http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล(เดือนมีนาคม 2556)

ภาคอุตฯผวาบาทแข็งสูญ2.3แสนล.ก.พ.ส่งออกหด5.83%-พาณิชย์ดิ้นถกเอกชนรับมือ

นางวัชรี วิมุกตายน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การส่งออกของไทยเดือนก.พ.2556 มีมูลค่า 17,928 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 5.83% คิดเป็น 529,529 ล้านบาท ลดลง 12.17% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากการส่งออกหมวดสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมลดลงถึง 13.5% เช่น ข้าว ยางพารา ส่วนการส่งออกหมวดอุตสาหกรรมสำคัญลดลง 2.6% เช่น สิ่งทอ อัญมณี เป็นต้น โดยการส่งออกลดลงในเกือบทุกตลาด

"ยอมรับว่าปัญหาเงินบาทแข็งค่าเริ่มกระทบการส่งออกแล้วแต่ยังไม่มาก เพราะเป็นการสั่งซื้อล่วงหน้า ซึ่ง นายกรัฐมนตรีกำชับให้กระทรวงพาณิชย์จัดทำกรอบและแผนการส่งออกเชิงรุก โดยเฉพาะการหาตลาดใหม่และตลาดที่มีศักยภาพ เร่งผลักดันตลาดหลักขยายฐานการ ส่งออกทุกตลาด ซึ่งในวันที่ 9 เม.ย.นี้ กระทรวงพาณิชย์จะประชุมกับภาคเอกชน เพื่อทบทวนและเร่งหามาตรการผลักดันการส่งออกให้ได้ตามเป้าหมายปีนี้โต 8-9% และยังไม่ปรับประมาณการตัวเลขส่งออกทั้งปีใหม่ แต่หาก สถานการณ์โลกยังผันผวนจะทบทวนตัวเลขอีกครั้งในช่วงครึ่งปีแรก แต่ยังเชื่อว่า ภาพรวมการส่งออกในเดือนมี.ค. น่าจะกลับมาเป็นบวกได้" นางวัชรีกล่าว

ขณะที่การนำเข้าเดือนก.พ.2556 มีมูลค่า 19,485.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 5.27% เป็นการนำเข้าเพิ่มขึ้นในหมวดสินค้า วัตถุดิบกึ่งสำเร็จรูป เพิ่มขึ้น 23.4% เป็นประเภทเครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่ง และทองคำ เพิ่มขึ้นถึง 227.6% เพื่อมาใช้ในการผลิตเพื่อส่งออก ส่วนการนำเข้า 2 เดือนแรกของปี 2556 มีมูลค่า 43,240.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 22.24% ทำให้เดือนก.พ.2556 ไทยขาดดุลการค้า 1,557.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 2 เดือนแรกของปี 2556 ยังขาดดุลมูลค่า 7,044 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ด้านนายหทัย อู่ไทย รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนก.พ.2556 ลดลงจากเดือนเดียวกับปีก่อน 1.2% ต่ำสุดในรอบ 10 เดือน จากเดือนพ.ค.2555 เป็นผลจากการปรับตัวลดลงของกลุ่มอุตสาหกรรมส่งออกที่มีสัดส่วน 60% ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้โต 4.3% ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ 95.5 ลดลงจาก 97.3 ในเดือนม.ค. ซึ่งยังต่ำกว่า 100 แสดงถึงความเชื่อมั่นผู้ประกอบการยังไม่ดี

"ยอมรับว่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นผู้ประกอบการอย่างมาก โดยเงินบาทเทียบกับต้นปีแข็งค่าขึ้น 3.78% หากใช้สมมติฐานเงินบาทแข็งค่าขึ้นเฉลี่ยทั้งปี 29.80 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จะส่งผลต่อมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมทั้งปีลดลง 232,489 ล้านบาท โดยช่วง 2 เดือนแรกปีนี้ลดลงแล้ว 35,733 ล้านบาท และจะส่งผลต่อผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ภาคอุตสาหกรรมลดลง 2.72% คิดเป็น 106,945 ล้านบาท" นายหทัยกล่าว

จาก http://www.khaosod.co.thวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2556

เงินชดเชยค่าอ้อย แรงกดดันที่รอวันปะทุ

ความเคลื่อนไหวของเครือข่ายตัวแทนชาวไร่อ้อย 28 สมาคม ที่เข้าพบ ประภัตร โพธสุธน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่บ้านพัก จ.สุพรรณบุรี ในวันเสาร์ที่ 23 มีนาคม ที่ผ่านมา อาจกล่าวได้ว่า นี่คือการส่งสัญญาณแห่งความเคลื่อนไหวที่กำลังจะเกิดขึ้น อันมีที่มาจากความต้องการที่จะให้รัฐบาลเข้ามาดูแลเรื่องการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร ทั้งนี้ตัวแทนสมาคมชาวไร่อ้อยจากทั่วประเทศได้สะท้อนปัญหาผ่านอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ โดยเห็นว่า เงินชดเชยที่รัฐจะให้แก่เกษตรกรด้วยการบวกเพิ่ม 161 บาทต่อตันอ้อย เมื่อรวมเข้ากับราคาอ้อยขั้นต่ำที่ 950 บาทต่อตันอ้อย รวมเป็นรายได้สุทธิที่ 1,111 บาทต่อตันอ้อย เป็นเกณฑ์ของราคาที่ไม่คุ้มทุน โดยราคาที่เหมาะสมคือ 1,200 บาทต่อตันอ้อย

ข้อเสนอของเครือข่ายชาวไร่อ้อยคือ การแสดงท่าทีนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ที่ต้องการให้กระทรวงอุตสาหกรรมเพิ่มเงินค่าอ้อยฤดูกาลผลิต 2555/2556 ที่ตันอ้อยละ 250 บาท เพื่อให้เกษตรกรมีความมั่นคงในแง่ของรายได้จากการปลูกอ้อย โดยต้นทุนการผลิตอ้อยในฤดูกาลนี้เกษตรกรประเมินว่า อยู่ที่ตันอ้อยละ 1,196 บาท ซึ่งสวนทางกับคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ที่มี วิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน ที่ประเมินว่า อยู่ที่ตันอ้อยละ 950 บาท และเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีในเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา

โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นฤดูกาลผลิตปี 2555/2556 ที่ราคา 950 บาทต่อตันอ้อย ที่ระดับความหวานที่ 10 ซีซีเอส หรือประมาณ 90.96% ของประมาณการราคาอ้อยเฉลี่ยทั่วประเทศ 1,044.45 บาทต่อตันอ้อย และกำหนดอัตราขึ้นและลงของราคาอ้อยเท่ากับ 57 บาทต่อ 1 หน่วยซีซีเอส และกำหนดผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูกาลผลิต 2555/2556 ที่ 407.15 บาทต่อตันอ้อย ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ

ทั้งนี้ ต้นทุนการปลูกอ้อยของเกษตรกรสูงขึ้น มีที่มาจากการปรับขึ้นราคาของปัจจัยการผลิต และการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาททั่วประเทศ ซึ่งชาวไร่อ้อยจำเป็นต้องจ้างแรงงานตัดอ้อยในอัตราที่สูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ เพราะมีปัญหาขาดแคลนแรงงาน ทำให้ชาวไร่อ้อยจำต้องมีเงินทุนหมุนเวียนมาเป็นค่าใช้จ่ายในการไถดิน ซื้อพันธุ์อ้อย บำรุงอ้อยและเตรียมระบบน้ำเข้าไร่อ้อย ขณะเดียวกันข้อมูลของฝั่งเกษตรกรยังประเมินว่า ผลผลิตอ้อยในฤดูกาลนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ 90 ล้านตัน ลดลงจากฤดูกาลที่ผ่านมา ซึ่งเคยผลิตได้ถึง 97 ล้านตัน

อุปสรรคที่มีผลให้ภาคการผลิตถดถอยก็คือ ภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้นทำให้อ้อยโตไม่เต็มที่ ความสูงและเส้นรอบวงน้อยกว่าอ้อยที่ปลูกได้ในฤดูกาลที่ผ่านมา รวมทั้งค่าความหวานของอ้อยลดลงเฉลี่ยอยู่ที่ 11 ซีซีเอส จากฤดูกาลที่แล้วที่มีค่าความหวานเฉลี่ย 12 ซีซีเอส จึงทำให้อ้อย 1 ตันอ้อยผลิตน้ำตาลได้ 100-101 กิโลกรัม ต่างจากฤดูกาลที่แล้วที่ผลิตได้ 107 กิโลกรัม อย่างไรก็ตาม ท่าทีล่าสุดของ ประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม น่าจะบ่งชี้ทิศทางได้เป็นอย่างดี

เพราะนั่นคือการยืนกราน ที่จะไม่ให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายทำการขอกู้เงินธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำหรับนำมาจ่ายเงินช่วยเหลืออีกตันอ้อยละ 90 บาท เพื่อให้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยได้เงินเพิ่มและยกระดับเงินช่วยเหลือเป็นตันละ 250 บาท ตามข้อเรียกร้อง เนื่องจากที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้กองทุนกู้เงินจาก ธ.ก.ส.เพื่อจ่ายเงินเพิ่มค่าอ้อยฤดูกาลผลิต 2555/2556 ไปแล้วที่ตันอ้อยละ 160 บาท ดังนั้น เมื่อรวมกับเงินค่าอ้อยขั้นต้นที่คณะรัฐมนตรีผ่านความเห็นชอบไปแล้วตันอ้อยละ 950 บาท ก็สะท้อนได้ว่า เป็นอ้อยที่คุ้มต้นทุนการผลิต

น่าสนใจว่า ท่าทีของกระทรวงอุตสาหกรรม ยังรวมไปถึงการเห็นว่าควรทบทวนรายได้ที่นำมาคำนวณในระบบแบ่งปันผลประโยชน์ เพื่อให้ค่าอ้อยสอดคล้องกับต้นทุนการผลิตมากที่สุด กล่าวคืออาจจะมีการปรับการคำนวณรายได้ที่นำเข้าระบบจากกากน้ำตาล รวมทั้งพิจารณารายได้จากการนำอ้อยไปผลิตเป็นเอทานอล โดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) จะทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

สอดคล้องกับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่มีความเห็นถึงกระทรวงอุตสาหกรรมว่า ควรกำหนดราคาให้คุ้มต้นทุนผลิตที่แท้จริงของชาวไร่อ้อย พร้อมให้คุ้มต้นทุนกับการผลิตที่แท้จริงสำหรับฤดูกาลผลิตปีต่อไปด้วย เพื่อที่กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายจะไม่ต้องมีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้นจากการกู้เงิน ธ.ก.ส.มาจ่ายเงินส่วนเพิ่มราคาอ้อยให้ชาวไร่อ้อย เนื่องจากสถานะการเงินของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย พบว่ายังเป็นลูกหนี้ ธ.ก.ส.จำนวน 3,045.15 ล้านบาท

นอกจากนี้กระทรวงอุตสาหกรรมควรต้องเร่งพัฒนาพันธุ์อ้อยใหม่ที่ให้ผลผลิตต่อไร่ และความหวานที่เพิ่มขึ้น มีความต้านทานโรค และพัฒนาระบบจัดการน้ำในไร่อ้อย พัฒนาระบบโลจิสติกส์ ในการเก็บเกี่ยว และขนส่งอ้อยให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น รวมทั้งต้องจัดทำแผนการชำระหนี้ โดยกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนในการชำระหนี้คืนแก่ ธ.ก.ส. และยกเลิกเก็บเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ที่มาจากการปรับเพิ่มราคาขายน้ำตาลทรายในอัตรากิโลกรัมละ 5 บาท

"เราเห็นว่าการประกาศราคาอ้อยขั้นต่ำที่ตันละ 950 บาท ไม่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 ที่กำหนดให้คำนึงต้นทุนการผลิตอ้อยด้วย ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการขอเงินเพิ่มค่าอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2555/2556 ที่ผ่านมาฤดูกาลผลิตปี 2541/2542 ก็เคยมีการเพิ่มค่าอ้อยขั้นต้นที่ตันละ 79 บาท โดยให้ กอน.กู้เงินจาก ธ.ก.ส.เพื่อนำจ่ายแก่ชาวไร่อ้อย และในฤดูกาลผลิตที่ผ่านมาก็มีการช่วยเหลือเป็นเงินเพิ่มค่าอ้อยที่ตันอ้อยละ 154 บาท ขณะที่ราคาขั้นต้นคือตันอ้อยละ 1,000 บาท ส่วนต้นทุนการผลิตอยู่ที่ตันอ้อยละ 1,010 บาท ดังนั้นฤดูการผลิตปี 2555/2556 เกษตรกรจึงต้องการความช่วยเหลือเป็นเงินเพิ่มค่าอ้อยที่ตันละ 250 บาท" แหล่งข่าวจากสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย กล่าว และว่า ขณะนี้เครือข่ายผู้ปลูกอ้อยที่มีสมาชิกกว่า 20,000 คน ในภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีท่าทีไปในทางเดียวกัน ที่เห็นว่าควรจะแสดงออกอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้รัฐบาลรับรู้ถึงความเดือดร้อน

"ส่วนตัวผมแล้ว เรื่องนี้ก็มีน้ำหนักที่รับฟังได้ อยากใหรัฐบาลได้พิจารณาด้วย ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น และการให้ผลผลิตที่ลดลง นี่คือสภาพปัญหาของเกษตรกรที่ต้องเผชิญ" ประภัตร โพธสุธน ให้ความเห็น
นี่คือสภาพปัญหาที่กำลังรอจังหวะในการนำมาเป็นประเด็นเคลื่อนไหว

จาก http://www.komchadluek.net วันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2556

สร้าง'อุตสาหกรรมสีเขียว'อยู่คู่ชุมชน

กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม จับมือผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรายใหม่ สร้าง "อุตสาหกรรมสีเขียว" เพื่อชุมชนและการอยู่ร่วมกันอย่างพึ่งพาซึ่งกันและกัน ภายใต้โครงการ CSR-DIW

อาทิตย์ วุฒิคะโร รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) "โครงการพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรม ให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างมีส่วนร่วม (Flagship Project) ระหว่างผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรายใหม่ จำนวนกว่า 420 ราย และกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ณ ห้องประชุมคอนเวนชั่นโรงแรมรามาการ์เดนส์ กรุงเทพฯ

อาทิตย์ วุฒิคะโร รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้เปิดตัว "โครงการพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรมให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างมีส่วนร่วม (Flagship Project)" ภายใต้โครงการ CSR-DIW ไปเมื่อวันที่ 21 มกราคม โดยประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ จนมีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมให้ความสนใจและสมัครร่วมโครงการจำนวนมาก แบ่งกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมที่ร่วมดำเนินการครบทั้ง 7 หัวข้อหลัก ได้แก่ การกำกับดูแลองค์กร สิทธิมนุษยชน การปฏิบัติด้านแรงงานสิ่งแวดล้อม การปฏิบัติที่เป็นธรรม ผู้บริโภคการมีส่วนร่วมต่อสังคมและชุมชน

โดยมีการแบ่งกลุ่มทำงานออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่ม CSR-DIW เป็นกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมรายใหม่ที่มุ่งมั่นดำเนินการตามมาตรฐาน CSR-DIW 2.กลุ่ม CSR-DIW Continuous กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมที่ผ่าน CSR-DIW มาแล้วและมีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง และ 3 กลุ่ม CSR-DIW Network และกลุ่ม CSR-DIW Supply Chain เป็นกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการสร้างวัฒนธรรมด้านสิ่งแวดล้อมในองค์กรและมีการส่งเสริมสร้างและสานสัมพันธ์กิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาชุมชนร่วมกับหน่วยงานในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของตน ตามแนวทางการจัดทำแผนงานตามมาตรฐาน CSR-DIW

"โครงการ CSR-DIW เป็นโครงการสำคัญที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม และกระทรวงอุตสาหกรรม ต้องการให้โรงงานทุกขนาดจำนวน 140 ราย และโรงงานอุตสาหกรรมที่ผ่าน CSR-DIW และดำเนินการต่อเนื่องรวมทั้งส่งเสริมไปสู่กลุ่มอื่นๆ อีกจำนวน 280 ราย"

รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวด้วยว่า โครงการ CSR-DIW เป็นโครงการที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการให้โรงงานอุตสาหกรรมที่กระจายอยู่ทั่วประเทศสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนแบบเกื้อกูลกันและกัน ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและชุมชน ตลอดจนเป็นแนวทางให้ผู้ประกอบการได้พัฒนา ปรับเปลี่ยนแนวคิดเรื่องกิจกรรมเพื่อสังคม ซึ่งจากเดิมมุ่งเน้นเรื่องการบริจาคสิ่งของหรือเงินทองให้กลายเป็นการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น

"นอกจากนี้ ยังต้องการให้เป็นอุตสาหกรรมสีเขียว อุตสาหกรรมที่อยู่ได้อย่างยั่งยืนคู่กับชุมชนแบบพึ่งพากันอาศัยกัน เกื้อกูลกัน และสิ่งเดียวที่จะทำให้สองกลุ่มนี้อยู่ด้วยกันได้อย่างยั่งยืน คือ ความร่วมมือกันที่จะทำให้อุตสาหกรรมเป็นสีเขียว โดยแบ่งเป็น 5 ระดับ คือ ความมุ่งมั่นสีเขียว ปฏิบัติการสีเขียว ระบบสีเขียว วัฒนธรรมสีเขียว และเครือข่ายสีเขียว กระทรวงอุตสาหกรรมมีโครงการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม มุ่งมั่นสู่อุตสาหกรรมสีเขียวหลายโครงการ โดยโครงการ CSR-DIW เป็นหนึ่งในโครงการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทุกขนาด ดำเนินการตามมาตรฐานของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ว่าด้วยการแสดงความรับผิดชอบของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต่อสังคม และเกิดองค์กรในรูปเครือข่ายในการทำกิจกรรมเพื่อสังคม ชุมชน อย่างมีคุณภาพ มีการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ความชำนาญการ เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

"ถือเป็นการเตรียมความพร้อมให้ภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย ให้สามารถปรับตัวสู่มาตรฐานระหว่างประเทศ ว่าด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างเป็นระบบและสามารถรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสร้างระบบการแข่งขันเสรีที่เป็นธรรมให้ประเทศไทย มีความคิดสรังสรรค์และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคอาเซียน"

นอกจากนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้เตรียมที่ปรึกษามืออาชีพเข้าไปช่วยเหลือในการจัดทำโครงการ โดยมีการอบรมวิธีการดำเนินงาน จัดเตรียมเอกสารต่างๆ รวมถึงเข้าไปทวนสอบตามมาตรฐาน CSR-DIW ให้โรงงานอุตสาหกรรมที่สมัครเข้าร่วมโครงการ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งโรงงานอุตสาหกรรมที่ผ่านการทวนสอบจะได้รับรางวัลตามประเภทที่สมัคร เพื่อเป็นเกียรติแก่โรงงานอุตสาหกรรมที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างมีส่วนร่วม

จากhttp://www.komchadluek.net วันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2556

'ส่งออก'ก.พ.กลับมาติดลบ มูลค่าหดตัวต่ำสุดรอบ1ปี ตัวเลขผลิตซ้ำรูด10เดือน

ส่งออก ก.พ.ไม่สวย กลับมาติดลบในรอบ 6 เดือน มีมูลค่าต่ำสุดรอบ 1 ปี ไม่ใช่ผลพวงบาทแข็ง แต่ตลาดหลักทั่วโลกชะลอตัว นายกฯห่วงสั่งพาณิชย์งัดมาตรการเชิงรุก คณะทำงานฯถกเอกชนประชุมนัดแรก 9 เมษาฯ สศอ.เผยเอ็มพีไอ ก.พ.รูดสุดรอบ 10 เดือน ออเดอร์หดทำการใช้กำลังผลิตดิ่งด้วย ส่งสัญญาณร้าย เล็งทบทวนจีดีพีอุตสาหกรรมใหม่

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม กระทรวงพาณิชย์ได้เปิดเผยตัวเลขการค้าเดือนกุมภาพันธ์ 2556 โดยนางวัชรี วิมุกตายน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ แถลงว่า มีมูลค่า 17,928 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 5.83% เทียบเดือนกุมภาพันธ์ 2555 คิดเป็นเงินบาท (อัตราแลกเปลี่ยน 29.53 บาท/เหรียญสหรัฐ) มีมูลค่า 529,529.6 ล้านบาท หรือลดลง 11.32% ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 19,485.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 5.27% คิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 582,877 ล้านบาท ลดลง 0.78% ทำให้ขาดดุลการค้า 1,557.1 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาท 53,347.5 ล้านบาท เมื่อเฉลี่ย 2 เดือนของปี 2556 มีการส่งออกรวม 36,196.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.09% คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 1.08 ล้านล้านบาท ลดลง 0.13% นำเข้า 2 เดือนรวม 19,485 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 22.24% คิดเป็นเงินบาท 1.3 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.53% ทำให้ 2 เดือนแรกปีนี้ขาดดุลการค้ารวม 7.044 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินบาท 2.29 แสนล้านบาท

ส่งออกก.พ.กลับมาติดลบมูลค่าวูบ
นางวัชรีกล่าวว่า เหตุที่ทำให้การส่งออกเดือนกุมภาพันธ์กลับมาลบอีกครั้งรอบ 6 เดือน นับจากเดือนกันยายน 2555 และมีมูลค่าต่ำสุดในรอบ 12 เดือนนับจากเดือนมกราคม 2555 เพราะสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมติดลบรวม 13.5% และ 2.6% ตามลำดับ สินค้าสำคัญที่ติดลบ อาทิ ข้าว ยางพารา กุ้งแช่แข็ง ผักผลไม้ ไก่สดแช่แข็ง น้ำตาล สิ่งทอ อัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น ขณะที่ตลาดส่งออกติดลบเป็นส่วนใหญ่ ทั้งสหรัฐ ญี่ปุ่น ยุโรป อาเซียน และสวิตเซอร์แลนด์

นางวัชรีกล่าวว่า เงินบาทแข็งค่าและผันผวนมีผลกระทบต่อกำลังซื้อเฉพาะหน้าชะลอตัว แต่คำสั่งซื้อล่วงหน้ายังไม่ได้รับผลกระทบ เดือนมีนาคมมีโอกาสกลับมาเป็นบวกอีกครั้ง เพราะบาทไม่น่าจะแข็งค่าและผันผวนกว่านี้จึงเร็วเกินไปที่จะปรับลดตัวเลขเป้าหมายการส่งออก 8-9% หรือมูลค่า 2.47-2.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (อ้างอิงอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ย 30 บาท/เหรียญสหรัฐ) แต่หากอัตราแลกเปลี่ยนต่ำกว่านี้หรือบาทแข็งค่าขึ้นอาจมีผลต่อตัวเลขเป้าหมายส่งออกลดลง

'ยิ่งลักษณ์'กำชับพณ.ออกมาตรการ
"นายกรัฐมนตรี (น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ทำมาตรการส่งออกเชิงรุกและรายงานต่อเนื่องถึงแผนงานที่จัดทำเพื่อผลักดันการส่งออกให้ได้ตามเป้าหมาย ทั้งนี้วันที่ 9 เมษายนนี้ คณะทำงานเพื่อติดตามสถานการณ์การส่งออกและผลกระทบปี 2556 ที่นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพาณิชย์ แต่งตั้งขึ้นจะประชุมนัดแรกร่วมกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร.เพื่อกำหนดแนวทางขอความช่วยเหลือจากภาครัฐ โดยจะนำเสนอนายกฯ พิจารณาต่อไป" นางวัชรีกล่าว

นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวยืนยันว่า กรมฯยังคงเป้าการส่งออกปีนี้ขยายตัว 8-9% เพราะตลาดเป้าหมายและตลาดหลักในภาพรวมยังเพิ่มขึ้นแม้อัตราขยายตัวยังต่ำก็ตาม "ตัวเลขที่ติดลบในเดือนกุมภาพันธ์ไม่ได้ตกใจ และจะมีการประเมินตัวเลขการส่งออกอีกครั้งในเดือนพฤษภาคมนี้" นางศรีรัตน์กล่าว

รถยนต์เจ็บสุดพิษบาทแข็ง
นายหทัย อู่ไทย รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับช่วงต้นปีแข็งค่าขึ้น 3.76% สศอ.ประเมินเงินบาทแข็งค่าเฉลี่ย 29.8 บาทต่อเหรียญสหรัฐ จะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกปีนี้ โดยมูลค่าช่วง 2 เดือนแรกหายไป 35,733 ล้านบาท และทั้งปีหายไป 232,489 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) ภาคอุตสาหกรรมจะลดลง 2.72% จากคาดการณ์ทั้งปี 5-6% ดังนั้น จึงต้องติดตามสถานการณ์และผลกระทบอย่างใกล้ชิด ล่าสุดได้หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ชี้แจงว่าอยู่ระหว่างดำเนินมาตรการเพื่อควบคุมเงินบาทให้อ่อนค่าลง

"อุตสาหกรรมที่มูลค่าหายไปมากที่สุดจากเงินบาทแข็งค่าคือ รถยนต์ คาดว่าหายไป 4,758 ล้านบาท เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่ส่งออกคิดเป็นมูลค่าสูงสุด" นายหทัยกล่าว

พบสัญญาณร้ายสศอ.ปรับตัวเลข
นายหทัยกล่าวถึงดัชนีผลผลิตภาคอุตสาห กรรม (เอ็มพีไอ) ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ว่าอยู่ที่ 169.96 ต่ำสุดในรอบ 10 เดือน (พฤษภาคม 2555-กุมภาพันธ์ 2556) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลง 1.2% เนื่องจากสถานการณ์การส่งออกของเดือนกุมภาพันธ์โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ส่งออกมากกว่า 60% อย่าง ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป อาหารทะเล เครื่องใช้ไฟฟ้า หดตัวลงเฉลี่ย 8.18% จากสภาพเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้าที่หดตัวเช่นกัน อาทิ จีน สหรัฐ สหภาพยุโรป (อียู) คำสั่งซื้อสินค้า (ออเดอร์) ที่ลดลงยังส่งผลต่ออัตราการใช้กำลังการผลิตให้ลดลงอยู่ที่ 62.87% ต่ำสุดในรอบ 10 เดือนเช่นกัน

นายหทัยกล่าวว่า จากสถานการณ์เงินบาทแข็งค่าและแนวโน้มการส่งออกที่เอ็มพีไอปรับลดลง รวมทั้งอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ไม่ดีนัก สศอ.จะทบทวนตัวเลขคาดการณ์ทั้งจีดีพีอุตสาหกรรม เอ็มพีไอตลอดทั้งปีอีกครั้งหลังไตรมาสแรก อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกล่าสุดทั้งอียูและสหรัฐยังมีสัญญาณถดถอย ถือเป็นตัวแปรสำคัญที่ต้องติดตาม


จาก http://www.matichon.co.th วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2556

กรมโรงงานแก้ครหาดองรง.4รับใต้โต๊ะ

"ณัฐพล" อธิบดีกรมโรงงานฯ ป้ายแดง เตรียมล้างกรอ.แก้ข้อครหา รับเงินใต้โต๊ะออกใบอนุญาตตั้งโรงงาน ตั้งคณะกรรมการชำนาญการคุมเข้มรายงานอีเอสเอ ก่อนยื่นขอ ต้องถามชาวบ้านก่อน ช่วยลดภาระคณะกรรมการกลั่นกรองฯตีเรื่องกลับ

พร้อมทำระบบออนไลน์ให้ผู้ประกอบเช็กขั้นตอนขออนุญาตได้โดยตรง ป้องกันเจ้าหน้าที่ดองเรื่อง ด้านโรงงานตอบรับ หากทำได้จริงการขอรง.4จะรวดเร็วขึ้น

นายณัฐพล ณัฎฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากกรณีที่กรอ.ตกเป็นจำเลยของสังคมถึงความไม่โปร่งใสการพิจารณาออกใบอนุญาตตั้งโรงงานหรือรง. 4 มีการดึงเรื่องเพื่อหวังผลประโยชน์บางประการนั้น ในฐานะที่เข้ามารับตำแหน่งใหม่ จะเข้ามารื้อขั้นตอนกระบวนการพิจารณาออกใบอนุญาตให้รัดกุมและมีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น เพื่อแก้ข้อครหาการดองใบอนุญาตมีความล่าช้า และเป็นการช่วยลดการทำงานของคณะกรรมการกลั่นกรองพิจารณาอนุญาตโรงงานบางประเภทที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ที่มีนายวิฑูรย์ สิมะโชคดีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน

สำหรับแนวทางการดำเนินงานนั้น จะมีการนำมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยหรืออีเอสเอ เข้ามาประกอบการพิจารณาให้มีความเข้มข้นมากขึ้น จากปกติโรงงานขนาดเล็กใน 25 ประเภทไม่ต้องทำรายงานศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ แต่จะต้องทำรายงานอีเอสเอ ซึ่งต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนประกอบเข้ามาด้วย แต่ที่ผ่านมามีการรับฟังความคิดเห็นเพียงผิวเผิน ก่อให้เกิดช่องโหว่ที่หน่วยงานอนุญาตไม่ได้เข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิด มีเพียงแค่นำเอกสารการยอมรับจากชาวบ้าน ผู้นำชุมชน หรือเทศบาลต่างๆ มายื่นประกอบขอใบอนุญาตเท่านั้น และการพิจารณาก็มีเพียงแค่เจ้าหน้าที่เพียงคนเดียวในการพิจารณาเอกสาร ไม่ได้ลงลึกในรายละเอียด ต่างกับการพิจารณาอีไอเอ จะมีคณะกรรมการผู้ชำนาญในแต่ละด้านขึ้นมาดูแล ทำให้เกิดข้อผิดพลาดมาก

-ลดปัญหาตีเรื่องกลับ
ทั้งนี้เห็นได้จากการยื่นเรื่องให้คณะกรรมการกลั่นกรองพิจารณาการออกใบอนุญาตเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2556 ที่ผ่านมา พบว่ามียอดโรงงานที่เสนอให้คณะกรรมการกลั่นกรองพิจารณา 368 คำขอ แต่ถูกตีกลับมาจำนวน 165 คำขอ ถือว่าเป็นจำนวนที่สูง ทำให้ภาพลักษณ์ของกรมโรงงานฯ เหมือนทำงานไร้ความสามารถ และถูกมองว่ามีการดองเรื่องหรือต้องการเรียกเงินใต้โต๊ะเพื่อให้ได้ใบอนุญาต

โดยคำขอที่ถูกตีกลับส่วนใหญ่ยังกระทำผิดและขาดมาตรการป้องกันผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้พื้นที่ทับซ้อนพื้นที่สาธารณะ โดยเฉพาะการสร้างโรงงานทับลำรางสาธารณะ ส่งผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบ ขาดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงงานที่ไม่ต้องทำอีไอไอ ขาดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบด้านสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงงานที่มีการร้องเรียนของประชาชนโดยรอบโรงงาน ขาดมาตรการกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุไม่ใช้แล้วที่ไม่เป็นของเสียอันตราย ขาดมาตรการบำบัดน้ำเสียที่เหมาะสมโดยเฉพาะในพื้นที่ซึ่งอยู่ติดกับแม่น้ำสายหลัก ซึ่งอาจส่งผลให้น้ำเสียไหลลงสู่แม่น้ำสายหลักได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม และขาดเอกสารหลักฐานต่างๆ ที่จำเป็นต่อการประกอบการพิจารณาอนุญาต เป็นต้น

-ตั้งกรรมการดูอีเอสเอ
ดังนั้นจึงได้มอบหมายให้รองอธิบดีกรอ.ไป จัดตั้งคณะทำงานที่จะมาพิจารณารายงานอีเอสเอเป็นพิเศษ มีผู้ชำนาญการแต่ละด้านของกรมไม่ว่าจะเป็นด้านน้ำเสีย อากาศ วัตถุอันตราย สารเคมี มาเป็นองค์ประชุมพิจารณาให้ครบทุกมิติ และลงลึกในรายละเอียดให้มากขึ้น และอาจจะบวกโครงการ 3 สามัคคี ได้แก่ ประชาชน ผู้ประกอบการและตัวแทนภาครัฐ เข้ามาร่วมกันสร้างความเข้าใจก่อนที่จะมีการขออนุญาตตั้งโรงงาน เพราะที่ผ่านมาเคยเกิดตัวอย่าง กรณีที่ให้ใบอนุญาตไปแล้ว แต่เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมา กลับไปถามชาวบ้านหรือชุมชน พบว่าไม่ทราบรายละเอียดของการเซ็นชื่อยอมรับการตั้งโรงงานนั้นๆ จึงทำให้ปัจจุบันมีเรื่องร้องเรียนของการปล่อยน้ำเสีย กากสารพิษ ฯลฯ ตามมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งหากดำเนินการในส่วนนี้ได้ จะช่วยให้จำนวนตีกลับคำขอใบอนุญาตจากคณะกรรมการกลั่นกรองฯ จะลดน้อยลงและไม่มียอดจำนวนตีกลับหรือส่งคืนมายังกรม และสุดท้ายคณะกรรมการกลั่นกรองฯ อาจะไม่มีความจำเป็นต้องต้องตั้งขึ้นมาพิจารณาใบอนุญาตก็ได้ เมื่อฝ่ายกำหนดนโยบายเห็นว่ากรอ.ดำเนินได้อย่างรัดกุมแล้ว

นายณัฐพล กล่าวอีกว่า นอกจากนี้เพื่อให้ขั้นตอนการยื่นขอใบอนุญาตมีความโปร่งใสมากขึ้น จะมีการจัดทำระบบออนไลน์ให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าไปดูขั้นตอนการดำเนินงานได้โดยตรง ว่าสถานะปัจจุบันของการยื่นคำขออยู่ในขั้นตอนใด เจ้าหน้าที่ชื่ออะไร เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถติดตามเรื่องได้ตลอดเวลา หากมีเอกสารใดไม่ครบหรือขาดหาย จะได้จัดทำและส่งให้เจ้าหน้าที่ให้ทันตามกรอบระยะเวลา หรือตีเรื่องกลับไปดำเนินการใหม่ ซึ่งส่วนหนึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาในการดองเรื่อง หรือไม่ได้รับการประสานกลับไปจากเจ้าหน้าที่ ซึ่งจะช่วยให้การติดตามการขอใบอนุญาตให้เร็วขึ้นได้

-เปิดศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์
อีกทั้ง ในฐานะอธิบดีกรม ตัวเองจะเปิดศูนย์รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ขอใบอนุญาต เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถรายงานการทุจริตของเจ้าหน้าที่ได้โดยตรง เพื่อความสบายใจของผู้ประกอบการ เนื่องจากก่อนหน้านี้ผู้ประกอบการมีเรื่องร้องเรียนมายังกรมโรงงานฯ ว่ามีเจ้าหน้าที่ทุจริตและเรียกเก็บเงินเพื่อแลกกับใบอนุญาต แต่ไม่ยอมเปิดเผยชื่อ ทำให้ไม่สามารถตั้งคณะกรรมการตรวจสอบได้ หลังจากนี้หากมีการร้องเรียนเข้ามาแม้จะไม่เปิดเผยชื่อ เจ้าหน้าที่ใดทุจริต และพบว่ามีมูลก็จะตั้งกรรมการสอบสวนทันที

ส่วนโรงงานที่เปิดดำเนินกิจการแล้ว จะต้องเดินหน้าในเรื่องของการกำกับดูแล โดยเฉพาะโรงงานที่มีอีไอเอแนบท้าย ว่าปัจจุบันดำเนินการดูแลมาตรฐานความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ โดยจะจัดทำบัญชีแยกรายละเอียดมาตรฐานที่กำหนดไว้ในอีไอเอ เพื่อความสะดวกในการเข้าตรวจสอบโรงงานนั้นๆ เพราะก่อนหน้านี้ไม่เข้าไปตรวจดูอย่างจริงจัง จึงมีข้อร้องเรียนจากชุมชนเป็นจำนวนมาก ดังนั้น กรมโรงงาน จะต้องเข้าไปตรวจสอบทุกโรงงานที่ได้รับใบอนุญาตอย่างเคร่งครัด

-โรงงานตอบรับเห็นทางสว่าง
นายชลัช ชินธรรมมิตร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายพัฒนาธุรกิจ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) (บมจ.) หนึ่งในผู้ประกอบการที่ยังไม่ได้รับอนุมัติใบอนุญาตตั้งโรงงาน เปิดเผยว่า กรณีที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม เตรียมที่จะเข้ามาดูแลการออกใบอนุญาต รง.4 ให้มีความรัดกุมมากยิ่งขึ้นนั้น เชื่อว่าจะสามารถลดปัญหาข้อข้องใจของผู้ประกอบการได้ เพราะจะเป็นข้อมูลที่เปิดเผยมากขึ้น สามารถเข้าไปเช็กข้อมูลได้ทันที ทำให้ทราบว่าผู้ประกอบการขาดเอกสารหรือยังขาดขั้นตอนใดจะได้กลับมาแก้ไขต่อไป อย่างไรก็ตาม มองว่ามาตรการดังกล่าวจะยังไม่สามารถลดปัญหาการดองใบรง.4 ได้ แม้ว่าจะเปิดเผยข้อมูล แต่ขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการยังมีความซ้ำซ้อน และผู้ประกอบการยังต้องติดต่อหลายกระทรวง

ดังนั้น การกลับมาพิจารณาเรื่องการให้บริการแบบครบวงจร (วันสต๊อปเซอร์วิส) จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก เพราะหากมีการจัดตั้งหน่วยงานเข้ามาดูแลด้าน รง.4โดยเฉพาะ ไม่ต้องดำเนินการหลายๆกระทรวงให้ยุ่งยาก ก็จะช่วยลดขั้นตอนและความยุ่งยากการลงทุนลงได้มาก ซึ่งปัจจุบันการขออนุญาตก่อตั้งโรงงานในประเทศไทย ยังมีความสับสนและยุ่งยากมาก เมื่อเทียบกับหลายประเทศ อาทิ การขออนุญาตก่อสร้างโรงไฟฟ้า ซึ่งจะต้องผ่านกระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และการไฟฟ้าฯ นอกจากนี้ยังมีมาตรการของภาครัฐยังมีการเปลี่ยนแปลงตลอด ทำให้นักลงทุนเกิดความไม่แน่ใจในลงทุน การตั้งศูนย์แบบวันสต๊อปเซอร์วิส อาจมีลักษณะคล้ายคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ที่ให้บริการด้านขั้นตอนการลงทุนแบบครบวงจร ทำให้นักลงทุนได้รับความสะดวกและอยากเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น

สำหรับโรงงานน้ำตาลของบริษัทที่ จังหวัดเลย ขณะนี้ยังไม่ได้รับใบ รง.4 โดยกรมยังอ้างว่าติดปัญหาที่ตั้งโรงงานน้ำตาลที่ต้องมีระยะห่างไม่น้อยกว่า 80 กิโลเมตรจากโรงงานอื่น ซึ่งที่ผ่านมาที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบให้ก่อสร้างแล้ว แต่เมื่อโรงงานก่อสร้างเสร็จกลับอ้างว่าผิดเงื่อนไขจึงไม่สามารถออกใบ รง.4 ได้ ซึ่งนับว่าสร้างความสับสนกับผู้ลงทุนอย่างมาก โดยขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการยื่นอุทธรณ์ศาลปกครองกลาง และรอศาลพิจารณาต่อไป

ขณะที่ผู้บริหาร บริษัท กัลฟ์ เจพี จำกัด ให้ความเห็นว่า หากการดำเนินงานออกใบอนุญาต รง.4 เป็นไปตามที่อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมกล่าวไว้ข้างต้น มองว่าน่าจะส่งผลดีต่อกลุ่มโรงงาน ทั้งในเรื่องของความชัดเจนในการออกใบอนุญาต ทำให้ความเสี่ยงลดลง เพราะก่อนหน้านี้กลุ่มโรงงานมีความเข้าใจผิด อาทิ การตั้งโรงงานก่อนที่จะได้รับใบอนุญาต เพียงเข้าใจว่าขอใบอนุญาตแล้วก็สามารถตั้งโรงงานได้เลย ดังนั้น หากกฎระเบียบอีเอสเอออกมาเอาจริงเอาจังในการออกใบอนุญาตเหมือนกับอีไอเอก็จะทำให้กลุ่มโรงงานมีความเข้าใจที่ตรงกัน ซึ่งผู้ประกอบการน่าจะถูกใจกับมาตรฐานใหม่ที่กรมโรงงานฯ จะปรับเปลี่ยนนี้

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 27 มีนาคม 2556

พณ.เรียกประชุมทูตพาณิชย์ พ.ค.นี้ ทบทวนเป้าหมายส่งออกปี 56

นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงกรณีค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นร้อยละ 5 ตั้งแต่ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา หลุดกรอบ 29 บาทต่อดอลลาห์สหรัฐ ว่า มาจากการไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในค่าเงินบาทที่แข็งค่า แต่เชื่อว่ายังไม่กระทบต่อการส่งออกของประเทศในช่วงไตรมาสแรกของปี แต่กระทรวงพาณิชย์จะติดตามผลกระทบอย่างใกล้ชิด โดยในเดือนพฤษภาคมนี้จะมีการทบทวนเป้าหมายส่งออกของประเทศใหม่ ซึ่งจะมีการเรียกประชุมผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ หรือ ทูตพาณิชย์ทั่วโลก เพื่อประเมินสถานการณ์ แต่ขณะนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงยืนยันเป้าหมายการส่งออกของประเทศในปี 2556 ที่ร้อยละ 8-9 มูลค่า 2.47-2.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 27 มีนาคม 2556

ธ.ก.ส.กับมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง

จากปัญหาฝนทิ้งช่วงและภัยแล้งในขณะนี้ ได้สร้างความเสียหายแก่พื้นที่การเกษตรกว่า 37 จังหวัด 378 อำเภอ 2,636 ตำบล 26,107 หมู่บ้าน มีเกษตรกรได้รับความเสียหายกว่าแสนครัวเรือน พื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบประมาณ 1 ล้านไร่ ติดตามจากรายงาน

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ก็ได้ออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร โดยในกรณีที่เกษตรกรประสบภัยร้ายแรงหรือเสียหายจนเป็นเหตุให้รายได้ลดลงเกินกว่า ร้อยละ 50 ของรายได้ปกติ ธ.ก.ส.จะขยายเวลาการชำระหนี้ออกไป 1 ปี ทั้งลูกค้าปกติและลูกค้าโครงการพักชำระหนี้ ยกเว้นกรณีที่เกษตรกรได้รับสิทธิที่ดีกว่าในโครงการเดิม เช่น โครงการพักชำระหนี้น้ำท่วมปี 2554 เป็นต้น

นอกจากนี้ นายชัยวัฒน์ ปกป้อง ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. เตรียมเสนอคณะกรรมการธนาคารพิจารณาจัดสรรวงเงินกู้จำนวน 5,000 ล้านบาท สำหรับปล่อยกู้เพื่อใช้ฟื้นฟูการประกอบอาชีพรายละไม่เกิน 1 แสนบาท เพื่อนำไปลงทุนปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยทดแทนพืชผลที่ได้รับความเสียหาย ประกอบอาชีพอื่นทดแทน หรือกู้เงินเพื่อนำไปพัฒนาแหล่งน้ำในที่ดินของตนเอง เพื่อให้มีน้ำเพียงพอ รวมทั้งเงินกู้แก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรแบบเฉพาะหน้า เช่น เงินกู้ซื้อน้ำเพื่อบำรุงรักษา กรณีสวนผลไม้ สวนยาง สวนปาล์ม เป็นต้น โดยจะได้รับการลดหย่อนหลักประกันเงินกู้กรณีจำนองอสังหาริมทรัพย์เป็นประกัน พร้อมทั้งสนับสนุนสินเชื่อให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อนำไปพัฒนาบริหารจัดการระบบน้ำศูนย์กลางของชุมชน อีกด้วย

ทั้งนี้ ธ.ก.ส. ได้จัดรถบรรทุกน้ำไปแจกจ่ายตามชุมชนต่างๆ เพื่อการอุปโภคบริโภคและในกรณีที่ชุมชนมีแหล่งน้ำ ก็จะจัดสรรงบประมาณในการขุดลอกคูคลอง พร้อมพัฒนาแหล่งน้ำของชุมชนให้สามารถใช้ประโยชน์จากน้ำได้ รวมทั้งยังสนับสนุน เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย และยาปราบศัตรูพืชมอบให้กับเกษตรกรเพื่อฟื้นฟูการประกอบอาชีพ และจัดหาตลาดสำหรับจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรให้กับเกษตรกรตามความเหมาะสมต่อไป

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 27 มีนาคม 2556

ระทึก! เพลิงไหม้กองชานอ้อยโรงงานน้ำตาลขอนแก่น หวิดลามเผาโรงงาน

ระทึก! เพลิงไหม้กองชานอ้อยภายในโรงงานน้ำตาล จ.ขอนแก่น เจ้าหน้าที่ดับเพลิงต้องระดมกำลังสกัดเพลิงเพื่อไม่ให้ลุกลามเข้าตัวโรงงาน ใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมงจึงควบคุมเพลิงไว้ได้

เมื่อเวลาประมาณ 17.30 น.วันนี้ (26 มี.ค.) ร.ต.อ.ประยุทธ คำบอนพิทักษ์ ร้อยเวร สภ.น้ำพอง ได้รับแจ้งว่ามีเหตุเพลิงไหม้โรงงานน้ำตาลขอนแก่น ของบริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) เลขที่ 43 หมู่ 10 ถนนน้ำพอง-กระนวน อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น จึงรายงานให้ พ.ต.อ.ไพฑูรย์ ทองไพบูล ผกก.ทราบพร้อมแจ้งไปหยังรถดับเพลิงที่สังกัดเทศบาลในอำเภอน้ำพองจำนวนกว่า 10 คันเข้าควบคุมเพลิง

ที่เกิดเหตุพบเป็นด้านหลังของโรงงานซึ่งเป็นสถานที่เก็บชานอ้อยในเนื้อที่ประมาณ 20 ไร่ จำนวนชานอ้อยกว่า 20,000 ตัน กองทับถมกันสูงประมาณ 20 เมตร มีควันไฟโพยพุ่งบริเวณกองชานอ้อยทางฝั่งทิศเหนือเป็นจำนวนมาก รถดับเพลิงเข้าไปฉีดน้ำสกัดเพลิง

เบื้องต้นไม่สามารถดับเพลิงได้เนื่องจากเป็นการระอุของเชื้อเพลิง ทำได้เพียงฉีดน้ำหล่อเลี้ยง เพื่อที่ไม่ให้เพลิงลุกลามในบริเวณกว้าง

นายเลิศลักษณ์ เจนใจวิทย์ ผู้จัดการโรงงานน้ำตาลขอนแก่น กล่าวว่า สาเหตุเบื้องต้นน่าจะเกิดจากอากาศร้อนระอุในช่วงบ่ายคาดว่าจะเป็นต้นเหตุของการเกิดเพลิงให้ชานอ้อยในครั้งนี้ ซึ่งการควบคุมและสกัดเพลิงต้องใช้รถตักทำการตักชานอ้อยที่ถูกเพลิงไหม้ออก

จากนั้นนำไปทำการดับให้ห่างจากที่เกิดเหตุ คาดว่าต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งถึงจะสามารถดับไฟได้สนิท

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 26 มีนาคม 2556

“นายแบงก์” ชี้เงินร้อนในตลาดบอนด์ลงทุนระยะยาว แนะไทยควรมีแผนรับมือเงินไหลออก

“นายแบงก์” ชี้เงินร้อนไหลเข้าไทยเป็นการลงทุนระยะยาวยังไม่น่าห่วง แต่กังวลปัญหาค่าเงินบาท “เอ็มดี” ตลาดบอนด์ ยอมรับสาเหตุเงินนอกไหลเข้าตลาดพันธบัตรเพราะ ศก.ไทยดี ผลตอบแทนการลงทุนสูง ดึงดูดใจนักลงทุนต่างชาติ พร้อมแนะเตรียมรับมือเงินทุนไหลออก หากสหรัฐฯ ยกเลิกมาตรการ “คิวอี” แต่ไม่ควรใช้มาตรการทางภาษี เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวในงานสัมมนาประจำปี 2556 สมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย ในหัวข้อ “Hot Money เงินทะลักเข้าไทย ผลกระทบเศรษฐกิจและอสังหาริมทรัพย์” โดยมองว่า การไหลเข้าของเงินต่างชาติที่ไหลเข้ามาลงทุนในตราสารหนี้ และตลาดหุ้นเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่ต้องการหาแหล่งลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ดี ซึ่งเงินลงทุนที่เข้ามาเป็นการลงทุนระยะยาว ไม่ได้เป็นการลงทุนระยะสั้น จึงไม่น่าเป็นห่วงมากนัก

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องจับตาในระยะต่อไป คือ การแข็งค่าของเงินบาท เพราะจะเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการส่งออกของไทย โดยหากค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าอยู่ในระดับ 29.50 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงกลางปีนี้ มองว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะยังสามารถรักษาการขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ร้อยละ 4.8 และการส่งออกขยายตัวร้อยละ 10.5

นายนิวัฒน์ กาญจนภูมินทร์ กรรมการผู้จัดการสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย มองว่าในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา มีเงินต่างชาติไหลเข้ามาลงทุนในตลาดพันธบัตรเป็นจำนวนมาก ทำให้ยอดการถือครองตราสารหนี้ของต่างชาติเพิ่มขึ้นถึง 1 แสนล้านบาท จากยอดถือครองตราสารหนี้ของต่างชาติ ทั้งหมด 8 แสนล้านบาท ซึ่งก็เป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวดี และผลตอบแทนต่อการลงทุนสูงกว่าประเทศอื่น

ทั้งนี้ เชื่อว่าในระยะสั้นเงินทุนต่างชาติจะยังไม่ไหลออกจากไทย แต่ในระยะยาวขึ้นอยู่กับแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น เพราะหากเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาปรับตัวดีขึ้น และยกเลิกการใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงิน (QE) เงินทุนต่างชาติจะไหลกลับออกจากประเทศไทยไปสหรัฐอเมริกาอย่างแน่นอน

ดังนั้น ประเทศไทยควรมีการเตรียมมาตรการรับมือกับสถานการณ์เงินไหลออกไว้ แต่ไม่ควรใช้มาตรการทางภาษี เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 26 มีนาคม 2556

สินค้าไทยตกอันดับหลังเปิดเสรีอาเซียน

หอการค้าฯ เผย 3 ปีเปิดเสรีอาเซียน ไทยถอยหลังเข้าคลอง สินค้าเกษตรราคาร่วง โดยเฉพาะข้าว ส่วนยางพาราถูกเวียดนามแซง มันสำปะหลังถูกเขมรยึดตลาด การลงทุนของต่างชาติอยู่อันดับ 4 ตามหลัง สิงคโปร์ อินโด มาเลย์

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงบทวิเคราะห์ 3 ปี การค้า และการลงทุนภายใต้ประคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)ว่า ตั้งแต่ปี 53 ที่ทยอยเปิดเออีซีมา บทบาทการค้า การลงทุนไทยในอาเซียน ยังคงไร้ทิศทาง และกำลังตกสู่สถานะตกต่ำ เนื่องจากมูลค่าการส่งออกของไทยลดลง และสินค้าส่งออกสำคัญของไทย อย่าง ยางพารา และข้าวสารกลายเป็นอุตสาหกรรมดาวร่วง ถูกเวียดนาม และพม่าแย่งส่วนแบ่งตลาดไปมาก

นอกจากนี้ มันสำปะหลัง ยังถูกกัมพูชาแย่งกลับเป็นประเทศที่ส่งออกได้สูงสุดในอาเซียน แต่ไทยมีสินค้าภาคอุตสาหกรรมที่ส่งออกได้เติบโตดีและมีความโดดเด่น คือ ยานยนต์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ถ่านหิน ผักและผลไม้ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ น้ำตาล เนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง เหล็ก และผลิตภัณฑ์จากเหล็ก เครื่องดื่มยาสูบ ดังนั้นไทยจึงต้องปรับตัว และหาแนวทางในการเพิ่มการส่งออกสินค้าที่ไทย โดยเฉพาะสินค้าภาคเกษตรที่ส่งออกได้น้อยให้กลับมาเพิ่มเหมือนเดิม

“สินค้าอุตสาหกรรมที่เป็นดาวร่วง คือ ข้าว ส่วนแบ่งตลาดไทยลดลง 10.41% ขณะที่เวียดนามเพิ่มขึ้น 6.68% ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไทยลดลง 0.04% ขณะที่กัมพูชาเพิ่มขึ้น 20.10% ยางพาราไทยลดลง 2.91% แต่เวียดนามเพิ่มขึ้น 10.73% อาหารทะเลแปรรูปไทยลดลง 0.19% อินโดนีเซียเพิ่มขึ้น 4.89% สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยลดลง 2.27% สิงคโปร์เพิ่มขึ้น 2.38% ผลิตภัณฑ์ไม้ไทยลดลง 0.29% แต่พม่าเพิ่มขึ้น 1.84% ผลิตภัณฑ์กระดาษและสิ่งพิมพ์ ไทยลดลง 4.44% สิงคโปร์เพิ่มขึ้น 9.67% ผลิตภัณฑ์พลาสติก ไทยลดลง 0.70% สิงคโปร์เพิ่มขึ้น 1.01%”

ส่วนการลงทุนช่วง 3 ปีที่ผ่านมา การลงทุนจากต่างชาติ (เอฟดีไอ) สิงคโปร์ยังคงเป็นอันดับ 1 ด้วยมูลค่าการลวทุน 167,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาเป็นอินโดนีเซีย 51,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมาเลเซียมีเม็ดเงินลงทุน 31,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนไทยอยู่ที่ 4 มีเม็ดเงินทุนเข้ามาเป็นอันดับ มูลค่า 27,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่แนวโน้มการลงทุนในกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี คือ กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนามเริ่มได้รับความสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะเวียดนาม และเมียนมาร์

นายอัทธ์กล่าวว่า ไม่อยากให้มองว่าไทยต้องไปแข่งขันเพื่อให้เป็นที่ 1 ในอาเซียนเท่านั้น แต่ควรมองในเรื่องของการเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย และและประคมเศรษฐกิจอาเซียนในระยะยาว ส่วนค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นกว่า 5% ขณะที่ประเทศอื่นในอาเซียนแข็งค่าขึ้นประมาณ 1% ทำให้ความสามารถแข่งขันการส่งออกลดลง เพราะการที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น 1% กระทบต่อการส่งออกจะลดลง 2.4% แต่ยังมองว่าทิศทางการส่งออกสินค้าไทยในปีนี้ยังมีโอกาสดีขึ้น แม้จะประสบปัญหาค่าเงินบาท แต่ด้วยปัจจัยเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะในสหรัฐและยุโรป ที่ปรับตัวดีขึ้นน่าจะทำให้การส่งออกเดินหน้าและขยายตัวได้ 4-8% แต่อัตราแลกเปลี่ยนโดยเฉลี่ยทั้งปีจะต้องอยู่ระหว่าง 28-30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 26 มีนาคม 2556

ลดเผาพื้นที่เกษตร...สางปัญหาหมอกควัน - เกษตรทั่วไทย

ปัญหาหมอกควันที่เกิดขึ้นในเขตภาคเหนือ ส่วนหนึ่งเกิดจากการเผาพื้นที่เกษตรทั้งการเผาตอซังฟางข้าว เศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรและวัชพืช เพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับการทำเกษตรในรอบการผลิตถัดไป อย่างไรก็ตาม ปีนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรได้รณรงค์ส่งเสริมให้เกษตรกรลดการเผาในพื้นที่เกษตรตามนโยบายรัฐบาล พร้อมมอบหมายให้สำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 หรือ สสข.6 ติดตามความเคลื่อนไหวการเผาในพื้นที่เกษตรอย่างใกล้ชิดในช่วงวิกฤติ 100 วันอันตราย มาตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม-30 เมษายน 2556 ทำให้ปัญหาการเผาพื้นที่เกษตรเบาบางลง ส่งผลให้ปัญหามลพิษจากหมอกควันในภาคเหนือลดน้อยลงด้วย

นางพรรณพิมล ชัญญานุวัตร อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวถึงแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควันภาคเหนือว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดของกรมที่อยู่ในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน และ ตาก ให้ควบคุมกำกับพื้นที่การเกษตรในเขตรับผิดชอบไม่ให้มีการเผาโดยเด็ดขาดและให้ถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดโดยเฉพาะช่วงวิกฤติ 100 วันอันตราย ขณะเดียวกันยังย้ำให้ทุกหน่วยงานติดตามเฝ้าระวังการเผาพื้นที่เกษตรอย่างใกล้ชิด และต้องรายงานผลการปฏิบัติงานให้ ผู้ว่าราชการจังหวัดและ สำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 (สสข.6) จังหวัดเชียงใหม่ ทราบทุกสัปดาห์ ภายในเวลาไม่เกิน 10.00 น. ของทุกวันจันทร์ และให้ สสข. 6 รวบรวมรายงานเสนอให้กรมฯทราบทุกสัปดาห์ด้วย

นอกจากนั้น ยังมอบหมายให้ สสข.6 และสำนักงานเกษตรจังหวัดทั้ง 9 จังหวัดดังกล่าว เร่งรณรงค์และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การไม่เผาในพื้นที่เกษตรในระดับพื้นที่ โดยให้ ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล เป็นศูนย์ กลางและมี อาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) เป็นเครือข่าย พร้อมรณรงค์และประชาสัมพันธ์ผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน วิทยุชุมชน หอกระจายข่าว และกลุ่มองค์กรสถาบันต่างๆ ไปแล้วรวม 172 ครั้ง อีกทั้งยังรณรงค์และประชาสัมพันธ์ไม่ให้มีการเผาในพื้นที่เกษตรผ่านเว็บไซต์กรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อเป็นแนวปฏิบัติสำหรับเกษตรกร จำนวน 6 เรื่อง ได้แก่ การไถกลบตอซังเพื่อลดการเผา การไถกลบตอซังเพื่อสร้างดินยั่งยืน ปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ และปุ๋ยหมัก และยังมีการจัดขบวนรถประชาสัมพันธ์เคลื่อนที่ไปตามจังหวัดต่าง ๆ ภายใต้โครงการ ’ไม่เผาป่า รักษาธรรมชาติ อากาศบริสุทธิ์“ ซึ่งดำเนินการเรียบร้อยแล้ว จากรายงานเบื้องต้นพบว่า มีการเผาในพื้นที่เกษตรไม่มากนัก

ทางด้าน นายสุภัทร สุปรียธิติกุล ผอ.สสข.6 กล่าวว่า สสข.6 ได้จัดตั้ง ’ศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควันภาคเหนือ“ ขึ้นตามที่ได้รับมอบหมายจากกรมส่งเสริมการเกษตร ทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงานป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษหมอกควันใน 9 จังหวัดภาคเหนือ โดยศูนย์ฯได้วางแผนร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดทั้ง 9 จังหวัด เพื่อกำหนดแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันในช่วงวิกฤติ 100 วันอันตราย ซึ่งเน้นให้สำนักงานเกษตรจังหวัดติดตามเฝ้าระวังไม่ให้มีการเผาพื้นที่เกษตรในพื้นที่โดยเด็ดขาด

ตั้งแต่เดือนมกราคม-มีนาคมนี้ ศูนย์ฯได้รับรายงานว่า มีการเผาในพื้นที่เกษตรรวมทั้งสิ้น 74 ครั้ง เป็นการเผาเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งเจ้าหน้าที่สามารถดับไฟได้ทัน นับว่าปริมาณการเผาในพื้นที่เกษตรมีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา จากภาพถ่ายดาวเทียมพบว่า ปีนี้การเผาส่วนใหญ่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้าน ด้วยทิศทางลมส่งผลให้เกิดปัญหาหมอกควันในเขตภาคเหนือด้วย

อย่างไรก็ตาม กรมส่งเสริมการเกษตรได้เร่งรณรงค์ส่งเสริมเพื่อกระตุ้นและสร้างจิตสำนึกให้กับเกษตรกรไม่ให้เผาพื้นที่เกษตร โดยมีการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับผลดีของการไม่เผาพื้นที่เกษตร รวมถึงผลเสียของการเผาด้วย ทั้งยังมีการส่งเสริมและจัดสาธิตการไถกลบตอซัง พื้นที่ 1,935 ไร่ เกษตรกร 909 ราย ขณะเดียวกันยังส่งเสริมและสาธิตการทำปุ๋ยหมักให้แก่เกษตรกร 944 ราย กองปุ๋ยหมัก 748 กอง และถ่ายทอดเทคโนโลยีจัดสาธิตการเพาะเห็ดฟางให้กับเกษตรกร 395 ราย

“นอกจากนี้ยังได้ส่งเสริมและสาธิตการใช้ปุ๋ยพืชสดในการปรับปรุงบำรุงดิน พื้นที่ 1,571 ไร่ เกษตรกร 701 ราย พร้อมจัดสาธิตการปลูกพืชในแหล่งที่มีน้ำเพียงพอ พื้นที่ 6,334 ไร่ เกษตรกร 2,424 ราย พร้อมส่งเสริมและสาธิตการใช้จุลินทรีย์ในพื้นที่การเกษตรหลังการเก็บเกี่ยว พื้นที่กว่า 35,000 ไร่ เกษตรกร 7,772 ราย และยังมีการสร้างเครือข่ายปลอดการเผา 100 เครือข่าย เกษตรกร 405 ราย คาดว่าจะเป็นแนวทางช่วยลดการเผาในพื้นที่เกษตรในปีถัดไปได้อย่างดี และเป็นพลังสำคัญที่จะช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควันในภาคเหนือได้” นายสุภัทรกล่าว.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 26 มีนาคม 2556

โครงการหลวงสู่เกษตรกร

นายอนุสรณ์ จันทนโรจน์ รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า จากการสนองงานในโครงการพระราชดำริในพื้นที่ต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่องของกรมพัฒนาที่ดิน สามารถแก้ไขปัญหาดินเสื่อมโทรมและฟื้นฟูทรัพยากรดินในหลายด้าน จนเห็นผลเป็นรูปธรรมมากมาย ซึ่งกรมฯ ได้ขยายผลสู่เกษตรกรในพื้นที่โครงการและใกล้เคียง เพื่อให้เกษตรกรใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ก่อให้เกิดรายได้และมีความสุข ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

กรมพัฒนาที่ดินจึงมุ่งน้อมนำแนวพระราชดำริที่พระราชทานในการอนุรักษ์ทรัพยากรดิน การพัฒนาที่ดิน การปรับปรุงบำรุงดิน การอนุรักษ์ดินและน้ำด้วยการปลูกหญ้าแฝก รวมทั้งวิถีปฏิบัติในการทรงงานมาเป็นแนวทางปฏิบัติ เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรดินให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืนจนเป็นผลสำเร็จ สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ มีปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตให้ชุมชนเกิดความพออยู่พอกินตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตลอดจนยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้น.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 26 มีนาคม 2556

อนาคตพลังงานไทยกับการก้าวสู่ AEC ถึงเวลาแล้วที่คนไทยจะต้องเป็นผู้เลือก

นับถอยหลังเข้าไปทุกขณะกับการก้าวสู่การค้าและการลงทุนภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ที่จะเกิดขึ้นในปี 2558 ด้วยการรวมตัวกันของ 10 ประเทศในภูมิภาคอาเซียนได้แก่ ไทย พม่า สิงคโปร์ ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน และ ฟิลิปปินส์ ซึ่งจะมีประชากรรวมกันกว่า 600 ล้านคน จึงนับได้ว่าตลาดแห่งนี้จะเป็นตลาดน้องใหม่ไฟแรงแห่งหนึ่งของโลกที่นักลงทุน ต่างจับจ้องที่จะเข้ามาจับจองพื้นที่ทางการค้าและการลงทุนในภูมิภาคนี้ เพราะไม่เพียงแค่ตลาดดังกล่าวแต่เป้าหมายต่อไปนักลงทุนเหล่านี้ยังมองไปยังตลาดใหญ่ที่จะเชื่อมโยงไปสู่จีนและอินเดีย นั่นเอง

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะก่อให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบใหม่ (New Growth) การค้าและการลงทุนจะเสรีอย่างมาก และเมื่อมองย้อนกลับความได้เปรียบของไทยเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในการเข้าสู่ AEC พบว่าไทยมีที่ตั้งที่เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคนี้ ดังนั้น เราจึงได้เปรียบในแง่ของการท่องเที่ยวและระบบการขนส่งที่จะเชื่อมโยง (Connectivity) ภูมิภาคนี้เข้าด้วยกันนั่นเอง และนี่จึงเป็นที่มาการจัดทำร่างยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐาน เพื่อการพัฒนาระบบขนส่งของประเทศมูลค่า 2 ล้านล้านบาท ของรัฐบาลภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานในการยกระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง

ยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะทำให้ไทยมีขีดความสามารถทางการแข่งขันที่สูงขึ้นเพราะการลงทุนภายใต้ยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์การพัฒนาของประเทศอื่นๆ ทั้งพลังงาน อุตสาหกรรมเกษตรกรรมเข้าด้วยกันภายใต้การลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ ที่จะเน้นลงทุนระบบราง ท่าเรือ ขนส่งทางอากาศ การบริหารจัดการน้ำที่ขณะนี้ไทยมีการขนส่งที่พึ่งพิงน้ำมันเป็นหลัก เมื่อปรับมาเป็นระบบรางจะทำให้มีการประหยัดพลังงานต่อปีในอนาคตได้ในระดับแสนล้านบาท และยังสามารถขนส่งคนในการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แน่นอนว่ายุทธศาสตร์ทั้งหมดล้วนแล้วแต่จะต้องเกี่ยวข้องกับแผนการพัฒนาพลังงาน ดังนั้น กระทรวงพลังงานภายใต้การกำกับดูแลของนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน ปัจจุบันจึงได้วางยุทธศาสตร์พลังงานในการเชื่อมเข้ากับระบบการพัฒนาประเทศแล้วยังต้องเชื่อมระบบเข้ากับ AEC อีกด้วย AEC จะช่วยเพิ่มโอกาสให้กับประเทศไทยเข้าถึงตลาดใหม่ (ASEAN) ซึ่งจะก่อให้เกิดการยกระดับทางเศรษฐกิจเพื่อให้ไทยมีความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางด้านพลังงาน (Hub) ภูมิภาค

ระยะเวลาอีกเพียง 2 ปีข้างหน้า จึงจำเป็นที่ไทยต้องเร่งวางโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานรองรับการยกระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจดังกล่าวอย่างเร่งด่วน

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานได้มีการดำเนินการภายใต้แผนปฏิบัติการอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงานปี 2553-2558 (ASEAN Plan of Action on Energy Cooperation:APAEC) มีโครงการหลักที่สำคัญ 7 สาขา ได้แก่ 1.การเชื่อมโยง ระบบสายส่งไฟฟ้าของอาเซียน (ASEAN Power Grid:APG) 2.การเชื่อมโยงท่อส่งก๊าซธรรมชาติของอาเซียน (Trans-ASEAN Gas Pipeline : TAGP) 3.เทคโนโลยีถ่านหินและถ่านหินสะอาด 4.พลังงานที่นำมาใช้ใหม่ได้ (Renewable Energy:RE) 5.การสงวนรักษาและประสิทธิภาพของพลังงาน (Energy Efficiency and Conservation :EE&C) 6.นโยบายและการวางแผนพลังงานภูมิภาค และ 7.พลังงาน นิวเคลียร์

อย่างไรก็ตาม เราต้องยอมรับว่า ใน 7 โครงการดังกล่าวนับว่าล้วนมีความสำคัญที่จะต้องเร่งเดินหน้า โดยเฉพาะการเชื่อมโยงท่อส่งก๊าซธรรมชาติของอาเซียน จึงเป็นสิ่งจำเป็นมากทั้งในปัจจุบันและอนาคต เพราะไทยยังต้องเสาะแสวงหาแหล่งก๊าซธรรมชาติใหม่ๆ เพื่อรองรับการบริโภคในประเทศ และดูเหมือนจะเป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยให้ประเทศไทยมีแหล่งก๊าซที่จะป้อนเข้ามาในระบบมากขึ้น ขณะที่การเชื่อมโยงระบบสายส่งไฟฟ้าของอาเซียน ยังคงต้องมีการพัฒนาสายส่งไฟฟ้าเพื่อเสริมสร้างความมั่นคง ของการจ่ายไฟฟ้าในภูมิภาคและส่งเสริมให้มีการขายไฟฟ้าระหว่างประเทศ เพื่อลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าโดยรวม ซึ่งประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะยกระดับให้เป็นศูนย์กลางการซื้อขายไฟฟ้า (Electricity Hub) ของภูมิภาค

การเชื่อมโยงพลังงานเข้ากับอาเซียนนั้นจะเป็นการเพิ่มศักยภาพความมั่นคงด้านพลังงานของไทย เนื่องจากเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งพลังงานในประเทศภูมิภาค ASEAN เนื่องจากปัจจุบันไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าพลังงาน โดยมีการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศสูงถึง 85% ของความต้องการใช้พลังงานประเทศ มีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากพม่า 30% ของความต้องการใช้ในประเทศ และยังมีการนำเข้าพลังงานไฟฟ้าจากลาวและมาเลเซียอีกส่วนหนึ่ง

ทั้งนี้ การผลิตไฟฟ้าของไทยขณะนี้พึ่งพิงก๊าซธรรมชาติถึงเกือบ 70% ซึ่งแนวโน้มอีก 10 ปีข้างหน้าก๊าซฯอ่าวไทยจะทยอยหมด ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงอย่างพม่าแหล่งก๊าซฯก็เริ่มจำกัด และเมื่อเข้าสู่ AEC อาจทำให้พม่าไม่จำเป็นต้องขายก๊าซฯให้เราเพิ่มเติมอีก ดังนั้น ไทยจึงหนีไม่พ้นการนำเข้าจากต่างประเทศที่ต้องขนมาในรูปของเหลวที่เรียกว่าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ที่จะมีราคาแพงกว่าก๊าซฯที่ไทยใช้อยู่ถึงเท่าตัว นั่นหมายถึงอนาคตค่าไฟไทยก็จะต้องบวกไปอีกเท่าตัวเช่นกัน

จาก ปัจจุบันค่าไฟฐานอยู่ที่ 3.75 บาทต่อหน่วย ก็จะปรับไปมากกว่า 5 บาทต่อหน่วย

การเชื่อมโยงระบบพลังงานของไทยเข้ากับประเทศเพื่อนบ้านตามยุทธศาสตร์ดังกล่าวจึงไม่เพียงแต่เป็นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานด้วยการแสวงหาและพัฒนาแหล่งพลังงานทั้งในและต่างประเทศ แต่ยังเป็นการเพิ่มโอกาสในการกระจายแหล่งและประเภทเชื้อเพลิงพลังงานให้มีความหลากหลายและยั่งยืน ตลอดจนเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในอุตสาหกรรมพลังงาน นำมาซึ่งราคาพลังงานที่มีราคาถูกลงที่จะดึงดูดให้เกิดการลงทุนทางด้านอุตสาหกรรมและพลังงานที่ต่อเนื่องทั้งโรงกลั่นและปิโตรเคมี อันจะส่งเสริมให้ภูมิภาคนี้มีความเข้มแข็งทางด้านเศรษฐกิจที่จะก้าวไปกับการเติบโตที่พร้อมๆ กันได้

ขณะเดียวกัน ประเทศไทยนั้นก็ยังจะมีโอกาสผลักดันให้อุตสาหกรรมพลังงานสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศ โดยการใช้ความได้เปรียบในเชิงยุทธศาสตร์โดยเฉพาะพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก เช่น เอทานอล การผลิตไฟฟ้าจากหญ้าเนเปียร์ พลังงานลม พลังงานน้ำ และพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น ซึ่งจะกระตุ้นให้มีการเพิ่มมูลค่าเพิ่มในสินค้าเกษตรอย่างครบวงจรนำมาซึ่งระบบเกษตรกรรมที่เข้มแข็งและมีความหลากหลายตามความเหมาะสมของพื้นที่ และยังเป็นการส่งเสริมการค้นคว้าวิจัยเพื่อนำมาซึ่งต้นทุนที่ลดลงในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงที่ทุกประเทศแม้แต่ประเทศไทยจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือการก้าวเข้าสู่ AEC ราคาพลังงานจะต้องสะท้อนกลไกตลาดโลกเพราะการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ ทุน และแรงงานเสรี ตลอดจนการเปิดเสรีการลงทุนภายในภูมิภาค โอกาสการลงทุนที่เพิ่มขึ้นจะนำมาซึ่งความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้น หากประเทศใดอุดหนุนราคาพลังงานที่ต่ำไว้ย่อมทำให้การไหลบ่าไปใช้เพิ่มจะยิ่งสูงขึ้น นั่นก็จะเป็นภาระของคนในชาตินั้น ตัวอย่างของไทยเอง ก็เช่นกัน ปัจจุบันไทยมีการตรึงราคาก๊าซหุงต้มหรือแอลพีจีโดยยังไม่ได้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ด้วยการนำเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปอุดหนุนส่วนต่างไว้เฉลี่ยปีละไม่น้อยกว่า 3-4 หมื่นล้านบาท ซึ่งไม่เพียงทำให้คนใช้น้ำมันต้องถูกรีดเงินมาอุดหนุนผู้ใช้แอลพีจีในประเทศอย่างไม่เป็นธรรม แล้วส่วนหนึ่งยังไปอุดหนุนให้เพื่อนบ้านอีกด้วยเพราะมีการลักลอบนำออกไปเพราะราคาประเทศเพื่อนบ้านแพงกว่าไทยนั่นเอง

ดังนั้น ไทยมีเวลาอีกไม่นานนักในการเตรียมความพร้อมด้านพลังงานในการรองรับการก้าวสู่ AEC เพราะเมื่อถึงเวลานั้นหากเราไม่เลือกที่จะกำหนดอนาคตของเราเอง ระบบการเปิดเสรีจะเป็นตัวกำหนดอนาคตให้กับคนไทยเอง ซึ่งนั่นหมายถึงไทยจะเผชิญความเสี่ยงกับความมั่นคงและราคาพลังงานที่แพงมากยิ่งขึ้น

อย่าให้คนอื่นมากำหนดอนาคตเรา ถึงเวลาแล้วหรือยังที่คนไทยจะต้องเลือกอนาคตให้กับตัวเอง....

