัวก็เพราะว่าโรงงานผลิตอาหารส่งออกหันมาลักลอบใช้น้ำตาลโคงต้า ก. ที่ใช้ในประเทศ แทนการใช้โควต้า ค. รวมทั้งการตื่นตระหนกของผู้บริโภคทำให้แต่ละครัวเรือนซื้อน้ำตาลมากักตุนเพราะเกรงว่าจะเกิดภาวะขาดแคลน ทำให้คาดว่ามีน้ำตาลหายออกจากระบบปกติประมาณ 5-6 แสนตัน และคาดว่าทั้ปีจะหายไปจากระบบปกติประมาณ 1 ล้านตัน
ทั้งนี้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทยให้เข้มแข็ง รัฐบาลควรจะเปลี่ยนมุมมองในอุตสาหกรรมนี้ที่ไม่ใช้เพียงการผลิตน้ำตาลเพียงอย่างเดียว เพราะเป็นอุตสาหกรรมในการผลิตพลังงานที่สำคัญโดยเฉพาะการผลิตเอทานอล และกระแสไฟฟ้า รวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่ได้จากชานอ้อย กระดาษ และภาชนะที่ผลิตจากชานอ้อยที่สอดคล้องกับนโยบายการลดภาวะโลกร้อนจากผลิตภัณฑ์พลาสติก โดยรัฐบาลจะต้องกำหนดให้ชัดเจนถึงสัดส่วนการใช้น้ำตาลภายในประเทศ การสำรองน้ำตาล การส่งออก และการผลิตเอทานอล ตลอดจนการส่งเสริมในอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากน้ำตาล เหมือนกับประเทศบราซิลที่รัฐบาลกำหนดชัดเจนว่าปีใหนที่ราคาน้ำตาลโลกสูงก็จะเพิ่มสัดส่วนการผลิตน้ำตาลลดสัดส่วนการผลิตเอทานอล และถ้าปีใหนราคาเอทานอลสูงก็จะให้ผลิตเอทานอลแทนน้ำตาล ซึ่งจะทำให้ราคาอ้อยและน้ำตาลมีเสถียรภาพ รวมทั้งโรงงานน้ำตาลก็สามารถวางแผนการผลิตได้อย่างถูกต้อง
นอกจากนี้ควรปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต เรื่มตั้งแต่การปรับปรุงพื้นที่เพาะปลูกให้เหมาะสมกับการใช้เครื่องจักรในการเก็บเกี่ยว การปรับปรุงพันธุ์อ้อยให้ได้ผลผลิตสูง ทนทานต่อศัตรูพืชและภัยแล้ง นขณะที่โรงงานจะต้องปรับปรุงประสิทธิภาพของเครื่องจักรให้มีผลผลิตที่สูงขึ้น รวมทั้งควรจะตั้งกองทุนกู้ยืมให้กับโรงงานผลิตน้ำตาลเพื่อนำไปซื้อรถเก็บเกี่ยวอ้อย ซึ่งขณะนี้มีราคาแพงมากถึง 10-15 ล้านบาทต่อ 1 คัน ทำให้แต่ละโรงงานมีใช้ไม่มาก โดยในกลุ่มน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ มีรถเก็บเกี่ยวอ้อยเพียง 40 คัน ซึ่งไม่พอเพียงกับพื้นที่การปลูกอ้อย ซึ่งในขณะนี้รัฐบาลจะตั้งกองทุน 1,000 ล้านบาทให้กลุ่มเกษตรกรไปกู้ยืมเพื่อซื่อรถตัดอ้อย แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ซึ่งถ้าสนับสนุนให้สินเชื่อกับโรงงานซื้อรถตัดอ้อยแล้ว ก็จะทำให้ลดต้นทุนการเก็บเกี่ยวของเกษตรกรได้มาก และมีความเสี่ยงในเรื่องการชำระหนี้ต่ำกว่า รวมทั้งยังมีประสิทธิภาพในการจัดการที่ดี เนื่องจากรถตัดอ้อยจะมีเวลาใช้เง่นเพียงปีละ 3-4 เดือน อีก 8 เดือนหยุกซ่อมบำรุงเนื่องจากหมดฤดุการหีบอ้อย ดังนั้นหากมีการจัดการที่ไม่ถูกต้องก็จะเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างไร้คุณค่า
จาก http://www.manager.co.th วันที่ 13 มีนาคม 2553
พณ.ยันไม่พบกักตุน-ขึ้นราคาสินค้า
หลังประชาชนบางส่วนซื้อสินค้าในปริมาณมากขึ้น เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับความรุนแรงจากการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงนั้น นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ความสามารถในการผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองการบริโภค ทั้งในและต่างประเทศของผู้ประกอบการยังเป็นไปตามปกติ
อย่างไรก็ตาม การนัดชุมนุมตามจุดต่างๆ อาจส่งผลต่อการขนส่งสินค้า แต่กระทรวงพาณิชย์มีมาตรการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ไว้แล้ว โดยจัดตั้งศูนย์ประสานงานหน่วยงานภายใต้การดูแลของกระทรวงพาณิชย์ทั่วประเทศ พร้อมเปิดสายด่วนผู้บริโภค ทั้งนี้ เชื่อว่า เหตุการณ์จะไม่ยืดเยื้อ
นายยรรยง กล่าวอีกว่า ยังไม่พบผู้ประกอบการกักตุนสินค้า หรือขึ้นราคาจากกรณีการชุมนุม ส่วนราคาน้ำตาลที่ปรับขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากผลผลิตของโลกตกต่ำลง และจากการบริหารจัดการในประเทศ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์หารือกับจังหวัดต่างๆ ถึงแนวทางความเป็นไปได้ในการควบคุมราคาสินค้า
เบื้องต้น คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม มีมติเห็นชอบให้กระทรวงพาณิชย์นำน้ำตาลทราย 1 ล้านกระสอบ กระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ โดยพื้นที่ที่จะได้รับการพิจารณาแห่งแรกคือ ภาคกลาง
จาก http://www.manager.co.th วันที่ 12 มีนาคม 2553
มติกอน.จัดสรรน้ำตาล 1 ล้านกระสอบแก้ปัญหาขาดตลาด
กอน.มีมติจัดสรรน้ำตาลทรายให้กระทรวงพาณิชย์นำไปบริหารเพื่อ แก้ไขปัญหาการขาดแคลน 1 แสนตัน ด้านพาณิชย์ระบุจะส่งรายชื่อยี่ปั๊ว-ซาปั๊วที่ไม่ใช่ขาประจำของ โรงงานน้ำตาลให้เพื่อจัดสรรน้ำตาลส่วนเกินของการ ขึ้นงวดปกติขายให้..
เมื่อวันที่ 11 มี.ค. นายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ที่มีนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน ว่า กอน.มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงพาณิชย์ขอรับการจัดสรรปริมาณน้ำตาล เพื่อนำไปบริหารจัดการในการแก้ไขปัญหาภาวะการขาดแคลนจำนวน 100,000 ตัน หรือ 1 ล้านกระสอบ โดยการบริหารจัดการจากปริมาณน้ำตาลโควตา ก. (บริโภคในประเทศ)
ทั้งนี้ น้ำตาลโควตาก.ที่กำหนดไว้ในฤดูการผลิตปี 2552/53 ที่ปริมาณ 21 ล้านกระสอบได้แบ่งการขึ้นงวดน้ำตาลของ 46 โรงงานไว้ 52 สัปดาห์ เฉลี่ยสัปดาห์ละ 403,826 กระสอบ โดยจะมีการขึ้นงวดทุกวันจันทร์ของสัปดาห์ ดังนั้นเพื่อเป็นการจัดสรรที่เพิ่มขึ้นมาอีก 100,000 กระสอบ ให้กับกระทรวงพาณิชย์ กอน.จึงกำหนดให้นำน้ำตาลขึ้นงวดของสัปดาห์ที่ 52 ของปีนี้ หรือเป็นการขึ้นงวดในเดือน พ.ย. มาเพิ่มขึ้นในการขึ้นงวดในวันจันทร์ที่ 15 มี.ค.แทน ทำให้น้ำตาลในการขึ้นงวดในวันที่ 15 มี.ค. จะเพิ่มขึ้นมาเป็น 2 เท่าจากปกติหรือ รวมเป็น 807,752 กระสอบ
นายประเสริฐ กล่าวต่อว่า กอน.จะเพิ่มการขึ้นงวดน้ำตาลเพิ่มขึ้นจากปกติอีก 1 งวด คือในวันที่ 12 มี.ค.นี้ เพื่อป้องกันปัญหาการขนย้ายน้ำตาลไม่ได้ หากการชุมนุมของคนเสื้อแดงมีความยืดเยื้อ และอาจมีการปิดเส้นทางจราจร โดยจะนำน้ำตาลในงวดที่ 51 ที่ต้องขึ้นงวดในเดือน พ.ย. มาขึ้นงวดแทนอีก 4o3,826 กระสอบ เพื่อให้เป็นตัวเลขของน้ำตาลขึ้นงวดพิเศษที่จัดสรรให้กระทรวงพาณิชย์ รวมทั้งสิ้น 2 งวดจากงวดปกติ รวมจะมีน้ำตาลในส่วนของกระทรวงพาณิชย์เรียกร้อง 807,752 กระสอบ ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 200,000 กระสอบ จะมีการพิจารณาจัดสรรในเวลาที่เหมาะสม โดยมาตรการดังกล่าวมั่นใจว่าจะแก้ไขปัญหาปริมาณน้ำตาลตึงตัวได้อย่างแน่นอน เพราะจะมีทั้งน้ำตาลโควตา ก.ขึ้นงวดปกติในแต่ละสัปดาห์ และน้ำตาลที่กระทรวงพาณิชย์ขอรับการจัดสรรมาเข้าสู่ตลาดจำนวนมาก ซึ่งราคาของน้ำตาลที่กระทรวงพาณิชย์ขอรับการจัดสรรมาจะเป็นราคาซื้อขายหน้าโรงงานน้ำตาล ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์คือประมาณ 19 บาทต่อกิโลกรัม
ด้านนายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์จะส่งรายชื่อยี่ปั๊ว-ซาปั๊ว ที่ไม่ใช่กลุ่มลูกค้าขาประจำของโรงงานน้ำตาลทั้ง 46 แห่ง ให้กับโรงงานทั้งหมดเพื่อจัดสรรน้ำตาลส่วนเกินของการขึ้นงวดปกติ ขายให้กับยี่ปั๊ว-ซาปั๊วกลุ่มนี้ หลังจากที่เป็นกลุ่มที่ร้องเรียนผ่านกระทรวงพาณิชย์ว่าไม่สามารถซื้อน้ำตาลในงวดปกติของโรงงานได้ คาดว่าปัญหาน้ำตาลตึงตัวจะบรรเทาลงได้ระดับหนึ่ง.
จาก http://www.thairath.co.th วันที่ 12 มีนาคม 2553
กอน.เลื่อนขึ้นงวดน้ำตาลหวั่นม็อบปิดเส้นทางขนย้าย
นายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เปิดเผยหลังประชุม กอน. วานนี้ (11 มี.ค.) ว่า กอน.ได้อนุมัติจัดสรรน้ำตาลโควตา ก. เพิ่ม 1 ล้านกระสอบ ทำให้มีน้ำตาลโควตา ก.รวม 2.2 ล้านตัน เพื่อจัดสรรให้กระทรวงพาณิชย์ ที่เสนอขอมา โดยจะนำน้ำตาลงวด 52 จำนวน 4.03 หมื่นตัน มาขึ้นงวดทบกับน้ำตาลขึ้นงวดวันที่ 12 มี.ค.นี้ ทำให้สัปดาห์นี้มีน้ำตาล ขึ้นงวดรวม 8.06 หมื่นตัน เชื่อว่าจะเพียงพอต่อการจำหน่ายช่วงนี้ และจะนำน้ำตาลงวด 51 มาขึ้นงวดทบกับน้ำตาลที่ขึ้นงวดวันที่ 22 มี.ค.นี้เช่นกัน และน้ำตาลที่เหลืออีก 1 หมื่นตัน จะทยอยจัดสรรให้ครบ
นอกจากนั้น ปกติจะขึ้นงวดน้ำตาลในวันจันทร์ แต่ได้เลื่อนการขึ้นงวดน้ำตาลวันศุกร์ที่ 12 มี.ค.นี้ เนื่องจากรัฐบาลเตือนว่า อาจมีการปิดเส้นทาง เพราะการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง และอาจกระทบต่อการขนย้ายน้ำตาล
นายประเสริฐ กล่าวว่า โรงงานน้ำตาลได้ขอให้ยกเว้นนำเงินส่งเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อชำระหนี้ให้แก่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กก.ละ 5 บาทในส่วนโควตา ก.ที่เพิ่มขึ้น 1 ล้านกระสอบ โดยโรงงานน้ำตาลแจ้งว่า หากนำเงินเข้ากองทุนจะขาดทุน เพราะราคาน้ำตาลโควตา ค.สูงกว่าโควตา ก. และน้ำตาลที่เพิ่มโควตา ก.เป็นน้ำตาลเพื่อส่งออก หากไม่ยกเว้นจะทำให้ระบบเสียรายได้ประมาณ 500 ล้านบาท ส่งผลกระทบทั้งชาวไร่และโรงงานน้ำตาล ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมจะนำเรื่องนี้เสนอ ครม.พิจารณาเร็วที่สุด
จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 12 มีนาคม 2553
ขึ้นชื่อว่าน้ำตาลใคร ๆ ก็รู้ว่าเป็นของหวาน แต่ทุกครั้งที่มีการเคลื่อนไหวของอุตสาหกรรมน้ำตาล ภาพน้ำตาลที่ว่าหวานก็จะกลายเป็น "น้ำตาลขม" ไปทันที เพราะเราจะได้ฟังได้ยินแต่ความเคลื่อนไหวในทางลบของอุตสาหกรรมน้ำตาลกันแทบทุกปี
เดี๋ยวก็เกิดปัญหาม็อบชาวไร่อ้อยมากดดันรัฐบาลขอขึ้นค่าอ้อย สำหรับในปีที่ราคาอ้อยตกต่ำมาก หรือบางปีที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกย่ำแย่ ก็จะมีน้ำตาลจากข้างนอกทะลักเข้ามาขายในประเทศ ทำเอาน้ำตาลโควตาก.(บริโภคในประเทศ)เหลือค้างกระดานบานเบอะ ส่วนปีไหนที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกพุ่งปรี๊ด แบบไม่เคยปรากฏมาก่อนในรอบ 29 ปีเช่นทุกวันนี้ ก็ทำเอาตั้งตัวกันไม่ทัน ทั้งผู้ใช้น้ำตาลจากโรงงานอุตสาหกรรม และผู้บริโภคน้ำตาลจากภาคครัวเรือน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ดูแลบริหารสัดส่วนน้ำตาลโควตาต่าง ๆ
-2ปัจจัยเขย่าน้ำตาลป่วน
ปัญหานี้ภาครัฐเองอย่างน้อยเจ้าหน้าที่ระดับสูงจาก 2 กระทรวง คืออุตสาหกรรมและพาณิชย์ก็ออกมายอมรับถึงสาเหตุ"น้ำตาลป่วน"ในช่วงที่ผ่านมา เกิดจาก 2 กรณี คือ
หนึ่ง มีโรงงานที่ผลิตอาหาร ขนม เครื่องดื่ม เพื่อการส่งออก ไม่รักษากติกาเดิม คือ ได้สิทธิ์ใช้โควตาค. (น้ำตาลส่งออก) ก็ไม่ใช้ กลับเลี่ยงไปใช้น้ำตาลโควตา ก.แทน ทั้งที่โรงงานเหล่านี้มีพันธะผูกพันเอาไว้แล้ว คือ ได้ใช้สิทธิ์โควตา ค. ไว้แล้ว รวมจำนวนทั้งสิ้น 360,000 ตัน/ปี แต่ขณะนี้มีบางส่วนไม่ยอมทำสัญญาใช้โควตาส่วนนี้ ทำให้ปริมาณของโควตาก. ถูกแย่งไป
อีกด้านหนึ่งก็ตั้งข้อสังเกตว่า เกิดการลักลอบส่งออกน้ำตาลตามรอยตะเข็บชายแดน หรือมีการกักตุนไว้ภายในประเทศ
จึงเกิดความปั่นป่วนในตัวระบบอ้อยและน้ำตาลขึ้นมา และจากสาเหตุดังกล่าวนี้เอง ที่ทำให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติกับกรมศุลกากร นำเอาสินค้าโภคภัณฑ์ รวมถึงน้ำตาลมาเป็นสินค้าเฝ้าระวังเป็นพิเศษอยู่ในขณะนี้
-คุมราคาน้ำตาลทรายไม่อยู่
ยิ่งไปกว่านั้น ในช่วงที่ผ่านมาปัญหายิ่งขยายวงกว้างขึ้น เมื่อพบว่ามีร้านค้าปลีกในหลายพื้นที่ในเขตกทม. และปริมณฑล กลับปฏิบัติการซ้ำเติมประชาชน ด้วยการฉวยโอกาสในช่วงที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกพุ่ง สวมรอยปรับราคาน้ำตาลทรายขายปลีก สูงเหนือระดับที่กระทรวงพาณิชย์ควบคุมราคาไว้ที่ 23.50บาท/กิโลกรัม โดยขายน้ำตาลโควตาก. ตั้งแต่ในราคา 26-27 บาท/กิโลกรัม โดยมีส่วนต่างอยู่ระหว่าง 2.50-3.50 บาท/กิโลกรัม ทำให้กระทบต่อผู้ใช้ปลายทาง อาทิ ภาคครัวเรือน ร้านขายข้าวแกง ร้านอาหารตามสั่ง ร้านขนม และเครื่องดื่มที่เป็นกลุ่มรากหญ้า ที่ต้องซื้อน้ำตาลแพงขึ้น
ปัญหานี้ทำให้เกิดคำถามว่า ทำไมกระทรวงพาณิชย์ถึงปล่อยให้เกิดการขายน้ำตาลเหนือเพดานควบคุมมากในช่วงนี้
รู้ทั้งรู้ว่า สถานการณ์ในขณะนี้เสี่ยงต่อการขายสินค้าราคาแพง ที่ระบาดไปทุกหย่อมหญ้า ทั้งที่ราคาควบคุมก็ดำเนินการเพียงเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลเท่านั้น เพราะในพื้นที่ต่างจังหวัดจะมีพาณิชย์จังหวัดเป็นผู้ประกาศควบคุมราคา ซึ่งแต่ละจังหวัดราคาจะไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่ที่ระยะทางขนส่ง โดยจะมีราคาขายตั้งแต่ 25-27 บาท/กิโลกรัม ดังนั้นในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลก็น่าจะควบคุมได้ง่ายกว่า เพราะมีพื้นที่จำกัดกว่า
อย่างไรก็ตาม หากมองเส้นทางขนส่งน้ำตาลแล้ว จุดที่จะทำให้ราคาน้ำตาลเปลี่ยนแปลงน่าจะเกิดได้ ตั้งแต่ที่บรรดาผู้ประกอบการขายส่งน้ำตาลทราย (ยี่ปั๊ว) ขายส่งน้ำตาลในราคาที่สูง ทำให้ผู้ค้าปลีกต้องขยับราคาตาม และสุดท้ายภาระมาตกหนักที่ผู้บริโภคปลายทาง
นอกจากนี้ยังมีพ่อค้าหัวใส หาช่องทางหลีกเลี่ยงการออกใบอนุญาตขนย้าย หรือส่งมอบต่อไปยังลูกค้า เพื่อนำไปขายเก็งกำไรส่วนต่าง ส่งผลให้เกิดน้ำตาลตึงมือในวงกว้าง และนำไปสู่การขาดแคลนน้ำตาลโควตา ก.ในบางพื้นที่ได้
-พาณิชย์ร้อนโร่ตรวจตลาด
ดูเหมือนว่า ยิ่งกระทรวงพาณิชย์ลงไปตรวจสอบเส้นทางเดินน้ำตาล ก็ยิ่งเจอตอในรูปแบบต่าง ๆ เช่น มีผู้ที่ถูกเอาชื่อไปแอบอ้างว่าเป็นผู้สั่งซื้อน้ำตาลทราย และยังพบเบาะแสในลักษณะแบบนี้อีกจำนวนหลายรายในพื้นที่รอบกรุงเทพฯ
เรื่องนี้ร้อนถึงนางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ออกมากำชับสั่งการให้สำนักปลัดกระทรวงพาณิชย์ เข้ามารับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง นอกเหนือจากกรมการค้าภายใน โดยให้เร่งดำเนินการตรวจจับผู้กระทำผิด ทั้งการจำหน่ายน้ำตาลเกินราคาที่กำหนด การออกตรวจสอบสต๊อกน้ำตาลทรายเพื่อป้องกันการกักตุน และออกคำสั่งมอบหมายให้กรมการค้าภายใน (คน.) ไปหารือกับสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เพื่อขอจัดสรรน้ำตาลทรายจำนวน 400,000 ตัน(4 ล้านกระสอบ) มาเก็บเป็นสต๊อกของรัฐบาล เพื่อสำรองไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน โดยกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้บริหาร
แต่สุดท้ายข้อเสนอนี้ก็ล่มลง! เพราะคณะกรรมการน้ำตาลทราย(กน.) ซึ่งมีนายวิจักร วิเศษน้อย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เป็นประธาน ไม่ยอมทำตามข้อเสนอของกระทรวงพาณิชย์ เนื่องจากโดยข้อเท็จจริงแล้ว น้ำตาลเป็นของโรงงานน้ำตาล ไม่ใช่เป็นของระบบ
-เทเพิ่มโควตาก.แก้ปัญหา
สุดท้ายที่ประชุมกน.ได้เสนอให้มีการพิจารณาไปตามกลไกระบบของตลาดและกฎหมายอ้อยและน้ำตาล คือ ถ้าปริมาณน้ำตาลสำหรับบริโภคในประเทศไม่เพียงพอ ก็จัดสรรเพิ่ม โดยกน. เตรียมเสนอให้คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ซึ่งมีนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน ขอปรับเพิ่มปริมาณน้ำตาลโควตาก. (บริโภคในประเทศ)จาก 21 ล้านกระสอบ หรือ2.1 ล้านตัน เพิ่มเป็น 22 ล้านกระสอบ หรือ 2.2 ล้านตัน ซึ่งเรื่องนี้กอน.จะมีการประชุมวันที่ 11 มีนาคม 2553 และหาก กอน. อนุมัติก็นับว่า เป็นปริมาณน้ำตาลสำหรับรองรับการบริโภคในประเทศที่สูงมากกว่าทุกปีเลยทีเดียว
หรือกรณีที่ก่อนหน้านั้นน.ส. ชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมการค้าภายใน เสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เรียกประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ(กกร.) เพื่อออกประกาศควบคุมการครอบครองน้ำตาลไม่เกิน10,000 กิโลกรัม และหากขนย้ายน้ำตาลเกิน 10 ตัน ต้องขออนุญาตจากกรมการค้าภายใน เพื่อแก้ปัญหาน้ำตาลตึงตัวในหลายพื้นที่ทำให้ประชาชนต้องซื้อน้ำตาลราคาแพงกว่าราคาควบคุม
-เตรียมก๊อกสองคุมปริมาณ
เรื่องนี้แหล่งข่าวใกล้ชิดนางพรทิวากล่าวว่า การประกาศควบคุมการขนย้ายน้ำตาล อาจจะมีการพิจารณาอีกครั้ง แต่ในเบื้องต้นมองว่ายังไม่จำเป็น เพราะการทำหน้าที่ของกรมการค้าภายใน ในการตรวจสอบเรื่องราคาและปริมาณสินค้าที่ทำให้เกิดปัญหา ยังไม่มีความเข้มข้นมากพอ จึงอยากให้กรมการค้าภายใน ไปทำหน้าที่นี้ให้เต็มที่ก่อน สำหรับผู้ผลิตผู้จำหน่ายที่ขายน้ำตาลทรายเกินราคาควบคุมของกระทรวงพาณิชย์ ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการพ.ศ.2542 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อย่างไรก็ตามในแวดวงผู้ค้าผู้ผลิตน้ำตาล ต่างมองไปในทิศทางเดียวกันว่า หากมีการประกาศควบคุมการครอบครองน้ำตาลขึ้น ในทางปฏิบัติก็จะเกิดความยุ่งยากมาก เพราะคนที่อยู่ในฐานะผู้ค้าขายก็ไม่ต้องการไปแจ้งกระทรวงพาณิชย์ว่ามีปริมาณเท่าไหร่ ขายใคร และในที่สุดจะเกิดความวุ่นวายขึ้นระหว่างคนซื้อน้ำตาลกับคนขายน้ำตาล และสุดท้ายวิธีนี้ก็จะใช้ไม่ได้ เพราะต้องยอมรับว่าขณะนี้กลไกราคาน้ำตาลมันผิดปกติไปแล้ว ผู้ใช้เกิดความตื่นตระหนก เคยซื้อ 5 กระสอบก็เพิ่มเป็น 10 กระสอบ
การรับมือปัญหาตลาดน้ำตาลทรายที่ปั่นป่วนคราวนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังไม่ได้เข้ามาแก้ไขปัญหาได้เลย และดูท่าว่าจะคว้าน้ำเหลวไปทุกข้อเสนอ ทำให้การเข้ามาดูแลราคาน้ำตาล ของกระทรวงพาณิชย์ กำลังจะกลายเป็นการแก้ปัญหาไม่ถูกจังหวะ ไม่ทันเวลา เพราะยิ่งสาวก็ยิ่งเจอตอ ซ้ำร้ายข้อเสนอที่ชงมาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณานั้น จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีใครกล้ารับลูกต่อ!
งานนี้ต้องจับตาดูต่อไปว่าเจ้ากระทรวงอย่าง"พรทิวา นาคาศัย" จะหาทางออกอย่างไร เพราะหากราคาน้ำตาลในตลาดโลกยังอยู่ในแดนขาขึ้น คือ ราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกไม่ลงไปต่ำแบบในอดีต ที่ราคา 11-12 เซ็นต์/ปอนด์ ปัญหาน้ำตาลในปีนี้ยังไม่จบแน่ !!!
จาก http://www.thannews.th.com วันที่ 11 มีนาคม 2553
พาณิชย์จังหวัดสกลนคร เตือนประชาชนอย่าตื่นตระหนกกับข่าวน้ำตาลทรายจะขาดตลาด
พาณิชย์จังหวัดสกลนคร เตือนประชาชนอย่าตื่นตระหนก กับข่าวน้ำตาลทรายขาดตลาด นายสมพล คำสุข พาณิชย์จังหวัดสกลนคร กล่าวถึงปัญหาน้ำตาลทรายจะขาดตลาด อาจส่งผลถึงราคาน้ำตาลทรายจะปรับราคาสูงขึ้น หรือ ผู้ประกอบการจะกักตุนเพื่อเกร็งกำไรว่า อาจเกิดจากการประกาศโควต้าส่งออกน้ำตาลทราย แต่ยังไม่เกิดผลกระทบเรื่องการขาดแคลนน้ำตาลทรายนแต่อย่างใด ซึ่งพาณิชย์จังหวัดได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบร้านค้า และตัวแทนจำหน่ายน้ำตาลทรายจังหวัด ว่าได้รับโคต้าน้ำตาลมาจากที่ใด มีเรื่องการขาดแคลนน้ำตาลหรือไม่ จากการตรวจสอบพบว่ายังมีน้ำตาลทรายเพียงพอสำหรับบริโภคในจังหวัด ประชาชนยังไม่จำเป็น ต้องหาซื้อตุนไว้ใช้ในครัวเรือน อีกทั้งช่วงนี้เป็นฤดูการหีบอ้อย สถานการณ์จึงไม่น่าเป็นห่วง อีกทั้งหากมีปัญหาเกิดขึ้นจังหวัดจะรายงานให้คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล และหน่วยงานที่รับผิดชอบหามาตรการป้องกันและแก้ไขต่อไป
จาก http://thainews.prd.go.th วันที่ 11 มีนาคม 2553
โดนแล้ว3.5หมื่นไร่หวั่นกระทบน้ำตาล นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร แจ้งเตือนเกษตรกรชาวไร่อ้อยว่า ขณะนี้ได้มีปัญหาแมลงนูนหลวงแพร่ระบาดทำลายอ้อยในพื้นที่ 5 ตำบล ของ อ.จอมบึง จ.ราชบุรี และพื้นที่ อ.ด่านมะขามเตี้ย อ.ท่าม่วง และ อ.เมือง จ.กาญจนบุรี รวมเนื้อที่กว่า 35,000 ไร่ โดยมีแนวโน้มแพร่ระบาดขยายวงกว้างขึ้น ซึ่งนอกจากแมลงนูนหลวงจะเข้าทำลายอ้อยแล้ว ยังทำลายพืชเศรษฐกิจอื่นด้วย เช่น มันสำปะหลัง ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน ยูคาลิปตัส มันแกว และผักกาดขาว เป็นต้น โดยหนอนของแมลงดังกล่าวจะกัดกินบริเวณรากทำให้พืชยืนต้นตาย สร้างความเสียหายและทำให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน
เบื้องต้นกรมวิชาการเกษตรได้มอบหมายให้สถาบันวิจัยพืชไร่ ประสานความร่วมมือกับโรงงานน้ำตาล บริษัท อุตสาหกรรมมิตรเกษตร จำกัด อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี เพื่อเร่งควบคุมและป้องกันกำจัดแมลงนูนหลวงก่อนที่จะแพร่ระบาดขยายลุกลามไปสู่พื้นที่ อื่น ซึ่งอาจกระทบต่ออุตสาหกรรมอ้อย และน้ำตาลทรายของไทยในระยะยาวได้ โดยสถาบันวิจัยพืชไร่ได้เร่งให้ความ รู้แก่เจ้าหน้าที่เกษตรและเกษตรกรผู้นำ ทั้งยังร่วมกำหนดแนวทางป้องกันกำจัดแมลงนูนหลวง แบบผสมผสานอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรในพื้นที่ระบาด
เกษตรกรชาวไร่อ้อยต้องเฝ้าระวังและหมั่นตรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะช่วงที่มีความแห้งแล้งติดต่อกันยาวนาน โอกาส ที่แมลงนูนหลวงจะระบาดเข้าทำลายอ้อยอาจรุนแรงยิ่งขึ้น ซึ่งระยะตัวหนอนของแมลงนูนหลวงจะกัดกินรากอ้อย ทำให้ต้นอ้อยเกิดอาการ ใบเหลืองและแห้งตายมากผิดปกติ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว
จาก http://www.siamturakij.com วันที่ 10 มีนาคม 2553
โลตัสแจงเหตุปันน้ำตาลในห้าง แฉต้นตอขาดแคลนผู้ผลิตเบี้ยวส่ง
ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการหารือกับผู้ผลิตและผู้จำหน่ายเพื่อแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าว เพื่อให้เกิดผลกระทบกับผู้บริโภคให้น้อยที่สุด.....
