http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล(เดือนพฤษภาคม 2559)

'พาณิชย์'ยันยังไม่ตัดสินใจเข้าTPP พร้อมฟังภาคประชาชนก่อนชงรบ.

31 พ.ค.59 นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการศึกษาความพร้อมของไทยต่อความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ภายใต้ คณะกรรมการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศ (พกค.) เปิดเผยว่า ตอนนี้รัฐบาลยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเข้าร่วม TPP โดยจะต้องศึกษารายละเอียดเชิงลึกเกี่ยวกับผลดีผลเสีย และประเมินความพร้อมของไทยอย่างรอบคอบ รวมถึงรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะภาคส่วนที่คาดว่า จะได้รับผลกระทบ เพื่อพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมของไทยต่อความตกลงTPP

ทั้งนี้ จากการหารือร่วมกับกลุ่มภาคประชาสังคม ประกอบด้วย เครือข่ายกลุ่มศึกษาข้อตกลงการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย มูลนิธิชีววิถี เครือข่ายองค์กรงดเหล้า สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย และเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ เพื่อรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ รวมทั้งมาตรการเยียวยา ซึ่งจะเสนอต่อรัฐบาลเกี่ยวกับการบรรเทาข้อห่วงกังวลภายใต้ความตกลง TPP

"ก่อนหน้านี้ กระทรวงพาณิชย์ได้รับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วน มาแล้วหลายครั้ง และยังได้ลงพื้นที่รับฟังความเห็นในภูมิภาคต่างๆ  สำหรับการหารือกับภาคประชาสังคมในวันนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้รับทราบประเด็นที่เป็นข้อห่วงกังวล และข้อคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นสำคัญภายใต้ความตกลงทีพีพี ได้แก่ ทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งในเรื่องสิทธิบัตรยา การคุ้มครองข้อมูลการทดสอบยา และการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ และการให้สิทธินักลงทุนฟ้องรัฐ ซึ่งกระทรวงฯ ยินดีและพร้อมรับข้อเสนอแนะของทุกกลุ่มไปประกอบการศึกษาในรายละเอียดอย่างรอบคอบและรอบด้าน"

ทั้งนี้ TPP ถือเป็นความตกลงการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีมูลค่าจีดีพีของประเทศสมาชิกรวมกัน 27.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 39.3% ของมูลค่าจีดีพีโลก และมีมูลการค้ารวมTPP ต่อโลกประมาณ 8.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 26.17% ของมูลค่าการค้าโลก ย่อมส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย ทั้งในแง่ของการส่งออก ซึ่งเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการส่งออกถึง 60%  และการเป็นข้อต่อสำคัญในระบบห่วงโซ่อุปทานโลก หากประเทศสมาชิก TPP มุ่งเน้นทำการค้าระหว่างกันมากขึ้น แม้ว่าไทยจะพิจารณาเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลง TPP หรือไม่ก็ตาม ประเด็นที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน คือ “การเร่งพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไปสู่ประเทศไทย 4.0” เพื่อสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในประเทศให้สามารถแข่งขันกับประเทศสมาชิกทีพีพีและกลุ่มเศรษฐกิจอื่นๆ ที่นับวันจะยิ่งขยายเพิ่มขึ้น ซึ่งในกรณีของ TPP ขณะนี้มีหลายประเทศที่แสดงความต้องการเข้าร่วมเป็นสมาชิกใหม่ อาทิ เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ฮอนดูรัส และโคลัมเบีย

นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานเอฟทีเอ ว็อทช์ กล่าวว่า ทางกลุ่มได้มีข้อเสนอแนะต่อกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อการเข้าร่วมข้อตกลงทีพีพีโดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข ขอให้เปิดเผยข้อมูลงานศึกษา ตัวเลข ผลได้ ผลกระทบ และต้องจัดให้มีเวทีวิชาการดีเบตข้อมูลเหล่านั้น ทั้งผลบวกกับประเทศไทยและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เพื่อให้ช่วยกันพิจารณาว่ายังขาดข้อมูลที่จำเป็นต่อการตัดสินใจเข้าหรือไม่เข้า  TPP

"จะต้องชี้แจงให้ได้ว่า ถ้าไทยเข้าTPPจะต้องยอมรับการผูกขาดตลาดยาเพิ่มขึ้นอีก 1-10 ปีอย่างไร และจะกระทบต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของไทยอย่างไร เพราะกระทรวงสาธารณสุขประเมินว่าจะต้องเตรียมงบประมาณตั้งแต่ 2,835-288,266 ล้านบาทต่อปี รัฐบาลมีการรองรับอย่างไร เยียวยาได้หรือไม่ เพราะเมื่อเทียบกับงานศึกษาของสถาบันปัญญาภิวัฒน์ที่กระทรวงพาณิชย์จัดจ้างศึกษาว่า การเข้าทีพีพีจะทำให้จีดีพีของประเทศเพิ่มขึ้น 0.77% เท่านั้น"

นอกจากนี้ จะต้องมีความชัดเจนในเรื่องผลกระทบจากการคุ้มครองการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติผ่านกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน (ISDS) เพราะมีแนวโน้มเป็นปัญหาใหญ่ เช่น การไม่ต่อใบอนุญาตทำเหมืองทอง และหากไทยเข้า TPP ก็จะมีการบังคับให้เป็นภาคี ICSID ที่จะทำให้คำตัดสินของอนุญาโตตุลาการที่รัฐไทยไม่สามารถนำกลับมาพิจารณาในระบบยุติธรรมของไทยได้

ขณะเดียวกัน ในช่วงที่อยู่ระหว่างการพิจารณาข้อดีข้อเสียของการเข้าร่วม TPP ขอให้หยุดกระบวนการแก้กฎหมาย ประกาศและระเบียบต่างๆ ตามคำเรียกร้องของชาติ มหาอำนาจต่างๆ ทั้งที่ยังไม่ได้มีการเจรจา อาทิ พ.ร.บ.สิทธิบัตร, พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชใหม่, พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ,ประกาศควบคุมการนำเข้าเนื้อจากประเทศที่มีความเสี่ยงโรควัวบ้า, การเปิดตลาดเนื้อสุกรที่พบสารเร่งเนื้อแดง, การยกเลิกมาตราฉลากภาพควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, ยกเลิกการแก้ไข ร่างพ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งล้วนแต่บ่อนทำลายภาคเกษตร ภูมิปัญญาท้องถิ่น และระบบการคุ้มครองผู้บริโภคและการสาธารณสุขไทย

"ผู้กำหนดนโยบายไม่พึงใช้อารมณ์เป็นที่ตั้งในการตัดสินใจเรื่องที่มีผลผูกพันกับประชาชนคนไทยชั่วลูกชั่วหลานแต่ต้องตัดสินใจด้วยเหตุและผลบนข้อมูลที่ครบถ้วน ถูกต้อง สมดุล ซึ่งภาคประชาสังคมเห็นว่า หากดำเนินการตามที่ได้มีการเสนอไปทั้งหมดแล้ว จึงนำข้อมูลทั้งหมดเข้าพิจารณาในคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ หรือคณะรัฐมนตรีว่าประเทศไทยควรไปขอเข้าร่วมเจรจา TPP หรือไม่"

จาก http://www.naewna.com วันที่ 31 พฤษภาคม 2559 

เกษตรฯประสานพลังประชารัฐ ยกระดับปัจจัยผลิตมีคุณภาพ 

          เกษตรฯประสานพลังประชารัฐยกระดับปัจจัยการผลิตทางการเกษตร รับฤดูเพาะปลูก 59/60 ผนึก 7 สมาคมการค้าปัจจัยการผลิต และธ.ก.ส. เปิด 5 ช่องทางหลัก ช่วยเกษตรกรใช้ปุ๋ย สารเคมีการเกษตร เมล็ดพันธุ์พืชคุณภาพ ในราคาเป็นธรรม พร้อมลดต้นทุน-เพิ่มผลผลิต หวังสร้างร้านต้นแบบมาตรฐาน Q-Shop ขยายผลทั่วประเทศ

          พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า นับแต่ปี 2557 ประเทศไทยประสบปัญหาภัยแล้งรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก จึงทำให้เกษตรกรไม่สามารถทำการเกษตรได้ ไม่สามารถจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร ส่งผลให้ขาดรายได้ กระทั่งทำให้มีเงินลงทุนไม่มากพอ ดังนั้นรัฐบาลจึงมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถลงทุนได้โดยการสนับสนุนปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพได้มาตรฐานให้แก่เกษตรกร ผ่านความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับสมาคมที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยการผลิตทางการเกษตร โดยมีหลักคิดสำคัญคือ เกษตรกรจะต้องได้รับปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ในราคาที่เป็นธรรม ในฤดูกาลผลิตใหม่ ที่กำลังจะมาถึงนี้ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตร, กรมการข้าว กรมส่งเสริมสหกรณ์ และ ธ.ก.ส. ร่วมกับ 7 สมาคมการค้าปัจจัยการผลิต เร่งบูรณาการขับเคลื่อน "โครงการสานพลังประชารัฐเพื่อปัจจัยการผลิตทางการเกษตร" ตามนโยบายรัฐบาล โดยมีแผนดำเนินรองรับฤดูการผลิตปี 2559/2560 เพื่อช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร

          รมว.เกษตรฯ เผยต่อว่า สำหรับความร่วมมือครั้งนี้ หน่วยงานภาครัฐและสมาคมผู้ผลิตปัจจัยการผลิตทางการเกษตร 7 สมาคม คือ สมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจเกษตรไทย, สมาคมการค้าผู้ผลิตปุ๋ยไทย, สมาคมธุรกิจปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพไทย, สมาคมคนไทยผู้ประกอบธุรกิจเคมีเกษตร, สมาคมอารักขาพืชไทย, สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย และสมาคมผู้รวบรวมและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ไทย ที่มีสมาชิกกว่า 238 บริษัทเอกชนได้ขานรับ เพื่อเข้าร่วมโครงการภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด โดยการรับสมัครสมาชิก คอยติดตาม ให้คำแนะนำ และให้การรับรองการเป็นผู้ผลิตปัจจัยการผลิตคุณภาพ โดยกรมวิชาการเกษตร จะจัดทำฐานข้อมูลผู้ผลิตปัจจัยการผลิตคุณภาพ เพื่อให้เกษตรกร สหกรณ์ และร้านจำหน่ายสามารถสืบค้นได้ง่ายผ่านระบบแอพพลิเคชั่น

          "การพัฒนาต้นแบบความร่วมมือด้านปัจจัยการผลิตตามแนวทางประชารัฐในพื้นที่แปลงใหญ่ ได้มีแผนเร่งหารือความร่วมมือกับภาคเอกชนและสถาบันเกษตรกรที่เกี่ยวข้องเพื่อคัดเลือกพื้นที่ดำเนินการสนับสนุนปัจจัยการผลิตคุณภาพ ภายใต้โครงการเกษตรแปลงใหญ่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งยังจะจำหน่าย สนับสนุนปัจจัยการผลิตคุณภาพให้แก่เกษตรในพื้นที่โครงการ และติดตามประเมินผลการดำเนินงานเพื่อให้เป็นต้นแบบความร่วมมือที่มีประสิทธิภาพสูงสุด"

จาก http://www.komchadluek.net วันที่ 31 พฤษภาคม 2559 

รายงานผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) วันที่ 30 พฤษภาคม 2559  - ThaiPR.net  31 พ.ค. 2559

          ? รายงานการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และแนวทางการดำเนินการสัญญาซื้อขาย LNG ระยะยาวกับบริษัท Shell และ BP

          สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง และเศรษฐกิจโลกชะลอตัว มีผลทำให้ตลาด LNG มีอุปทานมากกว่าอุปสงค์ และราคา Spot LNG อยู่ในระดับต่ำมาก ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยที่มีการชะลอตัว ส่งผลทำให้ปริมาณความต้องการใช้ LNG ในปี 2559 ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ตามแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2558-2579 (Gas Plan 2015) จากประมาณ 4.5 ล้านตันต่อปี ลดลงอยู่ที่ 2.7-3.1 ล้านตันต่อปี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จึงเห็นควรให้ ปตท. เจรจาทบทวนสัญญา LNG SPA กับบริษัท Shell และ BP ใหม่ เพื่อให้สะท้อนกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ซึ่ง ปตท. ได้ดำเนินการและรายงานความก้าวหน้าการเจรจา โดยได้เลื่อนกำหนดการส่งมอบ LNG ของสัญญาทั้ง 2 ฉบับ ออกไป จากเดิมปี 2559 เป็นปี 2560 และอยู่ระหว่างเจรจาปรับลดราคา LNG ให้สะท้อนราคาตลาด LNG มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ หากการปรับแก้สูตรราคาและเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องในร่างสัญญา LNG SPA แล้วเสร็จ ปตท. จะรายงานกระทรวงพลังงาน เพื่อนำเสนอ กพช. พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนดำเนินการลงนามสัญญาทั้ง 2 ฉบับ อีกครั้ง

          ? แผนระบบรับส่งและโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติเพื่อความมั่นคง (LNG)

          จากการประมาณการความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติที่สอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2558-2579 (PDP 2015) ในปี 2579 จะอยู่ที่ระดับ 4,344 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่เนื่องจากปัจจุบันโรงไฟฟ้าถ่านหินเกิดความล่าช้า ไม่เป็นไปตามแผน PDP 2015 กระทรวงพลังงานจึงได้มีการปรับประมาณการความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติ เพิ่มเป็น 5,653 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ประกอบกับการจัดหาก๊าซธรรมชาติจากแหล่งต่างๆ ทั้งจากแหล่งก๊าซฯ ในประเทศ แหล่งพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA) และที่นำเข้าจากแหล่งก๊าซฯ ในประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ประเทศเมียนมา จะมีปริมาณลดลงในอนาคต จึงอาจจะเป็นต้องมีการนำเข้าในรูปแบบของก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพิ่มมากขึ้น

          ดังนั้น เพื่อให้โครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติของประเทศมีความพร้อมสำหรับรองรับความต้องการใช้และการจัดหาก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มมากขึ้น ที่ประชุม กพช. จึงได้เห็นชอบให้ดำเนินโครงการ ดังนี้

          1) โครงการขยายกำลังการแปรสภาพ LNG ของ Map Ta Phut LNG Terminal เพิ่มเติมอีก 1.5 ล้านตันต่อปี วงเงินงบประมาณ 1,000 ล้านบาท โดยมอบหมายให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จภายในปี 2562

          2) โครงการ LNG Receiving Terminal แห่งใหม่ จ.ระยอง สำหรับรองรับการนำเข้า LNG ในปริมาณ 5 ล้านตันต่อปี วงเงินงบประมาณ 36,800 ล้านบาท โดยมอบหมายให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จภายในปี 2565

          นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ศึกษา โครงการ Floating Storage and Regasification Unit (FSRU) พื้นที่อ่าวไทยตอนบน สำหรับรองรับการนำเข้า LNG ในปริมาณ 5 ล้านตันต่อปี เพื่อจัดส่งก๊าซธรรมชาติให้แก่โรงไฟฟ้าพระนครใต้ พระนครเหนือ รวมทั้งจัดส่งก๊าซธรรมชาติเข้าสู่โครงข่ายระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ โดยให้นำกลับมาเสนอต่อ กบง. และ กพช. พิจารณาภายใน 3.5 เดือน

          ? การปรับปรุงแนวทางสนับสนุน SPP-Cogeneration ที่กำลังจะหมดอายุสัญญา

          กระทรวงพลังงาน ได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อทบทวนแนวทางสนับสนุน SPP-Cogeneration ที่จะสิ้นสุดสัญญาในปี 2560–2568 เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์เศรษฐกิจโลกผันผวนค่อนข้างมาก ทำให้ SPP มีความเสี่ยงในการดำเนินการเพิ่มขึ้น และ SPP ยังมีความจำเป็นในด้านความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง ประกอบกับข้อจำกัดทางเทคนิคของโรงไฟฟ้าที่ต้องผลิตทั้งไฟฟ้าและไอน้ำ/ความเย็น ทำให้โรงไฟฟ้าต้องมีขนาดใหญ่ในระดับหนึ่งจึงจะสามารถรักษาเสถียรภาพและคุณภาพของระบบไฟฟ้าในพื้นที่ได้ ซึ่งที่ประชุม กพช. ได้พิจารณาและเห็นชอบแนวทางสนับสนุน SPP-Cogeneration ที่จะสิ้นสุดสัญญาในปี 2560–2568 ดังนี้

          1) กลุ่มที่ 1 : SPP-Cogeneration ที่จะสิ้นสุดอายุสัญญาภายในปี 2560–2561 (ต่ออายุสัญญา) ให้มีระยะเวลาสัญญา 3 ปี ปริมาณรับซื้อไม่เกิน 60 MW และไม่เกินกว่าปริมาณขายไฟฟ้าตามสัญญาเดิม ราคารับซื้อไฟฟ้า (ณ ราคาก๊าซ 263 บาท/MMBTU) ในอัตรา 2.3753 บาท/kWh

          2) กลุ่มที่ 2 : SPP-Cogeneration ที่จะสิ้นสุดอายุสัญญาภายในปี 2562–2568 (ก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่) ให้มีระยะเวลาสัญญา 25 ปี ปริมาณรับซื้อไม่เกิน 30 MW และไม่เกินร้อยละ 30 ของกำลังผลิตไฟฟ้าสุทธิรวมไอน้ำ (Net Generation) ไฟฟ้ารวมไอน้ำ และจะต้องไม่เกินกว่าปริมาณขายไฟฟ้าตามสัญญาเดิม ราคารับซื้อไฟฟ้า ในอัตรา 2.8186 บาท/kWh (ที่ราคาก๊าซธรรมชาติ 263 บาท/ล้านบีทียู) ทั้งนี้ โครงการ SPP-Cogeneration ที่ได้รับสิทธิการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ให้ดำเนินการก่อสร้างได้ในพื้นที่เดิม หรือพื้นที่ใกล้เคียงนิคมอุตสาหกรรมและสวนอุตสาหกรรม

          โดยมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) พิจารณาดำเนินการตามแนวทางฯ ข้างต้น รวมทั้งพิจารณาปรับปรุงรูปแบบสัญญา Firm ของ SPP-Cogeneration กลุ่มนี้ ให้สามารถลดปริมาณการขายไฟฟ้าเข้าระบบได้ พร้อมกำหนดหลักเกณฑ์การขอลดปริมาณการขายไฟฟ้าเข้าระบบล่วงหน้า พิจารณาทบทวนการกำหนดราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับ IPP และ SPP ตลอดจนหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าสำรองให้มีความเหมาะสม รวมทั้งมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ดำเนินการศึกษา SPP-Power Pool เพื่อรองรับกลไกการประมูลรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินในอัตราส่วนลดพิเศษในอนาคต โดยให้รีบกลับมานำเสนอ กบง. และ กพช. ตามลำดับต่อไป

          ? แนวทางการบริหารจัดการน้ำมันปาล์มในกิจการพลังงาน

          จากข้อเสนอเชิงนโยบายของกระทรวงมหาดไทย และคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ในการแก้ไขปัญหาผลผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มทั้งระบบ ที่ขอให้ กฟผ. ใช้น้ำมันปาล์มดิบทดแทนน้ำมันเตาในการผลิตกระแสไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น เป็นเดือนละ 10,000 ตัน โดยดำเนินการ 8 เดือนติดต่อกัน ซึ่งที่ประชุม กพช. ได้พิจารณาแนวทางการบริหารจัดการน้ำมันปาล์มในการผลิตไฟฟ้า โดยเห็นชอบในหลักการสำหรับการรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบเพื่อนำมาผสมกับน้ำมันเตาในการผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้ากระบี่ในปริมาณการรับซื้อที่เหมาะสมเป็นคราวๆ ไป เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร โดยพิจารณาจากปริมาณสต๊อคและราคาน้ำมันปาล์มดิบประกอบ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าและเป็นภาระต่อประชาชน พร้อมมอบหมายให้ กบง. เป็นผู้พิจารณาการรับซื้อ ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นให้ถือเป็นค่าใช้จ่ายตามนโยบายภาครัฐในสูตรการปรับอัตราค่า Ft และให้ กกพ. กำกับดูแลการดำเนินงาน โดยคำนึงถึงความมั่นคงของระบบไฟฟ้าและผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าเป็นสำคัญ

          นอกจากนี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการส่งเสริมการผลิตและการใช้ไบโอดีเซล เป็น 14 ล้านลิตร/วัน ภายในปี 2579 ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2558-2579 (AEDP 2015) และเพื่อเพิ่มสัดส่วนการใช้น้ำมันปาล์มในน้ำมันไบโอดีเซลสำหรับรถยนต์ชนิดต่างๆ ให้เป็นรูปธรรม ซึ่งที่ประชุม กพช. ได้เห็นชอบแนวทางการเพิ่มสัดส่วนการใช้น้ำมันไบโอดีเซล โดยให้ดำเนินการผลิตไบโอดีเซลที่ได้รับการปรับปรุงคุณภาพแล้วในเชิงพาณิชย์ พร้อมนำร่องการใช้น้ำมันไบโอดีเซล บี10 ในรถของหน่วยงานราชการ/ทหาร/เอกชนก่อนผลักดันให้เกิดการใช้น้ำมันไบโอดีเซล บี10 เป็นเชื้อเพลิงทางเลือกอย่างเป็นรูปธรรม ภายในเดือนพฤษภาคม 2560 ทั้งนี้ มอบหมายให้กระทรวงพลังงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามแผน AEDP 2015 โดยให้คณะอนุกรรมการบริหารจัดการเชื้อเพลิงเอทานอลและไบโอดีเซล เป็นผู้ขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแนวทางการเพิ่มสัดส่วนการใช้น้ำมันไบโอดีเซล และรายงานให้ กบง. ทราบเป็นระยะ 

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 31 พฤษภาคม 2559 

ร่างระเบียบนโยบายเกษตรฯปี59 

          เมื่อวันที่ 29 พ.ค. นายสุรพงษ์ เจียสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการดำเนินงานร่างระเบียบคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร และสหกรณ์ ว่าด้วยการขึ้นทะเบียนเกษตรกร พ.ศ. 2559 ซึ่งมี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ  รมว.เกษตรฯ เป็นประธาน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการ มีสาระสำคัญในการปรับปรุงแก้ไขร่างที่สำคัญ ๆ ได้แก่ 1.ขยายขอบข่ายการประกอบการเกษตรให้ครอบคลุมทุกภารกิจ  2.กำหนดให้มีหน่วยงานรับขึ้นทะเบียนปรับปรุงเพิ่มเติมหน่วยงานในสังกัด กษ. ในการรับขึ้นทะเบียนเกษตรกร  3.ให้นายทะเบียนมีอำนาจกำหนดเงื่อนไขได้เป็นรายสินค้า หรือรายครัวเรือน และหน่วยงานที่รับขึ้นทะเบียน กำหนด หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการขึ้นทะเบียนเกษตรกร 4. กำหนดการสิ้นสภาพ และ 5. กำหนดให้ประธานคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการ เพื่อดำเนินการเกี่ยวกับทะเบียนเกษตรกรในระดับจังหวัด

          ด้านนายคมสัน จำรูญพงษ์ รองเลขาธิการ สศก. กล่าวเสริมว่า สศก. ยังได้ร่วมกับกรมต่าง ๆ ในกระทรวงเกษตรฯ และเชิญหน่วยงานภายนอก เช่น กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  และสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (สรอ.) หารือการพัฒนาฐานข้อมูลเกษตรกร ตามคำสั่ง กษ. ให้เป็นระบบฐานข้อมูลเกษตรกรกลาง ซึ่งเห็นควรว่าต้องมีการปรับปรุงระเบียบในการปฏิบัติที่ขัดแย้งกันให้สามารถดำเนินการได้ และต่อไปจะพัฒนาเป็นโครงการความร่วมมือ โดยจะมีการลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกันในวันที่ 13 มิ.ย.นี้ เพื่อให้การจัดเก็บข้อมูล และให้มีฐานข้อมูลครบถ้วนถูกต้อง ทั้งนี้ การออกประกาศ ระเบียบคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ว่าด้วยการขึ้นทะเบียนเกษตรกร พ.ศ. 2559 เป็นการออกประกาศใหม่ เพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 มี.ค.ที่ผ่านมา.

จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 31 พฤษภาคม 2559 

เคลื่อนภารกิจพื้นฐานพัฒนาดิน พด.วางเป้าก้าวสู่ปีที่54เดินหน้าแก้ปัญหาดินทุกรูปแบบ

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาที่ดิน เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญด้านการพัฒนาที่ดินในพื้นที่การเกษตรของประเทศ ให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งยังมีบทบาทการพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรดินทั่วประเทศ จัดทำเขตการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจที่เหมาะสมกับดิน (Zoning) การจัดการดินที่เหมาะสมตามสภาพพื้นที่เพื่อเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการผลิต การสนับสนุนการผลิตแบบแปลงใหญ่ เพื่อการผลิตแบบครบวงจร รวมถึงการสนับสนุนให้ใช้ปัจจัยการผลิตที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ผลิต ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้เกษตรกร และมุ่งพัฒนาคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ ส่งเสริมการเกษตรอินทรีย์ และการพัฒนาหมอดินอาสาและเครือข่ายกลุ่มเกษตรกร โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการเสริมสร้างอนาคตของเกษตรกรไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

โดยตลอดระยะเวลา 53 ปีที่ผ่าน กรมพัฒนาที่ดินได้ทำงานตั้งแต่ขั้นพื้นฐานของการพัฒนาที่ดิน ตั้งแต่กระบวนการสำรวจดินทั้งประเทศ การวิเคราะห์ดิน การจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ และการแก้ไขปัญหาดินที่มีอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นดินที่มีการชะล้างพังทลาย ดินเค็ม ดินพลุ หรือ ดินเปรี้ยว กรมพัฒนาที่ดินก็ได้เข้าไปปรับปรุงบำรุงดินเพื่อที่จะให้ดินเหล่านี้เป็นดินที่มีปัญหาน้อยลงและพี่น้องเกษตรกรก็จะสามารถทำการเพาะปลูกพืชตามที่เกษตรกรต้องการได้ ผลผลิตและมีความยั่งยืน

นายเข้มแข็งกล่าวต่อว่า สำหรับปีนี้ซึ่งเป็นการเข้าสู่ปีที่ 54 กรมพัฒนาที่ดินยังคงจะดำเนินงานพื้นฐานและปัญหาเกี่ยวกับดินในรูปแบบต่างๆ เนื่องจากปัญหาเหล่านี้ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างครบถ้วนและความเสื่อมโทรมของดินสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ทั้งในเรื่องของการรักษาความอุดมสมบูรณ์ให้คงอยู่และเพิ่มเติมในส่วนที่ยังแก้ไขได้ไม่หมดในเรื่องของปัญหาดินต่างๆ ซึ่งทุกภูมิภาคล้วนมีปัญหาทั้งสิ้น นอกจากนี้กรมพัฒนาที่ดินคาดว่าจะต้องมีการต่อยอดนวัตกรรมต่างๆให้มีความคืบหน้า เพื่อให้เกษตรกรนำไปใช้อย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่กรมพัฒนาที่ดินจะต้องนำเอามาใช้ในเรื่องของการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ เช่น แอพพลิเคชั่นต่างๆ ซึ่งปัจจุบันทางกรมพัฒนาที่ดินมีให้บริการในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่เพียงพอ เนื่องจากวิวัฒนาการทางด้าน Social หรือการเข้าถึงความรู้ของเกษตรกรกว้างขวางมากขึ้น โดยเฉพาะด้านแอพพลิเคชั่นที่ในตอนนี้กรมฯมีให้บริการอยู่ เช่น “ปุ๋ยรายแปลง” “กดดูรู้ดิน” และในเรื่องของข้อมูลดินต่างๆ

จาก http://www.naewna.com วันที่ 31 พฤษภาคม 2559 

แบงก์ชาติคาดเศรษฐกิจไตรมาส 2 ฟื้นตัวต่อเนื่อง

นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า คาดว่าเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 จะฟื้นตัวดีอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีแรงส่งในประเทศจากการท่องเที่ยวและบริการ รวมทั้งการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ ส่วนผลกระทบจากภาวะภัยแล้ง คาดว่าผลกระทบจะชะลอลง ทั้งการบริโภคยังชะลอตัวและการส่งออกที่ลดลง ทำให้การลงทุนเอกชนขยายตัวต่ำตามความต้องการในตลาด อย่างไรก็ดี ต้องติดตามภาวะเศรษฐกิจโลก ทั้งเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว การดำเนินนโยบายการเงินของสหรัฐ และการทำประชามติของอังกฤษว่าจะออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่มสหภาพยุโรป เป็นต้น ซึ่งยังเป็นความเสี่ยงที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยได้

นางรุ่งกล่าวว่า สำหรับเศรษฐกิจในเดือนเมษายน ขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แรงขับเคลื่อนสำคัญมาจากภาคการท่องเที่ยว โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 2.6 ล้านคน เพิ่มขึ้น 9.8% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวส่งผลให้ภาคบริการที่เกี่ยวข้องขยายตัวดี ทั้งธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร ธุรกิจค้าส่งค้าปลีกและธุรกิจขนส่ง ทั้งนี้ กำลังซื้อยังชะลอตัว เพราะได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ทำให้ประชาชนระมัดระวังในการใช้จ่าย พบว่าการบริโภคอยู่ที่ลบ 0.2% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน จากสินค้าคงทนและกึ่งคงทน เช่น รถยนต์ ส่วนสินค้าไม่คงทนและบริการยังขยายตัวได้ ทั้งนี้การบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 5.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งการเพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากฐานต่ำ ความต้องการบริโภคที่ชะลอตัวทั้งในประเทศและภาคการส่งออกที่ชะลอตัวต่อเนื่องจากประเทศคู่ค้าหลัก คือ จีนและประเทศอาเซียน ส่งผลต่อเนื่องให้การลงทุนภาคเอกชนยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ต่อเนื่องอย่างชัดเจน แม้ว่าการผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวเล็กน้อยที่ 1.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน การผลิตเพื่อบริโภคในประเทศยังขยายตัวได้ แต่การผลิตเพื่อส่งออกโดยรวมยังไม่ดี สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว อย่างไรก็ตาม กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าขยายตัวดีโดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศตามสภาพอากาศที่ร้อนกว่าปกติ และการผลิตปิโตรเลียมกลับมาขยายตัวหลังจากที่มีการปิดปรับปรุงโรงกลั่นน้ำมันในเดือนก่อน เป็นต้น

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 31 พฤษภาคม 2559 

คลังตามลุ้นเศรษฐกิจไตรมาส2-3ฟื้นตัวเต็มที่ แต่กังวลส่งออกกลับมาลบ

  นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจเดือนเม.ย. 2559 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากไตรแรกที่ขยายตัวได้ 3.2% ซึ่งมีสัญญาณการปรับตัวที่ดีขึ้นจากการบริโภคที่มีแนวโน้มดีขึ้น สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ที่ขยายตัวได้ 2.5% ต่อปี ในจำนวนนี้เป็นแวตที่เก็บจากการบริโภคขยายตัวได้ถึง 6.2% แต่แวตที่เก็บจากการนำเข้ายังติดลบ 3.6%

  เมื่อดูจากปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ขยายตัว 2.9% เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรโดยเฉพาะราคายางพารามีราคาดีขึ้น ทำให้รายได้เกษตรกรที่แท้จริงให้กลับมาขยายตัวได้ในรอบ 4 เดือน อยู่ที่ 2.7% ต่อปี อย่างไรก็ดีดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 61.5 เนื่องจากผู้บริโภคยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับกำลังซื้อของประชาชน

  “สศค.ประเมินว่าทิศทางการบริโภคภายในประเทศของไทยจะมีการเติบโตที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และจะอยู่ในวิสัยที่สามารถดูแลได้ และ สศค.จะติดตามเรื่องภาพรวมการส่งออกของไทยอย่างใกล้ชิด”

  ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยเดือน เม.ย. ยังขยายตัวได้จากการใช้จ่ายรัฐบาลขยายตัวสูง 16.8% ต่อปี ส่วนการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐกลับมาขยายตัวติดลบ 8% ต่อปี หดตัวตามกลุ่มสินค้าส่งออกในทุกกลุ่ม ยกเว้นเกษตรกรรมที่ยังขยายตัวเป็นบวก ภาพรวมการส่งออกรายตลาดที่หดตัวเฉพาะคู่ค้าหลัก ได้แก่ สหรัฐ จีน ญี่ปุ่น ยุโรป และอาเซียน ทำให้ 4 เดือนแรกของปีนี้ มูลค่าการส่งออกของไทย ติดลบ 1.2% ต่อปี

