http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล (เดือนมีนาคม 2565]

วิกฤติยูเครน  ดันราคาน้ำตาลโลก พุ่งสูงสุดรอบ  5  ปี ไทยรับอานิสงส์

 ต้องจับตาสถานการณ์น้ำตาลโลกปี 2564/65 ให้ดี จากตั้งแต่วิกฤติโควิด ลากยาวมาถึงสงครามรัสเซีย-ยูเครน มีตัวแปรเกิดขึ้นหลายอย่างที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง

นายภิรมย์ศักดิ์ สาสุนีย์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ค้าผลผลิตน้ำตาล จำกัด เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงผลผลิตน้ำตาลโลก ผลต่อเนื่องจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ราคาน้ำตาลดิบ รวมถึงภาระต้นทุนทั้งพลังงานและปุ๋ยเคมีที่เพิ่มขึ้น ปัจจัยหลัก ๆ เหล่านี้จะมีผลต่ออุตสาหกรรมน้ำตาลไทยอย่างไร น่าติดตาม

น้ำตาลโลกยังขาด

นายภิรมย์ศักดิ์ กล่าวว่า ยังต้องจับตาผลผลิตน้ำตาลทั่วโลกที่มีการขาดแคลนลดลง ล่าสุดองค์การน้ำตาลระหว่างประเทศ (ISO) คาดว่าจะขาดประมาณ 1.93 ล้านตัน จากประมาณการครั้งก่อนเมื่อเดือน พ.ย.64 คาดจะขาดประมาณ 2.55 ล้านตัน ทั้งนี้ คาดว่าบราซิลกลาง-ใต้ จะผลิตได้ลดลงเหลือประมาณ 32.1 ล้านตัน ขณะที่ไทยจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 10 ล้านตัน และอินเดียน่าจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ถึง 33.3 - 33.5 ล้านตัน  ส่วนจีน ผลผลิตน้ำตาลน่าจะลดลงเหลือประมาณ 10 ล้านตัน ต่ำกว่าปกติ เนื่องจากผลผลิตน้ำตาลจากบี๊ทได้รับความเสียหายมาก

สงครามดันน้ำตาลราคาพุ่ง

ส่วนสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่มีผลทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ปรับตัวสูงขึ้น ระดับ 100 ดอลลาร์ถึง 130.50 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ถือเป็นระดับสูงสุดรอบ 13 ปีครึ่ง ส่งผลกระทบให้ราคาน้ำตาลทรายดิบปรับตัวสูงขึ้น จากระดับต่ำสุดประมาณ 17.50 เซนต์ต่อปอนด์ กระทั่งถึงระดับสูงสุดเกือบ 20 เซนต์ต่อปอนด์ และขณะนี้อ่อนตัวลงมาอยู่ในช่วง 19-19.65 เซนต์ต่อปอนด์ ตามการอ่อนตัวของราคาน้ำมันดิบ

 “ราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดน้ำตาลนิวยอร์ค ได้ปรับตัวสูงขึ้นเกือบถึงระดับสูงสุดในรอบ 5 ปีเศษ ที่ระดับเกือบ 20 เซนต์ต่อปอนด์ หลังจากก่อนหน้านี้เมื่อเดือนสิงหาคม 2564 ได้ปรับตัวสูงขึ้นถึงระดับสูงสุดที่ 20.94 เซนต์ต่อปอนด์ ซึ่งถือว่าสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2559 ที่ปรับตัวสูงขึ้นไปสูงสุดเหนือ 24 เซนต์ต่อปอนด์”

นอกจากนี้ผลที่เกิดจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้การนำเข้าน้ำตาลทรายดิบมายังประเทศอดีตสหภาพโซเวียตผ่านทางทะเลดำประมาณปีละ 1.2 ล้านตัน ไม่สามารถทำได้ ในขณะที่การปรับตัวสูงขึ้นมากของราคาน้ำมัน จะจูงใจให้บราซิลใช้อ้อยในการผลิตเอทานอลมากกว่าน้ำตาล

นายภิรมย์ศักดิ์ กล่าวอีกว่า สงครามรัสเซีย-ยูเครน มีผลต่อการส่งออกน้ำตาลของไทยอย่างไรนั้น ส่วนตัวมองว่าผู้ส่งออกน้ำตาลไทยไม่น่าได้รับผลกระทบ เนื่องจากรัสเซียไม่ได้เป็นผู้นำเข้าน้ำตาลจากไทยมานานมากแล้ว โดยในช่วง 2 เดือนแรกปี 2565 พบว่าไทยส่งออกน้ำตาลทรายเพิ่มขึ้นถึง 170% โดยการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าสำคัญส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (กราฟิกประกอบ) ผู้นำเข้าน้ำตาลจากไทยรายใหญ่ยังเป็นอินโดนีเซีย กัมพูชา และเกาหลีใต้ จากอัตราค่าขนส่งที่ต่ำกว่าประเทศผู้ส่งออกรายอื่น

ขณะเดียวกันมองว่าสงครามรัสเซีย-ยูเครน น่าจะสร้างปัญหาให้กับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลมากกว่าวิกฤติโควิด จากมีผลต่อราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นมีผลต่อต้นทุนการผลิตของชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน รวมถึงผลต่อราคาปุ๋ย จากรัสเซียเป็นผู้ส่งออกปุ๋ยรายใหญ่ของโลกและระงับส่งออก

สถานการณ์อ้อยและแนวโน้ม

ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ค้าผลผลิตน้ำตาล จำกัด ยังกล่าวถึง สถานการณ์อ้อยของไทยและแนวโน้มว่า หลังผลผลิตได้รับความเสียหายจากภัยแล้งช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ในปีนี้ (ปีการผลิต 2564/65) คาดผลผลิตอ้อยของไทยอาจเพิ่มขึ้นเป็น 91-92 ล้านตันจะผลิตเป็นน้ำตาลได้ประมาณ 10 ล้านตันจากปีก่อนมีผลผลิต 66.7 ล้านตัน  และในฤดูการผลิตปีหน้า (ปี 2565/66) เชื่อว่าผลผลิตอ้อยน่าจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับเกิน 100 ล้านตัน จากราคาจูงใจและสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย

“ราคาอ้อยจูงใจให้ชาวไร่ปลูกอ้อยอย่างต่อเนื่อง โรงงานน้ำตาลทั่วประเทศได้ประกาศประกันราคารับซื้ออ้อยในอัตราตันละ 1,200 บาท เป็นเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2565/66 เป็นต้นไป  ส่วนความกังวลในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในเวลานี้คือ ผลจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน จะทำให้เกิดปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” นายภิรมย์ศักดิ์ กล่าว

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 31 มีนาคม 2565

ภาคอุตสาหกรรม เบรกรัฐขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร ลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบ รับวิกฤตเศรษฐกิจ

ภาคอุตสาหกรรม เบรกรัฐขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร ลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบ ปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ช่วยผู้ประกอบการ รับวิกฤตเศรษฐกิจ

เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2565 นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจส.อ.ท.เดือนมี.ค. 2565 หัวข้อ “โพล ส.อ.ท. หนุนทบทวนปรับขึ้นค่า Ft” จากสมาชิก ส.อ.ท. จำนวน 460 บริษัท พบว่าผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการดำเนินธุรกิจตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ตลอดจนวิกฤตความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่สงครามยังคงยืดเยื้อ ทำให้ราคาพลังงานพุ่งสูงขึ้นและส่งผลทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ยังคงกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง

“ภาครัฐจึงจำเป็นต้องเร่งดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ประกอบการให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตในช่วงนี้ เช่น การทบทวนการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) ลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบที่จำเป็นต่อภาคการผลิต ส่งเสริมการพัฒนาการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transport) ผลักดันระบบการจ่ายค่าแรงตามทักษะ (Pay by Skill) สนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีนัยสำคัญต่อการดึงดูดนักท่องเที่ยว เป็นต้น”

โดยผลสำรวจครั้งนี้ สมาชิกส.อ.ท. มีความเห็นว่าภาครัฐควรดำเนินมาตรการเพื่อรองรับผลกระทบจากราคาพลังงานแพง อันดับแรก 68.30% ต้องการให้ทบทวนการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร รอลงมา 57.60% เห็นควรให้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เช่น ส่วนลดค่าไฟฟ้า ส่วน 55% ขอให้ภาครัฐสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสำหรับการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร/อุปกรณ์ เพื่อการประหยัดพลังงาน

เมื่อถามว่าภาครัฐควรดำเนินการแก้ไขปัญหาวัตถุดิบขาดแคลน และวัตถุดิบแพงอย่างไร สมาชิกส.อ.ท. 63.90% เห็นว่าภาครัฐควรลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบที่จำเป็นต่อภาคการผลิต รองลงมา 63% ขอให้ปลดล๊อกเงื่อนไขและโควต้าการนำเข้าวัตถุดิบโดยเฉพาะในวัตถุดิบที่ขาดแคลน ส่วน 53.50% ขอให้ภาครัฐควบคุมและดูแลราคาสินค้าไม่ให้มีการฉวยโอกาสปรับราคาเกินจริง

นอกจากนี้ สมาขิกส.อ.ท. 71.10% เห็นว่าภาครัฐควรส่งเสริมการพัฒนาการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบในภูมิภาค เช่น ทางราง, ทางเรือ เป็นต้น เพื่ออำนวยความสะดวกและลดอุปสรรคด้านการส่งออกที่เป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รองลงมา 57.60% ให้เร่งการเชื่อมโยงใบอนุญาต/ใบรับรองต่างๆ ของกลุ่มสินค้าหลักในระบบ National Single Window (NSW) ส่วน 57.20% ขอให้ส่งเสริมและพาผู้ประกอบการออกไปเปิดตลาดที่ไทยมีศักยภาพ

โดยสมาชิก 71.10% เสนอให้ภาครัฐควร ผลักดันระบบการจ่ายค่าแรงตามทักษะ แทนค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อปรับปรุงการบริหารจัดการแรงงาน และแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงาน รองลงมา 60% ขอให้เร่งพิจารณาเปิดการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายให้ถูกต้องตามกฎหมายอีกครั้ง ส่วน 54.60% ขอให้ภาครัฐหารือกับรัฐบาลประเทศต้นทางในระดับรัฐมนตรีเพื่อเร่งรัดการนำเข้าแรงงานต่างด้าวภายใต้ข้อตกลงโดยเร็ว

อย่างไรก็ตาม สมาชิก 64.10% เห็นว่าภาครัฐควรสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีนัยสำคัญต่อการดึงดูดนักท่องเที่ยว เพื่อส่งเสริมการเปิดประเทศและกระตุ้นเศรษฐกิจไทย รองลงมา 60.40% เห็นควรให้ปรับกระบวนการออกใบอนุญาต Work permit และดึงแรงงานทักษะสูงเข้ามาทำงานในประเทศ

ส่วน 60.20% ให้ผ่อนปรนเงื่อนไขและเพิ่มมาตรการจูงใจนักลงทุนศักยภาพให้เข้ามาลงทุน และอาศัยในประเทศ

จาก https://www.khaosod.co.th  วันที่ 31 มีนาคม 2565

ไทย-ยูเค เร่งวางโรดแมปขยายการค้า พร้อมเตรียมจัดประชุม JETCO มิ.ย.นี้

ไทย-ยูเค หารือเตรียมการจัดประชุมคณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจและการค้า (JETCO) ครั้งที่ 1 เดือน มิ.ย.นี้ พร้อมสานต่อ MOU กระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน ด้านไทยสนใจร่วมมือด้านวิจัยพัฒนาอาหารแห่งอนาคต อาหารที่ทำจากพืช และกฎระเบียบการจดทะเบียนผลิตภัณฑ์สุขภาพ

วันที่ 30 มีนาคม 2565 นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส (Senior Official Meeting : SOM) เมื่อวันที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา โดยได้ร่วมหารือกับนางแคทรีน ลอว์ อธิบดีกรมความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงการค้าระหว่างประเทศของสหราชอาณาจักร (ยูเค) เพื่อเตรียมการสำหรับการประชุมคณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจและการค้า (Joint Economic and Trade Committee : JETCO) ไทย-ยูเค ครั้งที่ 1 ระดับรัฐมนตรี ซึ่งมีแผนจะจัดขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายนนี้ ณ กรุงลอนดอน

การประชุมครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงภาพรวมและนโยบายเศรษฐกิจ แนวทางการกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุน และการเตรียมการด้านพิธีการและสารัตถะ สำหรับจัดการประชุม JETCO ครั้งที่ 1 เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน โดยเฉพาะหลังจากที่ยูเคออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งไทยและยูเคได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างกัน เพื่อจัดตั้ง JETCO เมื่อเดือน มี.ค. 2564 ที่ผ่านมา

“ยูเคถือเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านดิจิทัล เทคโนโลยี บริการ และยังมีกฎระเบียบมาตรฐานสูง โดยเฉพาะประเด็นใหม่ ๆ อาทิ สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย และสุขภาพ จึงเป็นโอกาสของไทยที่จะร่วมมือในสาขาสินค้าและบริการที่ไทยมีศักยภาพ เพื่อรองรับพัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วของโลกยุคใหม่

ดังนั้น การร่วมมือกับยูเคน่าจะเป็นประโยชน์ในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และความรู้เชิงวิชาการด้านเทคนิคประเด็นใหม่ๆ พร้อมรับพัฒนาการทางการค้าที่เกิดขึ้น โดยไทยสนใจที่จะร่วมมือกับยูเคเรื่องการวิจัยพัฒนาอาหารแห่งอนาคต (Future Food) และอาหารที่ทำจากพืช (Plant-based Food) และกฎระเบียบการจดทะเบียนผลิตภัณฑ์สุขภาพ”

ทั้งนี้ ในปี 2564 ยูเคเป็นคู่ค้าอันดับที่ 22 ของไทย และเป็นอันดับที่ 4 ในภูมิภาคยุโรป รองจากเยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ และเนเธอร์แลนด์ การค้าระหว่างไทยและยูเค มีมูลค่า 5,533.87 ล้านเหรียญสหรัฐ (175,223.29 ล้านบาท) โดยไทยส่งออกไปยูเค มูลค่า 3,489.72 ล้านเหรียญสหรัฐ (109,663.07 ล้านบาท) และไทยนำเข้าจากยูเค มูลค่า 2,044.15 ล้านเหรียญสหรัฐ (65,560.22 ล้านบาท)

สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ไก่แปรรูป รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และสินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ และเคมีภัณฑ์

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 30 มีนาคม 2565

“อาคม” หวังส่งออกไทยโต 10 % ดันจีดีพีโต

รมว.คลัง หนุน รัฐ - เอกชน ร่วมมือ ปลดล็อกปัญหาโลจิสติกส์ เสริมสภาพคล่อง ดันส่งออกโต 10 % ขับเคลื่อนจีดีพีไทยโตเพิ่ม ชี้ท่องเที่ยวยังไม่ฟื้น ด้านผู้ส่งออกชี้ส่งออก 10 % เป็นความท้าทาย แนะเปิดตลาดการค้าใหม่ ใช้เอฟทีเอ หาเส้นทางขนส่งใหม่แทนขนส่งทางเรือ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง”นโยบายทางการเงินการคลังกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปี 2565” ในการประชุมสามัญประจำปี ของสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)ว่า คาดการณ์ว่าอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีไทยปี 65 ขยายตัว 3.5-4.5 % ซึ่งจะ "เบ่ง" ขึ้นหรือสามารถทำได้มากกว่านี้หรือไม่ เชื่อว่า หากรัฐบาล และภาคเอกชนร่วมมือกันก็น่าจะ  เพิ่มอัตราการเติบโตได้อีก อย่างน้อย 0.1% - 0.3%  ทั้งนี้หอการค้าอังกฤษยังมองว่าเศรษฐกิจของไทยแม้จะเจอปัญหาสงครามรัสเซีย และยูเครน ราคาพลังงาน เศรษฐกิจไทยยังโตได้ 4 %

ในส่วนของการส่งออก ยังเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปี 2565 โดยในปี 2564 ที่ผ่านมา การส่งออกขยายตัวกว่า 17 % โดย 2 เดือนที่ผ่านมา การส่งออกก็ขยายตัวได้กว่า 12% ซึ่งหากผลักดันให้ปีนี้ สามารถเติบโตให้ได้สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 5% เป็น 10% นั้น ก็จะช่วยในแง่ภาพรวมของเศรษฐกิจ

"การส่งออกทั้งปี ขยายตัว 10% เป็นเรื่องที่ยาก  แต่หากช่วยกันแก้ปัญหาเรื่องโลจิสติกส์ และสภาพคล่องของผู้ประกอบการได้ ก็น่าจะผลักดันการส่งออกได้มากขึ้น แต่ก็อยู่ที่คำสั่งซื้อ และตลาดคู่ค้าของไทยขยายตัวได้มากน้อยแค่ไหน แต่อยากให้ภาคเอกชนและภาครัฐร่วมมือกัน หรือเพิ่มอัตราการเติบโต เพื่อทำให้การส่งออกทั้งปี 65 โตถึง 10% ให้ได้เพื่อสร้างเซอร์ไพรส์ให้กับนักวิเคราะห์จากภาคสถาบันการเงินที่มองว่าส่งออกไทยปีนี้จะเติบโตแค่ 5% “นายอาคม กล่าว

นายอาคม กล่าวว่า  ในส่วนของการท่องเที่ยวที่เป็นเครื่องยนต์สำคัญของเศรษฐกิจไทยอีกตัวหนึ่งก็ยังไม่ฟื้นเต็มที่ ซึ่งปีนี้ตั้งเป้าจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ 7 ล้านคน แต่ช่วง 3 เดือนนี้ มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาไทยแล้วเพียง 4 แสนคน ดังนั้นถ้าหากตัวเลขอยู่ในระดับนี้ ทั้งปีจะได้ 1.6 ล้านคน ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งนโยบายของรัฐบาลหลังจากนี้เมื่อรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการมากขึ้น ก็จะทำให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามามากขึ้น แม้หลายประเทศยังคงจำกัดเรื่องของการเดินทาง แต่ขณะนี้ทางฝั่งยุโรปก็ได้ผ่อนปรนในเรื่องของการเดินทางมากขึ้นแล้ว

ขณะที่รายได้ตัวถัดมาคือ จากภาครัฐ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลได้เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ งบลงทุน โดยเฉพาะของรัฐวิสาหกิจเองก็ทำได้ดี เมื่อเทียบกับปี 2564 ส่วนการลงทุนของภาคเอกชน แม้หลายส่วนจะมองว่าภาคเอกชนจะมีการชะลอการลงทุนเนื่องจากความไม่มั่นใจสถานการณ์สงครามรัสเซีย และยูเครน แต่ในช่วงปี 2564 ที่ผ่านมา ภาคเอกชนก็ได้มีการระดมทุนเพื่อขยายธุรกิจหรือลงทุนใหม่แล้ว ผ่านการออกหุ้นกู้ เป็นต้น

ทั้งนี้การส่งออก การท่องเที่ยว การเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณ และการลงทุน ก็ไม่น่าจะมีปัญหาในเรื่องของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในด้านของปริมาณของปี 65 แต่อาจมีปัญหาในด้านราคา โดยเฉพาะราคาวัตถุดิบ และราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้น   อย่างไรก็ตามคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ได้อนุมัติมาตรการช่วยค่าครองชีพของประชาชนแล้วเป็นเวลา 3 เดือน แต่ยังต้องดูในส่วนของราคาสินค้า ว่ากระทรวงพาณิชย์จะเข้าไปกำกับ และควบคุมราคาสินค้าไม่ให้เพิ่มขึ้นได้มากน้อยแค่ไหน

นายอาคม กล่าวว่า สำหรับเงินเฟ้อนั้น กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ตั้งเป้าหมายกรอบเงินเฟ้อไว้ที่ 1-3% แต่ราคาพลังงานที่สูงขึ้นก็ทำให้เงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ แต่รัฐก็พยายามช่วยเต็มที่ ซึ่งทางหอการค้าอังกฤษก็ยังมองว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยจะไม่สูงมากนัก ยกเว้นหากราคาน้ำมันดิบดูไบมีการปรับราคาไปสูงถึง 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งยังไม่มีมุมมองว่าจะขึ้นไปถึงระดับนั้นได้

อย่างไรก็ตามในอนาคตเราจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกใน 3 เรื่องคือ1. เทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งต้องนำมาช่วยลดขั้นตอน ลดต้นทุน และค่าใช้จ่าย ภาคเอกชนเองก็ต้องนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ด้วย 2.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นเทรนด์ของโลก นโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนหรือ BCG ที่ทุกคนต้องเร่งปรับตัวให้เข้ากับกระแส 3.การเตรียมพร้อมรับกับสังคมผู้สูงอายุ

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธาน สรท. กล่าวในหัวข้อ“สถานการณ์การค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้การส่งออกของไทยต้องเปลี่ยนไป” ว่า  หลังจากที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตั้งเป้าหมายการทำงานของผู้ส่งออกไทยเพื่อเพิ่มการเติบโตของการส่งออก ให้อยู่ที่ 10% ซึ่งเป็นความท้าทายที่สำคัญสำหรับผู้ส่งออกของไทยเนื่องจากการส่งออกของไทยขยายตัว 17.1% สู่ 271,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 30 ปี ขณะที่เป้าหมายการส่งออกของ สรท. อยู่ที่ 5%          

ทั้งนี้การส่งออกของไทยในปี 2565 ต้องเผชิญกับความผันผวน ความไม่แน่นอน ที่ซับซ้อน และคลุมเครือตั้งแต่การระบาดใหญ่ของ โควิด-19 และสงครามรัสเซีย และยูเครนทำให้สถานการณ์แย่ลงในปีนี้ผู้ส่งออกของไทยต้องติดตามปัจจัยที่ได้รับผลกระทบที่ซับซ้อน และเพิ่มขึ้น และจำเป็นต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว เช่น การขาดแคลนวัตถุดิบพื้นฐาน ได้แก่ ปุ๋ย อาหารสัตว์ และราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ธาตุเหล็กหายากในขณะที่ต้นทุนการขนส่งที่สูงขึ้นจากการขนส่งที่ล่าช้า และการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์จะยังคงรักษาไว้ในปีนี้

 ส่วนเป้าหมายที่จะเพิ่มการเติบโตของการส่งออกมากกว่า 5% ผู้ส่งออกต้องใช้การตลาดออนไลน์มากขึ้นในการค้าโลกตลอดจนการขยายตลาดผ่านการค้าชายแดนที่ควรค้าขายกับกัมพูชา  ลาว เมียนมา และเวียดนาม  และต้องหาเส้นทางโลจิสติกส์ใหม่รถไฟความเร็วสูงลาว - ​​จีนไปยังประเทศต่างๆ ในยุโรป  และต้องมีกลยุทธ์เชิงรุกเพื่อขยายตลาดใหม่ เช่น ประเทศในตะวันออกกลาง เช่น ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ คูเวต และโอมาน รวมทั้งการใช้ข้อตกลงการค้าเสรีหรือเอฟทีเอ และมินิเอฟทีเอ เพื่อเป็นแต้มต่อในการส่งออก และยังต้องติดตามความคืบหน้าการเจรจาซีพีทีพีพีด้วย

จาก  https://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 30 มีนาคม 2565

‘แบงก์ชาติ’มั่นใจไทยไม่เกิด Stagflation แม้เงินเฟ้อพุ่งเกินคาด

แบงก์ชาติ มั่นใจไทยยังไม่เข้าข่าย Stagflation แม้เศรษฐกิจจะชะลอ และเงินเฟ้อสูงขึ้นก็ตาม

นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยถึงกรณีประเทศไทยจะเกิด Stagflation หรือเศรษฐกิจชะลอ เงินเฟ้อสูงหรือไม่นั้น มองว่า Stagflation ถูกใช้ค่อนข้างเยอะ ซึ่งสื่อถึงความน่ากลัวของเศรษฐกิจและนิยามอาจไม่เหมือนกัน

แต่ Stagflation คือ เศรษฐกิจถดถอยเติบโตช้าตกต่ำนาน และเงินเฟ้อต้องสูงและสูงต่อเนื่องอย่างยั่งยืน แต่ประเทศไทยไทยไม่ได้เข้าข่าย Stagflation เพราะเศรษฐกิจขยายตัว 3.2% และปี 66 ขยายตัวเพิ่มขึ้นไปอีกถึง 4.4% โดยเศรษฐกิจปี 66 จะเติบโตเร็วกว่าศักยภาพด้วย มองอย่างไรแล้วก็ไม่เข้าข่าย Stagflation

ทั้งนี้การที่เงินเฟ้อสูงขึ้นเกินกว่าคาด โดยปีนี้เงินเฟ้อทั่วไป 4.9% มาจากปัญหารัสเซียและยูเครน ที่ไม่คิดว่าจะมาไกลขนาดนี้ และแนวโน้มในไตรมาส 2 และไตรมาส 3 เงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นอีก แต่มองระยะปานกลางจะกลับเข้ามากรอบเป้าหมาย 1-3% ได้

โดยปกติแล้วนโยบายการเงินจะส่งผลอย่างน้อย 1 ปีเป็นต้นไป ทำให้ กนง.มองตรงนี้และมองทะลุความผันผวนในระยะสั้น และเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว การฉุดเศรษฐกิจแรง ให้เงินเฟ้อหล่นเข้าในกรอบเป็นเรื่องไม่คุ้ม จึงให้น้ำหนักการฟื้นตัวเศรษฐกิจต่อไป

อย่างไรก็ตามถ้าเงินเฟ้อยังไม่เข้าสู่กรอบเป้าหมายทางการเงินที่เงินเฟ้อทั่วไป 1-3% ในช่วง 1 ปีข้างหน้า จะต้องส่งจดหมายเปิดผนึกถึง รมว.คลัง รับทราบ ชี้แจงสาเหตุว่าทำไมถึงไม่เข้าสู่กรอบเป้าหมาย

“มาตรการของภาครัฐช่วยค่าครองชีพ กนง.มองเป็นสิ่งที่ดี เพราะภาระประชาชนและธุรกิจ มีต้นทุนสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และกระทบคนมีรายได้น้อย กระทบประชาชน เป็นเหตุผลออกมาตรการมาเรื่อยๆ พยายามช่วยตรงจุดและเป็นแค่ชั่วคราว ช่วงได้รับผลกระทบ โดยภาพรวมภาครัฐและ ธปท.มีวิธีการรองรับแรงกระแทกช่วงนี้ได้ดี”

จาก https://www.dailynews.co.th   วันที่ 30 มีนาคม 2565

"ค้าภายใน"ไฟเขียวขึ้น"ราคาปุ๋ย"ตามต้นทุนที่พุ่ง

"ค้าภายใน"ไฟเขียวให้เอกชนขึ้น "ราคาปุ๋ย"ตามต้นทุนที่พุ่ง ป้องกันปุ๋ยขาดตลาด แต่ต้นทุนที่เกิดขึ้นจะต้องไม่กระทบต่อประชาชน-เกษตรกรไม่แบกรับภาระเกินไป

นายวัฒนศักดิ์​ เสือเอี่ยม​ อธิบดีกรมการค้าภายใน   เปิดเผยภายหลังการหารือร่วม 3 สมาคม​ผู้ผลิต​ ผู้จำหน่ายและนำเข้าปุ๋ยเคมี​  ประกอบด้วย​ สมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย สมาคมการค้าผู้ผลิตปุ๋ยไทย  สมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร   ว่าการประชุมวันนี้เพื่อประเมินปริมาณปุ๋ยเคมีและหาแนวทางเตรียมความพร้อมสำหรับฤดูกาลเพาะปลูกเดือนพฤษภาคม​ โดยปริมาณปุ๋ยที่มีอยู่ในขณะนี้​เอกชนยืนยันว่ามีเพียงพอต่อการผลิตใน2-3  เดือนนี้เท่านั้น​

และจะมีการสั่งนำเข้าเพิ่มเติมเป็นระยะ​ตั้งแต่ปุ๋ยสูตรหลัก​ เช่นยูเรีย​โปรแตส และฟอสเฟสเพื่อเตรียมไว้ให้เพียงพอ

ทั้งนี้ผู้ผลิตระบุว่าการนำเข้าปุ๋ยขณะนี้มีอุปสรรคจากสงครามยูเครนและรัสเซียทำให้ต้องหาปุ๋ยจากแหล่งใหม่ทดแทนขณะเดียวกันต้นทุนก็สูงขึ้นด้วยเพราะหลายประเทศมีการสำรองปุ๋ยไว้ในประเทศเพื่อความมั่นคงทางอาหาร​ ขณะที่ประเทศอินเดียก็เตรียมเปิดประมูลซื้อปุ๋ย​ยิ่งเป็นปัจจัยกดดันราคาปุ๋ยสูงขึ้นในตลาดโลก​

ทั้งนี้กรมการค้าภายในจะพิจารณาการปรับราคาปุ๋ยเพื่อให้สะท้อนต้นทุนและป้องกันปุ๋ยขาดแคลนซึ่งเอกชนสามารถยื่นขอปรับราคาได้โดยกรมการค้าภายในจะพิจารณาจาก​ 3 ปัจจัยคือเกษตรกรไม่แบกรับภาระเกินไป/ผู้ประกอบการสามารถประกอบธุรกิจอยู่ได้และต้นทุนที่เกิดขึ้นไม่กระทบต่อประชาชนทั้งนี้หากพบว่ามีผู้แทนจำหน่ายรายใดฉวยโอกาสปรับราคาปุ๋ยสมาคมจะตัดจากการเป็นผู้แทนจำหน่าย

ด้านนายเทพวิทย์​  เตียวสุรัตน์กุล​ อุปนายกสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย ​ระบุว่าสถานการณ์ราคาปุ๋ยปรับตัวสูงขึ้นมาก​โดยราคาปุ๋ยยูเรียราคาจากตะวันออกกลาง​ราคาเอฟโอบีไม่รวมค่าเรืออยู่ที่ตันละ​960-1000 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน   ปุ๋ย​18-46-0 ที่นำมาผลิตวัตถุดิบแม่ปุ๋ย​ NPK ตันละ​1100-1200 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันและ​สูตร​0-0-60 โปแตส​อยู่ที่ 950-1000 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน​

ซึ่งราคายูเรียเพิ่ม200% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน   ดังนั้นการอนุญาติให้ปรับราคาตามต้นทุนทำให้เอกชนมีความมั่นใจในการนำเข้ามากขึ้นและเชื่อว่าปุ๋ยจะไม่ขาดตลาด ทั้งนี้ประเมินว่าในช่วงฤดูกาลเพาะปลูก4 เดือน​พฤษภาคมถึงสิงหาคมความต้องการใช้ปุ๋ยจะอยู๋ที่​2.5 ล้านตันจากปริมาณการนำเข้าปีละ​5 ล้านตัน

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 29 มีนาคม 2565

สมาคมปุ๋ย ยื่นพาณิชย์ขอปรับราคาปุ๋ยรอบใหม่

กรมการค้าภายใน ย้ำไฟเขียวขึ้นราคาปุ๋ยเฉพาะรายตามต้นทุนที่แท้จริง ด้านสมาคมปุ๋ย ยื่นขอขึ้นราคารอบใหม่ หลังราคาตลาดโลกปุ๋ยสูตรหลักพุ่ง 100-200% หวั่นไทยเกิดวิกฤตปุ๋ยขาดแคลนไม่พอใช้ในฤดูกาลเพาะปลูก เม.ย.-พ.ค.นี้ หลังรัฐบีบคอตรึงราคานาน จนผู้ผลิตขาดทุน ชะลอนำเข้า

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน  กล่าวถึงสถานการณ์ราคาปุ๋ยที่ปรับตัวสูงขึ้นว่า   ที่ผ่านมากรมฯได้หารือกับผู้ประกอบการปุ๋ยเคมีของไทย เพื่อพิจารณาสถานการณ์การผลิต และจำหน่าย รวมถึงพิจารณาการปรับขึ้นราคาขายปุ๋ยเคมีในประเทศตามที่ผู้ค้าร้องขอ หลังพบว่า ต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้นจริง โดยกรมยืนยันว่า การอนุญาตให้ขึ้นราคาขายปุ๋ยเคมี จะพิจารณาให้เป็นรายๆ ไป เพราะแต่ละรายมีต้นทุนแตกต่างกัน ไม่ใช่อนุญาตให้ปรับขึ้นเท่ากันหมด หรือให้ปรับขึ้นได้ทุกราย  นอกจากนี้ ยังได้เร่งรัดให้ผู้ค้าปุ๋ย เร่งนำเข้าปุ๋ยเข้ามาให้ทันกับฤดูกาลเพาะปลูกใหม่ที่กำลังจะมาถึงอีกไม่กี่เดือนนี้

ด้านนายกองเอก เปล่งศักดิ์ ประกาศเภสัช นายกสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย  กล่าวว่า  สมาคมเป็นห่วงว่าในฤดูกาลเพาะปลูกที่จะถึงในช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค.นี้ ประเทศไทยจะเผชิญวิกฤตขาดปุ๋ยสำหรับเพาะปลูก หลังพบว่าสต็อกปุ๋ยบางชนิดมีปริมาณลดลง และอาจไม่เพียงพอ เนื่องจากตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาผู้ค้าปุ๋ยเคมีบางราย มีการชะลอนำเข้า เพราะประสบปัญหาขาดทุน จากราคาปุ๋ยในตลาดโลกปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง แต่ราคาในประเทศกลับถูกรัฐบาลตรึงไว้ไม่ให้ขึ้นราคา

ทั้งนี้ แม้กระทรวงพาณิชย์ จะอนุญาตให้ปรับราคาและกระตุ้นให้นำเข้าได้ แต่ไม่แน่ใจว่าจะสามารถไปแข่งขันสั่งซื้อแม่ปุ๋ยเคมีกลับเข้ามาทันฤดูเพาะปลูกที่กำลังจะเริ่มหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมาราคาปุ๋ยก็แพงขึ้นอยู่แล้ว และพอเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครนก็ยิ่งซ้ำเติมให้ราคาแม่ปุ๋ยพุ่งขึ้นไปอีก ที่สำคัญหลายประเทศ เช่น จีนก็มีการสั่งห้ามส่งออกปุ๋ย อีกหลายประเทศก็มีการเก็บสต็อกไว้ สำหรับเพิ่มความมั่นคงในการผลิตอาหารภายในประเทศ

นายกองเอก เปล่งศักดิ์  กล่าวว่า   สมาคมฯ ประเมินว่าหากจะสั่งซื้อนำเข้าปุ๋ยรอบใหม่มา อาจต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2-4 เดือน เพราะขณะนี้แหล่งผลิตนำเข้าใหญ่ๆจากไทยก็มีปัญหา เช่น รัสเซีย จีน ทำให้ต้องไปหาแข่งซื้อกับประเทศอื่น อีกทั้งยังต้องใช้เวลาในการขนส่ง  การขออนุญาต การตรวจสอบคุณภาพจากภาครัฐอีก และนำมาผสมวางขาย ซึ่งทุกขั้นตอนใช้เวลาพอสมควร

ขณะนี้แต่ละบริษัทได้ทยอยแจ้งราคาต้นทุนให้กับกรมการค้าภายในให้พิจารณาไปแล้ว โดยปัจจุบันราคาแม่ปุ๋ยเคมีสูตรสำคัญที่เกษตรกรไทยใช้มากในตลาดโลก ได้ปรับขึ้นจากปีก่อนเกิน 100% ได้แก่ ยูเรีย 46-0-0 เพิ่มจากปีก่อน 360 ดอลลาร์ต่อตัน เป็น 1,000 ดอลลาร์ แอมโมเนียมซัลเฟต 21-0-0 เพิ่มจากปีก่อน 180 ดอลลาร์ต่อตัน เป็น 400 ดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้น 122% ฟอสเฟต 18-46-0 เพิ่มจากปีก่อน 570 ดอลลาร์ต่อตัน เป็น 1164 ดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้น 104% และโพแทสเซียม 0-0-60 ขึ้นจากปีก่อน 256 ดอลลาร์ต่อตัน เป็น 750 หรือเพิ่มขึ้น 193%

“ที่ผ่านมาไทยมีการนำเข้าปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศ 5 ล้านตันต่อปี โดยประเทศที่มีการนำเข้าอันดับหนึ่งจากจีน 1.09 ล้านตัน รองลงมาเป็นซาอุดิอาระเบีย 7.2 แสนตัน รัสเซีย-เบลารุส 7.1 แสนตัน โอมาน 3.67 แสนตัน เกาหลี 3.32 แสนตัน และแคนาดา 3.27 แสนตัน ซึ่งที่ผ่านมาสมาคม ไม่ได้ขออะไรมาก เพียงแต่อยากให้ภาครัฐช่วยพิจารณาราคาให้สะท้อนกับสภาพกับความเป็นจริง เพราะผู้ผลิตก็ขาดทุนเยอะแล้ว”

จาก https://www.bangkokbiznews.com วันที่ 28 มีนาคม 2565

กระทรวงการคลังรับสภาพจ่อปรับลดจีดีพี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน มีแนวโน้มว่าจะยืดเยื้อ ขณะที่การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้การบริโภค และการใช้จ่ายในประเทศไทยลดลงนั้น ทำให้กระทรวงการคลังจะต้องทบทวนการประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจใหม่อีกครั้ง จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 3.5-4.5% คาดว่าจะประกาศตัวเลขการคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจใหม่ในเดือน เม.ย.2565 ทั้งนี้ การปรับประมาณการทางเศรษฐกิจครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกของปี และเป็นไปตามรอบทุกๆเดือนจะมีการทบทวนการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย

สำหรับการประเมินการเติบโตทางเศรษฐกิจครั้งนี้ จะนำปัจจัยเรื่องราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น มาปรับการคาดการณ์ใหม่ จากเดิมคาดว่าราคาน้ำมันดิบตลาดโลกเฉลี่ยอยู่ที่ไม่เกิน 100 เหรียญต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 30- 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยราคาน้ำมัน ถือเป็นต้นทุนการผลิตที่สำคัญ ที่ทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้สถาบันการเงินได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจแล้ว โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดลงเหลือ 2.5% จากเดิม 3.7% เช่นเดียวกับคณะกรรมการร่วมเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ปรับลดจีดีพี เหลือ 2.5-4.5% จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ 3-4.5%

ด้านนายกิตตินันท์ ยิ่งเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมอสโก รัสเซีย กล่าวว่า ขณะนี้ นักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลก รวมถึงกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ธนาคารโลก ฯลฯ กังวลว่าผลจากมาตรการคว่ำบาตรที่สหรัฐฯและพันธมิตรชาติตะวันตกมีต่อรัสเซีย จะทำให้เกิดผลกระทบที่ร้ายแรงต่อภาวะเศรษฐกิจและการเงินโลก ซึ่งไทยไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับภาคการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อมได้

“ผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรที่จะเกิดขึ้นกับไทย เช่น ราคาพลังงาน และค่าขนส่งเพิ่มขึ้น, ขาดแคลนวัตถุดิบในห่วงโซ่การผลิต และราคาสินค้าแพงขึ้น, ปัญหาส่งออกสินค้าไปรัสเซีย ดังนั้น แนะนำให้ผู้ส่งออกไทยชะลอทำการค้ากับรัสเซีย เพื่อป้องกันความเสี่ยง และรอดูสถานการณ์จนกว่าปัจจัยต่างๆจะมีความชัดเจน”.

