http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล(เดือนพฤษภาคม 2558)

จีดีพีอุตฯไตรมาสแรกดีดตัว

ได้เห็นภาวะเศรษฐกิจฟื้นชัดเจนครึ่งปีหลังจากการลงทุน

    สศอ.ชี้สัญญาณเศรษฐกิจเริ่มดี จีดีพีอุตสาหกรรมไตรมาสแรกดีดมาเป็นบวก 2.3 % และจะเห็นความชัดเจนมากขึ้นในช่วง 6 เดือนหลัง ได้แรงหนุนจากมาตรการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ งบลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และการลงทุนของภาคเอกชนในการตั้งโรงงานใหม่เพิ่มขึ้น แต่ยังมีปัจจัยลบจากราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ การส่งออกที่หดตัว ที่จะฉุดการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมได้

    นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากที่รัฐบาลได้เร่งรัดให้กระทรวงต่างๆ ดำเนินการเบิกจ่ายงบประมาณในการดำเนินงาน รวมถึงการดำเนินงานในโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงมาตรการชักจูงนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เข้ามาในประเทศไทย ค่อยๆเป็นไปตามเป้าหมาย ทำให้เห็นสัญญาณการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจของประเทศบ้างแล้วและจะส่งผลชัดเจนมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ เนื่องจากจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบมากขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนของภาคเอกชนที่ได้รับใบประกอบกิจการโรงงานหรือรง.4 ในการตั้งโรงงานใหม่และขยายกิจการ ในช่วง 4 เดือนที่มา(มกราคม-เมษายน) มีจำนวน 1.587 พันโรงงาน มูลค่าเงินลงทุน 1.64 แสนล้านบาท จะเริ่มมีการลงทุน ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาวะเศรษฐกิจ

    ทั้งนี้ จะเห็นได้จากอัตราการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม(จีดีพีอุตสาหกรรม) ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้มีการปรับตัวค่อนข้างดี โดยมีการขยายตัวที่ 2.3% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่ติดลบ 2.7 % ทำให้สศอ.จะยังคงเป้าหมายจีดีพีอุตสาหกรรมของปีนี้จะขยายตัวอยู่ที่ 2-3% จากที่ปีก่อนติดลบ 0.4%

    ขณะที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหรือเอ็มพีไอ ในไตรมาสแรก ได้ขยายตัวที่ 0.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ติดลบ 7% แม้ว่าในเดือนเมษายนที่ผ่านมาตัวเลขเอ็มพีไอ จะติดลบ 5.3% จากเดือนมีนาคม แต่ถือว่าเป็นภาวะปกติของทุกปีที่ผู้ประกอบการจะเร่งผลิตสินค้าหรือสต๊อกสินค้าในช่วงเดือนมีนาคม เพื่อรองรับการหยุดยาวจึงส่งผลให้เอ็มพีไอในเดือนเมษายนปรับตัวลดลงมาก แต่เชื่อว่าเมื่อสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติจะส่งผลให้เอ็มอีไอในเดือนพฤษภาคมกลับมาเป็นบวกได้อีก ซึ่งจะเห็นได้จากการนำเข้าสินค้าทุนในเดือนเมษายนขยายตัว 2.8% เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสแรกติดลบ 1.1%โดยประมาณการเอ็มพีไอทั้งปีจะยังขยายตัวอยู่ที่ 3-4%

    อย่างไรก็ตาม จะต้องติดตามปัจจัยลบที่จะเข้ามาฉุดตัวเลขของจีพีดีอุตสาหกรรมและเอ็มพีไอ ที่จะเกิดจากภาวะการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจโลก การเมืองระหว่างประเทศ และการสู้รบในตะวันออก โดยเฉพาะการฟื้นตัวภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกายังเป็นไปอย่างเปราะบาง การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนที่ยังชะลอตัวลง รวมถึงเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป(อียู) ที่ยังไม่ฟื้นตัว ซึ่งจะส่งผลต่อการส่งออกของประเทศ

    นายศิริรุจ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีปัจจัยภายในประเทศ ที่มาจากกำลังซื้อในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัวมากนัก เนื่องจากราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำไม่ว่าจะเป็น ราคาข้าว ยางพารา อ้อย และมันสำปะหลัง ซึ่งหากรัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นราคาพืชผลทางการเกษตรได้ รวมถึงมาตรการส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว ที่จะดึงดูดชาวต่างชาติเข้ามา จะช่วยเป็นการผลักดันให้เกิดการจับจ่ายภายในประเทศ และจะมีเม็ดเงินเข้ามาช่วยเสริมรายได้จากการส่งออกที่ลดลงได้ทางหนึ่ง

    ส่วนอุตสาหกรรมที่ยังมีความน่าเป็นห่วงจะเป็นอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า เนื่องจากการบริโภคเหล็กในประเทศยังไม่มีปริมาณเพิ่มขึ้นโดยในเดือนเมษายนยอดการใช้เหล็กหดตัวลงมา 2.98 % หรืออยู่ที่ 1.3 ล้านตันต่อเดือน ขณะที่การผลิตเหล็กในประเทศอยู่ที่ 4 แสนตันต่อเดือน ลดลง 8.86% จากเดือนมีนาคม ทั้งนี้เป็นผลจากเหล็กทรงแบนลดลงต่อเนื่อง ที่ได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรมเครื่องใช้ฟ้าและยานยนต์ มีการผลิตลดลง และยังมีการนำเข้าเหล็กแผ่นรีดร้อน ซึ่งมีราคาต่ำจากอิหร่านและบราซิลเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ผลิตเหล็กไทยไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้ ขณะที่เหล็กทรงยาว ยังได้รับผลกระทบจากธุรกิจก่อสร้างที่ยังอยู่ในภาวะทรงตัวด้วยโดยจะเห็นได้จากการผลิตรถยนต์ในเดือนเมษายน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.23 % ขณะที่ยอดการจำหน่ายในประเทศลดลง 26.21% ส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า ปรับตัวลดลง 21.42 % เนื่องจากกำลังซื้อในประเทศชะลอตัว รวมถึงการส่งออก ได้รับผลกระทบกระทบจากตลาดหลักที่ยังไม่ฟื้นตัว เช่น ยุโรปและญี่ปุ่น เป็นต้น ซึ่งยังรวมถึงอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่การผลิตปรับตัวลดลง 19.21% เนื่องจากความต้องการคอมพิวเตอร์และโน้ตบุ๊กในตลาดโลกลดลง

จาก http://www.thanonline.com วันที่ 31 พฤษภาคม 2558

ปิดช่องโรงงานน้ำตาลเกิดใหม่กระทรวงอุตฯออกกฎสุดเข้ม! 

          ระเบียบกระทรวงอุตสาหกรรมออกกฎสกัดโรงงานน้ำตาลเกิดใหม่คลอดยาก ค้างการพิจารณา 50 ราย แนวโน้มไฟเขียวไม่ถึง 10 ราย หลังไม่เข้าข่ายข้อกำหนดที่ตั้งไว้โดยเฉพาะปริมาณอ้อยจะต้องมีเป็นของตนเองอย่างน้อย 50% หรือต้องตั้งโรงงานน้ำตาลระยะห่างจากเขตโรงงานน้ำตาลที่มีอยู่เดิม 50 กิโลเมตร คาดรู้ผลไม่เกินไตรมาส 3 หลังกฎหมายใหม่มีผลบังคับมิ.ย.นี้ ด้านสอน. เผยผู้ประกอบการรายใหม่ส่อแววเกิดยาก โรงงานน้ำตาลร้องโซนภาคกลางและภาคเหนือไม่มีพื้นที่ตั้งรง.น้ำตาลแล้ว      นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ขณะนี้ร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมว่าด้วยเรื่องการอนุญาตให้ตั้งหรือย้าย หรือขยายโรง งานน้ำตาลในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร อยู่ระหว่างการพิจารณาในรายละเอียดของคณะอนุกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 6 สำนักนายกรัฐมนตรี หลังจากผ่านความเห็นชอบของครม.มาแล้ว ที่กำหนดให้โรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ที่ขออนุญาตตั้งหรือย้ายโรงงานน้ำตาลจะมีระยะห่างจากเขตโรงงานน้ำตาลที่มีอยู่เดิม 50 กิโลเมตร จากเดิมที่กำหนดต้องมีระยะห่าง 80 กิโลเมตรขึ้นไป      อีกทั้งโรงงานแห่งใหม่ต้องมีแผนเตรียมปริมาณอ้อยจากการส่งเสริมและพัฒนาเข้าสู่โรงงานในปีแรกไม่น้อยกว่า 50% ของกำลังการผลิตของฤดูกาลผลิตนั้นๆ และกำหนดจำนวนวันหีบอ้อยของโรงงานทั่วประเทศเฉลี่ย 120 วันต่อปี และต้องไม่ใช่อ้อยของเกษตรกรที่เป็นคู่สัญญากับโรงงานน้ำตาลที่ตั้งอยู่พื้นที่เดิม และต้องมีปริมาณอ้อยจากการส่งเสริมและพัฒนาอ้อยฯ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 3 ปี และต้องไม่ใช่อ้อยของเกษตรกรที่เป็นคู่สัญญาของโรงงานน้ำตาลอื่น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการแย่งอ้อยวัตถุดิบ ซึ่งร่างดังกล่าวคาดว่าการพิจารณาจะแล้วเสร็จในช่วงต้นเดือนมิถุนายนนี้ และหลังจากนั้นจะประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลใช้บังคับได้ในเดือนเดียวกัน

          นายจักรมณฑ์กล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่ยื่นขอตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่มาประมาณ 50 คำขอ กำลังหีบอ้อยเฉลี่ยโรงละประมาณ 2 หมื่นตัน ซึ่งขณะนี้ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) ไปพิจารณาในรายละเอียดของแต่ละคำขอตั้งโรงงานแล้ว เพื่อทำงานคู่ขนานระหว่างรอการพิจารณาร่างประกาศกระทรวง ซึ่งหากกฎหมายมีผลบังคับใช้ คาดว่าจะทยอยพิจารณาปล่อยใบอนุญาตตั้งโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ได้ จากที่ผ่านมาไม่มีการอนุญาตให้มีการตั้งโรงงานน้ำตาลทรายเพิ่มจากที่มีอยู่ประมาณ 50 แห่งทั่วประเทศ

          อย่างไรก็ตาม มองว่าการขออนุญาตตั้งโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ คาดว่าจะมีไม่มาก เพราะหากประเมินปริมาณปลูกอ้อยที่มีอยู่ในปัจจุบันพื้นที่มีอยู่ค่อนข้างจำกัด เพราะแค่การขอตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ที่ผ่านความความเห็นชอบจากครม.ไปแล้วประมาณ 11 แห่ง กำลังผลิตเฉลี่ยโรงละประมาณ 2 หมื่นตันอ้อย ถึงขณะนี้ก็ยังไม่สามารถก่อสร้างได้ เพราะยังติดปัญหาในหลายเรื่อง

          นายพิชัย ตั้งชนะชัยอนันต์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) เปิดเผยว่า ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมว่าด้วยเรื่องการอนุญาตให้ตั้งหรือย้าย หรือขยายโรงงานน้ำตาลในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร เร็วสุดน่าจะมีผลบังคับใช้ในเดือนมิถุนายนนี้ การทำงานของสอน.ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบรายละเอียดการยื่นขอตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ขึ้นมา ซึ่งอาจจะมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน

          จากการรวบรวมข้อมูลพบว่าที่ผ่านมามีผู้ประกอบการรายเดิมที่ยื่นขอตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่มาตั้งแต่ปี 2551 แต่ยังไม่มีการพิจารณาอนุญาต เพราะติดมติครม.ห้ามให้มีการตั้งโรงงานน้ำตาล ซึ่งมีจำนวนประมาณ 27 คำขอที่ค้างอยู่  ขนาดกำลังผลิต 1.5-2 หมื่นตันอ้อย และอีกประมาณ 15 คำขอ ที่เป็นผู้ประกอบการรายใหม่ เช่น กลุ่มเกษตรกรที่มีการรวมตัวกันขอตั้งโรงงาน ขณะที่การขยายกำลังการผลิตจากโรงงานเดิมขนาดตั้งแต่ 3 พันตันอ้อย ถึง 2 หมื่นตันอ้อย มีอยู่ประมาณ 20 คำขอ และยังไม่รวมโรงงานน้ำตาลอีก 11 แห่งเดิม ที่ผ่านครม.อนุมัติไปแล้ว

          ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากพื้นที่ตั้งของโรงงานน้ำตาลที่ผ่านครม.ทั้ง 11 โรงแล้ว เช่น โรงงานน้ำตาลราชบุรี โรงงานน้ำตาลสระบุรี โรงงานน้ำตาลไทยอุตสาหกรรมน้ำตาล โรงงานน้ำตาลระยอง 2 โรงงานน้ำตาลอุตสาหกรรมน้ำตาลโคราช โรงงานน้ำตาลและอ้อยตะวันออก โรงงานน้ำตาลพิษณุโลก โรงงานน้ำตาลทิพย์นครสวรรค์ โรงงานน้ำตาลไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม และโรงงานน้ำตาลสุพรรณบุรี ล้วนอยู่ในพื้นที่ปลูกอ้อย  ดังนั้นการจะอนุญาตตั้งโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ที่รอการพิจารณาอีก 50 รายนั้น คาดว่าจะพิจารณาอนุญาตตั้งโรงงานน้ำตาลเพิ่มได้อีกราว 10 โรงงานเท่านั้น เพราะด้วยข้อจำกัดของพื้นที่การปลูกอ้อย และการกำหนดระยะห่าง 50 กิโลเมตรที่ขีดเอาไว้ ขณะที่ผู้ประกอบการรายใหม่เอง สอน.มองว่า การจะตั้งโรงงานน้ำตาลไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจะต้องมีตลาดรองรับ โดยเฉพาะตลาดส่งออก ที่มีผู้ประกอบการรายเดิมครองตลาดอยู่จำนวนมากแล้ว

          ส่วนการพิจารณาอนุมัติตั้งโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ ทางสอน.จะเรียงลำดับการยื่นคำขอก่อนและหลังไล่กันไป ซึ่งทางคณะกรรมการจะไปพิจารณาในรายละเอียดของแต่ละโรงงานว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของประกาศกระทรวงหรือไม่ หากไม่เข้าหลักเกณฑ์ก็ต้องตัดออกไป และไปพิจารณาโรงงานในลำดับถัดไปแทน โดยโรงงานน้ำตาลทั้ง 11 แห่ง ที่ผ่านครม.ไปแล้วในเบื้องต้นทางสอน.จะไม่เข้าไปแตะ แต่หากไม่สามารถก่อสร้างโรงงานได้ตามมติครม.กำหนด ก็ถือว่าเรื่องยุติ ก็จะทำให้มีช่องว่างให้กับโรงงานใหม่ๆ เข้ามาได้ หรือกรณีที่อนุมัติตั้งโรงงานใหม่ไปแล้ว แต่ไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างได้ภายใน 5 ปี ก็ถือว่าใบอนุญาตนั้นสิ้นสุด ก็จะไปพิจารณารายอื่นๆ เข้ามาแทน ซึ่งการพิจารณาดังกล่าวทางสอน.จะดำเนินการปล่อยใบอนุญาตตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ได้ภายใน 2-3 เดือน นับจากประกาศกระทรวงมีผลบังคับใช้

          นายพิชัย กล่าวเสริมอีกว่า การอนุญาตตั้งโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ ทางนายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ต้องการให้เกิดความโปร่งใส ไม่ให้มีการวิ่งเต้น และพร้อมที่จะสนับสนุนโรงงานที่มีความพร้อมด้านการลงทุน และตั้งใจดำเนินการ ไม่ใช่เป็นการยื่นคำขอตั้งโรงงานมาเพื่อกีดกันผู้ประกอบการรายอื่นๆ ที่มีความพร้อมมากกว่า เพราะหากตั้งโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ได้ จะเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรในการเพิ่มพื้นที่ปลูกสร้างรายได้ และช่วยลดต้นทุนการขนส่งจากระยะทางที่ไกลให้สั้นลงมาได้

          สอดคล้องกับแหล่งข่าวจากวงการโรงงานน้ำตาลกล่าวว่าขณะนี้มีโรงงานน้ำตาลอีก 50 โรงงานน้ำตาลที่ค้างการพิจารณาอยู่ คาดว่าจะได้รับใบอนุญาตไม่ถึง 10 ราย เพราะระเบียบที่ออกมาปิดทางโรงงานน้ำตาลให้เกิดยากขึ้น โดยเฉพาะข้อกำหนดให้ตั้งโรงงานน้ำตาลระยะห่างจากเขตโรงงานน้ำตาลที่มีอยู่เดิม 50 กิโลเมตร ที่ขณะนี้ในพื้นที่ภาคกลาง เช่นที่จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี สิงห์บุรี และภาคเหนือ เช่นที่จังหวัดสุโขทัย เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ เป็นพื้นที่ตั้งโรงงานน้ำตาลเต็มหมดแล้ว

จาก http://www.thanonline.com วันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 

คอลัมน์ 108-1009: เสริมแกร่งอุตฯแปรรูปการเกษตร 

          แสนไชย เค้าภูไทย

          ผมเขียนโครงการพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันของอุตสาห- กรรมแปรรูปการเกษตรในภูมิภาค (OPOAI) ของกระทรวงอุตสาหกรรม ไปแล้ว 2 ครั้ง ขอเขียนซ้ำอีกซักครั้งเพื่อกระตุ้นเตือนผู้ประกอบการ SMEs ให้ตื่นตัวเพื่อปรับตัวรับกระแสการเปลี่ยนแปลงที่น่าจะรุนแรงในปีหน้า ทั้งจากการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนและทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ทำท่าว่าจะชะลอตัวจนถึงกับอาจจะถดถอย

          มีคนบอกว่าประเทศไทยนั้น นักลงทุนนำหน้านักปกครองมาตลอด ภาครัฐของเราเป็นเพียงพี่เลี้ยงที่คอยให้น้ำนักมวยเท่านั้น มีน้อยครั้งมากที่จะทำหน้าที่เป็นเทรนเนอร์แก้ทางมวยให้กับนักมวย เป็นกันแบบนี้มานาน ทุกวันนี้สถานะนั้นก็ยังคงเป็นอยู่ เมื่อกระทรวงอุตสาหกรรมเดินหน้าโครงการ OPOAI มาตั้งแต่ปี 2550 และมีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรในภูมิภาคมากถึง 1,041 ราย ผมก็ยังรู้สึกว่าไม่มากพอ แต่ก็น่าเห็นใจกระทรวง เพราะจำเป็นต้องทำด้วยงบประมาณที่จำกัด

          นอกเหนือจากงบประมาณที่จำกัดแล้ว อีกประเด็นที่เป็นอุปสรรคก็คือ ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการแต่ละราย แสดงแต่ทีท่าว่าจะแบ่งปันความรู้ที่ตนเองได้จากงบประมาณของรัฐ แต่ไม่ได้มีการกระทำที่ชัดเจนว่าจะมีการแบ่งปันกันให้เป็นรูปธรรมแต่ประการใด ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะถ้าหากมีการแบ่งปันกันเองก็น่าจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับธุรกิจ SMEs มากกว่า 3,600 ล้านบาทจากกลุ่มผู้เข้าร่วมโครงการพันกว่าราย

          เมื่อคราวที่ติดตามปลัดกระทรวงฯ อรรชกา สีบุญเรือง ไปตรวจความก้าวหน้าของโครงการในภาคอีสาน ผมได้เรียนถามว่าโครงการนี้จะมีต่อเนื่องไปถึงไหน ท่านบอกว่ากระทรวงอุตสาหกรรมจะทำโครงการนี้อย่างต่อเนื่องเพื่อร่วมพัฒนาผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรในภูมิภาคให้มีมาตร- ฐานการผลิตที่ดีขึ้นโดยทั่วถึง เพราะประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม จำเป็นที่จะต้องมีอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรมารองรับ ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าการเกษตรของประเทศตามนิยามของโครงการที่ว่า "1 จังหวัด 1 อุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร" หรือ One Province One Agro-Industrial Product : OPOAI

          ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแปรรูปเกษตรท่านใดต้องการจะยกมาตรฐานการผลิตของตนให้ทันสมัยเป็นสากล ลดรายจ่ายเพิ่มรายได้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมก็สามารถขอทราบรายละเอียดได้ที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทุกจังหวัด หรือสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ถ.พระราม 6 กทม.

          บอกไว้ก่อนนะว่า ที่ผมไปเห็นมา เขาทำกันได้ผล ลดต้นทุนเพิ่มรายได้กันปีละเป็นล้าน

จาก สยามธุรกิจ  วันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 

พัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในไทยเน้นอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล 

          3 กระทรวงใหญ่ จับมือพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศของประเทศไทย เตรียมพร้อมรองรับแผนแม่บทเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เน้นการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลในระบบนิเวศ ให้ความสำคัญต่อการพึ่งพาอาศัยกัยของอุตสาหกรรม สังคมและสิ่งแวดล้อม

          ดร.อรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ของประเทศที่ส่งเสริมการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Growth) ซึ่งยึดแนวคิดการพัฒนาแบบบูรณาการเป็นองค์รวม จากที่รัฐบาลได้เห็นถึงทิศทางการพัฒนาประเทศที่กำลังประสบปัญหาความไม่สมดุลระหว่างเศรษฐกิจ ชุมชน และสิ่งแวดล้อม จึงมีมติคณะรัฐมนตรีกำหนดให้มีเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่เป็นเมืองต้นแบบ โดยมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษารูปแบบการจัดทำเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในพื้นที่อุตสาหกรรมเดิม

          ทั้งนี้ ในส่วนการดำเนินงานของกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เริ่มผลักดันความเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศมาตั้งแต่ปี 2552 และมีพัฒนาการความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรมเป็นลำดับขั้นตอน จนได้คุณลักษณะซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาใน 5 มิติ คือ มิติกายภาพ มิติเศรษฐกิจ มิติสังคม มิติสิ่งแวดล้อม และมิติการบริหารจัดการ "กระทรวงอุตสาหกรรมมอบหมายให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบการขับเคลื่อนเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศให้เห็นเป็นรูปธรรม และได้จัดสรรงบประมาณให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม จัดทำโครงการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โดยมีโครงการย่อยที่กำหนดกิจกรรมเพื่อให้การดำเนินงานครอบคลุมทุกแผนงานที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ ดังจะขอยกตัวอย่าง แผนแม่บทการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และการดำเนินงานขับเคลื่อนแผนงานในจังหวัดระยอง ซึ่งเป็นจังหวัดที่กระทรวงอุตสาหกรรมผลักดันให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศต้นแบบจากผลการศึกษาได้กำหนดเป้าหมาย สำหรับการวางนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาภายในระยะเวลา 5 ปี"

          ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่จะผลักดัน หรือขับเคลื่อนให้พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งได้รับการยอมรับว่าสังคมคาร์บอนต่ำ หรือ Low Carbon Society ซึ่งเป็นตัวชี้วัดในลำดับสูงสุด เป็นเรื่องที่มีความท้าทายเป็นอย่างมาก เนื่องจากทุกองค์กร ทุกหน่วยงาน รวมถึงทุกคนต้องรับรู้และตระหนักถึงความสำคัญของการปฏิบัติตนให้เป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากทุกภาคส่วนในวันนี้ไม่ประสานความร่วมมือ

          "โดยเฉพาะหน่วยงานหลัก 3 กระทรวง คือ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้รับมอบหมายจากรัฐบาล ให้ร่วมมือกันผลักดันเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งหน่วยงานส่วนกลาง และส่วนท้องถิ่นที่แสดงเจตนาร่วมมือกันในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศประเทศไทย เพื่อเป้าหมายสูงสุดของการเป็นสังคมคาร์บอนต่ำเป็นสังคมแห่งการเกื้อกูล เกิดความเชื่อมั่นและไว้วางใจซึ่งกันและกัน" ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว

          ด้าน ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบการดำเนินโครงการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) ปัจจุบันดำเนินการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศใน 15 จังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สมุทรสาคร สมุทรปราการ นครปฐม ราชบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง สระบุรี ปราจีนบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น สุราษฎร์ธานี และสงขลา อีกทั้งมีการส่งเสริมให้พื้นที่อุตสาหกรรมในจังหวัดข้างต้น จัดทำแผนงาน และส่งเสริมกิจกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเชิงพื้นที่ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการรองรับแผนแม่บทเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่จะเกิดขึ้น

          "สำหรับปี 2558 นี้ ดำเนินการครอบคลุมพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ ราชบุรี นครปฐม นครราชสีมา ขอนแก่น สุราษฎร์ธานี และสงขลา โดยมีเป้าหมายให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ประชาชน ตลอดจนเยาวชนในพื้นที่ มีความรู้ ความเข้าใจและตระหนักถึงความเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศมากขึ้น สามารถพัฒนาไปสู่ความเจริญก้าวหน้าที่ยั่งยืนทางเศรษฐกิจของประเทศต่อไป" อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าว

จาก http://www.komchadluek.net วันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 

ทุนจีนยึดมันสำปะหลังไทย ทั้งเทกโอเวอร์-เช่าโกดัง-รับกระจายสินค้า

    วงการค้ามันสำปะหลังสะท้านทุนแดนมังกร รุกเงียบแผ่อาณาจักรยึดมันสำปะหลัง ตีตลาดไทยยับ ทั้งเทกโอเวอร์ รง. แป้งมัน เช่าโกดังรวมรวมสินค้าส่งบริษัทแม่โดยตรง และรับกระจายสินค้า วอนรัฐปกป้อง ขณะที่อีกด้านได้รับอานิสงส์จากรัฐบาลเวียดนามเก็บภาษีส่งออกมันฯ ทำให้คู่ค้าหันมาสั่งซื้อจากไทยเพิ่มขึ้น ด้านนักเศรษฐศาสตร์ชี้จีนเร่งเชื่อมทุกจุดยุทธศาสตร์การค้าโลก ทำนาย 20 ปีข้างหน้าผงาด ไร้คู่แข่ง

  601  แหล่งข่าวผู้ส่งออกค้ามันสำปะหลัง เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการจีนได้รุกเข้าสู่ธุรกิจมันสำปะหลังในไทยอย่างต่อเนื่อง โดยช่วงปีที่ผ่านมาได้มีการมาเช่าโกดังเพื่อรวบรวมมันเส้น รวมถึงการร่วมทุนกับผู้ประกอบการไทยหรือซื้อกิจการโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังไทยเพื่อส่งสินค้าไปให้บริษัทแม่ที่จีนโดยตรง นอกจากนี้ยังรับเป็นผู้กระจายสินค้าให้กับผู้ประกอบการรายอื่น ทำให้สมาคมการค้ามันสำปะหลังไทยและผู้ประกอบการไทยที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของสมาคมมีความเป็นห่วงเพราะหากภาครัฐไม่มีมาตรการปกป้องผู้ประกอบการไทยแล้ว อุตสาหกรรมมันเส้นและแป้งมันสำปะหลังของไทยจะถูกครอบงำโดยกลุ่มทุนจากจีนที่อดีตเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่จากไทย และอาจส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยสูญเสียอำนาจในการกำหนดราคาและการต่อรอง

    "หากพิจารณาจากสถิติการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทยในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่ามีบริษัท เอลัช (ประเทศไทย) จำกัด สัญชาติจีนครองแชมป์ส่งออกอันดับ 1 ส่วนอันดับ 2 -5  มีความเคลื่อนไหว ผลัดกันขึ้น-ลง โดยปริมาณส่งออกห่างจากลำดับ 1 มาก (ดูตารางประกอบ)"

    ด้านนายมนัส แสงศิริพงษ์พันธ์ กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัท โชคชัยพืชผล จำกัด  กล่าวถึงสถานการณ์ส่งออกมันสำปะหลังว่า ในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ เป็นครั้งแรกที่รัฐบาลเวียดนามได้ประกาศภาษีส่งออกมันสำปะหลังทุกชนิด เพื่อให้มีวัตถุดิบป้อนโรงงานเอทานอลในประเทศ ซึ่งเป็นผลดีกับผู้ส่งออกไทย เนื่องจากมีผลให้เวียดนามมีต้นทุนเพิ่มขึ้น ทำให้คู่ค้าหันมาสั่งสินค้าเมืองไทยเพิ่มขึ้น

    สอดคล้องกับนายธนิต  ศรีรัตนาลัย ประธานบริษัท สยามโปรดักส์ (1994) จำกัด ที่กล่าวว่า ผลจากความต้องการหัวมันสำปะหลังที่เพิ่มขึ้น โดยพิจารณาจากสถิติที่ไทยส่งออกไปปีที่แล้ว รวมทั้งมันแป้งและมันเส้น ทั้งส่งออกและใช้ในประเทศรวมแล้วจะต้องมีวัตถุดิบหัวมันสำปะหลังประมาณ 39 ล้านตัน  ขณะที่ผลผลิตของไทยมีประมาณ 30-31 ล้านตัน จะเห็นว่าผลผลิตในไทยมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ โดยเฉพาะตลาดหลักอย่างจีน มีความต้องการสูง  หากนับ 6 เดือนแรก ตั้งแต่เปิดฤดูกาล (ตั้งแต่ตุลาคม 2557-เมษายน 2558 ) จะเห็นว่าการส่งออกของโรงแป้งมันสำปะหลังสูงกว่ามันเส้น เนื่องจากผลผลิตขาด ทำให้แย่งวัตถุดิบ จึงทำให้ราคาหัวมันสำปะหลังเพิ่มขึ้น เกษตรกรก็พอใจ จึงมองว่าความต้องการของจีน ยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นสินค้าเกษตรตัวเดียวที่มีอนาคตซึ่งต่างจากข้าว และยางพาราที่มีราคาตกต่ำ

    ขณะที่รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง กล่าวในการสัมมนาเรื่อง "ภาวะเศรษฐกิจประเทศจีนในปัจจุบัน-อนาคต 3-5 ปีข้างหน้าและภาวะเศรษฐกิจโลก" จัดโดยสมาคมการค้ามันสำปะหลังไทยว่า ขณะนี่จีนกำลังเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ใหม่ โดยหันมาร่วมมือเศรษฐกิจและการค้ากับประเทศในอาเซียน เพื่อถ่วงดุลสหรัฐอเมริกา ขณะที่ตามแผน "Go Global Strategy" ของจีนได้ไปลงทุนในทวีปแอฟริกา อเมริกาใต้ รวมถึงอาเซียน และเอเชีย เช่นทาจิกิสถาน ศรีลังกา และอินเดีย พร้อมกันนี้ ประธานาธิบดีของจีนยังได้ประกาศตั้งกองทุนเส้นทางสายไหม 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อลงทุนในโครงสร้างสาธารณูปโภค วิทยาการ และการเงินในกลุ่มประเทศในเส้นทางสายไหมนี้

    "เส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 จะเชื่อมการค้าระหว่างจีน อาเซียน ผ่านมหาสมุทรอินเดีย และไปจดปลายทางที่ทวีปยุโรป  ขณะเดียวเงินสำรองของประเทศจีนสูงที่สุดในโลก ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้าจีนจะผงาดเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจอันดับ 1 ของโลก"

จาก http://www.thanonline.com วันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 

ชงแก้หนี้เกษตรกร8.2หมื่นล. 4 กลุ่มกว่า 5 แสนรายได้เฮ/หนี้นอกระบบจ่อคิว

     สมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯกว่า 5 แสนรายได้เฮ  เลขากองทุนฟื้นฟูฯ ชง "อำนวย" แก้หนี้สินเกษตรกรในระบบ กว่า 8.2 หมื่นล้านบาท ขณะข้อมูลเดิมเกษตรกรยังมีหนี้นอกระบบกว่า 3 แสนล้านรวมกว่า 5.8 ล้านครัวเรือน ดีเดย์ 28 มิ.ย.เลือกตั้งสี่ภาคเฟ้นหา 20 ตัวแทนเกษตรกรเป็นคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ ฮึ่ม! ได้รับเลือกแล้วหากคุณสมบัติไม่ผ่านค่อยสอยทีหลัง

   601 นายวัชระพันธ์ จันทรขจร เลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" จากผลประชุมคณะกรรมการประสานการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร  ที่มีนายอำนวย ปะติเส  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา จะแยกกลุ่มเป้าหมายการจัดการหนี้ออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มลูกหนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 2. กลุ่มลูกหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 3.กลุ่มลูกหนี้ที่ขึ้นทะเบียนหนี้ไว้กับกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร และ 4.กลุ่มลูกหนี้หน่วยงานอื่นๆ  โดยในส่วนกลุ่มลูกหนี้ที่เกษตรกรขึ้นทะเบียนหนี้ (ทะเบียนเกษตรกร) ไว้กับ กฟก. มีมูลหนี้กว่า 8.2หมื่นล้านบาท จำนวนเกษตรกรกว่า 5 แสนราย จากสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯทั่วประเทศที่มีอยู่ประมาณ 6.6 ล้านราย

    "หนึ่งในหนี้ของกองทุน ที่เป็นส่วนหนี้สหกรณ์การเกษตร (ดูตารางประกอบ) รู้สึกหนักใจเนื่องจากเป็นองค์กรอิสระ มีกฎหมายควบคุมดูแล การแก้ปัญหาหนี้ค่อนข้างจัดการยาก นอกจากหนี้ในระบบแล้ว ทาง กฟก. กำลังสำรวจหนี้นอกระบบใหม่ให้ข้อมูลเป็นปัจจุบัน จากฐานข้อมูลเดิมในปี 2554 เกษตรกรเป็นหนี้นอกระบบรวมกว่า 3 แสนล้านบาท  จำนวน 5.8 ล้านครัวเรือน อย่างไรก็ดีเพื่อการจัดการหนี้ให้เป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพโดยการบูรณาการจากทุกหน่วยงาน จึงได้จัดตั้งศูนย์ประสานการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรและแต่งตั้งคณะกรรมการประสานการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร เพื่อให้ ให้คำปรึกษาในการดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร "   

    นายวัชระพันธ์  กล่าวว่า จากการที่ได้เปิดรับสมัครผู้แทนเกษตรกรเพื่อเลือกตั้งเป็นคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรในแต่ละภูมิภาค ระหว่างวันที่ 11-15 พฤษภาคม 2558 ที่ผ่านมา มีผู้สนใจสมัคร จำนวน 92 คน  แบ่งเป็นภาคเหนือมีผู้สมัคร 26 คน  สัดส่วนมีผู้แทนเกษตรกรได้ 5 คน  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีผู้สมัคร 39 คน สัดส่วนผู้แทนได้ 7 คน ภาคกลางมีผู้สมัคร 11 คน สัดส่วนผู้แทนได้ 4 คน และภาคใต้มีผู้สมัคร 16 คน สัดส่วนผู้แทนได้ 4 คน รวมทั้งสิ้น 20 คนทั่วประเทศ นับว่าได้รับความสนใจจากเกษตรกรสมาชิกมากกว่าทุกครั้ง ซึ่งการเลือกตั้งจะมีขึ้นในวันที่ 28 มิถุนายนนี้

    "การคัดเลือกผู้แทนจะรับรองไปก่อน หากมาตรวจพบคุณสมบัติไม่ผ่าน อาทิ เป็นบุคคลล้มละลาย หรือไม่ใช่เกษตรกร  เป็นต้น จะต้องมาสอยภายหลัง"

    ทั้งนี้ผู้แทนเกษตรกรที่ได้รับการเลือกตั้ง มีหน้าที่สำคัญคือ การเสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายการแก้ไขปัญหาให้เกษตรกร ออกระเบียบเกี่ยวกับการรับขึ้นทะเบียนองค์กรเกษตรกร และการเพิกถอนทะเบียนองค์กรเกษตรกร ออกระเบียบเกี่ยวกับการพิจารณาแผน และโครงการฟื้นฟูและพัฒนาองค์กรของเกษตรกร การติดตามประเมินผลการดำเนินงานตามแผนและโครงการ ออกระเบียบเกี่ยวกับการจ่ายเงินของกองทุนตามแผนและโครงการ และการใช้เงินคืน เป็นต้น

    นายวัชระพันธ์ ยังกล่าวถึงการคืนโฉนดที่ดินให้กับเกษตรกรที่ทางกองทุน ได้เข้าไปซื้อหนี้มา ซึ่งขณะนี้มีเกษตรกรประมาณ 500 รายที่สามารถชำระหนี้คืนได้ทั้งหมด โดยทาง กฟก.มีแผนจะคืนโฉนดที่ดินที่เกษตรกรนำมาใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในล็อตแรก จำนวน 50 ราย ว่า  คงต้องรอเงินรัฐบาลจ่ายชดเชยให้ กฟก.ก่อน เพราะเกรงจะถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบ  ทั้งนี้ กฟก.ได้ซื้อหนี้ให้เกษตรกรตั้งแต่ปี 2549 -ปัจจุบัน จำนวน 2.87 หมื่นราย มูลหนี้ชำระ 5.87 พันล้านบาท สามารถรักษาที่ดินของเกษตรกร ได้ จำนวน 1.38 แสนไร่ ขณะที่ปี 2558  ได้งบประมาณเพียง 25 ล้านบาท ได้ซื้อหนี้ให้เกษตรกรกว่า 100 ราย จำนวนเงินดังกล่าวหมดเรียบร้อยแล้ว

จาก http://www.thanonline.com วันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 

ก.เกษตรฯบริหารจัดการสินค้าเกษตรใหม่ 

          นางสาวจริยา สุทธิไชยา รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งรัดเรื่องการบริหารจัดการสินค้าเกษตรในฤดูกาลใหม่ ปี 2558/59 กระทรวงเกษตรฯ โดยคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์จังหวัด ซึ่งมี ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน มีเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเป็นเลขานุการ และมีผู้แทนจาก คสช. หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ในจังหวัดนั้นๆ รวมถึงหน่วยงานของกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม สภาเกษตรกรจังหวัด เพื่อจัดทำยุทธศาสตร์สินค้าเกษตรของแต่ละจังหวัด ที่เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ของกระทรวงเกษตรฯ และของประเทศ ซึ่งเป็นการใช้กลไกจังหวัดจัดการสินค้าเกษตร ที่จะมีการบริหารจัดการทั้งด้านการผลิต การแปรรูปและการตลาดแบบ บูรณาการครบวงจร

          ทั้งนี้ ได้กำหนดให้มีการบริหารจัดการกลุ่มสินค้าพืชเศรษฐกิจหลักของแต่ละจังหวัด แบ่งเป็น 5 ชนิด ได้แก่ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากเป็นสินค้าที่เชื่อมโยงทั้งด้านความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงอาหารสัตว์ กลุ่มอุตสาหกรรมและพลังงาน แต่หากจังหวัดใดไม่มีความโดดเด่นทางด้านสินค้าหลักที่กล่าวมานี้ ก็ให้เพิ่มมาอยู่ในกลุ่มสินค้า 7 ชนิด ซึ่งเลือกสินค้าโดยดูจากมูลค่าผลิตภัณฑ์ สินค้าเกษตร (GDP) 5 อันดับแรกของจังหวัด เช่น บางจังหวัดอาจจะเลือกปาล์มน้ำมัน กุ้ง หอยแครง สับปะรด อ้อยโรงงาน แต่ต้องคงสินค้า 2 ชนิดคือข้าวและยางพาราไว้ในยุทธศาสตร์ไม่ว่าจะมีพื้นที่เกษตรกรปลูกกี่ไร่ กี่ครัวเรือนก็ตาม

          ขณะนี้คณะอนุกรรมการพัฒนา การเกษตรและสหกรณ์จังหวัดได้คัดเลือกสินค้าที่เป็น Top 5 กับ Top 7 เรียบร้อยแล้ว ทาง สศก. กำลัง ตรวจสอบข้อมูลการผลิต แปรรูป การตลาดที่แต่ละจังหวัดส่งมาให้เปรียบเทียบกับข้อมูลพยากรณ์ของ สศก.ว่ามีความแตกต่างกันมากน้อยเพียงใด จากนั้นจะวิเคราะห์และปรับข้อมูลให้สอดคล้องกัน พร้อมกับกำหนดกรอบแนวทางการบริหารจัดการสินค้าเกษตรแต่ละชนิดให้แก่จังหวัดใช้เป็นกรอบปฏิบัติต่อไป อย่างไรก็ตาม สิ่งที่คาดหวังจากการใช้กลไกจังหวัดจัดการสินค้าเกษตร ฤดูกาลผลิต 2558/59 คือให้จังหวัดบริหารจัดการและแก้ปัญหาสินค้าเกษตรของจังหวัดนั้นเอง คือให้มีการผลิตและแปรรูปในจังหวัด เกิดการขายในจังหวัดนั้นก่อน เหลือจึงส่งไปยังจังหวัดอื่น เพื่อลดต้นทุนด้านลอจิสติกส์ ที่เป็นต้นทุนเกือบ 20% ของต้นทุนในการผลิต อีกทั้งการลดขั้นตอนการขนส่งจะทำให้สินค้ามีคุณภาพมากขึ้น เป็นการเพิ่มความคุ้มค่าและมูลค่าของสินค้า ที่สำคัญจะมีเงินหมุนเวียนในจังหวัด ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการตั้งตลาดเกษตรกรในแต่ละจังหวัด เพื่อให้ผลิตสินค้าขายในพื้นที่ก่อน ส่วนที่เกินก็ขายออกนอกพื้นที่ เป็น การบริหารจัดการสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพทั้ง 77 จังหวัด ก็จะช่วยแบ่งเบาปัญหาในระดับจังหวัดก่อน นอกจากเกินอำนาจของจังหวัดหรือจำเป็นต้องตัดสินใจในเชิงนโยบายจึงส่งเรื่องต่อมาที่กระทรวงหรือส่วนกลางเพื่อพิจารณาหาแนว ทางช่วยเหลือต่อไป

จาก http://manager.co.th วันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 

เร่งเครื่องยุทธศาสตร์‘TOP5-TOP7’

นางสาวจริยา สุทธิไชยา รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งรัดเรื่องการบริหารจัดการสินค้าเกษตรในฤดูกาลใหม่ ปี 2558/59 กระทรวงเกษตรฯ โดยคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์จังหวัด เพื่อจัดทำยุทธศาสตร์สินค้าเกษตรของแต่ละจังหวัด ที่เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ของกระทรวงเกษตรฯ และของประเทศ ซึ่งเป็นการใช้กลไกจังหวัดจัดการสินค้าเกษตร ที่จะมีการบริหารจัดการทั้งด้านการผลิต การแปรรูปและการตลาดแบบบูรณาการครบวงจร

ทั้งนี้ ได้กำหนดให้มีการบริหารจัดการกลุ่มสินค้าพืชเศรษฐกิจหลักของแต่ละจังหวัด แบ่งเป็น 5 ชนิด (TOP 5) ได้แก่ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เนื่องจากเป็นสินค้าที่เชื่อมโยงทั้งด้านความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงอาหารสัตว์ กลุ่มอุตสาหกรรมและพลังงาน แต่หากจังหวัดใดไม่มีความโดดเด่นทางด้านสินค้าหลักที่กล่าวมานี้ ก็ให้เพิ่มมาอยู่ในกลุ่มสินค้า 7 ชนิด (TOP 7) ซึ่งเลือกสินค้าโดยดูจากมูลค่าผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตร (GDP) 5 อันดับแรกของจังหวัด เช่น บางจังหวัดอาจจะเลือกปาล์มน้ำมัน กุ้ง หอยแครง สับปะรด อ้อยโรงงาน แต่ต้องคงสินค้า 2 ชนิดคือข้าวและยางพาราไว้ในยุทธศาสตร์ไม่ว่าจะมีพื้นที่เกษตรกรปลูกกี่ไร่ กี่ครัวเรือนก็ตาม

ขณะนี้คณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์จังหวัดได้คัดเลือกสินค้าที่เป็น Top 5 กับ Top 7 เรียบร้อยแล้ว ทาง สศก. กำลังตรวจสอบข้อมูลการผลิต แปรรูป การตลาดที่แต่ละจังหวัดส่งมาให้เปรียบเทียบกับข้อมูลพยากรณ์ของ สศก.

ว่า มีความแตกต่างกันมากน้อยเพียงใด จากนั้นจะวิเคราะห์และปรับข้อมูลให้สอดคล้องกัน พร้อมกับกำหนดกรอบแนวทางการบริหารจัดการสินค้าเกษตรแต่ละชนิดให้กับจังหวัดใช้เป็นกรอบปฏิบัติต่อไป อย่างไรก็ตาม สิ่งที่คาดหวังจากการใช้กลไกจังหวัดจัดการสินค้าเกษตร ฤดูกาลผลิต 2558/59 คือ ให้มีการผลิตและแปรรูปในจังหวัด เกิดการขายในจังหวัดนั้นก่อน เหลือจึงส่งไปยังจังหวัดอื่น เพื่อลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ ที่เป็นต้นทุนเกือบ 20% ของต้นทุนในการผลิต อีกทั้งการลดขั้นตอนการขนส่งจะทำให้สินค้ามีคุณภาพมากขึ้น เป็นการเพิ่มความคุ้มค่าและมูลค่าของสินค้า ที่สำคัญจะมีเงินหมุนเวียนในจังหวัด ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการตั้งตลาดเกษตรกรในแต่ละจังหวัด เป็นการบริหารจัดการสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ค่าบาทส่งสัญญาอ่อนตัวต่อเนื่อง

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า การที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าส่งผลให้การส่งออกเดือน เม.ย.ติดลบน้อยลงอยู่ที่ 1.7% จาก 3 เดือนแรกที่ติดลบถึง 4% ซึ่งมองว่าการอ่อนค่าของเงินบาทไม่ได้รวดเร็วเกินไปและยังอ่อนค่าลงได้อีกเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน หากเปรียบเทียบกับ 3 ปีที่ผ่านมา เงินบาทเคยอ่อนค่าภายในวันเดียวถึง 1 บาท แต่ในปัจจุบันใช้เวลาถึง 3 สัปดาห์เงินบาทถึงจะอ่อนทันที เพราะในการส่งออกจะมีการกำหนดราคาซื้อขายล่วงหน้า 3-4 เดือน ซึ่งจะทำให้การส่งออกในไตรมาส 3 ปรับตัวดีขึ้นชัดเจน

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การที่ธนาคารพาณิชย์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงตามที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. เป็นการช่วยบรรเทาภาระลูกค้าบางส่วน โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งต้องดูแลเผื่อไว้เพราะเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีสายป่านสั้นอาจกระทบสภาพคล่องได้ เพราะขณะนี้สถานการณ์เศรษฐกิจทั้งในตลาดโลกและไทยยังต้องใช้เวลาฟื้นตัว สิ่งใดที่ดำเนินการช่วยประคับประคองได้ก็จะช่วยทำ นอกจากนี้จากการที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ประกาศตัวเลขจีดีพีไตรมาสแรกตามการปรับฐานใหม่ที่โต 0.37% ถือเป็นการฟื้นตัวแม้จะฟื้นตัวในระดับเล็กน้อยก็ตาม โดยมองว่าในช่วงครึ่งปีหลังยังมีแนวโน้มฟื้นตัวเล็กน้อย ซึ่งต้องให้กำลังใจคนทำงาน ซึ่งทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันในการประคับประคองเศรษฐกิจ ส่วนเงินบาทที่อ่อนค่าลงมีส่วนช่วยให้ผู้ส่งออกมีรายได้ที่เป็นเงินบาทมากขึ้น

ขณะที่ น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังมองว่าปี 58 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.7% โดยมีปัจจัยจากการท่องเที่ยวเป็นหลักที่เข้ามาช่วยสนับสนุน ซึ่งปีนี้คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเดินทางเข้ามาในไทย 29.4 ล้านคน ส่งผลให้มีรายได้เข้ามาค่อนข้างสูง นอกจากนี้ยังมีปัจจัยบวกจากการลงทุนของภาครัฐที่จะเข้ามาช่วยขับเคลื่อน ดังนั้นหลังจากนี้ต้องติดตามการเบิกจ่ายของภาครัฐว่าจะเป็นไปตามแผนที่วางไว้หรือไม่ ขณะที่ภาคส่งออกของไทยในปีนี้คาดว่าจะขยายตัวได้ 0.2% แม้ช่วง 4 เดือนแรก (ม.ค.-เม.ย.58) การส่งออกจะยังติดลบ แต่คาดว่าช่วงที่เหลือของปีนี้มีสัญญาณสนับสนุนที่จะช่วยให้การส่งออกฟื้นตัวได้ดีขึ้น ส่วนการที่เงินบาทอ่อนค่าลงมีส่วนช่วยสนับสนุนภาคการส่งออกได้บ้าง

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

“มิตรผล” ทุ่ม3.5 พันล้านขยายลงทุนลาวเพิ่มผลิตน้ำตาลรับดีมานด์ ลาว อาเซียน ยุโรป และจีน

“มิตรผล” เดินหน้าลงทุนลาวทุ่ม3.5 พันล้านขยายปริมาณอ้อยเข้าหีบ 1 ล้านตันใน 5 ปีรับความต้องการน้ำตาลที่เพิ่มขึ้น พร้อมปรับแพ็คเกจจิ้ง-ผลิตน้ำตาลออร์แกนิค สร้างมูลค่าสินค้าเพิ่ม หลังราคาอ้อยในตลาดโลกปรับตัวลดลง

นายบันเทิง ว่องกุศลกิจ กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานพัฒนาและจัดการด้านอ้อย กลุ่มน้ำตาลมิตรผล เปิดเผยว่า มิตรผลยังคงเดินหน้าลงทุนในลาวอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่เข้าไปทำตลาดนายกว่า 7 ปี โดยเตรียมงบลงทุน 3,500 ล้านบาท ในช่วง 5 ปีจากนี้เพื่อขยายการลงทุน ในส่วนของโรงงานผลิตน้ำตาลมิตรลาว ที่ตั้งอยู่ในแขวงสะหวันนะเขต ประเทศลาว

โดยวางแผนจะเพิ่มปริมาณอ้อยเข้าหีบจาก 4 แสนตันอ้อยต่อปี เพิ่มเป็น 1 ล้านตันอ้อยต่อปี หรือคิดเป็นปริมาณ 1.2 แสนตันน้ำตาลต่อปี สอดรับกับความต้องการน้ำตาลที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงทั้งในอาเซียน จีน และยุโรปรวมถึงการบริโภคในลาว

พร้อมกันนี้จะเข้าไปส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อย ภายใต้รูปแบบ 2+3 ซึ่งเป็นแนวคิดระหว่างโรงงานและเกษตรกรเจ้าของพื้นที่ร่วมกันคิด ร่วมกันปลูก และร่วมกันพัฒนา โดย 2 มีความหมายถึงชาวไร่อ้อยและพื้นที่เพาะปลูก ส่วน 3 หมายถึงการสนับสนุนด้านการส่งเสริมการเพาะปลูกอ้อยความรู้และเทคโนโลยีและเป็นตลาดรับซื้อ

โดยปัจจุบันพื้นที่เพาะปลูกเป็นของโรงงานสัดส่วน 60% และเกษตรกรชาวไร่อ้อย 40% โดยใน 5 ปี จากนี้สัดส่วนจะเป็น 30% ต่อ 70% จากปัจจุบันที่มีพื้นที่เพาะปลูก 7 หมื่นไร่ แบ่งเป็นพื้นที่เพาะปลูกของบริษัท 6 หมื่นไร่ และเกษตรกรชาวไร่อ้อย 1 หมื่นไร่

นอกจากนี้ยังจะนำมิตรผล โมเดิร์นฟาร์มมาใช้ในไร่ของบริษัทจำนวน 1,000 ไร่ เพื่อเป็นต้นแบบในการปลูกอ้อยโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย

นายบันเทิง ยังกล่าวถึง ปัจจัยลบในการดำเนินธุรกิจ ไก้แก่ การเพาะปลูกโดยเฉพาะโรคใบขาวในอ้อย ซึ่ง

จะเร่งแก้ไขภายในปีนี้ โดยนำพันธุ์อ้อยปลอดโรคมาเพาะปลูก เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ขณะที่ปัญหาเรื่องของอัตราจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม พบว่าสินค้าที่ผลิตในลาวจะถูกจัดเก็บในอัตราสูง หรือ 10% เมื่อเทียบกับสินค้านำเข้าจะเรียกเก็บในอัตรา 5%

“การลงทุนในลาวทำให้เกิดการจ้างงานในภาคเกษตรคิดเป็นมูลค่ารายได้ 190 ล้านบาทต่อปี ทั้งยังเกิดรายได้จากอาชีพการทำไร่อ้อย 180 ล้านบาท ขณะที่ภาครัฐมีรายได้เพิ่มจากภาษีที่บริษัทนำส่งปีละประมาณ 2,400 ล้านบาท”

ส่วนแนวทางการทำตลาดน้ำตาลมิตรลาว ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับแพ็จเกจจิ้งให้ดูทันสมัยยิ่งขึ้น รวมถึงพัฒนาและเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ เช่น การทำน้ำตาลออร์แกนิค ซึ่งมีราคาสูงกว่าน้ำตาลปกติ 5-6 เท่า เนื่องจากราคาน้ำตาลในตลาดปัจจุบันได้ปรับลดเหลือประมาณ 12-13 เซนต์ต่อปอนด์

ส่วนของภาพรวมอุตสาหกรรมน้ำตาลในลาวมีปริมาณกำลังผลิตอยู่ที่ประมาณ 7 หมื่นตันน้ำตาล มาจาก 3 โรงงานหลัก คือโรงงานมิตรลาว 4.5 หมื่นตันน้ำตาลต่อปี , โรงงานของกลุ่มฮองอัลห์ ยาลาย จากเวียดนาม ที่มีกำลังผลิต 2.5 หมื่นตันน้ำตาลต่อปี และโรงงานของกลุ่มน้ำตาลขอนแก่น หรือเคเอสแอล 1.3 หมื่นตันน้ำตาลต่อปี

ขณะที่อัตราการบริโภคยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องแต่ไม่สูงเท่าไทย ทำให้ยังมองเห็นถึงโอกาสในการทำตลาด ขณะที่ปริมาณการผลิตของไทยช่วงปีที่ผ่านมาสามารถผลิตได้ถึง 105 ล้านตันอ้อยต่อปี เป็นของมิตรผล 20.6 ล้านตันอ้อยต่อปี โดยครองเจ้าตลาดน้ำตาลด้วยส่วนแบ่งการตลาด 26%

นายบันเทิง ยังกล่าวว่า ในส่วนของการลงทุนโรงงานไฟฟ้าชีวมวลในลาว ต้องใช้งบประมาณการลงทุนที่สูง ซึ่งมองว่าหากจะเพิ่มในส่วนของเครื่องจักร จะเป็นการนำเข้าเครื่องจักรเก่าจากโรงไฟฟ้าในไทยมาใช้ในลาวมากกกว่าการซื้อเครื่องจักรใหม่ เพราะมองว่าจะไม่คุ้มต่อการลงทุน

ปัจจุบันกลุ่มมิตรผลถือว่าเป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลอันดับที่ 1 ของไทย และเป็นอันดับที่ 4 ของโลก ทั้งยังเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าชีวมวลอันดับ 1 ในอาเซียนและเป็นผู้ผลิตเอทานอลอันดับ 1 ในเอเชีย

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 29 พฤษภาคม 2558

เกษตรกรบุรีรัมย์แห่กู้เงินธกส. ใช้ลงทุนปลูกพืชไร่ฤดูกาลใหม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกษตรกรในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ ได้เดินทางเข้ากู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อนำไปเป็นทุนซื้อปุ๋ย ค่าจ้างรถไถ ค่าจ้างแรงงาน ในการทำนาและเพาะปลูกพืชไร่ฤดูกาลใหม่แล้วกว่า 4,000 ราย เป็นวงเงินที่ได้รับอนุมัติแล้วกว่า 2,350 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าปีนี้จะมีเกษตรกรมายื่นกู้เพื่อนำไปลงทุนมากกว่าปีที่ผ่านมา

นายจักรดุลย์ ศรีสุวรมนตรี ผู้อำนวยการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จ.บุรีรัมย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้เกษตรกรในพื้นที่หลายอำเภอของ จ.บุรีรัมย์ ได้เริ่มลงทำนา และเพาะปลูกพืชไร่ในฤดูกาลใหม่แล้ว ส่งผลให้มีเกษตรกรทั้งที่เป็นลูกค้ารายเก่าและรายใหม่ได้มายื่นกู้เงินกับ ธ.ก.ส. สาขาต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดรวมแล้วกว่า 4,000 ราย ยอดวงเงินที่ทาง ธ.ก.ส.อนุมัติให้เกษตรกรไปแล้วกว่า 2,350 ล้านบาท เพื่อที่เกษตรกรจะได้นำเงินที่กู้ยืมดังกล่าวไปลงทุนซื้อปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช เป็นค่าจ้างรถไถ และค่าจ้างแรงงานในการทำนา หรือเพาะปลูกพืชไร่ ทั้งมันสำปะหลัง อ้อย และยางพารา 

โดยทาง ธ.ก.ส.จะคิดอัตราดอกเบี้ยแยกตามชั้นลูกค้า โดยลูกค้าชั้น 3 หรือ AAA+ คิดดอกเบี้ยร้อยละ 7 เปอร์เซ็นต์  ชั้น AAA  คิดดอกเบี้ย 7.75  เปอร์เซ็นต์  ชั้น AA ดอกเบี้ย 8.5 เปอร์เซ็นต์ หากเป็นลูกค้าใหม่ ชั้น A คิดดอกเบี้ย 9.25 เปอร์เซ็นต์ และลูกค้าที่ค้างชำระ หรือชั้น B คิดดอกเบี้ย 10 เปอร์เซ็นต์

ผู้อำนวยการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จ.บุรีรัมย์  ยังระบุอีกว่า จากข้อมูลพบว่าขณะนี้มีเกษตรกรทั้งรายเก่ารายใหม่มากู้เงิน ธ.ก.ส.สะสมรวมกว่า 194,000 ราย เป็นยอดสินเชื่อที่ทาง ธ.ก.ส.อนุมัติให้เกษตรกรที่ยื่นกู้ไปแล้วกว่า 3,000 ล้านบาท โดยปีนี้คาดว่าจะมีเกษตรกรมายื่นกู้เพื่อนำไปลงทุนทำนา เพาะปลูกพืชไร่และประกอบอาชีพด้านการเกษตรมากกว่าปีที่ผ่านมา

จาก http://www.naewna.com วันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ก.เกษตรฯบริหารจัดการสินค้าเกษตรใหม่ 

นางสาวจริยา สุทธิไชยา รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งรัดเรื่องการบริหารจัดการสินค้าเกษตรในฤดูกาลใหม่ ปี 2558/59 กระทรวงเกษตรฯ โดยคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์จังหวัด ซึ่งมี ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน มีเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเป็นเลขานุการ และมีผู้แทนจาก คสช. หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ในจังหวัดนั้นๆ รวมถึงหน่วยงานของกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม สภาเกษตรกรจังหวัด เพื่อจัดทำยุทธศาสตร์สินค้าเกษตรของแต่ละจังหวัด ที่เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ของกระทรวงเกษตรฯ และของประเทศ ซึ่งเป็นการใช้กลไกจังหวัดจัดการสินค้าเกษตร ที่จะมีการบริหารจัดการทั้งด้านการผลิต การแปรรูปและการตลาดแบบ บูรณาการครบวงจร

          ทั้งนี้ ได้กำหนดให้มีการบริหารจัดการกลุ่มสินค้าพืชเศรษฐกิจหลักของแต่ละจังหวัด แบ่งเป็น 5 ชนิด ได้แก่ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากเป็นสินค้าที่เชื่อมโยงทั้งด้านความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงอาหารสัตว์ กลุ่มอุตสาหกรรมและพลังงาน แต่หากจังหวัดใดไม่มีความโดดเด่นทางด้านสินค้าหลักที่กล่าวมานี้ ก็ให้เพิ่มมาอยู่ในกลุ่มสินค้า 7 ชนิด ซึ่งเลือกสินค้าโดยดูจากมูลค่าผลิตภัณฑ์ สินค้าเกษตร (GDP) 5 อันดับแรกของจังหวัด เช่น บางจังหวัดอาจจะเลือกปาล์มน้ำมัน กุ้ง หอยแครง สับปะรด อ้อยโรงงาน แต่ต้องคงสินค้า 2 ชนิดคือข้าวและยางพาราไว้ในยุทธศาสตร์ไม่ว่าจะมีพื้นที่เกษตรกรปลูกกี่ไร่ กี่ครัวเรือนก็ตาม

          ขณะนี้คณะอนุกรรมการพัฒนา การเกษตรและสหกรณ์จังหวัดได้คัดเลือกสินค้าที่เป็น Top 5 กับ Top 7 เรียบร้อยแล้ว ทาง สศก. กำลัง ตรวจสอบข้อมูลการผลิต แปรรูป การตลาดที่แต่ละจังหวัดส่งมาให้เปรียบเทียบกับข้อมูลพยากรณ์ของ สศก.ว่ามีความแตกต่างกันมากน้อยเพียงใด จากนั้นจะวิเคราะห์และปรับข้อมูลให้สอดคล้องกัน พร้อมกับกำหนดกรอบแนวทางการบริหารจัดการสินค้าเกษตรแต่ละชนิดให้แก่จังหวัดใช้เป็นกรอบปฏิบัติต่อไป อย่างไรก็ตาม สิ่งที่คาดหวังจากการใช้กลไกจังหวัดจัดการสินค้าเกษตร ฤดูกาลผลิต 2558/59 คือให้จังหวัดบริหารจัดการและแก้ปัญหาสินค้าเกษตรของจังหวัดนั้นเอง คือให้มีการผลิตและแปรรูปในจังหวัด เกิดการขายในจังหวัดนั้นก่อน เหลือจึงส่งไปยังจังหวัดอื่น เพื่อลดต้นทุนด้านลอจิสติกส์ ที่เป็นต้นทุนเกือบ 20% ของต้นทุนในการผลิต อีกทั้งการลดขั้นตอนการขนส่งจะทำให้สินค้ามีคุณภาพมากขึ้น เป็นการเพิ่มความคุ้มค่าและมูลค่าของสินค้า ที่สำคัญจะมีเงินหมุนเวียนในจังหวัด ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการตั้งตลาดเกษตรกรในแต่ละจังหวัด เพื่อให้ผลิตสินค้าขายในพื้นที่ก่อน ส่วนที่เกินก็ขายออกนอกพื้นที่ เป็น การบริหารจัดการสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพทั้ง 77 จังหวัด ก็จะช่วยแบ่งเบาปัญหาในระดับจังหวัดก่อน นอกจากเกินอำนาจของจังหวัดหรือจำเป็นต้องตัดสินใจในเชิงนโยบายจึงส่งเรื่องต่อมาที่กระทรวงหรือส่วนกลางเพื่อพิจารณาหาแนว ทางช่วยเหลือต่อไป

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

บูรณะคันคู ยุทธศาสตร์เพื่อการเกษตร

บูรณะคันคู ยุทธศาสตร์เพื่อการเกษตรควรมีการปรับปรุงให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ของราษฎรในพื้นที่ให้มากขึ้น นับตั้งแต่การขุดลอก การ ปรับสภาพพื้นที่รับน้ำภายในคันคู วันศุกร์ที่ 29 พฤษภาคม 2558 เวลา 2:08 น. หมวด: เกษตรกรรม คำสำคัญ: บูรณะ คันคู ยุทธศาสตร์ เพื่อการเกษตร นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี พร้อมด้วยนายดนุชา สินธวานนท์ รองเลขาธิการ กปร. นายเฉลิมเกียรติ แสนวิเศษ ที่ปรึกษาสำนักงาน กปร. นายเทอดศักดิ์ บุณยขจร ผู้เชี่ยวชาญด้านแหล่งน้ำ มูลนิธิชัยพัฒนา และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เดินทางไปเยี่ยมชมการจัดการน้ำเพื่อความมั่นคงตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี พื้นที่โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยพลาญเสือตอนล่างอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านโนนสูง ตำบลโดมประดิษฐ์ อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันก่อน พร้อมร่วมเปิดงานโครงการพัฒนาเกษตรครบวงจร เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 87 พรรษา บริเวณคลองส่งน้ำและพื้นที่เกษตร กรรมของโครงการห้วยพลาญเสือตอนบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริอีกด้วยทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริให้พัฒนาแหล่งน้ำและคันคูน้ำเพื่อให้น้ำเป็นแนวป้องกันและสร้างความมั่นคงให้แก่ประเทศ จากการรุกรานด้วยกำลังทหารจากประเทศเพื่อนบ้านเมื่อครั้งอดีต ด้วยสายพระเนตรที่ยาวไกลทำให้ยุทธศาสตร์เพื่อความมั่นคงที่ประสบผลสำเร็จในอดีตได้กลับมาสร้างความมั่นคงด้านอาหารและอาชีพให้แก่ราษฎรในปัจจุบัน ส่งผลถึงการแก้ไขปัญหาความยากจนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นโดยพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์จากโครงการมีประมาณ 6,850 ไร่ เป็นพื้นที่ชลประทาน 5,823 ไร่ อ่างเก็บน้ำมีขนาดความจุ 33.5 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้ราษฎรในพื้นที่สามารถทำการเพาะปลูกได้ทั้งฤดูฝนและฤดูแล้ง ตลอดจนช่วยให้ราษฎรประมาณ 717 ครัวเรือน มีน้ำใช้ในการอุปโภคบริโภค เลี้ยงสัตว์ และทำการประมงได้ตลอดปีโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยพลาญเสือตอนบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริในการจัดหาแหล่งน้ำสนับสนุนให้แก่หน่วยทหารในพื้นที่ที่ทำหน้าที่รักษาความมั่นคง ขณะเดียวกันได้ทำหน้าที่เป็นปราการป้องกันการบุกรุกของกองกำลังจากต่างประเทศที่เรียกว่าคันคูยุทธศาสตร์ ที่ช่วยสกัดกั้นรถถังไม่ให้สามารถบุกรุกเข้ามาในเขตประเทศไทยได้ นับเป็นแนวพระราชดำริที่สร้างความมั่นคงและชีวิตที่เปี่ยมสุขให้แก่ราษฎรอีกด้วยในการนี้ องคมนตรี และคณะได้ร่วมปล่อยพันธุ์ปลานิล 200,000 ตัว ลงในอ่างเก็บน้ำ พร้อมกับปลูกต้นไม้ เพื่อเป็นร่มเงาให้แก่พื้นที่เพื่อความร่มเย็นให้แก่ราษฎรต่อไปอีกด้วยส่วนคันคูยุทธศาสตร์ ที่ปัจจุบันมีวัชพืชเกิดขึ้นตลอดแนวคันคู เป็นอุปสรรคต่อการไหลเวียนของน้ำนั้น องคมนตรีได้ให้ข้อคิดเห็นแก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องว่า ควรมีการปรับปรุงให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ของราษฎรในพื้นที่ให้มากขึ้น นับตั้งแต่การขุดลอก การปรับสภาพพื้นที่รับน้ำภายในคันคู ตลอดถึงการจัดทำพิพิธภัณฑ์เหตุการณ์เมื่อครั้งอดีตที่ประเทศเพื่อนบ้านเกิดสงคราม ประชาชนของประเทศนั้นต้องอพยพหนีภัยสงครามเข้ามาเป็นจำนวนมาก ในสภาพที่น่าเวทนา ที่มีทั้งคนเจ็บ คนป่วย เด็ก ผู้หญิง และคนชราที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ โดยการอาศัยคันคูแห่งนี้เป็นเส้นทางเดินเท้าเข้ามา ด้วยมีความปลอดภัย เพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้กับคนไทยและผู้คนทั่วไปได้ตระหนักถึงความเดือดร้อนที่จะได้รับหากเกิดภัยสงครามขึ้นมาหรืออยู่ในภาวะที่บ้านเมืองเกิดความแตกแยกของคนในชาติซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนับตั้งแต่ ตำบล อำเภอ และจังหวัดอุบลราชธานี ต่างรับที่จะเข้าไปดำเนินการโดยเร็วเพื่อให้ราษฎรในพื้นที่ได้ใช้ประโยชน์จากคันคูแห่งนี้อย่างเต็มที่อีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะด้านการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรของพื้นที่.“

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

“อุ๋ย-ประสาร” ขานรับบาทอ่อน ธปท.ยันไม่ต้องการเข้าสู่สงครามค่าเงิน!

“หม่อมอุ๋ย” ระบุเงินบาทอ่อนค่าระดับนี้ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ และเทียบกับคู่ค้าคู่แข่งยังมีช่องว่างให้อ่อนค่าลงได้อีก คาดไตรมาส 3 ส่งออกดีขึ้นชัดเจน “ประสาร” ยอมรับในโลกยุคใหม่ ค่าบาทมีผลต่อการส่งออกมากขึ้น ยืนยันไม่ได้ใช้นโยบายบาทอ่อน ชี้ไม่ควรเข้าไปสู่สงครามค่าเงิน ด้าน “มูดีส์” ชี้เครดิตไทยได้แรงหนุนจากฐานะการเงินที่แข็งแกร่งของรัฐบาล

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ กล่าวในงานประชุมประจำปียูโรมันนีในประเทศไทย “การลงทุนในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง” ว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งเริ่มส่งผลต่ออัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ และการอ่อนค่าลงของเงินบาท ถือเป็นทิศทางที่ดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง ผู้ส่งออกมีกำลังใจมากขึ้น นอกจากนั้น สิ่งที่ดีคือ เริ่มเห็นการหดตัวในเดือน เม.ย.ที่ลดลง โดยติดลบ 1.7% จากที่เคยติดลบมากกว่า 4% ในเดือนก่อนหน้า

ทั้งนี้ ค่าเงินบาทที่อ่อนลงมาช่วยให้เรื่องของการส่งออก และค่าเงินบาทไม่อ่อนค่าเร็วเกินไป หรือไม่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ และเมื่อเทียบกับค่าเงินของสกุลคู่ค้าและคู่แข่งยังเห็นว่า ค่าเงินบาทยังมีช่องว่างให้อ่อนค่าลงต่อได้อีก อย่างไรก็ตาม ผลของค่าเงินบาทอ่อนต่อการส่งออก อาจใช้เวลาสักระยะ เพราะตามปกติการกำหนดราคาขายสินค้าส่งออกจะกำหนดล่วงหน้า 3 เดือน ราคาที่ต่ำลงจากค่าเงินบาทอ่อน จะมีผลในประมาณ 3 เดือนข้างหน้า ดังนั้น เราจะเห็นการส่งออกของไทยดีขึ้นชัดเจนในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้เป็นต้นไป

“ค่าเงินบาทในขณะนี้ ใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์ในการอ่อนค่าลง 1 บาท จะเรียกว่าเร็วได้อย่างไร ไม่เหมือนกับ 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีช่วงหนึ่งที่ค่าเงินบาทเปลี่ยนแปลง 1 บาทในวันเดียว ดังนั้น ยังไม่มีอะไรที่น่าเป็นห่วง”

ทั้งนี้ ในงานเดียวกัน นายประสาร ไตรรัตน์-วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ลงในช่วงนี้ถือเป็นเรื่องที่ดี ที่ ธปท.และธนาคารพาณิชย์เริ่มมีหัวใจตรงกัน และช่วยบรรเทาภาระของลูกหนี้ในภาพรวมลงด้วย ซึ่งเป็นทิศทางที่ดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจ เพราะในขณะนี้ต้องยอมรับว่า เศรษฐกิจของเรายังคงฟื้นตัว แต่ในอัตราที่ต่ำ ดังนั้น การขอให้ธนาคารพาณิชย์ช่วยผู้ประกอบการรายกลางรายย่อย (เอสเอ็มอี) ที่เป็นลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์อยู่ ถือเป็นการดูแลล่วงหน้าในช่วงที่เศรษฐกิจไทยยังต้องใช้เวลาปรับตัวเชิงโครงสร้างในอีกระยะหนึ่ง

“ในภาวะที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ เอสเอ็มอีส่วนหนึ่งสายป่านสั้น ขณะที่กำลังซื้อของคนที่ลดลง ทำให้รายได้ของเอสเอ็มอีต่ำลง ขณะที่การส่งออกอยู่ในภาวะที่ต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งเพื่อการฟื้นตัว ดังนั้น การเข้าไปพยุงให้เอสเอ็มอีสามารถอยู่ต่อได้ จนเศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัวถือเป็นทางที่ต้องดูแลกันไว้ และขณะนี้แบงก์ก็มีกำไรดี ตัดกำไรแบงก์ลงนิดหน่อยมาช่วยเอสเอ็มอีก็น่าจะได้ และเชื่อว่าธนาคารจะเข้าใจด้วย”

ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวถึงค่าเงินบาทที่อ่อนค่าว่า ผู้ส่งออกเมื่อแปลงค่าเป็นเงินบาทจะมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะดีต่อเนื่องถึงการอุปโภคบริโภคในประเทศ แต่จะมีผลดีต่อการส่งออกเพิ่มขึ้นหรือไม่ คงขึ้นอยู่กับสถานการณ์การค้าโลกที่ปริมาณการค้าระหว่างประเทศลดลง เห็นได้จากการฟื้นตัวของสหรัฐฯ ไม่ได้ทำให้กำลังซื้อของโลกเพิ่มขึ้น นอกจากนั้น ภาคการผลิตของไทยต้องใช้เวลาปรับโครงสร้างเพื่อตอบสนองพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป อย่างไรก็ตาม ค่าเงินเริ่มมีผลต่อภาคการส่งออกเพิ่มขึ้น จากเดิมเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา การขยายตัวของการส่งออกของไทยได้รับผลดีจากการขยายตัวของเศรษฐกิจคู่ค้ามากกว่าเงินบาท

“ธปท.หรือคณะกรรมการนโยบายการเงิน ไม่ได้มีเป้าหมายที่จะทำให้เงินอ่อน เพราะไม่ต้องการถูกม้วนเข้าไปในสงครามค่าเงินอ่อน ซึ่งสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ทำอยู่ผ่านการใช้นโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) แต่เท่าที่เห็นธนาคารกลางในภูมิภาคนี้ยังไม่มีใครทำ และไม่ควรทำด้วย เพราะการเข้าไปซื้อเงินตราต่างประเทศเพื่อให้เงินอ่อน จะทำให้เศรษฐกิจจนมุม และเสถียรภาพไม่ดี ยังทำให้มีผลข้างเคียงเรื่องการเก็งกำไรค่าเงินด้วย”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มูดีส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส ได้เผยแพร่รายงานที่มีชื่อว่า “Credit Analysis on Thailand” โดยระบุว่า เครดิตของประเทศไทยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งอย่างมากของรัฐบาล ดังจะเห็นได้จากต้นทุนการระดมทุนที่อยู่ในระดับต่ำ และโครงสร้างหนี้ที่เหมาะสม ความแข็งแกร่งด้านศักยภาพในการจัดการหนี้สินของรัฐบาลเป็นผลมาจากนโยบายการเงินและการบริหารจัดการหนี้เชิงรุกและมีความน่าเชื่อถือ ขณะที่ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่ระดับสูงของไทยได้ช่วยชดเชยปัจจัยลบจากต่างประเทศ ส่วนความหลากหลายทางเศรษฐกิจก็เป็นจุดแข็งอีกประการหนึ่งในด้านเครดิตของไทย

แม้ว่าเหตุรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 ได้ช่วยฟื้นเสถียรภาพทางการเมืองและลดความผันผวนทางเศรษฐกิจ แต่การเมืองภายในประเทศของไทยก็ยังมีการแบ่งขั้ว ประกอบกับการฟื้นตัวที่เชื่องช้าของดีมานด์จากต่างประเทศและข้อจำกัดในเรื่องการใช้จ่ายด้านการบริโภคของภาคเอกชน อันเนื่องมาจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการขยายตัวของประเทศในช่วงปี 2558-2559 และถ้าไม่สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ ปัญหาดังกล่าวก็อาจจะบ่อนทำลายความแข็งแกร่งด้านปัจจัยพื้นฐานของประเทศ.

จาก  http://www.thairath.co.th   วันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

คลังยืนจีดีพี58โตเข้าเป้า3.7% ห่วงรายได้ภาคเกษตรโคม่า

คลังมั่นใจจีดีพีปี 58 โตเข้าเป้า 3.7% ส่งออกไม่หลุดโผ 0.2% ชี้ปัจจัยเสริมภาคท่องเที่ยว-เบิกจ่ายตัวหนุนสำคัญ แจงรายได้ภาคเกษตรยังน่าเป็นห่วง

 นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า คลังยังมั่นใจว่าตัวเลขเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปี 2558 จะขยายตัวได้ 3.7% ตามที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากยังมีปัจจัยที่สามารถขับเคลื่อนได้ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้เป็นอย่างดี โดยปีนี้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยราว 29.4 ล้านคน รวมถึงการเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนของภาครัฐ ขณะที่ตัวเลขการส่งออกคาดว่าจะขยายตัวได้ 0.2% โดยจะเริ่มฟื้นตัวดีในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐและเวียดนามที่กลายเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทย

 สำหรับแนวโน้มรายได้ภาคเกษตรกร คาดว่าจะยังขยายตัวอยู่ในแดนลบ ยังมีการปรับลดลงต่อเนื่อง ซึ่งเรื่องนี้อาจส่งผลกระทบต่อการบริโภคภาคประชาชนให้ขยายตัวได้มาก โดยรัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ในการจัดทำงบประมาณปี 2558 นอกจากจะมีการจัดสรรงบลงทุนที่ 20% ของงบประมาณรายจ่ายแล้ว ยังมีการจัดสรรวงเงิน 1.1 แสนล้านบาทเพื่อดูแลภาคเกษตรด้วย

 นางสาวกุลยากล่าวอีกว่า ภาวะเศรษฐกิจในเดือน เม.ย.2558 พบว่ามีสัญญาณทางเศรษฐกิจหลายตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเบิกจ่ายภาครัฐในเดือน เม.ย.2558 มีการขาดดุลงบประมาณถึง 4.5 หมื่นล้านบาท แสดงให้เห็นว่านโยบายการคลังยังมีบทบาทสำคัญกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังขยายตัวได้ระดับสูงต่อเนื่อง นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในเดือน เม.ย.2558 จำนวน 2.4 ล้านคน ขยายตัว 25.1% และข้อมูลของ 12 วันแรกของเดือน พ.ค.นี้ มีนักท่องเที่ยวเข้ามา 8.6 แสนคน ขยายตัว 22.9% ขณะเดียวกันการบริโภคภายในประเทศยังขยายตัวได้ดี แม้ว่าการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) รวมจะขยายตัวได้ 2.5%.

จาก  http://www.thaipost.net วันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

เกษตรดำเนินโครงการตำบลละล้าน ครบตามเป้ากว่า 6 พันโครงการช่วยเกษตรสู้ภัยแล้ง

นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตร ดำเนินโครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชนเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ชุมชนสามารถกำหนดกิจกรรมจากความต้องการและสอดคล้องกับปัญหาในพื้นที่ทางการเกษตร นำไปสู่การพัฒนาการเกษตรของชุมชนอย่างยั่งยืน จากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบแล้งซ้ำซากใน 58 จังหวัด จำนวน 3,051 ตำบลๆ ละไม่เกิน 1,000,000 บาท โดยมีกระทรวงกลาโหม และกระทรวงมหาดไทยร่วมดำเนินการ ซึ่งขณะนี้ได้รับการอนุมัติโครงการครบตามเป้าหมายแล้วทั้ง 6,598 โครงการ วงเงินงบประมาณรวม 3,004.513 ล้านบาท

และสำนักงบประมาณอนุมัติงบประมาณแล้ว

ทางด้านนายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า โครงการที่ได้รับความเห็นชอบทั้งหมดแยกเป็นประเภทกิจกรรมใน 4 ลักษณะกิจกรรม ได้แก่ 1.กิจกรรมการจัดการแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรของชุมชน จำนวน 3,331 โครงการ คิดเป็น 50.48% อาทิ กิจกรรมกำจัดวัชพืชน้ำ คลองส่งน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติ, กิจกรรมสร้างฝายชะลอน้ำแบบกึ่งถาวร, กิจกรรมซ่อมแซมและขุดฝังท่อน้ำดิบ, กิจกรรมฝายดินเรียงหินยาแนว เป็นต้น 2.กิจกรรมด้านการผลิตทางการเกษตรและการแปรรูปผลผลิตเกษตรเพื่อสร้างรายได้ในฤดูแล้ง จำนวน 636 โครงการ คิดเป็น 9.64% อาทิ ผลิตเห็ดนางฟ้า, เห็ดนางรม, ส่งเสริมการประดิษฐ์กระทงจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เป็นต้น 3.กิจกรรมการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต จำนวน 2,370 โครงการ คิดเป็น 35.92% อาทิ กิจกรรมลานตากข้าวชุมชน, กิจกรรมผลิตและขยายศัตรูธรรมชาติเพื่อป้องกันกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าว, กิจกรรมผลิตปุ๋ยชีวภาพ เป็นต้น และ 4.กิจกรรมการจัดการเพื่อลดความสูญเสียผลผลิตเกษตร จำนวน 261 โครงการ คิดเป็น 3.96% อาทิ กิจกรรมเพิ่มศักยภาพศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน เป็นต้น

โดยกิจกรรมทั้ง 4 ลักษณะนี้ จะต้องมีการใช้แรงงานภาคการเกษตรไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ยกเว้นกรณีที่จำเป็นและมีเหตุผลที่สมควรต้องไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 30 และต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการระดับอำเภอ ขณะนี้กรมส่งเสริมการเกษตรโอนเงินจัดสรรงบประมาณให้กับสำนักงานเกษตรจังหวัดดำเนินการแล้ว คาดว่าจะมีครัวเรือนเกษตรกรที่ได้รับประโยชน์ 2,660,201 ครัวเรือน จะมีเกษตรกรที่ใช้แรงงาน 360,659 ราย หรือคิดเป็น 5,409,880 แรง (manday) คาดว่าโครงการทั้งหมดนี้จะทำให้เกษตรกรในชุมชนมีรายได้จากการจ้างแรงงาน ซึ่งเงินจะผ่านลงสู่องค์กรเกษตรกรและเกษตรกร โดยการบริหารบัญชีเงินฝาก เพื่อให้ถูกงาน ถูกคน โปร่งใส และทำให้เกิดการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาการเกษตรของชุมชน เพื่อเตรียมพร้อมในการรับสถานการณ์ภัยแล้งในระยะยาวต่อ

จาก  http://www.banmuang.co.th  วันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

อุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 

          ดร.อรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานเปิดงาน ความร่วมมือ "การพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศของประเทศไทย" ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย และ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ณ สโมสรทหารบก

          ดร.อรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า แนวคิดการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เป็นการผนวกรวมแนวคิดเชิงเศรษฐศาสตร์ ที่มุ่งแสวงหาผลกำไร กับแนวคิดเชิงนิเวศ ที่มุ่งเน้นการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลในระบบนิเวศ ให้ความสำคัญต่อการพึ่งพาอาศัยกันของสิ่งแวดล้อม ชุมชนและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานอย่างรู้คุณค่า

          "การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ จึงต้องเกิดขึ้นจากความร่วมมือของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ ผู้ประกอบการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนภาคประชาชนในพื้นที่ โดยความร่วมมือของ 3 กระทรวงหลักซึ่งทำหน้าที่สำคัญในการพัฒนาประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ สังคมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย พัฒนาพื้นที่ พัฒนาท้องถิ่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พัฒนาสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ส่วนกระทรวงอุตสาหกรรม พัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียว อุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อจะนำไปสู่ความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ โดยมีความสมดุลกับการรักษาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศต่อไป"

          ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ของประเทศ ว่าด้วยเรื่อง การเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีหน้าที่รับผิดชอบร่วมกันกับกระทรวงมหาดไทย และ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เราได้กำหนดให้มีการบริหารจัดการภาคอุตสาหกรรมให้อยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน เป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งได้ดำเนินงานตามแผนแม่บทในพื้นที่อุตสาหกรรมมาตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน มีโครงการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ในเขตประกอบการอุตสาหกรรม สวนอุตสาหกรรมและชุมชนอุตสาหกรรมใน 9 พื้นที่ นอกจากนี้ยังได้มีการจัดทำโครงการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับแผนแม่บทเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในพื้นที่ เป้าหมาย 15 จังหวัดด้วย

จาก  http://www.iqnewsclip.com วันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 

เร่งจัดชั้นโรงงานคุมเข้มสวล.หวังรับ'สิทธิประโยชน์'เพิ่ม 

          กระทรวงอุตสาหกรรมจัดชั้นโรงงาน อุตสาหกรรมดูแลสิ่งแวดล้อมดี พร้อมพัฒนากลุ่มที่มาตรฐานต่ำ เดินหน้ายกระดับ บุคลากรด้านสิ่งแวดล้อมต้องได้ตามมาตรฐาน กรมโรงงานอุตสาหกรรม

          นายสมชาย หาญหิรัญ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานร่วมคณะทำงานแก้ไขปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมและขยะอุตสาหกรรมระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เตรียมจะเสนอให้คณะกรรมการร่วมระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมกับส.อ.ท.จัดชั้นโรงงานที่มีการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมดี มีความเสี่ยงสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำ ปัจจุบันประเมินเบื้องต้นมีอยู่ประมาณ 3,000 โรงงาน ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์เหนือกว่าโรงงานที่มีมาตรฐานการดูแลสิ่งแวดล้อม ต่ำกว่าเช่นการต่อใบอนุญาตต่าง ๆ  ส่วนเกณฑ์จัดชั้นโรงงาน จะตั้งคณะทำงานขึ้นมากำหนดต่อไป คาดจะเสร็จภายในปีนี้

          ส่วนกลุ่มที่ยังมีการบริหารจัดการด้าน สิ่งแวดล้อมไม่มีประสิทธิภาพ จะหารือกำหนดแนวทางพัฒนายกระดับมาตรฐานดูแลสิ่งแวดล้อม โดยเลือกจังหวัดในเขตปริมณฑลก่อน เช่น จังหวัดปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง เป็นต้น

          นอกจากนี้จะเร่งให้โรงงานที่เข้าข่าย สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น มีการปล่อย น้ำเสียตั้งแต่ 500 ลูกบาศก์เมตรขึ้นไป หรือมีสารโลหะหนักในการผลิตหรือโรงงานที่ต้องเข้าข่ายจะต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและโรงงานผู้รับกำจัดของเสีย จะต้องแจ้งการมีบุคลากรด้านสิ่งแวดล้อมประจำโรงงาน เนื่องจากจำนวนบุคลากรด้านสิ่งแวดล้อม มีน้อย ต้องสำเร็จการศึกษาวิทยาศาสตร์บัณฑิตสาขาสิ่งแวดล้อมและสอบผ่านตามเกณฑ์ที่ กรมโรงงานอุตสาหกรรมกำหนดไว้

          ปัจจุบันบุคลากรด้านนี้สอบผ่านตามมาตรฐานของกรมโรงงานอุตสาหกรรม 6,500 คน ขณะนี้มีโรงงานแจ้งว่า มีบุคลากรด้าน สิ่งแวดล้อมแล้ว 2,100 โรงงาน ส่วนโรงงาน ที่มีบุคลากรด้านนี้ แต่คุณสมบัติไม่ตรงหรือ ความรู้ไม่ทันสมัยก็จะจัดอบรม พร้อมสร้างเครือข่าย สิ่งแวดล้อม โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมและส.อ.ท. จะสร้างเว็บไซต์และเฟซบุ๊ค เพื่อเป็นศูนย์กลาง แลกเปลี่ยนความรู้และในงานอินดัสเตรียล เอ็กซ์โป จะจัดระหว่างวันที่ 6-8 ก.ย.นี้

          ส่วนปี 2559 จะมีการจัดประกวดบุคลากรดีเด่นด้านสิ่งแวดล้อมประจำโรงงานต่าง ๆด้วย และปี2560 จะวางแผนการประกวดด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมดีเด่นระดับจังหวัดต่อไป

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 

กระทรวงอุตสาหกรรม พลิกโฉมอุตสาหกรรมไทย สร้างต้นแบบ 5 เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 

          นางอรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้แนะแนวคิดการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศมาปรับให้เป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดที่มีอุตสาหกรรมหนาแน่นและจังหวัดที่มีศักยภาพในการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมสูง ซึ่งก็สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศข้อที่ 3 เรื่องการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยกระทรวงฯ ได้จัดตั้งคณะทำงานศึกษารูปแบบการจัดทำเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศนำร่อง 5 จังหวัดได้แก่ จังหวัดสมุทรปราการ สมุทรสาคร ระยอง ฉะเชิงเทรา และปราจีนบุรี และอีก 9 เขตประกอบการอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ยังเดินหน้าโครงการการส่งเสริมการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน เชื่อมโยงระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องแยกเป็นการส่งเสริมผ่านนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว เป้าหมายคือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชน การสร้างระบบการติดต่อและการรายงานผล การส่งเสริมการผลิตอย่างยั่งยืน ผ่านนโยบายอุตสาหกรรมสีเขียว โดยขณะนี้มีผู้ได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวระดับต่างๆ จำนวน 18,628 ราย.

