http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล(เดือนมีนาคม 2558)

เกษตรกร8.18แสนรายเฮ! ธ.ก.ส.ปลด-บรรเทาหนี้เริ่ม1เม.ย.

นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า ที่ประชุมครม.มีมติเห็นชอบให้กระทรวงการคลังและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมแก้ไขปัญหาหนี้ของเกษตรกรที่เกิดจากการสะสมหนี้ในอดีต ที่เกิดจากราคาสินค้า พืชผลการเกษตรตกต่ำ ดินฟ้าอากาศ ขาดแคลนแรงงานภาคการเกษตร ทำให้รายได้น้อยลง ส่งผลให้หนี้สินเพิ่มขึ้น

สำหรับความช่วยเหลือของกระทรวงการคลังผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) โดยกำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรลูกค้า ในกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ เกษตรกรรายย่อยที่มีหนี้สินรายละไม่เกิน 500,000 บาท จำนวนประมาณ 818,000 ราย หนี้สินจำนวนประมาณ 116,000 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการโครงการ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2558 – 31 มีนาคม 2559 ประกอบด้วย 3 โครงการย่อย ดังนี้ 1.โครงการปลดหนี้สิน กลุ่มเป้าหมายเป็นเกษตรกรรายย่อยที่ไม่มีศักยภาพ หรือมีเหตุผิดปกติ เช่น เสียชีวิต ทุพพลภาพ เจ็บป่วยเรื้อรัง และมีปัญหาสุขภาพจนไม่สามารถประกอบอาชีพได้ จำนวนประมาณ 28,000 ราย หนี้สินจำนวนประมาณ 4,000 ล้านบาท วิธีดำเนินการ โดย ธ.ก.ส. จะสอบทานลูกหนี้เพื่อการจัดการหนี้และพิจารณาปลดหนี้ให้แก่เกษตรกรรายย่อยโดยการจำหน่ายหนี้เงินกู้ออกจากบัญชีเป็นหนี้สูญ ตามหลักเกณฑ์การจำหน่ายทรัพย์สินประเภทลูกหนี้ออกจากบัญชีเป็นหนี้สูญของ ธ.ก.ส.

2.โครงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ กลุ่มเป้าหมายเป็นเกษตรกรรายย่อยที่มีศักยภาพต่ำ โดยผ่านการประเมินศักยภาพแล้วปรากฏว่ายังมีความสามารถในการประกอบอาชีพแต่มีปัญหาในการชำระหนี้จากเหตุสุจริตจำเป็นและเป็นภาระหนัก จำนวนประมาณ 340,000 ราย หนี้สินจำนวนประมาณ 48,000 ล้านบาท วิธีดำเนินการ โดย ธ.ก.ส.จะสอบทานลูกหนี้เพื่อการจัดการหนี้และพิจารณาจัดทำการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่เกษตรกรลูกค้าตามศักยภาพ โดยให้ชำระต้นเงินตามงวดหรือระยะเวลาที่ตกลงกันแต่ไม่เกิน 10 ปี เว้นแต่มีความจำเป็นอาจกำหนดให้ชำระไม่เกิน 15 ปี และปลอดชำระต้นเงินเป็นระยะเวลา 3 ปี ธ.ก.ส.จะคิดดอกเบี้ยเงินกู้ที่ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในอัตราปกติคือ MRR หรือเท่ากับ 7% ส่วนดอกเบี้ยก่อนปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้พักไว้เพื่อรอการจัดการ

ทั้งนี้เมื่อเกษตรกรลูกค้าชำระหนี้ต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยได้ตามงวดชำระหนี้ที่กำหนด ธ.ก.ส.จะพิจารณายกหนี้ในส่วนของดอกเบี้ยที่พักไว้ตามศักยภาพของเกษตรกรลูกค้าแต่ละราย และดำเนินการฟื้นฟูการประกอบอาชีพให้แก่เกษตรกรลูกค้าตามโครงการนี้ พร้อมสนับสนุนสินเชื่อเพิ่มเติมให้แก่เกษตรกรลูกค้าตามแผนฟื้นฟูการประกอบอาชีพการเกษตรหรืออาชีพอื่นที่เหมาะสม เงินกู้ต่อรายไม่เกิน 50,000 บาท วงเงินสินเชื่อรวม 15,000 ล้านบาท โดยคิดดอกเบี้ยในอัตราปกติของ ธ.ก.ส.

3.โครงการขยายระยะเวลาชำระหนี้ กลุ่มเป้าหมายเป็นเกษตรกรรายย่อยที่มีศักยภาพในการประกอบอาชีพ แต่ได้รับผลกระทบจากการงดทำนาปรัง และราคายางพาราตกต่ำ จำนวนประมาณ 450,000 ราย หนี้สินจำนวนประมาณ 64,000 ล้านบาท วิธีดำเนินการ ธ.ก.ส.จะสอบทานหนี้เพื่อการจัดการหนี้ และพิจารณาขยายระยะเวลาชำระหนี้ตามศักยภาพของเกษตรกรลูกค้า โดย ธ.ก.ส.คิดดอกเบี้ยในอัตราปกติของ ธ.ก.ส. และไม่คิดเบี้ยปรับ

"ธ.ก.ส.ทำ 3 โครงการย่อย ทั้ง ปลดหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ และขยายเวลา ตามศักยภาพ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการชำระหนี้สินของเกษตรกรที่สะสมมาในอดีต ซึ่งหนี้สินที่ปลดหนี้ให้เกษตรกรรายย่อย เป็นเงินและการดำเนินงานของ ธ.ก.ส.เอง โดยที่กระทรวงการคลังหรือรัฐบาลไม่ได้ให้เงินชดเชยแต่อย่างใด จะเริ่มวันที่ 1 เม.ย.นี้"นายวิสุทธิ์ กล่าว

จาก http://www.naewna.com   วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2558

สรท.ชงยุทธศาสตร์ส่งออก75ปีให้รัฐ

ภาคเอกชนชงยุทธศาสตร์การส่งออกให้ “หม่อมอุ๋ย” หวังดันไทยเป็นประเทศพัฒนาแล้วภายในปี 75 เน้นคัดเลือกสินค้า 30 รายการให้ติดอันดับ 1 ใน 5 ของตลาดโลก

นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สภาฯได้เสนอแผนยุทธศาสตร์ส่งออกเพื่อผลักดันให้ไทยเป็นประเทศที่พัฒนา แล้วภายในปี 75 (แผน 17 ปี)ให้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี พิจารณา เบื้องต้นจะเน้นการพัฒนาสินค้าและบริการไทยอย่างน้อย 30 รายการ ให้ส่งออกสินค้าติดอันดับ 1 ใน 5 ในตลาดโลก เช่นกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม, สินค้าแฟชั่น, อัญมณีและเครื่องประดับ, เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน, สิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม,กลุ่มสินค้าเกษตร, และสินค้าเพื่อสุขภาพ เป็นต้น

“รองนายกรัฐมนตรีเห็นแผนแล้ว ก็เห็นด้วยในหลายข้อเสนอ ที่จะทำให้ไทยมีเป้าหมายของเศรษฐกิจ และผลักดันให้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว เหมือนเป้าหมายหลาย ๆ ประเทศ เช่น มาเลเซีย และจีน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีสินค้าไทยที่มีศักยภาพและสามารถส่งออกติดอันดับต้น ๆ ของแล้ว 10 รายการ ดังนั้นที่เหลือคงต้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมกันคัดสรรและพัฒนาต่อไป โดยเป้าหมายที่ให้ไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในปี 75 เพื่อฉลองครบรอบ 100 ปีประชาธิปไตยของไทย”

ทั้งนี้เป้าหมายของสินค้า 30 รายการนั้นต้องสร้างความยั่งยืนในการทำตลาด และสร้างรายได้แก่แรงงานที่เกี่ยวข้อง โดยเป้าหมายต้องขับเคลื่อนให้ส่งออกไทยขยายตัวได้เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 5% ต่อไป ขณะเดียวกัน ต้องส่งเสริมให้เอสเอ็มอีไทยเข้มแข็ง และเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วย

สำหรับแผนดังกล่าว จำเป็นต้องมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วม เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง, กระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงแรงงาน, กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ , กระทรวงไอซีที, กระทรวงต่างประเทศ, กระทรวงการคลัง, กระทรวงพลังงาน เป็นต้น ซึ่งแนวทางนี้จะต้องขับเคลื่อนพร้อมๆกับนโยบายเทรดดิ้ง เนชั่นและ เศรษฐกิจดิจิตอล

“ขณะนี้ ภาคเอกชนเป็นห่วงเรื่องค่าเงินบาท เพราะมีผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกไทย ดังนั้นจึงอยากให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ควรออกมาตรการมาดูแลเรื่องของค่าเพื่อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งเชื่อว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย ยังสามารถใช้ยาแรงในเรื่องนี้ได้”

จาก http://www.dailynews.co.th   วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2558

สศก.ระบุภัยแล้งกระทบรายสินค้าเกษตรสำคัญ

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เผย สถานการณ์ภัยแล้งในจังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา  (นครสวรรค์ ชัยนาท ลพบุรี)  ตั้งแต่ ตุลาคม 57 – 6 มีนาคม 58 พบพื้นที่ประสบภัย 7 หมื่น 5 พันไร่  มูลค่าความเสียหายของสินค้าข้าวกว่า  212  ล้านบาท  คิดเป็นปริมาณผลผลิต 2 หมื่น 5 พันตัน พร้อมแจงสถานการณ์รายสินค้าที่สำคัญเพื่อรับมือ

นายเลอศักดิ์  ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้งและน้ำท่วมทุกปี โดยมีปริมาณผลกระทบแตกต่างกัน ซึ่งแต่ละปีมีครัวเรือนเกษตรกรที่ได้ความเสียหายจากน้ำท่วมเฉลี่ยปีละ 1.33 ล้านครัวเรือน และครัวเรือนที่ ได้รับความเสียหายจากภัยแล้งเฉลี่ยปีละ 2.86 ล้านครัวเรือน พื้นที่ความเสียหายด้านเกษตรจากน้ำท่วมเฉลี่ยปีละ 8.45 ล้านไร่ และพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากภัยแล้งเฉลี่ยปีละ 2.74 ล้านไร่มูลค่าความเสียหายจากน้ำท่วม เฉลี่ยปีละ 6,340,16 ล้านบาท มูลค่าความเสียหายจากภัยแล้งเฉลี่ยปีละ 727.04 ล้านบาท

 จากสถานการณ์ภัยแล้ง ซึ่งจากการประมาณการผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งในจังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา  (รวบรวมข้อมูลจากจังหวัดนครสวรรค์ ชัยนาท ลพบุรี)  ในช่วงตั้งแต่ตุลาคม 2557 ถึง  ณ วันที่ 6 มีนาคม 2558  พบว่า  มีพื้นที่ประสบภัย 75,706 ไร่  พบมูลค่าความเสียหายของสินค้าข้าว  212.60  ล้านบาท  จากพื้นที่เสียหาย  36,930.25  ไร่ คิดเป็นปริมาณผลผลิต  25,195.89 ตัน ในการนี้ สศก. ได้สรุปสถานการณ์การผลิตของสินค้าเกษตรสำคัญ พบว่า

 ข้าว ข้าวนาปี ปีเพาะปลูก 2557/58 เนื้อที่เพาะปลูกลดลงจากปีที่แล้วทุกภาคเนื่องจากการปรับเปลี่ยนนโยบายภาครัฐและราคาข้าวมีแนวโน้มลดลง รวมทั้งเกษตรกรบางส่วนปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชที่ให้ผลตอบแทนดี มีแหล่งรับซื้อแน่นอน เช่น อ้อยโรงงานสำหรับผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น จากการดูแลเอาใจใส่และปริมาณน้ำฝนเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว ทำให้ภาพรวมผลผลิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

             ข้าวนาปรัง ปี 2558 เนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าลดลงทุกภาคจากปีที่แล้ว เนื่องจากภาพรวมปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่ใช้การได้มีน้อย และไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้ออกประกาศงดการส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2557 จนถึง 30 เมษายน 2558 ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลอง รวม 26 จังหวัด ประกอบกับราคาข้าวมีแนวโน้มลดลง ทำให้เกษตรกรลดเนื้อที่เพาะปลูกลงโดยปล่อยพื้นที่ว่างและบางรายปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยกว่า เช่น พืชตระกูลถั่ว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวโพดหวาน เป็นต้น

 พืชไร่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีเพาะปลูก 2557/58 ผลผลิตลดลงจากปีที่แล้ว จากการที่เกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า มันสำปะหลังโรงงาน ปีเพาะปลูก 2557/58 ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว เนื่องจากราคาที่เกษตรกรขายได้ของปีที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์ดี จูงใจให้เกษตรกรปลูกทดแทนพื้นที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงานที่รื้อตอทิ้งและพื้นที่ว่างเปล่า ถั่วเหลือง ปีเพาะปลูก 2557/58 ผลผลิตลดลงจากปีที่แล้ว จากการขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ ต้นทุนการผลิตสูง และขาดแคลนแรงงานในการเก็บเกี่ยว ถึงแม้ว่าจะมีการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเพิ่มขึ้นแต่ก็ยังไม่สามารถจูงใจให้เกษตรกรหันมาปลูกได้ สับปะรด ปี 2558 ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว จากราคาที่เกษตรกรขายได้อยู่ในเกณฑ์ดีตั้งแต่ต้นปี 2557 ทำให้เกษตรกรขยายพื้นที่ปลูกในพื้นที่เคยปลูกสับปะรดแล้วปล่อยว่าง

 ไม้ยืนต้น – ไม้ผล ในปี 2558 เนื้อที่ให้ผลปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้น ส่วนผลผลิตต่อไร่ในภาพรวมลดลงจากปาล์มที่เริ่มให้ผลผลิตยังคงให้ผลทะลายเล็กและน้ำหนักน้อย แต่ผลผลิตในภาพรวมยังคงเพิ่มขึ้นตามการเพิ่มของเนื้อที่ให้ผล กาแฟ ผลผลิตลดลงเนื่องจากเนื้อที่ให้ผลกาแฟพันธุ์โรบัสตาในแหล่งผลิตกาแฟทางภาคใต้ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องประกอบกับผลผลิตต่อไร่ลดลงจากแหล่งผลิตกาแฟทางภาคใต้ประสบปัญหาฝนทิ้งช่วง อากาศร้อน และแห้งแล้งในช่วงกาแฟออกดอก ส่งผลให้กาแฟติดดอกออกผลไม่ดี

 สำหรับลำไย และลิ้นจี่  ผลผลิตโดยรวมลดลงเนื่องจากสภาพภูมิอากาศไม่เอื้ออำนวย อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยจะสูงกว่าค่าปกติและสูงกว่าปีที่แล้วทำให้ออกดอกติดผลลดลง เงาะและทุเรียน ผลผลิตเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีเนื้อที่ให้ผลเพิ่มขึ้นและสภาพภูมิอากาศเอื้ออำนวยต่อการออกดอกและติดผล ในขณะที่ มังคุด ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากสภาพภูมิอากาศเอื้ออำนวยต่อการออกดอกและติดผล ถึงแม้ว่าจะมีการลดเนื้อที่บางส่วนไปปลูกไม้ผลไม้ยืนต้นอื่นก็ตาม สำหรับลองกอง ผลผลิตลดลงตามการลดลงของเนื้อที่ให้ผล

 /พืชผัก  ปีเพาะปลูก 2557/58…

 พืชผัก  ปีเพาะปลูก 2557/58 ผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ กระเทียม หอมหัวใหญ่และมันฝรั่ง ส่วนหอมแดงผลผลิตลดลง โดยกระเทียม ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากที่ราคาเกษตรกรขายได้อยู่ในเกณฑ์ดี จึงจูงใจให้เกษตรกรเก็บพันธุ์เพื่อเตรียมขยายเนื้อที่เพาะปลูกมากขึ้น หอมหัวใหญ่ ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากในปีที่แล้วมีฝนตกหนักในช่วงเพาะกล้า ทำให้ต้นกล้าเสียหายเป็นจำนวนมาก แต่ปีนี้ต้นกล้าเพียงพอสำหรับการขยายพื้นที่เพาะปลูก จากการที่เกษตรพัฒนาวิธีการปลูกโดยการยกร่องแปลงให้สูงขึ้น คลุมพลาสติกป้องกันฝน  มันฝรั่ง ผลผลิตเพิ่มขึ้น จากปีที่แล้วราคาที่เกษตรกรขายได้อยู่ในเกณฑ์ดีและมีสภาพอากาศหนาวเย็นติดต่อกันยาวนาน ทำให้ได้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ได้รับผลตอบแทนสูง จึงจูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่ปลูกในปี 2558 สำหรับหอมแดง ผลผลิตลดลง เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูง และราคาที่เกษตรกรขายได้ไม่จูงใจ จึงทำให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นและมีแหล่งรับซื้อแน่นอน

 ปศุสัตว์  ปี 2558 ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น ยกเว้นโคเนื้อ และโคนม สำหรับโคเนื้อ เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนพื้นที่ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ อีกทั้งราคาโคเนื้อยังคงอยู่ในเกณฑ์สูง จูงใจให้เกษตรกรขายโคเนื้อออกทั้งโคเพศผู้และเมีย ทำให้ขาดแคลนแม่โค วัยเจริญพันธุ์ที่จะนำมาขยายพันธุ์ต่อ ส่วนปริมาณการผลิตน้ำนมดิบลดลง จากจำนวนแม่โครีดนมลดลง ในขณะที่ปริมาณการผลิตไก่เนื้อและสุกร เพิ่มขึ้นตามความต้องการของตลาดส่งออกและตลาดในประเทศที่เพิ่มขึ้น

 ประมง ปี 2558 ปริมาณการผลิตปลานิลและปลาดุกคาดว่าลดลง จากภัยแล้งปริมาณน้ำไม่เพียงพอ ในขณะที่กุ้งขาวแวนนาไม ปริมาณการผลิตคาดว่าเพิ่มขึ้น จากราคาที่จูงใจ การจัดการโรคระบาด EMS ได้ดีขึ้น รวมทั้งภาครัฐได้นำเข้าพ่อแม่พันธุ์ดี ปลอดโรคจากอเมริกา เพื่อผลิตลูกกุ้งจำหน่ายให้แก่เกษตรกร ส่วนปริมาณการผลิตกุ้งกุลาดำ คาดว่าเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน จากความต้องการของตลาดส่งออกและราคาที่จูงใจ ให้เกษตรกรขยายเนื้อที่เพาะเลี้ยง

 อย่างไรก็ตาม ความเสียหายของพืชผลทางการเกษตรจากปรากฏการณ์เอลนีโน ขึ้นอยู่กับความหนักเบาในแต่ละปี ปริมาณน้ำในเขื่อนก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่สามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้หากเจอภัยแล้งดังกล่าว ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องเร่งสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศควบคู่กับการรักษาสภาพแวดล้อม ลดการปลดปล่อยคาร์บอน เพื่อเพิ่มโอกาสในการอยู่รอดของเกษตรกรและภาคเกษตรไทย รวมทั้ง เกิดความมั่นคงทางอาหารและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งควรดำเนินการแก้ปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยเร่งดำเนินการศึกษาวิจัย เพื่อพัฒนาพันธุ์พืชที่ใช้น้ำน้อย มีความต้านทานต่อภาวะอุณหภูมิที่สูงขึ้น ต้านทานโรคและแมลง ทนแล้ง ทนน้ำท่วมขัง

นอกจากนี้ ยังต้องบริหารจัดการน้ำและใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เน้นการสร้างแหล่งน้ำขนาดเล็กในไร่นาและระบบ ชลประทานขนาดเล็กให้เพียงพอต่อการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง และบรรเทาผลกระทบจากน้ำท่วม ตลอดจนการทำฝนเทียม ซึ่งแก้ไขปัญหาในการขาดแคลนน้ำจืดที่ได้ผลดีวิธีหนึ่งโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วย โดยส่วนใหญ่แล้วมักใช้ในพื้นที่ฝนทิ้งช่วงในฤดูฝนและพื้นที่สำคัญในการเพาะปลูกพืชทางเศรษฐกิจ

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2558

จักรมณฑ์" วางมาตรการเข้มคุมโรงงานไฟไหม้ ตรวจประเมินทุก 5 ปี โรงงานเก่าทุก 2 ปี

นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากการที่เกิดเหตุไฟไหม้โรงงานบ่อยครั้ง สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ และเป็นเหตุให้คนงานได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงนั้น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แสดงความเป็นห่วงและให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหามาตรการป้องกัน โดยกระทรวงอุตสาหกรรม ได้รวบรวมสถิติข้อมูลการเกิดอัคคีภัยในโรงงานย้อนหลัง 4 ปี มาประมวลผลพร้อมวางมาตรการการเฝ้าระวังป้องกัน นำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อทราบในเร็ว ๆ นี้

โดยปัจจุบันได้แต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเกิดอัคคีภัยในสถานประกอบกิจการโรงงานขึ้น เพื่อดูแลติดตามสถานการณ์ และกำหนดแนวทางในการให้ความช่วยเหลือ รวมทั้งหามาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหา รวมทั้งเป็นศูนย์กลางประสานหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นการเฉพาะ เพื่อให้การช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที จากการศึกษาข้อมูลการเกิดไฟไหม้โรงงานตั้งแต่ปีงบประมาณ 2555-2558 พบว่า

ในปี 2557 และปี 2556 มีเหตุอัคคีภัย เกิดขึ้น 71 เรื่อง (เฉลี่ย 6 เรื่อง/เดือน) เพิ่มขึ้นจากปี 2555 ที่มีอัคคีภัยจำนวน 50 เรื่อง (เฉลี่ย 4 เรื่อง/เดือน) คิดเป็น 42% สำหรับปีงบประมาณ 2558 (ตุลาคม 2557– กุมภาพันธ์ 2558) เกิดเหตุอัคคีภัยจำนวน 43 เรื่อง (เฉลี่ย 9 เรื่อง/เดือน) เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีงบประมาณ 2557 ที่มีเหตุอัคคีภัยจำนวน 27 เรื่อง (เฉลี่ย 5 เรื่อง/เดือน) คิดเป็น 59%

โดยสาเหตุการเกิดอัคคีภัยส่วนใหญ่เกิดจากไฟฟ้าลัดวงจรมากที่สุด จำนวน 60 เรื่อง คิดเป็น 52% รองลงมา คือ กรณีเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ชำรุดจำนวน 36 เรื่อง คิดเป็น 31% อื่น ๆ (ปฏิกิริยาเคมี ความร้อน การหมักตัวให้เกิดเป็นแก๊ส ฟ้าผ่า การเผาหญ้าใกล้บริเวณโรงงาน และการวางเพลิง) จำนวน 15 เรื่อง และความประมาทของบุคคลจำนวน 4 เรื่อง คิดเป็น 13% และ 4% ตามลำดับ

"กระทรวงอุตสาหกรรม ได้บังคับใช้ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องการป้องกันและระงับอัคคีภัยในโรงงาน พ.ศ.2552 อย่างเข้มงวด และกระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการทบทวนประกาศฯ เพื่อให้การบังคับใช้มีประสิทธิผลยิ่งขึ้น โดยขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการรับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง และมีแผนกำหนดให้โรงงานทำการตรวจประเมินตนเอง และส่งรายงานผลการตรวจให้กระทรวงอุตสาหกรรมประกอบการพิจารณาต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานทุก 5 ปี สำหรับโรงงานที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัยสูง และโรงงานที่มีอายุการประกอบกิจการมากกว่า 10 ปี ให้ส่งรายงานผลการตรวจประเมินทุก 2 ปี เนื่องจากตรวจพบว่าโรงงานที่ไฟไหม้ส่วนใหญ่จะเป็นโรงงานที่ตั้งมานานมากกว่าโรงงานใหม่"

นอกจากนี้จะมีการจัดทำคู่มือป้องกันอัคคีภัยโดยเฉพาะโรงงานประเภทที่มีความเสี่ยงสูงแจกจ่ายให้สถานประกอบการ รวมทั้งให้ดาวน์โหลดไปใช้ผ่านเว็บไซต์กรมโรงงานอุตสาหกรรม www.diw.go.th พร้อมทั้งร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) จัดทำโครงการ "พี่ช่วยน้องป้องกันอัคคีภัยในโรงงาน" พร้อมมอบรางวัลฯ ซึ่งคาดจะดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนเมษายน 2558

โดยสถิติการตรวจสอบสถานประกอบการที่เกิดเพลิงไหม้ส่วนใหญ่ จะมีอายุ 11 ปีขึ้นไปมากที่สุดในทุกปีงบประมาณ โดยที่ผ่านมามีถึงจำนวน 133 โรงงาน คิดเป็น 57% ของโรงงานที่เกิดอัคคีภัยทั้งหมด รองลงมาคือ ช่วงอายุ 6-10 ปี จำนวน 67 โรงงาน คิดเป็น 29% และช่วงอายุ 1-5 ปี จำนวน 35 โรงงาน คิดเป็น 14% และพบว่าในเดือนธันวาคม – มกราคม (ช่วงเทศกาลปีใหม่) และเดือนเมษายน – พฤษภาคม (ช่วงเทศกาลสงกรานต์) จะเกิดเหตุอัคคีภัยสูงกว่าช่วงอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งอาจเป็นช่วงที่เกิดการเปลี่ยนผ่านฤดูกาลไปสู่สภาพอากาศแห้งของฤดูร้อน ง่ายต่อการเกิดเหตุอัคคีภัย ประกอบกับมีการเร่งการผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายในช่วงเทศกาล

สำหรับประเภทสถานประกอบกิจการโรงงานที่เกิดอัคคีภัยสูงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เป็นประเภทโรงงานที่ 105 106 ซึ่งเป็นโรงงานคัดแยกหรือฝังกลบสิ่งปฏิกูลและโรงงานรีไซเคิลมากที่สุด และพบว่าส่วนใหญ่จะเป็นโรงงานที่อยู่ในประเภทมีความเสี่ยงสูง และปานกลางตามบัญชีแนบท้ายประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การป้องกันและระงับอัคคีภัยในโรงงาน พ.ศ. 2552

ด้านนางอรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเสริมว่ากระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดทำมาตรการเพื่อป้องกันการเกิดอัคคีภัย 5 ด้าน แบ่งเป็น 1. ด้านกฎหมาย 2. ด้านการส่งเสริมให้โรงงานฯ มีความรู้ในการป้องกันระงับอัคคีภัยในโรงงาน 3.ด้านความร่วมมือกับภาคเอกชน ซึ่งสามารถดำเนินการได้ในทันที 4.การบริหารจัดการ ได้จัดทำโครงการบริหารจัดการเพื่อลดและป้องกันอัคคีภัยในโรงงาน โดย Third Party ซึ่งประกอบด้วยการทำการประเมินความเสี่ยง การจัดระบบ การตรวจประเมิน 5.การทดลองระบบป้องกันอัคคีภัย คาดว่าจะดำเนินการในปีงบประมาณ 2559 และด้านอื่นๆ ได้แก่ ปรับปรุงฐานข้อมูลสารเคมีในสถานประกอบกิจการโรงงาน เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการระงับเหตุอัคคีภัย พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อปฏิบัติงานร่วมกัน เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน เป็นต้น ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน 2558

​ส่วนการระงับอัคคีภัยในระหว่างเกิดเหตุและหลังเกิดเหตุนั้น ในขณะเกิดเหตุไฟไหม้โรงงานทุกครั้งเจ้าหน้าที่จะเข้าตรวจสอบพื้นที่ และประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เหตุการณ์สงบโดยเร็ว พร้อมรายงานผู้บริหารกระทรวงฯ และศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี (PMOC) โดยทันที ขณะเดียวกันก็จะมีการวิเคราะห์คุณภาพสิ่งแวดล้อมในบริเวณที่เกิดเหตุและผลกระทบต่อประชาชนโดยรอบ และเมื่อเหตุการณ์ยุติ เจ้าพนักงานจะเข้าตรวจสอบความเสียหายของโรงงานและเครื่องจักร พร้อมสั่งการให้ปรับปรุง แก้ไข หยุดประกอบกิจการ โดยพิจารณาเป็นกรณีๆไป พร้อมเร่งให้การช่วยเหลือโดยเร็ว เพื่อให้โรงงานกลับมาประกอบกิจการได้ตามปกติโดยเร็วที่สุด

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2558

แจงสี่เบี้ย : กรมหมอดินกับความสำเร็จของโครงการชั่งหัวมันฯ (1)

โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ เป็นโครงการในพระราชดำริล่าสุด ที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2552 โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ซื้อที่ดินจากราษฎร บริเวณอ่างเก็บน้ำหนองเสือ บ้านหนองคอไก่ หมู่ 5 ต.เขากระปุก อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี โดยเริ่มแรกซื้อมา 120 ไร่ก่อน และต่อมาซื้อเพิ่มอีกจนกลายเป็น 250 ไร่

สำหรับสภาพพื้นที่โครงการโดยทั่วไปในอดีตแม้จะถางป่ายูคาลิปตัสออก และเริ่มปรับสภาพพื้นที่บ้างแล้ว แต่โดยรวมก็ยังถือว่าแห้งแล้งกันดารอยู่มาก ต่อมาส่วนราชการ อาทิ กรมวิชาการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน และกรมชลประทาน ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาร่วมพัฒนาดิน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรมพัฒนาที่ดินที่มีหน้าที่หลักในการพัฒนาปรับปรุงบำรุงดินให้สามารถปลูกพืชได้

เมื่อวันเวลาผ่านไป พื้นที่ที่เคยแห้งแล้งดังกล่าว หลังจากทำการศึกษาปรับภูมิทัศน์ และปรับปรุงบำรุงดินให้สามารถทำการเพาะปลูกได้อีกครั้ง ก็กลายเป็นพื้นที่เขียวขจี ชุ่มชื้น เต็มไปด้วยร่มไม้ ใบหญ้าและพืชเศรษฐกิจ

ส่วนเหตุผลที่เรียกโครงการนี้ว่า “ชั่งหัวมัน” นั้น เกิดขึ้นจากเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯไปประทับที่พระราชวังไกลกังวล ทรงมีพระราชประสงค์ให้นำมันเทศที่ชาวบ้านนำมาถวายวางไว้บนตาชั่งแบบโบราณ แล้วพระองค์เสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพฯ พอพระองค์เสด็จพระราชดำเนินกลับไปยังพระราชวังไกลกังวล จึงพบว่า มันเทศที่วางบนตาชั่งมีใบงอกออกมา จึงรับสั่งให้นำหัวมันนั้นไปปลูกใส่กระถางไว้ในวังไกลกังวล แล้วทรงมีพระราชดำรัสให้หาพื้นที่เพื่อทดลองปลูกมันเทศ

ทั้งนี้ พระองค์ท่านทรงมองว่าเมื่อทำการพัฒนาปรับปรุงบำรุงดินที่มีอยู่แล้ว แม้จะเป็นดินที่มีสภาพแห้งแล้งเสื่อมโทรม ก็น่าจะปลูกอะไรขึ้นได้ง่ายกว่า ขนาดมันที่ไม่มีดินยังขึ้นได้เลย จะได้เป็นตัวอย่างให้ราษฎรในพื้นที่ได้เห็น ได้ทำงาน ร่วมกันเรียนรู้ และนำไปปรับใช้ในพื้นที่ทำการเกษตรของตนเองได้

จาก http://www.naewna.com วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2558

ล้างหนี้เกษตรกรรบ.ไฟเขียว10เงื่อนไขต่ำกว่า5ล.แทงเป็นสูญ

ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่ 30 มีนาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจ โดยที่ประชุมได้เห็นชอบยุทธศาสตร์โครงสร้างทางการเกษตร ระยะ 5 ปี (2558-2563) วงเงิน 35,000 ล้านบาท โดยกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) 20,000 ล้านบาท และใช้งบกลางประจำปี 2558 วงเงิน 1,800 ล้านบาท เพื่อเน้นช่วยเหลือเกษตรกรเพิ่มผลผลิต เพื่อใช้ในด้านต่างๆ

โดย นายปีติพงษ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยรายละเอียดของเรื่องดังกล่าวว่า

งบประมาณส่วนหนึ่ง จะถูกนำไปในการแก้ปัญหายางพาราที่ยังประสบปัญหาราคาตกต่ำ โดยตั้งเป้าหมายลดพื้นที่การปลูกยาง 1-2 ล้านไร่ต่อปี จากปัจจุบันดำเนินการอยู่ 4 แสนไร่ต่อปี เพื่อส่งเสริมให้ชาวสวนยางปลูกปาล์มหรือพืชชนิดอื่นทดแทน โดย ธกส. พร้อมปล่อยเงินกู้การปลูกพืชชนิดอื่น เมื่อลดปริมาณต้นยางจะทำให้ราคาปรับสูงขึ้นอีก 6 ปีข้างหน้า รวมถึงแผนส่งเสริมนำยางพารามาใช้สร้างถนน สนามกีฬาและอุตสาหกรรมอื่น หรือทดลองใช้ในระบบปศุสัตว์ เพื่อนำยางพาราคาไปใช้ด้านอื่นได้ประมาณ 8 พันตันต่อปี และยังมีนโยบายให้ตลาดกลางของสำนักงานสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) รับซื้อยางแผ่นรมควันในราคานำตลาดจากเกษตรกร แต่ยอมรับว่า ไม่สามารถให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางได้อย่างทั่วถึง ทำให้ได้รับการร้องเรียนจากเกษตรกร เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่ได้ผลิตยางรมควัน โดยสามารถช่วยรับซื้อได้เพียง 2 แสนตันจากทั้งหมด 4 ล้านตัน ใช้งบประมาณ10,000 ล้านบาท

นายปีติพงศ์ กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันที่ประชุมยังได้เห็นชอบมาตรการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร โดยเฉพาะการแก้ปัญหาหนี้สินด้วยการตัดหนี้สูญให้เกษตรกรที่อยู่ในส่วนกองทุนฟื้นฟูเกษตรกร และอื่นๆอีก 9 กองทุนจำนวนร่วม3หมื่นราย วงเงิน 4,556 ล้านบาท โดยกระทรวงเกษตรฯจะเป็นผู้พิจารณาตัวบุคคลที่เป็นไปตามเงื่อนไขของเกณฑ์การจัดเป็นหนี้สูญว่ามีใครบ้าง จากนั้นจะส่งข้อมูลเกษตรกรทั้งหมดไปให้กระทรวงการคลังอนุมัติการตัดหนี้สูญตามกฎหมาย โดย รมว.คลัง สามารถตัดหนี้สูญให้เกษตรกรได้ทันทีในกรณีมีหนี้สินวงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท แต่หากมีหนี้สินเกินกว่า 5 ล้านบาท ต้องนำเรื่องเสนอครม.พิจารณา

สำหรับเงื่อนไขการตัดหนี้สูญที่วางไว้ 10 ประเภท คือ หนี้ที่เกิดจากโครงการส่งเสริมหรือสงเคราะห์ของรัฐที่ไม่ประสบความสำเร็จ, หนี้ที่เกิดจากเกษตรกรประสบภัยธรรมชาติ, หนี้ที่เกิดจากปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้, หนี้ที่ขาดอายุความ, หนี้ค้างชำระเกินกว่า 10 ปีขึ้นไป, หนี้ที่ไม่สามารถติดตามทรัพย์สินเพื่อบังคับคดีได้, หนี้ที่เกษตรกรผู้ยืมเงินเสียชีวิต สาบสูญ หาตัวไม่พบ หรือละทิ้งที่อยู่, หนี้ที่เกษตรกรผู้กู้ยืมเงินชราภาพ ทุพพลภาพ วิกลจริต หรือเจ็บป่วยเรื้อรัง, หนี้ที่ลูกหนี้ผู้กู้ยืมเงินมีรายได้น้อย ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ และหนี้ที่มีการกู้ยืมเงินต่ำกว่า 10,000 บาท

นอกจากนี้ยังเดินหน้าผลักดันโรดแมปกระทรวงเกษตรฯ 10 โครงการประกอบด้วย โครงการปรับโครงสร้างการผลิตข้าว, โครงการปรับโครงสร้างการผลิตปศุสัตว์, โครงการปรับโครงสร้างการผลิตประมง, โครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรด้วยการจำหน่ายหนี้สูญ, การปรับปรุงและออกกฎหมายเพิ่มเติม, โครงการปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร, โครงการบริหารจัดการผลผลิตทางการเกษตรในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษโดยสหกรณ์, โครงการปรับโครงสร้างการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการตลาดปาล์มน้ำมันแบบครบวงจร, โครงการพัฒนาเพิ่มศักยภาพการดำเนินธุรกิจข้าวของสถาบันเกษตรกร และโครงการศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว

พร้อมกันนี้ยังได้สั่งการให้ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง และกระทรวงเกษตรฯ ร่วมกันดำเนินการขึ้นทะเบียนผู้มีรายได้ทั้งหมดทุกลุ่มทั่วประเทศ เพื่อดูว่าชาวบ้านประกอบอาชีพแต่ละกลุ่มสัดส่วนเท่าใด มีรายได้อย่างไรบ้าง เนื่องจากพบว่าเกษตรกรมีรายได้จากอาชีพเสริมอื่นสัดส่วนร้อยละ 40-50 ของรายได้ทางการเกษตร เพื่อเป็นข้อมูลให้กับรัฐบาลในการช่วยเหลือของรัฐบาล

ขณะเดียวกัน ยังเร่งให้เดินหน้าการจดทะเบียนแรงงานประมงที่ผิดกฏหมาย ตามระเบียบของ ไอยูยู รวมถึงให้เรือประมงทุกลำทำสัญญากับแรงงานประมง แต่ยอมรับว่าไม่ค่อยได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร สำหรับเรื่องนี้จะมีการหารือกันอีกครั้งในวันที่2เมษายนนี้

จาก http://www.naewna.com วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2558

จี้รถขนกากอุตฯติดจีพีเอส1ต.ค.

อุตฯ ยัน 1 ต.ค.ต้องติดระบบสัญญาณ "จีพีเอส" รถยนต์ส่งกากอุตสาหกรรมอันตราย 3,400 คัน พร้อมเทงบ 14 ล้านพัฒนาระบบ

 นางอรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ภายในปี 2558 กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) จะบังคับใช้กฎหมาย กำหนดให้รถขนส่งกากอุตสาหกรรมอันตรายทุกคันจะต้องใช้เทคโนโลยีผ่านสัญญาณดามเทียม (จีพีเอส) สำหรับติดตามเส้นทางการขนส่งกากอุตสาหกรรมจากต้นทางไปยังปลายทาง เพื่อป้องกันการลักลอบนำกากอุตสาหกรรมไปทิ้งนอกระบบ และก่อให้เกิดความเสียหายต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมในอนาคต โดยเตรียมงบไว้ 14 ล้านบาท เพื่อ พัฒนาระบบซอฟต์แวร์และมาตรฐาน

“ประเทศไทยมีกากอุตสาหกรรมอันตรายอยู่ 3.35 ล้านตัน แต่มีการจัดการอย่างถูกต้องเพียง 1.03 ล้านตันเท่านั้น ดังนั้น เมื่อระบบจีพีเอส และระบบรับสัญญาณจีพีเอสของรถขนส่งกากอุตสาหกรรมดำเนินการเสร็จ เชื่อว่าจะมีกากอุตสาหกรรมเข้าระบบเพิ่มเป็น 1.5 ล้านตัน จากที่มีในระบบทั้งหมด 3.35 ล้านตัน” นางอรรชกากล่าว

 นายจุลพงษ์ ทวีศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม กล่าวว่า ล่าสุด กรอ.ได้เริ่มแจ้งผู้ประกอบการกำจัดกากอุตสาหกรรมทุกราย ต้องติดตั้งระบบจีพีเอสในรถบรรทุกขนส่งกากอุตสาหกรรมอันตรายทุกคันภายในเดือน ก.ย.2558 นี้ เนื่องจากระบบติดตามจีพีเอสดังกล่าวจะแล้วเสร็จในสิ้นเดือน ก.ย.2558 เช่นกัน และจะเริ่มตรวจสอบรถขนส่งกากอุตสาหกรรมอันตรายได้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2558 เป็นต้นไป.

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2558

รายงานพิเศษ : “ชลประทานในไร่นา”สืบสานงานตามพระราชดำริ

 “…หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้ มีไฟฟ้าคนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้...” พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่  17 มีนาคม 2529

                ด้วยตระหนักและเห็นถึงความสำคัญของทรัพยากรน้ำตามพระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงเป็นที่มาของการจัดทำโครงการพัฒนาการเกษตรยั่งยืนและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ในเขตโครงการจัดรูปที่ดิน  ดำเนินการโดย  สำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง   กรมชลประทาน

                “กรมชลประทานได้น้อมนำแนวพระราชดำริมาเป็นแนวทาง เพื่อการพัฒนาการกระจายน้ำใช้ในการเกษตรอย่างยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับ งานพัฒนาระบบชลประทานในไร่นา (On-Farm Irrigation System Development) ประเภทงานจัดรูปที่ดิน (Land Consolidation)มีวัตถุประสงค์เพื่อการกระจายน้ำให้ถึงแปลงนาของเกษตรกรได้อย่างมีประสิทธิภาพ และกระตุ้นให้กลุ่มเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่เขตจัดรูปที่ดิน ได้เข้ามามีส่วนร่วมดูแลบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้ตลอดเวลาควบคู่กับการเห็นถึงคุณค่าของน้ำ เกิดการสร้างกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกลุ่มเกษตรกรด้วยกันเองและระหว่างกลุ่มเกษตรกรกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐ โดยประโยชน์ที่ได้รับคือ สามารถส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรมอย่างยั่งยืนเกิดกระบวนการพัฒนาการเกษตร ที่สามารถตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์”  นายสิริวิชญ กลิ่นภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานจัดรูปที่ดินกลางกล่าว

                สำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง ได้จัดโครงการพัฒนาการเกษตรยั่งยืนฯโดยมีระยะเวลาในการดำเนินโครงการ 3 ปี (พ.ศ.2557 -2559) ในเขตโครงการจัดรูปที่ดินเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ตำบลท่างาม อำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก โครงการจัดรูปที่ดินสถานีสูบน้ำตำบลโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ โครงการฝายหนองหวาย ตำบลยางน้อย อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคามและโครงการจัดรูปที่ดินสถานีสูบน้ำตำบลรางสาลี่ อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี

                ปี พ.ศ.2557 ซึ่งเป็นการดำเนินโครงการฯ ในปีแรก สามารถสร้างความตื่นตัวให้กับเกษตรกรในการจัดการ-ดูแลระบบชลประทาน เกิดคณะทำงานและสร้างเครือข่ายการทำงานระดับชุมชน เกิดวิทยากรกระบวนการของชุมชนอีกทั้งยังสามารถเปลี่ยนทัศนคติของเกษตรกรในพื้นที่ ให้มีบทบาทในการแสดงความคิดเห็น มีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาระบบชลประทานและลงมือปฏิบัติตามแผนงานที่ร่วมกันสร้างขึ้นตามแนวทางและกระบวนการพัฒนา จากแผนงานของโครงการ ไม่รอให้ภาครัฐเข้ามาดำเนินการให้แต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งบรรลุตามเป้าหมายในปีแรกที่วางไว้

                จากการดำเนินโครงการฯเกษตรกรในพื้นที่ ได้สะท้อนให้เห็นถึงหลักการทรงงานตามแนวพระราชดำรัส ดังนี้

                นายอาทิตย์ สุขแจ่ม ผู้ใหญ่บ้าน หมู่  1 ต.ท่างาม อ.วัดโบสถ์  จ.พิษณุโลก  เล่าว่า การที่อยู่ในพื้นที่ของโครงการ ทำให้เห็นความสำคัญ ถึงคุณค่าของการจัดสรรน้ำตามแนวพระราชดำรัส เพื่อนำมาประโยชน์ทั้งเพื่อการอุปโภค-บริโภค และที่สำคัญคือหากไม่มีการอนุรักษ์น้ำ ก็จะเป็นการละเลยทรัพยากรที่มีคุณค่าให้ทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์

                นายณัฐกิตติ์ กองรักษา นายกองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)โพธิ์  อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า เกษตรกรในพื้นที่เห็นความสำคัญของการจัดการน้ำ มีการจัดทำเป็นประชาคม เพื่อให้ขั้นตอนจัดสรรน้ำ เกิดประสิทธิภาพมากที่สุดทั้งเพื่อการเกษตรและการใช้น้ำในชีวิตประจำวัน

                นายวัฒนา สิริ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2 ต.รางสาลี่ อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี กล่าวว่า ความแตกต่างที่เห็นได้ต่อการตระหนักถึงทรัพยากรน้ำ คือ ขณะที่ชุมชนเห็นความสำคัญของการจัดสรรน้ำที่ส่งมาจากระบบชลประทาน  แต่บางพื้นที่กลับมองข้าม ทำให้กลายเป็นปัญหาที่นำมาซึ่งความเดือดร้อน ต่างไปจากชุมชนที่เห็นความสำคัญของเรื่องนี้อย่างจริงจัง คนในชุมชนเกิดความร่วมมือ

                นายสุนทร ภูคำสอน  ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ต.ยางน้อย อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม กล่าวถึงการเห็นคุณค่าของการใช้น้ำจากการเข้าร่วมโครงการนี้ว่า “เมื่อก่อนผมยังไม่รู้ว่าน้ำมีประโยชน์มากมายมหาศาลขนาดนี้ เมื่อไปร่วมอบรมไปรับรู้เรื่องน้ำก็รู้สึกว่ามนุษย์เราไม่สามารถขาดน้ำได้แม้แต่วันเดียว ไม่ว่าจะเป็นนำดื่ม น้ำอาบ น้ำสำหรับทำการเกษตร แล้วก็น้ำเหมือนกับชีวิต ประชาชนทุกคนไม่สามารถที่จะขาดน้ำได้ ถ้าจะถามถึงโครงการอันมาจากพระราชดำริของในหลวงของเรา จะเห็นได้ว่าน้ำมีคุณค่ามหาศาล  ไม่ว่าจะเป็นด้านเกษตรกรรม อุปโภคบริโภค มนุษย์เราทุกคนขาดน้ำไม่ได้” ความรู้สึกต่อพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงที่ทรงห่วงใยเรื่องการใช้น้ำเพื่อการเกษตรนายสุนทรได้สะท้อนว่า “รู้สึกว่าในหลวงของเราเป็นเกษตรตัวอย่าง เป็นบุคคลตัวอย่าง ทรงเสด็จไปทุกที่ทั่วประเทศ แล้วทรงงานหนักเพื่อพัฒนาด้านแหล่งน้ำเพื่อพี่น้องประชาชนเสมอ  โดยทรงคำนึงถึงประโยชน์ของพี่น้องประชาชนมากที่สุด โครงการในพระราชดำริของพระองค์ท่าน เน้นเรื่องการใช้น้ำอย่างบูรณาการ ไม่ว่าจะเป็นเขื่อน ห้วย หนอง คลอง บึง ทรงเห็นคุณค่าของน้ำ  และรับสั่งเสมอว่า “น้ำคือชีวิต”

จาก http://www.naewna.com วันที่ 30 มีนาคม 2558

ชงโรดแมปปรับโครงสร้างเกษตร

ครม.เศรษฐกิจ วันนี้ (30 มี.ค.) ถกแผนโรดแมปปรับโครงสร้างเกษตร แก้หนี้ เล็งตัดหนี้สูญ 4.5พันล้านบาท

นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) วันที่ 30 มี.ค.นี้ จะหารือถึงแนวทางการปรับปรุงโครงสร้างทางการเกษตรทั้งหมด ตามแผนดำเนินงาน (โรด แมป) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวว่า ตามแผนการปรับโครงสร้างทั้งหมดนั้นมีโครงการสำคัญ คือโครงการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรด้วยการจำหน่ายหนี้สูญ ซึ่งจำแนกกลุ่มปัญหาหนี้สินเกษตรกร และสาเหตุของการจำหน่ายหนี้สูญ วงเงินประมาณ 4,500 ล้านบาท

ขณะเดียวกันที่ ประชุมยังจะหารือโครงการอื่นๆ ตามโรดแมป ที่เกี่ยวข้องอีก เช่น โครงสร้างการผลิตข้าวปี 58-60 โดยปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพผลผลิต การส่งเสริมข้าวตลาดเฉพาะ การลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง การปรับเป็นเกษตรกรรมทางเลือก และการปรับเปลี่ยนจากปลูกข้าวไปปลูกอ้อย โครงการปรับโครงสร้างการผลิตปศุสัตว์ และโครงการอนุรักษ์ และพัฒนาการผลิตกระบือ 

จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 30 มีนาคม 2558

พลังงานออกโรงเตือน!

นายทวารัฐ สูตะบุตร รองปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานขอแจ้งข่าวให้หน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร ซึ่งมีความจำนงจะขอเข้าร่วมการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินทราบว่า หลังระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานซึ่งได้ออกประกาศล่าสุดเมื่อวันที่ 13 มี.ค.ที่ผ่านมานั้น ขณะนี้ ยังไม่มีการเปิดรับสมัครการเข้าร่วมโครงการดังกล่าว เพราะยังอยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาหลักเกณฑ์ เงื่อนไขของผู้ที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการ โดยเฉพาะนโยบายโซนนิ่ง (Zoning) ให้มีความเหมาะสมกับความสามารถสายส่งไฟฟ้าที่ปัจจุบันยังมีข้อจำกัดอยู่หลายพื้นที่ โดยคณะกรรมการบริหารมาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน จะมีการพิจารณากำหนดให้เกิดความโปร่งใสสูงสุด เพื่อสร้างความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย

ดังนั้น จึงขอให้หน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตรเฝ้าระวัง หากพบผู้มาแอบอ้างหรือกลุ่มผู้ไม่หวังดีมาเสนอเรื่องขอวิ่งเต้นใบอนุญาตต่างๆในโครงการ อย่าหลงเชื่อกลุ่มคนเหล่านี้ และหากมีหลักฐานที่ชัดเจนในการเข้ามาหลอกลวง ขอให้ดำเนินการแจ้งความเพื่อเอาผิดทันที และหากมีการประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์การเกษตรเมื่อใด กระทรวงพลังงานจะแจ้งให้ทราบอย่างเป็นทางการต่อไป และคาดว่าจะประกาศการรับซื้อไฟฟ้าตามโครงการได้ในเร็วๆนี้.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 30 มีนาคม 2558

รายงานเดินหน้าอาเซียน : การจัดโซนนิ่งเกษตรเพื่อเตรียมพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน

การจัดโซนนิ่งภาคเกษตรถือเป็นอีกหนึ่งมาตรการที่สำคัญ โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมเกษตรกรให้รู้จักวางแผนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อความพร้อมในการแข่งขันการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

ปัจจุบันทุกภาคส่วนยังคงเดินหน้าปรับยุทธศาสตร์และมาตรการต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมและสร้างความเข้มแข็งแก่ภาคเกษตรกรเพื่อความได้เปรียบในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนปลายปีนี้ เนื่องจากประเทศไทยถือเป็นประเทศที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืช การสร้างองค์ความรู้แก่เกษตรกร เพื่อก้าวสู่การเป็น Smart Farmer ที่มีทักษะและศักยภาพการแข่งขันสูงขึ้น การพัฒนางานวิจัยให้เกิดเทคโนโลยีการผลิตพืชที่มีประสิทธิภาพ สามารถลดต้นทุน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การพัฒนาพลังงานทดแทนจากพืช เช่น เอทานอล และไบโอดีเซล เพื่อลดการนำเข้าและการใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล ขณะที่จังหวัดกาญจนบุรี นายบำรุง สังข์สว่าง เกษตรจังหวัดกาญจบุรี เปิดเผยว่า ในส่วนของจังหวัดกาญจบุรี นอกจากการเตรียมความพร้อมให้กับบุคลากรของสำนักงานเกษตรจังหวัดแล้ว การเตรียมความพร้อมให้กับเกษตรกรถืออีกเป็นหนึ่งมาตรการที่สำคัญ โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมเกษตรกรให้รู้จักวางแผนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ นั่นคือการจัดระบบเกษตรเศรษฐกิจ หรือการจัดโซนนิ่งภาคเกษตร เพื่อพิจารณาว่าพื้นที่ใดเหมาะสมกับพืชชนิดใด รวมถึงยังสามารถปรับเปลี่ยนพืชให้เหมาะสมกับดินแต่ละพื้นที่ได้ด้วย

สำหรับปัจจุบันพื้นที่เกษตรกรรมที่มีอยู่ประมาณ 150 ล้านไร่ทั่วประเทศ ได้มีการกำหนดเขตพื้นที่ที่เหมาะสมกับการปลูกพืชไปแล้ว 13 ชนิด สัตว์น้ำ 2 ชนิด ดังนั้นการจัดโซนนิ่ง จะเป็นแนวทางให้กับเกษตรกรว่าควรปลูกพืช ทำปศุสัตว์ หรือเลี้ยงสัตว์น้ำชนิดใดในพื้นที่ใด จึงจะเหมาะสมที่สุดและได้ผลผลิตสูงสุด และเพื่อความแข็งแกร่งในการแข่งขันกับประเทศสมาชิกอาเซียน

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 29 มีนาคม 2558 

หอการค้าจี้พาณิชย์กู้ส่งออก เร่งเครื่องบุกตลาดใหม่/กังวล2เดือนฟุบหนัก

    หอการค้าไทยเป่าปาก ส่งออก 2 เดือนติดลบหนักกว่าที่คาด จี้พาณิชย์เร่งหาตลาดใหม่กำลังซื้อสูงชดเชยตลาดหลักเดี้ยง เชื่อไตรมาส 2 ปรับตัวดีขึ้น และทั้งปีจะโตได้ที่ 3% "ปลัดพาณิชย์" แจงส่งออกกุมภาพันธ์ติดลบมากสุดรอบ 6 เดือน ระบุหากไม่รวมน้ำมัน-ทองคำ จะติดลบเพียง 2.4% ปัจจัยหลักจากเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้น-สินค้าเกษตรราคาร่วง

    นายสมเกียรติ อนุราษฏร์ รองประธานกรรมการ หอการค้าไทย ให้ความเห็นกับ "ฐานเศรษฐกิจ" กรณีที่ล่าสุดมูลค่าการส่งออกของไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ติดลบที่ 6.1%  ส่งผลให้การส่งออกช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-ก.พ.)ติดลบ 4.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน  ในเรื่องนี้ยอมรับว่าเอกชนรู้สึกหนักใจเพราะผิดจากที่คาดไว้ว่าในเดือนกุมภาพันธ์น่าจะกลับมาขยายตัวเป็นบวก เพราะคาดหวังว่าตลาดหลักๆอย่างสหรัฐอเมริกา และจีนจะกลับมาฟื้นตัวก็ไม่ฟื้นเท่าที่ควร

  501  สำหรับมาตรการเร่งด่วนเพื่อกอบกู้สถานการณ์ส่งออก ข้อเสนอของเอกชนคือรัฐบาลหรือกระทรวงพาณิชย์ควรมองตลาดใหม่ ๆ ในการผลักดันการส่งออก จากในช่วง 3-5 ปี ที่ผ่านกระทรวงพาณิชย์เน้นแต่บุกตลาดหลัก(สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น)ในขณะที่ตลาดใหม่กลับไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าที่ควร ทั้งที่มีกำลังซื้ออย่างมาก ดังนั้นเมื่อตลาดหลักได้รับผลกระทบทำให้การหาตลาดใหม่มารองรับจึงไม่ทันกับสถานการณ์

    "ในไตรมาสแรกของปีนี้มองว่าการส่งออกของไทยน่าจะติดลบ 2-3% จากกำลังซื้อของประเทศคู่ค้าที่ยังไม่ฟื้นตัว ส่วนในไตรมาส2น่าจะกลับมาขยายตัวที่ 3-4% ซึ่งจะทำให้ภาพรวมครึ่งปีแรกกลับมาเป็นบวก และคาดน่าจะดีในช่วงไตรมาส3-4 ส่วนภาพรวมทั้งปีคาดจะขยายตัวได้ที่ 3% นอกจากจะหาตลาดใหม่แล้วกระทรวงต้องเร่งทำการตลาดในเชิงรุกเพื่อกู้สถานการณ์ส่งออกทรุดตัว เช่นการโปรโมตสินค้าในตลาดใหม่ๆอย่างอินเดีย รัสเซียที่มีความต้องการและมีกำลังซื้อสูง ส่วนค่าเงินบาทก็เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกเอกชนเองต้องการให้แบงก์ชาติเข้ามาดูในเรื่องของค่าเงินเพราะว่าขณะนี้เงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้นกว่าค่าเงินของประเทศในภูมิภาค2-3%"

    นางสาวชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกเดือนกุมภาพันธ์ 2558 มี มูลค่า 1.72 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ติดลบ 6.14% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน เป็นติดลบมากสุดในรอบ 6 เดือน (นับแต่เดือนสิงหาคม 2557 ที่ติดลบ 7.4%) ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 1.68 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 1.47% ทำให้ในเดือนกุมพาพันธ์ ไทยได้ดุลการค้า 390 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะภาพรวมการส่งออก 2 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-ก.พ.) มีมูลค่า 3.44 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ติดลบ 4.82%  นำเข้า 3.45 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ติดลบ 6.69%  ทำให้ 2 เดือนแรกไทยขาดดุลการค้า 66.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

    สำหรับสาเหตุการส่งออกเดือนกุมภาพันธ์ติดลบ 6.1% มาจากการส่งออกสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมการเกษตร ติดลบ 12.5%  จากราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะยางพารา ที่ติดลบ 38.8% จากความต้องการในตลาดโลกยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร อาหารติดลบ 5.7%  อาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป ติดลบ 16.5%  ทูน่ากระป๋องติดลบ 18.5%  กุ้งสดแช่แข็งและแปรรูป ติดลบ 17.3% น้ำตาลติดลบ 9.8% 

    ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ติดลบ 3.7%  จากปัจจัยหลักคือราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกทรุดตัวลง เนื่องจากปริมาณล้นตลาด กดดันให้ราคาสินค้าส่งออกที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันดิบลดลง โดยการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป ติดลบ 26.8%  เคมีภัณฑ์ ติดลบ 20.3% เม็ดพลาสติกติดลบ 12.3%  ส่วนการส่งออกทองคำติดลบ 66%  เนื่องจากราคาทองคำปรับตัวลดลงทำให้ผู้ส่งออกชะลอการส่งออกหันไปนำเข้าเพื่อเก็งกำไรแทน

    "หากไม่รวมสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับนํ้ามันและทองคำมูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยในเดือนกุมภาพันธ์จะติดลบเพียง 2.4% อย่างไรก็ดีเชื่อว่าการส่งออกจะมีแนวโน้มดีขึ้นซึ่งจากที่ให้ทูตพาณิชย์วิเคราะห์ทิศทางตลาดก็พบว่ายังพอมีโอกาสที่การส่งออกจะขยายตัวได้อย่างแน่นอน แต่เป้าหมายทั้งปีจะเป็นเท่าใด ต้องรอตัวเลขเดือนมีนาคม หรือสิ้นไตรมาส 1 ก่อนจึงจะสรุปได้"

จาก http://www.thanonline.com วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2558

แนะเกษตรกรพลิกวิกฤติแล้ง พักนาปลูกพืชปุ๋ยสดบำรุงดิน

นายประเสริฐ เทพนรประไพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 10 กรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ว่าหน้าฝนปีนี้จะมาล่าช้าประมาณกลางเดือนมิถุนายน อีกทั้งปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางขณะนี้มีปริมาณน้ำน้อยกว่าปีที่ผ่านมาอย่างมาก จนส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะเกษตรกรที่ทำนา ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ขอความร่วมมือให้เกษตรกรงดทำนาปรังเฉพาะอย่างยิ่งในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลอง

สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 10 รับผิดชอบพื้นที่ 6 จังหวัด มี 5 จังหวัดที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่กลอง ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร เพชรบุรี ที่มีแนวโน้มประสบปัญหาภัยแล้งในปีนี้ ส่วนประจวบคีรีขันธ์ ก็เป็นจังหวัดหนึ่งที่ประสบปัญหาภัยแล้งเป็นประจำทุกปีเนื่องจากเป็นพื้นที่อับฝน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ที่รับผิดชอบ ตลอดจนสนองนโยบายกรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรฯ รวมถึงนโยบายรัฐบาล สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 10 ได้เร่งเดินหน้า

 พัฒนาแหล่งน้ำชุมชนและแหล่งน้ำขนาดเล็กในไร่นานอกเขตชลประทาน

พร้อมกันนี้ ได้เร่งรณรงค์ส่งเสริมให้เกษตรกรที่งดทำนาปรัง ใช้วิกฤติช่วงน้ำแล้งพักนาและหันมาปลูกพืชใช้น้ำน้อย โดยเฉพาะพืชปุ๋ยสด ซึ่งเป็นพืชตระกูลถั่ว เช่น ถั่วพุ่ม ถั่วพร้า ปอเทือง ปลูกและไถกลบเพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุ ปรับโครงสร้างดินให้ฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เมื่อเกษตรกรปลูกข้าวในฤดูต่อไปจะช่วยลดการใช้ปุ๋ยเคมีลงได้ไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่ง ที่สำคัญเกษตรกรสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสดไว้จำหน่ายให้กับเกษตรกรรายอื่นหรือจะขายคืนให้กับสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต หรือกรมพัฒนาที่ดิน เป็นรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง

จาก http://www.naewna.com วันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2558

KTIS เป็นมากกว่าน้ำตาล      

เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์คอร์ปอเรชั่น (KTIS) ประกาศวางตัวเป็นมากกว่าผู้ผลิตและจัดจำหน่ายน้ำตาล ด้วยแนวคิดที่ยกระดับความสำคัญของเกษตรกรชาวไร่อ้อย โดยส่งเสริม สนับสนุนและคิดค้นเทคโนโลยีที่จะช่วยให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น หนึ่งในชิ้นงานก็คือ “เครื่องปลูกอ้อยแบบใช้ต้นกล้า” การันตีด้วยรางวัลสิ่งประดิษฐ์คิดค้นทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำปี 2557 จากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีร่วมกับมูลนิธิบัวหลวง

 วิษณุ เปี่ยมเพ็ชร ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายไร่ บมจ.เกษตรไทยฯ กล่าวว่า เนื่องจากพื้นฐานบริษัทเป็นโรงงานน้ำตาล วัตถุดิบหลักในการดำเนินธุรกิจคือ อ้อย ชาวไร่จึงมีความสำคัญที่สุดจึงพยายามส่งเสริมความรู้ใหม่ๆ ให้กับชาวไร่อ้อย ทั้งเงินทุน ความรู้ทางเทคนิคและนวัตกรรม เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนและผูกใจชาวไร่คู่ค้าให้ผลิตอ้อยป้อนโรงงาน โดยมีหน่วยส่งเสริมความรู้ให้กับชาวไร่ในแต่ละพื้นที่อย่างใกล้ชิด

ลดแรงงาน-เพิ่มผลผลิต

KTIS ตั้งอยู่ที่ จ.นครสวรรค์ เป็นผู้ประกอบการน้ำตาลแถวหน้าของประเทศไทย ด้วยกำลังการผลิต 5.2 หมื่นตันอ้อยต่อวัน หรือเฉลี่ย 6-7 ล้านตันอ้อยต่อปี ขณะที่ประเทศไทยถือเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 2 ของโลกรองจากประเทศบราซิล

 โจทย์การพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตร เริ่มต้นจากแนวคิดที่ต้องการให้ชาวไร่อ้อยมีความรู้ความสามารถในวิชาชีพของตนเอง จึงเป็นหน้าที่โรงงานต้องคิดค้นเทคโนโลยีต่างๆ ออกมานำเสนอและถ่ายทอดให้กับชาวไร่ให้ลงมือปฏิบัติ เช่น เครื่องปลูกอ้อยโซนิค เป็นเครื่องมือสำหรับปลูกอ้อยเพื่อเป็นต้นพันธุ์ไว้ปลูกในปีถัดไป ก็จะได้อ้อยที่มีคุณภาพ มากขึ้นกว่าเดิม และเครื่องปลูกอ้อยแบบใช้ต้นกล้าช่วยให้ปลูกอ้อยได้จำนวนไร่ต่อวันมากขึ้น ลดการใช้แรงงานคน

 การพัฒนาและสร้างเครื่องจักรด้วยตนเอง ส่งผลให้ต้นทุนด้านเครื่องจักรของบริษัทต่ำกว่าเครื่องจักรที่นำเข้าจากต่างประเทศ อีกทั้งมีคุณภาพดีและสามารถบริหารจัดการดูแลอย่างใกล้ชิดจากทีมวิศวกรของบริษัทเอง นอกจากนี้ KTIS ยังวิจัยพัฒนาพันธุ์อ้อยร่วมกับชาวไร่และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เพื่อให้ได้คุณภาพความหวานและผลผลิตตันต่อไร่สูง ส่งผลให้พื้นที่ซึ่งเดิมเพาะปลูกพืชไม่ได้กลายเป็นพื้นที่ปลูกอ้อยที่ให้ผลผลิตดี

 “ชาวไร่รายใหญ่นิยมใช้เครื่องปลูกแทนแรงงานคน เพราะทำหน้าที่ได้หลายอย่างไปพร้อม ๆ กัน นับตั้งแต่การเปิดร่อง ตัดลำต้นอ้อยออกเป็นท่อน ๆ วางท่อนพันธุ์ในร่อง ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ทุ่นค่าใช้จ่ายและมีความงอกสม่ำเสมอดี วันหนึ่งปลูกได้ประมาณ 15-20 ไร่”

เทคนิคผูกใจคู่ค้าชาวไร่

"บริษัทจ้างที่ปรึกษามาจากประเทศออสเตรเลีย เข้ามาช่วยพัฒนาวิธีการทำไร่อ้อยให้ได้ผลผลิตต่อไร่สูงพร้อมทั้งจัดอบรมถ่ายทอดเทคนิคความรู้ให้กับเกษตรกรคู่สัญญา ซึ่งมีที่ใส่ใจพัฒนาตนเองเข้าร่วมโครงการ 200-300 คนจากสมาชิกที่มีอยู่ 8,000-9,000 คน” วิษณุกล่าว

 วัตถุประสงค์หลักต้องการพัฒนาพันธุ์อ้อยเพื่อให้ได้คุณภาพลำอ้อยที่ดี มีผลต่อเปอร์เซนต์การงอก ผลผลิตและการไว้ตอ มั่นใจว่าวิธีการดังกล่าวทำให้ผลผลิตต่อไร่ระหว่างชาวไร่ที่เข้าร่วมกับไม่เข้าร่วมโครงการมีผลผลิตที่ต่างกัน อย่างน้อย 1-2 ตัน ขณะนี้อยู่ระหว่างการแนะนำและขยายผลไปยังกลุ่มที่สนใจต่อไป นอกจากนี้บริษัทยังมีแผนที่จะจัดสรรหุ้นของบริษัทให้กับชาวไร่เพื่อให้มีส่วนร่วมในความเป็นเจ้าของทั้งนี้ เป็นไปตามวิสัยทัศน์ของผู้บริหารที่ถือว่า การสร้างความรู้ให้กับชาวไร่เป็นหัวใจสำคัญ เพราะหมายถึงความยั่งยืนของธุรกิจ ยิ่งปัจจุบันการแข่งขันสูงมีโรงงานน้ำตาลใหม่เพิ่มขึ้น หากโรงงานมีเทคโนโลยี นวัตกรรมหรือความรู้ ก็จะจูงใจให้ชาวไร่อยู่เป็นคู่ค้ากับโรงงานต่อไป

ด้าน ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ภาครัฐให้การสนับสนุนภาคเอกชนในการลงทุนทำวิจัย พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะเกษตรกรรม ด้วยมาตรการลดหย่อนภาษี และเสริมสร้างกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เพราะการวิจัยไม่จำเป็นต้องอยู่ในสถาบันวิจัยอย่างเดียว หน่วยงานเอกชนอย่างธนาคารก็สามารถทำงานวิจัยได้ ทั้งนี้ เพื่อให้สังคมเกิดการเปลี่ยนผ่านจากสังคมแรงงานราคาถูกไปสู่สังคมแห่งนวัตกรรม

 จาก http://eureka.bangkokbiznews.com    วันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2558

เกษตรรุกประชาสัมพันธ์เกษตรกรช่วยป้องกันและแก้ไขหมอกควัน

นายปีติพงษ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้มีข้อสั่งการแก้ไขปัญหาหมอกควัน กรณีการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม ปี 2558 ตามมติคณะรัฐมนตรี โดยได้กำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาการเผาหลาย มาตรการด้วยกัน ได้แก่ การรณรงค์และประชาสัมพันธ์ เชิงรุกให้งดการเผาการเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง เป็นต้น

ทางด้านนายไพรัช หวังดี รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมฯ ได้ดำเนินการเพื่อตอบสนองตามมาตรการดังกล่าว และนำเสนอทางเลือกในการใช้เทคโนโลยีการเกษตรทดแทนการเผาแก่เกษตรกรในพื้นที่วิกฤต 10 จังหวัดภาคเหนือ รวม 1,000 ราย และควบคุมไม่ให้เกิดการเผาในพื้นที่ รวม 15,000 ไร่ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเศษวัสดุการเกษตรมาผลิตปุ๋ยอินทรีย์ทดแทนการเผา ตามนโยบาย คสช. ซึ่งมีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ กว่า 4 แสนตัน

ส่งผลให้ไม่มีการเผาเศษวัสดุการเกษตรในไร่นา ถึง 4 แสนไร่ ในทุกตำบลทั้ง 77 จังหวัด และส่งเสริมให้เกษตรกรไม่น้อยกว่า 5,000 ราย มีความรู้ในการปลูกพืชทางเลือกทดแทนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์/ข้าวไร่ เพื่อลดปัญหาการเผาในไร่นาบนพื้นที่สูง นอกจากนี้ ยังได้มีการรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ กระตุ้นจิตสำนึกหยุดการเผาให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการในเขต 10 จังหวัดภาคเหนือ ผ่านสื่อวิทยุ หนังสือพิมพ์ อินเตอร์เน็ต หอกระจายข่าวหมู่บ้าน สื่อสิ่งพิมพ์ อย่างต่อเนื่องในช่วงวิกฤตในปีนี้

จาก http://www.dailynews.co.th   วันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2558

ราคาน้ำตาลตลาดโลกร่วงหนัก รง.เอทานอลลุยขยายกำลังผลิต

โรงงานเอทานอลจากมันสำปะหลัง-อ้อยจ่อขยายเพิ่ม หลังความต้องการใช้เพิ่ม เฉพาะเอทานอลจากมันสำปะหลังเล็งเพิ่มอีก 3 แห่ง อุบลไบโอเอทานอล-สีมาอินเตอร์ฯ และบริษัท อี 85 ดันกำลังผลิตทั้งระบบเป็น 5 ล้านลิตร/วัน ด้านโรงงานเอทานอลจากโมลาส ขอรอดูราคาน้ำตาลจะร่วงอีกหรือไม่ ก่อนตัดสินใจขยายกำลังผลิตตาม

นายสิริวุฒิ เสียมภักดี นายกสมาคมผู้ผลิตเอทานอลไทย เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลอยู่ระหว่างพิจารณาว่าอาจจะขยายกำลังผลิตโรงงานเอทานอลเพิ่มเติม ภายหลังจากที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกร่วงมาอยู่ที่ 12-13 เซนต์/ปอนด์ และอาจจะมีแนวโน้มลดลงอีกจากสถิติที่ผ่านมาราคาลดลงต่ำสุดถึง 5-8 เซนต์/ปอนด์ ทำให้มองว่าอาจจะต้องปรับเพิ่มการผลิตเอทานอลที่มีราคาค่อนข้างดีที่ประมาณ 24-25 บาท/ลิตร

โดยขณะนี้ต้องติดตามใน 3 ประเด็นหลัก คือ 1)นโยบายการจำหน่ายน้ำตาลของประเทศบราซิล 2)ระดับสต๊อกน้ำตาลโลก และ 3)สถานการณ์การผลิตทั้งระบบจะเป็นไปตามที่คาดการณ์หรือไม่ เช่น โดยปกติทั้งระบบจะมีการผลิตเพิ่มขึ้นทุกปีประมาณร้อยละ 1.2% หากการใช้ไม่เพิ่มขึ้นกำลังการผลิตจะสะสมไว้เป็นสต๊อก จำนวนสต๊อกที่มากเกินไปย่อมกระทบต่อราคาน้ำตาล

ในช่วงไตรมาส 2 นี้ ผู้ประกอบการหลายรายอาจจะพิจารณาตัดสินใจลงทุนขยายโรงงานเอทานอลเพิ่มเติมแน่นอน หากราคาน้ำตาลยังคงลดลงต่อเนื่อง นอกจากนี้ที่มีแผนชัดเจนที่จะลงทุนขยายและสร้างโรงงานเอทานอลใหม่ในส่วนของโรงงานเอทานอลที่ใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบอีกประมาณ3 โรงด้วย

"จับตาหลายโรงงานน้ำตาลที่อาจจะต้องปรับตัวช่วงราคาตกต่ำ จึงหันมาทำรายได้เพิ่มจากการจำหน่ายเอทานอลที่ราคาค่อนข้างดีที่ 24 บาท/ลิตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหาก ก.พลังงานชัดเจนยกเลิกการใช้น้ำมันบางประเภท และส่งเสริมการใช้เอทานอลจริงจัง ความต้องการใช้จะเพิ่มขึ้น"

ด้านนายเดชพนต์ เลิศสุวรรณโรจน์ นายกสมาคมผู้ผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลัง และผู้จัดการใหญ่ บริษัท อุบลไบโอเอทานอลจำกัด เปิดเผยว่า มีแนวโน้มว่า 3 โรงงานเอทานอลจะมีการขยายและสร้างโรงงานใหม่เพิ่มเติม คือ 1)บริษัทอุบลไบโอฯขยายเฟส 2 กำลังผลิต 400,000 ลิตร/วัน ลงทุนประมาณ 2,000-2,500 ล้านบาท 2)บริษัท สีมาอินเตอร์โปรดักส์ จำกัด ขยายกำลังผลิต 150,000 ลิตร/วัน และ 3)บริษัท อี 85 จำกัด กำลังผลิตประมาณ 150,000 ลิตร/วัน ทำให้กำลังผลิตเอทานอลทั้งระบบเพิ่มขึ้นมาเกือบ 5 ล้านลิตร/วัน จากปกติที่มีการใช้เพียงประมาณ 3.5 ล้านลิตร/วัน

ทั้ง 3 โรงงานล่าช้ามาจากแผนเดิมที่คาดว่าจะมีการขยายกำลังผลิตในปี 2557 ที่ผ่านมา แต่เนื่องจากความต้องการใช้เอทานอลในขณะนั้นยังไม่เพิ่มขึ้นมากนัก แต่ขณะนี้สัญญาณการใช้เอทานอลน่าจะเพิ่มขึ้นได้ในช่วงกลางปี และโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงปลายปีที่คาดว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกจะปรับตัวสูงขึ้นจากปัจจุบันที่ราคาอยู่ที่เพียง50 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และจะทำให้ผู้ใช้น้ำมันหันมาเติมน้ำมันในกลุ่มแก๊สโซฮอล์มากขึ้น

"กำลังผลิตเต็มจริงวันนี้ก็เกือบ 4 ล้านลิตร/วัน แต่ที่ผลิตเพื่อซื้อขายจริงแค่ 3 ล้านลิตร/วันเท่านั้น แต่ทุกรายยังขอรอดูสถานการณ์การใช้เอทานอลช่วงไตรมาส 2ของปีก่อนว่าจะเป็นไปตามที่คาดไว้หรือไม่ เศรษฐกิจจะดีขึ้นหรือไม่ ที่สำคัญนโยบายการส่งเสริมพลังงานทดแทนจากภาครัฐต้องชัดเจนด้วย"

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2558

รัฐบาลเชิญชมนิทรรศการ'นวัตกรรมฯเพื่อ SMEsและเกษตรกร"

ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ณ สวนสนประดิพัทธ์แห่งที่ 2 อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีจะเยี่ยมชมนิทรรศการ “นวัตกรรมและเทคโนโลยีไทยเพื่อ SMEs และเกษตรกร” แสดงความก้าวหน้าผลงานนวัตกรรมฝีมือคนไทย กว่า 300 ชิ้นงาน

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ในวันที่ 27 มีนาคม 2558 ณ สวนสนประดิพัทธ์แห่งที่ 2 อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี ในเวลาประมาณ 11.40 น. นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี จะเยี่ยมชมนิทรรศการ “นวัตกรรมและเทคโนโลยีไทยเพื่อ SMEs และเกษตรกร” ที่จุดจอดรถใหญ่ของสวนสนประดิพัทธ์แห่งที่ 1 ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีร่วมกับกระทรวงต่าง ๆ จัดขึ้น

 โดยมีเป้าหมาย 3 ประการ คือ 1. เพื่อให้คณะรัฐมนตรีรับทราบความก้าวหน้าผลงานนวัตกรรมฝีมือคนไทย ซึ่งมีศักยภาพที่จะผลิตเพื่อส่งมอบให้กับตลาดภาครัฐได้ อันจะนำไปสู่การส่งเสริมให้เกิดการจัดซื้อจัดจ้างสินค้านวัตกรรมไทยของภาครัฐ เพื่อให้ SMEs ได้ใช้กลไกของรัฐ 2. เพื่อพัฒนาศักยภาพและความสามารถในการผลิตนวัตกรรม รวมทั้งได้เลือกนวัตกรรมที่มีความพร้อมที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ SMEs ที่สนใจ และ 3. เพื่อให้ชุมชน/ท้องถิ่นมองเห็นโอกาสในการนำเทคโนโลยีเพื่อไปพัฒนาความสามารถของท้องถิ่น อันจะก่อให้เกิดความคุ้มค่าในการใช้งบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงมหาดไทย

ในการจัดนิทรรศการ “นวัตกรรมและเทคโนโลยีไทยเพื่อ SMEs และเกษตรกร” เป็นความร่วมมือของกระทรวงต่าง ๆ ที่จะนำเสนอผลงานนวัตกรรมไทยที่มีศักยภาพและพร้อมใช้ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาตลาดทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศประกอบด้วย 7 ธีมหลัก ได้แก่ 1. เกษตรและชุมชน 2. น้ำ 3. การแพทย์และสมุนไพร 4. ความมั่นคง พลังงานและสิ่งแวดล้อม 5. ระบบขนส่งทางราง 6. ท่องเที่ยววิถีไทย และ 7. SMEs และการส่งเสริมการส่งออก นอกจากนี้ จะมีหน่วยงานของรัฐ เช่น สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SMEs Bank) และธนาคารออมสิน ธนาคารของรัฐ ที่เป็นกลไกส่งเสริม SMEs รับขึ้นทะเบียน รวมไปถึงการบริการต่าง ๆ เช่น สินเชื่อเพื่อนวัตกรรมด้วย

สำหรับผลงานนวัตกรรมเด่น ๆ ที่นำมาจัดแสดงในงาน มีรวม 310 ชิ้นที่เป็นผลงานวิจัยของคนไทย เช่น 1. ตัวอย่างความต้องการนวัตกรรมภาครัฐและตัวอย่างผลงานนวัตกรรมไทย 2. รถตัดอ้อยฝีมือคนไทย ซึ่งเกิดจากการปรับปรุงกระบวนการผลิตรถตัดอ้อยด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง สามารถตัดอ้อยได้ทุกสภาพแปลง กลไกชุดเก็บเกี่ยวมีประสิทธิภาพไม่ทำให้เกิดการดึงต้นอ้อยจากพื้นดิน ไม่ส่งผลกระทบต่อตออ้อยที่สอง ได้รับการยอมรับจากทั้งในและต่างประเทศ สามารถส่งออกไปยังต่างประเทศ ได้แก่ บราซิล อินเดีย กัมพูชา และอินโดนีเซีย 3. เก้าอี้ทำฟันสำหรับผู้พิการและคนชรา เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้พิการและผู้สูงอายุสามารถนำรถเข็นของผู้พิการที่นั่งอยู่ สามารถนำเข้าไปในเครื่องได้เลยทั้งเครื่อง โดยที่ไม่ต้องเคลื่อนย้ายผู้พิการ สามารถนำไปใช้นอกสถานที่ได้ ใช้พลังงานไฟฟ้าน้อยและสามารถใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ได้อีกด้วย 4. เครื่องเกี่ยวนวดข้าวประสิทธิภาพสูง มีแรงม้าตั้งแต่ 250-280 แรงม้า มีประสิทธิภาพในการเก็บเกี่ยวในพื้นที่นาหล่ม เมื่อเกี่ยวนวดข้าวแล้ว การสูญเสียไม่เกิน 3% จะสามารถทดแทนการนำเข้าได้ 5. ปุ่มหยุดรถไฟฟ้าฉุกเฉิน EMP (Emergency Stop Plunger) มีไว้เพื่อหยุดไม่ให้รถไฟฟ้าเข้ามาที่สถานีในกรณีที่เกิดเหตุการณ์เช่นกรณีที่ผู้โดยสารตกจากชานชาลาลงไปในรางวิ่งรถไฟฟ้าเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจะกดปุ่ม EMP เพื่อหยุดไม่ให้รถไฟฟ้าเข้ามายังสถานีเพื่อแก้ไขสถานการณ์และไม่ให้เกิดเหตุอันตรายกับผู้โดยสาร โดยอุปกรณ์ EMP นี้ได้รับการติดตั้งใช้งานจริงบนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสในส่วนต่อขยาย 6. เสื้อเกราะกันกระสุน ที่สามารถป้องกันกระสุนระดับ 3A ทำจากวัสดุคอมโพสิต ผสมเส้นใยโพลิเอทิลีนและเส้นใยอะรามิด ร่วมกับวัสดุผสมอื่น ๆ ได้มีการยิงทดสอบประสิทธิภาพการป้องกันกระสุนระดับ 3A ตามมาตรฐานยุทโธปกรณ์กระทรวงกลาโหม นอกจากนี้ ยังมีนวัตกรรมที่หลากหลาย เพื่อให้ประชาชนได้ชมทั้ง 7 ธีม เช่น เครื่องคัดแยกเมล็ดพันธุ์ข้าวในครัวเรือน แขนคนพิการ กะโหลกศรีษะเทียม จีโนมการแพทย์ เตาชีวมวล นวัตกรรมการจัดการน้ำ ฟิล์มบรรจุภัณฑ์ยืดอายุผลไม้ เครื่องสำอางนาโนเทคโนโลยี เภสัชรังสี ฯลฯ

ทั้งนี้ การจัดแสดงนิทรรศการ “นวัตกรรมและเทคโนโลยีไทยเพื่อ SMEs และเกษตรกร” จัดขึ้น 2 วันคือวันศุกร์ที่ 27 และวันเสาร์ที่ 28 มีนาคม 2558 เวลา 9.00 – 17.00 น. ที่จุดจอดรถใหญ่ของสวนสนประดิพัทธ์แห่งที่ 1 ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Call Center 1313 หรือสายด่วนกลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์ 02-333-3728

จาก http://www.thanonline.com   วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2558

บาทผันผวน รอข้อมูล GDP สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 26 มีนาคม 2558 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ที่ระดับ 32.53/54 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (25/3) ที่ระดับ 32.55/57 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากสหรัฐฯได้มีการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯที่น่าผิดหวังออก ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ รายงานว่า ตัวเลขยอดการสั่งซื้อสินค้าคงทนลดลงจาก 2.0% ในเดือนมกราคม สู่ระดับ 1.4% ในเดือนกุมภาพันธ์ นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าแผนการลงทุนทางธุรกิจของสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงในเดือนกุมภาพันธ์เป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกันเนื่องจากสภาพอากาศที่เลวร้ายในช่วงนี้กดดันตัวเลขเศรษฐกิจ ซึ่งตัวเลขนี้คือหลักฐานที่บ่งชี้ว่าการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงในช่วงต้นปี นอกจากนี้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯยังได้แรงกดดันจากความเห็นที่แตกต่างของหนึ่งในสมาชิกของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) โดยนายชาร์ลส์ อีแวนส์ ประธานเฟดสาขาชิคาโกกล่าวว่า การแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่มากเกินไปในช่วงนี้อาจส่งผลกระทบต่อเป้าหมายเงินเฟ้อที่วางไว้ที่ระดับ 2% และจะเป็นอุปสรรคต่อการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ

สำหรับเศรษฐกิจในประเทศ ในวันนี้กระทรวงพาณิชย์ได้เปิดเผยว่าการส่งออกของไทยในเดือนกุมภาพันธ์มีมูลค่าน้อยกว่าที่คาดที่มูลค่า 1.72 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยลดลง 6.14% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นการปรับลดลงเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน เนื่องจากการส่งออกทองคำและน้ำมันที่ลดลงมาก รวมทั้งการได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้ากว่าคาด ทั้งนี้นักวิเคราะห์ในโพลล์รอยเตอร์ คาดการณ์ว่าการส่งออกในเดือนกุมภาพันธ์จะลดลงเพียง 3.24% นอกจากนี้การนำเข้าในเดือนกุมภาพันธ์มีมูลค่า 1.68 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นเพียง 1.47% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้าประมาณ 0.39 พันล้านดอลลาร์ สำหรับในช่วงระหว่างวันค่าเงินบาทยังคงมีการเคลื่อนไหวในทิศทางที่ค่อนข้างผันผวน โดยมีการแกว่งตัวในกรอบระหว่าง 32.54-32.62 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ

ในส่วนของการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรนั้น ค่าเงินยูโรเปิดตลาดในเช้าวันนี้ที่ระดับ 1.0975/77 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับหลังจากระดับปิดตลาดเมื่อวานนี้ที่ 1.0959/62 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ยูโร ค่าเงินยูโรแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯที่ออกมาต่ำกว่าคาดการณ์ นอกจากนี้ยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการที่ในวันนี้ (26/3) สำนักงานสถิติแห่งชาติของฝรั่งเศส (INSEE) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจของฝรั่งเศสขยายตัว 0.1% ในไตรมาส 4 ปีที่แล้ว และได้ปรับลดยอดขาดดุลสาธารณะลงสู่ 4.0% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในปี 2014 โดยนายมิเชล ซาแปง รัฐมนตรีการคลังฝรั่งเศสกล่าวว่า จากตัวเลขเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งทำให้ในปีนี้ทางประเทศมีโอกาสปรับลดขนาดยอดขาดดุลลงสู่ 3.8% ของจีดีพี ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายเก่าที่ตั้งไว้ที่ 4.1% ของจีดีพี สำหรับความเคลื่อนไหวในเรื่องข้อตกลงในการชำระหนี้ของประเทศกรีซ ล่าสุดรัฐมนตรีเศรษฐกิจของกรีซกล่าวว่า กรีซจะสามารถบรรลุข้อตกลงกับประเทศอื่นในยูโรโซนในเรื่องแผนการปฏิรูปกรีซในสัปดาห์หน้า ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้มีการจัดสรรเงินทุนได้คล่องตัวขึ้น และจะทำให้ปัญหาการชำระหนี้คลี่คลายไปในอีกระดับหนึ่ง ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบ 1.0965-1.1030 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.1023/25 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ยูโร

สำหรับค่าเงินเยนเปิดตลาดในเช้าวันนี้ที่ระดับ 119.38/43 เยน/ดอลลาร์สหรัฐฯ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวาน (25/3) ที่ 119.79/80 เยน/ดอลลาร์สหรัฐฯ ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวในทิศทางแข็งค่าหลังจากการประกาศตัวเลขที่น่าผิดหวังของสหรัฐฯในคืนวันพุธ (25/3) โดยสกุลเงินเยนมีแรงซื้ออย่างต่อเนื่องจากการที่ตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาน่าผิดหวังอย่างต่อเนื่องของสหรัฐฯ ทำให้นักลงทุนได้ทำการลดสัดส่วนในการเข้าซื้อสินทรัพย์เสี่ยงและหันเข้าซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย นอกจากนี้ ค่าเงินเยนยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ญี่ปุ่นอาจจะสามารถกลับมามียอดเกินดุลการค้าอีกครั้งในปีนี้ เนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงและยอดส่งออกของญี่ปุ่นที่ปรับตัวดีขึ้น โดยวันนี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบระหว่าง 118.53-119.85 เยน/ดอลลาร์สหรัฐฯ

ข้อมูลทางเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขค้าปลีกของอังกฤษ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการผู้ว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐฯ (26/3) อัตราการว่างงานยอดค้าปลีก ดัชนีราคาผู้บริโภคของญี่ปุ่น ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของสหรัฐ (27/3)

 สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +4.3/4.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +6/7 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐฯ

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2558

ปธ.หอการค้าชี้ส่งออกไทยขยายตัวต่ำค่าบาท

ประธานหอการค้าไทย ชี้ส่งออกไทยขยายตัวต่ำจากค่าเงินบาทประเทศคู่ค้าลดลง คาดทั้งปีโตร้อยละ 3.5

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานหอการค้าไทย เปิดเผยถึงสถานการณ์การส่งออกของไทย ว่า กรณีที่การส่งออกของไทยลดลงเป็นผลมาจากค่าเงินหลายประเทศคู่ค่าอ่อนค่า ทำให้การขายสินค้าทำได้ยากขึ้น เพราะราคาสินค้าที่ส่งออกมีมูลค่าลดลง รวมถึงการที่ยุโรปตัดสิทธิพิเศษทางด้านภาษี หรือ จีเอสพี ซึ่งส่งผลกระทบกับภาคการส่งออกของไทย ดังนั้น ในส่วนผู้ประกอบการจะต้องออกไปหาตลาดใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น อาทิ ในกลุ่มอาเซียนและจีนที่ยังมีแนวโน้มเติบโตได้อีก และสร้างตลาดภายในประเทศโดยการเปิดตลาดชุมชนเพื่อจำหน่ายสินค้าภายในชุมชน

อย่างไรก็ตาม คาดว่าการส่งออกทั้งปีจะขยายตัวได้ร้อยละ 3.5 ทั้งนี้ มองว่าอย่ากังวลกับตัวเลขการส่งออกมากนัก เนื่องจากสินค้าที่ส่งออกไม่ได้ลดลง เพียงแต่มูลค่าลดลงเท่านั้น

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2558

‘เขตพัฒนาที่ดิน’ต้นแบบจัดการทรัพยากรอย่างสมดุล

กรมพัฒนาที่ดิน ได้จัดทำ “โครงการ 60 พรรษา สยามบรมราชกุมารี 60 เขตปฐพี พัฒนาอย่างยั่งยืน” เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมพรรษา 60 พรรษา ในปี 2558 โดยมุ่งเน้นให้เขตพัฒนาที่ดินลุ่มน้ำทั้ง 60 แห่ง ดำเนินการบูรณาการพัฒนาพื้นที่อย่างเต็มรูปแบบสำหรับเป็นต้นแบบให้กับเขตพัฒนาที่ดินลุ่มน้ำที่มีทั้งหมด 525 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 77 จังหวัด

นายประเสริฐ เทพนรประไพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 10 กรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 10 ได้คัดเลือกเขตพัฒนาที่ดินลุ่มน้ำเข้าร่วมโครงการ รวม 5 แห่ง ประกอบด้วย 1.เขตพัฒนาที่ดินลุ่มน้ำคลองหินจวง ลุ่มน้ำสาขาชายฝั่งทะเลประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 2.เขตพัฒนาที่ดินลุ่มน้ำห้วยอ่างทอง ลุ่มน้ำสาขาที่ราบแม่น้ำแม่กลอง

 ลุ่มน้ำหลักแม่น้ำแม่กลอง จังหวัดราชบุรี 3.เขตพัฒนาที่ดินลุ่มน้ำห้วยวังหิน ลุ่มน้ำสาขาห้วยแม่ประจัน ลุ่มน้ำหลักแม่น้ำเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี 4.เขตพัฒนาที่ดินลุ่มน้ำห้วยบ้องตี้ ลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำแควน้อยตอนล่าง ลุ่มน้ำหลักแม่น้ำแม่กลอง จังหวัดกาญจนบุรี 5.เขตพัฒนาที่ดินลุ่มน้ำคลองเจ็ดริ้ว ลุ่มน้ำสาขาที่ราบแม่น้ำท่าจีน ลุ่มน้ำหลักแม่น้ำท่าจีน จังหวัดสมุทรสาคร

การดำเนินการในเขตพัฒนาที่ดินลุ่มน้ำเฉลิมพระเกียรติ จะเน้นหนักไปที่กิจกรรมการอนุรักษ์ดินและน้ำ การปรับปรุงคุณภาพดิน การปรับปรุงบำรุงดิน ฟื้นฟูและป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน การพัฒนาแหล่งน้ำ ทั้งแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทานและแหล่งน้ำเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำรวมทั้งส่งเสริมการใช้สารอินทรีย์ลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร การพัฒนาหมอดินอาสาและยุวหมอดิน จัดตั้งศูนย์เรียนรู้การพัฒนาที่ดินตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง รณรงค์งดเผาฟางและตอซังพืชโดยให้หันมาไถกลบแทน ควบคู่กับการส่งเสริมปลูกไม้ยืนต้นโตเร็ว รองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและลดโลกร้อน ที่สำคัญคือกิจกรรมส่งเสริมการผลิตปุ๋ยหมักสูตรพระราชทาน ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ตัวอย่างการดำเนินงานในเขตพัฒนาที่ดินลุ่มน้ำห้วยวังหิน ลุ่มน้ำย่อยห้วยแม่ประจัน ลุ่มน้ำหลักแม่น้ำเพชรบุรี อยู่ในอำเภอ

 แก่งกระจาย จังหวัดเพชรบุรี มีพื้นที่ประมาณ 41,907 ไร่ ลักษณะพื้นที่ค่อนข้างราบเรียบถึงเนินเขา ความลาดชัน 0-35 เปอร์เซ็นต์ เกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกพืช ได้แก่ สับปะรด มะพร้าว ข้าวโพด นอกจากนี้ จะมีไม้ผล นาข้าว โดยอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ทั้งนี้ สามารถจำแนกดินออกเป็น 9 กลุ่มชุดดิน และพบปัญหาดินตื้นเนื้อที่ประมาณ 13,597 ไร่ หรือร้อยละ 32.45 ของพื้นที่ ดินในพื้นที่ลาดชัประมาณ 17,681 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 42.19 ของพื้นที่ ทางสถานีพัฒนาที่ดินเพชรบุรี ก็ได้เข้าไปวางแผนการใช้ที่ดินให้มีความถูกต้อง เหมาะสมสอดคล้องกับลักษณะและคุณสมบัติทางดิน เนื่องจากบางบริเวณมีการทำการเกษตรโดยไม่มีมาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำ ขาดการปรับปรุงบำรุงดิน ทำให้ดินเสื่อมโทรม ส่งผลให้ผลผลิตตกต่ำ

สำหรับแผนงานที่ดำเนินการในเขตพัฒนาที่ดินลุ่มน้ำห้วยวังหิน ในปีงบประมาณ 2557-2559 ประกอบด้วย การปรับปรุงคุณภาพดิน การพัฒนาหมอดินอาสาและยุวหมอดิน จัดตั้งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดิน การฟื้นฟูและป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน ส่งเสริมการใช้สารอินทรีย์ลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร การรองรับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและลดโลกร้อน การก่อสร้างแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน รวมถึงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ

อย่างไรก็ตาม จากผลการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา เกษตรกรให้การตอบรับเป็นอย่างดี โดยเฉพาะเรื่องการแก้ปัญหาราคาปัจจัยการผลิต ค่าปุ๋ยเคมีที่มีราคาสูงขึ้น ทางสถานีพัฒนาที่ดินเพชรบุรีได้เข้าไปส่งเสริมการผลิตและใช้สารอินทรีย์ทดแทนสารเคมี ควบคู่กับการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยลดต้นทุนการผลิตเท่านั้น ยังสามารถแก้ปัญหาดินเสื่อมโทรมจากการใช้เคมีมาอย่างต่อเนื่องได้ในคราวเดียว เกษตรกรก็สามารถใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผลผลิตเพิ่มขึ้น ขณะที่ต้นทุนต่ำลง ทำให้เกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาที่ดินลุ่มน้ำมีความประสงค์จะเข้าร่วมโครงการอย่างเต็มใจและยินดีจะปฏิบัติตามคำแนะนำของหน่วยงานราชการมากขึ้น

จาก http://www.naewna.com วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2558

ไฟเขียวแก้หนี้เกษตรกร 8 แสนราย

นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ธ.ก.ส.เห็นชอบตามที่ฝ่ายจัดการเสนอตามมติคณะกรรมการรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ในโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรรายย่อยผ่านระบบ ธ.ก.ส.เพื่อดำเนินการให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรลูกค้าครอบคลุมทั้งลูกค้าที่ประสบปัญหาการชำระหนี้เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจ ภัยธรรมชาติ รวมถึงราคาผลผลิตตกต่ำ และลูกค้าที่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด

ทั้งนี้ ธ.ก.ส.กำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรลูกค้าในกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ เกษตรกรรายย่อยที่มีหนี้สินรายละไม่เกิน 500,000 บาท ประมาณ 818,000 ราย หนี้สินประมาณ 116,000 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการโครงการ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2558-31 มีนาคม 2559 ประกอบด้วย 3 โครงการย่อย คือ 1.โครงการปลดเปลื้องหนี้สิน กลุ่มเป้าหมายเป็นเกษตรกรรายย่อยที่ไม่มีศักยภาพหรือมีเหตุผิดปกติ เช่น เสียชีวิต ทุพพลภาพ เจ็บป่วยเรื้อรัง และมีปัญหาสุขภาพจนไม่สามารถประกอบอาชีพได้ประมาณ 28,000 ราย หนี้สินประมาณ 4,000 ล้านบาท 2.โครงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ กลุ่มเป้าหมายเป็นเกษตรกรรายย่อยที่มีศักยภาพต่ำ โดยผ่านการประเมินศักยภาพแล้วปรากฏว่ายังมีความสามารถในการประกอบอาชีพ แต่มีปัญหาในการชำระหนี้จากเหตุสุจริตจำเป็นและเป็นภาระหนักประมาณ 340,000 ราย หนี้สินประมาณ 48,000 ล้านบาท รวมทั้งสนับสนุนสินเชื่อเพิ่มเติมให้แก่เกษตรกรลูกค้าตามแผนฟื้นฟูการประกอบอาชีพการเกษตรหรืออาชีพอื่นที่เหมาะสม เงินกู้ต่อรายไม่เกิน 50,000 บาท วงเงินสินเชื่อรวม 15,000 ล้านบาท โดยคิดดอกเบี้ยในอัตราปกติของ ธ.ก.ส.