นายดามพ์ สุคนธทรัพย์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส เทสโก้ โลตัสเปิดเผยถึงปัญหาราคาน้ำตาลที่มีราคาแพงและขาดแคลนว่า ห้างเทสโก้ โลตัส ยังคงจำหน่ายน้ำตาลตามปกติในราคาเทียบเท่าหรือต่ำกว่าราคาควบคุมของภาครัฐโดยไม่มีการกักตุนสินค้าแต่อย่างใด เพราะธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ต้องการเก็บสต๊อกสินค้าไว้ให้น้อยที่สุดและกระจายสินค้าออกไปจำหน่ายให้เร็วที่สุด แต่สถานการณ์การขาดแคลนน้ำตาลที่เกิดขึ้น เนื่องจากผู้ผลิตและผู้จำหน่ายน้ำตาลทรายไม่นำส่งน้ำตาลทรายให้กับบริษัทได้ตามปริมาณและในระยะเวลาที่บริษัทสั่งซื้อ ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการหารือกับผู้ผลิตและผู้จำหน่ายเพื่อแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าว เพื่อให้เกิดผลกระทบกับผู้บริโภคให้น้อยที่สุด
"บริษัทดำเนินธุรกิจโดยการปฏิบัติตามกฎระเบียบของทางราชการอย่างเคร่งครัดมาโดยตลอด โดยยึดถือผลประโยชน์ของผู้บริโภคเป็นที่ตั้ง และในเวลาเดียวกัน บริษัทก็มีเจตนารมณ์ที่จะสนับสนุน สนองตอบนโยบายและกิจกรรมของภาครัฐอย่างเต็มที่ และไม่เห็นด้วยกับความพยายามของบุคคลบางกลุ่มในการสร้างความตื่นตระหนกให้กับผู้บริโภคหรือเอาเปรียบผู้บริโภค ด้วยการกักตุนสินค้าเพื่อนำออกมาจำหน่ายในภายหลัง"
ส่วนการจำกัดปริมาณการซื้อน้ำตาลนั้น นายดามพ์กล่าวว่า ปกติแล้วห้างไม่มีนโยบายจำกัดการจำหน่ายสินค้าที่จำเป็น ยกเว้นการจำหน่ายแบบโปรโมชั่นที่ตกลงกับผู้ผลิตไว้แล้ว เช่นในช่วงวันที่ 18-21 ก.พ.ที่ผ่านมา ทางห้างได้ร่วมกับผู้ผลิตน้ำตาลทรายวังขนายจัดจำหน่ายน้ำตาลทรายราคาถูกเพียงกิโลกรัมละ 21 บาท ขณะที่ราคาควบคุมอยู่ที่ 23.50 บาท จึงขอความร่วมมือผู้ซื้อไม่เกินครอบครัวละ 6 ถุง เพื่อให้มีการกระจายสินค้าให้กับผู้บริโภคได้อย่างทั่วถึง และเป็นการช่วยภาครัฐในการแก้ปัญหาน้ำตาลทรายราคาแพงด้วย.
จาก http://www.thairath.co.th วันที่ 10 มีนาคม 2553
พาณิชย์สระแก้วออกตรวจสอบน้ำตาลทราย
สระแก้ว - พาณิชย์จังหวัดสระแก้วออกตรวจสอบน้ำตาลทราย หวั่นผู้ประกอบการกักตุน ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค
วันนี้ (9 มี.ค.) น.ส.จันทร์เพ็ญ สอนสมสุข พาณิชย์จังหวัดสระแก้ว พร้อมด้วยการค้าภายในจังหวัดสระแก้ว, พัฒนาธุรกิจจังหวัดสระแก้ว หน่วยงานในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ ได้รับคำสั่งจากกระทรวงพาณิชย์ให้ออกตรวจสอบน้ำตาลทราย และเร่งติดตามแก้ปัญหาน้ำตาลทรายอย่างใกล้ชิด โดยมอบหมายให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ เร่งตรวจสอบสถานการณ์ขายน้ำตาลดังกล่าว
มาตรการการตรวจสอบในครั้งนี้ว่ามีความปกติหรือไม่ เพื่อดูแลให้ผู้บริโภค และประชาชนสามารถซื้อหาสินค้าได้ตามปกติ รวมทั้งป้องกันไม่ให้ร้านค้ามีการกักตุน หรือป่วนตลาด ซึ่งหากพบผู้กระทำผิดขายเกินราคา หรือมีการกักตุนสินค้า สามารถร้องเรียนได้ที่โทร.1569 ซึ่งจะมีโทษปรับ 1.4 แสนบาท และจำคุกไม่ เกิน 7 ปี
น.ส.จันทร์เพ็ญ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบได้ออกตรวจสอบผู้ค้าส่งและค้าปลีก ห้างสรรพสินค้าในพื้นที่จำนวน 2 แห่ง คือ สยามแม็คโคร และบิ๊กซี สาขาสระแก้ว ซึ่งผลจากการตรวจสอบของแต่ละที่นั้น พบว่ามีการจำหน่ายซื้อขายตามปกติ ไม่มีการขาดคลาน และไม่มีการกักตุนแต่อย่างใด
สาเหตุที่น้ำตาลทรายขาดตลาดนั้น ส่วนหนึ่งมาจากราคาน้ำตาลทรายขาวในตลาดโลกสูงกว่าราคาภายในประเทศมาก ทำให้เกิดการลักลอบนำน้ำตาลทรายโควตา ก. ที่ใช้ในประเทศ ไปขายตามชายแดน รวมทั้งมีผู้ใช้น้ำตาลทรายโควตา ค. สำหรับผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก มาแย่งซื้อน้ำตาลจากโควตา ก. เป็นเหตุให้ผู้บริโภคภายในประเทศได้รับความเดือดร้อน
จาก http://www.manager.co.th วันที่ 9 มีนาคม 2553
เอกชนท้าพาณิชย์ตรวจน้ำตาลยันไม่ขาดตลาด
3 สมาคมโรงงานน้ำตาลออกจี้พาณิชย์ตรวจนับน้ำตาลตั้งแต่ต้นทางพิสูจน์น้ำตาลในประเทศไม่ได้ขาดแคลนอย่างที่เป็นข่าว
นายประกิต ประทีปะเสน ประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายเปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำตาลทรายที่เกิดขึ้นในขณะนี้ มีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะที่คลี่คลายมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันทางสมาคมก็ไม่ได้นิ่งนอนใจจึงได้มีการตรวจสอบถึงที่มาของปัญหาดังกล่าวและพบว่าไม่ได้มีปัญหาเกิดขึ้นตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด
ที่ผ่านมาเราได้ตรวจสอบแล้ว และยืนยันว่าไม่ได้มีปัญหาเกิดขึ้นจริง แต่ที่น้ำตาลขาดหายไปนั้น ผมเชื่อว่าคงไม่มีใครซื้อไปกักตุนเพื่อส่งออกแน่นอน เพราะสุดท้ายก็ส่งออกไม่ได้ สำหรับโควตา ก. นี้ เรามีการตรวจสอบการเคลื่อนย้ายทุกกระสอบ และมั่นใจว่าไม่ขาดแคลนแน่นอน นายประกิต บอกว่า ต้องการให้กระทรวงพาณิชย์ไปตรวจสอบดูก่อนว่าจริงๆ แล้วน้ำตาลทรายในประเทศขาดแคลนจริงหรือไม่ ซึ่งหากเป็นไปได้ กระทรวงพาณิชย์ควรจะไปดูตั้งแต่ต้นทางของคนซื้อ โดยเฉพาะเทสโก้ โลตัส ที่ถือว่าเป็นผู้ซื้อรายใหญ่สุด ว่าซื้อน้ำตาลไปจำนวนเท่าไหร่ หรือเก็บไปไว้ที่ไหนบ้าง เพราะทางกระทรวงอุตสาหกรรมและสมาคมมั่นใจว่าน้ำตาลไม่ขาดแคลนแน่ๆ
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์น้ำตาลในขณะนี้ถือว่าเริ่มคลี่คลาย หลังจากที่นักลงทุนในตลาดเริ่มเทขายเพื่อทำกำไร ประกอบกับเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น ทำให้ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกคลายตัวลงไปมาก
จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 8 มีนาคม 2553
หนุนเจ๊วาทำสต๊อกฉุกเฉินแสนตัน-กันขาดตลาด สอน.เล็งประเคนน้ำตาลให้พาณิชย์
นายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการสำนักงานคณะกรรม การอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยถึงข้อเสนอนางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ ที่จะขอจัดสรรน้ำตาล 1 แสนตัน (1 ล้านกระสอบ กระสอบละ 100 ก.ก.) เพื่อไปทำเป็นสต๊อกฉุกเฉิน หากเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำตาลทรายในอนาคตว่า คงต้องขึ้นอยู่กับนายวิจักร วิเศษน้อย อธิบดีกรมการค้าต่างประ เทศ ในฐานะประธานคณะกรรมการน้ำตาลทราย (กน.) จะนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) หรือไม่ โดย กอน.นัดประชุมวันที่ 11 มี.ค.นี้ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีวาระในเรื่องขอจัดสรรน้ำตาลของกระทรวงพาณิชย์
อย่างไรก็ตาม ในการประชุม กน.เมื่อวันที่ 5 มี.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมมีมติร่วมกันในเรื่องการเพิ่มโควตาน้ำตาลเพื่อการบริโภคในประเทศ หรือโควตา ก อีก 1 ล้านกระสอบ เป็น 22 ล้านกระสอบ ซึ่งทางฝ่ายโรงงานน้ำตาลไม่ขัดข้องที่จะดึงน้ำตาลโควตาส่งออก หรือโควตา ค กลับมาเป็นโควตา ก คงต้องดูว่านายวิจักรจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุม กอน.หรือไม่
ทั้งนี้ การขอจัดสรรน้ำตาล 1 ล้านกระสอบของกระทรวงพาณิชย์นั้นน่าจะเกิดผลดีทำให้ประชาชนมั่นใจว่าจะมีน้ำตาลเพียงพอ ถือเป็นความร่วมมือที่ดีในการแก้ปัญหาน้ำตาลตึงตัวระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชย์ ซึ่งโรงงานน้ำตาล และชาวไร่อ้อย ที่อยู่ในที่ประชุม กน.ไม่ขัดข้อง โดยทราบมาว่าข้อเสนอจริงอยู่ที่ 4 ล้านกระสอบ แต่ฝ่ายโรงงานและชาวไร่อ้อยขอจัดสรรให้เพียง 1 ใน 4 เมื่อแนวโน้มเป็นอย่างนี้คาดว่าไม่น่ามีปัญหาเมื่อนำมาเสนอในที่ประชุมกอน. สำหรับราคาน้ำตาลที่จะจัดสรรให้นั้นคงต้องเป็นราคาหน้าโรงงาน 19-20 บาท/ก.ก. คงไม่สามารถให้ในราคาต่ำกว่านี้ได้
"ทราบมาว่าแม้จะไม่มีการเพิ่มโควตาน้ำตาลโควตา ก กระ ทรวงพาณิชย์จะขอจัดสรรน้ำตาล 1 ล้านกระสอบแน่ แต่เมื่อฝ่ายโรงงานไม่ขัดข้องที่จะดึงโควตา ค กลับมา ถือเป็นเรื่องที่เหมาะเจาะพอดี คาดว่าที่ประชุม กอน.คงไม่ขัดข้อง" นายประเสริฐกล่าว
ส่วนการแก้ปัญหาน้ำตาลตึงตัวในรอบ 10 วันที่ผ่านมา ในเบื้องต้นเปลี่ยนวันขึ้นงวดน้ำตาลใหม่จากเดิมทุกวันจันทร์ เป็นวันศุกร์ เริ่มตั้งแต่ศุกร์ที่ 5 มี.ค.ที่ผ่านมา และจากการที่ สอน.เข้าไปตรวจสอบโรงงานผลิตอาหารและเครื่องดื่มเพื่อการส่งออกที่ขอใช้สิทธิ์น้ำตาลโควตา ค ที่มีแนวโน้มจะไปใช้สิทธิ์น้ำตาลโควตา ก จำนวน 34 แห่ง จากทั้งหมด 106 แห่ง พบว่าโรงงานทั้ง 34 แห่งขอรับสิทธิ์ 8 แสนกระสอบ แต่ทำสัญญาเพียง 4 แสนกระสอบ ซึ่งโรงงานทั้ง 34 แห่งนี้หันมาใช้น้ำตาลโควตา ก ไปแล้ว 5 หมื่นกระสอบ ดังนั้น มีโอกาสที่จะถูกตัดสิทธิ์การใช้น้ำตาลโควตา ค เป็นเวลา 5 ปี
อย่างไรก็ตามขณะนี้มีข่าวดีที่ราคาน้ำตาลตลาดโลกเริ่มปรับลดลง ทาง สอน.หวังว่าโรงงานเหล่านี้จะกลับมาใช้สิทธิ์ตามเดิม ซึ่งจะช่วยคลายภาวะตึงตัวของน้ำตาลในประเทศลง หลังผู้ผลิตรายใหญ่อย่างบราซิลปลูกอ้อยเพิ่มขึ้น ส่วนอินเดียที่เคยมีปัญหาภัยแล้งเริ่มได้ผลผลิตอ้อยเพิ่มขึ้น
จาก http://www.khaosod.co.th วันที่ 8 มีนาคม 2553
นครพนม จับตา ส่งน้ำตาลทรายให้ลาว
นครพนม ไม่ขาดน้ำตาลทราย ราคายังคงที่ แต่ยังจับตาน้ำตาลทรายส่งออก สู่ สปป.ลาว คาดไม่เกิน 2 สัปดาห์สถานการณ์ดีขึ้น
สำนักงานพาณิชย์จังหวัดนครพนม ร่วมกับกรมการค้าภายใน และกรมพัฒนาธุรกิจ ลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์น้ำตาลในพื้นที่จังหวัดนครพนม เบื้องต้นสถานการณ์ไม่อยู่ในขั้นวิกฤติ มีปริมาณน้ำตาลบริโภคในจังหวัดนครพนม
อย่างเพียงพอ โดยมีราคาน้ำตาลทรายขาว อยู่ในราคา 26-27 บาท และน้ำตาลทรายแดง ราคา 27-28 บาท แต่ทางหน่วยงาน ได้จับตาการลักลอบการขายน้ำตาลที่ผิดกฎหมายจากประเทศไทยไป สปป.ลาว เนื่องจากราคาน้ำตาลในประเทศลาว มีราคาสูงกว่าประเทศไทย ประมาณ 20% แต่โดยภาพรวม ยังไม่มีการได้รับรายงานว่า มีการลักลอบโดยผิดกฎหมาย ซึ่ง นายวิศรุต กระบวนสืบ พาณิชย์จังหวัดนครพนม กล่าวว่า อีกไม่เกิน 2 สัปดาห์ คาดว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ เนื่องจากมีปริมาณอ้อยออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก
จาก http://www.innnews.co.th วันที่ 8 มีนาคม 2553
ราคาน้ำตาลทุกชนิดในจังหวัดเชียงใหม่ปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ราคาน้ำตาลทุกชนิดในจังหวัดเชียงใหม่ปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดอยู่ที่กิโลกรัมละ 27-30 บาทแล้ว ขณะที่ในตลาดหลายแห่งน้ำตาลขาดตลาดยี่ปั๊วกักตุนไว้เก็งกำไร
ราคาน้ำตาลทรายในจังหวัดเชียงใหม่ยังคงปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดจากการสำรวจตลาดสดเมืองใหม่ ตลาดค้าส่ง และปลีกสินค้าการเกษตร และอาหารของเมืองเชียงใหม่ที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ พบว่าบรรดาร้านค้าปลีกได้นำน้ำตาลมาวางจำหน่ายไม่มากนัก เนื่องจากยี่ปั๊วปล่อยน้ำตาลให้บรรดาพ่อค้า แม่ค้า ครั้งละไม่มาก เหมือนที่ผ่านมา ทั้งนี้ในช่วงระยะเวลา 2 เดือนที่ผ่านมาได้เริ่มมีการกักตุนน้ำตาล เนื่องจากขยับราคาขึ้นเป็นรายสัปดาห์
ล่าสุดราคาน้ำตาลขายส่งจากกระสอบ 50 กิโลกรัม จากกระสอบละ 1,100-1,200 บาท ได้ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 1,300 บาทแล้ว หรือเฉลี่ยที่กิโลกรัมละ 26 บาท ราคาขายปลีกหน้าร้านกิโลกรัมละ 27-30 บาท จากเดิมกิโลกรัมละ 23 บาท ขณะที่น้ำตาลปึก น้ำตาลปี๊ปและน้ำอ้อย ราคาได้ขยับถึงกิโลกรัมละ 28 บาทแล้ว บรรดาพ่อค้าแม่ค้าในตลาดสดเมืองใหม่ กล่าวว่า พ่อค้ารายใหญ่ และโกดัง กักตุนน้ำตาลเพื่อรอกำไรส่วนต่างในช่วงที่มีการปรับราคาขึ้น
ขณะที่พบว่าซีอิ้วหวาน ซึ่งทำจากน้ำตาล มีการปรับราคาขึ้นมาด้วยจากขวดละ 17 บาท เป็นขวดละ 22 บาท นางสาวแสงเดือน เป็งธินา แม่ค้าในตลาดสดเมืองใหม่ กล่าวว่า ราคาน้ำตาลได้ขยับขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสินค้าที่ใช้น้ำตาลเป็นส่วนประกอบก็ขยับราคาขึ้นเช่นกัน
สำหรับราคาน้ำตาลที่ขยับสูงขึ้นในตลาดสดเมืองใหม่ เป็นสัญญาณให้ร้านค้าปลีกได้ขยับราคาขายน้ำตาลสูงขึ้นเช่นกัน ซึ่งคาดว่าขนมต่าง ๆ จะขยับราคาสูงขึ้นเช่นกัน หากราคาน้ำตาลยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นนี้
จาก http://thainews.prd.go.th วันที่ 8 มีนาคม 2553
จี้"กกร."คุมน้ำตาลขม บีบแจ้งสต็อก-ขนย้าย
กรมการค้าภายในจี้เจ๊วาฯ เร่งถก กกร.ออกมาตรการแก้น้ำตาลแพง บีบคายสต็อกขนย้ายต้องแจ้ง
น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ทำหนังสือถึงนางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) เมื่อวันที่ 26 ก.พ.53 เสนอให้มีการจัดประชุม กกร.อย่างเร่งด่วนเพื่อหารือการกำหนดมาตรการเพิ่มเติมดูแลน้ำตาลทรายในภาวะราคาตึงตัวจากที่กำหนดราคาจำหน่ายกิโลกรัมละ 23.50 บาท
"ตอนนี้จำเป็นต้องเพิ่มมาตรการทางกฎหมาย โดยเฉพาะการตรวจสต็อกและการแจ้งขนย้ายน้ำตาลทราย เพื่อให้รู้ว่ามีปัญหาจากจุดใด มีการส่งหรือขนย้ายจริงหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาได้รับรายงานว่า เส้นทางขนย้ายน้ำตาลระหว่างโรงงานจนถึงมือผู้บริโภคมีปัญหา บางรายมีการแอบอ้างชื่อชาวบ้านเพื่อไปขอซื้อน้ำตาลจากโรงงาน หรือบางแห่งแจ้งสถานที่สั่งซื้อ แต่พอไปตรวจไม่มีที่อยู่จริง หรือไม่เกี่ยวกับการจำหน่ายน้ำตาลทราย" น.ส.ชุติมากล่าว
สำหรับมาตรการที่เสนอให้ กกร.พิจารณา ได้แก่ การออกประกาศควบคุมการครอบครองน้ำตาลไม่เกิน 1,000 ตัน และหากขนย้ายน้ำตาลเกิน 10 ตันต้องขออนุญาตกรมการค้าภายใน.
จาก http://www.thaipost.net วันที่ 8 มีนาคม 2553
น้ำตาลวุ่นสหรัฐออร์เดอร์ด่วน5หมื่นตัน โรงงานตาลุกไม่สนในประเทศขาดหนัก
แก้ปัญหาน้ำตาลทรายขาดสนุกกันใหญ่ หลังสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐ ร่อนหนังสือถึง สนง.อ้อยและน้ำตาลฯ (สอน.) ขอซื้อน้ำตาลทรายดิบจากไทยเพิ่มขึ้นเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำตาลในสหรัฐ ด้านโรงงานน้ำตาลเด้งรับ "US. โควตา" ทันที 50,000 ตัน หวังฟันกำไรตันละ 800 เหรียญ ถึงขนาดยอมซื้อน้ำตาลโควตา ค.กลับคืน ส่วนผู้บริโภคในประเทศยังถูกลอยแพซื้อน้ำตาลแพง อ้างเหตุขาดตลาดเหมือนเดิม
ในขณะที่สถานการณ์น้ำตาลทรายทรายภายในประเทศตึงตัวและเริ่มขาดแคลนในหลายพื้นที่ โดยผู้บริโภคต้องซื้อน้ำตาลทรายในราคาแพงกว่าราคา ควบคุมที่ 23.60 บาท/ก.ก. แต่กลับ มีรายงานเข้ามาว่า ทางโรงงานน้ำตาลกำลังเตรียมการที่จะขายน้ำตาลทรายดิบให้กับสหรัฐ ตามคำร้องขอของกระทรวงเกษตรสหรัฐ เพื่อบรรเทาสถานการณ์ขาดแคลน ที่เกิดขึ้นในสหรัฐ ในขณะที่ปัญหาการขาดแคลนน้ำตาลทรายภายในประเทศยัง ไม่ได้รับการแก้ไขทั้งจากกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงอุตสาหกรรม
ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานเข้ามาว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย โดย Mr.Gary Meyer, Agricultual Counselor ได้ทำหนังสือมาถึง นายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เพื่อหารือการจัดสรรโควตาน้ำตาลทรายดิบที่ไทยจะส่งออกไปยังสหรัฐตามโควตาเดิม จะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำตาลทรายดิบเกินกว่าการจัดสรรได้หรือไม่ โดยปริมาณน้ำตาลทรายดิบที่ขอเพิ่มนั้นจะมีผลเฉพาะปี 2553 (1 ตุลาคม 2552-30 กันยายน 2553) เท่านั้น และไม่มีผลผูกพันในปีโควตาถัดไป
ปรากฏ สอน.ได้ส่งหนังสือดังกล่าวต่อไปยัง บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด ในฐานะผู้ประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เพื่อตอบประเด็นที่สถานทูตสหรัฐขอให้ฝ่ายไทยจัดสรรปริมาณน้ำตาลทรายดิบเพิ่มขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำตาลในสหรัฐ โดยทาง 3 สมาคมได้เรียกประชุมสมาชิกซึ่งมีอยู่ 47 โรงงานน้ำตาลทันที และได้ข้อสรุปว่า ฝ่ายไทยพร้อมที่จะจัดสรรปริมาณน้ำตาลทรายดิบให้สหรัฐเพิ่มขึ้น
กล่าวคือโควตาการนำเข้าน้ำตาล ทรายดิบของสหรัฐที่ให้แก่ประเทศไทยปีละ 14,000 ตันนั้น พร้อมที่จะส่งให้ตามปกติและยังสามารถจัดสรรเพิ่มเติมให้ได้อีก 50,000 ตัน แต่ขอให้สหรัฐกำหนดเป็น "โควตาถาวร" ในปีต่อ ๆ ไปด้วย ซึ่งหมายถึงในปีถัดไป ประเทศไทยจะสามารถจัดสรรน้ำตาลทรายดิบไปยังสหรัฐได้เพิ่ม 30,000-50,000 ตัน โดยจะต้องมีการเสนอเรื่องขอเพิ่มปริมาณโควตามาล่วงหน้าให้โรงงานน้ำตาลได้มีเวลาในการวางแผนการผลิตและการจัดจำหน่ายน้ำตาลก่อน
ด้านนายวิบูลย์ ผาณิตวงค์ ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด กล่าวว่า การที่สหรัฐทำหนังสือมาขอซื้อน้ำตาลทรายดิบจากไทยเพิ่มเติม เนื่องจากการผลิตน้ำตาลใน สหรัฐเองขาดแคลนจากสภาพภูมิอากาศแปรปรวน ทำให้ผลผลิตข้าวโพด-อ้อย และหัวบรีทรูธ ที่จะนำมาเป็นวัตถุดิบผลิตน้ำตาลของสหรัฐลดลง ประกอบกับประเทศผู้ผลิตน้ำตาลที่ส่งออกไปยังสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็น เม็กซิโก, บราซิล ต่างก็มีผลผลิตน้ำตาลลดลง ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกน้ำตาลไปสหรัฐลดลงด้วยเช่นกัน ทำให้สหรัฐต้องมีการขอซื้อน้ำตาลจากประเทศผู้ผลิตทั่วโลกเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ปริมาณน้ำตาลทรายดิบที่ส่งออกไปยังสหรัฐ หรือเรียกว่า "US. โควตา" ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า ซึ่งประเทศไทยจะได้รับโควตาปีละประมาณ 14,000 ตัน โดยจะเฉลี่ยให้กับ 47 โรงงานน้ำตาลทั่วประเทศ และน้ำตาลดิบอีก 50,000 ตัน ที่เพิ่มจากปริมาณโควตาเดิมก็จะเฉลี่ยให้ 47 โรงงานน้ำตาลเช่นกัน
"กรณีที่สหรัฐออกมาขอซื้อน้ำตาลทรายดิบเพิ่มในลักษณะนี้ เป็นปรากฏการณ์ที่"แทบไม่เคยเกิดขึ้น" การขายน้ำตาล US. โควตา ทุกโรงงานก็อยากขายเพราะได้ราคาดี โดยเฉพาะในช่วงที่ราคาน้ำตาลตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นขณะนี้ เราสามารถขายน้ำตาลทรายดิบใน US โควตาได้ถึง 800 เหรียญสหรัฐ/ตัน (น้ำตาลทรายเฉลี่ย 700 เหรียญ/ตัน) แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ แม้สหรัฐจะขอเพิ่มปริมาณการซื้อน้ำตาลก็ตาม เพราะทุกโรงงานได้มีการขายน้ำตาลล่วงหน้า (โควตา ค.) กันไปเกือบหมดแล้ว ถ้าจะจัดสรรเพื่อมาขายให้สหรัฐก็ต้องซื้อกลับคืนมาอีก" นายวิบูลย์กล่าว
อย่างไรก็ตามด้านสถานการณ์การขาดแคลนน้ำตาลทรายภายในประเทศ เองกลับรุนแรงเพิ่มขึ้น โดย น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมการค้าภายใน ยอมรับว่า เกิดความผิดปกติในการจำหน่ายน้ำตาล และได้ทำหนังสือแจ้งไปยังนาง พรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้เรียกประชุม คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) เพื่อพิจารณามาตรการแก้ไขปัญหาน้ำตาลทรายขาดแคลน อาทิ ออกประกาศควบคุมการครอบครองน้ำตาลไม่เกิน 10,000 ก.ก., การขนย้ายน้ำตาลเกิน 10 ตันต้องขออนุญาตจากกรมการค้าภายใน เป็นต้น
ในขณะที่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) กับ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลก็ยังออกมายืนยันสวนทางกับข้อเท็จจริงว่า น้ำตาลทรายภายในประเทศไม่ขาดแคลน มีการขึ้นงวดประจำสัปดาห์ตามปกติถึง 403,000 กระสอบ จากปัจจุบันที่มีอ้อยเข้าหีบไปแล้วประมาณ 53 ล้านตัน คิดเป็นปริมาณน้ำตาลที่ผลิตได้ 52 ล้านกระสอบ (23 กุมภาพันธ์ 2553) ดังนั้นการจัดสรรโควตา ก.ขายภายในประเทศที่ 21 ล้านกระสอบ จึงเพียงพอต่อความต้องการใช้
ลาสุดนางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงจะเสนอที่ประชุม คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ในวันที่ 15 มีนาคมนี้ เพื่อขออนุมัติจัดสรรน้ำตาลทรายใช้บริโภคในประเทศ (โควตา ก.) ฉุกเฉินจำนวน 1 ล้านกระสอบ เพื่อมาจัดสรรให้ยี่ปั๊ว บรรเทาปัญหาน้ำตาลตึงตัวก่อนตามมติของคณะกรรมการน้ำตาลทราย (กน.) เมื่อวันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา ส่วนการพิจารณาปรับขึ้นราคานั้น "ยังไม่จำเป็น" เพราะเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้น้ำตาลทรายเป็นวัตถุดิบในการผลิต
ขณะที่นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่าจะเสนอที่ประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) สัปดาห์หน้า กำหนดราคาขายปลีกน้ำตาลทรายทุกจังหวัด จากระบบปัจจุบันที่จะกำหนดราคาขายปลีกเฉพาะในพื้นที่ 5 จังหวัดกรุงเทพ มหานคร-นนทบุรี-ปทุมธานี-สมุทรปราการ -สมุทรสาคร โดยกำหนดราคาหน้าโรงงานที่กระสอบ 50 กก.อยู่ที่ 1,070 บาท (กก.ละ 21.04 บาท) ราคาขายส่งที่ 1,104.7 บาท (กก.ละ 22.10 บาท) และเป็นราคาขายปลีกที่ กก.ละ 23.50 บาท
จาก http://www.prachachat.net วันที่ 8 มีนาคม 2553
เตรียมจัดสต็อกน้ำตาลล้านกระสอบกอน.ชี้ราคาตลาดโลกขาลงเชื่อผู้ส่งออกกลับใช้โควตาค.