จาก http://www.thaipost.net วันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 

เร่งจัดชั้นโรงงานคุมเข้มสวล.หวังรับ'สิทธิประโยชน์'เพิ่ม 

          กระทรวงอุตสาหกรรมจัดชั้นโรงงาน อุตสาหกรรมดูแลสิ่งแวดล้อมดี พร้อมพัฒนากลุ่มที่มาตรฐานต่ำ เดินหน้ายกระดับ บุคลากรด้านสิ่งแวดล้อมต้องได้ตามมาตรฐาน กรมโรงงานอุตสาหกรรม

          นายสมชาย หาญหิรัญ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานร่วมคณะทำงานแก้ไขปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมและขยะอุตสาหกรรมระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เตรียมจะเสนอให้คณะกรรมการร่วมระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมกับส.อ.ท.จัดชั้นโรงงานที่มีการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมดี มีความเสี่ยงสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำ ปัจจุบันประเมินเบื้องต้นมีอยู่ประมาณ 3,000 โรงงาน ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์เหนือกว่าโรงงานที่มีมาตรฐานการดูแลสิ่งแวดล้อม ต่ำกว่าเช่นการต่อใบอนุญาตต่าง ๆ  ส่วนเกณฑ์จัดชั้นโรงงาน จะตั้งคณะทำงานขึ้นมากำหนดต่อไป คาดจะเสร็จภายในปีนี้

          ส่วนกลุ่มที่ยังมีการบริหารจัดการด้าน สิ่งแวดล้อมไม่มีประสิทธิภาพ จะหารือกำหนดแนวทางพัฒนายกระดับมาตรฐานดูแลสิ่งแวดล้อม โดยเลือกจังหวัดในเขตปริมณฑลก่อน เช่น จังหวัดปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง เป็นต้น

          นอกจากนี้จะเร่งให้โรงงานที่เข้าข่าย สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น มีการปล่อย น้ำเสียตั้งแต่ 500 ลูกบาศก์เมตรขึ้นไป หรือมีสารโลหะหนักในการผลิตหรือโรงงานที่ต้องเข้าข่ายจะต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและโรงงานผู้รับกำจัดของเสีย จะต้องแจ้งการมีบุคลากรด้านสิ่งแวดล้อมประจำโรงงาน เนื่องจากจำนวนบุคลากรด้านสิ่งแวดล้อม มีน้อย ต้องสำเร็จการศึกษาวิทยาศาสตร์บัณฑิตสาขาสิ่งแวดล้อมและสอบผ่านตามเกณฑ์ที่ กรมโรงงานอุตสาหกรรมกำหนดไว้

          ปัจจุบันบุคลากรด้านนี้สอบผ่านตามมาตรฐานของกรมโรงงานอุตสาหกรรม 6,500 คน ขณะนี้มีโรงงานแจ้งว่า มีบุคลากรด้าน สิ่งแวดล้อมแล้ว 2,100 โรงงาน ส่วนโรงงาน ที่มีบุคลากรด้านนี้ แต่คุณสมบัติไม่ตรงหรือ ความรู้ไม่ทันสมัยก็จะจัดอบรม พร้อมสร้างเครือข่าย สิ่งแวดล้อม โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมและส.อ.ท. จะสร้างเว็บไซต์และเฟซบุ๊ค เพื่อเป็นศูนย์กลาง แลกเปลี่ยนความรู้และในงานอินดัสเตรียล เอ็กซ์โป จะจัดระหว่างวันที่ 6-8 ก.ย.นี้

          ส่วนปี 2559 จะมีการจัดประกวดบุคลากรดีเด่นด้านสิ่งแวดล้อมประจำโรงงานต่าง ๆด้วย และปี2560 จะวางแผนการประกวดด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมดีเด่นระดับจังหวัดต่อไป

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 

กรมชลฯ เร่งพร่องน้ำให้เกษตรกรเพาะปลูกในช่วงหน้าฝนนี้

กรมชลประทาน เผย เร่งส่งน้ำให้เกษตรกร คาดการณ์ปีนี้จะมีน้ำใช้เพียงพอในฤดูกาลเพาะปลูกในหน้าฝนนี้

นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในรายการเดินหน้าประเทศไทย เรื่องเดินหน้าบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูกาลเพาะปลูก ว่า ศักยภาพของประเทศไทยสามารถให้น้ำได้ ร้อยละ 40 ของพื้นที่ทั้งหมด ดังนั้นแนวทางการบริหารจัดการแบ่งออกเป็น 2 แนวทาง คือ การบริหารจัดการน้ำที่มีอยู่ร้อยละ 40 โดยปัจจุบันดำเนินการได้ร้อยละ 30 ส่วนที่สอง คือ พื้นที่ที่ไม่มีระบบชลประทาน จะต้องพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กให้สามารถใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น รวมถึงสร้างบ่อน้ำตามไร่นา และบริหารจัดการแหล่งน้ำธรรมชาติ แก้มลิง ทะเลสาบ

ขณะที่ นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า จากการบริหารจัดน้ำมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่แล้ว ส่งผลให้ขณะนี้มีน้ำเพื่อทำการเกษตรมากกว่าปีที่ผ่านมา เห็นได้จากเกษตรกรสามารถทำนาปีได้ตั้งแต่ต้นฤดูกาล ทั้งนี้ กรมชลประทานเริ่มกระจายน้ำในพื้นที่เหนือเขื่อนเจ้าพระยา ตั้งแต่เดือนเมษายนโดยคาดว่าจะส่งน้ำให้จนถึงวันที่ 25-26 มิถุนายน ส่วนพื้นที่ใต้เขื่อนเจ้าพระยาเริ่มตั้งแต่ 1 พฤษภาคม และจะไปสิ้นสุดวันที่ 1 กรกฎาคม ซึ่งคาดว่า น้ำจะไปถึงพื้นที่เกษตรกรรมทั้งที่ลุ่มและที่ดอนครบทุกส่วน ส่วนข้อมูลน้ำฝนในปีนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า จะอยู่ต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ เมื่อสิ้นฤดูฝนเกษตรกรอาจจะต้องเผชิญกับสถานการณ์คล้าย ๆ กับในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา หากเป็นเช่นนั้นภาครัฐอาจต้องบริหารจัดการน้ำเหมือนปีที่ผ่านมา ให้เกษตรกรร่วมมือลดการปลูกนาปรัง และต้องใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 

'จักรมณฑ์'มองจีดีพีปี58โตร้อยละ3.7

รัฐมนตรีฯ อุตสาหกรรม มอง จีดีพี ปี 58 โต ร้อยละ 3.7 ขณะ แบงก์ชาติ ลดดอกเบี้ย เอื้อเอกชนลดต้นทุน 1 หมื่นล้านบาทต่อปี

นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยกับ สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 2558 คาดว่าจะอยู่ในกรอบร้อยละ 3-4 แต่ส่วนตัวเชื่อว่าจะโตได้ร้อยละ 3.7 และมีโอกาสที่จะขยายตัวได้ถึงร้อยละ 4 โดยเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของภาครัฐที่ดำเนินการออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติแผนยุทธศาสตร์ให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐตามแผนปี 2558-2562 กว่า 65 โครงการ วงเงิน 1.41 ล้านล้านบาท รวมถึงกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง ซึ่งทำให้เอกชนสามารถลดต้นทุนในการประกอบธุรกิจได้มากถึง 1 หมื่นล้านบาทต่อปี และยังได้ออกมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่า เอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการและการส่งออก นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2558 อย่างเต็มที่ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยนับจากนี้ขยายตัวได้ดีขึ้น

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 

3 กระทรวงใหญ่จับมือพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศประเทศไทยรองรับแผนแม่บทเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 

          ดร.อรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผยว่า แนวคิดการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เป็นการผนวกรวมแนวคิดเชิงเศรษฐศาสตร์ ที่มุ่งแสวงหาผลกำไร กับแนวคิดเชิงนิเวศ ที่มุ่งเน้นการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลในระบบนิเวศ ให้ความสำคัญต่อการพึ่งพาอาศัยกันของสิ่งแวดล้อม ชุมชนและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานอย่างรู้คุณค่า ดังนั้นการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ จึงต้องเกิดขึ้นจากความร่วมมือของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ ผู้ประกอบการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนภาคประชาชนในพื้นที่ โดยความร่วมมือของ 3 กระทรวงหลักซึ่งทำหน้าที่สำคัญในการพัฒนาประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ สังคมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย พัฒนาพื้นที่ พัฒนาท้องถิ่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พัฒนาสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ส่วนกระทรวงอุตสาหกรรม พัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียว อุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อจะนำไปสู่ความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ โดยมีความสมดุลกับการรักษาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศต่อไป

          ด้าน ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ของประเทศ ว่าด้วยเรื่องการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีหน้าที่รับผิดชอบร่วมกันกับกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เราได้กำหนดให้มีการบริหารจัดการภาคอุตสาหกรรมให้อยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน เป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งได้ดำเนินงานตามแผนแม่บทในพื้นที่อุตสาหกรรมมาตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน มีโครงการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในเขตประกอบการอุตสาหกรรม สวนอุตสาหกรรมและชุมชนอุตสาหกรรมใน 9 พื้นที่ ได้แก่ เขตประกอบการอุตสาหกรรมไออาร์พีซี จังหวัดระยอง สวนอุตสาหกรรมบางกระดี จังหวัดปทุมธานี สวนอุตสาหกรรม 304 อินดัสเตรียล ปาร์ค จังหวัดปราจีนบุรี สวนอุตสาหกรรม เครือสหพัฒน์ ศรีราชา จังหวัดชลบุรี สวนอุตสาหกรรม เครือสหพัฒน์ กบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ชุมชนอุตสาหกรรม ไอ.พี.พี. จังหวัดระยอง เขตประกอบการอุตสาหกรรมเหมราชระยอง จังหวัดระยอง เขตประกอบการอุตสาหกรรมเหมราชสระบุรี จังหวัดสระบุรี

          นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดทำโครงการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับแผนแม่บทเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในพื้นที่เป้าหมาย 15 จังหวัดด้วย ซึ่งในปี 2558 นี้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนมกราคม ครอบคลุม 6 จังหวัด ได้แก่ ราชบุรี นครปฐม นครราชสีมา ขอนแก่น สุราษฎร์ธานี และสงขลา โดยมีเป้าหมายให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ประชาชน ตลอดจนเยาวชนในพื้นที่มีความรู้ความเข้าใจและตระหนักถึงความเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศมากขึ้น เราต้องการให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมมีความสนใจในการเข้าสู่ระบบการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และมีการพัฒนาปรับปรุงโรงงานให้มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโดยรอบ ซึ่งในขณะนี้มีชุมชนเชิงนิเวศต้นแบบเกิดขึ้นในพื้นที่ 6 จังหวัดเป้าหมาย และจะเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับชุมชนในพื้นที่อื่นต่อไป โดยมีเครือข่ายภาคประชาชนที่เข้มแข็งในการเฝ้าระวังและป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อมภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะก่อให้เกิดการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนระหว่างชุมชนและโรงงานอุตสาหกรรม ที่ตรงกับวัตถุประสงค์ของแผนแม่บทอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในการพัฒนาไปสู่ความเจริญก้าวหน้าที่ยั่งยืนทางเศรษฐกิจของประเทศต่อไป.

จาก http://www.thaipost.net วันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 

ไฟเขียวแผนจัดการกากอุตสาหกรรม 5 ปี 

           พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบแผนการจัดการกากอุตสาหกรรมปี 2558-2562 โดยให้กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการปรับกรอบระยะเวลาแผนดังกล่าวให้สอดคล้องกับระยะเวลาของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แล้วแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามแผนต่อไป ทั้งนี้ แผนดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้โรงงานตามที่ได้ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) ให้ดำเนินการแจ้งการขนส่งกากอุตสาหกรรมอย่างถูกต้อง อย่างน้อย 5 ปี และให้มีการควบคุม กำกับดูแลผู้ขนส่งกากอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการขนส่งกากอุตสาหกรรมที่เป็นอันตราย โดยจะให้มีการติดสัญญาณดาวเทียม (จีพีเอส) สำหรับรถบรรทุกที่ทำการขนย้ายกากอุตสาหกรรมทุกคัน ทั้งนี้ ปัจจุบันมีโรงงานที่ทำหน้าที่กำจัดกากอุตสาหกรรม 1.6 พันโรงงาน

จาก http://www.thaipost.net วันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 

ชุดตรวจสอบความเป็นกรด-ด่าง นวัตกรรมใหม่ของกรมพัฒนาที่ดิน

ชุดตรวจสอบความเป็นกรด-ด่าง นวัตกรรมใหม่ของกรมพัฒนาที่ดินปกติการตรวจวิเคราะห์ค่าพีเอชจะทำในห้องปฏิบัติการโดยการวัดด้วยเครื่อง pH meter ที่เป็นวิธีมาตรฐานที่ใช้กันทั่วไปวันพุธที่ 27 พฤษภาคม 2558 เวลา 2:42 น. หมวด: เกษตรกรรม คำสำคัญ: ชุดตรวจสอบ ความเป็นกรด-ด่าง นวัตกรรมใหม่ ของ กรมพัฒนาที่ดิน ความเป็นกรด-ด่างของดิน หรือ พีเอช เป็นสมบัติทางเคมีที่มีการตรวจวัด ทดสอบอยู่เสมอแทบทุกครั้งที่มีการวิเคราะห์ดิน เป็นสมบัติของดินที่เปรียบเสมือนอุณหภูมิในร่างกายของคน เพราะค่าพีเอชจะมีบทบาทหรือความสัมพันธ์กับความเป็นประโยชน์ของธาตุอาหารพืช การเจริญเติบโตของพืช ปริมาณ กิจกรรมและประเภทของจุลินทรีย์ในดิน ปกติการตรวจวิเคราะห์ค่าพีเอชจะทำในห้องปฏิบัติการโดยการวัดด้วยเครื่อง pH meter ที่เป็นวิธีมาตรฐานที่ใช้กันทั่วไป ซึ่งมีขั้นตอนกระบวนการและอุปกรณ์ที่ใช้เฉพาะในการตรวจวิเคราะห์ดิน การประยุกต์ใช้ชุดตรวจสอบภาคสนามแทนวิธีในห้องปฏิบัติการเพื่อความสะดวก รวดเร็ว จึงมีความจำเป็นนางกุลรัศมิ์ อนันต์พงษ์สุข รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า กรมพัฒนาที่ดิน ได้พัฒนาและประดิษฐ์ชุดตรวจสอบความเป็นกรด-ด่างภาคสนามขึ้น โดยได้พัฒนาต่อยอดจากสูตรเดิม (กระเป๋าสีน้ำตาล) เพื่อให้การอ่านสีของค่าพีเอชจากน้ำยาทดสอบที่ทำปฏิกิริยากับดินมีความชัดเจนขึ้น โดยการนำผงที่มีคุณสมบัติดูดซับสีมาใช้ให้ง่ายต่อการเปรียบเทียบสีกับแผ่นเทียบสีมาตรฐาน ทำให้การอ่านค่าพีเอชมีความถูกต้องและแม่นยำมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับนักวิชาการเกษตรหรือผู้สนใจในการนำข้อมูลไปใช้ปรับปรุงฟื้นฟูทรัพยากรดินได้อย่างถูกต้องมากขึ้น และที่สำคัญเกษตรกรหรือหมอดินอาสาไม่ต้องส่งดินไปวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการสำหรับชุดตรวจสอบภาคสนาม LDD pH Test Kit ประกอบด้วยชุดอุปกรณ์ คือ 1. น้ำยาทดสอบ 2.แผ่นเทียบสีมาตรฐาน 3. ผงทำให้เกิดสี (สวด.04) 4. ถาดหลุม และ 5. ช้อนคนดิน โดยอุปกรณ์เหล่านี้จะถูกบรรจุอยู่ในกระเป๋าขนาดกะทัดรัด สามารถพกพาไปใช้งานในภาคสนามได้อย่างสะดวก ใช้งานง่าย วิธีวิเคราะห์ไม่ซับซ้อน นักวิชาการ เกษตรกรหรือหมอดินอาสา สามารถตรวจสอบดินได้เองในเบื้องต้นและทราบผลภายใน 3 นาที เป็นชุดอุปกรณ์ที่ผลิตขึ้นเองภายในประเทศ ราคาจึงไม่แพง เมื่อเปรียบเทียบกับของนำเข้าจากต่างประเทศ ชุดตรวจสอบภาคสนาม ความเป็นกรดเป็นด่างของดิน ที่พัฒนาขึ้นทุกคนสามารถตรวจวิเคราะห์ได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ชำนาญการ เพราะไม่ต้องใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ยุ่งยาก นักวิชาการและนักวิจัยจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน สามารถนำไปใช้ในการตรวจสอบสภาพความเป็นกรดเป็นด่างในพื้นที่แปลงทดลองได้ทันที และที่สำคัญนักวิชาการหรือเจ้าหน้าที่ของสถานีพัฒนาที่ดินหรือสำนักงานพัฒนาที่ดินเขตต่าง ๆ ของกรมพัฒนาที่ดิน สามารถใช้ในการประเมินหรือคัดกรองพื้นที่ของเกษตรกรที่ร้องขอวัสดุปรับปรุงดิน เช่น ปูนชนิดต่าง ๆ กรณีที่มีคำร้องขอเป็นจำนวนมาก เป็นต้น จุดเรียนรู้หรือศูนย์เรียนรู้ทางการเกษตร ควรมีชุดตรวจสอบภาคสนาม ความเป็นกรดเป็นด่างของดินไว้ประจำศูนย์ เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงค่าพีเอช เมื่อมีการปรับปรุงบำรุงดินด้วยวิธีการต่าง ๆ หรือใช้ในการสาธิต/แนะนำการตรวจสอบดินให้กับเกษตรกรหรือผู้สนใจที่มาเยี่ยมชม เรียนรู้ภายในศูนย์ฯนอกจากนี้ หมอดินอาสาระดับตำบล อำเภอ และจังหวัด ควรมีชุดตรวจสอบภาคสนามความเป็นกรดเป็นด่างของดินไว้ประจำตัว เพื่อความสะดวก รวดเร็ว ในการตรวจสอบดินเมื่อออกพื้นที่ให้คำแนะนำ/การจัดการดิน/ปรับปรุงดินให้กับสมาชิกในพื้นที่ของตนเองที่สำคัญนักสำรวจดิน กรมพัฒนาที่ดิน สามารถนำชุดตรวจสอบที่พัฒนาขึ้นนี้ใช้แทนชุดตรวจสอบเดิม (ชุดน้ำยา Troug) ที่เคยใช้ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศได้ ซึ่งจะทำให้กรมฯ ประหยัดงบประมาณในส่วนนี้ได้.“

จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 

“โซลาร์รูฟ”ครัวเรือนซบ รง.น้ำตาลแห่ผุดโรงไฟฟ้า

ชาวบ้านเมินโซลาร์รูฟท็อปครัวเรือน เปิดรับกว่า 70 เมกะวัตต์ มีขอเพียง 19 เมกะวัตต์ เหตุต้นทุนสูง ด้านธุรกิจน้ำตาลแห่ลงทุนทำโรงไฟฟ้าชีวมวลต่อเนื่อง อ้างกำไรสูง

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) หรือเรกูเลเตอร์ เปิดเผยว่า การรับซื้อไฟฟ้าจากการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) ประเภทบ้านอยู่อาศัย มีผู้ยื่นคำขอขายไฟฟ้าจำนวนรวมทั้งสิ้น 2,527 ราย คิดเป็น 19.53 เมกะวัตต์ จากเป้าหมายรับซื้อ 78.63 เมกะวัตต์

นายธีรวุทธิ์ วัตรกิจไพศาล ผู้ช่วยผู้ว่าการวางแผนและพัฒนาระบบไฟฟ้า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (พีอีเอ) กล่าวว่า ภาคครัวเรือนให้ความสนใจโซลาร์รูฟท็อปน้อยเนื่องจากต้นทุนยังสูงอยู่ แต่ในส่วนของภาคธุรกิจกลับให้ความสนใจสูง ซึ่งภาครัฐควรกลับมาพิจารณาเพิ่มการรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อปจากเอกชนให้มากขึ้นต่อไป

นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานกรรมการบริหาร บมจ. น้ำตาลบุรีรัมย์ (BRR) กล่าวว่า ในปีนี้บริษัทใช้งบลงทุน 1,100 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งที่ 3 ขนาดกำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ มูลค่า 600 ล้านบาท และอีก 500 ล้านขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับปริมาณอ้อยที่เพิ่มขึ้นในฤดูการผลิต 2558/59

นายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายธุรกิจชีวพลังงานและผลิตภัณฑ์ บมจ. เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น (KTIS) บริษัทมีแผนจะเพิ่มสัดส่วนรายได้จากธุรกิจชีวมวลพลังงานให้ไม่ต่ำกว่า 40% ของรายได้รวมภายใน 3 ปี เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีกำไรสูง ประกอบกับลดความเสี่ยงจากการพึ่งพิงรายได้จากน้ำตาล.

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 

BRR ตอกย้ำความแข็งแกร่งธุรกิจน้ำตาลทรายและพลังงานทดแทน ด้วยเม็ดเงินลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาท เร่งเพิ่มกำลังผลิตเตรียมรับอ้อย 3 ล้านตัน พร้อมเดินหน้าลุยโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลแห่งที่ 3 คาด COD ได้ต้นปี

          ‘บมจ.น้ำตาลบุรีรัมย์’ หรือ BRR เดินเกมรุกธุรกิจน้ำตาลทรายและพลังงานทดแทน เพิ่มกำลังการหีบอ้อยจาก 17,000 ตันต่อวัน เป็น 22,000 ตันต่อวัน หวังรองรับอ้อย 3 ล้านตัน พร้อมเดินหน้าลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงาน ชีวมวลแห่งที่ 3 ซึ่งดำเนินงานภายใต้บริษัท บุรีรัมย์ เพาเวอร์พลัส จำกัด คาดแล้วเสร็จและพร้อมขายไฟฟ้าได้ต้นปี 59

          นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR ผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายดิบ น้ำตาลทรายขาวสีรำส่งจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ และนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาลทรายไปต่อยอดสู่ธุรกิจพลังงานทดแทน เปิดเผยว่า แผนดำเนินงานของกลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ในช่วงฤดูการผลิตปี 2558/59 ถึง 2559/60 นั้น นอกเหนือจาก การส่งเสริมด้านการบริหารจัดการอ้อยตามปรัชญา “น้ำตาลสร้างในไร่” แล้ว ยังเสริมความเข้มแข็งทางธุรกิจของกลุ่มด้วยการลงทุน 500 ล้านบาท ขยายกำลังการผลิตจาก 17,000 ตันอ้อยต่อวันในปัจจุบัน เป็น 22,000 ตันอ้อยต่อวัน เตรียมรองรับปริมาณอ้อย 3 ล้านตัน และเสริมความแข็งแกร่งด้านพลังงานทดแทนด้วยการลงทุนอีก 600 ล้านบาทสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งที่ 3

          ในฤดูการผลิตปี 2557/58 BRR หีบอ้อยรวม 1.95 ล้านตัน ผลิตน้ำตาลทรายได้ 230,000 ตัน ส่วนในฤดูการผลิตปี 2558/59 – 2559/60 คาดว่าปริมาณอ้อยจะเพิ่มเป็น 2.5 ล้านตัน และ 3 ล้านตัน ตามลำดับ ทั้งนี้ การเพิ่มของปริมาณอ้อยเป็นผลมาจากการส่งเสริมและพัฒนาด้านอ้อยทั้งเรื่องการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ การคัดเลือกพันธุ์อ้อยที่เหมาะสม การบริหารจัดการด้วยเทคโนโลยีทันสมัย และการส่งเสริมการปลูกอ้อยตามนโยบายเปลี่ยนนาข้าวเป็นอ้อย

          ปริมาณอ้อยเข้าหีบที่เพิ่มขึ้น จะช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจน้ำตาลทรายและธุรกิจพลังงานทดแทน ที่ปัจจุบัน บริษัทฯ มีโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล 2 แห่ง ที่ได้จำหน่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) รวม 16 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ ปริมาณผลผลิตอ้อยเข้าหีบดังกล่าว ยังสามารถรองรับแผนงานการลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลแห่งที่ 3 ซึ่งขณะนี้บริษัทฯ ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างแล้วตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม โดยมีกำลังการผลิตทั้งสิ้น 9.9 เมกะวัตต์ สามารถขายไฟฟ้าได้ 8 เมกะวัตต์ ภายใต้รูปแบบ FiT ซึ่งคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและเริ่มจำหน่ายไฟได้ภายในต้นปี 2559

          “เรามีเป้าหมายสร้างฐานความแข็งแกร่งด้านผลผลิตอ้อยและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาลทราย เพื่อผลักดันรายได้และนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตมาสร้างความมั่นคงให้แก่ธุรกิจพลังงานทดแทนซึ่งจะส่งผลให้ผลการดำเนินงานรวมเติบโตอย่างต่อเนื่อง” นายอนันต์ กล่าว

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดการประชุมวิชาการ ประจำปี 2558 ภายใต้แนวคิด "ผลงานวิชาการพร้อมใช้ เกษตรไทยก้าวหน้า" พร้อมโชว์ผลงานวิจัยดีเด่นที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้

          นายอำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเปิดการประชุมวิชาการ ประจำปี 2558 กรมวิชาการเกษตร ภายใต้แนวคิด "ผลงานวิชาการพร้อมใช้ เกษตรไทยก้าวหน้า" ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-27 พฤษภาคม 2558 ณ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ ว่า กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมวิชาการเกษตร มีภารกิจหลักเกี่ยวกับการศึกษาวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืช เพื่อให้ได้ผลงานวิจัยด้านพันธุ์พืช เครื่องจักรกลการเกษตรและเทคโนโลยีการผลิตพืชที่มีคุณภาพ ให้ผลผลิตสูง และลดต้นทุนการผลิต ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กรมวิชาการเกษตรมีผลงานวิจัยจำนวนมากที่ช่วยแก้ปัญหาและเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร

          นอกจากนี้ ได้มีการคัดเลือกและมอบรางวัลให้กับผลงานวิจัยดีเด่นประจำปี 2557 จำนวน 11 เรื่อง แบ่งเป็น ระดับดีเด่น ได้แก่

          1. สารชีวภาพจากแบคทีเรียแลคติกแอซิด

          2. หมู่บ้านเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสม พันธุ์นครสวรรค์ 3 ระดับดี ได้แก่

          1) พัฒนาแบคทีเรีย Bacillus subtilis สายพันธุ์ใหม่ในการควบคุมโรคใบจุดคะน้า สาเหตุจากเชื้อรา Alternaria brassicicola

          2) วิธีตรวจและวินิจฉัยโรคใบขาวของอ้อยด้วยเทคนิคพีซีอาร์

          3) การพัฒนาเทคโนโลยีผลิตหอมแดงคุณภาพ

          4) วิจัยและพัฒนาไถระเบิดดินดานสำหรับรถแทรกเตอร์

          5) ห้องปฏิบัติการเครือข่ายมาตรฐาน ISO/IEC17025:2005

          ในส่วนภูมิภาค เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและมั่นคงทางการเกษตรก้วสู่ผู้นำ AEC และระดับชมเชย ได้แก่

          1) โมเลกุลเครื่องหมายในการวิเคราะห์ความหลากหลายทางพันธุ์กรรมและตรวจสอบปาล์มน้ำมันลูกผสมชนิดเทเนอรา

          2) การใช้เทคนิค Real time PCR ในการตรวจหาแบคทีเรีย Xanthomonas axonopodis pv.citri สาเหตุโรคแคงเคอร์ เพื่อการตรวจรับรองแปลงผลิตส้มโอปลอดโรคแคงเคอร์

          3) เทคโนโลยีการแปรรูปผลิตภัณฑ์ชา เพื่อผลิตชาเขียวชนิดอบไอน้ำและชาฝรั่ง

          4)มาตรการควบคุมพิเศษการส่งออกผักและผลไม้สดไปสหภาพยุโรป นอร์เวย์ และสมาพันธรัฐสวิส ระบบบัญชีรายชื่อโรงคัดบรรจุ

          ซึ่งการประชุมวิชาการในครั้งนี้ ถือเป็นการเปิดตัวผลงานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ให้กับผู้เข้าร่วมประชุมได้รับทราบ และยังได้มีการมอบรางวัลให้แก่เกษตรกรดีเด่นสาขาการใช้วิชาการเกษตรดีที่เหมาะสม หรือ GAP เกษตรกรดีเด่นสาขาการผลิตพืชอินทรีย์ ผู้ประกอบการโรงงานดีเด่น สาขาระบบการผลิตตามหลักปฏิบัติที่ดี GMP และระบบวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุม HACCP และร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพ หรือ ร้าน Q-Shop ดีเด่น ประจำปี 2558 อีกด้วย

          นายอำนวย กล่าวเพิ่มเติมว่า "การพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่า และที่สำคัญการเตรียมบุคลากรให้มีศักยภาพที่จะพัฒนาการเกษตร ทั้งในด้านการลดต้นทุนและปัจจัยการผลิต เพื่อที่จะสามารถแข่งขันกับประเทศต่าง ๆ ได้นั้น เป็นเรื่องที่สำคัญ การประชุมในครั้งนี้จะเป็นการสร้างบุคลากรที่จะช่วยพัฒนาประเทศให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน อีกทั้งยังสามารถถ่ายทอดความรู้ไปสู่เกษตรให้ได้รับประโยชน์ต่อไป" นายอำนวย กล่าว

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

พาณิชย์เผยส่งออกเดือน เม.ย.58 หดตัว 1.70%,นำเข้าหดตัว6.84%

นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า    มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยเดือนเม.ย.2558 อยู่ที่ 1.69 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 1.7% ส่วนนำเข้ามีมูลค่า1.74 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐลดลง 6.84% ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้าเม.ย. 523 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

โดย4เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-เม.ย.58)มูลค่าส่งออกอยู่ที่ 7.02หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 3.99% ส่วนนำเข้า4เดือนมูลค่า 6.93 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 6.53% ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้าช่วง 4 เดือนที่ 906 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

การส่งออกของไทยเดือนเมษายน 2558 สถานการณ์ในภาพรวมส่งสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้น โดยชะลอตัวในอัตราที่ลดลง และยังคงรักษาส่วนแบ่งการตลาด (Market Share) ในตลาดสำคัญไว้ได้ ประกอบกับการส่งออกสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตรในกลุ่มสินค้าที่มีปัญหา หดตัวในอัตราที่ชะลอลง ในขณะที่การส่งออกกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมถึงแม้จะยังคงหดตัว แต่เป็นการหดตัวในอัตราที่ลดลงเช่นเดียวกัน

มูลค่าการค้าระหว่างประเทศในรูปของเงินเหรียญสหรัฐฯ การส่งออกเดือนเมษายน 2558 มีมูลค่า 16,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ -1.70 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY) และในช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายน 2558 มีมูลค่า 70,265 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ -3.99 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (AoA) ในขณะที่การนำเข้าเดือนเมษายน 2558 มีมูลค่า 17,423 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ -6.84 (YoY) และในช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายน 2558 มีมูลค่า 69,359 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ -6.53 (AoA) ส่งผลให้ดุลการค้าระหว่างประเทศเดือนเมษายน 2558 ขาดดุล 523 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ในช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายน 2558 เกินดุล 906 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

การส่งออกสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตรหดตัวต่อเนื่อง แต่สินค้าสำคัญหดตัวในอัตราที่ลดลง  โดยภาพรวมเดือนเมษายน 2558 ลดลงร้อยละ –3.9 (YoY) ตามทิศทางของราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะยางพาราซึ่งเป็นสินค้าเกษตรส่งออกอันดับหนึ่งของไทย ลดลงร้อยละ -25.9 (YoY) ตามราคายางพาราที่ปรับลดลง เช่นเดียวกับ ทูน่ากระป๋อง และข้าว ที่มีมูลค่าการส่งออกหดตัวในอัตราที่ลดลง ขณะที่ สินค้าที่ยังคงมีมูลค่าการส่งออกสูงขึ้น ได้แก่ ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป น้ำตาลทราย ผลไม้กระป๋องและแปรรูป และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง สูงขึ้นร้อยละ 5.4, 16.0, 18.5 และ 41.1 (YoY) ตามลำดับ

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหดตัวในอัตราที่ชะลอตัวลง โดยภาพรวมเดือนเมษายน 2558 ลดลงร้อยละ -0.3 (YoY) จากปัจจัยหลักคือ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ยังคงทรุดตัวลง เนื่องจากปริมาณผลผลิตล้นตลาด กดดันให้ราคาส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันดิบหรืออุตสาหกรรมที่มีโครงสร้างการใช้วัตถุดิบซึ่งมาจากการกลั่นปิโตรเลียมปรับตัวค่อนข้างสูง ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติกปรับตัวลดลงตามเช่นกัน ขณะที่ การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญอย่างทองคำ เดือนนี้กลับมาขยายตัวในอัตราสูงถึงร้อยละ 133.0 (YoY) จากระดับราคาทองคำที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ผู้ส่งออกเริ่มเทขายทองคำออก หลังจากที่ช่วงก่อนหน้าเร่งนำเข้าเพื่อเก็งกำไรเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ หากไม่รวมสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันและทองคำ มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยในเดือนเมษายน 2558 จะขยายตัวร้อยละ 0.1 (YoY) แสดงให้เห็นว่าสถานการณ์การส่งออกส่งสัญญาณดีขึ้นเรื่อยๆ โดยสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมหักสินค้าเกี่ยวข้องกับน้ำมันและทองคำ จะขยายตัวที่ร้อยละ 1.1 (YoY) โดยสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่ยังคงขยายตัวได้ดี ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ และคอมพิวเตอร์ ซึ่งขยายตัวร้อยละ 20.0, 9.0, 8.5 และ 2.3 (YoY) ตามลำดับ

ความเปลี่ยนแปลงของปัจจัยภายนอกที่มีผลต่อการส่งออก การส่งออกของไทยที่ยังคงหดตัว เกิดจากภาพรวมเศรษฐกิจโลกและตลาดคู่ค้าหลักในปัจจุบันที่ชะลอตัว เนื่องจากกำลังซื้อในตลาดโลกยังคงลดลง โดยเฉพาะสหภาพยุโรป จีน ญี่ปุ่นและอาเซียนที่มีมูลค่าการนำเข้ารวมจากทั่วโลกลดลงอย่างมาก ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย อย่างไรก็ดี ปัจจัยภายนอกที่ส่งสัญญาณดีขึ้น ได้แก่

1)    การนำเข้าของประเทศคู่ค้าสำคัญเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว โดยการนำเข้าของสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และจีน หดตัวในอัตราที่ลดลง สอดคล้องกับการที่ไทยยังคงรักษาส่วนแบ่งตลาดในตลาดสำคัญได้ เช่น สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น และอินเดีย เป็นต้น

2)    ค่าเงินบาทมีทิศทางอ่อนค่าเมื่อเทียบกับคู่ค้าคู่แข่ง และมีแนวโน้มอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง จากการใช้มาตรการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และมาตรการผ่อนคลายเงินทุนเคลื่อนย้ายของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะส่งผลช่วยหนุนให้การส่งออกปรับตัวในทิศทางดีขึ้นในระยะต่อไป

3)    ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น จากอุปทานในตลาดโลกที่เริ่มลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากการที่บริษัทน้ำมันในสหรัฐอเมริกายกเลิกการผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดาน (Shale Oil)

ตลาดส่งออก โดยตลาดสหรัฐอเมริกา และกลุ่ม CLMV ยังมีทิศทางเติบโตต่อเนื่อง ขณะที่ตลาดจีนกลับมาขยายตัวครั้งแรกในปีนี้ การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกาขยายตัวร้อยละ 8.4 (YoY) เติบโตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัวได้ดีในตลาดสหรัฐอเมริกา ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง สูงขึ้นร้อยละ 38.3, 44.1, 7.1 (YoY) ตามลำดับ เช่นเดียวกับตลาด CLMV ที่มีอัตราการขยายตัวสูงต่อเนื่องที่ร้อยละ 3.5 (YoY) โดยเฉพาะกัมพูชาและเวียดนาม  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการค้าชายแดน ในขณะที่การส่งออกไปยังตลาดหลักอย่างญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป (15) ลดลงร้อยละ -3.0 และ -3.5 (YoY) ตามลำดับ เป็นผลจากเศรษฐกิจทั้งสองประเทศฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ ประกอบกับการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย (QE) ส่งผลให้ค่าเงินเยนและค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับค่าเงินบาท ทำให้ยอดคำสั่งซื้อชะลอตัว ในขณะที่การส่งออกไปจีน กลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในปีนี้ ที่ร้อยละ 1.1 (YoY) โดยเฉพาะมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และผลิตภัณฑ์ยางที่กลับมาขยายตัวเป็นบวกอย่างมาก หลังจากหดตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี เนื่องจากความต้องการกลับมาเพิ่มขึ้นหลังจากที่ลดการนำเข้าลงจากการที่สามารถผลิตใช้ได้เองภายในประเทศ

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ครม.อนุมัติพัฒนาท่าเทียบเรือแหลมฉบัง-รถไฟความเร็วสูง

ที่ประชุม ครม. อนุมัติโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่งแหลมฉบัง - ก.คลัง กู้ยืมเงินจากกองทุน กสทช. 14,300 ล้าน ใช้ในโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ พร้อมเห็นชอบ ไทย-ญี่ปุ่น พัฒนารถไฟความเร็วสูง

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุม ครม. ว่า ที่ประชุมอนุมัติโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) ที่ท่าเรือแหลมฉบังของการท่าเรือแห่งประเทศไทย วงเงิน 1,864 ล้านบาท และมอบหมายให้เอกชนเข้ามารับสัมปทานในการบริหารจัดการโครงการทั้งหมด วงเงินสัมปทาน 177 ล้านบาท อายุสัมปทาน 10 ปี พร้อมกำหนดอัตราการให้บริการในการยกขนถ่ายตู้สินค้าในโครงการดังกล่าว โดยอัตราขั้นต่ำอยู่ที่ 1,545 บาท ขั้นสูง 3,180 บาท รวมทั้งยังให้การท่าเรือฯ สามารถปรับลดค่าบริการดังกล่าวไม่เกินร้อยละ 20 ของอัตราขั้นต่ำที่กำหนด

นอกจากนี้ ยังอนุมัติให้กระทรวงการคลัง กู้ยืมเงินจากกองทุน กสทช. วงเงิน 14,300 ล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และระบบขนส่งเร่งด่วน ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวช่วยให้รัฐประหยัดภาระดอกเบี้ยกว่า 560 ล้านบาท

ครม.เห็นชอบ ไทย-ญี่ปุ่น พัฒนารถไฟความเร็วสูง

พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า ที่ประชุม เห็นชอบการบันทึกความร่วมมือกับกระทรวงคมนาคม และกระทรวงที่ดินญี่ปุ่น ในการพัฒนาระบบราง โดยเฉพาะการร่วมมือกันพัฒนาในเรื่องรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ รวมไปถึงการพัฒนาระบบรางเศรษฐกิจด้านใต้ นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเส้นทางแม่สอด-มุกดาหาร การให้บริการด้านการขนส่งสินค้าทางราง โดยจะร่วมกันศึกษาให้ได้ข้อสรุปภายในสิ้นปี 2558 รวมไปถึงเส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง ขณะเดียวกัน ยังได้บันทึกข้อตกลงในส่วนของข้อมูลทางด้านวิชาการระหว่างกระทรวงคมนาคมของไทย กับกระทรวงที่ดินของญี่ปุ่น ด้วย

จาก www.innnews.co.th   วันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ส่งเสริมจัดทำแปลงพันธุ์อ้อยสะอาด แก้ปัญหาโรคใบขาว

ส่งเสริมจัดทำแปลงพันธุ์อ้อยสะอาด แก้ปัญหาโรคใบขาวพันธุ์อ้อยสะอาดสู่ชุมชน ในระยะเร่งด่วนดำเนินการในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคใบขาวสะสมมายาวนานและรุนแรง จำนวน 13 จังหวัด วันอังคารที่ 26 พฤษภาคม 2558 เวลา 4:13 น. หมวด: เกษตรกรรม คำสำคัญ: ส่งเสริม จัดทำ แปลงพันธุ์ อ้อย สะอาด แก้ปัญหา โรคใบขาว นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริม การเกษตร เปิดเผยว่า สำนักคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ได้รายงานพื้นที่ปลูกอ้อย ในปีการผลิต 2556/57 ว่ามีพื้นที่เพาะปลูกในเขตพื้นที่สำรวจรวม 48 จังหวัด ประมาณ 10.07 ล้านไร่แบ่งเป็นพื้นที่ปลูกอ้อยส่งโรงงาน 9.23 ล้านไร่และพื้นที่ปลูกอ้อยทำพันธุ์843,722ไร่ โดยมีพื้นที่เพิ่มขึ้นจากปีการผลิต 2555/56 จำนวน 590,705 ไร่ หรือร้อยละ 6.23 โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีพื้นที่ปลูกมากที่สุด คือ 4,317,002 ไร่ มีผลผลิต 48.23ล้านตัน แม้ผลผลิตโดยรวมจะเพิ่มขึ้นจากการขยายพื้นที่เพาะปลูก แต่ค่าเฉลี่ยผลผลิตต่อไร่กลับมีแนวโน้มลดลงปัญหาสำคัญที่มีผลกระทบต่อการผลิตอ้อยคือโรคใบขาวของอ้อย ส่วนใหญ่พบว่าแพร่ระบาดโดยท่อนพันธุ์ที่มีเชื้อแฝง ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ให้โรคแพร่ระบาดยังแหล่งปลูกอ้อยต่าง ๆ อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ส่วนการแพร่ระบาดโดยเพลี้ยจักจั่นสีน้ำตาลเป็นพาหะจะระบาดเฉพาะพื้นที่ปลูกอ้อยในวงจำกัดและอัตราแพร่ระบาดไม่รวดเร็วการระบาดของโรคใบขาวตั้งแต่ปี 2497 จนถึงปัจจุบัน พบในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตก ได้แก่ ขอนแก่น บุรีรัมย์ อุดรธานี นครราชสีมา มหาสารคาม กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี อุทัยธานี และสระแก้ว เป็นต้น และในปี 2554/2555 ที่ผ่านมามีการระบาดรุนแรงที่จังหวัดขอนแก่น เป็นพื้นที่ถึง 170,000 ไร่ ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของประเทศไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาทอธิบดีฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากปัญหาโรคใบขาวอ้อยที่ระบาดสะสมมายาวนาน กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการจัดทำแปลงพันธุ์อ้อยสะอาดขึ้น ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ตั้งแต่ปี 2557-2559 โดยกรมฯ ได้ขยายผลเทคโนโลยีพันธุ์อ้อยสะอาดสู่ชุมชน ในระยะเร่งด่วนดำเนินการในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคใบขาวสะสมมายาวนานและรุนแรง จำนวน 13 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอุตรดิตถ์ กำแพงเพชร พิษณุโลก สุพรรณบุรี กาญจนบุรี หนองบัวลำภู อุดรธานี ขอนแก่น มหาสารคาม นครราชสีมา บุรีรัมย์ สระแก้ว และชลบุรี โดยผลิตขยายต้นพันธุ์อ้อยสะอาด เพื่อใช้เป็นต้นพันธุ์ในแปลงพันธุ์หลักในศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรและในปี 2558 ได้ขยายผลสู่เกษตร โดยสนับสนุนต้นพันธุ์อ้อยสะอาดจำนวน 1,000,000 ต้น เพื่อจัดทำแปลงพันธุ์พันธุ์ขยาย จำนวน 500 ไร่ เกษตรกร 600 ราย ( 20 กลุ่ม ๆ ละ 30 ราย) ในจังหวัดที่มีปัญหาการระบาดโรคใบขาวอ้อย โดยมีโรงงานน้ำตาลและสมาคมชาวไร่อ้อยในพื้นที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 9 แห่ง ได้แก่ โรงงานน้ำตาลเอราวัณ โรงงานน้ำตาลมหาวัง โรงงานน้ำตาลอ่างเวียง โรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ โรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์ บริษัท น้ำตาลระยอง บริษัท ไร่ด่านช้างจังหวัดสุพรรณบุรี และสมาคมชาวไร่อ้อยกำแพงเพชรซึ่งมีพื้นที่ปลูกอ้อยรวม 5,108,520 ไร่ และมีรายงานพื้นที่ระบาดประมาณ 200,000 ไร่ คาดว่าเมื่อสิ้นสุดโครงการเกษตรกรจะมีต้นพันธุ์อ้อยสะอาด ในปี 2562 จำนวน 800,000 ไร่ ซึ่งสามารถใช้เป็นรูปแบบให้กับโรงงานน้ำตาลอีก 38 โรงงาน เพื่อส่งเสริมและขยายผลการผลิตพันธุ์อ้อยสะอาดสู่เกษตรกรชาวไร่อ้อยได้ต่อไป.“

จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

กรอ.รอชง ครม.เพิ่มสินบนเท่าตัว จูงใจแจ้งเบาะแสโรงงานลอบทิ้งกาก

นายจุลพงษ์ ทวีศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า กรอ.อยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไขระเบียบกระทรวงอุตสาหกรรม ว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนรางวัลและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งรางวัลนำจับแก่ผู้แจ้งเบาะแสโรงงานอุตสาหกรรมลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมผิดกฎหมาย โดยเพิ่มรางวัลนำจับเป็น 50% จากที่เคยให้ 25% เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเร็วๆ นี้ "การเพิ่มแรงจูงใจนี้จะช่วยให้เกิดการแจ้งเบาะแสเพิ่มขึ้นอีก จากที่ประชาชนในพื้นที่ให้เบาะแสจนทำให้สามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้ แต่ต้องติดตามว่ารัฐบาลจะเห็นด้วยหรือไม่ เพราะกระทรวงการคลังโดยกรมศุลกากรอยู่ในขั้นตอนเลิกสินบนนำจับแก่เจ้าหน้าที่" นายจุลพงษ์กล่าว

นายจุลพงษ์กล่าวถึงแผนการจัดการกากอุตสาหกรรมระยะยาวว่า กรมโรงงานฯได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การจัดการกากอุตสาหกรรมในระยะ 5 ปี (พ.ศ.2558-2562) โดยในส่วนของโรงงานผู้ก่อกำเนิดของเสีย ตั้งเป้าหมายให้ 90% ของโรงงานทั้งหมดเข้าสู่ระบบจัดการกากอุตสาหกรรมภายในปี 2563 ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่และผู้ประกอบการ 52,346 รายทั่วประเทศ เข้าสู่ระบบบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม รวมทั้งกำหนดบทลงโทษโรงงานที่ไม่นำกากอุตสาหกรรมเข้าสู่ระบบจัดการอย่างถูกต้อง

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

สัมมนาหญ้าแฝกนานาชาติครั้งที่6

สัมมนาหญ้าแฝกนานาชาติครั้งที่6 การสัมมนาหญ้าแฝกนานาชาติครั้งที่ 6 จัดในระหว่างวันที่ 5-12 พฤษภาคม 2558 ที่ผ่านมา ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีดานัง เมืองดานัง สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม วันจันทร์ที่ 25 พฤษภาคม 2558 เวลา 4:03 น. หมวด: เกษตรกรรม คำสำคัญ: สัมมนา หญ้าแฝก นานาชาติ ครั้งที่6 การสัมมนาหญ้าแฝกนานาชาติครั้งที่ 6 จัดในระหว่างวันที่ 5-12 พฤษภาคม 2558 ที่ผ่านมา ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีดานัง เมืองดานัง สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธานของการประชุมในครั้งนี้ ในที่สัมมนามีการมอบรางวัลแก่นักวิจัยและนักวิชาการทางด้านหญ้าแฝก ได้แก่ รางวัล The King of Thailand Vetiver Awards ซึ่งมีรางวัลชนะเลิศ 3 ประเภท รวม 6 รางวัล นักวิจัยไทยได้รับ 3 รางวัล นักวิจัยต่างชาติได้รับ 3 รางวัล และประกาศเกียรติคุณอีก 9 รางวัล นักวิจัยไทยได้รับ 5 รางวัล และนักวิจัยต่างชาติได้รับ 4 รางวัล นอกจากนี้ยังมีรางวัลจากเครือข่ายหญ้าแฝกโลก (TNVI) ซึ่งนักวิจัยไทยได้รับในส่วนนี้ด้วยอีก 4 รางวัลสำหรับการนำเสนอผลงานวิจัยและงานพัฒนาทางด้านการใช้ประโยชน์หญ้าแฝกได้จัดแบ่งออกเป็น 5 ด้าน ได้แก่ 1.การใช้ชีววิศวกรรมและการป้องกันภัยพิบัติ เป็นการใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝกด้านชีววิศวกรรมและการป้องกันภัยพิบัติ มีการนำเสนอ 9 เรื่อง โดยนักวิจัยไทย 4 เรื่อง เป็นการวิจัยและพัฒนาทางด้านการใช้ระยะการปลูกหญ้าแฝกร่วมกับโครงสร้างทางวิธีกลเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดิน และการป้องกันดินถล่มในพื้นที่ลาดชัน ในพื้นที่ของประเทศไทย เวียดนาม จีน และบราซิลซึ่งเป็นบทเรียนที่นำไปใช้ในการปรับปรุงและพัฒนาระบบหญ้าแฝกให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ตลอดถึงการมีบทบาทมากขึ้นของชีววิศวกรรมร่วมกับหญ้าแฝกต่อการป้องกันหน้าดินและดินถล่มในพื้นที่ลาดชันสูง รวมทั้งการใช้เครื่องมือและเทคนิคในการติดตามประสิทธิภาพของระบบรากหญ้าแฝกในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติด้วย2.การป้องกันสภาพแวดล้อม เป็นการพัฒนาการใช้ระบบหญ้าแฝกเพื่อป้องกันรักษาสภาพแวดล้อม ได้มีการนำเสนอ 8 เรื่อง โดยนักวิจัยไทย 1 เรื่อง เป็นเรื่องการปลูกหญ้าแฝกเพื่อดูดซับและบำบัดดินและน้ำทิ้งที่มีการสะสมและปนเปื้อนของสารพิษและโลหะหนักบางชนิด ในประเทศเวียดนาม อิตาลี ไทย ชิลี แอฟริกา และหมู่เกาะมหาสมุทรอินเดีย รวมทั้งการวิจัยระบบรากหญ้าแฝกต่อการควบคุมน้ำไหลบ่าและการฟื้นฟูสภาพดิน3.การอนุรักษ์ดินและน้ำในพื้นที่เกษตรกรรม เป็นการใช้หญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำและการปรับปรุงบำรุงดินในพื้นที่เกษตรกรรม มีการนำเสนอ 7 เรื่อง โดยนักวิจัยไทยมากถึง 6 เรื่อง เป็นการวิจัยเพื่อใช้หญ้าแฝกในการปรับปรุงดินและการเจริญของพืชในดินเสื่อมโทรมและดินลูกรัง รวมทั้งในดินที่มีปัญหาด้านต่าง ๆ การประเมินการสูญเสียหน้าดินและธาตุอาหารพืชกับการใช้ระบบหญ้าแฝกร่วมกับมาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำ ในพื้นที่ลาดชันที่ปลูกยางพาราทางภาคเหนือของประเทศไทย และการใช้ระบบหญ้าแฝกในการฟื้นฟูดินเสื่อมโทรมในพื้นที่ต้นน้ำ รวมทั้งการเพิ่มคุณค่าทางเศรษฐกิจจากการปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ปลูกป่าต้นน้ำ4.การค้นคว้าวิจัยและนวัตกรรม มี 9 เรื่อง โดยนักวิจัยไทย 6 เรื่อง ซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุมหลายด้านตั้งแต่การศึกษาความหลากหลายของเชื้อยีสต์บนผิวใบหญ้าแฝก และความสามารถของเชื้อยีสต์ในการผลิตสารเร่งการเจริญเติบโตของพืช ตลอดถึงการศึกษาผลการปลูกหญ้าแฝกและไถกลบใบลงดินพื้นที่ปลูกข้าวต่อคุณภาพของดินผลผลิตของข้าว และการประเมินการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และมีเทน (CH4)จากพื้นที่การปลูกข้าว ไปจนถึงการศึกษามวลชีวภาพของหญ้าแฝก (ต้นและราก) ต่อการสะสมคาร์บอนในดิน และการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากผิวดิน รวมถึงการประเมินสมดุลของคาร์บอนของการปลูกหญ้าแฝกในดินหลายชนิด ควบคู่กันนี้ก็มีการศึกษาและคัดเลือกหญ้าแฝกที่ทนในสภาพดินเค็ม รวมถึงการศึกษาผลของการฉายรังสีแกมมาต่อการเจริญและการเปลี่ยนแปลงสมบัติบางประการของหญ้าแฝกบางพันธุ์อีกด้วย5.ด้านเศรษฐกิจและสังคมกับชุมชน เป็นผลงานการพัฒนาการส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝกโดยชุมชนมีส่วนร่วม ที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จในการใช้ประโยชน์ระบบหญ้าแฝกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในพื้นที่ลุ่มน้ำ มีการนำเสนอ 5 เรื่อง โดยนักวิจัยไทย 2 เรื่องเป็นการเน้นกิจกรรมในชุมชนและการมีส่วนร่วมของชาวบ้านในพื้นที่ รวมถึงการเน้นถึงผลที่เกิดแก่ชุมชน ในด้านเศรษฐกิจและสังคมของชุมชน และการพัฒนาเยื่อใยจากใบหญ้าแฝกต่อการเพิ่มมูลค่าของใบหญ้าแฝก ไปจนถึงการติดตามการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนเมื่อมีการปลูกและใช้ประโยชน์ระบบหญ้าแฝกในพื้นที่ซึ่งผลงานทางวิชาการเหล่านี้จะได้รับการขยายผลสู่การปฏิบัติใช้ของสังคมในด้านต่าง ๆ ต่อไป.“

จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ส่งผู้นำเยาวชนเกษตรฝึกงานประเทศญี่ปุ่น

 ส่งผู้นำเยาวชนเกษตรฝึกงานประเทศญี่ปุ่นอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า โครงการฝึกงานผู้นำเยาวชนเกษตรไทยในครอบครัวเกษตรกรญี่ปุ่นวันจันทร์ที่ 25 พฤษภาคม 2558 เวลา 2:12 น. หมวด: เกษตรกรรม คำสำคัญ: ส่ง ผู้นำ เยาวชนเกษตร ฝึกงาน ประเทศญี่ปุ่น นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า โครงการฝึกงานผู้นำเยาวชนเกษตรไทยในครอบครัวเกษตรกรญี่ปุ่น ว่าเป็นโครงการที่กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมปศุสัตว์ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) และสำนักการเกษตรต่างประเทศ ทำการคัดเลือกเยาวชนเกษตรเพื่อส่งไปฝึกงานด้านการเกษตรในฟาร์มเกษตรกรญี่ปุ่น เป็นเวลา 11 เดือนซึ่งในปี 2558 มีเยาวชนเข้ารับการอบรมเตรียมความพร้อม จำนวน 15 คน ประกอบด้วย เยาวชนที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมส่งเสริมการเกษตร 5 คน กรมส่งเสริมสหกรณ์ 2 คน กรมปศุสัตว์ 2 คน สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม 4 คน และสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) 2 คนโดยมอบให้ศูนย์ส่งเสริมเยาวชนเกษตร จังหวัดกาญจนบุรี จัดฝึกอบรมเตรียมความพร้อมก่อนไปฝึกงาน โดยเตรียมความพร้อมทั้งด้านภาษา วัฒนธรรม และการดำเนินชีวิตในแบบญี่ปุ่น ตลอดจนฝึกวินัย และความแข็งแรงของสุขภาพร่างกาย โดยจัดหลักสูตรฝึกอบรมทั้งภาคทฤษฎี ฝึกปฏิบัติในศูนย์ส่งเสริมเยาวชนเกษตร จังหวัดกาญจนบุรี และฝึกงานในฟาร์มรุ่นพี่ที่เคยผ่านการฝึกงานในประเทศญี่ปุ่นมาแล้วด้านนายวีระศักดิ์ สุขทอง ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมเยาวชนเกษตร จังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า เยาวชนเกษตรที่ได้รับการคัดเลือกจำนวน 15 คน ประกอบด้วย นายศุภชัย วรัญญูรัฐ นายสรนนท์ กาญจนพรหม นายสรวิศ เปรมมณี นายพีรพัฒน์ ปลั่งกลาง นายมนตรี สุริยะจันทร์ นายสมศักดิ์ ร่มพนาธรรม นายวิชาญ ชาญฉลาด นายสุวรรณ กุลพรสิริปรีชา นายนิรันดร์ เป็นพิมาย นายปฏิพล ท่ออิ นายอาทิตย์ ศรีมหาวาส นายวิชากร สร้อยนาค นางสาวอิศราภรณ์ สาระพันธ์ นางสาวสุนารี สำราญเนตร และนางสาวจตุพร แก้วสระแสน.“

จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

เกษตรฯขับเคลื่อนบูรณาการ “ด่านตรวจสินค้าเกษตร"คลุมเขตพัฒนาศก.พิเศษ

เกษตรฯขยายผลขับเคลื่อนบูรณาการ “ด่านตรวจสินค้าเกษตร” ครอบคลุมเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ยกระดับการตรวจสอบสินค้านำเข้า เพิ่มความสะดวกการค้าชายแดนคล่องตัว สร้างความเชื่อมั่น ปกป้องผู้บริโภคภายในประเทศ

 นายสัตวแพทย์ศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เผยว่า ขณะนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีแผนเร่งขับเคลื่อนการบูรณาการเพิ่มศักยภาพด่านตรวจสินค้าเกษตรเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี (AEC) โดยมีเป้าหมายดำเนินการตั้งด่านตรวจสินค้าเกษตร (Thailand Agriculture Quarantine and Inspection Service ; TAQIS) ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก สระแก้ว มุกดาหาร สงขลา และตราด มุ่งบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างด่านตรวจพืช ด่านตรวจสัตว์น้ำ และด่านกักสัตว์ เพื่อพัฒนาด่านตรวจสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพมาตรฐานระดับสากล ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุม กำกับ และตรวจสอบสินค้าเกษตรและอาหารที่นำเข้า ทั้งยังอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายสินค้าเกษตรที่ผ่านแนวชายแดนให้มีความสะดวก รวดเร็ว และคล่องตัวมากขึ้น พร้อมรองรับมาตรฐานบังคับที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

“ปัจจุบันได้ตั้งด่านตรวจสินค้าเกษตรนำร่องไปแล้วที่ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ โดยมีการตั้งจุดตรวจร่วมระหว่าง 3 ด่านดังกล่าว ขณะเดียวกันยังมีทีมตรวจการณ์เฝ้าระวังสินค้าลักลอบนำเข้าในพื้นที่เสี่ยงตามแนวชายแดนด้วย ในส่วนของ มกอช.ได้เร่งทบทวนและปรับปรุงกฎระเบียบภายใต้พระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร ให้สอดคล้องกับกฎระเบียบหรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สามารถควบคุมมาตรฐานและความปลอดภัย และช่วยอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายสินค้าเกษตรที่นำเข้า-ส่งออก อีกทั้งยังจัดคู่มือการทำงานของแต่ละด่าน พร้อมเร่งเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ แบบครบวงจร ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกกระทรวงเกษตรฯ เช่น กรมศุลกากร ผ่านระบบ National Single Windows (NSW) เพื่อพัฒนาระบบตรวจสอบสินค้าเกษตรที่ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น” เลขาธิการ มกอช.กล่าว

ทางด้านนายอานัติ วิเศษรจนา ผู้อำนวยการสำนักควบคุมมาตรฐาน  สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนั้น มกอช.ยังได้พัฒนาระบบฮาร์ดแวร์ (Hardware) ให้กับด่านตรวจสินค้าเกษตร 19 ด่าน โดยจัดซื้ออุปกรณ์คอมพิวเตอร์และไอที (IT) ส่งมอบให้ด่านฯเพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพและอำนวยความสะดวกในการทำงาน อาทิ การออกใบอนุญาตนำเข้า ใบอนุญาตส่งออก รวมถึงการติดต่อสื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงาน ผู้ประกอบการ ผู้ส่งออก และผู้นำเข้า ขณะเดียวกันยังจะพัฒนาศักยภาพห้องปฏิบัติการ (Lab) ของด่านฯด้วย อย่างไรก็ตาม อนาคต มกอช.ได้มีแผนสนับสนุนการขยายผลการบูรณาการด่านตรวจสินค้าเกษตรให้ครอบคลุมเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย นราธิวาส เชียงราย นครพนม และกาญจนบุรีตามนโยบายของรัฐบาลด้วย

การบูรณาการเพิ่มศักยภาพด่านตรวจสินค้าเกษตร ถือเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยปกป้องภาคการเกษตรของประเทศจากความเสี่ยงเรื่องโรคและแมลงศัตรูพืชกักกัน สิ่งปนเปื้อน และสารตกค้างที่อาจติดมากับสินค้าเกษตรขณะที่เคลื่อนย้าย ขณะเดียวกันยังช่วยเพิ่มศักยภาพการควบคุมและตรวจสอบสินค้าที่นำเข้า-ส่งออก รวมทั้งการลดอุปสรรคการนำเข้า-ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร ณ บริเวณจุดผ่านแดน และช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าสินค้าเกษตรได้ ที่สำคัญยังช่วยปกป้องผู้บริโภคภายในประเทศให้มีความปลอดภัยด้วย

“ที่ผ่านมา มกอช.ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับมาตรฐานสินค้าเกษตร และพรบ.มาตรฐานสินค้าเกษตร รวมถึงการเฝ้าระวังอันตรายสินค้าเกษตรและอาหารแก่บุคลากรของด่านตรวจสินค้าเกษตร เพื่อเตรียมความพร้อมการทำงานรองรับมาตรฐานบังคับที่จะดำเนินการในอนาคตอันใกล้นี้ อาทิ มาตรฐานการปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงกะเทาะถั่วลิสง GMP โรงรมลำไยด้วยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ การปฏิบัติที่ดีสำหรับการขนส่งซากสัตว์ การปฏิบัติที่ดีสำหรับสะพานปลา และ GMP สำหรับสินค้าแช่เยือกแข็ง เป็นต้น” นายอานัติกล่าว

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

หวั่นภัยแล้งฉุดรายได้เกษตรกรหด

หวั่นภัยแล้งฉุดรายได้เกษตรกรหดสศช.แถลงภาวะสังคม กังวลภัยแล้งมาเร็วกว่าปรกติ ทำรายได้เกษตรกรหาย และยังทำให้เกษตรกรเลิกทำเกษตรไปทำงานอื่นวันจันทร์ที่ 25 พฤษภาคม 2558 เวลา 12:02 น. หมวด: เศรษฐกิจ คำสำคัญ: สศช. ภัยแล้ง รายได้ เกษตรกร วันนี้ (25 พ.ค.) นางชุตินาฏ วงศ์สุบรรณ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาส 1 ปี 58 ว่า การจ้างงานลดลง 0.5% โดยมีจำนวนผู้มีงานทำ 3.76 ล้านคน ส่วนอัตราว่างงานเท่ากับ 0.94% หรือมีคนว่างงาน 361,297 คน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มี 0.89% โดยตอนนี้มีประเด็นที่ต้องเฝ้าระวังคือเรื่องรายได้ขอแรงงานภาคเกษตร จะได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นเร็วกว่าปรกติ ทำให้เกษตรกรย้ายงานจากภาคเกษตรมาสู่ภาคอื่น ดังนั้นภาครัฐจึงต้องเร่งแก้ไขปัญหา ตามที่ครม. มีมติออกมาช่วยเหลือเกี่ยวกับการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรกับชุมชุนเพื่อบรรเทาผลกระทบภัยแล้งปี 57/58 จำนวน 3,051 ตำบล ใน 58 จังหวัด “

จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ก. เกษตรฯจัดประชุมวิชาการ"ผลงานวิชาการพร้อมใช้ เกษตรไทยก้าวหน้า"

นายอำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเปิดการประชุมวิชาการ ประจำปี 2558 กรมวิชาการเกษตร ภายใต้แนวคิด "ผลงานวิชาการพร้อมใช้ เกษตรไทยก้าวหน้า" ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-27 พฤษภาคม 2558 ณ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ ว่า กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมวิชาการเกษตร มีภารกิจหลักเกี่ยวกับการศึกษาวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืช เพื่อให้ได้ผลงานวิจัยด้านพันธุ์พืช เครื่องจักรกลการเกษตรและเทคโนโลยีการผลิตพืชที่มีคุณภาพ ให้ผลผลิตสูง และลดต้นทุนการผลิต ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กรมวิชาการเกษตรมีผลงานวิจัยจำนวนมากที่ช่วยแก้ปัญหาและเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร

นอกจากนี้ ได้มีการคัดเลือกและมอบรางวัลให้กับผลงานวิจัยดีเด่นประจำปี 2557 จำนวน 11 เรื่อง แบ่งเป็น ระดับดีเด่น ได้แก่ 1) สารชีวภาพจากแบคทีเรียแลคติกแอซิด และ 2) หมู่บ้านเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสม พันธุ์นครสวรรค์ 3 ระดับดี ได้แก่ 1) พัฒนาแบคทีเรีย Bacillus subtilis สายพันธุ์ใหม่ในการควบคุมโรคใบจุดคะน้า สาเหตุจากเชื้อรา Alternaria brassicicola 2) วิธีตรวจและวินิจฉัยโรคใบขาวของอ้อยด้วยเทคนิคพีซีอาร์ 3) การพัฒนาเทคโนโลยีผลิตหอมแดงคุณภาพ 4) วิจัยและพัฒนาไถระเบิดดินดานสำหรับรถแทรกเตอร์ และ 5) ห้องปฏิบัติการเครือข่ายมาตรฐาน ISO/IEC17025:2005 ในส่วนภูมิภาค เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและมั่นคงทางการเกษตรก้วสู่ผู้นำ AEC และระดับชมเชย ได้แก่ 1) โมเลกุลเครื่องหมายในการวิเคราะห์ความหลากหลายทางพันธุ์กรรมและตรวจสอบปาล์มน้ำมันลูกผสมชนิดเทเนอรา 2) การใช้เทคนิค Real time PCR ในการตรวจหาแบคทีเรีย Xanthomonas axonopodis pv.citri สาเหตุโรคแคงเคอร์ เพื่อการตรวจรับรองแปลงผลิตส้มโอปลอดโรคแคงเคอร์ 3) เทคโนโลยีการแปรรูปผลิตภัณฑ์ชา เพื่อผลิตชาเขียวชนิดอบไอน้ำและชาฝรั่ง และ 4)มาตรการควบคุมพิเศษการส่งออกผักและผลไม้สดไปสหภาพยุโรป นอร์เวย์ และสมาพันธรัฐสวิส ระบบบัญชีรายชื่อโรงคัดบรรจุ ซึ่งการประชุมวิชาการในครั้งนี้ ถือเป็นการเปิดตัวผลงานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ให้กับผู้เข้าร่วมประชุมได้รับทราบ และยังได้มีการมอบรางวัลให้แก่เกษตรกรดีเด่นสาขาการใช้วิชาการเกษตรดีที่เหมาะสม หรือ GAP เกษตรกรดีเด่นสาขาการผลิตพืชอินทรีย์ ผู้ประกอบการโรงงานดีเด่น สาขาระบบการผลิตตามหลักปฏิบัติที่ดี GMP และระบบวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุม HACCP และร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพ หรือ ร้าน Q-Shop ดีเด่น ประจำปี 2558 อีกด้วย

นายอำนวย กล่าวเพิ่มเติมว่า "การพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่า และที่สำคัญการเตรียมบุคลากรให้มีศักยภาพที่จะพัฒนาการเกษตร ทั้งในด้านการลดต้นทุนและปัจจัยการผลิต เพื่อที่จะสามารถแข่งขันกับประเทศต่าง ๆ ได้นั้น เป็นเรื่องที่สำคัญ การประชุมในครั้งนี้จะเป็นการสร้างบุคลากรที่จะช่วยพัฒนาประเทศให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน อีกทั้งยังสามารถถ่ายทอดความรู้ไปสู่เกษตรให้ได้รับประโยชน์ต่อไป" นายอำนวย กล่าว

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

แนะ 4 ทักษะ เตรียมผู้นำก้าวสู่เออีซี  

                 ดีดีไอ แนะผู้นำองค์กรเตรียมรับมือสถานการณ์ต่างๆ พร้อมเปิด AEC เต็มรูปแบบ เผยผูนำที่ดีต้องมองโอกาส ความท้าทาย เพิ่มรายได้เข้าองค์กร

               บริษัท ดีดีไอ ที่ปรึกษาด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลโดยเฉพาะผู้มีศักยภาพสูง (Talent Management Consultancy) ร่วมกับเดอะคอนเฟอเรนซ์บอร์ด สมาคมด้านการวิจัยจากประเทศสหรัฐอเมริกาเปิดเผยรายงานวิจัยล่าสุดในหัวข้อ “Working Within the VUCA Vortex” พร้อมแนะนำผู้นำองค์กรไทยควรมี 4 ทักษะสำคัญ

       เพื่อรับมือสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นรวมทั้งการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซีอย่างเต็มรูปแบบปลายปี 2558

        นายนิติพันธ์ พันธุ์วิโรจน์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท ดีดีไอ-เอเชีย/แปซิฟิค อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยว่า “VUCA ย่อมาจาก Volatile (ความผันผวน) Uncertain (ความไม่แน่นอน) Complex (ความซับซ้อน) และ Ambiguous (ความไม่ชัดเจน) ซึ่งโดยรวมหมายถึงสถานการณ์ที่องค์กรและผู้นำองค์กรไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต

       ทั้งนี้จากรายงาน วิจัยล่าสุดหัวข้อ Working Within the VUCA Vortex ระบุว่า ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคลจากองค์กรธุรกิจหลายแห่งมองว่าผู้นำองค์กรของพวกเขานั้นไม่มีความสามารถที่จะเผชิญหน้ากับสถานการณ์ในด้านความผันผวน คิดเป็น 40 เปอร์เซ็นต์ ความไม่แน่นอน 32 เปอร์เซ็นต์ความซับซ้อน 36 เปอร์เซ็นต์ และความไม่ชัดเจน 31 เปอร์เซ็นต์ และมีเพียง 18เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ระบุว่าผู้นำองค์กรของพวกเขามีความสามารถมากพอ”

       ประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซีในปลายปีนี้ ส่งผลให้ผู้นำองค์กรต่างต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายที่สำคัญ ได้แก่ 1.การบริหารทรัพยากรบุคคลในสถานการณ์ที่ไม่อาจคาดเดาได้

       เช่น อาจจะมีการแข่งขันเพื่อดึงตัวบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญสายอาชีพในระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียน 2. ความรวดเร็วของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เช่น ราคาน้ำมัน ราคาทองคำ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงิน

       ภัยคุกคามในโลกไซเบอร์ ความผันผวนในตลาดพลังงาน เป็นต้น

         นอกจากนี้ ปัญหาที่พบในองค์กรธุรกิจส่วนใหญ่คือ ผู้นำองค์กรมักจะมองไม่เห็นโอกาสและผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น อาจจะมองเป็นเรื่องไกลตัว แต่จริงๆ แล้วแนวคิด VUCA นี้มีมานานแล้ว ซึ่งผู้นำองค์กรที่ดีควรมองเห็นโอกาส ความท้าทาย และสามารถเพิ่มรายได้ให้กับธุรกิจได้ รวมทั้งผู้นำองค์กรยังต้องเตรียมตัวรับกับสถานการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นเมื่อไทยก้าวสู่ตลาดเออีซีซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่กว่าเดิมในปลายปีนี้

       ดังนั้น ผู้นำองค์กรไทยควรมีความพร้อมและทักษะที่สำคัญ 4ข้อ ได้แก่ 1. Managing and introducing changeมีความสามารถด้านการบริหารจัดการ คาดการณ์ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น และพร้อมให้คำแนะนำและรู้วิธีบริหารคนที่ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงเพื่อเปลี่ยนแปลงองค์กรไปในทางที่ดีได้ 2. Building consensus and commitment การสร้างทีมหรือบุคลากรให้เห็นไปในทิศทางเดียวกันกับผู้นำ และเข้าใจสถานการณ์ว่าต้องมีการเปลี่ยนรูปแบบหรือวิธีการทำงานใหม่ๆ 3. Inspiring others toward a challenging future vision ผู้นำต้องสามารถพัฒนาทีมและชี้แจงได้ว่าทำแล้วจะเห็นผลอย่างไร 4. Leading across generationsผู้นำองค์กรที่ดีต้องมีความตื่นตัวและรู้ว่าควรจะบริหารบุคลากรในหลายๆรุ่น หรือหลายๆ รูปแบบได้อย่างไรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

       โดยเฉพาะกลุ่มคนทำงานรุ่นใหม่ที่พร้อมจะเปลี่ยนงานตลอดเวลา

       “สำหรับมุมมองของดีดีไอเกี่ยวกับการพัฒนาผู้นำองค์กรให้พร้อมก้าวสู่ตลาดเออีซีนั้น แบ่งออกเป็น 6 ขั้นตอน ได้แก่ 1. ความคล่องตัวความสามารถในการตอบสนอง และการปรับตัวอย่างรวดเร็วทางธุรกิจ 2.