3.โครงการขยายระยะเวลาชำระหนี้ กลุ่มเป้าหมายเป็นเกษตรกรรายย่อยที่มีศักยภาพในการประกอบอาชีพ แต่ได้รับผลกระทบจากการงดทำนาปรัง และราคายางพาราตกต่ำประมาณ 450,000 ราย หนี้สินจำนวนประมาณ 64,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังสนับสนุนสินเชื่อเพิ่มเติมให้แก่เกษตรกรลูกค้าเพื่อปลูกพืชอื่นทดแทน หรือประกอบอาชีพการเกษตรอย่างอื่น หรือประกอบอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ เงินกู้ต่อรายไม่เกิน 100,000 บาท วงเงินสินเชื่อรวม 35,000 ล้านบาท โดยคิดดอกเบี้ยในอัตราปกติเช่นกัน

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2558

เกษตรฯ เตรียมชงแผนช่วยเกษตรกรระยะที่ 3 เข้า ครม.เศรษฐกิจ

นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในโอกาสเป็นประธานพิธีเปิดงานวันสถาปนาสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรครบรอบปีที่ 36 พร้อมร่วมแถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจการเกษตรไตรมาส 1 ปี 2558 ว่า จากการประเมินผลรายได้เกษตรกร ณ วันที่ 7 มี.ค. เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นประมาณ 2% ซึ่งกลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นคือ กลุ่มประมงและปศุสัตว์ ขณะที่เมื่อรวมรายได้นอกภาคเกษตรที่ภาครัฐอัดฉีดงบประมาณผ่านโครงการต่างๆ เช่น โครงการชดเชยรายได้ชาวนาและชาวสวนยางไร่ละ 1,000 บาท รวมถึงการจ้างงานแล้ว ส่งผลให้รายได้ของเกษตรกรเพิ่มขึ้น 6% ขณะเดียวกัน การใช้จ่ายเงินในครัวเรือนภาคเกษตรก็เพิ่มขึ้น 4 % สะท้อนให้เห็นว่ามีการใช้จ่ายเงินในระบบเศรษฐกิจของภาคเกษตรเพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตามสัดส่วนรายจ่ายนอกภาคเกษตรก็ยังเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยมีกำไรสุทธิขาดทุนอยู่ประมาณ 1.6% หรือประมาณ 700 บาท

 ดังนั้น รัฐบาลยังต้องดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือภาคเกษตรให้ต่อเนื่อง ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ เตรียมเสนอมาตรการช่วยเหลือภาคเกษตรในระยะที่สามที่จะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ในวันที่ 30 มี.ค.นี้ ซึ่งบางโครงการจะต้องเสนองบประมาณเพิ่มเติมแต่บางโครงการเป็นการปรับระบบการบริหารจัดการทเท่านั้นไม่ได้ของบประมาณเพิ่มเติมแต่อย่างใด ประกอบด้วย 6 แผนงาน หลัก คือ

 1. แผนปรับโครงการสร้างการผลิต เนื่องจากใกล้ระยะเวลาเพาะปลูกของเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็น ข้าว ยาง มันสำปะหลัง ข้าวโพด โดยการปรับวิธีการส่งเสริมการเกษตรโดยตรง เน้นเรื่องการจัดโซนการผลิต การย้ายการผลิตบางประเภทให้ไปอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสม บริหารจัดการแปลงใหญ่และมีผู้จัดการโครงการ เพื่อให้สามาถประเมินผลโครงการได้และเกิดความเชื่อมโยงต่อเนื่อง ทั้งกลุ่ม พืช ประมง และปศุสัตว์

 2. การเพิ่มช่องทางตลาดสินค้าเกษตร เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านการขนส่งส่งผลทำให้เกษตรกรมีส่วนต่างของรายได้ที่สูงขึ้น รวมถึงการปรับปรุงคุณภาพสินค้าเกษตร

 3. การจัดการหนี้สินเกษตรกร โดยแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกคือหนี้สินของเกษตรกรบางประเภทที่กระทรวงเกษตรฯ ดูแลจะมีความชัดเจนในการยกหนี้ให้เร็วๆนี้ ส่วนที่สอง คือ หนี้ครัวเรือนสะสม มีความจำเป็นต้องดูว่ารายได้ เงินรายได้สุทธิเกษตรกร จะพอเพียงจะจ่ายหนี้ครัวเรือนที่เกิดขึ้นในปีนี้หรือไม่ จะแบ่งจ่ายปีนี้เท่าไหร่ เพื่อไม่ให้หนี้สินเพิ่มขึ้น ซึ่งแม้ว่าขณะนี้ธกส.จะออกมาตรการในการชะลอหนี้บ้างแล้ว แต่อยากฝากถึงผู้ประกอบการ เจ้าหนี้ หรือสถาบันการเงินควรจะพิจารณาวางมาตรการช่วยเหลือล่วงหน้าไม่ใช่เป็นแบบปีต่อปีทำให้เกิดช่องว่างและเป็นปัญหาได้ เนื่องจากยังมีปัจจัยเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจโลก ความผันผวนของราคาน้ำมัน หรือสงคราม ที่กระทบการท่องเที่ยวและการใข้จ่ายของประชาชน

 4.การจัดการทรัพยากร โดยเฉพาะเรื่องที่ดิน กับน้ำ โดยเรื่องของการจัดการน้ำที่ขณะนี้กระทรวงการคลังเตรียมกู้เงินเพิ่มเติม เพื่อให้กรมชลประทานขยายแหล่งน้ำให้เพิ่มขึ้นเป็นไปตามนโนบายจัดการน้ำ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯจะเร่งรัดการบริหารจัดการเบิกจ่ายงบประมาณโดยเร็ว รวมถึงดูว่าวิธีการปรับเปลี่ยนการผลิตให้สอดคล้องกันสถานการณ์ เช่น เลื่อนการเพาะปลูกให้เร็วขึ้นเพื่อป้องกันความเสียหายจากน้ำท่วม หรือความแห้งแล้ง ส่วนด้านการจัดที่ดินทำกินที่ได้หารือร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงเร่งรัดการตรวจสอบการถือครองที่ดิน ส.ป.ก. ก็จะมีการผลดำเนินงานเข้าสู่ที่ประขุมคกก.ปฏิรูปที่ดินฯ ในวันที่ 7 เม.ย.58

 5. การจัดการเรื่องบริหารคุณภาพสินค้า กฏระเบียบและกฏหมายที่ต้องแก้ไขรวมถึงเร่งรัดดำเนินคดีที่พบว่ามีความล่าช้า ให้มีการดำเนินการเร็วขึ้น

6. การพัฒนาข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตรให้ถูกต้องแม่นยำ รวมถึงการปรับปรุงแอพพลิเคชั่นให้เกษตรกรเข้าถึงข้อมูลด้านการเกษตรได้อย่างรวดเร็วและทันต่อสถานการณ์

จาก http://www.thanonline.com   วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2558

กระทรวงอุตสาหกรรม เปิด 3 นโยบายเร่งด่วน อัดฉีด SMEs ไทยปี 2558-2559 เตรียมพร้อมสู่ AEC 

          กระทรวงอุตสาหกรรม โดย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เผยกลยุทธ์เร่งด่วนเพื่อพัฒนา SMEs ไทยให้พร้อมก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนรองรับฐานผู้บริโภคที่ใหญ่ขึ้นเป็นกว่า 600 ล้านคนทั่วอาเซียน ด้วยการดำเนินงานใน 3 โครงการหลัก ได้แก่ (1) โครงการเตรียมความพร้อมภาคอุตสาหกรรมในการเข้าสู่ AEC ผ่านกิจกรรมต่างๆ อาทิ การพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมรองรับ AEC การพัฒนาบุคลากร การปรึกษาแนะนำเชิงลึกเพื่อเพิ่มขีดความสามารถเชิงรุกสู่ตลาด AEC รวมทั้งนำผู้ประกอบการไปเจรจาธุรกิจ และทดลองตลาดในประเทศต่าง ๆ ในอาเซียน และอาเซียน+3 ซึ่งได้ผลสำเร็จโครงการในปี 2557 คือสามารถพัฒนาผู้ประกอบการ กิจการ และบุคลากรในธุรกิจอุตสาหกรรมได้กว่า 7,094 ราย 600 กิจการ และ 5,145 ราย ตามลำดับ (2) โครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย โดยมุ่งผลักดัน 3 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เครื่องหนัง อัญมณีและเครื่องประดับ ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย อาทิ การพัฒาบุคลากรด้านเทคนิคและการจัดการ การพัฒนานักออกแบบ การพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์แฟชั่น การสร้างกลุ่มเครือข่ายย่านธุรกิจแฟชั่น และการเพิ่มประสิทธิภาพตลอดสายกระบวนการผลิต และ (3) โครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทย สู่การเป็นเถ้าแก่ใหม่ มุ่งเน้นการสร้างผู้ประกอบการให้สามารถเริ่มต้นธุรกิจและดำเนินธุรกิจให้เติบโตและเข้มแข็ง โดยปีนี้ตั้งเป้าสร้างผู้ประกอบการใหม่ จำนวน 1,890 ราย

          ดร.อรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมไทยมีบทบาทสำคัญในการสร้างรายได้ให้กับประเทศโดยมีสัดส่วนใน GDP สูงถึงกว่าร้อยละ 40 แต่เนื่องจากปัจจัยภายนอกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปลายปี 2558 นี้ ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมต้องปรับตัวและเร่งสร้างความพร้อมอย่างเร่งด่วนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถที่จะแข่งขัน ใน AEC ได้อย่างมีศักยภาพ ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ของอุตสาหกรรมไทย ที่ผู้ประกอบการทุกกลุ่มธุรกิจจำเป็นต้องเตรียมตัวให้มีความพร้อมเพื่อสามารถแข่งขันในตลาดที่ใหญ่ขึ้นจากตลาดภายในประเทศที่มีฐานผู้บริโภค 65 ล้านคน สู่ระดับอาเซียนที่ผู้บริโภคกว่า 600 ล้านคน สำหรับอุตสาหกรรมไทยที่มีความโดดเด่นและมีทิศทางในการขยายตลาดได้ดีที่สามารถใช้ประโยชน์จากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในช่วงสิ้นปี 2558 ได้แก่ อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ มีมูลค่าการส่งออกไปประเทศอาเซียนประมาณ 1,146.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มมีมูลค่าการส่งออก 1,610.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เนื่องจากอุตสาหกรรมเหล่านี้ มีการพัฒนามายาวนาน มีทักษะความชำนาญ และมีซัพพลายเชนที่ครบวงจร หากสามารถส่งเสริมให้อุตสาหกรรมดังกล่าวให้มีศักยภาพได้ก็จะสามารถสร้างรายได้มหาศาลให้แก่ประเทศ

          ดร.อรรชกา กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทุกหน่วยงานอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ในแผนงานพิมพ์เขียว AEC สำหรับกระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบหมายให้หน่วยงานต่างๆดำเนินการ อาทิ การสร้าง National Single Window โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) และสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ซึ่งได้ดำเนินการมาแล้วระยะหนึ่ง สำหรับในส่วนของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ที่อยู่ระหว่างการปรับมาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับมาตรฐานอาเซียน ซึ่งมี 5 รายการด้วยกันคือ ผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์เพื่อการก่อสร้าง ชิ้นส่วนยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และผลิตภัณฑ์ไม้ รวมถึงการจัดทำความตกลงการยอมรับร่วม หรือ MRA (Mutual Recognition Arrangement) สาขาก่อสร้าง เช่น เหล็กเส้นเสริมคอนกรีต นอกจากนี้ สมอ. ยังมีการปรับกฎระเบียบและการควบคุมบริภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน (Implementation of ASEAN Harmonised Electronic Equipment Regulatory Regime: AHEEERR) ที่ขณะนี้ได้ปรับไปแล้ว 22 รายการจาก 30 รายการอีก 8 รายการจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2558

แต่สำหรับการดำเนินงานที่นอกเหนือจากพันธสัญญาตามพิมพ์เขียวดังกล่าวจะเป็นการดำเนินงาน ในการส่งเสริมและเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการทั้งรายใหม่และรายเดิม กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ได้กำหนด 3 โครงการเร่งด่วน ได้แก่ (1) โครงการเตรียมความพร้อมภาคอุตสาหกรรมในการเข้าสู่ AEC (2) โครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยสู่การเป็นมหานครแฟชั่นอาเซียน และ (3) โครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทยสู่การเป็นเถ้าแก่ใหม่ เพื่อยกระดับให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและการค้าอุตสาหกรรมในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งการดำเนินงานตามทั้ง 3 โครงการเร่งด่วนดังกล่าว กระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบหมายให้ กสอ. ซึ่งมีบทบาทสำคัญในด้านการส่งเสริมพัฒนา SMEs และ OTOP เป็นหน่วยงานปฏิบัติ ดร.อรรชกากล่าว

          ด้านนายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า สำหรับการส่งเสริมอุตสาหกรรมแฟชั่น สู่การเป็นฮับ (Hub)แฟชั่นของภูมิภาคนั้น กสอ.มุ่งผลักดัน 3 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนัง อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งทั้ง 3 อุตสาหกรรมสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศปีละมากกว่า 600,000 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงานประมาณ 2.2 ล้านคน โดยในปี 2557 กสอ. ได้พยายามสร้างปัจจัยเอื้อต่อธุรกิจแฟชั่นโดยการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้นักออกแบบมีโอกาสนำผลงานมาเสนอต่อกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายทั้งในและต่างประเทศเพื่อแสดงศักยภาพแฟชั่นไทยสู่การยอมรับในระดับนานาประเทศ พร้อมทั้งดำเนินการยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการแฟชั่นให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล โดยมุ่งพัฒนาให้เกิดการเชื่อมโยงกันระหว่างกระบวนการผลิตต้นน้ำ/กลาง ซึ่งเป็นส่วนที่ผลิตและสร้างสรรค์วัตถุดิบ ให้มีรูปแบบ มีคุณภาพ และมีฟังก์ชั่นการใช้งาน (Material Design&Development) ที่ตอบสนองส่วนปลายน้ำคือ ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่ได้มีการออกแบบ (Fashion Design)ให้สอดคล้องกับแนวโน้มแฟชั่น (Fashion Trend)ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย อาทิ การพัฒนานักออกแบบ การพัฒนาบุคลากร การพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ การจัดประกวดแบบแฟชั่น การเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตในโรงงาน การสร้างกลุ่มเครือข่ายย่านธุรกิจแฟชั่นในย่านการค้าต่าง ๆ เช่น ประตูน้ำ สำเพ็ง สุขุมวิท จตุจักร โบ๊เบ๊ เป็นต้น นอกจากนี้ กสอ. ยังมีแนวทางส่งเสริมการตลาดเพื่ออุตสาหกรรมแฟชั่นก้าวสู่ความเป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งกสอ.ได้สร้างความร่วมมือด้านการตลาดเพื่อเชื่อมโยงกับ AEC+6 การจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการไทยและต่างประเทศ พร้อมทั้งสร้างการรับรู้ของสินค้าแฟชั่นในวงกว้าง เป็นต้น เพื่อจะให้ประเทศไทยเป็น Hub ของการ SOURCING & SHOPPING แฟชั่นชั้นนำของภูมิภาค

          นายอาทิตย์ กล่าวต่อว่า สำหรับการเสริมสร้างผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทยสู่การเป็นเถ้าแก่ใหม่ กสอ.มุ่งเน้นการสร้างผู้ประกอบการให้สามารถเริ่มต้นธุรกิจและดำเนินธุรกิจให้เติบโตและเข้มแข็งใน AEC โดยปีนี้ตั้งเป้าสร้างผู้ประกอบการใหม่ จำนวน 1,890 ราย ผ่านโครงการ “เสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่” (New Entrepreneurs Creation : NEC) ซึ่งจากการดำเนินงานในโครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ปี 2557 นั้น สามารถสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ได้ถึง 1,679 ราย เกิดการสร้างธุรกิจใหม่ จำนวน 616 ราย มีการลงทุนในธุรกิจที่ตั้งหรือขยายเพื่อหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจประมาณ 852.54 ล้านบาท และก่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นจำนวน 3,045 ราย ทั้งนี้ สำหรับปี 2558 กสอ. ตั้งเป้าพัฒนาผู้ประกอบการหน้าใหม่ให้ได้ผลกว่า 1,890 ราย โดยเน้นการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับ Digital Economy และการเปิด AEC

          ในส่วนของผู้ประกอบการเดิมนั้น กสอ.ได้มีโครงการเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในการเข้าสู่ AEC เป็นการเฉพาะ เพื่อให้ผู้ประกอบการตั้งรับและรุกได้อย่างยั่งยืนเมื่อเปิด AEC ในปี 2559 โดยมีเป้าหมายดำเนินการเพื่อพัฒนาศักยภาพตัวผู้ประกอบการ 3,500 คน เพิ่มขีดความสามารถองค์กรธุรกิจ/โรงงาน 600 กิจการ และพัฒนาบุคลากร 2,100 ราย ซึ่งโครงการนี้ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2555 และได้มีกิจกรรมพัฒนาเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการ/กิจการ แล้วกว่า 8,000 ราย ก่อให้เกิดการปรับปรุงธุรกิจ และการขยายตลาดไปสู่ภูมิภาคมากยิ่งขึ้น

          นายอาทิตย์ ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า นอกจากโครงการทั้ง 3 แล้ว กสอ.ยังดำเนินโครงการและกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาอื่น ๆ กว่า 70 โครงการ/กิจการ สอดรับกับความหลากหลายของอุตสาหกรรม แก้ปัญหาที่ตรงจุด ดังนั้นโครงการต่าง ๆ จึงกำหนดมาในหลากหลายบริบทให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการที่แตกต่างกัน มีการปรับปรุงรูปแบบกระบวนการส่งเสริม ปรับปรุงหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง เช่น เรื่องการตลาด กฎระเบียบใน AEC Digital SMEs เป็นต้น พร้อมทั้งสร้างกลุ่มคลัสเตอร์ ให้เกิดเครือข่ายใหม่เพิ่มขึ้น เช่น คลัสเตอร์เครื่องสำอาง คลัสเตอร์แปรรูปผลิตภัณฑ์เกษตร คลัสเตอร์ OTOP และคลัสเตอร์กลุ่มหัตถศิลป์ เป็นต้น

สำหรับผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการได้ที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ 6 กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0 2202 4426-7 หรือเข้าไปที่www.dip.go.th หรือ www.facebook.com/dip.pr

จาก http://news.thaiquest.com  วันที่ 25 มีนาคม 2558

กระทรวงวิทย์ฯใช้ดาวเทียมรับมือภัยแล้ง

กระทรวงวิทย์ใช้เทคโนโลยีดาวเทียมรับมือภัยแล้ง เผยจากภาพถ่ายดาวเทียมชี้ภัยแล้งปีนี้ยังอยู่ในภาวะปกติ คนปลูกข้าวนาปรังลดลง ส่วนปัญหาหมอกควันไฟป่า คาดยังมีต่อเนื่องจนถึงสงกรานต์

วันนี้(25 มี.ค.58 ) ที่โรงแรมอมารีวอเตอร์เกท ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า ในปีนี้ประเทศไทยประสบปัญหาภัยแล้งที่มีความรุนแรงเป็นระยะๆ กระทรวงวิทยาศาสตร์ ฯ จึงร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในการสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีเพื่อรับมือกับภัยแล้งที่เกิดขึ้นเบื้องต้นมีการใช้เทคโนโลยีดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติในการติดตามและคาดการณ์สถานการณ์ภัยแล้งรวมถึงติดตามปัญหาไฟป่าและหมอกควันเพื่อเป็นข้อมูลในการวิคราะห์เพื่อบริหารจัดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบนอกจากนี้ยังใช้เทคโนโลยีนาโนเทคเพื่อผลิตน้ำสะอาดช่วยเหลือประชาชนในภาวะวิกฤติ มีกำลังการผลิต 200 ลิตร ต่อชั่วโมงสามารถกรองน้ำกร่อยได้โดยปัจจุบันช่วยในการผลิตน้ำดื่มที่สะอาดไปแล้วกว่า 2 ล้านลิตร

ด้าน ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) หรือจิสด้า เปิดเผยว่า จากการใช้ดาวเทียมกว่า 20 ดวงในการติดตามสถานการณ์ภัยแล้งซึ่งดูได้จากค่าความชื้นในดิน พบว่าปัจจุบันสถานการณ์ภัยแล้งยังอยู่ในภาวะปกติ ไม่ได้มากกว่าเดิมเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ข้อมูลดังกล่าวอาจไม่ตรงกับข้อมูลของกรมบรรเทาสาธารณภัย ที่รายงานจากความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่นอกจากนี้จากข้อมูลที่ได้จากภาพถ่ายดาวเทียมเมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ยังพบว่าภาพรวมการเพาะปลูกข้าวนาปรังทั้งประเทศมีประมาณ 5 ล้านไร่ จากเดิมปี 2557 มีประมาณ 16 ล้านไร่ ซึ่งถือว่ารัฐบาลประสบความสำเร็จในรณรงค์ลดพื้นที่ปลูกข้าวนอกฤดูอย่างไรก็ดีคาดว่าในปีนี้อาจมีนาปรังที่ได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำโดยเฉพาะนอกเขตพื้นที่ชลประทานในภาคกลางกว่าแสนไร่

สำหรับสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันจากภาพถ่ายดาวเทียม พบว่าในปีนี้ มีพื้นที่ที่เกิดความร้อนสูงหรือจุดฮอทสปอท ซึ่งเป็นที่กำเนิดของไฟป่ากว่า 21,000 จุด ซึ่งถือน้อยกว่าปีที่ผ่านมาโดยภาคเหนือและตะวันตกมีจุดฮอทสปอท ลดลงแต่ไปเพิ่มขึ้นในภาคกลางตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก นอกจากนี้ยังพบว่ามีพื้นที่ถูกเผาไหม้ไปกว่า 12 ล้านไร่ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่า อย่างไรก็ดีแม้ว่าจุดฮอทสปอทจะพบลดลง แต่มีหมอกควันเป็นจำนวนมากเนื่องจากเกิดขึ้นในช่วงภาวะอากาศปิดในปลายฤดูหนาวคาดว่าสถานการณ์หมอกควันจะยังมีอยู่จนถึงช่วงสงกรานต์และจะลดลงในเดือนพฤษภาคมซึ่งเป็นต้นฤดูฝนเกษตรกรเริ่มทำการเพาะปลูก.

จาก http://www.dailynews.co.th   วันที่ 25 มีนาคม 2558

ราคาน้ำตาลตลาดโลกร่วงหนัก รง.เอทานอลลุยขยายกำลังผลิต

โรงงานเอทานอลจากมันสำปะหลัง-อ้อยจ่อขยายเพิ่ม หลังความต้องการใช้เพิ่มเฉพาะเอทานอลจากมันสำปะหลังเล็งเพิ่มอีก 3 แห่ง อุบลไบโอเอทานอล-สีมาอินเตอร์ฯ และบริษัท อี 85 ดันกำลังผลิตทั้งระบบเป็น 5 ล้านลิตร/วัน ด้านโรงงานเอทานอลจากโมลาส ขอดูราคาน้ำตาลจะร่วงอีกหรือไม่ ก่อนตัดสินใจขยายกำลังผลิตตาม

นายสิริวุฒิ เสียมภักดี นายกสมาคมผู้ผลิตเอทานอลไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลอยู่ระหว่างพิจารณาว่าอาจจะขยายกำลังผลิตโรงงานเอทานอลเพิ่มเติม ภายหลังจากที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกร่วงมาอยู่ที่ 12-13 เซนต์/ปอนด์ และอาจจะมีแนวโน้มลดลงอีกจากสถิติที่ผ่านมาราคาลดลงต่ำสุดถึง 5-8 เซนต์/ปอนด์  ทำให้มองว่าอาจจะต้องปรับเพิ่มการผลิตเอทานอลที่มีราคาค่อนข้างดีประมาณ 24-25 บาท/ลิตร

โดยขณะนี้ต้องติดตามใน 3 ประเด็นหลัก คือ 1)นโยบายการจำหน่ายน้ำตาลของประเทศบราซิล 2)ระดับสต๊อกน้ำตาลโลกและ 3)สถานการณ์การผลิตทั้งระบบจะเป็นไปตามที่คาดการณ์หรือไม่ เช่น โดยปกติทั้งระบบจะมีการผลิตเพิ่มขึ้นทุกปีประมาณร้อยละ 1.2% หากการใช้ไม่เพิ่มขึ้นกำลังการผลิตจะสะสมไว้เป็นสต๊อก จำนวนสต๊อกที่มากเกินไปย่อมกระทบต่อราคาน้ำตาล

ในช่วงไตรมาส 2 นี้ ผู้ประกอบการหลายรายอาจจะพิจารณาตัดสินใจลงทุนขยายโรงงานเอทานอลเพิ่มเติมแน่นอน หากราคาน้ำตาลยังคงลดลงต่อเนื่อง นอกจากนี้ที่มีแผนชัดเจนที่จะลงทุนขยายและสร้างโรงงานเอทานอลใหม่ในส่วนของโรงงานเอทานอลที่ใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบอีกประมาณ 3 โรงด้วย

“จับตาหลายโรงงานน้ำตาลที่อาจจะต้องปรับตัวช่วงราคาตกต่ำ จึงหันมาทำรายได้เพิ่มจากการจำหน่ายเอทานอลที่ราคาค่อนข้างดีที่ 24 บาท/ลิตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหาก ก.พลังงานชัดเจนยกเลิการใช้น้ำมันบางประเภท และส่งเสริมการใช้เอทานอลจริงจัง ความต้องการใช้จะเพิ่มขึ้น”

ด้านนายเดชพนต์  เลิศสุวรรณโรจน์ นายกสมาคมผู้ผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลังและผู้จัดการใหญ่ บริษัท อุบลไบโอเอทานอล จำกัด เปิดเผยว่า มีแนวโน้มว่า 3 โรงงานเอทานอลจะมีการขยายและสร้างโรงงานใหม่เพิ่มเติมคือ 1) บริษัท อุบลไบโอฯขยายเฟส2กำลังผลิต 400,000 ลิตร/วัน ลงทุนประมาณ 2,000-2,500 ล้านบาท 2) บริษัท สีมาอินเตอร์โปรดักส์ จำกัด ขยายกำลังผลิต 150,000 ลิตร/วัน และ 3) บริษัท อี 85 จำกัด กำลังผลิตประมาณ150,000 ลิตร/วัน ทำให้กำลังผลิตเอทานอลทั้งระบบเพิ่มขึ้นมาเกือบ 5 ล้านลิตร/วัน จากปกติที่มีการใช้เพียงประมาณ 3.5 ล้านลิตร/วัน

ทั้ง 3 โรงงานล่าช้ามาจากแผนเดิมที่คาดว่าจะมีการขยายกำลังผลิตในปี 2557 ที่ผ่านมา แต่เนื่องจากความต้องการใช้เอทานอลในขณะนั้นยังไม่เพิ่มขึ้นมากนักแต่ขณะนี้สัญญาณการใช้เอทานอลน่าจะเพิ่มขึ้นได้ในช่วงกลางปี และโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงปลายปีที่คาดว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกจะปรับตัวสูงขึ้นจากปัจจุบันที่ราคาอยู่เพียง 50 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และจะทำให้ผู้ใช้น้ำมันหันมาเติมน้ำมันในกลุ่มแก๊สโซฮอล์มากขึ้น

“กำลังผลิตเต็มจริงวันนี้ก็เกือบ 4 ล้านลิตร/วัน แต่ที่ผลิตเพื่อซื้อขายจริงแค่ 3 ล้านลิตร/วันเท่านั้น แต่ทุกรายยังขอรอดูสถานการณ์การใช้เอทานอลช่วงไตรมาส 2 ของปีก่อนว่าจะเป็นไปตามที่คาดไว้หรือไม่เศรษฐกิจจะดีขึ้นหรือไม่ ที่สำคัญนโยบายการส่งเสริมพลังงานทดแทนจากภาครัฐต้องชัดเจนด้วย”

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 25 มีนาคม 2558

กรมหมอดินเร่งขับเคลื่อนธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร

ธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ เป็นโครงการสำคัญอีกโครงการหนึ่งที่ กรมพัฒนาที่ดิน กำลังดำเนินการอยู่ โดยได้กระจายงบประมาณไปยังทุกสถานีทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรเกิดการรวมกลุ่ม ส่งเสริมการใช้สารอินทรีย์ และลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร

นายสมโสถติ์ ดำเนินงาม ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาการจัดการที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า จากการที่กรมพัฒนาที่ดินได้ดำเนินการโครงการปุ๋ยหมักสูตรพระราชทานของสมเด็จพระเทพฯ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรมาก โดยเฉพาะการรวมกลุ่ม ทำให้กลุ่มเกษตรกรมีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น กรมพัฒนาที่ดิน จึงมีนโยบายที่จะจัดทำธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งในธนาคารปุ๋ยอินทรีย์จะประกอบไปด้วย การทำปุ๋ยหมักสูตรพระราชทาน เมล็ดพันธุ์ปุ๋ยพืชสด และน้ำหมักชีวภาพ ในแต่ละธนาคารก็จะให้มีการดำเนินการทำน้ำหมักชีวภาพทุกธนาคาร ส่วนธนาคารปุ๋ยพืชสดและธนาคารปุ๋ยหมักสูตรพระราชทานนั้น ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่และวัสดุที่มีในท้องถิ่น ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการไปแล้ว 87 กลุ่มทั่วประเทศ ซึ่งการแบ่งกลุ่มจะกำหนดให้เป็นกลุ่มธนาคารปุ๋ยอินทรีย์เป็นขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก โดยกลุ่มธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ขนาดใหญ่ต้องมีเกษตรกรร่วมดำเนินการโครงการอย่างน้อย 30-50 ราย ส่วนขนาดกลางต้องมีอย่างน้อย 20-30 ราย และขนาดเล็กต้องมีเกษตรกรที่ร่วมโครงการอย่างน้อย 10-20 ราย โดยสถานีพัฒนาที่ดินแต่ละจังหวัดเป็นหน่วยงานรับผิดชอบร่วมกับหมอดินอาสา พร้อมกับสนับสนุนด้านปัจจัยต่างๆ อาทิ กากน้ำตาล ถังหมัก และสารเร่งต่างๆ เป็นต้น โดยอาจจะดำเนินการในพื้นที่ของสถานีหรือพื้นที่ของหมอดินอาสาก็ได้ตามความเหมาะสม

ในปี 2558 นี้ เป็นปีแรกที่กรมพัฒนาที่ดิน ดำเนินการขยายผล ซึ่งปีที่ผ่านมาเป็นการนำร่องทำเป็นบางแห่ง และการดำเนินการประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ โดยมุ่งเน้นให้เกษตรกรเข้ามามีส่วนร่วม เกษตรกรมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาบริหารจัดการธนาคารปุ๋ย ซึ่งจะมีการลงบัญชีการเอาวัสดุมาฝาก รวมทั้งบัญชีการเบิกถอนปุ๋ยไปใช้ก็ เมื่อนำกลับมาคืนอาจจะมีการชำระเป็นดอกเบี้ย อย่างเช่น เกษตรกรในกลุ่มเบิกปุ๋ยไปใช้ 10 กิโลกรัม เมื่อนำกลับมาคืนอาจจะนำมาคืนในรูปแบบของปุ๋ยหมัก 10 กิโลกรัมพร้อมดอกเบี้ย ซึ่งดอกเบี้ยดังกล่าวนั้น อาจจะเป็นวัสดุที่ใช้ในการทำปุ๋ยหมัก เช่น มูลสัตว์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมูลวัว หรือมูลไก่ เป็นต้น

“กรมจะขยายผลโครงการนี้ต่อไปเรื่อยๆ เนื่องจากเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรอย่างมาก อีกทั้งยังเป็นนโยบายของรัฐบาล และ คสช. ที่ต้องการให้เกษตรกรทำปุ๋ยหมักใช้เอง เพื่อลดต้นทุนการผลิต ลดการใช้สารเคมี ซึ่งจากการดำเนินการที่ผ่านมา พบว่าจังหวัดที่ทำโครงการนี้แล้วประสบความสำเร็จ ได้ผลตอบรับเป็นอย่างดี คือ จังหวัดกำแพงเพชร และสุพรรณบุรี กล่าวคือ เกษตรกรเกิดการยอมรับและมีการขยายผลไปสู่ระดับครัวเรือน มีการทำใช้เองในระดับครัวเรือนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำหมักชีวภาพ และปุ๋ยหมัก ซึ่งส่วนใหญ่จะนำไปใช้กับไม้ผล และพืชผักที่ปลูกไว้ในครัวเรือน” นายสมโสถติ์ กล่าว

ธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ นับว่าเป็นใบเบิกทางที่ดี ที่สามารถช่วยเกษตรกรลดต้นทุนการผลิตได้เป็นอย่างมาก ซึ่งการลดต้นทุนนั้นเปรียบเสมือนกับการทำให้กำไรเรามากขึ้น เมื่อลดต้นทุนได้มากเท่าไหร่ กำไรก็จะมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้น หากเกษตรกรสนใจเข้าร่วมธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ สามารถติดต่อได้ที่สถานีพัฒนาที่ดินทุกแห่งทั่วประเทศหรือสอบถามจากหมอดินอาสาในพื้นที่ของท่าน

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 25 มีนาคม 2558

พาณิชย์หาช่องอุ้มเกษตรกร สั่งผู้ผลิตปุ๋ยลดราคา16เม.ย.

พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกร หลังสถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำว่า กระทรวงพาณิชย์ ได้ขอความร่วมมือผู้ผลิต และผู้ค้าปุ๋ยลดราคาปุ๋ย 4 สูตรสำหรับข้าวนาปรัง และพืชชนิดอื่นๆ อีก 9 สูตร เพื่อช่วยเกษตรกรลดต้นทุนการผลิต โดยจะเริ่มลดราคาพร้อมกันทั่วประเทศตั้งแต่ 16 เม.ย. 2558 นี้ ไปจนถึงพ.ย. 2558 นอกจากนี้ได้เน้นย้ำให้เกษตรกรปลูกข้าวและพืชไร่ที่มีคุณภาพเพื่อสามารถแข่งขันทั้งในประเทศและต่างประเทศ และขายได้ในราคาที่สูงขึ้น

ทั้งนี้ รมว.พาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ระหว่างเป็นประธานเปิดตลาดกลางค้าข้าวและพบปะเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ที่จ.นครสวรรค์ พร้อมย้ำว่า รัฐบาลเดินหน้าฟื้นฟูตลาดกลางสินค้าเกษตรทั่วประเทศพร้อมกัน 61 แห่ง เพื่อให้มีการแข่งขันกันในการซื้อหรือขาย และประมูลราคาจากผู้ประกอบการรับซื้อผลผลิตข้าว ซึ่งจะทำให้เกษตรกรสามารถขายผลผลิตได้ในราคาที่สูงขึ้น โดยที่ผ่านมาที่รัฐบาลได้มีการจัดตลาดนัดข้าวเปลือกขึ้นมา ซึ่งช่วยให้เกษตรกรขายข้าวได้ในราคาที่สูงขึ้นประมาณตันละ 500-800 บาท

พร้อมกันนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้มอบหมายให้ กรมการค้าภายในจัดกิจกรรม ในพื้นที่เพาะปลูกข้าวที่สำคัญ 2 กิจกรรม คือ จัดให้ตลาดกลางเป็นสถานที่ทำการซื้อขายข้าวเปลือก ทั้ง ฤดูการผลิตข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2558 และนาปี ปีการผลิต 2558/2559 และให้มีการประชุมชี้แจง ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรและผู้ประกอบการรู้ถึงประโยชน์ของตลาดกลางและเข้ามาใช้พื้นที่ในการซื้อขายมากขึ้น

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 25 มีนาคม 2558

รายได้เกษตรกรไม่พอยาไส้ "ปีติพงศ์"ชงแผนยกหนี้4.5พันล้านกู้ชีวิต

 “ปีติพงศ์” เผยรายได้ครัวเรือนภาคเกษตรไทยเพิ่มขึ้น แต่รายจ่ายเพิ่มเป็นเงาตามตัว ทำให้เงินสดคงเหลือก่อนการชำระหนี้เกษตรกรน้อยสุดในรอบ 6 ปี เตรียมชง 6 มาตรการช่วยเหลือให้ ครม. เศรษฐกิจ 30 มี.ค.นี้ แย้มยกหนี้ให้เกษตรกร 4,500 ล้านบาท ได้เห็นเร็วๆนี้ ด้าน “สศก.” รายงานผลผลิตสินค้าเกษตรไตรมาส 1 หดวูบ 1.5% เหตุภัยแล้งถล่ม ด้าน “ธปท.” มองต่างมุม ชี้รายได้ภาคเกษตรหด 10% แต่ผลผลิตพุ่ง

นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในงานวันสถาปนาสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ครบรอบปีที่ 36 ว่า สศก.ได้ประเมินรายได้เกษตรกรปีการผลิต 2557/58 ณ วันที่ 7 มี.ค.ที่ผ่านมา พบว่ารายได้เงินสดในภาค เกษตรของเกษตรกรอยู่ที่ 152,470 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้น 2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เมื่อนับรายได้นอกภาคการเกษตรที่ภาครัฐอัดฉีดงบประมาณผ่านโครงการต่างๆ เช่น โครงการชดเชยรายได้ชาวนาและชาวสวนยางไร่ละ 1,000 บาท และการจ้างงานในฤดูแล้งแล้ว พบว่ารายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้น 6%

ส่วนด้านรายจ่ายของเกษตรกรพบว่า รายจ่ายเงินสดครัวเรือนภาคเกษตรอยู่ที่ 105,537 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้น 5.8% เช่นเดียวกับสัดส่วนรายจ่ายนอกภาคเกษตรก็ยังเพิ่มขึ้น 4.9% สะท้อนให้เห็นว่ามีการใช้จ่ายเงินในระบบเศรษฐกิจของภาคเกษตรเพิ่มขึ้น แต่เมื่อคำนวณเงินสดคงเหลือก่อนการชำระหนี้ของเกษตรกรพบว่าอยู่ที่ 39,070 บาทต่อครัวเรือน น้อยกว่าเงินคงเหลือในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา โดยในปีการผลิต 2551/52 อยู่ที่ 45,019 บาทต่อครัวเรือน ดังนั้น รัฐบาลยังต้องดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือภาคเกษตรให้ต่อเนื่อง

 นายปีติพงศ์กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯจะเสนอมาตรการช่วยเหลือภาคเกษตรในระยะที่ 3 ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจในวันที่ 30 มี.ค.นี้ พิจารณา ซึ่งประกอบด้วย 6 แผนงานหลัก บางแผนงานอาจมีการเสนอขออนุมัติงบประมาณเพิ่มเติม ส่วนบางแผนงานเป็นเพียงการปรับระบบบริหารจัดการเท่านั้น ไม่ได้ขออนุมัติงบประมาณเพิ่มเติม ทั้งนี้ ในส่วนของแผนงานทั้ง 6 ประกอบด้วย 1.แผนปรับโครงสร้างการผลิต เนื่องจากใกล้ระยะเวลาเพาะปลูกของเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็น ข้าว ยาง มันสำปะหลัง ข้าวโพด 2.การเพิ่มช่องทางตลาดสินค้าเกษตร

3.การจัดการหนี้สินเกษตรกร 2 ส่วน ส่วนแรก หนี้สินของเกษตรกรที่กระทรวงเกษตรฯ ดูแล รวมประมาณ 4,500 ล้านบาท จะมีความชัดเจนในการยกหนี้ให้เร็วๆนี้ ส่วนที่สอง หนี้ครัวเรือนสะสม ต้องดูว่ารายได้ เงินรายได้สุทธิเกษตรกร จะพอเพียงจ่ายหนี้ครัวเรือนที่เกิดขึ้นในปีนี้หรือไม่จะแบ่งจ่ายปีนี้เท่าไหร่ เพื่อไม่ให้หนี้สินเพิ่มขึ้น

4.การจัดการทรัพยากร โดยเฉพาะเรื่องที่ดิน กับน้ำ โดยการจัดที่ดินทำกินที่ได้หารือร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงเร่งรัดการตรวจสอบการถือครองที่ดิน ส.ป.ก. ก็จะมีผลการดำเนินงานเข้าสู่ที่ประชุม คกก.ปฏิรูปที่ดินฯ ในวันที่ 7 เม.ย.นี้ 5. การจัดการเรื่องบริหารคุณภาพสินค้า และ 6.การพัฒนาข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตรให้ถูกต้องแม่นยำ

นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการ สศก. กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรไตรมาส 1 ปี 2558 ปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรหดตัว 1.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสาขาพืช และสาขาบริการทางการเกษตร หดตัวลง ซึ่งปัจจัยลบที่ทำให้ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรหดตัวในไตรมาสนี้ คือ ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2557 ต่อเนื่องมาจนถึงไตรมาสแรกของปี 2558 ทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนหลักมีน้อย

สำหรับแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2558 คาดว่า ปริมาณผลผลิตจะหดตัวอยู่ในช่วง 0.8-1.8% โดยกลุ่มสินค้าที่ลดลง ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สับปะรดโรงงาน ยางพารา ลำไย มังคุด และเงาะ และสาขาบริการทางการเกษตร โดยผลผลิตทางการเกษตรในช่วงปี 2558 ยังคงมีความเสี่ยงอย่างมากจากภาวะภัยแล้ง รวมถึงปัญหาฝนทิ้งช่วงที่อาจยาวนานไปจนถึงต้นฤดูเพาะปลูกในเดือน พ.ค.2558

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประมาณการเศรษฐกิจล่าสุดของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เมื่อวันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา ในไตรมาสที่ 1 ปี 2558 ผลผลิตภาคเกษตรมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวหลังจากชะลอตัวต่อเนื่อง ตามการผลิตยางพาราที่เพิ่มขึ้นจากภาครัฐใช้มาตรการมูลภัณฑ์กันชนเพื่อพยุงราคา ประกอบกับสภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการกรีดยาง และผลผลิตกุ้งยังเพิ่มขึ้นด้วย แต่ทั้งหมดนี้ไม่สามารถชดเชยราคายางพาราที่ยังอยู่ระดับต่ำ ทำให้รายได้ภาคเกษตรโดยรวมยังลดลง

ทั้งนี้ จากรายงานเศรษฐกิจการเงินของ ธปท.ในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ธปท.ได้รายงานตัวเลขรายได้ของเกษตรกรในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ยังคงลดลงต่อเนื่องจากระยะเดียวกันของปีก่อน 10% และย้อนไป 2 ปีที่ผ่านมา รายได้ของเกษตรกรลดลงมาโดยตลอด โดยภาพรวมรายได้เกษตรของไทยในปี 2557 ที่ผ่านมา ลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อน 6% ซึ่งเป็นการลดลงต่อเนื่อง หลังจากที่รายได้เกษตรกรของปี 2556 ลดลงจากปีก่อนหน้ามาแล้ว 2.6%.

จาก http://www.thairath.co.th   วันที่ 25 มีนาคม 2558

ดึงน้ำสำรองนาปีช่วยลุ่มน้ำแม่กลอง

สำหรับแผนจัดสรรน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่กลองในช่วงฤดูแล้งปี 2558 จะจัดสรรเพื่อการอุปโภคบริโภค 300 ล้านลบ.ม. เพื่อการรักษาระบบนิเวศ 1,200 ล้านลบ.ม.

นายประวัติวิทย์ สวัสดิ์ดวง ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 13 กรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำแม่กลอง ว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำในเขื่อนวชิราลงกรณ์ และเขื่อนศรีนครินทร์มีปริมาณค่อนข้างต่ำสามารถใช้การได้ประมาณ 4,960 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) นับว่าน้อยที่สุดในรอบ 50 ปี

สำหรับแผนจัดสรรน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่กลองในช่วงฤดูแล้งปี 2558 จะจัดสรรเพื่อการอุปโภคบริโภค 300 ล้านลบ.ม. เพื่อการรักษาระบบนิเวศ 1,200 ล้านลบ.ม. เพื่อการเกษตรปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย 460 ล้านลบ.ม. ที่เหลืออีกประมาณ 3,000 ล้านลบ.ม. จะสำรองน้ำไว้จัดสรรให้กับการทำนาปีซึ่งเป็นการทำนาหลักของเกษตรกร

“ที่ผ่านมามีประชาชนบางส่วนยังคงทำนาปรังและนากุ้ง มีการลักลอบสูบน้ำไปใช้ ทำให้น้ำในระบบหายไป ส่งผลกระทบต่อประชาชนอีกส่วนที่ปลูกไม้ดอก ไม้ประดับ สวนผลไม้ ทำให้น้ำที่ใช้รักษาระบบนิเวศ โดยเฉพาะการใช้ผลักดันน้ำเค็มไม่เพียงพอ กรมชลประทานจึงต้องเติมน้ำเข้าไปในระบบใหม่เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย โดยดึงน้ำสำรองเพื่อนาปี 2558 มาใช้ จึงคาดการณ์ว่าอาจจะเหลือน้ำสำหรับใช้ในฤดูนาปีไม่ถึง 3,000 ล้านลบ.ม. ตามแผนที่วางไว้” นายประวัติวิทย์กล่าว

สำหรับในช่วงเดือนมีนาคม–เมษายน 2558 ได้วางแผนการจัดสรรน้ำไว้ เพื่อการอุปโภค-บริโภค จำนวน 80 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเป็นปริมาณที่รวมการร้องขอเพื่อผลิตน้ำประปาในพื้นที่ ต.ดอนคา ต.หนองโอ่ง และ ต.พลับพลาชัย อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี และเพื่อผลิตน้ำประปาของการประปานครหลวง ของโรงกรองน้ำมหาสวัสดิ์ และน้ำเพื่อการรักษาระบบนิเวศ จำนวน 30 ล้าน ลบ.ม. โดยเฉพาะการใช้ผลักดันน้ำเค็มในแม่น้ำแม่กลองและแม่น้ำท่าจีน พร้อมจัดสรรน้ำเพื่อการเกษตรจำนวน 220 ล้านลบ.ม.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 24 มีนาคม 2558

รัฐชู 2 ข้อพัฒนาพลังงานทดแทน

นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวปาฐกถาพิเศษ “นโยบายพลังงานทดแทนไทยปี 2558” ในงานสัมมนาและนิทรรศการ Green Network Forum 2015 ว่าสำหรับแนวทางนโยบายการพัฒนาพลังงานทดแทนที่ทางรัฐบาลจะสนับสนุนให้เกิดเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่องนั้น มี 2 แนวทาง คือ 1.การส่งเสริมให้เกิดพลังงานทดแทนมากขึ้น โดยมีพลังงานทดแทนไม่ต่ำกว่า 50% ในพลังงานทางเลือกที่มีอยู่ในปัจจุบัน 2.ราคาที่จะซื้อจะต้องเป็นราคาที่มั่นใจว่า ตั้งแล้ว ผู้ลงทุนคุ้มทุน ไม่แพงมากจนเกินไป จนส่งผลกระทบต่อสังคมทำให้สังคมเดือดร้อน ทั้งนี้ 2 แนวทางดังกล่าว ทางรัฐบาลจะนำมาใช้พัฒนาพลังงานทดแทนอย่างต่อเนื่องในอนาคต เพื่อเป็นแนวทางการแปรรูปพลังงาน เช่น การจัดการขยะ การพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น โดยหากผู้ลงทุนสนใจในเรื่องธุรกิจพลังงานทดแทนและเชื่อในแนวคิดนี้ สามารถทำไปวางแผนตัดสินใจในการลงทุนได้

สำหรับแผนพีดีพี 20 ปีที่กำลังจัดทำอยู่ในขณะนี้ คาดว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปัจจุบันและกำหนดแผนว่าจะใช้พลังงานทดแทนในสัดส่วน 22-25% หรือประมาณ 19,000 เมกะวัตต์ จากปีนี้มีสัดส่วนประมาณ 11% หรือ 7,400 เมกะวัตต์ ซึ่งในส่วนของพลังงานแสงอาทิตย์ระยะยาวจะเปิดรับซื้ออีกเท่าตัวจากที่ปริมาณปัจจุบันรวมทั้งปริมาณค้างท่อโครงการโซลาร์รูฟท็อป (200 เมกะวัตต์), โครงการโซลาร์สหกรณ์-ภาครัฐ (800 เมกะวัตต์) มีทั้งหมดประมาณ 2,800 เมกะวัตต์ ซึ่งตามแผนจะส่งเสริมพลังงานทดแทนหลัก ได้แก่ แสงอาทิตย์, ขยะและชีวภาพ-ชีวมวล โดยการส่งเสริมพลังงานทดแทนเป็นเรื่องที่รัฐส่งเสริม แต่ก็ต้องดูความมั่นคงและไม่กระทบค่าไฟฟ้าภาคประชาชนด้วย

“ในส่วนของพลังงานแสงอาทิตย์ค้างท่อ 1,013 เมกะวัตต์ กำหนดชัดเจนว่าจะต้องแจ้งย้ายพื้นที่ภายในวันที่ 31 มีนาคมนี้ หากแจ้งไม่ครบค่อยมาดูว่าจะบริหารจัดการอย่างไรต่อไป ส่วนเรื่องโรงไฟฟ้าขยะ รัฐบาลส่งเสริมเต็มที่ทั้งพร้อมเพิ่มค่าไฟฟ้า FIT ผลิตไฟฟ้าในพื้นที่สีเขียว ขณะที่โรงไฟฟ้าขยะ, ชีวมวล, ชีวภาพก็จะเปิดบิดดิ้งหรือประมูลในอัตราไม่เกิน FIT ที่กำหนด” นายณรงค์ชัย กล่าว

นางกุลวรีย์ บูรณสัจจะวราพร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) คาดว่าการบิดดิ้งไฟฟ้าชีวภาพจะเริ่มได้ในกลางปี 2558 และขณะนี้ พพ.กำลังจะเสนอแผนพลังงานทดแทนในแผนพีดีพี

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 24 มีนาคม 2558

รมว.อุตสาหกรรม ระบุภาพรวมอุตสาหกรรมไทยในปีนี้ขยายตัวร้อยละ 4

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ระบุภาพรวมอุตสาหกรรมไทยในปีนี้ขยายตัวร้อยละ 4 เชื่อว่าระบบดิจิตอลอีโคโนมีจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตของภาคอุตสาหกรรมให้ดียิ่งขึ้น

นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในรายการเดินหน้าประเทศไทยถึงภาพรวมของอุตสาหกรรมไทยในปีนี้ ว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมไทยมีแนวโน้มจะขยายตัวดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. และธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประมาณการณ์เศรษฐกิจไว้ที่ร้อยละ 3.5 – 4.0 และในภาคอุตสาหกรรมจะมีการขยายตัวในระดับใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมสิ่งทอ และอุตสาหกรรมเกษตร โดยภาพรวมของอุตสาหกรรมไทยคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 4 ทั้งนี้ยอมรับว่าอุปสรรคในการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมไทยโดยรวมเกิดจากการใช้จ่ายของประชาชนที่ลดลง

อย่างไรก็ตามในส่วนของโครงสร้างอุตสาหกรรมไทยที่จะปรับเอาระบบดิจิตอลอีโคโนมีมาใช้ในอนาคตนั้นเชื่อว่าจะสามารถมาช่วยในกระบวนการผลิตต่างๆ ให้มีความรวดเร็ว แม่นยำ และลดค่าใช้จ่าย ถือว่าเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตของภาคอุตสาหกรรมให้ดียิ่งขึ้น

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 24 มีนาคม 2558

สศก.แถลงไตรมาสแรก ภาคเกษตรหดตัว 1.5 เตือน ภัยแล้ง-ฝนทิ้งช่วง กระทบยาวต้นฤดูเพาะปลูก

เกษตรฯ โดย สศก.เผยภาวะเศรษฐกิจการเกษตรไตรมาส 1 ปี58 หดตัว ร้อยละ 1.5 จากภัยแล้งช่วงปลายปี 57 ส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกพืชหลายชนิดโดยเฉพาะข้าวนาปรัง คาดแนวโน้มปี 58 จะหดตัว ระบุ ผลผลิตสินค้าเกษตรยังต้องเผชิญความเสี่ยงจากภัยแล้งและปัญหาฝนทิ้งช่วงที่อาจยาวนานไปจนถึงต้นฤดูเพาะปลูกเดือนพฤษภาคมนี้

นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกุลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจการเกษตรไตรมาส 1 ปี 2558 พบว่า หดตัวร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557 โดยสาขาพืช และสาขาบริการทางการเกษตร หดตัวลง ขณะที่สาขาปศุสัตว์ สาขาประมง และสาขาป่าไม้ ขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจัยลบที่ทำให้ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรหดตัวในไตรมาสนี้ คือ ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2557 ต่อเนื่องมาจนถึงไตรมาสแรกของปี 2558 ทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนหลักมีน้อย ส่งผลกระทบค่อนข้างมากต่อการเพาะปลูกพืชหลายชนิดในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลอง โดยเฉพาะข้าวนาปรัง ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ เห็นควรให้งดการปลูกข้าวนาปรังในปี 2557/58 จำนวน 7.77 ล้านไร่ ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลองโดยเด็ดขาด และส่งเสริมให้ปลูกพืชไร่ พืชผักที่ใช้น้ำน้อยแทน สำหรับการผลิตสาขาปศุสัตว์ ขยายตัวได้ต่อเนื่องทั้งการผลิตไก่เนื้อ สุกร ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ เนื่องจากระบบการผลิตที่ได้มาตรฐาน การดูแลและเฝ้าระวังโรคระบาดอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสภาพอากาศเย็นในช่วงต้นปี ทำให้สัตว์เจริญเติบโตได้ดี รวมถึงความต้องการบริโภคจากตลาดภายในและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีการขยายการเลี้ยงเพื่อรองรับความต้องการดังกล่าว ส่วนการผลิตสาขาประมง สถานการณ์การผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงมีทิศทางดีขึ้น เนื่องจากปัญหาโรคตายด่วน (Early Mortality Syndrome: EMS) คลี่คลายลง ส่งผลให้มีผลผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงออกสู่ตลาดมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลผลิตประมงน้ำจืด อาทิ ปลานิล และปลาดุก มีแนวโน้มลดลงจากปัญหาภัยแล้ง ทำให้เกษตรกรต้องงดการเลี้ยงปลาในบางพื้นที่ หรือชะลอการเลี้ยงออกไป  โดยเมื่อพิจารณาเป็นรายสาขา พบว่า

สาขาพืชในไตรมาส 1 ปี 2558 หดตัวร้อยละ 3.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557 โดยพืชที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สับปะรดโรงงาน ยางพารา และปาล์มน้ำมัน สำหรับพืชที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปี มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน และผลไม้ (ลำไย ทุเรียน และมังคุด) สินค้าพืชที่มีราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง สับปะรด และปาล์มน้ำมัน

ส่วนสินค้าพืชที่มีราคาลดลง ได้แก่ อ้อยโรงงาน ยางพารา และลำไย ทั้งนี้ ในช่วงเดือนมกราคม 2558 สินค้าพืชและผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณและมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น คือ ลำไยและผลิตภัณฑ์ เนื่องจากความต้องการในฮ่องกงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่สินค้าที่มีปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้น แต่มีมูลค่าส่งออกลดลง ได้แก่ น้ำตาลและผลิตภัณฑ์ เนื่องจากผลผลิตอ้อยของบราซิลเพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศที่เหมาะสม ประกอบกับรัฐบาลอินเดียได้อนุมัติเงินอุดหนุนการส่งออกน้ำตาลทรายดิบในปี 2557/2558 เป็นจำนวน 1.4  ล้านตัน ในอัตรา 4,000 รูปี/ตัน (64 เหรียญสหรัฐฯ) ส่งผลให้อุปทานในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น และราคามีแนวโน้มลดลง

สาขาปศุสัตว์ ขยายตัวร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557 เนื่องจากการผลิตปศุสัตว์  โดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี มีระบบการผลิตที่ได้มาตรฐาน มีการดูแลและเฝ้าระวังโรคระบาดอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสภาพอากาศเย็นในช่วงต้นปี ทำให้สัตว์เจริญเติบโตได้ดี ส่งผลให้ไก่เนื้อ สุกร ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ มีผลผลิตเพิ่มขึ้น

ด้านราคาสินค้าปศุสัตว์ส่วนใหญ่ พบว่า ปรับตัวลดลง โดยราคาไก่เนื้อ สุกร และไข่ไก่ เฉลี่ยในช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2558 ลดลงร้อยละ 10.2  11.1 และ 19.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมากขึ้น ส่วนราคาน้ำนมดิบปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากการปรับราคารับซื้อน้ำนมดิบหน้าโรงงานที่เพิ่มขึ้น และคุณภาพน้ำนมดิบดีขึ้น

ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าปศุสัตว์ในช่วงเดือนมกราคม 2558 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของ ปี 2557 โดยปริมาณและมูลค่าการส่งออกเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้น จากการส่งออกเนื้อไก่สดแช่เย็นแช่แข็งที่ขยายตัวต่อเนื่องตามความต้องการของตลาดญี่ปุ่น ภายหลังการยกเลิกมาตรการห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกสดแช่แข็งจากไทย ซึ่งการส่งออกเนื้อไก่สดแช่เย็นแช่แข็งมีปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 152.8 และมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 186.8

สาขาประมง ขยายตัวร้อยละ 6.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557 เนื่องจากผลผลิตประมงทะเลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งในส่วนของการเพาะเลี้ยงและการจับตามธรรมชาติ โดยผลผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงในช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2558 เริ่มออกสู่ตลาดมากขึ้น โดยมีปริมาณ 26,697 ตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2557 ซึ่งมีปริมาณ 23,649 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.9 เพราะปัญหาโรคตายด่วน (Early Mortality Syndrome: EMS) คลี่คลายลง ทำให้เกษตรกรผู้ผลิตส่วนใหญ่มีความมั่นใจมากขึ้น จึงขยายการผลิตเพิ่มขึ้น ด้านราคา พบว่า ราคากุ้งขาวแวนนาไม ขนาด 70 ตัวต่อกิโลกรัม ที่เกษตรกรขายได้ ในช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2558 เฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 201 บาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2557 ซึ่งมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 267 บาทต่อกิโลกรัม หรือลดลงร้อยละ 24.8 เนื่องจากผลผลิตกุ้งในแหล่งผลิตที่สำคัญเริ่มทยอยออกสู่ตลาดมากขึ้น

สาขาบริการทางการเกษตร ลดลงร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557 เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังลดลง จากปริมาณน้ำที่ใช้การได้ในเขื่อนหลัก เช่น เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้อย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้ออกประกาศงดการส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ส่งผลให้พื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบนบางแห่งไม่สามารถปลูกข้าวนาปรังหรือปลูกข้าวนาปรังรอบสองได้ ทำให้การจ้างบริการเตรียมดิน ไถพรวนดิน และการให้บริการเกี่ยวนวดข้าวลดลงตามไปด้วย

สาขาป่าไม้ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557 เนื่องจากไม้ยางพารา ไม้ยูคาลิปตัส น้ำผึ้งธรรมชาติ ครั่ง และถ่านไม้ เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ โดยการส่งออกผลิตภัณฑ์จากป่าในเดือนมกราคม 2558 ที่เพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่าส่งออก ได้แก่ น้ำผึ้ง และครั่ง โดยน้ำผึ้งขยายตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 2.5 เท่าของเดือนมกราคม 2557 เนื่องจากตลาดหลัก เช่น เยอรมนี สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ซาอุดิอาระเบีย และไต้หวัน มีความต้องการเพิ่มขึ้น ขณะที่การส่งออกครั่งเม็ดก็ขยายตัวได้ดีเช่นกัน

สำหรับแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2558 คาดว่าจะหดตัวอยู่ในช่วงร้อยละ (-1.8) – (-0.8) โดยสาขาการผลิตที่หดตัวลง ได้แก่ สาขาพืช และสาขาบริการทางการเกษตร ส่วนสาขาปศุสัตว์ สาขาประมง และสาขาป่าไม้ ขยายตัวเพิ่มขึ้น สำหรับผลผลิตพืชที่ลดลง ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สับปะรดโรงงาน ยางพารา ลำไย มังคุด และเงาะ ขณะที่ผลผลิตปศุสัตว์ทั้งไก่เนื้อ สุกร ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนการผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยง ปรับตัวดีขึ้นจากการดำเนินมาตรการในการแก้ไขปัญหาของกรมประมงร่วมกับภาคเอกชน ทำให้ปัญหาโรคตายด่วนคลี่คลายลง อย่างไรก็ตาม การผลิตทางการเกษตรในช่วงปี 2558 ยังคงมีความเสี่ยงอย่างมากจากภาวะภัยแล้ง รวมถึงปัญหาฝนทิ้งช่วงที่อาจยาวนานไปจนถึงต้นฤดูเพาะปลูกในเดือนพฤษภาคม 2558 ซึ่งจะสร้างความเสียหายให้กับผลผลิตสินค้าเกษตรมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ จำเป็นต้องมีการติดตามและประเมินสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เพื่อเตรียมมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกร รวมทั้งการปรับแผนการผลิตสินค้าเกษตร

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 24 มีนาคม 2558

ก.เกษตรฯ ส่งเสริมการขับเคลื่อนภาคการเกษตรของประเทศ

นายปีติพงศ์  พึ่งบุญ  ณ  อยุธยา  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เปิดเผยภายหลังการบรรยายพิเศษ  ในหัวข้อ  “Roadmap  การดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนภาคการเกษตรของประเทศ”  ในการฝึกอบรมหลักสูตรนักบริหารการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์  ระดับสูง  รุ่นที่ 63  ที่จัดขึ้นโดยสถาบัน  เกษตราธิการ  สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ระหว่างวันที่  3  กุมภาพันธ์  ถึง  3  เมษายน  2558   ณ  โรงแรมรามาการ์เด้นส์  ถนนวิภาวดีรังสิต  โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเสริมสร้างความรู้ประสบการณ์  และพัฒนาศักยภาพการเป็นผู้นำของนักบริหารระดับสูง  เพื่อให้เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายการเกษตรได้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน

โดยการบรรยายพิเศษดังกล่าว ได้มีเรื่องสำคัญ3เรื่อง  ได้แก่  1) การเรียนรู้และการเตรียมตัวกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต  เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของโลก  เช่น  เรื่องดิจิตอลอีโคโนมี  (Digital  Economy)  การเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมและภูมิอากาศ  ความเชื่องโยงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย  รวมถึงการเปลี่ยนแปลงแนวคิดของผูบริโภค  2) การปรับโครงสร้างภาคการเกษตร  โดยการส่งเสริมพื้นที่แปลงใหญ่  หรือเกษตรแปลงใหญ่ (Zoning)  การบริหารจัดการความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น  เช่น  การบังคับใช้กฎหมาย  การดูแลประชาชน  เรื่องที่เกี่ยวกับองค์กรต่าง ๆ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  และองค์กรของเกษตรกร  ความเชื่องโยงระหว่างอุตสาหกรรมการส่งออกและการผลิต  และ 3) การปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้บริหาร  ที่สำคัญเช่น  การศึกษาคุณลักษณะของผู้ใต้บังคับบัญชา  หรือกลุ่มเป้าหมาย  รวมถึงการน้อมนำพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงและความพอดี  มาเป็นแนวทางในการบริหารจัดการ

นายปีติพงศ์  กล่าวเพิ่มเติมว่า  การปรับโครงสร้างด้านการเกษตรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์นั้น ควรจะเน้นด้านการผลิตให้มีคุณภาพมากกว่าปริมาณ  การพัฒนาเกษตรกรให้มีความสามารถในการบริหารจัดการตนเองได้ และมีองค์ความรู้ในการประกอบอาชีพ  เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับเกษตรกร  และที่สำคัญให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้โดยตรง  โดยการจัดช่องทางต่างๆ เพื่อสร้างการเชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค เป็นต้น

จาก http://www.matichon.co.th   วันที่ 24 มีนาคม 2558

รง.อุบลไบโอเอทานอลระดมเครื่องสูบน้ำสร้างออกซิเจนหลังบ่อน้ำเสียแตก

        อุบลราชธานี - โรงงานอุบลไบโอเอทานอล ระดมเครื่องสูบน้ำสร้างออกซิเจนและเก็บกากตะกอนน้ำเสียและซากวัชพืช หลังบ่อเก็บกักแตกขึ้นมาฝั่งกลบ คาดใช้เวลาอีกราว 3 วัน จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ขณะเดียวกันโรงงานยังหยุดเดินเครื่องสายพานการผลิต เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับชุมชน ด้านผู้นำท้องถิ่นวอนโรงงานหาวิธีแก้ปัญหาน้ำเสียอย่างถาวร เพื่อไม่สร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอีก

              จากกรณีมีฝนตกหนักและน้ำกัดเซาะบ่อน้ำเสียโรงงานแป้งมันสำปะหลังกลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล จนบ่อแตกไหลลงสู่ลำน้ำโดม ซึ่งเป็นลำน้ำสาธารณะตั้งอยู่ใกล้เคียง หลังเกิดเหตุจังหวัดสั่งระดมเจ้าหน้าที่สิ่งแวดล้อมเข้าตรวจสอบผลกระทบ ส่วนฝ่ายโรงงานเร่งแก้ไขซ่อมแซม เพื่อลดผลกระทบให้สิ่งแวดล้อมบริเวณที่น้ำเสียไหลลงไปตามที่เสนอข่าวไปนั้น

               ความคืบหน้าวันนี้ (24 มี.ค.) เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิศวกรโยธากลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล นำเสาเข็มจากต้นยูคาลิปตัสและเสาเข็มปูซีเมนต์ความสูงกว่า 4 เมตร ปักเป็นแนวกันหน้าดินขอบบ่อเสริมความมั่นคง และนำดินเข้ามาถมตามแนวคันดินที่เกิดพังทลายความยาวประมาณ 30 เมตร และได้ขยายความกว้างของแนวคันดินขอบบ่อให้มีความกว้างเพิ่มขึ้น พร้อมนำรถมาบดอัดดินเหนียวให้มีความแข็งแรงด้วย

               ขณะเดียวกันได้ส่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายดูแลสิ่งแวดล้อมลงเรือท้องแบนตักตะกอนดิน รวมทั้งวัชพืชของน้ำเสียที่ลอยเกาะผิวน้ำ ขึ้นมาทำการฝั่งกลบบริเวณแปลงที่ 22 ของโรงงาน ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุราว 3 กิโลเมตร เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้ลำน้ำ และยังนำเครื่องสูบน้ำขนาด 8 นิ้ว และ 6 นิ้ว จำนวน 10 เครื่อง ติดตั้งตามลำน้ำที่มีค่าออกซิเจนต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อสูบน้ำให้ไหลเวียนสร้างออกซิเจนให้ลำน้ำเร็วที่สุด

          โดยค่าออกซิเจนวัดโดยสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 12 จ.อุบลราชธานี เมื่อช่วงเย็นวันที่ 23 มี.ค.ที่ผ่านมา บริเวณจุดที่คันดินขาดมีค่าออกซิเจน 0.4 มิลิกรัมต่อลิตร ห่างจากจุดที่คันดินแตก 200 เมตร 1.1 มิลิกรัมต่อลิตร

               แต่ห่างออกไปที่สะพานโดมและฝายห้วยยางมีค่าออกซิเจน 3.4 และ 4.6 มิลิกรัมต่อลิตร ซึ่งค่ามาตรฐานต้องมีออกซิเจนไม่ต่ำกว่า 4 มิลิกรัมต่อลิตร สัตว์น้ำจึงอาศัยอยู่ได้ และทำให้เห็นการกระจายตัวของมวลน้ำเสีย ปัจจุบันยังอยู่ในวงจำกัดจากจุดแตกประมาณ 3 กิโลเมตร เนื่องจากฝายสร้างแก้วปิดประตูระบายน้ำ เพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ทำให้น้ำเสียที่ไหลลงสู่ลำน้ำโดมนิ่งไม่ไหลไปไกล

               น.ส.ทัศนีย์ บุญสืบ หัวหน้าความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมกลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอลกล่าวว่า วันนี้เจ้าหน้าที่ได้ทำทุนลอยเพื่อดักตะกอนน้ำและวัชพืช ซึ่งจะต้องทำการตักออกจากลำน้ำขึ้นไปฝั่งกลบทั้งหมด รวมทั้งจะเดินเครื่องสูบน้ำเพื่อเพิ่มออกซิเจนให้น้ำต่อเนื่องจนกว่าค่าออกซิเจนน้ำจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และตั้งแต่วันเกิดเหตุถึงปัจจุบัน พบมีสัตว์น้ำตายจำนวนหนึ่ง เฉพาะที่โรงงานสามารถตักเก็บขึ้นจากน้ำได้ประมาณ 100 กิโลกรัม โดยเป็นของซากสัตว์น้ำที่ตายแล้วลอยขึ้นมาในช่วงเย็นของวันเกิดเหตุ ส่วนวันที่สองนี้ยังไม่พบมีสัตว์น้ำตายเพิ่มแต่อย่างใด ส่วนการตักเก็บตะกอนและวัชพืชคาดว่าต้องใช้เวลาตักเก็บประมาณ 3 วัน

               ขณะที่นายสมบูรณ์ โพธิ์พิมพ์ ผู้ใหญ่บ้านแก่งกอก หมู่ 10 ต.ไร่ใต้ อ.พิบูลมังสาหาร ซึ่งตั้งอยู่คนละฝั่งแม่น้ำในจุดที่คัดดินแตก กล่าวว่า พบซากสัตว์น้ำลอยตายขึ้นมาในช่วงเย็นหลังคันดินแตกวันแรก โดยเป็นลักษณะน็อกน้ำจากน้ำเสียที่ไหลลงมาจำนวนมหาศาล ทำให้ชาวบ้านไม่กล้าเก็บสัตว์น้ำที่ลอยตายมาทำอาหาร

         อีกทั้งวันนี้ยังพบมีซากสัตว์น้ำที่ตายตั้งแต่วันแรกลอยขึ้นผิวน้ำเป็นระยะ แต่หากเทียบเป็นปริมาณกับเหตุการณ์น้ำเสียล้นบ่อจากน้ำฝนเมื่อปีก่อน มีปริมาณสัตว์น้ำตายน้อยกว่า และการตายของสัตว์น้ำก็อยู่ในวงจำกัด เพราะใต้โรงงานไปกว่า 5 กิโลเมตร ยังไม่มีชาวบ้านพบเห็นมีสัตว์น้ำตาย

               “สิ่งที่ชาวบ้านต้องการคือ อยากให้โรงงานแก้ปัญหาเรื่องน้ำเสียที่มักไหลทะลักจากบ่อกักเก็บหลังมีฝนตก เพื่อจะไม่สร้างผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมของลำน้ำแห่งนี้อีกต่อไป”

               น.ส.กัณฑ์พร กรรณสูต ผู้อำนวยการ สายงานสนับสนุนกลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอลกล่าวว่า โรงงานยังหยุดสายการผลิตแป้งมันและเอทานอล จนกว่าจะสามารถซ่อมแซมคันดินให้เสร็จสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ จึงจะกลับมาเดินสายพานการผลิตใหม่อีกครั้ง

               ส่วนแผนการแก้ปัญหาไม่ให้น้ำเสียไหลลงสู่ลำน้ำได้อีกคือ อยู่ระหว่างขออนุญาตสร้างเขื่อนปูนกันตลิ่งพังจากกรมเจ้าท่า ส่วนการฟื้นฟูสภาพสิ่งแวดล้อมของลำน้ำหลังเหตุการณ์ นอกจากจะมีการนำพันธุ์สัตว์น้ำมาปล่อยฟื้นฟูระบบนิเวศวิทยาแล้ว จะมีการประชุมคณะกรรมการเครือข่ายอนุรักษ์ลำน้ำโดม ซึ่งประกอบไปด้วยตัวแทนชาวบ้านจากพื้นที่ 4 ตำบลตามลำน้ำ เพื่อระดมความเห็นและความต้องการของชาวบ้านที่จะให้โรงงานทำ เพื่อใช้แก้ปัญหาอย่างหยั่งยืนต่อไป 

จาก http://manager.co.th  วันที่ 24 มีนาคม 2558

รื้อหลักเกณฑ์การตั้งรง.น้ำตาลใหม่ ร่นระยะห่างให้ต่ำกว่า80กม.ได้‘จักรมณฑ์’ชงครม.เดือนหน้า

นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่ากระทรวงอุตสาหกรรมจะเสนอ คณะรัฐมนตรี(ครม.)ในเดือนเม.ย.2558 เพื่ออนุมัติหลักเกณฑ์การกำหนดระยะห่างที่ตั้งโรงงานน้ำตาลทรายจากเดิมกำหนดไว้ต้องห่างไม่น้อยกว่า 80 กิโลเมตร โดยหลักเกณฑ์ใหม่จะต่ำกว่าหลักเกณฑ์เดิม แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป

“ระยะห่างระหว่างโรงงานน้ำตาล 80 กิโลเมตรนั้นจุดประสงค์เพื่อไม่ให้เกิดการแย่งอ้อยกันแต่ที่ผ่านมาก็มีปัญหาบางรายต่ำกว่ากำหนด จึงทำให้การพิจารณาการขอย้าย และขยายโรงงานใหม่ประมาณ 50 แห่งต้องหยุดไปด้วย ซึ่งเกณฑ์ใหม่จะมีทางเลือกขึ้นอยู่กับครม.จะพิจารณาคาดว่าจะอยู่ประมาณ 40-50 กิโลเมตร เมื่อหลักเกณฑ์ชัดคิดว่าจะสามารถเคลียร์ใบอนุญาตการยื่นขอย้าย และขยายโรงงานได้ภายใน 90 วันจากที่ครม.อนุมัติ แต่จะให้ได้ทั้งหมดหรือไม่นั้นจะต้องคำนึงถึงปริมาณอ้อยในอนาคตด้วย”รมว.อุตสาหกรรมกล่าว

ปัจจุบันโรงงานน้ำตาลทรายของไทยมีอยู่ประมาณ 52 แห่งมีกำลังการผลิตใกล้เคียงกับอ้อยที่ปลูกอยู่ในขณะนี้ และไทยเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลทรายอันดับ 2 ของโลก แต่รัฐบาลมีนโยบายที่จะส่งเสริมการนำนาปรังมาปลูกอ้อยแทนเพื่อลดปัญหาราคาข้าวตกต่ำเนื่องจากเห็นว่าระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเป็นพืชเพียงชนิดเดียวที่มีระบบดูแลตัวเองที่มีประสิทธิภาพ

นายจักรมณฑ์กล่าวว่า ส่วนกรณีที่ราคาพืชเกษตรหลายชนิดมีราคาตกต่ำทำให้รัฐมองแนวทางการพัฒนาพืชเกษตรอื่นๆ เช่น ยางพารา ในลักษณะเดียวกับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย โดยจะมีกองทุนฯขึ้นมาดูแลราคาให้มีเสถียรภาพโดยอาจจะใช้งบประมาณจากภาครัฐบาลในเบื้องต้นก่อน เหมือนกับที่อุตสาหกรรมอ้อย และน้ำตาลทรายกำหนดราคาอ้อยขั้นต่ำเอาไว้แล้วใช้กองทุนอ้อยและน้ำตาลในการดูแลราคาให้ได้ตามต้นทุน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 24 มีนาคม 2558

ปัญหาเกษตร : ปุ๋ยพืชสดกับการปรับปรุงบำรุงดิน

คำถาม พืชปุ๋ยสดมีอะไรบ้างครับ มีวิธีปลูกและวิธีใช้อย่างไรครับ

คำตอบ ปุ๋ยพืชสด เป็นปุ๋ยอินทรีย์ชนิดหนึ่งที่ได้จากการตัดสับ หรือไถกลบพืชตระกูลถั่วขณะออกดอกลงไปในดิน โดยมีจุดประสงค์เพื่อปรับปรุงดินและบำรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ หลังจากนั้น ต้องปล่อยให้เกิดการย่อยสลาย ประมาณ 2 สัปดาห์ จะให้ธาตุอาหารพืชและเพิ่มอินทรียวัตถุแก่ดิน ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับพืชที่จะปลูก นักวิชาการ กรมพัฒนาที่ดิน ได้แนะนำวิธีการทำปุ๋ยพืชสดที่ใช้ในนาข้าวและพืชไร่ ดังนี้

การใช้ปุ๋ยพืชสดในนาข้าว ทำได้ 3 วิธี คือ

วิธีแรก ปลูกพืชปุ๋ยสดพร้อมกับข้าว โดยปลูกพืชตระกูลถั่ว ได้แก่ ถั่วพุ่ม หรือถั่วพร้า อัตราเมล็ด 8 และ 10 กิโลกรัมต่อไร่ ตามลำดับ (เลือกใช้อย่างใดอย่างหนึ่ง) พร้อมกับหว่านข้าวในนา หว่านข้าวแห้ง เพื่อให้ถั่วเจริญเติบโตพร้อมกับต้นข้าว ในช่วงที่น้ำยังไม่ขังในนา ถ้าน้ำไม่ขังหรือดินไม่ชื้นเกินไป ถั่วจะเจริญเติบโตได้ ประมาณ 45-50 วัน ให้ไขน้ำเข้าที่นา ถั่วจะตายเน่าสลายให้ธาตุอาหารพืช อินทรียวัตถุแก่ดินและต้นข้าว

วิธีที่ 2 ปลูกพืชปุ๋ยสดก่อนการทำนา ได้แก่ โสนอัฟริกัน ปอเทือง ถั่วพุ่ม หรือถั่วพร้า (เลือกใช้อย่างใดอย่างหนึ่ง) ใช้อัตราเมล็ด 5, 5, 8 และ 10 กิโลกรัมต่อไร่ ตามลำดับ ควรเริ่มปลูกในระยะฝนแรก ระหว่างเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม โดยไถพรวนดินอย่างดี แล้วหว่านเมล็ดพืชปุ๋ยสด เมื่อต้นพืชโตถึงระยะออกดอก หรือประมาณ 45-50 วัน ให้ไถกลบ แล้วปล่อยให้ย่อยสลาย ประมาณ 2 สัปดาห์ จึงปลูกข้าวตาม กรณีที่ใช้เมล็ดโสนอัฟริกัน ก่อนปลูกเมล็ด ควรแช่น้ำนาน 12 ชั่วโมง เพื่อทำให้เมล็ดงอกดีขึ้น เนื่องจากเปลือกหุ้มเมล็ดมีความหนา

วิธีที่ 3 ปลูกพืชปุ๋ยสดหลังทำนา ได้แก่ โสนอัฟริกัน ปอเทือง ถั่วพุ่ม หรือถั่วพร้า (เลือกใช้อย่างใดอย่างหนึ่ง) ใช้อัตราเมล็ด 5, 5, 8

และ 10 กิโลกรัมต่อไร่ ตามลำดับ ควรปลูกโดยไม่ไถพรวน ไม่ต้องเกี่ยวตอซังข้าวออก ใช้เมล็ดถั่วหยอดลงไปในนาโดยตรง และปลูกทันทีที่เกี่ยวข้าวเสร็จ ในขณะที่ดินยังมีความชื้นอยู่ หรือจะปลูกโดยการไถพรวนดินก็ได้ และไถกลบระยะออกดอก ประมาณ45-50 วัน ปล่อยให้ย่อยสลายประมาณ 2 สัปดาห์ จึงปลูกข้าว

การใช้พืชปุ๋ยสดในระบบการปลูกพืชไร่ ทำได้ 3 วิธี คือ

1.ใช้พืชปุ๋ยสดในระบบปลูกพืชหมุนเวียน

- การปลูกพืชปุ๋ยสดในต้นฤดูฝน แล้วไถกลบเป็นพืชปุ๋ยสด หลังจากนั้น จึงปลูกพืชหลักตามพืชปุ๋ยสด ได้แก่ ปอเทือง โสนต่างๆ ถั่วเขียว และพืชหลัก ได้แก่ ข้าวโพด ข้าวไร่ และพืชเศรษฐกิจอื่นๆ ที่มีอายุสั้น

- การปลูกพืชปุ๋ยสด เพื่อเป็นพืชคลุมดิน ซึ่งมีอายุยาวในหนึ่งปี แล้วจึงปลูกพืชหลักในปีที่สอง หมุนเวียนกันไป ซึ่งเป็นระบบที่ใช้กับพื้นที่ความลาดเท เพื่อป้องกันการชะล้างพังทลาย หรือพื้นที่เกษตรที่สูงที่มีการทำไร่เลื่อนลอย เช่น การปลูกถั่วแปบเป็นปุ๋ยพืชสดสลับกับถั่วแดงหลวง เป็นต้น

2.ปลูกพืชปุ๋ยสดในระบบปลูกพืชแซม เป็นการปลูกพืชปุ๋ยสดบางชนิดที่เหมาะสมแซมในแถวพืชหลัก ซึ่งอาจเป็นการปลูกพืชหลัก แล้วปลูกพืชปุ๋ยสดแซมในแถวไปพร้อมๆ กันในเวลาเดียวกัน หรือปลูกพืชหลักแล้วระยะเวลาหนึ่ง จึงปลูกพืชปุ๋ยสดแซมเป็นการเหลื่อมเวลากันในหนึ่งปี

3.ปลูกพืชปุ๋ยสดในระบบปลูกพืชแบบแถบพืช เป็นวิธีการปลูกพืชปุ๋ยสดเป็นแนวแถบคล้ายๆ เป็นกำแพง เพื่อป้องกันและลดการสูญเสียหน้าดินจากการชะล้างพังทลายของดิน โดยแนวแถบของพืชปุ๋ยสด จะทำหน้าที่เป็นแนวดักตะกอน อันเกิดจากการชะล้างพังทลายจากน้ำฝน และลดความรุนแรงจากการไหลบ่าของน้ำฝนได้ โดยแถบพืชปุ๋ยสด อาจจะกว้างประมาณ 2 เมตร ยาวตามแนวระดับ ต่อจากแถบพืชปุ๋ยสด จึงเป็นแปลงปลูกพืชเศรษฐกิจ อาจกว้างประมาณ 3 เมตร ขึ้นอยู่กับความลาดเท ต่อจากนั้น ก็เป็นแถบพืชปุ๋ยสดอีก ทำเช่นนี้สลับกันไปจนเต็มพื้นที่ พืชที่นิยมใช้ปลูกเป็นแนวแถบพืชปุ๋ยสด ได้แก่ กระถิน ถั่วมะแฮะ เป็นต้น

4.ปลูกพืชปุ๋ยสดในระบบพืชคลุมดิน การปลูกพืชในระบบนี้ มักเป็นการปลูกพืชปุ๋ยสดตระกูลถั่ว ชนิดที่มีลำต้นเป็นเถาเลื้อย เพื่อให้เจริญเติบโตปกคลุมผิวดิน ในระบบนี้ ได้แก่ ถั่วคาโลโปโกเนียม ไมยราบไร้หนาม ถั่วคุดซู ถั่วแปบ เป็นต้น

นาย รัตวิ

จาก http://www.naewna.com วันที่ 24 มีนาคม 2558

เร่งเคลื่อนแนวพระราชดำริ ขยายผล7โครงการหลักสู่เกษตรกร

นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการดำเนินงานโครงการพัฒนาตามพระราชดำริ 7 โครงการ และเพื่อให้การบริหารงานโครงการพัฒนาตามพระราชดำริเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถตอบสนองแนวพระราชดำริที่ได้รับพระราชทานไว้ได้อย่างครบถ้วน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงมอบหมายให้ข้าราชการปฏิบัติหน้าที่ผู้จัดการโครงการพัฒนาตามพระราชดำริ ซึ่งการขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการพัฒนาตาม

 พระราชดำริ 7 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการศูนย์บริการและพัฒนาลุ่มน้ำปายตามพระราชดำริ จังหวัดแม่ฮ่องสอน 2.โครงการศูนย์บริการและพัฒนาที่สูงป่าตองตามพระราชดำริ จังหวัดแม่ฮ่องสอน 3.โครงการพัฒนาตามพระราชดำริ อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ 4.โครงการศูนย์พัฒนาไม้ผลตามพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี 5.โครงการศูนย์บริการการพัฒนาปลวกแดงตามพระราชดำริ จังหวัดระยอง 6.โครงการพัฒนาพื้นที่ราบเชิงเขาจังหวัดสระแก้ว – ปราจีนบุรี ตามพระราชดำริ และ 7.โครงการศูนย์พัฒนาปศุสัตว์ตามพระราชดำริ อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย

นายชวลิต กล่าวต่อไปว่า ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ เร่งขับเคลื่อนการดำเนินงาน โดยพิจารณาจัดสรรอัตรากำลังเพื่อรับผิดชอบงานโครงการพัฒนาตามพระราชดำริในลักษณะประจำ รวมทั้งพิจารณาจัดสรรเงินงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการศูนย์ และรวบรวมผลสำเร็จหรือองค์ความรู้ของศูนย์ฯ เพื่อนำไปใช้ในการขยายผลต่อยอดให้แก่เกษตรกร หรือพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร นอกจากนี้ ยังได้เตรียมจัดทำร่างแผนแม่บทโครงการ ฉบับใหม่ ปีงบประมาณ 2560–2564 เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานต่อไป

จาก http://www.naewna.com วันที่ 24 มีนาคม 2558

กฟก.เดินหน้าเพิ่มศักยภาพเกษตรกร เร่งแก้ปัญหาหนี้-ฟื้นอาชีพรับ 'เออีซี'

                             ปัญหาหนี้สินของเกษตรกร เป็นปัจจัยสำคัญที่บั่นทอนความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยที่ผ่านมา หน่วยงานภาครัฐตลอดจนทุกรัฐบาล มีความพยายามในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อให้ภาคการเกษตรของไทยสามารถเดินหน้าเข้าสู่โลกแห่งการแข่งขันทางการค้ายุคใหม่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยมีหน่วยงานสำคัญอย่าง “กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร” หรือ กฟก.เป็นหน่วยงานหลักที่ร่วมกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เป็นหัวหอกสำคัญในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว 

                             วัชระพันธุ์ จันทรขจร เลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูเผยว่า ที่ผ่านมา กองทุนฟื้นฟูได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้และการฟื้นฟูอาชีพให้เกษตรกรที่มาขึ้นทะเบียนสมาชิกไปแล้วกว่า 500,000 ราย ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ และบริหารจัดการหนี้แทนอีกกว่า 28,460 ราย ช่วยรักษาที่ดินทำกินกว่า 140,429 ไร่ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการเดินหน้าพัฒนาศักยภาพให้แก่เกษตรกรในด้านอื่นๆ ต่อไป โดยในจำนวนสมาชิกเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนหนี้กับกองทุนฟื้นฟูนั้นพบว่ามีคุณสมบัติไม่ถูกต้องกว่า 270,000 ราย ส่วนที่เป็นหนี้ผิดนัดชำระ (เอ็นพีแอล) ขึ้นไป

                             กองทุนฟื้นฟูมีการกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยได้กำหนดหลักเกณฑ์การชำระหนี้แทนดังนี้ ในกรณีที่เป็นลูกหนี้สหกรณ์ จะชำระหนี้แทนเมื่อมีการผิดนัดชำระเกิน 3 ปีขึ้นไป ส่วนหนี้ของสถาบันการเงินอื่นๆ เช่น  ธ.ก.ส. ธนาคารพาณิชย์และนิติบุคคลจะต้องเป็นหนี้ที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี โดยกองทุนฟื้นฟูจะติดต่อชำระหนี้แทนทุกสถาบันการเงินที่ยินยอมให้กองทุนฟื้นฟู เข้าไปชำระหนี้แทน และสุดท้าย หนี้ที่ถูกบังคับคดีขายทอดตลาดไปยังบุคคลอื่นหรือเจ้าหนี้ซื้อทรัพย์ไว้ กระบวนการเหล่านี้ ทางกองทุนฟื้นฟูจะติดตามขอซื้อทรัพย์คืนจนเสร็จสิ้นโดยเร็ว 

                             วัชระพันธุ์ ระบุอีกว่า จากจุดเริ่มต้นแห่งปัญหา เมื่อภาคการเกษตรไทยเข้าสู่โลกแห่งการค้าเต็มรูปแบบ รวมทั้งปัจจัยการผลิตที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการเข้ามาของการเกษตรในยุคใหม่ ที่มีเรื่องของ “ราคาปัจจัยทางการผลิต” ซึ่งเป็นต้นทุน และปัจจัยในเรื่องของราคา จากการรับซื้อผ่านกลไกการตลาด ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของความล้มเหลวในภาคการเกษตร จนเป็นสาเหตุให้เกิด “หนี้” ในภาคการเกษตร และกับตัวของเกษตรกร ที่สร้างความเดือดร้อน และบั่นทอนความเจริญในภาคการผลิต และภาคการเกษตรของไทย

                 "กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร จึงมีบทบาททวีความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะในอนาคต ที่การแข่งขันทางภาคการเกษตรของไทย จะมีความเข้มข้น ทั้งจากการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียน หรือเออีซีในปลายปีนี้ และการเปลี่ยนแปลงของวงจรตลาดสินค้าเกษตรและเพื่อสนองตอบต่อนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการให้เกิดการแก้ไขปัญหาในภาคการเกษตรของไทยอย่างมั่นคง และยั่งยืน" เลขาธิการกฟก.กล่าวทิ้งท้าย

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 24 มีนาคม 2558

จ่อปล่อยผีใบอนุญาตโรงน้ำตาลพร้อมลดระยะห่างเหลือ 50 กม.

นายจักรมณฑ์  ผาสุกวนิช  รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในเดือนเม.ย.นี้ตนจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่ออนุมัติหลักเกณฑ์การกำหนดระยะห่างที่ตั้งโรงงานน้ำตาลทรายจากเดิมกำหนดไว้ต้องห่างไม่น้อยกว่า 80 กิโลเมตร(กม.) โดยหลักเกณฑ์ใหม่จะต่ำกว่า ทั้งนี้ เมื่อหลักเกณฑ์ดังกล่าวชัดเจนแล้ว ก็จะเร่งพิจารณาการขอใบอนุญาตย้ายและขยายโรงงานน้ำตาลทราย 50 แห่ง ที่ค้างการอนุมัติภายใน 90 วันให้แล้วเสร็จ

“ระยะห่างระหว่างโรงงานน้ำตาลต่อแห่ง ที่ควรตั้งกิจการห่างกัน 80 กม. จุดประสงค์เพื่อไม่ให้เกิดการแย่งอ้อย แต่ที่ผ่านมาก็มีปัญหาบางรายต่ำกว่ากำหนด จึงทำให้การพิจารณาการขอย้าย และขยายโรงงานใหม่ 50 แห่ง ต้องหยุดไปด้วย ซึ่งเกณฑ์ใหม่จะมีทางเลือกขึ้นอยู่กับครม.จะพิจารณา แต่คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 50 กม.”

ทั้งนี้ ในปัจจุบันโรงงานน้ำตาลทรายของประเทศไทยมีอยู่ 52 แห่งมีกำลังการผลิตใกล้เคียงกับอ้อยที่ปลูกอยู่ในขณะนี้ และประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลทรายอันดับ 2 ของโลก แต่รัฐบาลมีนโยบายที่จะส่งเสริมการนำข้าวนาปรับมาปลูกอ้อยแทน เพื่อลดปัญหาราคาข้าวตกต่ำเนื่องจากเห็นว่าระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเป็นพืชเพียงชนิดเดียว ที่มีระบบดูแลตัวเองที่มีประสิทธิภาพ ทำให้รัฐบาลต้องหาแนวทางการพัฒนาพืชเกษตรอื่นๆ เช่นยางพารา ในลักษณะเดียวกับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายแทน โดยจะมีกองทุนขึ้นมาดูแลราคาให้มีเสถียรภาพ

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 24 มีนาคม 2558

น้ำตาลโลกราคาดิ่งต่ำสุดในรอบ 6 ปี

ประเทศผู้ผลิตน้ำตาลอันดับต้นๆของโลกอาจกำลังเผชิญภาวะยุ่งยากในปัจจุบันเนื่องจากภาวะปริมาณน้ำตาลล้นตลาดและปัญหาการดำดิ่งของค่าเงินเรียลซึ่งเป็นสกุลเงินของประเทศบราซิล ผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดของโลก 2 ปัจจัยดังกล่าวกดดันให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกหล่นวูบลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 6 ปี

   เดอะ วอลล์ สตรีต เจอร์นัล รายงานว่า สถานการณ์ดังกล่าวอาจเป็นข่าวดีในฝั่งของผู้ใช้น้ำตาล เช่น โรงงานผลิตช็อกโกแลตและของหวานต่างๆ แต่สำหรับประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลในเอเชีย เช่น อินเดียและไทย ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกรองๆจากบราซิล เรื่องนี้เป็นข่าวร้าย เพราะตั้งแต่ช่วงฤดูร้อนปี 2557 ราคาน้ำตาลในตลาดโลกลดลงมาแล้วมากกว่า 30% ราคาซื้อขายล่วงหน้าตลาด ICE Futures อยู่ที่ระดับต่ำกว่า 13 เซ็นต์ต่อปอนด์

    ในส่วนของปัจจัยค่าเงินเรียล เนื่องจากปัจจุบันอัตราแลกเปลี่ยนเงินเรียลเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯนั้นลดลงไปอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบเกือบๆ 11 ปี ขณะที่การซื้อขายน้ำตาลในตลาดโลกใช้เงินสกุลดอลลาร์เป็นหลัก ดังนั้น ผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลของบราซิลจึงได้รับผลกระทบจากราคาน้ำตาลที่ตกต่ำไม่รุนแรงนักและยังสามารถลดราคาเพื่อสู้กับคู่แข่งขันในตลาดโลกได้อีกด้วย ขณะที่เงินรูปีของอินเดียและเงินบาทของไทยยังทรงตัวดีอยู่เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯที่แข็งขึ้น ทำให้ผู้ส่งออกน้ำตาลของอินเดียและไทยไม่สามารถหั่นราคาส่งออกและเสียเปรียบคู่แข่งในตลาด

    เซอร์กี กูโดชนิคอฟ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากองค์การน้ำตาลระหว่างประเทศ (International Sugar Organization) ในกรุงลอนดอนให้ความเห็นว่า ค่าเงินเรียลของบราซิลที่อ่อนลงมากเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นปัญหาใหญ่สำหรับผู้ส่งออกน้ำตาลในเอเชีย และการกดราคาของบราซิลก็จะยิ่งมีผลต่อราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่กำลังอยู่ในช่วงขาลง นอกจากนี้ ปริมาณน้ำตาลล้นตลาดก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญ ทั้งนี้ คาดว่าปริมาณน้ำตาลในตลาดโลกของปีนี้จะมากเกินความต้องการประมาณ 6 แสนตัน ด้วยหลายปัจจัยประกอบกัน อาทิ โรงกลั่นน้ำมันเอทานอลในบราซิลปล่อยอ้อยเข้าสู่โรงงานน้ำตาลมากขึ้นเมื่อกำไรจากการกลั่นน้ำมันน้อยลง สภาพอากาศที่ดีในอินเดียทำให้ปลูกอ้อยได้มากขึ้นใน 2 ช่วงฤดูกาลที่ผ่านมา รวมทั้งรอบการผลิตที่เวียนมาให้ผลผลิตมากในช่วงฤดูกาลหลังๆนี้

    นายวันดานา บารติ ผู้ช่วยรองประธานฝ่ายสินค้าโภคภัณฑ์ บริษัท เอสเอ็มซี คอมเทรด จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทซื้อขายนํ้าตาลล่วงหน้าในอินเดีย ให้ความเห็นว่า ขณะนี้บราซิลมีปริมาณนํ้าตาลส่วนเกินจำนวนมากและประเทศผู้ส่งออกนํ้าตาลรายอื่นๆก็หวังว่าสถานการณ์นี้จะผ่านพ้นไปโดยเร็ว และเขาเองก็เชื่อว่าอินเดีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกนํ้าตาลอันดับ 2ของโลกก็คงมีนํ้าตาลส่งออกอีกไม่มากนักในอนาคตอันใกล้นี้

จาก http://www.thanonline.com วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2558

พลังงานเตรียมรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพิ่ม

กระทรวงพลังงาน เตรียมรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพิ่มเท่าตัวในอีก 20 ปีข้างหน้า จากร้อยละ 11 เป็นร้อยละ 22-25

นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวในงานสัมมนาและนิทรรศการ Green Network Forum 2015 โดยระบุว่า กระทรวงพลังงาน เตรียมจะรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวในอีก 20 ปีข้างหน้า จากร้อยละ 11 เป็นร้อยละ 22-25 หรือประมาณ 19,000 เมกะวัตต์ ของปริมาณไฟฟ้าทั้งระบบ โดยมากที่สุดคือ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ทั้งนี้ สำหรับปี 2558 จะเน้นการผลิตไฟฟ้าจากขยะเป็นหลัก เพื่อแก้ปัญหาขยะทั้งระบบตามนโยบายของรัฐบาล เป้าหมายจะมีกำลังผลิต 500 เมกะวัตต์ ใน 20 ปี โดย กระทรวงพลังงาน พร้อมเจรจาปรับอัตราการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะในพื้นที่ที่มีปัญหา เพื่อสนับสนุนให้เอกชนลงทุน

ขณะเดียวกัน จะมีการพิจารณาเปิดประมูลสร้างโรงไฟฟ้าขยะ โรงไฟฟ้าชีวมวล และโรงไฟฟ้าชีวภาพ ในกรณีที่เอกชนสนใจลงทุนมากกว่าโควตาที่ภาครัฐกำหนด แต่ราคาผลิตไฟฟ้าต้องไม่เกินที่กำหนดไว้ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อมูลว่า ปริมาณไฟฟ้าจากขยะจะเกิดขึ้นมากน้อยเท่าใด

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2558

น้ำตาลดิ่งหนักสุดรอบ6ปี กังวลกระทบส่งออกไทย

 “บราซิล”ผู้ผลิต และส่งออกน้ำตาลรายใหญ่สุดของโลก เทขายน้ำตาลออกสู่ตลาดจำนวนมาก ทำราคาในตลาดโลกป่วน

แหล่งข่าวจาก คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.) เปิดเผยว่า  กอน.กำลังติดตามสถานการณ์ราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกใกล้ชิดหลังระดับราคายังคงลดลงต่อเนื่องโดยสิ้นสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาราคาส่งมอบพ.ค.2558 เฉลี่ยที่ 12.56-12.62 เซนต์ต่อปอนด์ถือเป็นระดับราคาต่ำสุดในรอบ 6 ปีโดยปัจจัยหลักมาจากที่บราซิลผู้ผลิต และส่งออกรายใหญ่สุดของโลกเทขายน้ำตาลออกสู่ตลาดจำนวนมาก ประกอบกับค่าเงินเรียลที่อ่อนค่าสุดในรอบ12ปี หากสถานการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้ต่อเนื่องมีแนวโน้มว่าจะกระทบกับการส่งออกน้ำตาลทรายของไทยอย่างหนักและจะรวมไปถึงราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 58/59 ที่จะอยู่ในระดับเพียง 700 กว่าบาทต่อตันเท่านั้น

“ขณะนี้เริ่มพบสัญญาณไม่ดีนัก ที่โรงงานหลายแห่งเริ่มมีสต็อกน้ำตาลทรายค้างโกดังจำนวนมากแล้วเพราะผู้ซื้อไม่ยอมมารับมอบ สัญญาณดังกล่าวดูจะไม่สู้ดีนักสำหรับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยที่ไม่เพียงจะกระทบต่อการส่งออกและจะฉุดให้ราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการใหม่ตกต่ำ แต่ปัญหาจะตามมาในเรื่องของการดูแลชาวไร่อ้อย”

ทั้งนี้หากยังคงต้องการราคาที่คุ้มทุน และต้องใช้กลไก กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย(กท.)ดูแลราคาอ้อยต่อไป อย่างไรก็ดีล่าสุด คณะกรรมการบริหารกองทุนอ้อยที่มีนายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเป็นประธานได้เห็นชอบแผนการกู้เงินกับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธ.ก.ส.)ตามมติ กอน.จำนวน 1.6 หมื่นล้านบาทเพื่อเพิ่มค่าอ้อยฤดุการผลิตปี 57/58 อีกตันละ 160 บาทจากราคาประกาศตันละ 900บาทแล้ว โดยให้กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติต่อไป

จาก http://www.naewna.com วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2558

ศูนย์แก้จน สศก.สู้ภัย ศก.-ธรรมชาติ

ก่อนหน้านี้...สถานการณ์ปาล์มน้ำมันอยู่ในสภาวะขาดแคลน แต่ ณ วันนี้ ผลผลิตปาล์มออกมามีปริมาณพอเพียงแล้ว เพียงแต่ “ราคาปาล์ม”...อาจจะไม่สะท้อนตามที่เกษตรกรต้องการ

ปัจจุบันพื้นที่การปลูกปาล์มเพิ่มขึ้น ประกอบกับต้นปาล์มที่มีอยู่ อายุ 5-15 ปี ก็มีเกือบกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ปลูกปาล์มและอยู่ในช่วงผลผลิตออกมาเยอะ

คาดว่า...ปีนี้จะมีผลผลิตปาล์มสดออกมา 12.57 ล้านตัน ของผลผลิตปาล์มน้ำมัน

จะว่าไปแล้ว...ปริมาณก็ใกล้เคียงปีที่แล้ว ถ้าวางแผนบริหารจัดการได้ดีก็จะไม่มีปัญหาเหมือนปลายปีที่ผ่านมา ที่ยังเป็นปัญหาก็คือต้นทุนยังสูง มีความพยายามลดต้นทุนเกษตรกรเรื่องราคาปุ๋ย ค่ายากำจัดศัตรูพืช ซึ่งเป็นโครงสร้างต้นทุนเกือบ 40 เปอร์เซ็นต์ในการปลูกปาล์ม และมากกว่าร้อยละ 30 เป็นค่าแรงงาน

เลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) บอกว่า กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรฯ จะคุยกันถึงความจำเป็นในการลดต้นทุน ด้วย “ราคาน้ำมัน” ที่ลดลงต่อเนื่อง ต้นทุนปุ๋ย ยาเคมีควรลดลงตามสัดส่วนไปด้วย

ยุทธศาสตร์ปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม วางไว้ 12 ปีข้างหน้า ในปีนี้จะเพิ่มพื้นที่ปลูกให้เป็น 4.5 ล้านไร่ แต่จะเพิ่มให้เป็น 7.5 ล้านไร่...ในปี 2569

“เพื่อให้ปริมาณน้ำมันปาล์มสมดุล สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์...ถ้าเหลือบริโภคก็นำไปใช้เป็นพลังงาน...ปรับแผนจากบริโภคเป็นพลังงานได้ หรือเปลี่ยนจากพลังงานเป็นบริโภคได้”

เงื่อนปัญหาสำคัญอยู่ที่...ความแม่นยำจะต้องมีการพยากรณ์ คาดการณ์ ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เลอศักดิ์ บอกว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในปีนี้ ผลการคาดการณ์อาจจะคลาดเคลื่อนเนื่องจากอิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในภาคใต้ปี 56 ต่อเนื่องปี 57...เจอกับปัญหาภัยแล้ง

“ภาคใต้ฝั่งตะวันออก...ตะวันตกมีปริมาณฝนต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ ทำให้ผลผลิตปาล์มต่อไร่ลดลง แม้ว่าจะมีผลผลิตทดแทนจากปาล์มที่ปลูกมากขึ้น แต่ก็ทำให้ปริมาณสมดุลได้ระดับหนึ่งเท่านั้น การแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำมันปาล์มด้วยการนำเข้า...ถือเป็นทางเลือกสุดท้ายจริงๆ”

ต้องทำความเข้าใจด้วยว่า “ปาล์ม”...เป็นพืชที่ปลูกเพื่อที่จะใช้สร้างความพอเพียงและความมั่นคงทางอาหารของประเทศเท่านั้น เราจะเป็นคู่แข่งกับมาเลเซีย อินโดนีเซียไม่ได้อยู่แล้ว เพราะเป็นผู้ผลิตหลักรวมกัน 80 เปอร์เซ็นต์...ส่วนเรามีแค่ 5 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนน้ำมันปาล์มในโลกนี้ที่ผลิตขึ้นมา

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เปรียบเสมือนเสนาธิการของกระทรวงเกษตรฯ ทั้งด้านการเสนอแนะนโยบาย จัดทำยุทธศาสตร์ แผนพัฒนาและมาตรการทางการเกษตร รวมทั้งจัดทำท่าที...ร่วมเจรจาการค้าสินค้าเกษตร และความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการเกษตรระหว่างประเทศ

รวมทั้งจัดทํา ให้บริการข้อมูลข่าวสารการเกษตรอย่างถูกต้อง รวดเร็ว ทั่วถึง ครบทุกด้าน...ศึกษาวิเคราะห์ วิจัยเศรษฐกิจการเกษตร ติดตาม ประเมินผล เพื่อให้การเกษตรของประเทศมีความพร้อม...มีคุณภาพชีวิตที่ดี

วันนี้ “หนี้สินครัวเรือน” เป็นปัญหาใหญ่ของเกษตรกรไทย ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มประชากรที่มีรายได้น้อยและจำกัด เลอศักดิ์ ย้ำว่า รัฐบาลมีนโยบายช่วยเหลือเกษตรกร มีความพยายามผ่านหลายโครงการ เพื่อให้เกษตรกรได้มีช่องทางปลดเปลื้องหนี้สิน

วันที่ 24 มีนาคม 2558 ที่จะถึงนี้ ในโอกาสครบรอบวันคล้ายวันสถาปนา 36 ปี สศก. จะจัดสัมมนาที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ ได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) บรรยายในหัวข้อ “การจัดการหนี้สินครัวเรือนเกษตรเพื่อความอยู่รอดอย่างยั่งยืน”

ประเด็นอื่นๆ “บทบาทของ สศก.กับการพัฒนาการเกษตร” โดย ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณจากทีดีอาร์ไออีกท่านที่จะมาร่วมพูดคุย

สิ่งสำคัญอีกอย่างก็คือเรื่อง “การปรับตัวการค้าสินค้าเกษตรของไทยภายใต้การเปลี่ยนแปลง” โดย ผศ.ดร.บุญจิต ฐิตาภิวัฒนกุล ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และหัวข้อสุดท้าย “การบริหารสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรสู่ความเป็นเลิศ” โดยเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

ความท้าทายสำคัญ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร จะทำอย่างไรที่จะชี้นำเกษตรกรได้?...หมายความว่าจะต้องให้ข้อมูลในการตัดสินใจของเกษตรกรว่าจะเลือกปลูกพืชชนิดใด “ต้นทุนผลิต”...คุ้มไหม อนาคตสินค้าเกษตรตัวไหนที่จะทำให้ “ค่าตอบแทน”...ให้...“ผลผลิต” คุ้มกับ...“การลงทุน”

จะเห็นว่าพืชที่เป็นปัญหาวันนี้ก็คือ “ข้าว” กับ “ยาง”...เกิดปัญหาราคาตกต่ำ เกษตรกรก็อาจจะต้องปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชที่ยังเป็นความต้องการของตลาดอยู่ ข้าวอาจจะยังต้องทำเป็นข้าวนาปี แต่ในการเพาะปลูกครั้งที่สอง...ข้าวนาปรัง อาจจะปรับเป็นปลูกถั่วเหลือง พืชตระกูลถั่วต่างๆ

โดยเฉพาะ “ถั่วเหลือง”...ยังมีราคาดี เกษตรกรอาจจะทำสัญญาติดต่อซื้อขายโดยตรงกับโรงงานผลิตน้ำมันถั่วเหลืองได้ ทุกวันนี้เรานำเข้าอยู่แล้วแต่ผลิตเองได้ไม่กี่เปอร์เซ็นต์...ไม่กี่แสนตัน แต่นำเข้าปีละเกือบ 5 ล้านตัน ส่วนพืชทางเลือกอื่นอาจจะเป็นข้าวโพด มันสำปะหลัง...

ที่สามารถปรับเปลี่ยนเป็นพืชพลังงาน อาหารสัตว์ได้

ข้อมูลสนับสนุนการทำเกษตรที่รวดเร็ว ครบด้านเป็นสิ่งสำคัญ อีกปัจจัยที่สำคัญเพื่อความอยู่รอดอย่างยั่งยืน เกษตรกรไทยต้องทำสินค้าที่มาตรฐาน เมื่อประตูเศรษฐกิจอาเซียนเปิดเต็มที่สินค้าเกษตรประเทศไทยต้องมีคุณภาพมากกว่ากลุ่มประเทศด้วยกันถึงจะขายได้ราคากว่า ด้วยมี “ต้นทุนการผลิต”...สูงกว่า “ค่าแรง”...แพงกว่า จะขายแพงกว่าก็ต้องมีคุณภาพมากกว่า

“สินค้าเกษตรไม่ใช่แค่ผลิตแล้วขาย ต้องแปรรูปเพิ่มมูลค่า รัฐมนตรีมีนโยบายเปิดตลาดให้เกษตรกรมีโอกาสได้ขายผลผลิตโดยตรง...ทุกจังหวัด สินค้าที่ขายก็ค่อนข้างเกรดพรีเมียม มีมาตรฐานรับรอง เป็นส่วนหนึ่งในการนำเกษตรกรไปสู่การพัฒนา เมื่อเปิดเออีซีเราก็จะขยับตัวได้เร็วขึ้น”

นอกจากนี้การรวมกลุ่มกันยังจะช่วยเรื่องการบริหารต้นทุน ทำให้มีอำนาจต่อรองในเรื่องของการขายผลผลิต การซื้อปัจจัยการผลิต เมื่อรวมกันแข็งแรงอาจจะรวมกันเป็น “สหกรณ์”

อาจจะพอได้ยินคำว่า “เกษตรผืนใหญ่”...รวมกลุ่มกันหลังจากจัดโซนนิ่งไปแล้ว ในขั้นดำเนินการจะเห็นโครงการนำร่องเกิดขึ้นในพืชหลายชนิด อาทิ “ข้าวโพด”...แถวอำเภอนครไทย พิษณุโลก “มันสำปะหลัง”...แถวกำแพงเพชร แล้วก็จะมีเรื่องของ “ข้าว”...แถวจังหวัดชัยนาท...สิงห์บุรีลุ่มน้ำเจ้าพระยา

แล้วก็มีเรื่องของ “อ้อย”...แถวจังหวัดกาญจนบุรี “ปาล์ม”...ที่อ่าวลึก จังหวัดกระบี่ นับรวมไปถึงเรื่องการส่งเสริมหอยแครง ประมงก็เป็นเกษตรผืนใหญ่อยู่ในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ ฯลฯ

“เกษตรกรไทยยุคใหม่” จะต้องอยู่กับข้อมูล เพิ่มศักยภาพการผลิต สร้างภูมิคุ้มกันตัวเองให้ต่อสู้กับวิกฤติต่างๆที่ผ่านเข้ามาได้ โดยเฉพาะมรสุมเศรษฐกิจและภัยธรรมชาติ

เลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ฝากทิ้งท้าย.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2558

พ่อค้าแอบขึ้นราคาปุ๋ย 

นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า จากกรณีที่ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 50 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ราคาปุ๋ยที่มีต้นทุนแปรผันกับราคาน้ำมันจะต้องปรับตัวลดลงประมาณ 20-30% แต่ขณะนี้พ่อค้าขายปุ๋ยกลับปรับราคาปุ๋ยเพิ่มขึ้นประมาณ 30% เพื่อรองรับฤดูการเพาะปลูก

"วันที่ 23 มี.ค.นี้ นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ กับพล.อ.ฉัตรชัย สาลิกัลยะ รมว.พาณิชย์ จะร่วมหารือเพื่อหามาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งอาจจะขอความ ร่วมมือจากพ่อค้าปุ๋ยลดราคาลงเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร"

ช่วงเดือนม.ค.-ก.พ.ของทุกปีราคาปุ๋ยจะลดลง เนื่องจากเกษตรกร ไม่ต้องทำการเกษตร แต่เมื่อถึงเดือนมี.ค.ของทุกปี พ่อค้าจะฉวยโอกาสขึ้นราคาปุ๋ย แต่ในปีนี้ราคาน้ำมันซึ่งเป็นวัตถุดิบตั้งต้น ของปุ๋ย ราคาลดลงอย่างมากและเห็นได้ชัด แต่พ่อค้ายังเอาเปรียบเกษตรกร ฉวยโอกาสขึ้นราคา ส่งผลให้กระทรวงเกษตรฯ ต้องหารือเร่งด่วนก่อนที่จะถึงฤดูการผลิต เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร

จาก http://www.khaosod.co.th   วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2558

‘โทรมาตร’ จัดการน้ำฉบับกฟผ.

