http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล(เดือนมีนาคม 2561)

น้ำตาลส่อขม ชาวไร่อ้อยผนึกกำลังต้าน พ.ร.บ.ใหม่

องค์กรชาวไร่อ้อยทั้ง 4 องค์กร ประกอบด้วย สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย สหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน และสมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย มีนายเลียบ บุญเชื่อง ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน เป็นแกนนำ ได้ยื่นหนังสือต่อ นายนัฑ ผาสุข เลขาธิการวุฒิสภาปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อคัดค้านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. …ที่กำลังเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว เป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 ในประเด็นสำคัญหลายประเด็น อาทิ

1.แก้ไขบทนิยาม และเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “น้ำตาลทราย” “ผลพลอยได้” “โรงงาน” “น้ำอ้อย” และ “สมาคมโรงงาน” (ร่างมาตรา 3 มาตรา 4 และมาตรา5)

ให้นิยาม “น้ำตาลทราย” ครอบคลุมถึง “น้ำอ้อย” ไม่ว่าจะนำไปผลิตเป็นน้ำตาลทรายหรือไม่ก็ตาม เพื่อเปิดทางให้โรงงานน้ำตาลนำน้ำอ้อยไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดอื่นนอกเหนือจากการผลิตเป็นน้ำตาลทรายอย่างเดียว ส่วนคำว่า “ผลพลอยได้” แก้ไขให้กากอ้อยและกากน้ำตาล เป็นผลพลอยได้ จากเดิมที่กำหนดเฉพาะกากน้ำตาลเพียงอย่างเดียว

เพิ่มบทนิยามของคำว่า “สมาคมโรงงาน” ให้หมายถึง สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายที่ได้รับการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลและได้จดทะเบียนไว้ตามระเบียบที่คณะกรรมการน้ำตาลทรายกำหนดเพื่อรองรับการมีอยู่จริงของสมาคมโรงงานน้ำตาลในปัจจุบัน กำหนดให้ชาวไร่อ้อยสังกัดสถาบันชาวไร่อ้อยได้เพียงแห่งเดียว และสถาบันชาวไร่อ้อยที่มาจากสหกรณ์

2.เพิ่มเติมจำนวนคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายจากเดิม 21 คน มาเป็น 27 คน โดยเพิ่มเติมให้มีกรรมการผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพิ่มเติมอีก 1 คน ผู้แทนโรงงาน เพิ่มเติมอีก 2 คน และกำหนดให้ผู้แทนชาวไร่อ้อยต้องมาจากสถาบันที่เป็นสมาคม 9 คน สถาบันที่เป็นสหกรณ์ 2 คน และสถาบันที่เป็นกลุ่มเกษตรกรชาวไร่อ้อย 1 คน (ร่างมาตรา 8)

3.ปรับปรุงแก้ไของค์ประกอบของคณะกรรมการบริหารจากเดิมมีกรรมการ จำนวน 13 คน มาเป็น 15 คน โดยยกเลิกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และเพิ่มเติมกรรมการผู้แทนโรงงานเป็น 5 คน และกำหนดให้ผู้แทนชาวไร่อ้อย 7 คน โดยต้องมาจากสถาบันที่เป็นสมาคม 5 คน สถาบันที่มาจากสหกรณ์ 1 คน และสถาบันที่มาจากกลุ่มเกษตรกร 1 คน (ร่างมาตรา 11)

4.แก้ไขให้คณะกรรมการบริหารมีหน้าที่และอำนาจ โดยทำหน้าที่ในการกำหนดระเบียบและประกาศต่าง ๆ ที่เป็นหน้าที่เดิมของคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายส่วนที่เกี่ยวข้องกับ คณะกรรมการบริหาร (ร่างมาตรา 11)

5.ปรับปรุงแก้ไของค์ประกอบของคณะกรรมการบริหารกองทุน จากเดิมมีกรรมการจำนวน 12 คน มาเป็น 15 คน โดยเพิ่มเติมกรรมการผู้แทนโรงงานเป็น 4 คน และกำหนดให้มีผู้แทนชาวไร่อ้อยจำนวน 5 คน โดยต้องมาจากสถาบันที่มาจากสมาคม 3 คน สถาบันที่มาจากสหกรณ์ 1 คน และสถาบันที่มาจากกลุ่มเกษตรกรชาวไร่อ้อย 1 คน (ร่างมาตรา 12)

6.แก้ไขเพิ่มเติมที่มาของเงินกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย โดยเพิ่มเติมค่าธรรมเนียมการบริหารจัดการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเพื่อใช้ในการดำเนินการในทุกด้านของระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย แก้ไขเงินกู้โดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีเป็นเงินกู้ ยกเลิกเงินอุดหนุนจากรัฐบาล (ร่างมาตรา 13)

7.ยกเลิกการนำส่งเงินเข้ากองทุนสงเคราะห์เกษตรกร (ร่างมาตรา 14)

8.ปรับปรุงแก้ไของค์ประกอบของคณะกรรมการอ้อย จากเดิมมีกรรมการจำนวน 14 คน มาเป็น 17 คน โดยเพิ่มเติมกรรมการผู้แทนโรงงานเป็น 5 คน และกำหนดให้มีผู้แทนชาวไร่อ้อยจำนวน 8 คน โดยต้องมาจากสถาบันที่มาจากสมาคม 6 คน สถาบันที่มาจากสหกรณ์ 1 คน และสถาบันที่มาจากกลุ่มเกษตรกร 1 คน (ร่างมาตรา 18)

9.กำหนดให้ชาวไร่อ้อยสามารถสังกัดสถาบันชาวไร่อ้อยได้เพียงแห่งเดียว (ร่างมาตรา 19)

10.ปรับปรุงแก้ไของค์ประกอบของคณะกรรมการน้ำตาลทรายในส่วนของผู้แทนชาวไร่อ้อย 5 คน โดยให้มีที่มาจากสถาบันที่มาจากสมาคม 3 คน สถาบันที่มาจากสหกรณ์ 1 คน และสถาบันที่มาจากกลุ่มเกษตรกรชาวไร่อ้อย 1 คน (ร่างมาตรา 21)

11.แก้ไขเพิ่มเติมเรื่องการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นต้องไม่น้อยกว่าร้อยละแปดสิบ และไม่เกินประมาณการรายได้ที่คำนวณได้ (ร่างมาตรา 22)

12.แก้ไขเพิ่มเติมในกรณีที่ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้ายต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ให้นำส่วนต่างที่เกิดขึ้นหักจากราคาอ้อยในปีถัดไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด (ร่างมาตรา 25)

13.ปรับปรุงบทกำหนดโทษให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น โดยแยกอัตราโทษของชาวไร่อ้อยและหัวหน้ากลุ่มชาวไร่อ้อยออกจากกัน และเพิ่มอัตราโทษเฉพาะโทษปรับจากเดิมเพิ่มขึ้นอีกสี่เท่ารวมทั้งแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับความรับผิดของผู้แทนนิติบุคคล เพิ่มเติมบทกำหนดโทษกรณีมีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 47 มาตรา 48 หรือมาตรา 58 วรรคหนึ่ง (ร่างมาตรา 30 ถึงร่างมาตรา 35) เป็นต้น

องค์กรชาวไร่อ้อยทั้ง 4 องค์กร คัดค้านเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่า มีเจตนาแอบแฝงซ่อนเร้น ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ เพื่อแก้ไขปัญหาขององค์การการค้าโลก (WTO) และยังเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนอุตสาหกรรมน้ำตาลยักษ์ใหญ่ระดับประเทศ อีกทั้ง สนช.หลายคนมีความสนิทสนมกับนายทุนอุตสาหกรรมน้ำตาลขนาดยักษ์ด้วย ทำให้มีการเพิ่มคณะกรรมการในส่วนของตัวแทนภาคเกษตรกร โดยไม่คำนึงคุณสมบัติหรือหลักเกณฑ์ในการจัดตั้งเป็นตัวแทนสถาบันชาวไร่อ้อย ทำให้ตัวแทนเกษตรกรกลายเป็นร่างทรงของนายทุนอุตสาหกรรมดังกล่าว

ในนาม 4 องค์กรชาวไร่อ้อย ยังได้ยื่นข้อเสนอถึงรัฐบาล 2 ข้อ ได้แก่

1.ขอให้ยกเลิกการนำร่าง พ.ร.บ.ฉบับที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.ทันที โดยนำร่าง พ.ร.บ.ฉบับของ 4 องค์กรชาวไร่อ้อย และร่างของกระทรวงอุตสาหกรรม มาพิจารณาควบคู่กัน เพราะมีเนื้อหาตรงกับวัตถุประสงค์การแก้ไขปัญหาของ WTO อย่างชัดเจน

2.ขอให้มีผู้บริหารจัดการกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย โดยเฉพาะตำแหน่งเลขานุการกองทุน ที่ไม่ควรเป็นคนจากภาครัฐ แต่ควรมีความเป็นเอกเทศ และเป็นรูปแบบของเอกชนมากขึ้น เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปตามข้อเสนอของ WTO และกองทุนสามารถบริหารจัดการตนเองได้อย่างมีเอกภาพยั่งยืน

นอกจากนี้ ตัวแทน 4 องค์กรชาวไร่อ้อย ยังได้ยื่นร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ที่ชาวไร่อ้อยร่วมกันยกร่าง พร้อมรายชื่อผู้เข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายดังกล่าว 18,000 รายชื่อ

เนื้อหาสำคัญของร่างฯ ฉบับชาวไร่อ้อย คือการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 โดยได้เสนอให้มีการปรับปรุงการเพิ่มรายได้จากการผลิตอ้อยและน้ำตาลทราย ตลอดจนผลพลอยได้ให้ระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเพิ่มมากขึ้น เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับผู้ผลิตระดับโลกและทำให้อ้อยมีราคาสูงขึ้น

รวมถึงปรับคุณสมบัติสถาบันชาวไร่อ้อยเพื่อความเป็นเอกภาพ ตามหลักของกฎหมายไตรภาคีที่เกษตรกรชาวไร่อ้อยต้องมีตัวแทนร่วมบริหาร โดยยึดหลักจากปริมาณอ้อยที่มากกว่าเป็นหลักในการเป็นสถาบันชาวไร่อ้อย เพื่อไม่เกิดความแตกแยกและล้มเหลวในการบริหารจากเหตุที่มีองค์กรมากเกินไป

พร้อมกับปรับแก้ประเด็นข้อกังวลต่อความผิดตามข้อตกลงทางการค้าองค์การการค้าโลก (WTO) หลังจากเกิดกรณีประเทศบราซิลผู้ผลิตน้ำตาลทรายรายใหญ่ของโลกร้องต่อ WTO กล่าวหาว่า อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของประเทศไทย มีการอุดหนุนจากภาครัฐ

ทั้งนี้ หลังจากการยื่นร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ฉบับชาวไร่อ้อย พร้อมรายชื่อผู้ร่วมเสนอร่างกฎหมาย 18,000 รายแล้ว ทางรัฐสภาจะดำเนินการตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ.2556 โดยจะทำการตรวจสอบเอกสารและรายชื่อ ก่อนประกาศรายชื่อผู้เข้าชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.ให้ทราบต่อไป

และนี่อาจเป็นเพียงระฆังยกแรกของศึกยื้อแย่งผลประโยชน์จากอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทย ที่เป็นประเทศส่งออกน้ำตาลมากที่สุดเป็นอันดับสองของโลก

จาก https://mgronline.com  วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2561

‘อุตตม’ชงครม.ปลายเมย. ดันลงทุน‘ไบโออีโคโนมี’แสนล.

นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ในราวปลายเดือนเมษายน 2561 กระทรวงจะเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อเห็นชอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพหรือไบโอ อีโคโนมี (Bio economy) ที่ขยายจากเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ไปยังพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง (จ.นครสวรรค์-กำแพงเพชร) และอีสาน ตอนกลาง จ.ขอนแก่น

ทั้งนี้แผนการลงทุน Bio economy จากภาคเอกชนแบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะแรกปี 2560-64 และระยะที่ 2 ช่วงปี 2565-69 ซึ่งการพัฒนาโครงการดังกล่าวไม่จำเป็นต้องประกาศเป็นพื้นที่ส่งเสริมพิเศษโดยสามารถใช้สิทธิประโยชน์ การลงทุนตามประเภทกิจการที่สำนักงานส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ดำเนินการอยู่ได้ทันที

สำหรับเม็ดเงินการลงทุนในไบโอชีวภาพรวมในพื้นที่อีอีซีปี 2560-2564 เม็ดเงินประมาณ 1.3 แสนล้านบาท ส่วนปี 2565-2569 จะมีเม็ดเงินลงทุน 6.8 หมื่นล้านบาท ในส่วนของภาคเหนือตอนล่างได้แก่ จ.นครสวรรค์ อาทิ การลงทุนไบโอ คอมเพล็กซ์ ของกลุ่มน้ำตาลเกษตรไทย กับ บมจ.โกลบอลกรีนเคมิคอล(GGC) และมีกิจการอื่นๆ เช่น กรดแลคติกสำหรับอาหาร ฯลฯ ที่มีพันธมิตรร่วมลงทุนหลัก อาทิ ปตท. มิตซูบิชิเคมิคอล ซูมิโตโมเคมิคอล เนเจอร์เวิร์ค ฯลฯ ส่วนจังหวัดกำแพงเพชร คาดว่าจะลงทุนเช่น การผลิตยีสต์แห้ง เบทา กลูแคน สำหรับอุตสาหกรรมอาหาร ฯลฯ

จาก www.naewna.com วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2561

สทนช.เกาะติดแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ รุกวางแนวทางประเมินผล หวังขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย

สทนช. รุกวางแนวทางติดตามประเมินผลการดำเนินงานแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง หวังจัดทำแผนหลักตามยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำของประเทศให้เป็นรูปธรรม ภายในปี 2561 ​

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.)เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมชี้แจง “โครงการติดตามและประเมินผลสัมฤทธิ์การบริหารจัดการทรัพยาการน้ำภายใต้แผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ” โดยมีคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเข้ารับฟังการบรรยายว่า การจัดประชุมในครั้งนี้ เป็นการชี้แจงกรอบแนวทางในการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานภายใต้แผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้รับทราบแนวทาง ขั้นตอน และวิธีการในการติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน ภายใต้แผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ และสามารถให้ความร่วมมือกับ สทนช. เพื่อให้การติดตามประเมินผลบรรลุวัตถุประสงค์

ซึ่งการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำของประเทศให้นำไปสู่การปฏิบัติและเกิดผลสัมฤทธิ์ได้อย่างเป็นรูปธรรมนั้น จำเป็นที่จะต้องมีการวางแนวทางในการติดตามและประเมินผล เพื่อเก็บข้อมูลและสะท้อนความสำเร็จของการดำเนินโครงการที่หน่วยงานต่างๆ ได้รับงบประมาณไปดำเนินการภายใต้แผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำว่า จะเดินไปสู่เป้าหมายด้านการจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศได้หรือไม่ ​

ทั้งนี้ สทนช. จัดตั้งขึ้นตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 46/2560มีฐานะเป็นหน่วยงานกลางจะต้องทำหน้าที่ในการบูรณาการข้อมูล แผนงาน งบประมาณ ตลอดจนการติดตาม และประเมินผล และการเข้าไปวางแผนบริหารจัดการน้ำในยามวิกฤติร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น การที่จะบูรณาการทุกฝ่ายเข้าด้วยกัน และทำหน้าที่บริหารแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำประสบผลสำเร็จ จำเป็นจะต้องมีข้อมูลว่า ตัวชี้วัดทั้งผลลัพธ์และผลสัมฤทธิ์ของแผนงานโครงการเป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อที่ สทนช.จะได้นำไปทบทวนหรือปรับปรุงยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และกลไกการขับเคลื่อนต่างๆ ให้เหมาะสม และช่วยสนับสนุนให้การดำเนินโครงการต่างๆ ภายใต้แผนฯ บรรลุเป้าหมายต่อไป ​

นอกจากนี้ สทนช.จำเป็นต้องมีข้อมูลที่จะนำไปประกอบการพิจารณาให้ความเห็นในการเสนอขอรับจัดสรรงบประมาณให้หน่วยงานนำไปดำเนินโครงการในระยะต่อไปอย่างเหมาะสม ตรงตามสภาพปัญหา ความจำเป็นเร่งด่วนของประชาชน และทิศทางการพัฒนาของประเทศอีกด้วย ​“เมื่อจบแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ประเทศไทยต้องมีความมั่นคงในด้านทรัพยากรน้ำ ต้องสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค ปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง ปัญหาดินโคลนถล่มซึ่งทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้ รวมถึงสามารถจัดให้มีน้ำเพื่อการผลิตอย่างเพียงพอ รองรับทั้งในภาคอุตสาหกรรม การเกษตร และการท่องเที่ยว และมีการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบแบบบูรณาการกันได้จริง โดยทาง ครม.ได้มอบหมายให้ สทนช. จัดทำและบูรณาการแผนปฏิบัติงานที่ชัดเจนให้แล้วเสร็จภายในปี 2561”

ดร.สมเกียรติกล่าวย้ำ ​สำหรับยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2558-2569 แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะเร่งสั้นหรือระยะเร่งด่วน ปี 2558-2559 ระยะกลาง ปี 2560-2564 และระยะยาวปี 2565-2569 ซึ่งปัจจุบันกำลังดำเนินการในระยะกลางของแผนแล้ว ดังนั้น สทนช. ในฐานะที่ต้องทำหน้าที่บริหารแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ให้บรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ที่วางไว้คือ สร้างความมั่นคงด้านทรัพยากรน้ำให้ประเทศอย่างยั่งยืน จึงได้จัดทำโครงการจ้างที่ปรึกษามีความเป็นมืออาชีพ เข้ามาช่วยดำเนินการศึกษาและประเมินผลสัมฤทธิ์ของหน่วยงานภายใต้แผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยที่แผนยุทธศาสตร์น้ำต้องปรับปรุง/ทบทวนและขยายระยะเวลาครอบคลุม ปี 2579 สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งต้องนำแผนปฏิรูปประเทศจากรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับน้ำ และกำหนดเป้าหมายที่เป็นสากลตาม SDG ด้วย”

ด้าน ดร.ไวฑูรย์ โภคาชัยพัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทริส คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในฐานะตัวแทนกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาที่ดำเนินการศึกษาและประเมินผลสัมฤทธิ์ของหน่วยงานภายใต้แผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ กล่าวว่า การศึกษาในครั้งนี้เป็นกระบวนการของการบริหารจัดการที่ประกอบด้วยการวางแผน (Plan) การนำแผนไปปฏิบัติ (Do) การติดตามผล (Check) และการทบทวน-ปรับปรุง (Action) ซึ่งจะทำให้ได้ข้อมูลที่แสดงความคืบหน้าของผลการดำเนินงานเมื่อเทียบกับเป้าหมายที่กำหนดไว้ และนำปัญหา อุปสรรค หรือช่องว่าง (Gap) ที่พบมาปรับปรุงการดำเนินงานของแผนยุทธศาสตร์ในระยะต่อไป เพื่อให้ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศสามารถแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรน้ำได้อย่างยั่งยืน

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2561

สหรัฐฯ บีบคู่ค้าเจรจาเปิดตลาด-เพิ่มนำเข้า!

การเจรจาต่อรองระหว่างสหรัฐฯ และจีนได้เริ่มขึ้นแล้ว เพื่อหลีกเลี่ยงสงครามการค้าที่ทั้ง 2 ฝ่าย ต่างประกาศลั่นว่า “ไม่กลัว” และพร้อมชนหากจำเป็นต้องเกิด ผู้นำการเจรจาฝ่ายสหรัฐฯ คือ สตีเว่น มนูชิน รัฐมนตรีคลัง และนายโรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์ ผู้แทนการค้า (ยูเอสทีอาร์) ขณะที่ ฝ่ายจีน คือ นายหลิว เหอ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่ง แต่เขาเป็นเพื่อนสนิทของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ตั้งแต่สมัยวัยเรียน อีกทั้งยังเป็นศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในสหรัฐอเมริกา และเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจให้กับผู้นำจีนมาหลายปี

นายมนูชิน ให้สัมภาษณ์สื่ออเมริกันว่า มีความหวังอย่างมากว่า ทั้ง 2 ฝ่าย จะบรรลุข้อตกลงกันได้ เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้มาตรการขึ้นภาษีตามกฎหมายการค้ามาตรา 301 ของสหรัฐฯ โดยในขั้นต้นทั้ง 2 ฝ่าย เห็นตรงกันว่า จะต้องลดยอดการขาดดุลทางการค้าที่สหรัฐฯ มีต่อจีน (ปัจจุบัน สหรัฐฯ ขาดดุลในภาคสินค้าที่ระดับ 3.75 แสนล้านดอลลาร์) ทีมเจรจาฝ่ายสหรัฐฯ ได้ยื่นหนังสือแจ้งข้อเรียกร้อง ไปยัง นายหลิว เหอ แล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะนี้เหลือเพียงการเจรจาต่อรองและติดตามผล ในส่วนของการเปิดโอกาสให้มีการเจรจาต่อรองเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราสูงขึ้นนั้น เกาหลีใต้เป็นประเทศแรกที่เจรจากับสหรัฐฯ และได้รับการยกเว้นการขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กกล้า (25%) และอะลูมิเนียม (10%) แบบไร้กำหนดเวลาแล้ว โดยเกาหลีใต้ได้รับโควตาการส่งออกเหล็กกล้าไปยังสหรัฐฯ ที่อัตราภาษีเดิมราว 2.68 ล้านตัน และต้องนำเข้ารถจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 2 เท่า จาก 25,000 คัน เป็น 50,000 คัน/ปี  มีอีก 5 ประเทศ และ 1 กลุ่ม ที่ได้รับการยกเว้นการขึ้นภาษีแบบ “ชั่วคราว” คือ แคนาดา เม็กซิโก อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย บราซิล และอียู

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2561

บราซิลระงับข้อพิพาทอุตฯอ้อยน้ำตาลทรายยันไม่ฟ้องไทยต่อWTO

" อุตตม" แจ้งข่าวดีบราซิลระงับการฟ้องร้องไทยต่อ WTO กรณีการอุดหนุนอุตฯน้ำตาลในประเทศหลังไทยปรับโครงสร้างฯ เป็นที่พอใจ โดยเฉพาะการลอยตัวราคาน้ำตาล ขณะที่ชาวไร่ยื่นรัฐสภาขอแก้ไขร่างพ.ร.บ.อ้อยฯ 3 ประเด็นหลัก

นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้แทนจากประเทศบราซิล ได้แจ้งสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) อย่างไม่เป็นทางการว่า ได้ระงับการที่จะยื่นฟ้องร้องไทยต่อองค์การการค้าโลก ( WTO) กรณีไทยอุดหนุนอุตสาหกรรมน้ำตาลจนกระทบต่ออุตสาหกรรมน้ำตาลทรายโลก เนื่องจากบราซิลพอใจแผนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยโดยเฉพาะการลอยตัวราคาน้ำตาล

“ ถือเป็นข่าวดีของอุตฯน้ำตาลของไทยเพราะก่อนหน้านี้ตั้งแต่ปี 2559 บราซิลต้องการจะฟ้องร้องไทยโดยมองว่ามีการอุดหนุนราคาน้ำตาลทราย ซึ่งต่อมาเราก็ได้มีการส่งตัวแทนจากสอน. กระทรวงอุตสาหกรรม กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ชาวไร่อ้อย โรงงานน้ำตาลทราย ได้ทำงานร่วมกันอย่างหนักในการเจรจาซึ่งได้ข้อสรุปที่จะปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลและล่าสุดก็นำไปสู่การลอยตัวไม่มีการอุดหนุน ซึ่งบราซิลก็พอใจในแผน”นายอุตตมกล่าว

สำหรับการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานที่ผ่านมามีการปรับลดลงประมาณ 2 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อ้อยและน้ำตาลทรายคาดว่าจะยื่นเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เร็วๆ นี้เพื่อเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาต่อไป "นายอุตตมกล่าว

จาก  https://mgronline.com วันที่ 29 มี.ค. 2561

4องค์กรชาวไร่อ้อยตบเท้ายื่นร่างพ.ร.บ.อ้อยฯหวังแก้ไข3ประเด็นหลัก

4 องค์กรชาวไร่อ้อยยื่นร่างพ.ร.บ.อ้อยฯต่อรัฐสภา ซึ่งเป็นฉบับของชาวไร่อ้อยจัดทำเองหวังแก้ไข 3 ประเด็นหลัก เพิ่มรายได้จากการผลิตอ้อยมากขึ้น และสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรชาวไร่อ้อย

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า วันนี้( 29มี.ค.) ตัวแทนจาก 4 องค์กรชาวไร่อ้อยได้แก่ สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย สหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน และสมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ได้เดินทางไปยื่นร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทรายพ.ศ..... ซึ่งเป็นฉบับชาวไร่อ้อยต่อรัฐภาโดยมีเลขาธิการรัฐสภาเป็นผู้รับมอบหนังสือ

" ที่ผ่านมามีการร่างพ.ร.บ.อ้อยฯขึ้นที่เป็นฉบับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ที่มีการเปิดรับฟังความเห็นไปก่อนหน้านี้และรอให้กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) ซึ่งชาวไร่อ้อยเห็นว่ายังมีบางส่วนควรปรับปรุง จึงเสนอร่างชาวไร่เพื่อให้สนช.พิจารณาประกอบตามสิทธิรัฐธรรมนูญ"นายนราธิปกล่าว

สำหรับประเด็นสำคัญที่นำเสนอขอแก้ไขตามร่างฉบับชาวไร่อ้อยคือ 1. ปรับปรุงเพิ่มรายได้จากการผลิตอ้อยและน้ำตาลทรายตลอดจนผลพลอยได้ให้ระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเพิ่มมากขึ้น เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับผู้ผลิตที่เป็นคู่แข่งในโลกและทำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยมีราคาอ้อยสูงขึ้น

2. ปรับคุณสมบัติสถาบันชาวไร่อ้อยเพื่อให้มีความเข้มแข็ง มีความเป็นเอกภาพ ไม่แตกแยกเพราะหากมีองค์กรเป็นจำนวนมากจะง่ายต่อการแทรกแซงจากฝ่ายโรงงานน้ำตาลเพราะองค์กรชาวไร่อ้อยต้องรักษาผลประโยชน์ของพี่น้องชาวไร่อ้อย เพราะพ.ร.บ.ฯดังกล่าวเป็นกฏหมายไตรภาคีที่เกษตรกรชาวไร่อ้อยต้องมีตัวแทนร่วมบริหาร โดยยึดหลักจากปริมาณอ้อยที่มากกว่าเป็นหลักในการเป็นสถาบันชาวไร่อ้อย

จาก  https://mgronline.com วันที่ 29 มี.ค. 2561

4 องค์กรชาวไร่อ้อย ร้องสนช. ค้านร่างกม.อ้อยและน้ำตาล ชี้ไม่แก้ปัญหาWTO-เอื้อนายทุน

องค์กรชาวไร่อ้อย 4 องค์กร ยื่นหนังสือสนช. ค้านร่างกม.อ้อยและน้ำตาล ฉบับสนช. หวั่นเอื้อนายทุน ไม่ตอบโจทย์แก้ปัญหา WTO

วันนี้ (29มี.ค.) ที่รัฐสภา องค์กรชาวไร่อ้อย 4 องค์กร เข้ายื่นหนังสือต่อ นายนัฑ ผาสุข เลขาธิการวุฒิสภาปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อคัดค้านการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อ้อยและน้ำตาล พ.ศ.2527 ของสนช. เนื่องจากเห็นว่าร่างกฎหมายดังกล่าวมีเจตนาแอบแฝงซ่อนเร้น ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ เพื่อแก้ไขปัญหาขององค์การการค้าโลก (WTO) และยังเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนอุตสาหกรรมน้ำตาลยักษ์ใหญ่ระดับประเทศ อีกทั้งสนช.หลายคนมีความสนิทสนมกับนายทุนอุตสาหกรรมน้ำตาลขนาดยักษ์ด้วย ทำให้มีการเพิ่มคณะกรรมการในส่วนของตัวแทนภาคเกษตรกร โดยไม่คำนึงคุณสมบัติหรือหลักเกณฑ์ในการจัดตั้งเป็นตัวแทนสถาบันชาวไร่อ้อย จึงทำให้ตัวแทนกลายเป็นร่างทรงของนายทุนอุตสาหกรรมดังกล่าว ดังนั้น ในนาม 4 องค์กรชาวไร่อ้อย จึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาล ดังนี้ 1.ขอให้ยกเลิกการนำร่าง พ.ร.บ.ฉบับของสนช.ทันที โดยนำร่าง พ.ร.บ.ของ 4 องค์กรชาวไร่อ้อย และร่างของกระทรวงอุตสาหกรรม มาพิจารณาควบคู่กัน เพราะมีเนื้อหาตรงกับวัตถุประสงค์การแก้ไขปัญหาของ WTO อย่างชัดเจน

และ 2.ขอให้มีผู้บริหารจัดการกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย โดยเฉพาะตำแหน่งเลขานุการกองทุน ที่ไม่ควรเป็นคนจากภาครัฐ แต่ควรมีความเป็นเอกเทศ และเป็นรูปแบบของเอกชนมากขึ้น เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปตามข้อเสนอของ WTO และกองทุนสามารถบริหารจัดการตนเองได้อย่างมีเอกภาพยั่งยืน

จาก  https://mgronline.com วันที่ 29 มี.ค. 2561

องค์กรชาวไร่อ้อย ค้านร่าง กม.อ้อย-น้ำตาล

"4 องค์กรชาวไร่อ้อย" บุกสภา ค้านร่างกม.อ้อยและน้ำตาล ฉบับสนช. หวั่นเอื้อนายทุน ไม่ตอบโจทย์แก้ปัญหา WTO

           ที่รัฐสภา องค์กรชาวไร่อ้อย 4 องค์กร เข้ายื่นหนังสือต่อ นายนัฑ ผาสุข เลขาธิการวุฒิสภาปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อคัดค้านการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อ้อยและน้ำตาล พ.ศ.2527 ของสนช. เนื่องจากเห็นว่าร่างกฎหมายดังกล่าวมีเจตนาแอบแฝงซ่อนเร้น ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ เพื่อแก้ไขปัญหาขององค์การการค้าโลก (WTO) และยังเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนอุตสาหกรรมน้ำตาลยักษ์ใหญ่ระดับประเทศ อีกทั้งสนช.หลายคนมีความสนิทสนมกับนายทุนอุตสาหกรรมน้ำตาลขนาดยักษ์ด้วย ทำให้มีการเพิ่มคณะกรรมการในส่วนของตัวแทนภาคเกษตรกร โดยไม่คำนึงคุณสมบัติหรือหลักเกณฑ์ในการจัดตั้งเป็นตัวแทนสถาบันชาวไร่อ้อย จึงทำให้ตัวแทนกลายเป็นร่างทรงของนายทุนอุตสาหกรรมดังกล่าว

           ทั้งนี้ในนาม 4 องค์กรชาวไร่อ้อย จึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาล ดังนี้ 1.ขอให้ยกเลิกการนำร่าง พ.ร.บ.ฉบับของสนช.ทันที โดยนำร่าง พ.ร.บ.ของ 4 องค์กรชาวไร่อ้อย และร่างของกระทรวงอุตสาหกรรม มาพิจารณาควบคู่กัน เพราะมีเนื้อหาตรงกับวัตถุประสงค์การแก้ไขปัญหาของ WTO อย่างชัดเจน 2.ขอให้มีผู้บริหารจัดการกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย โดยเฉพาะตำแหน่งเลขานุการกองทุน ที่ไม่ควรเป็นคนจากภาครัฐ แต่ควรมีความเป็นเอกเทศ และเป็นรูปแบบของเอกชนมากขึ้น เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปตามข้อเสนอของ WTO และกองทุนสามารถบริหารจัดการตนเองได้อย่างมีเอกภาพยั่งยืน.

จาก  http://www.komchadluek.net  วันที่ 29 มี.ค. 2561

ราคาเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าพ.ค.-ส.ค.พุ่ง

ราคาเชื้อเพลิงถือเป็นต้นทุนสำคัญของการผลิตไฟฟ้า โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติที่เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิต เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) รายงานว่า สถานการณ์ราคาเชื้อเพลิง ในช่วงเดือน พ.ค.-ส.ค. 61 นั้นยังคงยืนราคาอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง โดยเฉพาะราคาก๊าซ 12.51 บาท/ล้านบีทียู ยิ่งเมื่อค่าเงินบาทแข็งค่า ยิ่งส่งผลกระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือ Ft ในส่วนของเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นถึง 3.77 บาท/หน่วย

ในความเป็นจริงนั้น กกพ.ต้องปรับอัตราค่า Ft ขึ้นเพื่อให้สะท้อนต้นทุนจริง แต่เพื่อบรรเทาผลกระทบที่ประชาชนจะต้องรับภาระมากขึ้นนั้น กกพ.จึงตัดสินใจตรึงอัตราค่าไฟฟ้าไว้ เนื่องจากมีเงินสะสมไว้ตั้งแต่ในช่วงกลางปี 2560 จึงทำให้สามารถตรึงราคาค่า Ft ไว้ที่ 15.90 สตางค์/หน่วย และยังจัดสรรเงินบางส่วนไว้เพื่อตรึงค่าไฟฟ้า Ft รอบเดือน ก.ย.-ธ.ค. 61 ได้อีกรอบด้วย

สำหรับปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคาเชื้อเพลิงมาจาก อัตราแลกเปลี่ยนของค่าเงินที่แข็งค่า จากที่เคยประมาณการสำหรับคำนวณค่า Ft ในเดือน ม.ค.-เม.ย.จาก 33.32 บาท/เหรียญสหรัฐ มาอยู่ที่ 32.05 บาท/เหรียญสหรัฐ รวมถึงความต้องการพลังงานไฟฟ้าช่วงเดือน พ.ค.-ส.ค. 61 เท่ากับ 67,334 ล้านหน่วย ปรับขึ้นจากเดือน ม.ค.-เม.ย. 61 เท่ากับ 5,136 ล้านหน่วย คิดเป็น 8.26% สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าช่วง พ.ค.-ส.ค. 61 แบ่งเป็นก๊าซอยู่ที่ 60% รองลงมาคือรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาวที่ 13.23% ถ่านหินลิกไนต์ 8.80% และถ่านหินนำเข้าที่ 8.69%

ส่วนแนวโน้มราคาเชื้อเพลิงคาดว่าราคาก๊าซรวมค่าผ่านท่ออยู่ที่ 262.02 บาท/ล้านบีทียู เพิ่มขึ้นจากงวดก่อนที่ 12.51 บาท/ล้านบีทียู ส่วนราคาน้ำมันเตาอยู่ที่ 18.06 บาท/ลิตร ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย น้ำมันดีเซลอยู่ที่ 22.30 บาท/ลิตร ปรับตัวลดลง ส่วนราคาถ่านหินนำเข้าของโรงไฟฟ้าเอกชนอยู่ที่ 2,460.36 บาท/ตัน เพิ่มขึ้น 32.87 บาท/ตัน และราคาถ่านหินลิกไนต์ของ กฟผ.อยู่ที่ 693 บาท/ตัน ไม่เปลี่ยนแปลงจากงวดก่อน

จาก  https://www.prachachat.net  วันที่ 29 มี.ค. 2561

“สมคิด” สั่งพาณิชย์เตรียมการเข้าร่วม “CPTPP” ตั้งเป้าไทยเข้าร่วมได้ในปีนี้!

สมคิด สั่งการให้พาณิชย์เตรียมการเข้าร่วม CPTPP เป้าหมายต้องการเห็นไทยเข้าร่วมได้ในปีนี้ เน้นให้ศึกษาโอกาส ขั้นตอนต่างๆให้ชัดเจนล่วงหน้า เพื่อเดินหน้าเข้าเป็นสมาชิกทันที

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการหารือข้อราชการกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และผู้บริหารระดับสูง ว่า สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์เตรียมการศึกษาการเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership) เนื่องจากเป้าหมายต้องการเข้าร่วม CPTPP โดยมอบหมายให้นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ดูแลหลัก พร้อมให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์ตั้งคณะทำงานเพื่อประสานกับกระทรวงอื่นที่เกี่ยวข้องหารือประเด็นนี้ เพื่อเตรียมเข้าสู่ขวบนการเป็นสมาชิก

เบื้องต้น สมาชิก CPTPP ปัจจุบันมี 11 ประเทศ หากกลุ่มประเทศดังกล่าวมีการดำเนินการเดินหน้า ประเทศไทยก็ต้องมีความพร้อมที่จะเข้าเป็นสมาชิก ซึ่งขณะนี้จึงต้องศึกษาและเตรียมการล่วงหน้าไว้ นอกจากนี้ การนำคณะเยือนญี่ปุ่นในกรอบการประชุม ก็พร้อมหารือในประเด็นนี้ด้วย ถึงสถานการณ์ ปัญหา และสินค้าที่เกี่ยวข้อง ซึ่งก็มอบหมายให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ศึกษาข้อมูล เงื่อนไขต่างๆ เพื่อนำไปหารือด้วย

“เป้าหมายต้องการที่จะเข้าร่วมภายในปี 2561 นี้ ส่วนการประชุมเจเทปป้า ก็มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเรื่องของภาษี ก็ต้องเตรียมข้อมูลเพื่อหารือไว้ เนื่องจากต้องการให้มีการเปิดตลาด ส่วนมาตาการทางการค้าของสหรัฐที่มีต่อจีน ซึ่งส่งผลกระทบต่อซัพพรายบางรายการที่ไทยได้รับผลกระทบ จึงต้องร่วมหารือเอกชนแก้ไขพร้อมกับหาช่องทางอื่น โดยการเปิดตลาด ช่องทางการขายให้กับเอกชนด้วย”

อย่างไรก็ดี ประเด็นดังกล่าวไม่กังวล และไม่หวั่นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น แต่ประเทศไทยก็ต้องเตรียมการโดยเฉพาะหน่วยงานที่ดูแลก็ต้องหารือ และเตรียมการล่วงหน้าเพื่อความไม่ประมาท พร้อมกับพุดคุยหารือกับสหรัฐด้วย และในส่วนประเด็นอื่นที่มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ติดตามดูแล เช่น ปาล์มน้ำมันต้องติดตามดูแลอย่าให้มีการลักลอบ ข้าวโพด อย่าให้เกษตรกรได้รับผลกระทบขณะที่ ทิศทางราคาปรับตัวสูงขึ้น ธงฟ้าประชารัฐ ต้องมีการลงตรวจตราสินค้าขายดี ขายไม่ดี ควรเพิ่มสินค้าไหนบ้างเพื่อสร้างรายได้ให้กับผู้มีรายได้น้อย และสร้างความร่วมมือเอกชนกับกระทรวงพาณิชย์ เนื่องจากเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการทุกรายเข้าร่วมอยู่แล้ว

นายสมคิด กล่าวอีกว่า การเข้าร่วมสมาชิก CPTPP ได้แสดงเจตนาชัดเจนว่าไทยต้องการที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิก สำหรับขั้นตอนนั้น หากไทยจะเข้าร่วมต้องได้รับการตอบรับ ยอมรับจากประเทศสมาชิก 6 ประเทศจาก 11 ประเทศ ในการสนับสนุนเข้าร่วม ดังนั้น จึงต้องการให้เตรียมความพร้อมไว้ พร้อมให้หารือกับหน่วยงานต่างๆ และประเทศสมาชิด เพื่อสนับสนุน ส่วนเจเทปป้า ก็ไม่ต้องการให้หารือเฉพาะภาษี ก็ต้องการสร้างความร่วมมือด้านต่างๆด้วย เพื่อพัฒนาประเทศไทย โดยการเยือนญี่ปุ่นก็อยู่ระหว่างการประสานว่าจะมีกำหนดเดินทางเมื่อไร

จาก  https://www.prachachat.net  วันที่ 29 มี.ค. 2561

สหรัฐฯต่อGSPไทยปี61-63ได้ประโยชน์ลดภาษี

อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เผย สหรัฐฯ ต่อโครงการ GSP ไทยปี 61-63 สินค้า 3,400 รายการได้ประโยชน์ลดภาษี

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า รัฐสภาสหรัฐฯ ได้ผ่านร่างกฎหมายการต่ออายุโครงการสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) โดยประธานาธิบดีได้ลงนามเห็นชอบร่างกฎหมายแล้ว โดยสาระสำคัญของการต่อโครงการฯ ในครั้งนี้ จะมีการเพิ่มเติมเกณฑ์การพิจารณารายการสินค้าที่จะขอผ่อนผันให้สหรัฐฯ คงสิทธิฯ กรณีเข้าข่ายมีการนำเข้าสหรัฐฯ เกินเพดานที่กำหนด โดยการให้สิทธิพิเศษฯ GSP ในครั้งนี้ เป็นสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม ประมาณ 3,400 รายการ โดยสินค้าที่ได้รับสิทธิฯ จะได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าสหรัฐฯ เหลือร้อยละ 0

โดยโครงการสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไปของสหรัฐฯ จะมีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ โทร 0 2547 4891 สายด่วน โทร 1385

จาก  https://www.innnews.co.th   วันที่ 29 มี.ค. 2561

‘สมคิด’ชี้มาตรการกีดกันการค้าสหรัฐ-จีนกระทบไทย

รองนายกฯ "สมคิด" ยอมรับ มาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐต่อจีนกระทบไทย สั่งพาณิชย์เตรียมข้อมูลถกภาคเอกชน

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงท่าทีนโยบายทางการค้าของสหรัฐฯ ที่ประกาศใช้มาตรการกีดกันทางการค้ากับจีน ว่า ยอมรับมีผลกระทบกับประเทศไทยจึงได้สั่งการให้ กระทรวงพาณิชย์ ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะมีผลกับประเทศไทยทั้งทางตรงและทางอ้อมโดยบางส่วนผู้ประกอบการอาจได้รับประโยชน์ จึงให้ทางกระทรวงพาณิชย์เตรียมข้อมูลให้กับภาคเอกชน เพื่อหารือ เตรียมความพร้อมเป็นการล่วงหน้า รับมือ และหาแนวทางการใช้ประโยชน์จากนโยบายสหรัฐฯให้ได้มากที่สุด ตลอดจนหาโอกาสไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของสหรัฐ เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างรอบคอบที่สุด ไม่ให้กระทบต่อเนื่อง ในห่วงโซ่การผลิต และการส่งออกของไทย

ทั้งนี้ นายสมคิด ได้เปิดเผยถึงสถานการณ์สินค้าปาล์มน้ำมันที่มีราคาลดลงในขณะนี้ว่า เกิดจากผลผลิตมีมากกว่าความต้องการใช้ โดยได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ดูแลเกษตรกรให้สามารถขายปาล์มน้ำมันได้ในราคาไม่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต โดยพิจารณาให้ผ่อนปรนเพื่อสามารถส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศได้มากขึ้น รวมถึง เข้มงวดลักลอบนำเข้าจากต่างประเทศและ การนำไปใช้เพิ่มเติมในส่วนของการทำไบโอดีเซลช่วยพยุงราคาผลปาล์มให้กับเกษตรกร

และสำหรับสถานการณ์ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในขณะนี้ เห็นว่าราคาเป็นที่น่าพอใจ กระทรวงพาณิชย์จะต้องดูแลไม่ให้ได้รับผลกระทบ ทางด้านราคา เป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร

จาก  https://www.innnews.co.th   วันที่ 29 มี.ค. 2561

บาทเปิด 31.27 บาทต่อดอลล่าร์ อ่อนค่า

เงินบาทเปิดตลาด 31.27 บาทต่อดอลล่าร์ อ่อนค่าตามตลาดโลกรับแรงซื้อดอลลาร์ มองกรอบ 31.20-31.35

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ที่ระดับ 31.27 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่า จากเย็นวานนี้ที่ปิดตลาดอยู่ที่ 31.24 บาท/ดอลลาร์

"เช้านี้บาทอ่อนค่าสอดคล้องกับ Trend ตลาดโลก หลังมีแรงซื้อกลับดอลลาร์เมื่อเทียบกับทุกสกุลประกอบกับข่าวศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับพิจารณาวินิจฉัยร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ตามที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รวม 30 คนยื่นเรื่องผ่านประธาน สนช."นักบริหารเงิน  กล่าว

นักบริหารเงินประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทไว้ที่ 31.20-31.35 บาท/ดอลลาร์

จาก  https://www.posttoday.com วันที่ 29 มี.ค. 2561

ปลุกสำนึกชาวไร่ใช้เครื่องจักรตัดอ้อย มุ่งแก้ปัญหาเผาอ้อยเข้าโรงงาน

เลย - เวทีเสวนาหาทางออกลดมลภาวะจากการเผาอ้อยเพื่อคนไทเลย แนะปลุกจิตสำนึกชาวไร่จัดหาเครื่องจักรรถตัดอ้อย และใช้กฎหมายจัดการ เหตุชาวไร่กว่า 60% มักเผาอ้อยก่อนตัดส่งโรงงานหวังลดต้นทุนค่าแรงงาน แต่กระทบมลภาวะเป็นพิษ น้ำตาลคุณภาพต่ำ

นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เป็นประธานเปิดเวทีสาธารณะเสวนาหาทางออก แก้ปัญหาเผาอ้อยเข้าโรงงาน

วันนี้ (28 มี.ค. 61) ที่ห้องประชุมศรีสองรัก ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดเลย นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เป็นประธานเปิดเวทีสาธารณะ เสวนาร่วมหาทางออก ลดมลภาวะจากการเผาอ้อยเพื่อคนไทเลย โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ องค์กรเอกชน ภาคประชาชน นักเรียน นักศึกษา และสื่อมวลชนเข้าร่วมเสวนา ในหัวข้อ เวทีสาธารณะ “หาทางออกลดมลภาวะจากการเผาอ้อยเพื่อคนไทเลย ในวันนี้ ปีหน้า และตลอดไป”

นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย กล่าวว่า จังหวัดเลยมีโรงงานน้ำตาล 2 โรงอยู่ในพื้นที่อำเภอวังสะพุง ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกอ้อยจำนวนมาก ช่วงที่โรงงานน้ำตาลเปิดหีบอ้อยทุกปีนั้น เกษตรกรต้องเร่งรีบตัดอ้อยเพื่อจำหน่ายแก่โรงงาน มีระยะเวลาจำกัด คือช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนเมษายน ทำให้มีการเผาอ้อยก่อนตัดมากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ การตัดอ้อยสดเพียง 30 เปอร์เซ็นต์ โดยชาวไร่มักอ้างว่าตัดอ้อยเผานั้นง่ายและเร็วกว่า ทั้งเป็นการลดต้นทุนได้มาก ส่วนการตัดอ้อยสดตัดได้ช้าหาแรงงานยาก

ทั้งนี้ การเผาอ้อยก่อให้เกิดมลภาวะสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากควันไฟและเขม่าตามมาอย่างมาก นอกจากนั้นยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดอัคคีภัยและโครงสร้างการสูญเสียของหน้าดินในระยะยาว เกิดปัญหาด้านผลผลิตและคุณภาพของอ้อยที่ถูกไฟเผา มีผลทำให้ประสิทธิภาพในการผลิตน้ำตาลทรายลดต่ำลงด้วย เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาและร่วมกันหาทางออก การลดมลภาวะจากการเผาอ้อยเพื่อคนไทเลย จึงจัดเวทีเสวนาดังกล่าวขึ้น เพื่อให้เกิดความร่วมมือร่วมใจกันหามาตรการ นำไปแก้ไขปัญหาการเผาอ้อยในพื้นที่จังหวัดเลยให้มีประสิทธิภาพยั่งยืน

ด้านนายประมวล ลาภจิตต์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเลย กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการแสวงหาทางออกจากการเผาป่าในพื้นที่จังหวัดเลยอย่างกว้างขวางจากทุกภาคส่วน จึงได้เชิญภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยภาครัฐ ได้แก่ ส่วนราชการ นักวิชาการ อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ประกอบการ ได้แก่ โรงงานน้ำตาล สมาคมชาวไร่อ้อย ผู้ประกอบการขนส่ง ภาคเอกชน ได้แก่ ประธานหอการค้า ประธานสภาอุตสาหกรรม ชมรมธนาคารและการโรงแรม ชมรมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดเลย องค์กรพัฒนาเอกชน (NGO)

ภาคประชาชน ได้แก่ เกษตรกรชาวไร่อ้อย ประชาชนที่ได้รับความเดือนร้อน สื่อมวลชน ร่วมเวทีสาธารณะหาทางออกมลภาวะจากการเผาอ้อยเพื่อคนไทเลย ในวันนี้ ปีหน้า และตลอดไป เพื่อรับทราบปัญหา ข้อเสนอแนะ ทางออก เพื่อให้ทุกภาคส่วนทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข

ทั้งนี้ เวทีเสวนาอภิปรายในประเด็นดังกล่าวมีความคิดเห็นข้อเสนอแนะอย่างกว้างขวาง มีข้อสรุปที่สำคัญ เช่น มาตรการให้ความรู้ความเข้าใจแก่เกษตรกร การสร้างจิตสำนึก จัดหาเครื่องจักรรถตัดอ้อยให้แก่กลุ่มเกษตรกรเพื่อลดต้นทุนด้านแรงงาน มาตรการการดำเนินคดีตามกฎหมาย สถาบันการเงินสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อจัดหาปัจจัยการผลิต ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ กำหนดพื้นที่การผลิต งดซื้ออ้อยเผา

จาก https://mgronline.com วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2561

เกษตรกรเฮทั่วประเทศ! รัฐอัด 9 หมื่นล้าน ให้กู้คนละ 3 หมื่นบาท ซื้อปุ๋ย ยาฆ่าแมลง

นายลักษณ์ วจนานวัช รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในการติดตามผลการทำงานของกระทรวงเกษตรฯ ของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ว่า เตรียมโครงการช่วยลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกร ภายใต้วงเงิน 90,000 ล้านบาท โดยการปล่อยสินเชื่อ 30,000 บาท/ราย โดยวงเงินที่ให้จะใช้ ลดต้นทุนปัจจัยการผลิต โดยการซื้อ ปุ๋ย เมล็ด เมล็ดพันธุ์ สารเคมีปราบศัตรูพืช และน้ำมันเชื้อเพลิง สำหรับการเกษตร ผ่านแอพ เอ โมบาย จะทำให้เกษตรกรได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นอีก 2.3 ล้านราย ซึ่งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) อัตราดอกเบี้ยเกษตรกร 7% แต่เกษตรกรจ่าย 4% ที่เหลือรัฐบาลให้การอุดหนุน ซึ่งจะให้กรมการข้าว กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร เข้ามาดูแลการซื้อผ่านร้าน Q รวมทั้งเชิญตัวแทนจำหน่ายมาร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกันเพื่อจำหน่ายสินค้าที่มีคุณภาพ ราคาที่เป็นธรรม

ส่วนงบกลางปี ที่กระทรวงเกษตรฯ ได้มาบริหาร 2.4 หมื่นล้านบาท บางส่วนยังต้องร่วมกับกระทรวงการคลังในการแก้ไจปัญหาคนจนเพื่อทำแผนพัฒนาอาชีพ กับผู้ที่ลงทะบียน 4 ล้านคน เบื้องต้นจะมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการพัฒนาศักยภาพจำนวน 2.5 ล้านราย หรือ 60% ของเกษตรกรที่ลงทะเบียนคนจนไว้กับกระทรวงการคลังจำนวน 3.96 ล้านราย ส่วนที่เหลือ 1.45 ล้านราย ไม่ยอมเข้าร่วมโครงการจึงต้องสอบถามสาเหตุกันใหม่ ซึ่งการช่วยเหลือครั้งนี้จะเชื่อมโยงกับธ.ก.ส. ที่จัดงบประมาณไว้แล้ว 5 หมื่นล้านบาท ในกรณีที่เกษตรกรรายดังกล่าวไม่พร้อม จะใช้วิธีการให้เข้าร่วมกับกลุ่มที่มีทักษะแล้วเรียนรู้และสร้างอาชีพ ซึ่งธ.ก.ส. มีงบสนับสนุนในลักษณะนี้อีก 4.5 หมื่นล้านบาท

นายลักษณ์ ยังแจ้งให้ทราบถึงคณะกรรมการชุดเฉพาะกิจการแก้ไขปัญหาหนี้สินของสมาชิกในกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) ที่มีรมว.เกษตรฯ เป็นประธานจะสิ้นสุดในวันที่ 30 พ.ค. นี้ ซึ่งหนี้สินที่มีอยู่ ทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา ตีความไม่ให้ กฟก. ซื้อหนี้ที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อยที่เป็นสมาชิกของธ.ก.ส. ดังนั้น จึงต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ และหาทางแก้ไขปัญหานี้ เบื้องต้นกระทรวงเกษตรฯต้องการหารือกับธ.ก.ส. เพื่อกำหนดมาตรการช่วยเหลืออื่นที่เป็นประโยชน์ใกล้เคียงกับแนวทางการซื้อหนี้คืนของ กฟก. โดยสมาชิกต้องการตัดหนี้สูญเงินต้นบางส่วน รวมทั้งต้องหาแนวทางฟื้นฟูสำนักงานกฟก. ตามการตั้งข้อสังเกตุของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ให้เร็วที่สุดด้วย

จาก https://www.khaosod.co.th  วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2561

ค่าเงินบาทอ่อนค่าหลัง กนง.คงอัตราดอกเบี้ย

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 28 มีนาคม 2561 ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 31.21/22 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (27/3) ที่ระดับ 31.14/16 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากผลสำรวจของสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์/เคส ชิลเลอร์ ระบุว่า ดัชนีราคาบ้านทั่วประเทศในสหรัฐพุ่งขึ้น 6.2% ในเดือนมกราคม เมื่อเทียบรายปี ใกล้เคียงระดับ 6.3% ในเดือนธันวาคม โดยได้แรงหนุนจากอุปสงค์ที่แข็งแกร่ง และภาวะสต็อกบ้านในระดับต่ำ ราคาบ้านเพิ่มขึ้นสูงสุดในเมืองซีแอตเติล ลาสเวกัส และซานฟรานซิสโก นอกจากนี้นายราฟาเอล บอสติค ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตา กล่าวในวันนี้ว่าเขาสนับสนุนให้เฟดเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปในปีนี้ หากเศรษฐกิจปรับตัวตามการคาดการณ์ โดยนายราฟาเอลกล่าวว่า หากเศรษฐกิจมีการปรับตัวตามที่ผมคาดการณ์ไว้ ผมก็จะสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปในปีนี้ คำกล่าวของนายบอสติคในวันนี้มีขึ้นหลังจากที่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เขาระบุว่า จากการที่อัตราว่างงานและเงินเฟ้อกำลังอยู่ใกล้กับเป้าหมายของเฟด ทางเฟดจึงควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจของ Conference Board ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐต่ำกว่าคาดในเดือนมีนาคม หลังจากดีดตัวขึ้นติดต่อกัน 2 เดือน ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐร่วงลงสู่ระดับ 127.70 ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2543 และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 131 ทั้งนี้ ดัชนีดังกล่าวเป็นการสำรวจมุมมองของผู้บริโภค และความเชื่อมั่นต่อสภาวะธุรกิจ สถานะการเงินส่วนบุคคล และการจ้างงาน

ในส่วนของปัจจัยภายในประเทศนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันนี้ มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี โดย 1 เสียงให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 1.50% เป็น 1.75% ต่อปี นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ เลขานุการ กนง.เปิดเผยว่า ในการตัดสินนโยบาย คณะกรรมการประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องและดีกว่าที่ประเมินไว้เมื่อไตรมาสก่อน โดยได้รับแรงส่งจากทั้งภาคต่างประเทศและอุปสงค์ในประเทศที่ทยอยปรับดีขึ้น อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีทิศทางปรับสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นช้ากว่าที่ประเมินไว้เดิมเล็กน้อย ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดีแต่มีความเสี่ยงในบางจุดที่อาจสะสมความเปราะบางในระบบการเงิน ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 31.18-31.24 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะปิดตลาดที่ระดับ 31.24/26 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้ (28/3) เปิดตลาดที่ระดับ 1.2417/19 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (27/3) ที่ระดับ 1.2415/17 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรปออกมาแถลงการณ์ถึงแนวโน้มเงินเฟ้อที่ยังคงเคลื่อนไหวในระดับต่ำ ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจในแถบยูโรโซนจะขยายตัวอย่างต่อเนื่องก็ตาม ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวค่อนข้างผันผวนอยู่ในช่วงระหว่าง 1.2378-1.2422 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.2383/85 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ในส่วนของค่าเงินเยนวันนี้ (28/3) เปิดตลาดที่ระดับ 105.58/60 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (27/3) ที่ระดับ 105.33/35 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยนายฮารุฮิโกะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้แถลงในรัฐสภาญี่ปุ่นวันนี้ว่า BOJ ยังจำเป็นต้องดำเนินมาตรการผ่อนคลายการเงินเชิงรุก จนกว่า BOJ จะสามารถบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% ผู้ว่าการแบงก์ชาติญี่ปุ่นเปิดเผยว่า BOJ จำเป็นต้องใช้มาตรการผ่อนคลายการเงินต่อไป เพื่อยกระดับผลกระทบเชิงบวกของนโยบายที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ขณะเดียวกัน ทาง BOJ กำลังพิจารณาผลลัพธ์จากการดำเนินงานที่ผ่านมาด้วยในแง่ของเงินเฟ้อ ทั้งนี้เงินเฟ้อยังคงห่างไกลจากเป้าหมาย 2% ของธนาคารกลางญี่ปุ่น ขณะที่นายคุโรดะ เคยกล่าวว่า นโยบายผ่อนคลายทางการเงินจำเป็นมากที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อดังกล่าว โดยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมราคาอาหารสด ปรับตัวขึ้น 1% ในเดือน ก.พ. เมื่อเทียบเป็นรายปี เนื่องจากต้นทุนพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ดัชนี CPI พื้นฐานเดือน ก.พ.ขยายตัวในอัตราที่รวดเร็วกว่าเดือน ม.ค. ซึ่งขยายตัวเพียง 0.9% อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวยังอยู่ต่ำกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อของ BOJ ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 105.34-105.73 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 105.66/67 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลทางเศรษฐกิจที่สำคัยที่ต้องจับตาดูในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดขายบ้านสหรัฐ (28/3) จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์สหรัฐ (28/3)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -3.65/-3.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -7.50/-7.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2561

สมคิด เร่งก.เกษตรฯ ลดต้นทุนผลิต เชื่อมโยงตลาด พัฒนาเกษตรกร

            วันที่ 28 มี.ค.เวลา 09.00 น. นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยในโอกาสเดินทางมอบนโยบายการช่วยเหลือเกษตรกร โดยหารือร่วมกับนายกฤษฏา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายลักษณ์  วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงเกษตรฯ อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า การเดินทางมายังกระทรวงเกษตรฯครั้งนี้ เพื่อติดตาม และรับฟังความคืบหน้าการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในกระทรวงเศรษฐกิจในกำกับดูแล หลังจากรัฐมนตรีประจำกระทรวงทั้งสามท่านรับตำแหน่งเป็นระยะเวลาเกือบ 3 เดือนเศษแล้ว รวมถึงรับฟังประเด็นปัญหาต่าง ๆ ในการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาภาคเกษตร ยกระดับรายได้ของเกษตรกร เพื่อเป็นการปฏิรูปภาคการเกษตรในระยะยาวได้อย่างจริงจัง

          ทั้งนี้ ได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้ โดยเฉพาะการเร่งรัดงบประมาณในการโครงการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรโดยเร็ว นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำเป็นพิเศษในเรื่องการเชื่อมโยงสถาบันการเงิน โดยเฉพาะธกส.ในการสนับสนุนสินเชื่อให้กับเกษตรกร การสร้างความเข็มแข็งระบบสหกรณ์ การลดปริมาณผลผลิตยางพาราให้สอดคล้องกับความต้องการตลาด การลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกร โดยเฉพาะเรื่องปุ๋ยที่เป็นต้นทุนการผลิตที่สำคัญ ให้กระทรวงเกษตรฯ พิจารณาเสนอแผนงานโครงการเรื่องปุ๋ยสั่งตัด และการหารือภาคเอกชนผู้ผลิตปุ๋ยเพื่อปรับลดราคาลง

          ด้านนายกฤษฏา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การตรวจเยี่ยมกระทรวงเกษตรฯ ของรองนายกฯ ครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 2 เพื่อติดตามผลการดำเนินงานกระทรวงเกษตรฯ รอบ 3 เดือนที่ผ่านมา โดยกระทรวงเกษตรฯ ได้รายงานสถานการณ์ผลิตสินค้าเกษตรสำคัญๆ ซึ่งโดยส่วนใหญ่ไม่มีปัญหาสามารถดูแลแก้ไขได้ ยกเว้นยางพาราที่ยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร แต่อย่างไรก็ตาม รองนายกฯ ได้เน้นย้ำว่าถ้ามีผู้ว่าการยางฯ คนใหม่แล้วให้เร่งรีบดำเนินการตามแผนที่กำหนดไว้ ไม่ว่าจะเป็นการลดปริมาณยางโดยหยุดกรีดยางในระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งรองนายกฯ ก็เห็นด้วยกับแนวทางนี้ แต่ต้องมีการหารือในการรายละเอียดและแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงหยุดกรีดให้ชัดเจน รวมถึงการพัฒนาหน่วยธุรกิจยางของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.)  ให้เห็นชัดเจนเป็นรูปเป็นร่างสามารถซื้อขายยางในเชิงธุรกิจได้จริง

          อีกประเด็นที่รองนายกฯ เน้นย้ำ คือ การช่วยเหลือเกษตรกรโดยตรงทั้งในส่วนโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ที่กระทรวงเกษตรฯ มีกิจกรรมในการอบรมเกษตรกรเพื่อพัฒนาอาชีพแล้ว ก็ให้หารือร่วมกับธกส.ในการสนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกรที่ผ่านาการอบรมแล้ว และมีบุคคลค้ำประกันสามารถกู้เงินได้ โดยคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 3 เพื่อให้เกษตรกรมีเงินทุนในการประกอบอาชีพให้เกิดความยั่งยืน อีกส่วนหนึ่ง คือ การลดปัจจัยการผลิต โดยเฉพาะปุ๋ย ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญของเกษตรกร รองนายกฯ ได้สั่งการสองแนวทาง คือ การส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาใช้ปุ๋ยสั่งตัดมากขึ้น โดยผ่านระบบสหกรณ์ ซึ่งคาดว่าจะมีกรอบแนวทางที่ชัดเจนหลังเทศกาลสงกรานต์ รวมถึงในสัปดาห์หน้าจะเชิญผู้ค้าปุ๋ยรายใหญ่หารือขอความร่วมมือลดราคาปุ๋ยด้วย

จาก www.komchadluek.net  วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2561

พาณิชย์ช่วยเกษตรกรใช้ประโยชน์ค้าเสรี

 “พาณิชย์” จับมือสภาเกษตรกรแห่งชาติลงพื้นที่ช่วยเกษตรกรใช้ประโยชน์ค้าเสรีเป็นผู้ส่งออกผลไม้แทนการปลูกขายอย่างเดียว

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมจะร่วมมือกับสภาเกษตรกรแห่งชาติลงพื้นที่ไปยังจังหวัดที่เป็นแหล่งเพาะปลูกผลไม้สำคัญของประเทศ เช่น เชียงใหม่ จันทบุรี และยะลา เพื่อให้ความรู้แก่เกษตรกรผู้ผลิตผลไม้ของไทยใช้ประโยชน์จากการข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่ไทยทำกับประเทศต่างๆ เพราะขณะนี้เอฟทีเอกรอบต่างๆ ส่วนใหญ่ได้ลดภาษีในกลุ่มผลไม้ลงเหลือ 0% แล้ว จึงเป็นโอกาสที่เกษตรกรจะใช้เอฟทีเอในการส่งออกผลไม้ออกไปจำหน่ายในตลาดต่างประเทศ โดยกำหนดลงพื้นที่เดือนเม.ย.-พ.ค.2561

"ปกติเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ ส่วนใหญ่จะปลูกแล้วก็ขายผลผลิตให้กับพ่อค้า แต่ปัจจุบันเริ่มมีเกษตรกรหลายกลุ่มที่ได้รวมตัวกันหันมาทำตลาดเอง ซึ่งกรมจะเข้าไปให้ความรู้และแนะนำการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอในการส่งออก โดยจะพาทีมผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆเข้าไปให้คำแนะนำ หรือการขอแบบฟอร์มส่งออกต้องทำยังไง เราจะไปช่วยสอน ช่วยแนะนำให้ทั้งหมด แล้วทำให้เกษตรกรส่งออกให้ได้"นางอรมน กล่าว

ทั้งนี้ กรมยังมีแผนที่จะลงพื้นที่ไปรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากเกษตรกรในกลุ่มต่างๆ เพื่อนำมาประกอบท่าทีการเจรจาการค้าเสรี ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการเตรียมการจัดทำข้อมูลเพื่อเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู และการพิจารณาเข้าร่วมข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) หรือ TPP เดิม โดยการลงพื้นที่จะทำให้กรมทราบข้อมูลที่แท้จริงจากเกษตรกรในการกำหนดยุทธศาสตร์การเจรจา

นางอรมน กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ กรมได้ร่วมมือกับกรมปศุสัตว์และกรมวิชาการเกษตร ลงพื้นที่ติดตามการเตรียมความพร้อมของเกษตรกรและผู้ประกอบการใน 3 สินค้าเกษตรสำคัญแล้ว ได้แก่ กาแฟ โคเนื้อและโคนม โดยกาแฟลงพื้นที่จังหวัดเชียงรายและชุมพรโคเนื้อ ลงพื้นที่จังหวัดนครพนม และโคนม ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ สระบุรี และกาญจนบุรี ซึ่งผลการลงพื้นที่ พบว่า เกษตรกรเห็นความสำคัญของการยกระดับคุณภาพการผลิตสินค้า เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และเกษตรกรยังได้มีการรวมกลุ่มกันเพื่อสร้างความเข้มแข็ง และพร้อมที่จะพัฒนาไปเป็นผู้ประกอบการ ทั้งการค้าขายในประเทศและส่งออก โดยใช้ประโยชน์จากการค้าเสรี

“เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่กลัวการเปิดเสรี เพราะได้มีการเตรียมความพร้อม โดยการพัฒนาคุณภาพพัฒนาการผลิต และมีการพัฒนาตนเองไปเป็นผู้ประกอบการ และต้องการให้กระทรวงพาณิชย์สนับสนุนในด้านการทำธุรกิจ การทำตลาด ซึ่งได้ประสานกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเข้าไปช่วยเหลือในด้านการทำธุรกิจ การพัฒนาแฟรนไชส์ และประสานกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศช่วยเหลือในด้านการส่งออก ขณะที่กรมได้ชี้ช่องและแนะนำให้ใช้ประโยชน์จากการเปิดเสรี ในการส่งออก โดยเฉพาะตลาดอาเซียน ตลาดเพื่อนบ้าน และจีน เป็นต้น”นางอรมนกล่าว

นอกจากนี้ ยังได้ช่วยเตรียมความพร้อมรับมือการเปิดเสรีไทย-ออสเตรเลีย และไทย-นิวซีแลนด์ที่จะมีการลดภาษีสินค้ากาแฟเหลือ 0% ในวันที่ 1 ม.ค.2563 หางนมเวย์ เนย ไขมันเนย เนยแข็ง และโคเนื้อ วันที่ 1 ม.ค.2564 และสินค้านมและครีม เครื่องดื่มประเภทนมและปรุงแต่ง และนมผงขาดมันเนย วันที่ 1 ม.ค.2568 เพื่อให้เกษตรกรและผู้ประกอบการเตรียมพร้อมรับการแข่งขันซึ่ งจากการลงพื้นที่ พบว่า เกษตรกรและผู้ประกอบการมีความพร้อม และไม่กังวลที่จะมีการเปิดเสรี เพราะปัจจุบันสามารถผลิตสินค้าได้มีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของตลาด และแข่งขันได้

จาก https://www.posttoday.com   วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2561

ฟังความคิดเห็นโรงงานน้ำตาลหนองคาย

เมื่อวันที่ 27 มีนาคม  บริษัท ไอเอสอีที (ประเทศไทย) จำกัด (บริษัทที่ปรึกษา) ได้รับมอบหมายจากบริษัท วิวรรน์การเกษตร จำกัด ให้ศึกษาและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม นำเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อพิจารณาให้ความเห็นตามที่กำหนดใน พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ก่อนดำเนินโครงการต่อไป โดยจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชน ในรัศมี 5 กิโลเมตรจากจุดตั้งโครงการ ครอบคลุมในพื้นที่ 2 ตำบล คือ ต.จุมพล  และ ต.กุดบง ในเขต อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย ครั้งที่ 1 ต่อข้อร่างข้อเสนอโครงการและขอบเขตการศึกษารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการโรงงานผลิตน้ำตาลทราย 20,000 ตันอ้อย/วัน ระยะเวลาในการศึกษาโครงการ ประมาณ 2 ปี หากได้รับอนุญาตจึงจะก่อสร้างได้

ช่วงเข้าเริ่มเวลา 09.10 น. ที่ศาลาวัดจอมนาง ต.จุมพล อ.โพนพิสัย นายปิยะ  ปิจนำ นายอำเภอโพนพิสัย จ.หนองคาย เป็นประธานในพิธีเปิด ส่วนช่างบ่ายจัดที่ห้องประชุม อบต.กุดบง ต.กุดบง อ.โพนพิสัย  มีนายกิตติวัฒน์  ธนพัฒน์ไพบูลย์  ผู้ชำนาญการสิ่งแวดล้อม บริษัท ไอเอสอีที (ประเทศไทย) จำกัด นำเสนอข้อมูลรายละเอียดโครงการ พร้อมตอบข้อซักถามร่วมกับนายอวยชัย  เจริญยิ่งสุขจินดา ผู้แทนบริษัท วิวรรธาน์การเกษตร จำกัด เปิดโอกาสให้ประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแสดงความคิดเห็น คาดว่าจะมีการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 2 อีกครั้งในปลายเดือนมิถุนายนนี้ ทั้งนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็นที่ศาลาวัดจอมนาง ต.จุมพล  ไม่รวมตัวแทนจากบริษัทที่ปรึกษาและเจ้าของโครงการ รวม 196 คน และที่ห้องประชุม อบต.กุดบง จำนวน 51 คน

นายกิตติวัฒน์นำเสนอข้อมูลว่าโรงงานผลิตน้ำตาลทราย 20,000 ตันอ้อย/วันของบริษัท วิวรรรธน์การเกษตร จำกัด จะตั้งอยู่ในที่บานนาอ่าง ต.จุมพล อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย อยู่ในพื้นที่ต่อเนื่องกับพื้นที่ของโรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาย 30 เมกะวัตต์ ขนาดพื้นที่รวมประมาณ 1,009 ไร่ แบ่งเป็นที่ตั้งโรงงาน 704 ไร่ พื้นที่บ่อผันน้ำของโครงการ 5 ไร่ และพื้นที่แปลงทดลองปลูกอ้อยและบ่อพักน้ำประมาณ  300  ไร่  มีการใช้ระบบสาธารณูปโภคร่วมกันและทำให้สะดวกในงานของการบริหารจัดการในภาพรวม ทั้งในส่วนของความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อพิจารณาข้อมูลพื้นที่ความเหมาะสมในการปลูกอ้อยโดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย พบว่าพื้นที่ส่งเสริมการปลูกอ้อยที่สำคัญของโครงการคือ จ.หนองคาย การตั้งโรงงานผลิตน้ำตาลทรายในเขต ต.จุมพล  อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย จึงมีความเหมาะสมต่อแหล่งวัตถุดิบของโครงการ

หลังการประชุมได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมแสดงความคิดเห็น โดยทั้ง 2 จุดที่มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นมีคล้ายๆ กัน คือวิตกกังวลผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะน้ำเสีย  มลพิษทางอากาศ เสียงและปัญหาเรื่องการจราจร  อีกทั้งเป็นห่วงในเรื่องของน้ำดิบที่จะนำมาใช้ในโรงงาน ที่อาจจะกระทบกับแหล่งน้ำของชุมชน

นายกิตติวัฒน์ได้ชี้แจงว่า จะทำให้ทุกอย่างอยู่ในมาตรฐานเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาทางมลพิษหลังจากที่มีการตั้งโรงงาน ส่วนในเรื่องของการจราจรนั้นจะมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ ส่วนเรื่องน้ำดิบทางโรงงานจะขุดบ่อน้ำดิบขนาดใหญ่ ไม่ต่ำกว่า 1 ล้าน ลบ.ม. ไม่มีการสูบน้ำจากแหล่งน้ำชุมชน ยังจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อควบคุมดูแลจะมีการนำบทเรียนในอดีตมาปรับใช้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2561