        การวางแผนกลยุทธ์การบริหารกำลังคน 3. การค้นหาความพร้อม 4. การรวบรวมและการใช้ข้อมูล 5. เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ และ6. การบริหารจัดการTalent อย่างยั่งยืน ทั้งนี้เรามองว่าสิ่งสำคัญที่ผู้นำองค์กรที่ดีควรจะมีคือ

       ต้องมองให้ออกว่าความไม่แน่นอนต่างๆ จะเกิดผลกระทบอย่างไรกับแผนดำเนินธุรกิจขององค์กรล่วงหน้าต้องสามารถบริหารองค์กร บริหารทีม บริหารทรัพยากรบุคคลและรู้วิธีที่จะนำพาองค์กรก้าวผ่านสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดได้”

จาก http://manager.co.th   วันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ทางรอดเกษตรกร..รายย่อย ใช้สหกรณ์รับศึกเออีซี

 “การรวมตัวเป็นเออีซี ถ้ามองในภาพรวมของประเทศ ข้อดีมีมากกว่าข้อเสีย เพราะสิ่งที่เห็นอยู่ตอนนี้ เราได้เปรียบดุลการค้ากับอาเซียนมากถึง 1.7 แสนล้านบาท แต่กำไรที่ได้มาเกือบสองแสนล้าน ไปอยู่ในมือใคร มีแต่นายทุนใหญ่เท่านั้นที่ได้ประโยชน์ เกษตรกรรายย่อยไม่ได้อะไรเลย”

นายศิริชัย ออสุวรรณ์ ประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด (ชสท.) มองไปถึงพืชที่ได้รับผลกระทบ นั่นคือ กาแฟ ปาล์มน้ำมันมะพร้าว ชา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง พืชผักต่างๆ...ประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนล้วนผลิตได้ทั้งนั้น และจะเข้ามาแย่งตลาดสินค้าไทย เพราะต้นทุนถูกกว่าเรา

ปาล์ม...อีกหนึ่งผลผลิตในภาคเกษตรที่ถูกประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนจะเข้ามาแย่งตลาดสินค้าไทย

“ข้าวมีแต่ข้าวพรีเมียม ข้าวเล็บนก ข้าวหอมไชยา ข้าวสังข์หยดพัทลุง ข้าวหอมมะลิ ส่วนข้าวขาวเราสู้ไม่ได้ เวียดนาม พม่า กัมพูชา ทำได้ถูกกว่าเรา และข้าวจะเป็นปัญหาใหญ่ที่ไม่ต้องไปรอถึงวันเปิดเออีซี ที่บอกว่าวันนี้ข้าวขาวราคาไม่ดี วันหน้าจะยิ่งแย่ไปกว่านี้อีก”

ประธาน ชสท. พยากรณ์จากข้อมูลการเคลื่อนย้ายธุรกิจโรงสีของไทยไปยังเพื่อนบ้านเพิ่มมากขึ้น...วันนี้ข้าวขาวอยู่ในภาวะล้นตลาด เมื่อมีโรงสีมารับซื้อข้าวน้อยลง ไม่เพียงภาวะล้นตลาดจะเพิ่มขึ้น ยังต้องเจอปัญหาโรงสีซื้อข้าวราคาถูกจากเพื่อนบ้านมาขายตีตลาดข้าวในเมืองไทยให้อีกเปิดเออีซี...ชาวนาไทยที่ปลูกข้าวขาวซวย 2 เด้ง และปัญหานี้ไม่เพียงจะเกิดกับข้าวขาวอย่างเดียว สินค้าเกษตรชนิดอื่นที่เกษตรกรรายย่อยยึดเป็นอาชีพจะได้รับชะตากรรมไม่ต่างกัน

“วันนี้เกษตรกรมีทางเลือก 2 ทาง คือ เปลี่ยนไปทำอาชีพอื่น ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะทำได้เพราะไม่รู้จะไปทำอะไร ที่สำคัญอาชีพเกษตรเป็นหนึ่งในความมั่นคงด้านอาหารของประเทศ เลิกไปก็มีปัญหา ฉะนั้นจึงเหลืออีกแนวทาง เดียวให้เลือก และภาครัฐจะต้องสนับสนุนให้เป็นจริงมากที่สุด นั่นคือให้เกษตรกรรวมกลุ่มเป็นสหกรณ์ แต่ไม่ใช่เป็นสหกรณ์แบบธรรมดา ต้องเป็นสหกรณ์ที่สามารถทำธุรกิจได้ครบวงจร”

สหกรณ์ในความหมายของ ประธานศิริชัย นั่นคือ...เป็นสหกรณ์ที่ทำการผลิต-แปรรูป-จัดจำหน่าย ได้เอง เหมือนธุรกิจครบวงจรของเอกชน ถึงจะช่วยให้เกษตรกรอยู่รอดได้

“สหกรณ์ต้องทำได้ครบหมด ยิ่งแปรรูปได้จะยิ่งมีกำไรเพิ่มมหาศาล ดูอย่างสหกรณ์นิคมท่าแซะ จ.ชุมพร กู้เงิน 300 ล้านสร้างโรงงานแปรรูปผลปาล์มเป็นน้ำมันปาล์มดิบ แค่ปีเดียวยังทำเงินได้ถึง 150 ล้าน ทั้งที่รับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรในราคาที่สูงกว่าเอกชน ยิ่งถ้าให้ลงทุนผลิตเป็นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ได้เอง กำไรจะยิ่งมากกว่านี้ แต่ยังทำไม่ได้เพราะต้องใช้เงินลงทุนสูงเป็นพันล้านบาท”

นี่เป็นแค่หนังตัวอย่าง การใช้สหกรณ์ช่วยเกษตรกรรายย่อยให้อยู่รอดในศึกเออีซี เพราะการรวมกลุ่มไม่เพียงจะช่วยลดต้นทุนในการผลิตให้เราสู้เพื่อนบ้านได้ การแปรรูปยังช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และยังช่วยให้เกษตรกรไทยได้เรียนรู้และฝึกหัดเรื่องการตลาดให้ซึมลึกเข้าไปในกระแสเลือดได้อีกด้วย

แต่ในทางปฏิบัติ ภาครัฐที่ทำงานอืดเป็นเรือเกลือ จะปรับขยับตัวช่วยชาวบ้านได้แค่ไหน.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ธปท.ชี้ค่าเงินบาทเริ่มผันผวนมากขึ้นนักลงทุนผู้นำเข้า-ส่งออกระมัดระวัง

    ธปท.ชี้ตั้งแต่ต้นปีเงินบาทแข็งค่าขึ้นจากราคาน้ำมันที่ลดลง  ระบุค่าความผัวผวนอยู่ที่ประมาณ 6% แต่อยู่ในระดับเดียวกับภูมิภาค  เชื่อผู้ประกอบการไทยได้รับประโยชน์จากการอ่อนค่า  ด้านภาวะตลาดเงินโลกดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าขึ้นจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว

    นางสาววชิรา  อารมย์ดี  ผู้อำนวยการอาวุโส  ฝ่ายตลาดการเงิน  ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงค่าความผันผวนของเงินบาทในช่วงหลังจะอยู่ที่ประมาณ 6% ซึ่งสูงกว่าที่ผ่านมา  แต่ไม่ผิดปกติ เพราะหากดูเฉลี่ยทั้งปีค่าความผันผวนจะอยู่ที่ 3-4% เท่านั้น  ซึ่งอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับในภูมิภาค  แต่มองไปในระยะข้างหน้าคาดว่าความผันผวนในตลาดการเงินน่าจะมีมากขึ้น  โดยเฉพาะจากปัจจัยภายนอกประเทศทั้งจากสหรัฐฯ  รวมถึงยุโรป  และจีน  ดังนั้น  นักลงทุนรวมถึงผู้นำเข้าและส่งออก  อาจจะต้องมีความระมัดระวัง  และบริหารความเสี่ยงให้เพิ่มมากขึ้น  ส่วนพันธบัตรรัฐบาลในระยะยาวเริ่มมีแนวโน้มที่อัตราดอกเบี้ยจะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น

    "เมื่อเปรียบเทียบค่าเงินบาทกับประเทศคู่ค้าในภูมิภาคนั้น  ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมามีการแข็งค่าประมาณ 2.75% แต่เป็นการปรับลดลงจากที่เคยแข็งค่ามากที่สุดไปที่ระดับ 3.7%โดยการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในช่วงหลังจะขึ้นอยู่กับตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกบ้าง  และมาจากปัจจัยภายในบ้างผสมผสานกัน  โดยรวมแล้วค่าเงินบาทตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาอ่อนค่าลง 1.9-2%"

    ขณะที่ภาวะตลาดการเงินของโลกนั้นนอกจากความไม่แน่นอนว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเมื่อไหร่โดยตั้งแต่ต้นปีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลหลัก  และค่าเงินในภูมิภาค  เนื่องจากตลาดมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯมีแนวโน้มที่จะปรับตัวฟื้นอย่างชัดเจน และคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ย  ขณะที่ยุโรปและญี่ปุ่นยังคงอ่อนแอโดยการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายเชิงปริมาณ(คิวอี)ของยุโรปกระทบค่าเงินและตลาดพันธบัตรในยุโรปโดยเฉพาะเยอรมนีที่อัตราผลตอบแทนระยะ 7-8 ปีติดลบจนเริ่มมีการขายออกในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมาทำให้ผลตอบแทนกลับไปสูงขึ้นรวมทั้งตลาดพันธบัตรอื่นและไทยด้วย   อีกทั้งยังมีปัจจัยการปฏิรูปกฎเกณฑ์ของสถาบันการเงินหรือปัจจัยการขยายตัวเศรษฐกิจจีนไตรมาส 1/58 ขยายตัว 7%จากเดิมที่คาดไว้ 7.3% ทำให้ประเทศที่ส่งออกได้รับผลกระทบและปัญหากรีซก็มีส่วนทำให้ค่าเงินผันผวน

    ขณะเดียวกันปัจจัยราคาน้ำมันที่ปรับลดลงมาก นักลงทุนจึงเปลี่ยนไปหาประเทศที่ได้รับผลตอบแทนจากราคาน้ำมัน เช่น ไทยซึ่งเป็นประเทศนำเข้า เมื่อเทียบกับมาเลเซีย อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศส่งออกน้ำมัน  รายได้เริ่มลดลง ดุลบัญชีเดินสะพัดที่เคยเป็นบวกในอัตราที่สูงอาจจะลดลง  จึงเลือกลงทุนในแต่ละประเทศที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า

    นางจันทวรรณ  สุจริตกุล  ผู้ช่วยผู้ว่าการ ฝ่ายตลาดการเงิน  ธปท. กล่าวว่า  สถานการณ์ของค่าเงินบาทมองไประยะข้างหน้าน่าจะดีขึ้น โดยปัจจุบันหากผู้ประกอบการมีการฝากเงินไว้ในช่วงที่รับค่าสินค้ามาก่อนหน้าแล้วทยอยแลกเป็นเงินบาทจะได้ส่วนต่างอย่างน้อย 2%  ดังนั้น วันนี้เมื่อค่าเงินบาทอ่อนค่ามาในระดับ 33.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯมาระยะหนึ่ง  ผู้ร่วมตลาดทั้งผู้ซื้อและผู้ขายก็มีความพึงพอใจที่จะแลกเปลี่ยนกันในอัตราดังกล่าว  จึงเป็นการสะท้อนว่าน่าจะมีความเหมาะสม"

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ไทย-ฟิจิพร้อมขยายความร่วมมือการค้า-ลงทุน ท่องเที่ยว

นายกรัฐมนตรี และ นายโจเซเอีย โวเรเก ไบนีมารามา นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐฟิจิ นายกรัฐมนตรีได้แถลงผลการหารือ ณ บริเวณโถงกลาง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ดังนี้

นายกรัฐมนตรีได้พบหารือข้อราชการกับนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐฟิจิพร้อมด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงประมงและป่าไม้ของฟิจิ และคณะ ซึ่งอยู่ระหว่างการเยือนประเทศไทยเพื่อการเจรจาทำงาน หรือ Working visit การเยือนประเทศไทยในครั้งนี้ มีจุดประสงค์เพื่อกระชับความสัมพันธ์ และส่งเสริมความร่วมมือในหลายสาขาระหว่างทั้งสองประเทศ

ไทยและฟิจิมีความสัมพันธ์ฉันท์มิตรกันมากว่า 43 ปี นับตั้งแต่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2515 มีการแลกเปลี่ยนการเยือนและการพบหารือระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงในหลายโอกาส ไทยเห็นว่าฟิจิเป็นมิตรประเทศที่สำคัญในประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก ซึ่งไทยมุ่งส่งเสริมความสัมพันธ์กับประเทศเหล่านี้ โดยหวังว่าฟิจิจะเป็นศูนย์กลางของไทยในประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก ทั้งนี้ไทยได้เข้าเป็นประเทศคู่เจรจาของเวทีความร่วมมือประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก หรือ พีไอเอฟ ตั้งแต่ปี 2547 และส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุมประเทศคู่เจรจาเป็นประจำทุกปี

ฟิจิ เป็นประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกที่มีความสำคัญในลำดับต้นๆ กับไทย ในด้านเศรษฐกิจการค้า ฟิจิเป็นแหล่งทรัพยากร ได้แก่ ประมง ป่าไม้ และแร่ธาตุ ซึ่งสามารถเป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมของไทย นอกจากนี้ ฟิจิเป็นตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีศักยภาพในการเติบโต มีความต้องการสิ่งก่อสร้างและระบบสาธารณูปโภคเพื่อรองรับการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของฟิจิ ซึ่งเป็นสาขาที่ไทยมีศักยภาพและมีความเชี่ยวชาญ

ไทยมีความตั้งใจจะส่งเสริมให้การค้าสองฝ่ายมีมูลค่าสูงขึ้นอีกเพราะฟิจิเป็นตลาดที่นับว่าใหญ่พอสมควรในบรรดาประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก หรืออันดับที่สอง สินค้าส่งออกของไทยไปยังฟิจิ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก น้ำตาลทราย อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว สินค้านำเข้าจากฟิจิ ได้แก่ สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป เนื้อสัตว์สำหรับบริโภค โดยที่ผ่านมาไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า

ในวันนี้ ผมและท่านนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐฟิจิ พร้อมคณะ ได้หารือเกี่ยวกับ 1) โอกาสในการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างกันในทุกด้านทั้งด้านการเมือง ความมั่นคง การค้า และการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  แนวทางการดำเนินความร่วมมือระหว่างกันในด้านวิชาการ และความร่วมมือเพื่อการพัฒนา ในสาขาอ้อย น้ำตาล น้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ ประมง พลังงานทดแทน การท่องเที่ยว 2) โอกาสในด้านการค้าการลงทุนระหว่างกัน รวมถึง 3) การจัดทำความตกลงระหว่างกัน อาทิ ความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศ ความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน รวมถึงความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราระหว่างกัน เพื่อส่งเสริมการไปมาหาสู่ระหว่างกัน

นอกจากความสัมพันธ์ทวิภาคี ไทยกับฟิจิยังได้ร่วมมืออย่างใกล้ชิดในเวทีระหว่างประเทศตลอดมา  ฟิจิเป็นประเทศที่มีบทบาทนำในภูมิภาคหมู่เกาะแปซิฟิกในเวทีระหว่างประเทศ ผมจึงได้แจ้งย้ำให้ท่านนายกรัฐมนตรีฟิจิทราบด้วยว่า ในวาระปี ๒๕๖๐-๖๑ ประเทศไทยได้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติประเภทไม่ถาวร และหวังอย่างยิ่งว่าจะได้รับความสนับสนุนจากฟิจิด้วยดี นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือถึงการขอเสียง/แลกเสียงระหว่างกันในเวทีระหว่างประเทศต่างๆ ได้แก่ การสมัครตำแหน่งผู้พิพากษาศาลกฎหมายระหว่างประเทศของไทย สมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ และประธานสมัชชาสหประชาชาติของฟิจิ นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า การมาเยือนประเทศไทยของนายกรัฐมนตรีฟิจิในครั้งนี้จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐฟิจิพัฒนาเจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป

โดยหลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีฟิจิ ได้แถลงต่อ โดยมีสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรีฟิจิยินดีที่ได้เดินทางมาเยือนประเทศไทย และขอบคุณสำหรับคำเชิญเยือนไทยของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมทั้งขอบคุณสำหรับการต้อนรับที่อบอุ่น

นายกรัฐมนตรีฟิจิแสดงความชื่นชมประเทศไทยเป็นประเทศที่สวยงามและมีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันมากว่า 42 ปี นายกรัฐมนตรีฟิจิหวังว่าการมาพบกันในครั้งนี้ จะมีส่วนช่วยในการขยายความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ฟิจิ ในทุกมิติ ทั้งด้านการเมือง การค้า การลงทุน ตลอดจนส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการพัฒนาในสาขาที่ไทยมีความเชี่ยวชาญ ได้แก่ เกษตรกรรม พลังงานทดแทน ประมง และ การท่องเที่ยว

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีฟิจิพร้อมทำงานร่วมมือกับไทยอย่างใกล้ชิด เพื่อเป็นรากฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน และหวังจะผลักดันความสัมพันธ์กับไทยให้เป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

คุมเข้มรง.น้ำเสีย อุตฯยืนยัน8เดือน ตรวจพบ‘120โรง’ กำจัดไร้มาตรฐาน

นายจุลพงษ์ ทวีศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในรอบ 8 เดือน หรือหลังจากที่รัฐบาลชุดนี้ได้เข้ามาบริหาร กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการกำชับให้แก้ไขปัญหากากอุตสาหกรรมอย่างเข้มงวด ดังนั้น กรมโรงงานฯจึงได้ลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานจัดการกากอุตสาหกรรมทั้งประเทศ 1,600 โรงงาน พบว่ามีโรงงานที่ไม่ได้มาตรฐาน 120 โรง โดยในจำนวนนี้ได้ถอนใบอนุญาตประกอบกิจการไป 4-5 ราย

นอกจากนี้ กรมโรงงานฯ กำลังดำเนินการแก้ไขระเบียบกระทรวงอุตสาหกรรม ว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนรางวัลและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ตามพ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งรางวัลนำจับให้แก่ผู้แจ้งเบาะแสโรงงานอุตสาหกรรมที่ลักลอบทิ้ง

 กากอุตสาหกรรมผิดกฎหมาย ให้เพิ่มรางวัลนำจับแก่ผู้แจ้งเบาะแสเป็น 50% หลังจากส่งเข้ากระทรวงการคลัง จากเดิมที่ 100% จะต้องส่งกระทรวงการคลัง 20% และนำ 80% ที่เหลือมาแบ่งเป็นสินบนนำจับให้กับประชาชน 25% ที่เหลือก็กระจายให้กับ

 เจ้าหน้าที่ที่ร่วมดำเนินการ

ส่วนแผนในระยะยาว กรมโรงงานฯได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การจัดการกากอุตสาหกรรม ในระยะ 5 ปี (พ.ศ.2558-

2562) โดยในส่วนของโรงงานผู้ก่อกำเนิดของเสีย ตั้งเป้าหมายให้ 90% ของโรงงานทั้งหมดเข้าสู่ระบบจัดการกากอุตสาหกรรมภายในปี 2563

จาก http://www.naewna.com วันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

สภาพความเป็นกรด-ด่างของดินนั้นสามารถตรวจสอบได้

ซึ่งความเป็นกรด-ด่างของดิน หรือ พีเอช เป็นสมบัติทางเคมีที่มีการตรวจวัด ทดสอบอยู่เสมอแทบทุกครั้งที่มีการวิเคราะห์ดิน เป็นสมบัติของดินที่เปรียบเสมือนอุณหภูมิในร่างกายของคน เพราะค่าพีเอชจะมีบทบาทหรือความสัมพันธ์กับความเป็นประโยชน์ของธาตุอาหารพืช การเจริญเติบโตของพืช

ปริมาณ กิจกรรมและประเภทของจุลินทรีย์ในดิน ปกติการตรวจวิเคราะห์ค่าพีเอชจะทำในห้องปฏิบัติการโดยการวัดด้วยเครื่อง

pH meter ที่เป็นวิธีมาตรฐานที่ใช้กันทั่วไป ซึ่งมีขั้นตอนกระบวนการและอุปกรณ์ที่ใช้เฉพาะในการตรวจวิเคราะห์ดิน การประยุกต์ใช้ชุดตรวจสอบภาคสนามแทนวิธีในห้องปฏิบัติการ

 เพื่อความสะดวก รวดเร็ว จึงมีความจำเป็น

โดยในเรื่องนี้ นางกุลรัศมิ์ อนันต์พงษ์สุข รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ในฐานะโฆษกกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า กรมพัฒนาที่ดิน โดยสำนักวิทยาศาสตร์เพื่อการพัฒนาที่ดิน ทีมวิจัย ดร.อรทัย ศุกรียพงศ์ ผอ.สำนักวิทยาศาสตร์เพื่อ

 การพัฒนาที่ดิน นายรัตนชาติ ช่วยบุดดา และนางสาวจุฑารัตน์ คำนึงกิจ นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ ได้พัฒนาและประดิษฐ์ชุดตรวจสอบความเป็นกรด-ด่างภาคสนามขึ้น โดยได้พัฒนาต่อยอดจากสูตรเดิม (กระเป๋าสีน้ำตาล) เพื่อให้การอ่านสีของค่าพีเอชจากน้ำยาทดสอบที่ทำปฏิกิริยากับดินมีความชัดเจนขึ้น โดยการนำผงที่มีคุณสมบัติดูดซับสีมาใช้ให้ง่ายต่อการเปรียบเทียบสีกับแผ่นเทียบสีมาตรฐาน ทำให้การอ่านค่าพีเอชมีความถูกต้องและแม่นยำมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับนักวิชาการเกษตรหรือผู้สนใจในการนำข้อมูลไปใช้ปรับปรุงฟื้นฟูทรัพยากรดินได้อย่างถูกต้องมากขึ้น และที่สำคัญเกษตรกรหรือหมอดินอาสาไม่ต้องส่งดินไปวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ

สำหรับชุดตรวจสอบภาคสนาม LDD pH Test Kit ประกอบด้วยชุดอุปกรณ์ คือ 1.น้ำยาทดสอบ 2.แผ่นเทียบสีมาตรฐาน 3.ผงทำให้เกิดสี (สวด.04) 4. ถาดหลุม และ 5. ช้อนคนดิน โดยอุปกรณ์เหล่านี้ จะถูกบรรจุอยู่ในกระเป๋าขนาดกะทัดรัด สามารถพกพาไปใช้งานในภาคสนามได้อย่างสะดวก ใช้งานง่าย วิธีวิเคราะห์ไม่ซับซ้อน นักวิชาการ เกษตรกรหรือหมอดินอาสา สามารถตรวจสอบดินได้เองในเบื้องต้นและทราบผลภายใน 3 นาที เป็นชุดอุปกรณ์ที่ผลิตขึ้นเองภายในประเทศ ราคาจึงไม่แพง เมื่อเปรียบเทียบกับของนำเข้าจากต่างประเทศ

นางกุลรัศมิ์ กล่าวต่ออีกว่า ชุดตรวจสอบภาคสนาม ความเป็นกรดเป็นด่างของดิน ที่พัฒนาขึ้นนี้ ทุกคน สามารถตรวจวิเคราะห์ได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ชำนาญการ เพราะไม่ต้องใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ยุ่งยาก นักวิชาการและนักวิจัยจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน สามารถนำไปใช้ในการตรวจสอบสภาพความเป็นกรดเป็นด่างในพื้นที่แปลงทดลองได้ทันที และที่สำคัญนักวิชาการหรือเจ้าหน้าที่ของสถานีพัฒนาที่ดินหรือสำนักงานพัฒนาที่ดินเขตต่างๆ ของกรมพัฒนาที่ดิน สามารถใช้ในการประเมินหรือคัดกรองพื้นที่ของเกษตรกรที่ร้องขอวัสดุปรับปรุงดิน เช่น ปูน ชนิดต่างๆ กรณีที่มีคำร้องขอเป็นจำนวนมาก เป็นต้น จุดเรียนรู้หรือศูนย์เรียนรู้ทางการเกษตร ควรมีชุดตรวจสอบภาคสนาม ความเป็น

 กรดเป็นด่างของดินไว้ประจำศูนย์ เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงค่าพีเอช เมื่อมีการปรับปรุงบำรุงดินด้วยวิธีการต่างๆ หรือใช้ในการสาธิต/แนะนำการตรวจสอบดินให้กับเกษตรกรหรือ

 ผู้สนใจที่มาเยี่ยมชม เรียนรู้ภายในศูนย์ฯ

นอกจากนี้ หมอดินอาสาระดับตำบล อำเภอ และจังหวัด ควรมีชุดตรวจสอบภาคสนาม ความเป็นกรดเป็นด่างของดินไว้ประจำตัว เพื่อความสะดวก รวดเร็ว ในการตรวจสอบดินเมื่อออกพื้นที่ให้คำแนะนำ/การจัดการดิน/ปรับปรุงดินให้กับสมาชิกในพื้นที่ของตนเอง นักสำรวจดิน กรมพัฒนาที่ดิน สามารถนำชุดตรวจสอบที่พัฒนาขึ้นนี้ใช้แทนชุดตรวจสอบเดิม (ชุดน้ำยา Troug) ที่เคยใช้ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศได้

ซึ่งจะทำให้กรม ประหยัดงบประมาณในส่วนนี้ได้

นับว่าชุดตรวจสอบความเป็นกรด-ด่างภาคสนาม

เป็นนวัตกรรมใหม่ของกรมพัฒนาที่ดินที่ประสบความสำเร็จและเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรเป็นอย่างมาก

จาก http://www.naewna.com วันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

กษ.เอาใจรากหญ้าดีเดย์แผนชำระหนี้ เร่งจำหน่ายหนี้สูญกว่า3หมื่นราย

นายอำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ความคืบหน้าแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคเกษตรทั้งระบบมีมูลหนี้กว่า 1.2 ล้านๆ บาท โดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม เช่นกลุ่มลูกหนี้กระทรวงเกษตรฯ กลุ่มลูกหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กลุ่มลูกหนี้ ที่ขึ้นทะเบียนหนี้ไว้กับกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร และกลุ่มลูกหนี้หน่วยงานอื่นๆ เช่น กยส.โดยในส่วนกลุ่มลูกหนี้ที่เกษตรกรขึ้นทะเบียนหนี้(ทะเบียนเกษตรกร) ไว้กับสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ ได้มีการตรวจสอบข้อมูลหนี้กับสถาบันการเงินเจ้าหนี้ในเบื้องต้นแล้ว 4 แห่ง ได้แก่ สหกรณ์ ธ.ก.ส. ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารกรุงไทย ซึ่งได้นำข้อมูลหนี้ดังกล่าวมาจัดทำแผนการชำระหนี้แทนเกษตรกร ไว้รองรับการใช้งบประมาณที่ได้รับความเห็นชอบจากครม.เศรษฐกิจ จำนวน 3 พัน ล้านบาท เพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหานี้สินเกษตรกร

นายอำนวย กล่าวต่อไปว่าตามหลักการแผนการชำระหนี้แทนเกษตรกร โดยให้สำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ เร่งชำระหนี้ให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือนวงเงิน 3 พันล้านบาท แบ่งเป็น ระยะที่ 1.ภายในเดือนมิ.ย.58 ชำระหนี้แทนเกษตรกรร้อยละ 35  2.ภายในเดือน ส.ค. 58 ชำระหนี้แทนร้อยละ 35  3.ภายในเดือนก.ย. 58 ชำระหนี้แทนร้อยละ 30 โดยให้ศูนย์ประสานการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร ติดตามและตรวจสอบข้อมูลหนี้กับสถาบันการเงินที่ยังไม่ส่งข้อมูล เร่งรัดให้ส่งภายในวันที่ 29 พ.ค. และให้สถาบันการเงินเจ้าหนี้ ชะลอการดำเนินการทางกฎหมายทุกกรณีกับเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ ออกไปจนกว่าจะชำระหนี้แล้วเสร็จ ส่วนที่เป็นลูกค้า ธ.ก.ส. ที่มีรายชื่อในโครงการปรับโครงสร้างหนี้และพื้นฟูอาชีพเกษตรกร ตามมติครม.7 เม.ย. 53 จำนวน 1,780 ราย ยังมีเกษตรกรที่ได้สิทธิจำหน่ายหนี้สูญตามมติครม. 31 มี.ค. 58 อีก จำนวน 28,000 ราย

ทั้งนี้ ได้จัดตั้งศูนย์ประสานการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรและแต่งตั้งคณะกรรมการประสานการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรให้เกิดความรวดเร็ว โดยมีรมช.เกษตรฯเป็นประธานกรรมการ เพื่อเร่งรัด ติดตามผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

จาก http://www.naewna.com วันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

เปลี่ยนใจไม่ยุบ “กองทุนฟื้นฟูเกษตรกร”!

นายอำนวย ปะติเส รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการประสานการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรว่า ปัญหาด้านสถานะของสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) ซึ่งมีปัญหาหลายด้าน ปัจจุบันมีคณะกรรมการ (บอร์ด) ไม่ครบถ้วนตามกฎหมาย จนไม่สามารถทำงานได้ จนในระยะแรกที่รัฐบาลเข้ามา กระทรวงเกษตรฯมีแนวคิดจะยุบหน่วยงานนี้ไป แต่จากนี้จะเปลี่ยนแนวทางใหม่ โดยไม่ยุบ กฟก.แล้ว แต่จะแก้ไขปัญหาให้ กฟก.สามารถกลับมาทำงานได้ตามปกติต่อไป โดยเร่งจัดตั้งบอร์ดให้ครบถ้วน พร้อมวางแนวทางแก้ไขความโปร่งใสในการดำเนินงาน โดยเบื้องต้นจะออกประกาศกระทรวงเกษตรฯ ว่าด้วยการกำกับดูแลการดำเนินงานของ กฟก. และจะพิจารณาแก้ไขกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้องต่อไป เพื่อให้การทำงานมีความโปร่งใสมากขึ้น

“ปัจจุบัน กฟก. มีกรรมการไม่ครบตามที่กฎหมายกำหนด โดยขาดกรรมการที่มาจากตัวแทนเกษตรกร 20 คน ขาดกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 10 คน ทำให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สั่งให้ยุติการจ่ายเงินให้แก่ กฟก. จำนวน 3,000 ล้านบาท ที่จะนำไปชำระหนี้แทนเกษตรกร เพราะเห็นว่ามีบอร์ดไม่ครบ ไม่สามารถทำงานได้ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯเร่งแก้ปัญหาโดยจัดตั้งบอร์ดชุดใหม่ให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ค.นี้ และจะขออนุมัติงบประมาณจำนวน 3,000 ล้านบาท จากคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง เพื่อชำระหนี้แทนเกษตรกร 12,000 รายต่อไป

จาก http://www.thairath.co.th วันที่ 23 พ.ค. 2558

ยักษ์ใหญ่โรงงานน้ำตาล KTIS วางใจใช้เทคโนโลยีออโตเมชั่นของ Siemens

ซีเมนส์ ผู้ให้บริการสินค้า และโซลูชั่นสำหรับลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมที่มีนวัตกรรมและมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมชั้นนำของโลก ได้แถลงข่าวความสำเร็จของการติดตั้ง ชุดส่งกำลังขับเคลื่อนไฟฟ้า-เครื่องกล ณ บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (Kaset Thai International Sugar Corporation Public Company Limited - KTIS) โรงงานน้ำตาลที่มีกำลังการผลิตที่ใหญ่ที่สุดของโลกและมีฐานการผลิตอยู่ในประเทศไทย ซีเมนส์ร่วมกับพันธมิตรอัลลายด์เทค บริษัทผู้ผลิตลูกหีบสำหรับโรงงานน้ำตาล (OEM) ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ในการติดตั้งโซลูชั่น ระบบขับเคลื่อน (drives solution) คุณภาพชั้นนำโดยใช้เทคโนโลยี Integrated Drive Systems (IDS) ที่โด่งดังเป็นที่รู้จักวางใจและเชื่อถือได้จากซีเมนส์ เพื่อนำมาใช้งานแทนระบบขับเคลื่อนไอน้ำ(Steam Turbine) ที่ใช้มาแต่เดิม และเพิ่มประสิทธิภาพของโรงงานขึ้นอีกถึง 30%โดยใช้ ชุดขับ ขนาด1000 kW Heavy Duty Pressure Feeder Drives และ 2050 kW Mill Drives จากซีเมนส์เนื่องจากมีขนาดกะทัดรัด สะดวกในการติดตั้งและใช้งานอีกทั้งทนทานต่อสภาวะการใช้งานที่หนักหน่วง ในสภาวะที่มีความร้อน,ความชื้นและฝุ่นจากกระบวนการหีบอ้อยในโรงงานน้ำตาล

ดีเทอร์ บร็อคเคิล รองประธานอาวุโส, กลุ่มธุรกิจ Digital Factory Division (DF) และ Process Industries & Drives (PD) ซีเมนส์ ประเทศไทย กล่าวว่า “เรามีความยินดีอย่างยิ่งต่อการที่กลุ่ม KTIS ได้รับผลประโยชน์จากเทคโนโลยี IDS อันล้ำสมัยล่าสุดของซีเมนส์ โดยคณะผู้บริหารของกลุ่ม KTIS มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลในอันที่จะมุ่งมั่นพัฒนา เสริมสร้างมูลค่าและคุณค่าของผลิตภัณฑ์ และสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมการทำงานที่มีความปลอดภัยแก่พนักงาน เราเชื่อว่ากลุ่ม KTIS ได้ดำเนินพันธกิจทางธุรกิจมาในทิศทางที่ถูกต้องในการเตรียมพร้อมเพื่อการลงทุนในธุรกิจใหม่และเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดในปัจจุบัน”

โรงงานน้ำตาลเกษตรไทยฯ หนึ่งในโรงน้ำตาลของกลุ่ม KTIS มีกำลังการหีบอ้อยเพื่อใช้ในการผลิตน้ำตาล 55,000ตันอ้อยต่อวันและจำหน่ายน้ำตาลสู่ตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ การผลิตจำนวนมากเช่นนี้ย่อมส่งผลกดดันต่อระบบขับเคลื่อนไอน้ำแบบดั้งเดิม คณะผู้บริหารของกลุ่ม KTIS ตระหนักในความสำคัญนี้จึงนำระบบออโตเมชั่นเข้ามาพัฒนาปรับปรุงกำลังการผลิตเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนและมั่นคงของธุรกิจต่อไป

นายประพันธ์ ศิริวิริยะกุล กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม KTIS กล่าวว่า “เรามีความประทับใจต่อการสนับสนุนจากทีมงานซีเมนส์ จากประสบการณ์ของเราพอจะกล่าวได้ว่ามีเพียงไม่กี่บริษัทเช่นซีเมนส์ที่มีศักยภาพและเทคโนโลยีเพียงพอที่จะสามารถจัดหาระบบขับเคลื่อนได้ตามที่เรากำหนด ไม่เพียงแต่ทำให้โรงงานของเราทันสมัยยิ่งขึ้นกว่าเดิมเท่านั้น แต่ยังได้ช่วยประหยัดพลังงานให้เราได้อย่างมาก รวมทั้งระบบขับเคลื่อนที่ไว้วางใจพึ่งพาได้ว่าจะสามารถรับมือกับระบบการทำงานของเครื่องจักรที่ต้องการกำลังขับและแรงบิดสูง

สิ่งแปลกปลอม เช่น ก้อนหิน หรือ กรวดเคยเป็นสิ่งที่มักจะทำให้กระบวนการหีบอ้อย(ลูกหีบ) ติดขัดเมื่อครั้งที่ยังใช้งานระบบขับเคลื่อนไอน้ำอยู่ ปัจจุบัน เทคโนโลยี IDS ของซีเมนส์สามารถต้านแรงสะเทือน (shock)ได้สูง จึงสามารถลดผลกระทบจากสิ่งแปลกปลอมที่ปนมากับวัตถุดิบได้ดี นอกจากนี้ มลภาวะทางเสียงและการรั่วไหลของไอน้ำ ก็เป็นอีกประเด็นที่ระบบขับเคลื่อนตัวใหม่นี้สามารถจัดการได้เป็นอย่างดี

นายสมเกียรติ ว่องกิตติกูล กรรมการบริหาร อัลลายด์เทค กล่าวว่า “ในฐานะ OEM เราพบว่าพอร์ตโฟลิโอที่มีมาตรฐานของซีเมนส์ทำให้เราสามารถปรับปรุง และนำเสนอสินค้าสำเร็จรูปตามความเหมาะสมของลูกค้าแต่ละบริษัทได้ดี กลุ่ม KTIS ถือเป็นกรณีศึกษาชั้นเลิศเกี่ยวกับธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตสูงและมีผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีในด้าน อุตสาหกรรมการขับเคลื่อนสามารถร่วมมือกันพัฒนายกระดับประสิทธิภาพได้ในทุกด้าน”

กลุ่ม KTIS เปิดสายการผลิต 24ชั่วโมงทุกวันทำการในรอบ 4-5 เดือน รูปแบบการปฏิบัติงานที่หนักหน่วงเช่นนี้เปิดโอกาสให้วิศวกรจากซีเมนส์ได้นำความเชี่ยวชาญมาสนับสนุน ให้แนวทางการทำงานและเป็นที่ปรึกษาให้แก่กลุ่ม KTIS ทั้งนี้ 2 ใน 5 โรงงานได้มีการติดตั้งเทคโนโลยี IDS ของซีเมนส์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และได้ดำเนินการให้เป็นที่แน่ใจว่าระบบการทำงานจะดำเนินต่อเนื่องตามโครงสร้างกำหนดเวลา โดยมีการหยุดเดินเครื่องจักรน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ระหว่างขั้นตอนการอัพเกรดงาน

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 

ก.อุตฯ ประกาศความสำเร็จ OPOAI เชิดชูสถานประกอบการดีเด่น ยกระดับอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ก้าวไกลสู่สากล 

        โครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรในภูมิภาค (OPOAI) ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับธุรกิจ SMEs กว่า 3,600 ล้านบาท โดยมีผู้ประกอบการ 1,041 รายในพื้นที่ 76 จังหวัด เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และเพิ่มยอดขาย พร้อมยกระดับราคาผลิตผลทางการเกษตรให้สูงขึ้น ได้อย่างเห็นผลเป็นรูปธรรม สร้างภูมิคุ้มกันให้กับเศรษฐกิจไทย ชูผู้ประกอบการพร้อมแข่งขันบนเวทีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 และตลาดโลก

           จักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ ฯพณฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปโดยการพัฒนาวัตถุดิบและกระบวนการผลิตให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตผลการเกษตรของไทย บนฐานความรู้ความคิดสร้างสรรค์และภูมิปัญญาท้องถิ่น

       นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ให้เข้มแข็งสามารถแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยการเพิ่มองค์ความรู้ในด้านการปรับปรุงประสิทธิภาพของกระบวนการผลิตในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และพัฒนาการบริหารจัดการภายในองค์กร ปรับโครงสร้างการขับเคลื่อนธุรกิจ SMEs ทั้งในด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุน บริการทางการเงิน และการลงทุนอย่างเป็นระบบ เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดและเสริมสร้างโอกาสการลงทุนในต่างประเทศ

       ด้วยเหตุนี้ โครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรในภูมิภาค ตามนโยบาย “1 จังหวัด 1 อุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร” หรือ One Province One Agro-Industrial Product: OPOAI ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงอุตสาหกรรม

       จึงนับเป็นโครงการที่สามารถสนับสนุนนโยบายรัฐบาลข้างต้นได้เป็นอย่างดี เนื่องจากมุ่งเน้นพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ SMEs อุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร ที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 200 ล้านบาท ให้ได้รับการพัฒนาตามแผนงาน 6 ด้าน ประกอบด้วย1. การบริหารจัดการโลจิสติกส์ 2. การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต 3. การปรับปรุงคุณภาพและพัฒนางาน 4. การลดต้นทุนพลังงาน 5. การยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์/ระบบมาตรฐานสากล และ 6. กลยุทธ์ขับเคลื่อนการตลาด

       เรียกว่าเป็นการพัฒนาครอบคลุมทุกมิติ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ ซึ่งโครงการ OPOAIเน้นการดึงศักยภาพของวัตถุดิบท้องถิ่น ผสมผสานนวัตกรรมและคำแนะนำที่ถูกต้องจากทีมที่ปรึกษา เพื่อให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการสามารถปรับตัวและแข่งขันได้ รู้จักการช่วยเหลือตัวเองด้วยการนำสิ่งที่ตัวเองมีอยู่มาพัฒนา และเพิ่มมูลค่าของสินค้า

       ทางด้าน อรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า "นับจากปี 2550 จนถึงปัจจุบัน โครงการ OPOA Iมีผู้ประกอบการ SMEs อุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร 11 ประเภท เข้าร่วมโครงการจำนวนทั้งสิ้น 1,041 ราย โดยเฉพาะในปี 2557 มีผู้เข้าร่วมถึง 138 ราย ครอบคลุมในพื้นที่ 76 จังหวัด ไม่ว่าจะเป็นสาขาข้าว พืชไร่ ผัก-ผลไม้ เนื้อสัตว์ อาหารทะเล เป็นต้น โดยกระทรวงอุตสาหกรรมมุ่งหวังยกระดับให้เป็น Product Champion อีกด้วย”

       จากองค์ความรู้ที่ได้รับ ผู้ประกอบการสามารถลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และเพิ่มยอดขายรวมเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจถึง 3,637 ล้านบาท เรียกว่าเป็นการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้อย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ และเพื่อเป็นการเชิดชูผู้ประกอบการดีเด่นให้เป็นต้นแบบกับผู้ประกอบการรายอื่น

       สำหรับโครงการ OPOAI ยังได้มีการคัดเลือกผู้ประกอบการดีเด่นประจำปี 2557 ประกอบด้วย แผนงานที่ 1 บริษัท บุณยเกียรติ ไอศกรีม จ.เพชรบูรณ์ แผนงานที่ 2 บริษัท ข้าวทิพย์แพร่ จำกัด จ.แพร่ แผนงานที่ 3 สหกรณ์การเกษตรกันทรลักษ์ จำกัด จ.ศรีสะเกษ แผนงานที่ 4 บริษัท กิจเจริญพรชัย จำกัด จ.สิงห์บุรี แผนงานที่ 5 บริษัท คุณเก๋ขนมหวาน จำกัด จ.ปทุมธานี และแผนงานที่ 6 บริษัท สามเกษตรมิลล์ จำกัด จ.อุทัยธานี โดยมีโอกาสได้เข้ารับโล่รางวัลจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมอันเป็นการสร้างขวัญกำลังใจที่ดีให้กับสถานประกอบการที่เข้าร่วมด้วย กระทรวงอุตสาหกรรมเชื่อว่า โครงการ OPOAI จะสามารถพัฒนาผู้ประกอบการ ตลอดจนเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรให้สามารถแข่งขันพร้อมก้าวสู่ยุค AEC และตลาดโลกได้

จาก http://www.manager.co.th   วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 

สอท.ตั้งคลัสเตอร์ปิโตรวอนหนุนไบโอพลาสติก 

          นักลงทุนต่างชาติรอแผน ส่งเสริมลงทุนไบโอพลาสติก

          ส.อ.ท.ตั้งกลุ่มคลัสเตอร์ปิโตรเคมี จี้รัฐออกมาตรการหนุน อุตฯไบโอพลาสติก ต่างชาติเตรียมลงทุนในไทยกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท พร้อมจับมือผู้นำเข้า-โรงงาน พัฒนาสินค้าทดแทนการนำเข้า

          นายบวร วงศ์สินอุดม รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานคลัสเตอร์ปิโตรเคมี ส.อ.ท. เปิดเผยถึงการตั้งคลัสเตอร์ปิโตรเคมี ว่า คลัสเตอร์ปิโตรเคมีเกิดจากการรวมกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มโรงกลั่นน้ำมัน ปิโตรเคมี พลาสติก และเคมี โดยมีเป้าหมาย ที่จะผลักดันให้คลัสเตอร์นี้ก้าวขึ้นสู่การเป็น ผู้นำในภูมิภาคอาเซียนในปี2020หรือปี2563เพื่อที่จะขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจไทย

          โดยเฉพาะการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพ ซึ่งไทยมีศักยภาพจาก ที่เป็นแหล่งวัตถุดิบทางการเกษตร ได้แก่ อ้อย มันสำปะหลัง ซึ่งไม่เพียงแต่ภาคอุตสาหกรรมจะได้ประโยชน์ แต่ยังขยายวงกว้างไปถึงเกษตรกรในการพยุงราคาผลผลิตให้มีเสถียรภาพ

          ทั้งนี้ พลาสติกชีวภาพเป็นเทรนด์ของโลก ที่เอกชนเห็นว่าไทยมีศักยภาพมาก เพราะเป็นแหล่งวัตถุดิบ แต่จะต้องร่วมมือกับภาครัฐ ในการผลักดันและสนับสนุน ซึ่งขณะนี้ก็หารืออยู่กับกระทรวงอุตสาหกรรม ที่จะกำหนดเป็น โปรดักส์แชมเปี้ยน รวมถึงการทำให้เกิดดีมานด์ในประเทศนำร่อง เพื่อดึงดูดการตั้งโรงงาน เช่น การลดภาษีนำเข้าเม็ดพลาสติกชีวภาพลงมาเพื่อกระตุ้นตลาด  ขณะนี้มีนักลงทุนจากต่างประเทศสนใจที่จะเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพในไทยแล้วอย่างน้อย2-3ราย จากประเทศสหรัฐ และญี่ปุ่น โดยกำลังรอความชัดเจนถึงการส่งเสริมการลงทุนในภาพรวมซึ่งหากเกิดขึ้นได้2แห่งจะมีเม็ดเงินลงทุนประมาณ500ล้านดอลลาร์หรือกว่า1.5หมื่นล้านบาท แต่คู่แข่งอย่างมาเลเซียต้องการดึงการลงทุนนี้เช่นกัน โดยให้สิทธิประโยชน์ต่างๆค่อนข้างมาก  "นักลงทุนต่างชาติต่างรอดูความชัดเจนในมาตรการส่งเสริมการลงทุนพลาสติกชีวภาพของไทย โดยเฉพาะ บ.เนเจอร์เวิร์คส์ ของสหรัฐก็ต้องเลื่อนโครงการลงทุน ตั้งโรงงานในไทยออกไป หลังจากที่ตั้งเป้าที่จะเข้ามาลงทุนในปีที่ผ่านมา แต่ทั้งนี้ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (พีทีทีจีซี) ก็ใช้สิทธิ์การเป็นผู้ถือหุ้นในสัดส่วน 50%พยายามดึงไม่ให้ไปลงทุนในประเทศอื่น ซึ่งหากในปีนี้ยังไม่มีความชัดเจนก็อาจรั้งไว้อีกไม่ได้ เพราะธุรกิจจะต้องเดินหน้าไปตามแผนที่วางไว้ ซึ่งหากไทยสามารถดึงโรงงานหลักเข้ามาลงทุนได้ 1 แห่งแล้ว ก็จะมีโรงงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานอีกมาก ทำให้เทคโนโลยีพลาสติกชีวภาพตกอยู่ในมือของประเทศไทย โดยเครือปตท. ได้เตรียมพื้นที่ไว้แล้วคือที่นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย" นายบวร กล่าว

          นอกจากนี้ คลัสเตอร์ปิโตรเคมี ยังได้ตั้งเป้าที่จะเร่งผลิตสินค้าเพื่อทดแทนการนำเข้า โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมพลาสติกที่มีสัดส่วนของการนำเข้าและส่งออกใกล้เคียงกัน โดย ขณะนี้ทางคลัสเตอร์ฯก็ได้จัดทำบัญชีกลุ่มสินค้านำเข้าที่มีมูลค่าสูงมาไล่ระดับความสำคัญ จากนั้นก็จะไปเจรจากับบริษัทผู้นำเข้าว่าพอจะเปลี่ยนมาใช้สินค้าไทยได้หรือไม่

          นายบวร กล่าวว่า ในส่วนมาตรการสนับสนุนจากรัฐที่จะผลักดันให้คลัสเตอร์ปิโตรเคมีสู่การเป็นผู้นำในภูมิภาคได้แก่ มาตรการเชิงรุกในการส่งเสริมการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า เช่น การส่งเสริมการลงทุน มาตรการด้านการตลาด เทคโนโลยีและข้อมูลการค้าเชิงลึก การปรับโครงสร้างราคาพลังงานในไทยที่ให้ความเป็นธรรมต่อทุกภาคส่วน รวมถึงการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อกลุ่มอุตสาหกรรมนี้

          สำหรับในคลัสเตอร์ปิโตรเคมีนี้ มีมูลค่าทั้งอุตสาหกรรมคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10%ของ จีดีพี ซึ่งหากรัฐบาลให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ก็คาดว่าจะสามารถผลักดันให้จีดีพีขยายตัวได้ปีละไม่ต่ำกว่า 4%

จากhttp://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 

บี้อุตฯจังหวัดแก้ขยะล้นโรงงาน ต่างชาติขอไทยลงทุนกำจัด

          นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยระหว่างมอบนโยบาย และติดตามการดำเนินงานของอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ ว่าได้กำชับให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ เร่งแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ร้องเรียนปัญหาเกี่ยวกับภาคอุตสาหกรรมเข้ามามากขึ้น โดยเฉพาะการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมที่ปัจจุบันมีประมาณ 30 ล้านตันต่อปี โดยให้ใช้บทลงโทษอย่างเคร่งครัด กับโรงงานที่ไม่นำ กากอุตสาหกรรมเข้าระบบ เพื่อให้โรงงานอุตสาหกรรมนำกากอันตรายเข้าสู่ระบบกำจัดที่ถูกต้อง 1.2-1.5 ล้านตันภายในปีนี้ คิดเป็นผู้ประกอบการ 52,000 ราย หรือ 90% ของโรงงานที่เข้าข่ายเข้าสู่ระบบ

          นอกจากนี้ยังมีแผนจัดหาพื้นที่กำจัดกากขยะอุตสาหกรรม 6 แห่ง ภายใน 20 ปี เพื่อรองรับการขยายตัวของโรงงานในแต่ละภูมิภาค โดยขณะนี้ได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลญี่ปุ่นในการสร้างเตาเผาขยะอุตสาหกรรม 1,800 ล้านบาท ความสามารถในการเผา 500 ตันต่อวัน แบ่งเป็นขยะชุมชน 70% หรือ 350 ตัน และกากขยะอุตสาหกรรม 30% หรือ 150 ตัน

          "วันนี้อุตสาหกรรมจังหวัดต้องขันนอต เพราะเป็นหน่วยงานที่อยู่ในพื้นที่โดยตรง ต้องเร่งรัดตรวจสอบและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างจริงจัง สามารถอธิบายให้สาธารณชนเกิดความเข้าใจที่ชัดเจนได้ บางเรื่องสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องใช้งบประมาณ เช่น การใช้มาตรการติดตั้งระบบติดตาม (จีพีเอส) รถขนส่งกากที่ต้องมีบทลงโทษเพิ่มเติมหากมีการลักลอบทิ้ง เป็นนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญและเป็นรัฐบาลที่ริเริ่มบริหารจัดการกำจัดกากขยะอุตสาหกรรมอย่างที่ไม่เคยมีรัฐบาลไหนทำมาก่อน"

          นายจุลพงษ์ ทวีศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่าได้จัดตั้งศูนย์บริการใบอนุญาตจัดตั้งบริษัทกำจัดกากขยะนำร่องที่จังหวัดระยองแห่งแรก และมีแผนขยายออก ไป 8 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา, สมุทรปราการ, ปทุมธานี, สระบุรี, ชลบุรี, ปราจีนบุรี, สมุทรสาคร และฉะเชิงเทรา โดยมีนักลงทุนจากต่างประเทศสนใจสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับการลงทุนเข้ามาหลายราย

          "ตอนนี้กระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างหารือกับทางกรุงเทพมหานคร เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้พื้นที่เขตสายไหม และอ่อนนุช เป็นพื้นที่นำร่องติดตั้งเตาเผาขยะ 500 ตันต่อวัน จำนวน 1 เครื่อง ให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย.นี้ กำหนดการก่อสร้างภายใน 2 ปี มูลค่าลงทุนทั้งสิ้นไม่เกิน 2,000 ล้านบาท โดยทางญี่ปุ่นจะส่งเจ้าหน้าที่ช่วยเดินระบบให้ก่อนในช่วง 3 ปีแรก".

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 

เกษตรกรจ่อขายคืนที่ส.ป.ก. จับตาเวียนเทียนขึ้นทะเบียนใหม่/ประยุทธ์เบรกโอนสิทธิ์

    "ประยุทธ์" สั่งเบรก ส.ป.ก.โอนสิทธิ์ที่ดินให้กับเกษตรกร กลางงาน "วันเกษตรกรแห่งชาติ" หวั่นนำไปขายต่อ ห่วงไม่มีที่ดินทำกินในอนาคต เผยกำลังหาวิธีการที่จะให้ที่ดินเป็นสินทรัพย์ นำไปเป็นหลักประกันได้ ด้าน"ปีติพงศ์" ยันไม่เชื่อจะมีคนสละสิทธิ์ขายที่ดินเพื่อเปลี่ยนอาชีพไปทำอย่างอื่น วงในแฉมีเกษตรกรจ่อขายคืนเพียบ

    พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวตอนหนึ่งในระหว่างเปิดงานวันเกษตรกรแห่งชาติ ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ถึงกรณีที่ดินของสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก. )ว่า หากใครไม่มีที่ทำกินขอให้ใจเย็น ทางหน่วยงานราชการต่างๆ อาทิ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  กำลังจัดสรรที่ดินแต่ขอให้เกษตรกรมีความชัดเจน ส่วนใครได้ที่ดินของ ส.ป.ก. อย่านำไปขาย ดังนั้นจึงไม่ให้ ส.ป.ก.โอนสิทธิที่ดินให้เป็นรายบุคคล ทั้งนี้เพื่อป้องกันการซื้อขาย หรือเปลี่ยนมือ จะเห็นว่าที่ผ่านมารัฐบาลจะจัดสรรที่ดินผ่านระบบสหกรณ์ เพื่อให้สมาชิกแบ่งปันผลประโยชน์กัน  ขณะนี้รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ว่าจะทำอย่างไรให้ที่ดินเป็นสินทรัพย์ นำไปเป็นหลักประกันใช้ในการกู้ เพราะเป็นเจ้าของที่ แต่ถ้าหากโอนไป ก็นำไปขายกันต่อ ปัจจุบัน 40-50% เกษตรกรขายต่อกันหมดแล้ว ยังเป็นปัญหาที่จะต้องตามแก้ไข   

 601   ด้านนายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์   และในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ปัญหาที่ดิน จะต้องแก้ที่ระบบข้อมูล ซึ่งไม่มีการตรวจสอบเลยว่าที่ดินที่จัดสรรให้กับเกษตรกรเมื่อ 40 ปีที่แล้ว อาชีพปัจจุบันยังเป็นเกษตรกรหรือไม่ ไม่มีใครทราบ เป็นเรื่องตลก ยกตัวอย่างนโยบายจะจัดสรรที่ดินให้คนจน แล้วจะตรวจสอบอย่างไร มีทรัพย์สินอย่างไรก็ตรวจสอบไม่ได้ ขณะที่สำนักงานที่ดินในพื้นที่ที่สามารถตรวจสอบได้ แต่ต้องใช้เวลานานมาก ธุรกิจหรือทรัพย์สินส่วนบุคคลก็ตรวจสอบไม่ได้ ติดเรื่องสิทธิส่วนบุคคล ดังนั้นที่ผ่านมาจึงได้แต่ไล่จับ ไล่ยึดคืนการกระทำผิดซึ่งหน้า แต่คนที่แอบแฝง ไม่มีโอกาสได้ตรวจสอบเลย จริงๆ อยากจะปฏิรูปใหม่ทั้งหมด ทำระบบให้ดี หากไม่ใช่เกษตรกรจะต้องยึดคืนที่ดินทั้งหมด แต่ไม่มีเวลา เพราะ ส.ป.ก. 4-01 เป็นเพียงขั้นตอนการออกเอกสารสิทธิ์ ซึ่งจำหน่ายจ่ายโอนไม่ได้

    "ส่วนเกษตรกรที่มาจ่อคิวจองสละสิทธิ์ขายที่ดินคืนให้กับ ส.ป.ก.นั้น ผมคิดว่าไม่มี เพราะหากเป็นผมไม่มีวันสละสิทธิ์ แต่ถ้าเป็นคนดี ก็ต้องจ่ายค่าตอบแทนให้ ผมถึงย้อนถาม ส.ป.ก.กลับไปว่าตรวจสอบอย่างไร ไม่ใช่วันนี้สละสิทธิ์ อีกสองวันหลังจากนี้มาลงทะเบียนไร้ที่ดินทำกิน แล้วการจ่ายผลตอบแทนไร่ละ 6 หมื่นบาทนั้นไม่ใช่ค่าซื้อที่ดิน แต่เป็นการจ่ายชดเชยให้เกษตรกรที่ลงแรงทำประโยชน์ทางการเกษตร อาทิ การถางที่ดินให้โล่งเตียนจากป่าให้ทำประโยชน์ทางการเกษตร"

    นายปีติพงศ์กล่าวอีกว่า  เมื่อได้ที่ดินกลับคืนมา ทาง ส.ป.ก.จะนำไปจัดใหม่ ให้มีการเช่า หรือเช่าซื้อ ไม่ได้แจกที่ดินแบบให้เปล่า เป็นการช่วยเหลือให้เกษตรกรไม่ต้องนำที่ดินไปขายให้บุคคลอื่นโดยไม่ถูกกฎหมาย ส่วนเงินใช้จ่ายชดเชยนั้นใช้เงินของกองทุนการปฏิรูปที่ดินที่คาดว่าจะมีเงินสำรองไว้เรียบร้อยแล้ว ตลอดระยะเวลา 40 ปี ส.ป.ก.ได้ดำเนินการจัดที่ดินไปแล้วประมาณ 35.32 ล้านไร่ ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 3.52 ล้านไร่ 

    แหล่งข่าว ส.ป.ก. เผย ส.ป.ก.ได้วางหลักเกณฑ์ให้ผู้มีความจำเป็น เช่น เจ็บป่วยทุพพลภาพ หรือย้ายถิ่นที่อยู่ หรือชราภาพ หรือไม่มีทายาทรับช่วงที่ดินต่อ เป็นต้น จึงจะมีสิทธิ์คืนที่ดินเพื่อขอรับการชดเชย และผู้นั้นต้องเป็นเกษตรกรที่ทำประโยชน์ต่อเนื่องมาไม่น้อยกว่า 5 ปีจึงน่าจะตัดกรณีนายทุนมาขอรับค่าชดเชยไปได้  ทั้งนี้การใช้จ่ายเงินกองทุนการปฏิรูปที่ดิน กฎหมายกำหนดให้กระทำได้เฉพาะการปฏิรูปที่ดินตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด โดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง ซึ่งระเบียบดังกล่าวให้ใช้จ่ายเงินกองทุนได้ตามโครงการที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมอนุมัติ ดังเช่นโครงการนี้คณะกรรมการได้อนุมัติหลักการไว้แล้ว ทั้งนี้เกษตรกรที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป จำนวน 6.14 แสนราย เนื้อที่ 10.67 ล้านไร่ ได้มาลงทะเบียนไว้แล้วจำนวนมาก ยังไม่สรุปตัวเลข แต่ทางกองทุนฯ มีเงินสำรองไว้แล้ว

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 21 พฤษภาคม 2558

สั่งเช็กบิล5กลุ่มพืชศก.รุกป่าโยงนายทุน

    กรมป่าไม้เปิดแผน ไล่เช็กบิลทวงคืนผืนป่ากว่า 10 ล้านไร่  ใน 5 ปี  แฉมีกลุ่มนายทุนร่วมบุกรุกป่าสงวนปลูก 5 พืชเศรษฐกิจ ยางพาราสูงสุด 4.41ล้านไร่ รองลงมาข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย ปาล์มน้ำมัน พร้อมเร่งแผนจัดทำป่าเศรษฐกิจชุมชน เพิ่มเป็น 1.2 หมื่นแห่งใน 10 ปี

    นับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เข้ามาบริหาร การเปิดปฏิบัติการทวงคืนผืนป่าตามนโยบายกำลังเดินหน้าอย่างเข้มข้นเพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ แผน และเป้าหมายที่กำหนดในแนวทางเดียวกัน คือการพิทักษ์รักษาพื้นที่ป่าไม้ให้มีสภาพป่าที่สมบูรณ์ ให้ได้อย่างน้อย 40% ของพื้นที่ประเทศภายใน 10 ปี

   ธีรภัทร ประยูรสิทธิธีรภัทร ประยูรสิทธิ นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ อธิบดีกรมป่าไม้ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงสถานการณ์ป่าไม้ของไทยว่า ก่อนปี 2504 ไทยมีพื้นที่ป่าเกิน 60% ของพื้นที่ประเทศทั้งหมด 321 ล้านไร่เศษ ปัจจุบันได้ลดลงไปเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุว่าคนยากจนมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ตลอดจนปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ได้ส่งผลกระทบให้มีการบุกรุกป่ามากขึ้น โดยที่ผ่านการบุกรุกเพื่อครอบครองพื้นที่มีทั้งคนมีเงินและไม่มีเงิน ดังนั้นหลังได้มารับตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมป่าไม้ จึงได้แบ่งพื้นที่ป่าจำนวน 1,221 ป่า ครอบคลุม 66 จังหวัดทั่วประเทศ ออกเป็นกลุ่มป่า จำนวน 209 กลุ่มป่า และมีเจ้าหน้าที่มีการบูรณาการสลับเปลี่ยนกันเพื่อแก้ไขในการปกป้องรักษาป่า ส่วนหนึ่งได้กำลังทหารเข้ามาช่วยด้วย

    "ปัญหาการบุกรุกผืนป่ามีหลายรูปแบบ ทั้งในการบุกรุกเพื่อเปลี่ยนแปลงพื้นที่ให้เป็นเกษตรกรรม หรือบุกรุกเพื่อเปลี่ยนพื้นที่ให้เป็นรีสอร์ต รวมทั้งลักลอบการตัดไม้มีค่า เช่น  ไม้พะยูน หรือไม้สัก  เป็นปัญหาที่สะสมในอดีต  ซึ่งทางกรมป่าไม้จะเข้ามาแก้ ได้พยายามให้มีการปรับระบบการดูแลใหม่ ในเรื่องการป้องกันเขตรอบนอกพื้นที่"อธิบดีกรมป่าไม้กล่าวและว่า

    ทั้งนี้กระบวนการทำงานมีหลักการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ  ภูเขาสูง ถึงท้องทะเล ฝั่งทะเล มีความพยายามป้องกันป่าสมบูรณ์ที่เป็นป่าอนุรักษ์ไว้ให้ได้ ส่วนรอบป่าจะทำเป็นป่ากันชนจะพัฒนาให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน สร้างประโยชน์ในการยังชีพ ได้แก่ 1.ส่งเสริมการปลูกป่าเศรษฐกิจ ชุมชน (ป่าธรรมชาติ) ในหมู่บ้านที่อยู่รอบป่าสงวนแห่งชาติ ในรัศมี 5 กิโลเมตร ถือเป็นนโยบายการจัดการป่าที่ชัดเจนในรอบหลายสิบปี ปัจจุบันมีพื้นที่ป่าชุมชนราว 9.3 พันแห่ง  พื้นที่รวม 3.8 ล้านไร่ ซึ่งจะได้ดำเนินการตามมาตรา 19 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และมาตรา 17, 32 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484โดยวางเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ป่าชุมชนเป็น 1.2 8 หมื่นแห่ง ในอีก 10 ปี ข้างหน้า

    2. ในส่วนป่าเสื่อมโทรมใกล้หมู่บ้าน จะจัดเป็นป่าเศรษฐกิจชุมชน โดยชุมชนรวมตัวกันขอใช้ประโยชน์แห่งละ 20-50 ไร่ เป็นป่าชุมชนใช้สอย ขออนุญาตตัดไม้ได้ โดยจะดำเนินการตามมาตรา 20 พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

 +การแบ่งเขตดูแลป่า

    อย่างไรก็ดี ปัจจุบันพื้นที่ของประเทศไทยประมาณ 321 ล้านไร่เศษ เป็นพื้นที่ป่าไม้ที่มีต้นไม้ขึ้นปกคลุมสัดส่วนประมาณ 32% ของพื้นที่ประเทศ หรือประมาณ102 ล้านไร่เศษนั้น ได้มีการแบ่งเขตการดูแลป่าได้แก่   กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะดูแลรับผิดชอบในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั่วประเทศ จำนวน 73 ล้านไร่เศษหรือประมาณ 20% ของพื้นที่ประประเทศ และในส่วนพื้นที่ที่อยู่นอกเหนือจากเขตป่าอนุรักษ์ รอบนอกเป็นป่าสงวนแห่งชาติที่ดูแลโดยกรมป่าไม้ ส่วนใหญ่จะมีต้นน้ำบ้าง ส่วนหนึ่งอยู่ในพื้นที่ราบบ้างเป็นส่วนใหญ่

    สำหรับพื้นที่ตามชายฝั่งทะเล ที่เป็นป่าชายเลน หรือป่าชายหาด จะดูแลโดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ประมาณ 1.5 ล้านไร่ แต่ประมาณอีก  7 ล้านไร่เศษที่ต้นไม้เหลืออยู่ ยังอยู่ในความดูแลของหน่วยงานอื่นๆ เช่นกระทรวงการคลัง โดยกรมธนารักษ์  เป็นที่ดินราชพัสดุต่างๆ อยู่ในจังหวัดต่างๆ อาทิจังหวัดราชบุรี หรือเป็นพื้นที่ป่าอยู่ในเขตของ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.)กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และพื้นที่นิคม ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  จะต้องมีการกันพื้นที่ป่าอนุรักษ์ไว้ประมาณ 20% นอกจากนั้นยังมีป่า ที่อยู่ในความดูแลของทหาร อาทิ กองทัพบก และกองทัพเรือ เป็นต้น

 +ลั่นทวงผืนป่าคืนกว่า10 ล้านไร่

    นายธีรภัทร กล่าวว่า ทางกรมป่าไม้ มีแผนที่จะทวงผืนป่ากว่า 10 ล้านไร่ที่ถูกบุกรุกและถูกตรวจพบในป่าสงวนแห่งชาติเพื่อใช้ปลูกพืชเศรษฐกิจ 5 ชนิด รวมพื้นที่ทั้งหมด 10.1 ล้านไร่ แบ่งออกเป็น ยางพารา จำนวน 4.41 ล้านไร่ ข้าวโพด 2.33 ล้านไร่ มันสำปะหลัง 1.56 ล้านไร่  อ้อย 1.26 ล้านไร่ และปาล์มน้ำมัน 5.43 แสนไร่  หากจำแนกในส่วนของภาคเหนือจะมีการเปลี่ยนพื้นที่ป่า เพื่อเป็นไร่ปลูกข้าวโพดมากที่สุด ส่วนภาคกลาง เป็นไร่อ้อย ภาคตะวันออก เป็นไร่มันสำปะหลัง  ภาคตะวันตก เป็นสวนยางพารา และภาคใต้ เป็นสวนยางพารา นับเป็นปัญหาสะสมมานานนับตั้งแต่ปี 2552 ประเมินว่าการปฏิบัติการทวงผืนป่ากว่า 10 ล้านไร่นี้ จะต้องใช้ระยะเวลา 4-5 ปี ทั้งนี้จะต้องจำแนกว่าเป็นนายทุนบุกรุกพื้นที่ หรือเป็นเกษตรกรยากจน

    สำหรับเป้าหมายในครั้งนี้เพื่อหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้เพื่อการปลูกยางพาราโดยเด็ดขาด และ บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันและปราบปราม และแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าปลูกพืชเศรษฐกิจในพื้นที่ป่าของกรมป่าไม้

    "แผนปฏิบัติการทวงคืนผืนป่าในปี 2558 เนื้อที่ประมาณ 4 แสนไร่ ปี 2559 เนื้อที่ประมาณ 6 แสนไร่ โดยดำเนินการตามขั้นตอน ได้แก่  1. สำรวจข้อมูลเบื้องต้นโดยใช้ข้อมูลจากดาวเทียม 2. เตรียมการในพื้นที่โดยทำการตรวจสอบภาคสนาม (ground check) และประชาสัมพันธ์ในระดับนโยบาย และระดับพื้นที่

    3. กำหนดพื้นที่เป้าหมายดำเนินการ 4. การดำเนินการทางปกครอง ดำเนินคดีตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

    5. วิธีการตัดฟัน และ 6. การจัดการไม้ที่ตัด (การใช้ประโยชน์)  คาดว่าจะได้พื้นที่ป่ากลับคืนมา 4 แสนไร่ ขณะเดียวกันพื้นที่ป่าไม่ถูกบุกรุกเพิ่มเติมโดยเด็ดขาด"

 +เช็กบิลนายทุน 1.5 ล้านไร่

    สำหรับภารกิจที่เร่งด่วนในที่มีกรอบระยะเวลา 2 ปี มีแผนปฏิบัติการขอคืนพื้นที่ปลูกยางพาราในเขตป่าสงวนแห่งชาติระหว่างปี 2552-2557 ที่มาบุกรุกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  เฉลี่ยต่อปีประมาณ 2.16 แสนไร่  ซึ่งในปี 2557 มีพื้นที่ปลูกยางพาราอยู่ทั่วประเทศประมาณ 4.41 ล้านไร่ พบมากที่สุดในภาคใต้ รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคเหนือ ภาคกลาง  จากการสำรวจเบื้องต้นคาดว่ามีพื้นที่ปลูกยางพาราในพื้นที่ป่าตามมติ คณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 30 มิถุนายน 2541 ประมาณ 1.2 ล้านไร่ คงเหลือพื้นที่ปลูกยางพาราหลังวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ประมาณ 3.2 ล้านไร่ คาดว่าเป็นของนายทุนและผู้มีอิทธิพล ประมาณ 1.5 ล้านไร่

    "การเร่งตรวจสอบ ประกอบด้วย เป้าหมายลำดับที่ 1 จำนวน 11 จังหวัด  อาทิ  จังหวัดเชียงราย พิษณุโลก  เป็นต้น เนื้อที่ 2.5 แสนไร่  เป้าหมายลำดับ 2 จำนวน 16 จังหวัด อาทิ  จังหวัดจันทบุรี และระยอง เป็นต้น จำนวน 1 แสนไร่  เป้าหมายลำดับที่ 3 จำนวน 38 จังหวัด อาทิ  นราธิวาส       ปัตตานี ฉะเชิงเทรา และพะเยา เป็นต้น เนื้อที่ 5 หมื่นไร่ "

    ส่วนการจัดการสำหรับต้นยางพาราที่อยู่ในป่าสงวนแห่งชาติ  หากเป็นต้นยางพาราที่มีขนาดเล็กไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ ให้ดำเนินการตัดออกไว้ในพื้นที่ จัดกองไว้ให้เป็นระเบียบไม่ให้ถูกน้ำพัดพา

    หรือหากต้นยางพาราที่มีขนาดใหญ่สามารถใช้ประโยชน์ได้ ให้เก็บรักษาไว้ที่หน่วยป้องกันรักษาป่า และดำเนินการตามระเบียบการจัดการไม้ของกลางต่อไป อย่างไรก็ดี สำหรับพืชเศรษฐกิจ  4 ชนิดได้แก่ ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน อ้อย  และมันสำปะหลัง นั้นจะเป็นภารกิจที่จะดำเนินการหลังจากจบโครงการยางพาราเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากบุคลากรของกรมมีจำกัด

+โล่งอก ไม่เข้าข่ายนายทุน

    นายสังเวิน ทวดห้อย ประธานเครือข่ายชาวสวนยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า รู้สึกโล่งอก เป็นเพียงเกษตรกรหาเช้ากินค่ำ หลังจากที่ได้ฟังอธิบดีกรมป่าไม้ชี้แจงว่ากลุ่มของเกษตรกรนั้นไม่เข้าข่ายนายทุนที่ทางกรมป่าไม้จะทวงผืนป่าคืน สาเหตุที่เกษตรกรบุกรุกป่าเพื่อทำสวนยางนั้นเพราะยากจน ไม่มีที่ดินทำกิน อยากให้พิจารณาให้ความเป็นธรรม เพราะพื้นที่ดังกล่าวเกษตรกรทำกินมานานก่อนปี 2518 แล้ว ทั้งนี้ควรมีการตั้งคณะกรรมการระดับท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมด้วย ก่อนที่กรมป่าไม้จะตรวจสอบในพื้นที่นั้นๆ

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 21 พฤษภาคม 2558

ธปท.มองแนวโน้มค่าบาทช่วงที่เหลือของปีนี้ยังผันผวน

นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)   กล่าวถึง  แนวโน้มค่าเงินบาทในช่วงที่เหลือของปียังคงผันผวน โดยเฉพาะเมื่อใกล้การประชุมธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) เพราะตลาดจะมีการคาดการณ์เกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ ซึ่งขณะนี้คาดว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วที่สุดในช่วงเดือนกันยายน หรืออย่างช้าในช่วงปลายปี ดังนั้นผู้ประกอบการไม่ควรวางใจต่ออัตราแลกเปลี่ยน และควรทำประกันความเสี่ยงด้านเงินตราต่างประเทศ 

ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายตลาดการเงิน ธปท.กล่าวว่า ค่าเงินบาทตั้งแต่ต้นปี2558 ถึงปัจจุบันอ่อนค่าประมาณ2% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ แต่แข็งค่าขึ้น 2.75% เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง    อย่างไรก็ตามถือว่าแข็งค่าน้อยลง เมื่อเทียบกับช่วงที่แข็งค่าที่สุดที่3.75% ในก่อนหน้านี้ซึ่งช่วยทำให้ผู้ประกอบการสามารถกำหนดราคาสินค้าเพื่อแแข่งขันได้ง่ายขึ้น

ส่วนค่าเงินบาทที่ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 33.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐนั้น ถือเป็นระดับที่ผู้นำเข้าและส่งออกพึงพอใจ และช่วยผู้ส่งออกให้มีรายได้จากเงินบาทมากขึ้นและสามารถประคองผู้ส่งออกในช่วงภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 21 พฤษภาคม 2558

ก.อุตฯ ประกาศความสำเร็จ OPOAI เชิดชูสถานประกอบการดีเด่น ยกระดับอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ก้าวไกลสู่สากล 

        โครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรในภูมิภาค (OPOAI) ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับธุรกิจ SMEs กว่า 3,600 ล้านบาท โดยมีผู้ประกอบการ 1,041 รายในพื้นที่ 76 จังหวัด เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และเพิ่มยอดขาย พร้อมยกระดับราคาผลิตผลทางการเกษตรให้สูงขึ้น ได้อย่างเห็นผลเป็นรูปธรรม สร้างภูมิคุ้มกันให้กับเศรษฐกิจไทย ชูผู้ประกอบการพร้อมแข่งขันบนเวทีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 และตลาดโลก

ก.อุตฯ ประกาศความสำเร็จ OPOAI เชิดชูสถานประกอบการดีเด่น ยกระดับอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ก้าวไกลสู่สากล  

         จักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ ฯพณฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปโดยการพัฒนาวัตถุดิบและกระบวนการผลิตให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตผลการเกษตรของไทย บนฐานความรู้ความคิดสร้างสรรค์และภูมิปัญญาท้องถิ่น

       นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ให้เข้มแข็งสามารถแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยการเพิ่มองค์ความรู้ในด้านการปรับปรุงประสิทธิภาพของกระบวนการผลิตในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และพัฒนาการบริหารจัดการภายในองค์กร ปรับโครงสร้างการขับเคลื่อนธุรกิจ SMEs ทั้งในด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุน บริการทางการเงิน และการลงทุนอย่างเป็นระบบ เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดและเสริมสร้างโอกาสการลงทุนในต่างประเทศ

       ด้วยเหตุนี้ โครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรในภูมิภาค ตามนโยบาย “1 จังหวัด 1 อุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร” หรือ One Province One Agro-Industrial Product: OPOAI ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงอุตสาหกรรม

       จึงนับเป็นโครงการที่สามารถสนับสนุนนโยบายรัฐบาลข้างต้นได้เป็นอย่างดี เนื่องจากมุ่งเน้นพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ SMEs อุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร ที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 200 ล้านบาท ให้ได้รับการพัฒนาตามแผนงาน 6 ด้าน ประกอบด้วย1. การบริหารจัดการโลจิสติกส์ 2. การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต 3. การปรับปรุงคุณภาพและพัฒนางาน 4. การลดต้นทุนพลังงาน 5. การยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์/ระบบมาตรฐานสากล และ 6. กลยุทธ์ขับเคลื่อนการตลาด

       เรียกว่าเป็นการพัฒนาครอบคลุมทุกมิติ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ ซึ่งโครงการ OPOAIเน้นการดึงศักยภาพของวัตถุดิบท้องถิ่น ผสมผสานนวัตกรรมและคำแนะนำที่ถูกต้องจากทีมที่ปรึกษา เพื่อให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการสามารถปรับตัวและแข่งขันได้ รู้จักการช่วยเหลือตัวเองด้วยการนำสิ่งที่ตัวเองมีอยู่มาพัฒนา และเพิ่มมูลค่าของสินค้า

       ทางด้าน อรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า "นับจากปี 2550 จนถึงปัจจุบัน โครงการ OPOA Iมีผู้ประกอบการ SMEs อุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร 11 ประเภท เข้าร่วมโครงการจำนวนทั้งสิ้น 1,041 ราย โดยเฉพาะในปี 2557 มีผู้เข้าร่วมถึง 138 ราย ครอบคลุมในพื้นที่ 76 จังหวัด ไม่ว่าจะเป็นสาขาข้าว พืชไร่ ผัก-ผลไม้ เนื้อสัตว์ อาหารทะเล เป็นต้น โดยกระทรวงอุตสาหกรรมมุ่งหวังยกระดับให้เป็น Product Champion อีกด้วย”

       จากองค์ความรู้ที่ได้รับ ผู้ประกอบการสามารถลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และเพิ่มยอดขายรวมเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจถึง 3,637 ล้านบาท เรียกว่าเป็นการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้อย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ และเพื่อเป็นการเชิดชูผู้ประกอบการดีเด่นให้เป็นต้นแบบกับผู้ประกอบการรายอื่น

       สำหรับโครงการ OPOAI ยังได้มีการคัดเลือกผู้ประกอบการดีเด่นประจำปี 2557 ประกอบด้วย แผนงานที่ 1 บริษัท บุณยเกียรติ ไอศกรีม จ.เพชรบูรณ์ แผนงานที่ 2 บริษัท ข้าวทิพย์แพร่ จำกัด จ.แพร่ แผนงานที่ 3 สหกรณ์การเกษตรกันทรลักษ์ จำกัด จ.ศรีสะเกษ แผนงานที่ 4 บริษัท กิจเจริญพรชัย จำกัด จ.สิงห์บุรี แผนงานที่ 5 บริษัท คุณเก๋ขนมหวาน จำกัด จ.ปทุมธานี และแผนงานที่ 6 บริษัท สามเกษตรมิลล์ จำกัด จ.อุทัยธานี โดยมีโอกาสได้เข้ารับโล่รางวัลจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมอันเป็นการสร้างขวัญกำลังใจที่ดีให้กับสถานประกอบการที่เข้าร่วมด้วย กระทรวงอุตสาหกรรมเชื่อว่า โครงการ OPOAI จะสามารถพัฒนาผู้ประกอบการ ตลอดจนเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรให้สามารถแข่งขันพร้อมก้าวสู่ยุค AEC และตลาดโลกได้

จาก http://www.manager.co.th   วันที่ 21พฤษภาคม 2558

ปัดฝุ่น‘โขง-เลย-ชี-มูล’ช่วยอีสานแล้ง

ปัดฝุ่น‘โขง-เลย-ชี-มูล’ช่วยอีสานแล้งหากจะพัฒนาให้ได้มากกว่า 18.8 ล้านไร่ ซึ่งตามยุทธศาสตร์ความมั่นคงเรื่องน้ำภาคการผลิตจะนำน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ประมาณ 1 ล้านไร่เท่านั้น เพราะต้นทุนสูงและแม้น้ำบาดาลจะมีมากถึง 70,000-80,000 ล้านลูกบาศก์เมตรวันพฤหัสที่ 21 พฤษภาคม 2558 เวลา 1:16 น. หมวด: เกษตรกรรม คำสำคัญ: ปัดฝุ่น โขง-เลย-ชี-มูล ช่วยอีสานแล้ง ว่าที่ ร.ต.ไพเจน มากสุวรรณ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันพื้นที่การเกษตรมีประมาณ 149 ล้านไร่ อยู่ในเขตชลประทานประมาณ 30 ล้านไร่ ที่เหลืออีก 119 ล้านไร่ อยู่นอกเขตชลประทานที่ต้องใช้น้ำฝนเป็นหลัก เสี่ยงต่อภาวะภัยแล้ง โดยพื้นที่ที่มีความเสี่ยงระดับปานกลางถึงรุนแรงประมาณ 26.8 ล้านไร่ หรือร้อยละ 22 ของพื้นที่การเกษตรนอกเขตชลประทานหากจะพัฒนาให้ได้มากกว่า 18.8 ล้านไร่ ซึ่งตามยุทธศาสตร์ความมั่นคงเรื่องน้ำภาคการผลิตจะนำน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ประมาณ 1 ล้านไร่เท่านั้น เพราะต้นทุนสูงและแม้น้ำบาดาลจะมีมากถึง 70,000-80,000 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ก็ตามแต่ก็อยู่ลึกมาก การลงทุนจะไม่คุ้มค่าด้าน ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน กล่าวว่า ขณะนี้กรมชลประทานได้ศึกษาโครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วงโลก หากทำได้จะเพิ่มพื้นที่ชลประทานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้อีกกว่า 20 ล้านไร่ และกระจายความมั่นคงเรื่องน้ำในทุกภูมิภาคของประเทศอีกด้วย ที่สำคัญแผนพัฒนาพื้นที่ชลประทานอีก 18.8 ล้านไร่ส่วนใหญ่จะอยู่ภาคเหนือร้อยละ 40 และภาคใต้ร้อยละ 30ส่วนพื้นที่การเกษตรนอกเขตชลประทาน มีมากกว่าครึ่งอยู่ในภาคอีสาน จากจำนวน 100 ล้านไร่ทั่วประเทศ ดังนั้นหากจะให้อีสานมีความมั่นคงในเรื่องน้ำจะต้องทำโครงการ โขง เลย ชี มูล ให้เป็นจริง และจะต้องมีการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ที่มีศักยภาพเพิ่มขึ้น ตลอดจนฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติ และปรับปรุงแหล่งน้ำเดิมที่มีอยู่ให้เต็มศักยภาพ ซึ่งตั้งเป้าในระยะแรกที่จะดำเนินการจำนวน 15,000 แห่ง เพิ่มปริมาณการกักเก็บให้ได้อีก 2,700 ล้าน ลบ.ม. ภายในปี 2569.“

จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 21พฤษภาคม 2558

ทำปุ๋ยอินทรีย์ให้เกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง

ระยอง/ เมื่อเร็วๆ นี้ นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง เปิดงานโครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชนเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง โครงการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชุมชน ณ ที่ทำการวิสาหกิจชุมชนกลุ่มปรับปรุงคุณภาพไม้ผล ต.บางบุตร อ.บ้านค่าย จ.ระยอง โดยมีส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนันผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่และเกษตรกรชาวสวนผลไม้ ร่วมในพิธีจำนวนมาก

          นายวิบูลย์ ไชยวรรณ เกษตรจังหวัดระยอง กล่าวว่า โครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชนเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งให้แก่เกษตรกรในพื้นที่เกษตรแล้งซ้ำซากให้มีรายได้ในช่วงฤดูแล้ง โดยให้ชุมชนเป็นผู้บริหารจัดการโครงการเอง ทั้งนี้ตำบลบางบุตร เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับสนับสนุนงบประมาณ และชุมชนได้เสนอโครงการจำนวน 4 โครงการ ประกอบด้วย โครงการปลูกผักปลอดสารพิษ งบประมาณ 83,000 บาท โครงการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชุมชน งบประมาณ 740,532 บาท โครงการปั้นปุ๋ยอินทรีย์เคมี งบประมาณ 100,000 บาท โครงการเทพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กลานตากข้าว งบประมาณ 76,468 บาท รวมงบประมาณทั้งสิ้น 1,000,000 บาท โดยจัดสรรเงินผ่านศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบลบางบุตร

นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง กล่าวว่า จังหวัดระยองได้เลือกโครงการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชุมชนเป็นโครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชนเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง จังหวัดระยอง (kick off) ดังกล่าวขึ้น ก็เพื่อผลิตปุ๋ยอินทรีย์สำหรับใช้ในสวนผลไม้และแปลงผักระยะสั้น เกษตรกรสามารถลดต้นทุนในการผลิตได้ ปรับปรุงคุณภาพของดินและเพิ่มคุณภาพผลผลิตให้ดีขึ้น เป็นการสร้างอาชีพเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรในชุมชนในฤดูแล้ง โดยมีเกษตรกรผู้ได้รับผลประโยชน์จำนวน 559 ราย รวม 186 ครัวเรือน มีระยะเวลาในการดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน 2558 เพื่อผลิตปุ๋ยอินทรีย์ให้ได้รวม 95 ตัน โครงการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชุมชนจะสามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรและผู้ที่เข้าร่วมโครงการ เป็นจุดเรียนรู้และแบบอย่างให้เกษตรกรเพื่อนำไปปรับใช้ในพื้นที่ของตนเอง สามารถแก้ปัญหาดินเสื่อม เป็นการนำวัสดุที่มีอยู่ในชุมชนมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก้ปัญหาขาดทุนโดยลดต้นทุนค่าปุ๋ยเคมีที่มีราคาสูง ซึ่งการใช้ปุ๋ยอินทรีย์จะทำให้ผลผลิตการเกษตรมีคุณภาพ และปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้จากโครงการฯ จะนำมาจำหน่ายให้เกษตรกรชาวสวนในราคาต้นทุนเพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อไป

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 21พฤษภาคม 2558

หลักสูตรชลประทานในพระราชดำริ “พระเทพฯ” คืบหน้า 

หลักสูตรการชลประทานเบื้องต้นในพระราชดำริสมเด็จพระเทพฯ คืบหน้าถึงขั้นจำแนกเนื้อหาเข้าสู่มาตรฐานการเรียนรู้ตามหลักสูตรแกนกลางของกระทรวงศึกษาธิการ สำหรับนักเรียนชั้น ป.1-ป.6 ทั่วประเทศ เผยเป็นการต่อยอดโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันฯ ช่วยให้นักเรียนนำไปประกอบอาชีพได้

นายบุญสนอง สุชาติพงศ์ วิศวกรใหญ่ที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมโยธา (ด้านวางแผนและโครงการ) กรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชดำริให้กรมชลประทาน สำนักงาน กปร. และโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน และโรงเรียนในเครือข่ายพระราชานุเคราะห์ ร่วมกันจัดทำหลักสูตรการชลประทานเบื้องต้นแก่นักเรียน รวมทั้งให้โรงเรียนเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านการชลประทานนั้น

            ขณะนี้ ทั้ง 3 หน่วยงานดังกล่าวได้จัดทำเอกสารประมวลความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการชลประทานเสร็จเรียบร้อยแล้ว และพัฒนามาเป็นสาระน่ารู้เกี่ยวกับการชลประทาน ซึ่งได้จำแนกเนื้อหาความรู้ดังกล่าวเข้าสู่มาตรฐานการเรียนรู้ และตัวชี้วัดตามหลักสูตรแกนกลาง สำหรับการเรียนการสอนนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6

            “ในชั้นแรก จำกัดวงหลักสูตรนี้สำหรับนักเรียนในโรงเรียนตระเวนชายแดนและโรงเรียนในเครือข่ายพระราชานุเคราะห์ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันสำหรับเด็กและเยาวชนในท้องถิ่นทุรกันดารในพระราชดำริ ต่อมาทรงให้ขยายถึงโรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการด้วย”

            สำหรับเอกสารชุดสาระน่ารู้เกี่ยวกับการชลประทาน ประกอบด้วย 7 เรื่อง ได้แก่ ทรัพยากรน้ำ วัฏจักรของน้ำ ปัญหาน้ำของประเทศไทย การอนุรักษ์แหล่งน้ำ การชลประทาน การผลิตกระแสไฟฟ้าขนาดเล็กจากพลังน้ำ และน้ำสะอาดเพื่อการดื่ม

            “เป็นเรื่องที่นักเรียนควรรู้ เพื่อที่จะเข้าใจภาพรวมของทรัพยากรน้ำ และการชลประทาน สามารถนำความรู้มาใช้ในชีวิตประจำวันได้ด้วย” นายบุญสนอง กล่าว

            นอกจาก 3 หน่วยงานข้างต้นแล้ว ยังมีหน่วยงานอื่นเข้ามาร่วมพัฒนาหลักสูตร ประกอบด้วย มูลนิธิพระดาบส มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย และกระทรวงศึกษาธิการ

            ทั้งนี้ โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันฯ ในพระราชดำริ นอกจากจัดหาอาหารกลางวันให้แล้ว นักเรียนยังต้องลงมือส่งน้ำ ให้น้ำ และระบายน้ำ เพื่อปลูกพืชผักและเลี้ยงสัตว์เองด้วย หลักสูตรการชลประทานจะช่วยเพิ่มเติมความรู้ให้ครบทั้งวงจร นับแต่เรื่องดิน ปุ๋ย และการเพาะปลูกพืช-เลี้ยงสัตว์ สามารถประกอบอาชีพได้ด้วย

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 21พฤษภาคม 2558

เตือนเกษตกรแจ้งขึ้นทะเบียนปรับปรุงข้อมูลเพาะปลูกพืชปี 58

นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตรกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรประจำปี 2558 และกำหนดแผนปฏิบัติการให้เกษตรกรมาแจ้งปรับปรุงทะเบียนการเพาะปลูกพืชในรอบการผลิตในปีนี้ เพื่อให้ข้อมูลของเกษตรกรมีความถูกต้อง สมบูรณ์ครบถ้วน และเป็นปัจจุบัน สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาการเกษตรทุกระดับ และเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งใช้ตรวจรับรองสิทธิ์ของเกษตรกรในการขอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐได้อย่างรวดเร็ว เช่น การชดเชยรายได้เกษตรกร การช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติ โดยมุ่งเน้นพืชเศรษฐกิจสำคัญ เช่น ข้าวนาปี ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และพืชไร่อื่นๆ ที่มีการเก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้วและกำลังมีการปลูกใหม่ ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2558 เป็นต้นไป

ดังนั้น เพื่อประโยชน์ของเกษตรกรในการรับบริการและการช่วยเหลือตามนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล จึงขอให้เกษตรกรมาติดต่อขอขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร ณ สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน ตามรอบระยะเวลาที่กำหนด ดังนี้

ข้าวนาปี รอบการเพาะปลูกช่วงวันที่ 1 พฤษภาคม-31 ตุลาคม 2558 และข้าวนาปรังรอบการเพาะปลูกช่วงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2557-30 เมษายน 2558 ให้มาแจ้งขึ้นทะเบียน/ปรับปรุงข้อมูลได้ในระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน-15 พฤศจิกายน 2558 โดยกรมส่งเสริมการเกษตรจะเริ่มดำเนินการตรวจสอบข้อมูลตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน-30 พฤศจิกายน 2558 ดำเนินการปรับปรุงสมุดทะเบียนเกษตรกรช่วงวันที่ 15 มิถุนายน-31 ธันวาคม 2558 และมีการตรวจเยี่ยมแปลงเพาะปลูกในช่วงวันที่ 15 มิถุนายน-30 พฤศจิกายน 2558 ส่วนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในภาคใต้ ซึ่งมีรอบการเพาะปลูกข้าวนาปีช่วงวันที่ 16 มิถุนายน 2558-28 กุมภาพันธ์ 2559 และข้าวนาปรังรอบการเพาะปลูกช่วงวันที่ 1 มีนาคม-15 มิถุนายน 2558 ให้มาแจ้งขึ้นทะเบียน/ปรับปรุงข้อมูลระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม 2558-31 มีนาคม 2559 โดยจะมีการตรวจสอบข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2558-15 เมษายน 2559 ดำเนินการปรับปรุงสมุดทะเบียนเกษตรกรช่วงวันที่ 16 กรกฎาคม 2558-30 เมษายน 2559 และตรวจเยี่ยมแปลงเพาะปลูกช่วงวันที่ 16 กรกฎาคม 2558-30 เมษายน 2559 ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รอบการเพาะปลูกฤดูฝนระหว่างวันที่ 1 มีนาคม 2558-31 ตุลาคม 2558 และฤดูแล้งระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2558-28 กุมภาพันธ์ 2559 รวมทั้งมันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน สัปปะรดโรงงาน ไม้ผล ไม้ยืนต้น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และพืชอื่นๆ ซึ่งมีช่วงเวลาการเพาะปลูกตลอดทั้งปี ให้เกษตรกรมาแจ้งขึ้นทะเบียน/ปรังปรุงข้อมูลหลังการเพาะปลูก 15 วัน โดยกรมส่งเสริมการเกษตรจะมีการตรวจสอบข้อมูลในช่วงระหว่างวันที่ 15 พฤษภาคม-30 พฤศจิกายน 2558 และดำเนินการปรับปรุงสมุดทะเบียนเกษตรกรช่วงระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน-15 ธันวาคม 2558

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวต่อว่า ดังนั้นจึงอยากขอความร่วมมือจากเกษตรกรแจ้งข้อมูลตามข้อเท็จจริง เพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่น ความช่วยเหลือกรณีประสบภัยพิบัติ หรือ การได้รับเงินช่วยเหลือชดเชยกรณีผลผลิตราคาตกต่ำ โดยเจ้าหน้าที่จะรับขึ้นทะเบียนพืชทุกชนิด รวมทั้งประมงพื้นฐานปศุสัตว์พื้นฐาน นาเกลือ และแมลงเศรษฐกิจ ตามการแจ้งของเกษตรกรไปพร้อมกับการรับแจ้งขึ้นทะเบียนพืชเศรษฐกิจหลัก โดยเกษตรกรสามารถติดต่อเพื่อแจ้งขึ้นทะเบียน/ปรับปรุงข้อมูลได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอที่เป็นที่ตั้งแปลงปลูก ตามรอบเวลาที่ได้แจ้งไปดังกล่าวข้างต้น” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 21พฤษภาคม 2558

บี้อุตฯจังหวัดแก้ขยะล้นโรงงาน ต่างชาติขอไทยลงทุนกำจัด

          นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยระหว่างมอบนโยบาย และติดตามการดำเนินงานของอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ ว่าได้กำชับให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ เร่งแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ร้องเรียนปัญหาเกี่ยวกับภาคอุตสาหกรรมเข้ามามากขึ้น โดยเฉพาะการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมที่ปัจจุบันมีประมาณ 30 ล้านตันต่อปี โดยให้ใช้บทลงโทษอย่างเคร่งครัด กับโรงงานที่ไม่นำ กากอุตสาหกรรมเข้าระบบ เพื่อให้โรงงานอุตสาหกรรมนำกากอันตรายเข้าสู่ระบบกำจัดที่ถูกต้อง 1.2-1.5 ล้านตันภายในปีนี้ คิดเป็นผู้ประกอบการ 52,000 ราย หรือ 90% ของโรงงานที่เข้าข่ายเข้าสู่ระบบ

          นอกจากนี้ยังมีแผนจัดหาพื้นที่กำจัดกากขยะอุตสาหกรรม 6 แห่ง ภายใน 20 ปี เพื่อรองรับการขยายตัวของโรงงานในแต่ละภูมิภาค โดยขณะนี้ได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลญี่ปุ่นในการสร้างเตาเผาขยะอุตสาหกรรม 1,800 ล้านบาท ความสามารถในการเผา 500 ตันต่อวัน แบ่งเป็นขยะชุมชน 70% หรือ 350 ตัน และกากขยะอุตสาหกรรม 30% หรือ 150 ตัน

          "วันนี้อุตสาหกรรมจังหวัดต้องขันนอต เพราะเป็นหน่วยงานที่อยู่ในพื้นที่โดยตรง ต้องเร่งรัดตรวจสอบและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างจริงจัง สามารถอธิบายให้สาธารณชนเกิดความเข้าใจที่ชัดเจนได้ บางเรื่องสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องใช้งบประมาณ เช่น การใช้มาตรการติดตั้งระบบติดตาม (จีพีเอส) รถขนส่งกากที่ต้องมีบทลงโทษเพิ่มเติมหากมีการลักลอบทิ้ง เป็นนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญและเป็นรัฐบาลที่ริเริ่มบริหารจัดการกำจัดกากขยะอุตสาหกรรมอย่างที่ไม่เคยมีรัฐบาลไหนทำมาก่อน"

          นายจุลพงษ์ ทวีศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่าได้จัดตั้งศูนย์บริการใบอนุญาตจัดตั้งบริษัทกำจัดกากขยะนำร่องที่จังหวัดระยองแห่งแรก และมีแผนขยายออก ไป 8 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา, สมุทรปราการ, ปทุมธานี, สระบุรี, ชลบุรี, ปราจีนบุรี, สมุทรสาคร และฉะเชิงเทรา โดยมีนักลงทุนจากต่างประเทศสนใจสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับการลงทุนเข้ามาหลายราย

          "ตอนนี้กระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างหารือกับทางกรุงเทพมหานคร เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้พื้นที่เขตสายไหม และอ่อนนุช เป็นพื้นที่นำร่องติดตั้งเตาเผาขยะ 500 ตันต่อวัน จำนวน 1 เครื่อง ให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย.นี้ กำหนดการก่อสร้างภายใน 2 ปี มูลค่าลงทุนทั้งสิ้นไม่เกิน 2,000 ล้านบาท โดยทางญี่ปุ่นจะส่งเจ้าหน้าที่ช่วยเดินระบบให้ก่อนในช่วง 3 ปีแรก".