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 28 มีนาคม 2565

คาดรายได้เกษตรกรจาก 5 พืชเศรษฐกิจ โต 8.86 แสนล้านบาท

ttb analytics คาดรายได้เกษตรกรจาก 5 พืชเศรษฐกิจ ปี 2565 เติบโต 16.1% อยู่ที่ 8.86 แสนล้านบาท สูงสุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ห่วงต้นทุนปุ๋ยเคมีและน้ำมันเชื้อเพลิงที่อาจฉุดรั้ง ดึงรายได้สุทธิเกษตรกรลดลง

เศรษฐกิจไทยในปี 2564 โดยภาพรวมแม้จะมีการชะลอตัวลงโดยได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาภาคเกษตรจะพบว่าเริ่มมีการฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยในปี 2564 รายได้เกษตรกรจาก 5 พืชเศรษฐกิจ ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ยางพารา อ้อย และข้าว รวมกันอยู่ที่ 7.63 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 19.2% จากปี 2563 และเมื่อแยกเป็นพืชแต่ละประเภท พบว่าเพิ่มขึ้น 52.6% 26.4% 23.4% 20.3% และ 3.4% ตามลำดับ โดยรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้น เป็นผลเนื่องมาจากราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับปริมาณนํ้าฝนที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2563 ต่อเนื่องถึงปี 2564 ทำให้นํ้าในอ่างเก็บนํ้าที่สำคัญ และแหล่งนํ้าตามธรรมชาติมีปริมาณมากขึ้นเพียงพอ เป็นสาเหตุจูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มมากขึ้น

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics คาดว่าในปี 2565 รายได้เกษตรกรจาก 5 พืชเศรษฐกิจ (ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง อ้อย ปาล์มน้ำมัน) จะเพิ่มขึ้นเป็น 8.86 แสนล้านบาท ซึ่งเติบโตต่อเนื่องจากปีก่อนถึง 16.1% และสูงสุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา โดยได้รับอานิสงส์จาก 1) ปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้นสาเหตุจากการขยายพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกร 2) ปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูกพืช 3) แนวโน้มราคาอาหารเพิ่มขึ้นตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้นจากความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวภายหลังจากการระบาดของโรคโควิด-19 และ 4) ความตึงเครียดของสงครามรัสเซียและยูเครน ทำให้ราคาพืชอาหารและพืชที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลต่อมูลค่ารายได้เกษตรกรจาก 5 พืชเศรษฐกิจหลักของไทย ในปี 2565 เป็นดังนี้

ข้าวเปลือก : คาดว่ารายได้เกษตรกรจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.93 แสนล้านบาท หรือขยายตัว 12.6% โดยปริมาณผลผลิตข้าวจะเพิ่มขึ้น 4.1% และราคาข้าวเปลือก (ความชื้น 15%) จะเพิ่มขึ้น 8.2% (ปี 2564 ราคาข้าวเปลือกปรับตัวลดลง 5.2% จากอุปทานเพิ่มขึ้น) โดยรายได้เกษตรกรชาวนาจะได้รับผลดีจากผลผลิตที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรัง และปริมาณน้ำจะเพียงพอทั้งในอ่างเก็บกักน้ำและน้ำฝนตามธรรมชาติที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น ส่วนราคาข้าวเปลือกคาดว่าจะดีขึ้น จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจโลก ทำให้การค้ากลับมาเป็นปกติ โดยข้าวไทยยังเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ยางพารา : คาดว่ารายได้เกษตรกรจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.89 แสนล้านบาท หรือขยายตัว 12.3% โดยปริมาณผลผลิตคาดว่าจะทรงตัวจากปีก่อน สำหรับราคายางพาราคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 12.0% ซึ่งได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมันดิบที่ปรับสูงขึ้น ทำให้ผู้ผลิตยางรถยนต์ปรับสัดส่วนการใช้ยางสังเคราะห์มาเป็นยางธรรมชาติมากขึ้น รวมถึงความต้องการยางพาราที่เพิ่มขึ้น ทั้งจากตลาดในประเทศและตลาดส่งออกหลัก (จีนและมาเลเซีย) ที่ต้องการนำไปผลิตเป็นสินค้าขั้นปลาย ได้แก่ ยางรถยนต์ และถุงมือยางทางการแพทย์ มากขึ้น

ปาล์มน้ำมัน : คาดว่ารายได้เกษตรกรจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.28 แสนล้านบาท หรือขยายตัว 13.6% โดยปริมาณผลผลิตและราคาคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 3.6% และ 9.7% ตามลำดับ ปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้นมาจากราคาปาล์มน้ำมันปรับสูงขึ้นจูงใจให้เกษตรกรหันมาเพาะปลูกมากขึ้น ด้านราคาที่ปรับเพิ่มนั้นสาเหตุมาจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น และอินโดนีเซียผู้ผลิตปาล์มรายใหญ่ของโลกจำกัดการส่งออกน้ำมันปาล์มเพื่อคุมราคาน้ำมันปาล์มที่ใช้ประกอบอาหารในประเทศไม่ให้สูงเกินไป

อ้อย : คาดว่ารายได้เกษตรกรจะเพิ่มขึ้นเป็น 0.97 แสนล้านบาท หรือขยายตัว 47.9% โดยปริมาณผลผลิตและราคาคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 28.1% และ 15.5% ตามลำดับ ปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้นมาสภาวะอากาศที่กลับสู่ปกติรวมถึงราคาอ้อยที่ปรับสูงขึ้น เนื่องจาก 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย ได้แก่ สมาคมโรงงานน้ำตาลไทย สมาคมผู้ผลิตน้ำตาลและชีวพลังงานไทย และสมาคมการค้าอุตสาหกรรมน้ำตาล ร่วมกันประกันราคาอ้อยฤดูกาลผลิตปี 2565/66 ขั้นต่ำไว้ที่ 1,000 บาทต่อตัน จูงใจให้เกษตรกรเพาะปลูกมากขึ้น

มันสำปะหลัง : คาดว่ารายได้เกษตรกรจะเพิ่มขึ้นเป็น 0.79 แสนล้านบาท หรือขยายตัว 17.1% โดยปริมาณผลผลิตและราคาคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.6% และ 16.4% ตามลำดับ แม้ว่าเนื้อที่เก็บเกี่ยวจะลดลงจากอุทกภัยในช่วงเดือนกันยายนและตุลาคม ปี 2564 ที่ผ่านมา ทำให้มันสำปะหลังเสียหาย ไม่สามารถเก็บเกี่ยวได้ อย่างไรก็ดี คาดว่าผลผลิตมันสำปะหลังต่อไร่ในปี 2565 จะดีขึ้นจากปริมาณน้ำฝนที่เพียงพอช่วยชดเชย ทำให้ผลผลิตใกล้เคียงกับปี 2564 ด้านราคามันสำปะหลังจะปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากความต้องการที่จะนำไปแปรรูปเป็นมันเส้น มันอัดเม็ด แป้งมันสำปะหลัง และเอทานอลเพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นทำให้ราคามันสำปะหลังปรับตัวสูงขึ้น

ห่วงต้นทุนปุ๋ยเคมีและต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่พุ่งกว่าเท่าตัว ฉุดรายได้สุทธิเกษตรกรให้ลดลง

ปุ๋ยเคมีถือเป็นต้นทุนสำคัญในการเพาะปลูกพืช จากข้อมูลปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีของเกษตรกรจาก 5 พืชเศรษฐกิจหลักของประเทศ โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พบว่า พืชที่ใช้ปุ๋ยเคมีมากคือ ปาล์มน้ำมันใช้ปุ๋ยเคมี 120 กิโลกรัมต่อไร่ รองลงมาเป็น ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง และข้าวเปลือก ใช้ปุ๋ยเคมี 76 63 41 และ 30-49 กิโลกรัมต่อไร่ ตามลำดับ

ttb analytics คาดว่าในปี 2565 ราคาปุ๋ยเคมีขายปลีกท้องถิ่น (สูตร 46-0-0) จะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 26,000 บาทต่อตันจากปี 2564 ที่ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 13,541 บาทต่อตัน สาเหตุเนื่องจาก 1) ความต้องการปุ๋ยเคมีโลกที่เพิ่มขึ้นจากการที่ประเทศต่าง ๆ มุ่งเน้นด้านความมั่นคงทางอาหาร รวมทั้งการสนับสนุนจากรัฐบาลต่อภาคการเกษตร 2) อุปทานการผลิตปุ๋ยเคมีหยุดชะงักจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน 3) ราคาวัตถุดิบแม่ปุ๋ยปรับเพิ่มขึ้นตามราคาพลังงานที่สูงขึ้น 4) จีนและรัสเซียผู้ผลิตปุ๋ยรายใหญ่ของโลกลดปริมาณการส่งออกปุ๋ยเคมี

ราคาปุ๋ยเคมีที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลทำให้ต้นทุนปุ๋ยเคมีของเกษตรกรในปี 2565 ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 92% จากปี 2564 และหากคิดเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจะพบว่า พืชที่ต้นทุนปุ๋ยเคมีเพิ่มมากที่สุด คือ ปาล์มน้ำมัน คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1,495 บาทต่อไร่ (จาก 1,625 บาทต่อไร่ในปี 2564 เป็น 3,120 บาทต่อไร่ในปี 2565) รองลงมา ได้แก่ ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง และข้าวเปลือก โดยต้นทุนปุ๋ยเคมีในปี 2565 จะเพิ่มขึ้นจากปี 2564 เท่ากับ 947 785 511 และ 492 บาทต่อไร่ ตามลำดับ นอกจากนี้ ต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้ทางการเกษตร อาทิ การขนส่งสินค้าเกษตร การสูบน้ำ ฯลฯ นับเป็นอีกต้นทุนหนึ่งที่จะส่งผลกระทบต่อรายได้สุทธิของเกษตรกรให้ลดลงได้

แนะเกษตรกรลดต้นทุนการผลิต และภาครัฐช่วยเหลือด้านต้นทุน เพื่อให้รายได้สุทธิเป็นบวก

แม้รายได้เกษตรกรจาก 5 พืชเศรษฐกิจของไทย ในปี 2565 จะดีขึ้นจากทิศทางราคาและปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นก็ตาม แต่ต้นทุนการผลิต อาทิ ปุ๋ยเคมี น้ำมันเชื้อเพลิง และค่าแรง ฯลฯ มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งต้นทุนที่ปรับเพิ่มย่อมส่งผลทำให้รายได้สุทธิของเกษตรกรลดลง จึงเสนอแนะแนวทางการลดต้นทุน ดังนี้

- แนวทางการลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร ได้แก่ 1) ปรับสัดส่วนเปลี่ยนจากปุ๋ยเคมีมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในการเพาะปลูกมากขึ้น 2) จัดทำบัญชีรายการต้นทุนการเพาะปลูกโดยละเอียด อาทิ ค่าปุ๋ยเคมี ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าแรงงาน ค่าสูบน้ำ ค่าหว่าน ค่าไถพรวนดิน ฯลฯ เพื่อให้ทราบต้นทุนการเพาะปลูกทั้งหมดและนำไปประกอบการพิจารณาลดต้นทุนการเพาะปลูกแยกตามลำดับความสำคัญ ตามความสามารถที่เกษตรกรจะสามารถปรับลดเองได้

- แนวทางการช่วยเหลือด้านต้นทุนการผลิตของภาครัฐ ได้แก่ 1) ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยสั่งตัด ซึ่งเป็นการผสมแม่ปุ๋ยให้ตรงกับสภาพดินและความต้องการของพืช ช่วยลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมีได้ 2) ส่งเสริมและให้ความรู้เกษตรกรเกี่ยวกับวิธีการใช้ปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์แบบผสมผสาน ซึ่งจะช่วยลดค่าปุ๋ยเคมีลงได้ 3) ในกรณีที่ต้นทุนปัจจัยการผลิตเพิ่มสูงขึ้นมากเกินไป ภาครัฐควรพิจารณาใช้งบประมาณช่วยเหลือปัจจัยการผลิตตามความเหมาะสม ฯลฯ

การลดต้นทุนของเกษตรกรด้วยตัวเองและได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น จะเป็นกุญแจสำคัญที่จะสนับสนุนให้ภาคเกษตรไทยมีศักยภาพในการสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะสามารถรับมือกับความผันผวนของราคาสินค้าเกษตรได้ นับเป็นแรงผลักดันให้เศรษฐกิจระดับภูมิภาคหรือเศรษฐกิจฐานรากเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 27 มีนาคม 2565

เกษตรกรไทยเสียโอกาส

เศรษฐกิจภาคเกษตรช่วงไตรมาสแรกปี 2565 ทำได้สวยงาม สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรฯรายงานตัวเลขภาวะเศรษฐกิจการเกษตรไตรมาส 1 ปี 2565 (เดือน ม.ค.-มี.ค.) เติบโต 4.4% เป็นผลจากสาขาพืช ซึ่งเป็นสาขาการผลิตหลักขยายตัวได้

ผลบุญจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย ฝนที่ตกต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงกลางปี 2564 ถึงต้นปี 2565 ทำให้พืชสำคัญทั้ง ข้าว อ้อยโรงงาน สับปะรด ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ มีผลผลิตเพิ่มขึ้น

ส่วน สาขาประมง และ สาขาป่าไม้ ขยายตัวได้จากการผลิตที่เพิ่มขึ้นตามความต้องการของตลาด

ขณะที่ สาขาปศุสัตว์หดตัวลง จากสถานการณ์โรคระบาดในสัตว์

สินค้าพืชที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น คือ ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง อ้อยโรงงาน สับปะรดโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ลำไย ทุเรียน และมังคุด สินค้าพืชที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง และเงาะ

โดยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์, มันสำปะหลัง ผลผลิตลดลง เนื่องจากปัญหาสภาพอากาศและการเกิดอุทกภัยในแหล่งผลิตสำคัญช่วงเดือน ก.ย.-พ.ย.ปีที่แล้ว

สาขาปศุสัตว์ หดตัวลงร้อยละ 2.0 เนื่องจากการผลิตสุกรได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาด อหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever : ASF) และเกษตรกรปรับลดปริมาณการเลี้ยงจากต้นทุนที่สูงขึ้น

สำหรับสินค้าปศุสัตว์ที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ไก่เนื้อ เนื่องจากมีการขยายการผลิตเพื่อรองรับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ

คาดว่าแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2565 จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.0–3.0

แต่ที่ผมเป็นห่วงก็คือ ทุเรียน ผลไม้เศรษฐกิจสำคัญสร้างรายได้เข้าประเทศปีละนับแสนล้านบาท

ปีนี้มีผลผลิตเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากราคาอยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง จูงใจให้เกษตรกรบำรุงดูแลรักษาต้น และมีการทำทุเรียนนอกฤดูมากขึ้น

ปรากฏว่าตลาดใหญ่สุดคือจีน ตั้งแง่งดการนำเข้าทุเรียนไทย (เรื่องนี้มีที่มาที่ไป วันหลังจะเล่าให้ฟัง)

หากภาครัฐยังไม่เร่งหาทางแก้ไข หรือเจรจากับจีน ทุเรียนจะล้นตลาดและราคาตกหนัก

ทางด้านตัวเลขการส่งออก “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือน ก.พ.นี้

การส่งออกมีมูลค่า 23,483 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 16.2% ส่งผลให้การส่งออกในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2565 มีมูลค่า 44,741 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 12.2%

การนำเข้ามีมูลค่า 23,359 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 16.8% ส่งผลให้การนำเข้าช่วง 2 เดือนแรกของปี 2565 มีมูลค่า 47,144 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 18.7% รวม 2 เดือนแรกของปีนี้ ยังขาดดุลการค้าอยู่ที่ 2,403 ล้านดอลลาร์

ตลาดที่ขยายตัวในระดับสูง 10 อันดับแรก ได้แก่ 1.รัสเซีย 33.4% 2.อาเซียน 5 ประเทศ 31.5% 3.ฮ่องกง 29.8% 4.เกาหลีใต้ 28.9% 5.สหรัฐฯ 27.2% 6.อินเดีย 23% 7.ไต้หวัน 17.7% 8.สหราชอาณาจักร 17.3% 9.CLMV 14.4% 10.ตะวันออกกลาง 13.8%

ช่วงเดือน ก.พ. ยังไม่ได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย–ยูเครน เพราะเกิดช่วงปลายเดือนแล้ว

แต่ตัวเลขของเดือน มี.ค.–เม.ย. คุณจุรินทร์อาจไม่อยากรายงานก็ได้.

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 26 มีนาคม 2565

‘มนัญญา’สร้างคนรุ่นใหม่ สานต่ออาชีพทำการเกษตร ผลักดันให้เกิดความมั่นคง มุ่งใช้เทคโนโลยีช่วยพัฒนา

น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงโครงการลูกหลานเกษตรกรกลับบ้านสานต่ออาชีพการเกษตร ว่านับแต่เริ่มโครงการมากว่า 2 ปีมีเกษตรกรรุ่นใหม่เข้าร่วมโครงการแล้ว 3,670 คน โดยปี 2565 ตั้งเป้าจะพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่อีกประมาณ 850 คน แม้จะมีจำนวนไม่มาก แต่พบว่ากลุ่มเกษตรกรเหล่านี้เป็นกลุ่มคนที่กลับไปสร้างความเข้มแข็งให้บ้านเกิด และเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีการพัฒนาไปอีกระดับหนึ่ง มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยทั้งการผลิตและการตลาด เป็นแรงงานทดแทนเกษตรกรที่เริ่มสูงวัย ซึ่งแต่ละปีจะมีการสำรวจผลสัมฤทธิ์โครงการ โดยปี 2564 สำรวจแปลงเกษตร 500 ราย พบว่ามีรายได้จากภาคเกษตรเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า โดยพบว่าก่อนเข้าร่วมโครงการมีรายได้ 7,451 บาทต่อคนต่อปี หลังจากเข้าร่วมโครงการมีรายได้เฉลี่ย 10,098 บาทต่อคนต่อปี

“โครงการนี้ไม่ได้ใช้เงินเป็นหลักแต่ใช้การสนับสนุนสร้างแรงจูงใจให้เยาวชน คนรุ่นใหม่มองเห็นว่าการเกษตรเป็นอาชีพที่มั่นคงได้หากมุ่งมั่นตั้งใจ และย้ำในเรื่องการทำน้อยได้มาก” น.ส.มนัญญา กล่าวและว่า เกษตรกรที่เข้าโครงการนี้ ทางกรมส่งเสริมสหกรณ์ จะช่วยเป็นพี่เลี้ยงประสานหน่วยงานเข้ามาให้ความรู้แนะนำการทำการเกษตร ตามความถนัดและความสนใจ พร้อมทั้งมีสหกรณ์สนับสนุนหาตลาดรับซื้อผลผลิตและจัดหาเงินจากกองทุนพัฒนาสหกรณ์ เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่พร้อมสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้เกษตรกรที่เข้าโครงการ

จาก https://www.naewna.com วันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2565

กลุ่ม KTIS เผยปริมาณอ้อยเข้าหีบสูงกว่าปีก่อน 32%

กลุ่ม KTIS เปิดข้อมูลหีบอ้อยเบื้องต้นโค้งสุดท้ายก่อนปิดหีบ พบโรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ในกลุ่ม KTIS ได้อ้อยที่มีค่าความหวานเฉลี่ย 12.66 ซี.ซี.เอส. สูงที่สุดในเขตภาคเหนือ สะท้อนความมุ่งมั่นในการพัฒนาคุณภาพอ้อยอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดซึ่งยังไม่ปิดหีบ 3 โรงงานได้อ้อยเข้าหีบแล้วกว่า 5.7 ล้านตัน สูงกว่าที่คาด โดยมีปริมาณอ้อยมากกว่าปีก่อนประมาณ 32% ประกอบกับราคาขายน้ำตาลและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่สูงกว่าปีก่อน จะส่งผลให้ผลการดำเนินงานปี 2565 ดีกว่าปี 2564 อย่างแน่นอน

นายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่ม KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่องครบวงจร เปิดเผยว่า จากการรวบรวมข้อมูลผลผลิตอ้อยของกลุ่ม KTIS สำหรับฤดูกาลผลิตปี 2564/65 ณ วันที่ 21 มีนาคม 2565 หลังจากเปิดหีบอ้อยมาแล้ว 102 วัน พบว่า ผลผลิตอ้อยของทั้ง 3 โรงงาน คือ โรงงานน้ำตาลเกษตรไทยฯ โรงงานน้ำตาลเกษตรไทยฯ (สาขา 3) ที่ จ.นครสวรรค์ และโรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ จ.อุตรดิตถ์ มีอ้อยเข้าหีบแล้ว รวม 5.71 ล้านตัน ซึ่งสูงกว่าปีก่อนประมาณ 32% และผลิตน้ำตาลได้แล้ว 5.76 ล้านกระสอบ

“ปริมาณอ้อยที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในปีนี้จะทำให้ทุกสายธุรกิจมีวัตถุดิบในการผลิตมากกว่าปีก่อน ทั้งการผลิตและจำหน่ายเอทานอล การจำหน่ายไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวล และการจำหน่ายเยื่อกระดาษชานอ้อย บรรจุภัณฑ์ชานอ้อย และหลอดชานอ้อย ประกอบกับราคาน้ำตาลตลาดโลกที่สูง และราคาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในทุกสายธุรกิจก็สูง จะส่งผลให้ผลการดำเนินงานของกลุ่ม KTIS ปีนี้ดีขึ้นกว่าปีก่อนอย่างแน่นอน” นายณัฎฐปัญญ์ กล่าว

สำหรับโรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ จ.อุตรดิตถ์ ได้รับอ้อยเข้าหีบแล้วประมาณ 1.45 ล้านตัน โดยมีค่าความหวาน (C.C.S.) เฉลี่ย 12.66 ซึ่งนับว่าสูงที่สุดในกลุ่มโรงงานน้ำตาลเขตภาคเหนือ ส่วนอีก 2 โรงงาน คือ โรงงานน้ำตาลเกษตรไทยฯ และโรงงานน้ำตาลเกษตรไทยฯ (สาขา 3) ที่ จ.นครสวรรค์ ซึ่งส่วนใหญ่จะรับอ้อยในแถบภาคกลางตอนบนเข้าหีบ ได้อ้อยที่มีค่าความหวานสูงเป็นอันดับต้นๆ เมื่อเทียบกับโรงงานน้ำตาลในเขตภาคกลาง โดยค่าเฉลี่ย C.C.S. ของอ้อยในเขตภาคกลางอยู่ที่ 11.60 แต่ของโรงงานเกษตรไทยฯ และเกษตรไทยฯ สาขา 3 มีค่าความหวานเฉลี่ย 11.92 และ 11.66 ตามลำดับ

“ค่าความหวานซึ่งสะท้อนคุณภาพอ้อยนี้ขึ้นอยู่กับพันธุ์อ้อย ปริมาณน้ำ สภาพดิน และสภาพภูมิอากาศในแต่ละพื้นที่ด้วย ดังนั้น ในการเปรียบเทียบจึงใช้การเปรียบเทียบกับอ้อยในเขตเดียวกัน ซึ่งการที่อ้อยของชาวไร่คู่สัญญาของกลุ่ม KTIS มีคุณภาพสูงกว่าค่าเฉลี่ย แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่กลุ่มของเราพยายามส่งเสริมความรู้ เทคโนโลยีการเกษตร และเทคนิคต่างๆ ให้ชาวไร่อ้อยนั้นได้ผล และเราจะเดินหน้าส่งเสริมสนับสนุนให้ชาวไร่อ้อยผลิตอ้อยที่มีคุณภาพและผลผลิตต่อไร่สูงยิ่งขึ้นต่อไป” นายณัฎฐปัญญ์ กล่าว

รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม KTIS กล่าวย้ำว่า โครงการผลิตบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมจากเยื่อชานอ้อย ซึ่งมีกำลังการผลิต 50 ตันต่อวัน หรือประมาณ 3 ล้านชิ้นต่อวัน ขณะนี้ติดตั้งเครื่องจักร 50 เครื่องเกือบจะแล้วเสร็จทั้งหมดแล้ว และจะสามารถผลิตสินค้าออกสู่ตลาดและเริ่มรับรู้รายได้ประมาณเดือนมิถุนายน 2565 นี้

จาก https://mgronline.com   วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2565

รัฐลุยแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 สถานการณ์ดีขึ้นตามลำดับ

รัฐบาลมุ่งมั่น แก้ไข และหยุดยั้งปัญหาฝุ่นละออง (PM2.5) นับแต่กำหนดเป็นวาระแห่งชาติ สถานการณ์ดีขึ้นโดยลำดับ

ตามที่มีการฟ้อง 3 หน่วยงานรัฐ-บอร์ด “ละเลยไม่ทำหน้าที่แก้วิกฤตมลพิษอากาศ PM2.5 ทำประชาชนเผชิญปัญหาสุขภาพ อายุขัยสั้น” นั้น ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) ซึ่งเป็นศูนย์ประสานงานกลางภายใต้รัฐบาลในการบูรณาการดำเนินงานการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองระหว่างทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ขอชี้แจงทำความเข้าใจ ดังนี้

1.รัฐบาลมีความห่วงใยสุขภาพอนามัยของพี่น้องประชาชนและให้ความสำคัญกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง โดยได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองเป็นวาระแห่งชาติ และสั่งการให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดดำเนินการตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ซึ่งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ จัดทำขึ้น โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 นอกจากนี้ ในปี 2564 ได้ต่อยอดการดำเนินงานผ่านการจัดทำและขับเคลื่อนแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง 12 ข้อ โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 และจัดตั้งศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) พร้อมกันนี้ ในปี 2565 ได้จัดทำแผนเฉพาะกิจฯ 9 ข้อ จากนโยบายของรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ)

ประกอบด้วย “1 สื่อสาร 5 ป้องกัน 3 เผชิญเหตุ” โดยยกระดับการสื่อสารประชาสัมพันธ์และการพยากรณ์ฝุ่นละอองให้มีความแม่นยำมากขึ้น มุ่งเน้นเน้นการเพิ่มบทบาทของท้องถิ่น และเพิ่มความเข้มงวดมลพิษจากแหล่งกำเนิด (คณะรัฐมนตรีรับทราบแผนฯ เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2564)

รัฐลุยแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 สถานการณ์ดีขึ้นตามลำดับ

2.หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติฯ แผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง 12 ข้อ แผนเฉพาะกิจ เพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2565 จำนวน 9 ข้อ

โดยมีการเตรียมความพร้อมก่อนเกิดสถานการณ์ การดำเนินงานในช่วงสถานการณ์ และการถอดบทเรียนหลังสิ้นสุดสถานการณ์เพื่อปรับปรุงแผนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยการดำเนินงานที่ผ่านมา อาทิ

การตรวจสอบตรวจวัดควันดำรถบรรทุกและรถโดยสารทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2564 – 23 มีนาคม 2565 ตรวจแล้ว 165,308 คัน พ่นห้ามใช้ 893 คัน โดยเป็นในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล 63,997 คัน พ่นห้ามใช้ 190 คัน พร้อมกันนี้ได้ปรับปรุงค่ามาตรฐานควันดำ

เพื่อเพิ่มความเข้มงวดและประสิทธิภาพการควบคุมมลพิษและแก้ปัญหา PM2.5 จากแหล่งกำเนิดมลพิษประเภทรถยนต์ โดยได้ออกประกาศเรื่องกำหนดมาตรฐานค่าควันดำของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยการอัด พ.ศ. 2564

กำหนดค่าความทึบแสงไม่เกินร้อยละ 30 จากเดิมไม่เกินร้อยละ 45 และค่ากระดาษกรองไม่เกินร้อยละ 40 จากเดิมไม่เกิน ร้อยละ 50 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้วันที่ 13 เมษายนนี้

การแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ โดยผลการดำเนินงานในปีการผลิต 2564/2565 ณ วันที่ 9 มีนาคม 2565 มีปริมาณอ้อยไฟไหม้เข้าหีบคิดเป็นร้อยละ 25 ซึ่งน้อยกว่าปีที่แล้วในช่วงเวลาเดียวกัน และมีเป้าหมายจะลดให้เหลือร้อยละ 0 ภายในฤดูกาลผลิต 2566/2567

การดำเนินโครงการ "ชิงเก็บ ลดเผา" ในปี 2564 สามารถดำเนินการเก็บขนเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่ามาใช้ประโยชน์ได้ 2,800 ตัน จากเป้าหมาย 1,000 ตัน ครอบคลุมพื้นที่ 400,000 ไร่ ส่งผลให้จำนวนจุดความร้อนในพื้นที่ชิงเก็บลดลงร้อยละ 60 และในปี 2565 มีการดำเนินงานต่อเนื่อง โดยจากข้อมูล ณ ปัจจุบัน สามารถเก็บขนเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่ามาใช้ประโยชน์ได้ 1,310 ตัน จากเป้าหมาย 3,000 ตัน และคาดว่าจะสามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ตามเป้าหมาย

การแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน ซึ่งได้มีการประสานผ่านสำนักเลขาธิการอาเซียนเพื่อขอความร่วมมือประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้งได้มีการเสนอให้พิจารณาขยายแผนการดำเนินงานภายใต้แผนปฏิบัติการเชียงราย 2017 (เพิ่มขึ้นอีก 5 ปี) และการกำหนดตัวชี้วัดร่วม ASEAN Joint KPI เพื่อลดจุดความร้อนในภูมิภาคอาเซียนร้อยละ 20 ภายในปี 2565

นอกจากการลดและควบคุมการระบายมลพิษจากแหล่งกำเนิดแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างปรับปรุงมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในบรรยากาศอีกด้วย

3. จากการดำเนินงานของทุกภาคส่วนที่ผ่านมา ส่งผลให้สถานการณ์หมอกควัน ไฟป่า และฝุ่นละอองดีขึ้นเป็นลำดับ โดยในช่วงวิกฤตปี 2565 พบว่า

พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2564 – 15 มีนาคม 2565 มีจำนวนวันที่ฝุ่นละออง PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน 26 วัน ลดลงร้อยละ 61 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ที่มีจำนวนวันที่ฝุ่นละออง PM2.5 เกินมาตรฐาน 67 วัน

ทั้งนี้หากพิจารณาเฉพาะวันที่มีปริมาณฝุ่นละอองอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีแดง) พบว่าในช่วงวิกฤต ปี 2565 มีจำนวน 1 วัน ลดลงร้อยละ 86 จากปีที่ผ่านมา ซึ่งมีจำนวน 7 วัน

พื้นที่ภาคเหนือ 17 จังหวัด ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 15 มีนาคม 2565 มีจำนวนวันที่ฝุ่นละออง PM2.5  เกินมาตรฐาน 38 วัน ลดลงร้อยละ 45 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี ที่ผ่านมา ที่มีจำนวนวันที่ฝุ่นละออง PM2.5 เกินมาตรฐาน 69 วัน ทั้งนี้หากพิจารณาเฉพาะวันที่มีปริมาณฝุ่นละอองอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีแดง) พบว่าในปี 2565 มีจำนวน 8 วัน ลดลงร้อยละ 60 จากปีที่ผ่านมา ซึ่งมีจำนวน 20 วัน

4. จากข้อมูลของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA พบว่า จำนวนจุดความร้อนในภาพรวมของประเทศไทย ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 15 มีนาคม 2565 มี 31,082 จุด ลดลงร้อยละ 61 เมื่อเทียบกับปี 2564 ที่มีจำนวน 79,441 จุด

ซึ่งจะเห็นว่ามาตรการต่างๆ ประสบความสำเร็จในการลดจำนวนจุดความร้อนในประเทศไทย แต่อย่างไรก็ตามยังคงต้องมีการต่อยอดขยายผลการดำเนินงานเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ทั้งการลดการเผาในพื้นที่ป่า พื้นที่เกษตรกรรม และหมอกควันข้ามแดน ซึ่งยังคงเป็นข้อท้าทายที่ต้องเร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ปริมาณฝุ่นละอองอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

ทุกๆ มาตรการภายใต้แผนขับเคลื่อนฯ ที่เป็นวาระแห่งชาติ มติคณะรัฐมนตรี ตลอดจนกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง สามารถดำเนินการได้ทันทีในทุกระดับ และทุกหน่วยงาน อย่างไม่มีข้อจำกัดที่เป็นปัญหาอุปสรรค แต่อย่างไรก็ตาม แหล่งกำเนิดฝุ่นละอองมาจากพวกเราทุกคน ดังนั้นการแก้ไขปัญหาต้องมาจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2565

เปิด 5 พืชเศรษฐกิจ สร้างรายได้เกษตรกร 8.86 แสนล้านบาท

ttb analytics คาด รายได้เกษตรกรจาก 5 พืชเศรษฐกิจ ปี 2565 เติบโต 16.1% อยู่ที่ 8.86 แสนล้านบาท สูงสุดในรอบ 5 ปี ห่วงต้นทุนปุ๋ยเคมีและน้ำมันเชื้อเพลิงที่อาจฉุดรั้ง ดึงรายได้สุทธิเกษตรกรลดลง

เศรษฐกิจไทยปี 2564 แม้ภาพรวมจะชะลอตัวลง จากผลกระทบของโควิด-19  แต่ภาคเกษตร จะพบว่า  มีการฟื้นตัวต่อเนื่อง โดย รายได้เกษตรกร จาก 5 พืชเศรษฐกิจ คือ ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ยางพารา อ้อย และ ข้าว รวมกันที่ 7.63 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 19.2% จากปี 2563 โดย รายได้เกษตรกร ที่ปรับตัวดีขึ้น เป็นผลเนื่องมาจากราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับปริมาณนํ้าฝนที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2563 ต่อเนื่องถึงปี 2564 จูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มมากขึ้น

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics คาดว่า ปี 2565 รายได้เกษตรกรจาก 5 พืชเศรษฐกิจ คือ ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ยางพารา อ้อย และ ข้าว จะเพิ่มขึ้นเป็น 8.86 แสนล้านบาท ซึ่งเติบโตต่อเนื่องจากปีก่อนถึง 16.1% และสูงสุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา โดยได้รับอานิสงส์จาก

ปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้นสาเหตุจากการขยายพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกร

ปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูกพืช

แนวโน้มราคาอาหารเพิ่มขึ้นตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้นจากความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวภายหลังจากการระบาดของโรคโควิด-19

ความตึงเครียดของสงครามรัสเซียและยูเครน ทำให้ราคาพืชอาหารและพืชที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น

 ส่งผลต่อมูลค่ารายได้เกษตรกรจาก 5 พืชเศรษฐกิจหลักของไทย ในปี 2565 เป็นดังนี้

ข้าวเปลือก: คาดว่า รายได้เกษตรกรจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.93 แสนล้านบาท หรือขยายตัว 12.6%  โดยปริมาณผลผลิตข้าวจะเพิ่มขึ้น 4.1% และราคาข้าวเปลือก (ความชื้น 15%) จะเพิ่มขึ้น 8.2% จากการขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรัง และปริมาณน้ำจะเพียงพอทั้งในอ่างเก็บกักน้ำและน้ำฝนตามธรรมชาติที่คาดว่า จะเพิ่มขึ้น ส่วนราคาข้าวเปลือกคาดว่าจะดีขึ้น จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจโลก ทำให้การค้ากลับมาเป็นปกติ โดยข้าวไทยยังเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ยางพารา: คาดว่า รายได้เกษตรกรจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.89 แสนล้านบาท หรือขยายตัว 12.3% โดยปริมาณผลผลิตคาดว่า จะทรงตัวจากปีก่อน แต่ราคายางพารา คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 12.0% จากอานิสงส์ของราคาน้ำมันดิบที่ปรับสูงขึ้น ทำให้ผู้ผลิตยางรถยนต์ปรับสัดส่วนการใช้ยางสังเคราะห์มาเป็นยางธรรมชาติมากขึ้น รวมถึงความต้องการยางพาราที่เพิ่มขึ้น ทั้งจากตลาดในประเทศและตลาดส่งออกหลัก (จีนและมาเลเซีย) ที่ต้องการนำไปผลิตเป็นสินค้าขั้นปลาย ได้แก่ ยางรถยนต์ และถุงมือยางทางการแพทย์ มากขึ้น

 ปาล์มน้ำมัน: คาดว่า รายได้เกษตรกร จะเพิ่มขึ้นเป็น 1.28 แสนล้านบาท หรือขยายตัว 13.6% โดยปริมาณผลผลิตและราคาคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 3.6% และ 9.7% ตามลำดับ ปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้นมาจากราคาปาล์มน้ำมันปรับสูงขึ้นจูงใจให้เกษตรกรหันมาเพาะปลูกมากขึ้น ด้านราคาที่ปรับเพิ่มนั้นสาเหตุมาจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น และอินโดนีเซียผู้ผลิตปาล์มรายใหญ่ของโลกจำกัดการส่งออกน้ำมันปาล์มเพื่อคุมราคาน้ำมันปาล์มที่ใช้ประกอบอาหารในประเทศไม่ให้สูงเกินไป

 อ้อย: คาดว่า รายได้เกษตรกรจะเพิ่มขึ้นเป็น 0.97 แสนล้านบาท หรือขยายตัว 47.9% โดยปริมาณผลผลิตและราคาคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 28.1% และ 15.5% ตามลำดับ ปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้นมาสภาวะอากาศที่กลับสู่ปกติรวมถึงราคาอ้อยที่ปรับสูงขึ้น เนื่องจาก 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย ได้แก่ สมาคมโรงงานน้ำตาลไทย สมาคมผู้ผลิตน้ำตาลและชีวพลังงานไทย และสมาคมการค้าอุตสาหกรรมน้ำตาล ร่วมกันประกันราคาอ้อยฤดูกาลผลิตปี 2565/66 ขั้นต่ำไว้ที่ 1,000 บาทต่อตัน จูงใจให้เกษตรกรเพาะปลูกมากขึ้น

 มันสำปะหลัง: คาดว่า รายได้เกษตรกรจะเพิ่มขึ้นเป็น 0.79 แสนล้านบาท หรือขยายตัว 17.1% โดยปริมาณผลผลิตและราคาคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.6% และ 16.4% ตามลำดับ แม้ว่า เนื้อที่เก็บเกี่ยวจะลดลงจากอุทกภัยช่วงปลายปีก่อน  แต่คาดว่า ผลผลิตต่อไร่ในปี 2565 จะดีขึ้นจากปริมาณน้ำฝนที่เพียงพอช่วยชดเชย ทำให้ผลผลิตใกล้เคียงกับปี 2564 ด้านราคามันสำปะหลังจะปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากความต้องการที่จะนำไปแปรรูปเป็นมันเส้น มันอัดเม็ด แป้งมันสำปะหลัง และเอทานอลเพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นทำให้ราคามันสำปะหลังปรับตัวสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ttb analytics เป็นห่วงว่า ต้นทุนปุ๋ยเคมีและต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่พุ่งกว่าเท่าตัว ฉุดรายได้สุทธิเกษตรกรให้ลดลง โดยคาดว่าปี 2565 ราคาปุ๋ยเคมีขายปลีกท้องถิ่น (สูตร 46-0-0) จะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 26,000 บาทต่อตันจากปี 2564 ที่ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 13,541 บาทต่อตัน สาเหตุเนื่องจาก

ความต้องการปุ๋ยเคมีโลกที่เพิ่มขึ้นจากการที่ประเทศต่าง ๆ มุ่งเน้นด้านความมั่นคงทางอาหาร รวมทั้งการสนับสนุนจากรัฐบาลต่อภาคการเกษตร

อุปทานการผลิตปุ๋ยเคมีหยุดชะงักจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน

ราคาวัตถุดิบแม่ปุ๋ยปรับเพิ่มขึ้นตามราคาพลังงานที่สูงขึ้น

จีนและรัสเซียผู้ผลิตปุ๋ยรายใหญ่ของโลกลดปริมาณการส่งออกปุ๋ยเคมี

นอกจากนี้ ต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้ทางการเกษตร อาทิ การขนส่งสินค้าเกษตร การสูบน้ำ ฯลฯ นับเป็นอีกต้นทุนหนึ่งที่จะส่งผลกระทบต่อรายได้สุทธิของเกษตรกรให้ลดลงได้ ดังนั้น เกษตรกรลดต้นทุนการผลิตและภาครัฐช่วยเหลือด้านต้นทุน เพื่อให้รายได้สุทธิเป็นบวก