  ส่วนภาคการท่องเที่ยวยังขยายตัวได้ดี จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยในเดือน เม.ย. 2559 อยู่ที่ 2.64 ล้านคน ขยายตัว 9.8% มาจากนักท่องเที่ยวจีน รัสเซีย เกาหลี และกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ 4 เดือนแรกของปี 2559 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งสิ้น 11.68 ล้านคน ขยายตัว 14.1% ต่อปี สร้างรายได้ให้กับประเทศแล้ว 5.93 แสนล้านบาท ขยายตัว 18.9% สศค.เชื่อมั่นว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 จะขยายตัวได้ดีกว่าไตรมาสแรกที่ผ่านมา เป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ คาดว่าไตรมาส 2 จะเบิกจ่ายได้ 1.2 หมื่นล้านบาท และไตรมาส 3 อีก 2 หมื่นกว่าล้านบาท

จาก http://www.khaosod.co.th วันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

หอการค้าไทยเตรียมชงมหาดไทย นำแผนยุทธศาสตร์พัฒนาเศรษฐกิจ 5 ภูมิภาคไปใช้  

         “หอการค้าไทย” เตรียมนำแผนยุทธศาสตร์พัฒนาเศรษฐกิจ 5 ภูมิภาค เสนอกระทรวงมหาดไทยเพื่อให้นำไปขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาค

                นายสมเกียรติ อนุราษฎร์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า หอการค้าไทยเตรียมนำเสนอผลสรุปการประชุมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจหอการค้า 5 ภาค ประกอบด้วย ภาคตะวันออก, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, ภาคกลาง, ภาคเหนือ และภาคใต้ ให้กับกระทรวงหมาดไทย เพื่อให้นำแผนไปขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาคให้ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง       

        “ปีนี้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวจากเศรษฐกิจโลก และยังมีปัญหาภัยแล้ง สินค้าเกษตรราคาตกต่ำ ทำให้กระทบต่อรายได้ของเกษตรกร ขณะที่การบริโภคในประเทศก็ชะลอตัว และคนส่วนใหญ่มีหนี้สินเพิ่มขึ้น จึงต้องมีการเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจไทยขยายตัว โดยปีนี้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะโตได้ 3% ต่ำกว่าที่คาดไว้เดิมที่ 3.5%”

                นายปรัชญา สมะลาภา ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออก หอการค้าไทย กล่าวว่า จะเสนอให้ผลักดันให้ภาคตะวันออกเป็นมหานครแห่งผลไม้ ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการขายทุเรียนเป็น 1 แสนล้านบาท ภายใน 8 ปี เพิ่มจากปัจจุบันที่ 4 หมื่นล้านบาท ส่วนในด้านการท่องเที่ยวจะผลักดันให้มีการเชื่อมโยงเส้นทางเฉลิมบูรพาชลทิตต่อเนื่องตลอดชายฝั่งทะเลตะวันออกและเชื่อมไปสนามบินอู่ตะเภา หากสร้างเสร็จจะดึงนักท่องเที่ยวเพิ่มเป็น 5 เท่าของจำนวนปัจจุบัน และถ้าเชื่อมเส้นทางคมนาคมทั้งบก อากาศ ท่าเรือ ได้ครบ จะส่งผลให้ภาคตะวันออกเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) ที่สมบูรณ์แบบของการท่องเที่ยว       

        ว่าที่ ร.อ.จิตร์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคกลาง หอการค้าไทย กล่าวว่า ภาคกลางมีความโดดเด่นเรื่องเกษตรและการท่องเที่ยว จะขับเคลื่อนการผลิตสินค้าเกษตร ด้วยการสร้างมูลค่า และด้านการท่องเที่ยวจะเดินแผนจัดการท่องเที่ยวเป็นกลุ่มจังหวัดให้เกิดความต่อเนื่อง เพื่อขยายเวลาที่คนใช้ท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น

                นายวัฒนา ธนาศักดิ์เจริญ ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้ หอการค้าไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจภาคใต้ปี 2559 จะขยายตัว 2.3% จากผลดีของการท่องเที่ยวสองฝั่งทะเล ทั้งอ่าวไทยและอันดามันที่นักท่องเที่ยวยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับราคายางพาราเพิ่มขึ้น และการค้าชายแดนของภาคใต้ยังเพิ่มขึ้น 

จาก http://manager.co.th วันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

พด.เตรียมจัดพิมพ์ ข้อมูล‘Agri Map’ แจกจ่าย76จังหวัด

นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า จากการดำเนินโครงการ Agri Map เพื่อผลิตข้อมูลแผนที่เพื่อการบริหารจัดการการเกษตรระดับจังหวัด สำหรับผู้ว่าราชการจังหวัดใช้ในการวางแผนการเกษตรของจังหวัด โดยกรมพัฒนาที่ดินได้จัดทำข้อมูลแผนที่ 9 ข้อมูล เป็นรายจังหวัด ครบทั้ง 76 จังหวัด และส่งข้อมูลให้กรมชลประทานเรียบร้อยแล้ว โดยในระยะต่อไปกรมพัฒนาที่ดิน จะร่วมกับกรมชลประทานจัดพิมพ์แผนที่และคู่มือการใช้ ส่งมอบให้จังหวัดต่างๆ ต่อไป

ทั้งนี้ จากการสำรวจข้อมูลความต้องการเข้าร่วมโครงการปรับเปลี่ยนพืชตามหลักการการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (Zoning) นั้น ปัจจุบันเกษตรกรในหลายจังหวัดทั่วประเทศ เริ่มมีความเข้าใจและพร้อมเข้าร่วมโครงการปรับเปลี่ยนแล้ว เช่น เกษตรกรจังหวัดกาญจนบุรี จำนวน 66 ราย ปรับเปลี่ยนนาข้าวเป็นพื้นที่ปลูกหญ้ารูซี่ เพื่อใช้ในการเลี้ยงแพะ เกษตรกรจังหวัดพังงา จำนวน 11 ราย ปรับเปลี่ยนจากนาข้าวเป็นพื้นที่ปลูกไม้ยืนต้น เช่น มะพร้าวน้ำหอม ปาล์มน้ำมัน เกษตรกรจังหวัดจันทบุรี จำนวน 12 ราย ปรับเปลี่ยนจากการปลูกข้าวเป็นปลูกหญ้าเนเปียร์สำหรับเลี้ยงสัตว์ และเกษตรกรจังหวัดมุกดาหาร จำนวน 80 ราย ปรับเปลี่ยนจากการปลูกข้าวเป็นเกษตรผสมผสาน เป็นต้น

จาก http://www.naewna.com วันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

รายงานพิเศษ : หญ้าแฝก...พืชมหัศจรรย์ เพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำ

น้ำถือเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของทั้งคน สัตว์ และพืช โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยที่มีประชากรส่วนใหญ่ ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก จึงมีความต้องการใช้น้ำในการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์เป็นจำนวนมาก แต่จากสถานการณ์ภัยแล้งที่ผ่านมา ซึ่งมีความรุนแรงและยาวนานมาก สร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรทุกพื้นที่

ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาภัยแล้งที่มีแนวโน้มเกิดบ่อยขึ้นและทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกปีกรมพัฒนาที่ดิน จึงได้มีแนวทางในการป้องกัน แก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกร โดยการปลูกหญ้าแฝกเพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำ เพื่อให้เกิดการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถกักเก็บความชื้นไว้ในดินได้

นางสาวเบญจพร ชาครานนท์ โฆษกกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า ปัจจุบันกรมพัฒนาที่ดินมีการส่งเสริมขยายผลการใช้ประโยชน์หญ้าแฝก เพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน ปรับปรุงบำรุงดินและรักษาความชื้นในดินในพื้นที่เขตพัฒนาที่ดินลุ่มน้ำที่กรมพัฒนาที่ดินรับผิดชอบ รวมทั้งส่งเสริมขยายผลให้แก่หมอดินอาสาของกรมพัฒนาที่ดินทั่วประเทศด้วย ตัวอย่าง เช่น นายชัยยพร หิรัญอร หมอดินอาสาดีเด่นสาขาการใช้ประโยชน์หญ้าแฝกเพื่อการเกษตร ประจำปี 2559 ที่ต้องการแก้ไขปัญหาดินในพื้นที่การเกษตรของตัวเอง เนื่องจากดินเป็นดินทราย มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ความสามารถในการอุ้มน้ำต่ำ

ในฤดูแล้งไม่สามารถกักเก็บความชื้นไว้ในดินได้ โดยได้รับแรงบันดาลใจจากในหลวงทรงปลูกหญ้าแฝกเพื่อแก้ปัญหาดิน จึงได้นำหญ้าแฝกมาปลูกในรูปแบบต่างๆ ได้แก่ การปลูกหญ้าแฝกเป็นแถวขวางทางลาดเทระหว่างไม้ผลที่ปลูกและมีการตัดใบคลุมโคนไม้ผลเพื่อลดการสูญเสียน้ำ ในดินและช่วยรักษาความชุ่มชื้นของดิน ปลูกหญ้าแฝกรอบนาข้าวให้เป็นคันดินที่แข็งแรงและกักเก็บความชื้นแก่ดิน ปลูกหญ้าแฝกเป็นแถวริมทางลำเลียงในไร่นาเพื่อลดการชะล้างพังทลายของดิน ปลูกหญ้าแฝกเป็นแถวรอบขอบบ่อน้ำเพื่อป้องกันการพังทลายของดินและช่วยกรองตะกอนดินไม่ให้ไหลลงไปในบ่อน้ำ

ปลูกหญ้าแฝกแบบวงกลมและแบบครึ่งวงกลมรอบโคนไม้ผล เช่น มะนาว มะม่วง เพื่อรักษาความชุ่มชื้นในดินเฉพาะต้น ปลูกหญ้าแฝกเป็นแถวเดี่ยวรอบพื้นที่ปลูกพืชเพื่อให้หญ้าแฝกช่วยดูดซับน้ำกักเก็บไว้ในดิน ลดการไหลบ่าของน้ำ โดยกิจกรรมการใช้หญ้าแฝกดังกล่าวสามารถอนุรักษ์ดินและน้ำ ช่วยปรับปรุงบำรุงดิน และรักษาความชื้นในดินทำให้พืชที่ปลูกให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นและสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังได้ทำแปลงขยายพันธุ์หญ้าแฝกเพื่อแจกจ่ายแก่เกษตรกรที่สนใจรวมทั้งสนับสนุนใบหญ้าแฝกให้โรงเรียน ได้ทำผลิตภัณฑ์จากใบหญ้าแฝกเพื่อสร้างรายได้อีกด้วย

สำหรับปัญหาภัยแล้งที่มีแนวโน้มเกิดบ่อยขึ้นและทวีความรุนแรงมากขึ้นนั้น เกิดจากปรากฏการณ์เอลนีโญ่ที่เกิดบ่อยขึ้นเกือบทุกปีทำให้สภาพอากาศมีความแปรปรวนมากกว่าในอดีต การเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาภัยแล้ง ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังเพื่อมิให้เกิดผลกระทบกับเกษตรกร และการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม

รวมทั้งเกษตรกรเองต้องมีการปรับตัวเพื่อรับมือกับภัยแล้ง ในระยะยาว เช่น การทำเกษตรโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ปลูกพืชผสมผสานร่วมกับปลูกหญ้าแฝก ปลูกพืชใช้น้ำน้อยหรือพืชอายุสั้น ใช้พันธุ์พืชที่ทนแล้ง ปรับวิธีการให้น้ำ ปลูกพืชในพื้นที่ที่เหมาะสม หรือ เลื่อนการเพาะปลูกให้เหมาะสมกับสภาวะอากาศ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นแนวทางที่จะช่วยให้เกษตรกรสามารถทำการเกษตรได้ในภาวะที่ประสบกับปัญหาภัยแล้ง

อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้เป็นช่วงที่ประเทศไทยเริ่มมีฝนตกเนื่องจากลมมรสุม ทุกภาคส่วนควรเร่งปลูกหญ้าแฝกในช่วงนี้เพราะเมื่อหญ้าแฝกได้รับน้ำฝนและดินมีความชื้นในช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังการปลูก หญ้าแฝกจะตั้งตัวได้และเจริญเติบโตได้ดี ทั้งนี้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชน เกษตรกร และประชาชนผู้สนใจ สามารถขอรับกล้าหญ้าแฝก ได้จากสถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัดของกรมพัฒนาที่ดิน หรือที่ http://www.ldd.go.th

จาก http://www.naewna.com วันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

พร้อมเปิดใช้อ่าง‘คลองพระสะทึง’ เพิ่มชลประทาน4หมื่นไร่สกัดแล้ง-ท่วมซ้ำซาก‘สระแก้ว’

นายประพิศ จันทร์มา ผู้อำนวยการกองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง กรมชลประทาน เปิดเผยว่า การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองพระสะทึง ที่ต.วังใหม่ อ.วังสมบูรณ์ จ.สระแก้ว ขณะนี้ได้แล้วเสร็จพร้อมเก็บกักน้ำในฤดูฝนปีนี้แล้ว เหลือเพียงการก่อสร้างระบบคลองส่งน้ำไปยังพื้นที่การเกษตร ซึ่งจะแบ่งเป็นคลองส่งน้ำฝั่งขวาสายใหญ่ ระยะทาง 20.7 กิโลเมตร และคลองซอย-คลองแยกซอย ระยะทางอีก 39.4 กิโลเมตร คาดว่าจะเสร็จภายในปี 2563 จะทำให้ขยายพื้นที่การเกษตรในเขตชลประทานได้อีก 40,640 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 4 ตำบล คือ ต.พระเพลิง อ.เขาฉกรรจ์ ต.ทุ่งมหาเจริญ อ.วังน้ำเย็น ต.ตาหลังใน และ ต.วังใหม่ อ.วังสมบูรณ์ จ.สระแก้ว นอกจากนี้ ยังจะมีการก่อสร้างท่อส่งน้ำสนับสนุนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตร ให้กับโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนทุ่งกบินทร์ อ.วังสมบูรณ์ ระยะทางประมาณ 1.3 กิโลเมตร คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2569 เช่นกัน รวมทั้งยังจะใช้เป็นแหล่งน้ำสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมในบริเวณพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรีอีกด้วย

ทั้งนี้อ่างฯคลองพระสะทึง เป็นอ่างฯขนาดกลางมีความจุในระดับกักเก็บ 65 ล้านลูกบาศก์เมตร ถือเป็นหนึ่งในโครงการศึกษาเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ของทั้ง 25 ลุ่มน้ำในประเทศไทย และเป็นลุ่มน้ำย่อย 1 ใน 4 ของลุ่มน้ำปราจีนบุรี มีพื้นที่รับน้ำฝนถึง 2,605 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 1.7 ล้านไร่ มีปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยประมาณ 850 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ในอดีตมีอ่างเก็บน้ำคลองสามสิบ ความจุ 5.7 ล้านลบ.ม. เพียงแห่งเดียว เมื่อเทียบกับปริมาณน้ำท่าแล้วถือว่าน้อยมากจึงทำให้เกิดน้ำท่วมไหลบ่าพื้นที่ด้านล่างเป็นประจำทุกปีและหน้าแล้งก็ขาดแคลนน้ำทุกปี และหน้าแล้งก็ขาดแคลนน้ำทุกปีเช่นกันเพราะไม่มีแหล่งเก็บน้ำ

“อ่างฯคลองพระสะทึง แม้จะเก็บกักน้ำได้เพียง 65 ล้าน ลบ.ม. น้อยกว่าปริมาณน้ำท่าที่เกิดขึ้นทั้งปี แต่สามารถใช้หลักการบริหารจัดการน้ำ บรรเทาปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำปราจีนบุรีได้อย่างมีประสิทธิภาพ เห็นได้จากเมื่อปี 2558 พายุหว่ามก๋อที่พัดผ่านพื้นที่ จ.สระแก้ว อ่างฯคลองพระสะทึง ซึ่งขณะนั้นอยู่ระหว่างการก่อสร้างช่วยเก็บกักน้ำไว้ถึง 60 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้ จ.สระแก้ว รอดพ้นจากอุทกภัยได้” นายประพิศ กล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

"เชฟรอน-ปตท.สผ." ลุ้นมติ กพช. หาข้อยุติสัญญาแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย!

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) วันที่ 30 พ.ค.นี้ มีวาระที่ กพช.จะพิจารณา ได้แก่ การบริหารจัดการแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ที่สัมปทานจะสิ้นสุดอายุในปี 2565-2566 ที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้จัดทำแนวทางบริหารไว้ 2 ทางเลือก คือ 1.เจรจากับผู้รับสัมปทานรายเดิม คือบริษัท เชฟรอน ประเทศไทย จำกัด และบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. 2.การเปิดประมูลโดยมีเงื่อนไขที่รัฐบาลจะต้องได้ผลประโยชน์มากกว่าเดิมที่ใช้สัญญาระบบไทยแลนด์ทรี

สำหรับกรอบระยะเวลา กำหนดว่าภายในปี 2560 ภาครัฐจะต้องมีความชัดเจนกับแนวทางการบริหารแหล่งก๊าซฯที่จะหมดอายุ เพราะปัจจุบันแหล่งก๊าซฯในอ่าวไทยดังกล่าว เป็นแหล่งผลิตก๊าซฯหลักของประเทศไทย ที่มีกำลังการผลิตรวม 2,214 ล้านลูกบาศก์ฟุต (ลบ.ฟุต) ต่อวัน หรือคิดเป็น 76% ของปริมาณก๊าซฯ ที่ผลิตได้ในอ่าวไทยและคาดว่าจะผลิตขึ้นมาใช้ได้อีก 10 ปี หากมีการลงทุนต่อเนื่อง ทั้งนี้ หากไม่ดำเนินการใดๆปริมาณก๊าซฯจะทยอยหมดและในอีก 7 ปีข้างหน้า ก๊าซฯจะหายไปจากระบบการผลิต 3 ล้าน ลบ.ฟุตต่อวัน และต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) มาทดแทน ซึ่งมีราคาแพงและมีผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) 85 ส.ต.ต่อหน่วย

ดังนั้น การเลือกแนวทางบริหารแหล่งก๊าซฯ ต้องมีความรอบคอบและมีเหตุผลที่ชัดเจน โดยแนวทางที่จะทำให้การผลิตก๊าซฯมีความต่อเนื่อง คือการต่อสัญญาให้กับผู้รับสัมปทานรายเดิม เพราะเป็นผู้ดำเนินการผลิตมาตั้งแต่ต้น และทราบศักยภาพของแหล่งก๊าซฯเป็นอย่างดี แต่ก็ต้องเจรจาเรื่องผลตอบแทนที่รัฐจะได้กลับคืนมาให้เกิดประโยชน์สูงสุด และต้องไม่น้อยกว่าเดิม ไม่เช่นนั้นจะมีคำถามจากภาคสังคมและถูกมองว่ามีความไม่โปร่งใส

นอกจากนี้ จะมีการพิจารณาเงื่อนไขการส่งเสริมผู้ผลิต ไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (เอสพีพี) ที่จะหมดสัญญาซื้อขายไฟฟ้าปี 2560-2568 จำนวน 25 ราย กำลังการผลิตรวม 1,787 เมกะวัตต์ โดยเป็นโรงไฟฟ้าที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมรองรับผู้ใช้ไฟฟ้าที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรม และที่ผ่านมาสมาคมผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนได้มีการเจรจาเงื่อนไขขอต่อสัญญามาหลายครั้งแล้ว.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ไทยบินเจรจาเอฟทีเอ ค้าเสรีอาเซียน-ฮ่องกง

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ฮ่องกง จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการเจรจาทางการค้าสำหรับการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) อาเซียน-ฮ่องกง ครั้งที่ 7 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง สิ้นสุดวันที่ 2 มิ.ย.59 โดยตนจะเป็นประธานร่วมฝ่ายอาเซียนสำหรับการประชุมในครั้งนี้ ซึ่งจะหารือต่อเนื่องในเรื่องการเปิดตลาดการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน กฎถิ่นกำเนิดสินค้า และกฎเกณฑ์กฎหมาย ถือว่าเป็นการประชุมที่มีความสำคัญมาก เพราะอาเซียนและฮ่องกงได้กำหนดให้มีข้อสรุปในปี 59 และเหลือการประชุมอีกครั้งเดียวในเดือน ส.ค.นี้ ส่วนการเจรจาครั้งที่ 8 ครั้งสุดท้าย จะเน้นการเจรจาเปิด ตลาดสินค้าและบริการ และจัดทำรายละเอียดในประเด็นคงค้างต่างๆให้จบ

“การทำเอฟทีเอ อาเซียน-ฮ่องกง อาเซียนและไทยจะได้ประโยชน์ทางการค้าและการลงทุนหลายด้าน เช่น โอกาสการเข้าสู่แหล่งทุนในฮ่องกง การยกมาตรฐานภาคบริการโดยผู้เชี่ยวชาญจากฮ่องกง และการเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าของไทยและอาเซียน โดยเฉพาะการใช้ฮ่องกงเป็น ประตูสู่ตลาดจีน เพราะในปี 58 ฮ่องกงมีสัดส่วนมูลค่าการนำเข้าสินค้าและส่งออกไป (รี-เอ็กซ์ปอร์ต) ไปจีนกว่า 90% ของมูลค่าการนำเข้า”.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

พลังงานทดแทน ใสใสสะอาดประหยัด

นึกย้อนภาพ...ปล่องควันจากโรงงานอุตสาหกรรม...ควันดำๆจากรถยนต์...บวกกับกลิ่นเหม็นๆที่เกิดขึ้นจากการเผาไหม้ในกิจการ ทั้งภาคอุตสาหกรรม...ครัวเรือน คงจะพอนึกออกถึงยุคของการใช้พลังงานที่กำลังจะกลายเป็นของเก่าคร่ำครึ

สวนทางกับโลกพลังงานยุคใหม่ที่ไฉไลมากกว่า อาจเรียกได้ว่าเป็นพลังงาน “ยุคใสใส ที่ทั้งประหยัด และสะอาด” เปลี่ยนภาพจากอดีตไปอย่างสิ้นเชิง

รูปแบบ “พลังงาน” ที่ว่ากำลังจะก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญ ในภาพของการใช้พลังงานที่ไม่ธรรมดาจากจุดเริ่มต้นเมื่อหลายทศวรรษที่ผ่านมา ปัจจุบัน...ถือเป็นจุดพลิกโฉมสำคัญที่จะเดินหน้าสู่อนาคต

ประเทศไทย...เป็นหนึ่งในประเทศที่มีเทคโนโลยีพลังงานยุคใหม่ โดยเฉพาะในเรื่องของ “พลังงานทดแทน” ที่ก้าวล้ำ มีมาตรฐานในระดับที่สากลยอมรับ จนถูกยกให้เป็น “หนึ่งในภูมิภาคอาเซียน”

เหลียวมองแผนการพลังงานทดแทน และพลังงานทางเลือกของไทย ก็มีความชัดเจน มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงในปัจจุบัน

ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน บอกว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆของเอเชียที่มีเป้าหมายชัดเจนด้านพลังงานทดแทนในภาพรวมที่จำเป็นต้องบูรณาการร่วมกับแผนพลังงานด้านอื่นๆ เพื่อให้การขับเคลื่อนสอดคล้องแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (Alternative Energy Development Plan : AEDP2015 ในช่วงปี พ.ศ.2558-2579)

“เราเป็นองค์กรหลักในการสร้างสรรค์...บริหารจัดการนโยบายและแผนด้านพลังงานเพื่อความยั่งยืนของประเทศ” ดร.ทวารัฐ ย้ำว่า แผนพลังงานทดแทนของไทยกำหนดให้ใช้พลังงานทดแทน เพื่อแทนที่พลังงานฟอสซิล อย่างน้อย 30% โดยแบ่งเป็นพลังงานทดแทนไฟฟ้า ทดแทนน้ำมัน และทดแทนพลังงานทดแทนเพื่อความร้อน...จากแผนพลังงานฯ ปี 2558-2579 กำหนดทิศทางในอนาคต การใช้ไฟฟ้า น้ำมัน และการผลิตความร้อนไว้แยกออกเป็นส่วนๆ

“ไฟฟ้า”...สัดส่วนทั้งหมดจะต้องประหยัดลง 20% คิดเป็นหน่วยประมาณ 19,000 เมกะวัตต์ ใน 20 ปีข้างหน้า...มีวัตถุประสงค์ต่อยอดศักยภาพที่มีอยู่แล้วในประเทศ

ประเทศไทยมีศักยภาพสูงในเรื่องไบโอกับโซลาร์ เมื่อแยกออกมา ไบโอ...จะมีในส่วนของไบโอแมส ไบโอแก๊ส และขยะ...ทั้งหมดจะเป็นสัดส่วน ไบโอแมส 5,500 เมกะวัตต์...ไบโอแก๊ส 3,600 เมกะวัตต์ และขยะ 550 เมกะวัตต์ หรือรวมแล้วประมาณ 10,000 เมกะวัตต์

น่าสนใจว่า...การพัฒนาในด้านไบโอต่างๆนี้ มาจากฐานคิด การต่อยอดประเทศเกษตรแบบไทย นำเศษวัสดุเหลือใช้จากภาคการเกษตรมาเป็นพลังงานกระแสไฟฟ้า ถือว่ามีเหตุมีผล มีความเหมาะสมที่สุด

ผลที่เกิดขึ้นจากการสนับสนุนแนวคิดเรื่องของพลังงานทดแทนทำให้ของเหลือ...ของเสียที่เกิดขึ้นจากภาคเกษตร และขยะกลายเป็นของมีค่า กลายเป็นยุค “MANUFACTURE” หรือ “ยุคที่ต้องปลูกต้องผลิต”

เพื่อการสร้างพลังงานทดแทนด้านนี้โดยเฉพาะ เดินหน้าไปสู่... “AGRO ENERGY” หรือ “เกษตรพลังงาน” ส่งผลให้บริษัทใหญ่ๆของไทย ก้าวเข้าสู่ธุรกิจนี้มากขึ้น โดยพลังงานที่ได้รัฐเป็นผู้รับซื้อทั้งหมดส่วน “โซลาร์”... ก็มีการพัฒนาต่อยอดเนื่องจาก ไทยเรามีภูมิศาสตร์ที่เหมาะสม มีแสงแดดที่ดียาวนาน และให้พลังงานสูง ปัญหามีเพียงว่า ...ประเทศไทยไม่ใช่ผู้ผลิตอุปกรณ์ ก็กลายเป็นแนวคิดที่จะต้องส่งเสริม ให้เกิดการสร้างผู้ประกอบการในด้านนี้

“วันนี้แทบจะทุกส่วนประกอบของการสร้างพลังงานจากแสงอาทิตย์นั้นประเทศไทยผลิตได้หมดแล้ว ยกเว้นแผงโซลาร์...ต้องให้เกิดการลงทุน ส่งเสริมให้เกิดการผลิตเองในประเทศ โดยร่วมมือกับเจ้าของเทคโนโลยีจากต่างประเทศ”

ดร.ทวารัฐ ผอ.สนผ.บอกอีกว่า ตอนนี้ต้นทุนโซลาร์ถูกมาก ถ้าผลิตได้ในประเทศแล้วถูกลงไปอีก ก็จะกลายเป็นความนิยม และเมื่อเป็นความนิยมก็จะก่อให้เกิดอิสระในการใช้ไฟฟ้า เป็นการช่วยลดโลกร้อน รวมถึงลดการสร้างมลพิษได้เป็นอย่างดี...เป็นเมกะเทรนด์ที่ยิ่งใหญ่

พุ่งเป้าไปที่ “พลังงานทดแทน” ที่จะมาทดแทนการผลิตกระแส “ไฟฟ้า” ที่กล่าวไปแล้วข้างต้นก็คือ “ไบโอ” และ “โซลาร์” ที่นอกจากจะได้พลังงานทดแทนแล้ว ยังได้พลังงานที่สะอาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จากการผลิตกระแสไฟฟ้าตามมา ต่อด้วยเรื่องสำคัญ...ที่หลายคนกำลังให้ความสนใจกับพลังงานทดแทน “น้ำมัน”

“น้ำมันต้องให้ได้สัดส่วนพลังงานทดแทนน้ำมันประมาณ 30% ของปริมาณการใช้ในประเทศ โดยยังจะเป็นเรื่องของเอทานอลกับไบโอดีเซล เมื่อพูดถึงสองเรื่องนี้ก็ต้องย้อนกลับไปที่การต่อยอดจากความเหมาะสมกับวัตถุดิบในประเทศ ซึ่งถือเป็นหัวใจของการขับเคลื่อนในเรื่องนี้”

“เอทานอล”...มาจากพืชประเภทให้แป้ง ส่วน...“ไบโอดีเซล” มาจากพืชประเภทให้น้ำมัน บ้านเราก็มี...อ้อย มันสำปะหลัง พืชให้แป้งมากผลิตเอทานอลได้มากเกินความต้องการใช้ ทำให้ไทยเป็นผู้ผลิตอันดับต้นๆของโลก และเป็นผู้นำในด้านเอทานอลของโลก

ถ้าเป็น “ไบโอดีเซล” แม้ว่าเราจะเป็นผู้ผลิตอันดับ 3 ของโลก แต่ก็ยังผลิตไบโอได้ไม่มาก ผลผลิตสู้อินโดนีเซีย มาเลเซียยังไม่ได้ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากระบบการจัดการด้านเกษตรของไทยเอง เมื่อเป็นเช่นนี้ แนวคิดการนำเอทานอลมาใช้ในดีเซล จึงเป็นเรื่องที่ไทยกำลังจะก้าวไป ซึ่งเป็นเรื่องใหม่

คาดหวังกันว่า...จะเป็นพลังงานแห่งอนาคตอย่างแท้จริง“ทั้งสูตรพระราชทานแบบดีโซฮอล์ และสูตร FAEE อยู่ในส่วนของการทดลอง ไม่นาน...น่าจะได้ถูกนำมาใช้” ดร.ทวารัฐ ว่า “สองเรื่องนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องของการต่อยอดที่เกิดกลายเป็นพลังงานที่จะมาทดแทนน้ำมันที่ในส่วนไบโอดีเซลกำลังจะได้รับการพัฒนา ส่วนเอทานอลไทยมีศักยภาพการผลิตในระดับโลก การนำสองเรื่องมารวมกันสู่การสร้าง...เอทานอลดีเซล เรื่องใหม่ที่น่าตื่นเต้น”

ระหว่างวันที่ 1-4 มิถุนายน 59 ที่จะถึงนี้จะมีงาน “Asean Sustainable Energy Week 2016” ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคบางนา เป็นงานแสดงเทคโนโลยีและการประชุมด้านพลังงานหมุนเวียนที่ยิ่งใหญ่ รวมเทคโนโลยีพลังงานแห่งโลกอนาคตจากทั่วทุกมุมโลกไว้ที่นี่ที่เดียว ใครสนใจ...ก็ติดตามไปดูกันได้

เกือบลืมเรื่องสุดท้าย “พลังงานทดแทน พลังงานความร้อน” ด้วยความเป็นประเทศเกษตร การแปรรูปผลิตผล ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรก็ต้องใช้พลังงานความร้อนเป็นส่วนใหญ่ ในวันนี้มีความพยายามที่จะสร้างพลังงานทดแทนในด้านนี้...ทดแทนการใช้ความร้อนจาก “แอลพีจี (LPG)” หรือ “น้ำมันเตา”

ที่โดดเด่นเป็นพระเอกคือ “ไบโอแก๊ส”...การหมักน้ำเสียที่เกิดขึ้นจากการแปรรูปสินค้าเกษตร เอาไปใช้แทนแอลพีจีตรงๆเน้นในภาคอุตสาหกรรม ไทยเราสนับสนุนเรื่องนี้มาแล้วกว่า 10 ปี...เป็นที่ 1 ของอาเซียน ถัดมาคือ “ชีวมวลอัดแท่ง”...ใช้แทนน้ำมันเตา และการใช้พลังงานแสงอาทิตย์สะสมความร้อนในการอบแห้ง

ทั้งหมดนี้คือความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี “พลังงานทดแทน”... “พลังงานทางเลือก” ที่ต้องประกาศก้องให้ดังๆว่า...ประเทศไทยเป็นหนึ่งในอาเซียน.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

