http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล(เดือนพฤษภาคม 2556)

ดีเดย์ 13 มิ.ย. นี้ ร่วมค้นพบจุดเด่นให้เกษตรกรไทยก้าวไกลสู่เออีซี

กองทุน FTA เดินหน้ารับมือสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เตรียมเปิดเวทีใหญ่ ลดจุดด้อย เสริมจุดเด่น ให้เกษตรกรไทยพร้อมสู่ AEC ดีเดย์ 13 มิถุนายนนี้

ณ โรงแรมเวสเทิร์น แกรนด์ โฮเต็ล จังหวัดราชบุรี ผู้สนใจทั่วไป สามารถสำรองที่นั่งได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนบริหารกองทุนภาคการเกษตร สศก. โทร 0-2561-4727

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถึงการเตรียมความพร้อมของภาคเกษตรไทยกับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในปี พ.ศ. 2558 ซึ่งเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของเศรษฐกิจไทย โดยไทยและสมาชิกอาเซียนอีก 9 ประเทศ จะรวมตัวกันเป็น AEC มีเขตการผลิตเดียว ตลาดเดียว หรือ Single market and Production base และเพื่อให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์มากที่สุดจากการเป็น AEC ซึ่งการเตรียมความพร้อมรองรับผลกระทบจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากเปิดเสรีทางการค้าย่อมเกิดผลดีทางเศรษฐกิจต่อผู้มีศักยภาพในการแข่งขัน แต่อย่างไรก็ตามผู้มีศักยภาพการผลิตที่ด้อยกว่าก็จะได้รับผลกระทบ ซึ่งระดับความรุนแรงจะแตกต่างกันไปตามขีดความสามารถในการแข่งขัน ดังนั้น เกษตรกรไทยจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับการแข่งขันที่รุนแรงเพื่อบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น

กองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ หรือกองทุน FTA กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะหน่วยงานหลักในการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า ตระหนักถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และเห็นความสำคัญในการช่วยเหลือเกษตรกรให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน สามารถดำรงอาชีพเกษตรต่อไปได้อย่างยั่งยืน จึงได้จัดให้มีการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง “กองทุน FTA : ลดจุดด้อย เสริมจุดเด่น ให้เกษตรกรไทยพร้อมสู่ AEC”

ในวันพฤหัสบดีที่ 13 มิถุนายน 2556 เวลา 08.30 – 16.30 น. ณ ห้องกัลปพฤกษ์ โรงแรมเวสเทิร์น แกรนด์ โฮเต็ล จังหวัดราชบุรี เพื่อให้ภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันเกษตรกร และเกษตรกร ตระหนักรับรู้ถึงผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้าและการรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 ทั้งด้านบวกและลบอย่างถูกต้อง สำหรับสินค้าเกษตรหลักในภาคกลางตอนล่างและภาคตะวันตก เช่น ปศุสัตว์ ข้าว มะพร้าว ไม้ตัดดอก และผักต่างๆ เพื่อให้สามารถแข่งขันทั้งด้านการผลิต การตลาด และการค้าสินค้าเกษตรกับนานาประเทศได้อย่างยั่งยืน

การสัมมนาครั้งนี้ จะมีทั้งการอภิปรายและบรรยายในหัวข้อต่างๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่การอภิปรายเรื่อง “ลดจุดด้อย เสริมจุดเด่น ให้เกษตรกรไทยพร้อมสู่ AEC” โดยนายโกมล ตันติวรนุกูล ประธานหอการค้าจังหวัดราชบุรี,นายปราโมทย์ วานิชานนท์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวไทย, ดร.ชัยสิทธิ์ อนุชิตวรวงศ์ นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจการเกษตรระหว่างประเทศ รวมทั้งการบรรยายเรื่อง “กองทุน FTA กับการสร้างเสริมกิจการโคเนื้อไทย” บรรยายโดย ผศ.ดร.เลอชาติ บุญเอก รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ สถาบันสุวรรณวาจกกสิกิจเพื่อการค้นคว้าและพัฒนาปศุสัตว์และผลิตภัณฑ์สัตว์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน และเรื่อง “กองทุน FTA : ทางออกสินค้าเกษตรไทย ภายใต้เขตการค้าเสรี” บรรยายโดยผู้อำนวยการส่วนบริหารกองทุนภาคการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำหรับผู้สนใจ สามารถเข้าร่วมสัมมนาได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ และขอทราบรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนบริหารกองทุนภาคการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร โทร 0-2561-4727 โทรสาร 0-2561-4726 หรือทาง www2.oae.go.th/FTA

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 31 พฤษภาคม 2556

“UBM”จัดงานเทคโนโลยีอินเตอร์ ปั้นไทยศูนย์กลางพลังงานทดแทน

นายมนู เลียวไพโรจน์ ประธาน บริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยถึงการจัดงาน Renewable Energy Asia 2013 ว่า เป็นการจัดงานแสดงด้านเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม และงานแสดงเทคโนโลยีด้านปั๊ม วาล์ว อุปกรณ์ท่อข้อต่อที่จัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 23 แล้ว ในงานมีพื้นที่หลักเป็นการจัดแสดงของผู้ประกอบการด้านธุรกิจพลังงานทดแทนอย่างครบวงจร รวมถึง International Pavilion แสดงนวัตกรรมนานาชาติที่ได้รับความร่วมมือจากประเทศชั้นนำด้านพลังงานทดแทน เช่น เยอรมนี ญี่ปุ่น เกาหลี จีน ไต้หวัน แคนาดา สิงคโปร์ รวมทั้งได้จัดให้มีการแสดง Bio Energy Pavilion โดย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อแสดงศักยภาพของประเทศไทยในด้านพลังงานชีวภาพ ทั้ง ชีวมวล แก๊สชีวภาพ และน้ำมันชีวภาพ ทั้งเอทานอล และไบโอดีเซล โดยมีผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมแสดงผลงาน เพื่อเตรียมรับการเจรจาการค้าที่จะเกิดขึ้นภายในงาน โดยจะจัดขึ้นในวันที่ 5 - 8 มิถุนายน 2556 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ

สำหรับการจัดงานในปีนี้มีบริษัทตอบรับเข้าร่วมงานแล้ว มากกว่า 300 บริษัท จาก 30 ประเทศทั่วโลก ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ดีสำหรับประเทศไทย เพราะนอกจากจะเป็นสิ่งบ่งชี้ให้เห็นถึงการให้ความสำคัญของพลังงานทดแทนในระดับชาติแล้ว ยังช่วยดึงดูดการค้าและการลงทุนด้านพลังงานทดแทนจากต่างประเทศเข้ามาด้วย ซึ่งการจัดงานในปีนี้เรามีแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องอาเซียนสอดแทรกเข้าไปในทุกส่วน เพื่อส่งสัญญาณเตือนว่า ได้เวลาแล้วที่ผู้ประกอบการไทยจะนำเอาเทคโนโลยีที่มีอยู่ไปต่อยอดสู่การค้าในระดับอาเซียน โดยเราตั้งเป้าว่าจะต้องดึงนานาชาติมาเข้าร่วมให้มากที่สุด เพื่อสะท้อนภาพลักษณ์ความเป็นศูนย์กลางพลังงานทดแทนแห่งอาเซียนออกมาสู่สายตาประชาคม และขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่การเป็นศูนย์กลางพลังงานทดแทนแห่งอาเซียน

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 31 พฤษภาคม 2556

ยอดใช้น้ำตาลพุ่ง27ล.ตัน

นายสมศักดิ์ สุวัฒิกะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า ปีนี้การบริโภคน้ำตาลในประเทศ (โควตา ก.) สูงมากเป็นประวัติการณ์ โดยในเดือนมิ.ย.นี้ คณะกรรมการน้ำตาลทราย (กน.) จะประชุมเพิ่มโควตา ก. อีก 2 ล้านกระสอบ เสนอต่อคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) พิจารณาอนุมัติ หลังจากช่วงเดือนเม.ย.2556 เพิ่มโควตา ก. แล้ว 1 ล้านกระสอบ จากการกำหนดโควตา ก. ไว้เดิม 24 ล้านกระสอบ ทำให้การบริโภคในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 27 ล้านกระสอบ

สาเหตุที่ต้องเพิ่มน้ำตาลโควตา ก. เนื่องจากอากาศร้อนต่อเนื่องหลายเดือนทำให้การบริโภคน้ำตาลในรูปของเครื่องดื่มสูง และการแข่งขันของตลาดน้ำดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลก็รุนแรงมาก อาทิ เครื่องดื่มชาเขียว น้ำอัดลม นอกจากนี้ จากการตรวจสอบปริมาณน้ำตาลทรายค้างกระดาน พบว่าล่าสุดอยู่ที่ 8 แสนตัน จากปกติจะอยู่ที่ 2 ล้านตัน ทำให้เห็นว่าน้ำตาลเข้าสู่ภาวะตึงตัวได้

"ได้รับรายงานว่าโรงงานผลิตอาหาร เครื่องดื่มเริ่มกว้านซื้อน้ำตาลไปเป็นสต๊อกมากขึ้น ดังนั้นการเพิ่มโควตา ก. จึงจำเป็น ไม่เช่นนั้นอาจทำให้น้ำตาลทรายขาดตลาด จนราคาใต้ดิน หรือราคาที่ขายตามตลาดนัดต่างจังหวัดแพงขึ้น"นายสมศักดิ์กล่าว

จาก http://www.khaosod.co.th  วันที่ 31 พฤษภาคม 2556

ธุรกิจอาหารแห่กักตุนน้ำตาล ชงเพิ่มโควต้า ก.2 ล้านกระสอบ ร้อนจัด "ชาเขียว-น้ำอัดลม" ขายดี

สถานการณ์น้ำตาลพลิกกลับ ผู้ผลิตอาหารเริ่มกว้านซื้อกักตุนหวั่นขาดแคลน ทำราคาขายปลีกใต้ดินพุ่ง ชง กอน.เพิ่มโควต้า ก. อีก 2 ล้านกระสอบ สกัดก่อนเกิดปัญหาตึงตัว ชี้อานิสงส์ร้อนตับแลบ ทำชาเขียว-น้ำอัดลมขายดี

นายสมศักดิ์ สุวัฒิกะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า ปีนี้การบริโภคน้ำตาลในประเทศ (โควต้า ก.) สูงมากเป็นประวัติการณ์ โดยภายในเดือนมิถุนายนนี้คณะกรรมการน้ำตาลทราย (กน.) จะประชุมเพื่อมีมติเพิ่มโควต้า ก. อีก 2 ล้านกระสอบ เสนอต่อคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ที่มีนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานพิจารณาอนุมัติ หลังจากช่วงเดือนเมษายน 2556 เพิ่มโควต้า ก.แล้ว 1 ล้านกระสอบ จากกำหนดโควต้า ก.ไว้เดิม 24 ล้านกระสอบ ทำให้การบริโภคในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 27 ล้านกระสอบ

นายสมศักดิ์กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องเพิ่มน้ำตาลโควต้า ก. เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนต่อเนื่องหลายเดือนทำให้การบริโภคน้ำตาลในรูปเครื่องดื่มสูง และการแข่งขันของตลาดน้ำดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลก็รุนแรงมาก อาทิ เครื่องดื่มชาเขียว น้ำอัดลม นอกจากนี้ จากการตรวจสอบปริมาณน้ำตาลทรายค้างกระดาน หรือน้ำตาลที่ขึ้นงวดแล้วแต่รอจำหน่ายพบว่า ล่าสุดอยู่ที่ 8 แสนตัน จากปกติจะอยู่ที่ประมาณ 2 ล้านตัน ทำให้เห็นว่าน้ำตาลเข้าสู่ภาวะตึงตัวได้

"ได้รับรายงานว่า ขณะนี้โรงงานผลิตอาหาร เครื่องดื่มที่ใช้น้ำตาลเป็นส่วนผสมเริ่มกว้านซื้อน้ำตาลไปสต๊อกมากขึ้น ดังนั้น การพิจารณาเพิ่มโควต้า ก.จึงจำเป็น ไม่เช่นนั้นอาจทำให้น้ำตาลทรายขาดตลาด จนราคาใต้ดิน หรือราคาที่ขายตามตลาดนัดต่างจังหวัดแพงขึ้น จากปัจจุบันราคาขายปลีกไม่รวมภาษีและค่าขนส่งอยู่ที่ 19-20 บาทต่อกิโลกรัม" นายสมศักดิ์กล่าว

นายสมศักดิ์กล่าวถึงความคืบหน้าการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทั้งระบบตามผลศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) ว่า ต้องเสร็จก่อนฤดูผลิตอ้อย 2556/2557 ตามมติของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะทำงาน ที่มีนาง

อรรชกา สีบุญเรือง รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน เบื้องต้นจะมีการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายตามราคาตลาดโลกเหมือนราคาน้ำมัน แต่จะกำหนดเพดานสูงสุดและต่ำสุดไว้ เพราะเกรงว่าหากไม่กำหนดราคาเพดานอาจทำให้ผู้ผลิตน้ำตาลตั้งราคาแบบฮั้วกันจนราคาสูงกระทบต่อผู้บริโภค

"เมื่อปรับโครงสร้างแล้วเบื้องต้นกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย หรือ กท.จะต้องเก็บเงินจากราคาขายปลีกน้ำตาล 5 บาทต่อกิโลกรัมต่อไป จนกว่าจะชำระหนี้จากการเพิ่มค่าอ้อยให้หมดก่อน จากนั้นจะพิจารณาความจำเป็นอีกครั้ง" นายสมศักดิ์กล่าว

นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวภายหลังร่วมพิธีลงนาม "ประกาศเจตจำนงในการร่วมกันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กในไร่อ้อย" ระหว่างผู้ประกอบการผลิตอ้อย ผลิตน้ำตาลทราย สอน.ว่า ได้กำชับให้ สอน.เร่งดำเนินการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลให้ทันฤดูการผลิต 2556/2557 เพราะเป็นมติจากที่ประชุม ครม.และนายกรัฐมนตรีได้กำชับ

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 31 พฤษภาคม 2556

ขบวนการไม่กลัวเบาหวานเริ่มวิชามารแล้ว ดอดปั่นราคาน้ำตาลทราย

น้ำตาลทรายเริ่มขาดตลาด–ราคาใต้ดินเริ่มขยับ หลังภาคอุตสาหกรรมกว้านซื้อเข้าสต๊อก เล็งเพิ่มโควตา ก. อีก 2 ล้านกระสอบ ด้านอุตสาหกรรมยันอุตสาหกรรมอ้อยฯไม่ใช้แรงงานเด็ก

นายสมศักดิ์ สุวัฒิกะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า สอน. เตรียมเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) พิจารณาจัดสรรปริมาณน้ำตาลทรายโควตา ก. (บริโภคในประเทศ) ฤดูการผลิต 2555/56 เพิ่มจาก 25 ล้านกระสอบ เป็น 27 ล้านกระสอบ หรือเพิ่มอีก 2 ล้านกระสอบ เนื่องจากปริมาณน้ำตาลทราย บางพื้นที่เริ่มขาดแคลน และพบว่าผู้ประกอบการที่ใช้น้ำตาลทราย เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้า และบางราย ได้ซื้อน้ำตาลทรายเก็บไว้ในสต๊อกจำนวนมาก เพื่อรองรับการผลิตสินค้า โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องดื่มเป็นสินค้าที่มียอดขายดีมาก จากอากาศที่ร้อนรุนแรง และจากการส่งเสริมตลาดที่มีอย่างต่อเนื่อง ผ่านการแจกของรางวัลคือทองคำ และเงินสดทุกๆวัน โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มชาเขียว ที่เป็นปัจจัยหลักในการเพิ่มยอดขายน้ำตาลทรายในปีนี้

ทั้งนี้ สอน. กังวลว่าหากไม่มีปรับเพิ่มน้ำตาลโควตา ก. ในอนาคต อาจทำให้น้ำตาลทรายขาดตลาดในวงกว้างและราคาขายปลีกตลาดใต้ดิน จะปรับสูงกว่าที่กระทรวงพาณิชย์ควบคุมไว้ เนื่องจากในปัจจุบันมีน้ำตาลทรายค้างกระดานสะสมเพียง 800,000 ตันหรือ 8 ล้านกระสอบ ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนๆ ที่จะมีน้ำตาลค้างเฉลี่ย 2 ล้านตันหรือ 20 ล้านกระสอบ

“ในภาพรวมสถานการณ์น้ำตาลทรายของไทยอยู่ในภาวะตึงตัวเพราะความต้องการใช้น้ำตาลทรายในประเทศของภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นสูงมาก ซึ่งขณะนี้ก็มีหลายอุตสาหกรรมเสนอเรื่องเพื่อให้ สอน.เพิ่มปริมาณน้ำตาลทราย โควตา ก. และการเพิ่มปริมาณโควตา ก. อีก 2 ล้านกระสอบ คงไม่มีปัญหาเพราะจะมีการลดปริมาณน้ำตาลโควตา ค. (ส่งออก) ลงแล้ว เพิ่มปริมาณโควตา ก. ในประเทศให้มากขึ้น”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความต้องการใช้น้ำตาลทราย ในประเทศของผู้ประกอบการในปีนี้มีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังสภาพอากาศที่ร้อนจัด ทำให้ผู้ผลิตเครื่องดื่มอย่างน้ำอัดลม, น้ำผลไม้และชาเขียว มีการแข่งขันสูงจึงจำเป็นต้องเร่งผลิตสินค้า และมีโปรโมชั่นต่างๆ ในการดึงดูดผู้บริโภค โดยเฉพาะการชิงโชคด้วยการแจกทองคำ ยิ่งทำให้ความต้องการสินค้าดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างมาก เพราะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและปัญหาค่าครองชีพสูงทำให้คนไทยหันมาเสี่ยงโชคกันมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีอานิสงส์จากการบริโภคเครื่องดื่ม ในประเทศที่ขยายตัวต่อเนื่อง รวมทั้งการตั้งโรงงานผลิตเครื่องดื่มรายใหม่ๆ เช่น น้ำอัดลมยี่ห้อ“เอส” และ“บิ๊กโคล่า” รวมถึงอุตสาหกรรมน้ำผลไม้และขนมหวาน ขนมเค้ก เบเกอรี่ที่มียอดขายเพิ่มขึ้นทั่วประเทศ

ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 30 พ.ค.ที่ผ่านมา สอน. ยังได้ร่วมลงนาม เรื่อง “ประกาศเจตจำนง ในการร่วมกันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กในไร่อ้อย ร่วมกับสหพันธ์ชาวไร่อ้อยทั่วประเทศและผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาล จากนั้น ก็จะมีการประสานงานกระทรวงแรงงาน กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อปลดประเทศไทยออกจากรายชื่อประเทศที่ถูกจับตามองค้ามนุษย์หวังช่วยกอบกู้ภาพลักษณ์อุตสาหกรรมน้ำตาลไทย

ทั้งนี้ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา สหรัฐฯได้ออกประกาศว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ถูกจับตามองในเรื่องการค้ามนุษย์ ในสินค้า 5 ประเภทจากไทย ซึ่งรวมถึงน้ำตาลที่ผลิตจากอ้อย ได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกและภาพลักษณ์ของไทยพอสมควร แต่ข้อเท็จจริงก็คือ เป็นวิถีชีวิตของชาวไร่อ้อยที่นำลูกหลานเข้าไปในไร่อ้อยด้วย เพราะไม่ต้องการให้อยู่บ้านโดยลำพัง และไม่มีเจตนาใช้แรงงานเด็กแต่อย่างใด.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 31 พฤษภาคม 2556

คลังชวนสมัครบัตรเครดิตเกษตรกร

เมื่อวันที่ 30 พ.ค. นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง กล่าวว่า การออกบัตรเครดิตเกษตกร อภิปรายว่า ได้สั่งการให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดำเนินการให้ครบทั่วประเทศ จำนวน 4 ล้านใบ ขณะที่มีร้านค้าเข้าโครงการ กว่า 10,000 ร้านค้า สำหรับเกษตรกรทั่วประเทศมีอยู่ 7 ล้านครัวเรือน สามารถสมัครเป็นสมาชิกบัตรได้ที่ธ.ก.ส.ทั่วประเทศ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด

ส่วนประโยชน์ของบัตรเครดิตเกษตรกรใช้รูดซื้อเมล็ดพันธุ์ ยาปราบศัตรูพืช ปุ๋ย น้ำมันจากปตท. และบางจาก ที่ร่วมโครงการ โดยไม่เสียดอกเบี้ยภายใน 5 เดือน นอกจากนี้ ยังพ่วงประกันชีวิต และประกันอุบัติเหตุให้ด้วย จึงขอเชิญชวนให้ประชาชนมาเป็นสมาชิกของบัตรเคดิตเกษตรกร

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 31 พฤษภาคม 2556

**รายงานอาเซียน** ความจำเป็นของการขนส่งระบบรางในประเทศ เปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาค และการพัฒนาประเทศเมื่อเข้าสู่ AEC

ความจำเป็นของการขนส่งระบบรางในประเทศ เปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาค และการพัฒนาประเทศเมื่อเข้าสู่ AEC

การเข้าสู่ประชาคมเศรฐกิจอาเซียน (AEC) นอกจากการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในด้านด้านต่างๆแล้ว สิ่งอำนวยความสะดวกในเรื่องการขนส่งก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญควบคู่กันไปด้วย

นายนคร จันทศร ที่ปรึกษาผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งสถาบันพัฒนาเทคโนโลยีระบบขนส่งทางรางแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวว่า การขนส่งของไทยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาค และการเข้าสู่ประชาคมเศรฐกิจอาเซียน ( AEC ) ถือว่าเรายังล้าหลังกว่าประเทศสิงห์คโปร์ ประเทศมาเลเซีย และประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งประเทศที่มีการออกแบบเครือข่ายระบบรางแบบครอบคลุม ทั้งระบบการขนส่งและการปรับปรุงเมือง คือประเทศสิงคโปร์ และฮ่องกง ส่วนประเทศอินโดนีเซียจะเน้นการใช้งานมุ่งเติบโตทางอุตสาหกรรมเป็นหลักซึ่งถือว่ามีศักยภาพมาก

ทั้งนี้ถือว่าประเทศไทยได้เดินมาถูกทางในเรื่องการมีนโยบายในการพัฒนาระบบขนส่งทางราง ภายในประเทศ แต่เราอาจต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 5 ปี ที่จะเห็นเป็นรูปมธรรม

นอกจากนี้การขนส่งระบบรางในประเทศควรที่จะศึกษาให้ครอบคลุมทั้ง 3 รูปแบบ คือ ระบบในเมือง ระบบนอกเมือง และระบบชานเมือง โดยต้องศึกษาปริมาณความต้องการของผู้ใช้ของแต่ละพื้นที่ว่ามีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน เพื่อความคุ้มค่าในการใช้งบประมาณในการก่อสร้างแต่ละเส้นทาง

จาก http://thainews.prd.go.th วันที่ 4 มิถุนายน 2556

อุตฯคุมเข้มสิ่งแวดล้อม ฉุดแผนตั้ง3โรงงานใหม่

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการกลั่นกรองการพิจารณาการอนุญาตโรงงานบางประเภทที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ที่ประชุม เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2556 ได้พิจารณาการขอประกอบกิจการโรงงาน ตามที่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม เสนอมาให้ คณะกรรมการกลั่นกรองฯ พิจารณาจำนวนรวม 5 ราย

โดย คณะกรรมการกลั่นกรองฯ ได้อนุญาตให้ บริษัท ไทยโทเรซินเทติคส์ ในจ.นครปฐม ประกอบกิจการผลิต ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการหีบห่อจากพลาสติก ขยายโรงงานในพื้นที่เดิม

พร้อมอนุญาตให้ บริษัท สยามอินเตอร์เนชั่นแนลฟู๊ด จำกัด ใน จ.สงขลา ประกอบกิจการผลิตปลาทูน่ากระป๋องสัตว์น้ำบรรจุกระป๋อง ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปจากเนื้อสัตว์ที่ไม่ใช่สัตว์น้ำ

อย่างไรก็ตามในส่วนของ บริษัท ซี.พี.ค้าปลีกและการตลาด ใน จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งประกอบกิจการผลิตอาหารสำเร็จรูปพร้อมบริโภคทันที ได้ให้ กรมโรงงานฯไป ทบทวนเรื่องการควบคุมน้ำทิ้งจากโรงงาน ได้แก่ ปริมาณน้ำเสียและน้ำทิ้ง ขีดความสามารถของระบบบำบัดน้ำเสียที่รองรับ และการระบายน้ำลงแม่น้ำ

นอกจากนี้ยัง คืนเรื่อง ให้กรมโรงงานฯ ตรวจสอบประเด็นการติดประกาศประชาพิจารณ์การตั้งโรงงานของ บริษัท สยามโซล่าร์ เจนเนอเรชั่น จำกัด ในจ. ชัยภูมิ ซึ่ง ประกอบกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ ส่วน บริษัท โรจนะ อินดัสเตรียล แมเนจเม้นท์ ใน จ.พระนครศรีอยุธยา ให้กรมโรงงาน ไปตรวจสอบทำเลที่ตั้ง และของเสียจากกระบวนการผลิตก่อน

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 31 พฤษภาคม 2556

ปลุกพัฒนางานวิจัยต่อเนื่อง เตือนนักวิจัยรักษาคุณภาพมาตรฐาน/สร้างความเข้มแข็งภาคเกษตรไทย

นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตรได้จัดการประชุมวิชาการประจำปี 2556 “วิชาการก้าวไกล มั่นใจสู่อาเซียน” เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 800 คน ซึ่งประกอบด้วยบุคลากรของกรมวิชาการเกษตร หน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรฯ หน่วยงานวิจัยด้านการเกษตร รวมทั้งเกษตรกรและผู้ประกอบการ ได้รับทราบและเพิ่มความรู้เกี่ยวกับทิศทางงานวิจัยและพัฒนาของกรมวิชาการเกษตร รองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

ทั้งนอกจากการเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้ในหัวข้อต่างๆ แล้ว ยังมีการประกาศผลงานวิจัยดีเด่นประจำปี 2555 ของกรมวิชาการเกษตร เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่นักวิจัยในการค้นคว้าวิจัยเรื่องต่างๆ อันเป็นประโยชน์แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการ

นายชวลิต กล่าวอีกว่า ได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรเตรียมความพร้อมในโครงการสำคัญของกระทรวงเกษตรฯ อาทิ โครงการบริหารจัดการเขตเกษตรเศรษฐกิจสำหรับสินค้าเกษตรที่สำคัญ โครงการเมืองเกษตรสีเขียว (Green Agriculture City) โครงการพัฒนาเกษตรสู่ Smart Farmer โครงการพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรสู่มาตรฐาน โครงการเพิ่มศักยภาพด่านสินค้าเกษตรชายแดนเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โครงการพัฒนาเป็นศูนย์กลางการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชรองรับประชาคมอาเซียน (Seed Hub Center) และโครงการส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรทดแทนแรงงานเกษตร

ในส่วนงานวิจัยและพัฒนา ให้คำนึงถึงคุณภาพมาตรฐานอันจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร อาทิ การวิจัยและพัฒนาด้านปรับปรุงพันธุ์พืชโดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูง วิจัยและพัฒนาเพื่อให้ได้เทคโนโลยีการผลิตพืชที่มีต้นทุนต่ำ เพิ่มผลผลิตและมีคุณภาพ วิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม วิจัยและพัฒนาด้านความปลอดภัยด้านสินค้าเกษตรและอาหารตามมาตรฐานสากล วิจัยและพัฒนาเพื่อกำหนดให้มีค่าสารพิษตกค้างสูงสุดที่ยอมรับได้ และวิจัยและพัฒนาเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) นอกจากนี้ ยังมีงานด้านต่างๆ ที่กรมวิชาการเกษตรต้องให้ความสำคัญและพัฒนาคุณภาพมาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับอย่างต่อเนื่อง อาทิ งานบริหารด้านการตรวจวิเคราะห์และการรับรองมาตรฐาน การปรับปรุงกฎหมายและระเบียบให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์โดยบูรณาการกับหน่วยงานอื่น การพัฒนาบุคลากร โดยให้ความสำคัญกับแผนพัฒนาบุคลากรนักวิจัยรุ่นใหม่ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และการพัฒนาบุคลากรด้านงานบริการ โดยพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ด้านตรวจพืชให้มีความเข้มแข็ง สามารถตรวจสอบสินค้านำเข้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 31 พฤษภาคม 2556

จับตาบทบาทผอ.WTOคนใหม่ สศก.คาดหนุนเปิดเสรีสินค้าเกษตร ลุ้นดันข้อเรียกร้องปท.กำลังพัฒนา

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการสรรหาผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก หรือ WTO คนใหม่ ได้ข้อสรุปอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งผู้ที่ได้รับคัดเลือก คือ นายโรแบร์โต อาเซเวโด เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรบราซิลประจำองค์การการค้าโลก โดยจะเข้ารับตำแหน่งต่อจาก นายปาสกาล ลามี ที่จะครบวาระในวันที่ 31 สิงหาคมที่จะถึงนี้ ซึ่งนับเป็นผู้อำนวยการการค้าโลกคนแรกที่เป็นชาวละตินอเมริกา และเป็นตัวแทนจากกลุ่มบริกส์ หรือ ประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ อีกทั้งยังเป็นประเทศที่อยู่ในกลุ่มเครนส์และกลุ่มจี 20 ซึ่งอยู่ในกลุ่มผลประโยชน์เดียวกับไทย ที่ให้ความสำคัญกับการเปิดเสรีการค้าสินค้าเกษตร

เลขาธิการ สศก. กล่าวอีกว่า การมีผู้อำนวยการใหญ่ WTO ที่เป็นตัวแทนจากประเทศกำลังพัฒนานั้น จะช่วยเสริมบทบาทของประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้ข้อเรียกร้องของประเทศกำลังพัฒนาในการเจรจารอบโดฮา ได้รับการตอบสนองจากประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลาย และนับได้ว่าผู้อำนวยการใหญ่ WTO จะมีส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางการทำงานของ WTO ในอนาคต โดยจะมีวาระดำรงตำแหน่ง 4 ปี ซึ่งต้องจับตามองว่า ผู้อำนวยการคนใหม่จะเดินหน้าให้ความสำคัญกับการปิดรอบการเจรจารอบโดฮาที่ประสบภาวะชะงักงันมากว่า 10 ปี ได้หรือไม่ หลังจากที่ปัจจุบัน สมาชิกต่างให้ความสนใจความร่วมมือในระดับทวิภาคีกับข้อตกลงการค้าเสรีระดับภูมิภาค รวมถึงจะสามารถผลักดันแนวคิดในการแก้ปัญหาการค้าโลกที่ได้กล่าวไว้ระหว่างการชิงชัยว่า “ระบบการค้าโลกควรจะเน้นการเจรจา และคำนึงถึงสถานการณ์จริงในปัจจุบันควบคู่กัน ซึ่งแนวทางแก้ปัญหา คือการส่งเสริมการค้าและระบบการค้าเสรีให้เป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการพัฒนาเป็นนโยบายทางการค้า” อย่างไรก็ตาม ภารกิจแรกที่น่าจับตามอง คือ การประชุมรัฐมนตรีขององค์การการค้าโลก สมัยสามัญ ครั้งที่ 9 ณ เมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซียในปลายนี้ ซึ่งมีหลายวาระที่ผลักดันโดยประเทศกำลังพัฒนาและจะต้องสรุปให้ได้ในการประชุมดังกล่าว เช่น การออกระเบียบใหม่เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหาร และการให้ข้อผ่อนปรนแก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด เป็นต้น

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 31 พฤษภาคม 2556

รายงานพิเศษ : อ่างเก็บน้ำ น้ำปี้ หัวเชื้อเร่งพัฒนาลุ่มน้ำยม

ลุ่มน้ำยมอาภัพกว่าลุ่มน้ำไหนใน 4 ลุ่มน้ำ เพราะลุ่มน้ำปิงมีอ่างเก็บน้ำภูมิพล ลุ่มน้ำวังมีทั้งอ่างเก็บน้ำกิ่วลมและกิ่วคอหมา และลุ่มน้ำน่านมีอ่างเก็บน้ำสิริกิติ์ ซึ่งช่วยทั้งคนในลุ่มน้ำตัวเอง และลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่อยู่เบื้องล่างให้กลายเป็นแหล่งปลูกข้าวที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย

มีอ่างเก็บน้ำ ไม่ได้หมายถึงสูตรสำเร็จรูปแก้ปัญหาชีวิตได้ทุกอย่าง แต่อย่างน้อยที่สุด ราษฎรในลุ่มน้ำ มีแหล่งน้ำต้นทุนเพาะปลูกได้ ทั้งหน้าฝนและหน้าแล้ง แถมยังช่วยประทังบรรเทาน้ำท่วมได้อีกด้วย

ลุ่มน้ำยมอับจนหนทางสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่เหมือนลุ่มน้ำอื่น หน้าฝนน้ำท่วม หน้าแล้งก็ ขาดแคลนน้ำจนไม่ต้องทำกิน ชีวิตคนลุ่มน้ำยม จึงมีสภาพลุ่มๆ ดอนๆ กว่าอีก 3 ลุ่มน้ำข้างต้น

โครงการอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ อย่างแก่งเสือเต้น ยมบน-ยมล่าง ยังเป็นอนาคตที่หาข้อสรุปไม่ได้ แต่ท่ามกลางปัญหาก็มักมีแสงสว่างปลายอุโมงค์ลอดให้เห็น อย่างเช่น โครงการน้ำปี้ อ.เชียงม่วน จ.พะเยา

ภูลังกา อ.ปัว จ.พะเยา เป็นจังหวัดต้นกำเนิดของแม่น้ำยม ไหลผ่าน อ.เชียงม่วน จ.พะเยา ลงสู่ จ.แพร่ ทะลุ จ.สุโขทัย ไปออก จ.พิษณุโลก และ จ.พิจิตร ก่อนไปสมทบกับแม่น้ำน่านที่ อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ แล้วไหลไปรวมกับแม่น้ำปิงและแม่น้ำวังที่ ต.ปากน้ำโพ จ.นครสวรรค์ กลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา ไหลลงสู่พื้นที่ราบลุ่มภาคกลางที่เรียกขานว่า ทุ่งเจ้าพระยา

แม่น้ำปี้ถือกำเนิดที่ อ.บ้านหลวง จ.น่าน ไหลผ่าน อ.เชียงม่วน ก่อนลงไปสมทบกับแม่น้ำยม จึงถือว่า แม่น้ำปี้เป็นลำน้ำสาขาแม่น้ำยม

สภาพที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ พื้นที่ อ.เชียงม่วน ไม่มีอ่างเก็บน้ำขนาดกลางเลย ที่มีอยู่แค่อ่าง หรือฝายเล็กๆ ความจุน้อยไม่พอกับความต้องการ หน้าฝนน้ำหลากก็จะท่วมพื้นที่สองฝั่ง พอหน้าแล้งก็ขาดแคลนน้ำทำกิน ปีหนึ่งทำนาได้แค่ครั้งเดียว หน้าแล้งปลูกพืชผักก็ได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง

ความยากจนที่วัดจากระดับรายได้จึงฟ้องให้เห็น รายได้เฉลี่ย/ครัวเรือนของภาคเหนือนั้นต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับภาคอื่น และต่ำกว่ารายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ สำหรับพื้นที่โครงการน้ำปี้หนักหนากว่านั้น ตรงที่ค่าเฉลี่ยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของภาคเหนืออีก

นี่คือปัญหาใหญ่ที่สั่งสมยาวนาน

อันที่จริง ชาวเชียงม่วนเรียกร้องขออ่างน้ำปี้ ตั้งแต่ปี 2519 แต่ด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณ ลำดับความเร่งด่วน ฯลฯ ทำให้โครงการล่าช้า แม้เริ่มต้นศึกษาได้แล้ว ก็มุ่งแก้ปัญหาความแห้งแล้งอย่างเดียวมีขนาดความจุอ่าง 27 ล้านลูกบาศก์เมตร จนเมื่อเกิดเหตุน้ำท่วมใหญ่ 2554 จึงขยายศักยภาพความจุเป็น 96 ล้านลบ.ม. สามารถขยายพื้นที่ชลประทานใน อ.เชียงม่วน ในหน้าฝนได้ 28,000 ไร่ ในหน้าแล้งได้ 16,800 ไร่ แถมยังส่งน้ำไปช่วยโครงการฝายแม่ยม จ.แพร่ ได้อีก 35,000 ไร่

ความจุอ่างเก็บน้ำ 96 ล้านลบ.ม. นอกจากทำหน้าที่เก็บกักน้ำแล้ว ยังจะเป็นตัวตัดยอดน้ำในหน้าฝนไม่ให้ไหลลงสมทบกับแม่น้ำยมไปสร้างความเสียหายให้พื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนกลางและตอนล่างไปในตัวได้อีกด้วย

นายชูชาติ กีฬาแปง ผู้ว่าราชการ จ.พะเยา รับรู้ปัญหานี้ตั้งแต่ครั้งมาเป็นนายอำเภอเชียงม่วนเมื่อ 20 ปีก่อน วันนี้กลับมาในฐานะพ่อเมือง ที่พร้อมผลักดันโครงการนี้ให้เป็นจริง เป็นของขวัญสำหรับชาวเชียงม่วนผู้ประสบปัญหาน้ำมายาวนาน

นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน บอกว่า กรมชลประทานไม่ได้มุ่งแต่สร้างเขื่อน อ่างเก็บน้ำตะพึดตะพือ หากแต่ หนึ่งขึ้นอยู่กับความต้องการของชาวบ้าน สองความเหมาะสม การพัฒนาแหล่งน้ำไม่จำเป็นต้องสร้างเขื่อน อ่างเก็บน้ำเสมอไป บางแห่งเหมาะกับการสูบน้ำด้วย

ไฟฟ้า บางแห่งสร้างเป็นฝาย แต่ที่เชียงม่วน มีพื้นที่เหมาะกับการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดกลางก็สร้างไป

“ภาคอีสานคนต้องการน้ำมาก แต่พื้นที่สร้างอ่างไม่มีหรือมีก็ไม่เหมาะ เขายังลงทุนสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ด้วยน้ำมัน ทั้งที่ต้นทุนสูง แต่เขาก็มีรายได้จากผลผลิต น้ำจึงเป็นสิ่งจำเป็น”

อธิบดีกรมชลประทานยังบอกด้วยว่า ประเทศไทยมีน้ำอุดมสมบูรณ์ ไม่ควรมีภัยแล้ง แต่เนื่องจากน้ำมากเฉพาะในฤดูฝน พอฤดูแล้งฝนตกน้อยหรือไม่ตก จึงเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำ ฉะนั้นจึงมีความจำเป็นต้องสร้างเขื่อน อ่างเก็บน้ำ สะสมน้ำในฤดูฝนเอามาใช้ในฤดูแล้ง

“เราต้องทำให้ประเทศไทย มีพื้นที่ชลประทานมากที่สุด เรามีพื้นที่มีศักยภาพ 60 ล้านไร่ แต่พัฒนาเป็นพื้นที่ชลประทานได้กว่า 29 ล้านไร่ ยังเหลือให้พัฒนาอีกกว่า 30 ล้านไร่ ถ้าปล่อยให้การพัฒนาพื้นที่ชลประทานหยุดนิ่ง หน้าแล้งเราก็มีปัญหาขาดแคลนน้ำทุกปีแน่นอน”

ในขณะ ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน ชี้ว่า อ่างเก็บน้ำน้ำปี้จะเป็นอ่างใหญ่ที่สุดในโครงการอ่างขนาดกลางด้วยกัน และยังเป็นโครงการนำร่องในการพัฒนาลุ่มน้ำยม โดยเชื่อว่าจะกระตุ้นการพัฒนาแหล่งน้ำอื่นๆ ในลุ่มน้ำยมอีกราวๆ 30 โครงการให้เร็วขึ้น หลังจากเห็นผลจากโครงการน้ำปี้ จ.พะเยา

โครงการน้ำปี้ กำลังจะเป็นจริง โดยจากนี้กรมชลประทานจะนำเสนอโครงการต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เพื่อผ่านเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ จากนั้นถึงจะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการ คาดว่าจะเริ่มทำการก่อสร้างได้ในปี 2558 ด้วยวงเงินกว่า 2,000 ล้านบาท

“น้ำปี้ จะเป็นตัวนำร่องสู่การพัฒนาแหล่งน้ำทั้งลุ่มน้ำยม เพราะจะเห็นผลสำเร็จของโครงการ รวมทั้งการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สูญเสียไปกับการสร้างอ่างเก็บน้ำ” ดร.สมเกียรติ กล่าว

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 31 พฤษภาคม 2556

กนอ.ทุ่มงบ141ล้านบาท ซื้อคันกั้นน้ำติดตั้งด่วน

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ประธานกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศ ไทย (กนอ.) เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะกรรมการ กนอ. ได้อนุมัติงบประมาณ 141.5 ล้านบาท ให้ กนอ.ดำเนินการจัดซื้อคันกั้นน้ำชนิดติดตั้งเร็วรอบนิคมอุตสาหกรรม จำนวน 2,188 ชุด รวมความยาว 20 กม. ความสูง 1.22 เมตร เพื่อเป็นแผนสำรองฉุกเฉินป้องกันน้ำท่วม โดยมีคุณสมบัติที่เคลื่อนย้ายได้สะดวก ติดตั้งได้รวดเร็ว สามารถรับแรงดันน้ำในระดับสูง อัตราการรั่วซึมต่ำ และลดปริมาณแรงงานคนในการก่อสร้าง

"การจัดหาคันกั้นน้ำติดตั้งเร็วดังกล่าวตามแผนสำรองฉุกเฉินระบบป้องกันน้ำท่วมจะเพิ่มความมั่นใจให้นักลงทุนยิ่งขึ้นในการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ฉุกเฉินของ กนอ.และเป็นปัจจัยในการตัดสินใจขยายฐานการผลิตมายังประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นิคมฯ ของ กนอ. 5 แห่งที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมได้แก่ นิคมฯลาดกระบัง นิคมฯบางชัน นิคมฯบางปู นิคมฯบางพลี และนิคมฯสมุทรสาคร

ด้านนายวีรพงษ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า การเลือกความยาวคันกั้นน้ำที่ 20 กม. เนื่องจากเป็นความยาวรอบนิคมฯ ที่ยาวที่สุดคือนิคมฯลาดกระบัง โดยคันกั้นน้ำจะใช้ทั้งในนิคมฯ ของ กนอ. และนิคมฯ ที่ กนอ. ร่วมพัฒนากับเอกชน โดยอุปกรณ์ทั้งหมดได้รับการส่งมอบประมาณเดือน ส.ค. หลังจากนั้นจะเริ่มทดสอบการติดตั้งรอบนิคมฯต่าง ๆ และเก็บไว้ที่นิคมฯ ลาดกระบังซึ่งมีพื้นที่เก็บเพียงพอและอยู่ศูนย์กลางระหว่างนิคมฯ โซนเหนือและตะวันออกของกรุงเทพฯ

ทั้งนี้แม้คันกั้นน้ำชนิดติดตั้งเร็วที่จัดซื้อมามีเพียงชุดเดียว แต่เชื่อว่าจะรับมือกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน โดยแผนการลงทุนบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท น่าจะทำให้มีการบริหารไม่ให้เกิดน้ำท่วมหนักเหมือนปี 54 อีก.

จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 31 พฤษภาคม 2556

ก.อุตฯ เล็งจัดสรรน้ำตาลบริโภคใน ปท.เพิ่มอีก 2 แสนตัน ป้องขาดตลาด

สอน.เผยน้ำตาลทรายในประเทศเริ่มตึงตัวหลังความต้องการใช้จากภาคการผลิตพุ่งกระฉูดโดยเฉพาะจากอุตฯ เครื่องดื่มทั้งชาเขียว และน้ำอัดลม เตรียมจัดสรรน้ำตาลบริโภคในประเทศเพิ่มอีก 2 แสนตันจากที่จัดสรรไว้ 2.5 ล้านตันเป็น 2.7 ล้านตัน พร้อมประกาศเจตจำนงต่อต้านการใช้แรงงานเด็กในไร่อ้อย

นายสมศักดิ์ สุวัฒิกะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า ภายในเดือน มิ.ย. คณะกรรมการน้ำตาลทราย (กน.) จะมีการพิจารณาจัดสรรปริมาณน้ำตาลทรายบริโภคในประเทศ (โควตา ก.) ฤดูกาลผลิตปี 55/56 เพิ่มอีก 2 แสนตัน (2 ล้านกระสอบ) จากเดิมที่กำหนดไว้ 2.5 ล้านตัน (25 ล้านกระสอบ) เป็น 2.7 ล้านตัน (27 ล้านกระสอบ) เนื่องจากพบว่าขณะนี้ปริมาณน้ำตาลทรายค้างกระดานเหลือไม่ถึง 8 แสนตัน ซึ่งถือเป็นระดับต่ำกว่าปกติทำให้ขณะนี้ปริมาณน้ำตาลเริ่มตึงตัวหากไม่มีการจัดสรรเพิ่มอาจเกิดภาวะขาดแคลนได้

“การบริโภคน้ำตาลทรายถือว่าสูงมาก โดยเฉพาะจากภาคอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม น้ำอัดลม อาหาร โดยเฉพาะชาเขียวที่ตลาดมีการแข่งขันชิงโชคทำให้ตลาดขยายตัวอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับตลาดน้ำอัดลมซึ่งเป็นเพราะอากาศร้อนจัด การจัดสรรน้ำตาลในประเทศที่เพิ่มขึ้นทำให้การส่งออกน้ำตาลปีนี้จะอยู่ที่ 7.2 ล้านตัน จากการผลิต 10.8 ล้านตัน และฤดูกาลผลิตอ้อยปี 56/57 น่าจะผลิตอ้อยมากกว่า 100 ล้านตัน และคาดว่าจะผลิตน้ำตาลทรายได้ 11-12 ล้านตัน” นายสมศักดิ์กล่าว

สำหรับความคืบหน้าการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เร่งรัดให้เสร็จเพื่อให้ทันฤดูกาลผลิตปี 56/57 ที่จะเริ่มเปิดหีบในเดือน พ.ย.นี้ ซึ่งล่าสุดมีการประชุมจากทุกภาคส่วนแล้วระดับหนึ่ง โดยนำเอาผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) มาประกอบการตัดสินใจ โดยความเห็นส่วนตัวต้องการให้มีการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายเหมือนกับราคาน้ำมัน แต่ก็มีบางฝ่ายท้วงติงว่าหากโรงงานน้ำตาลฮั้วกันกำหนดราคาจะมีมาตรการอะไรมาดูแล จึงควรกำหนดเพดานราคาสูงสุดไว้และให้ประกาศเป็นรายเดือน ซึ่งทั้งหมดจะเร่งสรุปให้เสร็จภายในเดือน มิ.ย.

นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรมได้ลงนาม “ประกาศเจตจำนงในการร่วมกันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กในไร่อ้อย โดยมีตัวแทนชาวไร่ โรงงาน และหน่วยงาน เช่น กระทรวงแรงงาน กระทรวงการต่างประเทศ ผู้แทนสถานทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ร่วมเป็นสักขีพยาน ทั้งนี้ สหรัฐอเมริกาได้ประกาศให้ไทยเป็นประเทศที่ถูกจับตามองในเรื่องการค้ามนุษย์ และได้สั่งห้ามซื้อสินค้าจากไทยรวม 4 ประเภท ได้แก่ กุ้ง เสื้อผ้า ปลา รวมถึงน้ำตาลที่ผลิตจากอ้อยเมื่อช่วงปลายปี 2555 ทำให้มีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของสินค้าอุตสาหกรรมน้ำตาลของไทย การลงนามครั้งนี้ก็เพื่อที่จะยืนยันว่าไทยไม่ได้มีการใช้แรงงานเด็กในอุตสาหกรรมอ้อยฯ

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 30 พฤษภาคม 2556

เศรษฐกิจชะลอหนัก คลังเล็งปรับจีดีพี

คลังเล็งปรับลดจีดีพี ปี 56 เดือนหน้า หลังเศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลกกำลังซื้อหด ส่วน กนง. ลดดอกเบี้ย ช่วยรักษาค่าเงินบาทระยะสั้น เชื่อ มีแนวโน้มปรับลดลงอีก ฟันธงสัญญาเศรษฐกิจเดือนเม.ย.ชี้ชัดชะลอตัวลงแรง แรงส่งจากการลงทุนการบริโภคแผ่วลง จับผิดตัวเลขส่งออกของพาณิชย์ 10.5% สูงเกินจริง

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ รองผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ในเดือนมิถุนายน 56 สศค. เตรียมปรับลดอัตราประมาณการเศรษฐกิจไทย (GDP) ลง จากที่เคยตั้งเป้าว่า ในปีนี้จะขยายตัวได้ 5.3% เนื่องจากเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกขยายตัวเพียง 5.3% เท่านั้น ซึ่งน้อยกว่าที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัวได้ถึง 6% และเศรษฐกิจโลกยังคงมีแนวโน้มชะลอตัวโดยเฉพาะ จีน ที่เป็นคู่ค้าสำคัญของไทย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกได้

ขณะที่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง ของทางคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เหลือ 2.5% จากเดิมที่อยู่ที่ 2.75% จะช่วยทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลงในช่วงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม มองว่า แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะต่อไป จะยังคงอยู่ในช่วงขาลง และสามารถปรับลดได้อีก เพราะเศรษฐกิจไทยยังคงมีความเสี่ยงที่จะขยายตัวชะลอลง ส่วนการจะปรับลดลงเท่าไหร่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับทางคณะกรรมการนโยบายการเงินเป็นผู้พิจารณา

นายเอกนิติกล่าวว่า สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยเดือนเมษายนที่ผ่านมา เครื่องบ่งชี้ด้านภาคการผลิตมีสัญญาชะลอตัวลงต่อเนื่องจากไตรมาสแรก โดยดูจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่ติดลบ 3.8% จากไตรมาสแรกที่ยังขยายตัวเป็นบวก รวมถึงการบริโภคภาคเอกชนก็แผ่วลงเช่นกันแม่ยังขยายตัว 3.7% แต่เทียบไตรมาสแรกขยายตัว 6.9% โดยเฉพาะกำลังซื้อรถยนต์คันแรกแผ่วลงชัดเจนเหลือขยายตัวเพียง 22.9% จากไตรมาสแรกที่ขยายตัว 1.01.3%

นอกจากนี้การลงทุนภาคเอกชนก็มีสัญญาณชะลอตัวลงต่อเนื่องจากไตรมาสแรก ดูจากการนำเข้าเครื่องจักรสินค้าทุนที่หดตัวเหลือ 2.3%ซึ่งหากหักนำเข้าเครื่องบิน เรือ รถไฟจะติดลบ 8.5% ขณะที่การส่งออกที่กระทรวงพาณิชย์แถลงก่อนหน้านี้ขยายตัว 10.5% จากการพิจารณาไส้ในของการส่งออกแล้วพบว่ามีตัวเลขบางส่วนสูงผิดปกติ โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์ไปฮ่องกงที่เพิ่มขึ้นมาเป็นพันเปอร์เซ็นต์ จึงขอให้กระทรวงพาณิชย์ไปทบทวนตัวเลขใหม่ร่วมกับกรมศุลกากร ซึ่งน่าจะมีการชี้แจงตัวเลขที่ชัดเจนอีกครั้งในสัปดาห์หน้า

"ล่าสุดทางสศค. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และกระทรวงพาณิชย์ได้หารือและเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจเดือนเมษายนและไตรมาส 2 มีการชะลอตัวลงชัดเจน โดยอาจจะขยายตัวเป็นบวกแต่น่าจะต่ำว่าไตรมาสแรกที่ขยายตัว 5.3% โดยหากเทียบไตรมาสต่อไตรมาสน่าจะติดลบเป็นเดือนที่ 2 ส่งผลให้ทั้งปีก็น่าจะขยายตัวต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 5.3% โดยสศค.จะปรับประมาณการณ์อีกครั้งปลายเดือนมิถุนายนนี้" นายเอกนิติกล่าว

นายเอกนิติกล่าวว่า ทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ชะลอตัวอย่างมากนั้นทำให้แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจแผ่วลงอย่างมาก หากจะหวังพึ่งการส่งออกก็ดูจะลางเลือนมาก เพราะเดือนเมษายนหากมีการทบทวนตัวเลขใหม่ไม่ดีอย่างที่คิดและขยายตัวต่ำกว่า10.5% อย่างมากก็น่าเป็นห่วงเพราะไตรมาสแรกจีดีพีก็ต่ำกว่าเป้าที่วางไว้ 6% และเศรษฐกิจโลกก็ชะลอตัวลงกว่าที่คิด โดยเฉพาะคู่ค้าสำคัญอย่างจีน ช่วงครึ่งปีหลังจึงหวังพึ่งการเบิกจ่ายเงินภาครัฐและการท่องเที่ยวที่จะมาพยุงเศรษฐกิจไม่ให้ชะลอตัวลงแรง

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 30 พฤษภาคม 2556

ฤดูการผลิตอ้อยปัจุบันปี 2555/2556 ไทยมีผลผลิตมากกว่า 100 ล้านตันอ้อย และมีผลผลิตน้ำตาล 10 ล้านตัน คาดจะส่งออกมากถึง 7 ล้านตัน

เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เผย ฤดูการผลิตอ้อยปัจุบันปี 2555/2556 ไทยมีผลผลิตมากกว่า 100 ล้านตันอ้อย และมีผลผลิตน้ำตาล 10 ล้านตัน คาดจะส่งออกมากถึง 7 ล้านตัน

นายสมศักดิ์ สุวัฒิกะ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวว่า อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย สร้างรายได้จากการจำหน่ายในประเทศและส่งออกกว่าปีละ 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.8 แสนล้านบาท โดยเฉพาะในฤดูการผลิตอ้อยปัจุบันปี 2555/2556 ประเทศไทยมีผลผลิตมากกว่า 100 ล้านตันอ้อย และมีผลผลิตน้ำตาล 10 ล้านตัน คาดว่าจะส่งออกมากถึง 7 ล้านตันส่วนใหญ่ร้อยละ 63 ส่งออกในเอเชีย โดยส่งออกตลาดอินโดนีเซียมากเป็นอันดับหนึ่ง ส่วนตลาดสหรัฐอเมริกาส่งออกคิดเป็นร้อยละ 1 หรือประมาณปีละ 3 แสนตันเท่านั้น

สำหรับคาดการณ์อ้อยฤดูการผลิตปี 2556/2557 คาดว่า จะมีผลผลิตอ้อยรวมมากกว่าปีที่แล้ว มาจากค่าความหวานเพิ่มขึ้นจากปืที่แล้วค่าความหวานเฉลี่ยที่ 11.6 CCS เป็น 12 CCS ทำให้ผลิตน้ำตาลทรายได้มากถึง 11 - 12 ล้านตัน

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 30 พฤษภาคม 2556

นักวิจัย ′นาโนเทค′ พัฒนา ′ปุ๋ยนาโน′ แก้ปัญหาดินเสื่อม-′อัพเกรด′ คุณภาพเพิ่มผลผลิต !

ปัญหาดินเสื่อมโทรมจากการใช้ปุ๋ยเกินจำเป็น ทำให้ผลผลิตของพืชเศรษฐกิจตกต่ำและการนำเข้าปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศสูง ส่งผลให้ต้นทุนต่อพื้นที่สูงขึ้น อีกทั้งคุณภาพปุ๋ยที่มีธาตุอาหารไม่ตรงกับความต้องการของพืชล้วนเป็นปัญหาต่อการพัฒนาพืชเศรษฐกิจของประเทศไทยตลอดมา

นายวรวัจน์เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า โครงการผลิตปุ๋ยสูตรผสม NPK ชนิดควบคุมการปลดปล่อยธาตุอาหารสำหรับพืชเศรษฐกิจโดยเทคนิคการเคลือบนาโนเป็นผลงานวิจัยของทีมวิจัยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ(นาโนเทค) สวทช. ร่วมมือกัน พัฒนา "ปุ๋ยนาโน" ซึ่งได้พัฒนาสูตรเคลือบปุ๋ยขึ้น

สาเหตุที่ต้องพัฒนาเพราะพืชแต่ละชนิดมีความต้องการธาตุอาหารในแต่ละช่วงการเติบโตที่แตกต่างกันแต่ส่วนมากพบว่าจะเกิดการสูญเสียธาตุอาหารก่อนที่พืชจะนำไปใช้ประโยชน์ เช่น ปุ๋ยละลายตัวเร็ว ดินในการปลูกพืชไม่ดูดซึมอาหาร อีกทั้งปัญหาดินเสื่อมสภาพจากการใช้ปุ๋ย เป็นระยะเวลานาน ทำให้ต้องเพิ่มปุ๋ยมากขึ้น แต่พืชกลับ ใช้ประโยชน์จากปุ๋ยได้น้อย ทางศูนย์นาโนเทคฯ กับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ได้ร่วมมือกัน โดยนาโนเทคพัฒนาสูตรเคลือบปุ๋ยขึ้นส่วนทาง วว. ผลิตปุ๋ยอินทรีย์เคมีอยู่แล้ว ซึ่งมีกระบวนการเคลือบเม็ดปุ๋ย ด้วยวัสดุนาโนพอลิเมอร์จากธรรมชาติที่มี รูพรุนและมีอนุภาคเล็กระดับนาโนเคลือบเข้าไปในส่วนผสมของปุ๋ยอินทรีย์ ทำให้ควบคุมปริมาณและระยะเวลาปล่อยธาตุอาหารได้ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "ปุ๋ยสั่งได้"

ด้าน ดร.วิยงค์ กังวานศุภมงคล หัวโครงการวิจัย และหัวหน้าห้องปฏิบัติการโครงสร้างนาโนไฮบริดและนาโนคอมพอสิท กล่าวว่า ผลงานวิจัยนี้ ทำให้เกิดประโยชน์หลายประการ เช่น ลดต้นทุน ลดปริมาณการใช้ปุ๋ย ลดต้นทุนด้านแรงงาน นอกจากนั้นคุณสมบัติของปุ๋ยยังกำหนดการปล่อยธาตุอาหารได้ 3 เดือน หรือ 6 เดือนตามความต้องการของพืช ทำให้ช่วยเพิ่มปริมาณผลผลิตต่อไร่ ทั้งยังช่วยลดมลภาวะที่เกิดจากปุ๋ยตกค้างในดิน รวมทั้งช่วยลดการนำเข้าปุ๋ยด้วย ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 30 พฤษภาคม 2556

เลขา สอน.หวั่นแนวโน้มน้ำตาลขาดตลาด หลังน้ำดื่มแห่เก็บสต็อก

นายสมศักดิ์ สุวัฒิกะ เลขาธิการสำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า เตรียมเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) พิจารณาจัดสรรเพิ่มปริมาณน้ำตาลทรายโควตา ก. (บริโภคในประเทศ) ฤดูการผลิต 55/56 จาก 25ล้านกระสอบ เป็น 27ล้านกระสอบ หรือเพิ่มอีก 2ล้านกระสอบ เนื่องจากปริมาณน้ำตาลทรายบางพื้นที่เริ่มขาดแคลน และพบว่าผู้ประกอบการที่ใช้น้ำตาลทรายเป็นวัตถุดิบหลายรายได้ซื้อน้ำตาลทรายเก็บไว้ในสต็อกจำนวนมากเพื่อรองรับความต้องการสินค้า โดยเครื่องดื่มเป็นสินค้าที่ขายดีมากจากอากาศที่ร้อนและการส่งเสริมตลาด เช่น การชิงโชคแจกทองคำจูงใจผู้บริโภค

ทั้งนี้ สอน. กังวลว่าหากไม่มีปรับเพิ่มน้ำตาลโควตา ก ในอนาคตอาจทำให้น้ำตาลทรายขาดตลาดในวงกว้างและราคาขายปลีกตลาดใต้ดินจะปรับสูงกว่าที่กระทรวงพาณิชย์ควบคุมไว้ เนื่องจากในปัจจุบันมีน้ำตาลทรายค้างกระดานสะสมเพียง 800,000ตันหรือ 8ล้านกระสอบ ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนๆ ที่จะมีน้ำตาลค้างเฉลี่ย 2ล้านตันหรือ 20ล้านกระสอบ

“ในภาพรวมสถานการณ์น้ำตาลทรายในไทย อยู่ในภาวะการตึงตัว เพราะความต้องการใช้น้ำตาลทรายในประเทศของภาคอุตสาหกรรมสูงมาก โดยขณะนี้ มีหลายอุตสาหกรรมก็เสนอเรื่องเพื่อให้สอน. เพิ่มโควตา ก. ซึ่งในเบื้องต้นก็มีสัญญาณที่น่าเป็นห่วงจริงๆ อย่างไรก็ตามในการเพิ่มน้ำตาลอีก 2ล้านกระสอบ คงไม่มีปัญหาเพราะจะมีการลดปริมาณน้ำตาลโควตา ค. (ส่งออก)ลงแล้วเพิ่มในประเทศมากขึ้น”

โดยความต้องการใช้น้ำตาลทรายในประเทศของผู้ประกอบการในปี 56มีสูงอย่างต่อเนื่องหลังสภาพอากาศที่ร้อนจัดทำให้ผู้ผลิตเครื่องดื่มอย่าง น้ำอัดลม, น้ำผลไม้ และชาเขียว มีการแข่งขันสูงจึงจำเป็นต้องเร่งผลิตสินค้า และมีโปรโมชั่นต่างๆ ในการดึงดูดผู้บริโภค โดยเฉพาะการชิงโชคด้วยการแจกทองคำ ยิ่งทำให้ความต้องการสินค้าดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างมาก เพราะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและปัญหาค่าครองชีพสูงทำให้คนไทยหันมาเสี่ยงโชคดีกันมากขึ้น

“การบริโภคในประเทศขยายตัวเกิดจากที่มีโรงงานผลิตเครื่องดื่ม เช่น น้ำอัดลมยี่ห้อ"เอส" และ"บิ๊กโคล่า" รวมถึงการขยายตัวของเครื่องดื่มประเภทชาเขียว เช่น อิชิตัน และ โออิชิ ที่ทั้งสองรายมีการแข่งขันกันดุเดือด รวมถึงอุตสาหกรรมน้ำผลไม้และขนมหวานก็ค่อนข้างได้รับความสนใจจากผู้บริโภคเช่นกัน”

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 30 พฤษภาคม 2556

อุตสาหกรรมอ้อยยันไม่ได้ใช้แรงงานเด็ก

กระทรวงอุตสาหกรรมยันอุตสาหกรรมอ้อยฯ ไม่ใช้แรงงานเด็ก พร้อมเร่งสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในสายตาต่างชาติ

นายประเสริฐ บุญชัยสุข รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการผลิตอ้อยและน้ำตาลทราย กับ สอน. เตรียมประสานงานกระทรวงแรงงาน กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อปลดประเทศไทยออกจากรายขื่อประเทศที่ถูกจับตามองค้ามนุษย์ หวังช่วยกอบกู้ภาพลักษณ์อุตสาหกรรมน้ำตาลไทย

ทั้งนี้ในช่วงปลายปี 55 ประเทศสหรัฐฯ ประกาศว่าไทยเป็นประเทศที่ถูกจับตามองในเรื่องการค้ามนุษย์ในสินค้า 5 ประเภทจากไทย ซึ่งรวมถึงน้ำตาลที่ผลิตจากอ้อยด้วยนั้น ส่งผลกระทบต่อการส่งออกและภาพลักษณ์ของไทยพอสมควร แต่ข้อเท็จจริงคือ เป็นวิถีชีวิตของชาวไร่อ้อยที่นำลูกหลานเข้าไปในไร่อ้อยด้วย เพราะไม่ต้องการให้อยู่บ้านโดยลำพัง และไม่มีเจตนาใช้แรงงานเด็กแต่อย่างใด ดังนั้นกระทรวงอุตสาหกรรมและสมาคมชาวไร่อ้อยยืนยันที่จะปฎิบัติตามกฎหมายแรงงานของไทยและกฎหมายแรงงานสากลที่จะไม่ใช้แรงงานเด็กในภาคอุตสาหกรรม

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 30 พฤษภาคม 2556

เลขาฯคกก.อ้อยฯเล็งเพิ่มโควตา ก. อีก 2 ล้านกระสอบ

นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีลงนาม “ประกาศเจตจำนงในการร่วมกันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กในไร่อ้อย”

ระหว่างผู้ประกอบการผลิตอ้อยและน้ำตาลทรายกับสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ว่า ได้เตรียมประสานงานกระทรวงแรงงาน กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อปลดประเทศไทยออกจากรายขื่อประเทศที่ถูกจับตามองค้ามนุษย์หวังช่วยกอบกู้ภาพลักษณ์อุตสาหกรรมน้ำตาลไทย

ทั้งนี้ในช่วงปลายปี 2555 ที่ผ่านมาสหรัฐอเมริกาได้ประกาศว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ถูกจับตามองในเรื่องการค้ามนุษย์ในสินค้า 5 ประเภทจากไทย และได้รวมถึงน้ำตาลที่ผลิตจากอ้อยด้วย จึงส่งผลกระทบต่อการส่งออกและภาพลักษณ์ของประเทศไทยพอสมควร อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงนั้นถือเป็นวิถีชีวิตของชาวไร่อ้อยที่นำลูกหลานเข้าไปในไร่อ้อยด้วย เพราะไม่ต้องการให้อยู่บ้านโดยลำพัง และไม่มีเจตนาใช้แรงงานเด็กแต่อย่างใด สำหรับขั้นตอนการปลดรายชื่อประเทศไทยออกจากประเทศที่ถูกจับตามองเรื่องการค้า มนุษย์นั้น สอน.จะประสานงานไปยังกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมรวมถึงกระทรวงการต่างประเทศ รวมถึงสถานฑูตสหรัฐในไทย เพื่อแจ้งข้อเท็จจริงและการยืนยันที่ปฎิบัติตามกฎหมายแรงงานสากลที่ไม่มีการ ใช้แรงงานเด็ก

“เรื่องนี้ ผู้แทนสถานฑูตสหรัฐในประเทศไทย ได้เข้ามารับทราบการประกาศเจตจำนงต่อต้านการใช้แรงงานเด็กในไร่อ้อยด้วย ซึ่งโอกาสนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมและสมาคมชาวไร่อ้อยยืนยันที่จะปฎิบัติตามกฎหมายแรงงานของ ไทยและกฎหมายแรงงานสากลที่จะไม่ใช้แรงงานเด็กในภาคอุตสาหกรรม”

ด้านนายสมศักดิ์ สุวัฒิกะ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวว่า อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย สร้างรายได้จากการจำหน่ายในประเทศและส่งออกกว่าปีละ 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.8 แสนล้านบาท โดยเฉพาะในฤดูหีบปัจุบันปี 55/56 ประเทศไทยมีผลผลิตมากกว่า 100 ล้านตันอ้อย และมีผลผลิตน้ำตาล 10 ล้านตัน คาดว่า จะส่งออกมาถึง 7 ล้านตัน โดยส่วนใหญ่ 63% ส่งออกในเอเชียโดยมีตลาดอินโดนีเซียมากเป็นอันดับ 1 ส่วนตลาดสหัรฐส่งออกคิดเป็น 1% หรือประมาณปีละ 3 แสนตันเท่านั้น

สำหรับ คาดการณ์อ้อยฤดูการผลิต 56/57 คาดว่า จะมีผลผลิตอ้อยรวมมากกว่า 100 ล้านตันอ้อย ที่ระดับความหวานเฉลี่ย 12 CCS เพิ่มจากฤดูการผลิตปี 55/56 ที่ระดับความหวานเฉลี่ยที่ 11.6 CCS โดยขณะนี้ได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกสำรวจถึงสาเหตุที่ค่าความหวานในปี 55/56 ที่ต่ำเกินไปว่ามีสาเหตุมาจากอะไร เพื่อปรับแผนการเพาะปลูกในฤดูการผลิตปี 56/57 ให้ได้ความหวานที่ 12 CCS ซึ่งจะทำให้ผลิตน้ำตาลทรายได้มากถึง 11-12 ล้านตัน

ทั้งนี้ ได้เตรียมเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) พิจารณาจัดสรรปริมาณน้ำตาลทรายโควตา ก. (บริโภคในประเทศ) ฤดูการผลิต 55/56 เพิ่มจาก 25 ล้านกระสอบ เป็น 27 ล้านกระสอบ เนื่องจากปริมาณน้ำตาลทรายบางพื้นที่เริ่มขาดแคลน และพบว่าผู้ประกอบการที่ใช้น้ำตาลทรายเป็นวัตถุดิบหลายรายได้ซื้อน้ำตาลทรายเก็บไว้ในสต็อกจำนวนมากเพื่อรองรับความต้องการสินค้า โดยเครื่องดื่มเป็นสินค้าที่มียอดขายดีมากจากอากาศที่ร้อนและการส่งเสริมตลาดด้วย

จาก http://www.thanonline.com วันที่ 30 พฤษภาคม 2556

ดัชนีผลผลิตอุตฯต่ำสุดรอบ16เดือนชี้เหตุค่าบาทเดือนเม.ย.ฉุดส่งออกแถมโรงงานลดกำลังการผลิตลง

นายสมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)กระทรวงอุตสาหกรรม แถลงดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนเมษายน 2556 ว่า ดัชนีอยู่ที่ระดับ 159.16 ลดลง 3.8% เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ถือว่าเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 16 เดือนนับจากเดือนมกราคม 2555 เนื่องจากเดือนเมษายนมีวันหยุดมาก ขณะที่เงินบาทไทยแข็งค่าขึ้นทำให้การส่งออกได้รับผลกระทบ โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ และมีสัดส่วนส่งออกมากกว่า 60% ได้แก่ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป อาหารทะเลแปรรูป ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ได้ปรับตัวลดลง นอกจากนี้ ยังเป็นผลจากการชะลอการผลิตของผู้ประกอบการโรงงานๆ เพื่อรองรับมาตรการป้องกันไฟฟ้าดับเนื่องจากการหยุดซ่อมบำรุงโรงจ่ายก๊าซธรรมชาติของพม่า

อย่างไรก็ดี กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์การผลิตเพิ่มขึ้น 17.53% มีปัจจัยหลักมาจากบริษัทรถยนต์เพิ่มกำลังการผลิตรองรับการส่งมอบให้กับผู้จองรถยนต์ในโครงการรถคันแรก ส่วนการที่เงินบาทแข็งค่าและเงินเยนอ่อนค่าทำให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในไทยได้เปรียบ ด้วยการนำเข้าวัตถุดิบมาผลิตชิ้นส่วนส่งให้โรงงานประกอบรถยนต์ในต้นทุนการนำเข้าที่ลดลง

ส่วนดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม 4 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-เมษายน 2556) พบว่า ดัชนีผลผลิตอยู่ที่ 175.29 เพิ่มขึ้น 1.49% ในขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 65.23% เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่มีอัตราการใช้กำลังการผลิต 62.20%

นายสมชายกล่าวอีกว่า สศอ.ได้ประมาณการผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ภาคอุตสาหกรรมปีนี้น่าจะขยายตัว 3.5-4.5% และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมจะขยายตัว 4-5% โดยในไตรมาส 2 ปีนี้(เมษายน-มิถุนายน) มีปัจจัยเสี่ยงจากความต้องการสินค้าในตลาดโลก เพราะปัญหาเศรษฐกิจในสหภาพยุโรป (อียู) ยังไม่จบ และยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐหรือมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ QE (Quantitative Easing) ว่าจะมีผลต่อกำลังซื้อในอนาคตอย่างไร ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์ว่า การบริโภคภายในประเทศจะชะลอตัวลง

ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนของไทยต่อดอลลาร์สหรัฐที่ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 29 บาทเศษ อาจทำให้ผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมในช่วงนี้ ลดลงได้ พร้อมเชื่อว่าหาก ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลดดอกเบี้ยนโยบาย (ปัจจุบันอยู่ที่ 2.75%) คงมีผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนไม่มาก

จากhttp://www.naewna.com  วันที่ 29 พฤษภาคม 2556

ส่งออกฝ่อ!หันซบ'อาเซียน'หนีตาย

การปรับเป้าส่งออกของกระทรวง พาณิชย์จากเดิมที่ตั้งไว้ว่าจะโต8-9% ลงมาเหลือ 7-7.5% สร้างความกังขาต่อภาคเอกชนว่ารัฐบาล "ถอดใจ" กระนั้นหรือ

ดังที่อิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การปรับเป้าหมายตัวเลขการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ ไม่เป็นผลดีต่อภาพลักษณ์การส่งออกของไทยแม้ค่าบาทแข็งมีผลต่อการส่งออก แต่ก็น่าจะยึดเป้าเดิมเป็นเป้าทำงาน และหาวิธีการที่จะผลักดันให้ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้

ที่สำคัญเวลาเพิ่งผ่านมาเพียง 5 เดือน เหลือเวลาการทำงานอีกตั้ง 7 เดือน โดยเฉพาะช่วงครึ่งปีหลังที่คำสั่งซื้อจะเริ่มทยอยเพิ่มมากขึ้น

แต่หากมองอีกมุมหนึ่งก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ ที่กระทรวงพาณิชย์จะปรับลดเป้าการส่งออก เพราะเมื่อสอบถามทูตพาณชย์จากทั่วโลกที่มาประชุมร่วมกันถึงความเคลื่อนไหวในตลาดต่างๆต้องยอมรับว่า เป้าหมายเดิมเป็นไปได้ยากมาก

ดังที่ "สยามธุรกิจ" ได้พบและพูดคุยกับทูตพาณิชย์หลายคน แม้กระทั่งทูตพาณิชย์ในตลาดใหม่และตลาดใหญ่อย่างอินเดียก็ยังยอมรับว่าโอกาสจะเห็นยอดการส่งออกของไทยไปอินเดียปีนี้โตมากกว่า 5% ค่อนข้างยาก โดยมีปัจจัยลบ 2 ประการ 1.เงินบาทแข็งค่า ทำให้สินค้าไทยต้องปรับราคาขึ้น และ 2.เศรษฐกิจอินเดียไม่โตตามเป้าหมาย จากเดิมคาดว่าจะโต 8%อาจโตเพียง 6%

หรือทูตพาณิชย์ประจำนครคุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน ก็ยอมรับว่าแม้สินค้าไทยไปคุนหมิงยังไม่มีผลกระทบมากนัก แต่ในกลุ่มไก่แช่แข็งก็โดนมรสุมไข้หวัดนกเล่นงานจนยอดหายไปหลายเท่าตัว

รวมถึงทูตพาณิชย์อีกหลายประเทศที่ไม่กล้าฟันธงว่าการส่งออกไปยังตลาดที่ตัวเองดูแลปีนี้จะโตมากกว่า 5%
การตั้งเป้า 7-7.5% ของกระทรวงพาณิชย์ จึงยังนับว่าท้าทายพอสมควร

ศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)กระทรวงพาณิชย์ยอมรับว่า การประชุมติดตามสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศ ในช่วงครึ่งหลังของปี2556 ร่วมกับสำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ 4 แห่ง หัวหน้าสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ 62 สำนักงานทั่วโลก ภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์การค้าในปัจจุบัน ซึ่งประสบปัญหาอุปสรรคหลายด้าน รวมถึงการแข็งค่าและผันผวนของค่าเงินบาทที่มากกว่าค่าเงินของประเทศคู่แข่งขันในภูมิภาค ผลจากการหารือร่วมกันในครั้งนี้ ทำให้กระทรวงพาณิชย์ปรับเป้าหมายการส่งออกของปี 2556 จากเดิมขยายตัวร้อยละ 8-9 เป็นขยายตัวร้อยละ 7-7.5 หรือมีมูลค่าส่งออกรวม 245,585-246,733 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยจะผลักดันการส่งออกให้เพิ่มขึ้นในตลาดใหม่ๆ โดยเฉพาะตลาดอาเซียน ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกถึงร้อยละ 25 ของการส่งออกรวม

ล่าสุด สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ก็ชี้ว่าค่าเงินบาทแข็งกระทบภาคการผลิตอุตสาหกรรมของไทยแรงขึ้นเรื่อยๆ เฉลี่ยแล้วขยายตัวไม่ถึง 5%

โดย ดร.สมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า แนวโน้มของค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมาโดยตลอดต้นปี 2556 ทำให้รายได้ในรูปเงินบาทของผู้ส่งออกภาคอุตสาหกรรมไทยลดลงกว่าร้อยละ 4 หรือกว่า 55,156 ล้านบาท และหาก ค่าเงินบาทยังคงอยู่ที่29 บาท/เหรียญสหรัฐ จะส่งผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศภาคอุตสาหกรรม (GDP) ลดลงกว่า52,672 ล้านบาททั้งปี

เนื่องจากราคาสินค้าที่ส่งออกสูงขึ้นในรูปเงินสกุลต่างประเทศ จะทำให้ประเทศไทยสูญเสียอำนาจในการแข่งขันในระยะสั้น โดยเฉพาะการแข่งขันด้านราคากับประเทศคู่แข่ง อาทิ อินโดนีเซีย เวียดนาม จีน หรือ เกาหลีใต้ ส่งผลต่อการสูญเสียตลาดบางส่วนไปในอนาคตและในหลายสินค้า

"สศอ. สอบถามผู้ส่งออกโดยเฉพาะส่งออกในตลาดญี่ปุ่นที่ค่าเงินเยนอ่อนลงกว่าร้อยละ 16 และเมื่อคิดย้อนกลับที่ค่าเงินบาทต่อเหรียญสหรัฐแข็งค่ากว่าร้อยละ 3 นั้นทำให้ผู้ส่งออกไทยหลายรายถูกลูกค้าในตลาดญี่ปุ่นขอต่อรองลดราคาลงมา"ผอ.สศอ.กล่าว

หากพิจารณาเป็นรายอุตสาหกรรมแล้วจะพบว่าอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการส่งออกสูง เช่น อิเล็กทรอนิกส์มีรายได้จากการส่งออกในรูปเงินบาทลดลงกว่า 9,670 ล้านบาท ยานยนต์ลดลง 5,500 ล้านบาท อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าลดลง 6,780 ล้านบาทและอาหารลดลง 5,756 ล้านบาท
การตั้งเป้า 7-7.5% ถ้าทำได้จริงก็ถือว่าเลิศแล้ว!!!

