http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล (เดือนมีนาคม 2567)

 

ชาวไร่อ้อยบุกพรรคเพื่อไทยวันนี้ทวงเงินตัดอ้อยสด-ถอดน้ำตาลจากสินค้าควบคุม

วันนี้(26 มี.ค.)เวลา 10.00 -13.00น. เครือข่าย 4 องค์กรชาวไร่อ้อยราว 350 คนจะเดินทางมาพรรคเพื่อไทยหลังประสานงานแล้วเพื่อเข้าพบหารือคณะผู้บริหารและรมว.ที่เกี่ยวข้อง 2 ประเด็นหลัก 1. ขอความชัดเจนเงินช่วยเหลือตัดอ้อยสดปี 2566/67 ที่กำลังจะปิดหีบแต่ยังไร้วี่แววว่าจะได้รับหรือไม่ 2. ขอให้กระทรวงพาณิชย์เลิกถอดน้ำตาลออกจากสินค้าควบคุมด้วยการกำหนดราคาหน้าโรงงานและให้การบริหารไปยังกระทรวงอุตฯเช่นเดิมเพราะทำให้ไม่สามารถปรับตามกลไกปกติที่ควรจะได้เป็นและพบส่วนต่างราคาขายตจว.พุ่งสูงถึง 30-32 บาท/กก.

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า วันนี้(26 มี.ค.) เครือข่าย 4 องค์กรชาวไร่อ้อยประมาณ 350 คนจะเข้าพบกับคณะผู้บริหารและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องที่พรรคเพื่อไทยหลังจากที่ประสานงานเป็นที่เรียบร้อยแล้วเพื่อขอความชัดเจนใน 2 เรื่องหลักได้แก่ 1. เงินช่วยเหลือการตัดอ้อยสดเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ของปีการผลิต 2566/67 ซึ่งขณะนี้โรงงานน้ำตาลทราย 57 แห่งคาดว่าจะปิดหีบอ้อยในสิ้นมี.ค.นี้ แต่กลับไม่มีความชัดเจนถึงนโยบายดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรมซึ่งชาวไร่อ้อยส่วนใหญ่ต่างคาดว่าจะดำเนินการเช่นที่ผ่านๆมา

“ ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี(ครม.)จะอนุมัติการสนับสนุนตัดอ้อยสดเพื่อลดฝุ่น PM2.5 วงเงิน 120 บาท/ตันผ่านการสนับสนุนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)เพราะตัดอ้อยสดใช้เงินลงทุนสูงซึ่งในฤดูการผลิตปี 2566/67 ก็ได้จนกระทั่งปิดหีบ แต่ฤดูหีบปี 66/67 กลับไม่มีนโยบายที่จะเห็นเป็นรูปธรรมว่าจะได้รับหรือไม่ทั้งที่คนตัดอ้อยสดได้ทำตามนโยบายรัฐและลงทุนสูง” นายนราธิปกล่าว

2. กรณีกระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดให้ราคาน้ำตาลทรายเป็นสินค้าควบคุม โดยกำหนดให้จำหน่ายหน้าโรงงานน้ำตาลทรายขาวธรรมดา 21 บาท/กิโลกรัม (กก.) น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ 22 บาท/กก. นั้นทำให้ไม่สามารถปรับตามกลไกการตลาดได้ ทั้งที่ข้อเท็จจริงขณะนี้ราคาหน้าโรงงานเมื่อบวกค่าขนส่งต่างๆ แล้วราคาขายปลีกเฉลี่ยจะอยู่ราว 24-25 บาท/กก. แต่เมื่อไปถึงปลายทางยี่ปั๊ว ซาปั๊ว ในต่างจังหวัดเฉลี่ยขายกันอยู่ที่ 30-32 บาท/กก.ซึ่งส่วนต่างนี้เห็นว่าควรจะเป็นประโยชน์ต่อระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลที่ควรจะได้รับเพิ่ม ดังนั้นจึงเห็นว่ากลไกการควบคุมและกำหนดราคาหน้าโรงงานควรจะให้ทางกระทรวงอุตสาหรรมเป็นฝ่ายบริหารแบบปกติเช่นเดิมไม่ใช่มาควบคุม ส่วนกรณีกลัวการขาดแคลนน้ำตาลเมื่อราคาสูงรัฐก็สามารถเก็บภาษีฯส่งออกและนำเงินมามาส่งเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลไว้เพื่อดูแลเสถียรภาพราคาน้ำตาลในอนาคต