มข.ค้นพบยีสต์สายพันธุ์ใหม่ แบ่งตัวเร็ว ผลิตเอทานอลสูง

พลังงานน้ำมันเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศ โดยประเทศไทยนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศถึงร้อยละ 90 และมีแนวโน้มปรับขึ้นอีกอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากแหล่งผลิตในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงต้องพึ่งพาการนำเข้าเป็นหลัก แต่ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีความผันผวน ดังนั้นเพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงาน ประเทศไทยจึงสนับสนุนนโยบายการนำแหล่งพลังงานทดแทนใหม่ๆ มาใช้ เช่น ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ ไบโอดีเซล และน้ำมันแก๊สโซฮอล ทั้งนี้ น้ำมันแก๊สโซฮอล เป็นพลังงานทดแทนประเภทหนึ่งที่สำคัญซึ่งเกิดจากส่วนผสมระหว่างเอทานอลหรือเอทิลแอลกอฮอล์ที่มีความบริสุทธิ์กับน้ำมันเบนซิน ในอัตราส่วนมาตรฐาน น้ำมันแก๊สโซฮอลจึงมีคุณสมบัติสามารถใช้ทดแทนน้ำมันเบนซินได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากเอทานอลเป็นเชื้อเพลิงที่ไร้สารพิษ ประกอบด้วยธาตุคาร์บอน ไฮโดรเจน และออกซิเจน เมื่อนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์จึงเกิดการเผาไหม้ที่สมบูรณ์ โดยเอทานอลนั้นสามารถผลิตได้ในประเทศไทยซึ่งมีศักยภาพสูงมาก เนื่องจากมีแหล่งวัตถุดิบอ้อยและมันสำปะหลังเป็นจำนวนมาก

ผศ.ดร.นิภา มิลินทวิสมัย นักวิจัยจากภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า การผลิตเอทานอลจากวัตถุดิบประเภทแป้งและน้ำตาล เช่น มันสำปะหลัง กากน้ำตาล เป็นที่นิยมใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมการผลิตเอทานอลภายในประเทศไทย เพราะการใช้มันสำปะหลังทำให้ต้นทุนการผลิตเอทานอลต่ำ และกากน้ำตาลเป็นของเสียที่เหลือทิ้งจากโรงงานผลิตน้ำตาลในประเทศไทยที่มีการเพาะปลูกอ้อยและผลิตน้ำตาลส่งออกสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากบราซิล โดยกระบวนการผลิตเอทานอลจากวัตถุดิบทั้งสองชนิด ต้องใช้ยีสต์ในกระบวนการหมักทางชีวภาพซึ่งถ้าใช้วัตถุดิบจากกากน้ำตาลจะสามารถผ่านกระบวนการหมักได้เลย แต่หากใช้วัตถุดิบจากมันสำปะหลังจะต้องผ่านการเปลี่ยนแป้งเป็นน้ำตาลก่อน เพื่อให้ยีสต์ได้ทำหน้าที่เปลี่ยนน้ำตาลเป็นเอทานอล ทั้งนี้ ยีสต์เป็นจุลินทรีย์ชนิดหนึ่งที่มีการค้นพบมากกว่า 2,500 สายพันธุ์ และยีสต์สายพันธุ์ที่นำมาวิจัยอยู่ในสปีชีส์ที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Saccharomyces cerevisiae หรือ แซคคาโรไมซิส ซิริวิซิอี เป็นยีสต์ชนิดเดียวกันกับที่ใช้ทำอาหาร ขนมปัง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่สำหรับการผลิตเอทานอลเพื่อใช้เป็นพลังงานเชื้อเพลิงทดแทนน้ำมันเบนซิน จำเป็นจะต้องใช้ยีสต์ที่มีศักยภาพและประสิทธิภาพด้านการผลิตเอทานอลที่สูงกว่า

ผศ.ดร.นิภา กล่าวด้วยว่า “ยีสต์สายพันธุ์ใหม่นี้ถูกค้นพบจากงานวิจัยการแยกเชื้อยีสต์ที่ผลิตเอนไซม์อินเวอร์เทสสูงซึ่งมีวัตถุประสงค์เริ่มต้นเพื่อใช้ในการเพิ่มมูลค่าของน้ำตาลทราย โดยการใช้เอนไซม์อินเวอร์เทสเปลี่ยนจากน้ำตาลทรายเป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว ได้แก่ กลูโคส และฟรุคโทส ซึ่งมีมูลค่าสูงกว่า แต่ผลการวิจัยยังพบต่ออีกว่า ยีสต์ที่ผลิตเอนไซม์อินเวอร์เทสสูงสายพันธุ์ใหม่นี้ สามารถผลิตเอทานอลได้สูงด้วย ดังนั้นจึงทำการวิจัยต่อเรื่องการผลิตเอทานอลของยีสต์สายพันธุ์ใหม่นี้โดยเฉพาะ ผลปรากฏว่ายีสต์สายพันธุ์ใหม่นี้สามารถผลิตเอทานอลได้สูงที่สุด เมื่อทดลองเปรียบเทียบในกลุ่มยีสต์ที่ผลิตเอทานอลได้ในระดับสูงด้วยกัน ทั้งนี้ ยีสต์สายพันธุ์ที่เพิ่งถูกค้นพบ ได้รับการขึ้นทะเบียนเชื้อจุลชีพโดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น ภายใต้ชื่อว่า Saccharomyces cerevisiae KKU 6M4.1 หรือเรียกว่า ยีสต์สายพันธุ์ มข. ซึ่งมีคุณสมบัติในการผลิตเอทานอลได้สูง เจริญได้อย่างรวดเร็ว เจริญดีในอาหารที่ใช้เลี้ยงยีสต์ที่มีสภาพความเป็นกรดด่างในช่วงกว้าง (ค่า pH 5-8) และยังสามารถทนต่อไบโอไซด์ซึ่งเป็นสารที่ใช้ยับยั้งจุลินทรีย์ในกระบวนการผลิตน้ำตาลและปนมากับกากน้ำตาลหรือโมลาสที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเอทานอล”    

ผศ.ดร.นิภา กล่าวอีกว่า “เนื่องจากโรงงานอุตสาหกรรมผลิตเอทานอลโดยทั่วไปในประเทศไทยจะนำเข้าเทคโนโลยีการผลิตเอทานอลพร้อมยีสต์จากต่างประเทศ จึงยังไม่มีการผลิตยีสต์เชิงอุตสาหกรรมใช้เองภายในประเทศ เพื่อขยายผลงานวิจัยสู่ระดับอุตสาหกรรมการผลิตเอทานอล คณะนักวิจัยฯ จึงได้นำเสนอประสิทธิภาพของยีสต์สายพันธุ์ KKU 6M4.1 ยีสต์สายพันธุ์ มข. แก่ บริษัท ขอนแก่นแอลกอฮอล์ จำกัด ซึ่งให้ความสนใจและไว้วางใจให้ดำเนินการวิจัยและทดสอบยีสต์สายพันธุ์นี้ในระดับอุตสาหกรรมในโรงงานของบริษัทฯ ได้ ภายใต้ข้อตกลงการใช้ตัวอย่างวัตถุจากงานวิจัย หรือ MTA (Material Transfer Agreement) ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2558 ซึ่งผลการศึกษาในระดับโรงงานอุตสาหกรรม พบว่ายีสต์สายพันธุ์นี้มีประสิทธิภาพการผลิตเอทานอลสูงกว่ายีสต์ที่โรงงานใช้อยู่เดิม โดยคำนวณตั้งแต่กระบวนการใช้กากน้ำตาลเป็นวัตถุดิบ การผลิตเชื้อยีสต์ และกระบวนการหมักจนถึงกระบวนการกลั่นเอทานอล ได้ประสิทธิภาพผลผลิตหรือ % yield efficiency สูงกว่าประมาณ 6.4 เปอร์เซ็นต์ จากกำลังการผลิตของโรงงาน 150,000 ลิตรต่อวัน นอกจากประสิทธิภาพการผลิตเอทานอลจะสูงกว่าแล้ว ยีสต์สายพันธุ์ มข.ยังไม่จำเป็นต้องใช้กรดซัลฟูลิคในการปรับค่าความเป็นกรดด่างในอาหารที่ใช้เลี้ยงเชื้อและกระบวนการหมักเลย เนื่องจากยีสต์สายพันธุ์ มข. มีความสามารถเจริญได้ดีในอาหารที่มีช่วงความเป็นกรดด่างกว้างมากกว่ายีสต์ที่โรงงานใช้อยู่เดิม ซึ่งต้องการสภาวะความเป็นกรดด่างในระดับค่อนข้างคงที่ที่เหมาะสม ทำให้ต้องเติมกรดซัลฟูลิคเพื่อปรับระดับความเป็นกรดด่างปริมาณกว่า 120 กิโลกรัมต่อวัน ดังนั้นการใช้ยีสต์สายพันธุ์ มข.ในกระบวนการผลิตเอทานอลจึงเป็นการลดการใช้สารเคมีทำให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย การดำเนินการศึกษาวิจัยในโรงงานยังคงดำเนินต่อไป เพื่อทดสอบประสิทธิภาพของยีตส์สายพันธุ์ มข.ภายใต้สภาพอากาศที่มีอุณหภูมิสูงในช่วงฤดูร้อน เนื่องจากอาจส่งผลต่อระบบควบคุมอุณหภูมิให้มีความเหมาะสม ทำให้ประสิทธิภาพการผลิตเอทานอลลดลงได้ แต่จากรายงานผลการผลิตเอทานอลของโรงงานปรากฏว่าระดับการผลิตคงที่ จึงเชื่อมั่นว่ายีตส์ที่ถูกค้นพบสามารถทนต่อสภาพแวดล้อมในประเทศไทยได้”

ผศ.ดร.นิภา มิลินทวิสมัย กล่าวถึงประโยชน์ของยีสต์ว่า “ยีสต์มีประโยชน์มากมายมหาศาล นอกจากจะใช้ในการผลิตเอทานอลแล้ว ยีสต์ยังใช้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ขนมปัง และอาหารประเภทต่างๆ มาเป็นระยะเวลายาวนานแล้ว และยังพัฒนายีสต์เพื่อการผลิตเครื่องสำอาง เพราะสารสกัดจากยีสต์อุดมไปด้วย กรดอะมิโน วิตามิน และเกลือแร่ต่างๆ ซึ่งยังสามารถใช้เป็นอาหารเสริมสำหรับผู้ที่ต้องการ เช่น ผู้ที่มีความบกพร่องทางระบบย่อยอาหารเพราะสามารถถูกดูดซึมได้รวดเร็ว ผู้ป่วย ผู้สูงอายุ ฯลฯ และยังสามารถใช้เป็นอาหารสัตว์ได้ซึ่งจะส่งผลดีต่อระบบภูมิต้านทานโดยเฉพาะสัตว์ที่กำลังอยู่ในช่วงตัวอ่อน”

 “สำหรับยีสต์สายพันธุ์ มข. นอกจากการวิจัยด้านประสิทธิภาพการผลิตเอทานอล คณะนักวิจัยฯ ยังได้วิจัยสารสกัดจากยีสต์สายพันธุ์ มข. ซึ่งสามารถใช้ผลิตเป็น อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์อาหาร หรือเครื่องสำอาง และสารสกัดจากผนังเซลล์ของยีสต์ซึ่งอุดมไปด้วยเบต้ากลูแคน เป็นสารประเภทโพลีแซคคาไรด์ ซึ่งมีประโยชน์มากโดยเฉพาะคุณสมบัติเด่นในการกระตุ้นภูมิต้านทานของร่างกาย โดยดำเนินกระบวนการผลิตจากงานวิจัยได้เป็นผลิตภัณฑ์ผงยีสต์สกัดและผงเบต้ากลูแคนแล้ว” ผศ.ดร.นิภา มิลินทวิสมัย กล่าว

จากผลความสำเร็จของงานวิจัยนี้ ทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพเพียงพอต่อการผลิตยีสต์ในเชิงอุตสาหกรรมใช้เองภายในประเทศได้ สำหรับโรงงานที่ผลิตเอทานอลในประเทศไทย ไม่จำเป็นต้องนำเข้ายีสต์จากต่างประเทศ เพราะสามารถใช้ยีสต์สายพันธุ์ มข. ซึ่งเป็นยีสต์ของคนไทย โดยมีคุณภาพไม่ด้อยกว่ายีสต์จากต่างประเทศ ผ่านการการันตีจากโรงงานผลิตเอทานอลซึ่งมีประสิทธิภาพผลผลิตเอทานอลที่สูงกว่า และยังไม่ต้องใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต ลดมลพิษ ยีสต์สามารถเจริญเติบโตและเพิ่มจำนวนเซลล์ได้อย่างรวดเร็ว ต้านแบคทีเรียได้ดีมีความทนทาน ทำให้ระบบการผลิตเอทานอลคงที่ไม่เกิดปัญหาแทรกซ้อน โดยกระบวนการเพิ่มจำนวนเซลล์ใช้ระยะเวลาสั้น ทำให้การใช้พลังงานลดลง พัฒนาสู่อุตสาหกรรมสีเขียวที่ช่วยลดภาวะโลกร้อน จึงขอเชิญชวนโรงงานที่ผลิตเอทานอลในประเทศไทยได้หันมาใช้ยีสต์ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย

จาก http://www.banmuang.co.th   วันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

รวงข้าวคาดค่าเงินบาทสัปดาห์หน้าเคลื่อนไหวในกรอบ 35.50-35.70 บ./ดอลลาร์

        บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย คาดการณ์แนวโน้มตลาดหุ้นไทยระหว่างวันที่ 30 พฤษภาคม - 3 มิถุนายน 2559 ทั้งนี้ มองว่าดัชนีหุ้นไทยจะมีแนวรับที่ 1,400 และ 1,385 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,420 และ 1,430 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ ถ้อยแถลงของประธานเฟด และข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ

                สำหรับการเคลื่อนไหวของเงินบาทในระหว่างวันที่ 30 พฤษภาคม - 3 มิถุนายน 2559 ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่าจะเคลื่อนไหวในกรอบ 35.50 - 35.70 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยจุดสนใจของตลาดในประเทศ อาจอยู่ที่ตัวเลขเศรษฐกิจเดือนเมษายน และข้อมูลเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคมของไทย ขณะที่ประเด็นสำคัญสำหรับตลาดการเงินทั่วโลก เป็นสัญญาณเกี่ยวกับจังหวะการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ รวมถึงข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯที่สำคัญ และสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลก หลังการประชุมของกลุ่มโอเปกด้วยเช่นกัน

 จาก http://manager.co.th วันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 

ก.อุตฯเผย6เดือนเหตุภาวะฉุกเฉินโรงงานลด

กระทรวงอุตสาหกรรม เผย เหตุภาวะฉุกเฉินจากการประกอบกิจการโรงงานรอบ 6 เดือนลดลง รวม 98 เรื่อง

นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ผลสำรวจการเกิดเหตุภาวะฉุกเฉินจากการประกอบกิจการโรงงานในรอบ 6 เดือน ตั้งแต่ตุลาคม 2558 ถึง มีนาคม 2559 พบว่ามีการแจ้งเหตุภาวะฉุกเฉินทั้งสิ้น 98 เรื่อง แบ่งเป็น เพลิงไหม้มากที่สุด 68 เรื่อง รองลงมาคือ อุบัติเหตุ 16 เรื่อง, สารเคมีรั่วไหล 8 เรื่อง, ชุมนุมคัดค้าน 5 เรื่อง และเหตุระเบิด 1 เรื่อง หรือคิดเฉลี่ย 16 เรื่อง ต่อเดือน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันในรอบ 6 เดือนของปีที่ผ่านมา ที่มีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้นเฉลี่ย 17 เรื่อง ต่อเดือน ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้เกิดเหตุภาวะฉุกเฉิน อาจเนื่องมาจากอุบัติเหตุ ความประมาทของผู้ที่เกี่ยวข้องหรือการที่โรงงานไม่ได้ตรวจสอบระบบและอุปกรณ์ให้มีความพร้อมใช้งาน ไม่มีแผนรองรับเหตุภาวะฉุกเฉิน การจัดเตรียมระบบ ความปลอดภัยของอาคารสถานที่ทำงานที่ไม่ถูกต้อง ขาดความชำนาญในการใช้เครื่องมือ เครื่องจักร และส่วนใหญ่จะเป็นโรงงานเก่าที่มีอายุมากกว่า 10 ปี หรือเป็นโรงงานขนาดเล็กระดับเอสเอ็มอี สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือแนวโน้มของการเกิดเหตุภาวะฉุกเฉินโดยเฉพาะเรื่องอุบัติเหตุและเรื่องชุมนุมคัดค้าน ซึ่งเมื่อมีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้นเจ้าหน้าที่จะมี การแจ้งเหตุให้ผู้บริหารกระทรวงฯ ทราบทันที และร่วมแก้ไขปัญหากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สถานการณ์ในพื้นที่คลี่คลายหรือยุติโดยเร็ว

อย่างไรก็ตาม จังหวัดที่เกิดเหตุภาวะฉุกเฉินมีทั้งสิ้น 34 จังหวัด 3 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จำนวน 12 เรื่อง (เพลิงไหม้) จังหวัดชลบุรี จำนวน 9 เรื่อง (เพลิงไหม้) และ จังหวัดระยอง และสมุทรปราการ จำนวน 8 เรื่อง (เพลิงไหม้ และอุบัติเหตุ) ส่วนอีก 43 จังหวัด ไม่มีเหตุภาวะฉุกเฉินเกิดขึ้น

จาก http://www.innnews.co.th วันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 

จ่อปรับระบายน้ำเขื่อนภูมิพลลง ไหลเข้าเป็นศูนย์หวั่นกระทบผลิต 

นายเลิศชัย ศรีอนันต์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน เปิดเผยว่าขณะนี้ได้นำน้ำก้นเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น มาใช้อุปโภคบริโภคเพียงแห่งเดียว จำนวน 180 ล้านลูกบาศก์เมตร และได้ระบายใช้ไปแล้ว 68 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนเขื่อนอื่นๆ ยังไม่ต้องนำมาใช้เพราะปริมาณน้ำใช้การยังพอใช้ถึงเดือน ก.ค. แต่ได้ปรับลดการระบายน้ำลงแล้ว จากสาเหตุฝนต้นฤดูมีน้อยทำให้ปริมาณน้ำยังอยู่ในระดับต่ำสุดในเกณฑ์เฝ้าระวังต่อเนื่อง เช่น เขื่อนภูมิพล จ.ตาก จากเดิมระบายวันละ 5 ล้านลูกบาศก์เมตร ลดเหลือ 4 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมทั้งจะประชุมคณะอนุกรรมการวิเคราะห์และติดตามสถานการณ์น้ำ ที่มีตัวแทนการไฟฟ้าฝ่ายผลิต การประปาส่วนภูมิภาค กรมอุตุนิยมวิทยา และหน่วยงานด้านน้ำอื่นๆ วันจันทร์ที่ 30 พ.ค. นี้เพื่อเตรียมพิจารณาปรับลดการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพล ลงอีกเนื่องจากปริมาณน้ำฝนไหลลงเขื่อนภูมิพล ยังเป็นศูนย์ ทั้งนี้การลดอัตราการระบายจะต้องมาหารือกันเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับระบบสถานีสูบน้ำผลิตประปาส่วนภูมิภาค ของจังหวัดต่างๆ ที่มีสถานีสูบน้ำประปาตามแนวรับน้ำจากเขื่อนภูมิพล

อย่างไรก็ตามในช่วงนี้ได้เพิ่มอัตราการระบายน้ำจากเขื่อนสิริกิติ์ เดิม 10 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็น 10.5 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนแควน้อย เดิม 1 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็น 1.5 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนป่าสักฯ ระบายเท่าเดิม 1 ล้านลูกบาศก์เมตร รวม 4 เขื่อนใหญ่ ระบายวันละ 17 ล้านลูกบาศก์เมตร

นายเลิศชัย กล่าวว่ากรมอุตุนิยมวิทยา ได้ประกาศแล้วว่าเดือน พ.ค จะมีฝนตกน้อย ในช่วงเดือน มิ.ย.ฝนจะตกตามปกติ คาดว่าจะเริ่มมีน้ำไหลลงเขื่อนแล้ว ที่ผ่านมาเขื่อนภูมิพล ไม่ได้น้ำจากพายุฤดูร้อนเลยส่วนเขื่อนสิริกิติ์ ได้น้ำไหลลง 9-10 ล้านลูกบาศก์เมตร ต่อวัน แต่หากเป็นปีฝนปกติจะมีน้ำลงเขื่อนมากกว่านี้ นอกจากนี้ช่วงปลายเดือน มิ.ย. ถึงกลาง ก.ค. มีฝนทิ้งช่วงอีกสองสัปดาห์ แล้วจึงกลับเข้าสู่ภาวะฝนปกติค่าเฉลี่ยตก 100 มิลลิเมตรขึ้นไปต่อวัน

สำหรับแผนการเพาะปลูก กรมชลประทาน ได้ประกาศให้พื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ลุ่มแม่กลอง มีเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ 1.5 ล้านไร่ ที่มีน้ำฝนขังในพื้นที่ก็สามารถลงมือปลูกข้าวได้ซี่งจะเก็บเกี่ยวได้ทันก่อนฤดูน้ำหลากมาถึงในเดือน ก.ย.- ต.ค.  ส่วนพื้นที่ดอน ลุ่มเจ้าพระยา 6.2 ล้านไร่ ลุ่มแม่กลอง 8.5 แสน รอช่วงกลางเดือน ก.ค.ไปแล้วค่อยลงมือปลูก เพราะไม่น้ำส่งจากเขื่อนให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัก โดยกรมชลฯ จะใช้น้ำท่าส่งน้ำเพื่อเพาะปลูกพื้นที่ดอน

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 

ขาดแคลนนํ้าตาลวิกฤติหนัก โค้กหยุดผลิตในเวเนซุเอลา

โคคา-โคลา เป็นบริษัทล่าสุดที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองภายในเวเนซุเอลา หลังปัญหาขาดแคลนน้ำตาลทำให้บริษัทต้องประกาศหยุดการผลิตเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาล

 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า บริษัท โคคา-โคลา ได้หยุดทำการผลิตเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลในประเทศเวเนซุเอลาแล้ว หลังจากบริษัทผู้ผลิตน้ำตาลในประเทศประกาศระงับการผลิตน้ำตาลชั่วคราวเนื่องจากขาดแคลนน้ำตาลทรายดิบ ขณะที่เครื่องดื่มที่ปราศจากน้ำตาล อาทิ โคคา-โคลา ไลท์ และน้ำดื่ม ยังคงดำเนินการผลิตได้ตามปกติ

“ซัพพลายเออร์น้ำตาลในเวเนซุเอลาได้แจ้งกับเราว่าจะหยุดการผลิตชั่วคราวเนื่องจากขาดแคลนวัตถุดิบ” เคอร์รี เทรสเลอร์ โฆษกของโคคา-โคลา กล่าว พร้อมกับระบุว่าทางบริษัทกำลังพูดคุยกับซัพพลายเออร์ เจ้าหน้าที่ทางการ และภาคส่วนอื่นๆ เพื่อหาทางแก้ปัญหา

โคคา-โคลาเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์รายล่าสุดที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภายในเวเนซุเอลา ซึ่งกำลังเผชิญกับภาวะการขาดแคลนสินค้า การควบคุมอัตราแลกเปลี่ยน และอัตราเงินเฟ้อที่สูงที่สุดในโลก โดยก่อนหน้านี้ คราฟท์ ไฮนซ์ ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์อาหารรายใหญ่ และคลอร็อกซ์ ผู้ผลิตน้ำยาทำความสะอาด ได้หยุดการผลิตในเวเนซุเอลาไปแล้วเช่นกัน

ไม่เพียงแต่น้ำตาลเท่านั้น แต่เวลานี้เวเนซุเอลากำลังขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภคพื้นฐานจำนวนมาก อาทิ แป้ง ไข่ นม ตลอดจนเวชภัณฑ์ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อชีวิตของคนในประเทศ

 เศรษฐกิจเวเนซุเอลากำลังประสบกับภาวะถดถอยอย่างรุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปี เนื่องจากการตกต่ำของราคาน้ำมันซึ่งเป็นรายได้หลักประมาณ 95% ของประเทศ ส่งผลให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 13 ปีที่ 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่เศรษฐกิจหดตัวถึง 5.7% เมื่อปีก่อน และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดการณ์ว่าจะหดตัวเพิ่มเติมอีก 8% ในปีนี้ ส่วนอัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นสูงถึงเกือบ 500% และมีความเป็นไปได้ที่จะเพิ่มขึ้นเกินกว่า 1,600% ในปีหน้า

ขณะเดียวกัน สถานการณ์ทางการเมืองภายในกำลังอยู่ในภาวะที่ตึงเครียด หลังจากพรรคฝ่ายค้านพยายามผลักดันให้มีการจัดทำการลงประชามติเพื่อตัดสินว่านายนิโคลัส มาดูโร ควรอยู่ในตำแหน่งประธานาธิบดีต่อไปหรือไม่ ขณะนายมาดูโรไม่ยินยอมให้มีการจัดทำประชามติ ส่งผลให้เกิดการประท้วงอย่างรุนแรงภายในประเทศ

รายงานจากกระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ (ยูเอสดีเอ) ที่เผยแพร่เมื่อปี 2558 ระบุว่า การถูกควบคุมราคา ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น และการขาดแคนเงินตราต่างประเทศ ส่งผลให้กำลังการผลิตอ้อยในเวเนซุเอลาลดน้อยลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ขณะที่เกษตรกรรายย่อยหันไปปลูกพืชชนิดอื่นที่ไม่ถูกควบคุมราคา เพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้นแทน

ยูเอสดีเอประเมินว่า เวเนซุเอลาจะผลิตน้ำตาลทรายดิบและน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ได้ประมาณ 430,000 ตันในปี 2559-2560 ลดลงจาก 450,000 ตันที่ผลิตได้เมื่อปีก่อน และจะเข้าน้ำตาลทรายเป็นประมาณ 850,000 ตัน

ขณะเดียวกัน ธุรกิจอื่นๆ ในเวเนซุเอลาก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน เมื่อเดือนกันยายนปีก่อน เป๊ปซี่รายงานมูลค่าความเสียหาย 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากธุรกิจในเวเนซุเอลา ส่วนบริษัท โพลาร์ เอ็นเตอร์ไพรเซสฯ ผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่ที่สุดของประเทศ ต้องปลดพนักงานออก 10,000 คนเมื่อไม่นานมานี้ หลังจากต้องหยุดการผลิตในโรงงาน 4 แห่งเองจากขาดแคลนวัตถุดิบข้าวบาร์เลย์

จาก http://www.thansettakij.com วันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 

กรมชลประทานเปิดผลศึกษาอ่างฯน้ำปี้แก้แล้งอยู่หมัด ลุ่มน้ำยมตอนบนรับอานิสงส์สกัดท่วม

          "กรมชลประทาน"เปิดผลการศึกษา"โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำปี้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ"อ.เชียงม่วน จ.พะเยา ย้ำสามารถรองรับคามต้องการใช้น้ำครอบคลุมทั้งเพื่อการอุปโภค บริโภค การเกษตร ชลประทานปศุสัตว์ อุตสาหกรรม และรักษาระบบนิเวศได้อีกหลายสิบปี ช่วยตอบโจทย์แก้ปัญหาภัยแล้ง ขณะที่คน"ลุ่มน้ำยมตอนบน"ยังได้รับอานิสงส์เต็มๆเพราะสามารถตัดตอนยอดน้ำไหลบ่าช่วงฤดูฝนสกัดน้ำท่วมได้ถึงเกือบ 100 ล้าน ลบ.ม.

          พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยกรมชลประทาน กำลังอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการเตรียมความพร้อมการจ้างประกวดราคาประมูลการก่อสร้างและที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง"โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำปี้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ"อ.เชียงม่วน จ.พะเยา ภายหลังจากคณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2558 เห็นชอบการดำเนินโครงการ โดยคาดว่าจะเริ่มการก่อสร้างรวมระยะเวลาดำเนินการ 6 ปี โดยจะเริ่มก่อสร้างประมาณต้นปี 60

          ทั้งนี้ โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำปี้ฯเป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร การอุปโภคและบริโภคบนพื้นี่ลุ่มน้ำยมตอนบน โดยก่อสร้างอ่างเก็บน้ำความจุที่ระดับน้ำเก็บกัก 90.50 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)หัวงานเขื่อนจะปิดกั้นลำน้ำปี้ที่บริเวณหมู่ 3 บ้านปิน ต.เชียงม่วน อ.เชียงม่วน ขณะพื้นที่อ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่จะอยู่ในเขต ต.เชียงม่วน และมีพื้นที่บางส่วนอยู่ในเขต ต.บ้านพี้ และ ต.สวด อ.บ้านหลวง จ.น่าน ใช้งบประมาณดำเนินการทั้งสิ้น 3,981 ล้านบาท ซึ่งหลักงจากก่อสร้างเสร็จแล้วจะสามารถช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมให้กับประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งบริเวณลุ่มน้ำยมตอนบนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

          ด้านนายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำปี้ฯเป็นโครงการที่ประชาชนในเขต อ.เชียงม่วน ร้องเรียนขอความช่วยเหลือจากปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมซ้ำซากมาตั้งแต่ปี 2519  เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีแหล่งเก็บกักน้ำขนาดเล็กตลอดทั้งลุ่มน้ำอยู่เพียง 8-9 แห่ง สามารถเก็บกักน้ำรวมกันได้เพียง 9 ลบ.ม.ทำให้ทุกปีเวลาฝนตกหนัก มักเกิดน้ำไหลหลากท่วมพื้นที่การเกษตรและบ้านเรือนประชาชน แต่พอถึงหน้าแล้งกลับมีน้ำไม่เพียงพอต่อการอุปโภคและบริโภค

          โดยกรมชลประทาน ได้เริ่มดำเนินการศึกษาโครงการและจัดทำรายงาขั้นต้นตั้งแต่ปี 2520 ซึ่งตามแผนเดิมกำหนดความจุอ่างไว้ที่ 27 ล้าน ลบ.ม.กระทั่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมามักเกิดเหตุน้ำท่วมรุนแรงในพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนบนโดยเฉพาะเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปี 2554 กรมชลประทานจึงนำโครงการกลับมาศึกษาทบทวน และพบว่ามีศักยภาพมากพอที่จะขยายความจุอ่างเก็บน้ำเป็น 90.50 ล้าน ลบ.ม.ซึ่งสามารถกักเก็บน้ำให้ประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนบนไว้ใช้ในฤดูแล้งได้อย่างพอเพียง และยังช่วยตัดยอดน้ำที่จะไหลบ่าลงไปยังพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนล่างในช่วงฤดูฝนได้พร้อมๆกัน

          "สาเหตุที่ลุ่มน้ำยมมักเกิดปัญหาน้ำท่วมบ่อยครั้ง ส่วนหนึ่งเพราะไม่มีเขื่อนขนาดใหญ่ไว้คอยชะลอน้ำเหมือนลุ่มน้ำอื่นๆเช่น ลุ่มน้ำปิงมีเขื่อนภูมิพลลุ่มน้ำน่านมีเขื่อนสิริกิติ์ และลุ่มน้ำวังมีเขื่อนกิ่วคอหมาขณะที่การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่บนพื้นที่ลุ่มน้ำยมก็ยังมีปัญหาเรื่องการทำความเข้าใจกับประชาชนดังนั้นโครงการอ่างเก็บน้ำน้ำปี้"จึงถือเป็นตัวช่วยในการบรรเทาปัญหาน้ำท่วมให้กับประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนบน เนื่องจากสามารถตัดยอดน้ำก่อนไหลบ่าลงไปได้มากถึงเกือบ 100 ล้าน ลบ.ม."

          สิ่งที่สำคัญประการหนึ่งคือโครงการอ่างเก็บน้ำน้ำปี้ฯจะสามารถตอบสนองความต้องการใช้นำจากกิจกรรมต่างๆในพื้นที่ทั้งเพื่อการอุปโภค บริโภค การเกษตรชลประทาน ปศุสัตว์ ภาคอุตาสหกรรม และการรักษาระบบนิเวศทางน้ำได้อย่างครอบคลุมอีกหลายสิบปี ซึ่งจากศักยภาพของอ่างเก็บน้ำที่เก็บกักน้ำได้ถึง 90.50 ลบ.ม.จึงสามารถนำมาบริหารจัดการเพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำของประชาชนได้อย่างสบายโดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้งดังนั้นโครงการอ่างเก็บน้ำน้ำปี้ฯ จึงนับเป็นโครงการที่สามารถตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาเรื่องภัยแล้งและน้ำท่วมให้กับประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำยมได้อย่างมีประสิทธิภาพ.