จาก http://www.siamrath.co.th  วันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

นับถอยหลัง15ปี ก๊าซธรรมชาติหมด ไทยเสี่ยงไฟดับถาวร

ทำไมจึงเกิดไฟดับครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ การแก้ไขปัญหาภายในเวลา 4-5 ชั่วโมง กว่าที่จะสามารถกอบกู้ทั้งระบบให้กลับมาเป็นปกติ ยอมรับได้หรือไม่ ภาคใต้จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มเติมแล้วจริงหรือ ภาคอีสานและกทม.เสี่ยงจริงไหม และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพราะประเทศไทยกำลังขาดแคลนพลังงานหรือไม่ ไทยรัฐออนไลน์ หาคำตอบ จากผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน ผศ.ดร.แนบบุญ หุนเจริญ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยด้านพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Q : สาเหตุของไฟดับเกิดจากอะไร

A : สาเหตุคงเป็นไปตามที่การไฟฟ้าส่วนผลิต หรือ ที่นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน ได้รายงานไปแล้ว คือ เริ่มต้นมาจากสายส่ง 500 กิโลโวลต์ เดิมทีจะมี 2 วงจร จากภาคกลางไปถึงภาคใต้ เผอิญว่า วงจรที่ 1 หยุดซ่อมบำรุงในช่วงเช้าพอดี ซึ่งตอนเย็นดันเจอเหตุขัดข้อง เพราะฉะนั้นระบบอัตโนมัติจึงตัดการทำงานของอีกหนึ่งวงจร แปลว่าถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ที่เป็นสายส่ง 500 กิโลโวลต์ ที่วิ่งมาจากภาคกลางจอมบึง ลงมาถึงภาคใต้สะพาน 2 มันก็ถูกตัดขาดไปเลย เพราะฉะนั้นเราก็จะเหลือทางส่งพลังงานจากภาคกลางมาภาคใต้ อีกแค่ 2 เส้นทาง ก็คือ 230 กิโลโวลต์ 2 วงจร ซึ่งเพียงพอต่อการถ่ายโอนพลังงานจากภาคกลางมาภาคใต้ ณ ช่วงเวลานั้น ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้น ค่อนข้างซับซ้อนและเกี่ยวกับเสถียรภาพของระบบ หมายถึงว่า เกิดปัญหาเสถียรภาพที่ทำให้ระบบป้องกันอัตโนมัติของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและของสายส่งเส้นที่เกี่ยวข้อง มันทำงานต่อเนื่อง ก็เลยปลดการทำงานของสายส่งไฟฟ้า จึงทำให้ไฟฟ้าดับหมด

Q : คิดว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ เป็นเพราะความหละหลวม หรือ เหตุสุดวิสัย

A : จากเหตุการณ์ที่ไฟฟ้าดับบริเวณกว้าง เรียกเป็นภาษาเทคนิคว่า blackout ซึ่งกรณีนี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก และไม่ได้เกิดเพียงแค่ประเทศไทย จากปี 1965 ก็เคยเกิดเหตุการณ์ blackout ทางตะวันออกของอเมริกา ขึ้นไปถึงนิวยอร์กและแคนาดาตะวันออกเลย กินบริเวณเป็นวงกว้างประมาณ 9 รัฐ อาจจะย้อนกลับไปนานเกินไป ก็กลับมาดูในปี 1996 ทางฝั่งตะวันตกของอเมริกา แถวรัฐแคลิฟอร์เนีย ปี 2003 ก็เคยเกิด แถวยุโรป จริงๆ เหตุการณ์เช่นนี้สามารถเกิดขึ้นได้แต่ไม่บ่อยครั้ง ลักษณะที่เกิดจะเป็นเหมือนเหตุบังเอิญ ยกตัวอย่างเช่น กรณีที่เกิดขึ้นในบ้านเราเมื่อเร็วๆ นี้ ถ้าเกิดเสีย 1 วงจร แล้วอีก 1 วงจร ไม่ได้อยู่ระหว่างการซ่อมบำรุง ก็จะสามารถทำงานได้ปกติ โดยที่ไม่มีปัญหาเกิดขึ้น เพราะตามปกติแล้วระบบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้ออกแบบรองรับเอาไว้แล้วว่า ถ้าสายส่งเส้นใดเส้นหนึ่งเป็นปัญหา จะไม่กระทบกระเทือนต่ออะไร เพียงแต่ว่าวันนั้นหยุดซ่อม 1 ถนน ซึ่งไม่ใช่ถนนธรรมดา แต่เป็นถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ ปกติสายส่งของประเทศไทย โครงข่ายหลักๆ 230 กิโลโวลต์ แต่ที่สูงไปกว่า 230 กิโลโวลต์ คือ 500 กิโลโวลต์ ซึ่งในตัว 500 กิโลโวลต์สามารถส่งกำลังได้มากกว่า 230 กิโลโวลต์เสียอีก แต่พอดีว่ามีการขัดข้องในเส้น 500 กิโลโวลต์ ที่เป็นเส้นคู่ขนานกับเส้นที่มีการหยุดซ่อมแซม และเป็นช่วงเวลาที่กำลังจ่ายไปภาคใต้ไม่พอ เลยต้องโอนพลังงานจากภาคกลางมาภาคใต้ เพราะฉะนั้นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาอย่างประจวบเหมาะ 2-3 เหตุการณ์ ซึ่งประเทศไทยเอง ก็เคยเกิดเหตุการณ์เช่นนี้มาก่อน โดยย้อนไปเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว และไม่ใช่เหตุการณ์ที่สามารถเกิดขึ้นได้ถี่ๆ อยู่แล้ว

Q : 30 ปีที่แล้ว เกิดขึ้นที่ไหนของประเทศไทย

A : ไม่แน่ใจ แต่ถ้าหากดูโฆษณาของ กฟผ.ก็พบว่าเขาได้ย้อนกลับไปช่วงเวลานั้น เพื่อทำการซ้อม ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นบริเวณภาคกลาง และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตมีอายุเพียง 44 ปีเอง เพราะฉะนั้นช่วงเวลาที่เกิดคงเป็นช่วงที่เริ่มต้นเปิดการไฟฟ้าฝ่ายผลิตใหม่ๆ ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจโครงข่ายพลังงานก่อนว่า มีระบบส่ง ระบบผลิตซึ่งดูแลในส่วนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต และก็ยังมีระบบจำหน่าย ระบบส่งเป็นเหมือนระบบหลัก ซุปเปอร์ไฮเวย์หรือว่าไฮเวย์เชื่อมจังหวัดต่างๆ โดยระบบจำหน่าย มีหน้าที่ แจกจ่ายไฟฟ้าไปให้ถึงครัวเรือน ซึ่งส่วนนี้จะดูแลโดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หากเป็นในเขตกรุงเทพฯ นนทบุรี สมุทรปราการ จะดูแลโดยกรมไฟฟ้านครหลวง เพราะฉะนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อ 2 วันก่อน เกิดขึ้นที่ระบบส่ง เกิดขึ้นที่ทางหลัก ไม่ใช่ทางรอง จึงเกิดผลกระทบในลักษณะวงกว้าง

Q : สรุปจากทรรศนะของอาจารย์ สรุปว่า เกิดจากความสุดวิสัย ไม่ใช่ผิดพลาดใช่ไหม

A : เป็นเหตุสุดวิสัยที่เกิดขึ้น และในทางเทคนิคมีเหตุผลอธิบายได้ว่า ทำไมไฟฟ้าถึงดับได้ถึง 4 จังหวัด

Q : อาจารย์เคยชมโฆษณาของ กฟผ. เรื่องแผนกอบกู้ไฟฟ้าดับ ที่สามารถกู้ระบบได้ภายใน 10 นาที หรือยัง

A : ครับ

Q : แผนที่ว่านี้ อาจารย์มองยังไง เพราะตอนนั้นเหมือนกับว่า มันสามารถกู้คืนได้ภายใน 10 นาที แต่พอเอาเข้าจริงๆ มันลากไปจนถึง 3-4 ชั่วโมง

A : ในช่วง 10 นาที คือ การซ้อมแผนรองรับสภาวะฉุกเฉิน ซึ่งหมายความว่า ไม่ได้เกิดเหตุการณ์ขึ้นจริง แต่เป็นการซ้อมหากเกิดเหตุการ์นู่นนี่นั่น จริงๆ ก็เป็นสถานการณ์ที่รู้อยู่แล้วว่า เป็นสถานการณ์ที่ถูกเซตขึ้นมา แต่ว่า 2 วันที่ผ่านมา คือสถานการณ์จริง และก่อนที่เราจะพูดว่า blackout ที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับเป็นบริเวณกว้างขนาดนี้ แต่ว่าเหตุการณ์ไม่ได้เกิดเป็นเหตุการณ์เดียว คือไม่ได้หมายความว่าจะเกิดการผิดพลาดที่สายส่ง 500 กิโลโวลต์เส้นเดียว แล้วไฟดับหมดเลย ซึ่งนี่เป็นความเข้าใจที่ผิด แต่เผอิญมีเงื่อนไขอื่นๆ ที่สอดคล้องตามมาด้วย นั่นคือ false เกิดขึ้น กับอีกสายหนึ่งหยุด อีกสายหนึ่งซ่อมบำรุงอยู่ แล้วช่วงเวลานั้นความต้องการการใช้ไฟฟ้าของภาคใต้มีมากกว่ากำลังในการจ่ายไฟฟ้า ซึ่งมีในเรื่องของช่วงเวลาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย คำถามที่สอง ก็คือว่า เวลาที่ใช้ปฏิบัติการในระบบ ซึ่งเราอาจจะเห็นว่า 10 นาที แล้วของจริง กว่าจะกลับมาได้ เราจะพบว่า ใช้เวลาถึง 3-4 ชั่วโมง จริงๆ แล้วการที่จะฟื้นจากการดับสนิท จะต้องมีการทำงานประสานกันระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิต และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค แล้วเมื่อไฟฟ้าดับหมดแล้ว การไฟฟ้าจะเดินเครื่องขึ้นมาได้อย่างไร และจะมีคำว่า blackstart ที่หมายความว่า จะต้องใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้ายูนิตที่สามารถสร้างไฟขึ้นมาได้ด้วยตัวเอง ซึ่งเครื่องน้ำมัน blackstart คือเครื่องน้ำมันดีเซล คือหมายความว่า อยู่ดีๆ โรงไฟฟ้าใหญ่ๆ หลังจากที่มัน shut down ไปแล้ว มันจะ start ไม่ได้ เพราะว่าการ start จะต้องมีการเดินเครื่องมอเตอร์ เดินเครื่องปั๊มน้ำ เพื่อที่จะไปเผาไหม้เชื้อเพลิง เพื่อที่จะไปต้มน้ำ เพราะฉะนั้นยูนิตพวกนี้ต้องรอเวลาที่จะให้ยูนิตเล็กๆ start ขึ้นมาก่อน เพราะฉะนั้นเวลาที่ blackstart เขาก็จะ ยูนิตดีเซล เดินเครื่องขึ้นมาก่อน ต่อด้วยยูนิตที่เป็นพลังน้ำ เพราะว่าพลังน้ำสามารถเดินเครื่องได้รวดเร็ว โดยไม่ต้องผ่านการต้มน้ำ และหลังจากนั้นก็ต้องเอนเนอไจซ์ให้สายส่งมีแรงดันกลับคืนมา และเริ่มทยอยเอาโหลด ความต้องการไฟฟ้าจ่ายกลับเข้ามา ให้พอดีกับกำลังการผลิตที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้น ณ ขณะนั้น และก็ต้องมีการประสานการทำงาน ถามว่า ทำได้เร็วขึ้นมั้ย จะเร็วขึ้นได้ ถ้าการไฟฟ้าจะสามารถเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ที่มีในภาคใต้ ในปริมาณที่มากขึ้นๆ แล้วก็ทยอยจ่ายโหลดออกมาได้สอดคล้องกัน

Q : ระยะเวลาในการปฏิบัติของการไฟฟ้า ณ ขนาดนั้น ยอมรับได้มั้ย

A : เหตุการณ์เมื่อ 2 วันที่ผ่านมายอมรับได้ ไม่ได้ถือว่านานผิดปกติ แต่สามารถพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้นกว่านี้ได้อีกแน่นอน คือ ต้องมีระบบ สื่อสารสารสนเทศเข้าไปทำงานประสาน นำระบบควบคุมอัตโนมัติเข้าไปใช้ให้มากขึ้น

Q : ทำไมจะต้องดับทั้งหมดในคราวเดียว ในจุดที่ใกล้ๆ กับโรงไฟฟ้า สามารถส่งไฟไปให้ใช้ก่อนไม่ได้หรือ

A : จริงๆแล้ว มีการทำแบบนั้น จะเห็นว่า เมื่อดับไปแล้ว ภายใน 1 ชั่วโมงแรก มีไฟติดขึ้นมาบ้างในบางพื้นที่แล้ว เช่น ตัวเมืองภูเก็ต ตัวเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งเขาค่อยๆ จ่ายไฟ แต่ไม่ใช่จ่ายขึ้นมาทีเดียวเลย เพราะว่าในทางเทคนิคไม่สามารถทำได้อยู้แล้ว สมมติว่าตอนนั้นกำลังการผลิตโหลด 600 คือกำลังการผลิตของทางภาคใต้ที่มีอยู่ตอนนั้นเขามีมากที่สุด ประมาณ 1,600 เมกะวัตต์ แต่ไม่ได้หมายความว่า พอไฟดับ กดสวิตช์ตัวเดียวไฟกลับขึ้นมาพร้อมกันเลย ซึ่งมันทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะต้องเดินเครื่องโรงดีเซลประมาณ 20-30 เมกะวัตต์ เสร็จแล้วเดินเขื่อนรัชประภาอีกประมาณ 70 เมกะวัตต์แรก เพราะฉะนั้นกำลังไฟฟ้าจะค่อยๆ ทยอยเพิ่มขึ้น เพราะว่า อยู่ดีๆ เราจะเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้ารอไว้ก็ไม่ได้ แต่ต้องรอมีโหลดที่จ่ายเข้ามาให้สมดุลกันพอดี และอีกสิ่งหนึ่งที่ประชาชนไม่ค่อยเข้าใจ ก็หมายความว่า เราผลิตไฟฟ้าใส่ เราก็ต้องมีโหลดผลิตไฟฟ้าที่กำลังเท่าๆ กัน ณ เวลาหนึ่งๆ เพื่อที่จะรักษาสมดุลไม่ให้เกิดปัญหาเสถียรภาพได้ ดังนั้น จึงต้องทยอยเปิดเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและสับโหลดความต้องการเข้ามาในแต่ละพื้นที่ หลักเกณฑ์ก็คือ เลือกลำดับพื้นที่ที่มีความสำคัญสูงๆ ก่อน เช่น พื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับเมืองใหญ่ หรือว่าเป็นศูนย์ราชการ โรงพยาบาล จะต้องพยายามเลือกพื้นที่ประเภทนี้ก่อน หากลองขอข้อมูลจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิต หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคก็จะเห็นว่า ไฟค่อยๆ ทยอยติดขึ้นมา แต่ที่เราบอกว่า 5 ทุ่ม นี่คือ 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว

Q : จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นตัวบ่งบอกได้มั้ยว่า ประเทศไทยกำลังขาดแคลนพลังงาน

A : เป็นคำถามที่ดี แต่คงต้องแยกเป็นสองกรณี เพราะปัญหาไฟดับทั้งหมด 14 จังหวัด เป็นปัญหาในเชิงปฏิบัติการ ส่วนปัญหาไฟพอหรือไม่พอ เป็นปัญหาในเชิงวางแผน ต่อไปในอนาคตว่า อีก 5 ปีต่อจากนี้ เราจะต้องสร้างโรงไฟฟ้าที่ไหน เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นอยากให้มองเป็น 2 ประเด็นที่สำคัญ ทีนี้ถ้าเราบอกว่า ยอมลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าในภาคใต้ เพื่อที่จะให้สามารถมีกำลังทางการผลิตเพียงพอต่อความต้องการ ไม่จำเป็นต้องพึ่งพากัน ถ่ายโอนพลังงานจากภาคกลางมาภาคใต้เยอะขนาดนี้ ก็แน่นอนว่า การปฏิบัติงานฟื้นฟูระบบครั้งที่เกิดขึ้น 2 วันที่แล้ว ก็จะทำได้เร็วขึ้น แต่ถ้าถามว่า ไฟฟ้ายังเพียงพออยู่มั้ย ถ้าเรามองจากภาพรวมของทั้งประเทศ ก็ยังเพียงพออยู่ และเราก็มีสายส่งที่เชื่อมโยงทั้งประเทศ ยกตัวอย่างในกรุงเทพฯ ที่นี้มีความต้องการการใช้ไฟฟ้าถึง 9,000 เมกะวัตต์ ถามว่า เรามีโรงไฟฟ้ารอบๆกรุงเทพฯถึง 9,000 เมกะวัตต์มั้ย ตอบว่า แต่ไฟฟ้ามาจากภาคตะวันออก ภาคเหนือที่จ่ายเข้ามาหล่อเลี้ยงกรุงเทพฯ ที่ผ่านมาเรามององค์รวมของประเทศว่า ที่ผ่านมามีความต้องการเท่าไหร่ และกำลังการผลิตของทั้งประเทศเท่าไหร่ ก็จะต้องเผื่อกำลังการผลิตสำรองไว้ ประมาณ 30-15% แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ โดยเฉพาะภาคใต้ ด้วยลัักษณะภูมิประเทศ และ 4 วงจรทั้งหมดถูกตัดขาดหมดเลย ก็แปลว่าระบบไฟฟ้าของภาคใต้ถูกตัดระบบออกมาจากภาคอื่นๆ เลย ถามว่าเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นที่ภาคเหนือหรือภาคอีสานได้มั้ย มีโอกาสเกิดได้น้อยกว่า เพราะด้วยสภาพภูมิประเทศ ภาคอีสานอาจถูกตัดขาดจากภาคเหนือ แต่ยังเชื่อมต่ออยู่กับภาคกลาง เชื่อมต่ออยู่กับภาคตะวันออก เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะเกิดน้อยกว่า

Q : อาจารย์มองว่า ภาคใต้ต้องมีโรงไฟฟ้าเท่าไร ถึงจะเพียงพอต่อความต้องการ

A : โดยหลักการ ถ้าเรามองว่า ความต้องการทางความมั่นคงของไฟฟ้า ดีมานด์กับซัพพลายจะต้องพอดีๆกันในแต่ละพื้นที่ แต่นั่นจะหมายความว่า จะเกิดประโยชน์ในทางเศรษฐศาสตร์มากขึ้นไปอีก ก็เหมือนกับว่าโรงไฟฟ้าภาคใต้ไม่ต้องไปโหลดกำลังการผลิตจากโรงไฟฟ้าราชบุรีเข้ามามากนัก และยิ่งเดินทางไกล ก็มีพลังสูญเสียและพลังอื่นๆ เข้ามาตัดทอนอีกด้วย เพราะฉะนั้นถ้าจะมองในด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านความเชื่อถือได้ ดีมานด์กับซัพพลายจะต้องมีเพียงพอกัน ซึ่งอย่างวันนี้ ภาคใต้โหลดประมาณ 2,000 เมกะวัตต์ แต่กำลังการผลิตในพื้นที่เพียงแค่ 1,600-1,700 เมกะวัตต์ จริงๆ การไฟฟ้าก็มีแผนอยู่แล้ว ที่จะเพิ่มยูนิตใหม่เข้าไปในโรงไฟฟ้าโรจนะ และตอนนี้กำลังคุยกันในเรื่องของโรงไฟฟ้ากระบี่ ที่จะขอใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน หากมองในเชิงเศรษฐศาสตร์ก็เป็นสิ่งที่โอเค ถ้ามีเงินลงทุน แต่อย่างไรก็ดี เราก็ต้องมองเกี่ยวกับเรื่องผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม มองเรื่องผลกระทบในด้านของชุมชนด้วยว่า เกิดผลกระทบที่ยอมรับได้มั้ย คือโจทย์พลังงาน มักมีคำถามว่า ทางเลือกท่ี่ดีที่สุดคืออย่างไร ก็ต้องถามว่า เลือกที่ดีที่สุดในมิติไหน ถ้าเลือกมิติที่สุดในแง่เศรษฐศาสตร์ ก็แน่นอนว่า เราจะต้องมีโรงไฟฟ้าที่ภาคใต้ เพื่อจะได้จ่ายไฟฟ้าได้เพียงพอ เพราะถ้าในอนาคตเกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก ภาคใต้ก็น่าจะเลี้ยงตัวเองให้อยู่ได้ คำถามต่อมาก็คือ จะเป็นโรงไฟฟ้าประเภทอะไร มีขนาดเท่าไหร่ อยู่ที่ตำแหน่งไหน ไม่ใช่ว่าจะต้องตอบโจทย์เศรษฐศาสตร์อย่างเดียว ตอบโจทย์เรื่องของสังคม สิ่งแวดล้อมด้วย

Q : หากจะมองไปถึงอนาคต นอกจากพลังงานอื่นๆ แล้ว ในส่วนของพลังงานนิวเคลียร์

A : หากมององค์รวมของประเทศ ก็จะพูดถึงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า จริงๆ ต้องมีการพยากรณ์ให้เพียงพอต่อความต้องการที่จะเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว นี่คือมองทั้งประเทศ แต่ถ้ามองเรื่องของความมั่นคง เรากำลังเข้าไปสู่ยุคที่ภัยพิบัติทางธรรมชาติมันเกิดขึ้นบ่อยครั้งขึ้น อย่างของประเทศอื่นที่ไฟดับบ่อยๆ อาจมาจากแผ่นดิินไหว พายุ เฮอริเคน หรือภัยพิบัติทางด้านอื่นๆ ดังนั้น เราก็จ้องจัดพื้นที่ทางการผลิตให้เพียงพอ ซึ่งในอดีตเรายังไม่ได้ออกแบบมาในลักษณะเช่นนี้ แต่ถ้ามองไปในอนาคตข้างหน้า นโยบายอาจจะบอกว่า ต่อไปในแต่ละภูมิภาคก็ต้องจัดสรรกำลังการผลิตกับความต้องการใช้ไฟฟ้าให้เพียงพอกัน เพราะฉะนั้นถ้ามีการแยกตัวออกจากพื้นที่ใหญ่ ก็ต้องอยู่ได้ด้วยตนเองได้ โดยส่วนตัวก็สนับสนุนลักษณะนั้น เพราะว่าความต้องการไฟฟ้าอยู่ที่ไหน ก็ให้มีกำลังการผลิตเพียงพอ ณ จุดนั้น ซึ่งอาจะลงไปถึงไฟฟ้าชุมชน หากชุมชน อำเภอใด มีความต้องการใช้ไฟฟ้าไม่มากเกิน ก็สามารถสร้างโรงไฟฟ้าสำหรับชุมชนนั้นๆให้ได้ หากจะถามว่า ต้องการใช้พลังงานทางเลือกอื่นๆ หรือยัง คือของเดิมเรามีถ่านหินหรือก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก ด้วยเหตุผลของต้นทุน ราคาการผลิตไฟฟ้าและความมั่นคง เพราะเราเห็นว่า มันมีเชื้อเพลิงปฐมภูมิสำรองไว้ ถ่านหินจัดหาได้ ก๊าซธรรมชาติสามารถจัดหาได้ จริงๆ ก๊าซธรรมชาติของประเทศไทย ก็เข้าข่ายสุ่มเสี่ยง เพราะว่าเราใช้ก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้าไปแล้ว จริงๆ แล้วการออกแบบที่ดี จะต้องเป็นการผสมผสานเชื้อเพลิง เพราะฉะนั้นถ้าเชื้อเพลิงบางชนิดขาดไปในบางช่วงเวลา เราก็สามารถใช้เชื้อเพลิงอื่นเข้ามาทดแทนได้ แต่ของบ้านเรา ก็ได้แค่ถ่านหิน น้ำ ก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก โดยมีก๊าซธรรมชาติถึง 70% น้ำมันปกติจะไม่ใช้ เพราะต้นทุนการผลิตแพงมากๆ จะนำมาใช้ในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น ดังนั้น เพื่อความมั่นคงและความหลากหลายของการใช้เชื้อเพลิง ถามว่าตัวเลือกอื่นๆ คืออะไร ก็สามารถตอบได้ว่า นิวเคลียร์ ข้อดีของนิวเคลียร์ก็คือ จะใช้ต้นทุนราคาผลิตต่อหน่วยจะต่ำระดับเดียวกับถ่านหินเลย ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะตอบโจทย์ในเรื่องของสิ่งแวดล้อมด้วย แต่อย่างไรก็ดี วิกฤติฟูกูชิมา ได้ทำให้ทั้งโลกตระหนักว่า มีช่องโหว่ของการจัดการปัญหานิวเคลียร์ หากเราจะเอาเหตุการณ์ฟูกูชิมาเทียบเคียงกัน เราก็จะพบว่า มีผลทั้งในส่วนของต้นทุนไม่สูงเกินไป ไม่เกิดสภาวะเรือนกระจก เพราะไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ก็มีโอกาสเกิดเหตุการณ์ฟูกูชิมาได้อีก แต่น้อยมาก ซึ่งก็จะเห็นว่าการจัดการกับปัญหาเกิดขึ้นได้ยากมาก และสำหรับในประเทศไทยมีโจทย์หลัก คือ เรื่องสถานที่ตั้ง การสร้างความเชื่อมั่นให้กับสาธารณชน ต่อมาก็คือเรื่องของพลังงานสะอาด พลังงานแสงอาทิตย์ ลม ซึ่งตอนนี้กระทรวงพลังงานได้มีนโยบายออกมาแล้ว

Q : พลังงานธรรมชาติอาจใช้ต่อได้อีกกี่ปี

A : แหล่งก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดของไทยมี 2 ที่ คือ อ่าวไทย และภาคตะวันตก หากอ่าวไทยไม่มีการเปลี่ยนแปลงการต่ออายุสัมปทาน คาดว่า ใช้ไม่เกินอัตรานี้ 15 ปีก็จะหมด หมดในที่นี้คือหมดเกลี้ยง เพราะฉะนั้นเราจะรอให้ถึงวันนี้มั้ย เราก็ไม่รอ เพราะปตท.เริ่มนำเข้า LNG แล้ว มีท่าจอดเรือ LNG อยู่ที่มาบตาพุด และการที่จะส่งก๊าซธรรมชาติทางเรือได้ ต้องอัดให้เป็นของเหลวก่อน แล้วเข้าสู่กระบวนการทำให้เป็นแก๊สก่อน แล้วจึงค่อยส่งตามท่อ ส่วนภาคตะวันตก เป็นส่วนที่มีการประสานงานกับประเทศพม่า อย่างที่เราเห็นชัดเจน และพม่าก็เป็นตัวแปรที่มีความไม่แน่นอน เพราะประเทศพม่ากำลังเปิดออก และสิ่งแรกที่พม่าต้องทำ คือ การลงทุนเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน ไฟฟ้า สาธารณูปโภค และพม่ายังอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับจีนและอินเดีย

Q : หลังจากที่ก๊าซธรรมชาติอาจจะต้องหมดไปจากอ่าวไทย โอกาสที่จะเกิด blackout จะถี่ขึ้นรึเปล่า

A : เราคงไม่ควรรอให้เกิดลักษณะแบบนั้น เราก็ควรจะต้องสำรวจแหล่งอื่นๆ เพิ่มเติม นอกจากอ่าวไทย แต่เราก็ยังมี LNG ทดแทนด้วย แต่ที่สำคัญมีราคาแพงกว่าที่เราใช้อยู่ปัจจุบัน และในแง่ของการประกันความเสี่ยง จริงๆ แล้วตามแผนจะต้องมีการลดสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้า จาก 70 ความจริงอยากให้เหลือประมาณแค่ 40% แล้วก็มองหาทางเลือกอื่นก็คือ ถ่านหิน ก็ต้องดูอีกว่า ตำแหน่งอยู่ตรงไหน เทคโนโลยีเป็นอย่างไร โลจิสติกส์ การจัดเก็บถ่านหินอีก ควรจะช่วยๆ กันคิด เพราะหากมีการนำถ่านหินเข้ามาได้ ในแง่ของความมั่นคง หรือต้นทุนการผลิตไฟฟ้าก็จะเป็นเรื่องดี ถึงแม้จะนำถ่านหินเข้ามาได้ แต่เราก็ต้องใส่เรื่องของพลังงานหมุนเวียนเข้ามาอีก ในช่วงแรกก็อาจจะต้องมีการลงทุนเทคโนโลยี

Q : แปลว่าโอกาสที่ไฟในประเทศจะดับ มีง่ายขึ้น เร็วขึ้นมั้ย

A : มีความเสี่ยงสูงขึ้น ถ้าเรายังคงสัดส่วนการใช้ก๊าซผลิตไฟฟ้า 70% และยังไม่มีทางเลือกอื่นที่จะจัดหาแหล่งพลังงานไฟฟ้า ก็จะเกิดความเสี่ยงที่ไฟฟ้าจะดับมากขึ้นกว่านี้แน่นอน

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 29 พฤษภาคม 2556

จ.ชัยนาทอนุมัติเงิน12ล้านบาท ช่วยเหลือผู้ประสบวาตภัย-ภัยแล้ง

นายอนันต์ ไชยกุล นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทน หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จังหวัดชัยนาท เปิดเผยว่า จ.ชัยนาทได้อนุมัติสั่งจ่ายเงินช่วยเหลือกรณีเกิดเหตุภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ซึ่ง จ.ชัยนาทได้เกิดสถานการณ์ภัยแล้งเมื่อต้นเดือน ก.พ.56 ในพื้นที่ 5 อำเภอ คือ อ.เนินขาม อ.มโนรมย์ อ.วัดสิงห์ อ.หันคาและ อ.หนองมะโมง และได้เกิดวาตภัยเมื่อเดือน มี.ค.ในพื้นที่ อ.หนองมะโมง อ.เมือง และ อ.หันคา ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินและการดำรงชีวิตของประชาชน รวมทั้งผลผลิตทางการเกษตร ที่สำนักงานเกษตรจังหวัดชัยนาทเสนอ โดยมีเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายจากวาตภัย (พายุลูกเห็บ) สร้างความเสียหายให้แก่พื้นที่นาข้าวที่กำลังออกรวงใกล้ได้อายุเก็บเกี่ยวในพื้นที่ ต.หนองแซงอ.หันคา จำนวน10 ราย พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายจำนวน 121 ไร่ คิดเป็นเงิน 73,326 บาท

ส่วนกรณีภัยแล้ง ที่มีพื้นที่การเกษตร ทั้งนาข้าว ไร่อ้อย และมันสำปะหลัง ได้รับความเสียหายใน พื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.เนินขาม อ.วัดสิงห์ และ อ.หนองมะโมง มีเกษตรกรได้รับความเดือดร้อนจำนวน 1,559 ราย คิดเป็นพื้นที่ 14,697 ไร่ เป็นเงินที่ขอชดเชยทั้งสิ้น12,301,807 บาท โดย จ.ชัยนาทได้มอบหมายให้สำนักงานเกษตรจังหวัดชัยนาท เป็นผู้เสนอของบประมาณเป็นค่าชดเชยความ เสียหายด้านการเกษตรดังกล่าว จากกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในขั้นตอนต่อไป

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 29 พฤษภาคม 2556

ขุดสระน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน หวังแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างยั่งยืน - ดินดีสมเป็นนาสวน

จากสถานการณ์การขาดแคลนน้ำมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกขณะ กรมพัฒนาที่ดิน จึงได้ดำเนินการโครงการแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน โดยการขุดสระน้ำในไร่นา ขนาด 1,260 ลูกบาศก์เมตร หรือที่เรียกว่า บ่อจิ๋ว มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในพื้นที่ทำการเกษตรของเกษตรกรที่อยู่นอกเขตชลประทาน

โดยในเรื่องนี้ นายเกรียงศักดิ์ หงษ์โต อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา กรมพัฒนาที่ดิน ได้ดำเนินการขุดสระน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน ขนาด 1,260 ลูกบาศก์เมตร ไปแล้วประมาณ 150,000 บ่อ กระจายอยู่ในพื้นที่ของเกษตรกร โดยเฉพาะพื้นที่ของเกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมักประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ ฝนทิ้งช่วง และภัยแล้งอยู่บ่อยครั้ง

นายเกรียงศักดิ์ กล่าวอีกว่า ยังคงมีเกษตรกรที่ต้องการเข้าร่วมโครงการดังกล่าวอีกเป็นจำนวนมาก โดยต้องการให้กรมฯเข้าไปดำเนินการขุดสระน้ำในไร่นา จำนวนไม่ต่ำกว่า 600,000 บ่อ ดังนั้นเพื่อเป็นการสนองความต้องการดังกล่าวของเกษตรกร รัฐบาลจึงได้จัดสรรงบประมาณในปี 2556 สำหรับโครงการดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 80,000 บ่อ ซึ่งมากกว่าปีงบประมาณที่ผ่านมาหลายเท่า ทั้งนี้ ยังมีเกษตรกรหลายรายที่ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ เนื่องจากไม่มีเอกสารสิทธิ์ และไม่มีหนังสือยินยอมให้ดำเนินการขุดสระน้ำจากเจ้าของที่ดิน กรมฯจึงไม่สามารถดำเนินการขุดสระน้ำให้ได้

อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวด้วยว่า หลังจากการขุดบ่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว เกษตรกรต้องมีความตั้งใจประกอบอาชีพทางการเกษตร โดยกรมพัฒนาที่ดิน จะให้การสนับสนุนปัจจัยการผลิตทางการเกษตรตามความเหมาะสม เช่น ผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยีชีวภาพของกรมพัฒนาที่ดิน ได้แก่ เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยพืชสด หญ้าแฝก สารเร่งซุปเปอร์ พด.1 สารเร่งซุปเปอร์ พด.2 สารเร่งซุปเปอร์ พด.3 สารเร่ง พด.6 สารเร่งซุปเปอร์ พด.7 สารเร่งจุลินทรีย์ ซุปเปอร์ พด. 9 พด.11 และปุ๋ยชีวภาพ พด.12 พร้อมทั้งคำแนะนำทางวิชาการในการปรับปรุงบำรุงดิน เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ลดต้นทุน และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ หากต้องการยืดอายุการใช้งานแหล่งน้ำในไร่นา หรือบ่อน้ำให้ยาวนานขึ้น จำเป็นต้องมีการป้องกันการพังทลายของดินบริเวณขอบบ่อ เนื่องจากบริเวณด้านข้างของแหล่งน้ำในไร่นาที่เกิดจากการขุดดินออก เพื่อให้เป็นบ่อจะมีความลาดชัน และผิวดินเปิดโล่งไม่มีสิ่งปกคลุม ทำให้น้ำกัดเซาะดินลงไปในก้นบ่อ เกิดการตื้นเขิน จึงควรนำหญ้าแฝกมาปลูกไว้บริเวณรอบขอบบ่อ เพื่อช่วยกรองเศษตะกอนดิน หรือสิ่งปฏิกูลต่างๆ ไม่ให้ไหลลงบ่อ และยึดดินขอบบ่อไว้ อีกทั้ง ยังสามารถปลูกพืชผักสวนครัว หรือไม้ ผลต่างๆ รวมทั้งเลี้ยงปลาไว้บริโภคในครัวเรือน เป็นการใช้ประโยชน์บ่อน้ำในไร่นาให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

สำหรับเกษตรกรที่มีความต้องการเข้าร่วมโครงการแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทานสามารถยื่นเรื่องได้ที่สถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัด โดยมีเงื่อนไขเกษตรกรต้องยินยอมในการจ่ายเงินสมทบบ่อละ 2,500 บาท ซึ่งรัฐบาลจะสนับสนุนงบในการขุดจำนวนที่เหลืออีกบ่อละ 16,600 บาท รวมเป็นเงิน 19,100 บาท/บ่อ
อย่างไรก็ตาม แหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทานนับเป็นสิ่งสำคัญ เพราะนอกจากจะสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในพื้นที่เกษตรที่อยู่นอกเขตชลประทานแล้ว ยังสามารถช่วยป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน และรักษาความชุ่มชื้นในดินในพื้นที่เกษตรกรรม ตลอดจนช่วยเพิ่มคุณภาพผลผลิตของเกษตรกรได้ดียิ่งขึ้นด้วย

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 29 พฤษภาคม 2556

เปิด 22 มาตรการรัฐ เข็นเป้าศก.ไทยโต 5%

สศช.- สศค. วางกรอบการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจปี56 สร้างภูมิคุ้มกัน ดันเป้าเศรษฐกิจโตไม่น้อยกว่า 5%

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ ( 28 พฤษภาคม 2556 )ได้เห็นชอบกรอบการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยปี 2556 ที่สศช. และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค. ) กระทรวงการคลัง ได้ร่วมกันเสนอทั้งนี้เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้เศรษฐกิจไทยมีเสถียรภาพ และสามารถเติบโตได้ในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 โดยมีรายละเอียดดังนี้
*ปัจจัยที่จะกระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดใน 5 ด้านได้แก่
1.ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวได้ช้ากว่าคาดหวังและมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่วิกฤติเศรษฐกิจอีก
2.การแก้ปัญหาด้วยการพิมพ์เงินของประเทศมหาอำนาจ ทำให้สงครามอัตราแลกเปลี่ยนยังดำเนินการต่อไปและส่งผลให้เงินทุนไหลเข้าประเทศไทย
3.ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นและผันผวนส่งผลกระทบต่อรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการ
4.แรงขับเคลื่อนจากมาตรการสร้างรายได้-ลดรายจ่าย-ขยายโอกาสในปีแรกมีแนวโน้มลดลง ในขณะที่การเบิกจ่ายงบลงทุนโครงการขนาดใหญ่อาจมีความล่าช้ากว่ากำหนดการ และ
5.การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์และตลาดอสังหาริมทรัพย์ต้องดูแลให้สอดคล้องกับพื้นฐานทางเศรษฐกิจ โดยระมัดระวังไม่ให้เป็นการเก็งกำไรจนเกิดฟองสบู่ ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

ดังนั้น รัฐบาลจึงจำเป็นต้องกำหนดกรอบการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งเตรียมพร้อมหากต้องมีมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในระยะ 6-12 เดือน ดังนี้

*การสร้างความเชื่อมั่น และเสถียรภาพระยะสั้น

- ดูแลเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้แข็งค่ากว่าประเทศคู่แข่ง และประเทศคู่ค้า จนกระทบต่อศักยภาพของเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้น และระยะยาว
- ดูแลการดำเนินนโยบายการคลัง และนโยบายการเงินให้มีความสอดคล้องกัน เพื่อโอกาสในการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ที่เต็มศักยภาพ และมีเสถียรภาพ โดยการประสานงานอย่างใกล้ชิด ระหว่างหน่วยงานกลางที่มีบทบาทหลัก ด้านการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจ ได้แก่ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
- สร้างความเชื่อมั่นในต่างประเทศ โดยผ่านการเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้อง และการเยือนต่างประเทศของคณะผู้แทนของประเทศ
การรักษาศักยภาพการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจให้สามารถขยายตัวได้ 5% อย่างต่อเนื่อง
- สร้างฐานการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนในประเทศ ด้วยการเพิ่มรายได้-ลดรายจ่าย และสร้างโอกาสให้กับประชาชน ทั้งการขยายฐานรายได้เก่า และสร้างรายได้ใหม่ เพื่อส่งเสริมการกระจายรายได้ที่ดีขึ้น
- สนับสนุนการสร้างรายได้จากต่างประเทศด้านการส่งออก ท่องเที่ยว และการลงทุนในภาคธุรกิจที่เหมาะสมในต่างประเทศ
- ดำเนินนโยบายการคลังที่มีวินัย ขยายฐานภาษี และเพิ่มความสามารถในการสร้างรายได้ของภาครัฐ ลดการขาดดุลงบประมาณให้เข้าสู่สภาวะสมดุลในระยะเวลาที่เหมาะสม โดยจัดให้มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น และเป็นประโยชน์ต่อประเทศในระยะยาว ด้วยการควบคุมหนี้สาธารณะให้อยู่ภายใต้กรอบวินัยการคลังที่กำหนด
- ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และโครงสร้างภาษีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเพื่อการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนในระยะยาวตามยุทธศาสตร์ประเทศไทย
*มาตรการรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจ ประกอบด้วยมาตรการด้านการเงิน มาตรการด้านการคลัง และมาตรการเฉพาะด้าน ดังนี้
*มาตรการด้านการเงิน โดยประสานงานกับ ธปท.ในการดำเนินมาตรการสำคัญ ซึ่งประกอบด้วย 7 มาตรการ ได้แก่

1.ซื้อขายเงินตราต่างประเทศ เพื่อดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ และไม่แข็งค่ามากกว่า ความสามารถในการปรับตัวของภาคการผลิต และการบริการ
2.ดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยอย่างเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ และการรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจ
3.ดำเนินมาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงิน เพื่อดูแลเสถียรภาพของสถาบันการเงิน และเศรษฐกิจโดยรวม
4.พิจารณาให้มาตรการจำกัดเงินทุนไหลเข้าอย่างระมัดระวัง เมื่อมีความจำเป็น โดยมีการประเมินผลกระทบอย่างรอบคอบก่อนการดำเนินการ และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด

5.บริหารการจัดการเงินทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ เพื่อเพิ่มอัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์ โดยเพิ่มประเภทสินทรัพย์ที่ ธปท.สามารถลงทุนได้
6.ช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม ให้สามารถบรรเทาผลกระทบของค่าเงินบาท
7.สร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาค เพื่อดูแลอัตราแลกเปลี่ยนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

*มาตรการด้านการคลัง ประกอบด้วย 6 มาตรการ ได้แก่

1.การกำกับดูแลการเบิกจ่ายงบประมาณ และงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด
2.ดำเนินโครงการลงทุนขนาดใหญ่ให้ได้ตามแผนงานในครึ่งหลังของปี 2556
3.กำหนดให้รัฐวิสาหกิจชำระหนี้ และปรับโครงสร้างหนี้ ที่เป็นเงินตราต่างประเทศ ซึ่งในปัจจุบันรัฐวิสาหกิจหลายแห่งได้เริ่มดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวแล้ว เช่น บมจ.ท่าอากาศยานไทยฯ และ บมจ.การบินไทยฯ เป็นต้น
4.ปฏิรูปโครงสร้างภาษี ซึ่งได้เริ่มดำเนินการในส่วนของภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแล้ว
5.สนับสนุนด้านสินเชื่อ ผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรับ ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ และให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ และเอสเอ็มอี ในการเพิ่มเครื่องมือการค้ำประกันการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน
6.ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจเอกชนไปลงทุนต่างประเทศในภาคธุรกิจที่เหมาะสม

*มาตรการเฉพาะด้านเพื่อสนับสนุนการผลิตสินค้า และบริการ การส่งออก การลงทุนและรายได้ของประชาชนใน 8 ด้าน โดยจะแบ่งเป็นมาตรการที่จะดำเนินการในช่วง 6 เดือน และมาตรการปรับโครงสร้างการผลิต ที่สำคัญตามยุทธศาสตร์ของประเทศ ได้แก่

- ด้านการเกษตรเพื่อยกระดับรายได้เกษตรกร
- ด้านเอสเอ็มอี เพิ่มสัดส่วนเป็น 40% ของจีดีพี
- ด้านอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ขยายการลงทุน และพัฒนาเทคโนโลยี
- ด้านการท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว 24.7 ล้านคนในปี 2556 และรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ในปี 2558
- การส่งออกขยายตัว 9% ในปี 2556
- ด้านพลังงาน เพื่อให้มีแหล่งพลังงานที่มั่นคงในราคาที่เหมาะสม
- ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อยกระดับเทคโนโลยี และการเข้าถึงบริการที่ให้เป็นระดับแนวหน้าในภูมิภาค
- ผู้มีรายได้น้อย เพื่อสร้างรายได้ และกำลังซื้อขยายการเข้าถึงแหล่งทุน และลดต้นทุนการประกอบอาชีพ

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 29 พฤษภาคม 2556

19 ประเทศ ร่วมถกหน่วยงานชายฝั่งเอเชีย ครั้งที่ 9 รับเออีซี

ศูนย์ข่าวศรีราชา - ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมหัวหน้าหน่วยงานยามฝั่งประเทศในภูมิภาคเอเชีย ครั้งที่ 9 รับเออีซี 19 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตบเท้าเข้าประชุม

วันนี้ (28 พ.ค.) ที่ห้องประชุมโรงแรมดุสิตธานี พัทยา จ.ชลบุรี พล.ต.ต.สรรพวุฒิ พิพัฒพันธุ์ รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เป็นประธานเปิดการประชุมหัวหน้าหน่วยงานยามฝั่งในภูมิภาคเอเชีย ครั้งที่ 9 ซึ่งประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม โดยสมาคมรักษาความปลอดภัยทางทะเลประเทศญี่ปุ่น The Japan Association of Marine Safty (JAMS) และ Nippon Foundation เป็นผู้สนับสนุนในการจัดการประชุม

การประชุมหัวหน้าหน่วยงานยามฝั่งในภูมิภาคเอเชีย Working Level Meeting for Heads Of Asian Coast Agencies Meeting เป็นการประชุมระดับผู้ปฏิบัติการ ซึ่งมีเนื้อหาการประชุมเกี่ยวกับการค้นหา และกู้ภัยทางทะเล การรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเล การเตรียมพร้อมรับมือกับภัยธรรมชาติ การป้องกันการกระทำผิดกฎหมายทางทะเล เพื่อเป็นข้อมูลในการวางแผนงาน การกำหนดเป้าหมาย ขั้นตอนการประสานการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างประเทศหน่วยงานของประเทศสมาชิกเพื่อรับการเปิดประชาคมอาเซียนใน 2-3 ปีข้างหน้า

อีกทั้งยังพัฒนาขีดความสามารถการประสานการปฏิบัติ โดยให้ความสำคัญกับการประสานงานในระดับทวิภาคี กำหนดฝึกอบรมระดับปฏิบัติการในภาคสนาม และเป็นการเตรียมข้อมูลสำหรับการประชุมหัวหน้าหน่วยงานยามฝั่งในภูมิภาคเอเชีย โดยมี 19 ประเทศในภูมิภาคเอเชียเข้าร่วมการประชุมอย่างคึกคัก

จาก http://www.manager.co.th วันที่ 28 พฤษภาคม 2556

“กิตติรัตน์” เตรียมออกประกาศกระทรวงคลัง ดูแลเงินทุนไหลเข้า-ออก แก้บาทแข็ง

“กิตติรัตน์” เตรียมออกประกาศกระทรวงคลัง ดูแลเงินทุนไหลเข้า-ออก ให้สมดุล โดยพบว่าปัจจุบันมีเงินทุนไหลเข้า-ออกสูงกว่าเมื่อวิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์ในปี 2008 ถึง 3 เท่า เป็นต้นเหตุของบาทแข็ง พร้อมระบุที่ประชุม ครม. วันนี้ เห็นชอบกรอบนโยบายแก้ ศก.ภาพรวม

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงการคลัง เตรียมแก้ไขประกาศกระทรวงฯ โดยอยู่ระหว่างการส่งเรื่องให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งจะมีผลดูแลเงินทุนไหลเข้า-ออกให้มีความสมดุลเหมาะสม อยู่ในอำนาจที่ รมว.คลังจะสามารถดำเนินการได้ ถือเป็นการเตรียมความพร้อมหากหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องดูแลเงินทุนไหลเข้า-ออกก็สามารถดำเนินการได้ทันที จากที่ก่อนหน้านี้ไม่มีกฎหมายในลักษณะนี้ไว้

“ที่ต้องดูแลเงินทุนไหลเข้า-ออก เพราะปัจจุบันมีเงินทุนไหลเข้าออกสูงกว่าเมื่อวิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์ในปี 2008 ถึง 3 เท่า ซึ่งขณะนั้นมีเงินทุนไหลเข้า 2 ล้านล้านบาท แต่พอขณะนี้มีเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลเข้ามามาก สถานการณ์ต่างจากเดิม เพราะยุคนั้นมีสภาพคล่องสูง แต่ขณะนี้การไหลเข้าสูงเกินไปทำให้ค่าเงินแข็งค่า” นายกิตติรัตน์ ระบุ

รองนายกฯ และ รมว.คลัง กล่าวด้วยว่า สิ่งที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับทราบในวันนี้ คือ กรอบเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในปี 2556 ที่เป็นการบูรณาการการทำงานของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องที่จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน ไม่มีปัญหาฟองสบู่เหมือนเช่นในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้รวบรวมมาตรการต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน ทั้งในการบริหารเศรษฐกิจมหภาค คือ นโยบายการเงิน การคลัง และการบริหารนโยบายเศรษฐกิจจุลภาคใน 8 ด้าน เช่น การท่องเที่ยว การส่งออก ภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการ SMEs เป็นต้น

ที่ผ่านมา การบริหารเศรษฐกิจมหภาค และจุลภาคมีความไม่สอดคล้องกัน ซึ่งทำให้มีปัญหาดังเช่นในต่างประเทศ ดังนั้น จึงต้องดูแลให้สอดคล้องกัน โดยประเด็นนี้ถือเป็นมาตรการเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ ซึ่งหลังจากนี้จะมีมาตรการระยะกลาง และระยะยาวต่อไป

นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า หลังจากที่ ครม.รับทราบกรอบเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในปี 2556 แล้ว ได้มอบหมายให้แต่ละส่วนราชการกลับไปดำเนินการ และรายงานความคืบหน้าผลการปฏิบัติงานให้ ครม.รับทราบทุกสัปดาห์ และทำรายงานเสนอประจำทุกเดือนด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าเศรษฐกิจของไทยจะไม่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก โดยรัฐบาลจะชี้แจงเรื่องนี้ในระหว่างการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 ในวันพรุ่งนี้ด้วย

อย่างไรก็ดี ในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนนั้นต้องดูแลไม่ให้สูงกว่าคู่แข่ง และคู่ค้า อีกทั้งต้องอยู่ในระดับที่ทำให้เศรษฐกิจสามารถขับเคลื่อนไปได้ และทำให้เกิดการออม แต่การจะให้ระบุลงไปว่าอัตราแลกเปลี่ยนควรอยู่ที่ระดับใดนั้นคงไม่สามารถทำได้ ขณะที่มาตรการการคลังจะต้องดูแลเรื่องการบริหารรายรับ-รายจ่ายของประเทศให้มีประสิทธิภาพ มีวินัย รวมทั้งการออมภาคครัวเรือน
ด้านนางวัชรี วิมุกตายน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. ได้ขอให้กระทรวงพาณิชย์เน้นการส่งเสริมเศรษฐกิจการค้าชายแดนให้โตขึ้น 30% จากปัจจุบันที่มีมูลค่าอยู่ 9 แสนล้านบาท เพื่อจะได้นำมาชดเชยกับเศรษฐกิจในด้านอื่นที่ไม่สามารถเติบโตได้ตามเป้าด้วย

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 28 พฤษภาคม 2556

เงินบาทอ่อนค่าแตะ 30.04 ขณะตลาดจับตารอผลประชุม กนง.พรุ่งนี้

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของค่าเงินประจำวันอังคารที่ 28 พฤษภาคม 2556 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ที่ระดับ 29.90/94 บาท/ดอลลาร์ ปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (27/5) ที่ 29.84/88 บาท/ดอลลาร์

โดยการซื้อขายเงินบาทในช่วงคืนวันจันทร์ที่ผ่านมาค่อนข้างเบาบาง เนื่องจากตลาดลอนดอนปิดเนื่องในวันหยุดธนาคารและตลาดสหรัฐฯปิดเนื่องในวันเมโมเรียลเดย์ และในช่วงเช้าของวันนี้สกุลเงินบาทนั้นยังคงเคลื่อนตัวอยู่ในกรอบแคบ ๆ ขณะที่นักลงทุนยังคงจับตารอดูผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (กนง.) ในวันพรุ่งนี้ (29/5) โดยสำหรับผลการประชุม กนง.ในวันพรุ่งนี้นั้นนักลงทุนส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า กนง.จะทำการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 2.75% สู่ 2.5% อย่างไรก็ดี การเปิดเผยตัวเลขผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของไทย (MPI) ประจำเดือนเมษายนที่อ่อนแอในช่วงเช้าของวันนี้นั้นได้ทำให้นักลงทุนบางส่วนคาดการณ์ว่า กนง.อาจทำการลดดอกเบี้ยลงสู่ระดับต่ำกว่า 2.5% และเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงและแตะระดับ 30.04 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงบ่ายของวัน โดยดัชนี MPI ประจำเดือนเมษายนของไทยนั้นปรับตัวลง 3.84% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 1.7% โดยกรอบการเคลื่อนไหวของสกุลเงินบาทระหว่างวันนั้นอยู่ที่ระดับ 29.30-30.04 บาท/ดอลลาร์ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 30.01/04 บาท/ดอลลาร์

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้เปิดตลาดที่ระดับ 1.2883/85 ดอลลาร์/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับระดับปิ ดตลาดเมื่อวันจันทร์ที่ 1.2945/48 ดอลลาร์/ยูโร สกุลเงินยูโรนั้นเคลื่อนตัวในกรอบแคบในตลาดการซื้อขายที่เบาบางของช่วงคืนวันจันทร์ที่ผ่านมา เนื่องจากตลาดลอนดอนและตลาดสหรัฐฯหยุดทำการ อย่างไรก็ดี ในช่วงเช้าของวันนี้เงินยูโรได้ถูกเทขายออกมาส่งผลให้ลงสู่ระดับต่ำสุดที่ 1.2883 ดอลลาร์/ยูโร โดยสาเหตุหนึ่งที่กดดันเงินยูโร คือการที่ตลาดคาดการณ์ว่าตัวเลขความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐประจำเดือนพฤษภาคมที่จะได้รับการเปิดเผยในคืนนี้นั้น จะปรับตัวดีขึ้นกว่าเดือนที่แล้วและจะส่งผลให้มีความเป็นไปได้สูงขึ้นที่ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) จะลดปริมารการทำการซื้อสินทรัพย์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ (QE) ลงในเร็ว ๆ นี้ นอกจากนี้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของฝรั่งเศสที่น่าผิดหวังที่ได้รับการเปิดเผยในวันนี้นั้นยังเป็นอีกปัจจัยกดดันเงินยูโรด้วย โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนพฤษภาคมของฝรั่งเศสนั้นอยู่ที่ระดับ 79 ต่ำกว่าระดับที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 85 โดยกรอบการเคลื่อนไหวของสกุลเงินยูโรระหว่างวันนั้นอยู่ที่ระดับ 1.21883-1.2937 ดอลลาร์/ยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.2920/1.2922 ดอลลาร์/ยูโร

สำหรับค่าเงินเยนวันนี้เปิดตลาดที่ระดับ 101.93/95 เยน/ดอลลาร์ ปรับตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ที่ 100.79/80 เยน/ดอลลาร์ โดยเงินเยนนั้นเริ่มอ่อนค่าลงในเช้าวันนี้จากการคาดการณ์ที่ว่า ตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯที่จะได้รับการเปิดเผยในคืนนี้นั้นจะออกมาดีและส่งผลให้มีความเป็นไปได้ที่ FED จะลดการทำ QE ในเร็ว ๆ นี้ นอกจากนี้เงินเยนยังถูกกดดันจากการที่ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเริ่มฟื้นตัวภายหลังจากที่ปรับตัวผันผวนและดิ่งลงอย่างมารกในช่วงสัปดาห์ก่อนหน้านี้ ซึ่งการฟื้นตัวของตลาดหุ้นญี่ปุ่นนั้นส่งผลให้ความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยคือ พันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นลดลงและส่งผลให้เงินเยนปรับตัวอ่อนค่าลงด้วย นอกจากนี้ สกุลเงินเยนยังคงได้รับแรงกดดันอย่างต่อเนื่องจากการทำการผ่อนคลายนโยบายทากงารเงินเชิงรุกของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ทั้งนี้ ค่าเงินเยนมีกรอบการเคลื่อนไหวระหว่างวันอยู่ที่ระดับ 100.89-102.30 เยน/ดอลลาร์ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 102.04/102.06 เยน/ดอลลาร์

อนึ่ง ข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ผลการประชุม กนง., ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของเยอรมนี, ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของอิตาลี, ตัวเลขอัตราการว่างงงานของเยอรมนี (29/5), ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของยูโรโซน, ตัวเลขอัตราการว่างงานของญี่ปุ่น, ตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการผู้ว่างงานประจำสัปดาห์ของสหรัฐ (30/5), ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของฝรั่งเศส, ตัวเลขอัตราการว่างงานของอิตาลีและยูโรโซน (31/5)

อัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +5/5.2 สตางค์/ดอลลาร์ และอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +6.5/7.5 สตางค์/ดอลาร์

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 28 พฤษภาคม 2556

ใช้ดาวเทียม 3 ดวงบริหารน้ำ

นายรอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า ระบบพื้นฐานการสื่อสารเพื่อการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทยจากภาพถ่ายระยะไกล และระบบภูมิสารสนเทศในการรับมือภัยพิบัติ โดยจากข้อมูลดาวเทียม ข้อมูลทางอากาศ และข้อมูลจากสถานีภาคพื้นดินที่มาตรวจจับความเปลี่ยนแปลของน้ำ ด้วยการใช้ระบบการพยากรณ์ปริมาณน้ำฝนหรือการก่อตัวของพายุในแต่ละปี จำเป็นต้องใช้ดาวเทียม 3 ดวงหลักในการจัดการน้ำ ได้แก่ ดาวเทียมต้องสามารถทะลุเมฆและหมอกได้ หรือ ดาวเทียมที่มีตัวรับสัญญาณ (Sensor) ในการบันทึกข้อมูล ซึ่งถือเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการวัดค่าและเก็บค่าเชิงกายภาพที่ต้องการ เช่น ค่าความสูงของน้ำในอ่างเก็บน้ำ ค่าปริมาณน้ำฝน ค่าปริมาณการไหลของน้ำในแม่น้ำ จากนั้นแปลงค่าให้กลายเป็นค่าสัญญาณทางไฟฟ้า , ใช้ดาวเทียมรูปแบบพาสซีฟเซ็นเซอร์ หรือ ดาวเทียมธีออส หรือ ดาวเทียมไทยโชติ ซึ่งเป็นดาวเทียมที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อดาวเทียมสำรวจทรัพยากร THEOS ที่มีอยู่แล้ว เป็นแผนที่และเครื่องมือทางภูมิศาสตร์ที่ใช้พยากรณ์การเกิดเมฆและฝนแม่นยำขึ้น และสุดท้ายดาวเทียมที่ใช้ระบบส่งสัญญาณจีพีเอส(GPS) โดยเฉพาะทำหน้าที่ระบุตำแหน่งที่ใช้ชัดเจนและครอบคลุมพื้นที่มากกว่า สามารถคำนวณความเร็วและทิศทางนำมาใช้ร่วมกับโปรแกรมแผนที่และพยากรณ์ ซึ่งไทยจำเป็นต้องใช้ดาวเทียมมากกว่า 1 ดวง เพราะแต่ละดวงจะมีศักยภาพที่แตกต่างกัน

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 28 พฤษภาคม 2556

เผยต่างชาติเริ่มขายตราสารหนี้ระยะสั้น กังวลแบงก์ชาติออกมาตรการดูแลค่าเงินบาท

สมาคมตลาดตราสารหนี้เผยเดือน พ.ค. ต่างชาติเริ่มขายตราสารหนี้ระยะสั้น แต่คงซื้อตราสารระยะยาวต่อเนื่อง กังวลแบงก์ชาติออกมาตรการดูแลค่าเงินบาท

นายนิวัฒน์ กาญจนภูมินทร์ กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ยอมรับว่า แม้เดือน พ.ค.นี้ บรรยากาศการซื้อขายตราสารหนี้ในตลาดยังอยู่ในภาวะปกติ แต่ตราสารหนี้ระยะสั้น เริ่มเห็นสัญญาณการขายออกมาในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา จึงทำให้ยอดถือครองสุทธิของนักลงทุนต่างชาติที่เคยขึ้นไปสูงถึง 8.60 แสนล้านบาท ลดลงเหลือ 8.48 แสนล้านบาท

ส่วนตราสารหนี้ระยะยาวยังมีแรงซื้อเข้ามาต่อเนื่อง เพราะพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังเติบโตแข็งแกร่ง แม้ไตรมาสแรกปีนี้ ตัวเลขการเติบโตอาจจะออกมาต่ำกว่าที่คาดไว้บ้าง แต่โดยภาพรวมทั้งปีเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยจะโตได้ในระดับ 5.0% อยู่ ซึ่งเป็นระดับที่ดี ในแง่ของเงินลงทุนระยะยาวก็ยังไหลเข้ามาต่อเนื่อง เพราะปัจจุบันสภาพคล่องในระบบโลกยังล้นอยู่ จึงไม่ต้องการให้ความกังวลในระยะสั้นมาทำลายบรรยากาศการลงทุนระยะยาวในตลาดตราสารหนี้ไป

“ตลาดตราสารหนี้ไม่ได้รับผลกระทบต่อถ้อยแถลงของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) เหมือนตลาดหุ้น เพราะนักลงทุนเป็นคนละกลุ่ม ส่วนปัจจัยในประเทศจากความไม่ชัดเจนเรื่องการใช้มาตรการดูแลค่าเงินอาจทำให้ต่างชาติกังวล เพราะรายละเอียดของมาตรการจริงๆ ก็ยังไม่มีอะไรที่ชัดเจน และการส่งสัญญาณของภาครัฐออกมา ก็มุ่งดูแลเงินร้อนที่เข้ามาเก็งกำไรระยะสั้นเป็นหลัก จึงทำให้เห็นแรงขายตราสารหนี้ระยะสั้นของต่างชาติออกมา”

นายนิวัฒน์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันทางการคงไม่มีความจำเป็นต้องมีมาตรการอะไรออกมา แค่เข้าไปดูแลบริหารค่าเงินบาทตามปกติของทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) น่าจะเพียงพอที่จะส่งสัญญาณว่าจะมีการดูแลค่าเงินบาทในระดับหนึ่ง และอาจมีมาตรการในภาวะที่จำเป็นเท่านั้น ช่วง 1 ปี ที่ผ่านมา ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น 6.0% ขณะที่มาเลเซียแข็งค่าขึ้นมา 4.0-5.0% แต่ช่วง 4-6 เดือนหลังมานี้ ค่าเงินริงกิตของมาเลเซียกลับมาแข็งค่ากว่าเงินบาทแล้ว ถ้ามองด้วยพื้นฐานความจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการออกมาดูแลค่าเงินบาทคิดว่าไม่จำเป็นแล้ว และหากรัฐมีความชัดเจนเรื่องการใช้ หรือไม่ใช้มาตรการดูแลค่าเงินออกมาให้ชัด ก็จะทำให้นักลงทุนต่างชาติที่ออกไปในช่วงที่ผ่านมา กลับเข้ามาในตลาดด้วยเช่นกัน แต่คงเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปมากกว่า

“ไม่อยากให้ภาพระยะสั้นมาส่งผลต่อภาพการลงทุนระยะยาวในตลาดตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างชาติไป เพราะไทยยังมีความจำเป็นต้องการเงินลงทุนจากต่างชาติด้วย ส่วนแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบาย (R/P 1 วัน) ปัจจุบันมีโอกาสที่จะปรับลดลงได้เช่นกันแต่คงไม่ได้มากถึงระดับ 1.0% แต่ในช่วง 0.25-0.50% มีความเป็นไปได้ และตลาดก็มองไว้ที่ระดับเดียวกันนี้เช่นกัน”

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 28 พฤษภาคม 2556

บาทอ่อนค่าตามกลไกตลาด ธปท.ไม่วางใจเกาะติด-ลดดอกต้องรอมติ กนง.

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงสถานการณ์ค่าเงินบาทในขณะนี้เริ่มอ่อนค่าลง จะลดแรงกดดันในการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันที่ 29 พ.ค.นี้ ว่า ปัจจัยเรื่องค่าเงินเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเกี่ยวข้องกับตลาดการเงินที่มีความอ่อนไหวง่ายในข่าวสารต่างๆ ทั้งที่มาจากต่างประเทศและในประเทศ ยืนยันว่าไม่ได้มีความลำบากใจในการพิจารณาการประชุม กนง.ครั้งนี้ เนื่องจากกรรมการเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ และพิจารณาตามข้อมูลที่เกิดขึ้น หากมีข้อสรุปออกมาในทิศทางใดย่อมมีเหตุผลในการอธิบายที่เป็นหลักสำคัญ อย่างไรก็ตาม การที่เงินบาทอ่อนค่าลงนั้นไม่ได้เกิดจากการเข้าไปแทรกแซงของ ธปท.แต่อย่างใด

ด้านบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ประเมินว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 โดยเฉพาะหากพิจารณาแล้วเห็นว่าประเด็นการชะลอลงของเศรษฐกิจไทยเป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่จำเป็นต้องบริหารจัดการ ท่ามกลางความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีอยู่ และแรงกดดันเงินเฟ้อที่ยังไม่น่ากังวล

อย่างไรก็ตาม หาก กนง.ตัดสินใจที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง ก็อาจมีความจำเป็นที่ทางการอาจต้องพิจารณาใช้มาตรการเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาค เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการก่อตัวของภาวะฟองสบู่

นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล ประธานอาวุโสหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนจะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ กนง.เป็นผู้พิจารณาเรื่องดอกเบี้ยนโยบาย เพราะมีข้อมูลที่ดีกว่าหลายฝ่าย ซึ่งในส่วนนี้ภาคเอกชนต้องการเห็นเพียงการดูแลไม่ให้อัตราแลกเปลี่ยนผันผวน หรือแข็งค่ามากเหมือนกับเดือนเมษายนที่ผ่านมา ที่ช่วงดังกล่าวค่าเงินบาทแข็งค่าถึง 6% และต้องการให้ ธปท.ดูแลค่าเงินให้สอดคล้องกับเงินสกุลภูมิภาค อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ที่เคลื่อนไหวระหว่าง 29-30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เป็นระดับที่ภาคเอกชนรับได้ เพราะเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับประเทศในภูมิภาค

พร้อมกันนี้มองว่าเป้าหมายการส่งออกใหม่ที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งไว้ที่ 7-7.5% น่าจะดำเนินการได้ หากค่าเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวในระดับที่ใกล้เคียงกับประเทศคู่แข่งอยู่ และเชื่อว่าหากค่าเงินบาทมีทิศทางแข็งค่าขึ้น ธปท.ก็สามารถที่จะนำ 4 มาตรการที่มีอยู่มาดูแลอัตราแลกเปลี่ยนได้อย่างทันท่วงที

นายประสาร กล่าวต่อว่า ธปท.อยู่ระหว่างการเจรจาข้อตกลงร่วมกับประเทศพม่า ลาว และประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ที่มีชายแดนติดกับประเทศไทย เพื่อส่งเสริมการใช้การเรียกชำระเป็นสกุลเงินบาท (อินวอยซ์) ในการค้าระหว่างชายแดน เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการค้า หลังจากที่พบว่ามูลค่าการค้าชายแดนมีอัตราการเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 28 พฤษภาคม 2556

ธ.ก.ส.จัดโครงการปุ๋ยคุณภาพดีราคายุติธรรมผ่านบัตรสินเชื่อเกษตรกร

ธ.ก.ส. จับมือ สกต. บริษัทไทยธุรกิจเกษตร และบริษัทผู้จำหน่ายปุ๋ยจัดหาปุ๋ยคุณภาพมาตรฐานราคายุติธรรมจำนวน 400,000 ตัน จำหน่ายให้แก่เกษตรกรผู้ถือบัตรสินเชื่อเกษตรกร พร้อมชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้อีก4 เดือนเพื่อลดต้นทุนการผลิตและบรรเทาความเดือดร้อนจากปัญหาปุ๋ยราคาแพงให้แก่เกษตรกร

วันนี้ (27พฤษภาคม 2556) ณ ห้องโถงชั้น 2 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) สำนักงานใหญ่ บางเขน กรุงเทพมหานคร โดยมี นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือสนับสนุนโครงการจัดหาปุ๋ยเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรตามนโยบายรัฐบาล จำนวน 400,000 ตันระหว่าง นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)นายธนู หาญอยู่ประธานคณะกรรมการกลางสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. จำกัด(สกต.)นายปราโมทย์ นนทะโคตรประธานกรรมการ บริษัทไทยธุรกิจเกษตร จำกัด(TABCO) และ นายทวีศักดิ์ สุทินนายกสมาคมการค้าผู้ผลิตปุ๋ยไทยทั้งนี้เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้ได้ใช้ปุ๋ยที่มีคุณภาพ ในราคายุติธรรม เป็นการลดต้นทุนการผลิตและลดภาระดอกเบี้ยให้แก่เกษตรกร

นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้มอบหมายให้ ธ.ก.ส. ดำเนินโครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกร เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับเกษตรกรในการซื้อปัจจัยการผลิต โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2555 ซึ่งผลการดำเนินงาน ณ ปัจจุบันธ.ก.ส. ได้อนุมัติบัตรสินเชื่อให้เกษตรกรแล้ว จำนวน 2.66ล้านบัตร โดยเกษตรกรได้ใช้บัตรสินเชื่อซื้อปัจจัยการผลิตแล้วคิดเป็นมูลค่ารวม 4,879ล้านบาท ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลพบว่า เกษตรกรใช้บัตรสินเชื่อซื้อปุ๋ย คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 75ของมูลค่าปัจจัยการผลิตที่จัดซื้อผ่านระบบบัตรสินเชื่อเกษตรกรทั้งหมด

ดังนั้นเพื่อเป็นการช่วยลดต้นทุนการผลิตที่สำคัญของเกษตรกรและบรรเทาความเดือดร้อนจากปัญหาราคาปุ๋ยที่มีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี ธ.ก.ส. จึงร่วมกับ สกต. บริษัท ไทยธุรกิจเกษตร และบริษัทผู้จำหน่ายปุ๋ยรวม 25 บริษัทจัดทำโครงการจัดหาปุ๋ยเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรตามนโยบายรัฐบาล จำนวน 400,000 ตัน โดยการจัดหาปุ๋ยที่มีคุณภาพมาตรฐานราคายุติธรรม มาจำหน่ายให้แก่เกษตรกรผู้ถือบัตรสินเชื่อเกษตรกร ซึ่งการดำเนินโครงการดังกล่าวสามารถช่วยลดต้นทุนในรูปของการชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่เกษตรกรผู้ใช้บัตรเป็นระยะเวลา 4 เดือน คิดเป็นมูลค่าที่เกษตรกรจะได้รับประโยชน์ร้อยละ 2.33 ของมูลค่าปุ๋ย หรือประมาณ 350 บาทต่อตัน

ทั้งนี้โครงการจัดหาปุ๋ยเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรมีเป้าหมายดำเนินการผ่าน สกต.ทั้ง 77 แห่ง ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยในปี 2556 จะจัดหาปุ๋ยเคมีตราลูกโลกเกลียวเชือกและตราบริษัท ประเภทปุ๋ยผสม(Compound Fertilizer)เพื่อใช้กับทุกพืชและปุ๋ยเคมีผสมแบบคลุกเคล้า (Bulk Blending) เฉพาะที่ใช้กับยางพารา ปาล์มน้ำมัน และสับปะรด ตามความต้องการของเกษตรกร จำนวน 400,000 ตัน และจะเพิ่มเป็น 1 ล้านตัน ภายใน 5ปี หรือประมาณร้อยละ 20 ของปริมาณปุ๋ยทั้งหมดที่ใช้ในประเทศประมาณ 5 ล้านตัน ซึ่งเกษตรกรสามารถสั่งซื้อปุ๋ยและชำระค่าปุ๋ยโดยใช้บัตรสินเชื่อเกษตรกร ได้ที่ สกต. หรือตัวแทนของ สกต. ทุกจังหวัด รวมทั้งร้านค้าเครือข่ายชุมชนที่เข้ามาร่วมโครางการ

นายลักษณ์ กล่าวอีกว่า ธนาคารได้ลงนามความร่วมมือกับกรมวิชาการเกษตรในการดูแลคุณภาพปุ๋ยและการพัฒนาร้านค้าในโครงการบัตรสินเชื่อให้ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน Q-Shop พร้อมทั้งมีการตรวจสอบคุณภาพตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เกษตรกรจึงมั่นใจได้ว่าจะได้ใช้ปุ๋ยที่มีคุณภาพในราคายุติธรรมหรือเทียบเท่าราคาตลาดทั้งยังได้รับความสะดวกในการรับปุ๋ยที่สั่งซื้อ เนื่องจาก สกต.จะขนส่งปุ๋ยจากผู้ผลิตถึงชุมชนโดยตรง และเกษตรกรยังได้รับการลดภาระดอกเบี้ยเงินกู้จากบัตรสินเชื่อเป็นระยะเวลา 4 เดือน รวมเวลาปลอดดอกเบี้ยบัตร อีก 1 เดือน รวมเป็น 5 เดือน นอกจากนี้ในส่วนของชุมชนจะพัฒนาเป็นจุดรวบรวม รับ-จ่าย ปัจจัยการผลิตผ่านระบบบัตร และพัฒนาเป็นร้านค้าเครือข่ายของ สกต. สหกรณ์การเกษตร ที่เข้าร่วมโครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกร อันจะนำไปสู่ความเข้มแข็งของชุมชนในอนาคต

จาก http://www.siamturakij.com  วันที่ 28 พฤษภาคม 2556

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิด“ศูนย์พัฒนาการค้าและธุรกิจไทยในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” และ “ชมรมนักธุรกิจไทยในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” สนับสนุนผู้ประกอบการเข้าสู่ภาคการค้าในตลาดอาเซียนอย่างมีทิศทาง

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิด “ศูนย์พัฒนาการค้าและธุรกิจไทยในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” และ “ชมรมนักธุรกิจไทยในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” สนับสนุนผู้ประกอบการเข้าสู่ภาคการค้าในตลาดอาเซียนอย่างมีทิศทาง
นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวในงานเปิดตัว “ศูนย์พัฒนาการค้าและธุรกิจไทยในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” และ “ชมรมนักธุรกิจไทยในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน”ว่า ศูนย์พัฒนาการค้าและธุรกิจไทยในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน”หรือ AEC Business Support Center จะเป็นศูนย์กลางการให้บริการข้อมูลและคำปรึกษา แก่ผู้ประกอบการไทย ที่ต้องการทำธุรกิจการค้า การลงทุน และสร้างเครือข่ายในการจัดหาแหล่งวัตถุดิบ ในอาเซียน รวมถึงสนับสนุน ผลักดัน ให้ผู้ประกอบการไทยได้เข้าสู่ภาคการค้าระหว่างประเทศในตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในเชิงรุกอย่างมีทิศทาง ขณะที่ชมรมนักธุรกิจไทยในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” หรือ DITP AEC Club จะเป็นศูนย์รวม ในการสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ประกอบการไทยที่ดำเนินการค้าในตลาดเออีซีให้เกิดช่องทางในการพบปะหารือ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การร่วมธุรกิจ ตลอดจนการรับทราบข่าวสารที่เป็นประโยชน์ และสิทธิประโยชน์ในการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เพื่อให้ผู้ประกอบการได้รุ้เท่าทันกระแสโลก และพร้อมรับกับการเปิดประชาคมอาเซียน

ทั้งนี้ AEC Business Support Center มีทั้งหมด 9 แห่ง ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักพัฒนาตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและเอเชีย อาทิ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย, กรุงย่างกุ้ง ประเทศพม่า กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย, กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์, กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ขณะที่ ในปี 2555 การส่งออกของไทยไปยังประเทศในกลุ่มตลาดอาเซียน มีมูลค่ากว่า 56,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีส่วนแบ่งตลาดกว่าร้อยละ 25 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลังจากก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 27 พฤษภาคม 2556

กองทุนอ้อยหนี้อ่วม3หมื่นล้าน ราคาน้ำตาลโลกดิ่ง-บาทแข็ง!

กองทุนอ้อยฯคาดปีหน้าแบกหนี้ 3 หมื่นล้าน หลังราคาน้ำตาลตลาดโลกตก เผย มิ.ย.นี้เตรียมกู้ 1.6 หมื่นล้าน อุ้มชาวไร่อ้อย หวั่นพัวพันหนี้ฤดูกาลหน้า ด้านภาคอุตสาหกรรมชี้กระทบผู้ส่งออก 1.5 หมื่นล้าน โดนบาทแข็งซ้ำ หากแข็ง 1 บาท/ดอลลาร์ มูลค่าหาย 3.5 พันล้าน

แหล่งข่าวในสำนักงานกองทุน อ้อยและน้ำตาลทราย (สกท.) เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ตอนนี้ราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกตกต่ำลงเหลือประมาณ 17 เซนต์ต่อปอนด์ จากฤดูกาลที่ผ่านมา (2555/2556) ราคาประมาณ 23 เซนต์ต่อปอนด์ คาดการณ์ว่าฤดูกาลหน้า (2556/2557) สกท.จะต้องแบกรับภาระ

ที่หนักมาก เพราะแนวโน้มราคาน้ำตาลในตลาดโลกในฤดูกาลหน้าไม่น่าจะเกิน 20 เซนต์ต่อปอนด์ ส่งผลให้ สกท.อาจต้องกู้เงิน เพื่อช่วยเหลือชาวไร่อ้อยไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท

"ฤดูกาลที่แล้ว ราคาอ้อยขั้นต้นอยู่ที่ 950 บาทต่อตัน ซึ่งต้องมีการนำเงินกองทุนมาอุดหนุนในส่วนเพิ่มเติม 160 บาทต่อตัน หากราคาน้ำตาลในตลาดโลกตกต่ำเช่นนี้จะส่งผลให้ฤดูกาล 2556/2557 การคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นจะได้ราคาไม่ถึง 900 บาทต่อตัน จึงมีความเป็นไปได้ว่า สกท.จะต้องอุดหนุนเงินเพิ่มเติมไม่ต่ำกว่า 200 บาทต่อตัน ถ้าฤดูกาลหน้ามีปริมาณอ้อยทั้งหมด 100 ล้านตัน เท่ากับว่า สกท.จะต้องกู้เงินประมาณ 20,000 ล้านบาท เนื่องจากชาวไร่อ้อยเรียกร้องว่าต้นทุนสูงถึง 1,200 บาทต่อตัน"

ทั้งนี้ ปัจจัยที่ส่งผลให้ราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกตกต่ำ เนื่องจากประเทศบราซิลผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดของโลกได้ผลิต น้ำตาลออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมากทำให้น้ำตาลล้นตลาด ส่งผลให้ราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกตกต่ำ โดยขณะนี้ราคาซื้อขายล่วงหน้าจนถึงเดือนมีนาคม 2557 อยู่ที่ 18.07 เซนต์ต่อปอนด์ รวมถึงปัจจัยภายในประเทศที่ไทยสามารถปลูกอ้อยได้ถึง 100 ล้านตัน

"สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ สกท.จะต้องแบกรับภาระจากเงินกู้ค่อนข้างมาก เนื่องจากฤดูกาล 2555/2556 จะต้องกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อชดเชยส่วนต่าง 160 บาทต่อตัน จำนวน 15,920 ล้านบาท ในเดือนมิถุนายนนี้ ตามกำหนดกว่าจะใช้หนี้เงินก้อนนี้หมดต้องใช้เวลากว่า 14 เดือน ส่วนฤดูกาลหน้า 2556/2557 หากจะต้องกู้เงินเพิ่มอีก 20,000 ล้านบาท จะทำให้หนี้ของ สกท.อาจสูงถึง 30,000 ล้านบาท เพราะต้องรวมกับหนี้ของฤดูกาล 2555/2556 ที่ได้มีการชำระไปบ้างแล้ว จะทำให้ สกท.ต้องแบกรับภาระหนี้จำนวนมาก"

ด้านนายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล ผู้บริหาร 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลกล่าวว่า ราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกตกต่ำส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมส่งออกน้ำตาลของไทย แน่นอน เพราะราคาลดลง 1 เซนต์ต่อปอนด์ จะกระทบประมาณ 5,280 ล้านบาท ถ้าฤดูกาลนี้ราคาในตลาดโลกอยู่ที่ 20 เซนต์ต่อปอนด์ เท่ากับหายไป 3 เซนต์ต่อปอนด์ ทั้งอุตสาหกรรมจะกระทบประมาณ 15,000 ล้านบาท กรณีนี้คำนวณจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ 30 บาทต่อดอลลาร์

"ยังมีปัญหา เรื่องค่าเงินบาทที่แข็งค่าที่ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำตาล เพราะหากแข็งค่าขึ้น 1 บาทต่อดอลลาร์จะกระทบต่ออุตสาหกรรมส่งออกน้ำตาล ประมาณ 3,500 ล้านบาท ซึ่งแต่ละแห่งต้องมีการปรับตัวด้วยการลดต้นทุนการผลิต การขายไฟฟ้า และการทำอัตราซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินล่วงหน้า ซึ่งในภาคอุตสาหกรรมยังพอปรับตัวได้ แต่ที่หน้าเป็นห่วงคือชาวไร่อ้อยที่อาจจะได้รับผลกระทบหนักจากราคาน้ำตาลที่ ตกต่ำ" นายณัฎฐปัญญ์กล่าว

อนึ่งสถานการณ์น้ำตาลในตลาดโลกขณะนี้มี ปริมาณส่วนเกินปี 2012/13 ที่ 7.1 ล้านตัน เป็นปริมาณที่สูง จะทำให้การผลิตลดลงจนถึงปี 2014 และเพื่อลดน้ำตาลที่เกินดุล จะต้องทำให้ราคาน้ำตาลในช่วงไตรมาส 4 มีเสถียรภาพก่อนตลาดจะอยู่ในช่วงขาลงในช่วงเริ่มฤดูการผลิตหน้า

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 27 พฤษภาคม 2556

ผู้ว่าฯธปท.ยืนยัน กนง.พิจารณาดอกเบี้ยตามข้อมูลเศรษฐกิจ

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงสถานการณ์ค่าเงินบาทในขณะนี้เริ่มอ่อนค่าลง จะลดแรงกดดันในการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันที่ 29 พ.ค.นี้หรือไม่ ว่าปัจจัยเรื่องค่าเงินเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง

เนื่องจากเกี่ยวข้องกับตลาดการเงินที่มีความอ่อนไหวง่ายในข่าวสารต่างๆ ทั้งที่มาจากต่างประเทศและในประเทศ ยืนยันว่าไม่ได้มีความลำบากใจในการพิจารณาการประชุม กนง.ครั้งนี้ เนื่องจากกรรมการเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ และพิจารณาตามข้อมูลที่เกิดขึ้น หากมีข้อสรุปออกมาในทิศทางใด ย่อมมีเหตุผลในการอธิบายที่เป็นหลักสำคัญ อย่างไรก็ตาม การที่เงินบาทอ่อนค่าลงนั้นไม่ได้เกิดจากการเข้าไปแทรกแซงของ ธปท.แต่อย่างใด

ด้านบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ประเมินว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 โดยเฉพาะหากพิจารณาแล้ว เห็นว่าประเด็นการชะลอลงของเศรษฐกิจไทยเป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่จำเป็นต้องบริหารจัดการ ท่ามกลางความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีอยู่ และแรงกดดันเงินเฟ้อที่ยังไม่น่ากังวล

อย่างไรก็ตาม หาก กนง.ตัดสินใจที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง ก็อาจมีความจำเป็นที่ทางการอาจต้องพิจารณาใช้มาตรการเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาค (Macro Prudential Measures) เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการก่อตัวของภาวะฟองสบู่

นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล ประธานอาวุโสหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนจะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ กนง.เป็นผู้พิจารณาเรื่องดอกเบี้ยนโยบาย เพราะมีข้อมูลที่ดีกว่าหลายฝ่าย ซึ่งในส่วนนี้ภาคเอกชนต้องการเห็นเพียงการดูแลไม่ให้อัตราแลกเปลี่ยนผันผวน หรือแข็งค่ามากเหมือนกับเดือนเมษายนที่ผ่านมา ที่ช่วงดังกล่าวค่าเงินบาทแข็งค่าถึงร้อยละ 6 และต้องการให้ ธปท.ดูแลค่าเงินให้สอดคล้องกับเงินสกุลภูมิภาค อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ที่เคลื่อนไหวระหว่าง 29-30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เป็นระดับที่ภาคเอกชนรับได้ เพราะเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับประเทศในภูมิภาค

พร้อมกันนี้มองว่า เป้าหมายการส่งออกใหม่ที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งไว้ที่ร้อยละ 7-7.5 น่าจะดำเนินการได้ หากค่าเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวในระดับที่ใกล้เคียงกับประเทศคู่แข่งอยู่ และเชื่อว่าหากค่าเงินบาทมีทิศทางแข็งค่าขึ้น ธปท.ก็สามารถที่จะนำ 4 มาตรการที่มีอยู่มาดูแลอัตราแลกเปลี่ยนได้อย่างทันท่วงที

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 27 พฤษภาคม 2556

อ่างเก็บน้ำปี้ แก้ปัญหาภัยแล้ง กรมชลฯ สนองความต้องการชาวพะเยา

เมื่อเร็วๆ นี้ กรมชลประทาน นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ ร่วมรับฟังความคิดเห็นและปัจฉิมนิเทศโครงการอ่างเก็บน้ำน้ำปี้ อ.เชียงม่วน จ.พะเยา หลังได้ทำการศึกษาโครงการนี้มาตั้งแต่ปี 2544 แต่ไม่สามารถจัดสรรได้ ล่าสุดหลังเกิดวิกฤติน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 กรมชลประทาน จึงได้เริ่มที่จะจัดสร้างขึ้นให้เป็นแหล่งกักเก็บน้ำในกลุ่มลุ่มน้ำยมบน

โดยมีชาวบ้านในพื้นที่ อ.เชียงม่วน จ.พะเยา จำนวนกว่า 300 คน เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นและปัจฉิมนิเทศโครงการอ่างเก็บน้ำน้ำปี้ อ.เชียงม่วน ที่ทางกรมชลประทาน และจังหวัดพะเยาได้จัดขึ้นเพื่อรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้าน กับโครงการฯ หลังจากได้มีการร้องขอจากชาวบ้านในการจัดสร้างตั้งแต่ ปี 2519 และได้มีการศึกษาเสร็จสิ้นในปี 2544 แต่ก็ไม่สามารถจัดสร้างได้ จนล่าสุดเกิดวิกฤติน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 จึงได้ดำเนินการที่จะจัดสร้างขึ้นตามแผนการจัดการน้ำ แม่น้ำยมตอนบน โดยชาวบ้านส่วนใหญ่เห็นด้วยที่จะให้มีการจัดสร้างขึ้น ซึ่งจะสามารถแก้ปัญหาภัยแล้งได้

สำหรับอ่างเก็บน้ำปี้ ครอบคลุมพื้นที่ 3 ตำบล ใน อ.เชียงม่วน ในการศึกษาครั้งก่อนหน้านั้น มีขนาดบรรจุ 23 ล้าน ลบ.มก. ต่อมา กรมชลประทานจึงได้พิจารณาเพิ่มศักยภาพการกักเก็บน้ำเป็น 90 ล้าน ลบ.บก. ซึ่งมีพื้นที่อ่างเก็บน้ำของโครงการอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 จึงได้มีการศึกษาผลกระทบ เพื่อปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับความต้องการและความเหมาะสมของท้องถิ่น

จัดสรรน้ำทั่วถึงและเป็นธรรม

นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำปี้ อ.เชียงม่วน จ.พะเยา เป็นโครงการหนึ่งตามภารกิจของกรมชลประทาน กรมชลประทานมีภารกิจที่จะพัฒนาแหล่งน้ำตามศักยภาพของลุ่มน้ำให้เพียงพอ เพื่อจัดสรรน้ำให้กับผู้ใช้น้ำทุกประเภท อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

อ่างเก็บน้ำน้ำปี้ก็เป็นโครงการหนึ่ง ที่เกิดจากความต้องการของราษฎรตั้งแต่ 2019 ซึ่งกรมชลประทานได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ตามหลักวิชาการ ตามหลักกฎหมาย และตามหลักสากล การสร้างอ่างเก็บน้ำที่มีลักษณะใหญ่จำเป็นต้องมีการศึกษาความเหมาะสม ทั้งเรื่องของวิศวกรรม สังคม และเศรษฐกิจ ว่ามีความคุ้มทุน และประชาชนจำนวนมากเห็นด้วย ต้องดำเนินการขออนุญาตทั้งในส่วนเจ้าของพื้นที่คือกรมอุทยานและกรมป่าไม้ ต้องขออนุญาตตามกฎหมาย ว่ามีการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และมีการเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และนำข้อมูลโครงการไปเสนอกับรัฐบาลเพื่อของบประมาณในการดำเนินโครงการ

พื้นที่รับประโยชน์อ่างเก็บน้ำน้ำปี้ พิเศษกว่าที่อื่นตรงพื้นที่รับประโยชน์หน้าแล้ง มากกว่าหน้าฝนเกือบ 1 เท่าตัว ในขณะที่อื่นพื้นที่รับประโยชน์หน้าฝนจะมากกว่าหน้าแล้ง ทั้งนี้เนื่องจากในหน้าฝน จะส่งน้ำให้เฉพาะพื้นที่ อ.เชียงม่วน แห่งเดียว เพราะโครงการฝายแม่ยม จ.แพร่ ซึ่งอยู่ท้ายอ่างเก็บน้ำน้ำปี้ มีปริมาณน้ำยมมากพออยู่แล้ว ในขณะหน้าแล้งส่งให้ทั้ง อ.เชียงม่วน และโครงการฝายแม่ยม จ.แพร่ ซึ่งขาดแคลนน้ำ เพราะไม่มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่

ทันปี 2558 ต่อยอดผลิตไฟฟ้า

“วันนี้โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำปี้ เดิมวัตถุประสงค์แรกใช้เพื่อการเกษตรกรรมเพียงอย่างเดียว ต่อมากรมชลประทานมองว่าลักษณะของโครงการเปลี่ยนไป จำเป็นต้องเก็บน้ำให้มากขึ้น โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำปี้ มีความพิเศษอยู่ 2-3 อย่าง คือ 1.เป็นการพัฒนาลุ่มน้ำสาขาของแม่น้ำยม ซึ่งเป็นแม่น้ำที่มีการพัฒนาน้อยมากเมื่อเทียบกับแม่น้ำสายอื่น 2.สามารถช่วยชะลอน้ำที่จะไหลลงสู่แม่น้ำยม และ 3.ชาว อ.เชียงม่วน มีความพร้อมที่จะสนับสนุนให้โครงการนี้เกิดขึ้น”

นอกจากช่วยเพิ่มพื้นที่ชลประทานให้ชาวเชียงม่วน จ.พะเยา แล้ว โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำปี้ ยังส่งน้ำไปช่วยพื้นที่ชลประทานฝายแม่ยม จ.แพร่ อีกด้วย โดยเฉพาะฤดูแล้งฝายแม่ยมก็มีปริมาณน้ำไม่เพียงพอ ส่วนหน้าฝนอ่างเก็บน้ำน้ำปี้ยังช่วยตัดยอดน้ำไม่ให้ไหลลงสมทบแม่น้ำยม 96 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี เป็นการบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนล่าง ครอบคลุม จ.แพร่ สุโขทัย พิษณุโลก และพิจิตร ที่เผชิญปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก และความแห้งแล้งซ้ำซากทุกปี

“กรมชลประทานจะรีบผลัดดันในทุกๆ ส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดโครงการให้เร็วที่สุด คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้เร็วที่สุดประมาณปี 2558 แต่การดำเนินการในทุกๆ เรื่องอาจต้องใช้เวลาในระยะหนึ่ง ยิ่งในเรื่องของการก่อสร้างจะใช้เวลาประมาณ 3-4 ปี เพราะนอกจากเราจะก่อสร้างตัวอ่างเก็บน้ำแล้ว เรายังสร้างระบบชลประทานเข้าไปเพื่อให้เกษตรกรได้ใช้น้ำด้วยและมีความเป็นไปได้ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย (กฟภ.) จะเข้ามาต่อยอดอ่างเก็บน้ำเพื่อใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า”

ตามแผนการศึกษาการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำปี้ ยังจะมีการใช้น้ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าซึ่งถือเป็นพลังสะอาด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการนำเข้าเชื้อเพลิงอย่างอื่นในการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยติดตั้งเครื่องผลิตไฟฟ้า ขนาดกำลังผลิต 400 กิโลวัตต์ พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ต่อปี 1,254,000 กิโลวัตต์/ชั่วโมง ซึ่งอยู่ในกรอบการวางแผนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำร่วมกันระหว่างกรมชลประทานกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย (กฟภ.) ซึ่งเริ่มดำเนินการมาแล้วตั้งแต่ปี 2554 ที่เขื่อนเจ้าพระยาเป็นแห่งแรก และกำลังทยอยดำเนินการทั่วประเทศ

ทั้งนี้ ได้วางแผนเตรียมการกันพื้นที่สำหรับติดตั้งเครื่องผลิตไฟฟ้าไว้ล่วงหน้าแล้ว พร้อมเมื่อไหร่สามารถติดตั้งและผลิตไฟฟ้าได้ทันที อ่างเก็บน้ำน้ำปี้ จึงเป็นอ่างเก็บน้ำอเนกประสงค์ที่สามารถใช้ในหลายกิจกรรมที่ล้วนก่อเกิดประโยชน์แก่ชุมชนและประเทศ

สนองความต้องการประชาชน

ด้านนายชูชาติ กีฬาแปง ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาเปิดเผยว่าโครงการอ่างเก็บน้ำน้ำปี้ เป็นความต้องการของชาวบ้าน อ.เชียงม่วน มาเป็นเวลาหลายสิบปี ตั้งแต่ปี 2019 ในฤดูฝนของทุกปีเวลาฝนตกหนัก จะเกิดน้ำไหลหลากลงลำน้ำปี้ ทำให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่การเกษตร บ้านเรือนราษฎร ส่วนหน้าแล้งนั้น น้ำมีไม่เพียงพอต่อการอุปโภคและบริโภค จึงเกิดความต้องการอ่างเก็บน้ำขึ้น แต่เนื่องด้วยข้อจำกัดเรื่องงบประมาณทำให้โครงการไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งทางจังหวัดได้เสนอความต้องการไปยังกรมชลประทาน กรมชลประทานจึงได้ส่งเจ้าหน้าที่มาเก็บข้อมูลเป็นระยะๆ เป็นที่น่ายินดีว่าจนถึงเวลานี้ ความฝันและความต้องการของชาว อ.เชียงม่วน ที่อยากให้โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำปี้เกิดขึ้นนั้นมีความเป็นไปได้

แม่น้ำปี้ มีความยาว 66 กิโลเมตร และมีความสำคัญเป็นแม่น้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิตคนเมืองเชียงม่วน เป็นสำคัญ ทีเดียว สังเกตว่า มีลำน้ำสาขาไหลสมทบลงหลายสายด้วยกัน เช่น ลำน้ำแม่ยัด ลำน้ำแม่มัง ลำน้ำแม่สุก ลำน้ำแม่สวด และลำน้ำแม่ ก่อนไหลลงสมทบกับแม่น้ำยม ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักของลุ่มน้ำ

แม้ในฤดูฝน ปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูก แต่ในฤดูแล้งโดยเฉพาะผลจาการเปลี่ยนแปลงสภาพธรรมชาติ ทำให้ลำน้ำปี้มีปริมาณน้อย ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ชาวบ้านส่วนหนึ่งจึงต้องทิ้งบ้าน อพยพไปประกอบอาชีพที่อื่นชั่วคราว การพึ่งพาน้ำฝนโดยลำพังอย่างเดียว จึงเป็นความเสี่ยงต่อการประกอบอาชีพเพาะปลูก และยกระดับคุณภาพชีวิต สภาพปัจจุบัน พื้นที่ลุ่มน้ำปี้มีอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก 8-9 แห่ง แต่ความจุค่อนข้างน้อย จึงไม่เพียงพอต่อความต้องการโดยรวม

“จากการที่กรมชลประทานได้ว่าจ้างบริษัทมาสำรวจ ทำรายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและหาแนวทางการแก้ไข ขอยืนยันว่าโครงการอ่างเก็บน้ำน้ำปี้เป็นความต้องการอย่างแท้จริง ไม่มีกระแสคัดค้านใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์มากมาย ทั้งในเรื่องการเพาะปลูก การสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้เกิดขึ้นแก่สภาพแวดล้อมโดยรอบ และกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแหล่งใหม่ ทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำปี้เป็นความต้องการและมีความจำเป็นอย่างแท้จริง จึงอยากเห็นถึงความสำเร็จและความเป็นรูปธรรมในเร็ววัน”

การพัฒนาโครงการอ่างเก็บน้ำน้ำปี้ จึงเป็นเสมือนประกายความหวังของชีวิตที่ดีขึ้น อย่างน้อยมีแหล่งน้ำต้นทุนที่มากพอ ตามแผนการศึกษาทบทวนใหม่ในขณะนี้ อ่างเก็บน้ำจะมีความจุอ่างประมาณ 90 ล้านลูกบาศก์เมตร จากแผนเดิมเคยศึกษาไว้ มีความจุเพียง 26-27 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น สามารถส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตรหน้าฝนใน อ.เชียงม่วน จ.พะเยา ได้ 28,000 ไร่ และในฤดูแล้งส่งน้ำให้พื้นที่ อ.เชียงม่วน และพื้นที่ จ.แพร่ รวมแล้ว 51,800 ไร่ น้ำต้นทุนจากอ่างเก็บน้ำปี้ จะทำให้เกษตรกรมีโอกาสได้รับน้ำทำกินสมบูรณ์ขึ้น ทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง ในขณะปัจจุบัน เกษตรกรเพาะปลูกได้เฉพาะช่วงฤดูฝนเท่านั้น

ลุ่มน้ำปี้ มีพื้นที่ลุ่มน้ำ 657 ตารากิโลเมตร หรือประมาณ 410,625 ไร่ เป็นพื้นที่รับน้ำลงอ่าง 570 ตารางกิโลเมตร มีปริมาณน้ำท่าไหลลงอ่างรายปีเฉลี่ย 127.72 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะใกล้เคียงกับความจุอ่างเก็บน้ำที่จะสร้างขึ้น ถือเป็นความคุ้มค่าอย่างยิ่ง ผลการศึกษาและวางแผนพัฒนาโครงการอ่างเก็บน้ำน้ำปี้ มีพื้นที่โครงการ 34,000 ไร่ พื้นที่รับประโยชน์หน้าฝน รวม 28,000 ไร่ เป็นพื้นที่ส่งน้ำเดิมของฝายน้ำปี้ 3,000 ไร่และพื้นที่รับประโยชน์ในหน้าแล้ง รวม 51,800 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ชลประทาน อ.เชียงม่วน 16,800 ไร่ และพื้นที่ชลประทานฝายแม่ยม จ.แพร่ 35,000 ไร่

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 27 พฤษภาคม 2556

รัฐเดินหน้ารณรงค์ ลดการใช้พลังงาน เล็งเป้าดึงเอกชน

นายอำนวย ทองสถิตย์ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันตัวเลขการลดใช้พลังงานของไทย รวมไปถึงนโยบายการส่งเสริมอนุรักษ์พลังงานของภาครัฐได้ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี จากเดิมที่สัดส่วนอัตราการเพิ่มขึ้นของความต้องการใช้พลังงานเมื่อเทียบกับการเติบโตของรายได้ประชาชาติหรือ GDP ของประเทศไทย(Energy intensity)ซึ่งเคยมีสัดส่วนมากถึง 1.4 : 1 กล่าวคือมีความอัตราความต้องการใช้พลังงานสูงกว่าระดับรายได้ของประชากร ได้ลดลงเหลือเพียง 0.8 : 1 หรือมีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งจากสหรัฐอเมริการและญี่ปุ่น

สำหรับ โครงการที่มีส่วนสำคัญในการอนุรักษ์พลังงานโดยเฉพาะในภาคเอกชนซึ่งเป็นกลุ่มที่การใช้พลังงานสูงนั้น ขณะนี้กรมฯ และพันธมิตร ได้ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการภาคเอกชน ที่มีความมุ่งมั่นด้านการลดใช้พลังงานภายในอาคาร โรงงาน ให้เข้าร่วมเป็นเครือข่ายการอนุรักษ์พลังงานแบบสมัครใจ โดยวางเป้าหมายว่าเชิญชวนให้มีเครือข่ายธุรกิจเข้าร่วมโครงการ VA ในปีนี้เพิ่มไม่ต่ำกว่า 200 แห่ง จากปัจจุบันที่มีเครือข่ายแล้ว 70 แห่ง

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 27 พฤษภาคม 2556

หนุนทำเอฟทีเอ"อียู"เปิดตลาดน้ำตาลไทย

นายเชิดพงษ์ สิริวิชช์ ประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่าตามที่รัฐบาลมีนโยบายเปิดเจรจาเขตการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป ซึ่งกำหนดการเจรจาครั้งแรกในวันที่ 27-31 พ.ค. นี้ ทาง 3 สมาคมพร้อมสนับสนุนการเจรจาการค้าดังกล่าว เนื่องจากก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศโดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรอย่างน้ำตาลทราย ที่มีส่วนช่วยในการเปิดตลาดส่งออกน้ำตาลทรายไปยังประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรปได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้จากการส่งออกน้ำตาลทรายได้มากขึ้น

"สหภาพยุโรป (อียู) เป็นตลาดน้ำตาลขนาดใหญ่ที่มีระบบบริหารจัดการอุตสาหกรรมน้ำตาลที่ซับซ้อนเนื่องจากมีสมาชิกรวม 27 ประเทศ สามารถผลิตน้ำตาลได้ 18.1 ล้านตัน บริโภค 19.2 ล้านตัน และมีการนำเข้าน้ำตาลทราย 4.7 ล้านตันต่อปี จึงเป็นโอกาสในการ ส่งออกน้ำตาลทรายไปยังตลาดอียู" นายเชิดพงษ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ประเทศสมาชิกผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของอียู เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี โปแลนด์และสหราชอาณาจักร ได้ให้สิทธิพิเศษนำเข้าน้ำตาลทรายกับประเทศอดีตอาณานิคม (ACP) ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจ Economic Partnership Agreements(EPAs) กลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (LDCs) และกลุ่มประเทศ CXL หรือ ออสเตรเลีย บราซิลและคิวบา ดังนั้นการเจรจาการค้าเสรีไทย-อียู ครั้งนี้จึงเป็นโอกาสสำคัญในการเปิดตลาดสำหรับน้ำตาลทรายไทยเพื่อส่งออกไปยังอียู