รายงานข้อมูลสถานการณ์น้ำ 13 เขื่อนหลักในความดูแลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อัพเดตแบบวินาทีต่อวินาทีตลอด 24 ชั่วโมง เป็นภาระหน้าที่ของ “ระบบโทรมาตรลุ่มน้ำและเครื่องส่งข้อมูล” เป้าหมายเพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการและใช้น้ำให้คุ้มค่าทุกหยดตั้งแต่การชลประทาน การเกษตร การประมง การอุปโภคบริโภคของชาวบ้านตลอดจนการผลิตกระแสไฟฟ้า

ระบบดังกล่าวพัฒนาและออกแบบโดย รัฐวิชญ์ พุฒิพัฒนาศักดิ์ วิศวกรระดับ 8 กฟผ.และคณะ ผลงานระดับรางวัลเชิดชูเกียรติจากการประกวดสิ่งประดิษฐ์คิดค้นทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปี 2557 โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับมูลนิธิธนาคารกรุงเทพ

เทคโนโลยีช่วยตัดสินใจ

รัฐวิชญ์ อธิบายว่า ระบบดังกล่าวประกอบด้วยเครื่องวัดระดับน้ำ เครื่องวัดปริมาณน้ำฝน เครื่องวัดความเค็มของน้ำและเครื่องวัดอุณหภูมิและความชื้น ที่จะสามารถตรวจวัดและส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ที่ครอบคลุม 3G รวมถึงเครือข่ายผ่านดาวเทียมในกรณีที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล

ระบบที่พัฒนาขึ้นนี้จะทำให้รู้ปริมาณน้ำฝน ระดับน้ำเหนือและท้ายเขื่อน เพื่อบริหารจัดการน้ำออกจากเขื่อนในปริมาณที่เหมาะสม ไม่ปล่อยน้ำมากเกินไปจนทำให้น้ำท่วมพื้นที่เกษตร หรือปล่อยน้ำน้อยเกินไปจนขาดน้ำ ทั้งยังรู้ปริมาณความเค็มและออกซิเจนในน้ำ ทำให้สามารถปล่อยน้ำจืดในปริมาณที่เหมาะสมสำหรับการเลี้ยงกุ้งอีกด้วย

“เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำลดลงต่อเนื่อง วอนประชาชนงดการทำนาปรังครั้งที่ 2” ตัวอย่างข้อมูลผ่านการสังเคราะห์จากระบบโทรมาตรเพื่อการบริหารจัดการน้ำ

จุดเด่นของระบบคือ ความสามารถส่งข้อมูลได้ทุก 15 นาที ทำให้จัดการน้ำได้อย่างรวดเร็ว จัดการข้อมูลได้สะดวกทั้งผ่านอินเทอร์เน็ตและอินทราเน็ต รองรับระบบสื่อสารหลากหลาย ทั้งเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ, LAN/WAN และระบบเครือข่ายผ่านดาวเทียม อีกทั้งมีราคาถูกในหลักแสนบาท เมื่อรวมกับค่าก่อสร้างและติดตั้งสถานีตรวจวัดแล้วจะอยู่ราว 1 ล้านบาทต่อสถานี ถูกกว่าเทคโนโลยีนำเข้าที่ต้องใช้งบราว 3 ล้านบาทต่อสถานี นอกจากนี้การดูแลรักษาทำได้ง่ายกว่า รองรับอะไหล่ที่หลากหลาย ไม่ยึดติดกับแบรนด์ใด

“เราใช้งบวิจัยและพัฒนา 1 ล้านบาทจาก กฟผ. และใช้เวลา 1 ปีพัฒนากระทั่งเสร็จสมบูรณ์ในปี 2552 ขณะนี้ติดตั้งไปแล้วกว่า 54 สถานี คาดว่าภายในปี 2560 จะครบทุกสถานีที่เราดูแล” นักวิจัยกล่าว

ทั้งนี้ แม้ทางทีมวิศวกรจะอยู่ระหว่างเดินหน้าติดตั้งระบบ แต่ทางทีมวิจัยยังคงทำการพัฒนาต่อเนื่องโดยมีเป้าหมายที่จะทำให้เครื่องมีขนาดเล็กลง รองรับเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ 4G และพัฒนาประสิทธิภาพของระบบเครือข่ายผ่านดาวเทียมกรณีใช้ในพื้นที่ไร้สัญญาณโทรศัพท์มือถือ

นวัตกรรมดี+ราคาถูก

เสมียน ขำประถม หัวหน้าแผนกพัฒนาอุปกรณ์ศูนย์ควบคุม กฟผ.กล่าวว่า เครื่องส่งข้อมูลการบริหารจัดการน้ำและระบบโทรมาตรลุ่มน้ำ ออกแบบมาเพื่อรายงานสถานการณ์น้ำในเขื่อนที่อยู่ภายใต้การดูแลของ กฟผ. รวมถึงข้อมูลปริมาณน้ำฝนและสภาพน้ำท่าในพื้นที่ลุ่มน้ำที่เขื่อนตั้งอยู่ ทั้งด้านเหนือเขื่อนและด้านท้ายเขื่อน เพื่อให้ผู้ใช้สามารถติดตามสถานการณ์น้ำฝน ระดับน้ำ ปริมาณน้ำที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำและสภาพน้ำในลุ่มน้ำตามจุดสำคัญๆ ได้อย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว

เดิมที กฟผ.อาศัยเทคโนโลยีนำเข้าจากต่างประเทศ ราคาสูงถึง 2-3 ล้านบาทต่อเครื่อง ทั้งต้องใช้อะไหล่เฉพาะและการดูแลรักษาต้องอาศัยช่างของบริษัทนั้นๆ ด้วยเหตุนี้ จึงต้องสร้างเทคโนโลยีของตนเองโดยพัฒนาเครื่องส่งข้อมูลการบริหารจัดการน้ำและระบบโทรมาตรลุ่มน้ำ กฟผ. ขึ้น

นวัตกรรมนี้ช่วยประหยัดงบประมาณ ในขณะที่ประสิทธิภาพการทำงานดีขึ้น สะดวกขึ้น นอกจาก กฟผ.ได้ประโยชน์แล้ว ข้อมูลต่างๆ ยังเป็นประโยชน์กับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมทรัพยากรน้ำ ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กรมชลประทาน สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.)และสำนักการระบายน้ำ เป็นต้น

“ที่สำคัญ ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลผ่านเว็บไซต์หรือดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นทางสมาร์ทโฟนทั้งระบบไอโอเอสและแอนดรอยด์ อาทิ กรณีของจังหวัดน่านที่มักพบปัญหาน้ำท่วมน้ำหลาก แทนที่จะคอยวิ่งไปดูโทรมาตรวัดน้ำเป็นระยะ ก็ใช้ข้อมูลน้ำของเราเพื่อแจ้งเตือนคนในพื้นที่และเตรียมตัวรับมือได้อย่างสะดวกรวดเร็ว” ทีมพัฒนา กฟผ. ทิ้งท้าย

จาก http://eureka.bangkokbiznews.com  วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2558

เกษตรเฮเตรียมปลดหนี้ล็อตใหญ่ จ่อชงครม.อนุมัติแฮร์คัทแสนล้าน

22 มี.ค. 58 นายอำนวย ปะติเส รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่าหลังจาก ครม.ฝ่ายเศรษฐกิจ เห็นชอบแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร ในส่วนสมาชิกกองทุนสำนักกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพ (กฟก.) มีมูลหนี้สูงถึง 1 แสนล้านบาท และเกษตรกรที่เป็นหนี้ สำนักบริหารกองทุนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและรับเรื่องร้องเรียน (สกร.) สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีมูลหนี้รวมกันกว่า 4 พันล้านบาท ซึ่งเกษตรกรจะได้รับการลดหนี้กว่า 2 แสนรายโดยมีวิธีการการปรับปรุงหนี้หรือแฮร์คัท ขณะได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปเตรียมแนวปฏิบัติที่ชัดเจนแล้วจะนำเสนอให้ ครม.ชุดใหญ่ให้ความเห็นชอบได้ช่วงต้นเดือน เม.ย.นี้

ด้านว่าที่ ร.ต.สมพูนทรัพย์ กล้าวิกรณ์ ผอ.สำนักบริหารกองทุนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและรับเรื่องร้องเรียน กระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่ากำลังเร่งจัดทำขั้นตอนปฏิบัติงานแก้ไขหนี้สินให้กับเกษตรกรที่จะมีทั้งการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งสองส่วน แต่ที่สำคัญเตรียมเสนอ ครม.เพื่อออกกฎหมายพิเศษเพื่อปกป้องที่ดินให้เกษตรกรไม่ให้ถูกยึด และจะยืดเวลาใช้หนี้ให้เกษตรกรนานถึง 20 ปี โดยบางส่วนรัฐบาลจะช่วยชดเชยดอกเบี้ยหากเป็นธนาคารพาณิชย์ทั่วไป แต่ถ้าเป็นธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กระทรวงการคลังเป็นผู้ดูแล

ว่าที่ ร.ต.สมพูนทรัพย์ กล่าวต่อว่า ระยะเริ่มต้นจะเข้าไปแก้ไขในส่วนเกษตรกรที่เป็นหนี้ของ ธ.ก.ส. และสหกรณ์การเกษตร มีมูลหนี้ราว 1 แสนล้านบาท และอนาคตจะลดบทบาทของกองทุนฟื้นฟูฯ ให้ทำภารกิจฟื้นฟูอาชีพอย่างเดียว ในส่วนที่ 2 เป็นหน่วยงานที่ สกร.รับผิดชอบโดยตรง เป็นกองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจน

"ต้องเป็นรัฐบาลชุดนี้เท่านั้น จะแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรได้ในระยะยาว เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลในอดีตพยายามแก้ไขหนี้ปรับโครงสร้างหนี้ พักหนี้เกษตรกรหลายครั้ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ท้ายสุดเกษตรกรก็กลับมาเป็นหนี้อีก โดนฟ้อง โดนยึดที่ดินไป เป็นวงจรอุบาทว์ เกษตรกรกลายเป็นหนี้ถาวรจำนวนมาก ไปกู้ยืมหนี้นอกระบบมาใช้หนี้ในระบบ ดังนั้นต้องมีกฎหมายพิเศษเพื่อให้ธนาคารต่างๆ ปฏิบัติตามและไม่ยึดที่ดินเกษตรกรแต่ให้ยืดเวลาการชำระหนี้ออกไป โดยจะเริ่มนำร่องที่ ธ.ก.ส.ก่อน มีสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ จำนวน 1.03 แสนราย และในส่วนของสหกรณ์การเกษตร จำนวน 5.64 หมื่นราย รวมมูลหนี้ประมาณแสนล้าน ทั้งปรับโครงสร้างหนี้ ขยายเวลาการชำระหนี้" ผอ.สำนักบริหารกองทุนฯกล่าว และว่าในส่วนหนี้ธนาคารพาณิชย์ทั่วไปจะใช้วิธีการช่วยจ่ายดอกเบี้ยให้กับเกษตรกร ปรับโครงสร้างหนี้ พร้อมกับออกกฎหมายพิเศษ ประกาศเป็นพระราชกฤษฎีกา ไม่ให้ที่ดินของเกษตรกรถูกยึด และจะมีความยืดหยุ่นให้กับเกษตรกรมากกว่าในอดีต มั่นใจว่าหากกฎหมายฉบับนี้ออกมาจะช่วยเกษตรกรปลดเปลื้องหนี้สินได้ยั่งยืน

ขณะที่นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่าเห็นด้วยกับมาตรการลดหนี้หรือแฮร์คัท หนี้สินเกษตรกร ในส่วนที่ขึ้นทะเบียนเอาไว้กับกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพเกษตรกร ที่อยู่ในขั้นตอนถูกฟ้องร้องยึดที่ดินทำและอยู่ในส่วนทำแผนฟื้นฟูอาชีพ ให้เกษตรกรที่เป็นลูกหนี้ชั้นดีและสามารถกลับมามีรายได้เลี้ยงชีวิตเลี้ยงครอบครัวได้

ประธานสภาเกษตรกรฯ กล่าวว่า มาตรแฮร์คัทหนี้ช่วยแล้วต้องให้จบ ต้องมีเส้นกำหนดระยะเวลาถึงเมื่อไหร่เพื่อไม่ส่งผลกระทบต่อสถาบันการเงิน และภาครัฐต้องมีการตรวจสอบถึงการเป็นหนี้ของเกษตรกรว่า เป็นหนี้เสียแท้หรือหนี้เสียเทียมด้วย เพราะจำนวนเกษตรกรเป็นหนี้มีหลายหมื่นรายขึ้นทะเบียนไว้แล้ว พร้อมกับต้องทำแผนฟื้นฟู ให้เขามีหนี้คุณภาพให้ได้เป็นหนี้ที่มีรายได้และมีแผนอาชีพบริหารให้เกิดรายได้ต่อเนื่อง ซึ่งมาตรการลดหนี้มีมติครม.มาหลายสิบปี ตั้งแต่สมัยที่ตนเป็นรมช.เกษตรฯก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้มีขั้นตอนที่ติดขัดไปหมด ดังนั้นรัฐบาล คสช.มีอำนาจพิเศษ ควรเร่งรีบให้จบ เพราะปัญหาหนี้สินควรดำเนินการได้จบโดยเร็วเพื่อไม่ให้กระทบต่อสถาบันการเงินโดยรวมของประเทศ

จาก http://www.naewna.com วันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2558

พล.อ.ฉัตรชัยพร้อมคุยผู้ค้าปุ๋ยเจรจาลดต้นทุน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมคุยผู้ค้าปุ๋ยพรุ่งนี้ เจรจาลดต้นทุนให้เกษตรกรหลังราคาสินค้าเกษตรไม่ดีนัก

ในวันพรุ่งนี้ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะประชุมหารือกับผู้นำเข้าและผู้ค้าปุ๋ยเคมีในประเทศ เพื่อขอความร่วมมือในการจัดหาปุ๋ยราคาประหยัดและคุณภาพเหมาะสมกับพื้นที่ ในแต่ละภาคและชนิดพืช ตามนโยบายนายกรัฐมนตรีที่ให้หาวิธีการลดต้นทุนทางการผลิตให้กับเกษตรกร เป็นการเพิ่มรายได้หลังจากราคาผลผลิตทางการเกษตรมีราคาตกต่ำ

พร้อมกันนี้ กระทรวงพาณิชย์จะชะลอการเปิดประมูลขายข้าวแบบทั่วไปในรอบ 3 ออกไปก่อนเพื่อพยุงราคา แต่จะยังคงระบายผ่านการเจรจาแบบรัฐต่อรัฐ หรือ จีทูจี ได้ ซึ่งนอกจากประเทศจีนแล้ว ไทยกำลังเจรจากับตุรกีและเกาหลีใต้ด้วย

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2558

พาณิชย์ชี้ค่าเงินแข็งไป ฉุดส่งออก/เล็งปรับแผนผลักดัน

พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ กล่าวยอมรับว่า การส่งออกมีปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน โดยเฉพาะผลกระทบจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ล่าช้า มีเพียงสหรัฐ และอาเซียน ที่ยังขยายตัวได้ดี อีกทั้งอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน ค่าเงินบาทที่แข็งค่ากว่าสกุลเงินอื่น โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเงินยูโร ของสหภาพยุโรป ที่เป็นตลาดหลักของไทย ซึ่งการที่ค่าเงินยูโรอ่อนค่ากว่าเงินบาทของไทยนั้น ทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปยุโรปลดลง แต่หากมองในส่วนปริมาณจะพบว่าการส่งออกไม่ได้ลดลง

พร้อมยอมรับว่าอาจต้องทบทวนตัวเลขการส่งออกอีกครั้ง แต่ต้องรอดูตัวเลข และติดตามสถานการณ์การส่งออกอีกระยะหนึ่ง รวมถึงต้องหารือเพิ่มถึงมาตรการกระตุ้นการส่งออกให้มากขึ้น และต้องจัดคณะเดินทางไปเจรจาขยายตลาดให้มากขึ้นด้วย ส่วนตัวเลข 4% นั้นยืนยันว่าเป็นตัวเลขการทำงานที่เราอยากผลักดันให้ถึง

“จะหารือกับ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ให้มาชี้แจงข้อมูลตัวเลขการส่งออกที่แท้จริง ว่าเป็นอย่างไร รวมถึง กระทรวงพาณิชย์ คงต้องมีการผลักดันการส่งออกมากขึ้นซึ่งได้สั่งให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจัดทำแผนงานและจะเตรียมคณะเพื่อเดินทางไปเจรจาขยายตลาดในต่างประเทศ ซึ่งทุกฝ่ายต้องให้ความร่วมมือ โดยเฉพาะการผลิตที่ได้คุณภาพ

 ถ้าสถานการณ์ส่งออกลดลงต่อเนื่อง”

พลเอกฉัตรชัย กล่าวเพิ่มเติมถึงการดูแลค่าครองชีพ ว่า ขณะนี้ได้เร่งรัดการจัดกิจกรรม และการทำร้านค้าจำหน่ายสินค้าราคาประหยัด หรือโลว์คอสต์ ดีพาร์ทเม้นท์ เพื่อกระตุ้นการบริโภคในประเทศ อีกทั้งการผลักดันเศรษฐกิจให้ขยายตัวต้องมีองค์ประกอบหลายด้าน ทั้งจากการลงทุนของภาครัฐ การลงทุนของภาคเอกชน การส่งออก และการบริโภคในประเทศ ที่ต้องดำเนินไปพร้อมๆ กัน อีกทั้งกระทรวงพาณิชย์เป็นแค่ปลายทางในการดูแลเรื่องราคาสินค้า และผลักดันการส่งออก จึงต้องใช้วิธีการร่วมมือกับภาคเอกชนในการผลักดันด้านต่างๆ

จาก http://www.naewna.com วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2558

พลังงานจ่อยกระดับ ศก.ภูมิภาค 

 นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวภายหลังปาฐกถางานสมาพันธ์เศรษฐศาสตร์อาเซียน จัดงาน “Beyond AEC 2015” โดยยืนยันว่า หลังการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ปลายปี 2558 ไทยมีความพร้อมร่วมมือกับกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อยกระดับเศรษฐกิจของภูมิภาค และจากนี้ต้องส่งเสริมธุรกิจรูปแบบเศรษฐกิจดิจิตอล ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลอาเซียนจะเกิดความร่วมมือให้เกิดขึ้น เพื่อเชื่อมโยงการค้า การบริการ และการลงทุนได้สะดวกขึ้น

 นอกจากนี้ จะหารือเรื่องความมั่นคงทางพลังงานของกลุ่มอาเซียน โดยจะมีการเจรจาออกกฎระเบียบเชื่อมโยงระบบสายส่งไฟฟ้า หรืออาเซียนกริด ระหว่างประเทศที่ไม่มีชายแดนติดกันเพิ่มเติม จากปัจจุบันที่เชื่อมโยงเฉพาะประเทศที่มีชายแดนติดกันเท่านั้น ส่วนระบบท่อส่งก๊าซและน้ำมัน หรืออาเซียนไปป์ไลน์ มองว่าจำเป็นต้องเชื่อมต่อท่อจากฝั่งตะวันออกไปช่วยเหลือฝั่งตะวันตก เพื่อรองรับความเสี่ยงกรณีแหล่งก๊าซพม่าหยุดซ่อมบำรุงที่จะเกิดขึ้นทุกปี เนื่องจากฝั่งตะวันตกของไทยใช้ก๊าซจากพม่าเป็นหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยยอมรับว่าปริมาณพลังงานสำรองสามารถจัดหาได้ แต่พลังงานทดแทนเป็นสิ่งที่ยาก โดยเชื้อเพลิงหลักยังมาจากก๊าซ น้ำมัน ถ่านหิน

 โดยมั่นใจว่าไทยมีความพร้อมรับมือการหยุดซ่อมบำรุงของแหล่งก๊าซพม่า 10-19 เมษายนนี้ โดยได้เตรียมสำรองน้ำมันเตาและน้ำมัน เพื่อใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าแทน รวมถึงจะสั่งซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว เพิ่มขึ้นเป็น 300 เมกะวัตต์ จากเดิมอยู่ที่ 200 เมกะวัตต์

 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) กล่าวว่า หลังการเปิดเออีซี ไทยจะต้องพัฒนาเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงระบบโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งทางราง ถนน และอากาศ รวมถึงเร่งพัฒนาการเชื่อมโยงพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษระหว่างแนวชายแดน จัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อดึงดูดการค้าการลงทุนและขยายฐานการผลิตในอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น กลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์และเกษตร ซึ่งจะช่วยให้ไทยเกิดการแปรรูปวัตถุดิบและส่งผลดีต่อการส่งออก โดยในเร็วๆ นี้จะมีการพูดคุยกับกัมพูชาในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแบบร่วมทุน และจะมีการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเมยแห่งที่ 2 เพื่อเชื่อมอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก กับจังหวัดเมียวดีของพม่า ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าและลดความแออัดในพื้นที่

          ทั้งนี้ การเชื่อมโยงระบบรางจะต้องพัฒนารถไฟให้ครอบคลุมอาเซียนและจีน ส่วนทางอากาศจะมีการเปิดช่องทางการขนส่งสินค้า ส่งเสริมสนามบินภูมิภาค อาทิ สนามบินแม่สอด สนามบินเบตง และส่งเสริมการบินระหว่างประเทศด้วยการเพิ่มเที่ยวบินจากประเทศในภูมิภาคอาเซียนมายังไทยมากขึ้น

จาก http://www.banmuang.co.th วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2558

กรมชลประทาน เผย ในช่วงวันที่ 19–23 มีนาคมนี้ ต้องติดตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำสายหลักอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นช่วงน้ำทะเลหนุนสูง เสี่ยงต่อน้ำเค็มรุกล้ำพื้นที่

ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำกรมชลประทาน เปิดเผยรายงานของกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ว่า ในช่วงวันที่ 19–23 มีนาคมนี้ เป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง อาจส่งผลให้น้ำเค็มรุกล้ำเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำแม่กลอง ส่งผลกระทบต่อค่าความเค็มในแม่น้ำที่อาจเพิ่มสูงขึ้น กรมชลประทานจึงได้วางมาตรการควบคุมปริมาณน้ำในแม่น้ำทั้ง 3 สาย ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมที่จะใช้ในการผลักดันน้ำเค็ม โดยในส่วนของแม่น้ำเจ้าพระยา จะควบคุมปริมาณน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ 90–95 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อผลักดันน้ำเค็มไม่ให้รุกล้ำเข้ามาถึงจุดเฝ้าระวังบริเวณสถานีสูบน้ำดิบสำแล ของการประปานครหลวง แหล่งน้ำดิบที่จะนำไปใช้ผลิตน้ำประปา ส่วนในแม่น้ำท่าจีน จะควบคุมปริมาณน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ 50–65 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อควบคุมความเค็มที่จุดเฝ้าระวังบริเวณปากคลองจินดา อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ไม่ให้เกินกว่า 0.75 กรัมต่อลิตร และในส่วนของแม่น้ำแม่กลอง จะควบคุมปริมาณน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ 70–90 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อไม่ให้ค่าความเค็มที่จุดเฝ้าระวังบริเวณปากคลองดำเนินสะดวก มีค่าเกินกว่า 0.75 กรัมต่อลิตร จากการตรวจสอบค่าความเค็มในแม่น้ำทั้ง 3 แห่ง ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ

อย่างไรก็ตาม กรมชลประทานได้ให้เจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำดังกล่าว โดยเฉพาะในช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูงอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำสำหรับผลักดันน้ำเค็มในแม่น้ำ มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด

  จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 20 มีนาคม 2558

หมดยุคราคาน้ำมันแพง ผลกระทบอุตฯเอทานอล

ช่วยกันคิดช่วยกันคุย : หมดยุคราคาน้ำมันแพง ผลกระทบอุตฯเอทานอล : โดย...ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (อีไอซี)

                            เอทานอล เป็นอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ (Biofuel) ของไทยที่มีการเติบโตค่อนข้างมาก สะท้อนได้จากปริมาณการใช้แก๊สโซฮอล์ซึ่งใช้เอทานอลเป็นส่วนผสม ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 12% ในช่วงปี 2009-2014 และสัดส่วนการใช้แก๊สโซฮอล์ต่อการใช้น้ำมันเบนซินรวมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 59% ในปี 2009 เป็น 93% ในปี 2014

                            ราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลง ส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันของพลังงานทดแทนอย่างเอทานอลปรับตัวลดลงตามไปด้วย สะท้อนได้จากราคาเอทานอลในปัจจุบันที่อยู่ในระดับที่สูงกว่าเนื้อน้ำมันเบนซินราว 12.6 บาทต่อลิตร จากในช่วงเดือนมกราคม 2014 ที่แตกต่างกันเพียง 3.2 บาทต่อลิตร ซึ่งอาจจะส่งผลให้ผู้บริโภคหันไปเติมน้ำมันเบนซิน หรืออาจจะหันไปเติมแก๊สโซฮอล์ที่ผสมเอทานอลในสัดส่วนที่ต่ำเพิ่มขึ้น เป็นผลให้ความต้องการใช้เอทานอลปรับตัวลดลง

                            อีไอซี พบว่า ในช่วงที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงส่งผลดีต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมเอทานอลมากกว่าผลเสีย แม้ราคาน้ำมันที่ลดลงจะส่งผลให้ส่วนต่างราคาระหว่างแก๊สโซฮอล์กับน้ำมันเบนซิน และส่วนต่างราคาระหว่างแก๊สโซฮอล์ด้วยกันเองปรับตัวแคบลงจริง แต่ผู้บริโภคกลับไม่ได้ปรับเปลี่ยนไปเติมน้ำมันเบนซินหรือหันไปเติมแก๊สโซฮอล์ที่มีสัดส่วนการผสมเอทานอลในระดับต่ำเพิ่มขึ้นอย่างที่หลายฝ่ายกังวล

                            อย่างไรก็ดี นโยบายของภาครัฐจะเป็นปัจจัยชี้ขาดถึงทิศทางของอุตสาหกรรมเอทานอลไทยในระยะต่อไป สาเหตุสำคัญที่ทำให้ความต้องการใช้เอทานอลยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คือ นโยบายการส่งเสริมพลังงานทดแทนของภาครัฐ ซึ่งหากภาครัฐยังคงให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นคงทางพลังงานในประเทศ ผ่านการดำเนินนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนดังกล่าวต่อไป อุตสาหกรรมเอทานอลของไทยก็จะยังคงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

                            การเปลี่ยนแปลงของนโยบายภาครัฐจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมเอทานอลค่อนข้างมาก ดังนั้น ผู้ประกอบการควรที่จะติดตามและประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการหาแนวทางการปรับตัวและวางแผนการดำเนินงานของบริษัทในอนาคต

                            ในขณะเดียวกัน โรงงานน้ำตาลที่ผลิตเอทานอลจากกากน้ำตาล ควรที่จะเร่งเจรจากับชาวไร่อ้อย เพื่อที่จะนำน้ำอ้อยมาผลิตเป็นเอทานอลโดยตรง ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของพลังงานทดแทน แม้ว่าการผลิตเอทานอลจากน้ำอ้อยจะมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าการผลิตจากกากน้ำตาลค่อนข้างมากราว 23%

                            แต่ในช่วงที่ผ่านมา ยังไม่มีโรงงานน้ำตาลใดในไทยที่สามารถนำน้ำอ้อยมาผลิตเป็นเอทานอลได้โดยตรง เนื่องจากชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลยังไม่สามารถตกลงเรื่องราคาน้ำอ้อย เพื่อนำมาคำนวณในระบบแบ่งปันผลประโยชน์ได้ ดังนั้น เพื่อเป็นการลดต้นทุนผลผลิตและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของพลังงานทดแทน โรงงานน้ำตาลซึ่งผลิตเอทานอลด้วย ควรที่จะเร่งเจรจากับชาวไร่อ้อย เพื่อที่จะให้สามารถนำน้ำอ้อยมาผลิตเป็นเอทานอลได้

  จาก http://www.komchadluek.net   วันที่ 20 มีนาคม 2558

อุตฯตั้งทำเนียบสารเคมีแห่งชาติ

กรอ.เข้มนำเข้าวัตถุอันตรายตั้งทำเนียบสารเคมีแห่งชาติลดปัญหานำเข้าผิดกฎหมาย

นางอรรชา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีลงนามในบันทึกข้อตดลงว่าด้วยการใช้ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างหน่วยงานรับผิดชอบตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 จำนวน 6 หน่วยงาน ประกอบด้วย กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมวิชาการเกษตร กรมประมง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยากรมปศุสัตว์ และกรมธุรกิจพลังงานว่า กรมโรงงานฯในฐานะหน่วยงานกลาง เตรียมจัดทำทำเนียบสารเคมีแห่งชาติภายใน 3 เดือน เพื่อแสดงรายชื่อสารเคมี เพื่อลดปัญหาการนำเข้าสารเคมีผิดกฎหมายเพราะอาจไม่เทราบข้อมูล

“ตอนนี้การนำเข้าสารเคมีที่เกิดปัญหา เป็นการนำเข้า โดยไม่ได้รับอนุญาตมักอยู่ในรูปตัวทำละลายทำให้การตรวจสอบเบื้องต้นอาจเล็ดรอดเข้ามาได้ กรมฯจึงเตรียมทำทำเนียบสารเคมีแห่งชาติเพื่อให้เอกชนสะดวกในการตรวจสอบ และสร้างความเข้าใจ ในการขอนำเข้าสารเคมีมากขึ้นโดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติ เพื่อให้รู้ว่า สารเคมีใดที่ใช้ในประเทศไทยได้”

ส่วนการลงนามความร่วมมือทั้ง 6 หน่วยงาน  เพื่อยกระดับการจัดการวัตถุอันตรายของไทยจากเน้นควบคุมสารอันตรายเป็นการควบคุมสารเคมีทั้งระบบ ซึ่งเป็นระบบที่หลายประเทศใช้ ทั้งสหภาพยุโรป สวีเดนสโลเวเนีย สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และกลุ่มเอเชีย ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีรวมทั้งประเทศใกล้เคียงกับไทย ได้แก่ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนาม

"ปัจจุบันไทยกำหนดสารเคมีที่ต้องขอนุญาตก่อนนำเข้าเป็น 6 บัญชีจาก 6 หน่วยงานรับผิดชอบ ทำให้มีสารเคมีรวมทั้งสิ้น1,535 รายการดังนั้นการจัดการสารเคมีของไทยเป็นแบบควบคุมทั้งระบบจะทำให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้นมีระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาจัดการเชื่อมโยงข้อมูล ใช้เวลาสั้นลงจากที่ผ่านมาจะเดินเรื่องผ่านเอกสารเป็นหลัก"

สำหรับผู้นำเข้าสารเคมีที่ตั้งใจฝ่าฝืนกฎหมาย หากเป็นสารเคมีที่ใช้ในประเทศได้แต่ต้องขออนุญาตก่อนนำเข้าจะได้รับโทษปรับไม่เกิน 25,000 บาทแต่หากเป็นสารเคมีที่ห้ามนำเข้ามาในประเทศไทย หรือวัตถุอันตราย ชนิด 4 เช่น สารก่อมะเร็ง สารเคมีที่ใช้ในการเกษตร จะได้รับโทษปรับ 1 ล้านบาท และจำคุกไม่เกิน 10 ปี

  จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 19 มีนาคม 2558

พาณิชย์เปิดโครงการพัฒนาการค้าธุรกิจพาณิชย์

กระทรวงพาณิชย์ เปิดโครงการพัฒนาศักยภาพทางการค้าธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ สร้างความมั่นใจผู้บริโภค คาดปี 58 ธุรกิจมีมูลค่า 1 ล้านล้านบาท

นายวิชัย โภชนกิจ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานสัมมนา “ค้าขายอย่างไรให้รวย ด้วยอีคอมเมิร์ซ” ว่า ธุรกิจอีคอมเมิร์ซของไทยมีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ ร้อยละ 30 ต่อปี โดยในปี 2558 นี้ คาดว่าจะมีมูลค่าอยู่ที่ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งทางกรมฯ ได้มีการจัดโครงการพัฒนาศักยภาพทางการค้าของธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือและเกื้อกูลทางการค้าซึ่งกันและกัน ร่วมเป็นทีมพี่เลี้ยงในการพัฒนาและให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการร้านค้าออนไลน์ให้มีมาตรฐาน และสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคได้ สอดรับกับนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลของรัฐบาล

ซึ่งปัจจุบัน ผู้ประกอบธุรกิจอีคอมเมิร์ซของไทย มีอยู่ประมาณ 1 ล้านราย แบ่งเป็นรายใหญ่ที่มีการประกอบธุรกิจอย่างถูกต้อง จำนวน 5 พันราย รายกลาง ประมาณ 2 แสนราย และรายเล็ก ประมาณ 8 แสนราย โดยล่าสุด มีการจดทะเบียนอย่างถูกต้องแล้ว 1 หมื่น 3 พันราย

  จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 19 มีนาคม 2558

วิกฤติก๊าซไทย - พลังงานรอบทิศ

ก๊าซที่นำเข้าจากต่างประเทศนั้น 80% นำเข้าจากประเทศเมียนมาร์ ที่เหลืออีก 20% นำเข้าในรูปของก๊าซแอลเอนจี (LNG) จากตะวันออกกลางที่มีราคาแพงซึ่งมีแนวโน้มว่าเราจะต้องนำเข้าก๊าซแอลเอนจีเพิ่มมากขึ้น

เป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนสูงถึง 68% หรือกว่า 2,400 ล้านลบ.ฟุต/วัน ในขณะที่เราผลิตได้เอง 3,650 ล้าน ลบ.ฟุต/วัน (รวมแหล่งไทย-มาเลเซียหรือ JDA) แต่เรามีความต้องการใช้ก๊าซรวมกันถึงเกือบ 5,000 ล้าน ลบ.ฟุต/วัน (รวมภาคอื่น ๆ นอกเหนือจากการผลิตไฟฟ้าเช่นภาคปิโตรเคมี ครัวเรือน ขนส่ง และอุตสาหกรรม) ดังนั้นเราจึงต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศอีกประมาณ 1,100 ล้าน ลบ.ฟุต/วัน หรือคิดเป็นสัดส่วนถึง 22% ของปริมาณการจัดหาก๊าซทั้งหมดของประเทศ

ก๊าซที่นำเข้าจากต่างประเทศนั้น 80% นำเข้าจากประเทศเมียนมาร์ ที่เหลืออีก 20% นำเข้าในรูปของก๊าซแอลเอนจี (LNG) จากตะวันออกกลางที่มีราคาแพงซึ่งมีแนวโน้มว่าเราจะต้องนำเข้าก๊าซแอลเอนจีเพิ่มมากขึ้น

เรื่อย ๆ ในอนาคตเพราะการผลิตก๊าซในอ่าวไทยมีแต่จะลดลงไปเรื่อย ๆ ในขณะที่การเปิดให้มีการสำรวจปิโตรเลียมรอบที่ 21 ก็ต้องเลื่อนออกไป ทั้ง ๆ ที่ล่าช้ามาเป็นเวลากว่าสองปีแล้ว

ในส่วนของการนำเข้าก๊าซจากเมียนมาร์ไทยก็กำลังเผชิญปัญหาการจัดหาก๊าซมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยปัจจุบันเราซึ้อก๊าซจากสามแหล่งด้วยกัน คือ แหล่ง เยตากุน ปริมาณ 400 ล้าน ลบ.ฟุต/วัน แหล่งยาดานา 560 ล้าน ลบ.ฟุต/วัน แหล่งซอติก้า 240 ล้าน ลบ.ฟุต/วัน รวม 1,200 ล้าน ลบ.ฟุต/วัน

แต่สัญญาการซื้อขายก๊าซในแหล่งเยตากุนและยาดานาจะหมดลงในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งไม่แน่ว่าจะต่อได้หรือไม่ เพราะเมียนมาร์กำลังเปิดประเทศเศรษฐกิจกำลังพัฒนาแบบก้าวกระโดด ย่อมมีความต้องการพลังงานสูงขึ้นและต้องเก็บทรัพยากรปิโตรเลียมไว้ใช้ในการพัฒนาประเทศ

อีกประการหนึ่ง ปตท.ซึ่งเป็นคู่สัญญากำลังพบกับปัญหาก๊าซจากแหล่งเยตากุนมีปริมาณลดลงและไม่สามารถส่งมอบตามสัญญาได้ โดยปริมาณก๊าซจากแหล่งนี้ลดลงจาก 400 ล้าน ลบ.ฟุต/วัน เหลือเพียง 250 ล้าน ลบ.ฟุต/วันมาเกือบปีแล้ว

การที่ปริมาณก๊าซจากแหล่งเยตากุนลดลงทำให้ ปตท.ต้องลดปริมาณการรับก๊าซจากแหล่งยาดานาลงด้วยในสัดส่วนเดียวกัน ทั้งนี้เพราะก๊าซทั้งสองแหล่งมีค่าความร้อนไม่เท่ากันและเราต้องนำก๊าซทั้งสองแหล่งมาผสมกันให้ได้ค่าความร้อนที่เหมาะสมก่อนส่งมาให้โรงไฟฟ้าราชบุรีใช้ผลิตไฟฟ้าต่อไป

ดังนั้นก๊าซจากเมียนมาร์จึงหายจากระบบไปแล้ว 300 ล้าน ลบ.ฟุต/วัน

นอกจากก๊าซจากเมียนมาร์จะลดลงแล้วมาเลเซียก็ได้แจ้งให้ทางไทยทราบแล้วว่า ตั้งแต่เดือนเมษายนนี้เป็นต้นไปทางมาเลเซียจะขอรับก๊าซในส่วนที่เป็นของมาเลเซียในแหล่ง JDA ที่เคยให้ไทยนำไปใช้ก่อน (เพราะมาเลเซียยังไม่มีความจำเป็น) ปริมาณ 300 ล้าน ลบ.ฟุต/วัน ซึ่งจะทำให้ปริมาณก๊าซของเราหายไปอีกรวมกับก๊าซจากเมียนมาร์แล้วเป็น 600 ล้าน ลบ.ฟุต/วัน หรือคิดเป็น 55% ของก๊าซที่ไทยต้องนำเข้าทั้งหมด

ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องทดแทนด้วยการนำเข้าก๊าซ LNG ที่มีราคาแพงขึ้นกว่าเท่าตัวทั้งสิ้น

อย่างนี้ยังจะเถียงกันว่าวิกฤติหรือไม่วิกฤติผมก็ไม่รู้จะว่ายังไงแล้วครับ!!!

  จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 19 มีนาคม 2558

ทรงห่วงใยพสกนิกรที่ประสบภัยแล้ง

อาจจะมีพื้นที่ที่อยู่นอกเขตชลประทาน ซึ่งคงต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากฝ่ายบ้านเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดที่เกี่ยวข้อง ทางชลประทาน หน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ ต้องช่วยกันเต็มที่ในแล้งนี้

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 12 มีนาคม 2558 ที่ผ่านมานายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี พร้อมด้วยหม่อมหลวงจิรพันธุ์ ทวีวงศ์ เลขาธิการ กปร. นายกิจจา  ผลภาษี  ที่ปรึกษาสำนักงาน กปร. และอตีดอธิบดีกรมชล ประทาน นายเทอดศักดิ์ บุณยขจร ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำ  มูลนิธิชัยพัฒนา นายบุญสนอง สุชาติพงศ์ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมชล ประทาน นายรอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการ เกษตร ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเจ้าหน้าที่สำนักงาน กปร.

ได้เดินทางไปติดตามสถานการณ์น้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ และการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนในช่วงฤดูแล้งพื้นที่ของเขื่อน 3 แห่ง ประกอบด้วย เขื่อนอุบลรัตน์ อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น เขื่อนลำปาว อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสิทธุ์ และเขื่อนน้ำอูน อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร 

เพื่อรับฟังการสรุปสถานการณ์น้ำในปัจจุบันและแนวทางการบริหารน้ำในช่วงนี้   ด้วยทั้ง 3 เขื่อนเปรียบเสมือนเส้นเลือดหลักของภาคอีสาน และพบว่าในห้วงนี้สถานการณ์น้ำยังคงมีปริมาณที่เหมาะสมเมื่อเปรียบเทียบกับเมื่อปีก่อน ทั้งเขื่อนลำปาวและน้ำอูน ส่วนเขื่อนอุบลรัตน์มีปริมาณน้อยกว่าปีก่อนซึ่งคงต้องงดการทำนาปรังในปีนี้ ทั้งนี้ในการบริหารจัดการน้ำหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมชลประทาน กรมอุตุนิยม วิทยาและจังหวัดได้ร่วมกันหารือและเตรียมการรับสถานการณ์ในช่วงฤดูแล้งมาอย่างต่อเนื่อง

การนี้นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ได้เปิดเผยในระหว่างตรวจเยี่ยมราษฎรที่ประสบกับภัยแล้ง ณ หนองกองแก้ว ตำบลศรีบุญเรือง อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น ว่า ปีนี้มีข่าวว่าฝนน้อยและแล้ง พี่น้องประชาชนอาจจะเดือดร้อนก็เลยเป็นห่วง จึงได้จัดทีมออกมาเยี่ยมเยียน สุ่มตรวจดูว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ มีปริมาณน้ำเก็บกักได้เท่าไหร่ เช่น ที่น้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ที่น้ำอูน จังหวัดสกลนคร และที่ลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้รับคำชี้แจงจากผู้ดูแลเขื่อนต่าง ๆ ว่า บางเขื่อนก็ไม่น่าเป็นห่วง บางเขื่อนถ้าบริหารจัดการน้ำดี ๆ ก็จะไปรอดตลอดฤดูแล้งนี้จนถึงหน้าฝนที่จะมาถึง ปัญหาของพี่น้องเกษตรกรชาวไร่ ชาวนา ในพื้นที่ชลประทาน ดูจะไม่น่าห่วงเท่าไหร่

อาจจะมีพื้นที่ที่อยู่นอกเขตชลประทาน  ซึ่งคงต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากฝ่ายบ้านเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดที่เกี่ยวข้อง ทางชลประทาน หน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ ต้องช่วยกันเต็มที่ในแล้งนี้ จะต้องไม่ปล่อยให้ประชาชนเดือดร้อนโดยไม่จำเป็น ที่ผ่านมาทุก ๆ ปี ถ้าไม่มีภัยแล้งก็จะไปเยี่ยมทางภาคใต้ ภาคกลาง แต่ปีนี้คาดว่าทางอีสานแล้งก็มาเก็บข้อมูล แล้วก็เขียนรายงานถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถึงแม้พระองค์ท่านจะประทับที่ โรงพยาบาล  แต่ก็ทรงทำงานทุกวัน ทั้งวันทั้งคืน พระองค์ทรงห่วงใยพี่น้องประชาชนที่ประสบกับปัญหาภัยแล้ง  พระองค์ทรงห่วงใยพี่น้องประชาชนทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย ในทุกภูมิภาค อยู่เสมอ แม้ช่วงหลัง ๆ จะไม่สามารถเสด็จพระราชดำเนินออกไปเยี่ยมชาวบ้านได้โดยตรง เหมือนกับที่เคยทำมาทั้ง 60 ปีที่ผ่านมา พระองค์ทรงมีพระชนมพรรษามากขึ้น ก็ต้องอยู่ในความดูแลของคณะแพทย์ ให้หมอดูแลอย่างใกล้ชิด พวกเราก็มีหน้าที่ออกมาช่วยเก็บข้อมูล ออกมาพูดคุยกับพี่น้องประชาชน พสกนิกรของพระองค์   แล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯ  ซึ่งจะไปดูให้ทั่วก่อนถึงเดือนเมษายนที่ฤดูแล้งจริง ๆ  จะมาถึง 

“อย่างไรก็ตาม บางพื้นที่ท่านผู้ว่าฯ ก็เล่าให้ฟังว่า มีฝนตกลงมาบ้างแล้ว  อย่างที่จังหวัดสกลนคร มีฝนตกมาบ้างทั่วทุกพื้นที่แต่ก็ไม่ได้มากมายที่จะเก็บกักอะไรไว้ได้  ที่กาฬสินธุ์ก็ดี ไม่น่าจะมีปัญหาที่จะทำให้ประชาชนลำบากกันมากนัก  คิดว่าน้ำที่มีอยู่หากบริหารจัดการดี ๆ ก็จะเพียงพอจนถึงหน้าฝน  ผมคิดว่าประเทศไทยของเรา พวกเราไม่ทอดทิ้งกัน พี่น้องประชาชนด้วยกันก็ไม่ทิ้งกัน มีการช่วยเหลือกันระหว่างตำบลต่อตำบล อำเภอต่ออำเภอ  ต่างก็ได้ช่วยกันเป็นอย่างดี  ก็ขอให้เป็นอย่างนี้ต่อไป เมืองไทยของเราจะได้ร่มเย็นเป็นสุขอย่างยั่งยืนถาวร” นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี กล่าว.

  จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 19 มีนาคม 2558

ลุ้นเงินยุโรปไหลเข้ามากขึ้น ธปท.ประเมินส่วนใหญ่ไหลไปตลาดพัฒนาแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า ธปท.ได้มีการจัดทำบทความเรื่อง “เงินทุนเคลื่อนย้ายระลอกใหม่จากธนาคารกลางยุโรป...นัยต่อภูมิภาคเอเชีย” โดย น.ส.วรันธร ภู่ทอง เศรษฐกร ฝ่ายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ซึ่งมีเนื้อหาสำคัญระบุว่า เมื่อวันที่ 9 มี.ค. ที่ผ่านมา ธนาคารกลางยุโรป หรืออีซีบี ได้เริ่มเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลภายใต้เม็ดเงินรวมกว่า 1.1 ล้านล้านยูโร เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ยังอ่อนแอและลดความเสี่ยงต่อการเข้าสู่ภาวะเงินฝืด โดยการเข้าซื้อพันธบัตรครั้งแรกในช่วงต้นเดือน มี.ค.นั้นได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

ทั้งนี้ หากวิเคราะห์ปัจจัยที่ผลักให้มีเงินทุนไหลออกจากยุโรป พบว่ามาตรการของอีซีบีในครั้งนี้ น่าจะส่งผลให้สภาพคล่องในกลุ่มยูโรสูงขึ้นมาก ขณะที่ดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับติดลบทำให้มีสภาพคล่องไหลเข้าสู่เศรษฐกิจจริงมากขึ้นกว่าเดิม โดยมีปัจจัย 3 ประการ 1.การปล่อยสินเชื่อภายในกลุ่มยูโรโซนอาจจะทำได้ไม่มาก เพราะภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจยังมีภาระหนี้ที่สูง อีกทั้งความเชื่อมั่นได้รับผลกระทบจากการเมืองและการเงินในกรีซ 2. การลงทุนในตลาดทุนของกลุ่มยูโรมีข้อจำกัดจากตลาดทุนที่ยังเล็กเมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจ อีกทั้งราคาหลักทรัพย์ค่อนข้างแพงแล้ว 3.การเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลตามมาตรการของอีซีบี น่าจะทําให้นักลงทุนต่างชาติขายพันธบัตรยูโรและนําเงินไปลงทุนในตลาดอื่นทดแทนส่งผลให้เกิดเงินทุนไหลออก

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาพบว่าเงินลงทุนจากยุโรปที่ไหลเข้ามาลงทุนในประเทศเกิดใหม่ในเอเชียนั้น มีสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับเงินทุนที่ไหลไปยังตลาดประเทศพัฒนา รวมทั้งจะไหลไปในประเทศตลาดเกิดใหม่ในยุโรป เนื่องจากที่ผ่านมาสัดส่วนเงินทุนเคลื่อนย้ายไปยัง 2 กลุ่มนี้มีมากกว่า 80% ของเม็ดเงินที่ไหลออกมาทั้งหมด ขณะที่เงินทุนไหลเข้ามาในประเทศเกิดใหม่ในเอเชีย รวมทั้งประเทศไทย เพียง 3.6% แต่ปัจจัยดึงดูดของตลาดประเทศเกิดใหม่ในเอเชียยังมีอยู่ เช่นพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ยังแข็งแกร่ง แม้เศรษฐกิจจะชะลอลงบ้างแต่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี รวมทั้งความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและความเสี่ยงในการผิดนัดชําระหนี้ที่อยู่ในระดับต่ำ ทำให้คาดว่าจะมีเงินทุนในส่วนของภาคธนาคารไหลเข้ามายังประเทศในเอเชียมากขึ้นกว่าครั้งที่ผ่านมาได้.

  จาก http://www.thairath.co.th วันที่ 19 มีนาคม 2558

อุตสาหกรรมชูนโยบายเร่งด่วนพัฒนาSMEs

กระทรวงอุตสาหกรรม ผุดนโยบายเร่งด่วน พัฒนา SMEs ไทยปี 2558-2559 เตรียมพร้อมสู่ AEC ตั้งเป้าพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ปีนี้ 1,890 ราย

นายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เปิดเผยถึงนโยบายเร่งด่วนส่งเสริมเอสเอ็มอีในปี 2558-2559 ว่า กสอ. ได้ทำแผน 5 โมเดลหลักในการพัฒนาเอสเอ็มอีอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างความเข็มแข็งให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในอนาคต ซึ่งประกอบด้วย โมเดลสร้างเครือข่าย เอสเอ็มอี ในและต่างประเทศ ซึ่งปีที่ผ่านมาได้พัฒนาสร้างเครือข่ายไปยัง 10 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม เมียนมา จีน และญี่ปุ่น และในปี 2558 จะขยายเพิ่มเติมอีก 4 ประเทศ ได้แก่ เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เพื่อรองรับการเปิดเสรีตามกรอบอาเซียนบวก 6 นอกจากนี้ ยังมีโครงการพัฒนาสถานประกอบการเป้าหมายเพื่อเข้าสู่เออีซี และโครงการพัฒนาบุคลากรภาคอุตสาหกรรมเพื่อเข้าสู่เออีซี โมเดลการพัฒนาการรวมกลุ่มเอสเอ็มอี และเชื่อมโยงอุตสาหกรรม โดยในปี 2558 จะพัฒนาเพิ่มอีก 17 คลัสเตอร์ และในปี 2559 จะพัฒนาเพิ่มอีก 23 คลัสเตอร์ รวม 40 คลัสเตอร์ และโมเดลการพัฒนาวิสาหกิจชุมชน เช่น โครงการพัฒนาโอท็อปอีก 16 โครงการ โดยในปีที่ผ่านมาพัฒนาโอท็อปไปแล้ว 350 กลุ่ม

ขณะที่ นโยบายการนิรโทษกรรมเอสเอ็มอี ว่า จะช่วยให้ผู้ประกอบการที่อยู่นอกระบบเข้ามาในระบบและเข้าถึงโครงการช่วยเหลือของรัฐได้อย่างเต็มที่ และ กสอ. จะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทำบัญชีการค้าเล่มเดียว จากปัจจุบันที่มีหลายเล่มเพื่อเลี่ยงภาษี ซึ่งหากผู้ประกอบการไม่ปรับตัวจะอยู่ในธุรกิจได้ลำบาก เนื่องจากในอนาคตรูปแบบการตรวจสอบต่างๆ จะมีความเข้มงวดมากขึ้น โดยหากผู้ประกอบการรายใดพร้อม กสอ. ก็จะผลักดันให้เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้ธุรกิจเติบโตอย่างมั่นคง

นอกจากนี้ นายอาทิตย์ กล่าวว่า กสอ. ตั้งเป้าสร้างผู้ประกอบการใหม่ในปีนี้จำนวน 1,890 ราย ผ่านโครงการ "เสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่" โดยเน้นการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับดิจิตอลอีโคโนมี และการเปิดเออีซี ซึ่งการดำเนินงานในปีที่ผ่านมาสามารถสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ได้ 1,679 ราย เกิดการสร้างธุรกิจใหม่ 616 ราย มีการลงทุนในธุรกิจที่ตั้งหรือขยายเพื่อหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจประมาณ 852.54 ล้านบาท และก่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นจำนวน 3,045 คน

  จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 18 มีนาคม 2558

รัฐทุ่มหมื่นล้านช่วยเกษตรกร

รัฐใส่เงินอุ้มเกษตรกรต่อหมื่นล้าน! "บิ๊กตู่" สั่งเกษตร-มหาดไทย เตรียมแผนดูแลเกษตรกรฤดูกาลผลิตใหม่ ครอบคลุม 7,000 ตำบล ให้ชาวบ้านกำหนดโครงการเอง

นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม.เศรษฐกิจ เมื่อวันที่18มี.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ได้สั่งให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทยเตรียมมาตรการดูแลเกษตรกรในช่วงฤดูกาลผลิตใหม่ ประมาณเดือนก.ค. - ส.ค.นี้โดยเฉพาะการดูแลต้นทุนการผลิตให้สอดคล้องกับราคาน้ำมันที่ปรับลดลง ทั้งเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย และรถไถ ซึ่งทั้ง2หน่วยงานต้องไปสรุปวิธีดำเนินการก่อนเสนอให้ครม.เศรษฐกิจพิจารณาในสัปดาห์หน้า เบื้องต้นอาจใช้เงินประมาณ10,000ล้านบาท

“แผนการดูแลเกษตรกรในช่วงการผลิตรอบใหม่ต้องไปดูแลต้นทุนการผลิตต้องดูว่า จะทำอย่างไรให้เกิดความยั่งยืนด้วยการหาเงินให้เข้าไปทุกตำบลให้สามารถสร้างวิสาหกิจชุมชนสร้างศูนย์เครื่องจักรชุมชน หรือรวมกันซื้อรถไถชุมชน โรงสีขนาดเล็กโรงเผาขยะในชุมชนขนาดเล็ก หรือพลังงานชีวมวล ทำโซล่าร์เซลล์ชุมชนซึ่งจะทำให้เกิดให้การลงทุน และสร้างรายได้เข้าชุมชนโดยใช้เม็ดเงินหลายพันบ้านบาทถึงหมื่นล้านบาท ใน7,000ตำบลตำบลละ1ล้านบาท และนายกฯยังเน้นว่า เครื่องมือต่างๆก็ให้อยู่บนฐานความต้องการของชุมชุน ไม่ใช่ให้ข้าราชการลงไปกำหนด”

ขณะเดียวกันในงบประมาณโครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชนเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งซ้ำซากที่ผ่านการเห็นชอบจากครม.วงเงิน3,565ล้านบาท ซึ่งช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่58จังหวัด ล่าสุดก็มีความคืบหน้าแล้ว โดยนายกฯได้สั่งให้นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยารมว.เกษตรฯรายงานความคืบหน้าของการดำเนินโครงการดังกล่าวเป็นประจำทุกสัปดาห์ด้วย

ทั้งนี้ที่ประชุมยังได้รับทราบรายงานภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันโดยนายกฯได้สั่งให้หน่วยงานด้านเศรษฐกิจทั้งหมดหาแนวทางดูแลเศรษฐกิจไทยให้เกาะอยู่ในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหม่ซึ่งมีระดับการขยายตัวเศรษฐกิจประมาณ4.3%โดยไทยเองก็คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวระหว่าง3.5-4.5%ส่วนเศรษฐกิจฐานรากล่าสุดได้รับผลกระทบจากราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำเพราะไม่มีมาตรการอุดหนุนและแทรกแซงราคาโดยตรงจากรัฐบาลประกอบกับการชะลอตัวของภาคอุตสาหกรรม ทำให้คนงานไม่มีเงินเหลือเก็บและส่งกลับบ้านได้ดังนั้นนายกฯจึงได้มอบหมายหน่วยงานที่รับผิดชอบหามาตรการดูแลเพื่อไม่ให้คนกลุ่มนี้มีรายได้ลดลง

  จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 18 มีนาคม 2558

พณ.รับภัยแล้งส่งผลกระทบราคาสินค้า เล็งขยายต่อโครงการธงฟ้าฯ

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่ายอมรับว่าปัญหาภัยแล้งปีนี้มาเร็วกว่าปกติ อาจจะส่งผลกระทบต่อสินค้าอุปโภคและบริโภค โดยเฉพาะกลุ่มผักผลไม้บางประเภทที่จะปรับตัวสูงขึ้นตามฤดูกาล แต่จะพยายามหามาตรการลดผลกระทบต่อประชาชน พร้อมแนะนำให้เกษตรกรหันไปปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยแทน เช่น อ้อย ส่วนการตรวจสอบการจำหน่ายอาหารปรุงสำเร็จจากการเปรียบเทียบราคาในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัดพบว่า ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 25 - 35บาท ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ปกติ ขณะที่ห้างสรรพสินค้ายอมรับ มีราคาอาหารสูงเฉลี่ย 40 - 50บาท แต่ได้ขอความร่วมมือห้างเปิดจุดขายอาหาร 10เมนู ไม่เกิน 35บาท เพื่อให้เป็นทางเลือกกับประชาชนตามโครงการฉลาดซื้อประหยัดใช้ นอกจากนี้ จากการดำเนินโครงการโมบายยูนิค หรือ ธงฟ้าสู่ชุมชน จำหน่ายสินค้าราคาประหยัดในชุมชนต่าง ๆ เพื่อลดค่าครองชีพให้ประชาชนทั้งในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ จนสิ้นสุดโครงการเมื่อวันที่ 6มีนาคมที่ผ่านมา พบว่ามียอดขายสินค้ารวมมากกว่า 93ล้านบาท สามารถลดค่าครองชีพให้ประชาชนได้กว่า 34ล้านบาท

ทั้งนี้ได้สั่งการให้กรมการค้าภายใน ไปพิจารณาศึกษาการขยายต่อโครงการธงฟ้าสู่ชุมชน หลังจากประสบความสำเร็จ โดยได้รับการตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดี ส่วนกรณีผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ เกี่ยวกับเรื่องค่าครองชีพในเดือนกุมภาพันธ์ พบว่า ประชาชนอยากให้ภาครัฐเข้ามาควบคุมราคาสินค้าอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะเนื้อหมู ข้าวสาร น้ำมันพืช อาหารตามสั่ง และปุ๋ยเคมี

  จาก http://www.thanonline.com วันที่ 18 มีนาคม 2558

ก.อุตฯ เปิด3 นโยบายเร่งด่วนอัดฉีด SMEsไทย

กระทรวงอุตสาหกรรม โดย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เผยกลยุทธ์เร่งด่วนเพื่อพัฒนา SMEs ไทยให้พร้อมก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนรองรับฐานผู้บริโภคที่ใหญ่ขึ้นเป็นกว่า 600  ล้านคนทั่วอาเซียน ด้วยการดำเนินงานใน 3 โครงการหลัก

 ได้แก่ (1) โครงการเตรียมความพร้อมภาคอุตสาหกรรมในการเข้าสู่ AEC ผ่านกิจกรรมต่างๆ อาทิ การพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมรองรับ AEC การพัฒนาบุคลากร การปรึกษาแนะนำเชิงลึกเพื่อเพิ่มขีดความสามารถเชิงรุกสู่ตลาด AEC รวมทั้งนำผู้ประกอบการไปเจรจาธุรกิจ และทดลองตลาดในประเทศต่าง ๆ ในอาเซียน และอาเซียน+3 ซึ่งได้ผลสำเร็จโครงการในปี 2557 คือสามารถพัฒนาผู้ประกอบการ กิจการ และบุคลากรในธุรกิจอุตสาหกรรมได้กว่า 7,094 ราย 600 กิจการ และ 5,145 ราย  ตามลำดับ (2) โครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย โดยมุ่งผลักดัน 3 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เครื่องหนัง อัญมณีและเครื่องประดับ ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย อาทิ การพัฒาบุคลากรด้านเทคนิคและการจัดการ การพัฒนานักออกแบบ การพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์แฟชั่น การสร้างกลุ่มเครือข่ายย่านธุรกิจแฟชั่น และการเพิ่มประสิทธิภาพตลอดสายกระบวนการผลิต และ (3) โครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทย สู่การเป็นเถ้าแก่ใหม่ มุ่งเน้นการสร้างผู้ประกอบการให้สามารถเริ่มต้นธุรกิจและดำเนินธุรกิจให้เติบโตและเข้มแข็ง  โดยปีนี้ตั้งเป้าสร้างผู้ประกอบการใหม่ จำนวน 1,890 ราย

 ดร.อรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมไทยมีบทบาทสำคัญในการสร้างรายได้ให้กับประเทศโดยมีสัดส่วนใน GDP สูงถึงกว่าร้อยละ 40 แต่เนื่องจากปัจจัยภายนอกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปลายปี 2558 นี้ ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมต้องปรับตัวและเร่งสร้างความพร้อมอย่างเร่งด่วนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถที่จะแข่งขัน ใน AEC ได้อย่างมีศักยภาพ ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ของอุตสาหกรรมไทย ที่ผู้ประกอบการทุกกลุ่มธุรกิจจำเป็นต้องเตรียมตัวให้มีความพร้อมเพื่อสามารถแข่งขันในตลาดที่ใหญ่ขึ้นจากตลาดภายในประเทศที่มีฐานผู้บริโภค 65 ล้านคน สู่ระดับอาเซียนที่ผู้บริโภคกว่า 600 ล้านคน สำหรับอุตสาหกรรมไทยที่มีความโดดเด่นและมีทิศทางในการขยายตลาดได้ดีที่สามารถใช้ประโยชน์จากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในช่วงสิ้นปี 2558 ได้แก่ อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ มีมูลค่าการส่งออกไปประเทศอาเซียนประมาณ 1,146.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มมีมูลค่าการส่งออก 1,610.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เนื่องจากอุตสาหกรรมเหล่านี้ มีการพัฒนามายาวนาน มีทักษะความชำนาญ และมีซัพพลายเชนที่ครบวงจร หากสามารถส่งเสริมให้อุตสาหกรรมดังกล่าวให้มีศักยภาพได้ก็จะสามารถสร้างรายได้มหาศาลให้แก่ประเทศ

 ดร.อรรชกา กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทุกหน่วยงานอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ในแผนงานพิมพ์เขียว AEC สำหรับกระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบหมายให้หน่วยงานต่างๆดำเนินการ อาทิ การสร้าง National Single Window โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) และสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ซึ่งได้ดำเนินการมาแล้วระยะหนึ่ง สำหรับในส่วนของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ที่อยู่ระหว่างการปรับมาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับมาตรฐานอาเซียน  ซึ่งมี 5 รายการด้วยกันคือ ผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์เพื่อการก่อสร้าง ชิ้นส่วนยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และผลิตภัณฑ์ไม้ รวมถึงการจัดทำความตกลงการยอมรับร่วม หรือ MRA (Mutual Recognition Arrangement) สาขาก่อสร้าง เช่น เหล็กเส้นเสริมคอนกรีต นอกจากนี้ สมอ. ยังมีการปรับกฎระเบียบและการควบคุมบริภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน (Implementation of ASEAN Harmonised Electronic Equipment Regulatory Regime: AHEEERR) ที่ขณะนี้ได้ปรับไปแล้ว 22 รายการจาก 30 รายการอีก 8 รายการจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2558

 แต่สำหรับการดำเนินงานที่นอกเหนือจากพันธสัญญาตามพิมพ์เขียวดังกล่าวจะเป็นการดำเนินงาน ในการส่งเสริมและเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการทั้งรายใหม่และรายเดิม กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ได้กำหนด 3 โครงการเร่งด่วน ได้แก่ (1) โครงการเตรียมความพร้อมภาคอุตสาหกรรมในการเข้าสู่  AEC (2) โครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยสู่การเป็นมหานครแฟชั่นอาเซียน และ (3) โครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทยสู่การเป็นเถ้าแก่ใหม่ เพื่อยกระดับให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและการค้าอุตสาหกรรมในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งการดำเนินงานตามทั้ง 3 โครงการเร่งด่วนดังกล่าว กระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบหมายให้ กสอ. ซึ่งมีบทบาทสำคัญในด้านการส่งเสริมพัฒนา SMEs และ OTOP เป็นหน่วยงานปฏิบัติ ดร.อรรชกา กล่าว

             ด้านนายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า สำหรับการส่งเสริมอุตสาหกรรมแฟชั่น สู่การเป็นฮับ (Hub)แฟชั่นของภูมิภาคนั้น กสอ.มุ่งผลักดัน 3 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนัง อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งทั้ง 3 อุตสาหกรรมสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศปีละมากกว่า 600,000 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงานประมาณ 2.2 ล้านคน โดยในปี 2557 กสอ. ได้พยายามสร้างปัจจัยเอื้อต่อธุรกิจแฟชั่นโดยการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้นักออกแบบมีโอกาสนำผลงานมาเสนอต่อกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายทั้งในและต่างประเทศเพื่อแสดงศักยภาพแฟชั่นไทยสู่การยอมรับในระดับนานาประเทศ พร้อมทั้งดำเนินการยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการแฟชั่นให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล โดยมุ่งพัฒนาให้เกิดการเชื่อมโยงกันระหว่างกระบวนการผลิตต้นน้ำ/กลาง ซึ่งเป็นส่วนที่ผลิตและสร้างสรรค์วัตถุดิบ ให้มีรูปแบบ มีคุณภาพ และมีฟังก์ชั่นการใช้งาน (Material Design&Development) ที่ตอบสนองส่วนปลายน้ำคือ ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่ได้มีการออกแบบ (Fashion Design)ให้สอดคล้องกับแนวโน้มแฟชั่น (Fashion Trend) ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย อาทิ การพัฒนานักออกแบบ การพัฒนาบุคลากร การพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ การจัดประกวดแบบแฟชั่น การเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตในโรงงาน การสร้างกลุ่มเครือข่ายย่านธุรกิจแฟชั่นในย่านการค้าต่าง ๆ  เช่น ประตูน้ำ สำเพ็ง สุขุมวิท จตุจักร โบ๊เบ๊ เป็นต้น นอกจากนี้ กสอ. ยังมีแนวทางส่งเสริมการตลาดเพื่ออุตสาหกรรมแฟชั่นก้าวสู่ความเป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งกสอ.ได้สร้างความร่วมมือด้านการตลาดเพื่อเชื่อมโยงกับ AEC+6 การจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการไทยและต่างประเทศ พร้อมทั้งสร้างการรับรู้ของสินค้าแฟชั่นในวงกว้าง เป็นต้น  เพื่อจะให้ประเทศไทยเป็น Hub ของการ SOURCING & SHOPPING แฟชั่นชั้นนำของภูมิภาค

นายอาทิตย์ กล่าวต่อว่า สำหรับการเสริมสร้างผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทยสู่การเป็นเถ้าแก่ใหม่ กสอ.มุ่งเน้นการสร้างผู้ประกอบการให้สามารถเริ่มต้นธุรกิจและดำเนินธุรกิจให้เติบโตและเข้มแข็งใน AEC โดยปีนี้ตั้งเป้าสร้างผู้ประกอบการใหม่ จำนวน 1,890 ราย ผ่านโครงการ “เสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่” (New Entrepreneurs Creation : NEC)  ซึ่งจากการดำเนินงานในโครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ปี 2557 นั้น สามารถสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ได้ถึง 1,679 ราย  เกิดการสร้างธุรกิจใหม่ จำนวน 616 ราย มีการลงทุนในธุรกิจที่ตั้งหรือขยายเพื่อหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจประมาณ 852.54 ล้านบาท และก่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นจำนวน 3,045 ราย ทั้งนี้ สำหรับปี 2558 กสอ. ตั้งเป้าพัฒนาผู้ประกอบการหน้าใหม่ให้ได้ผลกว่า 1,890 ราย โดยเน้นการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับ Digital Economy และการเปิด AEC

 ในส่วนของผู้ประกอบการเดิมนั้น กสอ.ได้มีโครงการเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในการเข้าสู่ AEC เป็นการเฉพาะ เพื่อให้ผู้ประกอบการตั้งรับและรุกได้อย่างยั่งยืนเมื่อเปิด AEC ในปี 2559 โดยมีเป้าหมายดำเนินการเพื่อพัฒนาศักยภาพตัวผู้ประกอบการ 3,500 คน เพิ่มขีดความสามารถองค์กรธุรกิจ/โรงงาน 600 กิจการ  และพัฒนาบุคลากร 2,100 ราย ซึ่งโครงการนี้ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2555 และได้มีกิจกรรมพัฒนาเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการ/กิจการ แล้วกว่า 8,000 ราย ก่อให้เกิดการปรับปรุงธุรกิจ และการขยายตลาดไปสู่ภูมิภาคมากยิ่งขึ้น

นายอาทิตย์ ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า นอกจากโครงการทั้ง 3 แล้ว กสอ.ยังดำเนินโครงการและกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาอื่น ๆ กว่า 70 โครงการ/กิจการ สอดรับกับความหลากหลายของอุตสาหกรรม แก้ปัญหาที่ตรงจุด  ดังนั้นโครงการต่าง ๆ จึงกำหนดมาในหลากหลายบริบทให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการที่แตกต่างกัน มีการปรับปรุงรูปแบบกระบวนการส่งเสริม ปรับปรุงหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง เช่น เรื่องการตลาด กฎระเบียบใน AEC  Digital SMEs เป็นต้น พร้อมทั้งสร้างกลุ่มคลัสเตอร์ ให้เกิดเครือข่ายใหม่เพิ่มขึ้น เช่น คลัสเตอร์เครื่องสำอาง คลัสเตอร์แปรรูปผลิตภัณฑ์เกษตร คลัสเตอร์ OTOP และคลัสเตอร์กลุ่มหัตถศิลป์ เป็นต้น

สำหรับผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการได้ที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ 6 กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0 2202 4426-7 หรือเข้าไปที่ www.dip.go.th หรือ www.facebook.com/dip.pr     

  จาก http://www.thanonline.com วันที่ 18 มีนาคม 2558

ก.เกษตร ยุทธศาสตร์สินค้าเกษตร 4 สินค้า

          กระทรวงเกษตรฯ หารือแนวทางการจัดทำโครงการและงบประมาณภายใต้ยุทธศาสตร์สินค้าเกษตร 4 สินค้า พร้อมเร่งรัดการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ฯ สู่การปฏิบัติ และให้ความสำคัญกับการพัฒนาตลาดและส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกรรายย่อย

          นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมการหารือแนวทางการจัดทำโครงการและงบประมาณภายใต้ยุทธศาสตร์สินค้าเกษตร 4 สินค้า ว่า จากมติคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ) ครั้งที่ 1/2558 เห็นชอบ (ร่าง) ยุทธศาสตร์สินค้าเกษตร 4 สินค้า ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ผลิตภัณฑ์ปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม อ้อยโรงงานและน้ำตาลทราย โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชน เร่งรัดการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ฯ โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาตลาดและส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกรรายย่อย การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ฯ สู่การปฏิบัติในระดับท้องถิ่น และการประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างภาครัฐและเอกชน

          สำหรับแผนการผลิตตามยุทธศาสตร์ 4 สินค้า ได้แก่ 1) แผนการผลิตอ้อยโรงงาน มีเป้าหมายการเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยโรงงาน 6 ล้านไร่ จาก 10.07 ล้านไร่ เป็น 16.07 ล้านไร่ ในปี 2569 การเพิ่มผลผลิตอ้อยโรงงานจาก 103.68 ล้านตัน เป็น 182.04 ล้านตันในปี 2569 และการเพิ่มผลผลิตน้ำตาลจาก 11.29 ล้านตัน เป็น 20.36 ล้านตันในปี 2569 2) แผนการผลิตปาล์มน้ำมัน มีเป้าหมายการขยายพื้นที่ปลูกปีละ 2.5 แสนไร่ เพิ่มพื้นที่ปลูกรวม 3 ล้านไร่ จาก 4.5 ล้านไร่ เป็น 7.5 ล้านไร่ และปลูกทดแทนสวนเก่าปีละ 3 หมื่นไร่ รวมปลูกทดแทน 3.6 แสนไร่ การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ จาก 2.86 ตัน เป็น 3.5 ตัน ภายในปี 2569 และ อัตราน้ำมันจากร้อยละ 18 เป็นร้อยละ 20 ภายในปี 2569 3) แผนการผลิตมันสำปะหลัง มีเป้าหมายโดยการเพิ่มผลผลิตเฉลี่ยมันสำปะหลังเป็น 5 ตัน/ไร่ ในปี 2562 และ 7 ตัน/ไร่ ในปี 2569 มีการบริหารจัดการพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังในพื้นที่ 8.5 ล้านไร่ และ 4) แผนการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีเป้าหมายเพิ่มผลผลิตต่อไร่จาก 659 กิโลกรัม เป็น 835 กิโลกรัม ในปี 2562 และ 1,000 กิโลกรัม ในปี 2569 การเพิ่มผลผลิตรวมจาก 4.81 ล้านตัน เป็น 6.18 ล้านตัน ในปี 2562 และ 7.40 ล้านตัน ในปี 2569 และการลดพื้นที่ปลูกในเขตป่า 3.26 ล้านไร่ และพื้นที่ไม่เหมาะสม 0.82 ล้านไร่ รวม 4.08 ล้านไร่ โดยให้เพิ่มพื้นที่ปลูกในนาข้าวไม่เหมาะสม 2.08 ล้านไร่ และพื้นที่ปลูกหลังนา 0.35 ล้านไร่ เป็น 2 ล้านไร่

          กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้คณะอนุกรรมการร่วม 4 สินค้า พิจารณาจัดเตรียมทำโครงการและงบประมาณ ภายใต้ยุทธศาสตร์สินค้าเกษตร 4 สินค้า (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง และอ้อย) ให้แล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน และนำเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ ภายในเดือนพฤษภาคม ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินการเบื้องต้นในปีงบประมาณ 2558 โดยการอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรเกี่ยวกับระบบน้ำหยดในไร่มันสำปะหลัง จำนวน 600 ราย ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ และการบูรณาการงบประมาณ เพื่อดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในพื้นที่แปลงใหญ่ เป็นต้น

  จาก http://news.thaiquest.com  วันที่ 18 มีนาคม 2558

ภัยแล้งพ่นพิษอ้อย-กุ้งเสียหาย กรมชลฯปลอบมีน้ำป้อนนาข้าว

ภัยแล้งกระหน่ำพืช-สัตว์เศรษฐกิจ อ้อยเจอค่าความหวานตกวูบ มันสำปะหลัง เตรียมใช้ระบบน้ำหยดเพิ่มผลผลิตผู้เลี้ยงกุ้งอ่วมอัตรารอดแค่ 20% กรมชลฯการันตีน้ำในเขตชลประทานพอป้อนนาข้าวฤดูผลิตปี 58/59 เผยโชคช่วยน้ำไหลลงเขื่อนเพิ่ม

ภัยแล้งที่เกิดขึ้นทั่วประเทศในปีการผลิต2557/2558 ทำให้รัฐบาลต้องประกาศงดปล่อยน้ำทำนาปรับ ในเขตลุ่มเจ้าพระยา 22 จังหวัด และเขตลุ่มน้ำแม่กลอง 4 จังหวัด ตั้งแต่เดือน พ.ย. 2557 – เม.ย. 2558 เนื่องจากน้ำในเขื่อนใหญ่มีปริมาณลดลงมากนั้น

ล่าสุด ผู้สื่อข่าว ”ประชาชาติธุรกิจ ”ได้สำรวจพืชและสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่คาดว่าจะได้รับความเสียหาย ทั้งข้าว มันสำปะหลัง กุ้งขาวแวนนาไม พบว่าในส่วนกุ้งขาวมีปริมาณจับได้ในเดือนม.ค.ที่ผ่านมา 1.3 หมื่นตัน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนม.ค. 2557 ที่มีปัญหาโรคกุ้งตายด่วนหรืออีเอ็มเอส ซึ่งจับกกุ้งได้ 1.24 หมื่นตันซึ่งนายบรรจง   นิสภวาณิชย์ นายกสมาคมกุ้งตะวันออกไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าแม้หลายภาคยกเว้นภาคใต้จะแก้ปัญหาโรคกุ้งตายด่วนได้แล้ว แต่สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงเร็วในเดือนม.ค.ทั้งอากาศหนาว น้ำจืดขาดแคลนไม่เพียงพอต่อการเลี้ยง ทำให้กุ้งเป็นโรคตัวแดงดวงขาวมาก มีอัตรารอดเพียง 20% ส่วนเดือน ก.พ.-เม.ย. นี้ เกษตรกรส่วนใหญ่จะไม่เลี้ยงกุ้ง เพราะขาดแคลนน้ำ

ผลผลิตมันสำปะหลัง 28 ล้านตัน

นายธีระชาติ เสยกระโทก  ผู้ประสานงานในสมาพันธ์ชาวไร่มันสำปะหลังแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในส่วนของมันสำปะหลังขณะนี้เกษตรกรยังไม่ได้เริ่มปลูกมากนัก จะเริ่มปลูกเดือน เม.ย.-พ.ค.นี้และเก็บเกี่ยวเดือนพ.ย. แต่กรมการค้าภายในได้กำหนดมาตรการรับมือภัยแล้งด้วยการจัดอบรมเกษตรกรไปแล้ว 600 คนให้เข้าใจและใช้ประโยชน์โครงการเพิ่มประสิทธ์ภาพการปลูกด้วยระบบน้ำหยดน่าจะช่วยให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นเท่าตัวจาก 3.5 ตันต่อไร่ เป็น 8 ตันต่อไร่ คาดว่าทั้งปี 2558/2559 จะมีผลผลิตไม่ต่ำกว่า 27-28 ล้านตันหัวมันสด

อ้อยภาคกลางเจอแล้งหนัก

ขณะที่นายบุญถิ่น  โคตรศิริ  ผู้อำนวยการศูนย์บริหารการผลิต การจำหน่าย และการขนย้ายน้ำตาล สำนักคณะกรรมการบริหารอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่าภัยแล้งส่งผลกระทบผลผลิตอ้อยฤดูการผลิตปี 2557/2558 ในพื้นที่ภาคกลางมากโดยเฉพาะ จ.กาญจนบุรี สระบุรี ส่งผลให้น้ำตาลต่อตันอ้อยหายไป 7-8 กิโลกรัมต่อตันอ้อย  ทั้งนี้ ปัญหาภัยแล้งส่งผลให้ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยภาพรวมทั้งระบบลดลงจากปี 2556/2557 ที่อยู่ระดับ 109  กก. ต่อตันอ้อย ปี 2557/2558 ลงมาอยู่ที่ 105 กก. ต่อตันอ้อย และค่าความหวานของอ้อย (C.C.S.) โดยเฉลี่ยปีนี้ลดลงจาก 12.5-12.6% เหลือ 12% แต่ภาพรวมนับจากวันเปิดหีบตั้งแต่ 1 ธ.ค.2557 คาดว่าผลผลิตอ้อยจะได้ตามเป้าที่คาดไว้ 102 ล้านตันอ้อย

เกษตรฯมองภัยแล้งไม่แรง

ด้านนายโอฬาร  พิทักษ์  อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ความเสียหายจากภัยแล้งปีนี้ไม่รุนแรงเท่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากมีการเตรียมความพร้อมให้เกษตรกรทำอาชีพอื่นทดแทนผ่านโครงการต่างๆ เช่นโครงการจ้างงานเกษตรกรขุดลอกคูคลอง ซึ่งเกษตรกรเข้าร่วม 80% ของตำแหน่งงาน 4 หมื่นตำแหน่ง โครงการส่งเสริมปลูกพืชฤดูแล้ง และโครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชน ตำบลละ 1 ล้านบาท ทำให้เกษตรกรไม่เสี่ยงปลูกพืช

ส่วนความเสียหายในพืชที่เพาะปลูกแล้วมีพื้นที่ 1.2 ล้านไร่ ทั้งข้าวและพืชไร่อื่นๆ ส่วนใหญ่เป็นบริเวณปลูกข้าวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงเดือน ต.ค.- พ.ย. 2557 เป็นช่วงเก็บเกี่ยวข้าวนาปี โดยรัฐได้อนุมัติงบฯช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติส่วนนี้แล้ว 1,000 ล้านบาท

ความเสียหายที่เกิดขึ้นอาจมองในแง่การเสียโอกาสเพาะปลูก เช่น บริเวณนาปรังในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลอง ปกติเคยทำนาปรับในเขตชลประทานได้ปีละ 8-9 ล้านไร่ ปีนี้ได้ขอความช่วยมือให้งดปลูกทั้งหมด อย่างไรก็ตาม มีเกษตรกรที่ยังเพาะปลูกข้าวนาปรับ 3 ล้านไร่ พื้นที่นอกเขตชลประทานอีก 1-2 ล้านไร่ คาดว่าเมื่อเก็บเกี่ยวหมดจะเสียหาย 1 แสนไร่เท่านั้น แต่รัฐมีโครงการต่างๆ ทดแทนรายได้ให้แล้ว

โครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชน ตำบลละไม่เกิน 1 ล้านบาท 3,051 ตำบล วันที่ 17 มี.ค.2558 มีโครงการที่ผ่านคณะกรรมการชุมชน(ศบกต.) แล้ว 2,977 ตำบล คิดเป็น 97.57% และมีจำนวนโครงการผ่านการพิจารณาสุดท้ายแล้ว 707 โครงการ จาก 385 ตำบล ใน 43 จังหวัด เป็นเงิน 334 ล้านบาท ได้อนุมัติงบฯก้อนแรก 39 ล้านบาทแล้ว สัปดาห์นี้จะอนุมัติเพิ่มได้อีก 210 ล้านบาท

กรมชลฯโล่งอกเก็บน้ำได้ตามเป้า

นายเลิศวิโรจน์  โกวัฒนะ  อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลฯยืนยันว่ามีน้ำอุปโภคบริโภคเพียงพอในฤดูแล้งที่เหลืออีก 1 เดือนเศษนี้ แม้จะมีการใช้น้ำเกินเป้าหมาย เนื่องจากยังมีชาวนาทำนาปรับอยู่ 5.19 ล้านไร่ ในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา แต่เนื่องจากมีน้ำไหลเข้าเขื่อนมากกว่าที่ประเมิน 600-700 ล้านลบ.ม. ทำให้ปริมาณน้ำเพียงพอแน่นอนแม้เกิดปัญหาเฉพาะหน้า เช่น น้ำเค็มหนุนสูงและจะมีน้ำต้นทุนสำรองไว้ตามเป้าหมาย ส่วนนาปรับที่เก็บเกี่ยวไปแล้วมีเสียหารบางส่วน 1,000 ไร่เท่านั้น

กรมอุตุนิยมวิทยาประเมินว่า ฤดูฝนปีนี้จะล่าช้ากว่าปกติ จะตกสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพ.ค.นี้ อย่างไรก็ตาม กรมชลฯจะเริ่มส่งน้ำให้เพาะปลูกได้ก่อนในบางพื้นที่ที่เป็นที่ลุ่มต่ำ เพื่อให้เก็บเกี่ยวทันได้ก่อนจะเกิดน้ำท่วม โดยเริ่มบริเวณบางระกำโมเดล  จ.พิษณุโลก ฝั่งซ้ายของโครงการเขื่อนนเรศวร กลางเดือน เม.ย.นี้

พาณิชย์คุมเข็มราคาสินค้า

ส่วน น.ส. ชุติมา บุณยประภัศร   ปลักกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจสอบสถานการณ์ราคาสินค้าที่ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์  สาขางามวงศ์วานว่า ได้สั่งการให้กรมการค้าภายในติดตามภาวะผลิตและการจำหน่ายสินค้ากลุ่มเนื้อสัตว์และผักสด 11 รายการ เช่น  ผักชี  ผักกาดขาว   ผักกวางตุ้ง  ต้นหอม   มะนาว  พริกสด  พริกชี้ฟ้า และเนื้อหมู  เป็นต้น เพราะมีแนวโน้มราคาอาจจะปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากเข้าสู่หน้าแล้งและอากาศร้อนทำให้ผลผลิตเข้าสู่ตลาดน้อยลง เท่าที่ติดตามปีนี้ยังไม่พบความผิดปกติ

ขณะที่การแก้ไขปัญหาราคาไข่ไก่ตกต่ำสัปดาห์นี้จะประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (เอ้กบอร์ด) ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์หาทางช่วยระบายผลผลิตส่วนเกินออกสู่ตลาดให้ได้มากที่สุด โดย 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ระบายผลผลิตส่วนเกินไปแล้ว 11 ล้านฟอง และยังระบายต่อเนื่อง

  จาก http://www.thanonline.com วันที่ 18 มีนาคม 2558

‘ปิดทองฯ’ เปิดโมเดลแก้จน 5ปีดันศาสตร์พระราชาปลดหนี้

“ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล” เลขาฯมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ และประธานสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองฯ เล่าให้ฟังว่า กิจกรรมปิดทองฯได้เริ่มต้นที่จังหวัดน่านเป็นแห่งแรก

ความพยายามในการแก้ไขปัญหา “ความยากจน” ของคนไทยที่ทุกรัฐบาลพยายามทำมานานหลายสิบปี ตั้งแต่ก่อนเขียนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 ปี 2504 จนถึงปัจจุบันด้วยการอัดนโยบายสารพัด “แก้จน” แต่...มาถึงวันนี้ไฉนความยากจนยังไม่หมดสิ้นไปจากคนไทย ซ้ำร้ายกว่านั้นช่องว่างคนรวยกับคนจนยิ่งเพิ่มขึ้นจาก 20 เท่า เมื่อ 25 ปีก่อน เป็น 21 เท่า

ด้วยปัญหาข้างต้นทำให้มูลนิธิปิดทองหลังพระสืบสานแนวทางพระราชดำริซึ่งเป็นหน่วยงานที่น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงหรือแปร “ศาสตร์พระราชา” ออกมาสู่การปฏิบัติจริง จึงได้มีการเร่งดำเนินการแก้ปัญหาความยากจนในพื้นที่ห่างไกล ถึงวันนี้ลองมาดูกันว่า ตั้งแต่เริ่มโครงการเมื่อปี 53 ถึงปัจจุบันประสบผลสำเร็จอย่างไรบ้าง

“ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล” เลขาฯมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ และประธานสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองฯ เล่าให้ฟังว่า กิจกรรมปิดทองฯได้เริ่มต้นที่จังหวัดน่านเป็นแห่งแรก เพราะจังหวัดนี้ติดอันดับจังหวัดยากจน 1 ใน 3 ของประเทศ อีกทั้งพื้นที่ป่าก็ถูกบุกรุก ประชาชนก็อพยพเข้าสู่เมืองหลวงไปรับจ้างก่อสร้าง บางส่วนก็ค้ายาเสพติด ค้าประเวณี จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องเร่งแก้ไข โดยขั้นตอนแรกต้องทำความเข้าใจกับชาวบ้านในพื้นที่ก่อน เพื่อสร้างองค์ความรู้และนำคณะของผู้นำชาวบ้านไปศึกษาวิธีสร้างอาชีพที่โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อนำความรู้ไปขยายผลต่อ พร้อมกับพัฒนาแหล่งน้ำให้เพียงพอเพาะปลูกได้ตลอดทั้งปี

จากนั้นจึงขยายผลไปจังหวัดอื่น โดยจัดทำเป็นพื้นที่ต้นแบบ 5 จังหวัด คือ น่าน อุดรธานี เพชรบุรี อุทัยธานี และกาฬสินธุ์ ขณะนี้ผ่านมา 5 ปีแล้ว พบว่าประสบผลสำเร็จสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนกว่า 285 ล้านบาท ครอบคลุม 2,017 ครัวเรือน และสร้างครัวเรือนต้นแบบ 534 ครัวเรือน โดยชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการสามารถเลี้ยงดูตัวเองได้ ตลอดจนช่วยสร้างงาน และแก้ไขการบุกรุกป่าได้

แก้ยากจนจังหวัดน่าน 100%

ทั้งนี้เมื่อแยกออกเป็นรายจังหวัดพบว่า จังหวัดน่านซึ่งตั้งต้นว่าเป็นโครงการ “พึ่งตน พึ่งป่า รักษ์เจ้าพระยา” และได้นำหลักการ “เข้าใจเข้าถึง พัฒนา” ตามแนวพระราชดำริมาเป็นแนวทางปฏิบัติในพื้นที่นำร่อง 3 อำเภอ คือ อำเภอสองแคว ท่าวังผา และเฉลิมพระเกียรติ ด้วยการพัฒนาการบริหารจัดการน้ำปรับปรุงปัจจัยการผลิตพื้นฐาน ส่งเสริมการแปรรูปและพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ส่งเสริมความเข้มแข็งชุมชนด้วยการพัฒนาคนควบคู่กับการปลูกฝังค่านิยมด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนกับธรรมชาติ จัดตั้งกลุ่มกองทุนต่าง ๆ และที่สำคัญช่วยเพิ่มผลผลิตข้าวให้เพียงพอต่อการบริโภค ลดพื้นที่เผาป่าและส่งเสริมการปลูกพืชหลังนา

ทำให้ผลที่เกิดขึ้นในระยะ 5 ปี มีครัวเรือนเข้าโครงการ 1,793 ครัวเรือน สร้างพื้นที่รับน้ำเพิ่มขึ้น 10,282 ไร่ สร้างรายได้เพิ่มให้ชาวบ้าน 1,700 ครัวเรือน คิดเป็นมูลค่า 137.6 ล้านบาท ลดหนี้สินครัวเรือนได้เฉลี่ย 10% จากครัวเรือนละ 38,536 บาท เหลือ 26,894 บาท ขณะที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯได้เข้ามาปลูกป่าในพื้นที่ตั้งแต่ปี 56 ล่าสุดสามารถปลูกได้ทั้งป่าอนุรักษ์ ป่าใช้สอยและป่าเศรษฐกิจได้ 81,690 ไร่ และมีเป้าหมายปลูกป่าให้ได้ 250,000 ไร่ ซึ่งตอนนี้ที่ 3 อำเภอ ต้นแบบได้ช่วยแก้ปัญหาความยากจนได้เห็นผล 100%

สร้างอ่างเก็บน้ำฟื้นรายได้

ต่อมาที่ จ.อุดรธานี เดิมประสบปัญหาน้ำใช้ทำการเกษตรไม่เพียงพอ และมีปัญหาหนี้สินกับการละทิ้งถิ่นฐาน มูลนิธิจึงได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ นำหลัก “ทำเล็ก เรียบง่าย ได้ประโยชน์สูงสุด” มาใช้ โดยเสริมประสิทธิภาพของอ่างเก็บน้ำห้วยคล้ายฯ สร้างอ่างพวงต่อจากอ่างเก็บน้ำหลักไว้เก็บน้ำเพิ่มและวางท่อส่งน้ำ ปรับปรุงบำรุงดินเพิ่มผลผลิตข้าว ส่งเสริมการปลูกพืชหลังนา เลี้ยงหมูพันธุ์เหมยซาน และไก่ไข่

ทำให้ผลที่เกิดขึ้นในระยะ 4 ปี 5 เดือน สร้างรายได้ให้ชาวบ้าน 214 ครัวเรือน มูลค่า 8.5 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากการปลูกข้าว 5.3 ล้านบาท รายได้จากเลี้ยงหมู 2.1 ล้านบาท และพืชหลังนาอีก 548,413 บาท สร้างพื้นที่รับน้ำเพิ่มขึ้นเป็น 1,297 ไร่ และจากนี้ยังมีทิศทางการทำงานต่อโดยชาวบ้านพร้อมพัฒนาข้าวปลอดสารแบบครบวงจรพัฒนาศักยภาพกลุ่มอาชีพพร้อมทั้งส่งเสริมการแปรรูปปศุสัตว์ด้วย

แก้ปัญหารุกป่าสร้างอาชีพ

ขณะที่จังหวัดเพชรบุรีเดิมประสบปัญหาชนเผ่ากะหร่างอยู่อาศัยอย่างลำบากในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวด ล้อมอย่างรุนแรงในพื้นที่อุทยานฯแม้จะมีมูลนิธิศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เข้าไปส่งเสริมอาชีพแต่ยังไม่เพียงพอกับการดำรงชีวิตมิหนำซ้ำยังมีปัญหาความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานในพื้นที่เข้ามาผสมอีกด้วย โดยการแก้ไขปัญหา ปิดทองฯได้ชวนชาวกะหร่างและราชการในพื้นที่ร่วมกันทำงานเพื่อให้คนป่าและสัตว์ป่าสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเกื้อกูล จึงทำแผนพัฒนาออกมาคือเพิ่มการเข้าถึงแหล่งน้ำส่งเสริมความสามารถในการพึ่งพาตนเองด้วยพืชระยะสั้นปลูกผักสวนครัว และปศุสัตว์ ส่งเสริมปลูกพืชระยะยาวสร้างความยั่งยืนในอาชีพและเพิ่มพื้นที่และศักยภาพของการเพาะปลูก

ส่งผลให้ในช่วง 2 ปี 3 เดือน ที่ผ่านมาสามารถสร้างความรู้ สร้างอาชีพ รายได้ให้ชนกลุ่มน้อยในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้ 133 ครัวเรือน มูลค่า 730,000 บาท มีพื้นที่รับน้ำเพิ่มขึ้น 497 ไร่ ต่อไปยังมีแผนพัฒนาด้วยการเพิ่มผลผลิตข้าวให้เพียงพอต่อการบริโภคปลูกพืชสวนระยะสั้น เช่น กล้วย ส่งเสริมการจัดทำบัญชีครัวเรือนและจัดตั้งกลุ่มต่าง ๆ เพื่อสร้างความเข้มแข็งของชุมชน

ปัดฝุ่นหนองน้ำแก้แล้ง-น้ำท่วม

ส่วน จ.กาฬสินธุ์ แม้เริ่มลงมือทำเมื่อปี 56 แต่ปัจจุบันก็เริ่มเห็นผลสำเร็จแล้ว โดยปัญหาแหล่งน้ำหนองเลิงเปือยที่ตื้นเขิน ทำให้เกิดปัญหาขาดน้ำในหน้าแล้ง และน้ำท่วมในหน้าน้ำหลากทุกปี มูลนิธิก็เข้าไปร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นช่วยกันขุดลอกหนองเลิงเปือยและบริหารจัดการน้ำครบวงจร สร้างองค์ความรู้ด้านการเกษตร ทำให้ในช่วง 2 ปี 1 เดือน สามารถเพิ่มพื้นที่รับน้ำได้ 5,938 ไร่ สร้างครัวเรือนต้นแบบ 534 ครัวเรือน ในการทำเกษตรผสมผสานและเกษตรทางเลือก

รายได้เพิ่มด้วยสตรอเบอรี่

สุดท้ายที่ จ.อุทัยธานี เริ่มงานในปี 56 เช่นกัน แต่มีปัญหาพื้นที่ชายขอบเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งถูกคุกคามจากการแผ้วถางทำไร่ชาวกะเหรี่ยง ปัญหาการขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้ การเป็นหนี้สินกับนายทุน ตลอดจนการบริหารจัดการน้ำ ปิดทองฯจึงได้ร่วมกับท้องถิ่นและหน่วยงานในพื้นที่พัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนท้องถิ่นสร้างงานและอาชีพป้องกันการบุกรุกทำลายป่าด้วยการส่งเสริมอาชีพระยะสั้นกับการปลูกสตรอเบอรี่พันธุ์พระราชทาน 80

โดยในปีแรกของการดำเนินงานสามารถสร้างรายได้ให้กับชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่รอยต่อมรดกโลกห้วยขาแข้งจากการปลูกสตรอเบอรี่ 24 ครัวเรือน มูลค่า 485,000 บาท และในปัจจุบันก็มีชาวบ้านปลูกสตรอเบอรี่เพิ่มเป็น 36 ราย รวมพื้นที่เพาะปลูก 24 ไร่ 1 งาน ส่งผลให้ชาวบ้านมีรายได้เฉลี่ยต่อพื้นที่ 1 งานต่อเดือนอยู่ที่ 4,949 บาท หรือไร่ละ 19,796 บาท

ผลงานทั้งหมดของปิดทองฯดังที่ยกตัวอย่างมาแม้ว่าจะเป็นแค่ช่วงเวลาสั้น ๆ เพียง 5 ปี แต่ก็มีทิศทางแก้ปัญหา “คนจน” ให้มี รายได้เพิ่ม และที่สำคัญแนวทางนี้ยังไม่สงวนหากฝ่ายนโยบายจะหยิบไปเป็นโมเดลแก้ปัญหาที่สั่งสมมานานเพื่อดึงประเทศไทยก้าวพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลางเสียที.

  จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 18 มีนาคม 2558

รายงานพิเศษ : จาก‘ทุ่งเมืองเพีย’ขอนแก่นสู่สกลนคร รูปแบบขยายผลแก้ปัญหาดินเค็ม

ปัญหาดินเค็มมีอยู่ทุกภาคของประเทศไทย แต่ที่มากที่สุดจะอยู่ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยกระจายอยู่ในทุกจังหวัด ถ้ามีการใช้ประโยชน์ที่ดินไม่เหมาะสมหรือไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการก็จะทำให้เกลือขึ้นมาบนผิวดิน ส่งผลกระทบต่อการทำการเกษตร

นายชูเกียรติ คำโสภา ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินสกลนคร สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 กรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า จังหวัดสกลนคร มีพื้นที่รวมทั้งหมดประมาณ 6 ล้านไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ทางการเกษตรประมาณ 4 ล้านไร่ ซึ่งพบว่ามากกว่า 2.7 ล้านไร่ หรือประมาณ 46% ของพื้นที่ทั้งหมดได้รับผลกระทบมีการแพร่กระจายของเกลือบนผิวดิน แม้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ดินเค็มน้อยถึงปานกลาง แต่ก็ส่งผลกระทบต่อการทำการเกษตร โดยเฉพาะการปลูกข้าวที่อาจได้ผลผลิตต่ำกว่าที่ควรจะเป็น แต่ถึงกระนั้นเกษตรกรกว่า 80% ที่ต้องทำนาบนพื้นที่ดินเค็ม ก็ยังยึดอาชีพทำนาอยู่ เนื่องจากการทำนาเป็นทั้งวัฒนธรรมและเป็นวิถีชีวิตที่ยึดถือปฏิบัติสืบทอดกันมาหลายรุ่น ดังนั้นแม้ว่าดินเค็มจะส่งผลต่อผลผลิตก็ยังจำเป็นต้องใช้ประโยชน์พื้นที่ทำนาต่อไป

อย่างไรก็ตาม สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาดินเค็มมาอย่างต่อเนื่อง จนประสบความสำเร็จในการพัฒนาพื้นที่ดินเค็มให้เกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเพาะปลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจัดทำเป็นต้นแบบการพัฒนาพื้นที่ดินเค็มทุ่งเมืองเพีย จังหวัดขอนแก่น หรือเรียกว่า ทุ่งเมืองเพียโมเดล ซึ่งได้ขยายผลโครงการไปสู่จังหวัดในพื้นที่รับผิดชอบ ได้แก่ จังหวัดกาฬสินธุ์ อุดรธานี และในปี 2558 นี้ได้ขยายผลมาถึงจังหวัดสกลนคร

การนำรูปแบบและองค์ความรู้ของทุ่งเมืองเพียมาขยายผลในพื้นที่จังหวัดสกลนครนั้น เริ่มแรกก็ต้องกำหนดโซนพื้นที่ที่จะดำเนินการพัฒนา โดยคำนึงจากกลุ่มเกษตรกรที่พร้อมจะให้ความร่วมมือ รวมไปถึงผู้บริหารพื้นที่ทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อบต.) กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มีความต้องการจะร่วมมือกับทางสถานีพัฒนาที่ดินสกลนครไหม ซึ่งก็ได้พื้นที่ดำเนินการนำร่องคือที่บ้านดงมะไฟ บ้านดงขวาง ตำบลดงมะไฟ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร รวมพื้นที่ 800 ไร่ โดยขณะนี้ได้ดำเนินการพัฒนาพื้นที่ดินเค็ม ด้วยการปรับรูปแปลงนา เนื่องจากปลงนาเกษตรกรจะเป็นแปลงเล็กไม่เหมาะกับการนำเครื่องจักรกลทางการเกษตรเข้าพื้นที่ ซึ่งต้องใช้แรงงานภาคเกษตรที่นับวันจะลดต่ำลง ก็ต้องปรับให้เป็นนาผืนใหญ่เพิ่มพื้นที่เพาะปลูกและยังสะดวกต่อการนำเครื่องจักกลไปใช้ได้

อีกทั้งทำคันนาให้ใหญ่ขึ้นและส่งเสริมการปลูกยูคาลิปตัสหรือกระถินออสเตรเลียบนคันนา เพื่อช่วยดูดซับน้ำ ลดระดับน้ำเค็มใต้ดินไม่ให้แพร่กระจายขึ้นมาบนผิวดิน ส่วนในแปลงนาก็ต้องปรับปรุงบำรุงดินด้วยการใช้แกลบ ปูนโดโลไมค์ ร่วมกันปลูกพืชปุ๋ยสด อย่างโสนอัฟริกัน ปอเทือง ถั่วพร้าแล้วไถกลบเพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดิน ควบคู่กับการฝึกอบรม ถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนา ปรับปรุงพื้นที่ดินเค็มให้แก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ

แม้ว่าขณะนี้เพิ่งเริ่มต้นโครงการแต่เกษตรกรก็ให้การตอบรับเป็นอย่างดี เนื่องจากเห็นผลสำเร็จของทุ่งเมืองเพีย ซึ่งทำให้เกษตรกรตระหนักดีว่าดินเค็มเป็นปัญหาที่สามารถแก้ไขได้ และเขาก็พร้อมที่จะทำตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ อย่างไรก็ตาม ทางสถานีพัฒนาที่ดินสกลนครได้มีการเก็บตัวอย่างดินก่อนเริ่มโครงการไปตรวจวิเคราะห์หาค่าความเป็นกรด ด่าง ค่าธาตุอาหารในดิน และจะตรวจวิเคราะห์ซ้ำในช่วงระหว่างการดำเนินการและสิ้นสุดโครงการอีกครั้ง เพื่อเก็บข้อมูลเปรียบเทียบต่อไป

“การแก้ปัญหาดินเค็มสามารถทำได้จริง เพราะมีต้นแบบที่ชัดเจนที่ทุ่งเมืองเพีย ดังนั้น เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการขยายผลในจังหวัดสกลนคร จึงมีความเชื่อมั่นว่าถ้ามีการจัดการพัฒนาแก้ปัญหาดินเค็มอย่างถูกต้องแล้ว เขาจะสามารถเพิ่มผลผลิตข้าวจากเดิมที่ได้ประมาณ 300-400 กก./ไร่ จะเพิ่มขึ้นเป็น 500-600 กก./ไร่ ได้ในที่สุด”

นายชูเกียรติ กล่าวย้ำ

อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาดินเค็มต้องใช้ระยะเวลา เนื่องจากเป็นปัญหาที่สะสมเรื้อรังมานาน ก็ต้องค่อยเป็นค่อยไป เกษตรกรต้องใจเย็นและปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ เพราะไม่ใช่ทำปีนี้จะเห็นผล 100% ทันทีคงเป็นไปไม่ได้ ทั้งนี้ สถานีพัฒนาที่ดินสกลนคร ได้ทำเรื่องเสนอของบประมาณปี 2559 เพื่อทำโครงการต่อเนื่อง เพราะถ้าสามารถพลิกฟื้นพัฒนาพื้นที่ดินเค็มของตำบลดงมะไฟ ให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวได้ ก็จะทำเป็นพื้นที่ตัวอย่าง ให้เกษตรกรในพื้นที่อื่นได้มาศึกษาดูงาน และก็น่าจะมีการขยายผลโครงการดังกล่าวไปสู่พื้นที่ตำบลอื่นที่ประสบปัญหาดินเค็มด้วยเช่นกัน

  จาก http://www.naewna.com   วันที่ 18 มีนาคม 2558

หอการค้าฯ พร้อมช่วยรัฐแก้ปัญหาแรงงานไทย ย้ำทุกภาคส่วนต้องให้ความร่วมมืออย่างจริงจัง

           นายภูมินทร์ หะรินสุต รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ประเทศไทยถูกจับตามองเรื่องปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ส่งผลเป็นวงกว้างในภาพลักษณ์ของสินค้าไทยที่ส่งออกไปยังทั่วโลก อย่างที่ทราบกันดี ประเทศไทย พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก ซึ่งเมื่อปี 2557 ประเทศไทยส่งออกไปทั่วโลกถึงประมาณ 7.31 ล้านล้านบาท โดยมีตลาดสหรัฐฯ เป็นฐานการส่งออกอันดับ 2 (767,856.3 ล้านบาท) รองจากประเทศจีน อีกทั้ง ประเทศไทยยังเป็นผู้ส่งออกหลักของผลิตภัณฑ์อาหารทะเลทั้งสด แปรรูป และอาหารทะเลบรรจุกระป๋อง รวมทั้งยังเป็นห่วงโซ่การผลิตของหลายๆ อุตสาหกรรมไปยังทั่วโลก ซึ่งมีแนวโน้มการส่งออกสินค้าประมง ตลอดปี 2557 คาดว่ามีปริมาณรวมทั้งสิ้นประมาณ 560,000 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 100,000 ล้านบาท โดยมีแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในประเทศไทยที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานในทั่วราชอาณาจักร ประมาณ 1,626,235 คน (ที่มา กนร. ข้อมูล ณ วันที่25 กุมภาพันธ์ 2558)

          หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้ให้ความสำคัญและผลักดันการแก้ไขปัญหาแรงงานและการค้ามนุษย์มาโดยตลอด ประกอบด้วย 1.Trafficking in Persons Report (TIPs Report) ปี 2014 ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ประเมินการดำเนินการด้านแรงงานของไทยโดยประเทศไทยอยู่ในระดับ Tier3 โดยรายงานปี 2015 จะเผยแพร่ในเดือนพฤษภาคม 2558 นี้ โดยประเด็นที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญต่อการบังคับใช้กฎหมายของประเทศไทย การดำเนินคดีของภาครัฐ และการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งประเทศไทยได้จัดส่งรายงานชี้แจงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาฉบับแรกไปยังกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แล้ว และจะส่งฉบับสุดท้ายในเดือนมีนาคม 2558 นี้ โดยจะต้องตอบข้อคิดเห็นของสหรัฐฯ จากรายงานฉบับปี 2014 ได้ รวมทั้งความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหา

          2. Illegal Unregulated and Unreported Fishing (IUU) ประเทศไทยกำลังจะได้รับใบตักเตือน(ใบเหลือง) จากสหภาพยุโรปกรณีเรือที่ปฎิบัติไม่ถูกต้องโดยรวมถึงกรณีแรงงานด้วย ซึ่งหากไม่รีบแก้ไขจะส่งผลให้ไทยไม่สามารถส่งออกสินค้าอาหารทะเลไปยังสหภาพยุโรปได้ 3. List of Goods Produced by Child Labor or Forced Labor โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ระบุว่า สินค้าจากประเทศไทย 4 รายการมีการใช้แรงงานเด็ก และ/หรือแรงงานบังคับ ได้แก่ กุ้ง ปลา อ้อย และเครื่องนุ่งห่ม 4. การถูกโจมตีจากสื่อต่างๆ เช่น The Guardian , EJF และหนังสือพิมพ์ต่างประเทศ ระบุถึงการดำเนินการด้านแรงงานที่เลวร้ายของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานในเรือประมง

          นายภูมินทร์ กล่าวว่า หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้ขับเคลื่อนในการแก้ไขปัญหาแรงงานและการค้ามนุษย์ มาเป็นเวลามากกว่า 3 ปี ผ่านคณะกรรมการแรงงานและทรัพยากรมนุษย์ คณะกรรมการธุรกิจการประมงและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และสมาคมการค้าที่เกี่ยวข้องภายใต้ความร่วมมือสมาพันธ์ผู้ผลิตสินค้าประมงไทย

          อย่างไรก็ตาม คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จนถึงรัฐบาลปัจจุบัน ได้ให้ความสำคัญของการแก้ไขปัญหาแรงงานทั้งระบบ โดยได้มุ่งเน้นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศชาติ ตลอดจน การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย และความมั่นคงของประเทศชาติ ซึ่งต้องยอมรับว่าปัญหาแรงงาน เป็นปัญหาที่สะสมมานานเป็นเวลา 10 กว่าปี และประเทศไทยกำลังขาดแคลนแรงงานเป็นอย่างมาก และจะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น

          รัฐบาลชุดนี้ได้แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (กนร.) ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พร้อมทั้ง ได้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นเพื่อดูแลเกี่ยวกับเรื่องของการค้ามนุษย์ขึ้นมาอีก 5 ด้าน ได้แก่ คณะอนุกรรมการปราบปรามการค้ามนุษย์ , คณะอนุกรรมการด้านสตรีในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ , คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ และแรงงานต่างด้าว , คณะอนุกรรมการแก้ไข้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย(IUU Fishing) และ คณะอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์และกฎหมายที่เกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์

          ทั้งนี้ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้รับมอบหมายให้เป็นกรรมการในคณะกรรมการต่างๆ ของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาแรงงาน ร่วมทั้งได้นำเสนอความคิดเห็น และขับเคลื่อนนโยบายในการแก้ไขปัญหาต่างๆ กับทางรัฐบาลมาเป็นอย่างดีโดยตลอด ซึ่งได้ปรากฎอย่างชัดเจนถึงการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว การค้ามนุษย์ และปัญหาแรงงานบนเรือประมง เพื่อให้หลุดพ้นจากการประเมินการดำเนินการด้านแรงงานของไทย TIPs Report. , IUU Fishing และ List of Goods Produced by Child Labor or Forced Labor (4 สินค้า) ได้แก่ อ้อย เครื่องนุ่งห่ม ปลาและกุ้ง และสื่อลามก)โดยรัฐบาลได้มีแนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังมาโดยตลอด อาทิ การดำเนินการจัดระเบียบ และเร่งพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว กัมพูชา ณ ศูนย์ One Stop Service , การจัดระบบแรงงานต่างด้าวสัญชาติเวียดนาม โดยได้เห็นชอบแนวทางการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวสัญชาติเวียดนามที่ลักลอบทำงานอยู่ในประเทศไทย และเห็นชอบให้ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีกำหนดให้แรงงานเวียดนามทำงานได้ 2 งาน ได้แก่ งานกรรมกร และงานรับใช้แม่บ้าน พร้อมทั้ง เห็นชอบให้มีการเจรจาระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลเวียดนามเพื่อจัดทำบันทึกข้อตกลง MOU นำเข้าแรงงานเวียดนาม ในกิจการประมงและก่อสร้าง , การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานประมงทะเล โดยให้มีการผ่อนผัน

ให้แรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา อยู่ในราชอาณาจักรเป็นเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2558 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2559 ตามแนวทางมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2556 (พร้อมทั้ง จดทะเบียนปีละ 2 ครั้ง)

          นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการจ้างแรงงานระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา รัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและรัฐบาลราชอาณาจักรกัมพูชาในประเด็นต่าง ๆ โดยเฉพาะการปรับระยะเวลาการกลับเข้าทำงานใหม่ของแรงงานต่างด้าวหลังทำงานครบกำหนด 4 ปีแล้ว จากเดิมกำหนดไว้ 3 ปี ให้ลดลงเหลือ 30 วัน เพื่อความต่อเนื่องของการทำงานและสอดคล้องกับระยะเวลาการเตรียมการจัดทำเอกสารเพื่อกลับเข้ามาทำงานใหม่ รวมทั้งแรงงานได้กลับไปเพื่อพักผ่อนอยู่กับครอบครัวหลังจากเข้ามาทำงานในประเทศไทยเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว

          “รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาแรงงานอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ซึ่งปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ ยังคงต้องดำเนินการการแก้ไขอยู่และต้องการความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน”

          นายภูมินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ ตลอดจนปัญหาแรงงานบนเรือประมง ซึ่งเป็นปัญหาต่อเนื่องด้านการต่างประเทศที่จำเป็นต้องเร่งดำเนินการแก้ไขอย่างต่อเนื่อง โดยหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้มีการแก้ไขปัญหาแรงงานร่วมกับรัฐบาล อาทิ

1. การแก้ไขปัญหาแรงงานของประเทศไทย

- ร่วมผลักดันนโยบายผ่อนผันกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI สามารถใช้แรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือถึง 31 ธันวาคม 2559 พร้อมทั้ง ให้ กระทรวงแรงงาน ทำการศึกษาความจำเป็นในการใช้แรงงานไร้ฝีมือของอุตสาหกรรมต่างๆ ตลอดจน การกำหนดคำนิยามของแรงงานไร้ฝีมือ แรงงานกึ่งฝีมือ และแรงงานมีฝีมือ เป็นต้น

- ร่วมศึกษาข้อมูลการขาดแคลนแรงงานของประเทศไทยในระยะยาวเพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 โดยมุ่งเน้นการพัฒนาระบบอาชีวศึกษา การส่งเสริมและพัฒนาการใช้เครื่องจักรทดแทนแรงงานคน เป็นต้น

- สนันบสนุนกรรมการหอการค้าไทย ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในการผลักดันโครงการ และกฎหมายที่สำคัญเพื่อแก้ไขปัญหาแรงงาน อาทิ พรบ.ประมง , พรบ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์, พรบ.ประกันสังคม , พรบ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน ตลอดจน การจัดทำแนวทางการแก้ไขปัญหาแรงงานประมงของประเทศไทยโดยการจัดหาแรงงานต่างด้าวเพื่อทำงานบนเรือประมงภายใต้กรอบ MOU ร่วมกับคณะกรรมาธิการการพาณิชย์ การอุตสาหกรรม และการแรงงาน เป็นต้น

- สนับสนุนให้มีการลงทะเบียนรายงานตัวออนไลน์ของแรงงานต่างด้าวทุก 90 วัน ตามพ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ตามมาตรา 37 (5) เพื่ออำนวยความสะดวกในการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2. การแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์

- ร่วมผลักดันและดำเนินการในการแก้ปัญหาแรงงานและการค้ามนุษย์ ร่วมกับคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (กนร.) และคณะอนุกรรมการประสานงานการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (อกนร.) อาทิ การเสนอการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานประมงทะเลในระยะยาว เป็นต้น

- ร่วมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การประชาสัมพันธ์ และการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยในประเด็นแรงงาน เพื่อความเข้าใจและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีกับนานาชาติร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ เป็นต้น

- แสดงความคิดเห็นในการปรับปรุงกระบวนการผลิต และมาตรการรองรับ เพื่อแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ และการทำ IUU Fishing ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ฯลฯ เป็นต้น

3. การแก้ไขปัญหาแรงงานบนประมง

- กำลังดำเนินการแก้ไขปัญหาเรือประมงในอินโดนีเซียตามที่สาธารณรัฐอินโดนีเซียได้ออกกฎกระทรวงกิจการทางทะเลและประมง ฉบับที่ 56/PERMEN-KP/2014 ระงับการออกใบอนุญาตประมงต่างๆ เป็นการชั่วคราว ซึ่งมีผลถึงวันที่

30 เมษายน 2558 รวมทั้งได้ออกกฎกระทรวงฯ ฉบับที่ 2/PERMEN-KP/2015 ห้ามใช้เครื่องมืออวนลาก (Trawls)

และอวนล้อม (Seine nets) ทำการประมงในน่านน้ำสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ซึ่งกฎกระทรวงฯ ดังกล่าว ได้ส่งผลกระทบ

ต่อการประกอบธุรกิจประมงร่วมระหว่างผู้ประกอบการประมงไทย

- สนับสนุนการทำประมงร่วมกับต่างประเทศ ผู้ประกอบการควรเข้าไปร่วมทุน (Joint Venture) กับต่างประเทศ ตลอดจน พิจารณาหาแหล่งประมงในประเทศเป้าหมายอื่น ๆ ที่มีศักยภาพ เป็นต้น

- หอการค้าไทยร่วมเป็นศูนย์กลางในการทำงานร่วมกับรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาแรงงานประมงอย่างยั่งยืน

4. ขับเคลื่อนให้ประเทศไทยแก้ไขปัญหาแรงงานทั้งระบบ

โดยการร่วมมือกับภาครัฐ (8 กระทรวง) ได้แก่ กระทรวงแรงงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมุ่งเน้นให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากการประเมินการดำเนินการด้านแรงงานของไทยโดยลดระดับ TIPs Report จาก Tier3 , IUU Fishing และ List of Goods Produced by Child Labor or Forced Labor ดังนี้

- เข้าร่วมงาน SIAL the Global Food Marketplace, and meet food professionals 2014 ณ ประเทศฝรั่งเศส

เพื่อสร้างความเชื่อมั่นสินค้าไทย ในสหภาพยุโรป

- เข้าร่วมงาน Seafood Expo North America 2015 ณ กรุงบอสตัน สหรัฐฯ ระหว่างวันที่ 13 – 18 มีนาคม 2558

โดย Team Thailand ได้เตรียมการในการเปิดสัมมนาเพื่อชี้แจงปัญหาแรงงานในประเทศไทย และประชาสัมพันธ์การแก้ไขปัญหาของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว แรงงานเด็ก และการค้ามนุษย์

- เข้าร่วมงาน Seafood Expo Global & Seafood Processing Global 2015 ระหว่างวันที่ 21 – 23 เมษายน 2558

ณ กรุงบัสเซลล์ ประเทศเบลเยี่ยม เพื่อทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการภาคเอกชนในต่างประเทศ ถึงขอกล่าวหาการใช้แรงงานผิดกฎหมายในประเทศไทย

          ทั้งนี้ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้ให้ความสำคัญในการดำเนินการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว แรงงานเด็ก การค้ามนุษย์ และแรงงานบนเรือประมงอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้ง ได้เผยแพร่มาตรการและกิจกรรมต่างๆ ของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งการแก้ไขปัญหาแรงงานนั้น ผู้ประกอบการเอกชนทุกภาคส่วนจะต้องให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามนโยบาย และกฎหมายที่รัฐบาลกำหนด และให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาแรงงานร่วมกัน

          หากผู้ประกอบการติดขัดปัญหาแรงงาน ก็สามารถแจ้งมายังหอการค้าไทย ซึ่งพร้อมที่จะรับฟังเพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานร่วมกันต่อไป

“ด้วยความตั้งใจของ นายกฯ รัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ และข้าราชการกระทรวง ทบวง กรม ที่เกี่ยวข้อง เป็นความมือและตั้งใจจริงอย่างที่ไม่เคยปรากฏในอดีต ซึ่งจะพาทางออกของการแก้ไขปัญหาในประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน การแก้ไขปัญหาแรงงาน” นายภูมินทร์ กล่าว

  จาก http://news.thaiquest.com  วันที่ 17 มีนาคม 2558

กรอ.ชงแก้กม.ตั้งรง.ริมแม่น้ำ รอกฤษฎีกาพิจารณาก่อนประกาศ

17 มี.ค.58 นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า กรอ.อยู่ระหว่างเสนอแก้ไขกฎหมาย เพื่อประกาศเป็นร่างกฎกระทรวง เรื่องกำหนดทำเลที่ไม่เหมาะสมสำหรับการตั้งหรือขยายโรงงานจำพวกที่ 3 ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา พ.ศ. ... ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี โดยขั้นตอนขณะนี้ผ่านคณะรัฐมนตรีแล้ว และกำลังส่งเรื่องต่อไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาร่างฯ เพื่อประกาศเป็นกฎกระทรวงต่อไป ทั้งนี้ กฎกระทรวงดังกล่าวจะไม่มีผลย้อนหลังเพื่อเอาผิดกับโรงงานที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานก่อนวันที่กฎกระทรวงฉบับนี้ใช้บังคับ ยกเว้นการขยายโรงงานเกินกว่าขอบเขตที่กฎหมายกำหนด

ทั้งนี้ การบริหารจัดการพื้นที่โรงงานริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาจะมีการกำหนดระยะเพื่อใช้กับโรงงานขนาดใหญ่ที่มีการปล่อยของเสียออกจากโรงงานมาก หรือโรงงานอุตสาหกรรมประเภท 3 จะไม่อนุญาตให้ตั้งและขยายโรงงานอุตสาหกรรม ที่ไม่เกินระยะ  0-100 เมตรเด็ดขาด ไม่อนุญาตให้มีการปล่อยน้ำเสียออกนอกโรงงานในระยะ 100-500 เมตร เด็ดขาด และระยะ 500 เมตรขึ้นไป จะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของกระทรวงอย่างเคร่งครัด หากพบว่า ฝ่าฝืนจะมีโทษปรับไม่เกิน 2 แสนบาท และจะมีการสุ่มตรวจคุณภาพน้ำบริเวณเหนือและใต้โรงงาน หากพบว่ามีการปล่อยน้ำเสียเกินกว่า 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ระบบที่ติดตั้งไว้จะส่งสัญญาณเตือน และทางกรมฯ จะเข้าไปตรวจสอบทันที

 สำหรับปัจจุบันโรงงานอุตสาหกรรมประเภทที่ 3 ทั่วประเทศมีจำนวน 80,000 โรง มีมาตรฐานการจัดการน้ำเสียอย่างยั่งยืนเพียงไม่เกิน 1,000 โรงเท่านั้น จึงเตรียมตั้งเครือข่ายด้านความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR เชิญชวนโรงงานต่างๆ ให้เข้าร่วมโครงการมากขึ้น โดยทางกรอ.จะนำงบประมาณภาครัฐที่ได้รับการจัดสรรปีละประมาณ 10 ล้านบาท มาจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมสีเขียวนำร่องด้วย

 นอกจากนี้ กรอ.ได้จัดกิจกรรมอุตสาหกรรมรวมใจภักดิ์ รักษ์แม่น้ำ ปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 9 ภายใต้หัวข้อ "เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเพื่อคืนความสุขสู่แม่น้ำของแผ่นดิน" ในวันที่ 25 มีนาคมนี้ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 83 พรรษา 12 สิงหาคม 2558 โดยจะมีการจัดสัมมนาให้ความรู้และจัดประกวดภาพวาด เพื่อเผยแพร่ความรู้การอนุรักษ์และฟื้นฟูคุณภาพน้ำ รวมถึงกระตุ้นให้ภาคส่วนต่างๆ ร่วมกันฟื้นฟูแม่น้ำลำคลองของประเทศ

  จาก http://www.naewna.com   วันที่ 17 มีนาคม 2558

อาเซียนสะดุดปัญหาพลังงาน "ASEAN Power Grid"ไม่คืบ

เหลือเวลาเพียงไม่กี่อึดใจสำหรับการรวมกลุ่มเป็นประชาคมอาเซียนอย่างสมบูรณ์ ขณะที่หลายโครงการที่ชาติสมาชิกได้ตกลงที่จะร่วมกันพัฒนา ดูเหมือนว่ายังไม่คืบหน้าเท่าที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะประเด็นด้าน "พลังงาน" กับยุทธศาสตร์ "ASEAN Vision 2020 Energy" ที่ถือเป็นประเด็นอ่อนไหวสำหรับการเจรจาเพื่อให้บรรลุผลตามเป้า

โครงการ "ASEAN Power Grid" สู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 เน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ ให้มีความเชื่อมโยงกันและพร้อมรองรับการค้าและการลงทุน ซึ่งได้วางวิสัยทัศน์เอาไว้ว่า "ไทยจะเป็นสมาชิกที่เข้มแข็งและสนับสนุนคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนอาเซียนร่วมกัน" โดยจะเชื่อมโยงกับ ลาว, เมียนมาร์, กัมพูชา, มาเลเซีย, สิงคโปร์, เกาะบอร์เนียว และฟิลิปปินส์

โดยโครงการหลัก (Flagship Project) ในการเชื่อมโยงสายส่ง ASEAN Power Grid ประกอบด้วย โครงการระบบส่งเพื่อรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนหงสาลิกไนต์, โครงการระบบส่งเพื่อรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการไซยะบุรี, โครงการระบบส่งเพื่อรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการเซเปียนเซน้ำน้อย ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่แขวงจำปาสักและแขวงอัตตะปือ ตอนใต้ของ สปป.ลาว ซึ่งเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของกลุ่มนักลงทุนจากเกาหลี ไทย และลาว โดยไฟฟ้าที่ผลิตได้ส่วนหนึ่งจะขายให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ด้วยการส่งเข้าทางจังหวัดอุบลราชธานี และส่วนหนึ่งจะเข้าสู่ระบบของการไฟฟ้าลาว

นายวิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ ผู้อำนวยการเครือข่ายพลังงานเพื่อนิเวศวิทยาลุ่มน้ำโขง (TERRA) มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ มองว่า ความร่วมมือและความมั่นคงด้านพลังงานในอาเซียนยังไม่เข้มแข็งเท่าที่ควร เนื่องจากพฤติกรรมการใช้พลังงานของแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน ซึ่งสะท้อนถึงความกระจุกตัวของพลังงานในภูมิภาค

ผลสำรวจเมื่อปี 2553 ระบุถึงอัตราการเข้าถึงไฟฟ้าของประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งไทยเป็นประเทศที่มีการใช้ไฟฟ้ามากที่สุด 99% ของประชากรทั้งประเทศ รองลงมา คือ เวียดนาม 95% และ สปป.ลาว, กัมพูชา, เมียนมาร์ ราว 69% 26% และ 23% ตามลำดับ

ยิ่งกว่านั้น การไฟฟ้านครหลวงของไทย เผยผลสำรวจประจำปี 2549 ว่า การใช้ไฟฟ้าของ 3 ห้างยักษ์ใหญ่ในกรุงเทพฯ ได้แก่ สยามพารากอน มาบุญครอง และเซ็นทรัลเวิลด์ รวมกันมากถึง 278 ล้านกิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี (Gwh) ขณะที่สามเขื่อนของไทย ได้แก่ เขื่อนปากมูล, เขื่อนสิรินธร และเขื่อนอุบลรัตน์ สามารถผลิตกระแสไฟฟ้ารวมกันได้เพียง 266 ล้านกิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี

ฉะนั้นการนำเข้าพลังงานไฟฟ้าจากลาวและเมียนมาร์ จึงมีความจำเป็นอย่างมากต่อการดำรงชีวิตของไทยและอีกหลายประเทศในภูมิภาค อีกทั้งนโยบายการผลิตกระแสไฟฟ้าของทั้งสองประเทศ ยังเอื้อต่อการส่งออกไปยังประเทศอื่นในภูมิภาคด้วย

ข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติ (UN) ระบุว่า ลาวมีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าสูงถึง26,000 เมกะวัตต์ ทั้งจากพลังงานน้ำ พลังงานลม และพลังงานถ่านหิน โดยถือว่า ลาว เป็น "Battery of Asia" แต่ดูเหมือนศักยภาพการผลิตไฟฟ้าของลาวมีไว้เพื่อส่งออกไม่ใช่เพื่อคนในประเทศซึ่งวีโอเอ ภาษาลาว รายงานว่า นายวีระพน วีระวง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ของลาว กล่าวถึงแผนจะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำอีก 4 เท่าตัวของระดับปัจจุบัน ที่ผ่านมา ลาวส่งออกราว 2 ใน 3 ของไฟฟ้าที่ผลิตได้ 3,200 เมกะวัตต์ และกำลังก่อสร้างโรงไฟฟ้าอีก 6,000 เมกะวัตต์

"เราคาดว่าภายในปี 2563 เราจะมีกำลังผลิต 12,000 เมกะวัตต์ ราว 2 ใน 3เป็นไฟฟ้าเพื่อการส่งออก และภายในปี 2573 จะผลิตเพิ่มเป็น 24,000 เมกะวัตต์ซึ่งนับว่าเกือบเต็มศักยภาพของไฟฟ้า พลังน้ำในลาว ซึ่งไทยเป็นผู้ซื้อไฟฟ้ารายใหญ่และลาวก็มีข้อตกลงขายไฟฟ้าให้เวียดนามและกัมพูชาด้วย อีกทั้งผู้ส่งออกพลังงานกำลังดูลู่ทางที่จะแลกเปลี่ยนไฟฟ้ากับจีนในอนาคต" นายวีระพนกล่าว

ขณะเดียวกัน ลาวกำลังหาทางแลกเปลี่ยนพลังงานระหว่างมณฑลยูนนานของจีน เวียดนาม ไทย และกัมพูชา รวมทั้งการส่งออกไฟฟ้าจากลาวผ่านไทยและมาเลเซียไปยังสิงคโปร์ด้วย ขณะที่เมียนมาร์ อีกหนึ่งประเทศที่มีศักยภาพการผลิตไฟฟ้าอย่างมาก โดยเฉพาะพลังน้ำ ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ โดยแหล่งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันในทะเลที่เป็นแหล่งพลังงานขนาดใหญ่ คือ ยาดานา คาดว่าจะมีปริมาณก๊าซธรรมชาติสำรองรวมทั้งสิ้น 10 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต และเยตากุนอีก 1.2 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต

ปัญหาที่เกิดขึ้นและชวนให้คิดก็คือ หากแหล่งพลังงานทั้งลาวและเมียนมาร์มีอย่างล้นหลาม แล้วทำไมการเข้าถึงไฟฟ้าของประชาชนในประเทศจึงยังไม่ครอบคลุม แม้ที่ผ่านมารัฐบาลเมียนมาร์รับรู้ถึงปัญหาและพยายามแก้ไข ด้วยการร่างกฎหมายพลังงาน เพื่อเตรียมลดการส่งออกก๊าซธรรมชาติลง เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนในประเทศก็ตาม

ทั้งนี้ โครงการ ASEAN Power Grid ที่ประเทศสมาชิกพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นจริง แต่กลับชะงักไม่มีความคืบหน้า อันเนื่องมาจากการจัดตั้งศูนย์ควบคุม หรือศูนย์สั่งการ ที่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ว่าประเทศไหนจะเป็นผู้ควบคุมศูนย์ในภูมิภาค เพราะการควบคุมศูนย์ดังกล่าวมันหมายถึง "การกุมอำนาจ" ในการสั่งจ่ายไฟฟ้าของแต่ละประเทศ

สถานการณ์ด้านพลังงานนี้สามารถสะท้อนให้เห็นถึงระดับความไว้เนื้อเชื่อใจของภูมิภาคอาเซียนเป็นอย่างดีเพราะปัญหาด้านพลังงานถือเป็นปัญหาใหญ่ที่อาจต้องใช้เวลาเรียนรู้ และสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของผู้ร่วมชะตากรรม ซึ่งหากเกิดการรวมประเทศภายใต้ผลประโยชน์ร่วมกันแล้ว อุปสรรคข้างหน้าจะเป็นเหมือนตัวทดสอบว่า ชาติสมาชิกจะจริงใจหรือต้องการฉกฉวยผลประโยชน์จากการเป็นหนึ่งเดียวกันเท่านั้น

  จาก http://www.prachachat.net    วันที่ 17 มีนาคม 2558

แจงสี่เบี้ย : กรมพัฒนาที่ดินแนะการเก็บตัวอย่างดิน เพื่อวิเคราะห์สำหรับการปลูกพืช (1)

การเก็บตัวอย่างดิน พืช สัตว์ น้ำ เพื่อการวิเคราะห์ทางการเกษตร ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเกษตรกร เนื่องจากผลการวิเคราะห์ในแต่ละด้านสามารถนำไปแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้อง ถ้าเกษตรกรได้รู้วิธีการเก็บตัวอย่างที่ถูกวิธี จนนำไปสู่กระบวนการปฏิบัติจริงในพื้นที่ไร่นาของเกษตรกรได้นั้น ก็จะส่งผลให้เกษตรกรได้รับผลผลิตที่สูงขึ้น ก่อให้เกิดรายได้มากขึ้นตามมา

กรมพัฒนาที่ดินได้ให้ข้อมูลการเก็บตัวอย่างดินเพื่อวิเคราะห์ สำหรับการปลูกพืชเบื้องต้นไว้ คือ ตัวอย่างดินที่เก็บมาต้องเป็นดินที่ดีที่สุดของที่ดินแปลงนั้น ถ้าเก็บตัวอย่างดินไม่ถูกต้อง ผลการวิเคราะห์ก็จะไม่ตรงกับสมบัติของดิน คำแนะนำการใช้ปุ๋ยและการจัดการในเรื่องดินก็จะผิดพลาดทั้งหมด ซึ่งเกษตรกรควรยึดหลักสำคัญในการเก็บตัวอย่างดิน ดังนี้ 1.ควรเก็บหลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว หรือ ก่อนเตรียมดินปลูกพืชครั้งต่อไป คำแนะนำจากผลการวิเคราะห์ดินหลายอย่างจะต้องนำมาใช้ให้ทันในการเตรียมดินปลูกพืช อาทิ การใส่ปูน การไถกลบอินทรียวัตถุ การใส่ปุ๋ยรองพื้น เกษตรกรต้องเผื่อเวลาสำหรับการส่งตัวอย่างไปวิเคราะห์ ซึ่งระยะเวลาทำงานของห้องปฏิบัติการจนถึงการส่งผลกลับมาให้เกษตรกร รวมแล้วประมาณ 1-2 เดือน ในส่วนการเก็บตัวอย่างดินเพื่อจะให้หน่วยวิเคราะห์ดินเคลื่อนที่มาบริการให้นั้น จะต้องมีการเก็บก่อนวัดนัดหมาย 1-2 สัปดาห์ เพื่อที่จะให้ตัวอย่างดินแห้งก่อนจึงจะวิเคราะห์ได้ 2.พื้นที่ที่จะเก็บตัวอย่างดินไม่ควรเปียกหรือมีน้ำท่วมขัง แต่ถ้าแห้งเกินไปดินจะแข็ง ซึ่งดินควรมีความชื้นเล็กน้อยจะทำให้ขุดและเก็บได้ง่ายขึ้น 3.เกษตรกรไม่ควรเก็บตัวอย่างดินบริเวณที่เคยเป็นบ้าน หรือโรงเก่า จอมปลวก ต้องเก็บตัวอย่างดินให้ห่างไกลจากบ้านเรือน อาคาร ที่อยู่อาศัย คอกสัตว์ และบริเวณจุดที่มีปุ๋ยตกค้างอยู่ 4.อุปกรณ์ที่เก็บตัวอย่างดินต้องสะอาด ไม่เปื้อนดิน ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ยาปราบศัตรูพืช หรือสารเคมี และ 5.เกษตรกรต้องมีการบันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับตัวอย่างดินของแต่ละตัวอย่างตามแบบฟอร์ม บันทึกรายละเอียดตัวอย่างดิน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการให้คำแนะนำการจัดการดินอย่างถูกต้อง ทั้งนี้ถ้าเกษตรกรมีข้อสงสัย สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากหมอดินในพื้นที่ หรือ สำนักวิทยาศาสตร์เพื่อการพัฒนาที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน กรุงเทพฯ โทร.0-2561-4179 หรือ สายด่วน 1760 ต่อ 3120

จาก http://www.naewna.com วันที่ 17 มีนาคม 2558

ปัญหาเกษตร : การจัดการน้ำในพื้นที่แห้งแล้ง

คำถาม ขอทราบวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมสำหรับพื้นที่แห้งแล้งหน่อยครับ

คำตอบ ในพื้นที่ค่อนข้างแห้งแล้ง หรือฝนตกน้อย เกษตรกรที่ปลูกพืช ควรมีแหล่งกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงฝนแล้ง และมีการจัดการน้ำอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้พืชเจริญเติบโต สามารถผ่านพ้นช่วงที่แห้งแล้งได้ โดยควรมีการให้น้ำ ด้วยวิธีประหยัดเท่าที่พืชต้องการ และเพียงพอกับการเจริญเติบโตของพืช การให้น้ำแบบประหยัดยังทำให้สามารถเพิ่มพื้นที่ให้น้ำได้มากขึ้น

การจัดการน้ำอย่างประหยัด นักวิชาการเกษตรได้ให้ข้อแนะนำไว้ดังนี้

1.การให้น้ำแบบประหยัดเหนือผิวดิน การให้น้ำแบบประหยัด เป็นการให้น้ำแก่พืชครั้งละน้อยๆ แต่บ่อยครั้ง เช่น การให้น้ำแบบหยด การให้น้ำแบบสปริงเกอร์ ซึ่งช่วยประหยัดน้ำได้มาก การระเหยน้ำจากผิวดินก็น้อยกว่าการให้น้ำวิธีอื่นๆ โดยต้องมีแหล่งเก็บกักน้ำ เครื่องสูบน้ำ เครื่องกรองน้ำ ท่อพีวีซี ท่อพีอี หัวหยด และหัวเหวี่ยงน้ำ ปัจจุบันอุปกรณ์การให้น้ำเหล่านี้ราคาถูกลงมาก มีแหล่งจำหน่ายอย่างแพร่หลาย และมีอายุการใช้งานนานหลายปี

เกษตรกรที่ปลูกผักและไม้ผล สามารถเพิ่มผลผลิตได้มากขึ้น เมื่อใช้ระบบการให้น้ำแบบประหยัด และสามารถเลือกวิธีการให้เหมาะสมกับพืชที่ปลูกได้ ใช้ได้กับดินทุกประเภท ประหยัดแรงงาน เวลา และพลังงานในการให้น้ำ

2. การให้น้ำแบบประหยัดใต้ผิวดิน เป็นการให้น้ำทางใต้ผิวดิน ด้วยวัสดุที่หาง่าย และราคาถูก เกษตรกรก็สามารถปฏิบัติได้ ได้แก่

- การให้น้ำด้วยตุ่มดินเผา นำตุ่มดินเผาที่มีรูพรุน และหาง่ายในท้องถิ่น ซึ่งมีความจุ 5-7 ลิตร มาฝังดินใกล้โคนต้นพืช โดยให้ฝาตุ่มอยู่ในระดับผิวดิน ใส่น้ำให้เต็ม แล้วปิดฝา เพื่อป้องกันการระเหยของน้ำ น้ำจากตุ่มจะค่อยๆ ซึมออกมาทางรูพรุนรอบตุ่ม เมื่อน้ำในตุ่มหมด ก็คอยเติมให้เต็ม ซึ่งใช้เวลาประมาณ 10 วันต่อครั้ง วิธีนี้เหมาะสมสำหรับไม้ยืนต้น หรือไม้ผลทั่วไปที่ยังมีอายุน้อยระยะเริ่มปลูก เพื่อให้ตั้งตัวได้ในระยะ 2-3 ปีแรก

- การให้น้ำด้วยขวดพลาสติก หรือขวดแก้ว นำขวดพลาสติก หรือขวดแก้วมาใส่น้ำจนเต็มขวด แล้วคว่ำขวดลงไปในดิน ลึกประมาณ 10 ซม.โดยวางบริเวณโคนต้น ประมาณต้นละ 2 ขวด การเติมน้ำจะเติมประมาณ 4-5 วันต่อครั้ง สำหรับขวดที่มีขนาด 750 ซีซี

- การให้น้ำด้วยแกลลอนน้ำมันเครื่อง นำแกลลอนที่เหลือใช้มาเจาะรูด้านข้าง แล้วใช้ด้ายดิบเส้นใหญ่ตัดให้ยาว 1 นิ้ว มาอุดรูที่เจาะไว้ให้แน่น เมื่อใส่น้ำในแกลลอน น้ำจะค่อยๆ หยดออกมาตามเส้นด้าย นำแกลลอนไปฝังดินห่างจากโคนต้น 1 คืบ โดยหันด้านที่น้ำหยดเข้าหาโคนต้น การฝังแกลลอนควรให้ปากแกลลอนโผล่พ้นผิวดินเล็กน้อย เพื่อความสะดวกในการเติมน้ำ และควรปิดฝาหลวมๆ

- การให้น้ำใต้ผิวดิน เหมาะสมสำหรับไม้ผล หรือไม้ยืนต้นทั่วไปที่ค่อนข้างทนแล้ง และเพิ่งปลูกใหม่ เมื่อเริ่มฤดูแล้ง ก็ควรเตรียมการให้น้ำด้วยวิธีนี้ เพื่อให้พืชตั้งตัวได้ ในระยะแรกปลูกประมาณ 2-3 ปีแรก หลักจากนั้น ก็ปล่อยตามธรรมชาติ

เกษตรกรสามารถเลือกวิธีการต่างๆ ได้ตามความต้องการ เพราะราคาถูก ทำได้ง่าย และมีประสิทธิภาพ นอกจากการให้น้ำด้วยวิธีประหยัดแล้ว ทุกวิธีการควรมีวัสดุคลุมดินด้วย เช่น ฟางข้าวหญ้าแห้ง คลุมบริเวณทรงพุ่ม จะช่วยเว้นช่วงระยะเวลาการให้น้ำได้ยาวนานยิ่งขึ้น

จาก http://www.naewna.com วันที่ 17 มีนาคม 2558

ธปท.เกาะติดพบค่าบาทปกติ

นายจิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทยังมีเสถียรภาพอยู่ เพราะหลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับลดดอกเบี้ยลง มีผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง 0.5% จาก 32.30-32.00 บาท/ดอลลาร์ มาอยู่ที่ 32.80-32.94 บาท/ดอลลาร์ และการปรับลดดอกเบี้ยครั้งนี้ส่งผลให้ผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี ลดลง 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 2.49% ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 6 ปี

ขณะที่สถานการณ์เงินทุนเคลื่อนย้ายยังอยู่ในระดับปกติ โดยหลังจากนี้คาดว่าตลาดการเงินส่วนใหญ่จะรอดูทิศทางนโยบายการเงินของสหรัฐในวันพุธนี้มากกว่า

“อยากให้ประชาชนเข้าใจว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นการช่วยพยุงความมั่นใจ พยุงเวลาการใช้จ่ายของภาคการคลังที่จะออกมา จึงไม่อยากให้มองว่าเป็นเรื่องของการถูกบังคับ โดยปัจจัยสำคัญที่นำมาพิจารณาประกอบการลดดอกเบี้ย คือภาพรวมเศรษฐกิจฟื้นได้ช้ากว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งอันนี้มองว่านโยบายการเงินจะช่วยได้ โดยในวันที่ 20 มี.ค.นี้ จะมีการปรับประมาณการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจอีกครั้ง” นายจิรเทพ กล่าว

พร้อมระบุว่า หลังจากนี้คงต้องติดตามว่าธนาคารพาณิชย์จะมีการปรับตัวอย่างไร หลังจาก กนง.ประกาศลดดอกเบี้ย รวมทั้งเห็นว่าในช่วงนี้ที่ภาระต้นทุนทางการเงินอยู่ในระดับต่ำถือเป็นโอกาสและจังหวะที่ภาคธุรกิจน่าจะเร่งลงทุน

ทั้งนี้ ภายหลังจากที่ กนง.ปรับลดดอกเบี้ยแล้ว หลายฝ่ายได้ให้ความเห็นที่หลากหลาย โดยความเห็นในเชิงบวกมองว่าจะช่วยส่งผ่านช่องทางอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งมีการปรับลดลงในช่วงที่ผ่านมา และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้บางส่วน ขณะที่ความเห็นแบบกลางๆ มองว่า ดอกเบี้ยที่ลดลงไม่มีผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายและสินเชื่อในระบบ ขณะที่ความเห็นบางส่วนกังวลว่าการลดดอกเบี้ยจะมีผลกระทบต่อหนี้ครัวเรือน ซึ่งในส่วนนี้ กนง.ให้ความสำคัญด้วยเช่นกัน แต่มองว่าผู้ที่จะกู้เงินส่วนใหญ่ก็จะคำนึงถึงสถานะทางการเงินและหนี้ของตัวเองอยู่แล้ว

สำหรับความท้าทายในระยะต่อไปของเศรษฐกิจไทยนั้น ขึ้นอยู่กับความสามารถในการแข่งขันและความคืบหน้าในการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านภาษี ซึ่งในส่วนนี้มองว่านโยบายการเงินจะเข้ามาช่วยลดผลกระทบของเศรษฐกิจในช่วงสั้นได้ แต่หากจะไม่มีการปฏิรูปเลยประเทศก็จะเดินต่อไม่ได้

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 17 มีนาคม 2558

หนุนตั้งธนาคารปุ๋ยอินทรีย์

ในปี 2558 จะดำเนินการทุกจังหวัดทั่วประเทศ จังหวัดละ 1-2 กลุ่ม รวมทั้งหมด 87 กลุ่มเป็นกลุ่มธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก

หลังจากกรมพัฒนาที่ดินมีนวัตกรรมในเรื่องของจุลินทรีย์ ทำให้การขับเคลื่อนการส่งเสริมการใช้สารอินทรีย์ ลดการใช้สารเคมีทางการเกษตรเห็นผลชัดเจน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล และมีการตั้งธนาคารปุ๋ยอินทรีย์  พร้อมเครือข่ายหมอดินอาสาอยู่ทุกหมู่บ้านทั่วประเทศกว่า 8 หมื่นราย

นางกุลรัศมิ์ อนันต์พงษ์สุข รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน  เปิดเผยว่าในปี 2558 จะดำเนินการทุกจังหวัดทั่วประเทศ จังหวัดละ 1-2 กลุ่ม รวมทั้งหมด 87 กลุ่มเป็นกลุ่มธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก โดยขนาดใหญ่ ต้องมีเกษตรกรร่วมดำเนินการโครงการอย่างน้อย 30-50 ราย ส่วนขนาดกลาง 20-30 ราย และขนาดเล็ก 10-20 ราย โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ ธนาคารน้ำหมักชีวภาพ ธนาคารปุ๋ยหมักสูตรพระราช ทาน และธนาคารเมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสด

โดยธนาคารน้ำหมักชีวภาพ จะผลิตน้ำหมักชีวภาพ อย่างน้อยกลุ่มละ 1 หมื่นลิตรในกลุ่มขนาดใหญ่  กลุ่มขนาดกลางเริ่มต้น 7 พันลิตร และกลุ่มขนาดเล็กที่ 5 พันลิตร ซึ่งกรมพัฒนาที่ดินจะสนับสนุนงบประมาณเบื้องต้นในส่วนของ ถังหมัก กากน้ำตาล ผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ พด. พร้อมกับให้คำแนะนำทางวิชาการ รวมถึงการนำน้ำหมักชีวภาพไปใช้ประโยชน์

ส่วนธนาคารปุ๋ยหมักสูตรพระราชทาน กลุ่มขนาดใหญ่  ต้องผลิต 100 ตัน กลุ่มขนาดกลาง 70 ตัน และกลุ่มขนาดเล็ก 50 ตัน โดย กรมฯ สนับสนุนงบประมาณบางส่วน ที่จะเป็นวัตถุดิบตั้งต้นส่วนหนึ่งก็จะให้กลุ่มพึ่งตัวเองพร้อมมีจัดทำระเบียบปฏิบัติ การกู้ยืม การเบิกไปใช้ และการคิดดอกเบี้ย เช่น การคำนวณ ระหว่าง วัตถุดิบที่ส่งธนาคาร กับปุ๋ยหมักที่จะนำไปใช้ในไร่นา ได้กี่กิโลกรัม หรือกู้ยืมปุ๋ยจากธนาคารก่อนแล้วค่อยส่งคืนเป็นวัตถุดิบในภายหลังก็ได้เป็นต้น

สำหรับธนาคารเมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสด ถ้าเป็นกลุ่มขนาดใหญ่กรมฯ จะสนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสดเริ่มต้นที่ 10 ตัน กลุ่มขนาดกลางที่ 7 ตัน และกลุ่มขนาดเล็กที่ 5 ตัน การกู้ยืม คืนเป็นเมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสด สำหรับการฝาก ถอนจะใช้เงื่อนไขเดียวกันกับธนาคารน้ำหมักชีวภาพ และธนาคารปุ๋ยหมักสูตรพระราชทาน

การจัดตั้งธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ เป็นวิธีการหนึ่งที่ทำให้เกษตรกรมีความผูกพันกับสมาชิกในกลุ่ม มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน โดยมีเจ้าหน้าที่ของกรมพัฒนาที่ดินเข้าไปให้คำแนะนำ ทั้งวิธีการผลิตและการบริหารจัดการ 

หากเกษตรกรรายใด  มีความสนใจที่จะเข้าร่วมโครงการฯ สามารถติดต่อได้ที่สถานีพัฒนาที่ดินทุกแห่งทั่วประเทศ หรือสำนักงานพัฒนาที่ดินเขตทั้ง 12  เขต หรือที่ กรมพัฒนาที่ดิน สายด่วน 1760 หรือที่ www.ldd.go.th เว็บไซต์ของกรมพัฒนาที่ดินก็ได้.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 17 มีนาคม 2558

ชวนเอกชนลดใช้ไฟฟ้า รับมือก๊าซเมียนมาร์หยุดซ่อม

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการ กำกับกิจการพลังงาน ในฐานะโฆษกของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) หรือเรกูเลเตอร์ เปิดเผยว่าเรกูเลเตอร์ ได้นำมาตรการ Demand Response (DR) มาใช้ในการบริหารความต้องการใช้กำลังไฟฟ้าในช่วงเวลาที่ระบบไฟฟ้ามีความเสี่ยงด้านความมั่นคง โดยในปี 2557 ทำไปแล้ว 2 ครั้ง ในช่วงเดือนมกราคมและมีนาคม 2557 เพื่อเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในเหตุการณ์ที่แหล่งก๊าซหยุดผลิต ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(สอท.) และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

ทั้งนี้ในช่วงเดือนเมษายนปี 2558 ซึ่งมีเหตุการณ์แหล่งก๊าซยาดานาและซอติก้าหยุดผลิต แม้ว่าระบบจะสำรองน้ำมันสำหรับใช้ทดแทนก๊าซฯ และมีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองที่เพียงพอกับปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่สูงในช่วงเดือนเมษายน 2558 แต่เนื่องจาก เห็นว่า DR ยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าจึงกำหนด “โครงการความร่วมมือลดการใช้ไฟฟ้า (Demand Response) ครั้งที่ 1/2558” ขึ้น เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการใช้มาตรการที่ได้ดำเนินการมาแล้วในปี 2557 อีกทั้งยังช่วยลดการใช้น้ำมันดีเซลในการผลิตไฟฟ้าระหว่างเกิดเหตุการณ์ในเดือนเมษายนนี้ ได้อีกทางหนึ่งด้วย

“ก๊าซฯยาดานาจากสหภาพพม่าจะหยุดซ่อมบำรุง 10-19 เมษายน 2558 ทำให้ก๊าซฯ หายไป 930 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน โรงไฟฟ้าหยุดผลิต 5,500 เมกะวัตต์ และช่วงแหล่งซอติก้าหยุดซ่อมบำรุงวันที่ 20-27 เมษายน 2558 ประมาณ 450 เมกะวัตต์ กำลังผลิตไฟฟ้าหายไป 2,500 เมกะวัตต์ เราจะเปิดให้ภาคเอกชนซึ่งเป็นผู้ใช้ไฟรายใหญ่เกิน 100 เมกะวัตต์ลงทะเบียนกับ 3 การไฟฟ้าเพื่อเข้าร่วม DR ซึ่งจะกำหนดอัตราชดเชยค่าไฟ 3 บาท/หน่วย” นายวีระพลกล่าว

โครงการ DR ตั้งเป้าที่ 500 เมกะวัตต์ แต่จะให้สมัครได้สูงสุด 700 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ DR อาจจะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(เอฟที) ลดลง 0.08 สตางค์ต่อหน่วยคิดเป็นมูลค่ารวม 48 ล้านบาท แต่หากไม่ทำจะส่งผลให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง และค่าเอฟทีจะเพิ่มถึง 8.35 สตางค์ต่อหน่วยในงวด พฤษภาคม-สิงหาคม 2558 ได้ ผู้ที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ สามารถกรอกใบสมัครและยื่นข้อเสนอลดกำลังการใช้ไฟฟ้ากับการไฟฟ้าแต่ละแห่งที่ผู้สมัครเป็นลูกค้า (กฟผ. กฟภ. หรือ กฟน.) ตั้งแต่วันที่ 23-31 มีนาคม 2558 นี้

จาก http://www.naewna.com   วันที่ 17 มีนาคม 2558

นำร่องจัดรูปที่ดิน 'สูบน้ำด้วยไฟฟ้า' ยก 'บ้านโพธิ์' พื้นที่ต้นแบบอีสาน

                        ด้วยสภาพพื้นที่เป็นดินปนทราย ทำให้พื้นที่ภาคอีสานต้องประสบกับภาวะแห้งแล้ง แม้จะมีการพัฒนาแหล่งน้ำชลประทานไม่ว่าจะเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ขนาดกลางและขนาดใหญ่ ตั้งกระจายอยู่ทั่วพื้นที่ก็ตาม จนทำให้เกษตรกรต้องหาวิธีสูบน้ำจากแหล่งน้ำขึ้นมาใช้ประโยชน์ในแปลงไร่นา โดยผ่านคูคลองต่างๆ แต่ก็ยังไม่ได้รับประโยชน์จากน้ำอย่างทั่วถึง เช่น พื้นที่ ต.โพธิ์ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ  ที่สำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง ใช้เป็นพื้นที่นำร่องโครงการจัดรูปที่ดินในเขตสูบน้ำด้วยไฟฟ้าภาคอีสาน 

                        “พื้นที่ตรงนี้ทำนามาแต่ไหนแต่ไร ช่วงหน้าฝนพื้นที่ติดลำน้ำชีก็ถูกน้ำมูลเอ่อท่วม เสียหายเป็นประจำ พอหน้าแล้งไม่มีน้ำ จนเมื่อกรมชลประทานติดตั้งสถานีสูบน้ำให้ก็มีน้ำใช้ แต่ยังไม่ทั่วถึงดี จึงต้องขอให้สำนักงานจัดรูปที่ดินกลางเข้ามาจัดรูปที่ดิน” ณัฐกิตติ์ กองรักษา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโพธิ์กล่าว

                        การจัดรูปที่ดินกว่า 1,200 ไร่ ในตำบลโพธิ์ จึงทำได้อย่างสมบูรณ์แบบ โดยมีทั้งการก่อสร้างคูส่งน้ำ คูระบายน้ำ เส้นทางลำเลียง ปรับระดับดิน และจัดรูปแปลงที่ดินใหม่ เป็นตารางสวยงาม แล้วเสร็จเมื่อปลายปี 2557 ที่ผ่านมา ทำให้เกษตรกรสามารถทำนาปรังฤดูแรกทันที ในฤดูการผลิตปี 2558 

                         “ปริมาณน้ำไม่มีปัญหา เราสูบน้ำจากห้วยสำราญขึ้นมา ตอนนี้กำลังสร้างฝายเพื่อเก็บกักน้ำไว้ในลำน้ำได้มากขึ้น ถ้ามีมากพอก็จะพิจารณาทำนาปรัง 2 ครั้ง”  

                        นายก อบต.โพธิ์ ย้ำด้วยว่าสำหรับผลผลิตข้าวนาปรังก่อนจัดรูปที่ดินข้าวพันธุ์ชัยนาท 1 เฉลี่ยไร่ละ 700-800 กิโลกรัม คาดว่าจะปรับขึ้นเป็น 800-1,000 กิโลกรัมต่อไร่ หลังจัดรูปที่ดินแล้ว ส่วนข้าวขาวดอกมะลิ 105 ซึ่งเป็นข้าวนาปี ผลผลิตเฉลี่ย 350-450 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งจะไม่สูงมากไปกว่านี้ เพราะมีข้อจำกัด อย่างไรก็ตาม คาดว่าผลจากการจัดรูปที่ดินทำให้เกษตรกรสามารถเพาะปลูกข้าวได้ 2 ฤดู ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรได้อย่างชัดเจน ฤดูแล้งก็ไม่ต้องทิ้งบ้านทิ้งครอบครัวไปหากินในเมือง ฤดูฝนก็มีโอกาสทำนาได้ดีขึ้นกว่าเดิม เพราะได้ก่อสร้างคันกั้นน้ำทั้งในพื้นที่ที่อยู่ติดแม่น้ำมูลและห้วยสำราญ 

                        พื้นที่ ต.โพธิ์ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ  นับเป็นตัวอย่างความสำเร็จในการจัดรูปที่ดินด้วยวิธีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าเพื่อกระจายน้ำสู่แปลงนาเกษตรกรอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ถือเป็นอีกก้าวของสำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง ที่ขณะนี้กำลังพิจารณาขยายงานไปตามโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าแห่งอื่นๆ

จาก http://www.komchadluek.net    วันที่ 17 มีนาคม 2558

จีนทำราคาน้ำตาลโลกดิ่งเหว

ราคาน้ำตาลทรายดิ่งแตะ 13 เซ็นต์ต่อปอนด์ จากปีก่อนอยู่ที่ 19-20 เซ็นต์ต่อปอนด์ เหตุจีนขายเข้าตลาดเพิ่ม ชี้ราคาอาจทรงตัวต่อเนื่องถึง 2 ปี "เคเอสแอล" ไหวตัวหันมาใช้น้ำอ้อยแทนโมลาส ผลิตเป็นเอทานอล แม้ต้นทุนเพิ่ม แต่ยังคุ้มกว่าผลิตน้ำตาล ขณะที่ระยะห่างการตั้งโรงงาน 80 กิโลเมตร ยังไม่ได้ข้อยุติ กระทบต่อการตั้งโรงงานน้ำตาลที่สระแก้วต้องชะลอ

จำรูญ ชินธรรมมิตร์จำรูญ ชินธรรมมิตร์    นายจำรูญ ชินธรรมมิตร์ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือเคเอสแอล เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ถึงแนวโน้มราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกว่า ขณะนี้ราคาน้ำตาลทรายลดลงอย่างมาก ล่าสุดอยู่ที่ระดับ 13 เซ็นต์ต่อปอนด์ เทียบกับปีที่แล้วราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 19-20 เซ็นต์ต่อปอนด์ ถือว่าเป็นราคาที่ตกต่ำค่อนข้างมาก และอาจจะต่อเนื่องไปเป็นเวลา 1-2 ปี ที่ราคาอาจจะไม่ขยับขึ้นมาเหมือนแต่ก่อนได้

    ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันมีกำลังการผลิตน้ำตาลจากจีนเข้ามาในตลาดเพิ่มมากขึ้น แม้ว่าทางบราซิลผู้ผลิตน้ำตาลทรายรายใหญ่ของโลกจะนำอ้อยไปผลิตเป็นเอทานอล เพื่อลดปริมาณการผลิตน้ำตาลสู่ตลาดก็ตาม แต่คาดว่าในอีก 2 ปีข้างหน้า ราคาน้ำตาลจะค่อยๆปรับเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 20 เซ็นต์ต่อปอนด์ การแก้ปัญหาหรือลดความเสี่ยงของผู้ผลิตน้ำตาล ในขณะนี้จึงลดกำลังการผลิตน้ำตาลลงบ้างส่วน และนำน้ำอ้อยไปผลิตเป็นเอทานอลที่ยังมีราคาดีอยู่แทน จากเดิมที่ใช้กากน้ำตาลหรือโมลาส ผลิตเอทานอล แม้ว่าจะส่งผลให้ต้นทุนเอทานอลเพิ่มขึ้น 5-10% แต่ก็ยังดีกว่าขายเป็นน้ำตาลทรายดิบในตลาดต่ำ โดยปัจจุบันราคาเอทานอลอยู่ในระดับ 24-25 บาทต่อลิตร ก็นับว่ามีกำไรคุ้มที่จะนำน้ำอ้อยมาผลิตเป็นเอทานอล

    ส่วนความคืบหน้าโครงการย้ายโรงงานน้ำตาลจากจังหวัดชลบุรีไปจังหวัดสระแก้ว ขนาดกำลังการผลิต 2.4 หมื่นตันอ้อยต่อวันนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างคำตัดสินจากศาลปกครองสูงสุด กรณีระยะห่าง 80 กิโลเมตร จากระยะห่างโรงงานน้ำตาลที่ตั้งอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้ศาลปกครองชั้นต้นตัดสินออกมาแล้วว่าระยะห่างโรงงานน้ำตาลที่ 80 กิโลเมตรไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ภาครัฐจะนำมาใช้เป็นเกณฑ์บังคับภาคเอกชนมิได้ แต่กระทรวงอุตสาหกรรมยื่นอุทธรณ์ศาลปกครองสูงสุด ซึ่งยังไม่แน่ใจว่าจะมีข้อสรุปออกมาเมื่อไร ดังนั้น จึงเลื่อนโครงการก่อสร้างจากเดิมคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในปีนี้ไปเป็นปลายปีหน้า ซึ่งโรงงานน้ำตาลสระแก้วจะมีโรงไฟฟ้าขนาด 100 เมกะวัตต์ และโรงงานเอทานอลรวมอยู่ด้วย ใช้เงินลงทุน 8-9 พันล้านบาท

    นายจำรูญ กล่าวอีกว่า สำหรับกรณีข้อเสนอการเปิดเสรีโควตาน้ำตาลทรายที่บริโภคในประเทศหรือโควตา ก. นั้น อาจเป็นเรื่องยาก เมื่อเทียบกับการเปิดเสรีโรงงานน้ำตาล เนื่องจากภายหลังจากเปิดโควตาน้ำตาลอาจเกิดปัญหาด้านความผันผวนราคาน้ำตาล ซึ่งผู้บริโภคจะต้องเผชิญกับราคาน้ำตาลที่เปลี่ยนแปลงตามราคาตลาดโลก โดยเฉพาะผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการราคาน้ำตาลที่นิ่ง เพื่อใช้คำนวณต้นทุนการผลิต ขณะเดียวกันอาจเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำตาลในประเทศหากราคาตลาดโลกสูงกว่า จะเกิดการลักลอบส่งออก

    ส่วนความคืบหน้าโครงการลงทุนโรงงานเอทานอลเฟส 3 ขนาด 2 แสนลิตรต่อวัน ที่อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ขณะนี้อยู่ระหว่างทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) คาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะเริ่มก่อสร้าง และสามารถเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ได้ภายในปลายปี 2559 ส่งผลให้บริษัทจะมีกำลังการผลิตเอทานอลเพิ่มขึ้นจากเดิม 3.5 แสนลิตรต่อวัน เป็น 5.5 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งคาดว่าความต้องการใช้เอทานอลจะเพิ่มขึ้นจากมาตรการส่งเสริมแก๊สโซฮอล์

    ขณะที่การเพิ่มทุนจดทะเบียนนั้น เป็นไปตามที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2557 ครั้งที่ 1/2558 เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่านมา มีมติให้เพิ่มทุนจดทะเบียนจากทุนจดทะเบียนเดิมจำนวน 1.67 พันล้านบาท เป็นทุนจดทะเบียนจำนวน 2 พันล้านบาท โดยออกหุ้นสามัญใหม่เพิ่มทุนจำนวน 668 แสนหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท โดยบริษัทได้ดำเนินการจดทะเบียนเพิ่มทุนตามที่ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2558 ที่ผ่านมา เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้หลังจากเพิ่มทุนจดทะเบียนแล้ว บริษัทมีทุนจดทะเบียนจำนวน 2 พันล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจานวน 4 พันล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท

จาก http://www.thanonline.com วันที่ 16 มีนาคม 2558

อัดฉีดชุมชนปลุกเศรฐกิจ-แก้แล้ง เกษตรฯแจง16มีค.เงินก้อนแรกถึงมือร้อยล้าน

นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริหารโครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชนเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งระดับกระทรวง ได้ให้ความเห็นชอบแผนปฏิบัติงานและการใช้จ่ายงบประมาณโครงการครั้งที่ 2 โดยมีจังหวัดที่ได้รับการสนับสนุน 24 จังหวัด 106 อำเภอ 253 ตำบล  485 โครงการ รวม 229.8 ล้านบาท โดยโครงการส่วนใหญ่กว่า 53%  หรือ 260 โครงการ จะเกี่ยวกับการจัดการแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรของชุมชน การผลิตทางการเกษตรและการแปรรูป  8% การปรับปรุงโครงสร้างขั้นพื้นฐาน 36 % การจัดการเพื่อลดการสูญเสียผลผลิตสินค้าเกษตร 2%  ซึ่งเมื่อรวมตัวเลขที่คณะกรรมการฯระดับกระทรวงได้มีการอนุมัติครั้งที่ 1 แล้ว 222 โครงการ วงเงิน 104.9 ล้านบาท จะมีโครงการที่ได้รับการอนุมัติแล้วทั้งสิ้น 707 โครงการ วงเงิน 334.7 ล้านบาท

สำหรับความคืบหน้าแผนการพิจารณาสนับสนุนโครงการของชุมชน ซึ่งตามแผนที่กำหนดให้สัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมีนาคม 2558 ทุกศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล หรือ ศบกต. ต้องมีการจัดทำโครงการและกลั่นกรองจากคณะกรรมการฯ ระดับอำเภอแล้วเสร็จทุกตำบล และคณะกรรมการฯ ระดับจังหวัดต้องพิจารณาให้การอนุมัติโครงการแก่ชุมชนอย่างน้อย 2,330 ตำบล และมีโครงการนำเข้าพิจารณาเพื่อให้ความเห็นชอบในระดับกระทรวงจำนวนไม่น้อยกว่า 1,139 ตำบล แต่ขณะนี้พบว่า ในส่วนการจัดทำโครงการของชุมชนผลดำเนินการทั้งสิ้น 2,881 โครงการคิดเป็น 92.13 % ผ่านคณะกรรมการฯ อำเภอแล้ว 1,432 โครงการ  46.94 % ผ่านคณะกรรมการระดับจังหวัด 818 โครงการ 35.10% และผ่านคณะกรรมการฯระดับกระทรวง 385 โครงการ หรือ 33.80% ซึ่งจะพบว่าส่วนที่ยังต่ำกว่าแผนเนื่องจากเป็นช่วงการพิจารณารายละเอียดของโครงการระดับอำเภอและจังหวัด

ด้านนายโอฬาร  พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมถึงขั้นตอนการโอนเงินไปยังชุมชนนั้น หลังจากคณะกรรมการฯระดับกระทรวงมีมติแล้วจะเสนอโครงการไปยังสำนักงบประมาณ เพื่อโอนเงินผ่านบัญชี ธกส. ไปทางจังหวัดเข้าที่ ศบกต. ซึ่งเปิดบัญชีธนาคารไว้รองรับแล้ว ซึ่งความคืบหน้าการจ่ายเงินลงไปยังแต่ละชุมชนขณะนี้มีการเบิกจ่ายแล้ว 39 ล้านบาท และคาดว่าโครงการที่ได้รับการอนุมัติในครั้งที่ 1 ทั้ง 104 ล้านบาทจะถึงชุมชนได้ภายในวันจันทร์ที่ 16 มี.ค.นี้

จาก http://www.naewna.com วันที่ 16 มีนาคม 2558

รัฐเดินหน้าตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ

“บิ๊กตู่”ใส่เกียร์ห้าตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ประกาศ 13 กิจการ ได้รับการส่งเสริมสิทธิประโยชน์สูงสุดของบีโอไอ “สหพัฒน์” สนใจเข้ามาตั้งโรงงานทำสิ่งทอ และให้เช่าพื้นที่ทำชิ้นส่วนยานยนต์ ที่แม่สอด

นายอาคมเติมพิทยาไพสิฐ รมช.คมนาคม และเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.)ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)เป็นประธาน ได้เห็นชอบให้ประกาศกิจการเป้าหมาย 13 กิจการในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์ระดับสูงตามประกาศของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)พร้อมทั้งเห็นชอบกิจการเป้าหมายรายพื้นที่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตาก สระแก้ว ตราดมุกดาหาร และสงขลา โดยจากนี้สศช. จะไปหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกายกร่างประกาศกนพ. ต่อไป

สำหรับกิจการทั้ง13 กิจการ ประกอบด้วยอุตสาหกรรมการเกษตร ประมงและกิจการที่เกี่ยวข้อง ,อุตสาหกรรมเซรามิกส์ ,อุตสาหกรรมสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม และเครื่องหนัง ,อุตสาหกรรมผลิตเครื่องเรือน ,อุตสาหกรรมอัญมณี และเครื่องประดับ,การผลิตเครื่องมือแพทย์ ,อุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องจักรและชิ้นส่วน ,อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ,การผลิตพลาสติก ,การผลิตยา ,กิจการโลจิสติกส์,นิคมหรือเขตอุตสาหกรรม และกิจการเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว

ขณะที่สิทธิพิเศษของการเข้าลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษนั้นผู้ที่เข้ามาลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์ตามประกาศ บีโอไอ เช่นได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปีได้รับการลดหย่อนสำหรับกำไรสุทธิที่ได้รับจากการลงทุน 50% เป็นเวลา 5 ปี สามารถหักค่าขนส่ง ค่าไฟฟ้า และค่าประปา ได้ 2 เท่าของค่าใช้จ่ายเป็นเวลา 30 ปีสามารถหักเงินลงทุนในการติดตั้งหรือก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกได้ 25% ของเงินลงทุน ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นสำหรับส่วนที่ผลิตเพื่อการส่งออก 5ปี และอนุญาตให้ใช้แรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือในโครงการที่ได้รับการส่งเสริมตามที่บีโอไอกำหนด

“ตอนนี้มีเอกชนแสดงความสนใจเข้ามาลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษแล้วคือเครือสหพัฒน์ ที่มีพื้นที่ในเขตอ.แม่สอดอยู่แล้ว จะลงทุน 2 เรื่อง ทั้ง อุตสาหกรรมสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม และแฟชั่น และชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศ ที่ตอนนี้มีเอกชนจะมาขอเช่าพื้นที่ของสหพัฒน์ประกอบกิจการ”

ทั้งนี้ที่ประชุมยังเห็นชอบกำหนดพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษระยะที่2 ใน 5 จังหวัด คือ หนองคาย เชียงราย นครพนม นราธิวาส และกาญจนบุรี รวม 63ตำบล ใน 16 อำเภอ แบ่งเป็น หนองคาย 22 ตำบล ใน 5 อำเภอ คือ อ.เมือง อ.สระใคร อ.โพนพิสัยอ.ท่าบ่อ อ.ศรีเชียงใหม่ ,เชียงราย 21 ตำบล ใน 3 อำเภอ คือ อ.แม่สาย อ.เชียงแสน อ.เชียงของ , นราธิวาส 5 ตำบล ใน 5 อำเภอ คือ อ.สุไหงโกลก อ.ตากใบ อ.แว้งอ.ยี่งอ อ.เมือง ,นครพนม 13 ตำบล ใน 2 อำเภอคือ อ.เมือง อ.ท่าอุเทน และกาญจนบุรี 2 ตำบล ใน 1 อำเภอ คืออ.เมือง

ขณะเดียวกันยังเห็นชอบพื้นที่แปลงที่ดินเพื่อนำมาจัดตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรมหรือให้เช่าใน6 เขตเศรษฐกิจพิเศษรวม 24,817 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นที่ดินของหน่วยงานรัฐ เช่นกรมป่าไม้ คือ จังหวัดตาก 14,858 ไร่ สระแก้ว 2,944 ไร่ ,ตราด 740 ไร่ ,มุกดาหาร 1,085 ไร่ ,สงขลา 1,095 ไร่ และหนองคาย 4,149 ไร่โดยที่ประชุมมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยไปจัดทำรายละเอียดด้านกฎหมายและการชดเชยเสนอให้คสช.ออกเป็นคำสั่งให้สามารถนำที่ดินดังกล่าวมาใช้ประโยชน์เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษและให้กรมธนารักษ์ดูแล

นายอาคมกล่าวว่า กนพ.ยังเห็นชอบโครงการก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองแม่สอดและสะพานข้ามแม่น้ำเมยแห่งที่2 บริเวณใกล้กับสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาร์แห่งแรกวงเงินรวม 3,900 ล้านบาท โดยให้ใช้งบกลางปี 58 วงเงิน 500 ล้านบาทดำเนินการระยะแรก พร้อมกับพัฒนาโครงการก่อสร้างด่านศุลกากรบ้านหาดเล็ก จ.ตราด โดยให้กระทรวงต่างประเทศร่วมกับกระทรวงกลาโหม เจรจากับกัมพูชาหาข้อยุติเรื่องเขตแดนและการใช้ประโยชน์พื้นที่ รวมทั้งการพัฒนาด่านถาวร ต.บ้านไร่อ.อรัญประเทศ โดยมอบหมายฝ่ายความมั่นคง เจรจาหาข้อยุติเรื่องการกำหนดพื้นที่ด่านถาวรกับกัมพูชาต่อไป

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 16 มีนาคม 2558

ลุยปลดหนี้แสนล้านเกษตรกรเตรียมเฮ/ชง‘ประยุทธ์’ต้นเม.ย.งัดก.ม.พิเศษป้องแบงก์ยึดที่

  รัฐบาลประยุทธ์ โปรยยาหอมอีกแล้ว เตรียมล้างหนี้สินเกษตรกรอีกก้อนใหญ่ราว 1 แสนล้านบาท สมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ/กองทุนหมุนเวียนฯ 2 แสนรายเตรียมเฮ “อำนวย” ยันครม.เศรษฐกิจเห็นชอบในหลักการแล้ว เร่งขั้นตอนปฏิบัติเสนอครม.อนุมัติต้นเมษาฯนี้ ด้านผอ.กองทุนหมุนเวียนฯ แนะออกกฎหมายพิเศษ แฮร์คัตหนี้ ป้องที่ดินเกษตรถูกแบงก์ยึด สะพัดเกษตรกรทั่วประเทศบุกก.เกษตรฯ สัปดาห์หน้า

    นับตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศ ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประธานคสช.และในฐานะนายกรัฐมนตรี ลำดับที่ 29 ถือเป็นปีทองของเกษตรกรไทยที่ได้รับการคืนความสุข ไม่ต่างจากรัฐบาลปกติ แม้รัฐบาลจะประกาศตลอดเวลาว่า "ไม่ใช่ประชานิยม" ล่าสุดรัฐบาลเตรียมคืนความสุขอีกครั้งโดยเตรียมสะสางหนี้สินของเกษตรกรครั้งใหญ่ที่มีมูลหนี้กว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งจะมีเกษตรกรได้รับอานิสงส์ครั้งนี้กว่า 2 แสนราย

++เตรียมเสนอครม.ต้น เม.ย.

    นายอำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ล่าสุด มติประชุมคณะรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ได้รับหลักการเห็นชอบที่จะแก้ไขปัญหาหนี้สินสมาชิกกองทุนสำนักกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพ(กฟก.) มีมูลหนี้สูงถึง 1 แสนล้านบาท  และมูลหนี้อีกก้อนของสำนักบริหารกองทุนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและรับเรื่องร้องเรียน (สกร.) สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีมูลหนี้รวมกันกว่า 4 พันล้านบาท โดยคาดว่าเกษตรกรจะได้รับอานิสงส์ครั้งนี้กว่า 2 แสนราย ส่วนวิธีการดำเนินการจะมีหลากหลายรูปแบบ อาทิ การปรับปรุงหนี้ (แฮร์คัต) เป็นต้น ซึ่งหลังจากได้วิธีการปฏิบัติที่ชัดเจนแล้วจะนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบได้ราวต้นเดือนเมษายน 2558นี้

++ออกกฎหมายพิเศษป้องที่ดิน

    ต่อเรื่องนี้ว่าที่ ร.ต.สมพูนทรัพย์ กล้าวิกรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารกองทุนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและรับเรื่องร้องเรียน (สกร.) สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งจัดทำขั้นตอนปฏิบัติงานแก้ไขหนี้สินให้กับเกษตรกรที่จะมีทั้งการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งสองส่วน แต่ที่สำคัญก็คือการออกกฎหมายพิเศษเพื่อปกป้องที่ดินให้เกษตรกรไม่ให้ถูกยึด และจะยืดเวลาใช้หนี้ให้เกษตรกรนานถึง 20 ปี โดยบางส่วนรัฐบาลจะช่วยชดเชยดอกเบี้ยหากเป็นธนาคารพาณิชย์ทั่วไป แต่ถ้าเป็นธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)  กระทรวงการคลังเป็นผู้ดูแล เนื่องจากเป็นหน่วยงานของรัฐ

    "โดยเริ่มแรกหากรัฐบาลจะเข้าไปแก้ไขอย่างจริง ก็จะเริ่มในส่วนเกษตรกรที่เป็นหนี้ของธ.ก.ส. และสหกรณ์การเกษตร มีมูลหนี้ราว 1 แสนล้านบาท โดยกำหนดสถานะหนี้เป็น 6 ประเภทคือ 1) หนี้ปกติ 2)หนี้ผิดนัดค้างชำระที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงและค่าปรับ 3)หนี้ถูกส่งฟ้องดำเนินคดี 4)หนี้ถูกบังคับคดีขายที่ดินทอดตลาด 5)หนี้รอการขายที่ดินทอดตลาด และ 6)หนี้ที่เจ้าหนี้ถูกฟ้องล้มละลาย มีสัดส่วนหนี้ปกติต่อหนี้ที่มีปัญหา และอนาคตจะลดบทบาทของกองทุนฟื้นฟูฯ ให้ทำภารกิจเพียงแค่ฟื้นฟูเพียงอย่างเดียวเท่านั้น"

    ว่าที่ร.ต.สมพูนทรัพย์ กล่าวเพิ่มเติมว่าในส่วนที่ 2 เป็นหน่วยงานที่สกร.รับผิดชอบโดยตรง  เป็น กองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจน ซึ่งอยู่ใน สกร.มีวัตถุประสงค์ 1. เพื่อไถ่หรือไถ่ถอนที่ดินคืนจากการขายฝากหรือจำนองเมื่อมีพฤติการณ์ว่าสิทธิหรือกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นจะหลุดเป็นของเจ้าหนี้หรือบุคคลอื่นในที่สุด 2.เพื่อชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงิน ซึ่งผู้กู้ยืมได้นำที่ดินหรือหนังสือแสดงสิทธิ์ในที่ดินให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นประกันก่อนหรือขณะทำสัญญากู้ยืมเงิน เมื่อมีพฤติการณ์ว่าสิทธิหรือกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นจะหลุดเป็นของเจ้าหนี้หรือบุคคลอื่นในที่สุด (นับแต่วันที่สูญเสียสิทธิหรือกรรมสิทธิ์ในที่ดินไปไม่เกิน 5 ปี กรณีเกินกว่า 5 ปี แต่ไม่เกิน 10 ปี จะต้องเป็นกรณีที่ผู้กู้ยืมยังทำกินในที่ดินแปลงดังกล่าว)

    ทั้งนี้ในกรณีข้างต้นหากเป็นรัฐบาลปกติ ไม่สามารถกระทำได้ ต้องเป็นรัฐบาลชุดนี้เท่านั้น เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรได้ในระยะยาว เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลในอดีตพยายามแก้ไขหนี้ปรับโครงสร้างหนี้ พักหนี้เกษตรกร หลายครั้ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ท้ายสุดเกษตรกรก็กลับมาเป็นหนี้อีก โดนฟ้อง โดนยึดที่ดินไป

    ดังนั้นเพื่อตัดวงจรอุบาทว์การเป็นหนี้ถาวรให้เกษตรกรต้องมีกฎหมายพิเศษเพื่อให้ธนาคารต่างๆ ปฏิบัติตาม เพราะเชื่อว่าธนาคารเองก็ลำบากใจ หากไม่ปฏิบัติตามจะกลายเป็นละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยจะเริ่มนำร่องที่ ธ.ก.ส.ก่อน มีสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ จำนวน 1.03 แสนราย และในส่วนของสหกรณ์การเกษตร จำนวน 5.64 หมื่นราย รวมมูลหนี้ประมาณแสนล้าน ทั้งปรับโครงสร้างหนี้ ขยายเวลาการชำระหนี้

    ขณะที่ในส่วนธนาคารพาณิชย์ทั่วไปนั้นจะใช้วิธีการช่วยจ่ายดอกเบี้ยให้กับเกษตรกร/ปรับโครงสร้างหนี้ พร้อมกับออกกฎหมายพิเศษ ประกาศเป็นพระราชกฤษฎีกา ไม่ให้ที่ดินของเกษตรกรถูกยึด และจะมีความยืดหยุ่นให้กับเกษตรกรมากกว่าในอดีต มั่นใจว่าหากกฎหมายฉบับนี้ออกมาจะช่วยเกษตรกรปลดเปลื้องหนี้สินได้ยั่งยืน

++เผยความต่างแก้หนี้ 2 หน่วยงาน

    นอกจากนี้ว่าที่ร.ต.สมพูนทรัพย์ ยังระบุด้วยว่า เกษตรกรจะต้องรวมตัวกันสมัครเป็นสมาชิกสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ เพื่อให้เข้าไปดำเนินการใน 2 ส่วน คือการพัฒนาและฟื้นฟูอาชีพ และการซื้อหนี้เกษตรกรจากลูกหนี้ในระบบเท่านั้น อาทิ หนี้สหกรณ์การเกษตร หนี้ ธ.ก.ส. และหนี้ธนาคารพาณิชย์ เป็นต้น แต่ในส่วนของกองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจนไม่ต้องเป็นสมาชิก หากมีปัญหาก็สามารถมายื่นความจำนงได้ทันที เพราะเป็นเกษตรกรที่ยากจน หรือผู้ยากจนหรือเป็นบิดามารดา หรือคู่สมรสหรือบุตรของเกษตรกรที่ยากจนหรือผู้ยากจน แต่ต้องมีหลักประกันเงินกู้ คือ ผู้กู้จะต้องนำอสังหาริมทรัพย์  มาจำนองเป็นประกันเงินกู้ และต้องมีราคาประเมินไม่น้อยกว่าจำนวนเงินที่ให้กู้ยืม หรือถ้าเป็นโฉนดที่ดินจะต้องมีเอกสารที่ถูกต้อง โดยทั่วไปให้กู้ไม่เกินรายละ 5 แสนบาท หรือหากเกินกว่า 5 แสนบาท ให้อยู่ในดุลพินิจของคณะกรรมการพิจารณาอนุมัติเป็นรายๆไป ทั้งนี้ให้กู้สูงสุดไม่เกินรายละ 2.5 ล้านบาท

++กฟก.เผย 6 กรณีเข้าหลักเกณฑ์

    แหล่งข่าวจากสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) เปิดเผยข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2557 ว่า มีจำนวนสมาชิกองค์กรเกษตรกร 5.27 หมื่นองค์กร มีเกษตรกรสมาชิก จำนวน 6.62 ล้านราย  จำแนกหนี้ตามสถานะหนี้ คาดว่าเกษตรกรที่จะเข้าข่ายในการปรับโครงสร้างนี้ในครั้งนี้ 6 ประเภท ได้แก่  1.สถานะหนี้ล้มละลาย มีจำนวน 47 ราย มีมูลหนี้กว่า 254 ล้านบาท 2. หนี้เอ็นพีแอล จำนวน 2.376 พันราย มีมูลหนี้กว่า 1.171 พันล้านบาท 3.ถูกบังคับคดี มีเกษตรกร  จำนวน 7.617 พันราย มูลหนี้กว่า 5 พันล้านบาท 4.หนี้พิพากษา มีจำนวน 70 ราย มูลหนี้ 26 ล้านบาท 5.หนี้ดำเนินคดี มีเกษตรกร จำนวน 1.32 หมื่นราย  มูลหนี้กว่า 8.192 พันล้าน และ 6.หนี้ผิดนัดชำระ จำนวน 1.52 แสนราย มีมูลหนี้ 3.16 หมื่นล้านบาท  รวมทั้งหมด เกษตรกร จะได้รับการชำระหนี้ 1.75 แสนราย มีมูลหนี้รวม 4.64 หมื่นล้านบาท

    "ยังสับสนเรื่องตัวเลขทั้งจำนวนราย และมูลหนี้ของเกษตรกร ทาง กฟก.กำลังรอความชัดเจนจากนายอำนวยว่าจะสั่งการมาอย่างไรบ้าง และพร้อมจะปฏิบัติตาม เพราะหากแก้ปัญหาหนี้ได้ แล้วมีกฎหมายออกมารองรับ มั่นใจว่าจะช่วยเกษตรกรได้ลืมตาอ้าปาก เพราะที่ผ่านมามีแกนนำไปหลอกลวงชาวบ้านจำนวนมากให้หลงเชื่อตกเป็นเหยื่อ ผลสุดท้ายช่วยไม่ได้จริง ดังนั้นหากมาตรการนี้ออกมาจะเป็นการกำจัดเหลือบของเกษตรกรให้จบลงไปในคราวเดียวกัน"

++ม็อบทวงล้างหนี้ 2.6 หมื่นราย

    ด้านแหล่งข่าวจากแกนนำเกษตรกร กล่าวว่า ในสัปดาห์หน้าจะมีกองทัพจากเกษตรกร โดยแบ่งสายเป็นภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แบ่งเป็น 5 สาย  โดยจะมุ่งหน้าสู่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หากถูกทหารสกัด ทางสายภาคกลาง จะบุกเข้าทำเนียบ เพื่อทวงล้างหนี้เกษตรกรจำนวน 2.67 ราย แบ่งเป็นองค์กรเกษตรกรกว่า 1 พันแห่ง จำนวนเงิน 4.55 พันล้านบาท ให้กับลูกหนี้ที่เข้าข่ายพิจารณาข้อใดข้อหนึ่งจาก 10 ข้อได้แก่ 1.เกษตรกรที่เป็นหนี้จากโครงการส่งเสริมหรือสงเคราะห์ของรัฐที่ไม่ประสบความสำเร็จ 2.กรณีภัยพิบัติธรรมชาติ 3.ผลจากปัญหาความไม่สงบชายแดนภาคใต้ 4.หนี้ขาดอายุความ 5.หนี้ค้างชำระเป็นระยะเวลาเกินกว่า 10 ปีขึ้นไป 6.หนี้ที่ไม่สามารถติดตามทรัพย์เพื่อดำเนินการบังคับคดีได้ 7.ผู้กู้ยืมเงินเสียชีวิต สาบสูญ หาตัวไม่พบ หรือละทิ้งถิ่นที่อยู่ 8.เกษตรกรผู้กู้ยืมเงินชราภาพทุพพลภาพ วิกลจริต หรือ เจ็บป่วยเรื้อรัง 9. ลูกหนี้ผู้กู้ยืมเงินมีรายได้น้อย หรือไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ และ 10.หนี้สินเกษตรกรผู้กู้ยืมเงินมาจำนวนต้นเงินกู้ไม่เกิน 1-3 หมื่นบาท

++ผงะ 88 โครงการรัฐเข้าข่ายล้างหนี้

    แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงโครงการรัฐที่ส่งเสริมแล้วไม่ประสบความสำเร็จมี 11 หน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ ได้แก่ 1.สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรฯ ในโครงการจัดหาปุ๋ยเคมีเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรปี 2535/2536  หรือ2.กรมส่งเสริมการเกษตร ในโครงการปลูกพืชอื่นทดแทนมันสำปะหลังปี 2522-2530  และ3.กรมส่งเสริมสหรณ์  โครงการเชื่อมโยงสินเชื่อเพื่อการผลิตและบริการข้าวของสหกรณ์ปี 2542/2543 เป็นต้น 4.กรมชลประทาน โครงการกองทุนจัดรูปที่ดิน 5.กรมประมง โครงการพัฒนาอาชีพการเลี้ยงหอยแมลงภู่แบบยั่งยืน 6.กรมปศุสัตว์ โครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคนม จังหวัดตรัง เป็นต้น 7.กรมวิชาการเกษตร โครงการผลักดันและเร่งรัดการตลาดลำไย ปี 2543  และ8.องค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) โครงการเงินทุนจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ 9.กองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจน 10.กองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม  และ 11.องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ในโครงการรับซื้อข้าวโพด ปี 2518-2523

จาก http://www.thanonline.com   วันที่ 16มีนาคม 2558

ภัยแล้ง58เกษตรเสียหาย5พันล.

ก.เกษตร ประเมินภัยแล้งปี 58 กระทบจีดีพีเกษตรเสียหายกว่า 5 พันล้าน ด้านกรมชลพอใจเกษตรกรงดทำนา-ลดปลูกพืชลงเกือบ 50% เมื่อเทียบกับปีก่อน ยันประเทศไทยมีน้ำพอใช้ถึงกลางเดือนกรกฎาคม ศูนย์ติดตามและแก้ไขภัยพิบัติด้านการเกษตร เผยล่าสุดมีพื้นที่ประสบภัยแล้ง 23 จังหวัดพื้นที่เกษตรเสียหายแล้ว 1.2 ล้านไร่ ขณะโลกร้อนสร้างความเสียหายภาคเกษตรไทยปีละไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้าน

 นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึง สถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในปีนี้รุนแรงที่สุดในรอบ 5 ปี แต่ทางกรมชลประทาน ได้มีมาตรการแรงจูงใจให้เกษตรกรงดปลูกข้าวนาปรัง และมีโครงการจ้างเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งวันละ 300 บาท ในการขุดลอกคูคลอง ปรับปรุงซ่อมแซมอาคารสำนักงาน บ้านพัก ระบบชลประทาน และอื่นๆ รวมทั้งยังได้ออกมาตรการเสริมโดยการอบรมและสนับสนุนปัจจัยการผลิตเพื่อส่งเสริมอาชีพด้านประมง  ด้านปศุสัตว์ สนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืชตระกูลถั่วแก่เกษตรกรในพื้นที่ 2 ลุ่มน้ำ ได้แก่ ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่กลอง จำนวน 1.5 แสนไร่ ทำให้ภาวะเศรษฐกิจภาคการเกษตร(จีดีพี)โดยเฉพาะนาข้าวที่ยังฝืนปลูกได้รับความเสียหายเพียง 0.25% หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 5 พันล้านบาท จากจีดีพีภาคเกษตรโดยรวมในปี 2557 มีมูลค่าประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท สอดคล้องกับนายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ  อธิบดีกรมชลประทาน ที่กล่าวว่า การขอความร่วมมือจากเกษตรกรงดทำนาปรังในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา และแม่กลองในฤดูแล้งปีนี้ถือว่าประสบความสำเร็จ ซึ่งข้อมูลปีนี้มีเกษตรกรปลูกพืชในฤดูแล้งในเขตชลประทาน 2.9 ล้านไร่ และนอกเขตชลประทาน 2.2ล้านไร่ รวมกว่า 5 ล้านกว่าไร่ ขณะที่ปีที่แล้วปลูกประมาณ 9 ล้านไร่ แบ่งเป็นในเขตชลประทาน 6.3 ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน 2.7 ล้านไร่ เทียบแล้วเกษตรกรปลูกน้อยกว่าปีที่แล้วเกือบ 50%

    "ขอความร่วมมือชาวนาที่เก็บเกี่ยวข้าวแล้วห้ามปลูกอีก แต่ให้ปลูกได้อีกครั้งในเดือนพฤษภาคมที่คาดว่าฝนจะเริ่มตกในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน แต่ถ้าหากแล้งนานกว่า ทางกรมชลประทานยังมีน้ำสำรองเพียงพอไปจนถึงกลางเดือนกรกฎาคม โดยจัดเรียงลำดับความสำคัญของการใช้น้ำไว้เพื่อการอุปโภค-บริโภค การรักษาระบบนิเวศน์ เช่นผลักดันน้ำเค็ม และเพื่อการเกษตรตามลำดับ"

    อนึ่ง ศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงาน ณ วันที่ 12 มีนาคม 2558 ถึงสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร ช่วงภัยเดือนตุลาคม-ปัจจุบัน มีการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน(ภัยแล้ง) แล้ว 23 จังหวัด 105 อำเภอ 591 ตำบล 5.4 พันหมู่บ้าน อาทิ เชียงใหม่ แพร่ สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร ตาก และ กำแพงเพชร เป็นต้น และยังมีพื้นที่การเกษตรประสบภัย 11 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ ขอนแก่น มหาสารคาม สกลนคร นครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยภูมิ ชัยนาท ลพบุรี สุพรรณบุรี และตรัง เป็นต้น  เกษตรกรได้รับผลกระทบ 1.88 แสนราย พื้นที่การเกษตรประสบภัย 1.54 ล้านไร่ สำรวจพบความเสียหายแล้ว เกษตรกร 1.31 แสนราย พื้นที่การเกษตรเสียหาย 1.22 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าว 1.16 ล้านไร่ พืชไร่ 5.81 หมื่นไร่ พืชสวนและอื่นๆ 3 ไร่ คิดเป็นวงเงินช่วยเหลือ 1.36 พันล้านบาท

    ด้านดร.วิษณุ อรรถวานิช รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน เปิดเผยว่าจากภาวะโลกร้อนเพิ่มขึ้นทุกปี โดยจากผลงานวิจัยที่ศึกษาผลกระทบสภาพภูมิอากาศต่อภาคการเกษตรในปี 2558 ภาวะโลกร้อนจะสร้างความเสียหายต่อภาคเกษตรไทยคิดเป็นมูลค่าประมาณ 2 หมื่นล้านบาท และผลการศึกษาในอีก 35 ปีข้างหน้า(ถึงปี 2593)จะสร้างความเสียหายเพิ่มขึ้นเป็น 7.57 หมื่นล้านบาท ซึ่งอยากให้รัฐบาลตระหนักในการกำหนดนโยบายเพื่อรองรับผลกระทบในแต่ละปี

จาก http://www.thanonline.com   วันที่ 16 มีนาคม 2558

โรดแม็ปเกษตรไทย รื้อระบบ!แก้จนยั่งยืน

เกษตรกรไทยหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน นอกจากจะต้องฝ่าฟันกับภัยธรรมชาติแล้วยังต้องเผชิญชะตากรรมจากสารพัดต้นทุนที่พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าจ้างแรงงาน ฯลฯ

มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรให้หยัดยืนด้วยลำแข้งตัวเองต่อไปได้ภายใต้งบกระตุ้นเศรษฐกิจที่กระทรวงเกษตรฯรับผิดชอบ ปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บอกว่า

หนึ่ง...เพิ่มรายได้ด้วยการช่วยเหลือชาวนา ไร่ละ 1,000 บาท ดำเนินการไปแล้ว 96 เปอร์เซ็นต์ ประเมินผลความพึงพอใจ ร้อยละ 55 พึงพอใจมาก...ร้อยละ 36 พอใจปานกลาง...ร้อยละ 9 พึงพอใจน้อย

เงินก้อนนี้หลายคนบอกว่า เกษตรกรจะเอาไปใช้หนี้หมด แต่ผลสำรวจ สะท้อนว่า เกือบครึ่งมีถึงร้อยละ 49 เก็บเอาไว้ในการลงทุนทำนาครั้งต่อไป แล้วใช้อุปโภค บริโภค กระตุ้นเศรษฐกิจโดยตรงร้อยละ 38

“เหลือก็ไปจ่ายหนี้...อีกส่วนหนึ่งราวสิบเปอร์เซ็นต์ก็จะเก็บเอาไว้ไปลงทุนอย่างอื่น”

สอง...การช่วยเหลือชาวสวนยาง ดำเนินการไปแล้ว 84 เปอร์เซ็นต์ ผลประเมินความพึงพอใจ ระดับมาก ร้อยละ 23...พอใจปานกลาง 54 เปอร์เซ็นต์ ตัวเลขการเก็บเงินเอาไว้ลงทุนใกล้เคียงกับชาวนาร้อยละ 40

สาม...สนับสนุนสินเชื่อเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อย เพื่อประกอบอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ เนื่องจากราคายางตกต่ำมาก รัฐบาลตั้งวงเงินเอาไว้ 10,000 ล้านบาท ธ.ก.ส.อนุมัติไปเพียง 12 เปอร์เซ็นต์จากเป้าหมายที่วางไว้ ขณะที่มีความพยายามกู้กันมาก แต่ปัญหาก็คือติดหนี้สินค้างเก่าเดิม และขาดคุณสมบัติ

สี่...การจ้างแรงงานเกษตรกรในเขตชลประทาน ได้ผลราว 84 เปอร์เซ็นต์เกือบถึงเป้าหมาย แต่ปัญหาก็คืออายุเฉลี่ยเกษตรกรไทย 50 ปีกว่าขึ้นไปจะไปทำงานด้านโยธาฯ แรงงานก็คงลำบากอยู่สักหน่อย

ห้า...เร่งรัดการลงทุนภาครัฐ ค่าใช้จ่ายที่สำคัญ อาทิ งานชลประทาน งบลงทุนไม่เกิน 500 ล้านบาท มีอยู่ 6,900 รายการ ส่วนที่เกิน 500 ล้านขึ้นไปต้องเร่งประมูลให้เสร็จในช่วงนี้ แต่เงินจะลงพื้นที่ไปช้ากว่า

สำหรับกรมพัฒนาที่ดิน ส่วนใหญ่ดำเนินการไปมากแล้ว ในการลงทุนด้านแหล่งน้ำบวกกับมาตรการทางอ้อม วันนี้มีการปลูกพืชฤดูแล้ง 10.88 ล้านไร่ทั่วประเทศ รวมถึงโครงการช่วยเหลือพื้นที่แล้งซ้ำซาก

เงินกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมๆอยู่ที่ 84,400 กว่าล้านบาท โครงการสุดท้ายที่ดำเนินการอยู่ก็คือ สร้างรายได้...พัฒนาการเกษตรชุมชนเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง ครม.มีมติต้นปี ให้ชุมชนออกแบบโครงการเองเพื่อให้มีงานทำในช่วงฤดูแล้ง เพื่อสร้างรายได้ ส่งผ่านมาในระดับอำเภอ จังหวัด แล้วมาขออนุมัติที่กระทรวงฯ

เท่าที่เก็บตัวเลข จำนวนโครงการมีอยู่ราวๆครึ่งหนึ่งของพื้นที่ที่กำหนดไว้ทั้งหมด อนุมัติไปแล้ว 226 โครงการ คาดว่าทั้งหมดจะเสร็จภายในเมษายน เม็ดเงิน 3,052 ล้านบาท จะลงไปในพื้นที่ได้ทั้งหมด

สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจ ในชนบทไม่ได้มีเฉพาะชาวไร่ชาวนา... การขึ้นทะเบียนเกษตรกรที่เป็นเกษตรกรตัวจริงเป็นเรื่องยาก และต้องทำอย่างชัดเจน เพื่อเอาไปใช้สิทธิ...จากนโยบายรัฐบาลที่ออกมา

นายกรัฐมนตรีแยกคนออกเป็น 3 ประเภท...คนรวยแล้วไม่ต้องช่วย กลางๆต้องช่วยบางส่วน แต่ที่ต่ำสุดก็ยังมีปัญหานึกถึงแต่ชาวนา อาจจะไม่ใช่ทั้งหมดเพราะไม่น้อยมีรายได้ 2 ทาง ทำไร่...ทำนาและอาชีพอื่น ...อนาคตถ้าจะมีการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป เป้าหมายต้องชัดเจน ไม่อย่างนั้นก็ไม่รู้ว่าจะช่วยตรงตัวหรือเปล่า

อีกสองเดือนกำลังจะถึงฤดูเพาะปลูกอีกแล้ว “ภัยความแห้งแล้ง” เป็นอีกประเด็นที่ต้องพูดถึง

ปีติพงศ์ บอกว่า ต้องดูภาพรวมก่อนที่จะไปคิดว่าจะหนักหนาหรือไม่หนักหนาแค่ไหน ในขณะนี้พื้นที่ในเขตชลประทานจะดูแลพื้นที่ปลูกข้าวเป็นหลัก นอกจากเขื่อนหลักในเครือข่ายยังมีเขื่อนอิสระทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลางกระจายอยู่ทั่วประเทศ ในพื้นที่เหล่านี้น้ำเพื่อการเกษตรมีจำกัด

ช่วงปีที่แล้วฝนไม่มาก แต่ใช้เพาะปลูกข้าวเยอะมาก ในปี 2556 ปลูกข้าวนาปรัง 9 ล้านไร่ มาปีนี้ปลูก 4 ล้านไร่...ลดลงมาจากเดิมเยอะ แต่คาดว่าจะเสียหาย 7–8 แสนไร่

“สรุปได้ว่า...ผลกระทบในเขตชลประทานเฉพาะพื้นที่ปลูกข้าวหลายครั้ง น้ำไม่เพียงพอ และในพื้นที่ที่มีปัญหาเฉพาะ ยกตัวอย่างในเขตจันทบุรี ระยอง ปลูกผลไม้...กล้วยไม้ ก็แก้กันไปในรายพื้นที่”

“ภัยความแห้งแล้ง”...ต้องดูข้อมูล ประมาณการจากกรมอุตุฯ และเปรียบเทียบกับการประกาศพื้นที่แล้งของกระทรวงมหาดไทย และสำรวจ

แหล่งน้ำที่ไม่ได้อยู่ในเขตชลประทานที่สามารถแจกน้ำไปยังพื้นที่ต่างๆได้ เพื่อช่วยคลี่คลายปัญหา รวมถึงการใช้น้ำบาดาล เก็บข้อมูลทั้งหมดในภาพรวมก็จะรู้ความแตกต่างแต่ละปี

“เพื่อไม่ให้เกิดการแตกตื่นมากเกินไป ไม่งั้นอาจจะเกิดการแย่งน้ำกันขึ้นมาได้”

 วังวนเกษตรกรไทย...ยิ่งทำยิ่งจน ยิ่งทำยิ่งเพิ่มพูนหนี้สิน ในมุมมองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยุครัฐบาลคืนความสุขจะแก้บ่วงนี้ได้อย่างไรบ้าง?

“ผมคิดไม่ค่อยเหมือนคนอื่น...” ปีติพงศ์ ว่า “...เราต้องแยกภาคเกษตรกับเกษตรกรนะ ใครจะมาบอกว่าภาคเกษตรเราห่วยมันไม่ใช่ กุ้ง...เราก็เคยเป็นที่หนึ่ง ไก่...ก็เป็นที่หนึ่ง โค...ก็พัฒนาขึ้นเยอะ ควาย...ก็แย่ ข้าว...ก็กลับมาเป็นที่หนึ่ง น้ำตาล...ประมงก็เป็นอุตสาหกรรมใหญ่มาก แต่ก็กำลังลำบากนิดหน่อย”

ปัญหาอยู่ที่ว่าในห่วงโซ่การเกษตร “ราคาผลผลิต”...ที่ปลายน้ำกับผู้ผลิตต้นน้ำต่างกันเยอะเกินไป ปัญหาที่ต้องแก้เรื่องเทคนิค สร้างมูลค่าเพิ่มตรงปลายน้ำให้มากขึ้นด้านต่างๆเป็นหน้าที่กระทรวงเกษตรฯที่จะต้องแก้ แต่การกระจายรายได้ลงไปให้ถึงผู้ผลิตเบื้องต้น ต้องช่วยกันหลายๆฝ่าย

“ฝ่ายผม เท่าที่ทำได้ก็คือเทคโนโลยี หลังการผลิตต้องทำให้ดีขึ้น มาตรฐานการรับรอง การเปิดโอกาสให้เกษตรกรทั่วประเทศได้นำผลผลิตมาขายถึงมือผู้ซื้อโดยตรง เพียงแต่ของที่เอามาขายจะต้องเป็นของที่ได้รับการตีตรา มีมาตรฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง”

ถัดมา...ความพยายามให้ “สหกรณ์” ค้าขายมากขึ้น ไม่ใช่ทำเรื่องให้กู้เงิน ยืมเงินอย่างเดียว ถือเป็นขีดความสามารถที่สำคัญของสหกรณ์ ประเด็นที่สาม...กำลังจะออกกฎหมายให้เอาส่วนหนึ่งของรายได้รัฐมาชดเชยรายได้และสร้างสวัสดิการให้กับเกษตรกรโดยตรง

ปีติพงศ์ ย้ำว่า อาจจะยากที่จะคิด...อย่างผู้ใช้แรงงานกำหนดรายได้ขั้นต่ำวันละ 300 บาท จีดีพีภาคเกษตรประมาณร้อยละ 13-14 ของจีดีพีรวม ส่วนนี้จะมีการจัดการระยะยาวอย่างไร เช่น กำหนดไว้ว่า เราจะใช้เงินเท่านี้...มองใน 5 ปี โดยมองเป็นสัดส่วนของจีดีพีเพื่อมาช่วยเรื่องรายได้ สวัสดิการเกษตรกร

เรื่อง “รายได้” ก็เฉพาะกรณีสินค้าการเกษตรตกต่ำอย่างที่เป็นอยู่

“หลายๆรัฐบาลก็มีวิธีแปลกๆที่ทำกันมาแล้ว เช่น เก็บข้าว 18 ล้านตัน เก็บยางก็ว่ากันไป แต่ผมมีความเชื่อว่าต้องทำแบบ

ผู้ใช้แรงงาน ควรกำหนดเพดานขั้นต่ำว่า...เกษตรกรควรได้รับเงินสักประมาณเท่าไหร่ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับราคาสินค้าที่เปลี่ยนแปลงขึ้นลงไปในแต่ละปี”

 “สวัสดิการ” ต้องเน้นย้ำ สวัสดิการที่เกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บ เช่น แพ้สารเคมี สัตว์ต่างๆ ให้เป็นบัตรทองพลัสของโรคที่เขาเป็นหรือสิ่งที่เขาต้องเผชิญอยู่ตลอดเวลา นี่คือการกระจายรายได้ไปถึงตัวเกษตรกรในลักษณะหนึ่ง จะส่งผลดีหลายอย่างถ้าอิงกับจีดีพี...กำหนดเป็นกฎหมาย สมมติจีดีพีเท่ากับ 100 เราให้แค่ 10

“รัฐบาลจะได้ไม่เอาเงินไปทำอะไรเฟอะฟะมากเกินไป และเป็นหนี้ในอนาคตมากเกินไป” ถ้าทำได้อย่างนี้...เกษตรกรไทยยังคงมีหวัง ยืนอยู่บนลำแข้งตัวเองได้อย่างมั่นคงมากกว่าที่เป็นอยู่.

จาก http://www.thairath.co.th วันที่ 16 มีนาคม 2558

ชี้แนวโน้มบาทอ่อนค่า ดอกเบี้ยจ่อลงอีก แนะจับตาผลประชุมเฟด

        นายแบงก์มองเงินบาทแนวโน้มอ่อนค่าช่วยส่งออกได้บ้างแต่ไม่มาก คาดสัปดาห์นี้เคลื่อนไหว 32.70-33.00 จับตาผลประชุมเฟด 17-18 มี.ค. เตือนการลดดอกเบี้ยของ กนง.ไม่ได้ช่วยเศรษฐกิจอย่างแท้จริง คาดครั้งหน้าอาจจะมีการปรับลดอีกรอบ

               ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ หรือระหว่างวันที่ 16-20 มี.ค.ว่า ธนาคารกสิกรไทย ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 32.70-33.00 บาทต่อดอลลาร์ โดยประเด็นที่ตลาดรอจับตา คือ ผลการประชุมเฟด (17-18 มี.ค.) ที่อาจจะมีการปรับเปลี่ยนถ้อยคำในแถลงการณ์หลังการประชุม ซึ่งอาจเป็นหนึ่งในสัญญาณที่สะท้อนจังหวะของการเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds

                ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ประกอบด้วย ผลสำรวจแนวโน้มภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์ก ข้อมูลตลาดที่อยู่อาศัย รวมถึงข้อมูลเงินทุนไหลเข้าสุทธิสู่ตลาดการเงินสหรัฐฯ นอกจากนี้ ตลาดในประเทศอาจจับตารายงานนโยบายการเงินของ ธปท. ซึ่งจะมีการเปิดเผยตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2558 ที่ทบทวนใหม่ด้วยเช่นกัน

               นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย มองการลดดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.ลงไป 0.25% ทำให้อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่ที่ 1.75% ว่า มีส่วนช่วยเศรษฐกิจน้อยมาก เพราะส่งผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจได้ค่อนข้างจำกัด เนื่องจากดอกเบี้ยในปัจจุบันไม่ใช่อุปสรรคต่อการเติบโตของเศรษฐกิจตั้งแต่ต้น

               “การลดดอกเบี้ยครั้งนี้เชื่อว่าจะยังไม่มีส่วนผลักดันให้ประชาชนกู้เงิน หรือขอสินเชื่อเพิ่มขึ้นจนกว่าจะเห็นทิศทางเศรษฐกิจ หรือการลงทุนภาครัฐที่ชัดเจน แต่การเบิกจ่ายภาครัฐในขณะนี้ยังทำได้ค่อนข้างน้อย โดยปีงบประมาณ 2558 ยังเบิกจ่ายงบฯลงทุนไปเพียง 13% เท่านั้น”

               นอกจากนี้ การกู้เงินของคนเริ่มมีข้อจำกัดมากขึ้น เพราะหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูงแล้ว คาดว่ากลางปีนี้มีโอกาสที่หนี้ครัวเรือนจะไปแตะที่ 88% ต่อจีดีพี จากหนี้สะสมที่เกิดจากการทบต้นทบดอกที่เกิดจากภาระหนี้มากเกินไปทำให้ผ่อนภาระต่อไม่ไหว

               อย่างไรก็ตาม การลดดอกเบี้ยของ กนง. จะทำให้ค่าเงินอ่อนค่าไปราว 0.50 บาท จะช่วยสนับสนุนผู้ส่งออกได้บ้าง แต่อาจมีข้อจำกัดเพราะสินค้าบางอย่างโดยเฉพาะราคาสินค้าเกษตรที่ยังอยู่ระดับต่ำ

               ขณะที่สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย มองการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.25% ต่อปี ว่า ปกติจะไม่ส่งผลในเชิงบวกต่อเศรษฐกิจมากนัก ดังนั้น จึงมีโอกาสที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกครั้งระดับ 0.25% เพื่อให้อยู่ในระดับที่เพียงพอต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะต้องปรับลดอย่างน้อย 0.50% ซึ่งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งอาจจะเห็นในการประชุมวันที่ 10 มิ.ย. เพื่อรอตัวเลขทางเศรษฐกิจไตรมาส 1 ที่จะประกาศในวันที่ 18 พ.ค.