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 21พฤษภาคม 2558

จักรมณฑ์ ผาสุกวนิช ผู้นำที่ดีต้องมีจริยธรรม และผลงาน   

          ผู้นำในความหมายของ "ดร.จักรมณฑ์ ผาสุกวนิช" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้นำท่านนี้ ผ่านการทำงานมาแล้วทั้งราชการและเอกชน ซึ่งล้วนเป็นองค์กรใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นอดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม หรือ อดีตประธานกรรมการธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ความรู้ความสามารถที่มี จึงเป็นการถอดประสบการณ์ และแนวคิดที่ยึดมั่น ออกมาเป็นนโยบายที่ชัดเจน สามารถผลักดันให้การทำงานของกระทรวงอุตสาหกรรมเดินหน้าไปอย่างราบรื่น อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

          "จักรมณฑ์"พูดถึงการทำงานในช่วงรับหน้าที่ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมว่า งานเดินหน้าไปได้ยาก เพราะเปลี่ยนรัฐมนตรีบ่อย และบางคนก็มาอยู่ในช่วงสั้นๆ แต่ประสบการณ์ในช่วงนั้น ก็ทำให้เขามองเห็นปัญหา และทิศทางที่ควรจะเป็นสำหรับกระทรวงอุตสาหกรรมได้เป็นอย่างดี ประกอบกับงานที่เคยรับหน้าที่เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ในช่วงรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร และตำแหนงเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ก็ล้วนเป็นประโยชน์ต่อการทำงานในหน้าที่รัฐมนตรีมาก

          "การทำงานตอนนั้น ทำอะไรเกือบไม่ได้ มันอยู่ที่รัฐมนตรี เราต้องทำตามนโยบาย รัฐมนตรีเปลี่ยนเร็วมาก 4 ปี 7 คน ทำให้ความสนใจอะไรที่สามารถดำเนินการได้ในระยะสั้นๆ เห็นผลงานชัด สิ่งที่ทำและเห็นได้ชัดเจนในช่วงนั้นมีอย่างเดียวคือเรื่องแต่งตั้งโยกย้าย ซึ่งเป็นหน้าที่ของปลัดโดยตรง ผมยืนได้ตรงนี้อันเดียว ตอนนั้นการแต่งตั้งราชการ เป็นปัญหาใหญ่ มาถึงก็จะโยกย้ายอย่างเดียวเลย ผมไม่ยอม ในฐานะปลัด ฝากคนได้ แต่ต้องดูก่อนว่า เป็นธรรมหรือเปล่า เหมาะสมหรือเปล่า".  ปัญหาใหญ่เรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย จึงเป็นสิ่งแรกๆ ที่เร่งดำเนินการ เมื่อท่านเข้ารับตำแหนงรัฐมนตรี

          "จักรมณฑ์" เล่าย้อนถึงการเข้ามารับตำแหนงวันแรก สิ่งที่ท้าทาย คือ ตอนเป็นปลัด ท่านได้เห็นหมดแล้วว่า งานอะไรที่ควรทำไม่ควรทำ ตอนนี้นอกจากเรื่องโยกย้ายที่ดำเนินการเรียบร้อยไปแล้ว ก็มีส่วนอื่นที่ต้องค่อยๆ ปรับค่อยๆ แก้กันไป ซึ่งท่านบอกอย่างอารมณ์ดีเลยว่า ไม่มีอะไรยาก หรือหนักใจ เพราะการเข้ามารับหน้าที่ครั้งนี้ ไม่มีภาวะกดดันใดๆ ไม่ต้องรอรับใบสั่งจากใคร ทำให้การทำงานเป็นไปด้วยความสบายใจ. เห็นไหมหน้าตาผมยิ้มๆ สบายใจกว่าตอนเป็นปลัด ผมแก้ปัญหาได้หมดเลย.  ท่านเล่ายิ้มๆ พร้อมเสียงหัวเราะ

          เมื่อถามถึงสไตล์การทำงาน รัฐมนตรีอุตสาหกรรม ตอบว่า โดยหลัก คือ ยึดสิ่งที่ถูกต้อง ถ้าทุกอย่างตรงไปตรงมา มีการบริหารให้ถูกต้อง ทำตามระเบียบ ตามกฎหมาย ไม่มีการดึง ไม่มีการล้วงลูก ไม่ต้องขยักอะไรไว้ ก็ไม่มีอะไรยุ่งยาก

          ความแตกต่างระหว่างการบริหารองค์กรเอกชนกับการอยู่ในหน้าที่รัฐมนตรีขณะนี้ มีความต่างกันที่ ภารกิจ เอกชนต้องมีกำไร มีเรื่องภาพลักษณ์ ส่วนราชการ หลักๆ คือ ทำให้ถูก ทำไม่ให้ผิดระเบียบราชการ ราชการกรอบระเบียบจะเยอะมาก และไม่เกี่ยวอะไรกับกำไรเลย.  การทำงานกับราชการมันเสี่ยงหมด เราต้องสมบูรณ์แบบ ไม่งั้นงานไม่ออก แต่ถ้ายึดมั่นทำทุกอย่างเพื่อประเทศชาติ มันก็ไม่มีปัญหา

          "ในแง่ผู้บริหาร หรือผู้นำมี 2 อย่าง คือ เป็นผู้นำที่ดี หรือยิ่งใหญ่ ไม่ทำอะไรผิดระเบียบ แต่ผลงานไม่เยอะ ผลงานไม่เด่นชัด อันที่ 2 คือ เป็นคนดี มีคุณธรรม และมีผลงานที่ยิ่งใหญ่ดีเป็นที่ประจักษ์ บริสุทธิ์ ซื่อสัตย์สุจริต ตรวจสอบได้ แค่นั้นเอง.  ตอนเป็นปลัด คือ สิ่งที่ทำได้ คือ ไม่ทำอะไรที่ผิดทั้งในแง่กฎหมายและจริยธรรม แต่เมื่อเป็นรัฐมนตรี คุณมีอำนาจที่จะสั่งได้ คุณต้องทำผลงานให้เป็นที่ปรากฏได้ และเป็นตัวอย่างที่ดีด้วย การเป็นผู้นำที่ดี ต้องมีคุณธรรม จริยธรรม และมีผลงานเป็นที่ปรากฏ"

          งานในบทบาทของรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม ที่มีระยะเวลาการทำงานจำกัด "จักรมณฑ์" มีแนวทางที่ชัดเจน ที่ทำให้งานออกมาเป็นรูปธรรมและประสบความสำเร็จ คือ การเริ่มจากการวางเป้า กำหนดทิศทางที่ชัดเจนว่าจะทำอะไร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ค้างคาอยู่ หรือเรื่องที่มีปัญหา ก็ค่อยๆ แก้ไขไป

          ส่วนของใหม่ในเชิงสร้างสรรค์ คือ สถาบันทดสอบรถยนต์ และยางล้อ และระบบการกำจัดกากของเสีย กำลังจัดการให้ทุกอย่างเข้าสู่ระบบ และทำให้มีการตรวจสอบชัดเจน

          หลังหมดวาระ ซึ่งคาดว่าจะอยู่ประมาณมิถุนายนปีหน้า "จักรมณฑ์" ได้วางแผนไว้เรียบร้อยแล้ว ว่าจะกลับไปทำงานธนาคารเหมือนเดิม ซึ่งการทำงานที่เดิม ก็เหมือนเป็นการพักผ่อน เพราะงานไม่ยุ่งยากอะไรมาก.  "จักรมณฑ์" พูดเล่นขำๆ ว่า ตอนเป็นประธานแบงก์ เดือนละ 2 แสนทำงานวันเดียว แต่อันนี้ได้ 1 แสนทำงานทุกวัน แต่ท่านยืนยันว่า การทำงานในตำแหนงรัฐมนตรี ไม่ได้มีอะไรหนักหนาเช่นกัน ท่านทำงานด้วยความสบายใจ ไม่มีแรงกดดัน งานทุกอย่างกำลังเดินหน้าไปตามโรดแมปด้วยดี

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 21พฤษภาคม 2558

แจงสี่เบี้ย : แนะวิธีปลูกพืชน้ำมันในพื้นที่แห้งแล้งให้ได้ผลผลิตดี (2)

เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2548 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จเป็นการส่วนพระองค์ ทรงปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่แปลงทดลอง 3 ต้น และปลูกสบู่ดำ 3 ต้น จากนั้นโครงการได้ปลูกเพิ่มเติมอีก 185 ไร่ มีระบบให้น้ำทั้งแปลงโดยอาศัยน้ำจากแหล่งน้ำและการจัดการน้ำ เพื่อให้สามารถปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่แห้งแล้งได้ เมื่อได้ผลผลิตก็นำไปสกัดเป็นไบโอดีเซลใช้ทดแทนน้ำมันดีเซล อีกทั้งเป็นแหล่งในการเผยแพร่ความรู้ด้านการปลูกปาล์มในพื้นที่แห้งแล้งให้เกษตรกรและผู้สนใจ

สำหรับพันธุ์ปาล์มที่นำมาปลูกมี 2 พันธุ์ คือ พันธุ์สุราษฎร์ 2 และพันธุ์คอมแพคไนจีเรีย โดยปลูกใกล้กับแหล่งน้ำ คือ อ่างเก็บน้ำห้วยไม้ตาย การปลูกปาล์มในพื้นที่แห้งแล้งนั้น สิ่งที่จำเป็นคือระบบการให้น้ำ การปรับปรุงบำรุงดิน การใช้ปุ๋ยอินทรีย์และวัสดุคลุมดิน โดยในช่วงแรกของการปลูก จะใช้ปุ๋ยพืชสดประมาณ 1-3 ปี ส่วนวัสดุคลุมดินที่ใช้คลุมโคนต้น เช่น ทลายปาล์ม จะทำหน้าที่ซับน้ำ ช่วยให้ประหยัดน้ำและลดค่าใช้จ่ายการให้น้ำในฤดูแล้ง ส่วนการดูแลรักษาต้องกำจัดวัชพืชและใส่ปุ๋ยเคมีตามค่าวิเคราะห์ดิน

ปัจจุบันปาล์มน้ำมันที่ปลูกมีอายุประมาณ 10 ปี โดยพันธุ์สุราษฎร์ 2 ให้ผลผลิตเฉลี่ย 4 ตัน/ไร่/ปี ถ้าเป็นช่วงฤดูฝนผลผลิตจะอยู่ที่ 5-6 ตัน/ไร่/ปี ส่วนพันธุ์คอมแพคไนจีเรีย เป็นพันธุ์ที่ต้องการน้ำและปุ๋ยมาก จะให้ผลผลิตค่อนข้างต่ำ เฉลี่ย 1-2 ตัน/ไร่/ปี ส่วนผลผลิตของปาล์มที่ได้จะเข้าสู่โรงงานสกัดน้ำมันพืชที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ของโครงการ เป็นโรงงานสกัดน้ำมันพืชและไบโอดีเซลครบวงจร ของมูลนิธิชัยพัฒนา

ส่วนสบู่ดำ จะปลูกไม่มากนัก โดยปลูก 2 พันธุ์ คือ พันธุ์แรกเป็นพันธุ์ที่ปรับปรุงโดยกรมวิชาการเกษตร อีกพันธุ์เป็นพันธุ์อินเดีย การเจริญเติบโตดี สามารถเก็บผลผลิตได้ปีละ 2 ครั้ง ผลผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 300-400 กิโลกรัมต่อไร่ ส่วนการสกัดจะใช้เครื่องบีบน้ำมัน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร โดยเม็ดสบู่ดำ 4 กิโลกรัมจะบีบน้ำมันได้ 1 ลิตร แต่ปัจจุบันไม่ได้มีการปลูกเพิ่มเติม เนื่องจากพันธุ์สบู่ดำที่นำมาปลูกให้ผลผลิตไม่แน่นอน

เนื่องในโอกาสครบรอบ 52 ปี วันสถาปนากรมพัฒนาที่ดิน ปี 2558 นี้ กรมพัฒนาที่ดินได้จัดงาน “60 พรรษา เจ้าฟ้าแห่งการพัฒนาที่ดิน” เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เนื่องในโอกาสพระชนมายุ 60 พรรษา โดยจะมีการจัดนิทรรศการต่างๆ มากมาย รวมทั้งนิทรรศการโครงการปลูกปาล์มน้ำมันและสบู่ดำเพื่อผลิตพลังงานทดแทนในพื้นที่แห้งแล้งร่วมด้วย เพื่อให้เกษตรกรและผู้ที่สนใจได้เรียนรู้แนวพระราชดำริของพระองค์ท่านว่า สามารถนำไปใช้ในเรื่องพลังงานทดแทนซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญได้

จาก http://www.naewna.com วันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

“จักรมณฑ์” ขันน๊อตอุตสาหกรรมจังหวัด เร่งงาน 6ด้าน สนองนโยบายรัฐบาล

นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมมอบนโยบายและติดตามการดำเนินงานของอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ ว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ดำเนินงานตามนโยบายสำคัญและเร่งด่วนของรัฐบาลในหลายเรื่อง โดยเฉพาะการกำกับดูแลสถานประกอบการอย่างเคร่งครัด รวมถึงการเตรียมความพร้อมเพื่อเป็นหน่วยงานนำร่องตาม พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558 โดยเร่งงาน 6ด้านตามนโยบายรัฐบาล คือ 1)การกำกับดูแลโรงงานและเหมืองแร่ 2) การบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม 3) มาตรการป้องกันและระงับอัคคีภัยจากการประกอบกิจการโรงงาน 4) การอำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนและผู้ประกอบการ 5) การปรับปรุงฐานข้อมูล Thailand Digital Gateway และ6) การปฏิบัติงานด้วยความโปร่งใส

“ผมทราบดีว่า สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด มีข้อจำกัดในด้านบุคลากรที่จะเข้าไปตรวจสอบและกำกับดูแล และโรงงานมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกปี เทคโนโลยี และเครื่องจักรมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ผมได้หารือร่วมกับปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และอธิบดีว่าจะต้องมี Third Party มาช่วยดำเนินการตรวจสอบ(Audit)โรงงาน โดยเบื้องต้นอาจเป็นสถาบันการศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาช่วยดำเนินการ เช่น การตรวจสอบโรงงานในการต่ออายุใบอนุญาตต่างๆ และตรวจสอบโรงงานที่มีอายุเกินกว่า 10ปี โรงงานที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัย รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมายกับสถานประกอบการที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย และต้องไม่เรียกร้องเพื่อรับผลประโยชน์ใดๆ”รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว

นอกจากนี้ ได้กำชับให้อุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศเร่งดำเนินการ ใน 6เรื่อง คือ 1)การกำกับดูแลโรงงานและเหมืองแร่ จากผลการเปรียบเทียบประเด็นสิ่งแวดล้อมจากสถานประกอบการโรงงาน ที่กระทรวงฯเก็บข้อมูลไว้ในช่วงปีงบประมาณ 2556-2558พบว่า ปัญหาน้ำเน่าเสียเป็นปัญหาที่พบมากอันดับหนึ่ง รองลงมา คือ ปัญหาเสียงดัง มลภาวะทางอากาศ ปัญหาฝุ่นละออง ซึ่งปัจจุบันการร้องเรียนมีแนวโน้มสูงขึ้นเพราะประชาชนตื่นตัวในการรักษาสิทธิ์และห่วงใยสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการใช้ทรัพยากรต้องมีความคุ้มค่า จึงได้ร่วมสอดส่องเป็นหูเป็นตาให้กับภาครัฐ

2) การบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม ที่กระทรวงฯ ได้วางแผนยุทธศาสตร์การจัดการกากอุตสาหกรรม ในระยะ 5ปี ตั้งแต่ปี 2558-2562โดยมีเป้าหมายนำกากอันตรายเข้าสู่ระบบ 1.2-1.5ล้านตันต่อปีในปีนี้ โดยโรงงานผู้ก่อกำเนิดของเสียมีมาตรการให้ 90%ของโรงงานที่เข้าข่ายเข้าสู่ระบบ (52,000ราย) ด้วยการฝึกอบรมให้ความรู้ ความเข้าใจ การกำหนดบทลงโทษโรงงานที่ไม่ได้นำกากอุตสาหกรรมเข้าระบบ ด้านผู้รับกำจัดและบำบัด มีมาตรการหาพื้นที่รองรับการขยายตัวของโรงงานในระยะ 20ปี จำนวน 6พื้นที่ และนำร่องสร้างเตาเผาขยะอุตสาหกรรม มูลค่า 1,800ล้านบาท ที่กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับรัฐบาลญี่ปุ่น และการขึ้นทะเบียนจับคู่ระหว่างโรงงานผู้ก่อกำเนิดและผู้บำบัด ส่วนผู้ขนส่งกากฯมีมาตรการติดตั้งระบบ GPS รถขนส่งกาก และกำหนดบทลงโทษเพิ่มเติมหากมีการลักลอบทิ้ง โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมจะบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด

3) มาตรการป้องกันและระงับอัคคีภัยจากการประกอบกิจการโรงงาน เนื่องจากสถิติการเกิดเหตุเพลิงไหม้โรงงานมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี และคณะรัฐมนตรีได้มอบหมายกระทรวงอุตสาหกรรมประสานงานกับคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ

ทั้งนี้ ประเภทโรงงานที่เกิดเหตุเพลิงไหม้มากที่สุด คือ 1)โรงงานผลิตและประกอบอุปกรณ์ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 2)โรงงานประเภทรีไซเคิล 3)โรงงานทำเครื่องเรือนหรือเครื่องตกแต่งจากไม้ ยาง อโลหะ พลาสติก โดยสาเหตุเกิดจาก1)ไฟฟ้าลัดวงจร 2)เครื่องจักร/อุปกรณ์ชำรุด และ3)อื่นๆ เช่น ปฏิกิริยาเคมี ความร้อน การวางเพลิง ตลอดจนความประมาทของบุคคล ตามลำดับ

“กระทรวงอุตสาหกรรม จะมีการทบทวนปรับปรุงประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การป้องกันและระงับอัคคีภัยในโรงงาน พ.ศ.2552เพื่อการนำไปสู่การปฏิบัติให้เหมาะสมกับประเภท ขนาด และชนิดของโรงงานมากยิ่งขึ้น แต่ขณะเดียวกันในช่วงที่ยังไม่ได้มีการปรับปรุงก็ขอให้ สอจ.ทุกจังหวัด ให้ความสำคัญกับการบังคับใช้กฎหมายฉบับเดิมไปก่อน รวมถึงการกำหนดให้สถานประกอบกิจการโรงงานตรวจประเมินตนเองและจัดส่งรายงานให้กระทรวงในทุก 2ปี สำหรับโรงงานประเภทที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัยสูง และโรงงานที่มีอายุเกินกว่า 10ปี และในทุก 5ปี สำหรับโรงงานประเภทอื่น หากไม่มีการรายงานจะไม่มีการพิจารณาต่ออายุใบอนุญาต”นายจักรมณฑ์ กล่าว

 4) การอำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนและผู้ประกอบการ ที่อยู่ระหว่างการจัดทำคู่มือสำหรับประชาชน 219กระบวนงาน สิ่งที่สำคัญคือการชี้แจง แนะนำผู้ประกอบการถึงสิ่งที่ต้องปฏิบัติ เพื่อป้องกันมิให้มีการขอเอกสารเพิ่มเติม อันเนื่องมาจากความไม่เข้าใจ และป้องกันความผิดพลาด เพื่อให้ทำงานได้ตามระยะเวลาที่กำหนด

5) การปรับปรุงฐานข้อมูล Thailand Digital Gateway เพื่อรองรับระบบการอนุมัติผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-license) มากขึ้น ซึ่งเจ้าหน้าที่ สอจ.จำเป็นต้องลงข้อมูลเกี่ยวกับโรงงานต่างๆ จากรูปแบบเอกสารนำเข้าระบบดิจิตัลมากขึ้น เช่น การยื่นขอ รง.4ข้อมูลโรงงานการร้องเรียน เพื่อให้มีฐานข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน และสามารถใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณาต่ออายุใบอนุญาตได้ด้วย

และ 6) การปฏิบัติงานด้วยความโปร่งใส ไม่เรียกรับผลประโยชน์ใด มิฉะนั้นเจ้าหน้าที่อาจได้รับโทษทั้งทางวินัย และอาญาได้

จาก http://www.thanonline.com วันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

'จักรมณฑ์' กำชับจังหวัดแก้ปัญหาขยะโรงงาน

รมว.อุตสาหกรรม กำชับจังหวัดแก้ปัญหาขยะโรงงาน เล็งศึกษาร่วมกับ กทม. นำร่องเตาเผา 500 ตัน ในพื้นที่สายไหมหรืออ่อนนุช

นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในการประชุมมอบนโยบายและติดตามการดำเนินงานของอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้กำชับให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเร่งแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชนที่ร้องเรียนปัญหาเกี่ยวกับภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมที่ปัจจุบันมีประมาณ 30 ล้านตันต่อปีในเชิงรุก โดยอุตสาหกรรมจังหวัดต้องบังคับใช้บทลงโทษอย่างเคร่งครัดกับโรงงานที่ไม่นำกากอุตสาหกรรมเข้าระบบ เพื่อให้โรงงานอุตสาหกรรมนำกากอันตรายเข้าสู่ระบบกำจัดที่ถูกต้อง 1.2-1.5 ล้านตันต่อปีภายในปีนี้ คิดเป็นผู้ประกอบการ 52,000 ราย หรือร้อยละ 90 ของโรงงานที่เข้าข่ายเข้าสู่ระบบ ตามแผนยุทธศาสตร์การจัดการกากอุตสาหกรรม ระยะ 5 ปี (2558-2562)

ขณะเดียวกัน ยังมีแผนจัดหาพื้นที่กำจัดกากขยะอุตสาหกรรม 6 แห่ง ภายใน 20 ปี เพื่อรองรับการขยายตัวของโรงงานในแต่ละภูมิภาค โดยขณะนี้ได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลญี่ปุ่นในการสร้างเตาเผาขยะอุตสาหกรรม 1,800 ล้านบาท ความสามารถในการเผา 500 ตันต่อวัน แบ่งเป็นขยะชุมชนร้อยละ 70 หรือ 350 ตัน และกากขยะอุตสาหกรรมร้อยละ 30 หรือ 150 ตัน

ซึ่งล่าสุดกระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างหารือกับทางกรุงเทพมหานคร เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้พื้นที่เขตสายไหม และอ่อนนุช เป็นพื้นที่นำร่องติดตั้งเตาเผาขยะอุตสาหกรรม 500 ตันต่อวัน จำนวน 1 เครื่อง ให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย. นี้ กำหนดการก่อสร้างภายใน 2 ปี มูลค่าลงทุนทั้งสิ้นไม่เกิน 2,000 ล้านบาท โดยทางญี่ปุ่นจะส่งเจ้าหน้าที่ช่วยเดินระบบให้ก่อนในช่วง 3 ปีแรก

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

คลังเผยหนี้สาธารณะต่อจีดีพีเดือนมี.ค.58อยู่ที่43.33%

นายธีรัชย์ อัตนวานิช รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะในฐานะโฆษกสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ แถลงข่าวการดำเนินงานของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.)

ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ 31 มีนาคม 2558 มีจำนวนทั้งสิ้น 5,730,519.23 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 43.33 ของ GDP เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นสุทธิ 10,093.66 ล้านบาท ทั้งนี้ สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP มีการเปลี่ยนแปลงลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2558สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ปรับปรุงวิธีการคำนวณ GDP และปรับประมาณการในปี 2558

• หนี้ของรัฐบาลเพิ่มขึ้น 23,846.11 ล้านบาท ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกิดจาก

- การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 16,102.76 ล้านบาท

- การเพิ่มขึ้นของตั๋วเงินคลังเพื่อบริหารดุลเงินสด จำนวน 5,000 ล้านบาท

- การกู้เงินเพื่อการลงทุนจากแหล่งเงินกู้ในประเทศและต่างประเทศ จำนวน 2,398.08 ล้านบาท ประกอบด้วย การให้กู้ต่อแก่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยและการรถไฟแห่งประเทศไทย 1,956.08 ล้านบาท สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว สายสีน้ำเงิน สายสีม่วง รถไฟสายสีแดงและโครงการปรับปรุงทางรถไฟที่ไม่ปลอดภัย และการเบิกจ่ายเงินกู้เพื่อใช้ในโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (DPL) 442 ล้านบาท

- การเบิกจ่ายเงินกู้ภายใต้ พ.ร.ก. บริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ จำนวน 200 ล้านบาท

- การกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้พันธบัตรรัฐบาลล่วงหน้าที่จะครบกำหนดในวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 จำนวน 9,014 ล้านบาท     

- การชำระหนี้ที่กู้มาเพื่อชดเชยความเสียหายให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ จำนวน 5,000 ล้านบาท

• หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงินมียอดหนี้คงค้างลดลง 9,195.48 ล้านบาท ซึ่งในเดือนมีนาคม 2558 มีการเบิกจ่ายเงินกู้จากแหล่งเงินกู้ต่างประเทศเพื่อลงทุนในโครงการสำคัญๆ ได้แก่ โครงการปรับปรุงกิจการประปาแผนหลักของการประปานครหลวง และโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย 

• หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) มียอดหนี้คงค้างลดลง 3,334.90 ล้านบาท เนื่องจากการชำระหนี้เงินต้นของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

• หนี้หน่วยงานของรัฐ มียอดหนี้คงค้างลดลง 1,222.07 ล้านบาท เนื่องจากการชำระหนี้เงินต้นของกองทุนอ้อยและน้ำตาล สำนักงานธนานุเคราะห์ และมหาวิทยาลัยพะเยา

• การที่หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) และหนี้หน่วยงานของรัฐมียอดหนี้คงค้างลดลง เนื่องจากมีการชำระคืนมากกว่าการเบิกจ่ายเงินกู้ และจากผลของการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยน   

หนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2558 เท่ากับ 5,730,519.23 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้ในประเทศ 5,388,803.31 ล้านบาท หรือเท่ากับร้อยละ 94.04 และหนี้ต่างประเทศ 341,715.92 ล้านบาท (ประมาณ 10,385.37 ล้านเหรียญสหรัฐ) หรือเท่ากับร้อยละ 5.96 ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง และ หากเปรียบเทียบกับเงินสำรองระหว่างประเทศ จำนวน 157,370.68 ล้านเหรียญสหรัฐแล้ว (ข้อมูล ณ 27 มีนาคม 2558)               หนี้ต่างประเทศจะคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 6.60 ของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงเสถียรภาพและความมั่นคงในด้านการเงินของประเทศโดยหนี้สาธารณะแบ่งออกเป็นหนี้ระยะยาวถึง 5,570,643.93 ล้านบาท หรือร้อยละ 97.21 และมีหนี้ระยะสั้นเพียง 159,875.30 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.79

จาก http://www.thanonline.com   วันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

'หนุนเศรษฐกิจดิจิทัลดันไทยชาติการค้า

"วิชัย" หนุนเศรษฐกิจดิจิทัล ช่วยผู้ประกอบการ SME ลดต้นทุน ดันไทยชาติการค้าเพิ่ม GDP ปท.

นายวิชัย เบญจรงคกุล ประธานคณะกรรมการ Creative Digital Economy สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงแนวทางในการดำเนินงานของคณะกรรมการ Creative Digital Economy ว่า คณะกรรมการ Creative Digital Economy เน้นให้ความสำคัญในการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลให้กับผู้ประกอบการ SMEs ไทย ในทุกภูมิภาคในการใช้เทคโนโลยีเพื่อเข้าถึงตลาด ช่วยให้ SMEs เกิดการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพทางการค้า รวมถึงผลักดันนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลร่วมกับภาครัฐอย่างใกล้ชิด ด้วยการนำของภาคเอกชนและการสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งจะทำให้การขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศบรรลุวัตถุประสงค์สำหรับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ นอกจากนี้ จะผลักดันให้ประเทศไทย เป็นชาติแห่งการค้า ซึ่งจะนำดิจิตอลอีโคโนมีเข้ามามีส่วนช่วยพัฒนาและส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจในด้านต่างๆ

อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยการนำเทคโนโลยีดิจิตอลเข้ามาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตมวลรวมของประเทศให้ทันกับโลกในยุคปัจจุบัน ซึ่ง ธุรกิจ ICT เป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีมูลค่าสำคัญของประเทศไทย โดยจากการสำรวจผู้ประกอบการที่อยู่ในธุรกิจ ICT รวมกว่า 1.2 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 10 ของ GDP ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ 3,200 ล้านบาท ในปี 2020

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ-ส่งออกฝืด สภาพัฒน์หั่นจีดีพีเหลือ3-4%

เศรษฐกิจโลกไม่ฟื้น ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ส่งออกแย่โตแค่ 0.2%  สภาพัฒน์หั่นจีดีพีปี58เหลือแค่3-4%  แนะภาครัฐแก้ปัญหาส่งออก ปรับโครงสร้างการผลิตเพิ่มมูลค่าสินค้า  แสวงหาตลาดใหม่ๆ   ขจัดอุปสรรคการค้าชายแดน  เร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คมนาคม ในฐานะเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า สศช.ได้ปรับลดเป้าคาดการณ์อัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ในปี 2558 ลดลงเหลือ3-4% ต่อปีจากเดิมคาดว่าจะขยายตัว 3.5-4.5%ต่อปี เนื่องจากภาคการส่งออกยังขยายตัวไม่ดีเท่าที่ควรโดยทั้งปีคาดว่าส่งออกจะขยายเพียง 0.2% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.5% ต่อปี เป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกที่ยังฟื้นตัวได้ไม่ดี และราคาสินค้าการเกษตรในตลาดโลกตกต่ำ รวมถึงราคาน้ำมันดิบลดลงมาก

สำหรับเศรษฐกิจไทย ปี 2558 ในช่วงที่เหลือของปียังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ที่น่าพอใจภายใต้ข้อจำกัดการขยายตัวของการส่งออกและความแตกต่างของราคาสินค้าในตลาดโลก โดยการขยายตัวดังกล่าวมีปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง การใช้จ่ายและการลงทุนของภาคเอกชน ที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ ตามความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจและแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม การขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี

นอกจากนี้การผลิตภาคอุตสาหกรรม ที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นและสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น และ ราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งเพิ่มอำนาจซื้อของประชาชนและภาคธุรกิจ และเอื้ออำนวยต่อการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลาย อย่างต่อเนื่อง และเศรษฐกิจในภาพรวมขยายตัวได้ต่ำกว่าที่ได้ประมาณการไว้ ทำให้ยังไม่กระจายตัวทั่วถึงทุกภาคส่วนในระบบ เศรษฐกิจ โดยเฉพาะในกลุ่มเกษตรกร และการส่งออก โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในช่วง -0.3%  ถึง 0.7% และบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 3.9% ของจีดีพี

อย่างไรก็ตามการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ 1.5% ส่งผลให้ค่าเงินอ่อนตัวลง ซึ่งเป็นผลดีต่อการส่งออก และเป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจเอสเอ็มอีโดยมองว่าในไตรมาสที่ 2 จะมีทิศทางที่ดีขึ้นซึ่งเป็นผลจากปัจจัยต่อเนื่องในไตรมาสแรก  และยังมีปัจจัยเร่งรัดเม็ดเงินงบประมาณและการลงทุนในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจากรัฐบาล รวมถึงจากภาคเอกชนที่จะมาจากการส่งเสริมการลงทุน ที่เข้มงวดมากขึ้นจากเงื่อนไขหากผู้ประกอบการรายใดไม่มีแผนการลงทุนในระยะเวลา 1 ปี สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)จะยกเลิกใบอนุญาตทันที

“ถามว่ากนง.ลดดอกเบี้ยนโยบายเพียงพอหรือยัง คงต้องถามกนง.มากกว่า แต่ลดแล้วใช่ว่าจะขึ้นไม่ได้ และจีดีพีของประเทศ 2-3 ปีที่ผ่านมาก็น้อยมาก ซึ่งไม่เพียงพอต่อรายได้ของประเทศ แต่เชื่อว่าโดยรวมในช่วงหลังจะดีขึ้นจากอัตราแลกเปลี่ยน นอกเหนือจากนโยบายด้านการคลังทำให้เอสเอ็มอีได้ประโยชน์ แต่เสียอย่างเดียวราคาสินค้าทางการเกษตรที่ตกต่ำ ซึ่งในระยะยาวต้องมีการปรับให้มีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น และต้องเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้ได้” นายอาคม กล่าว

สำหรับภาวะเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปี2558 ขยายตัวได้ 3% ดีขึ้นกว่าไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว 2.1%ตามการขยายตัวเร่งขึ้นของการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาครัฐ การผลิตภาคอุตสาหกรรม การก่อสร้าง และภาคการท่องเที่ยว โดยการใช้จ่ายภาคครัวเรือน ขยายตัว 2.4% เร่งตัวขึ้นจากการขยายตัว 2.1% ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2557 ส่วนการลงทุนรวม ขยายตัว 10.7% จากการลงทุนของรัฐบาลและการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ

ด้านการส่งออกสินค้ามีมูลค่า 52,997 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 4.3% โดยปริมาณการส่งออกลดลง 2.6% และราคาสินค้าส่งออกลดลง 1.8%มาจากสาเหตุสําคัญ 4 ประการ ได้แก่ 1.เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก ยังชะลอตัว โดยเฉพาะญี่ปน และจีน 2.การแข็งค่าของเงินบาทโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเงินสกุลยูโรและเงินเยน 3.ราคาสินค้าส่งออกลดลงตามราคาน้ำมันดิบ และราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก 4.การตัดสิทธิพิเศษทางการค้า (จีเอสพี) ส่วนสาขาการก่อสร้าง ขยายตัว 25.4% เร่งขึ้นจากการขยายตัว 1.3% ในไตรมาสก่อนหน้า

ส่วนการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในปี2558 ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการเร่งรัดแก้ไขปัญหาด้านการส่งออกโดยในระยะยาวจะต้องปรับโครงสร้างการผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่า ผลิตภาพการผลิต และเพิ่มสัดส่วนอุตสาหกรรมและบริการในยุคที่สาม ส่วนในระยะสั้นควรให้ความสำคัญกับการดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่า เร็วกว่าประเทศคู่แข่ง การแสวงหาตลาดและเพิ่มปริมาณสินค้าส่งออกที่สำคัญๆ การลดปัญหาอุปสรรค ความล่าช้าและข้อจำกัดในกระบวนการการทำงานและระเบียบปฏิบัติของภาครัฐ รวมทั้งการอำนวย ความสะดวกด้านการค้าระหว่างประเทศโดยเฉพาะในแนวด่านชายแดนต่างๆ และการเร่งรัดแก้ปัญหาการค้า แรงงานข้ามชาติและปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย

นอกจากนี้ต้องแก้ไขปัญหาด้านการเกษตร โดยให้ ความสำคัญกับการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจสถานการณ์และเงื่อนไขทางด้านราคาเพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของเงื่อนไขด้านราคาในตลาดโลกควบคู่ไปกับการดำเนินการเพื่อสนับสนุน การปรับตัวของการผลิตภาคเกษตรโดยเฉพาะการดูแลต้นทุนวัตถุดิบทางการเกษตร การเพิ่มผลิตภาพการผลิต และการสนับสนุนการส่งเสริมอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้แก่ครัวเรือนในภาคเกษตร การบรรเทาปัญหา ความเดือดร้อนของเกษตรกรและผู้ได้รับผลกระทบจากภาวะซบเซาของการส่งออก และการเร่งรัด การเบิกจ่ายงบประมาณและการดำเนินการตามโครงการลงทุนที่สำคัญๆ ของภาครัฐ

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ไทย-บราซิลหารือขยายช่องทางการค้าตั้งเป้า5ปีเพิ่มมูลค่าแตะ8พันล้านดอลล่าร์

กลุ่มนักธุรกิจบราซิล พบ”จักรมณฑ์”เจรจาการค้า ขยายความร่วมมืออุตสาหกรรมยานยนต์  อาหารฮาลาล อ้อยน้ำตาล  วางแผนเพิ่มมูลค่าการค้าจาก4 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐเป็น 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายใน 5 ปี

นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับคณะผู้นำเข้าสินค้าจากบราซิล เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2558ว่าคณะผู้นำเข้าจากรัฐโกยาส ซึ่งเป็นรัฐขนาดใหญ่ และเป็นที่ตั้งเมืองหลวงของประเทศบราซิลได้นำคณะนักธุรกิจ และสื่อมวลชน เข้าหารือเพื่อขยายการค้าระหว่าง 2 ประเทศ และเข้าร่วมงานTHAIFEX ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าอาหารชั้นนำของภูมิภาคอาเซียน

โดยสินค้าที่มีโอกาสขยายมูลค่าการค้าเพิ่มจะอยู่ในกลุ่มของอาหาร ชิ้นส่วนยานยนต์ และอุตสาหกรรมบริการ เช่น สปา สมุนไพร เป็นต้น ซึ่งแม้ว่าทั้ง 2 ประเทศจะมีจุดแข็งด้านเกษตรกรรมเหมือนกัน แต่ก็สามารถเสริมกันได้ เพราะมีสินค้าหลายชนิดที่เราผลิตได้ แต่เขาผลิตไม่ได้ และที่ผ่านมาไทยได้นำเข้าถั่วเหลือจากบราซิลเป็นจำนวนมากมาป้อนให้กับอุตสาหกรรมอาหารของไทย รวมทั้งยังมีโอกาสเพิ่มยอดขายในส่วนของเครื่องกีฬา ที่ไทยเป็นผู้ผลิตชุดกีฬาชั้นนำของโลก

“ประเทศบราซิลมีจุดเด่นในเรื่องของอุตสาหกรรมอาหาร และอาหารฮาลาล โดยเป็นผู้ผลิตอาหารอันดับ 1 ใน 5 ของโลก ขณะที่ไทยอยู่ในอันดับ 10 ของโลก เพราะบราซิลมีพื้นที่มากกว่าไทยถึง 17 เท่า รวมทั้งยังเป็นผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำของอเมริกาใต้ ซึ่งเป็นจุดแข็งที่คล้ายคลึงกับเรา ดังนั้น จึงสามารถที่จะประสานคาวมร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศไทย” นายจักรมณฑ์ กล่าว

นายพิชยพันธุ์ ชาญภูมิดล เอกอัครราชทูต ณ กรุงบราซิเลีย สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิลกล่าวว่าบราซิลมีความต้องการขยายการค้าการลงทุนเข้ามายังประเทศไทยโดยเฉพาะในส่วนของรัฐโกยาสมีศักยภาพสูงในอุตสาหกรรมยานยนต์ เกษตร และอาหารฮาลาล ซึ่งการเดินทางมาครั้งนี้ตั้งใจที่จะเข้าร่วมงาน THAIFEX เพื่อนำเข้าสินค้าอาหารจากไทย รวมทั้งปลาทูน่ากระป๋องเพิ่ม

“รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ จะนำคณะภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปเยือนบราซิล โดยจะมีคณะผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารฮาลาลไปด้วย เพื่อศึกษาดูงานและประสานความร่วมมือในการผลิตอาหารฮาลาลระหว่างไทยกับบราซิล รวมทั้งจะมีการแลกเปลี่ยนความรู้ในการผลิตอ้อยและน้ำตาล เนื่องจากบราซิลเป็นผู้ผลิตน้ำตาลอันดับ 1 ส่วนไทยอันดับ 2 ของโลก” นายพิชยพันธุ์ กล่าว

ทั้งนี้ ทั้ง 2 ฝ่าย ได้ตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่าง 2 ประเทศ จากปัจจุบันที่มีมูลค่าประมาณ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มเป็น 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายใน 5 ปีข้างหน้านี้ โดยในปีที่ผ่านมาไทยส่งออกไปบราซิลประมาณ 1.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากบราซิลประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขาดดุลประมาณ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้ามาโดยตลอด

สำหรับสินค้าที่ไทยนำเข้าเข้าจากบราซิลส่วนใหญ่จะเป็น ถั่วเหลือ แร่ หินมีค่า เครื่องจักกลการเกษตรบางส่วน ส่วนสินค้าที่ไทยส่งออกไปบราซิล ได้แก่ ชิ้นส่วนยานยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ยางรถยนต์ทุกชนิด  อาหารทะเล และอาหารกระป๋อง เป็นต้น

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

หมอดินลุยสนองพระราชดำริ วิจัยหญ้าแฝกอนุรักษ์ดิน-น้ำ

นายสมโสถติ์ ดำเนินงาม ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาการจัดการที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาที่ดินเป็นหน่วยงานหลักในการสนองแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการใช้หญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำมาตั้งแต่ปี 2534 สามารถศึกษาวิจัยการใช้ประโยชน์มากกว่า 150 เรื่อง พร้อมทั้งขยายพันธุ์หญ้าแฝกทุกสายพันธุ์เพื่อแจกจ่ายให้กับเกษตรกร และประชาชนได้นำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ โดยเฉพาะเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน การรักษาความชุ่มชื้นของดิน ตลอดจนเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรดินและการรักษาสิ่งแวดล้อม

ตัวอย่างความสำเร็จในการใช้ประโยชน์หญ้าแฝกที่เด่นชัด ที่ศูนย์ศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดราชบุรี ที่ประสบปัญหาแหล่งน้ำและสภาพดินเสื่อมโทรมหนัก ปลูกต้นไม้ไม่ขึ้นและเป็นภูเขาหัวโล้น กรมพัฒนาที่ดินได้เข้าศึกษาวิธีการฟื้นฟูดินเสื่อมโทรมให้สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์เพื่อการเพาะปลูก โดยนำหญ้าแฝกไปปลูกเป็นพืชเบิกนำเพื่อฟื้นฟูสภาพดิน ซึ่งปัจจุบันสามารถพลิกฟื้นจากพื้นที่แห้งแล้งให้กลับมามีความชุ่มชื้น และปลูกพืชได้หลากหลายชนิด

อย่างไรก็ตาม กรมพัฒนาที่ดินยังคงเดินหน้าสนองพระราชดำริ ในการใช้หญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำอย่างยั่งยืน สำหรับเกษตรกรและประชาชนที่สนใจสามารถติดต่อขอรับกล้าหญ้าแฝกได้ที่สถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัด

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

คอลัมน์แจงสี่เบี้ย : แนะวิธีปลูกพืชน้ำมันในพื้นที่แห้งแล้งให้ได้ผลผลิตดี (1)

โครงการทดลองปลูกพืชน้ำมันเพื่อผลิตพลังงานทดแทนในพื้นที่แห้งแล้งตามพระราชดำริ เป็นโครงการที่สืบเนื่องมาจากพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงต้องการให้เป็นทางเลือกแก่ผู้ที่สนใจเข้าใจว่าในอนาคตพืชพลังงานทดแทนน่าจะมีบทบาทในการใช้ทดแทนพลังงานที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวดำเนินการในพื้นที่โครงการปลูกป่าชัยพัฒนา-แม่ฟ้าหลวง ตั้งอยู่ที่ ต.หนองพลับ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ ต.ไร่ใหม่พัฒนา อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ซึ่งอยู่ในพื้นที่คาบเกี่ยวระหว่าง 2 จังหวัด โครงการนี้เป็นโครงการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี โดยเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2536 ทรงพระราชทานป่าให้กับปวงชนชาวไทย เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทางครองราชย์ ครบ 50 ปี เพื่อฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ด้านดิน น้ำ และป่าไม้

โดยในเรื่องนี้ นายสะอาด บุตรเล็ก ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการโครงการจัดการพัฒนาที่ดินตามพระราชประสงค์หนองพลับ-กลัดหลวง เล่าให้ฟังว่า โครงการปลูกป่าชัยพัฒนา-แม่ฟ้าหลวง เป็นส่วนหนึ่งของโครงการจัดพัฒนาที่ดินตามพระราชประสงค์หนองพลับ-กลัดหลวง ซึ่งพื้นที่ดังกล่าว บริษัท โดล ไทยแลนด์ จำกัด ได้เช่าที่ดินของโครงการในส่วนนี้ ประมาณ 4,700 ไร่ ปลูกสับปะรด ซึ่งปลูกติดต่อกันมายาวนานกว่า 20 ปี การใช้ประโยชน์ที่ดินจึงขาดการอนุรักษ์ดินและน้ำ ปรับปรุงบำรุงดิน ทำให้ดินส่วนใหญ่เกิดการเสื่อมโทรมอย่างรุนแรง ขาดความอุดมสมบูรณ์ จนไม่สามารถปลูกพืชเศรษฐกิจได้ ทางโครงการจัดพัฒนาที่ดินตามพระราชประสงค์หนองพลับ-กลัดหลวง โดยกรมพัฒนาที่ดิน จึงเห็นว่า หากจะนำพื้นที่ตรงนี้ไปจัดสรรให้ราษฎรเข้ามาทำกินก็จะเป็นปัญหา จึงได้นำพื้นที่ดังกล่าวมาเป็นพื้นที่ในการศึกษาการใช้ที่ดิน เพื่อฟื้นฟูสภาพดิน น้ำ ป่าไม้ และระบบนิเวศน์แทน

การดำเนินการโครงการเริ่มตั้งแต่ปี 2536 โดยเริ่มจากการจัดทำเรื่องแหล่งน้ำ คัดเลือกพันธุ์ไม้ป่าที่จะนำมาปลูกให้เหมาะสมกับพื้นที่ควบคู่กับการปรับปรุงบำรุงดินด้วยปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด ผสมผสานกับการใช้หญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ ทำให้เกิดความชุ่มชื้น เพื่อป่าจะได้ขึ้นได้ ซึ่งจากความสำเร็จจากปี 2536 จนถึงปัจจุบัน พบว่า พื้นที่ทั้งหมด 10,300 ไร่ ป่าไม้ได้รับการฟื้นฟู ดินอุดมสมบูรณ์ ระบบนิเวศน์ฟื้นกลับมา สภาพดินที่เคยเสื่อมโทรมก็สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ ส่งผลให้มีประชาชนจำนวนมากเข้ามาศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับการฟื้นฟูดินเพื่อการสร้างป่า และต่อยอดเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตรในที่สุด

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ธนาคารกลางอาเซียนรับมือ “เออีซี”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพื่อรองรับความเชื่อมโยงระบบการเงินในเอเชีย และประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงได้ร่วมกับธนาคารกลางอีก 9 แห่งในอาเชียน จัดตั้งคณะทำงานด้านระบบการชำระเงินในอาเซียน และจัดทำแผนพัฒนาระบบการชำระเงินระดับภูมิภาค โดยธนาคารกลางทั้ง 10 ประเทศ มีเป้าหมายส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่นในอาเซียน และเงินหยวนในการค้าขายกับจีน ในการชำระค่าสินค้าและบริการระหว่างกัน เพื่อลดความเสี่ยง จากความผันผวนของเงินสกุลหลักของโลก และลดต้นทุนจากการแปลงสกุลเงินเป็นสกุลที่ 3 ในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง คณะทำงานฯได้ออกแบบสอบถามถึงการทำธุรกรรมการค้าที่ใช้เงินภูมิภาคและเงินหยวนเพื่อรวบรวมการให้บริการทางการเงินระหว่างประเทศของสถาบันการเงิน และการใช้เงินภูมิภาคของผู้ส่งออกและนำเข้าที่มีคู่ค้าทั้งกลุ่มอาเซียน จีน เอเชีย สหภาพยุโรป และสหรัฐฯ

ทั้งนี้ ธปท.ได้ออกหนังสือเวียนขอความร่วมมือให้ธนาคารพาณิชย์ทุกธนาคารให้ข้อมูลในแบบสอบถาม เพื่อทำให้ทราบถึงจำนวนธุรกรรมที่ทำอยู่แล้ว เพื่อประเมินความต้องการเพิ่มขึ้น และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการใช้เงินสกุลภูมิภาค เพื่อเป็นประโยชน์ในการออกแบบการชำระเงินระหว่างสกุลภูมิภาค ตามที่ธนาคารกลางของอาเซียนต้องการที่จะเสริมความแข็งแกร่งของสกุลเงินและระบบการเงินของอาเซียนเพิ่มขึ้นเมื่อเป็นเออีซี โดยถึงแม้ว่าไม่มีแนวคิดที่จะรวมสกุลเงินเป็นหนึ่งเดียว แต่การใช้สกุลเงินแลกเปลี่ยนโดยตรงระหว่างกันก็ทำให้การค้าในอาเซียนมีความเข้มแข็ง ทำให้ต้นทุนของการค้าระหว่างกันและการค้ากับจีนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น มีต้นทุนการแลกเปลี่ยนเงินที่ลดลง ซึ่งประเทศไทยจะเน้นที่การค้าขายชายแดนเป็นเป้าหมายแรก เพราะไทยมีการค้าขายระหว่างชายแดนเพิ่มขึ้นในทุกภาคของประเทศ

จาก http://www.thairath.co.th   วันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

กรมวิชาการฯ เปิดบ้านงานวิจัยปี 58

ทำมาหากิน : กรมวิชาการฯ เปิดบ้านงานวิจัยปี 58 โชว์นวัตกรรมผลงานพัฒนาด้านพืช

                       กรมวิชาการฯ เปิดบ้านงานวิจัย ปี 58 โชว์ผลงานวิจัยพัฒนาด้านพืชสู่สาธารณชน เน้นใช้ประโยชน์ได้จริงในการประกอบอาชีพ-เพิ่มรายได้ พร้อมสร้างขีดความสามารถแข่งขันสินค้าเกษตรในเวทีเออีซี และตลาดโลก

                       นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวถึงการจัดงาน “เปิดบ้านงานวิจัยกรมวิชาการเกษตร” ประจำปี 2558 ซึ่งจะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 22-24 พฤษภาคม นี้ ที่กรมวิชาการเกษตร และสวนเฉลิมพระเกียรติ 55 พรรษาสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ภายในบริเวณมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (เกษตรกลาง บางเขน) กรุงเทพฯ ภายใต้หัวข้อ “วิชาการเกษตรก้าวไกล งานวิจัยก้าวหน้า ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า พัฒนาเกษตรไทย” เพื่อถ่ายทอดผลงานวิจัยและพัฒนาด้านพืชของกรมวิชาการเกษตรที่สำเร็จแล้ว รวมถึงเครื่องจักรกลการเกษตร เทคโนโลยีการผลิตใหม่ และการให้บริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับด้านการเกษตร ไปสู่เกษตรกร ประชาชน และผู้สนใจทั่วไป ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพ หรือเพิ่มรายได้แก่ครอบครัว

                       "ปลายนี้เข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี แล้ว ฉะนั้นจึงมุ่งเผยแพร่ข้อมูลสำหรับการเตรียมความพร้อม และพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการผลิตสินค้าพืช  ทั้งยังเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และประสบการณ์งานวิจัยด้านการเกษตร เพื่อใช้เป็นแนวทางการดำเนินงานวิจัยเข้าสู่เออีซี ตลอดจนให้ความรู้และรณรงค์ให้ผู้เข้าชมงานตระหนักถึงการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าโดยเฉพาะการใช้น้ำด้านเกษตรกรรมด้วย"

                       อธิบดีกรมวิชาการเกษตรย้ำด้วยว่า การจัดงานเปิดบ้านงานวิจัยครั้งนี้ ถือว่ายิ่งใหญ่กว่าทุกปีที่ผ่านมา โดยมีกิจกรรมหลากหลายและน่าสนใจ แบ่งออกเป็น 6 โซน ซึ่งโซนแรกเป็นนิทรรศการและกิจกรรมการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ปวงประชาถวายพ่อของแผ่นดิน เป็นการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมจัดแสดง โซนที่ 2 นิทรรศการประชาสัมพันธ์งานประชุมวิชาการกล้วยไม้เอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 12 (The 12th Asia Pacific Orchid Conference : APOC 12) โดยประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมในปี 2559 และโซนที่ 3 เป็นนิทรรศการสวนเฉลิมพระเกียรติ 55 พรรษา แสดงความหลากหลายและการอนุรักษ์ไม้หายาก และศูนย์เรียนรู้การผลิตพืชตามแนวพระราชดำริเกษตรทฤษฎีใหม่

                       ส่วนโซนที่ 4 นิทรรศการและกิจกรรมงานเปิดบ้านงานวิจัยกรมวิชาการเกษตร จะผยแพร่ผลงานวิจัยของหน่วยงานในสังกัดกรมวิชาการเกษตร ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคที่สำเร็จแล้ว รวมถึงข้อมูลการดำเนินโครงการต่างๆ และงานตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งจะทำให้เกษตรกร ประชาชน และผู้สนใจรู้จักกรมวิชาการเกษตรดีขึ้น และสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร งานบริการต่างๆ ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในการประกอบอาชีพและต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งแต่ละหน่วยงานจะคัดเลือกผลงานวิจัยเด่นมาโชว์ในงานนี้ รับรองว่าไม่ผิดหวัง มีไฮไลท์สำคัญ อาทิ โซนที่ 5 เป็นกิจกรรมเสวนาวิชาการและกิจกรรมสันทนาการ ประกอบด้วย เวทีกลางมีการจัดแสดงดนตรี นันทนาการ และจับของรางวัลมอบให้แก่ผู้โชคดีที่เข้าร่วมงาน และเวทีอบรม/สัมมนา ซึ่งจะจัดอบรมให้ความรู้สารพันอาชีพจากพืชสวน ทั้งด้านการผลิต การแปรรูป และการนำไปใช้ประโยชน์ ทุกวันตั้งแต่เวลา 10.00-17.00 น. อาทิ การทำชาเจียวกู่หลาน ทองม้วนเสริมโอเมก้า มินิเค้กงาม้อน การทำสบู่จากน้ำมันมะพร้าว การทำน้ำมังคุดพร้อมดื่ม การติดตามะนาวเปลี่ยนยอดมะม่วงหิมพานต์ การเสียบยอดมังคุด การทำอาหารจากมะพร้าวกะทิ การร้อยมาลัยจากดอกกล้วยไม้ และการทำอาหารสุขภาพจากสมุนไพร เป็นต้น และโซนที่ 6 เป็นโซนจำหน่ายสินค้าเกษตร พันธุ์พืช ผัก ผลไม้ ผลิตภัณฑ์การเกษตร และต้นไม้นานาชนิด

                       “กรมวิชาการเกษตรขอเชิญชวนผู้สนใจทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการ นักเรียน นักศึกษา นักวิชาการ นักวิจัย และประชาชนทั่วไป เข้าร่วมชมงานเปิดบ้านงานวิจัยกรมวิชาการเกษตรในระหว่างวันที่ 22-24 พฤษภาคมนี้ ตั้งแต่เวลา 09.00-18.00 น. โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น” นายอนันต์ กล่าวทิ้งท้าย

จาก http://www.komchadluek.net    วันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

กรมชลฯปล่อยน้ำเร็วขึ้นอีก 1 เดือน ร่นเวลาทำนา-แก้ปัญหาท่วมซ้ำซาก "ลุ่มยม-น่าน"

กรมชลประทานปิ๊งไอเดียแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในเขตปลูกข้าวลุ่มน้ำยม-น่าน และเขื่อนนเรศวร ปล่อยน้ำเร็วขึ้น 1 เดือน จากปกติเริ่มปลูกในเดือนพ.ค. ร่นเป็นเดือนเม.ย.เพื่อให้เก็บเกี่ยวภายในเดือนก.ค. ก่อนเจอน้ำหลากเข้าท่วม

นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เห็นความเดือดร้อนของเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำน่านตอนกลาง ในเขตของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนนเรศวร และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายมน่าน ที่มักจะประสบกับปัญหาน้ำท่วมขัง ในช่วงปลายฤดูเก็บเกี่ยว

เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ จะเริ่มทำการเพาะปลูกข้าวนาปีในช่วงเดือนพ.ค. และเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงเดือนส.ค.หรือบางปีหากมีการเลื่อนการเพาะปลูก ก็อาจจะเก็บเกี่ยวในเดือนก.ย. ส่งผลให้ผลผลิตเสียหายเป็นจำนวนมาก จากสภาวะน้ำท่วมขัง

กรมชลประทานจึงปรับระยะเวลาการทำนาปีในพื้นที่ลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำน่านตอนกลาง ในเขตของโครงการ ส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนนเรศวร และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายมน่านให้เร็วขึ้นอีก 1 เดือน เริ่มส่งน้ำตั้งแต่ วันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา จากเดิมที่จะเริ่มเพาะปลูกในเดือนพ.ค. เพื่อให้เก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จเรียบร้อยในเดือนก.ค. ก่อนเข้าสู่ฤดูน้ำหลาก ที่มักจะเกิดขึ้นในเดือนส.ค.-ต.ค.ของทุกปี

การปรับระยะเวลาการทำนาปีนี้นับเป็นครั้งแรกที่ได้ดำเนินการส่งน้ำมาตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.ทำให้ตลอดฤดูฝนนี้โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนนเรศวร จะได้รับการจัดสรรน้ำทั้งสิ้นประมาณ 94 ล้านลบ.ม. ช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกได้ประมาณ 95,750 ไร่ ส่วนโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายมน่าน ได้รับการจัดสรรน้ำจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 264 ล้านลบ.ม. ช่วยพื้นที่เพาะปลูกได้ประมาณ 290,694 ไร่

ด้านนายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่าพื้นที่ส่งน้ำทั้งสองโครงการเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำโดยธรรมชาติและไม่มีคันปิดกั้น เมื่อถึงช่วงฤดูน้ำหลาก ประมาณเดือนส.ค.ป็นต้นไป มักจะเกิดน้ำท่วมซ้ำซากเป็นประจำเกือบทุกปี

จึงประชุมหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกับกลุ่มเกษตรกรและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จนได้ข้อสรุปว่าต้องปรับระยะเวลาการปลูกพืชในพื้นที่ให้เร็วขึ้น เนื่องจากพื้นที่มีลักษณะเป็นแก้มลิงตามธรรมชาติ จึงจะต้องให้เกษตรกรทำนาปีก่อนพื้นที่อื่นๆ เพื่อให้เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ภายในเดือนก.ค.ก่อนที่จะถูกน้ำท่วมขัง

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 18 พฤษภาคม 2558

สศอ.ชู Carbon – Water footprint ยกระดับส่งออก – เพิ่มโอกาสการค้า

          สศอ.หนุน Carbon footprint –Water footprint ส่งเสริมผู้ประกอบการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพิ่มโอกาสทางการค้า และยกระดับการส่งออก ชี้มาตรฐานสิ่งแวดล้อมเป็นมาตรการไม่ใช่ภาษี เผยจะถูกใช้มากขึ้นในเวทีการค้าโลก

          นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ผศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ตลาดส่งออกหลักของไทยไม่ว่าจะเป็นสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ต่างตื่นตัวกับการรักษาสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ธรรมชาติ นอกจากนั้นการที่ผู้บริโภคในประเทศคู่ค้าใส่ใจเลือกบริโภคสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ยังส่งผลให้ผู้ผลิตต้องพัฒนาสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการดังกล่าว ประกอบกับการที่โลกค้าการเสรีที่เปิดกว้างขึ้น ประเทศต่าง ๆ จึงมักใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี เช่น มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม กดดันให้ประเทศที่มาตรฐานต่ำกว่าต้องดำเนินการ ดังนั้น สศอ.จึงได้จัดทำโครงการเพื่อสร้างโอกาส และเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการอาหารในประเทศ จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการยกระดับการแข่งขันอุตสาหกรรมอาหารไทย ด้วยการลดต้นทุนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Carbon footprint) และโครงการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนด้วย Water footprint ในอุตสาหกรรมอาหารเพื่อการส่งออก

          โครงการ Carbon footprint เป็นกิจกรรมช่วยเพิ่มผลิตภาพการผลิตแก่ผู้ผลิตอุตสาหกรรมอาหาร โดยจะให้คำปรึกษาเชิงเทคนิคและอบรมบุคลากร ตามแนวทางการประเมิน Carbon footprint ตลอดจนเสนอแนวทางลดค่าCarbon footprint และต้นทุนการผลิต รวมทั้งสนับสนุนการขอใช้เครื่องหมายฉลาก Carbon Label จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO

          โดยวิกฤติทางด้าน Carbon footprint นับวันจะรุนแรงขึ้นทุกขณะ ในปี 2554 ที่ผ่านมา มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งโลกปริมาณ 43,816.7343 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (Mt CO2e) ส่วนไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณ 354.6534 Mt CO2e อยู่ในอันดับที่ 23 ของโลก หรืออันดับ 2 ในอาเซียน การดำเนินการตามโครงการข้างต้น จึงเป็นการนำร่องเพื่อลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก เพื่อแสดงให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมของภาคอุตสาหกรรมอาหาร ในการลดผลกระทบจากการผลิตต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

          โดยโรงงานที่เข้าร่วมโครงการดำเนินการตามแนวทางให้คำปรึกษาสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 23,431 tonCo2e และลดต้นทุนได้ 165 ล้านบาท ประเทศที่ใช้ฉลากคาร์บอนพุตพริ้นท์ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ แคนาดา เป็นต้น ปัจจุบันประเทศไทยมีผลิตภัณฑ์ที่อนุมัติ ใช้เครื่องหมายคาร์บอนฟุตพริ้นท์แล้ว 1,472 รายการจาก 350 บริษัท

          นอกจากนี้โครงการยังมีการเผยแพร่ความรู้เรื่องดังกล่าวสู่วงกว้างผ่านคู่มือ ซึ่งจะมีการยกตัวอย่างการคำนวณและวิธีการใช้โปรแกรมเพื่อหาค่า Carbon footprint สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจ ทั้งนี้ สามารถ Download ข้อมูลดังกล่าวได้ทาง www.nfi.or.th/carbonfootprint/ นอกจากนี้ ยังมีการสัมมนาเผยแพร่ความรู้ให้บุคคลทั่วไปอีกด้วย ซึ่งจากการดำเนินโครงการ 2 ปีที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการเข้าร่วม 60 ราย บุคลากรในอุตสาหกรรมอาหารและบุคคลทั่วไปได้รับการยกระดับองค์ความรู้ 610 คน ผลิตภัณฑ์อาหารได้รับอนุมัติให้ใช้เครื่องหมาย Carbon footprint จาก TGO 54 ผลิตภัณฑ์ และที่สำคัญคือ ผู้ประกอบการที่ผ่านการเข้าร่วมโครงการได้เล็งเห็นประโยชน์ จึงทำการขยายผลต่อไปยังผลิตภัณฑ์อื่นด้วย เช่น บริษัท แดรี่ โฮม จำกัด และบริษัท ฟาร์มโชคชัย จำกัด เป็นต้น สำหรับในปีนี้มีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเข้าร่วมเพิ่มเติม 31 โรงงาน

          ผศอ. กล่าวด้วยว่า นอกจากการดำเนินการเพื่อลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกแล้ว ปัจจุบันการจัดการทรัพยากรน้ำได้รับความสำคัญมากขึ้นเช่นกัน เพราะความต้องการใช้ทรัพยากรน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการเติบโตของจำนวนประชากรและการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งก่อให้เกิดความขาดแคลนทรัพยากรน้ำในหลายพื้นที่ทั่วโลก ประเทศต่าง ๆ จึงเริ่มให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำมากยิ่งขึ้น จะเห็นได้จากการประกาศใช้มาตรฐาน ISO 14046 อันเป็นแนวทางการจัดทำWater footprint แม้จะยังไม่ได้เป็นมาตรฐานบังคับก็ตาม ปี 2557 มีโรงงานเข้าร่วมโครงการจำนวนทั้งสิ้น 26 โรงงาน หากโรงงานดำเนินการตามแนวทางให้คำปรึกษาจะสามารถลดการใช้น้ำได้ 1,318,608.37 ลูกบาศก์เมตร/ปี คิดเป็นร้อยละ 27.12 หรือเป็นเงินรวม 13,306,484 บาท ปี 2558 มีโรงงานเข้าร่วมโครงการนี้ 25 โรงงาน

          มีการจัดทำค่าอ้างอิง Water footprint 3 สินค้า ได้แก่ 1.น้ำตาลทรายดิบ 1 กิโลกรัม มีค่า Water footprint เท่ากับ 1,223.82 ลิตรต่อกิโลกรัม 2.แป้งมันสำปะหลังดิบ 1กิโลกรัม มีค่า Water footprint เท่ากับ 1.69 ลิตรต่อกิโลกรัม 3.ข้าวโพดหวานกระป๋อง ขนาด 15 ออนซ์ มีค่า Water footprintเท่ากับ 287.36 ลิตรต่อกระป๋อง

          สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ตระหนักถึงแนวโน้มความจำเป็นดังกล่าว จึงจัดทำโครงการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนด้วย Water footprintในอุตสาหกรรมอาหารเพื่อการส่งออก โดยให้คำปรึกษาเชิงเทคนิค และอบรมบุคลากรตามแนวทางการประเมิน Water Footprint ตลอดจนเสนอแนวทางลดค่า Water Footprint และต้นทุนการผลิต รวมถึงจัดทำค่าอ้างอิงผลิตภัณฑ์อาหาร เพื่อเป็น Benchmark ให้ผู้ประกอบการอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีการเผยแพร่ความรู้เรื่องดังกล่าวสู่วงกว้างผ่านเอกสารเผยแพร่ความรู้และคู่มือ ซึ่งสามารถ Download ข้อมูลดังกล่าวได้ทางfic.nfi.or.th/waterfootprint/ รวมทั้งยังมีการสัมมนาเผยแพร่ความรู้ให้บุคคลทั่วไป จากการดำเนินโครงการในปีที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการสนใจเข้าร่วมโครงการ 26 ราย บุคลากรในอุตสาหกรรมอาหารและบุคคลทั่วไปได้รับการยกระดับองค์ความรู้ 490 คน และมีค่าอ้างอิง Water Footprint ในผลิตภัณฑ์น้ำตาล แป้งมันสำปะหลัง และข้าวโพดหวาน สำหรับในปีนี้มีผู้ประกอบการเข้าร่วมเพิ่มเติมอีกอย่างน้อย 24 โรงงาน

          ผศอ. กล่าวย้ำว่า สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม มีส่วนร่วมในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารในประเทศลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการทรัพยากรน้ำในการผลิต ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มผลิตภาพการผลิตให้กับผู้ประกอบการแล้ว ยังเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการ ในการสนับสนุนให้กระบวนการ ด้าน Carbon footprint และ Water footprint ได้มีการนำไปใช้ในวงการอุตสาหกรรมอาหารได้อย่างแท้จริง เพื่อรองรับมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม ที่อาจถูกกำหนดเป็นมาตรการบังคับในอนาคต ตลอดจนเป็นการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ให้สูงกว่าประเทศคู่แข่ง รวมถึงสร้างการยอมรับให้กับอาหารของไทย ซึ่งมีส่วนในการสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็น Kitchen of the World ในช่วงต่อไป

  จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 18 พฤษภาคม 2558

 KTIS กำไรสุทธิ 3 เดือนแรก 555 ล้านบาท รอรับรู้รายได้เพิ่มจากผลิตภัณฑ์และโรงไฟฟ้าใหม่

          กลุ่ม KTIS ทำกำไรช่วง 3 เดือนแรก 555 ล้านบาท จากรายได้ 3,939 ล้านบาท เผยสายธุรกิจน้ำตาลโตเด่น 18.5% แย้มครึ่งปีหลังจะโดดเด่นกว่าครึ่งปีแรก เพราะการผลิตน้ำเชื่อมและน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์พิเศษ แถมมีโรงไฟฟ้าใหม่อีก 2 โรง กำลังการผลิตโรงละ 50 MW

          นายประพันธ์ ศิริวิริยะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เปิดเผยว่า ในไตรมาสแรกของปี 2558 (มกราคม-มีนาคม 2558) บริษัทและบริษัทย่อยมีรายได้รวม 3,939.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.6% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี 2557 ซึ่งมีรายได้ 3,730.5 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 554.9 ล้านบาท ลดลง 5.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการขายและการบริหารที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ รายได้ที่เพิ่มขึ้นมาจากสายธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายที่เพิ่มขึ้น 18.5% เนื่องจากมีปริมาณการส่งออกน้ำตาลเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ รายได้อื่นในไตรมาสแรกของปี 2558 จำนวน 111.5 ล้านบาท ก็เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปี 2557 ถึง 77.1% เนื่องจากมีรายได้ค่าสิทธิโควต้าน้ำตาลทรายมากขึ้น

          “ไตรมาสแรกของปีนี้ สัดส่วนรายได้ของกลุ่มธุรกิจต่างๆ คือ การผลิตและจำหน่ายน้ำตาลและกากน้ำตาล 65.8% การผลิตและจำหน่ายเอทานอล 11.5% การผลิตและจำหน่ายเยื่อกระดาษฟอกขาวจากชานอ้อย 10.0% การผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล 6.1% และอื่นๆ 6.6%” นายประพันธ์กล่าว

          ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม KTIS กล่าวด้วยว่า ผลิตภัณฑ์ใหม่ของบริษัท คือน้ำเชื่อม (Liquid Sucrose) และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์พิเศษ (Super Refined Sugar) จะเริ่มผลิตและรับรู้รายได้ในปีนี้รวมถึงโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวลใหม่ 2 โรง กำลังการผลิตโรงละ 50 เมกะวัตต์ รวม 100 เมกะวัตต์ และการจำหน่ายปุ๋ยชีวภาพ อีกด้วยจึงเชื่อว่าผลการดำเนินงานในครึ่งปีหลังจะสูงกว่าครึ่งปีแรก 

  จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 18 พฤษภาคม 2558

ก.เกษตรจัดโครงการขับเคลื่อนงานวิจัยสู่เกษตรกร

กรมวิชาการเกษตรจัดงาน ‘โครงการขับเคลื่อนผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ปี 58’ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตรเผย  กรมฯ บูรณาการการทำงานกับผู้มีส่วนร่วมมันสำปะหลังทั้งภาครัฐและเอกชน ขยายผลเทคโนโลยีการจัดการปุ๋ย จับมือกรมพัฒนาที่ดินพัฒนาชุดตรวจดินภาคสนามสำหรับผลิตมันฯ โดยเฉพาะ หวังเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยให้กับเกษตรกรอย่างยั่งยืน

นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยหลังจากเป็นประธานเปิดงาน โครงการขับเคลื่อนผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ ประจำปี 2558 ภายใต้แนวคิด “รวมพลชาวไร่ใช้เทคโนโลยีเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังอย่างมีประสิทธิภาพ” ณ บริษัทอุบลไบโอ เอทานอล จำกัด ต.นาดี อ.นาเยีย จ.อุบลราชธานี ว่า จากการที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครราชสีมา สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 กรมวิชาการเกษตร ได้พัฒนากระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตมันสำปะหลัง โดยใช้ชื่อเรียกว่า “สีคิ้วโมเดล” เพื่อนำเทคโนโลยีการผลิตมันสำปะหลังของกรมวิชาการเกษตรถ่ายทอดสู่เกษตรกร โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับผลผลิตมันสำปะหลังของเกษตรกรในจังหวัดนครราชสีมา โดยได้บูรณาการผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการผลิตมันสำปะหลังทั้งหน่วยงานภาครัฐ และผู้ประกอบการภาคเอกชน ในนามของกลุ่มคลัสเตอร์มันโคราชให้เข้ามามีส่วนร่วมในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตสู่เกษตรกร

ทั้งนี้ มีเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาเข้าร่วมโครงการ โดยเข้าไปเรียนรู้เทคโนโลยีการผลิตมันสำปะหลังทั้งระบบในศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครราชสีมาซึ่งเป็นโครงการต้นแบบ และเกษตรกรเหล่านั้นได้นำความรู้ที่ได้รับจากการศึกษากลับนำไปใช้ในพื้นที่การเกษตรของตนมเอง จนกลายเป็นเกษตรกรต้นแบบที่สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเพื่อนเกษตรกร จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมา สามารถเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังให้กับเกษตรกรได้ร้อยละ 20 และต้นทุนการผลิตลดลงถึงร้อยละ 10 สามารถสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ขยายผลสู่เกษตรกรในจังหวัดกำแพงเพชรและจังหวัดอุบลราชธานี รวมทั้ง ได้มีการพัฒนาศักยภาพการผลิตมันสำปะหลังให้แก่กลุ่มเกษตรกรได้อย่างกว้างขวางและรวดเร็ว

นายสุวิทย์ กล่าวต่อไปว่า จากผลของเทคโนโลยีที่ถ่ายทอดสู่เกษตรกร ได้แก่ พันธุ์มันสำปะหลังที่เหมาะสมกับพื้นที่ การจัดการดิน การจัดการปุ๋ย การจัดการน้ำ และการอารักขาพืช พบว่า การขยายผลเทคโนโลยีการจัดการปุ๋ยยังมีข้อจำกัดในการขยายผลสู่การนำไปใช้ประโยชน์ของเกษตรกร เนื่องจากต้องมีการตรวจวิเคราะห์ดินจากหน่วยบริการของทางราชการ รวมทั้ง ต้องรอผลตรวจวิเคราะห์เป็นเวลานาน ดังนั้น ในปี 2558 สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 กรมวิชาการเกษตร ได้ร่วมมือกับสำนักวิทยาศาสตร์เพื่อการพัฒนาที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน นำชุดตรวจดินภาคสนามที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อตรวจวิเคราะห์ดินสำหรับการปลูกมันสำปะหลังโดยเฉพาะซึ่งผลจากการวิเคราะห์ดินจะนำมาคำนวณอัตราธาตุอาหารตามคำแนะนำการใช้ปุ๋ยของกรมวิชาการเกษตร เพื่อแนะนำให้กับเกษตรกรต่อไป

นายสุวิทย์ กล่าวสรุปว่า แนวทางการดำเนินงานดังกล่าวเป็นการทำงานแบบบูรณาการของหน่วยงานราชการ เกษตรกรและภาคเอกชน ที่มีส่วนช่วยลดต้นทุนในการใช้ปุ๋ยให้แก่เกษตรกรและสามารถขยายผลไปยังพื้นที่อื่นได้ ดังนั้น เพื่อให้การบูรณาการการดำเนินงานที่ให้ผลสัมฤทธิ์ตามวัตถุประสงค์ กรมวิชาการเกษตร โดยสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 กรมพัฒนาที่ดิน โดยสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 47 และกลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล ได้ร่วมกันจัดกิจจกรรม “รวมพลชาวไร่ ใช้เทคโนโลยีเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังอย่างมีประสิทธิภาพ” ขึ้น เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะสามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีการจัดการปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินให้กับเกษตรกร ผู้ประกอบการ รวมทั้ง เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การขยายผลเทคโนโลยีการจัดการปุ๋ยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ยังมีการสาธิตให้กับผู้เข้าร่วมงานได้เห็นตัวอย่างของจริง อาทิ เครื่องปลูกและเครื่องเก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง การไถระเบิดดินดานด้วยรถแทรคเตอร์ขนาด 50 แรงม้า นอกจากนี้ ยังมีนิทรรศการเกี่ยวกับ มันสำปะหลังพันธุ์ดี ที่ผลผลิตสูง และเปอร์เซ็นต์แป้งสูง/ดิน ปุ๋ย เพื่อการผลิตมันสำปะหลังที่ยั่งยืน/การป้องกันกำจัดโรคและแมลง/การผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลัง ที่สำคัญ มีการฝึกอบรมในหลาย ๆ หลักสูตร เช่น การเก็บตัวอย่างดิน การตรวจดินตัวอย่าง การแปลผลตรวจดิน เพื่อแนะนำปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน การผสมปุ๋ย และการใส่ปุ๋ยที่ถูกวิธี

  จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 18 พฤษภาคม 2558

เนเจอร์เวิร์คเคาะลงทุนในไทย รอแค่บอร์ดบีโอไอไฟเขียวเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำปลายพ.ค.นี้

    พีทีทีจีซี มั่นใจ"บอร์ดเนเจอร์เวิร์ค" จากสหรัฐอเมริกา เลือกไทยเป็นฐานผลิตพลาสติกชีวภาพ หลังเลื่อนการตัดสินใจออกไป 1 เดือน รอลุ้นปลายพ.ค.นี้ บอร์ดบีโอไอเคาะมาตรการสนับสนุน ดอกเบี้ยต่ำ 2% ชดเชยส่วนต่างให้ เพียงพอที่จะดึงการลงทุน เมื่อเทียบกับมาเลเซียที่เสียเปรียบด้านวัตถุดิบ

    นายวิบูลย์ พึงประเสริฐ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท เนเจอร์เวิร์ค เอเชียแปซิฟิค จำกัด เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่าจากที่คณะกรรมการบริหาร(บอร์ด) บริษัท เนเจอร์เวิร์คฯ ของสหรัฐอเมริกา จะมีการประชุมตัดสินเลือกประเทศลงทุนระหว่างไทยกับมาเลเซีย ในโครงการลงทุนผลิตพลาสติกชีวภาพชนิด Polylactic Acid หรือพีแอลเอ เฟสแรก  ขนาด 7.5 หมื่นตันต่อปี มูลค่าลงทุน 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 6.6 พันล้านบาท(อัตราแลกเปลี่ยน 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ) เมื่อเดือนเมษายน ที่ผ่านมา แต่ต้องยุติการพิจารณาลง เนื่องจากทางบอร์ดเห็นว่าควรเลื่อนการตัดสินใจออกไปอีก 1 เดือนก่อน เพราะได้รับการยืนยันจากทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ จะนำมาตรการส่งเสริมการผลิตพลาสติกชีวภาพหรือไบโอพลาสติก เข้าสู่การพิจารณาของบอร์ดบีโอไอภายในเดือนพฤษภาคมนี้

    ทั้งนี้ การเลื่อนพิจารณาเลือกประเทศลงทุนของบอร์ดเนเจอร์เวิร์คดังกล่าว ถือเป็นการให้โอกาสกับทางประเทศไทยที่จะเข้ามาลงทุน เพราะได้รอนโยบายการส่งเสริมไบโอพลาสติกมาร่วม 2 ปี แล้ว หากจะรออีก 1 เดือนคงไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะหากเลือกประเทศไทยแล้ว จะมีความมั่นคงด้านวัตถุดิบซึ่งเป็นอ้อยและน้ำตาลมากกว่า ในขณะที่มาเลเซียพยายามดึงดูดการลงทุนเข้าไป โดยให้การสนับสนุนราคาค่าไฟฟ้า ก๊าซธรรมชาติ น้ำประปาในราคาต่ำ รวมถึงการให้เงินชดเชยส่วนต่างราคานำเข้าน้ำตาลทรายดิบ และสิทธิประโยชน์ต่างๆ ด้านส่งเสริมการลงทุนต่างๆ

    นายวิบูลย์ กล่าวอีกว่า สำหรับมาตรการส่งเสริมที่เนเจอร์เวิร์ครออยู่นั้น จะเป็นในรูปแบบการสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 2 % หรือการชดเชยส่วนต่างดอกเบี้ยปีละ 2.5 พันล้านบาท สำหรับวงเงินลงทุนที่ 1 แสนล้านบาท เป็นระยะเวลา 8 ปี หรือกรณีที่เนเจอร์เวิร์คที่ลงทุนเฟสแรก 6.6 พันล้านบาท  ภาครัฐช่วยชดเชยส่วนต่างดอกเบี้ยให้ปีละประมาณ 150 ล้านบาท เป็นระยะ 8 ปี แม้จะต่ำกว่าที่มาเลเซียให้ แต่ก็เพียงพอที่จะให้โครงการเกิดในไทยได้

    ทั้งนี้ หากบอร์ดบีโอไออนุมัติมาตรการสนับสนุนเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคมนี้ เชื่อว่าทางบอร์ดที่สหรัฐอเมริกา น่าจะตัดสินใจลงทุนในไทยได้ และทางบริษัทก็พร้อมที่จะลงทุนทันที เพราะขณะนี้ได้คัดเลือกพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย ที่จังหวัดระยอง เป็นที่ตั้งโรงงานไว้แล้ว และได้หารือกับลูกค้าในไทยไว้ล่วงหน้าแล้ว 10-20 ราย โดยกำลังการผลิตประมาณ 10-20 % จะป้อนความต้องการในประเทศไทย เพื่อไม่ต้องนำเข้าเหมือนกับปัจจุบัน ช่วยลดต้นทุนการนำเข้าได้ ส่วนอีก 80-90 % จะส่งออกไปต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป จีน ไต้หวัน เกาหลี และญี่ปุ่น เป็นต้น เนื่องจากเนเจอร์เวิร์คต้องการใช้โรงงานในภูมิภาคนี้เป็นฐานการผลิตและส่งออกไปทั่วโลก

    นายปฏิภาณ สุคนธมาน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการเงินและบัญชี บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด(มหาชน) หรือพีทีทีจีซี กล่าวว่า หากทางเนเจอร์เวิร์ค ตัดสินใจลงทุนไบโอพลาสติกในไทย ทางบริษัท สามารถที่จะเดินแผนพัฒนาธุรกิจสีเขียวหรือไบโอฮับ ที่ครบวงจรได้ เพราะขณะนี้ได้จัดทำแผนกลยุทธ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว ที่จะดำเนินธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ เช่น การนำน้ำมันพืช ไปผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ และผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อมขั้นพื้นฐาน การผลิตพลังงาน

    โดยไบโอพลาสติกจะเป็นส่วนหนึ่งของแผน ที่บริษัทมีความมั่นใจว่าทางเนเจอร์เวิร์ค จะสร้างโรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพแห่งที่ 2 ในไทย และสามารถขยายกำลังการผลิตในเฟสที่ 3 อีก 7.5 หมื่นตันต่อปีได้อีก จากแห่งแรกที่มีอยู่แล้วในสหรัฐอเมริกา รอเพียงการพิจารณาแผนการสนับสนุนจากทางภาครัฐเท่านั้น

  จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 18 พฤษภาคม 2558

“อ้อย” เหลือเฟือทำสถิติห่วงราคาตกฤดูผลิต” 59

รายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมแจ้งว่า โรงงานน้ำตาลทรายทั่วประเทศได้ปิดหีบอ้อยทั้งหมดแล้ว สรุปปริมาณอ้อยเข้าหีบฤดูกาลผลิตปี 2557/58 ทั้งสิ้น 105,959 ล้านตัน ทำสถิติสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ และสูงขึ้นจากฤดูกาลผลิตปี 2556/57 ที่มีอ้อยเข้าหีบ 103.66 ล้านตัน เนื่องจากทุกภาคมีอ้อยเพิ่มขึ้น ยกเว้นภาคเหนือลดลง 6.91% โดยภาคตะวันออกเพิ่มสูงสุด 16.49% จึงทำให้ปีนี้มีปริมาณอ้อยที่เพิ่มขึ้นจากฤดูกาลผลิตก่อน 2.29 ล้านตัน หรือเพิ่ม 2.21% แต่ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยีลด์) 106.66 กิโลกรัม(กก.) ต่อตันอ้อย ลดลงจากฤดูกาลผลิตก่อนอยู่ที่ 109.02 กก.ต่อตัน เพราะหลายพื้นที่เจอภัยแล้ง ทำให้ค่าความหวานเฉลี่ยลดลง จึงมีผลให้ปริมาณผลผลิตน้ำตาลจะใกล้เคียงกับปี 2557 ที่ผลิตได้ 11.4 ล้านตัน

รายงานข่าวกล่าวต่อว่า สำหรับแนวโน้มปริมาณอ้อยฤดูกาลผลิตปี 2558/59 แง่ปริมาณพื้นที่ปลูกจะเพิ่มขึ้น ผลจากส่งเสริมใช้พื้นที่นาดอนมาปลูกอ้อยแทน หากฝนไม่ทิ้งช่วง คาดการณ์ว่าปริมาณอ้อยเข้าหีบจะสูงถึงระดับ 110 ล้านตัน ทั้งนี้ 2 ปัจจัยต้องจับตาใกล้ชิดได้แก่ 1. ราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกตกต่ำ ขณะที่ราคาเคลื่อนไหวระดับต่ำเฉลี่ย 13 เซนต์ต่อปอนด์ อาจทำให้ราคาอ้อยขั้นต้นฤดูกาลผลิต 2558/59 เฉลี่ยแค่ 700-750 บาทต่อตัน 2. ปริมาณอ้อยที่เพิ่มขึ้นอาจไม่สอดคล้องกับกำลังหีบของโรงงานที่มีอยู่ เพราะปริมาณอ้อยเริ่มเข้าภาวะตึงตัวหากอ้อยระดับ 110 ล้านตันขึ้นไป จะเกิดปัญหาแน่นอน

จาก http://www.matichon.co.t  วันที่ 18 พฤษภาคม 2558

รายงานพิเศษ : สิ่งที่รัฐบาลต้องระมัดระวัง ก่อนเปิดประชาคมอาเซียน

การเข้าสู่ aec(ประชาคมอาเซียน) ถ้าเทียบกับทางทหาร และการเมืองระหว่างประเทศ ก็คือการเข้าสู่สหพันธรัฐโดยรัฐต่างๆในสหพันธ พร้อมใจที่จะมาอยู่ร่วมกันเป็นสหพันธรัฐเพื่อนความมั่นคงทางทหารในการต่อรองกับรัฐบาลกลุ่มอื่น

เมื่อรัฐบาลต้องการเปิดเสรีให้ประเทศใน aec ส่งสินค้าผ่านแดนเข้าออกได้โดยเสรีโดยต่างคนต่างลดภาษีให้เท่ากันเสมอภาคกัน ก็เหมือนกับว่ารัฐบาล สั่งทหารที่ชายแดน วางอาวุธให้หมดแล้วก็ปล่อยให้ผู้คนในแต่ละรัฐเดินเข้าออกผ่านแดนได้ โดยเสรี ซึ่งถ้าเป็นการร่วมมือกันอย่างจริงจังและ อย่างสมบูรณ์แบบEUจะเป็นการดีที่สุดเพราะเป็นความสะดวก ความมั่นคง ทางการค้า และเพิ่มอำนาจต่อรองทางการค้า เช่นที่ปฏิบัติในกลุ่มประเทศอียู

แต่ถ้าไม่มีการทำสนธิสัญญาเป็น custom union หรือ สหภาพศุลกากร และไม่มีการบังคับให้รัฐบาลใน aec ห้ามทำ free trade agreement กับ ประเทศนอก aec โดยลำพังเป็นเอกเทศ ก็เท่ากับว่า สหพันธรัฐนี้ไม่มีสนธิสัญญาในการร่วมมือทางทหารกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันโดยยอมให้รัฐบาลในเออีซีหรือ สหพันธรัฐไปทำสนธิสัญญาทางทหารเป็นเอกเทศแยกจากสหพันธรัฐออกไป ซึ่งถ้าไม่มีการบังคับให้เข้มงวด ว่าห้ามทำ แบบทวิภาคี เป็นเอกเทศ ต้องทำเป็น สนธิสัญญากับ สหพันธรัฐ เท่านั้น ก็เท่ากับว่าประเทศใดประเทศหนึ่งในสหพันธรัฐที่ฝืนไปทำแบบนี้เป็น ไส้ศึก โดยยอม ให้บุคคลภายนอกเอาอาวุธเข้ามาในสหพันธรัฐผ่านเเดนของตนชึ่งอยู่ ในสหพันธรัฐเข้ามาสู่ประเทศไทยเพื่อผลประโยชน์ของตนโดยไม่คำนึง ถึงความเสียหาย ซึ่งจะเกิดขึ้น กับประเทศไทย และส่วนรวม ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยเสียหายอย่างไม่สามารถ เยียวยาได้

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นแล้วกับอุตสาหกรรมสิ่งทอ ของประเทศไทยแม้จะยังไม่มีการเปิดเสรี aec อย่างเป็นทางการ ประเทศไทยมีแกนปั่นด้าย เป็นล้านแกน ขณะนี้ปิดเกือบหมดแล้ว เพราะว่าตั้งแต่เริ่มเจรจา aec ประเทศไทย ไม่ได้ไปเจรจาเรื่อง free trade agreement กับทางอเมริกาและยุโรป เป็นเหตุให้ประเทศไทยต้องเสียภาษีนำเข้าไปอเมริกา ในอัตราภาษี 15 % ในขณะที่ประเทศอื่นใน aec มีข้อตกลงพิเศษกับอเมริกาเช่น ลาวเขมรเวียดนามพม่า สามารถส่งออกสินค้าสิ่งทอเข้าอเมริกาได้โดยไม่เสียภาษีนำเข้าเลย

สำหรับอียูหรือตลาดสหภาพ ยุโรปเช่นเดียวกันประเทศไทยต้องเสียภาษีนำเข้า 8 เปอร์เซ็นต์ในขณะที่ประเทศอื่นใน aec ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า ทำให้โรงงาน ปั่นด้ายทอผ้า ไม่สามารถขายสินค้าในตลาดอเมริกา ยุโรปใต้

ขณะเดียวกัน สินค้าในประเทศไทย หรือในกลุ่ม aec ก็ขายไม่ได้ เพราะว่า จะขายภายในประเทศเองก็ สินค้าต่างประเทศทุ่มตลาด ขายไม่ได้ เพราะไม่มีกำแพงภาษี เข้าข่ายที่ว่า เป็นการสู้รบ ที่ตั้งรับไม่ได้รุกก็ไม่ได้ ผลก็คือ ต้องขาดทุนจนถึงปิดกิจการ ปิดตัวเองไปคนงานหลายแสนคนต้องตกงาน ถูกเลิกจ้าง แล้วขณะเดียวกัน ผู้ที่จะลงทุนใหม่ก็หันไปลงทุนในประเทศลาวเขมรเวียดนามพม่า อินโดนีเซียแทนที่ประเทศไทย ต่อไป จะเป็นคราวของ อุตสาหกรรมอะไรอย่างอื่นอีก จะเป็นอุตสาหกรรม คอมพิวเตอร์และงานประกอบรถยนต์ก็เป็นไปได้ หรือ อาจจะเป็น คราวของ โรงงาน ทำผลิตภัณฑ์พลาสติกอื่นก็เป็นไปได้ ที่สุดอุตสาหกรรมของประเทศไทยจะเหลืออะไร

ฉะนั้น รัฐบาล ต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง ถ้าจะเปิด เสรีให้ aec จริงจะต้องให้มีการเจรจาเรื่อง custom union แบบ อียูให้เสร็จสิ้น เสียก่อน จึงจะดำเนินการต่อไปได้ และ โดยมีเงื่อนไขว่า free trade agreement ต้องทำกับaecเท่านั้น ห้ามประเทศใด ประเทศ หนึ่ง ไปทำ free trade agreement โดยอิสระ

สิทธิพิเศษใดที่ประเทศใน aec ใดได้รับจากประเทศนอกกลุ่ม จะต้องให้สิทธิ์นั้นกับประเทศไทย และจะต้องมีผลกับทุกประเทศ ใน aec เหมือนกันหมด ไม่ใช่ให้ประเทศใดประเทศหนึ่งแอบไปทำ free trade agreement กับประเทศนอก aec โดยลำพัง

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 18 พฤษภาคม 2558

รายงานพิเศษ : ได้เวลาปัดฝุ่น"โขง เลย ชี มูล"แล้วหรือยัง?

ปัจจุบันพื้นที่การเกษตรของประเทศไทยมีทั้งหมดประมาณ 149 ล้านไร่  ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่การเกษตรในเขตชลประทานเพียงประมาณ 30 ล้านไร่ หรือร้อยละ 20  เท่านั้น ที่เหลืออีก 119 ล้านไร่ เป็นพื้นที่นอกเขตชลประทานที่ต้องใช้น้ำฝนเป็นหลัก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงกับภาวะภัยแล้ง รวมทั้งในบางปียังเสี่ยงต่อภาวน้ำท่วมอีกด้วย

คณะกรรมการกำหนดนโยบายบริหารจัดการน้ำ  ที่มีพลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์  เป็นประธาน  ต้องการที่จะเพิ่มความมั่นคงในเรื่องน้ำให้กับเกษตรกรซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของประเทศ  ดังนั้นในแผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ ด้านการสร้างความมั่นคงเรื่องน้ำภาคการผลิต (การเกษตรและอุตสาหกรรม)  จึงได้กำหนดที่จะขยายพื้นที่การเกษตรในเขตชลประทานให้ได้อีก 18.8 ล้านไร่ ภายในปี 2569

อีก 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยก็จะมีพื้นที่การเกษตรในเขตชลประทานรวมทั้งหมดไม่น้อยกว่า  48.8 ล้านไร่  หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 33 ของพื้นที่การเกษตรทั้งประเทศเท่านั้นที่จะมีความมั่นคงในเรื่องน้ำ ซึ่งถือว่าน้อยมากยังไม่ถึงครึ่ง

ว่าที่ ร.ต. ไพเจน มากสุวรรณ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า  พื้นที่การเกษตรในเขตชลประทานที่เพิ่มขึ้นอีก 18.8 ล้านไร่ดังกล่าวนั้นเป็นการสำรวจเบื้องต้นเกี่ยวกับพื้นที่การเกษตรกรน้ำฝนที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นพื้นที่การเกษตรในเขตชลประทานได้ในทางเทคนิค

"หากจะพัฒนาพื้นที่ชลประทานให้ได้มากกว่า 18.8 ล้านไร่ จำเป็นจะต้องใช้เทคนิคอื่นๆ ในการจัดหาน้ำ เช่น น้ำบาดาล การผันน้ำ เป็นต้น  ซึ่งตามยุทธศาสตร์สร้างความมั่นคงเรื่องน้ำภาคการผลิตกำหนดที่จะนำน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ประมาณ 1 ล้านไร่เท่านั้น เพราะต้นทุนค่อนข้างสูง   แม้จากการสำรวจปริมาณน้ำบาดาลจะมีมากถึง 70,000-80,000 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) ก็ตามแต่ก็อยู่ลึกมาก ต้องใช้พลังงานจำนวนมากในการสูบขึ้นมา ถ้าภาครัฐไม่ช่วยเหลือ เป็นเรื่องยากที่เกษตรกรจะทำเองได้ และถ้าหากนำน้ำมาใช้เพื่อการปลูกข้าวเพียงอย่างเดียวไม่คุ้มค่าอย่างแน่นอน" รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าว

การสร้างความมั่นคงในเรื่องน้ำ เป็นรื่องทีมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับประเทศเกษตรกรรมอย่างประเทศไทย  อย่างน้อยจะให้เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ปีละ 1 ครั้ง โดยที่ไม่ได้รับความเสียหายจากภัยแล้งหรือน้ำท่วม  ซึ่งการพัฒนาพื้นที่ชลประทานให้ได้เพิ่มขึ้นอีก 18.8 ล้านไร่นั้น จะมีการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ที่มีศักยภาพเพิ่มขึ้น  ตลอดจนฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติ และปรับปรุงแหล่งน้ำเดิมที่มีอยู่ให้เต็มศักภาพ ซึ่งตั้งเป้าในระยะแรกที่จะดำเนินการจำนวน 15,000 แห่ง เพิ่มปริมาณการกักเก็บให้ได้อีก 2,700  ล้าน ลบ.ม. ภายในปี 2569

อย่างไรก็ตามพื้นที่ชลประทานที่จะพัฒนาเพิ่มขึ้นใหม่ 18.8 ล้านไร่ดังกล่าว ส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือถึงร้อยละ 40 และภาคใต้ร้อยละ 30  ที่เหลือเป็นภาคอื่นๆ  ส่วนพื้นที่ชลประทานเดิม 30 ล้านไร่ ส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคกลาง ในขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีพื้นที่ที่จะศักยภาพในทางเทคนิคที่จะพัฒนาเป็นพื้นที่ชลประทานน้อยมาก

จากการสำรวจเบื้องต้น พบว่า หากสามารถพัฒนาพื้นที่ชลประทานได้ตามยุทธศาสตร์บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ในปี 2569จะเหลือพื้นที่นอกเขตชลประทาน หรือ พื้นที่การเกษตรน้ำฝนประมาณกว่า 100 ล้านไร่  มากกว่าครึ่งหนึ่งอยู่ในพื้นที่ภาคอีสาน  และในจำนวนนี้ พบว่ามีพื้นที่ที่มีความเสี่ยงระดับปานกลางถึงรุนแรงประมาณ 26.8 ล้านไร่  หรือ ร้อยละ 22 ของพื้นที่พื้นที่การเกษตรนอกเขตชลประทาน

ดังนั้นหากให้กระจายความมั่นคงในเรื่องน้ำให้มีความสมดุลในทุกภูมิภาคของประเทศ   จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องใช้เทคนิคอื่นๆ ในการจัดหาน้ำ และเทคนิคที่จะสามารถจัดหาน้ำได้ในปริมาณที่มากก็คือ "การผันน้ำ"

ดร.สมเกียรติ  ประจำวงษ์  ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน กล่าวว่า  การใช้แนวทางการผันน้ำเพื่อเพิ่มพื้นที่ชลประทานภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีความเป็นไปได้สูง ซึ่งขณะนี้กรมชลประทานได้เสนอให้มีการศึกษาความเหมาะสมรูปแบบการพัฒนาโครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง หากสามารถทำได้จะเพิ่มพื้นที่ชลประทานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้อีกมากกว่า 20 ล้านไร่  และยังเป็นสร้างความมั่นคงในเรื่องน้ำให้มีความสมดุลในทุกภูมิภาคของประเทศอีกด้วย

โครงการบริหารจัดการน้ำโขง-เลย-ชี-มูลโดยแรงโน้มถ่วง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ไม่ใช่เรื่องใหม่ ก็การกล่าวถึงในรัฐบาลหลายยุคหลายสมัย  ในช่วงที่นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรีเคยมีการผลักดันโครงการนี้ แต่ก็เงียบเมื่อรัฐบาลใหม่ขึ้นมาบริหารประเทศ  ซึ่งถือเป็นการพัฒนาแหล่งน้ำที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

จากผลสรุปวิกฤติทรัพยากรน้ำของประเทศไทย โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่า หากไม่มีการลงทุนพัฒนาแหล่งน้ำในอีก 20 ปีข้างหน้า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะขาดแคลนน้ำถึง 15,833 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี   แต่ถ้าหากสามารถผลักดันโครงการบริหารจัดการน้ำโขง-เลย-ชี-มูลให้เป็นจริงได้ปัญหานี้ก็จะหมดไป

สำหรับโครงการบริหารจัดการน้ำโขง-เลย-ชี-มูลดังกล่าวนั้น  เป็นการใช้หลักทางวิศวกรรมที่จะนำน้ำที่มากมายมหาศาลจากแม่น้ำโขงเฉลี่ยปีละ 40,000 ล้านลบ.ม. บริเวณปากแม่น้ำเลย อ.เชียงคาน จ.เลย  เข้าสู่แม่น้ำชี และแม่น้ำมูล ไหลจากที่สูงลงสู่พื้นที่ตอนล่างตามแรงโน้มถ่วง  และกระจายน้ำเข้าสู่พื้นที่ชลประทานมากว่า 20 ล้านไร่ดังกล่าว

ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมากรมชลประทานได้มีการศึกษาความเหมาะสมลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)  และการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ของโครงการบริหารจัดการน้ำโขง-เลย-ชี-มูลโดยแรงโน้มถ่วงแล้ว พบว่าโครงการมีความเป็นไปได้ทางวิศวกรรม มีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมน้อย มีความคุ้มค่าทางด้านเศรษฐกิจ  ช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในภาคอีสานได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

"การที่จะสร้างความมั่นคงในเรื่องน้ำได้นั้น จะต้องมีแหล่งน้ำที่ใหญ่เพียงพอที่จะทำการเกษตรได้ตลอดทั้งฤดูกาลผลิต รัฐบาลจำเป็นจะต้องสร้างความสมดุลในเชิงนโยบาย ระหว่างการพัฒนากับการอนุรักษ์ว่าจะไปในทิศทางไหน พื้นที่ไหนบ้างควรอนุรักษ์ พื้นที่ไหนบ้างควรจะพัฒนาต้องกำหนดให้ชัดเจน” ดร.สมเกียรติ กล่าว

ถ้าไม่เริ่มต้นวันนี้  แล้วเมื่อไหร่โครงการฯ โขง เลย ชี มูล จะเป็นจริง!!

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 18 พฤษภาคม 2558

พด.หนุนใช้"ปุ๋ยอินทรีย์" สู้วิกฤติราคาพืชศก.ตกต่ำ

นายมงคล ทองจิบ ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินสตูล สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 12 เปิดเผยว่า ในสภาวการณ์ที่พืชเศรษฐกิจที่ปลูกมากในพื้นที่ภาคใต้อย่างยางพาราและปาล์มน้ำมันมีราคาตกต่ำ จนส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรอย่างมาก ดังนั้น สถานีพัฒนาที่ดินสตูล จึงส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาลดต้นทุนการผลิตโดยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตเองลดการใช้ปุ๋ยเคมี หรือถ้าเกษตรกรไม่สะดวกในการผลิตปุ๋ยใช้เองก็สามารถซื้อได้จากธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ที่กรมพัฒนาที่ดินจัดตั้งขึ้นในทุกจังหวัด อย่างที่ธนาคารปุ๋ยอินทรีย์จังหวัดสตูล มีการจำหน่ายปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงในราคากระสอบละ 300 บาท

โดยปกติเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราจะใส่ปุ๋ยเคมีเฉลี่ย 1 กระสอบต่อไร่ กระสอบละ 1,000 กว่าบาท ถ้าเกษตรกรปรับเปลี่ยนโดยลดการใส่ปุ๋ยเคมีลงเหลือครึ่งกระสอบ และมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์จากธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ 2 กระสอบต่อไร่ ราคาเพียง 600 บาท แม้ในช่วงแรกต้นทุนจะดูไม่แตกต่างเพราะปุ๋ยอินทรีย์ต้องใช้ในปริมาณที่มากกว่าปุ๋ยเคมี แต่เมื่อใช้ไปได้ระยะยาว ปุ๋ยอินทรีย์จะทำให้เกิดจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อดิน ช่วยปรับโครงสร้างดินจากกระด้างให้ดีขึ้น พืชสามารถดูดธาตุอาหารไปใช้ได้ดีขึ้น ผลผลิตก็เจริญงอกงามมากขึ้น และเกษตรกรสามารถลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีลงได้ จนในที่สุดอาจะไม่ต้องพึ่งพาปุ๋ยเคมีอีกเลย

พร้อมกันนั้น กรมพัฒนาที่ดินยังได้สนับสนุนปัจจัยการผลิตอย่างเมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสด วัสดุปรับปรุงบำรุงดินอย่างโดโลไมท์ หินปูนฝุ่น แจกจ่ายให้กับเกษตรกรโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เพื่อปรับปรุงสภาพดินให้ดีขึ้น ก็จะสามารถช่วยเกษตรกรเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ควบคู่กับการลดต้นทุน สร้างความมั่นคงและยั่งยืนในการประกอบอาชีพให้กับเกษตรกร

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 18 พฤษภาคม 2558

ปิดหีบ!อ้อยผลิตสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 105.95ล้านตันแต่ยิลด์ลดต่ำจากภัยแล้ง 

ปิดหีบอ้อยแล้ว! พบ ปริมาณอ้อยเข้าหีบฤดูการผลิตปี 57/58 ทำสถิติ สูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ แต่ยิลด์ลดต่ำจากภาวะภัยแล้งโดยอยู่ที่ 106.66 กก.ต่อตันทำให้ปริมาณน้ำตาลใกล้เคียงปีที่ผ่านมา จับตา 2 ปัจจัยใกล้ชิด 1. น้ำตาลโลกตกต่ำ 2. อ้อยปีหน้าพุ่งสูงส่อเกินอัตราหีบ

          แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้โรงงานน้ำตาลทรายทั่วประเทศได้ปิดหีบอ้อยทั้งหมดแล้วและได้สรุปปริมาณอ้อยเข้าหีบฤดูกาลผลิตปี 2557/58 ทั้งสิ้น 105.959 ล้านตัน ซึ่งเป็นการทำสถิติสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์จากฤดูการผลิตปี 56/57 มีอ้อยเข้าหีบทั้งสิ้น 103.66 ล้านตันโดยพบว่าทุกภาคมีอ้อยเพิ่มขึ้นยกเว้นภาคเหนือที่มีปริมาณอ้อยรวมลดลง 6.91% ขณะที่ ภาคตะวันออกมีปริมาณอ้อยรวมเข้าหีบเพิ่มขึ้นสูงสุดคิดเป็น16.49%

          "อ้อยเข้าหีบปีนี้มีปริมาณที่เพิ่มขึ้นจากฤดู การผลิตที่ผ่านมาประมาณ 2.29 ล้านตันหรือเพิ่มขึ้น 2.21% แม้ว่าอ้อยจะเพิ่มขึ้นแต่ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) 106.66 กิโลกรัม (กก.) ต่อตันอ้อย ลดลงจากฤดูการผลิตที่ผ่านมาที่ยิลด์อยู่ระดับ 109.02 กก. ต่อตันเนื่องจากอ้อยหลายพื้นที่เจอภัยแล้งทำให้ค่าความหวานเฉลี่ยอยู่ที่ 12.23 ซี.ซี.เอส. ต่ำกว่าปีที่แล้วที่มีความหวานอ้อยอยู่ที่ 12.56 ซี.ซี.เอส.และถึงแม้ว่า ปริมาณผลผลิตอ้อยในปีนี้จะสูงขึ้นกว่าเดิมแต่ปริมาณผลผลิตน้ำตาลจะใกล้เคียงกับปีที่แล้วที่ผลิตได้ 11.4 ล้านตัน" แหล่งข่าวกล่าว

          สำหรับแนวโน้มปริมาณอ้อยฤดูการผลิตปี58/59ที่พบมีปริมาณพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นจากการ ส่งเสริมนำพื้นที่นาดอนมาปลูกอ้อยแทนหากภาวะฝนไม่ทิ้งช่วงคาดการณ์ว่าปริมาณอ้อยเข้าหีบจะสูงถึงระดับ 110 ล้านตัน และทำให้ทุกฝ่ายกำลังจับตา 2 ปัจจัยใกล้ชิดได้แก่ 1. ราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกตกต่ำ โดยขณะนี้ราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกยังคงเคลื่อนไหวระดับต่ำเฉลี่ย 13 เซ็นต์ต่อปอนด์ซึ่งอาจจะส่งผลให้ราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิต58/59 เฉลี่ยจะอยู่เพียง 700-750 บาทต่อตันเท่านั้น

          ปัจจัยที่ 2 ปริมาณอ้อยที่เพิ่มขึ้นอาจไม่สอดคล้องกับกำลังหีบของโรงงานที่มีอยู่เนื่องจากพบว่าฤดูการหีบที่เพิ่งปิดไปนี้ปริมาณอ้อยที่เข้าหีบกับกำลังหีบที่มีอยู่ก็เริ่มเข้าสู่ภาวะตึงตัว หากอ้อยระดับ 110 ล้านตันขึ้นไปจะมีปัญหาแน่นอนขณะที่ การก่อสร้างโรงงานใหม่คงจะไม่ทันฤดูหีบที่จะถึง ในปลายปีนี้ประเด็นดังกล่าวจึงต้องติดตามอย่าง ใกล้ชิดล่าสุดกำลังทำเรื่องเวียนเห็นชอบคาดว่าจะ เข้า ครม.อนุมัติภายใน พ.ค.และ มิ.ย.น่าจะจ่ายเงินให้ชาวไร่ได้" แหล่งข่าวกล่าว

จาก http://manager.co.th  ที่ 18 พฤษภาคม 2558

'จักรมณฑ์'ลั่น'รมต.-ปลัด'เจ๋งยันไม่มีปรับย้ายทีม

          เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงกระแสข่าวรัฐบาลจะปรับ ย้ายรัฐมนตรีและปลัดด้านเศรษฐกิจว่า ไม่น่าจะเกิดขึ้นจริง เพราะทุกกระทรวงแก้ปัญหาไปได้ด้วยดี อย่างการประชุม กพช. ถือว่าได้วางรากฐานด้านนโยบายพลังงานที่ชัดเจนเป็นครั้งแรก ทำให้เห็นทิศทางการบริหารงานที่ดีขึ้น หรือกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารก็ได้วางระบบแผนนโนบายดิจิตอลอีโคโนมี หรือแผน 4 จี ถือว่าเรียบร้อยที่สุดนับจากที่เห็นมา ขณะที่กระทรวงการคลังได้วางระบบโครงสร้างด้านภาษีต่างๆ เข้าที่เรียบร้อยแล้ว สามารถแก้ปัญหาให้รัฐบาลในชุดต่อจากนี้ได้ เป็นการสะสางปัญหาที่เคยเกิดขึ้นในอดีต

          "ดูแล้วทุกกระทรวงทำงานดีมาก ไม่เคยมีรัฐบาลชุดใดที่สามารถวางแผนระยะยาวได้ขนาดนี้มาก่อน สามารถแก้ปัญหาเรื้อรังได้ ถือว่าทำงานที่มีประสิทธิภาพ และผมไม่เคยได้ยินเรื่องโยกย้ายมาก่อน เห็นแต่ในสื่อบางราย ในส่วนอุตสาหกรรมมั่นใจไม่มีการโยกย้าย หากจะมีการแต่งตั้งเพิ่มก็เป็นนโยบายรัฐ" นายจักรมณฑ์กล่าว

          นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงการเสนอชื่อโยกย้ายข้าราชการระดับ ซี 10 เพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาและเห็นชอบว่า การเสนอชื่อแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการนั้น เพื่อปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน โดยจะส่งเรื่องเข้า ครม.เพื่อพิจารณาและเห็นชอบเร็วที่สุด ขณะนี้ได้เตรียมรายชื่อย้ายข้าราชการ พร้อมกับรายชื่อแต่งตั้งข้าราชการแทนไว้แล้ว เพื่อไม่ทำให้ตำแหน่งงานว่างและสามารถปฏิบัติงานต่อได้เลย โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างภาคการเกษตร

          ข่าวแจ้งว่า สำหรับรายชื่อโยกย้ายข้าราชการยังคงอยู่ที่ 5 ตำแหน่งดังนี้ 1.นายจุมพล สงวนสิน อธิบดีกรมประมง 2.นายอยุทธ์ หรินทรานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ 3.นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร 4.นายโอภาส กลั่นบุศย์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ 5.นายศักดิ์ชัย ศรีบุญชื่อ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)

          นายศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ เลขาธิการ มกอช. กล่าวถึงกระแสมีชื่อติดโผโยกย้ายตำแหน่ง ในระดับอธิบดี ซี10 ของกระทรวงเกษตรฯ ว่า ไม่ทราบเรื่องและไม่รู้ด้วยว่า แหล่งข่าวที่เปิดเผยชื่อโยกย้ายมาจากไหน โดยการโยกย้าย คงอยู่ที่นโยบายของผู้บริหาร ที่ผ่านมาถือว่า ได้ทำหน้าที่ของตัวเองในฐานะที่เป็นหน่วยงานในการจัดทำระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร

          รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงานแจ้งว่า ภายหลัง ครม.มีคำสั่งย้ายนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) และได้ตั้งนายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน รักษาการปลัดกระทรวงพลังงาน เนื่องจากอาวุโสสูงสุดนั้น จึงคาดว่านายคุรุจิตน่าจะได้รับการแต่งตั้งเป็นปลัดกระทรวงพลังงานคนต่อไป

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 16 พฤษภาคม 2558

จักรมณฑ์'เผยเอกชนร่วมโครงการ1จว.1อุตฯ

           นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปีงบ ประมาณ 2558 กระทรวงได้ดำเนินโครงการ 1 จังหวัด 1 อุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร ต่อเนื่องเป็นปีที่ 9 โดยตอนแรกตั้งเป้าหมายว่าปีนี้มีอุตสาหกรรมแปรรูปเกษตรเข้าร่วมโครงการอย่างน้อย 130 โครงการ แต่ปรากฏว่ามีผู้เข้าร่วมโครงการแล้ว 158 โครงการจากทั่วประเทศ มากกว่าที่คาดไว้

          "ปีงบประมาณ 2558 กระทรวงได้ใช้งบประมาณ 32 ล้านบาท ดำเนินโครงการ เช่น การจ้างที่ปรึกษาไปให้คำแนะนำด้านแผนธุรกิจ การวางแผนด้านการอนุรักษ์พลังงานในองค์กรทั้งระยะสั้น กลาง และยาว ตลอดจนการช่วยเหลือด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการทำธุรกิจ ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่เริ่มดำเนินโครงการกว่า 9 ปี มีผู้ประกอบการที่เข้าร่วมกว่า 1,1096 ราย ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 323 ล้านบาท สามารถลดต้นทุนและสร้างมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมได้กว่า 3,600 ล้านบาท" นายจักรมณฑ์กล่าว

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 16 พฤษภาคม 2558

KTISกำไรสุทธิ Q1/58ที่ 555 ลบ.รอรับรู้รายได้เพิ่มจากรง.ไฟฟ้าใหม่

กลุ่ม KTIS ทำกำไรช่วง 3 เดือนแรก 555 ล้านบาท จากรายได้ 3,939 ล้านบาท เผยสายธุรกิจน้ำตาลโตเด่น 18.5% แย้มครึ่งปีหลังจะโดดเด่นกว่าครึ่งปีแรก เพราะการผลิตน้ำเชื่อมและน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์พิเศษ แถมมีโรงไฟฟ้าใหม่อีก 2 โรง กำลังการผลิตโรงละ 50 MW

   นายประพันธ์ ศิริวิริยะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เปิดเผยว่า ในไตรมาสแรกของปี 2558 (มกราคม-มีนาคม 2558) บริษัทและบริษัทย่อยมีรายได้รวม 3,939.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.6% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี 2557 ซึ่งมีรายได้ 3,730.5 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 554.9 ล้านบาท ลดลง 5.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการขายและการบริหารที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ รายได้ที่เพิ่มขึ้นมาจากสายธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายที่เพิ่มขึ้น 18.5% เนื่องจากมีปริมาณการส่งออกน้ำตาลเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ รายได้อื่นในไตรมาสแรกของปี 2558 จำนวน 111.5 ล้านบาท ก็เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปี 2557 ถึง 77.1% เนื่องจากมีรายได้ค่าสิทธิโควต้าน้ำตาลทรายมากขึ้น

“ไตรมาสแรกของปีนี้ สัดส่วนรายได้ของกลุ่มธุรกิจต่างๆ คือ การผลิตและจำหน่ายน้ำตาลและกากน้ำตาล 65.8% การผลิตและจำหน่ายเอทานอล 11.5% การผลิตและจำหน่ายเยื่อกระดาษฟอกขาวจากชานอ้อย 10.0% การผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล 6.1% และอื่นๆ 6.6%” นายประพันธ์กล่าว

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม KTIS กล่าวด้วยว่า ผลิตภัณฑ์ใหม่ของบริษัท คือน้ำเชื่อม (Liquid Sucrose) และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์พิเศษ (Super Refined Sugar) จะเริ่มผลิตและรับรู้รายได้ในปีนี้รวมถึงโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวลใหม่ 2 โรง กำลังการผลิตโรงละ 50 เมกะวัตต์ รวม 100 เมกะวัตต์ และการจำหน่ายปุ๋ยชีวภาพ อีกด้วยจึงเชื่อว่าผลการดำเนินงานในครึ่งปีหลังจะสูงกว่าครึ่งปีแรก

จาก http://www.thanonline.com วันที่ 15 พฤษภาคม 2558

เล็งเป้ากลุ่มเกษตรกร-เอสเอ็มอี-ยอมรับเม็ดเงินระบบไม่มี คลังเข็นมาตรการสู้ศก.ซบ

รมว.คลัง ยอมรับสารภาพ เศรษฐกิจไทยปีนี้ชะลอตัว ยันไม่ใช่ภาวะเงินฝืด แต่เม็ดเงินไม่ไหลเข้าระบบ เหตุแบงก์ไม่กล้าปล่อยกู้ รายได้กลุ่มส่งออกและเกษตรกรหดหาย รัฐบาลไม่มีทางเลือกต้องออกมาตรการกระตุ้น แย้มภายในปีนี้ได้เห็นแน่ เน้นกลุ่มภาคการเกษตร และผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ยังไม่อยู่ในภาวะเงินฝืด แต่เป็นสถานการณ์ที่เศรษฐกิจชะลอตัว เรียกว่าเงินไม่มี เนื่องจากประชาชนถูกปฏิเสธการขอสินเชื่อจากธนาคาร เพราะธนาคารกลัวเป็นหนี้เสีย ทำให้ไม่กล้าปล่อยกู้ นอกจากนี้ในส่วนรายได้จากการส่งออก ยังคงได้น้อย เนื่องจากการส่งออกหดตัว ทำให้เงินไม่สามารถเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในขณะเดียวกัน รายได้ของเกษตรกรก็ได้น้อยลง เนื่องจากราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ทำให้รายได้ของเกษตรกรน้อยลงตามไปด้วย

ทั้งนี้ ภาวะดังกล่าว ถือเป็นภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ชะลอตัว เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ปีนี้ซบเซามากกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งหากมองเศรษฐกิจทุกประเทศในปี 2558 ขยายตัวได้ต่ำกว่าปี 2557 ไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย มาเลเซีย เกาหลีใต้ และโดยเฉพาะจีนที่ในปี 2556 ขยายตัว 7.7% ในปี 2557 ขยายตัวได้ 7.4% แต่ปีนี้จะขยายตัวได้ 6.6-6.7% ต่ำกว่าปีที่ผ่านมา 1% ซึ่งคิดเป็นมูลค่าที่ลดลง ถือว่าสูงมากกว่าการส่งออกของไทยทั้งหมดที่ไปจีน นอกจากนี้ในปี 2559 คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะขยายตัวได้ 6.3%

นายสมหมายกล่าวว่า ภาครัฐคงหนีไม่พ้นที่ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ และภายในปีนี้อาจจะได้เห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในส่วนของการให้ความช่วยเหลือภาคการเกษตรและผู้ประกอบการเอสเอ็มอีออกมา อย่างไรก็ตาม แม้ภาคการส่งออกยังไม่สามารถฟื้นตัวจนทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ดี แต่รัฐบาลอยู่ระหว่างการปฏิรูปภาษี เพื่อให้รายได้ของประเทศมีการจัดเก็บอย่างเหมาะสม จึงจำเป็นต้องมีการขยายฐานภาษี โดยในส่วนของ พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก จะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวาระที่ 3 ภายใน 2-3 สัปดาห์นี้

“กระทรวงการคลังเตรียมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปีนี้ เน้นดูแลผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและภาคเกษตร ซึ่งกำลังศึกษาแนวทางต่างๆ ให้ชัดเจนก่อนประกาศใช้ในเวลาที่เหมาะสม เพื่อหวังให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวได้ 3.5% สูงขึ้นจาก

 ปีที่ผ่านมา 0.7% จึงเป็นระดับที่ไม่น่าเป็นห่วงเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจหลายประเทศ ซึ่งจะต้องใช้ระยะเวลาในการพิจารณา” นายสมหมาย กล่าว

 นายสมหมายกล่าวอีกว่า ขณะนี้ลงนามใบอนุญาตให้บริษัทเอกชนเพิ่มอีก 1 ราย เข้าร่วมโครงการนาโนไฟแนนซ์ คือ บริษัท ไอร่า แอนด์ไอฟุล จำกัด ส่วนใหญ่จะเริ่มเปิดให้บริการสินเชื่อได้ในช่วงเดือนมิถุนายน สำหรับทุนประกอบการมีความแตกต่างกันทั้งรายเล็ก รายใหญ่ 500-1,000 ล้านบาท จึงน่าจะทำให้ปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มต่างๆ ได้ครอบคลุมมากขึ้น

“เศรษฐกิจไทยในปีนี้ถือว่าโชคดี เราทำก็ไม่ได้เก่งมาก แต่เราโผล่ออกมาจากหลุมได้ หากย้อนดูเศรษฐกิจครึ่งปีแรกของปี 2557 ที่ขยายตัวติดลบ แต่ในครึ่งปีหลังรัฐบาลนำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้หามาตรการกระตุ้นอย่างต่อเนื่องจนขยายตัวเป็นบวก ทำให้ทั้งปี 2557 ขยายตัวได้ 0.7% โดยในปีนี้คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.5% ต่อปี” นายสมหมาย กล่าว

ขณะที่นายกมลธัญ พรไพศาลวิจิต ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ เปิดเผยว่า ทิศทางของค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มอ่อนค่า โดยหากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งต่อไปที่จะถึงนี้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 3 มีโอกาสอ่อนค่ามากกว่า 34 บาทต่อดอลลาร์ ขณะเดียวกันภาวะเศรษฐกิจในประเทศยังอ่อนแอ ซึ่งเห็นได้จากตัวเลขภาคการส่งออก ภาวะเงินเฟ้อที่ติดลบส่งผลให้ประเทศไทยเริ่มเกิดภาวะเงินฝืด เม็ดเงินลงทุนต่างชาติมีแนวโน้มจะไหลออก ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนกดดันให้ภาพรวมเงินบาทอ่อนค่า โดยมีโอกาสแตะ 34 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงที่เหลือของปีนี้

ด้านประเด็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) หากในการประชุมรอบเดือนมิถุนายนนี้ยังไม่ส่งสัญญาณขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทำให้มีโอกาสเห็นราคาทองในประเทศแตะระดับ 20,000 บาท ภายใต้ค่าเงินบาท 34 บาทต่อดอลลาร์

 และราคาทองโลกเฉลี่ยอยู่ที่ 1,230-1,250 เหรียญต่อออนซ์

“ปัจจัยเรื่องความกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะมีการขึ้นดอกเบี้ยนั้น คลี่คลายลง หลังจากการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในช่วงที่ผ่านมาพบว่ามีสัญญาณชะลอตัวของภาคการผลิตและภาคการบริโภคในประเทศ ทำให้การปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดน่าจะชะลอออกไป จากเดิมศูนย์วิจัยทองคำ วิเคราะห์ว่าหากเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมภายในเดือนกันยายน 2558 ราคาทองคำจะปรับตัวลดลงต่ำสุดใกล้ระดับ 1,100 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ เมื่อปัจจัยดังกล่าวคลี่คลายลง เชื่อว่าราคาทองคำจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ 1,160-1,220 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ หรือราคาภายในประเทศอยู่ที่ 18,000-19,500 บาทต่อบาททองคำ”

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 15 พฤษภาคม 2558

แจงสี่เบี้ย : กรมหมอดินกับกิจกรรม‘วันดินโลก’และ‘ปีดินสากล’

จากการที่สหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ (International Union of Soil Sciences : IUSS) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จัดการประชุมสภาดินโลก (World Soil Congress) ทุกๆ 4 ปี มีแนวคิดในการกำหนด “วันดินโลก” ขึ้น และได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้วันที่ 5 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้เป็น “วันดินโลก”

โดยเสนอผ่านองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations : FAO) ซึ่งทาง FAO ได้เห็นชอบเสนอต่อองค์การสหประชาชาติ ต่อมาที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ได้เห็นชอบอนุมัติให้วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันดินโลก ตั้งแต่ปี พ.ศ.2556 เป็นต้นมา

สำหรับกรมพัฒนาที่ดิน ซึ่งถือเป็นหน่วยงานหลักในการศึกษา สำรวจ จำแนก วิเคราะห์และวิจัยดิน จำแนกดินเพื่อนำไปใช้ในการกำหนดนโยบายการวางแผนการใช้ที่ดิน กำหนดบริเวณการใช้ที่ดิน ควบคุมการใช้ที่ดินที่มีการปนเปื้อนของสารเคมี นอกจากนี้ยังรวมถึงการอนุรักษ์ดินและน้ำ ปรับปรุงคุณภาพดิน เพื่อการสร้างผลผลิตได้อย่างยั่งยืน ได้จัดนิทรรศการวันดินโลก พร้อมการบรรยายวิชาการ ที่กรมพัฒนาที่ดิน พร้อมกับส่งผู้แทนไปจัดประชุมและจัดนิทรรศการที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา และที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี ถือเป็นการเปิดตัว “วันดินโลก” อย่างเป็นทางการ มีการจัดนิทรรศการโครงการพระราชดำริทีเกี่ยวกับการจัดการดิน ที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2557-กันยายน 2558 มีการจัดประชุมระดับชาติของนักวิทยาศาสตร์ดินของประเทศไทยทั้งหมดเกือบ 500 คน เมื่อเดือนเมษายน 2558 ที่จ.ขอนแก่น มีการประกวดภาพยนตร์สั้นในเรื่อง “พลังแผ่นดิน” และการประกวดสุนทรพจน์ เป็นภาษาอังกฤษ ในระดับอุดมศึกษา หัวข้อ “Healthy Soils for Healthy Life” ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ และจะมีการจัดประชุมนานาชาติ (International Soil Conference) ระหว่างวันที่ 18-21 สิงหาคม พ.ศ.2558 ณ โรงแรมรีเจ้นท์ ชะอำ จ.เพชรบุรี โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ จะเสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานเปิดการประชุม พร้อมพระราชทานถ้วยรางวัลแก่ผู้ชนะเลิศการประกวดภาพยนตร์สั้น และสุนทรพจน์ในครั้งนี้ด้วย

ส่วนกิจกรรม “ปีดินสากล” ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2558 จะมีการจัด “สัปดาห์ปีดินสากล”ระหว่างวันที่ 20-22 พ.ค.2558 มีการจัดนิทรรศการ “สมเด็จพระเทพฯ กับงานพัฒนาที่ดิน” ในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ 5 รอบ ทางกรมพัฒนาที่ดินจะได้นำโครงการที่ได้สนองพระราชดำริสมเด็จพระเทพฯ มาจัดแสดง การจัดเฉลิมฉลองปีดินสากล ส่วนหนึ่งเกิดมาจากทาง FAO ที่เรียกว่า Global Soil Partnership หรือ GSP ซึ่งทูตเกษตรไทย ณ กรุงโรม ได้รับเลือกเป็นประธาน ประเทศไทยจึงได้มีส่วนในการสนับสนุนเงินทุนตั้งต้น 100,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 3 ล้านบาท เพื่อสนับสุนนการจัดกิจกรรมปีดินสากล

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 15 พฤษภาคม 2558

กษ.เตรียมจัดใหญ่ เฉลิมพระเกียรติฯ ‘สมเด็จพระเทพ’พระชนมายุ5รอบ

นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้เตรียมการจัดงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 เพื่อเฉลิมพระเกียรติและเผยแพร่พระราชกรณียกิจที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เป็นไปอย่างกว้างขวาง และให้ประชาชนทั่วไปได้ร่วมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมอบหมายให้กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก และประสานการดำเนินงาน เช่น กิจกรรม สถานที่ และอื่นๆ กับหน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติให้เชื่อมโยงสอดคล้องกัน

นอกจากนี้ ยังได้จัดทำรายงานผลการดำเนินงานโครงการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในภาพรวมของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายรายงาน โดยจะรวบรวมและจัดทำเป็นรูปเล่มทูลเกล้าฯ ถวายต่อไป ทั้งนี้ ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานจัดทำรายงานสรุปผลการดำเนินงานโครงการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 เพื่อให้การจัดทำรายงานสรุปผลการดำเนินงานเป็น

 ไปอย่างพระสมเกียรติ และจะจัดส่งให้แก่หน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้อง เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การดำเนินงานตามพระราชกรณีย์กิจต่อไป

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 15 พฤษภาคม 2558

เลาะรั้วเกษตร : วันของเกษตรกร 

วันก่อนได้ดูข่าวโทรทัศน์ เห็นปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชวลิต ชูขจร สวมเสื้อม่อฮ่อม และกางเกงขาก๊วยผ้าม่อฮ่อมเข้าชุดกันแบบชาวนาไทย เป็นประธานเปิดอาคารแสดงประเทศไทย ในงาน “เอกซ์โป มิลาโน 2015” ที่เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี ในขณะที่ผู้ร่วมงานแต่งกายด้วยชุดสากลอย่างเท่........ไม่ว่าจะเป็น เสี่ยตา-ปัญญา นิรันดร์กุล หุ้นส่วนของ “เวิร์ค ไรท์” บริษัทร่วมค้า ระหว่าง ไรท์แมน กับ เวิร์ค พอยท์ ที่ตกลงรวมกันเฉพาะกิจ เพื่อการรับจัดงานนี้โดยเฉพาะ....นอกจากนี้ยังเห็นผู้หลักผู้ใหญ่ของกระทรวงเกษตรฯอีกหลายท่าน ไปร่วมงานด้วย สวมสูทผูกไท ใส่งอบ...คอนเซ็บต์อะไรไม่รู้ หรือคอนเซ็บต์ “งอบ” ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมอาคารแสดงของประเทศไทย และ สัญลักษณ์แทนเกษตรกรไทย...ว่ากันไป...ฝรั่งคงชอบใจ แต่คนไทยงง

ผ่านมาอีกสัปดาห์ ได้เห็นท่านปลัด ชวลิต ชูขจร นุ่งขาว ห่มขาว ทำพิธีบวงสรวงบูรพกษัตริย์ไทย และพระพิรุณทรงนาค เพื่อเตรียมประกอบพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ และอีกไม่กี่วันถัดมา ท่านปลัด ชวลิต ชูขจร ก็ทำหน้าที่พระยาแรกนาขวัญ เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม ที่ผ่านมา พระยาแรกนาขวัญปีนี้เสี่ยงทายผ้านุ่ง ได้ผ้า 4 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำจะมากสักหน่อย นาในที่ดอนจะได้ผลบริบูรณ์ นาในที่ลุ่มอาจเสียหายบ้าง ได้ผลไม่เต็มที่ เสี่ยงทายพระโคกินเลี้ยง ปีนี้พระโคแรกนาชื่อ พระโคฟ้า และพระโคเลิศ ผลการเสี่ยงทาย ปรากฏว่าพระโคกินหญ้า พยากรณ์ว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหารผลาหาร ภักษาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี

ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญปีนี้ มีเกษตรกร สถาบันเกษตรกร เข้ารับพระราชทานรางวัลเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติสาขาต่างๆ รวม 38 ราย ประกอบด้วย เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ 15 สาขาอาชีพ สถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ 13 กลุ่ม สหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ 7 สหกรณ์ และ ปราชญ์เกษตรแห่งแผ่นดิน 3 สาขา

สำหรับวันพืชมงคล ซึ่งตรงกับวันที่ 12 พฤษภาคม (ก่อนวันจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ 1 วัน) นั้น ได้กำหนดให้เป็น “วันเกษตรกร” ด้วย โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กล่าวปราศรัยเนื่องใน“วันเกษตรกร” ด้วย........ ก็เป็นไปตามธรรมเนียมของการเขียนคำปราศรัย ที่จะต้องยกย่องเชิดชู ความสำคัญของเกษตรกร พร้อมทั้งไล่เลียงผลงานที่รัฐบาล โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินการไปแล้ว เช่น การลดต้นทุนการผลิต การปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตร การให้สหกรณ์เพิ่มบทบาทในการซื้อผลผลิตทางการเกษตร การแปรรูป และการส่งออกสินค้าเกษตร

นอกจากนี้ยังกล่าวถึงการช่วยเหลือเกษตรกรในกรณีเร่งด่วน เช่น ชดเชยรายได้ให้ชาวนา และชาวสวนยาง ที่ได้รับผลกระทบจากราคาผลผลิตตกต่ำ การช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง การสร้างรายได้ให้คนในชุมชนในพื้นที่ประสบภัยแล้ง.....แต่ไม่ได้กล่าวว่า การดำเนินการเหล่านั้นได้ผลประการใด

นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวต่อไปว่า รัฐบาลยังมีแผนดำเนินการ คือ การปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรให้เป็นปัจจุบัน การเสนอร่างและปรับปรุงกฎหมายเพื่อสนับสนุนภาคการเกษตร เช่น พ.ร.บ.รายได้และสวัสดิการเกษตรกร พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พร้อมกันได้ขอให้เกษตรกรให้ความร่วมมือ เช่น ให้ความร่วมมือในการขึ้นทะเบียน พร้อมทั้งปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ต่างๆ.......แต่ท่านนายกฯ ลืมขอความร่วมมือข้าราชการ หรืออดีตนักการเมืองบางคนว่า อย่าถือโอกาสใช้ข้อมูลเกษตรกร และโครงการช่วยเหลือเกษตรกร ต่างๆ ไปเป็นช่องทางทำมาหากิน หาประโยชน์ให้ตนเองและพวกพ้อง เหมือนในอดีตที่ผ่านมา

ก่อนหน้าวันแรกนาขวัญ 1 วัน มีข่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา จะโยกย้ายอธิบดีกรมต่างๆ ถึง 5 กรมด้วยกัน หวยไปออกที่ อธิบดีกรมประมง จุมพล สงวนสิน อธิบดีกรมปศุสัตว์ อยุทธ์ หรินทรานนท์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ โอภาส กลั่นบุศย์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร อนันต์ สุวรรณรัตน์ และ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ ด้วยเหตุผลว่า ท่านเหล่านี้ผลงานยังไม่น่าพอใจ เช่น เรื่อง IUU ที่กรมประมงยังแก้ปัญหาได้ไม่ถึงไหน แถมยังโดนใบเหลืองซ้ำมาอีก หรือเรื่อง สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ที่แม้ข่าวคราวจะซาลงไป แต่คดีความยังไม่คืบไปไหน

เรื่องสารเคมีปัญหาคลาสสิกของกรมวิชาการเกษตรที่ต่อให้ใครมาเป็นอธิบดี เก่งแค่ไหนก็ต้องโดนจนได้ เพราะเป็นประเด็นที่ NGO จ้องเล่นงานอยู่แล้ว งานประจำของเขาละ.....แต่อธิบดีอนันต์ สุวรรณรัตน์ ยังมีเรื่องยางแถมมาด้วย ทั้งๆ ที่ไม่ใช่สิ่งที่ตนเองก่อขึ้น แต่คนก่อมีอำนาจเหนือกว่าจึงงานเข้าไปตามธรรมเนียม ส่วน มกอช. กับปศุสัตว์ ไม่แน่ใจว่ามีเรื่องหนักอกหนักใจท่านรัฐมนตรีอย่างไรบ้าง จึงถูกหวยไปกับเขาด้วย

ก่อนจบ ขอแสดงความยินดี กับ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ และ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ บริสุทธิ์ เปรมประพันธ์ ที่ได้รับแต่งตั้งเป็น ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หลังจากรอเข้า ครม. เก้อมาหลายครั้งแล้ว

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 15 พฤษภาคม 2558

คนไทยเลิกทำเกษตร 4.3 แสนคน

คนไทยเลิกทำเกษตร 4.3 แสนคนสำนักงานสถิติแห่งชาติเปิดผลสำรวจคนทำงานเดือนเม.ย.58 พบคนหนีภาคเกษตรไปทำงานทำโรงงานมากสุด 4.3 แสนคนวันศุกร์ที่ 15 พฤษภาคม 2558 เวลา 19:00 น. หมวด: เศรษฐกิจ คำสำคัญ: การทำงาน เกษตร รายงานข่าวจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) เปิดเผยผลสำรวจการมีงานทำของคนไทยเดือนเม.ย.58 พบว่า จากจำนวนผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน หรือผู้ที่พร้อมทำงาน 38.28 ล้านคน โดยเป็นผู้ที่มีงานทำ 37.53 ล้านคน แบ่งเป็น ผู้ทำงานในภาคเกษตรกรรม 10.61 ล้านคน และนอกภาคเกษตรกรรม 26.92 ล้านคน หากเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน พบว่า จำนวนผู้ทำงานในภาคเกษตรลดลง 430,000 คน แต่นอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 630,000 คน โดยเพิ่มขึ้นในสาขาการผลิตมากที่สุด 400,000 คน รองลงมา คือ สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร 100,000 คน สาขาการขนส่ง และสถานที่เก็บสินค้า สาขาบริหารราชการ การป้องกันประเทศ และการประกันสังคมภาคบังคับ สาขากิจกรรมด้านสุขภาพและงานสังคมสงเคราะห์ และสาขากิจกรรมอสังหาริมทรัพย์ส่วนสาขาที่ลดลงมากที่สุด เป็น สาขากิจกรรมทางการเงินและประกันภัย 80,000 คน รองลงมา คือ สาขาก่อสร้าง 60,000 คน สาขาการขายส่ง ขายปลีก การซ่อมรถยนต์ และจักรยานยนต์ 30,000 คน สาขากิจกรรมบริการ เช่น กิจกรรมบริการเพื่อสร้างเสริมสุขภาพร่างการ การดูแลสัตว์เลี้ยง การบริการซักรีดและซักแห้ง10,000 คน และที่เหลือกระจายอยู่ในสาขาอื่นๆ“

จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 15 พฤษภาคม 2558

กรมชลประทานรายงานสถานการณ์น้ำเขื่อนใหญ่น้ำยังน้อยอยู่

กรมชลประทาน รายงาน สถานการณ์น้ำในเขื่อนใหญ่ ส่วนใหญ่น้ำยังน้อย แต่ยังเพียงพอใช้

ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำกรมชลประทาน รายงานสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศล่าสุด(14 พ.ค. 58) มีปริมาณน้ำรวมกัน จำนวน 35,440 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 50 ของความจุอ่างฯขนาดใหญ่รวมกันทั้งหมด มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันทั้งสิ้นประมาณ 11,937 ล้านลูกบาศก์เมตร

สถานการณ์น้ำในเขื่อนใหญ่ หลายแห่งมีน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย แต่ปริมาณน้ำที่มีอยู่ ยังสามารถสนับสนุนการอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศน์ได้อย่างเพียงพอไม่ขาดแคลน ประกอบกับขณะนี้ในหลายพื้นที่ เริ่มมีฝนตกลงมาบ้าง เนื่องจากใกล้เข้าสู่ฤดูฝนแล้ว จึงขอให้เกษตรกรใช้น้ำฝนและน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติให้เกิดประโยชน์มากที่สุด เพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ในกรณีที่เกิดฝนทิ้งช่วงในหน้าฝนนี้

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 15 พฤษภาคม 2558

อุตฯเปิดงานยักษ์ สินค้าเครื่องจักรดันไทยสู่ 'ไฮเทค  

          * เปิดงานแสดงสินค้าเครื่องจักรโชว์เทคโนโลยีใหม่ หวังช่วยยกระดับไทยผลิตภัณฑ์สินค้าไฮเทค คาดงานนี้คนร่วมงานกว่า 4 หมื่นจาก 40 ประเทศ ด้านบีโอไอหวังจับคู่ธุรกิจ 4 พันคู่ มีมูลค่ากว่า 7 พันล้านบาท

          นายจักรมนฑ์ ผาสุขวนิช  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวภายหลังการเปิดงานแสดงเทคโนโลยีเครื่องจักรกลและอุตสาหกรรมรับช่วงการผลิต หรือินเตอร์แมค และงานซับคอน ไทยแลนด์ 2015 ว่า การจะผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมไทยมีความก้วหน้า จะต้องปรับรูปแบบการผลิตไปสู่การผลิตสินค้าที่ต้องใช้ทักษะด้านการผลิตระดับสูง ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องเตรียมพร้อมในการปรับปรุงเทคโนโลยีต่างๆ กระทรวงอุตสาหกรรมจึงร่วมกับภาคเอกชนจัดงานครั้งนี้ เพื่อแสดงเทคโนโลยีเครื่องจกรกลและศักยภาพของอุตสาหกรรมรับช่วงการผลิตไทยและอาเซียนระดับภูมิภาค

          ด้าน นายมนู เลียวไพโรจน์ ประธาน บริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าในปีนี้มีบริษัทชั้นนำจากประเทศต่างๆ กว่า 1,200 บริษัท จาก 40 ประเทศทั่วโลกนำเทคโนโลยีเครื่องจักรและอุปกรณ์ล่าสุดมาจัดแสดง คาดว่าหลังจากจบงานจะมีจำนวนผู้เข้าชมงานมากกว่า า4 หมื่นคน

          ขณะที่ นางหิรัญญา สุจินัย รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า บีโอไอเป็นหนึ่งในผู้ร่วมจัดงานซัปคอนฯ โดยจะเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนที่เข้าร่วมงานได้พบปะเจรจากับผู้ซื้อชิ้นส่วนระดับโลกกว่า 2 หมื่น คนจาก 15 ประเทศ ซึ่งในปีที่ผ่านมาประสบความสำเร็จอย่างสูงด้านการเชื่อมโยงผู้ผลิตไทยกับต่างชาติเกิดการจับคู่ทางธุรกิจมากถึง 3.862 คู่ คิดเป็นมูลค่าทางธุรกิจรวมกว่า 7 พันล้านบาท และเป็นตัวเลขที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด

          สำหรับการจัดงานในปี 2558 คาดว่าจะมีการเจรจาจับคู่ทางธุรกิจกับผู้ผลิตชิ้นส่วนที่เข้าร่วมงานได้ไม่น้อยกว่า 4 พันคู่ คิดเป็นมูลค่าการเชื่อมโยงมากกว่า 7 พันล้านบาท โดยปีนี้มีผู้แสดงชิ้นส่วนอุตสาหกรรมเข้าร่วมจาก 15 ประเทศ รวมทั้งสิ้น 300 คูหา

จาก http://www.komchadluek.net   วันที่ 15 พฤษภาคม 2558

สมาคมอ้อยวอนรัฐทบทวนเกณฑ์ตั้งโรงงาน

 แหล่งข่าวจากสมาคมชาวไร่อ้อย  เปิดเผยว่า สมาคมได้ตกลงกันว่าจะเสนอให้รัฐบาลได้ทบทวนมติคณะรัฐมนตรี  โดยกำหนดหลักเกณฑ์ใหม่สำหรับการขออนุญาตประกอบกิจการโรงงานน้ำตาล ที่จะส่งผลกระทบต่อชาวไร่อ้อยทั่วประเทศ และกีดกันการตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ในทางปฏิบัติ อันขัดต่อนโยบายส่งเสริมการแข่งขันเสรีของรัฐบาล

          อย่างไรก็ตาม มติครม.ดังกล่าว ได้เห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงอุตสาหกรรม (ร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม) ที่ได้กำหนดให้โรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ต้องตั้งในพื้นที่ที่มีระยะห่างจากเขตโรงงานที่มีอยู่เดิมในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 50 กิโลเมตร (ระยะทางจริง วัดเชิงเส้นตรง) จากเดิมหลักเกณฑ์คือให้ห่างจากโรงงานเดิมไม่น้อยกว่า 80 กิโลเมตร ระยะทางตามถนนเส้นที่สั้นที่สุดระหว่าง 2 โรงงาน

          "ทั้งนี้เมื่อดูเผินๆ เหมือนจะอนุญาตให้ตั้งโรงงานใกล้กันมากขึ้น แต่ในความเป็นจริงตรงกันข้ามกลับกำหนดให้ 2 โรงงานต้องห่างกันมากขึ้นในทางปฏิบัติ แถมมีเงื่อนไข ต้องส่งเสริมการปลูกอ้อย และอื่นๆ พ่วงอีก ทำให้การตั้งโรงงานใหม่ยากขึ้น และส่งผลดี ต่อโรงงานที่มีอยู่ก่อนแล้ว  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายใหญ่ ก็เท่ากับกีดกันการเกิดของโรงงานใหม่ และลดการแข่งขันเสรีโดยปริยาย อันเป็นอุปสรรคต่อยุทธศาสตร์อ้อยโรงงานและน้ำตาล ทราย ที่มุ่งส่งเสริมให้มีโรงงานน้ำตาลเพิ่มขึ้นให้สอดคล้องกับการขยายพื้นที่ปลูกอ้อย

          ขณะที่หลักเกณฑ์ใหม่นี้ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในพื้นที่ หากพิจารณา จากโรงงานที่มีอยู่ปัจจุบัน ก็จะพบว่าแทบจะไม่สามารถหาพื้นที่สำหรับตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ได้ เพราะพื้นที่ที่เหลือส่วนใหญ่อยู่ในภาคอีสานตอนล่างซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวคุณภาพดีของประเทศ ที่เหลือเป็นพื้นที่ในเขตป่าและภูเขา ที่สำคัญหากระยะห่างระหว่างโรงงานเพิ่มขึ้นก็จะเป็นการเพิ่มต้นทุนการขนส่งอ้อยเข้าโรงงานของเกษตรกรชาวไร่อ้อยโดยปริยาย อันเป็นการเพิ่มต้นทุนด้านขนส่ง Logistic ของประเทศ

          "ดังนั้นหากรัฐบาลต้องการปลดล็อก ให้เกิดโรงงานน้ำตาลใหม่มากขึ้นจริง ควรจะกำหนดให้ระยะห่างของโรงงานใหม่กับโรงงานที่มีอยู่เดิมให้เหลือเพียงไม่น้อยกว่า 50 กิโลเมตร (ระยะทางถนนเส้นที่สั้น ที่สุดระหว่าง 2 โรงงาน) หรือไม่น้อยกว่า 30 กิโลเมตร (ระยะทางจริงวัดเชิงเส้นตรง)"

จาก http://www.iqnewsclip.com วันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 

รัฐยกเครื่องออก'ใบอนุญาต'แก้ปมใต้โต๊ะ-บี้20กระทรวงดีเดย์21ก.ค. 

          หน่วยงานรัฐผวากฎเหล็ก  พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกฯ มท.จี้ผู้ว่าฯ-ท้องถิ่นเร่งติวเข้ม ก่อนเดดไลน์ 21 ก.ค.นี้ หวั่นออกใบอนุญาต-อนุมัติ- รับจดทะเบียนไม่ทันกำหนดเจอทั้งโทษวินัย อาญา กระทรวงอุตฯก้นร้อนออกใบ รง.4 ออนไลน์   ด้านสภาอุตฯ-สภาหอ-สมาคมอสังหาฯเชียร์ลั่น ชี้หนุนศักยภาพไทยรับมือแข่งขันใน AEC ก่อน พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวก ในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 จะมีผลบังคับใช้เป็นทางการ 21 ก.ค. 2558 ซึ่งหน่วยงานราชการ 20 กระทรวง รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หรือกิจการอื่นใดของรัฐ ต้องลดกระบวนการขั้นตอนในการอนุญาต อนุมัติ การจดทะเบียน ขึ้นทะเบียน รับแจ้ง การให้ประทานบัตร อาชญาบัตร ฯลฯ ให้ประชาชนสามารถใช้บริการได้สะดวกรวดเร็ว ค่าใช้จ่ายถูกลง ทำให้หน่วยงานรัฐต้องปรับรูปแบบการบริการทั้งระบบเพื่อให้สอดรับกับกฎหมายใหม่

          ช่วงเวลา 2 เดือนเศษจากนี้ไป นอกจากหน่วยงานตั้งแต่ระดับกระทรวง กรม จังหวัด ไปจนถึง อปท. ฯลฯ ที่มีหน้าที่ ในการอนุญาต อนุมัติ ต่างเตรียมความพร้อม ยกระดับการให้บริการสู่ยุคใหม่ ทั้งจัดทำคู่มือสำหรับประชาชนปิดประกาศในสถานที่ที่กำหนดให้ยื่นคำขออนุญาต อนุมัติ และเผยแพร่ทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ การจัดตั้งศูนย์บริการร่วมและศูนย์รับ คำขออนุญาตแล้ว

          กระทรวงอุตฯปรับระบบบริการ

          นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ในส่วนของกระทรวงได้เตรียมความพร้อม ก่อนบังคับใช้ พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยมอบหมาย ให้ทุกกรมดำเนินการ และให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบ เน้นเรื่องการออกใบอนุญาต ซึ่งได้จัดทำคู่มือสำหรับประชาชนหรือผู้ประกอบการ ทราบถึงขั้นตอนการให้บริการ เอกสารหลักฐานที่ต้องใช้ประกอบการพิจารณา รวมถึง ช่องทางการยื่นคำขอ การติดตามความคืบหน้า ในการพิจารณา และสามารถร้องเรียนได้หากกระบวนล่าช้า เพราะหากประชาชนตรวจสอบได้ก็จะลดปัญหาฟ้องหรือร้องเรียน กับทางรัฐอีกทางหนึ่ง

          ล่าสุด กระทรวงการคลังอนุมัติงบฯ 20 ล้านบาท ให้กระทรวงลงทุนระบบออนไลน์ภายในหน่วยงานทั้งหมด อาทิ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เพื่อเปิดให้ประชาชน ผู้ประกอบการ ยื่นแบบฟอร์ม เอกสาร ผ่านออนไลน์ได้โดยไม่ต้องเข้ามายื่นที่หน่วยงาน

          ขอ รง.4-ประทานบัตรออนไลน์

          จากเดิมการจะยื่นเอกสารแต่ละครั้งต้องใช้หลายอย่าง เดินเรื่องหลายครั้ง แต่จากนี้จะยื่นคำขอผ่านระบบออนไลน์ได้นับตั้งแต่กระบวนการแรก และกระทรวงก็สามารถอนุมัติใบขออนุญาตได้ภายใน 30 วัน หรือเร็วกว่านั้น ผ่านทางออนไลน์ได้เลย ซึ่งการใช้ระบบออนไลน์เป็นการตอบสนองนโยบายภาครัฐเรื่อง Digital Economic คาดว่าระบบจะแล้วเสร็จ ในอีก 5-6 เดือนข้างหน้า

          "เอกชนเห็นชอบมาก เพราะการออกใบอนุญาตจะเร็วยิ่งทำให้เห็นการลงทุนเร็ว อย่างการอนุมัติใบอนุญาต ประทานบัตร อาชญาบัตร ทำเหมืองแร่ นักลงทุนเริ่มคึกคัก ช่วยเศรษฐกิจเติบโตได้ดีขึ้น การขอใบอนุญาตตั้งโรงงาน (รง.4) เดิมเมื่อยื่นมาแล้วค้างหลายปีก็มี ตอนนี้มี 3,000-5,000 ใบคำขอ แต่ส่วนใหญ่อนุมัติเกือบหมดแล้ว ค้างคงส่วนน้อยเพราะติดเรื่องเอกสารไม่ครบ"

          นายสุรพงษ์ เชียงทอง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เปิดเผยว่า ในส่วนของ กพร. ได้จัดทำคู่มือสำหรับประชาชนโดยเฉพาะเรื่องเหมืองแร่แล้ว 40 คู่มือ อาทิ การสำรองแร่ การแต่งแร่ ธุรกิจแร่ต่าง ๆ ส่วนของกรมโรงงานฯอีก 3 คู่มือ และในวันที่ 13-14 พ.ค.นี้ จะเรียกหน่วยงานผู้ใช้มารับทราบคู่มือทั้งหมด จะต้องให้เสร็จเรียบร้อยภายใน 21 พ.ค. 2558 นี้

          "กสทช." จัดทำคู่มือประชาชน

          ขณะที่นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ภายในสิ้นเดือน พ.ค.นี้ จะประกาศคู่มือการขอรับใบอนุญาตจาก กสทช.ให้ประชาชนทราบว่าใบอนุญาตประเภทใด ต้องใช้เอกสารใดบ้าง และจะใช้เวลาในการขอรับใบอนุญาตเท่าใด เพื่อปฏิบัติตามที่ พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกฯ ซึ่งเตรียมความพร้อมมาระยะ หนึ่งแล้ว เบื้องต้นได้ข้อสรุปว่าการขอ ใบอนุญาตภายใต้กรอบอำนาจสำนักงาน กสทช. อาทิ ขอนำเข้าโทรศัพท์เคลื่อนที่หรืออุปกรณ์โทรคมนาคมใช้เวลาไม่เกิน 7 วัน นับจากได้รับเอกสาร และต้องมีหลักฐานยืนยันผ่านตรวจสอบมาตรฐานทางเทคนิคด้วย

          ขณะนี้เหลือเพียงการตกลงระหว่าง หน่วยงานภายในสำนักงาน กสทช. เกี่ยวกับ กรอบเวลาในการอนุมัติใบอนุญาตที่ต้องผ่านการพิจารณาของบอร์ด กสทช. กรณีที่ชมรมผู้ประกอบการโครงข่ายทีวีดาวเทียมยื่นหนังสือร้องเรียน ปัญหานำเข้าอุปกรณ์กล่องแปลงสัญญาณ (Set Top Box) จะตรวจสอบก่อนว่าเกิดขึ้นเพราะเหตุใด

          นำเข้าอุปกรณ์ทีวีดาวเทียมโวย

          นายมานพ โตการค้า ประธานชมรมผู้ประกอบการโครงข่ายทีวีดาวเทียม เปิดเผยว่า ตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา สมาชิกชมรมไม่สามารถนำเข้าอุปกรณ์ได้ เนื่องจาก กสทช.ไม่ออกใบอนุญาตให้ แจ้งว่า มติคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) กำหนดให้ต้องมีใบสั่งซื้อจากเจ้าของโครงข่ายก่อน ซึ่งเปลี่ยนหลักเกณฑ์โดยไม่แจ้งให้ผู้ประกอบการ ทราบ ทำให้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ หากไม่สามารถปลดล็อกนี้ได้อาจเกิดภาวะขาดแคลนกล่องรับสัญญาณทีวีดาวเทียม และส่งผลกระทบตั้งแต่โรงงานผลิต จนถึงผู้จำหน่ายรวมกัน 2-3 พันล้านบาท

          จี้รัฐเร่งพิจารณา EIA

          สำหรับความเคลื่อนไหวของภาคเอกชน นายกิตติ ตั้งจิตรมณีศักดา เลขาธิการ รองประธานงานกฎหมาย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เอกชนสนับสนุน พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกฯ ตามมติของคณะกรรมการร่วม 3 สถาบันภาคเอกชน (กกร.) เพราะจะช่วยให้กระบวนการขอใบอนุญาตจากหน่วยงานรัฐโปร่งใส ประชาชนตรวจสอบได้ โดยเฉพาะขั้นตอนการออกใบอนุญาตที่ล่าช้า เพราะกฎหมายใหม่กำหนดระยะเวลาชัดเจน ต้องเสร็จเรียบร้อยภายใน 15 วัน หากเกินต้องแจ้งเหตุผลให้ประชาชนหรือผู้ประกอบการที่ยื่นคำขอรับทราบ

          นายวิชัย อัศรัสกร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวเช่นเดียวกันว่า ภาคเอกชนเห็นด้วยอย่างยิ่งที่รัฐบาลออกฎหมายนี้ จะช่วยป้องกันการเรียกรับสินบนของหน่วยงานราชการได้ อีกทั้ง เพิ่มประสิทธิภาพการพิจารณาออกใบอนุญาตให้รวดเร็ว และมีขั้นตอนรายละเอียด ของเอกสารชัดเจนขึ้น ช่วยเพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพในการแข่งขันเมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)  เพราะหลายประเทศ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ มีกระบวนขั้นตอนการพิจารณาใบอนุญาตรวดเร็วกว่าไทยมาก

          ส่วนประเด็นโครงการลงทุนที่ต้องยื่นรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ดูแลนั้น เอกชนขอให้รัฐบาลให้ความสำคัญด้วย เนื่องจากการอนุมัติล่าช้า ส่งผลกระทบ ต่อการลงทุน จึงอยากให้กำหนดกรอบระยะเวลาพิจารณาให้ชัดเจน

          หวั่น "วันสต็อปเซอร์วิส" ไม่จริง

          นายอิสระ บุญยัง นายกกิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร และนายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวในทำนองเดียวกันว่า ปัจจุบันการยื่นขออนุญาตเกี่ยวกับอสังหาฯปัจจุบันยังล่าช้า แม้จะมีกรอบเวลากำหนด เช่น ขออนุญาตจัดสรรที่ดิน กรณีเอกสารครบและไม่ขัดกฎหมายพิจารณาเสร็จใน 45 วันนับจากได้รับคำขอ แต่ประเด็นคือก่อนขอจัดสรรต้องยื่นขออนุญาตจากหน่วยงานอื่น 20 หน่วยงาน เช่น ขอเชื่อมทางท้องถิ่นหรือกรมทางหลวง, ขอรับรองผังเมือง จากสำนักการโยธาหรือโยธาธิการจังหวัด ฯลฯ หากลดขั้นตอนได้จะเป็นเรื่องที่ดี โดยเฉพาะกฎหมายใหม่กำหนดให้ตั้งศูนย์วันสต็อปเซอร์วิส แต่ต้องรอดูว่าจะทำได้จริงหรือไม่

          หน่วยราชการยกเครื่องบริการ

          ในส่วนของกระทรวงมหาดไทย นอกจากนายวิบูลย์ พงศ์สงวน ปลัดกระทรวงมหาดไทย จะทำถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกจังหวัดทั่วประเทศ และ อปท. ให้ตรวจสอบ ความถูกต้องครบถ้วนในการจัดทำ คู่มือบริการประชาชน และกำชับให้ ทุกหน่วยงานให้ความสำคัญกับการดำเนินการตาม พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกฯ และจะจัดประชุมระบบวีดิทัศน์ทางไกลผ่านดาวเทียมเพื่อเตรียมความพร้อม ในวันที่ 14 พ.ค.นี้ โดยมีผู้แทนสำนักงาน คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ ดูแลเรื่องการยกระดับการให้บริการของหน่วยงานรัฐทั้งระบบแล้ว หน่วยงานในสังกัดหลายหน่วยงานก็เร่งปรับการให้บริการรูปแบบใหม่ด้วย

          โดยนายพีระพงษ์ สายเชื้อ รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า กทม.จัดทำคู่มือขั้นตอนสำหรับประชาชน และเจ้าหน้าที่ กทม. เช่น งานทะเบียน การขออนุญาตก่อสร้าง ฯลฯ และจะตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จประจำทั้ง 50 เขต

          ขณะที่นายจิรุตม์ วิศาลจิตร รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เตรียมพร้อมเรื่องกรอบเวลาการดำเนินการ เช่น การออกใบอนุญาต การชำระภาษี เป็นต้น อย่างศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ มาที่เดียวทำได้ ทุกอย่าง ซึ่งจะทบทวนใหม่และทำให้ชัดเจน กำหนดขั้นตอนแล้วเสร็จตามกรอบกฎหมายใหม่ซึ่งไม่เกินกรอบเวลาเดิม เช่น เสียภาษีรถยนต์ ถ้าไม่นับการรอคิวและเอกสารพร้อมภายใน 3 นาทีเสร็จแล้ว

          ท้องถิ่นรอความชัดเจน

          นายธีรศักดิ์ พานิชวิทย์ เลขาธิการสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย นายสรณะ เทพเนาว์ นายกสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย และนายประเสริฐ วชิรเขื่อนขันธ์ ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย (ส.ท.ท.) และนายกเทศมนตรีเมืองพระประแดง จ.สมุทรปราการ สะท้อนมุมมองคล้าย ๆ กันว่า การออก พ.ร.บ.ฉบับนี้ ถือเป็นเรื่องที่ดี โดยท้องถิ่นเองก็ต้องยกระดับตัวเองพัฒนาการทำงาน และการอำนวยความสะดวกประชาชนมากขึ้น