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 

เร่งส่งทูตเกษตรประจำรัสเซียเชื่อมโยงส่งออก 

          ก.เกษตรฯ เร่งส่งทูตเกษตรประจำรัสเซีย หวังผลักดันความร่วมมือไทยpรัสเซียให้เกิดผล หลังลงนามเอ็มโอยูด้านการเกษตรระหว่างสองประเทศ เล็งเชื่อมโยงขยายการส่งออกสินค้าเกษตรไทย ไปรัสเซีย และกลุ่มประเทศสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชียเพิ่ม

          พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในโอกาสเดินทางร่วมคณะนายกรัฐมนตรีเยือนสหพันธรัฐรัสเซียอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 17p21 พฤษภาคม ได้ลงนามร่วมกับนายเซอร์เกย์ เลอวิน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร ในบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทย และกระทรวงเกษตรของรัสเซียว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตรซึ่งเอ็มโอยูฉบับนี้จะเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือด้านวิชาการทางการเกษตรกับสหพันธรัฐรัสเซีย รวมทั้งอำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุนด้านการเกษตรระหว่างกันและขยายไปยังสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย ได้แก่ รัสเซีย คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน เบลารุสอาร์เมเนีย ได้มากขึ้นในอนาคต

          ทั้งนี้เพื่อให้การดำเนินการความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างไทย-รัสเซีย เป็น รูปธรรมและเกิดผลสำเร็จยิ่งขึ้น สอดคล้องกับเป้าหมายที่จะผลักดันการขยายตลาดสินค้าเกษตรไทยในรัสเซียและกลุ่มประเทศยูเรเชียกระทรวงเกษตรฯ เตรียมส่งอัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการเกษตร) ไปประจำ ณ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก ภายในปี 2559 เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของทีมประเทศไทย ในเรื่องการผลักดันการขยายตลาดสินค้าเกษตรไทยในรัสเซียและกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราชการอำนวยความสะดวกทางการค้าสินค้าเกษตร เปิดตลาดสินค้าเกษตรชนิดใหม่ๆ การติดต่อประสานงานด้านเทคนิคทางการเกษตร

          รวมทั้งการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกรมประมง (แห่งราชอาณาจักรไทย) กับสำนักงานเฝ้าระวัง สุขอนามัยพืชและสัตว์ (แห่งสหพันธรัฐรัสเซีย) เพื่อพัฒนาความร่วมมือในการควบคุม ความปลอดภัยสินค้าสัตว์น้ำ และการยอมรับของระบบตรวจรับรองของทั้งสองหน่วยงาน อันจะเป็นกลไกสำคัญในการ ส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการ และขยายการ ส่งออกสินค้าสัตว์น้ำไปยังสหพันธรัฐรัสเซีย

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 

KTIS มั่นใจไตรมาสที่ 2 ดีกว่าไตรมาสแรก ราคาน้ำตาล-น้ำมันโลกขยับขึ้นช่วยหนุน 

           กลุ่ม KTIS ชี้ไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ได้แรงหนุนจากการรับรู้รายได้โรงไฟฟ้าใหม่ ประกอบกับราคาน้ำตาลทรายและราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกขยับขึ้น ส่งผลดีต่อสายธุรกิจน้ำตาลและเอทานอล จึงคาดว่าผลการดำเนินงานจะดีกว่าไตรมาสแรก

          นายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เปิดเผยว่า สายธุรกิจที่มีรายได้สูงสุดของกลุ่ม KTIS ในไตรมาสแรกของปี 2559 ยังคงเป็นสายธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย ซึ่งมีรายได้ 3,259.0 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 75% ของรายได้รวม 4,339.6 ล้านบาท

          "เนื่องจากราคาน้ำตาลและราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในไตรมาสที่ 2 มีแนวโน้มสูงกว่าไตรมาสแรกอย่างชัดเจน จึงคาดว่าผลการดำเนินงานของกลุ่ม KTIS ในไตรมาสนี้น่าจะดีกว่าไตรมาสแรก" นายณัฎฐปัญญ์กล่าว

          สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล ในไตรมาสแรกของปี 2559 ยังมีการรับรู้รายได้เฉพาะโรงไฟฟ้าเกษตรไทยไบโอเพาเวอร์ กำลังการผลิต 60 เมกะวัตต์ ส่วนโรงไฟฟ้าไทยเอกลักษณ์เพาเวอร์ ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ เพิ่งเริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในเชิงพาณิชย์ (COD) เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2559 การรับรู้รายได้จึงเกิดขึ้นในไตรมาสที่สอง และโรงไฟฟ้าอีกแห่งหนึ่ง คือรวมผลไบโอเพาเวอร์ ประมาณการว่าจะเริ่มรับรู้รายได้ตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ โดยโรงไฟฟ้าทั้ง 3แห่งของกลุ่ม KTIS นี้ ใช้เทคโนโลยีใหม่ที่สามารถผลิตไอน้ำแรงดันสูง ซึ่งไฟฟ้าที่ผลิตได้ส่วนหนึ่งจะนำไปใช้ในกระบวนการผลิตน้ำตาล เพื่อประหยัดการใช้เชื้อเพลิงชานอ้อย ที่เหลือจึงขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

          นายณัฎฐปัญญ์ กล่าวถึงโครงการผลิตน้ำเชื่อม (Liquid Sucrose) และโครงการผลิตน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์พิเศษ (Super Refined Sugar) ที่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มพันธมิตรทางธุรกิจ คือ บริษัท นิสชิน ชูการ์ และบริษัท ซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น ด้วยว่า สำหรับน้ำเชื่อมนั้นบริษัทมีแผนที่จะจำหน่ายให้กับลูกค้าซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการอุตสาหกรรมน้ำอัดลม ส่วนน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์พิเศษนั้น บริษัทจะทำการผลิตเพื่อการส่งออก ซึ่งมีตลาดรองรับอยู่แล้ว

          ทั้งนี้ ในไตรมาสแรกของปี 2559 กลุ่ม KTIS มีรายได้รวม 4,339.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.4% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี 2558 ที่ทำได้ 3,827.9 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิในไตรมาสแรกของปี 2559 จำนวน 49.7 ล้านบาท

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 

สศก.เผยประกาศใช้ทะเบียนเกษตรกรปี59มิ.ย.

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เผย ระเบียบขึ้นทะเบียนเกษตรกรฉบับ ปี 59 พร้อมประกาศใช้เดือนมิถุนายนนี้

นายสุรพงษ์ เจียสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า การขึ้นทะเบียนเกษตรกร พ.ศ. 2559 ขณะนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการพิจารณาร่างระเบียบดังกล่าว โดยทาง สศก. ได้ส่งร่างระเบียบคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ว่าด้วยการขึ้นทะเบียนเกษตรกร พ.ศ. 2559 ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสำนักกฎหมายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้ข้อคิดเห็นต่อร่างระเบียบฯ ดังกล่าวแล้ว ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะสามารถใช้ประโยชน์ข้อมูลร่วมกัน ในรูปแบบของ ต้นแบบ (Single Form) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้

โดยมีสาระสำคัญในการปรับปรุงแก้ไขร่างระเบียบในครั้งนี้ ประกอบด้วยประเด็นต่าง ๆ อาทิ การขยายขอบข่ายการประกอบการเกษตรให้ครอบคลุมทุกภารกิจ โดย เพิ่มชนิดสินค้า ให้สอดคล้องกับภารกิจของหน่วยงาน ในสังกัด กษ. ปรับปรุงเพิ่มเติมให้ผู้ขอขึ้นทะเบียนเกษตรกร สามารถขอขึ้นในนามของครัวเรือนหรือรายสินค้า กำหนดให้มีหน่วยงานรับขึ้นทะเบียนปรับปรุงเพิ่มเติมหน่วยงานในสังกัด กษ. ในการรับขึ้นทะเบียนเกษตรกร ให้นายทะเบียนมีอำนาจกำหนดเงื่อนไขได้ เป็นรายสินค้า หรือรายครัวเรือน และหน่วยงานที่รับขึ้นทะเบียน กำหนด หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการขึ้นทะเบียนเกษตรกร กำหนดการสิ้นสภาพ และกำหนดให้ประธานคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการ เพื่อดำเนินการเกี่ยวกับทะเบียนเกษตรกรในระดับจังหวัด โดยให้มีหน้าที่บริหารจัดการหรือดำเนินการอื่นใด เพื่อประโยชน์ในการขึ้นทะเบียนเกษตรกรให้บรรลุวัตถุประสงค์ คาดว่า จะพร้อมประกาศใช้ได้ในเดือนมิถุนายนนี้

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 

อ่างเก็บน้ำห้วยเล็งฯ แก้น้ำท่วมน้ำแล้งลุ่มน้ำป่าสัก

 อ่างเก็บน้ำห้วยเล็งฯ อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ หนึ่งในระบบแก้น้ำท่วมน้ำแล้งลุ่มน้ำป่าสัก คอยสนับสนุนน้ำให้กับเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เป็นอ่างเก็บน้ำอ่างสุดท้ายของโครงการพัฒนาลุ่มน้ำป่าสักตอนบน

นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี เป็นประธานพิธีปล่อยน้ำจากอาคารควบคุมของโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยเล็งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อส่งน้ำช่วยเหลือราษฎรในอำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์พร้อมด้วยนายดนุชา สินธวานนท์ รองเลขาธิการ กปร.และผู้บริหารจากส่วนงานที่เกี่ยวข้องร่วมงาน โดยมีนายบัณฑิตย์ เทวีทิวารักษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์และหัวหน้าส่วนราชการ จังหวัดเพชรบูรณ์และราษฎรที่ได้รับประโยชน์จากการใช้น้ำให้การต้อนรับ

เมื่อวันก่อนโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยเล็งอันเนื่องมาจากพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2547 ว่าให้เขื่อนป่าสักฯเก็บกักน้ำได้มากกว่านี้ เพราะต่อไปน้ำอาจจะไม่พอ ความจุของเขื่อนที่เพิ่มขึ้นนี้ หมายความว่า ควรก่อสร้างอ่างเก็บน้ำดักน้ำไว้ แต่อ่างต้องไม่ใหญ่มาก อาจจะสัก 2-3 แห่ง เพื่อจะได้ชะลอน้ำไว้แล้วในพื้นที่แล้วค่อย ๆ ทยอยปล่อยลงมาสู่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์

ต่อมาเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2548 ได้พระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติม ให้พิจารณาเก็บกักน้ำตอนบนของลำน้ำสาขาลำน้ำป่าสักไว้ให้มาก เพื่อใช้ด้านการเกษตรและป้องกันอุทกภัย เนื่องจากน้ำเหนือเขื่อนป่าสักฯ มีปริมาณมากและให้พิจารณาจัดเก็บให้เหมาะสม เพื่อใช้เป็นแหล่งกักเก็บน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคและการเกษตรกรรมให้แก่ราษฎรในช่วงฤดูแล้ง รวมทั้งบรรเทาปัญหาอุทกภัยให้แก่ราษฎรที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ดังกล่าวและบริเวณใกล้เคียง

จากพระราชดำริดังกล่าว สำนักงาน กปร. และกรมชลประทาน จึงได้พิจารณาความเหมาะสมในการพัฒนาแหล่งน้ำเหนือเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เพื่อสนองพระราชดำริ และบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรในลุ่มน้ำป่าสัก

โดยได้พิจารณาแหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ จำนวนทั้งสิ้น 7 โครงการ ประกอบด้วย โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำก้ออันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์, โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยป่าเลาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์, โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์,โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยใหญ่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์, โครงการอ่างเก็บน้ำคลองลำกงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอบึงสามพัน จังหวัดเพชรบูรณ์, โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยเล็งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ และโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยหินอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี

นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรีกล่าวว่า อ่างเก็บน้ำห้วยเล็ง เป็นอ่างเก็บน้ำที่คอยสนับสนุนน้ำให้กับเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ โดยอ่างเก็บน้ำแห่งนี้เป็นอ่างเก็บน้ำอ่างสุดท้ายของโครงการพัฒนาลุ่มน้ำป่าสักตอนบน สามารถช่วยกักเก็บน้ำในฤดูฝน ช่วยให้ประชาชนในพื้นที่มีน้ำทำการเกษตรในฤดูแล้ง

ขณะที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ก็เป็นเขื่อนขนาดใหญ่ที่อยู่ใกล้กับกรุงเทพฯมากที่สุด เป็นเขื่อนที่ส่งน้ำให้กับประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล รวมทั้งผลักดันน้ำเค็มเพื่อรักษาระบบนิเวศด้วย หากไม่มีเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ประชาชนหลายพื้นที่จะได้รับความเดือดร้อนมาก

ด้านนายสมหมาย ราชโสม รองประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำจากฝายห้วยเล็ง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เปิดเผยว่า ในอดีตประชาชนในพื้นที่ เมื่อก่อนที่จะมีการสร้างอ่างเก็บน้ำและฝายฯ แห่งนี้ จะต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมในช่วงหน้าฝน และความแห้งแล้งในช่วงหน้าแล้งมาตลอด มีหลายครัวเรือนต้องย้ายออกเพราะรับสภาพไม่ไหว เนื่องจากเมื่อปลูกข้าวแล้วถูกน้ำท่วม ทำให้พืชผลเสียหายเป็นอย่างมาก

เมื่อมีอ่างเก็บน้ำและฝายแล้ว ประชาชนก็ได้ประโยชน์ สามารถปลูกข้าว ปลูกพืชผักสวนครัวต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี“ในอดีตเคยทำนาได้ปีละครั้ง แต่ปัจจุบันสามารถทำนาได้ปีละ 2 ครั้ง มีรายได้เพิ่มมากขึ้น มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น” นายสมหมาย กล่าว.“

จาก http://www.dailynews.co.th   วันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 

รายงานพิเศษ : พด.กับความก้าวหน้าในการขับเคลื่อน การบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม(Zoning)ระดับพื้นที่

จากนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการขับเคลื่อนการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (Zoning) ให้เห็นเป็นรูปธรรมในพื้นที่ หน่วยงานต่างๆ ภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมกันบูรณาการจัดทำแผนปฏิบัติการในการขับเคลื่อนการบริหารพื้นที่เกษตรกรรมทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค

นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า กรมพัฒนาที่ดิน เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (Zoning) ประกอบด้วย 5 มาตรการหลักนั้น คือ 1.การเตรียมความพร้อมและประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ 2.กำหนดแนวโน้มความต้องการตลาดสินค้าเกษตร 3.กำหนดเขตพื้นที่เหมาะสมการผลิตสินค้าเกษตร 4.การขับเคลื่อนและส่งเสริมในระดับพื้นที่ และ 5.การติดตามประเมินผล ซึ่งมีเป้าประสงค์ในการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรตามความเหมาะสมของพื้นที่ให้เกิดความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน ลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

รวมถึงมีแนวคิดในการปฏิบัติ คือ ประการแรก ส่งเสริมการผลิตสินค้าในพื้นที่มีศักยภาพเหมาะสม (S1 และ S2) ประการที่สอง ปรับเปลี่ยนการผลิตสินค้าเกษตรในพื้นที่ไม่เหมาะสม (S3 และ N ) โดยในระหว่างปีงบประมาณ 2559 - 2560 นี้ ให้มีผลสำเร็จเบื้องต้นเกิดขึ้นที่ศูนย์การเรียนรู้เพื่อพัฒนาการเกษตร 882 ศูนย์ และบริเวณพื้นที่ส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ 76 แปลง โดยการขับเคลื่อนในระดับจังหวัดมอบหมายให้ทีมงานระดับจังหวัดที่เรียกว่า Single Command เป็นผู้รับผิดชอบประสานการปฏิบัติงานของหน่วยงานในระดับจังหวัดทั้ง 76 จังหวัดโดยให้แต่ละจังหวัดรายงานผลการปฏิบัติงานเป็นรายเดือนเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2559 เป็นต้นมานั้น

ในขณะนี้ การขับเคลื่อนฯ ได้ดำเนินงานตามมาตรการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการเตรียมความพร้อมและประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ โดยเฉพาะการสร้างการรับรู้ของเกษตรกรในพื้นที่รอบๆ หรือในตำบลที่ตั้งศูนย์การเรียนรู้เพื่อพัฒนาการเกษตร (ศพก.) จำนวน 882 ศูนย์ ซึ่งมีการชี้แจงให้เกษตรกรเห็นความสำคัญของการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม และรู้จักใช้ข้อมูลแผนที่ในพื้นที่ของตนเอง ครบทั้ง 882 ศูนย์ และมีเกษตรกรได้รับการชี้แจงกว่า 180,000 ราย มีการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับความสำคัญ และประโยชน์ของการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรมผ่านทาง Facebook (https://www.facebook.com/agrizoning) วิทยุชุมชน จดหมายข่าว และเว็บไซต์ของหน่วยงาน กว่า 1,500 ครั้ง ในส่วนของมาตรการที่สองสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้กำหนดแนวโน้มความต้องการสินค้าเกษตรพืชเศรษฐกิจทั้ง 13 ชนิด ที่สำคัญในปี 2559 คือ อ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน ข้าว ยางพารา มะพร้าว กาแฟ สับปะรด เงาะ ทุเรียน ลำไย และมังคุด ทำให้ทราบว่าพืชแต่ละชนิดมีความต้องการใช้ในประเทศปริมาณเท่าใด การส่งออกมีปริมาณมากน้อยเพียงใด

มาตรการที่สาม กรมพัฒนาที่ดิน ได้ดำเนินการจัดทำแผนที่เขตความเหมาะสมของที่ดินสำหรับการผลิตสินค้าเกษตรสำหรับพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิดรายชนิดพืช ในระดับประเทศระดับจังหวัด และระดับอำเภอ และทำการส่งมอบข้อมูลแผนที่ดังกล่าว ให้แก่ศูนย์การเรียนรู้เพื่อพัฒนาการเกษตรนำไปใช้เป็นข้อมูลในการขับเคลื่อนและส่งเสริมในระดับพื้นที่ ครบทั้ง 882 ศูนย์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ในส่วนภูมิภาคของหน่วยงานภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำโดย กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมการเกษตร ได้มีการดำเนินการขับเคลื่อนการปฏิบัติ และส่งเสริมในพื้นที่เขตเหมาะสม (S1 และ S2) มีการอบรมให้เกษตรกรสามารถดูและใช้แผนที่ความเหมาะสมของที่ดินสำหรับพืชเศรษฐกิจในพื้นที่ของตนเอง ว่าพื้นที่ของตนนั้นมีความเหมาะสมในระดับใด หรือไม่เหมาะสมกับพืชชนิดใด หากมีความเหมาะสมแล้วจะต้องทำการเพิ่มศักยภาพในการผลิตแบบไหนเพื่อลดต้นทุนในการผลิต หากไม่เหมาะสมจะต้องปรับเปลี่ยนพื้นที่ไปทำอะไรได้บ้าง เพื่อให้เกษตรกรเป็นเกษตรกรที่มีความ smart หรือ เป็น smart farmer นั่นเอง

นายสุรเดชกล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ยังให้เกษตรกรได้ดูงานความสำเร็จของการปลูกพืชในเขตเหมาะสม ผ่านทางศูนย์เรียนรู้ฯ(ศพก.) ที่เป็นต้นแบบที่อยู่ในจังหวัดทั้งนี้ได้มีการอบรมให้แก่เกษตรกรไปแล้วจำนวน 400 กว่าศูนย์ มีเกษตรกรเข้ารับการอบรมจำนวนกว่า 90,000 รายในส่วนของการขับเคลื่อนการปฏิบัติและส่งเสริมในพื้นที่ที่ทำการผลิตไม่เหมาะสม (S3 และ N)

 หรือ การปรับโครงสร้างการผลิต ได้ดำเนินการประชุม ชี้แจง ถึงผลกระทบจากการทำเกษตรกรรมในพื้นที่ไม่เหมาะสม และเสนอทางเลือกการผลิตในรูปแบบต่างๆ ทดแทน ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่นั้นๆไปแล้ว จำนวน 231 ศูนย์ มีเกษตรกรเข้าร่วมการชี้แจงกว่า 64,000 ราย มีจำนวนเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ จำนวน 475 ราย ใน 17 จังหวัด เช่น เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ปรับเปลี่ยนนาข้าวเป็นพื้นที่ปลูกหญ้ารูซี่ เพื่อใช้ในการเลี้ยงแพะ เกษตรกรในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จันทบุรี สกลนคร ปรับเปลี่ยนจากนาข้าวเป็นปลูกหญ้าเนเปียร์ เกษตรกรในจังหวัดราชบุรี ปรับเปลี่ยนจากการปลูกข้าวเป็นเกษตรกรรมทางเลือก เกษตรกรในจังหวัดอุทัยธานี ปรับเปลี่ยนจากการปลูกอ้อย มันสำปะหลัง ข้าว เป็นเกษตรแบบผสมผสาน เป็นต้น

“การปรับเปลี่ยนพื้นที่ดังกล่าว ได้มีการสนับสนุนปัจจัยการผลิตด้านต่างๆ ให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการปรับเปลี่ยนด้วย ไม่ว่าจะเป็นสระเก็บน้ำในไร่นา วัสดุปรับปรุงดินอย่างไรก็ตามหน่วยงานต่างๆ ภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยการนำของกรมพัฒนาที่ดิน ได้ระดมสรรพกำลังอย่างเต็มที่ เพื่อให้การขับเคลื่อนการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรมในระดับพื้นที่เป็นรูปธรรมที่เด่นชัดขึ้น ซึ่งเห็นได้จากการที่เกษตรกรเริ่มเกิดการยอมรับในการปรับเปลี่ยนพื้นที่เกษตรที่ไม่เหมาะสม หันมาผลิตสินค้าเกษตรชนิดอื่นที่มีความเหมาะสมมากกว่า และเป็นที่ต้องการของตลาด แม้ว่าวันนี้เกษตรกรที่เริ่มปรับเปลี่ยนยังมีจำนวนไม่มากนัก แต่คาดว่าต่อจากนี้ไปหากทุกหน่วยงานร่วมแรงร่วมใจในการขับเคลื่อนฯ คาดว่าจะเกิดผลสำเร็จเบื้องต้นในพื้นที่ศูนย์การเรียนรู้เพื่อพัฒนาการเกษตร 882 ศูนย์ ภายในปี 2560 นี้อย่างแน่นอน” อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวทิ้งท้าย

จาก http://www.naewna.com วันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

สภาผู้ส่งออกฯช็อก! คาดไม่ถึงส่งออกหดตัวรุนแรง ชี้ภาวะเศรษฐกิจโลกอึมครึม

นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สภาผู้ส่งออก) กล่าวว่า เห็นตัวเลขการส่งออกเดือนเมษายนที่ผ่านมาหดตัว 8% แล้วตกใจมาก คิดว่าจะไม่หดตัวมากขนาดนี้ ซึ่งคาดว่าเป็นผลจากเศรษฐกิจโลกในไตรมาส 1 ที่ไม่ขยายตัวเป็นไปตามคาด ทำให้ผู้ประกอบการส่งออกอยู่ในภาวะช็อก ส่งออกจึงหดตัวรุนแรง ประกอบกับธนาคารสหรัฐฯ ยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และเศรษฐกิจจีน สหภาพยุโรป (อียู) ยังมีปัญหา เศรษฐกิจญี่ปุ่นก็ยังไม่ฟื้นตามเป้าอาจจะมีมาตรการผ่อนคลายทางการเงินอีกรอบ อังกฤษก็จะถอนตัวจากอียู การก่อการร้ายที่กระทบท่องเที่ยว ส่งผลภาพรวมเศรษฐกิจโลกยังอึมครึม

"การส่งออกเมษายนที่ติดลบ 8% นั้น ส่งออกได้มูลค่า 15,545 ล้านเหรียญสหรัฐ ต้องรอดูในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนนี้ว่าสถานการณ์ส่งออกและเศรษฐกิจโลกเป็นอย่างไร หากกลับมาส่งออกได้เพิ่มเป็นเดือนละ 18,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จะทำให้ส่งออกมีทิศทางดีขึ้น และทำให้การส่งออกไตรมาส 2 นี้ ขยายตัวได้ ติดลบ 1 ถึง 1% และหากส่งออกดีขึ้นทั้งปีนี้น่าจะขยายตัวได้ 0 ถึง 2%" นายนพพรกล่าว

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

‘เกษตรกรคือเสาหลักของชาติ’เสียงสะท้อน‘เสถียร’

‘เกษตรกรคือเสาหลักของชาติ’เสียงสะท้อน‘เสถียร มาเจริญรุ่งเรือง’ : คมคิดจิตอาสา โดยสุรัตน์ อัตตะ เรื่องและภาพ

             ลูกชาวจีนโพ้นทะเลที่หอบเสื่อผืนหมอนใบมาตั้งรกรากยึกอาชีพปลูกอ้อย ปลูกมันสำปะหลัง อยู่ที่เมืองกาญจน์ มาตั้งแต่รุ่นก๋ง สำหรับ “เสถียร มาเจริญรุ่งเรือง” ปราชญ์ชาวบ้านผู้เชี่ยวชาญด้านอ้อยวัย 69 ปี การันตีด้วยรางวัลเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2550 สาขาอาชีพทำไร่อ้อย ปัจจุบันรั้งตำแหน่งรองประธานหอการค้าฝ่ายเกษตร จ.กาญจนบุรี ทั้งยังเป็นเจ้าของผลงานนวัตกรรมดีเด่นเกี่ยวกับการปลูกอ้อยทั้งลำเพื่อลดต้นทุนและการปลูกอ้อยด้วยระบบน้ำหยอดเพื่อแก้ปัญหาการขาดน้ำช่วงหน้าแล้ง วิธีการก็คือ นำน้ำใส่ลงในถังตัดตั้งไว้บนหลังคารถไถ จากนั้นก็หยอดน้ำลงหลุมในขณะปลูก ซึ่งวิธีการดังกล่าวมีเกษตรกรนำไปใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน

             “ครอบครัวผมเป็นคนเมืองกาญจน์ อยู่ที่ อ.ด่านมะขามเตี้ย เตี่ยของแม่มาจากเมืองจีน แต่ผมเกิดที่เมืองไทย เริ่มไปช่วยเตี่ยของแม่ปลูกอ้อยตั้งแต่อายุ 8 ขวบ จนกระทั่งเรียนจบชั้น ป.4 ก็ออกมาช่วยครอบครัวปลูกอ้อยอย่างเต็มตัว ก็เลยคลุกคลีอยู่กับอาชีพปลูกอ้อยตั้งแต่นั้นมาจนทุกถึงวันนี้” เสถียรย้อนอดีตให้ฟัง แม้ความรู้แค่ชั้น ป.4 แต่ความรู้จากประสบการณ์ด้านอ้อยนับวันที่หาคนเทียบชั้นยาก ประกอบกับมีพี่น้องเป็นช่างกลึง ช่างฟิต ทำให้ได้นำองค์ความรู้ด้านช่างมาประยุกต์กับการปลูกอ้อย จนมีผลงานนวัตกรรมใหม่ด้านการปลูกอ้อยอยู่ตลอดเวลา

             "การปลูกอ้อยสมัยก่อน รถไถเสร็จ แปรเสร็จ ก็ขุดหลุมเป็นตาหมากฮอสเพื่อรอให้ฝนตก สมัยก่อนอ้อยที่นำมาปลูกจะตัดเป็นท่อน ท่อนละ 2 ตา เสร็จแล้วก็นำมาปลูกเอียง 45 องศา ผมได้เรียนรู้วิธีการปลูกอ้อยมาตั้งแต่อายุ 8 ขวบ ครอบครัวมีพี่น้อง 9 คน ผมเป็นคนที่ 7 ทุกคนก็ยังวนเวียนอยู่ในภาคเกษตร พี่ชายไปเรียนช่างฟิต อีกคนไปเรียนช่างกลึงก็มาเปิดโรงกลึง ผมจึงคิดทำเครื่องปลูกอ้อย 2 แถว 4 แถว และการปลูกอ้อยด้วยระบบน้ำหยอด เอาช่างฟิตช่างกลึงมาปรับประยุกต์กับตรงนี้ นี่คือสิ่งที่ผมคิดและทำมาในอดีต และมีการนนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน”

             ไม่เพียงการพัฒนากรรมวิธีการปลูกอ้อยจากอดีตใช้ท่อนพันธุ์ท่อนละ 2 ตา และ 4 ตา จนกระทั่งมีการปรับเปลี่ยนมาเป็นการปลูกอ้อยทั้งลำเพื่อลดต้นทุน ซึ่งเป็นแนวคิดมาจากเขาเช่นกัน โดยการเปลี่ยนรูปแบบการปลูกจากท่อนพันธุ์ 2 ตา และ 4 ตา มาเป็นปลูกวางอ้อยทั้งลำ ก็เพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิต เพราะการปลูกอ้อยทั้งลำไม่จำเป็นต้องไปตัดแต่งเป็นท่อนๆ ช่วยลดค่าใช้จ่ายในด้านแรงงาน ปลูกแล้วตาอ้อยก็ไม่ได้เสียหายแต่อย่างใด

             ทว่าผลงานนวัตกรรมเพื่อลดต้นทุนเกี่ยวกับการปลูกอ้อย ไม่ว่าในเรื่องการปลูกอ้อยทั้งลำและการปลูกอ้อยในระบบน้ำหยอด ซึ่งเป็นที่นิยมของชาวไร่อ้อยทั่วประเทศในปัจจุบัน  ขณะเดียวกันเขายังเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการผลักดันให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยได้รับรองมาตรฐานคุณวุฒิในวิชาชีพการปลูกอ้อย ในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิโครงการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพสาขาวิชาชีพเกษตรกรรม อาชีพเพาะปลูกอ้อย

             เสถียรมองว่า การจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพโดยออกใบรับรองมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพให้แก่เกษตรกรนั้น มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเกษตรกรไทย เนื่องจากเป็นอาชีพดั้งเดิมของประชากรส่วนใหญ่ ในฐานะไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมที่ผลิตอาหารเพื่อหล่อเลี้ยงคนทั้งโลก แต่ปัจจุบันกลุ่มคนเหล่านี้ยังขาดวุฒิทางการศึกษาที่ได้รับการยอมรับจากสังคม ทั้งที่มีความรู้และประสบการณ์ในเชิงลึก ยิ่งมีการเปิดประชาคมอาเซียนและมีการเคลื่อนย้ายแรงได้ด้วยแล้ว วุฒิการศึกษาจึงเป็นสิ่งสำคัญในการเป็นตัวชี้วัดมาตรฐานในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจอย่างอ้อย

             “วันนี้เราไม่ได้อยู่ในประเทศไทยประเทศเดียว แต่เราอยู่กับโลก อยู่กับอาเซียน 10 กว่าประเทศที่อยู่รอบๆ ตัวเรา เมื่อเรามีตรงนี้ก็สามารถไปคุยกับประเทศอื่นๆ ได้ เพราะใบรับรองนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญช่วยการันตีตัวเกษตรกร ส่วนใหญ่ไม่มีใบประกาศนียบัตรทางการศึกษา แต่พวกเขามีความรู้ลึกรู้จริงจากประสบการณ์ในด้านนั้นๆ อยู่แล้ว” เสถียรเผย ในฐานะกรรมการผู้ทรงวุฒิด้านอ้อย พร้อมย้ำว่า ยังช่วยยกระดับเกษตรกรไทยให้เป็นที่ยมอรับในระดับนานาชาติอีกด้วย

             “ผมอยากให้อาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรีเหมือนในหลายๆ ประเทศเช่นญี่ปุ่น อาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพที่เขาใฝ่ฝัน ออสเตรเลียเป็นอาชีพที่มีเกียรติ มีคนนับหน้าถือตา แต่บ้านเรามองว่าเป็นกระดูกสันหลังผุๆ ของชาติ อยากให้ลบอันนี้ออกไป แล้วเปลี่ยนใหม่ว่า อาชีพเกษตรกรเป็นเสาหลักของชาติได้ไหม เมื่อมีใบรับรองวิชาชีพนี้แล้วอยากให้อาชีพเกษตรกรเป็นเสาหลักของชาติจริงๆ” เสถียรกล่าวทิ้งท้ายอย่างมีความหวัง

             กว่าจะมาเป็นใบรับรองวิชาชีพ(ข้าวและอ้อย)

             รศ.ดร.ศักดา อินทรวิชัย อาจารย์ภาควิชาเกษตรกลวิธาน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะผู้จัดการโครงการ กล่าวถึงการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพสาขาวิชาชีพเกษตรกรรม (ข้าวและอ้อย) โดยระบุว่า ขณะนี้ได้ดำเนินการจัดทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว พร้อมส่งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ ศคช. เพื่อนำไปพิจารณาประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป ซึ่งที่ผ่านมาคณะทำงานได้ดำเนินการตามขั้นตอนข้อกำหนดทุกประการ โดยเริ่มจากการศึกษาข้อมูลในต่างประเทศแล้วนำเอาส่วนที่ดีมาประกอบการพิจารณาให้สอดคล้องกับภาคการเกษตรของประเทศไทย เพื่อนำมาพิจารณาประกอบเป็นแนวทาง