กอน.หารือ 11 มีนาคมนี้ จัดสต็อกน้ำตาลทรายฉุกเฉินให้กระทรวงพาณิชย์ 1 ล้านกระสอบ ระบุทุกฝ่ายไฟเขียวร่วมมือแก้ปัญหาน้ำตาลจริงจัง ระบุราคาหน้าโรงงานกิโลกรัมละ 19-20 บาท เผยสถานการณ์ราคาน้ำตาลตลาดโลกแนวโน้มปรับตัวลดลง มั่นใจผู้ส่งออกโควตา ค. กลับใช้โควตาเดิม
นายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า การแก้ปัญหาน้ำตาลตึงตัวในรอบ 10 วันที่ผ่านมา สอน.ได้เปลี่ยนวันขึ้นงวดน้ำตาลใหม่ จากเดิมทุกวันจันทร์เป็นวันศุกร์ ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 5 มีนาคม 2553 และได้เข้าไปตรวจสอบโรงงานผลิตอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อการส่งออกที่ขอใช้สิทธิน้ำตาลโควตา ค. ที่มีแนวโน้มจะไปใช้สิทธิน้ำตาลโควตา ก. รวม 34 ราย จากผู้ขอใช้ทั้งหมด 106 ราย โดยโรงงานทั้ง 34 แห่ง ขอใช้สิทธิ 8 แสนกระสอบ แต่มาทำสัญญา 4 แสนกระสอบ และโรงงานทั้ง 34 แห่ง หันมาใช้น้ำตาลโควตา ก. ไปแล้ว 5 หมื่นกระสอบ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีโอกาสถูกการใช้สิทธิน้ำตาลโควตา ค. เป็นเวลา 5 ปี
นายประเสริฐกล่าวว่า ขณะนี้แนวโน้มน้ำตาลในตลาดโลกเริ่มปรับตัวลดลง ซึ่งเชื่อว่าโรงงานดังกล่าวจะกลับมาใช้สิทธิตามเดิม โดยจะช่วยลดภาวะตึงตัวของน้ำตาลในประเทศลงได้ ซึ่งราคาน้ำตาลตลาดโลกงวดส่งมอบเดือนพฤษภาคม 2553 พบว่า น้ำตาลทรายขาวอยู่ที่ตันละ 592 ดอลลาร์ จากที่เคยมีราคาสูงสุด 750 ดอลลาร์ และงวดส่งมอบเดือนสิงหาคม 2553 ลดลงมาอยู่ที่ตันละ 470 ดอลลาร์ ที่ปรับลดลงเพราะบราซิลเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยและอินเดียคาดการณ์ว่าผลผลิตอ้อยมีโอกาสจะเพิ่มขึ้นเพราะฝนเริ่มกลับมาปกติ
นอกจากนี้คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) จะมีการประชุมในวันที่ 11 มีนาคม 2553 โดยจะพิจารณาข้อเสนอของคณะกรรมการน้ำตาลทราย (กน.) ที่ขอจัดสรรน้ำตาล 1 ล้านกระสอบ เพื่อไปเตรียมเป็นสต็อกฉุกเฉิน เมื่อเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำตาลทรายในอนาคต โดยเชื่อว่าน่าจะเกิดผลดีและทำให้ประชาชนมั่นใจว่า จะมีน้ำตาลเพียงพอ ซึ่งถือเป็นความร่วมมือที่ดีในการแก้ปัญหาน้ำตาลตึงตัว ระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชย์
ทั้งนี้ ผู้แทนฝ่ายโรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อยใน กน. เห็นด้วยกับแนวทางนี้ โดยในช่วงแรกกระทรวงพาณิชย์ต้องการน้ำตาล 4 ล้านกระสอบ แต่ผู้แทนโรงงานและชาวไร่อ้อยต้องการให้จัดสรรเพียง 1 ล้านกระสอบ และเมื่อชาวไร่และโรงงานเห็นด้วยก็เชื่อว่าการประชุม กอน.จะไม่มีปัญหา โดยจัดสรรให้กระทรวงพาณิชย์เป็นราคาหน้าโรงงานเดิมที่กิโลกรัมละ 19-20 บาท และคงไม่มีการปรับราคาน้ำตาลในช่วงนี้
นอกจากนี้ ที่ประชุม กน. เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีมติเพิ่มน้ำตาลโควตา ก. เพื่อการบริโภคในประเทศอีก 1 ล้านกระสอบ จาก 21 ล้านกระสอบ เป็น 22 ล้านกระสอบ โดยดึงน้ำตาลโควตา ค. เพื่อการส่งออกมาเพิ่มในโควตา ก.
จาก http://www.komchadluek.net วันที่ 8 มีนาคม 2553
"น้ำตาลหายไปไหน ใครรู้ฝากตะโกนหรือกระซิบข้างหูให้หน่วยงานภาครัฐทราบเสียที เพราะเนิ่นนานกว่า 2 เดือนแล้ว ที่สถานการณ์จำหน่ายน้ำตาลทรายในประเทศไม่ดีขึ้น ของยังขาดตลาด หาซื้อยาก ราคาแพงลิบลิ่ว แต่กระทรวงอุตสาหกรรมฐานะผู้ดูแลการผลิต กับกระทรวงพาณิชย์ฐานะผู้ดูแลปลายทางสู่ผู้บริโภค ยังเถียงกันไม่เลิกว่า ตกลงของขาดจริงหรือ และใครเป็นตัวการทำให้ตลาดปั่นป่วน
กระแสข่าวหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ชวนให้ผู้บริโภค และคนติดตามสับสนงงงวย เพราะฝ่ายผู้ผลิตน้ำตาล ประกิต ประทีปะเสน ประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย ยืนยันว่า มีน้ำตาลทรายเหลือพอบริโภคในประเทศแน่นอน เพราะโรงงานน้ำตาลได้สำรองไว้แล้ว แถมกระจายสินค้าออกปกติสัปดาห์ละ 403,000 กระสอบ และเมื่อวันที่ 23 ก.พ. ที่ผ่านมา มีอ้อยเข้าหีบแล้ว 53 ล้านตัน ผลิตเป็นน้ำตาลได้ 52 ล้านกระสอบ จึงไม่ต้องกังวลว่าน้ำตาลจะขาดแคลน
ฟากผู้ดูแลระบบการค้าขาย อย่าง กระทรวงพาณิชย์ กลับมีอาการมึนหนักยิ่งกว่า ทีแรกกรมการค้าภายในประกาศชัด มีน้ำตาลพอกินพอใช้ แต่ให้หลังเพียงวันเดียว พรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ กลับยอมรับ น้ำตาลทรายขาดแคลนจริงหลายจังหวัด และประชาชน ร้านค้าปลีกยังร้องเรียนว่า มีการจัดส่งน้ำตาลจากโรงงานผลิตลดลง อีกทั้งมีราคาขายแพงผิดปกติ จนต้องส่งไม้ต่อให้ ยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ไปดูแลแก้ปัญหาแทนกรมการค้าภายใน กลายเป็นเรื่องเดียวกันแท้ ๆ แต่พูดกันคนละภาษา ต่างฝ่ายต่างมีข้อมูลของใครของมัน !!!
ส่วนฝั่งผู้บริโภค อรรจนา ทีปังกร เจ้าของร้านเต้าฮวยฟรุ้ตสลัด และรับสั่งทำช็อกโกแลต ให้ความเห็นว่า น้ำตาลทรายหาซื้อยากจริง และมีจำนวนจำกัด ทำให้จากนี้ต้องซื้อตุนเก็บไว้ เพราะกลัวหากสินค้าขาดแคลน ไม่มีน้ำตาลทำขนมขาย จะกระทบต่อรายได้ครอบครัว
สอดคล้องกับแหล่งค้าขายน้ำตาลทรายสำคัญ ที่พบของขาดตลาดและราคาแพงทั่วกรุงเทพฯและปริมณฑล ในร้านค้าโมเดิร์นเทรดหลายแห่งย่านนนทบุรี ปทุมธานี รังสิต ไม่เหลือน้ำตาลทรายจำหน่ายตามชั้นวาง แถมจำกัดปริมาณซื้อไม่เกินคนละ 3 ถุง ขณะที่ร้านขายปลีก โชห่วย แม้มีของขายแต่ก็เป็นน้ำตาลทรายชนิดตักตวง แต่ขายถึงกก.ละ 26-27 บาท เกินเพดานที่กระทรวงพาณิชย์ กำหนดที่ 23.50 บาท เนื่องจากราคารับจากยี่ปั๊ว ซาปั๊วเพิ่มขึ้น ส่วนร้านค้าส่งก็แจงว่าที่ขายส่งแพง เพราะรับมาแพงตั้งแต่หน้าโรงงาน ตอนนี้ทุนเพิ่มเป็น กก.ละ 24 บาทแล้ว แถมได้รับของน้อยกว่าเดิม สั่งไป 20 กระสอบ ได้รับจริงไม่ถึง 10 กระสอบ
ฟังความจาก 3 ฝ่าย พอสรุปได้ว่า ปัญหาใหญ่น่าจะอยู่ที่ความผิดปกติของระบบซื้อขาย ในเมื่อน้ำตาลกระจายออกจากต้นทางโรงงานปกติ แต่กลับไม่เหลือสินค้าถึงมือผู้บริโภค แสดงว่าเกิดการตกหล่นระหว่างทาง มีกลุ่มผลประโยชน์เข้ามาใช้ช่องโหว่เกาะกินหาประโยชน์ใส่ตัว
เค้าโครงต้นตอปัญหาเริ่มปรากฏราง ๆ เมื่อกระทรวงพาณิชย์ได้รับร้องเรียนว่า มีโรงงานและยี่ปั๊ว แจ้งสถานที่จัดส่งน้ำตาลเป็นเท็จ คือส่งของให้ไปแต่พอตรวจจริงกลับเป็นที่อยู่ปลอม หรือบางแห่งไม่เกี่ยวข้องกับการขายน้ำตาล บางแห่งใช้วิธีจัดสรรโควตาแบบเด็กเส้น ให้เฉพาะแต่ยี่ปั๊วที่เป็นนอมินีโรงงานน้ำตาลอย่างเดียวนำไปกักตุน หรือเรียกแป๊ะเจี๊ยะ แลกกับโควตาน้ำตาล จนทำให้ต้นทุนน้ำตาลสูงเกินจริง
และมีหลักฐานเด่นชัด เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 53 ชุติมา บุณยประภัสร อธิบดีกรมการค้าภายใน นำผู้เสียหายไปแจ้งความ ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ หลังพบขบวนการแอบอ้างชื่อคนทำสวน ไปขอซื้อน้ำตาลทรายจากโรงงาน รวม 2,000 ตัน มูลค่ากว่า 40 ล้านบาท เพื่อไปขายเก็งกำไร และยังพบเบาะแสความผิดปกติลักษณะเดียวกันรอบพื้นที่กรุงเทพฯ อีก 8-9 ราย
ออกอาการผิดปกติอย่างชัดเจน เพราะธรรมดากระบวนการซื้อน้ำตาลจากโรงงาน โดยเฉพาะการใช้ชื่อประชาชนทั่วไปทำได้ยาก เนื่องจากน้ำตาลเป็นสินค้าควบคุมและมีระบบรัดกุม ที่สำคัญการขนย้ายน้ำตาลออกจากโรงงานแต่ละครั้ง ต้องใช้ใบอนุญาตจากสำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กระทรวงอุตสาหกรรม หรือเรียกใบ กน.2 สำหรับใช้บริโภคภายในประเทศ และโรงงานอุตสาหกรรม กับ กน.6 สำหรับส่งออก
ถือเป็นเรื่องไม่ชอบมาพากลอย่างยิ่ง ว่ามีการออกใบอนุญาตได้อย่างไร แต่ที่น่าแปลกใจกว่า คือ กระทรวงอุตสาหกรรม กลับนิ่งเฉยไม่แก้ไข หรือชี้แจงถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้น ปล่อยให้เป็นเหมือนเรื่องปกติ
แต่จะว่าไปความตื่นตัวในการแก้ปัญหาน้ำตาลทรายของภาครัฐที่ผ่านมา ต้องบอกว่าเหมือนพยายาม ตีมึน ไม่แก้ปัญหา หรือต่างคนต่างทำแบบ ตาบอดคลำช้าง ทำให้ปัญหาน้ำตาลทรายยังไม่คลี่คลาย เช่น แนวทางเสนอให้ สอน. เพิ่มโควตา ก. สำหรับบริโภคภายในประเทศ ก็ไม่รู้ว่าโง่ หรือแกล้งโง่ เพราะตอนนี้โรงงานเทขายน้ำตาลล่วงหน้าไปเกลี้ยงสต๊อกแล้ว หากจะเพิ่มโควตาจริงก็ต้องไปกว้านซื้อจากต่างประเทศกลับคืนมา ในราคาสูงเท่ากับตลาดโลก ซึ่งกลายเป็นภาระให้รัฐบาลนำภาษีเข้าไปจ่าย หรือเปิดทางให้ขอขึ้นราคาน้ำตาลในประเทศ เพื่อชดเชยส่วนต่างที่เสียไป
หรือแนวทางให้โควตาน้ำตาลทรายพิเศษแก่กระทรวงพาณิชย์ 1 ล้านกระสอบ ไปบริหารจัดการให้ถึงมือผู้บริโภค ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะบริหารอย่างไร เพื่อสร้างความมั่นใจว่า การกระจายจะโปร่งใสจริง ปราศจากการเรียกค่าหัวคิว ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว เพราะหลายฝ่ายก็ห่วงว่า โควตา 1 ล้าน กระสอบ อาจเป็น ค่าปิดปาก ที่ สอน. เจียดให้กระทรวงพาณิชย์ ไม่ให้ออกมาขัดแข้งขัดขากันเอง
ขณะที่การจัดสายตรวจสต๊อกตาม โรงงาน ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว ร้านค้าปลีก ของกระทรวงพาณิชย์ รวมทั้งการงัดมาตรการกฎหมาย สั่งให้ผู้ครอบครองน้ำตาลทราย 5,000 กก.ขึ้นไป ต้องขออนุญาตขนย้าย และแจ้งปริมาณ สถานที่จัดเก็บ พร้อมเล็งกำหนดราคาแนะนำขายปลีกน้ำตาลทรายทั่วประเทศ จากเดิมกำหนด 5 จังหวัดไม่เกินกก.ละ 23.50 บาท เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการกักตุน การลักลอบขายตามชายแดนนั้น แม้เป็นเรื่องดี แต่ยัง ไม่ใช่การแก้ที่ต้นเหตุ เป็นเพียงการห้ามเลือดให้ไหลช้าลงเท่านั้น
ที่จริงวันนี้รัฐบาลน่าจะเปลี่ยน วิกฤติ เป็นโอกาส หาทางแก้ปัญหาน้ำตาลที่ต้นตอ ลองทบทวนวิธีบริหารจัดการอ้อยและน้ำตาลทรายกันใหม่ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาน้ำตาลที่เกิดขึ้นใน 2-3 ปีที่ผ่าน มา ทั้งการลักลอบ ขาดแคลน ราคาแพง สาเหตุส่วนสำคัญมาจากความล้าหลังของวิธีบริหารจัดการของภาครัฐ ต้องไม่ลืมว่าระบบที่ใช้อยู่ในทุกวันนี้ มีมานานกว่า 30 ปีแล้ว ซึ่งสถานการณ์โลกวันนี้แตกต่างจากอดีตอย่างสิ้นเชิง
ในอดีตน้ำตาลในตลาดโลกถูกกว่าราคาในประเทศ ทำให้รัฐต้องเข้าไปแทรกแซงรับซื้ออ้อยจากชาวไร่ในราคาตายตัวและสูงกว่าตลาดโลก ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เลี้ยงตัวเองได้ พร้อมกำหนดโควตาการผลิต บริโภค ใช้ในอุตสาหกรรม และส่งออกแบบเบ็ดเสร็จ ป้องกันไม่ให้เกิดภาวะขาดแคลนในประเทศ ผลคือคนไทยต้องทนกินน้ำตาลแพงกว่าคนทั่วโลก เพื่อนำรายได้ไปชดเชยให้แก่ชาวไร่อ้อย รวมถึงผู้ผลิตน้ำตาล
แต่ขณะนี้สถานการณ์โลกพลิกผันไปมาก อ้อยมีความสำคัญต่อโลกมากขึ้น หลายประเทศนำอ้อยไปใช้ผลิตเป็นพลังงานทดแทน ทำให้เหลืออ้อยผลิตน้ำตาลน้อยลง สวนทางกับความต้องการบริโภคทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และที่สำคัญน้ำตาลกลายเป็นเครื่องมือเก็งกำไรจากนักลงทุน ทำให้ระยะหลังราคาอ้อยและน้ำตาลทรายในโลกผันผวนรวดเร็ว แซงหน้าราคาในประเทศไป กก.ละหลายบาท
ดังนั้นการยึดระบบ และแก้ปัญหาแบบเดิม ๆ เช่น เพิ่มโควตา ก. แก้การขาดแคลน ทำน้ำตาลธงฟ้าราคาถูกแก้ราคาแพง หรือเพิ่มราคาจำหน่ายในประเทศให้ใกล้เคียงกับต่างประเทศ อาจไม่ใช่แนวทางที่ดีที่สุด เป็นแค่การแก้ปลายเหตุและผลักภาระสู่ผู้บริโภคร่ำไปเท่านั้น หากไม่ลืมสมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ก็เคยแก้แบบมักง่าย ปรับราคาน้ำตาลในประเทศขึ้น กก.ละ 5 บาทมากสุดในประวัติศาสตร์มาแล้ว แต่ให้หลังไม่ถึง 2 ปี พอน้ำตาลในโลกแพงขึ้น ปัญหาขาดแคลนก็กลับมาเยี่ยมเยียนเหมือนปัจจุบัน
ท้าพนันตรงนี้ 100 ต่อ 1 เลยว่า ถ้ารัฐบาลยังบริหารจัดการด้วยวิธีเก่า ๆ หากเกิดราคาน้ำตาลต่างประเทศแพงขึ้นกว่าในประเทศเมื่อไร ปัญหาการกักตุน ลักลอบ ขาดแคลน หรือราคาแพง ย่อมเกิดขึ้นตามมา และเคราะห์กรรมตกถึงประชาชนตาดำ ๆ แน่นอน
ดังนั้น รัฐบาลน่าจะถือโอกาสทบทวนระบบการบริหารจัดการใหม่ ปรับระบบให้ยืดหยุ่นเข้ากับยุคสมัยมากกว่านี้ รวมถึงกำจัดจุดอ่อนในระบบเดิมทิ้งไป เพราะปัจจุบันราคาอ้อยก็สูงมาก เกษตรกรขายคงไม่ขาดทุนแน่นอน รัฐไม่น่าจะต้องเหนื่อยกับการแทรกแซงราคาอีก หรือระบบโควตาน้ำตาลทราย ที่ทุกวันนี้ไม่ต่างอะไรกับระบบมาเฟียลอตเตอรี่ ที่จัดสรรโควตาตกกับโรงงานผลิตรายใหญ่เพียงไม่กี่ราย จนทำให้สามารถชี้เป็นชี้ตาย กำหนด ทิศทางตลาด ปริมาณ และราคาในประเทศได้ยามเกิดวิกฤติ
ถึงเวลาแล้วที่บรรดาหน่วยงานที่เกี่ยว ข้องกับการดูแลอ้อยและน้ำตาล ทั้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ดูแลชาวไร่อ้อยวัตถุดิบสำคัญในการผลิตน้ำตาล ผู้ผลิตน้ำตาลของกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้ดูแลระบบค้าปลีก ค้าส่งอย่างกระทรวงพาณิชย์ น่า จะจับเข่าคุยกันแก้ปัญหาอย่างจริงใจอีกครั้ง อย่าปล่อยให้ปัญหาน้ำตาลกลายเป็นน้ำตาประชาชน
แต่ทั้งหมดจะแก้ได้หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับความจริงใจของรัฐบาลนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะกล้าเข้ามาคุ้ยเขี่ยวงการมาเฟียอ้อยและน้ำตาลหรือไม่ หากทำได้และทำ สำเร็จ เชื่อว่าชื่อ อภิสิทธิ์ จะหล่อต่อไปได้อีกนาน แต่หากไม่ก็คงเป็นแค่ หล่อลากไส้ ต่อไป.
จาก http://dailynews.co.th วันที่ 8 มีนาคม 2553
พาณิชย์ชงกอน.ขอโควตาน้ำตาลก.ล้านกระสอบชุติมาจี้ถก กกร.แก้น้ำตาลขาดตลาดตั้งทีมเฉพาะกิจเช็คสต็อกน้ำตาล10จว.กน.เล็งเพิ่มน้ำตาลโควตาก.แก้ขาดแคลน ส.โรงงานน้ำตาลฯยันน้ำตาลทรายพอบริโภค
กอน. เตรียมหารือจัดสต็อกฉุกเฉินให้กระทรวงพาณิชย์ 1 ล้านกระสอบ 11 มี.ค.นี้ราคาหน้าโรงงานกิโลกรัมละ 19-20 บาท เผยสถานการณ์ราคาน้ำตาลตลาดโลกลด
นายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า การแก้ปัญหาน้ำตาลตึงตัวในรอบ 10 วันที่ผ่านมา สอน. ได้เปลี่ยนวันขึ้นงวดน้ำตาลใหม่ จากเดิมทุกวันจันทร์เป็นวันศุกร์ ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 5 มี.ค. 2553 และ สอน. เข้าไปตรวจสอบโรงงานผลิตอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อการส่งออกที่ขอใช้สิทธิน้ำตาลโควตา ค. ที่มีแนวโน้มจะไปใช้สิทธิน้ำตาลโควตา ก. รวม 34 ราย จากผู้ขอใช้ทั้งหมด 106 ราย โดยโรงงานทั้ง 34 แห่ง ขอใช้สิทธิ 800,000 กระสอบ แต่มาทำสัญญา 400,000 กระสอบ และโรงงานทั้ง 34 แห่ง หันมาใช้น้ำตาลโควตา ก. ไปแล้ว 50,000 กระสอบ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีโอกาสถูกการใช้สิทธิน้ำตาลโควตา ค. เป็นเวลา 5 ปี
นายประเสริฐ กล่าวว่า ขณะนี้แนวโน้มน้ำตาลในตลาดโลกเริ่มปรับตัวลดลง ซึ่ง สอน.เชื่อว่าโรงงานดังกล่าวจะกลับมาใช้สิทธิ์ตามเดิม โดยจะช่วยลดภาวะตึงตัวของน้ำตาลในประเทศลงได้ ซึ่งราคาน้ำตาลตลาดโลกงวดส่งมอบเดือนพ.ค. 2553 พบว่า น้ำตาลทรายขาวอยู่ที่ตันละ 592 ดอลลาร์ จากที่เคยมีราคาสูงสุด 750 ดอลลาร์ และงวดส่งมอบเดือนส.ค. 2553 ลดลงมาอยู่ที่ตันละ 470 ดอลลาร์ โดยเป็นปรับลดลงเพราะบราซิลเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยและอินเดียคาดการณ์ว่าผลผลิตอ้อยมีโอกาสจะเพิ่มขึ้นเพราะฝนเริ่มกลับมาปกติ
นอกจากนี้คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) จะมีการประชุมในวันที่ 11 มี.ค. 2553 โดยจะพิจารณาข้อเสนอของคณะกรรมการน้ำตาลทราย (กน.) ที่ขอจัดสรรน้ำตาล 1 ล้านกระสอบ เพื่อไปเตรียมเป็นสต็อกฉุกเฉิน เมื่อเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำตาลทรายในอนาคต
นายประเสริฐ กล่าวว่า การขอจัดสรรน้ำตาล 1 ล้านกระสอบดังกล่าว น่าจะเกิดผลดีและทำให้ประชาชนมั่นใจว่า จะมีน้ำตาลเพียงพอ ซึ่งถือเป็นความร่วมมือที่ดีในการแก้ปัญหาน้ำตาลตึงตัว ระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชย์ โดยผู้แทนฝ่ายโรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อยใน กน.เห็นด้วยกับแนวทางนี้ ซึ่งในช่วงแรกกระทรวงพาณิชย์ต้องการน้ำตาล 4 ล้านกระสอบ แต่ผู้แทนโรงงานและชาวไร่อ้อยต้องการให้จัดสรรเพียง 1 ล้านกระสอบ และเมื่อชาวไร่และโรงงานเห็นด้วยเชื่อว่าการประชุม กอน.จะไม่มีปัญหา โดยจัดสรรให้กระทรวงพาณิชย์เป็นราคาหน้าโรงงานเดิมที่กิโลกรัมละ 19-20 บาท และคงไม่มีการปรับราคาน้ำตาลในช่วงนี้
นอกจากนี้ ที่ประชุม กน. เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีมติเพิ่มน้ำตาลโควตา ก. เพื่อการบริโภคในประเทศอีก 1 ล้านกระสอบ จาก 21 ล้านกระสอบ เป็น 22 ล้านกระสอบ โดยดึงน้ำตาลโควตา ค. เพื่อการส่งออกมาเพิ่มในโควตา ก.
จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 8 มีนาคม 2553
รัฐเร่งอุดช่องโหว่ป่วนตลาด"น้ำตาล"
สถานการณ์น้ำตาลทรายตึงตัวเริ่มเด่นชัดขึ้นมาตั้งแต่ปลายปี 2552 และเพิ่มมากขึ้นถึงขั้นที่ผู้บริโภคต้องออกมาร้องเรียน เพราะน้ำตาลทรายดูเหมือนจะหาซื้อได้ยากจนผิดปกติ จากเดิมที่เคยหาซื้อได้ง่าย แต่กลับต้องพบป้ายประกาศจากทางซูเปอร์มาร์เก็ตว่า ผู้ผลิตไม่ส่งสินค้ามาจำหน่าย หรือผู้ขายปลีกบางรายจำกัดปริมาณการซื้อน้ำตาลทรายของผู้บริโภค ขณะที่ตามตลาดขายปลีกในร้านโชห่วยรายย่อยแบบตักแบ่งขายน้ำตาลทรายนั้น ก็พบว่ามีราคาสูงกว่าเพดานกำหนด
สำหรับราคาเพดานน้ำตาลทรายในประเทศที่ภาครัฐกำหนดคือ น้ำตาลทรายขาวกิโลกรัมละ 22.50 บาท ส่วนน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์อยู่ที่กิโลกรัมละ 23.50 บาท ซึ่งเป็นราคาควบคุมเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล 4 จังหวัดเท่านั้น ขณะที่มีรายงานข่าวว่า ราคาน้ำตาลทรายในต่างจังหวัดปรับขึ้นไปสูงถึงกิโลกรัมละ 26-27 บาท
ทั้งนี้ แม้จะมีความพยายามในการแก้ปัญหาภาวะตึงตัวของน้ำตาลทรายในประเทศ โดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เตรียมออกเกณฑ์ลงโทษผู้ผลิตสินค้าอาหารส่งออกที่ได้รับการจัดสรรน้ำตาลทรายโควตา ค. ซึ่งเป็นน้ำตาลทรายส่งออก แต่เมื่อราคาน้ำตาลในประเทศถูกกว่าก็หันมาใช้น้ำตาลทรายโควตา ก. ซึ่งเป็นน้ำตาลทรายที่ใช้ในประเทศแทน โดยจะตัดสิทธิโควตาผู้ประกอบการเหล่านี้เป็นระยะเวลา 5 ปี แต่สถานการณ์ในขณะนี้ก็ดูจะยังไม่ดีขึ้นนัก
โชห่วยรายย่อยเลิกขายน้ำตาล
นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมการค้าส่ง-ค้าปลีกไทย กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์ตึงตัวของน้ำตาลทรายแย่ลงกว่าเดิม เนื่องจากผู้ผลิตอ้างว่าน้ำตาลทรายขาดแคลน ส่งผลให้ราคาน้ำตาลที่ส่งมาอยู่ที่กระสอบละ 1,250 บาท ซึ่งสะท้อนไปยังราคาขายปลีกอยู่ที่กิโลกรัมละ 25 บาทเข้าไปแล้ว ส่วนต่างจังหวัดราคาขายปลีกปรับขึ้นสูงไปถึงกิโลกรัมละ 30 บาท สูงกว่าราคาเพดานที่ภาครัฐกำหนด แต่จะให้ขายต่ำกว่านี้ก็ทำไม่ได้เนื่องจากจะขาดทุนมาก ทำให้ร้านโชห่วยรายย่อยเลิกขายน้ำตาลทรายกันแล้ว
นอกจากนี้ หากขายในราคาสูงกว่าเพดานก็จะถูกจับ ถือว่าผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตามจะยังมีขายบ้างตามห้างโมเดิร์นเทรด เพราะมีการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเป็นปี ซึ่งโรงงานผู้ผลิตไม่สามารถทำผิดสัญญาได้ ประกอบกับช่วงนี้ยังพบว่าน้ำตาลทรายที่ส่งมายังยี่ปั๊วก็จะใช้เวลานานกว่าเดิมจากที่เคยใช้เวลา 1-2 วันหลังจากสั่งซื้อไปแล้ว แต่เดี๋ยวนี้ต้องรอนานเป็นสัปดาห์
ทั้งนี้ มองว่าภาวะน้ำตาลทรายตึงตัวในขณะนี้ เนื่องมาจากราคาน้ำตาลในตลาดโลกขณะนี้สูงกว่าราคาน้ำตาลในประเทศที่ถูกตรึงราคาไว้ ซึ่งทำให้ไม่เป็นไปตามกลไกตลาด ส่งผลให้มีการลักลอบนำน้ำตาลทรายในประเทศออกไปขายต่างประเทศ โดยเฉพาะการลักลอบออกไปขายแบบกองทัพมดตามตะเข็บชายแดน ที่แม้จะนำออกไปในปริมาณที่ไม่มากนักต่อครั้ง แต่เมื่อนำออกไปบ่อยครั้งเพราะมีแรงจูงใจในเรื่องราคาโดยไม่มีการควบคุมที่ดี ก็มีผลต่อปริมาณน้ำตาลทรายในประเทศได้เช่นกัน
อีกทั้งเกิดจากการไม่เข้มงวดของภาครัฐในการดูแลระบบการกระจายน้ำตาลทราย ซึ่งไม่รู้ว่าเมื่อมีการบรรทุกน้ำตาลทรายออกมาจากโรงงานแล้วไปอยู่ที่ไหน น้ำตาลทรายเข้าสู่ระบบตลาดจริงหรือไม่ จึงถือเป็นความอ่อนแอของภาครัฐ บวกกับความละโมบของคน
จากสาเหตุช่องว่างในเรื่องของราคา และความไม่เข้มงวดของภาครัฐ ที่ไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องน้ำตาลทรายในประเทศที่มีราคาแพง และตึงตัวในขณะนี้ได้ ขณะเดียวกันมีเฉพาะบางกลุ่มที่ได้รับประโยชน์เท่านั้น ก็น่าจะยกเลิกระบบเก่าๆ ไปเสีย และปล่อยให้เป็นไปตามกลไกของตลาด เมื่อนั้นราคาน้ำตาลก็จะเข้าสู่ความสมดุล นายสมชายกล่าวและว่า นอกจากนี้ รัฐควรแก้ปัญหาด้วยการใช้อำนาจของรัฐเข้ามาซื้อน้ำตาลทรายและมาเปิดขายให้ประชาชน เพื่อกดราคาที่สูงอยู่ในขณะนี้ อย่างน้ำตาลธงฟ้าที่กระทรวงพาณิชย์มีแนวคิดที่จะทำ ซึ่งหากทำได้ก็ควรจะทำต่อเนื่องระยะยาวด้วย
รง.ยันน้ำตาลในประเทศเพียงพอ
อย่างไรก็ตาม นายประกิต ประทีปะเสน ประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย ได้ออกมายืนยันว่า น้ำตาลทรายเพื่อการบริโภคภายในประเทศ หรือน้ำตาลโควตา ก. นั้นจะไม่ขาดแคลนอย่างแน่นอน โดยโรงงานน้ำตาลได้สำรองน้ำตาลไว้ให้ผู้บริโภคอย่างเพียงพอ และฤดูกาลผลิต 2552/2553 ได้กำหนดปริมาณน้ำตาลโควตา ก. ไว้ถึง 21 ล้านกระสอบ เพิ่มขึ้นจากฤดูกาลผลิตปีก่อนหน้าที่กำหนดไว้ 19 ล้านกระสอบ
ส่วนกรณีที่มีรายงานข่าวอ้างว่า สาเหตุที่น้ำตาลทรายเริ่มขาดตลาด เพราะโรงงานน้ำตาลส่งสินค้าเข้ามาลดลง น่าจะเป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน เพราะที่ผ่านมามีการกำหนดโควตาในการจำหน่ายในประเทศอย่างชัดเจน โดยปัจจุบันมีการนำน้ำตาลออกจำหน่ายสัปดาห์ละ 403,000 กระสอบ ทุกวันจันทร์ แต่ผู้บริโภคและร้านค้าปลีกมีความต้องการซื้อเพิ่มขึ้น เนื่องจากกลัวสินค้าขาดแคลน
เรื่องการขาดแคลนน้ำตาลน่าจะมาจากความวิตกกังวลของผู้บริโภครายย่อยไปจนถึงร้านค้า จนทำให้เกิดกระแสการกักตุน เพราะในส่วนของโรงงานน้ำตาลมีการส่งสินค้าในปริมาณปกติตามกำหนด ไม่มีการลดลงตามที่ปรากฏเป็นข่าว นายประกิตกล่าว
เร่งอุดช่องโหวทำน้ำตาลขาด
ด้านนางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้รับการยืนยันว่าน้ำตาลทรายมีเพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ ดังนั้น ต้องเข้าไปดูว่าเมื่อยืนยันว่าเพียงพอแล้วแต่ยังมีรายงานเข้ามาเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำตาลทรายตึงตัวนั้นมาจากสาเหตุใด และน้ำตาลทรายหายไปอยู่ตรงจุดไหนกันแน่
อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาเบื้องต้นนั้นกระทรวงพาณิชย์จะขออนุมัติน้ำตาลทรายโควตา ก. จำนวน 1 ล้านกระสอบ (ขนาด 100 กิโลกรัม) จากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เพื่อนำมาใช้สำรองสต็อกฉุกเฉิน เผื่อการขาดแคลนในอนาคต โดยจะต้องวางแผนในการกระจายน้ำตาลไปในจังหวัดที่มีราคาแพงและขาดแคลน
ส่วนแนวทางแก้ปัญหาน้ำตาลทรายมีราคาแพงนั้น เบื้องต้นจะประสานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆ ให้เพิ่มความเข้มงวดในการดูแลราคาจำหน่าย รวมทั้งมีปริมาณให้เพียงพอต่อการต้องการ ซึ่งหากยังไม่สามารถจัดการได้ ภายในสัปดาห์หน้าจะเรียกประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) เพื่อกำหนดราคาจำหน่ายสูงสุดทั้งประเทศ รวมทั้งพิจารณาออกมาตรการอื่นๆ เพิ่มเติม
ส่วน น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า กรณีน้ำตาลทรายตึงตัวนั้นทำให้สงสัยว่าเกิดขึ้นมาได้อย่างไร เพราะเมื่อประชุมกับ กอน. ทางผู้ผลิตก็ยืนยันว่าแม้ผลผลิตจะลดลงไปบ้างกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่ปริมาณการจัดสรรน้ำตาลสำหรับใช้ในประเทศมั่นใจว่าเพียงพอ ถ้าไม่พอก็ต้องมีการนำน้ำตาลจากโควตา ค. หรืออื่นๆ กลับมาเพื่อให้มีน้ำตาลบริโภคในราคาที่ประกาศควบคุมไว้ ซึ่งหากเหตุการณ์เป็นไปอย่างปกติที่ว่า ก็ไม่น่าจะเกิดการขาดแคลนได้ แต่ขณะนี้พบว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้น จึงขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ช่วยสืบสาวในเรื่องนี้
โดยจากการตรวจสอบข้อมูลของ สอน. แล้วพบว่ามีผู้ถูกแอบอ้างชื่อไปซื้อน้ำตาลจากโรงงาน ทั้งๆ ที่เจ้าตัวยืนยันว่าไม่เคยซื้อน้ำตาลจากโรงงานเลย จึงถือว่าเรื่องนี้ไม่ชอบมาพากลในระบบการจำหน่ายน้ำตาลทราย
ตอนนี้เราไม่ทราบว่าใครเอาน้ำตาลไป น้ำตาลทรายไปอยู่ที่ไหน แต่จากกรณีการถูกแอบอ้างชื่อที่เกิดขึ้นนั้น อธิบายได้อย่างหนึ่งว่าระบบในบ้านเรามีช่องโหวในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งสมัยก่อนไม่มีใครวิตกกังวลในเรื่องนี้ เพราะสมัยก่อนน้ำตาลทรายในตลาดโลกยังไม่ราคาแพง แต่ตอนนี้มันกลับกันคือน้ำตาลทรายในประเทศถูกกว่าตลาดโลก จึงต้องอาศัยทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปสืบสวนว่า จะมีส่วนเกี่ยวพันอย่างไรหรือไม่ น.ส.ชุติมากล่าวและว่า
กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายในเองเตรียมเสนอ กกร. เพื่อพิจารณาใช้มาตรการทางกฎหมายเข้ามาแก้ไขปัญหาน้ำตาลทรายตึงตัว ด้วยการออกประกาศควบคุมการครอบครองน้ำตาลทราย สต็อกน้ำตาลทรายและการขนย้ายน้ำตาลทราย เพื่อจะได้ทราบเส้นทางของน้ำตาลทรายในระบบ และเพื่อไม่ให้เกิดการกักตุนขึ้นในประเทศ ดังนั้น ผู้ประกอบการทุกรายจะต้องแจ้งปริมาณและสถานที่เก็บ ส่วนผู้ค้าที่ขายน้ำตาลทรายตั้งแต่ 1 ล้านกิโลกรัมขึ้นไป จะต้องแจ้งรายชื่อลูกค้า และปริมาณการซื้อให้กรมการค้าภายในรับทราบ เพื่อสามารถตรวจสอบสถานการณ์ภาวะน้ำตาลในประเทศได้
จาก http://www.komchadluek.net วันที่ 8 มีนาคม 2553
"เจ๊วา" ขายเองน้ำตาลล้านกระสอบ
กนอ. เตรียมพิจารณา ให้กระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้จัดจำหน่ายน้ำตาล 1 ล้านกระสอบ ให้ประชาชน หากเกิดการขาดแคลน...
นายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยถึงข้อเสนอของนางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ ที่จะขอจัดสรรน้ำตาล 1,000,000 กระสอบ เพื่อสำรองไว้ให้กระทรวงพาณิชย์เป็นผู้จัดจำหน่ายให้ประชาชน หากเกิดการขาดแคลนน้ำตาล โดยเรื่องนี้ต้องรอให้นายวิจักร วิเศษน้อย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะกรรมการน้ำตาลทราย (กน.) เสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ในวันที่ 11 มี.ค.นี้ เป็นผู้พิจารณา โดยในการประชุม กน. เมื่อวันที่ 5 มี.ค.ที่ผ่านมา กน.ได้อนุมัติให้เพิ่มปริมาณน้ำตาลโควตา ก. (บริโภคในประเทศ) เพิ่มขึ้นอีก 1,000,000 กระสอบในปีนี้ หรือ เพิ่มขึ้นเป็น 22 ล้านกระสอบ ขณะที่ในแต่ละปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีความต้องการบริโภคน้ำตาลโควตา ก. เพียง 19 ล้านกระสอบ ซึ่งในเรื่องนี้นายวิจักรก็ต้องเสนอให้ที่ประชุม กอน.พิจารณาด้วยเช่นกัน
"ยอมรับว่าการจะเพิ่มปริมาณน้ำตาลโควตา ก. ขึ้นอีก 1 ล้านกระสอบ เป็นเรื่องที่ดีเพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่าน้ำตาลจะไม่ขาดแคลน โดยฝ่ายโรงงานน้ำตาลก็ไม่ขัดข้อง และคาดว่าแม้จะไม่มีการเพิ่มปริมาณโควตา ก. อีก 1 ล้านกระสอบ กระทรวงพาณิชย์ก็คงยังต้องการขอน้ำตาลโควตา ก. 1 ล้านกระสอบนำไปจัดจำหน่ายด้วยตัวเองอยู่ตามเดิม"
นายประเสริฐกล่าวว่า ปัจจุบันราคาซื้อขายน้ำตาลทรายล่วงหน้าในตลาดโลกเริ่มปรับลดลงมาก เนื่องจากนักเก็งกำไรเริ่มทยอยเทขายเพื่อลดความเสี่ยงในการขาดทุน เพราะในฤดูกาลหน้าประเทศอินเดียและผู้ผลิตอ้อยรายใหญ่ต่างเพิ่มปริมาณการปลูกอ้อยรองรับความต้องการของผู้บริโภคทั่วโลก ขณะที่ไทยคาดว่าในฤดูกาลผลิต 2553/54 เกษตรกรชาวไร่อ้อยจะเพิ่มพื้นที่การปลูกอีก 100,000 ไร่ รวมเป็น 6.8 ล้านไร่ มีผลผลิตอ้อย 70-71 ล้านตัน ส่งผลให้ปัญหา สถานการณ์น้ำตาลตึงตัวในประเทศหมดไป.
จาก http://www.thairath.co.th วันที่ 8 มีนาคม 2553
กองทัพมดลักลอบส่งออกน้ำตาลทรายเข้าพม่า
นายดำรงค์ ขจรมาศบุษป์ อดีตประธานหอการค้าจังหวัดระนอง ประธานคณะกรรมการค้าชายแดนไทย-พม่า ด้านจังหวัดระนอง-เกาะสอง กล่าวยอมรับว่า ปัญหาการลักลอบส่งออกสินค้าไม่ผ่านพิธีการทางศุลกากรทางแนวตะเข็บชายแดนไทย-พม่า ยังคงเป็นปัญหาประการที่สำคัญ แต่รูปแบบการส่งออกจะเป็นลักษณะของกองทัพมด ไม่มีผู้ประกอบรายใหญ่ ดังนั้นตนมองว่าผลเสียหายที่จะส่งผลกระทบต่อรัฐน่าจะมีไม่มาก เช่น ในเขตแนวชายแดนด้านอื่น สำหรับสินค้าที่กองทัพมดนิยมลักลอบส่งออกประกอบด้วย น้ำมันพืช น้ำตาลทราย ผงชูรส ข้าวสาร "การส่งออกจะกระทำโดยทางเรือดังนั้นปริมาณที่มีการลักลอบจะไม่มากมายนัก สาเหตุที่มีการลักลอบมาจากผลต่างของราคา ที่ราคาจำหน่ายในพม่าจะสูงกว่าไทย อาทิ น้ำมันพืช ในไทยราคาขวดละ 35-40 บาท แต่ในพม่าราคาสูงถึง 55-60 บาท เช่นเดียวกับน้ำตาลทราย ที่ปัจจจุบันราคาซื้อขายในพม่าสูงถึง กก.ละ 35-40 บาท" นายดำรงค์ ระบุ
นายโกเลียง อดีตประธานหอการค้า จ.เกาะสอง ประเทศพม่า กล่าวว่า น้ำตาลทราย ผงชูรส น้ำมันพืช เป็นสินค้าอุปโภคสำคัญที่ผู้บริโภคชาวพม่ามีความต้องการสูง ซึ่งยอมรับว่าการส่งออกตามปริมาณโควต้าที่กำหนด ยังไม่เพียงพอกับความต้องการบริโภคของชาวพม่า ทำให้เกิดช่องว่างให้พ่อค้าในตลาดมืดพยายามลักลอบนำเข้าสินค้าจากฝั่งไทยอย่างผิดกฏหมายเข้ามาจำหน่าย ซึ่งการแก้ไขคงจะทำได้ยากลำบาก หากความต้องการยังมีปริมาณที่สูง ประกอบกับประเทศพม่า ยังไม่มีนโยบายที่จะก่อสร้างโรงงานผลิตขึ้นภายในประเทศ
จาก http://breakingnews.nationchannel.com วันที่ 7 มีนาคม 2553
กอน.นัดถก11มี.ค.จัดสรรเพิ่มโควตาน้ำตาล
กอน.นัดถก 11 มี.ค.นี้หากประธานกน.ส่งเรื่องขอจัดสรรน้ำตาลประเคน เจ้วา ก็พร้อมเปิดทางให้ 1 ล้านกระสอบ พร้อมจัดสรรโควตา ก เพิ่มอีก 1 ล้านกระสอบ พบโรงงานผลิตอาหารเครื่องดื่มเพื่อการส่งออกเสี่ยงถูกตัดสิทธ์ 5 ปี ถึง 34 โรงงาน ราคาโลกเริ่มลดหวังจะหันกลับไปใช้โควตาค
นายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.) วันที่11 มี.ค.นี้ซึ่งหากนายวิจักร วิเศษน้อย อภิบดีกรมการค้าต่างประเทศในฐานะประธานคณะกรรมการน้ำตาลทราย(กน.)จะนำข้อเสนอนางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ที่จะขอจัดสรรน้ำตาล 1แสนตัน(1ล้านกระสอบ/กระสอบละ 100 ก.ก.) เพื่อไปทำเป็นสต็อกฉุกเฉินกรณีการขาดแคลนน้ำตาลในอนาคตเข้าสู่การพิจารณากอน.ก็พร้อมจะพิจารณา ขณะนี้ยังไม่มีวาระดักล่าวของกระทรวงพาณิชย์ก็อยู่ที่ประธานกน.ว่าจะนำเข้าหารือหรือไม่ แต่ยอมรับว่าการประชุมกน.เมื่อวันที่ 5 มี.ค.มีการพูดคุยเรื่องนี้ก็ถือว่าจะเป็นความร่วมมือของทั้งสองหน่วยงานซึ่งทางโรงงานและชาวไร่ก็ไม่ได้ขัดข้องซึ่งข้อเสนอจริงอยู่ที่ 4 ล้านกระสอบแต่ทางชาวไร่และโรงงานขอจัดสรรให้เพียง 1 ใน 4และคงไม่สามารถจัดสรรให้ในราคาต่ำกว่าหน้าโรงงานได้นายประเสริฐกล่าว นอกจากนี้การประชุมกน.เมื่อวันที่ 5 มี.ค. ผ่านมานั้นนยังมีมติร่วมกันในเรื่องการเพิ่มโควตาน้ำตาลเพื่อการบริโภคในประเทศ หรือ โควตา ก อีก 1 ล้านกระสอบ เป็น 22 ล้านกระสอบจากโควตาเดิม 21 ล้านกระสอบ ซึ่งทางฝ่ายโรงงานน้ำตาลไม่ขัดข้องที่จะดึงน้ำตาลโควตาส่งออก หรือ โควตา ค กลับมาเป็นโควตา ก คงต้องดูว่านายวิจักร จะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมกอน.หรือไม่เช่นกัน สำหรับการแก้ปัญหาน้ำตาลตึงตัวในรอบ 10 วันที่ผ่านมาเบื้องต้นเปลี่ยนวันขึ้นงวดน้ำตาลใหม่จากเดิมทุกวันจันทร์ เป็นวันศุกร์ เริ่มตั้งแต่ศุกร์ที่ 5 มี.ค.ที่ผ่านมา และจากการที่สอน.เข้าไปตรวจสอบโรงงานผลิตอาหารและเครื่องดื่มเพื่อการส่งออกที่ขอใช้สิทธิ์น้ำตาลโควตา ค ที่มีแนวโน้มจะไปใช้สิทธิ์น้ำตาลโควตา ก จำนวน 34 แห่ง จากทั้งหมด 106 แห่ง พบว่าโรงงานทั้ง 34 แห่งขอรับสิทธิ์ 8 แสนกระสอบ แต่ทำสัญญาเพียง 4 แสนกระสอบ ซึ่งโรงงานทั้ง 34 แห่งนี้หันมาใช้น้ำตาลโควตา ก ไปแล้ว 5 หมื่นกระสอบ ดังนั้นมีโอกาสที่จะถูกตัดสิทธิ์การใช้น้ำตาลโตวตา ค เป็นเวลา 5 ปี อย่างไรก็ตามสถานการณ์น้ำตาลตึงตัวคงจะบรรเทาลงหลังจากที่ราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกที่หลายฝ่ายกังวลว่าจะขยับสูงต่อเนื่องนั้นได้ปรับลดลงค่อนข้างแรงโดยน้ำตาลทรายทรายขาวงวดส่งมอบเดือนพ.ค.อยู่ที่ 592 เหรียญสหรัฐต่อตันจากที่เคยสูงถึง 750 เหรียญสหรัฐต่อตัน ส่วนงวดส่งมอบเดือนส.ค.เหลือเพียง 470 เหรียญสหรัฐต่อ หลังกองทุนเก็งกำไรหรือเฮดจ์ฟันด์มีการเทขายทำกำไรเนื่องจากเล็งเห็นปริมาณน้ำตาลจะเพิ่มขึ้นจากผู้ผลิตรายใหญ่อย่างบราซิลการปลูกอ้อยเพิ่มขึ้น ส่วนอินเดียที่เคยมีปัญหาภัยแล้งเริ่มได้ผลผลิตอ้อยเพิ่มขึ้นจากปริมาณน้ำฝนที่กลับมาเป็นปกติ ดังนั้นเมื่อผลผลิตเพิ่มขึ้นโรงงานเหล่านี้คงจะหันมาใช้สิทธิโควตาค ตามเดิม
จาก http://www.manager.co.th วันที่ 7 มีนาคม 2553
พาณิชย์ชงกอน.ขอโควตาน้ำตาลก.ล้านกระสอบ
พาณิชย์ เล็งชง กอน. ขอกันโควตา ก. 1 ล้านกระสอบจัดสรรเอง รู้ผล 15 มี.ค.นี้ เชื่อแก้ปัญหาขาดแคลน-ราคาแพงได้
นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการน้ำตาลทราย (กน.) ที่มีนายวิจักร วิเศษน้อย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เป็นประธาน วานนี้ (5 มี.ค.) ที่ประชุมมีมติให้ขอน้ำตาลทรายโควตา ก. (บริโภคในประเทศ) จำนวน 1 ล้านกระสอบ มาให้กระทรวงพาณิชย์บริหารจัดการเอง เพราะขณะนี้เกิดปัญหาขาดแคลนและราคาแพงในบางพื้นที่
อย่างไรก็ตาม กน.จะเสนอเรื่องดังกล่าวให้ที่ประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ที่มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานพิจารณาในวันที่ 15 มี.ค.นี้
กน.พิจารณาแล้วเห็นว่า เกิดปัญหาขาดแคลน และราคาแพงขึ้นจริง จึงปันบางส่วนมาให้กระทรวงพาณิชย์บริหารจัดการ และกระจายในสู่ประชาชนในพื้นที่ที่ขาดแคลน เชื่อว่าจะทำให้ปัญหาขาดแคลนคลี่คลายลงได้ในเร็วๆ นี้ นางพรทิวากล่าว
นางพรทิวา กล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีที่ตนไม่เรียกประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) เพื่อแก้ปัญหาน้ำตาลทรายขาดแคลน ทั้งที่กรมการค้าภายใน ในฐานะฝ่ายเลขานุการ กกร.ทำหนังสือถึงตน 2 ครั้ง เพื่อเร่งให้เรียกประชุมว่า ยอมรับว่า ยังไม่เห็นหนังสือดังกล่าว แต่ในทางปฏิบัติ กรมการค้าภายใน สามารถใช้มาตรการทางกฎหมาย หรือออกมาตรการแก้ปัญหาได้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องผ่านความเห็นชอบจาก กกร.