พด.เร่งเคลื่อนไทยนิยมยั่งยืน ผ่านกิจกรรมหลัก‘อนุรักษ์ดิน-น้ำ’สร้างรายได้เกษตรกร

นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้เดินทางพร้อมด้วย นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รมช.เกษตรและสหกรณ์ และคณะผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปยังกรมพัฒนาที่ดินเพื่อตรวจเยี่ยม และประชุมมอบนโยบายและแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการขับเคลื่อนการดำเนินงานการตลาดนำการผลิต และโครงการไทยนิยมยั่งยืนของกรมพัฒนาที่ดินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการบริหารงานด้านการเกษตรให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดการบูรณาการทำงานร่วมกัน ทั้งด้านข้อมูล การผลิตการตลาด เพื่อให้เศรษฐกิจฐานรากเกิดความเข้มแข็ง เพื่อพัฒนาภาคเกษตรกรรมของไทยสู่การเป็นภาคเกษตรชั้นนำของโลก โดยใช้การตลาดนำการผลิต และให้การบริหารจัดการสินค้าเกษตรเป็นไปอย่างมีเสถียรภาพด้านทั้งราคาและการตลาด

นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า การดำเนินงานโครงการไทยนิยมยั่งยืน ในส่วนของกรมพัฒนาที่ดิน ประกอบด้วย 3 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการเพิ่มทักษะอาชีพแก่เกษตรกรผู้ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผ่านกิจกรรมฝึกอบรมหลักสูตร ถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการพัฒนาที่ดิน เพื่อให้เกษตรกรได้มีการวางแผนการใช้ที่ดิน และการใช้เทคโนโลยีทางการเกษตรอย่างเหมาะสม ตามสภาพของดินและการใช้ประโยชน์ ที่ดินสอดคล้องกับมาตรการโครงการรองรับการพัฒนาคุณภาพชีวิต มิติที่ 2 การฝึกอบรมอาชีพและการศึกษา และให้เกษตรกรกว่า 9,600 ราย ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาทรัพยากรที่ดิน การพัฒนาที่ดินเพื่อทำการเกษตรอย่างเหมาะสมและยั่งยืน

2.โครงการสร้างฝายชะลอน้ำของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผ่านกิจกรรมสร้างฝายชะลอน้ำเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำโดยมีเป้าหมายอยู่ที่ 1,097 แห่ง ใน45 จังหวัด ซึ่งการสร้างฝายชะลอน้ำเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำนั้น กรมพัฒนาที่ดิน ได้น้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เกี่ยวกับฝายมาประยุกต์ใช้ และพัฒนารูปแบบ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ทรัพยากรดินและน้ำในบริเวณพื้นที่ดำเนินโครงการ ให้มีแหล่งกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งเพื่อการทำเกษตรกรรม ลดปัญหาการชะล้างพังทลายของหน้าดิน และยังเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ โดยจะคัดเลือกพื้นที่ภายใต้เขตพัฒนาที่ดิน ที่มีศักยภาพในการพัฒนาและอยู่นอกเขตป่าไม้ และมีการชี้แจงเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่เกษตรกรในพื้นที่โดยรอบเกี่ยวกับการใช้น้ำเพื่อการเกษตร การหยุดทำลายป่าไม้ ให้มีความรู้สึกรักหวงแหนและเต็มใจที่จะช่วยกันรักษาธรรมชาติให้เกิดความสมดุลต่อไป

3.โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมในการปลูกข้าวเพื่อผลิตสินค้าเกษตรอื่นที่เหมาะสม กรมพัฒนาที่ดิน ได้ดำเนินการผ่านกิจกรรมการอนุรักษ์ดินและน้ำ เพื่อปรับเปลี่ยนการผลิตพืชในพื้นที่ไม่เหมาะสม(N) ไปทำเกษตรผสมผสานในพื้นที่ไม่เหมาะสมแทนการปลูกข้าว ภายใต้นโยบายการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก(Agri-Map) ที่ใช้เป็นแผนที่สำหรับบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การเพาะปลูก ผลผลิตรายจังหวัด ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ปัจจุบันและอนาคต อีกทั้งพื้นที่ ที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าวได้รับการปรับเปลี่ยนไปเป็นพืชที่เหมาะสม และเกษตรกรเจ้าของพื้นที่มีรายได้ ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจากการปรับเปลี่ยนไปผลิตพืชอื่นที่เหมาะสม สามารถกำหนดแนวทางการเพาะปลูกพืชอายุสั้นที่ได้ผลผลิตเร็วได้ด้วยตนเอง รวมถึงลดซัพพลายส่วนเกินจากตลาดที่เป็นผลให้ผลผลิตข้าวมีราคาตกต่ำและไม่มีคุณภาพ ซึ่งเป้าหมายเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 860 ราย ใน 13 จังหวัด และลดพื้นที่ปลูกข้าวในพื้นที่ไม่เหมาะสม 6,832 ไร่

จาก http://www.naewna.com วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2561

เกษตรฯเดินหน้าขับเคลื่อน ใช้ประโยชน์‘BIG DATA’

นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้จัดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการ“การใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่” (Big Data) โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นหัวหน้าส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจในสังกัด และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกว่า 130 คน เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้รับความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ตามแนวทางของรัฐบาลและกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดโอกาสให้มีการอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อแนวทางการใช้ประโยชน์ รวมทั้งให้ผู้เข้าร่วมประชุมสามารถระบุเจาะจงระบบข้อมูลร่วมกับการจัดทําระบบข้อมูล และชี้เป้าการใช้ประโยชน์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์ในแง่มุมต่างๆ

นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการแต่งตั้งคณะทํางานพัฒนาระบบข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) จํานวน 4 คณะทํางาน ได้แก่ ด้านข้อมูลเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ด้านข้อมูลสินค้าเกษตร ด้านข้อมูลที่ดินและพื้นที่เกษตรกรรม ด้านข้อมูลน้ำและการชลประทาน คณะทํางานแต่ละด้านซึ่งมีท่านผู้ตรวจราชการกระทรวง และรองอธิบดีกรมเป็นประธานดําเนินงาน ได้ดําเนินการรวบรวมชุดข้อมูลสําคัญเป็น Big Data ด้านการเกษตร พร้อมกําหนดแนวทางการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ โดยมีเป้าหมายหลักคือ ให้มีการเปิดเผย แลกเปลี่ยน ใช้งานข้อมูลระหว่างหน่วยงานได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกร และการกําหนดนโยบายภาคการเกษตร ที่ตรงความต้องการของเกษตรกร ตรงความเดือดร้อน และตรงพื้นที่

จาก http://www.naewna.com วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2561

“หนองคาย” เตรียมรับโรงงานน้ำตาล เปิดเวทีรับฟังความเห็น ปชช.หวั่นกระทบสิ่งแวดล้อม-จราจร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (27 มีนาคม 61) บริษัท ไอเอสอีที (ประเทศไทย) จำกัด (บริษัทที่ปรึกษา) ที่ได้รับมอบหมายจากบริษัท วิวรรธน์การเกษตร จำกัด ให้ดำเนินการศึกษาและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ นำเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อดำเนินการพิจารณาให้ความเห็นตามที่กำหนดใน พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ก่อนดำเนินโครงการต่อไป

โดยได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่อยู่ในรัศมี 5 กม.จากจุดตั้งโครงการ ที่ครอบคลุมในพื้นที่ 2 ตำบล คือ ต.จุมพล และ ต.กุดบง ในเขต อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย ครั้งที่ 1 ต่อร่างข้อเสนอโครงการและขอบเขตการศึกษารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการโรงงานผลิตน้ำตาลทราย 20,000 ตันอ้อย/วันขึ้น โดยระยะเวลาในการศึกษาโครงการฯ ประมาณ 2 ปี หากได้รับอนุญาตจึงจะสามารถดำเนินการก่อสร้างได้

ช่วงเช้าเริ่มขึ้นเวลา 09.10 น. จัดที่ศาลาวัดจอมนาง ต.จุมพล อ.โพนพิสัย มีนายปิยะ ปิจนำ นายอำเภอโพนพิสัย เป็นประธานพิธีเปิด ส่วนในช่วงบ่ายจัดขึ้นที่ห้องประชุม อบต.กุดบง ต.กุดบง อ.โพนพิสัย มีนายกิตติวัฒน์ ธนพัฒน์ไพบูลย์ ผู้ชำนาญการสิ่งแวดล้อม บริษัท ไอเอสอีที (ประเทศไทย) จำกัด ได้นำเสนอข้อมูลรายละเอียดของโครงการ พร้อมตอบข้อซักถามร่วมกับนายอวยชัย เจริญยิ่งสุขจินดา ผู้แทนของบริษัท วิวรรธน์การเกษตร จำกัด

ซึ่งการประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น หรือข้อห่วงกังวลต่อขอบเขตและแนวทางการศึกษาการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ และเพื่อสรุปประเด็น ข้อกังวล และข้อเสนอแนะขากประชาชน ผู้มีส่วนได้เสียจากการประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ และคาดว่าจะมีการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนฯครั้งที่ 2 อีกครั้งในปลายเดือนมิถุนายน 61 นี้ จะมีผู้เข้าร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็นที่ศาลาวัดจอมนาง ต.จุมพล ไม่รวมตัวแทนจากบริษัทที่ปรึกษาและเจ้าของโครงการฯ รวม 196 คน และที่ห้องประชุม อบต.กุดบง จำนวน 51 คน

นายกิตติวัฒน์ ธนพัฒน์ไพบูลย์ ผู้ชำนาญการสิ่งแวดล้อม บริษัท ไอเอสอีที (ประเทศไทย) จำกัด ได้นำเสนอข้อมูลรายละเอียด ของโครงการว่า โครงการโรงงานผลิตน้ำตายทราย 20,000 ตันอ้อย/วัน ของบริษัท วิวรรธน์การเกษตร จำกัด ตั้งอยู่ในที่บ้านนาอ่าง ต.จุมพล อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย ซึ่งโครงการตั้งอยู่ในพื้นที่ต่อเนื่องกับพื้นที่ของโรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาด 30 เมกะวัตต์ มีขนาดพื้นที่โดยรวมประมาณ 1,009-3-72 ไร่ โดยแบ่งเป็นพื้นที่ตั้งโรงงานประมาณ 704-0-71 ไร่ พื้นที่บ่อผันน้าของโครงการประมาณ 5-3-1 ไร่ และพื้นที่แปลงทดลองปลูกอ้อยและบ่อพักน้ำที่นำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ ประมาณ 300 ไร่ จึงมีการใช้ระบบสาธารณูปโภคร่วมกัน และทำให้สะดวกในงานของการบริหารจัดการในภาพรวม ทั้งในส่วนของความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ทำเลที่ใกล้แหล่งพื้นที่ปลูกอ้อย ซึ่งเป็นวัตถุดิบของโครงการเป็นสำคัญ จากรายงานผลการสำรวจพื้นที่ปลูกอ้อยที่จัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลประจำปี 2559/2560 พบว่า จ.หนองคาย มีพื้นที่ปลูกอ้อยโดยรวมประมาณ 64,352 ไร่ ซึ่ง อ.โพนพิสัย ที่เป็นพื้นที่โครงการ มีพื้นที่ปลูกอ้อยประมาณ 3,666 ไร่ ประกอบกับขนาดของพื้นที่ที่จะดำเนินการก่อสร้างโรงงานและระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ในการดำเนินงานต้องการพื้นที่ขนาดใหญ่และเพียงพอในการออกแบบ ประกอบกับอยู่ใกล้กับแหล่งวัตถุดิบเพื่อสะดวกในการขนส่งและลดต้นทุนของเกษตรกรที่ปลูกอ้อย

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาข้อมูลพื้นที่ที่มีศักยภาพและมีความเหมาะสมในการปลูกอ้อย โดยพิจารณาจากความเหมาะสมของดินในระดับต่าง ๆ ที่จัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย พบว่าพื้นที่ส่งเสริมการปลูกอ้อยที่สำคัญของโครงการคือ จ.หนองคาย มีความเหมาะสมและศักยภาพในการปลูกอ้อย ปัจจุบันโครงการอยู่ระหว่างการให้ความรู้กับเกษตรกรและผู้สนใจในการปลูกอ้อย โดยมีทีมอาจารย์และนักวิชาการเกษตรดำเนินการศึกษาความเหมาะสมของชุดดินและพันธุ์อ้อยที่จะปลูกในพื้นที่ ดังนั้นการตั้งโรงงานผลิตน้ำตาลทรายในเขต ต.จุมพล อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย จึงมีความเหมาะสมต่อแหล่งวัตถุดิบของโครงการ

หลังการประชุมชี้แจงรายละเอียดโครงการ ได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมแสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ข้อวิตกกังวล ซึ่งทั้ง 2 จุดที่มีการประชุมรับฟังความคิดเห็น มีคล้าย ๆ กัน คือวิตกกังวลในเรื่องของผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในเรื่องของน้ำเสีย มลพิษทางอากาศ เสียง และปัญหาการจราจร อีกทั้งยังมีความเป็นห่วงในเรื่องของน้ำดิบที่จะนำมาใช้ในโรงงาน ที่อาจจะกระทบกับแหล่งน้ำของชุมชน

ซึ่งนายกิตติวัฒน์ ก็ได้ชี้แจงรายละเอียดในแต่ละเรื่องให้ผู้ที่เข้าประชุมได้ทราบข้อเท็จจริง เกี่ยวกับมาตรการต่าง ๆ ที่จะทำให้ทุกอย่างอยู่ในมาตรฐาน เช่น มีการนำแผ่นพลาสติกปูพื้นบ่อบำบัดน้ำเสีย การก่อสร้างโรงงานที่มิดชิด มีการปลูกพรรณต้นไม้ที่มีความเหมาะสม เป็นต้น ส่วนในเรื่องของการจราจร จะมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ เช่น มีลานจอดสำหรับรถบรรทุกอ้อย ไม่ให้รถบรรทุกอ้อยเข้าในพื้นที่ชุมชนในช่วงเวลาเร่งด่วน เป็นต้น ส่วนเรื่องน้ำดิบที่จะใช้ในโรงงาน จะมีการขุดบ่อน้ำดิบขนาดใหญ่ ความจุไม่ต่ำกว่า 1 ล้าน ลบ.ม. จะมีการกักเก็บน้ำในช่วงฤดูฝนไว้ใช้ในโรงงาน โดยจะไม่มีการสูบน้ำจากแหล่งน้ำในชุมชนอย่างเด็ดขาด นอกจากนี้ยังจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อควบคุมดูแล ซึ่งมีประชาชนและผู้นำชุมชนเข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการมากกว่าครึ่งหนึ่ง จะมีหน้าที่ตรวจสอบตั้งแต่เริ่มต้นการก่อสร้างโรงงานจนถึงโรงงานก่อสร้างแล้วเสร็จ และเปิดดำเนินการ

นายปิยะ ปิจนำ นายอำเภอโพนพิสัย กล่าวว่า โครงการนี้ถือเป็นโครงการที่ดีที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจของ อ.โพนพิสัย โดยเฉพาะในเขตเมือง ต.จุมพล และกุดบง ซึ่งอำเภอโพนพิสัย ในอนาคตไม่เกิน 2 ปี เมื่อมีการเชื่อมต่อระบบรถไฟจาก สปป.ลาว มาหนองคาย ขณะนี้อำเภอโพนพิสัยมีความพร้อมจะเป็นศูนย์กลางทางด้านเศรษฐกิจ ไม่เฉพาะการขายน้ำตาลไปที่จีน เนื่องจากขณะนี้มีการก่อสร้างโรงฆ่าสัตว์ที่ได้มาตรฐานและใหญ่ที่สุดในประเทศ มีสหกรณ์ผู้เลี้ยงโควากิว ซึ่งเมื่อผลิตแล้วสามารถส่งขายไปยังต่างประเทศได้ นอกจากนี้ยังมีจุดผ่อนปรนไทย-ลาว ที่มีมูลค่าการค้าเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ อยู่ที่ 5-7 แสนบาท/วัน ขณะนี้ตนได้ทำเรื่องขอเพิ่มจำนวนวันให้เปิดมากขึ้น

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 27 มีนาคม 2561

ก.เกษตรฯ เร่งทำฝนหลวงเติมน้ำช่วยภัยแล้ง

ก.เกษตรฯ เร่งทำฝนหลวงเติมน้ำ ช่วยภัยแล้งและพื้นที่ประสบปัญหาหมอกควันทางภาคเหนือ

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า จากสภาพปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่การเกษตร ปริมาณน้ำในเขื่อนบางเขื่อนยังอยู่ในระดับปานกลาง รวมถึงปัญหาหมอกควันที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จึงเร่งปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่ดังกล่าวอย่างเร่งด่วน โดยมอบหมายให้ทุกหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง ปฏิบัติภารกิจในพื้นที่ที่รับผิดชอบ สำหรับในด้านการช่วยเหลือบรรเทาปัญหาหมอกควันและไฟป่าทางภาคเหนือ ได้มอบหมายให้หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดพิษณุโลก ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

อย่างไรก็ตาม กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ทุกหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง ยังคงติดตามสถานการณ์ปัญหาภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง และศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ ยังคงติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์หมอกควันในพื้นที่อย่างใกล้ชิดเช่นกัน โดยพร้อมที่จะขึ้นบินปฏิบัติการช่วยเหลือพื้นที่ร้องขอทันที ที่สภาพอากาศเหมาะสม และจะประสานกับประชาชนเพื่อหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เช่น พื้นที่เก็บเกี่ยวผลผลิต เป็นต้น

จาก www.bangkokbiznews.com   วันที่ 27 มีนาคม 2561

จับยามสามตา เกษตรไทยยุค 4.0

“จีดีพีเกษตร”...ไตรมาส 1 ปี 2561 เทียบกับปีที่แล้ว ทุกสาขาการผลิต ทั้งพืช ปศุสัตว์ ประมง บริการทางการเกษตร และป่าไม้ ต่างพาเหรดขยายตัวเพิ่มขึ้น...ขยายตัวร้อยละ 3.8

ข้อมูลจาก สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า ปัจจัยสนับสนุนสำคัญ คือ “ปริมาณน้ำ”...ที่ใช้การได้ในอ่างเก็บน้ำสำคัญ มีเพียงพอต่อการเพาะปลูกพืช มีการบริหารจัดการน้ำและจัดสรรน้ำอย่างเหมาะสมประกอบกับสภาพอากาศในพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศเอื้ออำนวยต่อการผลิต ทำให้พืชเศรษฐกิจหลักหลายชนิดมีทิศทางเพิ่มขึ้น แม้ว่าในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา หลายจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ซึ่งเป็นแหล่ง หลายจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ซึ่งเป็นแหล่งผลิตยางพารา ปาล์มน้ำมัน และกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงที่สำคัญ จะประสบปัญหาน้ำท่วม กระทบต่อผลผลิตสินค้าเกษตรบางส่วนที่ออกสู่ตลาดในช่วงไตรมาสนี้... แต่เมื่อพิจารณาในภาพรวมแล้ว พบว่าไม่กระทบต่อเศรษฐกิจการเกษตรมากนัก

สำหรับการผลิตสินค้า “ปศุสัตว์” เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการขยายการผลิตเพื่อรองรับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ประกอบกับมีระบบการผลิตที่ได้คุณภาพมาตรฐาน

ส่วนการผลิตสินค้า “ประมง” การผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงเพิ่มขึ้นจากการบริหารจัดการฟาร์มที่ดี และในการเลี้ยง “สัตว์น้ำจืด” ก็มีทิศทางเพิ่มขึ้นจากปริมาณน้ำที่เพียงพอและสภาพอากาศเอื้ออำนวย

ผนวกรวมกับปัจจัยเสริมด้านนโยบาย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดแนวทางการพัฒนาการเกษตรในหลายด้าน เช่น ตลาดนำการผลิต การทำการเกษตรแบบผสมผสาน การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม การบูรณาการในระดับพื้นที่ รวมถึงการน้อมนำหลักการทรงงานและเกษตรทฤษฎีใหม่มาใช้

ดินหน้าดำเนินการภายใต้นโยบายด้านการเกษตรที่สำคัญต่างๆ เร่งขยายผลให้ครอบคลุมทั้งประเทศมากขึ้น อาทิ ระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) การพัฒนาเกษตรกรสู่ “สมาร์ทฟาร์มเมอร์...(Smart Farmer)”

บริหารจัดการพื้นที่เกษตรตามแผนที่การเกษตรเชิงรุก การบริหารการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ตลาดสินค้าเกษตร สนับสนุนการวางแผนการผลิตสอดคล้องกับความต้องการของตลาด ยกระดับมาตรฐานการผลิต

อีกทั้งยังมีภาวะ “เศรษฐกิจโลก” ที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นตัวเสริม บวกกับความเชื่อมั่นของประเทศคู่ค้าที่มีต่อสินค้าเกษตรไทย ส่งผลให้การส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์มีแนวโน้มดีขึ้น

หากลงลึกรายละเอียดในแต่ละสาขา จะพบว่า สาขาพืชในไตรมาส 1 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 4.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 ผลผลิตพืชสำคัญที่เพิ่มขึ้นได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงาน สับปะรดโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และลำไย

พุ่งเป้าไปที่ “ข้าวนาปี”...น่าสนใจว่ามีผลผลิตเพิ่มขึ้นเนื่องจากปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูกและเจริญเติบโตของต้นข้าว...ทำให้เกษตรกรในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางสามารถปลูกข้าวนาปีรอบสองได้

เหลียวมองไปที่ “ข้าวนาปรัง”...ก็มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่มีมากกว่าปีที่ผ่านมา ประกอบกับราคาข้าวที่เกษตรกรขายได้เพิ่มขึ้น ทำให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้นในพื้นที่นาที่เคยปล่อยว่าง และ “ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์” เองก็มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาที่เกษตรกรขายได้มีแนวโน้มสูงขึ้น จูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูกแทนการปล่อยพื้นที่ให้ว่าง

มาถึง “อ้อยโรงงาน”...มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนให้เปลี่ยนพื้นที่เพาะปลูกข้าวที่ไม่เหมาะสมมาปลูกอ้อยโรงงานแทน รวมถึงโรงงานน้ำตาลมีการสนับสนุน ส่งเสริมการปลูกอ้อย

อีกทั้ง “สับปะรดโรงงาน” ก็มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาที่เกษตรกรขายได้ในปี 2558-2559 อยู่ในเกณฑ์ดี จูงใจให้เกษตรกรขยายเนื้อที่ปลูกในพื้นที่ที่ปล่อยว่าง รวมทั้งปลูกแซมในสวนยางพารา และปลูกใหม่ทดแทนมันสำปะหลัง ส่วน “ยางพารา”...มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากในปี 2555 มีการปลูกต้นยางแทนพื้นที่พืชไร่ ไม้ผล นาข้าว และพื้นที่ตัดโค่นต้นยางที่มีอายุมากแล้วปลูกใหม่ทดแทน

คราวนี้ก็ถึงคิว “ปาล์มน้ำมัน”...มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากเนื้อที่ให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากต้นปาล์มน้ำมันที่ปลูกใหม่ในปี 2558 เริ่มให้ผลผลิตในปีนี้ ประกอบกับในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา มีปริมาณน้ำฝนเพียงพอต่อความต้องการของต้นปาล์ม จึงทำให้ต้นปาล์มสมบูรณ์และมีทะลายเพิ่มขึ้น และ “ลำไย”...มีผลผลิตเพิ่มขึ้นเนื่องจากต้นลำไยที่ปลูกในปี 2558 เริ่มให้ผลผลิต และมีปริมาณน้ำฝนเพียงพอต่อการออกดอกติดผล

เมียงมองด้านราคา...ช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ 2561 พบว่า สินค้าพืชที่มีราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ลำไย น่าสนใจว่า “ข้าว”...มีราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาข้าวเป็นไปตามกลไกตลาด ผู้ประกอบการส่งออกก็ต้องการข้าวเพื่อทยอยส่งมอบตามคำสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้า

พาเหรดตามกันมา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์...มีราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีความต้องการใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์อย่างต่อเนื่อง มันสำปะหลัง...มีราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณผลผลิตลดลงทำให้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ประกอบการ...ส่งออก ส่วน ลำไย...ราคาก็เพิ่มด้วยคุณภาพที่มีมากขึ้นตามความต้องการตลาด

ครบรอบ 39 ปี...ก้าวสู่ทศวรรษที่ 4 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ยกระดับภาคเกษตรอย่างยั่งยืน วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาฯ สศก. บอกว่า เรามุ่งมั่นปฏิบัติภารกิจอย่างรอบด้าน ทั้งการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย แผนพัฒนาการเกษตร มาตรการทางการเกษตร การสำรวจ ศึกษา...วิเคราะห์ข้อมูลด้านเศรษฐกิจการเกษตรในทุกมิติ ทั้งสถานการณ์การผลิต การพยากรณ์ผลผลิต ต้นทุน ราคา...รายได้เกษตรกร

“ชี้นำในการพัฒนา...จัดทำยุทธศาสตร์เกษตรของประเทศ ไปสู่การบริหารจัดการ”

ร่างยุทธศาสตร์เกษตรและสหกรณ์ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี เพื่อเป็นกรอบการพัฒนาภาคการเกษตรในระยะยาว ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) ให้สามารถบรรลุวิสัยทัศน์ “เกษตรกรมั่นคง ภาคการเกษตรมั่งคั่ง ทรัพยากรการเกษตรยั่งยืน”...รวมทั้งการเดินหน้าตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0

ศึกษา วิเคราะห์ วิจัยด้านเศรษฐกิจการเกษตรนำไปสู่การปฏิรูปภาคเกษตร...เกษตรกรสมาร์ทฟาร์มเมอร์นำไปใช้ สอดคล้องกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ปรับใช้ในการวางแผนผลิต...การบริหารจัดการ ปี 2561 กระทรวงเกษตรฯกำหนดให้เป็น “ปีแห่งการพัฒนาคน และยกระดับการบริหารจัดการ” รองรับเกษตร 4.0 ผ่าน 16 นโยบายที่สำคัญ เช่น  ศูนย์เรียนรู้ฯ ศพก., ประกันภัยการเกษตร, เศรษฐกิจ ชีวภาพ, เกษตรแม่นยำสูง นับรวมไปถึงเป้าหมาย...การยุติความหิวโหย เพื่อบรรลุความมั่นคงทางอเพื่อบรรลุความมั่นคงทางอาหาร...ยกระดับโภชนาการ และส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน ของสหประชาชาติ น้อมนำ “ศาสตร์พระราชา”...“การบริหารจัดการสมัยใหม่” ขับเคลื่อนงาน...บูรณาการร่วมกับทุกหน่วยงาน

จับยามสามตา “เกษตรกรไทยยุค 4.0” ก้าวไปข้างหน้าด้วย “ข้อมูล”...“บริหารจัดการ” เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน.

จาก https://www.thairath.co.th วันที่ 27 มีนาคม 2561

เงินบาทขยับแข็งค่า 31.10 บาทต่อดอลลาร์ฯ ตามกระแสข่าวสหรัฐ-จีนเจรจาความขัดแย้ง

เงินบาทขยับแข็งค่าต่อเนื่อง 31.10-31.15 บาทต่อดอลลาร์ฯ สอดคล้องกับภูมิภาคหลังจีน-สหรัฐฯ เจรจาความขัดแย้งการค้า จับตาตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุเงินบาทขยับแข็งค่าต่อเนื่องมาที่ระดับประมาณ 31.10-31.15 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ (จากระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 31.145 บาทต่อดอลลาร์ฯ) โดยการแข็งค่าของเงินบาท ยังเป็นทิศทางที่สอดคล้องกับสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค และสินทรัพย์เสี่ยงที่มี sentiment ที่ดีขึ้นรับข่าวที่จะมีการเจรจาระหว่างจีนและสหรัฐฯ เพื่อแก้ไขความขัดแย้งทางการค้า

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้คาดไว้ที่ 31.00-31.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยตลาดยังคงติดตามความคืบหน้าในประเด็นเกี่ยวกับมาตรการทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ตลอดจนคู่ค้าอื่นๆ ขณะที่ ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ สำคัญ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และดัชนีราคาบ้านของสหรัฐฯ

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 27 มีนาคม 2561

ทัพธุรกิจ บุกลงทุนอีอีซีต่อเนื่อง

หลังจากรัฐบาลพยายามผลักดันโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) อย่างต่อเนื่อง ทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาระบบขนส่งอย่างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบิน เพื่อส่งเสริมการเดินทางไร้รอยต่อ การมุ่งพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นสนามบินนานาชาติแห่งที่ 3 รวมถึงมีการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนลงทุนทั้งในจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง

ข้อมูลจากศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 4 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน รายงานโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมในพื้นที่อีอีซี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-28 กุมภาพันธ์ 2561 ว่า มีโครงการที่ได้รับการอนุมัติส่งเสริมทั้งหมด 71 โครงการ

โดยมีโครงการที่ได้รับอนุมัติลงทุนมากสุดที่จังหวัดชลบุรี 36 โครงการ เงินลงทุนกว่า 13,666 ล้านบาท เกิดการจ้างแรงงานไทยประมาณ 2,579 คน รองลงมาเป็นจังหวัดระยอง 25 โครงการ เงินลงทุน 6,466 ล้านบาท เกิดการจ้างแรงงานไทย 602 คน และจังหวัดฉะเชิงเทรา 10 โครงการ เงินลงทุน 5,165 ล้านบาท จ้างแรงงานไทย 569 คน

ขณะที่ปี 2560 ช่วงเดือนมกราคม-พฤศจิกายน มีโครงการที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมในพื้นที่ EEC ทั้งหมด 300 โครงการ เงินลงทุนกว่า 252,692 ล้านบาท

เกิดการจ้างงาน 23,290 คน ซึ่งจังหวัดชลบุรียังครองอันดับโครงการที่ได้อนุมัติมากที่สุด 153 โครงการ เงินลงทุน 115,680 ล้านบาท รองลงมาเป็นจังหวัดระยอง 105 โครงการ 106,231 ล้านบาท และฉะเชิงเทรา 42 โครงการ เงินลงทุน 30,781 ล้านบาท ตามลำดับ

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 26 มีนาคม 2561

ค่าบาท 'แข็งค่า' ตลาดเกาะติดสงครามการค้า

 บาทเปิดตลาดเช้านี้แข็งค่า "31.18 บาทต่อดอลลาร์" จับตาแรงกดดันสงครามการค้า ลดอาจลดถือครองเงินบาทลงบ้างเพื่อปรับลดความเสี่ยง คาดประชุมกนง.รอบนี้คงดอกเบี้ย1.5% ทั้งปี

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 31.18บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากช่วงปิดท้ายสัปดาห์ก่อนที่ 31.23 บาทต่อดอลลาร์

โดยช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาค่าเงินบาทแกว่งตัวในกรอบแคบ 31.15 -31.30 บาทต่อดอลลาร์ แม้จะมีแรงกดดันจากตลาดที่ปิดรับความเสี่ยง และการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ แต่ค่าเงินบาทก็อ่อนค่าลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ในสัปดาห์นี้มองว่าค่าเงินบาทน่าจะยังไม่ไปไหนไกล แต่ยังต้องติดตามปัญหาสงครามการค้าที่เริ่มก่อตัว อาจเพิ่มแรงกดดันให้นักลงทุนต้องปรับลดความเสี่ยง และลดการถือครองเงินบาทลงบ้าง อย่างไรก็ตามเรายังเชื่อว่าเงินจะไม่ไหลกลับไปที่ดอลลาร์ทันทีเช่นกัน เนื่องจากยังมีความเสี่ยงการเมืองและในระยะสั้นยังไม่มีตัวเลขเศรษฐกิจที่ดีขึ้นมาหนุน กรอบเงินบาทวันนี้ 31.15 -31.25 บาทต่อดอลลาร์ และกรอบเงินบาทรายสัปดาห์ 31.10 -31.60 บาทต่อดอลลาร์

สำหรับสิ่งที่ต้องจับตาในสัปดาห์นี้ คือ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคในสหรัฐ เงินเฟ้อ การประชุมกนง. และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของจีน

ในวันอังคาร ตัวเลขความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐ (CB Confidence index) ล่าสุดอยู่ที่ระดับ 130.8 สูงที่สุดในรอบ 18 ปี เนื่องจากการจ้างงานที่ยังอยู่ในระดับสูง มีโอกาสที่จะปรับตัว “ลง” ถ้านักธุรกิจในสหรัฐมีความกังวลกับสงครามการค้า และไม่มั่นใจในการเมือง

ในวันพุธ การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่าจะมีมติ “คง” อัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 1.5% ไม่เปลี่ยนแปลง มองว่า ธปท. จะส่งสัญญาณเช่นเดิมว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในขณะนี้ยังมีความเหมาะสมและความเสี่ยงด้านเสถียรภาพเป็นประเด็นที่ทำให้ธปท.ไม่สามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงได้ไปกว่านี้

วันพฤหัส ในสหรัฐจะมีการรายงานตัวเลขเงินเฟ้อ (PCE) คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้น 0.2% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ตามรายได้ที่ปรับตัวสูงขึ้นและการออมที่ปรับตัวลดลง ขณะที่ในวันศุกร์ก็จะมีการรายงานเงินเฟ้อในญี่ปุ่น (Tokyo CPI) เช่นกัน คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้น 1.3% เมื่อเทียบกับปีก่อนจากแรงหนุนของราคาอาหาร ย้ำภาพเงินเฟ้อที่เริ่มเป็นขาขึ้นทั่วโลก

วันศุกร์ ต้องจับตาดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของจีน (Caixin Manufacturing PMI) ที่ทรงตัวมาตลอดในช่วงตั้งแต่ต้นปีเพราะการลงทุนของรัฐวิสากิจชะลอตัว เชื่อว่าความกังวลเรื่องสงครามการค้าอาจกดดันภาพรวมธุรกิจในจีนในระยะสั้นเช่นกัน

จาก www.bangkokbiznews.com  วันที่ 26 มีนาคม 2561

พัฒนาแหล่งนํ้า อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

               ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ได้สั่งการให้เร่งรัดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในด้านการพัฒนาแหล่งน้ำที่ยังไม่ได้ดำเนินการ ซึ่งมีอยู่จำนวน 168 โครงการ ให้แล้วเสร็จตามแผนงานที่วางไว้ โดยให้ดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการและติด ตามประเมินผลอย่าง เป็นระบบ

               ทั้งนี้คณะอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งมีนายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี เป็นประธานคณะอนุกรรมการฯ ได้ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าและขับเคลื่อนโครงการฯ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันรวม 6 ครั้ง จำนวน 36 โครงการ โดยครั้งล่าสุดคือครั้งที่ 6 มีจำนวน 13 โครงการ

               ประกอบด้วย โครงการที่ได้รับจัดสรรงบประมาณจากสำนักงาน กปร.จำนวน 1 โครงการ ได้แก่ โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยลอย ต.วังทอง อ.วังเหนือ จ.ลำปาง ปัจจุบันมีผลงานก่อสร้างร้อยละ 30 ส่วนโครงการที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงาน กปร.เพื่ออนุมัติงบดำเนินงานก่อสร้าง ในปีงบประมาณ 2561 จำนวน 5 โครงการ ได้แก่ โครงการสถานีสูบน้ำแม่เชียงรายลุ่ม 2 พร้อมระบบส่งน้ำ ต.แม่พริก อ.แม่พริก จ.ลำปาง โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่เย๊าะพร้อมระบบส่งน้ำ ต.เวียงมอก อ.เถิน จ.ลำปาง อยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE)

                โครงการฝายแม่อางบ้านน้ำล้อม ต.บ้านแลง อ.เมือง จ.ลำปาง โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยเฮี้ยพร้อมระบบส่งน้ำ ต.นิคมพัฒนา อ.เมือง จ.ลำปาง และโครงการอ่างเก็บน้ำแม่อาง ต.บ้านแลง อ.เมือง จ.ลำปาง

                 นอกจากนี้เป็นโครงการที่อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อม จำนวน 7 โครงการ เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กจำนวน 5 โครงการ ประกอบด้วย โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแหน ต.แม่ทะ อ.แม่ทะ จ.ลำปาง มีความจุ 192,000 ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) ส่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกได้ 300 ไร่ โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่สุย ต.บ้านค่า อ.เมือง จ.ลำปาง สามารถช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูก 3,000 ไร่ โครงการฝายแม่อางบ้านดงพร้อมระบบส่งน้ำ ต.บ้านแลง อ.เมือง จ.ลำปาง โครงการอ่างเก็บน้ำแม่จางตอนบน ต.จาเหนือ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง มีความจุ 1.44 ล้านลบ.ม. สามารถช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกได้ 1,500 ไร่ และโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่เคียน ต.ปงเตา อ.งาว จ.ลำปาง มีความจุที่ระดับเก็บกัก 2.67 ล้านลบ.ม. สามารถช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูก 1,800 ไร่

                  ส่วนอีก 2 โครงการ เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง ซึ่งจะต้องทำการศึกษาความเหมาะสมและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เนื่องจากพื้นที่ก่อสร้างและพื้นที่น้ำท่วมอยู่ทั้งในเขตป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ และพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1A ประกอบด้วย โครงการอ่างเก็บน้ำแม่บอม (แม่ตุ๋ย) ต.บ้านขอ อ.เมืองปาน จ.ลำปาง มีความจุที่ระดับเก็บกัก 10.24 ล้านลบ.ม. ช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกได้ประมาณ 6,000 ไร่ และโครงการอ่างเก็บน้ำแม่งาว ต.บ้านร้อง อ.งาว จ.ลำปาง มีความจุที่ระดับเก็บกัก 18.81 ล้านลบ.ม. สามารถช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกได้ประมาณ 13,628 ไร่

                นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีฝ่ายก่อสร้าง กรมชลประทาน ได้รายงานสรุปผลการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั้ง 36 โครงการ ที่ได้ลงพื้นที่ติดตามคณะองคมนตรี ทั้ง 6 ครั้งว่า ในจำนวน 36 โครงการดังกล่าว กรมชลประทานได้ดำเนินการของบประมาณปี 2561 จาก กปร.จำนวน 19 โครงการ เป็นโครงการที่แล้วเสร็จภายในปี 2561 จำนวน 16 โครงการ และเป็นโครงการต่อเนื่องอีก 3 โครงการ ส่วนที่เหลืออีก 17 โครงการ จะดำเนินการของบประมาณในปีต่อ ๆ ไป

                 นอกจากนี้ในจำนวน 36 โครงการดังกล่าว ยังได้ขอดำเนินการเปลี่ยนแปลงงบประมาณปี 2561 เพื่อศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม จำนวน 1 โครงการ และการประสานงานขอช่างรังวัดเพิ่มเติม เพื่อปฏิบัติงานรังวัดที่ดินให้กับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ปี พ.ศ. 2561–2562 จำนวน 6 โครงการ

               “กรมชลประทานจะจัดทำกรอบระยะเวลา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการกำกับ ติดตาม และขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริให้เป็นไปตามเป้าหมายทุกโครงการ” นายประพิศ กล่าว.

จาก https://www.dailynews.co.th วันที่ 26 มีนาคม 2561

ไทยติดร่างแหการค้าโลกป่วน ส่งออกระส่ำหยุดรับออร์เดอร์

สงครามการค้า “สหรัฐ-จีน” เอฟเฟ็กต์ทั่วโลก พาณิชย์ตั้งรับกระทบเป้าส่งออก เผยไทยเจอเต็ม ๆ มูลค่าส่งออกไปจีน 11.6% “ศุภวุฒิ สายเชื้อ” ชี้สถานการณ์การค้าโลกป่วน ผู้ส่งออกระส่ำหวั่นบาทแข็งซ้ำเติมผู้ประกอบการ จับตาหยุดรับออร์เดอร์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากสหรัฐได้ประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าเหล็กในอัตรา 25% และอะลูมิเนียมในอัตรา 10% โดยยกเว้นนโยบายนี้เป็นพิเศษให้กับแคนาดาและเม็กซิโก ล่าสุด ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ลงนามในคำสั่งเพิ่มอัตราภาษีศุลกากรกว่า 1,300 รายการ ซึ่งมีเป้าหมายจะเก็บภาษีเพิ่มกว่า 50,000 ล้านดอลลาร์ โดยให้เหตุผลว่าเป็นผลจากการที่จีนละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอเมริกา ขณะที่ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวว่า การลงนามครั้งนี้เป็นเพียงมาตรการแรกของอีกหลายมาตรการที่จะตามมา หลังจากสหรัฐขาดดุลการค้าจีนอย่างมาก

ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ของจีนได้ประกาศมาตรการตอบโต้ทันทีโดยระบุว่า หากสหรัฐและจีนไม่สามารถตกลงกันได้ในประเด็นอ่อนไหวนี้ ทางการจีนจำเป็นต้องดำเนินการตอบโต้สหรัฐด้วยการตั้งกำแพงภาษีเช่นกัน โดยมีเป้าหมายพิจารณาสินค้า 128 รายการของสหรัฐ อาทิ เนื้อหมู ไวน์ และท่อเหล็ก เป้าหมายมูลค่า 3 พันล้านดอลลาร์

แถลงการณ์ของกระทรวงพาณิชย์จีนระบุว่า “ขั้นตอนต่อมาที่ทางการจีนกำลังพิจารณา คือ การนำเรื่องนี้ยื่นฟ้องต่อองค์การการค้าโลก (WHO) เพื่อร้องขอการพิจารณากฎการค้าโลกให้มีเสถียรภาพยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม จีนยังหวังว่าจะหารือกับสหรัฐและร่วมกันหาข้อสรุปได้”

นำเข้า-ส่งออกชะงัก

นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า กรณีที่สหรัฐประกาศเก็บภาษีสินค้าจากจีน 25% ในสินค้า 1,300 รายการนั้น ทำให้เกิดความปั่นป่วนทั่วโลก ทั้งตลาดเงิน ตลาดทุน และเศรษฐกิจทั่วโลก ดังนั้นระหว่างที่รอความชัดเจนว่า ทรัมป์แค่ขู่ หรือจะเก็บภาษีจริง ก็อาจทำให้ตลาดเกิดชะงักงัน โดยเฉพาะตลาดส่งออก และนำเข้าในประเทศต่าง ๆ เพื่อรอความชัดเจน

ทั้งนี้ อาจไม่ใช่แค่สินค้าจากจีน 1,300 รายการ หรือมูลค่าภาษีราว 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพราะล่าสุดทรัมป์อยู่ระหว่างรับฟังความเห็นจากกระทรวงการคลัง และบริษัทในสหรัฐเพิ่มเติม ทำให้อาจมีสินค้าอื่น ๆ ที่เข้าข่ายเก็บภาษีเพิ่มขึ้น และอาจส่งผลกระทบต่อวงกว้างและเกิดความเสียหายมากกว่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ประเทศต่าง ๆ ที่มีแผนส่งออกไปจีน หรือเกี่ยวเนื่องจากจีน อาจต้องมีการทบทวนแผนการส่งออก-นำเข้าในระยะถัดไปได้

“ปัญหาเวลาประกาศแบบนี้มักมีผลกระทบต่อตลาดทันที ทำให้ประเทศต่าง ๆ กลับไปคาดการณ์ว่า สินค้าอะไรที่อาจถูกกีดกันทางการค้า ทำให้อาจไม่สั่งสินค้าจนกว่าจะมีความชัดเจน เช่น ผู้นำเข้าก็อาจหยุดสั่งสินค้า เพราะไม่ต้องการรับความเสี่ยงจากต้นทุนภาษีก็อาจเพิ่มขึ้น”

ไทยรับผลกระทบเต็ม ๆ

นายศุภวุฒิกล่าวว่า ประเทศไทยก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะได้รับผลกระทบครั้งนี้ เพราะไทยมีการส่งออกไปจีนอันดับหนึ่งถึง 11% เช่น สินค้าเกษตร และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อีกทั้งไทยยังเป็นอันดับ 6 ของโลกที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของโลก ดังนั้นไทยจึงได้รับกระทบทางอ้อมจากนโยบายนี้แน่นอน

“ที่น่ากลัวคือ ไม่ใช่ว่าสหรัฐ จีนฆ่ากันสองประเทศแล้วเราจะไม่เกี่ยว ทุกอย่างเป็นห่วงโซ่กันหมด ไทยโดนผลกระทบแน่นอน เพราะจีนมีการนำเข้าสินค้าจากหลายประเทศเพื่อไปประกอบจากจีน ก็เหมือนเราโดนน้ำท่วม ญี่ปุ่นต้องหยุดการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ เพราะส่วนหนึ่งมาจากไทย ดังนั้นจึงไม่ใช่แค่ส่งออกที่จะได้รับผลกระทบ แต่นำเข้าก็กระทบเช่นกัน เพราะไทยนำเข้าจากประเทศต่าง ๆ คิดเป็นการนำเข้าราว 39% ที่นำมาประกอบเอง”

ดังนั้น เชื่อว่าความปั่นป่วนที่เกิดขึ้นในตลาดเงิน ตลาดหุ้น และเศรษฐกิจจะยังอยู่กับไทยไปอีกระยะ จนกว่าจะมีความชัดเจน และคาดว่าจะเริ่มเห็นความชัดเจนในช่วงไตรมาส 2 ถึงผลกระทบต่อส่งออก นำเข้า และลามสู่เศรษฐกิจไทยระดับใด จากเดิมที่คาดการณ์ส่งออกปีนี้จะโต 4-5% และเศรษฐกิจไทยโต 3.7% เป้าหมายเหล่านี้ก็อาจมีการปรับเปลี่ยนได้

นายศุภวุฒิกล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ยังไม่ชัดว่าจะเกิดสงครามทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐหรือไม่ เพราะจีนก็ตอบโต้สหรัฐ โดยการเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐถึง 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ และมีการเรียกผู้ส่งออกสินค้าเกษตรที่ส่งออกไปสหรัฐ มาเตรียมรับมือกับนโยบายกีดกันทางการภาษีของสหรัฐแล้วตั้งแต่เดือน ก.พ.ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า จีนก็มีการเตรียมรับมือหากสหรัฐออกนโยบายรุนแรง แต่ขณะเดียวกัน จีนก็ไม่อยากให้เหตุการณ์บานปลายก็อาจมีการเจรจากับสหรัฐอีกรอบ

พาณิชย์ทบทวนเป้าส่งออกจีน

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า พาณิชย์ยังคงเป้าส่งออกปีนี้ขยายตัว 8% แต่อาจมีการทบทวนเป้ารายประเทศ โดยเฉพาะจีน เพราะการใช้มาตรการการค้ากับจีนอาจส่งผลกระทบต่อไทยทางอ้อม ทำให้เงินบาทแข็งค่า รวมถึงผลกระทบสินค้าบางรายการที่ส่งออกไปจีน โดยเฉพาะกลุ่มวัตถุดิบ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ คอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้าก็อาจกระทบบ้าง จำเป็นต้องหาตลาดใหม่รองรับการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ อีกทั้งจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมีผลให้การค้าโลกมีความไม่แน่นอน และอาจทำให้ผู้ค้าหันไปซื้อสินค้าประเภททองคำมากขึ้นจากความกังวล ค่าเงินอาจแข็งค่าขึ้น

อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามการเจรจาระหว่างจีน-สหรัฐ หากเจรจาตกลงได้จะส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น ประเทศไทยก็ต้องหามาตรการรองรับ อาทิ มองหาตลาดใหม่

หรือขยายตลาดเดิมที่มีอยู่ แต่หากเจรจาไม่สำเร็จ จีนเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้ององค์การการค้าโลก (WTO) ไทยจะพิจารณาว่าจะเข้าร่วมหรือไม่ หากเข้าร่วมจะส่งผลกระทบสินค้าใด

กระทรวงพาณิชย์ได้รวบรวมข้อมูลสำหรับชี้แจงสหรัฐ หลังจากสหรัฐมีท่าทีจะใช้มาตรการทางการค้ากับสินค้าไทยหลายรายการ เช่น เหล็ก และอะลูมิเนียม แต่ก็ได้เปิดโอกาสให้แต่ละประเทศผู้ส่งออกชี้แจงข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณายกเว้นการขึ้นภาษี

ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยส่งออกไปตลาดจีน มีส่วนแบ่งตลาด 11.6% ของการส่งออกรวม โดยมูลค่าการส่งออก 2 เดือนแรก เท่ากับ 4,711 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 6.4% สินค้าสำคัญ ได้แก่ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง เคมีภัณฑ์ มันสำปะหลัง เป็นต้น ขณะที่สหรัฐเป็นตลาดส่งออกหลัก มีส่วนแบ่งตลาด 10.4% มูลค่าการส่งออกช่วง 2 เดือนแรก เท่ากับ 4,203 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 8.2% สินค้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณี อาหารทะเลกระป๋อง และรถยนต์และส่วนประกอบ เป็นต้น

การค้าโลกซึม-บาทแข็ง

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในกรณีนี้ผลกระทบต่อการส่งออกไทยที่น่าห่วงมากที่สุด คือ ปัญหาความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน มีโอกาสเห็นค่าบาทหลุดกรอบไปสู่ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ (ปัจจุบัน 31.182 บาทต่อดอลลาร์) ซึ่งส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบในประเทศสูง โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรและอาหาร ซึ่งจะเห็นว่าการส่งออกในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 10% แต่ในรูปเงินบาทหดตัว 0.6% และผลสะท้อนที่กลับสู่ภาคการผลิตและเศรษฐกิจในประเทศจะเห็นชัดเจนในช่วงปลายไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไป ว่าจะกระทบมากเพียงใด ต้องจับตากลุ่มเอสเอ็มอีและฐานราก ซึ่งในวันที่ 26 เมษายนนี้จะมีการประชุมคณะกรรมการประชารัฐ D4 เพื่อประเมินทิศทางการส่งออกว่าจะได้รับผลกระทบจากการใช้มาตรการทางการค้าของสหรัฐมากน้อยเพียงใด

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย เปิดเผยว่า ส่งผลกระทบต่อการค้าโลกและไทยอย่างแน่นอน เพราะเมื่อช้างสารชนกัน หญ้าแพรกก็แหลกลาญ ธุรกิจอาหารแช่เยือกแข็ง กระทบในแง่ที่อัตราแลกเปลี่ยนมีโอกาสแข็งค่าไปที่ระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

หวั่นหยุดรับคำสั่งซื้อ

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า ไทยได้รับผลกระทบทางอ้อม ในส่วนการส่งออกสินค้ากึ่งวัตถุดิบที่ไปป้อนอุตสาหกรรมของประเทศจีน เพื่อส่งต่อไปยังสหรัฐ อีกด้านคือผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนจากดอลลาร์อ่อนค่าและค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ซึ่งหวังว่าจะแข็งค่ามากสุด 30.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

“หากแข็งค่ากว่านี้จะส่งผลต่อการค้าในตลาดโลก คงต้องเปลี่ยนวิธีทำการค้า เลิกอิงกับเงินดอลลาร์ เพราะผู้ประกอบการเข้าสู่ภาวะขาดทุนเต็มตัวแล้ว โดยเฉพาะสินค้าเกษตรซึ่งใช้วัตถุดิบในประเทศจะได้รับผลกระทบหนักมากที่สุด และจะส่งผลกระทบต่อไปทั้งห่วงโซ่อุปทาน เพราะซื้อวัตถุดิบแพง ก็จะเป็นแรงกดดันทำให้แข่งขันไม่ได้ หากเงินบาทแข็งค่าขึ้นเรื่อย ๆ มีโอกาสจะกระทบต่อตัวเลขการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลัง เพราะแบกขาดทุนสะสมมาระยะหนึ่ง อาจหยุดการรับคำสั่งซื้อ ถ้าค่าเงินยังแข็งค่าไปเรื่อย ๆ ที่ผ่านมาผมยอมขายสินค้าขาดทุนเพื่อรักษาฐานลูกค้า รักษาตลาดไว้ แต่กินทุนตัวเองไปเรื่อย ๆ จนทุนหมดแล้วก็ไม่ไหว”

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 25 มีนาคม 2561

โคราชมั่นใจแก้ปัญหาอ้อย โรงงานซื้อไม่อั้นก่อนปิดหีบ

โคราชเร่งแก้ปัญหาอ้อยป้อนโรงงานล่าช้า ยืนยันอ้อยทุกลำของโคราชได้เข้าโรงงานทันกาลฤดูการปิดหีบแน่

นายวิบูลย์ ไชยวรรณ เกษตรจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า การประชุมนัดแรกของคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนงานนโยบายสำคัญและแก้ไขปัญหาภาคการเกษตรระดับจังหวัด เมื่อกลางเดือนมีนาคม ได้มีการติดตามเรื่องขอให้รัฐบาลช่วยเหลือในการขยายเวลาในการปิดหีบอ้อยของโรงงานออกไปอีกเนื่องจากมีเกษตรกรส่งอ้อยให้กับโรงงานไม่ทันเวลา

“เนื่องจากปีนี้มีการปลูกอ้อยเพิ่มขึ้นส่งผลให้ผลผลิตอ้อยที่ออกสู่ตลาดสูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา 30% จากภาวะอากาศร้อน การขนส่ง และการขาดแคลนแรงงานในการตัดอ้อย ประกอบการกับเก็บเกี่ยวล่าช้านั้น ทางคณะกรรมการ ได้มีการหารือกับทางสมาคม และเจ้าของโรงงานผลิตนํ้าตาลทั้ง 3 แห่งในจังหวัดนครราชสีมา”

นายวิบูลย์ กล่าวว่า โดยก่อนจะปิดหีบอ้อยจะมีการประชุมคณะอนุกรรมการฯอีกครั้งหนึ่งเพื่อเป็นการสำรวจหรือเก็บข้อมูลครั้งสุดท้าย หรือเรียกว่าเป็นการเก็บตกเกษตรกรในวันที่ 3 เมษายน ซึ่งเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายที่จะรวบรวมข้อมูลในการแก้ไขปัญหา โดยโรงงานจะปิดหีบอ้อยตามฤดูกาลตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน เป็นต้นไป โดยการประชุมครั้งนี้จะรวบรวมข้อมูลอ้อยที่เหลืออยู่ และหารือกับโรงงานว่าโรงงานใดสามารถเปิดรับอ้อยของเกษตรกรได้

“เกษตรกรในจังหวัดนครราชสีมาที่ประสบปัญหาดังกล่าวมีทั้งหมด 132 ราย แบ่งเป็นเกษตรกร 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เป็นคู่สัญญาของโรงงาน ประมาณ 77 ราย ซึ่งทางโรงงานยืนยันว่าจะรับซื้อทุกราย ส่วนที่เหลืออีก 55 ราย เป็นเกษตรกรอิสระไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับทางโรงงาน แต่ทางโรงงานก็ยินดีที่จะรับซื้ออ้อยของเกษตรกรกลุ่มนี้ แต่มีข้อจำกัดในเรื่องการจัดลำดับคิวในการรับซื้อ โดยให้ส่งอ้อยเข้าโรงงานวันละ 100 ตันซึ่งให้ไปจัดคิวกันเอง ฉะนั้นในฤดูกาลผลิตอ้อยปีนี้คาดว่าจะไม่มีปัญหาอย่างแน่นอน”

จาก www.thansettakij.com วันที่ 24 มีนาคม 2561

ลุยปลดหนี้เกษตร 6 หมื่นราย กฟก.ชูโมเดลใหม่แก้ปัญหา-ปลด‘สมยศ’หยุดม็อบฮือ

เกษตรฯ ปลด “สมยศ” ออกจากรักษาการเลขาฯกองทุนฟื้นฟูฯ แลกสัญญาใจ 3 เดือน ม็อบไม่ลุกฮือ จับตา 29 มี.ค. “กฤษฎา” นั่งหัวโต๊ะถกแก้หนี้โมเดลใหม่ ใช้วิธีแฮร์คัต พักหนี้ ขยายเวลา 15-20 ปี แลกแผนฟื้นฟู เล็งเป้า 6 หมื่นราย

นับแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ปลดคณะกรรมการ(บอร์ด) กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) และแต่งตั้งคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจ (บอร์ดเฉพาะกิจ) ขึ้นมาดูแลแทนตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2560 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน เพื่อแก้หนี้เกษตรกร โดยได้ขยายระยะเวลา 180 วันในการแก้ไขปัญหา ซึ่งจะครบรอบที่ 2 ในวันที่ 12 พฤษภาคมที่จะถึงนี้

แหล่งข่าวกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทางผู้บริหารกระทรวงได้ปลดนายสมยศภิราญคำ รักษาการเลขาฯ กฟก.ลงตามคำเรียกร้องของม็อบแล้ว และให้นายสไกร พิมพ์บึง รองเลขาธิการ รักษาการเลขาธิการ โดยมีสัญญาว่า 3 เดือนจากนี้กลุ่มเกษตรกรจะไม่มาเรียกร้อง และจะปล่อยให้คณะทำงานชุดใหม่เร่งสางปัญหาหนี้ของเกษตรกรโดยเร็ว โดยในวันที่ 29 มีนาคมนี้ จะมีการประชุมบอร์ดเฉพาะกิจที่มีนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นั่งเป็นประธาน

สาระสำคัญในการประชุมครั้งนี้จะมีการรายงานผลการดำเนินงานตั้งแต่อดีตรัฐมนตรีเกษตรฯ (พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ) ที่จะมีการซื้อหนี้ก้อนแรกจากเกษตรกรจำนวน 739 ราย มูลหนี้ 135 ล้านบาท จากสมาชิกที่มาแสดงตัวว่ามีหนี้สินที่ต้องการให้กองทุนฟื้นฟูฯ แก้ปัญหา 2.9 แสนราย (ดูกราฟิกประกอบ) แต่ยังไม่ได้มีการซื้อหนี้จริง เนื่องจากมีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีเกษตรฯ เสียก่อน และระหว่างนั้นทางคณะกรรมการกลั่นกรองยังคงทำงานปกติ และคาดว่าจะส่งรายชื่อเพิ่มเติมอีก 400 ราย รวมเป็น 1,139 ราย โดยเงื่อนไขเดิมทางกองทุนจะชำระหนี้แทน 50% ของเงินต้น ตัดดอกเบี้ย และค่าปรับ ส่วนที่เป็นสหกรณ์การเกษตรจะชำระหนี้แทนในเงื่อนไข 100% ของเงินต้น ตัดดอกเบี้ยและค่าปรับ หากที่ประชุมเห็นชอบจะนำเรื่องเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อรับทราบต่อไป

อย่างไรก็ดีสมาชิกที่มาขึ้นทะเบียนสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ ส่วนใหญ่จะเป็นหนี้ที่มีคนคํ้า ไม่มีหลักทรัพย์คํ้าประกัน จะใช้แผนฟื้นฟูบูรณาการกับการจัดการหนี้ คาดจะนำร่อง 6 หมื่นราย จากทั้งหมด 8.5 หมื่นราย ส่วนที่เหลือกำลังรอผลการเจรจากับสถาบันเจ้าหนี้ โดยต้องแฮร์คัตหนี้ก่อน จะตัดกี่เปอร์เซ็นต์ก็ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการเฉพาะกิจ หลังจากพักหนี้เกษตรกร พร้อมกับขยายระยะเวลาการชำระหนี้ให้ 15-20 ปี ระหว่างนั้นเกษตรกรจะต้องทำแผนว่าจะทำอะไรเพื่อสร้างรายได้ ทั้งแผนฟื้นฟูส่วนบุคคล และองค์กรสถาบันถ้าใครไม่มีแผนจะไม่ได้รับการแก้หนี้

“หนี้จะได้รับการจัดสรรอย่างเป็นธรรมและเงินที่รัฐบาลจะนำไปใช้แก้ปัญหาจะเป็นเงินกู้ เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียน เมื่อเกษตรกรมีรายได้แล้ว จะนำรายได้มาชำระหนี้ โดยมีกลุ่มเป้าหมายเบื้องต้น 6 หมื่นรายนำร่อง จาก 8.5 หมื่นราย เน้นลูกค้าคนคํ้า รายย่อย เตรียมโอนเข้า ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จัดการหนี้ต่อไป”

นายชรินทร์ ดวงดารา ที่ปรึกษาสมาชิกเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย (คนท.) กล่าวว่า พอใจที่รัฐมนตรีเกษตรฯ ฟังเสียงเรียกร้องเกษตรกร ส่วนทิศทางการแก้ปัญหาในโมเดลใหม่ให้ฟื้นฟูอาชีพ ให้ทำแผน และแขวนหนี้ ลักษณะกึ่งพักหนี้ เป็นความคิดของกลุ่มที่นำไปคุยกับชาวบ้านแล้วเห็นด้วย เนื่องจากต้องยอมรับว่าเป็นหนี้ไม่มีหลักทรัพย์ซื้อไม่ได้ อย่างไรก็ดีก่อนหน้านี้หลังจากที่สมาชิกกองทุนปลดหนี้ได้ มีการไถ่ถอนแล้วคืนโฉนดไป ก็นำไปขายใหม่ ผิดเจตนารมณ์ที่ต้องการจะปกป้องพื้นที่เกษตรกรรม รู้สึกผิดหวัง ดังนั้นเมื่อทางกระทรวงเห็นแนวทางนี้ ทางกลุ่มก็เห็นด้วยอย่างน้อยเกษตรกรจะไม่สามารถไปขายได้ แล้วถ้าหากประกอบอาชีพมีกำไร เชื่อว่าในอนาคตเมื่อปลดหนี้ได้แล้ว เกษตรกรจะไม่ขายที่ดิน

จาก www.thansettakij.com วันที่ 24 มีนาคม 2561

สหรัฐฯกีดกันสินค้าจีน 6 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ... ผลต่อจีนจำกัด แต่ผลต่อไทยยังต้องติดตาม

•สหรัฐฯ เดินเกมกดดันการค้าเฉพาะเจาะจงกับจีนเป็นวงเงินราว 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สูงสุดตั้งแต่เปิดเกมกดดันการค้า ซึ่งในช่วง 45 วันจากนี้ เป็นเวลาสำคัญที่ทั้งสองประเทศจะเจรจาเพื่อหาแนวทางร่วมกัน โดยรายการสินค้าที่สหรัฐฯ จะประกาศออกมาจะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สะท้อนแรงกดดันของสหรัฐฯ ที่มีต่อจีนว่าจะสามารถลดแรงกดดันการเกิดสงครามการค้าโลกได้แค่ไหน

•สำหรับผลต่อไทย เบื้องต้นศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า จะกระทบต่อสินค้าส่งออกของไทยไปจีนในสินค้าขั้นกลางประเภทแผงวงจรไฟฟ้า อุปกรณ์โทรศัพท์ ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ และฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ ซึ่งอยู่ในห่วงโซ่การผลิตของจีน ซึ่งยังต้องจับการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ กับจีน น่าจะนำมาสู่ข้อยุติที่ไม่ก่อให้เกิดสงครามการค้าในรอบต่อๆไป โดยอาจเป็นไปได้ว่ามาตรการนี้จะส่งผลแบบเลือกกีดกันเฉพาะบางกลุ่มสินค้าของจีน อาทิ สมาร์ทโฟน เสื้อผ้าและของเล่นจะไม่กระทบต่อการส่งออกของไทยมากนัก แต่ถ้าหากเป็นการกีดกันครอบคลุมถึงสินค้าอื่นๆ รวมถึงแทบเล็ต คอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์ ก็อาจกระทบห่วงโซ่การผลิตของไทย

•อย่างไรก็ดี แม้ในเวลานี้ไทยยังไม่ได้รับข้อยกเว้นใดๆ จากมาตรการที่สหรัฐฯ ประกาศ ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องเตรียมแผนงานรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้น ประกอบกับต้องติดตามรายงานนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศคู่ค้าสำคัญของสหรัฐฯ ที่จะเปิดเผยในเดือนเมษายนนี้ ซึ่งอาจส่งผลทางอ้อมให้ค่าเงินบาทแข็งค่าและผันผวนมากขึ้น อันจะเกิดผลกระทบต่อภาพรวมการส่งออกสินค้าของไทย และส่วนต่างกำไรของผู้ส่งออกที่คงจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงมากขึ้นตามภาวะตลาดอัตราแลกเปลี่ยนที่มีความผันผวนสูง

ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ลงนามคำสั่งประธานาธิบดีสำหรับมาตรการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเป็นมูลค่าสินค้า 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ด้วยเหตุผลการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ภายใต้กฎหมายการค้าสหรัฐฯ ปี 2517 (The 1974 Trade Act) มาตรา 301 ทั้งนี้ เป้าหมายสำคัญของมาตรการนี้ก็ยังคงมุ่งไปที่การลดการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ ที่สูงถึง 1.02 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และจีนก็เป็นประเทศที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าสูงที่สุดที่ 3.75 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อนึ่ง มาตรการครั้งนี้เป็นการยกระดับนโยบายการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ โดยเลือกเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งต่างจากครั้งที่ผ่านมาที่เป็นการกีดกันการนำเข้าสินค้าจากหลายประเทศพร้อมๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นมาตรการปกป้องการผลิตในประเทศ (Safeguard) หรือมาตรา 201 เพื่อกีดกันการนำเข้าเครื่องซักผ้าและแผงเซลล์แสงอาทิตย์ ตามมาด้วยมาตรการที่ใช้เหตุผลด้านความมั่นคง (National Security) หรือมาตรา 232 เพื่อกีดกันการนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียม ซึ่งสหรัฐฯ นำเข้าสินค้าเหล่านี้มีมูลค่าราว 9.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ 4.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามลำดับ

สำหรับการกีดกันการค้าในครั้งนี้ แม้กระทบสินค้านำเข้ามูลค่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ สูงที่สุดตั้งแต่สหรัฐฯ เดินหน้ากีดกันทางการค้า แต่ผลกระทบต่อการส่งออกของจีนยังค่อนข้างจำกัด โดยคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 11 ของการนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ จากจีนทั้งหมดที่มีมูลค่า 5.05 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (จากรายงานของทางการสหรัฐฯ ใช้วิธีคำนวนโดยใช้มูลค่าจากฐานศุลกากรที่รวมค่าขนส่งทำให้มีมูลค่าสูงกว่าฝั่งจีน) อีกทั้งถ้าหากมองจากการรายงานตัวเลขของฝั่งจีนก็ยิ่งทำให้มูลค่าผลกระทบลดลงเป็นเพียง 5.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้น เนื่องจากการรายงานตัวเลขจากฝั่งจีนไม่รวมค่าขนส่ง (FOB)

ทั้งนี้ ทางการสหรัฐฯ จะเปิดเผยรายละเอียดสินค้าที่กีดกันในอีก 15 วัน ซึ่งคาดว่าน่าจะมีสินค้ากว่า 1,300 รายการ หลักๆ ครอบคลุมสินค้าเทคโนโลยี IT เสื้อผ้า และของเล่น หลังจากนั้นจะเปิดให้สาธารณชนแสดงความคิดเห็นอีก 30 วัน โดยในช่วงเวลา 45 วันจากนี้ ระหว่างที่สหรัฐฯ เตรียมประกาศบังคับใช้มาตรา 301 ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม ทั้งสหรัฐฯและจีนน่าจะเข้าสู่เส้นทางการเจรจาผลประโยชน์ต่างตอบแทนทางเศรษฐกิจระหว่างกัน โดยในระหว่างนี้ทางการจีนไม่น่าจะประกาศมาตรการตอบโต้ใดๆ เพิ่มเติมออกมา หลังจากที่วันนี้ 23 มีนาคม ทางการจีนได้ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เป็นมูลค่าราว 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในอัตราร้อยละ 15 และร้อยละ 25 ในกลุ่มสินค้าเนื้อหมู อะลูมิเนียมรีไซเคิล ท่อเหล็ก ผลไม้ และไวน์

อนึ่ง การที่ทางการจีนประกาศตอบโต้โดยขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ยังเป็นการตอกย้ำจุดยืนที่จะไม่ย่อมอ่อนข้อต่อเกมการค้าของสหรัฐฯ หลังจากที่สหรัฐฯ ยังคงเดินหน้าเก็บภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมจากจีน แต่กลับยกเว้นให้แก่หลายประเทศไม่ว่าจะเป็นสหภาพยุโรป บราซิล อาร์เจนตินา เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย เม็กซิโกและแคนาดา ซึ่งสถานการณ์นี้สะท้อนว่าในอีก 15 วันข้างหน้าที่สหรัฐฯ จะประกาศรายการสินค้าที่จะการเก็บภาษีจากจีน สหรัฐฯ คงต้องคิดทบทวนผลประโยชน์ของตนเองอย่างรอบด้าน รวมทั้งยังต้องคำนึงถึงผลที่จะตามมาหากเกิดการโต้กลับในมูลค่าที่เท่าเทียมกันทั้งจากจีนและประเทศอื่นที่เกี่ยวข้อง

สำหรับผลต่อไทยในประเด็นนี้ ในเบื้องต้นศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า จะกระทบต่อสินค้าส่งออกของไทยไปจีนในสินค้าขั้นกลางประเภทแผงวงจรไฟฟ้า อุปกรณ์โทรศัพท์ ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ และฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ ซึ่งอยู่ในห่วงโซ่การผลิตของจีน อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าของจีนในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคมในกลุ่มเทคโนโลยีน่าจะมีการเร่งส่งออกไปทำตลาดสหรัฐฯ ก่อนที่ราคาสินค้าจะปรับตัวสูงขึ้น จากนั้นจะทยอยปรับตัวสู่ภาวะปกติเมื่อเหตุการณ์ต่างๆ มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยจำเป็นต้องติดตามท่าทีการเจรจาของทั้งสองผ่ายต่อไป

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การเจรจาระหว่างสหรัฐฯ กับจีน น่าจะนำมาสู่ข้อยุติที่ไม่ก่อให้เกิดสงครามการค้าในรอบต่อๆไป โดยอาจเป็นไปได้ว่ามาตรการนี้จะส่งผลแบบเลือกกีดกันเฉพาะบางกลุ่มสินค้าของจีน ซึ่งสหรัฐฯ น่าจะพิจารณาจากสินค้าที่สามารถหาแหล่งอื่นทดแทนได้ ไม่กระทบต่อผู้บริโภค และส่งผลต่อสหรัฐฯ ไม่มากนัก อาทิ อาจเลือกกีดกันเฉพาะสมาร์ทโฟนที่มาจากบริษัทจีน หรือสินค้าในกลุ่มเสื้อผ้าและของเล่น ซึ่งทำให้คงจะไม่ส่งผลกระทบต่อไทยเพราะสินค้าไทยมีส่วนเกี่ยวเนื่องกับห่วงโซ่การผลิตของจีนในกลุ่มนี้ค่อนข้างน้อย แต่ถ้าหากเป็นกรณีที่เป็นการกีดกันครอบคลุมถึงสินค้าอื่นๆ รวมถึงแทบเล็ต คอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือหากลุกลามมายังสินค้ายานยนต์ที่ก็เป็นหนึ่งในสินค้าเทคโนโลยีไฮเทคของจีน ก็อาจส่งผ่านผลกระทบมายังห่วงโซ่การผลิตของไทยอย่างยากจะหลีกเลี่ยง โดยเฉพาะการส่งออกของไทยกลุ่มแผงวงจรไฟฟ้าและฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ

นอกจากนี้ หากมาตรการกีดกันการค้ากับจีนบังคับใช้ขึ้นอย่างเป็นทางการไม่ว่าจะรูปแบบใด และสหรัฐฯ ไม่ได้ใช้มาตรการนี้กับไทย คงต้องจับตาการปรับเปลี่ยนฐานห่วงโซ่การผลิตของภูมิภาคเอเชียที่สำคัญ 2 ด้าน คือ การส่งออกสินค้าของไทยไปจีนในกลุ่มส่วนประกอบและชิ้นส่วนสมาร์ทโฟนอาจเบนเข็มตลาดไปยังเวียดนามแทน ซึ่งเวียดนามอาจกลายเป็นแหล่งผลิตแทนจีนได้ในระดับหนึ่ง ขณะที่วัตถุดิบขั้นกลางสำหรับคอมพิวเตอร์และเครื่องใช้ไฟฟ้าแม้ไทยจะส่งออกไปจีนได้น้อยลง แต่ทางกลับกันไทยน่าจะได้อานิสงส์จากการขยายกำลังการผลิตที่มีอยู่เดิมในไทยเพื่อส่งออกไปประกอบในสหรัฐฯ หรือในฐานการผลิตประเทศอื่นก็ตาม ทดแทนการส่งออกจากจีน อย่างไรก็ดี การจะส่งออกสินค้าไทยไปทดแทนสินค้าจีนดังกล่าว คงต้องพิจารณาหลายปัจจัยประกอบกันทั้งประเภทสินค้าเหมือนกันหรือไม่ สามารถขยายกำลังผลิตได้แค่ไหนรวมถึงต้นทุนการผลิตรวมค่าขนส่งที่สามารถแข่งขันได้

อย่างไรก็ดี แม้ในเวลานี้ไทยยังไม่ได้รับข้อยกเว้นใดๆ จากมาตรการที่สหรัฐฯ ประกาศและล่าสุดมีรายงานว่าสินค้าเหล็กและอะลูมิเนียมของไทยที่ส่งออกไปสหรัฐฯ อาจหดตัวลงร้อยละ 35-45 เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องเตรียมแผนงานรับมือ ประกอบกับไทยเองก็เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ สูงกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จึงยังเป็นเป้าหมายที่สหรัฐฯ ต้องการกดดัน โดยจำเป็นต้องติดตามรายงานนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศคู่ค้าสำคัญของสหรัฐฯ ที่จะรายงานออกมาในเดือนเมษายนนี้ ว่าไทยยังคงอยู่ในรายชื่อประเทศที่ถูกกล่าวหาว่าทำการบิดเบือนอัตราแลกเปลี่ยน (Currency manipulation) หรือไม่ ซึ่งอาจส่งผลทางอ้อมให้ค่าเงินบาทแข็งค่าและผันผวนมากขึ้น อันจะเกิดผลกระทบต่อภาพรวมการส่งออกสินค้าของไทย และส่วนต่างกำไรของผู้ส่งออกที่คงจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงมากขึ้นตามภาวะตลาดอัตราแลกเปลี่ยนที่มีความผันผวนสูง

จาก www.thansettakij.com วันที่ 24 มีนาคม 2561

เปิด5ยุทธศาสตร์ ไทยขึ้นแท่นผู้นำ

เปิดร่าง 5 ยุทธศาสตร์สร้างขีดความสามารถไทย ตั้งเป้าเป็นมหาอำนาจด้านการเกษตร ศูนย์กลางเศรษฐกิจอาเซียน

นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน เปิดเผยว่า คณะกรรมการอยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณา รวบรวม นำความคิดเห็นของประชาชนทั้ง 4 ภาค มาปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้ได้ยุทธศาสตร์ชาติฉบับที่สมบูรณ์มากที่สุด ซึ่งจะนำเสนอต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติพิจารณาในเดือน เม.ย.นี้

ทั้งนี้ ร่างยุทธศาสตร์ชาติด้านความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ โดย ชู 5 จุดแข็งของไทยคือ 1.เร่งผลักดันแผนพัฒนาสู่การเป็นมหาอำนาจทางการเกษตร เน้นเกษตรคุณภาพสูง โดยเน้นเพิ่มสัดส่วนอุตสาหกรรมชีวภาพที่มีมูลค่าเพิ่มสูง อาทิ ชีวเคมีภัณฑ์ วัสดุชีวภาพ อาหารเสริม เวชสำอาง วัคซีน ชีวเภสัชภัณฑ์ และสารสกัดจากสมุนไพรด้านที่ 2 ส่งเสริมอุตสาหกรรมและบริการด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีแห่งอนาคต 3.สร้างแม่เหล็กด้านการท่องเที่ยวระดับโลกลงสู่ชุมชนด้วยอัตลักษณ์และวัฒนธรรมไทย ยกระดับมาตรฐานธุรกิจบริการด้านการส่งเสริมสุขภาพและการเสริมความงามสู่ตลาดระดับสูง อาทิ ธุรกิจสปา ธุรกิจนวดแผนไทย ธุรกิจโยคะ ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ ฯลฯ.