นายเชิดพงษ์กล่าวว่า ขณะนี้สมาคมได้จัดทำหนังสือเพื่อเสนอผู้แทนการค้าไทยผลักดันให้มีการเปิดเสรีการค้าสำหรับสินค้าน้ำตาลทรายโดยผลักดันให้อียูบรรจุสินค้าน้ำตาลทรายไว้ในรอบเจรจาเปิดตลาดสินค้ากลุ่ม Early Harvest โดยให้ลดภาษีเหลือ 0% ในลักษณะต่างตอบแทน ซึ่งจะช่วยให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยสามารถส่งออกน้ำตาลทรายไปยังต่างประเทศได้เพิ่มขึ้น

จาก http://www.khaosod.co.th  วันที่ 26 พฤษภาคม 2556

ดันเงินบาทเป็นสกุลหลักค้าอาเซียน

นางวัชรี วิมุกตายน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยหลังการประชุมร่วมกับสถาบันการเงิน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย พาณิชย์จังหวัดตาก หนองคาย(23 พ.ค. 56) ว่า ที่ประชุมเห็นพ้องกันว่า

หากมีการผลักดันให้มีการใช้เงินบาทในการค้าขายมากขึ้นจะส่งผลให้การค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกันไม่ว่าจะเป็นเมียนมาร์ ลาว กัมพูชา และมาเลเซียมีโอกาสจะขยายตัวมากขึ้น รวมทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมการเปิดเสรีด้านการค้าจากการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี ที่จะทำให้มีการหลั่งไหลของสินค้าระหว่างกันมากขึ้น

วัชรี วิมุกตายน ปลัดกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่าปัจจุบันเฉพาะประเทศลาวมีการใช้เงินบาทในการทำการค้าขายกับไทย 100% ขณะที่เมียนมาร์ กัมพูชา ก็ใช้สกุลบาทในการทำการค้าชายแดนกับไทยอยู่แล้วเป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นมาเลเซียที่ยังใช้เงินริงกิต และดอลลาร์สหรัฐฯมากกว่าใช้เงินบาท ทั้งนี้ไทยได้ทำการค้าชายแดนคิดเป็นสัดส่วนถึง 70% ของการค้ารวมกับ 4 ประเทศ โดยสัดส่วน 50% ใช้เงินบาทในการทำการค้า และอีก 50% ใช้สกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ดังนั้นหากจะผลักดันการใช้เงินบาทในการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน จะต้องมุ่งเน้นไปที่การค้าชายแดนกับมาเลเซีย และการค้าระหว่างประเทศกับประเทศอาเซียนอื่นๆ

สำหรับในช่วงที่ผ่านมาการค้าชายแดนไทยกับเพื่อนบ้านขยายตัวเพิ่มขึ้นตามลำดับ โดยในปี 2555 มีมูลค่ารวม 9.10 แสนล้านบาท และในปีนี้ตั้งเป้าไว้ที่ 1.2 ล้านล้านบาท หรือขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่า 30% และหลังจากเปิดเออีซีหลังปี 2558 คาดการค้าชายแดนของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านจะมีมูลค่ามากกว่า 2.2 ล้านล้านบาทต่อปี

"เบื้องต้นที่ประชุมจะได้ไปพิจารณาถึงข้อเท็จจริงว่าจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ เงินตราที่ใช้ในปัจจุบันเป็นอย่างไร หากจะนำสกุลเงินบาทเป็นสกุลหลักในการค้าชายแดนควรจะใช้แนวทางไหนในการดำเนินการ อีกทั้งผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นทั้งในเรื่องของระบบการค้า และกฎกติกาควรเป็นอย่างไร"

อย่าไรก็ดีข้อดีของการใช้เงินบาทในการทำการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน คือ 1. ช่วยลดการพึ่งพาสกุลเงินที่สาม ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการกระจายความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนจากการพึ่งพาสกุลเงินหลักของโลก และสามารถบริหารจัดการต้นทุนได้คล่องตัวมากขึ้น 2. ช่วยลดค่าธรรมเนียมและลดการขาดทุนจากการแลกเปลี่ยนเงินตรา 3. สร้างความได้เปรียบให้กับผู้ประกอบการไทยเป็นผลดีต่อการเจรจาต่อรองราคาสินค้า และ4. เพิ่มโอกาสในการขยายการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านได้มากขึ้น

ส่วนอุปสรรคต่อในการใช้เงินบาทในการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านในช่วงที่ผ่านมายังมีหลายประการ เช่น คู่ค้าในประเทศเพื่อนบ้านมองว่าสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯยังได้รับการยอมรับและใช้อย่างแพร่หลาย และสามารถทำการค้ากับประเทศอื่นได้มากกว่าเงินบาท รวมถึงเงินบาทยังไม่เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง และประเทศเพื่อนบ้านอาจไม่เห็นด้วย เป็นต้น

ด้านนายนิยม ไวยรัชพานิช ประธานคณะกรรมการการค้าชายแดน หอการค้าไทย กล่าวว่า หากสถานการณ์ค่าเงินบาทยังแข็งค่าขึ้นต่อไปเป้าหมายการค้าชายแดนปีนี้ที่ตั้งไว้ว่าจะเติบโตขึ้น 30% อาจทำได้เพียง 10% เท่านั้น เพราะผู้ประกอบการบางส่วนจะได้รับการชำระเงินค่าสินค้าเมื่อแลกเปลี่ยนกลับมาเป็นเงินบาทน้อยลง

อนึ่ง ในปี 2555 ที่ผ่านมา ไทยมีมูลค่าการค้า(ส่งออก+นำเข้า) กับ 4 ประเทศเพื่อนบ้านประกอบด้วย มาเลเซียมีมูลค่าการค้ารวม 7.93 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นการค้าชายแดนถึง 5.15 แสนล้านบาท การค้ากับกัมพูชามูลค่า 1.24 แสนล้านบาท เป็นการค้าชายแดน 8.20 หมื่นล้านบาท การค้ากับลาวมูลค่า 1.50 แสนล้านบาท เป็นการค้าชายแดน 1.32 แสนล้านบาท และการค้ากับเมียนมาร์มูลค่า 2.11 แสนล้านบาท เป็นการค้าชายแดน 1.80 แสนล้านบาท ส่วนการค้าชายแดนกับ 4 ประเทศในภาพรวม 4 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-เม.ย.) มีมูลค่า 3.10 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการค้ากับมาเลเซียมีมูลค่าสูงสุด 1.68 แสนล้านบาท

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 26 พฤษภาคม 2556

จี้คลัง-ธปท.ดันกฎคุมบาทชี้'ส่งออก-บริโภค'Q2ยังเสี่ยงชะลอตัวถึงติดลบ

เตือน"คลัง-ธปท."อย่ามัวแทงกั๊ก แนะดันมาตรการคุมบาท ติงแบงก์รัฐลดดอกเบี้ยตามอาร์/พีหวังผลต่อดอกเบี้ยธนาคารทั้งระบบ ชี้ความเสี่ยงไตรมาส2 มีทั้ง"บริโภค-ส่งออก"ชะลอตัว จับตาหนี้ครัวเรือนกดทับการบริโภค ค่ายม.รังสิตลุ้นผลกนง.ก่อนทบทวนเป้าทั้งปีเดือนมิถุนายน

ระหว่างลุ้นผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ในวันที่ 29 พฤษภาคมเกี่ยวกับทิศทางดอกเบี้ยนโยบายช่วงที่เหลือ แม้ว่าไตรมาสแรกอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ 5.3% หดตัว 2.2% ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)หรือสภาพัฒน์แต่การส่งสัญญาณประมาณการจีดีพีทั้งปีแผ่ว 0.3% เหลือ 4.2-5.2% ซึ่งตรงข้ามกับก่อนหน้าที่หลายสำนักวิจัยได้เปลี่ยนมุมมองเศรษฐกิจในเชิงบวก เช่น สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)ปรับเป็น 5.3% จากเดิมอยู่ที่ 5.7% บนสมมติฐานค่าเงินบาทที่ 29.4 บาทต่อดอลลาร์ หรือช่วง 28.4 -3.40 บาทต่อดอลลาร์ และธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ปรับเป็น 5.1% จากเดิมอยู่ที่ 4.9%

นายบันลือศักดิ์ ปุสสะรังสี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารซีไอเอ็มบีไทยกล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจยังอยู่ในช่วงของการเฝ้าระวัง โดยเฉพาะทางการไทยควรพิจารณาเชิงนโยบายที่ต้องให้ความมั่นใจภาคธุรกิจว่ารัฐบาลเอาจริง โดยเฉพาะต้องพิจารณาในแง่ของการใช้เงินเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพระยะยาว เพราะตัวเลขสศช.ไตรมาสแรกหดตัวสะท้อนถึงการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ไม่ได้ผลเท่าที่ควรจะเป็น ซึ่งในส่วนของธนาคารเพิ่งปรับประมาณการอยู่ที่ 4-4.5%จากต้นปีอยู่ที่ 4.5-5% เพราะมองกำลังซื้อในประเทศครึ่งปีหลังอ่อนแรงลงมาก

"เมื่อตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสแรกของสศช.เป็นอย่างที่เห็น ก็เป็นช่องให้กนง.ลดดอกเบี้ย แต่อาจลด 0.25% ซึ่งไม่ช่วยเรื่องเศรษฐกิจ เพราะสัญญาณฟองสบู่ที่มีอยู่แล้ว ถ้าลดดอกเบี้ยอัตรามากๆจะยิ่งซ้ำเติมไปกันใหญ่"

กอบศักดิ์ ภูตระกูล ขณะที่นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน)(บมจ.)กล่าวว่าสัญญาณที่สศช.ให้ข้อมูลนั้นมีปัจจัยสำคัญๆของเศรษฐกิจทั้งปีมีแนวโน้มดี โดยไม่แย่อย่างตัวเลขการหดตัวเช่นไตรมาส1 โดยเฉพาะตัวเลขของอุปสงค์ในประเทศที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดี เห็นได้จากการใช้จ่ายในสินค้าคงทนที่ขยายตัว 43.6% แม้แต่ภาคส่งออกหดตัวก็ไม่แย่มากนัก ขณะเดียวกันภาคธุรกิจยังมีการขยายและก่อสร้างเพิ่ม หรือการท่องเที่ยว ขณะที่ยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้น 24.3% ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 73.8 เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกัน 5ไตรมาสและเป็นระดับสูงที่สุดในรอบ 6 ปี ซึ่งดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ 3 เดือนข้างหน้าปรับเพิ่มสะท้อนความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่ปรับตัวดีขึ้น

"ที่สำคัญสศช.ยังปรับคาดการณ์จีดีพีลงแค่ 0.3% แม้ไตรมาสแรกจะหดตัว 2.2% โดยทั้งปียังมองเศรษฐกิจเติบโตที่ 4.8% แสดงว่าทั้งปียังไปได้ตามที่ประมาณการไว้ 4.2-5.2%

นายกอบศักดิ์กล่าวอีกว่า เมื่อข้อมูลสศช.บอกเศรษฐกิจไม่ดี จึงเปิดโอกาสกนง.ลดดอกเบี้ยนโยบายเป็นการซื้อประกันให้มั่นใจว่าเศรษฐกิจจะเกิดปัญหา ซึ่งกนง.ค่อยๆ ทยอยปรับอัตราอาร์/พีได้เรื่อยๆ ถ้าดูสัญญาณปัญหาไม่ได้มาจากแนวหลักเศรษฐกิจหรือรอดูข้อมูล2 เดือนเพราะบางทีข้อมูลเดือนเดียวบอกอะไรไม่ได้หากระยะข้างหน้าข้อมูลกลับข้าง

สอดคล้องนายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้อำนวยการศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ บมจ.ธนาคารทหารไทยกล่าวว่า จากสัญญาณสศช.อาจเป็นปัจจัยให้กนง.ลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% แต่ทิศทางดอกเบี้ยนโยบายนั้นขึ้นอยู่กับการให้น้ำหนักของบอร์ดกนง.ว่าจะปรับลดดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 29 พฤษภาคมหรือในการประชุมครั้งต่อไปเพื่อรอดูอาการไข้แล้วค่อยใช้กระสุนให้มีประสิทธิภาพ ที่สำคัญกระทรวงการคลังคงต้องให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐให้ความร่วมมือลดดอกเบี้ยตามด้วยจึงจะทำให้เกิดประสิทธิผลต่อการส่งผ่านดอกเบี้ยธนาคารทั้งระบบ

"สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ช่วงที่เหลือยังมีความเสี่ยงเรื่องจังหวะและเวลาที่ต้องระวัง โดยเฉพาะไตรมาส2 ของปีนี้เป็นช่วงภาคการส่งออกยังไม่ฟื้นตัวดีขณะที่ภาคการอุปโภคบริโภคอ่อนแรงลงต่อเนื่องจากแรงกระตุ้นก่อนหน้าทำให้ไตรมาส2 ขาดแรงผลักดันทั้งภาคการส่งออกและภาคการอุปโภคบริโภคซึ่งทั้ง 2ปัจจัยรวมกันมีผล 110%ของจีดีพี"

ขณะเดียวกันความเสี่ยงหลักครึ่งปีหลังทีเอ็มบีแบงก์ยังให้น้ำหนักหลักกับการบริโภคภาคเอกชนชะลออาจจะติดลบและมีประเด็นฐานสูงจากปีก่อนทำให้การขยายตัวภาคการบริโภคในปีนี้ทำได้ค่อนข้างยาก ประกอบกับการบริโภคภาคเอกชนก่อนหน้าเป็นการใช้จ่ายชดเชยจากอุทกภัยมีการใช้จ่ายสินค้าคงทนด้วยการผ่อนชำระในปีก่อนส่งผลให้เกิดภาระหนี้(หนี้ครัวเรือน)กดทับการบริโภคครึ่งปีหลังและต้องตัดลดค่าใช้จ่ายส่วนอื่นๆลง

ต่อข้อถามว่าอะไรจะเป็นความหวังช่วงที่เหลือนั้น นายเบญจรงค์กล่าวว่า ถ้าเงินบาทยังนิ่งที่ระดับ 29.5/8 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯน่าจะมีความหวังจากภาคส่งออก บนสมมติฐานว่าจะได้รับแรงช่วยจากตลาดสหรัฐฯยุโรป หรือจีน แต่ภาวะเศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยงทั้งเศรษฐกิจยุโรปที่แย่ลงอาจส่งผลให้ส่งออกไทยได้รับผลกระทบเช่นกัน และภาครัฐเร่งโครงการลงทุน 2 ล้านล้านบาท หรือโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.4 แสนล้านบาทเข้ามาพยุงเศรษฐกิจ

ด้านนายอนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า คาดการณ์ตัวเลขทางเศรษฐกิจของ ม.รังสิต ยังมองว่าเศรษฐกิจยังอยู่ในระดับที่ดี โดยอยู่ที่ 5.5-6.5% ซึ่งจะมีการทบทวนอีกครั้งในเดือนมิถุนายน โดยมีความเป็นไปได้ที่จะปรับลดจีดีพีลงประมาณ 0.5-0.8% โดยจะอิงผลประชุมบอร์ด กนง. ที่คาดว่าอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ย หากต้องการให้มีผลแล้วอาจต้องลดลงถึง 0.50% แต่หาก กนง.ประเมินว่าเศรฐกิจยังดี และไม่กังวลต่อภาวะเงินเฟ้อแล้วก็อาจไม่มีการปรับลดดอกเบี้ย

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 24 พฤษภาคม 2556

แนะวิธีป้องกันโรค ใบขาวอ้อย-หนอนกออ้อย

นางพรรณพิมล ชัญญานุวัตร อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ปัญหาการระบาดของโรคใบขาวอ้อย ซึ่งเกิดจากเชื้อไฟโตพลาสมาที่มีแมลงปากดูดเป็นพาหะแพร่กระจายโรค ทำให้ผลผลิตลดลงถึงร้อยละ 50 จากข้อมูลของสมาคมชาวไร่อ้อย พบว่า ในปีการผลิต 2554/2555 มีพื้นที่การระบาดของโรคใบขาวและกอตะไคร้อ้อยจำนวน 170,277 ไร่ ซึ่งวิธีการแก้ปัญหาระบาดระยะยาวคือ การใช้ท่อนพันธุ์อ้อยที่สะอาดสมบูรณ์ ตรงตามพันธุ์ ปราศจากโรค

ทั้งนี้เทคโนโลยีการบริหารจัดการป้องกันโรคใบขาวและกอตะไคร้อ้อยระดับชุมชน ที่กรมวิชาการเกษตรแนะนำ ประกอบด้วย การผลิตท่อนพันธุ์อ้อยปลอดโรคใบขาว โดยการใช้เทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ การทำแปลงขยายอ้อยปลอดโรค การผลิตขยายศัตรูธรรมชาติควบคุมแมลงศัตรูอ้อย โดยใช้แปลงใน ต.เขือน้ำ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี เป็นศูนย์ทดลองนำร่อง

“จากการตรวจสอบโรคใบขาวและการเข้าทำลายของหนอนกออ้อยของแปลงพันธุ์อ้อยสะอาด 25 ไร่ หลังปลูก 45 วัน พบแปลงพันธุ์อ้อยสะอาด 3 แปลง มีจำนวนต้นอ้อย 47,580 ต้น พบการระบาดโรคใบขาว 57 ต้น คิดเป็นร้อยละ 0.20 ถือว่าการเข้าทำลายของหนอนกออ้อยมีความรุนแรงน้อยกว่าค่าระดับความเสียหายทางเศรษฐกิจ”

ส่วนการตรวจสอบโรคใบขาวและการเข้าทำลายของหนอนกออ้อยของแปลงพันธุ์อ้อย 13 ไร่ หลังปลูก 3 เดือน ในแปลงเปรียบเทียบการปลูกอ้อยที่ใช้ท่อนพันธุ์จากแปลงพันธุ์หลักของศูนย์ส่งเสริมพัฒนาอาชีพการเกษตร จ.อุดรธานี (พันธุ์พืชเพาะเลี้ยง) ที่ผ่านการตรวจสอบโรคใบขาวด้วยวิธี Nested PCR ปี 2555 กับการใช้ท่อนพันธุ์จากแปลงปลูกของเกษตรกร พบการใช้ท่อนพันธุ์จากแปลงพันธุ์ของศูนย์ส่งเสริมฯ มีจำนวนหน่อที่แสดงอาการโรคใบขาวน้อยกว่า หรือไม่มีโรคใบขาว 1.77 หน่อ (13 แปลงปลูก) และค่าเฉลี่ยการเกิดโรคใบขาวทั้ง 13 แหล่งปลูก มีหนอนกอเข้าทำลายน้อยกว่าการใช้ท่อนพันธุ์อ้อยจากแปลงของเกษตรกร 6 แหล่งปลูก แต่ค่าเฉลี่ยการเข้าทำลายของหนอนกอ มีค่าเท่ากับ 59.314 หน่อ ซึ่งน้อยกว่า ของแปลงเพาะปลูกที่ใช้ท่อนพันธุ์จากแปลงของเกษตรกร ซึ่งมีค่าเฉลี่ย 72.77 หน่อ

เมื่อได้ผลการศึกษาวิจัยจากโครงการบริหารจัดการศัตรูพืชอ้อยครั้งนี้แล้ว กรมส่งเสริมการเกษตรได้นำเสนอผ่านกระบวนการเรียนรู้ในเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของชุมชน ปรากฏว่าได้รับความสนใจตอบรับเป็นอย่างดี ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างเครือข่ายนักวิจัยชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 24 พฤษภาคม 2556

รายงานพิเศษ : “กรมพัฒนาที่ดิน” กับบทบาทการโซนนิ่งพืชเศรษฐกิจ

“กรมพัฒนาที่ดิน” ถือเป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดเขตเหมาะสมสำหรับการปลูกพืชเศรษฐกิจ (Zoning) ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกำหนดเขตการใช้ที่ดินเพื่อให้เกษตรกรทำการผลิตตามศักยภาพของพื้นที่ ลดต้นทุนการผลิต ตลอดจนสร้างความสมดุลระหว่างปริมาณความต้องการซื้อกับปริมาณความต้องการขายสินค้า เพื่อเกษตรกรจะขายสินค้าได้ราคาดีไม่มีผลผลิตส่วนเกิน

นายเกรียงศักดิ์ หงษ์โต อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า กรมพัฒนาที่ดิน ได้มีการสำรวจข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดิน การจำแนกดินเพื่อให้ทราบถึงข้อจำกัดของดินในแต่ละพื้นที่ เพื่อนำมาเชื่อมโยงกับความต้องการของพืช เนื่องจากพืชแต่ละชนิดจะใช้ประโยชน์จากหน้าดินที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ยังมีการสำรวจการระบายน้ำของดิน โครงสร้างของดิน การกำเนิดดิน ปัญหาดินเปรี้ยว ดินทราย ดินตื้น ดินด่าง และดินกรด เป็นต้น ซึ่งสามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์และกำหนดโซนนิ่งพื้นที่การเพาะปลูกได้ โดยมีการจัดขั้นความเหมาะสมในแต่ละพืช อยู่ 4 ระดับด้วยกัน คือ เขตที่เหมาะสมมาก เหมาะสมปานกลาง เหมาะสมน้อย และไม่เหมาะสม ซึ่งถ้าดินที่เหมาะสมกับพืชนั้นๆ การลงทุนจะต่ำลง รายได้ก็จะเพิ่มมากขึ้น

ที่ผ่านมากระทรวงเกษตรฯ ได้มีการประกาศเขตความเหมาะสมในการปลูกพืชเศรษฐกิจไปแล้ว 6 ชนิด ได้แก่ ข้าว อ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ล่าสุดได้มีการประกาศเพิ่มอีก 7 ชนิด ได้แก่ ลำไย สับปะรด มังคุด ทุเรียน เงาะ มะพร้าว กาแฟ โดยได้แจ้งข้อมูลดังกล่าวผ่านกระทรวงมหาดไทยไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดแล้ว ซึ่งกรมพัฒนาที่ดินได้สนับสนุนข้อมูลการกำหนดเขตโซนนิ่ง เพื่อให้แต่ละจังหวัดนำไปกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ของจังหวัด รวมทั้งจัดทำแผนการผลิตระดับจังหวัดให้สอดคล้องกับเขตความเหมาะสม ทั้งนี้คาดว่าทุกจังหวัดจะทำโครงการเสร็จพร้อมทั้งส่งข้อมูลดังกล่าวกลับมายังกระทรวงเกษตรฯภายในสิ้นเดือนพฤษภาคม 2556 นี้

สำหรับหลักสำคัญในการกำหนดเขตโซนนิ่งนั้น มีอยู่ 3 ประการ คือ เพื่อให้ได้พื้นที่ที่เหมาะสมกับการปลูกพืชแต่ละชนิด เพื่อให้การผลิตพืชแต่ละชนิดสอดคล้องกับความต้องการของตลาด ตลอดจนเจ้าหน้าที่ของรัฐมีศักยภาพในการพัฒนาเกษตรกรในพื้นที่ได้

อย่างไรก็ตาม สำหรับเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมแต่ยังต้องการปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดเดิมอยู่ ก็สามารถกระทำได้ เพียงแต่ต้องการชี้ให้เห็นว่า ถ้าเกษตรกรปลูกพืชในพื้นที่เหมาะสมจะมีผลผลิตที่ดี ต้นทุนต่ำ แต่หากปลูกในพื้นที่ที่เหมาะสมน้อยหรือไม่เหมาะสมจะมีผลผลิตต่ำ และต้นทุนสูง น่าจะปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่และมีรายได้ดีกว่า ทั้งนี้ หากเกษตรกรเห็นว่าตัวเองมีขีดความสามารถที่จะทำได้ดี เสมือนเป็นต้นแบบ รัฐบาลก็จะสนับสนุนส่วนที่ขาดเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขององค์ความรู้ ทุน การเข้าถึงในด้านต่างๆ และการตลาด เพื่อนำไปสู่การเป็นเกษตรปราดเปรื่อง หรือ Smart Farmer

“เมื่อก่อนเรื่องดินไม่ค่อยมีใครสนใจ แต่วันนี้ดินถือเป็นหัวใจสำคัญของฐานการเกษตร จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการวางแผนการเพาะปลูกอย่างเป็นระบบ เพื่อลดต้นทุนการผลิต ควบคู่ไปกับการบำรุงรักษาดิน เพื่อให้ผลผลิตมีคุณภาพ สามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านเมื่อเข้าสู่การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี ได้” อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวทิ้งท้าย

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 24 พฤษภาคม 2556

'น้ำตาลครบุรี'มั่นใจหลังได้ “กลุ่มมิตซุย”เสริมทัพ เดินหน้าพร้อมโกตลาดอินเตอร์

“น้ำตาลครบุรี” หรือ KBS มั่นใจแนวโน้มปีนี้ธุรกิจสดใส ลั่นเดินหน้าพร้อมโกตลาดอินเตอร์ หลังได้ “กลุ่มมิตซุย” ช่วยเสริมทัพ สร้างความแข็งแกร่ง

ประสานความร่วมมือด้านตลาด ระบุปีนี้สามารถหีบอ้อยได้แล้ว 2.54 ล้านตัน พร้อมให้การสนับสนุนเกษตรปลูกอ้อยอย่างเต็มที่ หวังป้อนเข้าตลาด ขณะที่ธุรกิจโรงฟ้าชีวมวล เดินหน้าตามแผนงานที่วางไว้ โดยเครื่องจักรทยอยเดินทางเข้ามาถึงแล้วและอยู่ระหว่างการติดตั้ง คาดจะเดินเครื่องและจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ประมาณไตรมาส 1/2557

นายอิสสระ ถวิลเติมทรัพย์ กรรมการบริหาร บริษัทน้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) หรือ KBS เปิดเผยว่า หลังจากที่บริษัทร่วมมือเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับกลุ่มมิตซุย ประเทศญี่ปุ่น นั้น บริษัทฯได้รับประโยชน์ หลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการตลาดที่จะสามารถเปิดตลาดเพิ่มขึ้นไปยังประเทศต่างๆ และเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ AEC สำหรับด้านการผลิต กลุ่มมิตซุยจะแนะนำและความร่วมมือในเชิงเทคนิค ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยี และเครื่องจักรชั้นแนวหน้าของโลก ทำให้ยิ่งมั่นใจว่าบริษัทฯ จะเติบโตร่วมกันอย่างสดใส และขยายตัวแข็งแกร่งแน่นอน

นอกจากนั้น ยังกล่าวต่อว่า สำหรับฤดูการหีบอ้อยสำหรับปีนี้ได้เสร็จสิ้นหรือปิดหีบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งสิ้น 2.54 ล้านตัน ซึ่งถือว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่ทางบริษัทฯ ได้ตั้งเอาไว้ ทั้งนี้ ในช่วงปีที่ผ่านมาประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาสภาวะอากาศที่ไม่ดีนัก ทำให้ผลผลิตที่ออกมาไม่ดีเท่าที่ควร แต่อย่างไรก็ตามบริษัทฯ กลับได้แรงอานิสงส์จากเกษตรกรที่โรงงานฯ สนับสนุนให้ปลูกอ้อยเพื่อนำส่งอ้อยป้อนให้โรงงานฯ อย่างสม่ำเสมอ จึงทำให้เราสามารถรักษาระดับผลผลิตได้ตามเป้าหมาย โดยในทุก ๆ ปี ทางบริษัทฯยังคงให้การสนับสนุนเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง โดยคาดหมายในเบื้องต้นว่าผลผลิตสำหรับฤดูเปิดหีบ 2556/57 จะสามารถทำเป้าหมายได้เท่าปีนี้ที่ 2.5 ล้านตัน แต่ทั้งนี้ภาวะอากาศก็จะเป็นปัจจัยหลักในการเพิ่ม หรือลดของปริมาณอ้อยด้วยเช่นกัน สำหรับราคาน้ำตาลนั้น นายอิสสระให้ความเห็นว่า ราคาในระดับนี้น่าจะเป็นราคาที่ใกล้จะต่ำสุดแล้ว แนวโน้มระยะยาวเชื่อว่าราคาจะปรับตัวเข้าหาต้นทุนการผลิตของผู้ผลิตรายใหญ่ อย่างบราซิลที่ 19-21 เซ็นต์ต่อปอนด์

นายอิสสระ กล่าวต่อว่า KBS มีความมุ่งมั่นที่จะขยายธุรกิจเพื่อประโยชน์สูงสุดสำหรับนักลงทุนและผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ซึ่งประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลอันดับสองของโลก มีความได้เปรียบประเทศผู้ผลิตรายใหญ่อย่างบราซิลและออสเตรเลียในแง่ค่าขนส่ง เพราะประเทศไทยอยู่ในเอเชีย ซึ่งมีอัตราการเติบโตของการบริโภคน้ำตาลสูง ดังนั้นหลังจากเพิ่มทุนให้กับกลุ่มมิตซุยเข้ามาเป็นพันธมิตรแล้ว KBS จะเร่งดำเนินการประสานงานสำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ทันที เพื่อพัฒนาธุรกิจร่วมกันเพิ่มเสริมสร้างมูลค่าให้แก่บริษัทต่อไป

ในส่วนธุรกิจโรงไฟฟ้าชีวมวลของ "บริษัท ผลิตไฟฟ้าครบุรี จำกัด" ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ KBS ที่ผลิตไฟฟ้าจากกากอ้อย กำลังการผลิต 35 เมกกะวัตต์ มูลค่าโครงการ 1,638 ล้านบาท เพื่อขายไฟให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นั้น ยังคงเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ พร้อมเดินหน้าอย่างเต็มกำลังโดยปัจจุบันเครื่องจักรต่างๆ ทยอยเข้าติดตั้งแล้ว คาดว่าจะเดินเครื่องและจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ตามแผนงานที่วางไว้ โดยหลังจากสามารถเดินเครื่องได้ตามกำหนดจะเป็นส่วนช่วยผลักดันรายได้และอัตรากำไรสุทธิของบริษัทฯเพิ่มขึ้นด้วย

สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2556 บริษัทมีรายได้รวม 1,581 ล้านบาท กำไรสุทธิ 309 ล้านบาท และกำไรต่อหุ้น 0.59 บาท

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 23 พฤษภาคม 2556

แหล่งน้ำ 20 ปี ฝันที่เป็นจริงของหนองบัวลำภู - ทิศทางเกษตร

นายระพี ผ่องบุพกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู เปิดเผยภายหลังพิธีเปิดโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำบอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู ว่า ชาวหนองบัวลำภูมีความปลื้มปีติเป็นล้นพ้น ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานแนวพระราชดำริ ให้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำบอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้น ซึ่งได้มีพิธีเปิดโครงการอย่างเป็นทางการ โดยนายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี เป็นประธานในพิธีเมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมา

โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำบองมีความจุระดับเก็บกักปกติ ที่ 20 ล้านลูกบาศก์เมตร แม้ว่าจะเป็นอ่างที่ไม่ใหญ่นัก แต่ก็สามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานให้แก่ชาวหนองบัวลำภู ได้อีกถึง 16,000 ไร่ ซึ่งจำนวนนี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ของพื้นที่ชลประทานที่มีอยู่

หนองบัวลำภูมีพื้นที่ 2,400,000 ไร่ เป็นพื้นที่การเกษตร 1,700,000 ไร่ แต่มีพื้นที่ชลประทานเพียง 90,000 กว่าไร่ หรือร้อยละ 2.51 ของพื้นที่การเกษตรเท่านั้น เพราะฉะนั้นจากเดิมที่มีอยู่ 9 หมื่นกว่าไร่ เมื่อโครงการอ่างเก็บน้ำแล้วเสร็จก็จะได้พื้นที่โครงการชลประทานเพิ่มอีก 16,000 ไร่ เพิ่มขึ้นประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ชลประทานที่มีอยู่

ความแห้งแล้งการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร และเพื่อการอุปโภคบริโภคของประชาชน หนองบัวลำภู ทำให้ชาวหนองบัวลำภูต้องประกอบอาชีพการเกษตรตามยถากรรม คือ ตามสภาพของฝนฟ้าอากาศ ปีไหนน้ำมากก็ไม่ได้ผลผลิต ปีไหนน้ำแล้งน้ำน้อยก็ไม่ได้ผลผลิต อย่างเช่นปี 2555 ที่ผ่านมา ในช่วงการผลิต 2555/2556 ปริมาณน้ำฝนมีเพียง 1 ,000 มิลลิเมตรต่อปีซึ่งปกติน้ำที่เหมาะสมจะอยู่ที่ 13,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี เพราะฉะนั้นในปีที่ผ่านมานับเป็นปีที่แห้งแล้งที่สุดในรอบ 50 ปี

พื้นที่การเกษตรของหนองบัวลำภูในปีที่ผ่านมา ข้าวยืนต้นตายถึง 300,000 กว่าไร่ ส่วนพืชไร่ที่ไม่ตายแต่ผลผลิตต่อไร่ก็ต่ำลง อย่างอ้อยต้นก็จะสั้นลง สร้างความเสียหายให้กับพี่น้องเกษตรกรเป็นอย่างยิ่ง ขณะเดียวกันตอนนี้ภัยที่กำลังเผชิญอยู่นอกจากด้านการเกษตรที่เสียหายแล้ว ด้านการอุปโภคและบริโภคก็กำลังเป็นภัยที่ประชาชนหนองบัวลำภูกำลังเผชิญอยู่ แม้แต่ในเขตเทศบาลเมืองหนองบัวลำภู ก็ต้องมีการจ่ายน้ำประปาเป็นเวลา ถือเป็นภัยพิบัติครั้งร้ายแรงของหนองบัวลำภูเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตามแม้เวลาจะผ่านล้วงไปถึง 20 กว่าปีเศษ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมาที่หนองบัวลำภู ขณะนั้นขึ้นอยู่กับจังหวัดอุดรธานี และท่านผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ในขณะนั้นได้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอให้สร้างอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำบองแห่งนี้

เวลาล่วงมากว่า 20 ปี แต่พระองค์ก็ยังทรงจดจำและเร่งรัดให้หน่วยงานราชการต่างๆ เข้ามาดำเนินการก่อสร้าง

“ในนามของพี่น้องประชาชนชาวหนองบัวลำภู ขอกราบสำนึกในพระมหา กรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้พระราชทานแนวพระราชดำริให้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำบอง ที่จะเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องเกษตรกรผู้ยากไร้ และจังหวัดหนองบัวลำภูจะนำสิ่งเหล่านี้ไปต่อยอดด้วยการขยายปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปให้พี่น้องประชาชนได้ถือปฏิบัติเพื่อให้เขาได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น” ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภูกล่าว

นายระพี ผ่องบุพกิจ กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า เมื่อมีน้ำแล้วก็จะต้องอนุรักษ์ และขยายแหล่งต้นน้ำของห้วยน้ำบอง ที่ภูเก้าภูพานคำ ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำของห้วยน้ำบอง ทางจังหวัดจะดำเนินการร่วมกับทางสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รณรงค์ให้มีการ ปลูกต้นไม้ ปลูกป่า ในพื้นที่ป่าต้นน้ำเพื่อจะให้พื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งเก็บกักน้ำตามธรรมชาติอย่างยั่งยืน และโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำบองอันเนื่องมาจากพระราชดำริแห่งนี้ จะได้มีน้ำเพื่อประชาชนชาวหนองบัวลำภูนำมาใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่องต่อไป.

จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 23 พฤษภาคม 2556

3 สมาคมรง.น้ำตาลเสนอรัฐเจรจาไทย-อียูถกลดกรอบภาษีเหลือ 0%

3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เสนอรัฐดันสินค้าอุตสาหกรรมน้ำตาลทราย ขึ้นโต๊ะเจรจาการค้าไทย-อียู รอบแรก 27-31 พ.ค. นี้

หวังอียูจัดสรรโควตานำเข้าน้ำตาลทราย และลดกำแพงภาษีเหลือ 0% ช่วยเปิดตลาดการส่งออกน้ำตาลทรายไทยส่งออกไปสหภาพยุโรป สร้างรายได้จากการส่งออกน้ำตาลทรายเพิ่มขึ้น หนุนความมั่นคงให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อย

นายเชิดพงษ์ สิริวิชช์ ประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายเปิดเจรจาเขตการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป ซึ่งกำหนดการเจรจาครั้งแรกในวันที่ 27-31 พฤษภาคมนี้ ทาง 3 สมาคมฯ พร้อมสนับสนุนการเจรจาการค้าดังกล่าว เนื่องจากก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรอย่างน้ำตาลทราย ที่มีส่วนช่วยในการเปิดตลาดส่งออกน้ำตาลทรายไปยังประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรปได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้จากการส่งออกน้ำตาลทรายได้มากขึ้น
“สหภาพยุโรป หรืออียู เป็นตลาดน้ำตาลขนาดใหญ่ ที่มีระบบบริหารจัดการอุตสาหกรรมน้ำตาลที่ซับซ้อนเนื่องจากมีสมาชิกรวม 27 ประเทศ สามารถผลิตน้ำตาลได้ 18.1 ล้านตัน บริโภค 19.2 ล้านตัน และมีการนำเข้าน้ำตาลทราย 4.7 ล้านตันต่อปี จึงเป็นโอกาสที่อุตสาหกรรมน้ำตาลทรายจะส่งออกน้ำตาลทรายไปยังตลาดอียู เพื่อรองรับความต้องการบริโภคของประชากรชาวยุโรปได้” นายเชิดพงษ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ประเทศสมาชิกผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของอียู เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี โปแลนด์และ สหราชอาณาจักร ได้ให้สิทธิพิเศษนำเข้าน้ำตาลทรายกับประเทศอดีตอาณานิคม หรือ African Caribbean and Pacific Group of States-ACP ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจ Economic Partnership Agreements หรือ EPAs กลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (Least Developed Countries-LDCs) และกลุ่มประเทศ CXL หรือ ออสเตรเลีย บราซิลและคิวบา ดังนั้น การเจรจาการค้าเสรีไทย-อียู ครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสสำคัญในการเปิดตลาดสำหรับน้ำตาลทรายไทยเพื่อส่งออกไปยังสหภาพยุโรป

ประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กล่าวว่า ทางสมาคมฯ จึงได้จัดทำหนังสือเพื่อเสนอให้แก่ผู้แทนการค้าไทยผลักดันให้มีการเปิดเสรีการค้าสำหรับสินค้าน้ำตาลทราย โดยผลักดันให้อียู บรรจุสินค้าน้ำตาลทรายไว้ในรอบเจรจาเปิดตลาดสินค้ากลุ่ม Early Harvest โดยให้ลดภาษีเหลือ 0% ในลักษณะต่างตอบแทน ซึ่งจะช่วยให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยสามารถส่งออกน้ำตาลทรายไปยังต่างประเทศได้เพิ่มขึ้น และเป็นผลให้ชาวไร่อ้อยมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 23 พฤษภาคม 2556

เกษตรสร้างสรรค์ : เครดิตวิชาการ

แผนการยกเลิกขึ้นทะเบียนสารกำจัดศัตรูพืช 4 ตัวได้แก่คาร์โบฟูราน เมทโทมิล ไดโครโดฟอส และอีพีเอ็น ทำท่าโอละพ่อ

กรมวิชาการเกษตร ในฐานะหัวเรือใหญ่ผู้ดูแลพ.ร.บ.วัตถุอันตราย กลายเป็นกรมวิชาการอันตรายแทน จากข่าวที่ว่า คณะกรรมการวัตถุอันตรายที่มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน ไม่ยอมพิจารณายกเลิกการขึ้นทะเบียน เพราะไม่เชื่อข้อมูลที่กรมวิชาการเกษตรเสนอมา

ถ้าเป็นจริงตามข่าว มันก็เป็นเรื่องน่าคิด และน่าฉงนใจเป็นที่สุด เพราะในคณะกรรมการวัตถุอันตรายก็มีอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ร่วมเป็นกรรมการด้วย

ขั้นตอนการพิจารณาในส่วนของกรมวิชาการเกษตรมาถึงขั้นสุดท้าย ตั้งแต่การพิจารณาของกรมฯ และการรับฟังประชาคมเกี่ยวข้อง แทบไม่เห็นการคัดค้านต่อต้านการยกเลิกขึ้นทะเบียนสารทั้ง 4 ตัวเลย สมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร ก็ให้ความเห็นว่า หากจะยกเลิกก็ไม่มีปัญหา เพราะมีสารกำจัดศัตรูพืชตัวอื่นทดแทนได้อยู่แล้ว จะมีก็แต่สมาคมอารักขาพืชไทยเท่านั้นที่นิ่งเฉย

เรื่องอย่างนี้ ต้องกระซิบปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม คุณวิฑูรย์ สิมะโชคดี ในฐานะประธานบอร์ดก่อนว่า เวลาพิจารณายกเลิกหรือห้ามสารกำจัดศัตรูพืชทีไร เป็นธรรมดาที่จะมีใครต่อใครในอุตสาหกรรมนี้วิ่งเต้นรุมล็อบบี้ต่างๆนานา เพื่อที่จะได้ขึ้นทะเบียนและได้ขายต่อไป ทั้งที่สาร 4 ตัวฟันเงินเกษตรกรไทยไปไม่รู้เท่าไหร่แล้วตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา

ยิ่งมาระบุเป็นความไม่เชื่อถือข้อมูลกรมวิชาการเกษตรอย่างที่เป็นข่าวด้วยแล้ว ก็ยิ่งสะทกสะท้อนใจว่า ทำไมไม่คุยกันเป็นการภายในบอร์ด สะสางกันให้ถึงแก่นถึงกึ๋น ไม่ใช่ปล่อยให้มีข่าวแบบนี้ออกมา ซึ่งจะพลอยพังกัน ทั้งปลัดอุตสาหกรรมและอธิบดีกรมวิชาการเกษตร

ปลัดวิฑูรย์มีสิทธิ์พัง เพราะมันหมิ่นเหม่ต่อเรื่องการวิ่งเต้นล็อบบี้ ยิ่งบอกว่าบอร์ดไม่เชื่อข้อมูลกรมวิชาการเกษตรด้วยแล้ว ยิ่งหายนะใหญ่ไปเลย

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร คุณดำรงค์ จิระสุทัศน์ นั้นเสียหายแน่นอน เพราะเสมือนบอร์ดมองราวเป็นความว่างเปล่า มันกระทบ ทั้งตัวคุณดำรงเองและต่อกรมในฐานะกรมที่เชื่อถือไม่ได้ ไม่เป็นวิชาการเกษตรสมชื่อ

ก่อนนี้ศาลปกครองเพิ่งมีคำสั่งให้ยกเลิกประกาศต่างๆและคดีความที่สารวัตรเกษตรของกรมวิชาการเกษตรไปจับกุมผู้ประกอบการรายหนึ่ง แล้วผู้ประกอบการก็ฟ้องกลับไปศาลปกครอง ซึ่งมีคำสั่งให้ยกเลิกการประกาศห้ามใช้สารกำจัดศัตรูพืช 4 ตัว ซึ่งเป็นคนละกลุ่มกับ 4 ตัวที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้

นั่นทำให้กรมวิชาการเกษตรเสียศูนย์มากพออยู่แล้ว แม้จะมาเป็นธรรมกับคุณดำรงนัก เพราะเกิดขึ้นก่อนจะมาเป็นอธิบก็ตาม แต่กรมฯก็สูญเสียเครดิตความน่าเชื่อถือ เมื่อมาผนวกรวมกับเรื่องวุ่นๆในการพิจารณายกเลิกการขึ้นทะเบียนสาร 4 ตัวดังกล่าวด้วยแล้ว ก็ดูท่าสูญเสียเครดิตหนักยิ่งขึ้น

ลำพังแค่เรื่องเดียวก็ยังสาหัสถึงเพียงนี้ หากเหลียวดูพ.ร.บ.อีก 4 ฉบับที่กรมฯดูแลอยู่ และเกิดมีใครลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวบ้าง กรมวิชาการเกษตรจะสะเทือนขนาดไหน

อธิบดีมาแล้วก็ไป จะเป็นความดีงาม หรือความเหลวแหลก ก็เป็นเรื่องส่วนตัวของอธิบดีท่านนั้นรับไป แต่เรื่องที่ทำให้ชื่อเสียงความน่าเชื่อถือของกรมฯเสียหายนั้น เป็นความรับผิดชอบใหญ่หลวงที่ไม่อาจทำเป็นทองไม่รู้ร้อนได้

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 23 พฤษภาคม 2556

เล็งคิดค้นนวัตกรรมคูส่งน้ำใหม่ เพิ่มประสิทธิภาพเขตจัดรูปที่ดิน

สำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง เตรียมคิดค้นนวัตกรรมคูส่งน้ำใหม่ในพื้นที่จัดรูปที่ดินฯ แทนการดาดคอนกรีต หรือคูสำเร็จรูปอย่างเดียว ระบุจะช่วยให้เกษตรกรเสียพื้นที่ทำคูส่งน้ำน้อยลงจาก 1.50 เมตร เหลือ 1.0-0.80 เมตร แต่คงขีดความสามารถส่งน้ำได้เท่าเดิม และยังก่อสร้างได้ทุกฤดูไม่ต้องกังวลหน้าฝนทำไม่ได้

นายเอกจิต ไตรภาควาสิน ผู้อำนวยการ สำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง กรมชลประทาน เปิดเผยว่า สำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง ได้หารือกับสำนักวิจัยและพัฒนา กรมชลประทาน เกี่ยวกับการสร้างนวัตกรรมเกี่ยวกับวัสดุใหม่ๆ ในการก่อสร้างคูส่งน้ำ โดยมีขนาดเล็กลง เปลืองพื้นที่น้อยลง แต่มีขีดความสามารถ ส่งน้ำได้เท่าเดิม

ทั้งนี้ เนื่องจากวัสดุก่อสร้างที่ใช้สำหรับสร้างคูส่งน้ำปัจจุบันเป็นคูดาดคอนกรีตหรือคูสำเร็จรูป ซึ่งจะใช้พื้นที่คูกว้างถึง 1.50 เมตร ในการส่งน้ำ 30-90 ลิตร/วินาที แต่แนวคิดใหม่คือต้องการใช้พื้นที่คู 1.0-0.80 เมตร หรือลดลงร่วม 40% ของพื้นที่เดิม และยังคงสามารถส่งน้ำได้เท่าเดิม

โดยอาจเป็นพลาสติก ไฟเบอร์หรือวัสดุอย่างอื่นที่พัฒนาให้มีความทนทานใช้งานไม่ต่างจากซีเมนต์ การคิดค้นนวัตกรรมเรื่องวัสดุเหล่านี้ นอกจากเพิ่มประสิทธิภาพในตัวแล้ว ยังลดปัญหาข้อจำกัดในการติดตั้งก่อสร้าง เช่น สามารถก่อสร้างในช่วงฤดูฝนได้ จากเดิมสามารถทำได้เฉพาะช่วงฤดูแล้งเพียงอย่างเดียว

“เกษตรกรเองก็ชอบ เพราะถ้าลดขนาดคูส่งน้ำได้ เขาก็เสียพื้นที่น้อยลง จะเหลือพื้นที่ทำการเกษตรได้มากขึ้น ในฐานะที่สำนักงานจัดรูปที่ดินกลางต้องทำงานร่วมกับเกษตรกร เราก็ต้องพยายามหาทางให้เขาได้รับประโยชน์มากขึ้นในหลายๆ ทาง” นายเอกจิต กล่าว

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 23 พฤษภาคม 2556

ยูบีเอ็มดันไทยสู่ฮับพลังงานอาเซียน

นายมนู เลียวไพโรจน์ ประธาน บริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงการจัดงาน Renewable Energy Asia 2013 ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 5 -8 มิ.ย.56 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ว่าขณะนี้มีบริษัทตอบรับเข้าร่วมงานแล้ว มากกว่า 300 บริษัท จาก 30 ประเทศทั่วโลก โดยการจัดงานในปีนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้น 20% จากปีที่แล้ว ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ดีทีเดียวสำหรับไทย เพราะเป็นสิ่งบ่งชี้ให้เห็นถึงการให้ความสำคัญของพลังงานทดแทนในระดับชาติ การันตีว่าการดำเนินนโยบายของภาครัฐได้ผล ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นเรื่องภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังช่วยดึงดูดการค้าและการลงทุนด้านพลังงานทดแทนจากต่างประเทศเข้ามาด้วย

ทั้งนี้ การจัดงานในปีนี้มีแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องอาเซียนสอดแทรกเข้าไปในทุกส่วน เพื่อส่งสัญญาณเตือนว่า ได้เวลาแล้วที่ผู้ประกอบการไทยจะนำเอาเทคโนโลยีที่เราถนัด ไปต่อยอดสู่การค้าในระดับอาเซียน เกิดเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่สร้างเงิน สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับคนไทย โดยตั้งเป้าว่าจะต้องดึงนานาชาติมาเข้าร่วมให้มากที่สุด ทั้งในเชิงธุรกิจการค้า และวิชาการ เพื่อสะท้อนภาพลักษณ์ความเป็นศูนย์กลางพลังงานทดแทนแห่งอาเซียนออกมาสู่สายตาประชาคมโลก อีกทั้งยังเปิดโอกาสทางการค้าและการลงทุนข้ามชาติด้วย

“การจัดงานในปีนี้เราได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากทุกภาคส่วน ทั้งกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน คณะกรรมการพลังงาน หอการค้าไทย สภาอุตฯ และบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) ภายใต้วัตถุประสงค์เดียวกันคือ ขับเคลื่อนไทยไปสู่การเป็นศูนย์กลางพลังงานทดแทนแห่งอาเซียน”

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 23 พฤษภาคม 2556

คลัง-แบงก์ชาติงัดข้อดูแลค่าบาท แนวคิดเห็นพ้องหรือสวนทางกัน

กระแสร้อนแรงทางเศรษฐกิจขณะนี้ ซึ่งหลายฝ่ายกำลังจับจ้องมองชนิดตาไม่กะพริบ เกาะติดกันทุกนาทีต่อนาที คงจะหนีไม่พ้น สถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนผันผวน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงินบาทของไทยที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแน่นอนว่า เมื่อเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างนี้ ก็ต้องมีกลุ่มที่ได้ประโยชน์ และกลุ่มที่ต้องได้รับผลกระทบและความเดือดร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้ส่งออกสินค้า ที่กำลังได้รับจากพิษค่าบาทแข็งเข้าเต็มเปา

และประเด็นที่ทำให้เกิดเป็นกระแสร้อนแรงขึ้นไปอีก นั่นคือ แนวทางการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจเพื่อบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ดูเรื่องนโยบายการเงิน และดูเหมือนว่าจะมีความเห็นไม่สอดคล้องกับทางกระทรวงการคลัง หน่วยงานที่กำกับดูแลนโยบายการคลัง เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้าอย่างสดใส

“โต้ง” ลั่นอยากเห็นบาทอ่อน

โดยนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาแสดงเจตจำนงอย่างชัดเจนว่า มีความเป็นห่วงว่าสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นค่อนข้างมากและต่อเนื่อง จะส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถทางการแข่งขันของภาคการส่งออกไทย ถึงแม้ปัจจุบันเศรษฐกิจมีการขยายตัวได้จากแรงขับเคลื่อนอื่นๆ นอกเหนือจากการส่งออก คือการขยายตัวของกำลังซื้อในประเทศ การใช้จ่ายภาครัฐ และการลงทุนของภาคเอกชน แต่การส่งออกยังมีส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจและมีผลเกี่ยวเนื่องไปถึงการจ้างงาน ดังนั้น หากสามารถรักษาความสามารถการส่งออกได้ดี ก็จะช่วยรักษาศักยภาพของเศรษฐกิจ ดังนั้น ควรจะดูแลไม่ให้เงินบาทแข็งค่าเกินไป

พร้อมระบุว่า ที่ผ่านมาในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก็พยายามขอร้อง ธปท. ในการวางนโยบายทางการเงินที่ส่งผลทำให้เงินบาทแข็งค่าผิดธรรมชาติและดอกเบี้ยที่สูงผิดธรรมชาติ โดยทาง ธปท.ควรจะมีการทบทวนแนวคิดการวางนโยบายการเงิน

โดยรองนายกฯ และรัฐมนตรีคลัง มองว่า หากเงินบาทแข็งค่ามากไปกว่านี้ จนเริ่มกระทบต่อศักยภาพการส่งออก อาจจะทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันการ จึงควรจะรีบดำเนินการไม่ให้เงินบาทผันผวน ดูแลให้มีเสถียรภาพ

ขณะที่นโยบายการคลังเองได้มีการวางแนวทางดำเนินการไม่สร้างภาระที่กระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนมากเกินไป เช่น ในส่วนของภาระหนี้ต่างประเทศก็ได้มีการขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้สามารถชำระคืนหนี้ก่อนกำหนดได้ ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบไม่ให้เงินบาทแข็งค่า แต่การดำเนินการของกระทรวงการคลังจะทำในช่วงเวลาที่เหมาะสม

“การเรียกร้องให้ ธปท. ดูแลค่าเงินบาทนั้น ไม่ได้ต้องการให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าจนผิดธรรมชาติ และให้อัตราดอกเบี้ยต่ำจนผิดธรรมชาติ แต่ต้องการให้ผ่อนคลายลง เนื่องจากนโยบายการเงินที่ดำเนินการอยู่ได้ทำให้เงินบาทแข็งค่าผิดปกติ และอัตราดอกเบี้ยสูงผิดธรรมชาติ จนกระทบต่อผู้ส่งออก และหากไม่ดำเนินการใดๆ จะทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นไปอีก แม้จะไม่ปรับลดดอกเบี้ยลงอีก แต่รักษาค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับเหมาะสมถือว่าเป็นระดับที่น่ายินดี” นายกิตติรัตน์ ระบุ

พร้อมกับย้ำชัดเจนว่า ต้องการเห็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่กำกับดูแลโดย ธปท. และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ต่ำกว่าระดับปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ 2.75% เนื่องจากเห็นว่าระดับดังกล่าวสูงอย่างผิดธรรมชาติ โดยปัจจัยที่นำมาเปรียบเทียบ ก็ดูจากดอกเบี้ยเงินฝากในตลาดไลบอนด์ของเงินเหรียญสหรัฐ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 0.2-0.3% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยนั้นถือว่าสูงกว่าถึง 9 เท่า ถามว่ามีความจำเป็นหรือไม่ที่ต้องบริหารให้อยู่สูงมากขนาดนั้น

บาทแข็งสุดรอบ 17 ปี

ในช่วงที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่าสูงสุดในรอบ 17 ปี โดยแข็งอยู่ที่ 28.82-28.83 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยเรื่องดังกล่าว นายกิตติรัตน์ ก็ออกมาระบุว่า ได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในปี 2556 โดยอาจจะทำให้เป้าหมายการขยายตัวของภาคการส่งออกไทยที่ทางกระทรวงพาณิชย์ตั้งเอาไว้ที่ 9% เป็นไปได้ยากยิ่งขึ้นเนื่องจากจะได้รับแรงกดดันจากเงินบาทแข็งค่าดังกล่าว ซึ่งหากส่งออกลดลงจะโยงใยถึงรายได้ของภาครัฐจากการจัดเก็บภาษีที่จะลดลง กำไรของภาคธุรกิจจะลดลง ซึ่งกระทบต่อรายได้ของลูกจ้างภาคเอกชน และส่งผลกระทบต่อภาคการบริโภคภายในประเทศในที่สุด

“เงินบาทที่แข็งขึ้น ย่อมจะมีผลกระทบต่อการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ก็ยอมรับว่า เป้าการส่งออกที่ 9% จะได้รับความกดดันมากขึ้นจากเงินบาทที่แข็งค่า แต่ก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงเป้า ก็ยังเร่งทำงานจริงจังมากขึ้น” นายกิตติรัตน์ กล่าว

นอกจากนั้น ยังระบุด้วยว่า จากการที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีการตรวจสอบพบนักลงทุนบางส่วน นำเงินตราต่างประเทศเข้ามาเก็งกำไรในไทย ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องกับอัตราแลกเปลี่ยนควรจะต้องระมัดระวังความเสี่ยงให้มาก เนื่องจากค่าเงินยังเคลื่อนไหวผันผวน เพราะทิศทางเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นสวนทางกับดุลการค้าที่ขาดดุล ประกอบกับการส่งออกในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาติดลบ 5.8% ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่นักลงทุนจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

“ผมไม่ชอบเห็นเงินบาทแข็งค่าขึ้นในลักษณะอย่างนี้ แต่เมื่อแข็งค่าไปแล้ว ภาคธุรกิจควรฉกฉวยโอกาสในการนำเข้าสินค้าเพื่อดำเนินธุรกิจ เพื่อมาชดเชยภาคการส่งออกที่เป็นลบ ซึ่งการนำเข้าที่เป็นโอกาสในขณะนี้จะมาชดเชยสัดส่วนจีดีพีภาคการส่งออกของประเทศได้เช่นกัน พร้อมทั้งช่วยลดความเสียหายของการแข็งค่าของค่าเงินบาทในที่สุด” นายกิตติรัตน์ ระบุ

ธปท.ยืนกรานไม่หั่นดอก

ขณะที่หน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลนโยบายการเงิน อย่างธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ออกมาระบุถึงแนวทางการใช้เครื่องมืออัตราดอกเบี้ยนโยบายในการดูแลค่าเงินบาท ในลักษณะที่สวนทางกับกระทรวงการคลัง

โดยนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. ระบุว่า ถึงแม้อัตราดอกเบี้ยจะเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่สามารถใช้ดูแลอัตราแลกเปลี่ยนได้ แต่ขณะนี้อัตราดอกเบี้ยมีภาระหนักที่จะต้องดูแลดุลยภาพเศรษฐกิจในประเทศ และถือเป็นความยากลำบากของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่ต้องพยายามรักษาดุลยภาพดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในส่วนกรณีของเงินทุนเคลื่อนย้ายนั้น ผู้ว่าการ ธปท. ระบุว่า จะต้องพิจารณาที่หลายๆ ปัจจัย ซึ่งดอกเบี้ยก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนเข้ามาลงทุน แต่มองว่าเรื่องการเข้ามาเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยนคิดเป็นเปอร์เซ็นต์จะสูงกว่าเมื่อเทียบกับดอกเบี้ยที่คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ต่อปีที่ต่ำกว่า

โดยนายประสาร เห็นว่าขณะนี้ภาพรวมเศรษฐกิจโลกแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มที่มีอัตราขยายตัวของเศรษฐกิจสูงเกิน 5% ขึ้นไป อย่างเช่น ไทย 2.เศรษฐกิจไม่เติบโตหรือติดลบ คือสหภาพยุโรป (อียู) และ 3.เศรษฐกิจเติบโตในระดับ 1-2% คือสหรัฐ ดังนั้น จึงเป็น 3 กลุ่มที่มีดุลยภาพต่างกัน ซึ่งประเทศที่เศรษฐกิจขยายตัวใกล้เคียงกับไทยก็เป็นประเทศที่มีดุลยภาพดี เศรษฐกิจแข็งแกร่ง แต่ยุโรปกับสหรัฐยังซบเซา เศรษฐกิจอ่อนแอ ทำให้เกิดความลักลั่น ทั้งนี้ สถานการณ์ในปัจจุบันนั้น เป็นปัญหาที่ถกเถียงกันว่าจะใช้มาตรการดอกเบี้ยต้องดูให้เหมาะสมว่าจะผ่อนปรนได้แค่ไหน หากเศรษฐกิจโน้มไปในแนวทางที่เป็นปกติไม่โตสูง หรือไม่ร้อนแรงก็เหมือนช่วยผ่อนภาระเศรษฐกิจไทย

“ค่าเงินบาทถือว่าเคลื่อนไหวเกาะกลุ่มสกุลเงินในภูมิภาค ซึ่ง ธปท.ก็ยังติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด ไม่ต้องเป็นห่วง แต่ไม่ต้องการระบุว่ามีการเข้าไปแทรกแซงตลาดหรือไม่ เพราะในตลาดเงินมีทั้งกลุ่มคนที่ได้ประโยชน์ และเสียประโยชน์ค่อนข้างมากจากการเคลื่อนไหวของค่าเงิน” ผู้ว่าการ ธปท. ระบุ

“โต้ง” สุดทนคิดปลดผู้ว่าฯ

ทั้งนี้ เมื่อแนวคิดการดำเนินนโยบายของทั้งผู้กุมนโยบายการเงินและผู้กุมนโยบายการคลัง เกิดความไม่สอดคล้องกัน จนเป็นเหตุทำให้นายกิตติรัตน์ ถึงขนาดเอ่ยปากว่า “คิดปลดผู้ว่า ธปท.” ออกจากตำแหน่ง ภายหลังจากที่มีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า ในช่วงที่ผ่านมาได้มีการหารือกับผู้ว่าการ ธปท.หลายครั้ง แต่แนวทางการทำงานในเรื่องนโยบายอัตราดอกเบี้ยมีความเห็นที่แตกต่างกัน ซึ่งส่วนตัวอยากเห็นทาง ธปท.ปรับลดดอกเบี้ยลงมาอีกประมาณ 1% เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยในขณะนี้ถือว่าสูงเกินไป ซึ่งสภาพคล่องที่มีควรดำเนินการให้เหมาะสมและคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศ เนื่องจากเงินบาทแข็งค่าอย่างหนักและสร้างผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย

ทั้งนี้ ไทยถือว่าได้เปรียบเรื่องดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดมาตั้งแต่ยุคลอยตัวค่าเงินบาท ซึ่งทำให้ปัจจุบันมีเงินทุนสำรองกว่า 1.8 แสนล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีสภาพคล่องส่วนเกินและไม่ได้นำไปลงทุนเท่าที่ควร ซึ่งที่ผ่านมา ธปท.ได้มีการดูดซับสภาพคล่องส่วนเกินด้วยการออกเป็นพันธบัตร ซึ่งมีมากกว่าพันธบัตรที่ออกจากธนาคารพาณิชย์ที่อยู่ในความดูแลของกระทรวงการคลัง และมีผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ย

“สิ่งที่เป็นห่วงคือ การจ่ายอัตราดอกเบี้ยในระดับปัจจุบัน ขณะที่เงินตราต่างประเทศที่จะนำผลตอบแทนมาสู่ ธปท. ในระดับที่ต่ำมาก ทำให้เกิดส่วนต่าง และ ธปท.กำลังเกิดการขาดทุนยอดหนี้เดือนละมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งไม่ได้เป็นการขาดทุนทางบัญชี แต่เกิดจากการขาดทุนจากการจ่ายดอกเบี้ยสูง” นายกิตติรัตน์ ระบุ

รองนายกฯ และรัฐมนตรีคลัง ระบุด้วยว่า หากมองในแง่ว่าจะส่งผลทำให้เกิดเงินเฟ้อนั้น ก็ไม่ได้มีผลจากเรื่องของดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว แต่เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นนั้นมาจากเงินในระบบที่มีมาก การที่ยังคงระดับดอกเบี้ยในปัจจุบันกลับดึงเงินจากต่างประเทศให้หลั่งไหลเข้ามา ทำให้ ธปท.ต้องดูดซับสภาพคล่องด้วยการออกเป็นพันธบัตรมากขึ้น

ร่อนหนังสือแจง ปชช.

ล่าสุด เมื่อวันที่ 10 พ.ค.ที่ผ่านมา นายประสาร ได้สั่งการให้ ธปท.ออกหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริง เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินงานของ ธปท. เนื่องจากในระยะนี้มีกระแสข่าวตามสื่อต่างๆ ที่อาจทำให้สาธารณชนเกิดความสับสนและกระทบต่อความเชื่อมั่นในการทำหน้าที่ธนาคารกลางของประเทศได้ โดยครอบคลุม 4 ประเด็นหลัก ได้แก่

ประเด็นที่ 1 บทบาทหน้าที่และความเป็นอิสระของ ธปท. ตามพระราชบัญญัติกำหนดไว้ชัดเจนตามมาตรา 7 คือการดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพทางการเงิน และเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน และระบบการชำระเงิน ที่ต้องคำนึงถึงการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลด้วย ทั้งนี้ ธปท.ต้องจัดทำรายงานภาวะเศรษฐกิจการเงินเสนอต่อรัฐมนตรีประจำทุกเดือน และรายงานผลการดำเนินนโยบายของ ธปท.ต่อ ครม. ทุก 6 เดือน ซึ่งในทางปฏิบัติกระทรวงการคลังและ ธปท. ได้ประชุมหารือและประสานงานกันอย่างสม่ำเสมอ แต่การพิจารณาในเชิงนโยบายเป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้ว่าฯ ธปท. และรัฐมนตรีคลัง อาจมีความเห็นหรือมุมมองที่แตกต่างกันได้

ประเด็นที่ 2 การดูแลความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน แม้ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา เงินบาทจะแข็งค่าประมาณ 4% โดยเฉพาะในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าเร็วและมากที่สุดถึงประมาณ 6.5% ซึ่งมากที่สุดในภูมิภาค จนส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก แต่คาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวมมากนัก

สำหรับประเด็นที่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าสถานการณ์ในปัจจุบันอาจนำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในปี 2540 นั้น ธปท.ขอชี้แจงว่าสถานการณ์และปัจจัยแวดล้อมในปัจจุบันแตกต่างกับในช่วงก่อนเกิดวิกฤติครั้งก่อนโดยสิ้นเชิง ดังนั้นโอกาสที่จะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจการเงินเช่นในอดีตมีน้อยมาก

ส่วนประเด็นที่ 3 การดำเนินนโยบายดอกเบี้ย เป็นเครื่องมือดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินระดับมหภาค ดังนั้น การปรับขึ้นหรือลดดอกเบี้ยมีผลกว้างขวางต่อเศรษฐกิจทุกภาคส่วน ซึ่งระดับดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันที่ 2.75% ไม่ได้สูงกว่าหลายประเทศ ในภูมิภาคที่มีระบบการเงินคล้ายไทย และหากพิจารณาดอกเบี้ยที่แท้จริงซึ่งหักด้วยเงินเฟ้อปัจจุบัน ของไทยก็อยู่ในระดับใกล้ 0% สะท้อนว่าไทยมีนโยบายการเงินที่ยังเอื้อต่อการใช้จ่ายและการขยายตัวเศรษฐกิจ

และประเด็นที่ 4 การขาดทุนจากการดำเนินงานของ ธปท. เกิดขึ้นจากการดูแลเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจ ที่จำเป็นต้องบริหารจัดการค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวนมากหรือแข็งค่าเร็วเกินไป โดยการซื้อเงินตราต่างประเทศ ทำให้มีการสะสมเงินสำรองทางการเพิ่มขึ้นมาก กลายเป็นต้นทุนต่องบดุลของธนาคารกลาง

โดยต้นทุนส่วนแรก มาจากส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยรับและดอกเบี้ยจ่าย ซึ่งดอกเบี้ยรับจากสินทรัพย์ของประเทศหลักที่ ธปท.ถืออยู่ในระดับที่ต่ำมาก ขณะที่ ธปท.ต้องจ่ายดอกเบี้ยในประเทศเพื่อดูดสภาพคล่องส่วนเกินในระบบการเงินไทยในอัตราที่สูงกว่า ต้นทุนส่วนที่สอง คือผลขาดทุนทางบัญชีจากการเปลี่ยนแปลงของค่าเงิน หากเงินบาทแข็งค่าขึ้น สินทรัพย์ต่างประเทศที่ ธปท.ถือไว้เมื่อตีราคาเป็นเงินบาท จะมีมูลค่าลดลง ทำให้เกิดผลขาดทุนทางบัญชี แต่หากการดำเนินงานของ ธปท.ยังเป็นที่เชื่อถือ และอธิบายสาเหตุขาดทุนได้ ก็จะไม่กระทบความน่าเชื่อถือ

“ประสาร” ยันไม่กดดัน

โดยผู้ว่าการฯ ธปท. ยืนยันว่า สาเหตุที่ ธปท.ออกมาชี้แจงขอบเขตหน้าที่ของ ธปท. 4 ข้อหลักนั้น เนื่องจากระยะที่ผ่านมามีข่าวเกี่ยวกับ ธปท. ถึงประเด็นทางเศรษฐกิจมีความเสี่ยงอาจเข้าสู่วิกฤตเศรษฐกิจ อาจสร้างความกังวลและสับสนให้กับประชาชนในวงกว้างได้ ซึ่งเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนนั้น ยอมรับว่าในภาวะเศรษฐกิจโลกไม่ปกติ ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจขนาดใหญ่มีปัญหาทำให้เงินไหลเข้ามา จนทำให้ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่า และเร็วเกินไป แต่เท่าที่ได้ศึกษาการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทในช่วงเวลานี้ไม่น่าจะทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจได้

อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยเป็น 1 ใน เครื่องมือที่ทาง ธปท. ใช้กำกับดูแลเงินทุนไหลเข้าออก และเป็นบทบาทวางดุลยภาพในประเทศ ซึ่งการประชุมในรอบนี้ จะใช้ข้อมูลการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศในไตรมาสแรกมาประเมิน หากเศรษฐกิจไม่ร้อนแรง เข้าสู่ปกติไม่มีความเสี่ยงของเสถียรภาพ ดอกเบี้ยอาจผ่อนได้บ้าง

ผู้ว่าการฯ ธปท. ระบุด้วยว่า แม้มีกระแสกดดันจากฝ่ายการเมือง ก็ไม่ท้อในการทำหน้าที่ เพราะเมื่อเข้ามารับตำแหน่งจะต้องสร้างความเชื่อมั่นและน่าเชื่อถือให้กับธนาคารกลาง

รัฐ-ธปท.เอกชนถกชื่นมื่น

ทั้งนี้ เมื่อแนวคิดของ 2 หน่วยงานหลักที่ดูแลนโยบายการเงิน และนโยบายการคลัง เริ่มเห็นแตกต่างกันในเรื่องของอัตราดอกเบี้ยและแนวทางในการดูแลเศรษฐกิจ จึงทำให้หลายๆ ฝ่ายเกิดความกังวลในการแก้ไขปัญหาเงินบาทแข็งค่าที่เกิดขึ้น จึงเป็นที่มาของการเรียกประชุมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามสถานการณ์และแนวทางการแก้ไขปัญหาค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เพื่อเรียกความมั่นใจให้กลับคืนมา

โดยนายกิตติรัตน์ ระบุยืนยันว่า ทั้ง ธปท.และสภาพัฒน์ รวมถึงกระทรวงการคลังเอง ต่างต้องการให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตได้เต็มศักยภาพ สามารถส่งออกได้มากขึ้น แต่ทั้งนี้คงไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนแต่เพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ดี ขอให้มั่นใจในกลไกการทำงานของประเทศ รวมถึงความมีอิสระที่ต้องถ่วงดุลการทำงานระหว่างกัน

“ขอให้สบายใจในหน่วยงานกำกับดูแล ไม่ได้เป็นเรื่องที่ดูว่าใครจะเป็นผู้ชนะ เพราะประเทศนี้ไม่ใช่ของใคร แต่เป็นของประชาชน” นายกิตติรัตน์ ยืนยัน

พร้อมทั้งมีการรายงานที่ประชุม ครม. ถึง 4 มาตรการในการแก้ไขปัญหาเงินบาทแข็งค่า ตามที่ทาง ธปท.ได้เสนอ เพื่อให้ที่ประชุม ครม. ได้รับทราบ แต่ก็ไม่เป็นที่เปิดเผยว่าทั้ง 4 มาตรการมีรายละเอียดแต่ละมาตรการอย่างไรบ้าง

โดยรองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า ข้อเสนอบางข้อเสนอนั้น ก็อยู่ภายใต้อำนาจหน้าที่ของ ธปท. และผู้ว่า ธปท. ที่จะนำออกมาใช้ แต่ในบางข้อเสนอนั้น ก็จำเป็นจะต้องมีการแก้ไขกฎหมายเสียก่อนที่จะนำออกมาใช้ อีกทั้ง เห็นว่ามาตรการในบางข้อนั้น กนง. เห็นว่า ก่อนอนุมัติการบังคับใช้นั้น ต้องมีการพิจารณาข้อดีและข้อเสียอย่างละเอียดด้วย

จนล่าสุด เมื่อวันที่ 13 พ.ค.ที่ผ่านมา มีการประชุมนัดพิเศษร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลัง ธปท. กนง. สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าไทย สมาคมธนาคารไทย รวมถึงภาคธุรกิจเอกชน โดยนายกิตติรัตน์ ระบุว่า เป็นการเชิญภาคเอกชนมาหารือแลกเปลี่ยนข้อมูลภาพกว้างๆ ของเศรษฐกิจไทยใน 4 ส่วนหลักๆ ประกอบด้วย การใช้จ่ายภาครัฐ บรรยากาศในการลงทุนภาคเอกชนทั้งการลงทุนใหม่ และขยายการลงทุนเพิ่ม ทิศทางแนวโน้มการบริโภคภายในประเทศ และบรรยากาศการส่งออก รวมถึงการท่องเที่ยว

โดยที่ประชุมฯ มีความเห็นตรงกันว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2556 สามารถเติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่อง ภายหลังจากปี 2555 ที่เศรษฐกิจไทยต้องประสบกับปัญหา เนื่องจากน้ำท่วมรุนแรงจากปี 2554 การเบิกจ่ายงบประมาณการทำได้ล่าช้า รวมถึงตลาดการส่งออกที่อ่อนแอลง

พร้อมทั้งหารือกันถึงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเช่นกัน และมีความเข้าใจที่ตรงกันว่า มีความผันผวนเกินไป ส่งผลทำให้ภาคส่งออกได้รับผลกระทบ ดังนั้น ที่ประชุมจึงเห็นตรงกันว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องทำงานประสานกันระหว่างภาครัฐและเอกชน ที่จะดูแลไม่ให้อัตราแลกเปลี่ยนอ่อน หรือแข็งค่าจนเกินไป เมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้า

นายกิตติรัตน์ ระบุด้วยว่า เรื่องของอัตราดอกเบี้ยก็เป็นหนึ่งในแนวทางที่ดูแลอัตราแลกเปลี่ยน และก็เป็นหนึ่งในหลายๆ เรื่องที่คุยกัน ซึ่งในที่ประชุมก็หารือกันว่าต้องการที่จะทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจมีเสถียรภาพ

“เชื่อว่าหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบจะนำข้อมูลที่ได้หารือกันไปพิจารณา ผมเห็นว่าถ้า กนง.มั่นใจในการทำงานเรื่องนี้ ก็ขอให้ดูมาตรการด้านความรอบคอบ ผมเชื่อว่า กนง.ดูแลได้” นายกิตติรัตน์ กล่าว

ด้าน นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการฯ ธปท. ระบุตรงกันว่า ในที่ประชุมมีความเข้าใจร่วมกัน ปัจจุบันตลาดการเงินมีความผันผวน โดยในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา พบว่าเงินบาทอ่อนค่าลงบ้างแล้ว เนื่องจากเงินสกุลดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวก็แสดงให้เราเห็นว่า เราไม่ควรประมาท หรือวางใจในอัตราแลกเปลี่ยน

“เห็นว่าถ้าการประชุมแบบนี้มีประโยชน์ ธปท.ก็พร้อมที่จะสนับสนุนให้มีอีกตามความเหมาะสม โดยที่ประชุมไม่ได้กดดันเกี่ยวกับเรื่องดอกเบี้ยแต่อย่างใด” นายประสาร ระบุ

“ปู” สั่งถกร่วมดูแลค่าบาทอีก

อย่างไรก็ตาม เรียกว่าบรรยากาศในการร่วมกันดูแลค่าเงินบาทของทั้งภาครัฐ โดยเฉพาะกระทรวงการคลัง และ ธปท. เริ่มจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น มีการแสดงและยืนยันให้เห็นถึงการประสานการทำงานร่วมกัน และมีความเข้าใจที่ตรงกัน ล่าสุด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก็ออกมาแสดงความหวังว่า จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาให้กับภาคเอกชน และผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น

พร้อมเชื่อมั่นว่าจะเกิดการบูรณาการการทำงานของทุกหน่วยงานให้ดียิ่งขึ้น เพราะผู้ที่เดือดร้อนก็คาดหวังจะเห็นการทำงานร่วมกัน ซึ่งในส่วนของวิธีการนั้น ทาง ธปท.คงเป็นผู้ที่ดูแล โดยมีเป้าหมายหลักในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาท และแม้ว่าในขณะนี้ยังมีบางฝ่ายมองว่า ยังมีความเห็นไม่ตรงกัน แต่เชื่อว่าแม้วิธีการในการทำงานจะแตกต่างกัน แต่ก็หวังว่าวิธีการที่แตกต่างกันจะนำไปสู่ผลลัพธ์เดียวกันได้

โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ระบุว่า ได้ฝากให้นายกิตติรัตน์ ไปประชุมกับภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อดูแลปัญหาผลกระทบจากเงินบาทที่แข็งค่าในปีนี้

พร้อมยืนยันว่า ทางรัฐบาลและ ธปท.จะประสานความร่วมมือในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาท ทั้งนี้ ตนเห็นว่าการแก้ปัญหาต่างคนต่างแก้คงไม่ได้ เรื่องนี้เอกชนก็อยากเห็นทั้งกระทรวงการคลัง ธปท. และ กนง. พูดคุยกัน ซึ่งในส่วนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็ดูแลภาพรวม ขณะที่ในส่วนรายละเอียดก็เป็นหน้าที่ของ ธปท.