“ พร้อมกันนี้จะฝากนโยบายไว้กับพรรคเพื่อไทยถึงความชัดเจนในเรื่องของนโยบายการสนันสนุนการตัดอ้อยสดที่ชัดเจนล่วงหน้าว่าจะสนับสนุนการตัดอ้อยสดอย่างไร ที่เป็นรูปธรรมซึ่งไม่ใช่ให้ชาวไร่อ้อยมารอลุ้นแต่ละปี ทำเช่นนี้ไม่ถูกเหมือนเราจะให้รางวัลคนทำดีก็ต้องประกาศล่วงหน้าเกษตรกรจะได้มีกำลังใจที่จะดำเนินการ”นายนราธิปกล่าว

จาก https://mgronline.com/business วันที่ 26 มีนาคม 2567

ส.อ.ท.ชงรัฐดัน “ไทยเป็นฮับผลิตเอทานอล” สร้าง ศก.หมุนเวียนกว่า 1.74 แสนล้านรับ Net Zero

ส.อ.ท.ชงรัฐหนุนไทย “ฮับผลิตเอทานอล” รับโมเดล ศก. BCG เพื่อเดินหน้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) หนุนเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยและมันสำปะหลังกว่า 1 ล้านครัวเรือน เพิ่มมูลค่าอ้อยและมันสำปะหลัง เศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศกว่า 174,000 ล้านบาท

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) นำเสนอแนวทางขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG (BCG Economy Model : Thailand Ethanol Hub) เพื่อสนับสนุนนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) กำหนดในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือ COP26 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาวิกฤตการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่านการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งน้ำมันอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel : SAF) ไบโอเอทิลีน (Bio ethylene) สำหรับไบโอพลาสติก ตลอดจนอุตสาหกรรมสมุนไพรสกัด อุตสาหกรรมยา เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เป็นต้น

ทั้งนี้ ตัวแทนของภาคเอกชนมีการนำเสนอแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมเอทานอลไปยังภาครัฐแล้ว ดังนี้ 1. ปรับเปลี่ยนและเพิ่มวัตถุดิบทางเลือกในการผลิตเอทานอล เพื่อลดต้นทุน เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และสร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกร 2. เปิดเสรีเอทานอลบริสุทธิ์ เพื่อเปิดโอกาสในการสร้างมูลค่าเพิ่มของเอทานอล สินค้าและอุตสาหกรรมมูลค่าสูงในประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG 3. ลดการส่งออกสินค้า commodities ผลิตสินค้ามูลค่าสูง และช่วยลดการปลดปล่อยคาร์บอน นำพาประเทศไปถึงเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero 4. ส่งเสริมการใช้ E20 เป็นน้ำมันเบนซินพื้นฐาน ในแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan 2567-2580)

ดร.เสกสรรค์ พรหมนิช ประธานคณะทำงานย่อยพัฒนาอุตสาหกรรมเอทานอลด้านเชื้อเพลิงเอทานอล ได้นำเสนอแนวทางการส่งเสริมการเปิดเสรีเอทานอล เพื่อเพิ่มโอกาสในการพัฒนาตามห่วงโซ่มูลค่าของอุตสาหกรรมเอทานอลไทย เช่น เชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF) โดย สอท.อยู่ระหว่างการศึกษาและดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำมาตรฐานความยั่งยืนของวัตถุดิบของไทย โดยให้ผ่านการรับรองจาก ICAO (International Civil Aviation Organization) สำหรับนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF)