             “จากการศึกษาข้อมูล 3 ประเทศ คือ ฟิลิปปินส์ แคนาดา และออสเตรเลีย พบว่าแต่ละประเทศมีจุดเด่นจุดด้อยต่างกัน อย่างฟิลิปปินส์ชัดเจนว่าการให้ใบรับรองประเมินจากประสบการณ์จริง แต่ของแคนาดามีลักษณะรายละเอียดปลีกย่อยชัดเจน แล้วนำไปใช้กับการเคลื่อนย้ายแรงงานภายในประเทศ  ซึ่งใกล้เคียงของออสเตรเลีย เขามีองค์การเกษตรกรที่เข้มแข็ง มีการแบ่งระดับชั้นโครงการภาครัฐและเอกชนให้ความร่วมมือกัน ทำให้เราเห็นการเกิดขึ้นของกระบวนการรับรองทั้งระบบ”

             ศ.ดร.ศักดายอมรับว่า การจัดทำมาตรฐานวิชาชีพนั้น จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะปัจจุบัน แต่ที่สำคัญการกำหนดมาตรฐานวิชาชีพจะต้องมาจากอาชีพที่แท้จริง เพราะฉะนั้นจึงต้องให้ความสำคัญกับตัวเกษตรกร ส่วนการให้ความสำคัญกับการปลูกข้าวและอ้อยก่อนเป็นอันดับแรกนั้น เนื่องจากเป็นพืชที่สำคัญในเชิงเศรษฐกิจ

             “ครั้งแรกที่เราคุยกันการพัฒนาอาชีพการเกษตรก็มาสรุปเอาเรื่องพืชก่อนเป็นอันดับแรก แต่พืชก็มีหลากหลาย ก็มาเน้นที่พืชสำคัญในทางเศรษฐกิจ เลยเลือกอ้อยและข้าว เป็นผลมาจากการเสวนาระดมความเห็นจากหลายภาคส่วน โดยทางสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพเองเชิญผู้เกี่ยวข้องมาพูดคุยจนตกผลึกร่วมกัน ถ้าจะทำสองอาชีพนี้จะมีพื้นฐานอะไรบ้าง ก็มีการเตรียมดิน การเพาะปลูก การดูแลรักษาและการเก็บเกี่ยว  4 อย่างเหมือนกัน แต่ทักษะแตกต่างกันก็เป็นโจทย์ของทีมที่ปรึกษาไปดำเนินการจัดทำ  ตอนนี้เราผ่านกระบวนการนั้นมาหมดแล้ว ออกแบบแล้ว ทดสอบแบบประเมินแล้ว พร้อมที่จะนำเสนอให้แก่สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (สคช.) ประกาศใช้ต่อไป” ผู้จัดการโครงการการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพเกษตรกรรม (ข้าวและอ้อย) กล่าวทิ้งท้าย

จาก http://www.komchadluek.net   วันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

“วิรไท” ย้ำเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่ง จับตาเฟดขึ้นดอกเบี้ยมิย.นี้ ห่วงตลาดเงินผันผวนสูง

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวในงาน Euromoney : The Greater Mekong Investment Forum ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยขณะนี้ยังมีเสถียรภาพ แม้ช่วงที่ผ่านมา จะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกและการเคลื่อนย้ายเงินทุนในตลาดการเงินที่มีความผันผวน ซึ่งปัจจัยสำคัญมาจากการดำเนินนโยบายของประเทศเศรษฐกิจหลัก โดยเฉพาะสหรัฐ จึงต้องติดตามผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในเดือนมิถุนายนนี้ว่าจะเป็นอย่างไร เพราะอาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีความผันผวนได้อีก ผู้ประกอบการควรมีการปิดความเสี่ยงและบริหารความเสี่ยง เพราะค่าเงินอาจจะผันผวนได้ และยังมีความเป็นห่วงว่าในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดพฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่า (เสิร์ชฟอร์ยีลด์) และสภาพคล่องในระบบที่มีสูงทำให้สถาบันการเงินมีการแข่งขันและเร่งปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจรายใหญ่โดยไม่กังวลถึงความเสี่ยง ทั้งนี้ ธปท.จะติดตามอย่างใกล้ชิด

“ระยะข้างหน้ามองว่ายังมีความผันผวนในตลาดการเงินสูง แต่ ธปท.ไม่ได้กังวลเรื่องเงินทุนไหลออกที่จะส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทย เพราะเรามีกันชน ทั้งเงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล หนี้ต่างประเทศต่ำ ทั้งนี้ สัดส่วนนักลงทุนต่างชาติที่ลงทุนตลาดพันธบัตรของไทยมีสัดส่วนไม่มากนัก เมื่อเทียบกับประเทสอื่นในภูมิภาค รวมทั้งสภาพคล่องในระบบที่อยู่ในระดับสูง สามารถสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยได้” นายวิรไทกล่าว

จาก http://www.matichon.co.th    วันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ลดราคาปุ๋ย-เคมีเกษตร ดีเดย์1มิ.ย.ซื้อใจชาวนาชาวสวน/238บริษัทแห่ร่วม 

          ดึง5แบรนด์ดังลดราคาปูพรมตลาดนัด9แห่ง

          เกษตรกรกว่า 6 ล้านครัวเรือนได้เฮรับฝนแรก เริ่มต้นฤดูการเพาะปลูกใหม่ ก.เกษตรฯสั่งลุยโครงการประชารัฐ ผนึก 7 สมาคมค้าปัจจัยการผลิตเอาใจลดราคาปุ๋ย 20-50 บาท/กระสอบ สารเคมี 50-100 บาท/ขวด ดีเดย์ 1 มิ.ย.-30 ก.ย. คาดงานนี้ช่วยเกษตรกรประหยัดเงินร่วมพันล้าน สมาคมค้าปุ๋ยฯ ดึง 5 แบรนด์ดังร่วมลด 6.7 หมื่นตัน ปูพรมตลาดนัด 9 แห่ง ด้านแล้งกระทบหนัก 2 บิ๊กเมล็ดพันธุ์ข้าว "เครือซีพี-ล้านช้าง" ถอดใจเลิกผลิต

          จากที่กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ประกาศเริ่มต้นการเข้าสู่ฤดูฝนของประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา ถือเป็นการส่งสัญญาณให้เกษตรกรทั่วประเทศได้เริ่มลงมือทำการเพาะปลูกในฤดูการผลิตใหม่ 2559/2560 ที่กำลังมาถึง ส่งผลให้มีความเคลื่อนไหวของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล ในโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อปัจจัยการผลิตทางการเกษตรเพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรได้ใช้ปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และในราคาที่เป็นธรรม

          ดันนโยบายพลังประชารัฐ

          นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า โครงการดังกล่าว พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตร กรมการข้าว และกรมส่งเสริมสหกรณ์ ร่วมกับสมาคมการค้าปัจจัยการผลิต 7 สมาคม ได้แก่ สมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย สมาคมการค้าผู้ผลิตปุ๋ยไทย สมาคมธุรกิจปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพไทยสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร สมาคมอารักขาพืชไทย สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย และสมาคมผู้รวบรวมและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว โดยมีแนวทางดำเนินการผ่าน 5 กิจกรรมหลัก ได้แก่ 1.การสร้างเครือข่ายผู้ผลิตปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ 2.พัฒนาต้นแบบความร่วมมือด้านปัจจัยการผลิตตามแนวทางประชารัฐในพื้นที่แปลงใหญ่ 3. จัดตลาดนัดปัจจัยการผลิตคุณภาพ 4.กิจกรรมส่งเสริมการลดต้นทุนปัจจัยการผลิต และ 5. ส่งเสริมร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตคุณภาพ

          ทั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรทั้งประเทศรวมกว่า 6 ล้านครัวเรือน ทั้งเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ไม้ผล พืชไร่ และยางพารา เป็นต้น จากที่ผ่านมาเกษตรกรต้องประสบปัญหาภัยแล้งรุนแรง ทำให้ขาดรายได้ ซึ่งทางรมว.เกษตรฯและรัฐบาลเองต้องการให้เกษตรกรได้ปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน เพื่อได้รับผลตอบแทนจากผลผลิตอย่างคุ้มค่า

          238 บริษัทแห่ร่วม

          "จากภารกิจดังกล่าวทางกรมจึงได้ขอความร่วมมือจาก 7 สมาคม ให้ส่งรายชื่อบริษัทที่จะเข้าร่วมโครงการ โดยล่าสุดมีจำนวน 238 บริษัท โดยจะร่วมกันลดราคาในลักษณะแจกคูปองติดข้างผลิตภัณฑ์ หรือมอบให้กับร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการกว่า 2 หมื่นร้านค้าทั่วประเทศส่วนใหญ่เป็นร้านค้าที่แนะนำจาก 7 สมาคมส่งรายชื่อมาให้ ทางกรมจะให้ร้านค้ากลุ่มนี้ต้องพัฒนาให้ถึงมาตรฐาน Q-Shop และสัญลักษณ์โครงการประชารัฐ จะติดอยู่หน้าร้าน เพื่อให้เกษตรกรสังเกตเห็นเข้าไปซื้อของได้ในราคาที่ยุติธรรม"

          ปุ๋ยลด 20-50 บาท/กระสอบ

          ทั้งนี้ในส่วนของรัฐบาลจะช่วยค่าส่งเสริมทางการตลาดให้กับเอกชน แม้ช่วงนี้ทุกบริษัทมีโปรโมชัน ลด แลก แจกแถม อยู่แล้ว แต่ให้มาทำโครงการร่วมกัน มองในแง่ธุรกิจถือว่าวินวิน โดย เกษตรกรจะได้ของดี มีคุณภาพ เพราะกรมวิชาการเกษตรจะไปควบคุมคุณภาพถึงโรงงานผลิต ส่วนเอกชนก็ได้ยอดขายที่เพิ่มขึ้น โดยหากเปรียบเทียบราคาปุ๋ยที่เอกชนแจ้งลดราคาไปยังกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เฉลี่ยจะลดราคาปุ๋ยเคมีตันละ 100 บาท แต่ส่วนในโครงการประชารัฐ จะลดราคาปุ๋ยเคมี/อินทรีย์ เฉลี่ยกระสอบละ 20-50 บาท (ขนาดกระสอบ 50 กิโลกรัม) คิดโดยปริมาณตันเท่ากับ 20 กระสอบ สามารถลดได้ 400-1 พันบาท/ตัน ส่วนสารเคมีกำจัดวัชพืชลดได้ 50-100 บาท/ขวด

          สกต.ธ.ก.ส. 77 จังหวัดแจม

          ขณะเดียวกันโครงการยังร่วมมือกับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อจะเปิดช่องทางให้ 238 บริษัท ให้มีพื้นที่จำหน่ายสินค้า ร่วมกับสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. (สกต.)ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ ให้มาคัดเลือกสินค้าคุณภาพโดยตรงให้กับเกษตรกร ซึ่งปัจจุบันสัดส่วน 80 % ของเกษตรกรเป็นลูกค้าของ สกต.อยู่แล้ว

          "โครงการสานพลังประชารัฐเพื่อปัจจัยการผลิตทางการเกษตร จะเริ่มจำหน่ายและลดราคาสินค้าตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน - 30 กันยายนนี้ ซึ่งจากการประเมินคร่าวๆ คาดว่าจะช่วยเกษตรกรประหยัดเงินในกระเป๋าทั้งโครงการไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาท"

          นำเข้าปุ๋ยต่ำสุดรอบ 5 ปี

          นายสมชาย กล่าวอีกว่า จากสถิติการนำเข้าปุ๋ยเคมีของไทย ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2554-2559) ลดลงทั้งปริมาณ และมูลค่า โดยปริมาณนำเข้าปุ๋ยเคมี ในปี 2558 ลดลงเหลือเพียง 4.6 ล้านตัน (ดูตารางประกอบ) ส่วนในปี 2559 ยอดการนำเข้า 3 เดือนแรกมีปริมาณ 1.8 ล้านตัน ขณะที่ไทยมียอดส่งออกปุ๋ยเคมี ช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้กว่า 3 แสนตัน สมมติฐานคาดว่าจะมาจากเกษตรกรประสบปัญหาภัยแล้งเกษตรกรไม่ได้ซื้อปุ๋ยเคมี เพราะพื้นที่ทำนาลดลง ด้านหนึ่งถือเป็นความสำเร็จในการลดพื้นที่นา แต่อีกด้านหนึ่งชี้ให้เห็นถึงพฤติกรรมการใช้ปุ๋ยเคมีของเกษตรกรคือใช้เท่าที่จำเป็น หรืออาจจะเปลี่ยนไปใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพิ่มขึ้น เห็นได้จากมีบริษัทผู้ผลิตและจดทะเบียนปุ๋ยอินทรีย์เพิ่มขึ้น มองว่าเทรนด์มาถูกต้องแล้ว ในส่วนของกรมจะทำหน้าที่ควบคุมคุณภาพปุ๋ยอินทรีย์ให้ได้มาตรฐานเต็มขนาดของสูตรที่ได้ระบุไว้

          จัดแอพพลิเคชันสืบค้น

          ด้านพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในงานพิธีลงนามความร่วมมือ (เอ็มโอยู) และประกาศเจตนารมณ์หน่วยงานรัฐกับ 7 สมาคมผู้ผลิตและผู้ค้าปัจจัยการผลิต (24 พ.ค.59) ว่า เพื่อกำหนดแนวทางความร่วมมือ รวมถึงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการดำเนินงาน โดยจะเปิดรับสมัครบริษัทให้เข้าร่วมโครงการ และให้จัดทำฐานข้อมูลผู้ผลิตปัจจัยการผลิตคุณภาพเพื่อให้เกษตรกร สหกรณ์ และร้านจำหน่าย สามารถสืบค้นได้โดยผ่านระบบแอพพลิเคชัน นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมผ่านตลาดนัดปัจจัยการผลิตคุณภาพประชารัฐ ผ่าน 9 สหกรณ์ ซึ่งทางกรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นผู้รับผิดชอบโครงการนี้

          "การที่จะทำให้เกษตรกรผลิตและได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่านั้นจำเป็นต้องมีองค์ประกอบหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อมั่นในคุณภาพของปัจจัยการผลิตทางการเกษตร รวมทั้งการเข้าถึงปัจจัยการผลิตทางการเกษตรในราคาที่เป็นธรรม ประการสำคัญที่สุดต้องใช้ปัจจัยการผลิตทางการเกษตรอย่างมีความรู้ความเข้าใจจึงจะเกิดประโยชน์มากที่สุด รวมถึงได้ผลผลิตที่ดีด้วย"

          ตลาดนัดปุ๋ย-ยาถูกเป้า 9 แห่ง

          ขณะที่นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า ทางกรมรับนโยบายที่จะจัดตลาดนัดจำหน่ายปุ๋ย และเคมีภัณฑ์ราคาถูกในพื้นที่ที่มีความพร้อม 9 แห่ง คาดแห่งแรกจะจัดที่สหกรณ์การเกษตรท่าเรือ จำกัด จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพราะมีความพร้อมที่สุด ส่วนอีก 8 แห่ง อยู่ในระหว่างการคัดเลือกอยู่ คาดว่าการจัดการครั้งนี้เกษตรกรจะได้ปุ๋ย สารเคมี เรียกว่าของดีราคาถูก ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น

          5 ยี่ห้อดังปุ๋ยเคมีร่วมลด

          นายเปล่งศักดิ์ ประกาศเภสัช นายกสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย เผยว่า สมาคมได้ให้ความร่วมมือภาครัฐโดยเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ โดยจะร่วมจัดตลาดนัดปัจจัยการผลิตคุณภาพประชารัฐ ณ สถานที่เครือข่ายของกรมส่งเสริมสหกรณ์ 9 แห่งคิดเป็นปริมาณปุ๋ยเคมีทั้งสิ้น 6.7 หมื่นตัน จากผู้ผลิต 5 ราย ที่จะนำสินค้ามาลดราคาได้แก่ 1.บริษัท ไทยเซ็นทรัลเคมี จำกัด (มหาชน)(บมจ.) แบรนด์ ตราหัววัว-คันไถ สูตร 46-0-0 และสูตร 21-0-0 สูตร 0-0-60 สูตร 16-20-0 สูตร 16-16-8 สูตร 18-4-5 สูตร 14-4-9 สูตร 15-7-18 และสูตร 15-15-15

          2.บริษัท เจียไต๋ จำกัด (บจก.)ปุ๋ยตรากระต่าย อาทิ สูตร 46-0-0 สูตร 16-20-0) สูตร 15-15-15 สูตร 18-46-0 สูตร 0-0-60 3.บจก.โรจนกสิกิจเฟอร์ติไลเซอร์ ปุ๋ยตราเรือไวกิ้ง สูตร 16-20-0 สูตร 16-16-8 สูตร 46-0-0 สูตร 21-7-14 สูตร 16-16-16  4. บจก.ยารา (ประเทศไทย) ปุ๋ยตรา ยารา สูตร 46-0-0 สูตร 15-15-15 และ 5.กลุ่มบริษัท ไอซีพี เฟอทิไลเซอร์ จำกัด และบจก.ไอซีพี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ปุ๋ยตราม้าบิน โดยลดราคาทุกสูตร

          40 บริษัทยาศัตรูพืชไม่พลาด

          ด้านดร.วีรวุฒิ กตัญญูกุล อดีตนายกสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร กล่าวว่าในส่วนของยาป้องกันหรือกำจัดศัตรูพืชมี 7 สาร ประกอบด้วย ไกลโฟเสต 48% SL, พาราควอต 27.6% SL, บิวทาคลอร์ 60% EC, 2,4-ดี 95%, โพรทานิล, บิสไพริแบก-โซเดียม 10% SC และเพรทิลลาคลอร์ 30% EC ในครั้งนี้จะมีทั้งหมด 40 บริษัท (จากกว่า 100 บริษัท)ที่จะเข้าร่วมโครงการ เชื่อว่าทุกบริษัทจะพร้อมใจ เร่งระบายสินค้า จากที่ผ่านมาในรอบ 5 ปีปริมาณการใช้สารเคมีในประเทศลดน้อยลงมาก โดยหายไปถึง 30% ขณะที่ปริมาณการนำเข้าสารเคมียังปกติ ส่งผลทำให้บริษัท ยี่ปั๊ว-ซาปั๊วแบกสต๊อกสูงมาก อย่างไรก็ดีการลดราคาครั้งนี้มองว่าคงไม่จูงใจให้เกษตรกรหันมาใช้สารเคมีเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะชาวนาเพราะราคาข้าวไม่จูงใจ จึงประเมินว่าจะซื้อใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น

          แล้งกระทบหนักพันธุ์ข้าว

          นายนิทัศน์ เจริญธรรมรักษา นายกสมาคมผู้รวบรวม และจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว กล่าวว่า ผลกระทบจากวิกฤติภัยแล้งไม่มีน้ำทำนาในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ชาวนาลดพื้นที่ปลูกข้าว และลดการซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าว กระทบต่อเนื่องถึงผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ต้องนำเมล็ดพันธุ์ไปสีแปรสภาพเป็นข้าวสารเพื่อจำหน่าย (เพราะข้าวเสื่อมตามอายุการเก็บ และมีผลต่ออัตราการงอก) ทั้งนี้คาดผลผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวในปีนี้จะเหลือประมาณ 1 แสนตัน จากทุกปีที่เคยผลิตได้ 3 แสนตัน

          "ผู้ประกอบการเมล็ดพันธุ์ข้าว เวลานี้มีทั้งเลิกกิจการ และไปทำธุรกิจอื่น ภาพรวมหายไปประมาณ 30% แม้กระทั่ง 2 บริษัทผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวรายใหญ่ อย่างกลุ่มซีพี และกลุ่มของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี เครือเบียร์ช้าง ในนามบริษัท ล้านช้าง ดีเวลลอปเม้นท์ฯ ยังต้องล้มเลิกกิจการไปเลย ขณะที่เวลานี้ราคาเมล็ดพันธุ์ข้าวของไทยราคาโดยเฉลี่ยทุกสายพันธุ์ อยู่ที่ 14-16 บาท/กิโลกรัม ต้นทุนที่ 13 บาท ซึ่งราคานี้ถือว่าต่ำสุดในอาเซียนแล้ว โดยเมื่อเทียบกับเมล็ดพันธุ์ข้าวของเมียนมาเฉลี่ยที่ 22 บาท/กิโลกรัม เวียดนามที่ 25 บาทต่อกิโลกรัม ดังนั้นทางสมาคมจึงเน้นรณรงค์ให้ความรู้ชาวนาลดการใช้เมล็ดพันธุ์ในการปลูกลงเหลือ 15 กิโลกรัม/ไร่ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนลงได้ 200 บาท/ไร่"

          2 บิ๊กยันเลิกผลิตจริง

          นายโยทัย จาง ผู้อำนวยการ บจก.ล้านช้าง ดีเวลลอปเม้นท์ ผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวยี่ห้อ พันธุ์ข้าวล้านช้าง กล่าวว่า ผลกระทบจากภัยแล้ง ไม่มีน้ำใช้ในการผลิต ทางบริษัทได้ชะลอการปลูกเมล็ดพันธุ์ข้าว ออกไปโดยไม่มีกำหนด โดยได้หยุดดำเนินการมาตั้งแต่กลางปี 2558

          ส่วนแหล่งข่าวจากกลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือซีพีกล่าวว่า ทางกลุ่มได้หยุดดำเนินการปลูกเมล็ดพันธุ์ข้าวตั้งแต่ต้นปี 2559 เพราะไม่มีน้ำเพียงพอที่จะปลูกข้าว ส่วนในฤดูฝนที่จะมาถึงนี้ ทางผู้บริหารกำลังจะประเมินว่าควรจะปลูกเมล็ดพันธุ์ข้าวหรือไม่ หรือจะชะลอออกไปไม่มีกำหนด เพราะอีกส่วนก็ได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐบาลในการลดพื้นที่การทำนาด้วย

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 26 พฤษภาคม 2559

'เกษตรฯ'เผยสถานการณ์น้ำดีขึ้น เน้นเก็บน้ำเข้าเขื่อนไว้ใช้ถึงปี60

 พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงภายหลังประชุมผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ ถึงการวางแผนเพาะปลูกฤดูกาลใหม่ ว่าหลังจากที่กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศว่าประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งวันนี้สถานการณ์น้ำในเขื่อนใหญ่ทั่วประเทศในภาพรวมดีขึ้น โดยช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อน 33 แห่ง ถึง 200 ล้านลบ.ม. แต่ห่วงเขื่อนภูมิพล ยังไม่มีปริมาณน้ำไหลเข้าเลยเพราะฝนไปตกภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนฝนที่ตกภาคเหนือยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ

"ขณะนี้การบริหารจัดการน้ำเน้นการเก็บกักน้ำเข้าเขื่อนให้มากที่สุด เพื่อให้มีน้ำไว้เพียงพอใช้จนผ่านพ้นฤดูแล้งปีหน้าไปให้ได้ โดยเฉพาะขณะนี้ปริมาณน้ำในเขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา เช่น เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวม 1.4 พันล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 8 ซึ่งการเพาะปลูกข้าวนาปี 45 ล้านไร่ จะไม่ใช้น้ำจากเขื่อน ให้ใช้น้ำฝน และน้ำท่าเป็นหลัก ผมได้พยายามติดตามสถานการณ์ฝนอย่างใกล้ชิดกับกรมอุตุนิยมฯ ซี่งคาดการณ์ว่าปีนี้ฝนมาปกติ มีปริมาณฝนมากกว่าปี 58 และช่วงเดือน ก.ย. - ต.ค. มีพายุเข้าไทย 2 ลูก"

นอกจากนี้ ได้สั่งการทุกหน่วยงานบูรณาเตรียมวางแผนเพาะปลูกรอบใหม่ เพื่อลดความเสี่ยงเสียหาย โดยผ่านโครงการประชารัฐ ซึ่งมีตัวแทนภาคเอกชน 7 สมาคม เข้ามาช่วยเกษตรกรในการลดปัจจัยการผลิต ทั้งปุ๋ย ยา สารเคมีในการเกษตร ลดราคาลงตันละ 400 บาท มีโครงการช่วยเหลือเมล็ดพันธุ์แจกคูปองเกษตรกร เช่นซื้อ 1 แถม 1 ผ่านร้านคิวช็อป 2 หมื่นแห่งทั่วประเทศ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) โดยโครงการนี้เริ่ม1 มิ.ย.ถึงสิ้นปี รวมทั้งจะคิกออฟเปิดตัวศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตสินค้าเกษตร ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อให้เกษตรกรมาเรียนรู้อบรมทักษะในการปรับอาชีพสร้างมูลค่าเพิ่ม ให้เกษตรกรเข้มแข็งมีรายได้ พัฒนาเศรษฐกิจระดับชุมชนอย่างยั่งยืน

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 

บาทแข็งค่าตามภูมิภาค แม้ว่าส่งออก-นำเข้าไทยยังหดตัว

ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 25 พฤษภาคม 2559 ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 35.78/80 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (24/5) ที่ระดับ 35.73/75 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากเมื่อคืนวาน (24/5) กระทรวงพาณิชย์สหรัฐได้มีการเปิดเผยตัวเลขยอดขายบ้านใหม่ประจำเดือนเมษายน ปรับตัวดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ โดยเพิ่มขึ้น 16.6% ในเดือนเมษายน สู่ระดับ 619,000 ยูนิต ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 8 ปี ตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2551 โดยตัวเลขเศรษฐกิจดังกล่าวเป็นสัญญาณบ่งชี้ให้เห็นว่าสภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐ ได้ขยายตัวมากขึ้น รวมทั้งแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศและเพิ่มโอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ในการประชุมในเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้ อย่างไรก็ดี ในระหว่างวันได้มีแรงเทขายทำกำไรเงินดอลลาร์สหรัฐอย่างต่อเนื่อง ทั้งกระทรวงพาณิชย์ได้มีการรายงานตัวเลขการนำเข้าประจำเดือนเมษายนของไทยออกมาลดลง 14.92% ลดลงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะลดลง 7.65% และสำหรับตัวเลขการส่งออกประจำเดือนเมษายนออกมาลดลง 8% ลดลงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะลดลง 1.50% ทั้งนี้เงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 35.64-35.80 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 35.67/69 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้เปิดตลาดที่ระดับ 1.1141/42 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดในวันอังคาร (24/5) ที่ระดับ 1.1177/80 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยเมื่อวานนี้ (24/5) ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจยุโรป (ZEW) ได้มีการเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นของนักลงทุนและนักวิเคราะห์ในเยอรมนีประจำเดือนพฤษภาคมออกมาอยู่ที่ระดับ 6.4 ลดลงมาจากระดับ 11.2 ในเดือนเมษายน และสำหรับอัชนีความเชื่อมั่นและนักวิเคราะห์ในกลุ่มยุโรปประจำเดือนพฤษภาคมออกมาอยู่ที่ระดับ 16.8 ลดลงมาจากระดับ 21.05 ในเดือนเมษายนเช่นกัน อย่างไรก็ดี นายอีวาลด์เพิ่มขึ้น 9.8% จากระดับ 9.7% ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าการใช้จ่ายของภาคเอกชนยังคงเป็นฐานหลักสำคัญของเศรษฐกิจเยอรมนี โดยสถาบัน GfK ได้คงระดับการประเมินการใช้จ่ายของภาคเอกชนของเยอรมนีในปี 2559 เพิ่มขึ้น 2% ดังเดิม ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 1.1135/1.1158 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.1145-1.1146 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ในส่วนของค่าเงินเยนวันนี้เปิดตลาดที่ระดับ 110.13/15 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดในวันอังคาร (24/5) ที่ระดับ 109.56/61 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ นายฮารุโกะได้กล่าวว่า ทางธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) พร้อมที่จะดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติม ถ้าหากการเคลื่อนไหวของเงินเยนรวมทั้งปัจจัยอื่นๆ เป็นอุปสรรคต่อการบรรลุเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ 2% ที่ตั้งไว้ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 109.87-110.28 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 110.15/16 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลทางเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐต้องจับตาดู ได้แก่ กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (26/5), กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนเมษายน (26/5), มาร์กิตเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นต้นเดือนพฤษภาคม (26/5), สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติเปิดเผยยอดทำสัญญาซื้อบ้านที่รอปิดการขาย (Pending Home Sales) เดือนเมษายน (26/5), ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ประจำไตรมาส 1/2016 (27/5) และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคช่วงท้ายเดือนพฤษภาคม (27/5)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +2.0/+2.2 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +2.5/+4.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 

ก.เกษตรฯลงนาม MOU เพื่อการผลิตที่มีคุณภาพ

พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการลงนามและประกาศเจตนารมณ์ “โครงการสานพลังประชารัฐเพื่อปัจจัยการผลิตทางการเกษตร” ระหว่างหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรกับสมาคมผู้ประกอบการด้านปุ๋ย สารป้องกันและกำจัดศัตรูพืช และเมล็ดพันธุ์ จำนวน 7 สมาคม ผู้ประกอบการ 238 ราย และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งเป็นความร่วมมือในลักษณะประชารัฐ เพื่อให้เกษตรกรมีปัจจัยการผลิต ได้แก่ ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ สารป้องกันและกำจัดศัตรูพืช และเมล็ดพันธุ์ ที่มีคุณภาพ ในราคาที่เป็นธรรม เพื่อให้เกษตรกรมีต้นทุนต่ำลงมีผลผลิตเพิ่มมากขึ้น สามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้ ซึ่งมีกิจกรรมที่สำคัญ ได้แก่ การรักษาคุณภาพสินค้า การลดราคา อาทิ การลดราคาปุ๋ย และการอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกร โดยเกษตรกรสามารถซื้อปัจจัยการผลิตที่เข้าร่วมโครงการได้จากร้านค้าที่ขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตร จำนวน 20,000 กว่าแห่งทั่วประเทศ ซึ่งจะมีเครื่องหมาย “ปัจจัยการผลิตคุณภาพประชารัฐ แสดงอยู่ที่หน้าร้าน

นอกจากนี้ ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บูรณาการและเตรียมพร้อมให้บริการเกษตรกรตามบทบาทภารกิจ โดยได้จัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี (Field Day) เพื่อเตรียมพร้อมเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ ปี 2559 ที่หวังกระตุ้นให้เกษตรกรเริ่มต้นการผลิตในปีการเพาะปลูกใหม่ด้วยการใช้เทคโนโลยีและภูมิปัญญาที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่ รวมทั้งเผยแพร่ให้เกษตรกรรู้จักและใช้ประโยชน์จากศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรที่มีอยู่ โดยเตรียมจัดเปิดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี (Field Day) เพื่อให้เป็นต้นแบบแห่งแรกวันที่ 27 พ.ค.นี้ ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา และเตรียมขยายผลให้ครบทุก ศพก.ในแต่ละอำเภอ ๆ ละ 1 จุด รวม 882 แห่งทั่วประเทศ

ทั้งนี้ จากการที่กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศให้วันที่ 18 พ.ค. 59 เป็นวันเริ่มต้นฤดูฝน ปี 2559 อย่างเป็นทางการ ซึ่งในช่วงระหว่างวันที่ 18 –24พ.ค. 59 มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนต่าง ๆ รวม 245.74 ล้าน ลบ.ม. โดยสถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำใช้การได้ 1,437 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งจะต้องมีการวางแผนในการระบายน้ำเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนให้ได้มากที่สุด ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เร่งปฏิบัติการฝนหลวงฯ ตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ. – 24 พ.ค. 59 โดยขึ้นปฏิบัติการทั้งสิ้น จำนวน 82 วัน 1,782 เที่ยวบิน มีฝนตก 65 จังหวัด ได้แก่ ภาคเหลือ 15 จังหวัด ภาคกลาง 11 จังหวัด ภาคอีสาน 15 จังหวัด ภาคตะวันออก 8 จังหวัด ภาคตะวันตก 3 จังหวัด และภาคใต้ 13 จังหวัด มีน้ำไหลเข้าเขื่อน จำนวน 29 เขื่อน รวม 158.06 ล้าน ลบ.ม.