“ยืนยันว่าเป้าหมายเราเหมือนกัน ในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาท วิธีการคิดอาจจะต่างกัน แต่ผลลัพธ์เหมือนกัน ยืนยันว่า รัฐบาลจะดูแลและแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างเต็มที่” น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยืนยัน

พร้อมแสดงความเป็นห่วงต่อปัญหาเงินบาทแข็งค่าที่มีผลกระทบให้การส่งออกชะลอตัวทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยมีแนวทางการแก้ไข 7 ประการ ได้แก่ 1.พิจารณาผลักดันให้ใช้เงินบาทเป็นเงินสกุลหลักสำหรับการค้าขายในภูมิภาค 2.ให้แก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน 3.ให้ผู้ผลิตเพื่อส่งออกเพิ่มสัดส่วนวัตถุดิบในประเทศมากขึ้น 4.ให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มแก่อุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ขายสินค้าให้กับผู้ส่งออก และเมื่อได้รับเงินตราต่างประเทศแล้วสามารถใช้ชำระค่าสินค้าภายในประเทศได้โดยไม่ต้องแลกเป็นเงินบาท 5.ให้จัดหาสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนเพื่อสนับสนุนการพัฒนาสินค้าในด้านต่างๆ 6.ให้พิจารณาลดหย่อนภาษีสำหรับการนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับที่นำมาแสดงและซื้อขาย และ 7. ให้ ธปท. จัดทำข้อมูลเปรียบเทียบค่าเงินบาทกับเงินสกุลอื่นออกเผยแพร่

ดูเหมือนบรรยากาศในการทำงานร่วมกันของหน่วยงานยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจ ที่มีอำนาจในการกำกับดูแลนโยบายการเงิน และนโยบายการคลัง จะเริ่มเป็นไปในทิศทางที่ตรงกันแล้ว ซึ่งก็แน่นอนว่า ย่อมสร้างความสบายใจให้เกิดขึ้นกับภาคธุรกิจเอกชนรวมถึงนักลงทุน แต่ถึงแม้ว่าจะมีความเข้าใจและเป้าหมายที่ตรงกันแล้ว สังคมก็ยังคงต้องติดตามกันต่อไปว่า วิธีการที่นำไปสู่เป้าหมายของทั้ง ธปท. และ คลัง จะเหมือนหรือต่างกันอย่างไร ในการประชุม กนง. 29 พ.ค.นี้ รู้กัน

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 23 พฤษภาคม 2556

แหล่งน้ำ 20 ปี ฝันที่เป็นจริงของหนองบัวลำภู - ทิศทางเกษตร

นายระพี ผ่องบุพกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู เปิดเผยภายหลังพิธีเปิดโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำบอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู ว่า ชาวหนองบัวลำภูมีความปลื้มปีติเป็นล้นพ้น ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานแนวพระราชดำริ ให้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำบอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้น ซึ่งได้มีพิธีเปิดโครงการอย่างเป็นทางการ โดยนายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี เป็นประธานในพิธีเมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมา

โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำบองมีความจุระดับเก็บกักปกติ ที่ 20 ล้านลูกบาศก์เมตร แม้ว่าจะเป็นอ่างที่ไม่ใหญ่นัก แต่ก็สามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานให้แก่ชาวหนองบัวลำภู ได้อีกถึง 16,000 ไร่ ซึ่งจำนวนนี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ของพื้นที่ชลประทานที่มีอยู่

หนองบัวลำภูมีพื้นที่ 2,400,000 ไร่ เป็นพื้นที่การเกษตร 1,700,000 ไร่ แต่มีพื้นที่ชลประทานเพียง 90,000 กว่าไร่ หรือร้อยละ 2.51 ของพื้นที่การเกษตรเท่านั้น เพราะฉะนั้นจากเดิมที่มีอยู่ 9 หมื่นกว่าไร่ เมื่อโครงการอ่างเก็บน้ำแล้วเสร็จก็จะได้พื้นที่โครงการชลประทานเพิ่มอีก 16,000 ไร่ เพิ่มขึ้นประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ชลประทานที่มีอยู่

ความแห้งแล้งการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร และเพื่อการอุปโภคบริโภคของประชาชน หนองบัวลำภู ทำให้ชาวหนองบัวลำภูต้องประกอบอาชีพการเกษตรตามยถากรรม คือ ตามสภาพของฝนฟ้าอากาศ ปีไหนน้ำมากก็ไม่ได้ผลผลิต ปีไหนน้ำแล้งน้ำน้อยก็ไม่ได้ผลผลิต อย่างเช่นปี 2555 ที่ผ่านมา ในช่วงการผลิต 2555/2556 ปริมาณน้ำฝนมีเพียง 1 ,000 มิลลิเมตรต่อปีซึ่งปกติน้ำที่เหมาะสมจะอยู่ที่ 13,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี เพราะฉะนั้นในปีที่ผ่านมานับเป็นปีที่แห้งแล้งที่สุดในรอบ 50 ปี

พื้นที่การเกษตรของหนองบัวลำภูในปีที่ผ่านมา ข้าวยืนต้นตายถึง 300,000 กว่าไร่ ส่วนพืชไร่ที่ไม่ตายแต่ผลผลิตต่อไร่ก็ต่ำลง อย่างอ้อยต้นก็จะสั้นลง สร้างความเสียหายให้กับพี่น้องเกษตรกรเป็นอย่างยิ่ง ขณะเดียวกันตอนนี้ภัยที่กำลังเผชิญอยู่นอกจากด้านการเกษตรที่เสียหายแล้ว ด้านการอุปโภคและบริโภคก็กำลังเป็นภัยที่ประชาชนหนองบัวลำภูกำลังเผชิญอยู่ แม้แต่ในเขตเทศบาลเมืองหนองบัวลำภู ก็ต้องมีการจ่ายน้ำประปาเป็นเวลา ถือเป็นภัยพิบัติครั้งร้ายแรงของหนองบัวลำภูเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตามแม้เวลาจะผ่านล้วงไปถึง 20 กว่าปีเศษ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมาที่หนองบัวลำภู ขณะนั้นขึ้นอยู่กับจังหวัดอุดรธานี และท่านผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ในขณะนั้นได้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอให้สร้างอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำบองแห่งนี้

เวลาล่วงมากว่า 20 ปี แต่พระองค์ก็ยังทรงจดจำและเร่งรัดให้หน่วยงานราชการต่างๆ เข้ามาดำเนินการก่อสร้าง

“ในนามของพี่น้องประชาชนชาวหนองบัวลำภู ขอกราบสำนึกในพระมหา กรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้พระราชทานแนวพระราชดำริให้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำบอง ที่จะเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องเกษตรกรผู้ยากไร้ และจังหวัดหนองบัวลำภูจะนำสิ่งเหล่านี้ไปต่อยอดด้วยการขยายปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปให้พี่น้องประชาชนได้ถือปฏิบัติเพื่อให้เขาได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น” ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภูกล่าว

นายระพี ผ่องบุพกิจ กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า เมื่อมีน้ำแล้วก็จะต้องอนุรักษ์ และขยายแหล่งต้นน้ำของห้วยน้ำบอง ที่ภูเก้าภูพานคำ ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำของห้วยน้ำบอง ทางจังหวัดจะดำเนินการร่วมกับทางสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รณรงค์ให้มีการ ปลูกต้นไม้ ปลูกป่า ในพื้นที่ป่าต้นน้ำเพื่อจะให้พื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งเก็บกักน้ำตามธรรมชาติอย่างยั่งยืน และโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำบองอันเนื่องมาจากพระราชดำริแห่งนี้ จะได้มีน้ำเพื่อประชาชนชาวหนองบัวลำภูนำมาใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่องต่อไป.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 23 พฤษภาคม 2556

พาณิชย์ เร่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการไทยสู่เวทีการค้าระหว่างประเทศ

“พาณิชย์” ผนึกกำลังเอกชนเดินหน้า ชูศักยภาพโลจิสติกส์ จี้ทูตพาณิชย์เร่งหาพันธมิตรลงทุนในภูมิภาคก่อนเสียโอกาส เผยทิศทางการค้าระหว่างประเทศอาเซียน พึ่งพา “พลังงาน-ท่าเรือทวาย” สค.เชื่อหลังจัดแถวผู้ประกอบการในกิจกรรม“AEC Week” อาเซียนโตสวนทางศก.โลกทะลุ 12%

นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ(สค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงการจัดสัมมนา 2เรื่อง คือ “การค้าและพลังงาน” (Trade and Energy) กับการสัมมนาเรื่อง “ASEAN Connectivity และโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย” ซึ่งเป็นหนึ่งในจัดกิจกรรมใหญ่“AEC WEEK” ที่จะมีไปจนถึงวันที่ 29พฤษภาคมนี้ โดยกรมฯร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ร่วมเสริมสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการไทยสู่เวทีการค้าระหว่างประเทศว่า ท่าเรือน้ำลึกทวาย กับพลังงาน เป็นนโยบายของรัฐบาล ซึ่งจะเป็นนโยบายสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยไปสู่เป้าหมายความเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้และเสริมศักยภาพการรวมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี)

“นโยบายรัฐบาลต้องการเร่งให้เศรษฐกิจขยายตัวเต็มที่ จำเป็นต้องสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันในภาคการลงทุนและการผลิตของไทย ต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและกําหนดนโยบายด้านพลังงานที่ชัดเจน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ ได้วางยุทธศาสตร์การใช้อาเซียนเป็นฐานไปสู่เวทีโลก เพื่อใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบเชิงที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์ในภูมิภาคของไทยเป็นศูนย์กลางการค้าลงทุนในภูมิภาคและเร่งใช้ประโยชน์จากทรัพยากร ผู้ประกอบการและผู้บริโภคของอาเซียนเป็นฐาน เพื่อก้าวไปสู่การยกระดับให้ประเทศไทยมีการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้เจริญเติบโตอย่างยั่งยืน รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและและผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าและบริการในภูมิภาคอาเซียน ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555-2559)”นางศรีรัตน์ กล่าว

ในภาพรวมพลังงานของประเทศนั้น ไทยเป็นประเทศที่บริโภคพลังงานมากเป็นอันดับสองในกลุ่มอาเซียนรองจากอินโดนีเซีย มีความต้องการพลังงานเติบโตโดยเฉลี่ยปีละร้อยละ 2.3จนถึงปี 2573โดยยังต้องพึ่งพิงพลังงานประเภทซากพืชและสัตว์ (fossil) สูงมาก แบ่งเป็นน้ำมันสำหรับการคมนาคมและขนส่ง ร้อยละ 67ก๊าซธรรมชาติสำหรับการผลิตไฟฟ้า ร้อยละ 65 อย่างไรก็ตามประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน (energy elasticity) ยังไม่ดีพอ เนื่องจากมีทรัพยากรธรรมชาติด้านพลังงานในประเทศมีจำกัด โดยสามารถผลิตน้ำมันดิบได้เองวันละ 2.1แสนบาร์เรล ในขณะที่มีความต้องการ 8แสนบาร์เรล/วัน ปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติในประเทศใช้ไปได้อีกไม่เกิน 20ปี (ตามอัตราการใช้ในปัจจุบัน)

“ความท้าทายและความเสี่ยงด้านพลังงานของไทยในขณะนี้ คือ ปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติในประเทศจะหมดไปในอีก 15 - 20ปีข้างหน้า ในขณะที่ความต้องการพลังงานของประเทศยังคงขยายตัวในระดับสูงตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ยังต้องพึ่งพิงการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงชนิดเดียวในการผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนที่มีความเสี่ยงระดับสูงมาก (68%) ต้องนำเข้าพลังงานที่มีราคาแพงเพื่อมาทดแทนก๊าซธรรมชาติที่กำลังจะหมดไป (LPG/LNG) ต้องพึ่งพาประเทศเพื่อนบ้านในเรื่องความมั่นคงด้านพลังงาน”นางศรีรัตน์ กล่าว และว่า ดังนั้นการดำเนินการในเรื่องการบริหารการนำเข้าของกรมฯจะเข้าไปประสานงาน และบริหารจัดการในส่วนนี้ เพื่อให้เกิดการค้าแลกเปลี่ยนสินค้าบริการระหว่างกัน เพื่อสร้างแหล่งนำเข้าแลกเปลี่ยนพลังงานใหม่”

ทั้งนี้แนวทางดำเนินการรวมของหน่วยงานภาครัฐ จะมุ่งผลักดันให้เกิดการพึ่งพาตนเองทางด้านพลังงานของภาคประชาชน โดยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาชุมชนพลังงานพอเพียง การผลักดันให้เกิดการศึกษาค้นคว้านวัตกรรมทางด้านพลังงานทดแทน ให้มีการใช้เทคโนโลยีที่ผลิตโดยคนไทย เพื่อเป็นการลดต้นทุนทางด้านพลังงาน และผลักดันให้เกิดการกระจายตัวของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าของประเทศไม่ให้มีการกระจุกตัวที่เชื้อเพลิงชนิดหนึ่งชนิดใดมาเกินไป

สำหรับการสัมมนาเรื่อง “ASEAN Connectivity และโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย”นั้น การพัฒนาเต็มโครงการของท่าเรือน้ำลึกทวาย ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกของนิคมอุตสาหกรรม และมีทางเข้าออกโดยตรงสู่ทะเลอันดามัน จะประกอบด้วย อู่ต่อเรือ พื้นที่โกดังเก็บสินค้าและไซโล สิ่งอำนวยความสะดวกด้านระบบโลจิสติกส์ รวมทั้งอาคารเก็บสินค้าเทกองและตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ ประตูการค้าสู่ภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้นเมื่อประสานความเชื่อมโยงระหว่างท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือทวาย โดยท่าเรือทวาย ได้เปรียบเส้นทางการขนส่งไปทางตะวันตกและ ท่าเรือแหลมฉบัง ได้เปรียบเส้นทางการขนส่งไปทางตะวันออก

“ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับคือ เมื่อพิจารณาด้านศักยภาพความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ ท่าเรือน้ำลึกทวายจะเสริมศักยภาพของการเป็นโลจิสติกส์ฮับของไทย มีการเชื่อมโยงวัตถุดิบจากสหภาพพม่า ที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ด้านอุปทานแรงงานซึ่งมีอยู่จำนวนมาก และมีค่าจ้างแรงงานถูก เสริมความมั่นคงด้านพลังงาน กิจกรรมการผลิตในภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมต้นน้ำ เช่น ด้านปิโตรเคมี น้ำมัน โรงผลิตไฟฟ้า เป็นต้น” นางศรีรัตน์ กล่าว

การประชุม ติดตามสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศ ในช่วงครึ่งหลังของปี 2556ร่วมกับสำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ 4แห่ง หัวหน้าสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ 62สำนักงานทั่วโลก ภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์การค้าในปัจจุบัน ซึ่งประสบปัญหาอุปสรรคหลายด้าน รวมถึงการแข็งค่าและผันผวนของค่าเงินบาทที่มากกว่าค่าเงินของประเทศคู่แข่งขันในภูมิภาค ผลจากการหารือร่วมกันในครั้งนี้ ทำให้กระทรวงพาณิชย์ปรับเป้าหมายการส่งออกของปี 2556จากเดิมขยายตัวร้อยละ 8-9 เป็นขยายตัวร้อยละ 7 - 7.5 หรือ มีมูลค่าส่งออกรวม 245,585 – 246,733ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ทั้งนี้ มีความเชื่อมั่นในการผลักดันการส่งออกให้เพิ่มขึ้นในตลาดใหม่ๆ โดยเฉพาะตลาดอาเซียน ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกถึงร้อยละ 25 ของการส่งออกรวม ปีนี้คาดว่าการส่งออกจะขยายตัวร้อยละ 12.4 จากเดิมที่ตั้งเป้าหมายไว้ที่ร้อยละ 10

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 22 พฤษภาคม 2556

ก.เกษตรฯ เร่งทำต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรเป็นรายแปลง

นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้เชิญประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการผลิตกลุ่มสินค้าเกษตรทั้ง 11 คณะ เพื่อติดตามความก้าวหน้าผลการศึกษาวิเคราะห์สินค้าเกษตรเป็นรายสินค้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่มีความสำคัญ ได้แก่

ข้าว อ้อย สับปะรด มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา กล้วยไม้ ไม้ดอกไม้ประดับ สินค้าประมง และสินค้าปศุสัตว์ เป็นต้น ซึ่งผลการศึกษาวิเคราะห์ดังกล่าวจะทำให้ทราบข้อมูล ในทุกมิติ ทั้งช่วงฤดูการผลิต ปริมาณผลผลิตรายปี ต้นทุนการผลิต จำนวนเกษตรกร พื้นที่ที่มีการผลิตมาก ปริมาณความต้องการในประเทศ เป็นต้น ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการวางแผนการผลิตให้มีความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ โดยจะนำมาเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดและจังหวัด เพื่อขับเคลื่อนแผนการผลิตสินค้าเกษตรตามเขตเกษตรเศรษฐกิจ (โซนนิ่ง) ให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐทั้งในระดับภาพรวมและระดับพื้นที่ ทั้งนี้ คาดว่าจะได้ข้อสรุปของผลการศึกษาภายในเดือน 1-2 เดือนนี้ เพื่อนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการเขตเกษตรเศรษฐกิจและคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์เพื่อพิจารณาในลำดับต่อไป

นายชวลิต กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงมีข้อมูลด้านการผลิตสินค้าเกษตรในเรื่องของต้นทุนการผลิต พื้นที่ปลูกหรือช่วงฤดูการผลิต แต่ไม่มีข้อมูลต้นทุนการผลิตเป็นรายแปลงหรือรายครัวเรือน ดังนั้น จึงจำเป็นต้องศึกษาข้อมูลเชิงลึกของการผลิตสินค้าเกษตรเป็นรายแปลง เมื่อเกษตรกรต้องการเพาะปลูกหรือผลิตสินค้าเกษตรชนิดใดข้อมูลจากคณะอนุกรรมการฯ 11 คณะจะสามารถสนับสนุนความต้องการทำการเกษตรของเกษตรกรได้อย่างชัดเจนว่า พืชชนิดใดควรปลูกหรือไม่ หรือตลาดต้องการสินค้าเกษตรประเภทใด ควรเพิ่มหรือลดการผลิตอย่างไร ซึ่งเมื่อมีข้อมูลรายแปลงหรือครัวเรือนที่ชัดเจนแล้วจะสามารถวางแผนการผลิตที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ได้มากขึ้น

"สิ่งสำคัญที่คณะอนุกรรมการฯจะต้องเร่งดำเนินการศึกษาวิเคราะห์คือการทราบต้นทุนที่ใกล้เคียงความเป็นจริงที่มากที่สุด ซึ่งจะสามารถตอบโจทย์และทำให้ทราบว่าคุ้มหรือไม่คุ้มที่เกษตรกรจะปลูกพืชใดชนิดหนึ่งหรือทำการเกษตรประเภทใด ที่เหมาะสมกับพื้นที่และภูมิภาค ขณะเดียวกันก็เป็นการผลิตสินค้าเกษตรที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค สอดคล้องกับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศด้วย ทำให้การพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศเติบโตอย่างยั่งยืนและต่อเนื่อง" นายชวลิต กล่าว

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 22 พฤษภาคม 2556

มิตรผลชูกลยุทธ์ “ชูการ์ วาไรตี้”ขยายฐานลูกค้ารับ AEC

กลุ่มมิตรผลเปิดเกมรุกตลาดความหวาน เดินหน้าสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์น้ำตาลคุณภาพ ชูกลยุทธ์ “ชูการ์ วาไรตี้” จากเกล็ดน้ำตาล…สู่การสร้างสรรค์นวัตกรรม ตอบโจทย์ลูกค้า
ทั้งในและต่างประเทศ ตอกย้ำความเป็นผู้นำตลาดในทุกเซ็กเม้นท์ พร้อมส่งผลิตภัณฑ์ใหม่ “น้ำตาลอ้อยธรรมชาติ” จับกลุ่มผู้บริโภคที่ชื่นชอบความหอมหวานของอ้อยธรรมชาติแท้ 100% ดีเดย์เปิดตัวอย่างเป็นทางการในงานแสดงสินค้าอาหาร 2556 ไทยเฟค - เวิลด์ ออฟ ฟู้ด เอเชีย เตรียมพบกับกิจกรรมความหวานหลายรูปแบบจากน้ำตาลมิตรผลหลากชนิด ระหว่างวันที่ 22-26 พ.ค. นี้ ณ ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ 1-3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี

นางอัมพร กาญจนกำเนิด รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานการตลาด กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า กลุ่มมิตรผลให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์น้ำตาลรูปแบบใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เพราะเราเข้าใจถึงความต้องการใช้น้ำตาลที่แตกต่างกัน ทำให้เรามองเห็นโอกาสในการขยายตลาดน้ำตาลให้เติบโตอย่างมั่นคง ด้วยการพัฒนานวัตกรรมที่สะท้อนถึงความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์และไลฟ์สไตล์เข้าด้วยกัน และเพื่อให้สอดรับกับแนวคิดนี้ น้ำตาลมิตรผลจึงได้ปรับกลยุทธ์การตลาดคู่ขนานไปกับการต่อยอดนวัตกรรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อเป็นทางเลือกในการนำไปใช้งานที่เหมาะสม ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคมากที่สุด โดยกำหนดเซ็กเม้นท์ของน้ำตาลตามคุณสมบัติเด่นของน้ำตาลแต่ละประเภทภายใต้แบรนด์มิตรผล ดังนี้

1. น้ำตาลสำหรับประกอบอาหารและเครื่องดื่มทั่วไป ได้แก่ น้ำตาลทรายบริสุทธิ์ และน้ำเชื่อม
2. น้ำตาลสำหรับมืออาชีพที่ต้องพิถีพิถันเป็นพิเศษ ได้แก่ น้ำตาลกรวด น้ำตาลทรายแดง และน้ำตาลปี๊บ
3. น้ำตาลเสริมกลิ่นหอม ได้แก่ น้ำตาลมิตรผลโกลด์ น้ำตาลคอฟฟี่ ชูการ์ สำหรับกาแฟโดยเฉพาะ และน้ำเชื่อมแต่งกลิ่นมิตเต้ (กลิ่นคาราเมล วานิลลา และฮาเซลนัท)
4. น้ำตาลเพิ่มความสะดวกในการใช้งาน ได้แก่ น้ำตาลทรายบริสุทธิ์แบบซองยาว และแบบขวด รวมทั้งน้ำเชื่อมจากอ้อยธรรมชาติ แบบขวดและซองตั้ง
5. น้ำตาลเพื่อสุขภาพ ได้แก่ มิตรผลแคลอรี
นางอัมพร กล่าวเพิ่มเติมว่า กลยุทธ์ทางการตลาด โดยการกำหนดกลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อการขยายตลาดที่ชัดเจนนี้ จะผลักดันน้ำตาลแต่ละประเภทภายใต้แบรนด์มิตรผลให้มีการเติบโตต่อเนื่องยิ่งขึ้น และล่าสุดมิตรผลได้พัฒนา “น้ำตาลอ้อยธรรมชาติ” หรือ Mitr Phol Natural Cane Sugar เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคที่ชื่นชอบความหอมหวานของกลิ่นอ้อยธรรมชาติแท้ๆ เนื่องจากน้ำตาลอ้อยธรรมชาติมิตรผล ผลิตจากอ้อยคุณภาพดี ผ่านกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานระดับโลก จนมาเป็นน้ำตาลที่สะอาด และยังคงความหอมหวานจากอ้อยธรรมชาติไว้ได้อย่างลงตัว “น้ำตาลอ้อยธรรมชาติ” จะเป็นอีกผลิตภัณฑ์ความหวานที่ผู้บริโภคสามารถเลือกใช้ได้กับทุกเมนู อาหารคาว หวาน และเครื่องดื่มทุกประเภทที่ต้องการกลิ่นหอมหวานได้อย่างตรงใจ

สำหรับกลยุทธ์การตลาดเพื่อโปรโมทผลิตภัณฑ์น้องใหม่ “น้ำตาลอ้อยธรรมชาติ” นี้ จะมีการแนะนำสู่ผู้บริโภคในงานแสดงสินค้าอาหาร 2556 ไทยเฟค - เวิลด์ ออฟ ฟู้ด เอเชีย ผ่านกิจกรรมที่สะท้อนไลฟ์สไตล์ที่ลงตัวของผู้บริโภคในแต่ละเซ็กเม้นท์ ระหว่างวันที่ 22-26 พ.ค. 56 ณ ชาเลนเจอร์ 1-3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยในระยะแรกจะมุ่งสร้างการรับรู้ เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อให้เกิดการทดลองใช้ผลิตภัณฑ์ ผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ ณ จุดขาย สื่อออนไลน์ และการแนะนำบอกต่อของลูกค้า ซึ่งด้วยกลยุทธ์และจุดเด่นของผลิตภัณฑ์นี้ คาดว่าได้รับความนิยมจากผู้บริโภคอย่างแพร่หลาย

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 22 พฤษภาคม 2556

พาณิชย์ เร่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการไทยสู่เวทีการค้าระหว่างประเทศ

“พาณิชย์” ผนึกกำลังเอกชนเดินหน้า ชูศักยภาพโลจิสติกส์ จี้ทูตพาณิชย์เร่งหาพันธมิตรลงทุนในภูมิภาคก่อนเสียโอกาส เผยทิศทางการค้าระหว่างประเทศอาเซียน พึ่งพา “พลังงาน-ท่าเรือทวาย” สค.เชื่อหลังจัดแถวผู้ประกอบการในกิจกรรม“AEC Week” อาเซียนโตสวนทางศก.โลกทะลุ 12%

นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ(สค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงการจัดสัมมนา 2เรื่อง คือ “การค้าและพลังงาน” (Trade and Energy) กับการสัมมนาเรื่อง “ASEAN Connectivity และโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย” ซึ่งเป็นหนึ่งในจัดกิจกรรมใหญ่“AEC WEEK” ที่จะมีไปจนถึงวันที่ 29พฤษภาคมนี้ โดยกรมฯร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ร่วมเสริมสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการไทยสู่เวทีการค้าระหว่างประเทศว่า ท่าเรือน้ำลึกทวาย กับพลังงาน เป็นนโยบายของรัฐบาล ซึ่งจะเป็นนโยบายสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยไปสู่เป้าหมายความเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้และเสริมศักยภาพการรวมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี)

“นโยบายรัฐบาลต้องการเร่งให้เศรษฐกิจขยายตัวเต็มที่ จำเป็นต้องสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันในภาคการลงทุนและการผลิตของไทย ต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและกําหนดนโยบายด้านพลังงานที่ชัดเจน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ ได้วางยุทธศาสตร์การใช้อาเซียนเป็นฐานไปสู่เวทีโลก เพื่อใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบเชิงที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์ในภูมิภาคของไทยเป็นศูนย์กลางการค้าลงทุนในภูมิภาคและเร่งใช้ประโยชน์จากทรัพยากร ผู้ประกอบการและผู้บริโภคของอาเซียนเป็นฐาน เพื่อก้าวไปสู่การยกระดับให้ประเทศไทยมีการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้เจริญเติบโตอย่างยั่งยืน รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและและผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าและบริการในภูมิภาคอาเซียน ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555-2559)”นางศรีรัตน์ กล่าว

ในภาพรวมพลังงานของประเทศนั้น ไทยเป็นประเทศที่บริโภคพลังงานมากเป็นอันดับสองในกลุ่มอาเซียนรองจากอินโดนีเซีย มีความต้องการพลังงานเติบโตโดยเฉลี่ยปีละร้อยละ 2.3จนถึงปี 2573โดยยังต้องพึ่งพิงพลังงานประเภทซากพืชและสัตว์ (fossil) สูงมาก แบ่งเป็นน้ำมันสำหรับการคมนาคมและขนส่ง ร้อยละ 67ก๊าซธรรมชาติสำหรับการผลิตไฟฟ้า ร้อยละ 65 อย่างไรก็ตามประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน (energy elasticity) ยังไม่ดีพอ เนื่องจากมีทรัพยากรธรรมชาติด้านพลังงานในประเทศมีจำกัด โดยสามารถผลิตน้ำมันดิบได้เองวันละ 2.1แสนบาร์เรล ในขณะที่มีความต้องการ 8แสนบาร์เรล/วัน ปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติในประเทศใช้ไปได้อีกไม่เกิน 20ปี (ตามอัตราการใช้ในปัจจุบัน)

“ความท้าทายและความเสี่ยงด้านพลังงานของไทยในขณะนี้ คือ ปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติในประเทศจะหมดไปในอีก 15 - 20ปีข้างหน้า ในขณะที่ความต้องการพลังงานของประเทศยังคงขยายตัวในระดับสูงตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ยังต้องพึ่งพิงการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงชนิดเดียวในการผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนที่มีความเสี่ยงระดับสูงมาก (68%) ต้องนำเข้าพลังงานที่มีราคาแพงเพื่อมาทดแทนก๊าซธรรมชาติที่กำลังจะหมดไป (LPG/LNG) ต้องพึ่งพาประเทศเพื่อนบ้านในเรื่องความมั่นคงด้านพลังงาน”นางศรีรัตน์ กล่าว และว่า ดังนั้นการดำเนินการในเรื่องการบริหารการนำเข้าของกรมฯจะเข้าไปประสานงาน และบริหารจัดการในส่วนนี้ เพื่อให้เกิดการค้าแลกเปลี่ยนสินค้าบริการระหว่างกัน เพื่อสร้างแหล่งนำเข้าแลกเปลี่ยนพลังงานใหม่”

ทั้งนี้แนวทางดำเนินการรวมของหน่วยงานภาครัฐ จะมุ่งผลักดันให้เกิดการพึ่งพาตนเองทางด้านพลังงานของภาคประชาชน โดยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาชุมชนพลังงานพอเพียง การผลักดันให้เกิดการศึกษาค้นคว้านวัตกรรมทางด้านพลังงานทดแทน ให้มีการใช้เทคโนโลยีที่ผลิตโดยคนไทย เพื่อเป็นการลดต้นทุนทางด้านพลังงาน และผลักดันให้เกิดการกระจายตัวของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าของประเทศไม่ให้มีการกระจุกตัวที่เชื้อเพลิงชนิดหนึ่งชนิดใดมาเกินไป

สำหรับการสัมมนาเรื่อง “ASEAN Connectivity และโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย”นั้น การพัฒนาเต็มโครงการของท่าเรือน้ำลึกทวาย ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกของนิคมอุตสาหกรรม และมีทางเข้าออกโดยตรงสู่ทะเลอันดามัน จะประกอบด้วย อู่ต่อเรือ พื้นที่โกดังเก็บสินค้าและไซโล สิ่งอำนวยความสะดวกด้านระบบโลจิสติกส์ รวมทั้งอาคารเก็บสินค้าเทกองและตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ ประตูการค้าสู่ภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้นเมื่อประสานความเชื่อมโยงระหว่างท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือทวาย โดยท่าเรือทวาย ได้เปรียบเส้นทางการขนส่งไปทางตะวันตกและ ท่าเรือแหลมฉบัง ได้เปรียบเส้นทางการขนส่งไปทางตะวันออก

“ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับคือ เมื่อพิจารณาด้านศักยภาพความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ ท่าเรือน้ำลึกทวายจะเสริมศักยภาพของการเป็นโลจิสติกส์ฮับของไทย มีการเชื่อมโยงวัตถุดิบจากสหภาพพม่า ที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ด้านอุปทานแรงงานซึ่งมีอยู่จำนวนมาก และมีค่าจ้างแรงงานถูก เสริมความมั่นคงด้านพลังงาน กิจกรรมการผลิตในภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมต้นน้ำ เช่น ด้านปิโตรเคมี น้ำมัน โรงผลิตไฟฟ้า เป็นต้น” นางศรีรัตน์ กล่าว

การประชุม ติดตามสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศ ในช่วงครึ่งหลังของปี 2556ร่วมกับสำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ 4แห่ง หัวหน้าสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ 62สำนักงานทั่วโลก ภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์การค้าในปัจจุบัน ซึ่งประสบปัญหาอุปสรรคหลายด้าน รวมถึงการแข็งค่าและผันผวนของค่าเงินบาทที่มากกว่าค่าเงินของประเทศคู่แข่งขันในภูมิภาค ผลจากการหารือร่วมกันในครั้งนี้ ทำให้กระทรวงพาณิชย์ปรับเป้าหมายการส่งออกของปี 2556จากเดิมขยายตัวร้อยละ 8-9 เป็นขยายตัวร้อยละ 7 - 7.5 หรือ มีมูลค่าส่งออกรวม 245,585 – 246,733ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ทั้งนี้ มีความเชื่อมั่นในการผลักดันการส่งออกให้เพิ่มขึ้นในตลาดใหม่ๆ โดยเฉพาะตลาดอาเซียน ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกถึงร้อยละ 25 ของการส่งออกรวม ปีนี้คาดว่าการส่งออกจะขยายตัวร้อยละ 12.4 จากเดิมที่ตั้งเป้าหมายไว้ที่ร้อยละ 10

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 22 พฤษภาคม 2556

ส.ป.ก.เร่งแก้ไขปัญหาที่ดิน

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยหลังการประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินว่า เกษตรกรในพื้นที่ ส.ป.ก.ที่ได้รับ

ผลกระทบจากการขอใช้ที่ดินเพื่อก่อสร้างด่านศุลกากรแห่งใหม่ จังหวัดสงขลา จำนวนพื้นที่ 600 ไร่ รวมทั้งเรียกร้องให้กรมศุลกากรจ่ายค่าชดเชยให้กับเกษตรกรเท่ากับที่กรม ทางหลวงเวนคืนที่จะให้ค่าเสียโอกาส

นอกจากนี้ได้ร้องขอให้ ส.ป.ก.ช่วยประสานงานกับทางการมาเลเซียว่าจะสร้างด่านศุลกากรในตำแหน่งที่ตรงกับฝั่งไทยจริงหรือไม่ เมื่อทางการมาเลเซียตอบมาแล้วจะได้หารือกับเกษตรกรต่อไป

นอกจากนี้ที่ประชุม ส.ป.ก.ได้มีการหารือถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินแปลงใหญ่ในเขตปฏิรูปที่ดิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี และกระบี่ ที่เกษตรกรขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม เรียกร้องให้ ส.ป.ก.เร่งดำเนินการจัดที่ดินแปลงใหญ่ในเขตปฏิรูปที่ดิน ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบกิจการสวนปาล์มได้ครอบครองที่ดินโดยมิชอบด้วยกฎหมายและ ส.ป.ก.ได้ดำเนินคดีเพื่อนำที่ดินมาจัดสรรให้แก่เกษตรกรแล้ว 800 ไร่ จากทั้งหมด 7,000 ไร่ โดยรายที่ยังไม่คืนที่ให้กับ ส.ป.ก.อยู่ระหว่างการดำเนินคดี.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 22 พฤษภาคม 2556

แหล่งน้ำในจังหวัดมหาสารคามเริ่มเสื่อมโทรม วอนเร่งบำบัดน้ำเสีย ลดการใช้สารเคมีภาคการเกษตร

สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 10 ออกตรวจสอบคุณภาพน้ำผิวดินที่จังหวัดมหาสารคาม พบแหล่งน้ำคุณภาพเริ่มเสื่อมโทรมถึงเสื่อมโทรมมาก โดยเฉพาะพื้นที่อำเภอเมือง บรบือ และโกสุมพิสัย เร่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำระบบบำบัดน้ำเสียชุมชน รณรงค์ให้ความรู้ในการใช้สารเคมีแก่เกษตร นายธวัช ปทุมพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 10 จังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า ตามที่ได้ดำเนินการติดตาม ตรวจสอบคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำสายหลัก ในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม ระหว่างวันที่ 5 กุมภาพันธ์-5 มีนาคม 2556 จำนวน 2 ลำน้ำ ได้แก่ แม่น้ำชี แม่น้ำเสียว และลำน้ำพรม รวม 5 จุด ผลการติดตามตรวจสอบพบว่า คุณภาพน้ำในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม อยู่ในเกณฑ์ดี ร้อยละ 20 คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรม ร้อยละ 60 และคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมมาก ร้อยละ 20 ซึ่งแหล่งน้ำคุณภาพที่อยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมถึงเสื่อมโทรมมาก ได้แก่ แม่น้ำชีบริเวณวัดวารินทราวาส ตำบลท่าตูม อำเภอเมือง พบค่าออกซิเจนละลายน้ำ 1.9 มิลลิกรัม/ลิตร จัดอยู่ในแหล่งน้ำประเภทที่ 5 คือ แหล่งน้ำที่ได้รับน้ำทิ้งจากกิจกรรมบางประเภท และสามารถเป็นประโยชน์เพื่อการคมนาคม แหล่งน้ำบริเวณสะพานใกล้วัดบ้านดินดำ ตำบลเกิ้ง อำเภอเมือง พบความสกปรกในรูป BOD มีค่า 3.55 มิลลิกรัม/ลิตร จัดอยู่ในแหล่งน้ำประเภทที่ 4 คือแหล่งน้ำที่ได้รับน้ำทิ้งจากกิจกรรมบางประเภท และสามารถเป็นประโยชน์เพื่อการอุปโภค บริโภคและการอุตสาหกรรม แหล่งน้ำบริเวณสะพานบ้านคุ้มใต้ ตำบลหัวขวาง อำเภอโกสุมพิสัย พบความสกปรกในรูป BOD มีค่า 2.28 มิลลิกรัม/ลิตร จัดอยู่ในแหล่งน้ำประเภทที่ 4 และแม่น้ำเสียว บริเวณฝายห้วยเสียว ตำบลบรบือ อำเภอบรบือ พบความสกปรกในรูป BOD มีค่า 3.10 มิลลิกรัม/ลิตร จัดอยู่ในแหล่งน้ำประเภทที่ 4

ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 10 จังหวัดขอนแก่น กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรการป้องกันและแก้ไขเพื่อปรับสภาพแหล่งน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่มีคุณภาพดี ทางจังหวัดมหาสารคาม จะต้องมีการประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้คำปรึกษา ดำเนินการป้องกันและแก้ไขด้วยการ ให้มีการบำบัดน้ำเสียชุมชน ตั้งแต่ต้นจากครัวเรือน สถานประกอบการ ร้านอาหารหรือติดตั้งบ่อดักไขมันก่อนการระบายสู่แหล่งน้ำ พร้อมทั้งรณรงค์ให้ความรู้ที่ถูกต้องในการใช้สารเคมีทางการเกษตรแก่เกษตร เพื่อร่วมกันรักษาสภาพแหล่งน้ำดังกล่าวให้มีคุณภาพต่อไป

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 22 พฤษภาคม 2556

พาณิชย์ลดเป้าโตส่งออกเหลือ 7-7.5 % เหตุบาทแข็งค่าพ่นพิษ

นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรางพาณิชย์ เปิดเผยว่าภายหลังการประชุมร่วมกับผู้อำนวยการส่งเสริมการในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) เพื่อทบทวนเป้าหมายการส่งออก ที่ประชุมเห็นชอบให้มีการปรับลดเป้าหมายการส่งออกลงจากเดิมเติบโต 8-9% ลดเหลือ 7-7.5% และมีมูลค่าที่ 2.45-2.46 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสาเหตุที่ต้องปรับลดเป้าหมายการส่งออกลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทผันผวน ทำให้กำหนดราคาแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้ลำบาก

นอกจากนี้ยังต้องเผชิญปัญหากับต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้น การขาดแคลนแรงงาน และเกิดโรคระบาดตายด่วนหรือโรคอีเอ็มเอสในอุตสาหกรรมกุ้งจนทำให้การส่งออกลดลง ประกอบกับปัจจัยเศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนสูง และมีการลดจีดีพีโลกจาก 3.5% เหลือ 3.3% โดยเฉพาะรัฐบาลสหรัฐได้ลดการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ รวมถึงเศรษฐกิจในสหภาพยุโรปยังไม่พื้นตัว เช่นเดียวกับเศรษฐกิจจีนที่มีการขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลง

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ธปท.พร้อมใช้ดอกเบี้ยดูแลเศรษฐกิจ

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.พร้อมที่จะใช้นโยบายการเงินในการดูแลเศรษฐกิจ แต่ต้องขอดูในรายละเอียดให้รอบคอบก่อนว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไตรมาสแรกปีนี้ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประกาศออกมาที่ 5.3% ซึ่งต่ำกว่าที่ธปท.คาดไว้ที่ 7.1% นั้น ในรายละเอียดใส้ในแล้วเกิดจากสาเหตุอะไร

แต่ในเบื้องต้นที่ดูตัวเลขที่น่าสนใจ คือ อุปสงค์ในประเทศที่ประกาศออกมาต่ำกว่าที่ ธปท. คาดไว้มาก โดยธปท.คาดไว้ 6.1% แต่สภาพัฒน์ประกาศออกมา 3.9% โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนต่ำกว่าที่ ธปท. คาดไว้ รวมถึงการลงทุนก็ต่ำกว่าคาด แต่การลงทุนต่ำพอเข้าใจได้ เพราะในส่วนของผู้ประกอบการส่งออกและนำเข้ามีการชะลอลการลงทุนไปบ้างพอสมควร

“ถ้าเศรษฐกิจชะลอ ก็ต้องดูว่าจะมีผลต่อเนื่องหรือไม่ แต่การชะลอตัวของเศรษฐกิจไม่ถือว่าเกินจาก ธปท. คาดไว้ เพราะเดิมมีการกระตุ้นต่อเนื่องจากน้ำท่วมและมาตรการที่รัฐช่วย แต่พอเลิกก็ต้องชะลอบ้าง ธปท.ประเมินว่าปีนี้เศรษฐกิจจะค่อยๆมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะปกติ ส่วนนโยบายการเงินจำเป็นต้องมาช่วยดูแลในส่วนนี้หรือไม่นั้น นโยบายการเงินดูแลอยู่แล้ว ถ้าเศรษฐกิจโตไม่เต็มศักยภาพ นโยบายการเงินต้องมาเติมให้เต็ม ถ้าเศรษฐกิจผ่อนแรงขับเคลื่อนหรือโมเมนตัมน้อย ดอกเบี้ยก็สามารถผ่อนได้ แต่ต้องดูให้รอบคอบก่อนพิจารณา” นายประสารกล่าว

อย่างไรก็ตาม นายประสาร กล่าวยืนยันว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจไตรมาสแรกไม่ได้เป็นผลจากภาคส่งออกหรือนำเข้าชะลอจนผิดคาด เพราะการแข็งค่าของเงินบาท เนื่องจากมูลค่าการส่งออกที่ สศช. ประกาศยังขยายตัวได้ในระดับใกล้เคียงกับที่ ธปท. คาดการณ์ไว้ แสดงว่า การลดลงไม่น่ามีผลจากมูลค่าส่งออกหรือค่าเงิน เพราะเบื้องต้นข้อมูลที่ลดลง คือ อุปสงค์ในประเทศ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งต้องไปดูว่าลดเพราะสาเหตุอะไร เพราะดัชนีการบริโภคเอกชนคาดไว้ 5.8% แต่สภาพัฒน์ประกาศ 4.2% แต่มูลค่าการส่งออกที่ธปท.คาดอยู่ที่ 8.4% เท่ากับที่สภาพัฒน์ประกาศ 8.4%

นายประสาร กล่าวต่อว่า ถึงสถานการณ์ค่าเงินบาทจะมีเสถียรภาพมากขึ้น อยู่ระดับ 29. 80 บาทต่อเหรียญสหรัฐ แต่ก็ยังไว้ใจสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ผิดปกติและตลาดการเงินโลกผันผวนไม่ได้ จำเป็นต้องเตรียมมาตรการไว้รับมือ ซึ่ง ธปท. ก็เตรียมาตรการและเสนอมาตรการดูแลเงินทุนเคลื่อนย้ายไปที่กระทรวงการคลังแล้ว เพราะบางต้องอาศัยอำนาจกระทรวงการคลัง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามาตรการทุกอย่างที่เตรียมไว้ต้องใช้พร้อมกัน

ด้านนายปฤษันต์ จันทน์หอม ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ธปท. กล่าวว่า สถานการณ์เศรษฐกิจในต่างประเทศและเศรษฐกิจโลกมีสัญญาณฟื้นตัวมากขึ้นในปี 2557 โดยคาดว่า สหรัฐฯน่าจะเป็นประเทศที่มีโอกาสฟื้นตัวได้ก่อน ซึ่งถ้าเศรษฐกิจโลกดีขึ้น การส่งออกของไทยจะได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจคู่ค้าที่ฟื้นตัวดีขึ้นด้วย

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

'ไถระเบิดดินดาน'พืชโตเร็ว-ผลผลิตเพิ่ม เปิดหน้าดิน 'ไถระเบิดดินดาน' วิธีทำพืชโตเร็ว-ให้ผลผลิตเพิ่ม : โดย...สุรัตน์ อัตตะ

ต้องยอมรับว่าปัญหาอย่างหนึ่งที่เกษตรกรทั่วประเทศต้องประสบพบเจอในระหว่างการเตรียมพื้นที่ปลูกพืช นั่นก็คือสภาพพื้นที่ที่เป็นดินดาน แข็งกระด้างอันเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเจริญเติบโตของต้นพืช ซึ่งทางออกของปัญหาดังกล่าว โดยกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็ได้แนะนำด้วยการ “ไถระเบิดดินดาน” เพื่อขจัดปัญหาดินดานออกจากพื้นที่เกษตรของเกษตรกร

พรรณพิมล ชัญญานุวัตร อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรให้คำแนะนำว่า ปัญหาดินดานเป็นชั้นดินที่เกิดการอัดแน่นจากน้ำหนักกดทับ (COMPACTION) ที่ผิวดิน อาทิ จากน้ำหนักของเครื่องจักรกลเกษตร น้ำหนักโคและกระบือ น้ำหนักของน้ำ หรือแรงกระแทกของฝน และอื่นๆ หรือแม้แต่น้ำหนักของเนื้อดินเอง ซึ่งกดทับจนกระทั่งโครงสร้างของดินเปลี่ยนแปลงไป ส่วนใหญ่ชั้นดินดานเกิดขึ้นที่ความลึก 30-50 เซนติเมตร ทำให้ดินมีลักษณะแน่นและแข็งเป็นแผ่น ขาดช่องว่างสำหรับน้ำและอากาศ ส่งผลให้ต้นพืชไม่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในแหล่งปลูกที่เป็นดินดาน

"เกษตรกรสามารถสังเกตพื้นที่ที่เป็นดินดานได้ง่ายๆ คือ 1.ดินแข็งมากโดยเฉพาะดินใต้รอยไถจะเป็นแผ่นแข็ง 2.น้ำท่วมขัง หลังฝนตกน้ำจะไม่ซึมลงสู่ดินชั้นล่าง 3.ดินแน่นแข็งทำให้รากพืชตื้น ไม่แผ่ขยาย ส่วนพืชหัว เช่น มันสำปะหลัง มีขนาดเล็กให้ผลผลิตต่ำ และ 4.น้ำไหลบ่าชะล้างหน้าดินเสียหาย"

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรระบุอีกว่า หากพบว่าพื้นที่การเกษตรของตนเองเป็นดินดาน เกษตรกรควรไถระเบิดดินดาน โดยนำขาไถที่แข็งแรงกดลงไปในดินด้วยแรงกดของไฮดรอลิกส์จากท้ายรถแทรกเตอร์ แล้วใช้กำลังของรถแทรกเตอร์ที่วิ่งไปข้างหน้า ฉุดลากให้ขาไถเดินหน้าไป พร้อมกับการแหวกชั้นดินดานให้แตกออก เกษตรกรควรไถลึกไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตรนับจากผิวดิน ถ้าไถตื้นกว่านี้อาจไม่สามารถทำลายชั้นดินดานได้

สำหรับการเลือกใช้ไถระเบิดดินดานนั้น พรรณพิมลบอกว่าสามารถเลือกขาไถได้ตั้งแต่ 1 ขาขึ้นไป แต่ความห่างระหว่างรอยไถแต่ละรอยต้องไม่เกิน 50 เซนติเมตร เพื่อให้ดินดานแตกร้าวได้ทั่วถึงกัน ซึ่งการเลือกใช้ชุดไถระเบิดดินดานที่มีจำนวนขามากจะทำให้ทำงานได้รวดเร็ว ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายทั้งค่าน้ำมันเชื้อเพลิง หรือค่าจ้างรถไถ แต่มีข้อจำกัด คือ หากจำนวนขาไถมาก ต้องใช้รถแทรกเตอร์ฉุดลากที่มีแรงม้าและแรงบิด (TORQUE) สูงขึ้น เนื่องจากต้องฉุดลากไถหลายขาพร้อมกัน ซึ่งปกติการไถระเบิดดินดานต้องการแรงม้าจากรถแทรกเตอร์ประมาณ 105-130 แรงม้าสำหรับไถ 5 ขา

ทั้งนี้ ไถระเบิดดินดานที่ออกแบบดี จะกินแรงรถแทรกเตอร์น้อยกว่าในกรณีที่ไถลึกและสภาพความแข็งของดินเท่ากัน อย่างไรก็ตาม การไถระเบิดดินดานควรทำในช่วงสภาพดินแห้งและแข็ง จะทำให้ดินดานแตกร้าวได้ดีที่สุด

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรยังย้ำถึงข้อดีของการไถระเบิดดินดานว่า การไถระเบิดดินดานสามารถช่วยลดความแน่นและความแข็งของดินได้ ทั้งยังช่วยปรับโครงสร้างของดิน ทำให้ดินโปร่ง รากพืชหยั่งได้ลึก ชอนไชได้ง่าย หาอาหารและดูดซึมธาตุอาหารในดินได้สะดวก ทำให้ต้นพืชเจริญเติบโตได้ดี ขณะเดียวกันยังช่วยให้น้ำระบายลงสู่ชั้นใต้ดินได้ดี ป้องกันปัญหาน้ำท่วมขัง เป็นการสะสมน้ำเก็บไว้ในดิน รากพืชจะดูดซึมน้ำขึ้นมาใช้ได้เมื่อเกิดฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ซึ่งจะทำให้การผลิตพืชทุกชนิดได้ผลผลิตเต็มที่ หรือได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตามสำหรับเกษตรกรหรือผู้สนใจเกี่ยวกับ “การไถระเบิดดินดาน” สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กองส่งเสริมวิศวกรรมเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร โทร.0-2940-6185 หรือศูนย์ส่งเสริมวิศวกรรมเกษตรที่ 1 จ.ชัยนาท โทร.0-5647-6596 ศูนย์ส่งเสริมวิศวกรรมเกษตรที่ 2 จ.พิษณุโลก โทร.0-5531-1155 ศูนย์ส่งเสริมวิศวกรรมเกษตรที่ 3 จ.ร้อยเอ็ด โทร.0-4356-9115 และศูนย์ส่งเสริมวิศวกรรมเกษตรที่ 4 จ.เพชรบุรี โทร.0-3250-8022

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ส่งยุวเกษตรกรไทยไปญี่ปุ่น

การพัฒนาอาชีพเกษตรกรของไทย ให้แข็งแกร่งด้วยการสร้างรากฐานความรู้และประสบการณ์ให้แก่เกษตรกรรุ่นใหม่ หรือยุวเกษตรกร อาจมิใช่เพียงการศึกษาจากเกษตรกรต้นแบบในพื้นที่เพียงอย่างเดียว แต่การหาประสบการณ์จากต่างแดนเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เล็งเห็นถึงความสำคัญ และได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงการฝึกงานผู้นำเยาวชนเกษตรกรไทยในครอบครัวเกษตรกรญี่ปุ่น ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากสภาแลกเปลี่ยนทางการเกษตรแห่งประเทศญี่ปุ่น (Japan Agricultural Exchange Counil : JAEC) โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2526 เป็นต้นมา

ดร.วีระชัย นาควิบูลย์วงศ์ เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กล่าวว่า ส.ป.ก.ได้เข้าร่วมโครงการฝึกงานผู้นำเยาวชนเกษตรกรไทยในครอบครัวเกษตรกรญี่ปุ่น มาตั้งแต่ปี 2552 ปัจจุบันมีเยาวชนเกษตรกรที่ผ่านการฝึกอบรมแล้ว 4 รุ่น จำนวน 23 คน ซึ่งในปี 2556 มีเยาวชนเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน ที่ผ่านการคัดเลือกให้เดินทางไปฝึกงาน ณ ประเทศญี่ปุ่น จำนวน 3 คน ได้แก่ นายโสภณ เรียนเกิด เยาวชนเกษตรกรจากจังหวัดลพบุรี นางสาวขวัญนภา เทศชารี เยาวชนจากจังหวัดขอนแก่น และนางสาวจุฑารัตน์ เสียมคำปัง เยาวชนจาก จังหวัดนครราชสีมา

“การคัดเลือกยุวเกษตรกรของ ส.ป.ก. เพื่อเป็นตัวแทนเข้าร่วมในโครงนี้ จะเน้นยุวเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีความสามารถ มีทักษะทางด้านภาษาและที่สำคัญคือ ต้องมีความอดทนค่อนข้างสูง เนื่องจากต้องจากบ้านไปถึง 11 เดือน เพื่อไปอยู่กับครอบครัวเกษตรกรชาวญี่ปุ่น” เลขาธิการ ส.ป.ก.กล่าว

ดร.วีระชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการนี้จะช่วยสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ของไทยที่มีศักยภาพ เพราะการได้ไปสัมผัสและเรียนรู้การจัดการทางด้านเกษตรของญี่ปุ่น ช่วยเปิดโลกทัศน์และมุมมองใหม่ ๆ ในการทำเกษตรกรรม เยาวชนไทยจะได้เรียนรู้เทคนิควิธีการต่าง ๆ ของชาวญี่ปุ่นได้นำมาพัฒนา

ต่อยอดอาชีพของตนเองได้ และถือเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเกษตรกรญี่ปุ่นโดยผู้ที่ผ่านโครงการนี้ส่วนใหญ่สามารถพัฒนาอาชีพของตนเอง กลายเป็นผู้นำชุมชนในพื้นที่ และเป็นต้นแบบให้แก่คนรุ่นใหม่ได้เดินรอยตาม

นางสาวจุฑารัตน์ เสียมคำปัง เยาวชนจากจังหวัดนครราชสีมา ผู้ผ่านการคัดเลือกเป็นตัวแทนไปฝึกงานในประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า เริ่มรู้จักโครงการนี้ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ที่สนใจเนื่องจากเป็นโครงการที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และให้โอกาสได้ไปฝึกงานกับครอบครัวของเกษตรกรชาวญี่ปุ่น ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการทำเกษตร วิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่น และพัฒนาทักษะทางด้านภาษาที่เพิ่มขึ้น โดยส่วนตัวชอบแนวคิดของชาวญี่ปุ่นที่ล้ำหน้า และน่าจะเป็นประโยชน์ในการนำมาปรับใช้กับกิจการฟาร์มปศุสัตว์ของครอบครัวให้พัฒนาดีขึ้น และในอนาคตอาจจะพัฒนาพื้นที่ให้เป็นศูนย์การเรียนของเด็ก ๆในชุมชนด้วย หรืออาจพัฒนาพื้นที่ว่างเปล่า เพื่อการปลูกพืชผลให้ได้คุณภาพ

ขณะที่ นางสาวขวัญนภา เทศชารี เยาวชนจากจังหวัดขอนแก่น กล่าวถึงโครงการนี้ว่า เป็นโอกาสดีที่ได้ไปฝึกงานที่ญี่ปุ่น เพื่อจะได้เรียนรู้การดำเนินชีวิตของชาวญี่ปุ่นว่าเป็นอย่างไร โดยเฉพาะเทคนิคการปลูกผักให้ประสบความสำเร็จ เพื่อนำมาพัฒนาแปลงผักของศูนย์การเรียนรู้ในชุมชนที่ยังประสบปัญหาให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น

ด้าน นายโสภณ เรียนเกิด เยาวชนจากจังหวัดลพบุรี กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่ดีมาก ทำให้ได้มีโอกาสไปฝึกงานที่ประเทศญี่ปุ่น โดยเรื่องที่สนใจเป็นพิเศษคือ การปลูกผักแบบไม่ใช้ดิน การทำปุ๋ยไว้ใช้เอง ระบบการจัดการน้ำ และการใช้ประโยชน์จากสิ่งของเหลือใช้

อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวมิใช่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นให้ยุวเกษตรกรไทย ได้รู้จักภาคการเกษตรในวิถีของชาวญี่ปุ่นเท่านั้น แต่เป็นการสร้างโอกาสให้เด็กรุ่นใหม่ที่มีใจรักในอาชีพเกษตรกรได้พัฒนาตนเอง พัฒนาชุมชนที่ตนเองรัก และท้ายที่สุดคือการพัฒนาภาคการเกษตรของไทยให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

เกษตรฯ ลงนามร่วม FAO

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ร่วมลงนามเอกสารโครงการความร่วมมือทางวิชาการภายใต้กรอบความร่วมมือระดับประเทศกับ FAO ซึ่งการลงนามในครั้งนี้ ได้ลงนามใน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการ TCP/THA/3403 “National Agro-economic Zoning for Major Crops in Thailand” ลงนามกับเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และโครงการ TCP/THA/3401 “Enhancement of Beef Productivity through Animal Identification and Traceability” ลงนามร่วมกับอธิบดีกรมปศุสัตว์

สำหรับโครงการ “National Agro-economic Zoning for Major Crops in Thailand” หรือ การแบ่งเขตเกษตรเศรษฐกิจสำหรับพืชหลักในประเทศไทยที่ทาง สศก. ได้ร่วมลงนามนั้น ได้มุ่งสร้างมาตรฐานของชุดข้อมูลผ่านเว็บท่า (Web portal) เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย พร้อมกับมีการแลกเปลี่ยนและติดต่อระหว่างกันเพิ่มขึ้น และนำข้อมูลเหล่านี้นำมาใช้ในการแบ่งเขตเกษตรเศรษฐกิจสินค้าเกษตรหลักให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งในการจัดทำการแบ่งเขตเกษตรเศรษฐกิจสินค้าเกษตรหลัก จะมีการพิจารณาข้อมูลด้านการเปลี่ยนแปลงความต้องการด้านอาหาร ด้านอาหารสัตว์ การส่งออกและพลังงานชีวภาพ รวมถึงมาตรการจูงใจด้านสังคมและเศรษฐกิจ เพื่อให้ผลตอบแทนสูงสุดแก่เกษตรกรและรัฐบาลด้วย.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

พด.จัดใหญ่วันสถาปนาฯครบ 50ปี โชว์ผลงานสนองพระราชดำริ-ชูจัดโซนนิ่งพืชศก.

นายเกรียงศักดิ์ หงษ์โต อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า วันที่ 23 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสถาปนากรมพัฒนาที่ดิน โดยปีนี้ครบรอบ 50 ปี กรมพัฒนาที่ดินจึงกำหนดจัดงานดังกล่าวขึ้น ระหว่างวันที่ 22 – 24 พฤษภาคม ในหัวข้อ “กึ่งศตวรรษพัฒนาที่ดิน ธำรงถิ่นเกษตรไทย ก้าวไกลด้วยนวัตกรรม” ที่กรมพัฒนาที่ดิน ถ.พหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ เพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านการพัฒนาที่ดิน และทรงพระราชทานแนวทางพระราชดำริด้านต่างๆ เพื่อช่วยเหลือพสกนิกรให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ภายในงานมีการรวบรวมโครงการพระราชดำริที่กรมได้สนองพระราชดำริ รวมทั้งความสำเร็จของกรมในรอบ 50 ปี ในแต่ละด้านตามที่มีพันธกิจเกี่ยวข้อง ตั้งแต่การสำรวจดิน โดยสามารถดูได้ในพิพิธภัณฑ์ดิน ตลอดจนโครงการหลวง ที่กรมเข้าไปบริหารจัดการเรื่องการปรับปรุงดิน การใช้หญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีโครงการพระราชดำริอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น โครงการทุ่งกุลาร้องไห้ ที่กรมเข้าไปช่วยเรื่องการสำรวจวางแผนการระบายน้ำ เนื่องจากปัญหาใหญ่ของที่นี่คือ เวลาฤดูฝนน้ำท่วม ฤดูแล้งน้ำแล้ง จึงต้องมีการระบายและชะลอน้ำ เพื่อเก็บเอาไว้ให้เกษตรกรสามารถที่จะใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งปัจจุบันผลผลิตข้าวหอมมะลิในทุ่งกุลาร้องไห้เพิ่มขึ้นมาเป็นลำดับ เหลือเพียงการร่วมกันพัฒนาดินให้มีความสมบูรณ์ ลดการใช้สารเคมี

ขณะเดียวกัน ยังมีกิจกรรมอื่นๆ อาทิ การถ่ายทอดองค์ความรู้ของกรมพัฒนาที่ดิน การจัดนิทรรศการเทคโนโลยีพัฒนาที่ดิน 4 ภาค การใช้โปรแกรมปุ๋ยรายแปลง Version 4 การสาธิตการใช้ LDD Test Kit การเปิดบ้านพัฒนาที่ดิน ชมหน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวกับการผลิตสารเร่ง พด. ชนิดต่างๆ และเปิดตัวสารเร่งจุลินทรีย์ซุปเปอร์ พด. 6 ที่ปรับปรุงใหม่สำหรับใช้บำบัดน้ำเสียกำจัดลูกน้ำยุงรำคาญ เป็นต้น ทั้งนี้ ไฮไลต์ของงานอยู่ที่การจัดแสดงนิทรรศการกึ่งศตวรรษพัฒนาที่ดินกับอนาคตในทศวรรษหน้า และการกำหนดเขตการใช้ที่ดินพืชเศรษฐกิจ (Zoning) ซึ่งจำเป็นที่ต้องทำความเข้าใจกับเกษตรกร เรื่องการปลูกพืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เพื่อผลผลิตที่มีคุณภาพและต้นทุนต่ำ หากเกษตรกรปลูกในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม รัฐบาลจะเข้าไปช่วยเหลือในการปรับเปลี่ยนอาชีพ หรือแนะนำให้หันไปปลูกพืชชนิดอื่นที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่มากกว่า โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยที่พึ่งพาตัวเองตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รัฐบาลก็จะช่วยในเรื่องแหล่งน้ำ พันธุ์สัตว์ พันธุ์พืช เพื่อทำให้เกษตรกรมีภูมิคุ้มกันที่ดี

จาก http://www.naewna.com วันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

เกษตรสร้างสรรค์ : โซนแล้วอย่านิ่ง

การกำหนดเขตปลูกพืชที่เหมาะสม(Zoning) คิดกันมานาน แต่ไม่เคยทำจริงเสียที จนมีรัฐบาลนี้แหละที่กล้าลุยโซนนิ่งอีกครั้ง

ว่าไปแล้ว การโซนนิ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก สามารถกำหนดพื้นที่ปลูกพืชที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตในตัว ทั้งยังจะบริหารจัดการผลผลิตได้ดียิ่งขึ้น สร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรมากขึ้น

ดีอย่างนี้ แล้วทำไมไม่มีรัฐบาลไหนสนใจทำ หรือมีแต่คนเบ้หน้าเมื่อบอกว่ารัฐบาลจะทำจริง

คุณฉลอง เทพวิทักษ์กิจ รองปลัดกระทรวงเกษตรฯบอกว่า ที่กระทรวงเกษตรฯทำอยู่ ณ ขณะนี้เป็นการโซนนิ่งขั้นตอนแรก ซึ่งอาศัยข้อมูลแผนที่จากกรมพัฒนาที่ดินมาจัดวางพื้นที่เหมาะสมกับการปลูกพืช โดยแบ่งเป็นเหมาะสมมาก เหมาะสมปานกลาง เหมาะสมน้อย และไม่เหมาะสม

พื้นที่เหมาะสมมาก และเหมาะสมปานกลางเท่านั้น ที่จะประกาศเป็นเขตปลูกพืชที่เหมาะสม นอกจากนั้นต้องเปลี่ยนไปปลูกพืชอย่างอื่น หรือการเกษตรอื่น เช่น ปศุสัตว์ ประมง หรือควบรวมอย่างแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

ปัญหาหลักการเกษตรไทยคือต้นทุนการผลิตสูง เพราะไปปลูกในพื้นที่ไม่เหมาะสม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งเชื่อมโยงกับผลผลิตล้นตลาด ทำให้ราคาตกต่ำ เกษตรกรก็มีปัญหา ถ้าประกาศโซนนิ่งได้ก็จะเป็นเครื่องมือหนึ่งในการแก้ไขปัญหานี้

ขั้นตอนหลังประกาศพื้นที่รอบแรกไปแล้ว จังหวัดต่างๆต้องสำรวจพื้นที่เหมาะสมและเสนอมายังกระทรวงเกษตรฯ พร้อมๆกับที่กระทรวงเกษตรฯมิหมายให้กรมต่างๆจัดทำแผนขึ้นมาเช่นเดียวกัน แต่กรมฯมักเน้นที่การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งยิ่งจะทำให้ผลผลิตล้นความต้องการมากขึ้น จึงได้สั่งทบทวนโดยขอให้เน้นการปรับเปลี่ยนพืชที่เหมาะสมเป็นหลัก

รองปลัดฯฉลองบอกว่า โจทย์ใหม่ของกระทรวงเกษตรฯในอนาคต คือต้องกล้าวางแผนปรับเปลี่ยนการปลูกพืช อันไหนไม่เหมาะสมก็ต้องกล้าเปลี่ยน อาจไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนทั้งหมดเสียทีเดียว ค่อยๆเพื่อให้เกิดความมั่นใจ สุดท้ายเกษตรกรก็จะเปลี่ยนเอง แต่หน่วยงานราชการต้องไปทำโครงการตัวอย่างให้เขาเห็นก่อน

ประเด็นที่สำคัญที่สุดในการโซนนิ่งอยู่ที่นโยบายรัฐบาล ต้องชัดเจนและดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นใจให้เกษตรกร และต้องใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศเข้าไปช่วยในระดับแปลงเกษตรกรรายคน หากทำได้ต่อไปการแก้ไขปัญหาผลผลิต และราคาพืชผลก็ง่ายเข้า การรับจำนำหรือประกันหรือการให้ความช่วยเหลือสามารถเข้าถึงตัวเกษตรกร โดยไม่อาจหมกเม็ดหรือหลอกเหมือนในปัจจุบัน เพราะจะยืนยันด้วยข้อมูลรายแปลง ใครมีที่กี่ไร่ ปลูกอะไรกี่ไร่ ระบุออกมาได้หมดด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่

ส่วนเรื่องที่ว่า เกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่โซนนิ่งกับพวกนอกโซนนิ่งได้รับสิทธิประโยชน์เท่าเทียมกัน ทำให้เกษตรกรไม่กระตือรือร้นเข้าร่วมด้วยนั้น คุณฉลองบอกว่า ถ้าเริ่มต้นโดยให้สิทธิประโยชน์แตกต่างกันเลย เท่ากับหักดิบก็จะวุ่นวาย และสั่นคลอนเสถียรภาพใครได้ ตรงข้าม ยังคงให้สิทธิประโยชน์เท่าเทียมกันระยะหนึ่ง จนเมื่อเกษตรกรเห็นชัดถึงประโยชน์ของการโซนนิ่งก็จะค่อยๆปรับลดสิทธิประโยชน์เพื่อให้เห็นความแตกต่างได้ ซึ่งถึงเวลานั้นเชื่อว่าเกษตรกรจะเปลี่ยนใจกันมาก

ฟังแล้วก็พอฟังขึ้น แต่สุดท้ายขึ้นกับนโยบายรัฐบาลจะเอาจริงเอาจังไหม ที่สำคัญปล่อยให้หน่วยงานระดับกรมฯทำโครงการโน่นนี่แล้วต้องตามไปตรวจสอบดู ไม่งั้นก็เหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำอีก เวลานี้แม่น้ำในเมืองไทย เป็นแม่น้ำพริกแทบหมดแล้ว

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ศก.หมดแรงบาทแข็งส่งออกวืด 1.8 แสนล. สศช.หั่นจีดีพีปี 56 เหลือ 4.2-5.2%

สศช.ชี้เศรษฐกิจส่งสัญญาณแผ่วต่อเนื่อง ไตรมาสแรกจีดีพีโตแค่ 5.3% ประกาศหั่นเป้าทั้งปี เหลือแค่ 4.2-5.2% เหตุค่าเงินบาทแข็งพ่นพิษ มูลค่าการส่งออกหายไปกว่า 1.8 แสนล้านบาท เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้า แนะกนง.ลดดอกเบี้ยกระตุ้นเศรษฐกิจ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กล่าวว่า สภาพัฒน์ปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ปี 2556 ลงเหลือ 4.2-5.2% จากประมาณการณ์เดิม 4.5-5.5% หลังไตรมาสแรกของปีจีดีพีขยายตัวที่ 5.3%หลังจากเร่งตัวขึ้น19.1%ในไตรมาส 4/2555 ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ต่ำ เนื่องจากการส่งออกขยายตัวช้ากว่าคาด รวมทั้งการปรับสมมติฐานอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก และราคาสินค้าส่งออก

อีกทั้งความเสี่ยงในครึ่งปีหลังยังอยู่ในเกณฑ์สูงจากความล่าช้าในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกทั้งของสหรัฐฯ และ ญี่ปุ่น, ความล่าช้าในการฟื้นตัวของราคาสินค้าในตลาดโลก, การแข็งค่าของเงินบาท, ฐานการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เริ่มสูง และการลดลงของแรงส่งจากมาตรการคืนภาษีให้ผู้ซื้อรถยนต์คันแรก

ทั้งนี้ สภาพัฒน์ประเมินว่าค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจากระดับ 31 บาท/ดอลลาร์ มาอยู่ที่ประมาณ 29 บาท/ดอลลาร์ในขณะนี้ ทำให้มูลค่าการส่งออกหายไปประมาณ 1.8 แสนล้านบาท

นายอาคมกล่าวอีกว่าถึงแม้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะยังคงเป็นบวก แต่ต้องยอมรับว่ามาจากเศรษฐกิจภายในประเทศ เพราะเศรษฐกิจจากภายนอกประเทศยังคงมีความผันผวนและไม่แน่นอนสูง ซึ่งมีผลอย่างมากต่อภาคการส่งออกคิดเป็นสัดส่วน 70% เมื่อเทียบกับอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวม

ดังนั้นการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 29 พฤษภาคมนี้ต้องพิจารณาในหลายประเด็นเพื่อดูแลนโยบายการเงินให้มีความเหมาะสม และควรนำข้อมูลการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจเข้าไปร่วมประกอบการพิจารณาด้วย หากจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยควรให้มีผลตอบรับ แต่การพิจารณาต้องขึ้นอยู่กับกนง. ว่าจะพิจารณาอย่างไร แต่ในปัจจุบันภาวะการไหลเข้าของเงินทุนยังคงมีต่อเนื่อง ดังนั้นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยถือเป็นส่วนช่วยในภาวะเศรษฐกิจที่มีสัญญาณการชะลอตัว

อย่างไรก็ตามแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจช่วงไตรมาส 2/2556 คาดว่าน่าจะมีสัญญาณของการชะลอตัวต่อเนื่อง แต่ต้องติดตามภาคการส่งออกว่าจะฟื้นตัวดีขึ้นหรือไม่ในสถานการณ์ที่ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่า ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอน ดังนั้นจึงควรมาเน้นการค้าในภูมิภาค

ส่วนนโยบายการดูแลการเคลื่อนย้ายเงินทุน มองว่านโยบายการเงินและนโยบายการคลังควรต้องสอดคล้องกัน แต่ในปัจจุบันการไหลเข้าของเงินทุนของต่างชาติมีความรวดเร็วมาก ดังนั้นนโยบายการเงินจึงสามารถปฏิบัติได้รวดเร็วกว่านโยบายการคลังที่มีแต่มาตรการภาษีเพียงด้านเดียว และจะต้องใช้ระยะเวลานานในการบังคับใช้ ขณะที่นโยบายการเงินมีความยืดหยุ่นมากกว่า ซึ่งหากการไหลเข้าของเงินทุนชะลอนโบายการเงินก็สามารถปรับเปลี่ยนได้ดีกว่านโยบายการคลัง ในภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนกำลังซื้อชะลอตัว การพิจารณานโยบายควรมีความเหมาะสม และสามารถแข่งขันได้กับประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง โดยเฉพาะเรื่องของราคาสินค้าที่กำลังมีอุปสรรคจากค่าเงินบาทที่แข็งค่า

"นโยบายดอกเบี้ยเปรียบเสมือนวาล์วปิดเปิดท่อน้ำไหลเข้าออก ซึ่งปัจจุบันเงินทุนจากต่างชาติมีแนวโน้มไหลเข้ามาแรงควรจะต้องพิจารณาว่าจะต้องปิดเปิดอย่างไร และการวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจไตรมาส 1 ก็มีสัญญาณของการชะลอ เศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอน ดังนั้นการไหลเข้าของเงินทุนจากนโยบาย QE ของสหรัฐฯและญี่ปุ่นที่ยังคงมีมาก หากประเทศไทยยังไม่แสดงความชะล่าใจเกี่ยวกับความกังวลของเศรษฐกิจแล้วก็จะเป็นช่องโหว่ให้เงินทุนไหลเข้ามามากขึ้นได้"

นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ยอมรับว่าตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกที่สภาพัฒน์ประกาศออกมาที่5.3%ต่ำกว่าที่ ธปท.คาดการณ์ไว้ว่าน่าจะโตประมาณ 7% แต่คงต้องดูรายละเอียดก่อนว่า ตัวเลขดังกล่าวมาจากปัจจัยใด ขณะที่ประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยทั้งปีธปท.ตั้งเป้าไว้ที่ 5.1%

ก่อนหน้านี้นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธปท.ในฐานะประธานกนง.ระบุว่าในการประชุมกนง.วันที่ 29 พฤษภาคมนี้จะนำข้อมูลจากสภาพัฒน์ไปประกอบการพิจารณาดอกเบี้ยนโยบายซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 2.75%ว่าจะปรับลดหรือไม่ ท่ามกลางกระแสกดดันจากรัฐบาลโดยเฉพาะนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง รวมถึงผู้ส่งออกที่ต้องการให้กนง.ลดดอกเบี้ยเพื่อสกัดกั้นเงินทุนไหลเข้าและลดแรงกดดันเงินบาทที่แข็งค่า

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

กรมพัฒนาที่ดิน จัดงานครบรอบปีที่ 50 แสดงผลงานด้านการพัฒนาพื้นที่การเกษตรไทย ตั้งเป้านำเทคโนโลยีใช้พัฒนาที่ดินสร้างสมดุลการผลิตสินค้าเกษตรรองรับการแข่งขันในตลาดอาเซียน

นายเกรียงศักดิ์ หงษ์โต อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า ในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนากรมพัฒนาที่ดิน ครบรอบ 50 ปี วันที่ 23 พฤษภาคมนี้ กรมพัฒนาที่ดิน ได้งาน “กึ่งศตวรรษกรมพัฒนาที่ดิน ธำรงถิ่นเกษตรไทย ก้าวไกลด้วยนวัตกรรม” ระหว่างวันที่ 22-24 พฤษภาคมนี้ ณ กรมพัฒนาที่ดิน เพื่อเทิดพระเกียรติและสำนึกพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านการพัฒนาที่ดิน พร้อมทั้งพระราชทานแนวพระราชดำริด้านต่างๆ ช่วยเหลือพสกนิกรให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยภายในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการกึ่งศตวรรษพัฒนาที่ดินกับอนาคตในทศวรรษหน้า การกำหนดเขตการใช้ที่ดินพืชเศรษฐกิจ นิทรรศการเทคโนโลยีพัฒนาที่ดิน 4 ภาค การเปิดบ้านพัฒนาที่ดิน การจัดประชุมวิชาการ จัดอบรมการใช้ผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีการเกษตรสำหรับประชาชน

อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ยังกล่าวถึงการดำเนินงานต่อจากนี้ ว่า จะมีการนำเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดินมาใช้ และการพัฒนาบุคลากร เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ทั้งการจัดทำเขตเหมาะ อาทิ การปลูกพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิด เพื่อสร้างสมดุลในการผลิตสินค้าเกษตร และให้สำนักงานพัฒนาที่ดิน 12 เขต สถานีพัฒนาที่ดินทั่วประเทศ เป็นศูนย์เรียนรู้การพัฒนาที่ดิน เพื่อนำไปปรับใช้ในพื้นที่อย่างเหมาะสม

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

สธ.ห่วงเกษตรกรไทยมีสารเคมีอันตรายในเลือดสูง

น.พ.ประดิษฐ์ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ห่วงใยเกษตรกร โดยเฉพาะหลังวันพืชมงคลเป็นสัญญาณเริ่มทำการเพาะปลูก ซึ่งปัจจุบันการเพาะปลูกต้องมีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น การทำนาเมื่อเริ่มมีต้นกล้าก็มีแมลงมากัดกินต้นกล้าของเกษตรกร เกษตรกรบางรายจึงใช้สารกำจัดศัตรูพืชป้องกันต้นกล้า เป็นต้น และจากการตรวจเลือดเกษตรกรและประชาชนทั่วประเทศในปี พ.ศ.2554 และ 2555 พบว่ากลุ่มเกษตรกรและประชาชนมีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในเลือดอยู่ในระดับที่อันตรายและไม่ปลอดภัยสูงมากกว่า 30% และจากการรวบรวมผู้ป่วยจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช จากโรงพยาบาลทั่วประเทศ พบว่าในปี 2554 มีผู้ป่วยด้วยสารเคมีดังกล่าว 7,395 ราย ที่หาสาเหตุว่าเกิดจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช โดยเกิดจากการพ่นสารเคมีหรือกินโดยไม่รู้ตัว 1,576 ราย และเกิดโดยทำร้ายตัวเองหรือประสงค์ฆ่าตัวตายด้วยการกิน 5,087 ราย และป่วยโดยสาเหตุอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง 222 ราย นอกนั้นไม่ทราบสาเหตุแต่มีอาการคล้ายอีก 510 ราย ซึ่งเหล่านี้ถือเป็นการเจ็บป่วยจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชแบบเฉียบพลัน
ด้าน ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการศึกษาการนำเข้าสารกำจัดศัตรูพืช แต่ละปีมีการนำเข้าจำนวนมหาศาล และนำเข้าเพิ่มขึ้น ดังนี้ ตั้งแต่ปี 2550-2554 มีการนำเข้าปีละ 14,000, 18,000, 16,000, 16,000 และ 20,000 ล้านบาทเศษ ตามลำดับ ถ้าวัดเป็นปริมาณการนำเข้าตั้งแต่ปี 2548-2552 มีปริมาณมากถึง 5 แสนกว่าตัน เทียบเท่ากับตึกใบหยกทั้งตึก ส่วนจังหวัดที่มีเกษตรกรและประชาชนมีความเสี่ยงต่อการมีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในเลือดสูง และมีอัตราป่วยจากสารกำจัดศัตรูพืชสูง 10 จังหวัดแรกตามลำดับ ได้แก่ ตาก จันทบุรี อุทัยธานี ชัยนาท อ่างทอง สิงห์บุรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี แม่ฮ่องสอน และกำแพงเพชร จากการสอบสวนโรคจากผู้ป่วยและผู้ใกล้ชิดผู้ป่วย พบว่าส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรมการใช้สารกำจัดศัตรูพืชไม่ถูกต้อง ดังนั้นการป้องกันโรคพิษสารกำจัดศัตรูพืชจึงเป็นสิ่งสำคัญมากเกษตรกรควรปฏิบัติ

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

เกษตรสร้างสรรค์ : อานิสงส์ปฏิทินน้ำ

ปฏิทินสากล ถือเอาวันที่ 1 มกราคมเป็นวันเริ่มต้นปี แล้วยึดเอาวันที่ 31 ธันวาคมเป็นวันสิ้นปี

ปฏิทินน้ำ กำหนดรอบการบริหารจัดการน้ำ 12 เดือนเท่ากัน โดยแบ่งออกเป็น 2 รอบฤดูคือ ฤดูฝน กับ ฤดูแล้ง อย่างละ 6 เดือนเท่ากัน และมีจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดต่างจากปฏิทินทั่วไป

โดยรอบฤดูฝนนั้น เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม- 31 ตุลาคม ส่วนรอบฤดูแล้ง นับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน- 30 เมษายนของปีถัดไป แล้วหมุนเวียนเป็นวัฏจักรอย่างนี้เรื่อยไป

ในอดีตการทำนาซึ่งเป็นหัวใจหลักของการเกษตร อาศัยน้ำฝนอย่างเดียว ปีหนึ่งจึงทำนาเพียง 1 ครั้ง จึงเรียกว่า นาปี แต่เมื่อความต้องการข้าวมากขึ้น ทั้งเพื่อบริโภคและส่งออก จึงต้องพัฒนาแหล่งน้ำชลประทานเพิ่มเติม โดยมีกรมชลประทานเป็นหัวเรือใหญ่ในการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก

เมื่อมีน้ำต้นทุนบริบูรณ์ก็ทำนาปรังในหน้าแล้งเพิ่มเติมนอกเหนือนาปี บางแห่งหนักหนาถึงทำนาปรังรอบที่ 2 ด้วยซ้ำ ล้วนเป็นอานิสงส์จากแหล่งน้ำชลประทาน

ทุ่งเจ้าพระยา เดิมทีมีเพียงเขื่อนภูมิพล จ.ตาก และเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ ยืนหยัดเป็นเสาหลักแหล่งน้ำต้นทุน ด้วยความจุ 13,000 ล้านลูกบาศก์เมตร และ กว่า 9,500 ล้านลูกบาศก์เมตร ตามลำดับ แต่เมื่อต้องการพัฒนาเป็นแหล่งปลูกข้าวเต็มศักยภาพ ก็จำต้องสร้างเขื่อนใหม่ เช่น เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก ส่งน้ำลงมาสมทบ ในฤดูแล้งบางปี ยังต้องผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี ข้ามมาลงแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วยไล่น้ำเค็มอีกแรงหนึ่งด้วยซ้ำ

ทุ่งเจ้าพระยา จึงเปล่งศักยภาพเป็นอู่ข้าว อู่น้ำ ที่สมบูรณ์แบบที่สุดของประเทศ นอกเหนือจากสภาพดินที่เหมาะแก่การทำนาเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว

ฤดูแล้งที่เพิ่งพ้นผ่าน (1 พฤศจิกายน 2555-30 เมษายน 2556) แหล่งน้ำต้นทุนสำหรับทุ่งเจ้าพระยา เป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่า สามารถยันสถานการณ์แล้งได้เป็นอย่างดีด้วยการจัดสรรน้ำเข้าสู่พื้นที่เพาะปลูกฤดูแล้งได้ตามเป้าหมาย 9,000 ล้านลูกบาศก์เมตร

เช่นเดียวกัน ฤดูฝนที่กำลังย่างกราย (1 พฤษภาคม-31 ตุลาคม 2556) กรมชลประทานได้วางแผนจัดสรรน้ำ 4,160 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยคำนวณจากน้ำใช้การในอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ 2,416 ล้านลูกบาศก์เมตรหรือ 15% ของความจุรวม ณ วันที่ 1 พฤษภาคม 2556 เป็นตัวตั้ง ที่เหลือเป็นน้ำฝนที่ตกในพื้นที่ท้ายอ่าง ซึ่งเป็นพื้นที่เพาะปลูก ส่วนปริมาณฝนที่ตกเหนืออ่างก็จะไหลลงอ่าง สำหรับ เก็บสำรองใช้ในฤดูแล้ง และต้นฤดูฝนปีถัดไป

คุณฎรงค์กร สมตน ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 12 เล่าว่าฤดูฝนนี้คาดหมายว่า ปริมาณน้ำฝนในภาคเหนือและภาคกลาง จะใกล้เคียงกับปริมาณฝนเฉลี่ยในรอบ 30 ปีตามคำพยากรณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา โดยครึ่งแรกของเดือนพฤษภาคม ฝนน้อยกว่าที่คาด แต่น่าจะค่อยๆ กระเตื้องขึ้น และต่อให้สถานการณ์เลวร้ายฝนไม่ตกเลยในช่วง 2 เดือนแรกของฤดู ก็ยังสามารถส่งน้ำมาหล่อเลี้ยงพื้นที่เพาะปลูกได้ เพราะยังมีปริมาณน้ำใช้การ 2,416 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นต้นทุนอยู่แล้ว

อย่างไรเสีย อีก 4 เดือนที่เหลือก็ต้องมีฝนตกไม่มากก็น้อย เผลอๆ อาจหนักช่วงปลายเดือนกันยายนที่มักมีมรสุมพัดเข้าจนต้องจัดการพร่องน้ำไม่ให้น้ำท่วมเสียด้วยซ้ำ หากมีน้ำไหลเข้าอ่างเกินกว่า 70% ของความจุ

ปฏิทินน้ำ จึงมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องอย่างแยกไม่ออกกับการพัฒนาแหล่งน้ำ การบริหารจัดการน้ำ เพื่อความมั่นคงด้านอาหารของประเทศในที่สุด

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

จัดรูปที่ดินฯแควน้อยคืบ1.8หมื่นไร่

รูปที่ดินฝั่งขวาแม่น้ำแควน้อยใกล้แล้วเสร็จ 18,065 ไร่ เผยปัญหาเจ้าของที่ดินบางรายไม่ยอมเข้าโครงการ เกรงเสียประโยชน์จากค่าเช่า จนท.เร่งเจรจาแต่ถ้ายังเพิกเฉยคงต้องปล่อย ไม่สามารถขอเข้าร่วมภายหลังได้ ส่วนงานจัดรูปที่ดินฝั่งซ้าย 1.4 แสนไร่ อยู่ระหว่างสำรวจออกแบบ คาดเริ่มก่อสร้างได้ปี 2558

นายเอกจิต ไตรภาควาสินผู้อำนวยการสำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง กรมชลประทาน เปิดเผยความคืบหน้าโครงการจัดรูปที่ดินโครงการเขื่อนแควน้อย จ.พิษณุโลก ว่า ในปี 2556 กำลังดำเนินการก่อสร้างในพื้นที่ 6,722 ไร่ นอกเหนือจากที่ก่อสร้างแล้วในปี 2555 จำนวน 9,813 ไร่ และแปลงตัวอย่าง 1,530 ไร่ รวมเป็นพื้นที่จัดรูปที่ดินฯ ฝั่งขวาของแม่น้ำแควน้อยทั้งสิ้น 18,065 ไร่

อย่างไรก็ตาม ประเด็นปัญหาขณะนี้คือ มีเจ้าของที่ดินบางรายไม่ยินยอมเข้าร่วมโครงการจัดรูปที่ดินฯส่วนใหญ่เป็นที่นาเช่า ซึ่งเจ้าของที่นาไม่ต้องการเสียผลประโยชน์จากค่าเช่า จึงเพิกเฉยต่อการเข้าร่วม ซึ่งสำนักงานจัดรูปที่ดินจังหวัดพิษณุโลกยังคงพยายามเจรจาอยู่

“เขาถือว่าได้ค่าเช่าอยู่แล้ว แต่ในระยะยาวจะเป็นผลเสียมากกว่า เพราะหากเข้าร่วมการจัดรูปฯ จะทำให้ที่ดินของเขาได้รับน้ำต้นทุนสม่ำเสมอ ได้รับการปรับระดับหน้าดิน สามารถเพิ่มรอบการผลิต และผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่สูงขึ้น รวมทั้งราคาที่ดินก็จะสูงกว่าที่นาที่ไม่ได้จัดรูปฯ ถือเป็นรถเมล์เที่ยวสุดท้าย ถ้ายังไม่เข้าร่วมโครงการ ก็ต้องปล่อย การจะมาขอร่วมทีหลังคงทำไม่ได้อีกแล้ว” นายเอกจิต กล่าว

ทั้งนี้ จากการศึกษาผลผลิตเปรียบเทียบโดยเฉลี่ย พบว่าผลผลิตข้าวเฉลี่ยในโครงการแควน้อย ก่อนจัดรูปที่ดินฯ มีผลผลิตเฉลี่ย 70-80 ถัง/ไร่ หลังจัดรูปที่ดินฯแล้วผลผลิตเพิ่มเป็น 100-114 ถัง/ไร่ และทำนาได้ปีละ 2 ครั้ง สำหรับพื้นที่ฝั่งซ้ายแม่น้ำแควน้อยประมาณ 140,000 ไร่ บางส่วนยังอยู่ระหว่างการออกแบบก่อสร้าง บางส่วนอยู่ในขั้นตอนสำรวจภูมิประเทศและแปลงกรรมสิทธิ์ คาดว่าเริ่มลงมือก่อสร้างได้ปี 2558

สำหรับปีงบประมาณ 2557 สำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง มีแผนจัดรูปที่ดินฯประมาณ 10,000 ไร่ โดยพื้นที่หลัก ได้แก่ ต.เชียงเครือ อ.เมือง จ.สกลนคร 7,500 ไร่ จ.บุรีรัมย์ 2,000 ไร่ และ จ.ศรีสะเกษ 1,500 ไร่

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

สอน.ห่วงน้ำตาลด้อยคุณภาพตั้งทีมแก้ปัญหา-คาดอ้อยราคาตกยาว

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จะต้องจับตาฤดูการผลิตอ้อยปี 2556/2557 เพราะมีแนวโน้มที่ไม่ดีอาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เนื่องจากราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกลดลงมาก ค่าเงินบาทผันผวน ขณะที่เศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว สำหรับฤดูการผลิตอ้อยปี 2555/2556 พบว่าปริมาณอ้อยที่ ตัดได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ 100 ล้านตันอ้อย ผลิตน้ำตาลได้เกือบ 10 ล้านตัน แต่คุณภาพอ้อยลดลง ดังนั้น ในฤดูการผลิตปีหน้าต้องรีบปรับปรุง

นายสมศักดิ์ สุวัฒิกะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า คาดว่าฤดูการผลิตอ้อย 2556/2557 จะผลิตอ้อยได้มากกว่า 100 ล้านตัน เทียบกับ ปีนี้ที่คาดว่าจะผลิตได้ 100.02 ล้านตัน เนื่องจากพื้นที่ปลูกอ้อยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ 10 ล้านไร่ เพราะเป็นสินค้าเกษตรที่ขายได้ราคา มีผู้รับซื้อชัดเจน และเป็นที่ต้องการของตลาดโลก นอกจากนี้ชาวไร่ยังสามารถปรับปรุงการปลูกอ้อยให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น ซึ่งจากข้อมูลพบว่าปีนี้มีพื้นที่เพิ่มสูงถึง 1 ล้านไร่ ส่วนใหญ่เป็นชาวไร่หน้าใหม่ที่ไม่มีความชำนาญ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คุณภาพน้ำตาลทรายลดลง

"ปีนี้คุณภาพลดลงมาก ทั้งปริมาณน้ำตาลที่ได้จากอ้อย เหลือเพียง 100 กิโลกรัมต่ออ้อย 1 ตัน ลดลงจากปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ 104 กิโลกรัมต่ออ้อย 1 ตัน หรือค่าความหวานปีนี้เหลือ 11 ซีซีเอส จากเดิม 12 ซีซีเอส ดังนั้น ฤดูผลิตใหม่ สอน. จะตรวจสอบข้อมูลถึงสาเหตุที่ชัดเจนอีกครั้งว่ามาจากพันธุ์อ้อย กระบวนการผลิต หรือปัญหาอื่นๆ โดยจะตั้งคณะทำงานเพื่อลงพื้นที่สำรวจปัญหา" นายสมศักดิ์กล่าว

นายสมศักดิ์กล่าวถึงความคืบหน้าการกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อจ่ายค่าอ้อยเพิ่มให้ชาวไร่ตันละ 160 บาทว่า คาดว่าจะสามารถทำสัญญาได้ในเดือนพ.ค.นี้ วงเงิน 16,000 ล้านบาท ระยะเวลาคืนเงิน 17-18 เดือน ส่วนปีหน้าหากอ้อยปลูกถึง 100 ล้านตันตามที่คาดการณ์คาดว่าจะต้องจ่ายเงินเพิ่มค่าอ้อยสูงเหมือนปีนี้ เช่นกัน

นายสมศักดิ์กล่าวว่า สถานการณ์ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกไม่ดีนัก ไทยถือเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลทรายอันดับ 2 ของโลก เพราะล่าสุดราคาปิดเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2556 ส่งมอบเดือนก.ค. 2556 อยู่ที่ 16.95 เซนต์ต่อปอนด์ ลดลงอย่างต่อเนื่องจนต่ำสุดในรอบ 34 เดือน เทียบกับราคาเฉลี่ยปกติจะประมาณ 18 เซนต์ต่อปอนด์ และปีนี้ถือว่าราคาลดลงจากปี 2555 มาก เพราะในอดีตเคยทำสถิติสูงสุดถึง 36 เซนต์ต่อปอนด์

จาก http://www.khaosod.co.th  วันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

กรมวิชาการเกษตรเปิด 3 ยุทธศาสตร์ เตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน - บอกกล่าวเล่าขาน

การเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของประเทศไทย สำหรับด้านสินค้าเกษตรนั้นต้องมีการเตรียมความพร้อมทั้งในส่วนของการแข่งขันกับประเทศสมาชิกอาเซียนอีก 9 ประเทศ แล้วยังต้องเตรียมความพร้อมในการสร้างความร่วมมือกันของสมาชิกอาเซียนด้วยกัน เพื่อแข่งขันกับประเทศนอกอาเซียน

นางมัณฑนา มิลน์ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตรได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อก้าวสู่ประชาคมอาเซียน โดยวางกรอบยุทธศาสตร์ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไว้ 3 ยุทธศาสตร์หลักๆ ได้แก่ 1.ยุทธศาสตร์การเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของสินค้า บริการ การค้าและการลงทุน คือ การกำหนดขอบเขตงานวิจัยเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตพืชที่มีศักยภาพในการแข่งขันและมีต้นทุนต่ำ อีกทั้งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 2.ยุทธศาสตร์พัฒนากฎหมาย กฎระเบียบเพื่อความง่ายต่อการลงทุน โดยเรื่องนี้กรมวิชาการเกษตร ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษากฎหมาย หรือ พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับสินค้าและบริการ ที่กรมวิชาการเกษตรกำกับดูแลอยู่ทั้ง 6 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.ปุ๋ย, พ.ร.บ.พันธุ์พืช, พ.ร.บ.วัตถุอันตราย, พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช, พ.ร.บ.กักพืช และพ.ร.บ.ควบคุมยาง เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับกฎหมายของอีก 9 ประเทศ ทำให้ทราบว่ามีอุปสรรคหรือความไม่สะดวกตรงไหน จะได้นำมาปรับแก้พัฒนาเพื่อรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกรและประเทศชาติ

สำหรับยุทธศาสตร์ที่ 3 คือยุทธศาสตร์การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ กรมวิชาการเกษตรตระหนักถึงความสำคัญของศักยภาพของบุคลากร เนื่องจากเมื่อเปิดประชาคมอาเซียนต้องมีการติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะด่านตรวจพืช ที่จะมีการเคลื่อนย้ายพืชและปัจจัยการผลิตอย่างเสรี เจ้าหน้าที่ด่านต้องมีความรู้เรื่องภาษา และการตรวจศัตรูพืชชนิดใหม่ๆ ที่จะเข้ามา ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการเสริมสร้างพัฒนาศักยภาพบุคลากรของกรมวิชาการเกษตรอย่างต่อเนื่อง

พร้อมกันนี้ กรมวิชาการเกษตรยังได้ดำเนินการตามแผนงานสำคัญ เพื่อเตรียมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงห้องปฏิบัติการตรวจสอบสารพิษตกค้าง ปัจจัยการผลิต สารปนเปื้อนและจุลินทรีย์ วัตถุอันตรายทางการเกษตร เพื่อยกระดับให้ได้ตามมาตรฐานสากล รวมถึงร่วมมือกับประเทศสมาชิกทำมาตรฐานอาเซียนให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เช่น มาตรฐาน ASEAN GAP มาตรฐานตรวจสอบปัจจัยการผลิต มาตรฐานการนำเข้า หรือมาตรฐานการกักกันพืช โดยที่ผ่านมาไทยได้ร่วมมือกับอาเซียนจัดทำมาตรฐานอาเซียนเสร็จเรียบร้อยแล้วหลายตัว อาทิ กำหนดมาตรฐานสุขอนามัยพืช มาตรการการนำเข้าหัวมันฝรั่งที่ได้รับการรับรองเป็นมาตรฐานอาเซียน และการกำหนดมาตรฐานค่าจำกัดสารพิษตกค้างสูงสุดของสารกำจัดศัตรูพืช (ค่า MRLs) รับรองแล้ว 823 ค่า สำหรับสาร 77 ชนิด

รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ถ้าเรื่องมาตรฐานสินค้าเกษตรของประเทศไทยเราอยู่ในระดับผู้นำในอาเซียน จึงนับว่าไทยมีความพร้อมมากกว่าประเทศอื่นในอาเซียน แต่ว่าการเปิดประชาคมอาเซียนนอกจากเราจะต้องแข่งขันกับประเทศสมาชิกอีก 9 ประเทศแล้ว ยังต้องพร้อมในการจับมือกันผลิตสินค้าเพื่อไปแข่งขันกับประเทศนอกภูมิภาค ฉะนั้นเมื่อรวมกันเป็นประชาคมอาเซียน ที่มีฐานการตลาดและการผลิตเดียวกัน ไทยจึงพร้อมจะเป็นศูนย์ฝึกอบรมมาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตรให้กับประเทศเพื่อนบ้าน เพิ่มศักยภาพในการผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพตามมาตรฐานอาเซียน สร้างโอกาสการแข่งขันในตลาดโลกมากขึ้น.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ยุทธศาสตร์บีโอไอใช้ต้นปี58 อ้างให้เอกชนปรับตัว/ย้ำเลิกโซนนิ่งใช้คลัสเตอร์

บอร์ดบีโอไอ ไฟเขียวเลื่อนบังคับยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนใหม่มีผล 1 ม.ค. 58 อ้างให้ภาคเอกชนมีเวลาปรับตัว ยืนยันยกเลิกการให้สิทธิประโยชน์แบบโซนนิ่งมาเป็นแบบคลัสเตอร์ ปลื้มมีโครงการยื่นขอรับส่งเสริม 4 เดือนแรก พุ่งทะลุ 5 แสนล้านบาท พร้อมอนุมัติ 11 โครงการใหญ่ ลงทุนรวมกว่า 5.4873 หมื่นล้านบาท

นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบอร์ดบีโอไอ ที่มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบให้กำหนด ระยะเวลาในการจัดทำยุทธศาสตร์ส่งเสริม การลงทุนใหม่ เพื่อสร้างความชัดเจนและความโปร่งใสในการดำเนินงานให้มากขึ้น รวมทั้งเพื่อให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาห กรรมมีเวลาในการปรับตัวและวางแผนการดำเนินธุรกิจ จึงได้เลื่อนการใช้ยุทธ ศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนใหม่ออกไป โดยเสนอให้บอร์ดบีโอไอพิจารณาเห็นชอบภายในเดือนธันวาคมปีนี้ และจะให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ร่างยุทธศาสตร์ใหม่เบื้องต้น บีโอไอ มีแนวทางที่จะปรับเปลี่ยนจากเดิมที่ให้ส่งเสริมเกือบทุกกิจการมาเป็นส่งเสริมแบบมีเป้าหมายชัดเจน โดยเน้น 10 กลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญ

นอกจากนี้ยังจะมีการปรับเปลี่ยนการส่งเสริมตามเขตพื้นที่ มาเป็นการส่งเสริมให้เกิดคลัสเตอร์อุตสาหกรรมใหม่ในภูมิภาค สำหรับการให้สิทธิประโยชน์แก่โครงการที่ได้รับส่งเสริมภายใต้ยุทธ ศาสตร์ใหม่ จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1. สิทธิประโยชน์พื้นฐาน และ 2. สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมตามคุณค่าของโครง การ ซึ่งเป็นส่วนที่บีโอไอต้องการเน้นส่งเสริมให้โครงการลงทุนได้ทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ

"บอร์ดได้ย้ำให้บีโอไอไปทำแผนให้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยระบุให้ชัดว่าโครงการไหนที่บีโอไอจะไม่เน้นส่งเสริมแล้วเน้นส่งเสริมกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายไหนบ้าง ทั้งนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นเป้าหมายที่จะลดการสนับสนุนคืออุตสาหกรรมที่ดำเนินธุรกิจมีความสามารถอยู่แล้ว ใช้แรงงานมาก เป็นอุตสาหกรรมที่ไม่สามารถเพิ่มมูลค่าได้ และก่อสิ่งแวดล้อมต่อชุมชน เป็นต้น ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่บีโอไอจะสนับสนุนนั้น จะต้องเป็นกลุ่มอุตสาห กรรมที่เพิ่มมูลค่าเพิ่ม อุตสาหกรรมบริการโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะโลจิสติกส์ สุขภาพ มีโรงงานสะอาด ท่าอากาศยาน และกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปเกษตรและอาหาร เป็นต้น"

ด้านนายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการบีโอไอ เปิดเผยว่า สำหรับภาวะการลงทุน 4 เดือนแรกปี 2556 มีการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนจำนวน 747 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 5.1 แสนล้านบาท มีจำนวนโครงการเพิ่มขึ้น 26% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีจำนวน 593 โครงการ ส่วนมูลค่าเงินลงทุนเพิ่มขึ้น 80% เมื่อเทียบกับ 4 เดือนแรกปี 2555 ซึ่งมีมูลค่า 2.83 แสนล้านบาท ทั้งนี้ โครงการที่ยื่นขอรับส่งเสริมส่วนใหญ่ 54% เป็นการขยายการลงทุนของโครงการเดิมที่ลงทุนในไทยอยู่แล้ว และมีมูลค่าเงินลงทุนสูงถึง 4.3 แสนล้านบาท

ล่าสุดที่ประชุมได้พิจารณาอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนจำนวน 11 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 5.4873 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม จากตัวเลขการขอรับการส่งเสริมที่มีจำนวนมากนั้น ทำให้คณะกรรมการมีความกังวลในเรื่องของการแข่งขันสูงขึ้น โดยที่ประชุมมอบหมายให้บีโอไอดำเนินการศึกษาคือ ข้อกฎหมายโดยเฉพาะการแก้ไข พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน ที่จะต้องมีการแก้ไข ทั้งการส่งเสริมการลงทุนในประเทศและนอกประเทศ โดยกระทรวงการคลังและกระทรวงอุตสาหกรรม ต้องศึกษาอย่างรอบคอบก่อนจะปรับแก้ไข โดยจะต้องมีการยืดหยุ่นเพื่อให้แข่งขันได้กับประเทศเพื่อนบ้าน

ทั้งนี้ การแก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าว จะต้องมีการตกลงกับกระทรวงการคลัง โดยบางเรื่องให้กระทรวงการคลังเป็นผู้กำหนด อย่างเช่นการออกมาตร การทั่วไป อาทิ ในเรื่องของภาษีหรือสินเชื่อต่างๆ หรืออาจเป็นธนาคารของรัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการเติมเงินเข้าระบบ หรือ ระบบการหักค่าใช้จ่าย หรือมาตรการของศุลกากร ซึ่งหากกฎหมายกำหนดโดยกระทรวงการคลังเป็นผู้ดำเนินการก็จะดีกับบีโอไอ ที่ไม่ต้องวุ่นวายในเรื่องข้อกฎหมายนี้

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

สอน.ห่วงน้ำตาลด้อยคุณภาพ ตั้งทีมแก้ปัญหา-คาดอ้อยราคาตกยาว

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จะต้องจับตาฤดูการผลิตอ้อยปี 2556/2557 เพราะมีแนวโน้มที่ไม่ดีอาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เนื่องจากราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกลดลงมาก ค่าเงินบาทผันผวน ขณะที่เศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว สำหรับฤดูการผลิตอ้อยปี 2555/2556 พบว่าปริมาณอ้อยที่ ตัดได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ 100 ล้านตันอ้อย ผลิตน้ำตาลได้เกือบ 10 ล้านตัน แต่คุณภาพอ้อยลดลง ดังนั้น ในฤดูการผลิตปีหน้าต้องรีบปรับปรุง

นายสมศักดิ์ สุวัฒิกะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า คาดว่าฤดูการผลิตอ้อย 2556/2557 จะผลิตอ้อยได้มากกว่า 100 ล้านตัน เทียบกับ ปีนี้ที่คาดว่าจะผลิตได้ 100.02 ล้านตัน เนื่องจากพื้นที่ปลูกอ้อยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ 10 ล้านไร่ เพราะเป็นสินค้าเกษตรที่ขายได้ราคา มีผู้รับซื้อชัดเจน และเป็นที่ต้องการของตลาดโลก นอกจากนี้ชาวไร่ยังสามารถปรับปรุงการปลูกอ้อยให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น ซึ่งจากข้อมูลพบว่าปีนี้มีพื้นที่เพิ่มสูงถึง 1 ล้านไร่ ส่วนใหญ่เป็นชาวไร่หน้าใหม่ที่ไม่มีความชำนาญ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คุณภาพน้ำตาลทรายลดลง

"ปีนี้คุณภาพลดลงมาก ทั้งปริมาณน้ำตาลที่ได้จากอ้อย เหลือเพียง 100 กิโลกรัมต่ออ้อย 1 ตัน ลดลงจากปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ 104 กิโลกรัมต่ออ้อย 1 ตัน หรือค่าความหวานปีนี้เหลือ 11 ซีซีเอส จากเดิม 12 ซีซีเอส ดังนั้น ฤดูผลิตใหม่ สอน. จะตรวจสอบข้อมูลถึงสาเหตุที่ชัดเจนอีกครั้งว่ามาจากพันธุ์อ้อย กระบวนการผลิต หรือปัญหาอื่นๆ โดยจะตั้งคณะทำงานเพื่อลงพื้นที่สำรวจปัญหา" นายสมศักดิ์กล่าว

นายสมศักดิ์กล่าวถึงความคืบหน้าการกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อจ่ายค่าอ้อยเพิ่มให้ชาวไร่ตันละ 160 บาทว่า คาดว่าจะสามารถทำสัญญาได้ในเดือนพ.ค.นี้ วงเงิน 16,000 ล้านบาท ระยะเวลาคืนเงิน 17-18 เดือน ส่วนปีหน้าหากอ้อยปลูกถึง 100 ล้านตันตามที่คาดการณ์คาดว่าจะต้องจ่ายเงินเพิ่มค่าอ้อยสูงเหมือนปีนี้ เช่นกัน

นายสมศักดิ์กล่าวว่า สถานการณ์ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกไม่ดีนัก ไทยถือเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลทรายอันดับ 2 ของโลก เพราะล่าสุดราคาปิดเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2556 ส่งมอบเดือนก.ค. 2556 อยู่ที่ 16.95 เซนต์ต่อปอนด์ ลดลงอย่างต่อเนื่องจนต่ำสุดในรอบ 34 เดือน เทียบกับราคาเฉลี่ยปกติจะประมาณ 18 เซนต์ต่อปอนด์ และปีนี้ถือว่าราคาลดลงจากปี 2555 มาก เพราะในอดีตเคยทำสถิติสูงสุดถึง 36 เซนต์ต่อปอนด์

จาก http://www.khaosod.co.th  วันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

จัดงานครบ 50 ปี กรมพัฒนาที่ดิน 22-24 พ.ค.