น้ำมัน E20 : ส่งเสริมการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 ในแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ฉบับใหม่ โดยจะเกิดประโยชน์ต่อประเทศดังนี้ เพิ่มการใช้เชื้อเพลิงเอทานอลเป็น 6.2 ล้านลิตร/วัน หรือ 2,270 ล้านลิตร/ปี ลดการใช้น้ำมันเบนซิน 1,475 ล้านลิตร คิดเป็นมูลค่า 33,940 ล้านบาท/ปี ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2.58 mtCO2eq สนับสนุน Carbon Neutrality ลด การปล่อยมลพิษจากท่อไอเสียทั้ง PM 2.5 CO VOCs HCs และ Benzene สนับสนุน เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยและมันสำปะหลังกว่า 1 ล้านครัวเรือน เพิ่มมูลค่าอ้อยและมันสำปะหลัง เศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศกว่า 174,000 ล้านบาท

นางเกศมณี เลิศกิจจา ประธานคลัสเตอร์อุตสาหกรรมสุขภาพและความงาม และประธานคณะทำงานย่อยพัฒนาเอทานอลเกรดอุตสาหกรรม ได้นำเสนอการใช้ประโยชน์จากเอทานอลในปัจจุบันเป็นพลังงานยังสามารถใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอื่นได้หลายสาขา เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ยา สมุนไพร น้ำยาทำความสะอาดเครื่องมือแพทย์และเครื่องสำอาง รวมทั้งงานวิจัยต่อยอดและนวัตกรรมในกลุ่มเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio-Economy) เป็นต้น ประกอบกับเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้มีความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคที่มีส่วนผสมของเอทานอลมากขึ้น ซึ่งความต้องการใช้เอทานอลของภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ 76.37 ล้านลิตรต่อปี เพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตยา ผลิตภัณฑ์สมุนไพร เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ และใช้ชะล้างทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรค เป็นต้น ซึ่งโรงงานเอทานอลเกรดเชื้อเพลิงหลายแห่งในปัจจุบัน สามารถผลิตเอทานอลเกรดอุตสาหกรรมดังกล่าวป้อนสู่ตลาด ทดแทนการนำเข้าได้ทันทีและอนาคตยังส่งออกได้อีก

จาก https://mgronline.com วันที่ 13 มีนาคม 2567

 

ชาวไร่อ้อยเตรียมบุกพรรคเพื่อไทยทวงเงินอ้อยสด-ส่วนต่างน้ำตาล 5 พันล้านเอื้อใคร?

4 องค์กรชาวไร่อ้อยเตรียมเข้าหารือพรรคเพื่อไทยเร็วๆ นี้ทวงถาม 2 เรื่อง 1. เงินช่วยเหลือตัดอ้อยสดลดฝุ่น PM 2.5 ปี 2566/67 ที่นโยบายยังไม่ชัดเจนว่าจะช่วยหรือไม่ 2. กระทรวงพาณิชย์ควบคุมราคาน้ำตาลหน้าโรงงาน 21-22 บ./กก.แต่ราคาตลาดจริง 26-28 บาท/กก.มีส่วนต่างอยู่ถึง 5,000 ล้านบาทอยากถามว่ารัฐเอื้อประโยชน์ให้ใครแน่ 57 โรงงานหีบอ้อยปี 66/67 ล่าสุดปริมาณอ้อยทะลุ 80 ล้านตัน อาจมีลุ้นที่ 81 ล้านตัน

นายวีระศักดิ์ ขวัญเมือง ผู้แทนชาวไร่อ้อยในคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เปิดเผยว่า วานนี้ (12 มี.ค.) 4 องค์กรชาวไร่อ้อย ประกอบด้วย สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน สหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และสมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ได้มีมติร่วมกันว่าจะไปทวงถามที่พรรคเพื่อไทยซึ่งอยู่ระหว่างการขอวันนัดเพื่อเสนอ 2 เรื่อง ได้แก่ 1. เงินช่วยเหลือตัดอ้อยสดเพื่อลดฝุ่น PM  2.5 ของปีการผลิต 2566/67 ซึ่งขณะนี้ใกล้สิ้นสุดฤดูกาลหีบอ้อยแล้วแต่กลับไม่มีความชัดเจนในนโยบายรัฐบาลว่าจะช่วยเหลือหรือไม่ในขณะที่ชาวไร่ตอบสนองในเรื่องของการดูแลด้านสิ่งแวดล้อม

“ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลจะอนุมัติงบประมาณในการสนับสนุนตัดอ้อยสดตันละ 120 บาท แก้ปัญหาเผาอ้อยไฟไหม้เพื่อลดฝุ่น PM 2.5 แต่ปีนี้กลับไม่มีคำตอบที่ชัดเจนทั้งที่ชาวไร่มีต้นทุนจากการดูแลอ้อยไฟไหม้ที่เพิ่มขึ้น” นายวีระศักดิ์กล่าว

2. ตามที่กระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดให้ราคาน้ำตาลทรายเป็นสินค้าควบคุม โดยกำหนดให้จำหน่ายหน้าโรงงานน้ำตาลทรายขาวธรรมดา 21 บาท/กิโลกรัม (กก.) น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ 22 บาท/กก. และราคานี้ใช้ในการคำนวณราคาอ้อยแบ่งให้ชาวไร่อ้อยในขณะที่ราคาในท้องตลาดอยู่ที่ 26-28 บาท/กก.และราคานี้ซึ่งมีส่วนต่างอยู่ถึง 5-6 บาท/กก.เป็นเงินมากกว่า 5,000 ล้านบาท การกระทำของรัฐแบบนี้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้ใคร และเงินก้อนนี้อยู่ที่ใคร

สำหรับการเปิดหีบโรงงานน้ำตาล 57 แห่งทั่วประเทศฤดูการผลิตปี 2566/67 ตั้งแต่ 10 ธ.ค. 66 จนถึง 10 มี.ค. 67 ปริมาณอ้อยเข้าหีบรวมสะสมแล้วประมาณ 80,278,852 ตัน น้ำตาลทรายรวม 85,083,060.706 กระสอบ (100 กิโลกรัม) หรือ 8.508 ล้านตัน ทั้งนี้ โรงงานน้ำตาลหยุดรับคิวและปิดหีบอ้อยแล้วราว 39 แห่งและได้กำหนดทยอยปิดหีบไม่เกินกลางมี.ค.นี้ทำให้อ้อยเข้าหีบประจำวันลดลงอย่างต่อเนื่องเหลือ 205,309 ตันต่อวัน อย่างไรก็ตาม คาดการณ์เบื้องต้นปริมาณอ้อยเข้าหีบจะอยู่ราว 81,000,000 ตัน

“ปริมาณอ้อยปี 2565/66 อยู่ที่ 93.88 ล้านตัน ปริมาณอ้อยปีนี้ก็ยังคงปรับลดลงประมาณกว่า 12 ล้านตันเนื่องจากประสบปัญหาภัยแล้งในช่วงฤดูเพาะปลูก และในฤดูใหม่ปัญหาอากาศที่ร้อนจัดก็ยังคงต้องติดตามใกล้ชิดว่าจะกระทบมากน้อยเพียงใด” นายวีระศักดิ์กล่าว

สำหรับการหีบอ้อยฤดูหีบปี 2566/67 ณ 10 มี.ค. รวม 9 เขตมีปริมาณอ้อยสดอยู่ที่ 56,435,158 ตัน คิดเป็น 70.30% ขณะที่อ้อยไฟไหม้อยู่ที่ 23,843,692 ตัน คิดเป็น 29.70% ค่าเฉลี่ย Commercial Cane Sugar หรือ CCS อยู่ที่ 1.31 น้ำตาลต่อตันอ้อยอยู่ที่ 105.98 กิโลกรัม (กก.)

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบปริมาณอ้อยเข้าหีบและผลผลิตน้ำตาลปี 2565/66 กับ ปี 2566/67 ในจำนวนเดินเครื่องเท่ากัน ณ 10 มีนาคม 2567 ปริมาณอ้อยปี 2566/67 ลดลง 5,848,173.94 ตัน หรือคิดเป็นการลดลง 6.79% CCS อยู่ที่ 12.31 ลดลง 0.92 CCS คิดเป็นการลดลง 6.93% ผลผลิตน้ำตาลต่ออ้อย 1 ตันลดลง 9.10 กิโลกรัม หรือคิดเป็นการลดลง 7.91%