อย่างไรก็ตาม แม้รายได้เกษตรกรจาก 5 พืชเศรษฐกิจของไทย ในปี 2565 จะดีขึ้นจากทิศทางราคาและปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นก็ตาม แต่ต้นทุนการผลิต อาทิ ปุ๋ยเคมี น้ำมันเชื้อเพลิง และค่าแรง ฯลฯ มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งต้นทุนที่ปรับเพิ่มย่อมส่งผลทำให้รายได้สุทธิของเกษตรกรลดลง จึงเสนอแนะแนวทางการลดต้นทุน

แนวทางการลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร ได้แก่

ปรับสัดส่วนเปลี่ยนจากปุ๋ยเคมีมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในการเพาะปลูกมากขึ้น

จัดทำบัญชีรายการต้นทุนการเพาะปลูกโดยละเอียด อาทิ ค่าปุ๋ยเคมี ค่าเมล็ดพันธุ์  ค่าแรงงาน ค่าสูบน้ำ ค่าหว่าน ค่าไถพรวนดิน ฯลฯ เพื่อให้ทราบต้นทุนการเพาะปลูกทั้งหมดและนำไปประกอบการพิจารณาลดต้นทุนการเพาะปลูกแยกตามลำดับความสำคัญ ตามความสามารถที่เกษตรกรจะสามารถปรับลดเองได้

แนวทางการช่วยเหลือด้านต้นทุนการผลิตของภาครัฐ ได้แก่

ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยสั่งตัด ซึ่งเป็นการผสมแม่ปุ๋ยให้ตรงกับสภาพดินและความต้องการของพืช ช่วยลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมีได้

ส่งเสริมและให้ความรู้เกษตรกรเกี่ยวกับวิธีการใช้ปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์แบบผสมผสาน ซึ่งจะช่วยลดค่าปุ๋ยเคมีลงได้

ในกรณีที่ต้นทุนปัจจัยการผลิตเพิ่มสูงขึ้นมากเกินไป ภาครัฐควรพิจารณาใช้งบประมาณช่วยเหลือปัจจัยการผลิตตามความเหมาะสม ฯลฯ

 การลดต้นทุนของเกษตรกรด้วยตัวเองและได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น จะเป็นกุญแจสำคัญที่จะสนับสนุนให้ภาคเกษตรไทยมีศักยภาพในการสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะสามารถรับมือกับความผันผวนของราคาสินค้าเกษตรได้ นับเป็นแรงผลักดันให้เศรษฐกิจระดับภูมิภาคหรือเศรษฐกิจฐานรากเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2565

"อีอีซี" ชูความสำเร็จแผนงานบูรณาการ ต้นแบบยกระดับการทำงานร่วมกัน

"อีอีซี" โชว์ผลงาน 4 ปี ชูความสำเร็จต้นแบบแผนงานบูรณาการร่วมกัน สู่การพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน พร้อมต่อยอดแผนงานฯ กำหนดเป้าลงทุน 2.2 ล้านล้านบาท ดันเศรษฐกิจไทยเติบโตเต็มศักยภาพ

ตลอด 4 ปี ตั้งแต่ ปี 2561-2564 แผนงานบูรณาการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ถือเป็นต้นแบบความสำเร็จของความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ซึ่งเป็นการระดมสรรพกำลังของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น และประชาชน ร่วมพัฒนาพื้นที่ 3 จังหวัดภาคตะวันออก (จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี และจังหวัดระยอง) และพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง ภายใต้แนวคิด "ร่วมคิด-ร่วมลงทุน-ร่วมพัฒนา"

โดยจัดทำแผนและดำเนินงาน รวมถึงบริหารทรัพยากรร่วมกัน เพื่อมุ่งสู่ความสำเร็จภายใต้เป้าหมายเดียวกันคือ สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในพื้นที่ อีอีซี ควบคู่กับการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างสมดุลและยั่งยืน มุ่งเน้นการผสมผสานการลงทุน จากรัฐ เอกชน และท้องถิ่น โดยพึ่งพางบประมาณแผ่นดินให้น้อยที่สุด เพื่อให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจและก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่

ดังนั้น แผนงานบูรณาการ อีอีซี จึงถือเป็นกลไกสำคัญการขับเคลื่อน "แผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก" อย่างเป็นรูปธรรม  และสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ รวมถึง (ร่าง) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 เพื่อยกระดับเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน โดยมีหลักการดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่

อีอีซี เป็นแกนนำในการร่วมกำหนดทิศทางการพัฒนาพื้นที่แต่ละด้าน ผ่านโครงการและงบประมาณ ภายใต้เป้าหมายของแผนภาพรวม อีอีซี เพื่อสร้างความเป็นเอกภาพของการดำเนินงาน และการบรรลุเป้าหมายและแนวทางของแผนงานบูรณาการฯ ที่กำหนด

การใช้งบบูรณาการในการผลักดันการลงทุนของเอกชน ในปีงบประมาณ พ.ศ.2561-2564 มีการลงทุนที่ได้รับอนุมัติไปแล้ว 1.66 ล้านล้านบาท ในส่วนนี้มีงบบูรณาการที่ได้รับอนุมัติแล้วถึงปี 2567 จำนวน 82,000 ล้านบาท คิดเป็นเพียงร้อยละ 5 ของการลงทุนที่ได้อนุมัติไปแล้ว และการลงทุนอีกประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท มาจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรัฐ-เอกชนและการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยการจัดทำแผนงานบูรณาการที่ทำงานร่วมกับภาคเอกชน จะเป็นไปตามสมการ รัฐ 1 ส่วน เอกชน 5 ส่วน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างน้อย 200 ส่วน

การระดมสรรพกำลังของหน่วยงานมาทำงานอย่างมีเป้าหมายร่วมกัน โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการจัดทำแผน ดำเนินงาน และบริหารทรัพยากรร่วมกัน ทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อมุ่งสู่ความสำเร็จ ภายใต้เป้าหมายเดียวกันตามบทบาทและความเชี่ยวชาญ

การผสมผสานการลงทุน โดยใช้งบประมาณ-เงินรายได้ท้องถิ่น และเงินลงทุนของเอกชน ในโครงการเดียวกัน เพื่อประหยัดงบประมาณให้มากที่สุด และไม่สร้างภาระให้แก่ระบบงบประมาณหรือส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพด้านการเงินการคลังของประเทศ 

การกำหนดแนวทางและมาตรฐานในการทำงานของหน่วยงานตามความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญและศักยภาพของหน่วยงานที่แตกต่างกัน แต่สามารถสนับสนุนส่งเสริมซึ่งกันและกัน

การจัดทำโครงการร่วมกับหน่วยงาน เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาพื้นที่ อีอีซี ได้ตามเป้าหมาย โดย สกพอ. ร่วมกับหน่วยงานจัดทำโครงการ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของแผนงานบูรณาการ และมีการประชุมหารือรายละเอียดโครงการร่วมกันหลายครั้ง

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2565

‘คณิศ’ ยันลงทุนอีอีซี 1.7 ล้านล้านคืบตามเป้า

ทั้ง 4 โครงการมีความก้าวหน้าการก่อสร้างและส่งมอบพื้นที่โครงการต่อเนื่อง การลงทุนเป็นไปตามเป้าหมายตามแผนการลงทุน 5 ปี 1.7 ล้านล้านบาท ส่วนแผนการลงทุนในอีก 5 ปีข้างหน้าตั้งเป้าไว้อีก  2.2 ล้านล้านบาท

เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC คณิศ แสงสุพรรณ ระบุ การขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานหลัก ซึ่งเป็นโครงการร่วมลงทุนรัฐ-เอกชน หรือ PPP ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก  โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 และโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ทั้ง 4 โครงการมีความก้าวหน้าการก่อสร้างและส่งมอบพื้นที่โครงการต่อเนื่อง การลงทุนเป็นไปตามเป้าหมายตามแผนการลงทุน 5 ปี 1.7 ล้านล้านบาท ส่วนแผนการลงทุนในอีก 5 ปีข้างหน้าตั้งเป้าไว้อีก  2.2 ล้านล้านบาท ซึ่งมีโครงการใหญ่ที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติล่าสุด ได้แก่ โครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ วงเงินลงทุนเฟสแรก 19,000 ล้านบาท เป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่สุดในช่วง 10 ปี มูลค่าการลงทุนทั้งโครงการประมาณ 1.34 ล้านล้าน ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ

ด้านความก้าวหน้าโครงการพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EECi เตรียมความพร้อมดึงดูดการลงทุนฐานนวัตกรรมขั้นสูง และจูงใจนักลงทุนทั่วโลกเข้าสู่พื้นที่อีอีซีปัจจุบันโครงสร้างภายนอกแล้วเสร็จ 100% คาดว่าภายในมิถุนายนนี้ จะเปิดให้บริการอย่างไม่เป็นทางการ เป็นอีกหนึ่งสถานที่ในพื้นที่อีอีซีที่สนับสนุนการจัดประชุมผู้นำเอเปคที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพ

ส่วนสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ยังไม่ส่งผลกระทบการลงทุนใน EEC แต่ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้บางโครงการ เช่น โครงการธีมพาร์คและสวนน้ำ “โคลัมเบีย พิคเจอร์ส อควาเวิร์ส” ซึ่งเป็นการลงทุนจาก บริษัท โซนี่พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเมนต์ ผู้ผลิตภาพยนตร์ระดับโลก ที่มีกำหนดเปิดตัวในช่วงเดือนเมษายนนี้ จำเป็นต้องเลื่อนออกไปก่อน เนื่องจากการท่องเที่ยวไม่เป็นไปตามแผน

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2565

‘เฉลิมชัย’จี้กรมชลฯจัดการน้ำภาพรวม

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานประชุมการบริหารจัดการน้ำ กรมชลประทาน พร้อมมอบนโยบายการบริหารจัดการน้ำที่สำนักงานชลประทานที่ 3 จ.พิษณุโลก โดยมีแผนการจัดสรรน้ำในฤดูแล้งปี 2564/65 (ทั้งประเทศ) ซึ่งมีน้ำต้นทุนฤดูแล้ง 37,857 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) แบ่งเป็นแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2564/65 (พฤศจิกายน 2564–เมษายน 2565) รวม 22,280 ล้านลบ.ม. และการสำรองน้ำต้นฤดูฝนปี 2565 (พฤษภาคม-กรกฎาคม 2565) รวม 15,577 ล้านลบ.ม. ซึ่งการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2564/65 มีปริมาณน้ำเก็บกักรวม 51,054 ล้านลบ.ม. (67%) และมีปริมาณน้ำใช้การในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก รวม 26,961 ล้านลบ.ม. (51%) โดยจะบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน ตามลำดับความสำคัญของกิจกรรมการใช้น้ำ ได้แก่ 1.จัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคในช่วงฤดูแล้ง 2.จัดสรรน้ำเพื่อการรักษาระบบนิเวศในช่วงฤดูแล้ง 3.การสำรองน้ำไว้สำหรับการใช้น้ำในช่วงต้นฤดูฝน (เพื่ออุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม) 4.จัดสรรน้ำเพื่อการเกษตร และ 5.จัดสรรน้ำเพื่อการอุตสาหกรรม

สำหรับแผนการจัดสรรน้ำฤดูแล้ง ปี 2564/65 ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ในช่วงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 – 30 เมษายน 2565 มีแผนจัดสรรน้ำรวม 7,744 ล้าน ลบ.ม.ปัจจุบันมีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ เขื่อนป่าสักฯ มีปริมาณน้ำเก็บกักรวม 11,840 ล้าน ลบ.ม.(48%) และมีปริมาณน้ำใช้การ 5,144 ล้าน ลบ.ม.(28%)

ทั้งนี้ รมว.เกษตรฯ เน้นย้ำให้กรมชลประทาน บริหารจัดการน้ำให้มีความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ และสำรวจ ตรวจสอบ พื้นที่ซึ่งมีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นแหล่งเก็บกักน้ำสำรองได้

จาก https://www.naewna.com วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2565

ความร่วมมือด้านเกษตรกัมพูชา-ไทย ภายใต้ ACMECS

สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD) www.itd.or.th

ผลการศึกษาวิจัยของ ITD เรื่อง การพัฒนาห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปเพื่อเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) สู่ความยั่งยืน ได้เสนอแนะปัจจัยการพัฒนาความร่วมมือระหว่างกัมพูชา-ไทย

ภายใต้ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง เพื่อความยั่งยืน ดังนี้

ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) เป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในระดับอนุภูมิภาค ประกอบด้วย 5 ประเทศสมาชิก ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจตามแนวชายแดน อำนวยความสะดวกทางการค้า ลดช่องว่างทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศสมาชิกสร้างการเจริญเติบโตแบบยั่งยืน และส่งเสริมการบูรณาการของอาเซียนในภาพรวม

ทั้งนี้ ACMECS มีความร่วมมือทั้งหมด 8 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ การอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน การเกษตร อุตสาหกรรมและพลังงาน การเชื่อมโยงคมนาคม การท่องเที่ยว การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม

ปัจจัยด้านทำเลที่ตั้งระหว่างกัมพูชาและไทย กัมพูชามีพื้นที่ติดกับไทย 7 จังหวัด ได้แก่ ทิศเหนือ ติดกับอุบลราชธานี ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ทิศตะวันตก ติดกับสระแก้ว จันทบุรี และตราด มีระยะทางยาวรวมกันประมาณ 798 กิโลเมตร มีด่านศุลกากร 4 ด่าน คือ ด่านศุลกากรช่องจอม อรัญประเทศคลองใหญ่ และด่านศุลกากรจันทบุรี มีจุดผ่านแดนถาวร 6 จุด และจุดผ่อนปรนการค้า 9 จุด

ซึ่งทำให้การค้าชายแดนกัมพูชา-ไทย มีแนวโน้มที่จะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากความสะดวกรวดเร็วของการขนส่งสินค้า และการอำนวยความสะดวกด้านพิธีการศุลกากรด้วยระบบ E-Customs

การดำเนินงานระหว่างกัมพูชา-ไทยภายใต้กรอบ ACMECS เปิดโอกาสให้ประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกรวมถึงองค์กรระหว่างเทศเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนา (Development Partner) การสนับสนุนความร่วมมือเชิงเทคนิค หรือให้ความช่วยเหลือทางการเงิน เช่น ญี่ปุ่น ออสเตรเลียนิวซีแลนด์ และสหภาพยุโรป และไทยมีบทบาทในฐานะผู้ให้กัมพูชา ผ่านโครงการความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ)

โดยมีการจัดตั้งสำนักงานความร่มมือเพื่อพัฒนาระหว่างประเทศ ดังนั้นกรอบ ACMECS ไทยจึงเป็นเวทีเปลี่ยนบทบาทจากประเทศผู้รับความช่วยเหลือเป็นประเทศผู้ให้ใหม่ ยุทธศาสตร์ความร่วมมือกัมพูชา-ไทย ภายใต้กรอบ ACMECS กัมพูชาและไทยได้สร้างความร่วมมือ ระหว่างกันผ่านกรอบความร่วมมือหลายด้าน เช่น GMS และ ASEAN ซึ่งเป็นความร่วมมือในด้านการค้า การลงทุน การเมือง สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่เห็นชัดเจนมากคือกรอบ ACMECS

ทั้งกัมพูชาและไทยใช้ศักยภาพของตนเองภายใต้การเป็นสมาชิก GMS และ ASEAN ในการขับเคลื่อนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ โดยกรอบ ACMECS เป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในระดับอนุภูมิภาค ที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อใช้ประโยชน์จากความเข้มแข็งและความหลากหลายของทั้งสองประเทศ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างสมดุล

ประเด็นสำคัญในความร่วมมือระหว่างกัมพูชา-ไทย ภายใต้กรอบ ACMECS ได้แก่

(1) ไทยมีความได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้งที่อยู่ใจกลางกลุ่มประเทศสมาชิก ACMECS มีพรมแดนติดกับทุกประเทศยกเว้นเวียดนาม ไทยจึงมีศักยภาพสูงในการเป็นศูนย์กลางคมนาคมขนส่ง ในอนุภูมิภาค ACMECS สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)ได้จัดทำกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (ปี 2558-2577) ว่า “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

ด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ มีการส่งเสริมผู้ประกอบการไทยในการสร้างเครือข่ายการขนส่งระหว่างประเทศกับกัมพูชา

(2) ความร่วมมือกัมพูชา-ไทยด้านการเชื่อมโยงภายใต้กรอบ ACMECS สอดคล้องกับแผนแม่บทระยะ 5 ปี (ปี 2562-2566) จากการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือ ACMECS ครั้งที่ 8 เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2562 ณ กรุงเทพฯ กำหนดวิสัยทัศน์ในการ “เสริมสร้าง ACMECS ที่เชื่อมโยงกัน ภายในปี 2566”

โดยมีเป้าหมายการเสริมสร้างความเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อในอนุภูมิภาคโดยเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางด้านเส้นทางคมนาคมขนส่ง และทางด้านดิจิทัล รวมถึงการเชื่อมโยงโครงข่ายด้านพลังงาน โดยกระทรวงคมนาคมและกระทรวงดิจิทัลเป็นผู้รับผิดชอบหลัก

ทั้งนี้สำหรับการลงทุนด้านเกษตรของไทยใน ACMECS มีรูปแบบการเกษตรแบบมีสัญญา เพื่อทำการเพาะปลูกและรับซื้อพืชผลทางการเกษตรที่ผลิตได้กลับมาแปรรูปที่ไทย หรือรับซื้อเพื่อส่งออกต่อไปยังประเทศที่สาม และการลงทุนการขอรับสัมปทานจัดสรรพื้นที่เพาะปลูกจากรัฐบาล

นอกจากนี้ไทยยังได้ประโยชน์จากสิทธิพิเศษของกัมพูชาในสถานะประเทศด้อยพัฒนา (Least Developed Countries: LDCs) และไทยให้สิทธิพิเศษสำหรับสินค้าเกษตรกัมพูชา อัตราภาษีนำเข้าร้อยละ 0 รวม 10 รายการคือ ถั่วลิสง ถั่วเขียวผิวมัน ถั่วเหลือง ข้าวโพด ข้าวโพดหวาน มันฝรั่ง มันสำปะหลัง เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ละหุ่ง และไม้ยูคาลิปตัส และลดอากรนำเข้าเหลืออัตราร้อยละ 0-5

สำหรับสินค้ากัมพูชาอีก 340 รายการ มีการจัดตั้ง ACMECS Business Council การศึกษาการจัดตั้งตลาดกลางค้าส่งและส่งออกกับการศึกษา การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในกัมพูชา รวมทั้งการฝึกอบรมให้ผู้ประกอบการของกัมพูชา การเกษตรแบบมีสัญญาเป็นโครงการที่มีการดำเนินการโดยผู้ประกอบการที่เป็นนิติบุคคลเข้าไปใช้ที่ดินและแรงงานในพื้นที่เพื่อทำการผลิตและรับซื้อสินค้าเกษตร และได้ส่งกลับเข้ามายังไทยและได้รับการยกเว้นจากหลักการปฏิบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง

ความร่วมมือกัมพูชา-ไทยด้านเกษตรแบบมีสัญญามีลักษณะการเข้าไปใช้ทรัพยากร ได้แก่ ที่ดิน และแรงงาน เพื่อทําการผลิตและรับซื้อสินค้าเกษตรในกัมพูชาและส่งสินค้ากลับมายังไทย ประเทศคู่สัญญาในกลุ่ม ACMECS ซึ่งเป็นสมาชิกใหม่ของอาเซียนจะได้รับสิทธิประโยชน์ภายใต้โครงการการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรแก่ประเทศสมาชิกใหม่อาเซียน

กัมพูชาได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยเกษตรแบบมีสัญญากับไทยเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2556 ณ กรุงพนมเปญ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการของไทยในการนำเข้าสินค้าเกษตรเป้าหมาย ซึ่งไทยผลิตไม่เพียงพอ และมีนโยบายส่งเสริมให้ไปปลูกในกัมพูชาเพื่อให้ไทยมีความมั่นคงในเรื่องผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบ มีมันสำปะหลัง เมล็ดมะม่วงพิมพานต์ และมะม่วงสด เป็นต้น

โดยการให้สิทธิพิเศษทางภาษีจะเป็นไปตามความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน ที่ไทยมีพันธกรณีไว้แล้วภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียนโดยทั้งสองประเทศยังคงสามารถคงสิทธิในการใช้มาตรการภายในประเทศได้ ความร่วมมือของทั้งสองประเทศได้มีการปรับตัวในการพัฒนาด้านเกษตรกรรมให้สอดคล้องรองรับกับมาตรฐานสากลตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของ สหประชาชาติ (UN) ในช่วงปี 2558-2573 เป็นเวลา 15 ปี

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างกัมพูชาและไทยถูกกำหนดให้เป็นไปในลักษณะของความยั่งยืนซึ่งอยู่ภายใต้เสาที่ 3 คือ “การพัฒนาภูมิภาคในลักษณะยั่งยืนและมีนวัตกรรม” ของ ACMECS Master Plan (ปี 2562-2566) โดยทั้งสองประเทศยังมีความร่วมมือในรูปแบบทวิภาคี เช่น

(1) โครงการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาไทย ณ มหาวิทยาลัยพนมเปญ และมหาวิทยาลัยพระตะบอง

(2) โครงการศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานกัมพูชา-ไทย ปี 2559 ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานกัมพูชา-ไทย

(3) โครงการจัดตั้งศูนย์แรกรับเหยื่อการค้ามนุษย์และกลุ่มเสี่ยง ณ ปอยเปต จังหวัดบันเตียเมียนเจย

(4) โครงการพัฒนากลุ่มเกษตรกรปลูกผัก และผลไม้ เพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตรของกัมพูชา และ

(5) โครงการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมการค้าหัตถกรรมเป็นแผนงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนากัมพูชาและไทยเป็นระยะเวลา 3 ปี ด้านเกษตร สาธารณสุข การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการศึกษาระหว่างสองประเทศ

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2565

หยุดเผาลดฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เมื่อไรจะแก้ได้มากกว่าพูด (2)

มาว่ากันต่อจากคราวที่แล้ว...ถึงการแก้ปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ที่เกิดจากการเผาวัสดุทางการเกษตรในที่โล่งแจ้ง โดยเฉพาะการเผาใบอ้อย ที่แต่ละปีจะมีใบอ้อยที่สามารถแปรเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าในไร่อ้อยของบ้านเรามากถึงปีละ 37 ล้านตัน คิดเป็นใบอ้อยแห้งประมาณ 14 ล้านตัน ถ้าปล่อยทิ้งไว้ให้ถูกเผาจะเกิดปัญหาฝุ่นควันมหาศาล

แต่ถ้ามีระบบจัดการที่ดี ทิ้งใบอ้อยส่วนหนึ่ง 40% ไว้คลุมดินเป็นธาตุอาหาร ที่เหลืออีก 60% หรือ 8.4 ล้านตัน เก็บรวบรวมเพื่อป้อนเข้าโรงไฟฟ้า จะสามารถนำไปเป็นเชื้อเพลิงปั่นกระแสไฟฟ้าได้ประมาณ 500 เมกะวัตต์

นั่นเป็นสิ่งที่ ดร.บุรินทร์ สุขพิศาล คณะบริหารธุรกิจ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย มองว่า จะเป็นแนวทางจัดการปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ที่เกิดจากการเผาอ้อยได้ดีที่สุด ไม่เพียงจะช่วยลดมลพิษทางอากาศให้กับประชาชนทั่วไป แต่ยังจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยจากการเก็บรวบรวมใบอ้อยไปขาย

แต่ปัญหาใหญ่ในเรื่องนี้ นอกจากรัฐบาลจะต้องดำเนินการอนุมัติให้มีการตั้งโรงไฟฟ้าจากใบอ้อยในพื้นที่ที่มีการปลูกอ้อย โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาฝุ่นควัน และหากต้องการให้มีการจูงใจให้เกษตรกรเลิกเผาอ้อย ต้องให้ราคาใบอ้อยที่เหมาะสม...เพื่อเกษตรกรอยากจะเก็บใบอ้อยไว้ขายมากกว่าเผาทิ้ง

ราคาที่เหมาะสมควรอยู่ ณ จุดไหน ดร.บุรินทร์ ได้ประมาณการกำไรขั้นต้นของโรงไฟฟ้าและราคาค่าไฟฟ้าที่ได้รับการอนุมัติจากรัฐ โดยคิดเงินลงทุนรวมทุกอย่างที่ประมาณเมกะวัตต์ละ 48 ล้านบาท ตัดค่าเสื่อม 15 ปี เดินเครื่อง 330 วันต่อปี

หากรัฐอยากจูงใจให้โรง ไฟฟ้ารับซื้อใบอ้อยแห้งที่ราคาตันละ 1,000 บาท ต้องอนุมัติราคาค่าไฟอย่างต่ำหน่วยละ 2.95 บาท โรงไฟฟ้าจึงจะอยู่รอด

ถ้าเห็นว่าราคาค่าไฟนี้แพง รัฐรับซื้อไฟฟ้าในราคาถูกลง แล้วผลักภาระให้โรงไฟฟ้าไปปรับลดราคา รับซื้อใบอ้อยจากเกษตรกร จะส่งผลให้ไม่เกิดแรงจูงใจมากพอ เช่น หากรับซื้อใบอ้อยที่ราคา 700 บาท ชาวไร่จะเหลือกำไรค่าใบอ้อยไร่ละ 200 บาทเท่านั้น เพราะการเก็บรวบรวมใบอ้อย การอัดก้อนและขนไปขายโรงไฟฟ้านั้นมีต้นทุนค่าใช้จ่ายจัดเก็บ อัดก้อนและค่าขนส่งประมาณตันละ 500 บาท

เพื่อแก้ปัญหานี้ นอกจากรัฐจะต้องหาโควตาการผลิตไฟฟ้า 500 เมกะวัตต์ให้กับผู้ลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าใบอ้อยแล้ว ยังต้องพิจารณาราคาค่าไฟฟ้าให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมอีกด้วย

หากมองว่ารัฐนำไปจำหน่ายหน่วยละ 3 บาทกว่า ยังถือว่ารัฐคุ้มที่จะรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชน โดยที่รัฐไม่ต้องเป็นผู้ลงทุนเองและเป็นการกระจายรายได้ให้แก่ภาคการเกษตร ช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

เพราะกรณีนี้จะแตกต่างจากการรับซื้อไฟฟ้าจากการลงทุนในกรณีของแสงอาทิตย์หรือพลังงานลม ซึ่งไม่ได้มีการกระจายรายได้ไปยังประชาชนในภาคการเกษตรแต่อย่างใด

“การกระจายรายได้เป็นจุดเด่นของวงจรการผลิตไฟฟ้าชีวมวล แถมเรื่องนี้นำไปใช้กับพืชอื่นได้ เช่น ฟางข้าว เศษวัสดุจากป่าไม้ โดยต้องสนับสนุนให้มีการตั้งโรงไฟฟ้ากระจายไปทั่วพื้นที่ที่มีวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรเหล่านี้

หากรัฐไม่เดินหน้าในเรื่องนี้อย่างจริงจัง ประเทศไทยคงต้องวนเวียนในการแก้ปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 อย่างไม่มีวันจบสิ้น เพราะต้นตอของปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข ประชาชนคงเผชิญปัญหาฝุ่นควันต่อไป และรัฐต้องสูญงบประมาณมหาศาลในการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุรวมถึงค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพมากมายในทุกฤดูกาลที่มีการเผา”

วิธีการนี้ไม่เพียงจะแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ยังทำให้เราพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าด้วยตนเองได้มากขึ้น แถมเกษตรกรมีรายได้เพิ่ม...ยิงธนูนัดเดียวได้นก 3 ตัว ทั้งได้ลดฝุ่น เพิ่มรายได้ให้ภาคเกษตร และได้พลังงานใช้ แต่ก็ไม่ง้าง ไม่ยิงเสียที ไม่รู้ทำไม

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 23 มีนาคม 2565

โรงงานน้ำตาลโชว์ผลผลิตอ้อย 87.75 ล้านตัน มั่นใจปิดหีบสิ้น มี.ค.แตะ 90 ล้านตัน

โรงงานน้ำตาลโชว์ตัวเลขหีบอ้อยหลังผ่าน 104 วัน มีอ้อยเข้าหีบ 87.75 ล้านตัน ผลิตน้ำตาลได้ 96.07 ล้านกระสอบแล้ว คาดสิ้น มี.ค.โรงงานน้ำตาลส่วนใหญ่ปิดหีบหมด คาดการณ์อ้อยฤดูหีบปี 64/66 แตะ 90 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนกว่า 23 ล้านตันอ้อย

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการ บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด หรือ TSMC เปิดเผยว่า หลังจากโรงงานน้ำตาลเปิดรับผลผลิตอ้อยเข้าหีบตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา ปัจจุบันได้เข้าสู่ช่วงท้ายฤดูการหีบอ้อยประจำฤดูการผลิตปี 2564/65 โดยโรงงานน้ำตาลได้ทยอยปิดหีบไปแล้วรวมจำนวน 16 โรงงาน จากทั้งหมด 57 โรง และคาดว่าทุกโรงงานจะประกาศปิดหีบหยุดรับผลผลิตอ้อยภายในสิ้นเดือนมีนาคม ซึ่งในระหว่างนี้โรงงานจะสำรวจอ้อยค้างไร่เพื่อป้องกันอ้อยตกค้าง รวมถึงแนะนำชาวไร่เตรียมความพร้อมสำหรับการเพาะปลูกในฤดูการผลิตใหม่ เพื่อให้มีปริมาณผลผลิตอ้อยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะมีปริมาณอ้อยเข้าหีบในปีนี้ประมาณ 90 ล้านตัน เทียบกับฤดูการผลิตปี 2563/64 ซึ่งมีอ้อยเข้าหีบ 66.66 ล้านตันอ้อย

ส่วนสถานการณ์อ้อยเข้าหีบจนถึงปัจจุบันรวม 104 วัน พบว่ามีปริมาณอ้อยเข้าหีบรวมทั้งสิ้น 87.75 ล้านตันอ้อย แบ่งเป็นอ้อยสด จำนวน 64.75 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วน 73.79% และอ้อยไฟไหม้ จำนวน 23.00 ล้านตัน คิดเป็น 26.21% ได้ผลผลิตน้ำตาลรวมจำนวน 9.60 ล้านตัน คิดเป็นผลผลิตน้ำตาล 109.48 กิโลกรัมต่อตันอ้อย ณ ค่าความหวานเฉลี่ย 12.70 ซีซีเอส

แม้ภาพรวมชาวไร่จะให้ความร่วมมือจัดส่งอ้อยสดเข้าหีบเพิ่มขึ้น แต่ในบางพื้นที่พบว่ามีชาวไร่อ้อยบางส่วนนำส่งผลผลิตอ้อยเข้าหีบโดยไม่ตัดยอด ไม่สางใบ ซึ่งเป็นอ้อยที่มีสิ่งปนเปื้อน โดยประเมินว่ามีปริมาณกว่า 10 ล้านตัน นอกจากสร้างความเสียหายต่อเครื่องจักรหีบสกัดน้ำตาลแล้ว ยังส่งผลให้ประสิทธิภาพการหีบน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) ลดลงด้วย ทำให้ระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายต้องสูญเสียรายได้กว่า 10,000 ล้านบาท

ดังนั้น โรงงานน้ำตาลในเขตภาคกลาง ชาวไร่อ้อยและสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายได้ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือในการแก้ปัญหาอ้อยสดที่ไม่ได้คุณภาพและอ้อยไฟไหม้เพื่อกำหนดแนวทางกำกับดูแลการรับอ้อยเข้าหีบ โดยจะระบุหลักเกณฑ์การกำหนดประเภทอ้อยสดคุณภาพดี และการปฏิเสธรับอ้อยที่ไม่มีการตัดยอด และไม่สางใบ ให้จัดเป็นอ้อยที่มีสิ่งปนเปื้อน อีกทั้งจะร่วมมือกันรณรงค์และดำเนินการลดอ้อยไฟไหม้ให้เป็นไปตามเป้าหมาย สำหรับฤดูการผลิตปี 2565/66 ต่อไป

จาก https://mgronline.com   วันที่ 22 มีนาคม 2565

โรงงานน้ำตาลโอด ชาวไร่ลักไก่ส่งอ้อยปนเปื้อนเสียหาย 1 หมื่นล.

โรงงานน้ำตาลอึ้งชาวไร่ลักไก่ส่งอ้อยไม่สางใบมีสิ่งปนเปื้อน ทำอุตฯเสียหาย 1 หมื่นล. คาดอ้อยเข้าหีบปีนี้ 90 ล้านตัน แต่อ้อยไฟไหม้ยังสูง 26.21% หลุดเป้ารัฐ 10%

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการ บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด หรือ TSMC เปิดเผยว่า คาดการณ์ปริมาณอ้อยเข้าหีบปีนี้ 2564/65 จะอยู่ที่ประมาณ 90 ล้านตัน เทียบกับปีฤดูการผลิตปี 2563/64 ซึ่งมีอ้อยเข้าหีบ 66.66 ล้านตันอ้อย เพราะหลังจากโรงงานน้ำตาลเปิดรับผลผลิตอ้อยเข้าหีบตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม 2564 ปัจจุบันหีบแล้วกว่า 100 วัน มีปริมาณอ้อยเข้าหีบรวม 87.75 ล้านตันอ้อย โรงงานน้ำตาลทยอยปิดหีบแล้ว 16 โรงงาน จากทั้งหมด 57 โรง คาดว่าทุกโรงงานจะประกาศปิดหีบหยุดรับผลผลิตอ้อยภายในสิ้นเดือนมีนาคม

ทั้งนี้จากปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด แบ่งเป็นอ้อยสด 64.75 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วน 73.79% และอ้อยไฟไหม้ 23.00 ล้านตัน คิดเป็น 26.21% ยังสูงกว่าเป้าหมายรัฐบาลที่กำหนดไว้ที่ 10% ปริมาณอ้อยดังกล่าวได้ผลผลิตน้ำตาล รวม 9.60 ล้านตัน คิดเป็นผลผลิตน้ำตาล 109.48 กิโลกรัมต่อตันอ้อย ณ ค่าความหวานเฉลี่ย 12.70 ซี.ซี.เอส.

สำหรับไร่อ้อยที่ตัดอ้อยส่งโรงงานเรียบร้อย หลังจากนี้โรงงานจะสำรวจอ้อยค้างไร่เพื่อป้องกันอ้อยตกค้าง รวมถึงแนะนำชาวไร่เตรียมความพร้อมสำหรับการเพาะปลูกในฤดูการผลิตใหม่ เพื่อให้มีปริมาณผลผลิตอ้อยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามแม้ชาวไร่จะให้ความร่วมมือจัดส่งอ้อยสดเข้าหีบเพิ่มขึ้น แต่บางพื้นที่พบชาวไร่อ้อยนำส่งผลผลิตอ้อยเข้าหีบโดยไม่ตัดยอด ไม่สางใบ มีสิ่งปนเปื้อน ประเมินว่ามีปริมาณกว่า 10 ล้านตัน ได้สร้างความเสียหายต่อเครื่องจักรหีบสกัดน้ำตาล และส่งผลให้ประสิทธิภาพการหีบน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) ลดลง ทำให้ระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายต้องสูญเสียรายได้กว่า 10,000 ล้านบาท

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 22 มีนาคม 2565

เกษตรฯ ผนึก ศูนย์ AIC 77 จังหวัดถ่ายทอด 701 นวัตกรรมสู่เกษตรอัจฉริยะ

“อลงกรณ์”เร่งจบงาน “เนชั่นแนลซิงเกิลวินโดว์ (NSW) - ดิจิตอล ทรานสฟอร์เมชั่น(Digital Transformation)ภายใต้5ยุทธศาสตร์เฉลิมชัยภายในปีนี้ ผนึก ศูนย์ AIC 77 จังหวัดถ่ายทอด 701 นวัตกรรมสู่เกษตรอัจฉริยะกว่า 8 พันราย กระจายทั่วประเทศ

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเทคโนโลยีเกษตร 4.0 และประธานคณะกรรมการบริหารศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC)เปิดเผยวันนี้(22มี.ค.)ภายหลังเป็นประธานการประชุมผ่านระบบประชุมทางไกล พร้อมด้วย นายประภาส  ทองยงค์ รองปลัดกระทรวงเกษตร นายวุฒิพงศ์ เนียมหอม รองเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม รศ.ดร.ธานี ศรีวงศ์ชัย คณบดีคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ผศ.รุ่งอรุณ ดอนจันทร์ทอง ผู้อำนวยการสถาบันบัวราชมงคลตะวันออก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออกวิทยาเขตบางพระ นายสุวิทย์ รัตนจินดา ประธานสมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย รศ.ดร. อาณัฐชัย รัตตกุล  ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ศูนย์ AIC และภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจากทั่วประเทศกว่า400คน เข้าร่วมประชุมเมื่อวานนี้เพื่อรับทราบความก้าวหน้าของผลการขับเคลื่อนคณะอนุกรรมการทั้ง 4 ด้าน ทั้งด้าน Big Data และ Gov Tech ด้านเกษตรอัจฉริยะ ด้าน E-Commerce ด้านธุรกิจเกษตร (Agribusiness) และผลการดำเนินงานศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center : AIC)

ผลการขับเคลื่อน AIC

โดย นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ที่ประชุมได้รับทราบผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อน E-Commerce ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการดำเนินงานการกระจายสินค้าเกษตรผ่านช่องทางไปรษณีย์ และโครงการ Thailand E-Commerce ผลการดำเนินงานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อน ด้าน Big Data และ Gov Tech ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกอบด้วย 1) ความก้าวหน้าการดำเนินงานเชื่อมโยงข้อมูลศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ(NABC:National Agriculture Big Data Center)

ภายใต้ MOU ระหว่างสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรและสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ 2) ผลการดำเนินงานการจัดทำและให้บริการภาครัฐของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ National Single Window (NSW) มีบริการที่เชื่อมโยง NSW จำนวน 55 บริการ ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว จำนวน 38 บริการ ให้บริการแล้วและอยู่ระหว่างการปรับปรุง/เพิ่มประสิทธิภาพระบบ จำนวน 17 บริการ และ 3) ผลการดำเนินงานการจัดทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ด้านการเกษตรซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินและการบริการประชาชนตามแนวทางDigital Transformation

นายอลงกรณ์ ได้แจ้งฝ่ายเลขาฯ ให้กำหนดจัดการประชุมเป็นการเฉพาะในต้นเดือนหน้า (เม.ย.) โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งรัดการดำเนินงานการจัดทำและให้บริการภาครัฐของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ National Single Window (NSW) ในการวิเคราะห์ ประเด็นเสนอของภาคเอกชน ในการเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อการบริการในเว็บไซต์ที่ออกแบบให้สามารถเข้าถึงการบริการในเว็บเดียวกัน พร้อมทั้งจัดทำ time line  กรอบรระยะเวลาการดำเนินการ

ในการนี้ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร ได้รายงานผลการดำเนินงาน และนำเสนอโครงการส่งเสริมและพัฒนาต้นแบบเกษตรอัจฉริยะ กิจกรรมส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ “ระบบบริหารจัดการแปลงเกษตรด้วยระบบเกษตรอัจฉริยะ Handy Sense และการขับเคลื่อน ศพก.เกษตรอัจฉริยะ การพัฒนาศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) สู่การทำการเกษตรแบบเกษตรอัจฉริยะ และคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนธุรกิจเกษตร (Agribusiness) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานการนำเสนอ

พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560 “ระบบเกษตรพันธสัญญา” และปัญหาราคาสุกรหน้าฟาร์มต่ำกว่าท้องตลาด และการเสนอผลการบริหารจัดการงานวิจัยทางการเกษตร ของศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ (ไร่สุวรรณ) คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ การดำเนินงานของศูนย์ความเป็นเลิศ (COE) บัว ของสถาบันบัวราชมงคลตะวันออก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตบางพระ โดยที่ประชุมเสนอให้มีการนำผลงานเข้าร่วมแสดงในงานมหกรรมพืชสวนโลก ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในปี 2569

เพื่อแสดงศักยภาพด้านบัวของประเทศไทยให้เป็นที่ประจักษ์แก่สากลซึ่งมีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออกเป็นศูนย์AICประเภทความเป็นเลิศCOEด้านบัว -ราชินีแห่งพืชน้ำ อีกทั้ง ความก้าวหน้าการดำเนินงานของคณะทำงานคัดเลือกรางวัล AIC Award ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างประกาศเปิดรับสมัครผลงานเข้าร่วมประกวดคัดเลือกรางวัล AIC Award 2022 และความก้าวหน้าการดำเนินงานระบบฐานข้อมูล AIC (Innovation Catalog) ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน Innovation Catalog รวมทั้งสิ้น 701 เทคโนโลยี/นวัตกรรม 11 ประเภท การนำไปใช้และการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมจาก AIC ผ่าน ศพก. สู่เกษตรกรจำนวน 8,709 ราย ศพก. 56 แห่ง จากทั้งสิ้น 882 แห่ง และขยายผลสู่เกษตรแปลงใหญ่ จำนวน 6 จังหวัด รวม 9 แปลงใหญ่

ทั้งนี้ นายอลงกรณ์ ได้มอบแนวทางให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ให้มุ่งเน้นการทำงานที่เชื่อมโยงทุกระบบ ไม่ว่าจะเป็นการนำข้อมูล Big Data ด้านการเกษตร การบริหารจัดการด้านเกษตรอัจฉริยะ การดำเนินงานด้านการส่งเสริมตลาด E-Commerce และด้านสนับสนุนผลักดันสินค้าสู่ธุรกิจเกษตร (Agribusiness) และการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ ของ ศูนย์ AIC และ COE ผนวกเข้าด้วยกัน เพื่อก่อให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างสูงสุดและเกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อขับเคลื่อนในระดับพื้นที่สู่ภาคเกษตรที่ยั่งยืนต่อไป

“การขับเคลื่อนนโยบายเทคโนโลยีเกษตร4.0ภายใต้5ยุทธศาสตร์ปฏิรูปภาคเกษตรของดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีเกษตรฯ.มีความคืบหน้าเป็นที่น่าพอใจเพื่อยกระดับอัพเกรดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและการเพิ่มรายได้ให้กับภาคเกษตรตลอดห่วงโซ่คุณต่า(Value Chain)ด้วยการบริหารจัดการเชิงโครงสร้างและระบบแบบบูรณาการทำงานเชิงรุกกับทุกภาคส่วนทุกจังหวัดทั่วประเทศ เราจะต้องจบงานเนชั่นแนลซิงเกิลวินโดว์(NSW)และดิจิตอล ทรานสฟอร์เมชั่น(Digital Transformation)ภายใต้5ยุทธศาสตร์เฉลิมชัยภายในปีนี้”นายอลงกรณ์กล่าวในที่สุด.