ด้านที่ 4 เร่งพัฒนาสู่การเป็นศูนย์กลางการคมนาคมและเศรษฐกิจของอาเซียน ทั้งการกระจายสินค้า การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว 5.เร่งสร้างนักรบเศรษฐกิจยุคใหม่ ทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่ กลาง และเล็ก

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 24 มีนาคม 2561

พ.ร.บ.อีอีซีขายชาติจริงหรือ? ‘คณิศ’ย้ำชัดไม่ปล่อยเช่าที่ดิน99ปี

ร่างพ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ...(พ.ร.บ.อีอีซี) กำลังจะประกาศใช้ในช่วงเร็วๆ นี้ หลังจากผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ไปแล้ว ก็ยังมีบางกลุ่มออกมาไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะการให้ต่างชาติเช่าที่ดินต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 99 ปี ว่าเป็นกฎหมายขายชาติ เอื้อประโยชน์ให้ต่างด้าวเข้ามาลงทุนพักอาศัย ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว กฎหมายการให้เช่า เช่าช่วง หรือให้เช่าช่วงที่ดิน ก็มีกำหนดอยู่ในหลายฉบับ แต่ก็ไม่ได้มีการนำมาอ้างถึง

++ยันไม่มีการเช่าที่ดิน 99 ปี

ล่าสุดนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ภาคตะวันออก(กนศ.) ออกมายํ้าชัดเจนว่า ร่าง พ.ร.บ. อีอีซี ดังกล่าว ได้กำหนดการเช่า เช่าช่วง หรือให้เช่าช่วงที่ดิน ต้องดำเนินการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเท่านั้น และตามวัตถุประสงค์ในการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยให้ทำสัญญาได้ไม่เกิน 50 ปี จะต่อสัญญาเช่าเกิน 49 ปี นับแต่วันครบ 50 ปีไม่ได้ เหมือนกับ พ.ร.บ. การเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม พ.ศ.2542 ที่ระบุว่า สิทธิในการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมเกินกว่า 30 ปี แต่ไม่เกิน 50 ปี กรณีครบกำหนดสัญญาแล้วสามารถต่อระยะเวลาการเช่าได้อีกมีกำหนดไม่เกิน 50 ปีคือการต่ออายุต้องพิจารณาเหมือนเช่าใหม่ทุกครั้งเหมือน พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุน และ พ.ร.บ.การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยไม่เคยมีการระบุ 99 ปี แต่อย่างใด

ทั้งนี้ หากพิจารณาในสาระสำคัญเกี่ยวกับการให้ต่างชาติเช่าที่ดินของร่าง พ.ร.บ.อีอีซี นี้ จะพบว่ามาตรา 52 ระบุการเช่าเช่าช่วง ให้เช่าหรือให้เช่าช่วงที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ ในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ มิให้นำความในมาตรา 540 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และมาตรา5แห่งพ.ร.บ. การเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม พ.ศ. 2542 มาใช้บังคับโดยการเช่า เช่าช่วง ให้เช่า หรือให้เช่าช่วงตามวรรคหนึ่ง ห้ามทำสัญญาเช่าเป็นกำหนดเวลาเกิน 50 ปี ถ้าได้ทำสัญญากันไว้ เป็นกำหนดเวลานานกว่านั้น ก็ให้ลดลงมาเป็น50ปี การต่อสัญญาเช่าอาจทำได้แต่จะต่อสัญญาเกิน 49 ปี นับแต่วันครบ 50 ปีไม่ได้

++สอดรับกฎหมายเก่าที่ใช้อยู่

ส่วนพ.ร.บ.การเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม พ.ศ.2542หนึ่งในกฎหมายฟื้นฟูเศรษฐกิจ มาตรา 3 ถึง มาตรา 7 ให้สิทธิในการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรม และอุตสาหกรรมเกินกว่า 30 ปี แต่ไม่เกิน 50 ปี กรณีครบกำหนดสัญญาแล้วสามารถต่อระยะเวลาการเช่าได้อีกมีกำหนดไม่เกิน 50 ปี โดยการทำสัญญาเช่าตามกฎหมายนี้ต้องทำเป็นหนังสือ และจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้ให้เช่าต้องเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น โดยการเช่าเกิน 100 ไร่ ต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมที่ดิน

สำหรับมาตรา 540 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้กำหนดเวลาเช่าอสังหาริมทรัพย์ อันอสังหาริมทรัพย์ ห้ามไม่ให้เช่ากันเป็นกำหนดเวลาเกินกว่า 30 ปี ถ้าได้ทำสัญญากันไว้นานกว่านั้นก็ให้ลดลงมาเป็น 30 ปี อนึ่ง กำหนดเวลาเช่าดังกล่าวมานี้ เมื่อสิ้นลงแล้วจะต่อสัญญาอีกก็ได้ แต่ต้องอย่าให้เกิน 30 ปีนับแต่วันต่อสัญญา

++ผลประโยชน์ตกกับประเทศ

ทั้งนี้ หากจะมองกฎหมายเกี่ยวกับการให้เช่าพื้นที่สำหรับชาวต่างชาติ ของไทย ก็ไม่ได้แตกต่างจากเพื่อนบ้านมากนัก แต่ประโยชน์จะตกอยู่กับคนไทยเป็นหลัก โดยจะทำให้เจ้าของที่ดินสามารถมีรายได้มากขึ้นโดยไม่ต้องสูญเสียความเป็นเจ้าของ ผู้ประกอบการชาวไทยจะสามารถพัฒนาโครงการที่มีมาตรฐานดีกว่าปัจจุบันเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน

รวมทั้งการเข้าถึงเงินกู้จากธนาคารของทั้งผู้ประกอบการ และผู้ซื้อได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของประเทศไทย ในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศและการพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน ส่งผลให้ตลาดมีการแข่งขันกันมากขึ้น ลดการคอร์รัปชันที่เกี่ยวกับการเป็นเจ้าของที่ดินและเพิ่มประสิทธิภาพของการวางผังเมือง เป็นการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการถือกรรมสิทธิ์โดยนอมินี เพราะการจำกัดระยะเวลาการเช่าไว้

อีกทั้งอสังหาริมทรัพย์ที่มีสัญญาเช่าน้อยกว่า 50 ปีจะมีราคาซื้อ ขายที่ตํ่ากว่าแบบกรรมสิทธิ์มาก แต่ถ้ามีการยืดระยะเวลาการเช่าเป็น 90 ปีหรือมากกว่านั้น ส่วนต่างก็จะไม่มาก และผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์แบบสัญญาเช่าระยะยาวจะได้รับสิทธิสินเชื่อจำนองในอัตราตามมูลค่าที่ใกล้เคียง กับผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์แบบกรรมสิทธิ์ (ธนาคารไม่เสี่ยง ที่จะให้กู้ยืม แบบเดียวกับ กรรมสิทธิ์ เหมือนโฉนดที่ดิน)

โดยสรุปแล้วกฎหมายการให้ต่างชาติเช่าที่ดินนั้นมีอยู่แล้วแต่ที่ต้องนำมากำหนดไว้ในพ.ร.บ.อีอีซี นั้น เพื่อให้สิทธิประโยชน์นั้นมีความชัดเจนมากขึ้นไม่ได้เป็นกฎหมายขายชาติแต่อย่างใด

จาก www.thansettakij.com วันที่ 23 มีนาคม 2561

ชำแหละปัญหาสิ่งแวดล้อมEEC หวั่น 20 ปี วิกฤตน้ำเสีย-ขยะ-อากาศพิษ

กระทรวงทรัพยากรชำแหละร่างแผนสิ่งแวดล้อมพื้นที่ 3 จังหวัด EEC ปัญหาเพียบทั้งคุณภาพน้ำผิวดิน-น้ำบาดาลเสื่อมโทรม ปนเปื้อนโลหะหนัก บำบัดน้ำเสียทำได้แค่ 45.13% กากอุตสาหกรรมไม่ได้รับการกำจัด 55.26% มีการลักลอบทิ้งต่อเนื่องชี้หากเกิด EEC ทั้งโรงานอุตสาหกรรม ประชากรทะลักกว่า 18 ล้านคนปัญหาสิ่งแวดล้อมหนักแน่ “รมว.สุรศักดิ์” จี้ข้าราชการทุกฝ่ายเร่งแก้ปัญหา ก่อนสถานการณ์วิกฤตและเลวร้ายสู่อนาคตภาคตะวันออก พร้อมเตรียมชงงบประมาณ 15 โครงการเฉียด9 พันล้านลุยแก้ปัญหา

ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ครั้งที่ 2/2560 เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2560 ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้จัดทำแผนสิ่งแวดล้อมเพื่อให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจัดทำแผนสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ครั้งที่ 2/2560 เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2560 และมอบหมายให้สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (สกรศ.)เป็นผู้ประสานรวบรวมข้อมูลเพื่อนำเสนอคณะกรรมการต่อไปนั้น

พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวในการเป็นประธานพิธีเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างแผนสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561-2564 ว่า ปัจจุบันพื้นที่ 3 จังหวัด EEC ยังมีปัญหาสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ในอนาคตจะมีการก่อสร้างโครงการต่าง ๆ เช่น รถไฟความเร็วสูง และโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก ทำให้มีประชากรเพิ่มขึ้นดังนั้น จึงต้องมีการวางแผน และเตรียมการรองรับ โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ เริ่มจากทำการวิเคราะห์สถานการณ์ในปัจจุบันก่อน ระยะที่ 2 เมื่อเริ่มการก่อสร้างโครงการ จะมีผลกระทบอะไรเกิดขึ้นบ้าง และระยะที่ 3 เมื่อโครงการขึ้นเต็มรูปแบบ เพื่อวางแผนรับมือในอนาคต

“ที่ผ่านมา ผมได้ร่วมประชุม EEC หลายครั้งร่างแผนด้านสิ่งแวดล้อมได้รับความสำคัญน้อยที่สุด ขณะที่วันนี้ผมได้ลงพื้นที่ EEC ไปเปิดป่าในเมืองที่ จ.ระยอง มีป่าชายเลน 500-600 ไร่ เห็นขยะลอยมาตามน้ำ ติดอยู่เต็มไปหมด ผมไปพัทยาเห็นการบำบัดน้ำเสียเสร็จทิ้งลงทะเล บางช่วงน้ำที่ปล่อยออกมามีคราบสีดำแสดงว่าบำบัดไม่ดี และการทิ้งน้ำจืดลงทะเลจำนวนมาก ระบบนิเวศในทะเลจะมีผลกระทบหรือไม่ ควรต้องหาทางแก้ไขด้วยการนำน้ำกลับไปใช้ใหม่ และไม่ให้ปล่อยลงทะเล วันนี้หากมีน้ำเสียของเก่าสะสม และมีน้ำเสียใหม่เพิ่มขึ้นนี่คือ สถานการณ์วิกฤตและเลวร้ายสู่อนาคต ประเทศไทยจะได้พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษมีโรงงานอุตสาหกรรมใหม่ ๆ เข้ามาลงทุน แต่คุณภาพอากาศ และคุณภาพชีวิตจะแย่ลง เราจะยอมเสี่ยงกัน

เราอยากได้เงิน แต่ยอมเสียสุขภาพ ดังนั้น โครงการ EEC ที่จะเกิดขึ้นจึงขอให้ข้าราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทุ่มเทสู่การดูแลสิ่งแวดล้อมที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประเทศไทย เพราะหากดูแลเท่าที่เคยทำมาก่อนหน้านี้ไม่สำเร็จแน่นอน”พลเอกสุรศักดิ์กล่าว

นายสมศักดิ์ บุญดาว ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อมชุมชนและพื้นที่เฉพาะ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงร่างแผนสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ EEC พ.ศ. 2561-2564 ว่า ในการพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ดเมื่อประมาณเกือบ 30 ปีที่ผ่านมายังไม่สามารถแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ได้ เพราะฉะนั้นในกรอบการพัฒนา EEC ที่เริ่มใหม่จึงพยายามกำหนด 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมาก แต่ข้อเท็จจริงโครงการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น

จะชักนำประชากรเข้ามาจำนวนมาก รวมทั้งอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่จะเกิดขึ้น เพื่อรองรับจำนวนประชากร แรงงานที่คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 8 ล้านคนในปัจจุบันเป็น 18 ล้านคนในปี 2580 เมื่อคนมากขึ้นทำให้เกิดขยะ น้ำเสีย การใช้ประโยชน์พื้นที่จะมากขึ้น เพราะฉะนั้นสิ่งแวดล้อม น้ำ ขยะจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างหนักหน่วงมาก

จากปัญหาที่กล่าวมาทั้งหมด ต้องจัดทำแผนวิเคราะห์ปัจจัยต่าง ๆ และวาง4 ยุทธศาสตร์ภายใต้ร่างแผนสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ EEC คือ 1.การจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดีก่อนเกิด EEC 2.การส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมเมืองเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองและชุมชนอย่างน่าอยู่

3.การส่งเสริมการมีส่วนรวมและสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งที่ผ่านมาขาดการมีส่วนรวมของคนในพื้นที่ 4.การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม ในการแก้ไขปัญหาให้ได้ผลต้องมีการขับเคลื่อนแผนโดยมอบให้ สปรศ.ทำหน้าที่บูรณาการแผนต่าง ๆ ที่มีมากมาย โดยมีการตั้งงบประมาณ 15 โครงการ รวมงบประมาณทั้งสิ้น 8,661.600 ล้านบาท เพื่อนำเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนา EEC อีกครั้งในเดือนเมษายนนี้ ทั้งนี้ งบประมาณบางส่วนเป็นโครงการที่ได้รับอนุมัติแล้ว แต่รวมไว้ให้เห็นภาพรวมของโครงการด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ EEC ทั้งหมดที่กำลังดำเนินการภายใน 4 ปีนี้ ขณะเดียวกันต้องมีการติดตามประเมินผลว่า แผนต่าง ๆ เหล่านี้จะถูกนำไปใช้หรือไม่

ผลสำรวจพื้นที่ 3 จังหวัด

สำหรับในการจัดทำร่างแผนสิ่งแวดล้อมได้มีการรวบรวมข้อมูลในปัจจุบันในหลาย ๆ ด้าน และได้คาดการณ์แนวโน้มในอนาคตไปอีก 20 ปีข้างหน้าจากฐานปี พ.ศ. 2559-2580 พบว่า ปัจจุบันทรัพยากรน้ำผิวดิน คุณภาพน้ำผิวดิน พบว่าอยู่ในเกณฑ์พอใช้ และมีปัญหาเสื่อมโทรม ถึงเสื่อมโทรมมาก ขณะที่ทรัพยากรน้ำบาดาล พบการรุกล้ำของน้ำทะเล พบมีค่า “คอลไรด์” สูง มีการปนเปื้อนของโลหะหนัก ส่วนทรัพยากรน้ำทะเลชายฝั่ง มีน้ำคุณภาพดีเพียงร้อยละ 47 เกือบครึ่งหนึ่งมีน้ำที่เสื่อมโทรมร้อยละ 13 เสื่อมโทรมมากร้อยละ 2 ที่ต้องหาทางแก้ไขทันที เพื่อให้คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ด้านคุณภาพน้ำทะเล ได้รับการร้องเรียนเรื่องน้ำมันรั่วไหล โดยเฉพาะบริเวณแหลมฉบังได้รับการร้องเรียนมากกว่ามาบตาพุด ซึ่งยังไม่ได้รับการแก้ไข ถือเป็นเขตที่มีความเสี่ยงสูง

ส่วนการจัดการน้ำเสียชุมชนในพื้นที่มีปริมาณที่สามารถบำบัดได้เพียง 45.13% ขณะที่มีปริมาณน้ำเสียที่ไม่เข้าระบบบำบัดถึง 54.87% ดังนั้น เมื่อทำคาดการณ์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของปริมาณน้ำเสียชุมชนปี 2559 ไปถึงปี 2580 ชัดเจนว่า ถ้าไม่มี EEC การเจริญเติบโตจะทรง ๆ เพิ่มขึ้นไม่มาก หากมี EEC ใน 20 ปีข้างหน้า ถ้ายังไม่แก้ปัญหาจะกลายเป็นปัญหาระยะยาวที่เกิดขึ้นแน่ ๆ

สถานการณ์ขยะมูลฝอยชุมชน จ.ฉะเชิงเทรายังมีการกำจัดขยะมูลฝอยที่ไม่ถูกต้องร้อยละ 70.16 จ.ชลบุรี มีการกำจัดขยะมูลฝอยไม่ถูกต้องร้อยละ 46.53 และ จ.ระยองมีการกำจัดขยะมูลฝอยที่ไม่ถูกต้องร้อยละ 31.81 ด้านขยะติดเชื้อยังไม่มีระบบบริการจัดการขยะที่ชัดเจน โดยปริมาณขยะติดเชื้อปี 2559 มีปริมาณ 3,914 ตัน และ 2560 มีปริมาณเพิ่มขึ้น 4,966 ตัน ทั้งนี้ จากคาดการณ์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของขยะมูลฝอยปี 2559 อยู่ที่ 4.38 ล้านตัน หากมี EEC ปริมาณขยะจะเพิ่มเป็น 9.75 ล้านตันในปี 2680 ปัจจุบันยังไม่สามารถจัดการได้อย่างชัดเจน

3 จังหวัดมีพื้นที่ทรัพยากรป่าไม้ ปี 2559 มีพิ้นที่ป่าไม้ตามกฎหมาย 2 ล้านไร่ พื้นที่ป่าชายเลน 22,328 ไร่ พื้นที่ป่าชายเลนลดลง ภาพรวมพื้นที่ป่าไม้ของประเทศต้องมีร้อยละ 40 ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รวมพื้นที่ป่า 3 จังหวัดร้อยละ 12.74 ต่อพื้นที่จังหวัด จึงไม่สามารถนำพื้นที่ป่าไปใช้ประโยชน์อะไรได้อีกแล้ว ต้องเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ขึ้นในตัวเมืองเป็นพื้นที่สีเขียว

ส่วนคุณภาพอากาศทั่วไปพบว่า ก๊าซโอโซนยังสูง แต่ค่าฝุ่นขนาด PM10 มีค่าเกินกว่าค่ามาตรฐาน ขณะที่สารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs)ในบรรยากาศพบว่า มีการตรวจพบค่าที่เกินกว่าค่ามาตรฐาน 3 พารามิเตอร์ ได้แก่ Benzene, Bu-tadiene และ Chloroethane หากประเมินกรณีเหลวร้ายสุดอาจจะเกิดความรุนแรงกว่านี้อีกมาก

สำหรับกากอุตสาหกรรมใน3 จังหวัดที่เกิดขึ้นปัจจุบันปริมาณ 5.07 ล้านตันต่อปี มีกากอุตสาหกรรมที่เข้าโรงงานกำจัดแจ้งรับ 2.47 ล้านตันต่อปี เท่ากับมีกากอุตสาหกรรมที่ไม่ได้รับการกำจัดถึง 55.26% มีกากอุตสาหกรรมที่ได้รับการกำจัดเพียง 44.74% ปัจจุบันมีการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมในพื้นที่ 3 จังหวัดอย่างต่อเนื่อง จำเป็นต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน ถ้าเราจะทำแผนต่อไป แต่ปัจจุบันยังไม่ได้รับการแก้ไข อนาคตจะเกิดอะไรขึ้น

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 23 มีนาคม 2561

ปั้น‘ผู้จัดการแปลงใหญ่’ เฟ้น597เกษตรกรติวเข้มพัฒนาการเกษตรตลอดห่วงโซ่

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า จากการดำเนินงานแปลงใหญ่ ตั้งแต่ปี 2559 ถึงปัจจุบัน มีเกษตรกรเข้าร่วมแล้วกว่า 277,127 ราย 3,029 แปลง พื้นที่ 3,724607 ไร่ แบ่งเป็นแปลงใหญ่ 11 กลุ่มสินค้า ได้แก่ ข้าว พืชไร่ ไม้ยืนต้น ผัก/สมุนไพร ไม้ผล หม่อนไหม ไม้ดอก ไม้ประดับ ปศุสัตว์ ประมง แมลงเศรษฐกิจ และนาเกลือ มีสินค้าหลากหลายกว่า 50 ชนิด ปัจจุบันเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตรรับหน้าที่เป็นผู้จัดการแปลงโดยในปี 2561 กรมส่งเสริมการเกษตร เตรียมพัฒนาเกษตรกรที่มีศักยภาพ 597 ราย ก้าวขึ้นสู่ประธานแปลงใหญ่ ทดแทนเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตรที่จะกลับมารับหน้าที่ฝ่ายสนับสนุนแทน

แนวทางเพื่อการพัฒนาผู้จัดการแปลงใหญ่ที่ดำเนินการครบ 3 ปี (แปลงปี 2559) จำนวน 597 รายนี้ สำหรับเกษตรกรที่เหมาะสมต่อการพัฒนาเป็นผู้จัดการแปลงใหญ่นั้น เกษตรกรผู้เข้าร่วมพัฒนาจะต้องเป็นสมาชิกและได้รับการคัดเลือกจากสมาชิกแปลงใหญ่ มีอายุระหว่าง 24-65 ปี สามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเบื้องต้นได้ โดยจะได้เรียนรู้การเกษตรตามชนิดสินค้า เรียนรู้เทคนิคการหาช่องทางการตลาดและเส้นทางโลจิสติกส์ของสินค้า เรียนรู้หลักสูตรการบริหารจัดการธุรกิจ การบริหารจัดการบุคลากร การจัดทำแผนบัญชีธุรกิจ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง มุ่งให้เกิดการบริหารจัดการร่วมกัน โดยเกษตรกรเป็นศูนย์กลางในการดำเนินงาน ผลักดันให้เกษตรกรรวมกลุ่มในการผลิตเพื่อร่วมกันจัดหาปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพดี ราคาถูก อาทิ พันธุ์พืช ปุ๋ย และการใช้เทคโนโลยีการเกษตรที่เหมาะสม เช่น เครื่องจักรกลการเกษตร เพื่อลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตการผลิตสินค้าเกษตร ตลอดจนการจัดการด้านการตลาดโดยหน่วยงานภาครัฐให้การสนับสนุนและอำนวยความสะดวก

ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร ได้จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการโครงการพัฒนาเกษตรกรเป็นผู้จัดการแปลง สำหรับเกษตรกรที่พร้อมก้าวเข้าสู่ผู้นำกลุ่ม เป็นประธานแปลงใหญ่ที่มีศักยภาพของประเทศ รุ่นที่ 1 จำนวน 107 ราย จาก 12 จังหวัด ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน โดยผู้นำกลุ่มเหล่านี้จะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของประเทศต่อไป

จาก www.naewna.com วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2561

ค่าบาท 'ทรงตัว' ตลาดกังวลสงครามการค้า

 บาทเปิดตลาดเช้านี้ทรงตัว "31.26 บาทต่อดอลลาร์" ตลาดกังวลมาตรการกีดกันการค้าสหรัฐกับจีน แต่เชื่อว่าในอนาคตไม่น่ากระทบเอเชียรวมถึงไทย หากตลาดปรับตัวลงถึงจุดยังคงมีแรงซื้อต่างชาติเข้ามา

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 31.26บาทต่อดอลลาร์ ไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อน

ในคืนที่ผ่านมา นักลงทุนให้ความสนใจกับคำสั่งประธานาธิบดีสหรัฐชุดใหม่ ที่จะมีการกีดกันทางการค้ากับบริษัทจีนมากขึ้น ทั้งในรูปแบบของภาษีการนำเข้า และการกำหนดขอบเขตให้บริษัทจีนไม่สามารถเข้ามาลงทุนในบริษัทสหรัฐได้ ซึ่งจะใช้เวลาศึกษาอีก 15 วันเพื่อกำหนดหลักการที่เป็นชัดเจน ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวลง S&P500 ปรับตัวลงทันทีราว 2.5% ขณะที่บอนด์ยีลด์สหรัฐอายุ 10ปีก็ปรับตัวลงทันทีไปที่ระดับ 2.82% ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นแต่ระดับ 105.29 เยนต่อดอลลาร์อีกครั้ง

ปัจจัยดังกล่าวสร้างความกังวลให้กับตลาดเป็นอย่างมาก เนื่องจากทางการจีนให้ความเห็นว่าอาจต้องมีการตอบโต้ด้วยการกำหนดกำแพงภาษีเพื่อป้องกันเศรษฐกิจจีนเช่นกันและอาจนำไปสู่ภาวะสงครามทางการค้าที่ยืดเยื้อและไม่เป็นผลดีกับตลาดทุน

“แม้เราจะมองว่าการตอบโต้ทางการค้าไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องในระยะยาว แต่การ กีดกันทางการค้าก็ไม่ใช่สิ่งที่ควรทำตั้งแต่แรก โอกาสที่ปัญหานี้จะยืดเยื้อจึงมีความเป็นไปได้สูง เชื่อว่าช่วงนี้สงครามการค้าจะขึ้นมาเป็นประเด็นที่ตลาดให้ความสำคัญเนื่องจากส่งผลกระทบโดยตรงกับเศรษฐกิจ และเมื่อเปรียบเทียบกับภาวะสงครามทางการค้าในช่วงปี 1980 พบว่ามีโอกาสที่ตลาดหุ้นจะปรับฐานได้ราว 10% จากการขึ้นภาษี 25% ของทั้งสองฝั่ง โดยที่กลุ่มธุรกิจที่น่ากังวลมากที่สุดคือสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของจีน”

อย่างไรก็ตามภาพสงครามการค้าดังกล่าวย้ำมุมมองเดิมของเราว่า สหรัฐยังไม่มีแนวคิดที่จะตั้งกำแพงภาษีอย่างเป็นระบบซึ่งจะส่งผลกับทุกประเทศ แต่จะตั้งกำแพงภาษีเป็นรายสินค้าและหลายประเทศเพื่อผลประโยชน์ด้านการเมืองเป็นหลัก จึงยังมีความเป็นไปได้ต่ำที่อนาคตจะส่งผลกระทบกับประเทศอื่นๆในแถบเอเชียรวมถึงไทย

ในส่วนของตลาดการเงินสิ่งที่ต้องระมัดระวังในช่วงนี้คือโอกาสที่ตลาดจะปิดรับความเสี่ยง (risk off) มีสูงขึ้นมาก นักลงทุนจะหลบไปพักในสินทรัพย์ที่ความเสี่ยงต่ำ เช่นค่าเงินเยนและหรือสินทรัพย์ทางเลือกเช่นทอง อาจมีบางส่วนที่ไหลเข้ามาพักในฝั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากเป็นจุดที่มีความเสี่ยงกับสงครามการค้าไม่มากเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น

ในส่วนของค่าเงินบาท เชื่อว่าในระยะสั้นมีโอกาสแกว่งตัวในกรอบที่แคบลง การอ่อนค่าจะเกิดจากแรงขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก แต่ก็จะมีแรงซื้อจากนักลงทุนรออยู่เมื่อตลาดปรับฐานลงถึงระดับที่น่าสนใจ มองกรอบเงินบาทระหว่างวันที่ระดับ 31.20 - 31.30 บาทต่อดอลลาร์

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2561

เผาไร่อ้อย สร้างมลพิษ"หิมะดำ"ปกคลุมตัวเมืองเลย

เกษตรกรเผาต้นอ้อยเร่งเก็บเกี่ยวจนเกิดเขม่าควันดำเป็น "หิมะดำ"ปกคลุมตัวเมือง เดือดร้อนกันทั้งทัศนวิสัยการมองเห็นและสุขภาพ ต้องเร่งดับไฟ

             เมื่อวันที่ 22 มี.ค.2561 ณ บ้านติดต่อ ต.นาอาน อ.เมือง จ.เลย ห่างจากตัวเมืองเลย 3 กม.ใกล้กับวนอุทยานภูบ่อบิดแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของเมืองเลย ได้มีผู้ปลูกอ้อยบนเนื้อที่กว่า 80 ไร่ รายหนึ่งได้ทำการจุดไฟเพื่อเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิตให้ทันต่อฤดูการเปิดหีบอ้อย เปลวไฟและเขม่าควันส่งผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งในพื้นที่ใกล้เคียงและตัวเมืองเลย จนเกิดปรากฎการณ์”หิมะดำ” ปกคลุมพื้นที่ของเทศบาลเมืองเลย ท้องถนน ทั้งสนาม ลาน หลังคา ดาดฟ้า อ่างน้ำ รถยนต์ ประชาชนตากเสื้อผ้ากลางแจ้งต้องรีบเก็บเข้าบ้านเข้าอาคาร แสบหู แสบตา ครั่นเนื้อครั่นตัว คันตามผิวหนัง

          เกิดฟ้าหลัว หมอกควันไฟ ทำให้ทัศนวิสัยทางนอนมองเห็นได้ไม่เกิน 3 กม.สร้างความรำคราญอย่างมาก ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ประกอบกับวันนี้มีลมพัดแรงเป็นระยะ ๆเปลี่ยนทิศทางลมเข้าสู่ตัวเมืองเลย ทต.นาอาน ต้องนำรถดับเพลิงไปดับไฟที่เผาไร่อ้อยจนดับในเวลา 11.30 น.

         นายวิวรรธน์ ก่อวิริยกมล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเลย กล่าวว่า ควันไฟและฝุ่นเป็นอันตรายต่อสุขภาพประชาชนเป็นอย่างยิ่ง ที่ผ่านมาในช่วงเดือน ก.พ.จนถึง เม.ย. มักมีการเผาหญ้า ฟางข้าว เผาป่า เผาอ้อยกันจำนวนมาก ซึ่งทางจังหวัดเลยได้รณรงค์มาตลอดและต่อเนื่องทุกปี เป็นการทำลายทัศนวิสัยการมองเห็น ทำลายสิ่งแวดล้อม อันตรายต่อสุขภาพ

        โดยเฉพาะคนที่มีปัญหาระบบหายใจ การไหลเวียนของโลหิต ควรตัดหญ้า วัชพืช ตัดอ้อยด้วยแรงงานไม่ควรใช้วิธีเผาอัน จนเกิดเป็นหมอกควัน เถ้าถ่าน ที่ผ่านมา จ.เลย มีการตรวจวัดสภาพอากาศ พบว่าค่าที่สูงสุดคือ ในช่วงต้นถึงกลางเดือน มี.ค.61 วัดค่าได้ที่110 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ถือว่าเกือบถึงขีดอันตราย ได้แจ้งเตือนประชาชนเพื่อป้องกัน ว่า หากจำเป็นออกจากบ้านต้องสวมหน้ากากอนามัย ปิดปากปิดจมูกด้วย

        นอกจากนี้ยังเตือนประชาชนในการรักษาสุขภาพ โดยเฉพาะหน้าร้อนปีนี้จะมีความร้อนเข้าปกคลุมจังหวัดเลยรุนแรงยาวนาน ส่งผลให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน อ่อนเพลีย รับไม่ไหว โดยเฉพาะกับผู้ป่วยผู้มีโรคประจำตัวอยู่ก่อน โรคปอด หืดหอบ โรคหัวใจ ผู้ที่ไม่ได้สวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศออกได้ดี ผู้ที่ดื่มน้ำไม่เพียงพอ รวมถึงโรคลมแดดมารบกวน ลมชัก ภาวะหายใจ แน่นหน้าอก ส่วนการออกำลังกายกลางแจ้งนั้น ควรงดช่วงแดดจัด ต้องออกกำลังช่วงเช้าหรือเย็น และงดการดื่มกาแฟและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนออกลังกายเด็ดขาด ใครที่มีอาการผิดปกคติต้องรีบพบแพทย์ หรือแจ้ง 1669 เช้าช่วยเหลือด่วน

จาก www.komchadluek.net  วันที่ 22 มีนาคม 2561

รัฐแท็กทีมพลิกโฉมเศรษฐกิจ ขับเคลื่อนประเทศผ่าน EEC สู่สังคมดิจิทัล

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้จัดสัมมนา Thailand Taking off to New Heights ขึ้นเมื่อต้นสัปดาห์นี้ โดย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษว่า ในระยะเวลา 2 ปี เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้จากการปฏิรูปประเทศของรัฐบาล ซึ่งจะเห็นได้จากยอดคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพิ่มขึ้นกว่า 200% จากปี 2558 จากคำขออยู่ที่ 983 โครงการมูลค่า 190,000 กว่าล้านบาท ก็เพิ่มขึ้นเป็น 1,456 โครงการมูลค่ากว่า 600,000 ล้านบาท และในปีนี้คาดว่าจะมีมูลค่าคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนไม่ต่ำกว่า 700,000 ล้านบาท โดยแสดงความเชื่อมั่นว่า GDP ปีนี้จะเติบโตมากกว่า 4% จากยุทธศาสตร์การลงทุน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่

ยุทธศาสตร์โครงการลงทุนขนาดใหญ่ อาทิ โครงการรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯและต่างจังหวัด, โครงการรถไฟฟ้าทางคู่เชื่อมโยงการขนส่งทั้งภาคเหนือ-กลาง-อีสาน-ใต้ รวมถึงโครงการพัฒนาท่าอากาศยาน โดยเป็นแผนพัฒนาช่วง 5 ปี (2560-2564) มูลค่าลงทุนล้านล้านบาท พร้อมกับโครงการลงทุนด้านพลังงาน โครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติ โครงการลงทุนในโครงข่ายในระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติไฟฟ้าในช่วงปี 2561-2565

รวมไปถึงให้ กระทรวงคมนาคม ศึกษารถไฟกรุงเทพฯ-หัวหิน-สุราษฎร์ธานี คาดว่าจะมีการจัดซื้อจัดจ้าง (TOR) แล้วเสร็จในปีนี้ พร้อมกับศึกษาเส้นทางบกเชื่อมโยงกับโครงการถนนเลียบชายฝั่งทะเล (Thailand Rivera) โดยเน้นผลักดันสถานที่ท่องเที่ยวให้เป็นมิติใหม่ อาหาร ส่งเสริมชุมชน นอกจากนี้ยังเร่งรัดให้มีการศึกษารถไฟความเร็วสูงเส้นทางแม่สอด จ.ตาก-จ.มุกดาหาร เชื่อมต่อถึงเวียดนาม

ยุทธศาสตร์ด้านที่ 2 คือ โครงการลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อเป็นฐานรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยรัฐบาลได้ผลักดันโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยอง เชื่อม 3 สนามบินให้พร้อมรองรับนักลงทุนปี 2566 เต็มรูปแบบ ประกอบกับโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก, โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงท่าอากาศยานอู่ตะเภา, โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 และโครงการท่าเรือมาบตาพุดระยะ 3 เช่นเดียวกัน ส่วนยุทธศาสตร์ที่ 3 จะเน้นโครงการขับเคลื่อนประเทศไทยเข้าสู่สังคมดิจิทัล เช่น การลงทุนในระบบอินเทอร์เน็ตหมู่บ้าน

“รัฐบาลได้ริเริ่มโครงการลงทุนเคเบิลใต้น้ำเชื่อมโยงโครงข่ายระหว่างไทย-ฮ่องกง-จีน ยกระดับให้เป็น International Gateway ระดับภูมิภาคให้เชื่อมโยงภาคการผลิตและภาคบริการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมระบบดิจิทัลเทคโนโลยี”

ดัน CLMVT มาสเตอร์แพลน

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปลายเดือนเมษายนนี้รัฐบาลและ BOI มีแผนโรดโชว์ที่ประเทศบังกลาเทศ เพื่อส่งเสริมการลงทุนระหว่างกันไปยังตลาดใหม่ให้เชื่อมโยงโลจิสติกส์ถึงจีน การเจรจาเขตการค้าเสรี (FTA) ร่วมกัน และรัฐบาลจะเร่งผลักดัน “CLMVT มาสเตอร์แพลน” โดยทั้งหมดจะเชื่อมให้ภูมิภาคเป็นผืนเดียวกันไปถึงจีนและอินโดจีน ไทยจะเป็นฐานสำคัญให้ กรมศุลกากร ดำเนินการเข้าออกผ่านพรมแดนอย่างเบ็ดเสร็จ (one stop service)

“ที่ผ่านมา 5 ปีที่ไทยส่งออกติดลบ 0% การส่งออกแทบจะไม่โต ขีดความสามารถในการแข่งขันจะสะท้อนถึงอันดับความน่าสนใจของนักลงทุน แต่ปัจจุบันโลกเปลี่ยน ไทยต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองครั้งใหญ่ด้วย นโยบาย Thailand 4.0 โดยการสร้าง platform ใหม่ ๆ เช่น ปรับองคาพยพเพื่อยกระดับไปสู่การแข่งขันให้สอดคล้องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี”

ก.อุตฯดัน SMEs หนุน EEC

ด้าน นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ไทยปฏิรูปประเทศด้วยนโยบาย Thailand 4.0 แต่จะทำอย่างไรให้นำ “จุดแข็ง” ในแต่ละด้านมายกระดับให้เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย มิติใหม่ที่จะเกิดขึ้นแม้รัฐบาลสร้างแผนการลงทุนขนาดใหญ่ แต่ผู้ประกอบการกับประชาชนต้องเป็นหุ้นส่วนร่วมกันแล้วมองไปข้างหน้า ว่าต้องเดินหน้าในระยะยาวอย่างไร ซึ่งระยะ 5 ปีแรกมีปัจจัยหลักขับเคลื่อน ซึ่งหนีไม่พ้นเรื่องของคน การเข้าถึงดิจิทัล เพื่อเพิ่มนวัตกรรมโปรดักต์โรบอตให้สอดคล้องการพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยตั้งเป้าภายในปี 2561 นี้จะทำงานร่วมกัน 10,000 ราย เพื่อพัฒนาเทคโนโลยี ส่งผลให้ลดต้นทุนการผลิต 10%

“กระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมที่จะเดินหน้าเชิญชวนนักลงทุนมาเป็นหุ้นส่วนพัฒนาอุตสาหกรรม โดยกระทรวงจะดูแลด้านมาตรฐานการผลิตให้สินค้ามีคุณภาพ เพื่อให้ยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนในปีนี้เป็นไปตามเป้าที่ 700,000 ล้านบาท ซึ่งยอดกว่าครึ่งจะเป็นการลงทุนในพื้นที่ EEC”

เทสิทธิประโยชน์ EEC

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กนศ.) กล่าวว่า ส่วนหนึ่งที่สร้างความเชื่อมั่นให้เกิดการลงทุนได้จริงคือ พ.ร.บ. EEC ได้ควบรวบอำนาจไว้ที่เดียวเบ็ดเสร็จ เช่น ปรับระบบการร่วมทุน ลดระยะเวลายื่นคำขอ เม็ดเงินที่จะเกิดขึ้นภายในปลายปีไม่ต่ำกว่า 700,000 ล้านบาท

ในขณะที่ นาวาเอกสมนึก แก้วมะเริง รองผู้อำนวยการการท่าอากาศยานอู่ตะเภา กล่าวถึงแผนงานปีนี้ว่า จะก่อสร้างทางวิ่งสนามบินอู่ตะเภาเป้าหมาย 2.5 แสนเที่ยวบินต่อปี สนามบิน 3 แห่งที่จะเกิดขึ้นจะเชื่อมโยงการค้าและจะสร้างปรากฏการณ์ใหม่ในพื้นที่ EEC รวมไปถึงโครงการงานวิจัยยุทโธปกรณ์และโครงการ Medical Hub ให้เป็นศูนย์กลางการแพทย์

ส่วนการให้สิทธิประโยชน์กับนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่ EEC นั้น น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าวว่า ปีนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเด็นพื้นที่ EEC จะเป็นพื้นที่เป้าหมายสำคัญที่ BOI จะให้สิทธิประโยชน์มากที่สุดจากเกณฑ์ปกติ โดยเน้นอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-curve โดยเฉพาะสิทธิประโยชน์พื้นฐาน ได้แก่ การวิจัยและพัฒนา (R&D) ผู้ประกอบการจะได้สิทธิประโยชน์พิเศษภาษีเงินได้ 10 ปี “ยกเว้น” อากรขาเข้าเพื่อวิจัยและพัฒนาให้เฉพาะ โครงการวิจัยในหมวดเทคโนโลยี หากทำกิจกรรมที่เป็นเป้าหมายรวมแล้วจะได้รับการ “ยกเว้น” ภาษีไม่เกิน 13 ปี (maximum)

“รัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก รวมทั้งการบริจาคเงินเข้ากองทุน เข้าร่วมโครงการดูโอ หรือซื้อผลงานวิจัยในประเทศ การฝึกอบรม และล่าสุดหากฝึกอบรมด้วยระบบดิจิทัลก็สามารถขอได้เพิ่มอีก ไม่นับการผลักดันให้บริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯและการให้วีซ่าพิเศษ หรือ Smart Visa จะช่วยดึงดูดนักลงทุนเพิ่มและนั่นคือ ก้าวสำคัญที่จะเกิดขึ้นในปีนี้” น.ส.ดวงใจกล่าว

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 22 มีนาคม 2561

วงล้อเศรษฐกิจ : ค่าเงินบาทยังน่าห่วง

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ (อีไอซี) ธนาคารไทยพาณิชย์

คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ในการประชุมวันที่ 14 ก.พ. 2561

กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวชัดเจนมากขึ้นจากการส่งออกสินค้าและบริการที่โตต่อเนื่อง ด้านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวดีต่อเนื่อง โดยได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ

อย่างไรก็ตาม กำลังซื้อครัวเรือนมีการปรับตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่วนหนึ่งมาจากหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง และปัญหาเชิงโครงสร้างในตลาดแรงงาน สำหรับการลงทุนภาครัฐยังเป็นแรงขับเคลื่อนให้กับเศรษฐกิจแม้ชะลอลงบ้าง สำหรับความเสี่ยงที่ต้องติดตามยังคงเป็นเรื่องความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐ และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศและราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นจาก ปีก่อน อย่างไรก็ดี แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งยังต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่ส่งผลให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ช้ากว่าในอดีต

ภาวะการเงินโดยรวมอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ จากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลและดอกเบี้ยที่แท้จริงที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ด้านสินเชื่อ SMEs เริ่มปรับดีขึ้นในหลายธุรกิจและหลายพื้นที่

กนง. ยังคงติดตามการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่มีความผันผวนสูงขึ้นชัดเจน โดยมีสาเหตุหลักจากความไม่แน่นอนของนโยบายการเงินการคลังของประเทศอุตสาหกรรมหลัก

นอกจากนี้ เศรษฐกิจในประเทศยังมีความเสี่ยงจากพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์

คาด กนง. จะคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% ต่อเนื่องในช่วงต้นปี 2561 เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวได้ต่อเนื่อง ทั้งนี้ เงินเฟ้อทั่วไปที่ยังอยู่ต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย และการฟื้นตัวของกำลังซื้อที่ยังไม่ทั่วถึง จะทำให้ กนง.ไม่รีบปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในช่วงครึ่งปีแรก

ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มสูงขึ้นมากในช่วงต้นปี 2561 จากปัจจัย ต่างประเทศ เช่น stock market correction ในสหรัฐ ที่ทำ ให้เงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงสั้นๆ

อย่างไรก็ตาม มองว่าเงินบาทยังคงมีแนวโน้มกลับมาแข็งค่าได้ต่อเนื่อง ทำให้โอกาสที่ กนง.จะมีมาตรการดูแลอัตรา แลกเปลี่ยนอาจเพิ่มขึ้นได้ในอนาคต

จาก  https://www.khaosod.co.th  วันที่ 22 มีนาคม 2561

50 ปีอาเซียน เออีซียุค 4.0

หลายท่านคงคุ้นเคยกับคำว่า “อาเซียน” และ “AEC” แล้วในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา แต่รู้กันหรือไม่ว่าในปี 2560 นี้ ...อาเซียนมีวาระครบรอบ 50 ปีแล้ว นับตั้งแต่ได้ก่อตั้งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ ASEAN ตามปฏิญญากรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2510 ด้วยเหตุผลด้านเสถียรภาพของภูมิภาคในขณะนั้น

กล่าวได้ว่า...อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม เชื้อชาติ ศาสนา ภาษา สังคม การเมือง มีความแตกต่างของระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ แต่ก็ได้พัฒนาทางเศรษฐกิจ แต่ก็ได้พัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างกันและมีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่อง จนก้าวเข้าสู่การเป็น ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ได้สำเร็จเมื่อ 31 ธันวาคม 2558.

ที่สำคัญ...จะต้องไม่ลืมว่าประชาคมอาเซียนประกอบด้วย 3 ประชาคมหลัก คือ การเมืองและความมั่นคง (APSC) เศรษฐกิจ (AEC) สังคมและวัฒนธรรม (ASCC)

ฉายภาพด้านเศรษฐกิจก่อนก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC นั้น นับย้อนไปตั้งแต่การจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน หรืออาฟตา (AFTA) เมื่อปี 2535 เพื่อขยายการค้าโดยทยอยลดภาษีนำเข้าสินค้าระหว่างกัน ทำให้ปัจจุบันภาษีนำเข้าสินค้าภายใต้อาเซียนส่วนใหญ่ลดเป็นศูนย์แล้ว

นอกจากนี้ อาเซียนยังมีเป้าหมายที่ครอบคลุม อาทิ การยกเลิกมาตรการที่มิใช่ภาษี การอำนวยความสะดวกทางการค้า ซึ่งพัฒนาเป็นความตกลงด้านการค้าสินค้า การจัดทำความตกลงด้านการค้าบริการและการลงทุน ที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าไปจัดตั้งธุรกิจหรือไปให้บริการในประเทศอาเซียนอื่นได้ง่ายขึ้น

ปี 2550-2558 อาเซียนขับเคลื่อนดำเนินงานภายใต้แผนงานการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ “AEC Blueprint 2015”...เป้าหมายเพื่อให้อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มั่นคง มั่งคั่ง มีขีดความสามารถในการแข่งขัน พร้อมกับพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่เท่าเทียมกัน ลดความยากจน รวมถึงความแตกต่างด้านสังคม...เศรษฐกิจ

มาตรการสำคัญที่ไทยและอาเซียนได้ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว อาทิ การปรับประสานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม การจัดทำระบบการอำนวยความสะดวกทางการค้าต่างๆ เช่น ระบบการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว...ระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง ...ระบบสืบค้นอัตราภาษี...ระบบ ASSIST ที่ให้นักธุรกิจสามารถร้องเรียนปัญหาการค้าการลงทุนมายังหน่วยงานภาครัฐของอาเซียนทางเว็บไซต์

รวมถึงจัดทำคลังข้อมูลทางการค้าของไทยผ่านช่องทางเว็บไซต์ www.thailandntr.com น่าสนใจว่า...มาตรการเหล่านี้จะช่วยอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ ส่งเสริมให้เกิดการขยายตลาดการค้าสินค้า...บริการทั้งในอาเซียน และระหว่างอาเซียนกับประเทศนอกภูมิภาค

ตอกย้ำความสัมพันธ์ “AEC”...ช่วยสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ เสริมสร้างขีดความสามารถของประเทศสมาชิก ส่งผลให้อาเซียนมีบทบาท ความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกมากยิ่งขึ้น เห็นได้จากขนาดเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นกว่าเท่าตัวในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา...โดยในปี 2558 อาเซียนมีมูลค่าการค้าคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.3 ของจีดีพีโลก

 ปัจจุบัน “อาเซียน” เป็นภูมิภาคที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลก และอันดับ 3 ของทวีปเอเชียรองจากจีน...ญี่ปุ่น และเป็นตลาดขนาดใหญ่อันดับ 3 ของโลก

ประเทศไทยสามารถขยายการส่งออกสินค้าไทยในอาเซียนได้เพิ่มขึ้น ทำให้อาเซียนกลายเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย ตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา

แล้วก็มาถึงด้าน “การลงทุนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มูลค่าจากอาเซียนที่เข้ามายังไทยมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า โดยมีมูลค่า 10,300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2558 ในขณะที่ไทยออกไปลงทุนโดยตรงในอาเซียน 24,900 ล้านเหรียญสหรัฐฯ...คิดเป็นการขยายตัวเกือบ 30 เท่า

ในช่วง 3 ปีล่าสุด ปี 2556–2558…ไทยมีการลงทุนในกลุ่ม CLMV เพิ่มมากขึ้นด้วย

บุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศบอกว่า 50 ปีอาเซียน หากจะกล่าวถึงรูปธรรมที่จับต้องได้ ก็จะเป็นโครงการต่างๆที่ทำไปแล้วตามบลูปรินต์ 2015 ไม่ได้เป็นในเชิงเศรษฐกิจ แต่จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวก ในส่วนของความตกลง...บางเรื่องก็ยังมีที่คั่งค้างกันอยู่ ไม่ได้ให้สัตยาบันกันทุกประเทศ...แล้วบางฉบับก็อาจจะยังไม่มีผลใช้บังคับด้วยซ้ำไป...

 “จริงๆนอกจากเอฟทีเอที่เปิดแล้วยังมีความร่วมมือต่างๆที่มากกว่าเอฟทีเอทั่วไป ซึ่งในแต่ละความร่วมมือเป็นรูปธรรมก็ไม่เชิง แต่ในแง่คนที่อยู่ในส่วนที่เกี่ยวข้องแต่ละความร่วมมือจะรู้สึกชัดเจนทราบได้ เช่น เอสเอ็มอี ทรัพย์สินทางปัญญา กลุ่มผู้ประกอบการ เพียงแต่ประชาชนทั้งประเทศโดยรวมอาจจะไม่เห็นเป็นรูปธรรมในส่วนนี้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าขนาดเศรษฐกิจของอาเซียนจะเติบโตขึ้น อาเซียนตระหนักดีถึงกระแสการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนของโลกที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา อาเซียนจำเป็นต้องมองออกไปข้างนอกกลุ่มและเชื่อมโยงการค้าการลงทุนกับเศรษฐกิจโลก เพื่อให้อาเซียนมีความเข้มแข็งมากขึ้นในการเป็นห่วงโซ่อุปทานของโลก และทำให้อาเซียนดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ

อาเซียนจึงจำเป็นต้องเร่งสร้างความเข้มแข็งภายในภูมิภาค คู่ขนานไปกับการเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการเชื่อมโยงกับภายนอกอาเซียนอย่างมั่นคงและยั่งยืน ผ่านการจัดทำ ความตกลงการค้าเสรี (FTA) จำนวน 5 ฉบับ กับ 6 ประเทศคู่เจรจา ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์

ประตูอาเซียนเปิดกว้าง...คนทั่วไปเหมือนใกล้กันขึ้น การไปมาหาสู่กันเปิดมากขึ้นด้วย แต่ก็ไม่ได้เป็นข้อตกลงให้คน แรงงานทั่วไปเข้ามาได้โดยอิสระ ยังเป็นกฎเกณฑ์ของแต่ละประเทศอยู่...เพียงเป็นกลไกปกติที่เกิดขึ้น

“ยุทธศาสตร์เราค่อนข้างไปในแนวทางเดียวกับอาเซียน เน้นเรื่องการค้าบริการมากขึ้น เรื่องสินค้าทำมานานแล้ว บางตัวเท่านั้นที่ยังอ่อนไหว แต่เน้นการค้าบริการมากขึ้น สาขาที่แต่ละประเทศอาจไปทบทวนเปิดมากขึ้น เป็นขั้นๆไป จริงๆกระทรวงฯก็ให้ความสำคัญกับอาเซียนยุทธศาสตร์ประเทศก็ล้อกัน...ไทยแลนด์ 4.0”

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศมียุทธศาสตร์อยู่แล้วแต่เพิ่งหมดไป ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการระดมสมองกันอยู่ ยังไม่ได้ออกมาเป็นเอกสาร จุดเน้นยังคงเป็นเรื่องการปกป้องผลประโยชน์ทางการค้า เจรจาเชิงรุก

เท่าที่ชัดเจนเลยที่ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการคือการเจรจาเปิดเสรีในกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) กรมฯเร่งเป็นหลักทั้งอาเซียน และไทยเองก็เน้นเฉพาะเรื่องนี้ในข้อตกลงหลายฉบับบางประเทศต้องการรีวิว...ให้ลึกซึ้งขึ้น แต่เรายังขอระงับไว้ก่อนเหมือนกับว่าในอนาคตทำแต่ละเรื่องชัดเจนมากขึ้นก่อน

ทำเรื่องที่คั่งค้างอยู่ให้สำเร็จก่อน มากกว่าจะไปเพิ่มเรื่องใหม่ๆข้อตกลงใหม่ๆเข้ามาอีก

ถึงตรงนี้หลายคนอาจจะมีคำถาม...จะรู้ได้ยังไงว่าสัมพันธ์อาเซียนหรือเออีซีดีขึ้น มองเพียงแค่การส่งออกค้าๆขายๆแนวชายแดนดีขึ้นแค่นั้นได้ไหม บุณยฤทธิ์ บอกว่า ต้องมองมากกว่านั้น อาเซียนไม่ได้เกี่ยวพันกันแค่เรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียว ยังเกี่ยวโยงไปถึงเสาหลักการเมือง...ความมั่นคง สังคมและวัฒนธรรม แต่อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่เชื่อมโยงกัน...แต่ไม่ชัดเจนเท่าเรื่องเสาเศรษฐกิจ “การค้าชายแดนไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นจากเออีซี แต่เกิดขึ้นระหว่างทวิภาคีมากกว่า แล้วก็เป็นนโยบายประเทศที่มุ่งไปให้สิทธิพิเศษตรงชายแดนระหว่างประเทศนั้นๆ

อาเซียนมีความใกล้ชิดกับประเทศสำคัญๆและมหาอำนาจทุกขั้ว...คู่ขนานไปกับกระชับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านกลุ่มประเทศ CLMV สร้างหุ้นส่วนเศรษฐกิจทางยุทธศาสตร์ ประสานจุดแข็ง...เกื้อกูลประโยชน์กัน คาดหวังกันว่าเศรษฐกิจการค้าไทยคงจะเข้มแข็ง เติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”.

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 21 มีนาคม 2561

ผู้นำชาวไร่อ้อยวอนรัฐเร่งแก้อุปสรรค หวัง'ไบโอคอมเพล็กซ์'ช่วยเกษตรกร

 ประธานสหสมาคมชาวไร่อ้อย หวังโครงการไบโอคอมเพล็กซ์ ช่วยสร้างงานสร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร วอนภาครัฐเร่งแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินโครงการ ให้เดินไปได้อย่างราบรื่นและรวดเร็ว

นายทองคำ เชิงกลัด ประธานสหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทยและนายกสมาคมชาวไร่อ้อย เขต 11 นครสวรรค์ กล่าวว่า เกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ทราบว่าจะมีโครงการไบโอคอมเพล็กซ์ ตั้งขึ้นที่จังหวัดนครสวรรค์ ต่างก็ยินดีและรอคอยที่จะเห็นโครงการนี้เกิดขึ้นโดยเร็ว เพราะรู้ดีว่าโครงการนี้จะช่วยให้ชาวไร่อ้อยมีรายได้มากขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้น เพราะมีตลาดรับซื้ออ้อยเพิ่มขึ้น การระบายอ้อยออกจากแปลงก็เป็นไปอย่างคล่องตัว ไม่มีปัญหาอ้อยค้างไร่ และได้อ้อยที่มีคุณภาพ ส่งผลดีต่อเนื่องไปถึงการจัดการระบบโลจิสติกส์ การขนส่งต่างๆ ก็จะดีขึ้น การจัดการไร่ของชาวไร่อ้อยก็ดีขึ้น บำรุงตอได้เร็วขึ้น มีการสร้างงานให้กับคนในชุมชน ในท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น และไม่ขึ้นอยู่กับฤดูการผลิตเหมือนในอดีต สามารถผลิตได้ตลอดทั้งปี เศรษฐกิจในพื้นที่ก็จะดีตามไปด้วย

"ในนามของชาวไร่อ้อย ผมขอขอบคุณ ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นอย่างยิ่งที่ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายทำการปรับปรุงระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันให้เกิดโครงการไบโอคอมเพล็กซ์ขึ้นได้ในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์จนสำเร็จลุล่วงพร้อมที่จะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ในแง่ของชาวไร่อ้อย โครงการนี้ถือเป็นโครงการที่ดีที่สุดโครงการหนึ่งของรัฐบาลที่พยายามยกระดับความเป็นอยู่ของชาวไร่อ้อยให้ดีขึ้น ตลอดจนเชื่อว่าจะเกิดผลดีอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของชุมชนในท้องถิ่นอีกด้วย" นายทองคำกล่าว

ประธานสหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย กล่าวด้วยว่า โครงการนี้เป็นโครงการใหญ่ระดับประเทศ จึงน่ายินดีที่ได้เลือกให้จังหวัดนครสวรรค์เป็นพื้นที่ต้นแบบและเป็นโครงการนำร่อง ซึ่งที่ผ่านมาชาวไร่อ้อยในพื้นที่ก็ได้มีส่วนสนับสนุนโดยการทำหนังสือไปยังหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง โดยยืนยันว่ามีความพร้อมในการสร้างอ้อยเพิ่มเพื่อรองรับโรงงานใหม่ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อปริมาณอ้อยที่ส่งเข้าโรงงานน้ำตาลที่มีอยู่เดิม

นายทองคำ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันอาชีพทำไร่อ้อยนับเป็นอาชีพที่มีความมั่นคง โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ซึ่งมีพื้นที่ปลูกอ้อยกว่า 2 ล้านไร่ มีโรงงานน้ำตาลขนาดใหญ่ของกลุ่มบริษัทเกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่ม KTIS จำนวน 3 โรงงาน ซึ่งได้ดูแลใส่ใจชาวไร่อ้อยในพื้นที่ดีมาก ดังนั้น เมื่อจะมีไบโอคอมเพล็กซ์เกิดขึ้นโดยมีกลุ่มเคทิสร่วมลงทุนด้วย ชาวไร่อ้อยก็มีความเชื่อมั่นและพร้อมจะให้ความร่วมมือด้วยดี

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 21 มีนาคม 2561

เปิดผลสำรวจ! พบ 4 ประเทศในเอเชีย เสี่ยงต่อ “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก”

ซีจีทีเอ็น สำนักข่าวประเทศจีน รายงานว่า จากผลการจัดอันดับของธนาคารเอชเอสบีซี (HSBC) พบว่ามี 4 ประเทศในทวีปเอเชีย ที่มีความเสี่ยงต่อสภาพภูมิกาศ ได้เเก่ อินเดีย ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ เเละบังคลาเทศ ซึ่งคาดว่ามีเเนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากอุณภูมิของโลกที่สูงขึ้นโดยประเทศโอมานติดอันดับ 5 ที่ได้รับผลกระทบจากอุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้น

สำหรับการศึกษาในครั้งนี้ ธนาคารได้ทำการศึกษา 67 ประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ที่อาจเกิดได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนเเปลงอุณหภูมิของโลก สภาพอากาศที่รุนเเรง การเผชิญความเสี่ยงในด้านต่างๆ การเปลี่ยนเเปลงพลังงาน เเละความสามารถในการตอบสนองต่อสภาพอากาศที่เปลี่ยนเเปลงไป

ทั้งนี้ อินเดีย กล่าวว่า การเปลี่ยนเเปลงสภาพภูมิอากาศ อาจส่งผลต่อรายได้ทางการเกษตรที่จะลดลง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ไม่ได้ตั้งรับต่อภาวะสภาพอากาศที่เปลี่ยนเเปลง การเพิ่มขึ้นหรือลดลงของอุณหภูมิ รวมถึงปริมาณน้ำฝน

เเละในส่วนของประเทศปากีสถาน บังคลาเทศ เเละฟิลิปปินส์ ยังคงอ่อนไหวต่อสภาพอากาศที่รุนเเรง เช่น พายุ เเละน้ำท่วม โดยธนาคารระบุว่า ปากีสถานยังคงมีความพร้อมที่จะรับมือต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น

นอกจากนี้ สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานว่า ยังมีประเทศในเอเชียใต้ เเละเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คิดเป็นครึ่งหนึ่งของ 10 ประเทศ ที่อ่อนเเอที่สุด ได้เเก่ โอมาน ศรีลังกา โคลอมเบีย เม็กซิโก เคนย่า เเละเเอฟริกาใต้ เเละยังมีอีก 5 ประเทศที่อยู่ในกลุ่มประเทศที่เสี่ยงต่อการเปลี่ยนเเปลงอุณหภูมิ ได้เเก่ ฟินแลนด์ สวีเดน นอร์เวย์เอสโตเนีย และนิวซีแลนด์

รายงานของธนาคารโลกฉบับล่าสุดระบุว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำให้เกิดการอพยพในสามภูมิภาคของโลก ในทะเลทรายซาฮาราแอฟริกาประชากรกว่า 86 ล้านคน มีแนวโน้มที่จะถูกแทนที่ ภายใน 40 ล้านคนจะเผชิญปัญหาที่คล้ายกันในเอเชียใต้ และละตินอเมริกาจะมีการอพยพกว่า 17 ล้าน

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 21 มีนาคม 2561

ส่งออกไทยก.พ.โตต่อที่10.3% แนะจับตาบาทแข็ง-นโยบายกีดกันการค้าสหรัฐ

EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ส่งออกไทยเดือน ก.พ. โตต่อที่ 10.3% แนะจับตาบาทแข็ง-นโยบายกีดกันทางการค้าสหรัฐ

มูลค่าการส่งออกไทยเดือน ก.พ. ขยายตัวสูงต่อเนื่องที่ 10.3% โดยเติบโตดีในเกือบทุกตลาดส่งออกสำคัญและหมวดสินค้า นำโดยการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน อาทิ น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์และพลาสติก ที่เติบโต 47% และ 20% ตามลำดับ ด้านการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหลักยังคงเติบโตสอดคล้องกับภาคการผลิตของโลก เช่น คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ รวมถึงรถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ที่ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องที่ 21% และ 18% ตามลำดับ ในขณะเดียวกัน ราคาส่งออกข้าวและมันสำปะหลังที่ฟื้นตัว ส่งผลให้การส่งออกสินค้าดังกล่าวเติบโตที่ 20% และ 14% ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ราคาส่งออกสินค้าเกษตรบางรายการที่หดตัว เช่น ยางพาราและน้ำตาล ส่งผลให้การส่งออกสินค้าดังกล่าวหดตัวที่ 29% และ 24% ตามลำดับ

มูลค่าการนำเข้าเติบโตต่อเนื่องที่ 16.0% จากการนำเข้าในกลุ่มสินค้าเชื้อเพลิงที่เติบโตกว่า 21% ตามราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ด้านการนำเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยังขยายตัวกว่า 28% ตามแนวโน้มการส่งออกที่เพิ่มขึ้นในสินค้ากลุ่มดังกล่าว ขณะที่สินค้าทุน (ไม่รวมเครื่องบินและเรือ) ขยายตัว 1.3% สะท้อนการลงทุนในประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

อีไอซีคาดมูลค่าการส่งออกทั้งปี 2018 จะขยายตัวที่ 5.0% ตามแนวโน้มการเติบโตของภาคการผลิตโลก ประกอบกับราคาน้ำมันและสินค้าเกษตรบางรายการที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ดี เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับคู่ค้าสำคัญ สะท้อนจากดัชนี Real Effective Exchange Rate (REER) ที่เพิ่มขึ้นราว 5% ตั้งแต่ต้นปี 2017 อาจกระทบความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกไทย โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าที่ถูกทดแทนได้ง่ายอย่างสินค้าเกษตร ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง น้ำตาล และยางพารา นอกจากนี้ เงินบาทที่ยังมีแนวโน้มแข็งค่าอาจกระทบโดยตรงต่อกำไรในรูปเงินบาทของผู้ส่งออกสินค้าเกษตรที่กล่าวข้างต้นด้วยเช่นกัน เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีสัดส่วนการใช้วัตถุดิบนำเข้าน้อย จึงไม่ได้รับประโยชน์จากเงินบาทที่แข็งค่ามากนัก อีกทั้งยังมีอัตราส่วนกำไรขั้นต้น (gross profit margin) ที่ค่อนข้างต่ำ ส่งผลให้ผู้ประกอบการบางรายอาจขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนหากไม่ทำการปิดความเสี่ยงด้านค่าเงิน (hedging)

สินค้าส่งออกไทยบางรายการอาจเผชิญความเสี่ยงจากนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ และการตอบโต้ (retaliation) จากประเทศต่างๆ หลังจากที่ประธานาธิบดีทรัมป์ได้อนุมัติมาตรการ safeguard เก็บภาษีการนำเข้าเครื่องซักผ้าและแผงโซลาร์ ไปเมื่อวันที่ 22 มกราคมที่ผ่านมา ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2018 ประธานาธิบดีทรัมป์ ก็ได้ลงนามอย่างเป็นทางการเพื่ออนุมัติให้สหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีนำเข้าเหล็กจากทุกประเทศ (safeguard) ในอัตรา 25% เพิ่มเติมจากมาตรการภาษีทั้งหมดที่มีการเรียกเก็บอยู่ก่อนแล้วในปัจจุบัน ซึ่งอีไอซีประเมินว่ามาตรการดังกล่าวจะส่งผลให้ปริมาณส่งออกเหล็กของไทยไปยังสหรัฐฯ ลดลง 2 แสนตัน (9% ของปริมาณเหล็กส่งออกทั้งหมดของไทย) หรือคิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.1% ของมูลค่าส่งออกไทยทั้งหมด

อีไอซีคาดว่ามูลค่าการนำเข้าทั้งปี 2018 จะขยายตัวที่ 9.2% โดยเติบโตตามความต้องการสินค้าวัตถุดิบและสินค้าทุน ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวตามการลงทุนในประเทศที่คาดว่าจะฟื้นตัวดีขึ้น ประกอบกับการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงที่มีแนวโน้มดีขึ้นตามราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 21 มีนาคม 2561

บาทแข็งทุบมูลค่าส่งออก 2 เดือนแรกปี’61 รูปเงินบาท หดตัว 0.6% ครั้งแรก ‘พาณิชย์’ ยังมั่นใจเป้าส่งออกทั้งปี โต 8%

บาทแข็งทุบมูลค่าส่งออก 2 เดือนแรกปี’61 รูปเงินบาท หดตัว 0.6%  เป็นครั้งแรก ‘พาณิชย์’ ยังมั่นใจเป้าส่งออกทั้งปี โต 8%  มูลค่า  255,630  ล้านเหรียญสหรัฐ หลังยอดส่งออกส่งออกสะสม 2 เดือนแรกรูปเงินเหรียญสหรัฐฯ ยังโต 13.8%

นางสาวพิมพ์ชนก  วอนขอพร  ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยตัวเลขส่งออกของไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ว่า  ขยายตัวต่อเนื่อง 10.3%  เป็นเดือนที่ 2  คิดเป็นมูลค่า 20,365ล้านเหรียญสหรัฐ  โดยการส่งออกโดยรวม 2  เดือนแรก (ม.ค.-ก.พ.) ขยายตัว  13.8%  สูงสุดในรอบ 7  ปีนับตั้งแต่ปี 2555  แต่หากดูภาพการส่งออกในรูปเงินบาทลดลงเป็นครั้งแรก 0.6% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน มีมูลค่า 643,706  ล้านบาท ผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งค่า

ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า  19,557  ล้านเหรียญสหรัฐ  ขยายตัว  16.0%  ส่งผลให้การค้าไทยเกินดุล  808  ล้านเหรียญสหรัฐ  รวม 2  เดือนแรกของปี 2561  การส่งออกไทยมีมูลค่า  40,467  ล้านเหรียญสหรัฐ  เพิ่มขึ้น  13.8%   การนำเข้า มีมูลค่า  39,778  ล้านเหรียญสหรัฐ  เพิ่มขึ้น  20.1% และการค้าเกินดุล  689  ล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้  การส่งออกที่โตเป็นผลมาจากการส่งออกขยายตัวได้ดีในทุกตลาดและสูงกว่าเป้าหมายที่กำหนด  โดยเฉพาะสหรัฐ  เอเชียใต้  อาเซียน(5)  และตลาด CLMV

นอกจากนี้  ยังกระจายการเติบโตไปสู่ตลาดศักยภาพ  และตลาดใหม่อื่นๆ ด้วย  เช่น  ลาตินอเมริกา ตะวันออกกลาง  รวมไปถึงการส่งออกในกลุ่มสินค้าก็มีการเติบโต  โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัวเป็นเดือนที่ 16  ขยายตัว 0.3% โดยสินค้าที่ขายตัวได้แก่ ข้าว  น้ำมันปาล์ม  ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง  และไก่สดแช่แข็งและแปรรูป  ส่วนสินค้าที่หดตัว  ได้แก่  ยางพาราคา  ผลมาจากราคาเป็นหลักและการส่งออกหดตัวในทุกตลาด  น้ำตาลทราย  และอาหารทะเลแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป

ส่วนสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมขยายตัวเป็นเดือนที่ 12  ขยายตัว  11.5%  สินค้าที่ขายตัว ได้แก่  รถยนต์  อุปกรณ์และส่วนประกอบ  เครื่องคอมพิวเตอร์  อุปกรณ์และส่วนประกอบ  ขณะที่สินค้าที่ส่งออกลดลง  ได้แก่  ทองคำ  โดยเฉพาะส่งออกไปตลาดสวิตเซอร์แลนด์  ฮ่องกง  เกาหลีใต้  แผงวงจรไฟฟ้า  ส่งออกหดตัวในตลาด  ฮ่องกง  ฟิลิปปินส์  เป็นต้น

ตลาดส่งออกสำคัญขยายตัวดีทุกตลาด  โดยตลาดหลักขยายตัว  18.8%  อาทิ  ตลาด  ญี่ปุ่น  ขยายตัว  41.1%  ซึ่งการส่งออกสูงสุดเป็นประวัติการณ์  ส่วนการส่งออกไปสหรัฐ  ยุโรป  ก็ยังคงขยายตัว  ขณะที่การส่งออกไปตลาดศักยภาพ  ยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง  7.8%  โดยมีสาเหตุสำคัญจากการขยายตัวสูงจากการส่งออกไปตลาดอินเดีย  และการส่งออกไป จีน  CLMV  ด้านตลาดศักยภาพระดับรอง  ฟื้นตัวในเกณฑ์สูง 15.1 %  โดยการส่งออกไปรัสเซีย และ CIS

อย่างไรก็ดี  เป้าหมายการส่งออกทั้งปียังคงเป้า  8%  มูลค่าอยู่ที่  255,630  ล้านเหรียญสหรัฐ โดยยังเชื่อว่ายังทำได้  แม้ขณะนี้  ค่าเงินบาทจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้ส่งออกอยู่บ้างในรูปของค่าเงินบาท  แต่ในรูปเงินเหรียญสหรัฐนั้นยังคงเติบโตอยู่  หลังจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องติดตามอย่างใกล้ชิด พร้อมหามาตรการเข้าดูแล

ทั้งนี้  เป้าหมายการส่งออกอยู่ภายใต้สมมติฐานค่าเงินบาทเฉลี่ย 32-34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ และราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ 55-65 เหรียญสหรัฐต่อบาเรลล์  โดยการส่งออกได้ตามเป้าหมาย มูลค่าการส่งออกต่อเดือนทั้งปีเฉลี่ยอยู่ที่ 21,412 ล้านดอลลาร์ส

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 21 มีนาคม 2561

“พาราควอต” แบน-ไม่แบน ก็บี้ไม่เลิก อย่ากระพริบตา

เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือไทยแพน (Thai-PAN) โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ล่าสุดแนะให้จับตาการแบนสารเคมีกำจัดศัตรูพืช “พาราควอต” โดยคณะกรรมการวัตถุอันตราย ว่าจะแบนจริงหรือแค่สับขาหลอก

 ไทยแพนสรุปลำดับความพอสังเขปว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแถลงเรียกร้องให้มีการแบนพาราควอตตั้งแต่เมษายน 2560 นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ 3 กระทรวงหลักหาข้อยุติเกี่ยวกับพาราควอตในปลายเดือนมกราคม 2561 และ 3 กระทรวงหลักมีมติยืนยันให้มีการแบนสารพิษดังกล่าวในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2561 แต่การแบนพาราควอตยังไม่เกิดขึ้น

ซึ่งตามขั้นตอนตามกฎหมาย คณะกรรมการวัตถุอันตรายได้แต่งตั้งอนุกรรมการเฉพาะกิจฯ เพื่อศึกษาเกี่ยวกับพาราควอตโดยให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน ประชาชนที่ติดตามเรื่องนี้จึงจะต้องจับตา

1. ผลการประชุมของอนุกรรมการเฉพาะกิจฯ ว่าจะมีผลการศึกษาชี้ว่าจะแบนหรือไม่แบนสารพิษนี้จะแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 2561 นี้ เพื่อเสนอต่อกรรมการวัตถุอันตราย

2. จากนั้นในเดือนเมษายนนี้ คณะกรรมการวัตถุอันตรายซึ่งมีอำนาจตามกฎหมายจะมีการประชุมเพื่อตัดสินใจว่าจะแบนหรือไม่แบนพาราควอต

องค์ประกอบของบุคคลในอนุกรรมการเฉพาะกิจ และคณะกรรมการวัตถุอันตราย คือเงื่อนไขสำคัญว่าจะสามารถแบนสารพิษร้ายแรงที่ 53 ประเทศประกาศแบนแล้วว่าจะประสบผลสำเร็จหรือไม่ ?