                คาดทั้งปีนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ในระดับ 1.50-1.75% ต่อปี ขณะนี้นโยบายการเงินขยับจากกองหลังมาเป็นกองกลาง และจะเป็นกองหน้าห ากปรับลดดอกเบี้ยอีกครั้งหลังจากที่เห็นว่านโยบายการคลังขับเคลื่อนได้ช้า และเป็นโอกาสสุดท้ายก่อนสหรัฐฯ ปรับขึ้นดอกเบี้ย

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 16 มีนาคม 2558

"KOFC"ชี้ปัจจัยเสี่ยงสินค้าเกษตร หวั่นภัยแล้งปะทุยาวเสียหายหนัก

ดร.ภูมิ ศักดิ์ ราศรี ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ทางศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร (KOFC) ได้วิเคราะห์ถึงแนวโน้มเศรษฐกิจโลก พบว่ากลุ่มที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น ได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา กลุ่มที่ยังคงจับตามอง ได้แก่ รัสเซีย ยุโรป และญี่ปุ่น ดังนั้น อนาคตเศรษฐกิจของจีนจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในตลาดโลกมากขึ้น รวมทั้งกลุ่มตลาดเกิดใหม่ที่ยังมีอัตราการเจริญเติบโตและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โลกได้ ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ยังต้องพึ่งพาการส่งออกไปประเทศอุตสาหกรรมหลัก หากเศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมหลักมีแนวโน้มซบเซาต่อไป จึงยากที่จะหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เกิดขึ้น จึงเป็นปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจการเกษตรที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งมีปัจจัยเสี่ยงทั้งจากภายนอกประเทศและภายในประเทศ

สำหรับแนวทาง การพัฒนาและมาตรการเพื่อรองรับปัจจัยเสี่ยงจากภายนอกประกอบด้วย (1) แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจโลกในปี 2558-2559 ยังคงมีการติดตามความผันผวนจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศผู้นำ ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวและการปรับตัวดีขึ้น เศรษฐกิจไทยก็ยังคงมีอัตราเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความผันผวนตามไปด้วย (2) ระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่ที่มีการแข่งขันที่รุนแรงจากเศรษฐกิจเกิดใหม่และมี การรวมกลุ่มเพื่ออำนวยความสะดวกการค้าภายในกลุ่ม และมีการกีดกันสินค้าจากนอกกลุ่ม ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจในกลุ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการรวมกลุ่มประเทศอาเซียนเพื่อสร้างอำนาจความเข้มแข็งในการต่อรอง เศรษฐกิจ การค้าการลงทุนและเศรษฐกิจภาคอื่น ๆ (3) ปัจจัยอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องหามาตรการหรือเครื่องมือดูแลความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อประกันความเสี่ยงแก่ผู้ส่งออกและบริการ โดยเฉพาะการผลิตภาคเกษตรด้วย

ส่วนแนวทางการพัฒนาและมาตรการเพื่อรองรับปัจจัยเสี่ยงภายในประเทศที่สำคัญ ได้แก่ (1) ปัจจัยภัยธรรมชาติ ปัญหาภัยแล้งที่แสดงโดยปริมาณน้ำในเขื่อนหลัก ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการขยายการผลิตในภาคเกษตร ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อรายได้เกษตรกร การบริโภคภาคเอกชน และการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวม คาดว่าปัญหาภัยแล้งปีนี้จะสร้างความเสียหายประมาณ 2-3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมสินค้าเกษตร (จีดีพี) ปีละ 1.4 ล้านล้านบาท ฉะนั้น จำเป็นต้องมีการปรับการใช้น้ำให้เกิดประสิทธิภาพที่สุด (2) การรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตร แม้ว่าแนวโน้มดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ ณ ไร่นาจะยังทรงตัว แต่จำเป็นต้องสร้างความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานสินค้าเกษตร เพื่อให้สามารถยกระดับราคาสินค้าเกษตรได้ (3) การส่งออกสินค้าเกษตร เน้นหรือให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการตลาด ต้องมีการควบคุมดูแลและตรวจสอบสินค้าของไทยให้มีคุณภาพ

(4) คู่แข่งทางการตลาดส่งออกสินค้าทางการเกษตร ไทยจะต้องพัฒนาให้สอดคล้องกับตลาดและคุณภาพให้ดียิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มปริมาณการขายในตลาดโลกมากขึ้น (5) เน้นการพัฒนาแรงงานฝีมือ บุคลากรภาคเกษตรเพิ่มมากขึ้น จำเป็นต้องส่งเสริม สนับสนุน และสร้างโอกาสแรงงานภาคเกษตรเพิ่มมากขึ้น รวมถึงจำกัดการนำเข้าแรงงานต่างด้าว เพื่อลดปัญหาต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นภายในประเทศ (6) เร่งรัด ส่งเสริม สนับสนุนการสร้างนวัตกรรม การเพิ่มงบประมาณและค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนา (R&D) เป็นต้น

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 15 มีนาคม 2558

กรอ.จี้รถขนกากอุตสาหกรรมติดจีพีเอส ฝ่าฝืนเจอโทษจำคุก2ปี-ปรับ2แสน

นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันไทยมีกากอุตสาหกรรมอันตราย 3.35 ล้านตัน แต่ในปี 2557 มีการจัดการอย่างถูกต้องเพียง 1 ล้านตันเท่านั้น โดยในปี 2558 นี้ กรมได้ตั้งเป้านำกากอุตสาหกรรมอันตรายเข้าระบบให้ได้ 1.2-1.5ล้านตัน มีโรงงานที่ได้ลงทะเบียนในระบบจัดการกากอุตสาหกรรมและส่งขยะอุตสาหกรรมออกไปบำบัด/กำจัด/รีไซเคิลแล้วประมาณ 5,300 โรงงานเท่านั้น จากทั้งหมด 68,000 โรงงาน ดังนั้น กรมจะใช้แผนจัดการกากอุตสาหกรรมในระยะ 5 ปีข้างหน้า ที่จะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในสัปดาห์หน้า ในการเร่งรัดโรงงานเข้าระบบให้ได้ 10,000 โรงงาน ภายในปี 2558 นี้

ทั้งนี้ ประกอบด้วยยุทธศาสตร์ 4 ด้าน คือ 1.การกำกับดูแล การบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียม ติดตามการต่ออายุใบอนุญาตโรงงานที่ขาดการจัดการกากอุตสาหกรรม รวมทั้งพัฒนาระบบติดตามการขนส่งกากอันตรายให้สมบูรณ์, 2.การปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย เข้มงวดกับผู้ฝ่าฝืน การอำนวยความสะดวกกับผู้ปฏิบัติตาม, 3.การสร้างความร่วมมือ แรงจูงใจให้กับผู้ประกอบการนำกากอุตสาหกรรมเข้าระบบ และ4.การสนับสนุนจากเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่รองรับกากอุตสาหกรรม 6 แห่ง สำหรับอนาคตระยะ 20-30 ปี และแผนการจัดการแผงโซลาร์เซลล์ที่จะหมดอายุใน 20 ปีข้างหน้า โดยคาดว่าจะมีปริมาณสูงกว่า 2 แสนตัน

อย่างไรก็ตาม ในปีงบประมาณ 2558 กรมได้รับงบประมาณ 14 ล้านบาท ในการลงทุนติดตั้งระบบรับสัญญาณจีพีเอส เพื่อเป็นการควบคุมรถบรรทุกขนส่งกากอุตสาหกรรมอันตรายที่มีอยู่ประมาณ 3,400 คันทั่วประเทศซึ่งปัจจุบันยังไม่สามารถลงโทษรถบรรทุกที่ยังไม่ติดสัญญาณจีพีเอสได้ เนื่องจากกรมยังไม่ได้ติดตั้งระบบรับสัญญาณจีพีเอส แต่คาดว่าภายในเดือนกันยายน 2558 จะสามารถติดตั้งเสร็จเรียบร้อย หลังจากนั้นจะมีบทลงโทษรถบรรทุกที่ยังไม่ได้ติดสัญญาณจีพีเอส ตาม พ.ร.บ.ควบคุมวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 โดยมีโทษปรับไม่เกิน 2 แสนบาท จำคุกไม่เกิน 2 ปี ซึ่งปัจจุบันเป็นความสมัครใจของผู้ขนส่งในการติดตั้งจีพีเอสในรถบรรทุกโดยใช้งบประมาณในการติดตั้งประมาณ 2 หมื่นบาทต่อคัน

นอกจากนี้ กรมได้มีการเข้าไปตรวจสอบโรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรมทั้ง 3 ประเภท ประกอบด้วย โรงงานลำดับที่ 101 คือ โรงงานปรับคุณภาพของเสียรวม โรงงานลำดับที่ 105 คือ โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการคัดแยกหรือฝั่งกลบสิ่งปฏิกูล หรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ และโรงงานลำดับที่ 106 คือโรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการนำผลิตภัณฑ์อุตฯที่ไม่ใช้แล้วหรือของเสียจากโรงงานมาผลิตเป็นวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ใหม่โดยผ่านกรรมวิธีการผลิตทางอุตสาหกรรม จากจำนวน 1,600 โรงงาน พบ 110 โรงงาน ไม่ได้มาตรฐานตามที่กรมกำหนดไว้ ดังนั้น กรมจึงให้ระงับการให้บริการก่อน จนกว่าจะแก้ไขให้ถูกต้องตามมาตรฐาน หากไม่ปฏิบัติตามหรือไม่สามารถแก้ไขได้ ก็จะเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการต่อไป

จาก http://www.naewna.com วันที่ 14 มีนาคม 2558

'ฉัตรชัย' เผย 19 มี.ค. ถกแผนยุทธศาสตร์น้ำ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เผย 19 มี.ค. ประชุมเคาะแผนเร่งผลักดันยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำปี 2558

พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการกำหนดนโยบายและบริหารจัดการน้ำ เปิดเผยว่า ในวันที่ 19 มีนาคมนี้ คณะกรรมการฯ จะมีการประชุมหารือสรุปแผนบริหารจัดการน้ำใหม่และจะเร่งผลักดันยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำปี 2558 ให้เสร็จโดยเร็ว เพื่อใช้สำหรับการบริหารจัดการน้ำของประเทศในระยะยาวโดยจะต้องปรับรูปแบบการใช้งบประมาณใหม่ทั้งหมด เพราะงบประมาณเดิมที่ตั้งไว้ 3.5 แสนล้านบาท ไม่มีรายละเอียดแผนงานที่ชัดเจน ทั้งนี้ งบประมาณใหม่จะยึดจากงบกลางแต่ละปีที่ใช้ในการบริหารจัดการน้ำทั่วประเทศ 60,000 ล้านบาท โดยให้แต่ละหน่วยงานเสนอแผนงาน สำหรับแผนใหม่นี้จะครอบคุมเรื่องภัยแล้ง น้ำท่วม พื้นที่การเกษตร โดยมุ่งเน้นการบริหารจัดการน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคเป็นอันดับแรก ซึ่งในปีนี้ ต้องใช้งบประมาณ 1 แสนล้าน ดำเนินงาน 10,000 โครงการ และทุกแผนงานต้องผ่านการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่

อย่างไรก็ตาม ด้านการแก้ปัญหาภัยแล้งระยะเร่งด่วนปีนี้ กระทรวงมหาดไทยจะเป็นผู้จัดทำแผนทั้งหมด โดยยอมรับว่าสถานการณ์แล้งเข้าสู่ภาวะเลวร้าย

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 14 มีนาคม 2558

"ฉัตรชัย"ถกฑูตพาณิชย์ปรับแผนส่งออกปี 58

รมว.พาณิชย์เรียกผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์และทูตพาณิชย์ทั่วโลก เพื่อประเมินสถานการณ์ส่งออกไทยในตลาดโลก

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในวันที่ 16 มี.ค. นี้ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์จะหารือกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์และทูตพาณิชย์ทั่วโลก เพื่อประเมินสถานการณ์ส่งออกไทยในตลาดโลก หลังจากหลายมีปัจจัยเสี่ยงที่กระทบต่อการส่งออกไทยอย่างมาก ขณะเดียวกันฑูตพาณิชย์แต่ละประเทศก็จะรายงานสถานการณ์ตลาดการส่งออกรวมถึงการปรับแผนในการช่วยเหลือผู้ส่งออกไทย เพื่อผลักดันให้ส่งออกไทยในปีนี้ขยายตัวตามเป้าหมายที่ 4% หรือมูลค่า 236,677 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้า ประจำกรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า   ภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐ ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เนื่องจากราคาน้ำมันปรับลดลง ส่งผลให้มีการใช้จ่ายมากขึ้น ประกอบกับค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น ทำให้การนำเข้ามากขึ้น เบื้องต้นในตลาดสหรัฐได้มีการคงเป้าส่งออกขยายตัว 3% เหมือนเดิม โดยสินค้าที่มีศักยภาพ คือ ธุรกิจโรงแรม รวมถึงอัญมณี แต่ทั้งนี้ผู้ประกอบการต้องทำการค้าอย่างระมัดระวัง เพราะการแข่งขันจะสูงขึ้น เพราะเมื่อสหรัฐเศรษฐกิจเริ่มฟื้น หลายประเทศ ก็สนใจกลับเข้ามาทำการค้าด้วย โดยต้องทำธุรกิจอย่างมีวินัย และพัฒนาสินค้าให้ได้มาตรฐาน ตลอดจนในการติดต่อค้าขายผู้ค้าต้องรอบคอบ

ส่วนนายไผท สุขสมหมาย ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการค้า ประจำกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกยังไปเอเชียภาพรวมยังไปได้ดี โดยคาดว่าการส่งออกไปเอเชียจะขยายตัวได้ถึง 4.5% เนื่องจากการส่งออกไปจีนยังค่อนข้างดี ส่วนเศรษฐกิจประเทศญี่ปุ่นชะลอตัว แต่การส่งออกไทยไปญี่ปุ่น ก็ยังมีโอกาสขยายตัวได้ประมาณ 2% จากการที่รัฐบาลญี่ปุ่น ได้พยายามกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแจกคูปองเงินสดให้คนออกมาใช้จ่ายมากขึ้น 

ขณะเดียวกันญี่ปุ่นได้มีการชะลอการนำเข้าสินค้าจากจีน แล้วหันมานำเข้าจากไทย เวียดนาม และมาเลเซีย มากขึ้น ซึ่งสินค้าที่มีแนวโน้มขยายตัวคือ กลุ่มวัสดุก่อสร้าง สินค้าแฟชั่น และสินค้าสำหรับผู้สูงอายุ โดยสำนักงานฯ ได้เร่งให้ความรู้ผู้ประกอบการในการสร้างแบรนด์เพื่อยกระดับ และสร้างการยอมรับในการเข้าไปในตลาดด้วย ซึ่งถือเป็นหนึ่งในแผนกระตุ้นการส่งออกสำหรับญี่ปุ่นด้วย 

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2558

กระทรวงเกษตรฯเร่งหารือจัดทำงบ4สินค้าเกษตร

กระทรวงเกษตรฯหารือแนวทางการจัดทำโครงการและงบประมาณภายใต้ยุทธศาสตร์สินค้าเกษตร  4  สินค้า พร้อมเร่งรัดการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ฯ สู่การปฏิบัติ และให้ความสำคัญกับการพัฒนาตลาดและส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกรรายย่อย 

นายชวลิต  ชูขจร  ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เปิดเผยภายหลังการประชุมการหารือแนวทางการจัดทำโครงการและงบประมาณภายใต้ยุทธศาสตร์สินค้าเกษตร  4  สินค้าว่า  จากมติคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ)  ครั้งที่ 1/2558  เห็นชอบ (ร่าง)ยุทธศาสตร์สินค้าเกษตร  4  สินค้า ได้แก่  ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์  มันสำปะหลัง  ผลิตภัณฑ์ปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม  อ้อยโรงงานและน้ำตาลทราย  โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชน เร่งรัดการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ฯ โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาตลาดและส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกรรายย่อย  การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ฯ สู่การปฏิบัติในระดับท้องถิ่น  และการประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างภาครัฐและเอกชน

 สำหรับแผนการผลิตตามยุทธศาสตร์  4  สินค้า  ได้แก่  1.แผนการผลิตอ้อยโรงงาน  มีเป้าหมายการเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยโรงงาน  6  ล้านไร่  จาก  10.07  ล้านไร่ เป็น  16.07  ล้านไร่ ในปี  2569  การเพิ่มผลผลิตอ้อยโรงงานจาก  103.68  ล้านตัน เป็น  182.04  ล้านตันในปี  2569  และการเพิ่มผลผลิตน้ำตาลจาก  11.29  ล้านตัน เป็น  20.36  ล้านตันในปี  2569

 2. แผนการผลิตปาล์มน้ำมัน  มีเป้าหมายการขยายพื้นที่ปลูกปีละ  2.5  แสนไร่  เพิ่มพื้นที่ปลูกรวม  3  ล้านไร่  จาก  4.5  ล้านไร่  เป็น  7.5 ล้านไร่  และปลูกทดแทนสวนเก่าปีละ  3  หมื่นไร่  รวมปลูกทดแทน  3.6  แสนไร่  การเพิ่มผลผลิตต่อไร่  จาก  2.86  ตัน  เป็น  3.5  ตัน  ภายในปี  2569  และ  อัตราน้ำมันจากร้อยละ  18  เป็นร้อยละ  20  ภายในปี  2569  

 3.แผนการผลิตมันสำปะหลัง  มีเป้าหมายโดยการเพิ่มผลผลิตเฉลี่ยมันสำปะหลังเป็น  5  ตัน/ไร่  ในปี  2562  และ  7  ตัน/ไร่  ในปี  2569  มีการบริหารจัดการพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังในพื้นที่  8.5  ล้านไร่  และ4. แผนการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์  มีเป้าหมายเพิ่มผลผลิตต่อไร่จาก  659  กิโลกรัม เป็น  835  กิโลกรัม  ในปี  2562  และ  1,000  กิโลกรัม  ในปี  2569  การเพิ่มผลผลิตรวมจาก  4.81  ล้านตัน  เป็น  6.18  ล้านตัน  ในปี  2562  และ  7.40  ล้านตัน  ในปี 2569  และการลดพื้นที่ปลูกในเขตป่า  3.26  ล้านไร่  และพื้นที่ไม่เหมาะสม  0.82  ล้านไร่  รวม  4.08  ล้านไร่  โดยให้เพิ่มพื้นที่ปลูกในนาข้าวไม่เหมาะสม  2.08  ล้านไร่  และพื้นที่ปลูกหลังนา  0.35  ล้านไร่  เป็น  2  ล้านไร่

 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ได้ให้คณะอนุกรรมการร่วม  4  สินค้า พิจารณาจัดเตรียมทำโครงการและงบประมาณ  ภายใต้ยุทธศาสตร์สินค้าเกษตร  4  สินค้า  (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์  ปาล์มน้ำมัน  มันสำปะหลัง  และอ้อย)  ให้แล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน และนำเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ  ภายในเดือนพฤษภาคม  ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินการเบื้องต้นในปีงบประมาณ  2558  โดยการอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรเกี่ยวกับระบบน้ำหยดในไร่มันสำปะหลัง  จำนวน  600 ราย  ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์  และการบูรณาการงบประมาณ  เพื่อดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในพื้นที่แปลงใหญ่ เป็นต้น

 จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2558

หอการค้าฯ พร้อมช่วยรัฐแก้ปัญหาแรงงานไทย

นายภูมินทร์  หะรินสุต  รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ประเทศไทยถูกจับตามองเรื่องปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ส่งผลเป็นวงกว้างในภาพลักษณ์ของสินค้าไทยที่ส่งออกไปยังทั่วโลก อย่างที่ทราบกันดี ประเทศไทย พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก ซึ่งเมื่อปี 2557 ประเทศไทยส่งออกไปทั่วโลกถึงประมาณ 7.31 ล้านล้านบาท โดยมีตลาดสหรัฐฯ เป็นฐานการส่งออกอันดับ 2 (767,856.3 ล้านบาท) รองจากประเทศจีน อีกทั้ง ประเทศไทยยังเป็นผู้ส่งออกหลักของผลิตภัณฑ์อาหารทะเลทั้งสด แปรรูป และอาหารทะเลบรรจุกระป๋อง รวมทั้งยังเป็นห่วงโซ่การผลิตของหลายๆ อุตสาหกรรมไปยังทั่วโลก ซึ่งมีแนวโน้มการส่งออกสินค้าประมง ตลอดปี 2557 คาดว่ามีปริมาณรวมทั้งสิ้นประมาณ 560,000 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 100,000 ล้านบาท โดยมีแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในประเทศไทยที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานในทั่วราชอาณาจักร ประมาณ 1,626,235 คน (ที่มา กนร. ข้อมูล ณ วันที่25 กุมภาพันธ์ 2558)

หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้ให้ความสำคัญและผลักดันการแก้ไขปัญหาแรงงานและการค้ามนุษย์มาโดยตลอด ประกอบด้วย

1.Trafficking in Persons Report (TIPs Report) ปี 2014 ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ประเมินการดำเนินการด้านแรงงานของไทยโดยประเทศไทยอยู่ในระดับ Tier3 โดยรายงานปี 2015 จะเผยแพร่ในเดือนพฤษภาคม 2558 นี้ โดยประเด็นที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญต่อการบังคับใช้กฎหมายของประเทศไทย การดำเนินคดีของภาครัฐ และการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นของหน่วยงานภาครัฐ  ซึ่งประเทศไทยได้จัดส่งรายงานชี้แจงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาฉบับแรกไปยังกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แล้ว และจะส่งฉบับสุดท้ายในเดือนมีนาคม 2558 นี้ โดยจะต้องตอบข้อคิดเห็นของสหรัฐฯ จากรายงานฉบับปี 2014 ได้ รวมทั้งความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหา

2. Illegal Unregulated and Unreported Fishing (IUU) ประเทศไทยกำลังจะได้รับใบตักเตือน(ใบเหลือง) จากสหภาพยุโรปกรณีเรือที่ปฎิบัติไม่ถูกต้องโดยรวมถึงกรณีแรงงานด้วย ซึ่งหากไม่รีบแก้ไขจะส่งผลให้ไทยไม่สามารถส่งออกสินค้าอาหารทะเลไปยังสหภาพยุโรปได้  3. List of Goods Produced by Child Labor or Forced Labor โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ระบุว่า สินค้าจากประเทศไทย 4 รายการมีการใช้แรงงานเด็ก และ/หรือแรงงานบังคับ ได้แก่ กุ้ง ปลา อ้อย และเครื่องนุ่งห่ม  4. การถูกโจมตีจากสื่อต่างๆ เช่น The Guardian , EJF และหนังสือพิมพ์ต่างประเทศ ระบุถึงการดำเนินการด้านแรงงานที่เลวร้ายของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานในเรือประมง

นายภูมินทร์ กล่าวว่า หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้ขับเคลื่อนในการแก้ไขปัญหาแรงงานและการค้ามนุษย์ มาเป็นเวลามากกว่า 3 ปี ผ่านคณะกรรมการแรงงานและทรัพยากรมนุษย์  คณะกรรมการธุรกิจการประมงและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และสมาคมการค้าที่เกี่ยวข้องภายใต้ความร่วมมือสมาพันธ์ผู้ผลิตสินค้าประมงไทย

อย่างไรก็ตาม คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จนถึงรัฐบาลปัจจุบัน ได้ให้ความสำคัญของการแก้ไขปัญหาแรงงานทั้งระบบ โดยได้มุ่งเน้นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศชาติ ตลอดจน การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย และความมั่นคงของประเทศชาติ ซึ่งต้องยอมรับว่าปัญหาแรงงาน เป็นปัญหาที่สะสมมานานเป็นเวลา 10 กว่าปี และประเทศไทยกำลังขาดแคลนแรงงานเป็นอย่างมาก และจะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น

รัฐบาลชุดนี้ได้แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (กนร.) ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พร้อมทั้ง ได้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นเพื่อดูแลเกี่ยวกับเรื่องของการค้ามนุษย์ขึ้นมาอีก 5 ด้าน ได้แก่ คณะอนุกรรมการปราบปรามการค้ามนุษย์ , คณะอนุกรรมการด้านสตรีในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ , คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ และแรงงานต่างด้าว , คณะอนุกรรมการแก้ไข้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย(IUU Fishing)  และ คณะอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์และกฎหมายที่เกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์

ทั้งนี้ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้รับมอบหมายให้เป็นกรรมการในคณะกรรมการต่างๆ ของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาแรงงาน ร่วมทั้งได้นำเสนอความคิดเห็น และขับเคลื่อนนโยบายในการแก้ไขปัญหาต่างๆ กับทางรัฐบาลมาเป็นอย่างดีโดยตลอด ซึ่งได้ปรากฎอย่างชัดเจนถึงการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว การค้ามนุษย์ และปัญหาแรงงานบนเรือประมง เพื่อให้หลุดพ้นจากการประเมินการดำเนินการด้านแรงงานของไทย TIPs Report. , IUU Fishing และ List of Goods Produced by Child Labor or Forced Labor (4 สินค้า) ได้แก่ อ้อย เครื่องนุ่งห่ม ปลาและกุ้ง และสื่อลามก)

โดยรัฐบาลได้มีแนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังมาโดยตลอด อาทิ การดำเนินการจัดระเบียบ และเร่งพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว กัมพูชา  ณ ศูนย์ One Stop Service , การจัดระบบแรงงานต่างด้าวสัญชาติเวียดนาม โดยได้เห็นชอบแนวทางการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวสัญชาติเวียดนามที่ลักลอบทำงานอยู่ในประเทศไทย และเห็นชอบให้ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีกำหนดให้แรงงานเวียดนามทำงานได้ 2 งาน ได้แก่ งานกรรมกร และงานรับใช้แม่บ้าน พร้อมทั้ง เห็นชอบให้มีการเจรจาระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลเวียดนามเพื่อจัดทำบันทึกข้อตกลง MOU นำเข้าแรงงานเวียดนาม ในกิจการประมงและก่อสร้าง , การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานประมงทะเล โดยให้มีการผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา อยู่ในราชอาณาจักรเป็นเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2558 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2559 ตามแนวทางมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2556 (พร้อมทั้ง จดทะเบียนปีละ 2 ครั้ง)

นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการจ้างแรงงานระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา รัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและรัฐบาลราชอาณาจักรกัมพูชา ในประเด็นต่าง ๆ โดยเฉพาะการปรับระยะเวลาการกลับเข้าทำงานใหม่ของแรงงานต่างด้าวหลังทำงานครบกำหนด 4 ปีแล้ว จากเดิมกำหนดไว้ 3 ปี ให้ลดลงเหลือ 30 วัน เพื่อความต่อเนื่องของการทำงานและสอดคล้องกับระยะเวลาการเตรียมการจัดทำเอกสารเพื่อกลับเข้ามาทำงานใหม่ รวมทั้งแรงงานได้กลับไปเพื่อพักผ่อนอยู่กับครอบครัวหลังจากเข้ามาทำงานในประเทศไทยเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว

“รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาแรงงานอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ซึ่งปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ ยังคงต้องดำเนินการการแก้ไขอยู่และต้องการความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน”

    นายภูมินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ ตลอดจนปัญหาแรงงานบนเรือประมง ซึ่งเป็นปัญหาต่อเนื่องด้านการต่างประเทศที่จำเป็นต้องเร่งดำเนินการแก้ไขอย่างต่อเนื่อง โดยหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้มีการแก้ไขปัญหาแรงงานร่วมกับรัฐบาล อาทิ

1.    การแก้ไขปัญหาแรงงานของประเทศไทย 

-    ร่วมผลักดันนโยบายผ่อนผันกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI สามารถใช้แรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือถึง 31 ธันวาคม 2559 พร้อมทั้ง ให้ กระทรวงแรงงาน ทำการศึกษาความจำเป็นในการใช้แรงงานไร้ฝีมือของอุตสาหกรรมต่างๆ ตลอดจน การกำหนดคำนิยามของแรงงานไร้ฝีมือ แรงงานกึ่งฝีมือ และแรงงานมีฝีมือ เป็นต้น

-    ร่วมศึกษาข้อมูลการขาดแคลนแรงงานของประเทศไทยในระยะยาวเพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 โดยมุ่งเน้นการพัฒนาระบบอาชีวศึกษา การส่งเสริมและพัฒนาการใช้เครื่องจักรทดแทนแรงงานคน เป็นต้น

-    สนันบสนุนกรรมการหอการค้าไทย ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในการผลักดันโครงการ และกฎหมายที่สำคัญเพื่อแก้ไขปัญหาแรงงาน อาทิ พรบ.ประมง , พรบ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์, พรบ.ประกันสังคม , พรบ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน ตลอดจน การจัดทำแนวทางการแก้ไขปัญหาแรงงานประมงของประเทศไทยโดยการจัดหาแรงงานต่างด้าวเพื่อทำงานบนเรือประมงภายใต้กรอบ MOU ร่วมกับคณะกรรมาธิการการพาณิชย์ การอุตสาหกรรม และการแรงงาน เป็นต้น

-    สนับสนุนให้มีการลงทะเบียนรายงานตัวออนไลน์ของแรงงานต่างด้าวทุก 90 วัน ตามพ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ตามมาตรา 37 (5) เพื่ออำนวยความสะดวกในการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2.    การแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์

-    ร่วมผลักดันและดำเนินการในการแก้ปัญหาแรงงานและการค้ามนุษย์ ร่วมกับคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (กนร.) และคณะอนุกรรมการประสานงานการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (อกนร.) อาทิ การเสนอการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานประมงทะเลในระยะยาว เป็นต้น

-    ร่วมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การประชาสัมพันธ์ และการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยในประเด็นแรงงาน เพื่อความเข้าใจและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีกับนานาชาติร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ เป็นต้น

-    แสดงความคิดเห็นในการปรับปรุงกระบวนการผลิต และมาตรการรองรับ เพื่อแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ และการทำ IUU Fishing ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ฯลฯ เป็นต้น

3.    การแก้ไขปัญหาแรงงานบนประมง

-    กำลังดำเนินการแก้ไขปัญหาเรือประมงในอินโดนีเซียตามที่สาธารณรัฐอินโดนีเซียได้ออกกฎกระทรวงกิจการทางทะเลและประมง ฉบับที่ 56/PERMEN-KP/2014 ระงับการออกใบอนุญาตประมงต่างๆ เป็นการชั่วคราว ซึ่งมีผลถึงวันที่

30 เมษายน 2558 รวมทั้งได้ออกกฎกระทรวงฯ ฉบับที่ 2/PERMEN-KP/2015 ห้ามใช้เครื่องมืออวนลาก (Trawls)

และอวนล้อม (Seine nets) ทำการประมงในน่านน้ำสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ซึ่งกฎกระทรวงฯ ดังกล่าว ได้ส่งผลกระทบ

ต่อการประกอบธุรกิจประมงร่วมระหว่างผู้ประกอบการประมงไทย

-    สนับสนุนการทำประมงร่วมกับต่างประเทศ ผู้ประกอบการควรเข้าไปร่วมทุน (Joint Venture) กับต่างประเทศ ตลอดจน พิจารณาหาแหล่งประมงในประเทศเป้าหมายอื่น ๆ ที่มีศักยภาพ เป็นต้น

-    หอการค้าไทยร่วมเป็นศูนย์กลางในการทำงานร่วมกับรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาแรงงานประมงอย่างยั่งยืน

4.    ขับเคลื่อนให้ประเทศไทยแก้ไขปัญหาแรงงานทั้งระบบ

โดยการร่วมมือกับภาครัฐ (8 กระทรวง) ได้แก่ กระทรวงแรงงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมุ่งเน้นให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากการประเมินการดำเนินการด้านแรงงานของไทยโดยลดระดับ TIPs Report จาก Tier3 , IUU Fishing และ List of Goods Produced by Child Labor or Forced Labor ดังนี้

-    เข้าร่วมงาน SIAL the Global Food Marketplace, and meet food professionals 2014 ณ ประเทศฝรั่งเศส

เพื่อสร้างความเชื่อมั่นสินค้าไทย ในสหภาพยุโรป

-    เข้าร่วมงาน Seafood Expo North America 2015  ณ กรุงบอสตัน สหรัฐฯ ระหว่างวันที่ 13 – 18 มีนาคม 2558

โดย Team Thailand ได้เตรียมการในการเปิดสัมมนาเพื่อชี้แจงปัญหาแรงงานในประเทศไทย และประชาสัมพันธ์การแก้ไขปัญหาของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว แรงงานเด็ก และการค้ามนุษย์

-    เข้าร่วมงาน Seafood Expo Global & Seafood Processing Global 2015 ระหว่างวันที่ 21 – 23 เมษายน 2558

 ณ กรุงบัสเซลล์ ประเทศเบลเยี่ยม เพื่อทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการภาคเอกชนในต่างประเทศ ถึงขอกล่าวหาการใช้แรงงานผิดกฎหมายในประเทศไทย

ทั้งนี้ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้ให้ความสำคัญในการดำเนินการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว แรงงานเด็ก การค้ามนุษย์ และแรงงานบนเรือประมงอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้ง ได้เผยแพร่มาตรการและกิจกรรมต่างๆ ของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งการแก้ไขปัญหาแรงงานนั้น ผู้ประกอบการเอกชนทุกภาคส่วนจะต้องให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามนโยบาย และกฎหมายที่รัฐบาลกำหนด และให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาแรงงานร่วมกัน

หากผู้ประกอบการติดขัดปัญหาแรงงาน ก็สามารถแจ้งมายังหอการค้าไทย ซึ่งพร้อมที่จะรับฟังเพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานร่วมกันต่อไป

“ด้วยความตั้งใจของ นายกฯ  รัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ และข้าราชการกระทรวง ทบวง กรม ที่เกี่ยวข้อง เป็นความมือและตั้งใจจริงอย่างที่ไม่เคยปรากฏในอดีต ซึ่งจะพาทางออกของการแก้ไขปัญหาในประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน การแก้ไขปัญหาแรงงาน” นายภูมินทร์ กล่าว

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2558

“ประสาร” แนะ 3โอกาสก้าวข้ามพัฒนาการเศรษฐกิจไทย

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงประเด็นเรื่องของความท้าทยของนโยบายการเงินกับการก้าวข้ามพัฒนาการเศรษฐกิจไทย โดยระบุว่า หากมองย้อนกลับไปตั้งแต่วิกฤตการเงินโลกปี 51เป็นต้นมา เศรษฐกิจไทยเผชิญกับปัญหาทั้งจาก ภายนอกและภายในประเทศ ที่ฉุดรั้งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เราจึงไม่สามารถเดินหน้าได้เต็มกําลังนัก อย่างไรก็ตาม ถือเป็นโชคดีที่ประเทศไม่สะดุดล้ม โดยที่เป็นเช่นนั้นได้ เพราะ ผู้ประกอบการไทยเก่ง อย่างไรก็ดี ปี58นี้ เป็นปีที่ไทยได้พบกับโอกาสและความท้าทายใหม่ๆ ที่เป็นความหวังให้ไทยเดินหน้า และก้าวข้ามอุปสรรคที่เผชิญอยู่ได้ สำหรับสภาพปัจจุบันของเศรษฐกิจไทยนั้น หน้าที่และการดําเนินนโยบายการเงินของ ธปท. การก้าวข้ามพัฒนาการเศรษฐกิจ และบทบาทของผู้ประกอบการในภาคเหนือ ซึ่งปัญหาเศรษฐกิจไทยกับศักยภาพในการดําเนินนโยบายการเงินนั้น ที่ผ่านมาถือเป็นปีที่ยากลําบากสําหรับเศรษฐกิจไทยปีหนึ่ง โดยตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพี (GDP) ที่แท้จริง ที่สภาพัฒน์ได้ประกาศไปในเดือนที่ผ่านมา ชี้ว่าเศรษฐกิจเติบโตเพียง 0.7%เมื่อเทียบกับปีก่อน เรียกได้ว่าแทบจะไม่เติบโตเลย เนื่องจากไทยได้รับผลกระทบจากปัญหาที่เข้ามารุมเร้าทั้งจากปัจจัยภายใน และ ภายนอกประเทศ ทําให้เศรษฐกิจไทยมีสภาพเหมือน คนป่วย ที่มีอาการซ้ำซ้อนในหลายด้าน ทั้งการบริโภค การลงทุนและการส่งออกที่อ่อนแรง

ขณะเดียวกัน การใช้จ่ายภาครัฐที่ถูกคาดหวังให้เป็นพระเอกในช่วงหลังจากมี รัฐบาลใหม่ ยังไม่สามารถช่วยพยุงเศรษฐกิจให้กลับมาเป็นปกติได้ สาเหตุหนึ่งอาจมาจากรัฐบาลเองมีบทบาทต่อ ประเทศหลายด้านพร้อมกัน ทั้งการปฏิรูปประเทศและการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยกระบวนการปฏิรูปฯ ส่วนหนึ่งไป ชะลอความรวดเร็วในการใช้จ่ายภาครัฐ

“หากพวกเรามาลองสวมบทบาทเป็นผู้วินิจฉัยอาการที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยให้ละเอียดแล้ว เราจะ พบว่าเศรษฐกิจไทยปวยจากการเผชิญกับโรค 3ชนิด โรคแรก คือ ไขหวัดใหญ่ จากเศรษฐกิจไทยที่ติดโรคมาจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวอย่างช้าๆ แถมบาง ประเทศกลับเริ่มแสดงความเปราะบาง ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกามีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ทําให้ความจําเป็น ในการผ่อนคลายนโยบายการเงินลดลง แต่การฟื้นตัวถือว่ายังไม่แน่นอนและเปราะบางอยู่ กลุ่มประเทศยูโร และญี่ปุ่นยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวชัดเจน และจําเป็นต้องได้รับการผ่อนคลายนโยบายการเงิน การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และทิศทางนโยบายการเงินของแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน และมีความไม่แน่นอนสูงนี้ ส่งผลให้ความต้องการสินค้าไทยมีไม่มาก และตลาดเงินโลกผันผวน ซึ่งไทยย่อมได้รับผลกระทบอย่างปฏิเสธไม่ได อีกทั้งจีน พี่ใหญ่ของภูมิภาคกลับมีการขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้มาก”

นอกจากนี้ ไทยยังสูญเสียสิทธิทางศุลกากร (GSP) กับประเทศคู่ค้า หลักตั้งแต่ต้นปี 58ทําให้คู่แข่งที่ยังคงได้ GSP อย่างกลุ่ม CLMV ย่อมได้เปรียบมากกว่าโดยเฉพาะสินค้าที่ใช้แรงงานเป็นปัจจัยการผลิตหลัก ดังนั้น ความหวังที่จะดันให้การส่งออกของไทยก้าวขึ้นมาเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก ให้เศรษฐกิจอาจมีไม่มากนัก โดยโรคที่สอง คือ โรคข้อเข่าเสื่อม จนทําให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าไปด้วยความลําบาก หรือแทบไม่สามารถ เดินหน้าต่อไปได้จากปัญหาเชิงโครงสร้างของไทย ซึ่งได้แก่ การขาดแคลนการลงทุนหรือพัฒนาเทคโนโลยีให้ ทัดเทียมกับประเทศอื่นๆ อาทิ มาเลเซีย เกาหลี ขณะเดียวกัน แรงงานก็มีไม่เพียงพอต่อการขยายตัวของอุตสาหกรรมทั้งในแง่จํานวนและคุณภาพ ซึ่งไทยจําเป็นต้องพึ่งพาแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้นในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น และไม่มีแรงงานทักษะเพียงพอสําหรับการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงได้ ปัจจัย เหล่านี้ทําให้ความสามารถในการแข่งขันในการส่งออกต่างประเทศ ซึ่งเป็นข้อเข่าที่พยุงเศรษฐกิจได้มานาน ได้เสื่อมสมรรถภาพลงจนกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง และทําให้ไทยติดกับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap)

“โรคสุดท้าย คือ โรคขาดความมั่นใจ ที่ซ้ำเติมทําให้โรคข้อเข่าเสื่อมไม่ได้รับการรักษาอย่างจริงจัง เพราะ ผู้ประกอบการไม่มั่นใจว่า เปลี่ยนเข่าแล้วจะเดินได้เหมือนเดิม หรือจะยิ่งทําให้อาการแย่ลง อีกทั้งวิธีการรักษาจะถูกกับโรคหรือเปล่า และหมอหรือภาครัฐที่ดูแลเราจะตั้งใจรักษาเราแค่ไหน เศรษฐกิจไทยจึงเหมือนคนไข้ที่มุ่งพยุงสังขารตัวเองไปเรื่อยๆ จึงไม่แปลกที่จะเห็นการบริโภคและลงทุนของภาคเอกชนอ่อนแรงลงอย่างชัดเจน ภายใต้โรคที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยทั้ง 3ชนิดนี้ บทบาทที่ ธปท. สามารถเข้ามาช่วยรักษาได้ คือการใช้ เครื่องมือนโยบายการเงิน ซึ่งเปรียบเสมือนการจ่ายยารักษาโรคสู่ระบบเศรษฐกิจ เช่น การกําหนดอัตรา ดอกเบี้ยนโยบายที่สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ดูแลความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และควบคุมเงินทุน ไหลเข้าไหลออก ซึ่งช่วยดูแลเสถียรภาพด้านราคาและเสถียรภาพทางการเงินให้เกิดบรรยากาศทางเศรษฐกิจที่เหมาะสม และเอื้อต่อการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน แต่เป็นการให้ยาเพื่อบรรเทาอาการของโรคทั้ง 3นี้ และสามารถช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีให้กับเศรษฐกิจ และเรียกความเชื่อมั่นกลับมาได้บางส่วนเท่านั้น

นายประสาร กล่าวต่อไปอีกว่า การจะรักษาที่ต้นเหตุของโรคนั้น จําเป็นต้องอาศัยบทบาทภาครัฐในการแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจังเพื่อเรียกความเชื่อมั่นในส่วนที่เหลือกลับมา ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยมีกําลังใจในการปรับตัวเพื่อพยายามรักษาข้อเข่าเสื่อมด้วยตัวเองอีกแรงหนึ่ง ซึ่งในเรื่องนี้ รัฐบาลปัจจุบันแสดงความตั้งใจที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน จึงเป็นนิมิตหมายอันดีต่อเศรษฐกิจไทย

“เชื่อว่าไม่มีปัญหาไหนจะอยู่กับเราถาวร เมื่อวันหนึ่งปัญหาคลี่คลายก็เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถกลับมาฟื้นตัวได้ในที่สุด ที่สําคัญการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง หรือที่เปรียบเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมนี้ แม้ ธปท. จะไม่มีตัวยาที่สามารถเข้าไปรักษา และกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจด้านอุปทาน (Supply Side) ในการลงทุนเทคโนโลยี และปรับปรุงคุณภาพแรงงานได้โดยตรง แต่ก็ถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งที่ ธปท. จะต้องพยายามดําเนินนโยบายการเงิน เพื่อบรรเทาเศรษฐกิจให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสมต่อการฟื้นตัวมากที่สุด ขณะเดียวกันก็ต้องเอื้อให้ภาครัฐเข้ามาเป็นผู้รักษาได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้เวลายังเป็นปัจจัยที่บีบคั้นให้ไทยต้องรีบรับการรักษาให้ทันก่อนที่จะสายเกินไป เพราะจากโครงสร้างประชากรของไทยในปัจจุบัน คาดว่าในอีกไม่เกิน 10ปี ไทยจะก้าวเข้าสู่สังคม ผู้สูงอายุ (Aging Society) อย่างสมบูรณ์ และจะทําให้ประเทศขาดแคลนทรัพยากรแรงงานมากขึ้น การรักษาอาการป่วยไข้ทางเศรษฐกิจก็จะยากลําบากขึ้นกว่าเดิม อีกทั้งเศรษฐกิจไทยช่วงหลังก็มีอัตราการเติบโตที่ชะลอลงมาก ดังนั้น หากเราไม่รีบรักษาโรคที่เป็นอุปสรรคในการเดินหน้าเศรษฐกิจในตอนนี้ ประเทศอื่นๆ ที่เคยวิ่งตามหลังเรา แต่ปัจจุบันมีอัตราการเติบโตที่สูงกว่า ก็อาจแซงหน้าเราไปได้ในที่สุด

สำหรับโอกาสการก้าวข้ามพัฒนาการเศรษฐกิจไทยนั้น ปัญหาเชิงโครงสร้างการผลิตไทยไม่สามารถแก้ไขได้ในระยะเวลาอันสั้น และไม่ใช่เป็นความรับผิดชอบของเฉพาะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ถือเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องได้รับความสนใจและร่วมมือจากทั้งภาครัฐ และเอกชน และทุกฝ่ายที่เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจจะต้องรับบทบาทที่แตกต่างกันเพื่อให้เราก้าวเดิน ต่อไปได้ โดยภาครัฐมีบทบาทในการเข้าไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี และพัฒนาแรงงานรวมถึง การศึกษาที่จะเป็นทุนติดตัวให้ภาคเอกชนทํางานได้ง่ายขึ้น อีกทั้งใช้นโยบายการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเหมาะสม

นายประสาร กล่าวต่อไปอีกว่า ธปท. มีบทบาทผ่านการใช้นโยบายการเงินในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจให้ดําเนินไปอย่างราบรื่น ในขณะที่ภาคเอกชนเป็นผู้ตัดสินใจว่า จะต้องลงทุนและปรับปรุงจุดไหนจึงจะทําให้กิจการรุ่งเรืองอย่างยั่งยืนต่อไป นอกจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนแล้ว ไทยยังได้รับโอกาสใหม่ๆ ที่สามารถเข้ามาช่วย ยกระดับเศรษฐกิจไทยในการพัฒนาผลิตภาพและความสามารถในการแข่งขันทั้ง 3ด้าน ได้แก่ โอกาสด้านแรก คือการเชื่อมโยงการค้าและการลงทุนในภูมิภาค เนื่องจากไทยมีทําเลทางภูมิศาสตร์ที่สําคัญ ทําให้ไทยสามารถเชื่อมโยงกับฐานตลาด ทรัพยากร และการลงทุนที่ใหญ่ขึ้นในระดับภูมิภาค โดยกลุ่ม ประเทศ CLMV เป็นกลุ่มประเทศที่มีการค้ากับไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนมีแนวโน้มเป็นความหวังใหม่สําหรับการส่งออกของไทย ประกอบกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (AEC) ณ ปลายปี 58นี้ จะลดข้อจํากัดทางการค้า และเพิ่มอํานาจต่อรองทางเศรษฐกิจ ทําให้ประเทศในอาเซียนมีความน่าสนใจในการทําการค้าและการ ลงทุนมากขึ้น

นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ให้ความสําคัญกับการค้า และการลงทุนที่จะช่วยเชื่อมโยงไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ด้วยการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดนที่สําคัญ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้การค้าบริเวณชายแดน ที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นมากในแต่ละปี สามารถเคลื่อนย้ายสินค้าและทุนผ่านประตูการค้าชายแดนไปสู่ประเทศอื่นๆ ได้สะดวกมากขึ้น รวมถึงมีโอกาสเพิ่มศักยภาพของอุตสาหกรรมในการสร้างเครือข่ายการผลิต (Production Network) ที่จะช่วยให้ภาคเอกชนสามารถเข้าถึงทรัพยากร เพื่อลดต้นทุนการผลิตสินค้าได้อีกด้วย

โอกาสด้านที่สอง คือการปฏิรูปเศรษฐกิจซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับการผลักดันจากภาครัฐอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง เพื่อยกเครื่องให้เศรษฐกิจมีทิศทางในการพัฒนาที่ชัดเจน และมีโครงสร้างที่สอดรับกันมากขึ้น อย่างไรก็ดี ต้องไม่ลืมว่าการปฏิรูปเป็นกระบวนการ ซึ่งต้องอาศัยเวลาและความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เนื่องจากการ ปฏิรูปเศรษฐกิจนี้ เปรียบเสมือนการผ่าตัดที่จะรักษาโรคของไทยโดยตรง ทั้งนี้ การผ่าตัดคือกระบวนการที่ต้องเจ็บปวดบ้าง และอาจต้องใช้เวลาในการพักฟื้นระยะหนึ่งก่อนจะกลับมาเดินได้เต็มที่ แต่ก็เพื่อสุขภาพที่ดีของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว โดยการปฏิรูปเศรษฐกิจที่สําคัญ ได้แก่ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ถนนและ รางรถไฟ ซึ่งเป็นช่องทางคมนาคมสําคัญเพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในอนาคต รวมถึงการเตรียมความพร้อมในการเชื่อมโยงการค้าและการลงทุนในภูมิภาค นอกจากนี้ ยังมีแผนการปฏิรูปการดําเนินงานของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งปัจจุบันรัฐวิสาหกิจถือว่ามีความสําคัญต่อเศรษฐกิจไทย เนื่องจากเป็นเจ้าของทรัพยากรรายใหญ่ของประเทศ และให้บริการสาธารณูปโภคพื้นฐานที่สําคัญ เช่น การผลิตไฟฟ้า น้ำประปา หรือการคมนาคม เป็นต้น ดังนั้น การมีแผนจัดตั้งหน่วยงานกํากับดูแลรัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพ และมีความโปร่งใสมากขึ้น จะช่วยพัฒนาการบริหารจัดการ และผลการดําเนินงานของรัฐวิสาหกิจ ให้ภาครัฐไม่ต้องแบกรับผลขาดทุน และสามารถรับรายได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย สําหรับนําไปจัดสรรทรัพยากรอย่างคุ้มค่า นอกจากนี้ หากภาคเอกชนสามารถเข้ามาแข่งขันกับรัฐวิสาหกิจได้อย่างอิสระ จะส่งผลให้ท้ายที่สุดบริการสาธารณูปโภคก็จะมีคุณภาพสูงขึ้น ขณะที่ค่าบริการถูกลง ทําให้ต้นทุนการดําเนินธุรกิจของเอกชนลดลงด้วย และสุดท้ายการปรับเกณฑ์สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุน (BOI) ซึ่งเมื่อต้นปีที่ผ่านมาได้มีการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ของประเทศ จากเดิมที่เคยพิจารณาให้สิทธิประโยชน์ตามเกณฑ์พื้นที่มาสู่การส่งเสริมการลงทุนตามเกณฑ์อุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ซึ่งถือเป็น โอกาสในการพัฒนาผลิตภาพของประเทศในระยะยาว

โอกาสด้านที่สาม คือการพัฒนาภาคการเงิน เป็นแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวของ ธปท. ซึ่งเน้นการ พัฒนาการให้บริการทางการเงิน และระบบชําระเงินให้มีเสถียรภาพ และประสิทธิภาพ เพื่อรองรับการทําธุรกรรมใน ปริมาณมากขึ้น มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลาย และตอบโจทย์ภาคเอกชนได้มากขึ้น และมีความทั่วถึงในการให้บริการทางการเงิน นอกจากนี้ การทําข้อตกลงการทําธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศคู่ค้า เช่น การลงนามข้อตกลงว่าด้วยการแลกเปลี่ยนเงินตราแบบทวิภาคี (Bilateral Swap Agreement) จะส่งเสริมให้ผู้ทําการค้า ระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านสามารถแลกเปลี่ยนเงินตราได้อย่างสะดวก และสามารถลดต้นทุนการทําธุรกิจได้ ดังนั้น การมีระบบบริการทางการเงินที่มีประสิทธิภาพ จะทําให้การดําเนินธุรกิจของเอกชนมีความคล่องตัว และ เป็นตัวเร่งให้ประเทศสามารถก้าวข้ามข้อจํากัดทางเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น

“โอกาสทั้งสามด้านนี้อาจเป็นเพียงแค่ โอกาส ที่เกิดขึ้นในบ้านเรา แต่ถ้าเราไม่มีความพร้อม เราจะฉวย โอกาสนี้ได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยนัก โดยความพร้อมของธุรกิจเกิดจากการปรับปรุงการดําเนินงานเพื่อมุ่งพัฒนาผลิตภาพ (Productivity) และความสามารถในการแข่งขัน ให้ทันกับรูปแบบธุรกิจที่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก ทั้งด้านการค้าระหว่างประเทศที่มีความท้าทาย และมีระดับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจเพื่อนบ้านที่กําลังเติบโต อาทิ ประเทศกลุ่ม CLMV มีความสามารถในการแข่งขันดีกว่าไทยในแง่ความได้เปรียบด้านค่าแรงมากกว่า และยังได้รับสิทธิพิเศษทางศุลกากร (GSP) ในสินค้าส่งออก ฉะนั้น แนวโน้มการผลิตสินค้าที่ใช้แรงงาน เข้มข้นจะย้ายไปอยู่ในประเทศเหล่านี้มากขึ้น ซึ่งระดับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นนี้กดดันให้การแข่งขันด้านราคา ซึ่งเป็น กลยุทธ์เดิมของไทยในการผลิตสินค้าปริมาณมากๆ ไม่สามารถทําได้อีกต่อไป ดังนั้นภาคเอกชนจะต้องเน้นการแข่งขันด้วยคุณภาพของสินค้ามากขึ้น เช่น การใช้นวัตกรรมประยุกต์ใช้เทคโนโลยีกับสินค้า หรือการออกแบบบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น และจากแนวโน้มโครงสร้างประชากรที่จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) จะทําให้อุตสาหกรรมไม่สามารถพึ่งพาแรงงานเป็นหลักได้อีก ภาคเอกชนจําเป็นต้องฝึกฝนทักษะแรงงานที่มีอยู่ให้สามารถรองรับการผลิตสินค้าที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต

นายประสาร กล่าวอีกว่า ปัจจัยสู่ความสําเร็จของการพัฒนาเศรษฐกิจในบริบทของภาคเหนือนั้น หากเราเปรียบเทียบประเทศไทยทั้งประเทศเป็นร่างกายคน แล้วภูมิภาคต่างๆ ในประเทศคงเปรียบเสมือนแขนขาที่เป็นอวัยวะในการขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าซึ่งสําคัญไม่น้อยกว่าส่วนอื่นๆ ในร่างกาย ดังนั้น คิดว่าความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจภูมิภาค คือองค์ประกอบสําคัญที่ทําให้เราประสบความสําเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างง่ายดาย เมื่อพิจารณาภาคเหนือแม้จะมีขนาดของเศรษฐกิจไม่ใหญ่นัก แต่เป็นภูมิภาคที่มีความแข็งแกร่งในหลายมิติ ได้แก่ โครงสร้างเศรษฐกิจที่กระจายตัวดี ทั้งด้านเกษตร อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว จึงสามารถทนทานต่อความผันผวนจากเหตุการณ์ ปัจจัยภายนอกที่กระทบต่อประเทศได้มาก และทุนทางเศรษฐกิจดี สภาพภูมิประเทศและเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่โดดเด่น รวมถึงแรงงานที่มีคุณภาพ ที่สําคัญคือ การมีโอกาสทางเศรษฐกิจดี จากการมีชายแดนติดประเทศเมียนมาร์ และลาว รวมถึงการเป็นประตูสู่จีนตอนใต้ จึงได้รับโอกาสทั้งด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการค้าชายแดน ในช่วง 10ปีที่ผ่านมา มีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 7เท่า นอกจากนี้ ยังมีนโยบายสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่จากภาครัฐ ให้จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด จังหวัดตาก เพื่อสอดรับกับการเข้าเออีซี ซึ่งจะช่วยดึงดูดการลงทุนจากภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศได้ และสุดท้าย คือการที่ภาครัฐได้เข้ามาจัดเตรียมความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจภาคเหนือเติบโตได้เต็มศักยภาพ ไม่ว่าจะเป็นการขยายเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor) และระเบียง เศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor) รวมถึงขยายถนนในเส้นทาง ตาก-แม่สอด และเตรียม ผลักดันสร้างสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาร์ แห่งที่ 2โดยจะทําให้การขนส่งสินค้าสู่พื้นที่เศรษฐกิจในเมียนมาร์ มี ความสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น

นายประสาร กล่าวอีกว่า การพัฒนาภาคการเงินของไทยจะทําให้ภาคเหนือได้ประโยชน์มากเมื่อเทียบกับภาคอื่น เนื่องจากบทบาทการค้าและการลงทุนของภาคเหนือกับจีนที่เร่งตัวขึ้น การที่ ธปท. ได้ทําข้อตกลงทวิภาคีว่าด้วย การแลกเปลี่ยนเงินตราสกุลหยวนและบาท (Chinese Yuan / Thai Baht Bilateral Swap Arrangements) กับ จีน และยังได้ผลักดันให้มีการจัดทําความเข้าใจว่าด้วยการแต่งตั้งธนาคารชําระดุลเงินหยวนในประเทศไทย (RMB Clearing Bank) เพื่อเป็นกลไกรองรับสภาพคล่อง และสร้างความมั่นใจให้แก่ภาคเอกชนในการใช้เงินสกุลหยวน และบาทในการค้าการลงทุนระหว่างกันเป็นการช่วยลดต้นทุน และเอื้อต่อการทําการค้าระหว่างนักธุรกิจภาคเหนือ และนักธุรกิจจีนได้มากขึ้น จากลักษณะพิเศษของเศรษฐกิจ และความพร้อมในด้านโอกาส จึงมั่นใจว่าภาคเหนือมีศักยภาพเป็น แขนขาหนึ่งที่แข็งแรงพอที่จะช่วยให้เศรษฐกิจก้าวต่อไปได้ แต่จะก้าวไปได้เร็วเพียงใดขึ้นกับว่ามีการเตรียมพร้อมเพียงใดที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มในสินค้า ผ่านการตีโจทย์ของแต่ละอุตสาหกรรมให้แตก ทั้งในเรื่องการตลาด รสนิยม และความต้องการของผู้บริโภคในอนาคต นี่คือหัวข้อวิจัยที่สําคัญที่สุด ที่ต้องอาศัยประสบการณ์ของทุกคน ควบคู่กับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการขนส่ง ผ่านการปรับปรุงเทคโนโลยี และนําระบบ Logistic ที่ทันสมัยมาใช้ รวมถึงสิ่งที่ภาครัฐพยายามผลักดันเพื่อลดต้นทุนด้านธุรกรรม และเพิ่ม โอกาสทางธุรกิจ คือ การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการประยุกต์ใช้ “Digital Technology” หรือ “Application” ต่างๆ ในกิจการให้มากขึ้น เพราะโลกทุกวันนี้ขับเคลื่อนด้วย Smart Phone และมีแต่จะพึ่งพิงเทคโนโลยีนี้มากขึ้น เป็นลําดับ

“เราคงปฏิเสธข้อเท็จจริงนี้ไม่ได้ ที่ผ่านมา ธปท. ได้จัดโครงการแลกเปลี่ยนข้อมูลเศรษฐกิจ และธุรกิจกับผู้ประกอบการในภาคเหนือ ทําให้ เราได้เห็นศักยภาพและการเตรียมพร้อมของผู้ประกอบการของภาคเหนือในการพัฒนาธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการเน้น การออกแบบสินค้ารูปแบบใหม่ๆ การประยุกต์ใช้ความคิดสร้างสรรค์ และการปรับกระบวนการผลิตให้สอดรับกับค่าแรงที่เพิ่มขึ้น ขอยกตัวอย่างบางอุตสาหกรรมที่มีบทบาทสําคัญและมีศักยภาพสูงในเศรษฐกิจภาคเหนือ เช่น อุตสาหกรรมอาหาร ภาคเหนือมีวัตถุดิบเกษตรที่มีคุณภาพสูง และมีปริมาณมากสําหรับผลิตอาหาร แปรรูปที่มีความหลากหลายและเป็นที่ต้องการของตลาด ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ ข้าวโพดหวาน ผักผลไม้อบแห้ง ถั่วแระญี่ปุน ซอสปรุงรส และผลิตภัณฑ์ปรุงรส แต่หากเราผลิตสินค้าอาหารแปรรูปโดยใช้ เทคโนโลยีทันสมัยเข้ามาดูแล ตั้งแต่การเพาะปลูกพืชวัตถุดิบ โดยใช้เทคโนโลยีที่เชื่อมโยงกับดาวเทียมเพื่อกําหนดพื้นที่เพาะปลูกที่เหมาะสม ซึ่งจะทําให้ได้ผลผลิตต่อไร่สูง และคุณภาพดี มีกระบวนการ Logistic ที่ทันสมัยในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเป็นวัตถุดิบต้นน้ำเข้าสู่โรงงานจนผลิตเป็นอาหารสําเร็จรูปปลายน้ำออกสู่ ตลาด มี Packaging ที่ทําให้สินค้าดูทันสมัย สะดวกต่อการพกพาของผู้บริโภค โดยอาหารแปรรูปนั้นยังคงความอร่อย มีคุณค่าทางโภชนาการอาหารอยู่ครบ แม้จะเก็บไว้นาน กระบวนการผลิตที่กล่าวมานี้ แม้จะลงทุนสูงอยู่บ้างในครั้งแรกเริ่ม แต่เมื่อผลิตเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคจํานวนมากได้แล้ว การกําหนดราคาขาย สินค้านั้นให้สูง ยังดูเหมาะสมและคุ้มค่าในสายตาของผู้บริโภค ซึ่งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าได้เป็นอย่างดี โดยมีการดําเนินงานพื้นที่เศรษฐกิจนวัตกรรมอาหารภาคเหนือ (Northern Food Valley) เพื่อประยุกต์ใช้ นวัตกรรมเพิ่มมูลค่าและคุณภาพให้กับอาหารมากขึ้น”

นายประสาร กล่าวอีกว่า อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของภาคเหนือมีจุดเด่นในเรื่องแรงงานที่มีทักษะ มีความ ละเอียดอ่อน และมีขีดความสามารถสูงในการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ จนเป็นที่ยอมรับของบริษัทข้ามชาติที่ เข้ามาลงทุนผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในนิคมอุตสาหกรรมลําพูน ขณะเดียวกัน โดยสภาพภูมิอากาศของ ภาคเหนือที่เหมาะกับอุตสาหกรรมนี้ คือความชื้นไม่สูง และไม่มีความเค็ม ต่างจากสภาพภูมิอากาศในแถบนิคมอุตสาหกรรมของ Eastern Seaboard หากได้มีการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานเพิ่มขึ้น รวมทั้งใช้เทคโนโลยี Know- how ในระดับที่สูงขึ้น จะทําให้อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของภาคเหนือสามารถยกระดับไปสู่การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ชนิดใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงได้ไม่ยาก ซึ่งเป็นการก้าวข้ามการผลิตชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์แบบเดิมๆ

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2558

กรมพัฒนาธุรกิจการค้ายกระดับโลจิสติกส์ไทย

กรมพัฒน์ฯ เดินหน้ายกระดับคุณภาพการบริหารจัดการธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ของไทย

นางสาวผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวถึงการเร่งยกระดับคุณภาพการบริหารจัดการธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ของไทยเข้าสู่เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพ และมาตรฐาน ISO ว่า กรมพัฒน์ฯ เน้นให้มีระบบการบริหารจัดการที่ดีมีคุณภาพได้มาตรฐานสากล พร้อมผลักดันและเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ไทยอย่างยั่งยืน ให้พร้อมแข่งขันในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนปลายปี 2558 ได้อย่างมีประสิทธิภาพได้มาตรฐานเทียบเท่าระดับสากล พร้อมพัฒนาศักยภาพของธุรกิจให้มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน เพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิมและเพิ่มลูกค้าใหม่รวมทั้งมีแผนประสานแหล่งเงินกู้จากสถาบันการเงินแก่ธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพ และมาตรฐาน ISO จากกรมฯ ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญเชิงนโยบายการพัฒนาโลจิสติกส์ของไทยให้เป็นวาระสำคัญของชาติ โดยได้กำหนดเป้าหมายด้านโลจิสติกส์ ได้แก่ ลดสัดส่วนต้นทุนโลจิสติกส์ต่อ GDP ให้ต่ำกว่าร้อยละ 15 เพิ่มสัดส่วนการขนส่งทางรางเป็นร้อยละ 5 ลดต้นทุนการประกอบธุรกิจภายในประเทศและระหว่างประเทศในภูมิภาคให้เข้าสู่มาตรฐานสากล เพิ่มมูลค่าการค้าชายแดนและการลงทุนของไทยในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านให้เพิ่มขึ้น ร้อยละ 15 และ 30

จาก http://www.innnews.co.th   วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2558

ซูมิโตโม’ ยันถือหุ้น KTIS เหนียวแน่น-ไม่ขายแน่

KTIS แจงเหตุรายงาน ก.ล.ต.ของ “ซูมิโตโม” เป็นเพียงการแจ้งพ้นจากนิยามบุคคลตามมาตรา 258ของ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ แต่จำนวนหุ้น KTIS ผ่าน 3SH ไม่ได้ลด ตัวแทนซูมิโตโมยืนยันลงทุนระยะยาวเพื่อร่วมผลักดัน KTIS เติบโตอย่างมั่นคง มั่นใจมีศักยภาพสูงทั้งในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ด้านบอร์ด KTIS โชว์ความโปร่งใส เตรียมเสนอผู้ถือหุ้นอนุมัติการเพิ่มทุนจดทะเบียนอีก 10หุ้น จัดสรรให้กับ 3SH เพื่อให้สัดส่วนการถือหุ้นครบ 25%ตามที่แจ้งไว้ในหนังสือชี้ชวนก่อนเข้าตลาดหุ้น พร้อมขอยกเว้นไม่ต้องทำเทนเดอร์ ออฟเฟอร์ นายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายธุรกิจชีวพลังงานและผลิตภัณฑ์ บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้รายงานการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งหลักทรัพย์ของกิจการ (แบบ 246-2) เมื่อวันที่ 9มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการรายงานของซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น เกี่ยวกับหุ้น KTIS นั้น ขอเรียนว่า การรายงานดังกล่าวไม่ใช่รายงานการขายหุ้น KTIS ของซูมิโตโมฯ เป็นเพียงการรายงานว่าซูมิโตโมฯ ได้พ้นจากการเป็นบุคคลตามมาตรา 258ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พ.ศ.2535แต่ปัจจุบันซูมิโมโตฯ ยังคงถือหุ้น KTIS ผ่าน 3SH ในจำนวนเท่าเดิม ไม่ได้มีการขายออกแต่อย่างใด

“ที่ผ่านมา กลุ่มซูมิโตโมลงทุนใน KTIS ผ่าน 3SH ซึ่งเป็นกิจการที่มีผู้ลงทุนร่วมกัน 3ฝ่าย ประกอบด้วย บริษัท หทัยจรูญเอกโฮลดิ้ง จำกัด ซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น และ นิสชิน ชูการ์ แต่ในระหว่างการปรับโครงสร้างการถือหุ้นของ 3SH ซูมิโตโมมีการถือหุ้นในสัดส่วนเกิน 30%ซึ่งเข้าข่ายเป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องกับผู้ถือหุ้นใหญ่ตามมาตรา 258ซึ่งต่อมา มีการปรับโครงสร้าง 3SH ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงที่ทำไว้ก่อนเข้าตลาดหุ้น โดยบริษัทหทัยจรูญฯ มีการเพิ่มทุน ทำให้สัดส่วนของซูมิโตโมลดลงต่ำกว่า 30%ทำให้หมายถึงไม่เข้าข่ายเป็นบุคคลตามมาตรา 258อีกต่อไป การรายงานข้อมูลต่อสำนักงาน ก.ล.ต. จึงเป็นการชี้แจงประเด็นนี้ โดยที่ซูมิโตโมไม่ได้ขายหุ้น KTIS แต่อย่างใด”

 นายชุนซึเกะ ซีจิยามะ ตัวแทนของกลุ่มซูมิโตโมฯ ที่เข้ามาเป็นหนึ่งในคณะกรรมการของ KTIS กล่าวว่า ตามสัญญาร่วมลงทุนในบริษัท 3เอส โฮลดิ้ง จำกัด (3SH) ของซูมิโตโมฯ นิสชิน ชูการ์ และนางหทัย ศิริวิริยะกุล ได้ระบุไว้ในหนังสือชี้ชวนการเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไปว่า สัดส่วนการถือหุ้น KTIS ของ 3SH จะอยู่ที่ 25%ซึ่งทางซูมิโตโมฯ ยืนยันว่าการลงทุนใน KTIS ผ่าน 3SH เป็นการลงทุนในลักษณะของพันธมิตรทางกลยุทธ์ธุรกิจ (Strategic Partner) จึงเป็นการลงทุนระยะยาว เพราะกลุ่มซูมิโตโมมั่นใจในศักยภาพของ KTIS ว่าจะสามารถขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตได้อีกมาก เพราะเป็นบริษัทที่มีความสัมพันธ์ที่ดีเยี่ยมกับชาวไร่อ้อย มีความมั่นคงทางวัตถุดิบ และควบคุมต้นทุนการผลิตได้ดี เมื่อมารวมกับจุดแข็งของกลุ่มซูมิโตโมฯ ซึ่งมีความชำนาญด้านการตลาดและเครือข่ายลูกค้าชั้นนำทั่วโลก และจุดแข็งของนิสชิน ซึ่งเป็นผู้นำด้านการผลิตน้ำตาลคุณภาพสูงของประเทศญี่ปุ่น จะส่งเสริมให้ KTIS ก้าวสู่ความเป็นบริษัทชั้นนำระดับโลกได้

นายณัฎฐปัญญ์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน 3SH ถือหุ้น KTIS อยู่ 24.99%ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามที่ได้แจ้งในหนังสือชี้ชวนว่า สัดส่วนการถือหุ้นของ 3SH จะอยู่ที่ 25%คณะกรรมการบริษัทฯ จึงได้มีมติให้บริษัทฯ เพิ่มทุนจดทะเบียนจำนวน 10หุ้น คิดเป็น 0.00%ของทุนจดทะเบียน เพื่อจัดสรรให้กับ 3SH ซึ่งจะทำให้สัดส่วนการถือหุ้นเพิ่มเป็น 25%ซึ่งจะเข้าข่ายจะต้องจัดทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ (เทนเดอร์ ออฟเฟอร์) เพื่อรับซื้อคืนหุ้นจากผู้ถือหุ้นรายย่อย แต่วัตถุประสงค์ของการเข้าถือหุ้น 25%ครั้งนี้ 3SH แจ้งว่าไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อครอบงำกิจการ เป็นเพียงการปรับโครงสร้างการถือหุ้นเท่านั้น จึงได้ยื่นขอยกเว้นการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์คืนจากนักลงทุนรายย่อย (ไวท์วอช) ซึ่ง KTIS จะดำเนินการขอมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นในการประชุมวันที่ 23เมษายน 2558เพื่อให้การดำเนินการทุกอย่างเป็นไปอย่างโปร่งใส ซึ่งในวาระนี้ 3SH จะไม่มีสิทธิ์ออกเสียง

“การที่ KTIS มีกลุ่มซูมิโตโมฯ มาเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ ส่งผลดีต่อ KTIS หลายประการ นอกเหนือจากการช่วยส่งเสริมการขายและขยายตลาดสินค้าของ KTIS ไปยังตลาดนานาชาติแล้ว ยังช่วยสนับสนุนเทคโนโลยี การค้นคว้าและวิจัยต่างๆ เพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ในอนาคต ซึ่งผู้ถือหุ้น KTIS ก็จะได้ประโยชน์จากการเติบโตของ KTIS ในระยะยาวด้วย” นายณัฎฐปัญญ์ กล่าว

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2558

หมดยุคราคาน้ำมันแพง ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเอทานอลไทย

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ บมจ.ไทยพาณิชย์ ออกบทวิเคราะห์เรื่อง "หมดยุคราคาน้ำมันแพง ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเอทานอลไทย alt •เอทานอลเป็นอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ (Biofuel) ของไทยที่มีการเติบโตค่อนข้างมาก โดยราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงได้สร้างความกังวลต่อแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมเอทานอลไทยซึ่งอีไอซี พบว่า ในช่วงที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงส่งผลดีต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมเอทานอลมากกว่าผลเสีย แต่อย่างไรก็ดี อีไอซี มองว่า นโยบายของภาครัฐจะเป็นปัจจัยชี้ขาดถึงทิศทางของอุตสาหกรรมเอทานอลไทยในระยะต่อไป

•ดังนั้น ผู้ประกอบการควรติดตามนโยบายของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อบริษัท ในขณะเดียวกัน โรงงานน้ำตาลที่ผลิตเอทานอลจากกากน้ำตาล ควรที่จะเร่งเจรจากับชาวไร่อ้อย เพื่อที่จะนำน้ำอ้อยมาผลิตเป็นเอทานอลโดยตรง ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของพลังงานทดแทน

 เอทานอล เป็นอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ ( Biofuel) ของไทยที่มีการเติบโตค่อนข้างมาก สะท้อนได้จากปริมาณการใช้แก๊สโซฮอล์ซึ่งใช้เอทานอลเป็นส่วนผสม ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 12% ในช่วงปี 2009-2014 และสัดส่วนการใช้แก๊สโซฮอล์ต่อการใช้น้ำมันเบนซินรวมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 59% ในปี 2009 เป็น 93% ในปี 2014 (รูปที่ 1)โดยในปัจจุบันไทยมีโรงงานผลิตเอทานอลจำนวน 21 โรง มีกำลังการผลิตรวมกันราววันละ 4.2  ล้านลิตร ซึ่งกำลังการผลิตส่วนใหญ่เป็นการผลิตจากกากน้ำตาลราว 61.9% รองลงมาเป็นการผลิตจากมันสำปะหลังราว 33.4%

 โดยราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง ได้สร้างความกังวลต่อแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมเอทานอลไทยในอนาคต ราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลง ส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันของพลังงานทดแทนอย่างเอทานอลปรับตัวลดลงตามไปด้วย สะท้อนได้จากราคาเอทานอลในปัจจุบันที่อยู่ในระดับที่สูงกว่าเนื้อน้ำมันเบนซินราว 12.6 บาทต่อลิตร จากในช่วงเดือน ม.ค. 2014 ที่แตกต่างกันเพียง 3.2 บาทต่อลิตร  ซึ่งราคาเนื้อน้ำมันเบนซินที่ต่ำกว่าราคาเอทานอล  เป็นผลให้การผลิตน้ำมันเบนซินมีต้นทุนที่ถูกกว่าการผลิตแก๊สโซฮอล์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแก๊สโซฮอล์ที่ผสมเอทานอลในสัดส่วนที่สูง เช่น E85 (เบนซิน 15% เอทานอล 85%) ส่งผลให้ราคาน้ำมันเบนซินสามารถปรับตัวลดลงได้มากกว่าราคาแก๊สโซฮอล์ชนิดต่างๆ ทำให้ส่วนต่างราคาระหว่างน้ำมันเบนซินกับแก๊สโซฮอล์ปรับตัวลดลง  ซึ่งอาจจะส่งผลให้ผู้บริโภคหันไปเติมน้ำมันเบนซินหรืออาจจะหันไปเติมแก๊สโซฮอล์ที่ผสมเอทานอลในสัดส่วนที่ต่ำเพิ่มขึ้น เป็นผลให้ความต้องการใช้เอทานอลปรับตัวลดลง ส่งผลกระทบต่อการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในประเทศ

 อีไอซี พบว่า ในช่วงที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงส่งผลดีต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมเอทานอลมากกว่าผลเสีย แม้ราคาน้ำมันที่ลดลงจะส่งผลให้ส่วนต่างราคาระหว่างแก๊สโซฮอล์กับน้ำมันเบนซิน และส่วนต่างราคาระหว่างแก๊สโซฮอล์ด้วยกันเองปรับตัวแคบลงจริง (รูปที่ 2) แต่ผู้บริโภคกลับไม่ได้ปรับเปลี่ยนไปเติมน้ำมันเบนซินหรือหันไปเติมแก๊สโซฮอล์ที่มีสัดส่วนการผสมเอทานอลในระดับต่ำเพิ่มขึ้นอย่างที่หลายฝ่ายกังวล สะท้อนได้จากสัดส่วนการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 14% ในเดือน ม.ค 2014 เป็น 16% ในเดือน ธ.ค. 2014 ในขณะที่สัดส่วนการใช้น้ำมันเบนซิน 95 ปรับตัวลดลงจาก 7% เป็น 6% ในช่วงเวลาเดียวกัน แต่ในทางตรงกันข้าม ราคาน้ำมันที่ปรับลดลงกลับช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคมีการใช้แก๊สโซฮอล์เพิ่มขึ้น (รูปที่ 3) ส่งผลให้ความต้องการใช้เอทานอลปรับตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยความต้องการใช้เอทานอลที่เพิ่มขึ้นนี้เอง เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาเอทานอลของไทยไม่ปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก (รูปที่ 4)

 อย่างไรก็ดี อีไอซี มองว่า นโยบายของภาครัฐจะเป็นปัจจัยชี้ขาดถึงทิศทางของอุตสาหกรรมเอทานอลไทยในระยะต่อไป สาเหตุสำคัญที่ทำให้ความต้องการใช้เอทานอลยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คือ นโยบายการส่งเสริมพลังงานทดแทนของภาครัฐ โดยในปัจจุบันรัฐบาลได้ทำการบริหารโครงสร้างราคาน้ำมัน เพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคหันมาใช้แก๊สโซฮอล์เพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น รัฐบาลใช้งบประมาณจากกองทุนน้ำมันฯ เพื่ออุดหนุนราคาแก๊สโซฮอล์ E85 จำนวน 8.23 บาทต่อลิตร ในขณะที่เรียกเก็บเงินจากน้ำมันเบนซิน 95 จำนวน 9.15 บาทต่อลิตร ส่งผลให้แก๊สโซฮอล์ E85 มีราคาถูกกว่าเบนซิน 95 (รูป 4) เป็นต้น นอกจากนี้ ในปี 2013 รัฐบาลยังได้ทำการยกเลิกการจำหน่ายน้ำมันเบนซิน 91 เพื่อส่งเสริมการบริโภคแก๊สโซฮอล์ในประเทศ ซึ่งหากภาครัฐยังคงให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นคงทางพลังงานในประเทศ ผ่านการดำเนินนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนดังกล่าวต่อไป อุตสาหกรรมเอทานอลของไทยก็จะยังคงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่หากรัฐบาลยกเลิกการบริหารส่วนต่างราคาเพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคยังคงเติม E85 หรือ E20 ก็จะส่งผลให้ความต้องการบริโภคเอทานอลปรับตัวลดลง ซึ่งจะส่งผลกระทบด้านลบต่อการขยายตัวของอุตสาหกรรมเอทานอลในอนาคต

ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ กรมธุรกิจพลังงาน  

 ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน

 ผู้ประกอบการควรติดตามนโยบายของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อบริษัท การเปลี่ยนแปลงของนโยบายภาครัฐจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมเอทานอลค่อนข้างมาก ดังนั้น ผู้ประกอบการควรที่จะติดตามและประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการหาแนวทางการปรับตัวและวางแผนการดำเนินงานของบริษัทในอนาคต

 ในขณะเดียวกัน โรงงานน้ำตาลที่ผลิตเอทานอลจากกากน้ำตาล ควรที่จะเร่งเจรจากับชาวไร่อ้อย เพื่อที่จะนำน้ำอ้อยมาผลิตเป็นเอทานอลโดยตรง ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของพลังงานทดแทน แม้ว่าการผลิตเอทานอลจากน้ำอ้อยจะมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าการผลิตจากกากน้ำตาลค่อนข้างมากราว 23% แต่ในช่วงที่ผ่านมา ยังไม่มีโรงงานน้ำตาลใดในไทยที่สามารถนำน้ำอ้อยมาผลิตเป็นเอทานอลได้โดยตรง เนื่องจากชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลยังไม่สามารถตกลงเรื่องราคาน้ำอ้อย เพื่อนำมาคำนวณในระบบแบ่งปันผลประโยชน์ได้ ดังนั้นเพื่อเป็นการลดต้นทุนผลผลิตและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของพลังงานทดแทน โรงงานน้ำตาลซึ่งผลิตเอทานอลด้วย ควรที่จะเร่งเจรจากับชาวไร่อ้อย เพื่อที่จะให้สามารถนำน้ำอ้อยมาผลิตเป็นเอทานอลได้

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2558

คลังชี้0.25%ยังปลุกเศรษฐกิจไม่ขึ้น-แค่สกัดปัญหาเงินไหลเข้าส่งสัญญาณดบ.ต้องลดอีก

รมว.คลังยอมรับแบงก์ชาติหั่นดอกเบี้ยนโยบายแค่ 0.25 % ยังไม่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากนัก และไม่ใช่สัญญาณชัดเจนที่บอกว่าดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาลง เพราะเสียงยังก้ำกึ่ง แค่ถูกกดดันจากสังคม และสกัดปัญหาเงินไหลเข้าเท่านั้น ด้านผู้ประกอบการด้านอสังหาฯ เชื่อกำลังซื้ออาจเพื่มขึ้นหลังดอกเบี้ยลดลง คนตัดวินใจซื้อบ้าน เพราะผ่อนชำระลดลง            

นายสมหมาย  ภาษี รมว.คลัง เปิดเผยถึงกรณีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน ( กนง. )ที่ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25 % เหลือ 1.75 % ว่า ยังไม่ถือเป็นการส่งสัญญาณดอกเบี้ยขาลงที่ชัดเจน เนื่องจากเสียงของกรรมการที่ 4 ต่อ 3 ยังไม่มากพอที่จะทำให้นักการเงินการคลัง มั่นใจว่าดอกเบี้ยจะอยู่ในขาลง หากต้องการให้เห็นสัญญาณดอกเบี้ยขาลงต้องได้เสียง 6 ต่อ 1 หรือ 7 ต่อ 0 อย่างเป็นเอกฉันท์

ทั้งนี้จากการที่ กนง.ลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มองว่ายังไม่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยมากนัก เป็นเพราะมีความกดดันจากสังคม และเป็นการป้องกันไม่ให้เงินทุนไหลเข้า จากที่ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) อัดฉีดเงินเข้าสู่เศรษฐกิจด้วยการซื้อพันธบัตร หรือมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) เดือนละ 6 หมื่นล้านยูโร ตั้งแต่เดือนมี.ค.นี้ มากกว่าเหตุผลที่ว่าเศรษฐกิจขยายตัวน้อยกว่าคาด

“ยอมรับที่ผ่านมาเศรษฐกิจค่อนข้างจะฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดไว้ เพราะการส่งออกไม่ดี ซึ่งเป็นส่วน 3 ใน 4 ของจีดีพี ตอนนี้จึงยังคาดการณ์ไม่ถูกว่าเศรษฐกิจปีนี้จะโตได้ถึง 4 % อย่างที่คาดไว้หรือไม่ แต่ในส่วนของนโยบายการคลังก็พยายามเร่งเต็มที่และเตรียมจะออกมาตรการเพิ่มอีก แต่ยังไม่สามารถให้รายละเอียดได้” นายสมหมาย กล่าว

ขณะที่การจัดเก็บภาษีถ้าทำได้มากขึ้น รายได้ก็จะมากขึ้นซึ่งจะสอดคล้องกับรายจ่ายที่มีด้วย โดยมองว่ารายได้จากภาษีของไทยไม่ควรหยุดอยู่ที่ 18% ของจีดีพี แต่ควรเพิ่มเป็น 20-21% หรือที่เหมาะสมคือ 30% ของจีดีพี เพื่อรองรับกับภาพรวมเศรษฐกิจที่คาดว่าจะขยายตัวมากขึ้นในอนาคต

 " ตอนนี้เราพึ่งการส่งออกมากไป พอการส่งออกแย่ ก็ต้องเอาภาคอื่นมาช่วยงัด ซึ่งในส่วนของการบริหารเศรษฐกิจก็พยายามทำ ยอมรับว่าการเบิกจ่ายภาครัฐยังทำได้ไม่มาก แต่กำลังคิดมาตรการช่วยอยู่ แต่ยังไม่ขอพูดตอนนี้ " นายสมหมายกล่าว

ด้านนางสาว เกษรา ธัญลักษณ์ กรรมการบริหาร บริษัท เสนา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ( มหาชน) กล่าวว่า การที่คณะกรรมการนโยบายทางการเงิน (กนง.) ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25 % ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายลดงมาเหลือ  1.75 % นั้น มองว่าจะเป็นปัจจัยบวกส่งเสริมภาคอสังหาริมทรัย์ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยระดับต่ำจะช่วยสร้างความต้องการซื้อที่เพิ่มขึ้น และทำให้ภาระการผ่อนบ้านน้อยลง อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่น่ากังวลมากที่สุด คือ การเติบโตของเศรษฐกิจไทยปีนี้ หากการฟื้นตัวไม่ดีขึ้นจะกระทบต่อภาคอสังหาริมทรัพย์อย่างมาก            

นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจคอนโดมิเนียม บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การที่ กนง.มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง คาดว่าจะส่งผลให้ความต้องการซื้ออสังหาริมทรัพย์ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2 % ทั้งนี้ ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ก.พ.58) ยังเห็นการเติบโตอย่างต่อเนื่องของยอดขาย โดยเฉพาะโครงการคอนโดมิเนียมตามแนวรถไฟฟ้าและมองว่าปีนี้ภาคอสังหาริมทรัพย์จะเติบโต 5 % จากปีก่อนนายอารีศักดิ์ เสถียรภาพอยุทธ์ ประธานจัดงานมหกรรมบ้านและคอนโด กล่าวว่า ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ปีนี้มีแนวโน้มขนายตัวดีขึ้นจากปีก่อนตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าขยายตัวได้ 4 % มีแรงกระตุ้นจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ บวกกับราคาน้ำมันตลาดโลกลดลงมาก ส่งผลให้ต้นทุนการก่อสร้างไม่ปรับสูงขึ้น ประกอบกับได้รับแรงส่งจากที่ กนง.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเหลือ 1.75 % จะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อและเศรษฐกิจไทยได้

นายภากร ปีตธวัชชัย รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กรและการเงิน ตลท.  เปิดเผยว่า ส่วนกรณีคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เชื่อว่าจะส่งผลให้มีเม็ดเงินฝากย้ายเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไม่มากนัก เนื่องจากเป็นการปรับลดลงเพียงเล็กน้อย และปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยของไทยก็อยู่ในระดับต่ำอยู่แล้ว แต่มองว่าจะทำให้นักลงทุนที่ลงทุนในหุ้นแล้ว ถือลงทุนระยะยาวมากขึ้น เพื่อผลตอบแทนที่ดีกว่าเทียบกับการลงทุนระยะสั้น

ด้านนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระบุการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25 % จะส่งส่งผลดีต่อการส่งออกไทย โดยจะส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง ทำให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันได้ สำหรับเป้าหมายการส่งออกปีนี้จะนำไปหารือในการประชุมทูตพาณิชย์ในวันที่ 16 มีนาคมเพื่อประเมินสถานการณ์ล่าสุดจากปัจจัยภายนอกและภายใน ว่าจะปรับเป้าหมายหรือไม่ จากเดิมที่ตั้งไว้ 4 % โดยเฉพาะกรณีสหภาพยุโรป ออกมา

จาก http://www.naewna.com วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2558

เดินหน้าช่วยเกษตรกรรายได้น้อย เกษตรร่วมมือบูรณาการข้อมูลพุ่งเป้ากลุ่มต่ำกว่า3หมื่นต่อปี

นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผย ได้หารือร่วมกับ นางเมธินี เทพมณี ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อหารือนโยบายเกี่ยวกับการบูรณาการฐานข้อมูลภาครัฐและการใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดย กระทรวงเกษตรฯ ได้หยิบยกประเด็นแนวทางการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย ซึ่งพิจารณาจากผลการศึกษาแนวทางการบูรณาการข้อมูลทะเบียนราษฎร ทะเบียนเกษตรกร ทะเบียนคนจน เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ประสบปัญหาความเดือดร้อน

ทั้งนี้ จากการพิจารณาแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย สามารถแบ่งออกเป็น 1) การให้ความช่วยเหลือตามที่ดินที่ถือครอง โดยการใช้ข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และการใช้ข้อมูลจากสำมะโนการเกษตร สำนักงานสถิติเป็นข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณา 2) การให้ความช่วยเหลือตามรายได้ โดยพิจารณาข้อมูลจากความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ที่ได้กำหนดรายได้เฉลี่ยของคนไทยที่ยากจน ว่าเป็นบุคคลที่มีรายได้เฉลี่ยน้อยกว่าคนละ 30,000 บาท/คน/ปี การประมาณการจากราคาผลผลิตทางการเกษตร ที่จัดทำโดยกรมส่งเสริมการเกษตร การใช้ข้อมูลรายได้จากผลผลิตการเกษตรและต้นทุนการผลิต จากข้อมูลสำมะโนการเกษตร สำนักงานสถิติ และรายได้นอกภาคการเกษตร โดยใช้ข้อมูลจากกระทรวงแรงงาน สำนักงานประกันสังคม และ 3.) การให้ความช่วยเหลือตามหนี้สินเกษตรกร ใช้ข้อมูลจาก ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รวมถึงหนี้นอกระบบและหนี้สหกรณ์

นายชวลิต กล่าวต่อไปว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร ได้รวบรวมข้อมูลเกษตรกรที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท มีจำนวนเกษตรกร 2,025,360 ราย รายได้เฉลี่ย 11,002.14 บาท/ครัวเรือน แบ่งเป็น กรมส่งเสริมการเกษตร มีเกษตรกรจำนวน 892,758 ราย รายได้เฉลี่ย 18,184.97 บาท/ครัวเรือน กรมปศุสัตว์ มีจำนวนเกษตรกร 1,777,420 ราย รายได้เฉลี่ย 5,761.55 บาท/ครัวเรือน และกรมประมง มีจำนวนเกษตรกร 392,838 ราย รายได้เฉลี่ย 12,667.22 บาท/ครัวเรือน ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เป็นผู้ประสานงานกับสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (สรอ.) เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลและจัดทำแนวทางในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยต่อไป

จาก http://www.naewna.com วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2558

ไทย-จีนตั้งทีมร่วมมือค้าสินค้าเกษตร พาณิชย์มั่นใจช่วยขยายตลาดส่งออก

ไทย-จีน เซ็นMOU ตกลงซื้อข้าวไทย 2 ล้านตันและยางพารา 2 แสนตัน พร้อมขยายมูลค่าการซื้อขายสินค้าเกษตรเพิ่มเติมระหว่างก่อสร้างรถไฟรางคู่ ด้านพาณิชย์มั่นใจจะทำให้การส่งออกสินค้าไทยไปจีนมากขึ้น

พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับนายหวัง เสี่ยว เทา รองผู้อำนวยการคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน ผู้แทนรัฐบาลจีน ในการกำหนดแผนงานการดำเนินการภายใต้บันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการค้าสินค้าเกษตรระหว่าง ไทย และจีน ซึ่งมีกำหนดหารือระหว่างวันที่ 11-12 มีนาคม 2558 ว่า ที่ประชุมได้ตั้งคณะกรรมการบริหารร่วมโดยมีรมว.พาณิชย์เป็นประธานฝ่ายไทย และมีผู้บริหารระดับสูงจากกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เข้าร่วมกับคณะผู้แทนฝ่ายจีน จำนวน 2 ชุด

ทั้งนี้ เพื่อหารือในรายละเอียดข้อตกลงซื้อขายข้าวจำนวน 2 ล้านตันในช่วงระหว่างปี 2558-2559 และยางพาราจำนวน 2 แสนตัน ในช่วงระยะเวลาของการดำเนินการภายใต้ความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟของไทย รวมถึงการขยายมูลค่าการซื้อขายข้าว และสินค้าเกษตรอื่นๆ ของไทยเพิ่ม ตามที่ได้เซ็น MOU ไปแล้วเมื่อ 19 ธันวาคม 2557 ที่ผ่านมา

“โดยเป็นการประชุมครั้งที่ 1 ซึ่งมีการตั้งคณะทำงานชุดเล็กขึ้นมา เพื่อหารือในรายละเอียด การซื้อขายข้าว และยางพารา ตามที่ได้เซ็น MOU ไปแล้ว เบื้องต้นได้ตกลงกันว่าจะซื้อขายข้าว 2 ล้านตัน เป็นข้าวใหม่ 1 ล้านตัน และข้าวในสต๊อกของรัฐบาล 1 ล้านตัน ตามราคาตลาด ซึ่งผู้แทนรับผิดชอบฝ่ายไทย คือ กรมการค้าต่างประเทศ ส่วนจีนคือ บริษัทคอฟโก รัฐวิสาหกิจของจีน ส่วนยางอีก 2 แสนตัน จะซื้อในราคานำตลาด ซึ่งจะไม่ต่ำกว่าราคาตลาดแน่นอน โดยผู้แทนฝ่ายไทยที่หารือคือ องค์การสวนยาง(อสย.) และบริษัทชิโนเค็ม ของจีน”

โดยในวันที่ 12 มีนาคม 2558 จะมีการเซ็นรับรองผลสรุปการประชุมครั้งที่ 1 ที่กระทรวงคมนาคม ซึ่งฝ่ายไทยตนจะเป็นตัวแทนในการลงนาม และนายหวัง เสี่ยว เทา จะเป็นตัวแทนลงนามของฝ่ายจีน จากนั้นจะมีการทำร่างรายละเอียดต่างๆ เพื่อนำไปประชุมครั้งที่ 2 ในวันที่ 6 พฤษภาคม 2558 ที่ปักกิ่ง ประเทศจีน อีกครั้ง พร้อมกับจะมีการหารือการซื้อขายสินค้าเกษตรอื่นๆ เพิ่มเติม และเซ็นสัญญาตกลงซื้อขายตามข้อตกลง MOU ต่อไป

“เซ็นรับรองผลการประชุมครั้งแรก เราจะไปขอใช้พื้นที่กระทรวงคมนาคม เพราะที่นั่นจะมีการหารือเรื่องรถไฟกันด้วย และการหารือครั้งแรกเป็นการหารือในส่วนกรอบที่ 1 ของ MOU เรื่องการซื้อขายขายข้าว และยางพารา ส่วนในกรอบที่ 2 เรื่องการซื้อสินค้าเกษตรเพิ่มเติมจะหารือรายละเอียดอีกครั้งที่จีน การซื้อขายสินค้าเกษตรเพิ่มเติมจะดำเนินการไปพร้อมๆ กับการก่อสร้างรถไฟทางคู่ขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร คาดว่าจะทำให้การซื้อขายสินค้าเกษตรของไทย และจีนขยายตัวเพิ่มขึ้น”

รมว.พาณิชย์ย้ำว่า MOU ฉบับดังกล่าว เป็น MOU ที่สำคัญยิ่ง แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นข้าวไทย ซึ่งในอดีตไทย

 ส่งออกข้าวไปจีนปีละประมาณ 500,000 ตัน และผลจาก MOU ฉบับนี้เป็นสัญญาณที่ดีต่อการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยไปตลาดจีนเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ จะเร่งรัดให้จีนนำเข้าข้าวตาม MOU กรอบเดิม 1 ล้านตันเช่นกัน ซึ่งจีนได้มีการนำเข้าไปแล้ว 3 แสนตัน แต่จะแยกการเจรจาเป็นคนละส่วน ส่วนการประมูลข้าวสต๊อกรัฐบาลแบบยกคลังรอบ 2 ที่มีการเปิดประมูลข้าว 1 ล้านตัน ไปเมื่อวันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมา ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานอย่างเป็นทางการจากกรมการค้าต่างประเทศ แต่เชื่อว่าจะขายข้าวได้ประมาณ 70-80% หรือ 7-8 แสนตันของข้าวที่เปิดระบายทั้งหมด สัปดาห์หน้าจะเสนอนายกรัฐมนตรีให้มีการเรียกประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว(นบข.) เพื่อขออนุมัติระบายข้าวในส่วนนี้ต่อไป

จาก http://www.naewna.com วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2558

กระทรวงเกษตรฯเร่งหารือจัดทำงบ4สินค้าเกษตร

กระทรวงเกษตรฯหารือแนวทางการจัดทำโครงการและงบประมาณภายใต้ยุทธศาสตร์สินค้าเกษตร  4  สินค้า พร้อมเร่งรัดการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ฯ สู่การปฏิบัติ และให้ความสำคัญกับการพัฒนาตลาดและส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกรรายย่อย 

นายชวลิต  ชูขจร  ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เปิดเผยภายหลังการประชุมการหารือแนวทางการจัดทำโครงการและงบประมาณภายใต้ยุทธศาสตร์สินค้าเกษตร  4  สินค้าว่า  จากมติคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ)  ครั้งที่ 1/2558  เห็นชอบ (ร่าง)ยุทธศาสตร์สินค้าเกษตร  4  สินค้า ได้แก่  ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์  มันสำปะหลัง  ผลิตภัณฑ์ปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม  อ้อยโรงงานและน้ำตาลทราย  โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชน เร่งรัดการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ฯ โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาตลาดและส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกรรายย่อย  การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ฯ สู่การปฏิบัติในระดับท้องถิ่น  และการประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างภาครัฐและเอกชน

 สำหรับแผนการผลิตตามยุทธศาสตร์  4  สินค้า  ได้แก่  1.แผนการผลิตอ้อยโรงงาน  มีเป้าหมายการเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยโรงงาน  6  ล้านไร่  จาก  10.07  ล้านไร่ เป็น  16.07  ล้านไร่ ในปี  2569  การเพิ่มผลผลิตอ้อยโรงงานจาก  103.68  ล้านตัน เป็น  182.04  ล้านตันในปี  2569  และการเพิ่มผลผลิตน้ำตาลจาก  11.29  ล้านตัน เป็น  20.36  ล้านตันในปี  2569

 2. แผนการผลิตปาล์มน้ำมัน  มีเป้าหมายการขยายพื้นที่ปลูกปีละ  2.5  แสนไร่  เพิ่มพื้นที่ปลูกรวม  3  ล้านไร่  จาก  4.5  ล้านไร่  เป็น  7.5 ล้านไร่  และปลูกทดแทนสวนเก่าปีละ  3  หมื่นไร่  รวมปลูกทดแทน  3.6  แสนไร่  การเพิ่มผลผลิตต่อไร่  จาก  2.86  ตัน  เป็น  3.5  ตัน  ภายในปี  2569  และ  อัตราน้ำมันจากร้อยละ  18  เป็นร้อยละ  20  ภายในปี  2569  

 3.แผนการผลิตมันสำปะหลัง  มีเป้าหมายโดยการเพิ่มผลผลิตเฉลี่ยมันสำปะหลังเป็น  5  ตัน/ไร่  ในปี  2562  และ  7  ตัน/ไร่  ในปี  2569  มีการบริหารจัดการพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังในพื้นที่  8.5  ล้านไร่  และ4. แผนการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์  มีเป้าหมายเพิ่มผลผลิตต่อไร่จาก  659  กิโลกรัม เป็น  835  กิโลกรัม  ในปี  2562  และ  1,000  กิโลกรัม  ในปี  2569  การเพิ่มผลผลิตรวมจาก  4.81  ล้านตัน  เป็น  6.18  ล้านตัน  ในปี  2562  และ  7.40  ล้านตัน  ในปี 2569  และการลดพื้นที่ปลูกในเขตป่า  3.26  ล้านไร่  และพื้นที่ไม่เหมาะสม  0.82  ล้านไร่  รวม  4.08  ล้านไร่  โดยให้เพิ่มพื้นที่ปลูกในนาข้าวไม่เหมาะสม  2.08  ล้านไร่  และพื้นที่ปลูกหลังนา  0.35  ล้านไร่  เป็น  2  ล้านไร่

 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ได้ให้คณะอนุกรรมการร่วม  4  สินค้า พิจารณาจัดเตรียมทำโครงการและงบประมาณ  ภายใต้ยุทธศาสตร์สินค้าเกษตร  4  สินค้า  (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์  ปาล์มน้ำมัน  มันสำปะหลัง  และอ้อย)  ให้แล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน และนำเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ  ภายในเดือนพฤษภาคม  ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินการเบื้องต้นในปีงบประมาณ  2558  โดยการอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรเกี่ยวกับระบบน้ำหยดในไร่มันสำปะหลัง  จำนวน  600 ราย  ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์  และการบูรณาการงบประมาณ  เพื่อดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในพื้นที่แปลงใหญ่ เป็นต้น

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2558

SCB EIC วิเคราะห์ หมดยุคราคาน้ำมันแพง ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเอทานอลไทย

เอทานอลเป็นอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ (Biofuel) ของไทยที่มีการเติบโตค่อนข้างมาก โดยราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงได้สร้างความกังวลต่อแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมเอทานอลไทย ซึ่งอีไอซี พบว่า ในช่วงที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงส่งผลดีต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมเอทานอลมากกว่าผลเสีย แต่อย่างไรก็ดี อีไอซี มองว่า นโยบายของภาครัฐจะเป็นปัจจัยชี้ขาดถึงทิศทางของอุตสาหกรรมเอทานอลไทยในระยะต่อไป

ดังนั้น ผู้ประกอบการควรติดตามนโยบายของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อบริษัท ในขณะเดียวกัน โรงงานน้ำตาลที่ผลิตเอทานอลจากกากน้ำตาล ควรที่จะเร่งเจรจากับชาวไร่อ้อย เพื่อที่จะนำน้ำอ้อยมาผลิตเป็นเอทานอลโดยตรง ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของพลังงานทดแทน

เอทานอล เป็นอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ (Biofuel) ของไทยที่มีการเติบโตค่อนข้างมาก สะท้อนได้จากปริมาณการใช้แก๊สโซฮอล์ซึ่งใช้เอทานอลเป็นส่วนผสม ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 12% ในช่วงปี 2009-2014 และสัดส่วนการใช้แก๊สโซฮอล์ต่อการใช้น้ำมันเบนซินรวมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 59% ในปี 2009 เป็น 93% ในปี 2014 โดยในปัจจุบันไทยมีโรงงานผลิตเอทานอลจำนวน 21 โรง มีกำลังการผลิตรวมกันราววันละ 4.2  ล้านลิตร ซึ่งกำลังการผลิตส่วนใหญ่เป็นการผลิตจากกากน้ำตาลราว 61.9% รองลงมาเป็นการผลิตจากมันสำปะหลังราว 33.4%

โดยราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง ได้สร้างความกังวลต่อแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมเอทานอลไทยในอนาคต ราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลง ส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันของพลังงานทดแทนอย่างเอทานอลปรับตัวลดลงตามไปด้วย สะท้อนได้จากราคาเอทานอลในปัจจุบันที่อยู่ในระดับที่สูงกว่าเนื้อน้ำมันเบนซินราว 12.6 บาทต่อลิตร จากในช่วงเดือน ม.ค. 2014 ที่แตกต่างกันเพียง 3.2 บาทต่อลิตร  ซึ่งราคาเนื้อน้ำมันเบนซินที่ต่ำกว่าราคาเอทานอล  เป็นผลให้การผลิตน้ำมันเบนซินมีต้นทุนที่ถูกกว่าการผลิตแก๊สโซฮอล์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแก๊สโซฮอล์ที่ผสมเอทานอลในสัดส่วนที่สูง เช่น E85 (เบนซิน 15% เอทานอล 85%) ส่งผลให้ราคาน้ำมันเบนซินสามารถปรับตัวลดลงได้มากกว่าราคาแก๊สโซฮอล์ชนิดต่างๆ ทำให้ส่วนต่างราคาระหว่างน้ำมันเบนซินกับแก๊สโซฮอล์ปรับตัวลดลง ซึ่งอาจจะส่งผลให้ผู้บริโภคหันไปเติมน้ำมันเบนซินหรืออาจจะหันไปเติมแก๊สโซฮอล์ที่ผสมเอทานอลในสัดส่วนที่ต่ำเพิ่มขึ้น เป็นผลให้ความต้องการใช้เอทานอลปรับตัวลดลง ส่งผลกระทบต่อการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในประเทศ

อีไอซี พบว่า ในช่วงที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงส่งผลดีต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมเอทานอลมากกว่าผลเสีย แม้ราคาน้ำมันที่ลดลงจะส่งผลให้ส่วนต่างราคาระหว่างแก๊สโซฮอล์กับน้ำมันเบนซิน และส่วนต่างราคาระหว่างแก๊สโซฮอล์ด้วยกันเองปรับตัวแคบลงจริง  แต่ผู้บริโภคกลับไม่ได้ปรับเปลี่ยนไปเติมน้ำมันเบนซินหรือหันไปเติมแก๊สโซฮอล์ที่มีสัดส่วนการผสมเอทานอลในระดับต่ำเพิ่มขึ้นอย่างที่หลายฝ่ายกังวล สะท้อนได้จากสัดส่วนการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 14% ในเดือน ม.ค 2014 เป็น 16% ในเดือน ธ.ค. 2014 ในขณะที่สัดส่วนการใช้น้ำมันเบนซิน 95 ปรับตัวลดลงจาก 7% เป็น 6% ในช่วงเวลาเดียวกัน แต่ในทางตรงกันข้าม ราคาน้ำมันที่ปรับลดลงกลับช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคมีการใช้แก๊สโซฮอล์เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ความต้องการใช้เอทานอลปรับตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยความต้องการใช้เอทานอลที่เพิ่มขึ้นนี้เอง เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาเอทานอลของไทยไม่ปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก