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 25 มีนาคม 2556

กษ.กำหนดเขตเกษตรศก. 6 ชนิดสินค้ามุ่งพัฒนาเกษตรกรสู่การเป็น Smart Farmer

เกษตรฯ ขับเคลื่อนเกษตรเศรษฐกิจต่อเนื่อง ประกาศการกำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจเหมาะสมของปี 56 ใน 6 ชนิดสินค้าแล้ว ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อยโรงงาน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มุ่งให้เกษตรกรเป็น Smart Farmer ไปพร้อมกับการพัฒนาเจ้าที่ให้เป็น Smart officer สู่การปฏิรูปภาคการเกษตรไทยที่แข่งขันได้ในตลาดโลก

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนเขตเกษตรเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สำคัญใช้ในการกำหนดนโยบายพัฒนาการเกษตรของประเทศไทย เป็นการจัดสรรหรือนำที่ดินเพื่อการเกษตรที่มีอยู่ประมาณ 150 ล้านไร่ มากำหนดใช้ในการเพาะปลูกข้าว พืชไร่ ผัก ไม้ผล การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและการเลี้ยงปศุสัตว์ ซึ่งในหลายปีที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรฯ ได้ประกาศกำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจในสินค้าเกษตรที่สำคัญไปแล้ว 13 ชนิดสินค้า

คือ หน่อไม้ฝรั่ง ปาล์มน้ำมัน หอมแดง หอมหัวใหญ่ โกโก้ มันสำปะหลัง กระเทียม ไก่เนื้อ กาแฟ ฝ้าย ปอ สับปะรด อ้อย และยังมีสินค้าเกษตรที่มิได้ออกประกาศเขตเกษตรเศรษฐกิจ แต่ประกาศให้เกษตรกรมาขึ้นทะเบียน คือ โคนม หม่อนไหม ข้าวนาปรัง ทุเรียน โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะควบคุมและส่งเสริมการผลิตทางการเกษตรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด รักษาเสถียรภาพของระดับราคาผลผลิตทางการเกษตรให้มั่นคงและเป็นธรรม ตลอดจนให้ความช่วยเหลือในด้านการพัฒนาการเกษตรเพื่อยกระดับรายได้ของเกษตรกรให้สูงขึ้น

สำหรับกลไกในการขับเคลื่อนเขตเกษตรเศรษฐกิจ จะประกอบด้วยคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ คณะอนุกรรมการกำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจ และคณะอนุกรรมการบริหารการผลิตกลุ่มสินค้าเกษตร 11 คณะ โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบหลักแต่ละสินค้าและ สศก. เป็นฝ่ายเลขานุการในแต่ละคณะ ซึ่งการกำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจ จะมีการวิเคราะห์ความเหมาะสมของที่ดิน คุณสมบัติของดิน ร่วมกับความต้องการธาตุอาหารของพืชแต่ละชนิด ตามสภาพที่มีการเพาะปลูกพืช ร่วมกับปัจจัยที่เกี่ยวข้องอื่นๆ

เช่น เขตป่าไม้ตามกฎหมาย เขตพื้นที่โครงการชลประทานประกอบการพิจารณากำหนดเขตเหมาะสม สำหรับใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาตัดสินใจของผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเกษตรกรในการพิจารณาสร้างความสามารถในการแข่งขันของแต่ละหน่วยผลิต ซึ่งประโยชน์สำคัญที่จะได้จากการบริหารจัดการการใช้ที่ดินของประเทศ จะทำให้เกษตรกรลดต้นทุนจากการทำการเกษตรเนื่องจากปัจจัยการผลิตได้ถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพเหมาะสมกับความต้องการของพืชแต่ละชนิด ผลผลิตมีปริมาณและคุณภาพเพิ่มมากขึ้น และเพิ่มโอกาสในการเลือกพืชที่เพาะปลูกตามความเหมาะสมของดินและสภาพพื้นที่

ดังนั้น เมื่อสามารถบริหารจัดการด้านต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็เท่ากับสร้างภูมิคุ้มกันทางด้านรายได้ให้กับเกษตรกรได้เป็นอย่างดี มีการใช้ประโยชน์จากที่ดินเพื่อการเกษตรได้เต็มศักยภาพ ลดการนำเข้าสารเคมีและปุ๋ยเคมี นำไปสู่การยกระดับความสามารถในการแข่งขันภาคการเกษตรของประเทศ

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้ออกประกาศการกำหนดเขตเหมาะสม สำหรับการปลูกข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อยโรงงาน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยข้อมูลที่ได้ประกาศจะนำไปสู่การพิจารณาหาแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพการผลิตสินค้าเกษตร การรักษาเสถียรภาพด้านราคา และอุปสงค์ อุปทานในอนาคต จำแนกตามรายภาค จังหวัด อำเภอ และตำบล ไปดำเนินการเชื่อมโยงในระดับกลุ่มจังหวัดและจังหวัด เพื่อบูรณาการกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องด้านการแปรรูป การตลาด และการจัดจำหน่าย โดยมีเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ข้อมูลสนับสนุนหรือประสานความร่วมมือในด้านต่างๆ เน้นให้เกษตรกรปรับวิธีคิดเป็น Smart Farmer ไปพร้อมกับการพัฒนาเจ้าหน้าที่ให้เป็น Smart officer สู่การปฏิรูปภาคการเกษตรของประเทศไทย ที่สามารถแข่งขันได้ในอาเซียนและในตลาดโลก

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ทางคณะอนุกรรมการชุดต่างๆ ได้จัดให้มีการประชุมและมอบหมายอนุกรรมการให้ดำเนินการจัดเตรียมข้อมูลและหาแนวทางในประเด็นต่างๆ ทั้งข้อมูล Demand และ Supply แนวทางเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ลำดับชนิดสินค้า เป้าหมายที่จะดำเนินการ โดยมอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ ติดตามและดูแลข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมส่งเสริมการเกษตร ตรวจสอบพื้นที่ จำนวนเกษตรกร และผลผลิต สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรและกรมการค้าภายในร่วมกันดูแลสถานการณ์ตลาดและการผลิตสินค้า กรมพัฒนาที่ดิน ตรวจสอบศักยภาพดิน กรมวิชาการเกษตรดูเรื่องเทคโนโลยี และ Crop Requirement เป็นต้น

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 26 มีนาคม 2556

เกษตรฯห่วงผู้ประกอบการไทยที่เพาะปลูกในอาเซียนย้อนเป็นคู่แข่งสินค้าเกษตรไทย

เกษตรฯ เร่งตามติดข้อมูลผู้ประกอบการไทยลงทุนการเพาะปลูกในประเทศกลุ่มอาเซียน หวั่นย้อนเป็นคู่แข่งสินค้าเกษตรไทยที่ยังได้เปรียบหลายสินค้าโดยเฉพาะ ข้าว มัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดการสัมมนา เรื่อง “ก้าวไกล ก้าวไป ขับเคลื่อนเกษตรไทยสู่อาเซียน” และกล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อเกษตรกรทันสมัย เกษตรไทยก้าวหน้า ว่า การเปิดการค้าเสรีอาเซียน หรือเออีซีที่จะเกิดขึ้นในอีกสองปีข้างหน้านั้น ในส่วนของประเทศไทยได้เตรียมความพร้อมในหลายๆ มิติที่มีความเชื่อมโยงกัน ไม่ว่าจะเป็นทางเศรษฐกิจ สังคม การลงทุน และภาคการเกษตร ที่ได้มีการปรับตัวเพื่อเตรียมรองรับความร่วมมือและการแข่งขันในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งแม้ว่าภาคการเกษรตรของไทยจากการรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเกษตรกรนั้น ขณะนี้ยังไม่มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบแต่อย่างใดเนื่องจากเกษตรกร และภาคการผลิตของไทยมีความเข้มแข็งค่อนข้างมาก โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มพืชไร่ที่ประเทศไทยมีความได้เปรียบ เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แต่จากข้อมูลปัจจุบันที่พบว่ามีผู้ประกอบการได้เข้าไปลงทุนการปลูกพืชกลุ่มดังกล่าวในประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มมากขึ้น ก็เป็นเรื่องสำคัญที่กระทรวงเกษตรฯต้องมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเนื่องจากหากมีผลผลิตออกมาแล้วส่งกลับมายังประเทศไทยก็อาจจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรไทยได้เช่นกัน

ขณะเดียวกัน มาตรการที่สำคัญที่กระทรวงเกษตรฯ จะเร่งพัฒนาและส่งเสริมเกษตรกรคือการผลิตสินค้าที่สมดุลเพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศและการส่งออกเพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร รวมถึงการผลิตอาหารที่ปลอดภัยเป็นไปตามมาตรฐานที่สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร (มกอช.) ได้มีการประกาศใช้ไปแล้วกว่า 200 ชนิด และจะขยายผลไปสู่มาตรฐานบังคับให้ได้เพื่อให้เกษตรกรตระหนักและเห็นความสำคัญของการผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐานที่จะช่วยป้องกันผลกระทบต่อผลผลิตของเกษตรกรที่จะมีการแข่งขันในด้านสินค้ามากขึ้นเมื่อมีการเปิดเสรีทางการค้าซึ่งจะต้องถูกลดภาษีเป็นศูนย์

“แม้ว่าภาครัฐจะเป็นผู้นำในการเจรจาในการประสานงานกับกลุ่มอาเซียนทั้งหมดในการวางระบบ นโยบาย การสร้างความร่วมมือ รวมถึงดูแลกฏเกณฑ์ข้อระเบียบต่างๆ ของแต่ละประเทศของกลุ่มสมาชิกอาเซียน และการจัดระบบด่านชายแดนของศุลกากร เมื่อมีการเปิดเสรีอาเซียนขึ้น แต่ปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือเกษตรกร จะต้องมีการรวมกลุ่มให้มีความเข้มแข็งให้มากยิ่งขึ้น เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ และศักยภาพการผลิตของตนเองให้เป็นไปในเชิงธุรกิจ และมองตลาดเป็นหัวใจสำคัญในการผลิตสินค้าให้ได้”นายยุคล กล่าว

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 26 มีนาคม 2556

ชง'กอน.'เพิ่มโควตา ก.แสนตัน รองรับตลาดเครื่องดื่มขยายตัว

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการน้ำตาลทราย (กน.) เปิดเผยว่า กน.ได้เห็นชอบการจัดสรรปริมาณน้ำตาลทรายโควตา ก. (บริโภคในประเทศ) ฤดูการผลิตปี 2555/2556 เพิ่มขึ้นอีก 1 แสนตัน หรือ 1 ล้านกระสอบ จากเดิมกำหนดไว้ 2.4 ล้านตัน หรือ 24 ล้านกระสอบ รวมเป็น 2.5 ล้านตัน หรือ 25 ล้านกระสอบ เนื่องจากปริมาณการจำหน่ายเพิ่มขึ้นอย่างมาก เกรงว่าจะทำให้น้ำตาลทรายในประเทศตึงตัว โดยจะเสนอให้คณะกรรมการ อ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ที่มีนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานเห็นชอบต่อไป

"ช่วง 2-3 สัปดาห์นี้ น้ำตาลทรายที่ขึ้นงวดเฉลี่ยกว่า 5 แสนกระสอบต่อสัปดาห์ ถูกขายหมดเกลี้ยง ตรวจสอบพบว่ามีความต้องการจากภาคการผลิตที่ขณะนี้น้ำอัดลม อาหารแปรรูป และขนมหวานใช้น้ำตาลมากขยายตัว โดยเฉพาะการทำตลาดของน้ำอัดลมยี่ห้อเอส ซึ่งเป็นน้ำอัดลมน้องใหม่จากบริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน)" แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวถึงการหีบอ้อยฤดูการผลิตนี้ว่า หลังเปิดหีบตั้งแต่ 15 พฤศจิกายน 2555 มีปริมาณอ้อยเข้าหีบรวมแล้ว 90.4 ล้านตัน เบื้องต้น มีโรงงานน้ำตาล 4 แห่งปิดหีบแล้ว ที่เหลือคาดว่า จะปิดหีบจนครบในอีก 20 วันที่เหลือหรือไม่เกินวันที่ 13 เมษายน ประเมินเบื้องต้นจากอ้อยที่เข้าหีบเฉลี่ย 6-7 แสนตันต่อวัน คาดว่าจะทำให้ปริมาณผลผลิตอ้อยปีนี้อาจใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาที่ทำได้ในระดับ 97.98 ล้านตัน

"หากผลิตอ้อยได้ 97.98 ล้านตัน จะสูงกว่าปริมาณอ้อยที่รัฐคาดการณ์ไว้คือ 94.64 ล้านตัน ต่างจากที่หลายฝ่ายคาดว่า ปริมาณอ้อยอาจน้อย จากภาวะภัยแล้ง แต่ขณะนี้ชาวไร่อ้อยขยายพื้นที่เพาะปลูกมากขึ้น เพราะราคาอ้อยมีแนวโน้มที่ดีช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ผลผลิตน้ำตาลทรายต่อตันอ้อยล่าสุดเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 100 กิโลกรัม (กก.) ต่อตันอ้อย ต่ำกว่าปีที่แล้ว ซึ่งเฉลี่ยระดับ 104-105 กก.ต่อตันอ้อย ค่าความหวานเฉลี่ยน้ำตาลปีนี้เฉลี่ยระดับ 11.53 ซี.ซี.เอส.จากปีที่แล้ว 12.4 ซี.ซี.เอส. ทำให้ภาพรวมการผลิตน้ำตาลทรายปีนี้น่าจะอยู่ในระดับ 9.6-10 ล้านตัน จากปีที่แล้วได้ 10.2 ล้านตัน" แหล่งข่าวกล่าว

จากhttp://www.matichon.co.th วันที่ 26 มีนาคม 2556

กน.หวั่นน้ำตาลขาดตลาด ดันโควตาก.1ล้านกระสอบ

รายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะกรรมการน้ำตาลทราย (กน.) เห็นชอบการจัดสรรปริมาณน้ำตาลทรายโควตา ก. (บริโภคในประเทศ) ฤดูการผลิตปี 55/56 เพิ่มขึ้นอีก 1 ล้านกระสอบจากเดิมที่กำหนดไว้ 24 ล้านกระสอบ เป็น 25 ล้านกระสอบ หรือ 2.5 ล้านตัน เนื่องจากพบว่ามีปริมาณการจำหน่ายเพิ่มขึ้นอย่างมากจึงกังวลว่าจะทำให้ปริมาณน้ำตาลทรายในประเทศตึงตัวได้ในอนาคต

ทั้งนี้น้ำตาลทรายที่ขึ้นงวดในแต่ละสัปดาห์จะเฉลี่ยอยู่ที่กว่า 500,000 กระสอบแต่ในระยะ 2-3 สัปดาห์นี้มีการขายหมดเกลี้ยง ส่วนหนึ่งมาจากความต้องการของภาคการผลิตที่ขณะนี้มีการขยายตัวของโรงงานน้ำอัดลม อาหารแปรรูปและขนมหวานที่ใช้น้ำตาลมากโดยเฉพาะน้ำอัดลมยี่ห้อเอส ซึ่งเป็นสินค้าน้องใหม่จาก บมจ.เสริมสุข

"กน. จะเร่งเสนอให้คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ที่มี นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานเห็นชอบต่อไปในการเพิ่มโควตา ก. เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความวุ่นวายเหมือนกับในช่วง 2-3 ปีก่อนที่ไทยประสบปัญหาขาดแคลนน้ำตาลทรายในบางพื้นที่ส่งผลให้ราคาขายปลีกบางแห่งแอบปรับราคาไปอยู่ที่ กก.ละ 27-28 บาท จนสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้บริโภค"

สำหรับความคืบหน้าการหีบอ้อยฤดูการผลิตปี 55/56 ที่เปิดหีบตั้งแต่ 15 พ.ย. 55 ล่าสุดมีปริมาณอ้อยเข้าหีบรวมแล้ว 90.4 ล้านตัน โดยเบื้องต้นมีโรงงาน 4 แห่งปิดหีบแล้วที่เหลือคาดว่าจะปิดหีบจนครบในช่วงอีก 20 วันที่เหลือหรือไม่เกินวันที่ 13 เม.ย. นี้ เมื่อประเมินเบื้องต้นจากอ้อยที่เข้าหีบเฉลี่ย 600,000-700,000 ตันต่อวันคาดว่าจะทำให้ปริมาณผลผลิตอ้อยปีนี้อาจจะใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาซึ่งทำไว้ได้ในระดับ 97.98 ล้านตัน

"ถ้าดูตัวเลขแบบนี้แล้วทำให้ปริมาณอ้อยที่ผลิตได้ปีนี้จะสูงกว่าปริมาณอ้อยที่รัฐได้จัดสรรไว้ในระดับ 94.64 ล้านตัน ซึ่งเดิมหลายฝ่ายมองว่าจะไม่ถึงหรือค่อนข้างต่ำเนื่องจากประสบภาวะภัยแล้งแต่เนื่องจากชาวไร่มีการขยายพื้นที่เพาะปลูกจำนวนมากเพราะราคาอ้อยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีแนวโน้มที่ดีทำให้ชาวไร่เห็นกำไรสูง ส่วนจำนวนพื้นที่ขยายที่ชัดเจนจะประเมินภายหลังว่าจำนวนเท่าใดแน่"

สำหรับผลผลิตน้ำตาลทรายต่อตันอ้อยล่าสุดพบว่าเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 100 กิโลกรัมต่อตันอ้อย ซึ่งต่ำกว่าปีที่แล้วเฉลี่ยอยู่ในระดับ 104-105 กก.ต่อตันอ้อย ขณะที่ค่าความหวานเฉลี่ยน้ำตาลปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 11.53 ซี.ซี.เอส จากปีที่แล้วเฉลี่ยที่ 12.4 ซี.ซี.เอส ทำให้ภาพรวมการผลิตน้ำตาลทรายปีนี้น่าจะอยู่ในระดับ 9.6-10 ล้านตันจากปีที่แล้วได้ 10.2 ล้านตัน.

จาก http://www.dailynews.co.th   วันที่ 25 มีนาคม  2556

เปิดผลสำรวจภาวะครัวเรือน โครงการบริหารจัดการน้ำ5จังหวัดอีสานสร้างรายได้เกษตรกร

นายฉัตรชัย เต้าทอง ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 11 อุบลราชธานี (สศข.11) เปิดเผยว่า สศข.11 ได้สำรวจภาวะเศรษฐกิจสังคมครัวเรือนในโครงการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร ปี 2556 ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 รวม 5 จังหวัด คือ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ ยโสธร และมุกดาหาร เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการพัฒนาและติดตามประเมินผลโครงการ ตามที่คณะอนุกรรมการบูรณาการแผนปฏิบัติการพัฒนาด้านการเกษตรจังหวัดได้คัดเลือกพื้นที่ ซึ่งจากการสำรวจ พบว่า จังหวัดอุบลราชธานีคัดเลือกพื้นที่บางส่วนของหมู่ที่ 2 และ 3 ตำบลคำเจริญ อำเภอตระการพืชผล ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์จากการใช้น้ำอ่างเก็บน้ำห้วยถ้ำแข้ มีจำนวนครัวเรือนเกษตรที่ใช้ประโยชน์ในพื้นที่โครงการทั้งหมด 161 ครัวเรือน พื้นที่ทำการเกษตร จำนวน 1,750 ไร่ มีรายได้เงินสดสุทธิเกษตรเฉลี่ย 66,932 บาท/ครัวเรือน

จังหวัดศรีสะเกษ ได้คัดเลือกพื้นที่หมู่ที่ 5 หมู่ 8 และหมู่ที่ 13 ตำบลกันทรอมอำเภอขุนหาญ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์จากอ่างเก็บน้ำห้วยตาจู มีจำนวนครัวเรือนเกษตรที่ใช้ประโยชน์ในพื้นที่โครงการทั้งหมด50 ครัวเรือน พื้นที่ 557.75 ไร่ มีรายได้เงินสดสุทธิเกษตรเฉลี่ย 88,822 บาท/ครัวเรือน

จังหวัดอำนาจเจริญ ได้คัดเลือกพื้นที่โครงการครอบคลุมพื้นที่ 6 ชุมชนของตำบลบุ่ง อำเภอเมือง ได้แก่ ชุมชนรุ่งอรุณ1, 2 ชุมชนโนนจาน ชุมชน 20 พัฒนา ชุมชนอ่างใหญ่ ชุมชนดอนแดง และชุมชนโคกจักจั่น ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์จากการใช้น้ำชลประทานอ่างเก็บน้ำพุทธอุทยาน ครัวเรือนที่ทำการเกษตรในพื้นที่โครงการจำนวน 211 ครัวเรือน พื้นที่ 1,705 ไร่ มีรายได้เงินสดสุทธิเกษตรเฉลี่ย 15,115 บาท/ครัวเรือน

จังหวัดยโสธร ได้คัดเลือกพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่ หมู่ที่ 8, 9, 13 ตำบลค้อเหนือ อำเภอเมือง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์จากการใช้น้ำชลประทานโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณหนองอึ่ง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีครัวเรือนที่ทำการเกษตรในพื้นที่โครงการจำนวน 71 ครัวเรือน พื้นที่ 800 ไร่ มีรายได้เงินสดสุทธิเกษตรเฉลี่ย 88,854 บาท/ครัวเรือน

จังหวัดมุกดาหาร ในพื้นที่หมู่ที่ 2, 6ตำบลหนองแคน อำเภอดงหลวง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์จากอ่างเก็บน้ำห้วยหินลับ มีครัวเรือนที่ทำการเกษตรในพื้นที่โครงการจำนวน 187 ครัวเรือน พื้นที่ 1,255 ไร่ มีรายได้เงินสดสุทธิเกษตรเฉลี่ย 250,060 บาท/ครัวเรือน

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 25 มีนาคม  2556

เงินทะลักเข้าไทยดันบาทแข็ง ส่อแววฟองสบู่ฉุดเศรษฐกิจร่วง

สถานการณ์ค่าเงินบาทตลอดทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมาได้กลายเป็นปัญหาหนักอกให้กับรัฐบาล เช่นเดียวกับปัญหาการเมือง ที่ยิ่งเข้าใกล้เดือนเมษายน ก็ยิ่งทวีความร้อนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะจนถึงเวลานี้ค่าเงินบาทได้แข็งค่าทะยานพุ่งพรวดจากเมื่อต้นปีขึ้นมาถึง 5%

โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา ที่ค่าเงินปรับตัวแข็งค่าขึ้นมาถึงระดับ 29.15 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐทีเดียว ซึ่งถือว่าแข็งค่าที่สุดในรอบ 16 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่เกิดวิกฤติต้มยำกุ้งจนต้องปล่อยลอยตัว เมื่อปี 40 แถมยังเป็นการแข็งค่าเร็วกว่าเงินสกุลอื่นที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่าง เงินเปโซ ของฟิลิปปินส์ ที่แข็งค่าขึ้นเพียง 0.7%

ขณะเดียวกันยังสวนทางกับค่าเงินสกุลอื่นทั้งเงินริงกิต ของมาเลเซีย ที่อ่อนค่าลง 2.2% เงินรูเปียห์ ของอินโดนีเซีย ที่อ่อนค่าลง 1.1% หรือเงินดอลลาร์สิงคโปร์ ที่อ่อนค่าลง 2.4%

สาเหตุที่เงินบาทแข็งค่าเป็นผลมาจากเศรษฐกิจประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ทั้งสหรัฐอเมริกาและยุโรปยังลูกผีลูกคนและประเทศเหล่านี้ยังต้องอาศัยเม็ดเงินอัดฉีดเข้าระบบ ทำให้กระแสเงินทุนต่างชาติหลั่งไหลเข้ามาหาผลตอบแทนสูง โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเอเชียรวมถึงไทยที่เศรษฐกิจที่มีความแข็งแกร่ง ผนวกกับได้รับแรงหนุนจากการลงทุนพื้นฐานของรัฐทำให้นักลงทุนแห่เข้ามาเก็งกำไรในตลาดหุ้น ตลาดพันธบัตร ตลาดอสังหาริมทรัพย์กันอย่างเนืองแน่น

อย่างไรก็ดีบรรดากูรูด้านการเงินทั้งหลาย ได้ออกมาคาดการณ์ทิศทางค่าเงินบาทไปในทิศทางเดียวกันว่ามีแนวโน้มแข็งค่าถึง 29 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในกลางปีนี้ และ แข็งค่าถึง 28.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ปลายปีนี้ เพราะไทยยังต้องเผชิญแนวโน้มเงินทุนไหลเข้าต่ออีก 1 ปี จากนโยบายอัดฉีดสภาพคล่องของประเทศที่มีปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งแนวโน้มการแข็งค่าของค่าเงินบาทที่ตลอดทั้งปีเฉลี่ยน่าจะอยู่ที่ 29.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้เพียง 4.8% และทำให้การส่งออกของไทยจะเติบโตได้ในระดับที่ 10.5%

ส่วนข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ระบุไว้ว่า หากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นทุก 1% จะกระทบต่อการส่งออก 0.6-1% หากค่าเงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ 28.90 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ การส่งออกจะโตเพียง 6.5% และเศรษฐกิจจะขยายตัวเพียง 4.2% แต่ถ้าค่าเงินบาทหลุดกรอบไปแตะที่ 27.90 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่งออกจะเติบโตเหลือเพียง 2.5% เท่านั้น ขณะที่เศรษฐกิจไทยเติบโตเพียง 3%

แต่ที่น่าสนใจ…อยู่ที่ว่าประธานบอร์ดแบงก์ชาติและประธานที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรีอย่าง “ดร.โกร่ง-วีรพงษ์ รามางกูร” ออกมาแสดงความกังวลไว้ว่า เงินร้อนที่หลั่งไหลเข้ามาในไทยเวลานี้ได้ส่งผลกระทบใน 2 เรื่อง คือทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น และทำให้เกิดฟองสบู่ในภาคการเงินและอสังหาริมทรัพย์ โดยเงินที่ไหลเข้ามาเพราะไทยมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงถึง 2.75% แต่ในส่วนของสหรัฐอยู่ที่ 0.25% ถือว่าต่างกันหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ เมื่อเงินยังมีอยู่จนล้นโลก หากที่ใดให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าไหลไปตรงนั้น

ที่สำคัญ ดร.โกร่ง ยังบอกไว้อีกว่า ในฐานะที่เป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติก็มั่นใจได้เลยว่า แม้จะเกิดสถานการณ์เช่นนี้แต่อย่างไรเสียแบงก์ชาติคงไม่ลดดอกเบี้ยแน่นอน และกล้าท้าพนันได้ ผมกล้าพนันได้เลย และหากเงินยังไหลเข้าอยู่เช่นนี้ก็มีโอกาสที่จะเกิดฟองสบู่ในไทยได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงว่าฟองสบู่อาจแตกได้ในปลายปีนี้
ด้วยความจริงที่ว่าปัจจุบันไทยได้เปิดเสรีการเงิน แต่ขณะเดียวกันไทยยังไม่มีเครื่องมือรองรับที่ดีเช่นกันด้วย เห็นได้จากเงินร้อนที่เข้ามาเก็งกำไรในตลาดหุ้น และตลาดพันธบัตร ที่มีต่างชาติเข้ามาแล้วกว่า 15% และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

การออกมาประกาศเตือนอย่างชัดเจนของดร.โกร่ง ครั้งนี้ถือว่ายิ่งตอกย้ำลงไปอีกว่า “เงินร้อน” ที่หลั่งไหลเข้ามาเวลานี้กำลังเป็นชนวนระเบิดลูกใหญ่ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องตั้งรับให้ทัน เพราะล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยได้ทำลายประวัติศาสตร์เพราะมีมูลค่าซื้อขายกว่า 1 แสนล้านบาททีเดียว แถมยังดิ่งเหวมากกว่า 50.55 จุดหรือหดตัวมากถึง 3.3% เมื่อปิดตลาด เพราะกังวลถึงสถานการณ์การเมือง รวมไปถึงกังวลว่าแบงก์ชาติจะออกมาตรการมาสกัดกั้นเงินร้อน ขณะที่เศรษฐกิจโลกก็ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญ

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ไม่ว่าจะเป็นเงินบาทผันผวน ไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้นผันผวน ถือเป็นจุดเสี่ยงที่สำคัญว่าจะเป็นไปตามที่ดร.โกร่ง เตือนไว้หรือไม่ หรือแม้แต่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังเติบโตแบบสุดขั้วในเวลานี้ เพราะหากฟองสบู่แตกขึ้นมาจริง ๆ ก็เท่ากับเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยมากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการส่งออก ที่ทำให้บรรดาผู้ส่งออกทั้งหลายได้ออกมาถามหามาตรการดูแลก่อนต้องนอนซมพิษไข้กันอีกระลอก

ธุรกิจที่เชื่อกันว่าได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร เช่น ข้าว ยาง น้ำตาล ผลไม้และผลไม้สำเร็จรูป กุ้งและอาหารทะเลแช่แข็ง ไก่แช่แข็ง ที่กำไรลดลงตามอัตราแลกเปลี่ยน ส่วนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบรองลงไป ได้แก่ กลุ่มธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้า รองเท้าและชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับยาง เครื่องหนัง ผลิตภัณฑ์พลาสติก เครื่องประดับและอัญมณี รวมไปถึงโรงแรม

ขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่ต่างซื้อและจองสัญญาอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับตัวเองไว้แล้วจึงถือว่าเป็นกลุ่มที่ยังไม่น่ากังวลแต่…บรรดาผู้ประกอบการที่เป็นกลุ่มเอสเอ็มอีหรือธุรกิจรายย่อยส่วนใหญ่ ยังมีการป้องกันความเสี่ยงในสัดส่วนน้อย จึงถือเป็นกลุ่มที่น่าห่วงเพราะมีภูมิต้านทานต่ำ จึงแข่งขันราคาไม่ได้ ที่จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับ ’ยา“ เพื่อป้องกัน หรือต้องเข้าไปเยียวยาให้ทัน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย บอกว่า มาตรการที่จะเข้ามาดูแลค่าเงินบาทนั้นมีทั้งผลดีและผลเสียโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การลดส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยไทยและต่างประเทศ” อาจลดแรงจูงใจในการเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตลาดการเงินไทยโดยเฉพาะในตลาดตราสารหนี้ได้ แต่มีข้อเสีย คือ ไม่สามารถรับประกันได้อย่างเด็ดขาดว่าจะชะลอหรือยุติกระแสการไหลเข้าของเงินลงทุนต่างชาติได้

ขณะเดียวกันอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงอาจไปเพิ่มความร้อนแรงของตลาดสินเชื่อภาคครัวเรือนอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นการเปิดประเด็นความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงินของประเทศในระยะข้างหน้า...ซึ่งตรงกับความเป็นห่วงของแบงก์ที่ได้แสดงความกังวลไว้

ความเห็นนี้กลับตรงกันข้ามกับความคิดของประธานแบงก์ชาติที่บอกว่า การที่กลัวกันว่าเมื่อลดดอกเบี้ยจะยิ่งกระตุ้นการใช้จ่าย การบริโภคจะเพิ่มขึ้น ทำให้ข้าวของแพงขึ้น ตรงนี้อยากให้เข้าใจว่าไทยนั้นเป็นประเทศเล็ก และเป็นประเทศเปิด แม้สินค้าแพงขึ้น แต่เพิ่มขึ้นไม่มาก หากลดดอกเบี้ยทำให้การนำเข้าเพิ่มขึ้น ยิ่งเป็นการดีที่จะช่วยลดการเกินดุล ลดดุลบัญชีที่เกินดุลอยู่มากในเวลานี้ได้

ด้านผู้ว่าการแบงก์ชาติอย่าง “ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” มองว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าเป็นผลจากพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่ดี ซึ่งทำให้มีเงินทุนต่างประเทศไหลเข้ามาลงทุน โดยเงินทุนเหล่านี้ส่วนใหญ่เข้ามาในตลาดตราสารหนี้มากกว่าตลาดหุ้น ดังนั้นการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นในช่วงนี้จึงเป็นเรื่องของนักลงทุนในประเทศมากกว่า หากเทียบปริมาณเงินที่ไหลเข้าประเทศไทยในช่วงนี้ ถือว่าไม่ได้มีมากนักเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า แต่สาเหตุที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นค่อนข้างเร็วเป็นเรื่องของราคาซื้อและขายมากกว่า

ไม่ว่า…ใครจะมีเหตุผลมีความเชื่อในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นใด แต่อย่าลืมว่าผลที่ออกมาจากความเชื่อของแต่ละฝ่ายที่ ณ เวลานี้คงไม่มีใครชี้ชัดได้ว่าสิ่งที่ถูกต้องคืออะไร แต่ที่แน่ ๆ…คนที่ต้องรับผลที่เกิดขึ้นก็คือคนไทยตาดำ ๆ นั่นเอง!.

ยันไม่มีมาตรการพิเศษ

“กิตติรัตน์ ณ ระนอง” รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง มั่นใจว่า ค่าเงินบาทจะไม่แข็งค่าจนหลุดกรอบ 27 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แน่นอน เพราะหากถึงจุดนั้นจะเกิดปัญหาขึ้นก่อนแล้วกลไกจะทำงาน แต่ในฐานะที่เป็นรัฐบาลก็ต้องป้องกันเพื่อไม่ให้ถึงจุดวิกฤติ เพราะยอมรับว่าค่าเงินบาทมีผลกับภาคเศรษฐกิจหลายส่วน เมื่อเงินบาทแข็งค่าหากทอนเป็นเงินบาทแล้วในแง่ของการส่งออกได้เงินบาทลดลง ทำให้ภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบและอาจลุกลามไปถึงการจ้างงานได้ ที่สำคัญจะทำให้การนำเข้าเพิ่มขึ้น ประเทศขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งรัฐบาลจะเร่งหาแนวทางสกัดกั้นค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าเกินกว่าที่ควรจะเป็น เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับเสถียรภาพเศรษฐกิจ และภาพรวมการส่งออก อย่างไรก็ตาม มาตรการที่มีอยู่เวลานี้ยังสามารถประคับประคองสถานการณ์ค่าเงินได้ ไม่จำเป็นต้องออกมาตรการพิเศษมาดูแล และยังไม่มีมาตรการภาษีสำหรับผู้ส่งออก

ฟันธงบาทแข็งแตะ 28.50 บ.

“เชาว์ เก่งชน” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในปลายปีนี้ค่าเงินบาทอาจแข็งค่าไปแตะที่ระดับ 28.50 บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐ ได้ โดยที่ไทยยังต้องเผชิญแนวโน้มเงินทุนไหลเข้าต่อไปอีก 1 ปี จากนโยบายอัดฉีดสภาพคล่องของประเทศที่มีปัญหาเศรษฐกิจทั้งสหรัฐอเมริกาและยุโรป คาดว่าค่าเงินปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 29.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐทำให้เศรษฐกิจไทย 4.8% ส่งออกอยู่ที่ 10.5% ส่วนการดำเนินนโยบายค่าเงินบาทนั้น ต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของภาครัฐถึงความเหมาะสมต่าง ๆ เพราะทุกนโยบายมีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกัน แต่มองว่าการใช้นโยบายเก็บภาษีเงินเก็งกำไรนั้น ควรใช้ในช่วงที่จำเป็นเท่านั้น ซึ่งไทยเป็นประเทศเสรีด้านการค้า การลงทุน หากใช้การเก็บภาษีสกัดเงินร้อน ก็ต้องชี้แจงให้ต่างประเทศเข้าใจถึงความจำเป็น

เอกชนตามติดฝีมือรัฐ

“วิศิษฎ์ ลิ้มประนะ” ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) บอกว่า บรรดาผู้ส่งออกเริ่มได้รับผลกระทบจากปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมามีการตั้งราคาสินค้ากับคู่ค้าไว้โดยคำนึงถึงค่าเงินบาทระดับเฉลี่ย 30 บาทต่อดอลลาร์ ไม่คิดว่าจะแข็งค่าในระดับ 29 กว่าบาทต่อดอลลาร์ แต่ภาพรวมอาจจะยังไม่เห็นชัดนักซึ่งกำลังติดตามนโยบายภาครัฐว่าจะเข้ามาดูแลมากน้อยเพียงใดเพราะค่าเงินบาทเป็นปัจจัยที่เอกชนคุมไม่ได้ ซึ่งหากบาทแข็งค่าต่อเนื่องผู้ส่งออกในกลุ่มอาหารคงจะต้องเร่งดำเนินการที่สำคัญ 2 เรื่องประกอบด้วยการเจรจาผู้ค้าเป็นราย ๆ ไปที่จะขอปรับราคาสินค้าขึ้นและใช้วิกฤติให้เป็นโอกาสในการนำเข้าเครื่องจักรมาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดการใช้พลังงาน

ทีมเศรษฐกิจ

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 25 มีนาคม  2556

เปิดผลวิจัย"ทีดีอาร์ไอ" รื้อโครงสร้าง"อ้อย-น้ำตาล"

หมายเหตุ : จากมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 มีนาคมที่ผ่านมา เห็นชอบให้กระทรวงอุตสาหกรรม นำผลการศึกษาวิจัยแนวทางการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทย ซึ่งจัดทำโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ไปพิจารณาร่วมกับสำนักงบประมาณ และคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดแนวทางการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยทั้งระบบให้เหมาะสม แล้วให้นำเสนอ ครม.ต่อไป ซึ่งผลการศึกษาของทีดีอาร์ไอ มีรายละเอียดดังนี้

ข้อเสนอหลัก 4 ด้าน
1.ตลาดน้ำตาลภายในประเทศ

-เสนอให้เลิกควบคุมราคาน้ำตาล เปลี่ยนมาควบคุมปริมาณการจำหน่ายรวมทั้งปีแทน

ข้อเสนอหลักของคณะผู้วิจัยในส่วนนี้คือ เลิกควบคุมราคาน้ำตาลภายในประเทศ แต่ควบคุมให้มีน้ำตาลเพียงพอสำหรับการบริโภคและอุตสาหกรรม โดยกำหนดโควตาเป็นรายปี ในปริมาณที่ให้ความมั่นใจต่อสาธารณะว่าจะเพียงพอสำหรับการบริโภคภายในประเทศ และเปิดให้นำเข้าน้ำตาลทรายได้โดยเสรี

การดำเนินการตามข้อเสนอด้านนี้ ประกอบด้วยมาตรการย่อย ดังนี้

(1) ยกเลิกการควบคุมราคาน้ำตาลภายในประเทศ

(2) กำหนดปริมาณ ที่ผู้ผลิตแต่ละรายจะต้องขายภายในประเทศในแต่ละปี (โควตา ก.) ให้เพียงพอสำหรับการบริโภคและอุตสาหกรรม

(3) ควบคุมไม่ให้มีการร่วมกันผูกขาดตลาดน้ำตาลภายในประเทศ ในลักษณะที่เป็น การฮั้ว ซึ่งรวมถึงการห้ามโรงงาน/ราชการจัดสรรโควตาการจำหน่ายน้ำตาลภายในประเทศเป็นงวด ดังเช่นระบบการขึ้นงวดน้ำตาลโควตา ก.ในปัจจุบัน ด้วย

(4) เปิดให้นำเข้าน้ำตาลทรายได้โดยเสรีที่อัตราภาษีเป็นศูนย์ และขจัดอุปสรรคในการนำเข้าน้ำตาลทรายขาว รวมทั้งการนำเข้าจากประเทศนอกอาเซียนด้วย

2.การปรับเปลี่ยนกติกาในการซื้อขายอ้อยและการกำหนดราคาอ้อยที่โรงงานจ่าย

-ใช้สูตรการกำหนดราคาอ้อยราคาเดียวทั้งประเทศ (สำหรับอ้อยที่ค่าความหวานเดียวกัน) โดยกำหนดค่าประสิทธิภาพมาตรฐานสำหรับทุกโรงงาน และราคาอ้อยคิดตามความหวานของอ้อย 100%

-ยังยึดตัวเลขส่วนแบ่งเดิมคือ 70:30 แต่ให้คำนวณรายรับจากน้ำตาลทรายดิบและทรายขาวอย่างละครึ่ง และให้คิดมูลค่าของกากน้ำตาล โดยอิงราคาน้ำตาล

-ให้สิทธิโรงงานนำอ้อยไปผลิตอะไรก็ได้

ซึ่งกติกาสำคัญที่ต้องระบุไว้ในกฎหมายคือ โรงงานมีหน้าที่ต้องรับซื้ออ้อยในพื้นที่รอบๆ โรงงานในรัศมีที่กำหนด และชาวไร่ประสงค์จะขายให้โรงงานนั้น ทั้งนี้ ชาวไร่มีหน้าที่ต้องติดต่อทำสัญญาจะขายให้โรงงานไว้ล่วงหน้า โดยโรงงานมีสิทธิปฏิเสธการทำสัญญาซื้อ เฉพาะในกรณีที่ชาวไร่เคยทำผิดสัญญาในอดีตอย่างชัดแจ้ง

หรืออาจลดปริมาณในกรณีที่ตรวจสอบแล้วมีหลักฐานชี้ว่า ชาวไร่ไม่มีศักยภาพพอที่จะส่งอ้อยครบตามปริมาณที่ขอทำสัญญา แต่ต้องลดหรือปฏิเสธการทำสัญญาในปีนั้น ไม่ใช่บอกเลิกภายหลัง และในกรณีผลผลิตสูงกว่าสัญญาด้วยเหตุผลทางธรรมชาติ โรงงานต้องรับซื้ออ้อยทั้งหมด

3.การกำหนดราคาอ้อยที่ชาวไร่ได้รับ และการปรับบทบาทของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ด้านการรักษาเสถียรภาพราคาอ้อย

-แยกบัญชีรักษาเสถียรภาพ และเปลี่ยนกติกาการกำหนดราคาอ้อยและกติกาการเก็บเงินเข้าบัญชีนี้จากทั้งชาวไร่และโรงงาน เพื่อให้มีหลักประกันว่าจะมีการเก็บเงินเข้ากองทุนส่วนนี้ เพียงพอสำหรับนำมาใช้ในการรักษาเสถียรภาพ

ทั้งนี้ ในปีที่น้ำตาลราคาสูงเกินกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ เงินที่เก็บเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อใช้ในการรักษาเสถียรภาพจะต้องสูงตามไปด้วย

ขณะที่ในปีที่น้ำตาลมีราคาตกต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย จะทำหน้าที่จ่ายเงินอุดหนุนให้แก่ชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลในอัตราที่มีนัยสำคัญเช่นกัน ซึ่งการกำหนดกติกาดังกล่าวจะทำให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายสามารถดูแลตัวเองได้ระยะยาว ทั้งชาวไร่และโรงงานจะได้รับราคาเฉลี่ยที่สะท้อนราคาน้ำตาลในตลาดโลก ทำให้ไม่ต้องใช้วิธีกดดันทางการเมืองอย่างที่ผ่านมา

4.ด้านองค์กรและกฎหมาย

1)ปรับองค์กรให้สอดคล้องกับข้อเสนอใน 3 ด้านแรก โดย

-ในระดับคณะกรรมการ ให้โอนอำนาจของคณะกรรมการอ้อยฯไปให้คณะกรรมการบริหาร เนื่องจากไม่มีนโยบายจำกัดการปลูกอ้อยเช่นในอดีต และให้คณะกรรมการน้ำตาลทราย (ก.น.) ทำหน้าที่กำหนดโควตา ก. (ตามแนวทางที่กำหนดใน พ.ร.บ.ใหม่)

-บริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย (อนท.) ทำราคาน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์เพิ่มอีกประมาณ 4 แสนตัน

-กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย แยกบัญชีรักษาเสถียรภาพออกมาอย่างชัดเจน ส่วนค่าธรรมเนียมที่เหลือ (สำหรับงานบริหารระบบ และงานด้านส่งเสริมวิจัย) ให้ร่วมกันกำหนด

-ตั้งสถาบันวิจัยอ้อย น้ำตาล และผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง

-สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เน้นบทบาทด้านวิชาการและฐานข้อมูล และเป็นฝ่ายเลขานุการที่เป็นผู้นำในด้านนโยบายยุทธศาสตร์ และการปรับตัวของอุตสาหกรรมนี้ เพราะอนาคตอุตสาหกรรมนี้มีแนวโน้มจะขนาดใหญ่มากจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของปริมาณอ้อยที่คาดว่าจะผลิตได้ถึง 100 ล้านตันอ้อยต่อปี และมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากชาวไร่ได้ราคาอ้อยที่ดีกว่าเดิม โดยเฉพาะช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้โรงงานน้ำตาลมีการขยายกำลังการผลิตเช่นกัน

-ศูนย์บริหารการผลิตการจำหน่ายและการขนย้ายน้ำตาลทรายปรับระบบการวัดค่าความหวาน

2)ยกร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายฯใหม่ เพื่อเป็นหลักประกันให้มีการดำเนินการตามข้อเสนอใหม่ แต่สามารถดำเนินการตามข้อเสนอทุกอย่างในปีนี้ภายใต้ พ.ร.บ.เดิม

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี นายกสมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลไทย

"ข้อเสนอของทีดีอาร์ไอเรื่องยกเลิกการควบคุมราคาน้ำตาลในประเทศและกำหนดปริมาณที่ผู้ผลิตแต่ละรายต้องขายในประเทศแต่ละปี สวนทางกัน ซึ่งการกำหนดปริมาณคือ การจำกัดความต้องการของผู้บริโภค หากมีความต้องการของผู้บริโภคมีมากกว่าปริมาณน้ำตาลโควตา ก.ราคาก็จะสูงขึ้นเกินสมควร เหมือนที่เกิดขึ้นในอดีต ทั้งที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศควบคุมราคาจำหน่ายไว้ แต่ก็ไม่มีผล

ปัจจุบันปริมาณน้ำตาลที่จำหน่ายภายในประเทศ (โควตา ก.) แบ่งเป็น 52 งวด กำหนดให้นำออกจำหน่ายสัปดาห์ละ 1 งวด เพื่อเฉลี่ยให้มีน้ำตาลออกสู่ตลาดตลอดปี เนื่องจากโรงงานน้ำตาลผลิตน้ำตาลปีละ 3 เดือนเท่านั้น หากห้ามจัดสรรโควตา ก.เป็นรายงวด อาจเกิดการผูกขาดได้ง่าย

ส่วนข้อเสนอให้เปิดให้นำเข้าน้ำตาลทรายได้โดยเสรี จะหมายความว่า ไม่จำกัดจำนวน จึงไม่มีเหตุผลที่กำหนดปริมาณให้ผู้ผลิตแต่ละรายต้องขายภายในประเทศ

นอกจากนี้ข้อเสนอด้านกติกาในการซื้อขายอ้อย และกำหนดราคาอ้อยที่โรงงานต้องจ่าย ซึ่งทีดีอาร์ไอเสนอให้เปลี่ยนกติกาจากที่เคยคำนวณจากปริมาณการผลิตจริง มาเป็นการกำหนดมาตรฐานประสิทธิภาพของโรงงาน โดยราคาอ้อยจะอิงกับราคาน้ำตาลในตลาดโลกนั้น สวนทางกับวิธีปฏิบัติในปัจจุบัน โดยไม่อิงการซื้อขายจริง ไม่สนใจคุณภาพของอ้อยหรือประสิทธิภาพที่แท้จริงของโรงงาน

จากปัจจุบันจะใช้ปริมาณอ้อยเข้าหีบจริง ใช้ปริมาณน้ำตาลทุกชนิดที่ผลิตได้จริง ราคากากน้ำตาลใช้ราคาที่โรงงานขายได้จริง โดยราคาในประเทศ กำหนดโดยคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย และราคาในต่างประเทศ จะใช้ราคาที่บริษัทอ้อยและน้ำตาลทราย (อนท.) ขายได้จริง"

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 25 มีนาคม  2556

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ยกร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ฉบับที่ 2 ภายใต้ 4 ประเด็นยุทธศาสตร์

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ยกร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ฉบับที่ 2 ภายใต้ 4 ประเด็นยุทธศาสตร์ ส่งเสริมคุณภาพชีวิตเกษตรกรอย่างครอบคลุมทั้งด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ผลักดันขีดความสามารถในการแข่งขัน

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร หรือ สศก. เปิดเผยว่า สศก. ในฐานะฝ่ายเลขานุการ คณะอนุกรรมการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2556 - 2559 ได้ยกร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2556 – 2559 ภายใต้วิสัยทัศน์ ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิต การค้า และการบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์ในระดับภูมิภาคอาเซียน ประกอบด้วย 4 ประเด็นยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการองค์ความรู้และนวัตกรรม สนับสนุนการวิจัยและการพัฒนา องค์ความรู้ ต่อยอดงานวิจัย และนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ ยุทธศาสตร์การพัฒนาการผลิตเกษตรอินทรีย์ตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน ส่งเสริมและสนับสนุนเครือข่ายการผลิต การแปรรูป การตลาดทุกระดับ ให้เข้มแข็ง ยุทธศาสตร์สร้างความเข้มแข็งด้านการตลาดและมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ไทย สนับสนุนการพัฒนาระบบการรับรองมาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ และยุทธศาสตร์การบูรณาการเพื่อขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ไทย ซึ่งร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2556 – 2559 และได้จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เพื่อระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ในระดับภูมิภาคทั้ง 4 ภาคแล้ว และจะนำร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าวเสนอคณะกรรมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติในลำดับต่อไป

ทั้งนี้ จากการดำเนินการยุทธศาสตร์ และแผนปฏิบัติการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2551 – 2554 ส่งผลให้เกษตรอินทรีย์ของไทยมีอัตราการขยายตัวของพื้นที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 21/ปี มีพื้นที่ 212,000 ไร่ ผลผลิต 47,547 ตัน มีการถ่ายทอดการใช้ปัจจัยการผลิตเพื่อทำเกษตรอินทรีย์ทดแทนการใช้สารเคมีในพื้นที่ 56.18 ล้านไร่ เกษตรกรได้รับประโยชน์รวม 2,810,000 ราย เกษตรกรมีอัตราการเจ็บป่วยลดลงเหลือร้อยละ 4 จากเดิมที่มีการเจ็บป่วยร้อยละ 25 รวมถึงทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์มีระดับธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อพืชในสัดส่วนที่สูงกว่าพื้นที่ที่ไม่ได้ทำเกษตรอินทรีย์ และช่วยลดปัญหาเกี่ยวกับดินเปรี้ยวลงจากร้อยละ 31 เหลือร้อยละ 4

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 24 มีนาคม 2556

บาทยิ่งแข็งเสียงจาก "ธปท." ยิ่งเงียบ ลุ้นออกมาตรการ "สกัดเงินร้อน"

ความเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่แข็งค่ารายวัน ทุบสถิติใหม่รอบ 16 ปี โดยค่าเงินบาทวิ่งลงมาระดับทดสอบ 29.06 บาท/ดอลลาร์ เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา แข็งค่าจากเมื่อสิ้นปี 1.54 บาท หรือ 5%

น่าคิดว่าเมื่อเงินบาทแข็งค่ามากขึ้น สถานการณ์ก็ยิ่งน่าเป็นห่วงมากขึ้น เพราะทุก ๆ 1.0% ที่เงินบาทแข็งค่าจะฉุดจีดีพีหล่นไป 0.1-0.3% ขณะที่ปริมาณเงินที่ไหลออกมาจากประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจผ่านนโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ทั้งจากสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น ที่ผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เมื่อวันที่ 19-20 มี.ค.ที่ผ่านมา ได้บ่งชี้ชัดเจนว่า ธนาคารกลางสหรัฐยังเดินหน้า QE และจะปล่อยเงินออกมาสู่ระบบเดือนละ 85,000 ล้านดอลลาร์ต่อไป

ขณะที่ภูมิภาคเอเชียมีการเติบโตทางเศรษฐกิจแข็งแกร่ง เงินทุนจึงไหลบ่าเข้ามาไม่ขาดสาย ส่งผลให้ค่าเงินสกุลท้องถิ่นแข็งค่า โดยเฉพาะเงินบาทไทยแข็งค่าแซงหน้าประเทศเพื่อนบ้าน "ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล" ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ก็ยอมรับว่าเงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็ว แต่ก็ยังไม่ปริปากเปิดเผยว่าจะงัดมาตรการใดออกมารับมือสถานการณ์ที่ร้อนแรงเช่นนี้

ดังนั้นประเทศต่างๆ ในภูมิภาคจึงได้งัดมาตรการออกมาใช้เพื่อสกัดกันเงินร้อนเป็นระลอก เช่น จีนปรับตั้งอัตราสำรองของธนาคารพาณิชย์ให้มากขึ้น และใช้มาตรการ QFII หรือการลงทะเบียน

นักลงทุน เพื่อคัดกรองนักลงทุนที่มีคุณสมบัติเหมาะสม

ส่วนธนาคารกลางฟิลิปปินส์เรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากธนาคารพาณิชย์ในระดับสูงจากบัญชีต่างชาติที่ไม่มีการโอนย้ายอินโดนีเซียกำหนดอายุการซื้อพันธบัตรและการถือครองให้ครบตามกำหนด เพื่อลดความผันผวนกระแสเงินทุน ขณะที่ฮ่องกงและสิงคโปร์เรียกเก็บอากรแสตมป์อัตรา 15% จากการซื้อที่อยู่อาศัยหลังที่สองของชาวต่างชาติ

แต่ประเทศไทยไม่มีมาตรการพิเศษอะไรออกมา แน่นอนว่าการขึ้นลงของอัตราแลกเปลี่ยนย่อมมีผู้ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ ธนาคารกลางย่อมต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบ รอบด้าน แม้ผู้ว่าการแบงก์ชาติจะเคยเปิดเผยว่ามี 5 ด่านรับมือเงินทุนผันผวน ไม่ว่าจะเป็นการใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบยืดหยุ่น การสนับสนุนให้นำเงินไปลงทุนต่างประเทศ การแทรกแซงค่าเงิน การป้องปราบ หรือแคปปิตอลคอนโทรล และสุดท้ายคือการใช้อัตราดอกเบี้ยดูแล

แต่สิ่งที่หลายฝ่ายกำลังจับตาและพุ่งความสนใจมากขึ้นตามระดับค่าเงินบาทที่แข็งโป๊กต่อเนื่องอยู่ที่มาตรการควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้าย หรือแคปปิตอลคอนโทรล ซึ่งก่อนหน้านี้มีการเปิดเผยว่า มีเครื่องมือในสต๊อกแบบเบา ๆ เช่น การให้รายงานธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการนำเงินเข้าออกในประเทศ การลงทะเบียนการกู้เงินต่างประเทศ การกำหนดให้ถือครองหลักทรัพย์ต้องมีระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปี และแบบจัดหนัก เช่น ใช้มาตรการตั้งสำรองเงินตราต่างประเทศที่นำเข้ามาลงทุน 30% และเก็บภาษีเงินตราที่เข้ามาลงทุนในประเทศ

ขณะที่ "สมชัย สัจจพงษ์" ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการใหม่ โดยเฉพาะมาตรการที่เป็นยาแรงแบบการเก็บภาษีเงินทุนไหลเข้า เรายังมีเครื่องมือในปัจจุบันนี้ที่ทำได้ ก็ทำไปเท่าที่มี

ในขณะที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง แต่เสียงจาก ธปท.กลับยังเงียบงัน จนทำให้นักลงทุนในตลาดมีความกังวลกับความไม่แน่นอน เหมือนสถานการณ์ลมสงบก่อนพายุจะมา ทำให้ตลาดเงินตลาดทุนพลิกผันจากเงินบาทเคลื่อนไหวนิ่ง ๆ ในเดือนก่อน กลับมาแข็งค่าทำนิวไฮติดต่อกันหลายวันในเดือนนี้ จากตลาดหุ้นร้อนแรงเป็นกระทิงดุ กลับตกร่วงเกือบ 100 จุด ในรอบ 1 สัปดาห์ ด้วยเสียงแว่วเพียงว่า ธนาคารกลางกำลังพิจารณามาตรการพิเศษบางอย่าง เพื่อสกัดเงินร้อนไหลเข้า

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 24 มีนาคม 2556

ไทยอุ้มกีวีเปิดทางเจาะกลุ่มอาเซียนทำพลังงานทดแทน/เกษตรแปรรูป

นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผยว่า ที่ผ่านมาการลงทุนจากนิวซีแลนด์ในไทยยังมีจำนวนไม่มากนักและส่วนใหญ่ยังเป็นการลงทุนขนาดเล็ก ทั้งนี้ แนวโน้มการลงทุนจากกลุ่มธุรกิจนิวซีแลนด์เริ่มเปลี่ยนไปโดยหันมาให้ความสำคัญกับการลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น เพื่อลดต้นทุนการผลิต รวมถึงเป็นการแสวงหาตลาดส่งออกใหม่ๆ จึงเป็นโอกาสของไทยที่จะกระตุ้นให้กลุ่มนักธุรกิจนิวซีแลนด์ให้ความสนใจ และเข้ามาตั้งฐานผลิตสินค้าในประเทศไทยซึ่งสามารถใช้เป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าเพื่อส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียนได้ต่อไป

ด้านนายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชยเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กล่าวว่า บีโอไอได้ร่วมมือกับสภาธุรกิจอาเซียน-นิวซีแลนด์ จัดกิจกรรมสร้างเครือข่ายธุรกิจการลงทุนระหว่างประเทศไทยกับประเทศนิวซีแลนด์ โดยให้มีการพบปะร่วมกันระหว่างนักธุรกิจไทย และผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทชั้นนำของประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งภาคเอกชนของไทยที่ให้ความสนใจเข้าร่วมเดินทางครั้งนี้ อาทิ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานสภาหอการค้าไทย รวมทั้งบริษัทชั้นนำของไทย เช่น ปตท. ปตท.สผ. ล็อกซเล่ย์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ไทย

เบฟเวอเรจและดัชมิลล์เป็นต้นโดยบีโอไอมุ่งเน้นชักจูงการลงทุนในกลุ่มพลังงานทดแทน เทคโนโลยีชีวภาพเกษตรแปรรูปโลหะและชิ้นส่วนจากนิวซีแลนด์ให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยขณะที่ภาคเอกชนไทยจะมีโอกาสได้รับทราบโอกาสการทำธุรกิจในนิวซีแลนด์ด้วยเช่นกัน

จาก สยามธุรกิจ  วันที่ 23 มีนาคม 2556

อนาคตพลังงานไทย...ในอาเซียน

นับถอยหลังเข้า ไปทุกขณะ กับการก้าวสู่การค้าและการลงทุนภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ที่จะเกิดขึ้นใน ปี 2558 ด้วยการรวมตัวกันของ 10 ประเทศ ในภูมิภาคอาเซียนได้แก่ ไทย พม่า สิงคโปร์ ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน และฟิลิปปินส์ ซึ่งจะมีประชากรรวมกันกว่า 600 ล้านคน จึงนับได้ว่าตลาดแห่งนี้จะเป็นตลาดน้องใหม่ไฟแรงแห่งหนึ่งของโลก ที่นักลงทุนต่างจับจ้องที่จะเข้ามาจับจองพื้นที่ทางการค้าและการลงทุนในภูมิภาคนี้ เพราะ ไม่เพียงแค่ตลาดดังกล่าว แต่เป้าหมายต่อไป นักลงทุนเหล่านี้ยังมองไปยังตลาดใหญ่ที่จะเชื่อมโยงไปสู่จีน และอินเดีย นั่นเอง

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะก่อให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบใหม่ (New Growth) การค้าและการลงทุนจะเสรีอย่างมาก และเมื่อมองย้อนกลับความได้เปรียบของไทยเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในการเข้าสู่ AEC พบว่าไทยมีที่ตั้งที่เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคนี้ ดังนั้นเราจึงได้เปรียบในแง่ของการท่องเที่ยวและระบบการขนส่งที่จะเชื่อมโยง (Connectivity) ภูมิภาคนี้เข้าด้วยกันนั่นเอง และนี่จึงเป็นที่มาการจัดทำ ร่างยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐาน เพื่อการพัฒนาระบบขนส่งของประเทศ มูลค่า 2 ล้านล้านบาท ของรัฐบาล ภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่ง ลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี คนปัจจุบัน เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานในการยกระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง

ยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะทำให้ไทยมีขีดความสามารถทางการแข่งขันที่สูงขึ้น เพราะการลงทุนภายใต้ยุทธศาสตร์ดังกล่าว จะเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์การพัฒนาของประเทศอื่นๆ ทั้งพลังงาน อุตสาหกรรม เกษตรกรรม เข้าด้วยกัน ภายใต้การลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ ที่จะเน้นลงทุนระบบราง ท่าเรือ ขนส่งทางอากาศ การบริหารจัดการน้ำ ที่ขณะนี้ไทยมีการขนส่งที่พึ่งพิงน้ำมันเป็นหลัก เมื่อปรับมาเป็นระบบรางจะทำให้มีการประหยัดพลังงานต่อปีในอนาคตได้ในระดับแสนล้านบาท และยังสามารถขนส่งคนในการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แน่นอนว่ายุทธศาสตร์ทั้งหมด ล้วนแล้วแต่จะต้องเกี่ยวข้องกับแผนการพัฒนาพลังงาน ดังนั้น กระทรวงพลังงาน ภายใต้การกำกับดูแลของ นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงานปัจจุบันจึงได้วางยุทธศาสตร์พลังงานในการเชื่อมเข้ากับระบบการพัฒนาประเทศแล้วยังต้องเชื่อมระบบเข้ากับ AEC อีกด้วย AEC จะช่วยเพิ่มโอกาสให้กับประเทศไทยเข้าถึงตลาดใหม่ (ASEAN) ซึ่งจะก่อให้เกิดการยกระดับทางเศรษฐกิจ เพื่อให้ ไทยมีความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางด้านพลังงาน (Hub) ภูมิภาค ซึ่งระยะเวลาอีกเพียง 2 ปีข้างหน้า จึงจำเป็นที่ไทยต้องเร่งวางโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานรองรับการยกระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจดังกล่าวอย่างเร่งด่วน

ทั้งนี้กระทรวงพลังงานได้มีการดำเนินการภายใต้ แผนปฏิบัติการอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงานปี 2553 -2558 (ASEAN Plan of Action on Energy Cooperation : APAEC) มีโครงการหลักที่สำคัญ 7 สาขา ได้แก่ 1.การเชื่อมโยงระบบสายส่งไฟฟ้าของอาเซียน (ASEAN Power Grid : APG) 2.การเชื่อมโยงท่อส่งก๊าซธรรมชาติของอาเซียน (Trans-ASEAN Gas Pipeline : TAGP) 3.เทคโนโลยีถ่านหินและถ่านหินสะอาด 4.พลังงานที่นำมา ใช้ใหม่ได้ (Renewable Energy : RE) 5.การสงวนรักษาและประสิทธิภาพของพลังงาน (Energy Efficiency and Conservation : EE&C) 6.นโยบายและการวางแผนพลังงานภูมิภาค และ 7.พลังงานนิวเคลียร์

อย่างไรก็ตามเราต้องยอมรับว่า ใน 7 โครงการดังกล่าว นับว่าล้วนมีความสำคัญที่จะต้องเร่งเดินหน้า โดยเฉพาะการเชื่อมโยงท่อส่งก๊าซธรรมชาติของอาเซียน จึงเป็นสิ่งจำเป็นมากทั้งในปัจจุบันและอนาคต เพราะไทยยังต้องเสาะแสวงหาแหล่งก๊าซธรรมชาติใหม่ๆ เพื่อรองรับการ บริโภคในประเทศ และดูเหมือนจะเป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยให้ไทยมี แหล่งก๊าซที่จะป้อนเข้ามาในระบบมากขึ้น ขณะที่การเชื่อมโยงระบบสายส่งไฟฟ้าของอาเซียน ยังคงต้องมีการพัฒนาสายส่งไฟฟ้าเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของการจ่ายไฟฟ้าในภูมิภาค และส่งเสริมให้มีการขายไฟฟ้าระหว่าง ประเทศ เพื่อลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าโดยรวม ซึ่งไทยมีเป้าหมายที่จะยกระดับให้เป็นศูนย์กลางการซื้อขายไฟฟ้า (Electricity Hub) ของภูมิภาค

การเชื่อมโยงพลังงานเข้ากับอาเซียนนั้น จะเป็นการเพิ่มศักยภาพความมั่นคงด้านพลังงานของไทย เนื่องจากเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งพลังงานในประเทศภูมิภาค ASEAN เนื่องจากปัจจุบันไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าพลังงาน โดยมีการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศสูงถึง 85% ของความต้องการใช้พลังงานประเทศ มีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากพม่า 30% ของความต้องการใช้ในประเทศ และยังมีการนำเข้าพลังงานไฟฟ้าจากลาวและมาเลเซียอีกส่วนหนึ่ง

ทั้งนี้ การผลิตไฟฟ้าของไทยขณะนี้พึ่งพิงก๊าซธรรมชาติถึงเกือบ 70% ซึ่งแนวโน้มอีก 10 ปีข้างหน้า ก๊าซฯอ่าวไทยจะทยอยหมด ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงอย่างพม่า แหล่งก๊าซฯก็เริ่มจำกัด และเมื่อเข้าสู่ AEC อาจทำให้พม่าไม่จำเป็นต้องขายก๊าซฯให้เราเพิ่มเติมอีก ดังนั้นไทยจึงหนีไม่พ้นการนำเข้าจากต่างประเทศ ที่ต้องขนมาในรูปของเหลวที่เรียกว่าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ที่จะมีราคาแพงกว่าก๊าซฯที่ไทยใช้อยู่ถึงเท่าตัว นั่นหมายถึงอนาคตค่าไฟไทยก็จะต้องบวกไปอีกเท่าตัวเช่นกัน จากปัจจุบันค่าไฟฐานอยู่ที่ 3.75 บาทต่อหน่วย ก็จะปรับไปมากกว่า 5 บาทต่อหน่วย

การเชื่อมโยงระบบพลังงานของไทยเข้ากับประเทศเพื่อนบ้านตามยุทธศาสตร์ดังกล่าว จึงไม่เพียงแต่เป็นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ด้วยการแสวงหาและพัฒนาแหล่งพลังงานทั้งในและต่างประเทศ แต่ยังเป็นการเพิ่มโอกาสในการกระจายแหล่งและประเภทเชื้อเพลิงพลังงานให้มีความหลากหลายและยั่งยืน ตลอดจนเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในอุตสาหกรรมพลังงาน นำมาซึ่งราคาพลังงานที่มีราคาถูกลง ที่จะดึงดูดให้เกิดการลงทุนทางด้านอุตสาหกรรมและพลังงานที่ต่อเนื่อง ทั้งโรงกลั่นและปิโตรเคมี อันจะส่งเสริมให้ภูมิภาคนี้มีความเข้มแข็งทางด้านเศรษฐกิจที่จะก้าวไปกับการเติบโตที่พร้อมๆกันได้

ในขณะเดียวกันไทยเองนั้น ก็ยังจะมีโอกาสผลักดันให้อุตสาหกรรมพลังงานสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศ โดยการใช้ความได้เปรียบในเชิงภูมิยุทธศาสตร์ โดยเฉพาะพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก เช่น เอทานอล การผลิตไฟฟ้าจากหญ้าเนเปียร์ พลังงานลม พลังงานน้ำ และพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น ซึ่งจะกระตุ้นให้มีการเพิ่มมูลค่าเพิ่มในสินค้าเกษตรอย่างครบวงจรนำมาซึ่งระบบเกษตรกรรมที่เข้มแข็ง และมีความหลากหลายตามความเหมาะสมของพื้นที่ และยังเป็นการส่งเสริมการค้นคว้าวิจัยเพื่อนำมาซึ่งต้นทุนที่ลดลงในอนาคต

อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงที่ทุกประเทศแม้แต่ไทยจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ การก้าวเข้าสู่ AEC ราคาพลังงานจะต้องสะท้อนกลไกตลาดโลก เพราะการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ ทุน และแรงงานเสรี ตลอดจนการเปิดเสรีการลงทุนภายในภูมิภาค โอกาสการลงทุนที่เพิ่มขึ้นจะนำมาซึ่งความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้น หากประเทศใดอุดหนุนราคาพลังงานที่ต่ำไว้ ย่อมทำให้การไหลบ่าไปใช้เพิ่ม จะยิ่งสูงขึ้น นั่นก็จะเป็นภาระของคนในชาตินั้น ตัวอย่างของไทยเองก็เช่นกัน ปัจจุบันไทยมีการตรึงราคาก๊าซหุงต้มหรือแอลพีจี โดยยังไม่ได้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ด้วยการนำเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ไปอุดหนุนส่วนต่างไว้เฉลี่ยปีละไม่น้อยกว่า 3-4 หมื่นล้านบาท ซึ่งไม่เพียงทำให้คนใช้น้ำมันต้องถูกรีดเงินมาอุดหนุนผู้ใช้แอลพีจีในประเทศอย่างไม่เป็นธรรมแล้ว ส่วนหนึ่งยังไปอุดหนุนให้เพื่อนบ้านอีกด้วย เพราะมีการลักลอบนำออกไป จากที่ราคาของประเทศเพื่อนบ้านแพงกว่าไทยนั่นเอง

ดังนั้นไทยมีเวลาอีกไม่นานนักในการเตรียมความพร้อมด้านพลังงาน ในการรองรับการก้าวสู่ AEC เพราะเมื่อถึงเวลานั้น หากเราไม่เลือกที่จะกำหนดอนาคตของเราเอง ระบบการเปิดเสรีจะเป็นตัวกำหนดอนาคตให้กับคนไทยเอง ซึ่งนั่นหมายถึงไทยจะเผชิญความเสี่ยงกับความมั่นคงและราคาพลังงานที่แพงมากยิ่งขึ้น อย่าให้คนอื่นมากำหนดอนาคตเรา ถึงเวลาแล้วหรือยังที่คนไทยจะต้องเลือกอนาคตให้กับตัวเอง

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 23 มีนาคม 2556

ก.เกษตรฯ หวั่นอาชีพเกษตรลด เตรียมดัน “สมาร์ทฟาร์มเมอร์”

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดการสัมมนาวาระพิเศษ 25 ปี นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ในเครือบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) เรื่อง “มะนาวราคาแพง..มาปลูกขายด้วยตัวเองดีกว่า” ที่ศูนย์อาชีพและธุรกิจมติชน (มติชนอคาเดมี) พร้อมบรรยายพิเศษ “สมาร์ทฟาร์มเมอร์นำเกษตรกรไทยก้าวไกลสู่สากล” ว่า จากอัตราส่วนผู้มีอาชีพการเกษตรของประเทศได้มีจำนวนลดลงและมีช่วงอายุที่สูงขึ้น ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าวที่อาจจะส่งผลต่อพื้นที่การเกษตรของประเทศจะลดลงได้ในอนาคต

ดังนั้น นอกจาก มาตรการต่างๆ ที่เร่งรัดดำเนินการเพื่อให้เกษตรกรเกิดความภาคภูมิใจในอาชีพเกษตรกรรม รวมถึงการคุ้มครองพื้นที่การเกษตรให้คงอยู่ 150 ล้านไร่แล้ว ในช่วงต้นเดือนเมษายนนี้ กระทรวงเกษตรฯ ยังได้เตรียมทำความร่วมมือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)และสถาบันการศึกษาที่มีนิสิตนักศึกษากำลังจะจบการศึกษาระดับปริญญาตรีทางด้านการเกษตร เช่นมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อสนับสนุนงบประมาณให้แก่ นิสิต นักศึกษา ที่กำลังศึกษาอยู่ในสถาบันอุดมศึกษา และผู้สำเร็จการศึกษาแล้วไม่เกิน 5 ปี ซึ่งมีความสนใจที่จะประกอบธุรกิจทางด้านการเกษตร ด้วยแนวคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ให้แก่ผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความแตกต่าง และจุดแข็งที่จะสามารถแข่งขันกับประเทศต่าง ๆ ได้

นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ จะเข้าไปส่งเสริมองค์ความรู้ต่างๆ ให้แก่เกษตรกรทั้งในเรื่องเทคโนโลยีการผลิตใหม่ๆ การวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับการตลาด ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพมีความปลอดภัยได้มาตรฐาน และต้องมีความสอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่หรือการโซนนิ่งที่กระทรวงเกษตรฯ เร่งรัดดำเนินการอยู่ในขณะนี้เพื่อไม่ให้เกษตรกรต้องประสบปัญหาในเรื่องราคาอย่างที่ผ่านมา รวมทั้งการสร้าง seed hub หรือศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์ ที่จะกระจายไปสู่ภูมิภาคอาเซียน

นายยุคล กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับประเด็นการสัมมนาที่นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านจัดขึ้นในครั้งนี้คือเรื่องมะนาว ซึ่งมีราคาที่สูงขึ้นอยู่ในปัจจุบันนั้น แม้ว่าจะเป็นไปตามกลไกตลาดที่ขณะนี้เข้าภาวะฤดูแล้ง ทำให้ผลผลิตจากพื้นที่การผลิตส่วนใหญ่ของประเทศ เช่น จังหวัดเพชรบุรีและกำแพงเพชร มีมะนาวออกมาสู่ตลาดน้อย แต่กระทรวงเกษตรฯ ก็มีแนวทางการการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์มะนาวให้สามารถออกนอกฤดูเพื่อไม่ให้ผลผลิตไม่กระจุกตัวและส่งผลต่อราคาที่ผู้บริโภคได้รับผลกระทบ ขณะเดียวกัน เกษตรกรผู้ปลูกมะนาวยังมีผลผลิตขายได้ตลอดทั้งปีและราคามีเสถียรภาพด้วย ซึ่งหากประสบความสำเร็จก็จะเป็นแนวโน้มที่ดีของมะนาวไทยที่จะสามารถส่งออกไปต่างประเทศด้วย จากศักยภาพในเรื่องรสชาติของมะนาวไทยที่เป็นเอกลักษณ์มีรสเปรี้ยวและหอม เช่น ประเทศญี่ปุ่น ที่สนใจนำเข้ามะนาวจากไทย แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถส่งออกมะนาวไทยไปยังประเทศญี่ปุ่นได้ เนื่องจากอยู่ระหว่างขั้นตอนการตรวจวิเคราะห์ความเสี่ยงในเรื่องของแมลงศัตรูพืชเพื่อการส่งออกซึ่งจะต้องปฏิบัติตามระเบียบการนำเข้าของญี่ปุ่นให้เรียบร้อยก่อน

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 23 มีนาคม 2556

ชาวไร่ส่อแห้วเงินเพิ่มค่าอ้อยอีก90บาท

กระทรวงอุตฯเมินจ่ายเงินค่าอ้อยอีกตันละ 90 บาท ตามข้อเรียกร้องชาวไร่ ครม.เคาะ 160 บาท ถือว่าคุ้มต้นทุนผลิตแล้ว ด้านชาวไร่ภาคอีสานจี้รัฐตอบคำถาม เล็งไม่คืบขอพบนายกฯยิ่งลักษณ์

นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงคงจะไม่เสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายกู้เงินธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)สำหรับมาจ่ายเงินช่วยเหลืออีกตันอ้อยละ 90 บาท เพื่อให้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยได้เงินเพิ่มและเงินช่วยเหลือเป็นตันละ 250 บาทตามข้อเรียกร้อง เนื่องจาก ครม.ได้เห็นชอบให้กองทุนกู้เงินจาก ธ.ก.ส.เพื่อจ่ายเงินเพิ่มค่าอ้อยฤดูกาลผลิต 2555/2556 ตันอ้อยละ 160 บาท และเมื่อรวมกับเงินค่าอ้อยขั้นต้นที่ ครม.เห็นชอบแล้วตันอ้อยละ 950 บาท ทำให้ชาวไร่ได้ค่าอ้อยที่คุ้มต้นทุนการผลิตแล้ว

ทั้งนี้ กระทรวงเห็นว่า ควรมีแนวทางแก้ปัญหาการเพิ่มค่าอ้อยระยะยาว โดยทบทวนรายได้ที่นำมาคำนวณในระบบแบ่งปันผลประโยชน์ เพื่อให้ค่าอ้อยสอดคล้องกับต้นทุนการผลิตมากที่สุด ซึ่งอาจปรับการคำนวณรายได้ที่นำเข้าระบบจากกากน้ำตาล (โมลาส) รวมทั้งพิจารณารายได้จากการนำอ้อยไปผลิตเอทานอล โดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) จะทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และนำผลศึกษาเรื่องการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มาพิจารณา

ด้าน นายชัยวัฒน์ คำแก่นคูน ที่ปรึกษาชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน กล่าวว่า ชาวไร่จะเข้าพบ สอน.สัปดาห์หน้า เพื่อสอบถามว่า เหตุใด ครม.จึงอนุมัติเฉพาะเงินเพิ่มค่าอ้อย 160 บาท ทั้งที่กอน.มีมติจ่ายเงินช่วยเหลือเพื่อบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้งอีกตันอ้อยละ 90 บาท รวมเป็น 250 บาท หากไม่มีความคืบหน้าอาจต้องเข้าพบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อให้หาแนวทางจ่ายเงินชดเชยผลกระทบภัยแล้งต่อไป

จากhttp://www.komchadluek.net   วันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2556

ตาก ประกาศภัยแล้ง 9 อำเภอ ปชช. 1.5 แสนคนกระทบหนัก

นายสุริยะ ประสาทบัณฑิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติฉุกเฉินภัยแล้ง ทั้ง 9 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เมือง อ.แม่สอด อ.บ้านตาก อ.สามเงา อ.แม่ระมาด อ.อุ้มผาง อ.ท่าสองยาง อ.พบพระ อ.วังเจ้า

ด้านนางภัชธนิตา สดุดี หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จังหวัดตาก กล่าวว่า ขณะนี้ มีประชาชนกว่า 150,000 คน 9 อำเภอ 56 ตำบล 405 หมู่บ้าน ประสบภัยแล้งอย่างหนัก โดยพบว่า อ.แม่ระมาด มีราษฎรเดือดร้อนจากภัยแล้งมากที่สุด รองลงมาคือ อ.เมืองตาก และ อ.พบพระ ตามลำดับ

ขณะที่ทางฝ่ายปกครองจังหวัดตาก ได้จัดสรรงบประมาณ จำนวน 27 ล้านบาท เพื่อนำไปแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยแล้งเร่งด่วนแล้ว เช่น การสร้างฝายกักเก็บน้ำ-ฝายชะลอน้ำ-การขุดลอก แม่น้ำลำห้วย เพื่อเปิดทางน้ำเพื่อทำการเกษตร อุปโภค-บริโภค รวมถึง เร่งนำรถบรรทุกน้ำ ออกช่วยเหลือราษฎร พร้อมประชาสัมพันธ์ให้ใช้น้ำอย่างประหยัด

ส่วนสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควัน ในพื้นที่ 5 อำเภอชายแดนจังหวัดตาก ยังคงมีไฟป่าเป็นบริเวณกว้าง เช่น อ.อุ้มผาง อ.พบพระ อ.แม่สอด อ.แม่ระมาด และ อ.ท่าสองยาง ซึ่งจากสภาพดังกล่าว ทำให้ฟ้าหลัวและอากาศร้อนอบอ้าว ขณะที่ในเขตไทยก็ยังคงมีการเผาป่า เพื่อทำไร่อย่างกว้างขวาง เช่น มีการเผาพื้นที่ทำไร่อ้อย ทำให้ควันไฟปกคลุมไปทั่วบริเวณ

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2556

“วรวัจน์” เร่งปั้นบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ 50,000 คนใน 5 ปีรับเออีซี

นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เร่งแก้ปัญหาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ตามยุทธศาสตร์ประเทศ (Country Strategy) ที่กำหนดให้มีการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรสาขาเทคโนโลยี และการพัฒนาการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้แข่งขันได้กับนานาประเทศอาเซียนในอนาคต

ทั้งนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มอบหมาย สวทน. ดำเนินโครงการสำคัญ คือ สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูง หรือ Thailand Advanced Institute of Science and Technology (THAIST –ไทยเอสที) เป็นสถาบันที่ตั้งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการพัฒนาบุคลากรทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในสาขาเทคโนโลยีเฉพาะทาง มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในภาคการผลิตและบริการ เพื่อสร้างความมั่นคงสำหรับอนาคตของประเทศและการเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในอีก 2 ปี ข้างหน้า

ไทยเอสที (THAIST) จะเป็นผู้กำหนดสาขาเทคโนโลยีและมาตรฐานคุณภาพบุคลากรที่ต้องการ และร่วมกับสถาบันการศึกษาในการออกแบบหลักสูตร และจัดการเรียนการสอนร่วมกับสถาบันการศึกษา และยังจัดให้มีศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางเพื่อรองรับการเรียนการสอนและงานวิจัย รวมทั้งจัดตั้ง Industrial Service Unit เพื่อเชื่อมโยงและให้บริการกับภาคการผลิตและบริการ โดยมีการปูทางเส้นทางการศึกษาสำหรับนักเรียนนักศึกษาอย่างน้อย 10 ปี ต่อเนื่อง และเส้นทางอาชีพที่รองรับผู้สำเร็จการศึกษา เน้นในเด็กมีความสามารถและถนัดในด้านนั้นๆ สาขาวิชาที่เปิดสอน เช่น นาโนเทคโนโลยี ,เทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (Robotic & Automation) , เทคโนโลยีนิวเคลียร์เพื่ออนาคต ,เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ, เทคโนโลยีอุตสาหกรรมยานยนต์ ,เทคโนโลยีการออกแบบเพื่อการผลิตและนวัตกรรม (Design for Manufacturing and Innovation), เทคโนโลยีอุตสาหกรรมยางพารา, เทคโนโลยีรถไฟฟ้าและรถไฟความเร็วสูง, Simulation Technology for Climate Change, นวัตกรรมเพื่อการเกษตร (Innovation for Agriculture) ,นิติวิทยาศาสตร์ (Forensic Science), การเกษตรแม่นยำ (Precision Farming), เทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมศาสตร์และชีววิศวกรรมศาสตร์ (Genetic Engineering and Bioengineering), การจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Technology and Innovation Management) เป็นต้น

การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐเช่น โครงข่ายรถไฟความเร็วสูง และรถไฟฟ้า มีมูลค่าการลงทุน 1.6 ล้านล้านบาท โดยเป็นการนำเข้าเกือบ 100% เนื่องจากประเทศไทยขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ทางเทคนิคและวิศวกรรมรถไฟจำนวนประมาณ 30,000 คน กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จึงมีโครงการผลิตบุคลากรและการวิจัยขึ้นเพื่อรองรับการลงทุนขั้นต้น และเป็นฐานสนับสนุนการสร้างขีดความสามารถทางเทคโนโลยีของผู้ประกอบการไทยให้มีความสามารถผลิตชิ้นส่วนได้ภายในประเทศ เป็นการลดต้นทุนการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศอีกทางหนึ่ง

ในภาคเกษตรกรรมซึ่งเป็นฐานสนับสนุนนโยบาย ”ครัวของโลก” ของรัฐบาล ยังประสบปัญหา เช่น การปรับปรุงพันธุ์พืช เพื่อเพิ่มผลผลิต และความทนต่อสภาพภูมิอากาศ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จะจัดตั้งศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์ในหลายจังหวัดทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ พร้อมทั้งจัดหลักสูตรพัฒนานักปรับปรุงพันธุ์พืช ร่วมกับคณะเกษตร มหาวิทยาลัยต่างๆ

ทั้งนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีเป้าหมายในการผลิตบุคลากรระดับสูง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในภาคการผลิตและภาคการบริการ ให้ได้จำนวน 50,000 คน ภายใน 5 ปีข้างหน้า

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2556

บาทแข็งเกิน?

ถึงวันนี้มิใช่แต่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รมว.คลัง หรือนายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานแบงก์ชาติเท่านั้นที่เห็นว่าค่าเงินบาทเริ่ม "แข็งเกินจริง" นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์คนอื่นๆก็เริ่มตั้งข้อสังเกตในลักษณะเดียวกัน

โดยล่าสุดนายสมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กล่าวในงานซี.พี.เสวนา "บาทแข็ง : ผลกระทบ-ทางออก" ว่า

เงินบาทน่าจะแข็งค่าขึ้นแตะ 25-26 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ในอีกไม่เกิน 2 ปีข้างหน้า

เนื่องจากขณะนี้สถานการณ์คล้ายกับก่อนวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540

ด้วยเหตุผลว่าเศรษฐกิจไทยโตมากกว่า 6% ขณะที่นักลงทุนเห็นโอกาสของไทยในการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558

ความเห็นของนายสมภพคือธนาคารแห่งประเทศไทยต้องแทรกแซงค่าเงินบาท เพราะเริ่มเห็นสัญญาณฟองสบู่ตลาดหุ้นและอสังหาริม ทรัพย์

ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องใช้วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 เป็นบทเรียน อย่าคาดหวังว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีเงินจำนวนมากตรึงบาทไว้ การลดดอกเบี้ยก็ไม่มีผลต่อเศรษฐกิจและค่าเงิน

ขณะที่หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มเป็น 80% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ก็น่าห่วง

หากรัฐบริหารประชานิยมไม่ดีเศรษฐกิจ ไทยจะมีปัญหารุนแรง

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ค่าเงินบาทยังคงแข็งตัวขึ้นอย่างรวดเร็วต่อเนื่องเมื่อเปรียบเทียบกับเงินตราต่างประเทศสกุลอื่นๆ

และเป็นสกุลเงินที่แข็งค่าขึ้นมากที่สุดในกลุ่มอาเซียนเมื่อเปรียบเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ อันยังคงเป็นสกุลเงินที่มีบทบาทสำคัญที่สุดด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ

ผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ในระยะสั้นและระยะยาวจากการที่ค่าเงินบาทอาจจะถูก เก็งกำไรจน "แข็งเกินจริง" มีอยู่หลายประการด้วยกัน

แต่สาธารณชนยังไม่ได้รับทราบข้อมูลและไม่แน่ใจว่าทางการจะมีนโยบายต่อเรื่องดังกล่าวอย่างไร

รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยจะต้องเป็นผู้แก้ปัญหา มิใช่ผู้สร้างปัญหาขึ้นมาเสียเอง

จาก http://www.khaosod.co.th  วันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2556

กษ.แจงผลแก้ปัญหาที่ดินทำกิน ช่วยเกษตรกรได้กว่าพันรายใน18จว.

กระทรวงเกษตรฯเดินหน้าช่วยเหลือเกษตรกรสภาประชาชน4ภาค แจงผลจัดที่ดินคืบกว่า 1,000 ราย ใน 18 จังหวัด พร้อมเร่งแจ้งสิทธิต่อผู้ยังไม่แสดงตนเพื่อจัดซื้อ-จัดที่ดินแล้วเสร็จใน30 ก.ย.

นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินเกษตรกรสภาประชาชน 4 ภาค ที่ห้องประชุมไชยยงค์ ชูชาติ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.)ว่า การแก้ปัญหาที่ดินเกษตรกรสภาประชาชน 4 ภาคใน 24 จังหวัด ในภาพรวมมีความก้าวหน้าเป็นลำดับ โดยมีเกษตรกรเข้ารับความช่วยเหลือตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2552 จำนวน 1,889 ราย ตรวจสอบตามหลักเกณฑ์พบว่ามีคุณสมบัติครบ 1,500 ราย ซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัด (คปจ.) เห็นชอบแผนการจัดซื้อที่ดิน ซึ่งเป็นการตกลงซื้อขายที่ดินกับเจ้าของที่ดินแล้ว 18 จังหวัด เนื้อที่ประมาณ 15,770-1-43 ไร่ สามารถจัดให้เกษตรกร 1,070 ราย รวมค่าที่ดินประมาณ 819 ล้านบาท

ทั้งนี้ ยังมีเกษตรกรจำนวนหนึ่งที่ยังไม่มาแสดงตน จึงได้มอบหมายให้ ส.ป.ก.ดำเนินการรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำประกาศรายชื่อเกษตรกรให้ทราบถึงสิทธิการให้ความช่วยเหลือตามมติ ครม. การทำหนังสือตอบรับไปยังเกษตรกร เพื่อแจ้งสิทธิการให้ความช่วยเหลือ ตลอดจนการประสานไปยังแกนนำกลุ่มเกษตรกรต่างๆ เพื่อให้ช่วยแจ้งสิทธิแก่เกษตรกรทราบ และให้มาแสดงตนต่อส.ป.ก.จังหวัดที่ประสงค์ให้จัดซื้อและจัดที่ดิน พร้อมคัดเลือกแปลงที่ดินที่มีความพึงพอใจให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 กันยายน เพื่อให้ส.ป.ก.ดำเนินการจัดซื้อที่ดินเพื่อนำมาจัดให้เกษตรกรตามโครงการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินเกษตรกรสภาประชาชน 4 ภาคต่อไป

นายศิริวัฒน์ กล่าวต่อว่า นอกจากการช่วยเหลือด้านที่ดินทำกินให้เกษตรกรสภาประชาชน 4 ภาค แล้ว กระทรวงเกษตรฯยังพัฒนาพื้นที่ในแปลงที่ดินดังกล่าวอีกด้วย อาทิ การขุดสระเก็บน้ำ การส่งเสริมการทำเกษตรกรรมสาขาต่างๆ ทั้งเพาะปลูกหรือปศุสัตว์ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ การบูรณาการกิจกรรม/โครงการของหน่วยงานในสังกัด ให้ครอบคลุมถึงกลุ่มเกษตรกรสภาประชาชนฯ เพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งในการก้าวเข้าสู่การเป็น Smart Farmer ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ เพื่อพัฒนาให้เกษตรกรมีศักยภาพ ทั้งทางด้านการผลิต การแปรรูปและการตลาด มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยใช้แนวทางพัฒนาการเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ และสร้างบุคลากรรุ่นใหม่ที่มีความรู้ทั้งด้านการผลิต การบริหารจัดการและการตลาดเข้าสู่ภาคเกษตร โดยร่วมกับสถาบันการศึกษาในท้องถิ่นอีกด้วย

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2556

สปก.สร้างเกษตรกรมืออาชีพดันสินค้าเขตปฏิรูปที่ดินเข้ามาตรฐานGAPรองรับประชาคมอาเซียน

ดร.วีระชัย นาควิบูลย์วงศ์ เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เปิดเผยว่า ในช่วงสองปีที่ ส.ป.ก.เตรียมความพร้อมและสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรทั้งรายย่อยและเกษตรกรที่ประกอบธุรกิจการส่งออกสินค้าเกษตร เพื่อเตรียมรับมือการรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในอีกสองปีข้างหน้า โดยมาตรการสำคัญที่ ส.ป.ก. ดำเนินการ คือ การส่งเสริมให้เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน ปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตสินค้าเกษตรให้เป็นไปตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี : Good Agricultural Practice (GAP) ซึ่งเป็นมาตรฐานกลางสำหรับสินค้าที่จะซื้อขายกันในกลุ่มเออีซี

ที่ผ่านมา ส.ป.ก.จัดอบรมเกษตรกรใน 53 จังหวัด จำนวน 5,046 ราย เกษตรกรได้ยื่นขอรับรอง จำนวน 767 ราย ตรวจประเมินแปลงแล้ว 565 ราย เกษตรกรผ่านการรับรองGAP 67ราย ซึ่งมีเกษตรกรรายกลุ่มไม่มากนัก ส่วนใหญ่เป็นผู้นำของแต่ละท้องถิ่น ที่มีส่วนสำคัญในการสร้างความเข้าใจ ขยายแนวคิด และเป็นศูนย์เรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการผลิตแบบ GAP ให้กับเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินได้เป็นอย่างดี

การพัฒนาเกษตรกรในพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดิน จะเชื่อมโยงกับกกระบวนการพัฒนาเกษตรกรกลุ่มอื่นๆในเขตปฏิรูปที่ดิน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เกษตรกรรุ่นใหม่ นิคมการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดิน และถึงที่สุด กลุ่มเหล่านี้จะปรับแนวทางการผลิตสินค้าเกษตรสู่มาตรฐาน GAP โดยผ่านกระบวนการเรียนรู้ในรูปแบบต่างๆ พร้อมๆ กับความรู้ที่ ส.ป.ก.เสริมให้แก่เกษตรกร เพื่อต่อยอดความคิดจากความถนัด ความชำนาญ ในการทำการเกษตรที่มีอยู่ อาทิ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การแปรรูปผลผลิต การเขียนแผนธุรกิจเพื่อขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน และสินค้าเกษตรที่มีมาตรฐาน GAP เกษตรกรสามารถจำหน่ายสินค้าทั้งในประเทศหรือส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ

“ถึงตอนนั้น เราไม่ต้องกังวลแล้วว่า เขาจะอยู่รอดได้หรือไม่ เพราะเขาจะสามารถคิด วิเคราะห์ตลาด และปรับแนวทางการผลิตสินค้าของตัวเองได้ ซึ่งปัจจุบันมีเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ผ่านการอบรม เรียนรู้รูปแบบที่หลากหลายจาก ส.ป.ก. มีขีดความสามารถและศักยภาพที่สามารถแข่งขันในระบบตลาดได้อย่างมืออาชีพในอนาคต” เลขาธิการ ส.ป.ก.กล่าว

จาก http://www.naewna.com   วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2556

ชาวไร่โวยได้ค่าอ้อยเพิ่มแค่160บ. เตรียมให้ผู้บริหารสอน.ชี้แจง หากไม่เคลียร์บุกพบนายกฯ

นายประเสริฐ บุญชัยสุข รมว.อุตสาหกรรมเปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.)กู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตร และสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อนำ มาจ่ายเงินเพิ่มค่าอ้อยฤดูกาลผลิต 2555/2556 ตันอ้อยละ 160 บาท ซึ่งเมื่อรวมกับเงินค่าอ้อยขั้นต้นที่ ครม.เห็นชอบไปก่อนหน้านี้ ตันอ้อยละ 950 บาท จะทำให้ชาวไร่อ้อยได้ค่าอ้อยที่คุ้มกับต้นทุนการผลิต

"คงไม่มีการเสนอ ครม.พิจารณาให้ กอน.ไปกู้เงินจาก ธ.ก.ส.เพื่อมาจ่ายเงินช่วยเหลือ อีกตันอ้อยละ 90 บาท เพื่อให้ชาวไร่อ้อยได้เงินเพิ่ม และเงินช่วยเหลือตันอ้อยละ 250 บาท ตามที่เรียกร้อง เพราะเงินเพิ่ม 160 บาท สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงแล้ว รวมทั้งช่วยรักษาเสถียรภาพให้กับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายแล้ว" นายประเสิรฐ กล่าว

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม เห็นว่า ควรมีแนวทางในการแก้ปัญหาการเพิ่มค่าอ้อยระยะยาว โดยเห็นว่าควรมีการทบทวนรายได้ที่นำ มาคำนวณในระบบ แบ่งปันผลประโยชน์ เพื่อให้ค่าอ้อยสอดคล้องกับต้นทุน การผลิตมากที่สุด อาจจะปรับการคำนวณรายได้ที่นำเข้าระบบจากกากน้ำตาล (โมลาส) รวมทั้งพิจารณารายได้ จากการนำอ้อยไปผลิตสินค้าประเภทอื่น เช่น เอทานอล และจะต้องมาดูว่าต้องปรับกฎระเบียบใดบ้าง โดยบางเรื่องอาจต้องแก้ประกาศคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) แต่บางเรื่องอาจต้องแก้ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 เพราะช่วงที่ พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้นั้นยังไม่มีการผลิต เอทานอล

ขณะที่ สำนักงานคณะกรรมการอ้อย และน้ำตาลทราย (สอน.) จะทำงานร่วมกับ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) โดยจะนำผลการศึกษาเรื่องการปรับโครงสร้าง อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ของ สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มาพิจารณาว่าจะดำเนินการได้อย่างไร คาดว่า การปรับรายได้ที่นำมาคำนวณในระบบ แบ่งปันผลประโยชน์นี้จะนำมาใช้ได้ในฤดูกาลผลิต 2556/2557

ด้าน นายชัยวัฒน์ คำแก่นคูน ที่ปรึกษา ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน กล่าวว่า ชาวไร่อ้อยจะเข้าพบ สอน.ในสัปดาห์น้าเพื่อสอบถามเกี่ยวกับมติ ครม.ว่า ทำไมอนุมัติเฉพาะเงินเพิ่มค่าอ้อยแค่ 160 บาท ทั้งที่ กอน.มีมติจ่ายเงินช่วยเหลือเพื่อ บรรเทาผลกระทบจากภัยแล้งอีกตันอ้อยละ 90 บาท รวมเป็น 250 บาท ซึ่งการจ่ายเงินช่วยเหลือดังกล่าวไม่ใช่การรับทราบความเห็นของที่ประชุม กอน. แต่ถือเป็นมติ กอน.ที่จะจ่ายตามข้อเสนอของชาวไร่ โดยถ้ากระทรวงอุตสาหกรรม เสนอ ครม. ทั้งเงินเพิ่มและเงินช่วยเหลือ เชื่อว่า ครม.จะอนุมัติมาให้หมด และถ้าเข้าพบ สอน.แล้วไม่มีความคืบหน้าอาจต้องขอเข้าพบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อให้หาแนวทางจ่ายเงินชดเชยผลกระทบ ภัยแล้งต่อไป

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2556

สศก.เผยพบพื้นที่เกษตรเสียหายแล้ว 4 ล้าน 5 แสนไร่

สศก. วิเคราะห์ผลกระทบภัยแล้งต่อภาคการเกษตร ระบุ ปัจจุบันส่งผลแล้วใน 23 จังหวัด มีเกษตรกรได้รับความเสียหายกว่า 6 แสนราย รวมพื้นที่เสียหาย 4 ล้าน 5 แสนไร่ เผย กระทบความเสียหายทางเศรษฐกิจกว่า 1 หมื่น 8 พันล้านบาท โดยกระทบผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่แท้จริงภาคเกษตรคิดเป็น 1 พัน 6 ร้อยล้านบาท

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการวิเคราะห์ผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งที่มีผลต่อเศรษฐกิจการเกษตร (ข้อมูล ณ วันที่ 6 มีนาคม 2556) ซึ่งพบว่า สถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร ส่งผลกระทบด้านพืช 23 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดกาฬสินธุ์ สกลนคร อุดรธานี บึงกาฬ มุกดาหาร หนองคาย หนองบัวลำภู ยโสธร มหาสารคาม อำนาจเจริญ นครพนม ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ ศรีสะเกษ ขอนแก่น บุรีรัมย์ นครราชสีมา อุบลราชธานี สุรินทร์ สุโขทัย พิษณุโลก นครสวรรค์ และอุตรดิตถ์ มีพื้นที่คาดว่าจะเสียหาย 6,419,704 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 6,342,415 ไร่ พืชไร่ 74,123 ไร่ พืชสวนและอื่นๆ 3,166 ไร่ โดยขณะนี้ สำรวจพบว่ามีเกษตรกรได้รับความเสียหาย 612,529 ราย พื้นที่เสียหาย 4,563,520 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 4,509,590ไร่ พืชไร่ 52,540 ไร่ พืชสวนและอื่นๆ 1,390 ไร่

ในการนี้ ศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้มีการประเมินมูลค่าความเสียหายด้านการเกษตรเบื้องต้น แล้ว โดยผลกระทบและมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เป็นตัวเงิน พบว่า มีมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจรวม 18,452.88 ล้านบาท แบ่งออกเป็นความเสียหายด้านข้าว 17,964.59 ล้านบาท ด้านพืชไร่ 460.30 ล้านบาท และด้านพืชสวนและอื่นๆ 27.98 ล้านบาท

สำหรับผลกระทบและมูลค่าทางเศรษฐกิจที่มีต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่แท้จริง (Real GDP) ภาคการเกษตร ปี 2556 นั้น ทางศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้ประมาณผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่แท้จริง พบว่า ความเสียหายจากภัยแล้งส่งผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่แท้จริงภาคเกษตร ปี 2556 เท่ากับ 1,642.99 ล้านบาท และส่งผลกระทบที่มีต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเพียงร้อยละ 0.39

มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจที่มีต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่แท้จริง

ด้านความเสียหาย                                                              ผลกระทบ Real GDP                         

                                                                                        ภาคเกษตร (ล้านบาท)
ด้านพืช (ไร่)
ข้าว                                                                                               1,605.24
พืชไร่                                                                                                  34.64
พืชสวนและอื่น ๆ                                                                                   3.11
รวมมูลค่าผลกระทบที่มีต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคเกษตร                  1,642.99
ร้อยละผลกระทบที่มีต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคเกษตร (%)                       0.39
ประมาณการเจริญเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคเกษตร ปี 2556*             4%

* ตัวเลขประมาณการจากสำนักนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
ที่มา : ศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร 2556

อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ ได้เตรียมมาตรการและแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรอย่างเร่งด่วน เช่น การสนับสนุนเครื่องสูบน้ำ รถยนต์บรรทุกน้ำเพื่อแจกจ่าย มาตรการปฏิบัติการฝนหลวงและมาตรการอื่นๆ เป็นต้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรอย่างอย่างต่อเนื่องไว้เรียบร้อยแล้ว

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2556

สินค้าเกษตรไทยยังเสียดุลการค้านิวซีแลนด์

รายงานข่าวจาก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการร่วมหารือแลกเปลี่ยนความเห็นในเรื่องกรอบความร่วมมือพันธมิตรนานาชาติการวิจัยก๊าซเรือนกระจกภาคเกษตร และการทบทวนสินค้าเกษตรที่มีมาตรการปกป้องพิเศษ ภายใต้กรอบความตกลงความเป็นหุ้นส่วนที่ระหว่างไทย-นิวซีแลนด์ว่า ขณะนี้ นิวซีแลนด์ได้ประสานงานผ่านกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเพื่อขอเข้าหารือในรายละเอียดเพิ่มเติมในเรื่องการทบทวนสินค้า เช่น เนื้อ เครื่องใน เนย ชีส และผลไม้บางชนิด เป็นต้น

สำหรับการทบทวนสินค้า นั้น จะเป็นไปตามข้อผูกพันภายใต้กรอบความตกลง ซึ่งเป็นพันธกรณีต่อเนื่อง โดยจะมีกลไกการเจรจาผ่านคณะกรรมาธิการร่วมความตกลงความเป็นหุ้นส่วนที่ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้นไทย-นิวซีแลนด์ ซึ่งมีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเป็นหัวหน้าคณะฝ่ายไทย อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงเกษตรได้ดำเนินการพิจารณาตามข้อเรียกร้องของฝ่ายนิวซีแลนด์ร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายด้านการเกษตรระหว่างประเทศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จนได้ท่าทีการเจรจาไว้ชั้นหนึ่งแล้ว

ทั้งนี้ การค้าสินค้าเกษตร ระหว่างไทยและนิวซีแลนด์ในปีที่ผ่านมา พบว่า ไทยเป็นฝ่ายเสียเปรียบดุลการค้า 8,451 ล้านบาท โดยกลุ่มสินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกสุทธิ คือ อาหารปรุงแต่ง น้ำตาล และกลุ่มสินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้าสุทธิ คือ นมและผลิตภัณฑ์ ผลไม้ ของปรุงแต่งจากธัญพืช/นม เป็นต้น.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2556

มาตรฐานสินค้าเกษตรนำร่อง4เรื่อง - หลากเรื่องราว

พระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 ได้กำหนด มาตรฐานสินค้าเกษตร ไว้ 2 ประเภท คือ มาตรฐานสมัครใจ และมาตรฐานบังคับ ในส่วนของ มาตรฐานบังคับ นั้น ทางกฎหมายได้กำหนดให้ผู้ผลิต ผู้ส่งออก หรือผู้นำเข้าแล้วแต่กรณี ต้องขอรับรองการตรวจสอบและต้องได้รับใบรับรองตามมาตรฐานบังคับด้วย ปัจจุบัน สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดทำ มาตรฐานบังคับสินค้าเกษตร นำร่อง 4 เรื่อง เพื่อปกป้องคุ้มครองผู้บริโภคทั้งภายในและต่างประเทศ ทั้งยังเป็นมาตรการป้องกันสินค้าด้อยคุณภาพไม่ให้เข้ามาตลาดในประเทศได้

นางนันทิยา อุ่นประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรมีมติเห็นชอบในหลักการจัดทำ มาตรฐานบังคับสินค้าเกษตรนำร่อง 4 เรื่อง ได้แก่ 1. มาตรฐานเมล็ดถั่วลิสง : ข้อกำหนดปริมาณอะฟลาท็อกซิน (Aflatoxin) ในเมล็ดถั่วลิสงแห้ง 2. มาตรฐานการปฏิบัติที่ดีสำหรับการรมผลลำไยสดด้วยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 3. มาตรฐานการปฏิบัติทางสุขลักษณะที่ดีสำหรับศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ และ 4. มาตรฐานการปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงเพาะฟักลูกกุ้งทะเล

ทั้งนี้เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ พร้อมเป็นการยกระดับการผลิตและเป็นมาตรการปกป้องสินค้าเกษตรและอาหาร โดยเฉพาะการก้าวเข้าสู่ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี (AEC) ในอีก 2 ปีข้างหน้า จำเป็นต้องมีมาตรการปกป้องสินค้าด้อยคุณภาพหรือไม่มีความปลอดภัยไม่ให้เข้ามาขายในประเทศ ซึ่งมาตรฐานบังคับที่จะกำหนดใหม่นี้ จะเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยควบคุมสินค้าเกษตรนำเข้าและส่งออกให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน และมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

อะฟลาท็อกซินในถั่วลิสง ถือเป็นปัญหาสำคัญที่มีความเสี่ยงสูง เพราะเป็นสารก่อมะเร็งและเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ดังนั้นจึงต้องเร่งควบคุมและแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะขบวนการหลังการเก็บเกี่ยว รวมถึงการรวบรวมเมล็ดถั่วลิสงแห้ง การแปรรูปและบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ นอกจากนั้นไทยผลิตเมล็ดถั่วลิสงใช้เองและนำมาใช้เป็นวัตถุดิบแปรรูปเพื่อส่งออกไม่เพียงพอ ยังต้องนำเข้าจากประเทศต่าง ๆ ซึ่งต้องควบคุมคุณภาพความปลอดภัยของการนำเข้าถั่วลิสงจากต่างประเทศด้วย อาทิ จากจีน อินเดีย และลาว เป็นต้น

ส่วน โรงรมซัลเฟอร์ไดออกไซด์ลำไยสด ก็ต้องเร่งควบคุมเช่นเดียวกัน เนื่องจากปัจจุบันไทยมีการส่งออกสินค้าลำไยไปต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น มีตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ จีน และอินโดนีเซีย ซึ่งประเทศคู่ค้ามีความกังวลเรื่องสารตกค้างในสินค้าไทยจึงต้องควบคุมสินค้าให้มีความปลอดภัย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้นำเข้า ซึ่งจะทำให้การส่งออกและการค้าราบรื่นและไม่มีปัญหา

นางนันทิยา กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์นมเป็นสินค้าที่ต้องมีคุณภาพและมีความปลอดภัยสูง เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่เป็นเด็กและผู้สูงอายุ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องควบคุมดูแลศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบกว่า 200 แห่งทั่วประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้มีสารตกค้างในน้ำนมดิบ ทั้งยังต้องไม่มีปริมาณแบคทีเรียสูงเกินไป ซึ่งต้องควบคุมให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดรวมถึงประเด็น การปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงเพาะฟักลูกกุ้งทะเล ทางกระทรวงเกษตรฯจะเร่งประกาศบังคับใช้มาตรฐานบังคับสินค้าเกษตรนี้อย่างเป็นทางการต่อไป

นอกจากนั้น มกอช.ยังเร่งศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการจัดทำระบบคอมพาร์ทเมนต์ (Compartment) สำหรับฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ว่ามีความเหมาะสมที่จะผลักดันเป็นมาตรฐานบังคับหรือไม่ เพื่อปกป้องการค้าระหว่างประเทศและช่วยลดการกีดกันทางการค้าในอนาคตและพัฒนาระบบการควบคุมการเลี้ยงสัตว์ของประเทศให้มีความก้าวหน้ามากขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 20 มีนาคม 2556

กระทรวงทรัพยากรฯลงพื้นที่ช่วยภัยแล้ง ดึงทุกภาคส่วนบูรณาการร่วมกัน...แก้วิกฤติครั้งนี้

ในช่วงนี้พบว่าหลาย ๆ จังหวัดในภาคอีสาน เริ่มประสบปัญหาภัยแล้งมาเยือน ทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนสำคัญ ๆ รวมทั้งระดับน้ำในแม่น้ำลำคลองลดน้อยลงเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสัญญาณบอกเหตุว่า ในปีนี้ภาคอีสานจะต้องเผชิญกับภัยแล้งสาหัสสากรรจ์เหมือนเช่นเคย โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ ที่ทุกพื้นที่ทั่วทั้งจังหวัดต่างประสบภัยแล้ง ในบางพื้นที่ปริมาณน้ำดิบที่จะนำมาผลิตน้ำประปาลดลงอย่างน่าใจหาย จนเป็นเหตุให้ประชาชนเริ่มขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค โดยเฉพาะสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ จ.ชัยภูมิ ที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดชัยภูมิ ต้องประกาศให้จังหวัดชัยภูมิเป็นพื้นที่ประสบภัยแล้งขาดแคลนน้ำด้านการเกษตรไม่เพียงพอทั้งจังหวัดแล้วทั้ง 16 อำเภอ มีพื้นที่ประสบภัยรวม 111 ตำบล 1,243 หมู่บ้าน 171,217 ครอบครัว ประชากรเดือดร้อนกว่า 391,435 คน โดยเฉพาะพื้นที่การเกษตรนาข้าวเสียหายแล้วกว่า 113,279 ไร่ ซึ่งทางจังหวัดได้มีการประกาศเตือนให้ประชาชนในทุกพื้นที่ควรงด หรือเลี่ยงการปลูกพืชใช้น้ำมากโดยเด็ดขาด เพราะจะไปกระทบต่อแหล่งเก็บกักน้ำที่มีทั้งหมดที่ต้องมีสำรองไว้เพื่อใช้ด้านการประปา และอุปโภคบริโภค เพื่อเตรียมรับมือภัยแล้งปีนี้ที่มาเร็วกว่าทุกปี

ล่าสุด นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รับคำสั่ง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้นำคณะผู้ว่าราชการจังหวัด นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยภูมิ นายสุพจน์ เจิมสวัสดิพงษ์ อธิบดีกรมทรัพย์น้ำบาดาล และผู้เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ภัยแล้งและเร่ง จัดชุดเจาะบ่อน้ำบาดาล ช่วยชาวบ้านในทุกพื้นที่ห้ามขาดน้ำอุปโภคบริโภคโดยเด็ดขาดใน 90 วัน พร้อมกับติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างแหล่งเก็บน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่ เพื่อที่รัฐบาลจะใช้เป็นนโยบายกระจายเงินกู้ลงพื้นที่ ในการนำมาช่วยแก้ปัญหา โดยเฉพาะให้เร่งช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาภัยแล้ง และเกิดน้ำท่วมรุนแรงซ้ำซากทุกปี ใน 4 อำเภอของจังหวัดชัยภูมิ ประกอบด้วย อ.หนองบัวแดง, หนองบัวระเหว, จัตุรัส และที่ อ.เนินสง่า โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายให้ทุกหน่วยงานบูรณาการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยบริหารจัดการน้ำที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะน้ำอุปโภคบริโภค ซึ่งประชาชนต้องมีน้ำใช้อย่างเพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้ง ให้หน่วยงานแก้ปัญหาภัยแล้งให้ตรงเป้า โดยการแก้ปัญหาระยะสั้น ให้จัดหาภาชนะใส่น้ำ รถบรรทุกน้ำ แหล่งน้ำดิบ เครื่องสูบน้ำ และอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการช่วยเหลือประชาชน ส่วนการแก้ปัญหาระยะกลางและระยะยาว ได้เตรียมงบประมาณ 150 ล้านบาท ให้จังหวัดละ 2 ล้านบาท เพื่อบูรณาการขุดลอกคูคลองเพื่อให้เส้นทางน้ำแต่ละพื้นที่ได้มีการเชื่อมโยงกัน เป็นประโยชน์ต่อประชาชนในการเข้าหาแหล่งน้ำ

โดย นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกล่าวว่าในเบื้องต้นได้นำเครื่องจักรหนักลุยลงพื้นที่ทำการขุดเจาะบ่อบาดาลพร้อมมาจัดพื้นที่ให้ความรู้ด้านการบำรุงรักษาขุดเจาะบ่อบาดาล เพื่อบริการประชาชนและมอบพันธุ์กล้าไม้ให้กับแก่ราษฎรอีกด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวภายหลังตรวจราชการและมอบผ้าห่ม ว่า รัฐบาลมีเป้าหมายติดตามช่วยเหลือปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดยเฉพาะปัญหาภัยแล้ง ที่เกษตรกรประชาชนคนอีสานกำลังประสบอยู่ โดยในปี 2556 รัฐบาลนั้นได้ตั้งงบประมาณ 3.5 แสนล้านบาท แก้ไขปัญหาการพัฒนาลุ่มน้ำในภาคอีสาน 20 จังหวัด คาดว่าจะแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ภัยน้ำท่วมได้ทั้งระบบ นอกจากนั้น การแก้ไขภัยแล้งในพื้นที่ห่างไกลแหล่งน้ำ ได้มอบให้กรมทรัพยากรน้ำ วางแผนการขุดเจาะบ่อบาดาล เพื่อการเกษตรและการผลิตน้ำดื่ม โดยเน้นย้ำให้ทุกตำบลและทุกหมู่บ้านจะต้องเจาะน้ำใต้ดินขึ้นมา เพื่อใช้แก้ปัญหาในพื้นที่นอกระบบชลประทาน ซึ่งการสำรวจพบว่า ประเทศไทย มีแหล่งน้ำใต้ดินมากกว่า 1 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ละปีมีการนำขึ้นมาใช้น้อยมาก แนวทางแก้ไขปัญหาภัยแล้ง จะต้องมีการขุดเจาะน้ำบาดาล เพื่อพื้นที่นาข้าวและพืชไร่ ซึ่งปีนี้จะขุดเจาะ 7,000 บ่อ เน้นตามโรงเรียนและพื้นที่การเกษตร โดยคาดว่าจะเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ทำให้มีน้ำอุปโภคบริโภค และช่วยเหลือการเกษตรได้ในระยะยาว

ด้าน นายสุพจน์ เจิมสวัสดิพงษ์ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวเสริมว่า ขณะนี้ได้เตรียมความพร้อม เพื่อรับสถานการณ์ภัยแล้งในระยะเผชิญเหตุด้วยศักยภาพของอุปกรณ์และเครื่องจักรเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาปัญหาภัยแล้งให้แก่ประชาชน ประกอบด้วย ชุดเจาะบ่อน้ำบาดาล ชุดเป่าล้างทำความสะอาดบ่อน้ำบาดาล ชุดซ่อมระบบประปา-เครื่องสูบ เครื่องสูบน้ำบาดาลสำรอง และยังได้เตรียมบ่อน้ำบาดาลที่สามารถใช้บรรเทาปัญหาภัยแล้ง จำนวน 116,930 บ่อ ระบบประปาบาดาลทั่วประเทศ จำนวน 68,117 ระบบ จุดจ่ายน้ำถาวร จำนวน 100 แห่ง ระบบน้ำดื่มสะอาดในโรงเรียนทั่วประเทศ จำนวน 2,090 ระบบ ซึ่งพร้อมเป็นจุดจ่ายน้ำสะอาดให้ความช่วยเหลือทันทีเมื่อเกิดพิบัติภัย

นายสุพจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาภัยแล้ง เป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ทุกหน่วยงานต้องมีการทำงานร่วมกัน โดยบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาคราชการและภาคเอกชน ซึ่งปัจจุบันมีภาคเอกชนหลายหน่วยงานที่เล็งเห็นความสำคัญของการช่วยเหลือประชาชน และให้การสนับสนุนกิจกรรมของหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะในส่วนที่ดำเนินการอยู่แล้วให้สามารถบังเกิดผลได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

นายมนตรี ชาลีเคลือ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยภูมิกล่าวว่า จังหวัดชัยภูมิ นับเป็นจังหวัดหนึ่งในภาคอีสานที่กำลังประสบปัญหาภัยแล้ง และเกิดน้ำท่วมรุนแรงซ้ำซากทุกปีใน 4 อำเภอ ประกอบด้วย อ.หนองบัวแดง, หนองบัวระเหว, จัตุรัส และที่ อ.เนินสง่า ราษฎรขาดน้ำอุปโภคบริโภคในพื้นที่จำนวนมาก ขณะทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยภูมิกำลังดำเนินการขอให้ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล เร่งส่งหน่วยเคลื่อนที่เร็วออกมาขุดเจาะบ่อบาดาล เพื่อเป็นการช่วยเหลือชาวบ้านและเกษตรกรแล้ว โดยเฉพาะโครงการที่จะช่วยแก้ปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วม ในระยะยาว ที่ จ.ชัยภูมิ คือ โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำลำสะพุง ที่กรมชลประทาน คาดว่า จะต้องใช้งบประมาณกว่า 3,000 ล้านบาท แต่ที่ผ่านมาติดเงื่อนไขก่อสร้างไม่ได้เพราะยังไม่มีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจน และเกิดการต่อต้านจากกลุ่มมวลชนนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจำนวนมาก และอยู่ในพื้นที่ที่ทางประเทศไทยได้ขอขึ้นทะเบียนเป็นป่าชุ่มน้ำนานาชาติไปแล้ว ซึ่งยังมีบางส่วนได้รับผลกระทบเกิดปัญหาทับซ้อนของพื้นที่การก่อสร้างเขื่อนไปกระทบต่อผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ และสัตว์ป่าจำนวนมากในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว (ทุ่งกะมัง) จะต้องถูกน้ำท่วมจากการสร้างเขื่อนเป็นเนื้อที่สูงกว่า 2,100 ไร่ จึงขอให้รัฐบาลช่วยดำเนินการก่อสร้างเขื่อนแห่งนี้ให้เสร็จโดยเร็ว.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 19 มีนาคม 2556

เร่งดับภัยแล้งภาคอีสานส่งหน่วยเคลื่อนที่เร็วทำฝนหลวง/กรมชลฯย้ำน้ำในเขื่อนยังพอใช้

นายวราวุธ ขันติยานันท์ ผู้อำนวยการสำนักฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า สำนักฝนหลวงและการบินเกษตร ได้จัดทำฝนหลวงในพื้นที่ประสบภัยแล้งโดยเฉพาะจังหวัดในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากหลายพื้นที่ยังทำเกษตรกรรมอยู่ พร้อมทั้งจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงทั่วประเทศ 5 ศูนย์ 10 หน่วย จัดเจ้าหน้าที่ออกปฏิบัติการ โดยภาคเหนือตั้งหน่วยปฏิบัติการที่จังหวัดเชียงใหม่ พิษณุโลก แก้ปัญหาภัยแล้งและปัญหาหมอกควัน ภาคกลางที่จังหวัดกาญจนบุรี และนครสวรรค์ ภาคตะวันออกที่จังหวัดจันทบุรี และระยอง ภาคใต้ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช สงขลา และอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จังหวัดขอนแก่น ซึ่งศูนย์ดังกล่าว ได้เริ่มปฏิบัติการมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

นายวราวุธ กล่าวอีกว่า จากการตรวจสอบพบว่า ขณะนี้พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กำลังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคอย่างหนัก ดังนั้น จึงได้จัดหน่วยเคลื่อนที่เร็วออกปฏิบัติการในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้เริ่มมีฝนตกลงมาบ้างแล้ว อย่างไรก็ตาม ได้กำชับสำนักฝนหลวงฯ แต่ละภูมิภาคให้ติดตามและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด และทำงานร่วมกับจังหวัด กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน เกษตรและสหกรณ์จังหวัด ซึ่งจะมีการประชุมติดตามสถานการณ์ภัยแล้งเป็นประจำร่วมกัน

ด้าน นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในเขื่อนภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังไม่น่าห่วง โดยเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ยังมีน้ำใช้กว่า 200 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ จำนวน 160 ล้านลูกบาศ์เมตร ส่วนเขื่อนห้วยหลวง จังหวัดอุดรธานี ยังมีน้ำใช้อีกประมาณ 18 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งทั้งหมดเชื่อว่ายังเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภค และด้านเกษตรกรรม ระหว่างเดือนมีนาคม - กลางเดือนพฤษภาคม ไปจนฝนทิ้งช่วงในเดือนมิถุนายน อย่างไรก็ตาม กรมชลประทานได้บูรณาการความร่วมมือการใช้น้ำกับการประปาส่วนภูมิภาค และจังหวัด ในการนำน้ำเข้าระบบประปาทั้งระบบ เพื่อช่วยเหลือประชาชนอย่างทันท่วงที

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 19 มีนาคม 2556

ชูโครงการพระราชดำริสันป่าตอง สร้างการเรียนรู้ระบบเกษตรแบบมีส่วนร่วม-เพิ่มรายได้ชาวบ้าน

นายอนุสรณ์ พรชัย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 1 เชียงใหม่ (สศข.1) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงผลการประเมินโครงการพัฒนาตามพระราชดำริ อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ของผู้ผ่านการอบรมตามโครงการ ปี 2554 ซึ่งมีผู้ผ่านการอบรมจำนวน 1,000 คน ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และจากการสุ่มตัวอย่างประเมิน พบว่า ในภาพรวมผู้เข้าอบรม ร้อยละ 70 มีความพึงพอใจในระดับมาก โดยเห็นว่าเนื้อหาการอบรมนั้นตรงตามความต้องการ และสามารถนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ได้ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถและโอกาสด้านการผลิตได้ ส่งผลให้รายได้เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ผู้ผ่านการอบรมยังมีการรวมกลุ่มกันเกิดขึ้น โดยพบว่า เกษตรกรมีการนำเกษตรอินทรีย์ไปปฏิบัติแล้วและเห็นว่าสิ่งแวดล้อมในแปลงเกษตรดีขึ้นมากถึงร้อยละ 66 และมีการนำความรู้ไปดำเนินงานต่อประมาณ ร้อยละ 55 อย่างไรก็ตามจากผลการประเมิน สศข.1 มีความเห็นว่าควรเน้นการส่งเสริมแบบยั่งยืนที่ต่อเนื่องเพื่อให้ผู้ที่ได้รับการอบรม สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปปฏิบัติ หรือถ่ายทอดให้กับผู้อื่นได้ โดยเน้นการถ่ายทอดความรู้และสนับสนุนปัจจัยการผลิตตามความเหมาะสม รวมทั้งสำรวจความต้องการของกลุ่มเป้าหมายเพื่อให้ผู้ที่ต้องการเข้าร่วมอบรมได้รับความรู้อย่างทั่วถึง และสนับสนุนปัจจัยการผลิตแก่ผู้ผ่านการอบรมที่มีความต้องการปัจจัยการผลิตให้สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง ตลอดจนสนับสนุนและประสานด้านการตลาด การรองรับผลผลิตของผู้ที่นำความรู้ไปปฏิบัติ เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรต่อไป

“ทั้งนี้ การประเมินผลโครงการ ดังกล่าว สศข.1 ได้ดำเนินการต่อเนื่องมาโดยตลอดตั้งแต่ ปลายปี 2551 ซึ่งที่ผ่านมา โครงการได้ช่วยให้เกษตรกร ประชาชน นักเรียน และนักศึกษา ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดต่างๆ ทางภาคเหนือของประเทศ ได้มีโอกาสเรียนรู้ระบบการเกษตรแบบมีส่วนร่วมในเชิงบูรณาการ โดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ เป็นศูนย์แห่งการเรียนรู้ระบบเกษตร ซึ่งถ่ายทอดความรู้ทางด้านการเกษตร ในทุกๆ ด้าน ทั้งด้านพืชไร่ พืชสวน ไม้ดอกไม้ประดับ ประมง ปศุสัตว์ และการปรับปรุงบำรุงดินอย่างครบวงจร ส่งผลประโยชน์ไปสู่เกษตรกร ประชาชน นักเรียน และนักศึกษาที่อยู่ในพื้นที่ อีกทั้งขยายผลไปยังพื้นที่ใกล้เคียงในอำเภออื่นๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดอื่นๆ ในภาคเหนืออีกด้วย” นายอนุสรณ์ กล่าว

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 18 มีนาคม 2556

กรอ.เร่งจัดโซนพท.อุตฯใหม่ทั่วไทย เล็งประสานผังเมืองดึงรง.รุกพื้นที่สีเขียวให้ถูกกม.

กรม โรงงานฯเตรียมล้างไพ่ จัดพื้นที่เขตอุตสาหกรรมใหม่ทั่วประเทศ หาช่องผ่อนปรนโรงงานในพื้นที่สีเขียว รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรม พร้อมประสานมือ BOI ทำแผนสอดคล้องคลัสเตอร์ยุทธศาสตร์ส่งเสริมลงทุนใหม่ เผยทุ่ม 100 ล้าน เร่งศึกษาสำรวจพื้นที่ตั้งโรงงานทั่วประเทศด่วน

นาย ณัฐพล ณัฎฐสมบูรณ์ รักษาการอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้ทางกรมโรงงานฯเตรียมผลักดันนโยบายการจัดเขตพื้นที่อุตสาหกรรม (Zoning) ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาพื้นที่ที่มีศักยภาพ ว่าภาคใดเหมาะสมพัฒนาอุตสาหกรรมประเภทใด โดยเบื้องต้นมองว่า ภาคตะวันออกเหมาะที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์และปิโตรเคมี ส่วนภาคเหนืออาจพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ทั้งนี้ การจัดเขตพื้นที่อุตสาหกรรมจะพัฒนาให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการ ลงทุนใหม่ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่ต้องการส่งเสริมในรูปแบบคลัสเตอร์ด้วย

ด้านนายพงษ์เทพ จารุอำพรพรรณ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สำหรับนโยบายการจัดเขตพื้นที่อุตสาหกรรมนั้น อยู่ระหว่างทำโครงการศึกษาการใช้พื้นที่อุตสาหกรรมแต่ละจังหวัดแบ่งเป็น 1) จังหวัดที่มีอุตสาหกรรมหนาแน่น และ 2) จังหวัดที่มีศักยภาพในการเจริญเติบโตสูง พร้อมเตรียมเสนอของบประมาณประจำปี 2557 เพื่อมาศึกษารวม 100 ล้านบาท สำหรับพื้นที่อุตสาหกรรมในจังหวัดที่มีความหนาแน่น คือ จังหวัดระยอง ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ, สมุทรสาคร, ขอนแก่น, นครราชสีมา, ปราจีนบุรี, พระนครศรีอยุธยา, สระแก้ว และนครปฐม เป็นต้น ส่วนพื้นที่อุตสาหกรรมในจังหวัดที่มีศักยภาพในการเจริญเติบโตสูง ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ปราจีนบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น นครปฐม กาญจนบุรี สุพรรณบุรี และเพชรบุรี

นอกจากจะพิจารณาว่าในแต่ละพื้นที่มีศักยภาพ ในการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างไรบ้าง กรอ.จะต้องพิจารณาประเด็นความขัดแย้งและความไม่พร้อมของกฎหมายหลาย ฉบับ เช่น เรื่องผังเมืองหรือเทศบัญญัติ ต้องศึกษาภาพรวมทั้งหมดในการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ต่าง ๆ สามารถทำได้มากน้อยเพียงใด เพราะแต่ละจังหวัดมีนโยบายแตกต่างกัน เช่น บางจังหวัดอาจจะเน้นทางเกษตรหรือเป็นการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ถ้าเอกชนไปตั้งโรงงานในพื้นที่นั้น ๆ จะเกิดความขัดแย้ง ภาครัฐจึงต้องประสานและดูแผนงานต่าง ๆ ที่สามารถเข้าไปตั้งโรงงานอุตสาหกรรมได้หรือไม่

"ยกตัวอย่างใน อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา มีการขยายตัวของอุตสาหกรรมมากขึ้น เพราะต้องการลดความเสี่ยงจากภัยน้ำท่วม และในพื้นที่มีความพร้อมด้านแรงงาน แต่ถูกกันด้วยเรื่องของผังเมือง หรือเพราะเป็นพื้นที่สีเขียวจึงไม่สามารถไปตั้งโรงงานได้ ซึ่งขัดต่อความเป็นจริง เพราะก่อนหน้านี้มีโรงงานไปตั้งอยู่แล้ว เมื่อประกาศคำสั่งผังเมืองออกมามีผลย้อนหลัง นิคมอุตสาหกรรมเองก็กลัวเพราะมีโรงงานที่ตั้งอยู่เดิม ซึ่งโรงงานเดิมถูกคำสั่งห้ามขยาย และโรงงานใหม่ห้ามตั้ง เราจึงต้องเข้าไปศึกษากฎหมาย เพื่อช่วยผ่อนปรนและหาพื้นที่ให้กับภาคอุตสาหกรรม"

นายพงษ์เทพกล่าว เพิ่มเติมว่า ในบางอุตสาหกรรมเน้นสร้างโรงงานที่มีพื้นที่ใกล้กรุงเทพฯมากกว่าต่างจังหวัด เพราะมีปัจจัยที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ เช่น การขนส่งสะดวก มีแรงงาน ใกล้ความต้องการของผู้บริโภค ดังนั้น กรอ.กำลังเข้าไปสำรวจว่า ยังมีพื้นที่ว่างพอหรือไม่ที่จะขยายโรงงานอุตสาหกรรม พร้อมกับประสานงานกับหน่วยราชการอื่น ๆ ในพื้นที่ ว่าระบบสาธารณูปโภค เช่น น้ำ ไฟฟ้า มีความพร้อมรองรับอุตสาหกรรมหรือไม่

"มองในองค์รวมแล้ว เสนอรัฐบาลว่า ถ้าจะส่งเสริมในเขตอุตสาหกรรมที่มีความหนาแน่น รัฐบาลจะต้องทำอย่างไรต่อไป แต่คงไม่ถึงขั้นไปเปลี่ยนสีของผังเมือง แต่จะทำหน้าที่ประสานว่า ในส่วนนี้อุตสาหกรรมยังสามารถโตได้อีก โดยนำเสนอข้อมูลแล้วให้มีการปรับในส่วนของผังเมือง ว่าจะสามารถปรับในส่วนไหนได้บ้าง ในพื้นที่เดิมสามารถขยายได้อีกหรือไม่ และทางด้านการคมนาคมก็จะเสนอแผนผ่านทางสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ว่าส่วนไหนจะต้องพัฒนาเพิ่มเติม"

การจัดเขตอุตสาหกรรมนี้ เบื้องต้นจะให้สิทธิประโยชน์เทียบเท่ากับการลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม และยังได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ด้วย และจะเพิ่มความสะดวกอื่น ๆ เพื่อเอื้อให้ภาคเอกชนมาลงทุนในเขตอุตสาหกรรมมากขึ้น ทั้งหมดนี้ กรอ.จะใช้เวลาศึกษารวม 1 ปี แล้วเสนอรัฐบาลเพื่อกำหนดเป็นแผนต่อไป

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 18 มีนาคม 2556

ทีดีอาร์ไอจี้รัฐบาลปรับปรุงขบวนการหลีกเลี่ยงภาวะวิกฤติหนี้สาธารณะ

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ประเทศอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมากได้ประสบทั้งปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำและปัญหาหนี้สาธารณะอย่างรุนแรง ทั้งนี้ รวมถึงสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และหลายประเทศใน

ยูโรโซน ตัวอย่างเช่น อัตราส่วนหนี้สาธารณะของญี่ปุ่นพุ่งสูงถึง 229% ของ GDP ในปี 2554 ในขณะที่ของกรีซและอิตาลีก็สูงเช่นกัน (160% และ 120% ตามลำดับ) สิ่งที่น่าแปลกใจอีกประการหนึ่งคือ

แม้สหภาพยุโรปจะมีกฎเกณฑ์ควบคุมส่วนขาดดุลงบประมาณไม่ให้เกิน 3% ของ GDP และหนี้สาธารณะคงค้างไม่ให้เกิน 60% ของ GDP แต่ประเทศสมาชิกและญี่ปุ่นก็ได้ดำเนินมาตรการ

การคลังในหลายรูปแบบเพื่อพยุงฐานะของประชาชนและเศรษฐกิจส่วนรวม มาตรการและสวัสดิการเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดทั้งค่าใช้จ่ายและหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งกระตุ้นให้ประชาชนเรียกร้องให้

รัฐดำเนินมาตรการเหล่านั้นอย่างต่อเนื่องหรือช่วยเหลือมากขึ้นด้วยซ้ำ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ บทบาทของมาตรการการคลังได้เปลี่ยนไปจากที่เป็นเครื่องมือสำหรับแก้ไขปัญหาในระบบเศรษฐกิจชั่วคราวกลายเป็นเครื่องมือถาวรตามที่ประชาชนต้องการ และในยามที่รัฐไม่สามารถหารายได้ให้เพียงพอต่อรายจ่ายและภาระหนี้เก่า รัฐก็จำเป็นต้องก่อหนี้ใหม่สะสมเพิ่มเติมหรือเข้าสู่วงจรอุบาทว์ของหนี้สาธารณะ

สถานการณ์ของไทยก็คล้ายคลึงกับเรื่องน่าเศร้าข้างต้น แม้ว่าอัตราส่วนหนี้สาธารณะและส่วนขาดดุลงบประมาณต่อ GDP ของไทย (41% และ 4% ตามลำดับ) ยังต่ำกว่าของประเทศในยูโรโซนมาก แต่พรรคการเมืองหลายพรรคก็พึ่งเงินของรัฐในการดำเนินมาตรการประชานิยมหลายรูปแบบเช่น รับจำนำข้าว ซื้อรถคันแรก รถประจำทางฟรี ช่วยธุรกิจขนาดเล็กและชาวนารายได้ต่ำให้สามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อ ก่อนที่จะหาช่องทางบริหารหนี้สาธารณะที่เหมาะสม เราควรทบทวนบทบาทพื้นฐานของหนี้สาธารณะในประเทศต่างๆ ประการแรก เงินกู้เหล่านั้นทำหน้าที่เสริมรายได้จากภาษีอากร
เพื่อนำไปใช้ในกิจกรรมสาธารณะและโครงสร้างพื้นฐาน ประการที่สอง เงินกู้เหล่านั้นทำให้รัฐสามารถดำเนินมาตรการการคลังเพื่อสร้างเสถียรภาพให้แก่การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ ประการที่สาม พันธบัตรรัฐบาลมักทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมเงินออมกับเงินลงทุนและบริโภค นอกจากนั้น พันธบัตรของรัฐยังเป็นเครื่องมือที่ทุกฝ่ายเชื่อมั่นพอที่จะทำหน้าที่เป็นแกนหลักสำหรับการกู้ยืมและลงทุนหรือปรับสภาพคล่องผ่านตลาดรองอีกด้วย

ตาราง: หนี้สาธารณะคงค้าง/GDP ในปี 2555 (หน่วย: ร้อยละ)
กรีซ 160.81 สิงคโปร์ 100.79
อิตาลี 120.11 มาเลเซีย 52.56
โปรตุเกส 106.79 ไทย 41.69
ไอร์แลนด์ 104.95 ฟิลิปปินส์ 40.47
สเปน 68.47 อินโดนิเซีย 25.03

ญี่ปุ่น 229.77 ลาว 57.36
สหรัฐอเมริกา 102.94 พม่า 44.32
ฝรั่งเศส 86.26 เวียดนาม 37.97
คานาดา 84.95 เขมร 28.60
อังกฤษ 82.50
เยอรมันนี 81.51 สิงคโปร์ 100.79
นิวซีแลนด์ 37.04 ไต้หวัน 40.80
จีน 25.84 เกาหลีใต้ 34.14
ออสเตรเลีย 22.86 ฮ่องกง 33.86
แหล่งที่มา: Eurostat

2. กฎข้อบังคับของไทยและข้อบกพร่อง
บทบาทที่สำคัญของหนี้สาธารณะในประเทศต่างๆ ดังที่กล่าวข้างต้นคงทำให้หลายฝ่ายข้องใจว่าแล้วในกรณีของไทย เรามีกฎเกณฑ์ควบคุมหรือไม่ และกฎเกณฑ์เหล่านั้นรอบคอบเพียงพอไหมที่จะช่วยให้ไทยไม่ประสบภาวะวิกฤติหนี้สาธารณะดังเช่นประเทศในยุโรปและญี่ปุ่น กฎเกณฑ์เหล่านั้นมีดังต่อไปนี้

(1) ตาม ม.9 ทวิ พ.ร.บ. วิธีการงบประมาณ ปี พ.ศ. 2502 ในแต่ละปีงบประมาณ รัฐจะกู้ได้ไม่เกิน 20% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีและไม่เกิน 80% ของงบรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ (อีกนัยหนึ่งคือ รัฐสามารถกู้เงินมาต่ออายุหนี้เก่าได้)

(2) ตาม ม.3 พ.ร.บ. การกู้จากต่างประเทศ ปี พ.ศ. 2519 ในแต่ละปีงบประมาณ รัฐจะกู้จากต่างประเทศได้ไม่เกิน 10% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี

(3) อัตราส่วนภาระหนี้ของรัฐสู่แหล่งเงินทุนทั้งในและนอกประเทศต้องไม่เกิน 13% ของงบรายได้ประจำปีงบประมาณนั้นๆ

(4) อัตราส่วนภาระหนี้ต่างประเทศต้องไม่เกิน 9% ของรายได้เงินตราต่างประเทศจากการส่งออกสินค้าและบริการ
(5) ตาม ม.30 พ.ร.บ. เงินตรา ปี พ.ศ. 2501 รัฐต้องมีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศไม่ต่ำกว่า 60% ของธนบัตรที่ออกใช้

กฎข้อบังคับที่กล่าวข้างต้นอาจชี้แนะว่าประเทศไทยระมัดระวังตัวพอที่จะสามารถหลีกเลี่ยงปัญหาหนี้สาธารณะได้ แต่หากศึกษาอย่างละเอียดถี่ถ้วนจะพบว่ากฎเกณฑ์เหล่านั้นมีช่องโหว่หลายประการ ดังเช่น

(1) ข้อผูกพันทางการเงินของรัฐวิสาหกิจมีข้อจำกัดแต่เพียงวงเงินที่รัฐค้ำประกัน ตัวอย่างเช่น หากองค์กรมหาชนเป็นบริษัทจำกัดหรือสถาบันการเงิน จำนวนวงเงินค้ำประกันทั้งสิ้นในแต่ละปีงบประมาณจะต้องไม่เกิน 10% ของงบประมาณรายจ่าย ในแต่ละกรณีหากผู้กู้เป็นบริษัทจำกัด

จำนวนเงินค้ำประกันจากรัฐจะต้องไม่เกิน 6 เท่าของเงินกองทุนของบริษัทนั้นๆ หากผู้กู้เป็นสถาบันการเงิน ขอบเขตการประกันเท่ากับ 4 เท่าของเงินกองทุน แต่ หากองค์กรมหาชนผู้กู้เป็นหน่วยงานอื่นๆ (เช่น กฟผ., กฟภ., กปน., กปภ., ขสมก., รฟท., กสทช., ทีโอที) ไม่มีขอบเขตของจำนวนเงินที่รัฐสามารถเข้าค้ำประกัน แสดงให้เห็นว่ารัฐให้ความสำคัญเป็นพิเศษแก่กิจการสาธารณูปโภคเช่น

การลงทุนและการดำเนินงานด้านไฟฟ้าและน้ำประปา รวมไปถึงการโทรคมนาคมและขนส่ง

(2) ในบางปี รัฐได้ออกพระราชกำหนดเปิดโอกาสให้กู้เงินเพิ่มเติมด้วย เช่น พรก. กู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 (400,000 ล้านบาท), พรก. ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย พ.ศ. 2555 (300,000 ล้านบาท), พรก. ส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ พ.ศ. 2555 (50,000 ล้านบาท), พรก. วางระบบน้ำ พ.ศ. 2555 (350,000 ล้านบาท), พรก. ช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบการเงิน พ.ศ. 2555 แม้กฏหมายเหล่านี้อาจจะฟังดูมีเหตุผล แต่กฎหมายเหล่านี้ก็อาจจะขัดแย้งกับ ม. 9 ทวิ ที่จำกัดการกู้เงินของรัฐไม่ให้เกิน 20% ของงบประมาณรายจ่าย ซึ่งสามารถก่อปัญหาหนี้สาธารณะแก่ประเทศไทยได้

(3) มาตรการประชานิยมของรัฐซึ่งเป็นที่แพร่หลายมากเช่น รถคันแรก บ้านหลังแรก ประกันสุขภาพ 30 บาท รถเมล์ฟรี และจำนำข้าว ก่อให้เกิดรายจ่ายหรือสร้างแรงกดดันทางการเงินแก่รัฐเป็นอันมาก จนอาจทำให้รัฐบาลไทยติดปัญหาวงจรหนี้อุบาทว์ดังเช่นที่ได้เกิดขึ้นในหลายประเทศแถบยุโรป ซึ่งรัฐได้ประสบปัญหาในการกู้เงินก้อนใหม่เพื่อมาชดเชยส่วนขาดดุล เนื่องจากความน่าเชื่อถือทางเครดิตของรัฐตกต่ำลงเพราะฐานะทางการเงินของรัฐสั่นคลอน

(4) แม้รัฐบาลไทยจะได้ประกาศเพดานหนี้สาธารณะต่อ GDP ว่าต้องไม่ให้เกิน 50% หรือ 60% แต่ขอบเขตนี้ก็ยังไม่ออกมาเป็นกฎหมาย จึงอาจเกิดปัญหาที่น่าวิตกได้

3. ช่องทางปรับปรุงและเหตุผล

(1) สิ่งที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งในการบริหารหนี้สาธารณะคือ ความยั่งยืนทางการคลัง (fiscal sustainability) คุณสมบัตินี้หากรักษาไว้ได้อย่างต่อเนื่องจะทำให้รัฐสามารถเข้าช่วยเกื้อหนุนหรือแก้ไขปัญหาการเติบโตของเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพ หลายประเทศ (เช่น อินโดนิเซีย) เชื่อมั่นในหลักเกณฑ์ Maastrict ที่จำกัดส่วนขาดดุลทั้งสิ้นของรัฐ (consolidated) ในดุลเงินสด (overall cash balance) ไม่ให้เกิน 3% ของ GDP ทุกปี และอัตราส่วนหนี้สินของรัฐบาลกลางรวมกับรัฐบาลท้องถิ่นแล้วต้องไม่เกิน 60% ของ GDP กฎนี้จะช่วยสร้างความยั่งยืนทางการคลังและขจัดช่องโหว่ที่กล่าวถึงข้างต้นด้วย เพราะความหมายของ “ส่วนขาดดุลทั้งสิ้นของรัฐ” และ “ดุลเงินสด” ครอบคลุมถึงรายได้รายจ่ายทั้งในและนอกงบประมาณของรัฐบาลทุกระดับและรัฐวิสาหกิจ

(2) ในการจำกัดหนี้ให้เหมาะสม รัฐควรศึกษาความสามารถในการชำระหนี้อย่างละเอียดในแง่มหภาค ตัวอย่างของปัจจัยที่เกี่ยวข้องได้แก่รายได้ในอนาคตจากภาษีอากรและโครงการที่พึ่งเงินกู้รัฐมีขอบเขตของความสามารถในการชำระหนี้เช่นเดียวกับหน่วยงานอื่นๆ เพราะไม่สามารถเข้าพึ่งธนาคารกลางได้เสมอไปเนื่องจากอาจขัดแย้งกับนโยบายเข้มงวดทางการเงิน ทางด้านภาษีอากรก็เช่นกัน รัฐอาจไม่สามารถเพิ่มขึ้นได้ตามใจชอบเพราะอาจประสบอุปสรรคทางการเมือง นอกจากนั้นรัฐอาจออกพันธบัตรกู้เงินจากนักลงทุนภายในและ/หรือนอกประเทศได้ลำบาก หากระดับความน่าเชื่อถือทางเครดิตของรัฐในขณะนั้นลดต่ำลง หลักการหนึ่งที่จะช่วยให้รัฐปลอดภัยทางการเงินคือกระจายภาระหนี้ในอนาคตให้ไม่กระจุกตัวในช่วงใดช่วงหนึ่ง และทำตามข้อผูกพันทางการเงินอย่างสม่ำเสมอและตรงต่อเวลา

(3) ประสิทธิภาพของการใช้เงินกู้เป็นปัจจัยที่สำคัญมากและส่งผลกระทบโดยตรงต่อความสามารถในการชำระหนี้ ดังนั้น เมื่อรัฐทำการจัดสรรเงินกู้ ควรให้ความสำคัญเป็นพิเศษแก่โครงการลงทุนที่มีประสิทธิภาพสูงและก่อความเสี่ยงต่ำ กู้เงินเพื่อโครงการลงทุนมักคุ้มกว่ากู้เงินเพื่อมาตรการประชานิยม

(4) การที่จะใช้ทรัพยากรเงินกู้ให้มีประสิทธิภาพเพียงพอ มักต้องพึ่งการประสานงานและความร่วมมือที่ดีระหว่างหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งภาครัฐและเอกชน การประสานงานและความร่วมมือเช่นนั้นจะช่วยสร้างผลประโยชน์ที่สูงขึ้นตามขนาดของการลงทุน (economy of scale) ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในแง่นี้คือ โครงการโทรคมนาคมและขนส่ง ซึ่งครอบคลุมทั้งการวางแผนช่องทางที่รอบคอบ เลือกใช้วิธีติดต่อสื่อสารขนส่งที่ถูกต้อง รวมทั้งกำหนดตารางเวลาที่เหมาะสมด้วย

(5) ตารางเวลา (time profile) นับเป็นมิติที่สำคัญมากในการบริหารหนี้สาธารณะในหลายแง่มุม นอกเหนือจากรัฐจะต้องพิจารณาความต้องการใช้เงินกู้ในช่วงเวลาต่างๆ ของหลายหน่วยงานแล้ว รัฐยังต้องพิจารณาโครงสร้างภาระหนี้ผูกพันที่ได้ก่อไว้แล้วในอดีตอีกด้วย เพราะมีจุดประสงค์ที่จะเลือกอายุของหนี้ใหม่ให้เหมาะสมในแง่ที่ภาระหนี้ใหม่และหนี้เก่าไม่เกาะกลุ่มในช่วงเวลาใดมากเป็นพิเศษในอนาคต การหลีกเลี่ยงสถานการณ์เช่นนั้นจะช่วยลดโอกาสที่จะประสบปัญหาหนี้ นอกจากนั้น การติดตามโครงสร้างภาระหนี้อย่างใกล้ชิดประกอบกับสภาพตลาดเงินทุนของโลกจะช่วยชี้แนะหรือเปิดโอกาสให้รัฐปรับปรุงโครงสร้างภาระหนี้สาธารณะให้ดีขึ้น โดยการกู้เงินใหม่มาชำระหนี้เก่าก่อนกำหนดหรือเพื่อต่ออายุหนี้เก่าในสกุลเงินเดิมหรือใหม่ให้เหมาะสมและทันต่อเหตุการณ์

(6) สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งในการบริหารหนี้สาธารณะคือ ความสอดคล้องกับนโยบายการเงินและอัตราแลกเปลี่ยน เพราะทั้งสามมาตรการนี้สัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ เงินทุนที่ไหลเข้าจากต่างประเทศในช่วงไตรมาสแรกของปี พ.ศ. 2556 นี้ มีเป็นจำนวนมากที่เข้ามาซื้อพันธบัตรออกใหม่ของรัฐที่ผูกผลตอบแทนกับอัตราเงินเฟ้อ จึงมีส่วนผลักดันให้ค่าเงินบาทสูงขึ้นอย่างรวดเร็วมาก (3.4%) ภายในระยะเวลาไม่ถึง 3 เดือนจากปลายปี พ.ศ. 2555 ดังนั้น การประสานงานทั้งในแง่เวลาและปริมาณระหว่างมาตรการการคลัง การเงิน และอัตราแลกเปลี่ยนจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากและต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อมิให้เกิดผลกระทบในแง่ลบระหว่างกันและกันข้อเสนอแนะทั้ง 6 ประการที่กล่าวข้างต้นแสดงให้เห็นถึงความซ้บซ้อนในการบริหารหนี้สาธารณะ แม้กระนั้นก็ตาม รัฐยังคงควรที่จะพยายามปรับปรุงขบวนการต่อไปเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะวิกฤติของหนี้สาธารณะ ที่กล่าวเช่นนี้เป็นเพราะประสบการณ์ของต่างประเทศได้ให้บทเรียนไว้อย่างชัดเจนว่า เมื่อประเทศใดประสบภาวะวิกฤติหนี้สาธารณะแล้ว ความน่าเชื่อถือทางเครดิตที่ลดต่ำลงและความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่สั่นคลอนจะทำให้การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ กินเวลายาวนานเป็นอันมาก

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 18 มีนาคม 2556

กรมการค้า ตปท.เดินเกมรุกการค้าชายแดนก่อนเข้าสู่ AEC

นางปราณี ศิริพันธ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวถึงความพร้อมในการก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี ในปี 2558 และเพิ่มเป็นแต้มต่อทางการค้า โดยเฉพาะจังหวัดชายแดน อย่างมุกดาหาร ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อทางการค้าระหว่างไทยกับลาว และยังถือเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สามารถเชื่อมโยงกับกลุ่มอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง คือ ลาว เวียดนาม พม่า ไทย และจีน ซึ่ง จ.มุกดาหาร จะกลายเป็นศูนย์กลางทางการค้าและการลงทุนในภูมิภาคมในอนาคต กรมฯ จึงกำหนดจัดสัมมนาเรื่อง "เออีซี สร้างโอกาสและแต้มต่อทางการค้าของไทย" ในวันที่ 27 มีนาคมนี้ ที่โรงแรมพลอยพาเลซ จ.มุกดาหาร มีหลายหัวข้อที่จะสร้างความรู้ความเข้าใจกับสิทธิประโยชน์จากเออีซี ให้กับผู้ประกอบการไทย อาทิ เรื่องกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า การใช้สิทธิภายใต้ความตกลงการค้าเสรี ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมการสัมมนาครั้งนี้ได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมการค้าต่างประเทศ 1385

จาก  http://www.manager.co.th  วันที่ 18 มีนาคม 2556

มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการบัตรสินเชื่อเกษตรแล้วกว่า 2.1 ล้านใบ คาดภายในปีนี้จะมีผู้เข้าร่วมโครงการ 4 ล้านใบ

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เปิดเผย มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการบัตรสินเชื่อเกษตรแล้วกว่า 2.1 ล้านใบ คาดภายในปีนี้จะมีผู้เข้าร่วมโครงการ 4 ล้านใบ
นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)กล่าวว่า ขณะนี้ได้อนุมัติบัตรโครงการสินเชื่อเกษตรกรแล้วกว่า 2.1 ล้านใบ โดยได้ทยอยส่งมอบให้เกษตรกรนำไปซื้อปัจจัยการผลิต ได้แก่ เมล็ดพันธ์ข้าว ปุ๋ย และยาฆ่าแมลง ซึ่งเกษตรกรได้นำบัตรไปใช้แล้วกว่า 200,000 ราย วงเงิน 3,000 ล้านบาท ซึ่งสามารถช่วยเหลือเกษตรกรในการเสิรมสภาพคล่อง โดยไม่ต้องพึ่งพาเงินนอกระบบ สำหรับการดำเนินโครงการระยะต่อไป ธ.ก.ส.จะยายกลุ่มเป้าหมายให้ครอบคลุมเกษตรกรผู้ปลูกพืชและผลไม้ประเภทอื่น นอกเหนือจากข้าวและยางพารา โดยมีกลุ่มเป้าหมาย 4,500,000 ครอบครัว โดยจะเน้นกลุ่มเกษตรกรที่มีประวัติการชำระหนี้ที่ดี เพื่อลดความเสี่ยง และตั้งเป้าขยายบัตรสินเชื่อเป็น 4 ล้านใบ ภายในปี 2556 จากเดิมที่ตั้งไว้ 2 ล้านใบ โดยขณะนี้มีร้านค้าเข้าร่วมกว่า 4,000 แห่ง และจะขยายให้ครบ 10,000 แห่งในปี 2557

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 18 มีนาคม 2556

ส.อ.ท.สุดต้าน! เงินบาทผันผวน ร้องรัฐฯ ช่วยเหลือ

ส.อ.ท. ร้องแบงก์ชาติ ดูแลค่าเงินบาทผันผวน หลังส่งสัญญาณกระทบอุตฯ กำหนดราคาสั่งซื้อสินค้าไม่ได้ ชี้โอกาสเหมาะภาครัฐฯ ควรรุกมาตรการปรับลดอัตราดอกเบี้ยและกันเงินทุนสำรอง

นายวัลลภ วิตนากร รองประธาน ส.อ.ท. เปิดเผยว่า ภาคเอกชนต้องการเรียกร้องให้ ธปท.เข้ามาดูแลความผันผวนของค่าเงินบาทในระยะสั้นให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับค่าเงินในภูมิภาค เพราะเริ่มส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม ทำให้ไม่สามารถกำหนดราคาสินค้าได้ อาทิ เฟอร์นิเจอร์ อุปโภคบริโภค เครื่องนุ่งห่ม และอาหาร โดยการแข็งค่าของเงินบาทในสัปดาห์นี้เกิดจากเงินทุนไหลเข้า 28,000 ล้านบาท เพื่อลงทุนในพันธบัตรของรัฐ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เข้าแทรกแซงค่าเงินในช่วง 2 วันที่ผ่านมา ทำให้ค่าเงินบาทอยู่ในระดับ 29.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หากไม่แทรกแซงเงินบาทจะแข็งค่าถึง 29.3 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ในวันที่ 3 เมษายนนี้ อาจช้าเกินไปถ้าจะมีการพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อดูแลการแข็งค่าของเงินบาท

ด้านนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่าที่ผ่านมาภาคอุตสาหกรรมได้เคยเสนอมาตรการช่วยเหลือไปแล้ว อาทิ การดูแลเงินทุนไหลเข้า-ออกให้สมดุล การปรับลดอัตราดอกเบี้ย และการดูแลค่าเงินบาทให้เคลื่นไหวไปตามค่าเงินในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นส่งผลดีต่อภาคการลงทุนและธุรกิจบางประเภทที่จำเป็นต้องใช้วัตถุดิบนำเข้าเพื่อส่งออก ตลอดจนการชำระหนี้เงินกู้ต่างประเทศได้เร็วขึ้น

นายเจน นำชัยศิริ รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่าถึงเวลาแล้วที่ ธปท.ควรพิจารณาว่าขณะนี้เป็นจังหวะที่เหมาะสมในการนำเครื่องมือออกมาใช้ดูแลความผันผวนของค่าเงินบาทระยะสั้น ทั้งมาตรการปรับลดอัตราดอกเบี้ย และมาตรการกันเงินทุนสำรอง

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 18 มีนาคม 2556

เจ้าสัว "ธนินท์" ชมศก.โลด อุตฯโชว์โปร่งใสออก"รง.4"

กระทรวงอุตฯยันออกใบอนุญาตตั้งโรงงานโปร่งใส ไร้ผลประโยชน์ ส.อ.ท.ชง กนง.ลดดอกเบี้ย 0.5% สู้บาทแข็ง

ก.อุตฯยันออกรง.4โปร่งใส

เมื่อวันที่ 15 มีนาคม กระทรวงอุตสาหกรรมเปิดแถลงข่าวผลการพิจารณาอนุญาตโรงงานประเภทที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม หลังจากมีผู้ร้องเรียนว่าการพิจารณาอนุญาตเป็นอุปสรรคต่อการตั้งโรงงาน

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างมอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายของกระทรวงพิจารณาดำเนินการตามกฎหมาย เช่น การฟ้องร้องบุคคลที่ให้สัมภาษณ์หรือมีข้อคิดเห็นไม่ตรงกับความจริงกล่าวอ้างว่ากระทรวงอุตสาหกรรมไม่สนับสนุนหรือส่งเสริมให้ตั้งโรงงานอุตสาหกรรม โดยเฉพาะโรงไฟฟ้า จนกลายเป็นตัวถ่วงทำให้การประกอบกิจการเป็นไปด้วยความล่าช้าและมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะข้อมูลดังกล่าวสร้างความเสียหายต่อกระทรวงอุตสาหกรรม เสียหายต่อรัฐมนตรีและข้าราชการกระทรวงทั้งหมด

"ยืนยันว่าการพิจารณาคำขออนุญาตโรงงานหรือ รง.4 ไม่ได้ล่าช้า และอยู่ในกรอบเวลา 90 วัน ตาม พ.ร.บ.โรงงาน 2535 มีความโปร่งใสไม่มีผลประโยชน์ใดๆ คณะกรรมการกลั่นกรองการพิจารณาอนุญาตโรงงานบางประเภทที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมทุกคนดำเนินการอย่างถูกต้อง" นายวิฑูรย์กล่าว

โชว์ปรับโรงงานผิดกม.กว่า50ล.

นายวิฑูรย์กล่าวว่า ช่วงเวลากว่า 1 ปี หลังการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองฯมีคำขอเสนอเข้ามารวม 358 คำขอ พิจารณาแล้ว 346 คำขอ อนุญาตแล้ว 178 คำขอ ไม่อนุญาต 3 คำขอ และส่งคืนให้หน่วยงานกลับไปพิจารณาเพิ่มเติมเนื่องจากผิดหลักเกณฑ์ 165 คำขอ จากคำขอทั้งหมดแยกเป็นโรงงานผลิตไฟฟ้า 91 คำขอ พิจารณาแล้ว 88 คำขอ อนุญาต 83 คำขอ คิดเป็นปริมาณไฟฟ้า 4,287 เมกะวัตต์ ส่งคืนให้หน่วยงานกลับไปพิจารณาเพิ่มเติมเนื่องจากผิดหลักเกณฑ์ 5 คำขอ

นอกจากนี้ จากการดำเนินการที่เข้มงวดของกระทรวงอุตสาหกรรม ยังพบว่าสามารถดำเนินคดีเปรียบเทียบปรับโรงงานเถื่อนที่ก่อสร้างหรือติดตั้งเครื่องจักรโดยไม่ขออนุญาตจากกระทรวงอุตสาหกรรมรวม 570 ราย จึงสั่งให้แก้ไขและจัดเก็บเงินค่าเปรียบเทียบปรับได้กว่า 50 ล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ เพราะในอดีตจะผ่อนผันให้ดำเนินกิจการได้ แต่การอนุญาตเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน

"โรงงานเถื่อนที่ตรวจพบ อาทิ โรงงานตั้งในพื้นที่สาธารณะ ขาดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนอย่างเพียงพอ ขาดเอกสารหลักฐานที่จำเป็นต่อการประกอบการพิจารณาอนุญาต ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมจะต้องสะสางปัญหาเหล่านี้" นายวิฑูรย์กล่าว

ทำออนไลน์ท้าตรวจสอบได้

นายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา โฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ให้ข่าวทำให้กระทรวงอุตสาหกรรมเสื่อมเสีย ถึงกรณีการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองโรงงานที่มีนายวิฑูรย์เป็นประธานว่าทำให้โรงไฟฟ้า 1,000 เมกะวัตต์ ไม่สามารถเข้าระบบส่งผลกระทบต่อปริมาณการสำรองไฟฟ้าของไทย และเสนอให้ยุบคณะกรรมการดังกล่าว ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมโดยฝ่ายกฎหมาย จึงอยู่ระหว่างพิจารณาเพื่อดำเนินตามกฎหมาย เช่น การฟ้องร้องดำเนินคดี เป็นต้น การดำเนินการดังกล่าวจะครอบคลุมบุคคลอื่นทำให้กระทรวงอุตสาหกรรมเสียหายด้วย

นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่า จะทบทวนการพิจารณาคำขอตั้งโรงงานอุตสาหกรรมในส่วนของ กรอ.ให้มีความเข้มข้น ทั้งการตรวจสอบและการเปิดเผยข้อมูล ล่าสุด ภายใน 1 เดือนจากนี้ จะจัดทำข้อมูลออนไลน์เพื่อเปิดเผยการยื่นคำขออนุญาตตั้งโรงงานอุตสาหกรรมของภาคเอกชน ให้เอกชนและประชาชนสามารถตรวจสอบได้ว่า ขณะนี้การอนุญาตอยู่ในขั้นตอนไหน หากล่าช้าต้องรู้ว่าติดขัดอยู่ที่ใคร

'ศุภชัย'เตือนฟองสบู่อสังหาฯ

สภาธุรกิจไทย-จีน ได้จัดสัมมนา มองโลกมองไทยปี 2015 โดยมีนายศุภชัย พานิชภักดิ์ เลขาธิการสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนาหรืออังถัด (UNCTAD) นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ นายวิบูลย์ คูสกุล เอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศจีน และ นายกว่าน มู่ เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ร่วมบรรยายที่สยามพารากอน

นายศุภชัยกล่าวว่า ภาพรวมของการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ยังเติบโตได้ดีต่อเนื่อง เศรษฐกิจไทยจะสามารถขยายตัวได้ถึง 6% จากการลงทุนภาครัฐ 2 ล้านล้านบาท และภาคการท่องเที่ยว จะทำให้ประเทศไทยมีความน่าสนใจในสายตานักลงทุนต่างชาติ สะท้อนจากกระแสเงินทุนไหลเข้าที่จะมีเข้ามากขึ้น อย่างไรก็ตาม การที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น อาจจะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกมากนัก เพราะบาทที่แข็งค่าก็เอื้อให้นำเข้ามีโอกาสทำได้มากขึ้น

สำหรับความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยคือฟองสบู่ เริ่มก่อตัวขึ้นแม้จะยังเป็นขนาดเล็ก แต่ก็ต้องจับตาและเฝ้าระวัง เพราะปล่อยไว้ก็ใหญ่ขึ้นได้ โดยเฉพาะฟองสบู่ในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เริ่มมีเล็กๆ และต้องจับตาดูราคาอสังหาริมทรัพย์และคอนโดมิเนียมที่ราคาปัจจุบันสูงขึ้น

หนุนไทยลงทุน2ล้านล้าน

นายศุภชัยกล่าวว่า เรื่องค่าเงินไม่ได้เป็นตัวหลักชี้ว่าเศรษฐกิจจะเติบโตแข็งแกร่งหรือไม่ แต่ขึ้นอยู่กับความสามารถในการแข่งขัน การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เทคโนโลยี การที่นักลงทุนไปลงทุนในต่างประเทศถือเป็นเรื่องดี ด้วยมูลค่า 12,000 ล้านเหรียญในปีก่อนหน้านี้ มากกว่าเงินลงทุนต่างประเทศที่เข้าไทย 7,000-8,000 ล้านเหรียญ เพราะช่วยบริหารจัดการค่าเงินไม่ให้แข็งค่ามากไป แต่การออกไปลงทุนในต่างประเทศต้องมีองค์กรส่งเสริมเช่นเดียวกับมาเลเซียและจีนว่าจะไปลงทุนในตลาดไหน ด้วยจุดประสงค์อะไร อย่างไรก็ตาม ไทยต้องเร่งลงทุนโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท ทั้งน้ำ ไฟฟ้า พลังงาน บริการพื้นฐาน การศึกษา เพราะปัจจุบันยังมีการลงทุนน้อยเพียง 10% ของรายได้ประชาชาติ นอกจากนี้ จะต้องให้ความสำคัญกับการร่วมกลุ่มในกลุ่มประเทศเอเชีย เพราะจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโลกให้ขยายตัวได้ถึง 50% และรัฐต้องเร่งอาเซียนบวก 6 ให้เกิดขึ้น ทั้งนี้ มีความเป็นห่วงและอยากให้ระวังคือในช่วงที่ทุกอย่างดูดี จะมีซีหรือเมล็ดพันธุ์ของความหายนะอยู่ในนั้น ต้องระวังตรงนี้

เจ้าสัวซีพีแนะหนุนอุตฯยานยนต์

นายธนินท์กล่าวว่า ขณะนี้เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาเริ่มฟื้นและสิ่งที่ต้องติดตามคือเงินจะไหลออกไปสหรัฐอเมริกา อาจจะกระทบกับไทยได้ ขณะที่ญี่ปุ่นมีปัญหากับจีน ส่งผลให้ญี่ปุ่นนำเงินมาลงทุนในไทยมากขึ้น แต่ไปลงทุนอินโดนีเซียมากที่สุด ตามด้วยมาเลเซีย และเวียดนาม ไทยเป็นอันดับ 4 อาจเพราะการเมืองหรือขาดการลงทุนเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน แต่อุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยยังเป็นอันดับ 1 ของเอเชียและเป็นอันดับ 9 ของโลก รถยนต์เป็นตัวช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้เป็นอย่างดี จึงอย่าให้โอกาสนี้ตกไปอยู่กับอินโดนีเซีย อยากฝากถึงรัฐบาลให้ช่วยส่งเสริมธุรกิจขนาดจิ๋วที่จะเติบโตไปเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ในอนาคต โดยนโยบายของรัฐบาลและ ธปท.ที่ออกมาช่วยธุรกิจประเภทนี้จะต้องเป็นคนละแบบกับธุรกิจขนาดใหญ่

"เมืองไทยจากนี้ไป แม้การเมืองจะวุ่นวาย แต่เศรษฐกิจก็ยังโตได้ หากรัฐบาลส่งเสริมนักธุรกิจไทย ขอให้เชื่อมั่นว่าไทยมีนักธุรกิจที่เก่ง เพราะส่วนใหญ่มาจากซัวเถา นักธุรกิจเบอร์ 1 ของโลก ลีกาเซ็งก็มาจากซัวเถา หากรัฐบาลมี นโยบายถูกต้องเชื่อมั่นว่านักธุรกิจไทยก็จะเป็นเบอร์ 1 ได้ ซีพีมองว่าช่วงวิกฤตถือเป็นโอกาสในการขยายธุรกิจ ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาเพื่อขยายธุรกิจแปรรูปอาหารไปยังอียู สหรัฐอเมริกาในรูปแบบการเข้าไปร่วมทุน และนำโปรดักส์จากประเทศเหล่านี้กลับมาขายในภูมิภาคนี้ เพราะราคาสินทรัพย์มีราคาที่ถูกลง" นายธนินท์กล่าว

ชงรบ.หั่นภาษีเหลือ16%

นายธนินท์กล่าวว่า อยากชมรัฐบาลปรับลด ภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 30% เหลือ 20% แต่อยากให้ปรับลงอีกเหลือ 16% ต่ำกว่าฮ่องกง และสิงคโปร์มีอัตราภาษีอยู่ที่ 17% เพื่อดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติให้เข้ามาตั้งสำนักงานในเมืองไทย จะก่อให้เกิดการจ้างงาน ภาคอสังหาริมทรัพย์จะคึกคัก แต่ในส่วนนี้ก็ต้องระวัง เพราะเมื่อสว่างที่สุดก็จะมืดที่สุด และเมื่อเจริญที่สุดวิกฤตก็จะตามมา ต้องเตรียมความพร้อม ไม่เว้นสหรัฐอเมริกาและยุโรป จึงต้องเตรียมความพร้อมตลอดเวลา เพื่อไม่ให้เจอวิกฤต และไม่ให้ล้มละลาย นอกจากนี้ รัฐบาลควรปรับลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงสุดจาก 37% เหลือ 16% เช่นกันเพื่อดึงต่างชาติเข้ามาลงทุนและมีการใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจให้มากขึ้น

"เมื่อภาษีลดลงทำให้มีฐานภาษีใหญ่ขึ้น คนจะไม่หนีภาษี ส่วนฟองสบู่ มองว่ายังไม่เกิด แต่ก็มีแนวโน้มจะเกิด แต่คงไม่ใช่เวลานี้ เชื่อว่าจะยังไม่เห็นใน 10 ปีนี้ หรืออาจจะเร็วกว่านี้ได้ ขึ้นอยู่กับการเตรียมพร้อม หากเราเก่งก็จะยืดเวลาออกไปนานขึ้น ให้นำบทเรียนที่ผ่านมาใช้ และดูว่าประเทศต่างๆ แก้ฟองสบู่หรือเกิดฟองสบู่อย่างไร ขณะนี้ ธปท.และรัฐบาลทำถูกแล้วให้เงินบาทแข็งค่า เพราะทำให้ไทยได้เปรียบนำเข้าน้ำมันในราคาที่ถูกลง เรื่องเงินบาทอย่าไปสู้ ให้ปล่อยไปตามกลไกและต้องดูด้วยว่าส่วนที่เสียผลประโยชน์ต้องมีมาตรการไปช่วยเหลือ เงินบาทแข็งและอ่อนได้และเสียประโยชน์ไม่เหมือนกัน หากอ่อน ต้องซื้อน้ำมันและเครื่องจักรในราคาที่แพงขึ้น" นายธนินท์กล่าว

'เสี่ยปั้น'จี้รัฐลุยโครงสร้างพื้นฐาน

นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แนวโน้มของเศรษฐกิจกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี ประกอบด้วยกัมพูชา ลาว มาเลเซีย เวียดนาม จะมีบทบาทมากขึ่น ขณะที่ไทยจะเปลี่ยนบทบาทจากประเทศมีผู้สนใจลงทุน เป็นประเทศใช้เป็นศูนย์กลางในการออกไปลงทุนในกลุ่มซีแอลเอ็มวี สัดส่วนการลงทุนในต่างประเทศของกลุ่มประเทศดังกล่าวมีโอกาสเติบโตสูงกว่าของไทยในอนาคต โดยเฉพาะเวียดนามและพม่า หลายประเทศให้ความสนใจเข้าไปลงทุน ขณะที่เอกชนไทยก็ต้องคิดในเรื่องนี้เช่นกัน เพราะไม่ได้เป็นประเทศที่ต้นทุนต่ำอีกต่อไป การลงทุนจากญี่ปุ่นเริ่มเข้ามาลงทุนในไทยน้อยลงและเข้าไปลงทุนในซีแอลเอ็มวีมากขึ้น ขณะที่จีนจะเข้ามามีบทบาทในเอเชียมากขึ้น เอกชนไทยคิดแบบเดิมไม่ได้แล้ว ต้องหากระบวนการลดต้นทุน เช่น ปรับโครงสร้างการเงิน สร้างคุณค่าของสินค้าของตัวเอง การสร้างคุณค่าของสินค้า เป็นสิ่งที่เป็นปัญหาสำหรับประเทศไทย เพราะที่ผ่านมาเราผลิตและไม่เคยมีตัวตนในตลาด โดยเฉพาะภาคการเกษตร

"ขณะที่การคาดหวังจากภาครัฐ ไม่อยากจะหวังอะไรมาก แค่ไม่ทำอะไรให้วุ่นวายมากกว่านี้ก็พอแล้ว ถ้าจะให้หวังจริงๆ ก็ควรสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ทั้งด้านการศึกษา โทรคมนาคมและระบบกฎหมายที่ควรสังคายนาใหม่" นายบัณฑูรกล่าว