หากว่าการแบนไม่สามารถเกิดขึ้นได้ แสดงว่าอิทธิพลของบรรษัทสารพิษและบริวารในประเทศไทยนั้นมีอำนาจเหนือกว่ามติของ 3-4 กระทรวงหลัก และอาจมากกว่าคณะรัฐมนตรีของไทยทั้งคณะเสียอีก จึงอย่ากระพริบตา 30 วันอันตราย !

สำหรับคณะกรรมการวัตถุอันตรายประกอบไปด้วย 1.ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานกรรมการ 2.ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ 3.อธิบดีกรมการขนส่งทางบก 4.อธิบดีกรมการค้าภายใน 5.อธิบดีกรมการแพทย์ 6.อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ 7.อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน 8.อธิบดีกรมประมง 9.อธิบดีกรมปศุสัตว์ 10.อธิบดีกรมวิชาการเกษตร 11.อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 12.อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร 13.เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา14.เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ 15.เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม 16.ผู้แทนกระทรวงกลาโหม 17.ผู้แทนกระทรวงคมนาคม

18.ผู้แทนสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ 19-28.และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งไม่เกินสิบคนเป็นกรรมการ 29. และอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมเป็นกรรมการและเลขานุการ และผู้แทนกรมธุรกิจพลังงาน ผู้แทนกรมโรงงานอุตสาหกรรม ผู้แทนกรมวิชาการเกษตร ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และผู้แทนสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติเป็นผู้ช่วยเลขานุการ

หมายเหตุ : กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง แม้จะระบุให้มีตัวแทนขององค์การสาธารณประโยชน์และมีประสบการณ์การดำเนินงานด้านการคุ้มครองสุขภาพอนามัย ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านการเกษตรกรรมยั่งยืน ด้านการจัดการปัญหาวัตถุอันตรายในท้องถิ่น หรือด้านสิ่งแวดล้อม แต่ในทางปฏิบัติบริษัทค้าสารพิษจะสามารถใช้อิทธิพลและความใกล้ชิดกับระบบราชการแทรกเข้ามานั่งในตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิแทนตัวแทนจะองค์กรสาธารณประโยชน์อยู่เสมอ

จาก https://mgronline.com  วันที่ 21 มีนาคม 2561

พพ.ผนึกกรอ.เร่งเครื่องอุตฯลดใช้พลังงานตั้งเป้า1.35หมื่นล.

 พพ.จับมือกรอ.เร่งเครื่องส่งเสริมอนุรักษ์พลังงานในภาคอุตสาหกรรม หวังเพิ่มประสิทธิภาพระบบไอน้ำสำหรับโรงงาน คาดผลความร่วมมือภาพรวมเกิดการช่วยประหยัด 13,542 ล้านบาทต่อปี                   

นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า พพ.ได้ร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) เยี่ยมชมโครงการยกระดับประสิทธิภาพพลังงานในระบบไอน้ำสำหรับโรงงานควบคุม ของบริษัท เทพผดุงพรมะพร้าว จำกัด ถือเป็นระบบหม้อไอน้ำที่จัดอยู่ในเกณฑ์สมาร์ท บอยเลอร์  ซึ่งเป็นตัวอย่างของการพัฒนาระบบหม้อไอน้ำ สามารถเชื่อมต่อกับระบบออนไลน์ ช่วยเเพิ่มประสิทธิภาพการอนุรักษ์พลังงานมากยิ่งขึ้น และตรงตามแนวทางนโยบายพลังงาน 4.0 ที่พพ. จะได้นำองค์ความรู้ มาขยายผลให้การส่งเสริมในโรงงานอื่นๆ ต่อไปในอนาคต

ทั้งนี้ พพ. และ กรอ. ได้มีความร่วมมือ ในการยกระดับประสิทธิภาพของการอนุรักษ์พลังงานในภาคอุตสาหกรรมดังกล่าว ให้เกิดเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น โดยทั้ง 2 หน่วยงานได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง ความร่วมมือดังกล่าว ในปี 60 ที่ผ่านมา เพื่อจะเร่งดำเนินการ อาทิ โครงการยกระดับประสิทธิภาพพลังงานในระบบไอน้ำสำหรับโรงงานควบคุม การยกระดับประสิทธิภาพพลังงานหม้อไอน้ำที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อนในภาคอุตสาหกรรม การเพิ่มประสิทธิภาพในโรงงานขนาดกลางและย่อม

 อย่างไรก็ตามจากผลความร่วมมือเบื้องต้นคาดว่าจะเกิดการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน และการใช้พลังงานทดแทน คิดเป็น 1,264 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ หรือคิดเป็นมูลค่า 13,727 ล้านบาทต่อปี ในด้านการประหยัดพลังงาน 1,247 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ หรือเท่ากับการประหยัดงบประมาณ 13,542 ล้านบาทต่อปี โดยจะมาจากการเพิ่มประสิทธิภาพหม้อไอน้ำ ในโรงงานขนาดกลางและย่อม มาตรการพัฒนาความสามารถบุคลากรด้านหม้อไอน้ำและพัฒนาหม้อไอน้ำ

จาก https://www.dailynews.co.th   วันที่ 21 มีนาคม 2561

ลงนาม MOU ร่วมกับ ธ.ก.ส. ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร

             นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อสนับสนุนการยกระดับการบริหารจัดการองค์กรและความร่วมมือในเชิงยุทธศาสตร์ ณ ธ.ก.ส. อาคารนางเลิ้ง ถ.นครสวรรค์ เขตดุสิต กรุงเทพฯ ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ลงนาม MOU ร่วมกับ ธ.ก.ส. เพื่อยกระดับการบริหารจัดการองค์กรตามแนวทางของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) หรือโครงการพี่เลี้ยง ซึ่งเป็นโครงการที่สนับสนุนให้รัฐวิสาหกิจดูแลซึ่งกันและกันในการยกระดับองค์กรไปสู่มาตรฐาน ที่จะส่งผลดีต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรและเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม

           การดำเนินการของโครงการดังกล่าว ธ.ก.ส. จะนำองค์ความรู้ เครื่องมือ และทรัพยากรที่มีอยู่ เพื่อสนับสนุนและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับ อ.ส.ค. และ อ.ต.ก. ในการยกระดับการบริหารจัดการองค์กรอย่างยั่งยืนใน 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการบริหารความเสี่ยง การควบคุมภายใน การบริหารจัดการสารสนเทศ การบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลตามแนวทางของ สคร. รวมทั้งการสนับสนุนความร่วมมือในเชิงยุทธศาสตร์ผ่านโครงการส่งเสริมด้านอุตสาหกรรมโคนม การตลาดผลิตผลและผลิตภัณฑ์ของเกษตรกร เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร โดยใช้หลักการตลาดนำการผลิต รวมถึงการพัฒนาตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง เพื่อเชื่อมโยงการตลาดและกระบวนการผลิตแบบครบวงจร

        "รัฐบาลต้องการให้ประเทศไทยเดินหน้าอย่างมั่นคงและยังยื่น ซึ่งรัฐวิสาหกิจก็ถือเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้การดำเนินงานของรัฐบาลบรรลุผลตามเป้าหมาย โดยบทบาทของรัฐวิสาหกิจนั้นจะต้องดำเนินการตามกรอบของกฎหมายอย่างเที่ยงตรง เป็นมืออาชีพ และมีประสิทธิภาพ บนพื้นฐานธรรมาภิบาล ต้องมีความชัดเจนโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ ซึ่งจะส่งผลต่อความยั่งยืนของรัฐวิสาหกิจเอง ทั้งนี้ รัฐวิสาหกิจของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ พร้อมที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับหน่วยงานภายนอก เพื่อให้มีความพร้อมในการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ และพร้อมรับสถานณ์ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต" นายลักษณ์ กล่าว

จาก www.komchadluek.net    วันที่ 21 มีนาคม 2561

สมคิดประกาศไทยต้องการเข้าร่วมทีพีพี

สมคิด ประกาศไทยต้องการเข้าร่วมทีพีพี  ไม่ให้ตกขบวนการค้า การลงทุน ห่วงเวียดนามเข้าแล้ว หากไทยไม่เข้าจะเสียเปรียบดึงดูด                    

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ประเทศไทยต้องเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ทีพีพี)เพราะขณะนี้มีหลายประเทศได้เข้าร่วมไปแล้ว เช่น เวียดนามเมื่อเข้าร่วมก็ทำให้มีโอกาสส่งออกสินค้าไปญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา รวมถึงประเทศอื่นๆ ได้ง่ายขึ้น ดังนั้นหากไทยไม่ยอมเข้าร่วมก็อาจจะเสียโอกาสทางเศรษฐกิจทั้งการค้า การลงทุนได้ ซึ่งล่าสุดในช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางไปร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน – ออสเตรเลีย ทางออสเตรเลียก็อยากให้ไทยเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของทีพีพีด้วย

 “กระทรวงพาณิชย์ศึกษาอยู่ เพื่อดูว่าไทยจะได้หรือเสียประโยชน์อะไร แต่การเข้าร่วมทีพีพี จะถือเป็นแพ็คเกจการเปิดการค้าเสรีที่สำคัญ ถ้าเราไม่เข้าเป็นส่วนหนึ่งจะดึงคนอื่นมาลงทุนในไทยได้อย่างไร รวมถึงการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซพ) ระหว่างอาเซียน กับ 6 ประเทศคู่ค้าขนาดใหญ่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เราก็ต้องเข้าร่วมด้วยเช่นกัน แต่ในการเข้าร่วมก็ต้องคุยกันว่า มีอะไรเสียเปรียบก็ต้องต่อรองไป โดยขอให้ดูภาพรวมทั้งหมด ไม่ให้ดูเป็นชิ้นๆ”

จาก https://www.dailynews.co.th  วันที่ 21 มีนาคม 2561

กรมชลฯ เตรียมพร้อมรับมือผลกระทบอิทธิพลพายุฤดูร้อน

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยา แจ้งเตือนว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 20-23 มี.ค. 2561 จะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น ทำให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง กับมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ รวมถึงฟ้าผ่า ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก จะได้รับผลกระทบวันที่ 20 มี.ค. 2561 ส่วนภาคเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะเริ่มได้รับผลกระทบในวันถัดไป (21 มี.ค. 2561) นั้น

ในการนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแจ้งเตือนประชาชนให้เตรียมการรับมือกับพายุฤดูร้อนดังกล่าว ซึ่งในส่วนของกรมชลประทาน ได้ให้โครงการชลประทานทุกแห่ง เตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำ ที่อาจจะได้รับผลกระทบ ทั้งในพื้นที่นอกเขตและในเขตชลประทาน ด้วยการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เนื่องจากอาจจะเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ โดยเฉพาะการเตรียมพร้อมด้านเครื่องจักร เครื่องมือ และเครื่องสูบน้ำให้มีความพร้อมใช้งาน สามารถปฏิบัติงานช่วยเหลือบรรเทาภัยที่เกิดจากน้ำได้อย่างทันท่วงที

สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง ปัจจุบัน (21 มี.ค. 2561) มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 52,426 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 69 ของความจุอ่างฯรวมกันทั้งหมด มากกว่าปี 2560 รวม 7,484 ล้านลูกบาศก์เมตร มีปริมาณน้ำใช้การได้ 28,506 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 55 (ปี 2560 มีน้ำใช้การได้ 21,071 ล้านลูกบาศก์เมตร) เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก มีปริมาณน้ำรวมกัน 15,708 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 63 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำมากกว่าปี 2560 รวม 3,171 ล้านลูกบาศก์เมตร และมีปริมาณน้ำใช้การได้ 9,012 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 50 (ปี 2560 มีน้ำใช้การได้ 5,841 ล้านลูกบาศก์เมตร)

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้เน้นย้ำให้ทุกโครงการชลประทาน บูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเตรียมรับมือกับสถานการณ์น้ำที่อาจจะเกิดขึ้น จากอิทธิพลของพายุฤดูร้อน ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ของตนอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งให้ตรวจสอบระบบ อาคารชลประทาน และเครื่องจักร เครื่องมือ ให้สามารถใช้การได้อย่างเต็มศักยภาพ เพื่อช่วยเหลือประชาชนได้ทันต่อเหตุการณ์ จึงขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย ติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ของตนอย่างใกล้ชิด หรือหากท่านใดต้องการความช่วยเหลือ สามารถประสานไปยังโครงการชลประทานในพื้นที่ของตนได้ตลอดเวลา

จาก https://www.khaosod.co.th   วันที่ 21 มีนาคม 2561

ไทย-โปแลนด์ เตรียมถกแนวทางขยายการค้าและการลงทุน-กระชับความสัมพันธ์

นายวัลแดมาร์ ดูบายอฟสกี เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐโปแลนด์ประจำประเทศไทย จะเข้าเยี่ยมคารวะ นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในวันที่ 22 มีนาคม 2561เพื่อแนะนำตัวในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่ พร้อมหารือแนวทางการขยายการลงทุนและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ในการพบกันครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายจะหารือและผลักดันให้เกิดความร่วมมือการค้าและการลงทุนระหว่างกันให้มากขึ้น ซึ่งไทยและโปแลนด์มีความสัมพันธ์ที่ดีในทุกมิติ โดยเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2560 ไทยและโปแลนด์ได้ฉลองครบรอบ 45 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตของไทยและโปแลนด์ จึงหวังว่าทั้งสองประเทศจะรักษาความสัมพันธ์ที่ดีทั้งทางด้านการค้าและการลงทุนให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น

โปแลนด์เป็นประเทศที่มีศักยภาพและมีชื่อเสียงด้านนวัตกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ และเป็นผู้นำในกลุ่มประเทศยุโรปขนาดกลาง รวมทั้งมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูง การหารือครั้งนี้จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะเชิญชวนโปแลนด์เข้ามาร่วมมือกับไทยในการส่งเสริมกิจกรรมทางการค้าและการลงทุนของทั้งสองฝ่าย รวมถึงการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve ของไทย ในโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) โดยเฉพาะด้านนวัตกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและเทคโนโลยีทางการแพทย์

ทั้งนี้ โปแลนด์เป็นคู่ค้าอันดับ 46 ของไทย และเป็นคู่ค้าอันดับ 14 ของไทยในสหภาพยุโรป โดยในปี 2560 มีมูลค่าการค้ารวม 798.67 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ร้อยละ 11.46 โดยไทยส่งออกสินค้าสำคัญ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เป็นต้น ในขณะที่ไทยนำเข้าสินค้าสำคัญ เช่น เครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เป็นต้น

จาก www.bangkokbiznews.com  วันที่ 21 มีนาคม 2561

ค่าบาทช่วงเช้า 'อ่อนค่า' รอสัญญาณดบ.

บาทช่วงเช้าอ่อนค่าระดับ "31.20 บาทต่อดอลลาร์" นักลงทุนยังรอจับสัญญาณดอกเบี้ยสหรัฐ

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย กลุ่มงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า เงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 31.20 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงเช้าวันนี้

ขณะเดียวกัน คาดว่า ภาพรวมการเคลื่อนไหวของเงินบาทระหว่างวัน จะยังคงอยู่ในกรอบแคบที่ 31.10-31.30 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากนักลงทุนยังคงรอจับสัญญาณดอกเบี้ยสหรัฐฯ จากผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ ในคืนนี้

ขณะที่ จุดสนใจเพิ่มเติมของตลาดในประเทศ น่าจะอยู่ที่รายงานตัวเลขการส่งออก และภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนก.พ. ของกระทรวงพาณิชย์

จาก www.bangkokbiznews.com  วันที่ 21 มีนาคม 2561

สภาอุตฯ มั่นใจ 'อีอีซีโมเดล'!!

ประธานสภาอุตสาหกรรมมั่นใจ! การพัฒนา ‘อีอีซี’ ประชาชนได้ประโยชน์ ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน เปิดโอกาสให้เยาวชนไทยมีทางเลือกในการศึกษา มีกฎระเบียบสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจน พร้อมชี้แจงให้ ‘เช่าที่ดิน 99 ปี’ ไม่ใช่การขายประเทศให้ต่างชาติ

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวในงานสัมมนา “Go Thailand : ลงทุนเพื่ออนาคต” หัวข้อ อุตสาหกรรมใหม่ในระเบียงเศรษฐกิจ ว่า การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) หรือ โครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด 2 ประเทศไทย และคนในพื้นที่จะได้ประโยชน์อะไรเพิ่มเติมจากที่เคยเกิดขึ้นแล้วในโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด 1 ที่เห็นได้ชัดโครงสร้างพื้นฐานที่จะลงไปเพิ่มเติม ที่สำคัญ คือ ด้านคมนาคมจะมีรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) รถไฟรางคู่ก็จะเชื่อมต่อเข้าไป รวมถึงมอเตอร์เวย์จะได้รับการต่อขยายเพิ่มเติม

นอกจากนี้ จะทำอินโนเวชันพาร์ก ซึ่งเป็นเรื่องดิจิตอลอีโคโนมี ทำให้สตาร์ต อัพ และเอสเอ็มอีที่มีไอเดีย มีสถานที่ บ่มเพาะและต่อยอดทางปัญญา ขณะเดียวกัน ได้ไปดึง ‘มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน’ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยท็อปเทนของโลกจากสหรัฐฯ มาตั้งในพื้นที่ เปิดโอกาสให้เยาวชนไทยมีทางเลือกในการศึกษามากขึ้น

สำหรับเรื่องของสิ่งแวดล้อม พื้นที่อีอีซีจะเป็น ‘โมเดลแรก’ ของสิ่งที่เรียกว่า SEA (Strategic Environmental Assessment) ซึ่งจะส่งผลดีต่อเรื่องกฎระเบียบสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจน และมีความเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ส่วนเรื่องที่อยู่อาศัยที่กฎหมายอีอีซีให้ความสำคัญในการดูแลเรื่องของตั้งถิ่นฐาน เรื่องที่อยู่อาศัย สิ่งอำนวยความสะดวกทั่วไป เรื่องการคมนาคม การเข้า-ออกต่าง ๆ ที่ดูแลทั้งคนไทยและต่างชาติ

เรื่องสุดท้ายที่อยากพูดถึง คือ ‘กฎหมายอีอีซี’ ฉบับนี้ จะมีลักษณะเป็นแซนบ็อกซ์ (Sandbox) คือ เป็นการบูรณาการด้านกฎหมายหลายฉบับเอามารวมกัน และทำให้เกิดสิ่งที่เราเรียกว่า เป็น ‘วัน-สต็อป เซอร์วิส’ หากประสบความสำเร็จ รูปแบบแซนบ็อกซ์ตรงนี้มันจะถูกนำไปใช้ในพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศด้วย เห็นความสำคัญของอีอีซีหรือยังครับ ส่วนปฏิกิริยาของสมาชิก ส.อ.ท. เรื่องอีอีซีเขาก็ตื่นเต้น เพราะสิ่งที่ชัดเจนมากที่สุด คือ เรื่องสิทธิประโยชน์ของบีโอไอ ที่ออกมาในลักษณะที่ค่อนข้างจะดีกว่าที่อื่น สิทธิประโยชน์ที่ออฟเฟอร์ในพื้นที่อีอีซีในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เรียกว่าเป็นอะไรที่บีโอไอให้สุด ๆ ไม่เคยให้ในลักษณะนี้มาก่อน เป็นสิทธิพิเศษ

ส่วนเรื่องของภาษีและอื่น ๆ เรื่องการนำผู้เชี่ยวชาญต่างชาติเข้ามา เรื่องการให้บริการด้านเงินตราต่างประเทศสามารถที่จะถือครองได้ อะไรต่าง ๆ หรือว่า สิทธิประโยชน์ในเรื่องของการที่ผู้เชี่ยวชาญต่างชาติจะเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศต่าง ๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่เคยให้ที่อื่นมาก่อน

 “บางคนบอกไปยกให้เขาหรือเปล่า การเช่าที่ดินได้ 99 ปี เรียกว่า 99 ปี ไม่ได้เป็นกฎหมายใหม่ ไม่ได้เป็นอำนาจใหม่ เป็นกฎหมายเดิมที่เรามีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่า เอามาเขียนให้ชัดขึ้นว่า เช่าได้ถึง 50 ปี แต่ถ้าติดใจและคนในพื้นที่สนับสนุน คุณสามารถเช่าต่อได้อีก 49 ปี เท่านั้นเอง ไม่มีอะไรที่บอกว่า ไปให้สิทธิหรือไปขายประเทศให้ต่างชาติ ผมว่า พูดเกินไปหน่อย”

จาก www.thansettakij.com วันที่ 20 มีนาคม 2561

อุตฯดันเพิ่มรงงานสีเขียวรับ4.0

 อุตฯตั้งเป้าผลักดันโรงงานสีเขียว มากกว่า 50,000 แห่งในอนาคตชี้งาน ASEAN Sustainable Energy Week 2018เป็นกุญแจสำคัญช่วยกระตุ้นผู้ประกอบการได้เรียนรู้และปรับตัวสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน

  นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงแผนการดำเนินงานการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของกรมฯว่า นับจากนี้เป็นต้นไป กรมฯ จะใช้แนวทางการส่งเสริมเพื่อมุ่งเน้นพัฒนาภาคอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน โดยภายใต้แผนการส่งเสริมนั้น กรมฯ มุ่งนำเอาเทคโนโลยีการผลิต สิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยมาปรับใช้อย่างบูรณาการโดยเริ่มจากการสร้างความสะดวกสบายให้กับผู้ประกอบการผ่านการลดขั้นตอนการพิจารณาไม่ว่าจะเป็น กระบวนการขออนุญาต การต่ออายุ หรือแม้กระทั่งการขยายโรงงาน ซึ่งแต่เดิมใช้ระยะเวลาประมาณ 30 วัน เมื่อกระบวนดังกล่าวแล้วเสร็จคาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการดำเนินการน้อยลงควบคู่ไปกับการนำเอาดิจิทัลมาปรับใช้ยิ่งทำให้ภาพรวมการดำเนินงานในอนาคตมีทิศทางที่คล่องตัวขึ้นซึ่งส่งผลลัพธ์ที่ดีต่อการขยายความเชื่อมั่นให้กับการลงทุนแก่ผู้ประกอบการได้อย่างมั่นใจ โดยกรมฯจะมุ่งหน้าสื่อสาร และมอบองค์ความรู้ เกี่ยวกับ Smart Factory และอุตสาหกรรมสีเขียว ให้แก่ภาคธุรกิจผ่านในงาน ASEAN Sustainable Energy Week 2018 ที่จะจัดขึ้นเร็วๆ นี้

 "เป้าหมายของกรมฯ คือ การส่งเสริมโรงงานสีเขียวให้มีมากขึ้นในทุกปี ปีละ2,000 โรง หรือให้มากกว่า 50,000 แห่งในอนาคต โดยปัจจุบันมีโรงงานสีเขียวอยู่แล้วกว่า20,000 โรงงาน ซึ่งทั้งหมดมุ่งหน้า ตามกรอบเป้าหมายในการยกระดับอุตสาหกรรมของไทยให้มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีความปลอดภัยและก้าวสู่การเป็นอุตสาหกรรม 4.0 อย่างมีเสถียรภาพต่อไป  โดยมีภารกิจหลักคือการส่งเสริมการเพิ่มผลผลิต  ในขณะที่สามารถช่วยลดการใช้วัตถุดิบ พลังงาน น้ำ ไฟ และลดการก่อมลภาวะ ซึ่งกระแสการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมนั้นได้เกิดขึ้นทั่วโลก โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศอันดับต้น ๆ ในภูมิภาคที่ได้ตื่นตัวและจัดกิจกรรมในเรื่องดังกล่าวมาโดยต่อเนื่อง ซึ่งงาน ASEAN Sustainable Energy Week 2018 ในปีนี้คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานและศึกษาเทรนด์และองค์ความรู้ด้านความยั่งยืนมากขึ้นกว่าเดิม เพื่อตอบสนองการพัฒนาสู่อุตสาหกรรม 4.0 ที่ไม่เพียงแต่ มุ่งเน้นในเรื่องของเทคโนโลยีและนวัตกรรม แต่ยังคำนึงถึงเรื่องของสิ่งแวดล้อม และการอนุรักษ์อีกด้วย" นายมงคลกล่าว

 โดยในปีนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรมหนึ่งในหน่วยงานหลักที่ให้การสนับสนุนการจัดงาน BOILEX ASIA 2018 and Pumps & Valves Asia 2018 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในงาน ASEAN Sustainable Energy Week 2018 ร่วมกับ บริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด ยังได้จัดงานสัมมนาวิชาการ ภายใต้หัวข้อ "Smart Factory สู่การพัฒนาอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน" ภายในงานมีการบรรยายหัวข้อทางกฎหมายและด้านอื่น ๆ เช่น ความปลอดภัยในการใช้หม้อน้ำ สารเคมี การป้องกันอัคคีภัย ระบบมาตรฐานความปลอดภัยในการประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรม การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมกากอุตสาหกรรม วัตถุอันตราย อุตสาหกรรมเชิงนิเวศ รวมทั้งการจัดนิทรรศการพร้อม Show case เพื่อให้ผู้ประกอบการได้ปรับตัวให้เท่าทันในยุคปัจจุบัน

 ด้าน นายสรรชาย นุ่มบุญนำ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้เข้าร่วมงาน ASEAN Sustainable Energy Week มาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 ซึ่งแสดงออกถึงเจตนารมณ์ในการพัฒนาพลังงานของไทยร่วมกันให้มีประสิทธิภาพสูงสุด      ซึ่งการเป็นส่วนหนึ่งของ BOILEX ASIA 2018 and Pumps & Valves Asia 2018 หรืองานอุตสาหกรรมเฉพาะทางหนึ่งเดียวในอาเซียน นอกจากเป็นส่วนหนึ่งของการเสริมสร้างความรู้ ยังได้อัพเดทความเคลื่อนไหวจากผู้เข้าร่วมจัดแสดง   แบรนด์ดังอย่าง Viessmann และอื่น ๆ อีกมากมายกว่า 1,500 แบรนด์ชั้นนำ จาก 35 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมโดยคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 30,000 ราย จาก 45 ประเทศ โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มภูมิภาคอาเซียน เข้าร่วมกิจกรรมและชมงานครั้งนี้ 

 ASEAN Sustainable Energy Week 2018 งานแสดงเทคโนโลยีและการประชุมด้านพลังงานหมุนเวียน  การใช้พลังงานให้เกิดประสิทธิภาพและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน จัดร่วมกับงาน BOILEX ASIA 2018 and Pumps & Valves Asia 2018 จัดขึ้นในระหว่างวันพุธที่ 6 ถึงวันเสาร์ที่ 9  มิ.ย. 2561 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา

จาก www.banmuang.co.th  วันที่ 20 มีนาคม 2561

“สมคิด” มั่นใจ ไทยทะยานสูงสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ พร้อมขับเคลื่อน เมกะโปรเจค – อีอีซี – ดิจิทัล สู่อนาคต

“สมคิด” มั่นใจ”ไทย” ทะยานสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ขับเคลื่อน "เมกะโปรเจกต์ – อีอีซี – ดิจิทัล" พลิกโฉมประเทศเข้าสู่อนาคต การดำเนินการดังกล่าวจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากขาดความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในงานสัมมนา “Thailand Taking off to New Heights” อิมแพค เมืองทองธานี จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)ว่า วันนี้เป็นเวทีประกาศความพร้อมของรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตในเวทีเศรษฐกิจโลก เเละเป็นเวทีในการประกาศ ทิศทางการส่งเสริมการลงทุนของประเทศไทย ซึ่งนับจากนี้ไป เศรษฐกิจไทยจะทะยานไปสู่โฉมหน้าใหม่และเศรษฐกิจยุคใหม่ในระดับที่พัฒนาขึ้น และพร้อมเป็นศูนย์กลางการลงทุน การคมนาคมขนส่ง และการท่องเที่ยวในภูมิภาคอาเซียน

นายสมคิดกล่าวว่า รัฐบาลได้เตรียมความพร้อมสำหรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ3 ยุทธศาสตร์ประกอบด้วย 1) โครงการลงทุนขนาดใหญ่ หรือ Mega Projects ที่จะช่วยยกระดับสมรรถนะของโครงสร้างพื้นฐานทางด้านกายภาพของประเทศ อาทิ โครงการรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพและปริมณฑล โครงการรถไฟฟ้าในต่างจังหวัด โครงการรถไฟทางคู่ เชื่อมโยงการขนส่งทั้งภาคเหนือ กลาง อีสานและใต้ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยงภูมิภาค รวมถึงโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 โครงการพัฒนา ท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะ 3 โครงการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต ระยะที่ 2 และท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระยะที่ 1 รวมถึงโครงการลงทุนด้านพลังงาน ทั้งการสำรวจแหล่งพลังงาน การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติ โครงการลงทุนในโครงข่ายในระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น

2) กลุ่มโครงการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งรัฐบาลตั้งใจพัฒนาให้เกิดการเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์แบบไร้รอยต่อในภูมิภาค ทั้งทางบก น้ำ และอากาศ ในพื้นที่อีอีซีและพื้นที่ใกล้เคียง อาทิ โครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-ระยอง เชื่อม 3 สนามบิน การยกระดับสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นศูนย์กลางและเมืองการบินของภูมิภาค และการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง โครงการท่าเรือมาบตะพุด ระยะที่ 3 ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก EECi เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายThailand 4.0

3) กลุ่มโครงการเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยเข้าสู่ยุคดิจิทัล หรือไทยเเลนด์ 4.0 อาทิ การลงทุนในระบบ อินเตอร์เน็ตหมู่บ้าน ซึ่งล่าสุดรัฐบาลได้ริเริ่มโครงการลงทุนเคเบิลใต้น้ำ เชื่อมโยง ไทย ฮ่องกง จีน เพื่อให้ไทยสามารถเป็นอินเตอร์เนชั่นแนล เกตเวย์ ในระดับภูมิภาค และการสร้างและพัฒนาดิจิทัลเทรดดิ้ง และการขับเคลื่อนภาคการผลิตและภาคบริการให้เกิดความตื่นตัวเรียนรู้และสามารถเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ระบบดิจิทัลเทคโนโลยีได้ในที่สุด รวมถึงการก้าวสู่บริการของภาครัฐในแบบสมัยใหม่ หรือ e-Government เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริการแก่ประชาชนและภาคธุรกิจ

นายสมคิด กล่าวด้วยว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยจนทำให้เกิดการขยายตัวในหลายด้าน ทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจ มูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้น การขอรับส่งเสริมการลงทุนที่เพิ่มขึ้นทั้งในภาพรวมของประเทศและในพื้นที่อีอีซี ตลอดจนจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงการจัดอันดับความสามารถแข่งขันของไทยที่ขยับสูงขึ้นทั้งจาก IMD (International Institute for Management Development) และ WEF (World Economic Forum) การได้รับการจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจจากWorld Bank ในปี 2560 ที่ดีขึ้นถึง 20 อันดับในเวลาเพียง 1 ปี และการจัดอันดับจาก US News ว่าไทยเป็นประเทศที่ดีที่สุดในการเริ่มต้นดำเนินธุรกิจ และอันดับ 8 ของประเทศที่น่าลงทุนที่สุด

“ภายใต้การดำเนินยุทธศาสตร์ครั้งสำคัญของประเทศ ผมมั่นใจว่าจะทำให้ในช่วง 3-4 ปีนับจากนี้ไป เป็นช่วงของการพลิกโฉมประเทศครั้งสำคัญไปสู่ระบบเศรษฐกิจยุคใหม่อย่างแท้จริง โดยทุกโครงการรัฐบาลมีนโยบายที่จะให้ภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ เข้ามามีส่วนร่วมกับเรา เพื่อสร้างอนาคตของประเทศไทยด้วยกัน” นายสมคิด กล่าว

ด้านนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลบีโอไอ ได้กล่าวในหัวข้อ “การปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน” ว่า รัฐบาลมุ่งเน้นการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศเพื่อสร้างความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี นวัตกรรม สร้างสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนสร้างโอกาสและความเสมอภาคในสังคม ให้มีการเติบโตอย่างครอบคลุมทั่วทุกภาคส่วน

รัฐบาลจึงได้กำหนดแผนปฏิรูปเศรษฐกิจ เพื่อสนับสนุนให้คนไทยเก่งขึ้น สนับสนุนให้ภาคธุรกิจพัฒนาขึ้น และผลักดันให้ภาครัฐมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมีแผนดำเนินงานใน 3 ส่วน คือ 1.การเพิ่มผลิตภาพทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพในอุตสาหกรรมหลักที่ประเทศไทยมีความชำนาญ และการสร้างฐานอุตสาหกรรมใหม่ที่มีศักยภาพในอนาคต นอกจากนี้ต้องพัฒนาปัจจัยด้านอื่นๆ ในการพัฒนา ขีดความสามารถในการแข่งขัน เช่น การพัฒนาและเสริมสร้างทักษะบุคลากรในด้านที่จำเป็น ต่ออุตสาหกรรมในอนาคต และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

2.การรวมกลุ่มในภูมิภาค เพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน จำเป็นจะต้องบูรณาการเศรษฐกิจร่วมกับภูมิภาคด้วยการส่งเสริมการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เปิดเสรีการค้าและบริการระหว่างประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน และ 3.การสร้างระบบนิเวศด้านวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน ด้วยการปรับปรุงมาตรการและปัจจัยเอื้อให้เกิดการจัดระบบนวัตกรรมให้มีการเชื่อมโยงระหว่างการผลิต

“การดำเนินการดังกล่าวจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากขาดความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ซึ่งรวมถึงทุกบริษัทที่เข้าร่วมงานสัมมนาในวันนี้ ในนามของรัฐบาล ผมจึงขอเชิญชวนทุกท่านให้มาร่วมมือกันเพื่อให้เกิดการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจที่ส่งผลให้ประเทศไทยสามารถก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง และบรรลุเป้าหมายด้านเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืนในอนาคต” นายกอบศักดิ์กล่าว

ด้านนางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า งานสัมมนาครั้งนี้มีนักลงทุนไทยและต่างชาติ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ และสื่อมวลชน เข้าร่วมรับฟังจำนวนมากเกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยมีจำนวนร่วม 3,000 คน จึงนับเป็นเวทีใหญ่ที่ภาครัฐและบีโอไอ ได้ประกาศย้ำทิศทางในการส่งเสริมการลงทุนของไทย รวมถึงชี้แจงแนวทาง และความคืบหน้าของพื้นที่อีอีซีให้เข้าถึงกลุ่มผู้สนใจได้โดยตรง เพื่อสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในอนาคต

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีหน่วยงานต่างๆ ร่วมออกบูธแสดงผลงานและให้ข้อมูลแก่นักธุรกิจที่เข้าร่วมงาน อาทิ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรส. หรือ อีอีซี) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นต้น

พร้อมกันนี้ ยังมีพื้นที่จัดแสดงผลิตภัณฑ์ที่ได้พัฒนาต่อยอดจากการวิจัยและพัฒนา โดยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ อาทิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ รวมทั้งบูธให้ข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนาสำหรับภาคเอกชน

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 19  มีนาคม 2561

‘อีอีซี’พลิกโฉมประเทศ

เมื่อวันที่ 14 มีนาคม ที่ผ่านมา “ฐานเศรษฐกิจ” ได้จัดสัมมนาในหัวข้อ “Go Thailand : ลงทุนเพื่ออนาคต” โดยมีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มาเป็นประธานเปิดงานและกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อดังกล่าว รวมถึงงานเสวนาในหัวข้อ “ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน พลิกประเทศ”

++อีอีซีการพัฒนาเชิงพื้นที่

นายอุตตม ชี้ให้เห็นว่า การที่รัฐบาลมียุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ 20 ปี หรือไทยแลนด์ 4.0 โดยมีนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อน ที่มุ่งเน้นการพัฒนาเชิงพื้นที่ อาศัยการทำงานแบบองค์กรรวม เป็นการยกระดับฐานอุตสาหกรรมใหม่ ที่ต่อยอดมาจากฐานอุตสาหกรรมเดิมที่มีอยู่ ควบคู่ไปกับการพัฒนาเมืองใหม่ เพิ่มคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น

โดยมีการออกร่างพ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ที่ได้ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) แล้ว และอยู่ระหว่างรอประกาศบังคับใช้ เพื่อให้การดำเนินงานมีกฎหมายรองรับ และเกิดความต่อเนื่อง ซึ่งในกฎหมายอีอีซีดังกล่าว จะครอบคลุมการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ กับผู้ที่จะเข้ามาลงทุนสูงสุด โดยเฉพาะการลงทุนในเขตส่งเสริมพิเศษ เรื่องการให้สิทธิเช่าที่ดิน ก็เป็นกฎหมายที่มีอยู่แล้ว เช่น การเช่าที่ดินเป็นเวลา 50 ปี และต่อได้ 49 ปี แต่นำมากำหนดไว้ในอีอีซีให้มีความชัดเจนมากขึ้น

อีกทั้ง สิทธิประโยชน์ที่นักลงทุนจะได้รับนั้น ได้นำเอาสิทธิประโยชน์ของประเทศต่างๆ มาเทียบเคียง โดยเฉพาะการลงทุนที่อยู่ในเขตส่งเสริมพิเศษที่ทั่วโลกมีกว่า 3-4 พันแห่ง อยู่ในเอเชียกว่า 50% ได้นำมาออกแบบให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้วย

โดยที่ผ่านมารัฐบาลได้อนุมัติโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญไปแล้ว เพื่อให้การพัฒนาประเทศไปสู่ยุทธศาสตร์ชาติที่วางไว้ได้ ซึ่งจำเป็นต้องพัฒนาอีอีซีขึ้นมานำร่อง และเชื่อมโยงไปสู่พื้นที่อื่นๆ ของประเทศต่อไป

++เป็นโอกาสต่อยอดลงทุน

ดังนั้น วันนี้ถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกันในการขับเคลื่อนก้าวไปข้างหน้า เพราะเห็นโอกาสและทิศทางในการพัฒนาแล้ว เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศประสบปัญหาต่างๆ ทำให้การลงทุนหยุดชะงักเดินต่อไม่ได้ กระทบกับการเติบโตของเศรษฐกิจ เมื่อมีอีอีซีเกิดขึ้น ด้วยความหวังว่าจะมีอนาคตใหม่ ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง และยั่งยืน

 นอกจากนี้ ด้วยการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว มีการยึดโยงกันไร้เส้นแบ่ง ภาคการบริการและการผลิตทำได้เร็วมากขึ้น ดังนั้นการปรับตัวของคนไทย เพื่อความอยู่รอดจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งวันนี้จึงเป็นโอกาสที่เหมาะสมที่จะปรับเปลี่ยนประเทศ ก้าวสู่การเจริญเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด โดยใช้ศักยภาพฐานการผลิตที่มีอยู่ และสร้างขึ้นมาใหม่

++ใช้คนรุ่นใหม่ขับเคลื่อน

ที่สำคัญในภูมิภาคอาเซียน กำลังถูกจับตามองจากทั่วทุกมุมโลก เศรษฐกิจมีการขยายตัวค่อนข้างสูง เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศต่างๆ รวมถึงไทยด้วย ที่มีความเหมาะสมในการเข้าสู่บริบทใหม่ของการพัฒนาประเทศ ซึ่งเวลานี้ไทยมีความพร้อมในทุกด้าน หากเปลี่ยนประเทศวันนี้ เพื่ออนาคตได้ เศรษฐกิจของประเทศจะขยายตัวค่อนข้างมาก เป็นสิ่งที่รัฐบาลเน้นยํ้ามาก ที่เศรษฐกิจจะต้องเข้มแข็ง เพราะจะทำให้จีดีพีโดยรวมเติบโตได้ในระดับ 4-5% ต่อปี จาก 3 ปีก่อนอยู่ในระดับ 0.9% เท่านั้น

ดังนั้น การพัฒนาอีอีซี จะเป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 ภายใต้แนวทางการดำเนินงาน 4 เรื่องหลัก ได้แก่ 1. ต้องมองสิ่งที่ผ่านมาอะไรเป็นอุปสรรค หากไม่แก้ไขทุกมิติ เดินหน้าไปจะลำบาก 2. การพัฒนาเศรษฐกิจ จะต้องเร่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ทำให้ประเทศพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางให้ได้ โดยการยกระดับจากอุตสาหกรรมเดิมที่มีอยู่แล้ว และสร้างอุตสาหกรรมใหม่ ที่เป็นเครื่องยนต์ตัวใหม่ในการขับเคลื่อน 3. การเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ด้วยองค์ความรู้ และ 4. การดำเนินงานควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อม

โดยสรุป วันนี้โอกาสมาถึงแล้ว ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกัน ใช้พลังของคนรุ่นใหม่ประสานกับประสบการณ์จากคนรุ่นเก่า ที่จะร่วมกันผลักดันเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศไทย เพราะหากไม่ทำวันนี้ จะลงมือทำเมื่อไร และถ้าไม่ร่วมกันสร้าง จะมีใครมาร่วมทำให้เป็นจริงได้อย่างไร

++เร่งโครงสร้างพื้นฐาน

ขณะที่นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรม การนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(กนศ.)ได้กล่าวในช่วงงานเสวนา หัวข้อ “ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน พลิกประเทศไทย” ว่า ในช่วงระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่ได้มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ หรือบางโครงการไม่สามารถดำเนินการเป็นผลสำเร็จ ส่งผลให้ขีดความสามารถในการแข่งขัน ของประเทศลดน้อยลง เมื่อรัฐบาลชุดนี้เข้ามา จึงมองไปข้างหน้าว่าจะแก้ปัญหาของประเทศในระยะยาวได้อย่างไร และสามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้

จึงนำมาสู่นโยบายการพัฒนาอีอีซี ที่เป็นการต่อยอดจากอีสเทิร์น ซีบอร์ดเดิม ที่เป็นฐานการผลิตสำคัญของประเทศ โดยการวางโครงสร้างพื้นฐานเข้าไปรองรับการลงทุนที่จะเกิดขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาทางรัฐบาลได้เข้าไปผลักดันหลักเกณฑ์ เงื่อนไข ข้อกฎหมาย และสิทธิประโยชน์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไข พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) การมีกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ในการจูงใจนักลงทุน ที่แล้วเสร็จไปตั้งแต่ปี 2560 พ.ร.บ.อีอีซี ที่กำลังจะประกาศบังคับใช้ ขณะที่พ.ร.บ.การนิคมอุตสาหกรรม และพ.ร.บ.ผังเมืองกำลังเข้าพิจารณาในสนช. ซึ่งทั้งหมดจะมีส่วนช่วยในการพัฒนาอีอีซีให้เกิดขึ้น

นอกจากนี้ ยุทธศาสตร์ชาติหรือไทยแลนด์ 4.0 โดยการกำหนด 10 กลุ่มอุตสาหกรรมขึ้นมา เป็นการชี้เป้าว่าประเทศไทยจะเดินไปทางไหน เพื่อให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินงานไปในทิศทางเดียวกัน และพื้นที่อีอีซีก็เป็นตัวอย่าง ที่จะสามารถตอบโจทย์นักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนได้

++ได้ผู้ประมูลทั้งหมดในปีนี้

โดยตลอดในช่วง 1 ปี ที่ผ่านมาการพัฒนาอีอีซี มีความคืบหน้าเป็นลำดับ โดยเฉพาะการดำเนินงานด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ อย่างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการรถไฟทางคู่เชื่อม 3 ท่าเรือ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา โครงการท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 และโครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานหรือเอ็มอาร์โอ กนศ.มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้อนุมัติหลักการไปแล้ว ระหว่างนี้แต่ละโครงการอยู่ขั้นจัดเตรียมทีโออาร์ ที่จะเชิญชวนภาคเอกชนมาร่วมลงทุน (พีพีพี) ได้ทั้งหมดภายในปีนี้ โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-อู่ตะเภา กับโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา จะต้องแล้วเสร็จและเปิดพร้อมใช้งานในระยะเวลาเดียวกันหรือในปี 2566 เพราะหากโครงการใดโครงการหนึ่งเสร็จก่อนการใช้งานก็จะไม่มีประโยชน์

ดังนั้น เมื่อโครงการต่างๆ มีความชัดเจนแล้ว จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนได้อย่างมาก และจะช่วยให้การลงทุนของประเทศเกิดการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 19  มีนาคม 2561

ครั้งแรกในประวัติศาสตร์! คนไทยได้นั่งประธานองค์กรระงับข้อพิพาทของWTO

อกอัครราชทูตคณะผู้แทนถาวรไทยประจำ WTO ได้รับเลือกเป็นประธานองค์กรระงับข้อพิพาท ถือเป็นคนไทยคนแรกในประวัติศาสต์ที่ได้ดำรงตำแหน่งนี้

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า นางสาวสุนันทา กังวานกุลกิจ เอกอัครราชทูตคณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก (WTO) และองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) ณ นครเจนีวา ได้รับเสียงสนับสนุนอย่างเป็นเอกฉันท์จากสมาชิก WTO 164 ประเทศ ในที่ประชุมคณะมนตรีใหญ่ WTO เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2561 ให้ดำรงตำแหน่งประธานองค์กรระงับข้อพิพาท (Dispute Settlement Body: DSB) นับเป็นคนไทยคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้รับเกียรติให้ทำหน้าที่ดังกล่าวตั้งแต่มีการก่อตั้ง WTO เมื่อปี 2538 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเชื่อถือและความไว้วางใจของนานาชาติที่มีต่อประเทศไทยให้รับบทผู้นำของประเทศสมาชิกในเรื่องการระงับข้อพิพาททางการค้าที่เป็นภารกิจสำคัญหลักของ WTOในขณะนี้

ความสำเร็จของ WTO ในการเป็นองค์กรแถวหน้าด้านการค้าระหว่างประเทศนั้น เกิดจากการมีกฎกติกาทางการค้าที่ใช้บังคับกับสมาชิกทุกประเทศอย่างเป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ โดยประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าที่ขัดกับกฎเกณฑ์ WTO สามารถยื่นฟ้องผ่านกลไกการระงับข้อพิพาท ซึ่งจะแต่งตั้งผู้พิพากษาที่มีความเป็นอิสระเข้ามาทำหน้าที่ตัดสินคดี รวมถึงมีขั้นตอน กรอบเวลาและบทลงโทษที่ชัดเจน จึงทำให้ที่ผ่านมากลไกการระงับข้อพิพาท WTO ประสบความสำเร็จอย่างมากในการกำกับดูแลกฎกติกาการค้าระหว่างประเทศ และถูกนำไปใช้เป็นบรรทัดฐานในเวทีการค้ากรอบอื่น ๆ ทั่วโลก

แม้ตัวองค์กรระงับข้อพิพาทซึ่งประกอบด้วยสมาชิก WTO ทั้งหมดจะไม่ได้ทำหน้าที่วินิจฉัยคดีโดยตรง แต่ก็มีหน้าที่สำคัญในการแต่งตั้งผู้พิพากษาคนกลาง รวมถึงมีอำนาจรับรองผลคำตัดสิน ตรวจสอบดูแลการปฏิบัติตามคำตัดสิน ตลอดจนอนุมัติการใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้าหากประเทศที่แพ้คดีไม่เลิกใช้มาตรการที่ผิดกฎกติกาการค้า WTO

ความท้าทายและเป็นประเด็นร้อนในขณะนี้ คือ การแต่งตั้งสมาชิกองค์กรอุทธรณ์ (Appellate Body) ที่ว่างลง 3 ตำแหน่ง จากทั้งหมด 7 ตำแหน่ง ซึ่งปัจจุบันกระบวนการคัดเลือกต้องหยุดชะงักและไม่สามารถเริ่มต้นขึ้นได้เนื่องจากถูกคัดค้านโดยสหรัฐฯ ที่มีท่าทีต่อต้าน WTO และระบบการค้าพหุภาคี ทำให้การพิจารณากรณีพิพาททางการค้าต้องล่าช้าออกไป นับว่าเป็นเรื่องสำคัญต้องดำเนินการเพื่อหาทางออกในเรื่องนี้

การเข้ารับตำแหน่งในครั้งนี้ ถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะตามแนวทางปฏิบัติของ WTO ประธาน องค์กรระงับข้อพิพาทจะก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งประธานคณะมนตรีใหญ่ WTO ในปี 2562 ซึ่งเป็นองค์กรระดับสูงสุดของ WTO ในการกำกับดูแลภาพรวมการดำเนินงานของประเทศสมาชิกและเป็นปีที่จะมีการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก ครั้งที่ 12 (MC12) ที่จะมีบทบาทเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนให้การเจรจามีความคืบหน้า และให้กระบวนการทำงานสามารถเดินหน้าต่อไปได้ เพื่อให้สมาชิกมั่นใจว่า WTO ยังเป็นองค์กรที่กำกับดูแล และสร้างความเป็นธรรมทางการค้าระหว่างประเทศ

จาก https://www.posttoday.com   วันที่ 19  มีนาคม 2561

ค่าบาท 'แข็งค่า' รับรู้เรื่องเฟดขึ้นดบ.

บาทเปิดตลาดเช้านี้อ่อนค่า "31.23 บาทต่อดอลลาร์" คาดตลาดรับรู้ขึ้นดอกเบี้ยเฟดล่วงหน้าแล้ว ในสัปดาห์นี้จับตาการประชุมธนาคารกลางสหรัฐและอังกฤษ

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 31.23บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากช่วงปิดท้ายสัปดาห์ก่อนที่ 31.18 บาทต่อดอลลาร์

ในสัปดาห์นี้ยังเชื่อว่าค่าเงินดอลลาร์มีโอกาสแข็งค่าขึ้นได้บ้าง หลังจากที่เฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ยและปรับมุมมองการขึ้นดอกเบี้ยในอนาคตขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าภาวะต้นทุนที่สูงขึ้นจากการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดเป็นสิ่งที่ตลาดรับรู้ไปแล้ว ดูได้จากดอกเบี้ย LIBOR ที่ปรับตัวขึ้นสูงกว่า Fed fund rate มาก จึงมีโอกาสน้อยมากที่ราคาสินทรัพย์ทางการเงินอื่นๆ เช่นทองหรือหุ้นจะปรับฐานรับกับการขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ และไม่น่าจะส่งผลลบกับกับสกุลเงินตลาดเกิดใหม่เช่นกัน

ในส่วนของเงินบาทเชื่อว่ามีโอกาสอ่อนค่าขึ้นไปได้บ้างถ้าสกุลเงินเอเชียปรับตัวอ่อนค่าในระยะสั้นจากการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด แต่ระยะกลาง ยังมองเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าต่อถ้าตลาดกลับมาเปิดรับความเสี่ยง (risk-on) เต็มที่อีกครั้ง

กรอบเงินบาทวันนี้ 31.18-31.28 บาทต่อดอลลาร์ และกรอบเงินบาทในสัปดาห์นี้ 31.00-31.50 บาทต่อดอลลาร์

สำหรับในสัปดาห์นี้สิ่งที่ต้องจับตาคือ การประชุมธนาคารกลางสหรัฐและธนาคารกลางอังกฤษ

วันพุธ ตัวเลขการค้าตางประเทศของไทยคาดว่าจะยังเติบโตดี การส่งออกจะขยายตัวที่ระดับ 8.2% และการนำเข้าจะขยายตัว 15.4% ส่งผลให้ไทยน่าจะกลับมาเกินดุลการค้าในเดือนกุมภาพันธ์ที่ระดับ 500 ล้านดอลลาร์ เป็นบวกกับทั้งเศรษฐกิจและค่าเงินบาท

วันพุธ การประชุมธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด คาดว่าจะมีการปรับดอกเบี้ยนโยบาย (Fed fund rate) ขึ้น 0.25% ไปอยู่ที่ระดับ 1.5 ถึง 1.75% โดยเชื่อว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินมีโอกาสที่จะปรับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อให้ดีขึ้นด้วย อย่างไรก็ตามเชื่อว่าตลาดรับข่าวไปแล้ว และจะจับตาไปที่มุมมองดอกเบี้ยระยะยาวของเฟดว่ามีโอกาสปรับตัวขึ้นถึงเท่าไหร่ ซึ่งในปัจจุบันอยู่เพียง 2.75% เท่านั้น

วันพฤหัสการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) คาดว่าจะ “คงอัตราดอกเบี้ย” ที่ระดับ 0.5% ตามเดิม ขณะที่มีโอกาส 50:50 ที่บีโออี จะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีกครั้งในช่วงกลางปีนี้

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 19  มีนาคม 2561

ราคาน้ำตาลขายปลีกไทยเริ่มแข่งขันหลังลอยตัว

ราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานยังทรงตัวที่ระดับ17-18บาทต่อกิโลกรัมแต่ราคาขายปลีกมีการแข่งขันมากขึ้นหลังรัฐลอยตัวราคา ขณะที่แนวโน้มราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกยังตกต่ำต่อเนื่องชาวไร่อ้อยทำใจรับค่าอ้อยปี61/62ส่อไม่ถึง800บาท/ตัน

นายบุญถิ่น โคตรศิริ ผู้อำนวยการสำนักบริหารอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานในขณะนี้เฉลี่ยยังทรงตัวในระดับ 17-18 บาทต่อกิโลกรัม(กก.)ส่งให้ราคาขายปลีกเคลื่อนไหวระดับ21-21.50 บ./กก.โดยพบว่าหลังรัฐลอยตัวราคาน้ำตาลทรายตั้งแต่1ธ.ค.60ทำให้ราคาขายปลีกมีการแข่งขันมากขึ้น

“ราคาขายปลีกน้ำตาลหลังลอยตัวแต่ละรายจะขายไม่เท่ากันบางรายจะขายต่ำกว่า20-30สตางค์/กก.ถ้ารายใดสูงจะขายไม่ได้แต่ต่ำเกินไปก็จะมีปัญหาเพราะระบบจะนำเอาราคาเฉลี่ยการขายมาคิดเพื่อนำเงินส่วนต่างเก็บเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายทำให้ราคาในที่สุดจะเข้าสู่เสถียรภาพ”นายบุญถิ่นกล่าว

สำหรับราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกเฉลี่ยเคลื่อนไหวอยู่ที่ 12.55-13เซ็นต์ต่อปอนด์ซึ่งถือเป็นอัตราที่ค่อนข้างต่ำซึ่งยอมรับว่าหากยืนในระดับนี้ต่อเนื่องจะมีผลให้ราคาอ้อยขั้นต้นฤดูผลิตปี61/62 ค่อนข้างตกต่ำต่อเนื่องอีกปีหนึ่ง อย่างไรก็ตามสถานการณ์ดังกล่าวเป็นไปตามวัฏจักรขาลงคาดว่าหลังจากนั้นจะเข้าสู่ช่วงขาขึ้น

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.)กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย(อนท.)ได้เสนอขายน้ำตาลส่งออกแล้ว 49.63% ราคา 16.65เซ็นต์/ปอนด์และราคารวมพรีเมียม17.42เฃนต์คงเหลือ 50.37%ถ้าส่วนที่เหลือ ใช้ราคาปิดล่าสุดมาคำนวณ ราคารวมพรีเมียม จะเท่ากับ15.51เฃนต์/ปอนด์ราคาอ้อยขั้นต้นฤดูใหม่จะเหลือเพียง700กว่าบาทต่อตันเท่านั้น

“ราคาอ้อยมีแนวโน้มจะลดลงต่อเนื่องอีกปีหากราคาตลาดโลกยังอยู่ระดับ13เซ็นต์/ปอนด์เนื่องจากผลผลิตน้ำตาลตลาดโลกเพิ่มขึ้นอย่างมากจากผลผลิตอ้อยที่สูงขึ้นโดยเฉพาะปีนี้อินเดียผลิตอ้อยสูงถึง29.5ล้านตันจากเดิมที่ประเมินว่าจะได้20.3ล้านตัน น้ำตาลที่ผลิตจากบีทรูทก็ส่งออกเพิ่ม ไทยเองปีนี้อ้อยก็คาดว่าจะเห็นระดับ120ล้านตัน”แหล่งข่าวกล่าว

สำหรับกรณีที่มีบางโรงงานกังวลว่าระเบียบต่างๆที่ออกมาโดยเฉพาะการเก็บเงินส่วนต่างราคาเข้ากองทุนอ้อยฯอาจขัดกับระเบียบองค์การการค้าโลก(WTO)นั้นจะไม่มีปัญหาแต่อย่างใดเพราะไทยได้ดำเนินการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายแล้ว

จาก https://mgronline.com   วันที่ 18  มีนาคม 2561

พพ.ชี้โรงไฟฟ้าชีวมวล300เมกะวัตต์ฉลุยมีเชื้อเพลิงพอ

พพ.เผย ม.ศิลปากร ส่งผลการศึกษา ยันศักยภาพของวัตถุดิบเพื่อเป็นเชื้อเพลิงป้อนโรงไฟฟ้าชีวมวล 300 เมกะวัตต์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีเพียงพอ เน้นรูปแบบประชารัฐ ดึงชุมชนมีส่วนร่วม ผลิตไฟฟ้าชีวมวล ส่งเสริมใช้เศษไม้ เป็นเชื้อเพลิง

นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการส่งเสริมโรงไฟฟ้า   ชีวมวล 300 เมกะวัตต์ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  จ.ปัตตานี จ.ยะลา และจ.นราธิวาส ตามนโยบายของนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานว่า  พพ.ได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยศิลปกร ศึกษาศักยภาพโรงไฟฟ้าชีวมวลใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยได้รับรายงานผลสรุปเบื้องต้นทั้งในเรื่องของสถานที่ตั้งที่เหมาะสม และปริมาณเชื้อเพลิงที่สามารถป้อนโรงไฟฟ้าให้ได้ตามสัดส่วนของขนาดโรงไฟฟ้า    ซึ่งพพ. จะเร่งพิจารณาในรายละเอียด เพื่อนำเสนอต่อกระทรวงพลังงานต่อไป

“พพ.ได้หารือกับผู้ประกอบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาแล้วหนึ่งรอบ เมื่อเร็วๆนี้ โดยให้ม.ศิลปกร ดำเนินการศึกษาปรับปรุงข้อมูลให้มีความทันสมัยมากขึ้น ในด้านศักยภาพของโรงไฟฟ้าชีวมวล เบื้องต้นพบว่ามีตัวเลขในด้านศักยภาพวัตถุดิบ เศษไม้ยางพารา และต้นยางพารา ที่จะสามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิง ในการผลิตกระแสไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้นอีกจำนวนหนึ่ง จากที่เคยได้รับรายงานในรอบที่ผ่านมา ตอนนี้กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการให้เป็นแผนชัดเจนต่อไป” นายประพนธ์ กล่าว

ทั้งนี้ในเบื้องต้น พพ.จะใช้แนวทางส่งเสริมโรงไฟฟ้าชีวมวล 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในลักษณะ โรงไฟฟ้าประชารัฐ ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้มีเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาโรงไฟฟ้า และชุมชนได้รับผลประโยชน์จากเงินกองทุนรอบโรงไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วนของ 10% ของผลกำไร อีกทั้งยังมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจำหน่ายเชื้อเพลิงเข้าโรงไฟฟ้าได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งเชื่อว่า แนวทางโรงไฟฟ้าประชารัฐ จะมีส่วนสนับสนุนให้ประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้หันมาสนใจในโครงการผลิตไฟฟ้าชีวมวลมากขึ้นในอนาคต 

ทั้งนี้ การดำเนินการโครงการดังกล่าว จะสอดรับนโยบายกระทรวงพลังงานภายใต้แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP)ฉบับใหม่ ที่เน้นให้เกิดการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานและลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ

จาก https://mgronline.com   วันที่ 18  มีนาคม 2561

สะท้อนภาพ 25 ปี “GMS” 6 ประเทศแม่น้ำโขง “ต้องเชื่อใจกันมากขึ้น”

ปี 2018 ถือเป็นการครบรอบ 25 ปี ของ “แผนงานการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ” (Greater Mekong Subregional-GMS) คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) จึงได้จัดสัมมนาถึงความก้าวหน้าและทิศทางอนาคต หลังจากช่วงที่ผ่านมา ในอนุภูมิภาคดังกล่าว ได้ลงทุนเมกะโปรเจ็กต์เพื่อดันการเติบโตมหาศาล

GMS เป็นแผนงานความร่วมมือระหว่าง 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขงได้แก่ ไทย เมียนมา ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีน (มณฑลยูนนาน) โดยในปี 2017 มีประชากรรวมราว 66.19 ล้านคน และเพิ่มขึ้น 0.5% ในทุกปี และจากการสำรวจในปี 2015 มีผู้ที่อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน 7.2%

โดย ADB ถือเป็นผู้สนับสนุนเงินทุนการพัฒนาหลักในอนุภูมิภาคนี้กว่า 8 พันล้านเหรียญสหรัฐ จาก 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

“ฮิเดอะกิ อิวาซากิ” ผู้อำนวยการสำนักงานผู้แทนธนาคารพัฒนาเอเชีย ประจำประเทศไทยกล่าวว่า ADB มีหน้าที่อำนวยความสะดวกในการพัฒนา ทั้งในฐานะผู้สนับสนุนทางการเงิน และเป็นกระบอกเสียงในการพัฒนา ซึ่ง ADB มองว่า อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ยังมีโอกาสในการพัฒนาอีกมากในอนาคต

สิ่งที่ขาดหายใน GMS

“อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และรัฐมนตรีประจำแผนงาน GMS กล่าวถึงความสำเร็จที่เกิดขึ้นตลอด 25 ปีของแผนงานว่า ความสำเร็จ เกิดขึ้นภายใต้ 3 องค์ประกอบ ได้แก่ “ความเชื่อมโยง” “ความสามารถในการแข่งขัน” และ “ความเป็นชุมชน”

โดยตลอด 25 ปีที่ผ่านมา การรวมกลุ่มภายใต้ GMS ก่อให้เกิดการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งถนน 10,000 กิโลเมตร ทางรถไฟ 500 กิโลเมตร และ 1 แสนครัวเรือนมีไฟฟ้าใช้ รวมทั้งบรรลุเป้าหมายการค้า 4.44 ล้านเหรียญสหรัฐ การลงทุน 2.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ รายได้จากนักท่องเที่ยว 60 ล้านคน จำนวน 6 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

ขณะที่ ดร.ปัทมา เธียรวิศิษฎ์สกุล รองเลขาธิการ สศช.ระบุว่าแผนงาน GMS ในวันนี้ สะท้อนให้เห็นว่า การรวมตัวกันเป็นอนุภูมิภาค เพิ่มอำนาจในการต่อรองต่อชาติอื่นมากขึ้น ทำให้ประเทศไทยไม่โดดเดี่ยว หรือเป็นใครก็ไม่รู้ ในสายตาเวทีโลก จึงสรุปได้ว่าการมีกรอบความร่วมมือที่ดี นำมาซึ่งการออกดอกออกผลที่ดี อย่างไรก็ตามสิ่งที่ยังขาดหายไปในปัจจุบัน คือ “การติดตามผล” ในระยะยาวซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องเร่งทบทวน

เอกชนชี้ปมความล่าช้า

ด้านความคิดเห็นในมุมมองเอกชน “ปณิธาน ปวโรฬารวิทยา” รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และคณะกรรมการ GMS-BD (Thailand) กล่าวว่า GMS เป็นกรอบความร่วมมือที่ช่วยสร้างซัพพลายเชนให้กว้างขึ้น เอกชนจึงได้ประโยชน์จากส่วนตรงนี้มาก

อย่างไรก็ตาม GMS ผ่านมา 25 ปี ถ้าถือว่าเป็นคน ก็คือแก่แล้ว แต่ก็ยังมีปัญหาคาราคาซังบางอย่าง ที่ทำให้ตามโลกไม่ทัน เช่น โลกปัจจุบันทั้งใบเป็นดิจิทัลแล้ว แต่ในอนุภูมิภาคยังมีข้อพิพาท เปิดด่านชายแดนประเทศไม่สำเร็จอยู่เนือง ๆ

“ผมมองว่าในส่วนของ hard infrastructure เช่น ถนน ภายใต้กรอบความร่วมมือนี้เกิดขึ้นเร็วมาก แต่ด้าน soft infrastructure เช่นจะทำยังไงให้ถนนเปิดวิ่งได้ การอนุมัติอะไรหลายอย่างไม่เดินหน้า หรือเดินหน้าช้ามาก พูดตรง ๆ ปัญหาส่วนหนึ่งคือเรายังไม่เชื่อใจกันมากพอ ระหว่างแต่ละประเทศ ยังระแวงกันมากเกินไป และนี่นำมาสู่อุปสรรคและความขัดแย้ง”

นอกจากนี้ ปณิธานยังแนะเพิ่มว่า GMS ควรเลิกคุยเรื่องโครงสร้างพื้นฐานแบบเก่า และต้องริเริ่มแกนกลางของเทคโนโลยีที่จะเข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตผู้คน ปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามาสั่นคลอนทุกสถาบัน ยกตัวอย่างกรณี “บิตคอยน์” คริปโตเคอเรนซี่เขย่าโลก ที่ถูกพัฒนาล้ำหน้าโดยนักลงทุน และรัฐต้องไล่ตามกำกับ ดังนั้นทุกฝ่ายต้องรับมือการเข้ามาของเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกให้ทัน โดยเฉพาะการรับมือด้วยกลไกจากภาครัฐ

กูรูแนะเชื่อมโยงวัฒนธรรม

“ศ.ดร.สุทธิพันธ์ จิราธิวัฒน์” ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แนะว่าการพัฒนาในอนาคต หากต้องการให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียวกันมากขึ้น แต่ละประเทศควรใส่ใจเรื่องการเชื่อมโยงด้านวิถีชีวิตและวัฒนธรรมมากขึ้น เนื่องจากก่อนหน้านี้ ก่อนที่พื้นที่บริเวณดังกล่าวจะเป็นรัฐชาติ การเดินทางไปมาหาสู่กันยังเป็นอิสระ แต่ละพื้นที่แม้จะมีวัฒนธรรมพื้นถิ่นแต่ก็มีการแลกเปลี่ยนถ่ายเทหากัน จึงมองว่า การเชื่อมโยงในส่วนนี้น่าจะช่วยให้มีความสนิทสนมกันมากขึ้น

นอกจากนี้ควรจับตาดูจีน ที่อยู่เหนือขึ้นไปทางเมียนมา และลาว เพราะปัจจุบันการเคลื่อนย้ายทรัพยากรมนุษย์เปลี่ยนไป ชาวจีนเข้ามายังประเทศไทย และพื้นที่ GMS มากขึ้น เนื่องจากช่องทางต่าง ๆ เปิดมากขึ้น และปัจจุบันชาวจีนถือว่ามีรายได้เฉลี่ยสูงกว่าคนในกลุ่มประเทศ GMS ซึ่งถือเป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยงในเวลาเดียวกัน

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 17 มีนาคม 2561

“ไทย-ฮังการี” เร่งขยายการค้า-การลงทุนระหว่างกันก่อนสานต่อเอฟทีเอไทย-อียู

 “ไทย-ฮังการี” เร่งขยายการค้าและการลงทุนระหว่างกันก่อนสานต่อเอฟทีเอไทย-อียู เตรียมจัดทัพนักธุรกิจไทยบุกตลาดฮังการี พ.ย.นี้ พร้อมนักลงทุนฮังการีเข้าสู่ EEC

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวถึงผลการหารือกับนายซิลเวสเตอร์ บุช รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศและการค้าฮังการีในโอกาสที่เดินทางเยือนไทยเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่าง ทั้งสองประเทศ เมื่อวันที่ 14 มี.ค.2561 ว่า ไทยและฮังการีมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ดีมาอย่างยาวนาน เพื่อให้การค้าและการลงทุนของไทยและฮังการีขยายตัวอย่างเป็นรูปธรรม

โดยตั้งเป้าหมายให้ฮังการีเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยในกลุ่มประเทศยุโรปกลาง และสนับสนุนการเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทย-สหภาพยุโรป ส่วนฮังการีเล็งเห็นถึงโอกาสในการขยายการค้าและการลงทุนกับไทย ซึ่งมีศักยภาพโดดเด่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นางอรมน กล่าวอีกว่า หลังจากนี้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศพร้อมสนับสนุนภาคเอกชนของไทยและสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฮังการี ประจำประเทศไทย มีแผนการจัดกิจกรรมเพื่อให้นักธุรกิจของไทยและฮังการีได้มีโอกาสทางการค้าการลงทุนและใกล้ชิดกันมากขึ้น โดยไทยเตรียมจัดคณะนักธุรกิจไปเยือนฮังการีในเดือนพฤศจิกายน 2561

พร้อมกันนี้ ไทยได้เชิญชวนให้ภาคเอกชนฮังการีมาลงทุนในโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ของไทย ในสาขาที่ฮังการีมีความเชี่ยวชาญ เช่น การแพทย์ การบริหารจัดการขยะและน้ำเสีย อาหาร ปิโตรเคมี และเทคโนโลยีโทรคมนาคมและการสื่อสาร เป็นต้น ซึ่งฮังการีได้ชื่นชมนโยบายไทยแลนด์ 4.0 พร้อมทั้งยินดีสนับสนุนให้ภาคเอกชนฮังการีเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ ในปี 2560 ฮังการีเป็นคู่ค้าอันดับที่ 55 ของไทยในโลก การค้ารวมมีมูลค่า 578.44 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากปีก่อนหน้า ร้อยละ 1.39 โดยไทยส่งออกไปฮังการีรวมมูลค่า 425.15 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ก๊อก วาล์ว และส่วนประกอบ วงจรพิมพ์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 152.97 ล้านเหรียญสหรัฐฯสินค้านำเข้าสำคัญ เช่น ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ ยานยนต์ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม

สำหรับการลงทุนไทยในฮังการีปี 2559 ไทยลงทุนในฮังการีมูลค่า 11.19 ล้านเหรียญสหรัฐ ในสาขาอาหาร ในขณะที่การลงทุนของฮังการีในไทยไม่มาก มีการลงทุนจากฮังการีที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ในปี 2559 จำนวน 1 โครงการ มูลค่า 7.95 แสนเหรียญสหรัฐ เป็นการขยายการลงทุนของบริษัทผลิตสายไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ ฮังการีตั้งอยู่ใจกลางภูมิภาคยุโรปจึงเป็นศูนย์กระจายสินค้าที่สำคัญของยุโรปกลางและตะวันออก มีความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัย เป็นผู้ผลิตอาหารและสินค้าเกษตรที่สำคัญของภูมิภาคยุโรปตะวันออก และเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่สำคัญ

จาก https://www.prachachat.net    วันที่ 16  มีนาคม 2561

รมว.พาณิชย์ ดันแผนปฎิบัติการ 5 ด้านขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

รมว.พาณิชย์ ดันแผนปฎิบัติการ 5 ด้านขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ต้องเห็นผลเป็นรูปธรรม

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ทิศทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าในช่วงครึ่งหลังของปีงบประมาณ 2561 มอบหมายผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ในส่วนต่างๆ จัดทำเป้าหมาย แผนยุทธศาสตร์ และ การดำเนินงานของกระทรวงพาณิชย์ ในการเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เห็นผลเป็นรูปธรรม โดยเน้นการปฎิบัติ 5 ด้าน ประกอบด้วยการเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากด้วยการดูแลค่าครองชีพเพิ่มรายได้ลดรายจ่าย พัฒนาร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ การผลักดัน e-Commerce ด้วยการทำการค้าผ่านออนไลน์ เพราะเป็นช่องทางใหม่ที่จะทำให้ขายสินค้าได้มากขึ้น

การดูแลสินค้าเกษตรแบบครบวงจรใช้การตลาดนำการผลิตเน้นการแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่า การขับเคลื่อนการส่งออก การทำ Big Data และ Smart Ministry ให้เกิดขึ้น

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 16  มีนาคม 2561

อ้อยเข้าโรงงานทะลุ100ล้านตัน

โรงงานพร้อมเปิดรับอ้อยเข้าหีบฤดูกาลผลิตปี 2560/2561 จ่อทะลุ 100 ล้านตัน สัปดาห์นี้

นายบุญถิ่น โคตรศิริ ผู้อำนวยการ สำนักบริหารอ้อยและน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า โรงงานน้ำตาลทรายทั่วประเทศ 54 โรงงาน ได้เปิดหีบอ้อยประจำฤดูกาลผลิตปี 2560/2561 ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2560 -13 มี.ค. 2561 พบว่ามีปริมาณอ้อยเข้าหีบแล้ว 98 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนกว่า 12 ล้านตัน ดังนั้น ปริมาณอ้อยเข้าหีบจะแตะระดับ 100 ล้านตัน ในสัปดาห์นี้แน่นอนโดยเบื้องต้นคาดว่า ปริมาณอ้อยปีนี้อาจมากถึง 120 ล้านตันอ้อย ทำสถิติสุดเป็นประวัติการณ์"

สาเหตุที่ผลผลิตสูงเนื่องจากช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาปริมาณฝนตกดีต่อเนื่องและส่วนหนึ่งเกิดจากนโยบายการส่งเสริมนำแปลงนามาปลูกอ้อยโดยขณะนี้ทุก โรงงงานยังคงเปิดหีบอ้อยต่อเนื่อง" นายบุญถิ่น กล่าว

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ กล่าวว่า โรงงานน้ำตาลทรายทั้ง 54 แห่ง ยืนยันจะไม่ปิดรับผลผลิตอ้อยจากชาวไร่คู่สัญญาเข้าหีบที่ยังตกค้าง แม้ว่าปีนี้คาดว่าปริมาณผลผลิตอ้อยจะสูงกว่าฤดูการผลิตของปีที่ผ่านมา โดยทุกโรงงานมีเป้าหมายที่จะหีบอ้อยให้แล้วเสร็จก่อนเข้าสู่ช่วงสงกรานต์ หรือก่อนเข้าสู่ฤดูฝนในปีนี้ เนื่องจากอาจติดปัญหาไม่มีแรงงานตัดอ้อย

นอกจากนี้หากเข้าสู่ช่วงฤดูฝน จะทำให้รถบรรทุกและรถตัดอ้อยเข้าไปจัดเก็บผลผลิตยาก ส่งผลให้อ้อยมี สิ่งปนเปื้อนเพิ่มขึ้น มีผลให้ประสิทธิภาพการผลิตของโรงงานลดลง และทำให้ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) ลดลง ตามไปด้วย

จาก https://www.posttoday.com   วันที่ 16  มีนาคม 2561

ธปท. จ่อทบทวนจีดีพีปี 61 ใหม่ แย้มสูงกว่า 3.9% แน่นอน

ธปท. จ่อทบทวนจีดีพีปี 2561 ใหม่ หลังพบสัญญาณบวกหนุนเศรษฐกิจอื้อ ชูพระเอกหลัก “ส่งออก-ท่องเที่ยว-นำเข้าสินค้า” หนุนเต็มสูบ แจงบาทแข็งค่าจากปัจจัยค่าเงินสหรัฐอ่อน ยืนยันมีการคุมไม่ให้ค่าเงินเคลื่อนไหวเร็วเกินไป ระบุเอกชนอย่าชะล่าใจว่าไม่มีใครดูแล

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.จะมีการปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปี 2561 รอบใหม่ ในช่วงปลายเดือน มี.ค.นี้ จากประมาณการล่าสุดเดือน ธ.ค.2560 ที่คาดว่าจะขยายตัว 3.9% ซึ่งขณะนี้ พบว่ามีปัจจัยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ต่อเนื่อง จากภาคการส่งออกที่ได้รับอานิสงส์จากเศรษฐกิจโลกที่เริ่มเป็นทิศทางที่ขยายตัว ไม่ใช่การฟื้นตัว ทั้งภูมิภาคยุโรป สหรัฐ และญี่ปุ่น โดยการส่งออกไทยขยายตัวกระจายตัวมากขึ้น ไม่ใช่แค่รายใหญ่และสินค้าเดิมๆ ขณะเดียวกันกัน ภาคการท่องเที่ยวก็ยังเป็นเครื่องยนต์สำคัญทำให้เศรษฐกิจไทย เติบโตอย่างต่อเนื่องและมีศักยภาพ

 “หลังประมาณการเศรษฐกิจไทยล่าสุดในเดือน ธ.ค. ช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาในปีนี้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจดีขึ้น ทั้งภาคการส่งออกและท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่การนำเข้าก็มีมูลค่าเกิน 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือนต่อเนื่อง 2 เดือน สะท้อนให้เห็นการนำเข้าสินค้าทุนซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีกับภาคการลงทุนมีทิศทางที่ดีขึ้น”นายวิรไท กล่าว

 นายวิรไท กล่าวอีกว่า แม้ว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะมีแนวโน้มการฟื้นตัวที่ชัดเจน แต่ก็ยอมรับว่าการฟื้นตัวไม่ได้กระจายตัวมาก ภาคเศรษฐกิจชนบทและต่างจังหวัดยังมีปัญหามาจากหลายปัจจัย เช่น ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาการใช้นโยบายพยุงราคาสินค้า เช่น จำนำข้าว ทำให้เกิดดีมานด์เทียม ทำให้เกษตรกรก่อหนี้ มีการลงทุนและการผลิตส่วนเกินอยู่มาก รวมทั้งปัญหาภัยแล้งในช่วงปีที่ผ่านมา ทำให้เกษตรกรมีการก่อหนี้มากขึ้น กระทบกับการบริโภค และราคาสินค้าเกษตรทั่วโลกไม่ได้ดีขึ้น ทำให้รายได้ภาคการเกษตรถูกกดนิ่งไว้ ทั้งหมดจึงเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างทำให้เศรษฐกิจขยายตัวไม่กระจายไปชนบท

 ขณะที่สถานการณ์ค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมามีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ปัญหาสำคัญมาจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อน ซึ่งไม่ใช่เป็นปัญหาเฉพาะไทย จะเห็นได้ว่าตั้งแต่ปลายปี 2559 ที่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ นักลงทุนก็คาดว่าสหรัฐจะมีมาตรการยาแรง ทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งขึ้นเร็ว แต่เมื่อเวลาผ่านไปไม่สามารถทำนโยบายได้อย่างที่คาด แม้สหรัฐจะเศรษฐกิจดี มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่ความมั่นใจของนักลงทุนและมุมมองตลาดก็เปลี่ยนไป ขณะที่การฟื้นตัวเศรษฐกิจเอเชีย ยุโรป มีความชัดเจนเงินที่คาดว่าจะลงทุนในสหรัฐก็กระจายไปยังภูมิภาคอื่นมากขึ้น

“มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าธปท.ไม่ทำอะไรกับเงินร้อน โดยข้อเท็จจริงที่ผ่านมามีเงินทุนไหลเข้าทั้งหุ้น และพันธบัตรกว่า 6 พันล้านเหรียญสหรัฐ มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 4.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 10% ของจีดีพี ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น แต่ ธปท.ไม่ต้องการกำหนดให้ค่าเงินอยู่ในระดับใด ที่ทำคืออาจจะช่วยเข้าไปชะลอไม่ให้ค่าเงินเคลื่อนไหวเร็วเกินไป เพราะความผันผวนจะยังคงมีสูงขึ้นเรื่อยๆ ภาคเอกชนอย่าชะล่าใจว่าจะมีใครมาดูแล การบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนจึงมีความจำเป็น” นายวิรไท กล่าว

 นายวิรไท กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ ธปท.อยู่ระหว่างแก้ไข ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 ซึ่งในปีที่ผ่านมาได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวาระที่ 1 โดยสาระสำคัญเพื่อต่ออายุกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน และเพิ่มกลไกอำนาจให้เข้าไปแก้ไขปัญหาวิกฤตสถาบันการเงิน ให้ครบถ้วนรอบด้านมากขึ้น ในกรณีที่สถาบันการเงินมีปัญหาวิกฤตจะต้องไม่ตกเป็นภาระของภาครัฐอย่างที่ผ่านมา คนที่รับภาระจะต้องเป็นผู้ที่ได้ประโยชน์จากสถาบันการเงิน ซึ่งบริหารโดยกองทุนฟื้นฟูเป็นกลไกสำคัญในการแก้ไขปัญหา

 ทั้งนี้ การแก้ไขกฎหมายได้มีการสำรวจความเห็นจากสถาบันการเงินในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พิจารณาว่าการดำเนินการของธนาคารอะไรที่ยังเป็นช่องโหว่และไม่เท่าทันโลก ต้องมีการปรับปรุงแก้ไข โดยศึกษากรณีวิกฤตสถาบันการเงินในช่วงปี 2008-2009 เพื่อให้มีกลไกควบคุมและเครื่องมือดูแลที่รอบด้านมากขึ้น ซึ่งยืนยันว่าการแก้ไขกฎหมาย ไม่ได้หมายความว่ามีสถาบันการเงินเจอปัญหาวิกฤต ธปท.หวังว่าจะไม่ต้องใช้ แต่ต้องเตรียมพร้อมไว้สำหรับอนาคต ซึ่งหลายประเทศก็ดำเนินการในลักษณะเดียวกัน

จาก www.thaipost.net   วันที่ 16  มีนาคม 2561

โถ!แผนพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพช้าเป็นเต่า"อุตตม"พ้อคิดรอบด้าน-อุดรอยรั่วปัญหา

นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยความคืบหน้าการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (ไบโออีโคโนมี) ที่เป็น 1 ใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จัดทำโดยคณะทำงานด้านการพัฒนาคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ภายใต้โครงการสานพลังประชารัฐ ที่มีตนเป็นหัวหน้าทีมภาครัฐ ซึ่งเดิมมีการกำหนดเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตั้งแต่ปี 60 ว่า ขณะนี้ในภาพรวมของแผนเรียบร้อยดี แต่ยังมีบางเรื่องที่ต้องปรับปรุงแก้ไข เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต โดยแผนงานดังกล่าวถือเป็นการลงทุนระยะ 2 ของอุตสาหกรรมเศรษฐกิจชีวภาพ ที่จะเน้นลงทุนในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลางที่มีวัตถุดิบหลักคือ น้ำตาลเพื่อนำไปผลิตเป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกต่างๆ โดยมีบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ลงทุนหลัก ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสาเหตุที่แผนส่งเสริมยุทธศาสตร์ไบโออีโคโนมีโดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรม ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมชีวภาพ ได้ระบุว่า นโยบายส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมไบโออีโคโนมีของรัฐบาล ยังไม่ตอบสนองให้เกิดการลงทุนมากเท่าที่ควร เนื่องจากรัฐบาลไม่กำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน.