นายวิจักร กล่าวว่า เดิมกระทรวงพาณิชย์เสนอจะขอกันส่วนน้ำตาลโควตา ก.มากระจายสู่ผู้บริโภคประมาณ 400,000-500,000 กระสอบ แต่ขณะนี้ พบปัญหาการขาดแคลนมากขึ้น ประกอบกับ กอน.มีมติให้เพิ่มปริมาณการผลิตโควตา ก. จาก 21 ล้านกระสอบเป็น 22 ล้านกระสอบ เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลน ซึ่งที่ประชุมจึงขอกันปริมาณสำรองเพิ่มให้กระทรวงพาณิชย์ เพราะเกรงว่าหากขายไปตามระบบน้ำตาลทราย จะไม่ถึงมือผู้บริโภคจริง
ที่ประชุมเห็นว่า การขายผ่านช่องทางปกติ จะไม่ถึงมือผู้บริโภค จึงเพิ่มให้กระทรวงพาณิชย์ คาดว่า กอน.น่าจะพิจารณาให้ ซึ่งปริมาณ 1 ล้านกระสอบจะใช้ได้ประมาณ 2-3 เดือน หากในเบื้องต้นยังไม่เพียงพอต่อการบริโภค ก็อาจขอจาก กอน.เพิ่มอีก นายวิจักรกล่าว
นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า หากกระทรวงพาณิชย์ได้จริง 1 ล้านกระสอบ จะบริหารจัดการโดยใช้ช่องทางการขายเดิม เพื่อไม่ให้กลไกตลาดบิดเบือน โดยจะจัดสรรให้กับผู้ค้าส่งยี่ปั๊ว ซาปั๊ว ที่มีประวัติดี ทำการค้าสุจริต เพื่อไปขายต่อให้ผู้บริโภค แต่คงต้องวางมาตรการจัดสรรอย่างละเอียด รอบคอบ และโปร่งใส พร้อมกันนั้นจะจัดทีมตรวจสต็อกน้ำตาล เพื่อดูว่าปริมาณน้ำตาลทรายที่ออกจากโรงงานไปอยู่ที่ใดบ้าง มีการกักตุนหรือไม่
นอกจากนี้ ในการประชุม กกร.สัปดาห์หน้า จะกำหนดให้ผู้มีน้ำตาลทรายในครอบครองตั้งแต่ 5,000 กก.ขึ้นไปต้องขออนุญาตการขนย้าย รวมถึงแจ้งปริมาณ และสถานที่เก็บแล้ว ยังจะพิจารณามาตรการกำหนดราคาแนะนำขายปลีกทั่วประเทศ จากปัจจุบันกำหนดเฉพาะใน 5 จังหวัด ไม่เกินกก.ละ 23.50 บาท ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร ส่วนจังหวัดอื่นๆ ให้แต่ละจังหวัดกำหนดเอง
ขณะนี้ ราคาหน้าโรงงานอยู่ที่กระสอบ (50 กก.) ละ 1,070 บาท หรือกก.ละ 21.04 บาท ส่วนราคาขายส่งกระสอบละ 1,104.75 บาท หรือกก.ละ 22.10 บาท และราคาขายปลีกกก.ละ 23.50 บาท
จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 6 มีนาคม 2553
เอ็กซิมแบงค์ นำสื่อเยี่ยมชมโครงการเขื่อนและโรงผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำน้ำงึม 2 สปป.ลาว
ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ติดตามความคืบหน้าโครงการเขื่อนและโรงผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำน้ำงึม 2 สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว พร้อมสนับสนุนอีก 5 โครงการ
นายอภิชัย บุญธีรวร กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือเอ็กซิมแบงค์ กล่าวในโอกาสนำสื่อมวลชนไทยเยี่ยมชมโครงการเขื่อนและโรงผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำน้ำงึม 2 สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวว่า โครงการดังกล่าวมีมูลค่า 881 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในปี 2549 เอ็กซิมแบงค์ ได้อนุมัติเงินกู้จากกระทรวงการเงินสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเป็นทุนของรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นร้อยละ 25 ส่วนอีกร้อยละ 75 ถือหุ้นโดย บริษัทเซาท์อีสท์ เอเชีย เอนเนอร์จี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทของคนไทย และได้รับสัญญาสัมประทาน 27 ปี เพื่อออกแบบก่อสร้างและดำเนินการโรงงานไฟฟ้าพลังน้ำขนาด 615 เมกกะวัตต์ โดยไฟฟ้าที่ผลิตได้ จัดจำหน่ายให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยทั้งหมด
นอกจากนี้ เอ็กซิมแบงค์ ยังได้ให้การสนับสนุนอีก 5 โครงการ ทั้งในปัจจุบันและที่อยู่ระหว่างการพิจารณา ประกอบด้วย เขื่อนเทินหินบูน เขื่อนน้ำเทิน 2 โครงการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลทรายดิบ เขื่อนห้วยเฮาะ และโรงไฟฟ้าถ่านหินหงสา ขณะที่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ตั้งเป้าหมายสู่การเป็นแบตตารี่อ๊อฟเอเชีย ภายในปี 2563 ด้วยปริมาณการผลิตกระแสไฟฟ้าปีละ 20,000 เมกกะวัตต์ ทั้งนี้ในปี 2550 ที่ผ่านมา ธุรกิจพลังงานไฟฟ้าดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศร้อยละ 53 ของมูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด ในสาธารณรัฐประชารัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
จาก http://thainews.prd.go.th วันที่ 6 มีนาคม 2553
นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการออกตรวจสอบราคาจำหน่ายน้ำตาลทรายพบว่าจังหวัดที่มีการขายแพงเกินจริงส่วนใหญ่อยู่นอกพื้นที่กรุงเทพฯ นนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี และสมุทรสาคร ซึ่งเป็น 5 จังหวัด ที่รัฐบาลประกาศราคาควบคุมหรือราคาจำหน่ายสูงสุด ดังนั้น เบื้องต้นกระทรวงพาณิชย์เตรียมประสานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ 71 จังหวัด ที่เหลือเพิ่มความเข้มงวดในการดูแลราคาจำหน่ายน้ำตาลทรายให้เป็นไปตามราคาที่แต่ละจังหวัดกำหนด หากจังหวัดไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ภายในสัปดาห์หน้าตนจะเรียกประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) เพื่อกำหนดราคาจำหน่ายสูงสุดเพิ่มเติมอีก 71 จังหวัดที่เหลือ รวมทั้งพิจารณาออกมาตรการกำกับดูแลเพิ่มเติมอื่นๆ ด้วย
ส่วนการแก้ปัญหาขาดแคลนนั้นขณะนี้ นายวิจักร วิเศษน้อย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะกรรมการน้ำตาลทราย ได้แจ้งให้ทราบว่าที่ประชุมดังกล่าวเห็นชอบตามข้อเสนอกระทรวงพาณิชย์ที่จะขออนุมัติน้ำตาลทรายโควตา ก จำนวน 1 ล้านกระสอบ จากกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เพื่อนำมาใช้สำรองเป็น สต๊อกฉุกเฉิน หากเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำตาลทรายในอนาคต คาดว่าจะเสนอที่ประชุมกอน. พิจารณาอนุมัติในการประชุมสัปดาห์หน้านี้
จาก http://www.khaosod.co.th วันที่ 6 มีนาคม 2553
พาณิชย์เล็งดึงน้ำตาลขายในตจว.แก้ปัญหาราคาแพง-จ่อควบคุมเพิ่มอีก71จังหวัด
พาณิชย์ลุ้น กนอ.ไฟเขียวสต็อกน้ำตาลทราย 100 กระสอบ รองรับขาดแคลน เล็งกระจายออกจังหวัดที่มีราคาแพง ขีดเส้นผู้ว่าฯ จัดแก้ปัญหาสัปดาห์หน้าไม่คลี่คลาย เล็งประกาศราคาควบคุมเพิ่มอีก 71 จังหวัด
นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า หากยังไม่สามารถแก้ปัญหาน้ำตาลทรายราคาแพงในต่างจังหวัดได้ ภายในสัปดาห์หน้าจะเรียกประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) เพื่อกำหนดราคาจำหน่ายน้ำตาลทรายสูงสุดเพิ่มเติมอีก 71 จังหวัด หลังจากที่ประกาศราคาควบคุมใน 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร โดยเบื้องต้นจะประสานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด 71 จังหวัด เพื่อเพิ่มความเข้มงวดในการดูแลราคาจำหน่ายน้ำตาลทรายให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงและให้เป็นไปตามราคาที่แต่ละจังหวัดกำหนด รวมทั้งให้มีปริมาณเพียงพอ
เราจะให้โอกาสผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานอนุกรรมการกำหนดราคาน้ำตาลทรายระดับจังหวัดแก้ปัญหาก่อน หากแก้ปัญหาไม่ได้ กกร.จะประกาศราคาควบคุมการจำหน่ายน้ำตาลทรายในพื้นที่ 71 จังหวัดที่เหลือ ซึ่งจะมีราคาที่แตกต่างกันตามต้นทุนการขนส่ง เพื่อให้ผู้ค้าในแต่ละจังหวัดนำไปใช้เป็นราคาอ้างอิงในการจำหน่าย หากพบว่าผู้ค้ารายใดขายเกินราคาควบคุม หรือราคาจำหน่ายสูงสุดที่ กกร. ประกาศจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายทันที นางพรทิวากล่าว
ส่วนการแก้ปัญหาน้ำตาลทรายขาดแคลนนั้น นางพรทิวากล่าวว่า ขณะนี้นายวิจักร วิเศษน้อย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะกรรมการน้ำตาลทรายแจ้งให้ทราบว่า ที่ประชุมเห็นชอบตามข้อเสนอกระทรวงพาณิชย์ ที่จะขออนุมัติน้ำตาลทรายโควตา ก.จำนวน 1 ล้านกระสอบ (กระสอบละ 100 กก.) จากกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เพื่อนำมาใช้สำรองเป็นสต็อกฉุกเฉิน หากเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำตาลทรายในอนาคต คาดว่าจะนำมติดังกล่าวเสนอที่ประชุม กอน.เพื่อขอให้พิจารณาอนุมัติในการประชุมสัปดาห์หน้านี้
นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า หาก กอน.จัดสรรน้ำตาลทรายมาให้กระทรวงพาณิชย์จะต้องวางแผนการกระจายไปยังจังหวัดที่มีปัญหาราคาแพงและขาดแคลน โดยจะประสานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด เบื้องต้นจากการออกสำรวจภาวะของสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศพบว่า ในพื้นที่ 14-15 จังหวัดมีปัญหาน้ำตาลทรายหาซื้อยากและมีราคาแพงกว่าราคาควบคุมคือ กรุงเทพมหานคร นครปฐม จันทบุรี นนทบุรี ปทุมธานี ลำพูน เพชรบุรี สุพรรณบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และนราธิวาส
จาก http://www.komchadluek.net วันที่ 5 มีนาคม 2553
ชุติมาจี้ถก กกร.แก้น้ำตาลขาดตลาด
"กรมการค้าภายใน" จี้ประชุมคณะกรรมการราคาสินค้าและบริการ คลอดมาตรการคุมเข้มน้ำตาลทรายป้องกันการขาดแคลน นางสาวชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมในฐานะเลขานุการคณะกรรมการราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ได้ทำหนังสือถึงนางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ ในฐานะประธาน กกร. เมื่อวันที่ 26 ก.พ.ที่ผ่านมา เสนอให้มีการจัดประชุม กกร.อย่างเร่งด่วน เพื่อหารือการกำหนดมาตรการเพิ่มเติมดูแลสินค้าน้ำตาลทราย ในภาวะที่ราคาตึงตัว ซึ่งเป็นมาตรการดูแลเพิ่มเติม จากที่กำหนดให้น้ำตาลทรายเป็นสินค้า ที่ต้องจำหน่ายตามราคาที่กำหนด โดยกรุงเทพฯ และปริมณฑล น้ำตาลทรายขาวกิโลกรัมละ 23.50 บาท "ตอนนี้เราจำเป็นต้องเพิ่มมาตรการกฎหมาย โดยเฉพาะการตรวจสต็อก และการแจ้งขนย้ายน้ำตาล เพื่อให้รู้เส้นทางน้ำตาลทรายว่ามีปัญหาจากจุดใด มีการส่ง หรือขนย้ายจริงหรือไม่ เพราะที่ผ่านมา ได้รับรายงานว่า เส้นทางขนย้ายน้ำตาลระหว่างโรงงาน จนถึงมือผู้บริโภคมีปัญหา บางรายมีการแอบอ้างชื่อชาวบ้าน เพื่อไปขอซื้อน้ำตาลจากโรงงาน หรือบางแห่งแจ้งสถานที่สั่งซื้อ แต่พอไปตรวจไม่มีที่อยู่จริง หรือไม่เกี่ยวกับการจำหน่ายน้ำตาลทราย ดังนั้น เราจะต้องเข้าตรวจจุดนี้ รวมถึงแจ้งความให้ตำรวจเข้ามาช่วยแก้ปัญหาด้วย" นางสาวชุติมากล่าว
สำหรับมาตรการที่เตรียมเสนอให้ กกร.พิจารณา ได้แก่ การออกประกาศควบคุมการครอบครองน้ำตาลไม่เกิน 1,000 ตัน และหากขนย้ายน้ำตาลเกิน 10 ตัน ต้องขออนุญาตจากกรมการค้าภายใน เพื่อแก้ปัญหาน้ำตาลตึงตัวในหลายพื้นที่ และทำให้ประชาชนต้องซื้อน้ำตาลราคาแพงกว่าราคาควบคุม นางสาวชุติมา กล่าวถึง สถานการณ์ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคช่วงวันที่ 22-26 ก.พ.ที่ผ่านมา ในหมวดของใช้ประจำวัน อาทิเช่น สบู่ ผงซักฟอก ถ่านไฟฉาย ราคาจำหน่ายปลีกปรับขึ้นลงเล็กน้อย เนื่องจากผู้ประกอบการมีการแข่งขันกันสูง เช่นเดียวกันราคาวัสดุก่อสร้างที่ทรงตัว โดยปูนซีเมนต์ผสมตราเสืออยู่ที่ถุงละ 115-125 บาท ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ตราช้างถุงละ 130 บาท เหล็กเส้น เส้นละ 107-121 บาท เหล็กแผ่นเรียบดำท่อนละ 1,056 บาท เหล็กรูปตัวซีท่อนละ 449-470 บาท เหล็กรางน้ำท่อนละ 1,233-1,284 บาท เหล็กฉากท่อนละ 241-265 บาท และสายไฟฟ้าขดละ 799 บาท ส่วนราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศได้ปรับขึ้นตามราคาตลาดโลก
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ มีผู้ผลิตสินค้าหลายรายการ ที่ยื่นขอปรับราคาเข้ามายังกรมเพิ่มเติม ล่าสุดกลุ่มน้ำยาล้างห้องน้ำ และสินค้าน้ำปลาที่ขอปรับราคาเข้ามาเช่นกัน แต่ยังไม่ได้มีการพิจารณา เนื่องจากต้องตรวจสอบข้อมูลต้นทุนการผลิตว่าเพิ่มขึ้นจริงตามที่ยื่นเรื่องมาหรือไม่ ซึ่งกรมยืนยันว่าขณะนี้ ยังไม่ได้อนุมัติให้สินค้ารายการใดปรับขึ้นราคา "ผู้ผลิตน้ำยาล้างห้องน้ำยื่นเรื่องมา แต่ได้ขอเรื่องกลับไปก่อน เพราะข้อมูลที่ส่งมาไม่ครบถ้วน และคงยื่นเรื่องกลับมาใหม่ ส่วนน้ำปลายืนยันว่าไม่ได้มีการอนุมัติให้ปรับขึ้นราคา" นางสาวชุติมา กล่าว
จาก http://www.bangkokbiznews.com 5 มีนาคม 2553
นายดามพ์ สุคนธทรัพย์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส เทสโก้ โลตัส เปิดเผยว่า ห้างเทสโก้ โลตัส ยังคงจำหน่ายน้ำตาลตามปกติ ในราคาเทียบเท่าหรือต่ำกว่าราคาควบคุมของภาครัฐ โดยไม่กักตุนสินค้าเพื่อเก็งกำไร เพราะธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่เป็นธุรกิจที่ต้อง การเก็บสต๊อกสินค้าไว้ให้น้อยที่สุด และกระจายสินค้าออกไปจำหน่ายให้เร็วที่สุด สถานการณ์การขาดแคลนน้ำตาลที่เกิดขึ้นเนื่องจากผู้ผลิตและผู้จำหน่ายน้ำตาลทรายไม่ส่งน้ำตาลทรายให้กับบริษัทตามปริมาณและในระยะเวลาสั่งซื้อ
ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการหารือกับผู้ผลิตและผู้จำหน่ายเพื่อแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งหลายครั้งที่เกิดปัญหาสินค้าที่จำเป็นในครัวเรือนขาดแคลนมักจะเกิดจากผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายลดหรือชะลอการจัดส่งสินค้าให้กับทางห้าง เนื่องจากทำสัญญาจำหน่ายสินค้าให้กับทางห้างในราคาที่ถูกกว่าราคาในท้องตลาด ทำให้เมื่อเกิดสถานการณ์ขาดแคลน ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายบางรายจึงกักตุนสินค้าเพื่อนำไปจำหน่ายข้างนอกห้างที่ได้ราคาดีกว่า
จาก http://www.khaosod.co.th 5 มีนาคม 2553
กรอ.คุมเข้มน้ำแล้ง จับตาโรงงานริมน้ำ
อุตุนิยมวิทยาพยากรณ์ ฤดูร้อนปีนี้อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยของเมืองไทย ค่าขึ้นสูงกว่าปกติ และสูงกว่าปีที่ผ่านมา รวมทั้งปริมาณฝน ยังมีแนวโน้มตกน้อยกว่าปกติ จึงคาดว่าปีนี้หลายพื้นที่ต้องประสบปัญหาขาดแคลนน้ำรุนแรง สอดคล้องกับข้อมูลจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ที่ประกาศเตือนว่า แล้งนี้ทั่วประเทศจะมีพื้นที่ประสบภัยแล้ง ไม่ต่ำกว่า 7,494 หมู่บ้าน ใน 23 จังหวัด และมีราษฎรประสบภัยแล้งทั้งสิ้น ไม่น้อยกว่า 630,000 ครัวเรือน พื้นที่แจ็กพอตแล้งจัดภาคเหนือ มีถึง 3,785 หมู่บ้าน ใน 10 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร เชียงราย ตาก น่าน พะเยา แพร่ ลำปาง ลำพูน สุโขทัย และ อุตรดิตถ์ ภาคอีสาน 2,368 หมู่บ้าน ใน 4 จังหวัด ประกอบด้วย ขอนแก่น เลย หนองบัวลำภู และ อุดรธานี ภาคกลาง 644 หมู่บ้าน ใน 4 จังหวัด ที่ สุพรรณบุรี ราชบุรี เพชรบุรี และ ประจวบคีรีขันธ์ ภาคตะวันออก 401 หมู่บ้าน ที่ จ.สระแก้ว และภาคใต้อีก 296 หมู่บ้าน ที่ ระนอง ตรัง นครศรีธรรมราช และ สตูล
ชลิต ดำรงศักดิ์ อธิบดีกรมชลประทาน แจ้งยอดปีนี้น้ำใช้ในภาคเกษตรขาดแคลนถึง 30 เปอร์เซ็นต์ หรือคิดเป็นปริมาณน้ำที่หายไป 15,000 ล้านลูกบาศก์เมตร (1.5 หมื่นล้านคิว) เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2553 เขื่อนภูมิพล ซึ่งมีปริมาตรความจุน้ำได้ถึง 13,462 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) แต่มีปริมาตรน้ำใช้การเหลือเพียง 3,176 ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 24 ของปริมาตรน้ำในเขื่อนฯ ซึ่งน้อยกว่าปริมาตรน้ำของปีที่แล้วในช่วงเดียวกันถึง 23% หรือ 937 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งมีปริมาตรความจุ 9,510 ล้าน ลบ.ม. ปริมาตรน้ำใช้การได้เหลือติดเขื่อนฯเพียง 1,797 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 19 ของปริมาตรน้ำในเขื่อนฯ น้อยกว่าปีที่แล้วถึง 54% หรือประมาณ 2,073 ล้าน ลบ.ม. ถ้าวันนี้ยังไม่เร่งหาพื้นที่แก้มลิง เพื่อกักเก็บน้ำเพิ่ม
อธิบดีกรมชลฯ บอกว่า ไม่ต้องไปดูดวงที่ไหน อีก 10 ปีข้างหน้า หรือ พ.ศ. 2563 พยากรณ์แม่นกว่าฟันธง เมืองไทยจะขาดน้ำใช้ในภาคเกษตร ถึงร้อยละ 50 พิษสงของการแย่งน้ำใช้ไม่กี่วันมานี้ นอกจากชาวนาแถววังกะพี้ อุตรดิตถ์ เปิดฉากยิงกันดับ เซ่นน้ำแล้งไปแล้ว 1 ศพ ยังเป็นที่คาดว่า จะมีปัญหาเรื่องน้ำตามมาอีกเพียบ ไม่ว่าน้ำดิบที่จะนำไปผลิตเป็นน้ำประปา น้ำจากเขื่อนที่ใช้ปั่นไฟฟ้า ลามไปถึงชาวเรือ ที่ต้องใช้ลำน้ำสัญจรต่างถนน ชาวนา ชาวไร่อ้อยในพื้นที่ นอกเขตชลประทาน คนเลี้ยงปลาในกระชัง และอีกสารพัดอาชีพ ที่ผูกความหวังไว้กับ "สายน้ำ" ปัญหาน้ำน้อยอยู่แล้ว หากยังต้องมาผจญกับโรงงานอุตสาหกรรม ที่มักง่ายแอบปล่อยน้ำเสียลงสู่แม่น้ำลำคลองอีก ปีนี้มีหวังสภาพของเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงทั้งคนและความหวังของคนกว่าครึ่งค่อนประเทศ อย่าง "แม่น้ำเจ้าพระยา" คงย่อยยับหนักกว่านี้
ดังนั้น กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม จึงเข้มงวดกวดขันเป็นพิเศษกับบรรดาโรงงานอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา
ชุมพล ชีวะประภานันท์ ผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีน้ำ และสิ่งแวดล้อมโรงงาน กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) บอกว่า ปีนี้ประเทศไทยประสบปัญหาภัยแล้ง จากปรากฏการณ์ธรรมชาติ "เอลนินโญ่" (ตรงกันข้ามกับ "ลานิญญ่า" ที่ทำให้ฝนตกหนักและน้ำท่วม) แม้กรมชลฯได้ประกาศเตือนเกษตรกรไปแล้วว่า ปีนี้อย่าทำนาปรังครั้งที่ 2 เพราะน้ำแล้งจัด แต่เนื่องจากข้าวราคาดี เกษตรกรหลายคนจึงไม่เชื่อ ยอมไปตายเอาดาบหน้า ทำให้เชื่อแน่ว่า ปีนี้จะเกิดปัญหาแย่งใช้น้ำอย่างรุนแรง ระหว่างภาคเกษตร อุตสาหกรรม และชุมชนอีกครั้ง
ผอ.ชุมพลบอกว่า ปกติภาคอุตสาหกรรมเป็นภาคที่ต้องรอใช้น้ำ เหลือใช้มาจากภาคชุมชนและการเกษตร เขายกตัวอย่าง เมื่อปี 2549 ฝนแล้งและขาดช่วงนาน เกษตรกรและชุมชนที่มาบตาพุด จ.ระยอง เดินขบวนประท้วงกดดันให้จ่ายน้ำแก่พวกตนก่อน ทำให้อ่างเก็บน้ำปะแสและหนองปลาไหล ซึ่งเคยป้อนน้ำให้ภาคอุตสาหกรรมที่ จ.ระยอง ไม่กล้าจ่ายน้ำให้โรงงานอุตสาหกรรม "ช่วงนั้นโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งถึงกับยอมซื้อน้ำดิบจากรถบรรทุกน้ำที่ขนมาจากกรุงเทพฯหรือชลบุรี ในราคาแพงลิบถึงคิวละ 50 บาท ปีนี้สถานการณ์น้ำที่ระยองดีขึ้น เพราะอ่างเก็บน้ำสร้างเสร็จแล้ว ปัญหาน่าจะมาหนักที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาแทน" ผอ.ชุมพลบอกว่า การที่ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาลดลงอย่างมาก นับเป็นปัญหาสาหัสอยู่แล้ว หากคุณภาพของน้ำยังสกปรกอีก ปัญหาก็ยิ่งสาหัสเป็น 2 เด้ง เขาว่าวิธีดูคุณภาพน้ำ มีตัวชี้วัดหลักอยู่ 2 ตัว คือ ค่าบีโอดี (BOD) และ ค่าดีโอ (DO) "บีโอดี"...จะบ่งบอกถึง ปริมาณการปนเปื้อนในน้ำ ส่วน "ดีโอ"...บ่งบอก ปริมาณออกซิเจนที่ละลายอยู่ในน้ำ ทั้ง 2 ค่า ใช้หน่วยวัดเป็นมิลลิกรัม/ลิตร มาตรฐานน้ำที่จัดว่ามีคุณภาพดี ควรมีค่าดีโอไม่ต่ำกว่า 6 หากแหล่งน้ำบริเวณใดมีค่าดีโอหรือออกซิเจนละลายน้ำ วัดได้แค่ 2 ปลาที่อยู่ในบริเวณนั้นจะเริ่มมีอาการร่อแร่
ผอ.ชุมพลเปรียบเทียบคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา จากการตรวจวัด ณ สถานีตรวจวัดคุณภาพน้ำทั้ง 10 สถานี ตั้งแต่สถานีนครสวรรค์ จนถึงสถานีสะพานกรุงเทพ ระหว่างปี 2550-2552 ได้ผลสรุปน่าสนใจ สถานีแรกวัดที่ จ.นครสวรรค์ พบว่า ช่วงปี 2550 และ 2551 แม้จะอยู่ต้นน้ำ แต่เจ้าพระยาที่นั่นมีสภาพเสื่อมโทรม ปี 52 คุณภาพขยับขึ้นมาเล็กน้อย อยู่ในสภาพที่พอใช้ ที่ จ.ชัยนาท ปี 50 มีคุณภาพดี ปี 51 และ 52 มีสภาพพอใช้ ตามด้วยที่ จ.สิงห์บุรี ปี 50 สภาพพอใช้ ปี 51 และ 52 มีคุณภาพดี ที่สถานีป่าโมก จ.อ่างทอง ปี 50-52 คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์พอใช้ ไหลผ่านมาถึงสถานีตรวจวัดบางบาล ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ปี 50 มีสภาพเสื่อมโทรม ปี 51 และ 52 คุณภาพพอใช้ ที่สถานีตรวจวัดบางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ปี 50-52 มีสภาพเสื่อมโทรม ไหลเข้าเขต อ.สามโคก จ.ปทุมธานี ปี 50-51 แม่น้ำเจ้าพระยาช่วงนี้ ยังคงมีสภาพเสื่อมโทรม จนกระทั่งปี 52 เริ่มมีคุณภาพพอใช้ ถัดมาที่สถานีสำแล จ.ปทุมธานี ซึ่งจัดว่าเป็นบริเวณที่สำคัญมาก เพราะมีการนำน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณนี้ไปทำน้ำประปาให้คนกรุงเทพฯดื่มและใช้ พบสถานการณ์น่าใจคว่ำ ช่วงปี 2550-2552 หรือ 3 ปีซ้อน น้ำดิบที่นำไปทำน้ำประปา เป็นน้ำที่จัดอยู่ในเกรดคุณภาพ น้ำเสื่อมโทรม และต้องใจหายใจคว่ำไปจนถึงปากอ่าว เพราะคุณภาพน้ำเจ้าพระยา จากช่วงสถานีสำแล ไปจนถึงปากเกร็ด จ.นนทบุรี ซึ่งเป็นช่วงที่น้ำไหลผ่านทั้งแหล่งชุมชน พื้นที่ทำการเกษตร และโรงงานอุตสาหกรรมริมแม่น้ำที่หนาแน่น ทำให้คุณภาพน้ำตั้งแต่ปี 2550-2552 ยังคงมีสภาพเสื่อมโทรม ไม่เปลี่ยน และเดากันได้ไม่ยาก ที่สถานีตรวจวัดสุดท้าย สะพานกรุงเทพ กทม. 3 ปีซ้อน นับจากปี 50-52 คุณภาพน้ำบริเวณดังกล่าว มีสภาพเสื่อมโทรมจัด
ผอ.ชุมพลบอกว่า นอกจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมใช้มาตรการทางกฎหมายควบคุมปริมาณความสกปรกของน้ำทิ้งจากภาคอุตสาหกรรม กำหนดพื้นที่อนุญาตให้ตั้ง หรือขยายโรงงานให้สอดคล้องกับศักยภาพการรองรับมลพิษของแม่น้ำเจ้าพระยา ติดตั้งระบบตรวจสอบมลพิษระยะไกล จัดเก็บค่าปล่อยมลพิษและติดตามตรวจสอบโรงงานในพื้นที่ลุ่มน้ำสายหลัก แต่ก็ยังไม่เพียงพอ กรมโรงงานอุตสาหกรรมจึงใช้งบประมาณส่วนหนึ่ง สนับสนุนเพื่อจัดหาผู้เชี่ยวชาญ ให้คำปรึกษาแนะนำการนำระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมไปประยุกต์ใช้ให้เกิดผล และให้คำปรึกษาแนะนำแก้ไขปรับปรุงปัญหาสิ่งแวดล้อมให้แก่โรงงานที่สนใจจะเข้าร่วม "โครงการส่งเสริมพัฒนาระบบจัดการสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ลุ่มน้ำหลัก" ใช้ไม้แข็ง ไม้นวม หรือทั้งขู่ ทั้งปลอบกันขนาดนี้ โรงงานไหนยังทำตัวเป็นทองไม่รู้ร้อน แอบสร้างมลพิษให้แม่น้ำเจ้าพระยากันอีก ใครบางคนบอก...ระวังตัวไว้ให้ดี.
จาก http://www.thairath.co.th 5 มีนาคม 2553
น้ำตาลตึงตัว ปัญหาที่แก้ไปคนละทาง
ปัญหาเรื่องน้ำตาลทรายขาดแคลนจากผู้ค้าปลีกและค้าส่ง ซึ่งอ้างว่าโรงงานผลิตจัดสรรน้ำตาลให้น้อยลง ยังคงเป็นประเด็นถกเถียงกันไม่จบว่า แท้จริงแล้วน้ำตาลทรายในประเทศขาดแคลนจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงการกักตุนเพื่อสร้างกระแสสินค้าขาดตลาดให้เกิดกระแส แล้วจะได้ฉวยโอกาสในขณะที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นแอบขึ้นราคาขายปลีกในประเทศ
หรือเป็นเกมกลยุทธ์การตลาดแบบหนึ่งที่ใช้เป็นเครื่องมือกดดันรัฐบาลทางอ้อมให้หันกลับมาทบทวนราคาขายปลีกในประเทศอีกรอบ จากที่เคยมีความพยายามมาก่อนหน้านี้ให้ลอยตัวราคาน้ำตาลทราย แต่สุดท้ายไม่ได้รับการตอบสนอง
หรือจะเกิดจากการกักตุนเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้น เพราะราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกสูง งวดเดือน มี.ค. อยู่ในระดับสูงถึง 23 บาทต่อกิโลกรัม ในขณะที่ราคาขายปลีกน้ำตาลทรายในประเทศยังถูกควบคุมอยู่ที่ระดับ 19 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งมีส่วนต่างถึง 4 บาทต่อกิโลกรัม เอื้อต่อการทำกำไรเพิ่มเป็นอย่างยิ่ง
ด้วยเหตุผลเหล่านี้ทำให้เกิดความสงสัยว่า เรากำลังเจอกับปัญหาน้ำตาลขาดแคลนจริงหรือไม่ แต่เมื่อลองมองย้อนไปดูตัวเลขปริมาณการจัดสรรน้ำตาลสำหรับรองรับการบริโภคในประเทศ (โควตา ก.) ปี 52 จะพบว่า ได้มีการเพิ่มปริมาณน้ำตาลโควตา ก. อีก 10.5% เป็น 21 ล้านตัน จากเดิมอยู่ที่ 19 ล้านตัน ประกอบกับจะมีการเพิ่มปริมาณการขึ้นงวดน้ำตาลในแต่ละสัปดาห์ จาก 3.6 หมื่นตัน เป็น 4.6 หมื่นตัน และเมื่อรวมกับปริมาณน้ำตาลที่เหลือค้างกระดานอยู่อีก 1.7 ล้านตัน จึงทำให้มั่นใจได้ว่าปริมาณน้ำตาลทรายไม่ขาดแคลน และมีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการบริโภคภายในประเทศแน่นอน
แต่เพื่อความรอบคอบ สำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ร่วมกับกรมการค้าภายใน (คน.) กระทรวงพาณิชย์ ในการกำหนดแนวทางการแก้ปัญหาน้ำตาลทรายตึงตัว ได้แก่ ดูแลปัญหาการลักลอบส่งออกน้ำตาลทรายอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะบริเวณชายแดน ซึ่งจะมีการประสานงานกับตำรวจและกรมศุลกากรให้เข้ามาดูแลเป็นพิเศษ ให้กรมการค้าภายในตรวจสอบการจำหน่ายน้ำตาลของยี่ปั๊ว ซาปั๊ว เพื่อไม่ให้เกิดการขาดแคลน และไม่ให้ขายเกินราคาที่กำหนด รวมทั้งตรวจสอบว่ามีน้ำตาลไปกองที่ส่วนไหนบ้าง
สำหรับผู้ส่งออกที่มาขอใช้สิทธิ์น้ำตาลทรายโควตา ค. (น้ำตาลเพื่อการส่งออก) แล้วเปลี่ยนมาใช้น้ำตาลโควตา ก. แทน จะตัดสิทธิ์การใช้น้ำตาลโควตา ค. เป็นระยะเวลา 5 ปี จากเดิมที่กำหนดไว้เพียง 1-2 ปี เนื่องจากราคาน้ำตาลที่ขึ้นลงจะมีวงจรประมาณ 3-5 ปี และขอให้โรงงานน้ำตาลเข้มงวดในการขายให้ยี่ปั๊วและซาปั๊ว โดยให้บันทึกรายละเอียดทั้งชื่อและที่อยู่ของผู้ซื้อปลายทาง เพื่อให้สามารถตรวจสอบเส้นทางการขนส่งน้ำตาลได้
ที่เป็นประเด็นคือ มีกลุ่มผู้ผลิตเพื่อส่งออกที่เดิมมีการใช้น้ำตาลโควตา ค. หันมาใช้น้ำตาลโควตา ก. แทน เพราะมีราคาถูกกว่ามาก ซึ่งก็มีการยอมรับว่ามีการหันมาซื้อน้ำตาลโควตา ก. จริง เพราะต้องการรักษาระดับต้นทุนราคาสินค้าไม่ให้เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากไม่สามารถปรับขึ้นราคาสินค้าได้ตามต้นทุนที่แท้จริง แต่หากอยากให้ผู้ผลิตเพื่อส่งออกกลุ่มนี้หันกลับมาใช้น้ำตาลโควตา ค. ที่มีราคาแพง ก็จะต้องยอมรับความเป็นจริงว่าเมื่อต้นทุนสินค้าเพิ่ม ราคาสินค้าก็ต้องขึ้นตามไปด้วย
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มผู้ใช้น้ำตาลรายย่อย โดยเฉพาะร้านค้า ร้านอาหาร ร้านขนมหวาน ที่ต้องพึ่งพาการซื้อในราคาขายปลีกมาเป็นวัตถุดิบ ย่อมลำบากในการแบกรับต้นทุนเพิ่มขึ้นทันที เพราะอำนาจในการต่อรองราคาด้อยกว่าอุตสาหกรรมขนาดใหญ่แน่นอน
ที่แย่ไปกว่านั้น การพิสูจน์เจตนากระทำผิดก็ทำได้ยาก เฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่ผู้ค้าปลีก ค้าส่ง ระบุว่า ถูกรีดเงินใต้โต๊ะเพื่อแลกกับการซื้อน้ำตาล ก็ไร้หลักฐานมายืนยัน ไม่มีใครกล้าระบุชื่อโรงงานออกมาให้ชัด เพราะกลัวผลฟ้องร้องทางกฎหมาย ซึ่งก็แน่นอนอีกว่า ผู้ถูกกล่าวหาย่อมปฏิเสธเป็นธรรมดา การจะให้ได้ข้อยุติว่า โรงงานไม่ยอมปล่อยน้ำตาลให้ผู้ซื้อจริงหรือไม่
ทางเดียวที่ทำได้ก็คงต้องส่งเจ้าหน้าที่ไปเฝ้าถึงโรงงานในขณะที่ทำการซื้อขายกัน แต่ในทางปฏิบัติเป็นไปได้ยาก เพราะเจ้าหน้าที่รัฐก็คงไม่มีกำลังมากพอ และคงไม่มีเวลาว่างมากถึงขนาดนั้น ดังนั้น ในระหว่างที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่า ข้อมูลใครจริง ข้อมูลใครหลอก หรือใครจะสร้างกระแสเอากำไรจากใคร รัฐคงต้องทำหน้าที่ในการเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ย และทำความเข้าใจกับทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อลดความขัดแย้ง และหาทางออกร่วมกัน ไม่ใช่เรียกมาทีละฝ่าย ฟังทีละฝ่าย แล้วโต้กันไปมาจนวันนี้ปัญหาก็ยังไม่จบ
ถ้ายังปล่อยให้ปัญหายืดเยื้ออยู่อย่างนี้ ไม่ใช่แค่การร้องเรียนจากผู้ค้าส่งค้าปลีกเท่านั้น แต่ผู้บริโภคที่ไม่รู้เรื่องก็จะเดือดร้อนไปด้วย.