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 

ระดมพลังประชารัฐช่วยเกษตรกร ก.เกษตรจับมือ7สมาคมลดราคาปุ๋ย-ยา-พันธุ์ข้าว

"ฉัตรชัย"เปิดตัวโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อปัจจัยการผลิตทางการเกษตร หลังกรมอุตุฯประกาศประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว หวังช่วยเกษตรกรลดต้นทุนปลูกพืช โดยร่วมกับ 7 สมาคมลดราคาปุ๋ย-ยา-เมล็ดพันธุ์ ด้าน ธ.ก.ส.จัดชดเชยดอกเบี้ยให้สมาชิกสหกรณ์ร่วมโครงการอีก 3%

ในขณะนี้ฤดูแล้งได้ผ่านพ้นประเทศไทยไปแล้ว หลังจากที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกประกาศให้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนตั้งแต่วัน ที่ 18 พฤษภาคมเป็นต้นไป จนถึงกลางเดือนตุลาคม 2559 โดยในช่วงต้นฤดูฝนการกระจายของฝนจะยังไม่สม่ำเสมอ แต่จะมีฝนตกเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของฤดู ส่งผลให้เกษตรกรโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวนา เตรียมตัวที่จะปลูกข้าวนาปี ทว่ายังคงติดปัญหาเรื่องของเงินทุนในการเพาะปลูก หลังจากที่ต้องเผชิญภัยแล้งมาอย่างยาวนาน

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานถึงปัญหาเงินทุนในการทำการเกษตรว่า กรมวิชาการเกษตร-กรมการข้าว-กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกับสมาคมการค้าปัจจัยการผลิต 7 สมาคม (สมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย-สมาคมการค้าผู้ผลิตปุ๋ยไทย-สมาคม ธุรกิจปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพไทย-สมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร-สมาคมอารักขาพืช ไทย-สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย-สมาคมผู้รวบรวมและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เร่งบูรณาการขับเคลื่อน "โครงการสานพลังประชารัฐเพื่อปัจจัยการผลิตทางการเกษตร" เพื่อรองรับฤดูการผลิตปี 2559/2560 โดยจะประกอบไปด้วยกิจกรรมหลัก 5 กิจกรรม คือ

1) การสร้างเครือข่ายผู้ผลิตปัจจัยการผลิตคุณภาพ 2) การพัฒนาต้นเเบบความร่วมมือด้านปัจจัยการผลิตตามแนวทางประชารัฐในพื้นที่ แปลงใหญ่ 3) การจัดตลาดนัดปัจจัยการผลิตคุณภาพประชารัฐ 4) กิจกรรม ส่งเสริมการลดต้นทุนปัจจัยการผลิต และ 5) การส่งเสริมร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตคุณภาพประชารัฐให้สหกรณ์ขับเคลื่อน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนในพื้นที่ 9 แห่ง ตั้งเป้าลดต้นทุน กก.ละ 20 บาท

"ภาครัฐและสมาคมผู้ผลิตปัจจัยการผลิตทางการเกษตรทั้ง 7 สมาคมจะร่วมกำหนดแนวทางความร่วมมือเพื่อเป็นผู้ผลิตปัจจัยการผลิตคุณภาพ พร้อมหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการดำเนินงาน จากนั้นจะเปิดรับสมัคร บริษัทผู้ผลิตปุ๋ย สารเคมี และเมล็ดพันธุ์ข้าว เข้าร่วมโครงการตามเงื่อนไขที่กำหนดคอยตรวจติดตามให้คำแนะนำ และให้การรับรองการเป็นผู้ผลิตปัจจัยการผลิตคุณภาพและจัดทำฐานข้อมูลเพื่อ ให้เกษตรกร สหกรณ์ และร้านจำหน่าย สามารถสืบค้นได้ง่ายโดยผ่านระบบแอปพลิเคชั่น" พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าว

ขณะที่นายปริญญา เพ็งสมบัติ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวถึงแนวทางลดต้นทุนปัจจัยการผลิตจะผ่านช่องทางสหกรณ์การเกษตรเพื่อการ ตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. (ส.ก.ต.) อาทิ ชดเชยส่วนต่างค่าเมล็ดพันธุ์ให้กับสมาชิกสหกรณ์ในราคา 1.50 บาท/กก. ร้าน Q-shop ของกรมวิชาการเกษตร และร้านจำหน่ายที่เข้าร่วมโครงการ และชดเชยดอกเบี้ยให้กับสมาชิกสหกรณ์ที่ร่วมกิจกรรมในอัตรา 3%

ด้าน นายนิทัศน์ เจริญธรรมะรักษา นายกสมาคมผู้รวบรวมและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว กล่าวว่า ทางสมาชิกสมาคมจะขายเมล็ดพันธุ์ข้าวให้ชาวนาในราคา กก.ละ 14-15 บาท "ยกเว้น" ข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1 จะขายในราคา 16 บาท/กก. โดยจะขายผ่าน 84 ร้านค้าทั่วประเทศในปริมาณ 30,000 ตัน สาเหตุที่เหลือเมล็ดพันธุ์ข้าวน้อยเป็นเพราะไม่สามารถผลิตในช่วงที่ประสบภัย แล้ง โดยคาดว่าจะขายเมล็ดพันธุ์ข้าวได้ทั้งหมด 150,000 ตัน

ขณะที่สมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย รวมทั้งสมาคมการค้าผู้ผลิตปุ๋ยไทย จะลดราคาปุ๋ยเคมีให้กับโครงการนี้ไม่ต่ำกว่ากระสอบละ 20 บาท ส่วนสมาคมธุรกิจปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพไทยจะลดราคาปุ๋ยให้ถึงกระสอบละ 30 บาท เพราะวัตถุดิบส่วนใหญ่หาได้ในประเทศ ทางด้านสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่จะจำหน่ายปุ๋ยน้ำ ปุ๋ยเกล็ด และวัตถุอันตราย จะลดราคาให้โดยแจกคูปองลดราคา 5-50 บาท/ลิตร ร่วมกับร้านคิวช็อป รวมทั้งโครงการประชารัฐ

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 

ส่ง‘ทูตเกษตร’บินด่วนประจำรัสเซีย ผลักดันความร่วมมือ-ขยายส่งออกสินค้าเกษตรไทย

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในโอกาสเดินทางร่วมคณะนายกรัฐมนตรีเยือนรัสเซียอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 17–21 พฤษภาคมที่ผ่านมา ได้ลงนามร่วมกับ นายเซอร์เกย์ เลอวินรมช.เกษตรของรัสเซีย ในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตร ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือด้านวิชาการ รวมทั้งอำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุนด้านการเกษตรระหว่างกัน และขยายไปยังสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย ได้แก่ รัสเซีย คาซัคสถาน คีร์กีซสถานเบลารุส อามาเนีย ได้มากขึ้นในอนาคตโดยเฉพาะสินค้าเกษตรไทยที่มีศักยภาพสูงอาทิ สินค้าประมง ปศุสัตว์ พืชสดและแปรรูป เนื่องจากเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยม มีคุณภาพมาตรฐาน และความปลอดภัยเป็นที่ยอมรับในตลาดรัสเซีย ซึ่งหลังจากการลงนามครั้งนี้ ทั้ง 2 ประเทศจะมีคณะทำงานร่วม (JWG) ภายใต้คณะอนุกรรมาธิการว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตร ของคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย-รัสเซีย เพื่อหารือร่วมกันในกรอบความร่วมมือให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการความร่วมมือเป็นรูปธรรม กระทรวงเกษตรฯจึงเตรียมส่งอัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการเกษตร) ไปประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโกภายในปี 2559 เพื่อช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของทีมประเทศไทย ทั้งในเรื่องการผลักดันการขยายตลาดสินค้าเกษตรไทยในรัสเซียและกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช การอำนวยความสะดวกทางการค้าสินค้าเกษตร เปิดตลาดสินค้าเกษตรชนิดใหม่ๆ การติดต่อประสานงานด้านเทคนิคทางการเกษตร เช่น กล้วยไม้ ซึ่งเป็นสินค้าที่ไทยสามารถส่งออกได้ แต่ยังพบปัญหาอุปสรรคอยู่เนื่องจากรัสเซียปรับเปลี่ยนกฎระเบียบ และมาตรฐานอยู่บ่อยๆ และพัฒนาความสัมพันธ์และความร่วมมือด้านการเกษตร ไทย-รัสเซียให้ใกล้ชิดมากขึ้นด้วย

นอกจากการลงนามเอ็มโอยูด้านการเกษตรแล้ว ยังได้ลงนามบันทึกความเข้าใจด้านการนำเข้า-ส่งออกสัตว์น้ำ ระหว่างกรมประมงของไทย กับสำนักงานเฝ้าระวังสุขอนามัยพืชและสัตว์ของรัสเซีย หรือ FSVPS เพื่อพัฒนาความร่วมมือในการควบคุมความปลอดภัยสินค้าสัตว์น้ำ อันจะเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือ และเป็นการขยายการส่งออกสินค้าสัตว์น้ำไปยังสหพันธรัฐรัสเซีย

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 

มรสุมการเงินโลกตั้งเค้า3ปัจจัยจ่อเปลี่ยนทิศทาง ค่าเงิน/ดอกเบี้ย/ผลโหวตอังกฤษ

” ดอลลาร์อ่อนค่า” หนุนเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ย ก.ค.นี้ ” หลังผลโหวตอังกฤษคงสมาชิกภาพของสหภาพยูโร ลุ้นอีซีบีออกมาตรการ-แนะรับมือค่าเงิน-ทุนเคลื่อนย้าย-หุ้น-พันธบัตร ผันผวน ขณะที่นักวิเคราะห์เสียงส่วนใหญ่ ให้น้ำหนักเศรษฐกิจสหรัฐเป็นสำคัญ คาดเฟดขึ้นดอกเบี้ยปลายปี เผยต่างชาติทิ้งพันธบัตรแล้ว 1.5 หมื่นล้าน

สืบเนื่องจากอังกฤษจะลงประชามติ ให้ประชาชนตัดสินใจว่าจะอยู่หรือไปจากกลุ่มยูโรโซน ในวันที่ 23 มิถุนายน ที่จะถึงนี้ ซึ่งนักวิเคราะห์เศรษฐกิจการเงิน คาดว่าไม่ว่าผลจากการลงประชามติของชาวอังกฤษ จะออกมาอย่างไร ล้วนมีผลต่อการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางทั่วโลก โดยเฉพาะคณะกรรมการเงินสหรัฐฯ หรือเฟด และธนาคารกลางยุโรป หรืออีซีบี ซี่งจะมีผลผูกโยงไปถึงค่าเงิน ดอกเบี้ยและทิศทางเศรษฐกิจทั่วโลก และส่งแรงกระเพื่อมมาถึงประเทศไทย

ต่อสถานการณ์ดังกล่าว “ฐานเศรษฐกิจ “สำรวจความเห็นนักวิเคราะห์เศรษฐกิจการเงิน หลายสำนักถึงมุมมองต่อสถานการณ์ใหม่ที่กำลังก่อตัวว่า จะมีผลต่อภาคการเงินและทิศทางเศรษฐกิจไทยในช่วงต่อไป อย่างไรก็ตามพบว่า ส่วนใหญ่ผลจากการลงประชามติของอังกฤษจะส่งผลต่อให้เฟด ตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และดำเนินนโยบายการเงินที่ทำให้ค่าเงินอ่อนค่า เช่นเดียวกับธนาคารกลางยุโรปที่จะขับเคลื่อนนโยบายการเงินไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งจะมีผลต่อทิศทางคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.แน่นอน ขณะที่แนวดน้มเงินทุนเคลื่อนย้าย นักวิเคราะห์มองว่ายังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าจะไปในทิศทางใด

เชื่อเฟดรอผลประชามติ UK

นายกอบสิทธิ์ ศิลปะชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยระบุเวทีสัมมนา”เกาะติดสถานการณ์ไตรมาสสอง ทิศทางค่าเงินและอัตราดอกเบี้ย”จัดโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย โดยระบุว่า การประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ในวันที่ 14-15มิถุนายนนี้เชื่อว่าเฟดยังรอผลการทำประชามติของสหราชอาณาจักร (UK)ว่าจะออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปหรือไม่ ในการประชุมวันที่ 23มิถุนายน 2559 ซึ่งเป็นความเสี่ยงเพิ่มเติมให้กับตลาดการเงินและและตลาดทุน เพราะอังกฤษมีเศรษฐกิจใหญ่ จึงท้าทายเศรษฐกิจและการเมือง

 แต่ที่ผ่านมาสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐขยับอ่อนค่ามาตั้งแต่ต้นปีประมาณ 7% ดังนั้นในเชิงอัตราแลกเปลี่ยนผ่อนคลายลงแล้วเฟดน่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้หลังประชามติโดยอาจจะเลื่อนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นเดือนกรกฎาคม 1ครั้ง และอีกครั้งประมาณไตรมาส4 (ภายหลังการเลือกตั้งของสหรัฐ) โดยประเมินทิศทางเงินบาทยังมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่อง คาดว่าไตรมาส 2 และ 3 เงินบาทจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ 35.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และสิ้นปีนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวที่ 37 บาท/ดอลลาร์สหรัฐตามเป้าเดิมที่กำหนดไว้ ซึ่งสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐนั้นมีแนวโน้มแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินบาท

 อีซีบี เดินนโยบายอ่อนค่า

” 2ธนาคารกลางคือ เฟดกับธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี)จะใช้นโยบายการเงินที่มีผลต่อค่าเงินจะค่อยๆอ่อนค่า ซึ่งเร็วๆนี้อีซีบีคงจะมีใช้เครื่องมือใหม่ สำหรับดอลลาร์สหรัฐนั้นได้อานิสงก์เมื่อเทียบสกุลเงินภูมิภาคเอเซียรวมทั้งไทยเอง ดังนั้นเรายังคงเป้าอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทไตรมาส2และ3ที่ 35.50บาท/ดอลลาร์และภายในสิ้นปีจะอยู่ที่ 37บาท / ดอลลาร์ฯ เพราะแนวโน้มแนวโน้มสกุลเงินดอลลาร์จะแข็งค่า”

ด้านอัตราดอกเบี้ยของไทยนั้น แม้ที่ผ่านมาคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ระบุเงินบาทไม่เอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเท่าที่ควร ซึ่งจากตัวเลขจีดีพีที่สศช.ประกาศออกมาไตรมาสแรกจะลดแรงกดดันต่อการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ดังนั้นเชื่อว่ากนง.จะต้องพิจารณาถึงผลจากเฟดด้วยกรณีที่กนง.จะปรับอัตราดอกเบี้ย เพราะถ้าเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาจเป็นแรงผลักดันให้กนง.ปรับขึ้นด้วย นอกจากนี้ในส่วนของกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายโดยช่วงนี้มีเงินลงทุนในตราสารหนี้และตลาดทุนคงเหลือประมาณ 7.6 หมื่นล้านบาทจากช่วงสงกรานต์ที่มีเม็ดเงินเข้ามาอยู่ที่ 1.27 แสนล้านบาท ปัจจัยหลักมาจากการเทขายทำกำไรของต่างชาติ ส่วนแนวโน้มเงินทุนเคลื่อนย้ายต้องติดตามผลการทำประชามติของอังกฤษ และ เฟด เพราะทั้งสองปัจจัยจะมีผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้าย

จับตายูโรทำตลาดเงินผวนหนัก

นายนริศ สถาผลเดชา ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) (บมจ.) หรือ ทีเอ็มบี กล่าวถึงผลกระทบกรณีที่อังกฤษโหวตออกจากกลุ่มยูโซนว่า จะกระทบให้ตลาดการเงินมีความผันผวนสูง กระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลเข้าประเทศไทยกดดันให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้ รวมถึงจะเห็นการบิดเบี้ยวของผลตอบแทนพันธบัตร จากปัจจุบันที่ราคากลับมาสู่ระดับปกติ แต่หากมีเงินทุนไหลเข้าอาจกระทบต่อราคาผลตอบแทนได้ โดยจะเห็นการกู้ยืมเงินในระยะสั้นมากกว่าระยะยาว ส่งผลต่อการดำเนินนโยบายการเงินได้ และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจต้องออกพันธบัตรเพื่อมาดูดซับสภาพคล่องที่ล้นตลาดได้ ส่วนผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริง อาจจะไม่เห็นผลในระยะสั้น

อย่างไรก็ดี สิ่งที่จะต้องจับตาหลังจากมีประชามติ คือ การประเมินเสถียรภาพของกลุ่มยูโรโซน เนื่องจากจะต้องติดตามเศรษฐกิจว่าจะถูกบั่นทอนลงไปมากน้อยแค่ไหน เพราะอังกฤษค่อนข้างมีความแข็งแรงในเสถียรภาพของเศรษฐกิจ เมื่อเทียบกับยูโรโซนยังประสบปัญหาทั้งทางด้านเศรษฐกิจ และการเมือง เพราะไม่มีความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายการเงินและการเมือง

“จะโหวตออกหรือไม่ออก ก็มีรีแอคชั่นทั้งคู่ แต่จะมีผลต่อตลาดเงิน เงินบาทกลับมาแข็งค่าได้ ส่วนผลต่อภาคเศรษฐกิจแท้จริงคงไม่มาก เพราะต้องมีกลไกการปรับตัว ไม่ได้โหวตออกและปิดสวิตซ์ทันที”

ชี้บาทอ่อนหากเฟดขึ้นกค.นี้

ส่วนแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเฟด แม้คณะกรรมการเฟดบางคน เสนอว่าควรปรับขึ้น แต่เฟด ยังต้องรอดูปัจจัยทางเศรษฐกิจ เช่น การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2559 ซึ่งเป็นช่วงจังหวะที่จะต้องนำปัจจัยเหล่านี้เข้ามาพิจารณาประกอบกับการตัดสินใจ รวมถึงยังมีความเสี่ยงประเด็นการโหวตของอังกฤษ ดังนั้นช่วงนี้จึงเป็นจังหวะที่ต้องรอดู และตนมองว่าเฟด มีความเป็นไปได้ที่จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงปลายปีมากกว่า

อย่างไรก็ดี หากเฟดตัดสินใจปรับขึ้นเดือนกรกฎาคมนี้ จะส่งผลเงินทุนไหลกลับ ดังนั้นเงินบาทจะอ่อนค่าได้ เป็นผลดีต่อภาคส่งออกที่เริ่มเห็นการเติบโตขึ้น จากก่อนหน้าที่มีอัตราการเติบโตติดลบ ส่วนเงินไหลเข้าก่อนหน้าจากประเด็นการทำมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเชิงปริมาณ (QE) ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปการลงทุน แม้ว่าจะมีเงินไหลกลับก็ไม่มีผลกระทบต่อไทยมากนัก เพราะเกิดขึ้นทั่วภูมิภาค

ศก.สหรัฐ ฯชี้ทิศเฟด

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า กรณีเฟด ข่าวดีคือ ข่าวร้าย เพราะหากตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐที่ออกมาดีสะท้อนการฟื้นตัวนั้นจะเป็นแรงหนุนเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะส่งให้เงินร้อนที่ไหลเข้ามาพักในตลาดเกิดใหม่ก่อนหน้ามีการขายสินทรัพย์เก็งกำไรซึ่งความผันผวนค่าเงินยังคงอยู่ ส่วนกรณีอังกฤษจะมีการทำประชามติแยกเป็นอิสระจากสหภาพยูโรนั้น ผลสำรวจล่าสุดยังสะท้อนว่ายังคงเป็นสมาชิกของยูโรซึ่งจะส่งให้เงินปอนด์กลับมาแข็งค่า แต่ในทางกลับกัน ถ้าผลประชามติให้อังกฤษแยกออกเป็นอิสระ สิ่งที่จะเกิดขึ้ยในะยะสั้นไม่เกิน 3เดือน คือ เสถียรภาพทั้งค่าเงิน ตลาดหุ้นและพันธบัตรที่จะหายไป

จับตายูโรกระทบศก.ไทย

สำหรับผลกระทบต่อไทย โดยเฉพาะผลทางอ้อมแม้ไทยจะมีสัดส่วนการส่งออกไปยูโรเกือบ 10%จึงมีผลกระทบเชิงลบถ้าเกิดกรณีเศรษฐกิจยูโรชะลอย่อมกระทบการส่งออกของไทย หรือในแง่การเติบโตของเศรษฐกิจอังกฤษที่อาจลดจำนวนนักท่องเที่ยวซึ่งไทยพึงพึ่งชาวอังกฤษส่วนหนึ่ง และที่สำคัญคือ เสถียรภาพตลาดเงิน เพราะอังกฤษเป็นศูนย์กลางทางการเงินทั้งลูกค้าไทย ลูกค้าบริษัทข้ามชาติลงทุนในอังกฤษย่อมกระทบเรียลเช็กเตอร์แม้เม็ดเงินลงทุนไม่มากแต่อาจลามได้

“เฟดจะมีน้ำหนักต่อตลาดเงินโลกมากกว่า การทำประชามติของอังกฤษแยกเป็นอิสระและผลกระทบระยะสั้นแต่ในภาวะความไม่แน่นอนนักลงทุนควรปรับตัวดูปัจจัยพื้นฐานของไทยและเศรษฐกิจโลกและหากมองว่าการประชุมเฟดเดือนมิถุนายนจะเป็นการเปิดเผยตัวเลขและมุมมองให้นักลงทุนโดยหากเฟดไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยเดือนนี้และอังกฤษยังคงอยู่จะเป็นโอกาสทำกำไรด้วยซ้ำแต่ส่วนตัวไม่แนะนำให้นักลงทุนไทยเข้าไปเก็งกำไรตามนักลงทุนต่างชาติ

 แนวโน้มเชื่อเฟดไม่ปรับดบ.

นายรชตพงศ์ สุขสงวน ผู้อำนวยการ ผู้บริหารฝ่าย ฝ่ายวิจัยความเสี่ยงธุรกิจ บมจ.ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า กรณีเฟดนั้นผลสำรวจเทรดเดอร์เพิ่มน้ำหนักต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็น 37%จากเดิมอยู่ที่ 8%แต่คงเหลืออีก 63%มองเฟดไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเดือนมิถุนายนนี้ อีกทั้งตลาดยังคาดการโน้มเอียงในทางไม่ปรับหรือปรับเพียง 1ครั้ง ทั้งนี้การให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทำให้ดอลลาร์แข็งค่าและเงินบาทกลับมาอ่อนค่าและหุ้นSideway Downดังนั้นจะส่งผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายและอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งทิศทางเฟดยังต้องติดตามกันต่อ

“แต่ระหว่างที่เฟดยังไม่ถึงกำหนดวันประชุม (วันที่ 14-15 มิ.ย.นี้) อาจะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นก็ได้ หรือต่อให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินบาทยังคงสวิงทั้งอ่อนค่าและแข็งค่า หรือหากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและส่งสัญญาณจะปรับต่อเนื่องมากว่าที่คาดทิศทางต้นทุนจะสูงและลดทอนโอกาสการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย เพราะถ้ากนง.ปรับลดดอกเบี้ยจะยิ่งเพิ่มช่องว่างและทำให้เงินไหลออก”

ต่อประเด็นอังกฤษนั้นส่วนใหญ่มองว่ายังคงอยู่เป็นสมาชิกยูโร แต่ถ้าผลปรากฏว่าอังกฤษแยกออกเป็นอิสระจากยูโรจะไม่เป็นผลต่อทั้งอังกฤษและยูโร เพราะอังกฤษเองจะเสียสิทธิประโยชน์ของสมาชิกภาพสหภาพยูโรโดยคู่ค้าหลักอังกฤษ 10อันดับแรกจะมี 7ประเทศอยู่ในยูโรซึ่งเหลือเพียง 3ประเทศเท่านั้นที่ไม่อยู่จึงย่อมส่งผลกระทบต่อการค้าการลงทุนของอังกฤษ นอกจากนี้อาจเกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานหรือเฮดออฟฟิตของสถาบันการเงินหรือบริษัทยุโรปที่เข้าไปลงทุน เพราะเกรงจะเสียสิทธิประโยชน์ในยุโรป

ต่อท่าทีของนักวิเคราะห์ในประเทศ จากการสำรวจของ”ฐานเศรษฐกิจ” พบว่าส่วนใหญ่ไม่ได้ให้น้ำหนักกับประเด็นการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดสำหรับการประชุมรอบถัดไปในวันที่ 14-15 มิถุนายนนี้

โดยบทวิเคราะห์บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า จากการเปิดเผยรายงานการประชุม Fed minutes เมื่อวันที่ 26-27 เมษายน ที่ผ่านมา บ่งชี้ว่าคณะกรรมการเฟด เปิดโอกาสการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งถัดไป 14-15 มิถุนายนนี้ โดยให้น้ำหนักต่อเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวในไตรมาส 2/2559 อย่างไรก็ตามเฟดยังคงมีความกังวลต่อผลการทำประชามติของอังกฤษ (Brexit) ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 23 มิถุนายน นี้

บล.เชื่อเฟดขึ้นปลายปี

อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์ไทยส่วนใหญ่ ยังให้น้ำหนักการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดหรือไม่ ขึ้นกับเศรษฐกิจสหรัฐ ฯว่าจะขยายตัวได้มากเร็วเพียงไร โดยนายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ทิสโก้ จำกัด และในฐานะนายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน คาดว่าในการประชุมรอบเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้มองว่าเฟดยังไม่น่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ย เพราะเวลานี้แม้เศรษฐกิจภายในประเทศสหรัฐฯจะกลับมาฟื้นตัวได้ดี แต่ภายนอกประเทศยังถือว่ามีความเสี่ยงสูง แต่อาจจะมีการส่งสัญญาณให้ตลาดรับรู้ล่วงหน้าก่อนว่าอาจจปรับขึ้นเร็วกว่าที่มีการคาดการณ์ว่าจะเป็นช่วงปลายปีนี้

สอดคล้องกับนายชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.บัวหลวง กล่าวว่า บล.บัวหลวงยังมองในทิศทางเดียวกับมอร์แกน สแตนเลย์ โบรกเกอร์สัญชาติสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับบล.บัวหลวง ยังไม่ได้ปรับมุมมองต่อกรณีการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด โดยยังคงให้น้ำหนักเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งต่อไปช่วงไตรมาส 4 ของปี 2559 นี้มากที่สุดให้น้ำหนักเดือนธันวาคม 75%

นายชยนนท์ รักกาญจนันท์ กรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน (บลน.) อินฟินิติ จำกัด กล่าวว่าหากตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐฯมีพัฒนาการที่ดีขึ้นหลังจากนี้ เฟดอาจพิจารณาขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งก็ได้ ซึ่งผลที่ตามมาจะทำให้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทุกช่วงอายุปรับตัวสูงขึ้น และอาจมีเงินทุนไหลออกจากไทย ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าในระยะสั้น อาจเป็นผลดีต่อการส่งออกของไทยด้วย แต่ฝั่งตลาดทุนไทยอาจเจอแรงเทขายจากนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งทำให้การลงทุนในตลาดหุ้นไทยในช่วงเดือนมิถุนายนยังมีความไม่แน่นอนค่อนข้างสูง

เตือนหุ้น-พันธบัตรผันผวน

อย่างไรก็ตามก่อนถึงวันประชุมเฟดในเดือนมิถุนายนนี้ (14-15 มิ.ย.) นายชัยพร มองว่าอาจทำให้เกิดแรงขายทำกำไรทั้งในตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ เพื่อลดความเสี่ยง

นางสาวศิรินาถ อมรธรรม ผู้อำนวยการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย(ThaiBMA) กล่าวว่า สัปดาห์ก่อนหน้านี้ (9-13 พ.ค.) นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในพันธบัตรระยะสั้นและระยะยาวรวม 1.5 หมื่นล้านบาท แต่ส่วนใหญ่จะขายพันธบัตรระยะสั้น (อายุไม่เกิน 1 ปี ) อีกทั้งขายต่อเนื่องอีก 2 วัน เมื่อวันที่ 17-18 พฤษภาคม ที่ผ่านมา จากความกังวล 2 ปัจจัย คือ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับขึ้นอาจทำให้เงินเฟ้อขยับ และความกังวลว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาด อย่างไรก็ตามช่วงเช้าของวันที่ 19 พฤษภาคม นักลงทุนต่างชาติก็ยังขายต่ออีก 2 พันล้านบาท แต่ปิดตลาดในวันดังกล่าว ต่างชาติพลิกกลับเป็นฝ่ายซื้อสุทธิ 9.4 พันล้านบาท

เฟดขึ้นดอกเบี้ย ไม่กระทบบอนด์ยาว

อย่างไรก็ตามนางสาวศิรินาถ กล่าวว่า หากเฟดขึ้นดอกเบี้ย คาดว่าจะกระทบเฉพาะพันธบัตรระยะสั้น ซึ่งเป็นบัมเบิ้ล (เงินเก็งกำไรระยะสั้น ) ส่วนพันธบัตรระยะยาวคาดว่าเงินจะไม่ไหลออก เนื่องจากอัตราผลตอบแทน(ยีลด์)สูงกว่าพันธบัตรสหรัฐฯ

โดยพันธบัตรไทยอายุ 5 ปี ให้ผลตอบแทน 1.8 % ต่อปี ขณะที่พันธบัตรอายุ 10 ปี ผลตอบแทนปรับขึ้นมาที่ 2.12 % ต่อปี ขณะที่พันธบัตรสหรัฐฯอายุ 10 ปี ผลตอบแทนอยู่ที่ 1.75 %

ส่วนสถานะการถือครองตราสารหนี้ไทยของนักลงทุนต่างชาติ (ข้อมูล ณ 18 พ.ค.59 ) เป็นพันธบัตรระยะยาว 5-6 แสนล้านบาท ซึ่งตัวเลขดังกล่าวไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะ เพราะต่างชาติไม่ได้ขายออกมามาก ขณะที่ถือครองพันธบัตรระยะสั้น 7.4 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นพันธบัตรของธนาคารแห่งประเทศไทยมากถึง 6.3 หมื่นล้านบาท

จาก http://www.thansettakij.com   วันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 

กรมชลฯดึงเกษตรกรร่วมการจัดรูปที่ดิน

เมื่อวันที่ 24 พ.ค. นายสิริวิชญ กลิ่นภักดี ผอ. สำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง กรมชลประทาน เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานจัดรูปที่ดินกลางได้เร่งจัดประชุมปฐมนิเทศโครงการจัดทำแผนแม่บทการจัดรูปที่ดิน ตามพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2558 โดยมีแผนดำเนินการครอบคลุม 5 ภูมิภาค ทั่วประเทศ ซึ่งภาคเหนือ จัดที่ จ.พิษณุโลก ภาคกลาง จ.ชัยนาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น ภาคตะวันออก จ.ชลบุรี และภาคใต้ จ.นครศรีธรรมราช พร้อมเชิญเกษตรกร เจ้าของที่ดิน ชุมชน และภาคราชการเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและเปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนโดยเฉพาะภาคประชาชน ได้แก่ กลุ่มผู้ใช้น้ำ และเกษตรกรในพื้นที่ที่มีศักยภาพได้แสดงความคิดเห็นต่อแผนแม่บทการจัดรูปที่ดินของประเทศ เพื่อนำความคิดเห็นที่ได้มาประกอบการจัดทำแผนแม่บทให้สมบูรณ์ และเสนอต่อคณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางพิจารณาเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป

โดยแผนแม่บทที่สำนักงานจัดรูปที่ดินกลางจัดทำขึ้นนี้เป็นแผนระยะ 20 ปี แบ่งเป็น แผนระยะเร่งด่วน (ปี 2560) แผนระยะสั้น (ปี 2561-2564) แผนระยะกลาง (ปี 2565-2569) และแผนระยะยาว (ปี 2570-2579) มุ่งดำเนินการจัดรูปที่ดินครอบคลุมพื้นที่ชลประทาน พื้นที่รับประโยชน์ และแหล่งน้ำอื่นๆ ของประเทศ เพื่อให้มีระบบแพร่กระจายน้ำในไร่นา มีพื้นที่ศักยภาพที่ศึกษาทำแผนแม่บทงานปรับปรุง ประมาณ 12.94 ล้านไร่ และพื้นที่ก่อสร้างใหม่ ประมาณ 39.53 ล้านไร่ เพื่อให้เกษตรกรมีน้ำใช้อย่างพอเพียง ทั่วถึง และเหมาะสมแก่การเกษตร ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสูงขึ้น