อย่างไรก็ดี อีไอซี มองว่า นโยบายของภาครัฐจะเป็นปัจจัยชี้ขาดถึงทิศทางของอุตสาหกรรมเอทานอลไทยในระยะต่อไป สาเหตุสำคัญที่ทำให้ความต้องการใช้เอทานอลยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คือ นโยบายการส่งเสริมพลังงานทดแทนของภาครัฐ โดยในปัจจุบันรัฐบาลได้ทำการบริหารโครงสร้างราคาน้ำมัน เพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคหันมาใช้แก๊สโซฮอล์เพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น รัฐบาลใช้งบประมาณจากกองทุนน้ำมันฯ เพื่ออุดหนุนราคาแก๊สโซฮอล์ E85 จำนวน 8.23 บาทต่อลิตร ในขณะที่เรียกเก็บเงินจากน้ำมันเบนซิน 95 จำนวน 9.15 บาทต่อลิตร ส่งผลให้แก๊สโซฮอล์ E85 มีราคาถูกกว่าเบนซิน 95 เป็นต้น นอกจากนี้ ในปี 2013 รัฐบาลยังได้ทำการยกเลิกการจำหน่ายน้ำมันเบนซิน 91 เพื่อส่งเสริมการบริโภคแก๊สโซฮอล์ในประเทศ ซึ่งหากภาครัฐยังคงให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นคงทางพลังงานในประเทศ ผ่านการดำเนินนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนดังกล่าวต่อไป อุตสาหกรรมเอทานอลของไทยก็จะยังคงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่หากรัฐบาลยกเลิกการบริหารส่วนต่างราคาเพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคยังคงเติม E85 หรือ E20 ก็จะส่งผลให้ความต้องการบริโภคเอทานอลปรับตัวลดลง ซึ่งจะส่งผลกระทบด้านลบต่อการขยายตัวของอุตสาหกรรมเอทานอลในอนาคต

ผู้ประกอบการควรติดตามนโยบายของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อบริษัท การเปลี่ยนแปลงของนโยบายภาครัฐจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมเอทานอลค่อนข้างมาก ดังนั้น ผู้ประกอบการควรที่จะติดตามและประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการหาแนวทางการปรับตัวและวางแผนการดำเนินงานของบริษัทในอนาคต

ในขณะเดียวกัน โรงงานน้ำตาลที่ผลิตเอทานอลจากกากน้ำตาล ควรที่จะเร่งเจรจากับชาวไร่อ้อย เพื่อที่จะนำน้ำอ้อยมาผลิตเป็นเอทานอลโดยตรง ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของพลังงานทดแทน แม้ว่าการผลิตเอทานอลจากน้ำอ้อยจะมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าการผลิตจากกากน้ำตาลค่อนข้างมากราว 23% แต่ในช่วงที่ผ่านมา ยังไม่มีโรงงานน้ำตาลใดในไทยที่สามารถนำน้ำอ้อยมาผลิตเป็นเอทานอลได้โดยตรง เนื่องจากชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลยังไม่สามารถตกลงเรื่องราคาน้ำอ้อย เพื่อนำมาคำนวณในระบบแบ่งปันผลประโยชน์ได้ ดังนั้นเพื่อเป็นการลดต้นทุนผลผลิตและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของพลังงานทดแทน โรงงานน้ำตาลซึ่งผลิตเอทานอลด้วย ควรที่จะเร่งเจรจากับชาวไร่อ้อย เพื่อที่จะให้สามารถนำน้ำอ้อยมาผลิตเป็นเอทานอลได้

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2558

เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย

หลังจากการเปิดประเทศของเมียนมาร์ และการเปิดประชาคมอาเซียนที่จะเกิดขึ้นอันใกล้นี้ การลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายของพม่านั้นมีความสำคัญต่อสายตาชาวโลกอย่างมาก รัฐบาลพม่าได้เปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุน ด้วยการออกนโยบายโครงการขนาดใหญ่ นั่นคือโครงการทวายซึ่งเป็นการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมที่สามารถแบ่งได้เป็น 6 เขตอุตสาหกรรม ได้แก่ เขตที่อยู่อาศัย เขตการค้า โครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องภายในนิคมอุตสาหกรรม ถนน ทางรถไฟเชื่อมโยงไปสู่ประเทศไทย รวมไปถึงน้ำมันและท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากอ่าวมะตะบันไปยังชายแดนไทยเมียนมาร์ รัฐบาลไทยกับรัฐบาลพม่าได้มีการบันทึกความเข้าใจเพื่อยกระดับความร่วมมือในการพัฒนาโครงการทวาย ด้วยการตกลงให้รัฐบาลไทยได้เข้ามามีบทบาทในการกำกับควบคุมดูแลระหว่างรัฐต่อรัฐ เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่จะเข้ามาพัฒนาโครงการทวาย

เดิมในปี 2553 บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) ซึ่งเป็นผู้ได้รับสัมปทานในการเข้าพัฒนาโครงการทวาย ในนามบริษัทลูกที่ชื่อ บริษัท ทวาย ดีเวล๊อปเมนต์จำกัด สำหรับการพัฒนาโครงการทวายนั้นเกิดความล่าช้าอย่างมาก อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงการขอปรับลดพื้นที่โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวายลง 50 ตารางกิโลเมตร จากเดิมที่มีพื้นที่ 204.5 ตารางกิโลเมตร อีกทั้งโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญได้แก่ การก่อสร้างท่าเรือ และการก่อสร้างถนนในโครงการ เป็นโครงการที่ใช้เวลานานในการคืนทุน ซึ่งส่งผลให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุนในโครงการดังกล่าวได้ยาก รัฐบาลพม่าจึงได้เสนอการจัดตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจ อีกทั้งเปิดโอกาสให้ประเทศต่าง ๆ เข้ามาลงทุน อาทิ ญี่ปุ่น จีน เพื่อไม่ให้นักลงทุนภาคเอกชนมีเพียงแค่รายเดียว จึงทำให้ไทยต้องยกเลิกสัญญาฉบับเดิมและปรับปรุงโครงการพัฒนาทวายนี้ใหม่

การเข้าไปลงทุนเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่มากนี้ต้องใช้เม็ดเงินลงทุนจำนวนมาก รัฐบาลไทยจึงพยายามผลักดันให้ โดยให้รัฐบาลญี่ปุ่นร่วมลงทุนและเข้ามามีบทบาทร่วมกันพัฒนาในรูปแบบอีโคพาร์ตเนอร์ชิป ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นได้ปฏิเสธเป็นผู้ลงทุน แต่พร้อมที่จะให้การสนับสนุนการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย โดยการจัดเงินกู้ดอกเบี้ยพิเศษให้กับรัฐบาลพม่าในการสร้างถนนระหว่างเส้นทางบ้านพุน้ำร้อนกับเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายในระยะทาง138 กิโลเมตรด้วยวงเงิน 3,900 ล้านบาท ทั้งนี้รัฐบาลพม่าต้องเป็นผู้รับผิดชอบด้วยการบันทึกลงนามร่วมกับญี่ปุ่น และต้องเป็นผู้ก่อสร้างแทนบริษัท ทวาย ดีเวล๊อปเมนต์จำกัด ในการนี้ญี่ปุ่นจะเข้ามาลงทุนในทวายเป็นประเทศที่สามหลังจากพัฒนาโครงการทวายเฟสแรกแล้วเสร็จ

รัฐบาลไทยกับรัฐบาลพม่านั้นยังคงเดินหน้าในการพัฒนาพื้นที่ครอบคลุมในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายนี้ต่อไปซึ่งปัจจุบันบริษัท ทวาย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด ได้เปลี่ยนบทบาทจากการเป็นผู้พัฒนามาเป็นผู้ลงทุน โดยได้เข้าร่วมลงทุนกับบริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด ในสัดส่วนร้อยละ 50 สำหรับโครงการระยะเริ่มต้นจะใช้เวลาพัฒนา 5 ปี ในการเริ่มลงทุนตั้งแต่ปี 2558 มูลค่า 1,700 ล้านเหรียญสหรัฐ บนพื้นที่ 27 ตารางกิโลเมตร มีสัญญาสัมปทาน 50 ปี และสามารถขยายระยะเวลาได้อีก 25 ปี โดยโครงการนิคมอุตสาหกรรมเน้นการใช้แรงงานเป็นหลัก อาทิ อุตสาหกรรมแปรรูป อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมยาง อุตสาหกรรมเหมืองแร่ นอกจากนี้ยังมีระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น อาทิ ท่าเรือขนาดเล็ก โรงไฟฟ้า ถนนลาดยาง 4 ช่องจราจรที่เชื่อมกับไทย ระบบโทรคมนาคม

ล่าสุดพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 8 ถึง 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้มีการหารือทวิภาคีกับนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีประเทศญี่ปุ่นในเรื่องความร่วมมือด้านการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย สำหรับการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายนี้ยังคงต้องติดตามดูต่อไป หากสามารถสร้างโครงการทวายได้แล้วเสร็จตามแผนที่วางไว้จะส่งผลภาพรวมที่ดีอย่างมากในการเปิดการค้าได้อย่างครอบคลุมพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทวายจะเป็นศูนย์กลางในการขนส่ง เป็นการขยายตลาดใหม่สำหรับการลงทุนในต่างประเทศ ช่วยลดระยะเวลาในการขนส่ง อีกทั้งในการเปิดประชาคมอาเซียนอันใกล้นี้จะช่วยในการกระจายสินค้าและอำนวยความสะดวกได้อย่างมาก แต่หากกล่าวถึงอุปสรรคในการลงทุนในทวายนั้นก็มีอุปสรรคอยู่มากเหมือนกัน เช่น การใช้เม็ดเงินลงทุนจำนวนมากกับหากโครงการดังกล่าวจะยังคงดำเนินการด้วยความล่าช้าต่อไป ก็จะส่งผลกระทบในการเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนรายอื่น

ทั้งนี้สำหรับนักลงทุนที่สนใจจะเข้าไปลงทุนเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายควรศึกษารายละเอียดและติดตามความคืบหน้าต่างๆ ของโครงการให้แน่นอนก่อนตัดสินใจ

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2558

นักวิชาการมองไทยควรร่วมประเทศลุ่มน้ำโขง

'สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์' มองไทยควรเร่งพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศลุ่มน้ำโขง รองรับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ

นายสมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง กล่าวในการเสวนา เรื่อง ‘ไทยกับประเทศลุ่มน้ำโขง’ ว่า ไทยควรที่จะเร่งพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของไทยในการเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยแบ่งแนวพื้นที่เศรษฐกิจในลุ่มแม่น้ำโขง ออกเป็น 3 แนว ได้แก่ แนวพื้นที่เศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก เชื่อมโยงเวียดนาม ลาว ไทย และ พม่า แนวพื้นที่เศรษฐกิจเหนือ-ใต้ เชื่อมโยง ไทย พม่า ลาว และจีน แนวพื้นที่เศรษฐกิจตอนใต้ เชื่อมโยงไทย กัมพูชา และ เวียดนาม รวมทั้งไทยต้องเร่งพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน และการส่งเสริมด้านการลงทุนให้กับผู้ประกอบการเพื่อไปลงทุนยังต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยหนุนเศรษฐกิจไทยนอกเหนือจากการพึ่งพาการส่งออกและการบริโภคภายในประเทศ

จาก http://www.innnews.co.th   วันที่ 11 มีนาคม 2558

รุกแผนปฏิบัติงานเกษตรฯ ระดับพื้นที่ สศก.7 ผนึกหน่วยงานภาคกลางตอนบน 2 บูรณาการร่วม

          สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 ร่วมสัมมนาระดมความคิดเห็นแนวทางการพัฒนาสินค้าเกษตรที่สำคัญของกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน 2มุ่งเน้นปรับโครงสร้างส่งเสริมการเกษตร โดยยึดศักยภาพของพื้นที่และชนิดสินค้า และการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานในพื้นที่สู่การทำงานเป็นทีมรวมกลุ่มในรูปแบบสหกรณ์

          นางอัญชนา ตราโช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7ชัยนาท (สศก.7) เปิดเผยถึงการสัมมนา "การบูรณาการงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2558" เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ณ โรงแรมลพบุรีเรสซิเด้นซ์ จังหวัดลพบุรี โดยมีพลตรีอินทรัตน์ ยอดบางเตย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน และหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระดับเขต ระดับจังหวัด และระดับอำเภอ ในพื้นที่ภาคกลางตอนบน 2 คือ จังหวัดลพบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี และอ่างทอง เข้าร่วมการสัมมนา

          การสัมมนาครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อสร้างความเข้าใจในการทำงานเชิงบูรณาการของหน่วยงานในพื้นที่ระดับจังหวัด ให้สามารถปฏิบัติงานตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้อย่างเป็นรูปธรรม เกิดความชัดเจนและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งมีการบูรณาการสู่การปฏิบัติในพื้นที่ได้อย่างถูกต้อง เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลอย่างเป็นรูปธรรม สามารถขับเคลื่อนนโยบายที่สำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในปี2558 จำนวน 4 แผนงาน คือ (1) แผนปรับโครงสร้างและพัฒนาการผลิต (2)แผนเพิ่มศักยภาพในการดำเนินงานเชิงพาณิชย์ (3) แผนเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ ดินและที่ดิน และ (4) แผนแก้ไขปัญหาเกษตรกรอย่างยั่งยืน ซึ่งทุกแผนจะต้องมีการบูรณาการเข้าด้วยกัน โดยพัฒนาโครงสร้างด้านการผลิต น้ำ ดิน การพัฒนาการผลิต การเพิ่มมูลค่าสินค้า การลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งการเชื่อมโยงตลาด แหล่งเงินทุน การปรับโครงสร้างให้เหมาะสมกับพื้นที่ เพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอย่างยั่งยืน

          อย่างไรก็ตาม เพื่อให้กำหนดแผนการปฏิบัติงานและการติดตามผลการดำเนินงานได้อย่างชัดเจน ทุกหน่วยงานต้องสร้างความเข้าใจในการปฏิบัติงานของแต่ละกรมให้ตรงกันภายใต้การบูรณาการร่วมกัน พร้อมทั้งอบรมสร้างความรู้แก่บุคลากรอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ แนวทางการพัฒนาสินค้าเกษตรแต่ละจังหวัด ได้แก่ ลพบุรี พัฒนาอ้อยโรงงาน จังหวัดชัยนาท จะเน้นพัฒนาแพะ จังหวัดสิงห์บุรีและอ่างทองพัฒนาข้าว โดยมีแนวทางในการพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ถึงปลายน้ำ เพื่อจัดตั้งกลุ่มและการพัฒนาการร่วมกลุ่มให้มีความเข้มแข็ง ภายใต้การบูรณาการงานของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งต้องมีการติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่องด้วย

นางอัญชนา กล่าวทิ้งท้ายว่า ทั้งนี้ สศก.7 ในฐานะคณะอนุกรรมการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดและแผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัด จะได้เสนอแนะแนวทางการดำเนินงานให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาล และแผนงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปี 2558 เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนแผนงาน/โครงการอย่างบูรณาการเป็นระบบในระดับพื้นที่ พร้อมทั้งสนับสนุนข้อมูลต่างๆ ในการจัดทำแผนงานโครงการต่อไป

จาก http://news.thaiquest.com  วันที่ 11 มีนาคม 2558

อนุรักษ์พื้นที่จัดรูปที่ดิน เพื่อความมั่นคงของการเกษตร

สำหรับในพื้นที่จัดรูปที่ดิน มีคำตอบเรื่องโครงสร้างพื้นฐานครบถ้วน ทั้งคูส่งน้ำ คูระบายน้ำ และเส้นทางลำเลียง ส่งน้ำไปก็ได้รับทุกแปลง ระบายน้ำก็ไม่ต้องรอใคร

สำหรับพื้นที่การเกษตรที่มีน้ำต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับระบบชลประทาน จะประกอบด้วยพื้นที่สมบูรณ์ระดับพอใช้ (เกรด C) พื้นที่คันคูน้ำ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ชลประทานถือเป็นพื้นที่ระดับดี (เกรด B) และพื้นที่จัดรูปที่ดินในพื้นที่ชลประทานหรือแหล่งน้ำอื่น ๆ ซึ่งถือเป็นพื้นที่ระดับดีมาก (เกรด A)

สำหรับพื้นที่ชลประทาน จะมีแหล่งน้ำ ต้นทุน ได้แก่ อ่างเก็บน้ำ และระบบชลประทาน ได้แก่ คลองส่งน้ำสายใหญ่ สายซอย แต่การกระจายน้ำเข้าสู่แปลงเพาะปลูกที่ผ่านมาจะไม่ทั่วถึง เพราะต้องส่งน้ำเป็นทอด ๆ ผ่านแปลงนาจากนาต้นน้ำไปจนถึงนาปลายน้ำ บางพื้นที่จึงมีปัญหาที่ปลายน้ำที่อาจจะมีน้ำไม่เพียงพอ

สำหรับในพื้นที่จัดรูปที่ดิน มีคำตอบเรื่องโครงสร้างพื้นฐานครบถ้วน ทั้งคูส่งน้ำ คูระบายน้ำ และเส้นทางลำเลียง ส่งน้ำไปก็ได้รับทุกแปลง ระบายน้ำก็ไม่ต้องรอใคร เพราะทุกแปลงมีคูส่งน้ำ คูระบายน้ำ และเส้นทางลำเลียงผ่านแปลง เข้า-ออก ได้สะดวกทุกเวลา ไม่มีที่ดินตาบอดหลงเหลืออีกเลย

“พื้นที่จัดรูปที่ดินซึ่งถือเป็นพื้นที่ เกรด A จึงได้รับการอนุรักษ์สงวนไว้เป็นพื้นที่การเกษตรที่มุ่งผลิตอาหาร สำหรับเป็นความมั่นคงด้านอาหารของประเทศ” นายสิริวิชญ กลิ่นภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง กรมชลประทาน กล่าว

คนไทยอาจรู้สึกเฉย ๆ กับประเด็นความมั่นคงด้านอาหาร แต่หลาย ๆ ประเทศแล้ว ถือเป็นเรื่องจริงจังที่ต้องเฝ้าระวัง เหตุ การณ์เมื่อปี 2550-2551 ที่เกิดกระแสตื่นตัวผลิตพืชอาหารไปใช้เป็นพืชเชื้อเพลิง ไม่ว่าอ้อย ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน ถั่วเหลือง ทำให้พืชอาหารทั่วโลกขาดแคลนจนราคาพุ่งสูงมาก บางประเทศประชากรต้องอดอยากไม่มีเงินซื้อหาอาหาร จนเกิดจลาจล หรือแม้มีเงินซื้อแต่กลับไม่มีอาหารขาย หลังจากนั้นหลายประเทศเริ่มต้นเสาะแสวงหาพื้นที่เพาะปลูกในต่างแดน เพื่อเป็นหลักประกันอาหารให้กับประชากรของตัวเอง

พื้นที่จัดรูปที่ดิน จึงมีความสำคัญยิ่งทั้งความสมบูรณ์ทางกายภาพจากโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก และการเป็นแหล่งผลิตอาหารเพื่อความมั่นคงของประเทศอีกด้วย แม้จะถูกมองว่ามีข้อจำกัดที่ไม่อาจเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินไปทำอย่างอื่นได้ง่าย แต่ต้องไม่ลืมว่า ราคาที่ดินในพื้นที่จัดรูปก็พุ่งสูงขึ้น เป็นประโยชน์ต่อเจ้าของที่ดิน

เช่นกัน เนื่องจากมีโครงสร้างพื้นฐานในไร่นาสมบูรณ์ ทั้งคูส่งน้ำ คูระบายน้ำ และเส้นทางลำเลียงที่เข้าถึงทุกแปลง จนเป็นพื้นที่เกรด A ชนิดไม่มีที่ดินที่ไหนสมบูรณ์เท่า ไม่ว่าพื้นที่คันคูน้ำ (เกรด B) หรือพื้นที่ชลประทาน (เกรด C)

ราคาที่ดินในเขตจัดรูปที่ดิน เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 4-5 เท่าตัว ของราคาก่อนการจัดรูป เช่น เดิมทีซื้อขายที่ไร่ละ 30,000 บาท เมื่อจัดรูปที่ดินจะขยับเป็นไร่ละ 120,000-150,000 บาท แถมยังหาซื้อได้ยาก เพราะไม่มีใครคิดอยากขาย เว้นแต่เดือดร้อนจริง ๆ

พื้นที่จัดรูปที่ดิน 26 จังหวัด กว่า 1.98 ล้านไร่ จึงเปรียบเสมือนไข่แดง ท่ามกลางไข่ขาวหรือพื้นที่ชลประทาน 30 ล้านไร่ ซึ่งต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ และเร่งขยายเพื่อเป็นความมั่นคงด้านอาหารอย่างแท้จริง โดยเฉพาะประเทศไทยที่ได้ชื่อเป็นครัวโลก พื้นที่การเกษตรอย่างพื้นที่จัดรูปที่ดินจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด.

จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 11 มีนาคม 2558

กองทุนFTAเปิดเวที ปรับวิถีเกษตรไทย เท่าทัน‘การค้าเสรี’

นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า การเปิดเสรีทางการค้า โดยเฉพาะการรวมตัวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจครั้งสำคัญของประเทศไทย และเป็นที่จับตาว่าจะส่งผลกระทบอย่างไรโดยเฉพาะภาคเกษตร กองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ หรือ กองทุน FTA กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงเห็นความจำเป็นในการเร่งประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงานภาครัฐ เอกชน สถาบันเกษตรกรและเกษตรกรรายย่อย ได้รับทราบแนวทางการช่วยเหลือของกองทุนฯ ตลอดจนผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าทั้งด้านบวกและลบอย่างถูกต้อง เพื่อให้สามารถแข่งขันทั้งด้านการผลิต การตลาด และการค้าสินค้าเกษตรกับนานาประเทศได้อย่างยั่งยืน

ดังนั้น จึงจัดให้มีการสัมมนาเรื่อง “กองทุน FTA: ปรับวิถีเกษตรไทย ก้าวทันตลาดการค้าเสรี” ในวันพฤหัสบดีที่ 12 มีนาคม เวลา 08.00-16.30 น. ที่โรงแรมแกรนด์ฮิลล์ รีสอร์ท แอนด์ สปา จ.นครสวรรค์ โดยมีบรรยายในหัวข้อต่างๆ ที่น่าสนใจ อาทิ แนวโน้ม ทิศทางการพัฒนาภาคเกษตรไทย, FTA ผลกระทบ และการปรับตัวภาคเกษตร สินค้าเกษตรไทย ในยุคการค้าเสรี ซึ่งผู้สนใจสามารถเข้าร่วมการสัมมนาได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 0-2561-4727

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 11 มีนาคม 2558

พาณิชย์ดันธุรกิจคุณภาพเข้าตลาด MAI เสริมแกร่งระยะยาว 

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ 

           พาณิชย์ เตรียมดันธุรกิจคุณภาพเข้าตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (MAI) หวังสร้างความแข็งแกร่งให้ธุรกิจระยะยาว พร้อมกางยุทธศาสตร์ยกระดับโกอินเตอร์เข้าแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดในเออีซี

               นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ล่าสุดตนได้มอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้านำร่องผลักดันธุรกิจค้าส่งค้าปลีกไทยที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพจากกรมฯ จำนวน 77 ราย ให้เตรียมความพร้อมก่อนเข้าตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (MAI) เนื่องจากเมื่อพิจารณาจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทย ปี 2556 พบว่าธุรกิจค้าส่งค้าปลีกของไทยมีมูลค่ารวมกว่า 1.5 ล้านล้านบาท มีสัดส่วนเป็นอันดับ 2 ของประเทศ คิดเป็นร้อยละ 13.4 รองจากภาคอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนสูงสุดร้อยละ38.1 และมีการจ้างงานมากเป็นอันดับ 3 ของประเทศ (จำนวน 4 ล้านราย จากการจ้างงานของคนไทยทั้งสิ้น 38 ล้านราย)รองจากภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรม รวมทั้ง คาดการณ์ว่าธุรกิจค้าส่งค้าปลีกของไทยจะมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยประมาณร้อยละ 7-8 ต่อปี (ระหว่างปี 2558 - 2562) โดยคาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า จะมีมูลค่ารวมกว่า 1.6 ล้านล้านบาท (ข้อมูล : สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย)

                ทั้งนี้ธุรกิจค้าส่งค้าปลีกเป็นสาขาธุรกิจที่มีความสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคง และเมื่อกลุ่มประเทศในภูมิภาคอาเซียนได้รวมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเป็นทางการ จะทำให้ตลาดอาเซียนกลายเป็นตลาดการค้าการลงทุนที่มีขนาดใหญ่โดยมีจำนวนผู้บริโภคมากกว่า 600 ล้านคน คาดว่าจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ผู้ประกอบธุรกิจค้าส่งค้าปลีกของไทยต้องเร่งพัฒนาโมเดลทางธุรกิจใหม่เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจและสร้างโอกาสทางการตลาดให้ได้ประโยชน์สูงสุด

               อย่างไรก็ตามทางกรมพัฒนาธุรกิจการค้าจึงได้กำหนดยุทธศาสตร์และแนวทางการส่งเสริมพัฒนาธุรกิจค้าส่งค้าปลีกผ่านกระบวนการพัฒนา 3 ขั้นตอน คือ ขั้นที่ 1 สร้างองค์ความรู้ และเสริมสร้างศักยภาพด้านการบริหารจัดการ ขั้นที่ 2 ยกระดับธุรกิจสู่เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพธุรกิจค้าส่งค้าปลีก และ ขั้นที่ 3 เชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจค้าส่งค้าปลีกและสร้างโอกาสทางการตลาด

               “จากสถานการณ์การดำเนินธุรกิจค้าส่งค้าปลีกในปัจจุบัน SMEs ไทยได้รับผลกระทบจากการแข่งขันกับห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ และModern Trade ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรี ธุรกิจ SMEs ไทยจึงจำเป็นต้องยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันสู่ระดับสากล โดยเร่งเสริมสร้างความรู้ในการบริหารจัดการธุรกิจเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจนำแนวคิดนวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศทางธุรกิจสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม เชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจค้าส่งค้าปลีกในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งต้องมีเงินทุนและความเชี่ยวชาญเป็นปัจจัยสำคัญ” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าว

จาก http://manager.co.th  วันที่ 11 มีนาคม 2558

“พาณิชย์” ยุบสำนักงาน 3 แห่งในอิตาลี แคนาดา เวียดนาม เตรียมเปิดเพิ่มในประเทศใหม่ที่มีศักยภาพ

         “พาณิชย์” ยุบสำนักงานทูตพาณิชย์ 3 แห่งในอิตาลี แคนาดา และเวียดนาม เพื่อลดความซ้ำซ้อน พร้อมหาทางเปิดเพิ่มในประเทศใหม่ที่มีศักยภาพ

               นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ จะพิจารณายุบสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศด้วย จำนวน 3 แห่ง คือ 1. สำนักงานเมืองมิลาน ประเทศอิตาลี แต่ยังคงสำนักงานที่กรุงโรม 2. สำนักงานเมืองโทรอนโต ประเทศแคนาดา โดยคงสำนักงานที่แวนคูเวอร์ และ 3. สำนักงานกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม โดยคงสำนักงานที่โฮจิมินห์ไว้ เพื่อเป็นการลดความซ้ำซ้อนและการใช้งบประมาณ และจะนำงบประมาณที่ได้กลับคืนมาไปเปิดสำนักงานในประเทศใหม่ๆ ที่มีศักยภาพในการผลักดันการส่งออก      

        “การปิดสำนักงานทูตพาณิชย์เพราะบางประเทศมีสำนักงาน 2 แห่ง ซึ่งอาจจะมากเกินความจำเป็น จึงต้องปรับเปลี่ยนเพื่อความเหมาะสมในการส่งเสริมการส่งออก และจะมีการพิจารณาจัดตั้งสำนักงานเพิ่มในประเทศใหม่ๆ ส่วนจะเป็นพื้นที่ใดขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของประเทศและตลาด” นางนันทวัลย์กล่าว

               สำหรับเป้าหมายการส่งออกในปี 2558 เบื้องต้นยังคงเป้าไว้ตามเดิมตามที่ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ ระบุไว้ โดยจะมีการหารือเพื่อปรับแผนการทำงานในการประชุมทูตพาณิชย์อีกครั้งเพื่อผลักดันการส่งออกให้เป็นไปตามเป้าหมาย      

        ทั้งนี้ การส่งออกยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ทั้งเรื่องราคาน้ำมัน ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ยังไม่ดีขึ้น อัตราแลกเปลี่ยนที่ยังมีความผันผวน

จาก http://www.manager.co.th วันที่ 10 มีนาคม 2558

นิคมกำจัดกากสะดุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงกลาโหมได้แจ้งให้นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รมว.อุตสาหกรรม ว่า กระทรวงกลาโหมได้ขอเลื่อนการลงนามความร่วมมือตั้งนิคมอุตสาหกรรมบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมระหว่างการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.), กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) และกรมการอุตสาหกรรมทหารออกไปก่อน เนื่องจากต้องการพิจารณารายละเอียด และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างละเอียด เนื่องจากเกรงว่าอาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ และล่าสุดนายจักรมณฑ์ได้แต่งตั้งคณะทำงาน เพื่อเข้าไปชี้แจงรายละเอียดกับกระทรวงกลาโหมอีกครั้งหนึ่ง ขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูลการกำจัดกากอุตสาหกรรม หากมีเอกชนใดที่จะตั้งนิคมฯกำจัดกากครบวงจร จะต้องมีกฎระเบียบให้ชัดเจนด้วย

นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รมว.อุตสาหกรรม กล่าวถึงนโยบายการกำจัดกากอุตสาหกรรมว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีกากอุตสาหกรรมอันตราย 3.35 ล้านตันต่อปี แต่มีการจัดการอย่างถูกต้องเพียง 1 ล้านตันต่อปี กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้เพิ่มความเข้มงวดกับโรงงาน ให้นำกากอุตสาหกรรมมีพิษเข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้น โดยในปีนี้ได้อนุมัติงบพิเศษ 40 ล้านบาท เพื่อนำกากอุตสาหกรรมอันตรายเข้าระบบให้ได้ 1.5 ล้านตัน โดยภายในเดือน มี.ค.นี้ จะเสนอแผนจัดการกากอุตสาหกรรมใน 5 ปีข้างหน้า (2558-2562) ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา โดยแผนดังกล่าวมีเป้าหมายนำโรงงานที่มีกากอุตสาหกรรมอันตรายเข้าสู่ระบบการจัดการกากอุตสาหกรรมที่ถูกต้องให้ได้กว่า 90%.

จาก http://www.thairath.co.th   วันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2558

กรมชลฯ เผยน้ำต้นทุนในเขื่อนลดลงต่อเนื่อง เตือนใช้น้ำอย่างประหยัด ลดเสี่ยงขาดน้ำ

ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำกรมชลประทาน รายงานสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศล่าสุด(10 มี.ค. 58) มีปริมาณน้ำรวมกัน จำนวน 40,609 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 58 ของความจุอ่างฯขนาดใหญ่รวมกันทั้งหมด มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันทั้งสิ้นประมาณ 17,106 ล้านลูกบาศก์เมตร

สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ล่าสุด(10 มี.ค. 58) ที่เขื่อนภูมิพล จ.ตาก มีปริมาณน้ำ 5,710 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 42 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 1,910 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีปริมาณน้ำ 5,425 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 57 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 2,575 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก มีปริมาณน้ำ 440 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 47 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 397 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มีปริมาณน้ำ 459 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 48 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 456 ล้านลูกบาศก์เมตร

รวมทั้ง 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 5,338 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยปริมาณน้ำใช้การได้จำนวนนี้ แยกเป็นปริมาณน้ำที่ใช้ได้ตามแผนการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 57/58 ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนเมษายนนี้ ประมาณ 1,404 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนที่เหลืออีกกว่า 3,900 ล้านลูกบาศก์เมตร ต้องสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนปีนี้ เพื่อสนับสนุนการทำนาปีของลุ่มน้ำเจ้าพระยา

สำหรับผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ขณะนี้มีการใช้น้ำไปแล้ว 2,592 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 89 ของแผนจัดสรรน้ำฯ ในส่วนของผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ล่าสุด(ณ 6 มี.ค. 58) มีรายงานว่า เกษตรกรในลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้มีการทำนาปรังไปแล้วกว่า 5.19 ล้านไร่ ส่วนค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำท่าจีน ปัจจุบันยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า แม้จะมีการประกาศงดส่งน้ำเพื่อสนับสนุนนาปรังไปแล้ว ตั้งแต่ต้นช่วงต้นฤดูแล้ง เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนในปีนี้มีน้อย แต่กลับพบว่าเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา บางส่วนยังคงเสี่ยงทำการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ซึ่งเสี่ยงเป็นอย่างมากที่ผลผลิตจะขาดแคลนน้ำได้ หากไม่มีฝนตกลงมา ในขณะที่ปริมาณน้ำในเขื่อนก็ลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน จึงขอให้เกษตรกรงดเพิ่มพื้นที่นาปรังต่อเนื่อง และขอให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันใช้น้ำอย่างประหยัด พร้อมกับติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดด้วย

จาก http://www.matichon.co.th    วันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2558

กระทรวงเกษตรฯ เร่งหารือแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งหารือแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย เน้นการบูรณาการข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขณะที่ประชาชนที่มีรายได้เฉลี่ยน้อยกว่า 30,000 บาทต่อปี มีจำนวนกว่า 2 ล้านคน

นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือการบูรณาการข้อมูลความยากจน ร่วมกับ นางเมธินี เทพมณี ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ตามนโยบายการบูรณาการฐานข้อมูลภาครัฐและการใช้ประโยชน์ร่วมกัน ว่า ได้หารือแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย ซึ่งพิจารณาจากข้อมูลทะเบียนราษฎร ทะเบียนเกษตรกร ทะเบียนคนจน โดยแบ่งออกเป็นการให้ความช่วยเหลือตามที่ดินที่ถือครอง โดยการใช้ข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกร ข้อมูลสำมะโนการเกษตร ข้อมูลสำนักงานสถิติประกอบการพิจารณา การให้ความช่วยเหลือตามรายได้โดยพิจารณาข้อมูลจากความจำเป็นพื้นฐาน ที่ได้กำหนดรายได้เฉลี่ยของคนไทยที่ยากจนโดยเป็นบุคคลที่มีรายได้เฉลี่ยน้อยกว่า 30,000 บาทต่อปี มีจำนวน 2,025,360 ราย รายได้เฉลี่ย 11,002.14 บาทต่อครัวเรือน การประมาณการจากราคาผลผลิตทางการเกษตรโดยกรมส่งเสริมการเกษตร การใช้ข้อมูลรายได้จากผลผลิตการเกษตรและต้นทุนการผลิต จากสำมะโนการเกษตร สำนักงานสถิติ และข้อมูลรายได้นอกภาคการเกษตรจากกระทรวงแรงงาน สำนักงานประกันสังคม และการให้ความช่วยเหลือตามหนี้สินเกษตรกร โดยใช้ข้อมูลจาก ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) รวมทั้งหนี้นอกระบบและหนี้สหกรณ์

ทั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรจะประสานงานกับสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลและจัดทำแนวทางในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยต่อไป

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2558

พด.เปิดตัวเกม‘เกษตรออนไลน์’ จำลองเพาะปลูก-ทำตลาดจากข้อมูลจริง

นายอภิชาต จงสกุล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาที่ดินได้พัฒนาเกมออนไลน์จำลองการทำเกษตร หรือ LDD’s IM-Farm โดยได้จดลิขสิทธิ์ประเภทงาน วรรณกรรม ลักษณะงาน โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ชื่อผลงาน ทำการเกษตรกับเกมออนไลน์ LDD’s IMFarm ไว้ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อให้เกษตรกรหรือผู้สนใจสามารถใช้เป็นข้อมูลทางเลือกในการพิจารณาและตัดสินใจในการทำเกษตรกรรม ด้วยการประยุกต์โดยใช้เกมมาจำลองการปลูกพืชว่าเหมาะสมหรือไม่ก่อนที่จะปลูกพืชชนิดนั้นในพื้นที่จริง และใช้วางแผนการใช้ที่ดินในพื้นที่เกษตรกรรม และกำหนดบริเวณการใช้ที่ดินของผลผลิตทางการเกษตร เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและลดต้นทุนการผลิตทางการเกษตรโดยนำข้อมูลต่างๆ ของกรมพัฒนาที่ดิน มาจำลองทำในรูปแบบเสมือนเกม (Simulation game) ซึ่งนอกจากจะได้รับความบันเทิงแล้ว ยังได้รับความรู้ที่เป็นประโยชน์ ได้พิจารณาเพื่อตัดสินใจเรื่องอุปสงค์และอุปทานได้ว่า เมื่อเปรียบเทียบพืชที่ปลูกแล้ว เกษตรกรสามารถขายผลผลิตได้แตกต่างจากเดิมมากหรือน้อยเพียงใด

ทั้งนี้ เกม LDD’s IM-Farm เป็นการนำข้อมูลจริงมาใช้ในการจำลองการปลูกพืช 5 ชนิดพืช ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย และถั่วเหลือง โดยผู้เล่นสามารถระบุตำแหน่งพื้นที่ที่ต้องการปลูกพืชแต่ละชนิดได้จากแผนที่ภาพถ่ายออร์โธสี มาตราส่วน 1:4000 เป็นแผนที่ฐาน (Base Map) จากนั้นผู้เล่นสามารถจำลองการบริการ จัดการพื้นที่ตั้งแต่เริ่มปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยระบบจะดึงข้อมูลแผนที่กลุ่มชุดดิน สภาพการใช้ที่ดิน ทำให้ผู้เล่นทราบว่ากลุ่มชุดดินนั้นๆ เหมาะสมกับการปลูกพืชชนิดใด นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลการเจริญเติบโตของพืช เช่น การใส่ปุ๋ย การจัดการน้ำ การบำรุงดิน สภาพภูมิอากาศ ข้อมูลพื้นที่ในเขตชลประทาน รวมถึงข้อมูลค่าแรงต้นทุน ข้อมูลราคาตลาด เป็นองค์ประกอบด้วย และเมื่อจบเกมแล้ว ผู้เล่นจะทราบทันทีว่าได้ผลผลิต รายรับ-รายจ่ายเท่าใด โดยกรมพัฒนาที่ดินได้นำราคาตลาดของผลผลิตที่มีการจัดเก็บจากฐานข้อมูลปัจจุบันมาใช้ และผู้เล่นสามารถทดสอบปรับเปลี่ยนเป็นพืชชนิดอื่นๆ สำหรับเป็นทางเลือกในการปลูกพืชที่มีความเหมาะสมกับกลุ่มชุดดิน เพื่อให้ได้ผลผลิตและมีผลกำไรมากที่สุด

นายอภิชาต กล่าวอีกว่า สำหรับการเล่นเกม LDD’s IM-Farm สามารถเล่นได้ทั้งระบบออนไลน์ผ่านอินเตอร์เนต ผ่านโปรแกรม Browser ต่างๆ เช่น Internet Explorer, Chrome, Firefox, Safari และอื่นๆ หากสนใจสามารถคลิกไปที่ http://imfarm.ldd.go.th และดำเนินการตามข้อแนะนำได้เลย

จาก http://www.naewna.com วันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2558

‘ซูมิโตโม’ยันถือหุ้น KTISไม่ขายแน่

แจงเหตุรายงาน ก.ล.ต.ของ “ซูมิโตโม” เป็นเพียงการแจ้งพ้นจากนิยามบุคคลตามมาตรา 258 ของ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ แต่จำนวนหุ้น KTIS ผ่าน 3SH ไม่ได้ลด ตัวแทนซูมิโตโมยืนยันลงทุนระยะยาวเพื่อร่วมผลักดัน KTIS เติบโตอย่างมั่นคง มั่นใจมีศักยภาพสูงทั้งในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ด้านบอร์ด KTIS โชว์ความโปร่งใส เตรียมเสนอผู้ถือหุ้นอนุมัติการเพิ่มทุนจดทะเบียนอีก 10 หุ้น จัดสรรให้กับ 3SH เพื่อให้สัดส่วนการถือหุ้นครบ 25% ตามที่แจ้งไว้ในหนังสือชี้ชวนก่อนเข้าตลาดหุ้น  พร้อมขอยกเว้นไม่ต้องทำเทนเดอร์ ออฟเฟอร์

นายณัฎฐปัญญ์  ศิริวิริยะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายธุรกิจชีวพลังงานและผลิตภัณฑ์ บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้รายงานการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งหลักทรัพย์ของกิจการ (แบบ 246-2) เมื่อวันที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการรายงานของซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น เกี่ยวกับหุ้น KTIS นั้น ขอเรียนว่า การรายงานดังกล่าวไม่ใช่รายงานการขายหุ้น KTIS ของซูมิโตโมฯ เป็นเพียงการรายงานว่าซูมิโตโมฯ ได้พ้นจากการเป็นบุคคลตามมาตรา 258 ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พ.ศ.2535 แต่ปัจจุบันซูมิโมโตฯ ยังคงถือหุ้น KTIS ผ่าน 3SH ในจำนวนเท่าเดิม ไม่ได้มีการขายออกแต่อย่างใด

“ที่ผ่านมา กลุ่มซูมิโตโมลงทุนใน KTIS ผ่าน 3SH ซึ่งเป็นกิจการที่มีผู้ลงทุนร่วมกัน 3 ฝ่าย ประกอบด้วย บริษัท หทัยจรูญเอกโฮลดิ้ง จำกัด ซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น และ นิสชิน ชูการ์ แต่ในระหว่างการปรับโครงสร้างการถือหุ้นของ 3SH ซูมิโตโมมีการถือหุ้นในสัดส่วนเกิน 30% ซึ่งเข้าข่ายเป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องกับผู้ถือหุ้นใหญ่ตามมาตรา 258 ซึ่งต่อมา มีการปรับโครงสร้าง 3SH ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงที่ทำไว้ก่อนเข้าตลาดหุ้น โดยบริษัทหทัยจรูญฯ มีการเพิ่มทุน ทำให้สัดส่วนของซูมิโตโมลดลงต่ำกว่า 30% ทำให้หมายถึงไม่เข้าข่ายเป็นบุคคลตามมาตรา 258 อีกต่อไป การรายงานข้อมูลต่อสำนักงาน ก.ล.ต. จึงเป็นการชี้แจงประเด็นนี้ โดยที่ซูมิโตโมไม่ได้ขายหุ้น KTIS แต่อย่างใด”

    นายชุนซึเกะ ซีจิยามะ ตัวแทนของกลุ่มซูมิโตโมฯ ที่เข้ามาเป็นหนึ่งในคณะกรรมการของ KTIS กล่าวว่า ตามสัญญาร่วมลงทุนในบริษัท 3 เอส โฮลดิ้ง จำกัด (3SH) ของซูมิโตโมฯ  นิสชิน ชูการ์ และนางหทัย ศิริวิริยะกุล ได้ระบุไว้ในหนังสือชี้ชวนการเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไปว่า สัดส่วนการถือหุ้น KTIS ของ 3SH จะอยู่ที่ 25% ซึ่งทางซูมิโตโมฯ ยืนยันว่าการลงทุนใน KTIS ผ่าน 3SH เป็นการลงทุนในลักษณะของพันธมิตรทางกลยุทธ์ธุรกิจ (Strategic Partner) จึงเป็นการลงทุนระยะยาว เพราะกลุ่มซูมิโตโมมั่นใจในศักยภาพของ KTIS ว่าจะสามารถขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตได้อีกมาก เพราะเป็นบริษัทที่มีความสัมพันธ์ที่ดีเยี่ยมกับชาวไร่อ้อย มีความมั่นคงทางวัตถุดิบ และควบคุมต้นทุนการผลิตได้ดี เมื่อมารวมกับจุดแข็งของกลุ่มซูมิโตโมฯ ซึ่งมีความชำนาญด้านการตลาดและเครือข่ายลูกค้าชั้นนำทั่วโลก และจุดแข็งของนิสชิน ซึ่งเป็นผู้นำด้านการผลิตน้ำตาลคุณภาพสูงของประเทศญี่ปุ่น จะส่งเสริมให้ KTIS ก้าวสู่ความเป็นบริษัทชั้นนำระดับโลกได้

นายณัฎฐปัญญ์  กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน 3SH ถือหุ้น KTIS อยู่ 24.99% ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามที่ได้แจ้งในหนังสือชี้ชวนว่า สัดส่วนการถือหุ้นของ 3SH จะอยู่ที่ 25%  คณะกรรมการบริษัทฯ จึงได้มีมติให้บริษัทฯ เพิ่มทุนจดทะเบียนจำนวน 10 หุ้น คิดเป็น 0.00% ของทุนจดทะเบียน เพื่อจัดสรรให้กับ 3SH ซึ่งจะทำให้สัดส่วนการถือหุ้นเพิ่มเป็น 25%  ซึ่งจะเข้าข่ายจะต้องจัดทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ (เทนเดอร์ ออฟเฟอร์) เพื่อรับซื้อคืนหุ้นจากผู้ถือหุ้นรายย่อย แต่วัตถุประสงค์ของการเข้าถือหุ้น 25% ครั้งนี้ 3SH แจ้งว่าไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อครอบงำกิจการ เป็นเพียงการปรับโครงสร้างการถือหุ้นเท่านั้น จึงได้ยื่นขอยกเว้นการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์คืนจากนักลงทุนรายย่อย (ไวท์วอช) ซึ่ง KTIS จะดำเนินการขอมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นในการประชุมวันที่ 23 เมษายน 2558 เพื่อให้การดำเนินการทุกอย่างเป็นไปอย่างโปร่งใส ซึ่งในวาระนี้ 3SH จะไม่มีสิทธิ์ออกเสียง

“การที่ KTIS มีกลุ่มซูมิโตโมฯ มาเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ ส่งผลดีต่อ KTIS หลายประการ นอกเหนือจากการช่วยส่งเสริมการขายและขยายตลาดสินค้าของ KTIS ไปยังตลาดนานาชาติแล้ว ยังช่วยสนับสนุนเทคโนโลยี การค้นคว้าและวิจัยต่างๆ เพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ในอนาคต ซึ่งผู้ถือหุ้น KTIS ก็จะได้ประโยชน์จากการเติบโตของ KTIS ในระยะยาวด้วย” นายณัฎฐปัญญ์  กล่าว

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2558

เล็งเพิ่มโทษจำคุกโรงงานไม่กำจัดขยะพิษ

นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปัจจุบันไทยมีกากอุตสาหกรรมอันตราย 3.35 ล้านตัน แต่มีการจัดการอย่างถูกต้องเพียง 1 ล้านตัน กระทรวงจึงเพิ่มความเข้มงวดกับโรงงานให้นำกากอุตสาหกรรมอันตรายเข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้น โดยปี 2558 ได้อนุมัติงบพิเศษ 40 ล้านบาท เพื่อนำกากอุตสาหกรรมอันตรายเข้าระบบให้ได้ 1.5 ล้านตัน 

ทั้งนี้ภายในเดือนมีนาคม 2558 จะเสนอแผนจัดการกากอุตสาหกรรมในระยะ 5 ปีข้างหน้า คือ ระหว่างปี 2558-2562 โดยมีเป้าหมายนำโรงงานที่มีกากอุตสาหกรรมอันตรายเข้าสู่ระบบการจัดการที่ถูกต้องให้ได้กว่า 90% ก่อนเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา แผนดังกล่าวประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ 4 ด้าน คือ 1.การกำกับดูแล การบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียม ติดตามการต่ออายุใบอนุญาตโรงงานที่ขาดการจัดการกากอุตสาหกรรม รวมทั้งพัฒนาระบบติดตามการขนส่งกากอุตสาหกรรมอันตรายให้สมบูรณ์

2.การปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย เข้มงวดกับผู้ฝ่าฝืน การอำนวยความสะดวกกับผู้ปฏิบัติตาม 3.การสร้างความร่วมมือ แรงจูงใจให้กับผู้ประกอบการนำกากอุตสาหกรรมเข้าระบบ 4.การสนับสนุนจากเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนและต่างประเทศ การจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่รองรับกากอุตสาหกรรม 6 แห่ง สำหรับอนาคต 20-30 ปี และแผนการจัดการแผงโซลาร์เซลล์ที่จะหมดอายุใน 20 ปีข้างหน้า โดยคาดว่าจะมีปริมาณสูงกว่า 2 แสนตัน

“กระทรวงได้ขอความร่วมมือจากองค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ประเทศญี่ปุ่น (เนโดะ) ในการจัดการกากขยะอุตสาหกรรม ขณะนี้ญี่ปุ่นเตรียมให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่า ด้วยการมอบเตาเผาขยะขนาด 500 ตันต่อวัน

 ให้แก่ไทย โดยอาจจะนำไปติดตั้งบริเวณอ่อนนุช ซึ่งเป็นพื้นที่รองรับขยะขนาดใหญ่ของกรุงเทพฯอยู่แล้ว ทั้งนี้ตั้งแต่เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2558 มีการขนย้ายกากอุตสาหกรรมไม่มีพิษไปกำจัดจริงแล้ว 1.5 ล้านตัน และที่เป็นอันตราย 1.5 แสนตัน” นายจักรมณฑ์ กล่าว

นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่า แผนจัดการกากอุตสาหกรรมระยะ 5 ปี กรอ.มีแผนที่จะของบประมาณผูกพัน 5 ปี จำนวน 430 ล้านบาท รวมทั้งจะเร่งแก้ไขกฎหมายกรมโรงงาน เพิ่มบทลงโทษ จากเดิมที่มีเพียงปรับสูงสุดไม่เกิน 2 แสนบาท อายุความ 1 ปี ไม่มีโทษจำคุก จะแก้เป็นเพิ่มโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมทั้งยืดอายุความเป็น 10 ปี เพื่อให้กรอ.มีระยะเวลาในการตามจับผู้กระทำผิด

จาก http://www.naewna.com วันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2558

ไทยอ่วมอินเดียอุดหนุนน้ำตาลดิบ ราคาดิ่ง-ร่วมออสซี่-บราซิลเก็บข้อมูลฟ้อง WTO

พาณิชย์แจม "Third Party" ร่วมกับออสเตรเลีย-บราซิล เก็บข้อมูลก่อนเคาะร่วมฟ้อง WTO สั่งอินเดียยกเลิกอุดหนุนส่งออกน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลก หลังราคาน้ำตาลดิ่งต่ำสุด

จากกรณีที่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาซื้อขายน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกเดือน มี.ค.-พ.ค. 2559 ร่วงลงไปทำสถิติต่ำสุด 13.79 เซนต์ต่อปอนด์ เนื่องจากค่าเงินบราซิลอ่อนค่าลง ประกอบกับก่อนหน้านี้ อินเดียซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลได้มีการใช้มาตรการอุดหนุนการส่งออก ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำตาลดิบในตลาดโลกเรื่อยมา ส่งผลกระทบต่อไทยในฐานะที่เป็นผู้ส่งออกน้ำตาลสำคัญของโลก

ล่าสุด นางสาวชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้ไทยอยู่ระหว่างติดตามประเมินสถานการณ์การใช้มาตรการอุดหนุนการส่งออกน้ำตาลทรายดิบของอินเดียเพื่อเตรียมตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมเป็นภาคี Third Party ร่วมกับออสเตรเลีย และบราซิล ที่ได้ยื่นคำร้องต่อองค์การการค้าโลก (WTO) เพื่อให้อินเดียยุติการใช้มาตรการดังกล่าว เพราะส่งผลกระทบต่อราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกหรือไม่

แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า การเข้าร่วม Third Party ยังไม่ใช่การร่วมยื่นคำร้องต่อ WTO แต่เป็นการเข้าไปร่วมกระบวนการหารือ ในฐานะที่ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลทรายสำคัญของโลก เพื่อทราบข้อมูลและประเมินความเสียหายก่อนจะพิจารณาตัดสินใจเข้าร่วมการยื่นฟ้องต่อ WTO ในลำดับต่อไป

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า ตามที่นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย ได้ยื่นหนังสือต่อประธานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย และกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เพื่อดำเนินการเรียกร้องให้ประเทศอินเดีย ยกเลิกมาตรการการอุดหนุนการส่งออกน้ำตาลทรายดิบ หลังจากที่คณะรัฐมนตรีอินเดียได้อนุมัติการอุดหนุนการส่งออกน้ำตาลรอบใหม่จำนวน 1.4 ล้านตัน ในราคาตันละ 4,000 รูปีต่อตัน (64 เหรียญสหรัฐ/ตัน) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2557 พร้อมทั้งยื่นข้อเรียกร้องต่อการกระทำของประเทศอินเดียในครั้งนี้ไปยังองค์การการค้าโลก (WTO) เรียบร้อยแล้ว

เพราะมาตรการดังกล่าวถือเป็นการบิดเบือนตลาด ขัดต่อหลักการปฏิบัติภายใต้ WTO และส่งผลกระทบต่อราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลก ทำให้ผู้ส่งออกน้ำตาลทรายดิบได้รับความเสียหาย ซึ่งไทยในฐานะที่เป็นผู้ส่งออกน้ำตาลทรายดิบอันดับ 2 ของโลก จึงเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐของไทยเร่งดำเนินการยื่นเรื่องเรียกร้องให้ประเทศอินเดียหยุดมาตรการอุดหนุนดังกล่าวโดยเร็วที่สุด

ทั้งนี้ในปี 2557 ที่ผ่านมา รัฐบาลอินเดียได้เพิ่มมาตรการอุดหนุนการส่งออกน้ำตาลทรายดิบ จำนวน 4 ล้านตัน ในราคาตันละ 3,300 รูปีต่อตัน หรือประมาณตันละ 54 เหรียญสหรัฐ และได้ขยายเวลาการอุดหนุนไปจนถึงเดือนกันยายน 2557 ทำให้ประเทศบราซิล ออสเตรเลีย และไทย ซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มพันธมิตรเพื่อการปฏิรูปการค้าน้ำตาลโลก (GSA) และเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลทรายดิบรายใหญ่ของโลก ได้เห็นพ้องร่วมกันต่อการดำเนินมาตรการกดดันให้รัฐบาลอินเดียยกเลิกมาตรการดังกล่าวมาโดยตลอด รวมถึงในการประชุม Thailand-Australia Sugar Industry Dialogue ครั้งที่ 8 ที่ 3 เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ไทยและออสเตรเลียได้แสดงความกังวลต่อประเด็นการอุดหนุนส่งออกน้ำตาลทรายดิบในรอบนี้ และออกแถลงการณ์เรียกร้องให้อินเดียยกเลิกมาตรการอุดหนุนการส่งออกน้ำตาลทรายดิบโดยเร็ว

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2558

3 สมาคมโรงงานน้ำตาล หวังรัฐหนุน ร้อง WTO หลังอินเดียอุดหนุนราคาน้ำตาล บิดเบือนกลไกตลาดโลก

นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังให้ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายเข้าพบ ว่า ผู้ประกอบการ 3 สมาคมฯ มีความกังวลเรื่องราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกที่ตกต่ำลง เนื่องจากขณะนี้ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทรายเสียเปรียบคู่ค้าในการส่งออกน้ำตาลทรายไปยังต่างประเทศ หลังอินเดียมีมาตรการอุดหนุนการส่งออกน้ำตาลทรายที่ราคา 64 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ทำให้ที่ผ่านมาราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกตกลงกว่า 2 เซนต์ต่อปอนด์

โดยขณะนี้ราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกเฉลี่ยอยู่ที่ 14 เซนต์ต่อปอนด์ ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลเป็นแกนหลักในการสนับสนุนผู้ประกอบการในการยื่นเรื่องต่อองค์การการค้าโลก หรือ WTO เพื่อพิจารณาให้เกิดความเป็นธรรม

ทั้งนี้ ปริมาณการส่งออกน้ำตาลทรายของไทยไปต่างประเทศ หรือ โควตา ค. มีปริมาณสูงถึง 7 ล้านตัน ในขณะที่น้ำตาลทรายดิบที่ส่งออกโดยบริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย หรือ โควตา ข. มีปริมาณกว่า 8 แสนตัน โดยการอุดหนุนราคาของอินเดียส่งผลกระทบโดยตรงต่อราคาส่งออกของไทย

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการมีความกังวลเรื่องการส่งออกน้ำตาลทรายไปตลาดญี่ปุ่นที่ขณะนี้ค่อนข้างเสียเปรียบออสเตรเลีย เนื่องจากญี่ปุ่นและออสเตรเลียมีการเจรจาเขตการค้าเสรี หรือ FTA ระหว่างกัน ในขณะที่ไทยยังไม่มีกรอบความตกลงดังกล่าว ดังนั้นจึงเสนอให้การเจรจาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดไทย-ญี่ปุ่น หรือ JTEPA รอบต่อไปที่จะเกิดขึ้นในเดือน เม.ย. ให้กำหนดเรื่องกรอบการเจรจา FTA  ของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายให้มีความชัดเจนมากขึ้นด้วย

จาก http://www.innnews.co.th    วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2558

ไขข้อกังขา-เท็จหรือจริง ไทยก้าวเข้าสู่ภาวะเงินฝืด

"เงินเฟ้อไทยไม่ควรติดลบเกิน 4 เดือน..หากรัฐปล่อยให้เงินเฟ้อติดลบต่อเนื่องเดือนที่ 6 เป็นสัญญาณเงินฝืดเล็กๆ หากเกินเข้าเดือนที่ 7-8 จะเข้าภาวะเงินฝืดเต็มตัว"

หลังการเปิดเผยตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อ) เดือนกุมภาพันธ์ 2558 ของกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า เงินเฟ้อยังติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ของปี โดยเทียบเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ติดลบ 0.52% ทำสถิติเงินเฟ้อต่ำสุดในรอบ 5 ปี 5 เดือน ส่งผลเฉลี่ยเงินเฟ้อ 2 เดือน ติดลบ 0.47%

ดูไส้ในพบว่า หมวดสินค้าอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ติดลบ 1.71% เพราะเกิดจากการลดลงของน้ำมันเชื้อเพลิง 20.92% ขณะที่หมวดสินค้าอาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นในอัตราต่ำลงต่อเนื่องในรอบ 6 ปี หรือสูงขึ้นเพียง 1.72% ซึ่งเหตุที่หมวดอาหารยังสูง แม้กระทรวงพาณิชย์ออกมาระบุว่าราคาเนื้อสัตว์สำคัญทั้งเนื้อหมู เนื้อไก่ ไข่ไก่ และผักสด ราคาอ่อนตัวลง เนื่องจากปีนี้ไม่มีปัญหาอากาศแปรปรวนจนกระทบต่อผลผลิตลดลง แต่การบริโภคในบ้านและนอกบ้านยังเพิ่มขึ้น 3.07% และ 3.74% ตามลำดับ

- พาณิชย์ถอยคาดการณ์เงินเฟ้อต่ำกว่า1%

กระทรวงพาณิชย์ยืนยันว่า เหตุผลที่อัตราเงินเฟ้อลดลงต่อเนื่องเพราะราคาน้ำมันดิบตลาดโลกปรับตัวลดลงมาก เมื่อถามว่าจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืดหรือไม่ กระทรวงพาณิชย์กลับตอบว่า "ยังตอบไม่ได้ ต้องรอดูสถานการณ์ราคาน้ำมันให้นิ่งกว่านี้ถึงจะประเมินได้ เพราะน้ำมันที่ลดลงเป็นผลต่อต้นทุนสินค้าด้วย แต่ก็ยอมรับว่าคนมีการระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น เงินเฟ้อไตรมาสแรกปีนี้น่าจะติดลบ 0.4% และอาจต้องทบทวนตัวเลขเงินเฟ้อใหม่ จากเดิมคาดการณ์ขยายตัวในกรอบ 1.8-2.5% เหลือ 0.6-1.3%" ซึ่งภาคเอกชนก็ยังมีความเห็นที่ยังไม่เป็นเอกฉันท์

อย่างนายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการบริหารสมาคมผู้ค้าปลีกไทย แสดงความคิดเห็นว่า แม้ดัชนีค้าปลีกจะลดลงต่อเนื่อง จากปี 2555 โต 12% เหลือ 6.3% ในปี 2556 และเหลือโต 3.2% ในปี 2557 ซึ่งยังโตสูงกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ที่โตเพียง 0.8% และธุรกิจค้าปลีกทุกภาคยังขยายสาขาอีก 15-20% จึงยังไม่เห็นว่าเศรษฐกิจไทยเข้าภาวะเงินฝืด ภาษาชาวหุ้นเรียกว่าอยู่ในช่วงปรับฐาน เพราะไทยยังมีเรื่องอุปสงค์ด้านบ้านและรถยนต์อยู่ และเงินเฟ้อที่ติดลบหลักๆ เป็นผลจากราคาน้ำมันที่ลดลง

ว่าที่ ร.อ.จิตร์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคกลาง สะท้อนไว้ว่า ติดตามสถานการณ์การค้าปลีกในต่างจังหวัด พบว่ายังไม่ดีนักและต่อเนื่องมาหลายเดือนแล้ว อาจจะยังไม่ถึงเงินฝืดตอนนี้ แต่อนาคตอันใกล้ก็อาจเป็นได้ หากปัญหาเดิมๆ ยังไม่ได้รับการแก้ไข โดยเฉพาะเรื่องการเบิกจ่ายและเร่งลงทุนจากภาครัฐเข้าระบบรากหญ้า ซึ่งก็พูดหลายครั้งแล้วว่ารัฐต้องมุ่งเน้นการใช้จ่ายของคนมีรายได้น้อยและใช้แรงงานประจำวันให้เร็วที่สุด ไม่ควรมีระบบการจัดจ้างที่ใช้เวลานานเกินไป เพราะคนกลุ่มรายได้น้อยเมื่อเขามีเงินก็จะใช้เงินทันที

ด้านนักวิชาการอย่างนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์การพยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มีมุมมองว่า เงินเฟ้อไทยไม่ควรติดลบเกิน 4 เดือน สิ่งที่น่ากังวลมากกว่าคือเงินเฟ้อต่ำ ในขณะที่สถานการณ์ราคาพลังงานอยู่ในระดับต่ำ และอำนาจซื้อของประชาชนที่หายไปเพราะรายได้รากหญ้าลดลง สินค้าเกษตรยังมีราคาทรงตัวระดับต่ำ และงบรัฐก็ยังน้อยกว่าที่กำหนดไว้ ทำให้คนระมัดระวังใช้จ่ายหรือชะลอการใช้จ่าย หากรัฐปล่อยให้เงินเฟ้อติดลบต่อเนื่องถึงเดือนที่ 6 จะเป็นสัญญาณเงินฝืดเล็กๆ หากเกินเข้าเดือนที่ 7-8 จะเข้าภาวะเงินฝืดเต็มตัว จะมีผลเสียต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจรุนแรง ซึ่งตอนนี้ดูว่าสุ่มเสี่ยง ดูจากยอดใช้จ่ายตามเทศกาลหลังปีใหม่ 2558 ทั้งวันวาเลนไทน์ ตรุษจีน และมาฆบูชา ที่หดตัวต่ำสุดในรอบ 4-5 ปี รวมๆ แล้วสูญเงินในระบบเศรษฐกิจกว่า 5 หมื่นล้านบาท

- ผู้ส่งออกชี้ต่างชาติเกิดเงินฝืดแล้ว

อีกด้านอย่างผู้ส่งออก นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งออกทางเรือ เห็นว่า ขณะนี้ไทยแค่เผชิญกับภาวะส่งออกหดตัวถึงขั้นติดลบ ยังเจอปัญหาเข้าภาวะเงินฝืดกลายๆ แล้ว ซึ่งเป็นภาวะเดียวกับในหลายประเทศสำคัญๆ ที่ต่างเจอเงินเฟ้อลดลง บางประเทศเข้าภาวะเงินฝืด จึงเป็นต้นเหตุทำให้การนำเข้าสินค้าลดลง และไทยส่งออกสินค้าได้น้อยลง หากแต่ละประเทศแก้ไขไม่ได้ จะกลายเป็นเงินฝืดไปทั่วโลก

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานหอการค้าไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เงินเฟ้อติดลบขณะนี้เป็นปรากฏการณ์ของราคาสินค้าลดลงเล็กน้อย เป็นแค่เบื้องต้น ดูแล้วดีใช่ไหม แต่อุปสงค์เกิดน้อย หากไม่มีอุปสงค์เข้ามาซื้อ ราคาก็จะตกไปเรื่อยๆ จากการแข่งขันกันลดราคา หากเกิดปรากฏการณ์อย่างนี้นานๆ ไป เศรษฐกิจจะชะงักงันได้ เมื่อเศรษฐกิจไม่ดี เงินก็ไม่เข้ากระเป๋า โรงงานก็เจ๊ง เงินเฟ้อติดลบสะท้อนกำลังซื้อของประชาชนมีไม่มาก เงินเข้ากระเป๋าน้อยลง เทียบแล้วคล้ายคนสะลึมสะลือง่วงนอน คนก็ไม่อยากใช้จ่าย เป็นหน้าที่รัฐบาลต้องกระตุ้นการบริโภค ลงทุนเพิ่ม เร่งเบิกจ่ายงบประมาณ โปรโมตต่างๆ ที่กระตุ้นให้คนใช้เงิน ส่งเสริมการท่องเที่ยว เวลานี้ดูรัฐบาลก็พยายามทำเต็มที่แล้ว แต่ก็ได้เท่าที่ได้

- สศช.รับต้องระวังเงินฝืด

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ตอบในเรื่องเงินเฟ้อติดลบนำไปสู่เงินฝืดแล้วหรือไม่ว่า "การพิจารณาปัจจัยว่าจะมีภาวะเงินฝืดหรือไม่ ต้องดูจากหลายปัจจัย ทั้งราคาสินค้า รวมทั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการเติบโตของรายได้ ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัยหลังยังเป็นไปในทิศทางที่ดี แต่ยอมรับว่าเงินฝืดเป็นปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวัง โดยหลายประเทศหากอัตราเงินเฟ้อลดลงใกล้ระดับ 0 ก็จะมีมาตรการออกมาทันที ดังนั้น ย้ำอีกครั้งว่าผู้ดูแลนโยบายการเงินจะต้องดูแลให้อัตราดอกเบี้ยสอดคล้องกับภาวะทางเศรษฐกิจของประเทศ"

ขณะที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ให้ความสำคัญแล้ว โดยสั่งให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดูแล 2 เรื่อง คือเรื่องอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ย และระบุอีกว่า รัฐบาลจะติดตามปัญหาหนี้สินครัวเรือนและให้ธนาคารภาครัฐติดตามให้ความช่วยเหลือ และยอมรับเรื่องประชาชนไม่กล้าใช้จ่าย

เมื่อได้สอบถาม พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะดูแลเรื่องปากท้องประชาชนและจัดทำดัชนีเงินเฟ้อ ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ภาพรวมราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคขณะนี้ ไม่ได้แพงขึ้น ราคาส่วนใหญ่ทรงตัวเท่าปีก่อน ที่เห็นว่าราคาสูงขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะเงินในกระเป๋าประชาชนใช้จ่ายลดลง เพราะต้องแบกรับกับหนี้สินคงค้างที่สูง ทั้งหนี้ในระบบและหนี้นอกระบบ ตัวเลขหนี้ครัวเรือนสูงถึง 84-85% นายกฯมีความเป็นห่วง หลังจากได้รับข้อมูลและข้อร้องเรียนของประชาชนว่ามีหนี้สินเยอะมาก จากนโยบายประชานิยมที่ผ่านๆ มาทำให้ประชาชนใช้จ่ายเกินตัว อย่างรถยนต์คันแรก ประชาชนจะเป็นหนี้อีก 2 ปี อีกเรื่องคือค่านิยมหลงวัตถุนิยม ตอนนี้เยาวชนแข่งขันกันใช้มือถือราคาแพง ก็เป็นภาระหนี้ให้กับผู้ปกครอง ผู้ประกอบการเมื่อขายของได้ลดลง บางส่วนก็ใช้เรื่องการปรับราคาเป็นตัวพยุงธุรกิจ ซึ่งเราก็ต้องดูแลในเรื่องนี้

"นายกฯอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับไปศึกษาวิธีการว่าจะทำอย่างไรที่จะช่วยกันลดภาระหนี้ให้กับประชาชนได้บ้างความเห็นส่วนตัว เสาค้ำเศรษฐกิจคือการลงทุนภาครัฐและการลงทุนภาคเอกชน ได้มีการลงทุนต่อเนื่องแล้ว เครื่องจักร 2 ส่วนนี้ทำงานแล้ว ก็เหลือภาคบริโภคที่กำลังซื้อยังไม่ดีนัก ผมมองใน 2 ด้านที่น่าจะต้องทำพร้อมๆ กันคือ ลดภาระประชาชน ผมก็มองเรื่องการพักหนี้ให้เกษตรกรหรือผู้มีรายได้น้อย เพราะคนกลุ่มนี้เมื่อมีเงินก็จะใช้เงิน แต่เมื่อมีรายได้น้อย มีหนี้สูง ทำให้เงินที่จะใช้มีข้อจำกัด ต้องทำอย่างไรให้คนกลุ่มนี้มีกำลังใช้จ่าย อีกด้านคือจัดแคมเปญกระตุ้น เพื่อให้เกิดกำลังซื้อกำลังบริโภค" พล.อ.ฉัตรชัยกล่าว

- เฟ้อติดลบ 2 เดือนยังไม่ฝืด

พล.อ.ฉัตรชัยย้ำว่า เรื่องเงินฝืด ตอนนี้ยังไม่เกิด แม้เงินเฟ้อจะติดลบแล้ว 2 เดือน เพราะเงินเฟ้อที่ลดลงมาก ที่ผ่านมาผลจากราคาพลังงานและสินค้าสำคัญราคาลดกว่าก่อนมาก อีกทั้งมาตรการลดค่าครองชีพประชาชนก็ยังมีผลอยู่ แต่หากมีการพูดว่ากำลังเกิดภาวะเงินฝืด และเมื่อพูดกันมากขึ้นบ่อยขึ้นก็จะมีผลทางจิตวิทยาให้คนรู้สึกว่าเงินฝืด คนมีเงินก็ไม่กล้าใช้เงิน สุดท้ายอาจเกิดภาวะเงินฝืดขึ้นมาได้จริง ตอนนี้เท่าที่ได้ติดตามสินค้าอุปโภคและบริโภคยังมีอยู่ในภาวะปกติ ยอมรับว่ากำลังซื้อดูน้อยลง แต่เชื่อว่าประเทศไทยจะไม่เกิดภาวะเงินฝืด ด้วยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่ง เงินออมของประเทศยังสูง การลงทุนจากต่างประเทศในประเทศก็เพิ่มมากขึ้น ดูจากการอนุมัติของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และอีกหลายองค์ประกอบ จึงมั่นใจว่าประเทศไทยจะไม่เกิดปัญหาเงินฝืดแน่นอน

ทั้งหมดนี้น่าจะลดข้อกังขา คลายข้อสงสัยว่าไทยกำลังเข้าสู่ภาวะเงินฝืดแล้ว หรือแค่คำพูดปากต่อปาก

แต่กระนั้นคงต้องช่วยกันภาวนาว่า ขออย่าซ้ำรอยเหมือนตัวเลขการส่งออกที่ฝ่ายรัฐพูดตลอดว่าไม่แย่ แต่สุดท้ายตัวเลขโชว์ให้เห็นความสามารถที่ถดถอยถึงขั้นติดลบตั้่งแต่ปลายปี 2557 ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน

หรือซ้ำรอยค่าเงินบาทที่ฝ่ายรัฐพูดอีกนั่นแหละว่าไม่แข็งค่ากว่าสกุลเงินอื่นๆในอาเซียน แต่ที่สุดเงินบาทไทยแข็งโป๊กจนไม่อาจแข่งขันด้านราคาส่งออกได้

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2558

กระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมเสนอแผน 5 ปี จำกัดกากอุตสาหกรรมให้ ครม.พิจารณา ตั้งเป้านำกากอันตรายเข้าระบบปีนี้ 1.5 ล้านตัน

นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหรรม เปิดเผยภายหลังเปิดโครงการอุตสาหกรรมทั่วไทย ร่วมใจจัดการขยะอุตสาหกรรม ว่า ปัจจุบันไทยมีปริมาณกากอุตสาหกรรมอันตรายกว่า 3.35 ล้านตันต่อปี แต่สามารถนำเข้าระบบกำจัดอย่างถูกต้องเพียง 1.03 ล้านตันเท่านั้น โดยในปีนี้กระทรวงฯ ตั้งเป้าให้กากอุตสาหกรรมอันตรายเข้าระบบเพิ่มเป็น 1.5 ล้านตันต่อปี พร้อมเตรียมเสนอแผนการจัดการกากอุตสาหกรรมในระยะ 5 ปี ระหว่างปี 2558-2562 ต่อคณะรัฐมนตรีภายในเดือนมีนาคมนี้ เพื่อให้โรงงานต่าง ๆ นำกากอุตสาหกรรมอันตรายเข้าสู่ระบบมากขึ้น โดยมีเป้าหมายนำโรงงานเข้าสู่ระบบการจัดการกากอุตสาหกรรมที่ถูกต้องให้ได้กว่าร้อยละ 90 โดยแผนดังกล่าวประกอบด้วยยุทธศาสตร์ 4 ด้าน อาทิ การกำกับดูแล การบังคับใช้กฎหมาย โดยจะติดตามการต่ออายุใบอนุญาตโรงงานที่ขาดการจัดการกากอุตสาหกรรม รวมทั้งพัฒนาระบบติดตามการขนส่งกากอันตรายให้สมบูรณ์ การปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย เข้มงวดกับผู้ฝ่าฝืน การอำนวยความสะดวกกับผู้ปฏิบัติตาม การสร้างความร่วมมือ แรงจูงใจให้กับผู้ประกอบการนำกากอุตสาหกรรมเข้าระบบ รวมถึงการจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่รองรับกากอุตสาหกรรม 6 แห่ง สำหรับอนาคต 20-30 ปี และแผนการจัดการแผงโซลาร์เซลล์ที่จะหมดอายุใน 20 ปีข้างหน้า

จาก http://www.innnews.co.th   วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2558

รายงานพิเศษ : เกษตรประกาศผลสำเร็จรณรงค์ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทะลุเป้าหมายขั้นต่ำ 250,000 ตัน

ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีแนวนโยบาย ช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถเพิ่มผลผลิต โดยลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมี และส่งเสริมการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ให้มากขึ้น จึงได้กำหนดเรื่องปุ๋ยอินทรีย์เป็นวาระแห่งชาติ และให้ความสำคัญด้านการเกษตร โดยเฉพาะเรื่องการผลิตและการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ และต้องการให้พี่น้องเกษตรกรผลิตและใช้ปุ๋ยอินทรีย์ให้มากขึ้น ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว โดยมอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตร รณรงค์และประสานกับหน่วยงานทหารในพื้นที่ เพื่อให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

ในเรื่องนี้ นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ดำเนินการรณรงค์ และประสานกับหน่วยงานในพื้นที่ทั้งส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานทหาร ส่งเสริมให้เกษตรกรและชุมชนผลิตปุ๋ยอินทรีย์ มีการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อให้มีการผลิตและใช้ปุ๋ยอินทรีย์อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยดำเนินการส่งเสริมการใช้ปุ๋ยเพื่อลดต้นทุนการผลิตแบ่งเป็น 2 ด้าน คือ 1) ด้านการใช้ปุ๋ยเคมีอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมโดยให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน หรือ ปุ๋ยสั่งตัด ซึ่งมีเป้าหมายลดต้นทุนปุ๋ยเคมี อย่างน้อยร้อยละ 20 และจัดตั้งศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) อำเภอละ 1 ศูนย์จาก 77 จังหวัดทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 882 ศูนย์ฯ ที่บริหารจัดการโดยเกษตรกร และจากการส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน หรือ ปุ๋ยสั่งตัด สามารถช่วยลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมีในนาข้าวของเกษตรกรได้ถึงร้อยละ 49 และ

2)ด้านการส่งเสริมการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ มีเป้าหมายขั้นต่ำ 250,000 ตัน ดำเนินการโดยให้สำนักงานเกษตรจังหวัด บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ทั้งภายในและนอกกระทรวงเกษตรกรและสหกรณ์ เพื่อส่งเสริมการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ในพื้นที่  882 อำเภอ ทั่วประเทศ โดยให้เกษตรตำบล 1 คน ส่งเสริมการผลิตปุ๋ยอินทรีย์อย่างน้อย 50 ตัน และเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์การใช้ปุ๋ยอินทรีย์สำนักงานเกษตรอำเภอทุกอำเภอได้จัดทำปุ๋ยหมัก ไว้หน้าสำนักงานเกษตรอำเภอ อีกทั้งยังจัดงานรณรงค์การส่งเสริมการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2557 เป็นต้นมา ปรากฏว่าปริมาณปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตได้จนถึงเดือนมีนาคม 2558 มีปริมาณถึง 474,703.34 ตัน คิดเป็น ร้อยละ 189.88 ของเป้าหมายขั้นต่ำ กรมส่งเสริมการเกษตร จึงได้จัดงานประกาศความสำเร็จการส่งเสริมการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ 250,000 ตัน ตามเป้าหมายขั้นต่ำที่กำหนด เพื่อประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเกษตรกร และบุคคลทั่วไป ได้รับทราบผลงานและประโยชน์ของการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ในวันที่ 6 มีนาคม 2558 ณ ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนบ้านเขานม หมู่ 6 ตำบลเขาชะงุ้ม อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี

ทางด้าน นายประสงค์ ประไพตระกูล ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย กล่าวเพิ่มเติมว่า  การจัดงานครั้งนี้มีการจัดนิทรรศการให้ความรู้เรื่อง การผลิตและใช้ปุ๋ยอินทรีย์ แก่เกษตรกร ยุวเกษตรกร และผู้ร่วมงาน เพื่อนำความรู้ที่ได้รับไปผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง โดยแบ่งสถานีให้ความรู้จำนวน 6 สถานี ประกอบด้วย สถานีที่ 1 ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน จำลองศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน แสดงบทบาทภารกิจ การตรวจวิเคราะห์ดิน แปลผล พร้อมให้คำแนะนำ สถานีที่ 2 การส่งเสริมการใช้ปุ๋ย เพื่อลดต้นทุนการผลิต แบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก คือ (1) ส่งเสริมการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เป้าหมาย 250,000 ตัน แสดงผลความสำเร็จของการส่งเสริมการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ 4 ประเภท ได้แก่ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด ไถกลบตอซัง และน้ำหมักชีวภาพ (2) ส่งเสริมการใช้ปุ๋ยเคมีอย่างมีประสิทธิภาพ เป้าหมายลดต้นทุนปุ๋ยเคมี อย่างน้อย ร้อยละ 20 แสดงการเปรียบเทียบผลของการใช้เทคโนโลยีปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินหรือปุ๋ยสั่งตัด และวิธีการใช้ปุ๋ยของเกษตรกร ในพืชชนิดต่างๆ คือ ข้าว พืชผัก ยางพารา และปาล์มน้ำมัน และ (3) ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน 882 ศูนย์ แสดงรูปแบบการบริหารจัดการศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน ตามระบบ MRCF และชนิดพืชหลักของศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนทั้ง 882 ศูนย์ฯ ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ

สถานีที่ 3 ปุ๋ยอินทรีย์ แสดงประเภทของปุ๋ยอินทรีย์ วิธีการผลิต และประโยชน์จากการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ สถานีที่ 4 ปุ๋ยพืชสด แสดงแปลงสาธิตและไถกลบปุ๋ยพืชสด (ปอเทือง) และสาธิตการใช้รถหว่านปุ๋ยอินทรีย์ สถานีที่ 5 นิทรรศการหน่วยงานภาคี แสดงนิทรรศการของหน่วยงานต่างๆ ประกอบด้วย 1) ศูนย์วิจัยข้าวราชบุรี 2) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดราชบุรี 3) ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรราชบุรี 4) สหกรณ์จังหวัดราชบุรี 5) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 10 จังหวัดราชบุรี 6) สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดราชบุรี และ 7) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และ สถานีที่ 6 เครื่องจักรกลการเกษตร แสดงเครื่องจักรกลการเกษตรที่เกี่ยวข้องกับปุ๋ยอินทรีย์ และการเกษตรกรรมอื่นๆ เช่น เครื่องหว่านปุ๋ยอินทรีย์ เครื่องผสมปุ๋ย รถไถเครื่องพ่นสารชีวภัณฑ์ เครื่องเพาะกล้าข้าว เป็นต้น นอกจากนั้น ยังมีพิธีการมอบโล่เกียรติยศเพื่อเชิดชูเกียรติให้แก่จังหวัดที่ส่งเสริมการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ดีเด่น 5 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดสุรินทร์ พิจิตร ยโสธร กำแพงเพชร และจันทบุรี พร้อมกับมอบโล่เกียรติยศให้แก่จังหวัดราชบุรีที่ให้การสนับสนุนการจัดงาน โดยมีผู้เข้าร่วมงาน ประกอบด้วย เกษตรกร ยุวเกษตรกร แขกผู้มีเกียรติจากหน่วยงานต่างๆ ที่ร่วมบูรณาการการส่งเสริมการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจากจังหวัดราชบุรีและจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งสิ้นกว่า 1,000 คน

จาก http://www.naewna.com    วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2558

กรอ.คุมตั้งโรงงานไร้ทิศทาง

กรอ.ทุ่ม 50 ล้านบาท ศึกษาโซนนิ่งตั้งโรงงานอุตสาหกรรม 14 จังหวัดนำร่อง หวังเป็นข้อมูลให้แต่ละจังหวัดนำไปประกอบการวางผังเมืองใหม่  ให้อุตสาหกรรมแต่ละประเภทมีพื้นที่ยืน หลังถูกพื้นที่สีเขียวแย่งชิงพื้นที่  เผยแผนแม่บทพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเริ่มเดินหน้า ปีนี้ตั้งเป้ายกระดับโรงงานสีเขียวใน 5 จังหวัดนำร่อง 180 แห่ง

    ร.อ.ธเนศ จันทกลิ่น ผู้อำนวยการสำนักงานโรงงานอุตสาหกรรมรายสาขา 4 กรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ขณะนี้กรอ.อยู่ระหว่างการศึกษาการกำหนดพื้นที่(โซนนิ่ง) อุตสาหกรรมที่จะเข้าไปตั้งในแต่ละจังหวัดว่าจะมีประเภทใดที่เหมาะสมกับพื้นที่นั้นๆ บ้าง โดยจะนำร่องใน 14 จังหวัดแรกก่อน โดยแบ่งเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมหนาแน่น จำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง สมุทรสาคร นครปฐม พระนครศรีอยุธยา สมุทรปราการ และพื้นที่อุตสาหกรรมที่มีการเติบโตสูง จำนวน 8 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ขอนแก่น สระบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี สุพรรณบุรี ปราจีนบุรี และฉะเชิงเทรา โดยใช้งบประมาณในการศึกษาครั้งนี้ประมาณ 50 ล้านบาท จะแล้วเสร็จในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้

    ทั้งนี้ การศึกษาดังกล่าว เพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลประกอบในการจัดทำผังเมืองให้สอดคล้องแต่ละจังหวัด ที่ลักษณะของพื้นที่ที่มีความแตกต่างกัน เนื่องจากในแต่ละปีจะมีการปรับปรุงผังเมืองของจังหวัดทุกๆ 5 ปี หากนำผลการศึกษานี้ไปร่วมจัดทำผังเมืองได้ ก็จะส่งผลให้พื้นที่อุตสาหกรรม ยังสามารถเกิดขึ้นในแต่ละจังหวัดได้ เพราะขณะนี้ต้องยอมรับว่าพื้นที่การตั้งของโรงงานอุตสาหกรรม เป็นไปอย่างไม่มีระเบียบ และบางพื้นที่เกิดขึ้นได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากผังเมืองส่วนใหญ่ถูกวางไว้ให้เป็นพื้นที่สีเขียวหรือเพื่อการอยู่อาศัย ทำให้พื้นที่ในการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมถูกจำกัดลง หากมีผลการศึกษาที่แน่ชัดออกมาว่าแต่ละจังหวัดเหมาะสมที่จะให้มีประเภทอุตสาหกรรมใดเกิดขึ้นได้บ้าง ก็จะช่วยให้สามารถกันพื้นที่ตั้งโรงงานประเภทนั้นๆ ได้

    "อย่างกรณีของจังหวัดระยอง ซึ่งมีนโนบายการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งภาคตะวันออก ก็เหมาะสมสำหรับที่จะให้มีอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเกิดขึ้น หรือจังหวัดที่มีการทำเกษตรเป็นหลักก็เหมาะกับที่จะให้มีการตั้งโรงงานแปรรูปเกษตร เป็นต้น ไม่ใช่ว่าทุกจังหวัดจะทำอุตสาหกรรมทุกประเภทไปอยู่ที่เดียวกันได้ เมื่อจังหวัดนำร่องเสร็จเรียบร้อยแล้ว กรอ.จะขยายผลการศึกษาให้ครอบคลุมทั่วประเทศต่อไป"

    นอกจากนี้ การกำหนดพื้นที่ของประเภทอุตสาหกรรม ยังเป็นส่วนหนึ่งของแผนแม่บทการพัฒนาเข้าสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ที่รัฐบาลต้องการผลักดันให้เกิดขึ้นภายในปี 2562 อย่างน้อย 11 จังหวัด เพราะถือเป็นมิติด้านกายภาพ ที่อยู่ใน 5 มิติ ที่แต่ละจังหวัดจะต้องไปดำเนินการจัดทำขึ้นให้เป็นรูปธรรมขึ้นมา

    นายพงษ์เทพ จารุอำพรรณ ผู้จัดการโครงการ และที่ปรึกษาสถาบันสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า สำหรับกรอบการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศนั้น  ปีนี้ตั้งเป้าหมายว่าจะดำเนินการส่งเสริมให้เป็นโรงงานสีเขียว ในจังหวัดระยอง สมุทรปราการ สมุทรสาคร จังหวัดละ 50 แห่ง มีระบบตรวจประเมินระบบบำบัดมลพิษจังหวัดละ 40 แห่ง ส่วนจังหวัดฉะเชิงเทรา จะยกระดับเป็นโรงงานสีเขียว จำนวน 20 แห่ง และตรวจประเมินระบบบำบัดมลพิษ 20 แห่ง  และจังหวัดปราจีนบุรีจะยกระดับเป็นโรงงานสีเขียว จำนวน 10 แห่ง และตรวจประเมินระบบบำบัดมลพิษ 20 แห่ง เป็นต้น

จาก http://www.thanonline.com วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2558

พด.เตรียมจัดเวทีวิชาการ"ดิน"

นางกุลรัศมิ์ อนันต์พงษ์สุข รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า จากนโยบายของรัฐบาลที่มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ขับเคลื่อนโครงการ “ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ปวงประชาถวายพ่อของแผ่นดิน” โดยในส่วนของกรมพัฒนาที่ดิน จะจัดประชุมวิชาการเรื่องดินระดับประเทศ ระหว่างวันที่ 26-30 เมษายน ที่ จ.ขอนแก่น เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนที่สนใจ มาร่วมประชุมทางวิชาการและเสนอความคิดเห็นต่างๆ เกี่ยวกับทรัพยากรดินและการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ การจัดนิทรรศการปฐพีใต้ธุลีพระบาท เรื่องดินอุดม น้ำสมบูรณ์ด้วยพระบารมี เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมทั้งการจัดนิทรรศการแสดงแบบจำลองหรือโมเดลด้านการอนุรักษ์ดินและน้ำ แบบจำลองในเรื่องของมวลชีวภาพและประโยชน์ของหญ้าแฝก โครงการแหล่งน้ำชุมชน โดยนำร่องตัวอย่างจากบ้านดอนตาผล ต.นาขา อ.หลังสวน จ.ชุมพร มานำเสนอเป็นรูปแบบโครงการพัฒนาแหล่งน้ำชุมชนที่ประสบผลสำเร็จ และเรื่องการจัดการองค์ความรู้ด้านการพัฒนาที่ดินเป็นการสร้างสีสันให้กับงาน มีการจัดเวทีถาม-ตอบปัญหา และมีรางวัลให้ โดยผู้ที่เข้ามาร่วมกิจกรรมสามารถเรียนรู้กับนิทรรศการได้ทั้งงาน รวมทั้งมีการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ พด. โดยนำเสนอในเรื่องของนวัตกรรมและการนำไปใช้ประโยชน์ของผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ พด. ตลอดจนมีการแจกผลิตภัณฑ์ให้นำไปใช้ในพื้นที่ฟรีด้วย

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2558

สภาเกษตรกรแห่งชาติกระทรวงเกษตรฯ ร่วมแก้ปัญหา

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกันระหว่างสภาเกษตรกรแห่งชาติกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์”

สภาเกษตรกรแห่งชาติกระทรวงเกษตรฯร่วมแก้ปัญหาใน 4 ประเด็น

นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกันระหว่างสภาเกษตรกรแห่งชาติกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์” ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์คอนเวนชั่น ว่า ประเด็นเร่งด่วนที่กระทรวงเกษตรฯ ต้องอาศัยความร่วมมือกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ เพื่อแก้ไขปัญหาภาคเกษตรขณะนี้มี 4 ประเด็นหลัก คือ 1. วางแผนการผลิตในฤดูกาลผลิตปีนี้และปีหน้า 2. การสร้างความเข้าใจแก่เกษตรกรต่อนโยบายภาครัฐในเรื่องต่าง ๆ อาทิ บริหารจัดการน้ำ การปรับโครงสร้างข้าว การปรับโครงสร้างระบบสหกรณ์นอกเหนือการค้าขาย

3. การมีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็นในรายละเอียดกฎหมายฉบับต่าง ๆ ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ได้แก่ พ.ร.บ.การยาง พ.ร.บ. รายได้และสวัสดิการเกษตรกร และ พ.ร.บ. ประมง ที่ยังมีรายละเอียดในบางส่วนที่จะต้องสร้างเวทีในการสร้างความเข้าใจร่วมกันก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ และ 4. การตรวจสอบข้อมูลทะเบียนเกษตรกร ให้สามารถพิสูจน์ความเป็นเกษตรกรผู้ยากจนที่ควรได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน.

จาก http://www.dailynews.co.th   วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2558

เปิดประเทศเศรษฐกิจอาเซียน

ผ่านมาได้ 2 เดือนกว่าสำหรับปีแพะ คนทั่วโลกรู้กันดีว่าเศรษฐกิจใหญ่เบอร์ 1 ของโลก คือ สหรัฐฯ ฟื้นตัวดีวันดีขึ้น นั่นคือโอกาสทองที่ต้องเร่งขายสินค้าจากทั่วโลกเข้าไปในตลาดที่กล้าจ่าย กล้าซื้อ ทั่วโลกรีบอัดฉีดส่งออก ทั่วโลกรีบเจรจาเปิดการค้าเสรีที่คั่งค้าง ทั่วโลกรีบขับเคลื่อนแผนสร้างเศรษฐกิจให้แข็งแกร่งอีก 10 หรือ 20 ปีข้างหน้า พูดง่ายๆ ทั่วโลกเปิดเมือง เปิดประเทศ เปิดโอกาสทองเศรษฐกิจ

ผมเริ่มต้นที่แดนเสือเหลือง มาเลเซีย วางเป้าหมายสู่เป้าหมายประเทศพัฒนาแล้วภายในปี 2020 รัฐบาลมาเลเซียชุดปัจจุบัน ตั้งเป้าชัดเจนว่า ภายในอีก 5 ปีข้างหน้า คนในประเทศจะต้องมีรายได้ต่อหัวต่อปีอยู่ที่ 15,000 เหรียญสหรัฐฯ หรือเกือบ 5 แสนบาท ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่ธนาคารโลกกำหนดไว้สำหรับประเทศที่มีรายได้ต่อหัวขั้นสูง ซึ่งหมายความว่า มาเลเซียต้องมีอัตราการเติบโตของรายได้ประชาชาติกว่า 6% ต่อปี จากปัจจุบันมีอัตราการเติบโตของรายได้ 3% ต่อปี ทุกวันนี้ มาเลเซียเริ่มเดินเข้าสู่เป้าหมาย เมื่อรายได้ประชาชาติที่สูงเป็นประวัติการณ์ในปีเพิ่งผ่านไปที่ 207 พันล้านริงกิต หรือราว 1.9 ล้านล้านบาท และมีการขยายตัวสูงถึง 49% ในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา การลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวสูงขึ้น และอัตราการขยายตัวต่อปี เพิ่มขึ้นจาก 6.7% ต่อปี ในช่วงปี 2000–2010 มาเป็น 22% ในปี 2556 การบริโภคภาคครัวเรือนของคนมาเลเซียเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง พูดง่ายๆ คนกล้าใช้จ่ายเป็น ทำให้อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 7.7% ในปีที่แล้ว ซึ่งการบริโภคภาคครัวเรือนของมาเลเซียมีน้ำหนักมากถึง 50.7% ของมูลค่าเศรษฐกิจมาเลเซีย ด้านเกษตรก็อยู่ในแผนก้าวสู่ปีที่ 2020 ด้วยการมุ่งสู่ความเป็นผู้นำอุตสาหกรรมยางพาราแบบครบวงจร และเตรียมพร้อมสู่การเป็นศูนย์กลางการซื้อขายยางพาราของโลก

มาถึงประเทศฟิลิปปินส์ รัฐบาลชุดปัจจุบันชูการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งประเทศในระยะยาว ด้วยแนวคิดศูนย์กลางการศึกษานานาชาติในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ฟิลิปปินส์ เริ่มผลักดันตั้งแต่ ปี 2543 หวังสนับสนุนให้ประเทศเป็นศูนย์กลางการศึกษาแห่งภูมิภาคเอเชีย หรือ Education Center in Asia ใช้มาตรการตั้งแต่ระยะสั้นถึงระยะยาว เช่น อำนวยความสะดวกในการออกวีซ่าให้นักเรียนต่างชาติเพิ่มมากขึ้น สะท้อนได้จากสถิติตัวเลขนักเรียนต่างชาติที่แห่แหนกันเข้ามาเรียนในประเทศในหลากหลายแขนง โดยเฉพาะการเรียนภาษาอังกฤษ มียอดนักศึกษาต่างชาติมากกว่า 6 หมื่นคน มีการจัดตั้งสถาบันการศึกษามากกว่า 2,100 แห่ง ทั้งที่เป็นของภาครัฐและเอกชน ถามว่าจุดเด่นที่ดึงดูดของฟิลิปปินส์คืออะไร การมีหลักสูตรให้เลือกหลายหลักสูตรที่ผ่านการจัดตั้งโครงการแลกเปลี่ยน หรือ Exchange Program กับสถาบันการศึกษาในชาติตะวันตกที่มากที่สุดแห่งหนึ่งในอาเซียน นอกจากนี้ ยังมีข้อได้เปรียบ เช่น นโยบายมุ่งให้ความมีมิตรไมตรีและความสะดวกต่างๆ ให้กับต่างชาติที่จะเข้าฟิลิปปินส์ เรื่องค่าครองชีพ และค่าเรียนก็อยู่ในระดับที่ไม่แพง เมื่อเทียบกับหลายๆ ชาติในภูมิภาคอาเซียน

ปิดท้ายกับประเทศสิงคโปร์ ประเทศเล็กๆ ที่วันนี้แทบเรียกได้ว่าเสมือนเมืองหลวงอาเซียนไปแล้ว และมีความพร้อมมากสุดในการก้าวสู่เออีซี ขณะเดียวกัน ยังรักษาขีดความสามารถการแข่งขันระดับเศรษฐกิจโลกอย่างยั่งยืนได้อีก รัฐบาลชุดปัจจุบันของสิงคโปร์ มองไกลไปมากกว่าที่เห็น และก้าวข้ามกว่าชาติต่างๆ ในอาเซียน โดยมุ่งเป็นศูนย์กลางของโลกด้านเครือข่ายเอฟทีเอ เพื่อทำให้การค้าการลงทุนของสิงคโปร์เฟื่องฟูขึ้นอีก จะเห็นได้จากเว็บไซต์ของกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ที่ชูยุทธศาสตร์ความเป็น "FTA Networks" เพื่อดึงดูดการลงทุน และสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากข้อตกลงให้เต็มที่ ปัจจุบันสิงคโปร์เป็นประเทศทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ครอบคลุมแทบทุกทวีปในโลก

จาก http://www.thairath.co.th    วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2558

ไทยเจรจาผัน"น้ำโขง"

นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่าไทยต้องหารือร่วมกันระหว่าง 4 ประเทศที่มีน้ำโขงผ่านและต้องใช้น้ำโขง เพื่อขอเสนอแนวทางและโครงการนำน้ำโขงมาใช้ในพื้นที่ภาคอีสาน เนื่องจากน้ำโขงเป็นแม่น้ำนานาชาติ โครงการที่กรมชลประทานเตรียมดำเนินการเป็นโครงการระยะยาว เป็นแผนยกระดับแม่น้ำโขงให้สูงขึ้น โดยใช้เครื่องมือการผันน้ำ

หลังจากนั้นจะใช้ระบบลาดเทลงสู่พื้นที่การเกษตรในภาคอีสาน ซึ่งมีบางเส้นทางที่อาจต้องใช้ท่อขนาดใหญ่ หรือขุดอุโมงค์ลอดพื้นดิน มาแล้วเปิดจุดกระจายน้ำเข้าสู่พื้นที่ วิธีการนี้จะช่วยให้ภาคอีสานมีน้ำเพียงพอสำหรับใช้ในการอุปโภค บริโภคและการเกษตร

ทั้งนี้วิธีการนี้จะย่อส่วนโครงการเดิมที่เคยศึกษาไว้ คือ โครงการโขง ชี มูล ที่ใช้ปั๊มน้ำ ใช้ไฟฟ้าที่จะมีค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าสูงมาก ซึ่งอาจเป็นภาระของประเทศมากกว่าประโยชน์ที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามโครงการนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่และต้องใช้เงินลงทุนสูง ต้อง หารือกับทุกประเทศที่เกี่ยวข้องในลุ่มน้ำโขง เพื่อแจ้งให้ทราบว่าไทยต้องการใช้ประโยชน์จากลำน้ำ

จาก http://www.khaosod.co.th  วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2558

เกษตรบูรณาการ : ปลูกอ้อยแทนข้าวระวังปัญหายาว

พูดกันมานานเรื่องของการปรับโครงสร้างการเกษตร หลังจากที่มีปัญหาเรื่องของราคาข้าว ที่หลายรัฐบาลหยิบยกมาเป็นประเด็นทางการเมือง ฟาดฟันกันไม่จบ ที่สรุปก็ยังคงมีปัญหาคาใจกับเกษตรกรว่ารัฐบาลไหนช่วยเราจริง เพราะที่ผ่านมา เห็นมีแต่ราคาข้าวที่ว่ากันมันดิ่งลงต่อเนื่อง ทั้งที่เมื่อก่อนประเทศไทยถูกมองว่าเป็นเหมือนคลังข้าวของโลก และเป็นประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ รายหนึ่งของโลก แต่ไม่มีโอกาสกำหนดราคาขายได้สักครั้ง

วันนี้เท่าที่มีการประเมิน พบว่า ประเทศไทยมีพื้นที่การผลิตข้าวทั้งหมดรวมกว่า 76.44 ล้านไร่ ซึ่งเป็นข้อมูลพื้นที่ปลูกข้าวนาปี เฉลี่ย 61.32 ล้านไร่ พื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง เฉลี่ย 15.13 ล้านไร่ ทั้งหมด เป็นข้อมูลที่มีการสำรวจในปี 2551-2557 รวมพื้นที่ปลูกทั้งหมด  และผลสำรวจล่าสุด เท่าที่มีการประเมินพื้นที่นาปรัง 10.71 ล้านไร่ และพื้นที่การปลูกข้าวนาปี 2558/59  เฉลี่ย 61.40 ล้านไร่ รวมประมาณ 72.11ล้านไร่ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ กำลังทำโครงการปรับโครงสร้างการผลิตข้าว เพื่อปรับแผนการปลูกข้าวในประเทศไทยทั้งหมด เพื่อวางแผนแก้ปัญหาข้าวทั้งระบบ  โดยจะมี 2 ส่วน คือ พื้นที่ที่เหมาะสมกับการปลูกข้าว ซึ่งจะมีโครงการรองรับชัดเจนซึ่งมีทั้งโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพและคุณภาพผลผลิต,โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวตลาดเฉพาะ, โครงการลดพื้นที่การปลูกข้าวนาปรัง (ลดรอบการปลูกข้าว)

ขณะที่ส่วนที่ 2 พื้นที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าว  โดยงานนี้กระทรวงเกษตรฯ วางแนวทางเอาไว้ ว่าจะมีการวางโครงการปรับเป็นเกษตรกรรมทางเลือก  หรือไร่นาสวนผสม และโครงการปรับเปลี่ยนเป็นอ้อยแทน  ซึ่งตามแผนที่วางไว้ ในส่วนการลดพื้นที่ปลูกข้าวไปปลูกพืชชนิดอื่นการปรับโครงสร้างลดพื้นที่การปลูกข้าวนาปรัง ในส่วนการลดรอบการปลูกข้าวจะส่งเสริมการปลูกพืชหมุนเวียน ด้วยการแนะนำการถ่ายทอดเทคโนโลยี ที่เหมาะสมคาดว่าจะลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังปีละ 0.4 ล้านไร่ ผลผลิตข้าวลดลงปีละ 0.89 ล้านตัน ส่วนโครงการลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง-ปรับเป็นเกษตรกรรมทางเลือก (ไร่นาสวนผสม) มีเป้าหมายดำเนินการใน 40 จังหวัด 472 อำเภอ 2,353 ตำบล 7,542 ครอบคลุมชาวนา 106,655 ครัวเรือน เนื้อที่ 319,965 ไร่ โดยชาวนาที่มีสิทธิ์ร่วมโครงการต้องมีที่นาไม่เกิน 15 ไร่ เป็นของตนเอง และอยู่นอกพื้นที่เขตชลประทาน และเป็นพื้นที่ไม่เหมาะสม มันคงไม่แปลก เพราะทุกอย่างถือเป็นทางเลือก ให้กับเกษตรกร อีกทางที่จะปรับวิถีทางให้ตนเองอยู่รอด ตามวิถีพอเพียงที่ควรจะเป็น

แต่ปัญหามันอยู่ที่โครงการลดพื้นที่การปลูกข้าวนาปรัง-ปรับเปลี่ยนเป็นอ้อย โดยเลือกพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมแม้จะอ้างว่า พื้นที่เหมาะสมสำหรับการปลูกอ้อยจะมีรัศมี 50 กิโลเมตร จากโรงงานน้ำตาล ที่มีศักยภาพในการรับผลผลิตเพิ่ม จำนวน 20 โรงงาน ซึ่งพื้นที่เหมาะสมในการปลูกอ้อยที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ มีประมาณ 700,000 ไร่ ซึ่งจะทำให้ผลผลิตข้าวลดลง 0.42 ล้านตัน ผลผลิตอ้อยเพิ่มขึ้น 0.6 ล้านตัน อันนี้ นั้นไม่ทราบว่าก่อนหน้านี้ ท่านๆ ผู้มีหน้าที่ตัดสินใจฟังใคร เพราะแว่วว่า ราคาน้ำตาลในตลาดโลกวันนี้ดิ่งลงอย่างต่อเนื่อง  โดยราคาเมื่อปีที่ผ่านมา อยู่ที่ประมาณ 18-19 เซนต์ต่อปอนด์ ในขณะที่ล่าสุด เมื่อวันที่  2 มีนาคม ที่ผ่านมา ราคามันอยู่ที่ 13.64 เซนต์ต่อปอนด์ แม้ตัวเลขผลิตที่เพิ่มเข้ามาใหม่ จะเพิ่มไม่มาก จากผลผลิตทั้งหมด เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาที่ 103.66 ล้านตันอ้อย

แม้วันนี้จากตัวเลขที่ท่านๆอาจบอกว่าเรื่องการปลูกอ้อยแทนข้าว มันเป็นเพียงทางเลือกหนึ่งแต่อย่าลืมว่าน้ำตาลกินแทนข้าวไม่ได้ แม้ว่าที่ผ่านมา โครงการจำนำข้าว หรือประกันราคาข้าว จะมีปัญหามากมายแต่อย่าลืมว่า ก็ยังมีเกษตรกรบางส่วนไม่เคยสนใจที่จะเข้าร่วมโครงการที่รัฐบาลเสนอมาแก้ปัญหาทั้งสิ้น ไม่เชื่อลองไปดู ไปศึกษาดูจากเกษตรกรที่เขารวมตัวกัน และยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพอหลวงว่าเขาทำอย่างไร ระวังปลูกอ้อยแทนข้าวอาจเป็นการสร้างปัญหาระยะยาวให้กับเกษตรกร ที่สำคัญเรากำลังจัดงาน “วิถีข้าว...วิถีไทย” มหัศจรรย์ข้าวไทยลองคิดดู

จาก http://www.naewna.com วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2558

พด.เตรียมจัดเวทีวิชาการ"ดิน"

นางกุลรัศมิ์ อนันต์พงษ์สุข รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า จากนโยบายของรัฐบาลที่มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ขับเคลื่อนโครงการ “ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ปวงประชาถวายพ่อของแผ่นดิน” โดยในส่วนของกรมพัฒนาที่ดิน จะจัดประชุมวิชาการเรื่องดินระดับประเทศ ระหว่างวันที่ 26-30 เมษายน ที่ จ.ขอนแก่น เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนที่สนใจ มาร่วมประชุมทางวิชาการและเสนอความคิดเห็นต่างๆ เกี่ยวกับทรัพยากรดินและการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ การจัดนิทรรศการปฐพีใต้ธุลีพระบาท เรื่องดินอุดม น้ำสมบูรณ์ด้วยพระบารมี เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมทั้งการจัดนิทรรศการแสดงแบบจำลองหรือโมเดลด้านการอนุรักษ์ดินและน้ำ แบบจำลองในเรื่องของมวลชีวภาพและประโยชน์ของหญ้าแฝก โครงการแหล่งน้ำชุมชน โดยนำร่องตัวอย่างจากบ้านดอนตาผล ต.นาขา อ.หลังสวน จ.ชุมพร มานำเสนอเป็นรูปแบบโครงการพัฒนาแหล่งน้ำชุมชนที่ประสบผลสำเร็จ และเรื่องการจัดการองค์ความรู้ด้านการพัฒนาที่ดินเป็นการสร้างสีสันให้กับงาน มีการจัดเวทีถาม-ตอบปัญหา และมีรางวัลให้ โดยผู้ที่เข้ามาร่วมกิจกรรมสามารถเรียนรู้กับนิทรรศการได้ทั้งงาน รวมทั้งมีการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ พด. โดยนำเสนอในเรื่องของนวัตกรรมและการนำไปใช้ประโยชน์ของผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ พด. ตลอดจนมีการแจกผลิตภัณฑ์ให้นำไปใช้ในพื้นที่ฟรีด้วย

จาก http://www.naewna.com วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2558

คลอด4ยุทธศาสตร์พัฒนา ลุยวาระชาติเกษตรอินทรีย์

นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯได้จัดทำ (ร่าง) ยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ  พ.ศ.2558–2564 โดยมีการกำหนดยุทธศาสตร์ คือ 1.การบริหารจัดการองค์ความรู้และนวัตกรรม อาทิ สนับสนุนการวิจัยและการพัฒนาองค์ความรู้เกษตรอินทรีย์พื้นบ้าน เกษตรอินทรีย์เชิงพาณิชย์ รวมทั้งถ่ายทอดองค์ความรู้ให้ผู้เกี่ยวข้องทุกระดับ เสริมสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ 2.การพัฒนาการผลิตเกษตรอินทรีย์ตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน อาทิ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ส่งเสริมและสนับสนุนเครือข่ายการผลิต การแปรรูป การตลาด

3.สร้างความเข้มแข็งด้านการตลาดและมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ไทย  อาทิ สร้างและบริหารจัดการมาตรฐานสินค้าและผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ไทย ส่งเสริมการขายและการพัฒนาตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์  ส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และ 4.การบูรณาการเพื่อขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ไทย  ได้แก่ จัดตั้งองค์กรกลางในการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ พัฒนาระบบสารสนเทศให้เชื่อมโยงฐานข้อมูลเกษตรอินทรีย์ของทุกภาคส่วน  สร้างกลไกพัฒนาเกษตรอินทรีย์แบบบูรณาการในระดับพื้นที่ ส่งเสริมให้ภาคเอกชน  ประชาชน  เป็นผู้นำการพัฒนาภาครัฐเป็นส่วนสนับสนุนปัจจัยพื้นฐาน

ทั้งนี้ การบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมพัฒนาที่ดิน ร่วมกับ กองทัพอากาศ  ดำเนินโครงการจัดการวัสดุอินทรีย์และขยะสด เพื่อผลิตปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพ ในปี 2557 ดำเนินโครงการใน 9 จังหวัด 11 ค่าย จัดทำปุ๋ยหมัก 19 แห่ง ปริมาณ 100 ตัน น้ำหมักชีวภาพ 15 แห่ง ปริมาณ 17,050 ตัน และจัดอบรม/สาธิตการทำปุ๋ยอินทรีย์ 18 ครั้ง เกษตรกร 1,675 ราย

จาก http://www.naewna.com วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2558

สภาเกษตรกรแห่งชาติกระทรวงเกษตรฯ ร่วมแก้ปัญหา

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกันระหว่างสภาเกษตรกรแห่งชาติกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์”

สภาเกษตรกรแห่งชาติกระทรวงเกษตรฯร่วมแก้ปัญหาใน 4 ประเด็น

นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกันระหว่างสภาเกษตรกรแห่งชาติกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์” ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์คอนเวนชั่น ว่า ประเด็นเร่งด่วนที่กระทรวงเกษตรฯ ต้องอาศัยความร่วมมือกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ เพื่อแก้ไขปัญหาภาคเกษตรขณะนี้มี 4 ประเด็นหลัก คือ 1. วางแผนการผลิตในฤดูกาลผลิตปีนี้และปีหน้า 2. การสร้างความเข้าใจแก่เกษตรกรต่อนโยบายภาครัฐในเรื่องต่าง ๆ อาทิ บริหารจัดการน้ำ การปรับโครงสร้างข้าว การปรับโครงสร้างระบบสหกรณ์นอกเหนือการค้าขาย

3. การมีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็นในรายละเอียดกฎหมายฉบับต่าง ๆ ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ได้แก่ พ.ร.บ.การยาง พ.ร.บ. รายได้และสวัสดิการเกษตรกร และ พ.ร.บ. ประมง ที่ยังมีรายละเอียดในบางส่วนที่จะต้องสร้างเวทีในการสร้างความเข้าใจร่วมกันก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ และ 4. การตรวจสอบข้อมูลทะเบียนเกษตรกร ให้สามารถพิสูจน์ความเป็นเกษตรกรผู้ยากจนที่ควรได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน.

จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2558

จัดงานยุวเกษตรกรระดับประเทศเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพฯ

งานส่งเสริมยุวเกษตรกรเพื่อปลูกฝังทัศนคติที่ดี มีใจรักต่ออาชีพการเกษตรให้แก่เด็กและเยาวชน ให้การเรียนรู้การเกษตรขั้นพื้นฐานและการทำงานเป็นกลุ่ม

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีคุณูปการหาที่สุดมิได้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะเด็ก และเยาวชนผู้ด้อยโอกาสที่อยู่ในท้องถิ่นทุรกันดารให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

พระราชกรณียกิจที่กรมส่งเสริมการ เกษตรมีส่วนดำเนินการเกี่ยวข้องที่สำคัญ ได้แก่ งานส่งเสริมยุวเกษตรกรเพื่อปลูกฝังทัศนคติที่ดี มีใจรักต่ออาชีพการเกษตรให้แก่เด็กและเยาวชน ให้การเรียนรู้การเกษตรขั้นพื้นฐานและการทำงานเป็นกลุ่ม และโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน เพื่อผลิตอาหารกลางวันให้นักเรียนและชุมชน โดยจัดตั้งกลุ่มยุวเกษตรกรในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ให้ฝึกปฏิบัติงานเพาะปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ นำผลผลิตมาประกอบเป็นอาหารสำหรับนักเรียนในโรงเรียนและชุมชน

นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า เนื่องในโอกาสสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา ในปีนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร จึงได้ดำเนินโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ และจัดงานชุมนุมยุวเกษตรกรระดับประเทศ ประจำปี 2558 ขึ้น ในระหว่างวันที่ 15-18 มี.ค. 58 ที่กองกำกับการ 1 กองบังคับการฝึกพิเศษ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ค่ายพระรามหก อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี

โดยมีบุคคลเป้าหมายจำนวนรวมทั้งสิ้นกว่า 960 รายเข้าร่วม ประกอบด้วย ยุวเกษตรกร 559 คน ทั้งที่มาจากยุวเกษตรกรจากกลุ่ม Smart Group 77 จังหวัด, ยุวเกษตรกรจากโรงเรียน ตชด. 60 โรงเรียน, ยุวเกษตรกรบนพื้นที่สูง 8 จังหวัด, ยุวเกษตรกรโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า, ยุวเกษตรกรมหาวิทยาลัยแม่โจ้, ยุวเกษตรกรต้นกล้าเศรษฐกิจพอเพียง รวมไปถึงที่ปรึกษายุวเกษตรกรและครูในโรงเรียน

นอกจากนี้ยังมีอดีตยุวเกษตรกร ผู้แทนกลุ่มยุวเกษตรกรกลุ่มแรกในประเทศไทย อดีตยุวเกษตรกรที่ผ่านการฝึกงาน ในครอบครัวเกษตรกรญี่ปุ่น รวมทั้งเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ผ่านการคัดกรองเป็น Young Smart Farmer ต้นแบบ จาก 77 จังหวัด จังหวัดละ 1 คน เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทักษะและประสบการณ์ในครั้งนี้ด้วย

สำหรับกิจกรรมที่จะจัดขึ้น ประกอบด้วย นิทรรศการ “เยาวชนเกษตรอนาคตเกษตรไทย” หรือ “Young Smart Farmer, Agri culture Future” กิจกรรมการเรียนรู้ในฐานนิทรรศการ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างยุวเกษตรกร

กับ Young Smart Farmer, การศึกษาดูงานพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ โครงการศูนย์เรียนรู้ทางการเกษตรเขากระปุกตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รวมไปถึงกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ต่าง ๆ และพิธีเทียนอำลาของยุวเกษตรกร

การดำเนินงานในครั้งนี้ นอกจากกรมส่งเสริมการเกษตรแล้ว ยังมีอีกหลายหน่วยงานที่มีส่วนช่วยให้การดำเนินงานสำเร็จลุล่วง ไม่ว่าจะเป็น มูลนิธิส่งเสริมยุวเกษตรกรไทยในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน, หน่วยงานภาคีสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, จังหวัดเพชรบุรี, จังหวัดประจวบคีรีขันธ์, สมาคมยุวเกษตรกรสากลแห่งประเทศไทย, ชมรมผู้ ผ่านการฝึกงานเกษตรจากประเทศญี่ปุ่น, เครือข่าย Young Smart Farmer ระดับประเทศ และคณะกรรมการสภายุวเกษตรกรระดับประเทศ

การจัดงานในครั้งนี้ จะเกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ที่สำคัญจะทำให้งานส่งเสริมยุวเกษตรกร และงานโครงการที่เกี่ยวข้อง มีการขับเคลื่อนอย่างกว้างขวางมากขึ้น และมีการทำงานเป็นกลุ่ม มีทัศนคติที่ดีต่ออาชีพเกษตร และมีความพร้อมที่จะพัฒนาเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ในโอกาสต่อไป.

จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2558

เกษตรกรรับเคราะห์ วิกฤติภัยแล้งซ้ำราคาพืชผลตกต่ำ

ท่ามกลางภาวะปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่กลุ่มเกษตรกรไปแล้วนั้น ปัญหาใหญ่ในปีนี้ยังต้องเจอกับปัญหาภัยแล้งมากระหน่ำซ้ำสอง

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุชัดเจนว่าในไตรมาสสุดท้ายของปี 2557 การผลิตภาคเกษตรหดตัวลง 1.6% และทั้งปีราคาสินค้าเกษตรเฉลี่ยลดลง 6.2% และรายได้เกษตรกรลดลง 5.3%

ขณะเดียวกันปัญหาภัยแล้งได้ก่อตัวส่งสัญญาณว่าอาจมีความรุนแรงเข้ามาซ้ำเติมพี่น้องเกษตรกรอีกระลอก ตามที่กรมชลประทานได้รายงานตั้งแต่เดือน ต.ค.2557 ว่า ในฤดูแล้งปีนี้ น้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำต่างๆมีน้อย อยู่ในระดับต่ำเลวร้ายที่สุดในรอบ 15 ปี

สอดคล้องตามที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยรายงานจังหวัดที่ประสบภัยแล้งตั้งแต่วันที่ 20 ต.ค. 2557-มี.ค.2558 ว่าเกิดภัยแล้งแล้วในพื้นที่ 19 จังหวัด 93 อำเภอ 509 ตําบล 4,622 หมู่บ้าน คิดเป็น 6.17% ของจำนวนหมู่บ้าน 74,963 แห่งจากทั่วประเทศ

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า พื้นที่ความเสียหายทางการเกษตรมีมากกว่า 1 ล้านไร่ และเกือบทั้งหมดเป็นข้าวนาปรังที่ยืนต้นตาย และทั้งหมดนี้อาจทำให้ปริมาณผลผลิตข้าวไทยลดลง แต่ไม่ได้หมายความว่าราคาข้าวของเกษตรกรจะปรับตัวดีขึ้น เพราะยังมีแรงกดดันจากข้าวในสต๊อกรัฐบาล

ภาวะเคราะห์ซ้ำกรรมซัดจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ และภาวะภัยแล้งในปีนี้ รัฐบาลพยายามทุ่มเม็ดเงินเข้าสู่มือเกษตรกร หวังขยับราคาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะพืชหลัก ทั้งข้าวและยางพารา ผ่านมาตรการต่างๆ เช่น การจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนาและชาวสวนยางไร่ละ 1,000 บาท การให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อให้โรงสีไปรับซื้อข้าวเก็บในสต๊อก หรือการให้เงินกู้สถาบันเกษตรกรไปรับซื้อยางพารามาเก็บในสต๊อก

แต่ดูเหมือนว่า จนถึงวันนี้ยังไม่เพียงพอที่จะกอบกู้สถานการณ์ หรือสร้างความเชื่อมั่นว่า รัฐบาลจะสามารถประคับประคอง ภาคเกษตรซึ่งเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนประเทศให้ฝ่าวิกฤติหนนี้ได้อย่างไร

ทั้งหมดนี้ จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจว่าทำไมการทำมาค้าขาย การบริโภคในต่างจังหวัดหรือการจับจ่ายใช้สอยของผู้มีรายได้น้อยจึงซบเซา ในเมื่อคนกลุ่มนี้เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เป็นกำลังหลักที่จะขับเคลื่อนให้การบริโภคขยายตัว กลับมีรายได้ลดลงโดยเฉพาะชาวนาและชาวสวนยางที่รายได้หด ชักหน้าไม่ถึงหลัง

ถือเป็นความอ่อนแอถึงระดับฐานรากของเศรษฐกิจไทย

“ทีมเศรษฐกิจ” หยิบยกปัญหานี้ พูดคุยกับ “ปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา” รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเจ้ากระทรวง หัวเรือใหญ่ผู้รับผิดชอบการแก้ไขปัญหานี้ให้แก่พี่น้องเกษตรกรโดยตรง

รัฐให้ความสำคัญหาแหล่งน้ำ

นายปีติพงศ์ กล่าวเริ่มต้นว่า ตั้งแต่รัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศในช่วง 6 เดือนก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้ให้ความสำคัญปัญหาของเกษตรกร โดยเฉพาะเรื่องแหล่งน้ำ ซึ่งรัฐบาลเชื่อว่าการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำภาคเกษตร สร้างความมั่นคงในชนบท คือการสร้างแหล่งน้ำ ให้เกษตรกรสามารถสร้างรายได้ให้ตัวเองได้ตลอดปี ไม่ต้องเดินทางมาแสวงโชคในเมือง

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนั้นเป็นการดำเนินการในระยะยาว ซึ่งต้องใช้เวลา ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลปัจจุบันเร่งดำเนินการ คือ การรับมือกับปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นเป็นอันดับแรก

“ทันทีที่ผมเข้ารับตำแหน่ง ได้ติดตามข้อมูลสถานการณ์น้ำและพบว่าปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา และลุ่มน้ำแม่กลอง ส่อเค้าว่าจะเกิดปัญหา เนื่องจากปริมาณฝนในปีก่อนมีน้อยกว่าปกติ ส่งผลเป็นลูกโซ่ทำให้ปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนหรือปริมาณน้ำสำรองที่จะใช้ไปในฤดูแล้งปีนี้มีปริมาณน้อยตามไปด้วย”

ทั้งนี้ ในส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วจากภัยแล้ง ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่เดือน ต.ค.2557 จนถึงปัจจุบัน เกิดความเสียหายมูลค่ารวมแล้ว 5,835 ล้านบาท กระทบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ภาคการเกษตรเพียง 0.23% ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นความเสียหายของพื้นที่ปลูกข้าวมูลค่า 5,356 ล้านบาท พื้นที่เสียหาย 1.14 ล้านไร่ คิดเป็นปริมาณผลผลิตข้าว 642,686 ตัน

ที่เหลือเป็นพืชไร่เสียหายมูลค่า 479.19 ล้านบาท พื้นที่เสียหาย 58,160 ไร่ ปริมาณผลผลิตเสียหาย 326,153 ตัน และพืชสวน มูลค่าความเสียหายไม่มากประมาณ 30,000 บาท

แม้ว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นเมื่อเทียบกับจีดีพีภาคเกษตรจะยังไม่มาก แต่เรื่องฝนฟ้าอากาศไม่ใช่เรื่องที่จะวางใจได้ทั้งหมด เพราะสภาพอากาศปัจจุบันมีความแปรปรวนค่อนข้างมาก นักอุตุนิยมวิทยาในประเทศไทยเอง ก็ยังมีความเห็นที่ไม่ตรงกัน บางกระแสทำนายว่า ฤดูแล้งนี้อาจจะยาวนานกินระยะเวลายาวไปจนฤดูฝนมาช้า แต่ไปตกมากตอนปลายฤดูฝน อีกกระแสหนึ่งก็ทำนายว่าฤดูแล้งนี้อาจจะสั้นๆ แล้วฤดูฝนก็จะมาเร็ว เพียงแต่ปลายฤดูฝนอาจจะมีปริมาณน้ำน้อย

เมื่อเป็นอย่างนี้รัฐบาลก็ยังวางใจไม่ได้ เพราะปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ กำลังซื้อของเกษตรกรเองก็ร่วงโรยอยู่แล้ว จะปล่อยให้ปัญหาภัยแล้งเข้ามาซ้ำเติมเกษตรกรอีกระลอกไม่ได้

ดังนั้น เป้าหมายการบริหารเศรษฐกิจภาคเกษตร จึงต้องมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มรายได้เข้าสู่มือเกษตรกร ผ่านนโยบายต่างๆ ที่เน้นการเพิ่มรายได้ สร้างเงินหมุนในพื้นที่ ไม่ใช่การอุดหนุน หรือเข้าไปบิดเบือนราคาโดยตรง เพราะไม่มีประสิทธิภาพ และรัฐต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายที่หนัก

วางมาตรการรับมือภัยแล้ง

เมื่อรัฐบาลเห็นว่าความเสียหายจากภัยแล้งที่มีต่อภาคเกษตรอาจจะขยายตัวมากขึ้นต่อเนื่อง ดูจากปริมาณน้ำต้นทุนที่มีตลอดหน้าแล้งในเดือน ต.ค.2557–เม.ย.2558 ไม่เพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงการปลูกข้าวนาปรังที่สูงมากถึง 10 ล้านไร่ เหมือนที่เกิดขึ้นในปีก่อนหน้าได้

นั่นจึงเป็นที่มาของการประกาศมาตรการภัยแล้งระยะที่ 1 คือการประกาศงดส่งน้ำเพื่อสนับสนุนการทำนาปรังในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลองรวม 26 จังหวัด และประกาศชัดเจนว่าจะไม่จ่ายเงินช่วยเหลือชาวนาที่ฝืนปลูกข้าวแล้วข้าวขาดน้ำยืนต้นตาย

เมื่อประกาศไม่ให้ทำนาปรังแล้ว จึงได้วางโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง 2557/58 วงเงินประมาณ 1,800 ล้านบาท ขณะนี้มีการจ้างงานแล้ว 37,569 ราย หรือคิดเป็น 84.63% ของเป้าหมายการจ้างงาน 44,348 ราย ประกอบกับมาตรการเสริม โดยสร้างอาชีพเสริมให้เกษตรกรมีรายได้ในช่วงหน้าแล้ง ด้านปศุสัตว์ ประมง การฝึกอาชีพและการแจกเมล็ดพันธุ์พืชใช้น้ำน้อย

สำหรับผลลัพธ์จากมาตรการระยะที่ 1 และมาตรการเสริม กระทรวงเกษตรฯประเมินว่า จะสร้างรายได้จากการจ้างแรงงานและอาชีพเสริมเข้าสู่ชุมชนภาคเกษตรไม่น้อยกว่า 200,000 บาทต่อชุมชน คิดเป็นแรงงานที่จ้างงานเฉลี่ย 660 คนต่อวันต่อชุมชน

แต่จนถึงตอนนี้ไม่ว่าจะวางมาตรการป้องกันให้รัดกุมเพียงใด แต่ก็ยังพบว่ายังมีเกษตรกรส่วนหนึ่ง ที่ไม่ทำตามคำขอร้องของทางราชการ โดยการฝืนปลูกข้าวนาปรัง ทั้งที่ได้รับข้อมูลแล้วว่าจะไม่มีน้ำให้ทำนาปรัง ทำให้พบว่าในพื้นที่ชลประทานทั่วประเทศมีการปลูกข้าวนาปรังรวมแล้วทั้งสิ้น 4.98 ล้านไร่ ซึ่งคาดว่าจะเสียหายสิ้นเชิงประมาณ 177,000 ไร่

นายปีติพงศ์ กล่าวต่อไปว่า จำนวนข้าวนาปรังทั่วประเทศในปีนี้ 4.98 ล้านไร่ พื้นที่ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด

คือ นาปรังในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาซึ่งมีมากที่สุดประมาณ 2.92 ล้านไร่ เก็บเกี่ยวไปแล้วประมาณ 790,000 ไร่ เหลือพื้นที่ที่ยังไม่เก็บเกี่ยวประมาณ 2.13 ล้านไร่ ในจำนวนนี้จะเสียหายประมาณ 95,000 ไร่

พื้นที่ข้าวนาปรังที่จะเสียหายกระจายตัวอยู่ในพื้นที่ จ.สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา นครปฐม และสมุทรสาคร

ที่น่าเป็นห่วงรองลงมาคือ นาปรังในลุ่มน้ำแม่กลอง มีการฝืนปลูกข้าวนาปรังไป 128,000 ไร่ คาดว่าจะได้รับความเสียหาย 38,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ จ.นครปฐม จ.กาญจนบุรี จ.ราชบุรี จ.สมุทรสงคราม จ.สมุทรสาคร และ จ.เพชรบุรี

ที่เป็นห่วงน้อยที่สุด คือ พื้นที่นาปรังในภาคอีสาน 651,000 ไร่ เก็บเกี่ยวไปแล้ว 1,500 ไร่ มีโอกาสที่ข้าวนาปรังจะเสียหาย 16,800 ไร่เท่านั้น โดยกระจายพื้นที่อยู่ในเขต จ.กาฬสินธุ์ จ.ขอนแก่น จ.ชัยภูมิ จ.นครพนม จ.นครราชสีมา และ จ.อำนาจเจริญ

ห่วงราคาข้าว–ยางพาราขาลง

รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า หลังจากดำเนินการมาตรการรองรับภัยแล้งระยะที่ 1 ไปแล้ว แต่ก็ยังพบว่า รายได้ครัวเรือนภาคเกษตร และกำลังการใช้จ่ายในภาคชนบทยังไม่ฟื้นคืนเท่าที่ควร เพราะปัจจัยสำคัญ คือ พืชเศรษฐกิจหลัก คือ ข้าว และยางพารา ราคายังเป็นขาลง

นั่นเป็นเหตุผลของการเติมรายได้ผ่านมาตรการรองรับภัยแล้งระยะที่ 2 ผ่านโครงการชดเชยรายได้ให้เกษตรกรผู้ผลิตข้าวไร่ละ 1,000 บาท วงเงิน 40,000 ล้านบาท ซึ่งเบิกจ่ายไปแล้ว 38,802 ล้านบาท หรือคิดเป็น 97% และชาวสวนยางไร่ละ 1,000 บาท วงเงิน 8,200 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 7,582 ล้านบาท คิดเป็น 92.5%

“มาตรการนี้แม้จะไม่เกี่ยวกับภัยแล้งโดยตรง แต่มีความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องนำมาประเมิน เพราะเราบริหารจากรายได้ของเกษตรกรเป็นเป้าหมาย ไม่ว่าจะน้ำแล้งหรือน้ำท่วม ซึ่งผลลัพธ์ของมาตรการสนับสนุนเงินช่วยเหลือชาวนาและชาวสวนยางพบว่า ในกลุ่มของชาวนาได้รับเงินเฉลี่ยรายละ 13,860 บาท ชาวสวนยางได้รับเงินเฉลี่ยรายละ 11,860 บาท จากวงเงินสูงสุด รายละไม่เกิน 15,000 บาท”

ที่น่าสนใจ คือ เม็ดเงินที่นำไปจับจ่ายของเกษตรกร 2 กลุ่มใหญ่นี้ แตกต่างกัน โดยกลุ่มชาวสวนยางใช้จ่ายเงินไปมากกว่า 90% ขณะที่กลุ่มชาวนาเงินส่วนใหญ่ที่ได้รับไม่ได้ถูกนำไปใช้จ่าย แต่ 49% ของเงินที่ได้รับ ถูกนำไปเก็บไว้เพื่อลงทุนการผลิตในรอบใหม่ มีการนำเงินไปใช้จ่ายเพื่อการบริโภคประมาณ 38%

ทั้งนี้ สาเหตุที่ชาวสวนยางนำเงินไปใช้จ่ายมากกว่าชาวนา เป็นเพราะรูปแบบการลงทุนเพาะปลูกพืช 2 ชนิดไม่เหมือนกัน การปลูกข้าวต้องลงทุนเป็นรายฤดูกาล แต่ยางพาราลงทุนใหญ่ครั้งแรกในช่วงที่เริ่มต้นเพาะปลูกเท่านั้น แต่ก็เป็นสัญญาณที่ดีที่มีการบริโภค และมีการวางแผนออมเพื่อลงทุนการผลิตต่อไป

นายปีติพงศ์ กล่าวว่า ในใจวันนี้ยังเป็นห่วงราคาข้าว และราคายางพารา แม้ว่าผลจากภัยแล้ง และการยกเลิกนโยบายรับจำนำข้าว จะช่วยให้ปริมาณข้าวนาปรังในปี 2558 ลดลงมา มีจำนวนรวมไม่เกิน 6 ล้านไร่ หรือลดลง 30% จากปีก่อนที่มี 9 ล้านไร่ และการบริหารยางพาราแบบซื้อมาขายไปเพื่อกระตุ้นตลาดจะเริ่มแก้ปัญหาสต๊อกยางเก่าที่ประเทศต้องรับภาระ ไว้ได้บ้าง

แต่ทั้งหมดนั้น เมื่อเทียบกับภาพใหญ่ของเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ดีนัก การส่งออกไทยยังไม่สดใส ในขณะที่แนวโน้มค่าเงินบาทไปในทางแข็งค่าขึ้น ย่อมไม่เป็นผลดีต่อข้าวและยาง ซึ่งส่วนใหญ่ผลิตเพื่อการส่งออก

หวังตำบลละล้านช่วยจ้างงาน

โครงการสุดท้ายภายใต้มาตรการระยะที่ 2 ที่รัฐบาลได้ยิงกระสุนลงไปแล้ว คือ โครงการสร้างรายได้และพัฒนาเกษตรกรแก่ชุมชนเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง วงเงิน 3,051 ล้านบาท ตั้งเป้าสนับสนุนงบประมาณให้ชุมชนละ 1 ล้านบาท

ในพื้นที่เป้าหมาย 3,051 ตำบล ใน 58 จังหวัด ซึ่งประสบปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก

เงินที่จัดสรรให้ชุมชนเหล่านี้ไม่ใช่เงินให้เปล่า แต่ชาวบ้านจะต้องรวมกลุ่มกัน เสนอโครงการในการสร้างงาน หรือแก้ภัยแล้งให้แก่พื้นที่ของตัวเองเข้ามาให้ทางราชการพิจารณาอนุมัติงบประมาณให้ โดยโครงการที่จะได้รับเงินจากรัฐ ต้องมี 4 ลักษณะ คือ การจัดการแหล่งน้ำชุมชน การผลิตหรือแปรรูปการเกษตรเพื่อสร้างรายได้ในฤดูแล้ง การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการผลิต และการจัดการเพื่อลดความสูญเสียสินค้าเกษตร

มาตรการนี้ เป็นเรื่องที่รัฐบาลจะเร่งขับเคลื่อน เป้าหมายของโครงการ คือจ้างแรงงานพื้นที่แล้ง

ซ้ำซาก ให้ได้ไม่ต่ำกว่า 50% โดยตั้งเป้าว่าสิ้นเดือน มี.ค.นี้จะต้องเบิกจ่ายได้ไม่น้อยกว่า 60-70% ของเม็ดเงินทั้งหมดในโครงการ ก่อนที่จะสิ้นสุดโครงการในเดือน มิ.ย.นี้

มาถึงวันนี้ซึ่งเข้าสู่กลางเดือน มี.ค.แล้ว ในแง่ของปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ทั่วประเทศ มีน้ำรวมกัน 41,247 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนเพียง 4% ใน

ขณะที่เหลือเวลาเพียง 45 วัน ก็จะสิ้นสุดฤดูแล้ง และเริ่มต้นฤดูฝนในเดือน พ.ค. ซึ่งประเมินว่ามีน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูกในช่วง

เริ่มต้นฤดูฝนได้

รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ถึงจะเบาใจเรื่องภัยแล้งไปได้ระดับหนึ่ง แต่งานของรัฐบาลก็ยังไม่แล้วเสร็จ เพราะยังต้องติดตามผลลัพธ์ของมาตรการทั้งหมดว่าได้ผลดีมากน้อยเพียงใด ซึ่งได้สั่งการให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ไปประมวลผลของนโยบายทั้งหมดมาอีกครั้ง

“หากประโยชน์โพดผลเกิดขึ้นกับพี่น้องเกษตรกรอย่างคุ้มค่าก็ถือว่าน่ายินดี แต่ถ้าไม่เป็นอย่างนั้นก็จะต้องมีการปรับปรุงแก้ไข

ต่อไป และผมเองก็คงต้องรับผิดชอบ”.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2558

หนุนอุตสาหกรรม ใช้ RFID ลดต้นทุน

โดย...ณัฏฐธยาน์ สุทธิเจริญ

กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งผลักดันให้ผู้ประกอบการทั้งขนาดเล็กและใหญ่เห็นความสำคัญของการนำไอทีมาใช้ในการทำงานให้มากขึ้น นอกจากจะช่วยสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาลแล้ว

ยังช่วยบริหารจัดการงานให้เป็นระบบ ลดแรงงานคนและประหยัดต้นทุนอีกด้วย อนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า เรื่องดิจิทัลกลายมาเป็นส่วนสำคัญในการทำงานมากขึ้นซึ่งคนรุ่นใหม่ถนัดใช้อุปกรณ์ไอที ดังนั้น การเตรียมพร้อมเรื่องเทคโนโลยีจะช่วยให้บริหารจัดการงานในอนาคตเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น

“ระบบโลจิสติกส์ เป็นเรื่องที่สำคัญของการส่งออก ซึ่งทุกอุตสาหกรรมต้องเร่งปรับตัวให้ทันเพราะหากต้องใช้กระบวนการทำงานแบบแรงงานคนอย่างเดียว เจ้าของธุรกิจต้องแบกรับภาระอย่างมาก ดังนั้น ทางกระทรวงฯ เองก็เร่งผลักดันให้ไทยเป็นโลจิสติกส์ฮับในกลุ่มประเทศเออีซี จึงต้องเร่งวางแผนเทคโนโลยีและสามารถนำมาใช้งานได้จริงแบบทันทีทันใด” อนงค์ กล่าว

นอกจากนี้ เรื่องของระบบสัญญาณสื่อสาร 3จี หรือ 4จี ต่างก็มีความจำเป็น เพราะช่วยให้รับส่งข้อมูลได้รวดเร็วขึ้น ซึ่งการเก็บระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ RFID นั้น สามารถเก็บข้อมูลได้ แม้สินค้าจะอยู่กลางทะเลลึกอุณหภูมิที่หนาวจัดหรือบนเครื่องบินก็ตาม “เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย ด้านการลดต้นทุนโลจิสติกส์ของภาคอุตสาหกรรมต่อจีดีพีลง 15% และลดต้นทุนด้านพลังงานกว่า 30% ดังนั้น กระทรวงฯ จึงต้องเร่งพัฒนา 4 ด้าน คือให้ความรู้ผู้ประกอบการ วางโครงสร้างพื้นฐาน ออกกฎระเบียบให้รัดกุม และพัฒนาการให้บริการของภาครัฐ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ทุกธุรกิจ ทั้งยังผลักดันให้เกิดวันสต็อปเซอร์วิสตามชายแดน เพื่อลดขั้นตอนการทำงานซ้ำซ้อน”อนงค์ กล่าว

กำพล โชคสุนทสุทธิ์ ประธานกรรมการ บริษัท เอแซนเทค (ประเทศไทย) กล่าวว่า หากเจ้าของสินค้าติดตั้งระบบ RFID และบาร์โค้ด ไว้ในสินค้าตั้งแต่ต้นทาง นอกจากจะช่วยเก็บข้อมูลสินค้าแล้ว ยังสามารถเช็กคุณภาพของสินค้าได้ตลอดระยะเวลาการขนส่งไม่ว่าจะทางบก น้ำ หรืออากาศ โดยไม่ต้องเปิดตู้เพื่อเช็กคุณภาพระหว่างการขนย้าย

“กระบวนการทำงานของ RFID จะแบ่งเป็น 4 ส่วน คือ แท็กสำหรับติดไปบนสินค้า เสาอากาศหรือเส้นขดบนชิพเพื่อเป็นตัวรับส่งข้อมูล เครื่องอ่านสัญญาณและระบบซอฟต์แวร์ ซึ่งต้นทุนในการทำงานทุกขั้นตอนไม่สูงมาก แต่ประสิทธิภาพการทำงานสามารถนำไปแข่งขันในระดับนานาชาติได้” กำพล กล่าว

นอกจากนี้ การเพิ่มเครื่องอ่านตามด่านตรวจชายแดน จะช่วยให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้ง่ายและรวดเร็วขึ้นเพราะเครื่องอ่านจะส่งข้อมูลเกี่ยวกับสินค้ามาที่ระบบประมวลผล และแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบว่าด้านในมีสินค้าใดบ้าง ทำให้สามารถจัดส่งสินค้าไปยังปลายทางได้อย่างรวดเร็ว

ทางด้านผู้ประกอบการที่นำ RFID ไปใช้งาน คือ ปูนซิเมนต์นครหลวงและเบทาโกร กล่าวว่า ปูนซิเมนต์ไทยใช้เวลาในการติดตั้งและพัฒนาซอฟต์แวร์ต่างๆ เป็นเวลา 1 ปี ใช้งบประมาณหลาย 10 ล้านบาท แต่ลดต้นทุนการทำงานระยะยาวได้อย่างมหาศาลสอดคล้องกับทางเบทาโกรที่ใช้เวลาในการติดตั้ง 6 เดือน ใช้งบพัฒนาประมาณ 3-4 ล้านบาท ในส่วนของฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ยอมรับว่าบริหารจัดการขั้นตอนการทำงานได้รวดเร็วขึ้น ลดแรงงานคนไปได้ 20% ป้องกันความผิดพลาดระหว่างการทำงานและเพิ่มประสิทธิภาพของชิ้นงานให้ดีขึ้น

จาก http://www.posttoday.com   วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2558

สั่งกรมชลฯศึกษาโครงการพัฒนาแหล่งน้ำระยะยาว

รมว.เกษตรฯ สั่งกรมชลประทานเดินหน้าศึกษาโครงการพัฒนาแหล่งน้ำระยะยาว นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมชลประทานไปศึกษาแนวทางการพัฒนาแหล่งน้ำในระยะยาวทั้งการพัฒนาเส้นทางระบายน้ำฝั่งตะวันออกหรือฟลัดเวย์การผันน้ำจากแม่น้ำโขง และการหาพื้นที่แก้มลิงเพื่อรับน้ำในฤดูน้ำหลาก เพื่อจะได้เป็นแผนการดำเนินการในอนาคต เนื่องจากรัฐบาลนี้จะเน้นในเรื่องการปฏิบัติในแผนระยะสั้นและระยะกลาง จากงบประมาณปี 2558- 2559 เป็นหลัก ดังนั้นต้องศึกษาแผนระยะยาวไว้ และหากว่าโครงการได้ใดสามารถดำเนินการได้ทันทีจะได้กำหนดไว้ในงบประมาณปีต่อไป รวมทั้งให้เตรียมหารือกับกระทรวงมหาดไทยถึงความเป็นไปได้ในการให้กรมชลประทานเข้าไปดูแลแหล่งน้ำที่กรมชลฯถ่ายโอนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)แต่มีปัญหาเรื่องงบประมาณในการบำรุงรักษา

ทั้งนี้ให้กรมชลฯไปทำรายละเอียดโครงการฟลัดเวย์ตะวันที่มีการศึกษาไว้ก่อนหน้ามาพิจารณาซึ่งก่อนหน้ามีการศึกษาโครงการนี้ไว้ สองชุด คือชุดการศึกษาของกรมชลประทานและของบริษัทเอกชน อย่างไรก็ตาม เห็นว่า ชุดการศึกษาของกรมชลฯเหมาะสมที่สุด เพราะใช้เส้นทางน้ำเดิมแต่อาจต้องมีการปรับปรุงและขยายคูคลองเพิ่มและไม่ต้องเวนคืนที่ดินมาก ซึ่งจะลดปัญหาทางสังคม และจะทำให้โครงการมีโอกาสเกิดได้มากที่สุด ส่วนโครงการฟลัดเวย์ตะวันตก คงไม่มีการดำเนินการ เพราะเกิดได้ยากเพราะกระทบชุมชนและภูมิประเทศไม่เหมาะสม

นอกจากนั้นให้กรมชลฯศึกษาการผันน้ำจากแม่น้ำโขงเพื่อมาเติมแหล่งน้ำในประเทศซึ่งเดิมกรมชลฯศึกษาโครงการ โขง ชี มูล เลย เอาไว้ ให้กรมชลฯไปดูว่าจะทำอย่างไรจะทำเป็นโครงการขนาดย่อมลงมาเพื่อเป็นโครงการนำร่องก่อน อย่างไรก็ตามจะนำเรื่องนี้หารือกับรัฐบาลและหารือกับกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงต่อไปซึ่งโครงนี้หากสำเร็จจะทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีแหล่งน้ำเพิ่มขึ้น เพราะจากฤดูแล้ง 2-3 ปีที่ผ่านมาภาคนี้ได้รับผลกระทบมากที่สุด ทั้งน้ำอุปโภค บริโภคและน้ำเพื่อการเกษตร

 จาก http://www.posttoday.com   วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2558

วาระแห่งชาติ..ส่งออก!!

สมชาย สกุลอือ หลายเดือนมานี้บ้านเมืองอยู่ในภาวะเงียบสงบ ปราศจากเสียงเรียกร้องของเกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา นักธุรกิจ นักลงทุน รวมไปถึงคนในกลุ่มก้อนทางการเมืองต่างๆ หากมองในแง่บวกมันก็น่าจะดี โดยเฉพาะกับภาคธุรกิจ การค้า การลงทุน เพราะไม่มีอุปสรรคใดๆ ทั้งการชุมนุม การประท้วง การปิดถนน ปิดหน่วยงานราชการ เข้ามารบกวนจิตใจนักลงทุน แต่โดยความเป็นจริง สภาพเศรษฐกิจโดยรวมกลับไม่ได้เฟื่องฟูอย่างที่หลายๆ ท่านคาดการณ์

    เห็นได้จากตัวเลขการส่งออกเดือนแรกของปี 2558 หรือเดือนมกราคม มียอดรวมของการส่งออกติดลบไป 3.46% เช่นเดียวกับยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอก็ลดลงทั้งจำนวนโครงการและมูลค่าการลงทุน

    แต่บรรดาข้าราชการโดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์ก็ยังมองแบบโลกสวย ด้วยการยืนยันเป้าหมายการส่งออกปี 2558 ที่ 4% เหมือนเดิม ต่างจากฝากภาคเอกชนโดยเฉพาะกกร. (คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน) ที่ออกมาปรับเป้าจาก 3.5% เหลือ 2.5%  พร้อมยังส่งสัญญาณไปถึงรัฐบาลให้ยกระดับปัญหาเป็น "วาระแห่งชาติ" เพื่อจะได้ร่วมระดมสมองหาทางหนีทีไล่แก้ไขปัญหาได้ทันเวลา

    ซึ่งเรื่องนี้นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ได้ออกมายืนยันท่าทีชัดๆ ของสภาว่า "สนับสนุนให้กระทรวงพาณิชย์ผลักดันเรื่องส่งออกเป็นวาระแห่งชาติ" โดยให้เหตุผลว่า ผลสรุปของการส่งออกติดลบในเดือนมกราฯ ถือว่าเป็นสัญญาณไม่ดี เนื่องจากเป็นการลดลงทั้งตลาดหลักและตลาดรอง อาทิ ตลาดหลักอย่างจีน ลดลงถึง 19.69%  ญี่ปุ่นลดลง 7.8%  และสหภาพยุโรปลดลง 5%  ขณะที่ตลาดรอง อาทิ รัสเซียก็ลดลง!!

    ว่ากันว่าปัจจัยลบที่เข้ามากระทบ มิใช่แค่ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวเท่านั้น แต่ยังมาจากปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่ากว่าประเทศในภูมิภาคเข้ามากระทบความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย ซึ่งเป็นปัญหาที่ภาคเอกชนเรียกร้องให้ภาครัฐโดยเฉพาะแบงก์ชาติแก้ไขแต่ก็ยังไม่มีการตอบสนอง

    "ภาพรวมจึงคาดการณ์ว่าการส่งออกไทยไตรมาสแรกปีนี้จะติดลบ 2% ดังนั้นมีแนวโน้มว่ากกร.จะลดเป้าส่งออกที่เดิมมองไว้ที่ 3.5% ลดลงเหลือ 2.5% แต่โดยส่วนตัวแล้วส่งออกปีนี้คงโตไม่เกิน 1.1-1.5% หากปัญหาค่าเงินยูโรยังคงอ่อนค่าทำให้ไทยถูกต่อรองราคาสินค้าการส่งออกตลาดนี้คาดว่าจะหายไปพอสมควร" นายวัลลภกล่าว

    พูดถึงปัจจัยลบๆ แต่ยังไม่ได้นับรวมสถิติตัวเลขอย่าง การใช้จ่ายภาคเอกชน หนี้ภาคครัวเรือน รวมถึงระดับความเชื่อมั่นของภาคเอกชน ที่ออกมาไม่ค่อยดีในช่วงเวลาเดียวกัน ยกตัวอย่างดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือนมกราฯที่ผ่านมาลดลง 1.3% 

    รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่กระทรวงการคลังออกมาแถลงก่อนหน้าตัวเลขยังอยู่ที่ระดับ 69.7 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากประชาชนยังมองว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวมยังฟื้นตัวได้ช้า และราคาสินค้าเกษตรก็ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนก็ยังคงชะลอตัว!!!

    ว่าแต่เหตุหรือปัจจัยลบที่มีผลกระทบทำให้เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศขยับไปอย่างช้าๆ ดูเหมือนทุกกรมกองภาครัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแลต่างก็มีมุมมองต้นเหตุหรือที่มาของปัญหาได้ตรงกัน จึงไม่น่าจะเป็นโจทย์ยาก หากภาครัฐจะเร่งระดมสมองหาวิธีแก้ปัญหาเหล่านี้ ดังที่ภาคเอกชนส่งเสียงเรียกร้องกันมาเป็นระยะๆ ให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี

    อยู่ที่ท่านผู้นำ ท่านหน. ทีมศก.จะกรุณาสั่งการ!!

จาก http://www.thanonline.com วันที่ 8 มีนาคม 2558

ส่งออก-ลงทุนเอกชนเครื่องดับสนิท อุ๋ย"กุมขมับเร่งสปีดงบรัฐ-ห่วงคิวอียูโรทำบาทแข็ง

"หม่อมอุ๋ย" เชื่อใจแบงก์ชาติคุมค่าเงินบาทไม่แข็งเกินไป หลังอียูอัดฉีดคิวอีอีกเดือนละ 60,000 ล้านยูโร รับยังห่วงส่งออกฉุดการเติบโตเศรษฐกิจในประเทศ ชี้เครื่องจักรส่งออก-การลงทุนเอกชนยังดับ เร่งได้เฉพาะการลงทุนภาครัฐ

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ประกาศอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเดือนละ 60,000 ล้านยูโรว่า เมื่อมีเงินเข้าสู่ระบบในยุโรปเงินก็จะไหลไปที่อื่นๆ ด้วยรวมทั้งประเทศไทย ซึ่งการที่มีกระแสเงินเข้าสู่ระบบมากขึ้นก็จะมีผลกระทบต่อตลาดหลักทรัพย์เหมือนกับตอนปลายเดือนม.ค.ที่ผ่านมา ที่ดัชนีในตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 1,500 จุด ไปที่ 1,600 จุด ก่อนที่จะปรับตัวลงมาในระดับ 1,550 จุด

"การไหลเข้ามาของเงินทุนครั้งนี้อาจจะทำให้ดัชนีในตลาดหลักทรัพย์ปรับเพิ่มขึ้นได้ ส่วนผลกระทบในเรื่องค่าเงินธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ดูแลเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนอย่างต่อเนื่องซึ่งหวังว่า ธปท.ก็จะดูแลในส่วนนี้ต่อไปเหมือนกับที่รับมือได้เมื่อครั้งก่อน เพราะไม่อยากเห็นค่าเงินบาทแข็งค่ามากกว่านี้ ส่วนเรื่องการค้าชายแดนที่ใช้เงินบาทเป็นเงินสกุลหลักในการค้าขาย เรื่องนี้ ก็ปล่อยให้เป็นกลไกปกติไม่ต้องเข้าไปแทรกแซงอะไร"

ไม่ให้นโยบายไม่ก้าวก่ายอะไรกับคณะกรรมการนโยบายการเงิน เพราะดูจากชื่อจากตำแหน่งทั้ง 7 คน ไม่ว่าจะเป็นผู้ว่าฯ รองผู้ว่าฯ ธปท. พวกเขาฉลาดพอไม่ต้องให้นโยบายอะไรพวกเขาก็น่าจะคิดออก

ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวอีกว่า สำหรับการขยายตัวของเศรษฐกิจในปีนี้ ที่การส่งออกอาจจะเป็นอุปสรรค แม้ในการคำนวณอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจตนจะไม่ได้ใส่เงื่อนไขการเพิ่มขึ้นของการส่งออกเข้ามาในการคำนวณ แต่ประเทศที่การส่งออกไม่ขยายตัวเศรษฐกิจส่วนที่จะได้รับผลกระทบคือการลงทุนภาคเอกชน เนื่องจากการลงทุน ซื้อสินค้าเพื่อการผลิตสินค้าในสต๊อกเพิ่มเติมเพื่อการส่งออกก็จะไม่เพิ่มขึ้น

การลงทุนของภาคเอกชนจะให้น้ำหนักในการลงทุนระยะยาวมากกว่า ทั้งนี้เมื่อการส่งออกลดลงสิ่งที่รัฐบาลจะต้องขับเคลื่อนคือเรื่องของการใช้งบประมาณการลงทุนและการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ และการใช้จ่ายภาคเอกชน

เศรษฐกิจไทยในขณะนี้อาศัยเพียงการเดินเครื่องจาก 2 ส่วนนี้เท่านั้น ขณะที่เครื่องจักรการส่งออกและการลงทุนภาคเอกชนยังเดินไม่เต็มที่ สิ่งที่ทำได้ก็คือพยายามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและกระตุ้นให้คนใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เพื่อให้จีดีพีขยายตัว 4% ตามเป้าที่วางไว้

จาก http://www.khaosod.co.th วันที่ 7 มีนาคม 2558

'ปีติพงศ์'จี้สปก.หาที่ดินทำกิน ให้เกษตรกรยากจนป้องรุกป่า

นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรฯเปิดเผยว่าที่ประชุมคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรเกษตรกรรม เห็นชอบแผนงานการตรวจสอบการถือครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน 30 ล้านไร่หากพบว่ามีการบุกรุกเข้าถือครองโดยผิดกฎหมายเร่งดำเนินการยึดคืนที่ดินและนำมาจัดสรรให้เกษตรกรที่ยากจนรายใหม่ให้แล้วเสร็จภายในปี2560 ตามนโยบายรัฐบาล พร้อมกันนี้ได้มีการจัดที่ดินในพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดิน 4 จ..เช่นอ.ลานสัก จ.อุทัยธานี เนื้อที่ 2,379 ไร่ อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร(เนื้อที่ 1,030 อ.ดอนจาน จ.กาฬสินธุ์ เนื้อที่ 858 ไร่ และอ.ครบุรี จ.นครราชสีมาเนื้อที่ 527 ไร่ จัดสรรให้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไว้แล้วเข้าทำกิน

ทั้งนี้ได้ตั้งคณะอนุกรรมการจัดหาที่ดิน คณะอนุกรรมการจัดที่ดิน คณะอนุกรรมการสงเสริมและพัฒนาอาชีพ เพื่อให้การดำเนินงานแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ป่าสงวนแห่งชาติและที่หวงห้ามของรัฐและผู้ยากจนที่ไม่มีที่ดินทำกินและอยู่อาศัยตามนโยบายของรัฐบาล มีประสิทธิภาพ

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 7 มีนาคม 2558

ดันโครงการสร้างรายได้เกษตรกร ประสบภัยแล้งหนุน1ล้านต่อตำบล

 นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรฯ เปิดเผยว่าได้เตรียมแผนใช้เงินตำบลละล้านบาท จำนวน 3 พันกว่าตำบล วงเงิน 3,015 ล้านบาท โดยพิจารณาโครงการและงบประมาณเป็นรายจังหวัดที่เสนอโครงการช่วยเหลือบรรเทาปัญหาให้กับเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้งในพื้นที่แล้งซ้ำซากโดยสรุปแยกเป็นรายโครงการเพื่อเสนอเห็นชอบ จำนวน 226 โครงการ เพื่อสำนักงบประมาณต่อไป และจะมีโครงการทยอยส่งเข้ามาให้พิจาณาในระยะ 3 สัปดาห์ต่อจากนี้ อีกประมาณ 15,000 โครงการ ซึ่งจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือน เม.ย.นี้ เพื่อผลักดันให้เกิดการจ้างงานในฤดูแล้งนี้

โครงการที่เสนอผ่านคณะกรรมการระดับจังหวัด สู่การพิจารณาระดับกระทรวงนี้ ส่วนใหญ่เป็นโครงการที่เกี่ยวกับการปรับปรุง ซ่อมแซมระบบบริหารจัดการน้ำ เนื่องจากมีความเข้าใจว่าโครงการที่จะได้รับการสนับสนุนจะต้องเป็นโครงการที่เกี่ยวกับภัยแล้งเท่านั้น ส่วนใหญ่จะนึกถึงการขาดแคลนน้ำ จึงได้ขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการชี้แจงทำความเข้าใจเงื่อนไขของโครงการลงสู่พื้นที่ โดยเป็นโครงการที่สร้างรายได้แก่ชุมชนที่เข้าข่าย 4 ลักษณะ คือ 1.การจัดการแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรของชุมชน 2.การผลิตทางการเกษตรและการแปรรูปผลผลิตเกษตรเพื่อสร้างรายได้ในฤดูแล้ง 3.การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต 4.การจัดการเพื่อลดความสูญเสียผลผลิตเกษตร ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับความต้องการในพื้นที่ เน้นโครงการที่มุ่งให้เกิดการจ้างแรงงานในพื้นที่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ซึ่งจะมีการชี้แจงรายละเอียดของการจ้างแรงงาน ค่าใช้จ่าย  ที่ชัดเจนด้วย

ด้านสถานการณ์น้ำ กรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตามแผนงานที่ได้วางไว้ ซึ่งครอบคลุมถึงเดือนกรกฎาคม โดยเน้นย้ำให้เกษตรกรปฏิบัติตามคำเตือนที่ได้ออกประกาศไปแล้วก่อนหน้านี้ ในเรื่องการงดปลูกข้าวนาปรังในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลอง

ส่วนปัญหาหมอกควันในขณะนี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อแก้ไขปัญหาหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือ จํานวน 2 หน่วย คือ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ และหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ จ.พิษณุโลก เพื่อเฝ้าติดตาม รายงานสถานการณ์เข้ามาเป็นระยะๆ อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เน้นการแก้ปัญหาในภาคพื้นดินร่วมกัน ด้วยการรณรงค์ขอความร่วมมือ สร้างความเข้าใจและเฝ้าระวังในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ ขอความร่วมมือในการปฏิบัติตามประกาศเตือนและติดตามสถานการณ์น้ำของกรมชลประทาน ส่วนในพื้นที่ที่งดปลูกข้าวนาปรัง ก็ไม่ควรฝืนปลูก เนื่องจากจะประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำในภายหลัง พร้อมกันนี้ ได้มีมาตรการรองรับการขาดแคลนรายได้ของเกษตรกรในช่วงภัยแล้งไว้แล้ว คือ โครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชนเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง ซึ่งโครงการส่วนใหญ่กำลังทยอยพิจารณาผ่านคณะกรรมการฯระดับอำเภอมาสู่ระดับจังหวัดแล้ว คาดว่างบประมาณจะถึงมือเกษตรกรเพื่อขับเคลื่อนโครงการได้ไม่เกินสิ้นเดือน เม.ย.นี้ นายชวลิต กล่าว

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 7 มีนาคม 2558

เกษตรกรรอเฮ!ปี63 ใช้ปุ๋ยถูก

นักวิชาการเชื่อ หลังไทยผลิตขุมทรัพย์โปรแตชเต็มกำลัง ทำให้ในปี 63 เกษตรกรใช้ปุ๋ยราคาถูกลงแน่ 10-15 %

นายประเสริฐ สุดใหม่ ที่ปรึกษาสมาคมการค้าผู้ผลิตปุ๋ยไทย และนักวิชาการอิสระด้านดินและปุ๋ย เปิดเผยภายหลังร่วมคณะนายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รมว.อุตสาหกรรม ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการเหมืองแร่โพแตชอาเซียน จ.ชัยภูมิว่า หากไทยผลิตแร่โปแตชในไทย ได้เต็มกำลังผลิต 1.1 ล้านตัน ในปี 63 จะส่งผลให้ราคาปุ๋ย ปรับลดลง ประมาณ 10-15% เนื่องจากแร่โปแตซ เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตปุ๋ย เพื่อใช้ในการเกษตร และในอนาคตไทย จะเป็นผู้ผลิตแร่โปแตซอันดับต้นๆ ของโลกอย่างแน่นอน จากปัจจุบันผู้ผลิตแร่โปรแตช อันดับต้นๆ ของโลกมี 4 ประเทศ คือ แคนนาดา รัสเซีย เบลารูส เยอรมัน เนื่องจากขณะนี้แร่โปแตซของไทย มีการสำรวจทั้งประเทศถึง 407,000 ล้านตัน ซึ่งจะทำให้ไทยมีอำนาจในการต่อรองมากขึ้น

นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า การดำเนินการของเหมืองจะสร้างประโยชน์กับชาวบ้าน เกิดการจ้างงาน กระตุ้นเศรษฐกิจ และลดการนำเข้าปุ๋ยโปแตชเซียมในภาคเกษตรของไทย เนื่องจากไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม เพราะฉะนั้นถ้าผลิตโปแตชได้ ก็จะทำให้ต้นทุนปุ๋ยลดลง 

จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 6 มีนาคม 2558

ชุบชูชีวิตเกษตรกร ในพื้นที่สูบน้ำด้วยไฟฟ้า

สำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง กรมชลประทาน นอกเหนือจากวางแผนจัดรูปที่ดินในพื้นที่ชลประทานโดยตรงแล้ว ยังมองการช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่แหล่งน้ำอื่น

ในความพยายามเพื่อช่วยเกษตรกรไทยให้พ้นจากความลำบากยากไร้ในการดำรงชีพนอกจากกรมชลประทานแล้ว ก็ยังมีกรมพัฒนาพลังงานอีกหนึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้

ซึ่งในอดีตเป็นหน่วยงานหนึ่งที่พยายามช่วยเหลือเกษตรกร โดยก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยพลังงานไฟฟ้า  เพื่อกระจายน้ำให้พื้นที่การเกษตร ตั้งแต่ระดับพันไร่จนถึงนับหมื่นไร่ น่าเสียดายที่มีปัญหาในทางปฏิบัติ  สุดท้ายโครงการเหล่านี้ก็เลิกล้มไป ต้องถ่ายโอนภารกิจนี้ให้หน่วยงานอื่น เช่น กรมชลประทาน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

การก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า เกิดจากข้อจำกัดของพื้นที่การเกษตรที่อยู่สูงกว่าระดับน้ำ ไม่อาจอาศัยการส่งน้ำด้วยแรงโน้มถ่วงโลก ซึ่งประหยัดกว่าได้

สำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง  กรมชลประทาน นอกเหนือจากวางแผนจัดรูปที่ดินในพื้นที่ชลประทานโดยตรงแล้ว  ยังมองการช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่แหล่งน้ำอื่นที่มีศักยภาพจัดรูปที่ดินได้ อย่างเช่นพื้นที่สูบน้ำด้วยไฟฟ้า

พื้นที่แรก ๆ ที่สำนักงานจัดรูปที่ดินกลางเข้าไปดำเนินการจัดรูปที่ดินคือ โครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้ารางสาลี่ อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่สูง ไม่สามารถรับประโยชน์จากโครงการเขื่อนแม่กลอง ทั้งที่ตั้งอยู่  อ.ท่าม่วง เช่นกันได้

“พื้นที่ ต.รางสาลี่ เดิมทีมีสถานีสูบน้ำริมแม่น้ำแควน้อยที่กรมพัฒนาพลังงานติดตั้งให้อยู่แล้ว โดยต่อท่อความยาวกว่า 3 กิโลเมตร สูบน้ำส่งขึ้นไปใส่ในคูจม  เกษตรกรต้องใช้ปั๊มน้ำสูบต่อเข้าพื้นที่ตัวเอง เท่ากับเสียค่าใช้จ่าย 2 ต่อ นับเป็นภาระต้นทุนที่หนักมาก” นายสมใจ นาควารี หัวหน้าฝ่ายกองทุนจัดรูปที่ดิน เล่าความเป็นมา 

เกษตรกรเจ้าของพื้นที่กว่า 1,000 ไร่   จึงร้องขอให้สำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง เข้าไปดำเนินการจัดรูปที่ดิน  เพื่อลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มความสะดวก รวมทั้งเพิ่มผลผลิต โดยการก่อสร้างคูส่งน้ำ คูระบายน้ำและเส้นทางลำเลียง

“จากเดิมที่ต้องมีค่าใช้จ่ายสูบน้ำ 2 ครั้งก็เหลือ 1 ครั้ง  เพราะไม่ต้องสูบน้ำเข้านาอีกแล้ว ค่าไฟฟ้าเดิมที่เฉลี่ยจ่ายแพงก็จ่ายถูกลง เพราะใช้วิธีบริหารจัดการน้ำเป็นระบบ ช่วยลดเวลาการสูบลง ขณะเดียวกันการได้น้ำอย่างสม่ำเสมอทั่วถึงกัน ยังทำให้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นด้วย เท่ากับลดต้นทุนการผลิตในตัว แถมยังทำนาได้อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง” นายสมใจ กล่าว

เกษตรกรในพื้นที่จัดรูปที่ดินรางสาลี่จึงมีความสุข และแบ่งปันความสุขด้วยการแบ่งปันความรู้ให้แก่เกษตรกรที่มาดูงานจากพื้นที่อื่นโดยไม่ปิดบัง เพราะที่นี่ถือเป็นโครงการต้นแบบที่ช่วยให้เห็นว่า แม้ไม่ใช่พื้นที่ชลประทาน แต่มีแหล่งน้ำที่มีศักยภาพจัดรูปที่ดินได้ กรมชลประทานก็พร้อมดูแล

ที่สำคัญพื้นที่สูบน้ำด้วยไฟฟ้ามีการรวมกลุ่มของเกษตรกร ซึ่งมีความเข้มแข็งระดับหนึ่งอยู่แล้ว เพราะต้องร่วมกันจ่ายค่ากระแสไฟฟ้าด้วยกัน  พื้นที่เหล่านี้จึงเป็นเป้าหมายหนึ่งในการจัดรูปที่ดิน

โครงการจัดรูปที่ดินพื้นที่สูบน้ำด้วยไฟฟ้าของสำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง นอกจากชุบชูชีวิตเกษตรกรรางสาลี่ อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี ให้ลืมตาอ้าปากได้แล้ว  ยังเป็นโครงการเป้าหมายชุบชูชีวิตเกษตรกรพื้นที่สูบน้ำด้วยไฟฟ้าแห่งอื่น ๆ ที่มีมากมายทั่วประเทศไทยอีกด้วย

เพราะการจัดรูปที่ดิน เป็นทั้งการเพิ่มพูนโอกาส  เพิ่มผลผลิต และลดต้นทุนการผลิตนั่นเอง.

จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 6 มีนาคม 2558

แหล่งแร่โปแตซ ช่วยราคาปุ๋ยปรับลดลง10-15%

นักวิชาการปุ๋ย คาดแหล่งแร่โปแตซ ช่วยให้ราคาปุ๋ยปรับลดลงต่อเนื่อง 10-15% ขณะตัวแทนชุมชน บอกไม่ความกังวล ปัญหาสิ่งแวดล้อม

นายประเสริฐ สุดใหม่ ที่ปรึกษาสมาคมการค้าผู้ผลิตปุ๋ยไทย และนักวิชาการอิสระด้านดินและปุ๋ย กล่าวว่า หากดำเนินการผลิตแร่โปแตซในไทย เริ่มการผลิตได้ในปี 2561 และเริ่มกำลังผลิตได้เต็มที่ในปี 2563 จะทำให้ราคาปุ๋ยปรับลดลงต่อเนื่องถึงร้อยละ 10-15 เนื่องจากแร่โปแตซ เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตปุ๋ยเพื่อใช้ในการเกษตร และเชื่อว่า ในอนาคตไทย จะเป็นผู้ผลิตแร่โปแตซ อันดับต้นๆ ของโลก เนื่องจากขณะนี้แร่โปแตซของไทย มีปริมาณสำรองทั้งประเทศถึง 4.07 แสนล้านตัน ซึ่งจะทำให้ไทยมีอำนาจในการต่อรองมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคาที่ปรับลดลงต้องขึ้นอยู่กับปุ๋ยแต่ละประเภทด้วย

ขณะที่ ตัวแทนชุมชน เปิดเผยว่า ไม่มีความกังวลด้านสิ่งแวดล้อม เพราะเชื่อว่าบริษัทจะใช้เทคโนโลยีของต่างประเทศที่ทันสมัยและปลอดภัยต่อชุมชน ทั้งนี้ อนาคตหากเกิดผลกระทบ ก็เชื่อว่า กระทรวงอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการจะเข้ามาดูแลชุมชน นอกจากนี้ ยังจะก่อให้เกิดการจ้างงานในชุมชนเพิ่มขึ้นด้วย

จาก www.innnews.co.th  วันที่ 6 มีนาคม 2558

เศรษฐกิจไทยกำลัง เข้าสู่ภาวะเงินฝืดหรือไม่ ?

ช่วยกันคิดช่วยกันคุย : เศรษฐกิจไทยกำลัง เข้าสู่ภาวะเงินฝืดหรือไม่ ? : โดย...มูลนิธิสถาบันอนาคตไทยศึกษา

                              อัตราเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ติดลบ 0.52%  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยราคาน้ำมันยังเป็นปัจจัยหลักที่ดึงให้ดัชนีราคาลดลง อัตราเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่สองแล้ว นั่นแปลว่า เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืดแล้วหรือไม่?

Q1: เงินฝืดคืออะไร

                            เงินฝืดไม่ใช่แค่เรื่องอัตราเงินเฟ้อติดลบ แต่ต้องดูปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ราคาของสินค้าส่วนใหญ่ลดลงหรือไม่  ภาพรวมเศรษฐกิจหดตัวด้วยหรือไม่ คนจับจ่ายใช้สอยน้อยลง  รายได้คนลดลงหรือไม่ ฯลฯ

Q2: ทำไมเราต้องกังวลเรื่องเงินฝืด

                              การที่สินค้าราคาถูกลงฟังดูเหมือนจะเป็นเรื่องดี  แต่ถ้าราคาลดลงอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลให้คนไม่ค่อยใช้จ่ายเพราะคิดว่าราคาจะถูกลงอีก ลองคิดดูว่าถ้าเรารู้ว่า สินค้าชนิดหนึ่งจะลดราคาลงอีก เราก็คงจะไม่ซื้อของชิ้นนั้นในวันนี้  แต่จะรอจนราคาถูกลงจึงซื้อ แต่พอคนไม่ซื้อมากๆ เข้า คนขายก็จำเป็นต้องลดราคาลงอีกเป็นวงจรแบบนี้ไปเรื่อยๆ ในที่สุดก็จะกระทบต่อกำไรของภาคธุรกิจและการจ้างงาน 

                             อีกผลกระทบของเงินฝืดคือทำให้ภาระหนี้ที่แท้จริงเพิ่มขึ้น  ถ้าลองนึกภาพโรงงานปากกามีหนี้อยู่ 100 บาท ผลิตปากกาขายราคาด้ามละ 10 บาท ถ้าผลิตปากกา 10 ด้าม ก็จะได้เงิน 100 บาท และสามารถใช้หนี้คืนได้ (คิดง่ายๆ ว่าไม่มีค่าใช้จ่ายอื่นๆ)  แต่ถ้าเกิดภาวะเงินฝืด ปากกาจากเดิมราคาด้ามละ 10 บาท  ตอนนี้เหลือด้ามละ 5 บาท ถ้าจะชำระหนี้จะต้องผลิตและขายปากกาถึง 20 ด้าม บริษัทหรือครัวเรือนที่มีหนี้มากก็จะประสบปัญหาในการชำระหนี้

Q3: เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืดหรือไม่

                            เศรษฐกิจไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด เพราะเงินเฟ้อติดลบอย่างเดียวไม่ได้แปลว่าเงินฝืด ต้องดูปัจจัยอื่นๆ ที่ต้องดูประกอบกัน ในประเทศที่ประสบกับภาวะเงินฝืดอย่างประเทศญี่ปุ่น เราจะพบว่านอกจากเงินเฟ้อที่ติดลบแล้ว ยังพบว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นหดตัว อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจติดลบ ค่าจ้างที่แท้จริงลดลง คนคาดว่าเงินเฟ้อในระยะยาวจะยังคงต่ำมากหรือติดลบ เห็นได้จากผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวที่ต่ำมาก

                             กรณีประเทศไทย  เงินเฟ้อทั่วไปเริ่มติดลบ แต่ก็เกิดจากการลดลงของราคาสินค้าไม่กี่ชนิด เช่น ราคาน้ำมัน ถ้าดูอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานซึ่งตัดราคาน้ำมัน และราคาอาหารสดออกจะพบว่าเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้น ราว 1.5% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ในขณะเดียวกันเศรษฐกิจก็ยังพอขยายตัวได้ในปีนี้ (อย่างช้าๆ) เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า การที่น้ำมันและอาหารราคาถูกลงทำให้รายได้ในกระเป๋าคนเพิ่มขึ้น และจะเห็นได้ว่าการจ้างงานยังคงสูงมาก ชั่วโมงการทำงานยังไม่ลด ค่าจ้างยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  ผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวอยู่ในระดับที่ไม่ต่ำมาก

Q4: แล้วเงินเฟ้อจะติดลบต่อไปอีกนานหรือไม่

                             เงินเฟ้อเมื่อเทียบกับปีที่แล้วยังคงติดลบต่อไปอีกระยะ อย่างน้อยก็ในช่วงครึ่งปีแรก ด้วยผลของราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มลดลง เพราะดัชนีราคาผู้บริโภคของไทยนั้นขึ้นอยู่กับราคาน้ำมันเป็นหลัก  ซึ่งราคาน้ำมันในตลาดโลกเริ่มลดลงราวเดือนสิงหาคมของปีที่แล้ว

(ช่วยกันคิดช่วยกันคุย : เศรษฐกิจไทยกำลัง เข้าสู่ภาวะเงินฝืดหรือไม่ ? : โดย...มูลนิธิสถาบันอนาคตไทยศึกษา)

จาก http://www.komchadluek.net   วันที่ 6 มีนาคม 2558

กรมโรงงานชวนจัดการขยะอุตสาหกรรม

นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ดร.อรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และ ดร.พสุ  โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม

ขอเชิญผู้ประกอบการ ทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการ  “อุตสาหกรรมทั่วไทย ร่วมใจจัดการขยะอุตสาหกรรม” เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 88 พรรษา และช่วยลดการสร้างปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อมและลดการก่อให้เกิดมลพิษต่อชุมชน  โดยงานจะจัดขึ้นในวันจันทร์ที่ 9 มีนาคม 2558 ณ ห้องประชุม 509 ชั้น 5 กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ สามารถลงทะเบียนได้ที่ระบบอนุญาตแบบอิเล็กทรอนิกส์ http://www2.diw.go.th/e-license/login.asp  หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมโรงงานอุตสาหกรรม 1564   หรือ www.diw.go.th

จาก http://www.thanonline.com วันที่ 6 มีนาคม 2558

ชุบชูชีวิตเกษตรกร ในพื้นที่สูบน้ำด้วยไฟฟ้า

สำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง กรมชลประทาน นอกเหนือจากวางแผนจัดรูปที่ดินในพื้นที่ชลประทานโดยตรงแล้ว ยังมองการช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่แหล่งน้ำอื่น

ในความพยายามเพื่อช่วยเกษตรกรไทยให้พ้นจากความลำบากยากไร้ในการดำรงชีพนอกจากกรมชลประทานแล้ว ก็ยังมีกรมพัฒนาพลังงานอีกหนึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้

ซึ่งในอดีตเป็นหน่วยงานหนึ่งที่พยายามช่วยเหลือเกษตรกร โดยก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยพลังงานไฟฟ้า  เพื่อกระจายน้ำให้พื้นที่การเกษตร ตั้งแต่ระดับพันไร่จนถึงนับหมื่นไร่ น่าเสียดายที่มีปัญหาในทางปฏิบัติ  สุดท้ายโครงการเหล่านี้ก็เลิกล้มไป ต้องถ่ายโอนภารกิจนี้ให้หน่วยงานอื่น เช่น กรมชลประทาน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

การก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า เกิดจากข้อจำกัดของพื้นที่การเกษตรที่อยู่สูงกว่าระดับน้ำ ไม่อาจอาศัยการส่งน้ำด้วยแรงโน้มถ่วงโลก ซึ่งประหยัดกว่าได้

สำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง  กรมชลประทาน นอกเหนือจากวางแผนจัดรูปที่ดินในพื้นที่ชลประทานโดยตรงแล้ว  ยังมองการช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่แหล่งน้ำอื่นที่มีศักยภาพจัดรูปที่ดินได้ อย่างเช่นพื้นที่สูบน้ำด้วยไฟฟ้า

พื้นที่แรก ๆ ที่สำนักงานจัดรูปที่ดินกลางเข้าไปดำเนินการจัดรูปที่ดินคือ โครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้ารางสาลี่ อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่สูง ไม่สามารถรับประโยชน์จากโครงการเขื่อนแม่กลอง ทั้งที่ตั้งอยู่  อ.ท่าม่วง เช่นกันได้

“พื้นที่ ต.รางสาลี่ เดิมทีมีสถานีสูบน้ำริมแม่น้ำแควน้อยที่กรมพัฒนาพลังงานติดตั้งให้อยู่แล้ว โดยต่อท่อความยาวกว่า 3 กิโลเมตร สูบน้ำส่งขึ้นไปใส่ในคูจม  เกษตรกรต้องใช้ปั๊มน้ำสูบต่อเข้าพื้นที่ตัวเอง เท่ากับเสียค่าใช้จ่าย 2 ต่อ นับเป็นภาระต้นทุนที่หนักมาก” นายสมใจ นาควารี หัวหน้าฝ่ายกองทุนจัดรูปที่ดิน เล่าความเป็นมา 

เกษตรกรเจ้าของพื้นที่กว่า 1,000 ไร่   จึงร้องขอให้สำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง เข้าไปดำเนินการจัดรูปที่ดิน  เพื่อลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มความสะดวก รวมทั้งเพิ่มผลผลิต โดยการก่อสร้างคูส่งน้ำ คูระบายน้ำและเส้นทางลำเลียง

“จากเดิมที่ต้องมีค่าใช้จ่ายสูบน้ำ 2 ครั้งก็เหลือ 1 ครั้ง  เพราะไม่ต้องสูบน้ำเข้านาอีกแล้ว ค่าไฟฟ้าเดิมที่เฉลี่ยจ่ายแพงก็จ่ายถูกลง เพราะใช้วิธีบริหารจัดการน้ำเป็นระบบ ช่วยลดเวลาการสูบลง ขณะเดียวกันการได้น้ำอย่างสม่ำเสมอทั่วถึงกัน ยังทำให้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นด้วย เท่ากับลดต้นทุนการผลิตในตัว แถมยังทำนาได้อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง” นายสมใจ กล่าว

เกษตรกรในพื้นที่จัดรูปที่ดินรางสาลี่จึงมีความสุข และแบ่งปันความสุขด้วยการแบ่งปันความรู้ให้แก่เกษตรกรที่มาดูงานจากพื้นที่อื่นโดยไม่ปิดบัง เพราะที่นี่ถือเป็นโครงการต้นแบบที่ช่วยให้เห็นว่า แม้ไม่ใช่พื้นที่ชลประทาน แต่มีแหล่งน้ำที่มีศักยภาพจัดรูปที่ดินได้ กรมชลประทานก็พร้อมดูแล

ที่สำคัญพื้นที่สูบน้ำด้วยไฟฟ้ามีการรวมกลุ่มของเกษตรกร ซึ่งมีความเข้มแข็งระดับหนึ่งอยู่แล้ว เพราะต้องร่วมกันจ่ายค่ากระแสไฟฟ้าด้วยกัน  พื้นที่เหล่านี้จึงเป็นเป้าหมายหนึ่งในการจัดรูปที่ดิน

โครงการจัดรูปที่ดินพื้นที่สูบน้ำด้วยไฟฟ้าของสำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง นอกจากชุบชูชีวิตเกษตรกรรางสาลี่ อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี ให้ลืมตาอ้าปากได้แล้ว  ยังเป็นโครงการเป้าหมายชุบชูชีวิตเกษตรกรพื้นที่สูบน้ำด้วยไฟฟ้าแห่งอื่น ๆ ที่มีมากมายทั่วประเทศไทยอีกด้วย

เพราะการจัดรูปที่ดิน เป็นทั้งการเพิ่มพูนโอกาส  เพิ่มผลผลิต และลดต้นทุนการผลิตนั่นเอง.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 6 มีนาคม 2558

หนุนสหกรณ์แปรรูปเกษตรอินทรีย์

เป็นโครงการที่มุ่งเน้นการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันให้สถานประกอบการอุตสาหกรรมขนาดย่อม (SMEs)

นางอรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า โครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรในภูมิภาค ซึ่งเริ่มต้นในปี พ.ศ. 2550 เป็นโครงการที่มุ่งเน้นการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันให้สถานประกอบการอุตสาหกรรมขนาดย่อม (SMEs) กลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร ที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 200 ล้านบาท ให้ได้รับการพัฒนาครอบคลุมทุกมิติ เพื่อผลักดันการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรของไทยให้มีความยั่งยืนพร้อมรับการแข่งขันที่จะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนโดยเชื่อมโยงกับอาชีพเกษตรกรรมที่เป็นอาชีพหลักของประชากรในประเทศ

ในการลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานที่สหกรณ์เกษตรกันทรลักษ์ จำกัด ซึ่งเคยเข้าร่วมโครงการในแผนที่ 2 การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เมื่อปี 51 และล่าสุดในปี 57 ได้เข้าร่วมโครงการในแผนที่ 3 การปรับปรุงคุณภาพและพัฒนางานและแผนงานที่ 5 การยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์/ระบบมาตรฐานสากล โดยสหกรณ์ฯได้นำเอาการพัฒนาตามโครงการ มาใช้ในส่วนของโรงสีสหกรณ์ ทำให้สามารถลดปริมาณข้าวหักได้เป็นอย่างดี โดยก่อนปรับปรุงข้าวเปลือก 2,000 ตัน จะได้ข้าวต้น 780 ตัน (39%) ขายได้ 23.4 ล้านบาท ในขณะที่มีข้าวหัก 480 ตัน (24%) ขายได้ 7.2 ล้านบาท รวมแล้วขายได้ 30.6 ล้านบาท แต่หลังการปรับปรุงได้ข้าวต้นเป็น 820 ตัน (41%) ขายได้ 24.6 ล้านบาท ข้าวหักลดลงเหลือ 440 ตัน (22%) ขายได้ 6.6 ล้านบาท รวมมูลค่า 31.2 ล้านบาท  ทำให้มีกำไรเพิ่มขึ้น 6 แสนบาท

นอกจากนั้นยังช่วยพัฒนาบุคลากร มีการจัดทำคู่มือ และแนวทางปฏิบัติงานระบบมาตรฐาน ISO9001 : 2008 ตลอดจนได้มาตรฐาน GMP รับรองมาตรฐานสากลอีกด้วย.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 6 มีนาคม 2558

สศก. เผยโครงการส่งเสริมใช้ครื่องจักร ลดค่าใช้จ่ายเกษตรกร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ติดตามโครงการส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรทดแทนแรงงานเกษตรในจังหวัดลพบุรีและสิงห์บุรี เผย เกษตรกรที่ผ่านการอบรมร้อยละ 71 ได้นำความรู้ไปปฏิบัติแล้ว สามารถลดค่าใช้จ่ายเบื้องต้นในการบำรุงรักษาและซ่อมแซมเครื่องจักรกลการเกษตรได้เฉลี่ย 1,500 บาทต่อราย

นายสุรศักดิ์  พันธ์นพ รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากสภาพการลดลงของแรงงานในภาคการเกษตร และปัญหาต้นทุนการผลิตของเกษตรกรที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยที่กระทบต่อเกษตรกร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้มีนโยบายส่งเสริม  ให้เกษตรกรใช้เครื่องจักรกลการเกษตรทดแทนแรงงานเกษตร โดยพัฒนาความรู้ด้านเทคนิคการใช้การบำรุงรักษาเครื่องจักรกลการเกษตร สร้างช่างเกษตรท้องถิ่น 3,000 ราย ผ่านการอบรม 3 รุ่น เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรลดรายจ่ายในการซ่อมแซมเครื่องจักรกลการเกษตร และพัฒนาศักยภาพธุรกิจการให้บริการเครื่องจักรกลการเกษตรชุมชนอีก 100 ราย รวมทั้งจัดทำฐานข้อมูลเครื่องจักรกลการเกษตร

 ในเรื่องดังกล่าว สศก. ได้ดำเนินการติดตามจากเกษตรกรที่ผ่านการอบรม รุ่นที่ 1 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ในพื้นที่จังหวัดลพบุรีและสิงห์บุรี จากเกษตรกรกลุ่มตัวอย่าง 30 ราย พบว่า ก่อนเข้าร่วมโครงการเกษตรกรร้อยละ 52 มีความรู้ในการซ่อมบำรุงรักษาเครื่องจักรกลการเกษตรมาก่อนแล้ว เช่น การเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง การซ่อมเครื่องสูบน้ำ และเครื่องพ่นยา เป็นต้น ในกรณีที่เครื่องจักรกลการเกษตรเสียหาย เกษตรกรร้อยละ 33 จะซ่อมเอง  ร้อยละ 42 จ้างช่างจากนอกชุมชน และร้อยละ 25 ใช้ทั้ง 2 วิธี โดยเกษตรกรที่ผ่านการอบรมร้อยละ 71 ได้นำความรู้ไปปฏิบัติใช้แล้ว สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายในเบื้องต้นได้ 1,500 บาทต่อราย และมีความพึงพอใจต่อโครงการในระดับมาก  คิดเป็นร้อยละ 50 เนื่องจากเป็นการช่วยลดต้นทุนในการซ่อมแซมเครื่องจักรกลการเกษตรได้ดี

 อย่างไรก็ตาม เมื่อเกษตรกรผ่านการอบรมช่างเกษตรระดับ 1 แล้ว จะมีการคัดเลือกให้เข้ากิจกรรมการจัดอบรมช่างเกษตรระดับ 2 และ 3 ต่อไป ส่วนกิจกรรมพัฒนาศักยภาพธุรกิจให้บริการเครื่องจักรกลการเกษตรชุมชนและการจัดทำฐานข้อมูลเครื่องจักรกลการเกษตร อยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่ง สศก. จะได้รายงานติดตามความก้าวหน้าและประเมินผลในภาพรวมทั้งประเทศต่อไป

จาก http://www.thanonline.com วันที่ 5 มีนาคม 2558 

ครม.ผ่านงบทำโครงการหลวง

ครม.ไฟเขียวงบปี 59 รวม 900ล้านบาท สนับสนุนโครงการหลวง เน้นพัฒนาแหล่งน้ำสร้างรายได้ชุมชน

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ในการประชุมครม. เมื่อเร็วๆ นี้ ได้เห็นชอบยุทธศาสตร์ แผนงาน และคำของบประมาณประจำปี 59 ของคณะกรรมการประสานงานและสนับสนุนโครงการหลวง (กปส.) เพื่อสนับสนุนศูนย์พัฒนาโครงการหลวง และโครงการขยายผลโครงการหลวงวงเงิน 903.99 ล้านบาท แบ่งเป็น ของศูนย์พัฒนาฯ  จำนวน 38 แห่ง วงเงิน 547.3 ล้านบาท และโครงการขยายผลฯ29 แห่ง วงเงิน 356.6 ล้านบาท โดยขั้นตอนจากนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสำนักงบประมาณจะไปพิจารณาการสนับสนุนตามความเหมาะสมต่อไป โดยให้ความสำคัญเรื่องการพัฒนาโครงการด้านชลประทาน และการพัฒนาที่ดินเป็นหลัก

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 5 มีนาคม 2558

นำร่อง 5 จ.จัดทำแผนเชิงนิเวศ

ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การบริหารราชการของประเทศ ของกระทรวงอุตสาหกรรม และของกรมโรงงานอุตสาหกรรม คือ ยุทธศาสตร์ของประเทศในยุทธศาสตร์ที่ 3 การเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Growth) ยุทธศาสตร์ของกระทรวงอุตสาหกรรมในยุทธศาสตร์ที่ 4 การส่งเสริมสถานประกอบการสู่อุตสาหกรรมสีเขียว และยุทธศาสตร์ที่ 1 ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม การบริหารจัดการให้ภาคอุตสาหกรรมอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศยังเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 31 มีนาคม และวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ.2556 ที่มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานหลักในการประสานงานร่วมกับส่วนราชการอื่น โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดทำแผนพัฒนา เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศให้เป็นผลภายในปี พ.ศ.2561 อย่างน้อย 11 จังหวัด

จาก http://www.banmuang.co.th วันที่ 5 มีนาคม 2558

เร่งขยายผลธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ หมอดินสุพรรณเดินหน้าถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เกษตรกร

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาที่ดินมีนโยบายในการจัดตั้งธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อกระตุ้นเกษตรกรให้ตื่นตัวและเห็นความสำคัญของเศษวัสดุเหลือใช้ในไร่นาที่ไม่จำเป็นต้องเผาทำลายทิ้ง แต่สามารถจะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์โดยการนำมาผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ใช้ทดแทนปุ๋ยเคมีหรือสารเคมี อีกทั้งยังเป็นการรณรงค์ให้เกษตรกรหันมาทำการเกษตรแบบเกษตรอินทรีย์มากยิ่งขึ้น และที่สำคัญที่สุดเพื่อเป็นการร่วมเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 60 พรรษา ในปี 2558 ที่พระองค์ทรงให้ความสำคัญกับการเกษตร พระราชทานสูตรปุ๋ยหมักอินทรีย์ให้กรมพัฒนาที่ดิน นำมาเผยแพร่ และขยายผลการปฏิบัติให้เกษตรกรมีการนำไปผลิตไว้ใช้เองทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตในการทำเกษตรกรรม

ดังนั้นสถานีพัฒนาที่ดินสุพรรณบุรี จึงได้จัดทำ “โครงการรณรงค์ผลิตปุ๋ยอินทรีย์และจัดตั้งธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ เฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา” ณ ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการพัฒนาที่ดิน ทุ่งทองยั่งยืน ต.จระเข้สามพัน อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ให้มีการผลิตและใช้ปุ๋ยอินทรีย์จากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร รวมทั้งจัดตั้งธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ โดยสถานีพัฒนาที่ดินสุพรรณบุรี สนับสนุนงบประมาณและปัจจัยเริ่มต้นเพื่อใช้ในการผลิตปุ๋ยหมักอินทรีย์สูตรพระราชทาน จำนวน 100 ตัน ผลิตน้ำหมักชีวภาพ สูตรซุปเปอร์ พด. 2, 6, 7 จำนวนผลิตครั้งละ 2,500 ลิตร

อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าว เป็นการขยายผลการปฏิบัติให้แพร่หลายไปในวงกว้าง เพื่อให้เกษตรกร ชุมชนเกษตรกร งดเผาตอซังฟางข้าวและนำเอาเศษวัสดุเหลือใช้ในไร่นา เศษอาหารในครัวเรือน หรือในโรงงานอุตสาหกรรม มาฝากไว้ที่ธนาคารปุ๋ยอินทรีย์เพื่อที่ธนาคารจะได้ผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ จากนั้นให้เกษตรกรมาทำการเบิกถอนหรือแลกเปลี่ยนนำออกไปใช้ในการปรับปรุงบำรุงดิน เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับที่ดินทำกิน ต้นทุนการผลิตลดลง ผลผลิตมีคุณภาพและปริมาณที่เพิ่มขึ้น ก็จะทำให้เกษตรกรสนใจ และเข้ามาสู่ธนาคารปุ๋ยอินทรีย์มากยิ่งขึ้น

จาก http://www.naewna.com วันที่ 4 มีนาคม 2558

รัฐรุกพัฒนา ศก.ชายแดนรับ AEC

 พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้จัดคณะผู้แทนการค้าภาครัฐและเอกชนลงพื้นที่ไปยังจังหวัดมุกดาหาร เพื่อหาลู่ทางในการขยายการค้าและการลงทุนระหว่างกัน หลังจากที่ไทยได้มีการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษที่จังหวัดมุกดาหารตรงข้ามกับแขวงสะหวันนะเขต ของ สปป.ลาว โดยจะมีการหารือกับท่านบุนเพ็ง มูนโพไช รัฐมนตรีประจำห้องว่าการรัฐบาล สปป.ลาว ในการจัดทำแผนส่งเสริมและพัฒนาการค้าชายแดนร่วมกัน ซึ่งจะเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับทั้ง 2 ประเทศในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปลายปีนี้  

“จะมีการหารือกับ สปป.ลาว ในการส่งเสริมและจัดตั้งกลไกความร่วมมือทางเศรษฐกิจในทุกระดับ เพื่อให้ครอบคลุมความร่วมมือทั้งด้านการค้า การลงทุน โลจิสติกส์ การค้าปลีก ค้าส่ง และธุรกิจบริการ ซึ่งจะใช้เป็นยุทธศาสตร์ในการช่วยเพิ่มรายได้และการพัฒนาเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศ และช่วยเพิ่มการค้า 2 ฝ่ายให้เพิ่มเป็น 1.5 เท่าภายใน 3 ปี โดยปัจจุบันการค้าชายแดนระหว่างไทย-สปป.ลาว มีมูลค่าประมาณ 151,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.32% ไทยได้ดุลการค้าประมาณ 96,000 ล้านบาท”

          ทั้งนี้ ยังจะมีการติดตามความคืบหน้าการจัดทำเมืองคู่แฝดระหว่างจังหวัดมุกดาหาร-แขวงสะหวันนะเขต ซึ่งได้มีการร่วมมือกันมาแล้ว 11 ปี ซึ่งสามารถช่วยขยายมูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างกัน และสร้างความสัมพันธ์ของนักธุรกิจและประชาชนของทั้ง 2 ประเทศได้เป็นอย่างดี รวมทั้งจะเป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ระหว่างเอกชนไทยกับ สปป.ลาว และการลงนามบันทึกความเข้าใจในการจัดตั้งโรงพยาบาลของไทยในเขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวันเซโน

            “รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการผลักดันให้มุกดาหารเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษที่จะเชื่อมโยงกับ สปป.ลาว โดยจะมีการเชื่อมโยงกับเขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวันเซโน ที่ตั้งอยู่ในแขวงสะหวันนะเขต ซึ่งจะผลักดันให้มีการใช้ประโยชน์ในด้านการค้าและการลงทุนร่วมกัน และใช้ประโยชน์จากเส้นทางหมายเลข 9 ของแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตกจากเมียนมาร์-แม่สอด-พิษณุโลก-มุกดาหาร-สะหวันนะเขต-เว้-ดานัง ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ”พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว

จาก  http://www.banmuang.co.th วันที่ 4 มีนาคม 2558

จับตา ศก.ไทยกับต่างประเทศแบบหลากมิติ สศก. เปิดมุมมองสินค้าเกษตรกับประเทศเพื่อนบ้าน 

          สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เจาะลึกแนวโน้มสถานการณ์เศรษฐกิจไทยต่อระบบเศรษฐกิจโลกและสถานการณ์ต่างประเทศในปัจจุบัน พร้อมเกาะติดเปิดเออีซีปลายปีนี้ กับสินค้าเกษตรไทยในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน มั่นใจไทยมีฐานการผลิตที่ดีได้มาตรฐาน ช่วยเปิดโอกาสในการขยายตลาดมายังอาเซียนเพิ่มขึ้น

          นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์และแนวโน้มทางเศรษฐกิจของไทยและเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันว่า ระบบเศรษฐกิจระหว่างประเทศมีสะพานเชื่อมต่อ (Bridge linkage) ทางเศรษฐกิจที่สำคัญ 3 เส้นทางหลักคือ ปริมาณการค้าและการลงทุน เศรษฐกิจทางการเงินหรือตลาดการเงินระหว่างประเทศ และ การบริการท่องเที่ยวและบริการอื่นๆ เป็นต้น ซึ่งจากสถานการณ์ระดับโลก อย่างสถานการณ์ทางการเมืองระหว่างสหรัฐฯและรัสเซีย ที่เข้าไปเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในประเทศยูเครน หากเรามาพิจารณาในแต่ละเส้นทางจะพบว่า

          1. เส้นทางมูลค่าการค้าและการลงทุน พบว่า ปริมาณและมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตร ไปยังประเทศยูเครน รวมทั้งปี 2551 มีมูลค่าการส่งออกประมาณ 1,067 ล้านบาท และขณะที่ ปี 2557 มีมูลค่าการส่งออกเหลือเพียง 115 ล้านบาท จะเห็นว่าแนวโน้มของการส่งออกทางการเกษตรมีแนวโน้มลดลง เพราะกำลังซื้อภายในประเทศยังมีน้อย ผลกระทบคงจะมีบ้างแต่มีปริมาณการค้าระหว่างประเทศยังมีน้อย

          2. เส้นทางเศรษฐกิจทางการเงินหรือตลาดการเงินระหว่างประเทศ เป็นที่ทราบกันดีว่าแบงก์ชาติยูเครนลดค่าเงินครั้งใหม่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ทะลุ 26 เทียบดอลล์ (ณ 17 ก.พ. 2558) ดังนั้น ค่าเงินฮริฟเนีย (hryvnia) ร่วงลงเกือบ 50% เมื่อเทียบดอลลาร์ในปีที่แล้ว จากความขัดแย้งทางการเมือง และการทำสงครามกับกลุ่มกบฏที่มีรัสเซียหนุนหลัง ซึ่งความผันผวนของการเงินเช่นนี้ย่อมส่งผลต่อระบบการเงินของประเทศพอสมควร สำหรับประเทศไทยแล้วจะพบว่า จะส่งผลต่อระบบการเงินไม่มาก เพราะระบบของเรามีมาตรฐานและแข็งแกร่งมากอยู่แล้ว จึงคาดว่า จะไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด

          3. เส้นทางการบริการท่องเที่ยวและบริการอื่นๆ พบว่า มีนักท่องเที่ยวที่มาไทยของยูเครนนั้นน้อยมาก เนื่องมากจากรายได้ของประชากรยังน้อย และระยะทางและเวลาของการเดินทางยังไกลอยู่จึงส่งผลต่อปริมาณนักท่องเที่ยว ดังนั้น จึงคาดว่าวิกฤติของยูเครนในครั้งนี้จะส่งผลต่อการท่องเที่ยวเล็กน้อยและรายได้ก็ยังไม่มากเท่าใดนักเช่นกัน

          อย่างไรก็ตาม จากกรณีเหตุการณ์กลุ่ม IS ที่มีการสังหารหมู่ อย่างโหดร้ายต่อชาวญี่ปุ่น ชาวจอร์แดน และท้ายสุดจำนวน 45 ศพ เป็นชาวอียีปต์นั้น มีระบบเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศที่จะเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจของไทย 6 ประเด็นสำคัญ คือ

          1.ด้านมูลค่าการนำเข้าน้ำมันตลาดต่างประเทศรวม ช่องทางการนำเข้าน้ำมันดิบของไทยนั้น จะพบว่ามีช่องทางการนำเข้าประมาณเฉลี่ยปีละ 1 ล้านล้านบาท บางปีอาจจะสูงกว่านี้เพียงเล็กน้อยหรือประมาณร้อย 8 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ซึ่งถือว่าประเทศเรามีการนำเข้าน้ำมันในปริมาณที่สูงมากประเทศหนึ่ง หากเกิดสถานการณ์วิกฤติของกลุ่มในตะวันออกกลางขึ้นย่อมส่งผลต่อปริมาณนำเข้าน้ำมันจากตลาดต่างประเทศอย่างแน่นอน ในขณะเดียวกันไทยอาจมีทางเลือกในตลาดอื่นๆ ได้เช่นเดียวกัน

          2.ด้านมูลค่าการนำเข้าน้ำมันจากตลาดตะวันออกกลาง พบว่า มูลค่าการนำเข้าน้ำมันจากตะวันออกกลาง ในปี 2557 มีประมาณ 2 ใน 3 หรือประมาณร้อยละ 63 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด ซึ่งถือว่าจำเป็นต้องพึ่งพาแหล่งผลิตในตะวันออกกลางสูง

          3.ด้านผลกระทบที่มีต่อระดับราคา พบว่า หากเหตุการณ์นี้มีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นและทวีความรุนแรงจากปัจจุบันมากขึ้นนั้น จะส่งผลต่อระดับราคาน้ำมันในตลาดโลกอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม ยังขึ้นอยู่กับปริมาณการผลิตหรืออุปทานการผลิตน้ำมันในแหล่งอื่นๆ ได้แก่ สหรัฐ รัสเซีย เวเนซูเอลา บรูไน และแหล่งผลิตน้ำมันอื่นๆ เป็นต้น ว่าจะสนองตอบต่อระดับราคาตามสถานการณ์นั้นๆ ได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งหากมีแหล่งน้ำมันที่เพียงพอต่อปริมาณความต้องการ ก็จะไม่ทำให้ราคาน้ำมันสูงมากนัก แต่ถ้าหากทั้งสหรัฐและแหล่งอื่น ร่วมมือกันทำให้ปริมาณน้ำมันในตลาดโลกลดลง ก็จะทำให้ระดับราคาน้ำมันมีแนวโน้มขยับตัวสูงขึ้น

          4. ด้านมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรไปตะวันออกกลาง พบว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรในลำดับต้นที่ส่งออกไปยังตะวันออกกลาง โดยเฉพาะอาหารฮาลาลและพืชเกษตรอื่นๆ เช่น ข้าว ยางพารา ปลาสดแช่เย็นแช่แข็ง ผักผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง ไก่แปรรูป ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และสินค้าปศุสัตว์อื่น ๆ นั้น มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จากอดีตที่ผ่านมา ดังนั้น หากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจะส่งผลต่อมูลค่าการส่งออกสินค้าทางเกษตรอย่างแน่นอน แต่จะมากน้อยเพียงใดนั้น จะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเป็นสำคัญ

          5. ด้านมูลค่าการลงทุนของไทยในประเทศตะวันออกกลาง พบว่า การลงทุนของนักลงทุนไทยไปยังตะวันออกกลางยังมีน้อยเพียงบางประเทศ เช่น อียิปต์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่เป็นตัวอย่างของตะวันออกกลางที่เป็นที่สนใจของนักลงทุนไทย

          6. ด้านปริมาณนักท่องเที่ยวสัญชาติตะวันออกกลางที่เข้ามาในประเทศไทย พบว่า จำนวนนักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลางนิยมที่มาเที่ยวเมืองไทย โดยใน ปี 2557 มีจำนวนนักท่องเที่ยวประมาณ 5.9 แสนคน นำมาซึ่งรายได้ของประเทศจำนวนมาก แต่หากเกิดเหตุการณ์รุนแรงมากขึ้น ย่อมส่งผลกระทบต่อรายได้จากการท่องเที่ยวแน่นอน

          นอกจากนี้ การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนปลายปี 2558 สมาชิก 10 ประเทศ (อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย สิงคโปร์ บรูไน กัมพูชา สปป.ลาว เวียดนาม และเมียนมาร์) มีประชากรรวมกันมากกว่า 625 ล้านคน ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จะทำให้สินค้าเกษตรและอาหารเคลื่อนย้ายผ่านกระบวนการเคลื่อนย้ายสินค้าตามกลไกการตลาดได้อย่างเสรี ซึ่งถ้ามองถึงการวิเคราะห์แนวโน้มการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยกับอาเซียน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้วิเคราะห์ศักยภาพการแข่งขันของสินค้าเกษตรไทยด้วยวิธี Thailand Competitiveness Matrix : TCM โดยพิจารณาจากความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ปัจจัยหลัก คือ ปัจจัยความน่าสนใจของสินค้า (Attractiveness Factors) และปัจจัยความสามารถในการแข่งขันของสินค้า (Competitiveness Factors) เพื่อระบุตำแหน่งหรือสถานะของสินค้าเกษตรชนิดนั้น โดยจะพิจารณาแบ่งกลุ่มสินค้าเกษตรตามความพร้อมหรือศักยภาพการแข่งขันของไทยหลังเปิด AEC ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลักๆ คือ

          1 กลุ่มสินค้าเกษตรที่ไทยมีศักยภาพสูงเมื่อเทียบกับคู่แข่งขัน ได้แก่ เนื้อสุกร โคเนื้อและผลิตภัณฑ์ โคนมและผลิตภัณฑ์ น้ำตาลทราย มังคุด ลำไย และสับปะรดกระป๋องและน้ำสับปะรด โดยสินค้าที่มีความโดดเด่นมากในกลุ่มนี้ คือ สินค้าปศุสัตว์ เนื่องจากประเทศไทยมีการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีการเลี้ยงและพันธุกรรมที่ก้าวหน้าที่สุดในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะโคนมและผลิตภัณฑ์เป็นอีกสินค้าที่ประเทศไทยมีศักยภาพการแข่งขันสูงกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียนแทบทุกด้าน ซึ่งสามารถพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมนม (Hub) ในภูมิภาคอาเซียนได้

          2 กลุ่มสินค้าเกษตรที่ไทยมีศักยภาพใกล้เคียงกับคู่แข่งขัน ได้แก่ ข้าว (เวียดนามและกัมพูชา) ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์(ลาวและกัมพูชา) กุ้ง(อินโดนีเซียและเวียดนาม) ปลาทูน่า(ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย) ไหม (เวียดนาม) และยางพารา (อินโดนีเซียและมาเลเซีย)

          3. กลุ่มสินค้าเกษตรที่ไทยมีศักยภาพต่ำเมื่อเทียบกับคู่แข่งขัน ได้แก่ เมล็ดกาแฟ (เวียดนามและอินโดนีเซีย) ปาล์มน้ำมัน(อินโดนีเซียและมาเลเซีย) และมะพร้าว(ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย) ซึ่งสินค้าเกษตรกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบมากหลังเปิด AEC เพราะถึงแม้ว่าประเทศไทยได้กำหนดสินค้าเหล่านี้ไว้เป็นรายการสินค้าอ่อนไหว ซึ่งสามารถเก็บภาษีนำเข้าในอัตราร้อยละ 5 แต่ประเทศคู่แข่งในอาเซียนมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าประเทศไทย ดังนั้น ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และรัฐบาลจะต้องมีการปรับตัวและเตรียมรับกับการแข่งขันเสรีอย่างเต็มรูปแบบในปี 2558

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองถึง ปี 2557 ที่ผ่านมา ประเทศสมาชิกอาเซียนมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสมาชิกใหม่ เช่น กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาร์ และ เวียดนาม แสดงว่าอาเซียนมีเศรษฐกิจดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลด้านการขยายตัวของความต้องการบริโภคสินค้าที่มีคุณภาพดี และได้มาตรฐาน โดยที่ผ่านมาประเทศไทยนั้น เป็นประเทศที่ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรและอาหารคุณภาพดี สอดคล้องกับมาตรฐานสากล จึงเป็นโอกาสของไทย ในการขยายตลาดมายังอาเซียนเพิ่มขึ้นด้วย

จาก http://news.thaiquest.com  วันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2558

BRR ชูธุรกิจพลังงานทดแทนดันการเติบโตแบบก้าวกระโดด หลังปี 57 ทำกำไรพุ่ง 23% เตรียมจ่ายปันผล 0.20 บาทต่อหุ้น

           ‘บมจ.น้ำตาลบุรีรัมย์’ หรือ BRR มั่นใจปี 58 ผลการดำเนินงานเติบโตได้แข็งแกร่ง รับธุรกิจพลังงานทดแทนหนุนการเติบโตทั้งในแง่รายได้และกำไร หลังภาครัฐปรับเกณฑ์รับซื้อไฟฟ้าแบบ FiT ดันราคาขายไฟเพิ่มขึ้น 0.93 บาทต่อหน่วย ส่วนธุรกิจโรงงานน้ำตาลยังเติบโตดีจากปัจจัยการบริหารจัดการด้านประสิทธิภาพการผลิตที่ดีทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำหนุนกำไรเพิ่ม หลังปี 57 ทำกำไรพุ่ง 23% และจ่ายปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น 0.20 บาทต่อหุ้น

          นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR ผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายดิบ น้ำตาลทรายขาวสีรำส่งจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ และนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาลทรายไปต่อยอดสู่ธุรกิจพลังงานทดแทน เปิด เผยว่า ในปีนี้บริษัทฯ มองว่าเป็นปีที่มีผลการดำเนินงานเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง โดยมาจากปัจจัยของธุรกิจพลังงานทดแทนที่ BRR ได้เริ่มเดินเครื่องโรงไฟฟ้าแห่งที่ 2 และพร้อมจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จำนวน 8 เมกะวัตต์ ในรูปแบบ Feed-in-Tariff หรือ FiT ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคาดว่าจะเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าได้ในเร็วๆ นี้

          ทั้งนี้ การจำหน่ายไฟฟ้าในรูปแบบ FiT ส่งผลดีต่อโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลแห่งที่ 2 ของ BRR ที่มีโอกาสสร้างรายได้จาการจำหน่ายไฟเพิ่มขึ้น เนื่องจากการจำหน่ายไฟฟ้าในรูปแบบดังกล่าว ทำให้ราคาจำหน่ายไฟฟ้าต่อหน่วยให้แก่ภาครัฐปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.53 บาทต่อหน่วย จากเดิมที่ 3.60 บาท หรือเพิ่มขึ้น 0.93 บาทต่อหน่วย ส่งผลต่อภาพรวมรายได้ของธุรกิจพลังงานทดแทนในปีนี้เพิ่มเป็น 450 ล้านบาทหรือ คิดเป็น 10% ของรายได้รวม และทำสัดส่วนกำไรเพิ่มเป็นกว่า 30% จากเดิมที่มีสัดส่วนกำไรอยู่ที่ 20%