จาก http://www.thaipost.net 5 มีนาคม 2553
หวั่นอ้อยแย่หลัง "แมงอีนูนหลวง" ระบาด
มีแนวโน้มแพร่ระบาดขยายวงกว้างขึ้น นอกจากนี้ยังเข้าทำลายเช่น มันสำปะหลัง ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน ยูคาลิปตัส มันแกว และผักกาดขาว...
นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร แจ้งเตือนเกษตรกรชาวไร่อ้อย ว่า ขณะนี้ได้มีปัญหาแมลงนูนหลวงแพร่ระบาด ทำลายอ้อยในพื้นที่ 5 ตำบล ของอ.จอมบึง จ.ราชบุรี และพื้นที่ อ.ด่านมะขามเตี้ย อ.ท่าม่วง และอ.เมือง จ.กาญจนบุรี รวมเนื้อที่กว่า 35,000 ไร่ โดยมีแนวโน้มแพร่ระบาดขยายวงกว้างขึ้น
ซึ่งนอกจากแมลงนูนหลวงจะเข้าทำลายอ้อยแล้ว ยังทำลายพืชเศรษฐกิจอื่นด้วย เช่น มันสำปะหลัง ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน ยูคาลิปตัส มันแกว และผักกาดขาว เบื้องต้นได้มอบหมายให้สถาบันวิจัยพืชไร่ เร่งควบคุมและป้องกันกำจัดแมลงนูนหลวงก่อนที่จะแพร่ระบาดขยายลุกลามไปสู่พื้นที่อื่น ซึ่งอาจกระทบต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยในระยะยาวได้
นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวถึงวิธีการแก้ไขว่า หากตรวจพบแมลงนูนหลวงตัวเต็มวัยภายในแปลง ควรจับไปทำลายทิ้งทันที นอกจากจะประหยัดแล้ว ยังสามารถช่วยลดประชากรแมลงนูนหลวงได้มาก
สำหรับไร่อ้อยที่ถูกทำลายมาก และคาดว่าจะได้ผลผลิตไม่คุ้มค่าการลงทุน ควรรีบไถพรวนดินหลายๆ ครั้ง เพื่อทำลายไข่และหนอนที่อยู่ในดินก่อนปลูกอ้อย ถ้าจำเป็นต้องใช้สารเคมีในการป้องกัน สารที่ใช้ได้ผลดีคือ สารไฟโปรนิล (fipronil) อัตรา 80-250 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร พ่นไปตามร่องอ้อยปลูกใหม่ ระยะเวลาที่เหมาะสม นอกจากนี้เกษตรกรควรปลูกพืชหมุนเวียน เพื่อตัดวงจรการเจริญเติบโตของแมลงนูนหลวงด้วย
จาก http://www.thairath.co.th 4 มีนาคม 2553
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ รอง ผบ.ตร. มีหนังสือด่วนที่สุด ถึง ผบช.น. ภ.1-9 ศชต. และ ตชด. ให้เร่งรัดปราบปรามการกักตุน และลักลอบน้ำตาลทรายออกนอกประเทศโดยผิดกฎหมาย ด้วยปัจจุบันมีการกักตุน และลักลอบนำน้ำตาลทรายไปจำหน่ายในประเทศเพื่อนบ้าน ตามบริเวณแนวชายแดน ซึ่งจะทำให้น้ำตาลทรายเพื่อการบริโภคภายในประเทศตึงตัว เกิดภาวะขาดแคลนน้ำตาลทราย ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้บริโภค และอุตสาหกรรมภายในประเทศที่ต้องใช้น้ำตาลทรายในการผลิตเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อกลไกสำคัญในการพัฒนา และความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย
ดังนั้น เพื่อเป็นการปราบปรามการกักตุน และลักลอบนำน้ำตาลทรายออกนอกราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย จึงให้ทุกหน่วยดำเนินการ
1.เร่งดำเนินการสืบสวน ปราบปรามบุคคล กลุ่มบุคคล หรือขบวนการลักลอบนำน้ำตาลทรายออกนอกราชอาณาจักร ตามบริเวณแนวชายแดนอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง โดยประสานการปฏิบัติกับกรมศุลกากร และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด
2.ให้ความร่วมมือกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องในการร่วมตรวจสอบสถานที่เก็บรักษา หรือกักตุนน้ำตายทรายที่ไม่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการอ้อย และน้ำตาลทราย
3.กรณีที่ตรวจพบว่า มีการขนย้ายน้ำตาลทรายบริเวณตามชายแดน ให้ตรวจสอบเอกสารการอนุญาตการขนย้ายน้ำตาลทรายเพื่อส่งออกนอกราชอาณาจักร (แบบ กน.6.1) เพื่อเป็นการปราบปรามการลักลอบน้ำตาลทรายออกนอกราชอาณาจักร
4.หากพบการกระทำความผิด ให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดตามกฎหมายอย่างเฉียบขาด แล้วรายงานให้ ตร.ทราบ จึงแจ้งมาเพื่อทราบ และถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด.
จาก www.dailynews.co.th 4 มีนาคม 2553
เมืองจันท์ป่วนน้ำตาลขาดตลาด ดันราคาขายส่งขยับ25บาท/ก.ก.
ผู้สื่อข่าวได้ออกสำรวจการซื้อขายน้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายแดงในตลาดเทศบาลเมืองจันทบุรี พบว่าร้านค้าขายปลีกและขายส่งเริ่มมีน้ำตาลทรายขาดตลาด สาเหตุมาจากโรงงานปล่อยโควตาน้ำตาลทรายทั้ง 2 ชนิดลดน้อยลง ส่งผลให้ผู้ประกอบการที่ขายกาแฟ ขนมหวาน พ่อค้าแม่ค้าที่ใช้น้ำตาล และประชาชนทั่วไป หาซื้อน้ำตาลทรายไม่ได้และมีราคาแพงขึ้นกว่าเดิม
นางสาววัลภา ชลธนสวัสดิ์ เจ้าของร้านโชคชัยพาณิชย์ ผู้ค้าส่งน้ำตาลทรายในตลาดเทศบาลเมืองจันทบุรี กล่าวว่า สาเหตุที่น้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายแดงเริ่มขาดตลาดในช่วงนี้ เพราะโรงงานผลิตน้ำตาลทรายจัดสรรโควตาให้แก่ร้านขายส่งที่จังหวัดจันทบุรีน้อยลง แม้ว่าทางร้านจะขอโควตาเพิ่มไปแล้วก็ตาม แต่ก็ถูกปฏิเสธว่าน้ำตาลในช่วงนี้มีปริมาณไม่มาก จึงไม่สามารถจัดสรรมาให้ได้มากกว่าเดิม
ดังนั้น จึงส่งผลทำให้ราคาน้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายแดงในตลาดปรับราคาสูงขึ้นทันที ซึ่งในปัจจุบันทางร้านได้กำหนดราคาขายส่งน้ำตาลทรายขาวอยู่ที่กิโลกรัมละ 25 บาทเหมือนกับน้ำตาลทรายแดง ซึ่งแพงขึ้นกว่าเดือนที่ผ่านมา และคาดว่าน้ำตาลทรายทั้ง 2 ชนิดนี้จะมีการปรับราคาสูงขึ้นอีก
ลูกค้าที่เข้ามาซื้อน้ำตาลทรายรายหนึ่งกล่าวว่า ตนเป็นพ่อค้าขายกาแฟโบราณ ต้องใช้น้ำตาลทรายเป็นจำนวนมาก เมื่อน้ำตาลทรายมีการปรับราคาสูงขึ้นและเริ่มขาดตลาดนั้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการที่ต้องใช้น้ำตาลและผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อน ทั้งนี้ ตนก็ยังไม่กล้าปรับเพิ่มราคากาแฟโบราณ หรือลดปริมาณน้ำตาลลง เพราะกลัวลูกค้าจะหายหมด แต่ถ้าน้ำตาลทรายยังปรับราคาสูงขึ้นอีก ก็อาจจะหยุดขายกาแฟโบราณไปสักระยะหนึ่ง
แหล่งข่าวจากการค้าภายในจังหวัดจันทบุรีกล่าวว่า ขณะนี้ภาวการณ์ขาดแคลนน้ำตาลกำลังเป็นปัญหาใหญ่ในจังหวัดจันทบุรี และยังมีปัญหาการขาดแคลนสินค้าไม่พอขายเหมือนกันทุกจังหวัด ทั้งนี้ ในระดับจังหวัดคงแก้ไขอะไรไม่ได้ เนื่องจากเป็นปัญหาใหญ่ในระดับประเทศ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์และคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลจะหาแนวทางแก้ปัญหาต่อไป
จาก http://www.prachachat.net วันที่ 4 มีนาคม 2553
พาณิชย์ตรึงสินค้าอีก3ด.-สั่งหาไอ้โม่งฉกน้ำตาล เงินเฟ้อฉุดไม่อยู่กระฉูด5เดือนติด
นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปหรืออัตราเงินเฟ้อประจำเดือนก.พ.53 เท่ากับ 106.88 เมื่อเทียบกับเดือนก.พ.52 สูงขึ้น 3.7% เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 โดยเมื่อเทียบกับเดือนม.ค.53 สูงขึ้น 0.56% เป็นผลมาจากดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น 5.1% เนื่องจากดัชนีหมวดข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้งสูงขึ้น 8.8% เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำสูงขึ้น 4.5% ไข่และผลิตภัณฑ์นมเพิ่มขึ้นสูงขึ้น 4.6% ผักผลไม้ สูงขึ้น 22.3% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 1.4% เครื่องประกอบอาหารสูงขึ้น 1.5% และอาหารสำเร็จรูปสูงขึ้น 0.8% ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศในเดือนก.พ.53 เมื่อเทียบกับเดือนม.ค.53 สูงขึ้น 0.02% แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา สูงขึ้น 0.3%
"เงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี"53 คาดว่า จะอยู่ที่ 3-3.5% ส่งผลให้ในไตรมาสแรกปีนี้ เงินเฟ้อจะอยู่ที่ 3.7% ขณะที่แม้ว่าเศรษฐกิจปีนี้จะปรับตัวดีขึ้นในหลายๆ ด้านก็ตาม" นายยรรยง กล่าว
นายยรรยง กล่าวว่า หากสถานการณ์ราคาวัตถุดิบยังไม่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น จะขอความร่วมมือผู้ประกอบการตรึงราคาสินค้าออกไปอีก 3 เดือน จากเดิมที่ขอตรึงราคาจนถึงเดือนมี.ค.นี้ แต่ยอมรับว่าสินค้าบางรายการมีการปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะน้ำตาลทราย ซึ่งเป็นการขึ้นในลักษณะผิดปกติ โดยบางพื้นที่มีการจำหน่ายในราคาสูงเกินจริง ซึ่งเท่าที่มีการตรวจสอบหลายกรณีเข้าข่ายกักตุน และแจ้งข้อมูลเท็จ ถือเป็นการกระทำที่สร้างความปั่นป่วนในเรื่องของราคา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงเช้าวันที่ 2 มี.ค. น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมการค้าภายใน ได้นำน.ส.วัลย์สิกา สุทธิประเสริฐ ซึ่งประกอบอาชีพชาวสวนหนึ่งใน 10 ผู้เสียหายจากการแอบอ้างนำชื่อไปซื้อน้ำตาลทรายจากโรงงานน้ำตาล ใน จ.ราชบุรี ตั้งแต่เดือนพ.ย.-ก.พ. กว่า 2 พันตัน หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 40 ล้านบาท เข้าให้ปากคำกับตำรวจ กองบัญชาการสอบสวนกลาง เพื่อลงบันทึกประจำวัน ให้ตำรวจตรวจสอบต้นตอผู้สั่งซื้อตัวจริง เบื้องต้นมีการตั้งข้อสงสัยว่าซื้อเพื่อลักลอบส่งออก หรือเพื่อกักตุน ขณะเดียวกัน น.ส.ชุติมา ยังได้เสนอรมว.พาณิชย์ ออกประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) เพื่อควบคุมการขนย้าย การครอบครอง รวมถึงสต๊อกน้ำตาลทราย ซึ่งผู้ครอบครองและขนย้าย ตั้งแต่ 10 ตันขึ้นไปจะต้องแจ้งกรมการค้าภายใน
ด้านนายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เงินเฟ้อพื้นฐานเดือนก.พ. อยู่ที่ 0.3% ถือว่าอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ และไม่มีแรงกดดันต่อการดำเนินนโยบายการเงินของธปท. ส่วนเงินเฟ้อทั่วไปที่เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 3.7% ถือเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงจากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ 4.1% สอดคล้องกับการประเมินของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แต่ยังต้องติดตามดูเงินเฟ้อกันแบบเดือนต่อเดือนว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งในการประชุมในวันที่ 10 มี.ค. คงต้องประเมินเรื่องนี้อีกครั้ง
จาก http://www.khaosod.co.th วันที่ 3 มีนาคม 2553
ตั้งทีมเฉพาะกิจสอบเส้นทางน้ำตาล
นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มีคำสั่งตั้งทีมเฉพาะของกระทรวงพาณิชย์ ติดตามแก้ปัญหาการกักตุน และน้ำตาลขาดแคลน โดยมีหน้าที่ตรวจสอบเส้นทางการขนส่งน้ำตาล ตั้งแต่โรงงานผลิต ร้านค้าส่ง ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว จนถึงร้านค้าปลีก พร้อมเช็กข้อมูลสต็อก และยอดจำหน่ายย้อนหลัง 2 เดือนตั้งแต่เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2553 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มเกิดปัญหาน้ำตาลทรายตึงตัวและราคาสูง ว่ามีความผิดปกติและมีการส่งน้ำตาลทรายกระจายไปถึงผู้บริโภคจริงหรือไม่
ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีรายงานว่า โรงงานน้ำตาล และยี่ปั๊ว ซาปั๊ว ในจังหวัดที่ติดชายแดน มีการลักลอบนำน้ำตาลโควตาในประเทศออกไปจำหน่ายนอกประเทศถึง 1,000 กระสอบ เพื่อเอากำไรจากส่วนต่างราคา รวมถึงมีผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่ภาคกลางหลายจังหวัด มีความพยายามกักตุน และถือโอกาสเรียกรับเงินใต้โต๊ะ เพื่อแลกกับการขายน้ำตาลทราย ทำให้ต้นทุนน้ำตาลปรับตัวสูงขึ้น และกระทบต่อราคาขายปลีก
สำหรับจังหวัดที่เข้าสุ่มตรวจสอบ มีเป้าหมาย 10 จังหวัด แบ่งเป็นในภาคกลาง 8 จังหวัด ที่ได้รับร้องเรียนว่าน้ำตาลซื้อยากและขาดแคลน ได้แก่ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสาคร สระแก้ว สระบุรี และสุพรรณบุรี รวมถึงอีก 2 จังหวัด บริเวณชายแดนที่ได้รับร้องเรียน คือ ตราด จันทบุรี และหากสถานการณ์น้ำตาลขาดแคลนไม่ดีขึ้น กระทรวงมีแนวคิดจะเพิ่มความเข้มงวด ให้โรงงานน้ำตาล และพ่อค้าหรือผู้ถือครองน้ำตาลรายใหญ่ต้องแจ้งสต็อก และปริมาณการขนย้ายมาที่กระทรวง เพื่อให้ทราบเส้นทางการกระจายน้ำตาลที่ชัดเจนและติดตามปัญหาน้ำตาลทรายได้ดีขึ้น
รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์แจ้งว่า ได้รับร้องเรียนจากโรงงานผลิตขนมวาฟเฟิล เพื่อการส่งออกรายใหญ่ใน จ.นครราชสีมา ให้ช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำตาลชนิดพิเศษสำหรับผลิตวาฟเฟิล เนื่องจากขณะนี้ รมว.พาณิชย์ ยังไม่ได้ลงนามอนุญาตให้นำเข้าน้ำตาลตามโควตาองค์การการค้าโลกประจำปี 2553 จำนวน 1.3 หมื่นตัน ส่งผลให้บริษัทไม่สามารถนำเข้าน้ำตาลได้
จาก http://www.komchadluek.net วันที่ 3 มีนาคม 2553
สอบผู้นำเข้ามาเลย์ฯ แบน"น้ำตาล"ไทย-ขัดหลักอาฟต้า
นายอลงกรณ์ พลบุตร รมช.พาณิชย์ให้สัมภาษณ์ว่า ในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ(AEM Retreat)ที่มาเลเซีย ระหว่างวันที่ 27-28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ไทยได้ส่งหลักฐานการกีดกันทางการค้าสินค้าน้ำตาลให้รัฐบาลมาเลเซีย นำไปแก้ไขต่อไป โดยได้รับการร้องเรียนจากผู้ส่งออกไทยว่า ผู้นำเข้ารายใหญ่ 4 รายที่ได้รับสิทธิ์จากรัฐบาลมาเลเซียให้นำเข้าน้ำตาล ได้กำหนดแหล่งกำเนิดสินค้าน้ำตาลไว้ โดยไม่มีไทยรวมอยู่ด้วย ทำให้ผู้ส่งออกไทยไม่มีสิทธิ์ประมูลส่งออกน้ำตาลให้กับรัฐบาลมาเลเซีย
"หลังเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน(อาฟต้า) ประเทศในกลุ่มไม่ควรมีข้อกีดกัน ที่เป็นอุปสรรคทางการค้า นอกจากนี้ไทยได้ขอให้มาเลเซียปรับโควต้าการขนส่งสินค้าเน่าเสียง่าย ผ่านชายแดนมาเลเซียไปยังประเทศที่ 3 เพิ่มจากเดิมที่ได้ปีละ 30,000 ตันด้วย" นายอลงกรณ์ กล่าว
ทั้งนี้ ไทยยังได้ร่วมหารือแบบทวิภาคีกับเวียดนามและมาเลเซีย โดยขอให้เวียดนามยกเลิกมาตรการปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น(เซฟการ์ด) ต่อสินค้ากระจกโฟร์ทที่นำเข้าจากไทย ซึ่งเวียดนามยินยอมที่จะยกเลิกมาตรการเซฟการ์ดให้แก่ไทยแล้ว
นอกจากนี้รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ยังเตรียมจัดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนโรดโชว์ ไปยังเมืองสำคัญของสหรัฐ ตามคำเชิญของสหรัฐในเดือนพฤษภาคมนี้ เพื่อแสดงศักยภาพของอาเซียน และผลักดันข้อตกลงเขตการค้าเสรี(เอฟทีเอ) อาเซียน-สหรัฐให้เกิดขึ้น รวมถึงเตรียมปรับปรุงการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยเน้น 4 สาขาหลัก คือ การอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน การค้า การขนส่ง และบริการโลจิสติกส์ เพื่อให้การวัดผลมีประสิทธิภาพมากขึ้น
จาก http://www.naewna.com วันที่ 3 มีนาคม 2553
พาณิชย์เจอต้นตอ แก๊งตุนน้ำตาล เพื่อปั่นราคาสูง
พาณิชย์ เจอตอ น้ำตาลขาด มีแก๊งอ้างชื่อชาวบ้าน สวมลอยขอซื้อน้ำตาลจากโรงงาน 40 ล้านบาท ไปกักตุน ขายฟันกำไร แจ้นแจ้งความที่กองปราบปรามคดีเศรษฐกิจ แฉพบเบาะแสเพิ่ม 8-9 ราย
เมื่อวันที่ 2 มี.ค. พล.ต.ต.ปัญญา มาแม่น รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กำกับกองบังคับการปราบกรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ เปิดเผยถึงการตรวจสอบเส้นทางการใช้น้ำตาลทรายว่า เตรียมขอหมายศาลออกตรวจสอบสต็อกโรงงาน และผู้ส่งออกน้ำตาลเร็วๆ นี้ หลังจากกระทรวงพาณิชย์ ได้รับรายงานจากสำนักงานอ้อยและน้ำตาลทรายว่า นางสาววัลย์สิกา สุทธิประเสริฐ อาชีพรับจ้างทำสวนในจังหวัดราชบุรี ถูกแอบอ้างชื่อเป็นผู้สั่งซื้อน้ำตาลทรายตั้งแต่เดือนพ.ย.52-ก.พ.53 รวมกว่า 2,000 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 40 ล้านบาท ขณะเดียวกัน ยังพบเบาะแสความผิดปกติลักษณะเดียวกันในพื้นที่รอบกรุงเทพมหานครอีก 8-9 ราย
ด้าน น.ส.ชุติมา บุณยประภัสร อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวระหว่างการแจ้งความดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดว่า ได้เสนอให้นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เรียกประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) เพื่อออกประกาศควบคุมการครอบครองน้ำตาลไม่เกิน 10,000 กก. และหากขนย้ายน้ำตาลเกิน 10 ตันต้องขออนุญาตจากกรมการค้าภายใน เพื่อแก้ปัญหาน้ำตาลตึงตัวในหลายพื้นที่ ทำให้ประชาชนต้องซื้อน้ำตาลราคาแพงกว่าราคาควบคุมกว่ากก.ละ 25-26 บาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เป็นที่น่าสังเกตว่าปัญหาการแอบอ้างใช้ชื่อประชาชนทั่วไปมาเป็นผู้สั่งซื้อ น้ำตาลนั้น เป็นเรื่องยากมาก เพราะน้ำตาลเป็นสินค้าควบคุมและมีระบบที่รัดกุมมาก อีกทั้งการขนย้ายน้ำตาลออกจากโรงงานน้ำตาล ต้องได้รับใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กระทรวงอุตสาหกรรม โดยแบ่งเป็นหนังสือรับรองการขนย้าย กน.2 สำหรับการใช้น้ำตาลเพื่อการบริโภคภายในประเทศ และโรงงานอุตสาหกรรม และใบ กน.6 สำหรับการส่งออก
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสถานการณ์ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกที่มีปรับสูงขึ้น ทำให้มีพ่อค้าหัวใสหาช่องทางหลีกเลี่ยงการออกใบอนุญาตขนย้าย หรือส่งมอบต่อไปยังลูกค้า เพื่อนำไปขายเก็งกำไรส่วนต่าง ส่งผลให้เกิดน้ำตาลขาดแคลนในวงกว้าง ส่วนข้อเสนอของกระทรวงพาณิชย์ ที่ต้องการกันสำรองน้ำตาลทรายไว้ประมาณ 400,000-500,000 กระสอบนั้นยังอยู่ระหว่างกระบวนการเสนอเรื่องไป สอน. อย่างไรก็ตาม วิธีนี้เป็นเพียงการกันสำรอง เพื่อบริหารตัวเลขการจ่ายน้ำตาลในประเทศเท่านั้น แต่ไม่มีการขนน้ำตาลมาบริหารเอง ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาทางจิตวิทยากับตลาด หลังพบต่างจังหวัดพลายพื้นที่เกิดภาวะตึงตัว และจำหน่ายนำตาลเกินราคาควบคุม ที่กก.ละ 25-26 บาท.