นายเกรียงศักดิ์ หงส์โต อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า ในวันที่ 23 พ.ค. เป็นวันคล้ายวันสถาปนากรมพัฒนาที่ดิน ครบรอบ 50 ปี จึงได้กำหนดจัดงานภายใต้หัวข้อ “กึ่งศตวรรษกรมพัฒนาที่ดิน ธำรงถิ่นเกษตรไทย ก้าวไกลด้วยนวัตกรรม” เพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านการพัฒนาที่ดิน และทรงพระราชทานแนวทางพระราชดำริด้านต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือพสกนิกรให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 22–24 พ.ค.นี้ ณ กรมพัฒนาที่ดิน มีนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รมช.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิดงาน ซึ่งภายในงานมีการจัดแสดงนิทรรศ การกึ่งศตวรรษพัฒนาที่ดินกับอนาคตในทศวรรษหน้า การกำหนดเขตการใช้ที่ดินพืชเศรษฐกิจ การถ่ายทอดองค์ความรู้ของกรมพัฒนาที่ดิน นิทรรศการเทคโนโลยีพัฒนาที่ดิน 4 ภาค การใช้โปรแกรมปุ๋ยรายแปลง รุ่นที่ 4 การเปิดบ้านพัฒนาที่ดิน ชมหน่วยงาน ที่ทำงานเกี่ยวกับการผลิตสารเร่งพื้นดินต่าง ๆ

นอกจากนี้ยังมีการจัดประชุมวิชาการ การจัดเสวนาวิชาการ จากวิทยากรผู้มากด้วยความรู้และประสบการณ์ การจัดอบรมการใช้ผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีการเกษตรสำหรับประชาชน การจัดค่ายยุวหมอดินสำหรับนักเรียนชั้นประถม และเปิดตัวสารเร่งจุลินทรีย์ซุปเปอร์ พด.6 ที่ปรับปรุงใหม่สำหรับใช้บำบัดน้ำเสียกำจัดลูกน้ำยุงรำคาญ รวมทั้งการจัดการประกวดวาดภาพระบายสีของสมาคมอนุรักษ์ดินและน้ำแห่งประเทศไทย ชิงรางวัลเงินทุนการศึกษาสำหรับเด็กนักเรียนระดับประถมและมัธยมศึกษา รวมถึงการจัดแสดงสินค้าโอทอป ที่นำสินค้าเกษตรอินทรีย์ เกษตรปลอดสารพิษ และผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์คุณภาพดีจากเกษตรกรมาจำหน่ายในราคาถูก พร้อมรับแจกหนังสือ ของที่ระลึก พร้อมปัจจัยการผลิตต่าง ๆ ฟรี โดยสอบถามได้ที่กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรมฯ

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

อุตฯชงมาตรการหนุน'ซอฟท์โลน'รับผลค่าบาทแข็ง

อุตสาหกรรมชงมาตรการช่วยธุรกิจกระทบ ค่าเงินบาท ลดต้นทุนประกันความเสี่ยง- หาซอฟท์โลนเปลี่ยนเครื่องจักร ด้านพาณิชย์อยากเห็นเสถียรภาพค่าเงิน ถกทูตพาณิชย์ทั่วโลก 21 พ.ค.นี้ เล็งปรับเป้าส่งออกใหม่ ขณะส.อ.ท.เผยความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมลดจากความกังวลเงินบาทฉุดส่งออก

นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมผล กระทบค่าเงินบาท แข็งค่าต่อภาคอุตสาหกรรมว่ามอบหมายให้นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมรวบรวมความเห็นผลกระทบเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์หน้า โดยจะรวมมาตรการของกระทรวงการคลังด้วย

นายประเสริฐ กล่าวว่าภาคเอกชนเห็นว่าขณะนี้ค่าเงินบาทอยู่ที่ 29.70 บาทเหมาะสม แต่ยังไม่มั่นใจว่าจะมีเสถียรภาพ รวมทั้งเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านยังมีค่าเงินอ่อนกว่าไทยมาก จึงจำเป็นต้องมีมาตรการช่วยเหลืออุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งคาดว่าจะกำหนดมาตรการช่วยเหลือได้ภายในเดือน พ.ค.นี้

มาตรการของกระทรวงอุตสาหกรรม แบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ 1.มาตรการระยะสั้น จะเสนอให้ลดต้นทุนการป้องกันความเสี่ยงค่าเงินและให้ผู้ประกอบการมีความรู้ในการป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน รวมทั้งส่งเสริมให้กระจายความเสี่ยงทางการตลาดไปตลาดต่างประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน ดูแลไม่ให้เงินบาทแข็งค่ากว่าภูมิภาคและไม่ผันผวน และการอุดหนุนดอกเบี้ย 3 % วงเงินกู้ไม่เกิน 1 ล้านบาท เพื่อเสริม

สภาพคล่อง

2.มาตรการระยะกลางและยาว จะเสนอให้มีการใช้ประโยชน์จากเงินบาทแข็งค่าด้วยการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร โดยจะเสนอให้มีการอุดหนุนดอกเบี้ย 5 % ระยะ 5 ปี วงเงินกู้ไม่เกิน 25 ล้านบาท รวมทั้งจัดโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เสริมความรู้การทำธุรกิจในต่างประเทศ สนับสนุนให้เอสเอ็มอีออกไปลงทุนในอาเซียน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและหลักดันการใช้เงินบาทเป็นเงินตราหลักในการทำการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน

นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า สำหรับการสนับสนุนเอสเอ็มอีไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศจะต้องดำเนินการร่วมกับกระทรวงการคลังเพราะเกี่ยวกับการภาษีเงินได้และการสนับสนุนสินเชื่อ รวมทั้งจะเข้าไปแก้ปัญหาภาษีซ้อนในกรณีที่นักธุรกิจไทยต้องการนำกำไรจากต่างประเทศกลับเข้าไทยและต้องมาเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในไทยอีก โดยในอาเซียนเห็นว่าไทยมีศักยภาพออกไปลงทุนที่อินโดนีเซีย เวียดนามและพม่า แต่จะสนับสนุนผู้ประกอบการไทยไปลงทุนนอกอาเซียนด้วย เช่น จีน อินเดีย ศรีลังกา

พาณิชย์อยากเห็นค่าเงินบาทนิ่ง

นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่าในวันที่ 21 พ.ค.นี้ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ จะเป็นประธานประชุมทูตพาณิชย์ทั่วโลก เพื่อรับทราบสถานการณ์การส่งออก พร้อมทั้งทบทวนการส่งออกปีนี้ว่าจะขยายตัว 8-9% ได้หรือไม่

"ควรดูแลเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออกให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ โดยจะต้องไม่ผันผวนมากเกินไป เพื่อให้ผู้ส่งออกกำหนดราคาสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น"

นางศรีรัตน์กล่าวว่าต้องดูเปรียบเทียบทั้งอัตราแลกเปลี่ยนของคู่แข่ง ไม่ให้แตกต่างกันมากนัก และไม่ควรให้ผันผวนมากเกินไป ส่วนการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการใช้สกุลบาท หรือสกุลเงินท้องถิ่นเพื่อส่งออก ก็น่าจะพอทำได้บ้าง ขณะนี้มีการส่งออกไปยังตลาดจีนที่กำหนดราคาเป็นเงินหยวน ส่วนเงินบาทก็น่าจะส่งออกได้ในตลาดอาเซียน แต่คงจะเป็นการเริ่มต้น เพราะการเจรจาตกลงขึ้นอยู่กับผู้ซื้อ-ผู้ขาย ซึ่งส่วนใหญ่ประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนยังนิยมซื้อขายเป็นเงินดอลลาร์

ดัชนีเชื่อมั่นอุตฯลดกังวลค่าบาท

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือนเม.ย. 2556 อยู่ที่ระดับ 92.9 ลดลงจากระดับ 93.5 ในเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และต่ำกว่าค่าปกติที่ 100 เป็นเดือนที่ 10 ซึ่งเป็นผลมาจากความกังวลของผู้ประกอบการต่อการแข็งค่าของเงินบาท ซึ่งแข็งค่ากว่าประเทศอื่นในภูมิภาค ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการส่งออก โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการส่งออกมากกว่าครึ่งของยอดขาย

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวน ทำให้คำสั่งซื้อเป็นไปด้วยความยากลำบาก ส่วนผู้ประกอบการมีแนวโน้มที่จะนำเข้าวัตถุดิบ และชิ้นส่วนจากต่างประเทศที่มีราคาถูกกว่าแทนการใช้วัตถุดิบภายในประเทศ ซึ่งภาครัฐยังไม่มีมาตรการช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรม

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 99.1 ลดลงจากระดับ 99.3 และต่ำสุดในรอบ 18 เดือน นับตั้งแต่เดือน ก.ย. 54 เนื่องจากผู้ประกอบการ ยังมีความกังวลต่อ ยอดคำสั่งซื้อและยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

ส่วนมาตรการแก้ไขนั้น ผู้ประกอบการเสนอให้เร่งดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่ามากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค โดยเฉพาะค่าเงินของประเทศคู่แข่ง พร้อมทั้งจัดอบรมให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ในการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน กระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ และจัดหาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ เพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

ส่งออกรถยนต์เดือนเม.ย.เพิ่ม34.16%

ด้านนายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท. กล่าวว่าการผลิตรถยนต์ในเดือนเม.ย.2556 มีจำนวน 170,438 คัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 17.40% แต่ลดลงจากเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา 33.49% เนื่องจากเดือนเม.ย.มีวันทำงานน้อย

ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-เม.ย.) การผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 38.39% มีจำนวน 891,947 คัน โดยเฉพาะรถยนต์นั่ง มียอดการผลิตเติบโตถึง 105.08% คิดเป็นจำนวน 395,490 คัน เนื่องจากในปีที่ผ่านมา โรงงานได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมยังไม่เริ่มผลิตเชื่อว่า ยอดผลิตถึงสิ้นปีนี้จะเป็นไปตามเป้าหมายที่ 2.4 ล้านคัน

สำหรับการผลิตเพื่อจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ เดือนเม.ย. ผลิตได้ 101,300 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 17.23% เช่นเดียวกับช่วง 4 เดือนแรกของปี ที่เติบโต 49.56% ของยอดผลิตทั้งหมด 536,821 คัน เพราะมีการเร่งส่งมอบรถคันแรก
ส่วนการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป เดือนเม.ย.2556 ส่งออกได้ 67,641 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 34.16% โดยมีมูลค่าส่งออก กว่า 3 หมื่นล้านบาท ขณะที่ 4 เดือนแรกของปี ส่งออกได้ 351,607 คัน เพิ่มขึ้น 27.32% คิดเป็นมูลค่ากว่า 156,000 ล้านบาท

ค่าเงินบาทอ่อนค่าตามภูมิภาค

การเคลื่อนไหวค่าเงินบาทวานนี้ (17 พ.ค.) อ่อนค่าลงตามสกุลเงินภูมิภาค แต่มีแรงขายดอลลาร์ที่มีออกมาที่ระดับ 29.80 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งเป็นแนวรับสำคัญของค่าเงินบาท ทำให้ช่วยจำกัดการอ่อนค่าของเงินบาทไว้ได้ แต่ยังเป็นสกุลเงินที่แข็งค่ามากที่สุด โดยเทียบกับสิ้นปีที่ผ่านมา แข็งค่า 2.82%

ในช่วงท้ายตลาด บาทต่อดอลลาร์ อยู่ที่ 29.75/77 แข็งขึ้นจาก 29.77/81 ในช่วงเช้า ขณะตลาดต่างประเทศ (offshore) อยู่ที่ 29.75/77 จาก 29.76/78 ในช่วงเช้า

นักบริหารเงินจากธนาคารพาณิชย์กล่าวว่าค่าเงินบาทแกว่งตัวอยู่ในกรอบ แม้ได้รับแรงกดดัน จากการแข็งค่าของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินภูมิภาค แต่ที่ระดับแนวรับ 29.80 ยังมีแรงขายดอลลาร์รออยู่เช่นกัน ทำให้ดอลลาร์ยังไม่สามารถ แข็งค่าผ่านระดับดังกล่าวไปได้

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

'ซูการ์ เอเชีย 2013 'ประชุมนานาชาติด้านอุตฯน้ำตาลครั้งใหญ่

สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายแห่งประเทศไทย สมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย และบริษัท เน็กซ์เจน เอ็กซิบิชั่น ขอเชิญผู้สนใจทุกท่านเข้าร่วมชมงานซูการ์ เอเชีย 2013 (Sugar Asia 2013)

งานนิทรรศการและงานประชุมนานาชาติด้านอุตสาหกรรมน้ำตาลที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ในไทย ระหว่างวันที่ 28-29 พฤษภาคม 2556 เวลา 08.00 – 18.00 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ผู้สนใจสามารถเข้าชมงานนิทรรศการได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ สอบถามเพิ่มเติมที่โทรศัพท์ 092-220-7961 อีเมล: mukesh@nexgengroup.in หรือ www.sugarasia.net

ซูการ์ เอเชีย 2013 เป็นงานนิทรรศการระดับนานาชาติที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมน้ำตาลสำหรับภูมิภาคเอเชียโดยเฉพาะ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งกับนักวิชาการของไทยและนานาประเทศ อาทิ อินเดีย ยุโรป ออสเตรเลีย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เข้าร่วมงานครั้งนี้ ภายในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการที่น่าสนใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เทคโนโลยีการผลิตน้ำตาล เอทานอล และพลังงานชีวภาพ

ภายในงานยังมีการจัดประชุมระดับนานาชาติ พร้อมปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ภาพรวมอุตสาหกรรมน้ำตาลในไทยและทิศทางอุตสาหกรรมน้ำตาลในกลุ่มประเทศอาเซียน” ซึ่งได้รับเกียรติบรรยายโดยนายกิตติ ชุณหวงศ์ นายกสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย และนายรังสิต เฮียงราช ผู้อำนวยการ สำนักนโยบายอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม และ “เทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมที่จะช่วยให้ธุรกิจการผลิตอ้อยและน้ำตาลเติบโตได้อย่างยั่งยืน” โดยนางสาวอัปสร เปลี่ยนสินไชย รองประธานบริหาร ฝ่ายวิจัยและพัฒนา บริษัท มิตรผลวิจัย พัฒนาอ้อยและน้ำตาล จำกัด พร้อมร่วมฟังสัมมนาเพื่อเรียนรู้เทคโนโลยีการผลิตแบบใหม่ และอุปกรณ์อันทันสมัยเพื่อเพิ่มผลผลิตรองรับการแข่งขันในระดับนานาชาติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมน้ำตาลจากทั่วโลก

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 17 พฤษภาคม 2556

กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยเพื่อผลิตเอทานอล อ.แม่สอด จ.ตาก เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรงมหาดไทย

กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยเพื่อผลิตเอทานอล อ.แม่สอด จ.ตาก เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรงมหาดไทย เพื่อขอความช่วยเหลือเงินชดเชยส่วนต่างราคาผลผลิตอ้อยปกติกับผลผลิตที่ใช้ผลิตเอทานอล
บ่ายวันนี้(17 พ.ค.)ที่กระทรวงมหาดไทย กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยเพื่อผลิตเอทานอล อ.แม่สอด จ.ตาก ได้เข้าพบนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อขอความช่วยเหลือเงินชดเชยส่วนต่างราคาผลผลิตอ้อยปกติกับผลผลิตที่ใช้ผลิตเอทานอลที่ผลิตได้ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวได้รับผลกระทบจากการปนเปื้อนสารแคดเมี่ยม จากโรงงานอุตสาหกรรมลงในลุ่มน้ำตาว จ.ตาก โดยขอให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณส่วนต่าง นอกเหนือจากที่บริษัทที่ทำให้เกิดมลพิษจ่ายให้เกษตรกร 78 ล้านบาท

นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวก่อนพบกับตัวแทนกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยเพื่อผลิตเอทานอล ว่า กระทรวงมหาดไทย ได้เชิญหน่วยงานของกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการเยียวยาฯ ร่วมหารือ เพื่อหาทางออก เบื้องต้นการเรียกร้องส่วนต่างเกษตรกร ต้องหารือกับเจ้าของโรงงานที่ทำให้เกิดมลพิษ เนื่องจากรัฐบาลได้ทำสัญญาให้การสนับสนุนช่วยเหลือ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนมาแล้ว 3 ปี เมื่อครบกำหนดจึงเป็นหน้าที่โรงงาน ที่จะต้องแก้ไขปัญหาและมีส่วนรับผิดชอบ

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 17 พฤษภาคม 2556

บาทแข็งฉุดดัชนีอุตฯลดต่อเป็นเดือนที่4

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย ในเดือนเมษายน 2556 จำนวน 1,074 ราย ครอบคลุม 42 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนเมษายนอยู่ที่ระดับ 92.9 ลดลงจากระดับ 93.5 ในเดือนมีนาคม โดยลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ที่ลดลงเกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ส่งผลให้ค่าดัชนีความเชื่อมั่นในเดือนเมษายน ปรับตัวลดลงจากเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับการแข็งค่าของเงินบาท และเป็นการแข็งค่ากว่าประเทศอื่นๆในภูมิภาค ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการส่งออก ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความผันผวน ทำให้การรับคำสั่งซื้อในช่วงนี้เป็นไปด้วยความยากลำบาก ขณะเดียวกันผู้ประกอบการมีแนวโน้มที่จะนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศที่มีราคาถูกกว่าแทนการใช้วัตถุดิบภายในประเทศ ส่งผลกระทบต่อซัพพลายเชนที่เป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำภายในประเทศ ขณะที่ภาครัฐยังไม่มีมาตรการช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรม

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 99.1 ลดลงจากระดับ 99.3 ในเดือนมีนาคม ค่าดัชนีที่ลดลงเกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

ดัชนีความเชื่อมั่นจำแนกตามขนาดของอุตสาหกรรมในเดือนเมษายน พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯของอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดใหญ่ปรับลดลง ขณะที่อุตสาหกรรมขนาดเล็กปรับเพิ่มขึ้น จากในเดือนมีนาคม

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจำแนกตามการส่งออก พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯปรับตัวลดลงทั้ง 2 กลุ่ม โดยกลุ่มที่มีการส่งออกน้อยกว่า 50% ของยอดขายดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนเมษายน อยู่ที่ระดับ 94.1 ลดลงจาก 94.2 ในเดือนมีนาคม โดยเฉพาะ อุตสาหกรรมน้ำตาล อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม และอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ ส่วนกลุ่มที่มีการส่งออกตั้งแต่ 50% ของยอดขายขึ้นไปดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนเมษายนอยู่ที่ 85.7 ลดลงจากระดับ 89.9 ในเดือนมีนาคม อาทิ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมเครื่องประดับ และอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการมีความกังวลในประเด็นผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนมากที่สุด รองลงมา คือ สภาวะเศรษฐกิจโลก ราคาน้ำมัน สถานการณ์การเมืองในประเทศ และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ โดยผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้นในปัจจัยอัตราแลกเปลี่ยน สภาวะเศรษฐกิจโลกและการเมืองภายในประเทศ จึงขอให้ภาครัฐเข้ามาดูแลค่าเงินบาทไม่ให้มีการแข็งค่ามากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค จัดให้มีการอบรมให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ รวมถึงการจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 17 พฤษภาคม 2556

มท.1 ระบุให้โรงงานช่วยชดเชยม็อบไร่อ้อย

ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อเวลา 13.30 น. กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยเพื่อผลิตเอทานอล อ.แม่สอด จ.ตาก เข้าพบนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อขอความช่วยเหลือเงินชดเชยส่วนต่างราคาผลผลิตอ้อยปกติกับผลผลิตที่ใช้ผลิตเอทานอลที่เกษตรกรผลิตได้ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวได้รับผลกระทบจากการปนเปื้อนสารแคดเมียมจากโรงงานอุตสาหกรรมลงในลุ่มน้ำตาว จ.ตาก จึงขอให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณส่วนต่างนอกเหนือจากที่บริษัทที่ทำให้เกิดมลพิษจ่ายให้เกษตรกรจำนวน 78 ล้านบาท (ในปี 2555)

นายจารุพงศ์กล่าวก่อนการพบกับตัวแทนเกษตรกรว่า กระทรวงมหาดไทยจะเชิญหน่วยงานของกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับเรื่องมาหารือเพื่อช่วยหาทางออก โดยเฉพาะผู้ว่าราชการจังหวัดตากซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการเยียวยา ทั้งนี้แนวทางเบื้องต้นการเรียกร้องส่วนต่างเกษตรกรคงต้องไปหารือกับเจ้าของโรงงานที่ทำให้เกิดมลพิษ เนื่องจากรัฐบาลได้เคยทำสัญญาให้การสนับสนุนมาแล้วถึง 3 ปี เมื่อครบกำหนดจึงเป็นหน้าที่ของเอกชนเจ้าของโรงงานจะเป็นผู้แก้ไขปัญหาและมีส่วนรับผิดชอบ ปัญหาที่เกิดขึ้นรัฐไม่ได้ทำให้เกิดมลพิษและได้ให้ความช่วยเหลือมาแล้วตามสัญญา อย่างไรก็ดี ขณะนี้โรงงานที่ทำให้เกิดปัญหาได้ปิดตัวไปแล้ว แต่ยังมีสารตกค้างอยู่

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 17 พฤษภาคม 2556

ก.อุตฯ เตรียมสรุปปัญหาบาทแข็งค่า-ข้อเสนอภาคเอกชน 20 พ.ค.นี้

นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เชิญสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท.และสมาคมเอสเอ็มอี ร่วมหารือ เพื่อรวบรวมผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท เพื่อหามาตรการรองรับผลกระทบ แม้ขณะนี้ค่าเงินบาทเริ่มอ่อนค่ามาอยู่ที่ 29.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่ยังแข็งค่ากว่าค่าเงินในภูมิภาค และผู้ประกอบการ ยังเป็นห่วงว่า ค่าเงินบาทขณะนี้จะมีเสถียรภาพมากน้อยเพียงใด

ทั้งนี้กระทรวงอุตสาหกรรมได้เตรียมมาตรการระยะสั้นระยะกลาง และระยะยาว เพื่อลดผลกระทบให้เอสเอ็มอี โดยระยะสั้นจะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีมาตรการป้องกันความเสี่ยง โดยใช้เครื่องมือทางการเงิน ให้ความรู้ในการลดต้นทุนการผลิต กระจายความเสี่ยงโดยขยายตลาดออกไปในประเทศเพื่อนบ้าน ควบคุมการไหลเข้าออกของเงินทุนต่างประเทศ ระยะกลาง ระยะยาว จะสอดคล้องกับข้อเสนอของภาคเอกชนคือ ใช้ประโยชน์จากเงินบาทแข็งค่า ด้วยการนำเข้าเครื่องจักรใหม่ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตสูงขึ้น การช่วยเหลือตามโครงการแมชชีน ฟันด์ โดยสนับสนุนดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 5 เป็นเวลา 5 ปี วงเงิน 25 ล้านบาทต่อราย จัดโครงการพี่เลี้ยงที่ปรึกษาให้เอสเอ็มอี ส่งเสริมความรู้ด้านการจัดการธุรกิจระหว่างประเทศที่ทันสมัย ส่งเสริมการลงทุนในอาเซียน พัฒนาเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน พัฒนานวัตกรรม ปรับรุงคุณภาพสินค้า และผลักดันให้มีการใช้เงินบาท เป็นเงินสกุลหลักในการซื้อขายสินค้าในอาเซียนในอนาคต

อย่างไรก็ตาม แม้ภาคส่งออกได้รับผลกระทบจากเงินบาท แต่ภาคการลงทุนยังขยายตัวได้ดี โดยช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา มียอดขอรับการส่งเสริมการลงทุน 5 แสนกว่าล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 80 ซึ่งจะมีผลต่อรากฐานเศรษฐกิจของประเทศ

ทั้งนี้กระทรวงอุตสาหกรรมจะเฝ้าระวัง และติดตามค่าเงินอย่างใกล้ชิด และจะสรุปผลกระทบ และข้อเสนอของภาคเอกชนในวันจันทร์ที่ 20 พฤษภาคมนี้ จากนั้นจะส่งข้อมูลให้คณะรัฐมนตรีภายในเดือนพฤษภาคมนี้ เพื่อให้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นำไปหารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย ออกมาตรการดูแลค่าเงินบาทต่อไป

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 17 พฤษภาคม 2556

แห่ยื่นขยาย-ตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่20แห่ง

จับตาโรงงานน้ำตาลทรายแห่ยื่นย้าย ขยาย ตั้งโรงงานใหม่เพิ่มอีกเกือบ 20 แห่ง เหตุผลผลิตอ้อยไทยทะลักหลังปิดหีบปีนี้ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 100.025 ล้านตัน

แหล่งข่าวจากวงการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ขณะนี้มีโรงงานน้ำตาลทรายได้ยื่นขอย้าย ขยายและตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่เกือบ 20 แห่งต่อกระทรวงอุตสาหกรรมเนื่องจากเห็นทิศทางในอนาคตถึงความต้องการบริโภคน้ำตาลทรายในภูมิภาคเอเชียจะเติบโตขึ้นสูงโดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ปี 2558

"การยื่นขอขยายโรงงานครั้งนี้ประเมินได้ 2 ลักษณะคือการกันโรงงานอื่นๆ ไม่ให้มาตั้งใกล้กับแหล่งเพาะปลูกอ้อยของตนเอง กับการตั้งเพราะต้องการขยายโรงงานจริงๆ โดยขณะนี้พบปริมาณอ้อยที่คาดว่าจะมากกว่าระดับ 100 ล้านตันจากนี้ไปหากมีการส่งเสริมฯกันอย่างจริงๆจังประกอบกับการยื่นก็เป็นเพียงแค่เอกสารไม่มากและมีเวลาให้ดำเนินการได้ 5 ปีจึงทำให้โรงงานเห็นโอกาส" แหล่งข่าวกล่าว

นายธีระชัย แสนแก้ว ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน กล่าวว่าการตั้งโรงงานใหม่ก็เป็นสิ่งที่ดีในการทำให้ชาวไร่สามารถจัดส่งอ้อยได้ใกล้ขึ้นแต่ทั้งนี้ก็จะต้องตระหนักว่าเมื่อยื่นขอแล้วจะลงทุนได้จริงหรือไม่ เพราะขนาดโรงงานใหม่ที่เกิดขึ้นก่อนหน้ายังมีปัญหาเรื่องการก่อสร้าง

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเปิดงานเสวนาสถานการณ์แนวโน้มตลาดน้ำตาลโลกที่สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.)ว่า รัฐมีแนวคิดที่จะจัดโซนนิ่งการเพาะปลูกอ้อย ดังนั้น การมีโรงงานใกล้ๆ กับแหล่งเพาะปลูกก็จะทำให้ประสิทธิภาพการหีบอ้อยดีขึ้นและลดต้นทุนขนส่งอย่างมาก

นายสมศักดิ์ สุวัฒิกะ เลขาธิการสอน.กล่าวว่า ขณะนี้โรงงานน้ำตาลทรายในประเทศได้ปิดหีบอ้อยฤดูการผลิตปี 55/56 แล้วโดยมีปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งสิ้น100.02514 ล้านตันซึ่งเป็นปริมาณอ้อยที่ถึงระดับ 100 ล้านตันและเป็นปริมาณอ้อยสูงสุดเป็นประวัติการณ์จากเดิมที่เคยทำสถิติสูงสุดไว้ที่97.98 ล้านตันในฤดูการผลิตปี54/55 และคาดการณ์ว่าฤดูหีบในปี56/57 อ้อยจะไม่น้อยกว่า 100 ล้านตันโดยขณะนี้พื้นที่เพาะปลูกมี 10 ล้านไร่เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 1 ล้านไร่
อย่างไรก็ตาม ปริมาณอ้อยที่สูงกลับพบว่าน้ำตาลทรายที่ผลิตได้อยู่ที่ 10 ล้านตันใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาจากสาเหตุค่าความหวานอยู่เพียงระดับ 11 ซี.ซี.เอส.ขณะที่ค่าความหวานปีที่แล้วเฉลี่ยที่ 12 ซี.ซี.เอส. บ่งชี้ให้เห็นว่าอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยจำเป็นต้องปรับตัวทั้งนี้ราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกซื้อขายล่วงหน้าเดือนก.ค. 56 ขณะนี้เฉลี่ยอยู่ที่16.95 เซ็นต์ต่อปอนด์ซึ่งถือเป็นราคาที่ต่ำสุดในรอบ 34 เดือนเนื่องจากผลิตส่วนเกินของโลกมีเพิ่มขึ้นจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจส่งผลกระทบโดยตรงต่อการบริโภคน้ำตาลทรายให้ลดต่ำซึ่งคาดการณ์ว่าราคาน้ำตาลทรายเฉลี่ยปีนี้จะอยู่ที่ระดับ17-18 เซ็นต์ต่อปอนด์ ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องมีการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเพื่อเตรียมความพร้อมในหลายๆ ด้าน

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 17 พฤษภาคม 2556

คอลัมน์ Green Industry: ขีดจำกัดการเติบโต

วิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

อดัม สมิธ (Adam Smith) บิดาแห่งเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่ได้อธิบายในหนังสือของเขาชื่อ"The Wealth of Nations" หรือ "ความมั่งคั่งของประชาชาติ" เมื่อปีพ.ศ. 2319 โดยกล่าวว่า "กลไกตลาดซึ่งเปรียบเสมือนมือที่มองไม่เห็น (Invisible Hand) นั้นจะเป็นเครื่องแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นทุกอย่างโดยตัวมันเอง"

แนวความคิดนี้ เน้นย้ำว่า การปล่อยให้เศรษฐกิจดำเนินไปโดยที่ภาครัฐไม่เข้ามายุ่งเกี่ยว จะทำให้ประสิทธิภาพของระบบเศรษฐกิจของสังคมโดยรวมดีขึ้น การปล่อยให้ภาคเอกชนดำเนินการเองจึงเป็นการสร้างเสถียรภาพและความสมดุลให้กับระบบเศรษฐกิจอย่างแท้จริง

แนวความคิดของการปล่อยให้ภาคเอกชนเข้ามาบริหารจัดการเศรษฐกิจ โดยภาครัฐไม่เข้ามาก้าวก่ายนี้จึงเป็นแนวคิดหลักของทุนนิยมเสรี และการปล่อยให้นายทุนดำเนินการเองจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาพลังทางการผลิตมากขึ้น ก่อให้เกิดการพัฒนาทางอุตสาหกรรม ซึ่งทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น

แต่อีกด้านหนึ่ง หลักการดังกล่าวอาจทำให้องค์กรหรือคนที่แข็งแรงกว่าเอารัดเอาเปรียบองค์กร หรือคนที่อ่อนแอกว่าได้ และไม่ได้แก้ปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

กว่า 230 ปีต่อมา กลุ่มนักธุรกิจนานาชาติ นักการเมือง และนักวิทยาศาสตร์ได้รวมตัวตั้งชื่อกลุ่มว่า"คลับของโรม" (Club of Rome) และได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาสาเหตุและผลกระทบระยะยาวของการเพิ่มประชากรที่มีต่อภาคอุตสาหกรรม การเพิ่มผลผลิตอาหาร การใช้ทรัพยากรและปัญหามลภาวะ จนตีพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ"ขีดจำกัดของการเจริญเติบโต" (The limit of Growth) ในปี พ.ศ. 2515

แนวความคิดในหนังสือดังกล่าว สรุปได้ว่า หากแนวโน้มอัตราการเพิ่มประชากรโลกยังคงเป็นไปเช่นนี้ ในขณะที่การพัฒนาอุตสาหกรรม มลภาวะ การผลิตอาหาร และการขาดแคลนทรัพยากรก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง ขีดจำกัดของการเจริญเติบโตในเชิงเศรษฐกิจบนโลกก็จะมาถึงภายใน 100 ปีข้างหน้า

หลักการวิทยาศาสตร์ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า ระบบนิเวศเป็นพื้นฐานธรรมชาติของทุกชีวิตบนโลก ตัวอย่างผลการทดลองเกี่ยวกับระบบนิเวศในมลรัฐอริโซนา สหรัฐอเมริกา เมื่อปีพ.ศ. 2534 โดยนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งได้ทดลองใช้ชีวิตภายในโดมกระจกขนาดใหญ่ ที่ชื่อว่า"Biosphere II" ซึ่งกินพื้นที่ประมาณ 8 ไร่ 2 ปีถัดมา ความพยายามที่จะจำลองระบบนิเวศของโลกใน Biosphere II พบกับความล้มเหลว สภาวะแวดล้อมที่สร้างขึ้นไม่สามารถอยู่รอดได้

กลุ่มนักวิทยาศาสตร์อยู่ได้ด้วยอากาศและอาหารที่ใส่เข้าไปในโดม แม้ว่ารัฐบาลจะใช้เงินกว่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐไปกับเครื่องมือต่างๆแต่ Biosphere II ไม่สามารถสร้างอากาศและน้ำที่เพียงพอเพื่อจะให้กลุ่มนักวิทยาศาสตร์จำนวน 8 คนดำรงชีพได้

แต่โลกของเราใบนี้ (บางครั้งเราเรียกว่า Biosphere I) ได้ทำหน้าที่สร้างอากาศ สร้างน้ำ และเป็นแหล่งอาหารอย่างไม่เคยหยุดเลยให้กับประชากรโลกกว่า 7,000 ล้านคน

การเลิกล้มโครงการ Biosphere II หลังจากเกิดความไม่เห็นด้วยในกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องว่าจะบริหารจัดการอย่างไร และวัตถุประสงค์คืออะไรกันแน่นั้น ไม่ใช่ประเด็น แต่บทเรียนที่เกิดขึ้นทำให้เห็นภาพ ว่า มนุษย์จะต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหาด้วยเป้าประสงค์เดียวกัน คือ การอนุรักษ์ระบบสนับสนุนการดำรงชีพของสิ่งมีชีวิตบนโลกไว้

แม้ว่าหลักเศรษฐศาสตร์ของ อดัม สมิธ ซึ่งเป็นพื้นฐานของการค้าเสรีในยุคปัจจุบัน ยังคงใช้ได้อยู่ แต่คงไม่ใช่การปล่อยให้ระบบตลาดดำเนินไปด้วยตนเอง โดยปราศจากการควบคุมและกำกับดูแลอย่างเหมาะสม

ทุกวันนี้ "เศรษฐกิจสีเขียว" และ "อุตสาหกรรมสีเขียว" จึงเป็นความพยายามของกระทรวงอุตสาหกรรมและรัฐบาลที่จะส่งเสริมสนับสนุนภาคธุรกิจอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการไทยให้ตระหนักถึงความสำคัญของการอยู่ร่วมกันในสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม โดยการอนุรักษ์ทรัพยากรที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ และสร้างเศรษฐกิจที่ไม่ไปทำลายคุณภาพสิ่งแวดล้อม

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ผลผลิตอ้อยพุ่ง100ล้านตันพื้นที่เพาะปลูกเป็น10ล้านไร่ฤดูกาลนี้อุตฯเร่งปรับปรุงประสิทธิภาพ

สอน. คาดผลผลิตอ้อยฤดูกาลหน้าไม่ต่ำกว่า 100 ล้านตัน เร่งเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิต

นายสมศักดิ์ สุวัฒิกะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า ฤดูกาลผลิตอ้อย2556/2557 คาดว่าจะสามารถผลิตอ้อยได้มากกว่า 100 ล้านตันอ้อย จากปีนี้ผลิตได้100.02 ล้านตันอ้อย เนื่องจากพื้นที่ปลูกอ้อยที่เพิ่มขึ้นราว 1 ล้านไร่ จาก 9 ล้านไร่ในฤดูกาลที่แล้ว มาเป็น 10 ล้านไร่ ในฤดูกาลนี้

"เกษตรกรหันมาปลูกอ้อยมากขึ้นเพราะเป็นสินค้าเกษตรเพียงประเภทเดียวที่มีกฎหมายรองรับว่าปลูกยังไงก็มีการรับซื้อ" นายสมศักดิ์ กล่าว

สำหรับฤดูกาลผลิต 2555/2556 ปริมาณน้ำตาลที่ได้จากอ้อยลดลงเหลือเพียง 100 กิโลกรัมต่ออ้อย 1 ตัน ลดลงจากปีที่แล้ว ซึ่งอยู่ที่ 104 กิโลกรัมต่ออ้อย1 ตัน ขณะที่ค่าความหวานลดลงเหลือ 11 ซี.ซี.เอส.จากเดิม 12 ซี.ซี.เอส. ทั้งนี้ สอน.จะตรวจสอบถึงสาเหตุที่ประสิทธิภาพการผลิตที่ลดลงว่ามาจากปัญหาใด โดยตั้งคณะทำงานลงพื้นที่ พร้อมจัดสรรงบประมาณประจำปีเข้าแก้ไข เพราะหากประสิทธิภาพต่ำและราคาลดลงแล้วเกรงว่าชาวไร่จะเรียกร้องเงินชดเชยที่สูงขึ้นอีก

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การผลิตอ้อยในฤดูกาล 2556/2557 เป็นปีที่มีหลายปัจจัยที่ไม่เอื้อต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งแนวโน้มราคาน้ำตาลที่ลดลง ค่าเงินบาทที่ผันผวนและแข็งค่าและเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว ขณะที่ฤดูกาลที่ผ่านมาพบว่ามีปัญหาคุณภาพอ้อยลดลงจึงผลิตน้ำตาลได้ประมาณ 10 ล้านตัน ดังนั้นทั้งภาครัฐ เกษตรกร และโรงงานน้ำตาลต้องปรับปรุงเรื่องประสิทธิภาพการผลิต

ด้านความคืบหน้าการกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อจ่ายเงินเพิ่มค่าอ้อยให้ชาวไร่สำหรับฤดูกาล 2555/2556 ที่160 บาทต่อตันอ้อย คาดว่าจะสามารถทำสัญญาได้ภายในเดือน พ.ค.นี้ รวมวงเงิน1.6 หมื่นล้านบาท

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

เอกชนชี้แผนจัดการน้ำรัฐไม่ชัด

เอกชนห่วงแผนบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน เหตุไร้รายละเอียด โอ่มั่นใจระบบป้องกันตนเอง
นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูรประธานกรรมการบริหาร สวนอุตสาหกรรมบางกะดี เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมยังมีความกังวลต่อแผนการบริหารจัดการน้ำโดยรวมของรัฐบาล เนื่องจากเป็นแผนที่อยู่เหนือการจัดการของผู้พัฒนานิคมฯ ซึ่งเท่าที่ติดตามยังไม่มีความชัดเจนว่าการลงทุนทั้ง 3.5 แสนล้านบาทนั้นจะมีการลงทุนในส่วนใดบ้าง

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการกลับมีความมั่นใจกับระบบการป้องกันน้ำของพื้นที่อุตสาหกรรมมากกว่า เนื่องจากมีการวางระบบไว้อย่างรัดกุม

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมที่เคยได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมในปลายปี 2554 ยังมีความเชื่อมั่นต่อการลงทุนในไทยและยังไม่พบข้อมูลว่ามีการย้ายฐานผลิตออกไปต่างประเทศ มีเพียงบางส่วนที่ย้ายจากพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี ไปยังจังหวัดในภาคตะวันออกเช่น ฉะเชิงเทรา ชลบุรี สระแก้ว

ทั้งนี้ ทางกระทรวงฯ ได้มอบเงินสนับสนุนในโครงการปรับปรุงระบบเขื่อนป้องกันอุทกภัยของนิคมฯ รอบแรก รวม1,745 ล้านบาท แก่นิคมอุตสาหกรรมสวนอุตสาหกรรมและเขตประกอบการอุตสาหกรรมใน จ.พระนครศรีอยุธยาและปทุมธานี รวม 4 แห่ง จากกรอบวงเงินช่วยเหลือ 2 ใน 3 ประมาณ 2,800 ล้านบาท

สำหรับเงินที่เหลืออีกประมาณ1,100 ล้านบาท จะแบ่งจ่ายให้แก่นิคมฯ4 แห่ง ที่ได้รับเงินในรอบแรกและคงเหลืออีกประมาณ 300 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยจ่ายภายใน 3-4 งวด และอีก 500 ล้านบาท เป็นส่วนที่จะจ่ายให้แก่สวนอุตสาหกรรมนวนครที่ก่อสร้างแล้วแต่ยังส่งเอกสารไม่ครบ และเป็นส่วนของนิคมฯ สหรัตนนครที่ยังไม่ก่อสร้างอีก226 ล้านบาท

นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) กล่าวถึงกรณีที่นักลงทุนญี่ปุ่นเข้าให้ข้อมูลกับ รมว.อุตสาหกรรม ว่าถูกเรียกเก็บเงินจากผู้พัฒนานิคมฯ เอกชนในภาคตะวันออกเพื่อนำไปสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมรอบนิคมฯ ว่า ขณะนี้กนอ.อยู่ระหว่างการติดตามข้อมูล แต่ในเบื้องต้นยังไม่ปรากฏว่าจะมีรายใดดำเนินการก่อสร้าง

อย่างไรก็ตาม แม้ภาคตะวันออกของกรุงเทพฯ จะไม่มีปัญหาน้ำท่วม แต่ก็ถือเป็นพื้นที่เสี่ยงที่ต้องเตรียมสร้างเขื่อนกั้นน้ำไว้รองรับ

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

คาดอ้อยปี56/57พุ่ง100ล้านตันห่วงคุณภาพลดฉุดรายได้ชาวไร่

กระทรวงอุตสาหกรรมคาดผลผลิตอ้อยฤดูกาลใหม่ 2556/2557 แตะ 100 ล้านตัน เป็นปีที่ 2 ห่วงคุณภาพอ้อยลดลง ส่งผลชาวไร่มีรายได้น้อยลง เผยต้องจ่ายเงินเพิ่มค่าอ้อยมากขึ้น เตรียมช่วยเหลือชาวไร่ปรับปรุงพันธุ์และการดูแลอ้อยในไร่

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในงานเสวนาเรื่อง "สถานการณ์และแนวโน้มตลาดน้ำตาลโลก" ว่า ฤดูการผลิต 2555/2556 มีผลผลิตอ้อย 100.02 ล้านตัน ถือว่าสูงสุดในประวัติศาสตร์ และผลิตน้ำตาลได้ประมาณ 10 ล้านตัน แต่คุณภาพอ้อยลดลงเพราะผลผลิตต่อไร่และค่าความหวานไม่ดี ซึ่งในฤดูกาลผลิต 2556/2557 จะต้องรีบปรับปรุงเพื่อให้คุณภาพอ้อยดีขึ้น เนื่องจากฤดูกาลหน้ามีแนวโน้มที่อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยจะมีปัญหา โดยราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกที่ลดลงมาก จากค่าเงินบาทผันผวนและเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร

นายสมศักดิ์ สุวัฒิกะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า สอน.คาดว่าฤดูการผลิตอ้อย 2556/2557 จะมีผลผลิตอ้อยมากกว่า 100 ล้านตัน โดยมีปัจจัยหนุนจากพื้นที่ปลูกอ้อยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มี 10 ล้านไร่ซึ่งเกษตรกรที่ปลูกมันสำปะหลัง ข้าวและข้าวโพดหันมาปลูกอ้อยมากขึ้น เพราะมีระบบรับซื้ออ้อยชัดเจนและมีระบบประกันราคา และต่างจากผลผลิตประเภทอื่นที่ต้องผ่านระบบจำนำ

ทั้งนี้ อ้อยในฤดูกาลผลิต 2555/2556 มีคุณภาพลดลง เนื่องจากมีชาวไร่อ้อยหน้าใหม่เพิ่มขึ้น ซึ่งก่อนเปิดหีบอ้อยคาดว่าจะมีผลผลิตอ้อย 94 ล้านตัน แต่มีชาวไร่ที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนเพิ่มมาก จึงทำให้มีผลผลิตสูงถึง 100.02 ล้านตัน โดยอ้อย 1 ตันผลิตน้ำตาลได้เฉลี่ย 100 กิโลกรัม ลดลงจากฤดูกาลก่อนหน้านี้ที่ผลิตได้ 104 กิโลกรัม รวมทั้งค่าความหวานเฉลี่ยอยู่ที่ 11 ซี.ซี.เอส.ลดลงจากฤดูกาลที่แล้วที่มีค่าความหวาน 12 ซี.ซี.เอส. ซึ่ง สอน.จะเข้าไปช่วยเหลือชาวไร่เกี่ยวกับการปรับปรุงพันธุ์อ้อย ปุ๋ยและการดูแลอ้อยในไร่

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า คุณภาพอ้อยที่ลดลง มีผลกระทบต่อรายได้ของชาวไร่และอาจกระทบกับการจ่ายเงินเพิ่มค่าอ้อยให้ชาวไร่ในฤดูกาลผลิตหน้า โดยฤดูกาลผลิต 2555/2556 ต้องจ่ายเงินเพิ่มค่าอ้อย 160 บาทต่อตัน ซึ่งกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายเตรียมที่จะทำสัญญาเงินกู้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธกส.) ภายใน พ.ค.นี้ วงเงิน 16,000 ล้านบาท มีกำหนดระยะเวลาคืนเงิน 17-18 เดือน และถ้าฤดูกาลผลิต 2556/2557 มีผลผลิตเกิน 100 ล้านตัน จะทำให้จ่ายเงินเพิ่มค่าอ้อยใกล้เคียงกับปีนี้

สถานการณ์ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกขณะนี้มีแนวโน้มลดลง โดยราคาตลาดล่วงหน้าปิดเมื่อวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา สำหรับส่งมอบเดือน ก.ค. 2556 อยู่ที่ 16.95 เซนต์ต่อปอนด์ ลดลงต่ำสุดในรอบ 34 เดือน ซึ่งปีที่แล้วราคาน้ำตาลเคยปิดที่สูงสุด 36 เซนต์ต่อปอนด์ แต่บริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด ขายน้ำตาลล่วงหน้าของฤดูกาล 2556/2557 ไปเกือบหมดแล้ว จึงเชื่อว่าราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่ชะลอตัวลง จะไม่กระทบกับราคาอ้อยในฤดูกาลปัจจุบัน

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

อียูเข้าตรวจสอบบริษัทน้ำตาลกรณีละเมิดกฎระเบียบป้องกันการผูกขาด

บรัสเซลส์ 16 พ.ค.- คณะกรรมาธิการยุโรปเปิดเผยว่า ได้ดำเนินการตรวจสอบบริษัทน้ำตาลหลายแห่งโดยไม่ได้แจ้งล่วงหน้า หลังจากมีข้อกังวลว่าบริษัทเหล่านี้อาจละเมิดกฎระเบียบป้องกันการผูกขาด

คณะกรรมาธิการยุโรปกล่าวว่า ทางคณะกรรมาธิการมีเหตุผลที่จะเชื่อว่า บริษัทที่เกี่ยวข้องอาจละเมิดกฎระเบียบป้องกันการผูกขาดของสหภาพยุโรป ซึ่งห้ามการตกลงราคาขายร่วมกันเพื่อไม่ให้มีการแข่งขันและข้อจำกัดทางธุรกิจ การตรวจสอบดังกล่าวมีขึ้นเมื่อปลายเดือนที่แล้ว แต่คณะกรรมาธิการฯไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่าบริษัทใดหรือประเทศสมาชิกใดที่เกี่ยวข้องในการตรวจสอบครั้งนี้ เพียงแต่ระบุว่า การตรวจสอบครอบคลุมตลาดน้ำตาลทรายขาว

การตรวจสอบเช่นนี้เป็นเพียงขั้นแรกของการสอบสวนของคณะกรรมาธิการเกี่ยวกับกรณีการผูกขาดการค้าแต่ไม่ได้แปลว่ามีการกระทำผิดเกิดขึ้นเสมอไป

จาก http://www.mcot.net  วันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

เผือกร้อน กนง.แก้บาทแข็ง

“ธีระชัย” หนุนคุมเงินทุนไหลเข้าตลาดตราสารหนี้

อดีตขุนคลัง “ธีระชัย” หนุนแบงก์ชาติใช้ 4 มาตรการควบคุมเงินทุนไหลเข้าในตลาดตราสารหนี้ จากระดับความเบาไปหาหนัก โดยเฉพาะ เก็บภาษีดอกเบี้ยจากการลงทุนในตราสารหนี้ และมาตรการที่ให้นักลงทุนต่างชาติที่นำเงินทุนเข้ามาลงทุนในไทย เป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดมากที่สุด และคุมปัญหาฟองสบู่ได้ ด้าน “พิชัย” เห็นต่างให้ลดดอกช่วยเอกชน

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในการเสวนาในกิจกรรม ราชดำเนินเสวนา “บาทแข็ง นโยบายการเงิน การคลังที่ควรจะเป็น” จัดโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 29 พ.ค.นี้ หวังว่า กนง.จะยึดหลักดูภาพรวมเศรษฐกิจโดยรวมในการตัดสินใจปรับดอกเบี้ย โดยรอดูตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสแรกปีนี้ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. จะประกาศในวันที่ 20 พ.ค.นี้ ซึ่งหากเศรษฐกิจชะลอตัว ก็อาจจะลดดอกเบี้ยลง ให้การตัดสินใจเป็นไปตามหลักวิชาการ ไม่เอนเอียงตามกระแสการเมือง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุน

ส่วนข้อเสนอให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (ดอกเบี้ยระยะ 1 วัน) ลงจากร้อยละ 2.75 เพื่อสกัดการไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติ ไม่ได้แก้ปัญหาการไหลเข้าของเงินทุน เพราะต่างชาติเข้ามาซื้อพันธบัตรอายุเกิน 1 ปี ถึง 71% ของยอดการถือครองพันธบัตรของต่างชาติ 884,000 ล้านบาท เมื่อเดือนเมษายน 2556 โดยเงินต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในตราสารหนี้เพื่อหวังผลตอบแทน จากอัตราดอกเบี้ยไทยที่สูงกว่า โดยดอกเบี้ยพันธบัตรระยะ 5 ปี ของไทยอยู่ที่ร้อยละ 3.1 สูงกว่าพันธบัตรสหรัฐถึง 4 เท่า ที่อยู่ร้อยละ 0.75 สำหรับอัตราดอกเบี้ยระยะยาวนั้น โดยทั่วไปแบงก์ชาติจะไม่สามารถควบคุมได้ เว้นแต่จะเข้าไปซื้อ-ขายพันธบัตรระยะยาวในตลาดด้วยตัวเอง

นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้ธนาคารแห่งประเทศไทยใช้ 4 มาตรการควบคุมเงินทุนไหลเข้าในตลาดตราสารหนี้ จากระดับความเบาไปหาหนัก โดยเฉพาะมาตรการที่ 3 และ 4 คือ การเก็บภาษีดอกเบี้ยจากการลงทุนในตราสารหนี้ และมาตรการที่ให้นักลงทุนต่างชาติที่นำเงินทุนเข้ามาลงทุนในไทย ต้องทำประกันความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดมากที่สุด เหมือนการใช้มีดผ่าตัดเฉพาะจุด และยังสามารถคุมปัญหาฟองสบู่ได้ แต่ก็จะมีผลกระทบทำให้เงินทุนไหลเข้าตลาดตราสารหนี้ระยะยาวลดลง และกระทบต่อการออกพันธบัตรระดมทุนของรัฐบาลที่ต้องจ่ายอัตราดอกเบี้ยแพงขึ้น การระดมทุนของเอกชนผ่านตลาดตราสารหนี้จะมีต้นทุนสูงขึ้น

นายธีระชัย กล่าวว่า การดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท.มาถูกต้องแล้ว และเห็นว่ากระทรวงการคลังควรเพิ่มนโยบายการคลังในการดูแลปัญหาฟองสบู่ ซึ่งจะรุนแรงขึ้นเนื่องจากญี่ปุ่นออกมาตรการ QE มาเติมสภาพคล่องในระบบโลก เพิ่มเติมจากมาตรการ QE ของสหรัฐ จนมีคำพูดว่ารถไฟญี่ปุ่นออกจากโตเกียวแล้ว และจะถึงกรุงเทพฯ ในเร็วๆ นี้ ส่วนข้อขัดแย้งระหว่างคลังกับ ธปท. เรื่องอัตราดอกเบี้ยนั้น เป็นความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้ แต่ควรหารือพูดคุยกันภายใน เหมือนกับสามีและภรรยาที่ควรพูดคุยกัน หรือทะเลาะกันในบ้าน การมีข่าวความขัดแย้งผ่านสื่อ อาจจะกระทบความเชื่อมั่นของต่างประเทศได้

ด้านนายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กนง.ควรที่จะลดดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ เพื่อลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการ และลดส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยไทยกับสหรัฐ และการดูแลค่าเงินบาทควรทำ ควบคู่กับการดำเนินมาตรการอื่นๆ และ ใช้มาตรการเฉพาะในการควบคุมในภาคที่มีสัญญาณว่าจะเกิดปัญหาฟองสบู่ เพราะเงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้าไทยปีนี้สูงมาก โดยเพียงแค่ไตรมาส 1 ปีนี้ มีปริมาณเงินทุนต่างชาติไหลเข้าสูงถึง 4,770 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับทั้งปี 2555 ที่มีเงินไหลเข้า 11,540 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้เห็นว่าธนาคารแห่งประเทศไทยต้องเปลี่ยนแนวคิดที่ว่า ธนาคารกลางสามารถขาดทุนได้ เพราะหากธนาคารกลางยังขาดทุนต่อเนื่อง ก็จะสร้างปัญหาให้กับประเทศ เหมือนกับการขาดทุนจากวิกฤติปี 2540 ที่ขาดทุน 1.14 ล้านล้านบาท ที่ยังเป็นภาระให้กับรัฐบาลจนถึงปัจจุบัน ให้รัฐบาลต้องตั้งงบประมาณถึง 60,000 ล้านบาทต่อปี เพื่อชำระผลการขาดทุนดังกล่าว พร้อมเสนอให้มีนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศบางส่วนมาตั้งกองทุนความมั่งคั่ง และใช้ในการสำรองน้ำมัน เพราะประเทศไทยมีสำรองน้ำมันเพียง 36 วัน ซึ่งถือว่าน้อยมาก หากเกิดสงคราม รวมทั้งให้เงินทุนสำรองอิงกับเงินสกุลหยวนมากขึ้น

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

สศก.จับมือFAOสร้างฐานข้อมูล แบ่งเขตเกษตรศก.พืชหลักจัดระเบียบทรัพยากร

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมลงนามเอกสารโครงการความร่วมมือทางวิชาการภายใต้กรอบความร่วมมือระดับประเทศ (Country Programming Framework: CPF) กับ FAO ซึ่งการลงนามครั้งนี้ Mr.Vili A. Fuavao, Deputy Regional Representative, FAO ประจำประเทศไทย ได้ลงนามใน 2 โครงการได้แก่ โครงการ TCP/THA/3403 “National Agro-economic Zoning for Major Crops in Thailand” ลงนามกับเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และโครงการ TCP/THA/3401 “Enhancement of Beef Productivity through Animal Identification and Traceability” ลงนามกับอธิบดีกรมปศุสัตว์

สำหรับโครงการ “National Agro-economic Zoning for Major Crops in Thailand” หรือ การแบ่งเขตเกษตรเศรษฐกิจสำหรับพืชหลักในประเทศไทยที่สศก.ร่วมลงนามนั้น มุ่งสร้างมาตรฐานของชุดข้อมูลผ่านเว็บท่า (Web portal) เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย พร้อมกับแลกเปลี่ยนและติดต่อระหว่างกันเพิ่มขึ้น และนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ในการแบ่งเขตเกษตรเศรษฐกิจสินค้าเกษตรหลักให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งในการจัดทำการแบ่งเขตเกษตรเศรษฐกิจสินค้าเกษตรหลัก จะมีพิจารณาข้อมูลด้านการเปลี่ยนแปลงความต้องการด้านอาหาร ด้านอาหารสัตว์ การส่งออกและพลังงานชีวภาพ รวมถึงมาตรการจูงใจด้านสังคมและเศรษฐกิจ เพื่อให้ผลตอบแทนสูงสุดแก่เกษตรกรและรัฐบาลด้วย

ทั้งนี้ คาดว่าโครงการดังกล่าว จะช่วยส่งเสริมการวางแผนการใช้พื้นที่ดินอย่างเหมาะสม รวมถึงการจัดการด้านทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ยังจะช่วยให้การจัดการด้านอุปสงค์ อุปทานสำหรับสินค้าเกษตรหลักที่เป็นพืชอาหารและไม่ใช่พืชอาหารมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการเพิ่มผลผลิต การช่วยรัฐบาลในการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับเกษตรกร และการสร้างเสถียรภาพให้กับราคาสินค้าเกษตรได้ดียิ่งขึ้น

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

สำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) จัดเสวนา สถานการณ์และแนวโน้มตลาดน้ำตาลโลก ภายหลังพบราคาน้ำตาลตลาดโลกลดต่ำลงเหลือ 16 เซนต์ต่อปอนด์ ต่ำสุดในรอบ 34 เดือน

สำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) จัดเสวนา สถานการณ์และแนวโน้มตลาดน้ำตาลโลก ภายหลังพบราคาน้ำตาลตลาดโลกลดต่ำลงเหลือ 16 เซนต์ต่อปอนด์ ต่ำสุดในรอบ 34 เดือน

นายสมศักดิ์ สุวัฒิกะ เลขาธิการ สำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) เปิดเผยว่า จากสถิติการผลิตอ้อยในปีนี้เพิ่มขึ้นกว่า 100 ล้านตัน ซึ่งเป็นปริมาณที่สูงกว่าคาดการณ์ไว้ 94 ล้านตัน โดยเป็นผลมาจากการที่เกษตรกรหันมาปลูกอ้อยมากขึ้น เพราะเป็นสินค้าที่ขายได้ราคา และเป็นที่ต้องการของตลาดโลก ทำให้มีการเพิ่มพื้นที่ปลูกมากขึ้น แต่ยังพบว่า มีปัญหาคุณภาพน้ำตาลลดลงเหลือเพียง 100 กิโลกรัมต่ออ้อย 1 ตัน ซึ่งลดลงจากปีที่แล้ว 104 กิโลกรัมต่ออ้อย 1 ตัน หรือ คิดเป็นค่าความหวานอยู่ที่ 11 ซี.ซี.เอส. จากเดิม 12 ซี.ซี.เอส. ส่งผลให้ในฤดูผลิตใหม่นี้ ทาง สอน. จะตรวจสอบถึงสาเหตุที่ชัดเจนอีกครั้ง และจะตั้งคณะทำงานลงพื้นที่ เพื่อเร่งแก้ปัญหาต่อไป

สำหรับความคืบหน้าการกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) เพื่อช่วยเหลือจ่ายค่าเพิ่มอ้อยให้ชาวไร่ตันละ 160 บาทนั้น คาดว่าจะสามารถทำสัญญาได้ภายในเดือนพฤษภาคมนี้ ตามวงเงิน 16,000 ล้านบาท ระยะเวลาคืนเงิน 17 - 18 เดือน ส่วนปีหน้าหากอ้อยปลูกถึง 100 ล้านตัน คาดว่าอาจจะต้องจ่ายเงินเพิ่มค่าอ้อยสูงเหมือนปีนี้เช่นกัน ส่วนสถานการณ์ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลก พบว่า ในปีนี้ไม่ดีเท่าที่ควร เพราะล่าสุดราคาปิดเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา การส่งมอบเดือนกรกฎาคม 2556 ราคาอยู่ที่ 16.95 เซนต์ต่อปอนด์ ลดลงอย่างต่อเนื่องจนต่ำสุดในรอบ 34 เดือน เทียบกับราคาเฉลี่ยปกติจะประมาณ 18 เซนต์ต่อปอนด์ และปีนี้ถือว่าราคาลดลงจากปี 2555 อย่างมาก เพราะเคยทำสถิติปิดราคาสูงสุดถึง 36 เซนต์ต่อปอนด์ ทั้งนี้จึงส่งผลให้ในปีหน้าต้องมีการติดตามสถานการณ์ราคาน้ำตาลทรายอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบมากขึ้นอีก เพราะไทยยังถือเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลทรายอันดับ 2 ของโลก

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 16 พฤษภาคม 2556

นักวิชาการยันพลังงานลมเป็นพลังงานทดแทนที่มีศักยภาพสูงสุด

สนง.คณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ 16 พ.ค. - นักวิชาการเสนอผลการศึกษาวิจัยศักยภาพพลังงานลม ยืนยันเป็นพลังงานทดแทนที่มีศักยภาพสูงสุดและพร้อมรองรับเป้าหมายการนำพลังงานลม 1,200 เมกะวัตต์ มาใช้ภายในประเทศ ในปี 2564

สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดสัมมนาเรื่อง “ศักยภาพการผลิตไฟฟ้าจากลม” เพื่อเตรียมความพร้อมในการวางยุทธศาสตร์เพื่อปรับเปลี่ยนแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกของประเทศ และนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ประกอบการตัดสินใจในการกำหนดนโยบายด้านพลังงานของประเทศต่อไป ทั้งนี้ คณะนักวิจัยจากสถาบันอุดมศึกษา 6 แห่ง ได้นำเสนอผลงานวิจัยแบบเกี่ยวกับศักยภาพการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมในภูมิภาคต่าง ๆ ทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งพื้นที่ชายฝั่งทะเลของอ่าวไทย

นายกฤษณ์ธวัช นพนาคีพงษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า พลังงานลมมีศักยภาพสูงที่สุดในบรรดาพลังงานทดแทนทั้งหมด กระทรวงพลังงานกำหนดเป้าหมายในการนำพลังงานลมมาใช้เพิ่มมากขึ้นเป็น 1,200 เมกะวัตต์ ในปี 2564 วช.จึงให้ทุนสนับสนุนการศึกษาวิจัยศักยภาพพลังงานลมในทุกมิติที่เกี่ยวข้อง อาทิ ลมแรง ความสม่ำเสมอของความเร็วลม ทิศทางลม ซึ่งพบว่าพื้นที่ที่มีศักยภาพมากที่สุด คือ ภาคใต้ โดยเฉพาะชายฝั่งทะเลทางอ่าวไทย ข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับภาครัฐและเอกชนในการลงทุนด้านพลังงานลมเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการใช้พลังงานลม ทั้งนี้ในการศึกษาเรื่องต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากลม เมื่อเทียบกับถ่านหินและพลังงานน้ำ พบว่ามีความคุ้มค่า แต่ต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีกังหันลมควบคู่ไปด้วย.

จาก http://www.mcot.ne  วันที่ 16 พฤษภาคม 2556

จี้สปก.แก้ปัญหาที่ดินทำกินเกษตรกร

นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 มีเกษตรกรยากจนจำนวน 6.6 แสนรายที่ไร้ที่ดินทำกิน สะท้อนให้เห็นถึงการขาดโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรของประชาชนในบางกลุ่ม ซึ่งส่งผลต่อการสร้างรายได้และการสะสมสินทรัพย์ เพื่อยกระดับฐานะความเป็นอยู่ของครัวเรือน

ขณะที่ ข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พบว่า ในปี 2554 มีเกษตรกรที่เช่าที่ดินผู้อื่นประมาณ 19.6% ของที่ดินเกษตรทั้งหมด 149.25 ล้านไร่ ซึ่งพบในภาคกลางสูงที่สุดประมาณ 36% โดยมีมากกว่า 10 จังหวัด ที่มีการเช่ามากกว่า 40% และพบสูงที่สุดที่ จ.พระนครศรีอยุธยา มีการเช่ามากถึง 72% นอกจากนี้ ยังมีปัญหาที่เกษตรกรต้องจ่ายค่าเช่าสูง และการเช่าส่วนใหญ่ไม่มีการทำสัญญาเช่าที่ถูกกฎหมาย หรือสัญญาเช่าไม่สมบูรณ์นำไปสู่การเช่าที่ไม่เป็นธรรมของเกษตรกรรายย่อย

อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะมีสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ดำเนินการจัดสรรที่ดินให้ผู้ไร้ที่ดินทำกิน แต่ที่ผ่านมา ส.ป.ก. มีการจัดหาที่ดินเอกชนโดยการจัดซื้อหรือเวนคืนน้อยมาก เนื่องจากได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินการในพื้นที่ของรัฐซึ่งมีเกษตรกรครอบครองอยู่เดิมตามนโยบายของรัฐ และปัจจุบันที่ดินของรัฐที่สามารถจัดได้นั้นกำลังจะหมดไป โดยรัฐยังขาดกลไกและมาตรการที่ชัดเจนในการรับคืนที่ดินจากเกษตรกรที่ไม่ประสงค์จะใช้ประโยชน์ในที่ดิน นอกจากนี้แล้ว ยังมีปัญหาจากข้อจำกัดของข้อกฎหมายบางมาตรา รวมถึงความซับซ้อนของขั้นตอนการจัดซื้อที่ดินที่ทำให้ต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการจัดซื้อที่ดินเอกชน

นายชวลิต กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้กำหนดแนวทางการกระจายการถือครองที่ดินเกษตรกรรมโดยกระบวนการปฏิรูปที่ดิน แบ่งเป็น 2 ประการ คือ 1.การเร่งรัดจัดซื้อที่ดินจากเอกชนเพื่อนำมาปฏิรูปที่ดิน โดยจัดสรรให้เกษตรกรเช่าหรือเช่าซื้อในราคาที่เป็นธรรม โดยมอบหมายให้ส.ป.ก.เร่งรัดจัดทำแผนการจัดซื้อที่ดิน จัดทำแผนการพัฒนาพื้นที่ที่จัดซื้อ รวมถึงจัดที่ดินให้ผู้ประสงค์จะเข้าทำประโยชน์ในที่ดินที่จัดซื้อ 2. เร่งรัดการพัฒนากลไกการหมุนเวียนที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน ซึ่งปัจจุบันพบปัญหาเกษตรกรที่ไม่ประสงค์จะใช้ประโยชน์ในที่ดิน เนื่องจากอายุมากและไม่มีผู้สืบทอดอาชีพเกษตรกรรรม แต่ไม่นำที่ดินคืนให้ ส.ป.ก. เนื่องจาก ส.ป.ก.ยังขาดความชัดเจนเรื่องการจ่ายค่าชดเชยกรณีที่เกษตรกรได้ลงทุนในพื้นที่แล้ว จึงเกิดปัญหาการละทิ้งที่ดิน ไม่ใช้ประโยชน์หรือปล่อยให้ผู้อื่นเช่า หรือเกิดการซื้อขายแบบผิดกฎหมาย ที่ดินบางส่วนจึงตกไปอยู่กับนายทุนที่ดินรายใหญ่ ทำให้ที่ดินนั้นไม่ได้นำมาจัดให้เกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกิน หรือผู้ไร้ที่ดินทำกินที่รอโอกาสการได้รับจัดสรร

“การพัฒนากลไกการหมุนเวียนที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินนั้น ส.ป.ก.ควรเร่งรัดการกำหนดเกณฑ์ราคาประเมินที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินที่เหมาะสมสำหรับการจ่ายค่าชดเชย เพื่อรับคืนที่ดินจากเกษตรกร ที่ไม่ประสงค์จะใช้ประโยชน์ในที่ดิน นอกจากนี้ควรเร่งพัฒนากองทุนเพื่อการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ให้สามารถทำหน้าที่เป็นกลไกหลักในการรับคืนที่ดิน หรือ หมุนเวียนที่ดินจากเกษตรกรรายเดิมให้เกษตรกรรายใหม่ ทั้งในกรณีการคืนที่ดินปกติ และกรณีเกษตรกรไม่สามารถชำระหนี้กับ ธ.ก.ส.หรือสถาบันการเงินอื่นๆ” นายชวลิต กล่าว

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 16 พฤษภาคม 2556

พบผลิตอ้อยทะลุ 100 ล้านตัน แต่คุณภาพแย่ อุตฯ เร่งส่งจนท.สำรวจ

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยในงานเสวนาและปาฐกถาพิเศษเรื่อง"สถานการณ์และแนวโน้มตลาดน้ำตาลโลก"

จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ว่า ฤดูการผลิตอ้อยปี 2556/2557 ต้องจับตาเพราะแนวโน้มไม่ดีส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ทั้งนี้ สาเหตุหลักมาจากราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกที่ลดลงมาก ค่าเงินบาทผันผวน และเศรษฐกิจโลกยังไม่ดีเท่าที่ควร

อย่างไรก็ตาม สำหรับฤดูการผลิตอ้อยปี 2555/2556 พบว่าปริมาณอ้อยที่ตัดได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ 100 ล้านตันอ้อย ผลิตน้ำตาลได้เกือบ 10 ล้าน ตันแต่คุณภาพอ้อยลดลงเพราะประสิทธิภาพอ้อยไม่ดี ดังนั้นในฤดูการผลิตปีหน้าต้องรีบปรับปรุง

ด้านนายสมศักดิ์  สุวัฒิกะ เลขาธิการสอน.กล่าวว่า คาดว่าฤดูการผลิตอ้อย 2556/2557 จะสามารถผลิตอ้อยได้มากกว่า 100 ล้านตันเช่นกัน จากปีนี้ผลิตได้ 100.02 ล้านตัน เนื่องจากพื้นที่ปลูกอ้อยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก ปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ 10 ล้านไร่ เนื่องจากเกษตรกรหันมาปลูกอ้อยมากขึ้น เพราะเป็นสินค้า เกษตรที่ขายได้ราคา มีผู้รับซื้อชัดเจน เป็นที่ต้องการของตลาดโลก ต่างจากพืชชนิดอื่นที่มีปัญหา อาทิ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา นอกจากนี้ยังมาจาก การที่ชาวไร่ปรับปรุงการปลูกอ้อยให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น เพราะจากข้อมูลพบว่าปีนี้มีพื้นที่เพิ่มสูงสุด คือ 1 ล้านไร่ แต่ไม่เข้าระบบชาวไร่ ทำให้คาดว่าเป็ ชาวไร่หน้าใหม่อาจไม่มีความชำนาญในการผลิต เป็นส่วนหนึ่งของ ปัญหาคุณภาพน้ำตาลลดลง

"ปนี้คุณภาพลดลงมาก ทั้งปริมาณน้ำตาลที่ได้จากอ้อยปีนี้เหลือเพียง 100 กิโลกรัมต่ออ้อย 1 ตัน ลดลงจากปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ 104 กิโลกรัมต่ออ้อย 1 ตัน หรือค่าความหวานปีนี้เหลือ 11 ซี.ซี.เอส.จากเดิม 12 ซี.ซี.เอส. ดังนั้นฤดูผลิตใหม่นี้สอน.จะตรวจสอบข้อมูลถึงสาเหตุที่ชัดเจนอีกครั้งว่ามาจากพันธุ์ อ้อย กระบวนการผลิต หรือปัญหาใด โดยตั้งคณะทำงานลงพื้นที่ จากนั้นจะจัดสรรงบประมาณประจำปีเข้าแก้ปัญหา"

สำหรับ ความคืบหน้าการกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) เพื่อจ่ายค่าเพิ่มอ้อยให้ชาวไร่ตันละ 160 บาทนั้น คาดว่าจะสามารถทำสัญญาได้ภายในเดือน พ.ค.นี้ ตามวงเงิน 16,000 ล้านบาท ระยะเวลาคืนเงิน 17-18 เดือน ส่วนปีหน้าหากอ้อยปลูกถึง 100 ล้านตัน ตามที่คาดการณ์ คาดว่าจะต้องจ่ายเงินเพิ่มค่าอ้อยสูงเหมือนปีนี้เช่นกัน

ทั้งนี้ สถานการณ์ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกไม่ดีนัก ไทยถือเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลทรายอันดับ 2 ของโลก เพราะล่าสุดราคาปรากดเมื่อวันที่ 15 พ.ค.56 ส่งมอบ เดือน ก.ค.56 อยู่ที่ 16.95  เซนต์/ปอนด์ ลดลงอย่างต่อเนื่องจนต่ำสุดในรอบ 34 เดือน เทียบกับราคาเฉลี่ยปกติจะประมาณ 18 เซนต์/ปอนด์ และปีนี้ถือว่าราคาลดลงจากปี 2555 อย่างมากเพราะเคยทำสถิติราคาสูงสุดถึง 36 เซนต์/ปอนด์ ดังนั้น ในปีหน้าต้องติดตามสถานการณ์ราคาอย่างใกล้ชิด

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 16 พฤษภาคม 2556

แห่ตั้งโรงงานน้ำตาลทรายรั้บเออีซี

เอกชนแห่ตั้งโรงงานน้ำตาลทรายเกือบ 20 แห่งรับเปิดเออีซี

วงการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ขณะนี้มีโรงงานน้ำตาลทรายได้ยื่นขอย้าย ขยาย และตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่เกือบ 20 แห่งต่อกระทรวงอุตสาหกรรม เนื่องจากความต้องการบริโภคน้ำตาลทรายในภูมิภาคเอเชียในอนาคตจะเติบโตขึ้นสูง โดยเฉพาะหลังการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 58

“การยื่นขอขยายโรงงานครั้งนี้ประเมินได้ 2 ลักษณะคือการกันโรงงานอื่น ๆ ไม่ให้มาตั้งใกล้กับแหล่งเพาะปลูกอ้อยของตนเอง กับการตั้งเพราะต้องการขยายโรงงานจริง ๆ โดยขณะนี้พบปริมาณอ้อยในอนาคตน่าจะมากกว่า 100 ล้านตันต่อปี”

นายธีระชัย แสนแก้ว ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน กล่าวว่า การตั้งโรงงานใหม่ เป็นสิ่งที่ดี ในการทำให้ชาวไร่สามารถจัดส่งอ้อยได้ใกล้ขึ้น แต่ทั้งนี้ก็จะต้องตระหนักว่า เมื่อยื่นขอแล้วจะลงทุนได้จริงหรือไม่ เพราะขนาดโรงงานใหม่ที่เกิดขึ้นก่อนหน้ายังมีปัญหาเรื่องการก่อสร้าง

ด้านนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเปิดงานเสวนาสถานการณ์แนวโน้มตลาดน้ำตาลโลกว่า รัฐมีแนวคิดที่จะจัดโซนนิ่งการเพาะปลูกอ้อยดังนั้นการมีโรงงานใกล้ ๆ กับแหล่งเพาะปลูกก็จะทำให้ประสิทธิภาพการหีบอ้อยดีขึ้นและลดต้นทุนขนส่งอย่างมาก

นายสมศักดิ์ สุวัฒิกะ เลขาธิการสำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ขณะนี้โรงงานน้ำตาลทรายในประเทศได้ปิดหีบอ้อยฤดูการผลิตปี 55/56 แล้วโดยมีปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งสิ้น100 ล้านตัน และเป็นปริมาณอ้อยสูงสุดเป็นประวัติการณ์จากเดิมที่เคยทำสถิติสูงสุดไว้ที่97.98 ล้านตันในฤดูการผลิตปี54/55 และคาดการณ์ว่าฤดูหีบในปี 56/57 อ้อยจะไม่น้อยกว่า 100 ล้านตัน โดยขณะนี้พื้นที่เพาะปลูกมี 10 ล้านไร่เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 1 ล้านไร่

อย่างไรก็ตามปริมาณอ้อยที่สูงกลับพบว่าน้ำตาลทรายที่ผลิตได้อยู่ที่ 10ล้านตันใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาจากสาเหตุค่าความหวานอยู่เพียงระดับ 11ซี.ซี.เอส. ขณะที่ค่าความหวานปีที่แล้วเฉลี่ยที่ 12 ซี.ซี.เอส. ชี้ให้เห็นว่าอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยจำเป็นต้องปรับตัว

ทั้งนี้ ราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกซื้อขายล่วงหน้าเดือนก.ค. 56 เฉลี่ยอยู่ที่ 16.95 เซนต์ต่อปอนด์ ซึ่งถือเป็นราคาที่ต่ำสุดในรอบ 34 เดือนเนื่องจากผลิตส่วนเกินของโลกมีเพิ่มขึ้นจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจส่งผลกระทบโดยตรงต่อการบริโภคน้ำตาลทรายให้ลดต่ำซึ่งคาดการณ์ว่าราคาน้ำตาลทรายเฉลี่ยปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 17-18 เซนต์ต่อปอนด์ ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องมีการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเพื่อเตรียมความพร้อมในหลาย ๆ ด้าน

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 16 พฤษภาคม 2556

ทีซีซีเปิดรง.น้ำตาลลุย” เกษตร-พลังงาน”

กลุ่มทีซีซีรุกธุรกิจเกษตร-พลังงานเต็มสูบลงทุนกว่า 6 พันล้านบาท ลุยเปิดโรงงานน้ำตาลขนาดใหญ่ “ทิพย์สุโขทัย” กว่า 107 พันไร่ เตรียมเพิ่มกำลังผลิตอีกเท่าตัวใน 3 ปี รวมทั้งกลุ่มเดินหน้ารง.น้ำตาล 4 แห่ง กำลังผลิต 4 หมื่นตันอ้อย พร้อมเดินหน้ารง.ไฟฟ้าชีวมวล

กลุ่มบริษัทีซีซี ของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี เปิดโรงงานน้ำตาลทิพย์สุโขทัย ตั้งอยู่บนพื้นที่ 1,717 ไร่ ระหว่างตำบลบ้านตึก และตำบลดงคู่ อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดโรงงาน้ำตาลทิพย์สุโขทัย และโรงงานไฟฟ้าชีวมวลในวันนี้ (16 พค.)