ธุรกิจอีคอมเมิร์ซบูมในจีน

นายวิบูลย์ คูสกุล เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปักกิ่ง กล่าวว่า แนวโน้มการค้าระหว่างไทยและจีน มีการเติบโตต่อเนื่อง ในปีที่ผ่านมามูลค่าการค้าระหว่างไทยและจีนอยู่ที่ 6.97 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยขายสินค้าให้จีน 3.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยซื้อสินค้าจากจีน 3.1 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่วนเป้าหมายการค้าระหว่างสองประเทศจะเพิ่มเป็น 1 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2558 ก็เป็นโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ ธุรกิจที่ควรให้ความสนใจคือ ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เริ่มเข้ามามีบทบาทกับเศรษฐกิจจีนมากขึ้น เป็นโอกาสของเอสเอ็มอีไทยจะผลักดันสินค้าเข้าไปในจีน เพราะสินค้าในอีคอมเมิร์ซขายดีในจีนอันดับหนึ่งคือ ยาลดความอ้วน และสมุนไพรกวาวเครือ

"ภาคการท่องเที่ยวระหว่างไทย-จีน มีโอกาสมากขึ้น ปีที่ผ่านมานักท่องเที่ยวจีนเข้ามาไทยประมาณ 2.5 ล้านคน และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น ไทยกำลังจะหาโอกาสต่อยอดจากธุรกิจภาพยนตร์ จากกระแสเรื่องลอสต์ อิน ไทยแลนด์ จะพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ร่วมกัน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว" นายวิบูลย์กล่าว

ด้านนายกว่าน มู่ เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย กล่าวว่า แม้จีนจะมีการเปลี่ยนผู้นำ แต่ยืนยันว่านโยบายหลักของจีนยังเป็นเหมือนเดิม ยังส่งเสริมการลงทุนให้เอกชนจีนออกไปลงทุนประเทศอื่นและสนับสนุนให้ซื้อสินค้าจากต่างประเทศ จีนตั้งเป้าว่าภายใน 3 ปีจากนี้ จะเป็นผู้ซื้อสินค้าใหญ่เป็นอันดับ 1 ของโลก หรือมีมูลค่าการซื้อสินค้าจากต่างประเทศประมาณ 2 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี ปีที่ผ่านมามีมูลค่า 1.7 ล้านล้านดอลลาร์ คาดว่าจะเป็นไปตามแผนของจีน ถือเป็นโอกาสดีที่จะขายสินค้าให้จีน

ส.อ.ท.จี้รบ.เร่งช่วย-สู้บาทแข็ง

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า สถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าขณะนี้ทำให้ผู้ประกอบการเกิดปัญหาเรื่องการตั้งราคาสินค้าส่งออก โดยเฉพาะช่วง 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า ดังนั้น อยากให้รัฐบาลและ ธปท.เข้ามาช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน เพราะในส่วนของผู้ประกอบการปัจจุบันพยายามปรับตัวเพื่อรองรับความเสี่ยงดังกล่าวแล้ว อาทิ การปรับลดต้นทุนการผลิต ขณะนี้อุตสาหกรรมที่กำลังประสบปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่าจนตั้งราคาขายลำบาก อาทิ เครื่องนุ่งห่ม เฟอร์นิเจอร์ กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน

นายวัลลภ วิตนากร รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า อยากเสนอให้ ธปท.ออกมาตรการเร่งด่วน อาทิ มาตรการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.5% วันที่ 3 เมษายนนี้ ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เพื่อเป็นการปรามให้นักลงทุนระยะสั้นทราบว่าไทยมีมาตรการจริงจังกับเงินร้อน หรือการเก็งกำไรดังกล่าว เพราะช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมารัฐบาลได้ออกพันธบัตร 28,000 ล้านบาท ทำให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาซื้อเพื่อเก็งกำไร เมื่อเจอกับอัตราดอกเบี้ยในประเทศที่สูงจึงจูงใจให้ซื้อมากขึ้น หากไม่ดำเนินการเชื่อว่าเงินบาทอาจแข็งค่าถึง 29.3 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

"มั่นใจว่าการลดอัตราดอกเบี้ย 0.5% จะไม่ทำให้เงินเฟ้อ ปัจจุบันอยู่ที่ 3% ถือเป็นอัตราที่ต่ำ อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวจะกระตุ้นเต็มที่คือ 3% กว่า แต่ไม่ถึง 4% เงินเฟ้อดังกล่าวปัจจุบันมีสาเหตุมาจากภาคอสังหาริมทรัพย์ ตลาดหุ้นที่หุ้นบางตัวราคาขึ้น 300-400% และค่าแรง ไม่ใช่การใช้จ่าย เช่น การกู้เงินของประชาชน เป็นต้น" นายวัลลภกล่าว

กนง.ชี้ต่างชาติโยกหากำไร

นายณรงค์ชัย อัครเศรณี กรรมการคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุนโลกในช่วงนี้ สาเหตุหลักเป็นผลจากปัจจัยเรื่องดอกเบี้ยนโยบายของประเทศพัฒนาแล้วอยู่ระดับต่ำ ทำให้นักลงทุนโยกย้ายเงินไปลงทุนในประเทศที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า แนวโน้มความผันผวนในตลาดเงินและตลาดทุนโลกยังมีต่อเนื่อง การประชุม กนง.วันที่ 3 เมษายนนี้ การพิจารณาของ กนง.คงจะให้น้ำหนักในเรื่องเดิม คือ เสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสภาวะทางการเงินโลก เรื่องฟองสบู่ในสินทรัพย์ต่างๆ ก็พบว่ามีเกิดเป็นบางจุด แต่ทาง ธปท.เองก็ดูแลอยู่และในภาพรวมไม่ได้เกิดเป็นฟองสบู่แต่อย่างใด ด้านเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนนั้น ทาง ธปท.มีวิธีดำเนินการอยู่

บาทแข็งยังไม่กระทบส่งออกข้าว

นางสาวกอบสุข เอี่ยมสุรีย์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ค่าบาทแข็งขณะนี้ยังไม่ได้กระทบต่อการส่งออกข้าวโดยตรง เพราะราคาข้าวในประเทศอ่อนตัวและใกล้เคียงกับอัตราค่าบาทที่แข็งค่าขึ้น จึงทำให้ยังกำหนดราคาส่งออกข้าวได้เท่าเดิม ประกอบกับความต้องการซื้อข้าวไทยขณะนี้ไม่ได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากตลาดรอความชัดเจนในการระบายข้าวรัฐบาลโดยเฉพาะข้าวขาว และแผนการระบายข้าวรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ว่าจะขายข้าวได้อีกเท่าไหร่ เฉลี่ยยอดส่งออกก็น่าจะอยู่ระดับ 5-6 แสนตันในเดือนมีนาคมนี้

นางวัชรี วิมุกตายน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ตอนนี้ยังเป็นเพียงติดตามสถานการณ์ค่าบาท และสถานการณ์การส่งออกจากภาคเอกชนในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ เบื้องต้นยังไม่ได้รับการร้องขอให้เข้าไปดำเนินการช่วยเหลืออย่างไรเป็นพิเศษ เพราะเชื่อว่ารัฐบาล กระทรวงการคลัง และ ธปท. จะดูแลไม่ให้กระทบต่อภาครวม และเชื่อว่าค่าบาทแข็งที่อาจต่ำกว่า 29 บาท/เหรียญสหรัฐ เกิดขึ้นในช่วงสั้นๆ ฉะนั้น ทั้งเป้าหมายการส่งออกที่ตั้งไว้ 8-9% และเงินเฟ้อไม่เกิน 3% จะยังไม่ปรับเปลี่ยนอะไร

นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า เชื่อว่า ธปท.จะดูแลไม่ให้บาทแข็งเกินไป และเชื่อว่าการแข็งค่าบาทน่าจะอยู่ในช่วงสั้นๆ ส่วนตัวแล้วยังไม่กังวลถึงกับต้องทบทวนตัวเลขการส่งออกปีนี้ 8-9% การทบทวนตัวเลขการส่งออกกำหนดว่าจะทบทวนในเดือนพฤษภาคมนี้ โดยดูภาวะเศรษฐกิจโลกเป็นสำคัญ

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 17 มีนาคม 2556

รัฐมนตรีอุตฯเตรียมฟ้อง'ปิยสวัสดิ์'

"ประเสริฐ" ถกฝ่ายกฎหมาย เตรียมดำเนินคดี "ปิยสวัสดิ์" ข้อหาให้ข่าวเท็จ สร้างความเสียหายแก่กระทรวงอุตสาหกรรม "วิฑูรย์" ชี้ คลอดใบอนุญาตโรงงานไฟฟ้าไปแล้ว 83 โรงงาน กำลังผลิต 4.287 พันเมกะวัตต์ รองรับการใช้ไฟฟ้าของคนไทย

นายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม อยู่ระหว่างให้ฝ่ายกฎหมายศึกษาว่ามีมุมไหนที่จะฟ้องร้อง นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน กรณีให้ข่าวว่ากระทรวงถ่วงการให้ใบอนุญาตและเรียกร้องเงิน ทั้งนี้ ถือว่าสร้างความเสียหายโดยกระทรวงจะดำเนินการต่อข้อกฎหมาย และหากยังให้ข่าวที่เป็นเท็จต่อไปอีก กระทรวง จะดำเนินการฟ้องร้องทันที

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า หลังจากที่กระทรวงตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองการพิจารณาอนุญาตบางประเภทที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม โดยมีตัวเองเป็นประธานกรรมการ และรองปลัดกระทรวง รองอธิบดีกรมโรงงานฯ และอธิบดีกรมต่างๆ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมพิจารณาคำขออนุญาตโรงงาน (รง.4) ทั้งนี้ หลังแต่งตั้งคณะกรรมการแล้ว พบว่ามีคำขอที่นำเสนอให้คณะกรรมการ พิจารณารวมทั้งสิ้น 358 คำขอ และได้มีการพิจารณาไปแล้ว 346 คำขอ เป็นโรงไฟฟ้า 91 แห่ง โดยโรงไฟฟ้าที่อนุญาตไปแล้วมีจำนวนทั้งสิ้น 83 โรง มีกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 4.287 พันเมกะวัตต์ ถือว่าเพียงพอต่อการที่จะนำมาเสริมความต้องการใช้ไฟฟ้าในช่วงวันที่ 5-14 เมษายน 2556 ที่เมียนมาร์หยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติ

สำหรับโรงงานที่ส่งคำร้องขอมาเฉลี่ยแล้วครึ่งหนึ่งเป็นโรงงานขนาดใหญ่และยังไม่ได้รับอนุญาตตั้งโรงงานและมีเกณฑ์ผลกระทบต่อชุมชน หากกระทรวงเข้าไปกำกับจะเกิดความเชื่อมั่นจากชุมชน ซึ่งจากกฎระเบียบเดิมในการเปรียบเทียบปรับหากโรงงานทำผิดกฎหมายจะปรับสูงสุด 2 แสนบาท และไม่ใช่โรงงานต้องห้าม 1 แสนบาท ปัจจุบันเมื่อมีคณะกรรมการ ภายในระยะเวลา 5 เดือน ตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม 2555 ที่ผ่านมา สามารถปรับเงินไปแล้วกว่า 570 โรงงาน รวมเป็นเงิน 50 ล้านบาท ส่วนใหญ่ ประกอบกิจการก่อนที่จะได้รับอนุญาต รง.4

อย่างไรก็ตาม หลังจากแต่งตั้งคณะกรรมการ ทำให้พบจุดแข็งหลายจุด ซึ่งก่อนหน้านี้อาจจะไม่เข้มงวดด้านกฎหมาย ผู้ประกอบการดำเนินการก่อตั้งเครื่องจักรล่วงหน้า ถือเป็นโรงงานเถื่อน จึงก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม หรือการเก็บสารเถื่อน เกิดการระเบิดหรือติดไฟได้ง่าย ก่อปัญหาต่อชุมชน ดังนั้น คณะกรรมการ จึงต้องการให้สร้างโรงงานให้แล้วเสร็จค่อยขอใบอนุญาตก่อนที่เจ้าหน้าที่จะเข้าไปตรวจสอบการจัดตั้งอุปกรณ์หรือแผนผังโรงงาน เพื่อให้บรรยากาศเอื้อต่อการลงทุน ถือเป็นการรับผิดชอบต่อชุมชนและสังคม และสิ่งที่กระทรวงอุตสาหกรรมอนุญาตจะไม่สร้างความเดือดร้อนแก่ชุมชน

"ยืนยันว่าไม่เคยถ่วงที่จะไม่ให้ใบอนุญาต เพียงแต่ขั้นตอนอาจจะช้ากว่าเดิม แต่ไม่เกิน 90 วันตามที่กฎหมายกำหนดแน่นอน เพราะถ้าให้ไม่ได้หากไม่มีหลักประกันอุตสาหกรรมใหม่ๆ ก็จะไม่เกิด ขึ้น แต่เดิมพยายามเอื้อให้โรงงานเกิดขึ้นเร็วๆ แต่ตอนนี้ต้องเข้มงวดตามกฎหมาย ถึงแม้ว่าแง่การลงทุนเศรษฐกิจจะช้าลงแต่ก็อยู่ตามกรอบเวลาแน่นอน"

สำหรับโรงงานที่มีปัญหาและคณะกรรมการ ต้องตีกลับไปก่อนเนื่องจากผู้ขอใบอนุญาตมีปัญหาในหลายเรื่อง อาทิ การมีพื้นที่ทับซ้อนกับพื้นที่สาธารณะ, ขาดมาตรการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อม, ขาดมาตรการบำบัดน้ำเสียและสิ่งปฏิกูล โดยวันที่ 18 มีนาคม 2556 นี้ กระทรวง จะเชิญหัวหน้าฝ่ายโรงงานทั่วประเทศทั้ง 75 จังหวัด มารับฟังกฎระเบียบในการออกใบอนุญาต รง.4 อย่างเข้มงวดด้วย ทั้งนี้ มั่นใจว่าการวิ่งเต้นหรือคอร์รัปชันเพื่อขอใบอนุญาตไม่มี อย่างแน่นอน

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 17 มีนาคม 2556

“ศุภชัย” ยุ “แบงก์ชาติ” แทรกแซงค่าบาท สกัดเงินร้อน-ฟองสบู่หุ้น

เลขา"อังค์ถัด" ห่วงเงินร้อนไหลเข้าตลาดหุ้น-อสังหาฯดันสินทรัพย์สูงเกินราคาพื้นฐาน ระบุการปล่อยกู้สินเชื่อบางประเภทสูงเกินทำให้เห็นสัญญาณการเกิด “ฟองสบู่”บ้างแล้ว ด้านผู้บริหารสภาอุตฯออกกดดัน “แบงก์ชาติ”ลดดอกเบี้ยอีกรอบ

นายศุภชัย พานิชภักดิ์ เลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ"อังค์ถัด"กล่าวในงานสภาธุรกิจไทย-จีน "มองโลก มองไทยสู่2015" ว่า แม้เงินบาทจะแข็งค่าขึ้นจะส่งผลดีต่อต้นทุนการนำเข้าสินค้าทุน ขณะที่การบริโภคภายในประเทศเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว และการลงทุนภาครัฐ ตามนโยบายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท เป็นไปตามแผนที่วางไว้ รวมทั้งตัวเลขการท่องเที่ยวที่ดีกว่าที่คาดไว้ ขณะที่หนี้สาธารณะของไทยยังอยู่ในเกณฑ์ที่มีเสถียรภาพอยู่ที่ 40-45% ต่อจีดีพี โดยต่ำกว่าระดับหนี้ที่อาจส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจที่ 50% ต่อจีดีพี

อย่างไรก็ตาม มีความเป็นห่วงจากการเติบโตของเศรษฐกิจที่ดีขึ้น อาจส่งผลให้มีเงินทุนไหลเข้ามาในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์ และตลาดพันธบัตร ดังนั้นจึงสนับสนุนธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เข้าแทรกแซงค่าเงิน ไม่ให้ราคาสินทรัพย์สูงเกินราคาพื้นฐานขณะที่การปล่อยสินเชื่อในบางประเภทสูงเกินไป ซึ่งทำให้เห็นสัญญาณการเกิดฟองสบู่บ้างแล้ว เนื่องจากสหรัฐและสหภาะยุโรปยังใช้มาตรการคิวอี(QE)เข้าสู่ระบบ เพื่อลดอัตราการว่างงานในประเทศให้ต่ำกว่า 6.5% จากปัจจุบันที่อยู่ที่ 7.7%

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)เปิดเผยถึงสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขณะนี้ว่า ทำให้ผู้ประกอบการเกิดปัญหาเรื่องการตั้งราคาสินค้าส่งออก โดยเฉพาะช่วง 1-2สัปดาห์ข้างหน้า ดังนั้นอยากให้รัฐบาล และ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เข้ามาช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน เพราะในส่วนของผู้ประกอบการปัจจุบันยืนยันพยายามปรับตัวเพื่อรองรับความเสี่ยงดังกล่าวแล้ว อาทิ การปรับลดต้นทุนการผลิต ซึ่งขณะนี้อุตสาหกรรมที่กำลังประสบปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่าจนตั้งราคาขายลำบาก อาทิ เครื่องนุ่งห่ม เฟอร์นิเจอร์ กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน

ด้าน นายเจน นำชัยศิริ รองประธานส.อ.ท.กล่าวว่า ที่ผ่านมาส.อ.ท.ได้หารือกับธปท.เรื่องมาตรการดูแลค่าเงินบาททั้งระยะกลางและระยะยาว โดยส.อ.ท.เสนอให้ดูมาตรการระยะสั้นที่เหมาะสมเพื่อป้องกันความผันผวนของค่าเงินด้วย ปัจจุบันเห็นว่าธปท.ควรใช้มาตรการที่เหมาะสมเข้าดูแลได้แล้ว เช่น อัตราดอกเบี้ยนโยบาย การกันเงินส่วนหนึ่งของนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนระยะสั้น แต่มาตรการกันเงินลงทุนนี้อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่น ดังนั้นเวลานี้จึงขึ้นอยู่กับธปท.ในการใช้เครื่องมือดังกล่าว

ส่วน นายวัลลภ วิตนากร รองประธานส.อ.ท.กล่าวว่า อยากเสนอให้ธปท.ออกมาตรการเร่งด่วน อาทิ มาตรการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.5% ในการประชุม คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)วันที่ 3 เมษายน 2556 ทั้งนี้เพื่อเป็นการปรามให้นักลงทุนระยะสั้นทราบว่าไทยมีมาตรการจริงจังกับเงินร้อนที่ไหลเข้ามา หรือการเก็งกำไรนอกจากนี้ทราบว่าช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ออกพันธบัตร 28,000 ล้านบาท ทำให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาซื้อเพื่อเก็งกำไร หากอัตราดอกเบี้ยในประเทศยังสูง จะจูงใจให้ซื้อพันธบัตรมากขึ้น ทั้งนี้หากไม่ดำเนินการเชื่อว่าเงินบาทอาจแข็งค่าถึง 29.30 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

"มั่นใจว่าการลดอัตราดอกเบี้ย 0.5% จะไม่ทำให้เงินเฟ้อ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 3% ถือเป็นอัตราที่ต่ำ อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวจะกระตุ้นเต็มที่คือ 3%กว่า แต่ไม่ถึง4% ซึ่งเงินเฟ้อดังกล่าวปัจจุบันมีสาเหตุมาจากภาคอสังหาริมทรัพย์ ตลาดหุ้นที่หุ้นบางตัวราคาขึ้น300-400% และค่าแรง ไม่ใช่การใช้จ่าย เช่น การกู้เงินของประชาชน เป็นต้น"นายวัลลภ กล่าว

นายธนากร เสรีบุรี ประธานสภาธุรกิจไทย-จีน ระบุสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ เนื่องจากนักธุรกิจได้ซื้อประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนไว้แล้ว และมองว่าการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในระดับปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่แข่งขันได้เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน แต่ภาคธุรกิจก็ต้องมีการปรับตัวอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และมูลค่าของสินค้า อย่างไรก็ตาม การดูแลค่าเงินบาทนั้ น สิ่งสำคัญคือทางการต้องไม่เข้ามาแทรกแซงค่าเงินบาท โดยควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด ทำให้ธุรกิจปรับตัวได้เอง

นายบุญชัย จรัสแสงสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่จะใช้มาตรการควบคุมเงินทุนไหลเข้าผ่านกลไกภาษี เพราะทางกระทรวงการคลัง มองว่าเป็นมาตรการที่จะนำไปสู่การบิดเบือนกลไกตลาด

"การบังคับใช้มาตรการสำรอง 30% ของธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อปี 2549 เพื่อสกัดเงินไหลเข้าในปี ถือว่า เป็นการบิดเบือนกลไกตลาดและทำให้ตลาดขาดความเชื่อถือในนโยบายของไทย"เขากล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการซื้อขายหุ้นใน ตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2556ว่า บรรยากาศยังคงเป็นไปอย่างคึกคัก ก่อนปิดตลาดที่ 1,598.13 จุด บวก 11.34 จุด หรือ 0.71% ด้วยมูลค่าซื้อขายหนาแน่น 76,830.64 ล้านบาท

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2556

พลังงานเร่ง 7 โครงการรับเออีซี

นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวเปิดการประชุมสัมมนาเชิงวิชาการประจำปี 2556 หัวข้อ “Interconnectivity and Cross-Border Trade” ครั้งที่ 4 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันความร่วมมือการกำกับกิจการพลังงานอาเซียน รวมทั้งกำหนดยุทธศาสตร์การบริหารจัดการด้านพลังงานสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ปี 2558 ว่า การเชื่อมโยงระบบเครือข่ายพลังงานในภูมิภาค เพื่อให้เกิดความร่วมมือกับกลุ่มประเทศในอาเซียน ก่อนที่ไทยและประเทศสมาชิกจะก้าวเข้าสู่เออีซี โดยจะมี 7 โครงการสำคัญ ที่ไทยและประเทศสมาชิกต้องเจรจาร่วมกันตั้งแต่ระดับทวิภาคีจนนำไปสู่ความร่วมมือทั่วทั้งภูมิภาค ประกอบด้วย การเชื่อมโยงระบบสายส่งไฟฟ้าของอาเซียน การเชื่อมโยงท่อส่งก๊าซธรรมชาติ เทคโนโลยีถ่านหินและถ่านหินสะอาด พลังงานที่นำมาใช้ใหม่ในอนาคต การสงวนรักษาประสิทธิภาพด้านพลังงาน นโยบาย และการวางแผนด้านพลังงานภูมิภาค และเรื่องที่เกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งทิศทางและกรอบความร่วมมือด้านการกำกับกิจการพลังงานอาเซียนในอนาคตนี้ จะเป็นสิ่งที่ท้าทายให้ทุกหน่วยงานด้านกำกับกิจการพลังงานของทุกชาติต้องหัน มาเร่งเจรจาเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ แม้ว่าการมีข้อตกลงร่วมกันจะเสร็จทันปี 2558 หรือไม่นั้น แต่กรอบเจรจาต้องเดินหน้าเพื่อให้เกิดความร่วมมือของทุกชาติเร็วที่สุด

นายภาณุ สุทธิรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่จัดหาและตลาดก๊าซธรรมชาติ หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท.ได้เตรียมความพร้อมรับมือการหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติจากประเทศเมียนมาร์มายังประเทศไทย ระหว่างวันที่ 5-14 เมษายน 2556 ส่งผลให้ก๊าซธรรมชาติหายไปจากระบบประมาณ 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือประมาณ 1 ใน 5 ของปริมาณก๊าซทั้งหมดที่ใช้ในประเทศ โดยจัดเตรียมแผนการเรียกก๊าซธรรมชาติเต็มที่จากผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย และผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติบนบก และสำรองก๊าซธรรมชาติในระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติฝั่งตะวันตกให้เต็มที่ รวมทั้งได้จัดเตรียมสำรองน้ำมันเตา น้ำมันดีเซล ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ให้เพียงพอต่อความต้องการ จึงมั่นใจว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อภาคไฟฟ้า ภาคอุตสาหกรรมและภาคขนส่ง ทั้งนี้ ปตท.ได้บริหารจัดการเตรียมความพร้อมร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPP) และโรงงานอุตสาหกรรมไว้ล่วงหน้า ภายใต้คำแนะนำจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และกระทรวงพลังงาน คาดว่าระบบการจ่ายก๊าซธรรมชาติฝั่งตะวันตกจะทยอยกลับคืนสู่สภาพปกติตั้งแต่วันที่ 14 เมษายน 2556 เป็นต้นไป

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2556

สงครามค่าเงินสู้ไปก็ไร้ประโยชน์

หลังจากเงินทุนต่างชาติไหลเข้าพรวดพราดดันให้ค่าเงินบาทแข็งค่าหลุดกรอบ 29 บาทต่อเหรียญสหรัฐไปเมื่อเดือน ม.ค. เงินทุนต่างชาติก็ชะลอการไหลเข้าจนเริ่มเกิดเงินไหลเข้าอย่างแรงอีกครั้งในช่วงนี้

ค่าเงินบาทในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ได้แข็งค่าหลุดกรอบ 29.50 บาทลงไปได้ในบางช่วง ซึ่งทำสถิติใหม่แข็งค่าที่สุดในรอบ 2 ปี ทำให้ผู้ส่งออกเริ่มไม่สบายใจ รวมทั้งรัฐบาลที่หาช่องทางที่จะให้มีการลดดอกเบี้ยนโยบายลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และรองรับนโยบายกู้เงินของรัฐบาลเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน กลับมารุมกดดันธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กันอีกครั้ง

กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และ รมว.คลัง ถึงกับออกปากตำหนิว่าการดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. และดอกเบี้ยนโยบายของไทยผิดปกติ

รมว.คลังเองยึดมั่นในหลักการว่า การลดดอกเบี้ยจะช่วยให้เงินไหลเข้าชะลอตัวลง และค่าเงินบาทก็จะแข็งค่าช้าลง

ทาง ธปท.เองก็ยืนยันว่า หากลดดอกเบี้ยลงจะไล่เงินออมภาคครัวเรือนออกไปในตลาดหุ้นที่กำลังปั่นกันให้ดัชนีเร่งตัวสูงขึ้น และไปเก็งกำไรในภาคอสังหาริมทรัพย์ เสี่ยงต่อการเกิดเศรษฐกิจฟองสบู่ และเศรษฐกิจขยายตัวดีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องลดดอกเบี้ยไปกระตุ้นอีก

ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า การที่เงินไหลเข้ามาในไทยมากขึ้น มาจากปัจจัยจากข่าวที่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ฟิทช์ เรทติ้งส์ ที่ได้ประกาศเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือของไทยเป็น BBB+ ประกอบกับการปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจ (จีดีพี) ที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันในประเทศเพื่อนบ้านมีปัญหาความขัดแย้งและกำลังจะมีการเลือกตั้ง ทำให้นักลงทุนต่างชาติเชื่อมั่นในสถานการณ์ของไทยส่งผลให้มีเงินเข้ามาลงทุน

เหตุผลของผู้ว่าการ ธปท. ก็เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ และสะท้อนภาพว่า ธปท.จะยังไม่ทำอะไร ยังคงปล่อยให้ค่าเงินบาทปรับตัวไปตามกลไกตลาด

อย่างไรก็ดี จากตัวเลขทุนสำรองทางการระหว่างประเทศของไทย จะเห็นว่าตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ตัวเลขทุนสำรองไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยที่สำคัญ

นั่นเป็นการสะท้อนว่า ธปท.เข้าแทรกแซงค่าเงินเป็นช่วงๆ จะมองว่าการเข้าแทรกแซงค่าเงินแต่น้อย ไม่เข้าไปเล่นเต้นตามนักเก็งกำไรนั้น ธปท.ทำถูกหรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาด้วยเหตุและผล

เงินร้อนที่ไหลบ่าเข้ามาในประเทศนั้น มีปริมาณมากพอที่จะทำให้ทุนสำรองหมดไปอย่างง่ายดาย หากเข้าไปสู้ค่าเงินอย่างหมดหน้าตัก เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในปี 2540

หาก ธปท.เข้าซื้อเงินเพื่อแทรกแซงตลาด ซื้อในราคาไหน ก็จะขาดทุนทุกช่วงราคา หากนักลงทุนมีความเชื่อว่า ภาวะเศรษฐกิจของไทยดีมาก อย่างที่รัฐบาลพยายามออกไปโรดโชว์ หรือย้ำความเชื่อมั่นกับต่างชาติ เงินจะไหลเข้ามามาก ฉะนั้นต้องยอมรับว่าปัจจัยที่ทำให้เงินไหลเข้าส่วนหนึ่งก็มาจากรัฐบาลด้วย

ขณะนี้ไทยกำลังประสบปัญหาค่าเงินอ่อนค่ากว่าความเป็นจริง นักลงทุนมีความเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยดีมาก จนมองกันว่าค่าเงินบาทที่เหมาะสมน่าจะอยู่ที่ 28 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

แต่ในปี 2540 ค่าเงินของไทยแข็งค่าเกินความเป็นจริง โดยนักลงทุนมองว่าค่าเงินที่ 27 บาทต่อเหรียญสหรัฐนั้นไม่เหมาะสม ค่าเงินบาทจะต้องอ่อนค่ามากกว่านี้ เพราะไทยมีหนี้สูงและขาดทั้งดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลงบประมาณ

ปัญหาการโจมตีค่าเงินบาทนั้น เป็นเรื่องของการคาดการณ์พื้นฐานเศรษฐกิจ และนักเก็งกำไรจะเข้าลงทุนตามความเชื่อ

หากนักลงทุนยังเชื่อว่าประเทศไทยมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจดี และเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ยังไม่ดี เงินก็จะยังคงไหลเข้า

ดังนั้น การแทรกแซงค่าเงินไปก็เท่ากับเสียเงินทุนสำรองไปอย่างไร้ประโยชน์ การเจาะช่องให้เงินทุนไทยออกไปซื้อสินทรัพย์ หรือลงทุนต่างประเทศที่ ธปท.ทำอยู่ก็เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว

อย่างไรก็ดี การที่ ธปท.จะหวังให้กระทรวงการคลังใช้มาตรการการคลังเพื่อช่วยดูแลค่าเงินบ้าง เป็นเรื่องที่ไม่มีทางเป็นไปได้ หากรัฐบาลยังคงอยากให้ ธปท.ลดดอกเบี้ย

ดังนั้น วิวาทะและความขัดแย้งในการดำเนินนโยบายดูแลค่าเงินก็จะยังเป็นเกาเหลาต่อไป ซึ่งจะต้องจับตาดูว่าจะยาวนานและทำให้เป็นแผลร้าวลึกจนเป็นชนวนให้ปลดผู้ว่าการ ธปท.ได้หรือไม่

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2556

สศก.เผยดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกุมภาพันธ์ ลดลงเล็กน้อย คาดมีนาคมขยับตัวสูงขึ้น

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ระบุ ภาพรวมดัชนีราคาสินค้าเกษตรเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.17 และผลผลิตลดลงร้อยละ 9.52 จากเดือนมกราคม 2556 คาด มีนาคม ดัชนีผลผลิตจะสูงขึ้น โดยสินค้าที่ออกสู่ตลาดมาก ได้แก่ ข้าวนาปรัง
มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน หอมแดง หอมหัวใหญ่ กระเทียม และมันฝรั่ง

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผย ภาพรวมราคาสินค้าเกษตรซึ่งวัดจากดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ที่ไร่นาประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ว่า ดัชนีราคาสินค้าเกษตรเมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว (ปี 2555) ภาพรวมลดลงร้อยละ 4.27 โดยสินค้าเกษตรที่มีราคา ลดลง ได้แก่ ยางพารา สับปะรดโรงงาน และปาล์มน้ำมัน ซึ่งยางพารา ราคาลดลงเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ประกอบกับความต้องการใช้ยางที่ชะลอตัวของประเทศผู้รับซื้อยางรายใหญ่ เช่น ประเทศจีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป สับปะรดโรงงาน ลดลงเนื่องจากประเทศผู้นำเข้าสำคัญ ได้แก่ สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ความต้องการลดลง ปาล์มน้ำมัน ลดลงเนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันปาล์มของโลกปรับตัวลดลง ตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้ปริมาณสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบในเดือนธันวาคม 2555 ของอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทยเพิ่มขึ้น

สำหรับสินค้าที่มีราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% มันสำปะหลังสุกร และไข่ไก่ โดยที่ ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15%ราคาสูงขึ้น เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา มันสำปะหลังสูงขึ้น เนื่องจากเกษตรกรขายผลผลิตเข้าโครงการรับจำนำมากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และ ปศุสัตว์ ได้แก่ สุกร และไข่ไก่ สูงขึ้นเป็นผลมาจากการเรียกร้องของเกษตรกรเกี่ยวกับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น (Cost Push) อย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะค่าอาหารสัตว์

เลขาธิการกล่าวต่อไปว่า เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมกราคม ปี 2556 พบว่า ดัชนีราคาภาพรวม ลดลงเล็กน้อย ร้อยละ 0.17 โดยสินค้าที่ราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ยางพารา และไก่เนื้อ ซึ่งยางพารา ราคาปรับตัวลดลงตามตลาดล่วงหน้า TOCOM และ SICOM ประกอบกับ สต๊อกยางของจีนยังมีอยู่มากจากการเร่งซื้อยางเข้าเก็บก่อนช่วงวันหยุดตรุษจีน และ ไก่เนื้อ ลดลงเนื่องจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยทำให้ไก่เนื้อเจริญเติบโตได้ดี และมีการปลดแม่ไก่ไข่ยืนกรงขายเป็นไก่เนื้อบางส่วน ส่งผลให้ผลผลิตออกสู่ตลาดมากกว่าความต้องการของผู้บริโภค

สำหรับสินค้าที่มีราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน สุกร และไก่ไข่ โดยที่ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ราคาสูงขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงปลายฤดูนาปี และผู้ประกอบการมีความต้องการข้าวเพื่อส่งมอบ มันสำปะหลัง สูงขึ้นเนื่องจากความต้องการส่งออก มันเส้น และแป้งมันเพิ่มสูงขึ้น ปาล์มน้ำมัน สูงขึ้นเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง ประกอบกับราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดล่วงหน้ามาเลเซียสูงขึ้นด้วย สุกร สูงขึ้นเนื่องจากความต้องการบริโภคสูงขึ้น และไข่ไก่ สูงขึ้นเนื่องจาก เกษตรกรปลดแม่ไก่ไข่ยืนกรงบางส่วน ทำให้ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง

อย่างไรก็ตาม ด้านดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเมื่อเทียบกับกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว (ปี 2555) พบว่า ภาพรวมมีผลผลิตลดลงเล็กน้อย ร้อยละ 0.20 ซึ่งสินค้าสำคัญที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า สับปะรดโรงงาน และปาล์มน้ำมัน สำหรับสินค้าสำคัญที่มีผลผลิตปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ มันสำปะหลัง ยางพารา สุกร ไก่เนื้อและไข่ไก่ และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมกราคม ปี 2556 ดัชนีผลผลิตภาพรวมลดลง ร้อยละ 9.52 โดยสินค้าสำคัญที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ยางพารา สุกร และไข่ไก่ สินค้าสำคัญที่ผลผลิตสูงขึ้น ได้แก่ มันสำปะหลัง สับปะรดโรงงาน ปาล์มน้ำมัน และไก่เนื้อ

ทั้งนี้ ในเดือนมีนาคม 2556 คาดว่า ดัชนีผลผลิตจะสูงขึ้นเล็กน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมีนาคม ปี 2555 และผลผลิตจะสูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2556 โดยจะมีสินค้าสำคัญที่ออกสู่

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2556

ประกาศพื้นที่เหมาะสมใช้ปลูกพืช

กรมพัฒนาที่ดิน - นางกุลรัศมิ์ อนันต์พงษ์สุข รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้กรมพัฒนาที่ดินจัดเตรียมข้อมูลในการจัดทำเขตเหมาะสมสำหรับการปลูกพืช หลังจากที่ได้ประกาศเขตเหมาะสมสำหรับการปลูกพืชเศรษฐกิจจำนวน 6 ชนิด ประกอบด้วย เขตเหมาะสมสำหรับการปลูกข้าว มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา อ้อยโรงงาน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ วิเคราะห์จากความเหมาะสมของที่ดิน ร่วมกับปัจจัยความต้องการของพืชแต่ละชนิด ตามสภาพพื้นที่ที่มีการเพาะปลูกพืชร่วมกับปัจจัยที่เกี่ยวข้องอื่นๆ อาทิ เขตป่าไม้ตามกฎหมาย เขตชลประทาน สามารถใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการผลิต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุน พื้นที่ที่เหมาะสมน้อยจะสนับสนุนด้านเทคโนโลยีและการถ่ายทอดองค์ความรู้ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรปรับรูปแบบการใช้ที่ดินที่เหมาะสมกับพื้นที่ ชนิดพืช ประมง ปศุสัตว์

"เกษตรกรบางแห่ง อาจไม่ต้องการปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น เช่น ภาคใต้ เกษตรกรมีที่นาแต่ไม่ทำนา ปล่อยให้เป็นที่รกร้าง กรมพัฒนาที่ดินก็ต้องปรับปรุงดินให้ในหลายๆ รูปแบบ เกษตรกรจะทำนาก็ได้ หรือปลูกปาล์มน้ำมันก็ได้"

จาก http://www.khaosod.co.th  วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2556

แนวปฏิรูปอุตฯ อ้อย-น้ำตาล

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดงานวิจัย การศึกษาเพื่อปรับโครงสร้างอุตสาห กรรมอ้อยและน้ำตาลของไทยโดย นายวิโรจน์ ณ ระนอง ซึ่งมีข้อเสนอให้รัฐเลิกควบคุมราคาน้ำตาลและหันมาควบคุมปริมาณแทน และรัฐควรอนุญาตให้นำเข้าน้ำตาลทรายโดยเสรีเพื่อป้องปรามการรวมหัวกันตั้งราคาน้ำตาลที่สูงเกินควร

ใช้สูตรกำหนดราคาอ้อยราคาเดียวเท่ากันทั้งประเทศ
ยึดตัวเลขส่วนแบ่งเดิมคือ 70:30 แต่ปรับวิธีการคำนวณที่ทำให้ชาวไร่ได้ส่วนแบ่งเพิ่มขึ้น โดยคำนวณรายรับจากน้ำตาลทรายดิบและน้ำตาลทรายขาวอย่างละครึ่ง และคิดมูลค่าของกากน้ำตาล (โมลาส) เพิ่มอีก 8% ของราคาน้ำตาล

กำหนดกติกาการเก็บเงินเข้าและจ่ายเงินออกจากกองทุนอ้อยและน้ำตาล เพื่อให้ทำหน้าที่รักษาเสถียรภาพได้จริง

ให้โอนอำนาจของคณะกรรมการอ้อยไปให้คณะกรรมการบริหาร เนื่องจากไม่มีนโยบายจำกัดการปลูกอ้อยดังเช่นในอดีต และให้คณะกรรมการน้ำตาลทรายทำหน้าที่กำหนดโควตาน้ำตาลภายในประเทศ เพื่อลดการควบคุมและเพิ่มความคล่องตัว

บริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย (อนท.) ทำราคาน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์เพิ่มอีกปีละ 4 แสนตัน

กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย แยกบัญชีเป็นกองทุนย่อยสำหรับรักษาเสถียรภาพโดยเฉพาะ โดยห้ามนำเงินส่วนนี้ไปใช้อย่างอื่น

ตั้งสถาบันวิจัยอ้อยน้ำตาล และผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง เพื่อการพัฒนาของอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน

ศูนย์บริหารการผลิตการจำหน่ายและการขนย้ายน้ำตาลทราย พัฒนาระบบการวัดค่าความหวานของอ้อย (ค่า CCS) ให้เป็นที่น่าเชื่อถือมากขึ้น

แม้ว่าการปรับระบบตามข้อเสนอชุดนี้สามารถทำได้ทุกข้อภายใต้พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 แต่ทีมวิจัยได้ยกร่างพ.ร.บ.ฉบับใหม่เพื่อเป็นหลักประกันให้มีการดำเนินการตามข้อเสนออย่างคงเส้นคงวา ไม่เปลี่ยนกลับไปกลับมาตามดุลพินิจของ ผู้บริหาร

เช่น การกำหนดกติกาการซื้อขายและสูตรการคำนวณราคาอ้อย การแยกบัญชีกองทุนย่อยออกมา เพื่อทำหน้าที่รักษาเสถียรภาพของระบบ และการกำหนดกติกาการควบคุมของคณะกรรมการชุดต่างๆ ให้ชัดเจนมากขึ้น

ขณะเดียวกันก็ปรับเปลี่ยนวิธีการควบคุมที่ไม่จำเป็นและไม่มีประสิทธิภาพ เช่น ยกเลิกการควบคุมราคาน้ำตาลและหันมาควบคุมให้มีปริมาณน้ำตาลเพียงพอสำหรับผู้บริโภคและอุตสาหกรรมในประเทศแทน

จาก http://www.khaosod.co.th  วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2556

แห่ร้องเครือข่ายคอร์รัปชั่น อุตฯชี้แจงแช่ใบอนุญาต

นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานคณะกรรมการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้รับการร้องเรียนจากภาคเอกชนว่าถูกเรียกร้องสินบนจำนวนมากจากเจ้าหน้าที่รัฐในการออกใบอนุญาตต่างๆ ที่ต้องยื่นขออนุมัติจากกระทรวง ทบวง และกรมต่างๆ โดยจะมีขั้นตอนที่ยุ่งยากมากขึ้นจนเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการ ทั้งนี้ ที่ได้รับการร้องเรียนจำนวนมากสุดตอนนี้คือการขอใบอนุญาตโรงงานของกระทรวงอุตสาหกรรม รองลงมาจะเป็นเรื่องการตั้งด่าน โครงการรับจำนำข้าว เป็นต้น ซึ่งกำลังรวบรวมเพื่อส่งต่อให้หน่วยงานที่มีอำนาจลงโทษตามกฎหมาย รับเรื่องดำเนินการต่อไป

"เรื่องการขอใบอนุญาตตอนนี้มีการร้องเรียนจากผู้ประกอบการมากกว่าร้อยราย จากหลายหน่วยงาน หลายโครงการถูกติงว่าผิดระเบียบเมื่อนำมาแก้ไข ก็ยังได้รับการพิจารณาที่ล่าช้า และหลายโครงการระบุว่ามีการเรียกรับสินบน ทั้งนี้ จะส่งเรื่องให้หน่วยงานด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องตรวจสอบต่อไป เชื่อว่าการริเริ่มนำข้อตกลงคุณธรรมมาใช้ ที่เกิดจากความร่วมมือภาครัฐและเอกชนน่าจะเป็นเครื่องมือป้องกันการคอร์รัปชั่นได้ โดยได้รับการประสานจากกระทรวงการคลังที่มีแผนร่วมมือทำข้อตกลงคุณธรรมเพื่อเป็นแม่แบบให้หน่วยงานรัฐอื่นๆ ปฏิบัติ โดยจะมีการนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใน 1-2 สัปดาห์นี้" นายประมนต์กล่าว

นายประมนต์กล่าวว่า เครือข่ายเตรียมทำหนังสือถึงผู้รับผิดชอบโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท เพื่อขอให้เปิดเผยข้อมูลและชี้แจงรายละเอียดของการใช้งบประมาณว่ามีอะไรบ้าง และประโยชน์ที่ประชาชนและเศรษฐกิจได้รับ เหมือนที่โครงการลงทุนพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท โดยกระทรวงคมนาคมที่ได้ทำแล้ว เพราะขณะนี้ยังไม่เห็นความชัดเจนของโครงการว่าทำอะไรบ้างและงบประมาณที่ใช้เพื่ออะไรบ้าง โดยผ่านการผลักดันของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) ในการจัดงานระดมความคิดเห็นและเปิดโอกาสให้ผู้รับผิดชอบเข้ามาชี้แจง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เรียกประชุม และเตรียมเปิดแถลงเรื่องที่มักมีผู้กล่าวหาเรื่องการพิจารณาออกใบอนุญาตโรงงานล่าช้า วันที่ 15 มีนาคม โดยจะแจกแจงจำนวนโรงงานที่ได้ลงนามให้ใบอนุญาตไปแล้ว รวมถึงโรงงานที่ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาว่า ที่ยังไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้นั้น เป็นเพราะติดขัดระเบียบ หรือผิดกฎหมายอย่างไร จึงทำให้ไม่สามารถออกใบอนุญาตให้อย่างรวดเร็วได้

จาก http://www.matichon.co.th วันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2556

เงินบาทแข็งค่าเป็นเรื่องปกติตามภาวะเศรษฐกิจโลก พร้อมยืนยันรักษาสมดุลอัตราแลกเปลี่ยนตามกลไกตลาดได้

ธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุ เงินบาทแข็งค่าเป็นเรื่องปกติตามภาวะเศรษฐกิจโลก พร้อมยืนยันรักษาสมดุลอัตราแลกเปลี่ยนตามกลไกตลาดได้

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กล่าวถึงกรณีเงินบาทแข็งค่าในระดับ 29.54 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อวันที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งมากที่สุดในรอบ 28 เดือน ว่า ส่วนหนึ่งเพราะมีเงินไหลเข้าจากนักลงทุนต่างชาติที่เชื่อมั่นต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ประกอบกับมีข่าวประเทศไทย อาจได้รับการปรับอันดับความน่าเชื่อถือเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังไม่จำเป็นต้องเรียกประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)เพื่อหารือเรื่องนี้ และยังไม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนการดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนในขณะนี้

ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น เพราะเป็นช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจโลกผันผวน ค่าเงินจึงมีการเคลื่อนไหวผันผวนสองทิศทาง ซึ่งต้องเฝ้าระวัง และติดตามอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด พร้อมยืนยันว่า ธปท.จะพยายามดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน ให้มีความสมดุลตามกลไกตลาด โดยการดูแลเงินทุนเคลื่อนย้ายให้มีกรอบนโยบายที่ยืดหยุ่นตามสถานการณ์พอประมาณ เพื่อให้เงินไหลเข้า-ออก อย่างสมดุล

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2556

รมว.พลังงานเดินหน้า 7 โครงการเชื่อมโยงพลังงานภูมิภาครับเออีซี

นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาเชิงวิชาการประจำปี 2556 หัวข้อ “Interconnectivity and Cross – Border Trade” ครั้งที่ 4 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันความร่วมมือการกำกับกิจการพลังงานอาเซียน รวมทั้งกำหนดยุทธศาสตร์การบริหารจัดการด้านพลังงานสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ปี 2558

นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า การเชื่อมโยงระบบเครือข่ายพลังงานในภูมิภาค เพื่อให้เกิดความร่วมมือกับกลุ่มประเทศในอาเซียนก่อนที่ไทยและประเทศสมาชิกจะก้าวเข้าสู่เออีซี โดยจะมี 7 โครงการสำคัญ ที่ไทยและประเทศสมาชิกต้องเจรจาร่วมกันตั้งแต่ระดับทวิภาคีจนนำไปสู่ความร่วมมือทั่วทั้งภูมิภาค ประกอบด้วย การเชื่อมโยงระบบสายส่งไฟฟ้าของอาเซียน การเชื่อมโยงท่อส่งก๊าซธรรมชาติ เทคโนโลยีถ่านหินและถ่านหินสะอาด พลังงานที่นำมาใช้ใหม่ในอนาคต การสงวนรักษาประสิทธิภาพด้านพลังงาน นโยบาย และการวางแผนด้านพลังงานภูมิภาค และเรื่องที่เกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งทิศทางและกรอบความร่วมมือด้านการกำกับกิจการพลังงานอาเซียนในอนาคตนี้จะเป็นสิ่งที่ท้าทายให้ทุกหน่วยงานด้านกำกับกิจการพลังงานของทุกชาติต้องหันมาเร่งเจรจาเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ แม้ว่าการมีข้อตกลงร่วมกันจะเสร็จทันปี 2558 หรือไม่นั้น แต่กรอบเจรจาต้องเดินหน้าเพื่อให้เกิดความร่วมมือของทุกชาติเร็วที่สุด.- สำนักข่าวไทย

จาก http://www.mcot.net  วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2556

กมธ.ส่งเสริมราคาผลิตผลเกษตรกรรมรับเร่งหาทางช่วยอ้อยตกต่ำ

นายวิชัย ล้ำสุทธิ ประธานคณะกรรมาธิการส่งเสริมราคาผลิตผลเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ได้รับหนังสือร้องเรียนจากชมรมสถาบันไร่อ้อยภาคอีสาน ร้องเรียนว่าสถานการณ์ราคาอ้อยตกต่ำ ซึ่งคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลได้ประกาศราคาอ้อยขั้นต่ำที่ตันละ 950 บาท ณ 10 CCS. ซึ่งไม่คุ้มกับต้นทุนการผลิตของชาวไร่อ้อยที่มีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 1,196.31 บาท

ทั้งนี้ ได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาแนวทางการช่วยเหลือชาวไร่อ้อยให้ได้รับราคาที่คุ้มกับต้นทุนที่ตันละ 1,200 บาท ซึ่งจะทำให้ชาวไร่อ้อยได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มที่ตันละ 160.81 บาท นอกจากนี้ยังได้เสนอให้กู้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยมีกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายเป็นผู้ค้ำประกัน รวมเป็นเงิน 15,219.06 ล้านบาท พร้อมเสนอเหตุผลให้ได้รับเงินเพิ่ม เพื่อให้คุ้มต้นทุนการผลิตอีกตันละ 90 บาท โดยให้กระทรวงอุตสาหกรรมนำเสนอเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 มีนาคมที่ผ่านมา แล้วจะนำเสนอ ครม. พิจารณาในวันที่ 19 มีนาคมนี้ต่อไป.-สำนักข่าวไทย

จาก http://www.mcot.net วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2556

รัฐสภาไฟเขียวความตกลงการค้าเสรีไทย-ชิลี

กระทรวงพาณิชย์ เตรียมลงนามเอฟทีเอ ไทย-ชิลี เพิ่มมูลค่าการค้าการลงทุน หลังผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา

นางพิรมล เจริญเผ่า อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์เตรียมลงนามความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับสาธารณชิลีเร็วๆ นี้ หลังจากที่ประชุมรัฐสภาครั้งที่ 3 (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) ได้เห็นชอบแล้วเมื่อวันอังคารที่ 12 มีนาคม ที่ผ่นมา โดยคาดว่า ความตกลงจะมีผลใช้บังคับไตรมาส 4 ของปีนี้ ซึ่งจะเพิ่มศักยภาพการแข่งขันทางการค้า โดยการขยายการส่งออกไปยังตลาดใหม่ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจถดถอยในตลาดสหรัฐและอียู

“สินค้าจากทั้งสองประเทศ 90% จะลดภาษีลงเป็น 0 ทันทีที่ความตกลงมีผลใช้บังคับ สำหรับสินค้าที่เหลืออีก 10% ทั้งสองฝ่ายจะลดภาษีลงเป็นลำดับ คาดว่าอุตสาหกรรมของไทยที่จะได้รับประโยชน์ได้แก่ ยานยนต์ ปลาแปรรูป (ปลากระป๋อง) โพลิเมอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้าง โดยเฉพาะปูนซีเมนต์ เม็ดพลาสติก ยางและผลิตภัณฑ์จากยาง และอัญมณี เป็นต้น ในขณะที่ชิลีจะได้ประโยชน์จากสินค้าเช่น ทองแดง และสินแร่เหล็ก ซึ่งไทยผลิตได้น้อยและมีความต้องการนำเข้าเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอยู่แล้ว” นางพิรมล กล่าว

นางพิรมล กล่าวว่า ไม่เฉพาะสินค้าเท่านั้น แต่ชิลีได้เปิดตลาดการบริการให้ไทยเข้าไปลงทุนเกือบทุกสาขาบริการได้ถึง 100% รวมทั้งนักลงทุนชิลีก็ได้แสดงความสนใจเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น โดยกำหนดให้ไทยเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ในการเป็นฐานการผลิต การกระจายสินค้าและการตลาดไปยังประเทศในภูมิภาคอาเซียน และภูมิภาคอื่นที่ใกล้เคียง เช่นออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ไทยเองก็หวังให้ชิลีเป็นประตูทางการค้าสู่อเมริกาใต้และประเทศอื่นๆที่ชิลีจัดทำ FTA ด้วยในอนาคต

ปัจจุบันชิลีเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 3 ของไทยในภูมิภาคอเมริกาใต้ รองจากบราซิล และอาร์เจนตินา ในปี 2555 ไทยได้ดุลการค้ากับชิลี 278.07 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยส่งออกไปชิลีเป็นมูลค่า 628.25 ล้านเหรียญสหรัฐ (เพิ่มขึ้น 21.05%) ในขณะที่นำเข้าจากชิลีเป็นมูลค่า 350.18 ล้านเหรียญสหรัฐ (ลดลง 2.1%) โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปชิลี ได้แก่ รถยนต์/อุปกรณ์ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ปูนซีเมนต์ เครื่องจักรกล ผลิตภัณฑ์ยาง/พลาสติก อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น และสินค้านำเข้าสำคัญของไทยจากชิลี ได้แก่ สินแร่ โลหะ สัตว์น้ำสด/แช่เย็น/แช่แข็งแปรรูป เยื่อกระดาษ ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ เป็นต้น

การเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับสาธารณรัฐชิลี (ความตกลงการค้าเสรีไทย – ชิลี) เกิดขึ้นจากการหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีของไทย กับประธานาธิบดีของชิลี ระหว่างการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 11 เมื่อ พ.ศ. 2546 โดยเริ่มมีการเจรจาระหว่างกันในเดือนเมษายน 2554 จนกระทั่งสามารถสรุปผลการเจรจาได้ เมื่อเดือนสิงหาคม 2555 และที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ในเดือนพฤศจิกายน 2555

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2556

กมธ.สภาจี้รัฐบาลแก้ราคาอ้อย ปรับจาก 950 เป็น 1,200 ต่อตัน

14 มี.ค.56 นายวิชัย ล้ำสุทธิ ส.ส. ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการส่งเสริมราคาผลิตผลเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยภายหลังจากการประชุมคณะกรรมาธิการฯ เพื่อแก้ไขปัญหาราคาอ้อยตกต่ำทั่วประเทศว่า จากปัญหาราคาอ้อยตกต่ำทั่วประเทศ จนส่งผลกระทบทำให้น้ำตาลมีคุณภาพต่ำลงนั้น ทางกรรมาธิการฯ จึงขอเรียกร้องให้ทางรัฐบาลดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรไร่อ้อย โดยจัดสรรเงินเพื่อให้ชาวไร่อ้อยได้ระดับราคาที่คุ้มทุนการผลิตคือ จากราคาปัจจุบันที่รัฐบาลประกันคือ 950 บาทต่อตันเป็น 1,200 บาทต่อตัน และในระยะยาวขอให้แก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 เพราะ กมธ.เห็นว่า กฎหมายมีความล้าสมัย ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์และเทคโนโลยีในปัจจุบัน ในวันที่ 19 มี.ค.56 นี้ ทางคณะรัฐมนตรี จะมีการบรรจุเรื่องการแก้การแก้ไขปัญหาอ้อยตกต่ำ เข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อขออนุมัติงบประมาณ จำนวน 26,000 ล้านบาท เพื่อนำเงินมาแก้ปัญหาราคาอ้อยตกต่ำในขณะนี้ด้วย

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2556

คาดค่า ft ปีนี้ไม่ปรับเพิ่ม วอนทุกฝ่ายร่วมประหยัดพลังงาน

นายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลดี ทำให้ราคาเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าลดลง ประกอบกับทุกภาคส่วนได้ร่วมกันลดใช้ไฟฟ้าในวันที่ 5 เมษายนนี้ จนไม่จำเป็นต้องนำน้ำมันดีเซล และน้ำมันเตา มาใช้ในการผลิตไฟฟ้าทดแทนก๊าซธรรมชาติ ที่จะหายไปจากการหยุดซ่อมท่อก๊าซของพม่า ทำให้ค่าไฟฟ้าอัตโนมัติผันแปร (ft) ตั้งแต่งวดเดือนพฤษภาคม จนถึงสิ้นปีนี้ มีแนวโน้มที่จะไม่เปลี่ยนแปลง

อย่างไรก็ตาม ยังมีภาระค่า ft ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แบกรับภาระไว้ประมาณ 6,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น ft ที่ต้องเพิ่มขึ้น 4 สตางค์ต่อหน่วย โดยเชื่อว่าจะสามารถใช้หนี้ส่วนนี้ได้หมดภายในสิ้นปีนี้ โดยคงค่า ft ไว้ที่ 52.04 สตางค์ต่อหน่วย หากไม่มีเหตุการณ์ผิดปกติในตะวันออกกลาง จนส่งผลกระทบต่อราคาเชื้อเพลิง หรือค่าเงินบาทอ่อนค่าลง

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2556

ธปท.ยันไม่ปรับนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน ชี้เงินนอกไหลเข้าดันบาทแข็งแต่ยังเอาอยู่

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า สถานการณ์ค่าเงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นที่ระดับ 29.54 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ (เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2556) และ ทำสถิติแข็งค่าสุดในรอบ 28 เดือนนั้น เป็นผลจากมีเงินไหลเข้าจากนักลงทุนต่างชาติที่เชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจของไทยที่ ขยายตัวดี ประกอบกับมีกระแสข่าวว่าไทยจะได้รับการปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศเพิ่มขึ้น และการปรับประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปีนี้ด้วย ส่วนประเทศเพื่อนบ้านไทยก็จะมีการเลือกตั้ง มีความขัดแย้ง ฯลฯ ทำให้เงินไหลเข้ามาเยอะ และยมีส่วนทำให้ค่าเงินบาทปรับแข็งค่าขึ้น

“ส่วนเงินบาทที่ปรับแข็งค่าขึ้นอยู่ในระดับที่ปรับสอดคล้องกับพื้นฐานเศรษฐกิจประเทศหรือไม่ เรายังต้องขอรอดูอีกสักนิด เพราะตอนนี้มันก็เพิ่งแข็งค่าขึ้นมาวันเดียวเอง และการแข็งค่าขึ้นมันก็พอมีเหตุปัจจัยอยู่ อย่างไรก็ตามการที่เงินบาทปรับแข็งค่าขึ้น คงไม่ถึงขั้นธปท.ต้องเปลี่ยนนโยบายในการดูแลค่าเงินบาท เพียงแต่ต้องคอยติดตาม เพราะนโยบายเดิมก็ยังใช้ได้อยู่ อีกอย่างนโยบายเรายืดหยุ่นได้พอประมาณอยู่แล้ว ไม่ว่าอัตราแลกเปลี่ยน ดอกเบี้ย หรือเงินทุนเคลื่อนย้าย ซึ่งธปท.ก็พยามให้เงินเข้าและออกได้ให้สมดุลกัน” นายประสารกล่าว

นายประสาร กล่าวว่า ในความเป็นจริงเมื่อวันที่12 มี.ค. ที่ผ่นมาถึงเงินบาทจะปรับแข็งค่าขึ้น แต่เงินบาทก็เคลื่อนไหวใน 2 ทิศทาง เพราะหลังจากเงินบาทแข็งค่าขึ้นไปอยู่ระดับประมาณ 29.57 บาทต่อเหรียญสหรัฐแล้ว ในท้ายตลาดก็มีแรงซื้อเข้ามาทำให้อัตราแลกเปลี่ยนเปลี่ยนทิศ ส่วนภาวะนี้ธปท.มีการเข้าไปแทรกแซงหรือไม่นั้น ตามปกติ จะไม่พูดกัน ให้ดูจากข้อมูลตัวเลขที่ออกมามากกว่า

“ถ้าถามว่าสถานการณ์ค่าเงินบาทตอนนี้หลุดไปอยู่ 29.57 บาทต่อเหรียญสหรัฐธป.ตกใจหรือกังวลหรือไม่นั้น ก้ต้องบอกว่าไม่ได้ตกใจเลย เพราอย่าลืมว่าสถานการณ์เศรษฐกิจการเงินโลกในขณะนี้มันไม่ค่อยปกติอยู่แล้ว” นายประสารกล่าว

ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ส่วนที่มีการรายงานต่อคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) เมื่อวันที่12 มี.ค. ที่ผ่านมา เป็นเรื่องปกติ ธปท.ไม่ได้เรียกประชุมอะไรเป็นพิเศษเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยน เพราะปกติธปท.จะมีการติดต่อเป็นประจำกับบอร์ดกนง.อยู่แล้ว เป็นเรื่องปกติ เพื่อรายงานสถานการณ์ต่างๆทางอีเมล์ ซึ่งเมื่อวันดังกล่าวก็มีการรายงานภาวะตลาดผ่านทางอีเมล์ ไม่มีการประชุมอะไรพิเศษ มีแต่รายงานให้กนง.รับทราบเท่านั้น และกำหนดการประชุมก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง

ด้านนักบริหารเงินจากธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้าวันที่ 13 มีนาคม อยู่ที่ระดับ 29.60-29.62 บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากปิดตลาดวันที่ 12 มีนาคม ที่ระดับ 29.63-29.65 บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐ โดย ยังมีกระแสเงินทุนต่างชาติไหลเข้าอย่างต่อเนื่อง ส่วนกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ไว้ระหว่าง 29.55-29.65 บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐ

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2556

'กรมโรงงาน'ขอ6พันล.ผุดเตาเผาขยะอุตสาหกรรม4แห่ง

กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียม 6,600 ล้านบาท ขยายเตาเผากากอุตสาหกรรม 4 แห่งทั่วประเทศรวม 700 ตัน รับการขยายตัวอุตฯ และเปิด AEC บอกกังวลขยะกากอุตสาหกรรมถึง 60% ไม่เข้าระบบกำจัด คาดมีการลักลอบทิ้ง ต้องเร่งป้องกันไม่ให้เกิดปัญหากระทบ สิ่งแวดล้อม

นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) และรักษาการอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการบริหารจัดการกากของเสียอันตราย (เตาเผา) รวม 4 แห่งทั่วประเทศ สามารถรองรับกากอุตสาหกรรมได้รวม 700 ตัน/วัน ตามการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในอีก 20 ปีข้างหน้า รวมมูลค่า 6,600 ล้านบาท ตามปีงบประมาณ 2557 นี้ เนื่องจากเตาเผาในปัจจุบันมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ และในช่วงที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรมได้รับการร้องเรียนค่อนข้างมากว่า มีการลักลอบทิ้งกากของเสียจากกระบวนการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม ส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำตามธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในภาพรวม

ทั้งนี้ ตามการสำรวจที่ผ่านมาในปี 2555 มีปริมาณของเสียที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมที่เป็นอันตรายประมาณ 3.9 ล้านตัน และของเสียที่ไม่เป็นอันตรายประมาณ 45 ล้านตัน และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เพราะตามแผนแม่บทการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย พ.ศ. 2555-2574 ได้ผลักดันประเทศให้โดดเด่นในการผลิตของภาคอุตสาหกรรมหลายประเภท เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์, อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเครื่องจักร และอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ คาดว่าอุตสาหกรรมจะขยายตัวมากขึ้น นอกจากนี้ยังเตรียมเข้าสู่การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) จึงต้องเพิ่มความสามารถของระบบการกำจัดกากของเสียไว้รองรับ

"ขยะกากอุตสาหกรรมในประเทศทั้ง 100% ที่เกิดขึ้น จะมีเพียง 40% เท่านั้นที่เข้าสู่การบำบัด การกำจัดทิ้งที่ถูกวิธี แต่อีก 60% ไม่รู้ไปอยู่ไหน นั่นคือสิ่งที่กระทรวงอุตสาหกรรมค่อนข้างกังวลมาก ส่วนที่หายไปตั้ง 60% นั้นแสดงว่าต้องมีการลักลอบ จึงต้องมีการป้องกันไม่ให้มีการนำกากของเสียไปทิ้งหรือฝังกลบในที่สาธารณะ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องรีบขับเคลื่อน เพราะการดูแลกากอุตสาหกรรมค่อนข้างปล่อยปละละเลยมานานแล้ว โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีโรงงานค่อนข้างมาก"

นายณัฐพลกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับโครงการบริหารจัดการกากของเสียอันตราย (เตาเผา) นอกจากต้องรอเสนอ ครม.เพื่ออนุมัติก่อนนั้น จากนี้กระทรวงอุตสาหกรรมยังต้องรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีที่ดีที่สุดทั้งในและต่างประเทศในประเภทเตาเผาขยะ เพื่อนำมาพิจารณาคัดเลือกให้เหมาะสมกับความต้องการในแต่ละพื้นที่ด้วย นอกจากนี้ ยังเตรียมเสนอแนวทางปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานเข้าสู่ระบบการขออนุญาตจัดการกากอุตสาหกรรมมากขึ้น

"เราคงต้องมาทบทวนแผนแม่บทการจัดการกากอุตสาหกรรมของประเทศไทย และผลการศึกษาต่าง ๆ ทั้งของกรมโรงงานอุตสาหกรรม และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการจัดการกากอุตสาหกรรม รวมทั้งศึกษา วิเคราะหืประเมินประเภท และปริมาณของเสียที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากโรงงานอุตสาหกรรมทั้งประเทศใน 20 ปีข้างหน้า โดยต้องจำแนกของเสียที่คาดว่าจะเกิดขึ้นทั้งตามลักษณะของเสียที่เป็นอันตราย ของเสียที่ไม่เป็นอันตราย และความสามารถในการรองรับของเสียของระบบกำจัดกากทั้งหมดที่มีในปัจจุบันด้วย ก่อนทำเตาเผาตามโครงการใหม่"

ส่วนรูปแบบการดำเนินโครงการทั้ง 4 โครงการนี้ กำลังอยู่ในระหว่างพิจารณาว่ากระทรวงอุตสาหกรรมจะลงทุนเองในช่วงเริ่มต้นแล้วให้สัมปทานภาคเอกชน อย่างเช่นกรณีเตาเผาขยะในจังหวัดสมุทรปราการ ที่ดำเนินการโดยบริษัท อัคคีปราการ จำกัด หรือไม่ รวมถึงทางเลือกอื่น ๆ คืออาจจะให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนตั้งแต่เริ่มต้นโครงการได้ ทั้งนี้ ยังต้องรอสรุปอีกครั้งหลังจาก ครม.เห็นชอบ ที่สำคัญคือต้องขึ้นอยู่กับว่างบประมาณที่ขอไปนั้นจะได้รับอนุมัติเท่าไร

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2556

รมว.คลังเรียกร้อง ธปท.ดึงเงินบาทอ่อนค่าลง

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เงินบาทยังแข็งค่าอย่างต่อเนื่องจากช่วงที่ผ่านมา ดังนั้นการเรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดูแลค่าเงินบาท ไม่ได้ต้องการให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าจนผิดธรรมชาติ และให้อัตราดอกเบี้ยต่ำจนผิดธรรมชาติ แต่ต้องการให้ผ่อนคลายลง

นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า เนื่องจากนโยบายการเงินที่ดำเนินการอยู่ได้ทำให้เงินบาทแข็งค่าผิดปกติ และอัตราดอกเบี้ยสูงผิดธรรมชาติจนกระทบต่อผู้ส่งออก และหากไม่ดำเนินการใด ๆ จะทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นไปอีก แม้จะไม่ปรับลดดอกเบี้ยลงอีก แต่รักษาค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับเหมาะสมถือว่าเป็นระดับที่น่ายินดี

สำหรับแนวทางการแก้ไขกฎหมายภาษีซ้อน เพื่อส่งเสริมให้คนไทยนำเงินออกไปลงทุนหรือทำการค้าในต่างประเทศ เมื่อนำผลกำไรสุทธิกลับมาในประเทศแล้วไม่ต้องเสียภาษีนั้น นายกิตติรัตน์กล่าวว่า แม้จะเป็นการส่งเสริมนำเงินออกไปลงทุนได้ดี แต่ต้องระวังการหาประโยชน์จากฐานภาษีต่ำจากหลายประเทศ โดยจะทำให้มีเงินลงทุนเข้ามาหาประโยชน์ในระยะสั้น ส่งผลให้เงินทุนไหลเข้าเพิ่มขึ้นไปอีก เพราะระดับภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 20 ในปัจจุบัน มองว่ายังเป็นระดับที่ยังไม่เหมาะในการยกเลิกภาษีซ้อน เมื่อเทียบกับฐานภาษีในหลายประเทศ

ด้านนักบริหารเงินจากธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ระดับ 29.62- 29.64 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าเล็กน้อยจากช่วงเย็นวานนี้ที่ระดับ 29.60-29.62 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเงินบาทอ่อนค่าตามภูมิภาค เนื่องจากยูโรค่อนข้างอ่อน มองว่าวันนี้บาทน่าจะแกว่งตามภูมิภาค ซึ่งอาจจะอ่อนค่าแต่ไม่ได้อ่อนค่ามาก เพราะยังคงมีเงินทุนไหลเข้าอยู่

จาก http://www.mcot.net  วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2556

ประสาร ชี้กนง.ยังไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนนโยบายดูแลค่าเงิน หลังทุนไหลเข้าจากปัจจัยศก.-เรตติ้งไทยดี

สถานการณ์จากค่าเงินบาทปรับแข็งค่าสูงสุดในรอบ 28 เดือน เมื่อวานนี้ ( 12 มีนาคม 2556 ) โดยแข็งค่าแตะระหว่าง 29.57/59 บาทต่อดอลลาร์

ต่อเรื่องนี้นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กล่าวว่า เงินบาทที่แข็งค่าวานนี้ เป็นผลมาจากเงินทุนต่างประเทศไหลเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เนื่องจากเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ดี และยังมีโอกาสที่ประเทศจะได้รับการปรับขึ้นอันดับความน่าเชื่อถือ จึงจูงใจให้เข้ามาลงทุน

ผู้ว่าธปท. ยืนยันว่าเรื่องนี้ยังไม่จำเป็นต้องเรียกประชุมกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เร่งด่วน และส่วนตัวมองว่ายังไม่น่าเป็นห่วง ยังไม่มีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนนโยบายการดูแลอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งธปท.ได้พยายามดำเนินนโยบายการเงินให้สมดุลตามกลไกตลาด เรื่องของ outflow-inflow กรอบการดำเนินนโยบายก็ยืดหยุ่น เพื่อให้เงินทุนเคลื่อนย้ายมีทางเข้าและออกอย่างสมดุลอยู่แล้ว

"ช่วงนี้มีข่าวออกมาว่าไทยจะได้รับการปรับเครดิตความน่าเชื่อถือ และเศรษฐกิจก็ขยายตัวได้ดี ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านมีปัญหาความขัดแย้งเรื่องการเลือกตั้ง ทำให้ตลาดหุ้นไทยมีแรงซื้อเข้ามาในตลาดหุ้น แต่สังเกตุเห็นได้ว่าในช่วงท้ายตลาดมีการเปลี่ยนทิศทางลดลง"นายประสาร กล่าว

อย่างไรก็ดีผู้ว่าธปท. ปฎิเสธที่จะตอบคำถามผู้สื่อข่าวว่า ธปท.ได้เข้าแทรกแซงค่าเงินบาทในช่วงนี้หรือไม่

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 13 มีนาคม 2556

ดันเกษตรอินทรีย์ไทยฮับอาเซียน

พาณิชย์หัวขบวนดันสินค้าเกษตรอินทรีย์ไทยผงาดเวทีโลก พร้อมตั้งเป้าเป็นฮับอาเซียน หลังแนวโน้มความต้องการสินค้าเกษตรอินทรีย์โตพรวดรับเทรนด์คนรักสุขภาพขยายตัว เผยมูลค่า เกษตรอินทรีย์โลกกว่า 1.8 ล้านล้านบาท แต่ไทยส่งออกได้แค่ 4 พันล้านยังมีโอกาสโตอีกมาก เร่งพัฒนาคุณภาพสินค้า บรรจุภัณฑ์ เปิดตลาดใหม่ พร้อมขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้น

นางสาวสายใจ กิมเกถนอม ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานพาณิชย์ภูมิภาค สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ถึงทิศทางการพัฒนาส่งเสริมตลาดสินค้าอินทรีย์ตามนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ว่า กระทรวงได้เริ่มดำเนินการส่งเสริมตลาดอินทรีย์มาตั้งแต่ปี 2550 โดยส่งเสริมข้าวอินทรีย์ในจังหวัดสุรินทร์ อำนาจเจริญ และยโสธร เพราะเห็นว่าเป็นสินค้าที่มีศักยภาพ และสามารถทำตลาดต่างประเทศได้จึงได้ร่วมมือกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และกรมการค้าต่างประเทศ ในการสำรวจพื้นที่เกษตรอินทรีย์ และจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลการตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ขึ้น หลังจากพบว่าแนวโน้มการค้าเกษตรอินทรีย์ของโลกมีการเติบโตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องตามกระแสตื่นตัวเรื่องสุขภาพอนามัย ส่งผลให้เกิดการขยายตัวอย่างก้าวกระโดด
"กระทรวงเล็งเห็นถึงความสำคัญและความต้องการบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์ หรือสินค้าปลอดสารพิษ จึงได้มีการส่งเสริม จัดอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรและผู้ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ เพื่อพัฒนาให้สินค้าและผู้ประกอบการอินทรีย์ไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางเกษตรอินทรีย์ของอาเซียนในปี 2558"

ทั้งนี้ปัญหาหลักของไทยคือ ยังมีพื้นที่ปลูกเกษตรอินทรีย์น้อยมากเมื่อเทียบกับพื้นที่เกษตรอินทรีย์ทั่วโลก ที่มีถึง 231 ล้านไร่ ในขณะที่ไทยมีพื้นที่เกษตรอินทรีย์เพียง 2 แสนไร่เท่านั้นซึ่งถือว่าน้อยมาก โดยมีเกษตรกรที่ปลูกพืชเกษตรอินทรีย์เพียง 7.4 พันราย มูลค่าส่งออกในปีที่ผ่านมาประมาณ 135 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(ราว 4.05 พันล้านบาท) จากมูลค่าตลาดรวมของโลก 6.28 หมื่นล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1.8 ล้านล้านบาทต่อปี หากเทียบกับออสเตรเลีย มีมากที่สุดถึง 75 ล้านไร่ รองลงมา อาร์เจนตินา 26 ล้านไร่ และสหรัฐอเมริกา 11 ล้านไร่

สาเหตุที่พื้นที่ปลูกพืชเกษตรอินทรีย์ หรือออร์แกนิกของไทยยังมีน้อย ส่วนหนึ่งมาจากกระบวนการในการผลิต และการรับรองจากหน่วยงานรัฐที่เข้มงวด ทำให้เกษตรกรเห็นว่าขั้นตอนยุ่งยาก จึงไม่ค่อยหันมาสนใจทำเกษตรอินทรีย์มากนัก อีกทั้งผลผลิตที่ได้อาจลดลงในช่วงแรกของการทำเกษตรอินทรีย์เพราะต้องปรับพื้นที่ปลูกใหม่ทั้งหมด ซึ่งจากนี้ไปหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์ให้มากขึ้น

"ตลาดส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่สำคัญของไทยในปัจจุบันได้แก่ สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา กลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย และสิงคโปร์ โดยสินค้าส่วนใหญ่จะเป็นข้าวกล้องบรรจุกระป๋อง ผลไม้แปรรูป น้ำมะพร้าว และมะพร้าวแปรรูปต่างๆ เช่น เนื้อมะพร้าว กะทิ ข้าวโพดฝักอ่อน หน่อไม้ฝรั่ง เครื่องเทศ ชา กาแฟ ผลไม้แช่แข็ง เป็นต้น โดยมีโครงการเกษตรอินทรีย์แห่งชาติเป็นตัวขับเคลื่อน โดยภาคเอกชนก็มีสมาคมเกษตรอินทรีย์ไทยที่มีสมาชิกอยู่กว่า 20-30 รายส่วนใหญ่ เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่"

อย่างไรก็ดีอุปสรรคในการพัฒนาตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทยคือ การผลิตในประเทศที่ไม่หลากหลาย เกษตรกร ผู้ประกอบการ ผู้บริโภคขาดความรู้ความเข้าใจ ไม่มีกฎหมายเฉพาะบังคับ การมีตรารับรองหลายแบบทำให้ผู้บริโภคสับสน และมาตรฐานของประเทศ(ออร์แกนิก ไทยแลนด์) ยังไม่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ส่วนแผนการส่งเสริมตลาดอินทรีย์ในปีนี้ คือการเร่งพัฒนาตลาดทั้งในและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตลาดในทุกภูมิภาค การเชื่อมโยงตลาดอาเซียน และเน้นการเข้าสู่ตลาดหลัก การพัฒนาผู้ประกอบการ เช่นการจัดอบรมศึกษาดูงานทั้งในและต่างประเทศ การพัฒนาสินค้า

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 13 มีนาคม 2556

จี้สหรัฐปลดอ้อยจากบัญชีสินค้า รง.น้ำตาลยันไม่ใช้แรงงานเด็ก

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลซึ่งใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบ ได้หารือกันถึงกรณีที่กระทรวงแรงงานสหรัฐ ได้ประกาศบัญชีรายชื่อสินค้าของไทย ที่มีการใช้แรงงานเด็กในการผลิต จำนวน 5 รายการ ประกอบด้วย กุ้ง เครื่องนุ่งห่ม อ้อย สื่อลามก และปลา ทั้งๆ ที่ทางการไทยได้พยายามชี้แจงมาโดยตลอดว่า เป็นความเข้าใจผิดของผู้จัดทำบัญชีรายชื่อดังกล่าว โดยในเรื่องของอ้อยนั้น สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ในฐานะที่กำกับดูแลอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทย ก็ได้ทำหนังสือชี้แจงผ่านกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ไปแล้วเช่นกัน

“ทางเรายืนยันมาตลอดว่า ไม่มีการใช้แรงงานเด็กหรือบังคับใช้แรงงานเด็กในกลุ่มอ้อยตามที่มีการกล่าวอ้าง เราอาจจะพบเห็นเด็กที่เข้าไปอยู่ในไร่อ้อยบ้าง แต่ก็เป็นเรื่องปกติของวิถีชีวิตเกษตรกร ที่เด็กๆ จะตามผู้ปกครองเข้าไปในไร่ นี่คือสังคมไทย ครอบครัวคนไทย ที่ใช้ชีวิตครอบครัวแบบอบอุ่น เมื่อพ่อแม่ไปทำงาน จะปล่อยลูกหลานไว้โดยลำพังได้อย่างไร แต่ไม่ได้มีลักษณะของแรงงานรับจ้างหรือบังคับการใช้แรงงานเด็ก” นายสิริวุทธิ์ กล่าว

นายสิริวุทธิ์ กล่าวว่า สมาคมฯ พร้อมให้ความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ซึ่งรับเป็นผู้ประสานการดำเนินงาน เพื่อให้อ้อยหลุดจากบัญชีรายชื่อที่ใช้แรงงานเด็ก ทั้งการให้ข้อมูลและข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ รวมไปถึงการขอความร่วมมือไปยังฝ่ายไร่ของโรงงานต่างๆ ให้ช่วยกันดูแลเรื่องนี้ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและความเข้าใจที่ถูกต้องต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยที่เป็นผู้ส่งออกอันดับ 2 ของโลก

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 13 มีนาคม 2556

กระทรวงพาณิชย์ ยืนยัน เงินบาทแข็งค่าไม่ส่งผลต่อภาพรวมการส่งออกทั้งปี มั่นใจขยายตัวได้ร้อยละ 8-9 ตามเป้าหมาย

กระทรวงพาณิชย์ ยืนยัน เงินบาทแข็งค่าไม่ส่งผลต่อภาพรวมการส่งออกทั้งปี มั่นใจขยายตัวได้ร้อยละ 8-9 ตามเป้าหมาย
นายณัฐวุฒื ไสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผย ภายหลังเป็นประธานเปิดงาน งานแสดงสินค้าเฟอร์นิเจอร์ 2556 Thailand international Furniture Fair 2013 หรือ TIFf 2013 ว่า การส่งออกเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนปีนี้ ปรับตัวดีขึ้นหลังจากประเทศไทยประสบปัญหาน้ำท่วมและวิกฤตเศรษฐกิจในยุโรปและสหรัฐ ทำให้การส่งออกเฟอร์นิเจอร์ปีที่ผ่านมาชะลอตัว คาดว่าปีนี้จะส่งออกได้ 1,125 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณร้อยละ 5 ซึ่งการส่งออกเฟอร์นิเจอร์ที่มีสัดส่วนเกือบร้อยละ 10 ของการส่งออกทั้งหมด จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การส่งออกรวมปีนี้ ขยายตัวได้ตามที่คาดการณ์ไว้อย่างแน่นอน ส่วนค่าเงินบาทกลับมาแข็งค่าอีกนั้น เชื่อว่า ยังไม่มีกระทบต่อการส่งออกในภาพรวมช่วงไตรมาสที่ 1 จึงยังคาดการณ์การการส่งออกทั้งปีไว้ที่เป้าหมายเดิมร้อยละ 8-9 แต่กระทวงพาณิชย์จะติดตามสถานการณ์การส่งออกช่วงไตรมาสที่ 2 ว่า จะได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นหรือไม่ หากมีผลต่อการส่งออกมากก็จะพิจารณาออกมาตรการมาดูแลผู้ส่งออกต่อไป

นายณัฐวุฒิ ยัง เชื่อว่า กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.จะดูแลปัญหาค่าเงินบาทได้อย่างมีเสถียรภาพ และจะไม่ส่งผลต่อการส่งออกและเศรษฐกิจโดยรวม