จาก https://www.thairath.co.th    วันที่ 16  มีนาคม 2561

ไทยขอข้อมูลลาว หลังน้ำโขงลดผิดปกติ

ไทย เตรียมทำหนังสือถึงลาว เพื่อสอบถามแม่น้ำโขงที่ลดลงผิดปกติ ส่งผลกระทบต่อการเดินเรือ เพื่อนำข้อมูลมาบริหารจัดการน้ำภายในประเทศ หลังลาว ได้สร้างเขื่อนในลำน้ำอีก 8-9 แห่ง

 เลขาธิการ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ บอกว่า เตรียมทำหนังสือสอบถามไปยังสาธารณรัฐประชาธิปไตย ประชาชนลาว หรือ สปป.ลาว ถึงสถานการณ์น้ำโขง เพราะจากรายงาน พบว่าน้ำในลุ่มน้ำโขงหายไปมาก โดยเฉพาะจุดเฝ้าระวังที่บ้าน อ.เชียงคาน จ.เลย ลดลงผิดปกติ ทั้งนี้เพื่อทราบสาเหตุ และนำข้อมูลมาหารือวางแผนการบริหารน้ำในอนาคต เนื่องจากขณะนี้ ทางลาว ได้สร้างเขื่อนในลำน้ำอีก 8-9 แห่ง เสร็จไปแล้ว 2 แห่งส่วน น้ำโขงที่แห้งลงในพื้นที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย จนส่งผลกระทบต่อการเดินเรือสินค้า ล่าสุดเขื่อนจินหงของจีน ได้รับายน้ำเพิ่มเป็น 1,200 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้เรือสินค้าสัญจรได้แล้ว

จาก www.nationtv.tv  วันที่ 16  มีนาคม 2561

ผลผลิตอ้อยสัปดาห์นี้ทะลุ 100 ล้านตัน ปิดหีบคาดแตะ 120 ล้านตันสูงสุดเป็นประวัติการณ์

สำนักบริหารอ้อยและน้ำตาลฯ กางผลผลิตอ้อยเข้าหีบฤดูการผลิตปี 60/61 แตะ 98 ล้านตัน สัปดาห์นี้ทะลุ 100 ล้านตัน คาดปิดหีบแนวโน้มแตะระดับ 120 ล้านตัน สร้างสถิติใหม่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ด้าน 54 โรงงานยันไม่ปิดหีบอ้อยหนี ยันจะรับอ้อยคู่สัญญาให้เสร็จก่อนสงกรานต์ ขณะที่ผลผลิตน้ำตาลล่าสุดทะลุ 10 ล้านตัน

นายบุญถิ่น โคตรศิริ ผู้อำนวยการสำนักบริหารอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า โรงงานน้ำตาลทรายทั่วประเทศ 54 โรงงานได้เปิดหีบอ้อยประจำฤดูการผลิตปี 2560/61 ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2560 ถึง 13 มีนาคม 2561 หรือคิดเป็นระยะเวลา 103 วัน พบว่ามีปริมาณอ้อยเข้าหีบแล้ว 98 ล้านตันเพิ่มขึ้นจากช่วงหีบเดียวกันของปีก่อนกว่า 12 ล้านตัน เฉลี่ยมีกำลังหีบอ้อยวันละ 1.09 ล้านตัน ดังนั้น ปริมาณอ้อยเข้าหีบในวันที่ 15 มี.ค.นี้จะแตะระดับ 100 ล้านตัน และจากการประเมินเบื้องต้นคาดว่าปริมาณอ้อยเข้าหีบฤดูการผลิตปี 60/61 จะแตะระดับ 120 ล้านตันอ้อย ซึ่งถือเป็นปริมาณสูงสุดเป็นประวัติการณ์

“ผลผลิตที่สูงดังกล่าวเนื่องจากช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาปริมาณฝนตกดีต่อเนื่องและส่วนหนึ่งเกิดจากนโยบายการส่งเสริมนำแปลงนามาปลูกอ้อย โดยขณะนี้ทุกโรงงงานยังคงเปิดหีบอ้อยต่อเนื่อง โดยเฉลี่ยจะพยายามรับอ้อยเข้าหีบจนถึงกลาง เม.ย. แต่ก็มีบางโรงที่จะรับไปจนถึง พ.ค.” นายบุญถิ่นกล่าว

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหารบริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) กล่าวว่า โรงงานน้ำตาลทรายทั้ง 54 แห่งยืนยันจะไม่ปิดรับผลผลิตอ้อยจากชาวไร่คู่สัญญาเข้าหีบที่ยังตกค้าง แม้ว่าปีนี้คาดว่าปริมาณผลผลิตอ้อยจะสูงกว่าฤดูปีที่ผ่านมา โดยทุกโรงงานมีเป้าหมายที่จะหีบอ้อยให้แล้วเสร็จก่อนเข้าสู่ช่วงสงกรานต์ หรือก่อนเข้าสู่ฤดูฝนในปีนี้ เนื่องจากปัญหาแรงงานจะไม่มีแรงงานตัดอ้อย อีกทั้งหากเข้าสู่ช่วงฤดูฝนจะทำให้รถบรรทุกและรถตัดอ้อยเข้าไปจัดเก็บผลผลิตยาก และอ้อยจะมีสิ่งปนเปื้อนเพิ่มขึ้น มีผลให้ประสิทธิภาพการผลิตของโรงงานลดลง และทำให้ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) ลดลงตามไปด้วย

ส่วนสถานการณ์หีบอ้อยล่าสุดพบว่าคุณภาพของอ้อยเข้าหีบเมื่อเทียบระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย โดยมีค่าความหวานเฉลี่ย 12.34 ซีซีเอส จากปีก่อนอยู่ที่ 12.22 ซีซีเอส และมีปริมาณผลผลิตน้ำตาลทรายต่อตันอ้อย (ยิลด์) อยู่ที่ 107.52 กิโลกรัมต่อตันอ้อย เทียบกับปีก่อนที่มียิลด์ 106.52 กิโลกรัมต่อตันอ้อย หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 1 กิโลกรัมต่อตันอ้อย ส่งผลให้ช่วงระยะเวลา 102 วันที่มีการเปิดหีบอ้อย สามารถผลิตน้ำตาลทรายได้แล้วทั้งสิ้นกว่า 10.41 ล้านตัน

จาก https://mgronline.com  วันที่ 15 มีนาคม 2561

คาดปิดหีบอ้อย120ล้านตันทุบสถิติ

คาดปิดหีบอ้อยทะลุ 120 ล้านตัน สร้างสถิติใหม่สูงสุดประวัติการณ์ ด้าน 54 รง. ยันไม่ปิดหีบอ้อยหนี                    

นายบุญถิ่น โคตรศิริ ผู้อำนวยการสำนักบริหารอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงความคืบหน้าภายหลังโรงงานน้ำตาลทรายทั่วประเทศ เปิดหีบอ้อยประจำฤดูการผลิตปี 60/61 ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 60 ถึง 13 มี.ค. 61ว่า มีปริมาณอ้อยเข้าหีบแล้ว 98 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 12 ล้านตัน เฉลี่ยมีกำลังหีบอ้อยวันละ 1.09 ล้านตัน คาดว่า ปริมาณอ้อยเข้าหีบในวันที่ 15 มี.ค.นี้ ระดับ 100 ล้านตัน และจากการประเมินเบื้องต้นคาดว่า ปริมาณอ้อยเข้าหีบฤดูการผลิตปี 60/61 จะถึงระดับ 120 ล้านตันอ้อย เป็นปริมาณสูงสุดประวัติการณ์

“ผลผลิตที่สูงดังกล่าวเนื่องจากช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาปริมาณฝนตกดีต่อเนื่องและส่วนหนึ่งเกิดจากนโยบายการส่งเสริมนำแปลงนามาปลูกอ้อย โดยขณะนี้ทุกโรงงงานยังคงเปิดหีบอ้อยต่อเนื่องโดยเฉลี่ยจะพยายามรับอ้อยเข้าหีบจนถึงกลางเม.ย.แต่ก็มีบางโรงที่จะรับไปจนถึงพ.ค.“

 นายสิริวุทธิ์  เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหารบริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ กล่าวว่า โรงงานน้ำตาลทรายทั้ง 54 แห่งยืนยันจะไม่ปิดรับผลผลิตอ้อยจากชาวไร่คู่สัญญาเข้าหีบที่ยังตกค้าง แม้ว่า ปีนี้คาดว่า ปริมาณผลอ้อยจะสูงกว่าฤดูปีที่ผ่านมา โดยทุกโรงงานมีเป้าหมายที่จะหีบอ้อยให้แล้วเสร็จก่อนเข้าสู่ช่วงสงกรานต์ หรือก่อนเข้าสู่ฤดูฝนในปีนี้ เนื่องจากปัญหาแรงงานจะไม่มีแรงงานตัดอ้อย อีกทั้ง หากเข้าสู่ช่วงฤดูฝนจะทำให้รถบรรทุกและรถตัดอ้อยเข้าไปจัดเก็บผลผลิตยาก และอ้อยจะมีสิ่งปนเปื้อนเพิ่มขึ้น มีผลให้ประสิทธิภาพการผลิตของโรงงานลดลง และทำให้ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) ลดลงตามไปด้วย

จาก https://www.dailynews.co.th   วันที่ 15 มีนาคม 2561

โรงงานน้ำตาลเผยรับผลผลิตอ้อยทุกต้น

โรงงานน้ำตาลพร้อมรับผลผลิตอ้อยทุกต้นเข้าหีบ  เผย 102 วันรับผลผลิตอ้อยแล้ว 96.91 ล้านตัน ผลิตน้ำตาลได้ 10.41 ล้านตัน

นายสิริวุทธิ์  เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหารบริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) เปิดเผยว่า โรงงานน้ำตาลทรายทั่วประเทศทั้ง 54 โรง ขอให้ความมั่นใจแก่ชาวไร่อ้อยทั่วประเทศว่า ทุกโรงงานจะยังไม่มีการปิดรับผลผลิตอ้อยทุกตันของชาวไร่อ้อยคู่สัญญาเข้าหีบที่ยังตกค้าง  โดยโรงงานทุกแห่งมีเป้าหมายเดียวกันในการดำเนินการหีบอ้อยให้แล้วเสร็จก่อนเข้าสู่ช่วงสงกรานต์ หรือก่อนเข้าสู่ฤดูฝนในปีนี้

ส่วนสถานการณ์หีบอ้อยประจำฤดูการผลิตปี 2560/61 เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2560 ถึง 12 มีนาคม 2561 หรือคิดเป็นระยะเวลา 102 วัน พบว่า โรงงานน้ำตาลทรายทั่วประเทศได้รับผลผลิตอ้อยจากชาวไร่เข้าหีบแล้วจำนวน 96.91 ล้านตันอ้อย เพิ่มขึ้น 11.95 ล้านตัน เมื่อเทียบกับระยะเวลาการหีบอ้อยในช่วงเดียวกันของฤดูการหีบอ้อยปีก่อนที่มีอ้อยเข้าหีบ 84.96 ล้านตัน ซึ่งเป็นผลมาจากโรงงานน้ำตาลทรายทั่วประเทศได้เตรียมพร้อมด้านการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้มีปริมาณผลผลิตอ้อยเข้าหีบสูงสุดเฉลี่ย 1.21 ล้านตันต่อวัน 

สำหรับคุณภาพของอ้อยดีขึ้นเล็กน้อย โดยมีค่าความหวานเฉลี่ย 12.34 ซี.ซี.เอส. จากปีก่อนอยู่ที่ 12.22 ซี.ซี.เอส. และมีปริมาณผลผลิตน้ำตาลทรายต่อตันอ้อย (ยิลด์) อยู่ที่ 107.52 กิโลกรัมต่อตันอ้อย เทียบกับปีก่อนที่มียิลด์ 106.52 กิโลกรัมต่อตันอ้อย   ส่งผลให้ช่วงระยะเวลา 102 วันที่มีการเปิดหีบอ้อย สามารถผลิตน้ำตาลทรายได้แล้วทั้งสิ้น 10.41 ล้านตัน 

จาก www.tnamcot.com    วันที่ 15 มีนาคม 2561

ประเมิน5พืชเศรษฐกิจ มูลค่า7.4แสนล้าน คาดมันสำปะหลังดาวเด่นราคาพุ่ง

 ชี้ปีที่ผ่านมา 5 พืชเศรษฐกิจ มูลค่า 7.4 แสนล้าน คาดมันสำปะหลังดาวเด่นราคาพุ่ง ข้าวแนวโน้มสดใส ดันเศรษฐกิจภาคเหนือ อีสานคึกคัก อ้อย ยาง ปาล์ม ปริมาณผลผลิตเพิ่ม ชดเชยกับราคาที่ลดลง แนะเกษตรกรรวมตัวและภาครัฐเพิ่มการใช้ในประเทศเพื่อลดพึ่งพิงการส่งออก

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ประเมินมูลค่าพืชเศรษฐกิจสำคัญ 5 อันดับแรก คือ ข้าว ยางพารา อ้อย มันสำปะหลังและปาล์มน้ำมัน พบว่า ปี 2560 มีมูลค่ารวมกว่า 7.4 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3.3 หมื่นล้านบาท หรือร้อยละ 3.2

โดยมันสำปะหลังน่าจะเป็นพืชเศรษฐกิจดาวเด่นใน 2561 โดยคาดว่าราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 1.90 บาท/กก. เพิ่มขึ้นร้อยละ 36 เทียบกับราคาเฉลี่ยปีก่อน จากความต้องการจากคู่ค้ารายใหญ่อย่างประเทศจีนยังมีต่อเนื่องเพื่อผลิตเอทานอลและสต๊อกข้าวโพดของรัฐบาลจีนที่คาดว่าจะลดลงจากปีก่อนค่อนข้างมาก และปริมาณผลผลิตมันสำปะหลังที่ลดลงจากปีก่อนจากการลดพื้นที่เพาะปลูก

ข้าว ถือเป็นพืชเกษตรที่มีแนวโน้มราคาสดใสปีนี้ โดยคาดว่าราคาข้าวเปลือกเฉลี่ยปี 2561 อยู่ที่ 7,950 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 2.7 จากปริมาณการซื้อจากต่างประเทศที่มีมากตั้งแต่ต้นปี ดันยอดส่งออกข้าวต้นปีสูงขึ้นอย่างมาก นอกจากนี้ราคาข้าวในประเทศไม่ถูกกดดันจากโครงการประมูลข้าวจากสต๊อกของรัฐบาลเหมือนช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ราคาปีนี้มีทิศทางปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ปริมาณผลผลิตข้าวนาปรังปี 2561 ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 และการเร่งส่งออกข้าวของเวียดนามซึ่งเป็นคู่แข่งรายใหญ่เป็นปัจจัยที่อาจกดดันราคาข้าวช่วงที่เหลือของปี

ยางพารา เป็นพืชเกษตรสำคัญอันดับที่ 2 มีแนวโน้มราคาอ่อนตัวเทียบกับปีที่ผ่านมา ราคาเฉลี่ยยางแผ่นดิบชั้น 3 ลดลงต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมีนาคมปีก่อนจนถึงปัจจุบัน โดยคาดว่าราคาเฉลี่ยปี 2561อยู่ที่ 52.0 บาท/กก. ลดลงร้อยละ 9.6 เนื่องจากสต๊อก ยางพาราของจีนซึ่งเป็นผู้นำเข้าสำคัญ ยังคงอยู่ในระดับปกติ ผนวกกับปริมาณผลผลิตยางพาราไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.3 จากปีก่อน โดยคาดว่ามาตรการเพิ่มการใช้ยางพาราในประเทศและมาตรการลดปริมาณผลผลิตและปริมาณส่งออกของรัฐบาล รวมถึงความร่วมมือกับประเทศผู้ผลิตยางรายใหญ่ น่าจะช่วยให้ราคายางปรับตัวเพิ่มขึ้นได้จากราคาประมาณ 40-43 บาท/กก.ในขณะนี้

อ้อย เป็นอีกหนึ่งพืชเศรษฐกิจที่ทิศทางราคาปรับตัวลดลงจากปีก่อน คาดว่าราคาเฉลี่ยอ้อย ปี 2561อยู่ที่ 800 บาท/ตัน ลดลงร้อยละ14.4 ปีก่อน เพราะราคาน้ำตาลตลาดโลกที่ลดลงอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยอยู่ที่ 13.5 เซนต์/ปอนด์ เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่สูงถึง 20 เซนต์/ปอนด์ ขณะที่ปริมาณผลผลิตอ้อยในประเทศที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 เนื่องจากการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูก อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลกำลังอยู่ในช่วงปรับราคาน้ำตาลเป็นราคาลอยตัวตามราคาตลาด ภาครัฐจึงควรเข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อให้ผู้บริโภคและเกษตรกรได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

ปาล์ม ซึ่งกว่าร้อยละ 90 ปลูกในพื้นที่ภาคใต้ แนวโน้มราคาปีนี้อาจไม่สดใสนัก คาดว่าราคาปาล์มเฉลี่ยอยู่ที่ 3.70 บาท/กก. ลดลงร้อยละ 8.8 จากปีก่อน เนื่องจากสต๊อกน้ำมันปาล์มในประเทศที่สูงขึ้น ประกอบกับปริมาณผลผลิตปาล์มปีนี้ที่คาดว่าเพิ่มขึ้นอีกกว่า 1.2 ล้านตันหรือร้อยละ 9.1 ซึ่งจะกดดันการปรับเพิ่มของราคาปาล์มน้ำมันในปีนี้ มาตรการภาครัฐฯ ที่เน้นส่งเสริมการใช้น้ำมันปาล์มในประเทศ รวมถึงอนุญาตให้ส่งออกน้ำมันปาล์มได้เป็นครั้งแรกในรอบหลายปี น่าจะช่วยพยุงราคาปาล์มได้ในระดับหนึ่ง

แม้ว่าราคายางพารา อ้อย และปาล์มน้ำมันจะมีทิศทางราคาไม่สดใสนัก แต่เนื่องจากผลผลิตที่เพิ่มขึ้นจะสามารถชดเชยผลของราคาที่ลดลง ทำให้มูลค่าของ 5 พืชเศรษฐกิจ เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาถึง 3.3 หมื่นล้านบาท ถือเป็นเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจภูมิภาคเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือที่ได้อานิสงส์จากราคามันสำปะหลังและข้าว ทำให้เศรษฐกิจในพื้นที่น่าจะคึกคักกว่าปีที่ผ่านมา โดยจังหวัดที่พึ่งพารายได้จากพืชเศรษฐกิจและคาดว่ากำลังซื้อจะเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่นได้แก่ อุบลราชธานี นครราชสีมา ศรีสะเกษ เชียงรายและพิษณุโลก เป็นต้น

กำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นของเกษตรกรในพื้นที่ข้างต้น จะส่งผลดีต่อธุรกิจเกี่ยวเนื่องตั้งแต่ต้นน้ำ เช่น ธุรกิจค้าปุ๋ยและเคมีเกษตร เครื่องจักรกลการเกษตร ซึ่งเป็นปัจจัยการผลิต อีกด้านหนึ่งเกษตรกรจะมีกำลังจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อธุรกิจค้าปลีก ค้าส่งสินค้าอุปโภค/บริโภค วัสดุก่อสร้าง เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น โดยรายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จะทำให้แนวโน้มการซื้อสินค้าคงทน / สินค้าราคาสูง เช่น จักรยานยนต์ รถยนต์ มีทิศทางปรับตัวดีขึ้นในระยะต่อไป เพราะเกษตรกรมีความมั่นใจในรายได้สูงขึ้น

ราคาสินค้าและปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรของไทยมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับกำลังซื้อและทิศทางเศรษฐกิจภูมิภาคไทย อย่างไรก็ตามปัจจัยกำหนดราคาส่วนใหญ่มาจากผู้ซื้อในตลาดโลก ทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่ผันผวนและส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจภูมิภาค ภาครัฐจึงควรมีนโยบายส่งเสริมการผลิตพืชชนิดอื่นๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพิงพืชเศรษฐกิจเพียงไม่กี่ชนิดมากเกินไป พร้อมกับเพิ่มปริมาณการใช้ในประเทศเพื่อลดพึ่งพิงการส่งออก ส่วนเกษตรกรควรรวมกลุ่มเพื่อลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรที่ผลิตได้ เนื่องจากเกษตรกรสามารถเข้าถึงและขายผลิตภัณฑ์แก่ผู้บริโภคได้โดยตรงผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสสร้างรายได้และความมั่นคงให้กลุ่มเกษตรมากขึ้น

จาก www.bangkokbiznews.com วันที่ 15 มีนาคม 2561

แบงก์ชาติเตรียมทบทวนจีดีพีปี 61 ปลายเดือนนี้

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในการสัมนา "เจาะลึกเศรษฐกิจไทยและมุมมองการลงทุนปี 2561" ว่า ในปลายเดือนนี้ ธปท.จะทบทวนประมาณการเติบโตเศรษฐกิจไทยปีนี้ใหม่ จากเดิมคาดเติบโตร้อยละ 3.9 แต่เนื่องจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวดีส่งผลดีต่อการส่งออกของประเทศ ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยมากขึ้น ทำให้ตัวเลขภาพรวมเศรษฐกิจดีขึ้น แต่ยอมรับว่าเศรษฐกิจในภาคชนบทยังไม่ดี เนื่องจากยังมีภาระหนี้ระดับสูง

ส่วนเงินบาทที่แข็งค่าไม่ได้เกิดจากปัญหาภายในประเทศ แต่เกิดจากค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ โดย ธปท.จะเข้าไปดูแลค่าเงินบาทต่อเมื่อค่าเงินมีการเปลี่ยนแปลงเร็วเกินไป จนผู้ประกอบการปรับตัวไม่ทัน อย่างไรก็ตาม ค่าเงินยังมีแนวโน้มผันผวน ซึ่งผู้ประกอบการต้องมีการบริหารความเสี่ยงที่ดี

จาก https://mgronline.com  วันที่ 15 มีนาคม 2561

พลังงานทดแทน ในสิงคโปร์

โดย...ชลธิชา ภัทรสิริวรกุล

หลายคนอาจรู้จักประเทศสิงคโปร์ในฐานะที่เป็นศูนย์กลางการค้า และระบบเศรษฐกิจของอาเซียน แต่สิงคโปร์ยังเป็นต้นแบบที่ดีในเรื่องของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ด้วยการสนับสนุนให้มีการใช้พลังงานทดแทนในหลากหลายรูปแบบ

แม้ว่าประเทศสิงคโปร์จะไม่มีการให้มาตรการสนับสนุนทางการเงินใดๆ สำหรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนอย่างพลังงานแสงอาทิตย์ แต่ภาครัฐให้การสนับสนุนในด้านอื่นๆ เช่น การจัดทำแผนที่ศักยภาพแสงอาทิตย์ โดยใช้แผนที่ GPS เนื่องจากพื้นที่ที่จำกัด แนวโน้มการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าเซลล์อาทิตย์ของประเทศสิงคโปร์ จึงเป็นรูปแบบการติดตั้งบนหลังคามากกว่าบนพื้นดิน

ทั้งนี้ ในอนาคตหลังจากที่ราคาไฟฟ้าที่ผลิตจากเซลล์แสงอาทิตย์ของสิงคโปร์สามารถแข่งขันได้กับราคาไฟฟ้าจากระบบสายส่ง การสนับสนุนจากภาครัฐก็ไม่มีความจำเป็นต่อไป

ที่สำคัญ รัฐบาลสิงคโปร์ยังมีนโยบายชัดเจนในการตั้งเป้าเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เป็น 1 ใน 5 ของพลังงานที่ชาวสิงคโปร์ใช้ทั้งหมด

จากแนวนโยบายที่รัฐบาลสิงคโปร์เดินหน้าผลักดันการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์เพิ่มมากขึ้น จันทิรา ยิมเรวัต อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จึงเห็นถึงแนวโน้มการลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทนของสิงคโปร์ จึงแนะนำให้ผู้ประกอบการไทยฉวยจังหวะนี้ ที่สิงคโปร์บูมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ส่งออกอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์หรือเข้าไปลงทุนผลิตไฟฟ้าในสิงคโปร์ เพราะนโยบายของรัฐบาลสิงคโปร์ได้ส่งเสริมการเข้ามาลงทุนของต่างชาติด้วย

ทั้งนี้ ในปี 2563 สิงคโปร์ได้ตั้งเป้าการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ไว้ที่ระดับ 350 เมกะวัตต์ และในไตรมาส 3 ของปี 2560 ที่ผ่านมา สิงคโปร์สามารถผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ได้ทั้งหมด 145 เมกะวัตต์ โดยรัฐบาลสิงคโปร์ได้ตั้งเป้าไว้ว่า ชาวสิงคโปร์จะสามารถใช้พลังงานแสงอาทิตย์ได้ถึง 1 ใน 5 ของพลังงานที่ชาวสิงคโปร์ใช้ทั้งหมด ซึ่งในปัจจุบันสิงคโปร์ใช้พลังงานเดือนละประมาณ 7,000 เมกะวัตต์

ขณะเดียวกัน เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ รัฐบาลสิงคโปร์ได้มอบทุนวิจัยกว่า 6.2 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เพื่อดำเนินการและมอบเงินสนับสนุนกว่า 17.8 ล้านดอลลาร์ ในการพัฒนาระบบจัดเก็บพลังงานในระดับสำหรับสาธารณูปโภคในสิงคโปร์

อย่างไรก็ตาม การผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์ในสิงคโปร์ก็มีอุปสรรค โดยอาจได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง เนื่องจากสิงคโปร์ซื้อก๊าซธรรมชาติในราคาที่เชื่อมโยงกับราคาน้ำมันโลก

ปัจจุบันกระแส “เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” หรือกรีน กำลังเป็นที่นิยมในสิงคโปร์ และในปี 2562 สิงคโปร์จะขึ้นภาษีคาร์บอนมีอัตราอยู่ระหว่าง 10-20 ดอลลาร์/ตัน เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และขณะนี้การผลิตไฟฟ้าในสิงคโปร์ 95% เป็นการผลิตจากก๊าซธรรมชาติ และผู้ประกอบการด้านพลังงานในสิงคโปร์หันไปผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์กันมากขึ้น เช่น บริษัท Sembcorp Industries ได้ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ โดยใช้แผง Solar ติดไว้ที่สนามบิน Changi สิงคโปร์ 

นอกจากนี้ ยังมีบริษัท ST Aerospace บริษัท Senoko Energy และบริษัท Sunseap Group เป็นต้น

ทั้งหมดนี้จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการผลิตอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เข้าไปขายในสิงคโปร์

จาก https://www.posttoday.com   วันที่ 15 มีนาคม 2561

14 คู่ค้า รุมกีดกันไทย สหรัฐ-อินเดียนำโด่ง

เปิดโผ 23 สินค้าไทยถูกกีดกัน 14 ประเทศรุมใช้มาตรการเอดี/ซีวีดี/เซฟการ์ดสกัดนำเข้า สหรัฐฯยุคทรัมป์นำโด่งใช้มาตรการมากสุด สภาหอฯชี้แนวโน้มรุนแรงขึ้น จี้ผู้ส่งออกไทยรับมือ

จากสงครามกีดกันการค้ารอบใหม่ที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นหัวหอก อ้างเหตุเพื่อปกป้องอุตสาหกรรม และแรงงานในประเทศตามนโยบาย “อเมริกา เฟิร์ส” ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ที่ยากจะคาดเดาว่าในปีนี้เขาจะมีการใช้อำนาจตามกฎหมายในการออกมาตรการมากีด กันคู่ค้าทั้งรายใหญ่จากจีน สหภาพยุโรป (อียู) ญี่ปุ่น และอื่นๆ อย่างไรบ้าง

ล่าสุดจากการตรวจสอบข้อมูลของ “ฐานเศรษฐกิจ” พบว่า สินค้าไทยอยู่ระหว่างถูกประเทศคู่ค้าเปิดไต่สวนเพื่อใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) ตอบโต้การอุดหนุน (ซีวีดี) และตอบโต้การนำเข้าที่เพิ่มขึ้น (เซฟการ์ด) รวม 23 สินค้าจาก 14 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 3 รายการ แบ่งเป็นมาตรการเอดี 2 รายการ (กรดซิติก,หนังยางรัดของ) ซีวีดี 1 รายการ(กรดซิตริก) รองลงมาคืออินเดีย เป็นเอดี 3 รายการ (เส้นใยโพลิเอสเทอร์, แอลกอ ฮอล์ไขมันไม่อิ่มตัว, กระดาษถ่ายเอกสารชนิดไม่เคลือบ), ตูนิเซีย เซฟการ์ด 3 รายการ(ไม้MDF, ขวดแก้ว, กระเบื้องเซรามิก, ปากีสถาน เอดี 2 รายการ (กระดาษไม่เคลือบสำหรับการเขียนและการพิมพ์, โพลิไวนิลคลอไรด์)

นอกจากนี้มีออสเตรเลีย เอดี 2 รายการ (เหล็กเสริมคอนกรีต, อะลูมิเนียมเส้นหน้าตัด), จีน เอดี 2 รายการ (บีพีเอ, เอทาโนลาไมน์), โมร็อกโก เอดี 1 รายการ (ตู้เย็น), ตุรกี เซฟการ์ด 1 รายการ (ล้อยางประเภทอัดลม), ยูเครน เซฟการ์ด 1 รายการ (กรดซัลฟุริกและโอเลียม), บราซิล เอดี 1 รายการ (ท่อเหล็กกล้าไร้สนิมชนิดเชื่อมตะเข็บ), มาเลเซีย เอดี 1 รายการ (เหล็กม้วน เหล็กแผ่นรีดเย็นหรืออื่นๆ), ฟิลิปปินส์ เซฟการ์ด 1 รายการ(ปุ๋ยแร่ธาตุ และปุ๋ยเคมี), แซมเบีย เซฟการ์ด 1 ราย การ (รถเทรเลอร์และกึ่งเทรเลอร์) และบาห์เรน เซฟการ์ด 1 รายการ (สารปรุงแต่งสำหรับซีเมนต์ ปูน และคอนกรีต)

นายบัณฑูร วงศ์สีลโชติ รองประธานคณะกรรมการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สภาหอการค้าแห่งประเทศ ไทย กล่าวว่า มาตรการกีดกันการค้าข้างต้นในปีนี้คาดจะทวีความรุนแรงมากขึ้น จากประเทศยักษ์ใหญ่ เช่น สหรัฐฯ จีน อียู จะใช้มาตรการตอบ โต้กันไปมา ซึ่งจะส่งผลกระทบกับการส่งออกสินค้าไทยทั้งทางตรงและทางอ้อมไปยังประเทศคู่ค้าในกลุ่มดังกล่าว รวมถึงกลุ่มอื่นๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงผู้ประกอบการไทยต้องทำธุรกิจด้วยความซื่อ ตรง และกระจายความเสี่ยงไปยังตลาดอื่นๆ

จาก www.thansettakij.com   วันที่ 15 มีนาคม 2561

ค่าบาท 'ทรงตัว' ตลาดจับตาหุ้นสหรัฐ

บาทเปิดตลาดเช้านี้ทรงตัว "31.13 บาทต่อดอลลาร์" เป็นระดับต่ำสุดของปีนี้และต่ำที่สุดในรอบ 53 เดือน จับตาตลาดหุ้นผันผวนและดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ระยะสั้นบาทอาจปรับฐานกลับมาอ่อนค่าได้

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินดอลลาร์เปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 31.13บาทต่อดอลลาร์ ไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อน

สำหรับในส่วนของเงินบาทปัจจุบันที่ระดับ 31.10-20 บาทต่อดอลลาร์ ถือว่าเป็นระดับต่ำสุดของปีนี้และต่ำที่สุดในรอบ 53 เดือน

ในคืนที่ผ่านมาตลาดการเงินค่อนข้างปิดรับความเสี่ยง (Risk-off) หลังจากที่ตัวเลขค้าปลีกของสหรัฐปรับตัวลดลง 0.1% ในเดือนก่อน ขณะที่โดนัลด์ ทรัมป์แต่งตั้งประธานที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจคนใหม่เป็นนายราลี่ คัทโลว (Larry Kudlow) ซึ่งเป็นนักวิเคราะห์เศรษฐกิจของช่อง CNBC ผู้มีมุมมองเชิงบวกกับการหนุนให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า ส่งผลให้ตลาดเริ่มขายทองคำ กดดันสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำมันให้อ่อนค่าลงพร้อมกันกับที่กลุ่มโอเปคออกมาให้ความเห็นย้ำว่า ปัญหากำลังการผลิตที่สูงเกินไปยังคงเป็นตัวกดดันทิศทางราคาน้ำมันในปีนี้

ในส่วนของตลาดเงิน เชื่อว่าได้รับผลกระทบจากการเมืองสหรัฐไม่มาก แต่ประเด็นหลักอยู่ที่ตลาดหุ้นที่ยังคงผันผวนและมีทิศทางปรับตัวลงตามผลประกอบการที่ดูจะไม่แข็งแกร่งใกล้กับที่นักลงทุนคาดไว้ ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์ซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยมีโอกาสที่จะแข็งค่ากลับขึ้นมาได้บ้าง นอกจากนี้ในสัปดาห์หน้าจะมีประชุมธนาคารกลางสหรัฐอีกด้วย ค่าเงินดอลลาร์จึงน่าจะหยุดอ่อนค่าได้ในช่วงนี้

ทั้งนี้ ในระยะสั้นยังเชื่อว่าค่าเงินบาทโอกาสอ่อนค่ากลับบ้าง เนื่องจากเมื่อเทียบกับสกุลเงินเอเชียอื่นๆเงินบาท “แข็งค่าเร็วเกินไป” จึงมีโอกาสที่จะพักฐานก่อนถ้าไม่มีตัวเลขเศรษฐกิจในเชิงบวกเข้ามาสนับสนุน

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าตัวเลขการค้า (Customs trade balance) ในช่วงปลายเดือนยังมีโอกาสพลิกกลับมาเป็นเกินดุล ซึ่งจะทำให้เงินบาทไม่อ่อนค่าแรงเมื่อเทียบกับดอลล่าร์เช่นกัน

มองกรอบเงินบาทระหว่างวันที่ระดับ 31.10- 31.20 บาทต่อดอลลาร์

จาก www.bangkokbiznews.com วันที่ 15 มีนาคม 2561

อุตตม’ ชี้เศรษฐกิจไทยพร้อมแล้ว ปรับตัวเติบโตก้าวกระโดด

 รมว.อุตสาหกรรม ชี้เศรษฐกิจไทยพร้อมแล้ว ปรับตัวเติบโตก้าวกระโดดอย่างยั่งยืน และเพื่อเป็นพื้นฐานปฏิรูป

ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “Go Thailand : ลงทุนเพื่ออนาคต” จัดโดย นสพ.ฐานเศรษฐกิจ และสื่อในเครือสปริงนิวส์กรุ๊ป ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า งานนี้จะทำให้ทุกภาคส่วนก้าวไปข้างหน้า ไม่ใช่แค่ภาคอุตสาหกรรม ที่ผ่านมา ประเทศประสบปัญหา แต่ตอนนี้มีเราจะมีอนาคต และก้าวไปข้างหน้าด้วยกันอย่างยั่งยืน

"การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยี ปรับเปลี่ยนไม่ใช่แแบทางเลือก แต่เป็นทางรอด วันนี้เราต้องก้าวกระโดดไปข้างหน้า และโอกาสมาถึงที่จะทำให้ประสบความสำเร็จ ในภาคภูมินี้ อาเซียนกำลังถูกจับตามองจากนักลงทุนทั่วโลก และล่าสุดมีการจัดอันดับไทยน่าลงทุนอันดับ8ของโลก" ดร.อุตตม กล่าว

ดร.อุตตม กล่าวอีกว่า วันนี้ไทยมีความพร้อมในการริเริ่มสิ่งใหม่ๆได้ ช่วง3-4ปี ที่ผ่านมา รัฐบาลกำลังทำให้เศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพ เพื่อเป็นพื้นฐานในการพัฒนาด้านอื่น

"ด้านอุตสาหกรรมที่ผมดูแลอยู่ จีดีพีเติบโต และในปีนี้จะเติบโตในอัตราที่เร่งขึ้น เนื่องจากรัฐบาลทำให้ชาติเข้มแข็งเพื่อให้เกิดการปฏิรูปได้" ดร.อุตตม กล่าว

จาก www.bangkokbiznews.com    วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2561

รมว.อุตฯจ่อบินโรดโชว์ตปท.ชวนลงทุนEECพ.ค.

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม แนะเอกชนปรับตัวตามเทคโนโลยี คาดเดือนพฤษภาคมจัดทีมโรดโชว์แสดงศักยภาพโครงการ EEC ในต่างประเทศ

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวปาฐกถาพิเศษถึงการลงทุนเพื่ออนาคต หรือ Go Thailand ว่า ในอดีตประเทศไทยต้องประสบปัญหาจนทำให้ไม่สามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืน ขณะที่สภาพแวดล้อมภายนอกมีความซับซ้อนมากขึ้น จากการใช้เทคโนโลยี ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เร่งตัวมากขึ้น ด้วยต้นทุนที่ต่ำลง การปรับตัวจึงไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางรอดของประเทศไทย ซึ่งจะต้องยกระดับศักยภาพเดิมที่มีอยู่ พร้อมมองหาโอกาสต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นเเล้ว จากการขยายตัวของเศรษฐกิจเอเชีย

ส่วนความเชื่อมั่นจากต่างประเทศที่มีต่อการลงทุนในไทย สะท้อนจากการจัดอันดับของ US News ที่ยกให้ไทยอยู่ที่อันดับ 8 ในปี 2561 ที่เป็นประเทศที่น่าลงทุนมากที่สุด จึงเป็นโอกาสที่จะขับเคลื่อนประเทศไปสู่บริบทใหม่ ในการพัฒนาอย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ตามขณะนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างเร่งให้มีการบังคับใช้กฎหมาย และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเดินทางและการขนส่งให้มีความชัดเจนมากที่สุด คาดว่าภายในเดือนพฤษภาคมปีนี้จะสามารถจัดทีมทำงานเพื่อออกไปโรดโชว์ แสดงศักยภาพของอีอีซีให้กับนักลงทุนในต่างประเทศได้เห็นถึงข้อเท็จจริงและศักยภาพทั้งหมด เพราะขณะนี้หลายประเทศในเอเชียก็ต้องใช้เขตพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นกำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจเป็นหลัก

จาก https://www.innnews.co.th  วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2561

เกษตรฯ บุกโรงงานผลิตปุ๋ยและวัตถุอันตรายเมืองสุพรรณ อายัดของกลางต้องสงสัยมูลค่า 13 ล้าน

นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตร สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ร่วมกับเจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตร จากสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 และเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปคบ. เข้าตรวจสอบ บริษัท เอ็ม จี ที แพลนท์โกรท จำกัด เลขที่ 285/7 หมู่ 5 ต.ท่าระหัด อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี ตามที่ได้รับแจ้งเบาะแส

ซึ่งจากการเข้าตรวจสอบ พบว่ามีไว้ในครอบครองและจำหน่ายวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 โดยไม่ได้รับอนุญาต จำนวน 5 รายการ และพบการผลิตปุ๋ยเคมีทีไม่มีการขอขึ้นทะเบียน จำนวน 5 รายการ เจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตร จึงดำเนินการอายัดวัตถุอันตรายที่ไม่ถูกต้อง จำนวน 428 กิโลกรัม 4,440 ลิตร และอายัดปุ๋ยที่ไม่มีทะเบียนจำนวน 18,043 กิโลกรัม 956 ลิตร รวมมูลค่าประมาณ 13 ล้านบาท และเก็บตัวอย่างวัตถุอันตรายและปุ๋ยเคมี เพื่อไปตรวจสอบคุณภาพ จำนวน 10 รายการ

ทั้งนี้ ในเบื้องต้นพบประเด็นความผิด ดังนี้ 1. มีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 โดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ 2. จำหน่ายวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ที่ต้องขึ้นทะเบียนแต่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ 3. ขายวัตถุอันตรายโดยไม่มีฉลากหรือมีฉลากแต่การแสดงฉลากไม่ถูกต้องโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ 4. ผลิตปุ๋ยเคมีที่ต้องขึ้นทะเบียนแต่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-5 ปี ปรับตั้งแต่ 40,000-200,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ

“ช่วงนี้เข้าสู่ฤดูเพาะปลูกพืชของเกษตรกร ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้ปัจจัยการผลิตทางการเกษตรทั้งปุ๋ย วัตถุอันตราย และเมล็ดพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตรจึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตรทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคออกตรวจสอบตามโรงงานผลิตและร้านจำหน่ายอย่างเข้มข้น เพื่อป้องกันไม่ให้มีการผลิตและจำหน่ายปุ๋ยและวัตถุอันตรายที่ไม่ได้คุณภาพออกไปหลอกขายเกษตรกร ทั้งนี้ หากทราบเบาะแสการผลิตหรือจำหน่ายปัจจัยการผลิตปลอมหรือไม่ได้คุณภาพ สามารถแจ้งได้ที่กลุ่มสารวัตรเกษตร กรมวิชาการเกษตร โทร.0-2940-6670 หรือแจ้งได้ที่สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร ในเขตภูมิภาคได้ทุกแห่ง”

จาก https://www.khaosod.co.th   วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2561

แห่ปลูกอ้อยขยายตัว น้ำชลประทานขยับตาม

               ลุ่มน้ำพรม-น้ำเชิญ จ.ชัยภูมิ ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักนัก ทั้งที่สองลุ่มน้ำร่วมแห่งนี้ใช้น้ำจากแหล่งเดียวกันคือเขื่อนจุฬาภรณ์

            เขื่อนจุฬาภรณ์ผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังน้ำเพื่อช่วยเสริมเสถียรภาพของกระแสไฟฟ้าภาคอีสาน ปิดกั้นแม่น้ำพรมบนเทือกเขาขุนพาย ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ นอกจากใช้ผลิตไฟฟ้าแล้ว ยังใช้เพื่อการเกษตร โดยแยกเป็น 2 สาย คือ แม่น้ำพรม กับแม่น้ำเชิญ

            แม่น้ำเชิญอยู่ด้านบน จากเขื่อนลงมาก็ไหลจากซ้ายไปขวา ส่วนแม่น้ำพรมไหลลงสู่ทิศใต้ เข้าเขต อ.เกษตรสมบูรณ์ ไปออก อ.ภูเขียว แล้วบรรจบแม่น้ำเชิญอีกครั้งหนึ่ง ก่อนไหลออกไป จ.ขอนแก่น

            สำหรับลุ่มน้ำพรม พื้นที่ได้รับประโยชน์ผ่านโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพรม-เชิญ คือ อ.เกษตรสมบูรณ์ ประมาณ 45,000 ไร่ เดิมทีในพื้นที่ทำนา ต่อมาขยายทำไร่อ้อย จึงมีพื้นที่ต้องการน้ำเพื่อการเกษตรจริงๆ ประเมินว่ามากถึง 60,000-70,000 ไร่ โดยเฉพาะกระแสปลูกอ้อยที่ราคาดีมาแรง บวกกับท้ายของแม่น้ำพรมมีโรงงานน้ำตาลที่ อ.ภูเขียว ซึ่งเป็นแหล่งปลูกใหญ่อยู่แล้ว จึงทำให้เกษตรกรใน อ.เกษตรสมบูรณ์ ปลูกอ้อยด้วยและความต้องการน้ำก็เพิ่มเป็นเงา

            “ความต้องการน้ำในพื้นที่ อ.เกษตรสมบูรณ์ ก็ยังไม่พอจากการขยายตัวของพื้นที่การเกษตร ท้ายน้ำพรมบางตำบลก็ขาดแคลน ชาวบ้านจึงอยากได้อ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้น” นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน กล่าวหลังลงสำรวจพื้นที่ลุ่มน้ำพรม บริเวณเขื่อนทดน้ำพรม

            เป้าหมายของชาวบ้านคืออ่างเก็บน้ำห้วยซาง ซึ่งจะช่วยเรื่องอุทกภัยและมีน้ำใช้ในฤดูแล้ง อีกทั้งเป็นการพึ่งพาตัวเองได้เต็มตัว  เพราะเขื่อนจุฬาภรณ์ยังมีภาระผลิตกระแสไฟฟ้า รวมทั้งแบ่งน้ำให้ลุ่มน้ำเชิญด้วย ซึ่งเป็นภาระที่หนักหน่วงมาก การมีอ่างฯ ห้วยซาง ความจุ 11 ล้านลูกบาศก์เมตร น่าจะเป็นทางออกที่ดี จากการสำรวจความต้องการพบว่าส่วนใหญ่เอาด้วย ยกเว้นเพียง 2-3 รายเท่านั้น

            แผนการของกรมชลประทาน นอกจากอ่างฯ ห้วยซางแล้ว ยังวางแผนศึกษาศักยภาพของพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับก่อสร้างอ่างเก็บน้ำอีก 4 แห่ง ประกอบด้วย อ่างฯ ห้วยตาดฟ้าตอนบน ความจุ 10.50 ล้าน ลบ.ม. อ่างฯ ห้วยตากฟ้าตอนล่าง 24.28 ล้าน ลบ.ม.  อ่างฯ ห้วยทิก ความจุ 7.32 ล้าน ลบ.ม. ทั้ง 3 อ่างล้วนอยู่ใกล้เคียงกัน  ส่วนอ่างฯ ห้วยกระแหล่ง 4.99 ล้าน ลบ.ม. อยู่ด้านใต้ไกลออกไปจากอ่างฯ อื่นๆ แต่อยู่ในพื้นที่ อ.เกษตรสมบูรณ์ ด้วยกันทั้งหมด

            เท่าที่ประเมินด้านวิศวกรรม ด้านเศรษฐกิจสังคมและการมีส่วนร่วม ด้านเศรษฐศาสตร์และด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม พบว่า อ่างฯ ห้วยซาง มีคะแนนเฉลี่ยสูงสุด 71.2% ตามด้วยอ่างฯ ห้วยตาดฟ้าตอนบน 6715% อ่างฯ ห้วยกระแหล่ง 64.50% และอ่างฯ ห้วยทิก และอ่างฯ ห้วยตาดฟ้าตอนล่าง 54.05% และ 53.55% ตามลำดับ

            จากการประชุมหารือร่วมระหว่างองค์การบริหารส่วนตำบลโนนทอง อ.เกษตรสมบูรณ์ จ.ชัยภูมิ กับคณะกรมชลประทาน โดยนายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดี พบว่าชาวบ้านต้องการอ่างฯ ห้วยซาง ซึ่งจะใช้ประโยชน์ได้ และมีความพร้อมก่อสร้าง เพราะพื้นที่ไม่อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ และมีผู้สนับสนุนมากมาย

            นายเฉลิมเกียรติกล่าวว่า พื้นที่ลุ่มน้ำพรมยังต้องพิจารณาเรื่องปริมาณการใช้น้ำและแหล่งน้ำต้นทุน การศึกษาศักยภาพของอ่างฯ ทั้ง 5 โครงการดังกล่าว เป็นการเตรียมความพร้อมเบื้องต้น ในอนาคตจะต้องศึกษาโดยละเอียด และสภาพการเพาะปลูกได้แปรเปลี่ยนจากนาข้าวเป็นไร่อ้อยจำนวนมาก ทำให้ อ.เกษตรสมบูรณ์ อ.ภูเขียว กลายเป็นแหล่งผลิตน้ำตาลที่มีความสำคัญต่อการส่งออกของประเทศไทย

            “ในประเด็นของโรงงานน้ำตาลที่ต้องการน้ำสำหรับเกษตรกรที่เป็นลูกไร่นั้น กำลังพิจารณาว่าจะมีส่วนร่วมกับกรมชลประทานอย่างไร เพื่อให้เกิดประโยชน์ร่วมสำหรับทุกฝ่าย  เพราะไม่ใช่เกษตรกรเท่านั้นที่ได้ประโยชน์จากน้ำชลประทาน  แต่โรงงานก็ได้รับประโยชน์จากผลผลิตอ้อยที่เพิ่มขึ้นด้วย” รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าวทิ้งท้าย

จาก www.komchadluek.net   วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2561

54 รง.ป่วนลอยตัวน้ำตาล ครบุรีชี้เสี่ยงผิดกม.เพียบ

3 สมาคมโรงงานน้ำตาลป่วนจัดประชุมด่วน หลัง “น้ำตาละครบุรี” ส่งจม.ด่วนถึงกองทุนอ้อย- กระทรวงอุตฯ-พาณิชย์ชี่ประกาศเข้าข่าย “เสี่ยงไม่ชอบด้วยกฎหมาย” เพียบ

แหล่งข่าวจากวงการอ้อยน้ำตาลเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าขณะนี้เกิดปัญหาความปั่นป่วนอย่างหนักในการลอยตัวน้ำตาล เพราะภาครัฐไม่สามารถหาข้อยุติเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องให้กับโรงงานน้ำตาล และชาวไร่อ้อยได้ โดยเฉพาะประกาศต่างๆ ที่ออกมาทางโรงงานน้ำตาลส่วนใหญ่เห็นว่า อาจไม่ชอบด้วยกฎหมายและอาจทำให้ผิดข้อตกลงกับบราซิลและองค์การค้าโลก (WTO) เพราะรัฐบาลยังคงควบคุมราคา และให้การอุดหนุนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ดังนั้นสมาคมโรงงานน้ำตาลไทย สมาคมการค้าอุตสาหกรรมน้ำตาลได้นัดประชุม เพื่อหารือเรื่องดังกล่าวในสัปดาห์นี้

หลังรัฐบาลใช้ ม.44 ประกาศลอยตัวราคาน้ำตาล เมื่อวันที่ 15 ม.ค.61 ให้ยกเว้นการใช้บังคับมาตรา 17(18) ของ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527  เรื่องหลักเกณฑ์การจำหน่ายและกำหนดราคาน้ำตาลทรายภายในประเทศ แต่ในวันที่ 23 ม.ค.61 นายสนธิรัตน์  สนธิจิรวงศ์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ลงนามในประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 21 เรื่องการกำหนดราคาและหลักเกณฑ์เงื่อนไขในการจำหน่ายน้ำตาลทราย โดยให้ผู้ประกอบการจำหน่ายน้ำตาลทรายไม่สูงกว่าราคาที่กำหนด โดยราคาขายปลีกน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ 22.85 บาท/กก. น้ำตาลทรายขาว 21.35 บาท/กก. และน้ำตาลทรายขาวสีรำที่ 21.35 บาท/กก. และให้บวกภาชนะบรรจุไม่เกิน 0.75 บาท/กก.

และในวันที่ 6 ก.พ. 61 นาวรวรรณ  ชิดอรุณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ได้ออกประกาศสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เรื่องราคาส่วนต่างระหว่างราคาเฉลี่ยของน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักรที่ขายได้จริงในหนึ่งเดือนกับราคาน้ำตาลทรายขาวตลาดลอนดอน หมายเลข 5 บวกพรีเมื่ยมน้ำตาลทรายไทยที่เกิดขึ้นในหนึ่งเดือนประจำเดือน ม.ค.61 เพื่อจัดเก็บเงินเข้ากองทุนอ้อยฯ สรุปได้ว่าสอน.ได้สำรวจราคาน้ำตาลทรายขาวภายในประเทศเฉลี่ยราคา 17.22 บาท/กก. น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์เฉลี่ย 18.33 บาท/กก. ทำให้มีผลต่างน้ำตาลทรายขาวเดือนม.ค.61 ที่ราคา 5.19 บาท/กก. และผลต่างน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ 5.95 บาท/กก.และให้โรงงานนำส่งเงินส่วนต่างเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ภายในวันที่ 15 ก.พ. 61

ล่าสุด นายทัศน์  วนากรกุล กรรมการผู้จัดการ บมจ.น้ำตาละครบุรี ได้ทำหนังสือถึ่งกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายและส่งสำเนาถึงกอน. คณะกรรมการบริหารและรัฐมนตรีว่าการ 3 กระทรวงทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อโต้แย้งและขอให้ทบทวนหนังสือกองทุนอ้อยฯที่ ว.2561 ลงวันที่ 8 ก.พ. 2561 เนื่องจากเป็น บมจ.ไม่อาจดำเนินการที่เป็นการเสี่ยงว่าจะขัดต่อกฎหมายหลายประการได้ จึงขออุทธรณ์คำสั่งตามประกาศของ สอน. เรื่องราคาส่วนต่างๆและขอเรียกเงินที่ส่งกองทุนอ้อยฯ 46,073,766 บาทคืนโดยขอคิดดอกเบี้ยร้อยละ 15 และขอให้พิจารณาประกาศ และระเบียบต่างๆให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2561

รง.น้ำตาลไม่ปิดหนีชาวไร่อ้อย สอน.ย้ำมีกฎหมายควบคุมการเปิด-ปิดหีบ

นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) กล่าวว่าจากกรณีเกษตรกรชาวไร่อ้อยในเขตพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา มีความกังวลว่าจากการส่งเสริมให้ปลูกอ้อยในที่นา เมื่อปี 2559/2560 จากรัฐบาลทำให้ผลผลิตอ้อยมีจำนวนมากหวั่นโรงงานน้ำตาลจะปิดหนี จึงอยากให้หามาตรการช่วยเหลือด่วนนั้นความเป็นจริงในการเปิดหีบอ้อยและปิดหีบอ้อยผลิตน้ำตาลทรายของประเทศไทยกฎหมายกำหนดไว้ในมาตรา 17 (11) ของพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ในการกำหนดวันเปิดหีบอ้อยผลิตน้ำตาลทราย และกำหนดวันสิ้นสุดการหีบอ้อยผลิตน้ำตาลทราย

รวมทั้งข้อ 11 ของระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ว่าด้วย การผลิต การบรรจุ การเก็บรักษา การสำรวจ การขนย้าย การจำหน่าย และการส่งมอบน้ำตาลทราย พ.ศ. 2550 กอน. ได้กำหนดไว้ว่า ในกรณีที่โรงงานจะปิดหีบอ้อยผลิตน้ำตาลทราย โรงงานต้องแจ้งต่อ กอน. เพื่อให้ความเห็นชอบ และปิดประกาศให้ชาวไร่อ้อยทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน ก่อนวันสิ้นสุดการหีบอ้อยไว้ในที่เปิดเผย ณ โรงงานของตน และสถาบันชาวไร่อ้อยที่เกี่ยวข้อง

ดังนั้นโรงงานจะปิดหีบอ้อยผลิตน้ำตาลทรายได้ก็ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจาก กอน. ซึ่ง กอน. ก็จะพิจารณาตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ว่ามีปริมาณอ้อยคงเหลือในพื้นที่ใดหรือไม่ หากโรงงานน้ำตาลปิดหีบอ้อยผลิตน้ำตาลทรายโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจาก กอน. โรงงานก็จะถูกลงโทษตามระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ว่าด้วยเบี้ยปรับและเงินรางวัล พ.ศ. 2548 และถูกลงโทษตามมาตรา 44 (5) ประกอบกับมาตรา 70 แห่งพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527

นางวรวรรณ ย้ำว่า ที่ผ่านมามีการประสานงานกันอย่างใกล้ชิดระหว่างสมาคมชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลทรายในพื้นที่ เพื่อตรวจสอบประมาณอ้อยคงเหลือก่อนกำหนดปิดหีบ และจากการตรวจสอบปริมาณอ้อยของโรงงานในพื้นที่ จำนวน 3 โรงงาน ณ วันที่ 11 มีนาคม 2561 มีดังนี้ 1)โรงงานน้ำตาลราชสีมา หีบอ้อยไปแล้ว จำนวน 2,360,281 ตันอ้อย มีปริมาณอ้อยคงเหลือ จำนวน 293,962 ตันอ้อย และคาดว่าจะปิดหีบ ในวันที่ 10 เมษายน 2561

2)โรงงานอุตสาหกรรมโคราช หีบอ้อยไปแล้ว จำนวน 2,734,261 ตันอ้อย มีปริมาณอ้อยคงเหลือ จำนวน 1,619,669 ตันอ้อย และคาดว่าจะปิดหีบ ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2561 3)โรงงานน้ำตาลครบุรี หีบอ้อยไปแล้ว จำนวน 2,776,563 ตันอ้อย มีปริมาณอ้อยคงเหลือ จำนวน 579,579 ตันอ้อย และคาดว่าจะปิดหีบ ในวันที่ 10 เมษายน 2561

ทั้งนี้จากการประเมินปริมาณอ้อยคงเหลือของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายร่วมกับโรงงานน้ำตาลทรายในพื้นที่ คาดว่าจะสามารถหีบอ้อยได้หมดก่อนฤดูฝน โดยโรงงานยืนยันว่าจะหีบอ้อยคู่สัญญาจนหมด และยังไม่มีโรงงานใดประกาศปิดหีบ อย่างไรก็ตามในช่วงนีอาจมีบางโรงงานลดการรับอ้อยทางไกลหันมาหีบอ้อยคู่สัญญาที่โรงงานส่งเสริมไว้ใกล้โรงงานก่อน

จาก www.naewna.com วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2561

กรมทรัพยากรน้ำ เตือน! 23 จังหวัด เสี่ยงภัยแล้ง

 กรมทรัพยากรน้ำเตือน! 23 จังหวัด 74 อำเภอ เสี่ยงภัยแล้ง ยกเว้นอ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์ เสี่ยงสูงสุด

เมื่อวันที่ 13 มี.ค.61 นายวรศาสน์ อภัยพงษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กล่าวถึงสถานการณ์ภัยแล้งว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศว่าประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนช่วงปลายเดือนก.พ. และจะสิ้นสุดกลางเดือนพ.ค. กรมทรัพยากรน้ำได้ประเมินความต้องการใช้น้ำของประชาชนในพื้นที่นอกเขตชลประทานระหว่าง คาดว่ามีความต้องการใช้น้ำประมาณ 3,994 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ในขณะที่ปริมาณน้ำต้นทุนในพื้นที่นอกเขตชลประทานมีอยู่ประมาณ 3,681 ล้านลบ.ม. เท่ากับว่ายังขาดน้ำอยู่ประมาณ 300 ล้านลบ.ม. ขณะเดียวกัน กรมทรัพยากรน้ำร่วมกับกรมชลประทานประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งระดับอำเภอทั้งในพื้นที่นอกเขตชลประทานและพื้นที่ในเขตชลประทาน พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งใน 23 จังหวัด 74 อำเภอ โดยส่วนมากมีความเสี่ยงในระดับปานกลาง ยกเว้นอำเภอเดียวที่มีความเสี่ยงสูง คือ อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์

นายวรศาสน์ กล่าวต่อว่าเพื่อเร่งรัดการพัฒนาก่อสร้างระบบกระจายน้ำรวมทั้งสิ้น 3,482 แห่ง ให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี (พ.ศ.2561-2563) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ได้ดำเนินการร่วมกับกระทรวงมหาดไทย โดยกระทรวงมหาดไทยรับผิดชอบโครงการที่มีขนาดความจุต่ำกว่า 2 ล้าน ลบ.ม. จำนวน 3,013 แห่ง และในส่วนของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ จะรับผิดชอบในโครงการที่มีขนาดความจุที่เกินกว่า 2 ล้าน ลบ.ม. จำนวน 468 แห่ง ทั้งนี้ โครงการพัฒนาระบบกระจายน้ำดังกล่าว จำนวน 3,482 แห่ง จะเป็นแหล่งน้ำที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้และครอบคลุมการใช้ทั้ง 3 ฤดูกาล

อธิบดีกรมฯน้ำ กล่าวว่า ทั้งนี้เพื่อให้เป็นการบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน กรมทรัพยากรน้ำได้จัดเตรียมอุปกรณ์ เครื่องจักร และเครื่องมือต่างๆ ประจำในพื้นที่พร้อมช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ ประกอบด้วย รถยนต์บรรทุกน้ำ 106 คัน เครื่องสูบน้ำ 304 เครื่อง รถแจกจ่ายน้ำ 22 คัน ตู้ผลิตน้ำดื่ม 6 เครื่อง และเครื่องผลิตน้ำประปา 6 เครื่อง นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อให้มีน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้น โดยระหว่างปี พ.ศ. 2557 – 2560 มีแหล่งน้ำที่ใช้ในการบรรเทาปัญหาภัยแล้ง 3,658 โครงการ ซึ่งสามารถจัดหาน้ำเพิ่มเติมได้ 1,003 ล้านลบ.ม. ประชาชนได้รับประโยชน์ 2.69 ล้านครัวเรือน และสนับสนุนพื้นที่การเกษตรได้ 652,373 ไร่ นอกจากนี้ กรมทรัพยากรน้ำได้บูรณาการข้อมูลกับกรมทรัพยากรน้ำบาดาล และได้เตรียมความพร้อมของจุดจ่ายน้ำบาดาลถาวร 89 แห่ง ทั่วประเทศ อยู่นอกเขตชลประทาน 52 แห่ง และอยู่ในเขตชลประทาน 37 แห่ง โดยประชาชนติดต่อขอรับความช่วยเหลือได้ทางสายด่วน Green Call 1310 กด 5 และสามารถติดตามสถานการณ์น้ำได้ตลอด 24 ชั่วโมงทาง www.dwr.go.th

สำหรับพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง 23 จังหวัด 74 อำเภอ แบ่งเป็น พื้นที่ภาคเหนือ 23 อำเภอ 8 จังหวัด ได้แก่ อ.คลองขลุง, คลองลาน, ไทรงาม, ปางศิลา, ลานกระบือ จ.กำแพงเพชร อ.เทิง จ.เชียงราย อ.พบพระ จ.ตาก อ.ท่าตะโก, ชุมตาบง, ตากฟ้า, ไพสาลี, แม่เปิน, แม่วงก์ จ.นครสวรรค์ อ.จุน จ.พะเยา อ.บึงนาราง, โพทะเล, โพธิ์ประทับช้าง, วชิรบารมี, สามง่าม จ.พิจิตร อ.วังทอง จ.พิษณุโลก อ.คีรีมาศ, ทุ่งเสลี่ยม, ศรีสำโรง จ.สุโขทัย

ภาคกลาง 14 อำเภอ 4 จังหวัด ได้แก่ อ.โคกเจริญ, โคกสำโรง, ท่าหลวง, พัฒนานิคม, เมืองลพบุรี, ลำสนธิ, หนองม่วง จ.ลพบุรี อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี อ.บ้านไร่, ลานสัก, สว่างอารมณ์, หนองขาหย่าง, ห้วยคต จ.อุทัยธานี

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 28 อำเภอ 9 จังหวัด ได้แก่ อ.กระนวน, ภูผาม่าน, สีชมพู, หนองเรือ จ.ขอนแก่น อ.แก้งคร้อ, บ้านแท่น, เทพสถิต, หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม อ.ครบุรี, ด่านขุนทด, โนนไทย, ปากช่อง, สีคิ้ว, เสิงสาง, ห้วยแถลง, หนองบุญมาก จ.นครราชสีมา อ.ลำปลายมาศ, หนองกี, หนองหงส์ จ.บุรีรัมย์ อ.หนองหิน, เอราวัณ, ผาขาว จ.เลย อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย อ.ศรีบุญเรือง, นากลาง จ.หนองบัวลำภู อ.วังสามหมอ, บ้านผือ จ.อุดรธานี