“แนวโน้มราคาน้ำตาลตลาดเคลื่อนไหวในช่วง 11 มี.ค. ถึงระดับสูงสุดในรอบ 1 สัปดาห์ครึ่งตามการเข้ามาซื้อน้ำตาลคืนเพื่อปิดตั๋วขาย (Short covering) หลังจากสัปดาห์ก่อนราคาลดลงถึงระดับต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์ ซึ่งยังคงต้องติดตามใกล้ชิดเนื่องจากพบว่าบราซิล และอินเดียประสบปัญหาภัยแล้งซึ่งอาจทำให้ระดับราคาน้ำตาลเพิ่มขึ้นได้ แต่ก็ต้องดูเรื่องภาวะเศรษฐกิจโลกด้วยเช่นกัน” นายวีระศักดิ์กล่าว

จาก https://mgronline.com วันที่ 13 มีนาคม 2567

 

ปลัดฯ ณัฐพล ติดตามความคืบหน้ามาตรการกำกับโรงงาน ลดปล่อยมลพิษฝุ่น PM 2.5 ห่วงมีผลกระทบต่อประชาชน

วันที่ 7 มีนาคม 2567 ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานการประชุมการกำกับตามมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 เพื่อกำกับ ติดตาม ตามมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงอุตสาหกรรม โดยมีนางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายเอกนิติ รมยานนท์ นายวีระกิตติ์ รันทกิจธนวิชญ์ นายศุภกิจ บุญศิริ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด (สอจ.) ทั้ง 76 จังหวัด รวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กองยุทธศาสตร์และแผนงาน ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กองตรวจราชการ สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าร่วมด้วย ณ ห้องประชุมชุณหวัณ ชั้น 3 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และผ่านทางระบบ Zoom Meeting

ปลัดฯ ณัฐพล ได้มอบหมายให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมและ สอจ.ทั่วประเทศ รวบรวมข้อมูลเพื่อรายงานเข้ามาในระบบ I-industry หากมีโรงงานเข้าข่ายเฝ้าระวังการปล่อยมลพิษสู่ชุมชนหรือส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จะได้แก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที เพื่อลดข้อขัดแย้งและขจัดปัญหาข้อร้องเรียนของชุมชนและสังคม และขอความร่วมมือให้ สอจ. ทุกจังหวัด ดำเนินการกำกับ ติดตาม และแจ้งเตือนผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรม ในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ตามมาตรการ 3 ด้านที่เกี่ยวข้อง คือ 1) ฝุ่นจากไอเสียรถยนต์ 2) ฝุ่นจากโรงงานอุตสาหกรรม และ 3) ฝุ่นจากอุตสาหกรรมการเกษตร (อ้อย) รวมถึง กำชับให้ สอจ.ทุกจังหวัด ให้ความร่วมมือในการป้องกันแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ภายในหน่วยงาน และรายงานการตรวจกำกับโรงงานผ่าน Application I-Auditor เพื่อจะให้ทราบถึงความคืบหน้าและปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานได้อย่างรวดเร็ว

จาก https://www.industry.go.th วันที่ 12 มีนาคม 2567

 

จับตา 57 โรงงานหีบอ้อยปี 66/67 นับถอยหลังโค้งสุดท้ายมีลุ้น 78 ล้านตัน

จับตาปริมาณอ้อยฤดูหีบปี 66/67 ที่เปิดตั้งแต่ 10 ธ.ค. 65 จนถึงล่าสุดทะลุ 76.5 ล้านตัน โรงงาน 36 แห่งปิดหีบที่เหลือคาดทยอยถึงกลาง มี.ค.มีลุ้นแตะ 78 ล้านตันซึ่งยังคงตกต่ำกว่าปีก่อน 4 องค์กรชาวไร่ถกสัปดาห์นี้เร่งปรับแผนรัฐไม่เน้นอุดหนุนตัดอ้อยสด 120 บาท/ตัน เล็งปรับแผนใหม่สกัดให้ถึงเกษตรกรตัวจริงหลังพบเงินช่วยเหลือหล่นทับโควตาโรงงานที่อ้างเป็นเกษตรกร และพ่อค้าอ้อยคนกลางที่ไม่ได้ปลูกอ้อยจริงกว่า 2,000 ล้านบาทพร้อมบทลงโทษก่อนเข้าพบพรรคเพื่อไทย