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 13 มีนาคม 2556

หอการค้าไทยแนะผู้ประกอบการใช้ 8 วิธี ร่วมมือลดการใช้ไฟฟ้ารับมือวิกฤตพลังงาน

“หอการค้าไทย” แนะผู้ประกอบการช่วยกันลดการไฟฟ้าในช่วงวิกฤต 5-14 เมษายนนี้ ด้วย 8 วิธีง่ายๆ ไม่ต้องลงทุนเพิ่ม ด้วยการเลื่อนเวลาการผลิต หลีกเลี่ยงการใช้ไฟฟ้าช่วงบ่ายและหัวค่ำ สลับวันทำงานแทนวันที่ 5 เมษายน ปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าเมื่อไม่ได้ใช้ ลดชั่วโมงการทำงานของอุปกรณ์ไฟฟ้าในที่ทำงาน ตั้งอุหภูมิเครื่องปรับอากาศสูงกว่า 25 องศา งดใส่สูทผูกเนกไท และวางแผนซ่อมบำรุงดูแลอุปกรณ์ตลอดเวลา

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานคณะกรรมการพลังงาน หอการค้าไทย เปิดเผยถึงมาตรการประหยัดไฟฟ้า จากสถานการณ์แหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติ ยานาดา ประเทศพม่า มีกำหนดการดำเนินการซ่อมบำรุงแท่นขุดเจาะประจำปี และหยุดส่งก๊าซในวันที่ 5-14 เมษายน 2556 จึงทำให้กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศไทยลดลง จนอาจถึงขั้นเกิดไฟฟ้าดับในบางพื้นที่ หรืออาจเกิดปัญหาไฟฟ้าตกได้ ในระหว่างเวลา 13.00-15.00 น.ว่า หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยในฐานะองค์กรหลักภาคเอกชน ซึ่งมีสมาชิกดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมโรงงาน โรงแรม โรงพยาบาล เป็นจำนวนมากทั่วประเทศ ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการร่วมมือกับภาครัฐ เพื่อลดการใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลาวิกฤตการณ์นี้ จึงเสนอมาตรการลดการใช้พลังงานไฟฟ้าให้สมาชิกถือปฏิบัติ 8 ข้อ

โดยทั้ง 8 ข้อ ได้แก่ 1. ก่อนจะถึงช่วงวิกฤตพลังงาน (ระหว่างวันที่ 5-14 เมษายน 2556) ผู้ประกอบการควรวางแผน โยกย้ายแผนการผลิตที่ต้องใช้ไฟฟ้ามาก ไปดำเนินการก่อนหรือหลังช่วงเวลาดังกล่าว 2. ในช่วงวิกฤตพลังงาน ควรพยายามหลีกเลี่ยงการใช้ไฟฟ้าระหว่างเวลา 13.00-15.00 น. และ 18.00-21.00 น. ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้เพราะเป็นช่วงเวลาที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าพร้อมกันมากทำให้เกิดความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุด (Peak Demand) ที่สูงมากจึงมีโอกาสที่ปริมาณไฟฟ้าสำรองจะไม่เพียงพอต่อความต้องการในช่วงเวลาดังกล่าว 3. สถานประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) หรืออาคารธุรกิจที่ไม่ได้มีความจำเป็นต้องดำเนินงานตลอด 24 ชั่วโมง หรือ มีความจำเป็นต้องเปิดทำการในวันศุกร์ที่ 5 เมษายน 2556 อาจพิจารณาให้เป็นวันหยุด โดยสลับวันทำงานกับวันจันทร์ที่ 8 เมษายน 2556 ซึ่งเป็นวันหยุดชดเชยวันจักรีแทน

4. อย่าเปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าทิ้งไว้โดยไม่เกิดประโยชน์ เช่น อย่าเปิดเครื่องปรับอากาศหรือไฟทิ้งไว้โดยไม่มีคนในห้อง เช่น ห้องอาหาร หรือห้องประชุมของโรงแรม อย่าปล่อยให้เครื่องจักรเดินเครื่องตัวเปล่า (Idle) เป็นเวลานานในช่วง Startup หรือก่อนเลิกงาน อย่าเปิดอุปกรณ์ต่างๆในสำนักงานด้วยความเคยชิน โดยมิได้มีความจำเป็นต้องเปิดใช้งาน 5. ลดชั่วโมงการทำงานของอุปกรณ์ไฟฟ้าในที่ทำงาน เช่น เปิดเครื่องปรับอากาศหลังเริ่มเวลาทำงาน 15 นาที และปิดเครื่องปรับอากาศ ก่อนถึงเวลาเลิกงาน 15 นาที ปิดเครื่องปรับอากาศและไฟฟ้าแสงสว่างช่วงพักเที่ยง ปิดจอภาพคอมพิวเตอร์ในระหว่างพักเที่ยง หรือไม่ใช้งานเกินกว่า 15 นาที ให้ปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ และถอดปลั๊กออกหลังใช้งาน อุปกรณ์ไฟฟ้าหลายประเภท อาจกินไฟหลังปิดเครื่องไปแล้วจึงควรถอดปลั๊กออกเมื่อไม่ใช้งาน

6.ตั้งอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศให้สูงกว่า 25 องศาเซลเซียส 7. ปรับเปลี่ยนการแต่งกายให้เข้ากับสถานการณ์โดยไม่ใส่เสื้อสูท หรือผูกเนกไทในที่ทำงาน 8. ควรวางแผนซ่อมบำรุง ดูแลรักษาอุปกรณ์เครื่องจักร ตลอดจนเครื่องปรับอากาศให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และช่วยลดอัตราสิ้นเปลืองไฟฟ้าลง

“มาตรการลดการใช้ไฟฟ้าในช่วงวิกฤตทั้ง 8 ข้อนี้ ไม่เพียงจะช่วยลดการใช้ไฟฟ้าในช่วงวิกฤตเท่านั้น หากแต่ภาคเอกชนยังจะได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าไปพร้อมๆ กัน เพื่อการแก้ไขวิกฤตพลังงานในอนาคต” นายสนั่นกล่าว

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 13 มีนาคม 2556

ชาวไร่'ขับเบนซ์'ขอเพิ่มค่าอ้อยรีดกองทุนโยนภาระหนี้ผู้บริโภค

หัวหน้าโควตานำม็อบชาวไร่อ้อยบุกทวงราคาส่วนเพิ่ม 250 บาท อ้างราคา 161 บาทต่ำกว่าต้นทุนความเป็นจริง เผยราคา 161 บาทต่อตันกำไรพอแล้ว เหตุค่าอ้อยเพิ่มโรงงานจ่ายชดเชยให้อยู่แล้ว เผยกระทรวงอุตสาหกรรมหวั่นปีหน้าราคาอ้อยแนวโน้มดิ่งลง ชาวไร่อ้อยจะเผชิญมรสุมของจริง หากกู้ปีนี้แล้ว ปีหน้ามีสิทธิ์เดี้ยง

นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังมีกลุ่มตัวแทนชาวไร่อ้อยทั่วประเทศประมาณ 500-600 คน เดินทางมาชุมนุมที่หน้าสำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อขอให้เพิ่มเงินค่าอ้อยเพิ่มเติมฤดูกาลการผลิตปี 2555/2556 ในอัตรา 250 บาทต่อตันอ้อย จากราคาอ้อยขั้นต้น 950 บาทต่อตันอ้อย ณ ระดับความหวาน 10 ซี.ซี.เอส. รวมแล้วจะเป็น 1,200 บาทต่อตันอ้อย

ขณะนี้รอผลการหารือของคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) พิจารณาใน 3 แนวทางที่จะช่วยเหลือชาวไร่อ้อย และกระทรวงอุตสาหกรรมจะนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไปในวันที่ 19 มีนาคม 2556 ได้แก่ 1) การเพิ่มค่าอ้อยจากค่าความหวาน 2) การเพิ่มค่าอ้อยโดยการพิจารณาถึงรายได้ของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ที่จะต้องชำระหนี้ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ให้ได้ภายใน 1 ปี โดยทั้ง 2 แนวทางใช้วงเงินกู้ไม่เกิน 15,000 ล้านบาท และ 3) แนวทางตามข้อเสนอของชาวไร่อ้อยที่เรียกร้องขอเพิ่มค่าอ้อย 250 บาทต่อตัน คำนวณแล้วจะใช้เงินกู้จาก ธ.ก.ส.ประมาณ 23,000 ล้านบาท

รายงานข่าวจากที่ประชุมระบุว่า แนวทางในการจ่ายส่วนเพิ่มมี 3 แนวทาง ได้แก่ 1) ถ้าเพิ่มค่าอ้อย 160 บาทต่อตัน จะต้องกู้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวนเงิน 15,758 ล้านบาท 2) ถ้าเพิ่มค่าอ้อย 159 บาทต่อตัน จะต้องนำรายได้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ที่ได้จากราคาน้ำตาลทราย 5 บาทต่อกิโลกรัม รวมกับเงินส่วนต่างภาษีมูลค่าเพิ่มและเงินรักษาเสถียรภาพประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อเดือน มาชำระหนี้ทั้งสิ้น 15,080 ล้านบาท และ 3) ถ้าเพิ่มค่าอ้อย 250 บาทต่อตัน จะต้องกู้ ธ.ก.ส.ทั้งสิ้น 23,600 ล้านบาท ซึ่งทางประธานการประชุมต้องเลื่อนการประชุม เนื่องจากชาวไร่อ้อยต้องการส่วนเพิ่ม 250 บาทต่อตัน ทำให้มีความกังวลว่าจะเป็นปัญหาในการชำระหนี้ที่จะไปทับซ้อนฤดูกาลใหม่ปี 2556/2557 ที่จะเริ่มในเดือน พ.ย.นี้ด้วย

แหล่งข่าวจากวงการน้ำตาล เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เป็นที่ทราบกันดีในวงการชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลดีว่า การเรียกร้องเงินเพิ่มค่าอ้อยนั้น เงินจำนวนนี้อาจจะไม่ได้ไปถึงเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัวจริง แต่คนที่ได้รับเงินจะเป็นหัวหน้าโควตาที่เป็นผู้เข้าไปกว้านซื้ออ้อย และเงินค่าอ้อยขั้นต้น 950 บาทต่อตันอ้อย บวกระดับความหวานของอ้อยในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ที่ประมาณ 11 ซี.ซี.เอส. เท่ากับบวกไปอีกประมาณ 100 บาท รวมเป็น 1,050 บาท ดังนั้น ถ้าบวกเงินเพิ่มอีก 250 บาท รวมเป็น 1,300 บาท แถมเมื่อคิดค่าเงินค่าอ้อยขั้นสุดท้ายเข้าไปจะได้เงินสูงกว่านี้ขึ้นไปอีก

"บางคนบอกว่า สาเหตุที่หัวหน้าโควตาต้องพยายามมาเรียกร้องเงินเพิ่ม เพราะ ปีนี้มีข่าวว่าในพื้นที่ภาคอีสานโดยเฉพาะในแถบจังหวัดเลย มีการเสนอราคาแย่งซื้ออ้อยกันถึง 1,300 บาท ทางหัวหน้าโควตาก็ไม่ได้ขาดทุนอะไร เพราะเงินที่เพิ่มขึ้นทางโรงงานน้ำตาลพร้อมจะจ่ายเงินให้อยู่แล้ว แถมเงินโบนัสเพิ่มให้อีก เมื่อหัวหน้าโควตาสามารถหาผลผลิตอ้อยจำนวนมากเข้ามาส่งให้โรงงานหีบได้ และเงินที่ใช้หนี้ให้ ธ.ก.ส. 5 บาท เป็นเงินที่ได้จากการขายน้ำตาลทราย เป็นเงินของผู้บริโภคซึ่งเป็นประชาชนทั่วไป ชาวไร่และโรงงานไม่ได้แบกรับภาระดังกล่าว" แหล่งข่าวกล่าวและว่า

ภาพรวมปีนี้ราคาอ้อยในตลาดโลกที่ 24-25 เซนต์ และมีการขายล่วงหน้าโดยอิงอัตราแลกเปลี่ยนที่ 31 บาทต่อดอลลาร์ ถือว่าไม่ได้ขาดทุนอะไรเพราะเป็นราคาโค้ดขายล่วงหน้ากันไปแล้ว แต่การขายน้ำตาลปีหน้าจะหนักกว่าเพราะทิศทางน้ำตาลขาลง คาดว่าราคาน้ำตาลจะประมาณ 18-19 เซนต์ ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนตอนนี้ประมาณ 29.70 บาทต่อดอลลาร์ เท่าที่ทราบทางกระทรวงอุตสาหกรรมเกรงว่าหากปีนี้กู้เงินไปใช้แล้วปีหน้าจะไม่มีเงินมาช่วย หากราคาน้ำตาลในตลาดโลกมีแนวโน้มที่จะลดลง ดังนั้น การเพิ่มค่าอ้อยที่ราคา 161 บาทจึงน่าจะเพียงพอแล้ว

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2556

กนง.จับตาเงินบาทแข็งโป๊กเร็ว-แรง "ทนง"แนะแบงก์ชาติเพิ่มยาสกัดฟองสบู่อสังหา

นายทนง พิทยะ อดีตรมว.คลัง กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง "ทิศทางตลาดหุ้นไทย 2556 : อิ่มตัวหรือไปต่อ" จัดโดยธนาคารซีไอเอ็มบีไทย และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล จำกัด ที่โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ ว่าตลาดหุ้นไทยยังมีทิศทางที่สามารถปรับตัวต่อเนื่องได้ และยังไม่พบสัญญาณฟองสบู่ เพราะนักลงทุนยังคงเชื่อมั่นในผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน (บจ.) และเมื่อดูยอดซื้อสุทธิของต่างชาติที่มีประมาณ 2,000 ล้านบาทต่อวัน ไม่ถือว่าผิดปกติ เป็นเพียงการกระจายความเสี่ยงเท่านั้น ขณะที่รัฐบาลมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ หากดำเนินการได้จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยคาดปีนี้เศรษฐกิจไทยน่าจะโตได้ไม่ต่ำกว่า 5%

"ในระยะยาวภาวะฟองสบู่ภาคอสังหาริมทรัพย์จะกลายเป็นความเสี่ยงของไทย เพราะมีนักลงทุนทั้งจากจีน มาเลเซีย และสิงคโปร์เข้ามากว้านซื้อที่ดินในไทยจำนวนมาก เพราะราคาต่ำกว่าหลายประเทศ อาทิ ต่ำกว่าที่ดินสิงคโปร์มากกว่า 10 เท่า และในจำนวนนี้มีการเข้าผสมโรงปั่นราคา ส่งผลให้ที่ดินมีราคาสูงเกินจริง ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ควรใช้มาตรการเพิ่มเงินสำรองการปล่อยสินเชื่อภาคอสังหาริมทรัพย์จาก 8.5% เป็น 15-20% ของสินเชื่อ เพื่อป้องกันฟองสบู่และชะลอการเกิดเงินเฟ้อ"นายทนงกล่าว

นายณรงค์ชัย อัครเศรณี กรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า ราคาหุ้นบางตัวที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าในขณะนี้ สูงขึ้นเกินเหตุ ส่วนอสังหาริมทรัพย์ขณะนี้มีสัญญาณฟองสบู่ และสิ่งที่ต้องดำเนินการคือใช้มาตรการทางการเงินเข้ามากำกับดูแลเพื่อไม่ให้มีการเข้าเก็งกำไร ส่วนเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นถือว่ายังอยู่ในระดับที่แข่งขันได้ แต่ยอมรับว่าการเคลื่อนไหวของเงินบาทเมื่อวันที่ 12 มี.ค. ที่ผ่านมา แข็งค่าขึ้นเร็วมากเกินไปมาอยู่ที่ระดับ 29.57 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จนธปท.ต้องรายงานสถานการณ์ให้กับกนง.ทุกคนรับทราบ

"ขณะนี้ ธปท.ได้เฝ้าติดตามสถานการณ์ราคาหุ้น การซื้อขายตราสารหนี้ และอสังหาริมทรัพย์อย่างใกล้ชิด หากเงินบาทยังคงแข็งค่าขึ้นเร็วต่อเนื่องอีก จนแตะเพดาน ค่าเงินบาทอาจต้องเรียกประชุมกนง.ด่วน แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าเพดานค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจนต้องเรียกประชุมนั้นอยู่ระดับใด"นายณรงค์ชัยกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 12 มี.ค. ตลาดหุ้นไทยปิดตลาดที่ 1,576.68 จุด ลดลง 0.97 จุด ลบ 0.06% มูลค่าการซื้อขายหนาแน่นถึง 86,277.65 ล้านบาท โดยมีแรงซื้อเข้ามาจากนักลงทุนต่างประเทศ 1,315.85 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันซื้อ 570.36 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนรายย่อยขาย 1,231.69 ล้านบาท บัญชีหลักทรัพย์ ขาย 654.52 ล้านบาท

จาก http://www.khaosod.co.th  วันที่ 13 มีนาคม 2556

ผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่หนุนเลื่อนเออีซี‘เกษตร-ก่อสร้าง’ไม่พร้อมแข่ง

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงความพร้อมและความเข้าใจของภาคการผลิตและภาคบริการไทยต่อการแข่งขัน ในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ปี 2558 ว่า จากการสำรวจ 1,500 ตัวอย่าง ใน 13 ประเภทธุรกิจ พบว่า ผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดใหญ่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเออีซีมาก โดยเพิ่มขึ้นจาก 24.7% ในปี 2553 พอมาปี 2554 เพิ่มเป็น 87.7% และปี 2555 เพิ่มเป็น 97.78%

ขณะที่ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) แม้จะมีสัดส่วนผู้มีความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้น จาก 20.5% ในปี 2553 เพิ่มเป็น 42.5% ในปี 2554 และในปี 2555 เพิ่มเป็น 43.8% ซึ่งเพิ่มขึ้นเพียง 1% เนื่องจากอยู่ในจังหวัดเล็กๆ ที่ขาดการเข้าถึงข้อมูล ดังนั้น ต้องเร่งเสริมสร้างความเข้าใจแก่เอสเอ็มอี ส่วนกลุ่มผู้ประกอบการที่ไม่เข้าใจเออีซีมากที่สุด คือ ภาคเกษตรกรรม คือ 80% รองลงมา คือ ภาคอุตสาหกรรม 52.8% โดยธุรกิจที่ไม่เข้าใจมากที่สุด คือ อุตสาหกรรมก่อสร้างมีสัดส่วนที่ไม่เข้าใจสูงถึง 94.74% รองลงมาคือ กลุ่มปศุสัตว์ 93.75% เป็นต้น ส่วนสาเหตุที่ทำให้ไม่เข้าใจเออีซี เนื่องจากการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารยังน้อยและไม่ทั่วถึงโดยเฉพาะเอสเอ็มอีในต่างจังหวัดโดยเฉพาะจังหวัดเล็กๆ ซึ่งมีสัดส่วนมากถึงประมาณ 61.19% รองลงมา 28.36% เพราะยังไม่มีหน่วยงานใดมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับเออีซีที่ชัดเจน

สำหรับแนวทางการช่วยเหลือที่ต้องการ คือ ควรเผยแพร่ข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับเออีซีผ่านสื่อในทุกๆ ช่องทางให้หลากหลายและบ่อยมากขึ้น โดยเฉพาะสื่อวิทยุและโทรทัศน์ และไม่เป็นวิชาการมากเกินไป พร้อมกันนี้ต้องมีการจัดอบรมสัมมนา และหน่วยงานที่ให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัด ส่วนประเด็นเออีซีที่ผู้ประกอบการต้องการข้อมูลเพิ่มเติมมากที่สุด คือ เรื่องมาตรฐานสินค้าร่วมของอาเซียน รองลงมาเป็นการเปิดเสรีด้านการลงทุนและการเคลื่อนย้ายฝีมือแรงงาน

ด้านความพร้อมของภาคการผลิตและภาคบริการกับการแข่งขันในเออีซี พบว่า ในปี 2555 เอสเอ็มอีมากกว่า 50%ยังไม่มีความพร้อมในการแข่งขัน ส่วนผู้ประกอบการขนาดใหญ่มีความพร้อมแล้วที่จะเข้าสู่เออีซี ถึง 94.7% อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาความพร้อมของธุรกิจ แยกตามกิจกรรมการผลิตและบริการต่างๆ พบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังไม่มีความพร้อมในการแข่งขันภายใต้เออีซีส่วนที่พร้อมแข่งขันได้แก่ ธุรกิจบริการสื่อสารและโทรคมนาคม ธุรกิจการเงิน ธุรกิจภัตตาคารและโรงแรมรวมถึงธุรกิจขนส่ง

สำหรับความเห็นต่อการเลื่อนการเปิดเออีซี จากวันที่ 1มกราคม 2558 เป็นสิ้นปี 2558 พบว่า ผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และเอสเอ็มอี 95.56% เห็นด้วย และสิ่งที่รัฐบาลควรเร่งดำเนินการได้แก่ ส่งเสริมพัฒนาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเออีซี นอกจากนี้ควรสนับสนุนการพัฒนาด้านภาษาทั้งภาษาอังกฤษและภาษาประเทศเพื่อนบ้าน ขณะเดียวกันควรพัฒนาทักษะและฝีมือแรงงานสร้างความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจและสังคมให้แก่นักลงทุนต่างชาติ สนับสนุนเงินทุนและการเข้าถึงเงินทุน โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี ลดความขัดแย้งทางการเมืองและสังคม เป็นต้น

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 13 มีนาคม 2556

หนุนเงินกู้เกษตรกรเขตปฏิรูป สปก.ดันสร้างมาตรฐานสู่GAP

ดร.วีระชัย นาควิบูลย์วงศ์ เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เปิดเผยถึงผลการรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ว่า โดยทั่วไปคนมักจะมองว่า เออีซี จะมีผลกระทบต่อภาคการส่งออกเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงผลผลิตที่จำหน่ายในประเทศยังได้รับผลกระทบ ตัวอย่าง เช่น น้ำมันปาล์มของมาเลเซียมีราคาถูกกว่า ส่วนผลผลิตปาล์มน้ำมันในประเทศไทยมีราคาสูงกว่า ใครจะไปรับซื้อผลผลิต

ส่วนกรณีสินค้าเกษตร มีการพูดถึง มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี : Good Agricultural Practice (GAP) ซึ่งเป็นมาตรฐานกลางสำหรับสินค้าที่จะซื้อขายกันในกลุ่มเออีซี โดยในช่วงสองปีที่ผ่านมา สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ได้ดำเนินการผลักดันให้เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน ปรับปรุงระบบการผลิตเพื่อให้ได้มาตรฐาน GAP โดยมีศูนย์ตรวจสอบและรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดิน(ศรม.) เป็นผู้กำกับดูแล ที่ผ่านมา ผลการดำเนินงานมีความก้าวหน้าประสบผลสำเร็จในระดับหนึ่ง มีการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตไปสู่มาตรฐาน GAP ซึ่งมีงบประมาณค่าใช้จ่ายในกระบวนการผลิต เกษตรกรรายย่อยที่อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินบางครั้งขาดเงินทุนหมุนเวียน ในส่วนของ ส.ป.ก. ได้สนับสนุนเงินกู้ยืมจากกองทุนปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กอปรกับเจ้าหน้าที่ของ ส.ป.ก. ขาดทักษะความเชี่ยวชาญในการวิเคราะห์ การปล่อยเงินกู้หรือสินเชื่อ ซึ่งไม่ทราบว่าจะได้เงินกู้คืนหรือไม่ สถาบันการเงินจึงไม่กล้าปล่อยเงินกู้ยืมหรือสินเชื่อให้กับเกษตรกร

ส.ป.ก. จึงได้รับความร่วมมือจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) สนับสนุนการกู้ยืมเงินให้กับเกษตรกรที่ต้องการสินเชื่อทั้งระยะสั้นและระยะยาว ส่วนการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตเป็น GAP หรือเกษตรกรที่ต้องการขยายธุรกิจ การให้เกษตรกรติดต่อกับ ธ.ก.ส. โดยตรง นอกจากจะเป็นแหล่งสินเชื่อไว้ใช้ในยามจำเป็นแล้ว ยังเป็นโอกาสที่ดีในการฝึกฝนให้เกษตรกรได้เรียนรู้เกี่ยวกับการเขียนแผนธุรกิจหรือโครงการเพื่อขอสินเชื่อ เรียนรู้การจัดการธุรกิจอย่างจริงจัง ซึ่งเป็นแนวทางนำไปสู่ เกษตรกรมืออาชีพยุคเออีซี ในอนาคต

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 13 มีนาคม 2556

กรมกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เดินหน้าขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การส่งออก-นำเข้า พร้อมบูรณาการงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กรมกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เดินหน้าขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การส่งออก-นำเข้า พร้อมบูรณาการงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผลักดันยอดส่งออกโตตามเป้าหมายร้อยละ 8 - 9

นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ในโอกาสครบรอบปีที่ 61 กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ภารกิจที่เพิ่มขึ้นภายหลังจากกรมฯ ได้เปลี่ยนชื่อ เพื่อให้สอดรับกับเศรษฐกิจโลกที่ปรับเปลี่ยนภายใต้ยุทธศาสตร์ของรัฐบาล ที่เน้นการส่งเสริมการค้า 2 ทาง คือ การส่งเสริมการส่งออกสินค้าบริการและสร้างเครือข่ายการนำเข้าวัตถุดิบ เทคโนโลยี และแรงงานฝีมือ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และสร้างเสถียรภาพทางการค้าระหว่างประเทศให้ไทยสามารถผลักดันการส่งออกให้ขยายตัวได้น้อยละ 8 - 9 หรือมีมูลค่าการค้าประมาณ 247,881 - 250,176 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายใต้สมมติฐานค่าเงินบาทเฉลี่ยที่ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐจากปี 2555 ที่มียอดการส่งออกขยายตัวร้อยละ 3.12 หรือ 229,519 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยจะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐภาคเอกชนบูรณาการร่วมกันให้สามารถดำเนินการให้บรรลุตามเป้าหมาย

อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่มีผลต่อการค้าการส่งออกสินค้าบริการของไทย ยังต้องขึ้นอยู่กับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าแต่ละประเทศด้วย ทั้งนี้ในภาพรวมปี 2556 กรมฯ จะเน้นช่วยผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) ที่สามารถพัฒนาตัวเองไปสู่ต่างประเทศได้ โดยเน้นระดับกลาง (เอ็ม) และเล็ก (เอส) และให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ (แอล) เป็นผู้นำบุกเจาะตลาด

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2556

หอการค้าเผยภาคการผลิตไทย 95% เห็นควรเลื่อนเปิด AEC

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงผลสำรวจความพร้อมและความเข้าใจของภาคการผลิตและบริการไทยต่อการแข่งขันในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี ในปี 2558 พบว่าร้อยละ 50 ยังไม่มีความพร้อมในการแข่งขันในการเปิดเออีซี และส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 95.56 เห็นด้วยที่จะเลื่อนการเปิดเออีซีจากวันที่ 1 มกราคม 2558 ไปเป็นสิ้นปี 2558

ด้านความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเออีซี พบว่า ผู้ประกอบการรายใหญ่มีความรู้ความเข้าใจมากถึงร้อยละ 97.78 แต่เอสเอ็มอีมีเพียงร้อยละ 43.8 เท่านั้น

นอกจากนี้ กลุ่มที่ไม่เข้าใจเออีซีมากที่สุด คือ ภาคเกษตรกรรม ถึงร้อยละ 80 รองลงมาคือ ธุรกิจก่อสร้าง มีสัดส่วนที่ไม่เข้าใจสูงถึงร้อยละ 94.74 และกลุ่มปศุสัตว์ ร้อยละ 93.75 โดยเฉพาะในจังหวัดเล็กๆ ซึ่งยังไม่มีหน่วยงานใดมาให้ความรู้ จึงควรเผยแพร่ข้อมูลและความรู้ผ่านสื่อในทุกๆ ช่องทาง ให้หลากหลายและบ่อยมากขึ้นด้วย

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2556

กอน.เคาะเงินเพิ่มค่าอ้อย 160บาท/ตันอ้อย-รับข้อเสนอให้เงินช่วยอีกส่วน

กอน.เคาะเงินเพิ่มค่าอ้อย 160 บาท เตรียมชงครม.สัปดาห์นี้ หวังพิจารณาทันประชุมนัดต่อไป รับข้อเสนอชาวไร่ขอเงินช่วยเหลือชดเชยผลกระทบภัยแล้งเพิ่มอีกส่วน

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย หรือ กอน. ว่า ที่ประชุมเห็นชอบจ่ายเงินเพิ่มค่าอ้อยฤดูกาลผลิต 2555/2556 ที่ 160.89 บาท/ ตันอ้อย ถือว่าเป็นราคาอ้อยที่คุ้มต้นทุนที่ตันอ้อยละ 1,196.3 บาท และมอบหมายให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายทำแผนการกู้เงินกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) คาดว่าจะต้องกู้เงินประมาณ 15,000 ล้านบาท เพื่อจ่ายค่าอ้อยให้ชาวไร่ที่คาดว่าผลผลิตอ้อยอยู่ที่ 94 ล้านตัน ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)ให้ทันเข้าที่ประชุมนัดต่อไป

สำหรับข้อเสนอของชาวไร่อ้อยที่ขอให้จ่ายเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมที่ถือว่าเป็นกำไรและชดเชยผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งโดยชาวไร่ให้เหตุผลว่าฤดูกาลนี้ผลผลิตไม่ดี จึงต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างให้ชาวไร่อ้อยส่งข้อเสนอที่เป็นเหตุเป็นผลเพื่อให้กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ ครม.พิจารณา และถ้า ครม.เห็นชอบก็อาจให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายจัดหาเงินมาจ่ายให้ชาวไร่อ้อย ซึ่งชาวไร่อ้อยต้องการให้เงินช่วยเหลือส่วนนี้เพื่อให้รวมกับเงินเพิ่มค่าอ้อยที่ 250 บาท ต่อ ตันอ้อย

“ปัจจุบันกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายมีภาระหนี้จากการกู้เงินมาจ่ายเงินเพิ่มค่าอ้อยฤดูกาลผลิต 2554/2555 ที่ 87 ล้านบาท และจะชำระหมดภายในเดือน มี.ค.นี้ แต่ถ้ามีการจ่ายเงินช่วยเหลือเพื่อให้ชาวไร่อ้อยได้เงินเพิ่มรวม 250 บาท ต่อตันอ้อย อาจมีผลต่อการกู้เงินในอนาคตหากต้องกู้เพื่อจ่ายค่าอ้อยในฤดูกาลผลิต 2556/2557 ทั้งนี้ สิ่งที่เสนอไปต้องผ่านความเห็นชอบจาก ครม.โดยครม.จะต้องถามความเห็นจาก 4 หน่วยงานหลัก คือ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสภาพัฒน์ฯ”

นายอาทิตย์ วุฒิคะโร รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวว่า กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายมีรายได้จากการเก็บเงินขายปลีกน้ำตาล 5 บาท/ กิโลกรัม รวมทั้งปีที่ 12,000 ล้านบาท รายได้จากส่วนแบ่งภาษีมูลค่าเพิ่ม 1,820 ล้านบาท และค่ารักษาเสถียรภาพอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย 850 ล้านบาท รวมทั้งจะมีรายได้ 14,670 ล้านบาท/ปี โดยถ้าต้องจ่ายเงินเพิ่มค่าอ้อยและเงินช่วยเหลือชาวไร่รวม 250 บาท จะทำให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายต้องกู้ ธ.ก.ส.ประมาณ 23,000 ล้านบาท

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2556

ครม.ไฟเขียว ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายตันละ 1074.54 บาท

วันที่ 12 มี.ค.56 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังเสร็จการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่าคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ กำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้ายในฤดูการผลิตปี 2554/2555 เฉลี่ยทั่วประเทศในอัตราตันอ้อยละ 1074.54 บาท ณ ระดับความหวาน 10 ซี.ซี.เอส และกำหนดอัตราขึ้น/ลงราคาอ้อยไว้ที่ 64.47 บาท ต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส ต่อเมตริกตัน ผลตอบแทนการผลิตและการจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้ายเท่ากับ 460.52 บาทต่อตันอ้อย ซึ่งเป็นไปตามที่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล (กอน.) กระทรวงอุตสาหกรรม เสนอไป

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2556

2กูรูย้ำไร้วิกฤตไฟฟ้าจี้ปลดล็อกพลังงานหมุนเวียน

หลังจากกระทรวงพลังงานยืนยันแล้วว่าต้นเดือนเม.ย.นี้ จะไม่เกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าตกหรือดับ แต่ก็ยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้นเรื่อยๆว่า เรื่องนี้ถูกทำให้เป็นประเด็นจนประชาชนแตกตื่นเกินจริง

ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีต รมว.พลังงาน กล่าวในงานเสวนาพิเศษ "วิกฤตพลังงาน เรื่องจริงหรืออิงมายา" จัดโดยศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ) ว่า ไม่มีทางที่จะเกิดปัญหาไฟดับกับประเทศไทย แต่เห็นด้วยที่รัฐบาลจะหาแหล่งพลังงานใหม่ๆ และหลากหลาย จากปัจจุบันที่พึ่งพาก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้ามากเกินไป

ทั้งนี้ การจะสร้างความยั่งยืนให้กับพลังงานของประเทศจะต้องเพิ่มบทบาทให้กับพลังงานหมุนเวียนโดยการลดอุปสรรคจากหน่วยงานกำกับต่างๆ ที่ปัจจุบันการขออนุญาตที่ยุ่งยาก จนทำให้มีผู้ประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตกค้างอยู่ราว600 ราย รวมกำลังการผลิต 4,000 เมกะวัตต์ โดยเฉพาะจากผู้ผลิตรายเล็กและเล็กมาก หากระบบไม่เป็นอุปสรรคจะทำให้มีไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเข้าสู่ระบบได้ถึง 1,000 เมกะวัตต์ในปีนี้

ทางแก้ไขปัญหาคือควรยุบสองกรรมการชุด คือคณะกรรมการบริหารมาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน กระทรวงพลังงาน ที่ออกระเบียบจำกัดรับซื้อไฟฟ้าแบบมีโควตา

และคณะกรรมการกลั่นกรองการพิจารณาอนุญาตโรงงานบางประเภทที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ตั้งโดยกระทรวงอุตสาหกรรม ที่กำหนดว่าการผลิตไฟฟ้าเกิน 5 แรงม้าจะต้องมีการขอใบอนุญาตโรงงาน (รง.4) เกณฑ์ของคณะกรรมการทั้งสองชุดนี้เอื้อให้เกิดการวิ่งเต้นและไม่โปร่งใส

ชื่นชมสง่าราศี กรีเซน ผู้เชี่ยวชาญด้านไฟฟ้าและพลังงาน กล่าวว่า ไม่มีทางเกิดวิกฤตไฟฟ้าตกหรือดับได้ เพราะกำลังการผลิตไฟฟ้าในประเทศมีเพียงพอและมีการแจ้งปิดซ่อมล่วงหน้าเป็นปี

นอกจากนี้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(เรกูเลเตอร์) ควรตรวจสอบสัญญาการรับซื้อก๊าซจากพม่าของ ปตท. มากกว่านี้ เพราะตามสัญญาหากมีการปิดซ่อมโดยรู้ล่วงหน้าจะต้องมีการส่งก๊าซให้ไทย 50%ของปริมาณจัดส่งตามสัญญา หรือหากไม่สามารถส่งก๊าซได้ก็ควรลดราคา 25% เพื่อไม่ให้ภาระตกอยู่กับประชาชนทั้งหมด

"เรื่องที่เกิดขึ้นไม่ใช่วิกฤตพลังงานไม่พอแต่คือวิกฤตธรรมาภิบาลที่ทำให้เกิดการสมยอมกันทั้งระบบ"
ส่วนการเปิดประมูลรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตเอกชนรายใหญ่ (IPP) รัฐควรชะลอการเปิดประมูลในปีนี้ออกไปเนื่องจากมีเวลาก่อสร้างหลายปีเพื่อรอการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) ในการหาเชื้อเพลิงและสถานที่ที่เหมาะสมให้เสร็จก่อน เป็นการเปิดทางเลือกเชื้อเพลิงอื่นๆโดยเฉพาะจากพลังงานหมุนเวียนให้เต็มที่ ก่อนจะมองถ่านหินเป็นลำดับสุดท้าย

ด้าน ประเสริฐ บุญชัยสุข รมว.อุตสาหกรรม ยืนยันว่า คณะกรรมการกลั่นกรองฯ ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการเกิดโรงงานพลังงานหมุนเวียน และได้สั่งให้มีการพิจารณาเร็วและโปร่งใสที่สุด เพราะเข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นยุทธศาสตร์ของประเทศในการสร้างความมั่นคงพลังงาน

จาก http://www.posttoday.com วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2556

'ประเสริฐ'ชงครม.3แนวเพิ่มค่าอ้อยม็อบบุกก.อุตฯยัวะได้แค่160บ./ตัน

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา กลุ่มตัวแทนชาวไร่อ้อยทั่วประเทศ ประมาณ 500-600 คน ชุมนุมบริเวณหน้าสำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อขอให้เพิ่มเงินค่าอ้อยขั้นต้นฤดูกาลผลิตปี 55/56 ในอัตรา 250 บาทต่อตันอ้อย จากราคาอ้อยปัจจุบันอยู่ที่ 950 บาทต่อตันอ้อย ระดับความหวาน 10 ซี.ซี.เอส รวมแล้วจะเป็น 1,200 บาทต่อตันอ้อย เนื่องจากราคาที่รับซื้อที่ประกาศไว้เป็นอัตราที่ต่ำ ไม่สอดคล้องกับต้นทุนการผลิตของชาวไร่อ้อย ที่ปรับตัวสูงขึ้นทั้งเรื่องของค่าปุ๋ย ค่าขนส่ง ราคาน้ำมัน และค่าแรงขั้นต่ำ

นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมจะเสนอแนวทางช่วยเหลือชาวไร่อ้อยให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติในวันที่ 19 มีนาคม 2556 เพราะไม่สามารถเสนอแนวทางได้ทันในวันที่ 12 มีนาคม เนื่องจากต้องมีกระบวนการเรียบเรียงเอกสารต่าง ๆ อีกจำนวนมาก ทั้งนี้ มีอยู่ 3 แนวทางที่จะเข้าไปช่วยเหลือ ประกอบด้วย 1.การเพิ่มค่าอ้อยจากค่าความหวาน 2.การเพิ่มค่าอ้อยโดยการพิจารณาถึงรายได้ของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายที่จะต้องชำระหนี้ให้แก่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้ภายใน 1 ปี ซึ่งทั้ง 2 แนวทางใช้เงินกู้แนวทางละไม่เกิน 15,000 ล้านบาท และ 3.เห็นชอบตามที่ชาวไร่อ้อยเรียกร้องในการเพิ่มค่าอ้อย 250 บาทต่อตัน ซึ่งจะใช้เงินกู้จาก ธ.ก.ส. 23,000 ล้านบาท

"แนวทางที่ 1 และแนวทางที่ 2 จะเป็นการช่วยเหลือให้เพิ่มเงินค่าอ้อยในระดับที่ต่ำกว่าแนวทางที่ 3 ซึ่งเชื่อว่าคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) คงจะได้สรุปแนวทางการช่วยเหลือโดยเร็ว เพื่อที่จะได้นำเสนอให้ที่ประชุม ครม.พิจารณาอนุมัติต่อไป" นายประเสริฐกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาราคาค่าเพิ่มอ้อย โดยมีนายอาทิตย์ วุฒิคะโร รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน เบื้องต้นคณะกรรมการได้พิจารณาเพิ่มค่าอ้อยราว 160 บาทต่อตันเพื่อเสนอ กอน.พิจารณาทำให้ชาวไร่ไม่พอใจ

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 12 มีนาคม 2556

ม็อบไร่อ้อยฮือบุกล้อม'ปลัดอุตฯ'

เมื่อเวลา 07.00 น. วันที่ 11 มี.ค. กลุ่มตัวแทนชาวไร่อ้อยทั่วประเทศ ประมาณ 600 คน มาชุมนุมที่หน้าสำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อขอให้เพิ่มเงินค่าอ้อยขั้นต้นฤดูกาลผลิตปี 2555/2556 อีกในอัตรา 250 บาทต่อตันอ้อย จากราคาอ้อยปัจจุบันอยู่ที่ 950 บาทต่อตันอ้อย ระดับความหวาน 10 ซี.ซี.เอส รวมแล้วจะเป็น 1,200 บาทต่อตันอ้อย เนื่องจากราคาที่รับซื้อที่ประกาศไว้เป็นอัตราที่ต่ำ ไม่สอดคล้องกับต้นทุนการผลิตของชาวไร่อ้อยที่ปรับตัวสูงขึ้นทั้งเรื่องของปุ๋ย ค่าขนส่ง ราคาน้ำมัน และค่าแรงขั้นต่ำ เป็นต้น "ที่ผ่านมารัฐบาลให้ความช่วยเหลือชาวไร่อ้อยต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2541/2542 มีการเพิ่มค่าอ้อยขั้นต้นที่ตันละ 79 บาท โดยให้ กอน.กู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) นำมาจ่ายแก่ชาวไร่อ้อย ล่าสุดในฤดูกาลผลิตที่ผ่านมา ก็มีการช่วยเหลือเป็นเงินเพิ่มค่าอ้อยที่ตันละ 154 บาท (ในราคาขั้นต้นตันละ 1,000 บาท ต้นทุนการผลิตอ้อยที่ตันละ 1,010 บาท) ดังนั้น ฤดูกาลผลิตปี 2555/2556 ชาวไร่อ้อยจึงต้องการความช่วยเหลือเป็นเงินเพิ่มค่าอ้อยที่ตันละ 250 บาท"

ต่อมาเวลา 17.30 น. คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ที่มีนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานได้ประชุมแนวทางการช่วยเหลือชาวไร่อ้อยเสร็จ แต่ที่ประชุมหาข้อสรุปไม่ได้หลังจากมีการประชุมมาตั้งแต่เวลา 14.00 -17.30 น.ทำให้ผู้ชุมนุมชาวไร่อ้อยไม่พอใจ ปิดล้อมสำนักงาน อ้อยฯ เพื่อไม่ให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมออกจากอาคาร โดยชาวไร่อ้อยได้ให้ปลัดฯ เรียกคณะกรรมการ กอน.มาประชุมอีกรอบเพื่อหาข้อสรุปให้ได้ กระทั่งเวลา 18.30 น. นายวิฑูรย์ ได้เข้าเจรจากับชาวไร่อ้อยเพื่อขอให้เปิดทาง และจะให้ตัวแทนชาวไร่อ้อยมาประชุมร่วมกับคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายในการช่วยเหลือเพิ่มเงินค่าอ้อยใหม่ในวันที่ 12 มี.ค.ซึ่งผู้ชุมนุมก็พอใจ และยอมเปิดทางให้ปลัดฯ ออกจากอาคารในที่สุด.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2556

“ปิยสวัสดิ์”อัดอุตฯออกใบรง.4ช้า

ปิยสวัสดิ์ อัดกระทรวงอุตฯ และกระทรวงพลังงาน สร้างเงื่อนไขก่ออุปสรรคขัดขวางการผลิตพลังงานหมุนเวียนให้โตช้า ชี้ควรยุบทั้งคณะกรรมการ รง.4 และคณะกรรมการพลังงานหมุนเวียน ด้าน ส.อ.ท.ปลื้มช่วยประหยัดไฟฟ้าได้เกือบ 500 เมกะวัตต์

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีต รมว.พลังงาน เปิดเผยในงานสัมมนา “วิกฤติไฟฟ้า วิกฤติพลังงาน เรื่องจริงหรืออิงมายา” ว่า ปัจจุบันมีผู้ผลิตไฟฟ้าที่ได้รับสัญญาการซื้อขายไฟฟ้า (พีพีเอ) จำนวน 600 ราย ได้รับผลกระทบจากที่กระทรวงอุตสาหกรรมไม่ออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) ทำให้ไม่สามารถสร้างโรงไฟฟ้าได้ โดยทั้ง 600 รายมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 4,000 เมกะวัตต์ ซึ่งจำนวนดังกล่าวเป็นพลังงานทดแทนอยู่ 1,000 เมกะวัตต์ ดังนั้นหากไม่ติดอุปสรรคด้านใบ รง.4 ประเทศไทยจะมีไฟฟ้าอย่างต่ำ 1,000 เมกะวัตต์มาช่วยเสริมระบบในช่วงวิกฤติไฟฟ้าปัจจุบันได้

นอกจากนี้ ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนยังเจออุปสรรคจาก “คณะกรรมการบริหารมาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน” ของกระทวงพลังงาน ไม่อนุญาตให้ขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เข้าระบบไฟฟ้าในขณะนี้ เนื่องจากอยู่ระหว่างการตรวจสอบใบสัญญาซื้อขายไฟฟ้าว่ามีการผลิตจริงหรือไม่ ส่งผลให้ผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้าน (รูฟท็อป) ได้รับผลกระทบมาก เนื่องจากไม่สามารถขายไฟฟ้าได้แม้จะไม่ขอรับ ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (แอดเดอร์) ก็ตาม นอกจากนี้หากผลิตไฟฟ้าเกิน 3.6 กิโลวัตต์ จะต้องทำเรื่องขอใบ รง.4 อีก

“นอกจากนี้ การกำหนดเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ 2,000 เมกะวัตต์ ทำให้เกิดการวิ่งเต้นซื้อขายใบอนุญาตผลิตไฟฟ้ากันเป็นจำนวนมาก แม้กระทั่งใบ รง.4 ก็เพิ่งจะมีปัญหาเมื่อ 1 ปีกว่าเท่านั้น ดังนั้นควรยกเลิกคณะกรรมการที่พิจารณาใบ รง.4 และคณะกรรมการฯ พลังงานหมุนเวียน เนื่องจากเป็นการสร้างเงื่อนไขอุปสรรคทำให้การผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนเกิดขึ้นได้ยาก ซึ่งในอีก 10 ปีข้างหน้า การใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ผลิตไฟฟ้าจะมีถึง 50% จากก๊าซฯ ทั้งหมด ทำให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้น 1.20 บาทต่อหน่วย ดังนั้นควรเพิ่มการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนลงในแผนพัฒนาไฟฟ้าของประเทศ หรือพีดีพี ให้เพิ่มมากขึ้น” นายปิยสวัสดิ์กล่าว

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า กลุ่มอุตสาหกรรมเคมี ได้แจ้งว่า จะให้ความร่วมมือในการลดใช้ไฟฟ้าในการแยกโซดาไฟและคอรีน ในช่วงที่พม่าหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติ โดยเฉพาะวันที่ 5 เม.ย.2556 เพิ่มเติมอีก 80-90 เมกะวัตต์ ดังนั้นทำให้ลดการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจาก 408 เมกะวัตต์ เป็น 480-490 เมกะวัตต์.

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2556

เร่งสรุปยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์ระดมสมองวางทิศทางปี’56-59

นายนิวัติ สุธีมีชัยกุล รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันกระแสความตื่นตัวในเรื่องของสิ่งแวดล้อม อาหารเพื่อสุขภาพในปัจจุบันมีเพิ่มมากยิ่งขึ้น ทำให้ประเด็นเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ได้รับความสนใจมากขึ้นเช่นเดียวกัน ซึ่งรัฐบาลเองก็ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว จึงส่งเสริมให้มีการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ของประเทศ โดยแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ เพื่อขับเคลื่อนและส่งเสริมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ของประเทศ พร้อมทั้งจัดทำยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ฉบับที่ 1 พ.ศ.2551-2554 ซึ่งผลการส่งเสริมและพัฒนาตามยุทธศาสตร์ ทำให้พื้นที่เกษตรอินทรีย์ของไทยในปัจจุบันมีมากกว่า 212,000 ไร่ สามารถผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ได้มากกว่า 5,900 ตัน มีมูลค่าภายในประเทศมากกว่า 1,752 ล้านบาท จึงเห็นได้ว่ามีการพัฒนาขึ้นมาจนมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และมีโอกาสสูงในการแข่งขันกับต่างประเทศ จึงควรขยายการผลิตและการบริโภคในประเทศให้มากขึ้น

นายนิวัติกล่าวต่อไปว่า ช่วงที่ผ่านมาคณะกรรมการชุดเก่าหมดวาระลง คณะรัฐมนตรี จึงมีมติเห็นชอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ต่อไป โดยแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติชุดใหม่ขึ้นมา จากนั้นคณะกรรมการจึงได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำ

ด้าน นายสุรศักดิ์ พันธ์นพ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับยุทธศาสตร์ประจำปี 2556-2559 คณะอนุกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ.2556-2559 ได้ดำเนินการยกร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์ ประกอบด้วย 4 ประเด็นยุทธศาสตร์ คือ 1) การบริหารจัดการองค์ความรู้และนวัตกรรม 2) การพัฒนาการผลิตเกษตรอินทรีย์ตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน 3) การสร้างความเข้มแข็งด้านการตลาดและมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ไทย และ 4) การบูรณาการเพื่อขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ไทย ซึ่งได้มีการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในระดับภูมิภาคทั้ง 4 ภาค และส่วนกลาง เรียบร้อยแล้ว จากนี้จะนำไปปรับปรุงร่างยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติให้มีความครบถ้วน สมบูรณ์ และเหมาะสมในการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ของประเทศต่อไป

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2556

ทีดีอาร์ไอระดมสมองขับเคลื่อนประเทศในยุคเงินบาทแข็ง

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดเสวนาสาธารณะ ในหัวข้อ “ค่าเงินบาทกับโครงสร้างเศรษฐกิจระยะยาว” โดยได้เรียนเชิญนักเศรษฐศาสตร์จากสังกัดต่าง ๆ มาร่วมแลกเปลี่ยนกันในประเด็นสำคัญเรื่องค่าเงินบาทกับยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนประเทศในระยะยาว

วงเสวนาเห็นว่า เราไม่ควรกังวลและถกเถียงกันเรื่องค่าเงินกับการส่งออกมากจนเกินควร แต่ควรถือโอกาสที่ค่าเงินบาทแข็งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ให้พ้นไปจากการหวังพึ่งพิงการส่งออกเป็นหลัก และควรให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนประเทศโดยส่งเสริมการลงทุนภายในประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อยกระดับความสามารถทางการผลิตของประเทศ

ดร. ฉลองภพ สุสังกรณ์กาญจน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นักวิชาการเกียรติคุณทีดีอาร์ไอ ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในช่วงต้นของวงเสวนา โดยดร. ฉลองภพย้ำว่า การดำเนินนโยบายทางการเงินควรใช้เครื่องมือต่าง ๆ ที่หลากหลาย ไม่ใช่เพียงเน้นไปที่การใช้อัตราดอกเบี้ยเป็นหลักอย่างที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม อุปสรรคหลักสำหรับโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยคือการพึ่งพิงการส่งออกที่สูงมาก โดย ดร.ฉลองภพระบุว่า หลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ประเทศไทยพึ่งพิงภาคต่างประเทศสูงขึ้นอย่างมาก โดยดัชนีในปี 2011 การส่งออกของไทยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นถึง 75% ต่อจีดีพี โดยที่ก่อนหน้าวิกฤติมีสัดส่วนเพียง 45% เท่านั้น ด้วยเหตุนี้ อัตราแลกเปลี่ยนจึงมีผลต่อภาคส่งออกไทยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และได้รับผลกระทบทางลบจากภาวะเงินทุนไหลบ่าเข้าประเทศ

การรับมือต่อความผันผวนของเงินทุนระยะสั้น

ดร. ฉลองภพได้แสดงให้เห็นต่อไปว่า ปริมาณและความผันผวนของเงินทุนไหลเข้าระยะสั้นเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่นักลงทุนหันมาลงทุนในตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) เช่นประเทศไทย แต่ในขณะเดียวกัน เงินทุนระยะสั้นเหล่านี้สร้างความผันผวนให้กับเศรษฐกิจส่วนรวมเพราะสามารถไหลออกได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน

นอกจากนี้ ดร. ฉลองภพยังได้นำเสนอการใช้เครื่องมือในการบริหารนโยบายการเงินอย่างผสมผสาน เนื่องจากที่ผ่านมา หลายฝ่ายได้ให้ความสำคัญต่ออัตราดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว ซึ่งอาจมีข้อจำกัดอยู่มาก โดย ดร. ฉลองภพกล่าวว่า

“แบงก์ชาติ อาจจะยังให้เป้าหมายหลัก คือ กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ แต่เครื่องมือในการดูแลนั้น ไม่ควรใช้แค่ดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว ซึ่งการลดหรือไม่ลดดอกเบี้ยมีผลหลายด้าน เช่น ถ้าลดก็อาจทำให้การใช้จ่ายในประเทศผ่อนคลายมากขึ้น แต่ถ้าไม่ลดก็อาจมีผลต่อเงินทุนไหลเข้ามาก ซึ่งถ้าเรานำเครื่องมืออื่นๆ เช่น การคุมปริมาณเงินมาร่วมพิจารณา ก็น่าจะลดความร้อนแรงในเรื่องเหล่านี้ลงได้”

โดยเครื่องมือนโยบายทางการเงินอื่น ๆ ที่สามารถนำมาใช้ได้แก่ การบริหารอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งธนาคารกลางสามารถเข้าไปซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศเพื่อบริหารอัตราแลกเปลี่ยนได้ ซึ่งหลายประเทศก็ได้ทำเช่นนี้ จะเห็นว่าในประเทศจีน ทางการสะสมเงินตราต่างประเทศไว้อย่างมหาศาล ในขณะที่ญี่ปุ่นก็เคยทำเช่นนี้ แต่ยกเลิกเมื่อปี 2004 ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า เงินเยนแข็งขึ้นมาเมื่อเทียบกับเงินหยวนของจีน

นอกจากนี้ ทางการยังสามารถใช้การกำหนดการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องตามกฎหมาย (Reserve Requirement) ซึ่งนอกจากจะเกี่ยวกับความมั่นคงของสถาบันการเงินแล้ว ยังมีผลต่อเศรษฐกิจมหภาคและมีผลต่อเป้าหมายของนโยบายการเงินอีกด้วย เพราะถ้าทางการกำหนดให้เพิ่ม Reserve Requirement ธนาคารพาณิชย์ก็จะมีเงินไปปล่อยสินเชื่อน้อยลง

และสุดท้ายคือ มาตรการควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้าย (Capital Control) ซึ่งหลายประเทศได้นำมาใช้อย่างได้ผล เช่น นโยบายด้านอสังหาริมทรัพย์ที่ฮ่องกงและสิงคโปร์ เพื่อลดความร้อนแรงของตลาดอสังหาริมทรัพย์ โดยเก็บค่าภาษีและธรรมเนียมต่าง ๆ จากต่างชาติในระดับที่สูงกว่าคนในประเทศ

แนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระยะยาว

ดร. สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาทั่วถึง ทีดีอาร์ไอ วิเคราะห์ว่า ในเรื่องระยะยาว ประเทศไทยมีปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยเฉพาะองค์ประกอบของอุปสงค์ซึ่งพึ่งการส่งออกมาก จุดนี้ ดร. สมชัยเห็นว่า ประเทศไทยพึ่งพาอุตสาหกรรมมากเกินไป ทำให้เราต้องส่งออกมาก เพราะเราผลิตเพื่อส่งออก

คำถามสำคัญที่เราควรถามในช่วงที่ค่าเงินบาทแข็งตัวอย่างในปัจจุบันคือ เราจะให้โอกาสนี้ในการช่วยปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่จะไปลดการพึ่งพิงการส่งออกไปสู่การลงทุนภายในประเทศได้อย่างไร

ซึ่งจุดนี้ ดร. สมชัยได้นำเสนอว่า เราควรพุ่งเป้าไปที่การนำเข้าเทคโนโลยีมากขึ้น ในช่วงที่ต้นทุนการนำเข้าเทคโนโลยีถูกลงมาก เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยไม่ประสบความสำเร็จในการนำเข้าเทคโนโลยีเนื่องจากราคาที่ค่อนข้างสูง เพราะฉะนั้น การที่ค่าเงินบาทแข็งจึงไม่ได้เป็นเรื่องที่แย่อย่างที่เถียงกันในปัจจุบัน แต่เราควรจะถกเถียงกันให้สร้างสรรค์และรอบด้านมากกว่านี้ ไม่ใช่เพียงจบลงแค่ 2 – 3 ตัวแปรว่า ค่าเงินแข็ง ส่งออกแย่ แต่ควรคำนึงถึงปัจจัยการลงทุนภายในประเทศมากขึ้นเพราะจะทำให้ไทยเราก้าวข้ามพ้นกับดักประเทศปานกลางอย่างที่กังวลกัน

นอกจากนี้ ดร. สมประวิณ มันประเสริฐ อาจารย์จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวสนับสนุนว่า เราไม่ควรกังวลเพียงเรื่องเดียวว่า ค่าเงินจะแข็งหรือจะอ่อน หากอัตราแลกเปลี่ยนสะท้อนปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศ

ในขณะเดียวกัน สิ่งที่เราควรกังวลคือ ทำอย่างไรให้อัตราแลกเปลี่ยนสะท้อนมูลค่าที่ควรจะเป็น หากตลาดเป็นผู้สะท้อนมูลค่าพื้นฐานแล้ว เราควรหันกลับมาเพื่อพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจให้มีประสิทธิภาพ บริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาค และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในเชิงคุณภาพสินค้าและบริการให้สูงขึ้น หากเรายังยึดติดในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนและการส่งออก เราจะไม่สามารถก้าวข้ามเรื่องระยะสั้นเหล่านี้ไปได้

ในส่วนของ ดร. วิมุต วานิชเจริญธรรม อาจารย์จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า อัตราแลกเปลี่ยนเป็นเรื่องการบริหารจัดการระยะสั้นมากกว่าระยะยาว เพราะระยะยาวเป็นเรื่องของการพัฒนาโดยรวม มากกว่าที่จะเป็นเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนเพียงอย่างเดียว และการที่เราไปอาศัยอัตราแลกเปลี่ยนเป็นตัวหลักในการบริหารเศรษฐกิจ ทำให้เราละเลยจุดอ่อนของเศรษฐกิจโดยรวมที่เราควรปรับปรุง

โดย ดร.วิมุต มองไปอีกว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจระยะยาวนั้น เราต้องก้าวข้ามภาวะปัจจุบันคือเป็นผู้นำเข้าเทคโนโลยี ไปเป็นผู้ที่คิดค้นเทคโนโลยี ซึ่งเป็นเรื่องที่พ้นไปจากเรื่องนโยบายการเงินเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของนโยบายการพัฒนาประเทศโดยรวม โดยเฉพาะในเรื่องของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

สุดท้าย ดร. พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด ได้วิเคราะห์ทางเลือกเชิงนโยบายในการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยน 4 แนวทาง ได้แก่ 1) ปล่อยให้ค่าเงินแข็งขึ้นไป แล้วไปจัดการกับเงินทุนขาออก เพื่อสนับสนุนให้คนไทยไปลงทุนต่างประเทศ 2) ธปท. เข้าไปแทรกแซงไม่ให้ค่าเงินแข็งเกินไป แต่ก็มีข้อจำกัดเพราะงบดุลของธปท.มีปัญหาจากภาระหนี้เป็นเงินบาทสูง 3) การลดดอกเบี้ยซึ่งเป็นสิ่งที่กระทรวงการคลังต้องการ แต่ธปท. ไม่ต้องการ เพราะห่วงจะมีความเสียงเรื่องเงินเฟ้อและราคาสินทรัพย์เกิดภาวะฟองสบู่ในอนาคต และสุดท้าย 4) มาตรการควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้าย ทำให้เงินทุนเคลื่อนย้ายช้าลง แต่ต้นทุนของทางเลือกนี้ คือ สร้างต้นทุนของการทำงานของตลาดเงิน ทำให้ลดประสิทธิภาพของระบบเศรษฐกิจ

ดร.พิพัฒน์ เห็นว่าการดำเนินนโยบายการเงินในอดีตเน้นการแทรกแซงให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าเกินจริง จนทำให้เกิดการบิดเบือนในภาคการผลิต และส่งผลให้ภาคส่งออกมีความแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ จนประเทศไทยเกิดอาการเสพติดการส่งออก

นอกจากนั้น อัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริงมีแนวโน้มจะแข็งค่าขึ้นในระยะยาว หากทางการไทยไม่ยอมให้อัตราแลกเปลี่ยนที่เป็นตัวเงินแข็งค่าตามกลไกตลาด ก็จะเกิดแรงกดดันให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น จนอาจกระทบการดำเนินนโยบายการเงินแบบกำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย

ท้ายการเสวนา ดร. อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ ให้ความเห็นเพิ่มเติม โดยเสนอให้ “อัตราค่าจ้าง” เป็นเป้าหมายหนึ่งของรัฐบาลในระยะยาว โดยให้รัฐบาลมีบทบาทนำในการเพิ่มอัตราอัตราค่าจ้างตัวเงินเป็นลำดับ แล้วปล่อยให้อัตราแลกเปลี่ยนและอัตราเงินเฟ้อปรับตัวตามผลของการปรับอัตราค่าจ้างดังกล่าว ซึ่งจะส่งผลกระตุ้นกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในความต้องการใช้เทคโนโลยีอย่างรวดเร็วขึ้น และเป็นผลดีต่อการยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศ.

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2556

ชาวไร่อ้อยยันขอเพิ่มเงินค่าอ้อย 250บาท/ตันอ้อยขู่ไม่ได้ไม่ยุติชุมนุม

ชาวไร่อ้อยทั่วประเทศ วอน กอน.ชงมาตรการช่วยเหลือเพิ่มราคาอ้อย ไม่ยอมรับตัวเลขที่ “สมศักดิ์” เลขา กนอ.คำนวณต่ำกว่าความเป็นจริง ยันต้องการราคา 250 บาทเช่นเดิม

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงอุตสาหกรรม ว่า กลุ่มตัวแทนชาวไร่อ้อยทั่วประเทศ ประมาณ 500-600 คน มาชุมนุมที่หน้าสำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อขอให้เพิ่มเงินค่าอ้อยขั้นต้นฤดูกาลผลิตปี 2555/2556 ในอัตรา 250 บาท/ตันอ้อย จากราคาอ้อยปัจจุบันอยู่ที่ 950 บาท/ตันอ้อย ระดับความหวาน 10 ซี.ซี.เอส รวมแล้วจะเป็น 1,200 บาท/ต่อตันอ้อย ทั้งนี้ สืบเนื่องมาจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 มี.ค.2556 ที่ผ่านมา พิจารณาตัวเลขเงินช่วยเหลืออยู่ที่ 161 บาท/ตันอ้อย ส่งผลให้ชาวไร่อ้อยไม่พอใจจึงมาประท้วงเพื่อขอความเห็นใจจาก นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ จากประกาศราคาอ้อยขั้นต่ำที่ตันละ 950 บาท ไม่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 มาตรา 49 วรรค 3 ที่กำหนดให้คำนึงต้นทุนการผลิตอ้อยด้วย ดังนั้น จึงเป็นที่มาของการขอเงินเพิ่มค่าอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2555/2556 ซึ่งในอดีตปี 2541/2542 มีการเพิ่มค่าอ้อยขั้นต้นที่ตันละ 79 บาท โดยให้ กอน.กู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) นำมาจ่ายแก่ชาวไร่อ้อย ล่าสุดในฤดูกาลผลิตที่ผ่านมาก็มีการช่วยเหลือเป็นเงินเพิ่มค่าอ้อยที่ตันละ 154 บาท (ในราคาขั้นต้นตันละ 1,000 บาท) ต้นทุนการผลิตอ้อยที่ตันละ 1,010 บาท) ดังนั้น ฤดูการผลิตปี 2555/2556 ชาวไร่อ้อยจึงต้องการความช่วยเหลือเป็นเงินเพิ่มค่าอ้อยที่ตันละ 250 บาท

ตัวแทนชาวไร่อ้อย เปิดเผยว่า หลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้เล็งเห็นถึงปัญหาความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อย จึงเร่งรัดให้กระทรวงอุตสาหกรรมหาแนวทางช่วยเหลือเพื่อเสนอ ครม.พิจารณา แต่จนถึงปัจจุบันนายประเสิรฐ ยังไม่สามารถนำเสนอแนวทางแก้ปัญหาได้ เนื่องจากมีการบิดเบือนการกดตัวเลขเงินช่วยเหลือให้ต่ำกว่าความเป็นจริงที่ชาวไร่อ้อยจะได้รับ โดยมี นายสมศักดิ์ สุวัฒิกะ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย และนายวีระศักดิ์ ขวัญเมือง ผู้อำนวยการกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย เป็นตัวตั้งตัวตี และมีความไม่ชอบมาพากล โดยมีการบิดเบือนตัวเลขช่วยเหลือชาวไร่อ้อยต่ำกว่าความเป็นจริงเหลือตันละ 161-165 บาท จึงเรียกร้องให้ 2 คนนี้ออกไปจากวงการอ้อยและน้ำตาลทรายโดยเร็ว

“เราไปร้องขอความเป็นธรรมจากทั้งทำเนียบรัฐบาล และหน่วยงานต่างๆ มาแล้ว และเมื่อประชุมคณะรัฐมนตรี ใน ครม.สัญจร ครั้งที่ผ่านมา เราก็ยื่นเอกสารถึงมือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ท่านก็รับปากว่าจะช่วย แต่ตอนนี้ ขั้นตอนมาติดอยู่ที่ กอน. ที่ไม่ยอมส่งเรื่องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เสนอต่อ ครม. ดังนั้น ในการประชุม กอน.เวลา 14.00 น. ซึ่งมี นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานในการประชุม ซึ่งหากวันนี้ไม่ได้ข้อสรุป ยืนยันว่าจะมาเรียกร้องขอความเป็นธรรมต่อไป”

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2556

3สมาคมรง.น้ำตาลทรายหวังสหรัฐฯ ปลดอ้อยจากบัญชีรายชื่อสินค้าที่ใช้แรงงานเด็ก

3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย ยืนยันไม่มีการใช้แรงงานเด็กในอ้อยตามที่สหรัฐฯ กล่าวอ้าง ชี้เป็นวิถีชีวิตปกติของครอบครัวเกษตรกรไทยที่พาเด็กๆ ไปในไร่ด้วย

ดีกว่าปล่อยไว้ตามลำพัง พร้อมประสานความร่วมมือ สอน. ชี้แจงสร้างความเข้าใจ หวังปลดอ้อยออกจากบัญชีรายชื่อสินค้าที่มีการใช้แรงงานเด็ก

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย (Mr.Sirivuth Siamphakdee, President of the Thai Sugar Millers Corporation Limited’ s public relations working group) เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลซึ่งใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบ ได้หารือกันถึงกรณีที่กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ได้ประกาศบัญชีรายชื่อสินค้าของไทย ที่มีการใช้แรงงานเด็กในการผลิต จำนวน 5 รายการ ประกอบด้วย กุ้ง เครื่องนุ่งห่ม อ้อย สื่อลามก และปลา ทั้งๆ ที่ทางการไทยได้พยายามชี้แจงมาโดยตลอดว่าเป็นความเข้าใจผิดของผู้จัดทำบัญชีรายชื่อดังกล่าว โดยในเรื่องของอ้อยนั้น สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ในฐานะที่กำกับดูแลอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทย ก็ได้ทำหนังสือชี้แจงผ่านกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ไปแล้ว เช่นกัน

“ทางเรายืนยันมาตลอดว่า ไม่มีการใช้แรงงานเด็กหรือบังคับใช้แรงงานเด็กในกลุ่มอ้อยตามที่มีการกล่าวอ้าง เราอาจจะพบเห็นเด็กที่เข้าไปอยู่ในไร่อ้อยบ้าง แต่ก็เป็นเรื่องปกติของวิถีชีวิตเกษตรกร ที่เด็กๆ จะตามผู้ปกครองเข้าไปในไร่ นี่คือสังคมไทย ครอบครัวคนไทย ที่ใช้ชีวิตครอบครัวแบบอบอุ่น เมื่อพ่อแม่ไปทำงาน จะปล่อยลูกหลานไว้โดยลำพังได้อย่างไร แต่ไม่ได้มีลักษณะของแรงงานรับจ้างหรือบังคับการใช้แรงงานเด็ก” นายสิริวุทธิ์ กล่าว

ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กล่าวด้วยว่า สมาคมฯ พร้อมให้ความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ซึ่งรับเป็นผู้ประสานการดำเนินงาน เพื่อให้อ้อยหลุดจากบัญชีรายชื่อที่ใช้แรงงานเด็ก ทั้งการให้ข้อมูลและข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ รวมไปถึงการขอความร่วมมือไปยังฝ่ายไร่ของโรงงานต่างๆ ให้ช่วยกันดูแลเรื่องนี้ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและความเข้าใจที่ถูกต้องต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยที่เป็นผู้ส่งออกอันดับ 2 ของโลก

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2556

ม็อบอ้อยยอมกลับบ้านหลังแกนนำเตรียมร่วมถกกอน.เคาะค่าอ้อยต่อพรุ่งนี้

ม็อบชาวไร่อ้อย600 คนเดินทางกลับบ้านแล้ว หลังกระทรวงอุตสาหกรรมรับปากจะเร่งพิจารณาเพิ่มค่าอ้อยให้ในการประชุมกอน.วันพรุ่งนี้(12มี.ค.) หลังการประชุมล่าสุดยังหาข้อยุติไม่ได้ ชาวไร่ยันราคาอ้อยต้องได้1,200บาทต่อตันหรือรัฐต้องช่วยหาเงินกู้ให้ 250 บาทต่อตันลั่นวันไหนเข้าครม.จะนำม็อบเป็นหมื่นไปช่วยชี้แจง

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะประธานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.) เปิดเผยหลังการประชุมกอน.เพื่อพิจารณาวาระเร่งด่วนการพิจารณาเพิ่มส่วนต่างราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2555/56 ที่ชาวไร่อ้อย 500-600 คนเดินทางมารวมตัวกันเพื่อกดดันให้พิจารณาเพิ่มส่วนต่างราคาอ้อยอีก 250 บาทต่อตันเป็น 1,200 บาทต่อตันจากเดิมกำหนดไว้ 950 บาทต่อตันเพราะไม่คุ้มกับต้นทุนการผลิต ว่า ที่ประชุมยังไม่ได้ข้อสรุปถึงแนวทางการเพิ่มราคาอ้อยขั้นต้นตามที่ชาวไร่เรียกร้องโดยจะขอพิจารณารายละเอียดต่างๆ อีกครั้งในวันที่ 12 มี.ค.เวลา 14.00 น.