จาก http://www.thairath.co.th วันที่ 3 มีนาคม 2553
พาณิชย์ชงกกร.บีบแจ้งสต็อกน้ำตาล
"พาณิชย์" แจ้งตำรวจ บช.ก.ควานหาตัวผู้แอบอ้างซื้อน้ำตาลกักตุน กระทบตลาดป่วน เตรียมชงที่ประชุม กกร. เพิ่มมาตรการคุมเข้มป้องกันกักตุนน้ำตาล ให้แจ้งการขนย้าย พร้อมแจ้งสต็อกน้ำตาล นางสาวชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวภายหลัง การเข้าแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษกับกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เพื่อสืบสวนหาตัวผู้กระทำความผิด ในกรณีมีการแอบอ้างชื่อ ไปซื้อน้ำตาลทรายจากโรงงานน้ำตาลในจังหวัดราชบุรี โดยได้นำ น.ส.วัลย์สิกา สุทธิประเสริฐ 1 ใน 10 ผู้เสียหาย จากการแอบอ้างชื่อ ซื้อน้ำตาลตั้งแต่เดือน พ.ย. -ก.พ. ปริมาณประมาณ 2,000 ตัน มูลค่าประมาณ 40 ล้านบาท เข้าให้ปากคำกับตำรวจ เพื่อตรวจสอบต้นตอผู้สั่งซื้อตัวจริงและข้อเท็จจริงของการแอบอ้างชื่อ
ทั้งนี้ การกระทำดังกล่าวทำให้เกิดปัญหาน้ำตาลทรายตึงตัวและราคาแพง เบื้องต้นมีการตั้งข้อสงสัย 2 ประเด็น คือ การซื้อเพื่อลักลอบส่งออกหรือการซื้อเพื่อกักตุน ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเร่งหาหลักฐานและสอบสวนในเรื่องนี้ต่อไป เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน โดยเตรียมดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดทันที ซึ่งจังหวัดที่พบการแอบอ้างซื้อส่วนใหญ่อยู่ในเขตกรุงเทพฯ สมุทรปราการ และราชบุรี
นางสาวชุติมา กล่าวอีกว่า ได้เตรียมที่จะเสนอนางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ เรียกประชุมคณะกรรมการราคาสินค้าและบริการ (กกร.) เพื่อออกมาตรการควบคุมการขนย้าย การครอบครอง รวมถึงสต็อกน้ำตาลทราย ซึ่งผู้ครอบครองและขนย้ายตั้งแต่ 10 ตันขึ้นไป จะต้องแจ้งกรมการค้าภายในก่อน
"สถานการณ์น้ำตาลทราย ขณะนี้ มีปัญหาในเรื่องของราคา ปริมาณน้ำตาลตึงตัว ราคาจำหน่ายปลีกในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 4 จังหวัด ยังอยู่ภายใต้ราคาควบคุม กก.ละ 23.50 บาท แต่ต่างจังหวัดไม่มีการควบคุมราคา ขณะนี้ บางจังหวัดอยู่ที่ กก.ละ 25-26 บาทแล้ว เมื่อเราประชุมกับคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ทางผู้ผลิตก็ยืนยันว่าแม้ผลผลิตจะลดลงไปบ้าง แต่การจัดสรรให้ใช้ในประเทศ ที่โควตา ก. มั่นใจว่ามีปริมาณเพียงพอ คือ 21 ล้านกระสอบ ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามระบบ ก็ไม่น่าจะเกิดความขาดแคลน ขณะนี้ มันมีความผิดปกติ เราก็กำลังจะขอความร่วมมือตำรวจ ให้ช่วยสืบสวนด้วยอีกทางหนึ่ง" นางสาวชุติมากล่าว
นางสาวชุติมา กล่าวว่า เบื้องต้นคาดว่า น้ำตาลทรายที่หายไปจากตลาดน่าจะมาจาก 2 สาเหตุ คือ 1. ถูกลักลอบออกไปนอกประเทศ หรือมีการกักตุนไว้ภายใน แต่ขณะนี้ ได้ขอความร่วมมือไปยังกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นผู้ดูแลด่านการค้าชายแดน รวมทั้งกองทัพ ให้เข้มงวดเรื่องนี้ แม้จะได้รับรายงานว่าไม่มีการลักลอบที่เป็นขบวนการ แต่มีการลักลอบแบบธรรมชาติ หรือกองทัพมด จึงเชื่อได้ว่าน้ำตาลทรายต้องอยู่ในประเทศ ซึ่งการใช้น้ำตาลทรายภายในกำหนดว่าปริมาณออกสู่ตลาดเป็นรายสัปดาห์ จำนวน 52 งวด ปัจจุบันอยู่ในงวดที่ 17-18
รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่าจากการประสานข้อมูลจากสำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย และชื่อผู้ซื้อในระบบมาตรวจสอบดู พบว่ามีผู้ซื้อรายหนึ่งมีปริมาณการซื้อและขายปริมาณมากเมื่อทำการสืบสวนพบกับ น.ส.วัลย์สิกา สุทธิประเสริฐ เป็นผู้สั่งซื้อ แต่ได้รับการชี้แจงกลับมาว่า ไม่เคยซื้อน้ำตาลทรายจากโรงงานเลย จึงสันนิษฐานว่ามีการแอบอ้างชื่อ
วิธีการในลักษณะนี้ จะมีลูกค้าของโรงงานที่ต้องการซื้อน้ำตาลจากโรงงาน แจ้งไปที่โรงงานว่าต้องการซื้อเท่าไร ถ้าโรงงานตกลงว่าจะขาย ก็จะแจ้งไปที่สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อที่จะออกเอกสาร ที่เรียกว่าใบอนุญาตขนย้าย หรือ กน. 2 เพื่อขนย้ายน้ำตาลทรายออกจากโรงงาน แต่หลังจากนั้น จะส่งต่อไปยังผู้ค้ารายอื่นๆ ต่อไป จนถึงขณะนี้ พบชื่อบุคคลผู้มีพฤติกรรมเช่นนี้จำนวน 8-9 ราย แต่ยังไม่สามารถตามตัวได้
ด้าน พล.ต.ท.ปัญญา มาเม่น รอง ผบช.ก. กล่าวว่า กอง บช.ก.จะเร่งทำการสืบสวนสอบสวนเรื่องนี้ เพราะกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ แล้วก็กระทบต่อผู้บริโภคด้วย ถ้าจำเป็นในการที่จะต้องไปตรวจสอบพื้นที่ และขอความร่วมมือกระทรวงพาณิชย์ต่อไป
"ได้จัดทีมพนักงานสอบสวนเรื่องความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทางกอง บช.ก. ที่เป็นหน่วยดูแลอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ จะดำเนินการเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา ให้กระจ่างและก็คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ที่เกี่ยวข้องกับราคาน้ำตาลภายในประเทศ" พล.ต.ท.ปัญญากล่าว
จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 3 มีนาคม 2553
แมลงนูนหลวงระบาดไร่อ้อย "ราชบุรี-กาญจน์"โดนแล้ว3.5หมื่นไร่/ส่อกระทบปริมาณน้ำตาล
นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร แจ้งเตือนเกษตรกรชาวไร่อ้อยว่า ขณะนี้ได้มีปัญหาแมลงนูนหลวงแพร่ระบาดทำลายอ้อยในพื้นที่ 5 ตำบล ของ อ.จอมบึง จ.ราชบุรี และพื้นที่ อ.ด่านมะขามเตี้ย อ.ท่าม่วง และ อ.เมือง จ.กาญจนบุรี รวมเนื้อที่กว่า 35,000 ไร่ โดยมีแนวโน้มแพร่ระบาดขยายวงกว้างขึ้น ซึ่งนอกจากแมลงนูนหลวงจะเข้าทำลายอ้อยแล้ว ยังทำลายพืชเศรษฐกิจอื่นด้วย เช่น มันสำปะหลัง ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน ยูคาลิปตัส มันแกว และผักกาดขาว เป็นต้น โดยหนอนของแมลงดังกล่าวจะกัดกินบริเวณรากทำให้พืชยืนต้นตาย เบื้องต้นได้มอบหมายให้สถาบันวิจัยพืชไร่ เร่งควบคุมและป้องกันกำจัดแมลงนูนหลวงก่อนที่จะแพร่ระบาดขยายลุกลามไปสู่พื้นที่อื่น ซึ่งอาจกระทบต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยในระยะยาวได้
"เกษตรกรชาวไร่อ้อยต้องเฝ้าระวังและหมั่นตรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะช่วงที่มีความแห้งแล้งติดต่อกันยาวนาน โอกาสที่แมลงนูนหลวงจะระบาดเข้าทำลายอ้อยอาจรุนแรงยิ่งขึ้น ซึ่งระยะตัวหนอนของแมลงนูนหลวงจะกัดกินรากอ้อย ทำให้ต้นอ้อยเกิดอาการใบเหลืองและแห้งตายมากผิดปกติ"
ส่วนวิธีแก้ไข นายสมชายกล่าวว่า หากตรวจพบแมลงนูนหลวงตัวเต็มวัยภายในแปลงควรจับไปทำลายทิ้งทันที นอกจากจะประหยัดแล้วยังสามารถช่วยลดประชากรแมลงนูนหลวงได้มาก สำหรับไร่อ้อยที่ถูกทำลายมาก และคาดว่า จะได้ผลผลิตไม่คุ้มค่าการลงทุนควรรีบไถพรวนดินหลายๆ ครั้ง เพื่อทำลายไข่และหนอนที่อยู่ในดินก่อนปลูกอ้อย ถ้าจำเป็นต้องใช้สารเคมีในการป้องกัน สารที่ใช้ได้ผลดี คือ สารไฟโปรนิล (fipronil) อัตรา 80-250 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร พ่นไปตามร่องอ้อยปลูกใหม่ ระยะเวลาที่เหมาะสม คือ ระยะหนอนเริ่มฟักออกจากไข่ประมาณกลางเดือนมีนาคม สำหรับอ้อยตอให้เปิดหน้าดินออกทั้งสองด้านของแถวอ้อย ห่างจากกออ้อยประมาณ 8 นิ้ว แล้วพ่นสารดังกล่าวไปตามร่องอ้อยที่เปิดหน้าดินออกแล้วเอาดินกลบ นอกจากนี้เกษตรกรควรปลูกพืชหมุนเวียนเพื่อตัดวงจรการเจริญเติบโตของแมลงนูนหลวงด้วย
จาก http://www.naewna.com วันที่ 3 มีนาคม 2553
พาณิชย์จับมือตร.ฟันตุนน้ำตาล
พาณิชย์ จับมือตำรวจลุยตรวจเจอตอน้ำตาลขาด พบแก๊งอ้างชื่อชาวบ้าน สวมลอยขอซื้อน้ำตาลจากโรงงาน 40 ล้านบาท ไปกักตุน ขายฟันกำไร แฉพบเบาะแสเพิ่มอีก 8-9 ราย เล็งเสนอกกร. ออกประกาศ คุมครอบครองน้ำตาลหรือขนย้าย ต้องแจ้งให้ทราบ
พล.ต.ต.ปัญญา มาแม่น รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กำกับกองบังคับการปราบกรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ เปิดเผยถึงการตรวจสอบเส้นทางการใช้น้ำตาลว่า เตรียมขอหมายศาลออกตรวจสอบสต็อกโรงงานและผู้ส่งออกน้ำตาลเร็วๆ นี้ หลังจากกระทรวงพาณิชย์ ได้รับรายงานจากสำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) พบว่า นางสาววัลย์สิกา สุทธิประเสริฐ อาชีพรับจ้างทำสวนในจังหวัดราชบุรี ถูกแอบอ้างชื่อเป็นผู้สั่งซื้อน้ำตาลทรายตั้งแต่เดือนพ.ย.-ก.พ.2552 รวมกว่า 2,000 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 40 ล้านบาท ขณะเดียวกัน ยังพบเบาะแสความผิดปกติลักษณะเดียวกันในพื้นที่รอบกรุงเทพฯ อีก 8-9 ราย
น.ส.ชุติมา บุณยประภัสร อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ได้เสนอให้นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เรียกประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) เพื่อออกประกาศควบคุมการครอบครองน้ำตาลไม่เกิน 10,000 กก. และหากขนย้ายน้ำตาลเกิน 10 ตัน ต้องขออนุญาตจากกรมการค้าภายใน เพื่อแก้ปัญหาน้ำตาลตึงตัวในหลายพื้นที่ ทำให้ประชาชนต้องซื้อน้ำตาลราคาแพงกว่าราคาควบคุมกว่ากก.ละ 25-26 บาท
รายงานจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า เป็นที่น่าสังเกตว่าปัญหาการแอบอ้างใช้ชื่อประชาชนทั่วไปมาเป็นผู้สั่งซื้อน้ำตาลนั้น เป็นเรื่องที่กระทำได้ยากมาก เพราะน้ำตาลเป็นสินค้าควบคุมและมีระบบที่รัดกุมมาก อีกทั้งการขนย้ายน้ำตาลออกจากโรงงานน้ำตาล ต้องได้รับใบอนุญาตจากสอน. โดยแบ่งเป็นหนังสือรับรองการขนย้าย กน.2 สำหรับการใช้น้ำตาลเพื่อการบริโภคภายในประเทศ และโรงงานอุตสาหกรรม และใบ กน.6 สำหรับการส่งออก
ที่ผ่านมา สถานการณ์ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกที่มีปรับสูงขึ้น ทำให้มีพ่อค้าหัวใสหาช่องทางหลีกเลี่ยงการออกใบอนุญาตขนย้าย หรือส่งมอบต่อไปยังลูกค้า เพื่อนำไปขายเก็งกำไรส่วนต่าง ส่งผลให้เกิดน้ำตาลขาดแคลนในวงกว้าง ส่วนข้อเสนอของกระทรวงพาณิชย์ ที่ต้องการกันสำรองนำตาลทรายไว้ประมาณ 4-5 แสนกระสอบนั้น ยังอยู่ระหว่างกระบวนการเสนอเรื่องไป สอน. อย่างไรก็ตาม วิธีนี้เป็นเพียงการกันสำรอง เพื่อบริหารตัวเลขการจ่ายน้ำตาลในประเทศเท่านั้น แต่ไม่มีการขนน้ำตาลมาบริหารเอง ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาทางจิตทยากับตลาด หลังพบต่างจังหวัดพลายพื้นที่เกิดภาวะตึงตัว และจำหน่ายนำตาลเกินราคาควบคุม ที่กก.ละ 25-26 บาท.
นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า มอบหมายให้กรมการค้าภายใน เร่งตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกปัญหาน้ำตาลขาดแคลนและราคาสูง เพื่อนำข้อมูลมาขยายผลในการตามจับกุมต่อไป โดยจะดูตั้งแต่ต้นทางที่น้ำตาลทรายออกมาจากโรงงานผลิต สู่ร้านค้าส่ง ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว ว่ามีปัญหาที่จุดใดจนกระทบให้น้ำตาลขาดช่วง อีกทั้งที่ผ่านมา ยังได้รับรายงานว่ามียี่ปั๋ว ซาปั๊วบางแห่งเป็นตัวแทนของโรงงานน้ำตาล (นอมินี) ไม่ใช่ร้านค้าส่งจริง จึงไม่ยอมส่งน้ำตาลไปให้ร้านค้าปลีก และอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาน้ำตาลแพง
ทั้งนี้ ปัญหาน้ำตาลทรายเกิดขึ้นมานานแล้ว และจากนี้กระทรวงพาณิชย์จะเพิ่มความเข้มงวดในการใช้มาตรการกฎหมาย ตรวจเช็กสต็อกน้ำตาลไม่ให้เกิดการกักตุน จนขาดแคลน รวมถึงดูแลไม่ให้มีการจำหน่ายเกินราคาด้วย เพราะตอนนี้ยอมรับว่า มีการจำหน่ายน้ำตาลสีรำเกินราคามากอยู่ที่ กก.ละ 26-27 บาท มากกว่าเพดาน 23.50 บาท
จาก http://www.manager.co.th วันที่ 3 มีนาคม 2553
ชาวสวนร้องถูกอ้างชื่อสั่งซื้อน้ำตาล 2,000 ตัน
อธิบดีกรมการค้าภายในพาเกษตรกรเข้าร้องขอความเป็นธรรมกับตำรวจ หลังจากเกษตรกรชาวสวนถูกแอบอ้างชื่อสั่งซื้อน้ำตาลกว่า 2 พันตัน
วันนี้ (2 มี.ค.) เมื่อเวลา 11.00 น. ที่กองบังคับปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) น.ส.ชุติมา บุณยะประภัสสร อธิบดีกรมการค้าภายใน พร้อมเจ้าหน้าที่กรมการค้าภายในพา น.ส.วัลย์สิกา สุทธิประเสริฐ อายุ 30 ปี ชาวสวนผลไม้ จ.ราชบุรี เข้าร้องเรียนต่อ พล.ต.ต.ปัญญา มาเม่น รอง ผบช.ก. เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจช่วยดำเนินคดีต่อผู้ที่ลักลอบกักตุนน้ำตาลจำนวนมาก และขอให้ช่วยตรวจสอบโรงงานน้ำตาลในแห่งหนึ่งในจ.ราชบุรี
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากตั้งแต่เดือน พ.ย.52-ก.พ.53 กรมการค้าภายในได้รับการร้องเรียนจากประชาชนในจ.ราชบุรีว่าน้ำตาลทรายขาดตลาดอย่างหนักและมีราคารสูง จึงได้ทำการตรวจสอบพบรายชื่อของ น.ส.วัลย์สิกา เป็นผู้ที่สั่งซื้อน้ำตาลทราย จำนวน 2,000 ตันจากโรงงานน้ำตาลในจ.ราชบุรี ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณที่มากเกินความต้องการในการอุปโภคและบริโภค จึงได้มีหนังสือเชิญตัว น.ส.วัลย์สิกา ให้มาพบเพื่อสอบถามเรื่องดังกล่าว
น.ส.วัลย์สิกา ให้การปฏิเสธว่า ไม่เคยสั่งซื้อน้ำตาลจำนวนดังกล่าวเนื่องจากมีอาชีพเป็นเกษตรกรทำสวน และมีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตเฉลี่ยต่อเดือนประมาณ 5,000 บาท เท่านั้น จึงไม่มีเงินมากพอจะไปสั่งซื้อน้ำตาลจำนวนมากขนาดนั้นมากักตุนได้ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจึงสันนิษฐานว่า น.ส.วัลย์สิกา น่าจะตกเป็นเครื่องมือของขบวนการกักตุนน้ำตาลเพื่อเก็งกำไร โดยการแอบอ้างชื่อและข้อมูลไปสั่งซื้อน้ำตาลจำนวนดังกล่าวมากักเก็บไว้เพื่อทำกำไร ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับธุรกิจและภาคการเกษตร
ด้าน พล.ต.ต.ปัญญา มาเม่น เปิดเผยว่า เบื้องต้นได้สั่งการให้พนักงานสอบสวนสอบปากคำน.ส.วัลย์สิกา และผู้เกี่ยวข้องและรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อยื่นขออนุมัติหมายค้นโรงงานผลิตน้ำตาลซึ่งคาดว่า น่าจะมีเจ้าหน้าที่ข้างในรู้เห็นกับกรณีที่เกิดขึ้น ซึ่งหากพบการกระทำผิดก็จะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
จาก http://www.manager.co.th วันที่ 2 มีนาคม 2553
พาณิชย์พบต้นตอป่วนตลาดน้ำตาลควานหาไอ้โม่งใช้ชื่อคนอื่นแอบอ้างซื้อกว่า 40 ล้าน
อธิบดีกรมการค้าภายในควงผู้เสียหายถูกอ้างชื่อซื้อน้ำตาลทรายแจ้งความ พบผิดปกติในระบบซื้อขาย มองเป็นสาเหตุให้น้ำตาลทรายในประเทศตึงตัว และราคาแพง ชง "พรทิวา" ออกประกาศควบคุมการขนย้ายน้ำตาลทราย ด้านปลัดพาณิชย์ชี้ระบบกระจายน้ำตาลทรายมีปัญหา
น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า เมื่อเช้าวันที่ 2 มีนาคมที่ผ่านมา ได้นำน.ส.วัลย์สิกา สุทธิประเสริฐ หนึ่งใน 10 ผู้เสียหายจากการถูกแอบอ้างนำชื่อไปซื้อน้ำตาลทรายจากโรงงานน้ำตาลในจ.ราชบุรี ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2552 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2553 จำนวนกว่า 2 พันตัน หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 40 ล้านบาท โดยเข้าให้ปากคำกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ กองบัญชาการสอบสวนกลาง เพื่อตรวจสอบต้นตอผู้สั่งซื้อตัวจริง และข้อเท็จจริงของการแอบอ้างชื่อ
โดยการกระทำดังกล่าวทำให้พบถึงความไม่ชอบมาพากลในระบบการซื้อขายน้ำตาลทรายในประเทศ จนก่อให้เกิดปัญหาน้ำตาลทรายตึงตัว และมีราคาแพง เบื้องต้นมีการตั้งข้อสงสัยใน 2 ประเด็น คือ การซื้อเพื่อลักลอบส่งออก หรือการซื้อเพื่อกักตุน ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเร่งหาหลักฐานและสวบสวนในเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน โดยเตรียมดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดทันที ซึ่งจังหวัดที่พบการแอบอ้างซื้อส่วนใหญ่อยู่ที่กรุงเทพฯ สมุทรปราการ และราชบุรี
อธิบดีกรมการค้าภายในกล่าวว่า นอกจากนี้ยังได้เสนอนางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ออกประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ หรือ กกร. เรื่องการควบคุมการขนย้าย การครอบครอง รวมถึงสต็อกน้ำตาลทราย ซึ่งผู้ครอบครองและขนย้ายตั้งแต่ 10 ตันขึ้น ไป จะต้องแจ้งกรมการค้าภายใน
พล.ต.ท.ปัญญา มาเม่น รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กล่าวว่า ขณะนี้ได้จัดทีมพนักงานสอบสวนเรื่องความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นแล้ว โดยจะดำเนินการเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา และจะให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสืบสวนสอบสวนเรื่องนี้ให้กระจ่างและก็คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน
ด้านนายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กรณีน้ำตาลทรายในประเทศตึงตัวและมีราคาสูงขึ้น โดยเฉพาะน้ำตาลทรายสีคล้ำในต่างจังหวัดราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 27-28 บาทนั้น ขณะนี้กรมการค้าภายในอยู่ระหว่างการเข้าไปตรวจสอบในเชิงลึก ถึงการกักตุนซึ่งอาจจะเกิดขึ้นตั้งแต่ต้นทางคือ โรงงานผลิตน้ำตาลทราย ไปจนถึงยี่ปั๊วและซาปั๊ว โดยเฉพาะยี่ปั๊วตอนนี้พบว่ามี 2 กลุ่มคือยี่ปั๊วตัวจริงและยี่ปั๊วที่เป็นนอมินี ที่ทำให้สามารถควบคุมปริมาณในตลาด
โดยขณะนี้มีรายงานเข้ามาแล้วบางส่วน และพบว่าระบบการกระจายน้ำตาลทรายมีปัญหา ซึ่งเมื่อราคาน้ำตาลในตลาดโลกสูงขึ้นก็ทำให้มีการอาศัยช่องโหว่ในจุดนี้ จึงมองว่าน่าจะเป็นโอกาสที่จะเข้าไปอุดรูรั่วดังกล่าวนี้ด้วย
จาก http://www.komchadluek.net วันที่ 2 มีนาคม 2553
เล็งเพิ่มน้ำตาลหวั่นรั่วไหลอีก
นายพงษ์เทพ จารุอำพรพรรณ รองเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เปิดเผยว่า วันที่ 10 มี.ค.นี้ จะประชุมคณะกรรมการน้ำตาลทราย (กน.) เพื่อพิจารณาการจัดสรรน้ำตาลครั้งที่ 2 หลังจากเปิดหีบไปแล้วครึ่งฤดูกาล ทั้งนี้ จะพิจารณาดูสถานการณ์น้ำตาลหากยังไม่สามารถควบคุมการตึงตัวได้ อาจต้องจัดสรรน้ำตาลโควตา ก. (น้ำตาลเพื่อบริโภคในประเทศ) เพิ่มขึ้นจากเดิมที่กำหนดไว้ 21 ล้านกระสอบ รวมทั้งจะพิจารณามาตรการ 4 มาตรการ ที่สำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กำหนดขึ้นเพื่อป้องกันน้ำตาลตึงตัวว่าได้ผลหรือไม่
ทั้งนี้ ขณะนี้มีน้ำตาลทรายโควตา ก. อยู่ 21 ล้านกระสอบ รวมกับที่ค้างมาจากปีก่อนอีก 1 ล้านกระสอบ ถือว่าสูงสุดรอบ 5 ปี โดยปกติหากเศรษฐกิจดีการบริโภคน้ำตาลก็จะอยู่ที่ 20 ล้านกระสอบ ซึ่งหากเพิ่มน้ำตาลโควตา ก. เป็นจำนวนมากจะไม่ส่งผลดีต่อเงินในระบบและจะยิ่งทำให้มีน้ำตาลรั่วไหลออกไปได้มากขึ้น แต่ กอน. จะปล่อยให้น้ำตาลขาดตลาดไม่ได้
จาก http://www.khaosod.co.th วันที่ 2 มีนาคม 2553
ลุยตรวจรง.น้ำตาลทั่วประเทศ ล้อมคอกกักตุน-เล็งเพิ่มโควตาก.
นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ขณะนี้ไม่มีปัญหาโรงงานกักตุนน้ำตาล ซึ่งการที่ท้องตลาดมีความตื่นตระหนกจนผู้บริโภคระดับครัวเรือนเริ่มกักตุนถือเป็นเรื่องทางจิตวิทยา โดยเชื่อว่าสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) จะควบคุมสถานการณ์ด้านการผลิตได้ แต่ในส่วนของการซื้อขายยังเป็นปัญหาที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งแก้ไข ทั้งนี้ถ้ามาตรการควบคุมปริมาณน้ำตาลโควต้า ก.(บริโภคภายในประเทศ) ที่เป็นมติจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.) กำหนดระยะเวลา 10 วัน ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเพิ่มโควต้า ก.ต่อไป
"เพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย ทาง สอน.อยู่ระหว่างจัดทำแผนเพื่อตรวจสอบโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศด้วย เนื่องจากถูกสงสัยว่าเป็นต้นเหตุในการกักตุนน้ำตาล" นายวิฑูรย์ กล่าว
ด้านนายพงษ์เทพ จารุอำพรพรรณ รองเลขาธิการ สอน. กล่าวว่า วันที่ 10 มีนาคม ทางคณะกรรมการน้ำตาลทราย(กน.) จะประชุมเรื่องบัญชีจัดสรรครั้งที่ 2 เพื่อหารือเรื่องที่ผู้ผลิตจะปรับแผนการใช้น้ำตาลโควต้า ค.(ผลิตเพื่อส่งออก) เพื่อไม่ให้ถูกตัดสิทธิ ในกรณีที่ใช้น้ำตาลโควตา ค.ไม่ถึง 70% นอกจากนี้คาดว่าจะมีการหารือถึงแนวทางการเพิ่มน้ำตาลโควต้า ก. จากปัจจุบันอยู่ที่ 21 ล้านกระสอบ ซึ่งการเพิ่มโควต้าจะเกิดขึ้นหรือไม่จะต้องดูผลจากมาตการของ กอน.ที่จะสิ้นสุดวันที่ 4 มีนาคม นี้ ว่า จะสามารถแก้ไขสถานการณ์น้ำตาลตึงตัวได้เพียงใด
จาก http://www.naewna.com วันที่ 2 มีนาคม 2553
งัดแผนสองแก้"น้ำตาลขาด"กน.เล็งจัดสรรเพิ่มโควตา ก.
จับตาประชุมคณะกรรมการน้ำตาลทราย เล็งเพิ่มน้ำตาลโควตา ก. แก้ปัญหาตลาดในประเทศตึงตัว สอน.ชี้ต้องพิจารณารอบคอบ ห่วงกระทบชาวไร่และโรงงาน มองหากตรวจสอบเส้นทางตั้งแต่โรงงานถึงผู้บริโภค พร้อมคุมเข้มลักลอบส่งออกแก้ปัญหาได้
นายพงษ์เทพ จารุอำพรพรรณ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 10 มีนาคมนี้ ในการประชุมคณะกรรมการน้ำตาลทราย (กน.) ที่มีนายวิจักร น้อยวิเศษ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เป็นประธาน จะพิจารณาจัดสรรน้ำตาลฤดูผลิตปี 2552/2553 ครั้งที่ 2 และประเมินสถานการณ์น้ำตาลในประเทศที่มีปัญหาตึงตัว โดยอาจจะมีการพิจารณาเพิ่มน้ำตาลโควตา ก. ที่ใช้สำหรับการบริโภคในประเทศ จากที่กำหนดไว้ที่ 2.1 ล้านตัน หากมาตรการแก้ปัญหาเบื้องต้น ซึ่งคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ออกมา 4 มาตรการไม่ได้ผล
"การปรับโควตาน้ำตาลเพิ่มเป็นเรื่องปกติที่ต้องสอดคล้องกับสถานการณ์จริง โดยจะประเมินความต้องการใช้และปริมาณน้ำตาลที่ผลิตได้ ซึ่งภาครัฐมีหน้าที่จัดหาน้ำตาลให้เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศก่อนจัดโควตา ค. เพื่อส่งออก ซึ่งบางปีโควตา ก. มีมากเกินไปก็จะปรับลด แต่ถ้าบางปี โควตา ก. ไม่พอต่อความต้องการก็จะเพิ่มขึ้น แต่การเพิ่มน้ำตาลโควตา ก. ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยช่วงที่ราคาตลาดโลกสูง หากจัดสรรโควตา ก. ไว้มากจะทำให้รายได้เข้าระบบ 70 ต่อ 30 ลดลง ก็จะกระทบชาวไร่และโรงงานน้ำตาล ดังนั้นเบื้องต้นต้องจัดการให้กลไกดูแลน้ำตาลทุกส่วนและควบคุมตลาดให้ได้" นายพงษ์เทพ กล่าว
นายพงษ์เทพ กล่าวด้วยว่า สอน.เห็นว่าหากมีการตรวจสอบเส้นทางน้ำตาล ตั้งแต่โรงงานจนถึงผู้บริโภค และป้องกันการลักลอบส่งออกอย่างเข้มงวด เชื่อว่าน้ำตาลโควตา ก. ที่จัดสรรปีนี้จะเพียงพอและไม่จำเป็นต้องเพิ่มโควตา โดยปีนี้มีน้ำตาลบริโภคในประเทศรวม 2.2 ล้านตัน แบ่งเป็นโควตา ก. 2.1 ล้านตัน และน้ำตาลค้างกระดานจากปีก่อน 0.1 ล้านตัน จึงเชื่อว่าเพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งรอบ 5 ปีที่ผ่านมาผู้บริโภคไทยไม่เคยบริโภคน้ำตาลเกิน 2.1 ล้านตัน แม้ปีที่เศรษฐกิจขยายตัวดีก็บริโภคเพียง 2.0 ล้านตัน
นอกจากนี้ ที่ประชุม กน.จะพิจารณาร่างประกาศเรื่องกำหนดมาตรการควบคุมการจำหน่ายน้ำตาลทรายให้แก่ผู้ประกอบการ โดยห้ามผู้ส่งออกอาหารขอลด ชะลอหรือยกเลิกใช้น้ำตาลโควตา ค. และห้ามขอใช้น้ำตาลต่ำกว่า 70% ของสิทธิที่ได้รับ รวมทั้งต้องใช้น้ำตาลมากกว่า 70% ช่วง 4 เดือนแรกของปีที่ได้รับสิทธิ และต้องขนย้ายน้ำตาลที่ได้รับแต่ละเดือน หากฝ่าฝืนจะถูกตัดสิทธิใช้น้ำตาลโควตา ค. เป็นเวลา 5 ปี
จาก http://www.komchadluek.net วันที่ 2 มีนาคม 2553
กน.เล็งเพิ่มน้ำตาลโควตาก.แก้ขาดแคลน
กน. เล็งเพิ่มน้ำตาลโควตา ก. แก้ปัญหาตลาดภายในประเทศขาดแคลน สอน. แนะสอบเส้นทางตั้งแต่โรงงานถึงมือผู้บริโภค ป้องกันลักลอบส่งออก
นายพงษ์เทพ จารุอำพรพรรณ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการน้ำตาลทราย (กน.) ที่มีนายวิจักร น้อยวิเศษ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เป็นประธาน วันที่ 10 มี.ค. นี้ จะพิจารณาจัดสรรน้ำตาลฤดูผลิตปี 2552/2553 ครั้งที่ 2 และจะประเมินสถานการณ์น้ำตาลในประเทศที่มีปัญหาตึงตัว ซึ่งคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ได้ออกมาตรการแก้ปัญหาเบื้องต้นไปแล้ว 4 มาตรการแต่หากมาตรการไม่ได้ผลก็อาจจะพิจารณาเพิ่มน้ำตาลโควตา ก. จากที่กำหนดไว้ที่ 2.1 ล้านตัน
"การปรับโควตาน้ำตาลเพิ่ม เป็นเรื่องปกติที่ต้องสอดคล้องกับสถานการณ์จริง โดยจะประเมินความต้องการใช้และปริมาณน้ำตาลที่ผลิตได้ ซึ่งภาครัฐมีหน้าที่จัดหาน้ำตาลให้เพียงพอกับการบริโภคในประเทศก่อนจัดโควตา ค.เพื่อส่งออก ซึ่งบางปีโควตา ก. มีมากเกินไปก็จะปรับลด แต่ถ้าบางปี โควตา ก.ไม่พอกับความต้องการก็จะเพิ่มขึ้น แต่การเพิ่มน้ำตาลโควตา ก.ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยช่วงที่ราคาตลาดโลกสูง หากจัดสรรโควตา ก.ไว้มากจะทำให้รายได้เข้าระบบ 70:30 ลดลง ก็จะกระทบชาวไร่และโรงงานน้ำตาล ดังนั้นเบื้องต้นต้องจัดการให้กลไกดูแลน้ำตาลทุกส่วนและควบคุมตลาดให้ได้"
ทั้งนี้ สอน.เห็นว่าหากมีการตรวจสอบเส้นทางน้ำตาล ตั้งแต่โรงงานถึงผู้บริโภค และป้องกันการลักลอบส่งออกอย่างเข้มงวด เชื่อว่าน้ำตาลโควตา ก.ที่จัดสรรปีนี้จะเพียงพอและไม่จำเป็นต้องเพิ่มโควตา โดยปีนี้มี น้ำตาลบริโภคในประเทศรวม 2.2 ล้านตัน แบ่งเป็นโควตา ก. 2.1 ล้านตัน และน้ำตาลค้างกระดานจากปีก่อน 0.1 ล้านตัน จึงเชื่อว่าเพียงพอกับความต้องการ ซึ่งรอบ 5 ปีที่ผ่านมาผู้บริโภคไทยไม่เคยบริโภคน้ำตาลเกิน 2.1 ล้านตัน แม้ปีที่เศรษฐกิจขยายตัวดีก็บริโภคเพียง 2.0 ล้านตัน
นอกจากนี้ ที่ประชุม กน.จะพิจารณาร่างประกาศเรื่องกำหนดมาตรการควบคุมการจำหน่ายน้ำตาลทรายให้แก่ผู้ประกอบการ โดยห้ามผู้ส่งออกอาหารขอลด ชะลอหรือยกเลิกใช้น้ำตาลโควตา ค. และห้ามขอใช้น้ำตาลต่ำกว่า 70% ของสิทธิที่ได้รับ รวมทั้งต้องใช้น้ำตาลมากกว่า 70% ช่วง 4 เดือนแรกของปีที่ได้รับสิทธิ และต้องขนย้ายน้ำตาลที่ได้รับแต่ละเดือน หากฝ่าฝืนจะถูกตัดสิทธิใช้น้ำตาลโควตา ค. เป็นเวลา 5
จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 2 มีนาคม 2553
เล็งเพิ่มโควตาแก้ปัญหาน้ำตาลขาด
คณะกรรมการน้ำตาลทราย เตรียมประชุม 10 มี.ค. หารือจัดสรรปริมาณน้ำตาล เพื่อแก้ปัญหาขาดตลาด แนะ เร่ง ใช้ 4 มาตรการ...