          ขณะนี้ประเมินว่าหน่วยงานราชการมีความรับรู้เกี่ยวกับ พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกฯ เพียงแค่ 30-40%  หากระดับนโยบายกำชับเป็นลายลักษณ์อักษรน่าจะตื่นตัวมากยิ่งขึ้น และควรให้ภาคประชาชนเข้ามามีบทบาทด้วยจึงจะสัมฤทธิผล

          "อารีพงศ์" นั่งคุมยกเครื่องบริการ

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่หน่วยงานรัฐเตรียมพร้อมปรับระบบการให้บริการ ที่ประชุม ครม.เมื่อ 12 พ.ค.ที่ผ่านมา มีมติอนุมัติให้ นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ก.พ.ร. หน่วยงานหลักที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบดูแลเรื่องการพัฒนา และยกระดับการให้บริการของหน่วยงานรัฐทั้งระบบรับกฎหมายใหม่

          หากฝ่าฝืนอาจเข้าข่ายเป็นการกระทำหรือละเว้นกระทำ จนทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายอาจได้รับโทษทางวินัยหรืออาญา ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ประเมินว่าหลังบังคับใช้กฎหมายใหม่เดือน ก.ค.นี้ จะทำให้มี ผู้ยื่นฟ้องร้องหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลเรื่องการอนุญาต อนุมัติ ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายใหม่จำนวนมา

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 

แจงสี่เบี้ย : การแก้ปัญหาพื้นที่ดินเค็มในประเทศไทย (9)

การจัดทำแผนที่และข้อมูลพื้นฐานของโครงการ กำหนดขอบเขตพื้นที่โครงการ จัดทำแผนที่ความเค็มดินจากการสังเกตจากคราบเกลือบนผิวดิน โดยการสำรวจภาคสนามร่วมกับการแปรภาพถ่ายทางอากาศออโธสี มาตรา 1 ต่อ 4000 เพื่อเพิ่มข้อมูลในการวางแผนการจัดการสำรวจพื้นที่ในภาคสนามเพื่อออกแบบรายละเอียดโครงการ ชี้แจงทำความเข้าใจกับเกษตรกรในพื้นที่และปรับแผนให้สอดคล้องกับความต้องการของเกษตรกรเจ้าของพื้นที่ ออกแบบและก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อควบคุมทิศทางการไหลและระดับน้ำ เช่น คันดินและคูเบนน้ำ ถนนทางลำเลียงในไร่นา ประชุมชี้แจงเกษตรกรในพื้นที่ดำเนินการให้เข้าใจวัตถุประสงค์ และปรับแบบให้สอดคล้องกับความต้องการของเกษตรกร

จัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำเพื่อควบคุมระดับน้ำใต้ดินในนาดินเค็มน้อยและเค็มปานกลาง 2,000 ไร่ ปรับรูปแปลงนาระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ สร้างทางลำเลียงในไร่นา สร้างระบบท่อระบายน้ำ ปรับปรุงดินปลูกต้นไม้โตเร็ว เช่น ยูคาลิปตัส บนคันนา คันดิน ขอบถนน

ฟื้นฟูแก้ไขพื้นที่ดินเค็มจัด 500 ไร่ ปรับรูปแปลงนาด้วยระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ แบบที่ 1 ไม่มีระบบคูน้ำ เหมาะกับพื้นที่ที่น้ำไม่ท่วมขัง ปรับรูปแปลงนาด้วยระบบอนุรักษ์ดินและน้ำแบบที่ 2 มีคันดินและคูน้ำ เพื่อควบคุมระดับน้ำใต้ดินและชะล้างเกลือในพื้นที่ที่มีน้ำขังในฤดูฝน สร้างทางลำเลียงในไร่นา และระบบท่อระบายน้ำ

การจัดระบบการใช้น้ำบนพื้นที่รับน้ำเพื่อลดระดับน้ำใต้ดินเค็มในพื้นที่ให้น้ำ เป็นวิธีการที่จะช่วยลดระดับน้ำใต้ดินเค็มในที่ลุ่ม ที่มีสาเหตุมาจากการตัดไม้ทำลายป่าบนพื้นที่เนินรับน้ำ คือการปลูกต้นไม้โตเร็วคืนสู่เนินพื้นที่รับน้ำนั้นให้ต้นไม้เป็นปั๊มธรรมชาติใช้น้ำฝนที่ตกบนเนิน ไม่ให้มีน้ำส่วนเกินไหลมาเพิ่มเติมน้ำใต้ดินเค็มในที่ลุ่มที่เป็นพื้นที่ให้น้ำ แต่เกษตรกรที่ปลูกพืชไร่ส่วนใหญ่มีรายได้ปีต่อปี ไม่สามารถกลับมาปลูกป่าได้ เพราะกว่าจะมีรายได้จากต้นไม้ต้องรอนานหลายปี

นอกจากนี้ ยังมีวิธีการที่ทำให้เกิดการใช้น้ำบนพื้นที่รับน้ำ โดยการพัฒนาน้ำบาดาลบนพื้นที่รับน้ำให้เกษตรกรนำมาใช้ในการเกษตรกรนำมาใช้ในการเกษตรกรรมลดปริมาณน้ำที่จะไหลไปเพิ่มระดับน้ำใต้ดินเค็มในที่ลุ่ม

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 13 พฤษภาคม 2558

ศึกษาเส้นทางสินค้าเกษตรไทยก่อนเข้าสู่เออีซี

ศึกษาเส้นทางสินค้าเกษตรไทยก่อนเข้าสู่เออีซีคณะของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เดินทางไปศึกษาศักยภาพการค้าสินค้าเกษตรไทย ตามโครงการพัฒนาศักยภาพของภาคเกษตรเพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)วันพุธที่ 13 พฤษภาคม 2558 เวลา 1:41 น. หมวด: เกษตรกรรม คำสำคัญ: ศึกษา เส้นทาง สินค้าเกษตร ไทย เข้าสู่ เออีซี นายสุรศักดิ์ พันธุ์นพ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้นำคณะของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เดินทางไปศึกษาศักยภาพการค้าสินค้าเกษตรไทย ตามโครงการพัฒนาศักยภาพของภาคเกษตรเพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) เมื่อช่วงเดือนเมษายน 2558 ที่ผ่านมาโดยเดินทางออกจากประเทศไทยถึงเมืองกว่างโจว ผ่านเส้นทางหนานหนิง-ผิงเสียง-หล่างเซิน-ไห่ฟอง-ฮานอย-ลาวไค-เดียนเบียนฟู-หลวงพระบาง-เวียงจันทน์ แล้วเข้าสู่ประเทศไทย ณ เมืองกว่างโจวไปยังเมืองหนานหนิง มลฑลกวางสี ประเทศจีน คณะได้เข้าพบเจ้าหน้าที่สถานกงสุล ณ นครหนานหนิง มีรองกงสุลใหญ่ คุณนิลวรรณ ชูวนะภิรมย์ และคณะให้การต้อนรับ หลังจากนั้นได้เยี่ยมชมตลาดพบเจ้าหน้าที่ผู้จัดการฝ่ายต่างๆ และสัมภาษณ์ผู้ประกอบการในตลาดค้าส่งสินค้าเกษตร ซึ่งเป็นจุดกระจายสินค้าข้าว ผัก และผลไม้ ที่สำคัญของไทยจากนั้นเดินทางสู่ประเทศเวียดนามทางจังหวัดหลางเซิ่น ระหว่างทางได้เข้าพบและสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ศุลกากรด่านผิงเสียง ด่านชายแดนจีน-เวียดนาม และ ด่านฮิวหงี่ จังหวัดหลางเซิน ด่านชายแดนเวียดนาม-จีน เกี่ยวกับข้อมูลการเตรียมความพร้อมด้านการนำเข้าและส่งออกสินค้าเกษตรของไทยผ่านเส้นทางนี้ หลังจากนั้นเดินทางเข้าสู่เมืองไห่ฟอง ประเทศเวียดนาม เข้าพบผู้จัดการท่าเรือไห่ฟอง ซึ่งเป็นท่าเรือที่สำคัญของเวียดนามตอนเหนือ แล้วเดินทางสู่เมืองฮานอยไปตามเส้นทางดังกล่าว เพื่อสำรวจตามด่านชายแดนเวียดนาม-จีน ด่านลาวไค-เหอโข่ว เวียดนาม-ลาว ลาว-เวียดนาม (เดียนเบียนฟู) และลาว-ไทย เกี่ยวกับข้อมูลด้านการเตรียมความพร้อมด้านการปฏิบัติงาน สถานที่ และอื่นๆ สำหรับตลาดค้าส่งสินค้าเกษตรได้สัมภาษณ์ข้อมูลด้านการรวบรวมและกระจายสินค้าเกษตร การบริหารจัดการพิธีศุลกากร รวมถึงปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนต่อไป.“

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 13 พฤษภาคม 2558

ถอดบทเรียนสู่การแก้ปัญหาดินเค็มอย่างเป็นระบบ

ดินเค็มเป็นปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งของเกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของพืช และยังส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย เนื่องจากดินเค็มทำให้โครงสร้างของดินเสีย ดินแน่นทึบ และความเค็มแพร่กระจายไปยังแหล่งน้ำอื่นๆ กระทบโดยตรงต่อพืช สัตว์ และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในระบบนิเวศน์ โดยเฉพาะข้าวซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่ปลูกมากในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นางปราณี สีหบัณฑ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวางระบบการพัฒนาที่ดิน สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 กรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า พื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือประสบปัญหาดินเค็มเป็นบริเวณกว้าง ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 17.8 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 29 ของพื้นที่เพาะปลูกพืชทั้งภาค ซึ่งสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 ได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาดินเค็ม จึงได้เข้าไปดำเนินการแก้ไขปัญหาดินเค็ม พื้นที่ที่มีปัญหาส่วนใหญ่จะพบในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดขอนแก่น ดังนั้นทางสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 จึงได้เลือกพื้นที่ของตำบลเมืองเพีย อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 768,000 ไร่ เป็นพื้นที่ดำเนินการแก้ไขปัญหาดินเค็มอย่างเป็นระบบ เนื่องด้วยพื้นที่นี้ประสบปัญหาดินเค็มอย่างรุนแรง เกษตรกรไม่สามารถใช้ประโยชน์พื้นที่เพื่อการเพาะปลูกได้ นอกจากนี้ยังมีน้ำเค็มจากพื้นที่ดังกล่าวไหลลงสู่พื้นที่ลุ่มปะปนไปกับแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ทำให้พื้นที่นาและแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีน้ำเค็มไหลผ่านกลายสภาพเป็นดินเค็ม สำหรับการพัฒนาพื้นที่ดินเค็ม มีการนำระบบเทคโนโลยีของกรมพัฒนาที่ดินเข้าช่วยแก้ไขปัญหาซึ่งสามารถแบ่งออกได้ 2 ระบบ คือ ระบบวิศวกรรมและระบบพืช ซึ่งในแต่ละระบบมีความเหมาะสมในการแก้ไขปัญหาพื้นที่ดินเค็มในระดับความรุนแรงของดินเค็มที่แตกต่างกันไป เช่น ระบบวิศวกรรมในพื้นที่ดินเค็มจัดนั้น จะมีการสร้างระบบระบายน้ำใต้ดิน (Sub drain) โดยฝังท่อไว้ใต้ดินเพื่อล้างดินเกลือในพื้นที่ดินเค็ม ส่วนบริเวณผิวดินจะมีการปรับให้เป็นกระทงนาเพื่อให้เกษตรกรสามารถขังน้ำไว้ในกระทงนาจากนั้นน้ำจะซึมลงไปในชั้นดินข้างล่าง และจะไหลไปรวมในท่อที่ฝังไว้ใต้ดินและระบายออกทางท่อสู่คลองหลัก เมื่อมีการล้างดินเป็นเวลา 1 ปี ความเค็มของดินจะลดลงประมาณ 20-30% เมื่อเข้าสู่ปีที่ 3 เกษตรกรจึงสามารถปลูกข้าวบนกระทงนาได้ ส่วนระบบพืชในพื้นที่ดินเค็มจัด ส่งเสริมการปลูกหญ้าชอบเกลือ (หญ้าดิ๊กซี่) หญ้าพันธุ์พื้นเมือง และกระถินออสเตรเลีย ส่งเสริมปลูกพืชปุ๋ยสด บนคันนา เช่น ถั่วพร้า ปลูกไม้ทนเค็มบนคันนา และขอบทางลำเลียง เช่น ยูคาลิปตัส และ กระถินออสเตรเลีย การส่งเสริมการปลูกโสนอัฟริกัน เพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์ขายให้กับทางกรมพัฒนาที่ดิน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการแก้ไขปัญหาดินเค็มได้หลายวิธี แต่ผลผลิตข้าวยังค่อนข้างต่ำ แต่ก็บ่งชี้ได้ว่าหากมีการจัดการดินเค็มที่ดี ถูกต้อง และเหมาะสม เกษตรกรก็สามารถใช้ประโยชน์จากดินเค็มได้ปกติ ดีกว่าต้องปล่อยที่ดินให้รกร้างโดยไม่เกิดประโยชน์ เพราะยิ่งเป็นตัวกระตุ้นให้ปัญหาดินเค็มลุกลามขยายวงกว้างมากขึ้นไปอีก นางระเบียบ สละ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาพื้นที่ดินเค็ม เล่าว่า พื้นที่ของตำบลเมืองเพีย เป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาดินเค็ม ทำให้เกษตรกรในพื้นที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ที่ดินทำการเกษตรได้ เกษตรกรส่วนใหญ่จำต้องทิ้งพื้นที่หลายไร่ให้ร้าง เพื่อเข้าไปหางานในกรุงเทพฯ เพื่อเลี้ยงชีพของตนเองและครอบครัว บางรายก็ขายที่ดินให้กับนายทุนไปทำนาเกลือ จนกระทั่งปี 2540 สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 ได้เข้ามาให้ความรู้เกษตรกรเพื่อที่จะพัฒนาพื้นที่ดินเค็ม จึงได้มีการรวมตัวกันของเกษตรกร เจ้าหน้าที่เข้ามาส่งเสริมให้ใช้ปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ และนำต้นกระถินออสเตรเลีย (อาคาเซีย) ไปปลูกตามแปลงนา ทำให้มีพืชขึ้นในแปลงนาบ้าง จากนั้นก็นำเมล็ดพันธุ์โสนอัฟริกันไปหว่านแล้วไถกลบ ดินมีสภาพดีขึ้น ซึ่งต้องใช้เวลาปรับปรุงดินถึง 4 ปี พอเข้าปีที่ 5 ก็ปลูกข้าวได้ผลผลิตประมาณ 100 กระสอบ จากนั้นมาถึงปี 2551 ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นเป็น 400 กระสอบ และก็เพิ่มขึ้นมาเรื่อย มองย้อนกลับไปเมื่อในอดีตจากพื้นที่ดินเค็มที่ไม่สามารถปลูกข้าวได้เลย พอได้รับการปรับปรุงฟื้นฟูก็สามารถปลูกข้าวได้ ทุกวันนี้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในหมู่บ้านดีขึ้น ผู้คนที่เคยออกไปทำงานในกรุงเทพฯ ก็ได้กลับคืนถิ่นฐานบ้านเกิดมากขึ้น ผลจากการแก้ไขปัญหาพื้นที่ดินเค็มในตำบลเมืองเพีย อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น จนประสบความสำเร็จ จึงได้กลายมาเป็นทุ่งเมืองเพียโมเดล ที่กรมพัฒนาที่ดินนำมาเป็นรูปแบบการขยายผลในพื้นที่ที่มีปัญหาดินเค็มในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

จาก http://www.naewna.com วันที่ 12 พฤษภาคม 2558

แจงสี่เบี้ย : การแก้ปัญหาพื้นที่ดินเค็มในประเทศไทย (8)

การพัฒนาพื้นที่ดินเค็มแบบบูรณาการ การจัดการแก้ไขปัญหาดินเค็มจะต้องจัดการในรูปแบบบูรณาการ มีวิธีการแก้ไขปัญหาดินเค็มในพื้นที่อย่างครบวงจร และบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค กรมพัฒนาที่ดินได้นำประสบการณ์ ความรู้ ความชำนาญจากการวิจัยและพัฒนาการจัดการดินเค็ม จัดทำโครงการพัฒนาพื้นที่ดินเค็มแบบบูรณาการ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาพื้นที่ที่มีปัญหาดินเค็มให้เห็นเป็นรูปธรรม เป็นต้นแบบในการลดการแพร่กระจายดินเค็ม เพิ่มผลผลิตข้าวในพื้นที่ดินเค็มน้อยและเค็มปานกลาง และแก้ไขฟื้นฟูพื้นที่ดินเค็มจัด โดยเริ่มในปีงบประมาณ 2552 ที่จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดขอนแก่น

เนื่องจากเกษตรกรในพื้นที่ดินเค็มส่วนใหญ่ยากจน ไม่มีทุนและความรู้พอที่จะจัดการแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองได้ จำเป็นที่รัฐจะต้องลงทุนขั้นพื้นฐานในการปรับรูปแบบโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การปรับรูปแบบแปลงนา ที่ประกอบด้วย ระบบการชะล้างเกลือ ร่วมกับการทำคันคูเพื่อระบายน้ำ เพื่อให้เกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์พื้นที่เพื่อการเกษตรกรรมได้

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาอย่างบูรณาการที่เอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง โดยมีหลายองค์การเป็นสมาชิก มีการเรียนรู้จากการดูงาน การฝึกอบรม หรืออื่นๆ รวมทั้งขับเคลื่อนความสามารถในการจัดการของท้องถิ่น ชุมชนท้องถิ่น เป็นผู้ปฏิบัติผู้ที่จะจัดการพัฒนาอย่างบูรณาการคือชุมชนท้องถิ่น ทางราชการทำหน้าที่สนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่นเป็นผู้ปฏิบัติ จะทำให้เกิดความยั่งยืน

โครงการพัฒนาพื้นที่ดินเค็มแบบบูรณาการอำเภอขามทะเลสอ จังหวัดนครราชสีมา โดยจังหวัดนี้มีการแพร่พื้นที่ดินเค็มมากที่สุดและรุนแรงที่สุด มีพื้นที่ดินเค็มประมาณ 3.0 ล้านไร่ ประกอบด้วยพื้นที่ดินเค็มน้อย 1.35 ล้านไร่ พื้นที่ดินเค็มปานกลาง 1.47 ล้านไร่ และพื้นที่ดินเค็มมาก 0.8 ล้านไร่ นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่รับน้ำที่มีศักยภาพในการทำให้เกิดดินเค็มแพร่กระจายประมาณ 3.4 ล้านไร่

โครงการพัฒนาพื้นที่ดินเค็มแบบบูรณาการจังหวัดนครราชสีมา ดำเนินการในพื้นที่ หมู่ 1, 5, 6, 7 และ 9 ตำบลหนองสรวง อำเภอขามทะเลสอ จังหวัดนครราชสีมา ประกอบด้วยพื้นที่ดินเค็มจัด 500 ไร่ พื้นที่ดินเค็มน้อยและเค็มปานกลาง 2,000 ไร่

จาก http://www.naewna.com วันที่ 12 พฤษภาคม 2558

ติดตามสถานการณ์อ้อยและน้ำตาล 

           นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ร่วมประชุมคณะกรรมการบริหารตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ครั้งที่ 3/2558 ณ ห้องประชุมบริษัท รวมเกษตรกรอุตสาหกรรม จำกัด (มิตรภูหลวง) จ.เลย มีนายอุฤทธิ์ ศรีหนองโคตร รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน โดยมีนายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ตลอดจนหน่วยงานเกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม 

          เพื่อติดตามสถานการณ์อ้อยและน้ำตาลทรายในพื้นที่ ให้มีการบริหารจัดการอย่างเต็มประสิทธิภาพ นอกจากนี้ เลขาธิการ สศก. พร้อมด้วยนายฉัตรชัย เต้าทอง ผอ.สศก.3 อุดรธานี และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่เพาะปลูกอ้อยของเกษตรกร

          และเยี่ยมชมไร่อ้อยตัวอย่างของเกษตรกร พร้อมรับฟังสภาพปัญหาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น โดยจะมีการพิจารณาสถานการณ์อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายในพื้นที่อีกครั้งหนึ่งก่อนกำหนดแนวทางเพื่อการส่งเสริมและพัฒนาต่อไป.

จาก เด วันที่ 12 พฤษภาคม 2558

พลังงานเล็งใช้'พื้นที่ทหาร'สร้างโรงไฟฟ้าขยะอันตราย 

           พลังงานเปิดทางสร้างโรงไฟฟ้า"ขยะอันตราย" ในพื้นที่ทหาร ด้านเรคกูเลเตอร์เสนอกพช. 14 พ.ค.นี้ เลื่อนระยะเวลาดำเนินการประมูลรับไฟฟ้า ตามระบบ FiT Bidding

          แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการเร่งรัดโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะ ทั้งในส่วนของขยะชุมชนและขยะอันตรายจากโรงงานอุตสาหกรรมว่า คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) ได้ตั้งคณะทำงาน โดยมี นายทวารัฐ สูตะบุตร รองปลัดกระทรวงพลังงานและ ผู้แทนจากกระทรวงกลาโหม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อพิจารณาหลักเกณฑ์ในการดำเนินการเกี่ยวกับการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าที่มาจากขยะอันตราย ทั้งนี้ทางกระทรวงกลาโหมได้เสนอให้ใช้พื้นที่ของทหารที่มีระบบสายส่งรองรับ เป็นพื้นที่รับกากขยะอันตรายและก่อตั้งโรงไฟฟ้า เพื่อไม่ให้มีปัญหาเรื่องของสิ่งแวดล้อมและการคัดค้าน จากชุมชน จากเดิมที่จะมีการเสนอให้ตั้งโรงไฟฟ้าดังกล่าวเฉพาะในเขตนิคมอุตสาหกรรม โดยจะดำเนินการโครงการนำร่อง ทั้งหมด 50 เมกะวัตต์ ซึ่งผู้ลงทุนจะได้รับการส่งเสริมค่าไฟฟ้าตามระบบ FiT ในอัตรา 6.93 บาทต่อหน่วย

          ในส่วนของการดำเนินการเรื่องของการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทน หรือ AEDP(2558-2579) ตั้งเป้าหมายรับซื้อไว้ที่ 501เมกะวัตต์ จากปี 2557 ที่มีการรับซื้อ ไฟฟ้าจากขยะชุมชนไปแล้ว 48 เมกะวัตต์นั้น คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานหรือเรคกูเลเตอร์ จะเสนอเรื่องให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่จะประชุมวันที่ 14 พ.ค.นี้ เพื่อขอเลื่อนระยะเวลาการเปิดประมูลรับซื้อไฟฟ้า จากโครงการดังกล่าวตามระบบ FiT Bidding ออกไปก่อน จากเดิมที่ กพช. มีมติว่า จะต้องดำเนินการภายในไตรมาสแรกของปี 2558 ทั้งนี้ ในส่วนของการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน ผู้ลงทุนจะได้รับการส่งเสริมค่าไฟฟ้าตามระบบ FiT ในอัตราตั้งแต่ 5.93-7.35 บาทต่อหน่วย

          นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานพยายามที่จะเร่งรัด ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานขยะ ทั้งในส่วนของขยะชุมชนและขยะอุตสาหกรรม ตามระบบ FiT ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว ซึ่งอัตราการส่งเสริมในรูป ของค่าไฟฟ้านั้นถือว่าจูงใจสำหรับผู้ลงทุนที่สามารถใช้เทคโนโลยีที่ได้มาตรฐานเทียบเท่าเยอรมนี แต่ยังได้ผลตอบแทนการลงทุนสูงกว่าระบบ Adder ที่ผ่านมาคือประมาณ 12%

          อย่างไรก็ตามการเลือกใช้เทคโนโลยีถือเป็นการตัดสินใจของผู้ลงทุน ที่จะต้องเป็นผู้รับความเสี่ยงเอง ทั้งนี้การส่งเสริมโรงไฟฟ้าจากขยะ ในภาพรวมรัฐจะได้ประโยชน์ในหลายมิติ นอกจากจะได้กระแสไฟฟ้าแล้ว ยังเป็นการกำจัดขยะอีกด้วย

          ด้านแหล่งข่าวจากสมาคมผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน กล่าวว่า การส่งเสริมเรื่องของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของรัฐบาลช่วงที่ผ่านมา มีการจัดลำดับความสำคัญที่ผิดพลาด โดยเนื้อหาในนโยบายตามแผน AEDP ระบุจะใช้ความสำคัญกับเชื้อเพลิงที่มาจากขยะและชีวมวล แต่ในทางปฎิบัติกลับให้ความสำคัญกับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนพื้นดินหรือโซลาร์ฟาร์ม ทั้งที่ เป็นโครงการที่กระจายรายได้สู่ชุมชนและกระตุ้นเศรษฐกิจได้น้อยกว่าโครงการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิง ชีวมวล โดยผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการโซลาร์ฟาร์ม ส่วนใหญ่คือนักลงทุน ซัพพลายเออร์แผงเซลล์และอุปกรณ์เท่านั้น ขณะที่โครงการผลิต ไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล จะมีชุมชนและ เกษตรกรผู้ปลูกพืชพลังงานเป็นผู้ได้ประโยชน์ จากการส่งวัตถุดิบเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า

          ที่ผ่านมา คณะกรรมการบริหารมาตรการ ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ได้มีการเร่งอนุมัติตอบรับซื้อไฟฟ้าโครงการโซลาร์ ฟาร์มค้างท่อไปแล้วถึง 172 โครงการ  รวมปริมาณไฟฟ้าที่เสนอขาย 989 เมกะวัตต์ และให้ดำเนินการ จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในเดือนธ.ค.นี้ ทั้งที่ในแผน AEDP ระบุที่จะให้ความสำคัญกับโรงไฟฟ้าจากขยะและชีวมวลก่อน

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 

พร้อมรับภัยแล้ง! อีสท์วอเตอร์ยันสูบผันน้ำภาคตะวันออกตามเกณฑ์

บมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก หรือ อีสท์วอเตอร์ เตรียมความพร้อมรับมือภัยแล้งภาคตะวันออก แจงระบบท่อส่งน้ำดิบประแสร์-หนองปลาไหล ผันน้ำไปสำรองแล้วกว่า 6 ล้าน ลบ.ม. ตามแผน...

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์วอเตอร์ ประกาศความพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยแล้งปีนี้ตามนโยบายภาครัฐ โดยล่าสุดได้สร้างความมั่นใจให้กับภาคการผลิตในเขตอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ดและการอุปโภคบริโภคในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยระบุว่าบริษัทได้เริ่มดำเนินการสูบผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ไปสำรองยังอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหลตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา เฉลี่ยวันละ 250,000-300,000 ลบ.ม. คิดเป็นปริมาณน้ำรวมกว่า 6 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเป็นไปตามมาตรการที่วางไว้

ทั้งนี้ ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำหลักในภาคตะวันออก ได้แก่ อ่างฯ หนองปลาไหล อ่างฯ ดอกกราย และอ่างฯ คลองใหญ่ โดยมีปริมาณน้ำรวมกว่า 119 ล้าน ลบ.ม. อีสท์วอเตอร์จึงมั่นใจว่าในปีนี้ภาคตะวันออกจะไม่ประสบปัญหาภัยแล้งอย่างแน่นอน.

จาก http://www.thairath.co.th   วันที่ 11 พฤษภาคม 2558

สอน.ลงพื้นที่จ.เลย รับฟังปัญหา และช่วยพัฒนาชาวไร่อ้อยในพื้นที่

นายอุฤทธิ์ ศรีหนองโคตร รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วยคณะผู้บริหารจาก สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ จ. เลย เพื่อพบปะกับทางโรงงานน้ำตาลทราย รวมถึงเกษตรชาวไร่อ้อยตลอดจนรับฟังปัญหาในการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย และส่งเสริมชาวไร่อ้อย

รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผยว่า พื้นที่จังหวัดเลย ถือได้ว่าเป็นพื้นที่ใหม่สำหรับการปลูกอ้อยตามที่รัฐบาลมีนโยบายในการจัดการใช้ประโยชน์ในที่ดินทำกินให้เกิดประโยชน์สุงสุดบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม(Zoning) ให้มีศักยภาพความเหมาะสม ชนิดดินปริมาณน้ำฝน สภาพภูมิอากาศ เขตชลประทานระดับความสูงของพื้นที่ และทางเศรษฐกิจเช่น เช่นเส้นทางคมนาคม แหล่งตลาด ที่ตั้งโรงงาน จากนั้นส่งเสริมให้มีการปลูกอ้อยซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจแทนที่ โดยในจังหวัดเลยมีโรงงานอุตสาหกรรมใหญ่ 2 แห่ง ได้แก่ บริษัทน้ำตาลขอนแก่น จำกัด มหาชน สาขาวังสะพงเสริมให้มีการปลูกอ้อยซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจแทนที่ โดยในจังหวัดเลยมีโรงงานอุตสาหกรรมใหญ่ 2 แห่ง ได้แก่ บริษัทน้ำตาลขอนแก่น จำกัด มหาชน สาขาวังสะพุง และโรงงานน้ำตาลมิตรภูหลวง อ.วังสะพุง ที่มีศักยภาพที่จะมาพัฒนาและช่วยเหลือชาวไร่อ้อยในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี และในการลงพื้นที่ครั้งนี้ได้เข้ามารับฟังปัญหาเกี่ยวกับการเพาะปลูกของเกษตรกร ตลอดจนได้ให้ข้อเสนอแนะตั้งแต่ กระบวนการปลูก การเก็บเกี่ยว การบริหารจัดการน้ำ  และฤดูการหีบอ้อยเพื่อให้ได้อ้อยที่มีประสิทธิภาพตรงตามความต้องการของโรงงาน

ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรมมุ่งหวัง จะพัฒนาตามยุทธศาสตร์และเพิ่มปริมาณอ้อยทั้งประเทศจาก 100 ล้านตัน เป็น 180 ล้านตัน ในปี พ.ศ.2569

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 11 พฤษภาคม 2558

แจงสี่เบี้ย : การแก้ปัญหาพื้นที่ดินเค็มในประเทศไทย (7)

การฟื้นฟูแก้ไขพื้นที่ดินเค็มจัด พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในที่ลุ่มซึ่งเป็นพื้นที่ให้น้ำ เป็นพื้นที่ว่างเปล่า มีคราบเกลือที่ผิวดิน ปลูกพืชไม่ได้ มีพืชทนเค็มจัดเท่านั้นที่ขึ้นได้ เช่น หนามพุงดอ หนามพรม สามารถฟื้นฟูแก้ไขสภาพเสื่อมโทรมของพื้นที่ดินเค็มจัดเปลี่ยนแปลงพื้นที่ว่างเปล่ามีคราบเกลือให้สามารถทำการเพาะปลูกได้ โดยวิธีทางวิศวกรรม และวิธีการทางพืช

การปลูกพืชชอบเกลือ คือพืชที่เจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ที่มีความเค็มสูง เช่น หญ้าดิกซี เป็นพืชชอบเกลือที่นำเข้าจากสหรัฐอเมริกา สามารถปรับตัวในดินเค็มจัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ดีเนื่องจากมีกลไกการกำจัดเกลือโยการคายเกลือที่ใบและกาบใบเพื่อปรับสมดุลออสโมติกในพืช ในขณะที่พืชทนเค็มพันธุ์พื้นเมือง เช่น หญ้าชันอากาศ และหญ้าแพรก ทนเค็มได้ปานกลาง ไม่สามารถทนเค็มระดับสูงได้ เกลือปริมาณมากที่พืชดูดเข้าไปสะสมในต้นและใบเป็นพิษต่อพืชถึงตาย แต่การที่ยังเจริญเติบโตได้ในพื้นที่ดินเค็มตามธรรมชาติก็เพราะดินมีความชื้นเพียงพอ พืชใช้กลไกในการหลีกเลี่ยงเกลือรากจะเคลื่อนไปในทิศทางที่ดินมีความชื้นเพียงพอที่จะเจือจางเกลือในสารละลายดิน แต่ถ้าดินแห้งพืชก็จะตาย เนื่องจากไม่มีกลไกในการกำจัดเกลือส่วนเกินออกจากต้น

ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีพื้นที่ดินเค็มจัดประมาณ 0.3 ล้านไร่ มีคราบเกลือปรากฏอยู่บนผิวหน้าดินและน้ำใต้ดินเค็มอยู่ตื้น การฟื้นฟูดินเค็มจัดโดยวิธีล้างเกลือจากดินเพื่อปลูกพืช มีระบบการชลประทานร่วมกับระบบการระบายน้ำต้องลงทุนสูง แต่การปลูกพืชทนเค็มจัดและพืชชอบเกลือทำให้ได้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ดินเค็มจัดให้เกิดศักยภาพในการผลิต โดยใช้เป็นอาหารสัตว์และเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดดินเค็มจัดแพร่กระจายมากขึ้น โดยไม่ต้องลงทุนสูงในการล้างเกลือจากดิน

กรมพัฒนาที่ดิน ดำเนินการแก้ไขฟื้นฟูพื้นที่ดินเค็มจัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งแต่ปี 2542 โดยปรับพื้นที่ด้วยการทำคันดิน ปรับปรุงดินในหลุมปลูกบนคันคูและคันดินด้วยปุ๋ยคอกและแกลบ ปลูกพืชทนเค็มจัด เพื่อเป็นพืชนำร่องซึ่งมีทั้งไม้โตเร็วและหญ้าทนเค็ม คือ กระถินออสเตรเลียและหญ้าดิกซี สำหรับกิ่งและใบของกระถินออสเตรเลียที่ล่วงหล่นลงไปในดินยังช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุให้ดินด้วย เมื่อสภาพแวดล้อมดีขึ้นสามารถปลูกไม้พื้นเมือง เช่น สะเดา ขี้เหล็ก มะขาม และมะขามเทศ ในบางพื้นที่สามารถกลับมาปลูกข้าวได้อีก

จาก http://www.naewna.com   วันที่ 11 พฤษภาคม 2558

'อนุสรณ์'ระบุมาตรการผ่อนคลายเงินทุนของธปท.ช่วยบาทอ่อน-หนุนศก.Q2

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการและกรรมการตรวจสอบ ธนาคารแห่งประเทศไทย    แสดงความเห็นเรื่องนโยบายการเงินว่ามาตรการผ่อนคลายให้เงินทุนไหลออกและการลดอัตราดอกเบี้ยของแบงก์ชาติได้ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงต่ำสุดในรอบ 5 ปีซึ่งน่าจะช่วยกระตุ้นการส่งออก การท่องเที่ยวและน่าจะดึงให้ราคาสินค้าเกษตรในรูปเงินบาทปรับตัวสูงขึ้นได้บ้าง น่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยไตรมาสสองกระเตื้องขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสแรก โดยมีแรงกดดันเรื่องเงินเฟ้อน้อยมาก ขณะที่นักลงทุนต่างชาติได้ทยอยเทขายหุ้นไทยจากการที่เศรษฐกิจและผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนชะลอตัวและเงินบาทเริ่มอ่อนค่าลง

การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทยจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนและการบริโภคได้ระดับหนึ่ง รวมทั้งช่วยลดต้นทุนทางการเงินลง อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพของนโยบายการเงินและกลไกการส่งผ่านการลดดอกเบี้ยจะส่งผลต่อเศรษฐกิจดียิ่งขึ้น หากระบบธนาคารพาณิชย์โดยเฉพาะธนาคารผู้นำตลาดตอบสนองต่อการลดดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทยได้เร็วขึ้น มากขึ้นและอย่างเหมาะสม แต่กลไกการส่งผ่านนโยบายการเงิน (ดอกเบี้ย) ยังไม่ราบรื่นเท่าที่ควร ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องไปดูแลให้ระบบธนาคารพาณิชย์มีโครงสร้างตลาดที่มีการแข่งขันเพิ่มมากขึ้นกว่านี้ เมื่อโครงสร้างตลาดมีการแข่งขันเพิ่มขึ้นกลไกการส่งผ่านนโยบายดอกเบี้ยจะมีประสิทธิภาพดีขึ้น

ส่วนมาตรการผ่อนคลายของธนาคารแห่งประเทศไทยให้เงินไหลออกได้มากขึ้น (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาตลาดการเงินระยะยาวอยู่แล้ว) จะช่วยบรรเทาผลกระทบต่อการแข็งค่าเงินบาทได้และยังส่งเสริมให้ภาคเอกชนไทยลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น ช่วยทำให้ขีดความสามารถของภาคเอกชนไทยดีขึ้นในอนาคตรวมทั้งช่วยกระจายความเสี่ยง รวมทั้งรองรับการขยายการลงทุนระหว่างประเทศและประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น สอดคล้องกับภาวะไร้พรมแดนของโลกาภิวัฒน์ทางการเงิน อย่างไรก็ตาม เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าในช่วงครึ่งปีหลังจากเงินทุนไหลออกมากขึ้นและการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดลดลง

สิ่งที่ควรระมัดระวัง คือ สภาพคล่องส่วนเกินของระบบการเงินโลกที่มีอยู่จำนวนมาก ภาวะดังกล่าวดำรงอยู่นานหลายปีนับจากการใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ QE ของธนาคารกลางของประเทศพัฒนาแล้ว อัตราดอกเบี้ยระดับต่ำอยู่ยาวนานกว่าปรกติมาก ทำให้ทุกภาคส่วนอาจประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควรจะเป็น หากในอนาคตหลายประเทศดำเนินนโยบายการเงินพลิกผันกลับทางรวดเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้โดยที่หลายฝ่ายไม่ได้เตรียมรับมือกับสถานการณ์ อาจจะส่งผลต่อเสถียรภาพทางการเงินและเศรษฐกิจได้ ระบบการเงินและระบบธนาคารของไทยสามารถมีภูมิต้านทานต่อความท้าทายต่างๆเหล่านี้ได้ดีเพราะมีการกำกับดูแลที่เป็นมาตรฐานสากลของธนาคารแห่งประเทศไทย และ การบริหารความเสี่ยงและการกำกับดูแลกิจการตามหลักธรรมาภิบาลของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย

จาก http://www.thanonline.com วันที่ 10 พฤษภาคม 2558

สัมภาษณ์: 'พาณิชย์'ควงแขนเอกชนกำหนดยุทธศาสตร์บุกการค้า-ลงทุนในCLMV   

          หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์ออกมาทบทวนตัวเลขส่งออกปี 2558 ใหม่ โดยคาดว่าจะเติบโตได้ 1.2% คิดเป็นมูลค่า 2.30 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายใต้สมมติฐานน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 70 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ค่าเงินบาทอยู่ที่ 32.6-33.4 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จากเดิมคาดการณ์ว่าส่งออกจะขยายตัวราว 4% มูลค่า 2.37 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) อันประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ต้องเปิดโต๊ะหารือร่วมกับภาครัฐโดยกระทรวงพาณิชย์ หาทางออกร่วมกันในการแก้ปัญหาส่งออกปี 2558

          ล่าสุด "ฐานเศรษฐกิจ" สัมภาษณ์พิเศษ  สนั่น อังอุบลกุล รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะตัวแทนภาคเอกชนถึงความเคลื่อนไหวในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ โดยเฉพาะการมุ่งเจาะตลาดจากกลุ่ม CLMV ที่ประกอบด้วยประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม รวมถึงยุทธศาสตร์ของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยในการขับเคลื่อนการค้าการลงทุนไปยังกลุ่มประเทศดังกล่าวนับจากนี้ไป

          ส่งออกไป CLMV พุ่ง

          รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกล่าวว่า เมื่อเร็วๆนี้ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ(สค.)เป็นเจ้าภาพจัดทำแผน road map รายสินค้า 10 กลุ่มและ 1 ตลาด ได้แก่ กลุ่มสินค้ายานยนต์ อัญมณีและเครื่องประดับ เกษตรและอาหาร ไลฟ์สไตล์ สิ่งทอและเครื่องหนัง ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ วัสดุก่อสร้างและบริการก่อสร้าง โลจิสติกส์ สุขภาพและความงาม ดิจิตอลคอนเทนต์และการพิมพ์ รวมทั้งยังได้เพิ่มอีก 1 ตลาด กลุ่ม CLMV ที่เป็นกลุ่มประเทศที่จะทำตลาดได้เร็วที่สุด เพราะอยู่ใกล้ประเทศไทย โดยเมื่อปี 2557 มีมูลค่าการส่งออกจากประเทศไทยไปกลุ่มประเทศ CLMV สูงกว่า 6 แสนล้านบาท และเมื่อเปรียบเทียบระหว่างไตรมาสแรกปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 1.62 แสนล้านบาท เทียบกับไตรมาสแรกปี 2558 เพิ่มขึ้นเป็น 1.79 แสนล้านบาท เท่ากับมีอัตราการขยายตัว 10.59%  โฟกัสเวียดนามนำร่องก่อน

          จากการเติบโตของสถิติดังกล่าว สนั่นมองว่าการส่งออกสินค้าจากประเทศไทยออกไปทางเดียวยังไม่เพียงพอจึงต้องเร่งผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยออกไปลงทุนในกลุ่มประเทศ CLMV มากขึ้นด้วย โดยผู้ประกอบการจะได้รับสิทธิพิเศษด้านศุลกากรหรือจีเอสพียุโรป รวมถึงสิทธิพิเศษอื่นๆ โดยที่รัฐบาลจะต้องส่งเสริม  โดยเฉพาะการเข้าไปลงทุนในประเทศเวียดนาม ที่มองว่าประเทศดังกล่าวมีความพร้อมที่สุดในขณะนี้เนื่องจาก 1.ในเวียดนามมีประชากรมากถึง 90 ล้านคน โดยในจำนวนนี้ 60% จะเป็นกลุ่มประชากรที่มีอายุเฉลี่ย 30-35 ปี เป็นกลุ่มผู้บริโภคโดยตรงและผู้ใช้แรงงานที่สำคัญ 2. จีดีพีในเวียดนามเติบโตปีละ 7% 3.เวียดนามมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 6 ของอาเซียน 4.ประชากรส่วนมากนิยมใช้สินค้าไทย 5.คนเวียดนามมีพฤติกรรมการบริโภคและวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกับคนไทย 6.การเดินทางระหว่างไทยไปเวียดนามสะดวก ใช้เวลาเดินทางทางอากาศราว 1 ชั่วโมงเท่ากับบินไปเชียงใหม่ 7. ประชากรเวียดนามเริ่มสนใจซื้อสินค้าในโมเดิร์นเทรดมากขึ้น ในขณะที่รัฐบาลเวียดนามก็ส่งเสริมธุรกิจค้าปลีก 8.ธนาคารโลกจัดอันดับให้เวียดนามมีธุรกิจค้าปลีกโตเป็นอันดับ 4 ของโลก และ 9.เวียดนามมีเสถียรภาพทางการเมืองดี เป็นต้น

          วาง 5 ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนการค้า-ลงทุน

          ดังนั้นการขับเคลื่อนไปยังกลุ่ม CLMV ทั้งด้านการค้า การลงทุน จำเป็นต้องวางยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อน ที่ภาคเอกชนกับกระทรวงพาณิชย์กำหนดไว้จะมี 5 ส่วนหลัก ประกอบด้วย 1.ภาครัฐ เอกชน และสถาบันการเงินจะต้องทำงานแบบบูรณาการ โดยฝ่ายไทยและประเทศในกลุ่ม CLMV จะต้องมีคณะทำงานขับเคลื่อนร่วมกัน ที่ขณะนี้นำร่องกับเวียดนามแล้ว โดยทั้ง 2 ฝ่ายจะมีการเจรจาหารือกันเป็นครั้งแรกในเดือนมิถุนายนนี้  เป็นในลักษณะ "คลัสเตอร์" แบบเดียวกับที่ญี่ปุ่นทำ ที่มีทั้งองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ เจโทร สถาบันการเงิน และภาคเอกชนไปด้วยกัน จากที่ผ่านมาการปฏิบัติของไทยมีการคุยกันระดับรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับประเทศนั้นๆแบบจีทูจี ซึ่งยังไม่ใช่ระดับเอกชนและไม่มีการสานต่อถึงผลที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง

          2.ร่วมกับมูลนิธิเพื่อสถาบันการศึกษาวิชาการจัดการแห่งประเทศไทย(IMET) หาบริษัทที่รับอาสาสมัครเป็นพี่เลี้ยงจำนวน 15 บริษัทที่ประกอบธุรกิจอยู่ที่เวียดนามแล้ว เป็นพี่เลี้ยงให้กับคนไทยที่อยากลงทุนในเวียดนามจำนวน 30 บริษัทจับคู่ให้พี่เลี้ยง 1 รายดูแล 2 บริษัท รับเป็นพี่เลี้ยงให้ 2 ปี โดยที่บริษัทนั้นๆไม่จำเป็นต้องไปจ้างบริษัทที่ปรึกษาด้านการลงทุนมาดูแล

          นอกจากนี้ทางสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ยังทำคู่มือในการเตรียมพร้อมการลงทุนในเวียดนามว่าจะต้องเตรียมตัวอย่างไร พร้อมไปลงทุนนอกบ้านแล้วหรือยัง โดยสภาหอการค้าฯและ IMET จะช่วยสอนคนไปลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งโครงการนี้เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 19 พฤศจิกายนปีที่แล้วและประสบผลสำเร็จมาแล้วด้วยการจับคู่ได้แล้ว 12 คู่ เกิดการลงทุน 1.2 พันล้านบาท ที่สนใจลงทุนในอุตสาหกรรมผลิตน้ำมันหล่อลื่น การ์เมนต์ กระดุม อิเล็กทรอนิกส์และผลิตชิ้นส่วนพลาสติก ในเวียดนาม เป็นต้น

          3.นำอุปสรรคที่เกิดจากการนำสินค้าไปขายยังตลาด CLMV ว่า เจอกับอุปสรรคอะไรบ้างมาหารือร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน และหารือในนามรัฐบาลต่อรัฐบาลหรือ G TO G เพื่อทำให้การค้าระหว่างไทยกับประเทศในกลุ่ม CLMV เดินไปได้ ยกตัวอย่างเช่น มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับเวียดนามจะเพิ่มขึ้นจาก 1.50 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มเป็น 2.50 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2563 หรืออีก 5 ปีนับจากปี 2559 เป็นต้นไป

          4.ปัจจุบันมีหลายสินค้าไทยที่ไปตลาด CLMV แล้วถูกกีดกันทางการค้า เช่น ผลไม้ เฟอร์นิเจอร์ วัสดุก่อสร้าง เหล็ก ที่กำหนดมาตรฐานต่างกับมาตรฐานไทย รวมถึงการเข้าไปลงทุนแล้วมีอุปสรรคความล่าช้าในการอนุมัติ เช่น การลงทุนของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ที่เข้าไปซื้อธุรกิจค้าปลีกที่เวียดนามมูลค่ากว่า 1.50 หมื่นล้านบาท แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถโอนหุ้นได้ เหล่านี้กระทรวงพาณิชย์ได้หารือกับรัฐบาลเวียดนามให้ดีลนี้เกิดขึ้นได้ เพราะธุรกิจค้าปลีกในเวียดนามเติบโตสูงขึ้นแน่นอน เช่นเดียวกับการลงทุนของกลุ่มปตท.ในการขุดเจาะ สำรวจน้ำมัน หรือการลงทุนตั้งนิคมอุตสาหกรรมแห่งที่ 2 ที่ HALONG เวียดนาม ของกลุ่มอมตะ หลังจากที่เซ็นเอ็มโอยูกับนักธุรกิจท้องถิ่นไปแล้ว ต้องการให้เร่งเดินหน้าเซ็นสัญญาการร่วมทุนต่อไป รัฐบาลทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องผลักดันให้เกิดขึ้นโดยเร็ว  5.คณะทำงานขับเคลื่อนร่วมกันระหว่างไทยกับประเทศต่างๆในกลุ่ม CLMV จะต้องมีการติดตามประเมินผลทุก 6 เดือน เจาะไปที่แต่ละประเทศว่าผลที่เกิดขึ้นมีข้อดี และข้อเสียอย่างไร

          ประเมินเห็นผล

          สนั่นกล่าวถึงการประเมินผลงานตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ว่า มีการตั้งเป้าว่าปี 2557-2558 การค้าระหว่างประเทศไทยกับกลุ่ม CLMV จะขยายตัว 10.63%  เฉพาะเวียดนามการค้าระหว่างประเทศรายใหญ่จะโต 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2563 จากปัจจุบันปี 2557 เติบโตอยู่ที่ 1.20 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปี2558 เติบโต 1.50 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นต้น เหล่านี้จะเป็นตัววัดผลถึงการเติบโตด้านการค้าการลงทุนระหว่างกัน

          นอกจากนี้รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยยังกล่าวในฐานะประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน)   ด้วยว่า เมื่อ 19 ปีที่แล้วการเข้าไปลงทุนในเวียดนามต้องเผชิญปัญหาสารพัดโดยเฉพาะ10 ปีแรกขาดทุนต่อเนื่อง ฝ่าฟันมาได้จนล่าสุดธุรกิจเติบโต มีการขยายการลงทุน มีโรงงาน 3 แห่งที่โฮจิมินห์ และที่ฮานอย ผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกและบรรจุภัณฑ์พลาสติก และผลิตเมลามีน โดยโรงงานแห่งที่ 3 ที่ฮานอยที่เพิ่งลงทุนผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ได้ปลายปี 2558 นี้

          โดยทั้ง 3 โรงงานมีเป้าหมายจะนำมาเข้าตลาดหลักทรัพย์ในประเทศไทยในปลายปี 2559 ล่าสุดแต่งตั้งบริษัท แอสเซท พลัส จำกัด(มหาชน) มาเป็นที่ปรึกษาในการเข้าตลาดฯ โดยเฉพาะดูความเป็นไปได้ในการตั้งบริษัทโฮลดิ้ง ส่วนการลงทุนในประเทศอื่นในCLMV นอกเหนือจากเวียดนามจะเป็นการเข้าไปตั้งสำนักงานขายที่ย่างกุ้ง เมียนมาร์และที่เวียงจันทน์ สปป.ลาว ส่วนที่กัมพูชาจะส่งของไปขายโดยมีผู้แทนจำหน่าย ส่วนสาเหตุที่ยังไม่ได้เข้าไปตั้งโรงงาน เนื่องจากระบบโครงสร้างพื้นฐานภายในยังไม่พร้อม รวมถึงตลาดภายในประเทศเมียนมาร์ สปป.ลาว และกัมพูชายังมีขนาดเล็ก แต่ก็อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการเข้าไปตั้งฐานการผลิตในประเทศดังกล่าวด้วย

จาก http://www.iqnewsclip.com วันที่ 10 พฤษภาคม 2558

พณ.คาดชงพรบ.แข่งขันการค้าเข้าครม.พค.

กระทรวงพาณิชย์ คาดชงครม. พ.ค.นี้ ผ่าน พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า แก้ปัญหาผูกขาดการค้า

นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กรมการค้าภายในได้ยกร่างปรับปรุงพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 ใหม่เสร็จแล้ว และเตรียมเสนอ พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่ากรกระทรวงพาณิชย์ พิจารณาเห็นชอบ ก่อนนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติภายในเดือนพฤษภาคมนี้ และต้องนำเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช.พิจารณา และหากผ่านการเห็นชอบจะสามารถประกาศใช้ได้ทันที โดยการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้เป็นธรรมและครอบคลุมมากขึ้น เช่น การปรับปรุง นิยาม ให้ครอบคลุมถึงบริษัทในเครือ, รัฐวิสาหกิจต้องอยู่ในกฎหมายแข่งขันทางการค้า

ส่วนกรณีที่สังคมออนไล์ตั้งข้อสังเกตุว่าร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ขยายสาขาจำนวนมากและยึดครองส่วนแบ่งการตลาด ซึ่งจากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า ส่วนแบ่งตลาดยังไม่ถึงร้อยละ 50 และมีรายได้ยังไม่ถึง 1,000 ล้านบาท จึงถือว่ายังไม่ขัดกับ พระราชบัญญัติแข่งขันทางการค้า

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 10 พฤษภาคม 2558

กลุ่มมิตรผลวางงบ18,000ล้านลงทุนปีนี้ ขยายกำลังผลิตน้ำตาล-พลังงาน

นายกฤษฎา มนเทียรวิเชียรฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มมิตรผล เปิดเผยว่า บริษัทได้เตรียมงบในปี 2558 นี้ไว้ 18,000 ล้านบาท สำหรับใช้ลงทุนในทุกกลุ่มธุรกิจ โดยส่วนใหญ่เป็นการใช้ขยายกำลังการผลิตโรงงานน้ำตาล และธุรกิจพลังงานหมุนเวียน รวมถึงการลงทุนในต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการลงทุนจำนวนมาก แต่ยังไม่มีแผนที่จะระดมทุนด้วยการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพราะยังมีเงินลงทุนเพียงพอในการขยายงานและมีศักยภาพในการกู้จากสถาบันการเงิน

ทั้งนี้ เงินลงทุนดังกล่าว แบ่งเป็น การลงทุนในกลุ่มธุรกิจส่งเสริมและพัฒนาอ้อย 159 ล้านบาท, การลงทุนในกลุ่มธุรกิจน้ำตาล 8,070 ล้านบาท (ใช้ขยายกำลังการผลิตของโรงงานในภาคอีสาน 7,800 ล้านบาท และจัดกิจกรรมการตลาด 205 ล้านบาท), การลงทุนในกลุ่มธุรกิจวัสดุทดแทนไม้ 2,900 ล้านบาท

ส่วนกลุ่มธุรกิจพลังงานหมุนเวียนจะใช้งบลงทุน 3,940 ล้านบาท แบ่งเป็นการสร้างโรงไฟฟ้ามิตรผลไบโอ-เพาเวอร์ จังหวัดกาฬสินธุ์ 45 เมกะวัตต์ และสร้างโรงงานผลิตเอทานอลมิตรผล ไบโอฟูเอลกาฬสินธุ์ 2 กำลังการผลิต 82 ล้านลิตรต่อปี โดยทั้ง 2 โรงงานใช้เงินลงทุน 2,700 ล้านบาท ส่วนเงินลงทุนอีก 1,240 ล้านบาท จะใช้ลงทุนโรงไฟฟ้าในภาคใต้ ที่ใช้ไม้ยางที่หมดอายุมาผลิตไฟฟ้า 9.9 เมกะวัตต์ การลงทุนโซลาร์ฟาร์ม 2 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ที่ไม่สามารถปลูกอ้อยได้ และลงทุนสร้างอาหารสัตว์ Fodder Yeast 9,000 ตันต่อปี

สำหรับเงินที่จะใช้ลงทุนในต่างประเทศอยู่ที่ 2,740 ล้านบาท ส่วนใหญ่จะใช้การลงทุนในจีน 2,100 ล้านบาท โดยจะเป็นการเพิ่มจำนวนการขนถ่ายอ้อยจากสถานีขนถ่ายเพิ่มเป็น 270 ตันต่อวัน ในปี 2558 จากปี 2557 ที่สามารถขนถ่ายอ้อยได้ 134 ตันต่อวัน นอกจากนี้ยังจะใช้ขยายกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าในจีนเป็น 64 เมกะวัตต์ จากเดิมที่มีกำลังการผลิต 32 เมกะวัตต์ และลงทุนในออสเตรเลีย 600 ล้านบาท เพื่อใช้ขยายปริมาณการหีบอ้อยเพิ่มเป็น 536 ตันต่อวัน จากเดิมที่ 503 ตันต่อวัน

นายกฤษฎากล่าวว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้รวมในปี 2558 ที่ระดับ 89,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ที่มีรายได้ 84,000 ล้านบาท เป็นผลมาจากปริมาณการหีบอ้อยที่เพิ่มขึ้นเป็น 20.67 ล้านตันต่อปี จากปี 2557 อยู่ที่ 20.13 ล้านตันต่อปี และกำลังการผลิตน้ำตาลของบริษัทที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.4 ล้านตันต่อปี จากปี 2557 อยู่ที่ 2.3 ล้านตันต่อปี

อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำตาลที่ยังอยู่ในระดับต่ำและไม่มีแนวโน้มที่จะปรับตัวขึ้นนั้น ยังเป็นปัจจัยกดดันต่อรายได้ของบริษัทอยู่ โดยปัจจุบันราคาน้ำตาลในตลาดอยู่ที่ 13 เหรียญสหรัฐต่อปอนด์ ส่งผลให้รายได้ของบริษัทในช่วง 1-2 ปีนี้จะเติบโตไม่มากนัก เฉลี่ยอยู่ที่ 7% ต่อปี ลดลงจากช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา ที่เติบโตเฉลี่ยปีละ 20% แม้จะมีปัจจัยลบด้านราคาน้ำตาลที่อยู่ในระดับต่ำ แต่การที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น ช่วยให้การส่งออกของบริษัทเติบโตอย่างมาก ส่วนในปี 2559 คาดว่ารายได้รวมของบริษัทจะสามารถแตะระดับ 1 แสนล้านบาท ซึ่งเร็วกว่าเป้าที่เคยคาดว่าจะเป็นปี 2560 ทั้งนี้ สัดส่วนรายได้ 60-70% ของรายได้รวมมาจากธุรกิจน้ำตาล และอีก 30-40% มาจากกลุ่มธุรกิจพลังงานหมุนเวียน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 9 พฤษภาคม 2558

ผู้อำนวยการอาวุโสธนาคารแห่งประเทศไทยสำนักงานภาคเหนือระบุ เศรษฐกิจการเงินภาคเหนือไตรมาสที่ 1 ฟื้นตัวจากไตรมาก่อน

ผู้อำนวยการอาวุโสธนาคารแห่งประเทศไทยสำนักงานภาคเหนือระบุ เศรษฐกิจการเงินภาคเหนือไตรมาสที่ 1 ฟื้นตัวจากไตรมาก่อน

ดร.สิงห์ชัย บุณยโยธิน ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประทเศไทย สำนักงานภาคเหนือเปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือในไตรมาสที่ 1 ปี 2558 ภาพรวมฟื้นตัวขึ้นบ้างจากไตรมาสก่อน โดยการบริโภคภาคเอกชนกลับมาขยายตัวเล็กน้อย ตามการจับจ่ายใช้สอยในกลุ่มสินค้าจำเป็นด้วยปัจจัยสนับสนุน จากภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวในเกณฑ์สูง ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ การใช้จ่ายงบลงทุนของภาครัฐมีบทบาทเพิ่มขึ้น และการส่งออกผ่านด่าน ชายแดนยังขยายตัวได้ อย่างไรก็ตาม รายได้เกษตรที่หดตัวต่อเนื่องจากผลของภัยแล้งและราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ทำให้กำลังซื้อในประเทศยังอ่อนแอ ขณะที่ผลผลิตอุตสาหกรรมทรงตัว สำหรับการลงทุนภาคเอกชนยังหดตัว เนื่องจากภาคธุรกิจรอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้ชัดเจนขึ้น เสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี อัตราเงินเฟ้อ ทั่วไปปรับลดลง อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ ด้านเงินให้สินเชื่อและเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ปรับเพิ่มขึ้น เล็กน้อยจากไตรมาสก่อน สำหรับการเบิกจ่ายงบลงทุนของภาครัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 52.3 ตามการปรับปรุงและซ่อมสร้างระบบโครงสร้าง พื้นฐานด้านคมนาคมของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท รวมถึงการซ่อมแซมระบบชลประทานและการ พัฒนาแหล่งน้ำของกรมชลประทาน

การส่งออก มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 โดยการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านด่านชายแดนขยายตัวในอัตราชะลอลง ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ลดลงร้อยละ 3.6 ที่ส าคัญเป็นผลจากผลผลิตข้าวนาปรังและอ้อยได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง อีกทั้งดัชนีราคาสินค้าเกษตร ลดลงร้อยละ 2.2 โดยเฉพาะราคาข้าว อ้อย และถั่วเหลือง ที่อยู่ในระดับต่ า ตามราคาในตลาดโลก ประกอบกับราคาปศุสัตว์ทั้งสุกร ไก่พันธุ์เนื้อและไข่ไก่ยังลดลง ส่งผลให้ รายได้เกษตรกร โดยรวมลดลงร้อยละ 5.8

ดัชนีการลงทุนภาคเอกชน ลดลงร้อยละ 8.0 ส่วนใหญ่เป็นการลดลงจากภาคการก่อสร้างโดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ สะท้อนจากเครื่องชี้สำคัญลดลงทั้งพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาล รายได้ค่าธรรมเนียมที่ดิน รวมทั้งการลดลงของปริมาณการจดทะเบียนรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ อย่างไรก็ดี มูลค่าเงิน ลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมจาก BOI เพิ่มขึ้นเล็กน้อย เสถียรภาพเศรษฐกิจภาคเหนือ อยู่ในเกณฑ์ดี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงร้อยละ 0.8 ซึ่งลดลงเป็นไตรมาสแรกในรอบ 5 ปี ตามการปรับลดของราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศ ประกอบกับราคาอาหารสดประเภท เนื้อสัตว์ ไก่และไข่ไก่ลดลง ตามปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น ด้านอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ แม้ปรับ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนและระยะเดียวกันปีก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 0.8

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 9 พฤษภาคม 2558

แนะปรับโครงสร้างภาคเกษตรชี้ทางรอดวิกฤติแรงงานไทย

ทุกวันนี้ ขนาดเออีซี ยังไม่มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ แต่ก็ปรากฏว่ามีการจ้างแรงงานต่างด้าวจำนวนมหาศาล

ณ วันนี้ เชื่อได้เลยว่า... คนไทยกว่า 60% ที่ส่วนใหญ่เป็นพี่น้องเกษตรกร ทำไร่ทำนา ทำสวน ทำการประมง เลี้ยงสัตว์ ที่เป็นแรงงานภาคเกษตร แทบจะมีน้อยคนนักที่ตื่นตัว!! ใส่ใจ หรือให้ความสำคัญกับการเปิดเออีซี หรือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือบางคนแทบไม่รู้ด้วยว่าเออีซีคืออะไร มีผลกระทบอะไรกับตัวเอง กับสังคม หรือประเทศชาติ

นอกจากนี้! พี่น้องเกษตรกรไทยกลับกลายเป็นผู้สูงอายุ มีการศึกษาไม่สูงมากนัก แถมยังทำมาหากินอยู่บนผืนดินที่เสื่อมสภาพ ไร้ซึ่งเทคโนโลยี ต้องพึ่งพิงฝนฟ้าเทวดาเป็นหลัก หน้าไหนแล้งหนักก็ไม่มีรายได้ หน้าไหนฝนตกหนักก็ไม่มีรายได้ สุดท้ายต้องกลายเป็นหนี้ บางรายเป็นหนี้จนตัวตายก็มีตัวอย่างให้เห็น เพราะไม่สามารถขายผลผลิตมาเลี้ยงชีพให้เดินหน้าต่อสู้กับชีวิตต่อไปได้

ทุกวันนี้ ขนาดเออีซี ยังไม่มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ แต่ก็ปรากฏว่ามีการจ้างแรงงานต่างด้าวจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะแรงงานในภาคเกษตรที่มีมากกว่า 6 แสนคนทีเดียว ซึ่งเรื่องนี้...ถือเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะเมื่อเปิดเออีซี การเคลื่อนย้ายแรงงานจะทำได้โดยเสรี และเมื่อถึงเวลานั้นพี่น้องเกษตรกรไทยจะได้รับผลกระทบทันที

“ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์” ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือทีดีอาร์ไอ บอกว่า ที่ผ่านมา มีการพูดถึงผลกระทบจากการเปิดเออีซีกับภาคการเกษตรของไทยไม่มากนัก ทั้งที่ภาคเกษตรไทยเป็นแหล่งวัตถุดิบ เป็นต้นน้ำที่สำคัญ สำหรับการแปรรูปอุตสาหกรรมการเกษตร ที่ถือว่าเป็นอุตสาหกรรมที่เป็นดาวเด่นของประเทศ และยังเป็นแหล่งจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิตมากที่สุดเกือบ 1.5 ล้านคน

แม้ว่าภาคการเกษตร จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศเพียง 8.32% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศหรือจีดีพี ไม่สามารถเทียบเท่ากับภาคอุตสาหกรรมและบริการได้ก็ตาม แต่ด้วยความจริงที่ว่า...ภาคเกษตรไทยเป็นผู้ที่ทำมาหากินอยู่บนพื้นดินมากกว่า 120 ล้านไร่ แถมยังกระจายไปทั่วประเทศ หรือมากกว่า 35% ของการจ้างงานของประเทศ จึงทำให้ “ภาคเกษตร” กลายเป็นตลาดแรงงานที่ใหญ่ที่สุดของประเทศในเวลานี้ แม้ว่าเมื่อเทียบกับ 10 ปีก่อน แรงงานจะลดลงไปกว่า 1.5 ล้านคนหรือลดลงไปประมาณ 1% ก็ตาม

แต่ทว่า...ในความเป็นจริงแล้ว แรงงานภาคเกษตรก็ยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก ที่สำคัญยังกลายเป็นแรงงานที่มีรายได้ที่ต่ำที่สุด! เพราะด้วยผลผลิตที่มีไม่แน่นอน เยอะบ้าง น้อยบ้าง แล้วแต่เทวดาฟ้าฝนจะเมตตา แถมยังเป็นผลผลิตที่เน่าเสียได้ง่าย ไม่คงทนถาวร จึงมีความเสี่ยง และที่สำคัญอีกเรื่อง คือ ราคาผลผลิตที่ออกมายังตกต่ำผันผวนตลอดเวลา รวมถึงเกษตรกรไทยเองส่วนใหญ่ยังขายผลผลิตขั้นต้นเป็นหลัก ไม่ได้แปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มกันเท่าใดนัก

นอกจากนี้ ชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ ในเวลานี้ ต่างมีอายุมากขึ้น โดย 43% ของเกษตรกรไทย ส่วนใหญ่มีอายุมากกว่า 50 ปี รวมทั้งเป็นกลุ่มที่มีการศึกษาต่ำ โดยมีผู้จบประถมศึกษาหรือต่ำกว่ามากกว่า 74% ทีเดียว แถมยังทำกินบนผืนดินที่เสื่อมสภาพลงทุกปีมีการใช้เทคโนโลยีต่ำทำให้เกษตรกรไทยในเวลานี้ตกอยู่ใน “วงเวียนของความยากจน” มีคุณภาพชีวิตตกต่ำ

ที่น่าสนใจอีกเรื่อง คือ อาชีพเกษตรกร กลายเป็นอาชีพที่แรงงานรุ่นใหม่ไม่สนใจ กลายเป็นตลาดแรงงาน 3 D คือ...ทำงานยากลำบาก...ต่ำต้อยและ...อันตราย ทำให้คนทำงานภาคเกษตรลดน้อยลงมากจนต้องหันไปพึ่งพาแรงงานรับจ้างมากขึ้นซึ่งต้องเผชิญกับปัญหาลูกจ้างในภาคการเกษตรที่เป็นคนไทยที่เหลืออยู่เพียง 1.5 ล้านคนเศษไม่เพียงพอ และมีค่าจ้างเฉลี่ยต่ำที่สุดประมาณ 5,000 บาทต่อเดือนเทียบแรงงานนอกภาคเกษตรซึ่งมีรายได้มากกว่าเดือนละ 11,000 บาท รวมทั้งต้องเผชิญกับปัญหางานที่หนักงานไม่แน่นอนและไม่มีสวัสดิการรองรับเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่แรงงานใหม่ ๆ สนใจทำงานนอกภาคเกษตรมากกว่า

ด้วยเหตุนี้ไทยจึงต้องนำเข้าแรงงานต่างด้าวเพิ่มขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะในระดับล่าง ที่ขณะนี้มีเกือบ 3 ล้านคนแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่หรือ 95% เป็นแรงงานทักษะต่ำ ซึ่งจากจำนวนแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนในปี 58 พบว่า มีแรงงานภาคเกษตรถึง 22% หรือ 658,877 คน จากแรงงานต่างด้าวทักษะต่ำทั้งหมดที่ไทยผ่อนผันให้ทำงานจากประเทศในอาเซียนคือ เมียนมาร์ ลาว กัมพูชา

เรื่องนี้...เป็นเรื่องที่น่ากลัว หากไทยยังไม่ปรับโครงสร้างภาคเกษตรโดยใช้เครื่องจักรกลมาทดแทนแรงงานมากขึ้นการพึ่งพาแรงงานต่างด้าวในอนาคต หรือในอีก 6 ปีข้างหน้า หรือในปี 64 แรงงานต่างด้าวอาจถึง 4 ล้านคน โดยที่ในภาคเกษตรอาจมีมากกว่า 8 แสนคนก็เป็นไปได้

คำถาม? คือ ไทยจำเป็นต้องพึ่งพิงแรงงานต่างด้าวมากมายขนาดนี้หรือไม่ ขณะที่การรวมตัวกันเป็นเออีซี ก็เป็นที่แน่นอนว่า ทุกประเทศสมาชิกโดยเฉพาะเพื่อนบ้านย่อมมีการพัฒนา ย่อมเติบโตตามกันไปด้วยเช่นกัน เมื่อถึงเวลานั้น บรรดาแรงงานต่างด้าว ย่อมเลือกที่จะกลับไปใช้ชีวิตไปทำงานที่บ้านเกิดมากกว่าที่จะยอมทนทำงานที่ไทยอีกต่อไป ขณะเดียวกันคนที่มีความรู้ความสามารถอีกระดับหนึ่งที่เข้ามาอยู่ในไทย ก็อาจเดินทางกลับประเทศเพราะได้ค่าจ้างมากกว่า เมื่อถึงเวลานั้นเรื่องของ “สมองไหล” อาจเป็นปัญหาใหญ่สำหรับไทยก็ได้

ดร.ยงยุทธ บอกด้วยว่า การจะทำให้ภาคเกษตรไทยมีอนาคตเป็นแหล่งพึ่งพาทำมาหากินและอยู่ได้อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้นั้นจำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้างภาคเกษตรอย่างจริงจังซึ่งทำได้หลายรูปแบบตามความเหมาะสม เช่น การนำโมเดล “เกษตรกรรมครบวงจร” มาใช้ในบางพื้นที่ที่มีข้อมูลสนับสนุนชัดเจนมีการรวมตัวของเกษตรกรร่วมคิดร่วมทำร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนที่มีความชำนาญเพื่อสร้างผลผลิตเกษตรต้นทางที่มีคุณภาพ ให้เป็นไปตามหลักการทำการเกษตรที่ดีซึ่งช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจที่แข่งขันได้

นอกจากนี้ การนำแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ มาใช้ในการส่งเสริมเกษตรกรที่ทำเกษตรทางเลือกอื่น ๆ ให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น ด้วยเป้าหมายเพื่อสร้างรายได้ลดรายจ่าย และลดการพึ่งพาแรงงานการดูแลด้านสวัสดิการสังคม การอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี รวมไปถึงการสร้าง “ยุวเกษตรกร” หรือเกษตรกรรุ่นใหม่ ที่เป็นสมาร์ท ฟาร์มเมอร์ ให้มากขึ้นเพื่อมาทดแทนแรงงานในภาคเกษตรที่สูงอายุก็ถือเป็นหนทางที่ดีสำหรับการพัฒนาแรงงานของไทย เช่นเดียวกับการสนับสนุนการใช้เครื่องจักรกลช่วยผ่อนแรง สำหรับแรงงานเกษตรสูงอายุที่ยังคงทำงานอยู่เพื่อให้สามารถทำเกษตรต่อไปได้

สุดท้าย...การใช้แรงงานต่างด้าวนั้น ควรใช้เท่าที่จำเป็นภายใต้กฎหมายและการดูแลที่ไม่ต่างจากแรงงานไทย เพราะไม่เช่นนั้น การใช้แรงงานต่างด้าวจำนวนมาก ๆ อาจกลายเป็นปัญหาความมั่นคงที่ไทยอาจต้องแก้ไขไม่รู้จบก็เป็นไปได้!!

จาก http://www.dailynews.co.th   วันที่ 9 พฤษภาคม 2558

เปิด19โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ

กรมชลประทานเตรียมการที่จะดำเนินการศึกษาความเหมาะสมโครงการพัฒนาแหล่งน้ำจำนวน 19 โครงการในปี 2558

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานเตรียมการที่จะดำเนินการศึกษาความเหมาะสมโครงการพัฒนาแหล่งน้ำจำนวน 19 โครงการในปี 2558 นี้

ประกอบด้วย 1. โครงการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม อ่างเก็บน้ำน้ำกิ พร้อมระบบส่ง อ.ท่าวังผา จ.น่าน และโครงการอ่างเก็บน้ำน้ำกอน อ.เชียงกลาง จ.น่าน 2. โครงการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมอ่างเก็บน้ำแม่คำ อ.แม่จัน จ.เชียงใหม่ 3. โครงการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งในแม่น้ำปราจีนบุรีและแม่น้ำสาขา จ.ปราจีนบุรี 4. โครงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) อ่างเก็บน้ำแม่เคม จ.แพร่ 5. โครงการการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) อ่างเก็บน้ำแม่เมาะอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.พะเยา อ่างเก็บน้ำแม่เชียงราย จ.ลำปาง และอ่างเก็บน้ำห้วยพริกขิง จ.จันทบุรี

6. โครงการศึกษาทบทวนผลกระทบสิ่งแวดล้อมอ่างเก็บน้ำแม่นึง จ.ลำปาง 7. โครงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมประตูระบายน้ำบ้านวังยาว จ.ลำปาง 8. โครงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมอ่างเก็บน้ำแม่ตีบ จ.ลำปาง 9. โครงการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นอ่างเก็บน้ำ 5 แห่งคือ อ่างเก็บน้ำผาแดง จ.ลำพูน อ่างเก็บน้ำห้วยชุนน้อย จ.เพชรบูรณ์ อ่างเก็บน้ำห้วยไร่ จ.สุโขทัย อ่างเก็บน้ำห้วยม่วงก๋อน จ.แม่ฮ่องสอน และอ่างเก็บน้ำห้วยลอก จ.อุตรดิตถ์ 10. โครงการศึกษาทบทวนผลกระทบสิ่งแวดล้อมอ่างเก็บน้ำน้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ 11. โครงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม อาคารบังคับน้ำในแม่น้ำยมตอนล่าง ประกอบด้วยประตูระบายน้ำวังอิทก อ.สามง่าม จ.พิจิตร ฝายบ้านวังจิก อ.โพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร ประตูระบายน้ำท่านางงาม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก และฝายโพธิ์ประทับช้าง อ.โพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร

12. โครงการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม แก้มลิงพื้นที่ลุ่มต่ำเหนือ จ.นครสวรรค์ 13. โครงการศึกษาทบทวนความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมระบบระบายน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง 14. โครงการศึกษาความเหมาะสม และผลกระทบสิ่งแวดล้อม การปรับปรุงโครงข่ายระบบชลประทานในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา 15. โครงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมอ่างเก็บน้ำลำตะเพินตอนบนและระบบผันน้ำ จ.กาญจนบุรี 16. โครงการศึกษาความเหมาะสม (FS) และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม อ่างเก็บน้ำวังโตนด จ.จันทบุรี 17. โครงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมก่อสร้างอาคารควบคุมน้ำในแม่น้ำมูล 3 แห่ง 18. โครงการศึกษาความเหมาะสมรูปแบบการพัฒนา โครงการบริหารจัดการน้ำโขง-เลย-ชี-มูล โดยแรงโน้มถ่วง 19. โครงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม การปรับปรุงปากแม่น้ำโก-ลก

สำหรับโครงการในลำดับที่ 1-3 เป็นแผนงานตามงบปกติ ปี 2558 และโครงการลำดับที่ 4-19 เป็นแผนงานที่ได้รับอนุมัติให้ใช้เงินกู้ตามแผนยุทธศาสตร์น้ำ เพื่อเร่งรัดให้มีแผนงานการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน โดยใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปี ตามกระบวนการมีส่วนร่วมโดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่

คาดว่าหากโครงการใดมีความเหมาะสม กรมชลประทานจะได้เสนอพิจารณารายงานด้านสิ่งแวดล้อมและจัดเข้าแผนการสำรวจ-ออกแบบ และก่อสร้างในปี 2560-2561ต่อไป.

จาก http://www.dailynews.co.th   วันที่ 9 พฤษภาคม 2558

เริ่มแล้ว! ธปท.อนุมัติผ่อนเงินออก 2 แนวทาง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เริ่มออกประกาศผ่อนคลายการไหลออกของเงินทุน หลังจากที่ได้ออกมาตรการในภาพรวม 9 มาตรการไปเมื่อวันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา โดย 2 มาตรการแรกที่ได้เริ่มผ่อนคลายให้เงินไหลออก และเพิ่มความต้องการเงินตราต่างประเทศเพิ่มขึ้น คือ การปรับปรุงหลักเกณฑ์ และวิธีปฏิบัติมาตรการป้องปรามเก็งกำไรค่าเงินบาท โดยได้เพิ่มวงเงินการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับเงินบาทของผู้มีถิ่นฐานในต่างประเทศ (NR) ที่ไม่มีธุรกรรมการค้าการลงทุนในประเทศไทยรองรับ โดยเพิ่มยอดคงค้างรายวันในทุกธุรกรรมจาก 300 ล้านบาท เป็น 600 ล้านบาทต่อ 1 กลุ่มผู้มีถิ่นฐานในต่างประเทศ ซึ่งประกาศดังกล่าวมีผลในวันที่ 6 พ.ค.ที่ผ่านมา

2.การปรับปรุงหลักเกณฑ์การทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศกับศูนย์บริหารเงิน โดยให้นิติบุคคลที่ได้รับอนุญาตเปิดบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ เป็นบัญชีแหล่งเงินจากต่างประเทศ และสามารถให้ศูนย์บริหารเงินดำเนินการยกเลิกหรือไม่ต่ออายุการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท ในเงินลงทุนโดยตรง เงินกู้ เงินให้กู้ยืมของตนเองและกลุ่มบริษัทได้ ทั้งนี้ อนุญาตให้ศูนย์บริหารเงินสามารถซื้อเงินตราต่างประเทศกับนิติบุคคลเพื่อเข้าบัญชีเงินฝากของศูนย์ได้ไม่เกิน 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นอกจากนั้น ยังให้ศูนย์บริหารเงินสามารถบริหารจัดการเงินตราต่างประเทศให้โฮลดิ้ง คอมพานีได้ รวมทั้งเป็นตัวแทนหักกลบลบหนี้ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา.