โรงงานดังกล่าว จะเปิดโรงงานน้ำตาลใหม่ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท คริสตอลลา จำกัด ในกลุ่มบริษัททีซีซีดำเนินกิจการโรงงานน้ำตาลมากว่า 24 ปี ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตรวม 18,000 ตันอ้อยต่อวัน และมีแผนขยายกำลังการผลิตเป็น 36,000 ตันอ้อยต่อวันในอีก 3 ปีข้างหน้า โดยคาดว่าหลังจากนั้นจะลงทุนเพิ่มอีก 5,000 ล้านบาท ทั้งในส่วนของโรงงานน้ำตาล และโรงงานไฟฟ้าชีวมวล

โรงงานแห่งนี้ใช้งบประมาณในการลงทุน 6,000 ล้านบาท แบ่งเป็นโรงงานน้ำตาล 3,500 ล้านบาท และโรงงานไฟฟ้า 2,500 ล้านบาท มีการนำเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้ในการผลิต และการจัดการทุกขั้นตอนควบคุมภาพมาตรฐานไอเอสโอ 9001 (GMP) / และHACCP นอกจากนั้นยังให้การสนับสนุนทางวิชาการการแก่เกษตรกร
ชาวไร่อ้อยในพื้นที่ใกล้เคียง โดยการให้ความรู้และแนะนำเทคนิคการเพาะปลูกให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ควบคู่ไปกับการลดต้นทุนเพื่อให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

โรงงานน้ำตาลทิพย์สุโขทัย เป็นโรงงานใหม่ที่ปัจจุบันบริษัท คริสตอลลา จำกัด มีโรงงานน้ำตาลจำนวน 4 แห่ง ใน 4 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย กำแพงเพชร สุพรรณบุรี และชลบุรี มีกำลังการผลิตรวม 40,000 ตันอ้อยต่อวัน

นายเจริญ สิริวัฒนภักดี ประธานกลุ่มบริษัท ทีซีซี กล่าวถึง การดำเนินธุรกิจโรงงานน้ำตาลของ ทีซีซี กรุ๊ปว่า มีแนวคิดที่จะใช้ประโยชน์จากธรรมชาติที่มีอยู่แล้ว โดยเฉพาะแสงอาทิตย์และน้ำฝน ร่วมกับเทคโนโลยีในการเพาะปลูกและการผลิต ทำให้ได้ผลผลิตทางการเกษตรตอบแทนแก่ทุกส่วน ตั้งแต่เกษตรกร ผู้ผลิต ลูกค้า รวมถึงคนในชุมชน

ทั้งนี้ โรงงานมีพื้นที่รวม 1,717 ไร่ แบ่งเป็นโรงงานน้ำตาลทิพย์สุโขทัย 1,602 ไร่ กำลังการผลิต 18,000 ตันอ้อยต่อวัน คิดเป็นผลผลิตน้ำตาลทรายดิบ 200,000 ตันต่อปี คิดเป็น 5.53% ของกำลังผลิตทั้งประเทศ มีขนาดใหญ่เป็นอ้อยดับที่ 7 ในประเทศไทย และนอกจากนี้ยังมีโรงไฟฟ้าทิพย์สุโขทัย ไบโอเอนเนอยี่ 95 ไร่ กำลังการผลิต 36 เมกะวัตต์ อยู่ในพื้นที่เดียวกัน

โรงงานน้ำตาลทิพย์สุโขทัย เริ่มเปิดหีบแรกเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2555 มีชาวไร่อ้อยคู่สัญญา 4,000 ราย ซึ่งได้รับการสนับสนุนปัจจัยการผลิตต่อเนื่อง โดยโรงงานจะทำสัญญารับซื้อผลผลิตจากชาวไร่

รุดคืบต่อยอดผลิตไฟฟ้า

ในส่วนของการผลิตไฟฟ้า บริษัท ทิพย์สุโขทัย ไบโอเอนเนอยี่ จำกัด ได้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลบนพื้นที่เดียวกับโรงงานน้ำตาลทิพย์สุโขทัย โดยนำกากน้ำตาลอ้อยที่เหลือจากการผลิตมาใช้เป็นเชื้อเพลิง ระยะแรกมีกำลังการผลิต 36 เมกะวัตต์ ซึ่งเพียงพอต่อการใช้งานในโรงงานและเหลือขายให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 8 เมกะวัตต์ ช่วยเพิ่มความมั่นคงทางพลังงานให้แก่ประเทศอีกช่องทาง

โรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลเป็นกิจการที่อาศัยประโยชน์จากของเหลือ ที่ได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาล ซึ่งก็คือกากอ้อยซึ่งเป็นเชื้อเพลิงของแหล่งกำเนิดไฟฟ้าพลังงานความร้อน เตาหม้อไอน้ำมีระบบดักฝุ่นไฟฟ้าสถิตที่มีประสิทธิภาพดักฝุ่นได้มากกว่า 99% ใช้เทคโนโลยีทันสมัย ในการกำจัดของเสีย ระบบบำบัดน้ำเสียเป็นระบบปิด

กำลังผลิตไฟฟ้า จาก โรงไฟฟ้าทิพย์สุโขทัย ไบโอเอนเนอยี่ รวม 36 เมกะวัตต์ นั้น แบ่งเป็น 3 ส่วน คือใช้สำหรับโรงงานน้ำตาล 24 เมกะวัตต์ ใช้ในโรงไฟฟ้า 4 เมกะวัตต์ และที่เหลือ 8 เมกะวัตต์ จะถูกส่งไปจำหน่ายแก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เป็นการเพิ่มความมั่นคงทางพลังงานให้แก่จังหวัดสุโขทัย

ความเป็นมาของบริษัท น้ำตาลทิพย์สุโขทัย จำกัด เดิมชื่อ บริษัท อุตสาหกรรมน้ำตาลอุตรดิตถ์ จำกัด ย้อนไปเมื่อปี 2541 กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ขายกิจการทั้ง 3 แห่งได้แก่ โรงงานน้ำตาลลำปาง โรงงานน้ำตาลอุตรดิตถ์ และโรงงานน้ำตาลสุพรรณบุรี ให้บริษัทอุตสาหกรรมน้ำตาลชลบุรี จำกัด ซึ่งอยู่ในกลุ่ม TCC และได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท อุตสาหกรรมน้ำตาลอุตรดิตถ์ จำกัด

หลังจากได้รับอนุญาตให้ขยายกำลังการผลิตและย้ายฐานการผลิตในปี 2547 บริษัทเห็นว่าพื้นที่ปลูกอ้อยกว่า 70% อยู่ในเขตจังหวัดสุโขทัย จึงเป็นที่มาของการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลทิพย์สุโขทัย ตั้งแต่ปี 2553 ต่อมาเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2554 บริษัท อุตสาหกรรมน้ำตาลอุตรดิตถ์ จำกัด ได้จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท น้ำตาลทิพย์สุโขทัย จำกัด

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 16 พฤษภาคม 2556

ก.อุตฯคุมเข้มตั้งรง.ริมแม่น้ำ6สาย แก้กฎกระทรวงคุมระยะห่าง2กม.ห้ามสารอันตราย

ก.อุตสาหกรรมเดินหน้าเข้มงวดเตรียมปรับเงื่อนไขตั้งโรงงานริมแม่น้ำใหม่ใน 6 สายหลัก เจ้าพระยา, ท่าจีน, แม่กลอง, ลำตะคอง, ทะเลสาบสงขลา และบางปะกง วัดตั้งแต่ค่าความสกปรกน้ำยันระยะห่างโรงงานจากแม่น้ำต้องห่าง 2 กม.ใครทำไม่ได้ห้ามตั้งโรงงาน และอาจระบุประเภทโรงงานที่ห้ามตั้งชัดเจน คาดอีก 1 ปี เตรียมประกาศใช้

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เพื่อดำเนินโครงการอุตสาหกรรมรวมใจภักดิ์ รักษ์แม่น้ำ ที่เชิญชวนให้ผู้ประกอบการและประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำสายหลัก 6 สายได้ร่วมกันฟื้นฟูและอนุรักษ์ คือแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำลำตะคอง ทะเลสาบสงขลา และแม่น้ำบางปะกงนั้น ล่าสุดทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้เริ่มสำรวจเริ่มต้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว ตั้งแต่ช่วงจังหวัดนครสวรรค์ ลงมาจนถึงปากแม่น้ำของจังหวัดสมุทรปราการ มากำหนดหลักเกณฑ์เบื้องต้นในการบังคับใช้ เพื่อไม่ให้โรงงานที่จะก่อสร้างใหม่หรือขยายโรงงานตั้งในพื้นที่ใกล้แม่น้ำในระยะที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมกำหนดไว้

สำหรับเกณฑ์เบื้องต้นที่จะกำหนดห้ามตั้งโรงงานใหม่หรือขยายใกล้กับพื้นที่ลุ่มน้ำสายหลักนั้น คือ 1) จะวัดจากค่าความสกปรกของบ่อน้ำเสียก่อนที่จะปล่อยออกจากโรงงานลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ หากมีค่าความสกปรกเกินร้อยละ 20 จะถูกสั่งห้ามตั้งโรงงานใหม่หรือขยายโรงงาน 2) การตั้งโรงงานใหม่ต้องมีระยะห่างจากแม่น้ำเจ้าพระยาทั้ง 2 ด้านซ้าย-ขวา ด้านละ 2 กิโลเมตร แต่ขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาว่า หากเกิดกรณีตลิ่งริมน้ำพังเสียหายจะต้องวัดจากจุดใดแทน เพราะอาจจะทำให้ระยะห่างอาจจะไม่ถึง 2 กิโลเมตรตามที่กำหนด ซึ่งในประเด็นนี้จะต้องมีการประชุมหารืออีกครั้ง เพื่อสรุปกรอบหลักเกณฑ์ให้ชัดเจน

"จากที่ลงสำรวจพื้นที่ล่าสุด ปัจจุบันมีโรงงานริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีน้ำทิ้งเกิน 50 ลูกบาศก์เมตร ประมาณ 1,700 โรง โดยในจำนวนนี้มีโรงงานที่ปล่อยน้ำทิ้งเกิน 500 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 88 โรง ทั้งนี้ มีโรงงานขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ที่อยู่ระหว่างขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) อีกประมาณ 100 โรง

ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวเมื่อมีการประกาศใช้แล้วจะไม่มีผลย้อนหลังกับโรงงานที่มีการตั้งไปแล้วก่อนหน้าที่มีการประกาศ แต่สำหรับโรงงานใหม่นั้นจะต้องปฏิบัติให้ได้ตามหลักเกณฑ์นี้ ซึ่ง ก.อุตสาหกรรมต้องจริงจังมากขึ้น เพื่อให้โรงงานสามารถอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมและชุมชนอย่างไม่มีปัญหาเหมือนที่ผ่านมา"

แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมว่า เกณฑ์ดังกล่าวอาจจะมีการกำหนดด้วยการระบุถึงประเภทโรงงานอุตสาหกรรมที่ห้ามมีการตั้งหรือขยายในบริเวณดังกล่าว เช่น โรงงานที่มีวัตถุอันตราย หรือโรงงานที่ก่อให้เกิดกากของเสียในปริมาณมาก เพื่อป้องกันโรงงานที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่อาจจะก่อให้เกิดมลพิษต่อลุ่มน้ำได้ อย่างไรก็ตาม อาจมีการระบุถึงโรงงานอุตสาหกรรมบางประเภทที่ได้รับการยกเว้นให้ตั้งในบริเวณลุ่มน้ำได้ เช่น อุตสาหกรรมอู่ต่อเรือ หรืออุตสาหกรรมที่ต้องอาศัยการขนส่งริมน้ำ เป็นต้น

ทั้งนี้ ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมนี้ คณะทำงานจะมีการประชุมหารือเพื่อวางหลักเกณฑ์สำหรับการตั้งโรงงานในพื้นที่ใกล้แม่น้ำอีกครั้ง เมื่อได้ข้อสรุปจะมีการนำหลักเกณฑ์ดังกล่าวหารือร่วมกับคณะพหุภาคี ที่ประกอบด้วยกระทรวงอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กรมควบคุมมลพิษ กรมทรัพยากรน้ำ และชุมชนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะมีการประกาศใช้เป็นประกาศกระทรวง หรือเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อประกาศเป็นกฎกระทรวงต่อไป ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี

สำหรับโครงการอุตสาหกรรมรวมใจภักดิ์ รักษ์แม่น้ำ กระทรวงอุตสาหกรรมมีเป้าหมายในการฟื้นฟูและอนุรักษ์พื้นที่ลุ่มน้ำอย่างเร่งด่วน และรณรงค์เพื่อปลุกจิตสำนึกด้วยการสร้างความร่วมมือร่วมใจระหว่างภาครัฐ เอกชน และเครือข่ายชุมชน รวมถึงผู้ประกอบกิจการโรงงานในกำกับดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อให้ความสำคัญและหันมาดูแล รักษา และฟื้นฟูแหล่งน้ำ อันจะก่อให้เกิดการฟื้นแบบบูรณาการ โดยมีระยะเวลาในการดำเนินโครงการ 2 ปี (2555-2557)

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 16 พฤษภาคม 2556

เกษตรฯเข็นเทคโนสู้โรคใบขาวอ้อย ผลิตท่อนพันธุ์สะอาดช่วยเกษตรกร

นางพรรณพิมล ชัญญานุวัตร อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ปัญหาการระบาดของโรคใบขาวอ้อย ในปีการผลิต 2554/2555 พบว่า มีพื้นที่การระบาดของโรคใบขาวและกอตะไคร้อ้อยจำนวน 170,277 ไร่ ซึ่งวิธีการแก้ปัญหาระบาดระยะยาวคือ การใช้ท่อนพันธุ์อ้อยที่สะอาดสมบูรณ์ ตรงตามพันธุ์ ปราศจากโรค ดังนั้น กรมส่งเสริมการเกษตร จึงได้ดำเนินโครงการบริหารจัดการโรคใบขาวและกอตะไคร้อ้อย เพื่อศึกษารูปแบบเทคโนโลยีการทำแปลงพันธุ์สะอาดที่ผ่านการกำจัดเชื้อโรคใบขาวและกอตะไคร้ รวมทั้งพัฒนาขีดความสามารถในการบริหารจัดการและการป้องกันกำจัดโรคโดยชุมชน โดยนำเทคโนโลยีการบริหารจัดการโรคใบขาวและกอตะไคร้อ้อยระดับชุมชนของกรมวิชาการเกษตรมาเป็นเครื่องมือ เพื่อกำจัดการระบาดของโรคดังกล่าวอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้เทคโนโลยีการบริหารจัดการป้องกันโรคใบขาวและกอตะไคร้อ้อยระดับชุมชน ที่กรมวิชาการเกษตรแนะนำ ประกอบด้วย การผลิตท่อนพันธุ์อ้อยปลอดโรคใบขาว โดยการใช้เทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อการทำแปลงขยายอ้อยปลอดโรค การผลิตขยายศัตรูธรรมชาติควบคุมแมลงศัตรูอ้อย โดยใช้แปลงใน ต.เขือน้ำ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี เป็นศูนย์ทดลองนำร่อง

“จากการตรวจสอบโรคใบขาวและการเข้าทำลายของหนอนกออ้อยของแปลงพันธุ์อ้อยสะอาด 25 ไร่ หลังปลูก 45 วัน พบแปลงพันธุ์อ้อยสะอาด 3 แปลง มีจำนวนต้นอ้อย 47,580 ต้น พบการระบาดโรคใบขาว 57 ต้น คิดเป็นร้อยละ 0.20 ถือว่าการเข้าทำลายของหนอนกออ้อยมีความรุนแรงน้อยกว่าค่าระดับความเสียหายทางเศรษฐกิจ” นางพรรณพิมล กล่าว

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 16 พฤษภาคม 2556

กยอ.เจียดงบเตาเผากากแค่13ล. เบรกแผนผุดโรงใหญ่สะดุด ปรับแผนเร่งศึกษาตั้ง4ภาค

กรอ.ฝันค้างเนรมิตโรงเผากากขนาดใหญ่ ชง กยอ.ของบ 2 พันล้าน ได้รับจัดสรรแค่ 13 ล้าน ศึกษาโครงการก่อน คาดงบลงทุนรวม 8 พันล้าน ผุด 4 ภาคทั่วประเทศ

นายณัฐพล ณัฎฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า กรอ.ได้รับงบประมาณปี 2557 วงเงิน 10 ล้านบาท และงบประมาณคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) วงเงิน 13 ล้านบาท รวม 23 ล้านบาท เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างเตาเผากากอุตสาหกรรม ระยะเวลาศึกษาและก่อสร้าง 5 ปี (2557-2561) โดยเฉพาะกากอุตสาหกรรมอันตราย เบื้องต้นโครงการศึกษาดังกล่าวจะสร้างโรงเผากากอุตสาหกรรมจำนวน 4 แห่ง ใน 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ ปริมาณจำกัดไม่ต่ำกว่า 100 ตันต่อวัน โดยการลงทุนแต่ละแห่งเมื่อรวมค่าที่ดิน ค่าก่อสร้างจะใช้ประมาณราว 2,000 ล้านบาท รวม 4 แห่งราว 8,000 ล้านบาท ซึ่งรัฐอาจลงทุนเองหรือลงทุนร่วมกับเอกชนก็ได้

นายณัฐพลกล่าวว่า กระบวนการทำลายด้วยการเผาจะปลอดภัยกว่าวิธีการฝังกลบ เพราะปัจจุบันมีเทคโนโลยีดักจับฝุ่นและก๊าซที่เกิดจากการเผาไหม้ ขณะที่การฝังกลบจะเสี่ยงต่อสภาพแวดล้อมมากกว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีเตาเผากากอุตสาหกรรม 2 แห่ง คือ โรงอัคคีปราการ ของบริษัท อัคคี ปราการ จำกัด (มหาชน) มีความสามารถในการเตาเผากากอุตสาหกรรมอันตราย 100 ตันต่อวัน และเตาเผาของ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ที่รับเผากากอุตสาหกรรมทั่วไป

สำหรับการควบคุมการกำจัดกากอุตสาหกรรมทั่วประเทศ กรอ.ยังคงติดตามอย่างต่อเนื่อง จากปัจจุบันกากของเสียอุตสาหกรรมในประเทศมีรวม 44.8 ล้านตัน แบ่งเป็นกากอุตสาหกรรมที่ไม่อันตราย 42 ล้านตัน แต่ไม่แจ้งยอดในการกำจัด 12 ล้านตัน และกากอุตสาหกรรมอันตรายอีก 2.8 ล้านตัน ไม่แจ้งยอดกำจัด 1.8 ล้านตัน โดยล่าสุด กรอ.ได้ตรวจสอบการลักลอบทิ้งกากโดรส หรือตะกรันที่เกิดจากการหลอมอะลูมิเนียม โดยจะร่วมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เข้าตรวจสอบโรงหลอมอะลูมิเนียม 64 แห่ง ถนนเอกชัย จ.สมุทรปราการ เพราะเชื่อว่าจะเป็นกลุ่มที่ลักลอบไปทิ้ง จ.ปราจีนบุรี จนสร้างปัญหาต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวว่า เดิม กรอ.เสนอต่อที่ประชุม กยอ.ขออนุมัติสร้างเตาเผากากอุตสาหกรรม วงเงิน 1,500-2,000 ล้านบาท กำลังการเผา 500 ตันต่อวัน เป็นเตาที่ใหญ่สุดในประเทศไทย เป็นโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ แต่ กยอ.อนุมัติในหลักการเท่านั้น และอนุมัติงบเพียง 13 ล้านบาท เพื่อใช้ศึกษาโครงการ จึงต้องเร่งศึกษาเพื่อผลักดันโครงการดังกล่าวต่อไป

สำหรับเตาเผากากอุตสาหกรรมเป็นกระบวนการที่ทั่วโลกให้การยอมรับ เพราะมีความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าการฝังกลบ ปัจจุบันประเทศอุตสาหกรรมมีเตาเผาขนาดดังกล่าว 1-2 แห่ง ต้นทุนการเผาของกากอุตสาหกรรมจะอยู่ที่ 10,000 บาทต่อตัน มากกว่าการฝังกลบที่ต้นทุนกำจัดอยู่ที่ประมาณ 4,000 บาทต่อตัน โดยไทยมีแนวโน้มที่กากอุตสาหกรรมจะเพิ่มขึ้นทุกปี จากยอดขอส่งเสริมการลงทุนและการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ก.เกษตรฯกำชับหน่วยกำกับดูแลการผลิตช่วงเริ่มต้นรอบใหม่ให้เข้าถึงปัจจัยการผลิต

กระทรวงเกษตรฯ กำชับให้ทุกหน่วยกำกับดูแลการผลิตของเกษตรกรในช่วงเริ่มต้นรอบใหม่เพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงปัจจัยการผลิต เมล็ดพันธุ์พืชที่มีคุณภาพมาตรฐาน มีการจัดการดินและน้ำให้เหมาะสมกับความต้องการของพืช

ระบบป้องกันโรคแมลงศัตรู และวางระบบการผลิตให้เหมาะสมกับตลาดซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ ผลผลิตมีคุณภาพส่งผ่านความปลอดภัยด้านอาหารสู่ผู้บริโภค และมีผลตอบแทนสุทธิเหมาะสม

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงว่า จากวันพระราชพิธีพืชมงคลและพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญซึ่งเกษตรกรไทยถือว่าเป็นวันเริ่มต้นฤดูกาลของการเกษตรกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงเน้นย้ำกำชับให้ทุกส่วนราชการในสังกัดเตรียมข้อมูลเข้าพื้นที่พบปะหารือร่วมกับเกษตรกร เพื่อร่วมวางแผนและจัดระบบการผลิตให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและตลาด การเตรียมปัจจัยการผลิต เช่น เมล็ดพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ที่มีคุณภาพมาตรฐานมีการใช้สารเคมีทางการเกษตรที่ได้รับการอนุญาตจากส่วนราชการ และใช้ในปริมาณและเวลาที่เหมาะสม อีกทั้งมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรกำกับดูแลการผลิตและจำหน่ายสารเคมีทางการเกษตร พันธุ์พืช ให้อยู่ในกรอบของกฎหมายโดยเคร่งครัด รวมทั้งมอบหมายให้กรมการข้าวกำกับดูแลการผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว การรับรองพันธุ์ข้าว การผลิตข้าวให้มีคุณภาพมาตรฐานตรงตามสายพันธุ์ โดยการเตรียมดินและใช้เมล็ดพันธุ์ในปริมาณที่เหมาะสม

ตลอดจนการสร้างองค์ความรู้ให้เกษตรกรมีระบบควบคุมคุณภาพการผลิตของผู้รับจ้างทำนาด้านต่าง ๆ รวมทั้งมอบหมายกรมส่งเสริมสหกรณ์ให้กำกับดูแลสหกรณ์การเกษตรที่ผลิตและจำหน่ายปัจจัยการผลิตแก่เกษตรกรสมาชิก และมอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร ติดตามเฝ้าระวังดูแลความปลอดภัยด้านอาหารให้เกษตรกรดำเนินการผลิตที่ดีเพื่อถ่ายทอดคุณภาพและมาตรฐานสู่ผู้บริโภคตลอดห่วงโซ่การผลิต พร้อมทั้งเปิดสายด่วน 1170 รับแจ้งเบาะแสการผลิตและจำหน่ายปัจจัยการผลิตที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย นอกจากนั้นยังมอบหมายให้กรมชลประทานวางแผนและบริหารจัดการน้ำในเขตพื้นที่ชลประทานให้เพียงพอต่อการเกษตรกรรมและสร้างการรับรู้และทำความเข้าใจร่วมกับเกษตรกรในการวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำในตลอดลุ่มน้ำอย่างทั่วถึง

สำหรับด้านการปศุสัตว์และการประมง ได้มอบหมายให้กรมปศุสัตว์และกรมประมงติดตามเฝ้าระวังโรคโดยจัดทำแผนเก็บตัวอย่างและตรวจวิเคราะห์เพื่อเป็นข้อมูลการประเมินระดับความเสี่ยง ตลอดจนเตรียมแผนและซ้อมแผนการบริหารจัดการควบคุม กำจัดโรค

“การบริหารความเสี่ยงด้านการเกษตรก่อนการผลิตรอบใหม่ นับเป็นการพัฒนารูปแบบการการบริหารจัดการภาครัฐสู่การเป็นSmart Officer ซึ่งเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะต้องเป็นเพื่อคู่คิดของเกษตรกร ร่วมเตรียมความพร้อม ใช้องค์ความรู้ในการวางแผนการตลาดและการผลิตในสินค้าเกษตรที่แตกต่างกันในแต่ละชนิด แต่ละภูมิสังคม แต่ละช่วงเวลา โดยเจ้าหน้าที่ในระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับเกษตรกร ให้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ในการประเมินความเสี่ยงต่างที่จะเกิดขึ้นเพื่อให้เกษตรกรใช้ประโยชน์จากข้อมูลในการตัดสินใจทางการตลาดและปรับเพิ่มผลิตภาพการผลิตของตนเองแต่ละรายที่จะนำไปสู่การบริหารความเสี่ยงภายในฟาร์มให้ลดเหลือน้อยที่สุด” นายยุคล กล่าว

ทั้งนี้ เกษตรกรที่จะเริ่มลงมือเพาะปลูก หรือเลี้ยงสัตว์ จะต้องติดตามข้อมูลข่าวสาร หาความรู้ทางการตลาด เช่น ราคาสินค้าเกษตรในอนาคตที่ผลผลิตจะออกสู่ตลาด หาซื้อปัจจัยการผลิตจากผู้ผลิตผู้จำหน่ายที่ได้รับการับรองหรืองจากร้านที่มีสัญลักษณ์ Q Shop มีทะเบียนอนุญาตและการรับรองสินค้าที่ฉลาก รวมทั้งใช้สารเคมีทางการเกษตรในปริมาณที่เหมาะสมกับความต้องการของพืช ทั้งนี้สามารถปรึกษาหารือกับเจ้าหน้าที่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในพื้นที่ที่ท่านอาศัยอยู่

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ทุนจีนสยายปีกไล่ฮุบบ.โลจิสติกส์สวมสิทธิ์รถบรรทุกเข้าไทย

กลุ่มทุนสายการเดินเรือจีน-กลุ่มขนส่งโลจิสติกส์จีนลุยกว้านซื้อกิจการรถบรรทุก ไทย แถมอาศัยช่องโหว่ทวิภาคีไทย-ลาว ลุยสวมสิทธิ์ สปป.ลาวเข้ามาวิ่งขนส่งหารายได้ทั่วไทย ทำผู้ประกอบการไทยเดี้ยง ถูกเทกโอเวอร์เพียบ ไม่ปรับตัวมีหวังตายสนิท

นายยู เจียรยืนยงพงศ์ ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า สถานการณ์ธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ในไทยขณะนี้อยู่ในภาวะลำบาก เพราะกำลังถูกกลุ่มทุนต่างชาติเข้ามากว้านซื้อกิจการ โดยเฉพาะจากกลุ่มทุนจากประเทศจีน เนื่องจากกลุ่มบริษัทต่างชาติรายใหญ่ต่างมีความพร้อมทั้งในด้านความรู้ การบริหารจัดการ และความเชี่ยวชาญการขนส่งสินค้า เพียงแต่ขาดแคลนในเรื่องปริมาณรถบรรทุก ซึ่งการเข้ามากว้านซื้อกิจการจะช่วยลดความเสี่ยง เนื่องจากบริษัทไทยเดิมมีลูกค้าและรถบรรทุกอยู่ก่อนแล้ว ทำให้ไม่ต้องสร้างใหม่ สามารถต่อยอดได้ทันที รวมถึงมีลูกค้าอยู่แล้ว

นอก จากนี้ ใช้วิธีการสวมสิทธิ์จดทะเบียนใน สปป.ลาวกลายเป็นรถขนส่งของ สปป.ลาว และเข้ามาวิ่งได้ทั่วประเทศไทย โดยอาศัยช่องโหว่ ซึ่งรัฐบาลไทยได้ทำทวิภาคีกับรัฐบาล สปป.ลาว ให้สิทธิ์พิเศษให้รถขนส่งของลาวสามารถเข้ามาวิ่งขนส่งสินค้าต่าง ๆ ได้อย่างอิสระ เพราะลาวไม่มีเส้นทางติดต่อทะเล ส่งผลให้ปัจจุบันมีผู้ประกอบการจีนเข้ามาดำเนินธุรกิจลักษณะนี้จำนวนมาก โดยหากผู้ประกอบการต้องการซื้อผลไม้จากสวนใด จะนำรถบรรทุกของจีนที่สวมสิทธิ์ลาวมาจอดขนส่งถึงในสวนนั้นเลย

"กลุ่ม ธุรกิจต่างชาติในประเทศไทยขณะนี้สามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1.บริษัทจากกลุ่มสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา 2.บริษัทจากกลุ่มประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีการเข้ามาอย่างต่อเนื่องและมากขึ้นในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา โดยกลุ่มนี้จะมีการผ่องถ่ายงานให้กับคนไทย

เนื่องจากไม่มีรถเป็นของตัวเอง โดยให้บริษัทไทยเสนอราคาเข้าประมูลและบวกเพิ่มอีก 20%

และ 3.บริษัทจากจีน กลุ่มนี้เพิ่งจะเข้ามา โดยกลุ่มทุนจากจีนแบ่งเป็น 2 ส่วน คือกลุ่มทุนที่เข้ามาค้าขายอยู่ก่อนแล้ว จะนำรถบรรทุกของจีนเข้ามาขนของ และกลุ่มผู้ประกอบสายเดินเรือของจีนหลายราย ที่มีการเข้ามาลงทุนทำคลังสินค้าเอง เนื่องจากการทำธุรกิจสายการเดินเรือในช่วงหลายปีที่ผ่านมาประสบปัญหาขาดทุน จึงอยากขยายมาทำธุรกิจขนส่ง ซึ่งมีช่องทางที่จะทำกำไรได้มากกว่า เป็นการขยายไลน์ธุรกิจให้ครบวงจรมากขึ้นด้วย" นายยูกล่าวและว่า

ดัง นั้น ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ไทยต้องเร่งปรับตัว เพื่อให้สามารถแข่งขันกับบริษัทต่างชาติได้ ได้แก่ 1.ผู้ประกอบการต้องรวมกลุ่มในการบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิด ประโยชน์สูงสุด 2.ยกระดับมาตรฐานอาชีพให้เทียบเท่ามาตรฐานสากลมากยิ่งขึ้น และ 3.เร่งยกระดับพนักงานขับรถให้มีความรู้และทักษะ เพื่อให้รับงานแข่งกับต่างประเทศได้ หรือแม้จะแข่งไม่ได้ ผู้ประกอบการสามารถเข้าไปเป็นผู้รับช่วงงานต่อ (Sub-contract) ให้กับบริษัทต่างประเทศได้

นายยูกล่าวว่า ทิศทางผู้ประกอบการโลจิสติกส์ในอนาคตสามารถเกิดขึ้นได้ใน 3 ลักษณะ คือ 1.ผู้ประกอบรายย่อยจะมีลักษณะไม่ต่างจากโชห่วยในปัจจุบัน เนื่องจากไม่มีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามา 2.คนรุ่นเก่าไม่สามารถส่งต่อกิจการให้ลูกหลานได้ เนื่องจากลูกหลานเปลี่ยนไปทำธุรกิจอื่น และ 3.ผู้ประกอบการรายย่อยบางรายจะถูกบริษัทต่างชาติซื้อกิจการไป

สำหรับ จำนวนผู้ประกอบการไทยในธุรกิจโลจิสติกส์ปัจจุบันประมาณร้อยละ 90-95 เป็นผู้ประกอบการรายย่อย มีจำนวนรถขนส่ง 5-10 คัน ส่วนใหญ่ประกอบกิจการลักษณะรวมเป็นซับคอนแทร็กต์ให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ ขณะที่ผู้ประกอบการรายใหญ่มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 2-3 มีจำนวนรถตั้งแต่ 1,000 คันขึ้นไป ส่วนผู้ประกอบการขนาดกลางจะมีปริมาณรถ 100-1,000 คัน ซึ่งผู้ประกอบการรายใหญ่จะทำกิจการลักษณะรับเหมาตรงเอง และอีกส่วนหนึ่งจะไปขอแบ่งงานจากกลุ่มบริษัทข้ามชาติอีกทอดหนึ่ง

นาย ยูกล่าวต่อไปว่า หลังการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) จะมีนักลงทุนเข้ามา 2 กลุ่มในการดำเนินธุรกิจโลจิสติกส์ในลักษณะการสวมสิทธิ์ ประกอบด้วยกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว คือยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่นจะเข้ามาใช้สิทธิ์ในสิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วเช่นกัน มีความพร้อมมากกว่า อีกกลุ่มคือกลุ่มทุนจากจีน มาเลือกเจาะเข้าประเทศกลุ่ม CLMV เนื่องจากประเทศเหล่านี้มีความได้เปรียบในระดับทวิภาคีระหว่างกันและกัน โดยเฉพาะ สปป.ลาว ซึ่งมีการเจรจาในระดับทวิภาคีกับประเทศในกลุ่ม CLMV ทั้งหมด ทำให้สามารถวิ่งขนส่งได้ทั้งไทย พม่า กัมพูชา และเวียดนาม

"ล่า สุดเมื่อเร็ว ๆ นี้ สปป.ลาวได้ประกาศเปลี่ยนตัวเองจากการเป็น Land Lock มาเป็น Land Link โดยมีนโยบายเปิดสาขาโลจิสติกส์ให้บริษัทต่างชาติเข้ามาถือหุ้นได้ 100% สามารถวิ่งรถไปประเทศรอบ ๆ สปป.ลาวโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทำให้กลุ่มบริษัทจีนเล็งมาลงทุนใน สปป.ลาว เพื่อให้สามารถขนส่งสินค้าได้สะดวก รวมถึงการขนสินค้ามายังไทยก็จะทำได้ง่ายขึ้น ลักษณะการสวมสิทธิ์นี้มีแนวโน้มจะเกิดเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

ขณะที่การ ส่งสินค้าจากไทยไปจีนยังทำได้ลำบาก เช่น จีนยังเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากไทย ในอัตราร้อยละ 13 และร้อยละ 17 ตามประเภทสินค้า

ขณะที่ไทย ไม่ได้เก็บภาษีนี้จากจีนแล้ว รวมถึงจีนมักออกมาตรการกีดกันทางการค้าหลากหลายรูปแบบสำหรับสินค้าที่ส่งไป จากไทย เช่น รถขนสินค้าผักผลไม้จากไทยจะถูกส่งไปตรวจรังสี ซึ่งทำให้เกิดความล่าช้า และผลไม้สุกไว รวมถึงการนำสินค้าไปขายในจีนอยู่ในลักษณะฝากขาย ไม่ใช่การขายขาด จึงยังมีความเสี่ยงอยู่ เป็นต้น

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

กรมวิชาการเกษตรเปิด3ยุทธศาสตร์หลัก เตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

การเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของประเทศไทย สำหรับด้านสินค้าเกษตรนั้นต้องมีการเตรียมความพร้อมทั้งในส่วนของการแข่งขันกับประเทศสมาชิกอาเซียนอีก 9 ประเทศ แล้วยังต้องเตรียมความพร้อมในการสร้างความร่วมมือกันของสมาชิกอาเซียนด้วยกัน เพื่อแข่งขันกับประเทศนอกอาเซียน

นางมัณฑนา มิลน์ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตรได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อก้าวสู่ประชาคมอาเซียน โดยวางกรอบยุทธศาสตร์ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไว้ 3 ยุทธศาสตร์หลักๆ ได้แก่ 1.ยุทธศาสตร์การเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของสินค้า บริการ การค้าและการลงทุน คือ การกำหนดขอบเขตงานวิจัยเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตพืชที่มีศักยภาพในการแข่งขันและมีต้นทุนต่ำ อีกทั้งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

2.ยุทธศาสตร์พัฒนากฎหมาย กฎระเบียบเพื่อความง่ายต่อการลงทุน โดยเรื่องนี้กรมวิชาการเกษตร ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษากฎหมาย หรือ พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับสินค้าและบริการ ที่กรมวิชาการเกษตรกำกับดูแลอยู่ทั้ง 6 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.ปุ๋ย, พ.ร.บ.พันธุ์พืช, พ.ร.บ.วัตถุอันตราย, พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช, พ.ร.บ.กักพืช และพ.ร.บ.ควบคุมยาง เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับกฎหมายของอีก 9 ประเทศ ทำให้ทราบว่ามีอุปสรรคหรือความไม่สะดวกตรงไหน จะได้นำมาปรับแก้พัฒนาเพื่อรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกรและประเทศชาติ

สำหรับยุทธศาสตร์ที่ 3 คือยุทธศาสตร์การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ กรมวิชาการเกษตรตระหนักถึงความสำคัญของศักยภาพของบุคลากร เนื่องจากเมื่อเปิดประชาคมอาเซียนต้องมีการติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะด่านตรวจพืช ที่จะมีการเคลื่อนย้ายพืชและปัจจัยการผลิตอย่างเสรี เจ้าหน้าที่ด่านต้องมีความรู้เรื่องภาษา และการตรวจศัตรูพืชชนิดใหม่ๆ ที่จะเข้ามา ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการเสริมสร้างพัฒนาศักยภาพบุคลากรของกรมวิชาการเกษตรอย่างต่อเนื่อง

พร้อมกันนี้ กรมวิชาการเกษตรยังได้ดำเนินการตามแผนงานสำคัญ เพื่อเตรียมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงห้องปฏิบัติการตรวจสอบสารพิษตกค้าง ปัจจัยการผลิต สารปนเปื้อนและจุลินทรีย์ วัตถุอันตรายทางการเกษตร เพื่อยกระดับให้ได้ตามมาตรฐานสากล รวมถึงร่วมมือกับประเทศสมาชิกทำมาตรฐานอาเซียนให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เช่น มาตรฐาน ASEAN GAP มาตรฐานตรวจสอบปัจจัยการผลิต มาตรฐานการนำเข้า หรือมาตรฐานการกักกันพืช โดยที่ผ่านมาไทยได้ร่วมมือกับอาเซียนจัดทำมาตรฐานอาเซียนเสร็จเรียบร้อยแล้วหลายตัว อาทิ กำหนดมาตรฐานสุขอนามัยพืช มาตรการการนำเข้าหัวมันฝรั่งที่ได้รับการรับรองเป็นมาตรฐานอาเซียน และการกำหนดมาตรฐานค่าจำกัดสารพิษตกค้างสูงสุดของสารกำจัดศัตรูพืช (ค่า MRLs) รับรองแล้ว 823 ค่า สำหรับสาร 77 ชนิด

รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ถ้าเรื่องมาตรฐานสินค้าเกษตรของประเทศไทยเราอยู่ในระดับผู้นำในอาเซียน จึงนับว่าไทยมีความพร้อมมากกว่าประเทศอื่นในอาเซียน แต่ว่าการเปิดประชาคมอาเซียนนอกจากเราจะต้องแข่งขันกับประเทศสมาชิกอีก 9 ประเทศแล้ว ยังต้องพร้อมในการจับมือกันผลิตสินค้าเพื่อไปแข่งขันกับประเทศนอกภูมิภาค ฉะนั้นเมื่อรวมกันเป็นประชาคมอาเซียน ที่มีฐานการตลาดและการผลิตเดียวกัน ไทยจึงพร้อมจะเป็นศูนย์ฝึกอบรมมาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตรให้กับประเทศเพื่อนบ้าน เพิ่มศักยภาพในการผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพตามมาตรฐานอาเซียน สร้างโอกาสการแข่งขันในตลาดโลกมากขึ้น

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ทุ่ม1.4พันล.แก้ขาดแคลนน้ำ “กรมบาดาล”จับมือกองทัพ-ปภ.ขุดเจาะหาแหล่งน้ำสะอาดช่วยปชช.

นายสุพจน์ เจิมสวัสดิพงษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เปิดเผยว่าตามที่กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) ขณะนี้มี 50 จังหวัด 538 อำเภอ 3,639 ตำบล 35,450 หมู่บ้าน จาก 51 จังหวัด ซึ่งสาเหตุหลักของปัญหา ภัยแล้ง เกิดมาจากปริมาณน้ำฝนที่ตกต้องตามฤดูกาลลดน้อยลง ประกอบกับแหล่งน้ำต้นทุนมีปริมาณน้อยกว่าปี 2555 ที่ผ่านมา ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงมอบหมายให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาล เร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค

สำหรับการดำเนินงานในระยะเร่งด่วนที่จำเป็นต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าและให้เกิดความยั่งยืน คือ การเจาะบ่อน้ำบาดาลเพื่อจัดหาน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคให้แก่ประชาชนในพื้นที่ประสบภัยแล้ง โดยรัฐบาลได้อนุมัติ งบกลาง ประจำปีงบประมาณ 2556 เป็นเงิน 302 ล้านบาท เพื่อให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลเป็นหน่วยงานหลักบูรณาการงานร่วมกับหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย และจังหวัด ซึ่งมีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เป็นผู้รับผิดชอบ ร่วมกันจัดหาน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคให้กับประชาชนในพื้นที่ประสบ ภัยแล้ง จำนวน 1,253 บ่อ โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้รับงบประมาณ 104 ล้านบาท เพื่อเจาะบ่อ น้ำบาดาลและติดตั้งเครื่องสูบน้ำ จำนวน 470 บ่อ ในพื้นที่ 14 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย แพร่ ตาก สุโขทัย กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม หนองบัวลำภู นครราชสีมา ชัยภูมิ บึงกาฬ อุดรธานี ยโสธร และจังหวัดจันทบุรี ขณะนี้ได้ดำเนินการไปแล้วกว่าร้อยละ 51 และคาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งหมดภายในเดือน พฤษภาคม 2556 นี้ ส่วนที่เหลืออีก 783 บ่อ หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา และจังหวัดโดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จะต้องดำเนินการเอง 129 บ่อ และ 654 บ่อ ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของงบประมาณปกติ ประจำปีงบประมาณ 2556 กรมทรัพยากรน้ำบาดาลมีโครงการใหญ่อีก 3 โครงการที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการแก้ไขปัญหาภัยแล้งอย่างยั่งยืนประกอบด้วย 1.โครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อสนับสนุนระบบน้ำดื่มสะอาดให้กับโรงเรียนทั่วประเทศ หรือโครงการ “น้ำโรงเรียน” จำนวน 457 แห่ง งบประมาณ 633 ล้านบาท ขณะนี้ดำเนินการแล้วเสร็จxประมาณ 72% ของงานรวม, 2.โครงการจัดหาน้ำสะอาดให้กับหมู่บ้านหาน้ำยากทั่วประเทศ จำนวน 650 แห่ง งบประมาณ 156 ล้านบาท ขณะนี้ดำเนินการแล้วประมาณ 90% และ3. โครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบภัยแล้ง จำนวน 31 แห่ง งบประมาณ 484 ล้าน ขณะนี้ดำเนินการแล้วประมาณ 40% และคาดว่าจะแล้วเสร็จตามที่กำหนดไว้

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

20โรงงานน้ำตาลวิ่งล็อบบี้ก.อุตฯขอแก้ระยะห่าง50กม.เปิดช่องออกใบอนุญาตใหม่

กลุ่มโรงงานน้ำตาลกว่า 20 แห่ง วิ่งกันฝุ่นตลบเร่งล็อบบี้ สอน.ปรับระยะห่างระหว่างโรงงานจาก 80 กม. เหลือ 25 กม. หลังเตรียมแผนขึ้นโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ชนกันโครมใหญ่หลายจังหวัด เผย สอน.หวั่นปัญหาแย่งอ้อย แนวโน้มจะลดให้เหลือ 50 กม.

กรณีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ไม่ออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) ให้บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ที่ตั้งอยู่ใน อ.วังสะพุง จ.เลย โดยให้เหตุผลว่า ติดหลักเกณฑ์การอนุญาตตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ ที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดไว้ต้องห่างกันไม่น้อยกว่า 80 กิโลเมตร ซึ่งหลักเกณฑ์นี้กำหนดขึ้นมาตั้งแต่สมัยนายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ เป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพราะไม่ต้องการให้โรงงานน้ำตาลตั้งอยู่ใกล้กัน เพราะแย่งผลผลิตอ้อยเข้าโรงงาน

นายสมศักดิ์ สุวัฒิกะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สอน.ได้มีการประชุมหารือถึงประกาศกระทรวงในการตั้งโรงงานน้ำตาลให้ห่างกันในระยะ 80 กิโลเมตร โดยมีโรงงานแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย เพราะโรงงานเดิมกลัวว่าโรงงานที่จะตั้งใหม่จะไปแย่งวัตถุดิบ ทั้งนี้ จะมีการเร่งพิจารณาเพิ่มเติมเพื่อผ่อนปรนประกาศดังกล่าวไม่เกิน 1-2 เดือน เพื่อให้มีผลบังคับใช้ทั่วประเทศ เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีข้อขัดแย้งกับโรงงานน้ำตาลในการฟ้องร้องเป็นคดีความ

"ความเห็นส่วนตัวคิดว่าต้องหาช่องให้มีทางออก โดยอาจจะมีเงื่อนไขว่า ถ้าหากโรงงานที่จะตั้งใหม่ห่างจากโรงงานเดิมไม่ถึง 80 กิโลเมตร จะต้องมีแหล่งอ้อยที่เป็นคู่สัญญากับชาวไร่อ้อยที่เพียงพอ ตามกำลังการผลิตของโรงงาน โดยคู่สัญญาดังกล่าวจะต้องเป็นคนละกลุ่มกับโรงงานน้ำตาลเดิม"

นายสมศักดิ์กล่าวว่า จะต้องมีการบังคับใช้หลังจากประกาศไปแล้วเท่านั้นสำหรับโรงงานที่อาจจะเกิดขึ้นใหม่ ซึ่งจะไม่มีผลย้อนหลัง ส่วนกรณีบริษัทน้ำตาลขอนแก่นที่ จ.เลยที่มีการฟ้องร้องนั้น ต้องดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ซึ่งโรงงานดังกล่าวได้ยื่นอุทธรณ์มาที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตฯแล้ว เป็นอำนาจวินิจฉัยของนายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมว่า จะพิจารณาให้ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) หรือไม่ โดยไม่ต้องนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา

"ศาลปกครองได้คุ้มครองชั่วคราวโรงงานน้ำตาลขอนแก่นจนถึง 15 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งขึ้นอยู่กับท่านรัฐมนตรีว่าจะพิจารณาให้ รง.4 หรือไม่ ส่วนประเด็นที่มีการฟ้องในเรื่องที่กระทรวงอุตสาหกรรมไม่ให้คำตอบว่าจะให้ รง.4 หรือไม่ ส่งผลทำให้โรงงานเสียหายนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมได้ตอบไปแล้วว่า ไม่ให้ รง.4 ซึ่งศาลน่าจะจำหน่ายคดี เพราะได้มีการตอบไปแล้ว"

นายสมศักดิ์กล่าวอีกว่า ส่วนข้อขัดแย้งว่าประกาศ 80 กิโลเมตร เป็นเพียง มติ ครม. ไม่สามารถนำมาบังคับเป็นกฎหมายได้นั้น ที่มาของประกาศกระทรวงนี้ มาจากกระทรวงอุตสาหกรรมจ้างมหาวิทยาลัยขอนแก่นศึกษาถึงระยะห่างที่เหมาะสมของการตั้งโรงงานว่าควรมีระยะห่างเท่าไหร่ที่จะเหมาะสม ทั้งทางด้านวัตถุดิบและการขนส่ง ซึ่งผลการศึกษาออกมาคือ 80 กิโลเมตร โดยใช้ระยะห่างจากโรงงานเดิมที่ใกล้ที่สุด โดยไม่ได้ระบุลง รายละเอียดว่าเป็นระยะห่างทางพื้นที่หรือ ถนน หลังจากนั้นปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้ประกาศใช้ประกาศกระทรวงนี้ โดยเวลายื่นให้ ครม.พิจารณาในการตั้งโรงงานยื่นพร้อมประกาศนี้ เท่ากับว่า ครม.ได้รับทราบในหลักการด้วย ซึ่งประกาศกระทรวงเป็นกฎหมายที่ต้องบังคับใช้กับโรงงานเหมือนประกาศอื่น ๆ ทั่วไปอยู่แล้ว

ทั้งนี้ คณะกรรมการย่อยของ สอน.จะได้ศึกษาในเรื่องดังกล่าวเพิ่มเติม ก่อนจะยื่นเข้าที่ประชุม สอน.เพื่อนำเรื่องเข้าที่ประชุมสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย แล้วนำเรื่องเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตฯต่อไป

แหล่งข่าวจากวงการโรงงานน้ำตาล เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า โรงงานน้ำตาลมีความคิดเห็นทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยที่จะให้ยกเลิกระยะห่าง 80 กม.นั้น ในส่วนของโรงงานน้ำตาลที่เห็นด้วยส่วนใหญ่มีแผนจะขอจัดตั้งและขยายโรงงานแห่งใหม่ถึง 20 แห่ง ทำให้แต่ละแห่งพยายามผลักดันให้ สอน.เร่งพิจารณาปรับระยะห่างตั้งแต่ 25 ถึง 50 กม. แต่ดูแนวโน้ม สอน.จะพิจารณาตัวเลขที่ประมาณ 50 กม. ทำให้โรงงานที่มีระยะห่างไม่ถึง 50 กม.ต้องพยายามวิ่งล็อบบี้ผลักดันพอสมควร อย่างไรก็ตาม หากจะขยายระยะห่างระหว่างโรงงานเหลือ 25 กม. การที่จะไม่ให้แย่งอ้อยกันค่อนข้างยาก เพราะมีหนทางเดียวต้องเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้เพิ่มขึ้น จากปัจจุบันปลูกเฉลี่ยได้เพียง 10 ตันต่อไร่ ซึ่งน้อยมาก แต่เป็นไปได้ยาก เพราะต้องมีระบบชลประทาน และระบบน้ำที่ดีด้วย

ทั้งนี้ โรงงานน้ำตาลที่มีแผนจะก่อตั้งโรงงานใหม่ เท่าที่ทราบกันในวงการอย่างไม่เป็นทางการ เช่น โรงงานน้ำตาลวังขนาย สนใจไปตั้งที่ จ.ชัยนาท ซึ่งมีปัญหาติดกับโรงงานของเกษตรไทย ระยะห่างไม่ถึง 80 กม. โรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาลชลบุรี ของกลุ่มนายเจริญ สิริวัฒนภักดี มีแผนย้ายไปตั้งที่ จ.นครสวรรค์ กลุ่มโรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์มีแผนย้ายโรงงานไปตั้งที่ จ.สุโขทัย, กลุ่มโรงงานน้ำตาลบ้านโป่ง มีแผนย้ายไปตั้งที่ จ.สุโขทัย ซึ่งทั้ง 3 โรงงานมีระยะห่างไม่ถึง 80 กม.

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

เปิด 7 แนวทางลดผลกระทบ “บาทแข็ง” นายกฯ สั่งเร่งผลักดันให้เป็นเงินสกุลหลักของภูมิภาค

นายกฯ มอบทุกหน่วยงานเร่งแก้ปัญหาบาทให้มีเสถียรภาพ เพื่อรักษาสมดุลทาง ศก. พร้อมให้ 7 แนวทางการแก้ไข เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อผู้ส่งออก เร่งผลักดันบาทให้เป็นเงินสกุลหลักในภูมิภาค พร้อมสั่ง ธปท. จัดทำข้อมูลเปรียบเทียบบาทกับค่าเงินสกุลอื่นเผยแพร่ต่อสาธารณชน

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี คาดหวังว่าจากการประชุมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการติดตามแก้ไขปัญหาค่าเงินบาทเมื่อวานนี้ จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาให้แก่ภาคเอกชน และผู้ส่งออกทีได้รับผลกระทบจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น

พร้อมเชื่อว่าจะเกิดการบูรณาการการทำงานของทุกหน่วยงานให้ดียิ่งขึ้น เพราะผู้ที่เดือดร้อนก็คาดหวังจะเห็นการทำงานร่วมกัน ซึ่งในส่วนของวิธีการนั้น ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คงเป็นผู้ที่ดูแล โดยมีเป้าหมายหลักในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาท และแม้ว่าในขณะนี้ยังมีบางฝ่ายมองว่ายังมีความเห็นไม่ตรงกัน แต่เชื่อว่าแม้วิธีการในการทำงานจะแตกต่างกัน แต่ก็หวังว่าวิธีการที่แตกต่างกันจะนำไปสู่ผลลัพธ์เดียวกันได้

“ก็ฝากรองกิตติรัตน์ให้มีการประชุมต่อเนื่องที่จะรับฟังความคิดเห็น และติดตามการแก้ไขปัญหาต่อไป เราเป็นห่วงเรื่องเสถียรภาพ และเข้าใจปัญหาของเอกชน และผู้ส่งออก หวังว่าทุกหน่วยงานจะรับฟังปัญหา และนำข้อคิด ข้อเรียกร้องไปแก้ปัญหาต่อไป”

ด้าน นพ.ทศพร เสรีรักษ์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า นายกรัฐมนตรี ได้แสดงความเป็นห่วงต่อปัญหาเงินบาทแข็งค่าที่มีผลกระทบให้การส่งออกชะลอตัวทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยมีแนวทางการแก้ไข 7 ประการ ได้แก่ 1.พิจารณาผลักดันให้ใช้เงินบาทเป็นเงินสกุลหลักสำหรับการค้าขายในภูมิภาค 2.ให้แก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน 3.ให้ผู้ผลิตเพื่อส่งออกเพิ่มสัดส่วนวัตถุดิบในประเทศมากขึ้น
4.ให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่อุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ขายสินค้าให้แก่ผู้ส่งออก และเมื่อได้รับเงินตราต่างประเทศแล้วสามารถใช้ชำระค่าสินค้าในประเทศได้โดยไม่ต้องแลกเป็นเงินบาท 5.ให้จัดหาสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนเพื่อสนับสนุนการพัฒนาสินค้าในด้านต่างๆ 6.ให้พิจารณาลดหย่อนภาษีสำหรับการนำอัญมณี และเครื่องประดับที่นำเข้ามาแสดง และซื้อขาย และ 7.ให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดทำข้อมูลเปรียบเทียบค่าเงินบาทกับเงินสกุลอื่นออกเผยแพร่

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ก.เกษตรฯแจงแนวทางบริหารจัดการน้ำ เน้นจัดสรรทั้งระบบนิเวศน์-เกษตร

นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้กรมชลประทานเป็นหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการน้ำในเขื่อน และอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ไม่ให้กระทบต่อพื้นที่เกษตรกรรม โดยยึดหลักการจัดสรรน้ำให้ทั่วถึง เป็นธรรม และยั่งยืน

สำหรับการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ สำหรับพื้นที่ในเขตชลประทาน สามารถบริหารจัดการน้ำได้โดยไม่เกิดปัญหาใด ๆ แต่สำหรับพื้นที่นอกเขตชลประทานซึ่งไม่มีแหล่งน้ำต้นทุนที่ชัดเจน กรมชลประทานได้เตรียมการช่วยเหลือเกษตรกร โดยการสนับสนุนเครื่องจักรกลเครื่องมือที่มีอยู่คอยช่วยเหลือ เช่น รถบรรทุกน้ำ และเครื่องสูบน้ำ ซึ่งขณะนี้ ได้ดำเนินการจัดสรรไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งแล้ว

“ในช่วงฤดูแล้ง กระทรวงฯมีการประเมินศักยภาพน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำต่าง ๆ สนับสนุนการใช้น้ำในภาคต่าง ๆ ในฤดูแล้ง เช่น เพื่อการเกษตร อุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศน์และอื่น ๆ นอกจากนี้จะต้องสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนเพื่อช่วยเหลือการทำนาปีต้นฤดูฝน และยังมีแผนการจัดสรรน้ำและแผนเป้าหมายการปลูกพืชฤดูแล้งในลุ่มน้ำต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน พร้อมกำหนดระยะเวลา การส่งน้ำและเก็บสำรองน้ำไว้ส่วนหนึ่งสำหรับการเพาะปลูกพืชในฤดูฝนและฤดูแล้งปีถัดไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศจะไม่ให้ขาดน้ำอย่างเด็ดขาด ส่วนปริมาณน้ำต้นทุนที่เหลือจะจัดสรรเพื่อการเกษตร ซึ่งจำนวนของพื้นที่เพาะปลูกจะผันแปรไปตามปริมาณน้ำต้นทุนในแต่ละปี" นายชวลิตกล่าว

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

รัฐ-เอกชนประสานเสียงดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งโป๊ก ประคองส่งออกแตะเป้า8-9%

“กิตติรัตน์” เปิดทำเนียบดึงผู้ว่าแบงก์ชาติ กนง. เอกชนร่วมวงเคลียร์ปัญหาค่าเงินบาทแข็งที่ประชุมประสานเสียงต้องร่วมมือกันดูแลไม่ให้แข็งค่าเกินเหตุ ประคองส่งออกโตตามเป้า 8-9% ด้าน หอการค้าเรียกร้องขอวงเงินกู้พิเศษช่วยผู้ประกอบการที่เดือดร้อน

เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2556 นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เป็นประธานการประชุมนัดพิเศษเพื่อแก้ปัญหาค่าเงินบาทแข็งซึ่งมีคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)นำโดยนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะประธานกนง. และตัวแทนภาคเอกชนอาทิประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(สอท.)ประธานหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานสมาคมธนาคารไทย เข้าร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลและผลกระทบค่าเงินบาทแข็งที่ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล ท่ามกลางกระแสกดดันให้กนง.ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 2.75%

นายกิตติรัตน์เปิดเผยว่าได้หารือเกี่ยวกับเศรษฐกิจของประเทศ 4 ประเด็นทั้งการใช้จ่ายภาครัฐตามกรอบงบประมาณ การลงทุนของภาคเอกชนทิศทางกำลังซื้อของผู้บริโภคและทิศทางส่งออกและท่องเที่ยวซึ่งทุกฝ่ายเห็นพ้องกันว่า เศรษฐกิจปีนี้ยังเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ แต่การส่งออกจะให้เป็นไปตามเป้าต้องทำงานร่วมกันนอกเหนือจากเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนที่เห็นตรงกันว่า เงินบาทแข็งค่าเกินไปจะทำให้ส่งออกมีปัญหา

ดังนั้นทุกฝ่ายจะพยายามทำงานร่วมกันไม่ให้เงินบาทแข็งค่าเกินไป เมื่อเทียบกับคู่ค้า และให้มีเสถียรภาพซึ่งจะต้องให้การส่งออกโตตามเป้าหมายที่วางไว้ 8-9% ส่วนแนวทางดูแลค่าเงินบาทด้วยการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยจะปรับลดลงหรือไม่ กนง.ต้องเป็นผู้ตัดสินใจ

“ ดอกเบี้ยนโยบายเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะดูแลการไหลเข้าออกของเงินทุนเพื่อลดแรงกดดันค่าเงิน แต่ภาคเอกชนไม่ได้คาดหวังถึงการเข้าไปควบคุมเงินทุนไหลเข้าออก แต่ต้องการให้หน่วยงานที่กำกับดูแลช่วยพิจารณาแนวทางการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนให้เหมาะสม กนง.และธปท.ต้องสื่อสารระหว่างกัน และขอฝากให้พิจารณาให้มากขึ้นเกี่ยวกับมาตรการที่จะนำมาใช้ในการดูแลค่าเงินบาทอย่างรอบคอบระมัดระวัง ”

นายประสารกล่าวว่าที่ประชุมฯ มีความเข้าใจร่วมกันว่า แม้เงินบาทจะผันผวน แต่จะเห็นว่าในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา เงินบาทปรับตัวอ่อนค่าไปในทิศทางเดียวกับสกุลเงินอื่นในภูมิภาคหลังจากที่เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นแต่ถือเป็นอุธาหรณ์ว่าไม่ควรประมาทแม้สถานการณ์จะเริ่มคลี่คลาย โดยต้องพิจารณาแนวทางแก้ไขสำหรับภาพรวมในระยะกลางและระยะยาวที่ยังมีความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง ภาครัฐและเอกชนต้องเตรียมรับความท้าทายที่จะเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตามผู้ว่าการธปท.ยืนยันว่าการประชุมครั้งนี้ไม่ได้สร้างแรงกดดันต่อการประชุม กนง.ในวันที่ 29 พฤษภาคมเพราะการหารือเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันเชื่อว่าการประชุม กนง.ในรอบถัดไปจะได้รับข้อมูลทางเศรษฐกิจที่เป็นจริงและใกล้เคียงข้อเท็จจริงมากที่สุด พร้อมกันนี้รมว.คลังได้ให้ความเห็นว่าควรจะประชุมลักษณะนี้อีก แต่อาจเปลี่ยนหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพซึ่งธปท.ก็ยินดีที่จะรับเป็นเจ้าภาพและรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน เพราะหลายปัญหาต้องมีการบูรณาการร่วมกันจากหลายฝ่าย

นายณรงค์ชัย อัครเศรณี กรรมการกนง. ให้ความเห็นว่า 4 มาตรการในการดูแลค่าเงินบาทของธปท.สามารถดูแลเสถียรภาพของค่าเงินบาทได้ เพียงแต่ถ้าหยิบมาใช้จะต้องเป็นการแก้ให้ตรงจุด โดยมาตรการแรก คือการห้ามต่างชาติซื้อพันธบัตรธปท. ธปท.สามารถดำเนินการได้ทันที ส่วนมาตรการที่ 2-4 ธปท.ต้องทำงานร่วมกับกระทรวงการคลัง และเห็นว่าการประชุมครั้งนี้ไม่ได้เป็นการแทรกแซงการทำงานหรือกดดันกนง. ให้ลดอัตราดอกเบี้ยเพราะบรรยากาศเป็นไปด้วยดี

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทยกล่าวว่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น เอกชนเป็นห่วงผลกระทบในระยะยาว เพราะศักยภาพการแข่งขันของเอกชนไทยจะสู้กับประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและบริการเนื่องจากใช้แรงงานสูง ภาคเอกชนต้องการให้ธนาคารพาณิชย์และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) ปล่อยวงเงินพิเศษเพื่อดูแลผู้ได้รับผลกระทบเป็นรายกลุ่ม และ ในวันที่ 16 พฤษภาคมนี้ หอการค้าไทย จะเข้าพบผู้ว่าการธปท.พื่อขอคำแนะนำหามาตรการเพิ่มศักยภาพให้กับผู้ประกอบการไทย

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานส.อ.ท.กล่าวว่าต้องร่วมมือกันทำให้ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพ และดูแลให้สอดคล้องกับฤดูกาลรับสินค้า เพราะหากเงินบาทแข็งค่ามากเกินไป สินค้าส่งออกแพง คู่ค้าก็จะไปสั่งสินค้าจากคู่แข่งแทน โดยเฉพาะขณะนี้เป็นห่วงเงินบาทเทียบกับเงินเยน เพราะเงินเยนอ่อนค่าลงมาก ทำให้ส่งออกไทยเสียเปรียบ

และที่เคยเสนอให้กนง.ลดอัตราดอกเบี้ยลง1% นั้น เป็นเรื่องของธปท.ที่จะเลือกใช้มาตรการดูแลค่าเงินบาทโดยมีทั้งเบาไปถึงหนัก ซึ่งดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือหนึ่ง แต่เอกชนมองที่ผลลัพธ์เป็นหลัก หากค่าเงินบาทมีเสถียรภาพใกล้เคียงกับภูมิภาค สินค้าแข่งขันได้เอกชนก็พอใจ ที่สำคัญต้องหารือร่วมกันอย่างต่อเนื่อง เพราะขณะนี้เศรษฐกิจโลกผันผวน มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากที่คาดการณ์ไว้ที่ 3.5 %มาอยู่ที่ 3.3%

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

อุตสาหกรรมเดินหน้าลอยตัวราคาน้ำตาลเล็งกำหนดราคาเพดานสูง – ต่ำคงส่วนแบ่งเดิม

นายสมศักดิ์ สุวัฒิกะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า คณะทำงานผลการศึกษาโครงการศึกษาวิจัยแนวทางการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ที่เป็นผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่มีนางอรรชกา สีบุญเรือง รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน จะหารือถึงแนวทางปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย โดยเฉพาะการลอยตัวราคา ตามนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ต้องการประกาศใช้ให้ทันฤดูหีบปี 56/57 หรือก่อนเดือน พ.ย.นี้ “คณะทำงานฯจะนำผลการศึกษาของทีดีอาร์ไอมาพิจารณาหาแนวทางลอยตัวราคาน้ำตาลสำหรับบริโภคในประเทศ (โควตา ก.) เป็นตัวตั้ง ซึ่งต้องหารือร่วมกันระหว่างภาครัฐ ชาวไร่อ้อย และโรงงานน้ำตาล เพื่อหาข้อสรุปให้ได้ในทิศทางเดียวกัน”

สำหรับในเบื้องต้น แนวทางการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายนั้น อาจลอยตัวแบบกำหนดเพดานราคาต่ำ และสูงไว้เป็นเกณฑ์กำหนดราคา และให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) ดูแลส่วนต่างช่องว่างของราคาต่ำ หรือราคาสูง ที่กำหนดเป็นเพดานไว้ เพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้บริโภคและรายได้ของชาวไร่และโรงงานน้ำตาล โดยยังคงระบบแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างชาวไร่และโรงงานไว้ที่ 70:30 เหมือนในปัจจุบัน ทั้งนี้ ปัจจุบัน กระทรวงพาณิชย์ กำหนดให้น้ำตาลทรายเป็นสินค้าควบคุม โดยคุมราคาขายปลีกสูงสุดไว้ที่กิโลกรัม (กก.) ละ 23.50 บาท หากจะมีการลอยตัวราคาก็ต้องรอฟังความคิดเห็นจากกระทรวงพาณิชย์ด้วย.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

เกษตรร่วม'โอปอย'อีก157แห่ง

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรในภูมิภาค ตามนโยบาย One Province One Agro-Industrial Product หรือ OPOAI (โอปอย) ว่าปีนี้มีสถานประกอบการอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรสนใจเข้าร่วมโครงการ 157 แห่ง ประเภทสินค้ามีทั้ง ข้าว พืชไร่ ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ ไม้ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางพารา แปรรูปอาหารทะเล มันสำปะหลัง แปรรูปไม้ สมุนไพร สปา และอื่นๆ โดยมุ่งหวังให้กระทรวงอุตสาหกรรมเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันเพื่อพร้อมรับกับการเปิดเสรีเขตเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ปี 2558 "โครงการนี้มุ่งหวังให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันได้ทั้งเชิงรุกและเชิงรับเพื่อให้สามารถอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยโครงการนี้ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2550 มีสถานประกอบการอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรเข้าร่วมโครงการแล้วมากกว่า 750 แห่ง สามารถลดต้นทุน และเพิ่มรายได้มากกว่า 2,800 ล้านบาท" ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าว

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ก.วิทย์พัฒนาปุ๋ยนาโน เพิ่มประสิทธภาพปุ๋ยในพืช ลดปัญหาดินเสื่อมจากการใช้ปุ๋ยอินทรีย์เคมี

ปัญหาดินเสื่อมโทรมจากการใช้ปุ๋ยมากเกินจำเป็น ทำให้ผลผลิตของพืชเศรษฐกิจตกต่ำ ปริมาณการนำเข้าปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศสูง ส่งผลให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายต่อพื้นที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งคุณภาพของปุ๋ยที่ไม่เหมาะสม ที่มีปริมาณธาตุอาหารและระยะเวลาไม่ตรงกับความต้องการของพืชแต่ละชนิดล้วนเป็นปัญหาต่อการพัฒนาพืชเศรษฐกิจของประเทศไทยตลอดมา

นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า โครงการผลิตปุ๋ยสูตรผสม NPK ชนิดควบคุมการปลดปล่อยธาตุอาหารสำหรับพืชเศรษฐกิจโดยเทคนิคการเคลือบนาโน (Controlled Release NPK Fertilizers Coated by Nano-composited Polymer to Improve Efficiency of Nutrient Usage in Crop Plants) เป็นผลงานวิจัยของ ทีมวิจัยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมมือกัน พัฒนา “ปุ๋ยนาโน” ซึ่งได้พัฒนาสูตรเคลือบปุ๋ยขึ้นมาเป็นพิเศษ สาเหตุที่ต้องพัฒนาปุ๋ยนาโนขึ้นมานั้นเพราะพืชแต่ละชนิดมีความต้องการธาตุอาหารในแต่ละช่วงของการเติบโตที่แตกต่างกัน ปุ๋ยจึงเป็นต้นทุนที่สำคัญ แต่ส่วนใหญ่การใส่ปุ๋ยให้พืชแต่ละชนิด ที่ส่วนมากพบว่าจะเกิดการสูญเสียธาตุอาหารก่อนที่พืชจะนำไปใช้ประโยชน์ เช่น ปุ๋ยมีการละลายตัวเร็ว ดินในการปลูกพืชไม่สามารถดูดซึมอาหารไว้ได้ อีกทั้งปัญหาดินเสื่อมสภาพจากการใช้ปุ๋ยเป็นระยะเวลานาน ทำให้ต้องเพิ่มปุ๋ยในปริมาณที่มากขึ้น แต่พืชกลับใช้ประโยชน์จากปุ๋ยได้น้อย ทางศูนย์นาโนเทคฯ กับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ได้ร่วมมือกัน โดยนาโนเทคฯ ได้พัฒนาสูตรเคลือบปุ๋ยขึ้นมาเป็นพิเศษ ส่วนทาง วว. ได้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์เคมีอยู่แล้ว และในปุ๋ยเคมีที่ วว. ใส่เข้าไปในส่วนผสมของปุ๋ยอินทรีย์นั้น จะมีกระบวนการเคลือบเม็ดปุ๋ย ด้วยวัสดุนาโนพอลิเมอร์จากธรรมชาติที่มีรูพรุนและมีอนุภาคเล็กๆระดับนาโน เคลือบเข้าไปในส่วนผสมของปุ๋ยอินทรีย์ ส่งผลให้ปุ๋ยสามารถควบคุมปริมาณและระยะเวลาการปลดปล่อยธาตุอาหาร ทำให้พืชได้รับธาตุอาหารตามความต้องการของพืชและสภาพของดินแต่ละพื้นที่หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า“ปุ๋ยสั่งได้”

ดร.วิยงค์ กังวานศุภมงคล หัวโครงการวิจัย และหัวหน้าห้องปฏิบัติการโครงสร้างนาโนไฮบริดและนาโนคอมพอสิท กล่าวว่า โครงการดังกล่าว ทีมวิจัยศูนย์นาโนเทคฯ ได้ทำการวิจัยและพัฒนาปุ๋ยนาโน เพื่อให้เกิดการใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ลดการสูญเสียธาตุอาหารน้อยที่สุด และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งผลงานวิจัยนี้ ทำให้เกิดประโยชน์หลายหลายประการ เช่น สามารถลดต้นทุนโดยรวม และลดปริมาณการใช้ปุ๋ย ลดจำนวนครั้งในการใช้ปุ๋ย ลดต้นทุนด้านแรงงานเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ย นอกจากนั้นแล้วคุณสมบัติของ ปุ๋ยยังสามารถกำหนดการปลดปล่อยธาตุอาหารได้ 3 เดือน หรือ 6 เดือนตามความต้องการของพืช ทำให้พืชสามารถดูดซึมอาหารไปใช้ประโยชน์เต็มที่และช่วยเพิ่มปริมาณผลผลิตต่อไร่ ที่สำคัญยังช่วยลดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการตกค้างของปุ๋ยในดิน รวมทั้งช่วยให้ประเทศไทยลดการนำเข้าปุ๋ยได้ด้วย ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น

ดร.วิยงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันโครงการนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาต่อยอดเพื่อให้เหมาะสมต่อพืชเศรษฐกิจ สำคัญของไทย และเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ในการเพาะปลูกของประเทศไทย ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เป็นโครงการสำคัญที่จะทำให้เกิดศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีนาโนในพื้นที่ภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศ ทั้งนี้ในวันที่ 10 พฤษภาคมนี้ คณะผู้บริหารและทีมนักวิจัยศูนย์นาโนเทคจะลงพื้นที่ที่ อ.เด่นชัย จ.แพร่ เพื่อร่วมหารือกับวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีแพร่ และสำรวจพื้นที่ในการจัด ตั้งโรงงานผลิตปุ๋ย รวมถึงการอบรมและถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีในการผลิตปุ๋ยดังกล่าวให้แก่ บุคลากรครูของวิทยาลัยเกษตรฯ จ.แพร่ ซึ่งบุคลากรครูที่ได้รับการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีแล้วนั้นจะได้นำไป ถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ต่อไป

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ก.อุตฯ เร่งสรุปแนวทาง หวังลอยตัวราคาน้ำตาลสิ้นปีนี้

ก.อุตฯ ฉวยจังหวะน้ำตาลตลาดโลกต่ำ เร่งนำผลศึกษาทีดีอาร์ไอสรุปจัดทำแผนปรับโครงสร้างอุตฯ อ้อยและน้ำตาลทราย หวังเดินหน้าลอยตัวราคาน้ำตาลสิ้นปีนี้ แย้มรูปแบบอาจมีเพดานต่ำสุด-สูงสุด คงระบบ 70:30

นายสมศักดิ์ สุวัฒิกะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า เร็วๆ นี้คณะทำงานผลการศึกษาโครงการศึกษาวิจัยแนวทางการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่มีนางอรรชกา สีบุญเรือง รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน จะหารือถึงแนวทางการดำเนินงาน โดยเฉพาะแนวทางการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรมที่ต้องการประกาศใช้ให้ทันฤดูหีบปี 56/57 หรือก่อน พ.ย.นี้

“คงจะนำเอาผลการศึกษาของทีดีอาร์ไอมาพิจารณาประกอบแนวทาง โดยจะดำเนินงานในส่วนที่ทำได้ก่อน ก็จะพยายามจะให้จบโดยเร็ว ซึ่งทั้งหมดก็ต้องเชิญทั้งฝ่ายชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลทรายมาร่วมกันหารือเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ไปในทิศทางเดียวกัน” นายสมศักดิ์กล่าว

ทั้งนี้ แนวทางการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายนั้นเห็นว่าจำเป็นจะต้องพิจารณาก่อนที่ไทยจะก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ปี 2558 ที่ท้ายสุดระบบราคาจะต้องได้รับการแก้ไขไว้รองรับ โดยเบื้องต้นรูปแบบอาจจะมีการกำหนดเพดานราคาต่ำสุดและสูงสุดไว้และให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) ทำหน้าที่ในการดูแลส่วนต่างเพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้บริโภคและชาวไร่ โดยยังคงระบบแบ่งปันผลผลิตระหว่างชาวไร่กับโรงงาน 70:30 อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำตาลทรายปัจจุบันกระทรวงพาณิชย์ยังกำหนดให้น้ำตาลเป็นสินค้าควบคุมราคาก็จะต้องพิจารณาประเด็นดังกล่าวด้วย

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวว่า ราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกล่าสุดเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 17 เซ็นต์ต่อปอนด์ และมีแนวโน้มอีก 1-2 ปียังคงทรงตัวเนื่องจากผลผลิตของโลกเริ่มล้นตลาด ประกอบกับเศรษฐกิจโลกชะลอตัวทำให้ความต้องการลดต่ำ ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่ไทยจะลอยตัวน้ำตาลทรายในช่วงราคาน้ำตาลขาลงมากสุด แต่การปฏิบัติต้องวางแนวทางให้ชัดเจน ซึ่งขณะนี้ทั้งฝ่ายโรงงานและชาวไร่ยังคงคัดค้านการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายตามแนวทางของทีดีอาร์ไอในประเด็นที่ฝ่ายของตนเสียเปรียบ

“ทีดีอาร์ไอเสนอให้ลอยตัวอิงตลาดโลกไปเลยเพราะเกรงว่าการมีเพดานต่ำสุดสูงสุดไว้แล้วจะคุมราคาไม่ให้เกินเพดานได้มากน้อยเพียงใด หรือต้องไม่เกิดการฮั้วราคา แต่โรงงานเสนอให้มีเพดานต่ำสุด-สูงสุดเพื่อลดผลกระทบเมื่อราคาตลาดโลกวิกฤต ซึ่งชาวไร่ก็เห็นด้วยในแนวนี้ ส่วนกองทุนฯ นั้นทางที่ดีอาร์ไอก็ให้เลิกเก็บเงิน 5 บาทต่อกิโลกรัม จากการขึ้นราคาหน้าโรงงานเข้าทั้งหมดแล้วกำหนดมีรายได้จากการจำหน่ายน้ำตาลทรายใหม่ ที่สุดก็ไม่ต่างกันมากนัก” แหล่งข่าวกล่าว

นอกจากนี้ ทีดีอาร์ไอยังกำหนดให้บริษัทอ้อยและน้ำตาลทราย (อนท.) ขายน้ำตาลทรายทั้งดิบและขาวในการทดสอบราคาเพื่อนำมาคำนวณรายได้จากเดิมที่จะไม่นำน้ำตาลทรายขาวมาคำนวณ ซึ่งจะทำให้ราคาอ้อยของชาวไร่เพิ่มขึ้นค่อนข้างมากทำให้โรงงานจะต้องจ่ายค่าอ้อยเพิ่มขึ้นมากกว่าปัจจุบัน ด้วยเหตุผลนี้จึงทำให้โรงงานไม่เห็นด้วยค่อนข้างมาก ขณะที่ชาวไร่เองก็ต้องการที่จะนำเอารายได้ผลิตภัณฑ์พลอยได้ทั้งกากน้ำตาล เอทานอล ฯลฯ มาเข้าระบบ แต่ฝ่ายโรงงานไม่ยอมรับ เป็นต้น

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

จ่อลอยตัวราคาน้ำตาล ก.อุตฯรับลูกทีดีอาร์ไอ ให้อิงตลาดโลกสิ้นปีนี้

นายสมศักดิ์ สุวัฒิกะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) เปิดเผยว่า เร็วๆ นี้คณะทำงานผลการศึกษาโครงการศึกษาวิจัยแนวทางการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)ที่มีนางอรรชกา สีบุญเรือง รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานจะหารือถึงแนวทางการดำเนินงานโดยเฉพาะแนวทางการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรมที่ต้องการประกาศใช้ให้ทันฤดูหีบปี 56/57 หรือก่อนพฤศจิกายน 2556 นี้

“คงจะนำเอาผลการศึกษาของทีดีอาร์ไอมาพิจารณาประกอบแนวทางโดยจะดำเนินงานในส่วนที่ทำได้ก่อนก็จะพยายามจะให้จบโดยเร็วซึ่งทั้งหมดก็ต้องเชิญทั้งฝ่ายชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลทรายมาร่วมกันหารือเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ไปในทิศทางเดียวกัน”นายสมศักดิ์กล่าว

ทั้งนี้แนวทางการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายนั้นเห็นว่าจำเป็นจะต้องพิจารณาก่อนที่ไทยจะก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ปี 2558

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวว่า ราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกล่าสุดเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 17 เซนต์ต่อปอนด์ และมีแนวโน้มอีก 1-2 ปียังคงทรงตัวเนื่องจากผลผลิตของโลกเริ่มล้นตลาดประกอบกับเศรษฐกิจโลกชะลอตัวทำให้ความต้องการลดต่ำ ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่ไทยจะลอยตัวน้ำตาลทรายในช่วงราคาน้ำตาลขาลง แต่ขณะนี้ทั้งฝ่ายโรงงานและชาวไร่ยังคงคัดค้านการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายตามแนวทางของทีดีอาร์ไอในประเด็นที่ฝ่ายของตนเสียเปรียบ

“ทีดีอาร์ไอเสนอให้ลอยตัวอิงตลาดโลกไปเลยเพราะเกรงว่าการมีเพดานต่ำสุดสูงสุดไว้แล้วจะคุมราคาไม่ให้เกินเพดานได้มากน้อยเพียงใดหรือต้องไม่เกิดการฮั้วราคา”แหล่งข่าวกล่าว

ก่อนหน้านี้ ทีดีอาร์ไอ โดย ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง จัดทำบทวิจัย “การศึกษาเพื่อปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทย”ชี้ว่า ระบบแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างชาวไร่และโรงงานในสัดส่วน 70:30 ที่ใช้มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2525/26 ควรได้รับการปรับปรุง โดยแบ่งผลประโยชน์ให้เกษตรกรเพิ่มขึ้น รวมทั้งยกร่างพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายฉบับใหม่ขึ้นมาด้วย โดยส่วนแบ่งของชาวไร่อ้อยก็ควรต้องเพิ่มขึ้นมากกว่าสัดส่วน 70:30 ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้รัฐบาลอินเดียก็เสนอระบบที่ให้คิดส่วนแบ่งจากรายได้จากทุกผลิตภัณฑ์ที่ 70:30 แต่ให้เพิ่มเป็น 75:25

พร้อมเสนอว่าสำหรับตลาดน้ำตาลภายในประเทศ ให้รัฐเลิกควบคุมราคาน้ำตาล และหันมาควบคุมปริมาณแทนเมื่อรัฐเลิกควบคุมราคาก็จะไม่มีปัญหาเรื่องน้ำตาลหายไปจากตลาดอีกต่อไป และถ้ารัฐควบคุมให้มีปริมาณน้ำตาลเพียงพอสำหรับการบริโภคและอุตสาหกรรมในประเทศราคาน้ำตาลภายในประเทศก็จะไม่สูงกว่าที่ควรจะเป็น

นอกจากนี้ ผู้วิจัยยังเสนอให้รัฐอนุญาตให้นำเข้าน้ำตาลทรายโดยเสรีเพื่อป้องปรามการรวมหัวกันตั้งราคาน้ำตาลที่สูงเกินควร

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

แจกทองชาเขียว ดันน้ำตาลพุ่ง

ศึกโปรโมชั่นแจกทองเครื่องดื่มชาเขียว อากาศร้อน ดันยอดการใช้น้ำตาลทรายในประเทศพุ่งกระฉูด ด้าน สอน. เผย ฤดู55/56 ยอดขายน้ำตาลเฉียด 10 ล้านกระสอบ

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ความต้องการใช้น้ำตาลทรายในประเทศของผู้ประกอบการในปี 56 มีสูงอย่างต่อเนื่องหลังสภาพอากาศที่ร้อนจัดทำให้ผู้ผลิตเครื่องดื่มอย่าง น้ำอัดลม, น้ำผลไม้ และชาเขียว มีการแข่งขันสูงจึงจำเป็นต้องเร่งผลิตสินค้า และมีโปรโมชั่นต่างๆ ในการดึงดูดผู้บริโภค โดยเฉพาะการชิงโชคด้วยการแจกทองคำ ยิ่งทำให้ความต้องการสินค้าดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างมาก

ทั้งนี้ผลของการใช้น้ำตาลทรายในปริมาณที่สูงทำให้ยอดการจำหน่ายน้ำตาลทรายจากโควตา ก. (บริโภคในประเทศ) ฤดูกาล55/56 (พ.ย. 55- พ.ค. 56) แล้ว 9.6 ล้านกระสอบ จากที่มีการขึ้นงวดทั้งหมด 10.6 ล้านกระสอบ ซึ่งเหลือค้างกระดานเพียง 980,000 กระสอบ ต่างจากช่วงเดียวกันของปีก่อนมีการยอดการขายเพียง 7.8 ล้านกระสอบจากการขึ้นงวดทั้งหมด 11.2 ล้านกระสอบ ซึ่งเหลือน้ำตาลทรายคงค้างมากถึง 3.2 ล้านกระสอบ ที่

อย่างไรก็ตามแม้ว่าหลายฝ่ายกังวลว่าในอนาคตอาจเกิดปัญหาน้ำตาลทรายในประเทศตึงตัวได้ แต่ สอน. มั่นใจจะสามารถดูแลปริมาณน้ำตาลทรายโควตา ก.ได้ หลังจากในช่วงที่ผ่านมาคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ที่มีนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน ได้เพิ่มโควตา ก.จาก 24 ล้านกระสอบ เป็น 25 ล้านกระสอบไปแล้ว

“สาเหตุที่การบริโภคในประเทศขยายตัวเกิดจากที่มีโรงงานผลิตเครื่องดื่ม เช่น น้ำอัดลมยี่ห้อ"เอส" และ"บิ๊กโคล่า" รวมถึงการขยายตัวของเครื่องดื่มประเภทชาเขียว เช่น อิชิตัน และ โออิชิ ที่ทั้งสองรายมีการแข่งขันกันดุเดือด อย่างไรก็ตามสอน. ยังมั่นใจว่าตอนนี้โควตา ก. ที่ตั้งไว้ 25 ล้านกระสอบน่าจะเพียงพอ เพราะหากเข้าสู่ช่วงฤดูฝนและหมดโปรโมชั่นชิงโชคต่างๆหมดลงความต้องการสินค้าประเภทนี้คงจะลดลงเช่นกัน”

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 12 พฤษภาคม 2556

สำนักงานเกษตรจังหวัดอุทัยธานีจับมือภาคเอกชนจัดงานวันสาธิตการผลิตอ้อยโรงงาน การรณรงค์ตัดอ้อยโดยไม่เผา และงานวันเกษตร ประจำปี 2556

สำนักงานเกษตรจังหวัดอุทัยธานีจับมือภาคเอกชนร่วมมือกันจัดงาน วันสาธิตการผลิตอ้อยโรงงาน การรณรงค์ตัดอ้อยโดยไม่เผา และงานวันเกษตร ประจำปี 2556 ที่ โรงงานน้ำตาลมิตรเกษตรอุทัยธานี หมู่ที่ 10 ต.ไผ่เขียว อ.สว่างอารมณ์ จังหวัดอุทัยธานี โดยนาย ชาดา ไทยเศรษฐ์ ประธานคณะกรรมาธิการเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงาน มีเกษตรกร กว่า 2,000 คน เข้าร่วมงาน

นายชาดา ไทยเศรษฐ์ กล่าวว่า จากข้อมูลของโรงงานน้ำตาลมิตรเกษตรอุทัยธานี พบว่า อ้อยที่ส่งเข้ามายังโรงงานร้อยละ 95 เป็นอ้อยที่ไฟไหม้ นอกจากจะทำให้เสียหายจากสิ่งแวดล้อมแล้วยังทำให้สูญเสียน้ำหนักและคุณภาพความหวาน ซึ่งหากตัดทิ้งไว้ในไร่นานๆ คุณภาพความหวานจะยิ่งลดต่ำลง และยังถูกตัดราคาตามประกาศของโรงงานและคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายรวมทั้งมีสิ่งสกปรกปนเปื้อนมาก คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) จึงสร้างแรงจูงใจโดยเพิ่มเงินให้กับชาวไร่ผู้ที่ตัดอ้อยสดตันละ 70 บาท และหักเงินชาวไร่ที่ตัดอ้อยไฟไหม้ตันละ 20 บาท และกำลังหาแนวทางเพิ่มเงินให้กับผู้ที่ตัดอ้อยสดอีก

สำหรับกิจกรรมในงานประกอบด้วย การเสวนาการผลิตอ้อยอย่างไรให้ตรงกับความต้องการของโรงงาน การจัดกิจกรรมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตอ้อยที่ดีเหมาะสม การจัดนิทรรศการพันธ์อ้อยพันธุ์ดี การวางระบบน้ำ ตลอดจนแสดงเครื่องจักรกลในกลในการปลูกอ้อย การแข่งขันตัดอ้อยสดชิงรางวัล ประกวดผลผลิตการเกษตรชิงรางวัลและมอบประกาศเกียรติบัตร ได้แก่ มันสำปะหลังหัวใหญ่ มะพร้าวขนาดกลาง มะม่วงแก้วดิบ มะม่วงน้ำดอกไม้เบอร์ 4 และมีการแข่งกีฬามหาสนุกเพื่อเชื่อมความสามัคคี และการแข่งขันตัดอ้อย

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 11 พฤษภาคม 2556

กฟภ.ชี้4กลุ่มอุตฯดันใช้ไฟฟ้าขยายตัว

กฟภ.ชี้ภาวะการใช้ไฟฟ้าของประเทศยังต่อเนื่อง คาดทั้งปีขยายตัว 5.28 % ได้ปัจจัยบวกจาก 4 กลุ่มอุตสาหกรรม อาหาร ยานยนต์และชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์ และเหล็ก มีการผลิตเพิ่มขึ้น

รองรับการเติบโตของตลาดและเตรียมเข้าสู่เออีซี ขณะที่ยอดการใช้ไฟฟ้าไตรมาสแรกขยายตัว 4.45 % ได้แรงหนุนจากกลุ่มยานยนต์ ขณะที่อิเล็กทรอนิกส์การใช้ไฟหดตัว ภาคการผลิตยังไม่ฟื้นจากน้ำท่วม

นายสมชัย จรุงธนะกิจ รองผู้ว่าการพัฒนาองค์กร การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) เปิดเผยถึงแนวโน้มความต้องการใช้ไฟฟ้าปีนี้ในส่วนความรับผิดชอบของกฟภ. 74 จังหวัดว่า อัตราการขยายตัวของการใช้ไฟฟ้ายังมีทิศทางเติบโตอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะอยู่ที่ 5.28 % จากปีก่อนขยายตัว 8.52 % ที่มียอดการใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 1.117 แสนล้านหน่วย ซึ่งการขยายตัวของการใช้ไฟฟ้าในปีนี้น่าจะมีปัจจัยบวกมาจาก การผลิตสินค้าและบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการที่มีอุปสงค์สืบเนื่องมาจากการส่งเสริมการขยายตัวของกลุ่มธุรกิจและอุตสาหกรรมภายในประเทศและภูมิภาค โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ที่มีการผลิตและแปรรูปสินค้าเกษตรกรรม เพื่อบริโภคเพิ่มมากขึ้นตามจำนวนประชากร นักท่องเที่ยว และนักลงทุนที่เดินทางเข้ามาในประเทศ รวมถึงการนำอ้อยและมันสำปะหลังไปผลิตเอทานอล เพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาน้ำมัน

ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ มียอดคงค้างส่งมอบรถยนต์อีกเป็นจำนวนมาก ทำให้ปริมาณการใช้ไฟฟ้ากลุ่มนี้จะยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง นอกจากนี้กลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ มีแนวโน้มการขยายตัวเช่นกัน โดยเฉพาะชิ้นส่วนของสินค้าประเภทแท็บเลต สมาร์ทโฟน และอัลตร้าบุ๊กที่มีการเติบโตและมีความต้องการสูงในตลาดโลก และกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก มีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นตามความต้องการของประเทศกลุ่มอินโดจีนที่เร่งลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน อีกทั้ง แรงขับเคลื่อนจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเพื่อบ้าน เช่น กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง

"ส่วนการใช้ไฟฟ้าในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับ 2.7844 หมื่นล้านหน่วย ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 2.6581 หมื่นล้านหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 4.45 % เป็นการบ่งบอกถึงการฟื้นตัวของภาคการผลิตที่มีการขยายตัวต่อเนื่อง และจากแรงขับเคลื่อนของอุปสงค์ภายในประเทศ เช่น การเติบโตของภาคการท่องเที่ยวและบริการ ภาคการก่อสร้าง โดยได้รับแรงสนับสนุนจากนโยบายของภาครัฐในการกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ"

ทั้งนี้ หากพิจารณาการใช้ไฟฟ้าเป็นรายภาค พบว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การใช้ไฟฟ้าขยายตัวสูงสุดที่ 5.86 % รองลงมาเป็นภาคกลาง 5 % ภาคใต้ 3.30 % และภาคเหนือ 3.16 % โดยเป็นผลมาจากความต้องการใช้ไฟฟ้าของกลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มอุตสาหกรรม มีสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าสูงสุด ขยายตัว 5.53 %

ขณะที่กลุ่มพาณิชย์ความต้องการใช้ไฟฟ้า ขยายตัว 19.51 % มาจาการใช้ไฟฟ้าของภาคกลุ่มโรงแรม ภาคการท่องเที่ยวและบริการ และห้างสรรพสินค้าที่เติบโตดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีการเติบโตสูงสุด ส่วนกลุ่มบ้านอยู่อาศัย ความต้องการใช้ไฟฟ้าขยายตัว 3.42 % เกิดจากมีจำนวนผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีอยู่จำนวน 15.9 ล้านราย

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณากลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ 5 อันดับแรก ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคอุตสาหกรรม การใช้ไฟฟ้าของกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์จะมีการขยายตัวสูงสุดที่ 26.03 % ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายรถยนต์คันแรกที่มีการเร่งผลิตให้ทันส่งมอบ รองลงมาจะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก การใช้ไฟฟ้าขยายตัว 5.84 % จากการเติบโตของภาคอสังหาริมทรัพย์แถบชานเมือง โครงการสาธารณูปโภคต่างๆ เพื่อรองรับนโยบายภาครัฐและการเตรียมการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี อุตสาหกรรมสิ่งทอ การใช้ไฟฟ้าขยายตัว 3.56 % เนื่องจากเสื้อผ้าสำเร็จรูปมีการผลิตส่งออกต่างประเทศมากขึ้น กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร การใช้ไฟฟ้าขยายตัว 1.54 % จากความต้องการบริโภคของประชาชนและนักท่องเที่ยวที่มีเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลต่างๆ เช่น ปีใหม่ วาเลนไทน์ ตรุษจีน เป็นต้น

" แต่เป็นที่น่าสังเกตว่ากลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ การใช้ไฟฟ้าหดตัว 0.38 % ซึ่งน่าจะมาจากภาคการผลิตยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่จากปัญหาน้ำท่วมเมื่อปลายปี 2554 เห็นได้จากยอดการสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศลดลง"

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 10 พฤษภาคม 2556

ชาวไร่อ้อยร้องศาลปค.จัดตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่

10 พ.ค.56 ที่สำนักงานศาลปกครอง สมาคมเกษตรกร ชายแดนบูรพา และตัวแทนจากสภาเกษตรจังหวัดสระแก้ว พร้อมด้วยเกษตรกรชาวไร่อ้อยกว่า 500 คน และนายปรเมศฐ์ แดนดงยิ่ง ทนายความ ได้เดินทางมายื่นฟ้องกระทรวงอุตสาหกรรม ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และบริษัทโรงงานน้ำตาลนิวกว้างสุ้นหลี เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้กระทรวงอุตสาหกรรม และโรงงานน้ำตาลนิวกว้างสุ้นสี ดำเนินการจัดตั้งโรงงานน้ำตาลขึ้นมาใหม่ที่จังหวัดสระแก้ว เนื่องจากได้รับความเดือดร้อนจากการที่โรงงานน้ำตาลนิวกว้างสุ้นหลีที่ไปสนับสนุนและส่งเสริมให้ปลูกอ้อยเพื่อส่งโรงงาน โดยมีการประชาสัมพันธ์ว่า ได้รับอนุญาตให้ตั้งโรงงานน้ำตาลทรายได้ที่จังหวัดสระแก้วตามคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 ต.ค.50 แต่เมื่อเกษตรกรได้ลงทุนลงแรงตามที่ได้รับการสนับสนุนไปแล้ว แต่กลับไม่มีการตั้งโรงงานดังกล่าว ซึ่งส่งผลให้อ้อยที่ปลูกไว้ส่งขายไม่ได้ในจังหวัดสระแก้ว

นายปรเมษฐ์ กล่าวว่า เมื่อเกษตรกรชาวไร่อ้อย จ.สระแก้ว และผู้ฟ้องคดี 735 คน ได้รับความเดือดร้อน เสียหาย และอาจจะเดือดร้อนโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้อันเป็นผลโดยตรงจากการกระทำหรืองดเว้นการกระทำ โดยชื่อว่าปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นทั้งหมดจะได้รับความเยียวยา จากหน่วยงานภาครัฐที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบตามกฎหมาย ไม่ได้รับการแจ้งผลการพิจารณาภายในเวลาอันสมควร ทำให้เกิดเป็นปัญหาเรื้อรัง แต่เมื่อปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าวกระทบต่อเกษตรกรชาวไร่อ้อยจังหวัดสระแก้ว และผู้ฟ้อง 735 คน จำนวนไม่น้อยกว่า 4,000 คน และอาจส่งผลกับชาวไร่อ้อยเป็นวงกว้างทั่วประเทศ

นายปรเมษฐ์ กล่าวต่อว่า ในการมาครั้งนี้เพื่อขอให้ศาลปกครองเข้าตรวจสอบดำเนินคดีไว้พิจารณา นอกจากนี้ยังเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยจังหวัดสระแก้ว และผู้ฟ้อง 735 คน

“การที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดหลักเกณฑ์ว่าการตั้งโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่จะต้องมีระยะทางห่างกันกับโรงงานอื่นไม่น้อยกว่า 80 กิโลเมตร ก็ไม่มีความเป็นธรรมและเป็นการเลือกปฏิบัติ นอกจากนี้ยังเป็นการทำลายชาวไร่อ้อยและเปิดโอกาศให้มีการผูกขาดเอารัดเอาเปรียบ คนที่จะตายก็คือเกษตรกร” ผู้แทนเกษตรกรของสภาเกษตรกรจังหวัดสระแก้ว

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 10 พฤษภาคม 2556

ชาวไร่จี้รัฐผุด10โรงงานน้ำตาล

ชาวไร่อ้อยจี้สร้างโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ด่วน หวั่นคลอดช้าอ้อยจะล้นตลาด ทำคุณภาพเสื่อม วอนกรมโรงงานเร่งปล่อยรง.4 ด้านนายกสมาคมชาวไร่อ้อยน้ำพอง ลั่นฤดูผลิตใหม่โรงงานน้ำตาลทั่วประเทศกว่า 50 แห่ง รับไหวถ้าปรับปรุงประสิทธิภาพการหีบได้เต็มที่ ด้าน สอน.แจง 2 เหตุผลที่ล่าช้า

กำธร กิติโชติทรัพย์ นายกำธร กิติโชติทรัพย์ ประธานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ถึงกรณีโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ราว 10 แห่ง ที่ได้รับใบอนุญาตจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) ยังไม่มีความคืบหน้าในการก่อสร้างโรงงานน้ำตาล เนื่องจากผู้ประกอบการยังไม่ได้รับใบอนุญาตรง.4(ใบประกอบกิจการโรงงาน)ทั้งที่ได้รับใบอนุญาตจากครม.แล้ว ซึ่งเป็นห่วงฤดูการหีบอ้อยในปีต่อๆไป ที่จะเริ่มหีบอ้อยได้ในราวเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายนของทุกปี หากโรงงานแห่งใหม่ยังไม่เกิดขึ้นก็จะทำให้การระบายอ้อยเข้าหีบทำได้ล่าช้า เนื่องจากการสร้างโรงงานใหม่จะต้องใช้เวลา 2 ปี ในการเตรียมที่สร้างโรงงาน ทดลองเดินเครื่อง จนไปถึงขั้นตอนที่โรงงานสามารถหีบอ้อยได้ ขณะที่โรงงานน้ำตาลที่มีอยู่ก็ผลิตได้เต็มเพดานแล้ว

"ฤดูการหีบอ้อยในปีนี้ เริ่มเห็นสัญญาณแล้วว่า ปริมาณอ้อยที่มีอยู่ขณะนี้บางโรงงานยังหีบอ้อยไม่หมด ทั้งที่ ความเป็นจริงหลังสงกรานต์การหีบอ้อยจะต้องสิ้นสุดแล้ว หากเลยช่วงนี้ไป มีฝนตกลงมาจะทำให้อ้อยเสียหายได้ และเกิดความไม่สะดวกในการขนย้ายอ้อยจากไร่อ้อยไปยังโรงงานน้ำตาล"

ขณะที่นายชัยวัฒน์ คำแก่นคูณ นายกสมาคมชาวไร่อ้อยน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ปัจจุบันโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศที่มีอยู่กว่า 50 แห่ง หากสามารถปรับปรุงประสิทธิภาพการหีบอ้อยให้เต็มกำลังผลิต จะสามารถหีบอ้อยได้ทั้งหมด โดยเฉพาะในปี2556/2557 ที่คาดว่าจะมีปริมาณอ้อยเกิน 100 ล้านตันอ้อย ดังนั้นเมื่อมีการปรับปรุงเครื่องจักรที่มีอยู่ก็ไม่น่าจะมีปัญหาในการหีบอ้อย