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 22 มีนาคม 2565

ชาวไร่ส่งอ้อยเข้ารง.คึกคัก คาดปีนี้แตะ 90 ล้านตัน

รง.น้ำตาลชี้ โค้งสุดท้ายฤดูการหีบอ้อย 64/65 ผ่านไป 104 วัน ได้ผลผลิต 87.75 ล้านตัน ผลิตน้ำตาลได้ 9.60 ล้านตัน เล็งวางกฏเหล็กคุมคุณภาพอ้อยเข้าโรงงาน

นายสิริวุทธิ์  เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการ บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด หรือ TSMC เปิดเผยว่า หลังจากโรงงานน้ำตาลเปิดรับผลผลิตอ้อยเข้าหีบตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา ปัจจุบันได้เข้าสู่ช่วงท้ายฤดูการหีบอ้อยประจำฤดูการผลิตปี 2564/65 โดยโรงงานน้ำตาลได้ทยอยปิดหีบไปแล้ว รวมจำนวน 16 แห่ง จากทั้งหมด 57 โรง และคาดว่า ทุกโรงงานจะประกาศปิดหีบหยุดรับผลผลิตอ้อยภายในสิ้นเดือนมีนาคม ซึ่งในระหว่างนี้โรงงานจะสำรวจอ้อยค้างไร่เพื่อป้องกันอ้อยตกค้าง รวมถึงแนะนำชาวไร่เตรียมความพร้อมสำหรับการเพาะปลูกในฤดูการผลิตใหม่ เพื่อให้มีปริมาณผลผลิตอ้อยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยคาดว่า จะปริมาณอ้อยเข้าหีบในปีนี้ประมาณ 90 ล้านตัน เทียบกับปีฤดูการผลิตปี 2563/64 ซึ่งมีอ้อยเข้าหีบ 66.66 ล้านตันอ้อย

ทั้งนี้สถานการณ์อ้อยเข้าหีบจนถึงปัจจุบัน รวม 104 วัน พบว่า มีปริมาณอ้อยเข้าหีบรวมทั้งสิ้น 87.75 ล้านตันอ้อย แบ่งเป็นอ้อยสด จำนวน 64.75 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วน 73.79% และอ้อยไฟไหม้ จำนวน 23.00 ล้านตัน คิดเป็น 26.21% ได้ผลผลิตน้ำตาล รวมจำนวน 9.60 ล้านตัน คิดเป็นผลผลิตน้ำตาล 109.48 กิโลกรัมต่อตันอ้อย ณ ค่าความหวานเฉลี่ย 12.70 ซี.ซี.เอส.

แม้ภาพรวมชาวไร่จะให้ความร่วมมือจัดส่งอ้อยสดเข้าหีบเพิ่มขึ้น แต่ในบางพื้นที่ พบว่า มีชาวไร่อ้อยบางส่วนนำส่งผลผลิตอ้อยเข้าหีบโดยไม่ตัดยอด ไม่สางใบ ซึ่งเป็นอ้อยที่มีสิ่งปนเปื้อน โดยประเมินว่า มีปริมาณกว่า 10 ล้านตัน นอกจากสร้างความเสียหายต่อเครื่องจักรหีบสกัดน้ำตาลแล้ว ยังส่งผลให้ประสิทธิภาพการหีบน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) ลดลงด้วย ทำให้ระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายต้องสูญเสียรายได้กว่า 10,000 ล้านบาท

ดังนั้น โรงงานน้ำตาลในเขตภาคกลาง ชาวไร่อ้อยและสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ได้ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือในการแก้ปัญหาอ้อยสดที่ไม่ได้คุณภาพและอ้อยไฟไหม้ เพื่อกำหนดแนวทางกำกับดูแลการรับอ้อยเข้าหีบ โดยจะระบุหลักเกณฑ์การกำหนดประเภทอ้อยสดคุณภาพดี และการปฏิเสธรับอ้อยที่ไม่มีการตัดยอด และไม่สางใบ ให้จัดเป็นอ้อยที่มีสิ่งปนเปื้อน อีกทั้ง จะร่วมมือกันรณรงค์และดำเนินการลดอ้อยไฟไหม้ให้เป็นไปตามเป้าหมาย สำหรับฤดูการผลิตปี 2565/66 ต่อไป

จาก https://www.posttoday.com   วันที่ 22 มีนาคม 2565

"รีคัลท์" สตาร์ทอัพไทยบุกเวียดนาม เซ็นสัญญาโรงงานน้ำตาล-บริษัทปุ๋ยเบอร์ 1

"รีคัลท์" สตาร์ทอัพ Agritech สัญชาติไทย สยายปีกสู่เวียดนาม เซ็นสัญญาโรงงานน้ำตาลและบริษัทปุ๋ยเบอร์ 1 ของประเทศ นำระบบ AI และ Digital Solution มาช่วยในธุรกิจเกษตรเพื่อปรับตัวเข้าสู่ยุค Industry 4.0

รีคัลท์ สตาร์ทอัพผู้นำด้าน Agritech ของไทยประสบความสำเร็จในการขยายสู่ตลาดอาเซียน โดยมีการเซ็นสัญญากับทางโรงงานน้ำตาลและบริษัทปุ๋ยอันดับ 1 ของเวียดนามเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ด้วยการนำร่องการนำระบบ AI (ปัญญาประดิษฐ์) และ Digital Solution มาช่วยในธุรกิจเกษตรเพื่อปรับตัวเข้าสู่ยุค Industry 4.0 ไม่ว่าจะเป็นการนำ Big Data มาช่วยจัดหาผลผลิตเข้าโรงงาน การช่วยเพิ่มผลผลิตของเครือข่ายเกษตรกร การบริหารความเสี่ยงจากสภาพอากาศ และยังช่วยดูแลเกษตรกรได้อย่างยั่งยืนมากขึ้นผ่านระบบดิจิตอล

นายอุกฤษ อุณหเลขกะ ซีอีโอ บริษัท รีคัลท์ ประเทศไทย กล่าวว่าจากความสําเร็จในการนำ Digital Solution และ AI มาใช้ในอุตสาหกรรมเกษตรในประเทศไทย โดยปัจจุบันมีเกษตรกรใช้งานระบบกว่า 600,000 ราย มีพื้นที่เพาะปลูกผ่านการวิเคราะห์ด้วย AI มากกว่า 10,000,000 ไร่ โดยมีลูกค้าเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตรและธนาคาร​​ขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์มากกว่า 10 บริษัท มีมูลค่าผลผลิตการเกษตรอยู่ในระบบ “รีคัลท์” กว่าสองหมื่นล้านบาท ทำให้เทคโนโลยีของรีคัลท์ได้รับความสนใจจากธุรกิจการเกษตรในต่างประเทศเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในแถบอาเซียนที่มองว่าประเทศไทยเป็นผู้นำทางด้านอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร

สาเหตุที่ทางรีคัลท์ได้เลือกประเทศเวียดนามเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่ขยายไป เนื่องจากประเทศเวียดนามเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว มีประชากรกว่า 96 ล้านคน โดยมีความคล้ายคลึงกับประเทศไทยที่มีเกษตรกรเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ และมีธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหารเป็นส่วนสําคัญของเศรษฐกิจ มูลค่าตลาดหลายแสนล้านบาท

การไปเวียดนามในครั้งนี้รีคัลท์ได้เซ็นสัญญาให้บริการกับโรงงานน้ำตาลและบริษัทปุ๋ยเบอร์ 1 ของประเทศเวียดนามเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คือ Quang Ngai Sugar (QNS)  และ Japan Vietnam Fertilizer Company (JVF) โดยระบบของรีคัลท์จะช่วยทั้งสองบริษัทในด้านการบริหารต้นทุน วางแผนการผลิต และสร้างความยั่งยืนในการทำงานกับเกษตรกร โดยระบบ AI ของรีคัลท์ จะมาช่วยในการประเมินผลผลิต บริหารความเสี่ยงจากสภาพอากาศแปรปรวน และเห็นภาพการเพาะปลูกและการเก็บเกี่ยวของโรงงานไปจนถึงภาพรวมทั้งประเทศ

ยกตัวอย่างเช่นโรงงานน้ำตาล QNS ที่ในแต่ละปีมีการซื้ออ้อยจากเกษตรกรเป็นมูลค่ากว่า 3 พันล้านบาท ทาง QNS ตั้งเป้าหมายที่จะนำระบบ Digital และ AI มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการวางแผนและจัดการรับซื้อผลผลิต โดยหวังว่าระบบของรีคัลท์จะสามารถช่วยประหยัดต้นทุนกว่าร้อยล้านบาทต่อปีและช่วยให้เกษตรกรในเครือหลายหมื่นคนมีผลผลิตที่ดียิ่งขึ้นตามหลัก Sustainable Supply Chain

นอกจากนี้นายอุกฤษ อุณหเลขกะ ยังกล่าวอีกว่า เป้าหมายหลักของรีคัล์ทในปีนี้คือการขยายฐานลูกค้าในประเทศไทยและขยายไปสู่ประเทศอื่น ๆ ในแถบอาเซียน เพราะภาคการเกษตรและธุรกิจการเกษตรและอาหาร คือกระดูกสันหลังของภูมิภาคนี้ ประกอบกับความต้องการในการใช้ Digital Solution มาช่วยในการทำงานของผู้ประกอบการที่มีการปรับตัวเข้าสู่ยุค Industry 4.0 ที่มากขึ้น โดยมองว่าประเทศที่รีคัล์ทจะขยายไปต่อหลังจากนี้ก็คือประเทศฟิลิปปินส์ เนื่องจากปัจจุบันมีลูกค้ารายใหญ่หลายเจ้าได้ติดต่อเข้ามาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อีกทั้งฟิลิปปินส์ยังมีประชากรกว่า 110 ล้านคนและส่วนใหญ่ก็อยู่ในภาคการเกษตร

จาก https://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 22 มีนาคม 2565

รัฐบาลเดินหน้าพัฒนาอีอีซี

ครม.เห็นชอบ สำนักงานอีอีซีใช้ประโยชน์ที่ดิน ส.ป.ก. 14,619 ไร่ เพื่อพัฒนาโครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ คาดลงทุน 1.34 ล้านล้านบาท เกิดการจ้างงานใหม่ 200,000 ตำแหน่ง

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 22 มี.ค. 2565 ได้อนุมัติให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.) เข้าใช้ประโยชน์ที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จำนวน 14,619 ไร่  ในท้องที่ ต.ห้วยใหญ่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี  เพื่อดำเนินโครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ 

ทั้งนี้ เป็นการดำเนินการตาม พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 มาตรา 36 ที่บัญญัติให้คณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) โดยความเห็นชอบของ ครม. มีอำนาจให้ สกพอ. เข้าใช้ประโยชน์ของ ส.ป.ก..เพื่อดำเนินการอื่นใดนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้

พร้อมกันนี้ ครม. ได้รับทราบมติ กพอ. ที่ได้อนุมัติร่างระเบียบคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการจ่ายค่าชดเชยให้แก่ผู้มีสิทธิใช้ประโยชน์ในที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมที่สำนักงานคระกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเข้าใช้ประโยชน์ พ.ศ…. เพื่อให้ สกพอ. และส.ป.ก. ดำเนินจ่ายค่าชดเชยให้แก่เกษตรกรผู้มีสิทธิใช้ประโยชน์ในที่ดินของ ส.ป.ก. ต่อไป 

รวมถึงรับทราบมติ กพอ. ที่เห็นชอบให้ สกพอ. ขอรับจัดสรรงบประมาณแผ่นดินในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566  จำนวน 15,000 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2567  จำนวน 4,000 ล้านบาท รวม 19,000 ล้านบาท จะแยกเป็น ค่าชดเชยที่ดิน 10,000 ล้านบาท  โครงการจ้างที่ปรึกษาออกแบบขั้นรายละเอียดและจัดทำรายละเอียดการให้เอกชนร่วมลงทุน(พีพีพี) 1,000 ล้านบาท โครงการจ้างที่ปรึกษาเพื่อสนับสนุนการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน(พีพีพี) 200 ล้านบาท และโครงการปรับพื้นที่และก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานส่วนกลาง 7,800 ล้านบาท 

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า โครงการศูนย์ธุรกิจ EECและเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ เกิดขึ้นจากนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาศูนย์กลางธุรกิจและการเงินระดับภูมิภาคมาตรฐานเทียบเท่าสากลในพื้นที่อีอีซี และให้เป็นเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ 1 ใน 10 เมืองของโลกในปี 2580  เป็นเมืองน่าอยู่อัจฉริยะต้นแบบสำหรับการพัฒนาเมืองใหม่ทั่วประเทศไทย

โครงการมีที่ตั้ง ที่อ.บางละมุง จ.ชลยุรี พื้นที่โครงการ 14,619 ไร่ โดยจะพัฒนาระยะแรกประมาณ 5,000 ไร่  โครงการมีที่ตั้งห่างจากท่าอากาศยานอู่ตะเภา 15 กม. และห่างจากกรุงเทพฯ 160 กม.  มีระยะการพัฒนา 10 ปี  ระหว่างปี 2565-2575

โดย สกพอ.ประเมินว่าโครงการนี้จะสร้างงาน 200,000 ตำแหน่ง  ใช้เงินลงทุนประมาณ 1,340,468 ล้านบาท  โดยเป็นสัดส่วนการลงทุนของรัฐ 2.8% หรือ 37,674 ล้านบาท เป็นส่วนของค่าที่ดิน ปรับพื้นที่เมืองโครงสร้างพื้นฐานในเมือง นอกเมือง ส่วนร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน(พีพีพี) 9.7% หรือประมาณ 131,119 ล้านบาท เป็นค่าสาธารณูปโภคในระบบขนส่งธารณะ ระบบดิจิทัล และเอกชนลงทุน 87.5% หรือประมาณ 1,180,808 ล้านบาท สำหรับพื้นที่พาณิชย์

ตามแผนแม่บทพัฒนาโครงการ จะแบ่งโซนตามธุรกิจเป้าหมายเป็น 5 โซน ประกอบด้วย  1)ศูนย์กลางการเงิน ประกอบด้วยธุรกิจการเงินและตลาดทุน สนับสนุนการลงทุน Fintech และGreen Bond 2)สำนักงานภูมิภาค RHQ/ศูนย์ราชการ  เช่น สำนักงานภูมิภาคของธุรกิจไทย ที่มีธุรกิจในอีอีซีและสถานที่ราชการที่สำคัญ 3)การแพทย์แม่นยำ/การแพทย์เพื่อนาคต เพื่อเป็นที่ตั้งของธุรกิจที่เป็นการร่วมทุนกับโรงพยาบาลชั้นนำของโลก ธุรกิจยาและเวชภัณฑ์ อุปกรณ์การแพทย์ที่ทันสมัย

4)การศึกษา วิจัย และพัฒนา  เป็นพื้นที่สำหรับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกที่ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยไทยเพื่อการสนับสนุนธุรกิจเฉพาะด้าน การวิจัยพัฒนาเพื่อธุรกิจเฉพาะด้าน  และ 5)ธุรกิจเฉพาะด้าน เช่น พลังงานสะอาด ธุรกิจ Digitizationและ5G กลุ่มโลจิสติกส์และวิทยาศาสตร์การกีฬา เป็นต้น

จาก https://tna.mcot.net  วันที่ 22 มีนาคม 2565

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ "อ่อนค่า" ที่ระดับ 33.62 บาท/ดอลลาร์

ค่าเงินบาทอาจมีโอกาสอ่อนค่าลงและผันผวนในกรอบกว้าง หลังผู้เล่นในตลาดการเงินยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยง

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.62 บาทต่อดอลลาร์ "อ่อนค่า" ลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.54 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย ระบุว่าแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทอาจมีโอกาสอ่อนค่าลงและผันผวนในกรอบกว้าง หลังผู้เล่นในตลาดการเงินยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยง อีกทั้ง ตลาดก็เริ่มกลับมากังวลแนวโน้มเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ย

อย่างไรก็ดี ควรจับตาทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ หลังจากล่าสุดนักลงทุนต่างชาติกลับมาขายทั้งหุ้นและบอนด์อยู่ อนึ่ง เราเริ่มเห็นว่า แรงเทขายบอนด์ระยะสั้นของนักลงทุนต่างชาติเริ่มลดลง ซึ่งอาจเป็นสัญญาณที่บอกได้ว่า บรรดาผู้เล่นต่างชาติที่เข้ามาเก็งกำไรเงินบาทก่อนหน้า ได้ปิดสถานะถือครองไปเกือบหมดแล้ว ทำให้มีโอกาสที่จะเกิดแรงเทขายบอนด์ระยะสั้นที่รุนแรงไม่มากนัก และหากสถานการณ์สงครามเริ่มคลี่คลาย ทิศทางการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยเริ่มชัดเจน ก็อาจเห็นนักลงทุนต่างชาติทยอยกลับเข้ามาเก็งกำไรเงินบาทผ่านการกลับมาซื้อสุทธิบอนด์ระยะสั้นได้

ทั้งนี้ ในระยะสั้น เงินบาทยังคงมีแนวต้านของเงินบาทจะอยู่ใกล้โซน 33.60-33.75 บาทต่อดอลลาร์  ซึ่งเรายังคงเห็นบรรดาผู้ส่งออกต่างมารอขายเงินดอลลาร์ในช่วงดังกล่าว ขณะที่แนวรับจะอยู่ในช่วง 33.00-33.20 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งใกล้กับแนวรับเส้นค่าเฉลี่ย 100 วันและ 200 วัน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.50-33.75 บาท/ดอลลาร์

ตลาดการเงินโดยรวมกลับมาอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวอีกครั้ง ท่ามกลางสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่มีแนวโน้มจะยืดเยื้อกว่าคาด อีกทั้งการเจรจาสันติภาพระหว่างสองฝ่ายก็ยังไม่มีแนวโน้มที่จะบรรลุข้อตกลงกันได้

นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดเริ่มกลับมากังวลแนวโน้มเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้ง หลังประธานเฟด Jerome Powell ได้ส่งสัญญาณว่า เฟดอาจจำเป็นที่จะต้องขึ้นดอกเบี้ยมากกว่า 0.25% ในการประชุมครั้งหนึ่ง หรือ หลายครั้ง เพื่อสกัดปัญหาเงินเฟ้อและสร้างความเชื่อมั่นว่าราคาสินค้าจะกลับมามีเสถียรภาพได้ (Price Stability Target) ถ้อยแถลงดังกล่าวของประธานเฟดได้หนุนให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มมองว่า เฟดอาจจะขึ้นดอกเบี้ยได้ครั้งละ 0.5% ในการประชุมเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน (โอกาสราว 60% จาก CME FedWatch Tool)

แนวโน้มเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าคาด ได้หนุนให้ผู้เล่นในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ กลับมาทยอยขายสินทรัพย์เสี่ยงอีกครั้ง โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มเทคฯ ที่มีความอ่อนไหวกับแนวโน้มดอกเบี้ย ส่งผลให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวลงราว -0.4% ส่วนดัชนี S&P500 ปรับตัวลงเล็กน้อย -0.04% โดยมีแรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน อาทิ Marathon Oil +8.5%, Occidental +8.4% หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องอีกครั้ง จากความไม่แน่นอนของสงคราม

ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ย่อตัวเล็กน้อยราว -0.53% ท่ามกลางแรงกดดันจากความไม่แน่นอนของการเจรจาสันติภาพ ส่งผลให้ผู้เล่นบางส่วนทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ของหุ้นในสัปดาห์ก่อนหน้าออกมาบ้าง

อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปได้แรงหนุนจากหุ้นกลุ่มพลังงานที่ปรับตัวขึ้นตามราคาสินค้าพลังงาน อาทิ Eni +2.9%, Enel +1.1% จากความไม่แน่นอนของสงครามและผลกระทบเชิงลบที่อาจเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจยุโรปทำให้เราคงมุมมอง wait and see สำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นยุโรปไปก่อน แม้ว่า ในเชิง valuation ตลาดหุ้นยุโรปจะอยู่ในระดับราคาที่ถูกแล้วก็ตาม

ส่วนทางด้านฝั่งตลาดบอนด์ ท่าทีของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดที่ส่งสัญญาณว่า เฟดอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ย รวมถึงการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบ ได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นกว่า 10bps สู่ระดับ 2.29% ทั้งนี้ เราคงมองว่า ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้

โดยเรามองว่า นอกเหนือจากแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ย การลดงบดุลของเฟด คือ ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อบอนด์ยีลด์ได้ โดยควรจับตาว่าบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดจะเปิดเผยรายละเอียดหรือให้มุมมองเกี่ยวกับ การปรับลดงบดุลของเฟดอย่างไร อาทิ อัตราการลดงบดุลจะเป็นเท่าใดและเฟดจะมีโอกาสขายตราสารหนี้ออกมาหรือไม่

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ทำให้ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 98.50 จุด อีกครั้ง ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการเจรจาสันติภาพรัสเซีย-ยูเครน และแรงหนุนจากท่าทีของเฟดที่พร้อมเร่งขึ้นดอกเบี้ย เพื่อสกัดเงินเฟ้อ

ทั้งนี้ แม้เงินดอลลาร์รวมถึงบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯ จะปรับตัวสูงขึ้น แต่ราคาทองคำก็สามารถรีบาวด์ขึ้นสู่ระดับ 1,935 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเรามองว่า ผู้เล่นในตลาดทองคำควรระมัดระวังแรงขายทำกำไร หากสถานการณ์สงครามคลี่คลายลงชัดเจน โดยแนวต้านสำคัญของราคาทองคำ ที่คาดว่าผู้เล่นในตลาดบางส่วนจะเริ่มทยอยขายทำกำไรคือ โซน  1,950 ดอลลาร์ต่อออนซ์

สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอติดตามสถานการณ์สงครามรวมถึงการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซีย-ยูเครน นอกจากนี้ ควรรอติดตามท่าทีของพันธมิตร NATO ที่มีกำหนดจัดประชุม Emergency Summit ในสัปดาห์นี้ ว่าบรรดาผู้นำชาติพันธมิตร NATO จะมีความเห็นต่อสถานการณ์สงครามอย่างไร

อาทิ จะมีการส่งความช่วยเหลือทางทหารกับยูเครนเพิ่มเติมหรือไม่ รวมถึง จะมีการประกาศมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียที่รุนแรงหรือไม่ ทำให้ เรามองว่า สถานการณ์สงครามและการเจรจายังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง และอาจทำให้ตลาดการเงินยังมีโอกาสผันผวนสูงต่อไปได้ในระยะสั้นนี้

และนอกเหนือจากภาวะสงคราม ตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อติดตามมุมมองต่อทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึงแนวโน้มการปรับนโยบายการเงิน หลังจากที่ประธานเฟดได้ออกมาส่งสัญญาณว่าพร้อมจะเร่งขึ้นดอกเบี้ย หากจำเป็น นอกจากนี้ ตลาดจะรอติดตามมุมมองของเจ้าหน้าที่เฟดต่อประเด็นการปรับลดงบดุลของเฟด ซึ่งเรามองว่าจะเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อบอนด์ยีลด์และตลาดการเงินโดยรวมได้

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 22 มีนาคม 2565

“ภัยใกล้ตัว”น่ากลัวกว่าผี ต้นทุนสูง- คุณภาพแย่-ราคาตก

ปัญหาสินค้าเกษตร แก้ไขกันไม่จบสิ้น แพงไปก็ไม่ดี ถูกไปก็ไม่ได้ แต่ปีนี้หนักหน่อยเพราะมีปัจจัยนอกเหนือภัยธรรมชาติเกิดขึ้นมากมาย หลักๆ คือสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้วัตถุดิบอาหารสัตว์ ปุ๋ยเคมีและค่าระวางเรือพุ่งสูงขึ้นเกินจะคาดเดา

หลายปัญหารุมเร้าภาวะเศรษฐกิจ เมื่อรัสเซียประกาศทำสงครามกับยูเครน ส่งผลกระทบทันทีด้านพลังงาน ราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นทะลุ120 ดอลลาร์ต่อบาเรลในระยะเวลาอันรวดเร็ว นอกเหนือจากนั้นยังทำให้วัตถุดิบอาหารสัตว์ และปุ๋ยเคมีปรับขึ้นด้วย

เนื่องจากรัสเซียเป็นแหล่งผลิตและส่งออก แร่โพแทสเซียม(K) และฟอสเฟต (P)สัดส่วนมากถึง60 %ของปริมาณที่ใช้เป็นส่วนประกอบสำคัญในปุ๋ยเคมีในโลก ในขณะที่ยูเครน เป็นแหล่งออกข้าวสาลีที่สำคัญเช่นกัน

 ดังนั้นไทยจึงเลี่ยงผลกระทบนี้ไม่ได้ แถมร้ายไปกว่านั้น ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น ทำให้ค่าระวางเรือปรับเพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่าตัว ทั้งหมดบีบให้ภาคเกษตรของไทยในปีนี้ เสี่ยงตกอยู่ในภาวะต้นทุนสูง สินค้าไม่มีคุณภาพ ส่งออกลำบาก ราคาขายจ่อขาดทุน ไม่รวมผลกระทบจากภัยธรรมชาติที่อาจทำให้ผลผลิตเสียหาย จีดีพีเกษตรที่คาดว่าจะโตแรง 2-3 % อาจต้องปรับกันใหม่ในไตรมาสแรกนี้

อย่างไรก็ตามเมื่อเห็นปัญหาแล้ว ก็ต้องวางแนวทางแก้ไข กรณีของปุ๋ยเคมี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับปากว่าจะหาปุ๋ยราคาถูกตามภาวะต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมาจำหน่ายให้เกษตรกร ให้ทันฤดูกาลเพาะปลูกที่จะเริ่มขึ้น ในเดือน พ.ค. 2565 นี้แต่จะแค่ไหน เพียงพอหรือไม่ อันนี้ค่อยว่ากันอีกที

 ที่สำคัญเกษตรกรต้องช่วยเหลือตัวเอง ด้วยการหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ชีวภาพ ในขณะที่การใช้ปุ๋ยเคมี นั้นต้องใช้ให้เป็น ตรงกับช่วงจังหวะ ในปริมาณที่เหมาะสม และใช้อย่างถูกวิธีเพื่อลดต้นทุนการผลิตให้มากที่สุด เรื่องนี้กรมส่งเสริมการเกษตรจะเป็นแม่งานลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์สาธิต ให้เกษตรกรรับทราบกันต่อไป

“ไทยนำเข้าปุ๋ยประมาณ 95% เพื่อผลิตและจำหน่ายให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ โดยไทยนำเข้าปุ๋ยเคมีปริมาณเฉลี่ย 5 ล้านตันต่อปีคิดเป็นมูลค่าประมาณ 5 หมื่นล้านบาท โดยกว่า 60 % มาจากจากรัสเซีย จีน ” ฉันทานนท์ วรรณเขจร เลาขาสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) กล่าว

ในขณะที่วัตถุดิบอาหารสัตว์นั้น กระทรวงพาณิชย์ ได้ประกาศยกเลิกมาตรการ 3 ต่อ 1 หรือ การนำเข้าข้าวสาลีได้ 1 ส่วนเมื่อซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ 3 ส่วน เป็นการชั่วคราว

ภายใต้เงื่อนไขที่ผู้ประกอบการต้องนำเข้าได้ถึงวันที่ 31 ก.ค. 2565 เท่านั้น และต้องนำเข้าได้ไม่เกินปริมาณที่กำหนด  ส่วนกรณีการเรียกร้องของผู้ประกอบการอาหารสัตว์ที่ให้ยกเลิกภาษีนำเข้ากากถั่วเหลือง 2 % นั้น ยังไม่มีการหยิบยกมาพิจารณา

“ขณะนี้ราคาสินค้าแพงขึ้นมาก ปัจจัยหนึ่งมาจากต้นทุนการผลิตที่สูง ซึ่งเคยเกิดขึ้นกรณีหมูแพงแต่ตอนนี้ราคาก็ลดลงแล้ว ดังนั้นจะต้องดูกันไปก่อนไม่สามารถบอกได้ว่าราคาสินค้าจะสูงแบบนี้ถึงเมื่อไหร่"

"แต่หน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์คือจะคอยดูไม่ให้เกิดราคาที่สูงขึ้นจนกลายเป็นภาระกับผู้บริโภค ขณะที่ผู้ประกอบการสามารถประกอบการธุรกิจต่อไปได้ และจะไม่ให้เกิดการฉวยโอกาสปรับราคาขึ้นแบบไม่มีเหตุผล” บุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าว

ทางออกของปัญหาที่กระทรวงเกษตรฯและกระทรวงพาณิชย์บูรณาการกันหาแนวทางนั้น อาจถูกใจทางฝั่งผู้ประกอบการอาหารสัตว์ ผู้เลี้ยงสัตว์ แต่คงไม่เป็นที่พอใจนัก สำหรับกลุ่มไร่มันสำปะหลัง หรือแม้แต่โรงสี ที่หวังโอกาสราคามันสำปะหลังและปลายข้าว จะพุ่งสูงจากการใช้ทดแทน แต่ที่น่าเห็นใจที่สุด คือผู้บริโภค เพราะรับกรรมจากเรื่องนี้เต็มๆ

จาก https://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 22 มีนาคม 2565

นายกฯ ถกครม. พิจารณาลดภาระค่าครองชีพปชช.

นายกฯ เตรียมประชุมครม. พิจารณามาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชน หลังการสู้รบระหว่างรัสเซียยูเครนส่งผลกระทบด้านพลังงาน

พล.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุม ครม.แบบเต็มคณะที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาลอาจมีควันหลงรัฐมนตรีอวยพรวันเกิดนายกรัฐมนตรี หลังจากที่เมื่อวานนี้นายกฯไม่เปิดให้เข้าอวยพรที่ทำเนียบรัฐบาล ส่วนวาระการประชุม ครม.คาดว่ามีการพิจารณามาตรการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ยูเครน และรัฐเซีย โดยเฉพาะเรื่องของพลังงาน ภายหลังการสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครนยืดเยื้อ

ซึ่งกระทรวงพลังงงาน เสนอแผนช่วยเหลือรายย่อยสำหรับการใช้ก๊าซหุงต้มในภาคครัวเรือนผ่านบัตรสวัสดิการฯแห่งรัฐ โดยผู้ถือบัตรจะได้รับเงินอุดหนุนค่าซื้อก๊าซหุงต้มจาก 45 บาท ต่อครัวเรือนเพิ่มให้อีก 55 บาท รวมเป็น 100 บาท ในช่วงเวลา 3 เดือน

ส่วนการช่วยเหลือผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันสูงขึ้นจะช่วย ผ่านบัตรสวัสดิการฯเช่นกัน แต่ว่าอยู่ระหว่างรอรายละเอียดจากกระทรวงพลังงานก่อน

สำหรับการให้ความช่วยเหลือเกษตรกร ที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยการผลิตที่สูง จะพิจารณาลดภาษีนำเข้าแม่ปุ๋ยเคมี ที่นำมาผสมเป็นสูตรใช้ในประเทศ ขณะที่กระทรวงพาณิชย์จะดูเรื่องโควตาการนำเข้าวัตถุดิบทางการเกษตร และอาหารสัตว์ ที่มีการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ และมีราคาสูง กระทรวงการคลังจะพิจารณาลดภาษีนำเข้ากากถั่วเหลืองร้อยละ 2 เพื่อช่วยให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์มีต้นทุนที่ถูกลง

นอกจากมาตรการช่วยประชาชนแล้ว สถานการณ์โควิด ถือเป็นเรื่องที่สำคัญที่ประชุมจะนำมาหารือ นายกฯได้กำชับเตรียมพร้อมทั้งสถานพยาบาล ยารักษาโรคหลังมีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

จาก https://www.innnews.co.th วันที่ 22 มีนาคม 2565

กรมชลฯใช้นวัตกรรม พัฒนาระบบควบคุมน้ำ สำรวจพื้นที่อย่างฉับไว บริหารใหม่รับยุคดิจิทัล

นายพีระพงศ์ รัตนบุรี วิศวกรชลประทานชำนาญการ สำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา และคณะ ผู้จัดทำโครงการพัฒนาระบบคาดการณ์ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ได้นำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการประมวลผล ด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลพื้นฐานและสถานการณ์น้ำจากข้อมูล Big Dataกรมชลประทาน มาใช้วิเคราะห์ ประเมิน คาดการณ์ และช่วยวางแผนการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีอยู่ทั่วประเทศ 412 แห่ง ในการบริหารจัดการน้ำได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ซึ่งการพัฒนาเทคโนโลยีในการจัดการน้ำครั้งนี้ คาดว่าจะช่วยลดผลกระทบปัญหาภัยแล้ง และอุทกภัยได้ ทั้งในและนอกเขตพื้นที่ชลประทาน อีกทั้งยังมีการพัฒนาให้ข้อมูลแสดงผลแบบออนไลน์

สำหรับเครื่องมือสำรวจระยะไกลสุดล้ำ เป็นการพัฒนาเครื่องมือสำรวจระยะไกลขึ้นใช้เอง เป็นอากาศยานไร้คนขับชนิดปีกตรึง ขึ้น-ลงแนวดิ่ง สนับสนุนภารกิจด้านการบริหารจัดการน้ำ สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยช่วยสำรวจพื้นที่ได้อย่างครอบคลุม สามารถวิเคราะห์และประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยอันเกิดจากน้ำ ทั้งภัยแล้งและอุทกภัย เพื่อเตรียมแผนการป้องกันและเตือนภัยได้อย่างทันท่วงที ทั้งนี้ นวัตกรรมด้านบริหารจัดการน้ำดังกล่าว เป็นก้าวสำคัญสู่ความล้ำหน้าทางเทคโนโลยี เพื่อใช้บริหารจัดการน้ำ ตอบโจทย์การดำเนินชีวิตยุคดิจิทัล ซึ่งจะอยู่ภายในงาน “NEW STEP TO WATER MANAGEMENT ก้าวใหม่...สู่การบริหารจัดการน้ำ presented by สบอ.”