อย่างไรก็ตามกอน.จะพยายามที่จะสรุปในการนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาคณะรัฐมนตรีกลั่นกรองสัปดาห์นี้เพื่อนำเข้าสู่การประชุมครม.ในสัปดาห์หน้าให้ทัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังแกนนำชาวไร่อ้อยแจ้งว่าไม่มีข้อยุติได้เกิดความวุ่นวายจนทำให้นายวีรศักดิ์ ขวัญเมือง ผู้อำนวยการกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย(กท.)ต้องขึ้นเวทีชี้แจงว่า ตนไม่ได้เป็นกรรมการในกอน.จึงไม่มีอำนาจจะตัดสินใจใด ๆ และขอร้องให้ชาวไร่อ้อยใช้เหตุผลและรอการพิจารณาในวันที่ 12 มี.ค.อีกครั้งและพร้อมจะนอนค้างคืนกับชาวไร่ตามคำเรียกร้อง อย่างไรก็ตามแกนนำชาวไร่อ้อยได้ประกาศว่าจะไม่ยอมค้างคืนโดยประกาศให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะประธานกอน.เรียกกรรมการทั้งหมดมาประชุมใหม่ทำให้ปลัดถูกกักบริเวณอยู่ในอาคารสำนักงานอ้อยในเวลา 18.15 น.
ต่อมาเวลา 18.30 น. ประธานกอน.ได้เข้ามาชี้แจงต่อชาวไร่อ้อยโดยพยายามชี้ให้เห็นว่ากระทรวงอุตสาหกรรมมีความพยายามในการที่จะเสนอความช่วยเหลือตามที่ชาวไร่ต้องการแต่จะต้องมีคำอธิบาย เช่นเดียวกับเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) ที่พยายามไกล่เกลี่ยว่าจะอธิบายปัญหาภัยแล้งที่จะกระทบชาวไร่อ้อย โดยขอให้มีการส่งนายกสมาคมชาวไร่อ้อย 31 เขต ร่วมประชุมกอน.ด้วย ต่อมาแกนนำได้ประกาศที่จะต้องได้รับราคาอ้อยเพิ่มอีก 250 บาทต่อตันและระบุว่าหากกระทรวงอุตสาหกรรมนำเสนอครม.เมื่อใดก็พร้อมที่จะนำชาวไร่มาเป็นหมื่นเพื่อช่วยอธิบายครม.ให้เข้าใจ อย่างไรก็ตามเวลา 19.00 น.ชาวไร่ได้ทยอยเดินทางกลับบ้าน

ทั้งนี้การประชุมกอน.ใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมงแต่ก็ไร้ข้อสรุปเนื่องจากตัวแทนชาวไร่อ้อยยืนยันที่จะให้กอน.มีมติช่วยเหลือเพิ่มราคาอ้อยอีก 250 บาทต่อตันโดยยืนยันจะให้ครม.เห็นชอบการช่วยเหลือเงินกู้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธ.ก.ส.) ผ่านมายังกองทุนอ้อยฯ ขณะที่ฝ่ายราชการยืนยันตัวเลขราคาเพิ่มให้ได้ 160 บาทต่อตันหรือจะกู้เงินได้ไม่เกิน 1.5 หมื่นล้านบาทเนื่องจากรายได้หลักของกท. มีเพียงจากการปรับขึ้นราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงาน 5 บาทต่อกก.ที่จะเข้ามาเฉลี่ยปีละ 1.3 หมื่นล้านบาทเท่านั้น นอกจากนี้หากราคาอ้อยขั้นสุดท้ายต่ำกว่าขั้นต้นถึงตอนนั้นกท.จะต้องจ่ายส่วนเกินซึ่งจะนำเงินมาจากไหนอีก บรรยากาศจึงมีการถกเถียงกันอย่างรุนแรงและชาวไร่อ้อยพยายามที่จะล็อบบี้ให้โรงงานน้ำตาลทราย

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2556

ทวงกรมวิชาการฯตั้งบอร์ดไตรภาคีสางปัญหาค่าเปอร์เซ็นต์ปุ๋ย

นายทวีศักดิ์ สุทิน นายกสมาคมผู้ค้าผู้ผลิตปุ๋ยไทย เปิดเผยว่า สมาคมได้ยื่นหนังสือถึงกรมวิชาการเกษตร เพื่อสอบถามความคืบหน้าของการจัดตั้งคณะกรรมการกลาง 3 ฝ่าย เพื่อพิจารณาให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการค้าปุ๋ยที่ประสบปัญหาค่าเปอร์เซ็นต์เนื้อปุ๋ยคลาดเคลื่อนจากปัจจัยต่างๆ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจาก นายจิรากร โกศัยเสวี ในสมัยที่ยังดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมวิชาการเกษตร และเพิ่งเกษียณอายุราชการปลายปีที่แล้ว

ทั้งนี้ ความคลาดเคลื่อนของเปอร์เซ็นต์ปุ๋ยในสูตรปุ๋ยแต่ละประเภทนั้น เกิดขึ้นได้จาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ กระบวนการผลิต ซึ่งผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบโดยตรง การสุ่มเก็บตัวอย่างปุ๋ย และการทดสอบในห้องปฏิบัติการ

“ประเด็นก็คือมาตรฐานเปอร์เซ็นต์ปุ๋ยที่ระบุนั้น ทางการกำหนดค่าให้คลาดเคลื่อน ได้ระดับหนึ่ง แต่ถ้าเกินไปจากนั้น ไม่ว่าเพียงน้อยนิดเดียว เช่น 0.1% ไปจนกระทั่ง 5-8% ล้วนมีความผิดตามพ.ร.บ.ปุ๋ยทั้งสิ้น ถูกดำเนินคดีเหมือนกัน ไม่มีข้อยกเว้น”

นายทวีศักดิ์กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจบทบาทของกรมวิชาการเกษตรในฐานะผู้รักษา พ.ร.บ.ปุ๋ย พ.ศ.2551 หากไม่ดำเนินการก็จะถูกกล่าวหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ได้ แต่เนื่องจากเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และเหตุที่เกิดบางครั้งก็ไม่เป็นเจตนา เพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมาย จึงต้องหาทางออกที่เหมาะสม

“อธิบดีจิรากร จึงเห็นว่า หากมีกรณีอย่างนี้ก็ต้องมีคณะกรรมการกลาง 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ตัวแทนกรมวิชาการเกษตร ตัวแทนนักวิชาการจากมหาวิทยาลัย และตัวแทนจากภาคเอกชน ที่จะคอยพิจารณาและชี้ขาดว่า ผิดจริงหรือไม่ และสมควรดำเนินคดีหรือไม่”

สำหรับกรณีที่ชัดเจนว่า เป็นเจตนาจะเลี่ยงกฎหมาย เช่น เปอร์เซ็นต์ปุ๋ยต่ำกว่ากำหนดมาก ทางกรมวิชาการเกษตรสามารถสั่งฟ้องได้เลย โดยไม่ต้องผ่านคณะกรรมการกลางชุดนี้แต่อย่างใด

นายทวีศักดิ์กล่าวว่า สิ่งที่ประเทศไทยกำลังเผชิญเวลานี้คือการเปิดตลาดอาเซียนที่มีขนาดประชากรมากกว่า 500 ล้านคน ซึ่งไทยกำลังมีคู่แข่งรายสำคัญคือเวียดนาม หากไม่เร่งมือพิจารณาทิศทางนโยบายเรื่องปุ๋ยอย่างชัดเจน และเพิ่มศักยภาพให้แก่ผู้ประกอบการไทยแล้ว เออีซีก็ไม่มีความหมาย

“เวียดนามบุกแน่ เขามียูเรียเป็นวัตถุดิบได้เปรียบเรา ในขณะเหมืองโปแตสของเรา แม้ดูจะชัดเจน แต่ไม่แน่ใจว่าเป็นเมื่อไหร่” นายทวีศักดิ์ กล่าว

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2556

กระทรวงอุตจ่อนิรโทษกรรม'รง.4'ปล่อยผีโรงงานเก่าอ้างศก.เสียหาย

กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมปล่อยผีใบอนุญาต รง.4 "นิรโทษกรรม" โรงงานผิดกฎหมาย เข้าระบบ ถูกต้อง เผยกรมโรงงานฯเร่งฝ่ายกฎหมายหาช่องโหว่เตะเข้าระบบ ด้านโรงงานน้ำตาลขอนแก่น-มิตรผล เตรียมเฮ ! ชี้ชัดมีช่องขอทบทวนมติ ครม.ผ่านฉลุย

ดร.ณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) และรักษาการอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้ได้หารือกับผู้บริหารของกรมโรงงานอุตสาหกรรมเกี่ยวกับเรื่องความล่าช้าในการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน หรือใบ รง.4 ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข เนื่องจากพบว่าโรงงานจำนวนมากที่ได้ลงทุนก่อสร้างไปแล้วไม่สามารถเปิดดำเนินการได้ สาเหตุมาจากไม่ได้ดำเนินการให้ถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย ส่งผลให้เอกชนได้รับความเดือดร้อน กระทบเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้กรมโรงงานฯได้ให้ฝ่ายกฎหมายศึกษาหาช่องทางผ่อนปรนหรือนิรโทษกรรม ให้โรงงานที่ตั้งผิดกฎหมายหรือขัดกับประกาศกระทรวงต่าง ๆ โดยจะให้ใบอนุญาต รง.4 เป็นการเฉพาะ เพื่อให้โรงงานที่อยู่นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบที่ถูกกฎหมาย

"การนิรโทษกรรมหรือผ่อนปรนให้โรงงานเหล่านี้จะมีผลเฉพาะโรงงานที่ตั้งไปแล้ว ไม่รวมถึงโรงงานที่จะตั้งใหม่ ซึ่งฝ่ายกฎหมายจะต้องมาศึกษาว่าจะมีช่องทางไหนที่สามารถทำได้ โรงงานต่าง ๆ ที่มีการทำผิดกฎหมายจะต้องหาทางว่าทำอย่างไรจะถูกกฎหมาย อย่างโรงงานที่ได้ตั้งไปแล้ว แต่ยังไม่ได้ขออนุญาต เช่น โรงงานแถวสมุทรปราการ เพราะในเขตพื้นที่นี้มีคำสั่งห้ามก่อนหน้านี้ไม่ให้มีการตั้งโรงงานใหม่ เนื่องจากมีความแออัด เราจะไปปิดโรงงานก็ไม่ได้ เพราะเขาเดือดร้อน และจะกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ แม้บางโรงงานอาจผิดเรื่องผังเมืองบ้าง ผิดประกาศกระทรวงที่ห้ามตั้งในบางพื้นที่บ้าง จึงต้องหาช่องทางให้โรงงานเหล่านี้เข้ามาในระบบให้ได้ อาจจะให้เสียค่าปรับก่อนเข้าสู่ระบบ และต่อไปจะเข้มงวดเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาลักษณะนี้อีก"

ดร.ณัฐพลกล่าวว่า แนวทางดำเนินการดังกล่าวจะรวมถึงกรณีโรงงานน้ำตาลของกลุ่มขอนแก่น และโรงงานน้ำตาลของกลุ่มมิตรผล ที่ อ.วังสะพุง จ.เลย ซึ่งที่ผ่านมาคณะกรรมการกลั่นกรองตัดสินใจไม่ออกใบอนุญาตให้ เพราะจะแย้งกับมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ระบุว่า การตั้งโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่จะต้องห่างจากโรงงานเดิม 80 กิโลเมตร เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาแย่งอ้อยกันนั้น หากพิจารณาแล้วว่ามีเหตุผลอันสมควรว่าจะมีผลเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ และในระยะห่างไม่ถึง 80 กิโลเมตร มีปริมาณอ้อยเพียงพอ สามารถเสนอให้ ครม.ผ่อนปรนให้ทั้ง 2 โรงงานเปิดดำเนินการ และได้รับใบ รง.4 ถูกต้องตามกฎหมาย

"ที่ผ่านมาคณะกรรมการกลั่นกรองตัดสินใจไม่ออกใบอนุญาตให้โรงงานน้ำตาลทั้ง 2 แห่ง เพราะไม่อย่างนั้นจะแย้งกับมติ ครม. ขั้นตอนต่อไปคือโรงงานน้ำตาลขอนแก่น ต้องทำเรื่องขออุทธรณ์มายังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อขอให้ ครม.ทบทวนมติดังกล่าวว่า การที่โรงงานทั้ง 2 แห่งไม่ได้ตั้งห่างกัน 80 กิโลเมตร แต่ไม่เกิดการแย่งอ้อยกัน เพราะในพื้นที่บริเวณดังกล่าวมีปริมาณอ้อยของชาวไร่ปลูกเพียงพอ จึงขอให้มีการอนุญาตให้เปิดโรงงานได้

เรื่องนี้ถือเป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าจะให้เปิดหรือไม่ เพราะโรงงานน้ำตาลทั้ง 2 แห่งนี้ได้รับอนุญาตให้ก่อตั้งจากนโยบายของมติ ครม.เช่นกัน หากต้องไปแก้ไขในเรื่องระยะห่าง 80 กิโลเมตร ก็ต้องนำเรื่องเข้า ครม. และถ้ามีการยอมผ่อนปรนให้ เรื่องนี้ก็จบได้ เพราะเป็นเรื่องนโยบายของ ครม. ต้องจบที่ ครม. โดยจะยกเว้นเฉพาะโรงงานน้ำตาลขอนแก่นและโรงงานน้ำตาลมิตรผลเท่านั้น แต่โรงงานน้ำตาลอื่นที่ตั้งใหม่ก็ยังคงต้องยึดระเบียบห่างกัน 80 กิโลเมตรเหมือนเดิม ไม่ใช่ยกเว้นทุกราย"

ดร.ณัฐพลกล่าวต่อไปว่า การที่หลายฝ่ายมองว่า คณะกรรมการกลั่นกรองการพิจารณาอนุญาตโรงงานบางประเภทที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ที่มีนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานพิจารณาอนุญาตให้ใบ รง.4 ล่าช้านั้น ในข้อเท็จจริง หากถามว่าการมีคณะกรรมการกลั่นกรอง ขึ้นมาช่วยพิจารณาอีกขั้นตอนดีหรือไม่ ในมุมหนึ่งก็ทำให้เห็นว่ากรมโรงงานฯเองทำงานผิดพลาดหลาย ๆ เรื่อง ทำให้คณะกรรมการกลั่นกรองต้องตีเรื่องกลับมาหลายโรงงาน เช่น เอกสารไม่ครบ ตรวจสอบไม่ถูกต้อง ฯลฯ สำหรับโรงงานที่ยังไม่ได้รับใบ รง.4 ยอมรับว่ามี แต่ไม่ถึง 2,000 โรงอย่างที่เป็นข่าว

"ที่ผ่านมาทำให้รู้ว่ากรมโรงงานฯปล่อยปละละเลยในการออกใบอนุญาตมากเกินไปหรือเปล่า เช่น เรื่องเอกสารที่มาจากสำนักงานอุตฯจังหวัดยังไม่ครบ แต่รีบส่งมาที่กรมโรงงานฯก่อน แล้วไปจัดการกันเอง ตรงนี้ก็เกิดช่องของความไม่โปร่งใส แทนที่เอกสารไม่ครบจะส่งเรื่องกลับไปเลย แต่ที่ผ่านมาเอกสารไม่ครบก็รับไว้ก่อน แล้วมาค้างอยู่ที่ส่วนกลาง ทำให้ภาพของกรมโรงงานฯต่อสังคม ดูไม่ค่อยดีในหลาย ๆ เรื่อง เช่น ถูกกล่าวหาว่ามีการรับเงินใต้โต๊ะบ้าง อะไรบ้างสารพัด ในยุคผมจะต้องแก้ทุกอย่างให้โปร่งใส"

ดร.ณัฐพลกล่าวว่า ตอนนี้มีแนวความคิดจะทำ Online Monitoring สำหรับการขออนุญาตตั้งโรงงาน โดยอธิบดีสามารถเปิดคอมพิวเตอร์ตรวจสอบระบบแสดงผลได้ทันทีว่า การขออนุญาตของโรงงานไหนอยู่ในขั้นตอนไหนแล้ว ในระยะเวลา 90 วันที่พิจารณา จะแบ่งงานว่าส่วนงานไหนควรมีเวลาพิจารณากี่วัน ถ้าเกินเวลาจะมีระบบเตือน ต่อไปอาจไม่ต้องมีคณะกรรมการกลั่นกรอง ถ้าการทำงานของกรมโรงงานฯสามารถแก้ไขจุดบกพร่องได้ และคณะกรรมการกลั่นกรองมั่นใจว่าระบบของกรมโรงงานฯดีพอ ต่อไปต้องมีอีกหน่วยหนึ่งเพื่อมาตรวจทานในกรมโรงงานฯเองเพื่อเป็นการคานอำนาจ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือจนสามารถกำกับดูแลตัวเองได้

ด้านนายพงษ์เทพ จารุอำพรพรรณ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า ต้องประสานกรมโยธาธิการและผังเมือง กับสำนักงานอุตฯจังหวัด เพื่อพิจารณาผ่อนปรนหรือมีข้อยกเว้นในกรณีที่บางโรงงานตั้งขึ้นก่อนที่จะมีกฎหมายผังเมืองบังคับใช้ หรือตั้งขึ้นแล้วมีชุมชนขยายเข้าไปใกล้โรงงาน อย่างไรก็ตามต้องพิจารณาถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมและเรื่องร้องเรียนของชุมชนด้วย ซึ่งจะต้องสำรวจโรงงานแต่ละโรงว่าสามารถผ่อนปรนอย่างไรได้บ้าง

แหล่งข่าวจากวงการอุตสาหกรรม เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้ยังมีอุตสาหกรรมหลายประเภทยังไม่ได้รับใบรง.4 ทั้งที่ได้ทำตามหลักเกณฑ์การจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ผ่านตามมาตรฐานทุกอย่าง เช่น ธุรกิจ โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนขนาดเล็ก (VSPP) ธุรกิจปศุสัตว์ครบวงจร เครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมรถยนต์ โรงงานน้ำตาล รวมแล้วหลาย 100 โรงงาน และมีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนาหูในวงการถึงความไม่ชอบมาพากลต่าง ๆ กว่าที่จะได้รับใบอนุญาตต้องผ่านด่านที่นอกเหนือขบวนการตามกฎหมาย ทำให้ผู้ประกอบการหลายคนหนักใจ เพราะถือเป็นต้นทุนที่สูงมาก ประกอบกิจการเท่าไหร่ถึงจะคุ้มค่ากับต้นทุนส่วนนี้ที่อาจต้องจ่ายไป

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2556

'มิตรผล'สนองรัฐ หยุดผลิต5เม.ย.นี้

นายกฤษฎา มนเทียรวิเชียรฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มมิตรผล เปิดเผยว่า กลุ่มมิตรผลได้เตรียมมาตรการสนับสนุนนโยบายภาครัฐจากวิกฤตแหล่งก๊าซธรรมชาติในพม่า หยุดจ่ายก๊าซให้ไทยวันที่ 5-14 เม.ย.2556 โดยตัดสินใจหยุดการผลิตชั่วคราวในบางส่วนของโรงงานน้ำตาลทั้ง 5 แห่งในไทยในวันที่ 5 เม.ย.นี้ ซึ่งจะทำให้มีปริมาณไฟฟ้าคงเหลือขายได้เต็มสัญญา non-firm จำนวน 96 เมกะวัตต์ เพิ่มเติมจากสัญญาขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ อยู่แล้ว 76 เมกะวัตต์ ส่งผลให้กลุ่มมิตรผลสามารถขายไฟฟ้าในช่วงวันที่ 5 เม.ย.นี้ได้รวม 170 เมกะวัตต์ แต่การหยุดผลิตชั่วคราวจะไม่กระทบกับระบบการผลิตและปริมาณสินค้าคงคลัง ตลอดจนขั้นตอนการรับซื้ออ้อยจากเกษตรกร เพราะไม่ได้หยุดหีบอ้อย

จาก http://www.khaosod.co.th  วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2556

บทบาทสถาบันการเงินกับอนาคตประเทศไทย

"การปรับตัวต้องทำอย่างมียุทธศาสตร์มีแผนที่ชัดเจนรอบคอบรัดกุมทำอย่างเป็นระบบร่วมมือกันอย่างสร้างสรรค์ทั้งภาครัฐและเอกชนทุกภาคส่วนต้องยื่นมือเข้ามามีบทบาทร่วมกันในการพัฒนาระบบการเงินไทย"

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาในงาน Banker to Broker 2013 โครงการ Banker to Broker เรื่อง “บทบาทสถาบันการเงินกับอนาคตประเทศไทย”จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2556ว่าระบบการเงินประเทศไทยต้องปรับตัวเพื่อรองรับความท้าทาย 2 ประการได้แก่ (1) การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของภาคเศรษฐกิจจริง และ (2) การแข่งขันในระบบสถาบันการเงินที่รุนแรงขึ้น

(1) การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของภาคเศรษฐกิจจริง

ประเทศไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจซึ่งจะมีผลต่อความท้าทายของระบบการเงิน 3 ด้านคือ

(1.1) ความท้าทายด้านขนาดของการระดมทุนซึ่งประกอบไปด้วยโครงการขนาดใหญ่ทั้งของภาครัฐและเอกชนทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องเตรียมสภาพคล่องและเงินทุนรองรับและเพื่อมิให้ความเสี่ยงกระจุกตัวอยู่ในธนาคารพาณิชย์มากเกินไป การระดมทุนผ่านตลาดทุนโดยการออกหุ้นกู้จะช่วยกระจายความเสี่ยงออกจากธนาคารพาณิชย์ได้ สำหรับภาครัฐหรือบริษัทขนาดใหญ่การระดมทุนผ่านตลาดทุนก็จะมีต้นทุนต่ำกว่าการระดมทุนผ่านธนาคารพาณิชย์และมีฐานผู้ลงทุนที่กว้างขึ้นขณะที่ ธนาคารพาณิชย์ก็ใช้ตลาดทุนเป็นช่องทางระดมทุน อาทิ การออก covered bond หรือเป็นช่องทางในการผ่องถ่ายความเสี่ยงโดยใช้ช่องทาง securitization

(1.2) ความท้าทายด้าน รูปแบบความเสี่ยงของการระดมทุนที่เพิ่มขึ้นมี 2 ประเภท ได้แก่ ความเสี่ยงจากการลงทุนต่างประเทศและความเสี่ยงจากการลงทุนในโครงการใหญ่ที่ซับซ้อนและมีสภาพคล่องต่ำ อาทิ โครงสร้างพื้นฐาน ในด้านการลงทุนต่างประเทศนั้นธนาคารพาณิชย์ต้องปรับตัวเพื่อให้บริการผู้ระดมทุนในการบริหารความเสี่ยงทั้งอัตราแลกเปลี่ยน การติดตามและบริหารจัดการความเสี่ยงของคู่ค้าที่ดำเนินการในต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่การลงทุนที่ซับซ้อนและมีสภาพคล่องต่ำ อาทิ โครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งอาจระดมทุนได้หลายช่องทาง ธนาคารพาณิชย์ทำได้ทั้งให้กู้โดยตรงหรือเป็นที่ปรึกษา ในการระดมทุนซึ่งต้องเตรียมระบบการติดตามและบริหารจัดการความเสี่ยงให้พร้อม สำหรับตลาดทุนที่อาจระดมทุนโดยใช้รูปแบบ securitization อาทิ infrastructure fund ก็ต้องร่วมมือกับองค์กรกำกับดูแลเพื่อพัฒนาตราสารและกฎหมายรวมถึงการกำกับดูแลให้มีมาตรฐานสากลเพื่อขยายฐานระดมทุนไปยังนักลงทุนต่างประเทศ

(1.3) ความท้าทายด้านความจำเป็นในการเปลี่ยนรูปแบบการออมในประเทศส่วนใหญ่อยู่ในรูปเงินฝากหรือกองทุนที่มีลักษณะการลงทุนระยะสั้นไม่สอดคล้องกับรูปแบบการระดมทุนภาคเอกชนในอนาคตซึ่งเป็นการลงทุนระยะยาวและจำเป็นในการออมเพื่อเตรียมตัวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การส่งเสริมให้ออมระยะยาวจึงเป็นการลดความเสี่ยงในระบบสำหรับธนาคารพาณิชย์ทำได้โดยการระดมทุนในตราสารหนี้ที่มีอายุยาวขึ้นแต่การถือครองตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์ก็ยังมีความเสี่ยงด้านเครดิตอยู่จึงไม่ช่วยกระจายความเสี่ยงด้านเครดิตต่อผู้ออมจากธนาคารพาณิชย์

ตลาดทุนจึงต้องรับบทบาทหลักในการส่งเสริมการออมระยะยาวด้วยความหลากหลายของผลิตภัณฑ์และขยายฐานผู้ลงทุนเพื่อให้ตลาดมีสภาพคล่องสูงในระยะแรกก็คือการส่งเสริมให้กองทุนเพื่อการลงทุนระยะยาว ซึ่งเป็นตัวกลางทางการเงินที่สำคัญ อาทิ กองทุนบำเหน็จบำนาญ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนประกันสังคม หรือแม้กระทั่งกองทุนการออมแห่งชาติ สามารถบริหารจัดการลงทุนในตราสารระยะยาวที่หลากหลาย โดยไม่ติดกฎเกณฑ์ที่ไม่จำเป็นและมีความรู้ที่เพียงพอถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วนก่อนที่ภาคประชาชนจะมีความรู้พอที่จะตัดสินใจด้วยตนเอง

สำหรับนักลงทุนรายย่อยที่มีความรู้ความเข้าใจด้านการลงทุนระดับหนึ่งแล้วการเพิ่มช่องทางการลงทุนก็เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมการลงทุนระยะยาว ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ถือเป็นช่อทางหนึ่งที่ประชาชนจะเข้าถึงผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่เสนอโดยบริษัทหลักทรัพย์และบริษัทจัดการกองทุนที่เป็นบริษัทลูกอย่างไรก็ดีนักลงทุนรายย่อยจะได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นหากสามารถพัฒนาช่องทางที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ของบริษัทที่มีความหลากหลาย

(2) การแข่งขันในระบบสถาบันการเงินที่รุนแรงขึ้น

กระแสโลกาภิวัตน์ที่กระทบต่อประเทศไทยมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นทั้งจากการส่งเสริมการลงทุนต่างประเทศโดยภาครัฐ ความต้องการลงทุนของภาคเอกชน และแนวโน้มที่ต่างประเทศจะมาลงทุนในไทยมากขึ้น โดยใช้เป็น logistic hub เชื่อมต่อกับ new economic corridors การเร่งตัวของผลกระทบของกระแสโลกาภิวัตน์ต่อไทยจะส่งผลให้เกิดความท้าทายต่อระบบการเงิน 2 ประการ ดังนี้

(2.1) ฐานลูกค้ามี exposure กับต่างประเทศมากขึ้น โดยบริษัทขนาดใหญ่ในประเทศไทย ซึ่งเดิมใช้บริการธนาคารพาณิชย์ไทยเป็นหลักจะเริ่มลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้น และคุ้นชินกับการใช้บริการสถาบันการเงินระดับนานาชาติมากขึ้น ขณะที่บริษัทต่างประเทศที่จะมาตั้งสำนักงานในประเทศไทยหากพบว่าบริการทางการเงินมีราคาและคุณภาพแตกต่างจากที่เคยได้รับในต่างประเทศก็อาจหันกลับใช้บริการจากสถาบันการเงินต่างประเทศ ซึ่งคุ้นเคยอยู่แล้วเป็นหลัก

(2.2) ความสามารถในการแข่งขันเทียบกับสถาบันการเงินต่างประเทศ ปัจจุบันสัดส่วนของรายได้ของธนาคารพาณิชย์ชั้นนำของภูมิภาคอาเซียนที่มาจากธุรกรรมในต่างประเทศเฉลี่ยสูงกว่าสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยการที่สถาบันการเงินต่างประเทศมีแหล่งรายได้จากหลายประเทศนอกจากช่วยกระจายความเสี่ยงแล้ว หากสถาบันการเงินเหล่านั้นมีบริษัทลูก บริษัทร่วมทุน หรือสาขาในต่างประเทศ ก็จะได้เปรียบจากความกว้างขวางของเครือข่ายลูกค้า แหล่งระดมทุน ทรัพยากรมนุษย์ การถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้จากต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นจุดแข็งในการให้บริการธุรกิจในยุคโลกาภิวัตน์

ในบริบทของประเทศไทย โจทย์ที่จะต้องช่วยกันขบคิด คือ สถาบันการเงินไทย สามารถเพิ่มศักยภาพเพื่อใช้ประโยชน์จากปัจจัยเหล่านี้ได้หรือไม่ หากทำได้ดีก็ถือเป็นความสำเร็จ ความท้าทายที่รออยู่ ถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องปรับตัวให้เท่าทัน โดยทำอย่างมียุทธศาสตร์มีแผนที่ชัดเจน รอบคอบรัดกุมเป็นระบบ โดยร่วมมือกันอย่างสร้างสรรค์ทั้งภาครัฐและเอกชน ทุกภาคส่วนต้องยื่นมือเข้ามามีบทบาทร่วมกันในการพัฒนาระบบการเงินไทย ดังนี้

สถาบันการเงินต้องวางแผนธุรกิจที่เน้นการรุกอย่างมียุทธศาสตร์ถือเป็นหัวใจที่จะนำไปสู่การปรับตัวและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันเทียบกับสถาบันการเงินต่างประเทศ ซึ่งตามแผน Financial Sector Master Plan II ก็จะเปิดให้มีการแข่งขันจากต่างประเทศมากขึ้นทั้งในรูปแบบการออกใบอนุญาตใหม่และการเจรจาต่อรองให้ใบอนุญาตภายใต้กรอบ Qualified ASEAN Bank

ภาครัฐก็มีบทบาทในการสร้าง regulatory environmentที่เอื้อให้สถาบันการเงินทำธุรกิจได้เต็มประสิทธิภาพ โดยลดกฎเกณฑ์ที่ไม่จำเป็น รวมทั้งสร้างสัมพันธ์อันดีกับองค์กรกำกับดูแลต่างประเทศรวมถึงธนาคารกลางเพื่อช่วยประสานเรื่องกฎระเบียบต่างๆ ที่อาจเป็นอุปสรรคต่อภาคเอกชน

ขณะที่องค์กรกำกับดูแลต้องเตรียมระบบติดตามและดูแลความเสี่ยงรูปแบบใหม่ๆ ที่มาพร้อมกับการพัฒนาระบบการเงินเพื่อไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินจนทำให้พัฒนาการของประเทศสะดุดลงอนาคตการประสานงานระหว่างองค์กรกำกับดูแล โดยเฉพาะธปท. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) รวมถึงองค์กรกำกับดูแลอื่นๆ ก็ควรประสานงานและประสานนโยบายอย่างใกล้ชิดทั้งเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจการเงินและการคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน

บทบาทร่วมระหว่างภาครัฐ และเอกชนมีบทบาทเสริม ซึ่งกันและกันในการพัฒนาระบบสถาบันการเงิน โดยมีเป้าหมายร่วมกัน

ในการตอบสนองความต้องการผู้ใช้บริการให้ดีขึ้นและปรับศักยภาพในการแข่งขัน ภาคเอกชนจะมีความเข้าใจสภาพการแข่งขันทางธุรกิจและข้อจำกัดที่ปิดกั้นไม่ให้แข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่ภาครัฐสามารถเอื้ออำนวยและประสานงานเพื่อลดอุปสรรคได้

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2556

วช.เดินหน้ายุทธศาสตร์การวิจัยพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อย-น้ำตาล

นายกฤษณ์ธวัช นพนาคีพงษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มีนโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัยรายประเด็น และการจัดสรรทุนวิจัยแบบมุ่งเป้า โดยในปีที่ผ่านมาได้เน้นไปที่ 5 เรื่อง คือ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง การท่องเที่ยว และระบบโลจิสติกส์ ซึ่งผลดำเนินการเป็นไปด้วยดี ในปี 2556 รัฐบาลจึงจัดงบพิเศษเพื่อการวิจัยแบบมุ่งเป้าอีก 1,000 ล้านบาท และ วช.ได้จัดงบประมาณสบทบอีก 100 ล้านบาท รวมเป็น 1,100 ล้านบาท โดยได้เพิ่มเรื่องที่จะใช้งบวิจัยแบบมุ่งเป้าอีก 6 เรื่องหนึ่งในนั้นคือเรื่องอ้อยและน้ำตาล เนื่องจากเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย โดย วช. ร่วมกับเครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (คอบช.) มอบให้ศูนย์ความเป็นเลิศทางวิชาการด้านอ้อย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จัดทำร่างยุทธศาสตร์การวิจัยรายประเด็นด้านอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2556-2559 ขึ้น

สำหรับยุทศาสตร์การวิจัยอ้อย และน้ำตาลทราย พ.ศ. 2556-2559 ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ คือ 1.การวิจัยเพื่อพัฒนาระบบการจัดการทรัพยากรและปัจจัยการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ 2.การวิจัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อการแข่งขัน 3.การวิจัยเพื่อพัฒนาเครื่องมือและการจัดการฟาร์มในอุตสาหกรรมอ้อย น้ำตาลทราย และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง4.การวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์จากอุตสาหกรรมอ้อย น้ำตาลทราย และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และ 5.การวิจัยเพื่อพัฒนาระบบการเรียนรู้ เพื่อเพิ่มศักยภาพของอุตสาหกรรมอ้อยน้ำตาลทรายและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ให้พร้อมต่อการแข่งขันในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและโลก ซึ่งแต่ละยุทธศาสตร์จะการนำไปแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างผู้มีความรู้และผู้เกี่ยวข้อง ก่อนนำไปปรับปรุงยุทธศาสตร์การวิจัยรายประเด็นด้านอ้อยและน้ำตาลทรายให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น และบรรลุเป้าหมายการพัฒนาการผลิตอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบต่อไป

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2556

โอกาสของไทยในAEC

เราเปิดเสรีการค้าให้กับประเทศต่างๆ ในกลุ่มอาเซียนมาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 แล้ว แต่ก็เป็นการเปิดที่มีเงื่อนไข โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ที่ยังมีหลายรายการที่ประเทศไทยยังขอสงวนไว้เป็นสินค้าอ่อนไหว เรายังไม่ได้เปิดเสรีในการค้าข้าว ยกเว้นปลายข้าวที่เปิดเสรี แต่ก็ยังมีเงื่อนไขว่า จะนำปลายข้าวเข้ามาได้ก็ต่อเมื่อภายในประเทศขาดแคลนเท่านั้น

เรายังไม่เปิดเสรีเมล็ดกาแฟ ซึ่งหมายถึงว่า ภาษีนำเข้าเมล็ดกาแฟยังไม่เป็นอัตรานำเข้า 0 % เพราะหากนำเข้าได้แบบเสรีและปลอดภาษี ป่านนี้ประเทศลาว คงส่งเมล็ดกาแฟแบบไม่เสียภาษีเข้าไทยมาแล้ว นี่เป็นตัวอย่างตามข้อเท็จจริงครับ

ทั้ง 6 ประเทศ คือ ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และบรูไน อ้าแขนเปิดการค้าเสรี (ส่วนใหญ่)ไปแล้วตั้งแต่ต้นปี 2553 แต่ยังรอ หรือ ให้เวลาประเทศสมาชิกอีก 4 ราย ให้เปิดการค้าเสรีในปี 2558 ซึ่งได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม ซึ่งเป็นน้องใหม่อาเซียน

มุมมองเฉพาะสินค้าเกษตรเพียงอย่างเดียวพบว่า นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 เรามีตัวเลขการค้าแก่กันคิดเป็นมูลค่าประมาณปีละ 2.6 แสนล้านบาท เราได้เปรียบดุลการค้า 1.6 แสนล้านบาท ซึ่งช่วงปี 2554-2555 ตัวเลขการค้าแก่กัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 3.2-3.4 แสนล้านบาทต่อปี และยังได้เปรียบดุลการค้ากว่า 2 แสนล้านบาทด้วย นั่นก็แสดงว่า เรายังเติบโตได้ดีแม้จะเปิดการค้าเสรีไปแล้วก็ตาม

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของทางการไทยมองว่า การขยายฐานการผลิตของภาคเกษตรอุตสาหกรรมเกษตร เช่น อุตสาหกรรมน้ำตาล อุตสาหกรรมปศุสัตว์ ไก่ สุกร อุตสาหกรรมแป้งมัน อุตสาหกรรมประมง อาหารทะเล เป็นต้น เราสามารถย้ายฐานการผลิตไปตั้งยังประเทศเพื่อนบ้านได้ เพราะมีแหล่งวัตถุดิบและแรงงานที่ถูกลงรวมทั้งมีสิทธิพิเศษ ทางการค้า GSP จากประเทศยุโรป เพื่อผลิตสินค้าส่งกลับมายังประเทศไทยหรือส่งออกไปยังประเทศที่สามโดยตรง

ในทรรศนะของผมนั้นมองเห็นต่างกันไปบ้าง ว่าด้วยเรื่องการขยายฐานการผลิต หรือแม้แต่ย้ายฐานการผลิต เพราะบางอย่างเป็นไปได้ยาก อาทิ การย้ายฐานการเลี้ยงสุกร หรือการเลี้ยงไก่ เป็นต้น เราไปสร้างฐานใหม่ในประเทศเพื่อนบ้านได้ แต่ความไม่พร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานยังห่างไกล ระบบไฟฟ้ายังขาดความมั่นคง คงต้องใช้เวลาพัฒนาทางด้านนี้อีกหลายปี แรงงานก็หายาก เนื่องจากแรงงานส่วนใหญ่ก็เข้ามาขายแรงงานในไทยอยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นด้านกิจการประมง ด้านอาหารทะเล อย่างนี้ก็สามารถเข้าไปดำเนินการได้เลย รวมทั้งอุตสาหกรรมแป้งมันด้วย

แรงงานในพม่า แรงงานในกัมพูชา และแรงงานในลาว ผมยังเชื่อว่า เขาสมัครใจที่จะเข้ามาขายแรงงานในไทย มากกว่าที่จะรับค่าจ้างแรงงานถูกๆ ในประเทศของเขา เพราะเมืองไทยเจริญกว่า ศิวิไลซ์กว่า มาตรฐานการครองชีพดีกว่า โอกาสเข้าถึงยาและการรักษาพยาบาลมีมากกว่า จะเดินทางกลับบ้านจากเมืองไทยไปบ้านของเขาก็สะดวกดีด้วย แล้วทำไมจะไม่อยู่ทำงานในไทยหล่ะ

ซึ่งข้อเท็จจริงก็ยังปรากฏอยู่ทุกวันนี้ ไปไหนต่อไหนในประเทศเหล่านี้ ยังขาดแคลนแรงงานไม่ต่างกับประเทศไทยแต่อย่างใด หากใครคิดว่าหาแรงงานในประเทศเหล่านี้ได้ง่ายๆ ลองมองหาแรงงานที่มีความรับผิดชอบสูง ไม่ขาดไม่ลาโดยไม่มีเหตุผล ทำงานให้ได้กะละ 8 ชั่วโมง ก็ลองดูสิครับ

บริษัทใหญ่ๆในไทย เข้าไปประเทศกว่า 20 ปีมาแล้ว บางบริษัทก็เข้าไปทำธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้านตั้งแต่เกิดศึกสงครามเวียดนามเสียด้วยซ้ำ บริษัทใหญ่มีเครือข่ายดีและเข้าถึง บ้างก็ไปกว้านซื้อที่ดิน หรือไปทำ"คอนแทร็กต์ ฟาร์มมิ่ง" ไว้ แล้วทำการผลิตอาหารสัตว์ก่อนส่งมาเลี้ยงปศุสัตว์ในไทย ผลที่ได้ก็คือต้นทุนอาหารสัตว์ต่ำกว่า กสิกรไทยที่เลี้ยงสัตว์ในไทย จึงมีโอกาสแข่งขันได้ดีกว่าในท้องตลาด ความจริงแล้วในภูมิภาคอาเซียนมีโอกาสเยอะมากๆ ที่จะให้ลงทุนและสร้างผลกำไร เพียงแต่ว่า คนไทยเพียงส่วนน้อยครับ ที่กล้าคิด กล้าทำ กล้าตัดสินใจลงทุน ผมว่าตัดสินใจลงทุนในวันนี้ก็ยังไม่สายเกินไปครับ

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 10 มีนาคม 2556

อาเซียนซ่อนดาบ ออกกฎกีดกันค้า

เสรีค้าอาเซียนรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนปี 58 ไส้ในติดดาบกีดกันกันสุดฤทธิ์ อินโดฯ มาเลย์ ฟิลิปปินส์ไทย หัวขบวนออกมาตรการที่เป็นอุปสรรคการค้าย้อนหลัง ทั้งออกกฎระเบียบนำเข้าใหม่ที่เป็นอุปสรรคทางเทคนิค และมาตรการสุขอนามัย

นายเปรมชัย กรรณสูต กรรมการผู้จัดการไอทีดี และ นายอู ฮัน เสียน รมช.คมนาคม เมียนมาร์ ลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกันเบื้อต้น โดยมี นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นสักขีพยาน เมื่อวันที่ 7 มีนาคมที่ผ่านมาสภาหอฯสั่งจับตาแผนขจัดเอ็นทีบีของอาเซียนให้หมดไปในปี 58 ทำได้จริงหรือราคาคุย ขณะ "ดร.สมชาย" เชื่อที่สุดต้องเป็นมาตรฐานเดียวกัน

จากการที่ปี 2558 มี 10 ชาติสมาชิกอาเซียน ประกอบด้วย ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไน กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม จะมีการเปิดเสรีทางการค้าอย่างเต็มรูปแบบ โดยสัดส่วนสินค้าเกือบ 100% ที่ค้าขายกันจะลดภาษีลงเป็น 0% ซึ่งในอีกมุมหนึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการภายในของแต่ละประเทศที่มีจุดแข็งและจุดอ่อนของสินค้าที่แตกต่างกัน นำมาซึ่งการออกกฎระเบียบใหม่ที่เป็นอุปสรรคทางการค้าระหว่างกันอยู่ในขณะนี้ ทั้งนี้จากการตรวจสอบข้อมูลที่จัดทำโดยกรมการค้าระหว่างประเทศของ "ฐานเศรษฐกิจ"ถึงมาตรการทางการค้าระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียน พบหลายมาตรการที่เป็นอุปสรรคและนำสู่การเป็นมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี(NTBs)

โดยในส่วนของประเทศ อินโดนีเซียได้มีมาตรการให้ขออนุญาตนำเข้า เช่น ข้าว , น้ำมันหล่อลื่น, เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์, เครื่องยนต์,แทรกเตอร์, เครื่องมือ (ใช้งานด้วยมือ), สารให้ความหวานสังเคราะห์,เครื่องยนต์และปั๊ม, แทรกเตอร์, ท่อส่งน้ำมัน และระเบิด เป็นสินค้าที่มีเงื่อนไข/จำกัดการนำเข้า ผู้ที่จะสามารถนำเข้าได้ จะต้องผ่านการรับรอง/จดทะเบียน ผู้นำเข้าที่เป็นผู้ผลิต ผู้นำเข้าที่เป็นผู้ขาย หรือรัฐวิสาหกิจ เช่น DAHANA , PERTAMINA และ BULOG ส่วนสินค้าเนื้อสัตว์ และสิ่งมีชีวิต ต้องขออนุญาตนำเข้าเพื่อป้องกันโรค, ยาและผลิตภัณฑ์ ต้องมีการจดทะเบียนและขออนุญาตนำเข้าจากกระทรวงสาธารณสุขของอินโดนีเซีย

นอกจากนี้อินโดนีเซียยังมีมาตรการใบอนุญาตนำเข้าพิเศษออกโดยกระทรวงการค้าของอินโดนีเซีย ในสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ/ของเล่นเด็ก-เสื้อผ้าสำเร็จรูป/ผ้าผืน/สิ่งทอ/เครื่องหนัง/รองเท้า/ถั่วเหลือง/ข้าวโพด/ข้าว/น้ำตาล, มาตรการกำหนดปริมาณการนำเข้าในสินค้าน้ำตาลทราย ที่กำหนดให้ผู้นำเข้ามี 2 ประเภทคือ ประเภทผู้ผลิต หรือผู้นำเข้าจดทะเบียนเท่านั้น อีกทั้งยังได้กำหนดโควตาการนำเข้าน้ำตาลทรายขาวโดยจะเปลี่ยนแปลงในแต่ละปีขึ้นกับผลผลิตและความต้องการใช้ในประเทศ โดยกำหนดช่วงเวลา ส่งมอบระหว่างเดือนมกราคม-พฤษภาคมของทุกปี

ส่วนมาเลเซีย มีมาตรการควบคุมการนำเข้าข้าว โดยมอบหมายให้องค์การข้าวและข้าวเปลือกแห่งชาติ (BERNAS)นำเข้าแต่เพียงผู้เดียว, มาตรการสุขอนามัยในสินค้าผลไม้ เช่น มะม่วง ทุเรียน ลำไย ในการนำเข้าต้องมีใบรับรองศัตรูพืช ต้องได้รับใบอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในสินค้า 19 ชนิดได้แก่ ปศุสัตว์ ผลิตภัณฑ์นม ยาสูบ กะหล่ำปลี กาแฟ แป้งสาลี และน้ำตาล สัตว์ปีก ผลิตภัณฑ์นม ไข่ ผักคะน้า และผลิตภัณฑ์สุกร เป็นสินค้าที่มีโควตาภาษี, มาตรการกีดกันด้านเทคนิค(TBT) ในสินค้าเครื่องสุขภัณฑ์เซรามิก ต้องให้หน่วยงานของมาเลเซียมาตรวจรับรองโรงงานก่อน และเมื่อมีการส่งออกจะต้องแนบใบรับรองผลิตภัณฑ์ไปพร้อมกับการยื่นขอใบรับรองการตรวจสอบ ณ ด่านนำเข้า และสินค้าจะถูกสุ่มตรวจทุกล็อต

ด้านฟิลิปปินส์ มีมาตรการ TBT ที่สำคัญคือ สินค้าประมงแช่เย็นและแช่แข็ง ต้องปิดฉลากระบุประเทศที่ผลิต สายพันธุ์สัตว์น้ำ น้ำหนัก ส่วนประกอบ ที่อยู่ผู้จำหน่าย และประทับเครื่องหมายว่าผ่านการตรวจรับสำนักงานประมง และทรัพยากรทางน้ำ(BFAR) ของฟิลิปปินส์แล้ว สินค้าไก่สดและไก่แช่แข็ง เนื้อวัวสดและแช่แข็ง เนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์ ต้องผ่านการตรวจรับรองจากหน่วยงานของฟิลิปปินส์ และต้องมีใบอนุญาตการนำเข้า และสินค้าผักและผลไม้สดอนุญาตให้นำเข้าผลไม้สดได้เฉพาะมะขามและลองกอง

สิงคโปร์ ในสินค้าข้าว ต้องขอใบอนุญาตนำเข้า และต้องดำเนินการในลักษณะการสำรองข้าว โดยผู้นำเข้าข้าวต้องสำรองข้าวสารในปริมาณ 2 เท่าของปริมาณที่นำเข้าแต่ละเดือน และข้าวที่สำรองต้องเก็บไว้ในโกดังสินค้าของรัฐบาล, มาตรการ TBT ในสินค้าอาหาร ต้องติดฉลากเป็นภาษาอังกฤษ ขนาดตัวอักษรสูงไม่น้อยกว่า 3 มิลลิเมตร

บรูไน มีมาตรการด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชและสัตว์ โดยสินค้าพืชต้องได้รับการตรวจสอบจากกระทรวงเกษตรของบรูไนก่อนนำเข้า และต้องได้รับการตรวจสอบที่ต้นทางก่อนการนำเข้าไม่เกิน 14 วัน ก่อนการขนส่งจริง(ยกเว้น ผัก ผลไม้ ชา กาแฟ เครื่องเทศ ธัญพืช และเมล็ดพันธุ์) นอกจากนี้ในสินค้าข้าวและน้ำตาล การนำเข้าสินค้าทั้งสองชนิดต้องผ่านการเจรจาระดับรัฐบาลต่อรัฐบาล และผู้ส่งออกของประเทศนั้นๆ จะต้องได้รับใบอนุญาตจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเป็นกรณีพิเศษด้วย

เวียดนาม สินค้าที่จำหน่ายภายใน และสินค้านำเข้าประเภทยา เวชภัณฑ์ รวมถึงยาฆ่าแมลงและสินค้าเคมีภัณฑ์ต่าง ๆ การติดฉลากจะต้องมีภาษาเวียดนามบอกถึงรายละเอียดของสินค้าและวิธีการใช้, สินค้าเกษตรและอาหารผู้นำเข้าจะต้องยื่นคำร้องขออนุญาตนำเข้าพร้อมเอกสารทางไปรษณีย์ และจะแจ้งผลการพิจารณาทางไปรษณีย์เท่านั้นซึ่งจะทำให้เกิดความล่าช้า

เมียนมาร์มีมาตรการตรวจสอบและกักกันสินค้าอาหาร ที่ต้องได้รับการตรวจสอบเพื่อให้แน่ใจในเรื่องคุณภาพความปลอดภัย และสุขอนามัยของอาหาร ,สินค้าจำเป็น เช่นเครื่องจักร วัตถุดิบสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม วัสดุที่ใช้ในการเกษตร(ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ยากำจัดศัตรูพืช เมล็ดพันธุ์) วัสดุก่อสร้าง ยานยนต์ วัสดุทางการแพทย์ กำหนดสัดส่วนต้องนำเข้าสินค้าจำเป็น 80% ของการนำเข้าทั้งหมดก่อน จึงจะสามารถสินค้าอื่นๆ ที่กำหนดไว้อีก 20% ได้ และต้องทำการขนส่งสินค้าทั้งหมดพร้อมกัน

ขณะที่กัมพูชา การนำเข้าสินค้าเกษตรทั่วไป และผลิตภัณฑ์ยาต้องมีใบอนุญาตที่ออกจากกระทรวงสาธารณสุขกัมพูชา สินค้าบรรจุภัณฑ์ ผู้ผลิตสินค้าจะต้องปิดฉลากเป็นภาษาเขมร และระบุรายละเอียดของสินค้า และลาว ส่วนใหญ่เป็นมาตรการป้องกันและควบคุมสินค้านำเข้าที่ต้องได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

"มาตรการต่างๆ ที่กล่าวมาถือเป็นมาตรการทางการค้า หรือ NTMs(Non-Tariff Measures )ที่ออกมาเพื่อปกป้องตัวเอง ซึ่งถือว่าไม่ขัดกับข้อยกเว้นทั่วไปของความตกลงองค์การการค้าโลก หรือ WTO ที่แต่ละประเทศสามารถออกกฎระเบียบได้ แต่หากออกมาแล้วกลายเป็นอุปสรรคทางการค้า ประเทศคู่ค้าไม่สามารถปฏิบัติได้ถือเป็นมาตรการกีดกันการค้าที่มิใช่ภาษี หรือ NTBs (Non-Tariff Barriers)"

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ประธานคณะกรรมการธุรกิจเกษตรและอาหาร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เท่าที่ติดตามสมาชิกอาเซียนยังมีการออกกฎระเบียบย้อนหลังที่เป็นอุปสรรคทางการค้าระหว่างกันออกมาอย่างต่อเนื่อง(ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย) หลังจากที่ในปี 2553 สมาชิกเดิมของอาเซียน 6 ประเทศประกอบด้วยไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และบรูไนได้เปิดเสรีการนำเข้าสินค้าระหว่างกัน โดยสัดส่วนสินค้ากว่า 98% ที่ค้าขายระหว่างกันได้ลดภาษีนำเข้าลงเป็น 0%แล้ว เช่นเวลานี้ อินโดนีเซียมีการกำหนดท่าเรือในการนำเข้าสินค้า ทำให้ผู้ส่งออกไทยมีต้นทุนที่สูงขึ้น โดยอ้างไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก ขณะที่มาเลเซีย ในสินค้าแป้งข้าวเจ้ารัฐบาลได้โอนอำนาจในการตัดสินใจในเรื่องโควตานำเข้าให้ภาคเอกชนเป็นผู้บริหารจัดการ ซึ่งในข้อเท็จจริงก็เป็นการกีดกันนำเข้านั่นเอง

"ในทางกลับกันประเทศไทยเราเองก็ใช่ย่อย มีการออกกฎระเบียบใหม่ๆ ในสินค้าเกษตรหลายรายการ เช่น ข้าว มันสำปะหลัง หอมแดง ยางรถยนต์ใหม่ ที่ทำให้สินค้าของประเทศเพื่อนบ้านเข้ามายากขึ้น ซึ่งในเรื่องมาตรการเอ็นทีบีนี้อาเซียนมีข้อตกลงที่ต้องขจัดให้หมดไปภายในปี 2558 โดยให้แต่ละประเทศยื่นรายการสินค้าที่จะยกเลิกการใช้มาตรการกีดกันกับคณะมนตรีอาฟต้า(อาฟต้าเคาน์ซิล) ซึ่งแต่ละประเทศจะทำได้แค่ไหนจะมีการวัดผลโดยการให้คะแนน(Scorecard) ซึ่งคงต้องติดตาม"

ขณะที่ รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ และการเมือง ชี้ว่ามาตรการเอ็นทีบีของอาเซียนซึ่งทุกประเทศต่างก็มี เช่นในสินค้าข้าวของไทยหรือเวียดนาม จากนี้ไปคงต้องหารือกันเพื่อลดความแตกต่าง และสร้างให้เป็นมาตรฐานนำเข้าเดียวกัน ซึ่งหลังปี 2558 ที่อาเซียนจะรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี) เชื่อว่าภาพนี้คงจะเกิดขึ้น

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 10 มีนาคม 2556

แนวทางปฏิรูปอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล

ทีดีอาร์ไอเสนอแนวทางการปฏิรูปอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในประเทศไทย ให้มีการปรับปรุงเป็นระบบที่พึ่งตัวเองได้

ทีดีอาร์ไอเปิดงานวิจัย “การศึกษาเพื่อปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทย”โดย ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง และ คณะได้ชี้ให้เห็นว่า ระบบแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างชาวไร่และโรงงานในสัดส่วน70:30 ที่ใช้มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2525/26 ควรได้รับการปรับปรุงให้เป็นระบบที่พึ่งตัวเองได้ ให้โรงงานมีแรงจูงใจและมีอิสระในการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิต แต่ในขณะเดียวกันก็ควรแบ่งผลประโยชน์ให้เกษตรกรเพิ่มขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับการที่โรงงานมีรายได้จากผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ จากอ้อยมากขึ้น ทางคณะผู้วิจัยยังมีความเห็นว่า การแทรกแซงของรัฐในอุตสาหกรรมนี้มีโอกาสที่จะสร้างระบบที่มีประสิทธิภาพมากกว่ากรณีที่ไม่มีการแทรกแซง

ทั้งนี้ เนื่องจากตลาดน้ำตาลของไทยเป็นตลาดที่มีผู้ผลิตน้อยรายในขณะที่ตลาดอ้อยเป็นตลาดที่ทั้งฝ่ายโรงงานและฝ่ายเกษตรกรที่สามารถรวมตัวกันอย่างเข้มแข็งต่างก็มีอำนาจการต่อรองสูงทั้งคู่ถ้าปล่อยให้สองฝ่ายเจรจาต่อรองกันเองก็อาจเกิดกรณีที่ไม่สามารถตกลงกันได้หรืออาจมีต้นทุนการเจรจาที่สูงมาก ทางทีมวิจัยเสนอให้ปรับเปลี่ยนกฎกติกาให้มีความรัดกุมมากขึ้น รวมทั้งยกร่าง พ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาลทรายฉบับใหม่ขึ้นมาด้วย

ปัญหาที่สำคัญของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทย

• ระบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบันไม่สามารถแก้ปัญหาน้ำตาลหายไปจากตลาดในประเทศในช่วงที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกสูงกว่าราคาในประเทศ
• การกำหนดราคาอ้อยที่ผ่านมาใช้วิธีการจัดการที่ซับซ้อน รวมทั้งอาศัยแรงกดดันทางการเมือง ในขณะเดียวกันวิธีการคิดส่วนแบ่งก็ไม่ได้คำนึงถึงรายได้จากผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในระยะหลัง ซึ่งชาวไร่เห็นว่าไม่เป็นธรรม
• ระบบแบ่งปันผลประโยชน์ที่ใช้ในปัจจุบัน มีการควบคุมทุกขั้นตอน ทำให้โรงงานขาดความคล่องตัวในการปรับการผลิตให้สอดคล้องกับภาวะตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งไม่สามารถนำน้ำอ้อยมาผลิตเอทานอลในช่วงที่มีความต้องการสูงเช่นในปัจจุบัน

ดร. วิโรจน์ กล่าวว่า หัวใจของข้อเสนอการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทยคือ การกำหนดและปรับปรุงกติกาต่าง ๆ ของระบบให้เป็นกติกาที่สะท้อนและสอดคล้องกับคุณสมบัติที่ดีของตลาดที่มีการแข่งขันมากที่สุด และสามารถปรับตัวตามตลาดได้
ตัวอย่างเช่น ในระบบปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ได้จากอ้อยที่ไม่ได้ถูกนำมารวมในการคำนวณราคาอ้อย ดังนั้น ถ้าการคำนวณราคาอ้อยยังอิงผลิตภัณฑ์เดิม ส่วนแบ่งของชาวไร่อ้อยก็ควรต้องเพิ่มขึ้นมากกว่าสัดส่วน 70:30 ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้รัฐบาลอินเดียก็เสนอระบบที่ให้คิดส่วนแบ่งจากรายได้จากทุกผลิตภัณฑ์ที่ 70:30 แต่ให้เพิ่มเป็น 75:25 ถ้าคิดเฉพาะรายได้จากน้ำตาล

นอกจากนี้ กติกาที่นำมาใช้ควรเป็นกติกาที่สามารถช่วยแก้ปัญหาที่เกิดจากระบบตลาด เช่น ความผันผวนของราคาน้ำตาลในตลาดโลกซึ่งน้ำตาลเป็นสินค้าที่มีราคาผันผวนมาก โดยผู้วิจัยได้เสนอให้ปรับให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายมาทำหน้าที่รักษาเสถียรภาพอย่างเป็นระบบ
ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ กติกาที่ใช้ควรเป็นกติกาที่สามารถอ้างอิงตัวแปรที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปมากขึ้น เพื่อลดภาระในการเจรจาต่อรองและในการควบคุมให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้

สรุปข้อเสนอการปฎิรูปโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทย

1. ข้อเสนอสำหรับตลาดน้ำตาลภายในประเทศ

• ให้รัฐเลิกควบคุมราคาน้ำตาลและหันมาควบคุมปริมาณแทน–เมื่อรัฐเลิกควบคุมราคาก็จะไม่มีปัญหาเรื่องน้ำตาลหายไปจากตลาดอีกต่อไป และถ้ารัฐควบคุมให้มีปริมาณน้ำตาลเพียงพอสำหรับการบริโภคและอุตสาหกรรมในประเทศราคาน้ำตาลภายในประเทศก็จะไม่สูงกว่าที่ควรจะเป็น นอกจากนี้ ผู้วิจัยยังเสนอให้รัฐอนุญาตให้นำเข้าน้ำตาลทรายโดยเสรีเพื่อป้องปรามการรวมหัวกันตั้งราคาน้ำตาลที่สูงเกินควร (แต่ในสถานการณ์ปกติที่ไม่มีพฤติกรรมการตั้งราคาแบบผูกขาดนั้น มาตรการนี้จะไม่ส่งผลกระทบใดๆ เพราะจะไม่คุ้มที่จะนำเข้าน้ำตาลจากต่างประเทศเข้ามาแข่ง)

2. ข้อเสนอในการกำหนดราคาอ้อยและการปรับบทบาทของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายในด้านการรักษาเสถียรภาพราคาอ้อย

• ใช้สูตรกำหนดราคาอ้อยราคาเดียวเท่ากันทั้งประเทศ– โดยกำหนดค่าประสิทธิภาพมาตรฐานสำหรับทุกโรงงาน และราคาอ้อยคิดตามความหวาน (CCS) ล้วนๆ

• ยึดตัวเลขส่วนแบ่งเดิมคือ 70:30– แต่ปรับวิธีการคำนวณที่ทำให้ชาวไร่ได้ส่วนแบ่งเพิ่มขึ้น โดยคำนวณรายรับจากน้ำตาลทรายดิบและน้ำตาลทรายขาวอย่างละครึ่ง และคิดมูลค่าของกากน้ำตาล (โมลาส) เพิ่มอีกร้อยละ 8 ของราคาน้ำตาล

• กำหนดกติกาการเก็บเงินเข้าและจ่ายเงินออกจากกองทุนอ้อยและน้ำตาล เพื่อให้สามารถทำหน้าที่รักษาเสถียรภาพได้จริง– เปลี่ยนกติกาการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและขั้นสุดท้าย รวมทั้งกติกาการเก็บเงินเข้ากองทุนฯ ทั้งจากชาวไร่และโรงงาน เพื่อให้มีหลักประกันว่าในปีที่น้ำตาลราคาดีจะมีการเก็บเงินเข้ากองทุนเพื่อรักษาเสถียรภาพไม่ใช่ต้องใช้วิธีไปกู้เงินทุกครั้งที่ต้องใช้เงินดังเช่นที่ผ่านมา

3. ข้อเสนอด้านองค์กรและกฎหมาย – ปรับองค์กรให้สอดคล้องกับข้อเสนอสามด้านแรก ดังนี้

• ในระดับกรรมการ– โอนอำนาจของคณะกรรมการอ้อยไปให้คณะกรรมการบริหาร (เนื่องจากไม่มีนโยบายจำกัดการปลูกอ้อยดังเช่นในอดีต)และให้คณะกรรมการน้ำตาลทรายทำหน้าที่กำหนดโควต้าน้ำตาลภายในประเทศทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของระบบใหม่ คือ ลดการควบคุมและเพิ่มความคล่องตัว
• บริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย (อนท.) –ทำราคาน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์เพิ่มอีกปีละ 4 แสนตัน
• บทบาทของกระทรวงพาณิชย์ –ให้เลิกควบคุมราคาแต่หันมาดูแลไม่ให้มีการผูกขาดหรือฮั้วราคาของกลุ่มผู้ผลิต
• กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย –แยกบัญชีเป็นกองทุนย่อยสำหรับรักษาเสถียรภาพโดยเฉพาะ โดยห้ามนำเงินส่วนนี้ไปใช้อย่างอื่น
• ตั้งสถาบันวิจัยอ้อยน้ำตาล และผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง–เพื่อการพัฒนาของอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน
• ศูนย์บริหารการผลิตการจำหน่ายและการขนย้ายน้ำตาลทราย–พัฒนาระบบการวัดค่าความหวานของอ้อย (ค่า CCS) ให้เป็นที่น่าเชื่อถือมากขึ้น

แม้ว่าการปรับระบบตามข้อเสนอชุดนี้สามารถทำได้ทุกข้อภายใต้ พรบ.อ้อยและน้ำตาลทราย พศ.2527 แต่ทีมวิจัยได้ยกร่าง พรบ.อ้อยและน้ำตาลทรายฯ ฉบับใหม่เพื่อเป็นหลักประกันให้มีการดำเนินการตามข้อเสนออย่างคงเส้นคงวา ไม่เปลี่ยนกลับไปกลับมาตามดุลยพินิจของผู้บริหารโดย พรบ.ใหม่จะช่วยลดความคลุมเครือและกำหนดกติกาและแนวทางปฎิบัติที่ชัดเจนและรัดกุมมากขึ้น เช่น การกำหนดกติกาการซื้อขายและสูตรการคำนวณราคาอ้อยการแยกบัญชีกองทุนย่อยออกมาเพื่อทำหน้าที่รักษาเสถียรภาพของระบบ และการกำหนดกติกาการควบคุมของคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ให้ชัดเจนมากขึ้น และในขณะเดียวกันก็ปรับเปลี่ยนวิธีการควบคุมที่ไม่จำเป็นและไม่มีประสิทธิภาพ เช่น ยกเลิกการควบคุมราคาน้ำตาลภายในประเทศและหันมาควบคุมให้มีปริมาณน้ำตาลเพียงพอสำหรับผู้บริโภคและอุตสาหกรรมในประเทศแทน

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 9 มีนาคม 2556

รมต.อาเซียน10ประเทศเร่งรัด ข้อตกลง "เออีซี"ให้ทันสิ้นปี’58

นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (AEM Retreat) ครั้งที่ 19 เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2556 ที่ผ่านมา ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม เป็นการหารืออย่างไม่เป็นทางการของรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจอาเซียน 10 ประเทศ เพื่อกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี)ให้ทันตามกำหนดเวลา ในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 พร้อมทั้งหารือการขยายความสัมพันธ์กับประเทศคู่ค้าอาเซียน

การประชุมครั้งนี้ ได้มีการหารือเกี่ยวกับข้อเสนอของฮ่องกงในการเข้าเป็นภาคีความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน ซึ่งไทยสนับสนุนฮ่องกงในการทำความตกลงการค้าเสรีร่วมกับอาเซียน โดยที่ประชุมเห็นพ้องว่าควรพิจารณาในลักษณะเป็นความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ฮ่องกง ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน ที่ได้เจรจาจบไปแล้ว โดยมอบหมายให้เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียนหารือในรายละเอียดต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าการดำเนินการเจรจาจัดทำความตกลงพันธมิตรทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership หรือเรียกว่า “RCEP” หรือ ASEAN+6 FTA ระหว่างอาเซียนกับจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย) โดยรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้เห็นชอบการจัดตั้งคณะเจรจา RCEP รวมทั้งเห็นควรให้อาเซียนให้ความสำคัญกับการเจรจาเรื่องนี้เป็นลำดับแรกเพื่อให้สามารถหาข้อสรุปขอบเขตการเจรจาและการเจรจาความตกลง เพื่อดำเนินการเจรจาให้บรรลุเป้าหมายตามกำหนดเวลาในปี 2015

ประเด็นมาตรการที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers) เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่อาเซียนให้ความสำคัญ โดยได้หารือแนวทาง Non-Tariff Barriers ให้มีประสิทธิภาพ เห็นควรให้เร่งดำเนินการจัดทำแผนการดำเนินงานในเรื่องมาตรการที่มิใช่ภาษีของอาเซียน (Work Programme on ASEAN NTMs) สำหรับปี 2013 -2014 เพื่อให้รัฐมนตรีเศรษฐกิจพิจารณารับรองในช่วงการประชุม AEM เดือนสิงหาคม 2013

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 9 มีนาคม 2556

มาตรฐานผลิตภัณฑ์' สมอ.ยกระดับรับเออีซี

สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหรือสมอ.ถือได้ว่ามีบทบาทสำคัญในการคุ้มครองอุตสาหกรรมในประเทศและคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไป ทำให้มีการกำหนดกรอบกติกามาตรฐานผลิตภัณฑ์ของแต่ละประเทศให้มีความสอดคล้องและยอมรับกัน

สุรพงษ์ เชียงทอง การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี ในปี 2558 จึงเป็นสิ่งที่ท้าทาย ที่สมอ. จะเตรียมตัวผลิตภัณฑ์ต่างๆที่ไม่ได้มาตรฐานและจะทะลักเข้าไทยได้อย่างไร "ฐานเศรษฐกิจ" ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ"นายสุรพงษ์ เชียงทอง" เลขาธิการสมอ.ถึงการปรับบทบาทหน้าที่หลังจากนี้ไป

+++ออกใบรับรองซีบียกระดับมาตรฐาน

เมื่อมีการเปิดเออีซีในปี 2558 แล้ว สินค้าต่างๆ จะไหลเข้า-ออกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสมอ.จะต้องปรับมาตรฐานเข้าหากัน โดยเฉพาะมาตรฐานการตรวจสอบรับรอง ด้วยการให้หน่วยตรวจสอบเอกชน ได้แลกเปลี่ยนและอบรมพัฒนาทักษะความรู้ เพื่อยกระดับใบรับรองผลิตภัณฑ์ หรือ CB จากเดิมที่สมอ.จะดำเนินการเอง จากนี้ไปเอกชนที่ต้องการจะได้มาตรฐานรับรองในอาเซียนก็จะต้องมาขอขึ้นทะเบียนกับ สมอ.แล้ว สมอ.จะเป็นตัวแทนขอใบรับรอง CB ให้เอกชนนั้นๆ
สำหรับความคืบหน้าในเรื่องนี้ สมอ.ได้นำเรื่องขอใบรับรอง CB เข้าที่ประชุมเพื่อขอความเห็นชอบต่อคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหรือกมอ.ที่มีนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานแล้ว เมื่อกมอ.เห็นชอบ สมอ.จะเป็นเหมือนตัวแทนประเทศไทย ในการคัดกรองเอกชนสู่ระดับอาเซียน ทั้งนี้ ปัจจุบันมี 3 ประเทศในอาเซียนที่ได้รับใบรับรอง CB แล้ว 5 ใบ ประกอบด้วย อินโดนีเซีย 3 ใบรับรอง เวียดนามและสิงคโปร์ ประเทศละ 1 ใบรับรอง

"ทั้งนี้ หวังว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ได้รับใบรับรอง CB ใบที่ 6 ก่อนการเปิดเออีซี"

+++สร้างความเชื่อมั่นสินค้าไทย

สำหรับประโยชน์ที่กลุ่มอุตสาหกรรมในประเทศไทยจะได้รับ จากการขึ้นทะเบียนใบรับรอง CB นั้น จะทำให้ผู้ส่งออกสามารถส่งออกสินค้าได้เลยจากการตรวจสอบภายในประเทศและไม่ต้องไปเข้าขั้นตอนการตรวจสอบประเทศปลายทาง ช่วยให้สามารถลดค่าใช้จ่าย จากกระบวนการตรวจใบรับรองที่ซ้ำซ้อน และเกิดการลงทุนต่างๆ เพิ่มมากขึ้น เพราะจะนำไปสู่การลงทุนอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งการลงทุนบุคลากร เครื่องจักร รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศไทย ซึ่งจะเห็นได้จากประเทศที่มีการพัฒนาแล้วอย่างสิงคโปร์ที่มีใบรับรอง CB หากประเทศไทยได้รับใบรับรอง CB จะถือเป็นประเทศที่มีการพัฒนาและน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น

"ตอนนี้มีเอกชน 2-3 รายมีความสนใจที่จะขอขึ้นทะเบียนกับ สมอ.เพื่อให้ สมอ.เป็นตัวแทนขอรับใบรับรอง CB แล้ว โดยต่อจากนี้ สมอ.จะพยายามผลักดันเอกชนให้มายื่นความจำนงกับ สมอ.เพื่อเป็นตัวแทนขอใบรับรอง CB กับอาเซียนให้ ทั้งนี้ หากเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้จะทำให้การค้าประเทศไทยมีศักยภาพในอาเซียนมากยิ่งขึ้น"

นอกจากนี้ สมอ.ยังได้ทำมาตรฐานร่วมกันของ 10 ประเทศอาเซียน โดยทำการยืนยันรับรองความตกลงระหว่างประเทศร่วมกัน หรือ สัตยาบัน เพื่อกำหนดมาตรฐานบังคับ อย่างกลุ่มผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าจะมีมาตรฐานบังคับ 130 มาตรฐาน โดย 30 มาตรฐานเป็นมาตรฐานบังคับที่เป็นของไทย ซึ่งส่วนที่เหลือจะเป็นมาตรฐานของอีก 9 ประเทศในกลุ่มอาเซียนเพื่อให้สินค้าที่ไปสู่กลุ่มอาเซียนได้มีมาตรฐานเดียวกันและยอมรับกันและกันได้

+++คลอดมาตรฐานใหม่รองรับ

ขณะเดียวกันในปี 2556 นี้ สมอ.ยังได้วางแผนการกำหนดมาตรฐานขึ้นมาใหม่อีก 260 มาตรฐาน แบ่งเป็น กลุ่มผลิตภัณฑ์คอนกรีต 37 มาตรฐาน เหล็ก 6 มาตรฐาน เครื่องเรือน 2 มาตรฐาน ไฟฟ้า 57 มาตรฐาน เทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT) 14 มาตรฐาน เครื่องมือแพทย์ 18 มาตรฐาน สิ่งทอ 11 มาตรฐาน ยานยนต์ 18 มาตรฐาน เครื่องจักรกล 26 มาตรฐาน ระบบการจัดการ 20 มาตรฐาน สีและวาร์นิช 10 มาตรฐาน มูลฐาน 7 มาตรฐาน เกษตรแปรรูป 7 มาตรฐาน พลาสติก 7 มาตรฐาน โภคภัณฑ์ 5 มาตรฐาน เครื่องเขียน 3 มาตรฐาน เครื่องสำอาง 3 มาตรฐาน กระดาษ 4 มาตรฐาน เคมี 2 มาตรฐาน อาหาร 2 มาตรฐาน และยาง 1 มาตรฐาน

อย่างไรก็ตาม มาตรฐานที่กำหนดขึ้นมาใหม่นั้นคงจะไม่สำเร็จทั้งหมด แต่คาดว่าจะทำได้จริง 130 มาตรฐาน หรือ 50% ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว และใน 10% ของความสำเร็จจะเป็นมาตรฐานที่บังคับโดยเน้นในเรื่องของมาตรฐานที่กระทบความปลอดภัยของเศรษฐกิจสูง เป็นหลัก โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์ไฟฟ้า ไอซีที เครื่องจักรกล แพทย์ และสิ่งทอ เป็นต้น ทั้งนี้ สิ่งที่ สมอ.ได้กำหนดเป้าหมายมาตรฐานใหม่ให้ได้ 130 มาตรฐานนั้น จริงๆ แล้วใช่เพียงแค่เป้าหมายและหัวข้อที่จะทำ

"แต่สิ่งสำคัญคือ การยอมรับร่วมกันถือเป็นสิ่งที่ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น และมีความคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย"

ทั้งนี้ การกำหนดมาตรฐานดังกล่าว สมอ.ได้ดำเนินการมานานแล้ว แต่ต้องสะดุดไปเนื่องจากติดคำสั่งของศาลปกครองที่ว่าการจะกำหนดมาตรฐานจะต้องแปลเป็นภาษาไทยเท่านั้น ดังนั้น ทาง สมอ.ไม่ได้ลดความพยายาม และได้มีการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้ง ศาลปกครอง กฤษฎีกา และหน่วยงานอีกหลายหน่วยงาน เพื่อให้เป้าหมายการกำหนดมาตรฐานให้ประสบผลสำเร็จ โดยการแปลเป็นภาษาไทยในส่วนที่จำเป็น เพื่อให้สอดคล้องกับคำสั่งของศาลปกครอง และสามารถสรุปอ้างอิงได้

+++เอาจริงผู้ผลิต-นำเข้าสินค้า

ส่วนนโยบายหลักของสมอ.ในปี 2556 นี้ จะเน้นเข้าตรวจสอบกลุ่มอุตสาหกรรมโรงงานที่ขอใบอนุญาตผลิตและนำเข้าสินค้าเป็นหลัก ซึ่งหากพบว่าผลิตหรือนำเข้าโดยไม่ได้รับมาตรฐานตามที่ขออนุญาต สมอ.มีอำนาจในการเปรียบเทียบปรับ เตือนก่อนพักใช้ และพักใช้ ทั้งนี้ ที่ผ่านมา สมอ.ได้กำหนดมาตรฐานอยู่ที่ 2,800 มาตรฐาน แบ่งเป็นทั่วไปและสมัครใจ 2,700 มาตรฐาน และมาตรฐานบังคับอีก 100 มาตรฐาน ที่ถือว่าเป็นมาตรฐานที่ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญ โดย สมอ.จะต้องตรวจสอบอย่างเคร่งครัด คือ 1. การกำหนดมาตรฐานเพื่อคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ใช้ 2.การกำหนดมาตรฐานเพื่อให้สอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจของประเทศ 3.ออกมาตรฐานเพื่อคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ประหยัดพลังงาน ถือเป็นวาระที่นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญ

"ต้นปีที่ป่านมาพักใช้มี 106 ราย และเปรียบเทียบปรับมี 186 ราย ซึ่งโทษอย่างต่ำอยู่ที่เสียค่าปรับ 5,000 บาท และไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นต้น"

ทั้งนี้ สมอ.อยากให้ประชาชนให้ความสำคัญกับสินค้าที่ได้รับมาตรฐานและผ่านการอนุญาตและผ่านการรับรองจากเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) โดยปีนี้ สมอ.ได้ใช้งบประมาณ 30 ล้านบาท ร่วมมือกับ กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.)เพื่อตรวจสอบจับกุมสินค้าที่ไม่ได้รับมาตรฐานและไม่ได้รับอนุญาตนำเข้าที่มาจากชายแดน

+++ลุ้นตั้งศูนย์ตรวจสอบรถยนต์

นอกจากนี้ยังจะเข้าไปผลักดันการจัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์ ที่ต้องใช้งบกว่า 8 พันล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมนำเสนอแผนการลงทุนติดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์ต่อสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ในช่วงเดือน มีนาคม 2556 นี้

อย่างไรก็ตาม ในการเปิดศูนย์ทดสอบรถยนต์หรือการกำหนดมาตรฐานถือเป็นสิ่งที่ประเทศไทยควรจะมีเพื่อรองรับการเปิดเออีซี เพราะต้องมีความสมบูรณ์ที่สุด โดยปัจจุบันหากจะทดสอบก็จะใช้ศูนย์ทดสอบยานยนต์แบบครบวงจรของ กรมควบคุมมลพิษ ที่มีรายการทดสอบอยู่ 19 รายการ อาทิ มลพิษ กระจก ท่อไอเสีย เป็นต้น

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 8 มีนาคม 2556

ทุกฝ่ายโล่ง 5 เม.ย.ไฟฟ้าไม่ดับ

ภาคอุตสาหกรรมคลายกังวล 5 เม.ย.ไม่มีไฟฟ้าดับ หลังทราบมาตรการรับมือที่แน่ชัดจาก"พงษ์ศักดิ์"มีภาคเอกชนให้ความร่วมมือถึง 61 บริษัท และนิคมอุตสาหกรรมอีก 19 แห่ง ลดการใช้ไฟฟ้าได้ 491 เมกะวัตต์ และหากประชาชน

ศูนย์การค้า ร่วมประหยัดไฟได้อีก 500 เมกะวัตต์ ส่งผลปริมาณสำรองพุ่งเกือบ 2 พันเมกะวัตต์ ด้านพีทีทีจีซี พร้อมเสนอขายไฟฟ้าให้ 50 เมกะวัตต์ หากกฟผ.ต้องการ ยันไม่กระทบผลิตปิโตรเคมี

นายณรงค์ บัณฑิตกมล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจอะโรเมติกส์ บริษัท พีทีที โกบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ บมจ.พีทีทีจีซี และในฐานะรองผู้อำนวยการสถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากการหารือกับนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เมื่อวันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมา ทำให้ภาคเอกชนคลายกังวลกับวิกฤติพลังงานที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 5 เมษายน ว่าจะไม่มีไฟฟ้าดับเกิดขึ้น หลังจากทราบมาตรการรับมือที่แน่ชัดจากการร่วมมือของทุกภาคส่วน

"โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่มีการใช้ไฟฟ้ามาก ได้ให้ความร่วมมือที่จะลดใช้ไฟฟ้าลงในช่วงดังกล่าว ซึ่งขณะนี้มีอยู่ 43 ราย ในจำนวน 61 บริษัท คิดเป็นประมาณไฟฟ้าที่ประหยัดได้ 408 เมกะวัตต์ แยกเป็น 13 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมเหล็กลดการใช้ไฟฟ้า 137.14 เมกะวัตต์ ปูนซีเมนต์ 126 เมกะวัตต์ ปิโตรเคมี 68.11 เมกะวัตต์ สิ่งทอ 3.43 เมกะวัตต์ อาหาร 20.97 เมกะวัตต์ แก้วและกระจก 1.27 เมกะวัตต์ ยา 10.5 เมกะวัตต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า 7.1 เมกะวัตต์ เครื่องปรับอากาศ 0.425 เมกะวัตต์ ยานยนต์ 1.18 เมกะวัตต์ หลังคา 1.6 เมกะวัตต์ เฟอร์นิเจอร์ 0.21 เมกะวัตต์ และไฟเบอร์เยื่อไม้ 30 เมกะวัตต์ ซึ่งรูปแบบการลดใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่ จะเป็นในเรื่องของการผลิตสินค้าสต๊อกไว้ล่วงหน้า และจะไปหยุดเดินเครื่องจักรสายการผลิตที่ไม่จำเป็นในช่วงวันดังกล่าวแทน"

นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) ที่แจ้งความประสงค์จะลดการใช้ไฟฟ้าใน 19 นิคมอุตสาหกรรม คิดเป็นไฟฟ้าที่ลดลงได้ 83 เมกะวัตต์ เพียงเท่านี้ก็ทำให้ปริมาณสำรองไฟฟ้าเข้าสู่ภาวะปกติเกินจุดวิกฤติก่อนหน้านี้ที่มีเพียง 767 เมกะวัตต์ ซึ่งยังไม่รวมการลดจ่ายไฟฟ้าให้กับ 4 โรงงาน ในปริมาณ 56 เมกะวัตต์ การรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนรายเล็กหรือเอสพีพีอีก 110 เมกะวัตต์ หากรวมปริมาณสำรองไฟฟ้าทั้งหมดแล้วจะเพิ่มเป็น 1.424 พันเมกะวัตต์

ขณะเดียวกันโรงไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าจากชีวมวลที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) ก็พร้อมที่จะเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าขายให้ หากมีการเรียกขอมา

ที่สำคัญหากมาตรการรณรงค์ให้ประชาชนและศูนย์การค้าลดการใช้ไฟฟ้าในช่วงบ่ายของวันที่ 5 เมษายน 2556 นี้ได้อีกกว่า 500 เมกะวัตต์ เหมือนกับช่วงวันที่ 10 เมษายน 2555 ที่ลดการใช้ไฟฟ้าได้ 515 เมกะวัตต์ ก็จะช่วยเพิ่มปริมาณสำรองทั้งหมดได้ถึงเกือบ 2 พันเมกะวัตต์ จึงทำให้ภาคการผลิตเกิดความมั่นใจว่าวิกฤติพลังงานที่จะมาถึงไม่เกิดขึ้น

นายณรงค์ กล่าวอีกว่า ส่วนการดำเนินงานของ บมจ.พีทีทีจีซี ในการช่วยเสริมระบบไฟฟ้าทางหนึ่ง อยู่ระหว่างพิจารณาที่จะเตรียมจ่ายไฟฟ้าของตัวเองที่มีอยู่เพิ่มขึ้นอีก 20-50 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)อยู่ 33 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ไฟฟ้าที่จะขายเพิ่มส่วนหนึ่งจะมาจากการประหยัดพลังงานและปริมาณสำรองไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าที่จังหวัดระยอง มีกำลังการผลิตติดตั้งประมาณ 300 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าขนาด 22 เมกะวัตต์ จำนวน 3 โรง,ขนาด 35 เมกะวัตต์ จำนวน 3 โรง ,ขนาด 37.5 เมกะวัตต์ จำนวน 3 โรง และเครื่องผลิตไฟฟ้าจากไอน้ำอีก 35 เมกะวัตต์ ใช้ในโรงงานปิโตรเคมีเอง 100 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลือขายให้กับกลุ่มลูกค้าพื้นที่ใกล้เคียงและกันไว้เป็นปริมาณสำรอง

ดังนั้นหาก กฟผ. แจ้งว่าต้องการไฟฟ้าเพิ่ม บริษัทก็ยินดีให้ความร่วมมือ ซึ่งจะไม่มีผลกระทบต่อกระบวนการผลิตของบริษัทและลูกค้าอย่างแน่นอน เพราะยังสามารถเดินเครื่องจักรที่มีความสำคัญตลอด 24 ชั่วโมงได้อยู่ ส่วนเครื่องจักรที่สามารถหยุดเดินเครื่องได้ก็จะหยุด เบื้องต้นบริษัทจะเร่งผลิตเม็ดพลาสติกเพื่อเก็บไว้ในสต๊อกเพิ่มขึ้น

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 8 มีนาคม 2556

'แบงก์ชาติ'ไม่ห่วงเงินเฟ้อ

แบงก์ชาติย้ำโจทย์สำคัญการดำเนินนโยบายการเงินปี 2556 ยึดเศรษฐกิจโตควบคู่เสถียรภาพการเงิน ชี้ทิศดอกเบี้ยต้องส่งสัญญาณตลาดเงินอย่างเหมาะสม เพื่อดูแลผู้กู้และผู้ฝาก ระบุการระดมทุน "แบงก์-ตลาดทุน"

ประสาร ไตรรัตน์วรกุลต้องเดินเป็นขบวนสอดรับการแข่งขันยุคโลกาภิวัตน์ ย้ำส่งเสริมออมระยะยาวสอดรับลงทุนโครงสร้างพื้นฐานประเทศ แนะนายแบงก์ยกระดับธุรกิจ-วางยุทธศาสตร์ชัด-กระจายเสี่ยงลงทุนนอก

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การดำเนินนโยบายการเงินในปี 2556 ธปท.จะให้น้ำหนักระหว่างอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจกับเสถียรภาพของระบบการเงินในประเทศที่เป็นโจทย์สำคัญ เพราะคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในปีนี้น่าจะยังอยูในกรอบเป้าหมายที่กำหนดระดับ 0.5-3% แต่ธปท.จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องในระยะต่อไป

ทั้งนี้ โดยปกตินโยบายการเงินต้องดูแลความสมดุลของเศรษฐกิจ ทั้งอัตราการขยายตัว อัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน แต่โจทย์ท้าทายในปีนี้ให้น้ำหนักเรื่องอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และเสถียรภาพระบบการเงินของไทยที่มีอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นตัวแปรสำคัญ เนื่องจากมีบทบาทสำคัญต่อความเคลื่อนไหวของตลาด และมีบทบาทสำคัญในการจัดสรรเงินทุนในระบบทั้งฝ่ายผู้กู้และผู้ออม เพราะหากดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำมากเกินไปอาจจูงใจให้คนใช้จ่ายเกินตัว และผู้ออมไม่อยากฝากเงินกับสถาบันการเงินแต่หันไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงกว่า เพื่อรับอัตราผลตอบแทนที่ดีกว่า เช่น คอนโดมิเนียม ดังนั้นสิ่งสำคัญคือ ธปท.ต้องดูแลให้มีความเหมาะสม

ขณะเดียวกันผู้ว่าการธปท.ยังได้กล่าวปาฐกถาหัวข้อ "บทบาทสถาบันการเงินกับอนาคตประเทศไทย" ในพิธีเปิดโครงการส่งเสริมช่องทางลงทุนผ่านธนาคารพาณิชย์ 2013 (Banker to Broker 2013) ว่า ภาคการเงินถือเป็นหัวใจในการจัดสรรทรัพยากรทุนที่เป็นฟันเฟืองหลักในการขับเคลื่อนประเทศ ซึ่งต้องบูรณาการการทำงานที่ควบคู่กันระหว่างธนาคารพาณิชย์และตลาดทุน เพื่อให้บทบาทและจุดเด่นที่แตกต่างสามารถเสริมและเติมเต็มซึ่งกันและกัน ทำให้ผู้ใช้บริการมีทางเลือกในการออมและการลงทุนที่หลากหลายขึ้น

"ระบบการเงินไทยในวันนี้มีระดับพัฒนาการที่ดีระดับหนึ่ง แต่ยังจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรองรับความท้าทายสำคัญ 2 ประการ ได้แก่ 1.การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของภาคเศรษฐกิจจริง และ 2. การแข่งขันในระบบสถาบันการเงินที่รุนแรงขึ้น โดยข้อแรกนั้นประเทศไทยอยู่ระหว่างความพยายามในการยกระดับศักยภาพการแข่งขันของประเทศซึ่งมีนัยสำคัญต่อความท้าทายใน 3 ด้าน คือ ความท้าทายในด้านขนาดของการระดมทุน ที่ในระบบจะต้องเตรียมสภาพคล่องและเงินทุนรองรับความเสี่ยง ในที่นี้หมายถึงการระดมทุนทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อไม่ให้กระจุกตัวที่ระบบธนาคารพาณิชย์มากเกินไป ดังนั้นทางเลือกในการออกหุ้นกู้ในตลาดทุนก็ถือเป็นช่องทางกระจายความเสี่ยงได้

นอกจากนี้ยังมีความท้าทายด้านรูปแบบความเสี่ยงของการระดมทุน เมื่อพิจารณาโครงการลงทุนในอนาคตความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยทั้งจากการลงทุนต่างประเทศ กรณีการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน การติดตามความเสี่ยงของคู่ค้า และการลงทุนในโครงการใหญ่ที่ซับซ้อนและมีสภาพคล่องต่ำอย่างการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงยังมีความท้าทายในด้านความจำเป็นในการเปลี่ยนรูปแบบการออมของประเทศ เพราะประชาชนส่วนใหญ่ยังออมเงินในรูปแบบเงินฝากและกองทุนระยะสั้น ซึ่งไม่สอดคล้องกับรูปแบบการระดมทุนของภาครัฐและเอกชนซึ่งเป็นการลงทุนระยะยาว จึงควรส่งเสริมให้เกิดการออมระยะยาวขึ้น ซึ่งตลาดทุนจะต้องรับบทบาทหลัก โดยส่งเสริมความหลากหลายของผลิตภัณฑ์และสร้างความลึกโดยการขยายฐานผู้ลงทุนเพื่อให้ตลาดมีสภาพคล่องสูงขึ้น อาทิ กองทุนบำเหน็จบำนาญ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนประกันสังคม กระทั่งกองทุนการออมแห่งชาติ เป็นต้น

ส่วนด้านการแข่งขันในระบบสถาบันการเงินที่รุนแรงขึ้นจากการส่งเสริมการลงทุนต่างประเทศโดยภาครัฐนั้น ความต้องการลงทุนเพื่อเสริมศักยภาพธุรกิจของเอกชน และแนวโน้มที่ต่างประเทศจะมาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น จะสร้างความท้าทายกรณีที่ลูกค้าจะมีการเปิดเผยข้อมูลกับต่างชาติมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดราคาและคุณภาพที่แตกต่างจากเดิม อาจมีการหันไปใช้บริการสถาบันการเงินต่างประเทศและทำให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น ซึ่งความสามารถในการแข่งขันเมื่อเทียบกับสถาบันการเงินต่างชาติก็ถือเป็นความท้าทายที่เพิ่มขึ้น เพราะธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศจะมีสัดส่วนรายได้จากธุรกรรมต่างประเทศเฉลี่ยสูงถึง 30-40% ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ไทยที่เป็นธนาคารใหญ่ที่สุดอยู่ที่ 8% เท่านั้น สะท้อนว่าธนาคารพาณิชย์ต่างชาติจะมีความกว้างของเครือข่ายสาขา แหล่งระดมทุน ทรัพยากรมนุษย์ การถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้จากต่างประเทศ ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบและเป็นจุดแข็งในการให้บริการในยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งบริบทสถาบันการเงินไทยจะสามารถเพิ่มศักยภาพเพื่อใช้ประโยชน์จากปัจจัยเหล่านี้เพิ่มขึ้นอีกได้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม สำหรับแนวทางการปรับตัวต้องมียุทธศาสตร์ มีแผนชัดเจน รอบคอบรัดกุม และทำอย่างเป็นระบบ โดยร่วมมือกันอย่างสร้างสรรค์ทั้งภาครัฐและเอกชน และเอกชนจะต้องเริ่มจากการเห็นภาพความท้าทายร่วมกัน วางเป้าหมายร่วมกันอย่างชัดเจน ในการตอบสนองความต้องการผู้ใช้บริการให้ดีขึ้นและปรับศักยภาพการแข่งขัน

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 8 มีนาคม 2556

บริหารจัดการน้ำในเขื่อนช่วงแล้ง

รายงานจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าแผนการจัดสรรน้ำในการปลูกพืชฤดูแล้งปี 2555/56 ว่า ขณะนี้ผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งทั้งประเทศทั้งในและนอกเขตชลประทานยังเป็นไปตามแผนและเป็นไปตามเป้าหมาย โดยขณะนี้มีการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งแล้วทั้งสิ้น 15.35 ล้านไร่ จากแผน 16.62 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าวนาปรังมีการปลูกแล้ว 13.31 ล้านไร่ จากแผน 13.99 ล้านไร่ พืชไร่ พืชผัก ปลูกแล้ว 2.04 ล้านไร่ จากแผน 2.63 ล้านไร่ ได้มีการบริหารจัดการและควบคุมระบบการระบายน้ำได้จนถึงเริ่มต้นฤดูกาลผลิตในต้นเดือนพฤษภาคมได้ ขณะเดียวกัน การระบายน้ำในเขื่อนต่าง ๆ ก็จะต้องดำเนินการเพื่อการอุปโภค-บริโภค เพื่อระบบนิเวศและเพื่อการเกษตรแล้ว กระทรวงเกษตรฯ ยังได้ร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ในการเพิ่มปริมาณการระบายน้ำในเขื่อนต่าง ๆ เพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในช่วงที่ประเทศพม่าจะมีการปิดซ่อมท่อแก๊ส และของไทย รวม 3 ช่วงเวลานั้น โดยเฉพาะเขื่อนในภาคตะวันตก ที่มีศักยภาพที่จะสามารถระบายน้ำได้เพิ่มขึ้น เช่น เขื่อนวชิราลงกรณเดิมทีมีการระบายน้ำเฉลี่ยวันละ 22 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยในช่วงที่มีการปิดซ่อมท่อแก๊สระยะเวลารวม 27 วันนั้น จะมีการเพิ่มการระบายน้ำเป็นวันละ 35 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมปริมาณน้ำที่ระบายทั้งสิ้นรวม 384 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ 62.95 กิกะวัตต์ ซึ่งจะช่วยสามารถลดการใช้พลังงานจากแหล่งอื่นมาผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าได้ โดยหากเป็นน้ำมันเตาคิดเป็นมูลค่าจำนวน 418 ล้านบาท หรือน้ำมันดีเซลคิดเป็นมูลค่า 632 ล้านบาท