ภาคตะวันตก 4 อำเภอ 1 จังหวัด ได้แก่ อ.บ่อพลอย, เลาขวัญ, หนองปรือ, เมืองกาญจนบุรี จ.กาญจนบุรี

ภาคตะวันออก 5 อำเภอ 1 จังหวัด ได้แก่ อ.เขาฉกรรจ์, คลองหาด, วังสมบูรณ์, วัฒนานคร, อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2561

สั่งรง.ห้ามปิดหีบอ้อยก่อนพ้นฤดูตัด

สอน.แจ้งโรงงานน้ำตาลห้ามปิดหีบอ้อยก่อนหมดฤดูตัดหลังชาวไร่โคราชกังวลปริมาณอ้อยสูงหวั่นโรงงานปิดหีบก่อน

นาววรวรรณ  ชิดอรุณ  เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) เปิดเผยว่าได้สั่งการให้โรงงานน้ำตาลห้ามปิดหีบก่อนหมดฤดูการตัดอ้อย หลังจากชาวไร่อ้อยในจ.นครราชสีมาแจ้งว่ากังวลกรณีการส่งเสริมของรัฐให้ปลูกอ้อยในที่นาเมื่อปี 2559/2560 ทำให้ผลผลิตอ้อยมีจำนวนมากและหวังว่าโรงงานน้ำตาลจะปิดหีบก่อนตัดอ้อยหมด

สำหรับการเปิดหีบอ้อยและปิดหีบอ้อยเพื่อผลิตน้ำตาลทรายของ จะต้องทำตามพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายซึ่งต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ที่จะพิจารณาตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ว่ามีปริมาณอ้อยคงเหลือในพื้นที่เท่าใด และการปิดหีบอ้อยต้องแจ้งให้ กอน.อนุมัติ รวมทั้งปิดประกาศแจ้งให้ชาวไร่อ้อยทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน

ทั้งนี้ หากโรงงานเปิดหีบโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจาก กอน. จะถูกลงโทษตามระเบียบ กอน ว่าด้วยเบี้ยปรับและเงินรางวัล และถูกลงโทษตามพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งที่ผ่านมามีการประสานงานกันอย่างใกล้ชิดระหว่างสมาคมชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลทรายในพี้นที่ เพื่อตรวจสอบประมาณ้อยคงเหลือก่อนปิดหีบ

และจากการตรวจสอบปริมาณอ้อยของโรงงานในพืนที่นครราชสีมา เมื่อวันที่ 11 มี.ค.2561 จำนวน 2 แห่ง พบว่า 1. โรงงานน้ำตาลนครราชสีมา หีบอ้อยไปแล้ว 2.36 ล้านตันอ้อย มีปริมาณอ้อยคงเหลือ 293,962 ตันอ้อย และคาดว่าจะปิดหีบ ในวันที่ 10 เม.ย.นี้

2. โรงงานอุตสาหกรรมโคราชหีบอ้อยไปแล้ว 2.73 ล้านตันอ้อย มีปริมาณอ้อยคงเหลือ 1.69 ล้านตันอ้อย คาดว่าจะปิดหีบในวันที่ 31 พ.ค.นี้ และ 3. โรงงานน้ำตาละครบุรี หีบอ้อยไปแล้ว 2.77 ล้านตันอ้อย มีปริมาณคงเหลือ 579,579 ตันอ้อย คาดว่าจะปิดหีบวันที่ 10 เม.ย.นี้

นอกจากนี้ จากการประเมินของสอน.ร่วมกับโรงงานน้ำตาลทรายในพื้นที่ คาดว่าจะหีบอ้อยได้หมดก่อนฤดูฝน โดยโรงงานยืนยันว่าจะหีบอ้อยคู่สัญญาจนหมด และยังไม่มีโรงงานใดประกาศปิดหีบ แต่ในช่วงนี้อาจมีบางโรงงานลดการรับอ้อยทางไกล และหันมาหีบอ้อยคู่สัญญาก่อน

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2561

สอน. ขู่โรงงานน้ำตาลปิดหนี ถูกลงโทษ สร้างความมั่นใจชาวไร่โคราช

นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวถึงกรณีเกษตรกรชาวไร่อ้อยในเขตพื้นที่ จ.นครราชสีมา มีความกังวลว่าจากการส่งเสริมให้ปลูกอ้อยในที่นา เมื่อปี 2559/2560 จากรัฐบาล ทำให้ผลผลิตอ้อยมีจำนวนมากหวั่นโรงงานน้ำตาลจะปิดหนี จึงอยากให้หามาตรการช่วยเหลือด่วน ว่า คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) กำหนดไว้ในกรณีที่โรงงานจะปิดหีบอ้อยผลิตน้ำตาลทราย โรงงานต้องแจ้งต่อ กอน. เพื่อให้ความเห็นชอบ และปิดประกาศให้ชาวไร่อ้อยทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน ก่อนวันสิ้นสุดการหีบอ้อยไว้ในที่เปิดเผย ณ โรงงานของตน และสถาบันชาวไร่อ้อยที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น โรงงานจะปิดหีบอ้อยผลิตน้ำตาลทรายได้ก็ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจาก กอน. ซึ่ง กอน. จะพิจารณาตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ว่ามีปริมาณอ้อยคงเหลือในพื้นที่ใดหรือไม่

หากโรงงานน้ำตาลปิดหีบอ้อยผลิตน้ำตาลทรายโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจาก กอน. โรงงานก็จะถูกลงโทษตามระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ว่าด้วยเบี้ยปรับและเงินรางวัล พ.ศ. 2548 และถูกลงโทษตามมาตรา 44 (5) ประกอบกับมาตรา 70 แห่งพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527

ทั้งนี้ ในการเปิดหีบอ้อยและปิดหีบอ้อยผลิตน้ำตาลทรายของประเทศไทยกฎหมายกำหนดไว้ในมาตรา 17 (11) ของพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทรายพ.ศ. 2527 ให้เป็นอำนาจของ กอน. ในการกำหนดวันเปิดหีบอ้อยผลิตน้ำตาลทราย และกำหนดวันสิ้นสุดการหีบอ้อยผลิตน้ำตาลทราย ประกอบกับข้อ 11 ของระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ว่าด้วย การผลิต การบรรจุ การเก็บรักษา การสำรวจ การขนย้าย การจำหน่าย และการส่งมอบน้ำตาลทราย พ.ศ. 2550

นอกจากนี้ ที่ผ่านมามีการประสานงานกันอย่างใกล้ชิดระหว่างสมาคมชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลทรายในพื้นที่ เพื่อตรวจสอบประมาณอ้อยคงเหลือก่อนกำหนดปิดหีบ และจากการตรวจสอบปริมาณอ้อยของโรงงานในพื้นที่ จำนวน 3 โรงงาน ณ วันที่ 11 มี.ค. 2561 ได้แก่ โรงงานน้ำตาลราชสีมา หีบอ้อยไปแล้ว จำนวน 2,360,281 ตันอ้อย มีปริมาณอ้อยคงเหลือ จำนวน 293,962 ตันอ้อย และคาดว่าจะปิดหีบ ในวันที่ 10 เม.ย. 2561 โรงงานอุตสาหกรรมโคราช หีบอ้อยไปแล้ว จำนวน 2,734,261 ตันอ้อย มีปริมาณอ้อยคงเหลือ จำนวน 1,619,669 ตันอ้อย และคาดว่าจะปิดหีบ ในวันที่ 31 พ.ค. 2561

โรงงานน้ำตาลครบุรี หีบอ้อยไปแล้ว จำนวน 2,776,563 ตันอ้อย มีปริมาณอ้อยคงเหลือ จำนวน 579,579 ตันอ้อย และคาดว่าจะปิดหีบ ในวันที่ 10 เม.ย. 2561 ซึ่งจากการประเมินปริมาณอ้อยคงเหลือของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ร่วมกับโรงงานน้ำตาลทรายในพื้นที่ คาดว่าจะสามารถหีบอ้อยได้หมดก่อนฤดูฝน โดยโรงงานยืนยันว่าจะหีบอ้อยคู่สัญญาจนหมด และยังไม่มีโรงงานใดประกาศปิดหีบ อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้อาจมีบางโรงงานลดการรับอ้อยทางไกลหันมาหีบอ้อยคู่สัญญาที่โรงงานส่งเสริมไว้ใกล้โรงงานก่อน

จาก https://www.khaosod.co.th   วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2561

“สอน.” ยันชาวไร่อ้อยไม่ต้องวิตก การันตียังไม่มีโรงงานปิดหีบแน่

เลขาฯ สอน.ออกโรงการันตีชาวไร่อ้อยโดยเฉพาะพื้นที่โคราชไม่ต้องกังวลจะมีโรงงานน้ำตาลปิดหีบหนี ย้ำการปิดหีบต้องผ่านความเห็นชอบจาก กอน. และต้องแจ้งให้ทราบก่อนล่วงหน้า 7 วัน หากทำโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจะถูกลงโทษตามกฎหมาย โดยพบว่าโรงงานในพื้นที่โคราช 3 แห่งจะปิดหีบช่วงสิ้น เม.ย. และ พ.ค. 61

นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวถึงกรณีเกษตรกรชาวไร่อ้อยในเขตพื้นที่จังหวัดนครราชสีมามีความกังวลว่าจากการส่งเสริมให้ปลูกอ้อยในที่นา เมื่อปี 2559/2560 จากรัฐบาล ทำให้ผลผลิตอ้อยมีจำนวนมากในขณะนี้ จึงกังวลว่าโรงงานน้ำตาลจะปิดหนีโดยเฉพาะขณะนี้ที่อยู่ระหว่างหีบอ้อย โดยยืนยันว่าการเปิด-ปิดหีบอ้อยตามกฎหมาย ม.17 (11) ใน พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย 2527 ให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ที่จะกำหนด และจะปิดประกาศให้ชาวไร่อ้อยทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน ก่อนวันสิ้นสุดการหีบอ้อยไว้ในที่เปิดเผย ณ โรงงานของตน และสถาบันชาวไร่อ้อยที่เกี่ยวข้อง

“หากโรงงานน้ำตาลปิดหีบอ้อยผลิตน้ำตาลทรายโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจาก กอน. โรงงานก็จะถูกลงโทษตามระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ว่าด้วยเบี้ยปรับและเงินรางวัล พ.ศ. 2548 และถูกลงโทษตามมาตรา 44 (5) ประกอบกับมาตรา 70 แห่งพ.ร.บ.อ้อยฯ” นางวรวรรณกล่าว

ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีการประสานงานกันอย่างใกล้ชิดระหว่างสมาคมชาวไร่อ้อยกับโรงงานน้ำตาลทรายในพื้นที่ เพื่อตรวจสอบปริมาณอ้อยคงเหลือก่อนกำหนดปิดหีบ และจากการตรวจสอบปริมาณอ้อยของโรงงานในพื้นที่ จำนวน 3 โรงงาน ณ วันที่ 11 มีนาคม 2561 มีดังนี้ 1. โรงงานน้ำตาลราชสีมา หีบอ้อยไปแล้วจำนวน 2,360,281 ตันอ้อย มีปริมาณอ้อยคงเหลือจำนวน 293,962 ตันอ้อย และคาดว่าจะปิดหีบในวันที่ 10 เมษายน 2561

2. โรงงานอุตสาหกรรมโคราช หีบอ้อยไปแล้วจำนวน 2,734,261 ตันอ้อย มีปริมาณอ้อยคงเหลือจำนวน 1,619,669 ตันอ้อย และคาดว่าจะปิดหีบในวันที่ 31 พฤษภาคม 2561 3. โรงงานน้ำตาลครบุรี หีบอ้อยไปแล้วจำนวน 2,776,563 ตันอ้อย มีปริมาณอ้อยคงเหลือจำนวน 579,579 ตันอ้อย และคาดว่าจะปิดหีบในวันที่ 10 เมษายน 2561

ทั้งนี้ จากการประเมินปริมาณอ้อยคงเหลือของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายร่วมกับโรงงานน้ำตาลทรายในพื้นที่ คาดว่าจะสามารถหีบอ้อยได้หมดก่อนฤดูฝน โดยโรงงานยืนยันว่าจะหีบอ้อยคู่สัญญาจนหมด และยังไม่มีโรงงานใดประกาศปิดหีบ อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้อาจมีบางโรงงานลดการรับอ้อยทางไกลหันมาหีบอ้อยคู่สัญญาที่โรงงานส่งเสริมไว้ใกล้โรงงานก่อน

จาก https://mgronline.com  วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2561

เปิดร่าง พ.ร.ก.รีดภาษีเงินดิจิทัล 15% คำนวณรวมเป็นรายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

 รายงานข่าวจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. วันที่ 13 มีนาคม 2561 มีมติเห็นชอบหลักการร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งเป็นเรื่องการจัดเก็บภาษีจากทรัพย์สินดิจิทัล ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ

กระทรวงการคลังรายงานว่า พิจารณาแล้วเห็นว่า ปัจจุบันประมวลรัษฎากรยังไม่ได้กำหนดเกี่ยวกับทรัพย์สินดิจิทัลไว้ จึงอาจเกิดความไม่ชัดเจน ดังนั้น เห็นควรแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร โดยกำหนดนิยามของทรัพย์สินดิจิทัล ประเภทเงินได้ของเงินได้เนื่องมาจากทรัพย์สินดิจิทัล และการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย สำหรับเงินได้เนื่องมาจากทรัพย์สินดิจิทัล เพื่อให้ผู้มีเงินได้เนื่องมาจากทรัพย์สินดิจิทัลและผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับทรัพย์สินดิจิทัลเสียภาษีตามประมวลรัษฎากรอย่างถูกต้องครบถ้วนเช่นเดียวกันกับผู้มีเงินได้เนื่องมาจากทรัพย์สินอื่น ๆ และผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับทรัพย์สินอื่น ๆ

"เนื่องจากในปัจจุบันได้มีการนำทรัพย์สินดิจิทัลมาใช้ในการประกอบธุรกิจและการกระทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศแล้ว โดยมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนเพื่อความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศซึ่งจะต้องตราพระราชกำหนด"

สำหรับสาระสำคัญของร่างพระราชกำหนดการจัดเก็บภาษีจากทรัพย์สินดิจิทัล ฉบับนี้ เป็นการกำหนดนิยามของทรัพย์สินดิจิทัล ประเภทเงินได้ของเงินได้เนื่องมาจากทรัพย์สินดิจิทัล และการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายของเงินได้เนื่องมาจากทรัพย์สินดิจิทัล

นิยามของทรัพย์สินดิจิทัลในมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ระบุว่า "ทรัพย์สินดิจิทัล" หมายความว่า 1.คริปโทเคอร์เรนซี 2.โทเคนดิจิทัล และ 3.ทรัพย์สินในรูปหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์อื่นใดที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนด

"คริปโทเคอร์เรนซี" หมายความว่า หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่อาจมีราคาหรือมูลค่าอันถือเอาได้ โดยเป็นการตกลงหรือยอมรับระหว่างบุคคลในการแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใด โดยกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่มีการอ้างอิงเงินตรา เงินตราต่างประเทศ หรือสินค้าโภคภัณฑ์ใด

"โทเคนดิจิทัล" หมายความว่า หน่วยแสดงสิทธิในรูปหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สร้างขึ้นเพื่อกำหนดสิทธิของบุคคลในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการใด ๆ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใด ทั้งนี้ ตามข้อตกลงที่กำหนดไว้โดยเฉพาะเจาะจงระหว่างผู้ออกและผู้ถือ

นอกจากนี้ ยังเพิ่มประเภทย่อยของเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4) แห่งประมวลรัษฎากรอีก 2 ประเภท สำหรับเงินได้เนื่องมาจากทรัพย์สินดิจิทัล ดังนี้ 1 มาตรา 40(4)(ซ) เงินส่วนแบ่งของกำไรหรือผลประโยชน์อื่นใดที่ได้จากทรัพย์สินดิจิทัล 2 มาตรา 40(4)(ฌ) ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สินดิจิทัล ทั้งนี้เฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน

ในร่าง พ.ร.ก. ยังกำหนดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 15 สำหรับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ซ) และมาตรา 40(4)(ฌ) โดยผู้มีเงินได้ต้องนำไปรวมคำนวณเงินได้สุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย สำหรับการกำหนดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่ายนั้นสามารถดำเนินการโดยการออกกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยภาษีเงินได้และคำสั่งกรมสรรพากร เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากรมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย เมื่อพระราชกำหนดฉบับนี้มีผลใช้บังคับแล้ว

จาก www.thansettakij.com วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2561

จับตากม.อ้อยกำหนดเกณฑ์กองทุน

โรงน้ำตาล เผย หลังลอยตัว กลไกน้ำตาลไม่กระทบ รอความชัดเจน พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย กำหนดเกณฑ์ เก็บเงินเข้ากองทุนน้ำตาลฯ เปิดช่องกู้เงิน ธ.ก.ส. ช่วยอุดหนุนเกษตรกรช่วงราคาน้ำตาลตกต่ำ

นายจำรูญ ชินธรรมมิตร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า หลังจากที่รัฐบาลประกาศลอยตัวราคาน้ำตาลทรายเมื่อวันที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมา ล่าสุดสถานการณ์น้ำตาลทรายภายในประเทศยังคงเดินหน้าได้อย่างปกติ ราคาน้ำตาลทรายในตลาดลดลงประมาณ 2 บาท ต่อกิโลกรัม ตามราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกที่ลดลง

โดยสิ่งที่เปลี่ยนแปลงหลักๆ จากเดิมที่รัฐบาลจะเข้ามากำหนดโควตา ราคา และการนำเงินเข้ากองทุน เปลี่ยนมาเป็นภาคเอกชนโรงงานน้ำตาลทรายและชาวไร่อ้อยเป็นผู้ดำเนินงานต่างๆแทนรัฐบาล เพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงขององค์การการค้าโลก ที่ไม่ต้องการให้ภาครัฐเข้ามาอุดหนุนโครงสร้างราคาน้ำตาล ทำให้ประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลอื่นๆ เสียเปรียบ

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้จะต้องรอดูความชัดเจนของ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อให้การดำเนินงานต่างๆ มีความชัดเจน โดยเฉพาะในเรื่องของการเก็บเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ที่จะมีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงที่ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกตกต่ำ

“หลังจากลอยตัวน้ำตาลทราย ก็ได้ให้โรงงานน้ำตาลทราย และชาวไร่อ้อย กำหนดส่วนต่างระหว่างราคาน้ำตาลในตลาดโลกกับราคาหน้าโรงงาน ว่าจะเก็บเงินส่วนนี้เข้ากองทุนฯเท่าไร ซึ่งในเดือนที่ผ่านมาก็เก็บในอัตรา 3-4 บาท ต่อกิโลกรัมเข้ากองทุนฯ”

อย่างไรก็ตาม จะต้องรอดู พ.ร.บ.อ้อยละน้ำตาลทรายที่จะออกมาว่าจะกำหนดหลักเกณฑ์รายละเอียดต่างๆ อย่างไร ซึ่งหากกฎหมายกำหนดขั้นตอนที่ชัดเจน กองทุนก็จะมีความน่าเชื่อถือ เพราะรู้ว่าจะมีเงินเข้ากองทุนฯเท่าไร สามารถไปกู้เงินธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อนำมาช่วยเหลือชาวไร่อ้อยในช่วงที่ราคาน้ำตาลทรายตกต่ำได้ ซึ่งเหมือนกับแนวทางที่เคยใช้มาในอดีต ที่รัฐบาลกำหนดให้กองทุนฯเก็บเงินเพิ่ม 5 บาทต่อกิโลกรัมเข้ากองทุน แต่ในกฎหมายใหม่ โรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อยเป็นผู้ตกลงกันเอง และมีกฎหมายออกมารับรอง

จาก www.bangkokbiznews.com  วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2561

ค่าบาท 'ผันผวน' ตามดอลลาร์

บาทเปิดตลาดเช้านี้แข็งค่า "31.29 บาทต่อดอลลาร์" บาทยังผันผวนตามเงินดอลลาร์ขณะที่นักลงทุนกล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นแต่ยังกังวลการเมืองสหรัฐ

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินดอลลาร์เปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 31.29 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ 31.31 บาทต่อดอลลาร์

ในคืนที่ผ่านมาตลาดการเงินยังคงเปิดรับความเสี่ยง (Risk-on) จากอานิสงส์ตัวเลขการจ้างงานในสหรัฐที่ยังคงเร่งตัวขึ้น สะท้อนภาพเศรษฐกิจร้อนแรง ส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐเช่น Nasdaq ปรับตัวขึ้นตามภาพรวมผลกำไรบริษัทเทคโนโลยีที่มีแนวโน้มดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ค่าเงินดอลลาร์กลับไม่สามารถแข็งค่าขึ้นได้เนื่องจากความกังวลด้านการเมืองยังคงเป็นประเด็นกดดัน แม้ว่าในสัปดาห์หน้า (วันที่ 21 มี.ค.) จะมีโอกาสสูงมากที่ธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด จะปรับขึ้นดอกเบี้ยจากระดับ 1.5% ไปที่ระดับ 1.75%

สำหรับเงินบาท เคลื่อนไหวค่อนข้างผันผวนตามทิศทางของค่าเงินดอลลาร์และสกุลเงินเอเชียอื่นๆ แต่ในช่วงนี้ยังคาดว่านักลงทุนน่าจะยังเปิดรับความเสี่ยง และกล้าที่จะลงทุนในสกุลเงินเอเชียต่อ เพราะมีความผันผวนน้อยกว่าที่อื่น แต่มีความสามารถในการเติบโตของเศรษฐกิจใกล้เคียงกับเศรษฐกิจโลก จึงยังมีความเป็นไปได้ที่ค่าเงินบาทจะมีทิศทางไม่อ่อนค่าลงแรงในช่วงสั้น ในวันนี้มองกรอบเงินบาทระหว่างวันที่ระดับ 31.24- 31.34 บาทต่อดอลลาร์

จาก www.bangkokbiznews.com  วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2561

ส่งออกสินค้าเกษตรไทยได้เปรียบดุลการค้า 218,675 ล้านบาท

"สศก."เผยสินค้าเกษตรส่งออกอาเซียนปี 60 ได้เปรียบดุลการค้า 218,675 ล้านบาทคาด 61 ทิศทางสดใสแม้แนวโน้มลดลง มั่นใจนโยบายภาคเกษตรรักษามาตรฐานตลาดโลกเชื่อมั่น

นายสรวิศ ธานีโต โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการติดตามข้อมูลการนำเข้า –ส่งออก สินค้าเกษตรระหว่างไทยกับอาเซียน ปี 2560 พบว่า การค้าสินค้าเกษตร (พิกัดศุลกากร 01–24 และยางพาราธรรมชาติ พิกัด 4001) ปี  2560 ไทยมีการค้าสินค้าเกษตรและยางพาราขั้นปฐมไปยังอาเซียน  9 ประเทศ คิดเป็นมูลค่าการค้ารวม 439 ,129 ล้านบาท โดยไทยมีมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรไปยังตลาดอาเซียนรวม  328,902 ล้านบาท ในขณะที่นำเข้าสินค้าเกษตรจากอาเซียน 110,227 ล้านบาท ดังนั้น ภาพรวมไทยยังคงเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าอาเซียน  218,675 ล้านบาท

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวเพิ่มเติมว่า กลุ่มสินค้าเกษตรไทยส่งออกไปตลาดอาเซียนในปี 2560 ที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ (1) กลุ่มน้ำตาลและผลิตภัณฑ์จากน้ำตาล มีมูลค่าส่งออก 60,350 ล้านบาท (2) กลุ่มเครื่องดื่ม มีมูลค่าส่งออก 46,900 ล้านบาท (3) กลุ่มผลไม้ (ลำไย ทุเรียน และมังคุด) มีมูลค่าส่งออก 40,948 ล้านบาท (4) กลุ่มยางพาราธรรมชาติ มีมูลค่าส่งออก 32,398 ล้านบาท และ (5) กลุ่มข้าวและธัญพืช มีมูลค่าส่งออก 20,128 ล้านบาท

ในขณะที่กลุ่มสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ที่ไทยนำเข้าจากอาเซียนในปี 2560 ที่มีมูลค่าการนำเข้าสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ (1) กลุ่มปลาและสัตว์น้ำ เช่น ปลาทูน่า เนื้อปลาซูริมิ ปลาทะเลต่าง ๆ ปลาหมึกกล้วยแห้งหรือดองเกลือ และปลาในวงศ์แคทฟิชมีมูลค่านำเข้า 19,614 ล้านบาท (2) กลุ่มพืชผักที่บริโภคได้ เช่น มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ กะหล่ำปลี ถั่วเขียวผิวดำ มันเทศ และหอมหัวเล็ก มูลค่า 14,656 ล้านบาท

         (3) กลุ่มของปรุงแต่งเบ็ดเตล็ดที่บริโภคได้ เช่น ของผสมที่มีคุณค่าทางโภชนาการสำหรับกระบวนการผลิตอาหาร กาแฟผง กะทิสำเร็จรูป อาหารปรุงแต่งต่างๆ และอาหารเสริมต่างๆ มูลค่า 12,314 ล้านบาท (4) กลุ่มของปรุงแต่งจากธัญพืช แป้ง สตาร์ช หรือ นม เช่น อาหารปรุงแต่งที่ทำจากผลิตภัณฑ์นมสำหรับใช้เลี้ยงทารก แวฟเฟิลและเวเฟอร์ อาหารปรุงแต่งสำหรับใช้เลี้ยงทารก และผลิตภัณฑ์ขนมต่างๆ มูลค่า 11,909 ล้านบาท และ (5) กลุ่มผลไม้และลูกนัตที่บริโภคได้ เช่น มะพร้าว เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ แก้วมังกร เนื้อมะพร้าวแห้ง และมะขาม มูลค่า 9,694 ล้านบาท

 ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2553 หลังจากที่มีการเปิดตลาดการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area: AFTA)ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ที่อาเซียนได้รวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าสินค้าเกษตรอาเซียนมาอย่างต่อเนื่องโดยตลอด  อย่างไรก็ตาม ทิศทางการได้เปรียบดุลการค้า พบว่า มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากไทยมีการนำเข้าสินค้าเกษตรจากอาเซียนเพิ่มมากขึ้นเพื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเป็นสินค้าเกษตรแปรรูป ในขณะที่สินค้าเกษตรส่งออกของไทย เช่น ผลไม้ ยางพารา และข้าว ที่ยังมีความผันผวนของตลาด และมีการแข่งขันด้านราคาจากอาเซียนด้วยกันเอง 

 ซึ่งในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เน้นย้ำการผลิตให้ได้คุณภาพ ได้มาตรฐานอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างจุดแข็งและความเชื่อมั่นให้กับสินค้าเกษตรไทยในตลาดโลก ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์เกษตรและสหกรณ์ ระยะ 5 ปี (พ.ศ.2560–2564) ยุทธศาสตร์ที่ 2 เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและยกระดับมาตรฐานสินค้า ซึ่งมีแผนงานสําคัญ ได้แก่ (1) พัฒนาคุณภาพมาตรฐานสินคภาคเกษตร(GAP/GMP/Q) (2) บริหารจัดการสินค้าเกษตรตลอดโซนอุปทาน (เช่น แผนข่าวครบวงจร) (3) ส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ (4) ส่งเสริม การใช้เครื่องจักรกลการเกษตร (5) สร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตร (6) ส่งเสริมการทําเกษตรอินทรีย์ และ (7) ธนาคารสินค้าเกษตร เป็นต้น

จาก www.komchadluek.net   วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2561

น้ำชีลดระดับอย่างต่อเนื่องชาวบ้านวิตกไม่พอใช้ช่วงหน้าแล้ง

น้ำชีลดระดับจนเนินทรายโผล่เริ่มกระทบน้ำดิบผลิตประปาหมู่บ้านรวมทั้งการเกษตร ขณะประมงเริ่มจอดเรือหยุดหาปลาแล้วหลายราย

                12 มี.ค. 61  เมื่อเวลา 14.00 น.  หลังจากเข้าสู่หน้าแล้ง สถานการณ์ภัยแล้งยังคงขยายวงกว้างออกไปในหลายพื้นที่ ล่าสุด จากการลงพื้นที่ตรวจสอบแม่น้ำชี ช่วงไหลผ่านบริเวณหมู่บ้านแก่งโก หมู่ที่ 5 ตำบลแก้งสนามนาง อำเภอแก้งสนามนาง จังหวัดนครราชสีมา ระดับน้ำได้ลดลงอย่างต่อเนื่องจนเห็นเนินทรายโผล่ขึ้นมาในบางจุด โดยปริมาณน้ำที่ลดลงได้เริ่มส่งผลกระทบต่อการสูบน้ำดิบเพื่อผลิตประปาประจำหมู่บ้านและการออกหาปลาของชาวบ้าน เป็นผลมาจากการที่ฝนตกทิ้งช่วงและการทำการเกษตรของเกษตรกรในพื้นที่

               จากการสอบถามนายแหล่ กิจนอก อายุ 42 ปี ชาวบ้านซึ่งอาศัยอยู่บริเวณริมแม่น้ำสายดังกล่าว เปิดเผยว่า ตนมีอาชีพทำงานพนักงานฝ่ายผลิตโรงงานแห่งหนึ่ง ซึ่งจะใช้เวลาว่างหลังเลิกงานออกหาปลาเพื่อเป็นรายได้เสริมให้กับครอบครัว ตอนนี้รู้สึกกังวลกับปริมาณน้ำในแม่น้ำชีที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง และเกรงว่าจะไม่มีน้ำใช้อุปโภคบริโภคจนถึงสิ้นฤดูแล้งนี้

               สาเหตุคาดว่าเกิดจากฝนที่ตกทิ้งช่วงและอากาศร้อนจัดทำให้น้ำในแม่น้ำระเหย รวมไปถึงเขื่อนต่างๆ ไม่ปล่อยน้ำทำให้น้ำในแม่น้ำลดลง อีกทั้งเกษตรกรสูบน้ำจากแม่น้ำเพื่อนำไปเลี้ยงพืชผลทางการเกษตรในไร่ของตนจำนวนมาก จึงเป็นเหตุให้ปริมาณน้ำไม่เพียงพอ ส่วนปลาที่ตนหาได้ในแต่ละวันนั้น ก็มีปริมาณลดลงอย่างเห็นได้ชัด ส่งผลให้ชาวบ้านที่ประกอบอาชีพหาปลาในบริเวณแม่น้ำชีสายนี้ จอดเรือทิ้งและหยุดหาปลาไปแล้วหลายราย

จาก www.komchadluek.net   วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2561

การบริหารจัดการนํ้าที่ราษฎรมีส่วนร่วม

    ตำบลกุดปลาดุก อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ ได้แยกมาจากตำบลนาวังและตำบลนาผือโดยปัจจุบันมีทั้งหมด 11 หมู่บ้าน อันเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรในพื้นที่ ราษฎรส่วนใหญ่มีอาชีพหลักคือทำนา อาชีพเสริมคือทอผ้าขิดและผ้าฝ้าย สภาพพื้นที่โดยรวมเป็นพื้นที่ลุ่ม

   ซึ่งเหมาะสำหรับทำการเกษตร มีลำห้วยขนาดใหญ่ไหลผ่าน เช่น ลำเซบายลำห้วยโปรงนอง แต่ที่ผ่านมายังขาดการบริหารจัดการน้ำที่ดี ยังผลให้ปริมาณน้ำไม่เพียงพอแก่ความต้องการของราษฎรทั้งการทำการเกษตรและการอุปโภค เนื่องจากต้องอาศัยน้ำฝนเมื่อถึงฤดูแล้งก็แห้งแล้งขาดน้ำเมื่อถึงฤดูฝนก็เกิดน้ำหลากน้ำท่วมเรือกสวนไร่นาของราษฎรได้รับความเสียหาย เนื่องจากยังไม่มีระบบการบริหารจัดการที่ดีพอ

     ราษฎรในพื้นที่ได้ถวายฎีกา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อขอพระราชทานความช่วยเหลือ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโครงการฝายห้วยยางไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา ต่อมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการก่อสร้างฝายคอนกรีตเสริมเหล็ก กว้าง 13.20 เมตร ยาว 55 เมตร สูง 250 เมตร

     เพื่อเป็นอาคารบังคับน้ำให้มีระดับสูงขึ้นเพื่อให้สามารถส่งน้ำไปยังแปลงเพาะปลูกและอยู่อาศัยของเกษตรกรได้อย่างทั่วถึง ขณะเดียวกันอาคารดังกล่าวยังทำหน้าที่เก็บกักน้ำในระดับที่กำหนด เพื่อเป็นน้ำต้นทุนสำหรับการใช้ประโยชน์ของราษฎรในช่วงฤดูแล้งอีกด้วย พร้อมขุดลอกลำห้วยด้านเหนือน้ำลึก 1.50 เมตร ระยะทางยาว 1,600 เมตร คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือน เมษายน 2561 นี้ ซึ่งเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค การเลี้ยงสัตว์ การประมง และทำการเกษตรของราษฎรในพื้นที่ได้ จำนวน 183 ครัวเรือน พร้อมทั้งสนับสนุนพื้นที่การเกษตรในช่วงฤดูฝนได้ จำนวน 1,750 ไร่ และในช่วงฤดูแล้ง จำนวน 60 ไร่

      นายอุดม เด่นดวง ราษฎรหมู่ที่ 9 ตำบลกุดปลาดุก อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ ราษฎรที่ฎีกาขอพระราชทานโครงการฯ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาราษฎรประสบกับปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งและปัญหาน้ำท่วมและน้ำหลากในช่วงฤดูฝนตลอดมาแทบทุกปี และได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาโดยการรวมตัวกันทำฝายชะลอน้ำในพื้นที่แต่ก็ไม่เพียงพอเนื่องจากเป็นฝายขนาดเล็ก และไม่สามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ

        “ช่วงหน้าแล้งแทบทุกปีชาวบ้านทุกครอบครัวจะต้องออกไปหาน้ำตามลำห้วยและกลางทุ่งนา หาบกลับมาใช้ที่บ้านของตนเอง ทุกคนลำบากและเดือดร้อน รู้สึกดีใจเป็นอย่างมากที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระองค์ที่พระราชทานความช่วยเหลือด้วยการสร้างฝายขึ้นในพื้นที่ พระองค์ทรงมองเห็นความเดือดร้อนของราษฎรแม้จะอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ทรงช่วยเหลือราษฎรด้วยการรับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต่อไปราษฎรในพื้นที่ก็จะมีน้ำเพียงพอสำหรับอุปโภคบริโภค สามารถทำการเกษตรได้อย่างเต็มที่ มีกินมีใช้อย่างพอเพียงตามความต้องการของการดำรงชีวิตทุกคนจะไม่ลืมสิ่งดี ๆ เหล่านี้ และด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณทุกคนจะขอทำความดีถวายแด่พระองค์ รัชกาลที่ 9 และ รัชกาลที่ 10 สืบไป” นายอุดม กล่าว

       และเมื่อไม่นานมานี้ พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี พร้อมด้วยคณะอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้เดินทางไปติดตามผลการดำเนินงานโครงการฝายห้วยยางอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านนาเมือง อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ ตามที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานไว้ ทั้งนี้ เพื่อสนองพระราชปณิธานอันแน่วแน่ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงบำบัดทุกข์ช่วยเหลือราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อน และพระราชปณิธานในการสืบสาน รักษา ต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่สมเด็จพระบรมชนกนาถพระราชทานไว้ ให้บังเกิดความต่อเนื่องและสร้างประโยชน์สุขให้กับราษฎรได้อย่างยั่งยืนต่อไป

       จากการตรวจเยี่ยมและติดตามการดำเนินงานของโครงการฯ พบว่าการดำเนินงานเป็นไปตามวัตถุประสงค์ทุกประการ ราษฎรได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำด้วยการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำขึ้นมา ปัจจุบันมีสมาชิกรวม 70 คน ร่วมกันบริหารการใช้น้ำเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์กับทุกครัวเรือนได้อย่างทั่วถึง

       และเป็นไปตามพระราชประสงค์และพระมหากรุณาธิคุณที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

จาก https://www.dailynews.co.th   วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2561

สศก.ร่วมเวที‘RCEP-TNC’ ดันส่งออกสินค้าเกษตรไทย

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สศก. ในฐานะผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เข้าร่วมเจรจาภายใต้คณะทำงานการค้าสินค้า ในการประชุมคณะกรรมการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership - Trade Negotiating Committee: RCEP-TNC) ครั้งที่ 21 เพื่อพิจารณารูปแบบและรายการสินค้าเกษตรของไทย ทั้งรายการที่สามารถเปิดตลาดและสินค้าอ่อนไหวภายใต้ความตกลง RCEP ที่เมืองยอกยาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย

สำหรับการประชุม RCEP นับได้ว่าเป็นความตกลงการค้าเสรีระดับภูมิภาคขนาดใหญ่ และเป็นความตกลงแบบองค์รวม (Comprehensive Agreement) ที่มีมาตรฐานสูง ครอบคลุม เรื่องที่เกี่ยวกับกฎระเบียบและกฎเกณฑ์ในการค้าต่างๆ มีเป้าหมายเร่งการเปิดตลาดการค้าสินค้าระหว่างกันให้ได้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้มูลค่าการค้าภายใต้ความตกลงสูงกว่าความตกลงการค้าเสรีอาเซียน+1 และผลักดันให้ไทยเร่งพัฒนาศักยภาพและขยายโอกาสในการส่งออกสินค้าของไทย รวมถึงการลดอุปสรรคทางการค้าทั้งภาษีและมิใช่ภาษีระหว่างประเทศสมาชิก

ทั้งนี้ สศก. จะผลักดันให้สินค้าเกษตรที่มีศักยภาพของไทย (อาทิ ข้าว มันสำปะหลัง ไก่ กุ้ง น้ำตาล สินค้าแปรรูป) สามารถขยายตลาดส่งออกไปยังประเทศสมาชิก RCEP ได้มากขึ้น โดยลด/ยกเลิกภาษีนำเข้าที่เป็นอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน สำหรับสินค้าอ่อนไหวที่ไทยอาจได้รับผลกระทบหากเปิดตลาดจะทยอยลดภาษี โดยให้มีระยะเวลาการปรับตัวของเกษตรกรเพื่อรองรับการเปิดตลาดในอนาคตหรือขอสงวนการเปิดตลาดต่อไป โดยการประชุม RCEP-TNC ครั้งที่ 22 จะจัดขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคม 2561 ณ ประเทศสิงคโปร์

จาก https://www.innnews.co.th  วันที่ 12 มีนาคม 2561

ไทยได้เปรียบดุลการค้า สินค้าเกษตร 'อาเซียน' กว่า 2 แสนลบ.

 เกษตรฯ เผยปี 60 ไทยได้เปรียบดุลการค้าสินค้าเกษตรอาเซียนกว่า 2 แสนลบ. คาดทิศทางปี 61 ยังสดใส เน้นรักษามาตรฐานและเพิ่มคุณภาพผลผลิต

นายสรวิศ ธานีโต โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการติดตามข้อมูลการนำเข้า–ส่งออก สินค้าเกษตรระหว่างไทยกับอาเซียน ปี 2560 พบว่า การค้าสินค้าเกษตร (พิกัดศุลกากร 01–24 และยางพาราธรรมชาติ พิกัด 4001) ปี 2560 ไทยมีการค้าสินค้าเกษตรและยางพาราขั้นปฐมไปยังอาเซียน 9 ประเทศ คิดเป็นมูลค่าการค้ารวม 439,129 ล้านบาท โดยไทยมีมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรไปยังตลาดอาเซียนรวม 328,902 ล้านบาท ในขณะที่นำเข้าสินค้าเกษตรจากอาเซียน 110,227 ล้านบาท ดังนั้น ภาพรวมไทยยังคงเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าอาเซียน 218,675 ล้านบาท

ด้านนายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวเพิ่มเติมว่า กลุ่มสินค้าเกษตรไทยส่งออกไปตลาดอาเซียนในปี 2560 ที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ (1) กลุ่มน้ำตาลและผลิตภัณฑ์จากน้ำตาล มีมูลค่าส่งออก 60,350 ล้านบาท (2) กลุ่มเครื่องดื่ม มีมูลค่าส่งออก 46,900 ล้านบาท (3) กลุ่มผลไม้ (ลำไย ทุเรียน และมังคุด) มีมูลค่าส่งออก 40,948 ล้านบาท (4) กลุ่มยางพาราธรรมชาติ มีมูลค่าส่งออก 32,398 ล้านบาท และ (5) กลุ่มข้าวและธัญพืช มีมูลค่าส่งออก 20,128 ล้านบาท

ในขณะที่กลุ่มสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ที่ไทยนำเข้าจากอาเซียนในปี 2560 ที่มีมูลค่าการนำเข้าสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ (1) กลุ่มปลาและสัตว์น้ำ เช่น ปลาทูน่า เนื้อปลาซูริมิ ปลาทะเลต่างๆ ปลาหมึกกล้วยแห้งหรือดองเกลือ และปลาในวงศ์แคทฟิชมีมูลค่านำเข้า 19,614 ล้านบาท (2) กลุ่มพืชผักที่บริโภคได้ เช่น มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ กะหล่ำปลี ถั่วเขียวผิวดำ มันเทศ และหอมหัวเล็ก มูลค่า 14,656 ล้านบาท (3) กลุ่มของปรุงแต่งเบ็ดเตล็ดที่บริโภคได้ เช่น ของผสมที่มีคุณค่าทางโภชนาการสำหรับกระบวนการผลิตอาหาร กาแฟผง กะทิสำเร็จรูป อาหารปรุงแต่งต่าง ๆ และอาหารเสริมต่า งๆ มูลค่า 12,314 ล้านบาท (4) กลุ่มของปรุงแต่งจากธัญพืช แป้ง สตาร์ช หรือ นม เช่น อาหารปรุงแต่งที่ทำจากผลิตภัณฑ์นมสำหรับใช้เลี้ยงทารก แวฟเฟิลและเวเฟอร์ อาหารปรุงแต่งสำหรับใช้เลี้ยงทารก และผลิตภัณฑ์ขนมต่าง ๆ มูลค่า 11,909 ล้านบาท และ (5) กลุ่มผลไม้และลูกนัตที่บริโภคได้ เช่น มะพร้าว เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ แก้วมังกร เนื้อมะพร้าวแห้ง และมะขาม มูลค่า 9,694 ล้านบาท

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2553 หลังจากที่มีการเปิดตลาดการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area: AFTA) ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ที่อาเซียนได้รวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าสินค้าเกษตรอาเซียนมาอย่างต่อเนื่องโดยตลอด อย่างไรก็ตาม ทิศทางการได้เปรียบดุลการค้า พบว่า มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากไทยมีการนำเข้าสินค้าเกษตรจากอาเซียนเพิ่มมากขึ้นเพื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเป็นสินค้าเกษตรแปรรูป ในขณะที่สินค้าเกษตรส่งออกของไทย เช่น ผลไม้ ยางพารา และข้าว ที่ยังมีความผันผวนของตลาด และมีการแข่งขันด้านราคาจากอาเซียนด้วยกันเอง

ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เน้นย้ำการผลิตให้ได้คุณภาพ ได้มาตรฐานอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างจุดแข็งและความเชื่อมั่นให้กับสินค้าเกษตรไทยในตลาดโลก ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์เกษตรและสหกรณ์ ระยะ 5 ปี (ปี 2560–2564) ยุทธศาสตร์ที่ 2 เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและยกระดับมาตรฐานสินค้า ซึ่งมีแผนงานสำคัญ ได้แก่ (1) พัฒนาคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตร (GAP/GMP/Q) (2) บริหารจัดการสินค้าเกษตรตลอดโซ่อุปทาน (เช่น แผนข้าวครบวงจร) (3) ส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ (4) ส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร (5) สร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตร (6) ส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย และ (7) ธนาคารสินค้าเกษตร เป็นต้น

จาก www.thansettakij.com วันที่ 11 มีนาคม 2561

จับตากม.อ้อยกำหนดเกณฑ์กองทุน

โรงงานน้ำตาลเผยหลังลอยตัว กลไกน้ำตาลไม่กระทบรอความชัดเจน พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายกำหนดเกณฑ์เก็บเงินกองทุนน้ำตาลฯเปิดช่องกู้เงิน ธ.ก.ส. ช่วยอุดหนุนเกษตรกรช่วงราคาน้ำตาลตกต่ำ

นายจำรูญ  ชินธรรมมิตร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า หลังจากที่รัฐบาลประกาศลอยตัวราคาน้ำตาลทรายเมื่อวันที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมา ล่าสุดสถานการณ์น้ำตาลทรายภายในประเทศยังคงเดินหน้าได้อย่างปกติ ราคาน้ำตาลทรายในตลาดลดลงประมาณ 2 บาท ต่อกิโลกรัม ตามราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกที่ลดลง

โดยสิ่งที่เปลี่ยนแปลงหลักๆ จากเดิมที่รัฐบาลจะเข้ามากำหนดโควตาราคาและการนำเงินเข้ากองทุน เปลี่ยมาเป็นภาคเอกชนโรงงานน้ำตาลทรายและชาวไร่อ้อยเป็นผู้ดำเนินงานต่างๆ แทนรัฐบาล เพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงขององค์การการค้าโลก ที่ไม่ต้องการให้ภาครัฐเข้ามาอุดหนุนโครงสร้างราคาน้ำตาลทำให้ประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลอื่นๆเสียเปรียบ

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้จะต้องรอดูความชัดเจนของพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อให้การดำเนินงานต่างๆ มีความชัดเจนโดยเฉพาะในเรื่องของการเก็บเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ที่จะมีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงที่ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกตกต่ำ

“หลังจากลอยตัวน้ำตาลทราย ก็ได้ให้โรงงานน้ำตาลทราย และชาวไร่อ้อยกำหนดส่วนต่างระหว่างราคาน้ำตาลในตลาดโลกกับราคาหน้าโรงงาน ว่าจะเก็บเงินส่วนนี้เข้ากองทุนฯเท่าไร ซึ่งในเดือนที่ผ่านมาก็เก็บในอัตรา 3-4 บาทต่อกิโลกรัมเข้ากองทุน”

อย่างไรก็ตาม จะต้องรอดู พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายที่จะออกมาว่าจะกำหนดหลักเกณฑ์รายละเอียดต่างๆ อย่างไร ซึ่งหากกฎหมายกำหนดขั้นตอนที่ชัดเจนกองทุนก็จะมีความน่าเชื่อถือ เพราะรู้ว่าจะมีเงินเข้ากองทุนฯเท่าไร สามารถไปกู้เงินธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เพื่อนำมาช่วยเหลือชาวไร่อ้อยในช่วงที่ราคาน้ำตาลทรายตกต่ำได้ ซึ่งเหมือนกับแนวทางที่เคยใช้มาในอดีต ที่รัฐบาลกำหนดให้กองทุนฯเก็บเงินเพิ่ม 5 บาทต่อกิโลกรัมเข้ากองทุน แต่ในกฎหมายใหม่ โรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อยเป็นผู้ตกลงกันเอง และมีกฏหมายออกมารับรอง

จาก www.bangkokbiznews.com  วันที่ 11 มีนาคม 2561

รัฐบาลปลื้ม "U.S.News" จัดไทยอันดับ8ประเทศที่ดีที่สุดสำหรับการลงทุน

รัฐบาลปลื้ม U.S.News จัดอันดับไทยที่ 8 “ประเทศที่ดีที่สุดสำหรับการลงทุน” ชี้ปี 61 เศรษฐกิจขาขึ้น ต่างชาติยอมรับ พร้อมจับมือชาติอาเซียนเดินไปข้างหน้า โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้รับทราบรายงานอันดับประเทศที่ดีที่สุดสำหรับการลงทุน ประจำปี 2561 ของ U.S.News ซึ่งประเทศไทยติดอันดับ 8 จาก 20 อันดับของโลก วิเคราะห์จากหลายปัจจัย เช่น เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ นวัตกรรม ทักษะแรงงาน ความชำนาญทางเทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม ประชากร และคอร์รัปชัน เป็นต้น

"นายกฯ พอใจอันดับของไทยจากรายงานดังกล่าว ถือว่าเป็นข่าวดีทางเศรษฐกิจ เพราะต่างชาติให้การยอมรับประเทศไทยความสำเร็จนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือกันทุกฝ่ายตั้งแต่ระดับนโยบาย ภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ใช้แรงงาน และประชาชนทุกคน ที่พัฒนาตัวเองอย่างไม่หยุดยั้ง และช่วยกันรักษาบรรยากาศของบ้านเมืองให้สงบ เพื่อดึงดูดความสนใจของนักลงทุนทั่วโลก"

นายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่าเมื่อต้นปีที่ผ่านมา U.S.News เพิ่งเผยแพร่ผลการจัดอันดับประเทศที่ดีที่สุดในโลกในด้านต่าง ๆ ซึ่งประเทศไทยครองแชมป์อันดับ 1 เป็นประเทศที่เหมาะสมสำหรับการเริ่มธุรกิจ (Best Countries to start a Business) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าศักยภาพด้านเศรษฐกิจและการลงทุนของไทยนั้นจัดอยู่ในอันดับต้น ๆ ในสายตาของชาวโลก

ทั้งนี้ รัฐบาลได้ปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการลงทุนตามนโยบายประเทศไทย 4.0 ซึ่งภาพลักษณ์ในเรื่องนี้เป็นสิ่งจูงใจนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาทำธุรกิจในไทยเป็นอย่างยิ่งและผลการจัดอันดับดังกล่าวยังสอดคล้องกับอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business: EoDB) ของธนาคารโลกครั้งล่าสุด ที่ไทยมีอันดับดีขึ้นถึง 20 อันดับ จากอันดับที่ 46 ในปี 2560 เป็นอันดับที่ 26 ในปี 2561 ด้วย

“นายกฯ ยังรู้สึกยินดีที่ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ก็ถูกจัดให้อยู่ใน 20 อันดับเช่นเดียวกัน สะท้อนในเห็นว่าภูมิภาคนี้กำลังเป็นที่สนใจของนักลงทุนต่างชาติดังนั้น จึงถือว่านโยบายและความร่วมมือทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกเดินมาถูกทางแล้ว โดยทุกประเทศจะพัฒนาไปพร้อม ๆ กัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”พล.ท.สรรเสริญกล่าว

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 11 มีนาคม 2561

พณ.เผยRCEPเร่งหาแนวทางเจรจาในปีนี้

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เผย รัฐมนตรีชาติสมาชิก RCEP ย้ำความตั้งใจ หาข้อสรุปการเจรจาในสิ้นปีนี้

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงผลการเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) สมัยพิเศษ ครั้งที่ 4 ที่ ประเทศสิงคโปร์ ว่า รัฐมนตรีเศรษฐกิจและผู้แทนระดับสูงจากสมาชิก 16 ประเทศ ได้เน้นย้ำถึงความตั้งใจร่วมกันที่จะทำให้การเจรจา RCEP มีความคืบหน้าเพื่อให้สามารถสรุปผลได้อย่างมีนัยสำคัญภายในปีนี้

อีกทั้งยินดีที่จะให้มีแผนงานสำหรับการเจรจาในปี 2561 เพื่อให้คณะเจรจาดำเนินการตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแต่ละรอบ ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ ได้มีการหารือร่วมกันระหว่างอาเซียนกับอินเดียเพื่อผลักดันอินเดียให้หาข้อสรุปในประเด็นที่ยังตกลงกันไม่ได้และให้อินเดียสนับสนุนในประเด็นที่มีท่าทีร่วมกัน และการหารือร่วมกันระหว่างอาเซียนกับจีนเพื่อขอการสนับสนุนในประเด็นสำคัญ ซึ่งส่วนใหญ่จีนมีท่าทีที่สอดคล้องกัน โดยทั้งสองประเทศยอมรับที่ร่วมมือกับอาเซียนผลักดันประเทศสมาชิกอื่นๆ เพื่อให้การเจรจาเดินหน้าต่อไปได้

จาก https://www.innnews.co.th  วันที่ 11 มีนาคม 2561

ด่วนจี๋แค่ 3 นาที...กรอ.ยุคใหม่ อนุญาตนำกากอุตฯออกจากโรงงาน

บทบาทของกรมโรงงานอุตสาหกรรม เดิมประชาชนมองว่า เป็นหน่วยงานตรวจสอบ กำกับโรงงาน ให้เป็นไปตามกฎหมาย 3 ฉบับคือ พ.ร.บ.โรงงาน, พ.ร.บ. วัสดุอันตรายและพ.ร.บ. เครื่องจักร มีหน้าที่ไล่ตรวจสอบกำกับดูแลให้โรงงานทำถูกต้องตามกฎหมาย แต่ปัจจุบันภารกิจของกรมโรงงานฯเปลี่ยนไป โดยเฉพาะภารกิจเร่งด่วนด้านต่างๆที่เริ่มชัดเจนแล้ว “มงคล พฤกษ์วัฒนา” อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ให้สัมภาษณ์ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงรายละเอียดดังกล่าว

++เน้นส่งเสริมอุตสาหกรรม

อธิบดีกรมโรงงานฯยืนยันว่า ปัจจุบันบทบาทของกรมออกมาในรูปของการส่งเสริมอุตสาหกรรมมากขึ้น แนวทางการส่งเสริมที่มีอยู่คือ เนื้องานที่ทำจะต้องส่งเสริมในเรื่องเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีการผลิต เทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อม หรือด้านความปลอดภัย จะทำอย่างไรให้เราสามารถ นำความรู้เหล่านี้ไปพัฒนาใช้กับโรงงานให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ที่อยากผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรม 4.0

กรมโรงงานฯ จึงมาปฏิรูปองค์กรของตัวเองก่อนในเรื่องของ กลยุทธ์ในการทำงาน วิธีในการทำงาน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมก็ให้นโยบายว่า จะต้องใช้ระบบสารสนเทศมากขึ้น เช่น การทำอี-ไลเซนส์นำระบบดิจิตอลเข้ามาดูแลเรื่องการอนุมัติต่างๆ ให้เกิดความรวดเร็ว เช่น อนุมัติตั้งโรงงาน การขอต่ออายุโรงงาน ซึ่งกรมมีเรื่องเกี่ยวกับการอนุญาตมากกว่า 40 รายการ ที่ภายในเดือนมีนาคม-เมษายนนี้จะมีการต่ออายุผ่านระบบไอที สามารถยื่นต่ออายุโรงงานได้ โดยไม่ต้องเข้ามาที่กรมโรงงานฯ

เช่นเดียวกับใบประกอบกิจการโรงงานอื่นๆ กำลังทำและจะแล้วเสร็จตามลำดับ ส่วนการอนุญาตนำกากอุตสาหกรรมออกจากโรงงานให้รวดเร็วขึ้น ปัจจุบันได้ทำโครงการนำร่องให้สามารถทำใบอนุญาตนำออกให้เสร็จภายใน 3 นาที ขณะนี้นำร่องไปแล้ว 12 ราย จากเดิมใช้เวลานาน 3 วันถึง 3 เดือน จะนำมาปฏิบัติเป็นการทั่วไปได้ทั้งหมดในเร็วๆ นี้

“ปัจจุบันมีโรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องขออนุญาตด้านต่างๆในระบบ 80,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นโรงงานจำพวก 3 (โรงงานจำพวกที่ 3 คือ โรงงานขนาดใหญ่ ก่อปัญหามลพิษซึ่งทางราชการต้องควบคุมดูแล ซึ่งจะต้องได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการก่อนประกอบการ) ที่น่าจะมีกากอุตสาหกรรมออกจากโรงงานประมาณ 80% ซึ่งทั้งหมดนี้ในช่วงปี 2561จะสามารถทำใบอนุญาตนำกากอุตสาหกรรมออกจากโรงงานได้ภายใน 3 นาที ทั้งหมดก็จะทำให้งานขับเคลื่อนได้สำเร็จโดยในปี 2561 จะทำได้ 100%”

++อีอีซีหนุนโรงงานเกิดใหม่

สำหรับการขออนุญาตตั้งโรงงาน ปัจจุบันแต่ละปีจะมีจำนวน 4,000-5,000 ราย ที่มาขออนุญาตตั้งโรงงาน เติบโตต่อปีไม่เกิน 5% ก็มีทั้งโรงงานที่เลิกไปและโรงงานที่มาขอตั้งใหม่ ฉะนั้นในทุกปีก็คาดหวังอยากจะให้มีผู้ประกอบการภาคการผลิตมากขึ้น พอรัฐบาลเปิดพื้นที่ส่งเสริมภาคการผลิตลงในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี ก็หวังว่าจะมีโรงงานผลิตเกิดใหม่มากขึ้น เมื่อระบบโครงสร้างพื้นฐานพร้อม ปี 2561 คาดว่าตัวเลขการเติบโตของคำขออนุญาตตั้งโรงงานน่าจะโตจาก 5% เพิ่มเป็น 10% ต่อปีทั้งนี้กรมโรงงานฯ จะพยายามมุ่งเน้นไปสู่พื้นที่ให้มากที่สุดโดยเฉพาะในพื้นที่ส่งเสริมของรัฐบาล

 ++เป้าหมายกำจัดกากอุตฯ

ส่วนเป้าหมายในการ นำกากอุตสาหกรรมอันตรายเข้าสู่ระบบ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมกล่าวว่า เมื่อปี 2560 มีปริมาณ 2.2 ล้านตัน และกากไม่อันตราย มีจำนวน 30 ล้านตัน ดังนั้นแนวโน้มขยะอันตรายในปี 2561 อาจจะเท่าเดิมหรือลดลง ถ้าการส่งเสริมนำกากอุตสาหกรรมมาใช้ประโยชน์โดยวิธี รียูส รีไซเคิล รีบิลต์ (ลดการเกิดขยะ) ตามหลัก 3R ทำได้ผลก็จะทำให้กากอุตสาหกรรมลดลง เช่นการนำกากอุตสาหกรรมเข้าสู่ระบบไฟฟ้าชีวมวลมากขึ้น หรือไปสู่การหลอม การคัดแยก การสกัดเพื่อแยกให้ได้โลหะที่มีค่าออกมาใช้ประโยชน์ต่อไป เป็นต้น

สำหรับตัวเลขกากขยะอุตสาหกรรมโดยรวมจะมีจำนวน 32.2 ล้านตัน ในจำนวนนี้จะมีขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่คาดการณ์ว่ามีอยู่ประมาณ 3-4 แสนตันต่อปี เช่น มือถือ ทีวี เครื่องไช้ไฟฟ้าชนิดต่างๆ เป็นต้น ส่วนทีวีอนาล็อก 40 ล้านเครื่องที่วิตกกันว่าจะเป็นขยะที่อยู่ในประเทศในเร็วๆนี้นั้น

อย่าลืมว่าทีวี 1 เครื่อง มีนํ้าหนักไม่ถึง 20 กิโลกรัม ยังไม่ถึง 1 ตัน ฉะนั้นใน 1 ตันนี้อาจจะต้องรวมทีวี 20-30 เครื่อง

ทั้งนี้ปริมาณขยะอิเล็ก ทรอนิกส์ ปัจจุบันกรมควบคุมมลพิษมีกฎหมายควบคุมอยู่แล้ว มีพ.ร.บ.ส่งเสริมการกำจัดซากอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งพ.ร.บ.นี้ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสนช. กำหนดออกมาเพื่อมากำกับดูแลตรงนี้โดยเฉพาะ ส่วนในแง่ของกระทรวงอุตสาหกรรมก็ส่งเสริมผู้ประกอบการกำจัดซากขยะอิเล็กทรอนิกส์

ซึ่งปัจจุบันเรามีโรงงานประเภทนี้อยู่จำนวน 174 โรงงาน มีทั้งโรงงานที่นำซากเครื่องใช้ไฟฟ้ามาคัดแยกและสกัดโลหะที่มีค่า แล้วนำกลับไปใช้ใหม่ ส่วนที่เหลือก็นำไปเข้าสู่เตาเผาขยะ หรือนำไปฝังกลบ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมพยายามส่งเสริมโรงงานเหล่านี้ขึ้นมาเพื่อช่วยลดปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีการนำเข้ากากของเสียอันตราย การเคลื่อนย้ายขยะอันตราย และการข้ามแดนกำจัดนั้นจะอยู่ภายใต้อนุสัญญาบาเซิล หลายประเทศส่วนใหญ่ไม่อยากให้นำเข้ามาในรูปของทีวี ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศมาจากต่างประเทศเพื่อมาคัดแยกในไทย ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมไม่ส่งเสริมให้เกิดขึ้น เนื่องจากของเสียที่เข้ามานั้นจะใช้ได้ไม่ทั้งหมด แต่นำมาทิ้งในไทย โดยมีผู้ประกอบการที่ขอนำเข้าของเสียเหล่านี้เข้ามาในไทยแต่กรมโรงงานอุตสาหกรรมไม่ส่งเสริมการนำเข้าของเสียอันตรายเข้ามาในประเทศ เพื่อมาคัดแยกซากของเสียในไทย

จาก www.thansettakij.com วันที่ 10 มีนาคม 2561

"สนธิรัตน์"สั่ง"พาณิชย์"ศึกษาข้อตกลงCPTPP

“สนธิรัตน์” สั่ง “พาณิชย์” ศึกษาข้อตกลง CPTPP ก่อนหารือทุกภาคส่วนกำหนดท่าทีไทยเข้าร่วม หลัง 11 ชาติ ไม่รอสหรัฐลงนามความตกลง คาดมีผลบังคับใช้ในปี 61

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศดำเนินทำการศึกษาและติดตามการบังคับใช้ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) หรือ TPP เดิม ซึ่งมีสมาชิก 11 ประเทศ เว้นสหรัฐที่ได้ถอนตัวออกไปเมื่อปี 2560 เนื่องจากข้อตกลงดังกล่าวถือเป็นการเปิดเสรีการค้าขนาดใหญ่ครอบคลุมการค้าสินค้า บริการ การลงทุน รวมถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้าเช่น ทรัพย์สินทางปัญญา การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ มาตรฐานแรงงาน สิ่งแวดล้อม วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) การแข่งขันทางการค้า และรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น จึงต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิด และหารือรับฟังความเห็นภาคส่วนที่เกี่ยวข้องก่อนเสนอความเห็น เพื่อกำหนดแนวทางที่เหมาะสมของไทยในเรื่องความตกลง CPTPP ต่อไป

“ประเทศต่างๆได้แสดงความสนใจจะเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP เพิ่มเติม โดย CPTPP มิได้กำหนดเงื่อนไขในการรับสมาชิกใหม่ว่าจะต้องมีที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเหมือนที่ TPP เคยกำหนดเอาไว้ และแม้สหรัฐจะถอนตัวไปเมื่อปี 2560 แต่ก็อาจพิจารณากลับเข้าร่วม CPTPP ได้อีก หากสหรัฐสามารถบรรลุข้อตกลงที่เป็นประโยชน์กับสหรัฐ มากกว่าที่เคยตกลงใน TPP เดิม”นายสนธิรัตน์ กล่าว

ทั้งนี้ ความคืบหน้าข้อตกลง CPTPP โดยเมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2561 ประเทศสมาชิก 11 ชาติ ประกอบด้วยออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู เม็กซิโก ญี่ปุ่น บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ได้ร่วมกันลงนามความตกลง CPTPP แล้ว ที่ประเทศชิลี โดยสมาชิก CPTPP จะเริ่มดำเนินกระบวนการภายในประเทศตามเงื่อนไขของความตกลงฯ ที่กำหนดให้มีผลบังคับใช้ใน 60 วัน ภายหลังจากที่สมาชิกอย่างน้อย 6 ประเทศ หรือเกินกว่า 50% ของจำนวนสมาชิกยื่นสัตยาบันให้การรับรอง CPTPP คาดว่าสมาชิกน่าจะเร่งผลักดันให้ CPTPP มีผลบังคับใช้ได้ภายในปี 2561

ขณะที่สาระสำคัญของความตกลง CPTPP ได้นำเอารายละเอียดของความตกลง TPP เดิมมาใช้บังคับ แต่ชะลอการบังคับใช้ในบางประเด็นที่สำคัญ เช่น การขยายระยะเวลาคุ้มครองสิทธิบัตรอันเกิดจากความล่าช้าอย่างไม่สมเหตุสมผลของหน่วยงานขึ้นทะเบียนการคุ้มครองข้อมูลทดสอบยา การขยายระยะเวลาการคุ้มครองลิขสิทธิ์ (จาก 50 ปี เป็น 70 ปี) และการให้นักลงทุนฟ้องรัฐภายใต้สัญญาการลงทุนที่ทำระหว่างรัฐกับเอกชน เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเด็นที่สหรัฐผลักดันให้มีการบัญญัติไว้ในความตกลง TPP เดิม

สำหรับขนาดเศรษฐกิจรวมของ 11 ประเทศ ที่ตกลงความร่วมมือ CPTPP ในปี 2560 มีจีดีพีรวมมูลค่า 10.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 13.5% ของจีดีพีโลก มีประชากรรวม 495 ล้านคน หรือ 6.8% ของประชากรโลกโดยในปี 2560 การค้าระหว่างไทยกับสมาชิก CPTPP มีมูลค่า 1.34 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 29.3% ของการค้ารวมของไทย โดยไทยส่งออกไป CPTPP มูลค่า 7.03 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 29.7% ของการส่งออกไทยไปโลก และไทยนำเข้าจาก CPTPP มูลค่า 6.43 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 28.9% ของการนำเข้าไทยจากโลก โดยไทยได้เปรียบดุลการค้ากับ CPTPP มูลค่า 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 9 มีนาคม 2561

จี้เอกชนรับมือดอกเบี้ยโลกพุ่ง ธปท.ยันไม่ขยับนโยบายการเงินไทยเร็วๆนี้

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงการดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท.ว่า ในบางมุมคณะกรรมการบางท่านอาจจะมองไปข้างหน้าค่อนข้างไกลถึงเวลาในการปรับอัตราดอกเบี้ย แต่ภาพรวมสถานการณ์เศรษฐกิจในขณะนี้ ข้อความจากการประชุม กนง.ครั้งที่ผ่านมา ยังเห็นว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายในลักษณะที่ผ่อนคลายยังมีความจำเป็นในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจนกว่าจะมีความชัดเจน เช่นเดียวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เร่งขึ้นของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ก็ไม่ได้หมายความว่า กนง.จะต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของไทยตาม ขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจ และพื้นฐานเครื่องชี้เศรษฐกิจของไทยเป็นหลัก

“ที่ผ่านมา กนง.เห็นว่ายังจำเป็นที่จะต้องดูแลภาวะเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวได้ต่อเนื่อง จึงคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับต่ำ แต่ที่ไม่ได้ลดลงอีก เพราะเห็นความเปราะบางในด้านเสถียรภาพระบบการเงิน เช่น การลงทุนแสวงหาผลตอบแทนที่มีความเสี่ยงของนักลงทุน ทั้งในส่วนการลงทุนในตราสารที่ไม่มีการจัดอันดับ หรือการลงทุนในสหกรณ์ออมทรัพย์ ซึ่งพบว่า เมื่อมีการเตือนและออกข้อบังคับมาดูแล การลงทุนที่เสี่ยงก็ลดลงไปได้ในระดับหนึ่ง”

ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวต่อว่า การปรับทิศทางดอกเบี้ยนโยบายนั้น เป็นสิ่งที่ กนง.ต้องพิจารณาในระยะยาว เมื่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ และเสถียรภาพของเศรษฐกิจไทยมีความสมดุลที่ดีแล้ว นอกจากนั้น ยังต้องดำเนินการโดยไม่กระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ หรือกระทบความสามารถการทำธุรกิจของเอกชนโดยรวม เช่นเดียวกับการดูแลเงินทุนเคลื่อนย้ายและค่าเงินบาทให้สอดคล้องกัน เพราะช่วงที่ประเทศเศรษฐกิจหลักกำลังปรับนโยบายการเงิน และปรับขึ้นดอกเบี้ยโลกสูงขึ้น ประเทศไทยจะต้องรับความผันผวนที่สูงขึ้นตามไปด้วย ภาครัฐจึงต้องเตรียมความพร้อมให้เอกชนรับมือ เช่นคนที่กู้ยืมจากต่างประเทศในระดับสูงๆ ต้องพิจารณาด้วยว่า เมื่อดอกเบี้ยในต่างประเทศเพิ่มขึ้นจะดูแลต้นทุนของตนเองอย่างไร สำหรับ กนง.นั้น หากจะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงิน หรือปรับดอกเบี้ยจะมีการส่งสัญญาณล่วงหน้าเพื่อให้เอกชนปรับตัว และจะดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไปโดยคำนึงถึงผลกระทบ.