แหล่งข่าวจาก 4 องค์กรชาวไร่อ้อย ประกอบด้วย สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน สหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และสมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การเปิดหีบอ้อย 57 โรงงานในฤดูหีบปี 2566/67 ที่เริ่มตั้งแต่ 10 ธันวาคม 2566 จนถึงขณะนี้พบปริมาณอ้อยรวมสะสมแล้วราวกว่า 76.5 ล้านตัน โดยล่าสุดมีโรงงานน้ำตาลทยอยแจ้งปิดหีบแล้วประมาณกว่า 36 แห่งคาดว่าที่เหลือจะทยอยปิดหีบในช่วงปลาย ก.พ. และกลาง มี.ค.เป็นอย่างช้า ดังนั้นประเมินว่าปริมาณอ้อยปี 2566/67 จะอยู่ในระดับราว 78 ล้านตันอ้อยซึ่งสูงกว่าที่เคยประเมินไว้ แต่หากเทียบกับผลผลิตอ้อยในปี 2565/66 อยู่ที่ 93.88 ล้านตันก็ยังคงถือว่าปริมาณผลผลิตอ้อยยังคงปรับลดลงเนื่องจากประสบภัยแล้งในช่วงฤดูเพาะปลูก

อย่างไรก็ตาม สัปดาห์นี้ 4 องค์กรชาวไร่อ้อยจะหารือถึงแนวทางมาตรการดูแลการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยในการส่งเสริมการตัดอ้อยสดเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ตามที่นโยบายรัฐบาลได้สนับสนุนวงเงินประมาณ 120 บาท/ตัน ซึ่งล่าสุดนโยบายรัฐให้มุ่งเน้นการหลีกเลี่ยงการอุดหนุนดังกล่าวในฤดูการผลิตปี 2566/67 โดยจะหารือด้วยการปรับให้มาตรการช่วยเหลือได้ถึงตรงต่อเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัวจริงเนื่องจากพบว่าในช่วงที่ผ่านมาวงเงินการช่วยเหลือตัดอ้อยสดรวมราว 8,000 ล้านบาท/ปีที่สนับสนุนอ้อยสดกลับไปตกอยู่กับฝ่ายโรงงาน พ่อค้าอ้อยคนกลางที่ไม่ได้เป็นเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยจริงมากกว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งหลังจากได้ข้อสรุปแล้ว 4 องค์กรชาวไร่อ้อยจะเข้าหารือกับพรรคเพื่อไทยต่อไป

“รัฐบาลรู้ในเรื่องนี้ดีและเราคงปรับไม่ได้ช่วยทุกตันอ้อยสด ซึ่งราคาอ้อยขั้นต้นปี 2566/67 ประกาศที่ 1,420 บาทต่อตัน ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. แต่โรงงานไปซื้อที่ 1,800-1,900 บาท/ตันแย่งซื้ออ้อยแล้วใช้โควตาชื่อเป็นนาย ก. นาย ข. กลายเป็นเกษตรกร พอ 120 บาท/ตันรัฐให้มาก็ได้ส่วนนี้ไป แล้วก็ยังมีพ่อค้าคนกลางที่ไปกว้านซื้อโดยไม่ใช่เกษตรกรผู้เพาะปลูกอีก ดังนั้นจึงต้องกำหนดปริมาณอ้อยต่อรายให้ชัดเจน และคุมเข้มเรื่องโฉนดการเพาะปลูกที่แท้จริงหากแจ้งเท็จต้องมีบทลงโทษ ซึ่งเรื่องนี้ก็จะต้องหารือกับสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ที่ต้องควรคุยกับชาวไร่ก่อน” แหล่งข่าวกล่าว

กท.อ้อยฯ ยืมเงินชาวไร่จ่ายพนักงาน

แหล่งข่าวกล่าวว่า ขณะนี้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) ต้องยืมเงินจากระบบของชาวไร่อ้อยจ่ายเงินให้พนักงาน 8 แสนบาท/เดือนเป็นเวลา 4 เดือนแล้ว เนื่องจากบอร์ดบริหารกองทุนฯ ไม่มีองค์ประกอบของกรรมการฝ่ายราชการที่ประกอบด้วยกระทรวงอุตสาหกรรม พาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเข้ามาทำให้ขาดองค์ประชุมในการพิจารณางบประมาณรายจ่ายนับตั้งแต่ปลาย ต.ค. 65