“เกษตรกรจะได้รับประโยชน์จากการจัดรูปที่ดินหลายด้าน อาทิ สามารถรับน้ำและระบายน้ำในแปลงเพาะปลูกได้ตามต้องการ ทั้งยังได้รับความ สะดวกในการลำเลียงปัจจัยการผลิตทางการเกษตรและขนส่งผลผลิตไปยังตลาด นอกจากนั้น ยังสามารถใช้เครื่องทุ่นแรงและเครื่องจักรกลในการเตรียมแปลง และเก็บเกี่ยวผลผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังทำให้ดินมีคุณค่าและมีประโยชน์มากขึ้นเพราะมีระบบชลประทานที่สมบูรณ์และการคมนาคมในไร่นาที่สะดวกขึ้นด้วย” ผอ.สำนักงานจัดรูปที่ดินกลางกล่าว.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 

โครงการ 'ปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด' สำเร็จเกินคาด 8 ปี ชาวโคกตาอิ่มสุขใจ

โครงการปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด ต.โคกตาอิ่ม อ.นางรอง สรุปผลประกอบการ จัดงานขอบคุณลูกค้า หลังได้รับทุนสนับสนุนจาก ธ.ก.ส.ในโครงการ SME เริ่มจัดทำยาวนานกว่า 8 ปี ชาวบ้านสุขใจ ค่าใช้จ่ายปุ๋ยลดลงกว่าครึ่ง อีกทั้งยังมีคุณภาพที่ดีกว่า

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 24 พฤษภาคม 2559 นายสาวิตร เจียมจิระพร นายอำเภอนางรอง จ.บุรีรัมย์ เป็นประธานขอบคุณกลุ่มลูกค้ากลุ่มปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ดและสรุปผลประกอบการ ร่วมด้วย นายสมศักดิ์ ทะรารัมย์ ผจก. ธ.ก.ส. อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ พร้อมหัวหน้าหน่วยราชการ นายสาวิตร นายอำเภอนางรอง กล่าวชื่นชมโครงการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งนโยบายรัฐบาลต้องการให้ชาวบ้านอยู่ในถิ่น ไม่ต้องไปทำงานไกลบ้าน ให้พัฒนาตนเอง ทั้งนี้การเกษตรจะทำให้เราอยู่ได้ตามทฤษฎีการพึ่งพาตนเอง สามารถนำทรัพยากรในท้องถิ่นมาต่อยอดให้เกิดรายได้

นายอุทัย ม่านทอง ผู้ใหญ่บ้านโคกตาอิ่ม ต.ถนนหัก อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ เผยว่าโครงการปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด เริ่มทำตั้งแต่ปี 2552 ประกอบด้วยชาวบ้านในตำบลโคกตาอิ่มเป็นคณะทำงาน ผลิต และนำไปใช้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก ธ.ก.ส ในโครงการ SME ซึ่งอาชีพหลักของชาวบ้านได้แก่การทำนา อาชีพรองคือ ปลูกพืชผักสวนครัว ส่วนหนึ่งไว้บริโภค

โครงการปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด ต.โคกตาอิ่ม อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์

"ส่วนที่เหลือส่งขายตลาดมีรายได้เพิ่ม เป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ช่วงเดือน ก.พ. - มิ.ย. ของทุกปี ชาวบ้านจะใช้เวลาว่างมาช่วยกันผลิตปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด ทำให้เกิดรายได้ค่าจ้างผลิตปุ๋ยต่อวัน 250-300 บาท ปีที่ผ่านมาสามารถผลิตปุ๋ยได้ 5,000 - 6,000 ตัน เป็นเงิน เข้ากลุ่มกว่า 400,000 บาท ในแต่ละปีกลุ่มจะรับซื้อหอยเชอรี่จากเกษตรกร นำมาบดทำน้ำหมักชีวภาพผสมกากน้ำตาลทิ้งไว้ แล้วจึงนำมาทำปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด ขายในราคาต่ำกว่าครึ่งของราคาปุ๋ยทั่วไปตามท้องตลาด"

นางขวัญเรือน อิสระวงค์ ชาวบ้าน ต.โคกตาอิ่ม เผย ใช้ปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ดใส่ในนาข้าวมาเป็นเวลา 8 ปีแล้ว ก่อนนี้ใช้ปุ๋ยเคมีมีราคาแพงต้องกู้หนี้ยืมสินมาทำนาก่อน หลังเก็บเกี่ยวไม่เหลือเงิน แต่เมื่อมีโครงการเข้าร่วมเป็นสมาชิกผลิตและใช้ปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ดของชุมชน ผลผลิตข้าวได้มากกว่าเก่าเกือบเท่าตัว ค่าใช้จ่ายค่าปุ๋ยก็ลดลง จากราคาที่เคยซื้อปุ๋ยตามท้องตลาดราคากว่า 1,000 บาท ซื้อปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ดของกลุ่มราคากระสอบละ 400 บาท มีคุณภาพดีกว่า เหลือเงินเก็บในครัวเรือน สามีก็มารับจ้างผลิตปุ๋ยเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 

กนง.จับตาภัยแล้งฉุดเศรษฐกิจปีนี้โตต่ำกว่าคาด

กนง.จับตาภัยแล้งกระทบการใช้จ่ายของครัวเรือนมากขึ้น กลายเป็นปัจจัยถ่วงให้เศรษฐกิจปีนี้มีแนวโน้มเติบโตได้ต่ำลง

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รายงานผลการประเมินภาวะเศรษฐกิจ (ฉบับย่อ) จากการประชุมเมื่อ 11 พ.ค.ที่ผ่านมา ว่า แม้ปีนี้ฝนจะกลับมาตกตามฤดูกาลในช่วงกลางปีเป็นต้นไป แต่อาจเห็นผลกระทบจากภัยแล้งต่อฐานะทางการเงินของครัวเรือนภาคเกษตรไปอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากรายได้ที่ขาดหายไปในช่วงภัยแล้งทำให้ครัวเรือนภาคเกษตรส่วนหนึ่งต้องก่อหนี้เพิ่มขึ้น บวกกับผลิตภาพการเพาะปลูกของที่ดินอาจลดลง ในภาวะที่ฝนแล้งรุนแรง ส่งผลให้การใช้จ่ายของครัวเรือนหรือการบริโภคภาคเอกชนอาจชะลอลงและเป็นปัจจัยถ่วงภาวะเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า ทำให้โดยรวมเศรษฐกิจยังมีความเสี่ยงที่จะโตได้ต่ำลง

นอกจากนี้ พฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่า (search for yield) ในภาวะที่ดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ และความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนในภาคเกษตรและเอสเอ็มอียังมีแนวโน้มด้อยลงจากผลกระทบของเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวล่าช้า สะท้อนจากสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีและสินเชื่อบัตรเครดิต และการที่ต้นทุนการระดมทุนของธุรกิจขนาดใหญ่ที่อยู่ในระดับต่ำจากการแข่งขันปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าชั้นดีของธนาคารพาณิชย์ และความสนใจลงทุนในหุ้นกู้ของนักลงทุนที่เพิ่มขึ้น อาจไม่สะท้อนค่าความเสี่ยงที่แท้จริง จึงให้จับตาดูอย่างใกล้ชิดมากขึ้น

ทั้งนี้ กนง.ยังมองว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้ยังคงฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายของภาครัฐที่เบิกจ่ายได้ดีต่อเนื่อง และการท่องเที่ยวซึ่งขยายตัวได้มากกว่าที่คาดจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดีการส่งออกและการลงทุนภาคเอกชนยังอยู่ในระดับต่ำ

จาก http://www.posttoday.com   วันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 

ชาวไร่มีเฮอ้อยขยับพันบาท รับฤดูหีบ2559/60เหตุแนวโน้มราคาน้ำตาลโลกพุ่งต่อเนื่อง 

           ราคาน้ำตาลทรายโลกขยับขึ้นต่อเนื่อง มีโอกาสแตะที่ 19 เซ็นต์ต่อปอนด์ กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายมั่นใจ ฤดูการผลิต 2559/2560 ไม่ต้องกู้เงินมาช่วยเหลือต้นทุนผลิตให้ชาวไร่ ประเมินราคาอ้อยวิ่งขึ้นถึง 1 พันบาทต่อตัน หลังจากฤดูที่ผ่านมาต้องช่วย 1.5 หมื่นล้านบาท เริ่มจ่าย ต้นก.ค.นี้ ขณะที่บราซิลฟ้อง WTO แล้ว เหตุไทยอุดหนุนส่งออกน้ำตาล จี้ปรับโครงสร้างอุตฯอ้อยและน้ำตาลทรายแก้ปัญหา

          นายวีระศักดิ์ ขวัญเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้มอบหมายให้คณะทำงานไปดำเนินการคัดเลือกสถาบันการเงินในการกู้เงินมาเพื่อช่วยเหลือต้นทุนการผลิตของชาวไร่อ้อยในฤดูการผลิตปี 2558/2559 ในอัตรา 160 บาทต่อตัน ตามที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ที่ผ่านมา เนื่องจากราคาอ้อยตกต่ำราคาขั้นต้นอยู่ที่ราว 808 บาทต่อตันโดยจะให้สถาบันการเงินต่างๆเสนอเงื่อนไขและดอกเบี้ยอัตราต่ำไม่เกิน 4.25% ซึ่งเป็นไปตามทิศทางของดอกเบี้ยที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ภายในเดือนมิถุนายนนี้ และจะคัดเลือกให้เหลือเพียง 1 ราย

          สำหรับการกู้เงินในครั้งนี้ จะอยู่ในวงเงินประมาณ 1.504 หมื่นล้านบาท ตามปริมาณอ้อยที่เข้าหีบปรับตัวลดลงอยู่ที่ 94.04 ล้านตัน เนื่องจากประสบปัญหาภัยแล้ง ทำให้มีอ้อยเข้าหีบต่ำกว่าปีก่อนที่อยู่ในระดับ 106 ล้านตัน และต้องกู้เงินมาช่วยเหลือต้นทุนการผลิตราว 1.69 หมื่นล้านบาท โดยเงินกู้ดังกล่าวคาดว่าจะสามารถจ่ายให้กับชาวไร่อ้อยที่มีอยู่ราว 1.6 แสนรายได้ประมาณต้นเดือนกรกฎาคมนี้

          "การกู้เงินครั้งนี้ เนื่องจากกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายขาดสภาพคล่องมาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีรายได้จากการเก็บเงินจากการจำหน่ายน้ำตาลทรายในประเทศกิโลกรัมละ 5 บาท ทำให้มีรายได้เข้ามาประมาณปีละ 1 หมื่นล้านบาท แต่ไม่สามารถเพียงพอที่จะนำมาใช้พยุงราคาอ้อยได้ เนื่องจากต้องนำเงินไปทยอยใช้หนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่กู้มาช่วยเหลือชาวไร่อ้อย ซึ่งยังเป็นหนี้อยู่ราว 2.6 หมื่นล้านบาท และต้องชำระหนี้คืนให้หมดภายในเดือนสิงหาคม 2561"

          นายวีระศักดิ์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม จากแนวโน้มของราคาน้ำตาลทรายโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นทั่วโลก ได้ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนน้ำตาล ส่งผลให้ราคาน้ำตาลทรายได้ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ในระดับที่ 17 เซ็นต์ต่อปอนด์ และมีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้นอีก โดยมีการคาดการณ์ว่าราคาน้ำตาลทรายในฤดูการผลิตใหม่จะขึ้นไปถึงระดับ 19 เซ็นต์ต่อปอนด์ ซึ่งจะส่งผลให้ราคาอ้อยในฤดูการผลิต 2559/2560 ขึ้นไปอยู่ในระดับ 900 บาทต่อตัน เป็นอย่างต่ำ และมีโอกาสที่จะขึ้นไปถึง 1 พันบาทต่อตันได้ แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นกับสถาน การณ์ในขณะนั้นว่า ราคาขายน้ำตาลทรายจริงจะเป็นเท่าใด รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทด้วย

          ดังนั้น หากสถานการณ์ราคาน้ำตาลทรายในฤดูหน้า เป็นไปอย่างที่คาดไว้ จะทำให้ชาวไร่อ้อยมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะไม่จำเป็นต้องกู้เงินมาช่วยเหลือต้นทุนการผลิตเหมือนกับฤดูที่ผ่านมาอีก และจะทำให้ฐานะกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายอยู่ในภาวะที่ดีขึ้น

          อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกมีความไม่แน่นอน ซึ่งบางปีราคาอาจจะตกต่ำมาก เหมือนกับปีที่ผ่านมา การจะกู้เงินมาช่วยเหลือต้นทุนการผลิตของชาวไร่อ้อย จึงถือว่าไม่ถูกต้อง เพราะเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ยั่งยืน และกรณีการช่วยเหลือนี้เอง ทางประเทศบราซิล ซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลทรายอันดับ 1 ของโลก ได้มีการนำกรณีการช่วยเหลือชาวไร่ ไปฟ้ององค์การการค้าโลก (WTO) ในการอุดหนุนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ที่ภาครัฐเข้ามาสนับสนุนการผลิตให้มีการส่งออกน้ำตาลทรายเพิ่มมากขึ้น ถือเป็นการผิดหลักทางการค้า ซึ่งในวันที่ 25 พฤษภาคม นี้ทางกระทรวงพาณิชย์ จะมีการชี้แจงและเตรียมที่จะหามาตรการต่อสู้กับทางบราซิล

          ดังนั้น แนวทางการแก้ไขปัญหา จึงจำเป็นจะต้องมีการเร่งปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีก็ได้เห็นชอบในหลักการไปแล้ว ใน 5 เรื่อง ได้แก่ 1.การปรับปรุงพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย รวมทั้งกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้ครอบคลุมการนำอ้อยไปผลิตเอทานอลและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้ 2.การเพิ่มผลิตภาพอ้อยและน้ำตาลทราย 3.การกำหนดต้นทุนมาตรฐานอ้อยและน้ำตาลทราย และมาตรฐานการผลิตน้ำตาลทราย 4.การรักษาเสถียรภาพกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายและ 5.การจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาอ้อยและน้ำตาลทรายและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง

          โดยทั้ง 5 เรื่องนี้ทางครม.ได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการ โดยเฉพาะการนำรายได้จากธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องจากอ้อยและน้ำตาลทราย ไม่ว่าจะเป็นการผลิตเอทานอล ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์อื่นๆ จะต้องเร่งหารือกันทั้ง 3 ฝ่าย ไม่ว่าภาครัฐ โรงงานน้ำตาล และชาวไร่อ้อย ว่าจะนำรายได้จากส่วนต่างๆ นี้มาแบ่งกันอย่างไร ซึ่งเชื่อว่าหากได้ข้อยุติแล้ว จะทำให้ชาวไร่อ้อยมีรายได้เพิ่มขึ้นมา โดยไม่จำเป็นต้องมาขอให้รัฐบาลช่วยต้นทุนการผลิต และไม่ขัดกับกฎของ WTO ด้วย

จาก http://www.thansettakij.com วันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 

ไทยชูผู้นำพลังงานหมุนเวียน! พร้อมโชว์ศักยภาพคับอาเซียน 

          นายมนู เลียวไพโรจน์ ประธานบริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด ผู้จัดงานแสดงและการประชุมระดับชาติ เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 1-4 มิ.ย.นี้ บริษัทได้เตรียมจัดงาน ASEAN Sustainable Energy Week 2016 ที่ไบเทค อันเป็นงานแสดงเทคโนโลยีและการประชุมด้านพลังงานหมุนเวียน การใช้พลังงานให้เกิดประสิทธิภาพ และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน โดยได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ กระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) บัณฑิตวิทยาลัยร่วม ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ร่วมด้วยสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)

          ด้านนายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศแรกๆ ของเอเชียที่มีการจัดทำแผนและเป้าหมายด้านพลังงานทดแทน และอนุรักษ์พลังงานสำหรับงานนี้ สนพ.ร่วมจัดประชุมสัมมนาระหว่างวันที่ 2-3 มิ.ย.นี้ นำภาคีเครือข่ายของแต่ละประเทศมาถ่ายทอดประสบการณ์องค์ความรู้ด้านพลังงานทดแทนเพื่อให้ประเทศในภูมิภาคอาเซียนได้นำกระบวนการคิดดังกล่าวไปต่อยอดสู่การพัฒนาแบบองค์รวมด้านการพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานต่อไปในอนาคตอย่างยั่งยืน

          ขณะที่นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการพลังงานและพลังงานทดแทนหอการค้าไทย กล่าวว่า ในส่วนของหอการค้าไทยจะมีการจัดถ่ายทอดองค์ความรู้โดยเกี่ยวกับความมั่นคงของพลังงาน ในหัวข้อ สัมมนาภายใต้แนวคิด "รู้คิด รู้ทำ และรู้นำ" เพื่อให้เห็นภาพของการบริหารงานจัดการด้านพลังงานทดแทนเพิ่มมากขึ้น

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 

'ประสาร' แนะ 3 แนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

"ประสาร" แนะ 3 แนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ จี้ภาครัฐเร่งปรับตัว หวังรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลก

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานคณะอนุกรรมการเตรียมจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ กล่าวว่า ต้องการเสนอ 3 แนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทยให้ภาครัฐเร่งปรับตัว เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลก ประกอบด้วย ปรับทิศทางให้ท้องถิ่นมีอำนาจตัดสินบริหารท้องถิ่นมากขึ้น, ปรับกลยุทธ์ให้เอกชนมีส่วนร่วมพัฒนาประเทศเพื่อลดรายจ่ายงบประมาณ และภาครัฐต้องเปลี่ยนบทบาทการบริหารประเทศจากผู้ควบคุมและกำกับเป็นการสนับ สนุนและลดการใช้นโยบายการแทรกแซง เป็นต้น

“ภาครัฐต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ และโลกที่เปลี่ยนแปลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรื่องของกฎหมาย และระเบียบต่าง ๆที่มีกว่า 100,000 ฉบับ ใบอนุญาตกว่า 1,500 ฉบับ ได้เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจของเอกชนอย่างมาก เพราะประเมินว่าการ ขอใบอนุญาตจากหน่วยงานต่าง ๆ ในการทำธุรกิจไทย มีขั้นตอนที่หลากหลาย และหลายขั้นตอน ทำให้มีต้นทุนการทำธุรกิจเพิ่มขึ้น0-20%ของจีพีดีประเทศ”

สำหรับนโยบายการปรับทิศทางให้ท้องถิ่นมีอำนาจตัดสินใจมากขึ้นนั้น ยอมรับว่า แม้รัฐบาลจะกระจายอำนาจแต่ภาครัฐยังมีลักษณะรวมศูนย์อยู่ค่อนข้างมาก และการทำงานมีลักษณะแยกส่วน ตามหน่วยงานราชการ ทำให้การแก้ปัญหาหลาย ๆ เรื่องติด ขัดและไม่คืบหน้า สุดท้ายประเทศไทยก็มักจะได้ยินคำว่า วันสต็อปเซอร์วิส หรือ มาตรา44 เพื่อผ่าทางตันของปัญหา เป็นต้น ทั้งนี้ต้องการให้ภาครัฐกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นตัดสินใจในการแก้ปัญหาต่าง ๆ มากขึ้นและเปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการเสนอแนะสิ่งที่ต้อง การได้มากขึ้นด้วย ซึ่งตรงนี้จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องของการกระจายตัวของเมือง ไม่ให้กระจุกอยู่ใน กรุงเทพฯและปริมณฑลมากนัก

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

สมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตฯป้ายแดง 

           ดุษฎี สนเทศ

          tharmkhao@gmail.com

          ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมคนใหม่

          ครม.อังคารที่ผ่านมา เห็นชอบดำรงตำแหน่ง แทน อาทิตย์ วุฒิคะโร ที่ตัดสินใจลาออก ก่อนเกษียณอายุราชการสิ้นเดือนกันยายนนี้

          เกิด 7 สิงหาคม 2500 ชื่อเล่น สิ่ว

          ปริญญาตรี เศรษฐศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2523, ปริญญาโท พบ.ม.(เศรษฐศาสตร์ อุตสาหกรรม) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ปี 2526

          Master of Art (Economics) Queen's University Canada ปี 2532 ปริญญาเอก Ph.D.(Economics) Concordia University Canada ปี 2537

          หลักสูตร วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สถาบันป้องกันราชอาณาจักรประเทศไทย ปี 2552/2553 ผู้บริหารระดับสูงด้านการค้าและการพาณิชย์ กระทรวงพาณิชย์ ปี 2555 ฯลฯ

          ตำแหน่ง หน้าที่การงานหลักๆ ในอดีต

          ผู้อำนวยการกองเศรษฐกิจอุตสาหกรรมระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม มีนาคม 2546-กุมภาพันธ์ 2548, ผู้อำนวยการสำนักนโยบายอุตสาหกรรมมหภาค กุมภาพันธ์ 2548-กันยายน 2549, ผู้อำนวยการศูนย์สารสนเทศเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ตุลาคม 2549-ธันวาคม 2551, รักษาการผู้อำนวยการสำนักวิจัยเศรษฐกิจอุตสาหกรรม 2547-2551, รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ธันวาคม 2551-ธันวาคม 2553, ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม ธันวาคม 2553-พฤษภาคม 2556

          ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม พฤษภาคม 2556-ตุลาคม 2557, รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ตุลาคม 2557-กันยายน 2558

          ขยับเป็น อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ตามมติ ครม. 8 กันยายน 2558 กระทั่งปัจจุบัน

          อีกทั้งเป็นกรรมการอื่นๆ อาทิ บอร์ดธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทสไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ที่ปรึกษาคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กรรมการ บริษัทแปซิฟิกไปป์ (มหาชน) จำกัด 2551

          สายตรง อรรชกา สีบุญเรือง เจ้ากระทรวงอุตสาหกรรม

          ผลักดันดำรงตำแหน่ง

          นั่งเก้าอี้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมคนใหม่ตามโผ

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 

พร้อมให้กลุ่มเกษตรกรกู้พันล้าน 5.6 แสนครัวเฮ/ยาง-อ้อยหมดสิทธิ์ผิดเงื่อนไข

พร้อมให้กลุ่มเกษตรกรกู้พันล้าน 5.6 แสนครัวเฮ/ยาง-อ้อยหมดสิทธิ์ผิดเงื่อนไข

ลั่นระฆังปล่อยกู้ 1 พันล้านปลอดดอกเบี้ย 5 ปี “อุบลศักดิ์” เผยความคืบหน้า งบประมาณมาแล้ว เร่งรัดกลุ่มเกษตรกรเที่ผ่านมาตรฐานกรมตรวจบัญชีสหกรณ็ 3.27 พันกลุ่ม 77 จังหวัดรวมกว่า 5.6 แสนครอบครัว ขณะยาง-อ้อยหมดสิทธิ์กู้จากผิดวัตถุประสงค์โครงการ ยันไม่ห่วงเกษตรกรเบี้ยวหนี้ มั่นใจคืนครบ 100%

นายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ประธานคณะกรรมการกลางกลุ่มเกษตรกรแห่งประเทศไทย และกรรมการในคณะกรรมการสงเคราะห์เกษตรกร เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงโครงการสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มเกษตรกรเพื่อให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนในการผลิตและการตลาด ตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ และ 24 พฤศจิกายน 2558 ที่ได้ให้ความเห็นชอบอนุมัติจัดสรรเงินกองทุนสงเคราะห์ จำนวน 1 พันล้านบาทมาแล้ว โดยมีกลุ่มเป้าหมายที่กรมตรวจบัญชีสหกรณ์รับรองมาตรฐาน จำนวน 3.27 พันกลุ่มเกษตรกร ใน 77 จังหวัดรวม 5.6 แสนครอบครัว จากทั้งหมด 5.61 พันกลุ่ม มีสมาชิกจำนวน 6.18 แสนครอบครัว ซึ่งมีปริมาณธุรกิจรวม 1.06 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการให้เงินกู้ยืม 1.31 พันล้านบาท จัดหาปัจจัยการผลิต 1.34 พันล้านบาท รวบรวมผลผลิต 6.93 พันล้านบาท แปรรูปผลผลิต 808 ล้านบาท และอื่นๆ 261 ล้านบาท

จุดเด่นของกลุ่มเกษตรกร คือมีขนาดเล็ก มีการจัดการให้ความช่วยเหลือกันตามลักษณะพื้นบ้าน ไม่มุ่งเน้นการแสวงหากำไรจากสมาชิก ทำให้ไม่สามารถสร้างเครดิตให้กับแหล่งเงินทุนในระบบที่จะให้เงินทุนหรือเงินกู้กับกลุ่มเกษตรกรโดยตรงในแต่ละแห่งได้ ยังจำเป็นต้องพึ่งแหล่งเงินทุนจากภาครัฐเป็นหลัก โดยเฉพาะกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร เป็นแหล่งเงินทุนที่เก็บจากค่าธรรมเนียมการส่งออกข้าวจากผู้ส่งออก(ค่าพรีเมียมข้าวตั้งแต่ปี 2519-2529)

นายอุบลศักดิ์ กล่าวว่า การดำเนินการตามโครงการนี้ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบของกรมส่งเสริมสหกรณ์ ระยะเวลาโครงการ 5 ปี (ปี 2559-2564) ซึ่งมีหลักเกณฑ์การจัดสรรจำนวน 1 พันล้าน งบประมาณดังกล่าวมาเรียบร้อยแล้วจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 จัดสรรวงเงิน 60% หรือประมาณ 600 ล้านบาท ให้กลุ่มเกษตรกรเป้าหมาย 3.27 พันกลุ่ม ส่วนที่ 2 จัดสรรเงิน 40% หรือประมาณ 400 ล้านบาท สำหรับสมาชิกกลุ่มเกษตรกรที่ได้มาตรฐานทั้งสิ้น 5.60 แสนครอบครัว เกษตรกรจะได้รับ 2 ต่อ ทั้งเงินกู้ยืมจากกลุ่ม และจากที่ตนเป็นสมาชิกด้วย วงเงินที่ได้ก็เพิ่มเช่นเดียวกัน

สำหรับคุณสมบัติของเกษตรกรที่จะกู้เงินกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร จะต้องอยู่ในกลุ่มเกษตรกรที่ได้มาตรฐาน ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกลุ่มเกษตรกรระดับจังหวัด ไม่ผิดนัดชำระหนี้เงินทุนอื่นๆ ของทางราชการ และไม่อยู่ในระหว่างการถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับการเงินจากกรมส่งเสริมสหกรณ์

อย่างไรก็ตามผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ก็คือ กลุ่มเกษตรกรมีเงินทุนในการพัฒนาศักยภาพในการดำเนินธุรกิจได้อย่างกว้างขวาง สามารถจัดหาวัสดุอุปกรณ์การผลิตทั้งพืชและสัตว์มาบริการสมาชิกได้อย่างทั่วถึงสอดคล้องกับความตัองการของสมาชิก โดยเฉลี่ย 3 หมื่นบาทต่อคน สามารถลดต้นทุนการผลิตและรายได้เพียงพอแก่การดำรงชีพ นอกจากนี้กลุ่มเกษตรกรสามารถขยายตลาดจำหน่ายผลิตผลได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากได้รับการสนับสนุนเงินทุนปลอดดอกเบี้ยไม่ต่ำกว่า 3 -5 แสนบาทต่อกลุ่ม ทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำกว่าภาคเอกชนมีเงินทุนเพียงพอในการประกอบอาชีพการเกษตร

“กลุ่มเกษตรกรที่ไม่สามารถกู้ในโครงการนี้ได้ คือ ชาวสวนยางพารา เพราะระยะเวลาการปลูกและให้ผลผลิตเกิน 2 ปี ขัดกับวัตถุประสงค์โครงการที่ต้องเป็นเงินกู้หมุนเวียนใช้ในการผลิตในระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี และชาวไร่อ้อยก็ไม่สามารถกู้ได้ เพราะมีกองทุนอ้อยฯอยู่แล้ว สำหรับโครงการนี้จัดมา 2-3 ครั้งส่วนใหญ่เกษตรกรจะชำระหนี้ 98% แต่ครั้งนี้จะให้เกษตรสามารถจ่ายหนี้ได้ 100 % และมีการจัดสรรเงินอย่างเป็นธรรม ในรูปแบบคณะกรรมการ จึงอยากให้เกษตรกรเร่งเขียนโครงการนำเงินไปใช้หมุนเวียนในกลุ่มได้แล้ว”

  จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 

เดินหน้าสร้างแหล่งน้ำระดับไร่นา รองรับน้ำช่วงฤดูฝน

จากสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นและมีระยะเวลายาวนาน ทำให้การขาดแคลนน้ำมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกขณะ ในหลาย ๆ พื้นที่กำลังประสบปัญหาขาดน้ำอย่างเห็นชัด แต่ในช่วงเดือนพฤษภาคม ถึง กรกฎาคมนี้ประเทศไทยเริ่มใกล้เข้าสู่ช่วงฤดูฝน ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาที่ดิน ให้ดำเนินการโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรใน 3 โครงการ ประกอบด้วย 1. งานพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2524–2558 รวมจำนวน 8,268 แห่ง 2. โครงการพัฒนาแหล่งน้ำชุมชน เป็นการนำร่องและเป็นโครงการต้นแบบ

โดยกรมฯ ได้รับงบประมาณในการดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำชุมชน ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2555–2558 จำนวน 36 แห่ง และมีแผนดำเนินการในปีงบประมาณ 2559 จำนวน 7 แห่ง และ 3. โครงการก่อสร้างแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน ขนาด 1,260 ลูกบาศก์เมตร หรือ “บ่อจิ๋ว”ในการจัดสร้างทางเกษตรกรจะมีส่วนร่วมออกค่าใช้จ่าย 2,500 บาทต่อบ่อ

ในพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ ดำเนินการได้รวมจำนวน 352,690 บ่อ และแผนดำเนินการในปีงบประมาณ 2559 จำนวน 20,000 บ่อ ซึ่งขณะนี้ก่อสร้างเสร็จแล้วได้จำนวน 18,153 บ่อ

นายสุรเดช เตียวตระกูลอธิบดีกรมพัฒนาที่ดินกล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินงานพัฒนาโครงการแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน โครงการพัฒนาแหล่งน้ำทั้ง 3 โครงการนั้น

ทางพลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำชับให้ทางกรมพัฒนาที่ดินเร่งดำเนินการให้เสร็จสิ้นก่อนฤดูฝนที่จะมาถึงนี้ เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำบ่อน้ำไว้สำรองน้ำใช้ในการเพราะปลูกต่อไป และสามารถช่วยเหลือเกษตรกรต่อสู้กับภาวะภัยแล้งได้ในระดับหนึ่ง แต่เกษตรกรเองต้องมีความรู้ความเข้าใจในการช่วยกันรักษาและยืดอายุการใช้งานบ่อน้ำให้ยาวนานขึ้น ด้วยการปลูกหญ้าแฝกรอบขอบบ่อ เพื่อช่วยยึดดินขอบบ่อไว้และช่วยกรองเศษตะกอนดินไม่ให้ไหลลงบ่อน้ำ และปลูกพืชผักสวนครัว ไม้ผลต่าง ๆ และเลี้ยงปลาในบ่อน้ำไว้บริโภคเอง

 ซึ่งเป็นวิธีการที่ทำให้เกิดการใช้บ่อน้ำในไร่นาให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และในขณะที่ฝนทิ้งช่วงบ่อน้ำนี้ก็จะช่วยรักษาความ ชื้นไว้ในดิน ทำให้สามารถปลูกพืชทนแล้งที่ใช้น้ำน้อยได้ ซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งที่จะช่วยเหลือเกษตรกรให้บรรเทาความเดือดร้อนและทำให้มีรายได้สามารถที่จะผ่านพ้นในช่วงฤดูแล้งในแต่ละปีไปได้.“

  จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 

รัฐผนึกหน่วยงานบูรณาการภาคเกษตรติวเข้ม'เกษตรกร'สร้างอาชีพเสริมรายได้ 

          สุรัตน์ อัตตะ

          ผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงในช่วงปี 2558/59 ทำให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงมีแนวคิดที่จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรและประชาชนในช่วงภัยแล้งและราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ได้มอบนโยบายให้ทุกภาคส่วนทำงานร่วมกันในรูปแบบ "ประชารัฐ" พร้อมทั้งมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดทำ "โครงการอบรมเพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิตของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง"  ปี 2558/59 ฐานะ ผู้จัดการโครงการ เพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกันหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ คสช. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข ประชาชน และภาคเอกชน มีเป้าหมายเพื่อให้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าวจำนวน 220,500 รายให้รับการอบรมตามหลักสูตร 90 ชม.ต่อรุ่น รุ่นละ 50 ราย รวม 5 รุ่น รุ่นละ 15 วัน ใช้พื้นที่ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอละ 1 ศูนย์ จำนวน 882 ศูนย์ทั่วประเทศเป็นสถานที่ในการอบรม