จาก www.thairath.co.th   วันที่ 9 มีนาคม 2561

ได้ฤกษ์เปิดปฏิบัติการฝนหลวง จับตา‘ภัยแล้ง’รุนแรง-เกษตรฯสั่งเตรียมพร้อมรับมือ

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิดปฏิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้ง ประจำปี 2561 อย่างเป็นทางการ ณ สนามบินนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ พร้อมเปิดเผยว่า สถานการณ์ภัยแล้งในปี 2561 มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องมาจากความผันแปรของสภาพภูมิอากาศและสภาวะโลกร้อน ประกอบกับสถานการณ์ภัยพิบัติ ที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้ อาทิ สถานการณ์หมอกควันและไฟป่า ปัญหาภัยแล้ง และการขาดแคลนน้ำเพื่อใช้ทำการเกษตร เป็นต้น รวมถึงสถานการณ์ปริมาณน้ำเก็บกักในอ่างเก็บน้ำและเขื่อนสำคัญทั่วประเทศ ยังมีเขื่อนหลักบางแห่งที่มีปริมาณน้ำต่ำกว่าเกณฑ์ และมีการขอรับบริการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรด้วย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงมอบหมายให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ดำเนินโครงการปฏิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้ง ประจำปี 2561 ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญตามนโยบายของรัฐบาลที่กำชับให้ทุกหน่วยงานมุ่งดำเนินงานเชิงรุกเพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรและประชาชน

ด้าน นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจหลักในการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้แก่เกษตรกรและผู้ใช้น้ำทั่วทั้งประเทศ รวมถึงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับระบบบริหารจัดการน้ำของประเทศ โดยมีแผนปฏิบัติการประจำปี ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม ถึงวันที่ 31 ตุลาคม ของทุกปี ภายใต้การดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งและบรรเทาภัยพิบัติเชิงพื้นที่ การเพิ่มประสิทธิภาพการดัดแปรสภาพอากาศ การเพิ่มขีดความสามารถ การบริหารจัดการด้านการบิน และการพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐซึ่งสำหรับในปี 2561 กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เตรียมจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ จำนวน 7 หน่วยปฏิบัติการ ได้แก่ ภาคเหนือ จำนวน 2 หน่วยฯ คือ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดเชียงใหม่ เปิดหน่วยฯ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2561 เป็นต้นไป หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดพิษณุโลก เปิดหน่วยฯ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2561 เป็นต้นไป ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 1 หน่วยฯ คือ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดขอนแก่น เปิดหน่วยฯ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2561 เป็นต้นไป ภาคกลาง จำนวน 2 หน่วยฯ คือ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดนครสวรรค์ เปิดหน่วยฯ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2561 เป็นต้นไป หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดกาญจนบุรี เปิดหน่วยฯ ตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม 2561 เป็นต้นไป ภาคตะวันออก จำนวน 1 หน่วยฯ คือ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดจันทบุรี เปิดหน่วยฯ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม2561 เป็นต้นไป ภาคใต้ จำนวน 1 หน่วยฯ คือ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงหัวหิน เปิดหน่วยฯ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2561 เป็นต้นไป

นายสุรสีห์กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการปฏิบัติการฝนหลวง ยังมีความร่วมมือจากหน่วยงานร่วมบูรณาการที่เกี่ยวข้องด้วย อาทิ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สนับสนุนน้ำแข็งแห้งในการปฏิบัติการฝนหลวง กรมชลประทานและกรมป่าไม้ เรื่องบริหารจัดการน้ำและการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ การวิจัยพัฒนาจรวดดัดแปรสภาพอากาศ กับสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ดำเนินโครงการอากาศยานไร้คนขับ UAV กับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ การสนับสนุนข้อมูลเกี่ยวกับงานวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง กับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง การดำเนินงานเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่ใช้สนับสนุนการปฏิบัติการฝนหลวง เกี่ยวกับการดัดแปรสภาพอากาศโดยพลุสารดูดความชื้นและพลุสารซิลเวอร์ไอโอไดร์กับกองทัพอากาศ และการวิจัยสารฝนหลวงทางเลือก กับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย เป็นต้น

ทั้งนี้ การดำเนินการปฏิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้ง และบรรเทาปัญหาภัยพิบัติต่างๆ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร พร้อมเคียงข้างประชาชนเพื่อต่อสู้กับปัญหาภัยแล้ง การขาดแคลนน้ำ ปัญหาหมอกควัน และไฟป่า รวมถึงการยับยั้งพายุลูกเห็บ โดยจะมุ่งมั่นทุ่มเทอย่างสุดความสามารถในการปฏิบัติภารกิจ และ จะพัฒนาเทคโนโลยีฝนหลวง ซึ่งเป็นศาสตร์

พระราชาที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระราชทานไว้ให้ นำมาช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร ป่าไม้ และประชาชนคนไทยให้รอดพ้นจากความทุกข์ยากอย่างยั่งยืน

จาก www.naewna.com วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2561

KTIS ควง GGC โรดโชว์ญี่ปุ่น

KTIS ควง GGC ออกเชิญชวนนักลงทุนทั่วโลกร่วมโครงการไบโอคอมเพล็กซ์ เริ่มจากประเทศญี่ปุ่น เผยเสียงตอบรับดีเกินคาด มั่นใจเมื่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานรองรับเรียบร้อย นักลงทุนต่างชาติจะเข้ามาลงทุน สร้างผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย อีกทั้งจะมีการจ้างแรงงานเพิ่ม และยังเสริมสร้างความมั่นคงให้กับเกษตรกร           

นายณัฎฐปัญญ์  ศิริวิริยะกุล  รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เปิดเผยว่า โครงการไบโอคอมเพล็กซ์ (Biocomplex) ที่จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเกิดจากการร่วมลงทุนของ 2 ฝ่ายคือกลุ่ม KTIS และ GGC (บมจ.โกลบอลกรีนเคมิคอล) ฝ่ายละเท่าๆ กัน คือร้อยละ 50 ขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบทางวิศวกรรมขั้นสุดท้าย เพื่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานรองรับโครงการในเฟสที่ 1 และเฟสที่ 2 บนพื้นที่โครงการรวมประมาณ 2,000 ไร่ โดยใช้สำหรับเฟส 1 ประมาณ 1,000 ไร่

"โครงการนี้ไม่ได้มีเฉพาะโรงงานของกลุ่ม KTIS และ GGC แต่จะมีโรงงานผลิตภัณฑ์ชีวภาพของผู้ลงทุนอื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศที่เข้ามาใช้ระบบสาธารณูปโภคของโครงการ และใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในเฟสแรกคือเอทานอล ไอน้ำ และไฟฟ้า ในการสร้างผลิตภัณฑ์ต่อยอดอื่นๆ ดังนั้น ผู้บริหารและทีมงานของ KTIS และ GGC จึงได้ออกไปแนะนำโครงการไบโอคอมเพล็กซ์เพื่อเชิญชวนนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุน โดยประเทศแรกที่ไปคือประเทศญี่ปุ่น ซึ่งผลปรากฏว่าได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากเกินความคาดหมาย"  นายณัฎฐปัญญ์ กล่าว            

ทั้งนี้ จุดเด่นของโครงการไบโอคอมเพล็กซ์ที่จังหวัดนครสวรรค์คือ ตั้งอยู่ในแหล่งศูนย์กลางวัตถุดิบหลักคืออ้อย และมีผลิตภัณฑ์ตั้งต้นอย่างเอทานอล และพลังงานไฟฟ้าและไอน้ำจากเชื้อเพลิงชีวมวล ที่สามารถส่งเข้าโรงงานอื่นๆ ที่จะมาตั้งในไบโอคอมเพล็กซ์ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว อีกทั้งยังไม่ไกลจากกรุงเทพมหานคร ทำให้มีความสะดวกในการขนส่งผลิตภัณฑ์ชีวภาพไปยังพื้นที่ต่างๆ ในประเทศ รวมทั้งส่งออกไปต่างประเทศด้วย

"โครงการไบโอคอมเพล็กซ์ที่จะเกิดขึ้นที่จังหวัดนครสวรรค์นี้ จะเป็นประโยชน์อย่างมากกับเศรษฐกิจของไทย    เพราะที่ผ่านมา ประเทศไทยมีความได้เปรียบทางด้านวัตถุดิบทางการเกษตรและความหลากหลายทางชีวภาพ   แต่ผลิตภัณฑ์ที่ออกมานั้นยังเป็นผลิตภัณฑ์ขั้นพื้นฐานซึ่งมีมูลค่าค่อนข้างต่ำ โครงการไบโอคอมเพล็กซ์ ซึ่งอยู่ภายใต้แนวนโยบายการสร้างเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เป็นโครงการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ต่อยอดที่มีมูลค่าสูงขึ้น จะส่งผลให้มูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศสูงขึ้นด้วย รายได้ของเกษตรกรก็จะสูงขึ้น เกษตรกรจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โครงการลงทุนต่างๆ จะก่อให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น ชุมชนใกล้เคียงก็จะมีเศรษฐกิจและสภาพความเป็นอยู่ดีขึ้นด้วยเช่นกัน" รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่ม KTIS กล่าว

จาก www.banmuang.co.th  วันที่ 8 มีนาคม 2561

เฝ้าระวังโลกร้อนกระทบคุณภาพน้ำ กรมชลนำร่องเก็บข้อมูล4อ่างเพิ่มประสิทธิภาพบริหารจัดการ

กรมชลประทานเฝ้าระวังภาวะโลกร้อนส่งผลต่อคุณภาพน้ำ สั่งติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อเป็นข้อมูลช่วยตัดสินใจในการใช้น้ำ และการบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด นำร่อง 4 อ่างฯ ก่อนขยายผลไปทั่วประเทศ

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) หรือที่รับทราบกันว่าภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน นอกจากจะส่งผลกระทบต่อปริมาณฝนที่ไม่มีความแน่นอน ฤดูกาลเปลี่ยนแปลงไป ทำให้การบริหารจัดการน้ำค่อนข้างยากขึ้น จะต้องมีการวางแผนรองรับอย่างรอบคอบแล้ว ยังจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำด้วย เช่น อุณหภูมิโลกที่ร้อนขึ้นทำให้น้ำระเหยเร็ว ค่าความเค็มของน้ำจะเพิ่มขึ้น หรือปริมาณน้ำฝนจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงทำให้คุณภาพของน้ำเปลี่ยนไปเช่นกัน ซึ่งอาจจะเหมาะสม หรือไม่เหมาะกับการปลูกพืชบางชนิด เป็นต้น กรมชลประทานจึงได้สั่งการให้ทำการติดตามการเปลี่ยนแปลงคุณภาพของน้ำในอ่างเก็บน้ำที่ความสำคัญต่อภาคการเกษตร โดยระยะแรกได้นำร่องดำเนินการในพื้นที่ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำนางรอง ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำลำนางรอง อ่างเก็บน้ำคลองมะนาว อ่างเก็บน้ำลำจังหัน และอ่างเก็บน้ำลำปะเทีย จังหวัดนครราชสีมาและบุรีรัมย์ ตลอดทั้งปี หลังจากนั้นจะขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ

นายธนา สุวัฑฒน ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา กล่าวว่า กรมชลประทานได้ทำการติดตามการเปลี่ยนแปลงคุณภาพของน้ำในอ่างเก็บน้ำทั้ง 4 แห่ง ดังกล่าวอย่างต่อเนื่องตามแผนการส่งน้ำแก่เกษตรกรทุกฤดูกาลเป็นเวลา 2 ปี พบว่า น้ำมีความอุดมสมบูรณ์สูง เหมาะกับการนำไปใช้ปลูกพืชแทบทุกชนิด รวมถึงการทำประมง สามารถนำไปใช้ได้ในทุกกิจกรรมทางชลประทาน แต่ปริมาณน้ำในอ่างฯ ทั้ง 4 มีค่าดัชนีชี้วัดที่ตรงกันคือ ค่าความเค็ม ที่สูงกว่าภูมิภาคอื่นๆ แต่ยังไม่มีผลต่อการเกษตรกรรม และ Climate Change ยังไม่มีผลกระทบที่ชัดเจนต่อภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม หากวันหนึ่งสภาวะโลกที่เปลี่ยนแปลงส่งผลต่อคุณภาพน้ำจากอ่างเก็บน้ำชลประทาน อาจมาในรูปแบบที่ไม่มีผลกระทบต่อการเกษตร แต่มีผลต่อการอุปโภค-บริโภค เช่น มีแร่ธาตุบางชนิดมากเกินไป หรือในรูปแบบอื่นๆ กรมชลประทานก็จะสามารถเตือนเกษตรกร และประชาชนได้ทันการณ์ ดังนั้น การติดตามเฝ้าระวังช่วยให้กรมชลประทานได้รับรู้สภาพน้ำและนำน้ำไปใช้อย่างถูกต้อง ลดความเสี่ยงจากความเสียหาย ประหยัดน้ำและงบประมาณ ทำให้การใช้น้ำเกิดประสิทธิภาพ และที่สำคัญที่สุด คือความปลอดภัยต่อน้ำดื่มน้ำใช้ที่ประชาชนใช้ในการอุปโภคบริโภค” นายธนา กล่าว

นอกจากนี้ การติดตามและเฝ้าระวังอย่างเป็นระบบด้วยการคำนวณทางคณิตศาสตร์ ยังจะช่วยดูแลคุณภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำตามยุทธศาสตร์ของกรมชลประทานได้เป็นอย่างดี ในอนาคตกรมชลประทานจะมีการพัฒนาเครื่องมือวัดค่าคุณภาพน้ำแบบหัวรวม ใช้อ่านค่าดัชนีที่สำคัญของน้ำในเบื้องต้น เหมาะกับนำไปใช้อ่านค่าคุณภาพน้ำแบบทันต่อสถานการณ์ โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำสำคัญที่ต้องส่งน้ำให้กับพืชเศรษฐกิจ

สำหรับการติดตามการเปลี่ยนแปลงคุณภาพน้ำในพื้นที่ดังกล่าว จะขยายผลดำเนินงานในทุกภูมิภาคของประเทศ คาดว่าภูมิภาคต่อไปจะเป็นภาคตะวันออกของประเทศไทย

จาก www.naewna.com  วันที่ 8 มีนาคม 2561

KTIS คาดกำไรปีนี้ดีกว่าปี 60 ตามปริมาณอ้อยเข้าหีบเพิ่ม เดินหน้าเพิ่มรายได้ธุรกิจนอกเหนือน้ำตาล

บมจ.เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น (KTIS) คาดกำไรในปี 61 จะดีกว่าในปี 60 ที่มีกำไรสุทธิ  645.49 ล้านบาท เป็นการเติบโตตามปริมาณอ้อยเข้าหีบได้เพิ่มขึ้นเป็น 9.7-9.8 ล้านตัน จากปีที่แล้วหีบอ้อยได้ 8.7 ล้านตัน ขณะที่บริษัทตั้งเป้าในปี 63 จะมีสัดส่วนรายได้ธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำตาลปรับขึ้นมาประมาณ 40% จาก 29% โดยจะเน้นเพิ่มผลิตภัณฑ์ที่มีมาร์จิ้นสูง นอกจากนี้บริษัทคาดจะเริ่มลงทุนโครงการไบโอคอมเพล็กซ์ร่วมกับบมจโกลบอลกรีนเคมิคอล (GGC) ในปี 62 จะใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 2 ปี

นายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KTIS กล่าวว่า บริษัทคาดว่ากำไรสุทธิปีนี้จะดีกว่าปีก่อนที่มีกำไร 645.49 ล้านบาท ตามปริมาณการหีบห้อยของบริษัทฯปีนี้ที่คาดว่าจะขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 9.7-9.8 ล้านตัน จากปีก่อน 8.7 ล้านตัน ตามที่คาดว่าปริมาณอ้อยเข้าหีบของอุตสาหกรรมน้ำตาลทั้งระบบในปีนี้จะสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 115 ล้านตัน จากปีก่อน 94 ล้านตัน ขณะที่คาดว่าราคาน้ำตาลเฉลี่ยในปีนี้จะอยู่ในระดับ 13-15 เซนต์ต่อปอนด์ ใกล้เคียงปัจจุบันที่ 13-14 เซนต์ต่อปอนด์

ภาพรวมอุตสาหกรรมน้ำตาลในปีนี้ได้รับปัจจัยบวกเกี่ยวจากผลผลิตของบราซิลตอนใต้ที่ปรับเปลี่ยนนำไปผลิตเป็นเอทานอลมากขึ้น เพราะได้ราคาดีขึ้น ขณะที่ราคาน้ำตาลยังอยู่ในระดับต่ำ จึงช่วยลดปริมาณน้ำตาลในตลาดโลกลงหนุนราคาน้ำตาลให้ปรับตัวดีขึ้น รวมถึงการมีฝนตกค่อนข้างมาก ทำให้บางประเทศเก็บเกี่ยวอ้อยได้ช้าลงหรือคุณภาพที่ไม่ดี ทำให้ปริมาณอ้อยไม่ล้นตลาด

นอกจากนี้ บริษัทยังเดินหน้าเพิ่มสัดส่วนรายได้จากธุรกิจอื่นที่ไม่ใช่น้ำตาลให้มีสัดส่วนสูงขึ้นเป็น 40% ภายในปี 63 จากปัจจุบันอยู่ในระดับ  29% แต่ธุรกิจอื่นที่ไม่ใช่น้ำตาลมีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 24% ขณะที่ธุรกิจน้ำตาลมีอัตรากำไรขั้นต้นเพียง 16-17% ซึ่งบริษัทพยายามจะเพิ่มสัดส่วนธุรกิจอื่นๆ เพื่อทำให้กำไรบริษัทดีขึ้น โดยปัจจุบันบริษัทมีธุรกิจเยื่อกระดาษ เอทานอล และธุรกิจไฟฟ้า เป็นต้น

สำหรับโครงการไบโอคอมเพล็กซ์ซึ่งเป็นโครงการร่วมทุนระหว่าง KTIS กับ บมจ.โกลบอลกรีนเคมิคอล (GGC) โดยมีสัดส่วนถือหุ้นรายละ 50% มูลค่าโครงการกว่า 20,000 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 62 และใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปี  ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดนครสวรรค์ เป็นแหล่งศูนย์กลางวัตถุดิบหลัก คือ อ้อย และผลิตภัณฑ์ตั้งต้นอย่าง เอทานอล พลังงานไฟฟ้า ไอน้ำเชื้อเพลิงชีวมวล ที่สามารถส่งเข้าสู่โรงงาน โดยที่ผ่านมาได้เดินทางไปนำเสนอข้อมูลหานักลงทุนที่ญี่ปุ่น ซึ่งมีผู้สนใจเข้าลงทุนเกินกว่าความคาดหมาย

จาก http://www.ryt9.com  วันที่ 8 มีนาคม 2561

‘อีอีซี’ปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเติบโตปีละ 5%

เมื่อสัปดาห์ก่อนทางบริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ร่วมกับโครงการปริญญาเอก (X-DBA) รุ่น 3 คณะบริหารธุรกิจมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตระยอง จัดงานสัมมนา“EECขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอนาคตใหม่ที่ยั่งยืน” เพื่อให้นักศึกษาและประชาชนทั่วไป มีความรู้ ความเข้าใจในการขับเคลื่อนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี

++ปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่

โดยนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ชี้ให้เห็นว่า การพัฒนาอีอีซีเป็นโครงการที่สำคัญของรัฐบาล ในการปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ที่ทุกภาคส่วนจะร่วมกันทำงาน โดยอีอีซีจะเกิดไม่ได้หากจะทำเฉพาะเรื่องอุตสาหกรรม หรือเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม รวมถึงเรื่องท่าเรือ และการขนส่ง แต่จะต้องขับเคลื่อนโดยองค์รวม ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นโครงการที่มีความซับซ้อนแต่หากสามารถทำได้ผลประโยชน์จะเกิดขึ้นโดยรวม

ปัจจุบันไทยถือเป็นประเทศที่ได้รับความสนใจในแง่ของการลงทุน รวมถึงเศรษฐกิจอุตสาหกรรมอย่างมากในเอเชีย และอาเซียน ด้วยตำแหน่งที่ตั้งของประเทศ ซึ่งเสมือนเป็นประตูสู่เอเชีย และอาเซียน เพียงแต่จะใช้ความได้เปรียบดังกล่าวนี้ให้เป็นประโยชน์สูงสุดได้อย่างไร อีกทั้ง ยังมีความพร้อมเรื่องของเศรษฐกิจ รวมถึงมีแผนหรือยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน ที่จะก้าวไปสู่ประเทศไทย 4.0 ในทิศทางเดียวกัน

นอกจากนี้โครงการอีอีซี จะเป็นการแก้ไขปัญหาสะสมของประเทศ ให้หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางซึ่งจะต้องเป็นเศรษฐกิจที่มีพลังแห่งนวัตกรรม สร้างมูลค่าในระดับสูง อีกทั้ง ยังช่วยลดเรื่องความเหลื่อมลํ้าทางสังคม พร้อมแก้ปัญหาการพัฒนาเชิงพื้นที่ อย่างครอบคลุมและเป็นระบบให้กระจายออกไป โดยเริ่มจากชุมชน ทั้งนี้ ล่าสุดพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ

++เชื่อมเดินทางแบบไร้รอยต่อ

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า เมื่ออีอีซีพัฒนาจนประสบความสำเร็จ จะเป็นเสมือนส่วนหนึ่งของกรุงเทพฯ โดยกระทรวงคมนาคมจะรับผิดชอบเรื่องโครงสร้างพื้นฐานซึ่งประกอบด้วยการคมนาคม 4 รูปแบบ ได้แก่ 1.ระบบรถยนต์ โดยจะมีถนนมอเตอร์เวย์ 2.ระบบราง 3.ระบบเรือ และ4.ทางอากาศ ซึ่งทุกรูปแบบจะมีการแบ่งเป็นผู้ให้บริการ (Operator) และผู้ควบคุม (Regulator) เพื่อทำให้เกิดการเดินทางแบบไร้รอยต่อ ที่จะต้องเชื่อมโยงทั้งการเดินทางทางบกนํ้า อากาศและเตรียมความพร้อมให้พื้นที่อีอีซี รองรับการขยายตัวของความเจริญที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ที่จะทำให้ประเทศไทย ได้เปรียบในการเป็นจุดเชื่อมโยงของเอเชีย ยกระดับโลจิสติกส์ เพิ่มขีดความสามารถทางด้านระบบคมนาคมขนส่งให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

++เชื่อดันเศรษฐกิจไทยโต 5%

ขณะที่นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคพิเศษตะวันออก(กนศ.) สะท้อนว่า อีอีซี เป็นการนำพื้นที่ 3 จังหวัดมาวางแผนร่วมกันเพื่อทำการพัฒนาเชิงพื้นที่ รวมถึงการศึกษา สิ่งแวดล้อม และการดูแลชุมชนไปพร้อมกัน ให้ขึ้นมาอยู่ในระดับแนวหน้าของโลก โดยสุดท้ายแล้วอีอีซีจะเป็นฐานการสะสมการลงทุน และเทคโนโลยีสำหรับเยาวชนไทยในอนาคต ซึ่งเชื่อว่าการลงทุนดังกล่าวจะทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีของไทยเติบโตได้จาก3%เป็น 10% หลังจากที่ไม่ได้มีการลงทุนอย่างจริงจังมาเป็นระยะเวลานานจากปัญหาภายในประเทศโดยจะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเฉลี่ยได้ 5% ต่อปีได้

โดยปัจจุบันมีการดำเนินการเรื่องแผนการศึกษาเสร็จเรียบร้อยแล้ว จากผลสำรวจพบว่าผู้ที่จบปริญญาตรีในพื้นที่อีอีซีและไม่มีงานทำ หรือทำงานไม่ตรงกับสาขาที่เรียนมาจำนวนถึง 32% รวมถึงขาดช่างฝีมือและผู้ที่มีความรู้ความสามารถที่จะเป็นช่างที่มีคุณภาพประมาณ 5 หมื่นคน โดยคำถามหนึ่งที่สำคัญคือเมื่อมีการปรับเปลี่ยนรัฐบาลแล้ว อีอีซีจะยังเดินหน้าต่อไปหรือไม่ สิ่งที่ดำเนินการไว้ก็คือการจัดทำเป็น พ.ร.บ. ซึ่งคณะกรรมการนโยบายฯจะยังคงอยู่ไม่ว่าผู้ใดเป็นนายกรัฐมนตรีก็จะมีตำแหน่งเป็นประธาน แต่ทั้งนี้ ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าประชาชนในพื้นที่ต้องการหรือไม่ด้วย

++ใช้ดิจิตอลกับเกษตร

นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลกล่าวว่า ชุมชนของพื้นที่3จังหวัดมีการเกษตรกันจำนวนมากฉะนั้นจะต้องประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิตอลเพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นนอกจากนี้จะต้องมีการสร้าง Startup แบบถูกจุดและต้องขยายผลต่อได้ จึงได้มีการสร้างสถาบันIOTขึ้น เพื่อเป็นพื้นที่ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ และเกิดการจับคู่ธุรกิจขึ้น

อย่างไรก็ตาม โจทย์ใหญ่ที่สำคัญไม่แพ้กันที่ต้องเร่งพัฒนาคือเรื่องของทรัพยากรบุคล เนื่องจากบุคลากรไทยที่เข้าใจหรือพัฒนาด้านดิจิตอลมีไม่มาก เพราะระบบการศึกษาไม่สอดรับกับธุรกิจดิจิตอลยุคใหม่ แม้ว่าจากรายงานผลสำรวจจะพบว่าเยาวชนไทยมีการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์ได้จำนวนมาก แต่ประเด็นก็คือไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้โดยมีสัดส่วนการใช้งานประเภทเกมมากที่สุด ดังนั้น จึงต้องหาแนวทางในการแก้ปัญหาอย่างจริงจังและดำเนินการให้มีการพัฒนาบุคลากรทางด้านดังกล่าวนี้อย่างเพียงพอ

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 8 มีนาคม 2561

ค่าบาท 'ทรงตัว' รอปัจจัยใหม่

บาทเปิดตลาดเช้านี้ทรงตัว "31.34 บาทต่อดอลลาร์" ตลาดยังรอปัจจัยใหม่

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ที่31.34บาทต่อดอลลาร์ ใกล้เคียงช่วงปิดตลาดวันก่อนหน้าอยู่ที่ 31.32-31.33 บาทต่อดอลลาร์

มองว่า ระหว่างวันยังไม่มีปัจจัยอะไรสำคัญมากที่จะมีผลต่อตลาด โดยต้องรอดูการประกาศตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร

ในวันนี้มองเงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 31.30 -31.40 บาทต่อดอลลาร์

จาก www.bangkokbiznews.com    วันที่ 8 มีนาคม 2561

ม.ขอนแก่น พัฒนาเครื่องวัดคุณภาพอ้อยแบบพกพา

 ผศ.ดร.ขวัญตรี  แสงประชาธนารักษ์  อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเกษตร  คณะวิศวกรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยภายหลัง จัดแสดงผลงานและทดลองใช้ เครื่องเดโมตรวจวัดคุณภาพและศักยภาพของอ้อยแบบพกพาสมบูรณ์ ว่า เครื่องดังกล่าวสามารถใช้ในแปลงไร่อ้อยได้โดยไม่ต้องตัดต้นอ้อย เพียงแค่เจาะเข้าไปในลำต้นอ้อยก็สามารถวัดค่าต่างๆที่ต้องการได้  ทั้งค่า ค่าโพล (ปริมาณร้อยละโดยน้ำหนักของน้ำตาลซูโครสที่ละลายอยู่ในน้ำอ้อย) ค่าบริกซ์ (ปริมาณร้อยละโดยน้ำหนักของของแข็งทั้งหมดที่ละลายอยู่ในน้ำอ้อย) และค่าไฟเบอร์หรือเปอร์เซ็นต์เส้นใยอ้อย (ชานอ้อย) ซึ่งค่าต่างๆเหล่านี้สามารถนำไปคำนวณค่า ซีซีเอส (CCS)หมายถึงปริมาณน้ำตาลที่มีอยู่ในอ้อย ที่สามารถหีบสกัดออกมาเป็นน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ได้ ทั้งนี้ ราคาอ้อยถูกกำหนด จากคณะกรรมการตาม พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 โดยอิงกับค่าซีซีเอส      

สำหรับความสามารถของเครื่องนี้  มีขนาดเล็ก  พกพาได้สะดวก  มีความคล่องตัวสูง  สามารถวัดได้อย่างรวดเร็ว  ด้วยเวลาเพียง 5  วินาที  วัดลำอ้อยได้โดยตรงไม่ต้องตัดทำลายตัวอย่างอ้อย  วัดคุณภาพอ้อยได้ทั้งค่าบริกซ์  โพล  ไฟเบอร์  และซีซีเอส  หรือ อาจกล่าวว่า  วัดค่าความหวาน   ไฟเบอร์และน้ำตาลของอ้อย  และในอนาคตจะมีการพัฒนาต่อเนื่องอีกเรื่อย ๆ  อาทิ  ให้สามารถวัดค่าพลังงานจากอ้อยได้    ซึ่งสามารถทำนายค่าพลังงานแปลงใหญ่ ๆ ให้ได้ค่าตรงกับสภาพจริงมากกว่าการใช้โดรนทำนาย  เป็นต้น  นอกจากนี้  ยังช่วยให้การวางแผนการจัดการไร่อ้อย การเก็บเกี่ยวแบบแปลงรวมได้อย่างเหมาะสม   สามารถวางแผนขั้นตอนการเก็บเกี่ยว   หรือคัดเลือกพันธุ์ได้ตรงกับความต้องการตลาด เพื่อประโยชน์ในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในอีสาน เช่น การพัฒนาสายพันธุ์เพื่อผลิตพลังงานโดยเฉพาะฯลฯ  

โครงการนี้เป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง ภาควิชาวิศวกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยริวกิว และ บริษัท เอชเอ็นเค เอนจิเนียร์ริ่ง จำกัด ประเทศญี่ปุ่น มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเครื่องวัดคุณภาพอ้อยแบบพกพา ที่สามารถวัดค่าซี.ซี.เอส. (C.C.S.) ของอ้อยได้โดยไม่ต้องตัดหรือเจาะทำลายอ้อย  ช่วยให้นักพัฒนาพันธุ์อ้อยสามารถตรวจวัดและศึกษาพฤติกรรมการสะสมน้ำตาลและการสะสมน้ำหนักของพันธุ์อ้อยที่พัฒนาแต่ละลำในแต่ละช่วงอายุ ซึ่งจะช่วยทำให้ได้พันธุ์อ้อยที่มีคุณภาพสูงขึ้น โดยใช้เวลาการพัฒนาพันธุ์ที่สั้นลง และสามารถนำไปใช้ในการสร้างแผนที่ผลผลิต เพื่อช่วยในการวิเคราะห์สาเหตุของผลผลิตต่ำและนำไปสู่การแก้ปัญหาเพื่อเพิ่มผลผลิตอ้อยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถนำไปใช้ในการประเมินผลผลิตของรอบปี เพื่อประกอบการทำสัญญาซื้อขายน้ำตาลล่วงหน้า ตลอดจนสามารถนำไปใช้ในการวัดคุณภาพและน้ำหนักอ้อยในแปลง เพื่อสนับสนุนการเก็บเกี่ยวอ้อยแบบรวมแปลง ซึ่งช่วยลดต้นทุนการผลิตอ้อยตามแนวทางเกษตรแปลงใหญ่อีกด้วย

สำหรับกลุ่มผู้ผลิตอ้อยและน้ำตาล  ที่มีศักยภาพ สามารถมาทดลองใช้งานเครื่องจริงได้ฟรี  ไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร.09-9420 -0594

จาก www.banmuang.co.th  วันที่ 7 มีนาคม 2561

กรมสอบสวนคดีพิเศษลงพื้นที่ จ.ตาก เพื่อบันทึกถ้อยคำและรวบรวมหลักฐานช่วยเหลือชาวไร่อ้อยที่ตกเป็นหนี้สินกับบริษัทเอกชน

วันนี้ (7 มี.ค.61) พ.ต.ท.ศุภชัย ไชยศิริ หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม ลงพื้นที่ จ.ตาก เพื่อบันทึกถ้อยคำชาวไร่อ้อยในพื้นที่ อ.แม่ระมาด จำนวน 5 ราย ซึ่งได้รับผลกระทบ จากการไปทำสัญญากับบริษัทเอกชนรายหนึ่งทำให้ตกเป็นหนี้สินจากการค้ำประกันสัญญา ยอดชำระหนี้ไม่รวมดอกเบี้ย 1,500,000 บาท นอกจากนี้ ยังมีชาวไร่อ้อยในพื้นที่ อ.พบพระ อีกประมาณ 53 ราย ที่ถูกบริษัทเรียกให้ชำระหนี้จากการนำปัจจัยการผลิตไปใช้ล่วงหน้าเดินทางมาให้ถ้อยคำกับเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษเพิ่มเติมอีกด้วย

สำหรับการลงพื้นที่ครั้งนี้เจ้าหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษได้บันทึกถ้อยคำจากผู้เสียหายและรวบรวมหลักฐานเพื่อตรวจสอบว่า สัญญาฯที่บริษัทเอกชนทำขึ้นมาเป็นธรรมกับเกษตรกรหรือไม่ ก่อนที่จะสรุปข้อมูลนำเสนอให้คณะกรรมการคดีพิเศษเพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือต่อไป

จาก thainews.prd.go.th   วันที่ 7 มีนาคม 2561

จ.อุดรธานี พร้อมขับเคลื่อนสู่การเป็นผู้นำการพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำตาล หลังเปิดบ้านจัดประชุม IAPSIT International Sugar Conference-IAPSIT 2018 Thailand

นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เปิดเผยหลังจังหวัดอุดรธานีเป็นเจ้าภาพจัดประชุมนักวิชาชีพน้ำตาลและเทคโนโลยีบูรณาการระหว่างประเทศ ครั้งที่ 6 หรือ IAPSIT International Sugar Conference-IAPSIT 2018 Thailand ว่า การประชุมครั้งนี้จะเป็นโอกาสดีในการพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำตาลของจังหวัดอุดรธานี อีกทั้งยังเป็นการเผยแพร่องค์ความรู้และสร้างเครือข่ายด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำตาล พร้อมสนับสนุนโอกาสเพื่อพัฒนากลุ่มนักวิจัยรุ่นใหม่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมน้ำตาล ซึ่งจังหวัดอุดรธานี พร้อมขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพและได้มาตรฐาน สร้างระบบการทำงานด้านอุตสาหกรรมน้ำตาลที่ชัดเจน

ด้าน นายฐานวัฒน์ ธนาธัญญพิศญ์ เกษตรจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า การประชุมนักวิชาชีพน้ำตาล ระดับนานาชาติครั้งนี้ มีผู้บริหาร นักวิจัยและพัฒนา ผู้ประกอบการ และชาวไร่อ้อยจากอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล รวมกว่า 13 ประเทศ จำนวน 213 คน เข้าร่วมการประชุม จัดโดยสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย ร่วมกับภาคีเครือข่าย ณ โรงแรมเจริญโฮเต็ล จ.อุดรธานี ทั้งนี้ จังหวัดอุดรธานี เป็นจังหวัดเดียวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีโรงงานอุตสาหกรรมผลิตน้ำตาลถึง 4 โรงงาน มากเป็นอันดับ 3 ของประเทศ รองจากจังหวัดกาญจนบุรี และจังหวัดชลบุรี

จาก thainews.prd.go.th   วันที่ 7 มีนาคม 2561

เกาะติดอีอีซี : เร่งต่อยอดการลงทุน

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC) กล่าวว่า หลังจากที่ PTTGC ได้เข้าเป็นผู้ถือหุ้นและร่วมบริหารบริษัทสายปิโตรเคมี ที่ได้รับโอนจาก ปตท. ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2560 ซึ่งมีโรงงานตั้งอยู่ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซีนั้น ซึ่งภารกิจแรกของบริษัท HMC Polymers (HMC),บริษัท PTT Asahi (PTTAC) และบริษัท PTTMCC Biochem (PTTMCC) เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับพันธมิตรผู้ถือหุ้นของทั้ง 3 บริษัท ในฐานะผู้ถือหุ้นใหม่ เพื่อสร้างความเข้าใจ สร้างกลยุทธ์ร่วม และนำศักยภาพของทั้ง 2 ฝ่าย มาต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ทั้ง 2 ฝ่ายร่วมกัน

โดยพีทีทีจีซี ได้กำหนดแผนงานสร้างมูลค่าเพิ่มให้เห็นผลในปี 2561 เป็นการลงทุนในธุรกิจ ABS (Acrylonitrile-Butadiene-Styrene) ซึ่งเป็นพลาสติกที่สำคัญใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า

ส่วนบริษัท HMC จะเพิ่มศักยภาพการขายและเข้าถึงลูกค้าของ PTTGC มากขึ้น ขณะที่บริษัท PTTMCC ผู้ผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพ PBS (Poly Butylene Succinate) จะเร่งหาตลาดที่เหมาะสม เพื่อสร้างยอดขาย

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 7 มีนาคม 2561

สศก.ร่วมเวที RCEP-TNC  ดันสินค้าเกษตรส่งออกสมาชิก

สศก.ร่วมเวทีเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP-TNCอินโดนีเซีย ดันสินค้าเกษตรส่งออกประเทศ

             7 มี.ค.61 นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการประชุมคณะกรรมการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership - Trade Negotiating Committee: RCEP-TNC) ครั้งที่ 21 ซึ่ง สศก. ในฐานะผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เข้าร่วมเจรจาภายใต้คณะทำงานการค้าสินค้า (Trade in Goods) เพื่อพิจารณารูปแบบและรายการสินค้าเกษตรของไทยทั้งรายการที่สามารถเปิดตลาดและสินค้าอ่อนไหวภายใต้ความตกลง RCEP  ที่ประเทศอินโดนีเซีย

           โดยกล่าวว่า ฝ่ายไทย  มีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์เป็นหัวหน้าคณะเจรจา ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง กระทรวงต่างประเทศ เป็นต้น พร้อมด้วยประเทศสมาชิก ASEAN 10 ประเทศ และประเทศคู่เจรจาอาเซียน (ASEAN FTA Partner: AFP) รวม 6 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

           การประชุมครั้งนี้ ประเทศสมาชิก RCEP ได้ยื่นข้อเสนอรายการปรับปรุงการเปิดตลาด (Improved Second Offer) แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) ประเทศที่มีสัดส่วนการเปิดตลาด มากกว่าร้อยละ 90 คือ ฟิลิปปินส์ บรูไนดารุสซาลาม สิงคโปร์ ออสเตรเลีย และจีน  2) ประเทศที่มีสัดส่วนการเปิดตลาดอยู่ระหว่าง ร้อยละ 85-89 คือ ไทย นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา กัมพูชา และญี่ปุ่น และ 3) ประเทศที่มีสัดส่วนการเปิดตลาดน้อยกว่าร้อยละ 84 คือ เวียดนาม และอินเดีย อย่างไรก็ตาม การประชุมครั้งนี้อาเซียนได้เร่งผลักดันให้มีการเปิดตลาดสินค้ามากยิ่งขึ้นที่ร้อยละ 92 ของจำนวนรายการสินค้าทั้งหมดและมูลค่าทั้งหมด ซึ่งประเทศสมาชิกได้มีความพยายามที่จะบรรลุเป้าหมายให้เข้าใกล้ระดับการเปิดตลาดสินค้าตามข้อเสนออาเซียน

           หากพิจารณาเฉพาะรายการสินค้าเกษตรที่ประเทศคู่เจรจา RCEP เปิดตลาดให้ไทย พบว่า มีสินค้าที่สามารถเปิดตลาดมากกว่าความตกลงการค้าเสรีอาเซียน+1 ดังนี้ อินเดีย (สินค้าชา) ญี่ปุ่น (สินค้าประมง ผัก ผลไม้ เครื่องดื่ม เนื้อสัตว์แปรรูป น้ำมันเมล็ดพืช ไหม) เกาหลีใต้ (สินค้าประมง เนื้อสัตว์ปรุงแต่ง) นอกจากนี้ อาเซียนได้ยื่นข้อเสนอรูปแบบการเปิดตลาดสินค้าอ่อนไหวส่วนที่เหลือร้อยละ 8   ให้ประเทศสมาชิก RCEP พิจารณา ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องหารือร่วมต่อไป 

            สำหรับการประชุม RCEP นับได้ว่าเป็นความตกลงการค้าเสรีระดับภูมิภาคขนาดใหญ่ และเป็นความตกลงแบบองค์รวม (Comprehensive Agreement) ที่มีมาตรฐานสูง ครอบคลุม เรื่องที่เกี่ยวกับกฎระเบียบและกฎเกณฑ์ในการค้าต่าง ๆ มีเป้าหมายเร่งการเปิดตลาดการค้าสินค้าระหว่างกันให้ได้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้มูลค่าการค้าภายใต้ความตกลงสูงกว่าความตกลงการค้าเสรีอาเซียน+1 และผลักดันให้ไทยเร่งพัฒนาศักยภาพและขยายโอกาสในการส่งออกสินค้าของไทย รวมถึงการลดอุปสรรคทางการค้าทั้งภาษีและมิใช่ภาษีระหว่างประเทศสมาชิก

           ทั้งนี้ สศก. จะผลักดันให้สินค้าเกษตรที่มีศักยภาพของไทย (อาทิ ข้าว มันสำปะหลัง ไก่ กุ้ง น้ำตาล สินค้าแปรรูป) สามารถขยายตลาดส่งออกไปยังประเทศสมาชิก RCEP ได้มากขึ้น โดยลด/ยกเลิกภาษีนำเข้าที่เป็นอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน สำหรับสินค้าอ่อนไหว ที่ไทยอาจได้รับผลกระทบหากเปิดตลาดจะทยอยลดภาษีโดยให้มีระยะเวลาการปรับตัวของเกษตรกรเพื่อรองรับการเปิดตลาดในอนาคตหรือขอสงวนการเปิดตลาดต่อไป โดยการประชุม RCEP-TNC ครั้งที่ 22 จะจัดขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคม 2561 ณ ประเทศสิงคโปร์

จาก www.komchadluek.net   วันที่ 7 มีนาคม 2561

ฝนหลวงฯ เจ๋ง!! จัดทำระบบแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์ด้านการเตือนภัยพิบัติทางธรรมชาติ

เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2561 นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า จากปัญหาหมอกควันและไฟป่าที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย ซึ่งทำให้เกิดฝุ่นละอองที่เป็นมลพิษ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน สิ่งแวดล้อม ตลอดจนพื้นที่การเกษตร กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ตระหนักถึงผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว พร้อมทั้งมีความห่วงใยประชาชนในพื้นที่ จึงดำเนินการปฏิบัติการฝนหลวงยับยั้งปัญหาหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะที่ ตำบลแม่ปะ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ตำบลพระบาท อำเภอเมือง ตำบลบ้านดง ตำบลแม่เมาะ อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง และตำบลนาจักร อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ อย่างเร่งด่วน

อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า จากการติดตามประกาศเตือนและการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ร่วมกับผลตรวจอากาศชั้นบนของกรมฝนหลวงฯ พบว่า สภาพอากาศในช่วงเช้าของวันที่ 6 มีนาคม 2561 พื้นที่ภาคเหนือตอนบนยังไม่มีโอกาสขึ้นทำฝน แต่จากสถานการณ์ค่าฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน (PM10) ซึ่งเกินค่ามาตรฐานในพื้นที่ 3 จังหวัดดังกล่าว หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือจังหวัดเชียงใหม่จึงได้เตรียมพร้อมติดตามสภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง หากสภาพอากาศเหมาะสมสามารถทำฝนได้ จะเร่งปฏิบัติการทำฝนสลายหมอกควันทันที

นายสุรสีห์ กล่าวว่า สำหรับการปฏิบัติการสลายลูกเห็บ กรมฝนหลวงฯ ได้วางแผนปฏิบัติการเพิ่มเติมในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ ได้บูรณาการการเฝ้าระวังการเกิดลูกเห็บร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยจะใช้เครื่องบิน Super King Air ในการปฏิบัติการยับยั้งบรรเทาภัยพิบัติจากลูกเห็บ และมีการเฝ้าระวังและติดตามการเกิดลูกเห็บทางภาคพื้น ซึ่งจะทำการแจ้งเตือนทางกรุ๊ปไลน์อาสาฝนหลวงภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งส่งข้อมูลแจ้งไปที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เกษตรและสหกรณ์จังหวัด และประชาสัมพันธ์ของแต่ละจังหวัดที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดพิบัติภัยจากพายุฤดูร้อน เพื่อเป็นการนำข้อมูลเรดาร์ตรวจอากาศของกรมฝนหลวงฯ ไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเกี่ยวกับการเตือนภัยพิบัติทางธรรมชาติต่อไป

นายสุรสีห์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของการแก้ปัญหาภัยแล้ง กรมฝนหลวงฯ ได้รับแจ้งการขอรับบริการสนับสนุนฝนหลวงในพื้นที่ภาคตะวันออก ได้แก่ พื้นที่ปลูกลำไยนอกเขตชลประทาน จำนวน 200,000 ไร่ บริเวณอำเภอสอยดาว อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี พื้นที่ปลูกพืชผักและผลไม้ จำนวน 1,000 ไร่ บริเวณอำเภอเมือง จังหวัดระยอง และพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง 2,250 ไร่ อ้อยโรงงาน 1,000 ไร่ และหญ้าเนเปียร์ 1,000 ไร่ บริเวณอำเภออรัญประเทศและอำเภอวังสมบูรณ์ จังหวัดสระแก้ว โดยหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดจันทบุรี ได้เริ่มปฏิบัติการในพื้นที่ภาคตะวันออก ตั้งแต่วันที่ 1–5 มีนาคมที่ผ่านมา ผลการปฏิบัติการพบว่า มีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลางกระจายในพื้นที่อำเภอแก่งหางแมว อำเภอเขาคิชฌกูฏ อำเภอสอยดาว และอำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี

"อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่ประสบปัญหาหมอกควัน หลีกเลี่ยงกิจกรรมในพื้นที่ที่มีหมอกควันปกคลุมหรือสวมหน้ากากอนามัย ส่วนพื้นที่ที่ประสบปัญหาพายุลูกเห็บ ขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่โล่งแจ้งหรือใต้ต้นไม้ใหญ่ และขอให้ประชาชนมั่นใจในความพร้อมของกรมฝนหลวงฯ ที่จะช่วยปฏิบัติการบรรเทาปัญหาหมอกควัน พายุลูกเห็บ ภัยแล้ง และการขาดแคลนน้ำอย่างต่อเนื่องในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ทั้งนี้ สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารได้ทางเพจ Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร หรือเว็บไซต์กรมฝนหลวงและการบินเกษตร"นายสุรสีห์ กล่าว

จาก https://www.siamrath.co.th    วันที่ 7 มีนาคม 2561

ปิดทองหลังพระ เร่งปลดหนี้เกษตรกร จับมือ 10 ภาคธุรกิจ ทำ14พื้นที่ต้นแบบ โชว์ผลงานปี 60 เกษตรกรรายได้พุ่งร้อยล้าน ด้วยศาสตร์พระราชา

ปิดทองหลังพระฯ โชว์ผลงานปี 60 เข้าไปพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ 9 จังหวัด จนชาวบ้านมีรายได้เพิ่ม 102 ล้านบาท จากการมีน้ำไปทำเกษตร โดยพัฒนาพื้นที่รับประโยชน์เพิ่ม 4.1 หมื่นไร่ ขยายผลไปพื้นที่ภาคใต้แก้ปัญหายากจน พร้อมร่วมมือภาคเอกชนตั้ง “ทีมดี” คัดพื้นที่ต้นแบบ 14 แห่ง สร้างความเจริญทำธุรกิจด้วยคุณธรรม

ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ เปิดเผยผลการดำเนินงานประจำปี 2560 ของปิดทองหลังพระฯ ว่า ในปี 2560 ที่ผ่านมา ปิดทองหลังพระฯ ได้เข้าไปพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ 7 แห่ง ใน 9 จังหวัด คือ น่าน อุดรธานี เพชรบุรี กาฬสินธุ์ อุทัยธานี ขอนแก่น และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยการพัฒนาระบบน้ำ ทำให้ปัจจุบันนี้มีพื้นที่รับประโยชน์เพิ่มขึ้นมากถึง 41,668 ไร่ จนชาวบ้านกว่า 4,281 ครัวเรือนมีรายได้เสริมจากอาชีพประจำเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 102.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 28.8 ล้านบาท หรือขยายตัว 28.8%โดยจังหวัดเพชรบุรี มีรายได้เพิ่มสูงสุดถึง 3.2 เท่า เพราะมีผลผลิตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะทุเรียน รองลงมาคือ ขอนแก่น มีรายได้เพิ่มขึ้น 2.6 เท่า เพราะมีระบบน้ำทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี

ทั้งนี้รายได้ดังกล่าว ยังไม่นับรวมการเข้าไปพัฒนาพื้นที่ใหม่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ยังอยู่ในระยะเริ่มต้นหลังจากปิดทองหลังพระฯ เข้าไปเริ่มดำเนินการ ซึ่งเชื่อว่า จากนี้จะช่วยสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านเพิ่มขึ้นจากการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร โดยการดำเนินงานในพื้นที่ต้นแบบทั้งหมด นับตั้งแต่เริ่มต้นเป็นระยะเวลาช่วง 8 ปี สามารถพัฒนาระบบน้ำจนมีพื้นที่รับประโยชน์มากขึ้นแล้วถึง 217,557 ไร่ จนช่วยสร้างโอกาสทางอาชีพมากขึ้น โดยปิดทองหลังพระฯ ได้เน้นการปลูกพืชทางเลือกใหม่ รวมไปถึงส่งเสริมด้านปศุสัตว์ พัฒนาระบบตลาด และส่งเสริมการปลูกพืชหลังนา

“นับจากนี้ไปควรเป็นเวลาของการสืบสานพระราชดำริอย่างจริงจัง หัวใจสำคัญของความสำเร็จของการสืบสานพระราชดำริคือการระเบิดจากข้างใน จึงเห็นว่า การสืบสานอย่างมีความสุข ตามคำขวัญของปิดทองหลังพระฯ ที่ก้าวเข้าสู่ปีที่ 9 ด้วยการสืบสาน เบิกบานใจ นั่นคือการเห็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นจริงกับชีวิตคนผ่านทางแววตา และสีหน้าท่าทางของชาวบ้าน ถือเป็นพื้นฐานให้สามารถสืบสานรักษาและต่อยอดต่อไปได้ ซึ่งการทำเพราะเป็นหน้าที่พิสูจน์แล้วว่าไม่ยั่งยืน แต่ต้องทำให้เกิดความสำเร็จ ไม่ใช่แค่ทำให้เสร็จ เพราะทำเสร็จแล้วก็จบ เหมือนกับการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ ที่บางโครงการใส่ลงไปแล้วไม่ตรงกับความต้องการของชาวบ้าน นั่นคือการทำที่ไม่สำเร็จ”

ม.ร.ว.ดิศนัดดา กล่าวว่า ในช่วงต่อจากนี้ไป จะเป็นของของการขยายผลการทำงาน ล่าสุดได้ขยายพื้นที่ตันแบบลงไปใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 7 หมู่บ้าน แยกเป็น จังหวัดปัตตานี 3 หมู่บ้าน และนราธิวาส และยะยา แห่งละ 2 หมู่บ้าน ซึ่งการเข้าไปพัฒนาครั้งนี้ก็เพราะที่ผ่านมาประชาชนในพื้นที่ต้องพบกับความยากลำบาก โดยจากการสำรวจข้อมูลพบว่า ชาวบ้านที่นี่มีหนี้สินรวมกันมากกว่า 73.6 ล้านบาท หรือเป็นหนี้เฉลี่ยครัวเรือนละ 60,652 บาท อีกทั้งปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ที่เกิดขึ้นยังทำให้การพัฒนาหยุดชะงักไป ทำให้เกิดพื้นที่รกร้างแห้งแล้ง ประชาชนใช้พื้นที่ประกอบอาชีพได้ไม่เต็มที่ แต่การเข้าไปแก้ปัญหาหนี้สิน ก็เป็นเรื่องยากจากปัญหาสะสมในพื้นที่ ทำให้ต้องทำงานอย่างตรงจุด ตรงตามความต้องการ และต้องให้คนในพื้นที่มีส่วนรวมด้วย

อย่างไรก็ตาม การทำงานในระยะต่อไป ปิดทองหลังพระฯ ยังสร้างภาคีการสืบสานที่แปลกว่าที่อื่นแต่ตรงตามนโยบายรัฐบาล เพื่อทำให้เกิดระบบการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยการเชิญผู้ที่มีศรัทธาในแนวพระราชดำริเข้ามาทำงานร่วมกันอย่างจริงจัง โดยร่วมกับภาคธุรกิจ 10 แห่ง คือ ทรู ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารไทยพาณิชย์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เอสซีจี บางจาก น้ำตาลมิตรผล ไทยเบฟฯ เทสโกโลตัส และบริษัทประชารัฐรักสามัคคี ที่จะเข้ามาร่วมมือกับ 4 มูลนิธิ คือ ปิดทองหลังพระฯ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ มูลนิธิรากแก้ว และมูลนิธิมั่นพัฒนา ทำงานกันภายใต้ชื่อ ‘ทีมดี’ ที่ย่อมาจากคำว่า “ดีเวลล็อปเม้นต์” หรือการพัฒนา

“การทำงานร่วมกับภาคธุรกิจ จะมีมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เป็นแกน ซึ่งที่ผ่านมาได้นัดภาคธุรกิจมาคุยกันแล้ว 1 ครั้ง เพื่อสลายการทำงานจาก 14 แห่งเป็นแท่งเดียวกัน โดยจากการประชุมก็ให้เลือกพื้นที่พัฒนาคนละ 1 แห่ง รวมเป็น 14 แห่งต้นแบบ แล้วให้แต่ละแห่งนั้นมาร่วมกันช่วย ล่าสุดได้เริ่มต้นทำแล้วที่อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น โดยมีบริษัทน้ำตาลมิตรผล และซีพี เป็นแกนนำส่งเสริมการเกษตรและส่งเสริมการทำแปลงเกษรทฤษฎีใหม่ โดยเฉพาะการผลิตน้ำตาล ซึ่งการทำงานต้องร่วมกันคิดร่วมกันทำให้เกิดผลสำเร็จตลอดทั้งห่วงว่ารผลิต โดยภาคเอกชนต้องยึดคำว่าคุณธรรม หากทำไม่ได้ก็ต้องออกจากความร่วมมือไป”

จาก https://www.khaosod.co.th   วันที่ 7 มีนาคม 2561

พาณิชย์ไฟเขียวต่างชาติลงทุน ก.พ. 22 ราย

กระทรวงพาณิชย์ไฟเขียวต่างชาติลงทุนไทยเดือนกุมภาพันธ์ 61อีก 22 ราย เงินลงทุน 447 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 393 คน

นางกุลณี อิศดิศัย  อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการฯ อนุญาตให้คนต่างด้าว 22 ราย ประกอบธุรกิจในประเทศไทย โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างด้าวจากประเทศสิงคโปร์ ญี่ปุ่น และจีน ซึ่งมีการนำเงินเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจกว่า 447 ล้านบาท และส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานคนไทย 393 คน รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุน

สำหรับธุรกิจที่คนต่างด้าวได้รับอนุญาต ได้แก่ ธุรกิจบริการให้แก่บริษัทในเครือ/ในกลุ่ม 7 ราย เงินลงทุน228 ล้านบาท ธุรกิจบริการให้แก่ลูกค้า 5 ราย เงินลงทุน 76 ล้านบาท ธุรกิจบริการเป็นคู่สัญญาภาคเอกชน 4 ราย เงินลงทุน 27 ล้านบาท  และธุรกิจค้าปลีก/ค้าส่ง  6 ราย เงินลงทุน 116 ล้านบาท ทั้งนี้ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 จำนวนธุรกิจที่ได้รับอนุญาตเท่ากับเดือนก่อน  ขณะที่เงินลงทุนลดลง 288 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 39 เนื่องจากเดือนมกราคม 2561 มีผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจ ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนสูง คือ บริการให้กู้ยืมเงิน และบริการให้เช่าเรือกักเก็บปิโตรเลียม

ทั้งนี้ ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ก.พ.) คนต่างด้าวได้รับใบอนุญาต  44 ราย เงินลงทุน 1,182 ล้านบาท  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนคนต่างด้าวได้รับใบอนุญาต  41 ราย เงินลงทุน 807 ล้านบาท ซึ่งปี 2560 (ม.ค.- ธ.ค.) คนต่างด้าวได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจในประเทศไทย 270 ราย และมีเงินลงทุน 7,302 ล้านบาท.

จาก www.tnamcot.com  วันที่ 7 มีนาคม 2561

กกร.คงจีดีพี ปี 61 ขยายตัว 3.8-4.5%

กกร.คงกรอบประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในปี 2561 ไว้ที่ร้อยละ 3.8-4.5 และการส่งออกขยายตัวร้อยละ 3.5-6

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. เปิดเผยผลการประชุมในเดือนมีนาคม ว่า ที่ประชุม กกร. เห็นควรให้ยังคงกรอบประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในปี 2561 ไว้ที่ร้อยละ 3.8-4.5 และการส่งออกขยายตัวร้อยละ 3.5-6 จากเครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจของไทยในช่วงต้นปี 2561 ซึ่งยังคงบ่งชี้ถึงแรงส่งการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง จากในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2560 สะท้อนจากการขยายตัวของการส่งออกและการท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตาม กกร. มองว่า นอกจากความผันผวนของค่าเงินที่อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยแล้วประเด็นที่ต้องติดตามคือผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมการค้าของไทยจากการดำเนินมาตรการปกป้องทางการค้าของสหรัฐฯ โดยยังต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิด

จาก www.bangkokbiznews.com  วันที่ 6 มีนาคม 2561

'ไทย' ติดอันดับ 8 ของโลก "ประเทศน่าลงทุน"

'ประเทศไทย' ติดอันดับ 8 ประเทศที่ดีที่สุดสำหรับการลงทุน ณ ขณะนี้ จากทั้งหมด 20 อันดับ จัดโดย U.S. News และรายงานของ World Bank Group

-5 มี.ค. 61- U.S. News (ยู.เอส. นิวส์) ได้ทำการวิเคราะห์รายงานของ ‘เวิลด์ แบงก์ กรุ๊ป’ (World Bank Group) และจัดอันดับ “ประเทศที่ดีที่สุดสำหรับการลงทุน ณ ขณะนี้” ซึ่งมีการวิเคราะห์จากหลายปัจจัย อาทิ ประชากรในประเทศ, สภาพแวดล้อม, เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ, นวัตกรรม, ทักษะแรงงาน, ความชำนาญทางเทคโนโลยี, พลวัตนิยม และคอร์รัปชัน เป็นต้น โดยจากการจัดอันดับในครั้งนี้ ประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ติดอยู่ในท็อป 10 กว่า 5 ประเทศ ‘ฟิลิปปินส์’ เป็นอันดับ 1 ประเทศที่ดีที่สุดสำหรับการลงทุน รองลงมา คือ อินโดนีเซีย ส่วน ‘ประเทศไทย’ อยู่อันดับ 8 มี มูลค่า GDP 406.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (การเติบโตของ GDP : 3.2%)

20 อันดับ ประเทศที่ดีที่สุด (เหมาะสม-คุ้มค่า) สำหรับการลงทุน ณ ขณะนี้

อันดับ 1 ฟิลิปปินส์

ประชากร : 103.3 ล้านคน

มูลค่า GDP : 304.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

การเติบโตของ GDP : 6.9%

 อันดับ 2 อินโดนีเซีย

ประชากร : 261.1 ล้านคน

มูลค่า GDP : 932.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

การเติบโตของ GDP : 5%

 อันดับ 3 โปแลนด์

ประชากร : 37.9 ล้านคน

มูลค่า GDP : 469.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

การเติบโตของ GDP : 2.9%

 อันดับ 4 มาเลเซีย

ประชากร ; 31.2 ล้านคน

มูลค่า GDP : 296.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

การเติบโตของ GDP 4.2%

 อันดับ 5 สิงคโปร์

ประชากร : 5.6 ล้านคน

มูลค่า GDP : 297 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

การเติบโตของ GDP : 2%

 อันดับ 6 ออสเตรเลีย

ประชากร : 24.1 ล้านคน

มูลค่า GDP : 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

การเติบโตของ GDP : 2.8%

 อันดับ 7 สเปน

ประชากร : 46.4 ล้านคน

มูลค่า GDP : 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

การเติบโตของ GDP : 3.3%

 อันดับ 8 ไทยแลนด์

ประชากร : 68.9 ล้านคน

มูลค่า GDP : 406.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

การเติบโตของ GDP : 3.2%

 อันดับ 9 อินเดีย

ประชากร : 1.3 พันล้านคน

มูลค่า GDP : 2.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

การเติบโตของ GDP : 7.1%

 อันดับ 10 โอมาน

ประชากร : 4.4 ล้านคน

มูลค่า GDP : 66.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

การเติบโตของ GDP --%

 อันดับ 11 สาธารณรัฐเช็ก

ประชากร : 10.6 ล้านคน

มูลค่า GDP : 192.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

การเติบโตของ GDP : 2.6%

 อันดับ 12 ฟินแลนด์

ประชากร : 5.5 ล้านคน

มูลค่า GDP : 236.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

การเติบโตของ GDP : 1.9%

 อันดับ 13 อุรุกวัย

ประชากร : 3.4 ล้านคน

มูลค่า GDP : 52.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

การเติบโตของ GDP : 1.5%

 อันดับ 14 ตุรกี

ประชากร : 79.5 ล้านคน

มูลค่า GDP : 857.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

การเติบโตของ GDP : 3.2%

 อันดับ 15 ไอร์แลนด์

ประชากร : 4.8 ล้านคน

มูลค่า GDP : 294.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

การเติบโตของ GDP : 5.1%

 อันดับ 16 เนเธอร์แลนด์

ประชากร : 17 ล้านคน

มูลค่า GDP : 770.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

การเติบโตของ GDP : 2.2%

 อันดับ 17 สหราชอาณาจักร

ประชากร : 65.6 ล้านคน

มูลค่า GDP : 2.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

การเติบโตของ GDP : 1.8%

 อันดับ 18 บราซิล

ประชากร : 207.7 ล้านคน

มูลค่า GDP : 1.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

การเติบโตของ GDP : -3.6%

 อันดับ 19 ฝรั่งเศส

ประชากร : 66.9 ล้านคน

มูลค่า GDP : 2.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

การเติบโตของ GDP : 1.2%

 อันดับ 20 ชิลี

ประชากร : 17.9 ล้านคน

มูลค่า GDP : 247 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

การเติบโตของ GDP : 1.6%

ขณะที่ รายงานดัชนีความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก (Global Competitiveness Index : GCI) ที่เปรียบเทียบความสามารถทางการแข่งขันของ 137 ประเทศทั่วโลก ประจำปี 2017-2018 ประเทศที่ได้อันดับ 1-10 คือ สวิตเซอร์แลนด์ ตามมาด้วย สหรัฐอเมริกา, สิงคโปร์, เนเธอร์แลนด์, เยอรมนี, ฮ่องกง, สวีเดน, สหราชอาณาจักร, ญี่ปุ่น และฟินแลนด์ (ตามลำดับ) โดย ‘ประเทศไทย’ อยู่ในอันดับ 32 มีคะแนน 4.7 จากคะแนนเต็ม 7 คะแนน ซึ่งมีตัวชี้วัด 114 ตัว จัดแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ใน 12 ด้าน

ทั้งนี้ ‘ประเทศไทย’ ได้รับอันดับในระดับสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก ในด้านการเงินและการตลาด คือ การจัดหาเงินทุนผ่านทางตลาดทุนในประเทศ (Financing Through Local Equity Market), ความพร้อมของบริการทางการเงิน (Availability of Financial Services), ความแข็งแกร่งของระบบธนาคาร (Soundness of Banks) และความเพียงพอของทุนร่วมเสี่ยง (Venture Capital Availability) อยู่ในอันดับ 20, 23, 27 และ 27 (ตามลำดับ)

จาก www.thansettakij.com วันที่ 6 มีนาคม 2561

เงินบาทเคลื่อนไหวกรอบแคบ 31.37 บ.ต่อดอลลาร์ฯ จับตามาตรกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ

เงินบาทเคลื่อนไหวกรอบแคบ 31.37 บาทต่อดอลลาร์ฯ หลังแรงกดดดันเงินดอลลาร์ลดลงจับตามาตรการกีดกันทางการค้า

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุเงินบาทยังเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ โดยปรับตัวอยู่ที่ระดับ 31.37 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ จากระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 31.42 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ แรงกดดันเงินดอลลาร์ฯ ลดลงมาบางส่วน หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ระบุถึงการปรับเปลี่ยนมาตรการภาษีที่เรียกเก็บจากเหล็กและอะลูมิเนียมภายใต้เงื่อนไขบางประการแก่บางประเทศ ประกอบกับเงินดอลลาร์ฯ มีปัจจัยบวกจากข้อมูล PMI ภาคบริการของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 6 เดือน

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ คาดไว้ที่ 31.30-31.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยจุดที่น่าจะยังเป็นกระแสของตลาด จะยังคงมาจากปัจจัยของเงินดอลลาร์ฯ อาทิ ประเด็นเกี่ยวกับมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ตลอดสัญญาณแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดจากถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด

จาก www.thansettakij.com วันที่ 6 มีนาคม 2561

เปิดศึกกีดกัน 'สหรัฐ-อียู' ลุย ไทยถูกลูกหลง!

กีดกันการค้าโลก ปี 61 เดือด! แค่ 3 เดือนแรก คู่ค้าทั้ง ‘สหรัฐฯ-อียู-เวียดนาม’ ประกาศบังคับใช้มาตรการใหม่กระทบส่งออกสินค้าไทยแล้วถึง 10 รายการ ข้อมูลปีที่แล้วชี้ชัด! สหรัฐฯ ยุค ‘ทรัมป์’ ออกมาตรการกีดกันมากสุด 90 รายการ ขณะล่าสุด 14 คู่ค้า เปิดไต่สวนใช้ ‘เอดี / ซีวีดี / เซฟการ์ด’ 24 สินค้าไทย

นอกจากเงินบาทที่แข็งค่า ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่กระทบความสามารถในการแข่งขันของภาคการส่งออกไทยมากสุดในขณะนี้แล้ว การออกมาตรการทางการค้าใหม่ ๆ เพื่อคุ้มครองอุตสาหกรรมภายในของประเทศคู่ค้าที่ทยอยออกมาเพิ่มขึ้น ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ที่ผู้ส่งออกไทยต้องปรับตัวปฏิบัติตามกฎระเบียบ หากทำไม่ได้ย่อมหมายถึงการส่งออกที่อาจลดลง

รายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ณ นครลอสแองเจลีส สหรัฐอเมริกา เผยข้อมูลว่า ในปี 2560 ทั่วโลกมีการจัดทำมาตรการเพื่อคุ้มครองอุตสาหกรรมภายใน รวมประมาณ 467 รายการ ในจำนวนนี้ 90 รายการ จัดทำโดยฝ่ายบริหารของรัฐบาลนายโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ที่ได้จัดทำมาตรการใหม่เกี่ยวกับเรื่องของภาษีนำเข้า จำนวน 30 รายการ มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) 20 รายการ เฉพาะมาตรการเรื่องภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศจีนสูงถึง 17 รายการ คาดแนวโน้มการดำเนินการของสหรัฐฯ จะยังมีต่อเนื่องในปีนี้

สำหรับประเทศที่มีการจัดทำมาตรการคุ้มครองอุตสาหกรรมภายในมากที่สุด 10 อันดับแรก ในปี 2560 ได้แก่ สหรัฐฯ อินเดีย รัสเซีย เยอรมนี อาร์เจนตินา สวิตเซอร์แลนด์ บราซิล อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร (ตามลำดับ)

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า คู่ค้าได้ออกมาตรการกีดกันทางการค้า (NTBs) และมาตรการอุปสรรคเทคนิคการค้า (TBT) ในกลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม มีผลบังคับใช้แล้วช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ รวม 10 มาตรการ แบ่งเป็นสหภาพยุโรป (อียู) 5 รายการ สหรัฐฯ 4 รายการ และเวียดนาม 1 รายการ

ตัวอย่างมาตรการของอียู เช่น ในสินค้าสารเจือปนอาหาร ตามระเบียบ (EU) No 1107/2009 โดยผลิตภัณฑ์อารักขาพืชที่มีส่วนผสมของสาร Oxasulfuron จะถูกยกเลิกวางจำหน่ายในตลาด มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 ม.ค. 2561 ส่วนสหรัฐฯ ได้ประกาศใช้กฎหมาย Seafood Import Monitoring Program กำหนดให้ผู้นำเข้าสินค้าประมงมายังสหรัฐฯ ต้องรายงานข้อมูล และจัดเก็บบันทึกข้อมูลการนำเข้าสินค้าประมงสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงต่อการประมงที่ผิดกฎหมาย เช่น ปลาแอตแลนติกคอด ปลาอีโต้มอญ ปลาเก๋า ปูคิงแครบ ปลากะพงแดง ปลาทูน่า เป็นต้น โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ ม.ค. 2561 รวมถึงยังได้ประกาศใช้มาตรการปกป้องจากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น (เซฟการ์ด) โดยขึ้นภาษีนำเข้าในสินค้าเครื่องซักผ้าและโซลาร์เซลล์แล้วตั้งแต่ ม.ค. 2561

ส่วนเวียดนาม ในสินค้ารถยนต์และชิ้นส่วนประกอบ ได้ออกมาตรการควบคุมการนำเข้ารถยนต์ (Decree 116) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ ก.พ. 2561 ซึ่งกระทบกับการส่งออกรถยนต์ของไทยไปเวียดนามแล้วในเวลานี้

“มาตรการทางการค้าของปีนี้คงจะเข้มขึ้น โดยในส่วนของสหรัฐฯ นอกจากมาตรการด้านกฎระเบียบและมาตรฐานที่เคยทำมาโดยตลอดจะเข้มขึ้น ในด้านของปริมาณการนำเข้า ซึ่งเห็นได้จากมาตรการเซฟการ์ดที่ได้เริ่มใช้ในหลายสินค้ามากขึ้น มาตรการอเมริกาเฟิร์สที่เน้นให้ประโยชน์ผู้ผลิตในประเทศ โดยกำหนดภาษีนำเข้าสูงขึ้น รวมถึงใช้มาตรการที่เข้มกว่านั้น คือ เอดี ซึ่งผู้ผลิตในประเทศต้องฟ้องร้องมาก่อน ส่วนในอียูยังเน้นมาตรการการค้าในเรื่องมาตรฐานการผลิต มาตรฐานสินค้า สิ่งปลอมปนต่าง ๆ รวมทั้งเรื่องไอยูยู ฟิชชิ่ง หรือควบคุมการจับสัตว์น้ำ ส่วนออสเตรเลียก็ยึดแนวทางเดียวกับอียู แต่ความเข้มข้นยังไม่สูงเท่า ซึ่งผู้ส่งออกไทยต้องติดตามอย่างใกล้ชิด”

ล่าสุด ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ได้ประกาศเมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2561 จะขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กกล้าอัตรา 25% และอะลูมิเนียม 10% โดยจะลงนามในคำสั่งและมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายตั้งแต่สัปดาห์หน้านี้เป็นต้นไป เรื่องนี้ได้สร้างแรงสะเทือนทั่ววงการส่งออกเหล็กกล้าและอะลูมิเนียมทั่วโลก หลายประเทศคู่ค้าส่งสัญญาณว่า ถ้าสหรัฐฯ ใช้มาตรการลักษณะกีดกันทางการค้าเช่นนี้ ก็พร้อมจะใช้มาตรการตอบโต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตอบโต้จากจีน

ขณะที่ จากการตรวจสอบของ “ฐานเศรษฐกิจ” พบว่า ณ เวลานี้มีสินค้าไทยที่อยู่ระหว่างถูกประเทศคู่ค้าเปิดไต่สวนเพื่อใช้มาตรการเอดี 13 รายการ มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (ซีวีดี) 1 รายการ และมาตรการเซฟการ์ด 10 รายการ รวม 3 มาตรการ 24 รายการ จาก 14 ประเทศ โดยคู่ค้าที่เปิดไต่สวนไทยมากสุด ได้แก่ สหรัฐฯ 4 รายการ, อินเดียและตูนิเซีย ประเทศละ 3 รายการ, จีน ออสเตรเลีย ปากีสถาน ประเทศละ 2 รายการ ส่วนไทยอยู่ระหว่างเปิดไต่สวนเพื่อใช้มาตรการเอดีกับ 5 ประเทศ ได้แก่ จีน ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน และอียิปต์ ในสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนและรีดเย็น และเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารที่ทำจากเมลามีน

จาก www.thansettakij.com วันที่ 5 มีนาคม 2561

พาณิชย์ยันไม่ร่วมฟ้องสหรัฐต่อดับเบิ้ลยูทีโอ

“พาณิชย์” ชี้แจงไทยไม่ได้เข้าร่วมตอบโต้ทรัมป์ตั้งกำแพงภาษีภายใต้ดับเบิ้ลยูทีโอ ยันทรัมป์ยังไม่ได้มีการประกาศขึ้นภาษี                   

นายสนธิรัตน์   สนธิจิรวงศ์   รมว. พาณิชย์  เปิดเผยว่า  กรณีที่มีข่าวเผยแพร่ว่ากระทรวงพาณิชย์จะร่วมฟ้องร้องสหรัฐฯ ภายใต้ องค์การการค้าโลก ( ดับเบิลยูทีโอ )ร่วมกับประเทศคู่ค้าที่ได้รับความเสียหายจากการออกมาตรการทางการค้าของสหรัฐฯ นั้น เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน โดยขณะนี้ยังไม่มีการประกาศให้ขึ้นภาษีเหล็กนำเข้าภายใต้มาตรา 232 ของสหรัฐฯ แต่อย่างใด เป็นเพียงการให้สัมภาษณ์ของประธานาธิบดีสหรัฐฯ เท่านั้นว่า มีแผนที่จะขึ้นอัตราภาษีเหล็กนำเข้าที่ 25% และอลูมิเนียมที่ 10%  ซึ่งเป็นผลมาจากรายงานการไต่สวนสินค้านำเข้าภายใต้มาตรา 232 ดังนั้น จึงไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าดังกล่าวของไทย  อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างติดตามสถานการณ์และความคืบหน้าการดำเนินนโยบายและมาตรการทางการค้าของสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด

 “รายงานข่าวที่ระบุว่า สหรัฐฯ มีแผนจะขึ้นภาษีเหล็กและอลูมิเนียมนำเข้า เกิดจากการสัมภาษณ์ของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ว่า โดยแผนการขึ้นภาษีดังกล่าวเป็นการดำเนินการของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ระบุให้มีการเปิดไต่สวนการนำเข้าสินค้าที่อาจก่อให้เกิดภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศของสหรัฐ โดยไม่ใช่การใช้มาตรการเซฟการ์ดหรือปกป้องกันการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น  ทั้งนี้ ในอดีตสหรัฐฯ ก็เคยจัดทำรายงานการไต่สวนสินค้านำเข้าภายใต้มาตรา 232 ว่าจะมีการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าอื่นๆ เช่นกัน ได้แก่ น้ำมันดิบ และเหล็กแต่สุดท้ายก็ไม่ได้มีการประกาศใช้มาตรการทางการค้าใดๆ”

นายวันชัย วราวิทย์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า ขณะนี้ นายโดนัลด ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯยังไม่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการจะเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าเหล็ก และอลูมิเนียนที่นำเข้าจากทั่วโลก รวมถึงไทย แต่อยู่ระหว่างการพิจารณาตามที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯเสนอ คาดว่า จะประกาศได้อย่างเป็นทางการภายในเดือนเม.ย.นี้

“ตามกฎหมายของสหรัฐฯ หลังจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดไต่สวนภายใต้มาตรา 232 ตามกฎหมายการค้า ที่ว่าด้วยการปกป้องการนำเข้าสินค้า ที่ก่อให้เกิดความไม่มั่นคง หรือเป็นภัยคุกคามต่อชาติ และเสนอให้ประธานาธิบดีใช้มาตรการขึ้นภาษี และกำหนดโควตานำเข้ากับสินค้าเหล็ก และอะลูมีเนียมนำเข้าไปแล้วนั้น จากนั้น ประธานาธิบดีจะมีเวลาพิจารณาตามข้อเสนอของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯภายใน 90 วัน ”

 สำหรับข้อเสนอของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ที่เสนอให้ประธานาธิบดี พิจารณาใช้มาตรการภายใต้มาตรา 232 มี 2 ทางเลือก ได้แก่ 1.กำหนดโควตานำเข้าจากทุกประเทศที่ 86.7% ของปริมาณการนำเข้าทั้งหมดในปี 60 และกำหนดโควตาภาษี โดยเรียกเก็บอากรจากอลูมิเนียมที่นำเข้าจากทุกประเทศเพิ่มเติมจากการเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนการทุ่มตลาด (เอดี/ซีวีดี) โดยเสนอให้เรียกเก็บอากรที่ 7.7%

 ส่วนทางเลือกที่ 2 ได้แก่ เสนอให้กำหนดเก็บอากรจากทุกประเทศ โดยเรียกเก็บอากรนำเข้าอลูมิเนียมทุกชนิดจากทุกประเทศ ทั้งจีน ฮ่องกง รัสเซีย เวเนซูเอลา และเวียดนาม โดยเป็นการเก็บเพิ่มจากอากรเอดี/ซีวีดี ในอัตรา 23.6% สำหรับประเทศอื่นๆ จะจำกัดปริมาณนำเข้าที่ 100% ของปริมาณการนำเข้าในปี 60