จาก https://www.naewna.com  วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2565

หยุดเผาลดฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เมื่อไรจะแก้ได้มากกว่าพูด

การแก้ปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ที่เกิดจากการเผาเศษวัสดุทางการเกษตรของบ้านเรายังคงมะงุมมะงาหรา เกาไม่ถูกที่คันเสียที ในขณะที่ต่างประเทศนั้นพัฒนาไปไกล มีการนำเศษวัสดุทางการเกษตรและป่าไม้มาผ่านกระบวนการ gasification หรือ pyrolysis เพื่อนำวัสดุของแข็งเหล่านี้มาแปรรูปเป็นก๊าซหรือควบแน่นเป็นของเหลว เช่น ก๊าซมีเทน ไฮโดรเจน ไบโอออยล์ เพื่อใช้เป็นพลังงานความร้อน กระแสไฟฟ้า ไอน้ำ และยังต่อยอดไปเป็นเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมต่างๆได้อีกมากมาย เพื่อใช้ทดแทนก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบจากปิโตรเลียมกันอย่างจริงจัง

ส่วนในประเทศไทยที่รัฐบาลได้กำหนดนโยบายการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า BCG (Bio-Circular-Green Economy) หรือเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว ให้เป็นวาระแห่งชาติ เราจะเห็นแต่การนำชีวมวลใช้แบบพื้นฐานมากๆ คือ นำมา “เผา” ในเตาระบบปิดเพื่อผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า

แต่การเผานี้ไม่สามารถช่วยลดฝุ่นพีเอ็ม 2.5 แต่ประการใด เพราะการเผาเกิดขึ้น ณ โรงงานอุตสาหกรรมที่มีผลพลอยได้เป็นเศษวัสดุการเกษตรอยู่แล้ว และเป็นการเผาแบบธรรมดาเพื่อให้เกิดความร้อนเท่านั้น ไม่ได้ใช้กระบวนการ gasification หรือ pyrolysis ที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆได้มากกว่า และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า

ข้อมูลจากกระทรวงพลังงาน พบว่า ขณะนี้บ้านเรามีโรงไฟฟ้าที่ใช้ชีวมวลจากอ้อย 60 โรง มีกำลังผลิตติดตั้งประมาณ 1,300 เมกะวัตต์ และผลิตไฟฟ้าขายประมาณ 500 เมกะวัตต์ มีโรงไฟฟ้าชีวมวลจากทะลายปาล์ม 55 โรง มีกำลังผลิตติดตั้งประมาณ 150 เมกะวัตต์ และผลิตไฟฟ้าขายประมาณ 100 เมกะวัตต์ ไม่นับโรงไฟฟ้าไบโอแก๊สจากมันสำปะหลังอีก 13 โรง

โรงไฟฟ้าเหล่านี้ไม่เกี่ยวอะไรกับการลดฝุ่น เพราะใช้กากอ้อยและทะลายปาล์มที่เหลือจากภาคการผลิต...ที่ไม่ได้ถูกส่งออกนอกโรงงานอยู่แล้ว หากเราต้องการลดฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ต้องลดการเผาวัสดุการเกษตรกลางแจ้งลงให้ได้ เช่น ต้องลดการเผาใบอ้อย ฟางข้าวลงให้ได้ ไม่เกี่ยวกับการเผาในโรงงานหรือโรงไฟฟ้าที่มีอยู่เดิมแล้ว

 “ใบอ้อยที่รัฐมีนโยบายลดการเผาอ้อยลงนั้น จะพบว่า การปลูกอ้อย 1 ตัน จะเกิดใบอ้อยสดประมาณ 370 กิโลกรัม คิดเป็นใบอ้อยแห้ง 140 กิโลกรัม ทิ้งไว้คลุมดิน 40% และเก็บรวบรวมนำไปผลิตไฟฟ้า 60% หรือ 84 กิโลกรัม หากคิดปริมาณผลผลิตอ้อยของประเทศไทยเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง จะพบว่าไทยปลูกอ้อยได้เฉลี่ยประมาณ 100 ล้านตันต่อปี ดังนั้นจะมีใบอ้อยแห้งเกิดขึ้นปีละ 14 ล้านตัน ถ้าถูกเผากลางแจ้งจะทำให้เกิดฝุ่นลอยฟุ้งในบรรยากาศอย่างมหาศาล

แต่ถ้ามีการบริหารจัดการที่ถูกต้อง หยุดเผาตามนโยบายลดฝุ่น ทิ้งใบอ้อยส่วนหนึ่งไว้คลุมดินเป็นธาตุอาหาร แล้วเก็บรวบรวมอีกส่วนหนึ่งเพื่อป้อนเข้าโรงไฟฟ้า จะเก็บได้ปีละ 8.4 ล้านตัน และถ้าดูค่าความร้อนของใบอ้อย จะพบว่าใบอ้อย 1 ตันนำมาผลิตไอน้ำได้ 3 ตัน ใบอ้อย 8.4 ล้านตันจึงนำไปผลิตไอน้ำได้ปีละ 25 ล้านตันไอน้ำ นำไปปั่นกระแสไฟฟ้าได้ประมาณ 500 เมกะวัตต์”

ดร.บุรินทร์ สุขพิศาล คณะบริหารธุรกิจ สถาบันเทคโนโลยี พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย บอกว่า หากรัฐบาลต้องการลดการเผาใบอ้อยนำมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า โดยให้โรงไฟฟ้ารับซื้อใบอ้อยจากชาวไร่

ที่ผ่านมามีข่าวการรับซื้อใบอ้อยแห้งโดยให้ราคาสูงถึงตันละ 1,000 บาท ได้ราคาดีกว่าต้นอ้อย ซะอีก...ถ้าเป็นแบบนี้จะมีเม็ดเงินไปถึงเกษตรกรมากถึงปีละ 8,400 ล้านบาท และถ้าหักค่าใช้จ่ายในการเก็บรวบรวมใบอ้อย ค่าอัดก้อนและค่าขนส่งออกแล้ว ชาวไร่จะเหลือกำไรประมาณตันละ 500 บาท คิดเป็นเม็ดเงิน 4,200 ล้านบาท

“คิดง่ายๆ ปลูกอ้อย 1 ไร่ จะขายใบอ้อยได้ 1 ตัน ชาวไร่มีกำไรจากการขายใบอ้อยเพิ่มไร่ละ 500 บาท ได้ทั้งเงิน ได้ช่วยทั้งสิ่งแวดล้อมแก้ปัญหาฝุ่น แต่ปัญหาคือรัฐบาลต้องดำเนินการอนุมัติให้มีการตั้งโรงไฟฟ้าจากใบอ้อยในพื้นที่ที่มีการปลูกอ้อย โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาฝุ่นควัน และหากต้องการให้มีการจูงใจให้เกษตรกรเลิกเผาอ้อย ต้องจูงใจด้วยการให้ราคาใบอ้อยที่เหมาะสม” ดร.บุรินทร์กล่าวทิ้งท้ายไว้ให้คิดเป็นการบ้าน

จาก https://www.thairath.co.th วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2565

‘คลัง’แก้ป๋ยแพง ส่งสัญญาณลดอากรนำเข้า

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลังและประธานกรรมการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ลงพื้นที่เยี่ยมชมงานวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์บ้านนาเจริญ กลุ่มผู้ผลิตข้าวดาวพระศุกร์ ที่ปลูกด้วยวิถีเกษตรอินทรีย์ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค อาทิ ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวกล้องหอมมะลิ 105 ข้าวเหนียวดำ ข้าวทับทิมชุมแพ (อุบล) และข้าวสามเสี่ยว พร้อมชมผลิตภัณฑ์ข้าวของวิสาหกิจชุมชน ซึ่ง ธ.ก.ส. เป็นผู้สนับสนุนผ่านสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย โดยมีนายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและพนักงานในพื้นที่ต้อนรับ ณ บ้านนาเจริญ ตำบลดอนจิก อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี

รมว.คลังกล่าวว่า การแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตร ถือว่าเป็นประเด็นสำคัญ อาหารสัตว์ ปุ๋ยได้ให้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พิจารณามาตรการช่วยเหลือ ปัญหาปุ๋ยเคมีราคาแพง เพื่อลดต้นทุนให้กับเกษตรกร ในส่วนของกระทรวงคลังพร้อมพิจารณาลดอากรนำเข้าปุ๋ยเคมี ปุ๋ยหลัก เพื่อนำมาผสมเป็นสูตรใช้ในประเทศ ยอมรับว่าปุ๋ยเคมี ส่งผลต่อผลผลิตในพืชผลได้ชัดเจนกว่า ในส่วนการลดภาษีน้ำมันต้องคิดให้รอบคอบ เพราะกระทบต่อฐานะการจัดเก็บภาษีของรัฐอย่างมาก

อีกด้านหนึ่งรัฐบาล ต้องการส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์มากขึ้น เพราะมีราคาถูกและดูแลสิ่งแวดล้อม อีกทั้งการปลูกพืชอินทรีย์ ยังดูแลสุขภาพ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เมื่อเกษตรกรปลูกพืชใช้ปุ๋ยอินทรีย์ หรือการปลูกพืชปลอดสาร จัดจำหน่ายได้ราคาดีมากกว่าพืชใส่ปุ๋ยเคมี เพราะกระแสดูแลสุขภาพ จึงส่งเสริมให้ ธ.ก.ส.ปล่อยกู้สำหรับการปลูกพืชอินทรีย์ รวมทั้งการส่งเสริมวิจัยพัฒนา เพื่อหันมาส่งเสริมการปลูกพืชโดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์มากขึ้นได้จะรับเงื่อนไขสินเชื่อมากกว่าการใช้ปุ๋ยเคมี จึงต้องหารือกับกระทรวงเกษตรฯ ในการผ่อนปรนเงื่อนไขการนำเข้าปุ๋ยเคมี

มีรายงานแจ้งว่า สำหรับสถานการณ์ปุ๋ยมีราคาแพงปัจจัยหนึ่งมาจากการสู้รบระหว่าง รัสเซีย-ยูเครน โดยรัสเซียเป็นผู้ส่งออกแม่ปุ๋ยรายใหญ่ของโลก ซึ่งหลังจากเกิดสงครามและมีการคว่ำบาตรทางด้านเศรษฐกิจของรัสเซียทำให้ระบบการส่งออกสินค้าจากประเทศรัสเซียได้รับผลกระทบตามไปด้วย ทั้งนี้ รัสเซียเป็นผู้ผลิตสารอาหารสำหรับพืชรายใหญ่ เช่น แร่โปแตช (potash) และฟอสเฟต (phosphate) ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในปุ๋ยที่ช่วยให้พืชผลมีผลผลิต ขณะที่บรรษัทข้ามชาติสัญชาตินอร์เวย์ผลิตปุ๋ยไนโตรเจนอย่าง ยารา อินเตอร์เนชันแนล (Yara International) ซึ่งดำเนินธุรกิจปุ๋ยในกว่า 60 ประเทศทั่วโลก ซื้อวัตถุดิบสำคัญในการผลิตปุ๋ยจากรัสเซียและมีโรงงานผลิตขนาดใหญ่ในยูเครนที่เป็นพื้นที่สงคราม

จาก https://www.naewna.com  วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2565

‘เงินบาท’ วันนี้เปิด’อ่อนค่า’ที่ 33.32 บาทต่อดอลลาร์

“กรุงไทย” ชี้เงินบาทมีแนวโน้มที่จะผันผวนในกรอบกว้าง จับตานักลงทุนต่างชาติทยอยกลับเข้ามาลงทุนตลาดหุ้นมากขึ้น มองกรอบเงินบาทวันนี้ที่ 33.25-33.40 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้(21มี.ค.) ที่ระดับ 33.32 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงเล็กน้อย จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 33.30 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 33.10-33.60 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.25-33.40 บาทต่อดอลลาร์

สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท มองว่า เงินบาทมีแนวโน้มที่จะผันผวนในกรอบกว้าง โดยต้องติดตามทิศทางฟันด์โฟลว์ของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งล่าสุด เราเริ่มเห็นนักลงทุนต่างชาติทยอยกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย (สัปดาห์ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติเข้ามาซื้อสุทธิหุ้นไทย ราว 1.1 หมื่นล้านบาท) อนึ่ง เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าได้ จากความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย หากราคาน้ำมันปรับขึ้นแรง รวมถึงสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในจีนทวีความรุนแรงมากขึ้น

ทั้งนี้ แม้ว่า เงินบาทอาจเผชิญความเสี่ยงในฝั่งอ่อนค่า แต่เรามองว่า การอ่อนค่าของเงินบาทอาจถูกจำกัดในโซนแนวต้านที่สำคัญในช่วง 33.40-33.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเราคาดว่าผู้ส่งออกส่วนใหญ่ต่างรอขายเงินดอลลาร์ในโซนดังกล่าว ขณะที่แนวรับสำคัญจะอยู่ในโซน 33.00-33.20 บาทต่อดอลลาร์ จากการประเมินแนวโน้มการรอจังหวะย่อตัวเพื่อซื้อเงินดอลลาร์ของฝั่งผู้นำเข้า ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองเชิงเทคนิคัลที่เงินบาท (USDTHB) ยังมีเส้นค่าเฉลี่ย 100 วัน และ 200 วันเป็นแนวรับที่สำคัญ

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เราประเมินว่า เงินดอลลาร์อาจพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น หากการเจรจาสันติภาพล้มเหลวและสถานการณ์สงครามทวีความรุนแรงมากขึ้น นอกจากนี้ ความกังวลภาวะ Stagflation หากราคาน้ำมันดิบพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง ก็สามารถกดดันให้ตลาดปิดรับความเสี่ยงและหนุนการถือครองเงินดอลลาร์ได้เช่นกัน

สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดการเงินโดยรวมกล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ท่ามกลางความหวังการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียกับยูเครน

ในสัปดาห์นี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญอาจมีไม่มากนัก ทำให้สถานการณ์สงครามและการเจรจาสันติภาพยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ควรติดตามอย่างใกล้ชิด โดยแนวโน้มการเจรจาสันติภาพสามารถส่งผลกระทบต่อความผันผวนในตลาดการเงินได้

โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้

ฝั่งสหรัฐฯ – ตลาดประเมินว่า ภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจชะลอตัวลงเล็กน้อยจากผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครนสะท้อนผ่านการขยายตัวของภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่ชะลอลง โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing PMI) เดือนมีนาคมอาจลดลงเล็กน้อยสู่ระดับ 56.5 จุด (ดัชนีเกินระดับ 50 จุด หมายถึง ภาวะขยายตัว) เช่นเดียวกันกับภาคการบริการที่จะขยายตัวในอัตราชะลอลง หลังค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้น สอดคล้องกับภาวะเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นและอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (Services PMI) อาจลดลงเล็กน้อยสู่ระดับ 54 จุด อย่างไรก็ดี ตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดในสัปดาห์นี้ โดยเฉพาะถ้อยแถลงของประธานเฟด เพื่อวิเคราะห์มุมมองของเฟดต่อทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ และนโยบายการเงินเฟดหลังแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความไม่แน่นอนมากขึ้นจากผลกระทบของภาวะสงคราม ทั้งนี้ ตลาดอาจรอจับตามุมมองของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่อประเด็นการปรับลดงบดุล ซึ่งเฟดไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดมากนักในการประชุมเฟดล่าสุด โดยเรามองว่า ประเด็นการปรับลดงบดุลอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินได้มากกว่าทิศทางการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด

ฝั่งยุโรป – เรามองว่าสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนยังคงมีความไม่แน่นอนอยู่สูงและอาจส่งผลให้ตลาดการเงินกลับมาผันผวนสูงขึ้นได้ เพราะ แม้ว่าการเจรจาสันติภาพยังคงเดินหน้าต่อ แต่การเจรจาก็เกิดขึ้นพร้อมกับการเดินหน้าบุกโจมตีของรัสเซีย ทั้งนี้ ผลกระทบจากสงครามจะกดดันให้ความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนี (IFO Business Climate) ในเดือนมีนาคม ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 94 จุด นอกจากนี้ ผลกระทบจากสงครามอาจกดดันให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรปชะลอลง โดยในฝั่งภาคการผลิตจะเผชิญทั้งปัญหาต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นและปัญหาด้าน Supply Chain ทำให้ภาคการผลิตขยายตัวในอัตราชะลอลง สะท้อนผ่านดัชนี PMI ภาคการผลิตที่อาจลดลงสู่ระดับ 55 จุด ส่วนในฝั่งภาคการบริการมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงไม่มาก เพราะถึงจะเผชิญแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้น แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคการบริการยังมีแรงหนุนจากสถานการณ์ระบาดโอมิครอนที่ดีขึ้นและไม่ได้รุนแรงมากนัก ทำให้ดัชนี PMI ภาคการบริการจะลดลงเล็กน้อยสู่ระดับ 54 จุด 

ฝั่งเอเชีย – ตลาดประเมินว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นในเดือนมีนาคมมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น โดยเฉพาะในส่วนภาคการบริการหลังรัฐบาลได้ทยอยผ่อนคลายมาตรการ lockdown ซึ่งจะสะท้อนผ่านดัชนี PMI ภาคการบริการที่จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ48 จุด (ดัชนีต่ำกว่า 50 จุด หมายถึง ภาวะหดตัว) จากระดับ 44.2 จุด ในเดือนก่อนหน้า ทว่าในฝั่งการผลิตอุตสาหกรรมอาจขยายตัวในอัตราชะลอจากผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่กดดันให้ต้นทุนภาคการผลิตพุ่งสูงขึ้น โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตอาจลดลงสู่ระดับ 52 จุด ทั้งนี้ ความไม่แน่นอนของผลกระทบจากสงครามอาจกดดันให้ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) ยังจำเป็นที่จะต้องใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อ โดยตลาดมองว่า BSP จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.00% ทั้งนี้ BSP อาจส่งสัญญาณพร้อมขึ้นดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของปีได้หากเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้นและเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายที่ 2%-4% (เงินเฟ้อล่าสุดอยู่ที่ระดับ 3.00%)

ฝั่งไทย – ตลาดประเมินว่าแนวโน้มเศรษฐกิจโลกทยอยฟื้นตัวจากการระบาดของโอมิครอนจะช่วยหนุนให้ยอดการส่งออกของไทย (Exports) ในเดือนกุมภาพันธ์ โตกว่า 10%y/y ขณะเดียวกันยอดการนำเข้า (Imports) อาจขยายตัวราว +19%y/y จากแนวโน้มราคาสินค้าต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้โดยรวมดุลการค้าอาจขาดดุลไม่น้อยกว่า 1.8 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งในระยะสั้นดุลการค้าของไทยยังมีโอกาสขาดดุลต่อเนื่องจากผลกระทบของสงครามที่จะกดดันให้ยอดการส่งออกอาจขยายตัวในอัตราชะลอลง ขณะที่ยอดการนำเข้าโดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าพลังงาน/สินค้าโภคภัณฑ์พุ่งสูงขึ้น

 จาก https://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2565

โรงงานน้ำตาลมิตรผล ออกแถลงการณ์ขอบคุณทุกหน่วยงาน ระงับเหตุเพลิงไหม้ ไม่ลามถึงโรงงาน

ฝ่ายบริหารโรงงานน้ำตาลมิตรผล ได้ออกแถลงการณ์ความคืบหน้า กรณีเกิดเหตุการณ์เพลิงไหม้บริเวณกองใบอ้อยข้างโรงงานน้ำตาลมิตรผล อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี ตั้งแต่เมื่อวันพุธที่ 16 มีนาคม 2565 ว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดสุพรรณบุรีและโรงงานฯ ทำงานแบบบูรณาการร่วมกันอย่างเข้มแข็งและสามารถควบคุมเหตุการณ์ทั้งหมดให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติได้แล้วเมื่อช่วงเช้าวันที่ 19 มีนาคม ใช้เวลาดำเนินงานทั้งหมด 60 ชั่วโมง ซึ่งเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ในครั้งแรกที่คาดว่าต้องใช้เวลา 72 ชั่วโมง จึงจะสามารถควบคุมเพลิงได้ ทั้งนี้ นายณัฐภัทร สุวรรณประทีป ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี ได้เข้าร่วมประชุมติดตามผลการดำเนินงาน และเป็นประธานในพิธีปิดศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดสุพรรณบุรี

ทางโรงงานฯขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือ เพื่อควบคุมสถานการณ์ให้เป็นไปอย่างรวดเร็วและราบรื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ได้แก่ คุณณัฐภัทร สุวรรณประทีป ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี คุณสิทธิศักดิ์ แย้มพรายภิรมย์ นายอำเภอด่านช้าง คุณปภินวิช ละอองแก้ว หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสุพรรณบุรี คุณธีรยุทธ์ จันทร์ดิษฐวงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 2 จังหวัดสุพรรณบุรี พ.ต.อ.ยิ่งยศ เขินอำนวย ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอด่านช้าง คุณอารยา ไสลเพชร อุตสาหกรรมจังหวัดสุพรรณบุรี คุณชูชาติ กลิ่นสาคร สาธารณสุขอำเภอด่านช้าง คุณเดชา พงษ์สุพรรณ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลด่านช้าง คุณวสันต์ พงษ์วิริยะธรรม นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลหนองหญ้าไซ คุณกิมหลั่น อ่ำทอง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองมะค่าโมง เทศบาลตำบลด่านช้าง เทศบาลตำบลบ่อกรุ, เทศบาลตำบลหนองกระทุ่ม เทศบาลตำบลหนองหญ้าไซ อบต.ด่านช้าง อบต.หนองมะค่าโมง อบต.หนองราชวัตร อบต.ทัพหลวง อบต.แจงงาม อบต.หนองขาม และสำนักสิ่งแวดล้อมภาคที่ 5 กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อาสาสมัครและมูลนิธิต่างๆ ที่ได้ร่วมสนับสนุนการควบคุมเหตุการณ์ในครั้งนี้ พร้อมด้วยอุปกรณ์ดับเพลิง อาทิ รถดับเพลิง รถไฟส่องสว่าง และบุคลากรจากทุกหน่วยงาน รวมถึงตัวแทนชุมชน ชาวไร่อ้อย ที่ได้นำอาหารและเครื่องดื่ม มามอบให้เจ้าหน้าที่ระหว่างการปฏิบัติงาน

โรงงานฯต้องขออภัยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ และขอขอบคุณในมิตรไมตรี ความช่วยเหลือจากทุกหน่วยงานอีกครั้ง หลังจากนี้โรงงานฯจะเริ่มดำเนินงานแผนการฟื้นฟูบริเวณที่เกิดเหตุ รวมถึงกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันการเกิดเหตุซ้ำร่วมกับศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดสุพรรณบุรี ต่อไป

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2565

เงินเฟ้อไทยหยุดไม่อยู่ กดดัน ธปท.ขึ้นดอกเบี้ย

นักวิชาการทีดีอาร์ไอ ชี้ภาวะเงินเฟ้อไทยน่ากลัวที่สุด ฉุดเศรษฐกิจโตต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ และธปท. เลี่ยงขึ้นดอกเบี้ยสกัดไม่ได้

ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า สงครามรัสเซียยูเครน ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจยืดเยื้อยาวนานกว่าที่คิดไว้ เพราะก่อนหน้านี้ผลกระทบจากโควิดก็ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ช้าอยู่แล้ว

ก่อนหน้ามีสงคราม คาดว่าการท่องเที่ยวไทยปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 6-7 ล้านคน จากการเปิดประเทศ ถึงแม้ว่าไม่มากจากก่อนโควิดที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในไทย 40 ล้านคน แต่ก็ถือว่าขยายตัวได้ถึง 10 เท่าจากปีก่อนหน้า ขณะที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่าเศรษฐกิจปีนี้จะขยายตัวได้ 3.4% แต่เมื่อมีสงคราม ทุกอย่างเปลี่ยน ท่องเที่ยวอาจไม่ถึง 3 ล้านคน เศรษฐกิจก็โตไม่ถึงตามที่ธปท. คาดไว้

ดร.สมชัย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยยังได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันแพงรุนแรง จากเดิมที่คิดว่าเป็นเรื่องชั่วคราว แต่ตอนนี้คาดว่าจะไม่ใช่เป็นภาวะชั่วคราวแล้ว ราคาจะน้ำมันดิบของโลกน่าจะอยู่ที่กว่า 100 เหรียญต่อบาเรล

ขณะเดียวกันธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว 0.25% และคาดว่าจะขึ้นทุกครั้งที่มีการประชุม แม้มีสงคราม การที่เฟดขึ้นดอกเบี้ยแรง ทำให้เศรษฐกิจโลกถดถอย กระทบเศรษฐกิจไทย

ดร.สมชัย กล่าวว่า เงินเฟ้อไทยน่ากังวัล ที่คิดว่าชั่วคราว แต่ไตรมาส 1 แต่ตอนนี้ไม่ชั่วคราวแล้ว ราคาน้ำมันเกิน 100 เหรียญ ทำให้ต้นทุนสินค้าแพง เงินเฟ้อ ที่จากเดิมเกิดเฉพาะจุด จากหมูแพง ผักแพง แต่ต่อไปจะเกิดคาดการณ์เงินเฟ้อสูงของคนทั้งประเทศ มีการตุนสินค้า มีการขอขึ้นค่าแรงก่อนหน้านี้ 492 บาท ซึ่งผมว่าสูงเกินจริงไปมาก แต่เมื่อมีแรงกดดันเงินเฟ้อมากขึ้น เรื่องการขึ้นค่าแรงก็ต้องกลับมาเป็นประเด็นแม้ว่าจะไม่เพิ่มเท่าที่เรียกร้อง

"ประเทศไทยจพเกิดปรากฎการณ์น่าห่วง จากการเงินเฟ้อสูงเฉพาะจุด แต่ทำให้คนคาดการณ์เงินเฟ้อขึ้นเป็นวงกว้าง ทำให้ของแพง การการขอขึ้นค่าแรง คนขายของที่ไม่กล้าขึ้นก็จะขึ้น ปรากฎหารณ์นี้เป็นเรื่องน่ากลัวที่สุด และ ธปท. อาจไม่มีทางเลือกต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ย" ดร.สมชัย กล่าว

อย่างไรก็ตาม ดร.สมชัย ชี้ว่า ปัจจุบันเพดานหนี้สาธารณะประเทศไทยอยู่ที่ 70% หรือคิดเป็น 10% ของGDP ประเทศ ดังนั้นมีโอกาสเพิ่มหนี้ได้อีก 10% หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 2 ล้านล้านบาท แต่ขึ้นอยู่ว่าจะนำเงินไปใช้อะไร แต่ถ้าไม่ใช่ สถานการณ์อาจจะแย่ลง เพราะเศรษฐกิจจะโตช้ามาก ถ้าไม่ช่วยตอนนี้ จะทำให้อีก 5 ปีจากนี้ เศรษฐกิจก็จะเดินต่อไม่ได้

"แม้หนี้อาจจะสูงแต่เศรษฐกิจก็เดินต่อได้ และอีกสิ่งที่จำเป็นในอนาคต ที่รัฐบาลต้องทำ คือ การสร้างเศรษฐกิจไทยให้ดีด้วย ไม่ได้ซ่อม หรือ แค่บรรเทาผลกระทบอย่างเดียว" ดร.สมชัย กล่าว

ส่วนทิศทางปีนี้ ภาพรวมเศรษฐกิจจะดีขึ้นหรือไม่ ก็มีความเป็นไป ยังมีโอกาสเติบโต แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับการแพร่ระบาดโควิด-19 หากอัตราการตายมีสัดส่วนที่น้อย และเร่งเดินหน้าฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้แก่ประชาชนผู้สูงอายุ อาจจะทำให้รัฐไม่ต้องปิดเมือง สถานการณ์เศรษฐกิจก็จะดีขึ้น "สิ่งที่รัฐต้องทำ ไม่ใช่แค่เยียวยาต่อลมหายใจอย่างเดียว แต่ต้องเติมสภาพคล่องที่นำไปสู่การปรับตัว ปรับเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจ ทำให้กระบวนการปรับเปลี่ยนมีต้นทุนน้อยที่สุดและเร็วที่สุด หนึ่งในนั้นคือ การให้สินเชื่อเพื่อปรับโครงสร้างธุรกิจ รัฐบาลต้องทำงานร่วมกับธนาคารพาณิชย์และภาคการเงินดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งมีหลายเรื่องที่ภาครัฐสามารถทำได้ รวมถึงการอัพสกิล รีสกิล เพื่อเกิดแรงทางใหม่ รองรับการเติบโตเศรษฐกิจไทยในรูปแบบใหม่" ดร.สมชัย กล่าว

จาก https://www.posttoday.com   วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2565

ไทยพร้อมผนึกอาเซียน พัฒนาศก.ดิจิทัลในภูมิภาค

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ร่วมการประชุม Regional Action Group for ASEAN ในหัวข้อ “การเตรียมตัวของอาเซียนในยุคหลังโควิด-19โดยมุ่งเน้นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคอาเซียน (Preparing for ASEAN’s Post COVID Era: Public-Private Collaborations on ASEAN Digital Economy)” จัดโดย World Economic Forum ผ่านระบบ Video Conference

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงว่า รมว.คลัง ได้กล่าวปาฐกถา โดยหยิบยกแนวคิดของการประชุมกรอบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปก ปี 2565 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการใช้เครื่องมือดิจิทัลเพื่อการดำเนินงานด้านการเงินการคลัง ทั้งที่เกี่ยวกับการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการพัฒนาการจัดเก็บภาษี รวมทั้งการใช้เครื่องมือดิจิทัลเพื่อการชำระเงินข้ามพรมแดนและการพัฒนากรอบการกำกับดูแลสำหรับสินทรัพย์ดิจิทัลและผลิตภัณฑ์ทางการเงินดิจิทัลอื่นๆ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อพัฒนานวัตกรรมดังกล่าวและออกแบบกรอบการกำกับดูแลที่เหมาะสม เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้เครื่องมือดิจิทัลได้ปลอดภัยและเกิดประโยชน์สูงสุด

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคอาเซียน เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล การพัฒนายุทธศาสตร์เศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียน การจัดทำความตกลงด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียน การพัฒนาการเข้าถึงบริการด้านการเงิน (Financial Inclusion) การเข้าถึงเครื่องมือดิจิทัล (Digital Inclusion) การพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล (Digital Literacy) และการใช้เครื่องมือดิจิทัลในระบบศุลกากร ภาคการสาธารณสุข และภาคการเงิน โดยเฉพาะการพัฒนาระบบการชำระเงินภายในประเทศและระหว่างประเทศ เป็นต้น

จาก https://www.naewna.com  วันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2565

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “แข็งค่า”ที่ระดับ  33.26 บาท/ดอลลาร์

ค่าเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้นได้บ้าง ตามภาวการณ์เปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน เห็นได้จากฟันด์โฟลว์ต่างชาติที่เริ่มไหลกลับเข้าตลาดหุ้นไทยอีกครั้ง

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.26 บาท/ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.30 บาท/ดอลลาร์-กรอบวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.20-33.40 บาท/ดอลลาร์

นายพูน  พานิชพิบูลย์  กลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทยระบุว่าแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทอาจมีโอกาสแข็งค่าขึ้นได้บ้าง ตามภาวการณ์เปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน ดังจะเห็นได้จากฟันด์โฟลว์ต่างชาติที่เริ่มไหลกลับเข้าตลาดหุ้นไทยอีกครั้ง

ทั้งนี้ ต้องจับตาว่า นักลงทุนต่างชาติจะทยอยกลับเข้ามาซื้อบอนด์ระยะสั้นสุทธิเมื่อไหร่ เนื่องจากแรงซื้อสุทธิบอนด์ระยะสั้นไทยนั้น อาจเป็นสัญญาณการกลับเข้ามาเก็งกำไรเงินบาทฝั่งแข็งค่าอีกครั้งได้ อย่างไรก็ดี ปัจจัยเสี่ยงต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและค่าเงินบาทยังคงเป็น ภาพการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนจากผลกระทบของการระบาดโอมิครอนระลอกใหม่ ซึ่งต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวอย่างใกล้ชิด

ในระยะสั้น เงินบาทอาจไม่ได้แข็งค่าไปมาก เพราะฝั่งผู้นำเข้าบางส่วนอาจจะทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์ โดยเรามองว่า แนวรับสำคัญ จะอยู่ในช่วง 33.00-33.20 บาทต่อดอลลาร์ (ส่วนในเชิงเทคนิคัลเงินบาทยังมีแนวรับสำคัญที่เส้นค่าเฉลี่ย 100 วัน และ 200 วัน) ขณะที่แนวต้านของเงินบาทจะอยู่ใกล้โซน 33.50-33.60 บาทต่อดอลลาร์  ซึ่งบรรดาผู้ส่งออกต่างมารอขายเงินดอลลาร์ในช่วงดังกล่าว

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.20-33.40 บาท/ดอลลาร์

ตลาดโดยรวมยังอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงต่อเนื่อง หลังแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดที่ไม่ได้ต่างจากคาดการณ์ของผู้เล่นในตลาด อีกทั้งประธานเฟดยังแสดงความมั่นใจว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะสามารถรับมือการขึ้นดอกเบี้ยหลายครั้งได้ ขณะเดียวกัน แม้ว่า การเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซีย-ยูเครนยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง แต่ทว่าผู้เล่นส่วนใหญ่ยังคงมีความหวังว่าการเจรจาสันติภาพจะยังคงดำเนินต่อไปและอาจช่วยลดความร้อนแรงของสถานการณ์ลงได้บ้าง

ในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดนั้น ได้หนุนให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ สหรัฐฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้นต่อราว +1.33% ส่วนดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้นราว +1.23% โดยมีแรงหนุนเพิ่มเติมจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน ที่พลิกกลับมาปรับตัวสูงขึ้น

จากอานิสงส์การปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องของราคาน้ำมันดิบหลังจากที่ สำนักงานพลังงานสากล หรือ IEA ระบุว่า ผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย อาจทำให้ตลาดน้ำมันสูญเสียปริมาณน้ำมันและผลิตภัณฑ์อื่นๆ จากรัสเซีย ราว 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งมากกว่าปริมาณความต้องการใช้น้ำมันที่ลดลง 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากผลกระทบของราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น

ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ย่อตัวเล็กน้อยราว -0.11% โดยความไม่แน่นอนของการเจรจาสันติภาพ ส่งผลให้ผู้เล่นบางส่วนทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ของหุ้นในวันก่อนออกมาบ้าง อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปได้แรงหนุนจากหุ้นกลุ่มพลังงานที่ปรับตัวขึ้นตามราคาสินค้าพลังงาน อาทิ Eni +2.7%, Total Energies +1.0% เป็นต้น

ส่วนทางด้านฝั่งตลาดบอนด์ ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของผู้เล่นในฝั่งสหรัฐฯ รวมถึงการปรับตัวขึ้นอีกครั้งของราคาสินค้าพลังงาน ได้หนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยสู่ระดับ 2.16%

อย่างไรก็ดี จะเห็นได้ว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงถูกกดดันจากความไม่แน่นอนของสงครามอยู่ ทำให้การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์เป็นไปอย่างจำกัด ซึ่ง หากตลาดเลิกกังวลปัจจัยสงคราม เรามองว่า ปัจจัยที่จะมีผลต่อบอนด์ยีลด์ในอนาคตได้ คือ การลดงบดุลของเฟด ว่าจะมีอัตราการลดงบดุลขนาดไหนและเฟดจะมีโอกาสขายตราสารหนี้ออกมาหรือไม่

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ทำให้ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ย่อตัวลงใกล้ระดับ 97.88 จุด หลังผู้เล่นในตลาดต่างทยอยลดการถือครองเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยลดลง นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าขึ้นของสกุลเงินฝั่งยุโรป ทั้ง เงินยูโร (EUR) ที่แข็งค่าขึ้นใกล้ระดับ 1.111 ดอลลาร์ต่อยูโร

เช่นเดียวกันกับ เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ที่ทยอยแข็งค่าขึ้นใกล้ระดับ 1.317 ดอลลาร์ต่อปอนด์ จากความหวังการฟื้นตัวเศรษฐกิจ หากสถานการณ์สงครามไม่ได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น และยังได้แรงหนุนจากแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ที่ล่าสุดได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 0.75% เพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อเช่นเดียวกันกับเฟด

 ทั้งนี้ แม้ตลาดจะทยอยเปิดรับความเสี่ยง แต่การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ก็ช่วยหนุนให้ราคาทองคำก็สามารถรีบาวด์ขึ้นสู่ระดับ 1,945 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเรามองว่า ผู้เล่นในตลาดทองคำควรระมัดระวังแรงขายทำกำไร หากสถานการณ์สงครามคลี่คลายลงชัดเจน

สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอติดตามการเจรจาระหว่างรัสเซีย-ยูเครน อย่างใกล้ชิด หลังทั้งสองฝ่ายยังคงเดินหน้าการเจรจาสันติภาพอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี สถานการณ์สงครามและการเจรจายังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง และอาจทำให้ตลาดการเงินยังมีโอกาสผันผวนสูงต่อไปได้ในระยะสั้นนี้

ในส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจนั้น ตลาดประเมินว่า ผลกระทบจากสงครามที่ได้หนุนให้ราคาสินค้าพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆเร่งตัวขึ้นจะช่วยหนุนให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของญี่ปุ่นในเดือนกุมภาพันธ์ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 1.0% ทว่าหากหักผลของราคาสินค้าพลังงานและราคาอาหารสดออก อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) จะอยู่ที่ระดับ -1.0%

สะท้อนภาพเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวได้ไม่ดีและจะกดดันให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยังจำเป็นที่จะต้องใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อ ทั้งคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ -0.10% รวมถึงเดินหน้าคุมยีลด์เคิร์ฟและซื้อสินทรัพย์ต่อ ซึ่งการใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อของ BOJ ที่สวนทางกับนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นของเฟดจะสามารถช่วยหนุนให้ ค่าเงินเยนมีโอกาสอ่อนค่าและทรงตัวเหนือระดับ 115 เยนต่อดอลลาร์ในปีนี้ได้ แม้ว่าเงินดอลลาร์จะกลับมาอ่อนค่าก็ตาม

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 18 มี.ค. 2565

ศปภ.เขต 2 ระดมดับไฟไหม้ใบอ้อย คาด 3 วันดับไฟได้

ศปภ.เขต 2 ระดมอุปกรณ์ดับเพลิงช่วยดับไฟไหม้ใบอ้อยม้วน โรงงานน้ำตาลชื่อดัง ควบคุมเพลิงไว้ได้ในวงจำกัดแล้ว คาด 3 วันดับไฟได้

เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 65 จากกรณีเกิดเหตุไฟไหม้กองใบอ้อยอัดม้วน ในพื้นที่ หมู่ 10 ต.หนองมะค่าโมง อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี ใกล้กับโรงงานน้ำตาลมิตรผลด่านช้าง ที่เกิดเหตุพบไฟกำลังลุกไหม้กองใบอ้อยอัดม้วนจำนวนมหาศาลอย่างรวดเร็ว จึงได้เร่งประสานระดมรถดับเพลิงจาก อบต.หนองมะค่าโมง อ.ด่านช้าง ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 2 สุพรรณบุรี เข้าควบคุมเพลิงไม่ให้ลุกลามขยายเป็นวงกว้าง

ล่าสุด นายสิทธิศักดิ์ แย้มพรายภิรมย์ นายอำเภอด่านช้างในฐานะ ผู้อำนวยการศูนย์บัญชาการ เหตุการณ์ไฟไหม้ใบอ้อยม้วน ของโรงงานน้ำตาลมิตรผล ได้เรียกประชุมหัวหน้าส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อประเมินสถานการณ์และหาแนวทางดับไฟที่กำลังปะทุขึ้นมาให้เร็วที่สุด ขณะนี้ได้ควบคุมเพลิงให้อยู่ในวงจำกัดได้แล้ว โดยเบื้องต้นทราบว่ามีพื้นที่เก็บใบอ้อยม้วนมีเนื้อที่ทั้งหมด 65 ไร่ มีใบอ้อยจำนวนทั้งหมด 37,000 ตัน ซึ่งพื้นที่ถูกไฟไหม้เสียหายมีจำนวน 28 ไร่ กองใบอ้อยม้วนถูกไฟไหม้ 18,000 ตัน

นายสิทธิศักดิ์ แย้มพรายภิรมย์ นายอำเภอด่านช้าง ผู้อำนวยการศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ กล่าวว่า หลังจากที่เกิดเพลิงไหม้กองใบอ้อยเมื่อคืนที่ผ่านมา ทางเจ้าหน้าที่ได้ประสานทั้งหน่วยงานดับเพลิงในพื้นที่ เจ้าหน้าที่ศูนย์ ปภ.เขต 2 เจ้าหน้าที่ ปภ.จังหวัดสุพรรณบุรี และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสนับสนุนรถดับเพลิงเข้ามาช่วยฉีดสกัดเพลิงที่ลุกไหม้ใบอ้อย ทำให้สามารถควบคุมเพลิงไว้ได้ในวงจำกัดแล้ว โดยในพื้นที่เสี่ยงซึ่งเป็นโรงงานใกล้เคียงไม่น่าเป็นห่วง เนื่องจากสามารถควบคุมเพลิงไว้ในวงจำกัดได้แล้ว และไม่ให้เกิดเพลิงลุกลามออกมา ขณะที่โรงงานบริเวณใกล้เคียงได้เตรียมการนำรถน้ำและรถดับเพลิงของหน่วยงานในพื้นที่และของโรงงาน เตรียมพร้อมป้องกันเฝ้าระวังอย่างเต็มพิกัด ส่วนสถานการณ์กลุ่มหมอกควันในพื้นที่หน้าโรงงานและพื้นที่ใกล้เคียงบ้านเรือนชาวบ้าน ยังไม่ได้รับรายงานว่าได้รับผลกระทบจากหมอกควันไฟไหม้ครั้งนี้แต่อย่างใด