          ส่วนธุรกิจโรงงานน้ำตาลทราย ในปีนี้คาดว่าจะรับผลผลิตอ้อยเข้าหีบได้ 2.2 ล้านตันอ้อย ผลิตเป็นน้ำตาลทรายได้ประมาณ 2.5 แสนตัน เทียบปีก่อนที่ผลิตได้ 2.08 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 5 แสนตัน ซึ่งมาจากการบริหารจัดการด้านประสิทธิภาพการผลิตที่ดีทำให้ต้นทุนต่อหน่วยต่ำและยังทำกำไรเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังมีผลพลอยได้ที่เป็นกากน้ำตาลเพื่อจำหน่ายให้แก่ลูกค้าเพิ่มเป็น 80,000 ตันจากปีก่อนที่มีปริมาณอยู่ที่ 70,000 ตันอีกด้วย

          “เรามั่นใจว่าปีนี้จะเป็นปีที่ BRR เติบโตได้แบบก้าวกระโดด ซึ่งมาจากฐานธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายที่เรามีผลผลิตน้ำตาลทรายที่มากขึ้นและต้นทุนการผลิตที่ต่ำลง อีกทั้งยังสามารถสร้างเม็ดเงินรายได้และกำไรที่แข็งแกร่งจากธุรกิจพลังงานทดแทนอีกด้วย” นายอนันต์ กล่าว

          ส่วนผลการดำเนินงานในปี 2557 (มกราคม-ธันวาคม 2557) บริษัทฯ มีรายได้จากการจำหน่ายน้ำตาลและกากน้ำตาล 3,328 ล้านบาท ส่วนกำไรสุทธิของธุรกิจรวมทำได้ 241 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 196 ล้านบาท โดยการเติบโตมีปัจจัยจากความสามารถในการสร้างผลตอบแทนจากธุรกิจน้ำตาลได้มากขึ้นหลังมีต้นทุนการผลิตต่อหน่วยต่ำลง นอกจากนี้ ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลแห่งที่ 1 สามารถรับรู้รายได้จากธุรกิจเต็มปี รวมถึงยังนำเงินส่วนหนึ่งที่ได้จากการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ไปชำระหนี้คืนทำให้ต้นทุนทางการเงินลดลง จึงทำให้ผลการดำเนินงานเติบโตในปีนี้ที่ผ่านมาเติบโตได้อย่างดี

          ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ จึงมีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลสำหรับรอบการดำเนินงานปี 2557 ในอัตราหุ้นละ 0.20 บาท หรือคิดเป็น 56% ของกำไรสุทธิ โดยบริษัทฯ กำหนดปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหุ้นเพื่อสิทธิรับเงินปันผลในวันที่ 11 พฤษภาคม 2558 และกำหนดจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นภายในวันที่ 20 พฤษภาคม 2558 นี้

  จาก http://news.thaiquest.com  วันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2558

KTIS ตั้งเป้าปี 58 สายชีวพลังงานโตเกิน 10% 

          กลุ่ม KTIS คาดปี 2558 รายได้ในสายธุรกิจชีวพลังงานเติบโตจากปี 2557 อย่างน้อย 10% จากการขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นของ 2 โรงงานผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวลแห่งใหม่ ส่วนสายธุรกิจน้ำตาลทรายต้องรอดูราคาน้ำตาลในตลาดโลกอีกสักระยะจึงจะประเมินได้ เตรียมเดินเครื่องผลิตน้ำเชื่อมและน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์พิเศษในช่วงครึ่งหลังของปี ด้านพันธมิตรรายใหญ่กลุ่มซูมิโตโมมั่นใจศักยภาพ KTIS ซื้อหุ้นเพิ่มตามข้อตกลงผ่านบริษัท 3 เอส โฮลดิ้ง จำกัด ในราคาหุ้นละ 12.44 บาท สูงกว่าราคาตลาด

          นายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายธุรกิจชีวพลังงานและผลิตภัณฑ์ บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เปิดเผยว่า จากรายได้รวมของปี 2557 ที่บริษัททำได้ 20,348.8 ล้านบาท เติบโตขึ้น 10.1% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี 2556 นั้น ในปี 2558 นี้ บริษัทฯ ได้ตั้งเป้าหมายของการเติบโตของรายได้ในสายธุรกิจชีวพลังงานในปี 2558 ไว้ที่ไม่ต่ำกว่า 10% โดยการตั้งสมมติฐานจากรายได้ที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากโรงงานผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล 2 แห่ง ส่วนสายธุรกิจน้ำตาลนั้น ต้องดูทิศทางของราคาน้ำตาลในตลาดโลกอีกระยะหนึ่งก่อน จึงจะประเมินได้

          สำหรับโครงการผลิตน้ำเชื่อม (Liquid Sucrose) และโครงการผลิตน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์พิเศษ (Super Refined Sugar) ซึ่งมีกำลังการผลิตน้ำเชื่อม 400 ตัน (400,000 กิโลกรัม) ต่อวัน และกำลังการผลิตน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์พิเศษ 500 ตัน (500,000 กิโลกรัม) ต่อวัน ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีจาก บริษัท นิสชิน ชูการ์ ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นเทคโนโลยีที่ดีที่สุด ก็จะเริ่มรับรู้รายได้ในปีนี้ด้วย โดยคาดว่าจะเปิดเดินเครื่องผลิตน้ำเชื่อมและน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์พิเศษได้ในครึ่งหลังของปีนี้ นอกจากนี้โรงงานผลิตปุ๋ยชีวภาพก็จะมีการรับรู้รายได้ในปีนี้เช่นกัน

          ทั้งนี้ บริษัทได้ทราบว่า นางหทัย ศิริวิริยะกุล?ผู้ถือหุ้นใหญ่และผู้ร่วมก่อตั้ง KITS ได้ทำรายการขายหุ้นสามัญของ KITS บนกระดานรายใหญ่ (Big Lot Board) จำนวน 256,035,199 หุ้น ที่ราคาหุ้นละ 12.44 บาท ให้กับ บริษัท 3 เอส โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท หทัยจรูญเอกโฮลดิ้ง จำกัด กับพันธมิตรทางธุรกิจจากญี่ปุ่น?คือ ซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น และ นิสชิน ชูการ์ ซึ่งรายการดังกล่าว เป็นการดำเนินงานเพื่อให้สอดคล้องกับแผนการลงทุนที่ได้ระบุไว้ในหนังสือชี้ชวนการเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไป

นายประพันธ์ ศิริวิริยะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม KTIS กล่าวว่า การมีพันธมิตรจากญี่ปุ่นเข้ามาร่วมทุน ทำให้ KTIS มีศักยภาพในการเติบโตเพิ่มมากยิ่งขึ้น เนื่องจาก บริษัท ซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก มีความชำนาญด้านการขายและมีเครือข่ายกระจายสินค้าทั่วโลก ในขณะที่ บริษัท นิสชิน ชูการ์ เป็นบริษัทผู้นำด้านการผลิตน้ำตาลรีไฟน์ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศญี่ปุ่น?มีความรู้และเทคโนโลยีในการผลิตน้ำตาลมาตรฐานญี่ปุ่น?การเข้ามาร่วมทุนจึงช่วยเสริมให้บริษัทฯ มีความแข็งแกร่งและขยายโอกาสทางธุรกิจให้มากขึ้น

  จาก http://news.thaiquest.com  วันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2558

3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายเสนอรัฐบาลยื่นข้อเรียกร้อง WTO กดดันอินเดียเลิกมาตรการอุดหนุนการส่งออกน้ำตาลทรายดิบ ทำโครงสร้างราคาน้ำตาลตลาดโลกปั่นป่วน

          3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย ยื่นหนังสือถึง กอน. และกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ พร้อมยื่นข้อเรียกร้องต่อ WTO เร่งดำเนินการเรียกร้องให้อินเดียยกเลิกการอุดหนุนการส่งออกน้ำตาลทรายดิบรอบใหม่ ชี้ขัดต่อหลักการค้าเสรีน้ำตาลทราย ส่งผลต่อโครงสร้างราคาน้ำตาลในตลาดโลกปั่นป่วน

          นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า สมาคมฯ ได้ยื่นหนังสือต่อประธานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายและกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เพื่อดำเนินการเรียกร้องให้ประเทศอินเดีย ยกเลิกมาตรการการอุดหนุนการส่งออกน้ำตาลทรายดิบ หลังจากที่คณะรัฐมนตรีอินเดียได้อนุมัติการอุดหนุนการส่งออกน้ำตาลรอบใหม่จำนวน 1.4 ล้านตัน ในราคาตันละ 4,000 รูปีต่อตัน (64เหรียญสหรัฐฯ/ตัน) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว พร้อมทั้งยื่นขอเรียกร้องต่อการกระทำของประเทศอินเดียในครั้งนี้ไปยัง WTO เรียบร้อยแล้ว

          “การอุดหนุนการส่งออกน้ำตาลทรายดิบของประเทศอินเดียในรอบนี้ ถือเป็นการบิดเบือนตลาด ซึ่งขัดต่อหลักการปฏิบัติภายใต้ WTO และส่งผลกระทบต่อราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลก ทำให้ผู้ส่งออกน้ำตาลทรายดิบได้รับความเสียหาย ซึ่งไทยในฐานะที่เป็นผู้ส่งออกน้ำตาลทรายดิบอันดับ 2 ของโลก จึงเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐของไทยเร่งดำเนินการยื่นเรื่องเรียกร้องให้ประเทศอินเดียหยุดมาตรการอุดหนุนดังกล่าวโดยเร็วที่สุด" นายสิริวุทธิ์ กล่าว

          สำหรับในปี 2557 ที่ผ่านมา รัฐบาลอินเดียได้เพิ่มมาตรการอุดหนุนการส่งออกน้ำตาลทรายดิบ จำนวน 4 ล้านตัน ในราคาตันละ 3,300 รูปีต่อตัน หรือประมาณตันละ 54 เหรียญสหรัฐฯ และได้ขยายเวลาการอุดหนุนไปจนถึงเดือนกันยายน ทำให้ประเทศบราซิล ออสเตรเลียและไทย ซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มพันธมิตรเพื่อการปฏิรูปการค้าน้ำตาลโลก (GSA)และเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลทรายดิบรายใหญ่ของโลก ได้เห็นพ้องร่วมกันต่อการดำเนินมาตรการกดดันให้รัฐบาลอินเดียยกเลิกมาตรการดังกล่าวมาโดยตลอด

          ก่อนหน้านี้ ในการประชุม Thailand-Australia Sugar Industry Dialogue ครั้งที่ 8ที่ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายเป็นเจ้าภาพจัดขึ้น เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ไทยและออสเตรเลียได้แสดงความกังวลต่อประเด็นการอุดหนุนส่งออกน้ำตาลทรายดิบในรอบนี้ และออกแถลงการณ์เรียกร้องให้อินเดียยกเลิกมาตรการอุดหนุนการส่งออกน้ำตาลทรายดิบโดยเร็ว

  จาก http://news.thaiquest.com  วันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2558

กลุ่มมิตรผล ผนึก กลุ่มบริษัทศักดิ์สยาม พัฒนาระบบการผลิตปุ๋ยผสมคุณภาพสูงในจีน เพื่อช่วยเพิ่มผลผลิตอ้อยต่อไร่ ลดปริมาณการใช้สารเคมีในไร่อ้อย และลดต้นทุนให้แก่เกษตรกร

          กลุ่มมิตรผล ร่วมกับ กลุ่มบริษัทศักดิ์สยาม ประกาศความร่วมมือในการลงทุนโรงงานผลิตปุ๋ยผสมคุณภาพสูง 'ซอยล์เมต' (Soil Mate) กำลังการผลิตกว่า 3 แสนตันต่อปี ณ เมืองหนิงหมิง มณฑลกวางสี สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยใช้งบลงทุนกว่า 400 ล้านบาท อันนับเป็นการผสานความแข็งแกร่งของ 2 องค์กรธุรกิจไทย เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ปุ๋ยผสมคุณภาพสูงที่ช่วยเพิ่มผลผลิตอ้อยต่อไร่ ลดปริมาณการใส่ปุ๋ย และช่วยลดต้นทุนให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          นายกฤษฎา มนเทียรวิเชียรฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า “กลุ่มมิตรผล ดำเนินธุรกิจในสาธารณรัฐประชาชนจีนมากว่า 20 ปี และผลิตน้ำตาลปีละประมาณ 1 ล้านตัน จากปริมาณอ้อย 9-10ล้านตัน โดยมีชาวไร่คู่สัญญาประมาณ 141,000 ราย โดยที่ผ่านมาเราให้ความสำคัญกับการส่งเสริมชาวไร่อ้อยในพื้นที่ที่เราเข้าไปดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง สำหรับสาธารณรัฐประชาชนจีน กลุ่มมิตรผลเล็งเห็นถึงปัญหาของเกษตรกรซึ่งมีต้นทุนในการทำไร่อ้อยสูงกว่าในประเทศไทย โดยหนึ่งในสาเหตุสำคัญคือปุ๋ยในท้องตลาดมีคุณภาพไม่ได้มาตรฐานและมีธาตุอาหารน้อย ทำให้เกษตรกรต้องใส่ปุ๋ยในปริมาณมากถึง 3 รอบต่อปี อีกทั้งเทคโนโลยีการผลิตปุ๋ยก็ยังไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้ปุ๋ยมีความชื้นสูงและแตกร่วนง่าย จึงไม่สามารถใช้งานร่วมกับเครื่องจักรในไร่ และต้องอาศัยแรงงานคนในการใส่ปุ๋ยด้วยมือ ซึ่งสวนทางกับปัญหาค่าแรงและการขาดแคลนแรงงานในไร่อ้อยที่เพิ่มมากขึ้น"

          "กลุ่มมิตรผลจึงได้ร่วมกับพันธมิตรคือกลุ่มบริษัทศักดิ์สยาม ในการลงทุนระบบการผลิตปุ๋ยผสมคุณภาพสูงซอยล์เมตขึ้นในสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อให้เกษตรกรได้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ และช่วยให้กลุ่มชาวไร่ที่มิตรผลให้การดูแล สามารถลดปริมาณการใช้ปุ๋ยลงได้กว่าครึ่ง จากเดิมที่ต้องใส่ปุ๋ยประมาณ 6 - 7 กระสอบต่อไร่ ลดลงเหลือเพียง 2 - 3 กระสอบต่อไร่สำหรับผลผลิตอ้อย 10 - 11 ตัน หรือโดยรวมแล้วจะช่วยลดปริมาณการใช้ปุ๋ยจาก 200,000 ตันลงเหลือ 100,000 ตันต่อปีเท่านั้น ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกลุ่มมิตรผล ในการช่วยให้เกษตรกรสามารถเพิ่มผลผลิต และลดต้นทุนในไร่อ้อยด้วยเช่นกัน”

          ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าวนับเป็นการผสานจุดแข็งของกลุ่มมิตรผลซึ่งเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในระดับโลก กับกลุ่มบริษัทศักดิ์สยาม ซึ่งมีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมปุ๋ยมานานกว่า 30 ปี และเป็นผู้ผลิตปุ๋ยรายแรกและรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยที่ใช้กระบวนผลิตแบบผสมถุงต่อถุง ซึ่งสามารถควบคุมคุณภาพได้อย่างแม่นยำ และมีธาตุอาหารเต็มสูตร เหมาะสมตามที่ฝ่ายไร่อ้อยของกลุ่มมิตรผลได้กำหนดไว้สำหรับการปลูกอ้อยแต่ละพันธุ์ ในแต่ละช่วงเวลา

          นายทวีศักดิ์ สุทิน ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัทศักดิ์สยาม เปิดเผยว่า "โรงงานผลิตปุ๋ยซอยล์เมต ในมณฑลกวางสี จะเป็นหนึ่งในโรงงานผลิตปุ๋ยผสมคุณภาพสูงที่มีความทันสมัยที่สุดในสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีกระบวนการผลิตที่ออกแบบมาเป็นพิเศษ และใช้เทคโนโลยีและเครื่องจักรที่ทันสมัย ซึ่งเราเชื่อว่าด้วยจุดเด่นด้านกระบวนการผลิตของศักดิ์สยามที่ควบคุมคุณภาพได้อย่างแม่นยำและสม่ำเสมอ เมื่อผนวกกับความเชี่ยวชาญด้านการส่งเสริมและพัฒนาอ้อยของกลุ่มมิตรผล จะทำให้ผลิตภัณฑ์ปุ๋ยผสมคุณภาพสูงซอยล์เมต ประสบความสำเร็จและได้รับการตอบรับจากกลุ่มผู้ใช้ในสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นอย่างดี"

          นอกเหนือจากการนำเสนอปุ๋ยผสมคุณภาพสูงให้กับเกษตรกรแล้ว กลุ่มมิตรผลยังถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับวิธีการใส่ปุ๋ยที่ถูกต้องด้วยการฝังใต้ดินเพื่อให้รากพืชสามารถดูดซึมธาตุอาหารได้อย่างเต็มที่ แทนการหว่านด้วยมือซึ่งธาตุอาหารบางส่วนจะระเหยไปในอากาศและยังสิ้นเปลืองปริมาณมากกว่าวิธีการฝัง นอกจากนี้ ยังให้ความรู้ในการนำเครื่องจักรกลการเกษตรเข้ามาประยุกต์ใช้ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่กำลังเกิดขึ้นในภาคเกษตรของจีน รวมทั้งส่งเสริมการทำเกษตรแบบชีววิถีด้วยการตัดอ้อยทิ้งใบคลุมดินและไม่เผาใบอ้อย รวมทั้งการปรับปรุงคุณภาพดินด้วยการใส่ปุ๋ยอินทรีย์จากกากอ้อย (filtered cake) ในระหว่างเตรียมดินอีกด้วย

          "ความร่วมมือระหว่างกลุ่มมิตรผล และกลุ่มบริษัทศักดิ์สยาม ในวันนี้ นอกจากจะช่วยให้เกษตรกรได้ใช้ปุ๋ยผสมที่มีคุณภาพดีแล้ว ยังเป็นการแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรได้อย่างตรงจุด เราภูมิใจที่ได้มีส่วนถ่ายทอดความรู้ด้านการจัดการไร่อ้อยอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยเพิ่มผลผลิต ลดปริมาณการใช้สารเคมีในไร่อ้อย และสร้างความอยู่ดีกินดีให้กับชาวไร่อ้อยได้อย่างยั่งยืน" นายกฤษฎา กล่าวสรุป

          ในภาพ นายกฤษฎา มนเทียรวิเชียรฉาย (ที่ 2 ขวา) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มมิตรผล และนายทวีศักดิ์ สุทิน (ที่ 2 ซ้าย) ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัทศักดิ์สยาม ร่วมถ่ายภาพในพิธีลงนามความร่วมมือ การลงทุนระบบผลิตปุ๋ยผสมคุณภาพสูง 'ซอยล์เมต' ในมณฑลกวางสี โดยมี นายจิรศักดิ์ ว่องกุศลกิจ (ขวาสุด) กรรมการ บริษัท เพิ่มผลผลิต จำกัด และนายอนุสรณ์ ขันติพงษ์ (ซ้ายสุด) กรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทศักดิ์สยาม ร่วมเป็นสักขีพยาน

  จาก http://news.thaiquest.com  วันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2558

กกร.ห่วงส่งออกเจอศึกหนัก

กกร.ทำใจเตรียมหั่นเป้าส่งออกต่ำกว่า 3.5% หลังเศรษฐกิจโลกถดถอย ค่าเงินบาทแข็ง สรท. คาดไตรมาสแรกติดลบ 2% เหตุออเดอร์ลด สินค้าไทยเริ่มตกรุ่น ขาดการพัฒนา ล่าสุดค่าเงินยูโรร่วง ส่งออกไปอียูขาดทุนเดือนละ 6 พันล้านบาท คาดไตรมาสแรกติดลบ 1.8 หมื่นล้านบาท วอนรัฐผลักดันการส่งออกเป็นวาระแห่งชาติ

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 3 มีนาคมนี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สอท. หอการค้าไทย และสมาคมธนาคารไทยซึ่งจะหารือถึงภาวะเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะภาคการส่งออก เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวดี รวมทั้งอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทของไทยยังแข็งค่า จึงเป็นไปได้สูงที่จะลดเป้าหมายการส่งออก จากเดิมที่คาดว่าขยายตัว 3.5% ส่วนจะเหลือเท่าไรนั้นขึ้นอยู่กับการพิจารณาร่วมกัน พร้อมกันนี้จะหารือความคืบหน้าการเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันของภาคเอกชนไทยด้วย

“ตอนนี้ที่เป็นห่วงคือการส่งออก เพราะยังได้รับผลกระทบจากการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก การเคลื่อนไหวค่าเงินบาทของไทยยังแข็งค่า เมื่อเทียบกับภูมิภาค ซึ่งในที่ประชุมกกร.ก็จะมาคุยกันว่า กระทบต่อความสามารถแข่งขันของผู้ประกอบการไทยมากน้อยแค่ไหน ซึ่งมีแนวโน้มต้องปรับเป้าหมายลดลง ส่วนการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ขณะนี้ยังมองไว้ที่เป้าหมายเดิม ขยายตัว 3.5% แต่จะปรับเป้าหรือไม่ ก็ต้องดูในที่ประชุมร่วม 3 สถาบันอีกครั้ง ปัจจัยสำคัญที่สุดในการพิจารณาคือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ การเบิกจ่ายงบประมาณ การดำเนินโครงการต่างๆ และที่สำคัญคือการผลักดันราคาสินค้าเกษตร ซึ่งจะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อได้อีกมาก” นายสุพันธุ์ กล่าว

นายวิชัย อัศรัสกร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า จะหารือถึงความคืบหน้าการเพิ่มขีดความสามารถของไทย หลังจากที่ได้ประชุมร่วมกับคณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานไปเมื่อเร็วๆนี้ เพราะขณะนี้เป็นช่วงเวลาดีที่จะปรับเปลี่ยนกฎระเบียบต่างๆ ให้มีการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนมากขึ้นโดยเฉพาะขั้นตอนการขอใบอนุญาตต่างๆ หากเรายังช้าอาจทำให้สูญเสียโอกาสทางการค้าได้

อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขีดความสามารถของไทยเช่น เกษตรกรซึ่งถือเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพมากในอาเซียน แต่ขณะนี้ประเทศอื่นๆ ในอาเซียนมีการเร่งพัฒนาศักยภาพ ดังนั้นเกษตรกรไทยเอง ก็ต้องเร่งพัฒนาเช่น การนำนวัตกรรมต่างๆ เข้ามาปรับใช้ หากไม่ปรับตัว เมื่อมีการเปิดประชาคมอาเซียน (เออีซี) เราอาจเสียโอกาสทางการแข่งขันได้

นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ส่งออกไทยที่มีคำสั่งซื้อ (ออเดอร์) สินค้าไปตลาดยุโรปขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนแล้วเฉลี่ย 6,000 ล้านบาทต่อเดือน จากค่าเงินสกุลยูโรอ่อนค่าลง 20% เพราะลูกค้าส่วนใหญ่จะเซ็นสัญญาล่วงหน้าอย่างน้อย 3 เดือน หรือ 1 ไตรมาส จึงไม่สามารถยกเลิกสัญญาได้ ขณะเดียวกันยังพบว่าในไตรมาสที่ 2 และ 3 ลูกค้าจากยุโรปเริ่มขอลดราคาสินค้า 10-15% ในกรณีที่มีการซื้อขายด้วยเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ส่วนการซื้อขายด้วยเงินสกุลยูโรไม่ได้มีการเจรจาขอลดราคาเพราะค่าเงินยูโรอ่อนค่าอยู่แล้ว

“ผู้ประกอบการไทยที่เซ็นสัญญาซื้อขายด้วยเงินยูโรหากรวมไตรมาสแรก (มกราคม-มีนาคม) ขาดทุนรวม 18,000 ล้านบาท เพราะเมื่อแลกมาเป็นเงินไทย หรือเงินสกุลสหรัฐก็จะมีมูลค่าน้อย ส่วนผู้ที่ทำสัญญาซื้อขายด้วยเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐในไตรมาสแรกยังไม่ได้รับผลกระทบ แต่ในไตรมาส 2-3 จะเริ่มกระทบเพราะลูกค้าขอให้ลดราคาตามค่าเงินยูโรที่อ่อนตัว 10-15% หากรายใดต้องการประคองตลาดก็ต้องยอมเจ็บตัว แต่ถ้ารับไม่ไหวก็ต้องทิ้งแล้วหาตลาดใหม่” นายวัลลภ กล่าว

การส่งออกของไทยในไตรมาสแรกของปี 2558 มีแนวโน้มติดลบ 2% จากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอ โดยเฉพาะตลาดส่งออกหลักของไทย ทั้งจีน ญี่ปุ่น และยุโรป ประกอบกับค่าเงินยุโรปอ่อนค่าลง 20% และจากการที่ไทยถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร หรือ GSP ทำให้โอกาสส่งออกไปยุโรปทั้งในรูปของเงินยูโร หรือดอลลาร์สหรัฐยากขึ้น อีกทั้งค่าเงินบาทของไทยที่แข็งค่ากว่าประเทศอื่นในภูมิภาคบั่นทอนขีดความสามารถการแข่งขันของสินค้าไทย

“สรท.ยังคงเป้าการส่งออกทั้งปี 2558 อยู่ที่ 1.1-1.5% โดยจะติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องและประเมินยอดการส่งออกเป็นประจำทุกไตรมาส แต่ยังคาดหวังว่านโยบายการลงทุนของภาครัฐจะกระตุ้นเศรษฐกิจ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึง

 เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัว จะส่งผลดีต่อการส่งออก” นายวัลลภ กล่าว

ส่วนภาคเอกชนต้องหาตลาดใหม่โดยเฉพาะอาเซียนและการค้าชายแดน ขณะเดียวกันก็ต้องการให้ภาครัฐผลักดันการส่งออกให้เป็นวาระเเห่งชาติ และให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดูแลเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนให้เหมาะสมเพื่อให้ผู้ส่งออกแข่งขันได้ เนื่องจากประเทศคู่แข่งค่าเงินอ่อนค่าลงอย่างมากเมื่อเทียบกับเงินสกุลดอลลาร์

นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งออกกล่าวว่า สินค้าอุตสาหกรรมของไทยส่วนใหญ่เป็นการรับจ้างผลิตให้กับบริษัทข้ามชาติ การส่งออกจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับบริษัทแม่ จึงน่าเป็นห่วงในเรื่องของการลงทุนที่เริ่มมีการกระจายความเสี่ยงโดยนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยกว่าไปสร้างฐานการผลิตในประเทศเพื่อนบ้าน สินค้าส่งออกของไทยจำนวนมากเริ่มตกรุ่น ขาดการพัฒนาและมีมูลค่าต่ำ เมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่างเวียดนาม

ภาครัฐควรเพิ่มขีดความสามารถการส่งออกของไทยทั้งการหาตลาดใหม่พัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่ นวัตกรรมวิทยาศาสตร์เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก และการสร้างฐานข้อมูลเดิม ข้อมูลใหม่นำมาใช้วิเคราะห์ทางการค้าเพื่อให้เกิดประโยชน์

จาก http://www.naewna.com วันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2558

เร่งคลอดยุทธศาสตร์วิจัยเกษตร เพิ่มศักยภาพ23สินค้ารองรับตลาดโลก

นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯและคณะกรรมการบริหารสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร ได้จัดทำร่างยุทธศาสตร์การวิจัยด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร เพื่อพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งด้านการวิจัยและพัฒนาด้านการเกษตรให้กับประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบูรณาการงานวิจัยร่วมกันภายในกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งการดำเนินงานต่างๆ จะต้องสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 (2555-2559) นโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัยของชาติ ฉบับที่ 8 (2555-2559) และนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยแบ่งประเภทสินค้าออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มสินค้าเกษตรที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ 23 ชนิด ได้แก่ สินค้าพืช สินค้าประมง และสินค้าปศุสัตว์ และ 2.กลุ่มสินค้าเกษตรที่มีศักยภาพในการพัฒนาทางการค้า จำนวน 13 ชนิด ได้แก่ สินค้าพืช สินค้าประมง สินค้าปศุสัตว์ และสินค้าหม่อนไหม

นายชวลิต กล่าวต่อว่า การจัดทำร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าว มี 2 ยุทธศาสตร์สำคัญ คือ 1.การวิจัยและพัฒนาเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงตลาดในภูมิภาคอาเซียนและตลาดโลก 2.การวิจัยและพัฒนาเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 3.การวิจัยและพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงาน และ 4.การวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรม และเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและอาหารเชิงพาณิชย์

นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯยังได้จัดทำแผนพัฒนาบุคลากรวิจัยด้านการเกษตร เน้นการพัฒนานักวิจัยในลักษณะต่อยอด สนับสนุนทุนการพัฒนาบุคลากรวิจัยในหลายประเภท เช่น ทุนศึกษาต่อ ทุนฝึกอบรมและปฏิบัติงานวิจัย และทุนการนำเสนอผลงานวิจัยต่างประเทศ เป็นต้น ซึ่งแผนพัฒนาบุคลากรวิจัยด้านการเกษตร มีแนวทาง 3 ด้าน คือ 1.ผู้นำการวิจัยด้านการจัดการการผลิตผลทางการเกษตร 2.ผู้นำการวิจัยด้านเศรษฐกิจ สังคม และสถาบันเกษตรกร และ 3.ผู้นำการวิจัยด้านกฎระเบียบและมาตรฐาน โดยมีเป้าหมายเป็นผู้นำการเกษตรของประเทศภายใน 5 ปี และเป็นผู้นำการเกษตรของอาเซียนภายใน 10 ปี

จาก http://www.naewna.com วันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2558

เร่งคลอดยุทธศาสตร์วิจัยเกษตร เพิ่มศักยภาพ23สินค้ารองรับตลาดโลก

นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯและคณะกรรมการบริหารสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร ได้จัดทำร่างยุทธศาสตร์การวิจัยด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร เพื่อพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งด้านการวิจัยและพัฒนาด้านการเกษตรให้กับประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบูรณาการงานวิจัยร่วมกันภายในกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งการดำเนินงานต่างๆ จะต้องสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 (2555-2559) นโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัยของชาติ ฉบับที่ 8 (2555-2559) และนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยแบ่งประเภทสินค้าออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มสินค้าเกษตรที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ 23 ชนิด ได้แก่ สินค้าพืช สินค้าประมง และสินค้าปศุสัตว์ และ 2.กลุ่มสินค้าเกษตรที่มีศักยภาพในการพัฒนาทางการค้า จำนวน 13 ชนิด ได้แก่ สินค้าพืช สินค้าประมง สินค้าปศุสัตว์ และสินค้าหม่อนไหม

นายชวลิต กล่าวต่อว่า การจัดทำร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าว มี 2 ยุทธศาสตร์สำคัญ คือ 1.การวิจัยและพัฒนาเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงตลาดในภูมิภาคอาเซียนและตลาดโลก 2.การวิจัยและพัฒนาเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 3.การวิจัยและพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงาน และ 4.การวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรม และเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและอาหารเชิงพาณิชย์

นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯยังได้จัดทำแผนพัฒนาบุคลากรวิจัยด้านการเกษตร เน้นการพัฒนานักวิจัยในลักษณะต่อยอด สนับสนุนทุนการพัฒนาบุคลากรวิจัยในหลายประเภท เช่น ทุนศึกษาต่อ ทุนฝึกอบรมและปฏิบัติงานวิจัย และทุนการนำเสนอผลงานวิจัยต่างประเทศ เป็นต้น ซึ่งแผนพัฒนาบุคลากรวิจัยด้านการเกษตร มีแนวทาง 3 ด้าน คือ 1.ผู้นำการวิจัยด้านการจัดการการผลิตผลทางการเกษตร 2.ผู้นำการวิจัยด้านเศรษฐกิจ สังคม และสถาบันเกษตรกร และ 3.ผู้นำการวิจัยด้านกฎระเบียบและมาตรฐาน โดยมีเป้าหมายเป็นผู้นำการเกษตรของประเทศภายใน 5 ปี และเป็นผู้นำการเกษตรของอาเซียนภายใน 10 ปี

จาก http://www.naewna.com วันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2558

ก.พาณิชย์เร่งฝีเท้าเข้าเออีซีปี 58

 ‘รมช.พาณิชย์’ นำผู้แทนไทยถกรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ที่เมืองโกตาบารู รัฐกลันตัน เมืองด่านชายแดนไทย-มาเลเซีย เร่งขับเคลื่อนประเทศสมาชิกอาเซียนเข้าสู่เส้นชัยเออีซีปลายปีนี้

  นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้นำผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (AEM Retreat) ครั้งที่ 21 เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 1 มีนาคม 2558 ณ เมืองโกตาบารู รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจครั้งแรกของปี 2558 อันเป็นปีสำคัญที่อาเซียนจะก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างสมบูรณ์

 นางอภิรดี กล่าวว่า การประชุมในปีนี้ มาเลเซียในฐานะประธานอาเซียนเน้นเร่งการดำเนินมาตรการเข้าสู่ AEC ตามที่อาเซียนตกลงกันไว้ให้แล้วเสร็จ โดยมาตรการที่มีความสำคัญในลำดับต้นซึ่งมีผลต่อการค้า ภาคธุรกิจ และการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน เช่น การลด/เลิกมาตรการที่มิใช่ภาษี การสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs การสรุปผลการเจรจา RCEP

 ขณะนี้ อาเซียนได้ลดภาษีนำเข้าระหว่างกันเหลือ 0% เกือบหมดแล้ว อาเซียนจึงตกลงกันที่จะดำเนินการอย่างเข้มข้นและจริงจัง เพื่อลด/เลิกมาตรการที่มิใช่ภาษีที่เป็นอุปสรรคทางการค้า โดยทุกประเทศเห็นร่วมกันว่าอาเซียนควรมีกลไกที่เข้มแข็งและมีการตรวจสอบข้อร้องเรียนจากภาคธุรกิจ ในเรื่องมาตรการที่มิใช่ภาษีอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้ง มีการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ อาเซียนจะปรับปรุงระบบการรับเรื่องร้องเรียนที่มีอยู่เดิมให้ใช้ได้ง่ายขึ้น และให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จของ AEC

 “อาเซียนจะให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้มแข็ง การอำนวยความสะดวกทางการค้า การขยายโอกาสทางการค้าการลงทุนให้กับภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ซึ่งถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ของธุรกิจในอาเซียน โดยรัฐมนตรีเศรษฐกิจตกลงให้มีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมภาครัฐและเอกชนของอาเซียน เพื่อร่วมหารือปัญหาอุปสรรคและรับฟังข้อเสนอแนะจากภาคธุรกิจ และนำข้อคิดเห็นต่างๆ มาจัดทำความตกลงการอำนวยความสะดวกทางการค้าของอาเซียนให้เกิดประโยชน์สูงสุด” นางอภิรดี กล่าว

 ในด้านการสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคเอกชน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีของมาเลเซียได้นำเสนอโครงการเพื่อเพิ่มการค้าการลงทุนของผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่ กลาง และเล็กของอาเซียน โดยการนำกลุ่มนักธุรกิจ/บริษัทจากประเทศต่างๆในอาเซียนในสาขาต่างๆ ที่กำลังแสวงหาการค้าและการลงทุนภายในภูมิภาคเดินทางไปในประเทศต่างๆ เพื่อร่วมระดมความคิด ระบุปัญหาอุปสรรคของการค้าลงทุนในแต่ละประเทศ และพบปะกับภาครัฐเพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหา ซึ่งรัฐมนตรีเศรษฐกิจเห็นประโยชน์ของข้อเสนอโครงการนี้ และจะศึกษาในรายละเอียด โดยเห็นว่าการเข้าร่วมโครงการต้องเป็นไปโดยสมัครใจ

 นอกจากนี้ ผู้แทนภาคธุรกิจของมาเลเซียในฐานะประธานสภาธุรกิจอาเซียนในปีนี้ ได้เข้าพบรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนเพื่อนำเสนอประเด็นที่ต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐ โดยประเด็นที่สำคัญ ได้แก่ การจัดตั้งธนาคารเพื่อผู้ประกอบการขนาดย่อย ขนาดเล็ก และขนาดกลาง (MSME Bank) การจัดตั้งสมาคมผู้ประกอบการรุ่นใหม่ และสมาคมผู้ประกอบการสตรีของอาเซียน การจัดให้มีช่องทางเข้าเมืองสำหรับคนจากอาเซียน ณ จุดเข้าเมืองต่างๆ (ASEAN Lane) เป็นต้น ซึ่งรัฐมนตรีเศรษฐกิจเห็นว่าควรมีการแบ่งกลุ่มข้อเสนอของภาคเอกชนเป็นมาตรการที่ดำเนินการในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยมาตรการใดที่ทำได้ง่าย เช่น การจัดตั้งสมาคมต่างๆ และการจัดทำ ASEAN Lane น่าจะสามารถดำเนินการได้ทันที ส่วนข้อเสนอการจัดตั้งธนาคาร MSME จะเป็นมาตรการที่ต้องดำเนินการในระยะยาว

 นางอภิรดี กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐมนตรีอาเซียนเห็นพ้องกันให้สรุปการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP ให้ได้ภายในปี 2558 ตามที่กำหนดไว้ โดยอาเซียนจะต้องมีบทบาทเป็นศูนย์กลางในการผลักดันให้การเจรจามีความคืบหน้า และสามารถตกลงกันได้ในเรื่องสำคัญ ได้แก่ การจัดทำรูปแบบการลดภาษี และการเปิดเสรีบริการและการลงทุน ซึ่งอาเซียนทุกประเทศตกลงกันที่จะยื่นข้อเสนอการเปิดตลาดสินค้า บริการ และการลงทุน ก่อนการเจรจารอบต่อไปในเดือนมิถุนายน 2558 เพื่อเร่งรัดการเจรจาให้สามารถสรุปผลได้ตามกำหนดเวลา

 สำหรับในเรื่องประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนภายหลังปี 2558 อาเซียนกำลังพิจารณาจัดทำร่างวิสัยทัศน์ของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนภายหลังปี 2558 ซึ่งคาดว่าอาเซียนจะมีการรวมกลุ่มกันอย่างเข้มข้น โดยอาจจะเปิดเสรีเพิ่มขึ้นรวมทั้งมีการปรับประสานมาตรฐาน กฎระเบียบต่างๆให้สอดคล้องกันมากขึ้น เพื่อให้อาเซียนเป็นภูมิภาคที่สามารถแข่งขันได้ในเศรษฐกิจโลกได้อย่างมั่นคง โดยอาเซียนมีกำหนดจะจัดทำวิสัยทัศน์ด้านเศรษฐกิจให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2558 และนำเสนอต่อรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนในเดือนสิงหาคม 2558 ก่อนผู้นำอาเซียนจะ ประกาศวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ซึ่งรวมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม และการเมืองและความมั่นคง ในช่วงการประชุมผู้นำอาเซียนครั้งที่ 27 ในเดือนพฤศจิกายนนี้

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2558

รมว.อุตฯ เปิดสัมมนาพัฒนาอุตสาหกรรม

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดสัมมมานาผลักดันนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรม ปฏิรูปแนวคิดบริหาร 11 สถาบันเครือข่าย หวังป้องกันการเมืองแทรก

นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อผลักดันนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรม สู่สถาบันเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมมอบนโยบายให้ 11 สถาบันเครือข่าย ปรับกระบวนการทำงานโดยยึดหลักธรรมาภิบาล สามารถตรวจสอบได้ และให้ทำงานในเชิงที่จะช่วยเพิ่มคุณค่าของสถาบัน โดยให้แต่ละสถาบันเพิ่มการเป็นศูนย์รวมความรู้ของแต่ละอุตสาหกรรมที่แต่ละสถาบันดูแลอยู่ด้วย

นอกจากนี้ ในโอกาสที่ประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี ทาง 11 สถาบันเครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรม จะต้องเตรียมความพร้อม โดยให้พิจารณาเรื่องความเชื่อมโยงกับ 10 ชาติในอาเซียนภายใต้บริบทของแต่ละสถาบัน พร้อมดูแลทรัพยากรธรรมชาติของประเทศที่มีจำกัดและนับวันน้อยลง ขณะที่ประเทศไทยยังคงต้องนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ ดังนั้นการใช้ทรัพยากรต้องใช้อย่างฉลาดใช้น้อยได้ประโยชน์ ซึ่งเป็นไปตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

นอกจากนี้ นายจักรมณฑ์ กล่าวว่า ปัจจุบันในการทำงานระหว่าง 3 องค์กร คือ มูลนิธิที่ก่อตั้งสถาบัน สถาบัน และกระทรวงอุตสาหกรรม ยังมีหน้าที่ทับซ้อนกัน เช่น ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานสถาบัน เรื่องการแต่งตั้งผู้บริหารที่มีปัญหา เพราะในช่วงที่ผ่านมามักแต่งตั้งโดยฝ่ายการเมือง ไม่ได้มาจากการคัดเลือกตามหลักธรรมภิบาลของกรรมการสถาบัน เป็นต้น โดยในอนาคตจะต้องมีเส้นแบ่งที่ชัดเจน มีระเบียบกฎเกณฑ์ที่สามารถอ้างอิงได้ ขณะที่แต่ละสถาบันยังคงทำงานตามนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรมตามปกติ

จาก www.innnews.co.th   วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2558

ผู้ผลิตเอทานอลเมิน "ข้าวเน่า" 4ล้านตัน ชี้ไม่คุ้มทุน ขณะอุตฯอาหารสัตว์กดราคาเหลือ1บาท/กก.

แผนระบายข้าวเน่า 4 ล้านตันส่อเค้าวุ่น หลังผู้ผลิตเอทานอลระบุไม่คุ้มต้นทุน แม้พาณิชย์ตัดขายเหลือ 2.50 บาท/กก. ด้านเจ้าของโกดังกดราคาซื้อ 1 บาท/กก. หวังนำไปใช้ได้แค่อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ขณะวงการข้าวระบายข้าวรอบ 2/2558 ทุบราคาข้าวนาปรัง เหตุระยะเวลาส่งมอบยาวทับซ้อนช่วงผลผลิตออกสู่ตลาด

 รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมการค้าต่างประเทศกำลังจัดทำแผนการระบายข้าวเสื่อมสภาพปริมาณรวม 4 ล้านตัน ซึ่งข้าวที่เก่าที่สุดมาจากโครงการรับจำนำเมื่อปี 2549 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งสภาพข้าวมีทั้งที่เป็นฝุ่น ไม่มีเชื้อแป้งที่จะนำไปใช้ต่อในอุตสาหกรรมต่างๆได้ โดยกลุ่มผู้ผลิตเอธานอลได้แสดงความเห็นเบื้องต้นว่าการนำข้าวไปผลิตเอทานอลจะไม่คุ้มต้นทุน แม้กระทรวงพาณิชย์ จะประเมินราคาขาย ไว้ที่กก.ละ 2.50 บาท หรือตันละ 2,500 บาทเท่านั้น เพราะองค์ประกอบทางเคมีของข้าวไม่เหมาะสมจะนำไปผลิตเอทานอล

 อย่างไรก็ตาม มีเจ้าของโกดังที่เก็บข้าวเสื่อมได้เสนอซื้อ ในราคา กก.ละ 1 บาท หรือตันละ 1,000 บาทเท่านั้น เพราะข้าวเสื่อมสภาพที่มีอยู่ส่วนใหญ่ยังสามารถนำไปผลิตเป็นส่วนประกอบอาหารสัตว์ได้ ทั้งนี้ หากประเมินมูลค่าที่จะขายข้าวเสื่อมทั้ง 4 ล้านตันให้เจ้าของโกดังและอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ จะทำให้รัฐมีเงินคืนจากโครงการรับจำนำตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมาเพียง 4 พันล้านบาทเท่านั้น

“ตอนนี้ยังไม่สรุปว่าจะดำเนินการแนวทางใดสำหรับการแก้ไขปัญหาข้าวเสื่อมสภาพปริมาณ 4 ล้านตันที่มีอยู่ในสต็อกรัฐบาล เพราะเดิมคิดว่าจะขายให้อุตสาหกรรมเอทานอล แต่เมื่อศึกษาจริงก็รู้ว่าไม่คุ้มค่าในเชิงเคมีและต้นทุนอื่นๆ ส่วนที่เจ้าของโกดังเสนอซื้อที่ตันละ 1 พันบาทก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ต้องสรุปและนำเสนอให้คณะกรรมการบริหารจัดการข้าวแห่งชาติ (นบข.) พิจารณาและตัดสินใจต่อไป” รายงานข่าวระบุ

 นอกจากนี้ การระบายข้าวสต็อกรัฐบาล 2/2558 ที่จะมีขึ้น 6 มี.ค.นี้ ซึ่งมีข้าวขาว 5% นำออกมาระบายถึง 7 แสนตัน เมื่อประเมินจากกำหนดเวลาการขนข้าวออกจากโกดัง ซึ่งมีระยะเวลาสูงสุดที่ 210 วัน สำหรับปริมาณข้าว 3 แสนตันขึ้นไป

 ส่วนกำหนดเวลาขนข้าวออกจากโกดังสำหรับข้าวปริมาณน้อยที่สุดที่ 50,000 ตัน ให้ขนออกได้ภายใน 90 วัน นั้น หากการระบายครั้งนี้สามารถระบายได้ทั้งหมด 7 แสนตันข้าวสารขาว 5% ก็จะทำให้มีข้าวในตลาดมากกว่าผลผลิตนาปรัง 2558 ที่จะออกสู่ตลาดในช่วง มี.ค.-เม.ย.นี้ ซึ่งจะส่งผลต่อระดับราคาข้าวเปลือกในที่สุด

 ราคาข้าวเปลือกเจ้า 5%( ความชื้น 15%) เฉลี่ยที่ตันละ 7,700-8,300 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำสุดตั้งแต่ปี 2555 ที่เฉลี่ยทั้งปีตันละ 10,541 บาท ปี 2556 ตันละ 9,911 บาท และปี2557 เฉลี่ยตันละ 7,733 บาท

 ทั้งนี้ ข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2558 จะมีผลผลิตประมาณ 6.702 ล้านตันข้าวเปลือก ลดลงจากปี 2557 ที่ผลผลิต 10.087 ล้านตันข้าวเปลือก ลดลง 3.385 ล้านตัน หรือ 33.56% ผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากที่สุดในช่วงเดือนมี.ค.-พ.ค. ประมาณ 5.388 ล้านตันข้าวเปลือก หรือ 80.39%

จาก http://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2558

15คู่ค้าตั้งป้อมกีดกันสินค้าเพิ่ม31รายการ

มาตรการกีดกันการค้าปี 58 ยังแรง ฮิตสุดใช้"เซฟการ์ด-เอดี" ล่าสุดตรวจพบ 15 คู่ค้าอยู่ระหว่างเปิดไต่สวนสินค้าไทยกว่า 31 รายการ  อินเดียนำโด่งกีดกันไทยมากสุด  สภาหอฯ-สภาผู้ส่งออก-ม.หอการค้าฯ สั่งจับตาเปิดเสรีการค้า 10 ชาติอาเซียนปลายปีนี้ สมาชิกแห่งัดมาตรการปกป้องธุรกิจ/อุตสาหกรรมในประเทศเพิ่ม เรียกร้องประชุมผู้นำอาเซียนซัมมิทปลายปีนี้ถกปลดล็อกด่วน!

    altจากมูลค่าการส่งออกของไทยที่ขยายตัวติดลบต่อเนื่อง 2 ปีซ้อน(2556-2557) และล่าสุดตัวเลขการส่งออกเดือนมกราคม เดือนแรกของปี 2558 ก็ยังติดลบที่ 3.4%  ซึ่งเป็นผลกระทบจากหลายปัจจัยสำคัญได้แก่ เศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจของคู่ค้า ค่าเงินบาท การถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร(จีเอสพี) วัตถุดิบขาดแคลน ต้นทุนการผลิตสูง ขาดแต้มต่อไม่ได้ทำเอฟทีเอเพิ่ม เป็นต้น แต่อีกด้านหนึ่งยังมีส่วนสำคัญจากการถูกกีดกันการค้าโดยมาตรการที่มิใช่ภาษี (NTMs) จากคู่ค้า

++15 ชาติใช้มาตรการกีดกันไทย

    ทั้งนี้จากการตรวจสอบข้อมูลของกรมการค้าต่างประเทศ พบล่าสุดมี 15 ประเทศที่ใช้มาตรการที่มิใช่ภาษีกับสินค้าไทย โดยที่ใช้มากที่สุดคือ มาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก(เซฟการ์ด) รองลงมาคือมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) รวมสินค้าที่อยู่ระหว่างการเปิดไต่สวนเพื่อใช้มาตรการทั้งสิ้น 31 รายการ แยกเป็นมาตรการเซฟการ์ด 20 รายการ และมาตรการเอดี 11 รายการ โดยประเทศที่ใช้มาตรการกับไทยมากที่สุดคืออินเดียจำนวน 7 รายการ(ดูตารางประกอบ) รองลงมาคือ อินโดนีเซีย 5 รายการ ฟิลิปปินส์ 3 รายการ ตุรกี ออสเตรเลีย โคลัมเบีย ตูนิเซียประเทศละ 2 รายการ และปากีสถาน จีน อาร์เจนตินา มาเลเซีย เกาหลีใต้ จอร์แดน เอกวาดอร์ และอียิปต์ประทศละ 1 รายการ

    สำหรับสินค้าที่อินเดียอยู่ระหว่าการไต่สวนเพื่อใช้มาตรการเซฟการ์ดกับไทย อาทิ ผลิตภัณฑ์เหล็กแผ่นรีดเย็นไร้สนิมประเภทโครเมียม ,แอลกอฮอล์ไขมันอิ่มตัวที่มีโซ่คาร์บอน และมาตรการเอดี อาทิ ล้ออะลูมิเนียมผสมหล่อ,อินโดนีเซียมาตรการเซฟการ์ด อาทิ เหล็กผสมอื่นๆ รูปตัว และตัว I และมาตรการเอดี อาทิ เส้นด้ายยืด และฟิลิปปินส์ ในส่วนมาตรการเซฟการ์ด อาทิ เหล็กฉาก, ตุรกี มาตรการเซฟการ์ด อาทิ อุปกรณ์ส่งและรับสัญญาณสำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่, ออสเตรเลีย มาตรการเอดี อาทิ เหล็กโครงสร้างรูปพรรณกลวง, จีน มาตรการเอดี ในสินค้ากรดเมทิล เมทาครีเลต และอาร์เจนตินา มาตรการเอดีในสินค้าลูกเทนนิส เป็นต้น

    สำหรับในการไต่สวนเพื่อมาตรการเซฟการ์ดหากพิจารณาในเบื้องต้นพบการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้นได้ก่อให้เกิดความเสียหาย และเป็นสถานการณ์วิกฤติ ประเทศผู้ใช้มาตรการสามารถใช้มาตรการปกป้องชั่วคราวได้ในรูปการเพิ่มอากรขาเข้า แต่ระยะเวลาที่ใช้ต้องไม่เกิน 200 วัน  และหากผลการไต่สวนพบว่าการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้นไม่ได้ก่อให้เกิดความเสีย จะต้องคืนอากรที่เรียกเก็บเพิ่มให้แก่ผู้นำเข้า

    ส่วนมาตรการเอดี หรือการทุ่มตลาด(ราคาส่งออกต่ำกว่ามูลค่าปกติของสินค้าชนิดเดียวกันที่จำหน่ายภายในประเทศผู้ส่งออก/ผู้ผลิต)หากผลการไต่สวนแล้วพบมีการทุ่มตลาดจริงประเทศผู้นำเข้าจะเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดจากสินค้านำเข้า ซึ่งจะเป็นการเก็บอากรที่เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากภาษีนำเข้าปกติ

++จับตาเสรีอาเซียนกีดกันหนัก

    ดร.อัทธ์  พิศาลวานิช ผู้อำนวยการ ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้ความเห็นว่า จากที่อาเซียนจะรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจ หรือเออีซีในปลายปีนี้(31 ธ.ค.58) และตั้งแต่ต้นปี 2559 เป็นต้นไปสินค้านำเข้าระหว่างกันของ 10 ชาติสมาชิกอาเซียนจะลดลงเป็น 0% โดยส่วนใหญ่ คาดจะมีผลให้อาเซียนมีมาตรการกีดกันที่มิใช่ภาษีระหว่างกันมากขึ้นใน 2 รูปแบบคือ 1.รูปแบบที่เป็นเรื่องถิ่นกำเนิดสินค้า ที่สินค้าจะได้รับสิทธิลดภาษีเป็น 0% จะต้องใช้วัตถุดิบในประเทศต้นทาง หรือจากประเทศในอาเซียนไม่ต่ำกว่า 40% มองว่าในเรื่องนี้สินค้าจากกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ ลาว) จะถูกเพ่งเล็งหรือตรวจสอบเป็นพิเศษว่าทำได้ตามกฎหรือไม่ หากตรวจสอบแล้วพบถิ่นกำเนิดสินค้ามาจากนอกกลุ่มก็จะไม่ได้รับสิทธิการลดภาษี

    รูปแบบที่ 2 เป็นมาตรการด้านอื่น ที่ไม่ใช่แหล่งกำเนิดสินค้า เช่น มาตรการด้านด่านศุลกากรหรือท่าเรือ เช่นกรณีของอินโดนีเซียที่กำหนดจำนวนท่าเรือที่ไทยสามารถขนสินค้าประเภทผักและผลไม้ไปอินโดนีเซียได้เพียง 3 ท่าเรือ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ห่างจากกรุงจาการ์ตา ทำให้ต้องใช้เวลา และมีต้นทุนการขนส่งเพิ่ม และอาจมีผลให้สินค้าเน่าเสีย

    "ในเรื่องกฎถิ่นกำเนิดสินค้าอีกตัวหนึ่งที่จะนำมาใช้กีดกันที่น่าเป็นไปได้คือ การบังคับติดฉลากสินค้าเพื่อตรวจสอบให้นำเข้ายากขึ้น เช่น สินค้าชนิดหนึ่งที่ระบุว่ามีส่วนผสมน้ำตาล 10% ยังต้องระบุอีกว่าเอาน้ำตาลมาจากไหน ส่วนในตลาดยุโรป และสหรัฐอเมริกามีมาตรการด้านสุขอนามัย และความปลอดภัยด้านอาหารอยู่แล้ว แต่ที่น่าสนใจคือประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเวลานี้สินค้าที่เราผลิตและส่งเข้าไปต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย รวมถึงไม่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนที่เขาจะบังคับเกณฑ์มาตรฐานให้ปฏิบัติเข้มข้นขึ้น"

++มาตรการสิ่งแวดล้อมมาแรง

    ขณะที่นายบัณฑูร วงศ์สีลโชติ ประธานคณะกรรมการความยั่งยืนทางธุรกิจ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การกีดกันทางการค้าโดยใช้มาตรการที่มิใช่ภาษีจะรุนแรงขึ้นทุกปี เนื่องจากไทยกับประเทศคู่ค้ามีการเปิดเสรีทางการค้ามากขึ้น ซึ่งเมื่อภาษีนำเข้าลดลงเป็น 0% ต้องหามาตรการมาปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ หรือไม่ก็เป็นมาตรการเพื่อความปลอดภัยด้านสุขภาพอนามัย และมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่กำลังมาแรงโดยเฉพาะในยุโรป หากผู้ส่งออกไทยไม่สามารถทำได้มาตรฐานก็จะได้รับผลกระทบ แต่หากทำได้ตามมาตรฐานก็จะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน

    อย่างไรก็ดีมองว่าการกีดกันจะเพิ่มมากขึ้นในตลาดอาเซียนที่ภาษีระหว่างกันของประเทศสมาชิกจะลดลงเป็น 0% ทั้ง 10 ประเทศในปีหน้า เห็นได้จากที่ผ่านมาในมาเลเซีย และอินโดนีเซียในหลายสินค้าต้องขอใบอนุญาตนำเข้าจากรัฐบาลก่อน และต้องถามอุตสาหกรรมภายในก่อนว่าจะให้นำเข้าหรือไม่ ซึ่งมีทั้งสินค้าเกษตร และสินค้ารถยนต์ ในเรื่องนี้รัฐบาลไทยจะต้องเจรจาเพื่อปลดล็อก ไม่เช่นนี้แล้วสินค้าไทยจะไม่ได้ประโยชน์มากนักจากการเปิดเสรีของเซียน

    "ในอาเซียนผมมองต่างมุมในเรื่องถิ่นกำเนิดสินค้าว่ากลุ่ม CLMV ที่เขาได้พัฒนาระบบตรวจสอบจะมีความเข้มงวดในการตรวจสอบถิ่นกำเนิดสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้น ขณะที่สินค้าไทยหลายตัวจะมีปัญหา เช่นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่เราใช้แป้งสาลีนำเข้าจากนอกกลุ่ม หากเขาเข้มงวดจริง เราอาจจะเข้าไปไม่ได้"

++อัญมณีร้องแก้ปัญหาอินเดีย

    ด้านนายสมชาย  พรจินดารักษ์ นายกสมาคมผู้ค้าอัญมณีไทยและเครื่องประดับ กล่าวว่าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทที่ส่งไปอินเดียได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง เฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มสินค้าเครื่องประดับทำด้วยทองที่ทางศุลกากรของอินเดีย อ้างว่าใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าของไทยที่ได้มีความตกลงเขตการค้าเสรี(เอฟทีเอ)ระดับทวิภาคีกับอินเดียแล้ว แต่มีความไม่นาเชื่อถือ ทั้งที่รับรองโดยส่วนราชการของไทยคือกรมการค้าต่างประเทศ มีการกักสินค้า และให้พิสูจน์ เรื่องนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2555  และรัฐมนตรีพาณิชย์ของไทยใน 2 รัฐบาล(รวมรัฐบาลชุดปัจจุบัน)ได้เจรจาแล้วแต่ยังไม่เป็นผล ดังนั้นจึงมองว่าอินเดียเจตนากีดกันสินค้าไทย

++เรียกร้องผู้นำถกปลดล็อก

    สอดคล้องกับนายวัลลภ  วิตนากร  รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออกที่ชี้ว่าการกีดกันการค้าในปีนี้จะทวีความรุนแรงขึ้นแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดอาเซียนที่ภาษีนำเข้าระหว่างกันจะลดลงเป็น 0% ทุกประเทศในปีหน้า แต่จะมีมาตรการทางด้านเทคนิคมาใช้กีดกันการค้าแทน ในเรื่องนี้ขอเรียกร้องให้ผู้นำอาเซียนที่จะมีการประชุมอาเซียนซัมมิทในปลายปีนี้ได้นำประเด็นการขจัดอุปสรรคทางการค้าและบริการอันเกิดจากมาตรการที่มิใช่ภาษีขึ้นมาหารือกัน เพื่อให้อาเซียนเป็นเขตการค้าเสรีโดยแท้จริง

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2558

เงินเฟ้อทะยานสูงสุดในรอบ5ปี

เงินเฟ้อติดลบสูงสุดรอบ 5 ปี 5 เดือน “ พาณิชย์” ปรับเป้าเงินเฟ้อ 58 เหลือ 0.6-1.3%

นายสมเกียรติ  ตรีรัตนพันธ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) เดือน  ก.พ.  58เท่ากับ 106.15  ติดลบ 0.52% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน   ซึ่งเป็นตัวเลขติดลบติดต่อ 2 เดือนและสูงสุดในรอบ5 ปี 5 เดือน ส่งผลให้เงินเฟ้อเฉลี่ย 2 เดือนแรกของปี(ม.ค.-ก.พ.) ลดลง 0.47%  เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมันตลาดโลกที่ต่ำลง รวมถึงรัฐบาลมีการปรับลดค่ากระแสไฟฟ้าในช่วงเดือนม.ค.และมาตรการดูแลระดับราคาสินค้าให้กับประชาชนเพื่อลดค่าครองชีพ

                “สินค้าสำคัญๆที่ลดและเพิ่มราคาเช่น  ราคา น้ำมันเชื้อเพลิง ลด 20.92%   ส่วนค่าโดยสารสาธารณะราคาเพิ่มขึ้น1.26% ค่าเช่าบ้าน หอพัก เพิ่มขึ้น 1.33%  อาหารบริโภคนอกบ้าน 3.74% อาหารบริโภคในบ้าน 3.07% เครื่องประกอบอาหาร 2.94% เนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ 0.97%”

                อย่างไรก็ตามเมื่อแยกเป็นรายการสินค้า450 รายการที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อ พบว่า มีสินค้าที่ราคาสูงขึ้น 165  รายการ สินค้าที่มีราคาคงที่ 184 รายการและสินค้าราคาลดลง 101 รายการ  โดยราคาสินค้าลดลงเช่น น้ำยาปรับผ้านุ่ม, น้ำยาล้างห้องน้ำ, น้ำขาล้างจาน, แชมพูสระผม,ค่าโดยสารรถประจำทางปรับอากาศชั้น1, เนื้อสุกร, ไก่สด,ไข่ไก่, แตงกวา,ผักกาดขาว,ผักคะน้า,ผักชี, ต้นหอม,ผักกาดหอมและหัวหอมแดง เป็นต้นส่วนสินค้าที่ปรับขึ้น เช่น  หอยแครง, กะหล่ำปลี,มะนาว, มะระจีน,กระเทียม,ส้มเขียวหวาน, มะม่วง,แตงโม,ก๋วยเตี๋ยว และอาหารกลางวันเป็นต้น

                นายสมเกียรติกล่าวว่า กระทรวงฯคาดว่าอัตราเงินเฟ้อในช่วงไตรมาสแรก ปี 58 จะลดลง 0.4%   แต่หลังจากไตรมาสแรกเชื่อว่าเงินเฟ้อจะเริ่มปรับตัวสูงโดยเฉพาะในไตรมาสสุดท้ายที่คาดว่าจะมีการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาขยับส่งผลเงินเฟ้อมีอัตราสูงขึ้น และทั้งปีกระทรวงฯได้มีการปรับประมาณการณ์เงินเฟ้อปี 58ใหม่ จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัวในกรอบ 1.8-2.5% เหลือ0.6-1.3% ภายใต้สมมุติฐานใหม่ คือระดับราคาน้ำมันดิบตลาดดูไบเฉลี่ย 50-60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยน32-35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ  และเศรษฐกิจไทยขยายตัว3-4%

“เหตุผลที่อัตราเงินเฟ้อลดลงมามากมาจากปัจจัยหลายอย่าง แต่ปัจจัยหลักๆคือราคาน้ำมันดิบตลาดโลกปรับตัวลดลงมากถามว่าจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืดหรือไม่ ขณะนี้ยังตอบไม่ได้ต้องรอดูสถานการณ์ราคาน้ำมันให้นิ่งกว่านี้ ถึงจะประเมินได้ เพราะน้ำมันที่ลดลงเป็นผลต่อต้นทุนสินค้าด้วยแต่ก็ยอมรับว่าคนมีการระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น”  

                พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า  ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ(กนป.)เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 58  มีมติไม่นำเข้าน้ำมันปาล์มดิบจากต่างประเทศหลังจากได้นำเข้าไปแล้วเมื่อเดือน ก.พ.เพราะเห็นจากการประเมินสถานการณ์ปาล์มน้ำมันในปะเทศยังอยู่ในภาวะปกติอีกทั้งในเดือน มี.ค. จะมีผลผลิตปาล์มออกมาจำนวนมาก และจะกลับสู่ภาวะปกติในเดือนเม.ย. ซึ่งจะมีเพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศจึงไม่จำเป็นต้องมีการน้ำมันปาล์มดิบจากต่างประเทศอีก

                นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้จัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาอีกชุดหนึ่งซึ่งประกอบด้วย เกษตรกร ผู้ประกอบการ ผู้บริโภค และภาคราชการ ที่จะเข้ามาทำงานร่วมกันเพื่อดูแลเรื่องของปาล์มน้ำมันโดยเฉพาะเรื่องการดูแลให้ทุกฝ่ายพึงพอใจและอยู่ได้ โดยคณะทำงานดังกล่าวจะมีการหารือร่วมกันภายในเดือน มี.ค. นี้เพื่อบริการจัดการดูแลปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันที่ประชุมยังได้หารือกันถึงการขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการโรงงานสกัดฯ และลานเท รับซื้อผลปาล์มทะลายคุณภาพดี ในราคาคาไม่ต่ำกว่า 5 บาทในช่วงที่ผลผลิตปาล์มจะออกสู่ตลาดจำนวนมากเดือน มี.ค. นี้และยังได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ช่วยประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรตัดผลปาล์มที่สุกเต็มที่ในช่วงเวลาที่เหมาะสม  

                “ในเดือนมี.ค.สต็อกปาล์มดิบและปาล์มน้ำมันจะเพิ่มสูงขึ้นอีก และจะเข้าสู่ปกติในเดือน เม.ย.ซึ่งไม่จำเป็นต้องนำเข้าอีก ส่วนน้ำมันปาล์มดิบที่นำเข้ามาก่อนหน้านี้ได้นำไปบรรจุขวดขายแล้ว คิดเป็นปริมาณ 32.65 ล้านลิตรและยังเหลือที่พร้อมบรรจุขวดขายอีกประมาณ 4.65 ล้านลิตร”

                สำหรับผลผลิตผลปาล์มดิบ คาดว่าในเดือนมี.ค. จะออกมาสู่ตลาด 889,000 ตัน เพิ่มสูงจากม.ค. ที่ออกสู่ตลาด 614,000 ตัน ขณะที่น้ำมันปาล์มดิบเดือน มี.ค.จะอยู่ที่ 151,000 ตัน จากเดือน ม.ค. ที่มีปริมาณ 104,000 ตันและสต็อกน้ำมันปาล์มจะจะเป็น 155,000 ตัน เพิ่มจาก ม.ค. ที่มีปริมาณ 84,200 ตันและในเดือนเดือนเม.ย. จะอยู่ที่ 210,000 ตัน

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2558

กอน.เล็งธกส.กู้1.6หมื่นล. ชดเชยเกษตรกรไร่อ้อย

กอน.เตรียมกู้เงิน 1.6 หมื่นล้านจากธ.ก.ส. อุดหนุนราคาอ้อย หลังราคาน้ำตาลโลกร่วงหนักแตะระดับ 13-14 เซนต์/ปอนด์ ฉุดราคาอ้อยตกต่ำ

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่ากระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังติดตามสถานการณ์ราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกใกล้ชิดหลังจากที่ล่าสุดราคาซื้อขายในตลาดล่วงหน้าเดือนมี.ค.-พ.ค. 2559 ราคาได้ทำสถิติต่ำสุดที่ระดับ 13.79 เซ็นต์/ปอนด์ เนื่องจากค่าเงินของบราซิลอ่อนค่าส่งผลให้สามารถระบายน้ำตาลออกสู่ตลาดในระดับราคาที่ต่ำได้มากขึ้น

 ราคาน้ำตาลต่ำ ส่งผลให้ราคาเฉลี่ยทั้งปีไม่ถึงระดับ 18 เซนต์/ปอนด์ ซึ่งจะกระทบต่อฐานะกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายในการเป็นเครื่องมือรัฐที่จะดูแลสเถียรภาพราคาอ้อยในฤดูการผลิตปี 2558/59 ให้กับชาวไร่อ้อยทั่วประเทศ

“ราคาน้ำตาลโลกเฉลี่ยลงมา 13-14 เซนต์/ปอนด์ขณะนี้ถือว่าต่ำมาก สิ่งที่เรากังวลคือขณะนี้ชาวนาหันมาปลูกอ้อยมากขึ้นจากนโยบายของรัฐบาลที่ส่งเสริมให้เปลี่ยนพื้นที่นาบางส่วนมาปลูกอ้อยแทนทำให้ชาวไร่อ้อยเพิ่มขึ้น แต่ราคาอ้อยมีแนวโน้มจะตกต่ำ หากระดับราคาตลาดโลกเป็นเช่นนี้ และเมื่อดูฐานะกองทุนฯก็มีทิศทางที่จะอ่อนแอจากภาระหนี้ที่มีทิศทางจะสูงขึ้นมากในอนาคตการจะดูแลค่าอ้อยให้ชาวไร่เหมือนอดีตที่ผ่านๆมาอาจไม่ง่าย” แหล่งข่าวกล่าว

 ปัจจุบันราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 57/58 รัฐประกาศอยู่ที่ 900 บาท/ตัน แต่ล่าสุดคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.)เห็นชอบในหลักการที่มอบหมายให้กองทุนอ้อยฯไปพิจารณาการจัดทำรายได้ และรายรับเพื่อประกอบการพิจารณาขอสนับสนุนแหล่งเงินกู้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธ.ก.ส.) เพื่อเพิ่มราคาอ้อยขั้นต้นอีก 160 บาท/ตันหรือจะต้องใช้เงินกู้ 1.6 หมื่นล้านบาท

"กองทุนฯจะได้หารือร่วมกับธ.ก.ส.ในสัปดาห์นี้ก่อนสรุปเพื่อเสนอไปยังกระทรวงอุตสาหกรรมในการนำเสนอคณะรัฐมนตรี"

สำหรับฐานะกองทุนฯปัจจุบันมีหนี้ที่จะต้องชำระจากการกู้ธ.ก.ส.เพิ่มราคาอ้อยของเดิมอีก 8 พันล้านบาทกำหนดชำระหมดช่วงเดือนพ.ย. 2558 ดังนั้นหากครม.อนุมัติให้กู้ธ.ก.ส.อีก 1.6 หมื่นล้านบาทก็จะส่งผลให้มีภาระเงินกู้รวม 2.4 หมื่นล้านบาท เฉลี่ยรายได้จากการเพิ่มราคาน้ำตาลทราย 5 บาทต่อกิโลกรัม(กก.)ที่ไหลเข้ากองทุนฯเพื่อนำไปชำระหนี้แต่ละเดือนจะชำระหมดประมาณเดือนเม.ย.2560

เมื่อพิจารณาราคาอ้อยขั้นสุดท้ายปี 2557/58 ค่อนข้างชัดเจนว่าจะต่ำกว่าขั้นต้นที่ประกาศไว้ 900 บาท/ตัน เพราะราคานี้คำนวณจากราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกที่ระดับ 18 เซนต์/ปอนด์ แต่ขณะนี้ราคาได้ตกต่ำลงต่อเนื่อง ซึ่งจากการคำนวณเบื้องต้นราคาเฉลี่ยน้ำตาลทรายดิบที่บริษัทอ้อยและน้ำตาลทรายไทย(อนท.)ขายล่วงหน้าไปได้มีทิศทางจะทำราคาเฉลี่ยสูงสุดเพียง 16 เซนต์/ปอนด์เท่านั้น ตามกฎหมายกองทุนฯจะต้องเป็นผู้จ่ายคืนโรงงานซึ่งประเมินว่าราคาขั้นสุดท้ายจะติดลบกว่า 5-8 พันล้านบาท

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2558

ก.อุตฯจับตาราคาน้ำตาลตลาดโลก ทำสถิติต่ำสุดที่13.79เซ็นต์

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำลังติดตามสถานการณ์ราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกอย่างใกล้ชิด หลังจากที่ล่าสุดราคาซื้อขายในตลาดล่วงหน้าเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2559 ราคาได้ทำสถิติต่ำสุดที่ระดับ 13.79 เซ็นต์ต่อปอนด์ เนื่องจากค่าเงินของบราซิลอ่อนค่าลง ส่งผลให้สามารถระบายน้ำตาลทรายออกสู่ตลาดในระดับราคาที่ต่ำได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำตาลทรายที่ต่ำดังกล่าว หากเฉลี่ยทั้งปีไม่ถึงระดับ 18 เซ็นต์ต่อปอนด์ จะกระทบต่อฐานะกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ในการเป็นเครื่องมือรัฐที่จะดูแลเสถียรภาพราคาอ้อยในฤดูการผลิตปี 2558/59 ให้กับชาวไร่อ้อยทั่วประเทศ

“ราคาน้ำตาลในตลาดโลกเฉลี่ยลงมา 13-14 เซ็นต์ต่อปอนด์ ขณะนี้ถือว่าต่ำมาก สิ่งที่เรากังวลคือ ขณะนี้ชาวนาหันมาปลูกอ้อยมากขึ้น จากนโยบายของรัฐที่ส่งเสริมให้เปลี่ยนพื้นที่นาบางส่วนมาปลูกอ้อยแทน ทำให้ชาวไร่อ้อยเพิ่มขึ้น แต่ราคาอ้อยมีแนวโน้มจะตกต่ำ หากระดับราคาตลาดโลกเป็นเช่นนี้ และเมื่อดูฐานะกองทุนก็มีทิศทางที่จะอ่อนแอจากภาระหนี้ที่มีทิศทางจะสูงขึ้นมากในอนาคต การจะดูแลค่าอ้อยให้ชาวไร่เหมือนอดีตที่ผ่านๆ มาอาจไม่ง่ายนัก”แหล่งข่าวกล่าว

โดยปัจจุบันรัฐประกาศราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2557/58 อยู่ที่ 900 บาทต่อตัน แต่ล่าสุดคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ได้เห็นชอบในหลักการที่มอบหมายให้กองทุนไปพิจารณาการจัดทำรายได้และรายรับ เพื่อประกอบการพิจารณาขอสนับสนุนแหล่งเงินกู้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อเพิ่มราคาอ้อยขั้นต้นอีก 160 บาทต่อตัน หรือจะต้องใช้เงินกู้ 1.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งกองทุนจะได้หารือร่วมกับธ.ก.ส.ในสัปดาห์นี้ ก่อนสรุปเพื่อเสนอไปยังกระทรวงอุตสาหกรรมในการนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาต่อไป

ทั้งนี้ฐานะกองทุนปัจจุบัน มีหนี้ที่จะต้องชำระจากการกู้ธ.ก.ส.เพิ่มราคาอ้อยของเดิมอีก 8,000 ล้านบาท กำหนดชำระหมดช่วงเดือนพฤศจิกายน 2558 ดังนั้นหากครม.อนุมัติให้กู้ธ.ก.ส.อีก 1.6 หมื่นล้านบาท ก็จะส่งผลให้มีภาระเงินกู้รวม 2.4 หมื่นล้านบาท เฉลี่ยรายได้จากการปรับขึ้นราคาน้ำตาลทราย 5 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ที่ไหลเข้ากองทุนเพื่อนำไปชำระหนี้แต่ละเดือน จะชำระหมดประมาณเดือนเมษายน 2560

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาราคาอ้อยขั้นสุดท้ายปี 2557/58 ค่อนข้างชัดเจนว่าราคาจะต่ำกว่าขั้นต้นที่ประกาศไว้ 900 บาทต่อตัน เพราะราคาดังกล่าวคำนวณจากราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกที่ระดับ 18 เซ็นต์ต่อปอนด์ แต่ขณะนี้ราคาได้ตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง จากการคำนวณในเบื้องต้นราคาเฉลี่ยน้ำตาลทรายดิบที่บริษัท อ้อยและน้ำตาลทรายไทย (อนท.) ขายล่วงหน้าไปนั้น ได้มีทิศทางจะทำราคาเฉลี่ยสูงสุดเพียง 16 เซ็นต์ต่อปอนด์เท่านั้น ซึ่งตามกฎหมาย กองทุนจะต้องเป็นผู้จ่ายคืนโรงงาน ซึ่งประเมินว่าราคาขั้นสุดท้ายจะติดลบกว่า 5,000-8,000 ล้านบาท

“ถ้ามีวงเงินดังกล่าวมาเพิ่ม ภาระกองทุนทั้งหมดจะอยู่ระดับ 3 หมื่นล้านบาท การชำระหนี้ก็จะยาวออกไปอีก แต่ปัญหาคือ แล้วถ้าราคาอ้อยฤดูการถัดไปตกต่ำอีก จะทำอย่างไร จะเอาเงินที่ไหนมาชำระหนี้”แหล่งข่าวกล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2558

ฝนหลวง’เตรียมแผนเข้มข้น ปฏิบัตการสู้ภัยแล้งช่วยเหลือประชาชน

ชัดเจนแล้วว่า สถานการณ์ภัยแล้งในหลายพื้นที่ของประเทศไทยเวลานี้อยู่ในสถานะเกินระดับ “วิกฤติ” ไปแล้ว โดยบางพื้นที่ต้องประสบปัญหาถึงขั้นรุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปี ซึ่งแม้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะพยายามอย่างยิ่งในการออกมาตรการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา เช่น การขอความร่วมมือชาวนางดการปลูกข้าวนาปรัง หรือแม้กระทั่งการเตรียมรถน้ำออกให้การช่วยเหลือประชาชน

แต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอที่จะต่อสู้กับความหนักหน่วงของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม แม้จะต้องเผชิญกับความแห้งแล้งแสนสาหัสสักปานใด แต่คนไทยทุกคนก็ยังมีความหวังอยู่เสมอว่าจะสามารถฝ่าฟันปัญหาไปได้โดยอาศัยพระบารมีจากแนวพระราชดำริ “ฝนหลวง” ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานเอาไว้เพื่อช่วยเหลือพสกนิกร โดยปัจจุบันอยู่ในความรับผิดชอบของ “กรมฝนหลวงและการบินเกษตร” กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นายวราวุธ ขันติยานันท์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า ประเทศไทยประสบปัญหาขาดแคลนน้ำมาตั้งแต่ช่วงปลายฤดูฝนปี 2557 ส่งผลให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ อยู่ในเกณฑ์ต่ำ เพราะมีฝนตกลงมาน้อย ขณะเดียวกันยังต้องเผชิญกับปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้เกิดภัยแล้งรุนแรงและก่อความเสียหายให้กับพื้นที่การเกษตรอย่างกว้างขวาง

ทั้งนี้ “กรมฝนหลวงและการบินเกษตร” ได้ดำเนินการแก้ปัญหาร่วมกับหน่วยงานต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง โดยขยายเวลาฤดูปฏิบัติการในปี 2557 จากเดิมที่ต้องสิ้นสุดในเดือนตุลาคมมาเป็นเดือนพฤศจิกายน เพื่อเร่งเติมน้ำในเขื่อนและแหล่งน้ำต่างๆ ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะสามารถดำเนินการได้ ซึ่งจากการปฏิบัติการได้ผลค่อนข้างดี คือ สามารถทำให้เกิดฝนได้ทุกครั้งที่ขึ้นบินปฏิบัติการ แต่เนื่องจากสภาพอากาศที่มีความชื้นน้อยไม่เอื้อต่อการขึ้นบินปฏิบัติการได้อย่างต่อเนื่อง กระทั่งเข้าสู่ฤดูหนาวในช่วงเดือนพฤศจิกายน ซึ่งสภาพอากาศไม่มีความชื้นมากพอที่จะก่อเมฆฝนขึ้นมาได้ จึงได้สิ้นสุดการปฏิบัติการ

อย่างไรก็ตาม กรมฝนหลวงฯยังมีการเตรียมความพร้อมสำหรับการช่วยเหลือประชาชนตลอดเวลา โดยหลังจากเสร็จสิ้นปฏิบัติการเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนแล้ว ทุกหน่วยกลับที่ตั้ง เราก็มีการซ่อมบำรุงเครื่องบิน ฝึกอบรมนักบิน นักวิชาการ และเตรียมความพร้อมของศูนย์ปฏิบัติการประจำภาคต่างๆ ให้สามารถขึ้นบินได้ทันทีที่ต้องออกปฏิบัติการ

วราวุธ ขันติยานันท์

นอกจากนี้ กรมฝนหลวงฯยังได้ตั้งหน่วยเคลื่อนที่เร็วขึ้นซึ่งเป็นหน่วยเฉพาะกิจขึ้นมา 2 หน่วย ประจำอยู่ที่จ.พิษณุโลก และ จ.นครสวรรค์ เพื่อช่วงชิงสภาพอากาศขึ้นบินปฏิบัติการในจังหวะที่อากาศมีความชื้นเข้ามา หรือหากมีพื้นที่ไหนต้องการฝนและมีสภาพอากาศเหมาะสมก็สามารถส่งหน่วยเคลื่อนที่เร็วไปช่วยเหลือได้ทันที ก่อนที่จะมีการเปิดฤดูปฏิบัติการปกติอีกครั้งในเดือนมีนาคม 2558

นายวราวุธ กล่าวต่อว่า สำหรับแผนปฏิบัติการฝนหลวงประจำปี 2558 จะมีการส่งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงทั้งหมดออกประจำปฏิบัติการตามภาคต่างๆ ประกอบด้วย ภาคเหนือหน่วยปฏิบัติการตั้งอยู่ที่ จ.เชียงใหม่ พิษณุโลก และตาก ภาคกลาง จ.นครสวรรค์ ลพบุรี และกาญจนบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น นครราชสีมา และอุบลราชธานี ภาคตะวันออก จ.ระยอง จันทบุรีและสระแก้ว ภาคใต้ จ.ประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน) สุราษฎร์ธานี

โดยขณะนี้หน่วยปฏิบัติการทั้งหมด มีความพร้อมที่จะขึ้นบินแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้กับประชาชนได้ทันที!

“เรามีความพร้อมอย่างเต็มที่ ที่จะออกปฏิบัติการขึ้นบินเพื่อช่วยเหลือประชาชน โดยขณะนี้เรามีเครื่องบินที่ส่งเข้าร่วมปฏิบัติการ 21 เครื่อง และกองทัพอากาศส่งมาช่วยเหลืออีก 28 เครื่อง ซึ่งเพียงพอสำหรับการขึ้นบินปฏิบัติการสร้างฝนหลวงในทั่วประเทศ ขณะที่ศูนย์ปฏิบัติการทุกภาคก็ได้เตรียมอุปกรณ์ สารทำฝนหลวง รวมทั้งบุคลากรไว้อย่างพร้อมมูลเรียบร้อยแล้ว นอกจากนั้นแล้วกรมฝนหลวงฯ ยังเตรียมตั้งวอร์รูมขึ้นมาในส่วนกลาง เพื่อเป็นตัวประสานเชื่อมโยงปฏิบัติการของศูนย์ปฏิบัติการทั้ง 5 ภาค โดยข้อมูลข่าวสารต่างๆ จะถูกส่งมาที่ส่วนกลางเพื่อทำการประเมิน วิเคราะห์ และกำหนดเป็นนโยบายยุทธศาสตร์ ส่งให้หน่วยงานต่างๆ เพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไขหรือปรับเกณฑ์การขึ้นบิน เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้น”

อธิบดีกรมฝนหลวงฯ กล่าวต่อว่า กรมฝนหลวงฯเตรียมจัดพิธีเปิด “ยุทธการฝนหลวงกู้ภัยแล้ง” อย่างเป็นทางการในวันจันทร์ที่ 2 มีนาคม ณ สนามบินนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ โดยได้รับเกียรติจาก นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยผู้บริหารในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้แทนผู้บัญชาการเหล่าทัพ

ทั้งนี้ภายในงาน นอกจากจะมีพิธีทางศาสนา รวมทั้งการให้โอวาทเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานแล้วยังมีกิจกรรมอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย เช่น การจัดนิทรรศการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว การจัดแสดงการบินหมู่ของเครื่องบินชุดปฏิบัติการฝนหลวง การแสดงการโดดร่ม การตรวจแถวชุดปฏิบัติการฝนหลวง และอาสาสมัครฝนหลวง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนว่า จะได้รับการช่วยเหลือและดูแลอย่างเต็มความสามารถของเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครฝนหลวงทุกคน

โดยหลังจากเสร็จพิธีแล้ว ฝูงบินฝนหลวงจะถูกส่งไปประจำการและออกปฏิบัติการสร้างฝนหลวงสู้ภัยแล้งเพื่อช่วยเหลือประชาชนทั่วประเทศทันที!!

อธิบดีกรมฝนหลวงฯ ย้ำด้วยว่า ประเทศไทยยังต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้งต่อไปอีกอย่างน้อยประมาณ 2 เดือน ดังนั้นจึงอยากขอให้ประชาชนเตรียมพร้อมสำหรับการจัดหาอุปกรณ์หรือวิธีการเพื่อเก็บกักน้ำฝนทุกเม็ดที่จะตกลงมาต่อจากนี้ไปไว้สำหรับอุปโภค บริโภคให้ได้มากที่สุด

ที่สำคัญไม่ต้องห่วงว่า ฝนที่เกิดจากการทำฝนหลวงจะมีพิษภัยใดๆ เพราะกรมฝนหลวงฯมีนักวิชาการ นักวิจัย คอยติดตาม

 ตรวจสอบคุณภาพของฝนที่ตกลงมาอย่างสม่ำเสมอ และไม่เคยตรวจพบว่า ฝนที่เกิดจากปฏิบัติการฝนหลวง จะมีสารพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือสิ่งมีชีวิตเจือปนอยู่ ดังนั้นประชาชนจึงสามารถเก็บไว้ใช้สำหรับอุปโภคบริโภคได้อย่างสบายใจ

นี่คือความมั่นใจที่กรมฝนหลวงฯสามารถให้ความมั่นใจแก่ประชาชนในการต่อสู้ภัยแล้งไปด้วยกัน!

จาก http://www.naewna.com วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2558

พื้นที่เคลื่อนโรดแมปภาคเกษตร ย้ำ4แผนหลักลดต้นทุน-เพิ่มประสิทธิภาพผลิต

นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้เรียกประชุมสัมมนาเกษตรและสหกรณ์จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อชี้แจงและทำความเข้าใจนโยบายและแนวทางการดำเนินงานในโครงการสำคัญๆ ของกระทรวงเกษตรฯ รวมทั้งกำชับเรื่องประสานการดำเนินงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในจังหวัด ตลอดจนหน่วยงานภาคีต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะงานที่หน่วยงานระดับพื้นที่ต้องดำเนินการอย่างเข้มข้นและเห็นผลชัดเจนใน 4 ส่วนหลัก ได้แก่ 1.การลดต้นทุนการผลิต 2.การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยเฉพาะสินค้าข้าว 3.การเพิ่มรายได้เกษตรกรและการจัดการผลผลิตของเกษตรกร ในด้านการพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานเพื่อเพิ่มโอกาสให้แก่สินค้าเกษตร และ 4.การจัดการเรื่ององค์ความรู้และเทคโนโลยีการผลิตของเกษตรกร ซึ่งงานทั้งหมดในช่วงที่ผ่านมายังขาดการวิเคราะห์ วางแผน เชื่อมโยงกับงบประมาณท้องถิ่น และการประเมินผลการดำเนินงานให้เห็นเป็นรูปธรรม

“เกษตรและสหกรณ์จังหวัด ต้องเร่งวางกลยุทธ์การทำงานให้สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ตามโรดแมปของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 4 แผนงาน คือ แผนปรับโครงสร้างและพัฒนาการผลิต แผนเพิ่มศักยภาพในการดำเนินงานเชิงพาณิชย์ แผนเพิ่มประสิทธิภาพ การบริหารจัดการน้ำ ดิน และที่ดิน และแผนแก้ไขปัญหาเกษตรกรอย่างยั่งยืน ซึ่งแผนงานเหล่านี้จะต้องทำงานร่วมกันทุกหน่วยงานทั้งในระดับส่วนกลางและภูมิภาค รวมถึงหน่วยงานในพื้นที่” นายปีติพงศ์ กล่าว

ปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา

ทั้งนี้ โรดแมปในด้านการผลิตสินค้า ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนเนื่องจากต้องรอข้อมูลการผลิตปี 2558/2559 ซึ่งในเดือนเมษายน จะเรียกประชุมเกษตรและสหกรณ์จังหวัดอีกครั้ง เพื่อหารือแผนบริหารจัดการผลผลิตการเกษตรปี 2558/2559 โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าพืชเศรษฐกิจหลัก ได้แก่ ข้าว มัน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพด ซึ่งสามารถแบ่งสัดส่วนการบริโภคทั้งในกลุ่มอาหาร อาหารสัตว์ และกลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งต้องหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน เพื่อร่วมกันวางแผนในการสร้างสมดุลระหว่างการผลิตและความต้องการในตลาด ซึ่งเกษตรและสหกรณ์จังหวัดจะต้องเป็นกลไกสำคัญในการวิเคราะห์ วางแผนยุทธศาสตร์การดำเนินการระดับพื้นที่ รวมถึงเชื่อมโยงงบประมาณของท้องถิ่นที่ขณะนี้หันมาสนใจภาคการเกษตรมากขึ้น โดยจะดำเนินการภายใต้ คณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์จังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน เกษตรและสหกรณ์จังหวัดเป็นฝ่ายเลขานุการ

จาก http://www.naewna.com วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2558

คลอดแผนแก้วิกฤติแล้งปี’58 แจกตำบลละล้านพื้นที่ซ้ำซาก

นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้จัดทำแผนบูรณาการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง

 ปี 2558 เพื่อบูรณาการร่วมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยการประเมินสถานการณ์ภัยแล้งด้านการเกษตร ณ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ มีปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 33 แห่ง 42,578 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่มีพื้นที่เสี่ยงภัยซ้ำซาก 3,051 ตำบล ใน 58 จังหวัด เนื้อที่ประมาณ 16.17 ล้านไร่ โดยได้วางแนวทางการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งตามลำดับความสำคัญของกิจกรรมการใช้น้ำ คือ 1.จัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค 2.เพื่อรักษาระบบนิเวศในช่วงฤดูแล้ง 3.เพื่อการเกษตรกรรม และ 4.เพื่อการอุตสาหกรรม

ส่วนแนวทางการบรรเทาผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ได้วางแผนไว้ดังนี้ 1.เร่งรัดโครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ปี 2557/58 โดยการจ้างแรงงาน 36,410 คน ส่งเสริมอาชีพโดยสนับสนุนพันธุ์สัตว์ พันธุ์ปลา เมล็ดพันธุ์ พืชตระกูลถั่ว เมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสด ฝึกอบรมอาชีพภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร ให้เสร็จสิ้นภายในเดือนมีนาคมนี้ 2.โครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชนเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งตำบลละ 1 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่แล้งซ้ำซากให้มีรายได้และสร้างโอกาสให้ชุมชนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตชุมชน 3,051 ตำบล ใน 58 จังหวัด ภายในเดือนมีนาคม

3.การพัฒนาปรับปรุงขุดลอกแหล่งน้ำนอกพื้นที่เขตชลประทาน ให้สามารถกักเก็บน้ำได้ 2.3 ล้าน ลบ.ม. 4.การสนธิกำลังเข้าช่วยเหลือพื้นที่เกษตรกรรมที่ประสบภัยแล้ง เตรียมความพร้อมเครื่องสูบน้ำ 1,900 เครื่อง รถบรรทุกน้ำ 295 คัน เพื่อช่วยเหลือประชาชน 5.แผนปฏิบัติการฝนหลวง โดยจะเริ่มปฏิบัติการในวันที่ 1 มีนาคม และ 6.การเผยแพร่ความรู้ ฝึกอบรม รณรงค์ ให้แก่ชุมชน องค์กร สถาบันเกษตรกร เรื่องการปรับตัวและบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้ง

จาก http://www.naewna.com วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2558

ก.เกษตรฯลุยพื้นที่ ขันนอตเจ้าหน้าที่ ขับเคลื่อนแผนงาน

พล.ต.อินทรัตน์ ยอดบางเตย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้ร่วมประชุมสัมมนาการบูรณาการงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์สู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ จ.กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี และสุพรรณบุรี ที่ห้องประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฏ จ.กาญจนบุรี เพื่อประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ทั้งในและนอกสังกัด ในการขับเคลื่อนแผนงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ

โดยได้ย้ำให้ทุกส่วนราชการ ทำความเข้าใจถึงวัตถุประสงค์และเป้าหมายของแต่ละแผนงานให้ชัดเจน และงานใดที่สามารถทำล่วงหน้าได้ให้ทำเลย ไม่ต้องรอปฏิทินการทำงาน เพราะงานของกระทรวงเกษตรฯ ยังมีการบูรณาการกันน้อย ทำงานกันเป็นกรม ไม่ได้ทำเป็นรายสินค้า ซึ่งต้องพยายามให้เกิดความร่วมมือกับภาคเอกชนในเรื่องการผลิตและการจำหน่ายสินค้าให้มากขึ้น ส่วนกรณีการแก้ไขปัญหาด้านการเกษตร หน่วยงานในสังกัดต้องมีความพร้อมและสามารถช่วยเหลือเกษตรกรในท้องถิ่นได้อย่างรวดเร็ว และรายงานผลให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทราบต่อไป

จาก http://www.naewna.com วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2558

หวั่นราคาอ้อยในปท.รูด

จับตาน้ำตาลตลาดโลกดิ่งหนักกระทบราคาอ้อยในประเทศรูดตาม ซ้ำเติมชาวนาที่หนีปลูกอ้อยแทน

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างติดตามสถานการณ์ราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกใกล้ชิด เนื่องจากล่าสุดราคาซื้อขายในตลาดล่วงหน้าเดือนมี.ค.-พ.ค.59 ราคาทำสถิติต่ำสุด 13.79 เซ็นต์ต่อปอนด์ เป็นผลจากค่าเงินของบราซิลอ่อนค่า ส่งผลให้มีการระบายน้ำตาลออกสู่ตลาดในราคาต่ำได้มากขึ้น ซึ่งหากเฉลี่ยทั้งปีไม่ถึงระดับ 18 เซนต์ต่อปอนด์ จะกระทบต่อฐานะกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายในการเป็นเครื่องมือรัฐที่จะดูแลสเถียรภาพราคาอ้อยในฤดูการผลิตปี 58/59 ให้กับชาวไร่อ้อยทั่วประเทศ

“ราคาน้ำตาลโลกเฉลี่ยลงมา 13-14 เซนต์ต่อปอนด์ ขณะนี้ถือว่า ต่ำมาก สิ่งที่เรากังวล คือ ชาวนาหันมาปลูกอ้อยมากขึ้น จากนโยบายของรัฐบาลที่ส่งเสริมให้เปลี่ยนพื้นที่นาบางส่วนมาปลูกอ้อย แทนทำให้ชาวไร่อ้อยเพิ่มขึ้น แต่ราคาอ้อยมีแนวโน้มจะตกต่ำ หากระดับราคาตลาดโลกเป็นเช่นนี้ และเมื่อดูฐานะกองทุนฯก็มีทิศทางที่จะอ่อนแอ จากภาระหนี้ที่มีทิศทางจะสูงขึ้นมากในอนาคตการจะดูแลค่าอ้อยให้ชาวไร่เหมือนอดีตที่ผ่านๆมาอาจไม่ง่าย”  

จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 1 มีนาคม 2558

ความกังวลเรื่องเศรษฐกิจ

 ผลจากตัวเลขการส่งออกในเดือนมกราคมที่ติดลบ 3.4 % ทำให้รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ไม่สบายใจ หน่วยงานวิเคราะห์เศรษฐกิจภาคเอกชนต่างพากันปรับตัวเลขการส่งออกของไทยปีนี้ลดลงจากประมาณการเดิมซึ่งมีผลให้คาดการณ์ที่ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพีปีนี้จะเพิ่ม 4% เริ่มสั่นไหว

    นายนพพร เทพสิทธา  ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) แสดงความกังวลต่อตัวเลขดังกล่าว โดยให้สัมภาษณ์สื่อหลังจากที่เห็นตัวเลขว่า การส่งออกเดือนมกราคมที่ติดลบ 3.4% แย่กว่าที่เอกชนคิดไว้ ทั้งๆ ที่ประเมินไว้แล้วว่าการส่งออกครึ่งปีแรก ไม่น่าจะขยายตัวหรือขยายตัวเป็น 0% แล้วจึงค่อยฟื้นตัวในไตรมาส 3 ซึ่งคาดว่าจะขยายตัว 3% ซึ่งจะทำให้ทั้งปี ขยายตัวในระดับ 1.1-1.5%

    นายนพพร ให้สัมภาษณ์ว่า อยากให้รัฐบาลผลักดันเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งออกเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้เกิดความจริงจังในการดูภาพรวมทางเศรษฐกิจ ดึงเอกชนร่วมวางยุทธศาสตร์ด้วย และบูรณาการการทำงานทุกหน่วยงาน กำหนดตัวเลขและแผนงานแต่ละหน่วยงานให้ชัดเจน

    ข้อเสนอของนายนพพร ที่ให้รัฐบาลหันมาให้ความสนใจกับเรื่องเศรษฐกิจมากกว่าที่เป็นอยู่โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลักดันการส่งออกอย่างจริงจัง สอดคล้องกับความเห็นของผู้นำทางธุรกิจเอกชน ที่ออกมาแสดงความเป็นห่วงเรื่องเศรษฐกิจ มีการเสนอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยช่วยดูแลค่าเงินบาทซึ่งเชื่อว่าเป็นปัจจัยที่ช่วยเร่งกระตุ้นการส่งออกได้  และให้รัฐบาลเร่งใช้จ่ายงบประมาณเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อในกลุ่มรากหญ้า

    ความเป็นห่วงของภาคเอกชนเป็นไปในทิศทางเดียวกันคือให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการดูแลเศรษฐกิจให้มากขึ้น เป็นการสะท้อนความรู้สึกว่าผู้นำรัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องเศรษฐกิจเท่าที่ควร รวมทั้งความรู้สึกดั้งเดิมที่คิดว่ารัฐบาลทหารไม่เก่งเรื่องเศรษฐกิจ

    เราเห็นว่าความเป็นห่วงของภาคเอกชนในเรื่องแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศในปีนี้ มีทั้งปัญหาในแง่เศรษฐกิจจริง ๆ และปัญหาทางด้านจิตวิทยาที่เกิดความไม่แน่ใจว่า ผู้นำประเทศให้ความสนใจและจัดอันดับความสำคัญของการแก้ปัญหาเศรษฐกิจอยู่ตรงไหน

    เราเชื่อว่าถ้าผู้นำประเทศไม่แสดงว่าเข้าใจ รู้เรื่องและให้ความสนใจปัญหาเศรษฐกิจในระดับความสำคัญที่ภาคเอกชนสบายใจได้ว่าปัญหากำลังได้รับการแก้ไขอย่างถูกทางจากผู้นำสูงสุด ความกังวลในเรื่องเศรษฐกิจคงจะไม่จางหายไปง่ายๆ อย่างแน่นอน

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 1 มีนาคม 2558

จับคู่ธุรกิจระหว่างประเทศ

ธนาคารกสิกรไทยเปิดตัวเว็บไซต์บริการจับคู่ธุรกิจระหว่างประเทศรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) เป็นตัวกระตุ้นให้นักธุรกิจไทยหาโอกาสทางการค้าในการขยายตลาดเข้าสู่กลุ่มประเทศอาเซียนและทั่วโลก ซึ่งผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องหาวิธีในการขยายธุรกิจ รวมถึงการหาแหล่งวัตถุดิบใหม่ๆ เพื่อผลิตสินค้าที่สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดหรือการหาผู้ร่วมทุนระหว่างประเทศ การจับคู่ธุรกิจข้ามประเทศจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการแนะนำคู่ค้าที่มีศักยภาพและความน่าเชื่อถือ อำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าธนาคาร ผ่านเครือข่ายพันธมิตรของธนาคาร กว่า 40 ธนาคาร ทั่วภูมิภาคอาเซียน+3 ช่วยให้ลูกค้าเกิดความมั่นใจในการหาคู่ค้า พร้อมจัดทำระบบล็อกอินเพื่อเพิ่มความปลอดภัยของข้อมูลในการเจรจาธุรกิจ ตั้งเป้าภายในสิ้นปีนี้มีจำนวนผู้ใช้งานทั่วโลกไม่ต่ำกว่า 1,000 บริษัท คลิก www.askkbank.com/aecplusmatching

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 1 มีนาคม 2558

“พาณิชย์” ชง นบข.เคาะระบายข้าวเสื่อม 4 ล้านตัน เล็งเจรจาขายให้ผู้ผลิตเอทานอล ผู้ผลิตอาหารสัตว์ 

         “พาณิชย์” เปิดแผนระบายข้าวเสื่อมสภาพ 4 ล้านตัน เหลือแค่ 2 ทางเลือก ขายให้ผู้ผลิตเอทานอลกับใช้ทำอาหารสัตว์ แต่ล่าสุดส่อวุ่น หลังผู้ผลิตเอทานอลเมิน เหตุไม่คุ้ม เตรียมชง นบข.พิจารณาอนุมัติแนวทางต่อไป จับตาระบายข้าวรอบ 2 เสี่ยงฉุดราคาข้าวนาปรัง เพราะข้าวที่ขายจะขนออกช่วงผลผลิตออกพอดี      

        รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์แจ้งว่า ขณะนี้กรมการค้าต่างประเทศกำลังจัดทำแผนการระบายข้าวเสื่อมสภาพปริมาณรวม 4 ล้านตัน ซึ่งข้าวที่เก่าที่สุดมาจากโครงการรับจำนำปี 2549 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยสภาพข้าวมีทั้งที่เป็นฝุ่น ไม่มีเชื้อแป้งที่จะนำไปใช้ต่อในอุตสาหกรรมต่างๆ ได้ ซึ่งกำลังจะนำเสนอแนวทางการระบายให้คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) พิจารณาตัดสินใจ ก่อนที่จะขายข้าวให้ผู้ที่สนใจต่อไป      

        ทั้งนี้ แนวทางในการระบาย เบื้องต้นได้พิจารณาว่าจะขายให้แก่กลุ่มผู้ผลิตเอทานอลในราคากิโลกรัม (กก.) ละ 2.50 บาท หรือตันละ 2,500 บาท แต่ทางผู้ผลิตให้ความเห็นว่าองค์ประกอบทางเคมีของข้าวไม่เหมาะที่จะนำไปผลิตเอทานอล และไม่คุ้มต้นทุน ขณะที่เจ้าของโกดังที่เก็บข้าวเสื่อม และอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ได้เสนอที่จะรับซื้อข้าวในราคา กก.ละ 1 บาท หรือตันละ 1,000 บาท เพราะข้าวเสื่อมสามารถนำไปเป็นส่วนประกอบในการผลิตอาหารสัตว์ได้   

        “ยังไม่ได้กำหนดว่าจะใช้วิธีการใดในการระบายข้าวเสื่อมคุณภาพที่มีถึง 4 ล้านตัน เพราะแต่ละวิธีก็ได้เงินคืนเข้ารัฐแตกต่างกัน โดยถ้าหากขายให้ไปทำเอทานอลได้ก็จะได้เงินคืนราวๆ 10,000 ล้านบาท แต่ถ้าขายให้กับเจ้าของโกดัง หรืออุตสาหกรรมอาหารสัตว์จะได้เงินคืน 4,000 ล้านบาท แต่ในส่วนของเอทานอล ทางผู้ผลิตแจ้งมาแล้วว่าไม่คุ้มต้นทุน จึงเหลือพิจารณาขายให้กับเจ้าของโกดังกับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ แต่จะขายวิธีไหนยังไม่ได้สรุป ขั้นตอนอยู่ระหว่างการเจรจา และเมื่อได้ข้อสรุปแล้วก็จะเสนอให้ นบข.พิจารณาอนุมัติต่อไป”

               อย่างไรก็ตาม สำหรับข้าวเสื่อมสภาพ องค์การคลังสินค้า (อคส.) กำลังพิจารณาเรียกค่าเสียหายจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งเจ้าของโกดัง ผู้ตรวจสอบคุณภาพสินค้า โดยหากข้าวที่จำหน่ายได้ไม่เพียงพอกับเงินที่ อคส.จะต้องจ่ายเป็นค่าเช่าโกดัง หรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ อคส.ก็จะเรียกเงินเพิ่มเติมจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อไป

               ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การระบายข้าวสต๊อกรัฐบาลครั้งที่ 2/2558 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 6 มี.ค.นี้ มีข้าวขาว 5% นำออกมาระบายถึง 7 แสนตัน ซึ่งหากสามารถระบายได้ทั้งหมดก็จะทำให้มีข้าวในตลาดมากกว่าผลผลิตข้าวนาปรัง 2558 ที่จะออกสู่ตลาดในช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย. และอาจจะส่งผลกระทบต่อระดับราคาข้าวเปลือกของเกษตรกร เพราะในการจำหน่ายข้าวสารครั้งนี้ หากซื้อในปริมาณ 3 แสนตันขึ้นไปก็จะมีระยะเวลาขนข้าวออกได้สูงสุด 210 วัน และหากมีปริมาณ 50,000 หมื่นก็จะต้องขนออกภายใน 90 วัน

               สำหรับราคาข้าวเปลือกเจ้า 5% (ความชื้น 15%) ปัจจุบันราคาเฉลี่ยตันละ 7,700-8,300 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำสุดตั้งแต่ปี 2555 ที่เฉลี่ยทั้งปีตันละ 10,541 บาท โดยปี 2556 ตันละ 9,911 บาท และปี 2557 เฉลี่ยตันละ 7,733 บาท

               ทั้งนี้ ข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2558 คาดว่าจะมีผลผลิตประมาณ 6.702 ล้านตันข้าวเปลือก ลดลงจากปี 2557 ที่ผลผลิต 10.087 ล้านตันข้าวเปลือก ลดลง 3.385 ล้านตัน หรือ 33.56% โดยผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากที่สุดในช่วงเดือน มี.ค.-พ.ค. 2558 ประมาณ 5.388 ล้านตันข้าวเปลือก หรือ 80.39% ของผลผลิตข้าวทั้งหมด

จาก http://manager.co.th  วันที่ 1 มีนาคม 2558