จาก http://www.thairath.co.th    วันที่ 9 พฤษภาคม 2558

KTIS โรงงานน้ำตาลที่ใหญ่ที่สุดของโลกไว้วางใจใช้เทคโนโลยีจากซีเมนส์ในการทำออโตเมชั่น

          ซีเมนส์ ผู้ให้บริการสินค้า และโซลูชั่นสำหรับลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมที่มีนวัตกรรมและมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมชั้นนำของโลก ได้แถลงข่าวความสำเร็จของการติดตั้ง ชุดส่งกำลังขับเคลื่อนไฟฟ้า-เครื่องกล ณ บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) [Kaset Thai International Sugar Corporation Public Company Limited (KTIS)] โรงงานน้ำตาลที่มีกำลังการผลิตที่ใหญ่ที่สุดของโลกและมีฐานการผลิตอยู่ในประเทศไทย

          ซีเมนส์ร่วมกับพันธมิตรอัลลายด์เทค บริษัทผู้ผลิตลูกหีบสำหรับโรงงานน้ำตาล (OEM) ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ในการติดตั้ง โซลูชั่น ระบบขับเคลื่อน (drives solution) คุณภาพชั้นนำโดยใช้เทคโนโลยี Integrated Drive Systems (IDS) ที่โด่งดังเป็นที่รู้จักวางใจและเชื่อถือได้จากซีเมนส์ เพื่อนำมาใช้งานแทนระบบขับเคลื่อนไอน้ำ (Steam Turbine) ที่ใช้มาแต่เดิม และเพิ่มประสิทธิภาพของโรงงานขึ้นอีกถึง 30% โดยใช้ ชุดขับ ขนาด 1000 kW Heavy Duty Pressure Feeder Drives และ 2050 kW Mill Drives จากซีเมนส์เนื่องจากมีขนาดกะทัดรัด สะดวกในการติดตั้งและใช้งาน อีกทั้งทนทานต่อสภาวะการใช้งานที่หนักหน่วง ในสภาวะที่มีความร้อน,ความชื้นและฝุ่น จากกระบวนการหีบอ้อยในโรงงานน้ำตาล

          ดีเทอร์ บร็อคเคิล รองประธานอาวุโส, กลุ่มธุรกิจ Digital Factory Division (DF) และ Process Industries & Drives (PD) ซีเมนส์ ประเทศไทย กล่าวว่า “เรามีความยินดีอย่างยิ่งต่อการที่กลุ่ม KTIS ได้รับผลประโยชน์จากเทคโนโลยี IDS อันล้ำสมัยล่าสุดของซีเมนส์ โดยคณะผู้บริหารของกลุ่ม KTIS มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลในอันที่จะมุ่งมั่นพัฒนา เสริมสร้างมูลค่าและคุณค่าของผลิตภัณฑ์ และสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมการทำงานที่มีความปลอดภัยแก่พนักงาน เราเชื่อว่ากลุ่ม KTIS ได้ดำเนินพันธกิจทางธุรกิจมาในทิศทางที่ถูกต้องในการเตรียมพร้อมเพื่อการลงทุนในธุรกิจใหม่และเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดในปัจจุบัน”

          โรงงานน้ำตาลเกษตรไทยฯ หนึ่งในโรงน้ำตาลของกลุ่ม KTIS มีกำลังการหีบอ้อยเพื่อใช้ในการผลิตน้ำตาล 55,000 ตันอ้อยต่อวัน และจำหน่ายน้ำตาลสู่ตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ การผลิตจำนวนมากเช่นนี้ย่อมส่งผลกดดันต่อระบบขับเคลื่อนไอน้ำแบบดั้งเดิม คณะผู้บริหารของกลุ่ม KTIS ตระหนักในความสำคัญนี้ จึงนำระบบออโตเมชั่นเข้ามาพัฒนาปรับปรุงกำลังการผลิตเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน และมั่นคงของธุรกิจต่อไป

          ประพันธ์ ศิริวิริยะกุล กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม KTIS กล่าวว่า “เรามีความประทับใจต่อการสนับสนุนจากทีมงานซีเมนส์ จากประสบการณ์ของเรา พอจะกล่าวได้ว่ามีเพียงไม่กี่บริษัทเช่น ซีเมนส์ที่มีศักยภาพ และเทคโนโลยีเพียงพอที่จะสามารถจัดหาระบบขับเคลื่อนได้ตามที่เรากำหนด ไม่เพียงแต่ทำให้โรงงานของเราทันสมัยยิ่งขึ้นกว่าเดิมเท่านั้น แต่ยังได้ช่วยประหยัดพลังงานให้เราได้อย่างมาก รวมทั้งระบบขับเคลื่อน ที่ไว้วางใจพึ่งพาได้ว่าจะสามารถรับมือกับระบบการทำงานของเครื่องจักรที่ต้องการกำลังขับและแรงบิดสูง

          สิ่งแปลกปลอม เช่น ก้อนหิน หรือ กรวดเคยเป็นสิ่งที่มักจะทำให้กระบวนการหีบอ้อย (ลูกหีบ) ติดขัดเมื่อครั้งที่ยังใช้งานระบบขับเคลื่อนไอน้ำอยู่ ปัจจุบัน เทคโนโลยี IDS ของซีเมนส์สามารถต้านแรงสะเทือน (shock) ได้สูง จึงสามารถลดผลกระทบจากสิ่งแปลกปลอมที่ปนมากับวัตถุดิบได้ดี นอกจากนี้ มลภาวะทางเสียงและการรั่วไหลของไอน้ำ ก็เป็นอีกประเด็นที่ ระบบขับเคลื่อน ตัวใหม่นี้สามารถจัดการได้เป็นอย่างดี

          สมเกียรติ ว่องกิตติกูล กรรมการบริหาร อัลลายด์เทค กล่าวว่า “ในฐานะ OEM เราพบว่าพอร์ตโฟลิโอที่มีมาตรฐานของซีเมนส์ทำให้เราสามารถปรับปรุง และนำเสนอสินค้าสำเร็จรูปตามความเหมาะสมของลูกค้าแต่ละบริษัทได้ดี กลุ่ม KTIS ถือเป็นกรณีศึกษาชั้นเลิศเกี่ยวกับธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตสูงและมีผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีในด้าน อุตสาหกรรมการขับเคลื่อน สามารถร่วมมือกันพัฒนายกระดับประสิทธิภาพได้ในทุกด้าน”

          กลุ่ม KTIS เปิดสายการผลิต 24 ชั่วโมงทุกวันทำการในรอบ 4-5 เดือน รูปแบบการปฏิบัติงานที่หนักหน่วงเช่นนี้เปิดโอกาสให้วิศวกรจากซีเมนส์ได้นำความเชี่ยวชาญมาสนับสนุน ให้แนวทางการทำงานและเป็นที่ปรึกษาให้แก่กลุ่ม KTIS ทั้งนี้ 2 ใน 5 โรงงานได้มีการติดตั้งเทคโนโลยี IDS ของซีเมนส์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และได้ดำเนินการให้เป็นที่แน่ใจว่าระบบการทำงานจะดำเนินต่อเนื่องตามโครงสร้างกำหนดเวลา โดยมีการหยุดเดินเครื่องจักรน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ระหว่างขั้นตอนการอัพเกรดงาน

จาก http://news.thaiquest.com   วันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาสินค้าเกษตรในประเทศทั้งระบบ หวังสร้างการแข่งขันและพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรไทยในตลาดโลก

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ เกี่ยวกับราคาสินค้าเกษตร ว่า ปัจจุบันนี้เศรษฐกิจโลกและอาเซียนยังประสบปัญหาอยู่ ซึ่งรัฐบาลได้พยายามเร่งแก้ปัญหาสินค้าเกษตรในประเทศไทยทั้งระบบ โดยเฉพาะโครงสร้างการซื้อขายสินค้าเกษตรและสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร ที่ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย เพื่อแก้ปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกร แต่เกษตรกรเองต้องใช้จ่ายอย่างประหยัดและพอเพียงด้วย ที่สำคัญอย่าตกเป็นเครื่องมือให้กับนักการเมืองหรือผู้มีอิทธิพลจากการใช้ประชานิยมหรือข้าราชการที่ประพฤติมิชอบ ทั้งนี้ รัฐบาลได้ผลักดันให้ราคาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง และอ้อย ให้มีระบบการบริหารจัดการใหม่และสร้างรายได้ให้เกษตรกรไทย ซึ่งให้กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระทรวงพาณิชย์ เร่งจัดการขึ้นบัญชีอาชีพและรายได้ของเกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน และผู้ประกอบอาชีพรับจ้าง เพื่อให้จัดระบบดูแลได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง ควบคู่กับการเดินหน้ามาตรการลดต้นทุนการผลิต ปรับปรุงพันธุ์ พัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตร การสร้างตลาดใหม่ๆ การส่งเสริมรวมกลุ่มสหกรณ์ให้เข้มแข็ง

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่เกษตรกรไทยต้องปรับตัวและสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนเกษตรกร เพื่อให้สามารถผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพและแข่งขันในตลาดต่างประเทศได้ ทั้งนี้ ได้ให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับทหารช่วยเหลือเกษตรกรในการลดต้นทุนการผลิตในเรื่องการหาเครื่องจักรกลการเกษตรใช้เพาะปลูก การสนับสนุนการผลิต และการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ การส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันด้วยการจดทะเบียนเกษตรกร ครอบคลุมผู้เช่าที่เพาะปลูกและเป็นเจ้าของที่

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

เตือนงดเผาไร่อ้อย

เมื่อเร็วๆนี้ นายสมจิตร ธีระบุญชัยกุล เกษตรจังหวัดกำแพงเพชร กล่าวว่า ขณะนี้เป็นช่วงที่เกษตรกรชาวไร่อ้อยเริ่มทำการตัดอ้อยส่งโรงงาน พบว่าในบางพื้นที่มีการเผาอ้อยก่อนตัด เนื่องจากมีปัญหาเรื่องขาดแคลนแรงงานและค่าจ้างสูง ผลจากการเผาอ้อยก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมามากมาย นอกจากเป็นอันตรายต่อรอบข้างแล้ว ยังกระทบต่อผู้ปลูกอ้อยตามตรงเพราะทำให้น้ำหนักอ้อยลดลง สูญเสียความชื้นอ้อยที่ตัดมีน้ำหนักหายไป บ่อยครั้งต้นทุนการผลิตสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จึงควรงดเผาเพราะไม่เป็นผลดีต่อทุกฝ่าย

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

กรมพัฒนาที่ดินทุ่มงบกว่า1,800ล้าน พัฒนาแหล่งน้ำเพื่อชุมชน

เมื่อเริ่มเข้าสู่ฤดูร้อนหลายพื้นที่ของประเทศไทยก็เริ่มมีปัญหาในเรื่องของการจัดการน้ำ ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำไม่คงที่ในแต่ละปี แหล่งน้ำธรรมชาติ หรือแม้แต่แม่น้ำสายต่างๆ ที่แห้งขอด ส่งผลกระทบกับเกษตรกรที่ทำการเพาะปลูก โดยเฉพาะในเขตนอกพื้นที่ชลประทานที่ไม่สามารถปลูกพืชได้ จึงทำให้เกษตรกรขาดรายได้ที่เข้ามาเลี้ยงดูครอบครัว กรมพัฒนาที่ดินนอกจากจะดูแลในเรื่องของทรัพยากรดินแล้ว อีกด้านหนึ่งก็คือการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า กรมพัฒนาที่ดินได้มีการบริหารจัดการน้ำ 3 โครงการ คือ 1.โครงการแหล่งน้ำเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ เป็นโครงการแหล่งน้ำขนาดเล็กของกรมพัฒนาที่ดิน ซึ่งถ้าหากชุมชนใดต้องการแหล่งน้ำจะต้องให้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นทำเรื่องเข้ามาที่กรม โดยระบุว่า แหล่งน้ำในพื้นที่ของตนเองมีความตื้นเขินหรือไม่ มีวัชพืชขึ้นปกคลุม หรือ ต้องการให้ขุดขึ้นมาใหม่ ซึ่งกรม จะดำเนินการส่งช่างออกไปสำรวจ ออกแบบ เพื่อที่จะบรรจุเข้าแผนในการก่อสร้างต่อไป

ส่วนของโครงการที่ 2 โครงการแหล่งน้ำชุมชน จะเป็นโครงการขนาดใหญ่กว่าโครงการแรก เนื่องจากจะมีการบริหารจัดการน้ำ ในเบื้องต้นของการทำงานจะต้องมีการเข้าไปพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ก่อน และจากนั้นก็จะมีการส่งน้ำด้วยระบบท่อ เข้าไปในพื้นที่ของเกษตรกรที่อยู่ในโครงการ และในส่วนนี้กลุ่มของผู้ใช้น้ำหรือกลุ่มเกษตรกรต้องมีการตกลงกันเองว่า จะมีการเก็บค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการน้ำอย่างไร เนื่องจากโครงการนี้จะต้องมีการสูบน้ำ ซึ่งอาจจะใช้พลังงานจากไฟฟ้า หรือ น้ำมัน กลุ่มของผู้ใช้น้ำจะต้องมีการจัดการกันเอง โดยจะมีเจ้าหน้าที่ของกรมพัฒนาที่ดินคอยเป็นพี่เลี้ยงให้

สำหรับโครงการที่ 3 โครงการแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน ซึ่งเป็นโครงการที่เกษตรกรให้ความสนใจมาก โดยมีการริเริ่มโครงการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีแนวคิดที่จะให้กรมพัฒนาที่ดิน สร้างแหล่งน้ำขนาดเล็กให้กับเกษตรกรที่อยู่นอกเขตชลประทาน หรือ มีชื่อเรียกว่า “โครงการบ่อจิ๋ว”มีขนาด 1,260 ลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้เกษตรกรที่สนใจจะขอรับบริการ จะต้องจ่ายเงินสมทบ ให้กับทางราชการ บ่อละ 2,500 บาท และส่วนต่างของค่าใช้จ่ายทางราชการจะเป็นผู้ออกให้ทั้งหมด สำหรับโครงการบ่อจิ๋ว ในปี 2558 เรามีโครงการขุดบ่อจำนวน 50,000 บ่อ ทั้งนี้เกษตรกรที่สนใจโครงการบ่อจิ๋ว สามารถเขียนคำร้องโดยผ่านหน่วยงานของกรมพัฒนาที่ดิน ซึ่งจะนำมารวบรวมคำร้องทั้งหมด เพื่อวางแผนการจัดการและจัดสรรงบประมาณ ในการก่อสร้างต่อไป

ในครั้งที่เริ่มต้นโครงการบริหารจัดหารน้ำทั้ง 3 โครงการนี้อาจจะมีปัญหาการทำงานซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่นอยู่บ้าง แต่ปัจจุบันได้ออกมาตรการให้เจ้าของพื้นที่ ซึ่งก็คือสถานีพัฒนาที่ดินในจังหวัดต่างๆ เข้าไปตรวจสอบก่อนว่า แหล่งน้ำที่ขอรับการสนับสนุนมานั้น มีการทับซ้อนกับหน่วยงานอื่นหรือไม่ จึงจำเป็นที่จะต้องส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบ ซึ่งถ้ามีการทับซ้อนก็จะขอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบได้ดำเนินการ ส่วนกรมพัฒนาที่ดินก็จะทำในส่วนอื่นแทน

นายเข้มแข็ง กล่าวเสริมถึงโครงการบ่อจิ๋วว่า โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาภัยแล้งที่กรมพัฒนาที่ดินได้บรรจุเข้าไปในแผนการทำงาน แต่ด้วยโครงการบ่อจิ๋ว มีความจุเพียงแค่ 1,260 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งอาจจะเก็บน้ำได้ไม่ครอบคลุมทั้งปี เนื่องจากวัตถุประสงค์หลักของโครงการคือ บรรเทาความเดือดร้อน ในช่วงสั้นๆ เช่น แก้ปัญหาการขาดน้ำในช่วงตกกล้า เป็นต้น โดยในปัจจุบัน โครงการบ่อจิ๋วนี้ ได้รับความสนใจจากเกษตรกรเป็นจำนวนมาก ทำให้การดำเนินการอาจจะมีข้อติดขัดอยู่บ้าง โดยเฉพาะด้านการบริการ เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่ของกรมพัฒนาที่ดินที่ไม่เพียงพอ ซึ่งเมื่อขุดบ่อเสร็จเรียบร้อย จะต้องมีการตรวจรับงานให้เป็นไปตามแบบที่กำหนด อีกทั้งถ้าพื้นที่ใดมีจำนวนบ่อที่ขุดมาก ก็อาจจะมีจำนวนเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปตรวจงานไม่เพียงพอ

สำหรับ 3 โครงการดังกล่าว คาดว่าจะใช้งบประมาณ 1,800 ล้านบาท ซึ่งโครงการเหล่านี้เกษตรกรไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น

ยกเว้นโครงการบ่อจิ๋ว ที่จะต้องมีการจ่ายเงินสมทบในการขุดบ่อละ 2,500 บาท อย่างไรก็ตาม ทุกโครงการที่กล่าวมานั้นล้วนเป็นโครงการที่เอื้อประโยชน์ให้กับเกษตรกรอย่างแท้จริง

จาก http://www.naewna.com วันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

แจงสี่เบี้ย : การแก้ปัญหาพื้นที่ดินเค็มในประเทศไทย (6)

การปรับปรุงบำรุงดินเค็มเพื่อปลูกพืชผักทนเค็ม พื้นที่ดินเค็มน้อยและเค็มปานกลางที่น้ำไม่ท่วม หรือเก็บเกี่ยวข้าวแล้วมีน้ำพอเพียงสามารถปรับปรุงบำรุงดินปลูกพืชเศรษฐกิจทนเค็มได้ โดยใช้สารปรับปรุงดิน เช่น ยิปซัมในกรณีที่เป็นดินโซดิก หรือดินเค็มโซดิก โดยหว่านและคลุกพรวนพร้อมการไถเตรียมดิน ให้น้ำฝนชะล้างเกลือลึกลงไปตามความลึกของชั้นดิน ใส่อินทรียวัตถุปรับปรุงบำรุงดิน คือ แกลบ ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด เลือกปลูกพืชทนเค็มที่เหมาะสม เช่น หน่อไม้ฝรั่ง มะเขือเทศ กุยช่าย แตงแคนตาลูป บร็อคโคลี่ คะน้า ขึ้นฉ่าย ผักชี เป็นต้น การให้น้ำระบบน้ำหยด ช่วยควบคุมความชื้นดิน ความเค็มดิน และประหยัดน้ำได้ดี ควรคลุมดินหลังปลูกเพื่อรักษาความชื้น และป้องกันการสะสมของเกลือที่ผิวดิน

การปลูกต้นไม้โตเร็วบนคันนา นาดินเค็มน้อยและเค็มปานกลางมักมีน้ำใต้ดินเค็มอยู่ตื้นใกล้ผิวดิน การปลูกต้นไม้บนคันนาพื้นที่ดินเค็ม เช่น กระถินออสเตรเลีย สะเดา ขี้เหล็ก และยูคาลิปตัส สามารถควบคุมระดับน้ำใต้ดินเค็มให้อยู่ที่ความลึกจากผิวดินคราบเกลือผิวดินลดลง และใบไม้ที่ร่วงหล่นบนดินยังเป็นอินทรียวัตถุเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ดินได้

เกษตรกรที่มีปัญหาพื้นที่ดินเค็ม สามารถมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการปลูกยูคาลิปตัสบนคันนาโดยปรับแต่งคันนาให้มีความกว้าง 1.5-2 เมตร ปลูกเป็นแถวเดี่ยวหรือแถวคู่ ระยะห่าง 1.5-2 เมตร ปรับปรุงดินในหลุมปลูกด้วยอินทรียวัตถุ เช่น แกลบ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก จะทำให้ต้นยูคาลิปตัสเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วกว่าปลูกเป็นพื้นที่ติดต่อกัน เพราะได้รับแสงแดดเต็มที่ ในระยะเวลา 5 ปี ยูคาลิปตัสจะมีน้ำหนักต้นละประมาณ 250 กิโลกรัม เกษตรกรสามารถตัดจำหน่ายได้

การปลูกหญ้ารูซี่และหญ้ากินนีทนเค็ม หญ้ารูซี่ทนเค็มและหญ้ากินนีทนเค็ม ได้รับการพัฒนาขึ้นมา โดยโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีหญ้าทนเค็ม เกษตรกรนำมาปลูกบนพื้นที่ดินเค็มที่น้ำไม่ท่วมขังได้ อายุในการตัดแต่ละรอบในช่วงฤดูฝน ควรจะประมาณ 60-70 วันหรือมากกว่า ฤดูแล้งไม่ควรตัดหญ้าเพราะการตัดแต่ละครั้งจะทำให้สูญเสียรากบางส่วน ทำให้หญ้ามีโอกาสตายได้การตัดแต่ละครั้ง ควรให้เหลือตออย่างน้อย 30-40 เซนติเมตร เพราะการตัดต่ำเช่นในสภาพดินปกติ จะมีผลกระทบต่อระบบราก และอาจจะทำให้หญ้าตายได้

ทั้งนี้ สามารถปล่อยสัตว์เข้าแทะเล็มหญ้าที่ปลูกอยู่ในบริเวณดินเค็มได้ แต่ต้องระมัดระวังไม่ให้สัตว์แทะเล็มมากเกินไป โดยต้องเหลือตอไว้อย่างน้อย 30-40 เซนติเมตรขึ้นไป ข้อดีของการปล่อยสัตว์เข้าแทะเล็มคือ สัตว์ถ่ายมูลและปัสสาวะลงในแปลงหญ้า ช่วยความอุดมสมบูรณ์ให้กับดินได้ด้วย

จาก http://www.naewna.com วันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

เศรษฐกิจภูมิภาคไม่กระเตื้อง ธปท.แจงตัวเลขมีนาคม / ดัชนีผู้บริโภคขยายตัวเล็กน้อย

    ธปท.แจงตัวเลขเศรษฐกิจรายเดือนมีนาคมรายภูมิภาค "เหนือ-ตะวันออกเฉียงเหนือ" มีการใช้จ่ายภาครัฐเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก  ชี้ดัชนีอุปโภคบริโภคเอกชนขยายตัวเพียงเล็กน้อย  ระบุความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอยู่ในระดับต่ำ/ขณะที่กลุ่มค้าปลีก-ส่ง-การผลิตและที่อยู่อาศัยดันสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน

    รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจและการเงินเดือนมีนาคม 2558 รายภูมิภาค ระบุว่า ภาคเหนือภาพรวมทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน  โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวเพียง 1.3% ซึ่งส่วนสำคัญมาจากการบริโภคในกลุ่มสินค้าจำเป็นจากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว  ประกอบกับราคาน้ำมันที่ลดลงมากในช่วงก่อนหน้าสนับสนุนให้มีการใช้จ่ายในหมวดเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น  ขณะที่การใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทน ส่วนใหญ่ยังหดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน  โดยรายได้เกษตรกรและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังลดลง  ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนยังฟื้นตัวอย่างช้าๆ โดยดัชนี หดตัวน้อยลงเหลือ 4.1% จากระยะเดียวกันปีก่อน 

    1101ส่วนผลผลิตทั้งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรยังลดลงต่อเนื่อง  โดยดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ลดลงมากที่ 11.9% เนื่องจากผลผลิตข้าวนาปรังและอ้อยได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้ง  ด้านดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลง 3.0% ต่อเนื่องจากเดือนก่อน  ตามผลผลิตอาหารแปรรูปสินค้าเกษตรที่วัตถุดิบทั้งข้าว  และอ้อยได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้ง  รวมถึงผลผลิตสิ่งทอและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ยังลดลง  โดยปัจจัยที่เป็นแรงส่งสำคัญในเศรษฐกิจภาคเหนือ ได้แก่ การเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐเพิ่มขึ้น 112.6% ตามการปรับปรุง  และซ่อมสร้างโครงข่ายถนนของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท  รวมทั้งการซ่อมแซมระบบชลประทานและพัฒนาแหล่งน้ำของกรมชลประทาน  ส่วนใหญ่เร่งตัวในเกณฑ์สูงมาโดยตลอด

    ภาคการท่องเที่ยวยังขยายตัวในเกณฑ์ดี  โดยนักท่องเที่ยวชาวจีนยังเดินทางเข้ามาในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนอย่างต่อเนื่อง  ประกอบกับส่วนราชการยังมีการจัดประชุมสัมมนาเพิ่มขึ้นในหัวเมืองสำคัญ  โดยจำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยานและอัตราการเข้าพักเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน  ด้านการส่งออกมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 8.0% ตามการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านด่านชายแดนที่ยังขยายตัวดี  โดยเฉพาะเมียนมาร์ที่เร่งนำเข้าสินค้าก่อนช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์  ขณะที่การส่งออกชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ยังลดลง  ตามอุปสงค์จากต่างประเทศ  ด้านการนำเข้าเพิ่มขึ้น 1.2% จากการนำเข้าวัตถุดิบ  และสินค้าขั้นกลางโดยเฉพาะชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์  และส่วนประกอบ

    "เสถียรภาพเศรษฐกิจภาคเหนือโดยทั่วไปอยู่ในเกณฑ์ดี  อัตราการว่างงานทรงตัวเท่ากับเดือนก่อนที่ 0.8% ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 จากราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศที่อยู่ในระดับต่ำ  และราคาอาหารสดชะลอลงตามปริมาณผลผลิตที่เข้าสู่ตลาดมากขึ้น เช่น เนื้อสัตว์ ไก่และไข่ไก่  ส่วนภาคการเงินนั้น  เงินฝากของสาขาธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2558 มียอดคงค้าง 6.08 แสนล้านบาท ขยายตัว 1.6% ชะลอลงจากเดือนก่อน ส่วนหนึ่งเป็นการถอนเงินฝากของส่วนราชการเพื่อนำไปใช้ในโครงการต่างๆ  และเงินฝากบางส่วนไม่ฝากต่อเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยไม่จูงใจ  ด้านเงินให้สินเชื่อมียอดคงค้าง 5.95 แสนล้านบาท (ประมาณการ) เพิ่มขึ้น 4.5% ใกล้เคียงกับเดือนก่อน ที่ยังมีความต้องการสินเชื่อเพื่อหมุนเวียนของธุรกิจค้าปลีก  ค้าส่ง  อุตสาหกรรมการผลิตและสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย  โดยสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน"

    ด้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน  โดยมีการใช้จ่ายภาครัฐยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญต่อเนื่อง  จากรายจ่ายงบลงทุนที่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 93.6% และขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนจากมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายของภาครัฐ  โดยเฉพาะรายจ่ายหมวดที่ดิน  และสิ่งก่อสร้างของกรมทางหลวงชนบท  และกรมชลประทาน อย่างไรก็ตาม  ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 0.2% ยังคงทรงตัวตามความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่อยู่ในระดับต่ำ  ทำให้ยังคงระมัดระวังการใช้จ่ายแม้ว่ารายได้ของเกษตรกรหดตัวน้อยลง  โดยเฉพาะการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทน  ขณะที่การใช้จ่ายสินค้าจำเป็นปรับตัวดีขึ้นสะท้อนจากยอดขายสินค้าอุปโภคบริโภค  และยอดขายในห้างสรรพสินค้าที่ขยายตัว

    สำหรับดัชนีการลงทุนภาคเอกชนหดตัวจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 4.0% และหดตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อนจากการก่อสร้างเพื่อที่อยู่อาศัย  ขณะที่การก่อสร้างเพื่อการพาณิชย์และบริการยังขยายตัว  ด้านแนวโน้มการลงทุนในระยะต่อไปมีทิศทางดีขึ้น  สะท้อนจากเงินลงทุนของโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับอนุญาตให้เปิดดำเนินการเพิ่มขึ้น  โดยเฉพาะโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานลม  รวมทั้งเงินลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ (BOI) เพิ่มขึ้นกว่า 6 เท่าตัว

    ภาคเกษตรกรรมนั้น  ดัชนีมูลค่าผลผลิตพืชสำคัญหดตัวจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 3.6% แต่หดตัวน้อยลงจากเดือนก่อนตามราคาพืชสำคัญ  โดยราคามันสำปะหลังเพิ่มขึ้นจากความต้องการของประเทศคู่ค้าที่ยังมีต่อเนื่อง  ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ยังอยู่ในเกณฑ์ดี  จากผลผลิตที่ออกสู่ตลาดน้อย  สำหรับดัชนีผลผลิตพืชสำคัญยังคงหดตัวตามผลผลิตข้าวนาปรัง  และผลผลิตอ้อยโรงงานส่วนหนึ่ง  เนื่องจากประสบปัญหาภัยแล้ง  ด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 7.0% แต่ชะลอลงจากเดือนก่อนตามการผลิตในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์จากที่เร่งผลิตในช่วงก่อนหน้า  และการผลิตเพื่อส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่มฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (Hard Disk Drive : HDD) ที่ชะลอลงตามความต้องการของตลาดต่างประเทศเป็นสำคัญ  ขณะที่การผลิตน้ำตาลทรายยังขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดีจากปริมาณอ้อยที่เข้าสู่โรงงานเพิ่มขึ้น

    ภาคการเงิน ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2558 นั้น  ธนาคารพาณิชย์เงินฝากคงค้างเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 2.8% แต่ชะลอลงจากเดือนมกราคมตามเงินฝากออมทรัพย์  และกระแสรายวันของส่วนราชการ  ด้านสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 9.5% และขยายตัวเล็กน้อยจากเดือนก่อน ตามสินเชื่อภาคธุรกิจที่ขยายตัว  ขณะที่สินเชื่อภาคครัวเรือนยังคงชะลอตัว  สำหรับสถาบันการเงินเฉพาะกิจเงินฝากคงค้างเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 7.1% และขยายตัวเล็กน้อยจากเดือนมกราคมตามเงินฝากของธนาคารออมสิน  ด้านสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 5.4% แต่ชะลอลงจากเดือนก่อนตามธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสิน เป็นสำคัญ

    "เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปหดตัว 0.85% โดยหดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนตามราคาน้ำมันในตลาดโลก  และมาตรการควบคุมราคาสินค้าของภาครัฐ  ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 1.07% ชะลอลงจากเดือนก่อนจากราคาอาหารสำเร็จรูปเป็นสำคัญ  สำหรับอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำที่ 0.8%"

จาก http://www.thanonline.com วันที่ 7 พฤษภาคม 2558

ส่งออกไทยไปจีนทรุดต่อเนื่อง ไตรมาสแรกติดลบ 14%/สภาหอฯชี้สาเหตุทำวูบ

    ส่งออกจีนทรุด ส่งผลส่งออกไทยไปจีนแย่ตาม ไตรมาสแรกติดลบกว่า 14% มันสำปะหลัง ยางพารา เคมีภัณฑ์ตัวเลขแดงทุกลุ่ม เอกชนชี้เหตุยางรถยนต์จีนถูกสหรัฐฯใช้มาตรการเอดี ส่งผลนำเข้ายางวัตถุดิบจากไทยไปผลิตส่งออกลดลง ขณะน้ำมันโลกถูกลง นำเข้ามันสำปะหลังผลิตเอทานอลวูบตาม เอกชนชี้แนวโน้มส่งออกไทยลดลงต่อเนื่องจากลงทุนต่างชาติย้ายออก

    สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สคร.) ณ เมืองกวางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีนเปิดเผยถึงการค้าระหว่างประเทศของจีนในเดือนมีนาคม 2558 ลดลง 13.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีมูลค่า 1.76 ล้านล้านหยวน (286.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่สามติดต่อกันของปีนี้ จากก่อนหน้านี้ในเดือนมกราคม และกุมภาพันธ์ลดลง 11.3 และ 10.8% ตามลำดับ ขณะที่ช่วงไตรมาสที่ 1/2558 การค้าระหว่างประเทศของจีนลดลง 6% โดยมีมูลค่า 5.54 ล้านล้านหยวน  โดยการส่งออกเพิ่มขึ้น 4.9% และการนำเข้าลดลง 17.3%

   301 ทั้งนี้ในไตรมาสแรกของปี 2558 ยุโรปเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของจีน โดยมูลค่าการค้าลดลง 2.1% สหรัฐอเมริกาเป็นคู่ค้าอันดับ 2 มูลค่าการค้าเพิ่มขึ้น 3.2% ตามด้วยญี่ปุ่น มูลค่าการค้าลดลง 11% โดยโฆษกของกรมศุลกากรจีนให้เหตุผลของการค้าระหว่างประเทศของจีนที่ลดลงว่า เป็นผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยับคงอ่อนแอ และความกดดันเศรษฐกิจในประเทศจีนกำลังค่อย ๆฟื้นตัว ประกอบกับช่วงวันหยุดตรุษจีนของปีนี้ตรงกับเดือนกุมภาพันธ์ ทำให้บริษัทและโรงงานหลายแห่งต้องปิดทำการเป็นสัปดาห์ ในขณะที่วันตรุษจีนของปีที่ผ่านมาตรงกับเดือนมกราคม ทำให้ต้องเปรียบเทียบกับฐานคำนวณตัวเลขที่สูงกว่า  อย่างไรก็ตามในไตรมาสแรกของปีนี้จีนยังเกินดุลการค้าถึง 755.3 ล้านหยวน

    จากการตรวจสอบข้อมูลของ "ฐานเศรษฐกิจ" พบช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ (ม.ค.-มี.ค.)จีนยังเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย โดยมีมูลค่าการค้า (ส่งออก+นำเข้า)ระหว่างกัน 1.53 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 0.61% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยไทยส่งออกมูลค่า 5.58 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 14.4% นำเข้ามูลค่า 9.72 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 11.8% ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้าจีน 4.14 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

    สำหรับสินค้าส่งออก 5 อันดับแรกของไทยไปจีนประกอบด้วย เม็ดพลาสติก, ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง, ยางพารา, เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ และเคมีภัณฑ์ โดยมูลค่าการส่งออกไปจีนของแต่ละสินค้า -2.01, -11.32, -43.42, +3.19  และ -29.72% ตามลำดับ

    นายบัณฑูร  วงศ์สีลโชติ ประธานคณะกรรมการความยั่งยืนทางธุรกิจ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กรณีผลิตภัณฑ์ยางพาราของไทยส่งออกไปจีนลดลงอย่างมากตั้งแต่ปี 2557 ต่อเนื่องถึงไตรมาสแรกของปีนี้นั้น มีปัจจัยสำคัญจากก่อนหน้านี้สหรัฐฯได้ใช้มาตรการต่อต้านการทุ่มตลาด(เอดี)สินค้ายางรถยนต์จากจีน มีผลให้จีนนำเข้ายางพาราจากไทยลดลง ส่วนกรณีผลิตภัณฑ์มันสำหลังที่จีนเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่จากไทยเพื่อไปผลิตเอทานอล  แต่เวลานี้ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลง และถูกกว่าเอทานอล ทำให้ชาวจีนหันไปใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น

    "ในทางกลับกันในไตรมาสแรกของปีนี้ไทยมีการนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้น ที่เห็นชัดเจนคือเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านที่มูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 26% เพราะเราไม่มีสินค้าที่แข่งกับเขาได้ เนื่องจากในปี 2554 ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ มีบริษัทต่างชาติเกือบ 1 หมื่นบริษัทที่ย้ายออกจากไทย ในจำนวนนี้เป็นญี่ปุ่นกว่า 7 พันบริษัท เช่นโตชิบา ปิดโรงงานที่ไทยไปเปิดที่ฟิลิปปินส์ และปัจจุบันการส่งออกของไทยส่วนใหญ่มาจากการลงทุนของต่างชาติ ในลักษณะเป็นโรงงานผลิตชิ้นส่วนในหลายประเทศ  เมื่อเขาปิดโรงงานที่ไทย การส่งออกของเราก็จะกระทบเช่นในปัจจุบัน"

จาก http://www.thanonline.com วันที่ 7 พฤษภาคม 2558

จ่อปล่อยใบอนุญาตตั้งรง.น้ำตาล ประเดิม50แห่งรายใหม่ยื่นขอได้

    กลุ่มโรงงานน้ำตาลทรายมีเฮ กระทรวงอุตสาหกรรมจ่อปล่อยใบอนุญาตตั้งโรงงานเพิ่มกลางปีนี้ หลังประกาศกระทรวงมีผลบังคับ ให้ผู้ประกอบการรายใหม่ยื่นขอตั้งโรงงานน้ำตาลได้ จากเดิมที่ผูกขาดเฉพาะรายเดิม สอน.เผยมีเรื่องค้างกว่า 50 คำขอ ยันกฎหมายมีผล เร่งพิจารณาปล่อยใบอนุญาตไม่เกิน 3 เดือน ด้านเคทีไอเอส พร้อมลงทุนทันที 4-5 แห่ง ขณะที่เคเอสแอล ขอผ่อนระยะห่างต่ำกว่า 50 กิโลเมตร กำหมื่นล้านบาทลงทุน

    นายพิชัย ตั้งชนะชัยอนันต์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ขณะนี้ร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมว่าด้วยเรื่องการอนุญาตให้ตั้งหรือย้าย หรือขยายโรงงานน้ำตาลในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร อยู่ระหว่างการพิจารณาในรายละเอียดของกฤษฎีกา ภายหลังจากผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 เมษายน ที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าการพิจารณาจะแล้วเสร็จในเดือนนี้ ก่อนจะส่งให้กระทรวงอุตสาหกรรมออกประกาศใช้บังคับได้ไม่เกินกลางปีนี้ 

    ทั้งนี้ การประกาศกฎกระทรวงดังกล่าว จะเป็นการปลดล็อก การตั้งโรงงานน้ำตาลให้กับผู้ประกอบการรายใหม่ สามารถยื่นขอตั้งโรงงานน้ำตาลเพิ่มขึ้นได้ จากเดิมที่ดำเนินการได้เฉพาะผู้ประกอบการรายเดิมที่ขอตั้งเพื่อขยายกำลังการผลิตเท่านั้น และต้องมีระยะห่างจากโรงงานเดิมหรือโรงงานน้ำตาลอื่นๆไม่ต่ำกว่า 80 กิโลเมตร ซึ่งระเบียบใหม่ออกมาก็จะแก้ปัญหาตรงจุดนี้ด้วย  

    โดยจะกำหนดให้โรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ที่ขออนุญาตตั้งหรือย้ายโรงงานน้ำตาลจะมีระยะห่างจากเขตโรงงานน้ำตาลที่มีอยู่เดิม 50 กิโลเมตร แต่โรงงานแห่งใหม่ต้องมีแผนเตรียมปริมาณอ้อยจากการส่งเสริมและพัฒนาเข้าสู่โรงงานในปีแรกไม่น้อยกว่า 50% ของกำลังการผลิตของฤดูกาลผลิตนั้นๆ และกำหนดจำนวนวันหีบอ้อยของโรงงานทั่วประเทศเฉลี่ย 120 วันต่อปี และต้องไม่ใช่อ้อยของเกษตรกรที่เป็นคู่สัญญากับโรงงานน้ำตาลที่ตั้งอยู่พื้นที่เดิม และต้องมีปริมาณอ้อยจากการส่งเสริมและพัฒนาอ้อยฯ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 3 ปี และต้องไม่ใช่อ้อยของเกษตรที่เป็นคู่สัญญาของโรงงานน้ำตาลอื่น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการแย่งอ้อย

    นายพิชัย กล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่ยื่นเรื่องขอตั้งโรงงานเพิ่มขึ้นและขอย้ายที่ตั้งโรงงานน้ำตาลมีมากกว่า 50 คำขอที่ค้างการพิจารณาให้ใบอนุญาต และเมื่อมีมติครม.ออกมา ทำให้มีผู้ประกอบการรายใหม่เริ่มทยอยยื่นมาขอตั้งโรงงานน้ำตาลเพิ่มขึ้นแล้ว ซึ่งหลังจากประกาศกระทรวงมีผลบังคับ ทางสอน.จะตั้งคณะทำงานมาพิจารณาใบอนุญาต โดยจะเรียงตามลำดับการยื่นขอก่อนหลัง คาดว่าการพิจารณาให้ใบอนุญาตทั้งหมดไม่น่าจะเกิน 2-3 เดือน ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมในด้านต่างๆ ของผู้ประกอบการด้วย ว่ามีแผนการลงทุน พื้นที่ตั้งโรงงาน และแผนการส่งเสริมการปลูกอ้อยอย่างไรด้วย เป็นต้น เพื่อให้ใบอนุญาตไปแล้วเกิดการลงทุนจริงไม่กีดกันรายอื่น

    นายประพันธ์ ศิริวิริยะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนลชูการ์คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ เคทีไอเอส เปิดเผยว่า ที่ผ่านมากลุ่มเคทีไอเอส ได้ยื่นขอตั้งโรงงานน้ำตาลเพิ่มขึ้น 4-5 แห่ง ขนาดกำลังผลิต 2.5 หมื่นตันอ้อยต่อวัน จากปัจจุบันที่มีกำลังผลิตอยู่ 8.8 หมื่นตันอ้อยต่อวัน หากได้รับการพิจารณาใบอนุญาตตั้งโรงงานน้ำตาลในปีนี้ บริษัทก็พร้อมที่จะเริ่มลงทุนในปีหน้าได้ หลังจากที่ทำตามระเบียบการตั้งโรงงานจากทางราชการแล้ว เนื่องจากมีความพร้อมด้านบุคลากร สถานที่ตั้งโรงงาน รวมถึงด้านเงินลงทุน ที่ได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรอย่างบริษัท ซูมิโตโมฯ ซึ่งเป็นเทรดดิ้งชั้นนำของโลก เข้ามาร่วมถือหุ้นด้วย 25% 

    โดยเฉพาะการตั้งโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ที่จังหวัดสุโขทัย มีความพร้อมค่อนข้างมาก เนื่องจากปัจจุบันบริษัทมีคู่สัญญาที่ทำกับชาวไร่อ้อยไว้แล้วกว่า 85% แต่ต้องส่งอ้อยมาหีบที่จังหวัดนครสวรรค์ หากตั้งโรงงานน้ำตาลขึ้นได้ ก็จะส่งลดต้นทุนการขนส่งของชาวไร่อ้อยลงได้ ซึ่งเงินลงทุนที่ใช้ตั้งโรงงานน้ำตาลขนาดกำลังการผลิต 2.5 หมื่นตันอ้อยต่อ แต่ละแห่งน่าจะประมาณ 4-5 พันล้านบาท

    นายชลัช ชินธรรมมิตร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่-สายงานพัฒนาธุรกิจ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือเคเอสแอล เปิดเผยว่า แม้ว่ากระทรวงอุตสาหกรรมจะปรับหลักเกณฑ์ตั้งโรงงานน้ำตาลจากเดิมระยะห่าง 80 กิโลเมตร เหลือ 50 กิโลเมตรก็ตาม แต่โรงงานน้ำตาลที่บริษัทจะย้ายจากจังหวัดชลบุรีไปสระแก้ว อาจมีระยะห่างไม่เข้าข่ายตามที่กำหนด เนื่องจากสระแก้วเป็นจังหวัดที่มีภูเขาเป็นส่วนใหญ่ แต่มีพื้นที่ราบในการตั้งโรงงานไม่มาก หากภาครัฐยังคงยึดติดเรื่องระยะห่าง เชื่อว่าสระแก้วคงมีโรงงานน้ำตาลได้เพียงโรงเดียว

    ทั้งนี้ หากกระทรวงอุตสาหกรรมผ่อนผันระยะห่าง และให้ย้ายโรงงานน้ำตาลมาได้ บริษัทก็พร้อมดำเนินการ โดยคาดว่าจะสามารถย้ายโรงงานแล้วเสร็จได้ภายใน 1 ปีครึ่ง คาดว่าจะใช้เงินลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 1 หมื่นล้านบาท โดยโรงงานแห่งนี้มีกำลังการผลิต 2.5 หมื่นตันอ้อยต่อวัน

จาก http://www.thanonline.com วันที่ 7 พฤษภาคม 2558

จัดกิจกรรมASEAN Festival'โหมโรง'เข้าสู่เออีซี

กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ จะจัดกิจกรรม  ASEAN Festival ระหว่างวันที่ ๘ – ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๕๘ ณ พาร์คพารากอน (ลานน้ำพุ) สยามพารากอน  เพื่อเสริมสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน ซึ่งจะมีพิธีเปิดงานอย่างเป็นทางการในวันที่ ๘  พฤษภาคม ๒๕๕๘ เวลา ๑๘.๓๐ น. โดยมี พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานเปิดงาน และมีคณะผู้บริหารกระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงที่เกี่ยวข้อง คณะทูตอาเซียนประจำประเทศไทย และแขกผู้มีเกียรติจากหลากหลายสาขาเข้าร่วมพิธี

           การจัดกิจกรรม ASEAN Festival มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการ “โหมโรง” และเตรียมความพร้อมเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนอย่างเป็นทางการในวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๘ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้ภาคประชาชนเกิดความสนใจ ตื่นตัว และมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างความรู้สึกร่วมของประชาชนไทยในกระบวนการสร้างประชาคมอาเซียนให้เป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง        

  กิจกรรม ASEAN Festival จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Check in ASEAN” เป็นการจัดงานเชิงรุกและสร้างสรรค์ โดยเน้นรูปแบบที่ทันสมัยและเข้าถึงได้ง่าย ซึ่งมุ่งนำเสนอสาระความรู้แบบเจาะลึกควบคู่ไปกับกิจกรรมบันเทิงที่สนุกสนานและน่าสนใจตลอดทั้งวัน อาทิ นิทรรศการความรู้เกี่ยวกับอาเซียนด้วยระบบดิจิตัล การเสวนาถ่ายทอดความรู้บนเวทีภายใต้หัวข้อ “โอกาสของเยาวชนไทยในอาเซียน” การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านภาษาในหัวข้อ “เปิดโลกภาษาน่ารู้สู่อาเซียน” เกมส์และกิจกรรมบันเทิงสอดแทรกความรู้เกี่ยวกับอาเซียน การแสดงศิลปะและวัฒนธรรมเกี่ยวกับอาเซียน การแสดงดนตรีจากทูตวัฒนธรรมดนตรีอาเซียนและผู้ชนะเลิศการประกวด ASEAN International Singing Contest รวมทั้งการแสดงดนตรีและพบปะศิลปินนักร้องและนักแสดงมากมาย อาทิ มาริโอ้ เมาเร่อ   ใหม่ ดาวิกา โฮร์เน่  ต่อ ฮอร์โมน   HUCKY EICHELMANN   นิว-จิ๋ว   ก้อง สหรัฐ และออฟ ปองศักดิ์ เป็นต้น

            กรมอาเซียนในฐานะสำนักเลขาธิการอาเซียนแห่งชาติมุ่งหวังให้กิจกรรม ASEAN Festival ในครั้งนี้ช่วยเสริมสร้างความตระหนักรู้และเตรียมความพร้อมให้แก่ประชาชนไทยในทุกภาคส่วน เพื่อให้คนไทยสามารถปรับตัวเพิ่มขีดความสามารถ ใช้ประโยชน์และแสวงหาโอกาสจากการเป็นประชาคมอาเซียน อันนำมาซึ่งความอยู่ดีกินดีของประชาชนและความเจริญก้าวหน้าของประเทศไทยอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนต่อไป

จาก http://www.thanonline.com วันที่ 7 พฤษภาคม 2558

‘อุ๋ย’แจงไอเอ็มเอฟ ยืนยันไทยยังไม่มีปัญหาเงินฝืด

เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2558 นายมิซซูชิโร่ ฟูรูซาว่า รองกรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้เข้าพบ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ

โดยม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่านายฟูรูซาว่าก็ได้ชื่นชมไทยในการเตรียมความพร้อมด้านเศรษฐกิจ โดยในด้านเศรษฐกิจสิ่งที่ต้องเร่งปฏิรูปขณะนี้มีอยู่ 5 เรื่องคือ น้ำมัน ภาษี เศรษฐกิจดิจิตอล การพัฒนาอุตสาหกรรมแนวใหม่และมาตรการการดึงดูดต่างชาติให้เข้าร่วมลงทุนในไทยมากขึ้น ด้านภาษีขณะนี้ก็กำลังเริ่มดำเนินการจัดเก็บภาษีมรดก ส่วนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้สั่งชะลอไว้ เนื่องจากต้องมีการศึกษาข้อมูลให้รอบด้านก่อน

พร้อมกันนี้ได้ชี้แจงกรณีกรณีที่อัตราเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่องกัน 4 เดือน จนก่อให้มีข้อกังวลว่าเศรษฐกิจไทยจะเกิดภาวะ

 เงินฝืด โดยได้ยืนยันสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่เกิดภาวะเงินฝืด แต่เกิดจากผลกระทบการปรับลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก ที่ปรับตัวลดลงจากระดับ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลงมาเหลือ 50–60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเท่านั้น

โดยราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงมาก ทำให้ราคาของโลหะมีค่าทุกชนิดปรับตัวลดลง ส่งผลกระทบให้ประเทศผู้ส่งออกสินค้าเหล่านี้มีกำลังซื้อลดลงจนกระทบต่อการส่งออกและนำเข้าสินค้าของหลายประเทศทั่วโลก ขณะที่ราคาพืชผลเกษตรปรับตัวลดลงทั้งข้าว ยางพารา รวมทั้งน้ำตาลที่ราคาเริ่มตกต่ำ ทำให้กำลังซื้อของประชาชนลดลง

อย่างไรก็ตาม ตัวชี้วัดเศรษฐกิจไทยยังไม่เผชิญกับภาวะเงินฝืด เห็นได้จากการท่องเที่ยวที่ขยายตัว โดยนักท่องเที่ยวมีการใช้จ่ายเงินเพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมา ขณะที่การเปิดโรงงานใหม่เกิดขึ้นต่อเนื่อง โดยภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังมีการขยายตัว โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)ยืนยันว่าไตรมาส 1/2558 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะขยายตัวไม่ต่ำกว่า 3% โดยตัวเลขเศรษฐกิจจริงไตรมาส 1 สศช.จะประกาศตัวเลขในวันที่ 18 พฤษภาคม 2558 โดยเศรษฐกิจชะลอตัวไม่ได้แปลว่าเงินฝืด จึงต้องรอให้ลงให้สุดก่อน โดยจะรับผลกระทบไปประมาณ 5-6 เดือน ถึงจะทราบว่าหลังจากนั้นจะเป็นอย่างไร

สำหรับปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ทางเครดิตบูโรคาดว่าปี 2558 จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนไปถึงระดับ 90% ของจีดีพีนั้น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า ระดับหนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ที่ระดับ 80% มานานแล้ว คือตั้งแต่ตอนที่ตนทำงานอยู่ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ก็อยู่ในระดับดังกล่าว ปัจจุบันเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 87% ของจีดีพี ซึ่งไม่น่ากังวลมากนัก เพราะตัวเลขของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ยังไม่สูงมาก โดยส่วนหนึ่งที่หนี้ครัวเรือนปรับตัวเพิ่มคือการที่รัฐนำเอาหนี้นอกระบบมาอยู่ในระบบ

จาก http://www.naewna.com วันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

แหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน ช่วยเกษตรกรฝ่าวิกฤติภัยแล้ง

สถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้มีความรุนแรงมากกว่าปกติ ซึ่งภาวะภัยแล้งเป็นปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อการทำการเกษตรของเกษตรกร

นายประเสริฐ เทพนรประไพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 10 กรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า กรมพัฒนาที่ดินมีโครงการแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน หรือบ่อจิ๋ว ซึ่งเป็นการขุดบ่อขนาด 1,260 ลูกบาศก์เมตร ในพื้นที่ของเกษตรกรที่ร่วมโครงการ โดยรัฐจะสนับสนุนงบประมาณในการขุดบ่อละ 17,100 บาท และเกษตรกรที่ยื่นความประสงค์ขอขุดสระน้ำต้องออกเงินสมทบอีก 2,500 บาท รวมเป็นเงิน 19,600 บาท เพื่อกักเก็บน้ำ ช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งให้กับเกษตรกรที่อยู่นอกเขตชลประทาน เพราะจะมีแหล่งน้ำไว้ใช้ทำการเกษตรในฤดูแล้งหรือช่วงฝนทิ้งช่วง รวมถึงมีน้ำไว้ใช้เพื่อการบริโภค อุปโภคได้ด้วย ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวที่ต้องให้เกษตรกรร่วมสมทบทุนในการขุดสระก็เพราะว่าต้องการให้เกษตรกรมีส่วนร่วมและเป็นผู้ที่มีความต้องการจริงๆ ไม่ใช่โครงการที่ภาครัฐหยิบยื่นให้ฟรี ซึ่งเกษตรกรอาจไม่เห็นคุณค่าหรือไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควร

ตั้งแต่การดำเนินโครงการแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน มาตั้งแต่ปี 2549 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน พบว่าเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จและเป็นที่ต้องการของเกษตรกรจำนวนมาก เนื่องจากเป็นโครงการที่เกษตรกรได้รับประโยชน์โดยตรงและตรงกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด สำหรับสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 10 ที่ดูแลรับผิดชอบ 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดราชบุรี เพชรบุรี กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม ได้รับงบประมาณในการทำโครงการแหล่งน้ำขนาดเล็กในไร่นานอกเขตชลประทานทุกปี แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของเกษตรกร ก็จะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุดตามลำดับที่ยื่นความประสงค์ไว้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในด้านการขาดแคลนน้ำ นอกจากการพัฒนาแหล่งน้ำ สิ่งสำคัญคือได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ที่เข้าไปปฏิบัติงานในพื้นที่ ดำเนินการรณรงค์ให้เกษตรกรใช้ทรัพยากรดินและน้ำอย่างรู้คุณค่ามากขึ้นด้วย เนื่องจากทรัพยากรเหล่านี้มีจำกัด จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรักษาไว้ให้คงความสมบูรณ์ เพื่อส่งต่อให้สู่รุ่นลูกหลานได้ใช้ประโยชน์ต่อไป

ตัวอย่างของเกษตรกรที่ได้รับการขุดสระน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน ที่สามารถใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ คือ นายประเทือง ใจคำแหง เกษตรกรในพื้นที่ตำบลหนองรี อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี ที่เดิมทำการเกษตรแบบอาศัยน้ำฝน สภาพพื้นที่เป็นที่ราบ ความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ปลูกพืชไม่ขึ้น และไม่งอกงาม พอเข้าร่วมโครงการแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน ตั้งแต่ปี 2555 ก็สามารถทำการเกษตรได้ดีขึ้น เพราะเวลาฝนตกน้ำจะไหลลงสระ สามารถเก็บน้ำอยู่ ทำให้มีน้ำใช้ในฤดูแล้งเพียงพอต่อการทำเกษตร ผลผลิตทางการเกษตรดีขึ้น

โดย นายประเทือง ใจคำแหง เล่าว่า ตั้งแต่มีสระน้ำในไร่นาที่สถานีพัฒนาที่ดินกาญจนบุรีเข้ามาดำเนินการให้นั้น สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ได้ตลอดปี โดยได้นำน้ำไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ 17 ไร่ แบ่งเป็นการใช้น้ำเพื่อปลูกอ้อย จำนวน 12 ไร่ สูบน้ำจากสระมาใช้ในช่วงฝนทิ้งช่วง คือเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ใช้ปลูกมะนาว 1 ไร่ ให้น้ำหยดสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ใช้ปลูกพริก 1 ไร่ 2 งาน ให้น้ำแบบสปริงเกอร์ ปลูกกล้วยบนขอบสระและรอบๆ สระ 1 ไร่ ปลูกมะเขือเปราะ 1 งาน ปลูกไม้ผลและไม้ยืนต้น 1 งาน ส่วนอีก 1 ไร่เป็นพื้นที่ปลูกบ้าน ก็ได้ใช้น้ำจากสระเพื่อการอุปโภคในครัวเรือน

ผลจากการมีแหล่งน้ำในไร่นาไว้ใช้เอง ทำให้ตนสามารถทำการเกษตรได้หลากหลายและต่อเนื่องมากขึ้น ส่งผล

 ให้มีรายได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ตัวอย่าง จากเดิมที่อาศัยแต่น้ำฝนในการปลูกอ้อยจะขายอ้อยได้ปีละประมาณ 40,000-50,000 บาท พอมีสระน้ำก็สามารถเพิ่มผลผลิตสร้างรายได้ขึ้นไปถึง 100,000 บาท ส่วนพืชผักเดิมไม่เคยได้ปลูกเพราะไม่มีน้ำ มาตอนนี้ปลูกได้แล้วรายได้จากการปลูกพืชผักปีละไม่ต่ำกว่า 50,000 บาท นอกจากนี้ ในสระน้ำยังได้เลี้ยงปลาไว้บริโภคเอง ไม่ต้องซื้อ บางทีก็นำไปแลกเปลี่ยนอาหารกับเพื่อนบ้าน เป็นการลดรายจ่ายในครัวเรือน ที่สำคัญยังเป็นการเดินตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

 “ทุกวันนี้ชีวิตความเป็นอยู่ของตนและครอบครัวดีขึ้นตามลำดับ เพราะนอกจากมีแหล่งน้ำไว้ใช้เองแล้ว สถานีพัฒนาที่ดินกาญจนบุรี ยังได้ส่งเสริมสนับสนุนในการปรับปรุงพัฒนาทรัพยากรดินมาตลอด ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ เมื่อดินดี น้ำเพียงพอก็ทำการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเชื่อมั่นว่าจะทำให้การประกอบอาชีพมีความมั่นคงยิ่งขึ้น”

จาก http://www.naewna.com วันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

พิษณุโลกพัฒนาศักยภาพผลิต พื้นที่โครงการตามพระราชดำริ

นายชวพฤฒ อินทรเทศ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 (สศก.2) พิษณุโลก ในฐานะคณะทำงานโครงการบูรณาการพัฒนาศักยภาพการผลิตเกษตร ในพื้นที่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.พิษณุโลก เปิดเผยว่า จ.พิษณุโลก ได้ประกาศวาระจังหวัดเพื่อน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในการนำไปปฏิบัติให้เกิดผล เป็นวิถีชีวิตของคนในสังคมชุมชนอย่างทั่วถึงเป็นวงกว้าง โดยได้นำแนวทางพัฒนาเพื่อดำเนินการในพื้นที่โครงการ

โดย จ.พิษณุโลก มีมติอนุมัติงบเงินประมาณ 5 ล้านบาท ในปี 2558 เพื่อให้หน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานท้องถิ่น ร่วมบูรณาการทำงานโดยการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตทางการเกษตรที่เหมาะสมกับศักยภาพพื้นที่ สร้างเครือข่ายการเรียนรู้ให้เกษตรกร ราษฎร ยุวเกษตรกร และนักเรียน ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้แบบ “พออยู่ พอกิน” ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ส่งเสริมการผลิตทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์ชุมชนให้เชื่อมโยงกับการตลาดในชุมชน สนับสนุนการพัฒนาอาชีพทางการเกษตรด้านพืช ประมง ปศุสัตว์ และเกษตรผสมผสาน เพื่อสร้างรายได้และผลิตอาหารเพื่อบริโภคในครัวเรือนอย่างพอเพียง ทั้งยังสามารถลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ อีกทางหนึ่งด้วย นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนในสถานศึกษา เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของนักเรียนและขยายผลการเรียนรู้ สู่การปฏิบัติจริงในท้องถิ่น รวมถึงการพัฒนา Smart Farmer และSmart Officer ให้เป็นต้นแบบในการดำเนินชีวิตตามแนวพระราชดำริ ให้ชุมชนในพื้นที่โครงการ ได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ได้นำความรู้ไปปฏิบัติให้พึ่งพาตนเองได้ เพื่อสร้างความเข้มแข็งกับคนและชุมชนต่อไป

จาก http://www.naewna.com วันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

กกร.จับตาส่งออกไม่กะพริบ

 นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ว่า กกร.ยังคงเฝ้าติดตามสถานการณ์ส่งออกอย่างใกล้ชิดจากความเสี่ยงภาวะเศรษฐกิจคู่ค้าเป็นไปในเชิงลบมากขึ้น โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน รวมทั้งนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเพิ่มเติม ทั้งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงติดต่อกันสองครั้ง และล่าสุดมาตรการผ่อนคลายเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศจะเป็นปัจจัยที่ช่วยลดแรงกดดันต่อทิศทางค่าของเงินบาทได้มากน้อยเพียงใด

อนึ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในเดือน มี.ค.ยังอยู่ในภาวะเปราะบาง โดยการใช้จ่ายภาคเอกชนทั้งการบริโภคและการลงทุนแผ่วลง แม้มีปัจจัยบวกจากการเบิกจ่ายภาครัฐคืบหน้ามากขึ้น โดยเฉพาะการเบิกจ่ายงบลงทุน และภาคการท่องเที่ยวยังคงรักษาโมเมนตัมเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง แต่ภาคส่งออกยังคงหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่สาม

นอกจากนี้ กกร.ได้มีการหารือร่วมกันถึงมาตรการระยะสั้น (1-2 ปี) ในการเพิ่มความช่วยเหลือให้กับธุรกิจ SME ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ด้วยการขยายวงเงินค้ำประกันสินเชื่อของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) มาอยู่ที่ร้อยละ 30 จากประมาณร้อยละ 18 เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของ คสช. ซึ่งทาง กกร.จะติดตามการดำเนินงานในเรื่องนี้ต่อไป

พร้อมกันนี้ กกร.ได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อดูแลเรื่อง Ease of doing business ที่อยู่ภายใต้คณะกรรมการ Competitiveness ของ กกร.เพื่อส่งเสริมศักยภาพในการแข่งขันของภาคเอกชน โดย กกร.จะทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) เพื่อสนับสนุนผลักดันโครงการต่างๆ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อภาคเอกชนและประชาชน ในการขับเคลื่อนประเทศต่อไป

ด้านนางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าหลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดทุนไทย และกระแสเงินทุน แต่จะส่งผลดีต่อสภาพแวดล้อมของการลงทุน โดยตลาดทุนไทยถือว่ามีศักยภาพที่ดี และยังมีอีกหลายบริษัทฯที่จะเข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่จะเข้ามาช่วยกระตุ้นการเคลื่อนไหวของตลาด

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

จับตาวาระ ครม. ชงแผนจัดการน้ำ-เขต ศก.พิเศษ

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1ทำเนียบรัฐบาล

การประชุม ครม. ในวันนี้ มีวาระที่น่าสนใจ อาทิ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการกำหนด นโยบายและบริหารจัดการน้ำ คสช.เสนอร่างแผนยุทธศาสตร์บริหารทรัพยากรน้ำ ปี พ.ศ. 2558 - 2569

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เสนอการดำเนินงานตามมติครม.ในการสนับสนุนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงคมนาคม เสนอรายงานผลการเจรจาการบินระหว่างไทย-ฝรั่งเศส พร้อมขออนุมัติดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ - ขอนแก่น ของการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)

กระทรวงการคลังจะเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร(ฉบับที่..) พ.ศ... โครงการสวัสดิการเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัยของข้าราชการ รวมถึงการลงทุนในการจัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

คค.ตั้งเป้าไทยเป็นศูนย์กลางขนส่งสินค้าทางเรือ

กระทรวงคมนาคมตั้งเป้าไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางเรือภายใน 10 ปี พร้อมพัฒนาการขนส่งสินค้าทางรางเชื่อมต่อท่าเรือแหลมฉบังเข้าสู่กรุงเทพมหานคร

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ต้องการให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการขนส่งสินค้าทางเรือของอินโดจีน ภายใน 9-10 ปี โดยจะต้องพัฒนาระบบการให้บริการให้ทันสมัย สะดวก และปลอดภัย ซึ่งในระยะเร่งด่วนจะเดินหน้าโครงการขนส่งสินค้าทางรางจากท่าเรือแหลมฉบังเข้าสู่กรุงเทพมหานคร ใช้งบประมาณ 2,500 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2560 ก่อนจะขยายโครงการสู่ท่าเรือเชียงแสน ท่าเรือเชียงของ และท่าเรือระนองต่อไป

ขณะที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย จะเร่งโครงการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 เพื่อเพิ่มศักยภาพในการรองรับตู้ขนส่งสินค้าได้อีกกว่า 8-10 ล้านตู้ จากปัจจุบันอยู่ที่ ประมาณ 11 ล้านตู้ โดยจะใช้งบประมาณก่อสร้างกว่า 35,000 ล้านบาท และอีก 50,000 ล้านบาท ในการบริหารจัดการพื้นที่ โดยเตรียมเสนอโครงการเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ปลายเดือนมิถุนายนนี้ พร้อมทั้งได้เตรียมก่อสร้างศูนย์ one stop service บริเวณท่าเรือกรุงเทพ ภายในปีหน้า ช่วยลดขั้นตอนด้านศุลกากร จากเดิมใช้เวลา 1 วัน เหลือเพียง 3 ชั่วโมง

จาก http://www.innnews.co.th   วันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ.

“บิ๊กตู่” เล็งแจก “การ์ดชาวนา” แลกซื้อปุ๋ย-เมล็ดพันธุ์แทนเงินสด

นายกรัฐมนตรีสั่งทำแผนงานรองรับข้าวในฤดูกาลผลิตใหม่เดือนนี้ หาแนวทางลดต้นทุนการผลิต เปลี่ยนนาข้าวเป็นไร่อ้อย สั่งกระทรวงเกษตรฯ หาทางแจกการ์ดแลกซื้อปุ๋ย-เมล็ดพันธุ์แทนเงินสด “หม่อมอุ๋ย” เผยเริ่มแจกตำบลละล้านซื้อเครื่องจักรแล้ว

               วันนี้ (6 พ.ค.) ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีการติดตามสถานการณ์ข้าวในฤดูกาลผลิตใหม่ โดยได้สั่งการให้มีการจัดทำแผนปฏิบัติงานโดยละเอียดในการรองรับข้าวในฤดูการผลิตใหม่ที่จะออกมาในช่วงเดือน พ.ค.นี้ พร้อมทั้งให้มีการดำเนินการการจัดหาแนวทางการลดต้นทุนการผลิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการส่งเสริมเมล็ดพันธุ์ รวมถึงส่งเสริมการปรับเปลี่ยนการผลิตจากข้าวเป็นอ้อยในบางพื้นที่ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะทำงบประมาณในการสนับสนุนการลดต้นทุนการผลิตเป็นระยะเวลา 2 ปี

               ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรียังฝากในการส่งเสริมเพิ่มความเข้มแข็งให้กับสหกรณ์การเกษตรที่มีอยู่ กว่า 3,000 แห่ง ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียังให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หาแนวทางในการแจกการ์ดเพื่อนำไปแลกซื้อปุ๋ย หรือเมล็ดพันธุ์แทนการให้เงินสด และให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวนาในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำนา ด้วยจัดประเภทเกษตรกรว่าเป็นเจ้าของนา หรือเป็นนาที่เช่า เพื่อจะได้หาแนวทางการให้ความช่วยเหลือตรงตามความต้องการ

               นอกจากนี้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ได้รายงานความคืบหน้าการจ่ายเงินช่วยเหลือในโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งล้านบาท ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 3,051 ตำบล โดยขณะนี้เริ่มมีการแจกจ่ายเงินบ้างแล้วเพื่อจัดซื้ออุปกรณ์เครื่องมือเครื่องจักร ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตในแต่ละตำบล

 จาก http://manager.co.th  วันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

รัฐเผยบาทอ่อนเริ่มส่งสัญญาณบวกต่อการส่งออกไทย  

 โฆษกรัฐบาล เผย เงินบาทที่อ่อนค่าเริ่มส่งสัญญาณบวกต่อการส่งออกของไทย หลังติดลบต่อเนื่องนานหลายเดือน

ร.อ.นพ. ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการที่เงินบาทอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ล่าสุดวานนี้ ( 6 พ.ค) ปิดตลาดที่ 33.32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเกิดจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงินหรือ กนง. ลง 0.25% และการออกมาตรการผ่อนคลายเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเงินบาทที่อ่อนค่าลงดังกล่าว ถือเป็นปัจจัยบวกต่อการส่งออกของไทยเพราะเงินบาทที่อ่อนค่าจะทำให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันได้ดีขึ้นในตลาดต่างประเทศ

ขณะเดียวกัน มีรายงานล่าสุดว่า คณะกรรมาธิการยุโรป หรือ EC ได้ปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์จีดีพีของกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปในปีนี้ จาก 1.7% เป็น1.8% หลังมีมาตรการอัดฉีดเม็ดเงินผ่านมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ซึ่งน่าจะเป็นผลดีต่อการส่งออกสินค้าของไทยไปยังตลาดดังกล่าวเพิ่มขึ้นด้วย

ทั้งนี้ ได้รับทราบจากนางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ว่า ไทยมีการส่งออกสินค้าไปยังตลาดสหภาพยุโรปในสัดส่วน 9% ของการส่งออกทั้งหมด ซึ่งการที่สหภาพยุโรปมีจีดีพีขยายตัวขึ้นจะทำให้มีความต้องการซื้อสินค้าเพิ่มและจะทำให้สินค้าส่งออกของไทยได้รับอานิสงส์ด้วย รวมทั้งได้สะท้อนมุมมองของผู้ส่งออกที่ต้องการให้เงินบาทอ่อนค่าลงและมีเสถียรภาพ เพื่อให้สามารถกำหนดต้นทุนได้ชัดเจน

จาก http://www.posttoday.com วันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ก.อุตฯมั่นใจปีนี้ลงทุนอุตสาหกรรมทะลุ 1 ล้านล้านบาท 

           นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม แถลงผลงานในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา โดยระบุถึงความพยายามในการช่วยเหลือและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทย ภายใต้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  โดยระบุว่า จากภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัว ประกอบกับความ เชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อการขอ ใบอนุญาตต่างๆ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้ลดขั้นตอนลงมาทำให้ผู้ประกอบการ ได้รับความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น คาดว่า ในปีนี้จะมีมูลค่าการลงทุน ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท โดยมาจากการขอตั้งประกอบ กิจการใหม่และขยายกิจการไม่ต่ำกว่า 6 แสนล้านบาท และมาจากการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม ไม่ต่ำกว่า 4 แสนล้านบาท โดยยังไม่รวมการลงทุนที่เกิดจากการอนุญาตประทานบัตรในการทำเหมืองแร่

          "นับจากที่ได้เข้ามาบริหารงานกระทรวงอุตสาหกรรมในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา (12 กันยายน 57 12 มีนาคม 58) การทำงานของกระทรวงฯ ผมคงไม่ให้คะแนนตัวเอง เพราะทั้งหมดเกิดขึ้นได้เพราะความร่วมมือของข้าราชการเป็นสำคัญ คงต้องให้คะแนนทีมงาน 9 เต็ม 10 แต่หากถามความพอใจก็ต้องถามคนใช้บริการจากภาคเอกชนและประชาชนเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นว่านับจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจะไม่มีการเข้าเกียร์ว่าง มีแต่เกียร์ออโตเมติกที่เข้าเกียร์ไปแล้วก็จะเดินหน้าต่อไปได้เลย" นายจักรมณฑ์กล่าว

          สำหรับแผนการดำเนินงานของกระทรวงอุตสาหกรรมในอีก 6 เดือนข้างหน้า มี 6 เรื่องที่จะผลักดันคือ

          * การจัดตั้งศูนย์ทดสอบยางล้อและสนามทดสอบ ณ อำเภอสนามชัยเขต จังหวัด

          ฉะเชิงเทรา ซึ่งจะเป็นศูนย์ทดสอบและรับรองผลิตภัณฑ์ยางล้อ รวมถึงชิ้นส่วนรถยนต์ครบวงจรแห่งแรกในอาเซียน ใช้พื้นที่รวม 900 ไร่

          * การผลักดันโครงการจัดหาวัตถุดิบทางเลือกให้แก่อุตสาหกรรมที่ใช้แร่ใยหิน ปัจจุบันอยู่ระหว่างนำเส้นใยจากแร่หิน บะซอลต์ไปใช้ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ในเชิงพาณิชย์ โดยมีผู้ประกอบการเข้าร่วมการศึกษาด้วย

          * การปรับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) เพื่อรองรับมาตรฐานอาเซียน

          * การเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC โดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจดิจิตอลให้ เอสเอ็มอีนำระบบ IT มาใช้ดำเนินธุรกิจ

          * เตรียมจัดงาน Thailand Expo 2015 ในช่วงเดือนกันยายน 2558 ณ อิมแพค เมืองทองธานี

          * การบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม โดย กระทรวงฯ ตั้งเป้าหมายจัดการกากอุตสาหกรรมเข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้นจาก 1.03 ล้านตัน เป็น 1.2-1.5 ล้านตัน

จาก http://www.iqnewsclip.com วันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 

เอกชนร้องทบทวนเกณฑ์ตั้งรง.น้ำตาลอ้างกีดกันรายใหม่ 

           โรงงานน้ำตาลวอนรัฐทบทวนเกณฑ์ตั้งโรงงานน้ำตาล หลังพบข้อกำหนดด้านระหว่างกีดกันรายใหม่ กระทบชาวไร่อ้อย

          แหล่งข่าวจากสมาคมชาวไร่อ้อยเปิดเผยภายหลังการหารือกลุ่มสมาคมโรงงานน้ำตาล ถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20 เม.ย.2558 ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบกำหนดหลักเกณฑ์ใหม่ สำหรับการขออนุญาตประกอบกิจการโรงงานน้ำตาลว่า หลักเกณฑ์ดังกล่าวนั้นส่งผลกระทบต่อชาวไร่อ้อยทั่วประเทศ ยังกีดกันการตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ในทางปฏิบัติ อันขัดต่อนโยบายส่งเสริมการแข่งขันเสรีของรัฐบาล

          ทั้งนี้ มติ ครม.ดังกล่าวได้เห็นชอบตามข้อเสนอของ กระทรวงอุตสาหกรรม (ร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม) ที่ได้กำหนดให้โรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ต้องตั้งในพื้นที่ที่มีระยะห่างจากเขตโรงงานที่มีอยู่เดิมในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 50 กิโลเมตร (ระยะทางจริง วัดเชิงเส้นตรง) จากเดิมหลักเกณฑ์คือให้ห่างจากโรงงานเดิมไม่น้อยกว่า 80 กิโลเมตร ระยะทางตามถนนเส้นที่สั้นที่สุดระหว่าง 2 โรงงาน

          "ดูเผินๆ เหมือนจะอนุญาต ให้ตั้งโรงงานใกล้กันมากขึ้น แต่ในความเป็นจริงตรงกันข้ามกลับกำหนดให้ 2 โรงงานต้องห่างกันมากขึ้นในทางปฏิบัติ และมีเงื่อนไขต้องส่งเสริมการปลูกอ้อย และอื่นๆ พ่วงอีกนั้น ทำให้การตั้งโรงงานใหม่ยากขึ้น เพราะพื้นที่ที่เหลือส่วนใหญ่อยู่ในภาคอีสานตอนล่าง ซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวคุณภาพดีของประเทศ ที่เหลือเป็นพื้นที่ ในเขตป่าและภูเขา แต่ส่งผลดีต่อโรงงานที่มีอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายใหญ่ ก็เท่ากับทำให้โรงงานใหม่เกิดขึ้นยาก การแข่งขันเสรีก็ลดลงโดยปริยาย เป็นอุปสรรคต่อยุทธ ศาสตร์อ้อยโรงงานและน้ำตาลทราย ที่มุ่งส่งเสริมให้มีโรงงานน้ำตาลเพิ่มขึ้น ให้สอดคล้องกับการขยายพื้นที่ปลูกอ้อย

          อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลต้องการปลดล็อกให้เกิดโรงงานน้ำตาลใหม่มากขึ้นจริง อยากจะขอให้ช่วยพิจารณาทบทวน โดยกำหนดให้ระยะห่างของโรงงานใหม่กับโรงงานเก่าเหลือเพียงไม่น้อยกว่า 50 กิโลเมตร (ระยะทางถนนเส้นที่สั้นที่สุดระหว่าง 2 โรงงาน) หรือไม่น้อยกว่า 30 กิโลเมตร (ระยะทางจริง วัดเชิงเส้นตรง)

จาก http://www.thaipost.net วันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 

วอนรัฐทบทวนเกณฑ์ตั้งโรงงานน้ำตาล 

          แหล่งข่าวจากสมาคมชาวไร่อ้อย เปิดเผยว่า ล่าสุดภายในสมาคมฯ ได้ตกลงกันว่าจะเสนอให้รัฐบาลได้ทบทวนมติคณะรัฐมนตรี 20 เมษายน 2558 ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์ใหม่สำหรับการขออนุญาตประกอบกิจการโรงงานน้ำตาล ที่จะส่งผลกระทบต่อชาวไร่อ้อยทั่วประเทศ และกีดกันการตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ในทางปฏิบัติ อันขัดต่อนโยบายส่งเสริมการแข่งขันเสรีของรัฐบาล

          มติ ครม.ดังกล่าวได้เห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงอุตสาหกรรม (ร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม) ที่ได้กำหนดให้โรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ต้องตั้งในพื้นที่ที่มีระยะห่างจากเขตโรงงานที่มีอยู่เดิมในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 50 กิโลเมตร (ระยะทางจริง วัดเชิงเส้นตรง) จากเดิมหลักเกณฑ์คือให้ห่างจากโรงงานเดิมไม่น้อยกว่า 80 กิโลเมตร ระยะทางตามถนนเส้นที่สั้นที่สุดระหว่างสองโรงงาน

          ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ใหม่ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในพื้นที่ หากพิจารณาจากโรงงานที่มีอยู่ปัจจุบัน ก็จะพบว่าแทบจะไม่สามารถหาพื้นที่สำหรับตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ได้ เพราะพื้นที่ที่เหลือส่วนใหญ่อยู่ในภาคอีสานตอนล่างซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวคุณภาพดีของประเทศ ที่เหลือเป็นพื้นที่ในเขตป่าและภูเขา ที่สำคัญหากระยะห่างระหว่างโรงงานเพิ่มขึ้น ก็จะเป็นการเพิ่มต้นทุนการขนส่งอ้อยเข้าโรงงานของเกษตรกรชาวไร่อ้อยโดยปริยาย อันเป็นการเพิ่มต้นทุนด้านขนส่ง Logistic ของประเทศ

          "หากรัฐบาลต้องการปลดล็อกให้เกิดโรงงานน้ำตาลใหม่มากขึ้นจริง อยากจะขอให้ช่วยพิจารณาทบทวน โดยกำหนดให้ระยะห่างของโรงงานใหม่กับโรงงานเก่าเหลือเพียงไม่น้อยกว่า 50 กิโลเมตร (ระยะทางถนนเส้นที่สั้นที่สุดระหว่างสองโรงงาน) หรือไม่น้อยกว่า 30 กิโลเมตร (ระยะทางจริง วัดเชิงเส้นตรง)" แหล่งข่าวเสนอ

          อย่างไรก็ตาม การอนุญาตให้ตั้งโรงานใกล้กันมากขึ้น แต่ในความเป็นจริงตรงกันข้ามกลับกำหนดให้สองโรงงานต้องห่างกันมากขึ้นในทางปฏิบัติ และมีเงื่อนไขต้องส่งเสริมการปลูกอ้อย และอื่นๆ พ่วงอีกนั้น ทำให้การตั้งโรงงานใหม่ยากขึ้น แต่ส่งผลดีต่อโรงงานที่มีอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายใหญ่ ก็เท่ากับทำให้โรงงานใหม่เกิดขึ้นยาก การแข่งขันเสรีก็ลดลงโดยปริยาย เป็นอุปสรรคต่อยุทธศาสตร์อ้อยโรงงานและน้ำตาลทราย ที่มุ่งส่งเสริมให้มีโรงงานน้ำตาลเพิ่มขึ้น ให้สอดคล้องกับการขยายพื้นที่ปลูกอ้อย

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 

เฟ้นหาต้นแบบโรงงานโมเดล

           ดร.อรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมถือเป็นภาคที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยสร้างมูลค่าผลผลิตอุตสาหกรรมถึง 37% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ มีการจ้างงานมากกว่า 6 ล้านคน ในขณะที่โครงสร้างทางเศรษฐกิจไทยยังคงต้องพึ่งพาการส่งออกและการลงทุนจากต่างประเทศ ดังนั้นเพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทย ได้เห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาขีดความสามารถอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้ทัดเทียมนานาชาติ

          กระทรวงอุตสาหกรรมจึงจัดให้มีการมอบรางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี 2558 โดยมอบหมายให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานหลักในการจัดงาน แบ่งรางวัลออกเป็น 2 ระดับ คือ 1.รางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยม 1 รางวัล และ 2.รางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 7 ประเภท ได้แก่ 1.ประเภทการเพิ่มผลผลิต 2.ประเภทการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม 3.ประเภทการบริหารความปลอดภัย 4.ประเภทการบริหารงานคุณภาพ 5.ประเภทการจัดการพลังงาน 6.ประเภทการจัดการโลจิสติกส์ และ 7.ประเภทการบริหารอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม ให้กับองค์กร ที่ประสพผลสำเร็จสูงสุดระดับประเทศ โดยสถานประกอบการที่ได้รับรางวัลจะต้องผ่านการคัดเลือกตามเกณฑ์การประเมินจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อการันตีว่าเป็นสถานประกอบการมีมาตรฐานชั้นนำระดับประเทศ รวมทั้งได้รับการยกย่องให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่สถานประกอบการอุตสาหกรรมอื่นๆ ตลอดจนยกระดับมาตรฐานและคุณภาพสินค้าและผลิตภัณฑ์ยิ่งขึ้นต่อไป

จาก http://www.banmuang.co.th   วันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 

รายงานพิเศษ : กว่าจะมาเป็น6ยุทธศาสตร์แก้ปัญหาน้ำของประเทศ

คลอดออกมาแล้วสำหรับยุทธศาสตร์บริหารจัดการทรัพยากรน้ำของไทย  หลังจากที่ใช้ระยะเวลาดำเนินการร่วม 10 เดือน ขณะนี้รอเพียงเสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ   และคณะรัฐมนตรีเท่านั้น

ยุทธศาสตร์บริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศไทย ฉบับนี้ได้กำหนดกรอบทิศทางของแผน และวิสัยทัศน์ไว้คือ

"ทุกหมู่บ้านมีน้ำสะอาดอุปโภคบริโภค  น้ำเพื่อการผลิตมั่นคง  ความเสียหายจากอุทกภัยลดลง คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน  บริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน  ภายใต้การพัฒนาอย่างสมดุลโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน"

รายละเอียดของยุทธศาสตร์บริหารจัดการทรัพยากรน้ำฉบับดังกล่าว  ถือเป็นฉบับที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ครอบคลุมปัญหาน้ำในทุกๆด้าน และยังกำหนดระยะเวลาในการแก้ไขไว้อย่างชัดเจนคือ  ภายใน 12 ปี  ตั้งแต่ปี 2558-2569  พร้อมทั้งได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์รองรับไว้ 6ยุทธศาสตร์ด้วยกัน ดังนี้

1.ยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค  ได้กำหนดเป้าหมายที่จะต้องจัดหาน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภคบริโภค ให้เพียงพอทั้งปริมาณและคุณภาพ ให้แก่ชุมชนชนบท  ชุมชนเมือง  พื้นที่เศรษฐกิจ  และแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ   และยังได้กำหนดไว้ว่าภายในปี 2560 ทุกหมู่บ้านจะต้องมีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค  โดยหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ เช่น  กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น  กรมทรัพยาการน้ำ  กรมทรัพยากรน้ำบาดาล  การประปาส่วนภูมิภาค  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น  และมีกรมชลประทานเป็นหน่วยงานที่จะต้องให้การสนับสนุน

2.ยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการผลิต (เกษตรและอุตสาหกรรม)  กำหนดที่จะจัดหาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรและเพิ่มประสิทธิภาพระบบชลประทาน เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร  ตลอดจนจัดหาน้ำต้นทุนเพื่อการอุตสาหกรรม รองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมส่งออกและอุตสาหกรรมเพื่อการบริโภคในประเทศ  จัดหาน้ำต้นทุนเพื่อรักษาระบบนิเวศน์ทั้งควบคุม และจัดสรรน้ำให้สมดุลเพียงพอกับการใช้น้ำขั้นพื้นฐานและระบบนิเวศน์ของลุ่มน้ำ รวมทั้งบริหารจัดการความต้องการใช้น้ำในด้านการเกษตร อุปโภคบริโภค อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยวให้สมดุลกับปริมาณน้ำต้นทุน  โดยหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบคือ  กรมชลประทาน  กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย  และกองทัพบก

3.ยุทธศาสตร์ป้องกันและบรรเทาอุทกภัย  ได้กำหนดป้าหมายที่จะลดความเสียหายจากอุทกภัยของชุมชนเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญๆ ที่มีผลกระทบรุนแรงและความเสียหายสูง  ลดความเสียหายในพื้นที่การเกษตร  และสนับสนุนการปรับตัวของพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยซ้ำซาก  ตลอดจนลดความเสียหายจากน้ำหลาก  ดินโคลนถล่ม  น้ำท่วมฉับพลันในหมู่บ้านเสี่ยงภัย    หน่วยงานหลักที่รับผิดชอบคือ กรมโยธาธิการและผังเมือง  กรมเจ้าท่า  กรุงเทพมหานคร   และมีกรมชลประทานเป็นหน่วยงานที่จะต้องให้การสนับสนุน

4.ยุทธศาสตร์การจัดการคุณภาพน้ำ กำหนดเป้าหมายให้แหล่งน้ำทั่วประเทศมีคุณภาพอยู่ในระดับพอใช้ขึ้นไป ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 โดยให้มีการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพระบบบำบัดน้ำเสียและลดมลพิษจากแหล่งกำเนิด และแหล่งน้ำเสื่อมโทรมได้รับการแก้ไขฟื้นฟูยกระดับให้ดีขึ้น  รวมทั้งควบคุมความเค็มปากแม่น้ำ ณ จุดควบคุมไม่ให้เกินมาตรฐานของการเกษตรและการประปา  โดยมี สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.)  กรมควบคุมมลพิษ องค์การจัดการน้ำเสีย เป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ  กรมชลประทาน  การประปาส่วนภูมิภาค การประปานครหลวง เป็นหน่วยงานสนับสนุน

5.ยุทธศาสตร์การฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและป้องกันการพังทลายของดิน กำหนดที่จะฟื้นฟูป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรม  เพื่อให้ได้พื้นที่ป่าไม้อย่างน้อยร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ  พร้อมทั้งป้องกันการสูญเสียหน้าดิน และพื้นที่ดินถล่มในพื้นที่เกษตรลาดชัน เพื่อการชะลอน้ำในลุ่มน้ำสาขาที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม  โดยมีหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบคือ  กรมป่าไม้  กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช  กรมพัฒนาที่ดิน   ส่วนหน่วยงานที่สนับสนุน เช่น กรมชลประทาน  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานทหาร เป็นต้น

และ 6.ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำ  กำหนดที่จะให้มีองค์กร และกฎหมายในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่กำหนดนโยบายและการขับเคลื่อนแผนที่เป็นเอกภาพ  ตลอดจนมีระบบข้อมูลใช้ในการสนับสนุนการตัดสินใจในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับชาติและระดับลุ่มน้ำ การวางแผนการบริหารน้ำในภาวะปกติและภาวะวิกฤต   ยุทธศาสตร์นี้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงค่อนข้างมาก ได้แก่  สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร  กรมอุตุนิยมวิทยา  กรมแผนที่ทหาร  กรมทรัพยากรธรณี  สำนักงานสถิติแห่งชาติ  สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ  สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ  ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ  คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ  ส่วนหน่วยงานที่สนับสนุน เช่น กรมชลประทาน  กองทัพบก  กองทัพเรือ  เป็นต้น

ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้ง 6 ยุทธศาสตร์ดังกล่าว จะตอบโจทย์แก้ปัญหาเรื่องน้ำแล้ง น้ำท่วม น้ำเสีย ของประเทศได้หรือไม่นั้น อยู่ที่การขับเคลื่อนของหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งจะต้องบูรณาการทำงานร่วมกัน

อย่างไรก็ตามยุทธศาสตร์นี้ถือเป็นยุทธศาสตร์ฉบับประชาชนจริงๆ  แม้จะเกิดขึ้นภายหลังจากการยึดอำนาจการปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)  ก็ตาม แต่ก็เป็นยุทธศาสตร์ที่ปลอดจากการเมือง และยังผ่านการกลั่นกรอง ระดมความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอีกด้วย

เริ่มต้นจาก คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีคำสั่งที่ 85/2557  เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2558 แต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำขึ้นมา โดยมี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ   ในฐานะรองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช. เป็นประธาน  เพื่อที่จะกำหนดกรอบนโยบายและแผนงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การป้องกันแก้ปัญหาอุทกภัย ภัยแล้ง และคุณภาพน้ำของประเทศ

ต่อมา...เพื่อให้สามารถตอบโจทย์แก้ปัญหาเรื่องน้ำของประเทศได้อย่างแท้จริง คณะกรรมการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ จึงก็ได้ประกาศตั้งคณะอนุกรรมการ ขึ้นมา 5 ชุด ด้วยกันคือ

1.คณะอนุกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ  ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก

2.คณะอนุกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้

3.คณะอนุกรรมการจัดการระบบข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจ

4.คณะอนุกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ  เกี่ยวกับการจัดองค์กร และการออกกฎหมาย

5.คณะอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วม

คณะอนุกรรมการทั้ง 5 ชุด ชุดที่มีบทบาทในการจัดทำยุทธศาสตร์ในครั้งนี้คือ ชุดที่ 1  ซึ่งมีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน  อธิบดีกรมชลประทานเป็นเลขานุการ รับผิดชอบพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง  ภาคตะวันออก  และชุดที่ 2 ซึ่งมีปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน  อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ เป็นเลขานุการ  รับผิดชอบพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้  จากนั้นทั้ง 2 ชุดได้ลงพื้นที่ประชุมรับฟังปัญหา และข้อคิดเห็นต่างๆจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ   พร้อมกับรวบรวมข้อมูลต่างๆหน่วยงานรัฐ ซึ่งถือข้อมูลเป็นวิทยาศาตร์น่าจะเชื่อถือได้   ทำให้รับทราบปัญหาเรื่องน้ำที่แท้จริงของแต่ละพื้นที่

เมื่อได้ข้อมูลของปัญหาที่ค่อนข้างสมบูรณ์มาแล้ว  จากนั้นนำมาวิเคราะห์หาสาเหตุ กำหนดแนวทาง และมาตรการแก้ไขในเบื้องต้นตามสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ พร้อมทั้งจัดลำดับความสำคัญก่อนหลังในการแก้ไขปัญหา  โดยยึดหลักการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำอย่างบูรณาการและยั่งยืน แนวนโยบายของรัฐบาล ทิศทางการพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ผ่านมาในอดีตจนถึงปัจจุบัน และการวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ ตลอดจนแนวโน้มความต้องการใช้น้ำ ปัญหาการขาดแคลนน้ำ อุทกภัย และคุณภาพน้ำในอนาคต

 ในที่สุดก็คลอดออกมาเป็น "6 ยุทธศาสตร์บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ"  ที่จะแก้ปัญหาน้ำของประเทศให้ได้ภายใน 12 ปี

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 

แจงสี่เบี้ย : การแก้ปัญหาพื้นที่ดินเค็มในประเทศไทย (4)

การเพิ่มผลผลิตพืชในพื้นที่ดินเค็มน้อยและเค็มปานกลาง พื้นที่ดินเค็มน้อยและปานกลางอยู่ในที่ลุ่ม ช่วงแล้งพบคราบเกลือเป็นหย่อมๆ บนผิวดิน น้ำท่วมขังในฤดูฝน ส่วนใหญ่มีการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อทำนา ฤดูฝนมีวัชพืชขึ้นแข่งกับต้นข้าว เช่น หญ้าแดง หญ้าขี้กลาก

อิทธิพลของความเค็มที่มีต่อพืช คือ ทำให้พืชขาดน้ำ พืชดูดน้ำไปใช้ไม่ได้ เกิดความเป็นพิษของโซเดียมและคลอไรด์ ทำให้ปริมาณคลอโรฟิลล์และอัตราการสังเคราะห์แสงลดลง เพิ่มอัตราการหายใจ และเพิ่มปริมาณไนโตรเจนในพืชในขณะที่ปริมาณโพแทสเซียมและแคลเซียมกลับลดลง เนื่องจากพืชดูดใชได้น้อย

การเพิ่มผลผลิตข้าวในนาดินเค็ม ซึ่งข้าวเป็นพืชทนเค็มได้ปานกลาง และเจริญเติบโตได้ดีในสภาพดินมีน้ำขังพบต้นข้าวตายเป็นหย่อมๆ ข้าวที่กำลังงอกค่อนข้างมีความทนทานต่อความเค็ม แต่จะอ่อนแอในระยะต้นกล้า ระยะปักดำ และระยะออกดอก อาการของข้าวที่ได้รับผลกระทบจากดินเค็มคือ อัตราความงอกลดลง แคระแกรน ไม่แตกกอ รากมีการเจริญเติบโตไม่ดี ปลายใบสีขาว บางใบแห้งเป็นแถบๆ เกิดกับใบแก่ก่อนแล้วจึงลามมาที่ใบที่กำลังเจริญเติบโต ต้นข้าวชะงักการเจริญเติบโตและการแตกกอลดลง ดอกเป็นหมันเพิ่มขึ้นทำให้เมล็ดข้าวลีบ น้ำหนักและโปรตีนในเมล็ดลดลง แต่ไม่มีผลต่อคุณภาพการหุงต้ม ผลผลิตต่ำ

สำหรับคำแนะนำการปลูกข้าวในพื้นที่ดินเค็ม คือ 1. ปรับรูปแปลงนาด้วยระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ ทำทางระบายน้ำเพื่อชะล้างเกลือจากแปลงข้าว และปรับระดับดินให้สม่ำเสมอกัน 2. เมื่อฝนตก ขังน้ำในนา ให้ชะล้างเกลือที่ผิวหน้าดินซึมลงไปในดินชั้นล่าง และระบายน้ำเค็มออกจากนา 3. ปลูกโสนอัฟริกันเป็นพืชปุ๋ยสดปรับปรุงบำรุงดิน 4. ใช้อินทรียวัตถุปรับปรุงบำรุงดิน เช่น ปุ๋ยคอก แกลบ ฟางข้าว 5. ใช้พันธุ์ข้าวทนเค็ม คือ ขาวดอกมะลิ 105 กข.6 กข.15 เหนียวสันป่าตอง ขาวตาแห้ง 6. ปักดำต้นกล้าข้าวอายุ 303-35 วัน ทำให้อัตราการรอดตายและผลผลิตสูงขึ้น 7. ปักดำ 6-8 ต้นต่อจับ ระยะปลูก 20x20 เซนติเมตร เพื่อเพิ่มจำนวนต้นข้าวที่รอดตาย 8. ใส่ปุ๋ยเคมี 16-16-8 อัตรา 30 กิโลกรัมต่อไร่ โดยแบ่งใส่ 3 ครั้ง คือ ครั้งแรกใส่หลังปักดำ 7-10 วัน ครั้งที่สองใส่ระยะหลังข้าวแตกกอสูงสุด และครั้งที่สามใส่ระยะข้าวกำลังตั้งท้อง ไม่ควรใส่ปุ๋ยรองพื้น เพราะปุ๋ยเคมีจะไปเพิ่มค่าการนำไฟฟ้าในดิน 9. ฉีดพ่น พด. 2 อัตรา 20 ลิตรต่อไร่ แบ่งใส่ 4 ครั้ง คือ ช่วงเตรียมดินหลังปักดำข้าว 30, 50 และ 60 วัน 10. ดูแลรักษาและเก็บเกี่ยว หลังเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว ควรคลุมดินด้วยฟาง ไม่ปล่อยให้หน้าดินว่าง เพราะจะทำให้หน้าดินระเหยพาเกลือกลับขึ้นมาสะสมที่ผิวดิน

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 

ภัยแล้งทำอ้อยไม่หวาน โรงงานเร่งปรับคุณภาพการผลิต

นายสิริวุทธิ์  เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ภาพรวมผลผลิตอ้อยเข้าหีบฤดูการผลิตปี 2557/2558 หลังโรงงานน้ำตาลเปิดรับอ้อยเข้าหีบไปแล้ว 148 วัน มีอ้อยเข้าหีบรวมประมาณ 105.54 ล้านตัน โดยในช่วงนี้ถือเป็นช่วงปลายฤดูการหีบ และคาดว่าทุกโรงงานจะปิดหีบในต้นเดือนพฤษภาคม อย่างไรก็ตาม หากดูถึงประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาลแล้ว กลับพบว่าผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) เฉลี่ยลดลงเหลือประมาณ 106.49 กิโลกรัมต่อตันอ้อย เทียบกับปีก่อนที่ยิลด์อยู่ที่ 109.02 กิโลกรัมต่อตันอ้อย

เนื่องจากอ้อยที่ส่งเข้าหีบของปีนี้ในหลายพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ส่งผลให้คุณภาพอ้อยไม่ดีนัก ค่าความหวานเฉลี่ยที่ 12.23 ซี.ซี.เอส. ต่ำกว่าปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 12.56 ซี.ซี.เอส ถึงแม้ว่า ปริมาณผลผลิตอ้อยปีนี้จะสูงขึ้นกว่า แต่ปริมาณผลผลิตน้ำตาลจะใกล้เคียงกับปีก่อนที่ผลิตได้ 11.33 ล้านตัน

ขณะเดียวกันภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมให้โรงงานน้ำตาลทั่วประเทศเพิ่มประสิทธิภาพการหีบอ้อยให้ดีขึ้น เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย โดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้ตั้งคณะทำงานด้านพัฒนาคุณภาพอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อยกระดับคุณภาพอ้อย และประสิทธิภาพของโรงงาน

คณะกรรมการบริหารของ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย จึงจัด Workshop เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพและลดการสูญเสียในการผลิตของโรงงาน โดยเชิญ Dr.Rod  Steindl ผู้เชี่ยวชาญจากบริษัท Sugar Consulting International ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในด้านการพัฒนาประสิทธิภาพโรงงานน้ำตาลในออสเตรเลีย ที่ถือเป็นประเทศที่มีประสิทธิภาพการผลิต ได้ยิลด์น้ำตาลต่อตันอ้อยสูงมาก หรือเฉลี่ย 130 กิโลกรัมต่อตันอ้อย มาให้ข้อมูลพร้อมข้อเสนอแนะแก่ฝ่ายโรงงานในการปรับปรุงคุณภาพอ้อยก่อนเข้าหีบและเพิ่มประสิทธิภาพการหีบสกัดของโรงงานซึ่งจะส่งผลดีต่อภาพรวม ทั้งในด้านการลดต้นทุนและการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในตลาดโลกให้ดียิ่งขึ้น

“เราให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตการหีบอ้อยมาโดยตลอด เพื่อเพิ่มยิลด์น้ำตาลต่อตันอ้อยให้มากขึ้น ซึ่งต้องเพิ่มระดับความเข้มข้นด้านประสิทธิภาพการผลิตให้มากยิ่งขึ้น ตั้งแต่ลดการปนเปื้อนของผลผลิตก่อนเข้าหีบ การออกแบบและปรับปรุงเครื่องจักรหีบอ้อยให้ดีขึ้น เชื่อว่า การอบรมครั้งนี้จะช่วยยกระดับคุณภาพน้ำตาลและส่งผลดีต่อความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายในระยะยาวต่อไป” นายสิริวุทธิ์ กล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 5 พฤษภาคม 2558

รง.น้ำตาลยกระดับประสิทธิภาพผลิตน้ำตาลทรายเพิ่มยิลด์น้ำตาล/ตันอ้อย

 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เชิญผู้เชี่ยวชาญจากออสเตรเลียติวเข้มโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศ ปรับเพิ่มประสิทธิภาพการหีบอ้อย หวังดันผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย พร้อมยกระดับคุณภาพผลผลิตน้ำตาล หนุนขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดโลกหลังประเมินภาพรวมผลผลิตอ้อยเข้าหีบปีนี้ แม้มีปริมาณอ้อยเพิ่มขึ้น แต่ยิลด์น้ำตาลต่อตันอ้อยกลับสวนทางลดลงเหลือประมาณ 106 กิโลกรัมต่อตันอ้อย ฉุดปริมาณผลผลิตน้ำตาลปีนี้ใกล้เคียงกับปีก่อน

นายสิริวุทธิ์  เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ภาพรวมผลผลิตอ้อยเข้าหีบฤดูการผลิตปี 2557/2558 หลังโรงงานน้ำตาลเปิดรับอ้อยเข้าหีบไปแล้ว 148 วัน มีอ้อยเข้าหีบรวมประมาณ 105.54 ล้านตัน โดยในช่วงนี้ถือเป็นช่วงปลายฤดูการหีบ และคาดว่าทุกโรงงานจะปิดหีบในต้นเดือนพฤษภาคม อย่างไรก็ตาม หากดูถึงประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาลแล้ว กลับพบว่าผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) เฉลี่ยลดลงเหลือประมาณ 106.49 กิโลกรัมต่อตันอ้อย เทียบกับปีก่อนที่ยิลด์อยู่ที่ 109.02 กิโลกรัมต่อตันอ้อย เนื่องจากอ้อยที่ส่งเข้าหีบของปีนี้ในหลายพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ส่งผลให้คุณภาพอ้อยไม่ดีนัก ค่าความหวานเฉลี่ยที่ 12.23 ซี.ซี.เอส. ต่ำกว่าปีที่แล้วที่มีความหวานอ้อยอยู่ที่ 12.56 ซี.ซี.เอส และถึงแม้ว่า ปริมาณผลผลิตอ้อยในปีนี้จะสูงขึ้นกว่า แต่ปริมาณผลผลิตน้ำตาลจะใกล้เคียงกับปีที่แล้วที่ผลิตได้ 11.33 ล้านตัน

 ขณะเดียวกัน ภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมให้โรงงานน้ำตาลทั่วประเทศเพิ่มประสิทธิภาพการหีบอ้อยให้ดีขึ้น เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย โดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้ตั้งคณะทำงานด้านพัฒนาคุณภาพอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อยกระดับคุณภาพอ้อย และประสิทธิภาพของโรงงาน ซึ่งถือเป็นวาระที่สำคัญที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันผลักดัน ดังนั้น คณะกรรมการบริหารของ     3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย จึงมีการจัด Workshop เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพและลดการสูญเสียในการผลิตของโรงงาน โดยเชิญ Dr.Rod  Steindl ผู้เชี่ยวชาญจากบริษัท Sugar Consulting International ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในด้านการพัฒนาประสิทธิภาพโรงงานน้ำตาลในออสเตรเลีย ที่ถือเป็นประเทศที่มีประสิทธิภาพการผลิต ได้ยิลด์น้ำตาลต่อตันอ้อยสูงมาก หรือเฉลี่ยประมาณ 130 กิโลกรัมต่อตันอ้อย มาให้ข้อมูลพร้อมข้อเสนอแนะแก่ฝ่ายโรงงานในการปรับปรุงคุณภาพอ้อยก่อนเข้าหีบ        และเพิ่มประสิทธิภาพการหีบสกัดของโรงงานซึ่งจะส่งผลดีต่อภาพรวม ทั้งในด้านการลดต้นทุนและการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในตลาดโลกให้ดียิ่งขึ้น

“ที่ผ่านมา โรงงานน้ำตาลทรายให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตการหีบอ้อยมาโดยตลอด โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มยิลด์น้ำตาลต่อตันอ้อยให้มากขึ้น ซึ่งเราต้องเพิ่มระดับความเข้มข้นด้านประสิทธิภาพการผลิตให้มากยิ่งขึ้น ตั้งแต่แนวทางลดการปนเปื้อนของผลผลิตก่อนเข้าหีบ การออกแบบและปรับปรุงเครื่องจักรหีบอ้อยให้ดีขึ้น โดยเชื่อว่า การอบรมครั้งนี้จะช่วยทำให้โรงงานน้ำตาลนำความรู้ที่ได้นำไปใช้ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตเพื่อยกระดับคุณภาพน้ำตาลของแต่ละโรงให้ดียิ่งขึ้น และส่งผลดีต่อความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายในระยะยาวต่อไป” นายสิริวุทธิ์ กล่าว

จาก http://www.thanonline.com วันที่ 5 พฤษภาคม 2558

สารคดีไทยคู่ฟ้า ตอน การส่งเสริมเกษตรอินทรีย์

รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้สนับสนุนการผลิตปุ๋ยอินทรีย์สำหรับเกษตรกรไว้ใช้เอง เพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าทางการเกษตร อีกทั้งสามารถเจาะตลาดยุคใหม่ที่ผู้บริโภคจำนวนมากหันมาให้ความสนใจกับสุขภาพ โดยในปัจจุบันรัฐบาลได้ดำเนินการส่งเสริมการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทั่วประเทศไปแล้ว รวม 239,607 ตัน แบ่งเป็นปุ๋ยหมัก 97,705 ตัน ไถกลบตาซังข้าว 55,420 ตัน ไถกลบตอซังข้าวโพด 15,824 ตัน

ไถกลบตอซังสับปะรด 1,302 ตัน ไถกลบตอซังอ้อย 429 ตัน ผลิตน้ำหมักชีวภาพ 28,803 ตัน และปุ๋ยพืชสด 40,124 ตัน ทั้งนี้ รัฐบาลตั้งเป้าหมายจะช่วยลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมีลงอย่างน้อย 20% ของต้นทุนปุ๋ยทั้งหมด

ร่วมเดินหน้าประเทศไทยกับสำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 5 พฤษภาคม 2558

แจงสี่เบี้ย : การแก้ปัญหาพื้นที่ดินเค็มในประเทศไทย (3)

สำหรับแนวทางในการป้องกันและแก้ไขการแพร่กระจายดินเค็ม ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการตัดไม้ทำลายป่าบนพื้นที่รับน้ำนั้น กรมพัฒนาที่ดินดำเนินการโดยการใช้น้ำใต้ดินบนพื้นที่รับน้ำ เพื่อทำให้ระดับน้ำใต้ดินเค็มในที่ลุ่มลดลง เน้นจัดการทั้งระบบทั้งพื้นที่บนเนินรับน้ำ และพื้นที่ดินเค็มที่อยู่ในที่ลุ่ม ดังนี้

1.การปลูกต้นไม้โตเร็วบนเนินพื้นที่รับน้ำ เปรียบเหมือนการตั้งปั๊มน้ำธรรมชาติเพื่อลดระดับน้ำใต้ดินเค็มในที่ลุ่มซึ่งเป็นพื้นที่ให้น้ำ ที่อยู่ใกล้เคียง เนื่องจากต้นไม้มีการใช้น้ำเพื่อการเจริญเติบโตมากกว่าพืชไร่ การศึกษาผลของการปลูกไม้ยืนต้นต่อการควบคุมระดับน้ำใต้ดินเค็ม ที่ตำบลหนองสรวง อำเภอขามทะเลสอ จังหวัดนครราชสีมา พบว่าการใช้ประโยชน์ที่ดินบนพื้นที่รับน้ำปลูกป่ายูคาลิปตัส สามารถลดระดับน้ำใต้ดินเค็มได้ลึกกว่าการปลูกมันสำปะหลังอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้เพราะยูคาลิปตัสมีการใช้น้ำเพื่อการเจริญเติบโตมากกว่ามันสำปะหลัง

2.การปลูกแถบหญ้าแฝกขนเนินรับน้ำที่ปลูกมันสำปะหลัง เป็นวิธีการจัดการพืชบนพื้นที่รับน้ำ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายดินเค็มและรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดิน ที่ตำบลหนองสรวง อำเภอขามทะเลสอ จังหวัดนครราชสีมา โดยการปลูกแถบหญ้าแฝก 2 แถว ทุกระยะ 20 เมตร ในไร่มันสำปะหลัง แม้ว่าจะทำให้เสียพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังบางส่วนไปบ้าง แต่ผลผลิตของมันสำปะหลังจะเพิ่มขึ้นชัดเจนหลังจากปลูกแฝก 3 ปี

3.การนำน้ำจืดจากน้ำใต้ดินบนพื้นที่รับน้ำมาใช้ประโยชน์ในการเกษตร ดินเค็มในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีผลมาจากการที่น้ำใต้ดินละลายเกลือหิน ทำให้ชั้นน้ำใต้ดินเค็ม และแรงดันน้ำจะพาเกลือขึ้นสู่ผิวดิน เมื่อน้ำระเหยออกไปเกลือจะตกผลึกเป็นคราบสีขาวปรากฏบนผิวดิน การสูบน้ำบาดาลจืดบริเวณพื้นที่รับน้ำขึ้นมาใช้เป็นการลดระดับน้ำใต้ดิน มีผลต่อการลดความดันของชั้นน้ำใต้ดินเค็มบริเวณพื้นที่ให้น้ำ และสามารถลดปริมาณเกลือที่ชั้นสู่ผิวดินจากหลักการดังกล่าว การพัฒนาน้ำใต้ดินบริเวณพื้นที่รับน้ำเพื่อการเกษตรกรรมในฤดูแล้ง จึงสามารถช่วยลดระดับน้ำใต้ดินเค็มและลดพื้นที่ดินเค็มในบริเวณพื้นที่ให้น้ำหรือที่ลุ่ม

การพัฒนาบ่อน้ำบาดาลบนพื้นที่รับน้ำ ให้เกษตรกรนำน้ำใต้ดินมาใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตรกรรม และควบคุมการแพร่กระจายดินเค็ม ที่ตำบลบึงอ้อ อำเภอขามทะเลสอ จังหวัดนครราชสีมา เป็นพื้นที่เนินที่มีการใช้ประโยชน์ที่ดินปลูกมันสำปะหลัง ยังทำให้เกษตรกรพื้นที่รับน้ำที่เคยปลูกมันสำปะหลังเป็นพืชหลัก มีทางเลือกปลูกพืชได้มากชนิดขึ้นในช่วงแล้ง เช่น ดาวเรือง ข้าวโพดหวาน พริก และไม้ผล เกิดความมั่นคงทางอาหาร เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร

จาก http://www.naewna.com วันที่ 5 พฤษภาคม 2558

ปัญหาเกษตรที่นี่มีคำตอบ : ดินปัญหาทางการเกษตร

คำถาม ดินที่ไม่ดีและมีปัญหา ที่ไม่สามารถทำการเกษตรได้ เป็นดินแบบใดบ้าง และมีลักษณะอย่างไรครับ

วันชนะ แสงทองอุไร

อ.นครไทย จ.พิษณุโลก

คำตอบ ดินปัญหา เป็นดินที่มีสมบัติไม่เหมาะ หรือเหมาะสมน้อยสำหรับการเพาะปลูก ถ้านำมาใช้ประโยชน์จะไม่สามารถให้ผลผลิตหรือให้ผลผลิตต่ำ และส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศอย่างรุนแรงด้วย

กรมพัฒนาที่ดิน ได้ทำการสำรวจดินทั่วประเทศ พบว่า ดินปัญหาหลักของประเทศไทย ได้แก่ ดินเปรี้ยวจัด ดินอินทรีย์ ดินเค็ม ดินทรายจัด ดินตื้น ดินกรด และดินพื้นที่สูงชันหรือที่ภูเขา ในบางพื้นที่อาจมีปัญหาดินมากว่าหนึ่งประเภท เช่น มีปัญหาดินทราย ดินตื้น และมีปัญหาดินกรดร่วมด้วย

ดินเปรี้ยวจัด หรือดินกรดกำมะถัน เป็นดินที่มีกรดกำมะถันเกิดขึ้นในดิน ดินเป็นกรดจัดมาก พบในบริเวณที่ราบลุ่มชายฝั่งทะเล หรือที่เคยมีทะเล หรือที่เคยมีน้ำกร่อยท่วม ได้แก่ พื้นที่ภาคกลางตอนใต้ ภาคใต้ และภาคตะวันออก ดินอินทรีย์ เป็นดินที่มีวัสดุอินทรีย์ ซากพืชทับถมหนามากกว่า 40 เซนติเมตร มีความเป็นกรดจัดมาก พบในพื้นที่ลุ่มน้ำขัง และพบชั้นดินเลนของตะกอนน้ำทะเล ส่วนใหญ่พบในจังหวัดนราธิวาส และจังหวัดนครศรีธรรมราช ดินเค็ม เป็นดินที่มีเกลือละลายน้ำได้อยู่ในปริมาณมากเกินไป พบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และบริเวณชายฝั่งทะเลทั้งสองด้านของภาคใต้ ภาคกลาง และภาคตะวันออก

ส่วน ดินทรายจัด เป็นดินที่มีเนื้อดินตอนบนเป็นดินทราย หรือดินทรายปนดินร่วน หนา อย่างน้อย 50 เซนติเมตร จากผิวดิน เม็ดดินไม่เกาะตัวกัน และการระบายน้ำค่อนข้างมากเกินไป พบทั่วไปทุกภาค ดินตื้น เป็นดินที่มีชิ้นส่วนเนื้อหยาบที่เป็นลูกรัง ก้อนกรวดหรือเศษหิน พบมากกว่าร้อยละ 35  โดยปริมาตร พบทั่วไปในทุกภาค ดินกรด เป็นดินที่ทุกชั้นในความลึก 100 เซนติเมตร จากผิวดิน มีค่าความเป็นกรดเป็นด่างมากกว่าหรือน้อยกว่า 5.5 พบในทั่วไปของประเทศ ดินพื้นที่สูงชัน เป็นดินที่อยู่ในสภาพพื้นที่มีความลาดชันมากว่าร้อยละ 35 ลักษณะและสมบัติดินไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับชนิดของหินและความลาดชันของพื้นที่ ส่วนใหญ่จะพบปัญหาการชะล้างพังทลายของดิน พบมากในที่สูงของทุกภาค

ดินปัญหาเหล่านี้ กรมพัฒนาที่ดิน ได้มีการศึกษาวิจัยและจัดทำแผนงาน/โครงการพัฒนา เพื่อแก้ปัญหาดินทั่วประเทศ สามารถศึกษาจากแหล่งความรู้/ศูนย์เรียนรู้ในพื้นที่หมอดินอาสา และนักวิชาการของกรมฯ สถานีพัฒนาที่ดิน สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต ที่จัดตั้งอยู่ในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ

จาก http://www.naewna.com วันที่ 5 พฤษภาคม 2558

แจงสี่เบี้ย : การแก้ปัญหาพื้นที่ดินเค็มในประเทศไทย(2)

การจัดการแก้ไขฟื้นฟูดินเค็มต้องพิจารณาถึงสาเหตุและลักษณะปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ แล้วจึงดำเนินมาตรการที่เหมาะสม ได้แก่ การป้องกันการแพร่กระจายดินเค็ม ควบคุมไม่ให้เกิดพื้นที่ดินเค็มเพิ่มขึ้น หรือมีความรุนแรงมากขึ้น การเพิ่มผลผลิตพืชในพื้นที่ดินเค็มน้อยและดินเค็มปานกลาง สมบัติทางกายภาพและทางเคมีของดินเค็มไม่ดี อนุภาคดินฟุ้งกระจายง่าย ดินเนื้อหยาบ ธาตุอาหารและอินทรียวัตถุในดินถูกชะล้างออกไปได้ง่าย ดินแน่นทึบ เกิดชั้นดาน รากพืชชอนไชได้ยาก จะต้องมีเทคนิคการปรับปรุงบำรุงดิน เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน การใช้พันธุ์พืชทนเค็ม การเขตกรรมที่เหมาะสมกับพื้นที่ การแก้ไขลดระดับความเค็มดินในพืชขึ้นได้ ดินที่มีระดับความเค็มมากไม่สามารถปลูกพืชได้ ถ้าต้องการปลูกพืชเศรษฐกิจจะต้องออกแบบวิธีชะล้างเกลือออกจากบริเวณรากพืช คำนวณปริมาณน้ำที่ใช้มีการควบคุมน้ำที่ระบายออก ป้องกันไม่ให้เกิดเกลือขึ้นมาอีก พืชที่ปลูกต้องให้ผลตอบแทนคุ้มค่าการลงทุน ต้องใช้เทคนิคขั้นสูง และมีการลงทุนที่สูงมาก การฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในพื้นที่ดินเค็มจัด เนื่องจากดินเค็มจัดมีเกลือมากเกินไปพืชไม่สามารถขึ้นได้ การแก้ไขดินเค็มจัดเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจนั้นจะต้องทำการชะล้างเกลือออกจากดิน รวมทั้งมีระบบชลประทานร่วมกับการระบายน้ำที่ดี ซึ่งเป็นการลงทุนสูง อีกทางเลือกที่เกษตรกรที่มีพื้นที่ดินเค็มจัดสามารถฟื้นฟูสภาพเสื่อมโทรมของพื้นที่ได้เอง ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่ยุ่งยากโดยการปลูกหญ้าชอบเกลือและต้นไม้ทนเค็มจัด พืชเหล่านี้มีความสามารถพิเศษ ปรับตัวเจริญเติบโตปกคลุมพื้นที่ว่างเปล่าที่มีครบเกลือได้ ใช้ประโยชน์เป็นหญ้าเลี้ยงสัตว์ เป็นฟืนได้ และทำให้สภาพแวดล้อมดีขึ้น

ทั้งนี้ เกษตรกรที่มีปัญหาพื้นที่ดินเค็มส่วนใหญ่ยากจน ไม่มีทุนและความรู้พอที่จะจัดการแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองได้ จำเป็นที่รัฐจะต้องลงทุนขั้นพื้นฐานในการปรับรูปแบบโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การปรับรูปแบบแปลงนา ที่ประกอบด้วยระบบการชะล้างเกลือร่วมกับการทำคันคูเพื่อระบายน้ำ เพื่อให้เกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์พื้นที่เพื่อการเกษตรกรรมได้อย่างยั่งยืน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 4 พฤษภาคม 2558

ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน คาดปริมาณอ้อยหลังปิดหีบจะทำสถิติใหม่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากที่ฤดูการผลิตปีที่ผ่านมา

นายธีระชัย แสนแก้ว ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน เปิดเผยว่า ผลผลิตอ้อยเข้าหีบฤดูการผลิตปี 57/58 ล่าสุดอยู่ที่ระดับ 105.85 ล้านตัน ยังคงมีโรงงานที่ยังคงเปิดหีบอยู่ประมาณ 5-6 แห่งในภาคอีสาน คาดว่า จะปิดหีบได้ไม่เกินกลางเดือนพ.ค.นี้ ส่งผลให้ปริมาณอ้อยหลังปิดหีบคาดการณ์ว่า อยู่ในระดับ 106-106.5 ล้านตัน ซึ่งเป็นปริมาณอ้อยเข้าหีบทำสถิติใหม่สูงสุดเป็นประวัติการณ์จากที่ฤดูการผลิตปีที่ผ่านมาเคยทำไว้ที่ระดับ 103.66 ล้านตัน

“ปริมาณอ้อยถือว่าสูงแต่น้ำตาลที่ได้ไม่ได้ดีนักทำให้ภาพรวมปริมาณน้ำตาลทรายก็ไม่ได้สูงมากเมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนฤดูการผลิตปี 58/59 คาดการณ์ว่าปริมาณอ้อยมีโอกาสสร้างสถิติใหม่ที่จะทะลุระดับ110 ล้านตันเนื่องจากขณะนี้มีพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้นจากการส่งเสริมนำนาข้าวมาปลูกอ้อย ประกอบกับฝนมาตั้งแต่ต้นฤดูเพาะปลูกหากไม่แล้งไปกว่านี้ปริมาณอ้อยจะสูงมาก”

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดีประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กล่าวว่า แม้ว่าปริมาณอ้อยจะสูงในปีนี้แต่ หากดูถึงประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาลแล้ว กลับพบว่าผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์)เฉลี่ยลดลงเหลือประมาณ 106.49 กิโลกรัมต่อตันอ้อย เทียบกับปีก่อนที่ยิลด์อยู่ที่ 109.02 กิโลกรัมต่อตันอ้อย เนื่องจากอ้อยที่ส่งเข้าหีบของปีนี้ในหลายพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ส่งผลให้คุณภาพอ้อยไม่ดีนัก ค่าความหวานเฉลี่ยที่ 12.23 ซี.ซี.เอส. ต่ำกว่าปีที่แล้วที่มีความหวานอ้อยอยู่ที่ 12.56 ซี.ซี.เอส และถึงแม้ว่า ปริมาณผลผลิตอ้อยในปีนี้จะสูงขึ้นกว่า แต่ปริมาณผลผลิตน้ำตาลจะใกล้เคียงกับปีที่แล้วที่ผลิตได้ 11.33 ล้านตัน 

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 4 พฤษภาคม 2558

พาณิชย์ปรับแผน เปิดเกมรุก ! เล็งส่งออกสินค้า 12 กลุ่มใหญ่ทั่วโลก ดันเศรษฐกิจ

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า กรมเตรียมสรุปแผนเร่งด่วน ในการผลักดันการส่งออกสินค้าไทยจำนวน 12 กลุ่ม เสนอให้กับพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ เพื่อพิจารณาภายในสัปดาห์นี้ หลังจากที่ประชุมหารือร่วมกับภาคเอกชนทั้ง 10 กลุ่ม แผนส่วนใหญ่จะเป็นการจัด คณะผู้แทนการค้าเดินทางไปยังประเทศเป้าหมายเพื่อเจรจากับผู้ซื้อในต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยเพิ่มยอดการ ส่งออกได้ทันทีและในระยะต่อไป

"จากการหารือกับภาคเอกชน ทุกกลุ่มขอให้จัดกิจกรรม เพิ่มเป็นพิเศษ โดยเฉพาะการจัดคณะไปบุกเจาะตลาด ซึ่งแต่ละสินค้ามีตลาดเป้าหมายแตกต่างกัน ซึ่งกรมกำลังจัดทำรายละเอียด เมื่อสรุปได้แล้วจะเปิดรับสมัคร จัดทำรายละเอียดสินค้า ก่อนที่จะส่งต่อไปให้ทูตพาณิชย์เพื่อ นัดหมายกับผู้ซื้อ และนำคณะของไทยไปเจรจาซื้อขาย โดยจะทำทันทีและทำต่อเนื่อง"

นอกจากนี้ ในการผลักดันการส่งออก หากมีความจำเป็น ต้องใช้การเจรจาในระดับรัฐมนตรี ทั้งการเจรจาเปิดตลาด หรือการแก้ไขปัญหาการส่งออก ก็จะเสนอให้รมว.พาณิชย์ รมช.พาณิชย์ หรือปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นหัวหน้าคณะในการเดินทางไปเจรจา

 สำหรับ 12 กลุ่มที่ได้มีการหารือเพื่อทำแผนผลักดันการส่งออก ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน อัญมณีและ เครื่องประดับ เกษตรและอาหาร กลุ่มตลาด CLMV ไลฟ์สไตล์ สิ่งทอและเครื่องหนัง ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ วัสดุและบริการก่อสร้าง โลจิสติกส์ สุขภาพและความงาม ดิจิตอลคอนเทนต์และการพิมพ์ สินค้าฮาลาล

นางนันทวัลย์กล่าวอีกว่า สินค้าที่เสนอให้มีการเพิ่มกิจกรรมในการผลักดันการส่งออก อาทิ ยานยนต์ และชิ้นส่วน จะจัดคณะผู้แทนการค้าเดินทางไปละตินอเมริกาในเดือนมิ.ย. และไปแอฟริกาปลายเดือนก.ค.หรือต้นเดือนส.ค. อัญมณีและเครื่องประดับ ขอให้เพิ่มกิจกรรมในตลาดจีน เกาหลี ยุโรป รัสเซีย และตะวันออกกลาง

เฟอร์นิเจอร์ขอไปตลาดอาเซียน ญี่ปุ่น และตะวันออก กลาง ของใช้บนโต๊ะอาหาร ขอไปอาเซียน ตะวันออกกลาง และเกาหลี สำหรับสินค้าบริการ เช่น การก่อสร้าง ขอให้พาไปอินเดีย สุขภาพและความงาม ขอให้เพิ่มกิจกรรมในตลาดอาเซียน ยุโรป เป็นต้น

จาก http://www.matichon.co.th วันที่ 4 พฤษภาคม 2558

ยุทธศาสตร์การค้า WTO ชะงักมุ่งทำ FTA

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้จัดทำ ยุทธศาสตร์การเจรจาการค้าระหว่างประเทศระหว่างปี 2558-2560 จากความจำเป็นที่ว่า เศรษฐกิจการค้าของประเทศต่าง ๆ ในโลกได้พัฒนาขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง เกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกันและกันมากขึ้น ขณะที่การเจรจาการค้าระดับพหุภาคีภายใต้ WTO มีความคืบหน้าที่ "ล่าช้ามาก" ดังนั้นประเทศคู่ค้าต่าง ๆ จึงหันมาให้ความสำคัญกับการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการจัดทำ FTA เพื่อขยายขีดความสามารถในการแข่งขัน

จนการค้าเสรี หรือ FTA ถูกใช้เป็นเครื่องมือทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการเมือง มีการกระจายการทำ FTA ไปยังประเทศต่าง ๆ กับภูมิภาคทั่วโลก

โดยประเทศไทยจัดเป็น 1 ในประเทศเหล่านั้นที่มีการจัดทำ FTA มีผลบังคับใช้ไปแล้ว 11 ฉบับ และได้ถูกพิสูจน์แล้ว จากผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (TDRI) ถึงการใช้ประโยชน์จาก FTA ในปี 2556 ปรากฏภาคการส่งออกไทยสามารถประหยัดภาษีนำเข้าในประเทศคู่ค้า คิดเป็นมูลค่า 4,420 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทยที่ประหยัดภาษีมากที่สุด ได้แก่ รถยนต์ กับ อาหาร ส่วนผู้นำเข้าไทยได้รับประโยชน์จากภาษีนำเข้าที่ลดลง คิดเป็นมูลค่า 2,970 ล้านเหรียญ ในกลุ่มสินค้าอาหารและเกษตร

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้กำหนดวิสัยทัศน์ในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ด้วยการ "เจรจาเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน" ด้วยการจำแนกกลุ่มประเทศที่ไทยจะทำการเจรจาไว้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ อาเซียน-ประเทศที่เศรษฐกิจขยายตัวสูงและมีศักยภาพ และประเทศพัฒนาแล้ว ภายใต้ยุทธศาสตร์ 5 ยุทธศาสตร์ (รายละเอียดตามตารางประกอบ) ดังต่อไปนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 1 ประเทศคู่เจรจา ได้แก่ บรูไน-กัมพูชา-อินโดนีเซีย-สปป.ลาว-มาเลเซีย-เมียนมาร์-ฟิลิปปินส์-สิงคโปร์-เวียดนาม ประชากรรวม 554 ล้านคน ทำการค้ากับไทยคิดเป็นร้อยละ 21.3 ของมูลค่าการค้าที่ไทยค้ากับทั่วโลก วิธีการคือ 1) เจรจาภายใต้ AEC การดำเนินการตาม AEC Blueprint 2015 และวิสัยทัศน์ AEC หลังปี 2015 ลด/เลิกอุปสรรคทางการค้า/ลงทุนระหว่างกัน อำนวยความสะดวกทางการค้า อาทิ การขนส่ง มาตรฐาน พิธีการศุลกากร

2) เจรจาจัดทำความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้า/ลงทุน กับ สปป.ลาว-กัมพูชา-เมียนมาร์-มาเลเซีย-เวียดนาม ในระดับทวิภาคี อาทิ พิธีการศุลกากร การขนส่งสินค้าผ่านแดนและข้ามแดน การขยายการลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน สินค้าฮาลาล (มาเลเซีย) ยาง (มาเลเซีย-เวียดนาม) สินค้าเกษตรและแปรรูป (เมียนมาร์-กัมพูชา-สปป.ลาว) และ 3) การส่งเสริมการค้าชายแดนและการขับเคลื่อนการส่งออกในเขตเศรษฐกิจพิเศษ

ยุทธศาสตร์ที่ 2 ประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ (BRICs) ประเทศที่มีแนวโน้มเศรษฐกิจขยายตัวสูงในอนาคต ในกลุ่มนี้มีประชากรรวมกัน 4,052 ล้านคน ทำการค้ากับไทยคิดเป็นร้อยละ 23.2 วิธีการคือ 1) การเจรจาขยายประโยชน์จาก FTA ที่มีอยู่ในปัจจุบัน RCEP เจรจาขยายประโยชน์เพิ่มเติมจาก ASEAN+1, FTA อาเซียน-อินเดีย ทบทวนกฎแหล่งกำเนิดสินค้า, FTA อาเซียน-จีน Upgrade on ACFTA, FTA อาเซียน-เกาหลีใต้ ให้เปิดตลาดในรายการสินค้าอ่อนไหวเพิ่มขึ้น, FTA อาเซียน-ฮ่องกง เจรจาเพื่อใช้ฮ่องกงเป็น Gateway สู่จีน, เร่งสรุปการเจรจา FTA ไทย-อินเดีย และดำเนินการให้ FTA ไทย-ชิลี ไทย-เปรู มีผลบังคับใช้

2) การเปิดการเจรจาเพื่อจัดทำ FTA ฉบับใหม่กับประเทศที่มีศักยภาพสามารถเป็น Gatway กระจายสินค้าไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเจรจา FTA ไทย-ปากีสถาน ในรายการสินค้าเส้นใยประดิษฐ์-ผ้าผืน-รถยนต์-เครื่องปรับอากาศ-เม็ดพลาสติก-เคมีภัณฑ์ เข้าสู่เอเชียกลาง/ใต้ จีน กับการเจรจา FTA ไทย-ตุรกี ในรายการสินค้าอาหารแปรรูป-ยางพารา-เม็ดพลาสติก-สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม-เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เข้าสู่ตลาดยุโรป ตะวันออกกลาง CIS และแอฟริกาเหนือ

3) การเจรจาผลักดันผลประโยชน์ภายใต้กรอบความร่วมมือทวิภาคีกับประเทศที่ไม่มี FTA กับไทย ได้แก่ รัสเซีย สินค้าเกษตร-อาหาร-รถยนต์-เครื่องนุ่งห่ม/สิ่งทอ, จีน สินค้าข้าว-ยางพารา-เกษตร, แอฟริกาใต้ ข้าว-ยางพารา-ชิ้นส่วนรถยนต์-ผลไม้-ความร่วมมือด้านเกษตร, บังกลาเทศ เคมีภัณฑ์, อียิปต์ เกษตร-อาหาร-รถยนต์-ยางพารา, อียิปต์ เกษตร-อาหาร-รถยนต์-ยางพารา, อิหร่าน ข้าว-ผลไม้-ไก่-สินค้าอุปโภคบริโภค, ไนจีเรีย ข้าว-ผลิตภัณฑ์พลาสติก-ยาง การหาโอกาสเข้าไปลงทุนในธุรกิจแร่-ทรัพยากรธรรมชาติ-เกษตรแปรรูป-วัสดุก่อสร้าง, เม็กซิโก เจรจายกเลิกมาตรการห้ามนำเข้ากุ้งจากไทย ขยายตลาดส่งออกสินค้าข้าว ความร่วมมือด้านท่องเที่ยว แร่ พลังงาน และบราซิล ขยายตลาดสินค้าอาหาร-เครื่องดื่ม และหาแหล่งนำเข้าสินแร่เหล็ก

ยุทธศาสตร์ที่ 3 เปิดการเจรจากับประเทศพัฒนาแล้ว มีประชากรรวมกัน 1,014 ล้านคน ทำการค้ากับไทย คิดเป็นร้อยละ 34.5 ได้แก่ สหรัฐ ในกรอบความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน(TIFA) ไทย-สหรัฐ, ญี่ปุ่น FTA ไทย-ญี่ปุ่น อาเซียน-ญี่ปุ่น และ RCEP สหภาพยุโรป FTA ไทย-EU, ออสเตรเลีย/นิวซีแลนด์ FTA อาเซียน-ออสเตรเลีย/นิวซีแลนด์ และ RCEP, แคนาดา เปิดการหารือถึงความเป็นไปได้ในการทำ FTA ไทย-แคนาดา 

1) เจรจาเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดหลัก รักษาส่วนแบ่งและขยายการส่งออกสินค้าที่มีศักยภาพ ได้แก่ ประมง-อาหารแปรรูป-ข้าว-เสื้อผ้า/สิ่งทอ-ผลไม้กระป๋อง-ยาง-อัญมณี/เครื่องประดับ-เครื่องใช้ไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์-ปิโตรเคมี-เกษตรอินทรีย์/อาหารเพื่อสุขภาพ 2) เจรจาการค้าบริการและการลงทุนกับ EU-ญี่ปุ่น เพื่อเปิดรับการลงทุนในสาขาเทคโนโลยีขั้นสูง-นวัตกรรม (สิ่งแวดล้อม/e-Logistic-ICT-R&D) การเข้าสู่ตลาดบริการที่ไทยมีศักยภาพ (ร้านอาหาร-บริการสุขภาพ-ภาพยนตร์/บันเทิง/Animation) 3) ติดตามการเจรจาเชิงรุกในประเด็นใหม่ ๆ อาทิ สิ่งแวดล้อม-แรงงาน-สิทธิมนุษยชน-นโยบายการแข่งขัน-การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ-ทรัพย์สินทางปัญญา-ความโปร่งใส-e-Commerce และ SMEs

ยุทธศาสตร์ที่ 4 การเจรจาภายใต้กรอบของ WTO และ APEC เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และเตรียมความพร้อมในการเปิดเสรีการค้า

และยุทธศาสตร์ที่ 5 การสร้างเครือข่ายกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้มีส่วนร่วมในการเจรจาเปิดเสรีทางการค้า การสร้างความรู้และความเข้าใจในความตกลงต่าง ๆและการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศเชื่อมโยงหน่วยงานกับผู้ประกอบการ

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 3 พฤษภาคม 2558

สกู๊ปพิเศษ : ปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตรด้วยพื้นที่แปลงใหญ่

ปัจจุบันการเกษตรของไทยส่วนใหญ่ดำเนินการโดยเกษตรกรรายย่อย มีพื้นที่ถือครองทางการเกษตรขนาดเล็ก ประมาณ 25.7 ไร่/ครัวเรือน และเป็นการผลิตในลักษณะต่างคนต่างทำ ขณะเดียวกันการผลิตภาคเกษตรต้องเผชิญปัญหาหลายอย่างแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ อาทิ ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ การพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานที่มีจำกัด หรือการไม่สามารถเพิ่มปัจจัยการผลิตทั้งเรื่องที่ดินทำกิน และแรงงาน รวมถึงพิบัติภัยธรรมชาติ และสภาพการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) ล้วนส่งผลต่อการเพิ่มศักยภาพการผลิตภาคเกษตรของประเทศ จากปัญหาดังกล่าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำหนดนโยบายปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตร ภายใต้การบริหารจัดการพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่  เป็นช่องทางหนึ่งที่จะช่วยยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรพร้อมรับการแข่งขันทางการค้าที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น

                นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ปี 2558 นี้ กระทรวงเกษตรฯได้มีแผนเร่งพัฒนาและขับเคลื่อนการปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตรภายใต้การบริหารจัดการพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการบริหารจัดการด้านอุปทานสินค้าเกษตรให้เกิดความสมดุลระหว่างปริมาณผลผลิตและความต้องการสินค้าเกษตร โดยพิจารณาจากปัจจัยด้านกายภาพและปัจจัยด้านเศรษฐกิจ ทั้งยังมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรให้เกิดการประหยัดจากการขยายขนาดการผลิต (Economy of Scale) ซึ่งจะส่งผลต่อการลดลงของต้นทุนการผลิต และเพื่อยกระดับศักยภาพการแข่งขันการผลิตภาคเกษตรของประเทศจากการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากร และปัจจัยการผลิตที่มีมาตรฐานการผลิตในลักษณะเดียวกัน

                เบื้องต้นมีเป้าหมายดำเนินการนำร่อง จำนวน 10 ชนิดสินค้า ในพื้นที่ 20 จังหวัด คือ 1.การปรับโครงสร้างการผลิตข้าวแบบบูรณาการ พื้นที่ 10 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท พระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี สุพรรณบุรี ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด สุรินทร์ ขอนแก่น นครราชสีมา และฉะเชิงเทรา รวม 50,000 ไร่ 2.การปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าประมง ได้แก่ หอยแครง ดำเนินการในจังหวัดเพชรบุรี พื้นที่ 9,920 ไร่ กุ้งทะเล ดำเนินการใน 6 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ตรัง นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ประจวบคีรีขันธ์ และตราด และปลานิล ดำเนินการใน 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย กาฬสินธุ์ ชลบุรี และนครศรีธรรมราช

                3.การปรับโครงสร้างการผลิตมันสำปะหลัง ดำเนินการในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา และกำแพงเพชร รวมกว่า 5,000 ไร่ 4.การปรับโครงสร้างการผลิตอ้อยโรงงาน ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีและเพชรบุรี รวมกว่า 5,000 ไร่ 5.การพัฒนาพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พื้นที่จังหวัดพิษณุโลกและลพบุรี เนื้อที่กว่า 5,000 ไร่ 6.การพัฒนาพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน พื้นที่จังหวัดกระบี่ รวมกว่า 5,000 ไร่ 7.การปรับโครงสร้างการผลิตลำไยแบบครบวงจร ดำเนินการในพื้นที่จังหวัดลำพูนกว่า 5,000 ไร่ และ8.การบริหารจัดการเส้นไหม ไข่ไหม ดำเนินการในจังหวัดนครราชสีมา พื้นที่กว่า 200 ไร่

                การบริหารจัดการพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ เป็นการปรับโครงสร้างสินค้าเกษตรที่เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพผลผลิต ทั้งยังมุ่งลดต้นทุนการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่ม ตลอดจนปรับปรุงและเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ผลิตกับตลาดระดับต่างๆ และพัฒนาระบบธุรกิจของสหกรณ์โดยเฉพาะด้านการแปรรูปและการตลาด โดยการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีกรอบการดำเนินงาน แบ่งเป็น 3 ระยะ ซึ่งในระยะแรกจะเร่งคัดเลือกพื้นที่และสินค้า ระยะที่ 2 จัดทำแผนปฏิบัติการหรือแอคชั่นแพลน (Action Plan) และดำเนินการด้านงบประมาณ และระยะที่ 3 ดำเนินงานในพื้นที่โดยผู้จัดการแปลงจะควบคุมดูแลโครงการในภาพรวม ซึ่งหลังพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญคาดว่า จะเริ่มขับเคลื่อนโครงการฯได้ พร้อมกับการเปิดฤดูการผลิตปีนี้

                อนาคตคาดว่า เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯจะสามารถผลิตสินค้าเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ และตรงตามความต้องการของตลาด ขณะเดียวกันยังเกิดการรวมกลุ่มเพื่อบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่อุปทาน ช่วยสร้างความสมดุลระหว่างอุปสงค์กับอุปทานของสินค้าเกษตร และส่งเสริมให้เกิดการใช้ที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วย

                “การปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตรจะประสบผลสำเร็จได้ จำเป็นต้องอาศัยหลักการสำคัญอย่างหนึ่ง คือ การวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยสามารถดำเนินการได้ 3 แนวทาง ประกอบด้วย 1.การปรับเปลี่ยนพื้นที่ไปผลิตพืชอื่นแทน เพื่อให้สอดคล้องกับเขตเศรษฐกิจการเกษตร และลดความเสี่ยงทางด้านราคา 2.การปรับโครงสร้างกระบวนการผลิต เช่น เมล็ดพันธุ์ และเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสม และ3.การปรับระบบการผลิตสู่เศรษฐกิจพอเพียงในลักษณะการทำฟาร์มแบบผสมผสานโดยใช้ศูนย์ศึกษาการพัฒนา และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเป็นต้นแบบ คาดว่า จะช่วยเพิ่มศักยภาพการผลิตภาคเกษตรของประเทศได้” รมว.เกษตรและสหกรณ์  กล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 2 พฤษภาคม 2558 

'ปีติพงศ์'เผยรัฐบาลใจปล้ำ จ่อชงครม.ช่วยเกษตรกรยากจน

นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในงานสัมมนา "43 ปีวันก่อตั้งกลุ่มเกษตรกร" ว่าปัจจุบันมีกลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศจำนวน 5,282 กลุ่ม มีสมาชิก 6.1 แสนคน ทุนดำเนินงานกว่า 1,600 ล้านบาท และมีมูลค่าธุรกิจกว่า 13,000 ล้านบาท นับว่าประสบความสำเร็จในการพัฒนากลุ่มเกษตรกรให้มีความเข้มแข็ง และมีศักยภาพ โดยรัฐบาลจะส่งเสริมการเพื่อสร้างอำนาจการต่อรองในด้านการแข่งขันสินค้าเกษตรเช่นการเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐผ่านโครงการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะเริ่มสู่ฤดูกาลเพาะปลูกในปีนี้ อยากให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มขนาดที่ใหญ่ขึ้นและเป็นประเภทการเพาะปลูกที่ใกล้เคียงกันมาทำการเกษตรกรในระบบแปลงใหญ่ ก็จะช่วยให้เครื่องมือหรือกลไกต่างๆที่ภาครัฐเข้าไปสนับสนุนดูแลเกิดความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ทั้งการบริหารจัดการน้ำ การสนับสนุนเมล็ดพันธุ์และปัจจัยการผลิต และเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าเกษตรไปยังผู้บริโภค ซึ่งในอีก 2 เดือนข้างหน้านี้จะได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมส่งเสริมการเกษตรจะลงพื้นที่สำรวจข้อมูลเกษตรกรที่ยากจนจริงๆที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน  และยังไม่เคยได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐผ่านโครงการต่างๆ เช่น ช่วยเหลือชาวนา และชาวสวนยางไร่ละ 1 พันบาท หรือโครงการสร้างรายได้และ พัฒนาการเกษตรแก่ชุมชน เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งระดับจังหวัด หรือโครงการเกษตรแก้ภัยแล้งตำบลละ1 ล้านบาท

"รัฐบาลนี้ยังมีโครงการช่วยเหลือเกษตรกรในอนาคตอีกโดยจะช่วยเพิ่มรายได้และลดต้นทุนไปควบคู่กันด้วย ซึ่งหลายโครงการกำลังนำเสนอครม. เช่น การจัดตั้งศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวให้เพียงพอต่อความต้องการในการผลิตแต่ละปี ได้ประโยชน์ถึงเกษตรกรรายย่อยอย่างแท้จริง" นายปีติพงศ์ กล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 2 พฤษภาคม 2558

ก.อุตฯดัน6แผนกระตุ้นศก.-ชงของบฯปี59กว่าหมื่นล้าน

นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมคณะผู้บริหาร นำโดย นางอรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงอุตสาหกรรม ถวายเครื่องบวงสรวงองค์พระนารายณ์ และศาลพระภูมิ จากนั้นเป็นพิธีสงฆ์ และกิจกรรมสาธารณประโยชน์มีการเชิญชวนข้าราชการและพนักงานกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมบริจาคโลหิตให้แก่สภากาชาดไทย

“วันที่ 5 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงอุตสาหกรรม โดยปีนี้ครบรอบ 73 ปี และเป็นปีที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากประเทศไทยได้ก้าวผ่านจากประเทศเกษตรกรรม ไปสู่ประเทศที่เป็นศูนย์กลางทางด้านอุตสาหกรรมในภูมิภาคอาเซียนและฐานการผลิตที่สำคัญระดับโลก โดยมีอุตสาหกรรมที่เข้มแข็ง เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย และอุตสาหกรรมการเกษตรแปรรูป เป็นต้น

ในปี 2558 เป็นปีที่จะมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเป็นทางการ ดังนั้น ก้าวต่อไปของกระทรวงฯ จึงได้เตรียมผลักดัน 6 แผนงานเพื่อรองรับกับการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย คือ 1)การจัดตั้งศูนย์ทดสอบยางล้อและสนามทดสอบ ณ อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา 2)การผลักดันโครงการจัดหาวัตถุดิบทางเลือกให้แก่อุตสาหกรรมที่ใช้แร่ใยหิน 3)การปรับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) เพื่อรองรับมาตรฐานอาเซียน 4)การเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC โดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจดิจิตอล 5)เตรียมจัดงาน Thailand Expo 2015 ในช่วงเดือนกันยายน 2558 และ6) การบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม โดยกระทรวงฯ ตั้งเป้าหมายจัดการกากอุตสาหกรรมเข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้นจาก 1.03 ล้านตัน เป็น 1.2-1.5 ล้านตัน” นายจักรมณฑ์ กล่าว

สำหรับในปีงบประมาณ 2559 กระทรวงฯ ได้ของบประมาณ วงเงิน 10,272 ล้านบาท โดยแยกเป็นงานประจำตามนโยบายยุทธศาสตร์หลักของกระทรวงอุตสาหกรรม และเป็นนโยบายเร่งด่วน 6 ด้าน ประกอบด้วย 1)การส่งเสริมและพัฒนาSMEs เน้นใน 10 กลุ่ม คือ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ฮาลาล แปรรูปยางพารา พลาสติกชีวภาพ นิคมอุตสาหกรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ชิ้นส่วนยานยนต์ สิ่งทอ ชิ้นส่วนไฟฟ้า ก่อสร้างและSMEsทั่วไป 2)การจัดการสิ่งแวดล้อม กากอุตสาหกรรม การจัดการกากอุตสาหกรรม 3) การเตรียมพร้อมเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และเขตเศรษฐกิจพิเศษ เช่น การตั้งศูนย์ทดสอบกลาง เพื่อทดสอบและรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ยางล้อ 4)มาตรฐานและความปลอดภัยของประชาชน รวมถึงการกำหนดมาตรฐานในอาเซียน 5) การจัดสรรทรัพยากรและดูแลทรัพยากรโดยคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศ และ 6) การอำนวยความสะดวก การแก้ไขปัญหาของผู้ประกอบการและประชาชน การดำเนินการแก้ไขเรื่องร้องเรียนต่างๆ โดยการเสนอของบประมาณดังกล่าว ได้นำส่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาและส่งสำนักงบประมาณ ก่อนให้สภานิติบัญญัติพิจารณาต่อไป ซึ่งอาจถูกปรับลดลง สำหรับในปี 2558 กระทรวงอุตสาหกรรมได้รับงบประมาณจำนวน 5,857 ล้านบาท

นอกจากนี้ กระทรวงฯ ในฐานะหน่วยงานหลักในการกำหนดนโยบายและวางยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านการลงทุนตั้งขยายกิจการโรงงาน การจ้างงาน และการกำกับดูแลด้านการผลิตเพื่อให้เศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อมสามารถเดินหน้าควบคู่กันได้ โดยตลอดระยะเวลา 73 ปี ได้มีการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมทุกระดับของประเทศให้มีความสามารถในการแข่งขันและคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินผ่านกลไกด้านมาตรฐาน ตามนโยบายรัฐบาลในการให้ความสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยอย่างยั่งยืน

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ส่งออกน้ำตาลจุกอกขยับตัวช้าจีน-อิเหนาคุมนำเข้าป้องราคา

        ผู้ค้า-ผู้ผลิตน้ำตาล ห่วงปี 2558 ส่งออกน้ำตาลไปรายประเทศขยับตัวช้า โดยเฉพาะส่งออกไป 2 ตลาดหลักอย่างอินโดนีเซียและจีน ชี้เหตุมาจากที่รัฐบาล 2 ประเทศควบคุมการนำเข้าเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาภายในประเทศไม่ให้ต่ำลง  ส่งผลให้ผู้ผลิต-ผู้ค้าน้ำตาลต้องแบกต้นทุนเก็บรักษาอ่วม หลังต้องเก็บสต๊อกไว้เอง

    แหล่งข่าวจากผู้ค้าน้ำตาลส่งออก เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ถึงภาพรวมสถานการณ์ส่งออกน้ำตาลดิบและน้ำตาลทรายไปยังประเทศต่างๆว่า ในช่วง 3-4 เดือนแรกปี 2558 การส่งออกเป็นไปอย่างล่าช้า โดยเฉพาะการส่งออกไปยัง 2 ประเทศคู่ค้าน้ำตาลรายสำคัญอย่างอินโดนีเซีย และสาธารณรัฐประชาชนจีนที่รัฐบาลทั้ง 2 ประเทศมีการควบคุมการนำเข้า เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาภายในประเทศไม่ให้ต่ำลง โดยเฉพาะจีนที่ต้องการบริหารสต๊อกน้ำตาลที่มีอยู่ก่อน เพื่อรักษาระดับราคาภายในประเทศไม่ให้ต่ำลง  นอกจากนี้ในช่วงที่ผ่านมาจีนหันไปนำเข้าน้ำตาลจากบราซิลมากขึ้น ขณะที่อินโดนีเซียก็อนุมัตินำเข้าล่าช้าด้วยเหตุผลเดียวกันกับจีน

801    จากกรณีดังกล่าวทำให้ผู้ค้าผู้ผลิตน้ำตาลในประเทศไทยได้รับผลกระทบ เนื่องจากมีปริมาณน้ำตาลในประเทศมากขึ้น และต้องแบกภาระในการเก็บสต๊อกไว้เอง มีต้นทุนในการเก็บรักษาสูงขึ้น

    สอดคล้องกับที่นายสุรัตน์ ธาดาชวสกุล ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด  กล่าวว่าการส่งออกน้ำตาลดิบและน้ำตาลทรายขาวในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2558 เปรียบเทียบกับปี 2557 ช่วงเดียวกันอยู่ในภาวะขยับตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ โดย 3 เดือนแรกมีการส่งออกรวมอยู่ที่ 1.51 ล้านตัน เป็นมูลค่า   582.30 ดอลลาร์สหรัฐฯ  หรือเป็นค่าเงินบาทอยู่ที่ 1.90 หมื่นล้านบาท  ในแง่จำนวนตันเพิ่มขึ้น3.21% เมื่อเทียบกับปีที่แล้วช่วงเดียวกันอยู่ที่ 1.46 ล้านตัน มูลค่า 619.26 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 1.99 หมื่นล้านบาท โดยจะเห็นว่าในช่วงดังกล่าวมูลค่าที่เป็นดอลลาร์สหรัฐฯลดลง 5.97% และมูลค่าที่เป็นเงินบาทก็ลดลงแล้ว 4.89%  ภายหลังจากที่ราคาในตลาดโลกไม่ดี

    ผู้จัดการทั่วไปอนท. กล่าวอีกว่า ถ้าโฟกัสสถิติการส่งออกน้ำตาลรายประเทศในช่วง 3 เดือนแรกปี 2558 จะพบว่าอินโดนีเซียนำเข้าน้ำตาลจากไทยลดลงจาก 503,512.19 ตันปีที่แล้ว  ลงมาอยู่ที่ 335,768.73 ตัน หรือลดลงไปแล้ว 33.32%  ไปกัมพูชาลดลงจาก 157,370.62 ตัน ลงมาอยู่ที่ 86,187.26 ตัน หรือลดลงแล้ว 45.23%  มาเลเซีย ลดลงจาก 100,090 ตันลงมาอยู่ที่ 79,357.50 ตัน  3 เดือนแรกลดลงแล้ว 20.71% (ดูตาราง)

    ด้านนายอิสสระ  ถวิลเติมทรัพย์ กรรมการบริหาร บริษัท น้ำตาลครบุรี  จำกัด (มหาชน) หรือ KBS กล่าวว่า 3-4 เดือนที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับปีก่อนช่วงเดียวกันถือว่าในแง่ปริมาณส่งออกปีนี้ดีกว่า แต่ราคาไม่ดี เมื่อเปรียบเทียบกันแล้วราคาน้ำตาลดิบปีที่แล้วเฉลี่ยอยู่ที่ 18-19 เซ็นต์ต่อปอนด์ แต่ขณะนี้ราคาร่วงลงมาอยู่ที่ 13 เซ็นต์ต่อปอนด์ ทำให้มูลค่าส่งออกลดลง การที่ราคาน้ำตาลผันผวนแรงนั้น มีสาเหตุหลักมาจากที่ค่าเงินเรียลของบราซิลอ่อนค่าลงแรง จากที่เคยยืนอยู่ที่ 2 เรียลต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะนี้มาอยู่ที่กว่า 3 เรียลต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ราคาน้ำตาลถูกลง บราซิลได้ประโยชน์ในแง่การขายและการบริหารต้นทุนที่ต่ำลงเมื่อเทียบกับคู่แข่งในตลาดโลก

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

สถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ทั่วประเทศ มีเขื่อนหลายแห่งยังคงมีปริมาณน้ำลดลง ในขณะที่การส่งน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศ ยังต้องดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำกรมชลประทานรายงานสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศเมื่อ 22 เม.ย. 58 ที่ผ่านมาว่า มีปริมาณน้ำรวมกัน จำนวน 37,262 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 53 ของความจุอ่างฯ ขนาดใหญ่รวมกันทั้งหมด มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันทั้งสิ้นประมาณ 13,759 ล้านลูกบาศก์เมตร

ส่วนสถานการณ์น้ำในเขื่อนใหญ่ภาคเหนือ อาทิ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล จ.เชียงใหม่ มีปริมาณน้ำ 108 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 41 ของความจุอ่างฯ เขื่อนกิ่วลม จ.ลำปาง มีปริมาณน้ำ 36 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 34 ของความจุอ่างฯ เขื่อนภูมิพล จ.ตาก มีปริมาณน้ำ 5,359 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 40 ของความจุอ่างฯ เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีปริมาณน้ำ 4,953 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 52 ของความจุอ่างฯ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก มีปริมาณน้ำ 302 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 32 ของความจุอ่างฯ

ส่วนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เขื่อนห้วยหลวง จ.อุดรธานี มีปริมาณน้ำ 35 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 26 ของความจุอ่างฯ เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร มีปริมาณน้ำ 213 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ41 ของความจุอ่างฯ เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ มีปริมาณน้ำ 504 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 25 ของความจุอ่างฯ เขื่อนลำพระเพลิง จ.นครราชสีมา มีปริมาณน้ำ 25 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 23 ของความจุอ่างฯ เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี มีปริมาณน้ำ 945 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 48 ของความจุอ่างฯ

จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ทีดีอาร์ไอ : AEC กับแรงงานภาคเกษตร

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

ผอ.วิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน ทีดีอาร์ไอ เผย สถานการณ์แรงงานภาคเกษตรของไทยอยู่ในขั้นวิกฤติส่วนใหญ่อายุมากและมีจำนวนลดลงร้อยละ 1 ต่อปี และจะพึ่งพาแรงงานต่างด้าวทดแทนได้น้อยลง โดยเฉพาะภายหลังจากเปิดเออีซีแล้ว คาดอีก 6 ปีจะยิ่งตึงตัวหากไม่เร่งปรับโครงสร้างภาคเกษตรและสร้างแรงจูงใจให้คนรุ่นใหม่หันมาทำงานบนผืนดินภาคเกษตรที่ยิ่งใหญ่ของไทยเป็น Smart farmerให้มากขึ้น

ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวถึงผลกระทบของแรงงานภาคการเกษตรของไทยกับการเปิดประชาคมอาเซียน โดยระบุว่า มีการพูดถึงผลกระทบจากการเปิด AEC ในสิ้นปี 2558 ซึ่งเหลือเวลาอีกเพียง 8 เดือน กับภาคการเกษตรไม่มากนัก ประเด็นที่สำคัญคือภาคการเกษตรของไทย ไม่ว่าเป็นการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ ทำประมง หรือปลูกไม้ยืนต้น ไม้ผล สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศเพียงร้อยละ 8.32 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (ลดลงจาก 9.61% เมื่อ 10 ปีก่อน) เท่านั้น เทียบกับภาคอุตสาหกรรมและบริการ แต่ที่สำคัญมิได้อยู่ที่มูลค่าเพิ่มแต่เพียงอย่างเดียวที่ทำให้การเกษตรมีความสำคัญ เพราะว่าภาคเกษตรเป็นแหล่งวัตถุดิบหรือเป็นต้นน้ำสำหรับการแปรรูปอุตสาหกรรมการเกษตร ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญอันดับดาวเด่นของประเทศไทย เป็นแหล่งจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิตมากที่สุดเกือบ 1.5 ล้านคน

ความสำคัญของภาคการเกษตรของไทยอีกอย่างหนึ่งก็คือเป็นผู้ทำมาหากินอยู่บนพื้นดินมากกว่า 120 ล้านไร่กระจายอยู่ทั่วประเทศคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 35 ของการจ้างงานของประเทศซึ่งถือว่าภาคเกษตรเป็นตลาดแรงงานใหญ่ที่สุด แต่สภาพของจำนวนแรงงานในภาคเกษตรปัจจุบันเทียบกับเมื่อ 10 ปีก่อนลดลงถึง 1.5 ล้านคนหรือร้อยละ 1 ต่อปี  ขณะที่คนทำงานในภาคนี้มีรายได้ต่ำที่สุด เนื่องจากผลผลิตไม่แน่นอน เน่า เสียง่าย ราคาผลผลิตตกต่ำผันผวน เกษตรกรยังขายผลิตผลขั้นต้นเป็นส่วนใหญ่ โดยไม่ได้แปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มเท่าที่ควร

การลดลงของคนทำงานภาคเกษตรกอปรกับอายุมากขึ้น (43% อายุมากกว่า 50ปี) และเป็นกลุ่มมีการศึกษาต่ำ(มีผู้จบประถมศึกษาหรือต่ำกว่ามากกว่า 74%) ทำกินบนผืนดินที่เสื่อมสภาพลงทุกปี มีการใช้เทคโนโลยีต่ำ ทำให้เกษตรกรตกอยู่ในวงวนของความยากจน คุณภาพชีวิตตกต่ำ เป็นภาคการผลิตที่คนทำงานแรงงานรุ่นใหม่ไม่สนใจ เป็นตลาดแรงงาน 3D คือ ทำงานยากลำบาก ต่ำต้อย และอันตราย ทำให้คนทำงานภาคเกษตรลดน้อยลงจำนวนมาก ต้องพึ่งพาแรงงานรับจ้างมากขึ้น ซึ่งก็ต้องเผชิญกับปัญหาลูกจ้างในภาคการเกษตรที่เป็นคนไทยลดลงมากกว่า 1 ล้านคน เหลือเพียง1.5 ล้านคนเศษ ไม่เพียงพอและมีค่าจ้างเฉลี่ยต่ำที่สุดประมาณ 5,000 บาทต่อเดือน เทียบแรงงานนอกภาคเกษตรซึ่งมีรายได้มากกว่าเดือนละ 11,000 บาท และต้องเผชิญกับปัญหางานที่หนัก งานไม่แน่นอนและไม่มีสวัสดิการรองรับเป็นส่วนใหญ่ แรงงานใหม่ ๆ สนใจทำงานนอกภาคเกษตรมากกว่า

ดร.ยงยุทธ กล่าวว่า จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้นทำให้ประเทศไทยจำเป็นต้องอาศัยแรงงานเกษตรมาจากประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้นทุกปีจนปัจจุบัน ไทยต้องจ้างแรงงานต่างด้าวในระดับล่างเกือบ 3 ล้านคน ซึ่งร้อยละ 95 เป็นแรงงานทักษะต่ำจากจำนวนแรงงานทั้งหมดที่มีการขึ้นทะเบียนไว้ในปี 2558 เป็นแรงงานในภาคการเกษตรถึง 658,877 คนหรือร้อยละ 22 ของแรงงานต่างด้าวทักษะต่ำทั้งหมดที่ไทยผ่อนผันให้ทำงานจากประเทศในอาเซียน คือ เมียนมาร์ ลาว กัมพูชา ซึ่งถ้าประเทศไทยยังไม่ปรับโครงสร้างภาคเกษตรโดยใช้เครื่องจักรกล(Mechanization)มาทดแทนแรงงานมากขึ้น การพึ่งพาแรงงานต่างด้าวในอนาคตในภาพรวมในปี 2564 หรืออีก 6 ปีข้างหน้า อาจจะถึง 4 ล้านคน ทำให้แรงงานต่างด้าวในภาคการเกษตรอาจจะมีมากกว่า 8 แสนคน

คำถามก็คือ การที่ประเทศไทยต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าวโดยเฉพาะจากประเทศเพื่อนบ้านมากขนาดนี้ เมื่ออาเซียนรวมตัวกันในทางเศรษฐกิจ แน่นอนการเจริญเติบโตในภาคการเกษตรและสาขาอื่น ๆ เช่น การท่องเที่ยว เป็นต้น มีการเคลื่อนย้ายทุน การลงทุน  แล้วเคลื่อนย้ายสินค้าอย่างเสรี ก็จะทำให้ฐานการผลิตของประเพื่อนบ้านที่มีคนงานจำนวนมากอยู่ในประเทศไทย โดยเฉพาะประเทศเมียนมาร์ ก็จะมีการพัฒนาเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ตลาดแรงงานโดยเฉพาะค่าจ้างก็จะเริ่มปรับตัวสูงขึ้นซึ่งก็จะเป็นปัจจัยดึงดูดให้คนงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่ทำมาหากินกันอยู่ในประเทศของเขาแทนที่จะเข้ามาทำงานในประเทศไทย การลงทุนจากต่างประเทศที่หลั่งไหลเข้ามาในประเทศเพื่อนบ้านของไทยมากขึ้น อัตราค่าจ้างของประเทศเหล่านั้นก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนอาจจะจูงใจให้คนงานที่ทำงานอยู่ในประเทศไทยเดินทางกลับประเทศมากขึ้น ๆ อีกทั้งคนงานจากประเทศเพื่อนบ้านซึ่งทำงานมานานมากกว่า 10 ปี สะสมเงินออมเพียงพอเขาก็จะกลับไปสร้างอนาคตในประเทศของเขา เมื่อนั้นประเทศไทยก็จะถูกกระทบจากปัญหา "สมองไหล" ไม่มากก็น้อยซึ่งเวลาจะเป็นเครื่องตัดสิน

ดร.ยงยุทธ ย้ำกว่า การจะทำให้ภาคเกษตรไทยมีอนาคต เป็นแหล่งพึ่งพาทำมาหากินและอยู่ได้อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้นั้น จำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้างภาคเกษตรอย่างจริงจัง ซึ่งทำได้หลายรูปแบบตามความเหมาะสม  เช่น การนำโมเดล commercial farming หรือเกษตรกรรมครบวงจรมาใช้ในบางพื้นที่ที่มีข้อมูลสนับสนุนชัดเจน มีการรวมตัวของเกษตรกรร่วมคิดร่วมทำร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนที่มีความชำนาญ เพื่อสร้างผลผลิตเกษตรต้นทางที่มีคุณภาพเป็นไปตามหลักการทำการเกษตรที่ดี ซึ่งช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจที่แข่งขันได้ หรือการนำแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรทฤษฏีใหม่มาใช้ในการส่งเสริมเกษตรกรที่ทำเกษตรทางเลือกอื่น ๆให้มีความเข้มแข็งมากขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างรายได้ ลดรายจ่าย และลดการพึ่งพาแรงงาน การดูแลด้านสวัสดิการสังคม การอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี    การสร้าง "ยุวเกษตรกร" หรือเกษตรกรรุ่นใหม่ ที่เป็น Smart farmerให้มากขึ้น เพื่อมาทดแทนแรงงานในภาคเกษตรที่สูงอายุ  นอกจากนี้ควรสนับสนุนการใช้เครื่องจักรกลช่วยผ่อนแรงสำหรับแรงงานเกษตรสูงอายุที่ยังคงทำงานอยู่เพื่อให้สามารถทำเกษตรต่อไปได้    ส่วนการใช้แรงงานต่างด้าวก็ควรจะใช้เท่าที่จำเป็นภายใต้กฎหมายและการดูแลที่ไม่ต่างจากแรงงานไทยมิฉะนั้นการใช้แรงงานต่างด้าวจำนวนมากอาจจะกลายเป็นปัญหาด้านความมั่นคงที่ไทยต้องแก้ไม่รู้จบ

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ธปท.ผุดแพ็กเกจบริหารค่าเงิน หวังผลบาทอ่อนช่วยหนุนส่งออก

นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธปท. เปิดเผยว่า ธปท.ประกาศมาตรการผ่อนคลายเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศเพิ่ม เพื่อช่วยนักลงทุนไทยลงทุนในต่างประเทศสะดวกมากขึ้น เพราะเมื่อนักลงทุนไทยซื้อดอลลาร์สหรัฐและไปลงทุนต่างประเทศก็จะมีผลต่อค่าเงินบาทให้อ่อนค่าลงได้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยสนับสนุนการส่งออกของไทยควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงสร้างการผลิตของภาคเอกชนให้มีเทคโนโลยีผลิตสินค้าตามความต้องการของตลาดโลก แต่ย้ำว่าวัตถุประสงค์หลักของการออกมาตรการ คือ การพัฒนาให้ตลาดเงินมีความสมบูรณ์ ซึ่งแผนดังกล่าวดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2555

สำหรับแพ็กเกจดังกล่าว ธปท.ขยายวงเงินให้บุคคลในประเทศซื้อเงินตราต่างประเทศเพื่อฝากกับสถาบันการเงินในประเทศได้ โดยมียอดคงค้างไม่เกิน 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมไม่เกิน 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ, ขยายวงเงินให้บุคคลในประเทศโอนเงินออกเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์หรือเช่าอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศได้ไม่เกินปีละ 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมไม่เกิน 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงด้านการลงทุน ธปท.จึงอนุญาตให้บุคคลในประเทศสามารถลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศผ่านธนาคารพาณิชย์ได้ และเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนมากขึ้น จึงอนุญาตให้บริษัทหลักทรัพย์สามารถเป็นนายหน้าซื้อขายเงินตราต่างประเทศ รวมทั้งอนุญาตให้ผู้ประกอบธุรกิจด้านการสื่อสารโทรคมนาคมให้บริการโอนเงินระหว่างประเทศได้ด้วย

นอกจากนี้ ธปท.ยังเตรียมมาตรการป้องกันการเก็งกำไรค่าเงินบาท โดยขยายวงเงินให้ผู้ที่มีถิ่นฐานอยู่นอกประเทศสามารถกู้ยืมเงินบาทจากสถาบันการเงิน โดยไม่มีการค้าการลงทุนในประเทศไทยได้ไม่เกิน 600 ล้านบาท จากเดิมกำหนดไว้ที่ 300 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในเดือนพฤษภาคมนี้ และอนุญาตให้ผู้ประกอบการในต่างประเทศกู้เงินบาทได้ เพื่อลงทุนในประเทศไทย ยกเว้นการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และหลักทรัพย์ เพื่อเป็นการรองรับการขยายการลงทุนระหว่างประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านที่จะมีเพิ่มขึ้น

“ยังยืนยันว่าธปท.จะยังไม่มีการออกมาตรการเพื่อควบคุมเงินไหลเข้า-ออกต่างประเทศ หรือ แคปปิตอล คอนโทรลอย่างแน่นอน เนื่องจากมาตรการดังกล่าวสามารถที่จะช่วยส่งผลให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงได้”

ด้านนักบริหารเงิน เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้าวันที่ 30 เมษายนอยู่ที่ระดับ 32.88 – 32.95 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าต่อจากช่วงเย็น วันที่ 29 เม.ย. ที่ปิดตลาดระดับ 32.79-32.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เงินบาทอ่อนค่าลงต่อเนื่องจาก

 เมื่อวาน หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 เป็นการปรับลดต่อเนื่องติดต่อกัน 2 ครั้ง และคาดว่าเงินบาทวันนี้จะอ่อนค่าลงมาที่ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

จาก http://www.naewna.com วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

พด.เทิดพระเกียรติในหลวง จัดนิทรรศการใช้น้ำรู้คุณค่า

นางกุลรัศมิ์ อนันต์พงษ์สุข รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสำคัญแก่การบริหารจัดการทรัพยากรดินและน้ำและทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่สนับสนุนการบริหารจัดการรวมทั้งแก้ไขปัญหาดินและน้ำอย่างต่อเนื่อง ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้จัดทำโครงการเฉลิมพระเกียรติ “ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ปวงประชาถวายพ่อของแผ่นดิน” ซึ่งกรมพัฒนาที่ดินได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานเจ้าภาพจัดกิจกรรมในเดือนเมษายน 2558 โดยจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ ในหัวข้อ “ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ปวงประชาถวายพ่อของแผ่นดิน” ในงานประชุมวิชาการ “การพัฒนาที่ดิน” ปี 2558 ระหว่างวันที่ 27- 29เมษายน ที่ผ่านมา ณ โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชา ออร์คิด จ.ขอนแก่น ซึ่งมีหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 20 หน่วยงานร่วมจัดนิทรรศการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่พระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการทรงงานด้านการแก้ปัญหาดินและน้ำ สร้างความตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรดิน รวมถึงเป็นการเสนอผลงานวิชาการของกรม ในสาขาต่างๆ ระดมความคิดและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นระหว่างนักวิชาการ และเพื่อขับเคลื่อนแนวคิดวิธีการจัดการทรัพยากรดินและน้ำเพื่อเป็นต้นแบบอันดีในสังคม และขยายผลการดำเนินงานให้กว้างขวาง

จาก http://www.naewna.com วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

แจงสี่เบี้ย : การแก้ปัญหาพื้นที่ดินเค็มในประเทศไทย (1)

ดินเค็มในประเทศไทยพบทั่วไปในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและพื้นที่ชายทะเล โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีพื้นที่ดินเค็มประมาณหนึ่งในสามของพื้นที่ทั้งภาค คือ 17.8 ล้านไร่ และพื้นที่มีศักยภาพในการแพรเกลืออีก 19.4 ล้านไร่ พื้นที่ดินเค็มมักเกิดในที่ลุ่ม มีน้ำท่วมในฤดูฝน ส่วนใหญ่จึงเป็นนาข้าว สังเกตไดจากคราบเกลือบนผิวดินเป็นหย่อมๆ ไมสม่ำเสมอกันทั้งพื้นที่ และความเค็มในชั้นดินก็แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับฤดูกาล ในฤดูฝนเกลือที่ดินชั้นบนจะถูกน้ำฝนชะลงไปในดินชั้นล่าง และคราบเกลือจะกลับขึ้นมาปรากฏที่ผิวดินใหม่ในช่วงแล้ง ในการจำแนกดินเค็มเพื่อทำแผนที่ดินเค็มจึงจำแนกจากการกระจายคราบเกลือบนผิวดินในช่วงแล้ง ซึ่งสังเกตได้ดังนี้ คือ

1) พื้นที่ดินเค็มจัด 1.5 ล้านไร่ พบคราบเกลือที่ผิวดินมากกว่า 50% ความเค็มของดินชั้นบนสูงกว่าดินชั้นล่าง ระดับน้ำใต้ดินอยู่ตื้นใกล้ผิวดิน 1-2 เมตร เป็นพื้นที่ถูกปล่อย ให้ว่างเปล่า ทำการเกษตรไมไดมีวัชพืชที่มีหนาม เช่น หนามพุงดอ หนามพรม หนามปี

2) พื้นที่ดินเค็มปานกลาง 3.7 ล้านไร่ พบคราบเกลือที่ผิวดิน 10-50% ระดับน้ำใต้ดินอยู่ลึกจากผิวดินประมาณ 2 เมตร

3) พื้นที่ดินเค็มน้อย 12.6 ล้านไร พบคราบเกลือที่ผิวดินน้อยกว่า 10% ระดับน้ำใต้ดินอยู่ลึกจากผิวดินมากกว่า 2 เมตร สำหรับพื้นที่ดินเค็มน้อยและเค็มปานกลาง สวนใหญ่เป็นนาข้าว ต้นข้าวในนาเจริญเติบโตไมสม่ำเสมอกัน มักจะมีวัชพืช คือ หญ้าแดง (Cyperus spp.) เป็นต้นกกดอกสีแดง หรือ หญ้าขี้กราก (Xylis capensis.) ดอกสีเหลือง ขึ้นแซมกับต้น ข้าว ระยะกล้าต้นข้าวมีปลายใบซีดขาวม้วนงอ ระยะแตกกอ มีการแตกกอน้อยลง ระยะติดเมล็ดมีเมล็ดลีบมาก ผลผลิต ข้าวลดลงเหลือ 10-15 ถังต่อไร

4) พื้นที่มีศักยภาพในการแพรเกลืออีก 19.4 ล้านไร มักอยู่บนเนินที่เป็นพื้นที่ รับน้ำ (recharge area) เคยเป็นป่าเต็งรังมาก่อน ไมพบคราบเกลือที่ผิวดิน มีการปลูกพืชไร เช่น มันสำปะหลัง อาจมีน้ำเค็มหรือแหล่งเกลืออยู่ใต้ดินหรือไมมีก็ได เมื่อมีการจัดการไมดี เช่น การตัดไม ทำลายป่าบนพื้นที่รับน้ำ ทำให้สมดุลของน้ำเปลี่ยนแปลง น้ำใต้ดินเค็มในที่ลุ่มถูกยกระดับขึ้นมาใกล้ ผิวดิน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2558