ด้าน นายธีรยุทธ์ จันทร์ดิษฐวงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัย เขต 2 สุพรรณบุรี กล่าว ได้นำอุปกรณ์ดับเพลิงทั้งรถน้ำดับ รถกระเช้า ทุ่นลอยน้ำ และติดตั้งเครื่องสูบน้ำระยะไกลเพื่อสูบน้ำเข้ามาเติมในสระใกล้กับจุดที่เกิดเพลิงไหม้เพื่อให้รถดับเพลิงได้สูบน้ำไปฉีดสกัดเพลิงได้สะดวกยิ่งขึ้น พร้อมทั้งฉีดหล่อเลี้ยงกองใบอ้อยที่เหลือ เนื่องจากบางช่วงมีลมแรง อาจมีพายุลมแรงพัดกระโชก ส่งผลให้มีฝุ่นฟุ้งกระจายหรือสะเก็ดไฟปลิวขึ้นสู่ท้องฟ้าแล้วไปตกใส่บ้านเรือนประชาชน อย่างไรก็ตามต้องประเมินสภาพอากาศทิศทางลมด้วย หากไม่มีอะไรผิดพลาดคาดว่าภายใน 3 วันน่าจะดับไฟได้แต่อย่างไรก็ตามต้องรอดูสถานการณ์อีกครั้ง

ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่สำนักสิ่งแวดล้อมภาคที่ 5 กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ลงพื้นที่มาตั้งสถานีตั้งวัดค่าคุณภาพอากาศแบบเรียลไทม์ จำนวน 3 จุด ได้แก่ จุดที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ และบริเวณแหล่งชุมชนใกล้เคียงโรงงาน เพื่อติดตามค่าอากาศ จากการตรวจวัดค่าอากาศเบื้องต้นพบว่ามีเพียงพื้นที่ใกล้เคียงจุดไฟไหม้เท่านั้นที่มีฝุ่นละอองเกินมาตรฐานส่วนพื้นที่ชุมชนโดยรอบรัศมีจาก 500 เมตรจนถึง 5 กิโลเมตรยังปกติ

ล่าสุดทางโรงงานน้ำตาลมิตรผล อ.ด่านช้าง ได้ส่งเอกสารชี้แจง ฉบับที่ 2 ในวันนี้ เวลา 09.00น.ว่าได้มีการจัดตั้งกองอำนวยการดับไฟกองใบอ้อย โดยมีนายสิทธิศักดิ์ แย้มพรายภิรมย์ นายอำเภอด่านช้าง เป็นหัวหน้าส่วนราชการ ร่วมกับศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารถภัยจังหวัดสุพรรณบุรี หน่วยงานราชการในท้องถิ่น และโรงานฯ เพื่อควบคุมเหตุเพลิงไหม้อย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง โดยจะมีเครื่องสูบน้ำระยะไกลเข้ามาสนับสนุนการปฏิบัติงานอีกจำนวน 2 เครื่อง ซึ่งจากการประเมินเบื้องต้น คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3-4 วันในการดับเพลิงได้ทั้งหมด ทั้งนี้ ทีมงานมวลชนสัมพันธ์ของโรงงานน้ำตาลมิตรผลด่านช้าง ได้ลงพื้นที่สำรวจและติดตามสถานการณ์ในชุมชนรอบโรงงานเพื่อสื่อสารข้อมูล ดูแลความปลอดภัยอย่างใกล้ชิดทั้งนี้ กองใบอ้อยที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ เป็นเชื้อเพลิงเสริมเพื่อผลิตไฟฟ้าสำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวลโดยโรงไฟฟ้าฯ ใช้ชานอ้อยเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ ซึ่งไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ อนึ่ง โรงงานน้ำตาลมิตรผลด่านช้าง ได้มีการจัดเตรียมแผนการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจแผนการรับมือเหตุฉุกเฉิน แผนการผลิต และจัดเตรียมสต๊อกสินค้าไว้ให้เพียงพอต่อการส่งมอบในสถานการณ์นี้ เพื่อป้องกันมิให้เกิดผลกระทบต่อพันธมิตรทางการค้าทุกท่านหากมีความคืบหน้าของเหตุการณ์ โรงงานน้ำตาลมิตรผลด่านช้างจะเรียนแจ้งเพื่อทราบต่อไปฝ่ายบริหา

จาก https://www.bangkokbiznews.com วันที่ 17 มี.ค. 2565

นักวิชาการ จับตา ธปท. เอาไงต่อ หลังเฟดขึ้นดอกเบี้ยกระทบไทย

นักวิชาการ ยอมรับกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้นกระทบไทยแน่นอน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เอาไงต่อ รักษาเสถียรภาพการเงิน อัตราแลกเปลี่ยนไทย

ศ.ดร.อรรถกฤต ปัจฉิมนันท์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง เปิดเผยถึงกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แถลงผลประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบาการเงิน หรือ FOMC มีมติปรับดอกเบี้ยระยะสั้นขึ้น 0.25% ว่า กรณีดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยแน่นอน

โดยผลกระทบกับไทยเมื่อมีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นแน่นอนว่า สิ่งแรกจะกระทบกับอัตราแลกเปลี่ยนทันที เพราะว่าปกติเมื่ออัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นในสหรัฐฯ ถึงจะปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.25 - 0.5% ก็ได้รับผลกระทบ เนื่องจากปัจจุบันมีประมาณการใช้สกุลเงินดอลล่าร์อยู่ในตลาดโลกมากกว่า 60% สำหรับการแลกเปลี่ยนต่าง ๆ

 “จากนี้ไปคงต้องมาจับตาดูธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. จะพิจารณาเรื่องของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอย่างไร จะต้องปรับให้เป็นไปตามทิศทางของเฟด เพื่อช่วยรักษาเสถียรภาพให้กับอัตราแลกเปลี่ยนหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตามการจะปรับดอกเบี้ย ก็ยังต้องพิจารณาสถานการณ์ในประเทศประกอบด้วย ซึ่งตอนนี้เงินเฟ้อของไทยก็ยังสูงอยู่”

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ไทยควรต้องทำต่อไป นอกจากการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดแล้ว ยังต้องหาทางปรับกลยุทธ์ต่าง ๆ ในการรองรับสถานการณ์ให้เร็วเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง เพื่อให้เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบน้อยที่สุด พร้อมทั้งแสวงหาโอกาส จากวิกฤตที่เกิดขึ้นให้มากที่สุดอีกด้วย

ศ.ดร.อรรถกฤต กล่าวอีกว่า สถานการณ์เศรษฐกิจโลกตอนนี้ยังมีมีสิ่งที่น่ากังวลหลายอย่าง โดยเฉพาะผลกระทบที่เกิดจากวิกฤตยูเครนและรัสเซีย ที่ยังคงยืดเยื้อ ซึ่งเรื่องนี้กระทบต่อประเทศที่เป็นเศรษฐกิจหลักของโลก โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ เองนั้น ตอนนี้ก็ยังเจอเงินเฟ้อที่สูงจากราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น รวมถึงค่าแรงขั้นต่ำ และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่มากถึง 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ด้วย

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 17 มี.ค. 2565

ไฟไหม้กองใบอ้อยที่ด่านช้าง ลุกลามเสียหาย 28 ไร่ ผู้ว่าฯ สั่งด่วนควบคุมเพลิง

เกิดเหตุไฟไหม้กองใบอ้อยใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า ลุกลามเสียหายกว่า 28 ไร่ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรีลงพื้นที่สั่งการด่วนควบคุมเพลิง ส่วนสาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัด

เมื่อช่วงเช้าวันที่ 17 มีนาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่เมื่อเวลาประมาณ 14.30 น. วานนี้ (16 มี.ค.) ที่บริเวณโรงงานน้ำตาล ในพื้นที่ อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี มีรายงานเกิดเหตุเพลิงลุกไหม้ที่กองใบอ้อย ซึ่งได้มาจากการรับซื้อจากชาวไร่ เป็นนโยบายรณรงค์การตัดอ้อยสด โดยใบอ้อยจะถูกใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า มีพื้นที่ขนาดใหญ่มากกว่า 40 ไร่ ขณะนี้เพลิงยังลุกไหม้ตลอดเวลา ต้องใช้เครื่องฉีดน้ำระยะไกลขนาดใหญ่ สูง 35 เมตร มาฉีดน้ำหล่อเลี้ยงเพื่อไม่ให้ไฟขยายวงกว้างมากกว่านี้

นายณัฐภัทร สุวรรณประทีป ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี ที่ลงพื้นที่ด้วยตัวเอง กล่าวว่า ขณะนี้สามารถควบคุมเพลิงไว้ได้ในวงจำกัดแล้ว ส่วนพื้นที่เก็บกักใบอ้อยเสียหายไปจำนวน 28 ไร่ อีกส่วนยังอยู่ในระหว่างฉีดน้ำควบคุมเพลิง ซึ่งสามารถควบคุมไว้ได้แล้ว ส่วนปัญหาเรื่องฝุ่นละอองจะประเมินอีกครั้งในวันพรุ่งนี้

ด้านนายธีรยุทธ์ จันทร์ดิษฐวงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 2 สุพรรณบุรี กล่าวว่า พรุ่งนี้จะนำรถดับเพลิงฉีดน้ำระยะไกลเข้ามาเสริมเพื่อป้องกันฝุ่นละออง เนื่องจากบางช่วงมีกระแสลมพัดแรง อาจส่งผลให้มีฝุ่นฟุ้งกระจาย โชคดีที่พื้นที่รอบด้านอยู่ห่างจากชุมชน พรุ่งนี้จะประเมินอีกครั้งถึงทิศทางลม คาดว่าไฟจะยังคงลุกไหม้อีกอย่างน้อย 3 วันถึงจะดับสนิท

ขณะที่ ทางด้านตัวแทนของโรงน้ำตาล เปิดเผยว่า ตั้งแต่ทราบว่ามีเหตุเพลิงไหม้ช่วงเวลา 14.30 น. ได้เร่งนำรถดับเพลิงของโรงงานเข้าไประงับเหตุเบื้องต้น และแจ้งประสานขอความช่วยเหลือไปยัง ปภ.อำเภอ และ ปภ.จ.สุพรรณบุรี และประสานขอรถน้ำของเทศบาลด่านช้าง และ อบต.ใกล้เคียง ระดมดับเพลิงในครั้งนี้ ส่วนสาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัด.

จาก https://www.thairath.co.th วันที่ 17 มี.ค. 2565

ของบ 2.6 พันล้านแก้ปุ๋ยแพง

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ม.ค.-ก.พ.64 ไทยนำเข้าปุ๋ย 431,732.97 ตัน คิดเป็นมูลค่า 10,826.6 ล้านบาท โดยปี 2564 ไทยนำเข้าจาก 45 ประเทศ ปริมาณ 5,520,883 ตัน มูลค่า 70,103 ล้านบาท สำหรับข้อมูลจากกรมส่งเสริมการเกษตร พบว่าไทยมีพื้นที่ 131 ล้านไร่ ต้องการใช้ปุ๋ยเคมี 8.06 ล้านตัน แต่ในปี 2564 มีการนำเข้าเพียง 5.52 ล้านตัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แสดงความกังวลต่อราคาสินค้า รวมถึงปุ๋ยราคาแพงหวั่นกระทบกับเกษตรกร จึงสั่งการให้กระทรวงเกษตรฯเร่งหามาตรการรับมือให้หน่วยงานต่างๆ พิจารณามาตรการแก้ปัญหาราคาปุ๋ยแพง เตรียมเสนอของบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) 2,675.4 ล้านบาท เพื่อผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง ปุ๋ยพืชสด และโครงการเพื่อร่วมพัฒนาเกษตรกรให้ใช้ปุ๋ยอย่างถูกวิธีและเหมาะสม.

จาก https://www.thairath.co.th วันที่ 17 มี.ค. 2565

ไฟไหม้ โรงงานน้ำตาล 40 ไร่ ควันโขมง ฟ้าแดงฉาน คาด 3 วัน กว่าจะดับ

ระทึกไฟไหม้ โรงงานน้ำตาล เนื้อที่ 40 ไร่ ควันพวยพุ่ง ฟ้าเป็นสีแดงฉาน สุดสะพรึง คาด 3 วันกว่าจะคุมเพลิงได้ กังวลฝุ่นละออง เตรียมประเมินพรุ่งนี้อีกครั้ง

วันที่ 17 มี.ค.2565 เจ้าหน้าที่รับแจ้งไฟไหม้ที่โรงงานน้ำตาล ในอ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี จึงนำกำลังไปตรวจสอบ พบเพลิงโหมกระหน่ำ ควันดำพวยพุ่ง ท้องฟ้าเป็นสีแดงสุดน่ากลัว โดยโรงงานแห่งนี้มีเนื้อที่กว่า 40 ไร่ ไฟยังลุกโชนต่อเนื่อง เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างเร่งระดมฉีดน้ำดับ โดยต้องเจอกระแสลมที่พัดมา ทำให้ต้องระวังในการปฏิบัติงานอย่างมก

ทั้งนี้นายณัฐภัทร สุวรรณประทีบ ผวจ.สุพรรณบุรีเผยว่า ขณะนี้สามารถคุมไฟไว้ได้ในวงจำกัดแล้ว โดยส่วนพื้นที่เก็บกักใบอ้อยเสียหายไปประมาณ 28 ไร่ ที่เหลืออยู่ระหว่างฉีดน้ำดับ ตอนเช้าจะมีการประเมินเรื่องฝุ่นละอองอีกครั้ง โดยได้มีการระดมรถเข้าดับไฟอย่างต่อเนื่อง คาดว่า 3 วันน่าจะคุมไว้ได้

ทางตัวแทนโรงงานได้มาพบเจ้าหน้าที่ พร้อมให้ความร่วมมือในการดับไฟอย่างเต็มที่ ส่วนสาเหตุนั้น จะต้องรอไฟดับก่อน ถึงจะสามารถส่งเจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานเข้าตรวจสอบ เช่นเดียวกับความเสียหายจะต้องประเมินโดยละเอียดอีกครั้ง

จาก https://www.khaosod.co.th   วันที่ 17 มี.ค. 2565

"บิ๊กตู่" สั่งลุย ปุ๋ยสั่งตัด-ปุ๋ยอินทรีย์ แก้ไขปัญหาปุ๋ยแพงช่วยเกษตรกร

โฆษกรัฐบาล เผยนายกรัฐมนตรี ไม่ได้นิ่งนอนใจปัญหาปุ๋ยแพง และต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์พุ่ง สั่งทุกหน่วยงานหาทางช่วยเหลือ พร้อมเดินหน้าโครงการปุ๋ยสั่งตัด-ปุ๋ยอินทรีย์

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้าโครงการปุ๋ยสั่งตัด และปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาปุ๋ยแพง และต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ช่วยเหลือเกษตรกร

ทั้งนี้ยอมรับว่า จากสถานการณ์วัตถุดิบอาหารสัตว์และปุ๋ยขาดแคลนและมีราคาสูงขึ้นส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์และเกษตรกรเป็นอย่างมากนั้น นายกรัฐมนตรี ยืนยันไม่ได้นิ่งนอนใจ ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานความคืบหน้าให้ทราบอย่างต่อเนื่อง

พร้อมทั้งกำชับให้เร่งแก้ไขปัญหาบรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรกร โดยตรวจสอบการกักตุนปุ๋ยหากพบการกระทำความผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการกับผู้กระทำความผิดโดยเคร่งครัด

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี ยีนยันว่า รัฐบาลได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังมาโดยตลอด ทั้งเรื่องปุ๋ยและความเดือดร้อนของเกษตรกร เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของเกษตรกร ผ่านการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแบบบูรณาการ ขอให้เกษตรกรมั่นใจว่ารัฐบาลจะพยายามแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่

โดยมีการดำเนินโครงการปุ๋ยสั่งตัด ที่เหมาะกับสภาพดินและความต้องการของพืช อีกทั้งเร่งการผลิต ปุ๋ยหมัก และปุ๋ยอินทรีย์ เสริมให้ประชาชนใช้ เพื่อช่วยเกษตรกรลดต้นทุน

ทั้งนี้ ปุ๋ยเคมี และอาหารสัตว์ เป็นสินค้าควบคุมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ หากจะมีการปรับราคา กระทรวงพาณิชย์จะต้องพิจารณาคำร้องของผู้ประกอบการก่อน ซึ่งขณะนี้ กระทรวงพาณิชย์แจ้งว่า ยังไม่มีใครทำเรื่องขอปรับราคาอย่างเป็นทางการ

"จากสถานการณ์ต่างๆ เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบจะเกิดขึ้นได้ แต่เราสามารถช่วยกันแก้ไขปัญหาได้ ด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ขอความร่วมมือผู้ประกอบอย่าฉวยโอกาสในช่วงที่เราประสบปัญหา กักตุนปุ๋ย และฉวยโอกาสขึ้นราคา ขออย่าซ้ำเติมความเดือดร้อนของคนไทยด้วยกัน" นายธนกรฯ กล่าว

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 16 มี.ค. 2565

ลงนาม MOU “ ไทย – บราซิล”  สนับสนุนความร่วมมือด้านการเกษตร

รัฐมนตรีเกษตรฯ ลงนาม MOU “ ไทย – บราซิล” สนับสนุนความร่วมมือด้านการเกษตร รแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการ การวิจัย การฝึกอบรม การสัมมนา รวมไปถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร ให้เป็นรูปธรรม

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตร ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แห่งราชอาณาจักรไทย กับกระทรวงเกษตร  ปศุสัตว์ และอุปทานอาหารแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล โดยมี นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายธนา ชีรวินิจ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ  นายสมชวน รัตนมังคลานนท์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ และผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วม ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อสนับสนุนความร่วมมือด้านการเกษตรในสาขาต่าง ๆ อาทิ พืช ประมง ปศุสัตว์ ดิน การจัดการน้ำ การพัฒนาสหกรณ์การเกษตรและสถาบันเกษตรกร รวมถึงสาขาอื่น ๆ ที่ทั้งสองฝ่ายให้ความสนใจร่วมกัน โดยผ่านรูปแบบความร่วมมือของการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการ การวิจัย การฝึกอบรม การสัมมนา รวมไปถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร ซึ่งนับว่าจะเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของความร่วมมือในภาคการเกษตรระหว่างไทยและบราซิล ที่จะเกิดการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม เพื่อประโยชน์ต่อเกษตรกรของทั้งสองประเทศ รวมถึงการสร้างความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่าย

“กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่กระทรวงเกษตร ปศุสัตว์ และอุปทานอาหาร แห่งสหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล จะเริ่มมีการดำเนินการความร่วมมือด้านการเกษตรร่วมกันอย่างเป็นทางการ นับตั้งแต่วันนี้ หลังจากที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันตั้งแต่ปี 2502 ซึ่งเป็นระยะเวลายาวนานถึง 63 ปี ทางประเทศไทยและสหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล ต่างให้ความสำคัญต่อภาคการเกษตร และมีนโยบายภาคเกษตรกรรมอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

แม้ว่าจะห่างไกลกัน แต่ทั้งสองประเทศก็อยู่ในเขตการเกษตรของภูมิอากาศเขตร้อนเหมือนกัน ดังนั้น ภาควิชาความรู้จะสามารถแลกเปลี่ยนและนำสู่การปฏิบัติได้จริง ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้ จะเป็นการกระชับความสัมพันธ์ด้านการเกษตรให้แน่นแฟ้นและใกล้ชิดยิ่งขึ้น และสามารถก่อให้เกิดประโยชน์ต่อภาคการเกษตรและเกษตรกรได้โดยตรง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพด้านการเกษตรของทั้งสองประเทศ อันจะส่งผลให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว

ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ขอให้เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล ประจำประเทศไทย นำส่งบันทึกความเข้าใจฉบับที่ได้ลงนามในวันนี้ ให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ปศุสัตว์ และอุปทานอาหาร แห่งสหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล และหวังว่าทั้งสองกระทรวงฯ จะใช้กรอบนี้ในการขยายความร่วมมือด้านการเกษตร และหารือประเด็นที่สนใจร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติต่อไป

นายสมชวน รัตนมังคลานนท์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการลงนามบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ กระทรวงเกษตร ปศุสัตว์ และอุปทานอาหารแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล ได้จัดพิธีลงนามฯ ไปแล้วเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2565 และในวันนี้เป็นโอกาสอันดีที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประเทศไทยจะจัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจฉบับนี้

โดยมีท่านเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล ประจำประเทศไทย ได้ให้เกียรติมาร่วมเป็นสักขีพยาน ซึ่งการลงนามในวันนี้จะทำให้บันทึกความเข้าใจฉบับนี้เสร็จสมบูรณ์ และนำไปสู่การเริ่มต้นของการดำเนินความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างกันอย่างเป็นทางการต่อไป

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 16 มี.ค. 2565

สมาคมปุ๋ยชี้ นำเข้าได้เร็วบรรเทาภาวะปุ๋ยขาดแคลน 

นายกสมาคมการค้าปุ๋ยฯ เผยผู้ประกอบการพร้อมเข้าให้ข้อมูลต้นทุนการผลิตต่อ ก.พาณิชย์ หลังปลัดพาณิชย์หารือปลัดเกษตรฯ แล้วเห็นสมควรให้ปรับราคาจำหน่ายตามราคาแม่ปุ๋ยในตลาดโลก ชี้หากนำเข้าได้เร็ว จะทำให้สถานการณ์ขาดแคลนปุ๋ยเคมีที่จะเกิดขึ้นในฤดูกาลผลิตนี้ดีขึ้น

นายเปล่งศักดิ์ ประกาศเภสัช นายกสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทยกล่าวว่า ผลการหารือระหว่างปลัดกระทรวงพาณิชย์และปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ให้ปรับเพดานราคาปุ๋ยเคมีได้ ช่วยคลี่คลายวิกฤติที่เกิดขึ้นในขณะนี้ โดยผู้ประกอบการผลิตปุ๋ยพร้อมเข้าให้ข้อมูลต่อกรมการค้าภายในเกี่ยวกับต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะราคาแม่ปุ๋ยแต่ละชนิดที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ที่ผ่านมาราคาปรับขึ้น 50-190% ตามราคาก๊าซธรรมชาติเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตปุ๋ย แล้วซ้ำเติมด้วยสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ทำให้ราคาพุ่งสูง ทั้งยังนำเข้าไม่ได้จนเกิดภาวะวัตถุดิบขาด

ทั้งนี้หากกรมการค้าภายในกำหนดเพดานราคาที่ปรับใหม่แล้ว ผู้ประกอบการจะเร่งเจรจาหาซื้อแม่ปุ๋ยจากแหล่งผลิตอื่น ทดแทนส่วนที่เคยนำเข้าจากรัสเซียและเบลารุสซึ่งขนส่งผ่านท่าเรือยูเครน โดยหากนำเข้ามาได้เร็วเท่าไร จะทำให้สถานการณ์ขาดแคลนปุ๋ยดีขึ้นเนื่องจากจะถึงฤดูกาลผลิตใหม่ในอีกไม่ถึง 2 เดือนแล้ว โดยการนำเข้าปุ๋ยจะขนส่งทางเรือซึ่งใช้ระยะเวลาเช่น จากจีน 1 เดือนครึ่ง ตะวันออกลาง 1 เดือนครึ่ง ยุโรป 1 เดือนครึ่งถึง 2 เดือน หลังจากขนส่งถึงไทยแล้ว มีขั้นตอนขึ้นทะเบียนต่อกรมวิชาการเกษตร โดยหากสั่งปุ๋ย NPK สูตร 15-15-15 จากแหล่งใหม่แทนที่เคยนำเข้าจากรัสเซีย ใช้เวลา 3-4 เดือนในการขอเลขทะเบียน แล้วจึงจำหน่ายได้ หากเป็นแม่ปุ๋ยหรือปุ๋ยมาตรฐานใช้เวลา10 วันจึงจำหน่ายได้

นายเปล่งศักดิ์กล่าวต่อว่า การปรับราคาปุ๋ยจะไม่เป็นการเอาเปรียบเกษตรกรเนื่องจากปุ๋ยเป็นสินค้าควบคุมซึ่งกรมการค้าภายในควบคุมราคาจำหน่ายและกรมวิชาการเกษตรรับผิดชอบการขึ้นทะเบียนและตรวจสอบคุณภาพ หากผู้ประกอบการไม่ทำตามที่กำหนด มีโทษทางกฎหมายสูงมาก อีกทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะทำโครงการอุดหนุนเกษตรกรเพื่อให้เข้าถึงปุ๋ยเคมีในราคาถูกจึงไม่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกร.-

จาก https://tna.mcot.net   วันที่ 16 มี.ค. 2565

สรท.ประเมินสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำส่งออกไทยปี65 โตแค่ 5%

สรท.ชี้สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำราคาวัตถุดิบสูง ส่งผลต้นทุน ไม่สามารถแช่งขันได้ บวกเงินเฟ้อทั่วโลกพุ่ง คาดทั้งปีส่งออกไทยโตแค่5%

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย  (สรท.) เปิดเผยว่า  จากการติดตามและประเมินผลกระทบจากการสู้รบระหว่างรัสเซีย – ยูเครน ที่ยังไม่เห็นว่าจะยุติลงเมื่อใด โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นถึง กว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล  ซึ่งเริ่มส่งผลกระทบต่อราคาวัตถุดิบในการผลิตสินค้าหลายตัวปรับราคาขึ้นสูงขึ้น รวมถึงค่าระวางเรือที่ปรับสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน และ การชะลอตัวทางเศรษฐกิจเริ่มมีผล โดยจะเห็นผลชัดมากขึ้นในช่วงต้นเดือนเม.ย.  ซึ่งเป็นผลจากราคาวัตถุดิบที่ส่งผลต่อต้นทุนแต่ราคาขายไม่สามารถที่จะปรับขึ้นได้ตามต้นทุนที่แท้จริงทั้งและต่างประเทศ สุดท้ายปริมาณคำสั่งซื้อก็จะลดลง และเมื่อเราไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้สิ่งที่ต้องทำคือ การลดปริมาณการส่งออก  โดยการส่งออกในไตรมาส 2 จะไม่เติบโต แต่เลวร้ายที่สุดคือ ติดลบ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตามยังไม่สามารถประเมินได้ว่าสถานการณ์จะเลวร้ายไปกว่านี้หรือไม่ เพราะราคาน้ำมันมีความผันผวนมาก สถานการณ์ไม่รู้ว่าจะออกไปแนวไหน

ผู้ประกอบการรายเริ่มแสดงความกังวลมากขึ้น เพราะราคาวัตถุดิบปรับขึ้นมากอย่างมีนัยะสำคัญ ตั้ง 20 % 30 %  จนกระทั่งไปถึง 50 % เช่น อาหารสัตว์  แร่หายาก ไม่ว่าจะเป็นเพลทตินัม นิกเกิล  พาราเดียม เป็นต้น รวมไปถึงการขาดแคลนวัตถุดิบก็จะตามมาในระยะถัดไปจากนี้  ประกอบกับภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นทั่วโลกทำของแพงไปทั่วโลกก็จะส่งผลต่อกำลังซื้อทำให้ปริมาณการส่งออกของไทยลดลงแน่นอน

“ต้องประเมินสถานการณแบบวันต่อวัน แต่ที่แน่ๆส่งออกไตรมาส 2 มีสัญญาณลดลงแน่ แต่ก็ยังไม่มาก เพราะยังมีคำสั่งซื้อที่คงค้างอยู่จนถึงเดือนเม.ย.แต่หลังจากนั้นต้องดูอีกครั้ง อย่างไรก็ตามทั้งปี 64 ที่สรท.ประเมินไว้ว่า ปีนี้การส่งออกของไทยจะขยายตัว 5-8 % ขณะนี้ไม่แน่แล้ว น่าจะอยู่ที่ 5 % เท่านั้น”

ส่วนการให้กระทรวงพาณิชย์เร่งรัดเจรจากับทางการจีนเปิดเส้นทางรถและทางราง เพื่อขนส่งสินค้าของไทยผ่านแดนจีนไปยังเอเชียกลาง และยุโรป ภายหลังมีการปิดน่านฟ้าและท่าเรือบางท่านั้น    โดยเส้นทางคือ จากไทยไปจีนแล้วต่อไปทางยุโรป และสามารถเชื่อมต่อไปยังรัสเซียได้  ซึ่งขณะนี้ติดปัญหาเรื่องของการส่งสินค้าผ่านแดน แม้ว่าจีนจะเป็นสมาชิกของดับบลิวทีโอแต่เราต้องขออนุญาตจีนในการนำสินค้าผ่านแดนไปยังประเทศที่ 3 ซึ่งจีนก็มีขั้นตอนระเบียบ แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่จะสามารถใช้เส้นทางนี้ ซึ่งน่าจะเป็นช่วงเวลาระยะสั้นๆในช่วงนี้

จาก https://www.bangkokbiznews.com วันที่ 16 มี.ค. 2565

เกษตรฯ-พาณิชย์แก้วิกฤติปุ๋ยขาดแคลน-ราคาแพง

ปลัดกระทรวงเกษตรฯ และปลัดกระทรวงพาณิชย์เผยผลการหารือแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรเนื่องจากปุ๋ยเคมีเริ่มขาดแคลน เหตุผู้ผลิตชะลอการนำเข้าแม่ปุ๋ยซึ่งราคาในตลาดโลกปรับสูงขึ้น โดยกระทรวงพาณิชย์จะให้ขยับเพดานราคาได้ให้สอดคล้องกับต้นทุน ส่วนกระทรวงเกษตรฯ จะอุดหนุนให้เกษตรกรเข้าถึงปุ๋ยราคาถูก โดยไม่ต้องแบกรับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น

นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า ได้หารือกับนายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์เกี่ยวกับแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรจากสถานการณ์การนำเข้าและราคาปุ๋ยเนื่องจากใกล้เข้าสู่ฤดูการผลิตแล้ว

ปลัดกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า จากการสำรวจสต๊อกพบว่า ปริมาณปุ๋ยที่เหลืออยู่ลดลงเนื่องจากผู้ผลิตลดการนำเข้า โดยแจ้งว่า ราคาแม่ปุ๋ยในตลาดโลกสูงขึ้นเป็นเท่าตัว ขณะที่ปุ๋ยเป็นสินค้าควบคุมจึงมีเพดานราคา ดังนั้นกระทรวงพาณิชย์จึงจะขยับเพดานราคาจำหน่ายให้สอดคล้องกับต้นทุนการผลิตปุ๋ยแต่ละชนิด ซึ่งจะทำให้ผู้ผลิตสามารถนำเข้าแม่ปุ๋ยมาผลิตเป็นปุ๋ยสูตรต่างๆ จำหน่ายได้ตามปกติและแก้ปัญหาปุ๋ยเคมีขาดแคลน ส่วนที่เหลือไม่ถึง 2 เดือนจะถึงฤดูกาลผลิตแล้ว หากสั่งนำเข้าปุ๋ย ต้องรอระยะเวลาขนส่งและการขึ้นทะเบียน จะร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ บริหารจัดการให้เกษตรกรมีเพียงพอใช้

ปลัดกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า จะหาแนวทางให้เกษตรกรเข้าถึงปุ๋ยเคมีในราคาถูกโดยทำโครงการลดราคาปุ๋ยเคมี โดยมอบหมายกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นหน่วยงานหลัก นอกจากนี้จะเร่งส่งเสริมการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ให้ได้ 5 ล้านตัน จากปัจจุบันที่มีการผลิตประมาณ 3.2 ล้านตันเพื่อเป็นมาตรการเสริม โดยพบว่า ขณะนี้เกษตรกรนิยมใช้มากขึ้น ที่สำคัญคือ การแนะนำให้เกษตรกรให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยอย่างถูกต้องตามแนวทาง “4 ถูก” คือ ถูกชนิด ถูกเวลา ถูกสูตร และถูกวิธีซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตได้.

จาก https://tna.mcot.net  วันที่ 16 มี.ค. 2565

ไทยเผชิญหน้าเศรษฐกิจถดถอย หวั่นปุ๋ยแพงทำอาหารโลกขาดแคลน

เอกชนมองไทยกำลังเผชิญหน้ากับภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) โดยมีตัวเร่งเป็นการสู้รบระหว่างรัสเซีย–ยูเครน ผวารัสเซียตอบโต้ชาติตะวันตก งดส่งออกสินค้า 200 รายการ ทำห่วงโซ่การผลิตโลกปั่นป่วน ขณะที่ ปุ๋ยราคาแพงกดดันภาคเกษตรทั่วโลกรวมถึงไทย และอาจนำไปสู่ภาวะขาดแคลนอาหารของโลก

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยในงานสัมมนา “Morning Talk” ครั้งที่ 2 “ทิศทางอุตสาหกรรมไทยไปต่ออย่างไร ภายใต้สถานการณ์เงินเฟ้อ” จัดโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ซึ่งเป็นวิกฤติคลื่นลูกใหม่ที่จะมีความรุนแรงขึ้น เนื่องจากมีปัจจัยการสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครนเข้ามาเป็นตัวเร่ง จากเดิมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เท่านั้น

ทั้งนี้ แม้ว่าการสู้รบในระยะต่อไปอาจจะจบลงได้ แต่สิ่งที่จะอยู่อีกยาวนานคือ มาตรการคว่ำบาตรที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะล่าสุดที่รัสเซียตอบโต้ด้วยการห้ามส่งออกสินค้า 200 รายการไปจนถึงสิ้นปีนี้ ไปยัง ชาติตะวันตกหรือประเทศที่ไม่เป็นมิตรกับรัสเซีย ซึ่งอาจส่งผลให้ห่วงโซ่การผลิตทั่วโลกปั่นป่วนและขาดแคลน ซึ่งจะยิ่งกดดันภาวะเงินเฟ้อของโลกและประเทศไทยมากขึ้น

นายเกรียงไกรกล่าวว่า ประเทศไทยได้เผชิญกับปัญหาคลื่นเศรษฐกิจ ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงนวัตกรรมดิจิทัล หรือ Digital Disruption สงครามการค้า ภาวะโลกร้อน และโควิด-19 ที่นำมาสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยและถูกซ้ำเติมจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ทำให้ราคาน้ำมันโลกสูง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อปัญหาเงินเฟ้อเพราะน้ำมันเป็นต้นทุนสำคัญในการผลิตสินค้า

ขณะเดียวกัน สิ่งที่น่ากังวลคือ การห้ามส่งออกปุ๋ยของรัสเซีย จะกระทบต่อภาคเกษตร กรรมไปทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ที่ส่วนหนึ่งมีการนำเข้าปุ๋ยจากรัสเซีย แม้ว่าไทยอาจนำ

เข้าจากประเทศอื่นๆทดแทนได้ แต่ในแง่ของราคาปุ๋ยจะสูงขึ้นมาก โดยมีการคาดการณ์ว่าผลกระทบนี้จะส่งผ่านไปยังฤดูเพาะปลูกของภาคเกษตรในปลายปีนี้ และอาจนำไปสู่การขาดแคลนภาวะอาหารของโลกได้เช่นกัน จึงต้องติดตามประเด็นนี้ใกล้ชิด

“ราคาสินค้าที่สูงขึ้นส่งผลให้ค่าครองชีพของคนไทยในภาพรวมให้สูงขึ้นตามไปด้วย เมื่อมีการโยนหินถามทางถึงกรณีการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเพิ่มขึ้นไปสู่ระดับ 400-492 บาทต่อวัน ให้สะท้อนกับภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งยอมรับว่าจำเป็นต้องปรับขึ้น แต่ต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการไตรภาคี และยึดกลไกตลาด มาชี้วัดถึงอัตราและระยะเวลาที่เหมาะสมหากจะมีการขึ้นค่าแรง เพราะต้องคำนึงถึงนายจ้างที่เป็นเอสเอ็มอี ว่าจะแบกรับภาระค่าแรงที่ต้องปรับเพิ่มขึ้นได้หรือไม่ ขณะเดียวกัน เป็นไปได้หรือไม่ที่การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ จะให้เฉพาะแรงงานไทยเท่านั้น ไม่ต้องปรับขึ้นให้กับแรงงานต่างด้าว”

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานคณะกรรมการธุรกิจอาหารแปรรูป กล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวลขณะนี้คือปุ๋ยเคมี ที่ราคาจะสูงมากและอาจขาดแคลน เพราะเป็นต้นทุนสำคัญของทุกประเทศที่ทำเกษตรกรรม รวมถึงประเทศไทย เนื่องจากไทยมีการนำเข้าปุ๋ยเคมีจากรัสเซียเป็นหลัก แม้ว่าล่าสุดผู้นำเข้าจะกำลังมองหาการนำเข้าจากประเทศอื่นๆเข้ามาทดแทน เช่น ซาอุดีอาระเบีย

“ปุ๋ยเคมีสามารถปรับเปลี่ยนสูตรการผสมได้ตามการใช้งาน จุดนี้มองว่ารัฐบาลต้องอำนวยความสะดวกในการปรับเปลี่ยนสูตรในช่วงเกิดปัญหาชั่วคราว และอาจให้สมาคมที่เกี่ยวข้องมีการรับรองกันเองได้ เพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิตหรือแก้ไขปัญหารความขาดแคลน ซึ่งจะสามารถลดภาวะเงินเฟ้อได้ส่วนหนึ่ง”.