นายพงษ์เทพ จารุอำพรพรรณ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า ในวันที่ 10 มี.ค.นี้ คณะกรรมการน้ำตาลทราย (กน.) จะประชุมเพื่อพิจารณาการจัดสรรปริมาณน้ำตาลครั้งที่ 2 หลังจากเปิดหีบไปแล้วครึ่งฤดูกาล ทั้งนี้ หากยังไม่สามารถควบคุมการตึงตัวได้อาจต้องจัดสรรน้ำตาลโควตา ก (น้ำตาลเพื่อบริโภคในประเทศ) เพิ่มขึ้นจากเดิมที่กำหนดไว้ 21 ล้านกระสอบ รวมทั้งจะพิจารณา 4 มาตรการที่สำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กำหนดขึ้นเพื่อป้องกันน้ำตาลตึงตัวว่าได้ผลหรือไม่
"ขณะนี้มีน้ำตาลโควตา ก (บริโภคในประเทศ) อยู่ 21 ล้านกระสอบ รวมกับปริมาณที่ค้างมาจากปีก่อนอีกประมาณ 1 ล้านกระสอบ หากการบริโภคอยู่ในภาวะปกติน่าจะมีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการซึ่งการจัดสรรน้ำตาลโควตา ก สูงถึง 21 ล้านกระสอบ ในปีนี้ถือว่าอยู่ในระดับสูงที่สุดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เพราะโดยปกติแล้ว หากเศรษฐกิจดีการบริโภคน้ำตาลจะอยู่ที่ประมาณ 20 ล้านกระสอบเท่านั้น"
อย่างไรก็ตาม หากเพิ่มน้ำตาลโควตา ก เป็นจำนวนมากจะไม่ส่งผลดีต่อเงินในระบบแบ่งปันผลประโยชน์ 70/30 รวมทั้งจะยิ่งทำให้มีน้ำตาลรั่วไหลออกไปได้มากขึ้น แต่ สอน.จะปล่อยให้น้ำตาลขาดจากตลาดไม่ได้ ดังนั้น ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องจึงต้องเร่งใช้ 4 มาตรการ ประกอบด้วย 1. สอน.และกรมการค้าภายในกำกับดูแลการขึ้นงวดน้ำตาลให้เป็นไปตามกำหนดและป้องกันไม่ให้กักตุน 2.ขอความร่วมมือกรมศุลกากรสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพิ่มความเข้มงวดตรวจจับเพื่อป้องกันการลักลอบส่งออกน้ำตาล 3. ให้ สอน.กำกับดูแลผู้ส่งออกอาหารที่ขอใช้น้ำตาลโควตา ค ตามสิทธิที่ได้รับ โดยถ้าไม่ใช้สิทธิที่ได้รับจะถูกลงโทษห้ามใช้น้ำตาลโควตา ค 5 ปี 4. ขอความร่วมมือโรงงานน้ำตาล 46 แห่ง ระมัดระวังการจำหน่าย น้ำตาลทรายโควตา ก ให้ผู้ซื้อ ผู้ค้าส่ง (ยี่ปั๊ว) และผู้ส่งออกอาหารที่ได้รับสิทธิโควตา ค เพื่อลดโอกาสการซื้อน้ำตาลไปสำรอง กักตุนหรือลักลอบส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้าน.
จาก http://www.thairath.co.th วันที่ 2 มีนาคม 2553
ไทยเล็งถกยกเลิกมาตรการ NTB หลังสูญเสียโอกาสส่งออกน้ำตาล
ภายหลังการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งที่ 16 อย่างไม่เป็นทางการ ที่ประเทศมาเลเซีย นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การเข้าสู่กระบวนการรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี ซึ่งทำให้สมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ สามารถเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน และแรงงานอย่างเสรี ภายในปี 2558 นั้น พบว่าหลายประเทศได้สร้างเงื่อนไข และวางหลักเกณฑ์ในลักษณะกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช้ภาษี หรือ เอ็นทีบี เช่น วิสาหกิจของมาเลเซีย ซึ่งเป็นตัวแทนรัฐบาลนำเข้าน้ำตาล 4 แห่ง ออกหลักเกณฑ์ด้านถิ่นกำเนิดสินค้า เพื่อจงใจกัดกันไทยไม่ให้เข้าร่วมประมูล ทำให้ไทยต้องสูญเสียโอกาสส่งออกน้ำตาลเพิ่มขึ้น จากปกติมาเลเซียจะนำเข้าน้ำตาลจากไทยปีละ 1-2 แสนตัน จึงได้ขอความร่วมมือและเจรจาเพื่อให้ยกเลิกมาตรการดังกล่าว
สำหรับความคืบหน้าการเจรจาเปิดเสรีภาคบริการ และการลงทุนในอาเซียนนั้น อินโดนีเซียได้ขอเพิ่มบัญชีสงวนภาคการลงทุนด้านการเกษตร ซึ่งต้องนำข้อมูลผลกระทบมาประเมินเพิ่มเติม รวมถึงเจรจาร่วมกัน เพื่อไม่ให้กระทบกับการทำเออีซี
ขณะที่ภาคการบริการอาเซียน ซึ่งยังล่าช้าจากการลงสัตยาบันของเวียดนาม และฟิลิปปินส์ เพราะยังไม่ส่งบัญชีรายการธุรกิจบริการ ที่สามารถเปิดเสรีได้ อย่างไรก็ตาม การเจรจาครั้งนี้ เริ่มสัญญาณที่ดีขึ้น และคาดว่าจะบรรลุเจรจาเปิดเสรีภาคบริการ ได้ก่อนกลางปีนี้อย่างแน่นอน
จาก http://www.manager.co.th วันที่ 1 มีนาคม 2553
โรงงานอาหารซวยซ้ำโควตาค.ขาด วิ่งวุ่นหาซื้อน้ำตาลหนีถูกตัดสิทธิ5ปี
โรงงานผู้ผลิตอาหารเครื่องดื่มซวย น้ำตาลโควตา ค.ขาด หลังถูก กอน.บีบให้หันกลับไปใช้สิทธิแลกกับการไม่ถูกตัดสิทธิใช้โควตา ค.ในอีก 5 ปีข้างหน้า กอน. บอกปัดช่วยประสานโรงงานน้ำตาลให้ได้ แต่ไม่เกี่ยวในเรื่องราคาต้องตกลงกันเอง ด้านโรงงานน้ำตาลยืนกระต่ายขาเดียว ขายโควตา ค.ล่วงหน้าไปหมดแล้ว หากต้องการต้องซื้อคืนในราคาที่สูงกว่า
สถานการณ์ขาดแคลนน้ำตาลทรายโควตา ก.ที่จำหน่ายภายในประเทศเริ่มรุนแรงขึ้น หลังจากที่น้ำตาลได้หายไปจากชั้นจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้าและร้านค้าทั่วไป ในขณะที่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ยังคงออกมายืนยันว่า น้ำตาลทรายไม่ได้หายไปจากตลาด ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพียงสภาวะน้ำตาลตึงตัว เนื่องจากถูกโรงงานอาหารและเครื่องดื่มที่ได้สิทธิให้ใช้น้ำตาลโควตา ค. (น้ำตาลส่งออก) หันมาแย่งซื้อน้ำตาลโควตา ก.ภายในประเทศเพราะราคา ถูกกว่า
นายอิทธิพล ปฏิมาวิรุจน์ รองกรรมการ ผู้จัดการ บริษัท เดลี่ฟู้ดส์ จำกัด ผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารกระป๋องแปรรูป กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ภายหลังการประชุมหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เกี่ยวกับการปรับปรุงร่างประกาศคณะกรรมการน้ำตาลทราย เรื่อง มาตรการควบคุมการจำหน่ายน้ำตาลทรายส่งออก (โควตา ค.) ให้แก่ผู้ประกอบการกิจการผลิตสินค้าส่งออก ซึ่งเป็น 1 ในมาตรการแก้ปัญหาน้ำตาลในขณะนี้ว่า ที่ประชุมได้มีการชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับเงื่อนไข การปฏิบัติ และบทลงโทษของระเบียบ
ปรากฏผู้ประกอบการอาหารที่สามารถใช้สิทธิซื้อน้ำตาลโควตา ค.ส่วนใหญ่ "ต้องยอมรับและปฏิบัติตาม" เนื่องจากเกรงจะถูกตัดสิทธิซื้อน้ำตาลโควตา ค.เป็นระยะเวลา 5 ปี เนื่องจากการประเมินสถิติของราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกในรอบ 10 ปีพบว่า ส่วนใหญ่ราคาน้ำตาลส่งออก (โควตา ค.) จะถูกกว่าราคาน้ำตาลทรายภายในประเทศ (โควตา ก.) ดังนั้น การถูกตัดสิทธิ 5 ปีสำหรับโรงงานที่ยืนยันจะซื้อน้ำตาลโควตา ก.จึงเป็นเรื่องไม่คุ้มค่ากับความสุ่มเสี่ยง เพราะในอนาคตหากน้ำตาลโควตา ค.ถูกกว่าโควตา ก. ผู้ประกอบการเหล่านี้ก็จะไม่มีสิทธิมาขอซื้อได้
อย่างไรก็ตาม แม้ผู้ประกอบการจะกลับมาใช้สิทธิซื้อน้ำตาลโควตา ค. แต่กลับถูก "ปฏิเสธ" การขายจากโรงงานน้ำตาล โดยอ้างว่าโรงงานน้ำตาลได้ทำสัญญาซื้อขายน้ำตาลโควตา ค.ส่งออกล่วงหน้าไปหมดแล้ว จึงเกิดปัญหากับผู้ประกอบการไม่สามารถหาซื้อน้ำตาลโควตา ค.ได้ ซึ่งในส่วนนี้ต้องขอให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เป็นตัวกลางประสานไปยังโรงงานน้ำตาลให้จัดหาน้ำตาลโควตา ค.ให้กับผู้ประกอบการอาหารและเครื่องดื่ม
ด้านนายเฉลิม รูปเล็ก เลขาธิการสมาคมอุตสาหกรรมสับปะรดไทย กล่าวว่า การตัดสิทธิโรงงานอาหารที่ไม่ยอมใช้น้ำตาลโควตา ค.ถึง 5 ปีนั้น ควรเปิดโอกาสให้มีการอุทธรณ์ หรือพิจารณาเป็นรายกรณีไป เพื่อความเป็นธรรมสำหรับผู้ที่มีความจำเป็นที่ไม่สามารถใช้น้ำตาลโควตา ค.ได้ตามเงื่อนไขจริง ๆ โดยร่างประกาศดังกล่าว ได้ออกโดยอาศัยอำนาจของระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายว่าด้วยการจำหน่ายน้ำตาลทรายโควตา ค.ให้แก่ ผู้ประกอบการ ที่ได้มีการปรับปรุงและลงนามโดยนายนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธาน กอน.ไปเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ซึ่งระเบียบดังกล่าวนั้น ในแง่ดีได้สร้างความชัดเจนการซื้อน้ำตาลโควตา ค.สำหรับผู้ผลิตส่งออกมากขึ้น จากเดิมที่ผู้ผลิตที่ไม่ได้ส่งออกเอง แต่ส่งออกผ่านตัวแทนจำหน่าย จะไม่มีสิทธิซื้อน้ำตาลโควตา ค. แต่ระเบียบที่ออกมาใหม่นี้ ผู้ผลิตส่งออกสามารถซื้อน้ำตาลโควตา ค.ได้ แม้จะไม่ได้ส่งออกเองก็ตาม
นายพงษ์เทพ จารุอำพรพรรณ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวถึงประเด็นที่โรงงานอาหารและเครื่องดื่มไม่สามารถหาซื้อน้ำตาลโควตา ค.ได้ ซึ่งจากการประเมินจากตัวเลขการขอใช้สิทธิโควตา ค.เฉลี่ยรวมปีละ 3.6 แสนตัน ปรากฏมีการทำสัญญาไปแล้ว 2.4 แสนตัน ยังเหลืออยู่ 1.2 แสนตันที่ยังไม่ทำสัญญาซื้อขาย ในส่วนนี้ทาง สอน.ก็จะรับไปประสานกับโรงงานน้ำตาลให้ แต่สำหรับ "ราคา" ขึ้นอยู่กับการตกลงกันระหว่างผู้ประกอบการและโรงงานน้ำตาล ทาง สอน.ไม่มีอำนาจจะไปกำหนดราคาให้ได้
ขณะที่นายวิบูลย์ ผาณิตวงค์ ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด กล่าวว่า กรณีของการซื้อน้ำตาลโควตา ค. วิธีการก็คือ ผู้ประกอบการ รายใดที่เคยซื้อน้ำตาลโควตา ค.กับโรงงานไหนก็ให้กลับไปซื้อโรงงานนั้น เป็นลูกค้าประจำ โรงงานคงไม่กล้าจะปฏิเสธการจำหน่ายอย่างแน่นอน แต่ถ้าเป็นลูกค้าขาจรอาจจะถูกปฏิเสธได้
อย่างไรก็ตาม น้ำตาลโควตา ค.ที่โรงงานขายล่วงหน้าไปนั้น ยังไม่ส่งมอบหมด ยังเหลือน้ำตาลอยู่ ดังนั้นถ้าหากผู้ผลิตต้องการซื้อน้ำตาลโควตา ค. ทางโรงงานน้ำตาลก็คงต้องซื้อกลับคืนมาขายให้กับผู้ผลิตได้ แต่ต้องมาตกลงราคากับผู้ผลิตอีกครั้งหนึ่ง "ถ้าตกลงได้ก็ไม่น่าจะมีปัญหา" นายวิบูลย์กล่าว
จาก http://www.prachachat.net วันที่ 1 มีนาคม 2553
โรงงานผลิตอาหาร-เครื่องดื่มเพื่อการส่งออกโอด แบกต้นทุนน้ำตาลไม่ไหว "เอฟแอนด์เอ็น ยูไนเต็ด" ผู้ผลิตไอศกรีมจากสิงคโปร์ ยอมรับส่วนต่างราคาโควตา ค.กับโควตา ก. ต่างกัน 7-8 บาท เผยต้องทำใจหากถูกเว้นวรรคใช้น้ำตาลส่งออก 5 ปี โรงงานโต้กลับสอน. 2 มาตรฐาน แนะไปไล่บี้ผู้ใช้น้ำตาลรายใหญ่ ชี้เป็นตัวการทำระบบโควตาพัง ด้านสอน.จับตาอีก19 รายทำสัญญาไม่ครบ
แหล่งข่าวจากบริษัท เอฟแอนด์เอ็น ยูไนเต็ด จำกัด ผู้ผลิตไอศกรีม "F&N"บริษัทในเครือของกลุ่ม เฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งครอบครองตลาดไอศกรีมเป็นอันดับ 4 ในประเทศไทย กล่าวกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ขณะนี้ต้นทุนในการผลิตไอศกรีมสูงขึ้นมาก เพราะน้ำตาลเป็นวัตถุดิบหลักในกระบวนการผลิต และยอมรับว่าการที่ราคาน้ำตาลโควตา ก. (บริโภคในประเทศ)ต่ำกว่าราคาน้ำตาลโควตา ค.(น้ำตาลส่งออก) อยู่ 7-8 บาท ดังนั้นถ้าโรงงานยังใช้น้ำตาลโควตา ค. อยู่ต่อไปในช่วงนี้ ก็จะได้รับผลกระทบเป็นมูลค่าเงิน 70-80 ล้านบาท จากปัญหาดังกล่าวทำให้บริษัทอยู่ระหว่างดำเนินการทำสัญญาขอใช้สิทธิ์โควตา ค.ลดลงจากประมาณ 300-400 ตัน/ปี เหลือเพียงประมาณ100ตัน/ปีในปีนี้ ทั้งนี้ผู้ใช้น้ำตาลโควตา ค.มีสิทธิ์ยื่นแผนการใช้น้ำตาลโควตา ค. ได้ 2 ครั้ง คือ เดือนมกราคมและเดือนตุลาคมของแต่ละปีโดยทุกบริษัทที่ใช้น้ำตาลโควตา ค. จะต้องมีการยื่นแผนการใช้น้ำตาลในภาคการผลิตมายังศูนย์การบริหารการผลิตน้ำตาล สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.)
"ถ้าบริษัทไม่ยื่นแผนใช้น้ำตาลในเดือนตุลาคมอีกครั้ง ก็เท่ากับว่าปี2554 บริษัทจะใช้น้ำตาลตามสิทธิ์โควตา ค.ไม่เกิน100 ตัน ถึงเวลานั้นก็ต้องมาลุ้นว่าราคาน้ำตาลโควตา ค. และโควตา ก.จะเป็นอย่างไร ซึ่งเวลานี้บริษัทยังอยู่ในช่วงการใช้สต๊อกเดิมซึ่งเป็นสินค้าอยู่ จึงยังไม่ชัดเจนว่าทั้งปีจะใช้น้ำตาลโควตา ค. เท่าไหร่" อย่างไรก็ตามโควตา ค. ตามสิทธิ์ที่ขอไป 100 ตันนั้นจะใช้ได้ถึงสิ้นปี2553 และถ้าถึงสิ้นปีนี้ยังใช้โควตา ค. ไม่ถึง 70%ของน้ำตาล 100 ตัน ก็จะถูกตัดสิทธิ์การใช้โควตา ค. เป็นเวลา 5 ปี ซึ่งก็ต้องทำใจยอมรับสภาพไป ด้านแหล่งข่าวจากโรงงานผลิตเครื่องดื่มรายหนึ่ง ตั้งข้อสังเกตว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) มี 2มาตรฐาน เพราะรายชื่อ 24 บริษัทที่ไม่ได้ทำสัญญาซื้อน้ำตาลทรายโควตา ค.ในขณะนี้ที่อยู่ในข่ายต้องจับตามองนั้นจริงๆแล้วส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการรายเล็กเป็นส่วนมาก ทั้งที่จริงแล้วสอน.ควรจะดูว่าปีที่ผ่านมา ผู้ใช้น้ำตาลโควตา ค.รายใหญ่10 รายแรกที่ยื่นขอโควตา 2,000-3,000 ตันนั้น ปีนี้ได้มาขอใช้สิทธิ์หรือไม่หรือขอใช้สิทธิ์ลดลงหรือไม่ เพราะอะไร และทำไมถึงลดลงทั้งที่อุตสาหกรรมเครื่องดื่มดีขึ้น หากขอโควตาไว้แล้วสอน.ได้ติดตามหรือไม่ว่ามีการขนย้ายน้ำตาลเกิดขึ้นหรือไม่ เพราะกลุ่มผู้ใช้น้ำตาลโควตา ค.รายใหญ่ น่าจะเป็นตัวการที่ทำให้ระบบโควตาพังมากกว่าผู้ประกอบการรายเล็กๆ ที่ใช้น้ำตาลจำนวนไม่มาก
ขณะที่แหล่งข่าวจากสอน. ชี้แจงว่าไม่ได้ปฏิบัติ 2 มาตรฐาน แต่รายชื่อ 24 รายนั้นเป็นรายที่ไม่ได้ทำสัญญาซื้อน้ำตาลทรายโควตา ค.จึงต้องติดตามว่าทำไมถึงไม่ทำสัญญาซื้อโควตา ค.ส่วนอีก 19 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่นั้น จะเป็นรายที่ทำสัญญาไม่ครบตามโควตาที่ได้รับก็ถูกจับตาด้วยเหมือนกัน เช่น บริษัท ทิปโก้ฟูดส์ (ประเทศไทย)จำกัด บริษัท อุตสาหกรรมผลไม้ปราณบุรี (2005) จำกัด บริษัท กุยบุรีผลไม้กระป๋อง จำกัด บริษัท ชินวงศ์ฟู้ด จำกัด บริษัท ยูนิตี้ฟูด จำกัด บริษัท โดลไทยแลนด์ จำกัด เป็นต้น "กลุ่มหลังนี้จะเป็นในลักษณะเช่นได้ใช้สิทธิ์โควตา ค. 10,000 กระสอบ ซึ่งก็ควรจะมาทำสัญญาซื้อ-ขายจากโรงงานน้ำตาล 10,000 กระสอบ แต่มาทำสัญญาไม่ครบตามโควตาที่ได้รับ ซึ่งระหว่างนี้ทางศูนย์บริหารการผลิตน้ำตาล ของสอน. ก็ยังออกตรวจสอบอยู่"
อย่างไรก็ตามภายในสัปดาห์หน้าคณะกรรมการน้ำตาลทราย(กน.) จะเป็นผู้ออกประกาศบังคับใช้ระเบียบใหม่ในการตัดสิทธิ์ห้ามใช้น้ำตาลโควตา ค. เป็นระยะเวลาถึง 5 ปีจากที่ปัจจุบันตัดสิทธิ์เพียง 1 ปี
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการบริษัท มหาบูรพาผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ผู้ผลิตผักและผลไม้กระป๋องส่งออก กล่าวว่า ปัจจุบันทางโรงงานสั่งซื้อน้ำตาลโควตา ก. มาใช้ในการผลิตทั้งหมดจากเขตกรุงเทพมหานคร และเขตภาคเหนือผ่านยี่ปั๊ว ซึ่งเป็นการสั่งซื้อล่วงหน้า 6 เดือน ราคาเฉลี่ยในการสั่งซื้อน้ำตาลล็อตที่ผ่านมายังอยู่ที่ 21 บาทเศษ ไม่ได้รับผลกระทบจากการที่ผู้ค้าปลีกน้ำตาลทรายขยับขึ้นราคาน้ำตาลเกินเพดาน แต่ยังมีแนวโน้มว่าราคาน้ำตาลจะขยับสูงขึ้นอีก
จาก http://www.thannews.th.com วันที่ 1 มีนาคม 2553
พาณิชย์แนะส่ง"น้ำตาล"ขายจีน พบส่อแววขาดแคลนกว่า2ล้านตัน แถมราคาในประเทศขยับต่อเนื่อง
ทูตพาณิชย์เผยปีนี้จีนคาดขาดแคลนน้ำตาลใช้ในประเทศกว่า 2 ล้านตัน หลังประเทศผู้ผลิตสำคัญเจอสภาพอากาศแปรปรวน แนะผู้ส่งออกส่งน้ำตาลขายจีนเพิ่ม
น.ส.วิลารัตน์ โอสถาวรนันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ(ทูตพาณิชย์) ณ เมืองกวางโจว ประเทศจีน กล่าวว่า ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2552 เป็นต้นมา เนื่องจากราคาน้ำตาลตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ปริมาณการนำเข้าน้ำตาลของจีนมีแนวโน้มลดลง รวมทั้งคิวบาและอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำตาลรายสำคัญประสบปัญหาสภาพอากาศแปรปรวน ทำให้ผลผลิตลดลงไปมาก จึงคาดว่าในปีนี้ปริมาณการขาดแคลนน้ำตาลของโลกจะสูงถึง 8 ล้านตัน
สำหรับจีนแล้ว ช่วงเดือนธันวาคม 2552 รัฐบาลจีนได้ประมูลขายน้ำตาล 500,000 ตัน ในราคาเฉลี่ยตันละ 5,000 หยวน แต่ในโกดังของรัฐบาลจีนยังมีน้ำตาลเก็บไว้ประมาณ 2.1 ล้านตัน ขณะที่ในด้านผลผลิตนั้น เนื่องจากจีนประสบปัญหาภัยธรรมชาติ ทำให้ผลผลิตอ้อยลดน้อยลง จึงคาดว่าในปีนี้จีนจะขาดแคลนน้ำตาลมากกว่า 2 ล้านตัน ซึ่งเห็นได้จากราคาน้ำตาลในช่วงเดือนมกราคม ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นเป็นตันละ 5,200 หยวน
"เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2552 กระทรวงพาณิชย์จีนได้ประกาศโควต้าการนำเข้าน้ำตาลสำหรับปี 2553 ที่จำนวน 1.945 ล้านตัน ในจำนวนนี้กำหนดแบ่งโควต้าให้รัฐวิสาหกิจ 70% หรือประมาณ 1.36 ล้านตัน ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสดีของประเทศไทยในการส่งออกน้ำตาลมายังประเทศจีนได้เพิ่ม แต่อาจมีเรื่องภาษีการนำเข้า เนื่องจากน้ำตาลเป็นสินค้าอ่อนไหวของจีน" น.ส.วิลารัตน์ กล่าว
ทั้งนี้ ปัจจุบันภาษีนำเข้าของจีนภายใต้โควต้ายังเป็น 15% และภายนอกโควต้าคิดภาษี 50% นอกจากนี้ยังต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 17% โดยในปี 2552 ประเทศจีนนำเข้าน้ำตาลมากที่สุดจากคิวบา โดยมีปริมาณการนำเข้าทั้งสิ้น 438,000 ตัน ขยายตัว 7.4% คิดเป็นสัดส่วน 41.2% ของปริมาณการนำเข้าน้ำตาลทั้งหมดของจีน ส่วนประเทศที่จีนสั่งนำเข้าน้ำตาลรองลงมา คือ บราซิล มีปริมาณนำเข้าทั้งสิ้น 236,000 ตัน ขยายตัวเพิ่มขึ้น 812 เท่า คิดเป็นสัดส่วน 22.2% ของปริมาณการนำเข้าทั้งหมดของจีน
นอกจากนี้ ยังมีการนำเข้าจากประเทศในกลุ่มอาเซียนรวมทั้งสิ้น 148,000 ตัน เพิ่มขึ้น 1.1 เท่า และนำเข้าจากเกาหลีใต้รวมทั้งสิ้น 124,000 ตัน ลดลง 5.1% สำหรับตลาดน้ำตาลสำคัญภายในจีน ได้แก่ กรุงปักกิ่ง มณฑลซานตง และมณฑลกวางตุ้ง โดยราคาการนำเข้าน้ำตาลโดยเฉลี่ยอยู่ที่ตันละ 355.5 เหรียญสหรัฐ
จาก http://www.naewna.com วันที่ 1 มีนาคม 2553