ส่วนฤดูการผลิตปัจจุบัน(ปี2555/2556)มีปริมาณอ้อยเกือบ 100 ล้านตันอ้อย ทะลุเป้าที่ตั้งไว้ที่ 94 ล้านตันอ้อย แต่คุณภาพอ้อยกลับตกต่ำลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้วนั้น มาจากสาเหตุที่สภาพอากาศแห้งแล้งทำให้อ้อยมีค่าความหวานต่ำลง ขณะที่ประสิทธิภาพของโรงงานน้ำตาลหีบอ้อยได้น้อย ทำให้ผลผลิตต่อตันน้อยลงไปด้วย

ด้านนายสมศักดิ์ สุวัฒิกะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) กล่าวถึงกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า การก่อสร้างโรงงานน้ำตาลอีกประมาณ 10 แห่งที่ได้รับใบอนุญาตจากครม.ไปแล้ว แต่ยังไม่เกิดการก่อสร้างโรงงานนั้น เรื่องนี้จากการสำรวจพบว่า 1.บางโรงงานอยู่ระหว่างจัดหาพื้นที่ที่เหมาะสม เพราะสถานที่ตั้งโรงงานน้ำตาลกำหนดว่าจะต้องตั้งอยู่ในรัศมีห่างจากโรงงานเดิม 80 กิโลเมตร 2.โรงงานบางแห่งอยู่ในช่วงจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ โดยทั้ง10 แห่งนี้จะมีกำลังผลิตรวมกันอยู่ที่กว่า 2 แสนตันต่อวัน

อย่างไรก็ตาม หากโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่เกิดขึ้นล่าช้า ในขณะที่ปริมาณอ้อยมีจำนวนมาก ก็จะเกิดความเสียหายได้ เพราะค่าความหวานลดลง ปัจจุบันมีปริมาณอ้อยทั่วประเทศสามารถรองรับการผลิตน้ำตาลได้ในปริมาณที่มากขึ้น เฉพาะฤดูการผลิตปี2555/2556 จะมีปริมาณอ้อยในระบบรวมกันมากเกือบ 100 ล้านตันอ้อยต่อปี นอกจากนี้ที่ผ่านมาตามหลักปฏิบัติกำหนดว่าจะต้องมีการหีบอ้อยให้แล้วเสร็จภายใน120 วัน แต่ขณะนี้ยังมีโรงงานน้ำตาลบางแห่งหีบอ้อยเกิน 150 วัน ซึ่งปัญหาเหล่านี้สอน.เอง จะต้องลงไปดูแลมากขึ้นในฤดูการผลิตใหม่ที่จะถึงนี้ เพราะเป็นเรื่องของประสิทธิภาพการผลิตทั้งอ้อยและน้ำตาล

ส่วนแหล่งข่าวจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า โรงงานน้ำตาลที่ได้รับใบอนุญาตจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ได้ใบรง.4 ล่าช้า เพราะบางโรงงานได้รับใบอนุญาตมากกว่า 1 แห่ง จะต้องทยอยสร้างโรงงาน บางแห่งก็ไปตั้งโรงงานก่อนแล้วและยังไม่ได้ใบรง.4 และตั้งโรงงานอยู่ใกล้กับโรงงานเดิมในรัศมีน้อยกว่า 80 กิโลเมตร ถือว่าผิดขั้นตอน ขณะนี้ก็ยังอยู่ในขบวนการขออุทธรณ์

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 10 พฤษภาคม 2556

'วิฑูรย์'ขู่เจ้าของที่ดิน ปล่อยทิ้งกากอุตฯ โดนโทษ'คุก-ปรับ'

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า เจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด (สอจ.) ได้ลงพื้นที่ในภาคตะวันออกกลางที่มีข่าวว่ามีการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม อาทิ สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ระยอง พบว่าเป็นที่ดินส่วนบุคคล โดยบางรายมีการใช้เครื่องจักรหนักเอาดินมากลบทับ ซึ่งเจ้าของที่ดินมักอ้างว่าไม่ทราบเรื่อง ไม่ขอรับผิดชอบใดๆ

นายวิฑูรย์กล่าวว่า การดำเนินการรับจ้างหรือยอมให้นำกากอุตสาหกรรมมาทิ้ง ถือเป็นการจงใจฝ่าฝืนกฎหมาย จะอ้างว่าไม่รู้ไม่เห็นไม่ได้ เจ้าของที่ดินต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม พ.ร.บ.โรงงาน 2535 นอกจากนี้ หากพบว่ากากอุตสาหกรรมที่นำมาทิ้งเป็นของเสียอันตราย เจ้าของที่ดินต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย 2535 ในฐานะเป็นผู้ครอบครองวัตถุอันตราย ชนิดที่ 3 ที่ต้องได้รับอนุญาต

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 10 พฤษภาคม 2556

ชาวไร่อ้อยยื่นศาลเลิกเกณฑ์ตั้งรง.น้ำตาล

เผยเสียหายต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2553/54 ชาวไร่อ้อยสระแก้ว เตรียมยื่นศาลปกครองให้กระทรวงอุตสาหกรรม ยกเลิกหลักเกณฑ์ตั้งโรงงานน้ำตาล ชี้กระทบโรงงานน้ำตาลใหม่ บริษัทน้ำตาลนิวกว้างสุ้นหลี ส่งผลเกษตรกรต้องส่งอ้อยไปเข้าโรงงานจังหวัดอื่น

สภาเกษตรกรจังหวัดสระแก้วและเครือข่ายคุ้มครองสิทธิเกษตรกรจังหวัดสะแก้ว เตรียมร้องศาลปกครองกลางให้กระทรวงอุตสาหกรรม ยกเลิกหลักเกณฑ์การตั้งโรงงานน้ำตาลที่ต้องมีระยะทางห่างกันไม่น้อยกว่า 80 กิโลเมตร ในวันที่ 10 พ.ค. นี้ โดยชาวไร่อ้อยเห็นว่าที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี (ครม.)เห็นชอบให้บริษัทน้ำตาลนิวกว้างสุ้นหลี จำกัด ตั้งโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ที่อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว แต่ติดปัญหาแหล่งน้ำ ทำให้ขอย้ายมาตั้งที่อำเภอวัฒนานคร ตามคำแนะนำของกรมชลประทาน และทำให้กระทรวงอุตสาหกรรมไม่ออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) ให้ เพราะติดหลักเกณฑ์ระยะทาง 80 กิโลเมตร

นายมนตรี คำพล นายกสมาคมเกษตรกรชายแดนบูรพา กล่าวว่า โรงงานน้ำตาลของบริษัทน้ำตาลนิวกว้างสุ้นหลี จำกัด มีกำลังการหีบอ้อยวันละ 10,000 ตัน โดยประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรปลูกอ้อยตั้งแต่ฤดูกาลผลิต ปี 2553/2554 เพื่อเตรียมป้อนอ้อยเข้าโรงงานแห่งใหม่ แต่เมื่อโรงงานยังไม่สามารถดำเนินการได้ ทำให้ชาวไร่อ้อยต้องส่งอ้อยไปเข้าหีบที่จังหวัดชลบุรี นครราชสีมา และ สุรินทร์

ส่งผลให้ต้นทุนการขนส่งของชาวไร่สูงขึ้นมาก และเมื่ออ้อยไปถึงแล้วต้องรอคิวนานทำให้ความสด ค่าความหวานลดลงและราคาอ้อยลดลง ปัจจุบันจังหวัดสระแก้ว มีโรงงานน้ำตาล 1 แห่งของบริษัทโรงงานน้ำตาลและอ้อยตะวันออก จำกัด กำลังการหีบอ้อยวันละ 22,000 ตัน ไม่เพียงพอกับผลผลิตอ้อยในจังหวัดสระแก้วและผูกขาดรับอ้อยเข้าโรงงานเดียว

ทั้งนี้ ฤดูกาลผลิต 2555/2556 มีผลผลิตอ้อยในจังหวัดสระแก้ว 2.54 ล้านตัน เป็นอ้อยที่ต้องส่งไปเข้าโรงงานน้ำตาลนอกพื้นที่ 820,000 ตัน และคาดการณ์ว่าฤดูกาลผลิต 2556/2557 จะมีผลผลิตอ้อย 4 ล้านตัน เป็นอ้อยที่ต้องส่งไปเข้าโรงงานน้ำตาลนอก

พื้นที่ 1.2 ล้านตัน โดยสภาเกษตรกรจังหวัดสระแก้วคาดการณ์ได้ประเมินความเสียหายจากการตัดอ้อยไปส่งโรงงานน้ำตาลนอกพื้นที่ในฤดูกาลผลิต 2556/2557 อยู่ที่ประมาณ 180 ล้านบาท และความเสียหายที่ตัดอ้อยเข้าหีบได้ไม่หมด 22.5 ล้านบาท สูงขึ้นจากฤดูกาล 2555/2556 ที่มีความเสียหายจากการส่งอ้อยไปพื้นที่อื่นเท่ากับ 123 ล้านบาท และเสียหายจากการตัดอ้อยเข้าหีบไม่หมดเท่ากับ 19 ล้านบาท

นายมนตรี กล่าวว่า ความเสียหายต่อชาวไร่อ้อยเริ่มเกิดขึ้นมาตั้งแต่ฤดูกาลผลิต 2553/2554 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยชาวไร่เห็นว่า ครม.เห็นชอบให้ตั้งโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่แล้ว จึงมีความมั่นใจในการปลูกอ้อย โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ราคาอ้อยอยู่ในเกณฑ์ดี เมื่อเทียบกับพืชไร่ประเภทอื่น

โดยเห็นว่าอ้อยเป็นพืชที่ได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ต่างจากมันสำปะหลังและข้าวโพดที่มีราคาตกต่ำและต้องมีโครงการรับจำนำแทรงแซงราคาจากรัฐบาล แต่การจำนำมีความไม่แน่นอนในแต่ละปี และมีขั้นตอนที่ยุ่งยากสำหรับเกษตรกร เช่น การออกใบประทวน

อย่างไรก็ตาม ก่อนตัดสินใจร้องศาลปกครองกลาง ได้แจ้งให้ นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) รับทราบแล้วว่ามีความจำเป็นต้องร้องศาล เพราะว่าหลักเกณฑ์ของกระทรวงอุตสาหกรรมส่งผลกระทบต่อชาวไร่อ้อย

'เมื่อโรงงานยังไม่สามารถดำเนินการได้ ส่งผลให้ต้นทุนการขนส่งของชาวไร่สูงขึ้น'

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

การผลิตกระแสไฟฟ้าจากพืชพลังงาน - ทิศทางเกษตร

ผศ.ดร.กนกศักดิ์ เอี่ยมโอภาส หัวหน้าโครงการวิจัยและพัฒนาพลังงานและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์มหา วิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่าการผลิตไฟฟ้าที่มีศักยภาพสูงเหมาะสมกับประเทศไทย ซึ่งมีพื้นฐานเป็นประเทศเกษตรกรรม คือการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพืชพลังงาน

ทั้งนี้เนื่องจากเทคโนโลยีที่นำมากำ จัดขยะอินทรีย์มีวิธีกำจัดอยู่ 2 แบบ คือการนำไปหมักทำปุ๋ย และการนำไปหมักทำก๊าซชีวภาพ ในกระบวนการหมักแบบไร้อากาศ เป็นการนำสารอินทรีย์ไปหมักในถังหมักแบบปิด ในกระบวนการหมักสารอินทรีย์จะถูกย่อยสลาย และได้ก๊าซชีวภาพ ซึ่งมีองค์ประกอบเป็นก๊าซมีเทน ประมาณ 50-60% ก๊าซมีเทนนี้เป็นก๊าซชนิดเดียวกันกับก๊าซธรรมชาติซึ่งมีองค์ประกอบหลักเป็นก๊าซมีเทนประมาณ 70-80% ขึ้นอยู่กับแหล่งก๊าซธรรมชาติ ดังนั้นก๊าซชีวภาพจึงเป็นก๊าซเชื้อเพลิงที่สามารถนำไปเดินชุดเครื่องยนต์ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ ตัวอย่างของก๊าซ ชีวภาพที่ใช้ผลิตไฟฟ้ากันอย่างแพร่หลายแล้วคือก๊าซชีวภาพจากมูลสุกร น้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมเกษตรต่าง ๆ ซึ่งพื้นฐานของการเกิดก๊าซชีวภาพคือการย่อยสลายของอินทรียวัตถุในกระบวนการหมักแบบไร้อากาศ

จากการศึกษาวิจัยด้านกระบวนการหมักแบบไร้อากาศ เพื่อศึกษาศักยภาพการเกิดก๊าซชีวภาพของขยะอินทรีย์ และเศษวัสดุทางการเกษตรของประเทศไทยที่มีมาประมาณ 10 ปี โดยการศึกษาวิจัยได้รับทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรป และเป็นการศึกษาร่วมกับนักวิจัยจากประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี พบว่าศักยภาพของการผลิตพลังงานทดแทนจากพืชต่าง ๆ สามารถทำได้ และจากการศึกษาดูงานวิจัยในประเทศเยอรมนี เมื่อประมาณ 7-8 ปีที่แล้ว ที่นั่นมีการส่งเสริมการปลูกพืชโตเร็ว เช่น หญ้า เพื่อใช้หมักทำก๊าซชีวภาพ เนื่องจากในประเทศเยอรมนี มีการกำจัดขยะอินทรีย์ด้วยกระบวนการหมักกันอย่างแพร่หลาย และมีจำนวนโรงไฟฟ้าประเภทนี้มากกว่า 5,000 โรง

ปัจจุบันประเทศไทยมีการส่งเสริมการผลิตพลังงานจากหญ้าเนเปียร์ หรือที่เรียกกันว่าหญ้าเลี้ยงช้าง โดยส่งเสริมการผลิตเพื่อเลี้ยงสัตว์ และการวิจัยเพื่อพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก โดยตั้งเป้าหมายให้สามารถทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลได้อย่างน้อยร้อยละ 25 ภายใน 10 ปี งานวิจัยที่ดำเนินการจะเน้นการศึกษาปริมาณก๊าซชีวภาพสำหรับพืชต่าง ๆ ของประเทศไทย เช่น ต้นข้าวโพดฝักอ่อนซึ่งหักฝักไปขายแล้ว ใบปาล์ม ต้นกล้วย ผักตบชวา และเศษพืชอื่น ๆ รวมทั้ง หญ้าเนเปียร์ด้วย พร้อมกันนี้ยังมีการศึกษาวิจัยเชิงประยุกต์เพื่อนำไปใช้งานเพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาด 1-2 เมกะวัตต์ ซึ่งได้รับความร่วมมือสนับ สนุนข้อมูลเทคโนโลยีจากเยอรมนี

ในขณะเดียวกันก็ได้มีการศึกษาด้านการปลูกเพื่อเพิ่มผลผลิตในแปลงเพาะปลูกขนาดใหญ่โดยร่วมมือกับผู้ทำวิจัยซึ่งเป็นเกษตรกรในจังหวัดเพชรบุรี จนได้ข้อมูลที่ มั่นใจว่าการบริหารจัดการโครงการโรงไฟฟ้า จากหญ้าเนเปียร์จะสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ผู้ว่า ธปท.ยังแข็งไม่ลดดอกเบี้ย

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า อัตราดอกเบี้ย นโยบาย ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งในการดูแลอัตราแลกเปลี่ยน แต่ในขณะนี้มองว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ยังมี “ภาระหนัก” ในการดูแลเศรษฐกิจ คือพยายามดูแลสมดุลเศรษฐกิจ ในประเทศ ขณะนี้ เศรษฐกิจโลกแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มเศรษฐกิจที่เติบโตสูง 5% ขึ้นไป ซึ่งไทยจัดอยู่ในกลุ่มนี้ และกลุ่มเศรษฐกิจที่ไม่เติบโตหรือติดลบ อย่างในกลุ่มยูโรโซน และกลุ่มเศรษฐกิจที่เติบโตน้อย อย่างสหรัฐ โดยเศรษฐกิจของทั้ง 3 กลุ่ม มีดุลยภาพที่แตกต่างกัน ทำให้เรื่องอัตราดอกเบี้ยเกิดการลักลั่น และเกิดปัญหาที่ถกเถียงกันอยู่

ดังนั้น การดำเนินนโยบายดอกเบี้ย ก็ต้องพยายามดูให้เหมาะสมว่าจะผ่อนคลายได้ขนาดไหน ซึ่งอัตราดอกเบี้ยของไทยในขณะนี้ยังมีภารกิจหนัก ในการดูแลดุลยภาพในประเทศ แต่ถ้าเศรษฐกิจในประเทศไม่ถึงกับร้อนแรง ก็สามารถจะผ่อนคลายภารกิจของอัตราดอกเบี้ยในเรื่องดังกล่าวได้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 29 พ.ค.นี้ หลังจาก กนง.มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.75% เป็นครั้งที่ 4 ติดต่อกัน ในการประชุมครั้งหลังสุดเมื่อวันที่ 3 เม.ย. ท่ามกลางแรงกดดันจากรัฐบาลและภาคธุรกิจที่ต้องการให้ลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อชะลอการไหลเข้าของเงินทุน ซึ่งส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นมากในปีนี้

นายประสาร กล่าวว่า เงินบาทในขณะนี้ค่อนข้างเกาะกลุ่มกับสกุลเงินในภูมิภาค ซึ่ง ธปท.ก็เฝ้าติดตามดูอยู่ ส่วนคำถามที่ว่า ธปท.เข้าแทรกแซงตลาดหรือไม่นั้น เขาปฏิเสธที่จะกล่าวถึงเรื่องนี้ เพราะจะมีทั้งผู้ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ แต่ ธปท.ก็มีทีมงานที่ติดตามดูแลใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม มาตรการทั้ง 4 ข้อ ของ ธปท. ยังไม่มีมาตรการที่เกี่ยวกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ตามที่รัฐบาลต้องการ และส่วนใหญ่จะเน้นดูแลเงินทุนที่จะเข้ามาเก็งกำไรในตลาดพันธบัตร ได้แก่ การห้ามนักลงทุนต่างชาติลงทุนใน พันธบัตร ธปท., การกำหนดระยะเวลาให้ต่างชาติถือครองพันธบัตรรัฐบาล อย่างน้อย 3 เดือนขึ้นไป, การเก็บภาษีหรือค่าธรรมเนียมจากผลตอบแทน การลงทุนในตลาดตราสารหนี้ และกำหนดให้นักลงทุนต่างชาติที่นำเงินเข้ามาลงทุนในไทย ต้องทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน (เฮดจิ้ง) เพื่อไม่ให้ได้รับผลตอบแทนในเชิงบวก แต่ก็จะไม่ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน และกำหนดให้เงินทุนที่นำเข้ามานั้นต้องถูกกันสำรองจำนวนหนึ่งไว้ที่ ธปท.ด้วย

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ขุนคลังถก กนง. 13 พ.ค.นี้ ส่งซิกต้องปรับนโยบายตามทันสถานการณ์ ศก.โลก

“กิตติรัตน์” แสดงความเห็นใจผู้ว่า ธปท. หน่วยงานต่างๆ ในการดูแลค่าเงิน พร้อมส่งสัญญาณที่ดี ทุกฝ่ายเริ่มมีความเข้าใจในภารกิจที่ตรงกันแล้ว เน้นพุ่งเป้าดูแลเงินเฟ้อ-อัตราแลกเปลี่ยนที่แข่งขันกับชาติคู่ค้าได้ เตรียมเรียกถก กนง.-เอกชน-หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้ออีกครั้ง 13 พ.ค.นี้ พร้อมย้ำทุกฝ่ายต้องคุย-ทำงานร่วมกัน ภายใต้กรอบกฎหมายที่มี

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาเงินบาทแข็งค่าร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องดำเนินการหารือร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งชัดเจนว่า รัฐบาลมีความเห็นที่ตรงกันที่ไม่ต้องการเห็นอัตราแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างขาดเสถียรภาพ จนส่งผลกระทบให้ผู้ประกอบการต้องได้รับความลำบากและเดือดร้อน

อย่างไรก็ตาม จากการประเมินในช่วงนี้จะพบว่าอัตราแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะค่าเงินบาทที่เคยแข็งขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา ปัจจุบันก็อยู่ในระดับที่แข็งค่าลดลงแล้ว ซึ่งตนเชื่อมั่นว่าแนวคิดของภาครัฐตรงนี้ชัดเจนและสามารถอธิบายได้ ส่วนจะชัดเจนว่าต้องใช้เครื่องมืออะไรในการบริหารจัดการ และจำเป็นจะต้องมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่จำเป็น หรืออาจจะต้องผสมผสานหลายๆ นโยบาย เพื่อควบคุมเงินทุนไหลเข้า ก็เป็นหน้าที่ของทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะต้องพิจารณาและดูแล

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาทางคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้แสดงเจตนารมณ์ที่ชัดเจนว่า หากใช้นโยบายแบบผสมผสานอย่างไร ก็จะมีการประสานกับกระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ อย่างใกล้ชิด ซึ่งตนก็เห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวนี้ จะทำให้หลายๆ ฝ่ายเกิดความสบายใจได้ว่า เราจะมีการทำงานเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบ ส่วนจะดำเนินการอย่างไรบ้างนั้น ก็ยังไม่สามารถชี้แจงรายละเอียดได้

“ที่ผ่านมา ธปท.ได้ออกมาชี้แจงไปแล้วว่ามีแนวทาง มีมาตรการ ผมก็ได้ตอบสนับสนุนไปว่า บางเรื่อง ธปท.สามารถทำได้เองอยู่แล้ว โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากใคร และไม่ต้องแก้ไขกฎระเบียบใดๆ เพียงแต่ขอให้หากจะนำมาใช้ก็ต้องทำอย่างมีความรัดกุมและรอบคอบ และหากทาง ธปท.ประสงค์ที่จะปรึกษาหารืออะไรกับกระทรวงการคลัง ทางเราก็ยินดี แต่ในส่วนที่เป็นมาตรการที่ต้องมีการปรับปรุงข้อบังคับกฎหมายบ้าง หากทาง ธปท.สนใจที่จะนำมาตรการนั้นๆ เป็นแนวทางจริงๆ ทางกระทรวงการคลังก็จะดำเนินการในส่วนที่จำเป็นให้ทันที” นายกิตติรัตน์ กล่าว

นายกิตติรัตน์ กล่าวต่อว่า จากเดิมอาจจะเป็นภารกิจตามกฎหมายที่เขียนเอาไว้ว่า ทาง กนง.มีหน้าที่พิจารณาโดยคำนึงถึงเสถียรภาพด้านราคา โดยมีเป้าหมายในการดูแลเรื่องอัตราเงินเฟ้อเป็นเป้าหมายหลัก อาจจะเพราะตอนที่มีการเขียนกฎหมายนั้น เรื่องของการดูแลเรื่องอัตราเงินเฟ้อถือเป็นเรื่องใหญ่และมีความสำคัญ ส่วนเรื่องอื่นๆ ก็จะปรับไปตามภาวะในการดูแลเรื่องเงินเฟ้อ แต่ในความเป็นจริงแล้ว การแข่งขันทางการค้า และการเพิ่มปริมาณเงินของประเทศใหญ่ๆ ในโลก กลายเป็นสถานการณ์ในปัจจุบัน ดังนั้น เราต้องมีความเข้าใจร่วมกันว่า นอกจากการดูแลเรื่องเงินเฟ้อ และเป้าหมายเงินเฟ้อแล้ว ก็ยังสามารถที่จะมีเป้าหมายทางด้านอัตราแลกเปลี่ยนที่อยู่ในระดับที่แข่งขันได้

“คำว่าแข่งขันได้ ไม่จำเป็นจะต้องกำหนดว่าจะต้องกี่บาทต่อเหรียญสหรัฐ เพราะเราเองต้องดูแลอัตราแลกเปลี่ยนเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง และประเทศคู่ค้า ซึ่งอาจจะไม่ได้อิงกับเงินเหรียญสหรัฐทั้งหมด แต่อย่างน้อยๆ ตรงนี้เมื่อมีความเข้าใจที่ตรงกันแล้ว ในเรื่องการทำงานก็จะคำนึงถึงเรื่องของเสถียรภาพด้านราคา และความสามารถทางการแข่งขันจากระดับของอัตราแลกเปลี่ยนด้วย” นายกิตติรัตน์ กล่าว

นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ขณะนี้มั่นใจว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการดูแลค่าเงินบาทนั้น มีความเข้าใจที่ตรงกันแล้ว ในเรื่องของภารกิจหน้าที่ โดยในวันจันทร์ที่ 13 พฤษภาคมนี้ ตนจะเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือร่วมกัน เกี่ยวกับการดูแลอัตราแลกเปลี่ยน ไม่ว่าจะเป็น กนง. ผู้ประกอบการภาคเอกชน และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับภาวะทางด้านราคา ภาวะอัตราแลกเปลี่ยน และภาวะทางการแข่งขันต่างๆ

“ในอดีตกฎหมายอาจทำให้เกิดความไม่สบายใจกันพอสมควร ซึ่งตัวผมเองก็รู้สึกเห็นใจท่านผู้ว่า ธปท. เพราะท่านผู้ว่าก็เป็นหนึ่งใน กนง.เท่านั้น ในจำนวน กนง.ทั้งหมด 7 คน. ผมเห็นใจคณะกรรมการ ธปท. ซึ่งท่านประธานคณะกรรมการ ธปท. ก็บอกว่า ท่านต้องรับผิดชอบกับผลการดำเนินงานของ ธปท. ทั้งๆ ที่กฎหมายเขียนไว้ว่า ห้ามเข้าไปเกี่ยวข้องกับการทำงาน เห็นใจกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพราะเวลาบอกว่าเมื่อผลกระทบทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นก็ได้รับความเกี่ยวข้องไปด้วย แต่การพิจารณาก็เป็นหน้าที่ของทาง กนง. ซึ่งสิ่งสำคัญผมเห็นว่า เราต้องมาคุยกัน และทำงานร่วมกันให้ได้ภายในกรอบของกฎหมายที่มีอยู่ ลองทำกันให้เต็มที่ และมาดูกันว่า ทั้งอัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน เสถียรภาพด้านราคา และความสามารถทางการแข่งขันของเราจะสามารถรักษาได้ดีหรือไม่อย่างไร ก็อยากให้เป็นกำลังใจพวกเราด้วย” นายกิตติรัตน์ กล่าว

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ก.พาณิชย์ คาดปีนี้ผลผลิตเกษตรอินทรย์สร้างมูลค่ากว่า 3 พันล้านบาท

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ ได้จัดงานสัมมนาเชิงวิชาการ Organic Symposium 2013 โดยปีนี้นับเป็นครั้งที่ 3 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ในทุกๆ มิติ ตั้งแต่ด้านการผลิต การรับรองมาตรฐาน การตลาดและการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สอดรับกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เครือข่ายผู้ผลิต และสร้างความตระหนักแก่ผู้บริโภคในการดูแลรักษาสุขภาพผ่านสินค้าเกษตรอินทรีย์

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ ได้ตั้งเป้าหมายให้สินค้าและธุรกิจบริการด้านเกษตรอินทรีย์ไทยเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ โดยรัฐบาลไทยได้มีส่วนร่วมรณรงค์การใช้วิถีชีวิตพึ่งพิงธรรมชาติ ฟื้นฟูสภาพสิ่งแวดล้อมใน เชิงอนุรักษ์ ลดเลิกการทำเกษตรเชิงเดี่ยว เร่งผลผลิตโดยใช้สารเคมี และการตัดต่อพันธุกรรม เพื่อลดความกังวลและสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคทั่วโลก และที่สำคัญเพื่อรณรงค์การดูแลรักษาสุขภาพของกลุ่มผู้ผลิตไปจนถึงผู้บริโภค เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของคนในชาติให้มีคุณภาพที่ดีขึ้นอย่างมั่นคงและยั่งยืน

โดยนับตั้งแต่ปี 2553 พื้นที่เกษตรอินทรีย์ของไทย มีเป้าหมายขยายเพิ่มขึ้นได้ร้อยละ 20 ต่อปีภายในสิ้นปี 2556 พื้นที่ (เกษตรอินทรีย์+ระยะปรับเปลี่ยน) รวมเป็น 370,000 ไร่ โดยเฉพาะพื้นที่พืชไร่อินทรีย์ จะมีอัตราการขยายตัวมากที่สุด ประมาณการว่า ในปีนี้ผลผลิตเกษตรอินทรีย์มีจำนวน 80,000 ตัน มูลค่าไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท

นางนันทวัลย์กล่าวว่า จากกรอบแนวคิดของภาครัฐในการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ให้ทัดเทียมมาตรฐานสากล จึงกำหนดแนวทางสำคัญในการขับเคลื่อนการค้าเกษตรอินทรีย์ แบ่งเป็น 2 แนวทางสำคัญ คือ

1.การพัฒนาผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ โดยสนับสนุนด้านองค์ความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยต่อสุขภาพของเกษตรกร เทคนิคการใช้ปัจจัยในการเพาะปลูก เพาะเลี้ยง และการแปรรูป รวมทั้งคุณประโยชน์ของผลิตภัณฑ์สำหรับการบริโภคในท้องถิ่น และกระจายไปยังกลุ่มเป้าหมาย

2. การพัฒนาเกษตรอินทรีย์ในเชิงพาณิชย์ โดยหน่วยงานภาครัฐภายใต้คณะกรรมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ร่วมกันอำนวยความสะดวก และดูแลเพื่อการดำเนินธุรกรรมต่างๆ ตั้งแต่ระดับเกษตรกรท้องถิ่นไปจนถึงผู้ส่งออก เพื่อสร้างความเป็นธรรม สร้างแรงจูงใจในการซื้อขาย โดยการจัดหาข้อมูลการตลาด การพัฒนาแนวทางการแปรรูป บรรจุภัณฑ์ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานของแต่ละตลาด ระบบโลจิสติกส์ และเพิ่มพื้นที่จำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ไว้รองรับผลผลิตของชุมชนทั้งในระดับจังหวัดและระดับประเทศ และการส่งออกยังตลาดต่างประเทศ

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์เห็นว่า หน่วยงานภาครัฐ จะต้องดำเนินการในเชิงบูรณาการสนับสนุนให้เกิดการร่วมมือกัน ทั้งผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค ในลักษณะตลาดเครือข่าย รวมถึงการสร้างตราสินค้าเกษตรอินทรีย์ไทยให้เป็นที่ยอมรับ

“ภารกิจหลักของกระทรวงพาณิชย์ จากนี้ไปจะมุ่งมั่นในการสร้างศักยภาพเกษตรอินทรีย์ไทยเชิงพาณิชย์สู่สากล สนับสนุนส่งเสริมการขยายตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในกลุ่มสินค้าทั้งที่เป็นอาหาร มิใช่อาหาร และธุรกิจบริการ ควบคู่ไปกับการสนับสนุนความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนากระบวนการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ โดยร่วมมือกับทุกๆ หน่วยงานแบบบูรณาการ เพื่อบรรลุเป้าหมายของการเป็นศูนย์กลางการผลิตและการส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์สู่ตลาดโลกต่อไป”นางนันทวัลย์ กล่าว

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ไทยผลิตอ้อยทะลุ100 ล้านตันแล้ว

ไทยถึงฝั่งฝัน ผลผลิตอ้อยถึง 100 ล้านตันแล้ว ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แต่ยังต้องอึ้ง ได้ผลผลิตน้ำตาลทรายเท่าปีที่แล้ว

นายสมศักดิ์ สุวัฒิกะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) เปิดเผยว่า การเปิดหีบอ้อยฤดูการผลิตปี 55/56 คาดการณ์ผลผลิตอ้อยอยู่ในระดับ 100 ล้านตันแน่นอน หลังตัวเลขวันที่ 8 พ.ค.การผลิตอยู่ที่ 99.98 ล้านตันแล้ว ซึ่งถือเป็นตัวเลขการผลิตสูงสุดเป็นประวัติการณ์ อย่างไรก็ดี แม้ว่าผลผลิตอ้อยจะสูงแต่พบว่าปริมาณน้ำตาลทรายในปีนี้จะมีผลผลิตในระดับ 10.01 ล้านตันต่ำกว่าปีก่อน

“ตอนนี้การเปิดหีบอ้อยเลยกำหนดที่ตั้งไว้ 120 วันแล้ว แต่คิดว่าสัปดาห์นี้คงปิดหีบได้เพราะเหลือเพียงโรงเดียว ส่วนผลผลิตอ้อยปี54/55 ได้ 97.9 ล้านตันอ้อย แต่ผลิตน้ำตาลได้ 10.30 ล้านตันน้ำตาล แต่ปีนี้คาดว่าจะได้อ้อย100ล้านตันแต่ผลิตน้ำตาลได้เพียง 10.01 ล้านตัน ขณะที่ค่าความหวานเฉลี่ยเพียง 11.6 ซีซีเอสเท่านั้น แต่ที่ผ่านมาเฉลี่ยจะอยู่ที่ระดับ 12-13ซีซีเอสทำให้ผลผลิตน้ำตาลทรายตกต่ำ”

ส่วนปริมาณผลผลิตน้ำตาลทรายและค่าความหวานที่ลดลงนั้นยังไม่ทราบว่าเกิดจากปัจจัยใดแน่ ดังนั้นเตรียมตั้งคณะทำงานลงพื้นที่สำรวจข้อเท็จจริงเนื่องจากเกรงว่าจะกระทบต่อเนื่องในฤดูผลิตปีหน้า แต่เบื้องต้นประเมินว่าส่วนหนึ่งมาจากภัยแล้งช่วงต้นปี และเกษตรกรบางส่วนยังใหม่เพราะเกษตรกรทำนาข้าวส่วนหนึ่งหันมาปลูกอ้อย จึงยังไม่สามารถบริหารจัดการให้อ้อยมีคุณภาพได้

ปัจจุบันพบว่าพื้นที่เพาะปลูกอ้อยฤดูการผลิตปี55/56 อยู่ที่ 10 ล้านไร่ขณะที่ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 9 ล้านไร่โดยเพิ่มขึ้นถึง 1ล้านไร่สาเหตุมาจากราคาอ้อยในช่วง 2-3ปีที่ผ่านมามีการปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทำให้เกษตรกรจากพืชอื่นๆ หันมาปลูกอ้อยแทน

นายชัยวัฒน์ คำแก่นคูณ ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน กล่าวว่า เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าอ้อยไทยในปีนี้อยู่ระดับ 100 ล้านตันแน่นอน จากพื้นที่เพาะปลูกที่เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1ล้านไร่ อย่างไรก็ตามมองว่าขณะนี้ฝนเริ่มตก ส่งผลดีให้อ้อยภาคอีสานอย่างมาก หากไม่แล้งจนเกินไปและอากาศหนาวเย็นในช่วงสิ้นปีนี้ ประเมินว่าอ้อยปี56/57 จะสูงระดับ 110-120 ล้านตัน

จาก http://www.dailynews.co.th ฉบับวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

บอร์ดวัตถุอันตรายยื้อ4เคมีเปิดช่องขายให้เกษตรกรช่วงเพาะปลูกไม่เชื่อข้อมูลกรมวิชาการ-รอพิจารณาใหม่

บอร์ดวัตถุอันตรายยื้อพิจารณาห้ามใช้สารเคมี 4 ชนิด เปิดช่องให้เอกชนส่งข้อมูลชี้แจงเต็มที่ แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมวิชาการเกษตรยังไม่สามารถออกประกาศห้ามใช้สารเคมีทั้ง 4 ชนิด คือ คาร์โบฟูราน เมโทมิล ไดโครโตฟอส และอีพีเอ็น ในบัญชีวัตถุอันตรายตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตรายปี 2551 เนื่องจากที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน ยังไม่พิจารณา

ที่ประชุมคณะกรรมการฯ เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ไม่เชื่อข้อมูลที่กรมวิชาการเกษตรเสนอให้ยกเลิก แต่กลับมอบหมายให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อเปิดโอกาสให้เอกชนนำข้อมูลทางวิชาการด้านพิษวิทยามาเสนอใหม่

"เป็นที่น่าสังเกตว่า ในการประชุมครั้งนั้นหน่วยราชการกลับไม่เชื่อข้อมูลของหน่วยราชการด้วยกันเอง แต่กลับให้ระยะเวลากับภาคเอกชนนำเสนอข้อมูลเพื่อนำมาชี้แจงใหม่โดยไม่ระบุเวลาที่ให้นำส่งข้อมูลอีกด้วย" แหล่งข่าวเปิดเผย

นอกจากนี้ ใกล้เวลาฤดูเพาะปลูก ทางการเกษตรจึงเป็นไปได้ยากที่จะมีเอกชนส่งข้อมูลเข้ามาเพื่อตัดโอกาสทางธุรกิจของตนเอง โดยเฉพาะบริษัททั้งหมดเป็นของต่างชาติ และเมื่อไม่กำหนดเวลาส่งข้อมูลก็ยิ่งเป็นการเปิดทางให้สารเคมีเหล่านี้จำหน่ายได้ในตลาดต่อไป

ทั้งนี้ เมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้เรียกร้องให้มีการแบนสารเคมีทั้ง 4 ชนิด หลังพบว่ามีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการบริโภคอาหารปนเปื้อนสารเคมีดังกล่าวหรือเกิดจากการที่เกษตรกรใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเป็นเวลานาน ทำให้ส่งผลเสียต่อระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร และระบบประสาท และหากสะสมในร่างกายเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดโรคร้าย เช่น โรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน

นอกจากนี้ วันที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา กรมวิชาการเกษตรได้จัดเวทีเปิดรับฟังความเห็นทั้งภาคเอกชนผู้นำเข้า ผู้จำหน่ายเกษตรกร และองค์การพัฒนาเอกชน ต่อผลกระทบของสารเคมีดังกล่าว ซึ่งนายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ กรรมการและเลขานุการมูลนิธิชีววิถี เรียกร้องให้มีการขึ้นทะเบียนสารดังกล่าวเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4

ก่อนหน้านี้ ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้ประกาศที่ออกโดยกรมวิชาการเกษตรกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ขึ้นทะเบียนสารเคมีเกษตรเป็นโมฆะ ทำให้การขึ้นทะเบียนสารเคมีเกษตร 4 ชนิด ที่มีพิษร้ายแรง คือ คาร์โบฟูราน เมโทมิล ไดโครโตฟอส และอีพีเอ็น เป็นวัตถุอันตรายบัญชีที่ 3 ห้ามครอบครองและมีไว้จำหน่ายได้เป็นโมฆะ ไม่สามารถสั่งห้ามจำหน่ายได้อีกต่อไป

ทั้งนี้ จากสถิติในปี 2552 พบว่า สารคาร์โบฟูรานเป็นสารกำจัดศัตรูพืชที่มีการนำเข้ามากที่สุด 4 ล้านกิโลกรัม โดยเกษตรกรไทยนิยมนำมาใช้ในการปลูกข้าวถึง 70% และ นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นนำเสนอข้อมูลผลกระทบด้านสุขภาพที่ก่อให้เกิดโรคร้าย เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็ง

จาก http://www.posttoday.com  ฉบับวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

รัฐหาทางออกแก้บาทแข็ง ทำเพื่อชาติส่ง “กิตติรัตน์” จับเข่าคุยผู้ว่าแบงก์ชาติ

รัฐบาลออกโรงชูสองแขนหนุน “เสี่ยโต้ง” ผนึกกำลัง “ประสาร” แก้ปัญหาเงินบาทแข็งโป๊ก สะเทือนเศรษฐกิจชาติสั่นคลอน ด้าน มท.1 อาสารับหน้าที่ชี้แจง-สร้างความเข้าใจกับสังคม หวั่นประชาชนโทษเป็นความผิดรัฐ ขณะที่ “วราเทพ” หนุนคลัง-ธปท. ล้อมวงกินข้าว หาแนวทางแก้วิกฤติค่าเงิน

นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (7 พ.ค.) มีการหารือปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่า โดยนำข้อเสนอแนะของ นายวีรพงษ์ รามางกูร ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และประธานบอร์ดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาวิเคราะห์ โดยเห็นว่าขณะนี้เกิดผลกระทบขึ้นแล้วในหลายภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจการส่งออกและภาคเกษตรกรรมที่แม้ว่าจะมีการส่งออกสินค้าร้อยละ 30-40 แต่ได้รับความเดือดร้อนจากค่าเงินบาทแข็งค่า

ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยได้อาสารับงานไปชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน เพราะเป็นเรื่องเศรษฐกิจที่เข้าใจยาก โดยเบื้องต้นจะต้องให้ประชาชนเข้าใจว่าการทำงานของกระทรวงการคลังกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แยกกันเป็นเอกเทศ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นรัฐบาลจะเป็นผู้รับผิดชอบ

“วันนี้ประชาชนไม่ทราบเรื่องการแบ่งอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบระหว่าง ธปท. กับกระทรวงการคลัง แต่พอเดือดร้อนก็บอก โทษรัฐบาลอย่างเดียว รัฐบาลก็เป็นจำเลยตลอด กระทรวงการคลังก็เป็นจำเลยตลอด แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นคราวนี้ คนที่ควรจะรับผิดชอบเต็มๆ ก็คือแบงก์ชาติ” นายจารุพงศ์ กล่าว

ด้านนายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้นายกิตติรัตน์ และ นายประสาร ไปกินข้าวเพื่อปรับความเข้าใจกันและเพื่อแก้ปัญหาการเงิน ว่า ในฐานะตนเป็นหนึ่งใน ครม. ขอสนับสนุนให้นายกิตติรัตน์และกระทรวงการคลังแก้ปัญหานี้ ที่ผ่านมาบทบาทของ ธปท.ที่มีความรับผิดชอบต่อ ครม.ตามกฎหมายนั้นมีน้อย เพราะกฎหมาย ธปท.นั้นมีการแก้ไขมานานแล้ว การแบ่งบทบาทหน้าที่กรรมการใน ธปท. แบ่งเป็นหลายชุด

“ปัจจุบันคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีโครงสร้างและบทบาทต่อปัญหาปัจจุบัน ยังไม่ตอบสนองในสิ่งที่เกิดวิกฤติปัจจุบัน เพราะแม้แต่นายวีรพงษ์ก็ออกมาให้สัญญาณ และนายกิตติรัตน์ก็มีหนังสือให้ดำเนินการเรื่องต่างๆ แต่มีการตอบสนองน้อยมาก และที่สำคัญคือ ครม.ได้รับทราบแนวทางการทำงานของ ธปท.น้อยมาก เพราะกฎหมายให้ กนง.รายงานต่อ ครม.ทุก 6 เดือน รอบการรายงานใหม่จึงถือว่าช้า แต่เมื่อสถานการณ์เกิดขึ้น จนวิกฤติ คิดว่า กนง.ควรรับผิดชอบต่อการที่ต้องรายงานให้ ครม.ทราบมากกว่านี้” นายวราเทพ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่ กนง.รับผิดชอบโดยตรงต่อเรื่องนี้ตนมองว่า กฎหมายให้อำนาจหน้าที่ใดๆ ซึ่งเมื่อไปอ่านกฎหมายแล้ว ตนมองว่ามันควรที่จะแสดงออกให้มากกว่านี้ ดีกว่าจะให้เรื่องนี้ซึ่ง กนง.ดำเนินการแต่เพียงฝ่ายเดียว และผลสุดท้ายเมื่อกฎหมายเกิดขึ้นมาก็ต้องมารับผิดชอบร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่รับผิดชอบไม่พ้นรัฐบาล และกฎหมายก็เขียนผูกไว้ว่า ครม.มีหน้าที่ที่จะต้องรับรู้รับทราบ ซึ่งกฎหมายระบุชัดเจนว่าจะต้องรายงานผลการดำเนินงานทุก 6 เดือน แต่คำว่า 6 เดือนก็ไม่จำเป็นว่า 6 เดือนถึงรายงาน เพราะเมื่อเรื่องใดมีความสำคัญและเกิดปัญหา กนง.ก็ควรที่จะต้องรายงานทันที

ขณะที่นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทยจำกัด (มหาชน) หรือ KBANK กล่าวว่า จากกรณี 4 แนวทางเกี่ยวกับมาตรการดูแลค่าเงินบาทของ ธปท.ที่ได้เตรียมไว้นั้น เบื้องต้นเชื่อว่ามาตรการที่จะออกมานั้น ธปท. และกระทรวงการคลังคงพิจารณาแล้วว่ามีผลดีต่อการแก้ไขปัญหาที่เกิดอยู่ในขณะนี้ และมีความเห็นด้วยว่านโยบายการเงินและนโยบายการคลังต้องดำเนินการควบคู่ไปด้วยกัน แต่จะออกมาในช่วงเวลาใดไม่สามารถคาดการณ์ได้เพราะต้องขึ้นอยู่กับจังหวะต่างๆ

“ยอมรับว่าไทยเป็นประเทศที่เป็นตลาดเปิดเสรีทำให้เงินทุนสามารถเคลื่อนไหวกันได้อย่างเสรีในการหาผลตอบแทนที่สูง ดังนั้น จึงไม่ได้มีความกังวลว่าจะกระทบกับภาวการณ์ลงทุนของนักลงทุน เนื่องจากเชื่อว่านักลงทุนคงได้เตรียมตัวไว้บ้างแล้ว” นายปรีดี กล่าว

ทั้งนี้ หากขยายเวลาการถือครองตราสารหนี้เพิ่มขึ้นโดยเป็นระยะเวลาที่ยาวขึ้น จะทำให้การเคลื่อนไหวของเงินทุนจะมีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ดำเนินการได้ตามหลักการเพราะตลาดการเงินของไทยเป็นตลาดเปิดเสรี ทำให้เงินลงทุนจะเข้าไปหาผลตอบแทนที่ดี แต่ก่อนหน้านี้ที่ไม่ดำเนินการเพราะเชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในเชิงนโยบาย อีกทั้ง มองว่าตลาดตราสารหนี้จะขึ้นอยู่กับดีมานด์และซัพพลาย หากดีมานด์ยังคงอยู่ในระดับสูงอัตราดอกเบี้ยก็อยู่ในระดับต่ำ แต่หากดีมานด์ต่ำผลตอบแทนที่เป็นอัตราดอกเบี้ยจะสูง

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ธปท.ถอดรหัส 3 ประเทศ งัดมาตรการคุมเงินร้อน

ปัญหาเงินบาทแข็งค่า ยังคงเป็น "หนังยาว" ที่ต้องติดตามว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กับกระทรวงการคลังจะเห็นพ้องต้องกันในการออกมาตรการใดมาดูแล ซึ่งในระหว่างที่ยังตกลงกันไม่ได้ กระแสเงินทุนไหลเข้า (ฟันด์โฟลว์) ก็ยังคงเป็นปมปัญหาสำคัญที่รอการแก้ไข แม้ข่าวลือการออกมาตรการ "สกัดเงินร้อน" จะช่วยสกัด "นักเก็งกำไร" ได้ระดับหนึ่ง จนค่าเงินบาทอ่อนค่าลงจนใกล้ 30 บาทต่อดอลลาร์ จากที่เคยทำสถิติแข็งค่าสูงสุดที่ 28.50 บาทต่อดอลลาร์ เมื่อช่วงกลางเดือน เม.ย.แต่ด้วยความน่าสนใจของเศรษฐกิจภูมิภาคนี้ จึงมีการคาดการณ์กันว่า หากรัฐไม่มีมาตรการใดออกมา เงินบาทก็จะกลับมาแข็งค่ามากขึ้นอีก

แม้ว่า ณ เวลานี้ ธปท.จะส่งมาตรการไปถึงมือ "กิตติรัตน์ ณ ระนอง" รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลังแล้ว แต่ก็ดูเหมือนยังไม่เป็นที่ "ถูกใจ" ของขุนคลังนัก แต่ฟาก ธปท.เองก็พยายามหยิบยกมาตรการต่าง ๆ มานำเสนอ อย่างล่าสุด มีการออกรายงานที่น่าสนใจเกี่ยวกับการลดแรงกดดันอัตราแลกเปลี่ยน สกัดเงินทุนเคลื่อนย้ายจากต่างประเทศ (Capital Control) โดยเป็นการหยิบยกตัวอย่างจากต่างประเทศ ซึ่ง ธปท.มองว่าเป็นมาตรการที่เคย "ใช้ได้ผลเป็นที่ยอมรับ" และไทยยังไม่เคยนำมาใช้

"มาตรการ Capital Control เพื่อสกัด "เงินร้อน" ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นสิ่งที่หลายประเทศในโลก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่เป็น "ตลาดเกิดใหม่" มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง จนล่าสุด กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มีการหยิบยกมาตรการดังกล่าวออกมาพูด เพราะ IMF มองว่าเป็นมาตรการที่ได้ผล และเป็นทางเลือกหนึ่งของแต่ละประเทศในการดูแลเงินทุนไหลเข้าออกประเทศ โดยจะใช้มาตรการดังกล่าว ก็ต่อเมื่อนโยบายการเงินการคลังตามปกติ ไม่สามารถช่วยรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงินได้"

ตัวอย่างแรก กรณีประเทศ "อินโดนีเซีย" ที่เผชิญกับกระแสเงินทุนไหลเข้าประเทศอย่างหนักเมื่อปี 2552 จากพื้นฐานเศรษฐกิจที่ดีและดอกเบี้ยนโยบายที่สูงถึง 6.5% จึงจูงใจนักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนในตราสารหนี้ของธนาคารกลางอย่างมาก และมีการเทขายทำกำไรเป็นระยะ ค่าเงินรูเปียห์จึงผันผวนมาก ในเดือน มิ.ย.2553 ทางการจึงประกาศใช้มาตรการกำหนดระยะเวลาการถือตราสารหนี้ขั้นต่ำ ให้ผู้ลงทุนต้องถือตราสารอย่างน้อย 1 เดือน จึงจะขายได้ (และต่อมาเพิ่มเป็น 6 เดือน)

เช่นเดียวกับ "เกาหลีใต้" ที่ใช้มาตรการเก็บภาษี (Levy) จากหนี้ต่างประเทศภาคธนาคาร โดยมีแนวคิดว่า "ยิ่งกู้สั้นยิ่งเสียภาษีมาก" ซึ่งเก็บแบบขั้นบันได คืออายุสัญญาไม่เกิน 1 ปี จะเก็บ 0.2% ของวงเงินกู้ อายุ 1.3 ปี เก็บ 0.1% อายุ 3-5 ปี เก็บ 0.05% และอายุ 5 ปี เก็บ 0.02% ทั้งนี้ เพื่อจูงใจให้ธนาคารพาณิชย์กู้เงินตราต่างประเทศที่มีอายุสัญญายาวขึ้นให้สอดคล้องกับการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Forward) ซึ่งมาตรการนี้ IMF วิเคราะห์ว่า มีผลไม่มากเพราะเก็บภาษีค่อนข้างต่ำ แต่การกู้ยืมเงินต่างประเทศของธนาคารพาณิชย์ลดลงอย่างชัดเจน และการกำหนดให้นักลงทุนต่างประเทศต้องลงทะเบียนเพื่อลงทุนซื้อขายหลักทรัพย์ ก็ช่วยให้สามารถติดตามพฤติกรรมการลงทุนได้เป็นอย่างดี

ด้าน "อินเดีย" มีการออกมาตรการกำกับดูแลการลงทุนในหลักทรัพย์ของนักลงทุนต่างชาติคล้ายกับเกาหลีใต้ แต่เข้มงวดกว่า คือกำหนดให้ต้องลงทะเบียนก่อนลงทุน พร้อมกำหนดโควตาเงินลงทุนต่างชาติสำหรับนักลงทุนสถาบันให้ลงทุนตราสารรัฐบาลได้ไม่เกิน 1 พันล้านดอลลาร์ และต่อมากำหนดให้ลงทุนได้ไม่เกิน 25 พันล้านดอลลาร์ รวมถึงลงทุนในตราสารเอกชนได้ไม่เกิน 51 พันล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ "สุธาศินี นิมิตกุล" ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายและกำกับการแลกเปลี่ยนเงิน ธปท. ระบุว่า ธปท. ได้เสนอแผนเงินทุนเคลื่อนย้าย เพื่อส่งเสริมการออกไปลงทุนต่างประเทศไปให้กระทรวงการคลังพิจารณาแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการผ่อนเกณฑ์ให้ไปลงทุนต่างประเทศง่ายขึ้น อาทิ เปิดเสรีสำหรับวงเงินของบุคคลธรรมดาที่ออกไปลงทุนโดยตรง หรือไม่จำกัด จากเดิมกำหนด 100 ล้านดอลลาร์ต่อปี การเปิดให้รับฝากเงินในบัญชีเงินตราต่างประเทศ (FCD) แบบมีภาระผูกพันได้อย่างเสรี จากเดิมกรณีมีภาระผูกพัน นิติบุคคลมียอดคงค้างที่ 100 ดอลลาร์ และไม่มีภาระผูกพันที่ 5 แสนดอลลาร์

ยังมีการเปิดให้มีการทำป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน (Unwind Hedging) อย่างเสรี สำหรับธุรกรรมที่มี Underlying กรณีลงทุนโดยตรง และเงินกู้กิจการในเครือ จากเดิมอนุญาตแค่การทำ Unwind เฉพาะค่าสินค้าและบริการ นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอการผ่อนคลายคุณสมบัติของธุรกิจและผู้รับอนุญาตเป็นตัวแทนซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตรา (MC/MT) เพื่อเพิ่มความคล่องตัวให้แก่ผู้ประกอบการ จากเดิมกำหนดรับซื้อเงินตราไม่จำกัด แต่ขายเงินตราได้ไม่เกิน 5,000 ล้านดอลลาร์ต่อครั้ง และสุดท้าย การอนุญาตถือเงินสดข้ามแดนประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้น เป็น 2 ล้านบาทต่อคน จากเดิมที่กำหนดเพียง 5 แสนบาทต่อคนเท่านั้น
อย่างไรก็ดี การออกมาตรการเหล่านี้ ล้วนต้องอาศัยความร่วมมือจากฟากกระทรวงการคลังทั้งสิ้น ซึ่งต้องติดตามกันต่อไป

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

รัฐ-เอกชนตั้งคณะทำงานร่วมดูแล'รง4'

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันเชื่อขั้นตอนออกใบอนุญาตไม่โปร่งใส ล่าช้า ส่งผลเอกชนเสียโอกาสธุรกิจ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันร่วมมือกระทรวงอุตสาหกรรม ตั้งคณะทำงานดูแลขั้นตอนออกใบอนุญาต รง.4 หลังเกิดปัญหาล่าช้า ส่งผลเสียโอกาสทางธุรกิจ "วิฑูรย์" ระบุสาเหตุหลัก ผู้ประกอบการส่งเอกสารไม่ครบ ด้าน "ประมนต์" เชื่อมีปัจจัยอื่น หลังพบเอกชนร้องเรียนปัญหาจ่ายใต้โต๊ะ

นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่าการหารือกับนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเกี่ยวกับปัญหาความล่าช้าในการออกใบอนุญาตประกอบการโรงงาน (รง.4) มีข้อสรุปว่าทั้ง 2 หน่วยงานจะร่วมกันตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาอุปสรรค เพื่อใช้เป็นข้อเสนอให้กระทรวงดำเนินการปรับปรุงต่อไป

"กระทรวงฯ ชี้แจงว่าความล่าช้าเกิดจากการยื่น เอกสารไม่ครบ ชุมชนต่อต้านและการพิจารณามีหลายขั้นตอน แต่องค์กรเห็นว่าน่าจะมีปัจจัยอื่นด้วย จึงต้องการให้มีคณะทำงานร่วมกันเข้าไปดูอุปสรรค"

นายประมนต์ กล่าวว่า องค์กรได้รับเรื่องร้องเรียนว่าความล่าช้าทำให้ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจแบบตรงไปตรงมาเสียเวลา แต่ก็มีประกอบการ บางส่วนที่มองว่าไม่เสียหายอะไร เพราะมีวิธีการแก้ปัญหา เช่น การจ่ายเงินใต้โต๊ะ

ทั้งนี้แนวทางการแก้ปัญหาหลังจากนี้จะไม่พิจารณาเฉพาะจุดว่ามีเกิดปัญหาที่ใด แต่จะต้องดูทั้งระบบแล้วแก้ไขทั้งหมดให้ดีขึ้น โดยกระทรวงอุตสาหกรรมกำลังปรับแนวทางการออก รง.4 แต่องค์กรฯ จะเข้าไปดูร่วมกันว่าจะแก้ไขอะไรได้เพิ่มเติมหรือไม่

ด้านนายวิฑูรย์ กล่าวว่า กระทรวงได้ตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองการพิจารณาอนุญาตโรงงานบางประเภทที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและ สิ่งแวดล้อมในการพิจารณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องร้องเรียนระหว่างโรงงานกับชุมชน ซึ่งคณะกรรมการกลั่นกรองจะเป็นหลักประกันว่ากระทรวงอุตสาหกรรมจะดูแลชุมชนเป็นอย่างดี

"องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันยังไม่เข้าใจแนวทางการออก รง.4 ของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ปรับแนวทางให้มีความรอบคอบมากขึ้น โดยหลังจากนี้กระทรวง และองค์กรจะมีคณะทำงานร่วมกันกำหนดแนวทางไม่ให้การออก รง.4 สร้างปัญหาให้ผู้ประกอบการ"

นายวิฑูรย์กล่าวว่านายประมนต์เห็นด้วยในแนวคิดที่ไม่ต้องการให้การตั้งโรงงานส่งผลกระทบต่อชุมชน แต่ก็ต้องการให้กระทรวงเปิดเผยรายชื่อโรงงานที่ดำเนินการผิดกฎหมายให้สังคมรับรู้ เช่น การปล่อยมลพิษเกินที่กฎหมายกำหนด

นอกจากนี้ กระทรวงยังได้ชี้แจงว่ากรมโรงงานอุตสาหกรรมและสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมจะมีคณะกรรมการร่วมกันเพื่อกำหนดขั้นตอนการยื่นขอ รง.4 ให้ชัดเจนขึ้น ซึ่งที่ผ่าน มาผู้ประกอบการยื่นเอกสารไม่ครบหรือไม่ถูกต้อง ทำให้ต้องส่งเรื่องกลับและทำให้เกิดความล่าช้าจนเกินกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด 90 วัน และหากเอกสารไม่ครบก็จะไม่รับเรื่องไว้ต่างจากอดีตที่ให้ยื่นเรื่องไว้ก่อนแล้วค่อยส่งเอกสาร เพิ่มเติมภายหลัง

กรมโรงงานอุตสาหกรรมยังได้สร้างระบบติดตามการออก รง.4 ผ่านเว็บไซต์ของกรมฯ โดยสามารถขอเข้าไปตรวจสอบได้ว่าเรื่องที่เสนอไปอยู่ขั้นตอนไหนและใครเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งกระทรวงเชื่อว่าแนวทางนี้จะทำให้การดำเนินการของภาครัฐมีความโปร่งใสเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ก็ยังสามารถตรวจสอบผ่านสายด่วน 1564 ได้เช่นเดียวกัน

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

กนอ.เผย5อุตฯแห่งอนาคตเพิ่มมูลค่าอุตสาหกรรมรวมของประเทศไทยทะลุ 3 ล้านลบ.

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เผยรายชื่อ 5 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต อันได้แก่ 1. อุตสาหกรรมพลังงานสะอาด 2. อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ 3.อุตสาหกรรมไบโอพลาสติก 4.อุตสาหกรรมยานอากาศ 5.อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ อันจะเป็นอุตสาหกรรมหลักของไทยในอีก10ปีข้างหน้า

ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศไทยให้เติบโต สอดคล้องกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกใหม่ สอดรับการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ และความเป็นไปทางสังคมในภูมิภาคต่างๆ ของโลก โดยในอนาคตถ้าอุตสาหกรรมเหล่านี้เป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศจะสามารถเพิ่มมูลค่าการลงทุนรวมของอุตสาหกรรมไทยได้มากกว่า 20 % หรือมากกว่า 3 ล้านล้านบาท ซึ่งปัจจุบันประเทศไทย มีอุตสาหกรรมหลักทั้งหมด 6 ประเภท ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมปิโตรเคมีหรือพลาสติก อุตสาหกรรมเอทานอล และไบโอดีเซล อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ตาม กนอ.ตั้งเป้าในการเริ่มต้นส่งเสริมผู้ประกอบการไทย ผู้ประกอบการในประชาคมอาเซียน รวมไปถึงผู้ประกอบการทั่วโลกที่มีแนวคิดการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคตทั้ง 5 ประเภทนี้ ซึ่งล้วนจะเป็นการวางรากฐานอุตสาหกรรมแห่งอนาคตของไทยให้มีความเข็มแข้งและสามารถก้าวนำนานาประเทศไทยอย่างมีประสิทธิภาพ

โดยนักลงทุนและผู้ประกอบการณ์ทั่วไป สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 0-2253-0561 ต่อ 3305 หรือ 0-2253-2874 หรือเข้าไปที่ www.ieat.go.th

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ประธานกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่าจากแผน ยุทธศาสตร์ประเทศ หรือ New Growth Model จะส่งผลให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านจากประเทศรายได้น้อย สู่ประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจอันดับต้นๆ ของภูมิภาคเอเชียและของโลก ซึ่งปัจจัยหนึ่งที่จะส่งผลให้ประเทศไทยก้าวเดินหน้าอย่างมีศักยภาพคือภาคอุตสาหกรรม โดยใน 10 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะมี 5 อุตสาหกรรมใหม่ที่จะเป็นกำลังในการพัฒนาประเทศ หรือที่เรียกว่าอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ซึ่งคาดว่าจะสามารถเพิ่มมูลค่าของอุตสาหกรรมในประเทศไทยได้กว่า 20 % โดยรายชื่ออุตสาหกรรมแห่งอนาคต ได้แก่

1. อุตสาหกรรมพลังงานสะอาด เช่น อุตสาหกรรมเกี่ยวกับพลังงาน เชื้อเพลิงชีวภาพ แบตเตอรี่ รถยนต์ไฟฟ้า รวมไปถึงอุตสาหกรรมเกี่ยวกับพลังงานทางเลือกทั้งหมด อาทิ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์

2. อุตสาหกรรมเพื่อสุขภาพ เช่น อาหารเพื่อสุขภาพ บริการเพื่อสุขภาพ อุปกรณ์เพื่อสร้างเสริมสุขภาพ ฯลฯเพราะจากการจัดทำข้อมูลศึกษาทิศทางตลาดอาหารเพื่อสุขภาพของโลก พบว่าน้าวโน้มมูลค่าการตลาดเกิบโตอย่างต่อเนื่อง ในปี 2556 เติบโตถึง 9.05 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ เท่ากับว่าอัตราการเติบโตของตลาดอาจจะสูงขึ้นกว่า 200% เมื่อเปรียบเทียบอัตราการเติบโตของปี 2549

3. อุตสาหกรรมไบโอพลาสติก อันเนื่องมาจากการตระหนักถึงด้านของสิ่งแวดล้อม มีผู้ประกอบการที่แนวโน้มที่จะนำเม็ดไบโอพลาสติกมาทำเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ในชีวิตประจำวันที่สามารถย่อยสลายได้ และลดปริมาณผลิตภัณฑ์ที่ใช้จากพลาสติกทั่วไป

4. อุตสาหกรรมยานอากาศ เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่คึกคัก สืบเนื่องจากกระแสการเข้าสู้ประชาคมอาเซียน (AEC) ในปี 2558 รวมถึงแนวโน้มรูปแบบการสัญจรทางอากาศในปัจจุบันผู้ใช้บริการในทุกระดับสามารถเข้าถึงการใช้บริการได้ รวมถึงแนวโน้มความต้องการก่อสร้างสถานบินรวมไปถึงเครื่องบินมีจำนวนมาก

5. อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ อาทิ กลุ่มอุตสาหกรรมภาพยนตร์ กลุ่มอุตสาหกรรมโฆษณา กลุ่มธุรกิจการให้บริการด้านสถาปัตยกรรม กลุ่มธุรกิจการแพร่ภาพและกระจายเสียงไทยกลุ่มอุตสาหกรรมดนตรีของไทย กลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย ฯลฯ โดยปัจจุบันประเทศไทยมีแนวโน้มการเติบโดยของอุตสาหกรรมประเภทนี้สูงอย่างต่อเนื่อง

นายวิฑูรย์ เพิ่มเติมว่า ถึงแม้ว่าในอนาคตประเทศไทยจะมีอุตสาหกรรมแห่งอนาคตเข้ามามีบทบาท และอย่างไรก็ตามประเทศไทยยังคงต้องส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรม 6 ประเภทซึ่งล้วนเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมหลักของประเทศในปัจจุบัน อันได้แก่ 1. อุตสาหกรรมยาง 2. อุตสาหกรรมอาหาร 3. อุตสาหกรรมปิโตรเคมีหรือพลาสติก 4. อุตสาหกรรมยานยนต์ 5. อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า และ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ 6. อุตสาหกรรมเอทานอลและไบโอดีเซล รวมถึงประเทศไทยยังคงต้องตั้งเป้าในการเพิ่มตัวเลขมูลค่าของกลุ่มผลิตภัณฑ์หลักทางเกษตร ซึ่งเป็นสินค้าหลักของประเทศไทยได้แก่ ข้าว ยางพารา ข้าวโพด เลี้ยงสัตว์ ผลไม้ พืชพลังงาน ประมง ฯลฯ รวมถึงรักษามาตรฐานของอุตสาหกรรมบริการ อาทิ ท่องเที่ยว ค้าปลีกหรือค่าส่ง ก่อสร้าง สื่อสารและโทรคมนาคม บริการสุขภาพ ซึ่งปัจจุบันสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยจำนวนมหาศาล

ปัจจุบัน กนอ. มีนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ภายใต้การควบคุม 46 นิคมฯ ทั่วประเทศ กระจายอยู่ใน 14 จังหวัด ประกอบด้วยนิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ. ดำเนินการเอง จำนวน 11 นิคม และนิคมอุตสาหกรรมที่ร่วมดำเนินงานกับผู้พัฒนา จำนวน 35 นิคม โดยในนั้นมีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่กว่า 4,000 โรงงาน มีพนักงานรวมกว่า 500,000 คน และมูลค่าอุตสาหกรรมรวมกว่า 2.7 ล้านล้านบาท อย่างไรก็ตาม กนอ. มีหน้าที่รับผิดชอบในการพัฒนาและจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมโดยจัดพื้นที่สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมอย่างมีระบบ ตลอดจนหน้าที่ในการกระจายการพัฒนาและเชื่อมโยงอุตสาหกรรมออกสู่ภูมิภาคทั่วประเทศเพื่อสร้างความเจริญเติบโตในภาค อุตสาหกรรมและบริการของประเทศ สู่การเป็นนำประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนของภูมิภาคอาเซียน รวมถึงหน้าที่ในการส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ ภาคการเกษตร ภาคท่องเที่ยวและบริการ ฯลฯ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของโลกและความต้องการภายในประเทศนายวิฑูรย์ กล่าวสรุป

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ร่วมลงนามเอ็มโอยู เพิ่มศักยภาพเกษตร

นางพรรณพิมล ชัญญานุวัตร อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ สำนักพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ และภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) เพื่อวิจัยและพัฒนาการนำเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ มาใช้ประโยชน์ในการจัดทำระบบฐานข้อมูลการเกษตร สำหรับขอบเขตความร่วมมือนั้น สทอภ. จะนำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศที่ สทอภ. มีอยู่ในมือมาเชื่อมต่อเข้ากับฐานข้อมูลการเกษตรของกรมส่งเสริมการเกษตร และจะร่วมกันวิจัยพัฒนาระบบการหาตำแหน่งพิกัดภาคพื้นดินด้วยดาวเทียม (จีพีเอส) ระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (จีไอเอส) ซึ่งในระดับพื้นที่จะใช้แผนที่อัตราส่วน 1:4,000 ส่วนแผนที่อัตราส่วน 1:50,000 ซึ่งใช้ในภาพรวมทั้งประเทศ โดยทดลองนำร่องก่อนใน 8 จังหวัดที่ผ่านเกณฑ์คัดเลือก คือ มีพื้นที่เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจหลากหลาย และคาดว่าจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ปี 57 ความร่วมมือที่เกิดขึ้น จะช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยได้เปรียบในการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 58 เพราะเมื่อระบบฐานข้อมูลเสร็จสมบูรณ์ นอกจากจะทราบว่า เกษตรกรในพื้นที่ปลูกพืชชนิดใดแล้ว ยังสามารถคำนวณปริมาณผลผลิตในแต่ละปี ทำให้วิเคราะห์บริหารจัดการได้ว่า ควรจะเพิ่มหรือลดการผลิตพืชชนิดใด ซึ่งเป็นการสร้างศักยภาพการแข่งขันในตลาดระหว่างประเทศไปในตัว

นางพรรณพิมล กล่าวอีกว่า นอกจากนั้น กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือร่วมกับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ดำเนินโครงการจัดการเรียนรู้ทางไกล ในหลักสูตรการเสริมสร้างสมรรถนะนักส่งเสริมการเกษตร โดยพัฒนา การจัดกระบวนการเรียนรู้และผลิตบทเรียนออนไลน์ เพื่อการเรียนรู้ด้วยตนเองของนักส่งเสริมการเกษตร ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมฯ จะเป็นช่องทางหนึ่งที่สามารถช่วยให้เจ้าหน้าที่ ของกรมฯ สามารถเข้าถึงแหล่งความรู้ต่าง ๆ ได้อย่างพร้อมเพรียงกันและมีประสิทธิภาพ จึงอยากฝากถึงเจ้าหน้าที่และข้าราชการของ กรมฯ ทุกคนว่า กรมฯมีความยินดีและพร้อมจะสนับสนุนการเรียนรู้ให้แก่ทุกคน ซึ่งนอกจากบทเรียนออนไลน์ 6 ชุดวิชาที่ผลิตออกมาครั้งนี้ อนาคตจะมีการพัฒนาบทเรียนด้านอื่น ๆ เพิ่มเติม โดยความรู้ทั้งหมด นอก จากจะสามารถช่วยให้ท่านพัฒนาตนเองตามนโยบาย รมว.เกษตรและสหกรณ์แล้ว เมื่อนำองค์ความรู้เหล่านั้นไปถ่ายทอด ก็จะเท่ากับเป็นการพัฒนาเกษตรกร ให้เป็นเกษตรปราดเปรื่อง เพื่อเป็นรากฐานให้ภาคเกษตรและเศรษฐกิจของประเทศมีความมั่นคงและยั่งยืนต่อไป

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ร่วมตั้งคณะทำงานแก้ปัญหาใบอนุญาตโรงงาน

“วิฑูรย์”เคลียร์ “ประมนต์”ออกใบอนุญาตโรงงานล่าช้า พร้อมตั้งคณะทำงานร่วมหาทางออก เล็งเปิดโผรายชื่อปล่อยมลพิษทำลายสิ่งแวดล้อม

วันนี้(7พ.ค.) นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้เชิญนายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) มาหารือเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตประกอบการโรงงาน (รง.4) ซึ่งกระทรวงได้ชี้แจงว่า การตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองการพิจารณาอนุญาตโรงงานบางประเภทที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมในการพิจารณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องร้องเรียนระหว่างโรงงานกับชุมชนลดน้อยลง ซึ่งหากปล่อยให้ตั้งโรงงาน โดยไม่พิจารณาให้รอบคอบในอนาคตอาจสร้างความเดือดร้อนต่อชุมชนได้

ทั้งนี้ที่ผ่านมาองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ยังไม่เข้าใจแนวทางการออก รง.4 ของกระทรวงอุตสาหกรรมที่ปรับแนวทางให้มีความรอบคอบมากขึ้น โดยหลังจากนี้กระทรวงฯและองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน จะมีคณะทำงานร่วมกันมากำหนดแนวทางไม่ให้การออก รง.4 สร้างปัญหาให้ผู้ประกอบการ ซึ่งนายประมนต์ก็เห็นด้วยที่ไม่ต้องการให้การตั้งโรงงานส่งผลกระทบต่อชุมชน แต่ต้องการให้กระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผยรายชื่อโรงงานที่ดำเนินการผิดกฎหมายให้สังคมรับทราบ เช่น การปล่อยมลพิษเกินที่กฎหมายกำหนด โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะไปดูว่าจะเปิดเผยรายชื่อได้หรือไม่

“กระทรวงอุตสาหกรรมชี้แจงนายประมนต์ว่าตอนนี้มีคณะกรรมการร่วมกันเพื่อกำหนดขั้นตอนการยื่นขอ รง.4 ให้ชัดเจนขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการยื่นเอกสารไม่ครบหรือไม่ถูกต้องทำให้ต้องส่งเรื่องกลับและทำให้เกิดความล่าช้าจนเกินกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด 90 วัน แต่หากเอกสารครบถ้วนก็จะพิจารณาให้เสร็จภายในเวลาที่กำหนด”

นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ที่ผ่านมาองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้รับการร้องเรียนจากผู้ประกอบการว่าการขอ รง.4 มีปัญหาล่าช้า โดยความล่าช้าทำให้ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจแบบตรงไปตรงมาต้องเสียเวลา ส่วนผู้ประกอบการที่ไม่คิดว่าเป็นปัญหาก็คงไม่เสียหายอะไรเพราะมีวิธีการแก้ปัญหา เช่น การจ่ายเงินใต้โต๊ะ ซึ่งการแก้ปัญหาหลังจากนี้คงไม่พิจารณาเฉพาะจุดว่ามีปัญหาที่ใด แต่จะต้องดูทั้งระบบแล้วมาแก้ทั้งหมดให้ระบบดีขึ้น

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

3เดือนโรงงานเจ๊ง187ราย ไล่เช็กบิลผู้ประกอบการก่อสร้างก่อนได้ใบรง.4

พระราม 6 * อุตฯ เผยไตรมาสแรกโรงงานเจ๊ง 187 ราย คนงานถูกเลิกจ้างกว่า 1 หมื่นราย เหตุต้นทุนสูง ผู้ประกอบการประสบภาวะขาดทุน พร้อมไล่เช็กบิลโรงงานก่อสร้างก่อนได้รับอนุญาต รง.4 สั่งปรับแล้ว 231 ราย เตือนผู้ประกอบการปฏิบัติให้ถูกขั้นตอน

รายงานจากกระทรวงอุต สาหกรรม แจ้งว่า ในไตรมาสแรกของปี 2556 (ม.ค. - มี.ค.) มีโรงงานที่ได้รับอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมมาแจ้งปิดกิจการ 187 ราย มูลค่าลงทุน 3,830 ล้านบาท มีการเลิกจ้างแรงงานกว่า 10,000 คน เนื่องจากผู้ประกอบการประสบปัญหาขาดทุนและผล กระทบจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น โดยส่วนใหญ่เป็นกิจการเครื่องนุ่งห่มสำเร็จรูป, อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน, เฟอร์นิเจอร์, ซ่อมแซมรถยนต์ เป็นต้น

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) แจ้งว่า ในไตรมาสแรกของปี 2556 (ม.ค. - มี.ค.) มีบริษัทที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนผ่านบีโอ ไอจำนวน 398 โครงการ แจ้งความประสงค์ต้องการแรงงาน 48,254 ราย แบ่งเป็นระดับปริญญาตรี 8,360 ราย, ระดับ ปวช.และ ปวส. 11,568 ราย, ระดับ ป.6 - ม.6 จำนวน 27,084 ราย และอื่นๆ 1,242 ราย ส่วนใหญ่เป็นความต้อง การในกิจการบริการและสาธารณูป โภค, ยานยนต์และชิ้นส่วน, เครื่อง ใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

"ขณะนี้บริษัทต่างๆ มีความต้องการแรงงานจำนวนมาก โดยเฉพาะแรงงานฝีมือ เช่น ช่างเทคนิคและวิศวกร ดังนั้นทิศทางนโยบายส่งเสริมการลงทุนในอนา คตจึงไม่มุ่งเน้นส่งเสริมอุตสาห กรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นอีกต่อไป แต่จะเน้นอุตสาหกรรมฐานความรู้ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมจะได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อพัฒนาบุคลากรให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศต่อไป

นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวถึงปัญหาการก่อสร้างโรงานอุตสาหกรรมก่อนที่จะได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) ว่า ที่ผ่านมาผู้ประกอบการยังขาดความเข้าใจเกี่ยวกับการตั้งโรงงาน และมองว่าการก่อสร้างสามารถดำเนินการควบคู่ระหว่างที่ยื่นขออนุญาตได้ ซึ่งจากข้อมูลตั้งแต่เดือน ต.ค.2555 จนถึงปัจจุ บันมีโรงงานที่ก่อสร้างก่อนจะได้รับใบอนุญาตหรือ รง.4 จำนวน 213 ราย อยู่ในภูมิภาค 207 ราย และเขตกรุงเทพมหานคร 6 ราย

"ขณะนี้ทางกรมฯ ได้ดำเนินคดีและปรับเงินในข้อหากระทำผิดการตั้งโรงงานกับผู้ประกอบการทั้งหมดแล้ว โดยได้กำชับและเตือนโรงงานที่จะตั้งใหม่จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายทุกขั้นตอน แต่ที่ผ่านมาผู้ประกอบการส่วนมากไม่เข้าใจถึงขั้นตอน โดยเข้าใจว่าเมื่อขอใบอนุญาตแล้วก็สามารถตั้งโรงงานได้เลย ดังนั้น จึงขอให้ผู้ประกอบการได้ทราบข้อเท็จจริงว่า เมื่อขอใบอนุญาตแล้วจะต้องรอให้กรมฯ ดำเนินการตามขั้นตอนให้แล้วเสร็จก่อน จึงจะก่อสร้างโรงงานได้" นายณัฐพลกล่าว

ส่วนปัญหาความล่าช้าในการออกใบอนุญาตตั้งโรงงานของกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนนั้น ขณะนี้มีโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการพิจารณา 73 โรง รวมกำลังการผลิต 429.23 เมกะวัตต์ ซึ่งในจำนวนนี้ได้เสนอเรื่องให้คณะกรรมการกลั่นกรองอนุญาตโรง งานบางประเภทที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่มี นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประ ธาน เพื่อพิจารณาและอนุมัติไปแล้ว 40 แห่ง.