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 16 มี.ค. 2565

‘พาณิชย์’ เตรียมร่วมถกเวทีรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน 16-17มีนานี้

‘พาณิชย์’ เตรียมร่วมถกเวทีรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน 16-17มีนานี้  พร้อมเดินหน้าอัพเกรด FTA เร่งบังคับใช้ RCEP ให้ครบทุกประเทศ พร้อมฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 และกำหนดยุทธศาสตร์ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศนอกอาเซียน

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า อาเซียนกำหนดจัดการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (AEM Retreat) ครั้งที่ 28 ผ่านระบบการประชุมทางไกล ระหว่างวันที่ 16-17 มีนาคมนี้ เพื่อหารือประเด็นด้านเศรษฐกิจที่อาเซียนจะผลักดันให้บรรลุผลสำเร็จในปีนี้ รวมถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจอาเซียนหลังโควิด-19 และยุทธศาสตร์อาเซียนด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศนอกอาเซียน

โดย ประเด็นที่กัมพูชาในฐานะประธานอาเซียนผลักดันให้สมาชิกร่วมกันดำเนินการให้สำเร็จในปีนี้ อาทิ การประกาศเริ่มเจรจายกระดับความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ATIGA) การอัพเกรดความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ และการเร่งบังคับใช้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ให้ครบทุกประเทศ

สำหรับในปีนี้ กัมพูชาได้จัดประชุมอาเซียนภายใต้แนวคิด “ASEAN A.C.T. : Addressing Challenges Together” โดยมียุทธศาสตร์การขับเคลื่อน 4 ด้าน (1) การส่งเสริมความเชื่อมโยงทางดิจิทัล วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี (2) การลดช่องว่างการพัฒนาเพื่อความสามารถในการแข่งขันของอาเซียน (3) การส่งเสริมการบูรณาการ การมีส่วนร่วม ความยืดหยุ่น และความสามารถในการแข่งขันที่มากขึ้นของอาเซียน และ (4) การเป็นส่วนสำคัญของประชาคมโลกเพื่อการเติบโตและการพัฒนา

“ไทยจะใช้โอกาสนี้แจ้งที่ประชุมทราบถึงการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคของไทย ภายใต้แนวคิด “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” (Open. Connect. Balance.) หรือมุ่งให้เอเปคเปิดกว้างสู่ทุกโอกาส เชื่อมโยงในทุกมิติ และสร้างสมดุลในทุกด้าน เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน ซึ่งมีประเด็นที่อาเซียนและเอเปคให้ความสำคัญและมุ่งหวังสู่เป้าหมายเดียวกัน โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเติบโตอย่างยั่งยืน”

ทั้งนี้ เอเปคเป็นเวทีที่มีสมาชิกจาก 21 เขตเศรษฐกิจ ซึ่งมีประเทศสมาชิกอาเซียนที่เป็นภาคีเอเปค ได้แก่ บรูไนฯ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค ระหว่างวันที่ 21-22 พฤษภาคมนี้

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2565

ปุ๋ยแพง “มัลลิกา” จี้ถามสำนักงบ-สภาพัฒน์  ดูข้อเท็จจริงสถานการณ์โลก

ปุ๋ยแพง “มัลลิกา” จี้ถามสำนักงบ-สภาพัฒน์  ดูข้อเท็จจริงสถานการณ์โลก ย้ำพาณิชย์เร่งแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ทั้งเกษตรกร-ผู้ผลิตอยู่ได้ส่วนจะให้ปรับราคาปุ๋ยต้องดูเคสบายเคส

นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าและราคาปุ๋ยอย่างใกล้ชิด

ส่วนกรณีรายงานแจ้งว่าสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย มีหนังสือถึงกระทรวงพาณิชย์เพื่อขอปรับราคาขายปุ๋ยเคมีโดยอ้างถึงปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้ต้นทุนนำเข้าปุ๋ยปรับสูงขึ้น เช่น ราคาน้ำมัน ค่าขนส่ง และสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนที่เป็นอุปสรรคต่อการนำเข้าปุ๋ยจากต่างประเทศนั้นได้มีการประเมินข้อมูลต้นทุนและราคาก่อนรวมทั้งประสานงานกับผู้ที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้การอนุญาตให้ปรับราคาจำหน่ายปุ๋ยหรือไม่จะต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไปโดยคำนึงถึงต้นทุนวัตถุดิบปุ๋ยในตลาดโลกที่สูงขึ้น ผลกระทบต่อพี่น้องเกษตร และแนวทางเยียวยาผลกระทบ ควบคู่กันไป ดังนั้นการแก้ปัญหาจะไม่ใช่แค่ลำพังกระทรวงพาณิชย์

เพราะมีเรื่องของงบประมาณคงต้องหารือ เพราะ 2 หน่วยงานที่ไม่ใช่สังกัดกระทรวงพาณิชย์ คือ สำนักงบประมาณและสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ มีความเห็นที่ติดขัดเรื่องนี้ โดยในส่วนของงบชดเชยนั้นภาวะวิกฤตต้องขอใช้งบกลาง แต่สำนักงบก็บอกว่าไม่ใช่หน้าที่กระทรวงพาณิชย์ทั้งที่นายกรัฐมนตรีสั่งการกระทรวงพาณิชย์

ดังนั้นจึงบูรณาการประสานให้กระทรวงเกษตรฯเสนอตามข้อแนะนำสำนักงบฯซึ่งกระทรวงเกษตรก็เสนอแล้วแต่ก็ยังไม่ได้รับการอำนวยการจากสำนักงบประมาณ และเมื่อพิจารณาใช้งบเงินกู้ก็ติดขัดความเห็นของสภาพัฒน์ฯที่แย้งว่าการขอใช้เงินชดเชยให้เกษตรกรที่ซื้อปุ๋ยนั้นไม่ตรงกับจุดประสงค์ของการใช้งบประมาณ

ดังนั้นเรื่องนี้คงต้องหาทางออกให้เกษตรกรและทุกฝ่ายซึ่งท่านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จะได้นำเรียนนายกรัฐมนตรีต่อไป

อย่างไรก็ตามรัฐบาลจะต้องช่วยวิกฤตตรงนี้แก้ให้ตรงจุดและดูจากข้อเท็จจริงต้นทุนราคา แต่ก่อนหน้านี้คือตอนที่ไม่มีวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน กระทรวงพาณิชย์ช่วยเกษตรกรมาโดยตลอดโดยการลดราคาปุ๋ยซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการสมาคมและทุกฝ่ายมา 2 ปีโดยไม่ได้ใช้งบประมาณแผ่นดินแต่พอเดินหน้าในปีที่ 3 นี้มันมีวิกฤตรัสเซีย-ยูเครนเข้ามากระแทกซ้ำโดยกระทรวงพาณิชย์อยู่ปลายน้ำ คือ สถานการณ์ราคา อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ก็ต้องสะท้อนให้นายกรัฐมนตรีรับทราบและบูรณาการในหน่วยงานซึ่งสังกัดกระทรวงการคลังและสำนักนายกรัฐมนตรีด้วย

จากสถิติ ไทยนำเข้าปุ๋ยเรานำเข้าจากจีนมากที่สุด ร้อยละ 22.5 ซาอุดีอาระเบีย ร้อยละ 14.6 มาเลเซีย ร้อยละ 8.8 และรัสเซีย ลำดับที่ 4 ร้อยละ 7.7 ตอนนี้ทางมอสโกและกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศรายงานสถานการณ์โลกที่อัพเดทรายวัน

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2565

สกพอ. จับมือเพิ่มศักยภาพผลิตสินค้า-บริกาพื้นที่อีอีซี

สกพอ. ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ และสำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการในพื้นที่อีอีซี ยกระดับคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจฐานราก ตามเป้าหมายการขับเคลื่อนแผนลงทุนอีอีซี ระยะที่ 2

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยภายหลัง พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ และสำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ว่า การขับเคลื่อนแผนลงทุน อีอีซี ระยะ 2 (ปี 2565 -2569) ได้วางนโยบายยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนในมิติต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าหมายสร้างเศรษฐกิจที่มั่นคงจากระดับพื้นฐาน ให้ประเทศพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ด้วยการส่งเสริมและพัฒนาองค์ประกอบและปัจจัยสำคัญที่จะสนับสนุนให้สามารถสร้างรายได้ที่มั่นคง สร้างชุมชนที่มั่งคั่ง ให้กับคนไทยทั้งในปัจจุบันและอนาคต พร้อมทั้งเป็นองค์กรต้นแบบการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษทั่วประเทศในอนาคต

ทั้งนี้ ความร่วมมือระหว่าง สกพอ. กับ สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ จะเป็นเรื่องการส่งเสริม เชื่อมโยง และสร้างความมั่นคงเศรษฐกิจชุมชนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และสกพอ. กับ สำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จะมีการดำเนินโครงการสื่อการสอนสร้างสรรค์ สร้างมูลค่าเพิ่มทางวัฒนธรรมท้องถิ่นเพื่อการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่งความร่วมมือจากทั้ง 2 หน่วยงาน จะมุ่งไปในทิศทางเดียวกันนั่นคือ การร่วมมือกันส่งเสริมและเพิ่มศักยภาพให้ประชาชนในท้องถิ่น รวมถึงวิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการธุรกิจ ให้มีความมั่นคงทางอาชีพและรายได้ ด้วยการเพิ่มทักษะและขีดความสามารถในการผลิตสินค้า บริการ การค้าขายและการท่องเที่ยวโดยชุมชน รวมทั้งมีศักยภาพที่จะสามารถสร้างเนื้อหาที่น่าสนใจเพื่อสื่อถึงกลุ่มเป้าหมาย และเลือกใช้สื่อเพื่อการประชาสัมพันธ์ในเชิงธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งกิจกรรมในหลาย ๆ ด้านที่จะดำเนินการร่วมกัน จะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจน ให้ครัวเรือนประชาชนในท้องถิ่นมีสถานะทางเศรษฐกิจสังคมที่มั่นคงภายใต้สิ่งแวดล้อม ที่เหมาะสม เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

นายเบญจพล นาคประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) กล่าวว่า สกพอ.และ สทบ. จะร่วมมือกันส่งเสริมและพัฒนาความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่มีความเชื่อมโยงกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของครัวเรือนประชาชนในแต่ละในท้องถิ่น โดยมีกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองในแต่ละพื้นที่เป็นกลไกสำคัญ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมและได้รับประโยชน์จากการดำเนินงานตามนโยบายของ สกพอ. อย่างทั่วถึง โดยสนับสนุนให้กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองในแต่ละท้องถิ่นได้รับความรู้ความเข้าใจ เห็นความสำคัญ และร่วมมือกับ สกพอ. ดำเนินกิจกรรมด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองตามนโยบายตลอดจนแนวทาง

ให้ตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดไว้

ด้านนายธนกร ศรีสุกใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า สกพอ.และกองทุนสื่อฯ จะร่วมมือกันยกระดับวิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการในพื้นที่ที่ดำเนินกิจการ ด้านท่องเที่ยวโดยชุมชนให้มีความรู้ และขีดความสามารถในการผลิตสินค้าและบริการ รวมถึงพัฒนาทักษะการจัดการการตลาด สามารถสร้างเนื้อหาที่น่าสนใจ เพื่อสื่อถึงกลุ่มเป้าหมายและเลือกใช้สื่อ เพื่อการประชาสัมพันธ์ในเชิงธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้วิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบการ สามารถใช้ทรัพยากร เอกลักษณ์ทางศิลปวัฒนธรรม และประเพณีประจำถิ่น พัฒนาให้มีมูลค่าเพิ่ม ส่งเสริมอาชีพและรายได้ที่มีความมั่นคงให้แก่ครัวเรือนประชาชน

ทั้งนี้ สกพอ.และกองทุนสื่อฯ จะมีการคัดเลือกชุมชนในพื้นที่เป็นชุมชนนำร่อง โดยจะมีการกำหนดแนวทางการพัฒนาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่ม พร้อมสนับสนุนการจัดทำสื่อการสอน และให้คำปรึกษาชุมชนดำเนินการประชาสัมพันธ์โครงการผ่านช่องทางออนไลน์ของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัย

จาก https://tna.mcot.net   วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2565

ชาวไร่ขอเงินหนุนตัดอ้อยสดต่อ เตรียมเข้าพบ‘สุริยะ’16มีนาคมนี้

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า วันที่ 16 มีนาคมนี้ตัวแทนจาก 4 องค์กรชาวไร่อ้อยประกอบด้วยสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน สหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และสมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทยจะเข้าพบนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรมเพื่อแสดงความขอบคุณที่ผลักดันโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดลดฝุ่นพิษ (PM2.5)ฤดูหีบปี 2563/64 ซึ่งสนับสนุน 120 บาทต่อตันและขอให้ดำเนินการในฤดูหีบปี 2564/65 ต่อเนื่องรวมทั้งจะหารือถึงอุปสรรคและภาพรวมของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย

สำหรับราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกขณะนี้ยังคงผันผวนสูงจากการสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครนเนื่องจากทำให้ระดับราคาน้ำมันดิบตลาดโลกสูงกว่า 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ทำให้บราซิลที่เป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลทรายอันดับ 1 ของโลกได้นำน้ำตาลไปผลิตเอทานอลมากขึ้นส่งผลให้ราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกขยับขึ้นจากเฉลี่ย 18 เซนต์ต่อปอนด์ โดยราคาส่งมอบเดือนมีนาคม 2566 อยู่ที่ 19.45 เซนต์ต่อปอนด์ ยังคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ส่วนการเปิดหีบอ้อยฤดูหีบปี 2564/65 ของ 57 โรงงานที่เริ่มทยอยตั้งแต่ 7 ธันวาคม 2564 จนถึงปัจจุบันมีผลผลิตอ้อยแล้วกว่า 84 ล้านตัน ล่าสุดโรงงานประมาณ 8-9 แห่ง ได้ปิดหีบแล้วที่เหลือส่วนใหญ่จะทยอยปิดจนถึงช่วงปลายเดือนมีนาคมนี้ เบื้องต้นคาดว่าปริมาณผลผลิตอ้อยทั้งหมดจะอยู่ที่ 87-88 ล้านตัน

จากปริมาณฝนที่มาเร็ว ประกอบกับโรงงานประกาศประกันรับซื้ออ้อยสดตั้งแต่ฤดูหีบปี 2565/66-2567/68 ในราคา 1,200 บาทต่อตันอ้อย ณ ค่าความหวาน12.63 ซี.ซี.เอส. รวมถึงราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกทรงตัวระดับสูง 18-19 เซนต์ต่อปอนด์ ทำให้ผลผลิตอ้อยของไทยในฤดูหีบปี 2565/66 มีโอกาสแตะระดับ 90-100 ล้านตันได้เช่นกัน โดยผลผลิตอ้อยของไทยเคยทำสถิติสูงสุดไว้ที่ 134.93 ในปี 2560/61

จาก https://www.naewna.com วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2565

จับตาราคาน้ำตาลตลาดโลกเริ่มขยับ ลุ้นผลผลิตอ้อยฤดูหีบปี 65/66 แตะ 100 ล้านตัน

จับตาราคาน้ำตาลตลาดโลกผันผวนหลังเหตุการณ์สู้รบรัสเซีย-ยูเครนดันน้ำมันพุ่งหนุนราคาน้ำตาลขยับตามแต่ยังไม่หวือหวา ขณะที่ฤดูหีบปี 2564/65 นับถอยหลังโรงงาน 8-9 แห่งปิดหีบแล้ว คาดส่วนใหญ่ปิดหีบภายในสิ้น มี.ค.นี้ คาดผลผลิตอ้อยเข้าหีบเฉียด 90 ล้านตัน ขณะที่ฤดูหีบปี 65/66 ฝนดี ราคาเอื้อ มีลุ้น 90-100 ล้านตัน 4 องค์กรชาวไร่อ้อยเล็งพบ "สุริยะ" 16 มี.ค.ขอสนับสนุนเงินตัดอ้อยสด

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกยังคงผันผวนสูงจากสถานการณ์การสู้รบในรัสเซียและยูเครนเนื่องจากทำให้ระดับราคาน้ำมันดิบตลาดโลกสูงกว่า 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งมีผลให้บราซิลที่เป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลทรายอันดับ 1 ของโลกได้มีการนำน้ำตาลไปผลิตเอทานอลมากขึ้น จึงส่งผลให้ราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกขยับขึ้นเล็กน้อยจากเฉลี่ย 18 เซ็นต์ต่อปอนด์ โดยราคาส่งมอบเดือน มี.ค. 2566 อยู่ที่ 19.45 เซ็นต์ต่อปอนด์ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวยังคงต้องติดตามใกล้ชิดว่าจะมีทิศทางอย่างไรแน่

สำหรับการเปิดหีบอ้อยฤดูหีบปี 2564/65 ของ 57 โรงงานที่เริ่มทยอยตั้งแต่ 7 ธ.ค. 64 จนถึงปัจจุบันมีผลผลิตอ้อยแล้วกว่า 84 ล้านตัน ซึ่งล่าสุดโรงงานประมาณ 8-9 แห่งได้ปิดหีบแล้ว ที่เหลือส่วนใหญ่จะทยอยปิดจนถึงช่วงปลายเดือน มี.ค.นี้จะเหลือเพียงบางแห่งในบางพื้นที่ เช่น อีสาน ภาคตะวันตก เนื่องจากเผชิญกับฝนตกต่อเนื่องทำให้การเก็บเกี่ยวล่าช้า ดังนั้นเบื้องต้นคาดว่าปริมาณผลผลิตอ้อยทั้งหมดจะอยู่ที่ประมาณ 87-88 ล้านตัน

“คาดว่าโรงงาน 90% จะปิดหีบสิ้นเดือนนี้จะมีบางส่วนที่ยังเหลืออยู่ โดยผลผลิตปีนี้ยอมรับว่าหากไม่มีปริมาณฝนตกบ่อยอาจจะได้สูงกว่านี้เพราะฝนที่ตกมาเร็วทำให้ค่าความหวานลดลงและมีผลต่อสิ่งเจือปน ภาพรวม ณ วันนี้จึงมองว่าอ้อยเข้าหีบน่าจะอยู่ราว 87-88 ล้านตันซึ่งหากเทียบกับฤดูหีบปี 2563/64 ซึ่งได้รับผลกระทบภัยแล้งค่อยข้างหนักมีผลผลิตอ้อยเพียง 66.66 ล้านตันก็นับว่าเริ่มกลับมาสู่ภาวะที่ปกติ” นายนราธิปกล่าว

อย่างไรก็ตาม ปริมาณฝนที่มาเร็ว ประกอบกับโรงงานประกาศประกันรับซื้ออ้อยสดตั้งแต่ฤดูหีบปี 2565/66-2567/68 ในราคา 1,200 บาทต่อตันอ้อย ณ ค่าความหวาน 12.63 ซีซีเอส รวมถึงราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกทรงตัวระดับสูง 18-19 เซ็นต์ต่อปอนด์ก็จะทำให้ผลผลิตอ้อยของไทยในฤดูหีบปี 2565/66 มีโอกาสที่จะแตะระดับ 90-100 ล้านตันได้เช่นกัน โดยผลผลิตอ้อยของไทยเคยทำสถิติสูงสุดไว้ที่ 134.93 ในปี 2560/61

นายนราธิปกล่าวว่า วันที่ 16 มีนาคมนี้ทางตัวแทนจาก 4 องค์กรชาวไร่อ้อย ประกอบด้วย สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน สหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และสมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทยจะเข้าพบนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อแสดงความขอบคุณที่ผลักดันโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดลดฝุ่นพิษ(PM2.5) ฤดูหีบปี 2563/64 ซึ่งสนับสนุน 120 บาทต่อตันและขอให้ดำเนินการในฤดูหีบปี 64/65 ต่อเนื่อง นอกจากนี้จะหารือถึงอุปสรรคและภาพรวมของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายอีกด้วย

จาก https://mgronline.com  วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2565

'พล.อ.ประวิตร'เร่งขับเคลื่อนแผนทรัพยากรน้ำ แก้ปัญหาภัยพิบัติน้ำทั้งระบบ

‘พล.อ.ประวิตร’ เร่งกนช. ขับเคลื่อนแผนทรัพยากรน้ำ 5 ปี แก้ปัญหาภัยพิบัติน้ำทั้งระบบ ช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ปชช.

14 มีนาคม 2565 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 1/2565 ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยมี ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะเลขานุการกนช. และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม เพื่อพิจารณากลั่นกรองมาตรการแผนงานโครงการด้านน้ำก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบ ได้แก่ 13 มาตรการรองรับสถานการณ์ฤดูฝน ปี 2565 โดยเน้นมาตรการในเชิงป้องกัน บรรเทา ที่สามารถช่วยแก้ไขและบรรเทาปัญหาอุทกภัยให้แก่ประชาชนได้ทันท่วงทีและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงเห็นชอบโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2565 และการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้ง ปี 2565/2566 ในพื้นที่เป้าหมายที่เป็นพื้นที่เสี่ยงเกิดอุทกภัยที่มีความจำเป็นต้องดำเนินการแก้ไข บรรเทาปัญหาโดยเร่งด่วนแต่ยังไม่มีงบประมาณรองรับ โดยมอบ สทนช.ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการที่จำเป็นเร่งด่วนต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ และสอดคล้องกับมาตรการรับมือฤดูฝนตามที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) กำหนด โดยมีแผนงานโครงการที่ประกอบด้วย 1) การซ่อมแซม/ปรับปรุงอาคารชลศาสตร์ 2) การปรับปรุง แก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ และกำจัดผักตบชวา 3) การขุดลอกคูคลอง 4) การเตรียมพร้อมวางแผนเครื่องจักรเครื่องมือ และ 5) การเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเพื่อเก็บกักไว้ใช้ช่วงฤดูแล้ง ทั้งนี้ โครงการที่จะดำเนินการ หน่วยงานจะต้องนำเสนอผ่านคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดนั้น ๆ เป็นประธาน ก่อนเสนอ สทนช. รวบรวม วิเคราะห์ประสิทธิภาพผลของโครงการและความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อนำเสนอ ครม. พิจารณาสนับสนุนงบประมาณต่อไป

พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า นอกจากนี้ที่ประชุมได้เห็นชอบปฏิทินการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฉบับปรับปรุง เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้เป็นกรอบแนวทางร่วมกันในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำช่วงฤดูฝนและฤดูแล้งได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันต่อสถานการณ์ รวมทั้งเห็นชอบโครงการบำบัดน้ำเสียมีนบุรี ระยะที่ 2 ระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี (ปี 2566-2569) เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียในคลองต่างๆ ในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร เช่น คลองแสนแสบ คลองสามวา และคลองสองต้นนุ่น ในเขตมีนบุรี เขตคลองสามวา เขตคันนายาว และเขตสะพานสูง โดยมอบให้กรุงเทพมหานครเตรียมความพร้อมโครงการให้สามารถดำเนินการได้ทันทีเมื่อได้รับการจัดสรรงบประมาณ ส่วนโครงการบำบัดน้ำเสียในพื้นที่อื่นๆ ให้ดำเนินการให้เป็นไปตามแผนเพื่อเร่งฟื้นฟูสภาพคลองแสนแสบให้กลับมามีระบบนิเวศอยู่ในเกณฑ์ดีโดยเร็ว

ทั้งนี้ ที่ประชุม กนช. โดยดร.สุรสีห์ เลขา สทนช. ได้รายงานแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) และ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566  โดย พล.อ. ประวิตร กำชับให้ทุกหน่วยงานพิจารณาเสนอโครงการให้สอดคล้องกับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี จากทุกแหล่งงบประมาณ ผ่านระบบ Thai Water Plan ให้ครบถ้วน เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ขณะเดียวกัน ยังเห็นชอบแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยในระยะสั้น ให้มีการปรับปรุงหน้าที่และอำนาจของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ( กอนช.) ให้เกิดการบูรณาการ เชื่อมโยงข้อมูลสารสนเทศทรัพยากรน้ำจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมเห็นชอบกรอบการศึกษานวัตกรรมเชิงระบบ โครงสร้าง กลไก เพื่อรองรับระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระยะยาว ให้เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561

จาก https://www.naewna.com วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2565

ผวา ปุ๋ยโลกขาดตลาด ร้อง FAO ทบทวนผลกระทบ “ปูติน” ห้ามส่งออก

5 ประเทศ อเมริกาใต้ ร้อง FAO ทบทวนผลกระทบ หลัง “ปูติน” ห้ามส่งออกปุ๋ย ผลพวง ชาติตะวันตกคว่ำบาตรเบลารุส ผู้ผลิตโปแตช ลำดับที่2 ของโลก โดนพิษสงคราม ผวาปุ๋ยโลกขาดตลาด กระทบความมั่นคงอาหาร รัฐสภาสหรัฐฯ ไฟเขียวกฎหมายให้เงินช่วยเหลือยูเครนเป็นการฉุกเฉิน 1.36 หมื่นล้านดอลลาร์

แหล่งข่าววงการค้าพืชเกษตร เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึง  สถานการณ์ตลาดชิคาโก หรือ Chicago Mercantile Exchang (CME) และ Chicago Board of Trade  (CBOT)   ณ วันศุกร์ที่ 11 มีนาคม 2565 อัพเดท สงครามที่รัสเซียบุกยูเครนผ่านมา 15 วันแล้ว จีนประกาสหนุนให้มีการเจรจาในรอบที่ 5 ขณะที่ "รัฐสภา" สหรัฐฯ ผ่านกฎหมายให้เงินช่วยเหลือยูเครนเป็นการฉุกเฉินในด้านการทารและด้านมนุษยธรรม  1.36 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือ ประมาณ 450,000 ล้านบาท  หลังจากค้างการพิจารณในสภาคองเกรสมาหลายเดือน

ส่วน 5 ประเทศในทวีปอเมริกาใต้ประกอบด้ว ยบราซิล (ผู้ใช้ปุ๋ยมากเป็นลำดับที่ 4 ของโลก) อาร์เจนดินา โบลิเวย ชิลี ปารากวัย และรุกวัย ยื่นเรื่องเสนอให้องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาติ (FAO) ทบทวนถึงผลกระทบจากการที่รัสเซียสั่งยกเลิกส่งออกปุ้ยเคมี และจากการที่ชาติตะวันตกคว่ำบาตรเบลารุส (ผู้ผลิตโปแตสลำดับที่2 ของโลก) ในฐานะที่สนับสนุนรัสเซีย, ฝนตกกำลังต่อเนื่องหลายวันในบราซิลซึ่งจะมีผลกระทบด่อราคาข้าวโพดและถั่วเหลือง

ข้าวโพด: สัญญาขยับขึ้นปิดบวกต่อขานรับข้อมูลยอดขายส่งออกในสัปดาห์ที่แล้วที่ 2,143,700 ตันทำสถิติสูงสุดในปี 2021/22 แม้จะมีข่าวฝนตกในพื้นที่ปลูกของทวีปอเมริกาใต้, วันนี้ภาคเอกชนขายข้าวโพด 5.1ล้านบุชเชลให้ผู้ซื้อที่ไม่ระบุชื่อประเทศ ส่งมอบในปี 2021/22 นี้

ถั่วเหลือง: สัญญาพลิกร่วงลงสู่แดนลบ ด้วยนักลงทุนชั่งน้ำหนักระหว่างข่าวที่วันนี้ภาคเอกชนขายถั่วเหลืองให้จีน 9.7 ล้านบุชเซล ส่งมอบปีหน้า 2022/23 กับข่าวฝนตกต่อเนื่องในทวีปอเมริกาใต้, นำน้ำมันถั่วเหลืองจากคลังสำรอง 60,000 ต้นออกมาให้ภาคเอกชนประมูลซื้อไปใช้ และ SINOGRAIN ประกาศจะเปิดประมูลขายเมล็ดถั่วเหลือง 10.9 ล้านบุชเชลในวันจันทร์ที่ 14 มี.ค.นี้

ข้าวสาลี: สัญญาขยับขึ้นปีดบวกได้เป็นครั้งแรกในรอบ 4 วันทำการ แม้ตลาดค่อนข้างจะผิดหวังกับยอดขายส่งออกข้าวสาในสัปดาห์ที่แล้วที่ผู้ซื้อจากต่างประเทศเมินเฉยต่อข้าวสาลีของสหรัฐด้วยมีราคาที่แพงเกินไป ขณะที่ยูเครนทำการส่งออกเมล็ดธัญพืชทางรางผ่านประเทศที่มีชายแดนติดต่อกันในทิศตะวันตก โดยคาดว่าจะส่งออกได้ 22 ล้านบุชเชลจากเวลาปกติที่เคยส่ง 184 ล้านบุชเชลผ่านท่าเรือในทะเลดำ

เงินดอลลาร์แข็งคำขึ้นเทียบเงินสกุลหลักในตลาดปรวรรตเงิตรานิวยอร์ก ในรานะสกุลเงินที่ปลอดภัยหลังจากการเจรจารอบที่ 4 ของรัสเซีย-ยุเครนไม่ประสบผลสำเร็จ อีกทั้งข้อมูลเศรษฐกิจที่พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐในเดือน มี.ค.ปรับตัวลงสุระดับ 59.7 จากระดับ62.8 ในเดือน ก.พ. และลดลงจากที่คาดกรณ์ก่อนหน้านี้ว่าดัชนีความเชื่อมั่นของเดือน มี.ค.อาจอยู่ที่ระดับ 61.4,

ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอาย 10 ปี ด๊ดตัวสู่ระดับ 2.016% แต่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอาย 30 ปี ปรับตัวลงเล็กน้อยสู่ระดับ 2.392% ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 32,944.19 จด ลดลง -229.88 จด หรือ -0.69%, ด้ชนี S&P500 ปิดที่ 4,204.31 จุด ลดลง - 55.21  จุด หรือ -1.30% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 12,843.81 จุด ลดลง -286.16 จด หรือ - 2.18% ด้ชะนีตลาดหุ้นร่วงลงยกกระดานต่อจากเมื่อวานนี้ด้วยกังวลต่อความขัดแย้งระหว่างรัสเย-ยูเครนที่ไม่การเจรจารอบที่ 4 ที่ตุรกีประสบผลสำเร็จ

สัปดาห์หน้าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ( FOMC) ในว้นที่ 15-16 ซึ่งคาดว่าจะมีการขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกที่ 0.25% สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน เม.ย.พุงขึ้น +3.31 ดอลลาร์ หรือ 3.1 ปิดที่ 109.33 ดอลลาร์/บาร์เรล สัญญาน้ำมันดิบ WTI พลิกพุ่ง

อีกทั้งการทำช้อตกลงด้านขึ้นปิดบวกหลังจากชาติกลุ่มอุตสาหกรมหอ G7 เสนอลดการงพาน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียนิวเคลียร์กับอิหร่านเกิดการสะดุดลง ทำให้ในรอบสัปดาห์นี้ น้ำมันดิบมีราคาลดลง 5.5%, เช่นเดียวกับสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือน พ.ค.พุ่งขึ้น + 3.34 ดอลลาร์ หรือ 3.1% ปิดที่ 112.67 ดอลลาร์/บาร์เรล โดยในรอบสัปดาห์นี้มีราคาลดลง 4.6%

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange Market) ส่งมอบเดือน เม.ย.ลดลง - 15.4 ดอลลาร์ หรือ 0.77% ปิดที่ 1,985 ดอลลาร์/ออนซ์ เงินดอลลาร์ที่แข็งคำขึ้นบวกกับ ปธน.ปูติน แถลงว่ามีความคืบหน้าในการเรจาระหว่างรัสเชีย-ยูเครน ส่งผลให้ทองคำอ่อนค่าลง แต่ในรอบสัปดาห์นี้สัญญาทองคำขยับตัวขึ้น 0.9%

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2565

ส.อ.ท.-กฟภ. นำร่องใช้พลังงานสะอาดผลิตสินค้าส่งออกแก้ปัญหากติกาโลกใหม่

ส.อ.ท.-กฟภ. นำร่องใช้พลังงานสะอาดผลิตสินค้าส่งออกแก้ปัญหากติกาโลกใหม่ ลดต้นทุนสู้แข่งขัน เชื่อมต่อแพลตฟอร์ม ส.อ.ท. ใช้เป็นต้นแบบการพัฒนาเทคโนโลยี และการประยุกต์ใช้พลังงานสะอาด

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ กฟภ. (PEA) จัดทำโครงการนำร่องการพัฒนาทางด้านพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy: RE) และ Carbon Credit เพื่อจัดทำฐานข้อมูลและการรับรองการผลิตไฟฟ้า RE และ Carbon Credit

โดยเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์ม (Platform) ของ ส.อ.ท. เพื่อให้สามารถใช้เป็นต้นแบบตามแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยี และการประยุกต์ใช้ RE

ตลอดจนขยายผลการศึกษาและการพัฒนาไปสู่โครงการอื่นๆ ต่อไป เช่น โครงการ ERC Sandbox ระยะที่ 2 ในการตอบโจทย์และแก้ไขปัญหาของการค้าการส่งออกของประเทศไทย

 ทั้งนี้ ต้นทุนค่าไฟฟ้าของระบบพลังงานหมุนเวียนที่ลดลง ส่งผลให้ผู้ใช้ไฟฟ้ามีความต้องการที่จะใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น

อีกทั้งธุรกิจพลังงานไฟฟ้ารูปแบบใหม่ยังถูกพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาทิเช่น การเกิดขึ้นของตลาดคาร์บอนเครดิต และการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในรูปแบบใหม่

"ภาครัฐและเอกชนควรที่จะต้องเตรียมตัวให้พร้อม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศให้สอดคล้องกับกติกาโลกใหม่ และบรรลุเป้าหมายการขับเคลื่อนพลังงานทดแทน ให้มีสัดส่วน 30% ของพลังงานไฟฟ้าทั้งประเทศภายในปี 2030 รวมถึงเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2065 ด้วยเหตุดังกล่าวจึงเป็นที่มาของความร่วมมือครั้งดังกล่าวนี้"

นายศุภชัย เอกอุ่น ผู้ว่าการ PEA กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีด้านพลังงานมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วการศึกษาพัฒนาโครงการนําร่องด้านพลังงานหมุนเวียน โดยการจัดทําฐานข้อมูล การรับรอง การผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน

และ Carbon Credit โดยการนําระบบแพลตฟอร์มมาบูรณาการ เพื่อใช้เป็นต้นแบบตามแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีและการประยุกต์ใช้พลังงานทดแทน

รวมถึงการขยายผลการศึกษาไปสู่โครงการอื่น ๆ จะช่วยให้ภาพรวมของประเทศไทย มีศักยภาพ ด้านการผลิต และการให้บริการด้านพลังงานสูงขึ้น โดยการร่วมมือระหว่าง กฟภ. กับ ส.อ.ท. ซึ่งเป็นองค์กรที่เป็นตัวแทนของภาคอุตสาหกรรมเอกชนของประเทศไทยที่มีบทบาททางด้านการส่งเสริมและพัฒนาการประกอบอุตสาหกรรมชั้นนำของผู้ประกอบการทั้งภายในและต่างประเทศ

จึงถือเป็นโอกาสที่ดีของทั้ง 2 หน่วยงานในการร่วมกันแสวงหาแนวทางในการศึกษาและสร้างนวัตกรรมใหม่ที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติในอนาคต

นายสุวิทย์ ธรณินทร์พานิช ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน และประธานคณะทำงานส่งเสริมและสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจกของภาคอุตสาหกรรม ได้จัดทำสรุปรายงานเรื่องนี้ว่า ส.อ.ท. ได้เล็งเห็นถึงความเดือดร้อนของผู้ประกอบการไทยทั้งภาคการผลิตและภาคการค้าที่กำลังจะประสบปัญหากลไกด้านสิ่งแวดล้อมแบบ Non-Tariff Barrier ที่ส่งผลให้ความต้องการการใช้พลังงานหมุนเวียนในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมาก

เกิดธุรกิจพลังงานไฟฟ้ารูปแบบใหม่ที่มีความหลากหลาย และยังมีความท้าทายที่ต้องการการสนับสนุนจากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน การที่ ส.อ.ท. ได้ร่วมมือกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในครั้งนี้ผ่านโครงการ ERC Sandbox ระยะที่ 2 ที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานได้ริเริ่มสนับสนุนและผ่อนคลายกฎระเบียบให้ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถซื้อขายไฟฟ้าข้ามสายส่ง

และเปิดการอนุญาตทดลองกติการูปแบบใหม่ ๆ เพื่อทดลองแนวทางที่เหมาะสมที่สามารถผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันกับธุรกิจต่างประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถของประเทศให้สอดคล้องกับความต้องการของสากล โดยเป็นการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่ยุคสังคมคาร์บอนต่ำ

นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า โครงการ ERC Sandbox ระยะที่ 2 มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้เกิดการทดสอบทางเทคโนโลยีด้านพลังงานในสภาพแวดล้อมของการใช้งานจริงในพื้นที่และขนาดที่จำกัด

อีกทั้งเพื่อกำหนดแนวทางการกำกับดูแลการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ทั้งในรูปแบบเปิดกว้างและแบบมุ่งเป้าในด้าน Green Innovation และ Green Regulation โดยจะทำให้เกิดการพัฒนารูปแบบธุรกิจการให้บริการทางด้านพลังงานรูปแบบใหม่ ที่จะนำไปสู่การเพิ่มทางเลือกและช่องทางการเข้าถึงบริการด้านพลังงาน ประชาชนได้ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดมากขึ้นในราคาที่เหมาะสม

นายกิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้กล่าวถึงนโยบายของ สอวช. และการสนับสนุนการอบรมให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการโดยแบ่งเป็น 6 หลักสูตรคือ

Design Principle: Passive & Active Design

Energy Efficiency

Renewable Energy

3R + 1W + 1C

Carbon Credit Certificate

Carbon Credit/RE Platform ซึ่งคาดว่าจะเริ่มต้นในเดือนพฤษภาคม 2565

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2565

ศูนย์บ่มเพาะ EEC: การบูรณาการ คือโจทย์ใหญ่

ในช่วงนี้ที่ประเทศกำลังเดินกลับสู่ภาวะหลังโควิด เราก็จะเห็นความพยายามของสำนักงานเลขาธิการ EEC (สกพอ.) ที่พยายามจะทำให้ EEC ยังอยู่ในกระแสและเดินต่อไปโดยไม่ให้หลุดจากความสนใจของนักลงทุน

แม้ว่าจะซา ๆ ลงไปบางหลังจากเรื่องโครงการสาธารณูปโภคหลัก ๆ มีผู้รับผิดชอบและลงทุนแล้ว ทำให้ข่าวคราวแบบปัง ๆ ไม่ค่อยมีมาให้ตื่นเต้น ทั้งนี้ไม่นับเรื่องโครงการเครือข่ายท่อส่งน้ำมูลค่า 25,000 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 30 ปีซึ่งขณะนี้ยังเป็นประเด็นกันอยู่ว่าใครจะได้โครงการไปทำ ทะแม่ง ไม่ทะแม่ง อย่างไรก็ติดตามกันต่อไป แต่อยากให้ทราบทั่วกันว่า “น้ำ” คือปัจจัยความอยู่รอดที่สำคัญที่สุดของ EEC

แม้ว่า ข่าวคราวจะเบา ๆ ลง แต่ก็ไม่ถึงกับเงียบ สกพอ. ก็ยังพยายามเก็บตกทุกเม็ดในงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ หรือเรื่องใหญ่ เก็บทุกเม็ดจริง ๆ แต่ดู ๆ แล้วยังเดินไปอย่างช้า ๆ

ส่วนที่สะดุดความสนใจของผม คือ การสร้างศูนย์พัฒนาธุรกิจชุมชน หรือ EEC Incubation center ที่จะเป็นการลงทุนร่วมระหว่างกองทุนหมู่บ้านและ EEC ในการช่วยสารพัดเรื่องกับวิสาหกิจขุมชน เช่น การศึกษาวิจัย การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน การพัฒนาคุณภาพบรรจุภัณฑ์ รวมถึงการพัฒนาบุคลากร ฯลฯ และวางเป้าหมายไว้น่าตื่นตาตื่นใจ เช่น ยอดขายสินค้าชุมชนเพิ่มไม่ต่ำกว่า 30% ผลักดัน GDP ระดับชุมชนเพิ่ม 20% เศรษฐกิจชุมชนประสบความสำเร็จเพิ่มขึ้น 20% ฯลฯ เพียงแต่ผมไม่รู้ว่าทำอย่างไร มากน้อยเพียงใด แต่ผมเชื่อว่าศูนย์พัฒนาวิสาหกิจชุมชนนี้น่าจะเป็นเครื่องมือสำคัญ และหากทำได้ สร้างขึ้นมาได้และทำงานได้ครอบคลุม ผมว่านั้นคือ สิ่งที่ SME และวิสาหกิจชุมชนถวิลหามานาน

ศูนย์การบ่มเพาะของประเทศต่าง ๆ ในการพัฒนาเอสเอ็มอีในแต่ละพื้นที่นั้นมักจะมีศูนย์บ่มเพาะที่มีอุปกรณ์สำหรับการทำธุรกิจที่พร้อม เครื่องไม้เครื่องมือเหล่านี้ต้องลงทุนพอสมควร จะให้ SME แต่ละรายลงทุนนั้นยาก เพราะไม่คุ้มทุนดังนั้นศูนย์เหล่านี้ลงทุนโดยรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น และมีหน่วยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในระดับต่าง ๆ ทำหน้าที่ร่วมกันเป็นระบบแบบส่งต่อในพื้นที่ เลยทำให้ SME หรือวิสาหกิจชุมชนสามารถเข้าถึงได้ง่ายในพื้นที่ของตนเอง