จาก https://www.dailynews.co.th  วันที่ 5 มีนาคม 2561

แนะเกษตรกรวางแผนใช้น้ำ

ฤดูแล้งปีนี้อ่างเก็บน้ำทั่วประเทศยังมีปริมาณน้ำเพียงพอ แต่เกษตรกรควรวางแผนการเพาะปลูกและใช้น้ำอย่างระมัดระวัง โดยนายกฯ สั่งการให้ ก.พาณิชย์ ก.เกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานในพื้นที่เร่งสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกับเกษตรกร เช่น ข้อมูลราคาผลผลิตที่แท้จริง สิทธิรับการช่วยเหลือจากภาครัฐ ฯลฯ โดยได้ยกตัวอย่างการขายข้าวสดและข้าวตากที่มีความชื้นแตกต่างกันว่า ราคาขายที่เหมาะสมควรเป็นเท่าใด เพื่อป้องกันการถูกเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง

จาก  www.nationtv   วันที่ 5 มีนาคม 2561

แหล่งกักเก็บน้ำนอกเขตชลประทานแห้งขอด

แหล่งกักเก็บน้ำของเกษตรกรแห้งขอดหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทาน เกษตรกร ไม่เสี่ยงทำนา พักพื้นที่นาข้าว รอน้ำช่วงฤดูฝน

 แหล่งกักเก็บน้ำตามธรรมชาติ ขนาดเนื้อที่กว่า 1ไร่ ได้แห้งขอดลง โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ของเกษตรกรชาวตำบลหนองปล้อง อำเภอวังทรายพูน จังหวัดพิจิตร ซึ่งเป็นพื้นที่สูง และ อยู่นอกเขตชลประทาน แหล่งน้ำตามธรรมชาติแห้งขอด พื้นดินแตกระแหงจนเกษตรกรส่วนใหญ่ต้องปล่อยแปลงนาข้าวทิ้งร้าง ไม่เสี่ยงทำนาปรัง ถือเป็นการพักดินรอฤดูกาลทำการเกษตรช่วงหน้าฝน

จากการสำรวจ พบว่าหลังจากแหล่งน้ำที่แห้งขอดลงเกษตรกรส่วนใหญ่ ต้องหยุดทำการเกษตรอย่างสินเชิง โดยเฉพาะในเขตพื้นที่นอกเขตชลประทาน อำเภอตะพานหินอำเภอวังทรายพูนทับคล้อ และอำเภอสากเหล็ก หลายหมื่นไร่ ที่มีพื้นที่ติดกับเทือกเขาเพชรบูรณ์ คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อต่อรายได้หลักของเกษตรกรจากการทำการเกษตรไม่ได้เนื่องจากแหล่งน้ำตามธรรมชาติมีไม่เพียงพอ

จาก  www.nationtv   วันที่ 5 มีนาคม 2561

เปิดปฏิบัติการฝนหลวง เตรียมรับมือภัยแล้งปี’61 ตั้ง7ศูนย์เน้นเหนือ-อีสาน

เปิดปฏิบัติการฝนหลวงเตรียมรับมือภัยแล้งปี’61ตั้ง7ศูนย์เน้นเหนือ-อีสานพร้อมสำรองปริมาณน้ำห้ามพ่อค้ากดขี่เกษตรกร

รัฐบาลเปิดปฏิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้ง ปี’61 แล้ว เน้นเพิ่มปริมาณน้ำสำรอง แนะเกษตรกรวางแผนใช้น้ำอย่างระมัดระวัง พร้อมสั่งทุกหน่วยเร่งสร้างการรับรู้ช่วยชาวนา ตัดวงจรการเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 3 มีนาคม รัฐบาลเปิดปฏิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้ง ประจำปี 2561 อย่างเป็นทางการแล้ว เพื่อรับมือกับปัญหาน้ำในช่วงฤดูแล้ง โดยคำนึงถึงความต้องการของเกษตรกรและผู้ใช้น้ำทั่วประเทศ ทั้งในพื้นที่เขตชลประทานและนอกเขตชลประทาน รวมทั้งเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนในระบบบริหารจัดการน้ำด้วย

พล.ท.สรรเสริญ กล่าวต่อว่า แผนปฏิบัติการเริ่มตั้งแต่ 1 มี.ค. – 31 ต.ค.61 โดยจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการ 7 แห่งใน 5 ภูมิภาค ได้แก่ จ. เชียงใหม่ พิษณุโลก ขอนแก่น นครสวรรค์ กาญจนบุรี จันทบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ทุกหน่วย เช่น กรมฝนหลวงฯ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน ฯลฯ จะบูรณาการวิเคราะห์ข้อมูลสภาพอากาศ ขึ้นบินทำฝนเทียม และแจ้งข้อมูลให้เกษตรกรและประชาชนทราบ

“นายกรัฐมนตรี ได้รับรายงานว่า ในช่วงฤดูแล้งปีนี้อ่างเก็บน้ำทั่วประเทศยังมีปริมาณน้ำเพียงพอ แต่อยากให้พี่น้องเกษตรกรวางแผนการเพาะปลูกและใช้น้ำอย่างระมัดระวัง เพราะแม้ว่าจะมีปริมาณน้ำมาก แต่ก็อาจเสี่ยงกับการขาดแคลนได้ ถ้าหลายคนต้องการปลูกพืชนอกฤดูกาลมาก เช่น ข้าว เนื่องจากได้ราคาดี และเมื่อมีผลผลิตมากราคาก็จะตก จึงขอความร่วมมือทุกคนในเรื่องนี้ โดยอาจปลูกพืชใช้น้ำน้อยร่วมด้วย”

พล.ท.สรรเสริญ กล่าวต่อว่านอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานในพื้นที่เร่งสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกับเกษตรกร เช่น ข้อมูลราคาผลผลิตที่แท้จริง สิทธิรับการช่วยเหลือจากภาครัฐ ฯลฯ โดยได้ยกตัวอย่างการขายข้าวสดและข้าวตากที่มีความชื้นแตกต่างกันว่า ราคาขายที่เหมาะสมควรเป็นเท่าใด เป็นต้น เพื่อป้องกันการถูกเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลางหรือข้าราชการที่ฉวยโอกาสจากความไม่รู้ของประชาชน

จาก www.naewna.com วันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2561

ไทยนั่งปธ.บอร์ดข้อพิพาท WTO ปลดล็อก US ตั้งกก.อุทธรณ์สางคดีค้าง

ทูตไทยขึ้นแท่น ปธ.คณะระงับข้อพิพาท WTO สานต่อเลือกตั้งคณะลูกขุนเร่งสางคดีร้อนค้างท่อ 500 เคส หลัง “สหรัฐ” เปิดเกมป่วน WTO

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า นางสาวสุนันทา กังวาลกุลกิจ เอกอัครราชทูตคณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก (WTO) และองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก ประจำ ณ นครเจนีวา ตั้งแต่ปีที่ผ่านมาล่าสุดได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการด้านการระงับข้อพิพาทแห่ง WTO หรือ WTO Dispute Settlement Body (DSB) หลังชนะผู้ลงสมัครเลือกตั้งอีก 4 คนจากฮ่องกง, ซาอุดีอาระเบีย, คาซัคสถาน และญี่ปุ่น ถือเป็นผู้แทนผู้หญิงไทยคนแรกที่ได้รับตำแหน่งนี้ โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง 1 ปีนับจากวันที่ 7 มี.ค. 2561 หลังจากนั้นจะถูกเลื่อนให้เป็นประธานคณะ General Council โดยอัตโนมัติ และมีวาระดำรงตำแหน่งอีก 1 ปี

นางสาวสุนันทา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การระงับข้อพิพาทถือเป็น 1 ใน 3 ภารกิจหลักของ WTO นอกจากเรื่องการเจรจาความตกลงภายใต้ WTO และการตรวจสอบการปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้ WTO สำหรับภารกิจหลักหลังเข้ารับตำแหน่งคือ ดูแลจัดการเลือกตั้งคณะลูกขุนในองค์กรอุทธรณ์ (Appellatte Body) คนใหม่ ขึ้นมาแทนลูกขุนที่หมดวาระ 3 คนจากทั้งหมด7 คน และกำลังจะหมดวาระอีก 1 คนในเดือนกันยายนนี้ เพื่อให้ลูกขุนใหม่ทำหน้าที่พิจารณาคดีอุทธรณ์จากจำนวนคดีข้อพิพาทใน WTO ที่ค้างอยู่ทั้งหมด 500 คดี

“คณะกรรมการชุดนี้ไม่มีหน้าที่ตัดสินคดีที่เป็นข้อพิพาทใน WTO แต่มีหน้าที่ดูแลคำตัดสินที่ต้องส่งให้สมาชิกพิจารณาให้การยอมรับ และการหารือกันเพื่อดำเนินการคัดเลือกแอปเพลเลตบอดี้ ซึ่งประเด็นนี้เป็นเรื่องใหญ่ระหว่างประเทศที่มีการหารือทั้งระดับรัฐมนตรี และระดับเจ้าหน้าที่ว่าจะหาทางออกอย่างไร เพราะปกติลูกขุนหมดวาระจำเป็นต้องเลือกตั้งทันที หากยืดเยื้อไปจะส่งผลต่อคดีคั่งค้างที่มีอยู่ หากผ่านการพิจารณาชั้นต้น (panel) แล้วจะไม่สามารถเดินหน้าอุทธรณ์คดีได้ เพราะไม่มีผู้พิพากษา จะเป็นผลร้ายกับระบบทั้งหมด โดยเฉพาะผลกระทบต่อประเทศกำลังพัฒนา เพราะ WTO ถือเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ให้ความยุติธรรมกับสมาชิกกว่า 164 ประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาซึ่งไม่มีเวทีอื่น”

นางสาวสุนันทากล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาไทยใช้การระงับข้อพิพาทมากพอสมควร เพราะถูกบางประเทศใช้มาตรการแล้วมากระทบการค้าของไทย จึงต้องใช้การระงับข้อพิพาท เพื่อสร้างความเป็นธรรมทางการค้า ปัจจุบันไทยมีจำนวนคดีที่ยื่นขอระงับข้อพิพาทใน WTO รวม 17 คดี เป็นคดีที่ฝ่ายไทยยื่นฟ้อง 13 คดี แบ่งเป็นการยื่นฟ้องสหภาพยุโรป (อียู) 5 คดี และยื่นฟ้องสหรัฐ 5 คดี ส่วนที่เหลือเป็นประเทศอื่น ๆ ส่วนที่ไทยถูกฟ้องมี 4 คดี อาทิ คดีบุหรี่ ซึ่งฟิลิปปินส์ยื่นฟ้องไทย, เหล็กเอชบีม ซึ่งฮังการียื่นฟ้องไทย เป็นต้น

แหล่งข่าวจากวงการการค้าโลก กล่าวว่า ปัญหาการพิจารณาคดีในชั้นอุทธรณ์ของ WTO ชะงัก กลายเป็นประเด็นร้อนในเวทีการค้าระหว่างประเทศ เพราะทราบกันดีว่า DSB ถือว่ามีความเข้มแข็ง และทำงานได้มีประสิทธิภาพที่สุด มีหลักการดำเนินงาน และไทม์เฟรมชัดเจน โดยแบ่งการพิจารณาเป็นระดับศาลชั้นต้น (panel) และศาลอุทธรณ์ แต่หลังจากคณะลูกขุนชั้นอุทธรณ์ซึ่งมี 7 คน หมดวาระไป 3 คน แต่ไม่สามารถเลือกตั้งลูกขุนใหม่ขึ้นมาแทนได้ทันที ทำให้คดีค้างท่อต้องชะงักไปด้วย สาเหตุสำคัญเป็นผลจากนโยบายสหรัฐ ทำให้เกิดข้อกังวลว่ามาตรการต่าง ๆ ที่ออกมาจะเป็นอุปสรรคต่อการค้าหรือไม่ และที่สำคัญสหรัฐมีท่าทีที่ค่อนข้างจะ “ไม่ยอมรับ” ผลการตัดสิน WTO เพราะคดีใน WTO ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับสหรัฐ จึงขวางไม่ให้มีกระบวนการเลือกคณะผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ใหม่ขึ้นมาแทนคนที่ครบวาระ โดยอาศัยช่องที่ว่าตามหลักการของ WTO กำหนดว่าการดำเนินการทุกอย่างจะต้องมี “ฉันทามติ” (concensus) จากสมาชิกทั้งหมด ดังนั้นเมื่อสหรัฐค้านเพียงประเทศเดียวก็ไม่สามารถเลือกตั้งลูกขุนใหม่ได้ ทั้งที่ต้องเลือกทันทีที่ครบวาระ

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2561

เอกชนหนุน FTA ไทย-ยูเรเซียคว้าโอกาสการค้า 5 ชาติ

หนุนเปิดเจรจาเอฟทีเอไทย-ยูเรเซีย “EAEU” หวั่นตกขบวนเวียดนาม-สิงคโปร์-อินเดียแซง ด้านพาณิชย์เตรียมทำ MOU ยูเรเซียกลางปีนี้ เอกชนเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวรัสเซีย

นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า หลังจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้แสดงเจตจำนงในการจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับกลุ่มสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (5 ประเทศ ได้แก่เบลารุส คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน อาร์เมเนีย และรัสเซีย) ไปแล้ว แต่ยังอยู่ระหว่างรอคำตอบจากกลุ่ม EAEU

ล่าสุดทางกรมเตรียมจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกันควบคู่ไปกับเอฟทีเอ ซึ่งถือเป็นการดำเนินการเพื่อเตรียมรับการปรับเปลี่ยนรูปแบบการค้าโลก ตามนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการสร้างยุทธศาสตร์หุ้นส่วนเศรษฐกิจ (strategic partnership) โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปกลางปีนี้

ทั้งนี้ EAEU ถือเป็นตลาดที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลก มีอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 4% มูลค่าการค้ารวมในกลุ่ม 5 แสนล้านเหรียญสหรัฐต่อปี มีประชากร 180 ล้านคน และยังอุดมไปด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติและวัตถุดิบ อีกทั้งคณะทำงานกลางทางเศรษฐกิจยูเรเซียมีนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มพลังงานไฟฟ้า ปิโตรเลียม ระบบการเงิน

“ไทยมีเป้าหมายผลักดันมูลค่าการค้ากับ EAEU ให้ได้ 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในอีก 2 ปีข้างหน้า จากในปีที่ผ่านมาที่มีการค้า 3,300 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 57% โดยไทยส่งออก 1,100 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้า 2,200 ล้านเหรียญสหรัฐ ไทยยังเป็นฝ่ายขาดดุลการค้า 1,100 ล้านเหรียญสหรัฐ จากการนำเข้าสินค้ากลุ่มพลังงาน ขณะที่สินค้าส่งออกหลักของไทยเป็นสินค้าเกษตร และชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น”

นายกิตตินันท์ ยิ่งเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย กล่าวว่า ขณะนี้ส่วนใหญ่ไทยทำการค้ากับรัสเซียถึง 96.5% ส่วนอีก 4 ประเทศใน EAEU ยังมีสัดส่วนน้อยมาก แต่มีโอกาสที่จะขยายการค้าระหว่างกันได้มากขึ้น เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ที่เคยเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยรู้จักและนิยมสินค้าไทย แต่ไม่สามารถหาซื้อสินค้าไทยได้ จึงเป็นปัจจัยโอกาสในอนาคต ดังนั้นไทยควรเร่งทำเอฟทีเอ เพื่อสร้างโอกาสในการทำตลาดนี้ เพราะขณะนี้มีประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนาม ทำเอฟทีเอกับ EAEU ลดภาษีสินค้าระหว่างกันเป็น 0% ไปแล้ว ทำให้มูลค่าการค้าเวียดนามกับยูเรเซียเติบโตอย่างก้าวกระโดดถึง 30% ได้เปรียบไทยที่ส่งออกโดยผ่านการใช้สิทธิพิเศษทางภาษี ขณะที่สิงคโปร์ที่อยู่ระหว่างเจรจาเอฟทีเอกับยูเรเซียคาดว่าเสร็จกลางปี 2561 และยังมีอิสราเอล อิหร่าน อินเดีย ที่สนใจเจรจากับยูเรเซียเช่นกัน

นอกจากนี้ จีนก็เป็นอีกประเทศที่มีความได้เปรียบไทย เพราะผลิตสินค้าราคาถูก และมีพรมแดนอยู่ใกล้รัสเซีย ทำให้ต้นทุนการขนส่งต่ำ อีกทั้งสองฝ่ายยังมีนโยบายค้าโดยใช้สกุลเงินหยวนร่วมกัน จึงทำให้สัดส่วนการค้ากับจีนสูงถึง 20% ขณะที่สัดส่วนการค้ากับไทยมีเพียง 1% ซึ่งถือว่าน้อยมาก

“รัสเซียชอบสินค้าไทย แต่ถ้าราคาแพงมากก็ไม่ซื้อ เพราะซื้อจากจีนต่ำกว่า ตอนนี้ปัญหาเศรษฐกิจรัสเซียคลี่คลายลง รายได้และกำลังซื้อดีขึ้น ไทยควรเร่งผลักดันผู้ส่งออกให้ส่งออกสินค้าที่มีความหลากหลายเข้าไปในตลาดนี้ และเร่งแก้ไขอุปสรรคในเรื่องการขนส่งสินค้า และเหมาะจะเข้าไปลงทุน เพราะยูเรเซียมีวัตถุดิบด้านพลังงาน”

ด้านนายสมบัติ ธีรตระกูลชัย ประธานหอการค้าไทย-รัสเซีย เปิดเผยว่า ในฐานะที่ตนมาจากบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ซึ่งเข้าไปลงทุนในรัสเซีย โดยเฉพาะการเพาะปลูกข้าวสาลี เพื่อส่งออกและนำมาผลิตอาหารสัตว์ ต้องยอมรับว่ารัสเซียเป็นประเทศที่ผลิตข้าวสาลีมากที่สุดในโลก นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งผลิตสารเคมีที่ใช้กับยาฆ่าแมลง และปุ๋ย เป็นแหล่งวัตถุดิบถ่านหินที่สำคัญอีกด้วย อย่างไรก็ตาม การจะเข้าไปเปิดตลาดต้องศึกษาและทดลองทำการตลาดอย่างรอบคอบ โดยเริ่มจากนักท่องเที่ยวรัสเซียก่อน เพื่อคัดเลือกสินค้าที่เหมาะสมกับตลาดนี้ อีกทั้งต้องจัดทำกิจกรรมส่งเสริมการขายควบคู่ไปด้วย

นายอโศก อุปัทยา รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และรองประธานสภาธุรกิจไทย-รัสเซีย กล่าวว่า ผู้ส่งออกต้องสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ พิจารณาเปิดตลาดสินค้าโดยหลีกเลี่ยงสินค้าที่เหมือนกับคู่แข่งอย่างจีน หรือเวียดนาม และควรทดลองตลาดกับนักท่องเที่ยวรัสเซีย ซึ่งเดินทางเข้ามาในไทยปีละ 1.3 ล้านคน มีการใช้เม็ดเงินท่องเที่ยว 80,000 บาทต่อคน หลังจากนั้นควรต้องหาคู่ค้า และเพิ่มช่องอีคอมเมิร์ซเพื่อช่วยลดต้นทุน

ด้านการร่วมลงทุนในภาคการผลิตเป็นโครงการที่น่าสนใจอย่างยิ่งโดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี อย่างไรก็ตาม รัฐควรช่วยส่งเสริมการลงทุนและประสานกับสถาบันทางการเงิน เพื่อช่วยสร้างโอกาสให้เอสเอ็มอี ทั้งนี้ ประเทศคาซัคสถานเป็นแหล่งลงทุนที่มีศักยภาพสามารถกระจายสินค้าไปในตลาดอื่นได้ ส่วนประเทศอื่นบางประเทศยังมีอุปสรรคด้านการขนส่งและกระจายสินค้า สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีทิศทางที่ดี คือ การผลิตรถยนต์หรือชิ้นส่วนรถยนต์ การก่อสร้าง เป็นต้น

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2561

ยัน “พาราควอต” ยังไม่ถูกแบน ก.เกษตรชี้สธ.-อุตฯไร้มติร่วม

กรมวิชาการเกษตร ยันมติ 3 กระทรวงล่าสุด ยังไม่มีผล “แบนพาราควอต” เร่งรวบรวมข้อมูลส่ง “คณะทำงานชุดเฉพาะกิจ” สรุปผล “แบน-ไม่แบน” หลังครบกำหนด 3 เดือนสิ้น มี.ค.นี้ ก่อนส่งคณะกรรมการวัตถุอันตรายชี้ขาดต่อไป

กรณีคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งมี ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน โดยมี 5 กระทรวงเข้าร่วม เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 60 มีมติยกเลิกการใช้สารเคมี 2 ชนิด คือพาราควอต สารเคมีฆ่าหญ้า และคลอร์ไพริฟอส สารเคมีฆ่าแมลง โดยไม่ให้ขึ้นทะเบียนเพิ่ม ไม่ต่ออายุทะเบียน และให้ยุตินำเข้าในวันที่ 1 ธ.ค. 2560 และยุติการใช้วันที่ 1 ธ.ค. 2562 และเตรียมควบคุมการใช้ “ไกลโฟเสต” แต่เมื่อเดือน ต.ค. 60 กรมวิชาการเกษตรได้ต่อทะเบียนใบอนุญาตให้หลายบริษัทไปอีก 6 ปีนั้น

เมื่อวันที่ 3 ม.ค. 61 นายกรัฐมนตรีได้สั่งการหลังประชุม ครม. ให้ สธ.ประชุมร่วมกับนายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสมบูรณ์ ยินดียั่งยืน รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นักวิชาการ และตัวแทนภาคประชาชน ศึกษาข้อมูลและผลกระทบจากการใช้สารเคมีดังกล่าว และรายงานให้นายกฯรับทราบโดยเร็ว

นายอุทัย นพคุณ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 ก.พ. 61 การประชุมร่วมกระทรวง สธ.ยืนยันมติเดิมให้ยกเลิกการใช้ แต่กระทรวงเกษตรฯตอบรับเพียงว่าจะศึกษาสารทดแทน ระหว่างรอผลการพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตรายชี้ขาด กรมวิชาการฯจึงยังไม่มีการแบนสารพาราควอต เนื่องจากต้องรอมติคณะทำงานชุดเฉพาะกิจ ซึ่งมีนายภักดี โพธิศิริ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการวัตถุอันตรายเป็นประธาน หาข้อยุติปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง และนำผลสรุปเสนอต่อคณะกรรมการวัตถุอันตราย ภายในปลายเดือน มี.ค. 61 ซึ่งครบกำหนดตามกรอบเวลา 3 เดือน

ระหว่างนี้ การพิจารณาคำขอต่อทะเบียนและคำขอต่ออายุใบสำคัญ อยู่ระหว่างรอผลการพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตราย หากยังไม่มีผลสรุป กรมวิชาการฯจะดำเนินการตามขั้นตอนปกติ ส่วนคำขอขึ้นทะเบียนใหม่ยังคงชะลอ แต่หากคณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณาให้ยุติ เอกชนที่ได้ต่อทะเบียนห้ามมีสารเคมีดังกล่าวไว้ในครอบครอง จำหน่าย นำเข้า ส่งออก ตามกฎหมายกรมวิชาการฯจะเสนอกรรมการชุดนี้ให้ยึดใบอนุญาตนำเข้าวัตถุดิบอันตราย (วอ.4) ทำให้ไม่สามารถซื้อขายได้ ระหว่างรอการพิจารณา กรมจึงต้องศึกษาเพื่อพิจารณาการใช้สารทดแทน

นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่า ตามมติของ 3 กระทรวงที่ได้ประชุมไป ยังคงเป็นไปตามมติตั้งแต่ต้นคือ “แบน” แต่ท้ายที่สุดจะต้องมีข้อมูลรายละเอียดทั้งหมดที่เกี่ยวข้องรายงานส่งต่อไปที่คณะกรรมการวัตถุอันตราย เพื่อพิจารณาชี้ขาดจึงจะประกาศอย่างเป็นทางการ จากนั้นจะมาดูใน พ.ร.บ.วัตถุอันตรายว่าผู้ครอบครอง จำหน่าย ผลิต ใช้ มีความผิดในมาตราใดบ้าง

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2561

รัฐบาลเปิดปฏิบัติการฝนหลวงสู้แล้งปี61 ตัดวงจรการเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง

รัฐบาลเปิดปฏิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้ง ปี 61 แล้ว เน้นเพิ่มปริมาณน้ำสำรอง แนะเกษตรกรวางแผนใช้น้ำอย่างระมัดระวัง พร้อมสั่งทุกหน่วยเร่งสร้างการรับรู้ช่วยชาวนา ตัดวงจรการเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง

3 มี.ค.61 ทำเนียบรัฐบาล พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลเปิดปฏิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้ง ประจำปี 2561 อย่างเป็นทางการแล้ว เพื่อรับมือกับปัญหาน้ำในช่วงฤดูแล้ง โดยคำนึงถึงความต้องการของเกษตรกรและผู้ใช้น้ำทั่วประเทศ ทั้งในพื้นที่เขตชลประทานและนอกเขตชลประทาน รวมทั้งเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนในระบบบริหารจัดการน้ำด้วย

พล.ท.สรรเสริญ กล่าวต่อว่า แผนปฏิบัติการเริ่มตั้งแต่ 1 มี.ค. – 31 ต.ค.61 โดยจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการ 7 แห่งใน 5 ภูมิภาค ได้แก่ จ.เชียงใหม่ พิษณุโลก ขอนแก่น นครสวรรค์ กาญจนบุรี จันทบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ทุกหน่วย เช่น กรมฝนหลวงฯ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน ฯลฯ จะบูรณาการวิเคราะห์ข้อมูลสภาพอากาศ ขึ้นบินทำฝนเทียม และแจ้งข้อมูลให้เกษตรกรและประชาชนทราบ

"นายกรัฐมนตรี ได้รับรายงานว่า ในช่วงฤดูแล้งปีนี้อ่างเก็บน้ำทั่วประเทศยังมีปริมาณน้ำเพียงพอ แต่อยากให้พี่น้องเกษตรกรวางแผนการเพาะปลูกและใช้น้ำอย่างระมัดระวัง เพราะแม้ว่าจะมีปริมาณน้ำมาก แต่ก็อาจเสี่ยงกับการขาดแคลนได้ ถ้าหลายคนต้องการปลูกพืชนอกฤดูกาลมาก เช่น ข้าว เนื่องจากได้ราคาดี และเมื่อมีผลผลิตมากราคาก็จะตก จึงขอความร่วมมือทุกคนในเรื่องนี้ โดยอาจปลูกพืชใช้น้ำน้อยร่วมด้วย"

พล.ท.สรรเสริญ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานในพื้นที่เร่งสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกับเกษตรกร เช่น ข้อมูลราคาผลผลิตที่แท้จริง สิทธิรับการช่วยเหลือจากภาครัฐ ฯลฯ โดยได้ยกตัวอย่างการขายข้าวสดและข้าวตากที่มีความชื้นแตกต่างกันว่า ราคาขายที่เหมาะสมควรเป็นเท่าใด เป็นต้น เพื่อป้องกันการถูกเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลางหรือข้าราชการที่ฉวยโอกาสจากความไม่รู้ของประชาชน

จาก www.naewna.com วันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2561

ค่าเงินบาทมี.ค.ผันผวนเพิ่ม

จับตาค่าเงินบาทเดือน มี.ค. มีสิทธิผันผวนขึ้น หลัง ก.พ.ที่ผ่านมาความผันผวนเพิ่ม 2 เท่าจากเดือน ม.ค. ลุ้น 3-4 ปัจจัยกระทบ

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมอัตราความผันผวนของค่าเงินบาทในเดือน ก.พ. ที่ผ่านมาอยู่ที่ 6-9% โดยช่วงต้นเดือนอยู่ที่ 6% จากนั้นความผันผวนสูงขึ้นไปเกือบ 9% ก่อนจะกลับมาอยู่ที่ 6% ในช่วงท้ายของเดือน

สำหรับความผันผวนนี้สูงกว่าถึง 2 เท่าเมื่อเทียบกับเดือน ม.ค. ซึ่งมีความผันผวนตลอดเดือน 3-5% เป็นระดับความผันผวนที่เพิ่มมาต่อเนื่องจากสิ้นปีที่ผ่านมา ดังนั้นเดือน มี.ค.นี้ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเห็นค่าเงินบาทผันผวนมากกว่าเดือนนี้ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเห็นค่าเงินบาทผันผวนมากกว่าเดือน ก.พ.ได้

ทั้งนี้ ปัจจัยหลักๆ ที่มีผลต่อความผันผวนของค่าเงินบาทในเดือน มี.ค. มี 3-4 ปัจจัย ได้แก่ อัตราดอกเบี้ย ซึ่งในเดือนนี้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะขึ้นดอกเบี้ยจริงน่าจะทำให้เห็นภาพตลาดการเงินชัดเจนขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยต่อมาคือประเด็นการเลือกตั้งในอิตาลี ที่มีขึ้นในช่วงวันอาทิตย์ที่ 4 มี.ค.นี้ ซึ่งน่าจะส่งผลให้เงินยูโรอ่อนค่าลงและดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นอีก ดังนั้นก็จะสร้างความผันผวนได้เพราะสวนทางกับกระแสหลักที่ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเทียบกับเงินสกุลในเอเชียที่แข็งค่าขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยนโยบายต่างประเทศของ โดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่ออกมาเริ่มเห็นการกีดกันทางการค้ารายอุตสาหกรรมซึ่งข้อมูลก็ยังไม่ชัดเจนว่าใครที่โดนผลกระทบบ้าง ดังนั้นในช่วงสั้นจะสร้างความผันผวนให้ตลาดการเงินได้เล็กน้อย

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศออกมาเมื่อช่วงสิ้นเดือน ก.พ.นั้น ไม่ถือว่าผิดไปจากที่ตลาดคาดการณ์มากนัก

"ทิศทางหลักๆของค่าเงินบาทก็ยังเป็นในทางเงินบาทแข็งค่าอยู่เนื่องจากมีปัจจัยพื้นฐานที่ดีขึ้น เศรษฐกิจแข็งแกร่ง การส่งออกก็เติบโตดี และเงินไหลเข้าสู่เอเชีย แต่ก็อาจจะมีปัจจัยอื่นๆ ได้ ที่มาทำให้สิ่งที่มองไว้กลับด้านอาจจะเห็นความผันผวนสูงมาก เช่น ถ้าเศรษฐกิจ จีนเกิดมีปัญหาอาจจะจับตาดูตัวเลขเศรษฐกิจจีนบ้าง รวมถึงจับตาเฟด เพราะทุกครั้งที่ขึ้นดอกเบี้ยก็จะส่งผลลบต่อตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้" นายจิติพล กล่าว

ทั้งนี้ คาดว่าสัปดาห์หน้าค่าเงินบาทน่าจะเคลื่อนไหวในกรอบแข็งค่าสุดที่ 31.20-31.25 บาท/ดอลลาร์ และอ่อนค่าสุดที่ 31.75-31.80 บาท/ดอลลาร์

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2561

โรงงานน้ำตาลโชว์การหีบอ้อย 87 วันแรก ผลิตน้ำตาลทรายได้ 8.61 ล้านตัน

โรงงานน้ำตาลทราย เผยข้อมูลรายงานผลผลิตอ้อยเข้าหีบประจำฤดูการผลิตปี 60/61 หลังผ่าน 87 วัน นับจากเปิดหีบวันแรก 1 ธ.ค.ที่ผ่านมา มีปริมาณผลผลิตอ้อยเข้าหีบแล้ว 81.02 ล้านตัน เทียบระยะเวลาหีบอ้อยของปีก่อนที่มีปริมาณอ้อยเข้าหีบ 72.39 ล้านตัน ระบุคุณภาพค่าความหวานในอ้อยและประสิทธิภาพการหีบสกัดอ้อยเป็นน้ำตาลทรายล้วนดีขึ้น ส่งผลให้ผลิตน้ำตาลทรายได้แล้ว 8.614 ล้านตัน แม้มีปัญหาอ้อยไฟไหม้จากการเร่งจัดเก็บผลผลิตของชาวไร่

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหารบริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) เปิดเผยว่า หลังจากที่โรงงานน้ำตาลทรายเปิดรับอ้อยเข้าหีบประจำฤดูการผลิตปี 2560/61 เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2560 ถึง 25 กุมภาพันธ์ 2561 หรือคิดเป็นระยะเวลา 87 วัน พบว่า โรงงานน้ำตาลทรายทั่วประเทศได้รับผลผลิตอ้อยจากชาวไร่เข้าหีบแล้วจำนวน 81.02 ล้านตันอ้อย เพิ่มขึ้น 8.63 ล้านตันอ้อย เมื่อเทียบกับระยะเวลาการหีบอ้อยในช่วงเดียวกันของฤดูการหีบอ้อยปีก่อนที่มีอ้อยเข้าหีบ 72.39 ล้านตันอ้อย ซึ่งเป็นผลมาจากโรงงานน้ำตาลทรายทั่วประเทศได้เตรียมพร้อมด้านการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้มีปริมาณผลผลิตอ้อยเข้าหีบสูงสุดเฉลี่ย 1.21 ล้านตันต่อวัน

 ขณะเดียวกันคุณภาพของผลผลิตอ้อยเข้าหีบเมื่อเทียบระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย โดยมีค่าความหวานเฉลี่ย 12.20 ซี.ซี.เอส. จากปีก่อนอยู่ที่ 12.05 ซี.ซี.เอส. และมีปริมาณการผลิตน้ำตาลทรายต่อตันอ้อย (ยิลด์) อยู่ที่ 106.33 กิโลกรัมต่อตันอ้อย เทียบกับปีก่อนที่มียิลด์ 104.77 กิโลกรัมต่อตันอ้อย หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 1.56 กิโลกรัมต่อตันอ้อย ส่งผลให้ช่วงระยะเวลา 87 วันที่มีการเปิดหีบอ้อย สามารถผลิตน้ำตาลทรายได้แล้วทั้งสิ้น 8.614 ล้านตัน

 อย่างไรก็ตาม โรงงานน้ำตาลทรายประเมินว่า คุณภาพผลผลิตอ้อยหีบควรจะดีกว่านี้ หากชาวไร่อ้อยสามารถจัดเก็บอ้อยสดเพื่อจัดส่งให้แก่โรงงานมากขึ้น เนื่องจากสถานการณ์ในปัจจุบันยังพบว่า ปัญหาอ้อยไฟไหม้ยังมีความรุนแรงเช่นทุกปีที่ผ่านมา โดยในรอบการผลิตปีนี้ มีอ้อยไฟไหม้เข้าสู่การหีบอ้อยสูงถึง 49.35 ล้านตันอ้อย หรือคิดเป็นสัดส่วน 60.91% จากปริมาณอ้อยเข้าหีบในช่วง 87 วันแรกของฤดูหีบอ้อยปีนี้

 “แม้โดยภาพรวมคุณภาพผลผลิตอ้อยเข้าหีบจะดีขึ้นเล็กน้อย แต่เราเชื่อว่าจะทำให้ดีกว่านี้ได้ หากชาวไร่อ้อยร่วมกันจัดเก็บอ้อยสดที่ทำให้ค่าความหวานสูงขึ้นเข้าสู่โรงงาน เพื่อประโยชน์ของทุกฝ่ายที่จะทำรายได้จากการเพาะปลูกอ้อยได้ดีและสร้างความเข้มแข็งให้แก่อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายโดยรวมในที่สุด”

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 2 มีนาคม 2561

ตลาดการเงิน และเศรษฐกิจโลกภายใต้ QE Exit

โดย ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต

เศรษฐกิจโลกเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในปี พ.ศ. 2561 ขณะที่แรงกดดันของอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ตลาดการเงินยังคงมีความผันผวนสูงในยุค QE Exit อัตราดอกเบี้ยสหรัฐอเมริกาเข้าสู่วงจรขาขึ้น พร้อมกับการทยอยถอนตัวออกจากมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณทางการเงินของธนาคารกลางยุโรป และธนาคารกลางญี่ปุ่น หลังจากดำเนินนโยบาย QE (quantitative easing) มาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี ค.ศ. 2008 (พ.ศ. 2551) ช่วงวิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์ และวิกฤตหนี้สินยูโรโซน ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจซบเซาอย่างต่อเนื่องของญี่ปุ่นเริ่มมีสัญญาณบวกเพิ่มขึ้นในปีนี้

ทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลกที่เข้าสู่ขาขึ้นย่อมส่งผลต่อความผันผวนในตลาดการเงินโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้โดยเฉพาะในช่วงแรก เม็ดเงินจะเคลื่อนย้ายจากสินทรัพย์เสี่ยงโดยเฉพาะตลาดหุ้น เข้าสู่ตลาดพันธบัตรและตลาดตราสารหนี้มากขึ้น หากเศรษฐกิจโลกโดยรวมยังขยายตัวได้ดี และทิศทางดอกเบี้ยโดยเฉพาะดอกเบี้ยสหรัฐไม่ขยับขึ้นแรงและเร็วเกินไป การปรับตัวของราคาสินทรัพย์ทางการเงินจะไม่ผันผวนมากเกินไปจนเกิดความเสี่ยงต่อนักลงทุน

ราคาจะสะท้อนมูลค่าที่แท้จริงมากขึ้น เพราะสภาพคล่องส่วนเกินจำนวนมากจะถูกดูดออกจากระบบ สภาพคล่องส่วนเกินที่เคยดันราคาสินทรัพย์ทางการเงินให้ปรับตัวสูงกว่าปัจจัยพื้นฐานมาก ๆ จะลดลง และย่อมทำให้ราคาสินทรัพย์ทางการเงินสะท้อนปัจจัยพื้นฐานมากขึ้น และแน่นอนย่อมมีการปรับฐานของตลาดหุ้นอย่างแน่นอน ซึ่งก็ได้มีการปรับฐานไปแล้วรอบหนึ่งช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา อัตราการว่างงานที่ลดลงอย่างรวดเร็วในสหรัฐ พร้อมกับค่าจ้างแรงงานที่ขยับขึ้นตอกย้ำและสนับสนุนนโยบายการเงินแบบตึงตัวในอนาคต อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจสหรัฐจะอยู่ที่ระดับ 2.2-2.3% ในปี พ.ศ. 2561 อัตราการว่างงานแตะระดับ 4.1% ภายใต้ประธานธนาคารกลางสหรัฐคนใหม่ นาย Jerome Powell มีการคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐอาจปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยถึงสี่ครั้ง

อัตราดอกเบี้ยนโยบายและการลดงบดุลของธนาคารกลางสหรัฐ และการเริ่มลดวงเงินการเข้าซื้อสินทรัพย์ (QE tapering) ของธนาคารกลางยุโรป ตามเป้าหมายที่เคยประกาศเอาไว้ เม็ดเงินจำนวนหนึ่งจะไหลเข้าลงทุนในตลาดพันธบัตรระยะสั้นมากขึ้น และจะเคลื่อนตัวสู่ตลาดพันธบัตรระยะยาวมากขึ้นกลางปีหน้า

ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐค่อนข้างทรงตัว โดยค่าเงินบาทและค่าเงินสกุลเอเชียยังคงแข็งค่า คาดว่าเงินบาทน่าจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 31.5-33 บาทต่อดอลลาร์ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะยาวจะเริ่มปรับตัวสูงขึ้นในไตรมาสสี่ ตามทิศทางผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐระยะยาวอายุ 10 ปี ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐได้ประกาศ QE exit และปรับลดขนาดงบดุล

ส่วนดอกเบี้ยนโยบายของไทยนั้นคงยังไม่มีการปรับเปลี่ยน เพราะอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ระดับ 1.5% นั้นยังคงเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังไม่เห็นสัญญาณแรงกดดันเงินเฟ้อในระยะเวลาอันใกล้นี้ และอัตราเงินเฟ้อยังคงทรงตัวในระดับต่ำ โดยมีการกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อไว้ที่ 1-4% ในปี ค.ศ. 2018 การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยยังคงกระจุกตัวอยู่ในภาคส่งออกและกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ยังไม่กระจายตัวมายังเศรษฐกิจฐานรากและ SMEs มากนัก สิ่งนี้ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่รู้สึกว่าเศรษฐกิจดีขึ้นเท่าไหร่นัก

นโยบายการปฏิรูปภาษีของสหรัฐ ซึ่งจะลดภาษีทั้งนิติบุคคล (ลดจาก 35% เหลือ 21%) และบุคคลธรรมดา จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา และน่าจะส่งผลต่อการเคลื่อนไหวในตลาดการเงินโลก ในส่วนของการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นอาจไม่มากอย่างที่คาดการณ์ไว้ จากการตีกรอบไม่ให้ขาดดุลการคลังส่วนเพิ่มจากมาตรการลดภาษีเกิน 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และการขาดดุลการคลังนี้น้อยกว่าการลดภาษีครั้งใหญ่ในรอบก่อน นักเศรษฐศาสตร์ประเมินว่าจะช่วยกระตุ้นอัตราการเติบโตเศรษฐกิจได้เพียง 0.1-0.3% ต่อปี

ส่วนกฎหมายภาษีการนำกำไรนอกประเทศกลับเข้าประเทศด้วยอัตราพิเศษครั้งเดียว จะทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนกลับสหรัฐ ทำให้ดอลลาร์อาจทยอยแข็งค่าขึ้น ขณะนี้มีเม็ดเงินของบรรษัทสัญชาติสหรัฐนอกประเทศประมาณ 2.6 ล้านล้านดอลลาร์ การลดภาษีนิติบุคคล ทำให้บริษัทมีกำไรมากขึ้น และมีเงินมากขึ้นในการขยายกิจการและการจ้างงาน การใช้มาตรการภาษีจูงใจให้กลุ่มทุนสหรัฐโอนเงินกลับประเทศน่าจะช่วยให้ราคาหุ้นในตลาดดาวโจนส์คึกคักขึ้น น่าจะมีการจ่ายเงินปันผลและซื้อคืนหุ้นมากขึ้น

ส่วนเศรษฐกิจยูโรโซนก็ขยายตัวดีขึ้น และน่าจะเติบโตได้ในระดับ 2.0-2.1% แต่ขอให้จับตาการเริ่มปรับลดวงเงิน QE สู่ระดับ 3 หมื่นล้านยูโรต่อเดือนในปีนี้ และแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรปในปี ค.ศ. 2019 ว่า จะส่งผลอย่างไรต่อเศรษฐกิจโลกและตลาดการเงินโลกในภาพรวม ธนาคารกลางยุโรปตั้งเป้าหมายเงินเฟ้อไว้ที่ 2% ต่อเงินเฟ้อตอนนี้ต่ำกว่า 2% ฉะนั้นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาจไม่เกิดขึ้นปีนี้ แต่น่าจะเป็นปีหน้ามากกว่า

เมื่ออัตราดอกเบี้ยสหรัฐปรับตัวสูงขึ้นจะกดดันให้เงินเยนอ่อนค่าลง และทำให้ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 10 ปี ระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐเพิ่มสูงขึ้น ธนาคารกลางญี่ปุ่นมีแนวโน้มคงมาตรการผ่อนคลายทางการเงินไปอีกระยะหนึ่ง การฟื้นตัวของตลาดแรงงานในญี่ปุ่นยังไม่ดีนัก และเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม กลุ่มทุนญี่ปุ่นจะให้ความสำคัญต่อการเข้ามาลงทุนในพื้นที่ EEC ของไทย

กลยุทธ์การลงทุนในตลาดการเงินในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นและเศรษฐกิจโลกขยายตัวดีขึ้น ควรลดปริมาณการถือสินทรัพย์หรือพันธบัตรระยะยาวและเพิ่มน้ำหนักในตราสารระยะสั้นมากขึ้น เพื่อลดการขาดทุนจากราคาตราสารหนี้ที่ลดลง และเพิ่มโอกาสในการรับดอกเบี้ยสูงขึ้นในช่วงขาขึ้น

เน้นการลงทุนในตราสารหนี้ผลตอบแทนสูง และรอจังหวะการปรับฐานของราคาหุ้นเพื่อเข้าลงทุน ซึ่งตลาดหุ้นน่าจะปรับฐานเป็นระยะ ๆ จาก QE exit ที่ทยอยเกิดขึ้น

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 2 มีนาคม 2561

ดอลลาร์สหรัฐแนวโน้มดี กดดันค่าเงินบาทให้อ่อนค่าลง

ภาวะการเคลื่อนไหวของค่าเงินระหว่างสัปดาห์ ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (26/2) ที่ 31.38/40 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (23/2) ที่ 31.45/47 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา นายจอห์น วิลเลี่ยม ประธานเฟดสาขาซานฟรานซิสโก ได้แสดงความคิดเห็นว่า เฟดอาจมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ถึง 3 หรือ 4 ครั้งในปี 2018 นอกจากนี้นักลงทุนยังจับตาแถลงการณ์รอบครึ่งปีต่อสภาคองเกรสสหรัฐในวันพรุ่งนี้ (27/2) ของนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งจะเป็นการแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับนโยบายการเงินเป็นครั้งแรกของเขาต่อรัฐสภาสหรัฐ โดยนักลงทุนจับตาถ้อยแถลงของนายพาวเวล เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของสหรัฐ รวมทั้งทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในปีนี้ ซึ่งในวันพุธที่ผ่านมา (28/2) นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวแถลงการณ์ต่อสภาคองเกรสสหรัฐ โดยส่งสัญญาณว่าเฟดอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 4 ครั้งในปีนี้ โดยเฟดมีแผนปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปี และอาจมีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4 ครั้ง หลังจากมีการใช้มาตรการด้านการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งรวมถึงการปรับลดอัตราภาษี และการเพิ่มการใช้จ่ายของรัฐบาล ทั้งนี้นายเจอโรม พาวเวล กล่าวว่า ไม่ได้มีความกังวลต่อภาวะผันผวนของตลาดหุ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยการแกว่งตัวอย่างรุนแรงของตลาดจะไม่มีผลกระทบต่อมุมมองของเขาที่มีต่อเศรษฐกิจสหรัฐ และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในปีนี้ โดยเขาคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐ ยังคงมีแนวโน้มที่แข็งแกร่ง และเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ในส่วนของค่าเงินบาท นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือน ม.ค. 61 ว่า เศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวดีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านอุปสงค์ที่ขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่งจากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวสูงสุดในรอบ 62 เดือน ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 61 ประเมินว่าจะยังขยายตัวได้ค่อนข้างดี สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 67.0 เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน และถือเป็นระดับสูงสุดในรอบ 34 เดือน นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2558 ประกอบกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยระบุว่า คณะกรรมการประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องและชัดเจนมากขึ้น โดยได้รับแรงส่งจากภาคต่างประเทศรวมถึงอุปสงค์ในประเทศที่ทยอยปรับดีขึ้น อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีทิศทางปรับสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี แต่มีความเสี่ยงในบางจุดที่อาจสะสมความเปราะบางในระบบการเงินในระยะต่อไป โดยคณะกรรมการได้พิจารณาถึงผลดีและผลกระทบของทางเลือกเชิงนโยบายต่าง ๆ (policy trade-offs) แล้วเห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระบบปัจจุบันยังจำเป็นอยู่ เพื่อช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ และเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้แม้อาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ซึ่งส่งผลให้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 31.25-31.60 บาท/ดอลลาร์ และปิดตลาดวันศุกร์ (2-3 ที่ระดับ 31.45/47 บาท/ดอลลาร์

สำหรับการเคลื่อนไหวสกุลเงินยูโร (26/2) เปิดตลาดที่ระดับ 1.2288/92 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (23/2) ที่ระดับ 1.2311/14 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (23/2) สำนักงานสถิติแห่งยุโรป เปิดเผยตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค ประจำเดือนมกราคม ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.3% เท่ากับเดือนก่อนหน้า และเท่ากับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ นอกจากนี้สำนักงานสถิติแห่งเยอรมนี ได้เปิดเผยตัวเลข GDP ไตรมาสที่ 4 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.6% เท่ากับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ นอกจากนี้นักลงทุนยังจับตานายมาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งกำหนดที่จะเข้าแสดงวิสัยทัศน์ต่อคณะกรรมาธิการด้านเศรษฐกิจของรัฐสภายุโรป โดยนายมาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ได้ออกมาแสดงมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจยูโรโซน โดยเขายังมองว่าตลาดแรงงานกลับมีการปรับตัวดีขึ้นอย่างมาก แต่ยังคงต้องจับตาดูระดับเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด ขณะที่ค่าเงินยูโรยังคงได้รับแรงกดดันจากเรื่องการเลือกตั้งของอิตาลีที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 4 มีนาคมนี้ โดยพรรคการเมือง Five Star Movement (M5S) ที่มีแนวคิดในการแยกอิตาลีออกจากยูโรโซน อาจจะชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้ จุดนี้เองที่สร้างความกังวลว่า อิตาลีมีความเสี่ยงในการที่จะออกจากสมาชิกสหภาพยุโรปซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของยูโรโซนได้ เนื่องจากอิตาลีมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 3 ของยูโรโซน รองจากเยอรมนีและฝรั่งเศส ประกอบกับผลสำรวจซึ่งจัดทำโดย Ifo สถาบันวิจัยเศรษฐกิจของเยอรมนี ระบุว่า กลุ่มผู้ผลิตในภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนีคาดการณ์ว่า ยอดส่งออกเดือนกุมภาพันธ์ จะลดลงต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 3 ทั้งนี้ ดัชนีคาดการณ์แนวโน้มการส่งออกในเดือนกุมภาพันธ์ซึ่งจัดทำโดย Ifo นั้นปรับตัวลดลงแตะที่ 14.8 จุด จากระดับ 16.5 จุด ในเดือนมกราคม โดยนายเคลเมนส์ ฟิวสท์ ประธาน Ifo กล่าวในรายงานว่า แม้สภาพเศรษฐกิจในยุโรปจะฟื้นตัวดีขึ้น แต่การแข็งค่าของสกุลเงินยูโรเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออก แต่อย่างไรก็ตาม สำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนีเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.2% ในเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2559 และต่ำกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ 1.3% หลังจากเพิ่มขึ้น 1.4% ในเดือนมกราคม ทั้งนี้ตลอดสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.2158-1.2355 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดวันศุกร์ (2/3) ที่ระดับ 1.2279/81 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ในวันจันทร์ ค่าเงินเยนเปิดตลาดที่ระดับ 106.88/91 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ใกล้เคียงกับระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (23/2) ที่ระดับ 106.86/87 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (23/2) กระทรวงสื่อสารและกิจการภายในประเทศของญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมราคาอาหารสด ปรับตัวขึ้น 0.9% ในเดือนมกราคม เมื่อเทียบเป็นรายปี เนื่องจากต้นทุนพลังงานปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ ดัชนี CPI พื้นฐานของญี่ปุ่นปรับตัวขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 13 อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวยังอยู่ต่ำกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารญี่ปุ่น (BOJ) ที่ระดับ 2% นอกจากนี้ตัวเลขการผลิตรถยนต์ภายในประเทศชะอตัวลง ซึ่งส่งผลให้รัฐบาลญี่ปุ่นปรับลดการประเมินการผลิตภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ผลสำรวจความเห็นของกลุ่มผู้ผลิตในญี่ปุ่น ซึ่งจัดทำโดยกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมระบุว่า กลุ่มผู้ผลิตคาดว่าการผลิตภาคอุตสาหกรรมจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 9% ในเดือนกุมภาพันธ์ และจะปรับตัวลดลง 2.7% ในเดือนมีนาคม โดยตลอดสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 105.69-107.68 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดวันศุกร์ (2/3) ที่ระดับ 105.69/61 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 2 มีนาคม 2561

เงินเฟ้อเดือนก.พ. เพิ่มต่อเนื่องเดือนที่ 8

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กล่าวว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคหรือเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ก.พ.2561 เทียบกับเดือนก.พ.ปีก่อน เพิ่มขึ้น 0.42% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 รวมสองเดือนแรกของปีขยายตัว 0.56% ขณะที่เมื่อเทียบกับเดือน ม.ค. 2561 เงินเฟ้อติดลบ 0.23%

สำหรับสาเหตุที่เงินเฟ้อขยายมาจากการบริโภคและการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน ในหมวดที่มิใช่อาหารสดที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คือการเพิ่มขึ้นของราคาในหมวดอาหารสำเร็จรูป เครื่องดื่ม พลังงาน เคหสถาน ขนส่ง และอื่นๆ สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและเครื่องชี้วัดด้านการบริโภคต่างที่มีแนวโน้มในทิศทางที่ดีในช่วงที่ผ่านมา

และส่วนหนึ่งเกิดจากการขยายตัวของความต้องการสินค้าและบริการของผู้บริโภค ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจโลก รวมทั้งผลจากการดำเนินนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในช่วงที่ผ่านมา

สำหรับแนวโน้มสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการ การเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาผู้บริโภคอย่างต่อเนื่องสวนทางกับการลดลงต่อเนื่องของดัชนีราคาผู้ผลิตที่ลดลง 1.9% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 จากสาเหตุที่ราคาหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมลดลง 1.3% แต่หากเทียบกับเดือนม.ค.2561 ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนนี้ลดลง 0.2%

รวม 2 เดือนแรกของปีนี้ดัชนีราคาผู้ผลิตลดลง 1.5% ขณะที่ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนก.พ. 2561 เทียบกับเดือนก.พ. ปีก่อนสูงขึ้น 2.9% และเมื่อเทียบกับเดือนม.ค. 2561 คงที่ โดยมีสาเหตุสำคัญจากการเพิ่มขึ้นของหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กเป็นบวก 8.3% ตามราคาต้นทุนวัตถุดิบ รวมสองเดือนแรกของปีนี้ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้น 2.8% ประกอบกับเครื่องชี้วัดด้านการบริโภคภาคเอกชนต่างๆปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในทิศทางเดียวกันโดยเฉพาะภาคการบริโภคภาคเอกชน

ยอดการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม การส่งออก และดัชนีความเชื่อมั่นต่างๆ ชี้ว่าเศรษฐกิจในประเทศกำลังฟื้นตัวและความต้องการในสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการดำเนินนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐเริ่มส่งผลดี ทำให้แนวโน้มเงินเฟ้อในปี 2561 ยังเป็นไปตามเป้าคือ 2.5-1.5%

จาก https://www.khaosod.co.th วันที่ 2 มีนาคม 2561

Agri Tech Innovation Forum 2018 ต่อยอดงานวิจัยเกษตรสู่พาณิชย์

กรมการค้าต่างประเทศ จับมือสกว. จัดงาน Agri Tech Innovation Forum 2018 ต่อยอดงานวิจัยเกษตรสู่พาณิชย์                   

สถาบันส่งเสริมสินค้าเกษตรนวัตกรรม (สกน.) กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์กับบทบาทภารกิจของกรมการค้าต่างประเทศ และการพัฒนาระบบฐานข้อมูลผลงานวิจัยและผู้ประกอบการสินค้าเกษตรนวัตกรรม และร่วมกันจัดงาน Agri–Tech Innovation Forum 2018 : นวัตกรรมสินคาเกษตรไทยแหงอนาคต ณ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ ถ.แจ้งวัฒนะ เพื่อขับเคลื่อนและส่งเสริมสินค้าเกษตรนวัตกรรม สร้างมูลค่าเพิ่มทางการค้า และสามารถแข่งขันได้ในตลาด ตามนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล

นายกีรติ รัชโน รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมการค้าต่างประเทศ มีนโยบายส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรโดยใช้นวัตกรรม โดยการส่งเสริมให้นำ “งานวิจัย” มาเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อน นำไปสู่การผลิตสินค้าเกษตรนวัตกรรม สร้างมูลค่าเพิ่มในเชิงพาณิชย์ได้ จนเป็นที่มาของการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างกรมการค้าต่างประเทศและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และการร่วมกันจัดงาน Agri–Tech Innovation Forum 2018 : นวัตกรรมสินค้าเกษตรไทยแห่งอนาคต ในวันนี้

นายกีรติฯ ยังเปิดเผยอีกว่า ผลจากการลงนาม MOU ในครั้งนี้ จะช่วยเสริมสร้างการทำงานของกรมฯ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จากการนำงานวิจัยมาช่วยสนับสนุนการดำเนินงานนโยบายของกรมฯ อีกทั้งยังจะช่วยผลักดันให้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการ นักลงทุน และนักวิจัย เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาต่อยอดผลงานวิจัยไปสร้างมูลค่าเพิ่มเชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรม ผ่านคณะทำงานที่จะคอยประสานให้ความช่วยเหลือ แก่นักวิจัยและผู้ประกอบการ โดยการร่วมกันพัฒนาระบบฐานข้อมูลผู้ประกอบการสินค้าเกษตรนวัตกรรม นักวิจัย และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการจัดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนให้ความรู้ทางวิชาการเกี่ยวกับทิศทางแนวโน้มตลาด และการนำผลงานวิจัยไปต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มทางการค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ

นอกจากพิธีลงนาม MOU ดังกล่าวแล้ว ภายในงานยังมีการเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้และถ่ายทอดประสบการณ์โดยเหล่าผู้บริหารชั้นนำที่มีความเชี่ยวชาญด้านการตลาดต่างประเทศ ในหัวข้อ “ทิศทางตลาดสินค้าเกษตรนวัตกรรมโลก 2018” ซึ่งได้รับเกียรติจาก ดร.ชินรัฐ บุญชู ผู้อำนวยการสายงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ บมจ. ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) ดร.ธัญญวัฒน์ เกษมสุวรรรณ ผู้อำนวยการด้านนวัตกรรม บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) คุณเอกพล พงศ์สถาพร CEO บริษัท ทิปโก้ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) และคุณณรงค์ เจียรวนนท์ รองประธานอาวุโส บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด โดยแต่ละท่านได้แชร์ถึง แนวโน้มตลาดสินค้าเกษตรนวัตกรรมในแต่ละภูมิภาคของโลก และให้คำแนะนำถึงภาคธุรกิจ นักวิจัย และเกษตรไทยควรปรับตัวอย่างไรจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น รวมถึงการเสวนาโดยนักวิจัยและผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จในการนำงานวิจัยไปต่อยอดสร้างมูลค่าในเชิงพาณิชย์ ในหัวข้อ “งานวิจัยจากหิ้งสู่ห้าง : ความฝันสู่ความจริง” ซึ่งได้รับเกียรติจาก คุณวัชรพล บุญหลาย CEO บริษัท เมดิฟูดส์ (ประเทศไทย) จำกัด คุณวาทิน วงศ์สุรไกร CEO บริษัท เนอเชอร์แคร์ จำกัด ผศ.ดร.โสภาค สอนไว อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรมมหาวิทยาลัยศิลปากร และศ.ดร.พิชญ์ ศุภผล

อาจารย์ประจำวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเป็นการพูดคุยถึงประสบการณ์ของการนำงานวิจัยมาใช้ประโยชน์ในธุรกิจ และแนวคิดการสร้างผลงานวิจัยที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการได้นั้นจะต้องริเริ่มอย่างไร อีกทั้งภายในงานมีการจัดบูธแสดงผลงานวิจัยนวัตกรรมสินค้าเกษตรไทยจำนวนกว่า 100 ผลงานจากเหล่านักวิจัย พร้อมกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจต่อยอดงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ และการแลกเปลี่ยนความรู้ ให้คำปรึกษาจากหน่วยงานสนับสนุนที่เกี่ยวข้อง ที่พร้อมให้คำปรึกษาในด้านต่าง ๆ อย่างครบวงจร

ผู้ที่สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมหรือโครงการอื่น ๆ สามารถสอบถามได้ที่ สถาบันส่งเสริมสินค้าเกษตรนวัตกรรม (Institute for Agricultural Product Innovation : APi) กรมการค้าต่างประเทศ โทรศัพท์ 0 2547 4771 ต่อ 4044, 4047 สายด่วน 1385 หรือ https://www.dft.go.th/apiinspire/

จาก https://www.dailynews.co.th วันที่ 2 มีนาคม 2561

กรมชลฯยันปีนี้ 4 เขื่อนลุ่มเจ้าพระยามีน้ำพอปลูกข้าว

กรมชลประทานมั่นใจ 4 เขื่อนหลักจัดสรรน้ำทั้งปีเพียงพอ จับตาหลังสงกรานต์เจอฝนทิ้งช่วง มิ.ย.-ก.ค. ย้ำเกษตรกรอย่าปลูกเกินแผน อธิบดีกรมการข้าวไม่หวั่นลุ่มเจ้าพระยาปลูกเกินแผนเพียงเล็กน้อย ผลผลิตข้าวส่งสัญญาณราคาดี 2 มี.ค.นี้เตรียมรายงานที่ประชุม นบข.

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า แผนการจัดสรรน้ำเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) ช่วงฤดูแล้งอยู่ในเกณฑ์ดีมีปริมาณน้ำใช้การได้ 14,187 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 78 เทียบปี 2559 ที่มีน้ำใช้การได้เพียง 9,704 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ปริมาณน้ำใช้การทั้งประเทศ 40,356 ล้าน

ลบ.ม. สำหรับการจัดสรรน้ำถึง 30 เม.ย.ในปริมาณ 25,067 ล้าน ลบ.ม. และคาดการณ์ปริมาณน้ำลุ่มเจ้าพระยา ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.ที่ 7,862 ล้าน ลบ.ม. โดยแบ่งเป็นน้ำอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศ 18 ล้าน ลบ.ม./วัน ส่วนตอนบนของลุ่มเจ้าพระยาใหญ่ ตั้งแต่จังหวัดนครสวรรค์ขึ้นไป แบ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ พื้นที่ 0.383 ล้านไร่ จะเริ่มส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกข้าวรอบที่ 1 ตั้งแต่ 1 เม.ย.นี้ และจะเริ่มเพาะปลูกเมื่อกรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเข้าสู่ฤดูฝน โดยใช้น้ำฝนเป็นหลัก ประกอบกับล่าสุดปีนี้พื้นที่ลุ่มต่ำ 1.8 ล้านไร่ หรือบางระกำโมเดลสามารถขยายพื้นที่รับน้ำได้เพิ่ม 550 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ 1.15 ล้านไร่ ส่งผลให้ปริมาณน้ำช่วงฤดูแล้งสามารถใช้การได้อย่างเพียงพอจนถึงฤดูกาลถัดไปจากน้ำต้นทุน 76% ที่ใช้สนับสนุนภาคการเกษตรวันที่เริ่มต้นฤดูแล้ง รวมทั้งประเทศจัดสรรไว้ 15,952 ล้าน ลบ.ม. วางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งไว้ ได้แก่ ข้าว 8.3 ล้านไร่ พืชไร่ 4.8 แสนไร่ พืชผัก 2.2 แสนไร่ พืชอื่น ๆ 4.6 ล้านไร่ รวมทั้งสิ้น 13 ล้านไร่ เพียงพอและอยู่ในเกณฑ์ดี มีเพียงข้าวยังปลูกเกินแผนในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา

ปัจจุบันในเขตพื้นที่ชลประทานยังไม่พบปัญหาการขาดแคลนน้ำ เนื่องจากกรมชลประทาน ได้วางแผนจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคไว้อย่างชัดเจนตลอดช่วงฤดูแล้งต่อเนื่องไปจนถึงเดือนกรกฎาคม 2561 แต่คาดการณ์มีจังหวัดที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษว่าจะประสบภัยแล้งในพื้นที่เกษตรเป็นบริเวณกว้าง ส่งผลให้มีน้ำไม่เพียงพอต่อการทำนาปรัง และพืชไร่ตายได้ และผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของไม้ผล ไม้ยืนต้น ผลผลิตลดลง ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา เพชรบุรี และน่าน

ดังนั้น เมื่อวิเคราะห์ปริมาณฝนและปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ดี และมีปริมาณมากกว่าปี 2559 และปี 2558 ที่เกิดวิกฤตภัยแล้ง และจากการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงพบว่าเป็นพื้นที่เสี่ยงสูงประมาณ 0.23 ล้านไร่ ทำให้คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ภัยแล้งปี 2560/2561 ไม่รุนแรง แต่ยังคงมีบางพื้นที่ที่อาจจะประสบปัญหาภัยแล้งระดับปานกลางประมาณ 3.6 ล้านไร่ ร้อยละ 5 ของพื้นที่การเกษตรทั้งหมด ซึ่งต้องติดตามเฝ้าระวัง รวมทั้งพื้นที่นอกเขตชลประทาน มีพื้นที่ต้องเฝ้าระวังการขาดแคลนน้ำด้านการเกษตร จำนวน 23 จังหวัด 74 อำเภอ อย่างไรก็ตาม เดือน ก.พ.-เม.ย.ไทยต้องเฝ้าระวังเอลนิโญ-ลานิญา โดยปรากฏการณ์ ENSO จะทำให้ลานิญาอ่อนกำลัง ปริมาณฝนรวมของไทยมีโอกาส 50-50 ยกเว้นภาคใต้ หลังจากนั้นช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค.อาจเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง ซึ่งหน่วยปฏิบัติการการบริหารจัดการน้ำทั้ง 10 หน่วยงานได้เตรียมแผนรองรับแล้ว

“ผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งทั้งประเทศขณะนี้ มีการเพาะปลูก 99% ของแผน ซึ่งนาปรังเกินแผน 1% และเก็บเกี่ยวแล้ว 3.5 แสนไร่ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาเกินแผน 11% เก็บเกี่ยวแล้ว 1.2 แสนไร่ แม้น้ำจะเพียงพอและอยู่ในแผน แต่กรมชลประทานกังวลว่า หลังการเก็บเกี่ยวแล้วชาวนาจะมีการปลูกข้าวอีกรอบ จึงประสานไปยังกระทรวงมหาดไทยทำความเข้าใจกับเกษตรกรถึงปริมาณน้ำที่มีจำกัด หากปลูกเพิ่มอาจกระทบกับราคา และเพื่อป้องกันความเสี่ยงหากเกิดภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะช่วง มิ.ย.-ก.ค.จะเกิดฝนทิ้งช่วง”

นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า ผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งทั้งประเทศ มีการเพาะปลูกไปแล้ว 8.97 ล้านไร่ คิดเป็น 99% ของแผน ข้าวนาปรังมีการเพาะปลูกไปแล้ว 8.35 ล้านไร่ เกินแผนเพียง 1% และเก็บเกี่ยวแล้ว 3.5 แสนไร่ แต่เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการเพาะปลูกไปแล้ว 5.81 ล้านไร่ เกินแผน 11% แบ่งเป็นข้าวนาปรัง เพาะปลูกไปแล้ว 5.75 ล้านไร่ เกินแผน 11% แต่ภาพรวมทั้งประเทศยังต่ำกว่าแผน โดยพื้นที่ 11.69 ล้านไร่ ปลูกได้ 11.05% ยังคงต่ำกว่าเป้าซึ่งหากเทียบกับปีที่แล้ว แผนรอบ 2 ปีนี้จะมากกว่าปีที่แล้ว เพราะผลผลิตนาปีเป้า 24 ล้านตันข้าวเปลือก แต่ประสบภัยน้ำท่วมจึงได้ 22 ล้านตันข้าวเปลือก ทำให้ปีนี้เพิ่มแผนจาก 8 ล้านไร่ ให้อยู่ที่ 11.69 ล้านไร่ เพื่อความสมดุล ทั้งนี้ คาดว่าปีนี้ยังเป็นไปตามแผน เนื่องจากจะสิ้นฤดูแล้ว คาดว่าเกษตรกรไม่ปลูกเกินไปกว่านี้ เพราะบางพื้นที่ปรับเปลี่ยนไปเพาะปลูกพืชอื่น ประกอบกับปีนี้สถานการณ์น้ำเป็นไปตามคาดการณ์ และยังไม่มีแนวโน้มเกิดภัยธรรมชาติจะส่งผลให้ข้าวราคาดีและสอดคล้องแผนข้าวครบวงจร

อย่างไรก็ดี จะมีการรายงานสถานการณ์ผลผลิตข้าวต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวครบวงจร (นบข.) โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในวันศุกร์ที่ 2 มี.ค.นี้ คาดว่าที่ประชุมจะเห็นชอบวาระแผนข้าวครบวงจรปี’60

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 1 มีนาคม 2561

รมว.เกษตรเปิดปฏิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้งปี61

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดงานปฏิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้ง ปี 61 ภายใต้แนวคิดด้วยศาสตร์พระราชา นำพาฝนหลวง 4.0

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิดปฏิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้ง ประจำปี 2561 อย่างเป็นทางการ ณ สนามบินนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ พร้อมเปิดเผยว่า สถานการณ์ภัยแล้งในปี 2561 มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องมาจากความผันแปรของสภาพภูมิอากาศและสภาวะโลกร้อน ประกอบกับสถานการณ์ภัยพิบัติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงมอบหมายให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ดำเนินโครงการปฏิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้ง ประจำปี 2561 ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญตามนโยบายของรัฐบาลที่กำชับให้ทุกหน่วยงานมุ่งดำเนินงานเชิงรุกเพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรและประชาชน

ด้านนายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจหลักในการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้แก่เกษตรกรและผู้ใช้น้ำทั่วทั้งประเทศ รวมถึงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับระบบบริหารจัดการน้ำของประเทศ โดยมีแผนปฏิบัติการประจำปี ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม ถึงวันที่ 31 ตุลาคม ของทุกปี ภายใต้การดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ 4 ยุทธศาสตร์ และเตรียมจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ จำนวน 7 หน่วยปฏิบัติการ ได้แก่

ภาคเหนือ จำนวน 2 หน่วยฯ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 1 หน่วยฯ

ภาคตะวันออก จำนวน 1 หน่วยฯ

ภาคใต้ จำนวน 1 หน่วยฯ

นายสุรสีห์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการปฏิบัติการฝนหลวง ยังมีความร่วมมือจากหน่วยงานร่วมบูรณาการที่เกี่ยวข้องด้วย อาทิ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สนับสนุนน้ำแข็งแห้งในการปฏิบัติการฝนหลวง กรมชลประทานและกรมป่าไม้ เรื่องบริหารจัดการน้ำและการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ การวิจัยพัฒนา จรวดดัดแปรสภาพอากาศ กับสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ดำเนินโครงการอากาศยานไร้คนขับ UAV กับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ การสนับสนุนข้อมูลเกี่ยวกับงานวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง การดำเนินงานเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่ใช้สนับสนุนการปฏิบัติการฝนหลวงเกี่ยวกับการดัดแปรสภาพอากาศ เป็นต้น

จาก https://www.innnews.co.th  วันที่ 1 มีนาคม 2561

อ่างเก็บน้ำขอนแก่น3แห่งระดับต่ำกว่าร้อยละ50

น้ำในอ่างเก็บน้ำที่ขอนแก่น 3 แห่ง ระดับต่ำกว่าร้อยละ 50 ของความจุอ่างแล้ว ผู้ว่าฯ รุดตรวจสอบ วางแผนรับมือ

นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแกน พร้อมด้วย พล.ต.กาจน์บดินทร์ ยิ่งดอน รอง ผอ.รมน.ขอนแก่น,นายณัฐวุฒิ ถุนนอก นายอำเภอบ้านฝาง และ นายธณัช เครือมา ส.อบจ.ขอนแก่น ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานการณ์น้ำกักเก็บของอ่างเก็บน้ำห้วยใหญ่ ในพื้นที่ ต.ป่าหวายนั่ง อ.บ้านฝาง จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็น 1 ใน 14 อ่างเก็บน้ำของกรมชลประทาน ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ของ จ.ขอนแกน โดยล่าสุดมีปริมาณน้ำเก็บกักอยู่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ของความจุอ่าง โดยในการลงพื้นที่ตรวจสอบสถานการณ์น้ำในแหล่งน้ำสาธารณะครั้งนี้เป็นการวางแผนการบริหารจัดการน้ำและการพบปะกับผู้นำชุมชนในพื้นที่เพื่อให้ จ.ขอนแก่น มีน้ำสำหรับการอุปโภคและบริโภคตลอดทั้งช่วงหน้าแล้งปีนี้และก่อนเข้าสู่ช่วงฤดูฝนในช่วงปลายเดือนเมษายนที่จะถึงนี้

ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแกน กล่าวต่ออีกว่า ได้มีการหารือและสั่งการในการนำนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลคือการที่จะต้องให้ประชาชนมีน้ำดื่มน้ำใช้ทั้งปี ดังนั้นจึงได้กำหนดแนวทางในการขุดบ่อสาธารณะภายในวัดให้มากขึ้น เพื่อให้เป็นอีกหนึ่งแหล่งเก็บกักน้ำสาธารณะที่ประชาชนสามารถมาใช้งานได้ตลอดทั้งปี ซึ่งขณะนี้คณะทำงานได้สำรวจและบริหารจัดการในเรื่องของงบประมาณให้เป็นไปตามระเบียบ ขณะเดียวกันยังคงมีการหารือไปยังผู้นำท้องถิ่นในการดำเนินงานเรื่องโครงการประปาหมู่บ้านที่จะต้อบงครอบคลุมทุกหมู่บ้าน รวมไปถึงการประสานงานร่วมกับชลประทานในการขยายเขตชลประทานให้ครอบคลุมพื้นที่มากยิ่งขึ้นเพื่อให้ขอนแก่น ซึ่งมีแหล่งน้ำกักเก็บทั้งขนาดกลาง ขนาดใหญ่ และขนาดเล็ก รวมไปถึงในแหล่งชุมชนนั้นมีน้ำเพียงพอต่อการอุปโภค บริโภคและใช้ในภาคการเกษตรได้ตลอดทั้งปี

จาก https://www.innnews.co.th  วันที่ 1 มีนาคม 2561