จาก http://www.thaipost.net วันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ผ่าทางตันน้ำตาลตลาดโลก

สถานการณ์ราคาน้ำตาลดิบในตลาดโลกขณะนี้ถือว่าอยู่ในจังหวะขาลง ราคาอ่อนตัวอยู่ในระดับเฉลี่ยที่ 17-18 เซนต์ต่อปอนด์ ไม่ได้ดีดตัวแรงเหมือนเดือนกุมภาพันธ์ปี2554

สมศักดิ์ สุวัฒิกะ ที่ทุบสถิติสูงสุดที่ 36.08 เซนต์ต่อปอนด์ วงการน้ำตาลตั้งข้อสังเกตว่าราคาน้ำตาลดิบจะไม่ดิ่งลงต่ำกว่า 15 เซนต์ต่อปอนด์ เพราะไม่เช่นนั้นแล้วผู้ผลิตรายใหญ่อย่างบราซิลจะนำน้ำตาลไปผลิตเป็นเอทานอลมากขึ้นเพราะได้ราคาจูงใจกว่า

นอกจากราคาตลาดโลกที่หล่นลงฮวบฮาบแล้ว เงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่องก็ยังเป็นอุปสรรค ต่อการส่งออกน้ำตาล โดยเฉพาะปริมาณน้ำตาลที่ยังไม่ได้กำหนดราคาขายล่วงหน้า ยังไม่นับรวมถึงปัญหาภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นอีก

ทั้งหมดนี้นายสมศักดิ์ สุวัฒิกะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.)ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางออก และเขาเปิดใจผ่าน"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ผลกระทบเหล่านี้ถือเป็นหน้าที่และภารกิจที่สำคัญ ซึ่งช่วง4 เดือนที่เข้ามารับตำแหน่งเลขาธิการสอน. ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ท้าทาย เพราะอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลเกิดการเปลี่ยนแปลงและมีปัญหามาตลอด ต้องเผชิญกับปัญหารอบตัว ทั้งภัยแล้ง ค่าเงิน ราคาตลาดโลก ทำให้โรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อยต่างตื่นตัววิตกว่าจะเกิดภาวะขาดทุนได้ เวลาส่วนใหญ่จึงหมดไปกับการแก้ปัญหา เพราะจะต้องมานั่งคุยกัน เป็นการเปิดเวทีเจรจากันโดยเฉพาะเรื่องราคาอ้อยที่ชาวไร่ได้รับ

+++มิ.ย.เบิกจ่าย160บาทต่อตันอ้อย

ยกตัวอย่าง กรณีที่ราคาอ้อยเบื้องต้นปี2555/2556 ของชาวไร่บวกค่าภัยแล้งแล้วอยู่ที่ 1,196 บาทต่อตันอ้อย แต่การคำนวณราคาต้นทุนของภาคราชการหรือสอน. ที่เวลาคำนวณราคาต้นทุนอ้อยและน้ำตาลจะดูองค์ประกอบจากราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลก ดูอัตราแลกเปลี่ยน รวมถึงปริมาณผลผลิตอ้อยที่ตั้งไว้ที่ 94.4 ล้านตันอ้อย แล้วมาคำนวณปรากฏว่าได้ราคาอ้อยเบื้องต้นที่ 950 บาทต่อตันอ้อย ซึ่งชาวไร่ให้เหตุผลว่ายังเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาที่ชาวไร่ลงทุนไปแล้ว

ปัญหาที่ผ่านมาจึงมีการเดินขบวนเรียกร้องให้เพิ่มค่าอ้อยอีก 250 บาทต่อตันอ้อย สุดท้ายมติครม.ก็พิจารณาให้การช่วยเหลือโดยเพิ่มค่าอ้อยให้อีก 160 บาทต่อตันอ้อย ที่กองทุนอ้อยและน้ำตาล(กท.)จะไปกู้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร( ธ.ก.ส.) เท่ากับว่าค่าอ้อยเบื้องต้นจะอยู่ที่ 1,110 บาทต่อตัน ชาวไร่ก็น่าจะอยู่ได้ ทั้งหมดนี้ผ่านมติครม.ไปแล้ว แต่ยังไม่มีผลใช้ คาดว่าภายในเดือนพฤษภาคมนี้เรื่องจะเข้าพิจารณาในบอร์ด ธ.ก.ส. และน่าจะเบิกจ่ายได้ราวเดือนมิถุนายนนี้ตามลำดับ

สำหรับปริมาณอ้อยที่มีเป็นจำนวนมากจนสูงกว่าตัวเลขที่คาดการณ์ไว้นั้น ล่าสุดฤดูการผลิตอ้อยปี2555/2556 ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า มีปริมาณอ้อยสูงถึง 99.8-100 ล้านตันอ้อย จากเดิมคาดการณ์ว่าประมาณ 94 ล้านตันอ้อย และพบว่าขณะนี้มีจำนวนไร่อ้อยเพิ่มขึ้นจาก 9 ล้านไร่เพิ่มเป็น 10 ล้านไร่ สาเหตุที่เพิ่มขึ้นเพราะเกิดแรงจูงใจด้านราคาอ้อยในช่วง3 ปีที่แล้วที่ราคาในตลาดโลกดีดตัวสูงขึ้นแรง และทุกครั้งที่มีปัญหาราคาอ้อยตกต่ำก็จะได้รับการช่วยเหลือมาตลอด ชาวไร่จึงมั่นใจว่าปลูกอ้อยจะดีกว่าพืชเกษตรอื่น เพราะเป็นพืชชนิดเดียวที่กฎหมายรองรับ บวกกับราคาน้ำตาลต้องอาศัยกลไกตลาดโลก คนจึงนิยมปลูกอ้อยมากขึ้น

+++รับปริมาณอ้อยมากแต่ราคาไม่ดี

ส่วนที่มองว่าปีนี้ปริมาณอ้อยมีมากขึ้นน่าจะได้ราคาดีนั้น ยอมรับว่าปริมาณอ้อยมากขึ้นก็จริง แต่ปีนี้คุณภาพอ้อยตกต่ำลงดูจาก ค่าความหวานไม่ถึง12ซีซีเอส ขณะที่ผลผลิตน้ำตาลตกต่ำกว่าปีที่แล้ว ที่ผลิตอ้อยได้ 97.9 ล้านตันอ้อยแต่ผลิตน้ำตาลได้ถึง 10.30 ล้านตันน้ำตาล ปีนี้(2555/2556) มีปริมาณอ้อย 99.8-100 ล้านตันอ้อย แต่ผลิตน้ำตาลได้เพียง10.01 ล้านตันน้ำตาลทั้งที่มีปริมาณอ้อยเพิ่มขึ้น

จากปัญหาดังกล่าวนี้สอน.จำเป็นต้องลงไปสำรวจข้อเท็จจริงว่าเกิดอะไรขึ้น เพื่อเก็บข้อมูลแล้วมาหาทางออกร่วมกัน
+++เครื่องดื่มโตแรงดันโควตาก.เพิ่ม

สำหรับกรณีปีนี้น้ำตาลโควตาก.(สำหรับบริโภคในประเทศ) เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจาก 23 ล้านกระสอบเพิ่มเป็น 24ล้านกระสอบ และล่าสุดเพิ่มเป็น 25 ล้านกระสอบ เท่ากับเพิ่มขึ้น2แสนกระสอบ(กระสอบละ100กิโลกรัม) หรือ 2 ล้านตันนั้น มี สาเหตุที่การบริโภคในประเทศขยายตัวเกิดจากที่มีโรงงานผลิตเครื่องดื่ม เช่น น้ำอัดลมยี่ห้อ"เอส" และ"บิ๊กโคล่า" รวมถึงการขยายตัวของเครื่องดื่มประเภทชาเขียว เช่น อิชิตัน โออิชิ และการขยายตัวของตลาดผลไม้กระป๋อง โดยคนนิยมบริโภคมากขึ้นเพราะอากาศร้อนมากในปีนี้ และปริมาณการใช้น้ำตาลในประเทศน่าเพียงพอแล้วโดยปีนี้น่าจะคงที่อยู่ที่ 2.5ล้านตันหรือ 25ล้านกระสอบ

ล่าสุดกระทรวงอุตสาหกรรมได้ตั้งคณะทำงานพิจารณาผลการศึกษาโครงการศึกษาวิจัยแนวทางการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทย จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เพื่อไปพิจารณาว่าจะใช้ผลการศึกษาส่วนไหนของทีดีอาร์ไอได้บ้าง ซึ่งขณะนี้มีหลายส่วนที่น่าสนใจ เช่น เรื่องการลอยตัวราคาน้ำตาล โดยที่ยังคงระบบแบ่งปันผลประโยชน์ไว้ แต่ยังติดปัญหาที่กระทรวงพาณิชย์มองว่าน้ำตาลเป็นสินค้าควบคุม

รวมถึงการศึกษาให้ปรับเปลี่ยนการคำนวณราคาอ้อยจากที่เป็นน้ำตาลทรายดิบอย่างเดียวก็ให้เป็นน้ำตาลทรายขาว50% และน้ำตาลทรายดิบ50% จากเดิมที่ไม่มีการนำทรายขาวไปคำนวณด้วย เพราะที่ผ่านมาโควตาข. (โควตาส่งออก) จะให้บริษัทอ้อยและน้ำตาลทราย(อนท.)ขาย ดังนั้นถ้ามีการคำนวณราคาโดยมีน้ำตาลทรายขาวด้วย ก็จะดีต่อราคาอ้อยต่อตัน ทำให้ราคาต้นทุนอ้อยดีขึ้น เพราะราคาน้ำตาลทรายขาวในตลาดโลกจะสูงกว่าน้ำตาลทรายดิบ

นอกจากนี้ทีดีอาร์ไอยังกำหนดอีกว่าโรงงานน้ำตาลทุกแห่งจะต้องมีประสิทธิภาพในการผลิตได้ถึง90% เป็นการกระตุ้นให้โรงงานที่มีประสิทธิภาพการผลิตต่ำสามารถทำได้ดีขึ้น ยกตัวอย่างเช่น โรงงานA มีขีดความสามารถในการผลิตได้100% แต่ทำได้เพียง70-80% เท่านั้น หากผลผลิตออกมาน้อยพอไปคำนวณราคาชาวไร่ก็จะได้เงินน้อย คาดว่าคณะทำงานชุดดังกล่าวจะเริ่มประชุมภายในเดือนพฤษภาคมนี้

+++ฤดูผลิตใหม่ผลผลิตต้องดีขึ้น

อย่างไรก็ตามสำหรับฤดูการผลิตปี2556/2557ที่จะเริ่มเปิดหีบได้ราวเดือนตุลาคม หรือเดือนพฤศจิกายนของทุกปีจะรับมืออย่างไรถ้าบาทยังแข็งค่าต่อเนื่องนั้น ถ้ามองในแง่ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลส่วนใหญ่จะทำราคาขายล่วงหน้าไปแล้ว และประกันความเสี่ยงค่าเงินไว้แล้ว ส่วนรายที่ยังไม่ได้กำหนดราคาขายล่วงหน้าอาจจะกระทบบ้าง และในแง่ของสอน. ก็ต้องการให้ราคาน้ำตาลสูงขึ้นเพื่อที่ชาวไร่จะได้ราคาอ้อยดี แต่ก็ทำได้ยากเพราะเราไม่สามารถไปไปควบคุมราคาตลาดโลกได้

นอกจากนี้ปี2556/2557 สอน.จะต้องไปดูว่า 10 ล้านไร่ที่ปลูกอ้อยจะทำอย่างไรให้ได้ผลผลิตสูงสุดรวมถึงดูประสิทธิภาพของโรงงานผลิตน้ำตาลว่าควรจะทำอย่างไรจึงจะรองรับการผลิตได้เต็มที่จากปริมาณอ้อยที่เพิ่มขึ้นมากในขณะนี้ โดยทุกส่วนที่เกี่ยวข้องจะต้องทำให้ผลผลิตอ้อยและน้ำตาลดีขึ้น

จาก http://www.thanonline.com วันที่ 3 พฤษภาคม 2556

จับตาปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจโลก

หากประมวลคาดการณ์จีดีพีของไทยทั้งปี 2556 จากทุกสำนักเศรษฐกิจมองจีดีพีขยายตัวอยู่ในกรอบ 4.5-5.5% ภายใต้สถานการณ์การเมืองนิ่งและนโยบายการลงทุนทั้งโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท

และโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาทที่มีอนาคต กลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักลงทุนต่างชาติไม่น้อย จึงไม่แปลกที่เห็นเงินลงทุนไหลเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์และหลักทรัพย์ต่างๆ ของไทยและกลุ่มอาเซียน ทว่าตัวเลขการขยายตัวจีดีพีในไตรมาสแรกกลับแผ่วลง

+++ห่วงศก.โลกชะลอ-บิดเบือนเงินเฟ้อ

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ช่วงที่เหลือยังมีปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อระบบเศรษฐกิจภายในของไทย โดยเฉพาะเศรษฐกิจโลกที่ยังฟื้นไม่เต็มตัว โดยเฉพาะเศรษฐกิจยุโรปต้นตอเศรษฐกิจซึมรอบ 2 ซึ่งเป็นปัญหากวนใจจนธนาคารกลางยุโรปต้องปรับลดดอกเบี้ยลง อีกทั้งปัญหาหนี้สาธารณะที่ยังคงขยายวงกว้างไปยังประเทศอื่นๆ ขณะที่ตลาดคาดว่าช่วงการเลือกตั้งเดือนกันยายนของเยอรมนีเศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอยขณะที่อัตราการว่างงานในยุโรปยังสูงถึง 12%สะท้อนภาวะเศรษฐกิจอยู่ในช่วงชะลอตัว

เช่นเดียวกับจีดีพีสหรัฐอเมริกาที่ยังไม่ฟื้นชัดเจน แม้จะมีการอัดฉีดเงินเข้าระบบแต่สัญญาณการว่างงานยังไม่มีทิศทางลดลง และจีนยังคุมสถานการณ์กำลังซื้อภายใน เหตุกังวลปัญหาฟองสบู่และสถาบันการเงินส่งผลจีดีพีฟื้นตัวไม่โดดเด่นขยายตัว 7.7% ต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้ในระดับ 8% ที่สำคัญจีนเจอ 2เหตุการณ์คือ เศรษฐกิจโลกที่ชะลอฉุดภาคส่งออกน้อยลง และต้องยืนเงินหยวนที่แข็งค่าทำให้ราคาสินค้าและค่าแรงเพิ่มด้วย นอกจากนี้ญี่ปุ่น หรือเกาหลีใต้และไต้หวันซึ่งเป็นประเทศส่งออกต่างอยู่ในอาการจีดีพีขยายตัวต่ำกว่าที่คาดเช่นกัน เหล่านี้ ย่อมส่งผลโดยตรงต่อเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ด้วย

"เทรนด์ไตรมาส2 ส่งออกอาจไม่เป็นหลัก เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่แย่ และเงินบาทแข็งค่าอาจทำให้ภาคการท่องเที่ยวตึงตัว และภาคการเมืองยังเงียบ และตึงๆ เป็นอะไรที่ไม่ชัดว่าไตรมาส2 ของปีนี้หรือช่วงต่อไปจะไม่มีอะไรสุ่มเสี่ยง"
นายธนวรรธน์กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้กำลังซื้อในประเทศยังพอใช้ได้แต่ทั้งกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)มองเศรษฐกิจไตรมาส2 อาจชะลอลง หากรัฐบาลไม่ดึงโครงการบริหารจัดการน้ำให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในปีนี้หรือพ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทไม่ผ่านการอนุมัติ

ล่าสุดธปท.สะท้อนตัวเลขการลงทุนที่ชะลอตัวลง เช่นเดียวกับผลสำรวจของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเดือนเมษายนที่ผ่านมา พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ 83.7 ลดลงจาก 84.8 ในเดือนมีนาคมซึ่งปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมอยู่ที่ 75.0 ลดลงจาก 73.9 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำอยู่ที่ 76.4 ลดลงจาก 75.5 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 101.8 ลดลงจาก 102.9 โดยปัจจัยลบที่มีผลต่อดัชนีดังกล่าวนั้น เป็นผลจากความกังวลต่อเงินบาทที่แข็งค่าเร็วทำให้แลกเปลี่ยนเงินได้น้อยลงซึ่งส่งผลโดยตรงทั้งนักท่องเที่ยว เกษตรกรและผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

+++บาทแข็งหั่นจีดีพีไตรมาสแรกต่ำเป้า

ทั้งนี้ ความไม่มั่นใจต่อเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศมหาอำนาจ ทำให้การเคลื่อนย้ายเงินทุนไหลเข้ามาในประเทศไทย ที่มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจแข็งแกร่งมากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ในภูมิภาคอาเซียน ส่งผลให้เงินบาทไตรมาสแรกแข็งค่าขึ้น 6.84% และกระทบต่อการขยายตัวเศรษฐกิจไตรมาสแรก ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักวิจัยเศรษฐกิจ ระบุถึงตัวเลขการขยายตัวเศรษฐกิจไตรมาส 1 ของปี 2556 เริ่มส่งสัญญาณขยายตัวแผ่วลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ทั้งการใช้จ่ายภายในประเทศ การส่งออก ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยภายนอกกรณีการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ทำให้ดีมานด์โดยรวมหดตัว

เห็นได้จากนายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสศค. ระบุการขยายตัวของจีดีพีไตรมาสแรกอาจแผ่วลงจากประมาณการเดิมที่ตั้งเป้าไว้ที่ 6% เนื่องจากตัวเลขส่งออกขยายตัว 4.3% หรือหดตัว 0.5% ต่อไตรมาส และหากต้องการให้ตัวเลขการส่งออกขยายตัวได้ตามเป้าหมายของกระทรวงพาณิชย์ที่ 9% ชัดเจนตัวเลขการส่งออกจะต้องขยายตัวเฉลี่ยไตรมาสละไม่ต่ำกว่า 10%

+++สินเชื่อชะลอตัวทุกหมวด

สอดคล้องกับนายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโสสายเศรษฐกิจการเงิน ธปท. ที่ระบุว่า การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจในไตรมาสแรกสะท้อนจากสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ที่เริ่มชะลอตัวลง โดยเฉพาะในเดือนมีนาคมที่ขยายตัว 13.9% ลดลงจาก 14.9% ในเดือนก่อนหน้า เป็นการชะลอตัวลงทั้งสินเชื่อภาคเอกชนและสินเชื่อภาคธุรกิจ โดยสินเชื่อครัวเรือนขยายตัว 14.8% ชะลอลงจาก 16.2% ในเดือนก่อนหน้า และสินเชื่อธุรกิจขยายตัว 12.8% ชะลอลงจาก 13.2% ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลจากการเข้มงวดของธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากต้องการที่จะดูแลคุณภาพของสินเชื่อไม่ให้กลายเป็นหนี้เสีย และส่วนหนึ่งจากการปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติ ในขณะที่ผลสำรวจของผู้ประกอบการยังคงเชื่อมั่นภาวะเศรษฐกิจไทย โดยดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในช่วงเดือน เมษายน-มิถุนายน อยู่ที่ 55.8 ซึ่งสูงขึ้นกว่าครั้งก่อนหน้า

"ต้องติดตามต่อไปว่าการชะลอของสินเชื่อเป็นเรื่องชั่วคราวหรือไม่ ถ้าเป็นเรื่องความระมัดระวังก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าชะลอลงเพราะดีมานด์หายไปก็ต้องติดตามดูต่อไป"

+++ลงทุนภาครัฐความหวังเศรษฐกิจชาติ

นางสาวสุทธาภา อมรวิวัฒน์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์อาวุโส และผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ และธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยทั้งปี 2556 น่าจะขยายตัวได้ 5.1% สูงขึ้นจากเดิมคาดไว้ที่ 4.9% เนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนในไตรมาส 4/2555 ที่ขยายตัวได้ดีเกินคาดถึง 12% เป็นแรงส่งที่ให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยเฉพาะมาตรการคืนภาษีรถคันแรก ประกอบกับนโยบายของภาครัฐในโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ที่น่าจะเบิกจ่ายได้ 7 หมื่นล้านบาท และโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท ที่น่าจะเบิกจ่ายได้ 1.4 หมื่นล้านบาทในปีนี้

แต่ทั้งนี้หากรัฐบาลเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ 30% จะส่งผลให้การลงทุนภาครัฐขยายตัวของเศรษฐกิจลดลง 0.2% จากที่คาดไว้ 21% เหลือ 17% ทำให้เศรษฐกิจปีนี้ขยายตัว 4.9% และยืนยันต่อว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้ที่อยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้กนง. ไม่น่าจะมีความจำเป็นต้องปรับลดดอกเบี้ย ขณะที่แรงกดดันด้านราคาที่อยู่ในระดับต่ำ คาดเงินเฟ้อทั่วไปทั้งปีอยู่ที่ 2.8% และเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 1.6% แต่ความเสี่ยงต่อการส่งออกจากเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความไม่แน่นอน ก็น่าจะทำให้โอกาสที่ กนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยมีไม่มากนักจึงประเมินว่าดอกเบี้ยนโยบายน่าจะคงอยู่ที่ระดับ 2.75% จนถึงปลายปี

สำหรับปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยปีนี้ ยังคงมาจากความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลก ที่ต้องจับตาดูมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเชิงปริมาณ รอบที่ 3 (คิวอี 3) วงเงิน 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯของสหรัฐฯจะต่อเนื่องและชัดเจนแค่ไหน รวมถึงการฟื้นตัวของสหภาพยุโรปที่ยังคงยืดเยื้อออกไป

อย่างไรก็ตามระหว่างรอ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์)แถลงตัวเลขจีดีพีไตรมาสแรกในวันที่ 20 พฤษภาคมนั้น ฟากธนาคารพาณิชย์ อาทิ ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) (บมจ.) คาดว่าจีดีพีจะเติบโต 5.7% หากปรับปัจจัยฤดูกาลจีดีพีไตรมาสแรกขยายตัว 0.4% จากไตรมาสก่อนหน้าโดยยังคงเป้าเดิมทั้งปีไว้ที่ 4.7%

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 3 พฤษภาคม 2556

ก.ไอซีทีจับมือ ก.เกษตรทำสำมะโนการเกษตร

น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้จัดทำสำมะโนการเกษตร พ.ศ.2556 ซึ่งจะจัดทำขึ้นทุก 10 ปี ได้ทำการจัดเก็บมาแล้ว 5 ครั้ง ตามข้อเสนอแนะขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ เพื่อรวบรวมข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานทางเกษตร อาทิ จำนวนผู้ถือครองเนื้อที่ทางการเกษตร การใช้ประโยชน์ในพื้นที่ การใช้เครื่องมือเครื่องจักร โดยได้ร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อบูรณาการณ์การทำงาน ซึ่งนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ คือ แท็บเล็ต มาใช้ในการจัดเก็บและบันทึกข้อมูล

ทั้งนี้ ข้อมูลจากการทำสำมะโนการเกษตร จะเป็นฐานข้อมูลทะเบียนเกษตรกรจัดเก็บไว้บนบัตรประจำตัวประชาชนแบบอเนกประสงค์ หรือ วัน ไอดีการ์ด ฟอร์ สมาร์ท ฟาร์มเมอร์ เพื่อให้ประเทศไทยมีฐานข้อมูลด้านการเกษตรที่สอดคล้องกับเหตุการณ์ปัจจุบันและมีรายละเอียดข้อมูลลงถึงระดับหมู่บ้าน ทำให้รัฐบาลมีข้อมูลคุณภาพสำหรับใช้วางแผนและแก้ไขปัญหาให้แก่เกษตรกรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับวิธีการจัดเก็บข้อมูลนั้น สำนักงานสถิติแห่งชาติ จะรับผิดชอบในการวางแผนและดูแลการอบรมด้านวิชาการแก่เจ้าหน้าที่ ส่วนกรมส่งเสริมการเกษตรจะส่งอาสาสมัครเพื่อจัดเก็บข้อมูล หรือ คุณมาดี ประมาณ 20,000 คน ออกเก็บข้อมูลทางการเกษตรทั่วประเทศ โดยเจ้าหน้าที่จะบันทึกข้อมูลลงแท็บเล็ต ซึ่งเริ่มจัดเก็บตั้งแต่วันที่ 1-31 พ.ค.56 และจะมีการประมวลผลเบื้องต้นในเดือน ส.ค.56 รายงานผลล่วงหน้า ต.ค.56 และรายงานผลฉบับสมบูรณ์ พ.ย.56-ก.ย.57

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

เร่งสร้างอ่างห้วยน้ำบอง กรมชลฯสนองพระราชดำริ-ตั้งเป้าแล้วเสร็จภายในปี2558

นายอำพน เสนาณรงค์ องคมนตรี กล่าวในการเปิดโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำบอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดหนองบัวลำภู ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยราษฎรในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำ จึงทรงรับโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำบองไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราช ดำริ เพื่อช่วยเหลือราษฎร แต่เนื่องจากพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบการสร้าง เขื่อนจึงทำได้ยาก ต้องใช้เวลาในการสำรวจและศึกษาผลกระทบ ทำให้โครงการอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ใช้เวลาดำเนินการเกือบ 20 ปี แต่ขณะนี้กรมชลประทานได้ดำเนินการจัดสร้างแล้วเสร็จไปกว่าร้อยละ 30 คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2558

ขณะที่ นายกุล คชวงษา ผู้นำชุมชนตำบลโคกม่วง ราษฎรในพื้นที่ กล่าวว่า แต่ละปีต้องประสบปัญหาภัยแล้งไม่มีน้ำกินน้ำใช้ ไม่สามารถปลูกพืชผลการเกษตรได้เหมือนพื้นที่อื่น ทำนาได้ปีละครั้ง ทำให้ชาวบ้านต้องอพยพไปขายแรงงานในหลายจังหวัด ชาวบ้านทุกคนต่างรอคอย และพร้อมให้การสนับสนุนการดำเนินโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำบองให้แล้วเสร็จ โดยเร็ว เพื่อที่ทุกคนจะได้มีอาชีพหาเลี้ยงครอบครัว มีอาชีพเสริมจากการประมงและการท่องเที่ยว

สำหรับโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำบอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดหนองบัวลำภู เป็นหนึ่งใน 2,955 โครงการพัฒนาแหล่งน้ำตามพระราชดำริ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2535 ดำเนินการโดยกรมชลประทานและสำนักงาน กปร. ใช้งบประมาณกว่า 300 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 5 ปี ตั้งแต่ปี 2554 - 2558 เมื่อสร้างแล้วเสร็จจะสามารถกักเก็บน้ำไว้ได้กว่า 29 ล้านลูกบาศก์เมตร ลักษณะเป็นเขื่อนดินพื้นที่ได้รับประโยชน์กว่า 16,000 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์กว่า 33,600 คน จะทำให้ราษฎรมีอาชีพเสริมจากการประมง มีแหล่งท่องเที่ยว ที่สำคัญยังช่วยลดปัญหาการเกิดอุทกภัย ช่วยให้พื้นที่อุทยานต่าง ๆ เกิดความชุ่มชื่น ช่วยให้สัตว์ป่ามีแหล่งอาหารที่สมบูรณ์เพิ่มมากขึ้น

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ชี้ปี’60ต้นทุนโลจิสติกส์ลดเหลือ12%

นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กล่าวว่า ตามแผนแม่บทการพัฒนาระบบโลจิสติกส์อุตสาหกรรม 2555-2559 กำหนดเป้าหมายลดต้นทุนโลจิสติกส์อุตสาหกรรมปีละ 25,000 ล้านบาท รวมแล้ว 5 ปี จะลดต้นทุนโลจิสติกส์อุตสาหกรรมได้ 1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) โดยที่ผ่านมามีปัญหาด้านงบประมาณทำให้การดำเนินการไม่สามารถลดต้นทุนโลจิสติกส์อุตสาหกรรมได้ตามเป้าหมาย

ขณะที่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินว่าต้นทุนโลจิสติกส์ของไทยปัจจุบันคิดเป็น 15.2% ของจีดีพี และคาดว่าจะลดลงเหลือ 12% ภายในปี 2560 โดยถ้ามีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม 2 ล้านบล้านบาท จะทำให้ต้นทุนโลจิสติกส์ในอนาคตลดลงได้อีก ซึ่งจะช่วยผู้ประกอบการ เพราะปัจจุบันต้นทุนโลจิสติกส์ของผู้ประกอบการเป็นต้นทุนด้านการขนส่ง 47% ต้นทุนสินค้าคงคลัง 42% และต้นทุนการบริหารจัดการโลจิสติกส์ 11%

นอกจากนี้ พบว่า ปัจจุบันการขนส่งของไทยในปัจจุบันขนส่งทางถนนเป็นส่วนใหญ่ 82% ส่วนการขนส่งทางรางอยู่ที่ 2% และถ้ามีการพัฒนาระบบรางก็จะทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนการขนส่งถูกลงได้

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ตั้งคนนอกร่วมกรองใบรง.4กระทรวงอุตฯหวังลดกระแสไม่โปร่งใสเพิ่มประสิทธิภาพ-พิจารณาเร็วขึ้น

อุตสาหกรรมตั้ง 2 บุคคลภายนอกร่วมคณะกรรมการกลั่นกรองฯหวังเพิ่มโปร่งใสออกใบ รง.4

กระทรวงอุตสาหกรรม ออกประกาศที่82/2556 ลงนามโดย รมว.อุตสาหกรรมประเสริฐ บุญชัยสุข แต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองการพิจารณาอนุญาตโรงงานบางประเภทที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมจำนวน 11 คน เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานให้ดีขึ้น

ทั้งนี้ พบว่าเป็นครั้งแรกที่มีการแต่งตั้งบุคคลภายนอกระทรวง เข้าร่วมอยู่ในคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ได้แก่ นายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) และนายบัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพลังงานและศาสตราจารย์ประจำคณะวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในตำแหน่งที่ปรึกษา

ทั้งนี้ เมื่อต้นเดือนเม.ย. นายวิฑูรย์สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เสนอต่อ รมว.อุตสาหกรรม ให้ปรับบทบาทคณะกรรมการกลั่นกรองฯ โดยให้เหลือพิจารณาให้ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน หรือ รง.4 เพียง 3 ประเภทจากทั้งหมด 7 ประเภท และให้มีการตั้งบุคคลภายนอกเข้ามาร่วมเป็นกรรมการเพื่อเพิ่มความโปร่งใสในกระบวนการอนุญาต ภายหลังจากที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงความโปร่งใสในกระบวนการออกใบ รง.4

สำหรับคณะกรรมการอีก 9 คน ได้แก่ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นผู้อนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานและเป็นประธานกรรมการ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการกำกับตรวจสอบกระบวนการผลิต เป็นรองประธาน นายอุทัย ปิยวนิชพงษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เป็นกรรมการและเลขานุการ ส่วน 6 คน เป็นข้าราชการระดับรองอธิบดีของกรมต่างๆ ในกระทรวงอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกลั่นกรองฯ คือ การกลั่นกรองพิจารณาอนุญาต 1.โรงงานขนาดใหญ่ที่มีการลงทุนมากกว่า 200 ล้านบาท (ไม่รวมที่ดิน) หรือมีคนงานมากกว่า 200 คน 2.โรงงานที่ต้องดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล และ 3.โรงงานที่อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมเสนอคณะกรรมการกลั่นกรองฯ พิจารณาโดยให้เป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนดคือ90 วันนับแต่วันที่ได้รับคำขอ

'คณะกรรมการกลั่นกรองฯ มีหน้าที่พิจารณาก่อนออก ใบ รง.4 หรือใบอนุญาตขยายโรงงาน ให้แก่โรงงาน 3 ประเภท รวมถึงเชิญบุคคลมาชี้แจงให้ข้อมูล และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือ คณะทำงานตามความจำเป็น'

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ต้านอุตสาหกรรม'บางสะพาน'

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 2 พ.ค. กลุ่มชาวประมง และเกษตรกรบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยมีนางจินตนา แก้วขาว ตัวแทนเครือข่ายอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบางสะพาน เดินทางมาร้องเรียนและยื่นหนังสือ คัดค้านการประกาศพื้นที่ อ.บางสะพาน เป็นชุมชนนิคมอุตสาหกรรม เขตประกอบการอุตสาหกรรม และเขตอุตสาหกรรม ให้กับนายยูกิฮิโกะ คาเนโกะ เลขานุการเอกสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย (ตัวแทน) เพื่อให้พิจารณายุติการจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมเหล็ก

ด้านนายยูกิฮิโกะ คาเนโกะ เลขานุการฯ กล่าวว่า ทางสถานทูตญี่ปุ่นเองยังไม่เคยได้รับเรื่องการขออนุญาตจัดตั้งโรงงานหรืออุตสาหกรรมแต่อย่างใด ทราบแต่เพียงว่า โครงการที่ทางตัวแทนยื่นร้องเรียนมานั้น ทางสถานทูตญี่ปุ่นเราได้ระงับไปนานแล้ว

จากนั้นวันเดียวกันนางจินตนา แก้วขาว ได้พากลุ่มชาวประมง และเกษตรกรบางสะพาน มายังกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อยื่นหนังสือฉบับเดียวกันให้กับ นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และนายณัฐพล ณัฏฐสมบูรร์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เนื่องจากได้รับข้อมูลมาว่า จะมีการขอเปิดเป็นเขตประกอบการอุตสาหกรรม เพื่อให้พิจารณายุติการจัดตั้งเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรมเหล็กใน อ.บางสะพาน

ทั้งนายวิฑูรย์ และนายณัฐพล กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า พื้นที่ดังกล่าวนั้นขณะนี้ไม่มีการเปิดเป็นเขตอุตสาหกรรมแต่อย่างใด และยังไม่ได้รับเรื่องพิจารณาแต่อย่างใดขอให้พี่น้องกลุ่มชาวประมงและเกษตรกรบางสะพานมั่นใจว่าขณะที่ตนยังดำรงตำแหน่งอยู่จะไม่มีการเปิด อ.บางสะพาน เป็นเขตประกอบการอุตสาหกรรมแต่อย่างใด

จาก http://www.khaosod.co.th  วันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ดัชนีเชื่อมั่นต่ำสุด7เดือน พิษเงินแข็ง-พืชเกษตรตก หุ้นปิดลบ8จุด"หลุด1,590"

ดัชนีความเชื่อมั่น เม.ย.2556 หล่นต่ำสุดในรอบ 7 เดือน เหตุคนกังวลบาทแข็ง ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ศูนย์วิจัยธนาคารไทยพาณิชย์ประเมินส่งออกปี 56 โต 7.1% คาดสิ้นปีบาทแข็ง 28.50 บาทต่อดอลลาร์ หุ้นปิดรูด 8 จุด หลุดแนวรับ 1,590 จุดอีกรอบ

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือน เม.ย.2556 ค่าดัชนีปรับลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน โดยอยู่ที่ระดับ 83.7 จากเดือน มี.ค.2556 ที่ระดับ 84.8 เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เงินบาทแข็งค่าขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออก การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในอนาคต

ประกอบกับความกังวลด้านราคาพืชผลทางการเกษตรจะตกต่ำเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555 ที่ราคาลดลงมากกว่า 20% โดยเฉพาะยางพาราและปาล์มน้ำมัน รวมทั้งความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังคงมีกระแสการแก้ไข พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

“ในภาคของอุตสาหกรรมเริ่มเห็นผลกระทบจากค่าเงินบาทแล้ว โดยเฉพาะกลุ่มซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว สิ่งทอ เฟอร์นิเจอร์ และสินค้าเกษตร ซึ่งล้วนเป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มคนจำนวนมากในประเทศ ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทในการส่งออกสินค้าและมีผลต่อยอดขายและรายได้แล้ว และหากปล่อยไว้นานกว่านี้จะมีผลกระทบไปทั้งอุตสาหกรรมนั้นๆ ซึ่งบางรายอาจถึงขั้นต้องปิดกิจการได้ และลูกจ้างในอุตสาหกรรมนั้นๆ จะได้รับผลกระทบตามมา” นายธนวรรธน์กล่าว

ทั้งนี้ มองว่าหากค่าเงินบาทยังแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องหลุดกรอบ 28 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และผันผวน อาจส่งผลให้การส่งออกจะขยายเพียง 3% และจะทำให้เศรษฐกิจไทยลดลงเหลือเพียง 4-4.5% ได้

น.ส.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ หัวหน้าศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้ยังมีศักยภาพ โดยไตรมาส 1 ขยายตัว 6% และไตรมาส 2 น่าจะขยายตัว 3.5% ส่วนทั้งปีนี้จะขยายตัวได้ 5.1% โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักมาจากการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนที่แข็งแกร่ง และการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องจากภาครัฐ เช่น โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาทที่คาดว่าปีนี้จะมีการเบิกจ่ายเงินราว 7% หรือประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท และการลงทุนโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ที่คาดว่าจะมีการเบิกจ่ายปีนี้ราว 7 หมื่นล้านบาท
ส่วนการส่งออกไตรมาส 1 ขยายตัวเพียง 4.3% และน่าจะเพิ่มเป็น 4.5% ในไตรมาส 2 โดยจะฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป ทำให้ทั้งปีขยายตัว 7.1% ต่ำกว่าที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าไว้ที่ 9% ซึ่งการส่งออกยังต้องเผชิญกับความท้าทายจากทั้งความอ่อนแอของเศรษฐกิจโลก และการแข็งค่าของเงินบาท ซึ่งประเมินว่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าอยู่ที่ระดับ 28.50-29 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงสิ้นปีนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การลงทุนในตลาดหุ้นไทยวันที่ 2 พ.ค. มีความผันผวนค่อนข้างมาก โดยเฉพาะช่วงประมาณ 15.00 น. ที่ตลาดรับรู้ข่าวว่า นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะแถลงข่าวเกี่ยวกับการแข็งค่าของเงินบาท และมีการวิพากษ์วิจารณ์ไปถึงการปลดผู้ว่าการ ธปท. โดยดัชนีลงไปต่ำสุดที่ 1,588.04 จุด และปิดที่ 1,589.19 จุด ลดลง 8.67 จุด มูลค่าการซื้อขาย 56,862.08 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันขายสุทธิ 1,977.83 ล้านบาท บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ซื้อสุทธิ 4.89 ล้านบาท ต่างชาติขายสุทธิ 151.86 ล้านบาท และรายย่อยซื้อสุทธิ 2,124.80 ล้านบาท โดยดัชนีหลุดแนวรับที่ 1,590 จุดอีกครั้ง.

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

สินค้าเกษตรทรุดบาทแข็งไม่หยุด จี้พัฒนาคุณภาพสร้างแบรนด์หาตลาดใหม่รับมือ

บาทแข็งกระทบสินค้าเกษตร ทั้งข้าว ยาง มัน และสินค้าประมง ยอดส่งออกไตรมาสแรกลด 7.6 พันล้านบาท "จารึก สิงหปรีชา" ชี้หากค่าเงินแข็งถึง 10% จะกระทบหนัก เหตุต้นทุนการผลิตไทยสูงกว่าคู่แข่งอยู่แล้ว แนะทางออกต้องพัฒนาคุณภาพสินค้า สร้างเอกลักษณ์ของแบรนด์และการขยายตลาดใหม่

ดร.จารึก สิงหปรีชา ผู้อำนวยการศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร เปิดเผยว่า สถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากอัตราแลกเปลี่ยน 30.07 บาท/ดอลลาร์สหรัฐในเดือนมกราคม 2556 แข็งค่าขึ้นเป็น 28.62 บาท/ดอลลาร์สหรัฐในเดือนเมษายนนี้ ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรเฉพาะในไตรมาสแรกของปี 2556 ไทยมีมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตร 179,772 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสแรกของปี 2555 จำนวน 7,694.28 ล้านบาท และมีอัตราการเจริญเติบโตลดลง 3.12% บวกกับแรงผลักจากค่าเงินบาทแข็งตัว ทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรลดลง 4.28% สินค้าเกษตรที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง และสินค้าประมง ถ้าค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าอย่างต่อเนื่องจนถึงเดือนพฤษภาคมจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกผลไม้ ไก่เนื้อ มันสัมปะหลังจากเดือนมกราคม-เมษายน 2556 เงินบาทแข็งค่าขึ้นคิดเป็น 7.44% หากค่าเงินบาทแข็งค่าถึง 27 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จะคิดเป็น 10% และส่งผลกระทบมากเพราะประเทศคู่แข่งมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าไทย

อยู่แล้ว บวกกับเงินบาทแข็งค่ายิ่งจะทำให้ความสามารถในการแข่งขันของไทยต่ำลง และคาดว่าในปีนี้จะมีปัญหาภัยแล้งทำให้ผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการ ยิ่งจะซ้ำเติม

ให้ราคาสินค้าสูงขึ้นไปอีก ไม้ผลซึ่งเป็นพืชที่ต้องการน้ำมากก่อนการเก็บผลผลิตจะได้รับผลกระทบมากที่สุด

ทั้งนี้ การประเมินความได้เปรียบ-เสียเปรียบทางการค้า นอกจากจะเทียบค่าเงินบาทกับเงินดอลลาร์สหรัฐแล้ว ยังต้องเปรียบเทียบกับประเทศคู่ค้าอื่น ๆ ที่สำคัญ เช่น ค่าเงินหยวนของจีน ค่าเงินเยนของญี่ปุ่น และค่าเงินยูโรของยูโรโซน ซึ่งเมื่อเทียบการเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาทกับเงินทั้ง 3 สกุลนี้ พบว่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นทั้งหมด ดังนั้น จึงทำให้สินค้าไทยที่ส่งไปขายยังประเทศจีน ญี่ปุ่น และยูโรโซน มีปัญหาราคาสูงขึ้น ความสามารถทางการแข่งขันในตลาดลดลง

อย่างไรก็ตาม การที่เงินบาทแข็งค่าไม่ส่งผลกระทบรุนแรงนัก เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนแข็งแรง เศรษฐกิจขยายตัว ค่าเงินของประเทศสมาชิกอาเซียนก็แข็งค่าขึ้นเช่นกัน เพียงแต่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นในอัตราที่สูงกว่าประเทศอื่น

การที่เงินบาทแข็งค่าไม่ได้มีผลเสียเพียงอย่างเดียว แต่ผลดีคือเกษตรกรและผู้ประกอบการสามารถนำเข้าเครื่องจักรได้ในราคาถูก ซึ่งการนำเครื่องจักรมาใช้ในการเกษตรจะช่วยลดต้นทุนการผลิตในระยะยาว แต่เกษตรกรรายใหญ่และผู้ส่งออกเท่านั้นที่มีกำลังซื้อ ส่วนผลดีอีกอย่างหนึ่งน้ำมันราคาถูกลง

ดร.จารึกกล่าวอีกว่า ยางพาราที่มีปัญหาราคาตกต่ำอยู่ตอนนี้ไม่ได้เป็นผลจากเงินบาทแข็งค่าอย่างเดียว แต่เป็นผลมาจากสภาพเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศผู้ซื้อสินค้าจากจีนชะลอการซื้อ ทำให้จีนชะลอซื้อยางเข้าสต๊อกด้วย ส่วนข้าวได้รับผลกระทบมาก เนื่องจากราคาข้าวไทยสูงอยู่แล้ว เมื่อเงินบาทแข็งค่าขึ้นจึงส่งผลให้ราคาข้าวสูงขึ้นอีก ประกอบกับการที่เวียดนามใช้การลดราคาข้าวเป็นกลยุทธ์ในการทำตลาด ทำให้ประเทศผู้บริโภคไม่ซื้อข้าวไทย

สำหรับข้อเสนอแนะ คือ ภาครัฐต้องส่งเสริมการพัฒนาการผลิต และการบริหารจัดการสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพมาตรฐาน สอดคล้องกับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ เพราะราคาสินค้าสูงขึ้น ผู้ซื้อก็คาดหวังจะได้สินค้าคุณภาพดี ส่งเสริมการบริโภคในประเทศให้มากขึ้น เร่งรัดการจัดทำโซนนิ่ง

เกษตรเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างการผลิตกับการตลาด และส่งเสริมให้มีการบริโภคในประเทศมากขึ้น

ส่วนผู้ส่งออกต้องพัฒนาคุณภาพสินค้า สร้างเอกลักษณ์ของแบรนด์ ยกระดับมาตรฐานสินค้าให้มีมูลค่าเพิ่ม ภาครัฐและเอกชนต้องร่วมกันบริหารจัดการความเสี่ยง โดยแนวทางที่จะช่วยลดผลกระทบคือการขยายตลาดส่งออกใหม่ ๆ ในภูมิภาคอาเซียนและตะวันออกกลาง

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 2 พฤษภาคม 2556

เช็กบิลรง.สร้างก่อนอนุญาต กรมโรงงานฯปรับแล้ว 213 ราย/ชี้ล่าช้ามีปัญหาต่อต้าน

ไล่เช็กบิลโรงงานก่อสร้างก่อนได้รับอนุญาตรง.4 สั่งปรับแล้ว 213 ราย เตือนผู้ประกอบการปฏิบัติให้ถูกขั้นตอน อย่าเข้าใจผิดยื่นขอแล้วตั้งโรงงานได้เลย ยืนยันการออกใบอนุญาตล่าช้ามาจากเอกสารไม่ครบและมีปัญหาต่อต้าน ล่าสุดยอดขอตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนยังค้างอีก 73 ราย กำลังผลิต 429 เมกะวัตต์ ผู้ประกอบการอ้อนให้เห็นใจอนุมัติโดยเร็ว

นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม และโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงปัญหาการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมก่อนที่จะได้รับใบอนุญาตว่า ที่ผ่านมาผู้ประกอบการยังขาดความเข้าใจเกี่ยวกับการตั้งโรงงาน และมองว่าการก่อสร้างสามารถดำเนินการควบคู่ระหว่างที่ยื่นขออนุญาตได้ ซึ่งจากข้อมูลตั้งแต่เดือนตุลาคม 2555 จนถึงปัจจุบันพบว่ามีโรงงานที่ก่อสร้างก่อนจะได้รับใบอนุญาตหรือรง. 4 จำนวน 213 ราย อยู่ในภูมิภาค 207 ราย และเขตกรุงเทพ มหานคร 6 ราย

"ขณะนี้ทางกรมได้ดำเนินคดีและปรับเงินในข้อหากระทำผิดการตั้งโรงงานกับผู้ประกอบการทั้งหมดแล้ว โดยได้กำชับและเตือนโรงงานที่จะตั้งใหม่จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายทุกขั้นตอน ซึ่งยืนยันว่า หากแต่ละรายดำเนินการตามขั้นตอน และจัดทำรายละเอียดให้เป็นไปตามกฎหมาย จะได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการแน่นอน แต่ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการส่วนมากไม่เข้าใจถึงขั้นตอน โดยเข้าใจว่าเมื่อขอใบอนุญาตแล้วก็สามารถตั้งโรงงานได้เลย ดังนั้นจึงขอให้ผู้ประกอบการได้ทราบข้อเท็จจริงว่า เมื่อขอใบอนุญาตแล้วจะต้องรอให้กรมดำเนินการตามขั้นตอนให้แล้วเสร็จก่อนจึงจะก่อสร้างโรงงานได้"

ส่วนปัญหาความล่าช้าในการออกใบอนุญาตตั้งโรงงานของกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนนั้น ขณะนี้มีโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการพิจารณา 73 โรง รวมกำลังการผลิต 429.23 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 45 โรง รวมกำลังการผลิต 192.38 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าชีวมวล 14 โรง รวมกำลังการผลิต 207.35 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าชีวภาพ 14 โรง รวมกำลังการผลิต 29.5 เมกะวัตต์ ซึ่งในจำนวนนี้ ได้เสนอเรื่องให้คณะกรรมการกลั่นกรองอนุญาตโรงงานบางประเภทที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ที่มีนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน เพื่อพิจารณาและอนุมัติไปแล้ว ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าชีวมวล 8 โรง พลังงานแสงอาทิตย์ 20 โรง และโรงไฟฟ้าชีวภาพ 2 โรง

สำหรับสาเหตุที่เรื่องยังค้างอยู่เป็นจำนวนมากเนื่องจากกรมต้องใช้เวลาในการตรวจสอบผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการก่อสร้างทับที่สาธารณะหรือไม่ รวมถึงบางกรณียังมีการร้องเรียนของชุมชน บางเรื่องยื่นมาตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งเกินเวลา 90 วันนับแต่วันที่ได้ยื่นเอกสาร แต่ตามเกณฑ์แล้ว กรม หรือ คณะกรรมการกลั่นกรองจะพิจารณาให้เสร็จนับแต่วันที่เอกสารและหลักฐานครบ ซึ่งปัญหาที่พบหลักๆ คือการยื่นเอกสารไม่ครบ พื้นที่ก่อสร้างทับที่สาธารณะรวมถึงมีปัญหาร้องเรียน เช่น กรณีโรงไฟฟ้าของบริษัท ไทยโพลิคอนส์ จำกัด (มหาชน) ที่ยื่นขอตั้งโรงไฟฟ้า 4 แห่ง แต่ออกใบอนุญาตได้เพียง 1 แห่ง ขณะที่อีก 3 แห่งยังมีปัญหาประชาชนในพื้นที่คัดค้าน กรมจึงยังไม่สามารถออกใบอนุญาต รง.4 ได้ เป็นต้น

ด้านนายเชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล กรรมการฝ่ายพัฒนาธุรกิจและนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัทไทยโพลิคอนส์ จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า บริษัทได้รับใบอนุญาต รง.4 เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล ภายใต้ชื่อบริษัทช้างแรก ไบโอพาวเวอร์ จำกัด ที่ตั้งอยู่ในตำบลนาโพธิ์ อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อปี 2553 จากนั้นดำเนินการก่อสร้างจนแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการในวันที่ 15 มีนาคม 2556 ที่ผ่านมา โดยผลิตไฟฟ้า 9.5 เมกะวัตต์

"บริษัทมีแผนจะลงทุนโรงไฟฟ้าพื้นที่ใกล้เคียงกันในตำบลทุ่งสังห์ อำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช โรงไฟฟ้าอำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบ คีรีขันธ์ และโรงไฟฟ้าที่อำเภอมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร ขนาดกำลังการผลิตแห่งละ 9.5 เมกะวัตต์ เพราะเห็นว่ามีตอยางพาราซึ่งเป็นวัตถุดิบป้อนโรงงานได้เพียงพอ เนื่องจากในจังหวัดนคร ศรีธรรมราชมีการปลูกยางพาราอยู่ 1.45 ล้านไร่และเพิ่มขึ้นทุกปี มีอัตราการตัดโค่นปีละ 2% หรือ 3 หมื่นไร่ ซึ่งแต่ละไร่ให้ตอยางอยู่ 8 ตัน ทำให้มีตอยางเป็นวัตถุดิบปีละ 2.4 แสนตัน ปัจจุบันโรงงานช้างแรก ใช้อยู่ 1 แสนตันต่อปี ดังนั้นการเปิดโรงงานอีกแห่งก็ไม่มีปัญหาเรื่องวัตถุดิบ"

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาบริษัทได้ยื่นเอกสารขออนุญาตตั้งโรงงานไปนานแล้ว 3 แห่ง แต่ยังไม่ได้รับการพิจารณา เนื่องจากทางกรมเห็นว่ายังมีการคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าอยู่ ซึ่งทางบริษัทก็ได้ทำความเข้าใจกับชาวบ้านในพื้นที่มาโดยตลอดแต่ก็ยังไม่สามารถได้ข้อยุติ ซึ่งจุดนี้อยากให้กรมพิจารณาให้ถ้วนถี่ถึงปัญหาการต่อต้านจริงๆ ว่าเกิดมาจากอะไรแน่ หากโรงไฟฟ้าเกิดขึ้นได้จะสร้างรายได้ให้กับบริษัทได้แห่งละประมาณ 200 ล้านบาทต่อปี

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 2 พฤษภาคม 2556

อุตฯเล็งลอยราคาน้ำตาลทรายรับเออีซี

อุตสาหกรรม ดันตั้งคณะทำงานปรับโครงสร้างอุตฯ อ้อยและน้ำตาลทราย หวังเปิดเสรีราคาน้ำตาล รับเออีซี เผยเตรียมนำร่องลอยตัวราคาน้ำตาลทรายโควตา ก.ในฤดูผลิตปี 2556/2557 ด้านหีบอ้อยมีลุ้นแตะ 100 ล้านตัน ล่าสุดทำ 99.68 ล้านตัน

แหล่งข่าวจาก คณะกรรม การอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เปิดเผยว่า จากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้สั่งการให้กระทรวงอุต สาหกรรมไปเร่งนำผลการศึกษา การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มาประกอบการพิจาร ณาโดยต้องการให้ทันฤดูการผลิต ปี 2556/2557 เพื่อรองรับการก้าว สู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ปี 2558 และเปิดเสรีราคา น้ำตาลทราย ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมได้แต่งตั้งคณะทำ งานปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายขึ้น โดยมี นางอรรชกา สีบุญเรือง รองปลัด กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน

"ดำเนินงานคงจะทันในฤดู หีบปี 2556/2557 ในบางเรื่องเท่า นั้น เนื่องจากขณะนี้โรงงานน้ำ ตาลทรายไม่เห็นด้วยกับการศึกษาของทีดีอาร์ไอโดยสิ้นเชิง ขณะที่ ชาวไร่อ้อยเองยังต้องขอเวลาศึก ษาก่อน คาดว่าหากจะดำเนินการ ได้น่าจะเป็นการลอยตัวราคาน้ำ ตาลทรายบริโภคในประเทศ (โคว ตา ก.) แต่ก็ไม่ง่ายนัก เพราะเครื่องมือในการดูแลการฮั้วราคาของผู้ ผลิตและผู้ค้าอยู่ที่กระทรวงพา ณิชย์ ซึ่งเมื่อลอยตัวจะต้องมั่นใจว่าจะไม่เกิดระบบผูกขาด ขณะเดียวกันจะกำหนดกรอบราคาอย่าง ไร ยังคงควบคุมราคาหน้าโรงงานหรือไม่ด้วย" แหล่งข่าวกล่าว

สำหรับการเปิดหีบอ้อยฤดูการผลิตปี 2555/2556 ตั้งแต่ 15 พ.ย.2555 ที่ผ่านมา จนถึงล่าสุดสิ้นเดือน เม.ย.2556 พบว่า มีปริมาณอ้อยเข้าหีบสูงถึง 99.68 ล้านตัน ซึ่งถือเป็นสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากเดิมทำไว้ในฤดูหีบที่แล้วที่ 97.98 ล้านตัน โดยยังมีลุ้นโรงงานที่ยังเหลือหีบอีกส่วนหนึ่ง โดยรวมจึงคาดว่ามีโอกาสจะแตะระดับ 99.9-100 ล้านตันได้

นายชัยวัฒน์ คำแก่นคูณ ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน กล่าวว่า ในเร็วๆ นี้ชาวไร่อ้อยจะต้องนัดหารือกันถึง ทิศทางการปรับโครงสร้างอุตสาห กรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของกระทรวงอุตสาหกรรม ว่าควรจะดำเนินการไปในทิศทางใดแน่ ซึ่งคิดว่าคงจะไม่ทันใช้ในฤดูหีบหน้า แต่อาจทำได้เป็นเพียงบางเรื่อง.

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ลุ้นผลผลิตอ้อยจ่อ 100 ล.ตัน

นายชัยวัฒน์ คำแก่นคูณ ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน กล่าวว่า มีโอกาสที่จะเห็นอ้อยปีนี้แตะระดับ 100 ล้านตันได้ เพราะขณะนี้ยังมีโรงงานบางแห่งเปิดหีบอยู่ ซึ่งปัจจัยที่ทำให้อ้อยเพิ่มกว่าที่คิดไว้ เนื่องจากมีเกษตรที่ปลูกมันสำปะหลังหันมาปลูกอ้อยแทน และไม่ได้ทำสัญญาส่งอ้อยให้กับโรงงานโดยใช้วิธีขายเงินสดกับนายหน้า จึงทำให้ตัวเลขเหล่านี้ไม่อยู่ในระบบ

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เปิดเผยว่า การเปิดหีบอ้อยฤดูการผลิตปี 55/56 ตั้งแต่ 15 พ.ย.55 ที่ผ่านมา จนถึงล่าสุดสิ้นเดือน เม.ย.56 พบว่า มีปริมาณอ้อยเข้าหีบสูงถึงประมาณ 99.68 ล้านตัน ซึ่งถือเป็นสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์จากเดิมทำไว้ในฤดูหีบที่แล้ว ที่ 97.98 ล้านตัน โดยยังมีลุ้นโรงงานที่ยังเหลือหีบอีกส่วนหนึ่งโดยรวมจึงคาดว่ามีโอกาสจะแตะระดับประมาณ 99.9-100 ล้านตันได้

"แม้ว่าอ้อยเราจะผลิตได้เกินเป้าหมายค่อนข้างมากแต่หากมองผลผลิตน้ำตาลทรายก็ถือว่าไม่ได้สูงขึ้นมากนักเพราะเจอภัยแล้งทำให้ค่าความหวานลดลงและให้อ้อยต่อตันได้น้ำตาลประมาณ 100.37 กิโลกรัม จากเดิมที่คาดว่าน่าจะได้เฉลี่ยอยู่ที่ 103 กก.ต่อตันอ้อย" แหล่งข่าวกล่าว

อย่างไรก็ตามปี 2558 ไทยจะก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ทำให้ล่าสุดกระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมที่จะตั้งคณะทำงานปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายขึ้นโดยมี นางอรรชกา สีบุญเรือง รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน และมีกรรมการจากหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ เป็นไปตามมติ ครม.ที่ได้สั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรมไปเร่งนำผลการศึกษาการปรับโครงสร้างอุตฯ อ้อยและน้ำตาลของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (TDRI) มาประกอบการพิจารณาโดยต้องการให้ทันฤดูการผลิตปี 56/57 นี้

แหล่งข่าว กล่าวว่า คาดว่าการดำเนินงานคงจะทันในฤดูหีบปี 56/57 ในบางเรื่องเท่านั้น เนื่องจากขณะนี้ โรงงานน้ำตาลทรายไม่เห็นด้วยกับการศึกษาของ TDRI โดยสิ้นเชิง ขณะที่ชาวไร่อ้อยเองยังต้องขอเวลาศึกษาก่อน ซึ่งเบื้องต้นคาดว่า หากจะดำเนินการได้น่าจะเป็นการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายบริโภคในประเทศ (โควตา ก.) แต่ก็ไม่ง่ายนัก เพราะเครื่องมือในการดูแลการฮั้วราคาของผู้ผลิตและผู้ค้าอยู่ที่กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเมื่อลอยตัวจะต้องมั่นใจว่าจะไม่เกิดระบบผูกขาด ขณะเดียวกัน จะกำหนดกรอบราคาอย่างไร ยังคงควบคุมราคาหน้าโรงงานหรือไม่ ฯลฯ

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

รายเล็กเร่งปรับตัวสู่เออีซีชูจัดการต้นทุนสินค้า-เพิ่มฝีมือแรงงานติวเข้มภาษาเจาะตลาดภูมิภาค

เอสเอ็มอีทุกกลุ่มพร้อมเร่งปรับตัวรับเออีซี ชี้ต้องเร่งจัดการต้นทุนฝีมือแรงงาน พร้อมเพิ่มมูลค่าสินค้า

นายสมชาย หาญหิรัญ รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากการสำรวจการปรับตัวของผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) พบว่าเอสเอ็มอี 83.5% เห็นว่าธุรกิจมีความจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่เออีซี และปัจจัยที่ผู้ประกอบการเห็นว่ามีความสำคัญต่อการปรับตัวเป็นอันดับแรก 91.5% คือ การบริหารต้นทุนและราคา รองลงมา 77.8% คือการปรับตัวด้านภาษา และอีก 71.2% เป็นการเจาะตลาดในกลุ่มประเทศอาเซียน

ทั้งนี้ หนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีการปรับตัวได้เร็วที่สุด คืออุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติก โดย 82.4% มีการปรับตัวและกำลังปรับตัวเนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่ผลิตสินค้าเป็นวัตถุดิบขั้นกลางของอุตสาหกรรมอื่นๆเช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งต้องการสินค้าที่มีคุณภาพอีกทั้งผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีความรู้และกระบวนการผลิตใช้เทคโนโลยีในระดับทันสมัย

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องใช้ที่มีไฟฟ้ามีการปรับตัวแล้ว55.5%ส่วนอุตสาหกรรมที่มีการปรับตัวช้า คืออุตสาหกรรมเครื่องหนังเซรามิก และผลิตภัณฑ์ไม้ เป็นต้น

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการมองว่าปัจจัยที่ต้องเร่งปรับตัวอย่างเร่งด่วน ได้แก่ การจัดการเรื่องราคาต้นทุนสินค้าให้สามารถแข่งขันได้เช่น ต้นทุนด้านโลจิสติกส์ สินค้าคงคลังฝีมือแรงงาน รวมถึงการเพิ่มมูลค่าในสินค้า

ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการไทย78.6% เชื่อว่าตนเองมีความพร้อมในการเข้าสู่เออีซี และคิดว่าการปรับตัวควรจะพิจารณาตลอดห่วงโซ่อุปทานจึงจะครอบคลุมทุกกลุ่มเอสเอ็มอี

นายสมชาย กล่าวอีกว่า ปัจจัยทางด้านภาษายังเป็นปัจจัยที่จำเป็นต่อเอสเอ็มอีในการเข้าสู่เออีซี แต่การปรับตัวยังอยู่ในระดับต่ำหรือประมาณ 25% ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องหาแนวทางเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน โดยปรับลดต้นทุนการผลิต พัฒนาเทคโนโลยีให้ทันสมัย พัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการฝีมือแรงงาน และทักษะด้านภาษาให้ดีขึ้นรวมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจในด้านต่างๆ ของอาเซียน เช่น กฎหมายกฎระเบียบ ความต้องการสินค้า และรสนิยมการบริโภคของประเทศในอาเซียน เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมมีมาตรการและโครงการที่รองรับและสนับสนุนในการปรับตัวรับเออีซี เช่น โครงการภายใต้แผนงานเพิ่มผลิตภาพ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการเจาะตลาดของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม โครงการเตรียมความพร้อมและการสร้างเครือข่ายธุรกิจอุตสาหกรรมเพื่อเข้าสู่เออีซีของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ซึ่งมีโรงงานที่เข้าร่วมโครงการจำนวนมาก

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ปุ๋ยสั่งตัด ช่วยลดต้นทุน

รายงานจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการสำรวจกลุ่มเกษตรกรศูนย์ข้าวชุมชนตำบลห้วยขมิ้น อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี ซึ่งนำเทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” มาทดลองใช้ในการเพาะปลูกพบว่า สามารถลดปริมาณการใช้ปุ๋ยในนาข้าวได้ โดยในปี 2550 ใช้ปุ๋ยเคมีประมาณ 95 กิโลกรัมต่อไร่ คิดเป็นค่าปุ๋ย 1,283 บาท/ไร่ เมื่อเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยสั่งตัด ในช่วงปี 2551-2555 พบว่า มีการใช้ปุ๋ยเคมีประมาณ 33 กิโลกรัมต่อไร่ คิดเป็นค่าปุ๋ย 610 บาท/ไร่ ทำให้ลดค่าปุ๋ยได้ไร่ละ 673 บาท

สำหรับการใช้ปุ๋ยสั่งตัดนั้น จะต้องตรวจสอบชุดดิน เก็บตัวอย่างดินมาวิเคราะห์เพื่อหาสัดส่วนปุ๋ยเคมีที่เหมาะสมในแต่ละแปลง โดยเกษตรกรจะผสมปุ๋ยเคมีเองตามผลการวิเคราะห์ดิน กลุ่มเกษตรกรจะสั่งซื้อปุ๋ยเคมีจากผู้ผลิตโดยตรง ทำให้สามารถซื้อปุ๋ยเคมีได้ในราคาที่ต่ำลง เมื่อปี 2550 กลุ่มเกษตรกรซื้อปุ๋ยเคมีจำนวนเงิน 1.7 ล้านบาท และในปี 2555 กลุ่มเกษตรกรซื้อปุ๋ยเคมีลดลงเหลือ 1 ล้านบาท หรือลดลง ร้อยละ 44 นอกจากนี้ พบว่า ในปี 2551 มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการปุ๋ยเคมีสั่งตัด จำนวน 5 ราย เนื้อที่ปลูกข้าว 237 ไร่ และในปี 2555 พบว่า มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นเป็น 52 ราย เนื้อที่ปลูกข้าว 3,160 ไร่ หรือเพิ่มขึ้น 10 เท่า และ 13 เท่า ตามลำดับ

นอกจากการใช้เทคโนโลยีปุ๋ยสั่งตัด กลุ่มเกษตรกรยังมีการปรับปรุงบำรุงดินด้วยการใช้ปุ๋ยพืชสด รวมทั้งใช้เทคโนโลยีการตีดินเพื่อให้วัชพืชลดลง มีการป้องกันกำจัดศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน และลดการเผาฟางข้าว ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวส่งผลให้การปลูกข้าวในช่วงปี 2551-2555 มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ยต่อไร่ลดลงจากปี 2550 ประมาณร้อยละ 10 และผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 2 พฤษภาคม 2556

ต้นทุนการผลิตภาคเกษตรเพิ่มขึ้น

รายงานจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้ดำเนินการจัดทำมาตรการลดต้นทุนการผลิต โดยมีการแต่งตั้งคณะทำงานจัดทำมาตรการลดต้นทุนสินค้าเกษตรด้านต่าง ๆ ซึ่งมีหน้าที่วิเคราะห์และกำหนดมาตรการในการลดต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตร ทั้งด้านการใช้พันธุ์ดีในปริมาณที่เหมาะสม การลดการใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมีต่าง ๆ การจัดหา และสนับสนุนการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรแทนแรงงาน เพื่อให้เป็นกลไกในการขับเคลื่อนการลดต้นทุนการผลิตในแต่ละรายสินค้า สำหรับรองรับการจัดโซนนิ่งสินค้าเกษตรที่ได้ประกาศพื้นที่เหมาะสมสำหรับสินค้า 6 ชนิดไปแล้ว และดำเนินการวิเคราะห์ความเหมาะสมของดินกับความต้องการปัจจัยการผลิตของแต่ละชนิดพืชที่สำคัญ เพื่อช่วยให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิต และผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพนั้น

สำหรับต้นทุนการผลิตพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไตรมาสแรกปี 2556 นั้น พบว่าต้นทุนการผลิตพืชเศรษฐกิจสำคัญจำนวน 36 ชนิด มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ร้อยละ 2.9- 7.1 โดยเพิ่มขึ้นมากที่สุดเป็นค่าแรงงาน คิดเป็นร้อยละ 3.7-8.4 และค่าวัสดุต่าง ๆ คิดเป็นร้อย ละ 2.3-5.8 เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการจ้างแรงงานภาคการเกษตรที่หลากหลาย เช่น การจ้างเป็นรายวัน จ้างเป็นต่อไร่ หรือจ้างเป็นต่อหน่วยของผลผลิต เป็นกิโลกรัม หรือ เป็นผล เป็นต้น จึงส่งผลให้ค่าแรงงานเพิ่มขึ้น ต้นทุนการผลิตในภาพรวมเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งหากพิจารณาเป็นกลุ่มพืชสำคัญพบว่ากลุ่มข้าว ต้นทุนการผลิตเฉลี่ยต่อไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ร้อยละ 5.6 โดยมูลค่าปัจจัยด้านแรงงานในกิจกรรมเตรียมดิน ดูแลรักษา และเก็บเกี่ยวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.2 ส่วนมูลค่าวัสดุที่เป็นปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย สารเคมีปราบวัชพืชศัตรูพืช เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3กลุ่มพืชไร่ ต้นทุนการผลิตเฉลี่ยต่อไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ร้อยละ 7.1 โดยมูลค่าปัจจัยด้านแรงงานในกิจกรรมเตรียมดิน ดูแลรักษา และเก็บเกี่ยวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.4 ส่วนมูลค่าวัสดุที่เป็นปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย สารเคมีปราบวัชพืชศัตรูพืช เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8กลุ่มไม้ผลไม้ยืนต้น ต้นทุนการผลิตเฉลี่ยต่อไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ร้อยละ 2.9 โดยมูลค่าปัจจัยด้านแรงงานในกิจกรรมเตรียมดิน ดูแลรักษา และเก็บเกี่ยวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 ส่วนมูลค่าวัสดุที่เป็นปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย สารเคมีปราบวัชพืชศัตรูพืช เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 2.3.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 2 พฤษภาคม 2556

"ทนุศักดิ์"หาช่องปลุกประกันภัยพืชผล ดีงเกษตรกร4ล้านรายร่วมโครงการ

นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้กำกับนโยบาย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า”แนวหน้า โลกธุรกิจว่า” พยายามจะให้กองทุนภัยพิบัติแห่งชาติ เข้าไปมีบทบาทในการเข้ารับประกันภัยพืชผลทางการเกษตรด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่ากองทุนภัยพิบัติไม่สามารถทำได้ ซึ่งได้เช็คแล้วปรากฎว่าผู้ที่เกี่ยวข้องปฏิเสทว่าไม่ได้ให้ข่าวไปแบบนั้น

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าได้คุยกับผู้เกี่ยวข้องหลายๆฝ่ายแล้ว ทั้งตัวคปภ.เอง บริษัทประกัน และที่ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ซึ่งทุกคนได้ตกลงร่วมกันที่จะไปหาแนวทางเพื่อให้เกิดการประกันภัยพืชผลให้ได้ ส่วนกองทุนภัยพิบัติจะเขาไปไปมีบทบาทอย่างไรได้บ้างกับเรื่องนี้ต้องรอผลการศึกาก่อน

“จากการได้คุยกัน หากว่าเกษตรกรทั้ง 4 ล้านรายเข้าโครงการ บริษัมประกันก็พร้อมที่จะเข้ามารับประกันภัยพืชผลทางการเกษตร ส่วนที่ต้องทำตอนนี้คือ ต้องหามาตรฐานในการเคลมประกัน การกำหนดเบี้ยประกันที่เป็นธรรม การประกาศให้พื้นที่ใดที่เป็นเขตภัยพิบัติที่ต้องมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน ที่สำคัญเพื่อเป็นการจูงใจให้เกษตรกรเข้าโครงการ รัฐบาลอาจจะช่วยจ่ายเบี้ยให้ครึ่ง ”

นายทนุศักดิ์ กล่าวอีกว่า แต่ละปีรัฐบาลต้องเสียเงินงบประมาณเพื่อชดเชยความเสียหายให้เกษตรกรปีละร่วมแสนล้านบาท ทั้งผลที่เกิดจากภัยแล้ง น้ำท่วม ราคาตกต่ำ ฯลฯ หากรัฐบาลกระตุ้นให้เกิดการประกันภัยพืชผลได้ ก้จะสามารรถกระหยัดงบมาณได้จำนวนมาก ถึงแม้ว่าจะจะต้องเอาเงินมาอุดหนุนเบื้องต้นให้โครงการฯเดินได้ ก็จะใช้ไม่มากเท่าที่จะต้องจ่ายชดเชยเหมือนที่ทำอยู่ตอนนี้

ส่วนความคืบหน้าของกองทุนภัยพิบัติล่าสุด ยอดการจำหน่ายประกันภัยพิบัติเพื่อป้องกันน้ำท่วมในช่วง 5 เดือนแรกหลังจากการตั้งกองทุน มียอดจำหน่ายเบี้ยประกันภัย 10,000 ราย รวมเป็นเงินเบี้ยประกันภัย 100,000 ล้านบาท และเมื่อถึงเดือนตุลาคม จะเป็นช่วงครบกำหนดอายุกรมธรรม์ประกันภัย น่าจะมียอดจำหน่าย 200,000 ล้านบาท

ด้านผู้อำนวยการกองทุนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวยอมรับว่าการซื้อประกันภัยพิบัติแยกจากบริษัทประกันภัยเอกชน หากเป็นพื้นที่เสี่ยงถูกน้ำท่วมเอกชนมักจะไม่ขายประกันภัยในพื้นที่ดังกล่าว บริษัทประกันภัยจึงจะส่งให้กองทุนประกันภัยพิบัติ ทำหน้าที่ในพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วม ส่วนภาคครัวเรือนคาดว่าจะมีผู้ซื้อประกันภัยพิบัติถึง 800,000 ครัวเรือน เนื่องจากเบี้ย ประกันภัยถูกเพียง 500 บาท วงเงินคุ้มครอง 100,000 บาท

ด้าน นายกิตติรัตน์ ณ.ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีการจำหน่ายเบี้ยประกันภัยพิบัติแก่ผู้ประสบปัญหาอุทกภัยว่า ดีขึ้นต่อเนื่องแต่ไม่ถึงกับมีการซื้อจำนวนมาก และยอมรับว่ายอดจำหน่ายที่ดีขึ้น เพราะเบี้ยประกันภัยจากเดิมที่เคยอยู่ในระดับสูงในช่วงประสบปัญหา และบริษัทประกันต่อในต่างประเทศไม่ยอมรับประกันภัย หลังจากรัฐบาลเดินหน้าป้องกันน้ำท่วมผ่านโครงการต่างๆ ทำให้ทุกฝ่ายมีความมั่นใจมากขึ้นจนเบี้ยประกันภัยลดลง

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไม่ได้มีเป้าหมาย เน้นการซื้อประกันภัยผ่านกองทุนภัยพิบัติแห่งชาติ เพราะต้องการให้การขายประกันภัยของภาคเอกชน เป็นตัวทำงานผ่านกลไกตลาด แต่ถึงกระนั้นยอมรับกองทุนภัยพิบัติยังมีความจำเป็น เพราะยอดซื้อยังเพิ่มต่อเนื่อง แม้จะมีการสร้างเขื่อนรอบนิคมอุตสาหกรรม แต่เพื่อต้องการดำเนินธุรกิจภาคเอกชน ยังจำเป็นต้องซื้อประกันภัย

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 2 พฤษภาคม 2556

เงินเฟ้อ เม.ย.ต่ำสุดรอบ 41 เดือน

เงินเฟ้อ เม.ย.56 เพิ่ม 2.42% ต่ำสุดรอบ 41 เดือนนับตั้งแต่ปี 52 หลังบาทแข็ง ทำให้ราคาน้ำมันและสินค้าถูกลง แต่อาหารสดแพงขึ้น เพราะเจอภัยแล้งเล่นงานหนัก ขณะที่ พาณิชย์มั่นใจทั้งปีเงินเฟ้อแค่ 3.1-3.2% ชี้หน้าฝนอาหารถูกลง

นางวัชรี วิมุกตายน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป หรือเงินเฟ้อทั่วไปเดือนเม.ย.56 อยู่ที่ 104.90 สูงขึ้น 0.16 เมื่อเทียบกับเดือนมี.ค.56 และสูงขึ้น 2.42% เมื่อเทียบกับเม.ย.55 ซึ่งถือเป็นการสูงขึ้นในอัตราต่ำสุดรอบ 41 เดือน นับตั้งแต่เดือน พ.ย.52 ที่เพิ่มขึ้น 1.9% ส่งผลให้ยอดเงินเฟ้อเฉลี่ย 4 เดือนแรกของปี 56 สูงขึ้น 2.92% โดยมีสาเหตุมาจากราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลง ประกอบกับเงินบาทแข็งค่าขึ้น ทำให้ราคาพลังงานในประเทศปรับลด และส่งผลให้ราคาสินค้าโดยรวมไม่ขยับตัวสูงขึ้นนัก ขณะเดียวกันภาครัฐยังคงมาตรการดูแลราคาสินค้าและพลังงานด้วย

“แต่อย่างไรก็ดี ยอมรับว่า เดือนนี้ราคาอาหารสดสูงขึ้นค่อนมาก เนื่องจากหลายพื้นที่ประสบปัญหาสภาพอากาศร้อนจัดและภัยแล้งขยายวงกว้าง ทำให้ปริมาณผลผลิตโดยรวมลดลง ประกอบกับเป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์ ความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาอาหารสดปรับตัวสูงขึ้น และยังทำให้อาหารสำเร็จรูป หมวดข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์ จากแป้ง หมวดเครื่องประกอบอาหาร หมวดนมและผลิตภัณฑ์นม มีราคาสูงขึ้นตาม ยกเว้นไข่ และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ที่ราคาลดลง”

นางวัชรีกล่าวว่า การเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อในรอบ 4 เดือน ยังเป็นสถานการณ์ปกติ ตามภาวะการบริโภคที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และแนวโน้มไตรมาส 2 น่าจะเติบโตใกล้เคียงกับไตรมาสแรกที่ 3.1% และคาดว่าเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 56 จะอยู่ในกรอบที่กระทรวงพาณิชย์ คาดการณ์ไว้ที่ 2.80-3.40% แต่มีโอกาสใกล้ระดับ 3.1-3.2% มากสุด โดยราคาอาหารสดในช่วงต่อจากนี้ น่าจะปรับลดลงได้ เพราะเข้าสู่ฤดูฝนทำให้ผลผลิตผักสด เนื้อสัตว์ หมู ไก่ ปลา ออกมาสู่ตลาดเพิ่มขึ้น.

จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 1 พฤษภาคม 2556

รมว.กษ. เร่งหน่วยงานสังกัดจัดโซนนิ่งเขตเกษตรเศรษฐกิจ

รมว.กษ. ประชุมชี้แจงการดำเนินนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการกำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจ(โซนนิ่ง) ร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดระดับจังหวัดทั่วประเทศ พร้อมเน้นย้ำให้ประสานเชื่อมโยงข้อมูลการเกษตรร่วมกัน หวังสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรเพื่อก้าวสู่ประชาคมอาเซียน

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ ร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในระดับจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินนโยบายการกำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจ (Zoning) ว่า ได้มีการชี้แจงถึงแนวทางการดำเนินนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ ในการกำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจ หรือโซนนิ่ง ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ เนื่องจากการจัดพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เกษตรกรนั้น ถือเป็นความสำคัญยิ่งในการพัฒนาประเทศ ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรฯ ได้ประกาศพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการปลูกพืช ปศุสัตว์ และประมง เพื่อให้เกษตรกรสามารถผลิตสินค้าเกษตรที่เหมาะสมกับคุณภาพดิน น้ำ อากาศ อุณหภูมิ เรื่องแสงและปริมาณน้ำฝนในแต่ละพื้นที่ โดยได้ประกาศพื้นที่ที่เหมาะสม สำหรับการปลูกพืชแล้ว 8 ชนิด คือ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน สับปะรดโรงงาน และลำไย ส่วนด้านปศุสัตว์ได้ประกาศแล้ว 5 ชนิด คือ โคเนื้อ โคนม ไก่เนื้อ ไก่ไข่ และสุกร ส่วนด้านประมงอีก 3 ชนิดจะเร่งประกาศต่อไป

ทั้งนี้ หัวใจสำคัญของการกำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจ คือการจัดพื้นที่ให้มีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ทางธรรมชาติ ทั้งด้านการประมง พืช ปศุสัตว์ โดยควรคำนึงใน 4 ด้าน คือ 1.การเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิต 2.การเตรียมความพร้อมของพื้นที่ โดยแบ่งการผลิตและการตลาดให้เกิดความสมดุล 3.การสนับสนุนในเรื่องปัจจัยการผลิต ทั้งเรื่องของน้ำ และดิน 4.การเพิ่มมูลค่าด้วยการจัดการระบบการจัดส่งสินค้า(Liogistics) สำหรับในส่วนของกระบวนการ ได้มอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดของแต่ละจังหวัดส่งข้อมูลพื้นฐานแผนพัฒนาเกษตรของพื้นที่มายังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2556 โดยหลักเกณฑ์ในการกำหนดพื้นที่ให้เป็นเขตโซนนิ่งนั้น จะต้องมีความพร้อมด้านการตลาดในการรองรับผลผลิต มีเป้าหมายในการผลิตที่ชัดเจน และสามารถจำหน่ายในราคาที่เกษตรกรสามารถเลี้ยงชีพได้ อย่างไรก็ตาม หัวหน้าส่วนราชการสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ในระดับจังหวัดจะต้องประสานงานกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนราชการ ภาคเอกชน ผู้ประกอบธุรกิจในพื้นที่ เพื่อให้การพัฒนาเขตเกษตรเศรษฐกิจมีการพัฒนาไปในทิศทางเดียวกันและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่เกษตรกร แต่หากพบว่ามีพื้นที่ใดที่ไม่ได้ประกาศให้เป็นเขตโซนนิ่ง แต่มีความเหมาะสมในการเป็นเขตโซนนิ่งก็สามารถแจ้งเข้ามาที่ส่วนกลาง เพื่อให้กรมพัฒนาที่ดิน กรมประมง และกรมปศุสัตว์ ได้เข้าไปตรวจสอบความเหมาะสมของพื้นที่นั้นได้

“การดำเนินนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ ในการกำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจ ได้ให้ความสำคัญในการเชื่อมโยงข้อมูลการเกษตรและบูรณาการการทำงานร่วมกันในทุกภาคส่วน ซึ่งหัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัดสามารถเสนอแนวคิดในการพัฒนาพื้นที่โซนนิ่งในจังหวัดนั้นได้ โดยพิจารณาถึงศักยภาพ และความพร้อมในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างองค์ความรู้ทางวิชาการ การคมนาคมขนส่ง โดยต้องมีความชัดเจนในการดำเนินงานและคำนึงถึงการตลาดที่จะรองรับผลผลิตเป็นสำคัญ รวมทั้งมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้การพัฒนาประเทศในการกำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจมีความพร้อมในการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนต่อไป”

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 1 พฤษภาคม 2556

RCEP ความตกลงการค้าเสรียุคใหม่ที่น่าจับตามอง

นางพิรมล เจริญเผ่า อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จัดงานสัมมนาเรื่อง “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค” (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2556 ณ ห้อง Le Concorde Ballroom โรงแรม Swissôtel Le Concorde กรุงเทพฯ เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความตกลง RCEP และรายงานสถานะล่าสุดของการเจรจาความตกลงดังกล่าว ให้กับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไปที่สนใจรับทราบ ก่อนที่จะมีการเจรจาความตกลง RCEP อย่างเข้มข้นและเป็นทางการครั้งแรกระหว่างวันที่ 9-13 พฤษภาคม 2556 ณ กรุงบันดาร์เสรีเบกาวัน ประเทศบรูไน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของกรมฯ ที่จะรายงานความคืบหน้าของการเจรจาภายใต้ความตกลงนี้อยู่เป็นระยะๆ

นางพิรมล กล่าวว่า RCEP เป็นความตกลงการค้าเสรีระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ และประเทศนอกกลุ่มอาเซียนอีก 6 ประเทศ ได้แก่ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ โดยประเทศอาเซียนและคู่เจรจามีเป้าหมายที่จะให้การเจรจาความตกลง RCEP เป็นความตกลงยุคใหม่ โดยมีอาเซียนเป็นศูนย์กลางขับเคลื่อนการค้าและการลงทุนภายในภูมิภาค RCEP เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากพัฒนาการและโอกาสใหม่จากพลวัตรทางเศรษฐกิจและการค้าโลก

จากการที่ RCEP เป็นความตกลงระหว่าง 16 ประเทศ ทำให้ RCEP จะกลายเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีประชากรรวมกันกว่า 3,358 ล้านคน หรือคิดเป็น 50% ของประชากรโลก และมี GDP รวมกันถึง 17,100 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ข้อมูลปี 2555) หรือคิดเป็น 27% ของ GDP โลก หรือ อาจเรียกได้ว่า RCEP เป็น FTA ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดฉบับหนึ่งของโลก ที่มีศักยภาพสูงในการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระหว่างกัน โดยเฉพาะหากสามารถปรับประสานกฏกติกาทางการค้าต่างๆ ที่จะสะท้อนถึงห่วงโซ่อุปทานการผลิต (Global supply chain) ก็จะยิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนของภาคเอกชนให้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ RCEP จะครอบคลุมประเด็นใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศในปัจจุบัน เช่น การแข่งขันทางการค้า ทรัพย์สินทางปัญญา และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น อันจะเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ในการรวมตัวกันของอาเซียนกับประเทศผู้เข้าร่วม และนับเป็นก้าวสำคัญของยุทธศาสตร์การค้าระหว่างประเทศของไทยและอาเซียน

งานสัมมนาฯ ครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 2 ช่วงหลัก คือ 1) การบรรยายภาพรวม และความคืบหน้าของการเจรจาความตกลง RCEP โดยผู้เชี่ยวชาญจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และ 2) การเสวนาโต๊ะกลมของภาคเอกชน โดยวิทยากรที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญในด้านอุตสาหกรรมสินค้าเกษตร ได้แก่ คุณพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ประธานคณะกรรมการธุรกิจเกษตรและอาหาร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย,ด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ คุณเพียงใจ แก้วสุวรรณ นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย , ด้านโลจิสติกส์ คุณสมศักดิ์ วิเศษเรืองโรจน์ นายกสมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ และด้านการค้าปลีก ดร.ฉัตรชัย ดวงรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสมาคมผู้ค้าปลีกไทย มาแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับความตกลง RCEP ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไทย ความสำคัญของการมีเครือข่ายทางการค้า เตรียมความพร้อม สิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐผลักดัน ข้อกังวล ช่องทางการขยายโอกาสทางการค้า การตั้งรับ การบุกตลาด เป็นต้น

ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถเข้าไป Download เอกสารประกอบการสัมมนาได้ที่เว็บไซต์กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ www.dtn.go.th (โดยคลิกไปที่ Download> เอกสารประกอบการอบรม/สัมมนา/บรรยาย)

จาก http://www.siamturakij.com  วันที่ 1 พฤษภาคม 2556

มอบปัจจัยการผลิตด้านการพัฒนาที่ดิน

นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในการมอบปัจจัยการผลิตด้านการพัฒนาที่ดิน โครงการ ส่งเสริมการผลิตและการใช้สารอินทรีย์ลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร ณ หอประชุม โรงเรียนเทพสิรินทร์ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ว่า ในยุคปัจจุบันเป็นยุคของการ ผลิตและบริโภคอาหารปลอดภัย (food safety) ผู้บริโภคมีการตื่นตัวในกระแสรักษา สุขภาพ โดยเฉพาะสินค้าทางการเกษตรซึ่งเป็นแหล่งอาหารหลักที่สำคัญ ผู้ผลิตจึงได้มี การปรับตัว เปลี่ยนวิธีคิดและระบบการผลิตใหม่ โดยหันมาใช้สารอินทรีย์ทดแทน ลดการใช้สารเคมีลง เพื่อพัฒนาไปสู่การผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์ในที่สุด และสามารถ แข่งขันในตลาดโลกได้

นายยุทธพงศ์ กล่าวต่อไปว่า กรมพัฒนาที่ดินเป็นหน่วยงานหลักในการช่วยเหลือ เกษตรกรผู้ผลิตในการปรับกระบวนการผลิต จากการผลิตแบบเดิมที่ใช้ปุ๋ยเคมีเป็นหลัก มาสู่การผลิตอาหารปลอดภัย โดยการใช้สารอินทรีย์ลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร ควบคู่กับการปรับปรุงบำรุงดิน เพื่อให้สามารถทำการผลิตได้อย่างยั่งยืน และหากเกษตรกรมีความพร้อมและมีศักยภาพก็มีการสนับสนุนการพัฒนาต่อยอดสู่เกษตรอินทรีย์ต่อไป ทั้งนี้ การมอบปัจจัยการผลิตด้านการพัฒนาที่ดิน เช่น ถังหมักสำหรับผลิตน้ำหมักชีวภาพ กากน้ำตาล เมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสด รวมทั้งสารปรับปรุงดินปูนโดโลไมต์ ในโครงการส่งเสริมการผลิตและการใช้สารอินทรีย์ลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร ให้กับผู้แทนจากกลุ่มเกษตรกร จะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรในการลดการใช้สารเคมี ทางการเกษตร อีกทั้งเป็นการส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอีกด้วย

"การดำเนินโครงการส่งเสริมการผลิตและการใช้สารอินทรีย์ลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร นอกจากจะทำให้เกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจในการผลิตและการใช้สาร อินทรีย์แล้ว ยังก้าวสู่การผลิตเกษตรอินทรีย์ที่จะส่งผลให้เกษตรกรสามารถพึ่งพา ตนเอง ได้อย่างยั่งยืนและมั่นคง" นายยุทธพงศ์ กล่าว

จาก http://www.siamturakij.com  วันที่ 1 พฤษภาคม 2556

ศึกชิงผู้อำนวยการ WTO วุ่น แอฟริกายันกีดกันไม่โปร่งใส

นางพิรมล เจริญเผ่า อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า การดำเนินการหยั่งเสียงสมาชิกในการคัดเลือกผู้อำนวยการใหญ่ WTO ดำเนินการโดยให้เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรประจำองค์การการค้าโลกของแต่ละประเทศ แจ้งรายชื่อผู้สมัครที่ประเทศตนสนับสนุน จำนวนไม่เกิน 4 คน จากจำนวน ผู้สมัครทั้งหมด 9 คน ซึ่งผลปรากฏว่า ผู้สมัครที่ได้รับการสนับสนุนน้อยและต้อง ถอนตัวออกไป ได้แก่ ผู้สมัครจาก กานา เคนยา คอสตาริกา และจอร์แดน สร้างความไม่พอใจให้กับกานา และเคนยา ซึ่งเห็นว่ามีความพยายามที่จะกีดกันผู้สมัครฯ จากทวีปแอฟริกาออกจากการชิง ตำแหน่งฯ จนถึงกับประกาศไม่ยอมรับผลการคัดเลือกเมื่อกระบวนการสิ้นสุดลง

นางพิรมล กล่าวเพิ่มเติมว่า WTO เป็นองค์การระหว่างประเทศที่มีความสำคัญ ในฐานะกลไกหลักในการขับเคลื่อน ระบบการค้าโลกในระดับพหุภาคี ผู้อำนวย การใหญ่ WTO จึงถือเป็นตำแหน่งที่สำคัญ มาก เพราะต้องมีความรู้ความเข้าใจในกฎเกณฑ์ WTO มีประสบการณ์เกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ สามารถติดต่อโดย ตรงในระดับนโยบายกับประเทศสมาชิก และจะต้องเป็นผู้สนับสนุนการเปิดเสรีการค้าภายใต้ WTO ให้ประสบผลสำเร็จ

ในส่วนของไทยได้ร่วมในนามอาเซียน ประกาศจุดยืนสนับสนุนผู้สมัครจากอินโดนีเซีย โดยการดำเนินการคัดเลือกจะต้องแล้วเสร็จภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2556 ผู้อำนวยการใหญ่คนใหม่จะรับช่วงต่อในวันที่ 1 กันยายน 2556 และดำรงตำแหน่งเป็นเวลา 4 ปี

จาก http://www.siamturakij.com  วันที่ 1 พฤษภาคม 2556

หนุนเกษตรกรรักษาความเป็นเลิศ ในการผลิตสินค้ามาตรฐานรับเออีซี - ดินดีสมเป็นนาสวน

ในอดีตที่ผ่านมาการผลิตสินค้าเกษตรจะมุ่งเน้นไปที่เรื่องการทำให้ได้ผลผลิตมากสุดเป็นหลัก แต่ปัจจุบันตลาดโลกให้ความสำคัญกับสินค้าที่มีคุณภาพและมีระบบมาตรฐานควบคุมการผลิตทุกระดับตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อสร้างความปลอดภัยทางอาหารแก่ผู้บริโภค

นางบุษรา จันทร์แก้วมณี นักวิชาการเกษตรเชี่ยวชาญด้านมาตรฐานคุณภาพสินค้าเกษตร กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตรรับผิดชอบด้านการผลิตพืช การส่งเสริมด้านการผลิต การอารักขาพืช เพื่อให้ผลผลิตทางการเกษตรมีปริมาณสูงสุดและเป็นไปตามมาตรฐานที่ลูกค้ากำหนดตลอดเส้นทางการผลิตจนถึงส่งออก เช่น มาตรฐานในแปลงปลูกเกษตรกรจะต้องปฏิบัติตามมาตรฐาน Good Agricultural Practice (GAP) เมื่อเก็บเกี่ยวเข้าสู่โรงงานแปรรูปหรือโรงคัดบรรจุ ก็จะมีมาตรฐานโรงงานเป็นตัวควบคุม ไม่ว่าจะเป็น Good Manufacturing Practice (GMP) หรือมาตรฐาน Hazzard Analysis Critical Control Point (HACCP) คือการวิเคราะห์จุดอันตรายที่ต้องควบคุม และก่อนถึงมือผู้บริโภคก็มีการควบคุมมาตรฐานสารพิษตกค้าง จุลินทรีย์ตกค้าง นอกจากนี้ ก่อนการส่งออกก็จะมีการสุ่มเก็บตัวอย่างมาตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ พร้อมกับออกใบรับรองมาตรฐานให้ด้วย

กรมวิชาการเกษตร ทำหน้าที่ทั้งส่งเสริมและผลักดันให้เกษตรกร ผู้ประกอบการ ผู้ส่งออกเข้าสู่ระบบการผลิตที่มีคุณภาพมาตรฐานตามที่กำหนด เนื่องจากเป็นความต้องการของประเทศคู่ค้า ถ้าเราไม่ปฏิบัติตามที่ลูกค้ากำหนดก็ไม่สามารถส่งออกได้ ฉะนั้นกรมฯ จึงต้องดูแลควบคุมให้ตลอดเส้นทางการผลิตเข้าสู่ระบบมาตรฐาน โดยเฉพาะมาตรฐานที่สำคัญอย่างยิ่งคือ ระบบมาตรฐานทวนสอบ เพราะเป็นมาตรฐานที่จะทำให้ทราบว่าสินค้าที่อยู่ในมือผู้บริโภคนั้นผ่านกระบวนการหรือเส้นทางการผลิตมาอย่างไรบ้าง ซึ่งขณะนี้ประเทศคู่ค้าของไทยบางประเทศกำหนดให้ใช้มาตรฐานดังกล่าวแล้ว และคาดว่าในอนาคตอีกหลายประเทศจะนำมาตรฐานนี้มาบังคับใช้อย่างแน่นอน

ประเทศไทยมีการนำระบบมาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตรมาใช้และมีการพัฒนาปรับปรุงมาอย่างต่อเนื่องกว่า 10 ปี จนกระทั่งได้รับการยอมรับจากประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะประเทศที่มีความเข้มงวดและกำหนดมาตรฐานไว้สูงมาก ไม่ว่าจะเป็นสหภาพยุโรป (อียู) ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ซึ่งไทยทำได้ดีมาตลอด ทั้งในส่วนของเกษตรกรก็ให้ความร่วมมือเข้าสู่ระบบมาตรฐาน GAP มากขึ้นแต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการส่งออก ส่วนผู้ประกอบการหรือผู้ส่งออกนั้นยิ่งให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี พร้อมปฏิบัติตามมาตรฐานทุกอย่าง เพื่อให้การส่งออกเป็นไปได้ด้วยดี

อย่างไรก็ดี เมื่อมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี ในอีก 2 ปีข้างหน้า แม้ว่าไทยจะเป็นประเทศต้น ๆ ในอาเซียนที่นำมาตรฐานมาใช้ควบคุมและใช้ได้ดี แต่ยังไม่ถึงกับดีเลิศ จึงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องของการรักษาระดับมาตรฐานการผลิตให้คงคุณภาพและเป็นที่ต้องการของลูกค้ามากขึ้น เนื่องจากประเทศสมาชิกอาเซียนมีการผลิตสินค้าใกล้เคียงกัน และในอนาคตทุกประเทศต้องใช้มาตรฐานเดียวกัน คือ มาตรฐานอาเซียน (ASEAN GAP) ฉะนั้นทุกประเทศที่มีการผลิตสินค้าเกษตรก็จะมีการผลิตสินค้ามาตรฐานเหมือนกันจึงนับเป็นคู่แข่งที่สำคัญของไทยนั่นเอง

ฉะนั้น อยากฝากถึงเกษตรกรและผู้ประกอบการว่า แม้ไทยจะมีทุนดีกว่าประเทศอื่นในอาเซียน แต่ทุกคนควรจะช่วยกันผลิตสินค้าแบบเข้มแข็งให้มีคุณภาพและมาตรฐานที่กำหนด กล่าวคือ เกษตรกรต้องซื่อสัตย์ต่อระบบ GAP ผู้ประกอบการหรือผู้ส่งออกก็ควรซื้อสินค้าจากเกษตรกรที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP จากกรมวิชาการเกษตรเท่านั้น หรือทำในรูปแบบคอนแทร็คฟาร์มมิ่ง เพื่อให้ได้สินค้าที่ดีมีคุณภาพและผ่านการรับรองมาตรฐาน เพื่อรักษาความเป็นเลิศให้คงอยู่

กรมวิชาการเกษตรให้การรับรองมาตรฐานโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายในทุกระดับ เนื่องจากต้องการส่งเสริมให้ทุกคนในกระบวนการผลิตสินค้าเกษตรเข้าสู่ระบบมาตรฐาน สามารถเพิ่มศักยภาพในการส่งออก เพราะระบบมาตรฐานมีความสำคัญและประเทศคู่ค้าต้องการ จึงอยากให้เกษตรกรตลอดจนผู้ที่อยู่ในเส้นทางการผลิตทั้งหมดตระหนักถึงเรื่องนี้เป็นลำดับแรก.

จาก http://www.dailynews.co.th   วันที่ 1 พฤษภาคม 2556

ข้องใจโซนนิ่งเกษตรฯรับเออีซี

เกษตรกรอีสานข้องใจ นโยบายโซนนิ่งลดพื้นที่เพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ ชี้ทุกอาชีพเลือกไม่ได้

รายงานข่าวแจ้งว่า สภาเกษตรกรแห่งชาติได้จัดการสัมมนาเกษตรไทยพร้อมรุกปรับรับเออีซี กับพื้นที่รายภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อเตรียมรับกับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 โดยการจัดสัมมนาที่ จ.อุบลราชธานี เมื่อเร็ว ๆ นี้ เกษตรกรไม่เห็นด้วยกับนโยบายการกำหนดโซนนิ่งการเพาะปลูก หรือการประกาศพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการปลูกพืช ปศุสัตว์ และประมง เพื่อให้ได้ผลที่เหมาะสมกับคุณภาพดิน น้ำ อากาศ อุณหภูมิ แสง และปริมาณน้ำฝนแต่ละพื้นที่

ทั้งนี้ได้กำหนดพื้นที่เหมาะสมสำหรับการปลูกพืชแล้ว 6 ชนิด คือ ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย ยางพารา และปาล์มน้ำมัน และจะประกาศเพิ่มอีก 7 ชนิดในเร็ว ๆ นี้ ส่วนด้านปศุสัตว์ก็ประกาศแล้ว 5 ชนิด คือ โคเนื้อ โคนม ไก่เนื้อ ไก่ไข่ และสุกร โดยมีแผนจะประกาศสำหรับกลุ่มประมงอีก 3 ชนิดในเร็ว ๆ นี้

ผู้นำเกษตรกร จ.อุบลราชธานี รายหนึ่งกล่าวว่า การกำหนดโซนนิ่ง คงเป็นเพราะการผลิตได้ผลออกมามากทำให้ราคาตก เช่น ข้าวที่ขายแข่งกับต่างประเทศไม่ได้ แต่สำหรับเกษตรกรเห็นว่าทุกอาชีพเลือกไม่ได้ ที่ผ่านมาความผิดพลาดเกิดจากรัฐ เช่น นโยบายปลูกพืชเชิงเดี่ยว จนเกิดความเสียหาย ประชาชนก็หันมาใช้แนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่ นอกจากนี้ กรมวิชาการเกษตร เคยบอกภาคอีสานปลูกยางพาราไม่ได้ แต่เมื่อนำมาปลูกก็ได้ผลดี หากจะห้ามก็จะเกิดความเสียหาย

อนึ่ง กำหนดโซนนิ่งจะกำหนดตามสภาพที่เหมาะสมสำหรับการปลูกพืช เช่น การปลูกข้าวในที่เหมาะสมจะให้ผลผลิต 700 กิโลกรัมต่อไร่ แต่ในพื้นที่ไม่เหมาะสมจะได้เพียง 300 กิโลกรัมต่อไร่ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ระบุว่า ไม่ได้ห้ามเกษตรกรที่ปลูกพืชเดิมอยู่แล้ว เพียงแต่แจ้งให้ทราบว่าพื้นที่ใดมีความเหมาะสม ปลูกแล้วได้กำไรสูงกว่าในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมเท่านั้น.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 1 พฤษภาคม 2556

เกษตรมหาสารคามติวเข้ม ป้องกันศัตรูพืชเตรียมรับเออีซี

ว่าที่ ร.ต.จักรภัทร ผ่องโอภาส เกษตรจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า กลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตร จ.มหาสารคาม ได้จัดให้มีการถ่ายทอดความรู้การป้องกันและกำจัดศัตรูพืชโดยชีววิธี ให้กับเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรในจังหวัด จำนวน 140 คน เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการการป้องกันและกำจัดศัตรูข้าวและมันสำปะหลังด้วยวิธีผสมผสาน

โดยเนื้อหาเน้นหนักการใช้เชื้อราที่เป็นประโยชน์ในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคและแมลงศัตรูข้าว การใช้น้ำส้มควันไม้ และแมลงช้างปีกใสควบคุมการแพร่ระบาดเพลี้ยแป้งสีชมพูในแปลงมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นการป้องกันกำจัดศัตรูพืชด้วยชีววิธี แทนการใช้สารเคมี และการรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรอง เตรียมความพร้อมการแข่งขันด้านการค้ากับกลุ่มประเทศอาเซียนในปี 2558 โดยมีวิทยากรจากศูนย์บริหารศัตรูพืชจังหวัดขอนแก่นให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร และทีมผู้ประสานงานสำนักงานอำเภอ จากสำนักงานเกษตรจังหวัดมหาสารคาม ก่อนจะนำไปต่อยอดถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกรทั้ง 13 อำเภอ ในหมู่บ้านนำร่องด้านข้าว 13 หมู่บ้าน เกษตรกร 500 คน และมันสำปะหลัง 26 หมู่บ้าน เกษตรกร 1,000 คน ภายใต้ความร่วมมือของศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนทั้ง 39 ศูนย์ ก่อนดำเนินกิจกรรมย่อย ซึ่งมีสำนักงานเกษตรอำเภอ เป็นผู้ดำเนินการ

ทั้งนี้ คาดหวังว่าการเผยแพร่และถ่ายทอดความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับการป้องกันและกำจัดศัตรูพืชโดยชีววิธีจะช่วยเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ช่วยแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรได้ ทั้งจากปัญหาภัยธรรมชาติ ต้นทุนการผลิตสูง ผลผลิตต่ำ รวมถึงปัญหาโรคแมลงศัตรูพืช

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 1 พฤษภาคม 2556