ในประเทศไทยนั้นมีการจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะ SME และวิสาหกิจชุมชนหลายแห่ง เช่น ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมตั้งอยู่ทุกภาคของประเทศหมด 10 กว่าแห่ง มีพื้นที่ มีอาคารที่ให้ SME สามารถเช่าพื้นที่เพื่อตั้งที่ทำงาน และมีการให้บริการเครื่องจักรในการผลิตในบางส่วน ซึ่งมันช่วยให้เอสเอ็มอีหรือผู้ประกอบการรายใหม่สามารถเกิดและเติบโตขึ้นมาได้ และเมื่อเข้าตลาดได้แล้วก็จะแยกตัวออกไปและลงทุนซึ่งก็จะมีธนาคาร SME Bank สนับสนุนต่อไป และยิ่งในปัจจุบันหน่วยงานของรัฐหลายหน่วยงานพยายามตั้งศูนย์เหล่านี้ อาทิ Industrial Transformation Center (ITC) ของกระทรวงอุตสาหกรรมหรือ AIC ของกระทรวงเกษตร หรือศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานของกระทรวงแรงงาน รวมถึงศูนย์ต่าง ๆ ที่มีทั้งโรงงานทดลอง ห้อง lab ที่กระจายอยู่ในมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชนทุกภูมิภาคที่ ครม. ได้มอบงบประมาณผ่านกระทรวงอุดมศึกษ วิทยาศาสตร์และวิจัย ลงไปที่มหาวิทยาลัยของรัฐในภูมิภาคต่าง ๆ ซึ่งส่วนมากเป็นการสร้างศูนย์พัฒนาฯ ซึ่งจะมีพวกเครื่องมือ เครื่องจักร โรงงานจำลอง เครื่องมือทดสอบ เครื่องจักรในการผลิตเพื่อออกแบบทดลองการผลิตต่าง ๆ รวมถึงการให้บริการในการสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ใหม่ให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่ ซึ่งผมว่าวันนี้ หากรวมสิ่งทั้งหมดเหล่านี้เข้าด้วยกันน่าจะช่วย EEC ได้มาก แต่ต้องสร้างระบบการทำงานอย่างบูรณาการ

ดังนั้นงานสำหรับการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ EEC โจทย์ใหญ่ของ สกพอ. ไม่น่าใช่การสร้างศูนย์บ่มเพาะหรือศูนย์พัฒนาฯ ที่เต็มไปด้วยเครื่องไม้เครื่องมือ แต่ต้องการคนที่มีวิสัยทัศน์คนที่เข้าใจบริบทของการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ทำหน้าที่การพัฒนาผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่นั้น เพื่อสร้างระบบการประสานงานให้เกิดการบูรณาการตั้งแต่ต้นทางในการเริ่มธุรกิจ วิจัยพัฒนา การผลิต

การบริหารจัดการ จนถึงการตลาด ที่มีระบบการส่งต่อความช่วยเหลือสนับสนุนที่มีประสิทธิภาพ โดยร่วมมือกับภาคเอกชนรายใหญ่ใหญ่ในพื้นที่แล้ว ผมคิดว่าน่าจะดีกว่าที่จะต้องมาตั้งงบประมาณใหม่สร้างพื้นที่ขนาดใหญ่และต้องรอไปอีกสองสามปีกว่าจะเสร็จ และเสร็จแล้วช่วยได้ไม่กี่ราย ผมเชื่อว่าวันนี้ EEC มีสิ่งเหล่านี้มานานแล้ว แต่รอคนที่เป็นแกนกลางในการมองภาพรวมของการบ่มเพาะผู้ประกอบการขนาดเล็กและวิสาหกิจชุมชนเพื่อความสมบูรณ์ของการสนับสนุนอย่างมีประสิทธิภาพและผมเชื่อว่างานนี้ สกพอ. ทำได้และน่าจะทำได้ดีด้วย

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2565

นายกฯห่วงวิกฤตรัสเซียยืดเยื้อทำปุ๋ย-อาหารสัตว์แพง

นายกฯห่วงวิกฤตรัสเซีย-ยูเครนยืดเยื้อ ทำปุ๋ยและอาหารสัตว์ราคาแพง กำชับพาณิชย์ เกษตรฯ ติดตามระดับราคาซื้อ-ขายในประเทศ กระจายแหล่งนำเข้าวัตถุดิบ

 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ห่วงสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ได้ส่งผลต่อระบบการค้าโลกแล้ว โดยราคาน้ำมัน สินค้าโภคภัณฑ์และสินแร่ที่มีการซื้อขายระหว่างประเทศพุ่งสูงขึ้นในระยะเวลาอันรวดเร็ว และหากสถานการณ์ยังคงยืดเยื้อ จะยิ่งทำให้การค้าโลกมีข้อจำกัดมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะปุ๋ยและวัตถุดิบอาหารสัตว์ อาทิ ข้าวสาลี และข้าวโพด จะมีราคาเพิ่มขึ้นอีกเพราะรัสเซียและยูเครนเป็นแหล่งผลิตที่สำคัญ

ขณะที่ ไทยยังต้องนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์และปุ๋ยจากต่างประเทศเป็นหลัก ประกอบกับราคาน้ำมันซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญในการขนส่งสินค้าปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ปุ๋ยในประเทศมีราคาแพง ตั้งแต่ช่วงปลายปี 64 ถึงปี 65 ซึ่งขณะนี้ นายกรัฐมนตรีได้กำชับทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งแก้ปัญหา ทั้งติดตามระดับราคาอาหารสัตว์และปุ๋ยให้ขึ้น-ลงสอดคล้องกับสัดส่วนต้นทุนที่แท้จริง ไม่ให้มีการกักตุน ฉวยโอกาสขึ้นราคา ขณะเดียวกันก็ให้เร่งกระจายการนำเข้าวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยและอาหารสัตว์จากแหล่งนำเข้าอื่นๆ เพิ่มเติม รวมทั้งใช้มาตรการอื่นในการอำนวยความสะดวกและแก้ไขปัญหา ลดอุปสรรคการผลิต การนำเข้า เพื่อลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการและเกษตรกรด้วยในปี 2564 ไทยนำเข้าปุ๋ยเคมีจาก 45 ประเทศ ปริมาณ 5,520,883 ตัน คิดเป็นมูลค่า 70,103 ล้านบาท โดยรัสเซียนำเข้า 4.4 แสนตัน คิดเป็นมูลค่า 5,604 ล้านบาท สัดส่วน 8.06%

ทั้งนี้ ปุ๋ยเคมี และอาหารสัตว์ เป็นสินค้าควบคุมตามพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ หากจะมีการปรับราคา กระทรวงพาณิชย์จะต้องพิจารณาคำร้องของผู้ประกอบการก่อน ซึ่งขณะนี้ กระทรวงพาณิชน์แจ้งว่า ยังไม่มีใครทำเรื่องขอปรับราคาอย่างเป็นทางการ

นายกรัฐมนตรี ได้เตรียมมาตรการและแนวทางรับมือผลกระทบตั้งแต่มีความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ก่อนที่จะพัฒนาเป็นวิกฤตสงคราม และนำเข้าหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมาเป็นระยะ โดยอะไรที่อยู่ในอำนาจหรือกฎหมายที่รัฐบาลสามารถผ่อนผันได้ ก็เร่งดำเนินการทันที เช่น กระทรวงการคลังใช้มาตรการทางภาษี ลดภาษีสรรพสามิต กระทรวงพลังงาน ดูแลราคาพลังงาน ตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาท/ลิตร กระทรวงพาณิชย์ กำกับราคาเนื้อสัตว์และอาหาร สินค้าจำเป็น เป็นต้น

ทั้งนี้ หากภาวะสงครามยุติเร็ว คาดว่าราคาสินค้าและน้ำมันจะกลับเข้าสู่กลไกตลาด แต่หากสถานการณ์ยืดเยื้อ รัฐบาลก็ได้เตรียมมาตรการอื่นๆ ไว้แล้ว เพื่อบรรเทาภาระพี่น้องเกษตรกร ผู้ประกอบการ และประชาชนให้มากที่สุดด้วย

จาก https://www.innnews.co.th   วันที่ 11 มีนาคม 2565

สอท.ดัชนีเชื่อมั่นอุตฯก.พ.ลดลงแตะ86.7

สอท. เผย ดัชนีเชื่อมั่นอุตฯเดือนก.พ. ปรับลดลงแตะ 86.7แนะรัฐบาลยกเลิกมาตรการTest&Go ตรึงราคาพลังงาน ติดตามผลรัสเซียยูเครนใกล้ชิด

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. เปิดเผยว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัว ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 86.7 ซึ่งมีปัจจัยมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทำให้ภาครัฐยกระดับการเตือนภัย ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและความต้องการในประเทศชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้า

นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังเผชิญปัญหาต้นทุนการผลิตสินค้าปรับตัวสูงขึ้นจากราคาวัตถุดิบราคาพลังงานที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูงตามทิศทางราคาในตลาดโลกรวมถึงต้นทุนค่าขนส่งสินค้า ในด้านการส่งออกผู้ประกอบการเผชิญความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนส่งผลกระทบต่อราคาสินค้านำเข้า นอกจากนี้ปัญหาข้อพิพาทระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่งผลให้เศรษฐกิจการค้าโลกมีความไม่แน่นอน

โดยข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ คือต้องเตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุข เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน ยกเลิกมาตรการ Test & Go โดยให้ผู้เดินทางเข้าประเทศแสดงวัคซีนพาสปอร์ตแทนก่อนเข้าประเทศ พร้อมทั้งจัดให้มีระบบตรวจติดตามผู้เดินทางเข้าประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ และเสริมสร้างบรรยากาศด้านการท่องเที่ยวของไทย และออกมาตรการดูแลราคาพลังงาน โดยขอให้มีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างภาครัฐ-เอกชน เพื่อติดตามและประเมินสถานการณ์วิกฤตรัสเซีย-ยูเครน รวมทั้งหามาตรการบรรเทาผลกระทบให้แก่ผู้ประกอบการด้านการค้าอย่างมีศักยภาพ

จาก https://www.innnews.co.th  วันที่ 10 มีนาคม 2565

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “แข็งค่า”ที่ระดับ  33.00 บาท/ดอลลาร์

ค่าเงินบาท เริ่มกลับมาแข็งค่าขึ้นได้บ้าง หลังตลาดเริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ทำให้ ผู้เล่นต่างชาติที่รอเก็งกำไรการแข็งค่าของเงินบาทจากธีม Reopening & Recovery สามารถทยอยเปิดสถานะเก็งกำไรมากขึ้นได้ แนะจับตาแรงซื้อสุทธิบอนด์ระยะสั้น

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.00 บาทต่อดอลลาร์แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.06 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน  พานิชพิบูลย์   นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทยระบุว่าสำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า การอ่อนค่าของเงินบาทอาจชะลอลงและเงินบาทอาจเริ่มกลับมาแข็งค่าขึ้นได้บ้าง หลังตลาดเริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น

ทำให้ ผู้เล่นต่างชาติที่รอเก็งกำไรการแข็งค่าของเงินบาทจากธีม Reopening & Recovery สามารถทยอยเปิดสถานะเก็งกำไรมากขึ้นได้ ซึ่งต้องจับตาแรงซื้อสุทธิบอนด์ระยะสั้น ว่าจะเริ่มกลับมามากขึ้นหรือไม่ นอกจากนี้ เงินบาทอาจได้แรงหนุนจากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำย่อตัวลงต่อเนื่อง

ดังนั้น หากตลาดไม่ได้ปิดรับความเสี่ยงอย่างหนัก เรามองว่า การอ่อนค่าของเงินบาทจะเริ่มจำกัดและเงินบาทจะเริ่มแกว่งตัว sideways โดยมีแนวต้านใกล้โซน 33.30 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเริ่มเห็นบรรดาผู้ส่งออกมารอขายเงินดอลลาร์ในช่วงดังกล่าว

ส่วนแนวรับสำคัญ จะอยู่ในช่วง 32.80-33.00 บาทต่อดอลลาร์ โดยฝั่งผู้นำเข้าได้ทยอยปิดความเสี่ยงค่าเงินไปมากแล้ว ทำให้ผู้นำเข้าส่วนใหญ่ยังมองว่าสามารถรอจังหวะเพื่อซื้อเงินดอลลาร์ได้ หากไม่มีความจำเป็น

อย่างไรก็ดี สภาวะสงครามที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูงอาจกดดันให้ตลาดพลิกกลับไปปิดรับความเสี่ยงและผันผวนหนักได้ทุกเมื่อ ซึ่งเรามองว่า ภาพดังกล่าวจะทำให้เงินบาทอาจผันผวนในกรอบที่กว้างกว่าช่วงปกติได้ ทำให้การปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนควรจะต้องมีการใช้เครื่องมือที่หลากหลายมากขึ้น อาทิ การใช้ Option 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.85-33.10 บาท/ดอลลาร์

ผู้เล่นในตลาดการเงินเริ่มกล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ท่ามกลางความหวังว่าการเจรจาเพื่อยุติสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนจะมีความคืบหน้ามากขึ้น อย่างไรก็ดี เรามองว่า การเจรจานั้นเกิดขึ้นไปพร้อมกับการสู้รบเพื่อชิงความได้เปรียบบนโต๊ะเจรจา ทำให้ตลาดการเงินยังมีโอกาสที่จะผันผวนสูงต่อในระยะสั้น ขณะเดียวกันมาตรการคว่ำบาตรจากฝั่งตะวันตกต่อรัสเซียยังคงมีอยู่และยังสามารถสร้างผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

ทั้งนี้ แนวโน้มการเจรจายุติสงครามที่มีความคืบหน้ามากขึ้น หลังผู้นำยูเครนเริ่มเห็นด้วยกับเงื่อนไขของรัสเซียที่ต้องการให้ยูเครนเป็นกลางและไม่เข้าร่วมกับพันธมิตรใดๆ ทำให้ผู้เล่นในตลาดเร่งกลับเข้ามา buy on dip สินทรัพย์เสี่ยง หนุนให้ในฝั่งสหรัฐฯ ดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้นกว่า +2.57% ส่วนดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ก็พุ่งขึ้นกว่า +3.59%

ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป พลิกกลับมาพุ่งขึ้นถึง +7.44% หนุนโดยแรงซื้อหุ้นที่ปรับตัวลงแรงในช่วงที่ผ่านมา อาทิ กลุ่มการเงิน ING +11.7%, Intesa Sanpaolo +11.1% ขณะเดียวกัน หุ้น Cyclical อื่นๆ อาทิ กลุ่มยานยนต์ก็พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นแรง Volkswagen +10.1%

รวมถึงหุ้นกลุ่มเทคฯ ก็ปรับตัวขึ้นได้ดีเช่นกัน ทั้งนี้ เราคงแนะนำให้ wait and see รอสัญญาณเชิงเทคนิคัลยืนยันการกลับตัวที่ชัดเจนก่อน อีกทั้งสถานการณ์สงครามและการเจรจาก็ยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง

ส่วนทางด้านฝั่งตลาดบอนด์ ผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรสินทรัพย์ปลอดภัยเพิ่มขึ้น จากความหวังว่าสงครามอาจยุติลงได้ในระยะสั้น ทำให้โดยรวมบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 1.95% สอดคล้องกับมุมมองของเราที่มองว่า เมื่อตลาดกล้ากลับมาเปิดรับความเสี่ยง บอนด์ยีลด์ระยะยาวก็จะสามารถทยอยปรับตัวสูงขึ้นได้

นอกจากนี้ ท่าทีของเฟดที่จะเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะการปรับลดงบดุล จะสามารถหนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี จะกลับมาปรับตัวขึ้นได้ต่อเนื่องในระยะถัดไป อนึ่ง สถานการณ์สงครามที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่นั้นจะทำให้ตลาดบอนด์อาจยังคงผันผวนต่อได้ในระยะสั้นเช่นกัน

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เผชิญแรงขายทำกำไรสินทรัพย์ปลอดภัยชัดเจน กดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ทำให้ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ย่อตัวลงใกล้ระดับ 98 จุด

นอกจากนี้ ความหวังว่าสงครามอาจสงบลงได้ในระยะสั้น ยังได้หนุนให้สกุลเงินฝั่งยุโรปที่อ่อนค่าหนักในช่วงผ่านมา พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเงินยูโร (EUR) ปรับตัวขึ้นมาสู่ระดับ 1.105 ดอลลาร์ต่อยูโร เช่นเดียวกันกับ เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ที่แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.317 ดอลลาร์ต่อปอนด์

ส่วนสินทรัพย์ปลอดภัยอย่าง เงินเยน (JPY) ก็กลับมาอ่อนค่าลงแตะระดับ 115.9 เยนต่อดอลลาร์ หลังตลาดทยอยเปิดรับความเสี่ยง เช่นเดียวกันกับ ราคาทองคำก็เผชิญแรงขายทำกำไรและย่อตัวลงหลุดระดับ 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทั้งนี้ แรงขายทำกำไรทองคำอาจช่วยหนุนให้เงินบาทสามารถกลับมาแข็งค่าได้บ้าง โดยเฉพาะในจังหวะที่ตลาดไม่ได้ปิดรับความเสี่ยงรุนแรง

สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอติดตามการเจรจาระหว่างรัสเซีย-ยูเครน อย่างใกล้ชิด หลังผู้นำยูเครนเริ่มเห็นชอบกับเงื่อนไขบางประการของทางฝั่งรัสเซีย ทำให้การเจรจาเพื่อยุติสงครามยังสามารถดำเนินต่อไปได้ ทว่า สถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง ทำให้ตลาดการเงินยังมีโอกาสผันผวนสูงได้ในระยะสั้นนี้

ในส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจนั้น เรามองว่า ไฮไลท์สำคัญ จะอยู่ที่การประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยเรามองว่า ECB จะยังคงอัตราดอกเบี้ย (Deposit Facility Rate) ไว้ที่ระดับ -0.50% เพื่อประคองการฟื้นตัวเศรษฐกิจยุโรปจากผลกระทบของสงคราม อย่างไรก็ดี ประเด็นที่น่าสนใจคือ มุมมองของประธาน ECB ต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อหลังเกิดสงครามขึ้น รวมถึงประมาณการเศรษฐกิจล่าสุดของ ECB ซึ่งอาจส่งสัญญาณถึงการปรับนโยบายการเงินในอนาคตได้

ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ ตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งจะเป็นข้อมูลเงินเฟ้อสำคัญที่จะส่งผลต่อการตัดสินใจปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของเฟดได้ โดยตลาดคาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะเร่งตัวขึ้นแตะระดับ 7.9% ขณะเดียวกันอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานก็อาจปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 6.4% ซึ่งจะเห็นได้ว่าแรงหนุนเงินเฟ้อของสหรัฐฯ นั้นมากจากทั้งราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะราคาสินค้าพลังงานที่เร่งตัวสูงขึ้น รวมถึงภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงขยายตัวได้ดี ทำให้เฟดสามารถเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นในปีนี้ได้

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 10 มีนาคม 2565

จับตาน้ำมันพ่นพิษถล่ม “อีอีซี”

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ถึงกรณีการสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ยังไม่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนภายในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยโครงการลงทุนต่างๆ ที่ได้ทำเอาไว้เดิมก็ยังคงเดินต่อ ยังไม่มีนักลงทุนถอนการลงทุน และการลงทุนเทคโนโลยีทั้ง 5G หรือรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ยังเดินตามแผนอยู่ แต่ถ้าราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นมาจนกระทบกับเศรษฐกิจโลก ตอนนั้นก็คงเป็นผลที่จะเกิดขึ้นกับอีอีซี อาจต้องรอประเมินสถานการณ์ 1 เดือน ในเบื้องต้นยังคงเป้าหมายการลงทุนในอีอีซีไว้เหมือนเดิมคือเฉลี่ยปีละ 400,000 ล้านบาท

“การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ที่ผ่านมายอมรับว่าโชคดีที่ได้มีการลงนามในสัญญาร่วมลงทุนกับเอกชนภายใต้ โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ไปแล้ว 4 โครงการ อาทิ รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 (ท่าเทียบเรือ F) ซึ่งนายกรัฐมนตรีสั่งการในที่ประชุมว่า ทุกโครงการมีความสำคัญ เมื่อทำการตกลงไปแล้วก็ให้ดูแลให้ดี เพื่อให้โครงการเดินต่อไปข้างหน้าได้ โดยไม่เดินกลับไปกลับมา และได้ให้แนวทางว่าเมื่อประเทศไทยตกลงทำโครงการอะไรไปแล้ว มักจะมีปัญหาตรงที่ตกลงแล้วทำไม่ได้ จึงขอให้โครงการที่ตกลงกันไปเสร็จแล้ว ต้องเดินหน้าให้ได้ โดยถูกต้องตามกฎหมาย โปร่งใส เป็นธรรมต่อคู่สัญญา รวมทั้งเป็นประโยชน์กับประเทศ”

ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นชอบให้ สกพอ.ร่วมกับกองทัพเรือ, สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ จัดงานแสดงสินค้านานาชาติด้านอุตสาหกรรมการบินในประเทศไทย (Thailand International Air Show) ที่สนามบินอู่ตะเภา โดยจะเปิดตัวอย่างในปี 2568 สอดคล้องกับระยะเวลาเปิดบริการสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา คาดว่ามีผู้ร่วมงาน 5,425 คน และการจัดงานอย่างเต็มรูปแบบในปี 2570 จะมีผู้เข้าร่วมงาน 36,300 คน มีผู้เข้าแสดงงาน 1,240 ราย และมีการจัดงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งงานใหม่และงานที่จัดต่อเนื่อง ในปี 2566-2570 จำนวน 28 งานในอีอีซี ซึ่งเมื่อรวมมูลค่าทางเศรษฐกิจของงาน Thailand International Air Show ทั้งหมด สามารถสร้างรายได้รวมให้แก่ประเทศ 8,200 ล้านบาท.

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 10 มีนาคม 2565

อ้อยแตกกอระวัง 3 หนอน

ในระยะแตกกอ กรมวิชาการเกษตร แจ้งเตือนเกษตรกรชาวไร่อ้อยเฝ้าระวังหนอนกออ้อยที่มีอยู่ด้วยกัน 3 ชนิด คือ หนอนกอลายจุดเล็ก หนอนกอสีขาว และ หนอนกอสีชมพู

หนอนกอลายจุดเล็ก เป็นหนอนที่เจาะกออ้อยบริเวณโคนระดับผิวดินเข้าไปกัดกินส่วนที่กำลังเจริญเติบโตภายในหน่ออ้อย ทำให้ยอดแห้งตาย ทำให้ผลผลิตอ้อยลดลง 5-40% นอกจากนี้ ยังเข้าทำลายอ้อยในระยะอ้อยย่างปล้อง โดยเข้าไปกัดกินอยู่ภายในลำต้นอ้อย ทำให้อ้อยแตกแขนงใหม่ และแตกยอดพุ่ม

หนอนกอสีขาว จะเจาะไชจากส่วนยอดเข้าไปกัดกินยอดที่กำลังเจริญเติบโต ทำให้ยอดแห้งตายโดยเฉพาะใบที่ยังม้วนอยู่ ใบยอดที่หนอนเข้าทำลายจะหงิกงอและมีรูพรุน เมื่ออ้อยมีลำจะเข้าทำลายส่วนที่กำลังเจริญเติบโต ทำให้อ้อยไม่สามารถสร้างปล้องให้สูงขึ้นไปได้อีก ตาอ้อยที่อยู่ต่ำกว่าส่วนที่ถูกทำลายจะแตกหน่อด้านข้างเกิดอาการแตกยอดพุ่ม

หนอนกอสีชมพู จะเจาะเข้าไปกัดกินตรงส่วนโคนระดับผิวดิน เข้าไปกัดกินภายในหน่ออ้อยทำให้ยอดแห้งตาย แม้ว่าหน่ออ้อยที่ถูกทำลายแตกหน่อใหม่ แต่หน่อจะมีอายุสั้น ทำให้ผลผลิตและคุณภาพของอ้อยลดลง

แนวทางในการป้องกันและกำจัด...ในแหล่งชลประทานควรให้น้ำเพื่อ ให้อ้อยแตกหน่อชดเชย พร้อมปล่อยแตนเบียนไข่ไตรโครแกรมมา อัตราไร่ละ 30,000 ตัวต่อครั้ง ปล่อยติดต่อกัน 2-3 ครั้งในช่วงที่พบ กลุ่มไข่ของหนอนกออ้อย

สำหรับในช่วงที่พบหนอนกออ้อยและกลุ่มไข่ ให้ปล่อยแมลงหางหนีบไร่ละ 500 ตัว โดยปล่อยให้กระจายทั่วแปลง และควรปล่อยให้ชิดกออ้อย และใช้ใบอ้อยหรือฟางที่เปียกชื้นคลุมจะช่วยให้โอกาสรอดสูงขึ้น และปล่อยซ้ำถ้าการระบาดยังไม่ลดลง สำหรับในช่วงที่พบหนอนกออ้อยและกลุ่มไข่ของหนอนกอ

หากปล่อยแตนเบียนไข่ไตรโครแกรมมา ไม่ต้องปล่อยแมลงหางหนีบ เพราะแมลงหางหนีบจะกินแตนเบียนไข่ไตรโครแกรมมาด้วย

แต่ถ้าพบว่าอ้อยแสดงอาการยอดเหี่ยวมากกว่า 10% ให้พ่นสารฆ่าแมลง เดลทาเมทริน 3% EC หรือ อินดอกซาคาร์บ 15% EC หรือ คลอแรนทรานิลิโพรล 5.17% SC หรือ ลูเฟนนูรอน 5% EC พื้นที่ 1 ไร่ สารเคมีผสมน้ำตามอัตราส่วนที่ระบุไว้ในฉลากให้ได้ 50 ลิตร และฉีดพ่น 2-3 ครั้ง ห่างกัน 14 วัน ทั้งนี้ ควรหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีในแปลงที่ปล่อยแตนเบียนไข่ไตรโครแกรมมาและแมลงหางหนีบ.

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 8 มีนาคม 2565

อาเซียน นัดถก23ด้านเศรษฐกิจ 10มีนานี้ ตั้งเป้ายกระดับสู่ยุคดิจิทัล

‘อาเซียน’ นัดประชุมรายสาขาด้านเศรษฐกิจครั้งแรก ตั้งเป้ายกระดับอาเซียนสู่ยุคดิจิทัล ผลักดันประเด็นสำคัญด้านเศรษฐกิจ และแผนการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 (4IR) เน้นลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน เปิดโอกาสภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า อาเซียนกำหนดจัดประชุมคณะกรรมการรายสาขาด้านเศรษฐกิจของอาเซียน (Committee of the Whole: CoW) ครั้งที่ 12 ผ่านระบบการประชุมทางไกล ในวันที่ 10 มีนาคมนี้ ซึ่งเป็นการประชุมรายสาขาด้านเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการครั้งแรกของอาเซียนในปีนี้ ภายใต้การเป็นประธานอาเซียนของกัมพูชา ตามแนวคิด “ASEAN A.C.T. : Addressing Challenges Together”  

ซึ่งการประชุมครั้งนี้ เป็นเวทีการประชุมร่วมกันของคณะกรรมการรายสาขาด้านเศรษฐกิจของอาเซียนรวม 23 ด้าน อาทิ การค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน ทรัพย์สินทางปัญญา พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ พิธีการศุลกากร และการอำนวยความสะดวกทางการค้า โดยมีผู้แทนจากเสาการเมือง เสาสังคมและวัฒนธรรม และผู้แทนภาคเอกชนของอาเซียน เข้าร่วมหารือแนวทางการทำงานร่วมกันระหว่างสาขาต่างๆ เพื่อให้เกิดผลได้จริง อาทิ การเสริมสร้างการมีส่วนร่วมในห่วงโซ่มูลค่าโลก (Global Value Chains: GVCs) และแนวทางการดำเนินการต่อไปในประเด็นแผนการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 (4IR)

นอกจากนี้ที่ประชุมจะมีการหารือผลลัพธ์จากการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่องแนวทางการทำงานร่วมกันขององค์กรรายสาขาในประเด็นที่คาบเกี่ยวระหว่างสาขา โดยเฉพาะ 2 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ (1) การวางพื้นฐานร่วมกันเรื่องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน (decarbonization) ภาคเศรษฐกิจสำคัญของอาเซียน

และ (2) การเตรียมความพร้อมของอาเซียนในการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล นอกจากนี้ ที่ประชุมจะเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม โดยสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN-BAC) จะนำเสนอประเด็นที่ต้องการผลักดันในปีนี้ และการสนับสนุนจากอาเซียนให้บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนด

ทั้งนี้ ความสำเร็จที่สำคัญจากการประชุมที่ผ่านมา คือ การจัดทำแผนยุทธศาสตร์อาเซียนประเด็นการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 ซึ่งเป็นผลลัพธ์จากมติที่ประชุม CoW สมัยพิเศษ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2562 และได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 38 และ 39 เมื่อเดือนตุลาคม 2564

โดยแผนยุทธศาสตร์มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดแนวทางเชิงนโยบายในการพัฒนาประชาคมอาเซียนสู่ยุคดิจิทัลของทั้งสามเสาประชาคมอาเซียน ซึ่งอาเซียนกำลังจัดทำแผนดำเนินงานและกิจกรรมเพื่อให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ดังกล่าว

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 8 มีนาคม 2565

‘เฉลิมชัย’เปิดภารกิจฝนหลวง เติมน้ำช่วยเกษตรกรสู้ภัยแล้งปี2565

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดปฏิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้ง ปี 2565 โดยมีผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ เข้าร่วม ที่สนามบินนครสวรรค์ ว่า ขณะนี้หลายพื้นที่ทั่วทุกภาคเริ่มมีสถานการณ์ภัยแล้ง น้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำและเขื่อนต่างๆ มีปริมาณน้ำเก็บกักลดลงและช่วงฤดูร้อนนี้มีแนวโน้มเกิดสถานการณ์ไฟป่า ปัญหาหมอกควันและปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) เกินค่ามาตรฐาน รวมถึงแนวโน้มการเกิดพายุลูกเห็บในหลายพื้นที่ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จึงจัดทำแผนปฏิบัติการฝนหลวงปี 2565 ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 10 หน่วยปฏิบัติการทั่วประเทศ น้อมนำศาสตร์ฝนหลวงพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 มาเป็นแนวทางในการปฏิบัติการป้องกันและช่วยบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน และพื้นที่การเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว

สำหรับแผนปฏิบัติการฝนหลวง ปี 2565 กรมฝนหลวงฯ มีแผนปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ประสบภัยแล้ง และสร้างความชุ่มชื้นให้กับป่าไม้ การเติมน้ำต้นทุนให้กับอ่างเก็บน้ำและเขื่อนต่างๆ ของประเทศ ป้องกันการเกิดไฟป่าและบรรเทาปัญหาหมอกควัน รวมทั้งสถานการณ์ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5)เกินค่ามาตรฐาน โดยตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงประจำ 5 ภูมิภาค 10 หน่วยปฏิบัติการ

นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งฐานเติมสารฝนหลวง 2 แห่ง ที่ จ.ขอนแก่น และระยอง โดยใช้เครื่องบินกรมฝนหลวงฯ 24 ลำ ได้รับการสนับสนุนเครื่องบินกองทัพอากาศ 1 ลำ ทั้งนี้ มีการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 4 หน่วย เพื่อติดตามสถานการณ์และช่วงชิงสภาพอากาศในการปฏิบัติการฝนหลวง บรรเทาปัญหาภัยแล้งและความต้องการน้ำในบางพื้นที่ รวมถึงสนับสนุนเฮลิคอปเตอร์บินสำรวจสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือด้วย

ด้านนายสำเริง แสงภู่วงค์ อธิบดีกรมฝนหลวงฯกล่าวว่า ภายในงานมีการประกอบพิธีสงฆ์ การตรวจแถวชุดปฏิบัติการฝนหลวง 9 ชุด ประกอบด้วย ชุดปฏิบัติการเครื่องบินของกรมฝนหลวงฯ 7 ชุด ส่วนชุดปฏิบัติการเฮลิคอปเตอร์ของกรมฝนหลวงฯ 1 ชุด และชุดปฏิบัติการฝนหลวงของกองทัพอากาศ 1 ชุด การแสดงบินหมู่ของเครื่องบินฝนหลวงและเฮลิคอปเตอร์ ปล่อยขบวนคาราวานเครื่องบินฝนหลวงออกไปปฏิบัติการฝนหลวง ซึ่งแสดงถึงความพร้อมของหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงทุกหน่วยที่จะปฏิบัติภารกิจในปีนี้

อย่างไรก็ดี กรมฝนหลวงฯ จะปฏิบัติภารกิจอย่างเต็มกำลังความสามารถ บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านข้อมูลสภาพอากาศ ปริมาณน้ำ การวิเคราะห์ วิจัยข้อมูลต่างๆ เพื่อนำมาวางแผนการปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพี่น้องประชาชนและพื้นที่การเกษตรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

จาก https://www.naewna.com วันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2565

อุตฯคุมเข้ม 2,373 โรงงาน สั่งส่งรายงานวิเคราะห์ความเสี่ยงด่วน

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด แจ้งเตือนผู้ประกอบกิจการโรงงาน ใน 12 ประเภทโรงงาน จำนวน 2,373 โรงงาน เร่งส่งรายงานการวิเคราะห์ความเสี่ยงจากอันตรายที่อาจเกิดจากการประกอบกิจการโรงงาน ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง มาตรการคุ้มครองความปลอดภัยในการดำเนินงาน (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2552 โรงงานจำนวน 12 ประเภทโรงงานมีหน้าที่ต้องจัดทำรายงานวิเคราะห์ความเสี่ยงจากอันตรายที่อาจเกิดจากการประกอบกิจการโรงงาน โดยเฉพาะ 2 ประเภทโรงงานที่มีความเสี่ยงสูง 464 แห่ง ได้แก่ โรงงานลำดับที่ 42(1) และโรงงานลำดับที่ 44 ที่จะมีการผลิต เก็บ ใช้สารเคมีและตัวทำละลายที่เป็นสารไวไฟ ต้องส่งแบบรายงานการตรวจโรงงานแบบทางไกล แบบตรวจประเมินวัตถุอันตราย และแบบสรุปรายงานการวิเคราะห์ความเสี่ยงจากอันตรายที่อาจเกิดจากการประกอบกิจการโรงงาน

หากไม่ดำเนินการจัดส่งภายในระยะเวลาที่กำหนด จะสั่งการตามมาตรา 35(4) ของ พ.ร.บ. โรงงาน 2535 หากฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือกรณีที่ปรากฏว่าการประกอบกิจการของโรงงานใดอาจจะก่อให้เกิดอันตราย ความเสียหายหรือความเดือดร้อนอย่างร้ายแรงแก่บุคคลหรือทรัพย์สินอาจสั่งให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานนั้นหยุดประกอบกิจการโรงงานทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว

นายวันชัย พนมชัย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.)กล่าวว่า โรงงานที่ต้องจัดทำรายงานวิเคราะห์ความเสี่ยงฯ ทั้ง 12 ประเภท จำนวน 2,373 โรงงานนี้ ถือเป็นโรงงานที่มีความเสี่ยงจากการประกอบกิจการ หากประกอบกิจการไม่เป็นไปตามมาตรการของแผนบริหารจัดการความเสี่ยงในรายงานดังกล่าว ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อบุคคล ชุมชน ทรัพย์สิน และสิ่งแวดล้อมได้ ดังนั้น กรอ. จึงต้องกำกับดูแลอย่างเข้มงวด เพื่อมิให้เกิดอุบัติเหตุ อุบัติภัยซ้ำรอย เหมือนกับกรณีโรงงานหมิงตี้ที่ผ่านมา

จาก https://www.naewna.com วันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2565

6 ประเทศร่วมแก้ผลกระทบการปล่อย-กักน้ำจากเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงในจีน

เลขานุการกอนช. ระบุ ประเทศท้ายแม่น้ำโขงห่วงผลกระทบจากการปล่อยน้ำและกักน้ำที่เขื่อนกั้นแม่น้ำโขงในประเทศจีน จึงร่วมกันศึกษาความเปลี่ยนแปลงของสภาวะอุทกวิทยาและการไหลของแม่น้ำโขงเพื่อจะได้ปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ด้านนักวิชาการแนะให้หาแหล่งเก็บกักน้ำที่จีนระบายเพิ่มเพื่อประโยชน์ด้านการเกษตรและการประปาริมโขง

นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และเลขานุการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวว่า จากการที่จีนระบายน้ำที่เขื่อนจิ่งหงซึ่งกั้นแม่น้ำโขงเพิ่มเมื่อวันที่ 1 มี.ค. ที่ผ่านมา ส่งผลให้ระดับน้ำสูงขึ้นอย่างฉับพลัน โดยจีนปรับอัตราระบายน้ำเป็นระยะๆ ทำให้ประเทศท้ายน้ำต้องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดทุกครั้ง

ทั้งนี้ประเทศต่างๆ แจ้งความกังวลใจไปยังทางการจีนแล้ว พร้อมขอความร่วมมือจีนกำหนดอัตราการระบายที่ชัดเจน ที่ผ่านมาจีนส่งข้อมูลให้ประเทศต่างๆ ในลุ่มน้ำโขงเป็นระยะๆ ว่า สภาวะต่างๆ ที่เกิดขึ้นตลอดแม่น้ำโขงเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของลำน้ำ ไม่ใช่จากการระบายที่เขื่อนกั้นแม่น้ำโขงในประเทศจีนอย่างเดียว

ล่าสุดประเทศในคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCS) และความร่วมมือแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง (LMC) 6 ประเทศประกอบด้วย ไทย เมียนมา กัมพูชา ลาว เวียดนาม และจีนจึงตกลงที่จะร่วมกันศึกษาความเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการไหลที่ของน้ำในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงและยุทธศาสตร์การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง (joint Study between MRCS and the LMC Water Center on the Changing Patterns of Hydrological Conditions in the Lancang-Mekong River Basin and Adaptation Strategies) ซึ่งจะทำให้ทราบว่า สภาพลุ่มน้ำล้านช้างและลุ่มน้ำโขงเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร อัตราการระบายจากเขื่อนกั้นแม่น้ำควรเป็นเท่าไร รวมถึงประเทศต่างๆ จะสามารถกำหนดแนวทางปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้

ผศ. ดร. ณัฐ มาแจ้ง อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กล่าวว่า การปรับอัตราระบายน้ำเพิ่มที่เขื่อนจิ่งหงของจีนล่าสุด จาก 997 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีเป็น 1,463 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลให้ระดับน้ำสูงขึ้น 66 เซนติเมตรซึ่งกอนช. ประเมินว่า จะทำให้ระดับน้ำใน 8 จังหวัดริมแม่น้ำโขงเพิ่มสูงขึ้น 40-60 เซนติเมตรระหว่างวันที่ 4 – 10 มี.ค. ทั้งนี้ระดับน้ำดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบให้น้ำในแม่น้ำเอ่อล้นท่วมพื้นที่ริมตลิ่ง แต่จะเกิดผลดีต่อเกษตรกรซึ่งสามารถนำน้ำมาเลี้ยงพืชฤดูแล้งที่เพาะปลูกอยู่หรือใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ ได้

ผศ. ดร. ณัฐเชื่อว่า ประชาชนส่วนใหญ่เริ่มปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำในฤดูแล้งอย่างรวดเร็วซึ่งเป็นผลจากเขื่อนในประเทศจีนมาหลายปีที่แล้ว โดยในปีที่ผ่านมีผลกระทบเพิ่มขึ้นจากเดิมและปีนี้จะเพิ่มขึ้นจากการบริหารจัดการน้ำที่เขื่อนไชยะบุรีซึ่งเป็นเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำในลาว แต่น้ำที่ระบายมาเพิ่มขึ้นนี้ มีแง่ดีคือ ทำให้ปริมาณน้ำในฤดูแล้งมีมากกว่าในอดีต ซึ่งหากปรับตัวด้วยการหาแหล่งเก็บกักน้ำที่จะผันน้ำจากแม่น้ำโขงในช่วงที่น้ำเพิ่มขึ้นมากนี้มาไว้ใช้ก็จะเป็นประโยชน์สำหรับการอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการประปาในพื้นที่ริมแม่น้ำโขง.

จาก https://tna.mcot.net  วันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2565