และนอกจากเขื่อนต่าง ๆ ที่มีการผลิตกระแสไฟฟ้าอยู่เดิมแล้ว เช่น เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ ที่ขณะนี้ไม่สามารถระบายน้ำในแต่ละอ่างฯ เกินวันละ 20 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน เนื่องจากต้องรักษาระดับการเก็บกักน้ำในอ่างฯ แต่ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ จะติดตั้งเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าบริเวณประตูระบายน้ำเพื่อสร้างกระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจำนวนทั้งหมด 6 แห่ง ได้แก่ เขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท โดยขณะนี้ได้เริ่มเปิดดำเนินการแล้ว ส่วนอีก 5 แห่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างและดำเนินการ ได้แก่ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนแควน้อย เขื่อนแม่กลอง เขื่อนนเรศวร และเขื่อนขุนด่านปราการชล ซึ่งในอนาคตคาดว่าจะมีการขยายไปยังเขื่อนต่าง ๆ ที่มีศักยภาพได้อีกกว่า 30 แห่ง”.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 8 มีนาคม 2556

ดันร้านสินเชื่อเกษตรกรเข้า‘Q Shop’ กษ.จับมือธกส.พัฒนาสู่มาตรฐาน

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตรได้ลงนามบันทึกข้อตกลงกับหน่วยงานอื่นๆ 2 ฉบับ ได้แก่ 1.บันทึกข้อตกลงความร่วมมือเรื่องสนับสนุนร้านค้าในโครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ Q-Shop ระหว่างกรมวิชาการเกษตรกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และ 2.บันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกรมวิชาการเกษตรกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรื่อง การบริหารงานบุคลากรด้านวิชาการและด้านงานวิจัย

ทั้งนี้ในส่วนบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ ธ.ก.ส. นั้น เนื่องจากทั้ง 2 ฝ่ายมีแผนร่วมสนับสนุนร้านค้าในโครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกร ให้ได้มาตรฐานร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพ (Q Shop) ของกรมวิชาการเกษตร มุ่งสร้างโอกาสให้กับเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. เข้าถึงปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพและราคายุติธรรม ทั้งปุ๋ยสารเคมีการเกษตร และเมล็ดพันธุ์พืช

ขณะเดียวกัน จะเป็นช่องทางที่จะทำให้มีร้าน Q Shop เพิ่มมากขึ้นตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 2,000 ร้านค้าครอบคลุมทั่วประเทศ จากปัจจุบันที่มีร้านค้าได้รับใบรับรอง Q Shop จำนวน 501 ร้านค้าเท่านั้น

ส่วนการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นั้น ทั้ง 2 หน่วยงาน มีแผนร่วมส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนาด้านวิชาการ พัฒนาศักยภาพบุคลากรและนิสิต พร้อมแลกเปลี่ยนข้อมูล เอกสารทางวิชาการ รวมถึงระบบสารสนเทศและเครือข่าย ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขา ตลอดจนนักวิจัยและนักวิชาการในงานวิจัยทุกสาขาที่เกี่ยวกับพืช ขณะเดียวกันยังมุ่งสร้างความร่วมมือในการ วิเคราะห์และแก้ไขปัญหาด้านการผลิตพืช เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกพืชที่ประสบปัญหา อาทิ การจัดการการผลิต การระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืช ปริมาณการให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำ และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 8 มีนาคม 2556

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประสานจังหวัดเร่งแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งในห้วงวิกฤต 90 วัน

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประสานจังหวัดเร่งแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งในห้วงวิกฤต 90 วัน จัดตั้งคลังทรัพยากรระดมเครื่องมือช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.)เปิดเผยสถานการณ์ภัยแล้ง ว่า นายกรัฐมนตรีห่วงใยประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยแล้ง มอบหมายให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นหน่วยงานกลางในการบูรณาการ แก้ไขปัญหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในห้วง 90 วัน (15 ก.พ. – 15 พ.ค.56)ปภ.จึงประสานจังหวัดสำรวจ จัดทำฐานข้อมูลและกำหนดมาตรฐานกลางของถังน้ำกลางสำหรับเก็บสำรองน้ำในแต่ละพื้นที่ และจัดตั้งคลังทรัพยากร(DEPOT)เป็นศูนย์ระดมเครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง ตลอดจนได้ประสานกองทัพบกจัดหารถบรรทุกน้ำ เพื่อนำน้ำไปแจกจ่ายแก่ผู้ประสบภัยให้ทั่วถึงและครอบคลุมทุกพื้นที่ รวมทั้งได้จัดส่งรถสูบน้ำระยะไกล 15 คัน เพื่อสนับสนุนภารกิจการส่งน้ำไปยังพื้นที่ประสบภัยแล้งรุนแรง สำหรับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยแล้ง สามารถติดต่อขอรับการช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 8 มีนาคม 2556

ผู้ว่าฯ ธปท. เปิดเผย หารือ กนง. เน้นดูแลเสถียรภาพระบบการเงินควบคู่ไปกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ พร้อมแนะแก้ปัญหาแบงก์รัฐเริ่มที่ระบบการบริหารงาน

ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เตรียมหารือคณะกรรมการนโยบายการเงิน ดูแลเสถียรภาพระบบการเงินควบคู่กับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)วันที่ 3 เมษายนนี้ จะนำประเด็นด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการดูแลเรื่องความสมดุลของระบบเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพการเงินโดยรวม เข้าหารือ โดยปีนี้ทิศทางนโยบายการเงิน คือ การดูแลเสถียรภาพระบบการเงินควบคู่กับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งขณะนี้อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบเป้าหมายที่กำหนดไว้ร้อยละ 0.5 - 3 แต่อาจมีปัจจัยเสี่ยงเข้ามากระทบ รวมทั้งต้องดูแลอัตราดอกเบี้ยให้มีความเหมาะสม เพราะอาจจะส่งผลกระทบต่อผู้ออมเงิน ผู้กู้ และระบบเศรษฐกิจได้ ส่วนกรณีปัญหาของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย(ไอแบงก์)และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอีแบงก์)มองว่า สิ่งสำคัญของสถาบันการเงินของรัฐ คือระบบการบริหารงาน ผู้บริหาร และเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง(บีไอเอส)ที่ควรมีสำรองไว้ในจำนวนที่พอเหมาะ เพื่อป้องกันและรองรับสถานการณ์ที่คาดไม่ถึง

ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ยืนยันว่า ยังไม่นัดหารือกับนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เนื่องจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ติดภารกิจไปต่างประเทศ

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 8 มีนาคม 2556

ลำพูน-อุดรฯประสบแล้งหนัก!แม่น้ำเหือดแห้ง"เกษตรกรเดือดร้อน"วงกว้าง

ลำพูนประสบภัยแล้งหนัก แม่น้ำสายหลัก ทั้ง 4 สาย คือ น้ำแม่กวง น้ำทา น้ำปิง และน้ำลี้ เหือดแห้ง ชาวบ้านได้รับเดือดร้อน ไร่นา พื้นที่ปลูกพืชผลการเกษตรขาดน้ำ จนจังหวัดประกาศพื้นที่พิบัติภัยแล้วทั้งจังหวัด 8 อำเภอ พร้อมเปิดศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งที่ศาลากลางจังหวัด ตลอด 24 ชั่วโมง

โดยสถานการณ์ภัยแล้งที่ จ.ลำพูน หลังประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินจากภัยแล้งทั้งจังหวัด 8 อำเภอ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย (ปภ.) จังหวัด รายงานสถานการณ์พื้นที่ประสบภัยแล้ง ครอบคลุมพื้นที่ทั้งจังหวัด รวม 8 อำเภอ 35 ตำบล 296 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 33 , 459 ครัวเรือน รวม 84,768 คน พื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบ 51,459 ไร่

ขณะนี้ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งให้การช่วยเหลือด้านการขุดลอกแหล่งน้ำ เพิ่มปริมาณน้ำผิวดิน ปรับปรุงซ่อมแซมบ่อน้ำบาดาลเพื่อการอุปโภคบริโภค พร้อมจัดส่งเครื่องสูบน้ำเข้าพื้นที่การเกษตร เนื่องจากฝนทิ้งช่วงมานานกว่า 1 เดือน ทำให้ปริมาณน้ำตามแหล่งน้ำลดลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะแม่น้ำทาเป็นแม่น้ำสายหลักที่ไหลผ่านจังหวัดลำพูนทั้ง 4 สาย มีสภาพแห้งขอดมานานนับเดือน ชาวบ้านพื้นที่ดังกล่าวไม่สามารถนำน้ำมาใช้ในการเพาะปลูกได้ และกลางแม่น้ำมีพื้นทรายวัชพืชขึ้น ส่วนหน้าฝายชะลอน้ำแต่ละจุดก็แห้งเหือดไม่มีน้ำให้ใช้

ทั้งนี้จังหวัดลำพูน ได้เปิดศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งที่ศาลากลางจังหวัด และที่ว่าการอำเภอทุกอำเภอ เพื่อให้การช่วยเหลือราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อน และต้องการน้ำอุปโภคบริโภค ตลอด 24 ชั่วโมง

ขณะที่ จ.อุดรธานีเกิดวิกฤติความแห้งแล้งหนักเช่นกัน เกษตรกรลดพื้นที่ปลูกหอมลงกว่าครึ่ง หลังได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำในการเพาะปลูก ขาดน้ำ เกษตรกรปลูกต้นหอมหรือหอมแบ่งที่หมู่บ้านในต.หนองไฮ อ.เมือง จ.อุดรธานี ต้องลดพื้นที่การปลูกต้นหอมลดน้อยลงกว่าครึ่ง เนื่องจากไม่มีแหล่งน้ำที่จะหล่อเลี้ยงต้นหอม ส่งผลให้รายได้ในภาพรวมของเกษตรกรปลูกหอมที่สร้างรายได้ปีละ 50 ล้านบาทต้องลดน้อยลงไปด้วย แม้การปลูกหอมจะใช้ระยะเวลาสั้นคือ 45 วันแต่เกษตรกรที่ต.หนองไฮแห่งนี้ต้องลดปริมาณการปลูกหอมลง จากเคยปลูก 10 ไร่ ต้องลดลงหรือ 1 หรือ 5 ไร่หรือเกษตรกรบางรายต้องหยุดการปลูกหอมเลยในปีนี้เพราะแหล่งน้ำไม่เพียงพอ

สำหรับพื้นที่ปลูกหอมของต.หนองไฮ ทั้ง 17 หมู่บ้านถือเป็นครัวอีสาน ชาวบ้านที่นี่นอกเหนือจากมีอาชีพทำไร่อ้อยและทำนาแล้ว เกษตรกรเกือบทุกครัวเรือนจะปลูกต้นหอมส่งขายไปยังทั่วประเทศแต่เนื่องจากวิกฤตของน้ำที่ปีนี้รุนแรงกว่าทุกปี เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่จะใช้แหล่งน้ำจากบ่อน้ำเสียส่วนใหญ่หรือสูบน้ำใต้ดินมาใช้ แต่ปีนี้ถือว่าวิกฤติหนักสุดในรอบหลายปี เกษตรกรต้องลดพื้นที่ปลูกหอมลง และรอดูสถานการณ์น้ำในปีต่อมา บางรายถึงกลับจะมาปลูกต้นหอมหรือหอมแบ่งใหม่

จาก http://www.siamrath.co.th  วันที่ 7 มีนาคม 2556

สถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นยังส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง

สถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นยังส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ล่าสุดที่จังหวัดสุรินทร์ ภัยแล้งในพื้นที่ส่งผลกระทบต่อช้างเลี้ยง หลังแหล่งน้ำหลายแห่งแห้งขอด ด้านเจ้าหน้าที่องค์การสวนสัตว์ต้องนำรถบรรทุกน้ำออกแจกจ่ายน้ำให้กับช้าง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน

เจ้าหน้าที่องค์การสวนสัตว์ฯ นำรถบรรทุกน้ำ จำนวนละ 15,000 ลิตร ไปใส่ไว้ในบ่อปูนภายในศูนย์คชศึกษา และโครงการคชอาณาจักร จังหวัดสุรินทร์ เพื่อให้ช้างที่อยู่ภายในศูนย์ฯ นำใช้กินและอาบน้ำ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน หลังสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ ทำให้แหล่งน้ำที่เคยใช้แห้งขอด นอกจากนี้ ภัยแล้งที่เกิดขึ้น ยังคทำให้หญ้าบานา ที่ปลูกไว้เพื่อเลี้ยงช้างเริ่มแห้งตาย เนื่องจากขาดน้ำอีกด้วย สำหรับพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ประกาศพื้นที่ประสบภัยแล้งแลัว 13 อำเภอ จากทั้งหมด 17 อำเภอ มีประชาชนได้รับความเดือดร้อนกว่า 3 แสนคน

ส่วนที่จังหวัดนครสวรรค์ กำลังพลกว่า 30 นาย จากกรมทหารช่างที่21 ค่ายภาณุรังสี จังหวัดราชบุรี พร้อมเครื่องจักรกลลง พื้นที่ หมู่ที่ 9 ตำบลหนองกรด อำเภอ.เมือง เพื่อขุดคลองส่งน้ำที่เชื่อมต่อระหว่างคลองวัดศรีอุทุมพรไปยังคลองตาแวน เพื่อเปิดทางน้ำให้ไหลสะดวกขึ้นและเป็นการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ทั้งปัญหาอุทกภัยและปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ซึ่งหากดำเนินการแล้วเสร็จ จะสามารถช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ได้กว่า 68,000 ไร่

ในส่วนของสถานการณ์หมอกควัน ที่จังหวัดลำพูน นายพินิจ หาญพาณิชย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เรียกประชุมนายอำเภอ ผู้นำองค์กรท้องถิ่น หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับการเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าในช่วงฤดูแล้ง ระดับจังหวัด เพื่อร่วมรับทราบผลการปฏิบัติของส่วนราชการต่างๆ ซึ่งจังหวัดลำพูน กำลังดำเนินมาตรการที่เข้มงวดในการป้องกันไฟป่ามากขึ้นตลอดเดือนมีนาคม 2556 รวมถึงจะใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดจากเบาไปหาหนักกับผู้ลักลอบเผาในทุกพื้นที่ และขอความร่วมมือจากประชาชนงดการเผาทุกชนิดถึงวันที่ 30 เมษายน 2556

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 7 มีนาคม 2556

เกษตรฯเต้นแก้ข้อมูลสารเคมีหลังศาลมีคำสั่งยกเลิกแบน

คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดที่ให้การห้ามครอบครองและจำหน่ายสารเคมีที่ไม่มีภาษาไทยกำกับอย่างชัดเจนเป็นโมฆะ ซึ่งรวมถึงสารเคมีเกษตรที่มีการประกาศขึ้นบัญชีวัตถุอันตรายบัญชีที่ 3 ห้ามครอบครองและจำหน่ายไปก่อนหน้านั้นด้วย

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงสั่งให้กรมวิชาการเกษตรเร่งทำข้อมูลใหม่ให้ชัดเจนเสนอต่อคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพื่อป้องกันเอกชนหาช่องนำสารเคมีอันตรายกลับมาขายในตลาดอีกครั้ง

ทั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่14 ก.พ.2556 ว่า การออกประกาศรายชื่อวัตถุอันตราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัตถุอันตรายที่เป็นข้อพิพาทในคดีที่เป็นสารกำจัดแมลงที่เกษตรกรต้องใช้เป็นสารกำจัดศัตรูพืช โดยใช้คำภาษาอังกฤษ แต่ไม่มีคำอ่านหรือคำแปลเป็นภาษาไทยกำกับไว้นั้น ส่งผลให้การประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรมตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ตามข้อเสนอของกระทรวงเกษตรฯ ไม่มีความชัดเจน เกษตรกรและประชาชนทั่วไปไม่สามารถเข้าใจได้ จึงเป็นสิ่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายให้เพิกถอนประกาศทั้งสองฉบับออก

ยุคล ลิ้มแหลมทอง รมว.เกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงเกษตรฯ อาทิ กรมวิชาการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์ ทำรายละเอียดภาษาไทยเสนอต่อกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อแก้ไขอย่างเร่งด่วนในระหว่างที่รอประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์

ดำรงค์ จิระสุทัศน์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า กรณีดังกล่าว นางทองดี ธวัชโยธิน เป็นผู้ยื่นฟ้องรมว.อุตสาหกรรม และกรมวิชาการเกษตร เนื่องจากเห็นว่าประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรม2 ฉบับ คือ ประกาศ
กระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย พ.ศ. 2546

ลงวันที่ 20 ก.ย. 2547 และประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องรายชื่อวัตถุอันตราย พ.ศ. 2547 ลงวันที่ 1 ต.ค. 2547 และคำสั่งของกรมวิชาการเกษตร ที่ 1779/2547 เรื่องการจัดการทำลายหรือดำเนินการกับวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ที่กรมวิชาการเกษตรเป็นผู้รับผิดชอบ ลงวันที่ 1 ต.ค. 2547 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเพิกถอนทำให้รายชื่อท้ายบัญชีเป็นโมฆะทั้งหมด

การยกเลิกคำสั่งทั้งสองฉบับดังกล่าว มีผลให้วัตถุอันตรายกว่า 1,000 รายการเป็นโมฆะ โดยในจำนวนดังกล่าวมีสารเคมีเกษตรที่กรมวิชาการเกษตรสั่งให้ยกเลิกกว่า 70 ชนิด เป็นผลให้สารเคมีเกษตรเหล่านั้นจะสามารถจำหน่ายได้ต่อไปตามสถานะของสารนั้นๆอย่างไรก็ตาม ขณะนี้ รมว.อุตสาหกรรม เตรียมเรียกประชุมทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว

"ทั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่าการที่ผู้ร้องเขียนเป็นภาษาอังกฤษ ทำให้ผู้ถูกบังคับใช้ไม่เข้าใจ จึงไม่มีผลบังคับ กรมฯ น้อมรับคำพิพากษาของศาล และจะเร่งแก้ไขโดยเขียนรายละเอียดเป็นภาษาไทยกำกับลงไปด้วย เหมือนกรณียาพาราเซตามอล ที่แม้จะเป็นยาภาษาอังกฤษก็ต้องเขียนภาษาไทยว่า พาราเซตามอลไม่ต้องอธิบายว่ามีสรรพคุณอย่างไร และจะเสนอต่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายต่อไป" ดำรงค์ กล่าว

ดำรงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แต่เมื่ออันตรายของสารเคมีเป็นที่ประจักษ์แล้วว่ามีพิษต่อสุขภาพของคนคาดว่าจะสามารถห้ามครอบครองและจำหน่ายได้ แต่ในระหว่างนี้จะทำหนังสือถึงกรมบังคับคดีเพื่อให้ชะลอการบังคับคดีไปจนกว่าจะมีคำสั่งใหม่ออกมา

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวอีกว่า ในระหว่างนี้แม้ว่าสารเคมีที่อยู่ในบัญชีวัตถุอันตรายทั้งบัญชีที่ 3 และบัญชีที่ 4 และอยู่ใน 70 รายการที่โมฆะ หากจะมีการจำหน่ายก็จะต้องเป็นการจำหน่ายภายใต้การอนุญาตของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สารเมทานอลที่เป็นสารทำลายในโรงงาน ซึ่งยกเลิกมากว่า 2 ปีแล้วก็จะสามารถนำมาใช้ได้เมื่อมีการขออนุญาตกระทรวงกลาโหมตาม พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530

สำหรับรายชื่อวัตถุอันตรายทางการเกษตรที่ประเทศไทยประกาศเป็นวัตถุอันตรายที่ห้ามผลิต ห้ามใช้ และห้ามมีไว้ในครอบครอง ในปัจจุบันมีประมาณ 96 ชนิด เช่น ทีดีอี ดีดีที เป็นต้น

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 7 มีนาคม 2556

สะพานศก.พลังงาน

สํานักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน อยู่ระหว่างศึกษาการจัดตั้งสะพานเศรษฐกิจพลังงาน (Energy Land Bridge) เพื่อเป็นศูนย์กลางธุรกิจพลังงานของภูมิภาค

โดยศึกษาความเป็นไปได้ของการเชื่อมโยงฝั่งทะเลอันดามันและฝั่งทะเลด้านอ่าวไทย เพื่อให้เป็นศูนย์กลางธุรกิจพลังงานของภูมิภาคตามนโยบายรัฐบาล

ปัจจุบันการขนส่งน้ำมันทางเรือจากประเทศกลุ่มตะวันออก กลางมายังภาคตะวันออกของไทย และไปยังประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออก เช่น จีน เกาหลี ญี่ปุ่น รวมทั้งภูมิภาคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จำเป็นต้องผ่านช่องแคบมะละกา

ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะการขนส่งน้ำมันเท่านั้น แต่ยังมีเรือขนส่งสินค้าซึ่งมีจำนวนถึง 1 ใน 4 ของสินค้าที่ขายทั่วโลกต้องผ่านช่องแคบมะละกานี้ ซึ่งคาดการณ์ว่าการขนส่งผ่านช่องแคบ-มะละกาจะเต็มศักยภาพที่สามารถรองรับได้ในปี 2567

ภาครัฐจึงเล็งเห็นถึงความได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ของไทยว่า น่าจะเป็นทางเลือกในการขนส่งน้ำมันได้อีกช่องทางหนึ่ง เบื้องต้นมีเส้นทางในการพิจารณา 3 เส้นทาง คือ 1.ทวาย-กาญจนบุรี-ท่าเรือแหลมฉบัง 2.กระบี่-ขนอม (ทับละมุ-สิชล) และ 3.ปากบารา-สงขลา

ขณะนี้ผลการศึกษาการจัดตั้งสะพานเศรษฐกิจพลังงานอยู่ระหว่างกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อนำความเห็นเหล่านั้นไปปรับปรุง ผลการศึกษาให้สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างแท้จริง
หวังว่านโยบายนี้จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศอย่างแท้จริง

จาก http://www.khaosod.co.th  วันที่ 7 มีนาคม 2556

ภาคผลิตหอบแสนล.จ่อลงทุนใหม่'พม่า'

16 กลุ่มทุนใหญ่ แห่ยึดเมียนมาร์เป็นฐานผลิต และฐานตลาดแห่งใหม่ เผยเม็ดเงินลงทุนใหม่กว่า 1.1 แสนล้านบาท ปูพรมอุตสาหกรรมพื้นฐานทั้งปูนซีเมนต์ น้ำมันครบวงจร โรงไฟฟ้า นิคมอุตสาหกรรม วัสดุก่อสร้าง โรงบำบัดน้ำเสีย น้ำประปา การ์เมนต์ โรงงานน้ำตาล ยันห้าง-โรงเบียร์ขณะพบหลากหลายปัญหาอุปสรรคสกัดดาวรุ่ง ทั้งกฎหมายยังไม่เอื้ออำนวย ค่าเช่าที่ดินแพงเว่อร์

จากที่รัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ หรือพม่าเดิมได้นำพาประเทศสู่ความเป็นประชาธิปไตย และเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น ส่งผลให้ถนนการค้า-การลงทุนทุกสายจากทุกภูมิภาคทั่วโลกได้หลั่งไหล เข้าไปศึกษา รวมถึงส่วนหนึ่งได้ตัดสินใจที่จะลงหลักปักฐานในการใช้เมียนมาร์เป็นฐานการผลิต และฐานการตลาดแห่งใหม่เป็นจำนวนมาก ไม่เว้นแม้แต่ภาคธุรกิจของไทยที่ขณะนี้ได้ปรากฏความชัดเจนของรูปธรรมการลงทุนมากขึ้นตามลำดับ

-16 กลุ่มทุนแห่ปักฐาน
นายธนิต โสรัตน์ เลขาธิการสภาธุรกิจไทย-เมียนมาร์ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ขณะนี้มีธุรกิจภาคเอกชนของไทยทั้งรายใหญ่ และระดับกลางได้ให้ความสนใจเข้าไปลงทุนในเมียนมาร์เป็นจำนวนมาก ซึ่งจากการรวบรวมข้อมูลล่าสุดของสภาธุรกิจฯ พบว่ามีกลุ่มบริษัทที่มีการเปิดเผยตัวเลขเม็ดเงินการลงทุนที่เป็นรูปธรรมแล้ว และยังไม่ทราบเม็ดเงินการลงทุนรวม 16 กลุ่มบริษัท เบื้องต้นมีมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 1.18 แสนล้านบาท (ไม่รวมโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือน้ำลึกทวาย)

สำหรับ 16 กลุ่มบริษัทประกอบด้วย 1.กลุ่มเครือซิเมนต์ไทย หรือเอสซีจี ที่ได้เริ่มส่งออกสินค้าในเครือประเภทปูนซีเมนต์ กระเบื้องหลังคาซีแพค และผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี และเม็ดพลาสติกมาเป็นเวลากว่า 10 ปี ซึ่งหลังจากเมียนมาร์เปิดประเทศ เอสซีจีพลิกจากการส่งออกมาเป็นการลงทุน โดยอยู่ระหว่างรออนุมัติโครงการโรงงานผลิตปูนซีเมนต์จากรัฐบาลเมียนมาร์ ตั้งอยู่ทางใต้ของเมืองย่างกุ้ง มูลค่าการลงทุน 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 1.16 หมื่นล้านบาท คำนวณที่ 29 บาทต่อดอลลาร์) คาดจะเริ่มผลิตได้ในปลายปี 2558

2.บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (บมจ.) เป็นอีกบริษัทต้นๆ ที่เข้าไปทำการค้าในเมียนมาร์ เริ่มจากการส่งออกน้ำมันเครื่อง ล่าสุดได้จัดตั้งบริษัท พีทีที เมียนมาร์ฯ เพื่อลงทุนธุรกิจน้ำมันครบวงจรทั้งสถานีบริการน้ำมัน คลังน้ำมัน และจำหน่ายน้ำมันอุตสาหกรรม

3.บมจ.สำรวจและผลิตปิโตรเลียมไทย บริษัทลูกของ ปตท. เข้าไปลงทุนในเมียนมาร์ตั้งแต่ยังไม่เปิดประเทศในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม

ปัจจุบัน ปตท.สผ.เป็นบริษัทที่มีการลงทุนสำรวจและผลิตปิโตรเลียมมากที่สุดในเมียนมาร์กว่า 10 แปลง สัมปทาน ใน 5 โครงการ 4.เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ได้เข้าไปลงทุนในเมียนมาร์นานกว่า 10 ปี เริ่มจากธุรกิจอาหารสัตว์ และอยู่ระหว่างการศึกษาในธุรกิจ 5 ดาว ยางพารา และปาล์มน้ำมัน

++ผุดโรงไฟฟ้าพลังลมแสนล.

5.บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง เข้าไปลงทุนในเมียนมาร์มานานกว่า 15 ปี ทำธุรกิจจัดจำหน่ายอุปกรณ์สำหรับระบบไฟฟ้า และอุปกรณ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องแก่หน่วยงานต่างๆ ปัจจุบันยังได้รับใบอนุญาตจากรัฐบาลเมียนมาร์ให้เข้าไปลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังลมขนาด 1 พันเมกะวัตต์ ใน 3 รัฐใกล้จังหวัดทวาย ใช้เงินลงทุนประมาณเมกะวัตต์ละ 100 ล้านบาท (เต็มโครงการ 1 แสนล้านบาท) ทั้งมีแผนเข้าไปสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงขนาด 5-10 เมกะวัตต์ ป้อนให้กับชุมชนใกล้เมืองทวาย พร้อมทั้งหาโอกาสทำโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง

6.บมจ.โตโย-ไทย คอร์ปอเรชั่น ร่วมกับบริษัทย่อยในสิงคโปร์ TOYO THAI POWER CORPORATION PTE.,LTD. ลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาด 100 เมกะวัตต์ ในเขต Ahlone เมืองย่างกุ้ง คาดใช้เงินลงทุน 170 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(4.93 พันล้านบาท) 7. บมจ.ถิรไทย ผู้ผลิต จำหน่าย และซ่อมบำรุงหม้อแปลงไฟฟ้า อยู่ระหว่างประมูลงานในเมียนมาร์ 3 โครงการ ได้แก่ การผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่าย, หม้อแปลงไฟฟ้ากำลังขนาด 150 เมกะวัตต์ และการผลิตตู้คอนเทนเนอร์น็อกดาวน์ สำหรับเป็นที่พักนักกีฬา 200 ยูนิต มูลค่างานทั้ง 3 โครงการรวมกว่า 300 ล้านบาท

++สหพัฒน์-เซ็นทรัลสั่งบุก

8.เครือสหพัฒน์ กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคของไทย ที่ผ่านมาได้ส่งออกสินค้าในเครือไปจำหน่าย ล่าสุดมีแผนลงทุนผ่านบริษัทลูกคือสหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง สร้างนิคมอุตสาหกรรมในเมียนมาร์ที่ย่างกุ้ง ใช้งบลงทุนกว่า 2 พันล้านบาท รวมถึง บมจ.บูติคนิวซิตี้ ในเครือสหพัฒน์ได้เข้าไปเช่าพื้นที่ห้างในเมียนมาร์เปิดช็อปขายเสื้อผ้า 9. บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา ระบุว่าในปี 2558 จะเปิดห้างสรรพสินค้าในต่างประเทศในรูปแบบการถือหุ้นร่วมกันระหว่างบริษัทกับพันธมิตรในประเทศนั้นๆ เน้นซื้อมอลล์มาพัฒนามากกว่าสร้างขึ้นใหม่ โดยเล็งประเทศในกลุ่มอาเซียนโดยเฉพาะเมียนมาร์ ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจาเรื่องที่ดิน

10.บมจ.เพรซิเดนท์ เบเกอรี่ อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายธุรกิจร้านเบเกอรี่สมัยใหม่ที่เข้าถึงแหล่งชุมชนได้ง่าย 11.บมจ.ผลิตภัณฑ์ตราเพชร ได้เตรียมขยายการส่งออกวัสดุก่อสร้างไปยังเมียนมาร์ 12.บมจ.ไฮโดรเท็ค ได้เตรียมเข้าไปทำธุรกิจเกี่ยวกับระบบบำบัดน้ำเสีย และธุรกิจด้านน้ำประปา 13.บมจ.สิงห์ คอร์เปอเรชั่น แสดงความสนใจเข้าไปลงทุนสร้างโรงงานเบียร์ในเมียนมาร์เป็นประเทศแรกในอาเซียน (ไม่รวมไทย) ทั้งในรูปแบบจับมือกับพันธมิตรในเมียนมาร์ หรือสร้างโรงงานเอง ซึ่งทำเลที่สนใจคือ ชายแดนเมียนมาร์ที่ติดกับจีนตอนใต้ เพราะมีโอกาสขยายตลาดไปในจีน

14.บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ อยู่ระหว่างศึกษาทำตลาดในอาเซียนทุกประเทศรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี) หนึ่งในนั้นคือการลงทุนในเมียนมาร์ เพราะมีประชากรใกล้เคียงกับไทยและกำลังเปิดประเทศ 15.บมจ.ยูนิเวอร์แซล แอดซอร์บเบ้นท์ แอนด์ เคมิคัลส์ อยู่ระหว่างพิจารณาตั้งโรงงานผลิตไบโอออยล์ จากของเสียในอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มโดยเฉพาะกากปาล์มในเมียนมาร์ และกลุ่มน้ำตาลมิตรผล มีแผนเข้าไปปลูกอ้อยและตั้งโรงงานน้ำตาลในเมียนมาร์

"นอกจากกลุ่มทุนข้างต้นแล้วยังมีอีกหลายกลุ่มที่สนใจเมียนมาร์ อาทิ กลุ่มอินเด็กซ์ ตั้งโชว์รูมแล้วในย่างกุ้ง กลุ่มนิติพลในธุรกิจด้านความงามอยู่ระหว่างศึกษาเพื่อขยายธุรกิจ ขณะที่กลุ่ม V-SERVE ของผมเองล่าสุดได้ร่วมกับพันธมิตรในเมียนมาร์ทำธุรกิจใน 3 ด้าน คือธุรกิจโลจิสติกส์ ธุรกิจเทรดเฟิร์มให้บริการนำเข้า-ส่งออกสินค้า และธุรกิจทัวร์ โดยรับจัดทัวร์ และให้บริการเช่ารถบัส รถตู้ แก่นักท่องเที่ยว ซึ่งในสองธุรกิจแรกได้จดทะเบียนตั้งชื่อบริษัทแล้วในนาม วี-เซิร์ฟ เมียนมาร์ โลจิสติกส์ และวีเซิร์ฟ เมียนมาร์เทรดดิ้ง ตามลำดับ ส่วนธุรกิจที่สามยังไม่ได้ตั้งชื่อ"

-สารพัดกลุ่มไม่พลาดลงทุน

ด้านนายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการกลุ่มมิตรผล เผยว่า ทางกลุ่มอยู่ระหว่างศึกษาลงทุนในเมียนมาร์ โดยกำลังดูในเรื่องที่ดิน การร่วมทุน และเรื่องกฎหมายต่างๆ โดยพื้นที่ที่ศึกษาในการส่งเสริมชาวเมียนมาร์ปลูกอ้อยป้อนโรงงานในลักษณะคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่ง และในการตั้งโรงงานน้ำตาลจะอยู่ในบริเวณกรุงเนย์ปิตอว์ขึ้นไปถึงเมืองมัณฑะเลย์ ซึ่งแผนการลงทุนที่ชัดเจนคงต้องใช้เวลาอีกสักระยะ

นายสุชาติ จันทรานาคราช ประธานกรรมการบริษัท โกลด์ไมน์ การ์เมนท์ จำกัด กล่าวว่า ได้วางแผน 2 ปีจากนี้ไปจะตั้งโรงงานผลิตเสื้อเชิ้ตเฟสแรกในเมียนมาร์ จากนั้นอีก 1 ปีจะขยายในเฟส 2 และอีก 1 ปีจากเฟส 2 แล้วเสร็จจะขยายในเฟส 3 โดยแต่ละเฟสจะใช้เงินลงทุนประมาณ 150-165 ล้านบาท รวมเครื่องจักรและที่ดิน คนงานรวม 1.5 พันคน (โรงละ 500 คน) กำลังผลิตโรงละ 1.5 ล้านตัวต่อปี โดยอยู่ระหว่างศึกษาที่ตั้งในพื้นที่เมืองพะโค และย่างกุ้ง เป้าหมายเพื่อใช้เป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรป(อียู)เป็นหลัก

ขณะที่นายจีรกิตติ ตังคธัช ประธานกรรมการ บมจ.โอเรียนเต็ลแล๊ปปิดารี่ และนายกสมาคมผู้ผลิตอัญมณีและเครื่องประดับไทย กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับของไทยหลายรายได้ให้ความสนใจเข้าไปศึกษาลู่ทางการลงทุนตั้งฐานผลิตในเมียนมาร์ เพราะมีจุดเด่นมีวัตถุดิบดิบด้านอัญมณีค่อนข้างมาก เฉพาะอย่างยิ่งพลอยแดง รวมถึงการศึกษาเพื่อนำวัตถุดิบมาแปรรูปผลิตเป็นสินค้าในไทย

เช่นเดียวกับนายสมโพธิ์ ศรีภูมิ กรรมการผู้จัดการบริษัทน้ำประปาไทย จำกัด(มหาชน)หรือTTW ที่กล่าวว่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลและศึกษาความเป็นไปได้ในหลายๆ โครงการ โดยบริษัทมุ่งเน้นสำหรับการลงทุนในธุรกิจน้ำ พลังงานสะอาด และธุรกิจด้านสิ่งแวดล้อม เช่นธุรกิจบำบัดน้ำเสีย โดยบริษัท มองว่าเมียนมาร์ปิดประเทศมานาน ฉะนั้นสาธารณูปโภคพื้นฐานประเภทประปา และไฟฟ้า จึงเป็นสิ่งจำเป็นในการพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวเมียนมาร์"

"บริษัทได้เจรจากับหน่วยงานราชการระดับเมืองของประเทศเมียนมาร์ โดยประสานงานผ่าน Local Partner ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเมืองนั้นๆในระดับหนึ่งแล้ว"

++ปัญหายังรอแก้ไขอีกเพียบ

นอกจากนี้นายธนิต ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงปัญหาอุปสรรคการลงทุนในเมียนมาร์ ว่ายังมีอยู่ในหลายเรื่อง ที่สำคัญคือ กฎหมายการลงทุนของเมียนมาร์ฉบับใหม่ยังไม่เอื้อต่อการลงทุนมากนัก มีหลายมาตรที่นักลงทุนค่อนข้างไม่สบายใจ เช่นสัดส่วนการถือหุ้นไม่เกิน 50% จากเดิมลงทุนได้ 100% เรื่องค่าเช่าที่ดินทุกพื้นที่ที่สูงเกินกว่าความเป็นจริง เนื่องจากมีการเก็งกำไรและต้องผ่านนายหน้าหลายทอด รวมทั้งค่าเช่าสำนักงานก็มีราคาสูง บางพื้นที่ราคาใกล้เคียงกับย่านสีลมของไทย, ปัญหาระเบียบข้อบังคับที่มีการเปลี่ยนแปลงบ่อย และระบบศาลของเมียนมาร์ยังไม่เป็นสากล

นอกจากนี้กฎหมายการลงทุนของหน่วยงานเมียนมาร์ เช่น MIC (Myanmar Investment Commission)และ FIC (The Union of Myanmar Foreign Investment Commission) การทำงานยังขาดความเป็นมืออาชีพ และค่าใช้จ่ายนอกระบบ รวมทั้งระบบภาษีซึ่งไม่ค่อยมีมาตรฐานและมีภาษีนอกระบบซึ่งนักลงทุนจะต้องมีการคำนวณเผื่อไว้ค่อนข้างมาก, ปัญหาความล้าหลังด้านโครงสร้างพื้นฐานและระบบไฟฟ้าไม่เพียงพอ เพราะระบบไฟฟ้าของเมียนมาร์พึ่งพาไฟฟ้าพลังน้ำถึง 70% ทำให้ในหน้าแล้งเกิดสภาวะขาดแคลนไฟฟ้าอย่างรุนแรง เป็นปัญหาใหญ่ของนักลงทุน, ปัญหาการขาดแคลนแรงงานทักษะและแรงงานวิชาชีพ เช่นนักบัญชี ทนายความ วิศวกร สถาปนิก แพทย์ พยาบาล เป็นต้น

-จี้รัฐบาลไทยเจรจาปัญหาการเงิน

ขณะที่ระบบธนาคารของเมียนมาร์ยังมีความล้าหลัง ทำให้มีปัญหาด้านการโอนเงินและการขอสินเชื่อโดยใช้หลักทรัพย์ในเมียนมาร์เป็นหลักประกัน ซึ่งรัฐบาลไทยควรเร่งเจรจาเพื่อส่งเสริมให้ธนาคารพาณิชย์ของไทยเข้าไปตั้งสำนักงานเพื่อให้นักลงทุนสามารถทำธุรกรรมด้านการเงินได้สะดวก ,ปัญหาเมียนมาร์ขาดฐานข้อมูลเชิงลึกในการลงทุน เนื่องจากหน่วยราชการของเมียนมาร์ยังไม่ได้มีการจัดระบบองค์กรอย่างเป็นระบบ ทำให้ขาดข้อมูลพื้นฐานในทุกด้าน รวมถึงปัญหาขาดอุตสาหกรรมและธุรกิจบริการสนับสนุนการผลิต

ส่วนนางนฤมล ขรภูมิ ประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดระนอง กล่าวว่า นอกจากปัญหาข้างต้นแล้ว ปัญหาที่เป็นที่กังวลของภาคธุรกิจไทยในเวลานี้คือกรณีที่ทางการเมียนมาร์ได้เตรียมประกาศใช้กฎหมายที่ดินใหม่ ทำให้อัตราค่าเช่าที่ดินเฉพาะอย่างยิ่งในย่างกุ้งซึ่งเป็นฐานที่มั่นของภาคธุรกิจไทยได้รับผลกระทบ บางรายต้องชะลอการลงทุน รวมถึงเมียนมาร์มีการจัดวางผังเมืองใหม่ มีการจัดโซนที่ดินแยกออกอย่างชัดเจนระหว่างแหล่งที่พักอาศัย สำนักงาน โรงงาน และอื่นๆ ล่าสุดมีการบอกเลิกสัญญาเช่าในหลายพื้นที่ เพื่อเวนคืนที่มาสร้างห้างสรรพสินค้า ทำให้ธุรกิจไทยมีความเสี่ยง

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 7 มีนาคม 2556

ไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น “ดร.สุเมธ”ชูโมเดลลุ่มน้ำยมแก้ปัญหาจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนสำเร็จ

มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมป์ จัดพิธีลงนามความร่วมมือ การป้องกันแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง และการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ โดยมี นายสุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ และ พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ร่วมลงนาม โดย นายสุเมธ กล่าวภายหลังลงนามว่า ขณะนี้สถานการณ์น้ำท่วม น้ำแล้งในประเทศไทย ค่อนข้างรุนแรง ซึ่งปัญหาคือ จะบริหารจัดการน้ำอย่างไรจึงจะพอเพียง แต่เวลานี้มีนิมิตรหมายที่ดี ในการแก้ปัญหาลุ่มน้ำยมตลอดทั้งเส้น คือ ตั้งแต่ จ.แพร่ พิจิตร สุโขทัย พิษณุโลก และนครสวรรค์ ที่ชาวบ้านได้ร่วมกันตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง โดยให้ตนเป็นประธาน และแก้ไขปัญหากันเองโดยการสร้างแบบจำลองขึ้นมาในแต่ละพื้นที่ว่า พื้นที่ไหนเหมาะกับการสร้างเขื่อน สร้างอ่าง หรือสร้างฝาย เพื่อเก็บและชะลอน้ำ จนขณะนี้การแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งลุ่มน้ำยมสำเร็จ และถือเป็นต้นแบบในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างชุมชนต่อชุมชน

นายสุเมธ กล่าวต่อว่า ส่วนการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ขณะนี้ก็ไม่มีเหตุผลใดๆ ที่จะสร้างแล้ว หลังจากที่ชาวบ้านมีการหารือกัน และพบว่าไม่มีเหตุผลที่จะสร้าง โดยชาวบ้านที่บ้านสะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ เห็นด้วยกับเรื่องดังกล่าว เพราะสิ่งที่กองทัพบก กับมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ได้ไปทำ คือ ขุดลอกคลองและบึงที่มีอยู่แล้ว แต่ตื้นเขิน ให้กลับมามีสภาพที่ใช้งานได้ก็สามารถที่จะเพิ่มพื้นที่เก็บน้ำในฤดูน้ำท่วม และเป็นแหล่งสำรองน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งได้ การแก้ไขปัญหาลุ่มน้ำยมที่สำเร็จถือว่าสำคัญมากในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำ แล้งในประเทศไทย โดยมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ จะทำรายงานนี้ทูลเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ภายในเดือนมีนาคมนี้

ทั้งนี้ มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ และกองทัพบก มีแผนดำเนินการร่วมกันพัฒนาโครงสร้างน้ำของชุมชน เพื่อเพิ่มความสามารถในการระบายน้ำและสำรองน้ำ ช่วยในการบรรเทาปัญหาอุกภัยและภัยแล้งของชุมชนใน 10 พื้นที่ อาทิ การขุดลอกบ่อน้ำบิ่งกระดิ่ง ตำบลพยุหะ อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ ขุดลอกคลอง ตำบลชุมแสงสงคราม อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ขุดลอกบ่อน้ำตำบลบางอ้อ อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย เป็นต้น ซึ่งบางส่วนได้เริ่มดำเนินการไปบ้างแล้ว

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 7 มีนาคม 2556

รมว.พลังงาน ดันไทยเป็นฮับ ASEAN POWER GRID

นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าไทย” ในการสัมมนาเรื่อง “นโยบายและทิศทางพลังงานไทย” จัดโดยสมาคมสถาบันวิศวกรไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (IEEE) แห่งประเทศไทยร่วมกับ IEEE Power & Energy Society -Thailand ว่า ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะเป็นฮับในการซื้อขายไฟฟ้า เพาเวอร์ กริด โดยการสร้างกริดไลน์เชื่อมโยงประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน

นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า มี 2 ประเทศที่เสนอตัวเป็นฮับ คือ ประเทศไทยและจีน แต่มั่นใจว่าประเทศไทยจะใช้ความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์เชื่อมโยงระบบไฟฟ้ากับประเทศในภูมิภาคอาเซียนได้ เช่น ประเทศพม่า สปป.ลาว กัมพูชา เวียดนาม ซึ่งประเทศดังกล่าวมีแผนลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าทุกรูปแบบ เช่น ถ่านหิน ปรมาณู พลังน้ำ โดยเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีเห็นชอบผลักดันให้ไทยเป็นฮับในการซื้อขายไฟฟ้า เนื่องจากจะทำให้เกิดประโยชน์และความร่วมมือกับประเทศในอาเซียน รวมถึงการสร้างโครงข่ายที่ถูกต้องและสามารถกระจายไฟฟ้าได้อย่างทั่วถึง

ส่วนโซลาร์ รูฟ ท็อป ที่ติดตั้งบนหลังคาโรงงานและบ้านเรือนประชาชน ต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับไปศึกษาถึงปัญหาอุปสรรคในเรื่องต่างๆ เช่น ความสะดวกการขอใบอนุญาตในการติดตั้งแผงโซลาร์ การออกระเบียบให้ง่ายขึ้น รวมถึงขั้นตอนในการซื้อขายไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันมีปัญหาเรื่องการคิดภาษีในการซื้อขาย ตัวโซลาร์มีมอเตอร์เกี่ยวกับโรงงาน ต้องการใบอนุญาต รบ.4 ซึ่งค่อนข้างยุ่งยาก อาจจะต้องแก้ไขกฎระเบียบหรือข้อยกเว้น สำหรับโรงไฟฟ้าปรมาณูตามแผนพีดีพี ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อยู่ระหว่างศึกษากฎระเบียบการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ตามหลักสากล เช่น ต้องมีแหล่งน้ำอยู่ใกล้พื้นที่โรงไฟฟ้า ห่างไกลจากผู้คนและต้องสร้างบนพื้นดินที่มีความแข็ง แต่คงไม่ได้เห็นในระยะเวลาอันใกล้อย่างแน่นอน เพราะภูมิศาสตร์ของไทยไม่เหมาะสมในการสร้างโรงไฟฟ้าปรมาณู แม้ว่าโรงไฟฟ้าดังกล่าวจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ ทำให้พลังงานราคาถูกและลดต้นทุนการผลิตภาค อุตสาหกรรมทำให้สามารถแข่งขันในเรื่องราคาได้ก็ตาม

อย่างไรก็ตาม การสร้างความเข้าใจกับประชาชนเรื่องพลังงานไฟฟ้าทั้งถ่านหิน พลังงานน้ำ และปรมาณู มองว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ เนื่องจากอีก 9 ปีข้างหน้าก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยจะหมดลง ซึ่งประเทศไทยใช้ก๊าซในการผลิตไฟฟ้าสูงถึงร้อยละ 70 หากใช้น้ำมันผลิตก็จะทำให้ค่าเอฟทีเพิ่มขึ้น จึงต้องมองหาพลังงานทดแทนอื่นเพื่อใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า ทางกระทรวงพลังงานจึงต้องเร่งสร้างความเข้าใจด้านพลังงานให้กับประชาชน การสร้างโรงไฟฟ้าภายในประเทศก็จะทำให้รายได้ต่อหัวสูงขึ้น ต้นทุนผลิตถูก การลงทุนเพิ่ม จะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น.

จาก http://www.mcot.net  วันที่ 7 มีนาคม 2556

โรงงานกว่า 100 แห่งเล็งหยุดผลิตปรับแผนลดใช้ไฟ 5 เม.ย.

“พงษ์ศักดิ์” เช็กตัวเลขประหยัดไฟเบื้องต้นสำรองไฟพุ่ง 1,674 เมกะวัตต์คาดไร้ผลกระทบค่าไฟงวดหน้าแล้ว หลัง ส.อ.ท.-กนอ.กางแผนภาคอุตสาหกรรมร่วมประหยัดไฟ 5 เม.ย. 56 เบื้องต้นได้เกือบ 500 เมกะวัตต์จากความร่วมมือโรงงาน 127 แห่งพร้อมหยุดผลิตและลดใช้ไฟ

นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน เปิดเผยหลังการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรับมือพม่าหยุดจ่ายก๊าซจากการซ่อมแท่นผลิต 5-14 เม.ย.ว่า จากการประเมินการจัดหาไฟฟ้าเพิ่มเติมจากฝ่ายผลิตและเมื่อรวมกับฝ่ายใช้ไฟฟ้าที่จะประหยัดจากภาคอุตสาหกรรม ห้างสรรพสินค้าและประชาชนล่าสุดสำรองไฟฟ้าในวันที่ 5 เม.ย. 56 ซึ่งเดิมมีเพียง 767 เมกะวัตต์ซึ่งถือว่าต่ำกว่าเกณฑ์ปกติจะขึ้นไปอยู่ที่ 1,674 เมกะวัตต์ ดังนั้นจึงมั่นใจที่ไฟจะไม่ขาด และผลดังกล่าวยังทำให้มีโอกาสที่จะไม่กระทบต่อค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือ Ft ที่เดิมจะกระทบ 0.48 สตางค์ต่อหน่วยในงวดหน้า (พ.ค.-ส.ค.56)

“เราทำสำรองได้มากเช่นนี้ด้วยการร่วมมือของทุกภาคส่วนเราก็คงไม่จำเป็นจะต้องไปซื้อไฟฟ้าจากมาเลเซียเพิ่มเติมในส่วนที่เตรียมไว้ 200 เมกะวัตต์ และการใช้ดีเซลและน้ำมันเดินเครื่องผลิตไฟแทนก็จะลดต่ำลงดังนั้นค่าไฟที่จะมีผลกระทบก็อาจจะไม่เกิดขึ้นดังนั้นจึงขอขอบคุณทุกภาคส่วนโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมซึ่งเห็นว่าการประหยัดควรจะเป็นการดำเนินงานระยะยาว” รมว.พลังงานกล่าว

สำหรับสำรองที่เพิ่มขึ้นแยกเป็นดังนี้ ด้านการผลิต (Supply Side) ซื้อจากผู้ผลิตเอกชนรายเล็กหรือ SPP เพิ่ม 110 เมกะวัตต์ ด้านการใช้ไฟฟ้า(Demand Side) การตัดไฟจากผู้ประกอบการที่ใช้อัตราแบบพร้อมงดจ่ายทันที (Interruptible Rate) 56 เมกะวัตต์ จาก ส.อ.ท.ที่แจ้งการประหยัดจากภาคการผลิต 408 เมกะวัตต์มีโรงงานเข้าร่วม 62 แห่ง จากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) 83 เมกะวัตต์มีโรงงานเข้าร่วม 65 แห่ง รวมฟากของผู้ใช้ 547 เมกะวัตต์กับผู้ผลิต SPP 110 เมกะวัตต์เป็น 567 เมกะวัตต์เมื่อรวมกับสำรองไฟที่มีอยู่วันที่ 5 เม.ย. 56 อีก 767 เมกะวัตต์จึงเป็น 1,424 เมกะวัตต์ แต่คาดว่าห้างสรรพสินค้าและประชาชนจะช่วยกันประหยัดได้อีก 250 เมกะวัตต์ รวมสำรองจะเป็น 1,674 เมกะวัตต์เป็นอย่างต่ำ

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาคการผลิตจะร่วมมือกันปรับแผนการผลิตโดยส่วนใหญ่จะหยุดการผลิตและลดใช้ไฟช่วงวันที่ 5 เม.ย. 56 รวม 62 บริษัทใน 13 กลุ่มอุตสาหกรรมที่สำคัญ รวมการประหยัดได้ 408 เมกะวัตต์ และอาจจะยังมีเพิ่มเติมเข้ามาอีก โดยกลุ่มที่ประหยัดไฟมากสุด คือ 1. กลุ่มเหล็ก 137.14 เมกะวัตต์ 2. กลุ่มปูนซีเมนต์ 126 เมกะวัตต์ 3. ปิโตรเคมี 68 เมกะวัตต์ 4. อาหาร 20.9 เมกะวัตต์ 5. ยา 10.9 เมกะวัตต์ เป็นต้น

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 6 มีนาคม 2556

“พาณิชย์” สรุปปี 55 ใช้สิทธิ FTA 4 หมื่นล้าน เผยอาเซียนนำโด่งหลังเป็นตลาดหลัก

“พาณิชย์” สรุปยอดใช้สิทธิ FTA ปี 55 ทะลุ 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.41% อาเซียนนำโด่งใช้สิทธิลดภาษีสูงสุด หลังเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย ตามด้วยจีน อินเดีย ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น แนะผู้ประกอบการผลิตสินค้าให้ถูกกฎแหล่งกำเนิดเพื่อใช้สิทธิ์เพิ่มขึ้น

นายสุรศักดิ์ เรืองเครือ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยถึงผลการใช้สิทธิประโยชน์ส่งออกภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ในปี 2555 ว่า มีมูลค่าการใช้สิทธิสูงถึง 41,704.80 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.41% จากปี 2554 ที่มีการใช้สิทธิ 39,944.71 ล้านเหรียญสหรัฐ มีสัดส่วนการใช้สิทธิคิดเป็น 47.32% ของมูลค่าการส่งออกเฉพาะรายการสินค้าที่ได้รับสิทธิลดภาษี ซึ่งมีการส่งออกรวม 88,138.63 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) เป็นกรอบความตกลง FTA ที่มีมูลค่าการส่งออกภายใต้สิทธิพิเศษสูงสุด ซึ่งเป็นไปตามภาพรวมที่ตลาดอาเซียนเป็นตลาดที่มีความสำคัญอันดับ 1 ของไทย รองลงมาเป็นอาเซียน-จีน ไทย-อินเดีย ไทย-ออสเตรเลีย ไทย-ญี่ปุ่น

สาเหตุที่ผู้ประกอบการไทยไม่สามารถใช้สิทธิพิเศษ FTA ได้เต็มที่ อาจเป็นเพราะยังไม่สามารถผลิตสินค้าให้เป็นไปตามกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าที่ไทยได้ทำความตกลงไว้กับประเทศคู่ภาคีได้ โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ ที่เป็นสินค้าส่งออกหลักของไทย เนื่องจากต้องนำเข้าชิ้นส่วนวัตถุดิบจากประเทศนอกภาคีความตกลงมาผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูปเพื่อส่งออก ซึ่งแนวทางแก้ไข ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องปรับตัวและใช้วัตถุดิบจากประเทศคู่ค้าที่ทำความตกลง FTA กับไทย เพื่อให้สามารถสะสมแหล่งกำเนิดสินค้าได้

“การใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA เป็นปัจจัยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) ที่ยังมีข้อจำกัดด้านปัจจัยการผลิต ทำให้ไม่สามารถแข่งขันได้ หากต้องเผชิญกับอัตราภาษีปกติ ที่สำคัญสิทธิพิเศษที่ได้จาก FTA ยังมีส่วนสำคัญในการสร้างรายได้จากการส่งออกสินค้าไทย และช่วยขยายโอกาสการประกอบธุรกิจของไทยในต่างประเทศด้วย” นายสุรศักดิ์กล่าว

สำหรับแผนงานในปี 2556 กรมฯ มีกำหนดที่จะจัดกิจกรรมส่งเสริมการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าจาก FTA กรอบต่างๆ เช่น การจัดสัมมนาเพื่อเพิ่มองค์ความรู้และขีดความสามารถให้กับผู้ประกอบการในเขตกรุงเทพฯ และจังหวัดต่างๆ ในทุกภาคเพื่อให้สามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าจาก FTA ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการจัดงานส่งเสริมการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ AFTA เพื่อส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้เตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 ต่อไป

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 6 มีนาคม 2556

ชาวไร่อ้อยขู่ก่อม็อบ หากปัญหาราคาตกต่ำไม่เข้า ครม.12 มี.ค.นี้

ชาวไร่อ้อย 4 จังหวัดภาคกลาง เรียกร้องให้กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) และที่ประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย หรือ กอน. ปรับราคาค่าอ้อยขั้นต่ำจาก 950 บาทต่อตัน เป็น 1,200 บาท เพื่อบรรเทาผลกระทบจากราคาผลผลิตตกต่ำ ขณะเดียวกัน ยังเสนอให้จัดสรรเงินกู้ให้ชาวไร่ จากเงินกองทุนชาวไร่อ้อยและน้ำตาลทรายที่ กอน.เรียกเก็บจากเกษตรกรกิโลกรัมละ 5 บาท ซึ่งเงินอยู่ถึง 12,000 ล้านบาท เพื่อบรรเทาปัญหา

แกนนำชาวไร่อ้อยยังกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ชาวไร่อ้อยหลายจังหวัด ยื่นหนังสือต่อกระทรวงอุตสาหกรรมหลายครั้งให้แก้ปัญหา และหากวันอังคารที่ 12 มีนาคมนี้ ปัญหาดังกล่าวยังไม่เข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุม ครม. ชาวไร่อ้อยกว่า 30,000 คน จะไปประชุมหน้ากระทรวงอุตสาหกรรม

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 6 มีนาคม 2556

ชาวไร่ขีดเส้นขอราคาอ้อยเพิ่มกท. บ่นกู้ธ.ก.ส. 2 หมื่นล.ไม่ไหว

นายกำธร กิตติโชติทรัพย์ ประธานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ชาวไร่ทั่วประเทศจะรอการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 12 มีนาคม เพื่ออนุมัติแหล่งเงินกู้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ( ธ.ก.ส.)ในการเพิ่มราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2555/2556 อีก 250 บาทต่อตัน จากที่รัฐกำหนดไว้ 950 บาทต่อตัน เพราะเป็นอัตราที่ไม่คุ้มกับต้นทุนซึ่งหากไม่มีการพิจารณาให้ อาจมีมาตรการในการเคลื่อนไหวต่อไป

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวว่า อยากให้ชาวไร่อ้อยทำความเข้าใจว่าการกู้เงินจาก ธ.ก.ส.ผ่านกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย(กท.) ต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่ารายได้หลักกท.ในการชำระหนี้มาจากการขึ้นราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงาน 5 บาทต่อกก. หรือมีรายได้ปีละ 1.3 หมื่นล้านบาท หากจะให้ได้ราคา 250 บาทต่อตัน จะต้องกู้ถึง 2 หมื่นล้านบาท ทำให้เกินรายได้ที่ควรจะเป็น ดังนั้นคงจะไม่สามารถช่วยเหลือราคาชาวไร่ได้ในระดับ 250 บาทต่อตันแน่นอน

จาก http://www.matichon.co.th วันที่ 6 มีนาคม 2556

น้ำตาลครบุรีลุยนอกหลังมิตซุยถือหุ้น

น้ำตาลครบุรีพร้อมลุยขายตลาดต่างประเทศ เพิ่มความสามารถทำกำไร หลังดึงกลุ่มมิตซุยถือหุ้น 16.7 % เสริมความแข็งแกร่งล่าสุดบอร์ดบริษัทอนุมัติจ่ายปันผลงวดสุดท้ายปี 2555 หุ้นละ 47 สตางค์ ส่วนผลดำเนินงานปีก่อนกำไร 725 ล้านบาท

นายถกล ถวิลเติมทรัพย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทน้ำตาละครบุรี จำกัด (มหาชน) หรือ KBS เปิดเผยว่าหลังที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นมีมติอนุมัติให้บริษัทร่วมมือเป็นพันธมิตรทางธุรกิจในธุรกิจน้ำตาลกับกลุ่มมิตซุยจากญี่ปุ่น ส่งผลให้บริษัทแข็งแกร่งขึ้น เพราะกลุ่มมิตซุยพร้อมจะให้การสนับสนุนด้านเทคนิคและอื่นๆ โดยเฉพาะความร่วมมือด้านการตลาดในการจำหน่ายน้ำตาลคุณภาพสูงในตลาดต่างประเทศ เพื่อเพิ่มความสามารถทำกำไรให้บริษัท ดังนั้นการร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นผลดีที่จะช่วยสร้างประโยชน์ให้บริษัทในอนาคต

“บริษัทมุ่งมั่นจะขยายธุรกิจเพื่อประโยชน์สูงสุดของนักลงทุนและผู้ถือหุ้นไทยเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลอันดับสองของโลก ได้เปรียบผู้ผลิตรายใหญ่อย่างบราซิลและออสเตรเลียในแง่ค่าขนส่ง เพราะไทยอยู่ในเอเชีย ซึ่งมีอัตราเติบโตของการบริโภคน้ำตาลสูง ดังนั้นหลังเพิ่มทุนให้กลุ่มมิตซุยเข้ามาเป็นพันธ์มิตรแล้ว บริษัทจะเร่งประสานงานความร่วมมือครั้งนี้ทันที เพื่อพัฒนาธุรกิจร่วมกันเสริมสร้างมูลค่าให้บริษัทต่อไป” นายถกลกล่าว

เขากล่าวว่าหลังได้กลุ่มมิตซุยเป็นพันธ์มิตร บริษัทได้ดำเนินการเพิ่มทุน 100 ล้านหุ้น จัดสรรแบบเฉพาะเจาะจงให้บริษัทในกลุ่มมิตซุย 2 บริษัท คือ บริษัท มิตซุย จำกัด และบริษัทมิตซุยชูการ์ จำกัด โดยจำนวน 50 ล้านหุ่นแรกาจะจัดสรรให้กลุ่มมิตซุยทันทีในราคาหุ้นละ 10.25 บาท และกลุ่มบริษัท มติซุยจะได้รับจัดสรรใบสำคัญแสดงสิทธิ (วอร์แรนท์) จำนวน 50 ล้านหน่วย เพื่อแปลงเป็นหุ้นสามัญใหม่อีก 50 ล้านหุ้นภายใน 2 ปี (1 ใบสำคัญแสดงสิทธิ ต่อ 1 หุ้นสามัญใหม่) ราคาของใบแสดงสิทธิเท่ากับ 0.05 บาทต่อหน่วย มีราคาใช้สิทธิ 12.70 บาทต่อหุ้น
โดยบริษัทได้เงินเพิ่มทุนรวมมูลค่าของใบสำคัญแสดงสิทธิรวม 515 ล้านบาท ซึ่งจะนำไปใช้รองรับการขยายงานปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต และเป็นเงินทุนหมุนเวียน โดยผลจาการเข้ามาถือหุ้นครั้งนี้ กลุ่มมิตซุยจะกลายเป็นผู้ถือหุ้นของน้ำตาลครบุรี ในสัดส่วน 9.1 % และจะเพิ่มเป็น 16.7 % ภายหลังจากการแปลงสภาพวอร์แรนท์ทั้งหมด

ขณะเดียวกันนายถกล ระบุว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลงวดสุดท้ายปี 2555 อีกหุ้นละ 0.47 บาท ซึ่งบริษัทได้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลไปแล้ว เมื่อเดือนก.ย.ปีนี้ ในอัตราหุ้นละ 0.20 บาท รวมเป็นการจ่ายปันผลทั้งปี 2555 ในอัตราหุ้นละ 0.67 บาท และกำหนดจ่ายปันผลวันที่ 24 พ.ค.ปี 2556 หลังสามารถทำกำไรได้ 725.6 ล้านบาทในปี 2555

จาก http://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 6 มีนาคม 2556

เขื่อนลำปาวเข้าขั้นวิกฤติ

นายปิยปัญญา ภู่ขวัญเมือง ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว แจ้งต่อสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดกาฬสินธุ์ว่า สถานการณ์น้ำในเขื่อนลำปาว ล่าสุดมียอดเก็บกักน้ำที่ 272.9 ล้านลูกบาศ์กเมตร ปริมาณน้ำก้นอ่างที่ใช้การไม่ได้ 100 ล้านลูกบาศ์กเมตร ปริมาณที่ใช้การได้เพียง 172.9 ล้านลูกบาศ์กเมตร จึงขอความร่วมมือจากเกษตรกรและประชาชนทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างคุ้มค่าและ ประหยัดเนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างมีน้อย

ส่วนสถานการณ์การปลูกพืชฤดูแล้งของเกษตรกร ชาวจังหวัดกาฬสินธุ์ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาวได้ประกาศงดส่งน้ำฤดูแล้งปี 2556 โดยแจ้งให้เกษตรกรทราบและให้งดการปลูกพืช เลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลาทุกชนิด รวมทั้งการสูบน้ำจากลำน้ำปาว ลำน้ำพาน ลำน้ำดอกไม้มาทำนาปรัง เพื่อป้องกันผลผลิตเสียหายอันเนื่องมาจากการขาดแคลนน้ำ แต่ยังมีเกษตรกรฝ่าฝืนสูบน้ำจากแหล่งน้ำมาทำนาปรังอยู่ เช่น ที่พื้นที่อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ 5 ไร่ อำเภอยางตลาด 503 ไร่ บ่อกุ้ง 24 ไร่ พืชไร่ 21.80 ไร่ อำเภอกมลาไสย ทำนาปรัง 8,337 ไร่ และพืชไร่จำนวน 130 ไร่ และอำเภอฆ้องชัยมีเกษตรกรฝ่าฝืนทำนาปรังจำนวน 386 ราย จำนวนเนื้อที่ 7,291 ไร่ ซึ่งรวมทั้งสิ้นมีเกษตรกรทำนาปรังทั้งสามอำเภอจำนวน 16,136.20 ไร่ บ่อกุ้ง 24 ไร่ และพืชไร่อีกจำนวน 151.80ไร่ จำนวน 1,127 ครัวเรือน

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 6 มีนาคม 2556

เกษตรเปิดปฏิบัติการฝนหลวง 10หน่วยพร้อมขึ้นบินถึงตุลาคม

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้เริ่มดำเนินการตามแผนปฏิบัติการฝนหลวงประจำปี 2556 โดยจะทยอยตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงทั้ง 5 ภาคเพื่อปฏิบัติการฝนหลวง ซึ่งมีเป้าหมายในการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนเก็บน้ำต่างๆ และบรรเทาสถานการณ์ภัยแล้ง รวมถึงปัญหาไฟป่าและหมอกควันในภาคเหนือตั้งแต่เดือนมีนาคมไปจนถึงสิ้นสุดฤดูฝนประมาณเดือนตุลาคมนี้ โดยเบื้องต้นเตรียมตั้งหน่วยปฏิบัติการทั้งหมด 10 แห่ง มีเครื่องบินที่พร้อมปฏิบัติการทั้งสิ้น 34 เครื่อง เป็นของกระทรวงเกษตรฯ 26 เครื่อง และได้รับการสนับสนุนจากกองทัพอากาศ 8 เครื่อง ขณะเดียวกัน กรมฝนหลวงและการบินเกษตรยังได้ตั้งอาสาสมัครฝนหลวงเป็นเครือข่ายการประสานข่าวสารข้อมูลกระจายอยู่ทั่วประเทศ รวมถึงประชาชนยังสามารถขอฝนหลวงในพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้งมายัง Call Center 1170 ของกระทรวงเกษตรฯ ด้วย

“สถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ถึงแม้ว่าผลกระทบส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค แต่กระทรวงเกษตรฯ ก็ไม่ได้นิ่งดูดาย โดยได้มีการประชุมติดตามสถานการณ์และกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งรวมทั้งหมอกควันมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งแจ้งเตือนเกษตรกรให้จำกัดพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้ง มีการบริหารจัดสรรน้ำให้เพียงพอต่อการเพาะปลูกในเขตชลประทาน”

นายยุคล กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงเดือนม.ค.-ก.พ.ที่ผ่านมากรมฝนหลวงและการบินเกษตรยังไม่ได้ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง เนื่องจากยังอยู่ในช่วงฤดูหนาวสภาพอากาศแห้งและเย็น ความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศในระดับที่เกิดเมฆยังต่ำกว่าเกณฑ์ที่สามารถทำฝนได้ อย่างไรก็ตามได้ตั้งหน่วยบินฝนหลวงเคลื่อนที่เร็วไว้ที่สนามบินนครสวรรค์ จำนวน 3 หน่วย ที่พร้อมบินไปปฏิบัติการฝนหลวงที่ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคต่างๆได้ทันทีที่มีการร้องขอ

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 6 มีนาคม 2556

วิกฤตภัยแล้ง อาจกระทบเศรษฐกิจภูธรหนัก

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics มองวิกฤตภัยแล้งปี 2556 อาจรุนแรงกว่าคาด หลังน้ำในเขื่อนใหญ่ต่ำกว่าวิกฤตแล้งปี 2548 เตือนเกษตรกรภาคเหนือและอีสานในบางจังหวัดอาจได้รับผลกระทบรุนแรงกว่าปี 48

ภัยแล้งปี 2556 เริ่มมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2555 อาจยาวนานถึง พฤษภาคม 2556 ขณะนี้ได้เกิดภัยแล้งแล้ว 35 จังหวัด ภาคอีสานแล้งหนักถึง 15 จังหวัด และภาคเหนือ 13 จังหวัด สาเหตุจากปริมาณน้ำฝนตกปี 2555 น้อยกว่าปี 2554 โดยเฉลี่ยทั้งประเทศมีปริมาณฝนตกสะสมเฉลี่ย 1,482.4 มิลลิเมตร ลดลงร้อยละ 5.0 จากค่าเฉลี่ยกลาง และลดลงร้อยละ 18.1 จากปี 2554 โดยภาคอีสานและภาคเหนือมีปริมาณฝนตกลดลงร้อยละ 28.5 และ 27.8 ตามลำดับ

จากปี 2554 ทำให้ปริมาณน้ำในไหลเข้าเขื่อนขนาดใหญ่และอ่างเก็บน้ำลดลง ประกอบกับการเร่งระบายน้ำออกจากเขื่อนเนื่องจากหวั่นจะเกิดวิกฤตน้ำท่วมเช่นเดียวกับปี 2554 ทำให้เขื่อนขนาดใหญ่ภาคเหนือ ที่เป็นแหล่งน้ำให้กับภาคเหนือและภาคกลาง มีปริมาตรน้ำใช้การ ณ วันที่ 1 มีนาคม 2556เพียงร้อยละ 17.8 ลดลงจากอดีตที่ร้อยละ 40.1 ในช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ภัยแล้งภาคอีสานนั้นเข้าขั้นวิกฤตกว่า มีปริมาตรน้ำใช้การเพียงร้อยละ 13.1 ลดจากอดีตที่ร้อยละ 31.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน นับเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบสิบปี ซึ่งปริมาณน้ำดังกล่าวจะต้องบริหารจัดการให้เพียงพอกับฤดูแล้งระหว่างเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม แต่หากฝนทิ้งช่วงในต้นฤดูฝน จะยิ่งทำให้วิกฤติภัยแล้งรุนแรงขึ้นอีก

ผลของภัยแล้งที่ขยายพื้นที่กว้างขึ้นพบว่า ขณะนี้มีพื้นที่เกษตรได้รับผลกระทบแล้วประมาณ 4 ล้านไร่ โดยกว่าร้อยละ 95 เป็นพื้นที่ปลูกข้าว ทำให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)คาดว่าปริมาณข้าวนาปรังที่จะเข้าโครงการรับจำนำลดลงจากที่ประมาณการณ์ไว้ 11 ล้านตัน เหลือเพียง 7-8 ล้านตันเท่านั้น โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศงดการปลูกข้าวนาปรังครั้งที่ 2 ในเขตพื้นที่ชลประทาน เพราะปริมาณน้ำอาจไม่เพียงพอ แต่ปรากฏว่าพื้นที่เพาะปลูกในเขตชลประทานลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยากลับสูงกว่าแผนเดิมกว่า 0.92 ล้านไร่ จากที่กำหนดไว้5.40 ล้านไร่

หากศึกษาเทียบกับผลกระทบของวิกฤตภัยแล้งครั้งใหญ่ในปี 2548 มีพื้นที่เกษตรกรรมที่ได้รับผลกระทบกว่า 13.7 ล้านไร่ พบว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคเกษตรของไทย หดตัวร้อยละ 2.7 โดยภาคเหนือและภาคอีสาน หดตัวร้อยละ 4.8 และ 2.8 และเมื่อพิจารณาผลิตภัณฑ์มวลรวมรายจังหวัด เฉพาะภาคเกษตรพบว่าจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งรุนแรงในภาคเหนือ คือ สุโขทัย ตาก และแพร่ มีการหดตัวร้อยละ 17.0, 13.6 และ 13.0

ส่วนในภาคอีสานพบว่าจังหวัดที่ได้รับผลกระทบรุนแรงคือ อุดรธานี มุกดาหาร นครราชสีมา ชัยภูมิ ซึ่งตัวเลขหดตัวเกินกว่าร้อยละ 10.0 จากปีก่อน การหดตัวดังกล่าวเกิดจากรายได้ของเกษตรลดลงเนื่องจากไม่สามารถทำการเกษตรได้ตามปกติ ผลผลิตตกต่ำเนื่องจากขาดน้ำ รวมถึงการระบาดของโรคและแมลงต่างๆในช่วงที่เกิดภัยแล้ง โดยจังหวัดดังกล่าวเป็นพื้นที่เกิดภัยแล้งซ้ำซาก และคาดว่าหากฝนยังคงทิ้งช่วงในต้นฤดูฝน อาจทำให้บางจังหวัดที่กล่าวมาแล้วได้รับผลกระทบสูงกว่าวิกฤติภัยแล้ง 2548 เพราะปีนี้ปริมาณน้ำในเขื่อนที่ใช้การได้เหลือน้อยกว่าในปี 2548 ค่อนข้างมาก

แนวทางป้องกันความเสียหายสำหรับเกษตรกรและประชาชน คือ การงดปลูกพืชตามประกาศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไม่ใช่เพียงเพราะเพื่อประหยัดน้ำ แต่เป็นการลดความเสียหายจากภัยแล้งที่อาจจะได้รับ สำรองน้ำให้เพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภค และภาครัฐควรมีแผนหรือมาตรการระยะสั้นสำหรับภัยแล้งฉับพลันที่สามารถนำมาปฏิบัติได้ทันที อีกทั้งหาทางแก้ปัญหาวิกฤตภัยแล้งระยะยาว โดยเฉพาะจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่แล้งซ้ำซาก ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือและภาคอีสาน เพื่อบรรเทาความเสียหายและสามารถใช้พื้นที่ในการเกษตรได้ในฤดูแล้ง

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 6 มีนาคม 2556

วช. ตั้งศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์รับมือโลกร้อน สร้างระบบเตือนภัยแม่นยำสูงช่วยเกษตรกร

ศาสตราจารย์นายแพทย์สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า วช.ได้ตั้งศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์เรื่องภาวะที่มีปัญหาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศที่มีผลจากสิ่งแวดล้อมขึ้น
เพื่อให้ยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในประเทศไทยเป็นไปในทิศทางที่ดีและถูกต้องเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลก จำเป็นต้องมีการพัฒนาการนำความรู้ที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ เป็นฐานในการจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศทั้งในแง่ของสิ่งแวดล้อม เกษตรกรรม เศรษฐกิจ และสุขภาพ

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ฯ จะทำหน้าที่ศึกษาและนำงานวิจัยทั้งในและต่างประเทศมาผนวกและประมวลผลจัดทำเป็นข้อมูลความรู้เพื่อใช้การคาดคะเนอากาศอนาคตที่แม่นยำยิ่งขึ้น โดยประสานกับราชบัณฑิตยสถานให้ช่วยจัดการความรู้จากงานวิจัยอย่างยากให้เป็นข้อมูลที่เข้าใจง่ายและประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้ โดยตั้งเป้าใช้ฐานความรู้นี้สร้างระบบเตือนภัยที่มีความแม่นยำสูงเพื่อรับมือภาวะวิกฤตต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรทั่วประเทศสามารถวางแผนการเพาะปลูกได้อย่างเหมาะสม ลดความเสียหายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศได้

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 6 มีนาคม 2556

รมว.เกษตรฯ เปิดงานวันคล้ายวันสถาปนา ส.ป.ก.ครบรอบ 38 ปี พร้อมย้ำการพัฒนาเกษตรกร และผลผลิตทางการเกษตรให้มีประสิทธิภาพตามแนวทางการจัดโซนนิ่งทางการเกษตร

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดงานวันคล้ายวันสถาปนาสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ครบรอบ 38 ปี พร้อมย้ำการพัฒนาเกษตรกร และผลผลิตทางการเกษตรให้มีประสิทธิภาพตามแนวทางการจัดโซนนิ่งทางการเกษตร

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานในพิธีเปิดงานวันคล้ายวันสถาปนาสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรรม ครบรอบ 38 ปี ณ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ ส.ป.ก. ว่า การทำงานของ ส.ป.ก. ที่ผ่านมาอยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดยได้จัดสรรที่ดินกว่า 34 ล้านไร่ จากที่ดิน 38 ล้านไร่ ให้แก่เกษตรกรกว่า 3,500,000 ครัวเรือน และพัฒนาเกษตรกรให้มีความสามารถ โดยได้มอบแนวทางให้ ส.ป.ก. พัฒนาเกษตรกรให้มีความรู้ ความสามารถ เพื่อเข้าสู่โครงการ เกษตรกรปราดเปรื่อง หรือ สมาร์ทฟาเมอร์ และพัฒนาคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตรให้มีประสิทธิภาพ และมีตลาดรองรับ รวมถึงพัฒนาการจัดสรรพื้นที่ตามแนวการจัดโซนนิ่งทางการเกษตร และตรวจสอบพื้นที่ที่ได้จัดสรรไปแล้วว่ามีการใช้ที่ดินผิดวัตถุประสงค์หรือไม่

ขณะที่นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่าในปีนี้ ส.ป.ก. จะเร่งจัดสรรที่ดินให้แก่เกษตรกร โดยการทดลองปลูกพืช และทดสอบศักภาพของที่ดิน ก่อนจัดสรรที่ดินให้แก่เกษตรกร ตามแนวทางการจัดโซนนิ่งของรัฐบาล และพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรที่ได้รับการจัดสรรที่ดินให้มีความรู้ผ่านการอบรม และจัดตั้งศูนย์ให้ความรู้แก่เกษตรกร

จาก http://thainews.prd.go.th วันที่ 6 มีนาคม 2556

มิตรผลหยุดผลิต5เม.ย.บรรเทาวิกฤตพลังงาน

นายกฤษฎา มนเทียรวิเชียรฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า กลุ่มมิตรผลเตรียมสนับสนุนภาครัฐในช่วงที่พม่าหยุดจ่ายก๊าซ ด้วยการหยุดการผลิตชั่วคราวใน 5 โรงงานน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ ในวันที่ 5 เม.ย. นี้ เพราะเป็นช่วงที่คาดว่าจะมีการใช้ไฟฟ้าสูงสุด 26,300 เมกะวัตต์ โดยยืนยันไม่กระทบกับระบบการผลิตและปริมาณสินค้าคงคลัง รวมทั้งขั้นตอนการรับซื้ออ้อยจากเกษตรกร เพราะไม่ได้หยุดหีบอ้อย

ด้านการผลิตกระแสไฟฟ้าของกลุ่มมิตรผลนั้น เดิมมีสัญญาจำหน่ายไฟฟ้าประเภท SPP Firm PPA FIRM ให้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อยู่แล้ว 76 เมกะวัตต์ แต่ในช่วงที่หยุดการผลิตชั่วคราวเพื่อประหยัดกระแสไฟฟ้า นั้น จะทำให้มีกระแสไฟฟ้าคงเหลือในกลุ่มมิตรผลเพิ่มขึ้นสามารถขายได้เต็มสัญญา non-firm อีกจำนวน 96 เมกะวัตต์ ส่งผลให้กลุ่มมิตรผลสามารถขายไฟฟ้าในช่วงวันที่ 5 เม.ย.นี้ได้รวมกว่า 170 เมกะวัตต์

"ปัจจุบันโรงงานผลิตน้ำตาลมีโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นของตนเองไม่ได้ใช้กระแสไฟฟ้าจากภาครัฐ โดยมีกำลังผลิตไฟฟ้าโดยเฉพาะจากชีวมวล รวม 1,700 เมกะวัตต์ หรือเท่ากับการผลิตไฟฟ้าจากเขื่อน 2 เขื่อน หรือเทียบเท่าโรงไฟฟ้าปรมาณู 1-2 โรง คิดเป็น 2% ของการใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศ" นายกฤษฎากล่าว

อย่างไรก็ตาม โรงงานน้ำตาลทุกแห่งสามารถเพิ่มศักยภาพการผลิตไฟฟ้าให้มากขึ้นได้อีกเป็น 2,600 เมกะวัตต์ได้ภายใน 3-5 ปี แต่จะต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในแง่การให้ความสำคัญในการรับซื้อ บวกกับส่งเสริมการปลูกอ้อยให้มีปริมาณเพิ่มจากปีละ 90 ล้านตัน เป็น 150 ล้านตัน พร้อมกับส่งเสริมระบบโซนนิ่งการเกษตรในการปลูกพืชและดูแลราคา มีระบบชลประทานเข้ามาช่วยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีแผนอยู่แล้ว ราคารับซื้อปัจจุบันอิง 2 ราคา ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ ที่ผ่านมายังมีส่วนเพิ่มให้หน่วยละ 30 สตางค์ แต่ปัจจุบันมีการพิจารณาในส่วนนี้ใหม่ เพราะพิจารณาถึงการผลิตจากเชื้อเพลิงประเภทอื่นด้วย จะเห็นได้ว่าเชื่อมโยงกับพืชผลทางการเกษตร

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 5 มีนาคม 2556

มิตรผลชี้โรงไฟฟ้าชีวมวลพร้อมป้อนสำรองไฟฟ้า 5 เม.ย.นี้

มิตรผลพร้อมป้อนไฟฟ้าจากชานอ้อยเพิ่มปริมาณสำรอง 172 เมกะวัตต์ เผยหากเพิ่มผลผลิตอ้อย 150 ล้านตันสามารถผลิตไฟฟ้า 2,500 เมกะวัตต์เท่ากับสร้างเขื่อน 1 แห่ง

วันนี้ (5 มี.ค.) นายกฤษฎา มนเทียรวิเชียรฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มมิตรผล เปิดเผยว่า ขณะนี้ โรงงานน้ำตาลทรายมิตรผล 5 แห่งในจังหวัดสุพรรรณบุรี สิงห์บุรี ขอนแก่น ชัยภูมิ และกาฬสินธุ์ พร้อมที่จะส่งไฟฟ้าให้การการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จำนวน 172 เมกะวัตต์ ซึ่งสามารถที่จะช่วยเพิ่มปริมาณสำรองไฟฟ้าของประเทศได้ในช่วงวันที่ 5 เม.ย. 56 และป้องกันปัญหาไฟฟ้าดับหรือไฟฟ้าตกได้เป็นอย่างดี

“กลุ่มมิตรผลมีโรงไฟฟ้าชีวมวล 5 แห่ง ซึ่งใช้ชานอ้อยเป็นวัตถุดิบในการผลิตไฟฟ้ารวมได้ 340 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น 50% นำไปใช้ในโรงงานและที่เหลือนำไปขาย ที่ผ่านมามิตรผลมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวแล้ว 76 เมกะวัตต์ ซึ่งกฟผ.ได้นับเป็นปริมาณสำรองไฟฟ้าไปแล้ว แต่ยังมีอีก 96 เมกะวัตต์ที่ทางกลุ่มสามารถส่งไฟฟ้าขายได้และกฟผ. ยังไม่ได้มีการนับรวมเป็นปริมารสำรองไฟฟ้า โดยปริมาณไฟฟ้า 172 เมกะวัตต์ก็จะเทียบเท่าการใช้ไฟฟ้าของจังหวัดขนาดใหญ่ 1 จังหวัด”

นายกฤษฎา กล่าวว่า ในปัจจุบัน มีโรงน้ำตาลทั้งหมดทั่วประเทศ 47 แห่ง ซึ่งทุกโรงงานต่างมีการผลิตไฟฟ้าจากชานอ้อยเพื่อใช้ในโรงงาน และขายส่วนที่เหลือให้กับการไฟฟ้า อย่างไรก็ตามหากรัฐบาลมีการส่งเสริมการปลูกอ้อยอย่างจริงจังก็จะทำให้ผลผลิตอ้อยเพิ่มขึ้นจาก 90-95 ตัน เป็น 150 ตันภายใน 5 ปี ซึ่งสามารถผลิตไฟฟ้าได้ถึง 2,500 เมกะวัตต์ ซึ่งเทียบเท่ากับการผลิตไฟฟ้า 1 เขื่อน หรือเทียบเท่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 2.5 โรง และช่วยลดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติได้ไม่น้อยกว่า 85,000 ล้านบาทต่อปี ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนใดออกไซด์ได้ 10 ล้านตันต่อปี

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 5 มีนาคม 2556

ครม.เห็นชอบร่างระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย

นายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผย ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ว่าที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ว่าด้วยวิธีการในการจัดการน้ำตาลทรายที่ไม่ได้คุณภาพ พ.ศ. ....

ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้สำหรับสาระสำคัญของร่างระเบียบระบุว่า ให้ยกเลิก “ระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ว่าด้วยวิธีการในการจัดการน้ำตาลทรายที่ไม่ได้คุณภาพ พ.ศ.2544 ลงวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2544 และกำหนดนิยามของคำว่า “น้ำตาลทราย” “น้ำตาลทรายที่ได้คุณภาพ” “น้ำตาลทรายที่ไม่ได้คุณภาพ” “น้ำตาลทรายเสื่อมคุณภาพ” “โรงงานน้ำตาลทราย” “การปรับปรุงคุณภาพ” กำหนดวิธีการดำเนินการในการจัดการน้ำตาลทรายที่ไม่ได้คุณภาพในขณะทำการผลิตและที่เสื่อมสภาพภายหลังการผลิต กำหนดอัตราค่าสูญเสียในการปรับปรุงคุณภาพน้ำตาลทราย โดยให้ค่าใช้จ่ายและความสูญเสียในการปรับปรุงคุณภาพตกเป็นภาระแก่โรงงานน้ำตาลทราย ดังนี้ 1. น้ำตาลทรายดิบ อัตราค่าสูญเสีย 1% 2. น้ำตาลทรายขาว อัตราค่าสูญเสีย 4% 3. น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ อัตราค่าสูญเสีย 3 %

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 5 มีนาคม 2556

ทีดีอาร์ไอเสนอแนวทางการปฎิรูปอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทย

ทีดีอาร์ไอเปิดงานวิจัย “การศึกษาเพื่อปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทย” โดย ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง และ คณะได้ชี้ให้เห็นว่า ระบบแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างชาวไร่และโรงงานในสัดส่วน70:30 ที่ใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525/26 ควรได้รับการปรับปรุงให้เป็นระบบที่พึ่งตัวเองได้ ให้โรงงานมีแรงจูงใจและมีอิสระในการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิต แต่ในขณะเดียวกันก็ควรแบ่งผลประโยชน์ให้เกษตรกรเพิ่มขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับการที่โรงงานมีรายได้จากผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ จากอ้อยมากขึ้น ทางคณะผู้วิจัยยังมีความเห็นว่า การแทรกแซงของรัฐในอุตสาหกรรมนี้มีโอกาสที่จะสร้างระบบที่มีประสิทธิภาพมากกว่ากรณีที่ไม่มีการแทรกแซง

ทั้งนี้ เนื่องจากตลาดน้ำตาลของไทยเป็นตลาดที่มีผู้ผลิตน้อยรายในขณะที่ตลาดอ้อยเป็นตลาดที่ทั้งฝ่ายโรงงานและฝ่ายเกษตรกรที่สามารถรวมตัวกันอย่างเข้มแข็งต่างก็มีอำนาจการต่อรองสูงทั้งคู่ถ้าปล่อยให้สองฝ่ายเจรจาต่อรองกันเองก็อาจเกิดกรณีที่ไม่สามารถตกลงกันได้หรืออาจมีต้นทุนการเจรจาที่สูงมาก ทางทีมวิจัยเสนอให้ปรับเปลี่ยนกฎกติกาให้มีความรัดกุมมากขึ้น รวมทั้งยกร่าง พ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาลทรายฉบับใหม่ขึ้นมาด้วย

ปัญหาที่สำคัญของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทย
- ระบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบันไม่สามารถแก้ปัญหาน้ำตาลหายไปจากตลาดในประเทศในช่วงที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกสูงกว่าราคาในประเทศ
- การกำหนดราคาอ้อยที่ผ่านมาใช้วิธีการจัดการที่ซับซ้อน รวมทั้งอาศัยแรงกดดันทางการเมือง ในขณะเดียวกันวิธีการคิดส่วนแบ่งก็ไม่ได้คำนึงถึงรายได้จากผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในระยะหลัง ซึ่งชาวไร่เห็นว่าไม่เป็นธรรม
- ระบบแบ่งปันผลประโยชน์ที่ใช้ในปัจจุบัน มีการควบคุมทุกขั้นตอน ทำให้โรงงานขาดความคล่องตัวในการปรับการผลิตให้สอดคล้องกับภาวะตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งไม่สามารถนำน้ำอ้อยมาผลิตเอทานอลในช่วงที่มีความต้องการสูงเช่นในปัจจุบัน

ดร.วิโรจน์ กล่าวว่า หัวใจของข้อเสนอการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทยคือ การกำหนดและปรับปรุงกติกาต่าง ๆ ของระบบให้เป็นกติกาที่สะท้อนและสอดคล้องกับคุณสมบัติที่ดีของตลาดที่มีการแข่งขันมากที่สุด และสามารถปรับตัวตามตลาดได้

ตัวอย่างเช่น ในระบบปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ได้จากอ้อยที่ไม่ได้ถูกนำมารวมในการคำนวณราคาอ้อย ดังนั้น ถ้าการคำนวณราคาอ้อยยังอิงผลิตภัณฑ์เดิม ส่วนแบ่งของชาวไร่อ้อยก็ควรต้องเพิ่มขึ้นมากกว่าสัดส่วน 70:30 ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้รัฐบาลอินเดียก็เสนอระบบที่ให้คิดส่วนแบ่งจากรายได้จากทุกผลิตภัณฑ์ที่ 70:30 แต่ให้เพิ่มเป็น 75:25 ถ้าคิดเฉพาะรายได้จากน้ำตาล

นอกจากนี้ กติกาที่นำมาใช้ควรเป็นกติกาที่สามารถช่วยแก้ปัญหาที่เกิดจากระบบตลาด เช่น ความผันผวนของราคาน้ำตาลในตลาดโลกซึ่งน้ำตาลเป็นสินค้าที่มีราคาผันผวนมาก โดยผู้วิจัยได้เสนอให้ปรับให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายมาทำหน้าที่รักษาเสถียรภาพอย่างเป็นระบบ

ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ กติกาที่ใช้ควรเป็นกติกาที่สามารถอ้างอิงตัวแปรที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปมากขึ้น เพื่อลดภาระในการเจรจาต่อรองและในการควบคุมให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้

สรุปข้อเสนอการปฎิรูปโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทย
1.ข้อเสนอสำหรับตลาดน้ำตาลภายในประเทศ
- ให้รัฐเลิกควบคุมราคาน้ำตาลและหันมาควบคุมปริมาณแทน–เมื่อรัฐเลิกควบคุมราคาก็จะไม่มีปัญหาเรื่องน้ำตาลหายไปจากตลาดอีกต่อไป และถ้ารัฐควบคุมให้มีปริมาณน้ำตาลเพียงพอสำหรับการบริโภคและอุตสาหกรรมในประเทศราคาน้ำตาลภายในประเทศก็จะไม่สูงกว่าที่ควรจะเป็น นอกจากนี้ ผู้วิจัยยังเสนอให้รัฐอนุญาตให้นำเข้าน้ำตาลทรายโดยเสรีเพื่อป้องปรามการรวมหัวกันตั้งราคาน้ำตาลที่สูงเกินควร (แต่ในสถานการณ์ปกติที่ไม่มีพฤติกรรมการตั้งราคาแบบผูกขาดนั้น มาตรการนี้จะไม่ส่งผลกระทบใดๆ เพราะจะไม่คุ้มที่จะนำเข้าน้ำตาลจากต่างประเทศเข้ามาแข่ง)

2.ข้อเสนอในการกำหนดราคาอ้อยและการปรับบทบาทของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายในด้านการรักษาเสถียรภาพราคาอ้อย
- ใช้สูตรกำหนดราคาอ้อยราคาเดียวเท่ากันทั้งประเทศ - โดยกำหนดค่าประสิทธิภาพมาตรฐานสำหรับทุกโรงงาน และราคาอ้อยคิดตามความหวาน (CCS) ล้วน ๆ
- ยึดตัวเลขส่วนแบ่งเดิมคือ 70:30– แต่ปรับวิธีการคำนวณที่ทำให้ชาวไร่ได้ส่วนแบ่งเพิ่มขึ้น โดยคำนวณรายรับจากน้ำตาลทรายดิบและน้ำตาลทรายขาวอย่างละครึ่ง และคิดมูลค่าของกากน้ำตาล (โมลาส) เพิ่มอีกร้อยละ 8 ของราคาน้ำตาล
- กำหนดกติกาการเก็บเงินเข้าและจ่ายเงินออกจากกองทุนอ้อยและน้ำตาล เพื่อให้สามารถทำหน้าที่รักษาเสถียรภาพได้จริง-เปลี่ยนกติกาการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและขั้นสุดท้าย รวมทั้งกติกาการเก็บเงินเข้ากองทุนฯ ทั้งจากชาวไร่และโรงงาน เพื่อให้มีหลักประกันว่าในปีที่น้ำตาลราคาดีจะมีการเก็บเงินเข้ากองทุนเพื่อรักษาเสถียรภาพไม่ใช่ต้องใช้วิธีไปกู้เงินทุกครั้งที่ต้องใช้เงินดังเช่นที่ผ่านมา

3.ข้อเสนอด้านองค์กรและกฎหมาย – ปรับองค์กรให้สอดคล้องกับข้อเสนอสามด้านแรก ดังนี้
- ในระดับกรรมการ–โอนอำนาจของคณะกรรมการอ้อยไปให้คณะกรรมการบริหาร (เนื่องจากไม่มีนโยบายจำกัดการปลูกอ้อยดังเช่นในอดีต) และให้คณะกรรมการน้ำตาลทรายทำหน้าที่กำหนดโควต้าน้ำตาลภายในประเทศทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของระบบใหม่ คือ ลดการควบคุมและเพิ่มความคล่องตัว
- บริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย (อนท.)–ทำราคาน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์เพิ่มอีกปีละ 4 แสนตัน
- บทบาทของกระทรวงพาณิชย์–ให้เลิกควบคุมราคาแต่หันมาดูแลไม่ให้มีการผูกขาดหรือฮั้วราคาของกลุ่มผู้ผลิต
- กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย–แยกบัญชีเป็นกองทุนย่อยสำหรับรักษาเสถียรภาพโดยเฉพาะ โดยห้ามนำเงินส่วนนี้ไปใช้อย่างอื่น
- ตั้งสถาบันวิจัยอ้อยน้ำตาล และผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง–เพื่อการพัฒนาของอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน
- ศูนย์บริหารการผลิตการจำหน่ายและการขนย้ายน้ำตาลทราย–พัฒนาระบบการวัดค่าความหวานของอ้อย (ค่า CCS) ให้เป็นที่น่าเชื่อถือมากขึ้น

แม้ว่าการปรับระบบตามข้อเสนอชุดนี้สามารถทำได้ทุกข้อภายใต้ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 แต่ทีมวิจัยได้ยกร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายฯ ฉบับใหม่เพื่อเป็นหลักประกันให้มีการดำเนินการตามข้อเสนออย่างคงเส้นคงวา ไม่เปลี่ยนกลับไปกลับมาตามดุลยพินิจของผู้บริหารโดย พ.ร.บ.ใหม่จะช่วยลดความคลุมเครือและกำหนดกติกาและแนวทางปฎิบัติที่ชัดเจนและรัดกุมมากขึ้น เช่น การกำหนดกติกาการซื้อขายและสูตรการคำนวณราคาอ้อยการแยกบัญชีกองทุนย่อยออกมาเพื่อทำหน้าที่รักษาเสถียรภาพของระบบ และการกำหนดกติกาการควบคุมของคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ให้ชัดเจนมากขึ้น และในขณะเดียวกันก็ปรับเปลี่ยนวิธีการควบคุมที่ไม่จำเป็นและไม่มีประสิทธิภาพ เช่น ยกเลิกการควบคุมราคาน้ำตาลภายในประเทศและหันมาควบคุมให้มีปริมาณน้ำตาลเพียงพอสำหรับผู้บริโภคและอุตสาหกรรมในประเทศแทน

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 5 มีนาคม 2556

3การไฟฟ้าพร้อมรับมือไฟไม่ดับแม้ฉุกเฉินพร้อมดูแลภาคอุตฯ-แหล่งศก.

3 การไฟฟ้าการันตีถ้าไม่มีอุบัติเหตุใดๆไทยจะผ่านวิกฤตไฟฟ้าไปได้ หลังสำรองพุ่งแตะ 1,291 เมกะวัตต์ แต่ไม่ประมาทเตรียมแผนกรณีฉุกเฉินหากต้องปิดไฟบางพื้นที่ การันตีพื้นที่เศรษฐกิจเขตเมือง แหล่งท่องเที่ยว นิคมอุตสาหกรรม จะไม่มีการดับไฟเด็ดขาด

นายธนา พุฒรังสี รองผู้ว่าการระบบส่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ในฐานะประธานคณะกรรมการปรับปรุงความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้า เปิดเผยหลังการหารือร่วมกับตัวแทนจากการไฟฟ้าสว่นภูมิภาค (กฟภ.)และการไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) ถึงการเตรียมพร้อมรับมือการหยุดจ่ายก๊าซพม่าระหว่าง 5-14 เม.ย.56 ว่า การผลิตไฟฟ้าขณะนี้มีเพียงพอใช้เว้นแต่เกิดภาวะฉุกเฉินเช่นโรงไฟฟ้าแห่งใดแห่งหนึ่งเกิดอุบัติเหตุจนทำให้ต้องหยุดจ่ายไฟบางพื้นที่นั้นจะไม่มีการดับไฟในเขตพื้นที่เมืองหรือเขตเศรษฐกิจ แหล่งท่องเที่ยว นิคมอุตสาหกรรมต่างๆอย่างแน่นอน

“เราพูดถึงกรณีขั้นเลวร้ายจนต้องดับไฟก็พร้อมที่จะรักษาพื้นที่เศรษฐกิจเอาไว้ไม่ว่าจะเป็นนิคมฯ โรงพยาบาล โรงงานต่างๆ แหล่งท่องเที่ยว โดยหน้าที่เราก็จะแจ้งปริมาณไฟให้กับกฟภ.และกฟน.แบ่งไปรับผิดชอบ โดยกฟภ.จะรับดูแล 70% และกฟน.จะดูแล 30% ซึ่งจะเน้นดับในบ้านที่อยู่อาศัยไกลออกไปและจะเวียนดับแต่ละแห่งไม่เกิน 1-2ชั่วโมงเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวัน“ นายธนากล่าว

ปัจจุบันการผลิตไฟของไทยอยู่ที่ 3.2 หมื่นเมกะวัตต์การใช้อยู่ระดับ 26,000 กว่าเมกะวัตต์ซึ่งเพียงพอกับความต้องการแต่ห่วงเพียงวันที่ 5 เม.ย.56 ที่สำรองไฟที่มีอยู่ 767 เมกะวัตต์ต่ำกว่าเกณฑ์ปกติที่ควรอยู่ระดับ 1,200 เมกะวัตต์ขึ้นไปหากเกิดภาวะฉุกเฉินใดๆ อาจทำให้ไฟฟ้าดับได้ แต่เบื้องต้นจากการเตรียมพร้อมในการจัดหาไฟมาเพิ่มเติมด้วยการซื้อไฟเพิ่มจากมาเลเซีย 200 เมกะวัตต์ ผู้ผลิตไฟรายเล็ก(SPP) 110 เมกะวัตต์ และเมื่อรวมกับฟากของการประหยัด ได้แก่การงดจ่ายไฟผู้ใช้อัตรา Interruptible Rate 56 เมกะวัตต์ โรงงานต่างๆ ที่จะร่วมประหยัดจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) 58 เมกะวัตต์ เครือเอสซีจี 100 เมกะวัตต์ จะทำให้สำรองไฟเพิ่มเป็น 1,291 เมกะวัตต์ ทำให้ความเสี่ยงต่อไฟดับแทบจะไม่มี

นายธนากล่าวว่า สำรองที่เพิ่มสูงดังกล่าวคาดว่าจะเพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟในวันที่ 5 เม.ย.นี้อย่างแน่นอนถ้าไม่มีเหตุใดๆ เข้ามา อย่างไรก็ตามกรณีที่ก๊าซฯพม่าหลังซ่อมแท่นเสร็จหลังวันที่ 14 เม.ย. 1-2 วันก๊าซฯจะยังเดินไม่เต็มที่คาดว่าจะหายไปวันละ 300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันก็จะไม่มีผลกระทบเพราะได้มีแผนสำรองไว้หมดแล้ว

นายชาญชัย บัณฑิตเสาวภาคย์ รองผู้ว่าการควบคุมระบบไฟฟ้ากฟภ. กล่าวว่า เราได้มีมาตรการพร้อมที่จะดูแลปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นไว้หมดแล้วขอให้มั่นใจได้ว่าหากไม่มีอะไรที่เป็นเหตุฉุกเฉินจะไม่มีไฟฟ้าดับแน่นอน และถ้ามีจริงจะเลือกดับไฟตามปริมาณที่กฟผ.แจ้งมาในพื้นที่ที่ห่างไกลเขตเมืองและเศรษฐกิจ โดยจะเลือกบ้านที่อยู่อาศัยและจะดับไม่ให้เกิน 2 ชั่วโมงและจะเวียนดับไปแต่ละพื้นที่ตามจำนวนไฟฟ้าที่ควรจะดับ นอกจากนี้ยังได้มีการปรับความต้องการให้เหมาะสมกับแรงดันไฟฟ้าที่อาจต่ำได้ในเขตเมืองกรณีไฟฟ้าตก ดับก็จะน้อยลงมาก

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 5 มีนาคม 2556

กลุ่มมิตรผลปรับแผนการผลิต หยุดเดินเครื่อง 5 โรงงาน เพื่อรองรับวิกฤตพลังงาน

“กลุ่มมิตรผล” เร่งปรับแผนการผลิตเพื่อรองรับวิกฤตพลังงาน พร้อมหยุด 5 โรงงานน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ ยันไม่กระทบต่อระบบการผลิตและปริมาณสินค้าคงคลัง ตลอดจนขั้นตอนการรับซื้ออ้อยจากเกษตรกร เพราะไม่ได้หยุดหีบอ้อย

นายกฤษฎา มนเทียรวิเชียรฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า เพื่อช่วยป้อนกระแสไฟฟ้าเข้าสู่สายส่งให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อเสริมความมั่นคงของกระแสไฟฟ้าในวันที่ 5 เมษายน 2556 ซึ่งเป็นช่วงที่พม่าหยุดซ่อมแซมแท่นขุดเจาะก๊าซธรรมชาติ และเป็นช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก) ถึง 26,300 เมกะวัตต์ กลุ่มมิตรผลเตรียมสนับสนุนภาครัฐโดยหยุดการผลิตชั่วคราวใน 5 โรงงานในส่วนของน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ แต่จะไม่กระทบกับระบบการผลิตและปริมาณสินค้าคงคลัง ตลอดจนขั้นตอนการรับซื้ออ้อยจากเกษตรกร เพราะไม่ได้หยุดหีบอ้อย

สำหรับการประหยัดกระแสไฟฟ้านั้น จะทำให้มีกระแสไฟฟ้าคงเหลือในกลุ่มมิตรผลเพิ่มขึ้นสามารถขายได้เต็มสัญญา non-firm จำนวน 96 เมกะวัตต์ เพิ่มเติมจากที่มีสัญญาขายไฟฟ้า ประเภท SPP Firm PPA FIRM ให้กับ กฟผ.อยู่แล้ว 76 เมกะวัตต์ จากโรงไฟฟ้าด่านช้าง 37 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าภูเขียวอีก 39 เมกะวัตต์ ส่งผลให้กลุ่มมิตรผลสามารถขายไฟฟ้าในช่วงวันที่ 5 เมษายนนี้ได้รวม 170 เมกะวัตต์

นายกฤษฎากล่าวว่า ปัจจุบันโรงงานผลิตน้ำตาลมีโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นของตนเองไม่ได้ใช้กระแสไฟฟ้าจากภาครัฐ โดยมีกำลังผลิตไฟฟ้าโดยเฉพาะจากชีวะมวล รวม 1,700 เมกะวัตต์ หรือเท่ากับการผลิตไฟฟ้าจากเขื่อน 2 เขื่อน หรือเทียบเท่าโรงไฟฟ้าปรมาณู 1-2 โรง คิดเป็นร้อยละ 2 ของการใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศ

อย่างไรก็ตาม โรงงานน้ำตาลทุกแห่งสามารถเพิ่มศักยภาพการผลิตไฟฟ้าให้มากขึ้นได้อีกเป็น 2,600 เมกะวัตต์ได้ภายใน 3-5 ปี แต่จะต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในแง่การให้ความสำคัญในการรับซื้อ บวกกับส่งเสริมการปลูกอ้อยให้มีปริมาณเพิ่มจากปีละ 90 ล้านตัน เป็น 150 ล้านตัน พร้อมกับส่งเสริมระบบโซนนิ่งการเกษตรในการปลูกพืชและดูแลราคา มีระบบชลประทานเข้ามาช่วยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีแผนอยู่แล้ว ราคารับซื้อปัจจุบันอิง 2 ราคา ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ ที่ผ่านมายังมีส่วนเพิ่มให้หน่วยละ 30 สตางค์ แต่ปัจจุบันมีการพิจารณาในส่วนนี้ใหม่ เพราะพิจารณาถึงการผลิตจากเชื้อเพลิงประเภทอื่นด้วย จะเห็นได้ว่าเชื่อมโยงกับพืชผลทางการเกษตร

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 5 มีนาคม 2556

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นชอบตามร่างระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล ว่าด้วยวิธีการจัดการน้ำตาลทรายที่ด้อยคุณภาพ

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นชอบตามร่างระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล ว่าด้วยวิธีการจัดการน้ำตาลทรายที่ด้อยคุณภาพ โดยให้โรงงานน้ำตาลทรายเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินปรับปรุงคุณภาพ ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ

นายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี ที่มีร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม โดยได้ขอบคุณทุกคะแนนเสียงของประชาชนที่ลงคะแนนให้กับพรรคเพื่อไทย ในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่ผ่านมา ซึ่งจะนำมาเป็นกำลังใจในการทำงานต่อไปและดำเนินตามนโยบายอย่างไร้รอยต่อที่นายกรัฐมนตรีกล่าวไว้ว่าจะดำเนินนโยบายเพื่อชาวกรุงเทพมหานคร โดยหลายนโยบายอยู่ในช่วงของการดำเนินการ

จากนั้นเป็นการพิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน เพื่อสร้างและขยายทางหลวงท้องถิ่นสายซอยเสนานิคม 200 และถนนนาคนิวาส แขวงจรเข้บัว , แขวงลาดพร้าว เขตลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร และเวนคืนที่ดินเพื่อขยายถนนสายคลอง 2 และซอยรามอินทรา 109 ในท้องที่เขตคลองสามวา เขตคันนายาว กรุงเทพมหานคร รวมทั้งกำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ที่ตำบลเวียง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เพื่อสร้างศูนย์เปลี่ยนถ่ายขนส่งสินค้า โดยที่ประชุมเห็นชอบอนุมัติในหลักการ

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงอุตสาหกรรม เกี่ยวกับร่างระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล ว่าด้วยวิธีการจัดการน้ำตาลทรายที่ด้อยคุณภาพ โดยเป็นการกำหนดวิธีการในการจัดการน้ำตาลที่ไม่ได้คุณภาพขณะทำการผลิต และเสื่อมสภาพภายหลังการผลิต โดยให้โรงงานน้ำตาลทรายเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินปรับปรุงคุณภาพ คือ น้ำตาลทรายดิบอัตราสูญเสียร้อยละ 1 น้ำตาลทรายขาว อัตราสูญเสียร้อยละ 4 และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ อัตราค่าสูญเสียร้อยละ 3

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้เห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอแนวทางการจัดทำบันทึกการประชุมผู้ว่าราชการจังหวัดและเจ้าแขวงชายแดนไทย-ลาว ครั้งที่ 9 ทั้งนี้ หากมีความเปลี่ยนแปลงในร่างบันทึกการประชุมที่ไม่ใช่สาระสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย ให้กระทรวงมหาดไทย หารือกับกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อให้ความเห็นชอบได้โดยไม่ต้องผ่านคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง พร้อมให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ลงนามบันทึกการประชุม โดยให้กระทรวงการต่างประเทศออกหนังสือมอบอำนาจเต็มให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยลงนาม ทั้งนี้เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ระดับท้องถิ่น ครอบคลุมถึงความร่วมมือด้านการรักษาความสงบเรียบร้อยตามแนวชายแดนด้านเศรษฐกิจการค้าชายแดน และความร่วมมือด้านสังคมและวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณี เพื่อให้ประชาชนตามแนวชายแดนอยู่ร่วมกันด้วยความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และร่วมกันพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น โดยจะนำผลจากการบันทึกการประชุมมอบเป็นนโยบายให้จังหวัดและแขวงถือปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังให้ความเห็นชอบ เอกสารสำหรับการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง ครั้งที่ 5 และร่างแผนปฏิบัติการ ACMECS ปี 2556-2558 ที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อเสริมสร้างการเป็นประชาคมอาเซียน ซึ่งเป็นการแสดงเจตนารมณ์ของผู้นำที่จะส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพ และการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งรับรองแผนปฏิบัติการ ACMECS ปี 2556-2558 ซึ่งกำหนดแผนการดำเนินโครงการความร่วมมือใน 8 สาขา ได้แก่ การอำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุน การเกษตร อุตสาหกรรม และพลังงาน การเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม การท่องเที่ยว การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

จาก http://thainews.prd.go.th   วันที่ 5 มีนาคม 255

สกัดผลกระทบเปิดเสรีการค้า กองทุนเอฟทีเอจัดระดมสมอง วางแนวปรับตัวภาคการเกษตร

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันการเปิดเสรีทางการค้า (FTA) ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี เช่น ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เขตการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย ไทย-นิวซีแลนด์ ไทย-จีน อาเซียน-จีน หรือแม้แต่ WTO ส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่รุนแรง เนื่องจากการเคลื่อนย้ายสินค้าเป็นไปอย่างเสรี ส่งผลให้ภาคเกษตรกรรมมีทั้งผู้ได้และเสียประโยชน์ ดังนั้นเกษตรกรจำเป็นต้องปรับตัวรับมือกับการแข่งขันที่รุนแรง เพื่อบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น

กองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ หรือกองทุนเอฟทีเอ ซึ่งมีภารกิจหลักในการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า จึงได้กำหนดจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง “กองทุน FTA: ทางออกสินค้าเกษตรไทย ภายใต้เขตการค้าเสรี” ในวันที่ 14 มีนาคม ที่ห้องประกายเพชร 1 โรงแรมไดมอนด์พลาซ่า จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อให้เกษตรกรได้ตระหนักรับรู้ถึงผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า ทั้งด้านบวกและลบอย่างถูกต้อง และนำไปสู่การปรับตัวรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น สามารถแข่งขันทั้งด้านการผลิต การตลาด และการค้าสินค้าเกษตรกับนานาประเทศได้อย่างยั่งยืน

สำหรับการสัมมนาครั้งนี้ จะมีการอภิปรายและบรรยายในหัวข้อต่างๆ ที่น่าสนใจ อาทิ การอภิปรายเรื่อง “สินค้าเกษตร : ปรับตัวอย่างไรให้อยู่รอดภายใต้โลกเสรีการค้า” การบรรยายเรื่อง “โครงการเพิ่มศักยภาพการปลูกมะพร้าวพันธุ์ดีทดแทนส่วนเก่าเพื่อรองรับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า AFTA” และเรื่อง “กองทุน FTA: ทางออกสินค้าเกษตรไทย ภายใต้เขตการค้าเสรี” ซึ่งผู้สนใจเข้าร่วมสัมมนาดังกล่าวสามารถติดต่อขอทราบรายละเอียดได้ที่ ส่วนบริหารกองทุนภาคการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร โทร 0-2561-4727 โทรสาร 0-2561-4726 หรือทาง www2.oae.go.th/FTA

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 5 มีนาคม 2556

ก.อุตฯเอาจริงดูแลโรงงาน

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้เร่งรัดโรงงานเป้าหมาย 20 ประเภท เข้าสู่ระบบจัดการกากอุตสาหกรรมอย่างถูกต้องให้ได้อย่างน้อย ร้อยละ 80 ภายในวันที่ 30 ธ.ค. 55 นั้น ล่าสุดคณะทำงานประสานความร่วมมือ ด้านการจัดการกากอุตสาหกรรมได้รายงานผล พบว่ามีโรงงานเป้าหมายที่ปฏิบัติตามกฎหมายเรื่องการกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ. 2548 และ พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 ร้อยละ 21 จนถึงตอนนี้มีโรงงานปฏิบัติตามกฎหมายเพิ่มขึ้น ร้อยละ 42 รวม 1,515 โรง

"ต้องการให้โรงงานที่มีกากอุตสาหกรรมอันตรายนำข้อมูลเข้าระบบ คือต้องมีการขออนุญาตนำกากออกไปกำจัด/บำบัดนอกโรงงาน และ/หรือการแจ้งขอขยายระยะเวลาเก็บกากไว้ภายในโรงงาน เพื่อจัดการกากอุตสาหกรรมอย่างถูกต้อง"

สำหรับโรงงานเป้าหมาย 20 ประเภทที่มีกากอุตสาหกรรมอันตรายทุกโรงงาน มีทั้งสิ้น 3,641 หรือร้อยละ 5.5 ของโรงงานจำพวกที่ 3 ที่ขออนุญาตไปแล้ว กำหนดให้โรงงานดังกล่าวต้องเข้าระบบการจัดการกากอุตสาหกรรมอย่างน้อยร้อยละ 80 ถึง 4 ครั้ง ครบกำหนดครั้งแรกวันที่ 1 เม.ย. 54 ถัดมาคือ 31 ส.ค. 54 และถัดมาคือ 30 ก.ย. 54 และครบกำหนดที่ขยายเวลาให้เพราะน้ำท่วมนั้น แต่กลับมีโรงงานดำเนินการตามกฎหมายลดลง หรือ ร้อยละ 42 ในขณะที่ครั้งก่อนอยู่ที่ร้อยละ 44 จึงต้องดำเนินมาตรการให้เข้มขึ้น

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2556

ทริสฯจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่เกิน 2,500 ล้านบาท 'บ. น้ำตาลมิตรผล' ที่'A+/Stable'

ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตให้แก่หุ้นกู้ไม่มีประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 2,500 ล้านบาทของ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ที่ระดับ “A+” พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดปัจจุบันของบริษัทที่ระดับ “A+” เช่นกัน

โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปใช้ขยายธุรกิจของกลุ่มมิตรผล และชำระหนี้เดิม อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งของบริษัทในอุตสาหกรรมน้ำตาลในภูมิภาค ตลอดจนแบรนด์สินค้าที่มีชื่อเสียง กระบวนการผลิตน้ำตาลที่มีประสิทธิภาพ และการขยายกิจการสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำตาล นอกจากนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงความเสี่ยงด้านกฎระเบียบและการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ รวมถึงความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาน้ำตาลและปริมาณผลผลิตอ้อยด้วย ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่ากลุ่มมิตรผลจะยังคงดำรงสถานะผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลทั้งในประเทศไทยและจีนต่อไป ด้วยประสบการณ์อันยาวนานในธุรกิจน้ำตาลและกระแสเงินสดที่มาจากธุรกิจที่หลากหลายขึ้นทั้งจากธุรกิจเอทานอลและธุรกิจไฟฟ้าน่าจะช่วยให้บริษัทสามารถประคองตัวอยู่ได้ในช่วงที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกอยู่ในระดับต่ำ

บริษัทน้ำตาลมิตรผลก่อตั้งในปี 2489 โดยตระกูลว่องกุศลกิจ ปัจจุบันบริษัทเป็นผู้นำในธุรกิจอ้อยและน้ำตาลของไทยซึ่งมีตระกูลว่องกุศลกิจถือหุ้นเต็ม 100% โดยถือหุ้นผ่าน บริษัท น้ำตาลมิตรสยาม จำกัด บริษัทน้ำตาลมิตรผลมีโรงงานน้ำตาลในประเทศไทย จีน ลาว และออสเตรเลีย โดยในปีการผลิต 2554/2555 กลุ่มมิตรผลมีผลผลิตน้ำตาลรวมทั้งสิ้น 3.5 ล้านตัน

บริษัทเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในประเทศไทยมาอย่างยาวนานโดยเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดในประเทศด้วยปริมาณการผลิตน้ำตาลที่ 1.96 ล้านตัน หรือคิดเป็นสัดส่วน 19.1% ของปริมาณน้ำตาลทั้งประเทศในฤดูการผลิต 2554/2555 รองลงมาคือกลุ่มไทยรุ่งเรือง (18.3%) กลุ่มไทยเอกลักษณ์ (11.2%) กลุ่มน้ำตาลขอนแก่น (7.3%) และกลุ่มวังขนาย (6.4%) ประสิทธิภาพในการผลิตน้ำตาลของบริษัทอยู่ที่ระดับ 108.46 กิโลกรัม (กก.) ต่อตันอ้อยนับว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ 104.63 กก. ต่อตันอ้อย

บริษัทยังเป็นเจ้าของและบริหารโรงงานน้ำตาล 7 แห่งในประเทศจีนโดยมีผลผลิตน้ำตาล 1.04 ล้านตันในปีการผลิต 2554/2555 ปัจจุบันบริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาด 9.0% ซึ่งถือเป็นผู้ผลิตรายใหญ่อันดับ 2 ในประเทศจีน โดยมีประสิทธิภาพในการผลิตน้ำตาลที่ระดับ 124.5 กก. ต่อตันอ้อยในฤดูการผลิต 2554/2555 ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา บริษัทได้ขยายธุรกิจน้ำตาลไปยังประเทศอื่น โดยในปี 2551 บริษัทจัดตั้งโรงงานน้ำตาลที่ประเทศลาว และต่อมาในเดือนเมษายน 2555 บริษัทประสบความสำเร็จในการซื้อหุ้น 100% ใน MSF Sugar Ltd. (MSF) ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศออสเตรเลีย โดยบริษัทใช้เงินลงทุนรวม 302 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือ 9,500 ล้านบาท MSF มีโรงงานน้ำตาล 4 แห่งซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือสุดและตะวันออกเฉียงใต้ของรัฐควีนแลนด์ด้วยกำลังการหีบอ้อย 35,000 ตันต่อวัน ในปีการผลิต 2554/2555 MSF มีผลผลิตน้ำตาลรวม 0.5 ล้านตัน หรือคิดเป็น 13% ของการผลิตน้ำตาลรวมของกลุ่มมิตรผล

ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 บริษัทมีรายได้รวม 72,131 ล้านบาท และมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายรวม (EBITDA) 17,205 ล้านบาท กำไรจากธุรกิจน้ำตาลมีสัดส่วนสูงที่สุดคิดเป็น 70% ของ EBITDA โดยกำไรของธุรกิจน้ำตาลในจีนมีสัดส่วน 36% ของ EBITDA รวม ในขณะที่กำไรของธุรกิจน้ำตาลในประเทศไทยคิดเป็นสัดส่วน 32% ของ EBITDA รวม ธุรกิจน้ำตาลในประเทศลาวและออสเตรเลียยังให้ผลกำไรไม่มาก โดย MSF มี EBITDA เพียง 48 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 เนื่องจากบริษัทมีอัตรากำไรที่ต่ำกว่าและเป็นการรวมงบการเงินเพียง 6 เดือนเท่านั้น ส่วนธุรกิจน้ำตาลในประเทศลาวมี EBITDA เพียง 266 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555

นอกเหนือจากธุรกิจน้ำตาลแล้ว บริษัทยังขยายการลงทุนไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอ้อยและน้ำตาลเพื่อใช้ประโยชน์สูงสุดจากอ้อยด้วย อาทิ ธุรกิจผลิตไฟฟ้า ธุรกิจผลิตเอทานอล ธุรกิจวัสดุทดแทนไม้ ธุรกิจผลิตกระดาษ และธุรกิจโลจิสติกส์ ณ เดือนธันวาคม 2555 โรงงานผลิตเอทานอลของบริษัทในประเทศไทยมีกำลังการผลิตที่ 690,000 ลิตรต่อวัน บริษัทยังเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าซึ่งมีกำลังการผลิตรวม 322 เมกะวัตต์ด้วย EBITDA จากธุรกิจเอทานอลและไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 4,313 ล้านบาทในปีการผลิต 2554 จาก 3,792 ล้านบาทในปีการผลิต 2553 และ 2,268 ล้านบาทในปีการผลิต 2552 โดย EBITDA จากธุรกิจเอทานอลและไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วน 22% ของ EBITDA รวมของบริษัทในปี 2554

รายได้รวมของบริษัทยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 โดยบริษัทมีรายได้รวมเท่ากับ 72,131 ล้านบาทในช่วงดังกล่าว เพิ่มขึ้น 12.4% จาก 64,158 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปี 2554 การเพิ่มขึ้นของรายได้ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาขายน้ำตาลของธุรกิจน้ำตาลในประเทศไทย การรวมงบการเงิน MSF และการเติบโตของกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ ส่วนในประเทศจีนราคาขายน้ำตาลในประเทศปรับลดลงเนื่องจากปริมาณน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นและราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่ปรับลดลงในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 ราคาน้ำตาลที่ลดลงส่งผลทำให้อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จากการขายของบริษัทลดลงเป็น 22.2% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 จาก 26.3% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ว่าบริษัทจะมีอัตรากำไรลดลง แต่ยังถือว่าอยู่ในระดับที่ดีเมื่อเทียบกับอัตรากำไรในช่วงปี 2550-2553 ที่อยู่ที่ระดับ 15.6%-21.0% กระแสเงินสดของบริษัทในช่วงปีการผลิต 2553 ถึง 2554 แข็งแกร่งขึ้น อย่างไรก็ตาม บริษัทมีภาระหนี้เพิ่มขึ้นเนื่องจากการขยายงานและการซื้อหุ้น MSF อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมลดลงเป็น 32.1% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 เทียบกับ 48.0% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทเพิ่มขึ้นแต่อยู่ในระดับปานกลาง โดยเพิ่มขึ้นเป็น 47.7% ณ เดือนกันยายน 2555 จาก 39.4% ในปลายปี 2554 บริษัทมีแผนการขยายธุรกิจโดยใช้เงินลงทุนจำนวนรวม 13,500 ล้านบาทในปี 2556-2557 จากประมาณการ EBITDA ที่ระดับ 17,000 ล้านบาทต่อปี คาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะยังอยู่ในระดับปานกลางในระยะ 2 ปีข้างหน้า

ปริมาณผลผลิตอ้อยและราคาน้ำตาลในตลาดโลกมีความผันผวนเป็นอย่างมาก ในปีการผลิต 2555/2556 ประมาณการปริมาณผลผลิตอ้อยของไทยอยู่ที่ระดับ 90-95 ล้านตันอ้อย ซึ่งลดลงจาก 98 ล้านตันในปีการผลิต 2554/2555 ประสิทธิภาพในการผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยคาดว่าจะลดลงเช่นกันเนื่องจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย นอกจากนี้ ราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกยังปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องหลังจากที่ทำสถิติสูงสุดที่ 36.11 เซนต์/ปอนด์ในเดือนมกราคม 2554 ราคาน้ำตาลทรายดิบเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 18 เซนต์ต่อปอนด์ในเดือนมกราคม 2556 เนื่องจากผลผลิตของผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่เพิ่มขึ้น ส่วนในประเทศจีนนั้น ราคาน้ำตาลมักเปลี่ยนแปลงไปตามอุปสงค์และอุปทานภายในประเทศและอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของรัฐบาล ราคาน้ำตาลในประเทศจีนปรับตัวลงมาที่ระดับ 5,500 หยวนต่อตันในปัจจุบัน จากที่เคยขึ้นไปสูงถึง 7,400 หยวนต่อตันในเดือนกันยายน 2554

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2556

PIM จับมือมิตรผลปั้นนักจัดการเกษตรรุ่นใหม่ทายาทเกษตรกร

สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) สถาบันอุดมศึกษาในกลุ่ม ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด สถานประกอบการภาคเอกชน จับมือลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการจัดการศึกษาด้านการจัดการการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร

นับเป็นความร่วมมือทางการศึกษา เพื่อสนับสนุนคณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร ตามรูปแบบการเรียนการสอนที่ถูกออกแบบ ในเชิงภาคทฤษฎีควบคู่กับการฝึกปฏิบัติงานจริง (Work-based Learning) ร่วมมุ่งเป้าผลักดันการปั้นนักจัดการเกษตรรุ่นใหม่ที่มีประสิทธิภาพมาเป็นกลไกสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภาคเกษตรไทย

โดย มิตรผล ผู้ชำนาญด้านการเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีนำสมัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสนับสนุน ด้านการปฎิบัติงานและความรู้เชิงนวัตกรรมการเกษตร อันจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่สถาบันการศึกษา บุคลากร และนักศึกษาที่จะเกี่ยวข้องต่อกัน เกิดการเอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาหลักสูตรต่อไป ในการผลิตบัณฑิต นักจัดการเกษตรที่สามารถนำความรอบรู้นวัตกรรม วิชาการ และวิชาชีพบูรณาการไปใช้ใน การจัดการเกษตรสมัยใหม่ รวมทั้งรอบรู้การวางแผนเชิงธุรกิจ ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมบูรณ์ครบวงจร รวมไปถึงการมีส่วนคัดเลือกนักศึกษาทุนของมิตรผลเองรุ่นแรก จำนวน 10 ทุน โดย คัดเลือกจากบุคลากรเกษตรกรเครือข่ายเพื่อการสานต่อธุรกิจนักเกษตรมืออาชีพที่มีความชำนาญเฉพาะด้าน

รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กล่าวว่า PIM มีความเป็น Corporate University อย่างเต็มตัว ความร่วมมือในวันนี้ตอบโจทย์ ย้ำความเป็นมหาวิทยาลัยโดยองค์กรธุรกิจ นับเป็นเรื่องที่น่ายินดียิ่ง เนื่องจากเกิดประโยชน์ในหลายด้านดังที่เห็นอยู่นี้ การผนึกความแข็งแกร่งทั้งด้านวิชาการและประสบการณ์จากภาคธุรกิจ ร่วมความคิดและลงมือ สร้างนักการจัดการเกษตรมืออาชีพ ที่พร้อมด้วยความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการ การถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อสร้างบุคลากรที่ตรงกับความต้องการ และขณะเดียวกันก็ได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายทางธุรกิจที่ทำให้สถาบันการศึกษาเชื่อมโยงกัน สิ่งที่แตกต่างคือวิธีการเรียนการสอนที่เน้นการเรียนรู้ทฤษฎีควบคู่กับการปฏิบัติงานจริง หรือฝึกงานตรงกับสาขาวิชาที่เรียนจริงๆ สนองความต้องการผู้ใช้บัณฑิตได้เป็นอย่างดี

ในการก้าวเข้าสู่ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในด้านการเกษตร ถือเป็นโอกาสที่ดีของ PIM ในการเปิดการสอนคณะใหม่ในปีการศึกษา 2556 นี้คือ คณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร นักศึกษารุ่นแรกที่จะได้รับความรู้และประสบการณ์ที่ตรงกับสิ่งที่เรียน นี้คือแนวทางการเตรียมคนที่พร้อมจะนำพาการเกษตรผสานกับเทคโนโลยีที่เหมาะสมอย่างลงตัวอย่างแท้จริง

คุณกฤษฎา มนเทียรวิเชียรฉาย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีว่า อุตสาหกรรมการเกษตรถือเป็นธุรกิจที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น การส่งเสริมและพัฒนารากฐาน ตลอดจนความรู้ และบุคลากรด้านการเกษตรที่มีคุณภาพจึงป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง กลุ่มมิตรผล ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับอุตสาหกกรมอ้อยและน้ำตาลมานาน กว่า 53 ปี ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรอย่างยั่งยืน ด้วยการ เร่งสร้างบุคลากรด้านการเกษตรที่มีคุณภาพ สามารถบูรณาการความรู้วิชาชีพเพื่อใช้ในการจัดการเกษตรสมัยใหม่ให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ จึงได้ร่วมมือกับทางสถาบันการจัดการ- ปัญญาภิวัฒน์หรือ PIM ในการสร้างเกษตรกรมืออาขีพ โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้ พัฒนาเกษตรกรที่มีความรู้ ความสามารถทางการเกษตรที่เน้นการใช้นวัตกรรมในการพัฒนาการเกษตรให้เติบโตอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล, สร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ ที่มีใจรักในการทำการเกษตร เพื่อสานต่ออาชีพเกษตรกรรมของประเทศให้ยั่งยืน รวมถึงเตรียมความพร้อมทางด้านคน ที่มีความรู้ทางด้านการเกษตร เพื่อรองรับการขยายตัวทางธุรกิจในอนาคต

ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจมิตรผล มีความมั่นใจในศักยภาพของ PIM ที่จะสามารถสร้างสรรค์เกษตรกรมืออาชีพดังกล่าวออกสู่สังคม เนื่องจากเป็นสถาบันฯ ที่มีความชำนาญในการจัดการเรียนการสอนที่มุ่งเน้น

การฝึกปฏิบัติจริง ซึ่งทำให้สามารถสร้างเกษตรกรที่มีความรู้ สามารถปฏิบัติงานตามวิชาชีพได้อย่างแท้จริง

สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ เป็น สถาบันการศึกษาในเครือเจริญโภคภัณฑ์ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจพืชครบวงจร จึงมีความเข้าใจถึงการดำเนินธุรกิจ และระบบการเกษตรสมัยใหม่ ทำให้เป็นสถาบันที่มีความเหมาะสมในการผลิตบัณฑิตนักจัดการเกษตรมืออาชีพเป็นอย่างมาก เมื่อนำความรู้นวัตกรรม ของนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิของ PIM มาผสมผสานกับประสบการณ์ และ องค์ความรู้ในการจัดการการเกษตรของกลุ่มมิตรผล จึงมั่นใจว่าจะสามารถผลิตเกษตรกรนักจัดการมืออาชีพออกสู่สังคมได้ตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้

สุดท้ายนี้ กลุ่มมิตรผลเชื่อมั่นว่าความร่วมมือด้านการศึกษาในครั้งนี้ จะเป็นพลังสำคัญในการสร้างเกษตรกร ที่มีความรู้ความสามารถ และส่งเสริมให้อาชีพเกษตรกรรมซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนไทย มีความยั่งยืนและพัฒนาไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ที่ทัดเทียมกับต่างประเทศต่อไป

ด้านคุณมนตรี คงตระกูลเทียน คณบดี คณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร เผยว่า การจัดตั้ง คณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร ของ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากองค์กรภาคธุรกิจ พันธมิตรในวงการเกษตร ที่มาเพิ่มเติมบริบทความเข้มข้นของภาคเกษตรได้อย่างครบเครื่องในทุกมิติ ที่จะมาบูรณาการหลักสูตรร่วมกัน แลกเปลี่ยนข้อมูลต่างๆทั้งข้อมูลทางวิชาการ ข้อมูลการถ่ายทอดผลงานวิจัยและเทคโนโลยีที่ได้พัฒนาขึ้น การวิจัยด้านการเกษตร เพื่อให้เกิดการนำไปประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการจัดการศึกษา เชื่อว่าด้วยศักยภาพของ 2 องค์กรจะสามารถสร้างหลักสูตรที่เหมาะกับการเกษตร การส่งเสริมการเกษตรยุคใหม่ โดยเฉพาะด้านพืชเศรษฐกิจที่เราให้ความสำคัญ ถือเป็นส่วนสำคัญต่อประเทศไทยและภูมิภาคให้มีโอกาสในการพัฒนาและขยายการผลิตเพื่อรองรับความต้องการในตลาดต่อไปได้

สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) จะเปิดรับนักศึกษาด้าน “นวัตกรรมการจัดการเกษตร” รุ่นแรก ในปีการศึกษา 2556 พร้อมมีทุนการศึกษา เพื่อคัดสรรนักศึกษาที่มีความสนใจพัฒนาตนเองเป็น “นักจัดการเกษตร” สนใจติดต่อ 02-832-0200 ถึง 14 หรือ สามารถสมัครสอบชิงทุนออนไลน์ได้ตั้งแต่วันนี้ที่ www.pim.ac.th

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2556

เร่งรัดเปิดAECให้ทันปี’58 อาเซียนถกรมต.เศรษฐกิจ8มีค.นี้

“อาเซียน”นัดประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอย่างไม่เป็นทางการ 8-9 มีนาคมนี้ หารือแนวทางขับเคลื่อน AEC ให้ทันตามกำหนด 31 ธันวาคม2558 พร้อมถกข้อเสนอฮ่องกงขอเข้าเป็น “ภาคี FTA อาเซียน-จีน”

รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (AEM Retreat) ครั้งที่ 19 ระหว่างวันที่ 8-9 มีนาคม 2556 ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม เพื่อพิจารณาแนวทางเชิงยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนให้ทันตามกำหนดเวลา ในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ซึ่งเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายมีความกังวลว่าจะล่าช้า รวมทั้งหารือประเด็นสำคัญเกี่ยวกับความสัมพันธ์กับประเทศคู่เจรจาของอาเซียน

นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า จะเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนครั้งนี้ โดย ประเด็นสำคัญด้านเศรษฐกิจที่จะหารือกันในการประชุมครั้งนี้ ได้แก่ การจัดลำดับมาตรการสำคัญเพื่อไปสู่ประชาคมอาเซียน( AEC) ที่ต้องเร่งรัดการดำเนินการให้เสร็จในปี 2558 เพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งที่ 10 พิจารณาในเดือนเมษายน 2556 โดยแผนงานและกลไกการดำเนินการเรื่องมาตรการที่มิใช่ภาษี การเริ่มพิจารณาแนวทางการดำเนินการในด้านเศรษฐกิจของอาเซียนหลังปี 2558 และการรับรองตารางข้อผูกพันแนบท้ายความตกลงการเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา (MNP Agreement)

ทั้งนี้ รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนมีกำหนดที่จะลงนามความตกลงด้านเศรษฐกิจที่สำคัญ คือ พิธีสารเพื่อแก้ไขความตกลงด้านเศรษฐกิจอื่นที่เกี่ยวข้องกับการค้าสินค้าของอาเซียน ในช่วงระหว่างการประชุมในครั้งนี้ด้วย

นายบุญทรง กล่าวว่า ส่วนของการดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศคู่เจรจาของอาเซียน รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนจะหารือประเด็นข้อเสนอของฮ่องกง เรื่องการเข้าเป็นภาคีความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน โดยจะนำผลการศึกษาและการหารือภายในของแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียน มาประกอบการพิจารณาด้วย และจะหารือเกี่ยวกับแนวทางการเจรจาจัดทำความตกลงพันธมิตรทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership หรือเรียกว่า “RCEP” หรือ ASEAN+6 FTA ระหว่างอาเซียนกับจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย) โดยขณะนี้อาเซียนอยู่ระหว่างการหาข้อสรุปแผนงาน กลไกบริหารการเจรจา ขอบเขตการดำเนินงาน และการจัดทำแนวทางการเจรจา (scoping papers) ใน 3 ด้าน คือ การค้าสินค้า บริการ และการลงทุนให้แล้วเสร็จ เพื่อให้สามารถเริ่มการเจรจาโดยเร็วต่อไป

ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนจะมีการหารือกับนายคาเรล เดอ กุชต์ (Karel De Gucht) กรรมาธิการการค้าสหภาพยุโรป ในฐานะประเทศคู่เจรจาของอาเซียน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้าผ่านความร่วมมือในด้านต่างๆ ระหว่างอาเซียน-สหภาพยุโรป ในขณะเดียวกันจะมีการจัดการประชุม ASEAN-EU Business Summit ครั้งที่ 3 คู่ขนานไปพร้อมกันด้วย ซึ่งถือเป็นเวทีสำคัญที่ภาครัฐและภาคธุรกิจของอาเซียนและสหภาพยุโรป จะได้พบหารือกันเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ ในการแก้ไขปัญหา/อุปสรรคทางการค้าต่างๆ และขยายโอกาสทางการค้า ตลอดจนสร้างเครือข่ายทางธุรกิจระหว่างทั้งสองฝ่าย รวมทั้ง ไทยและสหภาพยุโรปอยู่ระหว่างการพิจารณานัดหมายการหารือสองฝ่าย เกี่ยวกับการเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป ด้วย

ปัจจุบัน อาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย โดยการค้าของไทยกับอาเซียนในปี 2555 มีมูลค่าประมาณ 9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณร้อยละ 20 ของการค้าไทยกับทั่วโลก ทั้งนี้ ตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้าสำคัญของไทยในอาเซียน ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2556

วิทยาศาสตร์สำหรับเยาวชน : น้ำตาล... ไม่หวานอย่างที่คิด

เมื่อเอ๋ยถึงน้ำตาล คงไม่มีใครไม่รู้จักหรือไม่เคยลิ้มลองรสชาติของมัน หลายปีมานี้มีการรณรงค์ให้คนไทย “อ่อนหวาน” นั่นคือให้ลดการบริโภคน้ำตาลลง เพื่อให้พวกเราตระหนักถึงผลร้ายของการกินหวานที่มากเกิน ซึ่งองค์การอนามัยโลกกำหนดให้บริโภคน้ำตาลไม่ควรเกินร้อยละ 10 ของปริมาณพลังงานที่ได้รับต่อวัน สำหรับคนไทยกรมอนามัยกำหนดไว้ว่า ควรทานวันละไม่เกิน 6 ช้อนชา หรือ 24 กรัม ซึ่งเท่ากับร้อยละ 5 โดยคิดจากความต้องการพลังงาน 2,000 กิโลแคลอรีต่อวัน แต่ทราบไหมว่าแค่ดื่มน้ำอัดลมกระป๋องเดียวเราก็ได้น้ำตาลเกือบ 6 ช้อนชาแล้ว

น้ำตาลแอบแฝงอยู่ในอาหารที่เราทานโดยที่เราไม่คาดคิด นอกเหนือจากขนมหวาน เบเกอรี่ ไอศกรีม ผลิตภัณฑ์นมและเครื่องดื่มต่างๆ แล้ว ยังมีการเติมน้ำตาลลงในผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปอีกนับไม่ถ้วน อาทิ ซีเรียว ธัญพืชแปรรูป ครีมเทียม ผักกระป๋อง น้ำสลัด ซอสต่างๆ ซุปก้อน เนย ถั่วลิสง เป็นต้น เนื่องจากน้ำตาลทำหน้าที่เป็นทั้งสารกันเสียและสารดูดซับความชื้นในผลิตภัณฑ์ ดังนั้นเพื่อให้แน่ใจว่าเราจะไม่ได้ทานน้ำตาลมากเกินกว่าที่สุขภาพเราจะรับได้ ผู้บริโภคควรอ่านฉลากโภชนาการหรือส่วนผสม (ingredients) ก่อนซื้อหรือก่อนรับประทานทุกครั้ง

แม้ว่าน้ำตาลกลูโคสจะเป็นแหล่งพลังงานที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับร่างกายและสมอง แต่หากได้รับเกินความต้องการ ไม่ว่าจะเป็นกลูโคสหรือน้ำตาลชนิดอื่นก็เกิดโทษต่อสุขภาพทั้งนั้น ลองมาดูกันซิว่าน้ำตาลจะร้ายกาจขนาดไหน

น้ำตาล... ตัวการความอ้วน

เป็นที่ทราบกันดีว่าการทานน้ำตาลมากๆ เป็นประจำ เป็นสาเหตุสำคัญของความอ้วนและภาวะไขมันในเลือดสูง นำมาซึ่งโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอีกมากมายเป็นของแถม เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ หลอดเลือดสมองตีบ ความดันโลหิตสูง นิ่วในถุงน้ำดี ข้ออักเสบ เป็นต้น ไม่เพียงเท่านี้ น้ำตาลยังกระตุ้นความอยากอาหารทำให้เราทานมากขึ้นไปอีก โดยไปขัดขวางการผลิตฮอร์โมนเลปติน (ตัวที่เป็นสัญญาณบอกสมองว่า “อิ่มแล้ว”) ส่งผลให้ฮอร์โมนความหิวหรือ “เกรลิน” ซึ่งหลั่งมาจากกระเพาะอาหารและตับอ่อน ยังคงทำงานบอกสมองว่า “หิว” อยู่เรื่อยไป ฉะนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจเลยว่า ทำไมบางคนถึงลดน้ำหนักไม่ได้ผล สาเหตุหนึ่งมาจากการจำกัดแคลอรีของอาหารที่ทานต่อวันโดยไม่ได้ลดปริมาณน้ำตาลไปด้วยนั่นเอง

น้ำตาล... ตัวการซึมเศร้า

มีการวิจัยพบว่า คนที่ทานหวานจนชินจะเกิดสภาวะการพึ่งพาน้ำตาล (sugar dependency) หรืออาจเรียกว่าเป็นการ “ติดหวาน” โดยสมองจะมีการตอบสนองต่อน้ำตาลด้วยการหลั่งสาร opioids ออกมาทำให้เกิดความพึงพอใจและความอยากกินหวาน ทำให้ต้องบริโภคน้ำตาลเพิ่มมากขึ้น ครั้งจะเลิกหรือลดการกินหวานลงก็จะเกิดความโหยขึ้น คนกลุ่มนี้เมื่อมีน้ำตาลในกระแสเลือดต่ำก็จะเกิดอาการซึมเศร้า หดหู่ อ่อนเพลีย เฉื่อยชา ขาดสมาธิ หรืออาจเกิดอารมณ์แปรปรวน ฉุนเฉียวง่าย กระสับกระส่าย นอนไม่หลับได้

นอกจากนี้เคยมีรายงานว่า การบริโภคน้ำตาลทรายมากทำให้กรดอะมิโน “ทริปโตแฟน (Tryptophan)” ถูกเร่งให้ผ่านเข้าสู่สมองมากเกินไป และเนื่องจากทริปโตแฟนเกี่ยวข้องกับการสร้างสารเซโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทชนิดหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกสงบและผ่อนคลาย ด้วยเหตุนี้จึงเป็นไปได้ว่า เมื่อทริปโตแฟนมีมากเกินไป ทำให้สารเคมีในสมองขาดความสมดุล ผลที่ตามมาก็คือเกิดอาการเซื่องซึม เหนื่อย ไม่กระฉับกระเฉง

น้ำตาล... ตัวการลดภูมิ (คุ้มกัน)

จากผลการศึกษาของ ดร.แกรี่ นัล ซึ่งเขียนไว้ในหนังสือ “The Complete Guide to Sensible Eating” ระบุว่า ความหวานทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง โดยน้ำตาลจะทำให้ประสิทธิภาพในการทำลายสิ่งแปลกปลอมของเซลล์เม็ดเลือดขาวลดลง นำมาซึ่งอาการแพ้สิ่งต่างๆ และติดเชื้อง่าย ที่แย่ไปกว่านั้น น้ำตาลยังทำให้อาการของโรคติดเชื้อที่เป็นอยู่ทวีความรุนแรงขึ้น เพราะเชื้อโรคทุกชนิดใช้น้ำตาลเป็นอาหาร

ในกรณีนี้หากเป็นในเด็ก เด็กที่ทานของหวานมากเกินไป นอกจากจะมีปัญหาเรื่องฟันผุแล้วยังมีแนวโน้มจะเจ็บป่วยง่ายและเจริญเติบโตช้าอีกด้วย

น้ำตาล... ตัวการความแก่ (ชรา)

เห็นหัวข้อนี้แล้วทุกคนคงจะตาโตขึ้นมาทันที คงไม่มีใครอยากแก่เป็นแน่ แต่ความแก่ในที่นี้มิใช่เพียงรูปพรรณที่เราเห็นภายนอก อย่างริ้วรอยหรือผิวที่หย่อนคล้อยเท่านั้น ยังหมายรวมถึงความเสื่อมที่มองไม่เห็นของระบบภายในร่างกายด้วย

เนื่องจากน้ำตาลที่ทานเข้าไปจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว กระตุ้นให้ตับอ่อนต้องหลั่งฮอร์โมนอินซูลินเพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติ โดยหนทางแรก คือการเผาผลาญน้ำตาลไปเป็นพลังงาน เมื่อเกิดการเผาผลาญบ่อยเข้า ย่อมเร่งให้เกิดอนุมูลอิสระ สาเหตุแห่งความเสื่อมของเซลล์และหลอดเลือดฝอย รวมทั้งเป็นบ่อเกิดของโรคมะเร็งและอัลไซเมอร์ด้วย

หนทางต่อมา น้ำตาลส่วนที่เหลือจะถูกส่งไปที่ตับเพื่อเก็บสะสมในรูปของไกลโคเจนสำหรับเป็นพลังงานสำรอง ซึ่งตับสามารถเก็บไกลโคเจนได้เพียง 90-100 กรัมเท่านั้น แต่หากยังใช้ไม่หมด น้ำตาลส่วนเกินนี้จะถูกเปลี่ยนเป็นกรดไขมันแล้วลำเลียงไปเก็บสะสมในเนื้อเยื่อไขมันใต้ผิวหนัง โดยเฉพาะตามส่วนของร่างกายที่ไม่ค่อยได้เคลื่อนไหว เช่น หน้าท้อง สะโพก ก้น ต้นขา หากเรายังคงรับประทานน้ำตาลอย่างต่อเนื่อง กรดไขมันที่ว่านี้จะถูกสะสมไว้ที่อวัยวะภายในอื่นๆ เช่น หัวใจ ตับ และไต อวัยวะเหล่านี้จะค่อยๆ ถูกห่อหุ้มด้วยไขมันและเยื่อเมือกจนทำงานผิดปกติได้ ตัวอย่างเช่น โรคไขมันเกาะตับ ที่คุ้นหูกันดี

ทานน้ำตาลอย่างไร... ให้อายุยืน

1.พยายามเลี่ยงของหวานและค่อยๆ ลดปริมาณน้ำตาลลง ทานแต่พอประมาณ เพราะปกติเราได้รับน้ำตาลที่แฝงมากับอาหารอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นผลไม้ ขนม ไอศกรีม เครื่องดื่ม น้ำจิ้มหรือเครื่องจิ้มต่างๆ ที่ทานกับผลไม้ เราไม่ต้องกลัวว่าจะขาดน้ำตาล เพราะเมื่อร่างกายย่อยแป้ง (พวกข้าว ขนมปัง ฯลฯ) ก็จะได้กลูโคสมาใช้เป็นแหล่งพลังงานเหมือนกัน

2.รับประทานผักสดและผลไม้สดที่หวานน้อยแทนน้ำผักหรือน้ำผลไม้บรรจุขาย ซึ่งนอกจากจะได้รสหวานจากธรรมชาติแล้ว เรายังได้วิตามินแร่ธาตุ สารต้านอนุมูลอิสระ รวมถึงเส้นใยอาหารที่ช่วยในการขับถ่าย และชะลอการดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้ตับอ่อนไม่ต้องทำงานหนักในการหลั่งอินซูลินออกมาเพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือด

3.อ่านฉลากสักนิดก่อนคิดจะซื้ออาหารชนิดใด ซึ่งจะบอกถึงปริมาณน้ำตาลที่มีอยู่ในส่วนผสม เช่น ซูโครส ฟรุกโทส กลูโคสไซรัป คอร์นไซรัป มอลโทส น้ำผึ้ง เป็นต้น จะได้ระวังไม่ทานเพลินจนน้ำตาลเกินกำหนด

4.เลือกรับประทานคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนเพื่อเป็นแหล่งของน้ำตาลกลูโคส เช่น ข้าวกล้อง ธัญพืชไม่ขัดสี ถั่วต่างๆ เผือก มัน ฟักทอง กล้วย ขนมปังโฮลวีต ซึ่งร่างกายจะได้รับสารอาหารที่หลากหลายกว่าข้าวขัดขาวและธัญพืชที่ผ่านกรรมวิธีแปรรูปแล้ว แถมยังมีเส้นใยอาหารช่วยให้อยู่ท้อง ช่วยลดคอเลสเตอรอล และควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดด้วย เนื่องจากคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนเหล่านี้จัดเป็นอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาล (Glycemic Index: GI) ต่ำ (คืออาหารที่ไม่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดพุ่งสูงอย่างรวดเร็ว) เช่นเดียวกับผักและผลไม้ที่หวานน้อย

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ เราทุกคนคงไม่ต้องตัดความหวานออกจากชีวิตเสียทีเดียว เพราะทานน้ำตาลแบบพอดีก็ไม่เป็นไร แต่หากทานมากไป โรคภัยจะถามหา ฝึกเป็นคนอ่อนหวานเสียแต่วันนี้ เพื่อสุขภาพที่ดีในวันข้างหน้ากันเถอะ

จีรายุ ทองดอนแอ/ประไพรภัทร คลังทรัพย์
ฝ่ายเภสัชและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 3 มีนาคม 2556

เปิดปฏิบัติการ"ฝนหลวง"แก้ภัยแล้ง

ตั้งหน่วยฝนหลวง 10 หน่วยขึ้นปฏิบัติการฝนหลวงทั่วประเทศ เตรียมอาสาสมัครฝนหลวงแจ้งพื้นที่ภัยแล้ง ตั้งหน่วยบินเคลื่อนที่เร็ว 3 หน่วย ที่นครสวรรค์

วันนี้ (2 มี.ค.) นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รมว.เกษตรฯ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดการปฏิบัติการฝนหลวงแก้ภัยแล้งประจำปี 2556 ณ สนามบินนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ ว่า ขณะนี้ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงทั้ง 5 ภาคเพื่อปฏิบัติการฝนหลวง เน้นเป้าหมายในการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนเก็บน้ำต่างๆ และช่วยเหลือสถานการณ์ภัยแล้ง ดูแลปัญหาไฟป่าและหมอกควันในภาคเหนือตั้งแต่เดือนมี.ค.ไปจนถึงสิ้นสุดฤดูฝนประมาณเดือนต.ค.นี้จนครบ 10 หน่วย เช่นภาคเหนือ ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 2 หน่วย จ.เชียงใหม่ และพิษณุโลก ภาคกลาง ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 2 หน่วย ที่ จ.กาญจนบุรี และนครสวรรค์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 2 หน่วย ที่จ.ขอนแก่น และนครราชสีมา ภาคตะวันออก ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 2 หน่วย ที่จ.จันทบุรี และระยองภาคใต้ ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 2 หน่วย ที่จ.สงขลา และประจวบคีรีขันธ์ โดยมีจำนวนเครื่องบินที่พร้อมปฏิบัติการทั้งสิ้น 34 เครื่อง เป็นของกระทรวงเกษตรฯ 26 เครื่อง และได้รับการสนับสนุนจากกองทัพอากาศ 8 เครื่อง ขณะเดียวกัน ทางกรมฝนหลวงและการบินเกษตรยังได้ตั้งอาสาสมัครฝนหลวงเป็นเครือข่ายการประสานข่าวสารข้อมูลกระจายอยู่ทั่วประเทศ รวมถึงประชาชนยังสามารถขอฝนหลวงในพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้งมายัง คอลเซ็นเตอร์ 1170 ของกระทรวงเกษตรฯ อีกทางหนึ่งด้วย

“สถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ถึงแม้ว่าผลกระทบส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค แต่กระทรวงเกษตรฯ ก็ไม่ได้นิ่งดูดาย โดยได้มีการประชุมติดตามสถานการณ์และกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งรวมทั้งหมอกควันมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้มีการแจ้งเตือนเกษตรกรให้จำกัดพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้ง มีการบริหารจัดสรรน้ำให้เพียงพอต่อการเพาะปลูกในเขตชลประทาน และต้องถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเสียสละทุ่มเทในการประดิษฐ์คิดค้น วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการทำฝนหลวงจนประสบความสำเร็จ และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ น้อมนำเทคโนโลยีฝนหลวงของพระองค์มาดำเนินการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ทั้งในพื้นที่นอกเขตชลประทานที่รอคอยน้ำฝน และพื้นที่ในเขตชลประทานที่ต้องอาศัยน้ำต้นทุนที่เก็บกักไว้ในเขื่อนต่าง ๆ”นายยุคล กล่าว

นายยุคล กล่าวว่า ในช่วงเดือนม.ค.-ก.พ.ที่ผ่านมากรมฝนหลวงและการบินเกษตรยังไม่ได้ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง เนื่องจากยังอยู่ในช่วงฤดูหนาวสภาพอากาศแห้งและเย็น ความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศไม่เหมาะสมรวมทั้งมีพื้นที่ในหลายจังหวัดยังไม่ต้องการฝนเนื่องจากมีพืชบางชนิดอยู่ในช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต เช่น หอม กระเทียม อ้อย ยาสูบ และมันสำปะหลัง

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 2 มีนาคม 2556

ก.อุตฯขู่ไม่ต่อใบอนุญาตรง. เลี่ยงกากอันตรายเข้าระบบ

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า มอบหมายให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม, การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และอุตสาหกรรมจังหวัดเร่งประสานงานกับโรงงานที่มีกากอุตสาหกรรมอันตรายทั่วประเทศ 3,400 รายให้เข้าสู่ระบบการจัดการกากอย่างถูกต้อง เนื่องจากที่ผ่านมามีโรงงานเพียง 42% หรือ 1,515 ราย ที่ปฏิบัติตามกฎหมายซึ่งเป็นปริมาณที่น้อย ดังนั้นในส่วนที่เหลือหากที่เหลือไม่เข้าสู่ระบบภายวันที่ 30 ก.ย. 56 ก็จะถูกลงโทษโดยการไม่ต่ออายุใบอนุญาตโรงงาน หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท

ทั้งนี้เท่าที่มีการตรวจสอบพบว่าโรงงานที่ไม่ยอมเข้าสู่ระบบการจัดการกากอย่างถูกต้อง เช่น ผู้ประกอบการแอบลักลอบกากฯไปทิ้งตามพื้นที่ต่างๆ ส่วนใหญ่จะอยู่ในจังหวัดสมุทรปราการ, ชลบุรี, ฉะเชิงเทรา, ระยอง เป็นต้น นอกจากนี้ผู้ประกอบการที่มีกากอันตรายไม่มากรวบรวมกากให้มีปริมาณมากก่อนนำไปเข้าสู่ระบบการบริหารจัดการในครั้งเดียว

"กระทรวงอุตสาหกรรมตั้งเป้าดำเนินการให้กากอันตรายเข้าระบบเกิน 80% ภายในวันที่ 30 ก.ย. 56 ซึ่งปัจจุบัน จากข้อมูลโรงงานพบว่าในปีนี้จะมีจำนวนกากอุตสาหกรรมอันตราย 2.4 ล้านตัน แต่เข้าระบบไม่ถึง 1 ล้านตัน โดยกากฯอันตรายที่มีปริมาณมาก เช่น น้ำมัน, สารทำละลาย, โลหะ เป็นต้น"

นายวิฑูรย์ กล่าวว่า ขณะนื้มีเพียง 18 จังหวัดเท่านั้นที่ดำเนินการให้โรงงานนำกากฯอันตรายเข้าสู่ระบบได้ตามเป้าหมาย โดยจำนวนนี้มี 14 จังหวัด เร่งรัดให้โรงงานปฏิบัติตามกฎหมายครบถ้วนทุกโรง 100% ประกอบด้วย อ่างทอง อำนาจเจริญ เลย มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ สกลนคร นครพนม พะเยา เชียงราย ตาก ตรัง ปัตตานี ยะลา และอีก 4 จังหวัดที่จัดการกากอุตสาหกรรมเป็นตามเป้าหมายเกิน 80% ได้แก่ ขอนแก่น สงขลา สุพรรณบุรี สระแก้ว ส่วนจังหวัดไม่มีกากอุตสาหกรรมอันตรายในพื้นที่มี 3 จังหวัด คือ น่าน ชุมพร พัทลุง และเหลืออีก 52 จังหวัด รวมทั้งโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม อยู่ระหว่างดำเนินการ

ขณะเดียวกับกระทรวงได้กำหนดให้โรงงานบางประเภทที่มีมลพิษสูง รวมถึงโรงงานที่มีกากฯอันตราย ต้องจัดให้มีบุคลากรด้านสิ่งแวดล้อมประจำโรงงาน ซึ่งต้องขึ้นทะเบียนกับกรมโรงงาน เพื่อเข้ามาช่วยดูแลการจัดการมลพิษของโรงงาน ซึ่งตั้งแต่ที่มีการประกาศมีโรงงานปฏิบัติตามเพียง 1,700 ราย จากกว่า 3,000 ราย

จากhttp://www.dailynews.co.th วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2556

ผลสำรวจชี้นักธุรกิจไทยไม่พร้อมด้านการค้า-ลงทุนในอาเซียน

นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า จากการสำรวจทัศนะของผู้ประกอบการไทยถึงความพร้อมด้านการค้า และการลงทุนในเออีซี 800 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 18-22 กุมภาพันธ์ 2556 พบว่า 40.7 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่าไม่พร้อมทำการค้า และ 69.6 เปอร์เซ็นต์ ไม่พร้อมด้านการลงทุนในอาเซียน

ทั้งนี้เมื่อถามถึงปัจจัยที่ทำให้ไม่พร้อมทำการค้า 27.5 เปอร์เซ็นต์ ตอบว่าความไม่พร้อมด้านภาษา รองลงมา 15.3 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีคนแนะนำ และ12.4 เปอร์เซ็นต์ ไม่พร้อมด้านกฎระเบียบ ส่วนสาเหตุความไม่พร้อมด้านการลงทุน 26.7 เปอร์เซ็นต์ เป็นเรื่องเงินลงทุน รองลงมา 18.1 เปอร์เซ็นต์ภาษา และ17.6 เปอร์เซ็นต์ไม่มีคนแนะนำ เมื่อถามถึงประเทศที่มีโอกาสทำการค้ามากที่สุด 21.1 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่า เป็นพม่ารองลงมา 16.5 เปอร์เซ็นต์ เป็น สปป.ลาว และ15.4 เปอร์เซ็นต์กัมพูชา ส่วนด้านการลงทุนส่วนใหญ่ 18.7 เปอร์เซ็นต์ ตอบว่าพม่าเช่นกัน รองลงมา 18.1 เปอร์เซ็นต์ตอบว่าลาว และ16.6 เปอร์เซ็นต์ อินโดนีเซีย

น.ส.นิ่มนวล ผิวทองงาม ผู้อำนวยการ AEC Stretegy Center-UTCC กล่าวว่า กฎหมายสำคัญที่พม่าได้แก้ไขแล้ว ได้แก่ กฎหมายว่าด้วยการลงทุนของคนต่างชาติ และกฎระเบียบและกฎเกณฑ์ ว่าด้วยการลงทุนตามกฎหมายด้วยการลงทุนของคนต่างชาติ แก้ไขเมื่อ 31 มกราคม 2556 ที่ผ่านมา ซึ่งให้ความสำคัญกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนของพม่าในการอนุญาตธุรกิจให้ลงทุน ซึ่งเงื่อนไขนี้อาจเป็นอุปสรรคในอนาคต

นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายอื่นที่กำลังแก้ไขได้แก่ กฎหมายว่าด้วยการ คุ้มครองผู้บริโภค แรงงาน ภาษี ศุลกากร คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งนักลงทุนไทยต้องศึกษาให้เข้าใจ

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2556

จังหวัดราชบุรีเฝ้าระวังปัญหาแรงงานเด็กในกิจการอ้อย

นายอนันต์ บวรเนาวรักษ์ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดราชบุรี เปิดเผยว่า เนื่องจากในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคมของทุกปีจะเป็นช่วงฤดูกาลหีบอ้อยของโรงน้ำตาลต่าง ๆ ที่ผู้ประกอบกิจการไร่อ้อยจะตัดอ้อย เพื่อส่งเข้าหีบที่โรงงานและในเวลาเดียวกันนี้ก็จะเกิดการอพยพถิ่นฐานหรือเคลื่อนย้ายแรงงานเพื่อมารับจ้างตัดอ้อย หีบอ้อยหรือทำงานในโรงงานน้ำตาลเป็นจำนวนมาก ซึ่งแรงงานที่มารับจ้างทำงานส่วนใหญ่จะมาทั้งครอบครัวเนื่องจากพ่อแม่ ผู้ปกครอง ซึ่งมาทำงานเกรงว่าอาจเกิดความไม่ปลอดภัยกับชีวิตและความเป็นอยู่ในด้านต่าง ๆ ได้ จึงมักนำลูกหลานซึ่งเป็นเด็กเล็กติดตามไปยังสถานที่ทำงานของตน และโดยวิสัยของคนไทยลูกหลานมักจะต้องช่วยเหลือบิดา มารดาหรือผู้ปกครองทำงานในกิจการประเภทอ้อย ส่งผลต่อภาพลักษณ์และการค้าระหว่างประเทศของไทยในอุตสาหกรรมน้ำตาล

สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดราชบุรี ได้เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องดังกล่าวได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ขอความร่วมมือ อาสาสมัครเครือข่ายแรงงานและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายร่วมกันเฝ้าระวัง และทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการและผู้ปกครอง เพื่อการป้องกันการใช้แรงงานเด็กซึ่งอาจจะไม่ได้เจตนาให้เกิดการจ้างงานดังกล่าว พร้อมทั้งได้ประสานขอความร่วมมือองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น อาทิ องค์การบริหารส่วนตำบลหรือเทศบาลเมือง เทศบาลตำบล ที่มีการจัดตั้งศูนย์เด็กเล็กหรือสถานรับเลี้ยงเด็กให้การสนับสนุนในการรับลูกหลานของแรงงานที่ติดตามพ่อ แม่ ผู้ปกครอง เข้ามาอยู่ในความดูแลของศูนย์เด็กเล็กหรือสถานรับเลี้ยงเด็กในช่วงเวลาทำงานของพ่อแม่ หรือผู้ปกครอง เพื่อให้เกิดผลการแก้ไขที่เป็นรูปธรรมและลดปัญหาข้อโต้แย้งที่ถูกกล่าวหา

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2556