          "การอบรมจะมี "เกษตรกรต้นแบบ" มาถ่ายทอดประสบการณ์ความรู้ รวมทั้งวิทยากรจากหลากหลายหน่วยงาน มาให้ความรู้ตามชุด วิชาที่เกี่ยวข้อง เช่น กลุ่มวิชาสร้างรายได้และ ลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน จะสอนเกี่ยวกับการแปรรูปผลิตภัณฑ์ การทำบัญชีครัวเรือน เน้นให้เกษตรกรได้องค์ความรู้แบบกึ่งปฏิบัติตาม วิถีดำเนินชีวิตของเกษตรกรเรียนรู้อยู่กับพื้นที่ศูนย์และปฏิบัติจริงในพื้นที่ของเกษตรกรโดยตรง จากการสำรวจและประเมินการอบรม พบว่า เกษตรกรที่ผ่านการอบรมกว่า 76% จะนำความรู้ที่ได้จากการอบรมไปช่วยลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ลดต้นทุนการผลิต และประกอบอาชีพเสริม นอกจากนี้จะนำความรู้ที่ได้ไปปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิต จากกิจกรรมเดิมสู่กิจกรรมใหม่ เช่น จากทำนาอยู่หันไปปลูกพืชใช้น้ำน้อยมากขึ้น เดิมปลูกพืชเชิงเดี่ยว หันไปทำเกษตรผสมผสานมากขึ้น"

          โอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรเผยความคืบหน้าการดำเนินโครงการระหว่างนำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่เยี่ยมชมการถ่ายทอดความรู้ ณ ศูนย์เรียนรู้ฯ ปาล์มน้ำมันของ ด.ต.สมนึก โมราศิลป์ บ้านห้วยปลิง ต.ราชกรูด อ.เมือง จ.ระนอง ซึ่งการลงพื้นที่ จ.ระนอง ครั้งนี้มีการจัดอบรมผ่านพื้นที่ ศพก.ทั้งหมดทั้ง 5 อำเภอ มีอบรมเกษตรกรตามเป้าหมาย 3 ครั้ง จำนวน 5 รุ่น รวม 1,250 คน ขณะนี้ดำเนินการไปแล้วคิดเป็น 84.91% (ข้อมูล ณ 29 เม.ย.) มีการจัดหลักสูตรที่สอดคล้องกับพื้นที่เกษตร อาทิ ในศูนย์เรียนรู้ฯ จะเน้นการจัดการสวนปาล์ม มีเกษตรกรต้นแบบเป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ ทุกเรื่องที่เป็นการจัดการสวนปาล์มให้มีประสิทธิภาพสูง และได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดี และจะได้เรียนรู้การปลูก ผักเหลียงในสวนปาล์มน้ำมันเพื่อสร้างรายได้เพิ่ม การขยายพันธุ์ผักเหลียงขายเสริม รวมทั้งการเลี้ยงผึ้งโพรง ในสวนปาล์มน้ำมัน เพื่อช่วยการผสมเกสรให้ดอกติดผลดี  รวมถึงเน้นการทำปุ๋ยหมักทางชีวภาพเพื่อลดต้นทุน การเลี้ยงนกแสกกำจัดหนูในสวนปาล์มน้ำมัน เป็นต้น

          อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรยังกล่าวถึงการดูแลเกษตรกรในฤดูกาลผลิตใหม่ ว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้เตรียมการไว้ 4 ด้าน คือ 1.เตรียมพร้อมวางแผนการผลิต ภายใน ศพก.ทั้ง 882 ศูนย์ โดยการจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี (Field Day) ทุกอำเภอ อำเภอละ 1 จุด การประสานงานให้บริการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การให้บริการความรู้ เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับชุมชน ให้บริการข้อมูลข่าวสารต่างๆ เช่น ข้อมูลราคา แหล่งรับซื้อ ให้คำแนะนำในการวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ (Agri Map) การปรับปรุงและปรับเปลี่ยนการปลูกข้าว ข้าวโพด ในพื้นที่ไม่เหมาะสมไปสู่การปลูกพืชอื่น

          2.การเข้าถึงปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพด้านพันธุ์พืช โดยให้คำแนะนำแหล่งเมล็ดพันธุ์ดีมีคุณภาพจากศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์พืชชุมชน ได้แก่ ศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วคุณภาพดี 190 ศูนย์และศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว 160 ศูนย์ และศูนย์ปฏิบัติการฯ ด้านพันธุ์พืชเพาะเลี้ยง 8 ศูนย์ สำหรับ ด้านปุ๋ยมีศูนย์จัดการดินและปุ๋ยชุมชน 882 ศูนย์ ที่จะให้คำแนะนำเกี่ยวกับส่งเสริมการใช้ปุ๋ยเพื่อลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งมีหน่วยบริการดินและปุ๋ยชุมชนต้นแบบอำเภอละ 1 จุด 3.การลดความเสี่ยงจากการระบาดของศัตรู จะมีศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน 882 ศูนย์ และศูนย์ปฏิบัติการฯ ด้านอารักขาพืช 9 ศูนย์ คอยช่วยเหลือเกษตรกรในการสำรวจและประเมินสถานการณ์ศัตรูพืช ส่งเสริมการจัดการศัตรูพืชด้วยวิธีผสมผสาน ผลิตและสนับสนุนสารชีวภัณฑ์ แมลงตัวห้ำตัวเบียนในการป้องกันศัตรูพืช เพื่อลดการ ระบาด และ 4.การสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรมุ่งเน้นการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ 550 แปลงใน 76 จังหวัด เพื่อช่วยเพิ่มอำนาจในการต่อรอง และลดต้นทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

          ขณะที่ สงกรานต์ ภักดีคง รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเสริมว่า นอกจากนี้กรมส่งเสริมการเกษตรยังดูแลเกษตรกรตาม โครงการบูรณาการแก้ไขปัญหาภัยแล้งของรัฐบาล ใน 2 มาตรการ ได้แก่ มาตรการที่ 1 เป็นการ ช่วยเหลือเกษตรกรเป็นรายบุคคล โดยการสนับสนุนความรู้และปัจจัยการผลิตให้แก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งขณะนี้กรมส่งเสริมการ เกษตรดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วนั้น มีเกษตรกรในพื้นที่ 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา จำนวน 155,183 ครัวเรือนและมาตรการที่ 4 เน้นการทำงานในรูปแบบ "ประชารัฐ" โดยเกษตรกรเสนอแผนชุมชนที่ต้องการขึ้นมา แล้วรัฐให้การสนับสนุน เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของเกษตรกรอย่างแท้จริงในทุกๆ พื้นที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง

          "ขณะนี้มีโครงการที่ได้รับการอนุมัติงบประมาณแล้ว 8,172 โครงการ งบประมาณรวม 4,555.98 ล้านบาท เกษตรกรได้รับประโยชน์รวมไม่น้อยกว่า 2.5 ล้านครัวเรือน เกิดการสร้างรายได้จากการจ้างแรงงานรวมไม่น้อยกว่า 1,350 ล้านบาท 7,110 ชุมชน เกิดการพัฒนาในการร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาและหาแนวทางแก้ไข ในชุมชนด้วยความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชนเอง สำหรับการลงพื้นที่ จ.ระนอง พบว่า เกษตรกรดีใจที่ได้รับงบสนับสนุนเพื่อต่อยอดอาชีพ สร้างรายได้ในช่วงแล้ง" รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรกล่าวทิ้งท้าย

          ประเดิมงานถ่ายทอดเทคโนฯที่'บางไทร'

          กระทรวงเกษตรฯ จัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีพร้อมกันทุกอำเภอทั่วประเทศ จำนวน 882 จุด เพื่อรับการเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ ปี 2559 ดีเดย์แห่งแรกที่ศูนย์เรียนรู้ฯ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา วันที่ 27 พฤษภาคม  นี้

          พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ก่อนที่กรมอุตุนิยมวิทยาจะประกาศเข้าสู่ฤดูฝนของประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ซึ่งจะเป็นการก้าวเข้าสู่ฤดูการเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ของเกษตรกรปี 2559/60 นั้น จึงได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ บูรณาการและเตรียมพร้อมให้บริการเกษตรกรตามบทบาทภารกิจ โดยกิจกรรมหนึ่ง คือ การจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี (Field Day) เพื่อเตรียมพร้อมเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ ปี 2559 ที่หวังกระตุ้นให้เกษตรกรเริ่มต้นการผลิตในปีการเพาะปลูกใหม่ด้วยการใช้เทคโนโลยีและภูมิปัญญาที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่ รวมทั้งเผยแพร่ให้เกษตรกรรู้จักและใช้ประโยชน์จากศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรที่มีอยู่ โดยเตรียมจัดเปิดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อให้เป็นต้นแบบแห่งแรกวันที่ 27 พฤษภาคม นี้ ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา และเตรียมขยายผลให้ครบทุก ศพก. ในแต่ละอำเภอ อำเภอละ 1 จุด รวม 882 แห่งทั่วประเทศ

  จาก http://www.komchadluek.net วันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 

สศค. ยัน ศก.ไทยแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น มั่นใจทั้งปีโตตามเป้า 3.3%

สศค. ยืนยัน เศรษฐกิจไทยแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น มั่นใจทั้งปีโตตามเป้าที่ 3.3% หลังตัวเลข ไตรมาสแรก ปี 59 สะท้อนการฟื้นตัว ชี้ ภาคการท่องเที่ยว เป็นกำลังสำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ ...

เมื่อวันที่ 23 พ.ค. นายพรชัย ฐีระเวช รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ยืนยันว่า ทิศทางเศรษฐกิจของไทยในขณะนี้เริ่มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปี 2559 ที่ออกมาขยายตัวได้ 3.2% ถือว่าขยายตัวได้ดีที่สุดในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน 6 ประเทศ (ไทย, มาเลเซีย, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, บรูไน) จึงเป็นเครื่องสะท้อนได้ว่า เศรษฐกิจไทยไม่ได้ขยายตัวต่ำที่สุดตามที่มีกระแสข่าว

"จากข่าวที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2559 ว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศรู้สึกได้ว่าประเทศเสื่อมถอยทุกด้านอย่างชัดเจน โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจที่ประเทศไทยเติบโตต่ำสุดในอาเซียนติดต่อกันทั้ง 2 ปี และปัญหาหลักอยู่ที่ความเชื่อมั่นจากต่างประเทศ ส่งผลให้การลงทุนจากต่างประเทศหายไปถึงร้อยละ 90 ในปี 2558 และในปี 2559 ข้อมูลดังกล่าวมีความคลาดเคลื่อนและไม่ตรงกับข้อเท็จจริง"

ทั้งนี้ พบว่าอัตราการขยายตัวของมูลค่าส่งออกสินค้าของไทย ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา ขยายตัว 0.9% ถือว่าดีขึ้นเมื่อเทียบกับบรูไน อินโดนีเซีย สิงคโปร์ เป็นต้น ส่วนอัตราการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทย ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2559 ขยายตัว 15.5% เป็นการขยายตัวได้ดีที่สุดในภูมิภาคเมื่อเทียบกับฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย เป็นต้น เป็นเครื่องสะท้อนว่าภาคการท่องเที่ยวยังเป็นกำลังสำคัญในการกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ ในปี 2558 เศรษฐกิจไทยขยายตัวที่ 2.8% ต่อปี เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัว 0.8% ต่อปี ซึ่งถือว่าเศรษฐกิจไทยไม่ได้ขยายตัวต่ำสุด เนื่องจากเศรษฐกิจบรูไนหดตัว 0.6% และเศรษฐกิจสิงคโปร์ ขยายตัวเพียง 2% เท่านั้น

ส่วนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในปี 2558 พบว่า ข้อมูลเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิ (FDI) มีมูลค่าอยู่ที่ 8.03 พันล้านดอลลาร์ ขยายตัวสูงถึง 115.8% ต่อปี เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่ติดลบ 76.7% สะท้อนความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ฟื้นตัวขึ้นหลังจากสถานการณ์การเมืองเข้าสู่ภาวะปกติ รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) สามารถกลับมาอนุมัติโครงการลงทุนขนาดใหญ่ (วงเงินเกิน 200 ล้านบาท) ได้ ภายหลังการแก้ปัญหาภาวะสุญญากาศทางการเมืองในปี 2557 ส่งผลให้มีโครงการค้างอนุมัติกว่า 7 แสนล้านบาท

นายพรชัย กล่าวยืนยันว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยไม่ได้แย่ที่สุดในอาเซียน โดยในปี 2559 มั่นใจว่า เศรษฐกิจไทยจะยังขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ 3.3% ถือเป็นทิศทางที่ดีกว่ากลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน 6 ประเทศ โดยข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่าในปีนี้ภาพรวมเศรษฐกิจของบรูไนจะหดตัว 2%, สิงคโปร์ขยายตัว 2.2% และมาเลเซียยังมีการขยายตัวที่ชะลอลงอย่างต่อเนื่อง อยู่ที่ 4.6% ลดลงเมื่อเทียบจากปีก่อน

  จาก http://www.thairath.co.th วันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 

ปริมาณน้ำในเขื่อนแควน้อย อยู่แค่ 26% มีน้ำไหลเข้า 1.57 ล้าน ลบ.ม.

วันที่ 23 พฤษภาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์น้ำในเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก ล่าสุดวันนี้มีน้ำสะสมในเขื่อนแควน้อยอยู่ที่ 242 ล้าน ลบ.ม. หรือ 26% ของความจุตัวเขื่อน ขณะที่ปริมาณน้ำใช้การได้จริง อยู่ที่ 199 ล้าน ลบ.ม. หรือ 22% ของความจุของตัวเขื่อน ส่วนการระบายน้ำขอตัวเขื่อนยังระบาย อยู่ที่ 1.41 ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน เพื่อเป็นการรักษาระบบนิเวศ และส่งน้ำช่วยเหลือประชาชนในราบลุ่มเจ้าพระยา ส่วนปริมาณน้ำที่ไหลเข้าในช่วงนี้ เนื่องจากมีพายุฝนเข้านั้น ล่าสุดเช้าวันนี้มีระดับน้ำเข้า 1.57 ล้าน ลบ.ม.

นายเฉลิมศักดิ์ ทักษาดิพงษ์ ผู้อำนวยการเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ในขณะนี้ว่า น้ำในเขื่อนแควน้อย ยังเป็นไปตามแผนการจัดการน้ำของกรมชลประทาน การระบายน้ำของเขื่อนแควน้อย ยังอยู่ที่วันละ 1.41 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเพิ่มการระบายน้ำ จาก 1.04 ล้าน ลบ.ม. เนื่องจากพบว่ามีบางจังหวัดในพื้นที่ราบลุ่มภาคกลาง ในการผลิตน้ำประปาอุปโภคบริโภค ขณะที่ปริมาณฝนตกในช่วงนี้และมีน้ำไหลเข้าวันหนึ่งประมาณ 1.6-1.8 ล้าน ลบ.ม. ที่มากสุดคือเมื่อวานที่มีน้ำไหลเข้าถึง 1.81 ล้าน ลบ.ม. แต่เช้าวันนี้เริ่มลดลงเหลือเพียง 1.57 ล้าน ลบ.ม.ซึ่งถือว่าน้อยมาก ซึ่งทางชลประทาน ก็คาดหวังว่า ฝนจะไม่ทิ้งช่วง เพื่อทางเขื่อนแควน้อยจะสามารถกักเก็บน้ำไว้ให้มากที่สุด

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 

'สมชาย หาญหิรัญ'ขึ้นปลัดกระทรวงอุตฯคนใหม่ 

          ตั้ง "สมชาย หาญหิรัญ" นั่งปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมแทน "อาทิตย์ วุฒิคะโร" ที่ยื่นใบลาออกก่อนเกษียณ 3 เดือน จับตาซี10  อีก 7 คนแห่เกษียณ 30 ก.ย.นี้ วงในบอก ดันข้าราชการเสียบระดับ 10 ยังยาก ยกเว้นคนเก่งที่ชื่อติดบอร์ดรออยู่แล้ว โดยเฉพาะณัฐพล รังสิตพล และ ประสงค์ นิลบรรจง ได้ขยับเก้าอี้แน่ ด้านภาคเอกชนเห็นด้วยตั้งปลัดคนใหม่เหมาะสม

          แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าในเร็วๆนี้ ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมจะเสนอชื่อนายสมชาย หาญหิรัญ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรมในระดับ 10 ขึ้นเป็นปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม หรือเทียบเท่าระดับ11 ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาโดยการแต่งตั้งครั้งนี้จะมาแทนนายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งดังกล่าวเมื่อเย็นวันที่ 10 พฤษภาคม ที่ผ่านมา และดร.อรรชกาได้เซ็นอนุมัติไปแล้ว โดยจะมีผลในคำสั่งดังกล่าววันที่ 7 มิถุนายนนี้ ถือว่าลาออกก่อนเกษียณอายุราชการที่จะเกษียณในวันที่ 30 กันยายน 2559 นี้ (เกษียณก่อนอายุ 3 เดือนเศษ )

          ทั้งนี้นายสมชายถือว่าเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับในแง่การทำงานโดยมีประวัติการรับราชการ เคยดำรงตำแหน่งตั้งแต่ผู้อำนวยการกองเศรษฐกิจอุตสาหกรรมระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม, ผู้อำนวยการสำนักนโยบายอุตสาหกรรมมหภาค, ผู้อำนวยการศูนย์สารสนเทศเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ,รักษาการผู้อำนวยการสำนักวิจัยเศรษฐกิจอุตสาหกรรม, รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม, ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม, ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมและเมื่อเดือนตุลาคม 2557 - กันยายน 2558 ขึ้นเป็นรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ปัจจุบันดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยนายสมชายจะเกษียณอายุราชการในเดือนกันยายน 2560 ที่ผ่านมาอยู่เบื้องหลังความสำเร็จในงานหลายด้านด้วยกัน ทั้งงานด้านบริหาร  ด้านนโยบายและงานทางวิชาการ

          นอกจากนี้ที่น่าจับตามองมากในเวลานี้คือตำแหน่งระดับ 10 ที่จะเกษียณอายุราชการพร้อมกันในวันที่ 30 กันยายนนี้มีมากถึง 7 ท่าน ไล่ตั้งแต่ 1.นายธวัช ผลความดี  เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) 2.นายชาติ หงส์เทียมจันทร์  อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่(กพร.) 3.นายประสงค์ นรจิตร์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม 4.นายศักดา พันธ์กล้า  รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม 5.นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม 6.นายสมพล รัตนาภิบาล ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม 7.นายอุทัย ปิยวนิชพงษ์  ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม

          ดังนั้นข้าราชการระดับ 9 ที่ถูกจับตามองที่จะเลื่อนตำแหน่งขึ้นมาในระดับ 10 ก็ยังเป็นเรื่องที่ยากลำบากในการตัดสินใจปรับโยกตำแหน่งของกระทรวงอุตสาหกรรมในยุคนี้  ยกเว้นข้าราชการที่มีชื่อติดบอร์ดรออยู่แล้ว เพราะมีผลงานและประสบการณ์ที่ชัดเจน เช่น นายณัฐพล รังสิตพล  รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และ  นายประสงค์ นิลบรรจง รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.) ได้ขยับเก้าอี้ขึ้นในระดับ 10 แน่นอน เพียงแต่จะถูกโยกย้ายไปนั่งในสำนักงานหรือในกรมไหนของกระทรวงอุตสาหกรรมยังคาดเดาได้ยาก  ส่วนที่เหลือนับเป็นความยากลำบากยิ่งกว่าของผู้บริหารระดับสูงในกระทรวงดังกล่าวที่จะวางตัวให้ถูกที่ ถูกงานเนื่องจากยังไม่มีตัวเด่นในเวลานี้

          สำหรับระดับ 9 ที่รอขยับเป็นระดับ 10 ในขณะนี้นอกจากนายณัฐพลและนายประสงค์แล้ว ยังมีนางเบญจมาพร เอกฉัตร์ รองเลขาธิการสมอ.  นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์  และนายพรเทพ การศัพท์ รองอธิบดี กสอ. นายสมบูรณ์ ยินดียั่งยืน นายเดชา เกื้อกูล รองอธิบดีกพร. นายสมคิด วงศ์ไชยสุวรรณ นายอภิจิณ โชติกเสถียร นายจุลพงษ์ ทวีศรี รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) นางวรวรรณ ชิตอรุณ นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) นายสุรพล ชามาตย์ และนายวีรศักดิ์ ศุภประเสริฐ รองผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.)

          ด้านนายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวในฐานะตัวแทนภาคเอกชนว่า ถ้าครม.มีมติเห็นชอบให้นายสมชาย หาญหิรัญ อธิบดีกสอ. ขึ้นมาเป็นปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ถือว่าเหมาะสม เนื่องจากผ่านงานด้านอุตสาหกรรมมาเยอะ มีความรอบรู้ด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมพอสมควร  อีกทั้งมีมุมมองและความรู้ค่อนข้างทันสมัยก้าวทันโลก ที่ผ่านมาสามารถประสานกับภาคเอกชนได้ดี  เมื่อขึ้นมาเป็นปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมก็จะทำให้งานสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง

          อนึ่งก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่ามี 2 ตัวเต็งที่จะได้รับการแต่งตั้งให้นั่งเก้าอี้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม  คือนายสมชาย หาญหิรัญ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม(กสอ.) ที่จะเกษียณในเดือนกันยายน 2560 หากขึ้นเป็นปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมก็จะมีอายุงานเหลืออยู่ 1 ปี  และนายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ที่จะเกษียณอายุราชการในเดือนกันยายน 2561 ซึ่งเป็นอีกคนหนึ่งที่มีความเหมาะสม

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 

เกษตรกรลุ้นพ้นแล้ง ฝนเติมเขื่อนเจ้าพระยา ไซโคลน‘โรอานู’ขยับขึ้นฝั่งกระหน่ำเมียนมาภูเก็ตลมแรงห้ามเล่นน้ำ

กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศพยากรณ์อากาศระหว่างวันที่ 21-27 พฤษภาคม 2559โดยระบุว่า ลมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคเหนือ ภาคกลางและภาคใต้ นอกจากนี้ พายุไซโคลน “โรอานู”(ROANU) บริเวณอ่าวเบงกอลตอนบน ซึ่งเคลื่อนตัว ตามแนวชายฝั่งทางด้านตะวันออกของคาบสมุทรอินเดีย จะขึ้นฝั่งบริเวณประเทศบังคลาเทศและเมียนมา ในช่วงวันที่ 21-22 พ.ค. นี้ ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรง โดยบริเวณทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-4 เมตร

เตือน‘ฝนฟ้าคะนอง’ทั่วทุกภาค

สำหรับสภาพอากาศของประเทศไทยนั้น คาดว่าจะมีฝนฟ้าคะนองเพิ่มมากขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ในช่วงวันที่ 21-27 พ.ค. นี้ ขอให้ประชาชนภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน ระวังอันตรายจากฝนตกหนัก ส่วนชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบน ควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ และเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันควรงดออกจากฝั่งในช่วงดังกล่าว

คนชัยนาทเฮน้ำในเขื่อนเพิ่มขึ้น

21 พ.ค. 2559 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สถานีวัดน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ต.บางหลวง อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ระดับน้ำเหนือเขื่อนยกตัวขึ้นอยู่ที่ 14.61 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากฝนที่ตกลงมาอย่างหนักหลายวันติด เช่นเดียวกับห้วย หนอง คลอง บึง ต่างก็เริ่มมีน้ำเพิ่มขึ้น ทำให้เกษตรกรในพื้นที่ต่างๆ ใน จ.ชัยนาท ต่างเร่งสูบน้ำเข้าพื้นที่ของตนเอง โดยเฉพาะชาวนาที่ทำนาปรัง หลังจากต้องลุ้นมาตลอดช่วงหน้าแล้งว่าต้นข้าวที่ปลูกไว้จะรอดชีวิตหรือไม่ เมื่อฝนตกหนักและปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นจึงรีบสูบน้ำมาเลี้ยงต้นข้าวทันที

ยังไม่ควรทำนา-แนะเก็บน้ำสำรอง

ในวันเดียวกัน ที่ จ.อุตรดิตถ์ นายพิพัทต์ คงสินทวีสุข รองผู้อำนวยการเขื่อนสิริกิติ์ กล่าวว่า ตั้งแต่เริ่มเข้าสู่เดือน พ.ค. 2559 เกิดฝนตกเหนือเขื่อนด้านจังหวัดน่าน ทำให้น้ำเริ่มไหลเข้าเขื่อนเพิ่มขึ้นเป็น 6-7 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดี หลังตลอด 6 เดือนที่ผ่านมาน้ำไหลเข้าน้อยมาก อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำสามารถใช้งานได้จริงยังมีอยู่น้อย คือ 763 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือเพียงร้อยละ 11 เท่านั้น จึงยังไม่ควรใช้น้ำเพื่อการทำนาในเวลานี้ และให้เกษตรกรเก็บน้ำสำรองไว้ในช่วงที่ยังมีฝน เพื่อวางแผนการเพาะปลูกในฤดูกาลถัดไปด้วย

ชาวนาพิจิตรเริ่มปลูกข้าวรับหน้าฝน

ขณะที่ จ.พิจิตร นายสุรพล ทองเที่ยง เกษตรจังหวัดพิจิตร เปิดเผยว่า ในช่วง 3 วันที่ผ่านมา จังหวัดพิจิตรเริ่มมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้สถานการณ์ภัยแล้งเริ่มบรรเทาลง แหล่งน้ำสาธารณะเริ่มมีน้ำกักเก็บ ชาวนาในพื้นที่จึงเริ่มลงมือไถดะเตรียมดินเพื่อปลูกข้าวในฤดูนาปี นอกจากนี้ นางฉัตรพร ราษฎร์ดุษดี ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ยังเป็นประธานปลูกข้าวนาโยน บนแปลงนาสาธิตเกษตรแปลงใหญ่ที่ ต.บ้านน้อย อ.โพทะเล จ.พิจิตร ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานเกษตรจังหวัดพิจิตรกับศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลกอีกด้วย

ภูเก็ตคลื่นแรงปักธงแดงห้ามเล่นน้ำ

ด้าน จ.ภูเก็ต ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศบริเวณชายหาด มีเจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงานในพื้นที่ คอยตรวจตราไม่ให้นักท่องเที่ยวลงไปเล่นน้ำเนื่องจากขณะนี้มีคลื่นลมแรงอาจเป็นอันตรายได้ ขณะที่บางจุดเจ้าหน้าที่ได้นำธงแดงมาปักเป็นสัญลักษณ์เตือนไว้ อย่างไรก็ตามสภาพอากาศที่ จ.ภูเก็ต วันนี้มีฝนตกลงมาตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา จึงทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวบริเวณชายหาดต่างๆ ค่อนข้างบางตา ทั้งนี้รายงานของกรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า ภาคใต้ฝั่งตะวันตกจะมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 ของพื้นที่และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 

เปิดแผนพัฒนาชลประทานไร่นา เล็งจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม

นายสิริวิชญ กลิ่นภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง กรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปี 2559 นี้ กรมชลประทานได้มอบหมายให้สำนักงานจัดรูปที่ดินกลางเร่งขับเคลื่อนและพัฒนางานจัดรูปที่ดินตามพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2558 โดยเบื้องต้นมีเป้าหมายพัฒนาพื้นที่ระบบชลประทานในไร่นา รวม 95,293 ไร่ แยกเป็น การพัฒนาจัดรูปที่ดิน จำนวน 8,060 ไร่ และพัฒนาเป็นงานจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม จำนวน 87,233 ไร่ คาดว่า จะสามารถกระจายน้ำไปสู่แหล่งเพาะปลูกได้อย่างทั่วถึง นอกจากนั้น ยังเตรียมแผนดำเนินการศึกษาแผนงานก่อสร้างใหม่ขอบเขตพื้นที่ที่มีประสิทธิภาพ ประมาณ 40 ล้านไร่ ที่มีความเหมาะสมที่จะพัฒนาระบบชลประทานในไร่นาได้

ปัจจุบันสำนักงานจัดรูปที่ดินกลางอยู่ระหว่างเร่งจัดทำแผนแม่บทการจัดรูปที่ดิน ตามพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินฯซึ่งเป็นกฎหมายใหม่ โดยดึงเกษตรกร เจ้าของที่ดิน และชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม มีเป้าหมายพัฒนาพื้นที่การเกษตรทั้งในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทานให้มีระบบแพร่กระจายน้ำในไร่นาอย่างทั่วถึง ทั้งในรูปแบบการจัดระบบน้ำและการจัดรูปที่ดิน ซึ่งแผนแม่บทแบ่งเป็น 4 ระยะ คือ 1.ระยะเร่งด่วน (ปี 2560) 2.แผนระยะสั้น (ปี 2561-2564) 3.แผนระยะกลาง (ปี 2565-2569) และ4.แผนระยะยาว (ปี 2570-2579) เพื่อพัฒนาและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับนานาประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

สำหรับงานจัดรูปที่ดินนั้น กรมชลประทานมุ่งพัฒนาที่ดินที่ใช้เพื่อเกษตรกรรมให้สมบูรณ์ทั่วถึงทุกแปลง โดยทำการรวบรวมที่ดินหลายแปลงในบริเวณเดียวกัน เพื่อวางผังจัดรูปที่ดินใหม่ พร้อมจัดระบบชลประทาน จัดสร้างถนนหรือทางลำเลียงในไร่นา มีการปรับระดับพื้นที่ดิน ปรับปรุงบำรุงดิน ขณะเดียวกันส่งเสริมการวางแผนการผลิตและการจำหน่ายผลผลิตการเกษตร รวมถึงการแลกเปลี่ยน การโอน การรับโอนสิทธิในที่ดิน การให้เช่าซื้อที่ดิน และอื่นที่เกี่ยวข้องกับการจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมด้วย

 “ส่วนการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม ได้มีเป้าหมายจัดระบบชลประทานจากทางน้ำชลประทานหรือแหล่งน้ำอื่นๆ นำไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่การเกษตรอย่างทั่วถึง มีทั้งการสร้างระบบส่งน้ำแบบคูส่งน้ำรูปสี่เหลี่ยมคางหมู ระบบส่งน้ำแบบ U-Shape และระบบส่งน้ำแบบท่อ เพื่อกระจายน้ำไปหล่อเลี้ยงพื้นที่เพาะปลูก ทำให้เกษตรกรมีน้ำใช้อย่างพอเพียงและเหมาะสมกับการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นนาข้าว อ้อย ปาล์มน้ำมัน สับปะรด มะม่วง และยางพารา เป็นต้น สามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลผลิตให้กับเกษตรกรตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขณะเดียวกันยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ ทำให้เกษตรกรมีโอกาสผลิตสินค้าเกษตรป้อนเข้าสู่ตลาดเพิ่มมากขึ้น และมีรายได้สูงขึ้น อันจะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นด้วย” ผอ.สำนักงานจัดรูปที่ดินกลางกล่าว 

จาก http://www.naewna.com วันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

เอ็นพีเอส สร้างมูลค่าเพิ่มเกษตรกรจากเถ้าชีวมวล

บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) หรือโรงไฟฟ้าเอ็นพีเอส หนึ่งในกลุ่มดั๊บเบิ้ล เอ เพาเวอร์ มีนโยบายการดำเนินงาน พัฒนาพลังงานที่ยั่งยืน ควบคู่ ไปกับการให้ความสำคัญในการดูแลคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของคนในชุมชน โดยเริ่มจากการจัดตั้งกองทุนพัฒนาชุมชนรอบพื้นที่โรงไฟฟ้าภายใต้แนวคิด “สร้างอาชีพ ให้การศึกษา ดูแลสุขภาพ เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น” และยึดหลักปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับต่างๆ อย่างเคร่งครัด

ป้าจ้อย ผลผลิตผักสวนครัว

การให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม ไม่เพียงแต่การประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA: Environmental Impact Assessment) และ การประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (HIA: Health Impact Assessment) ที่ดำเนินการสอดคล้องตามกฎระเบียบ แต่เอ็นพีเอสยังเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนในการพัฒนาชุมชน เช่น โรงงานเอ็นพีเอส ที่ ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา กับการผลิต “เถ้าชีวมวล” หรือ ของเหลือจากโรงไฟฟ้าพลังงานปลูกได้ ที่ได้มาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงชีวมวลจากพืชพลังงาน อาทิ ต้นพลังงาน หญ้าเนเปียร์ ที่ส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่รอบๆ โรงไฟฟ้า ปลูกเป็นรายได้เสริม รวมทั้งวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรจำพวก แกลบ ชานอ้อย เปลือกไม้ เหง้ามัน ซังข้าวโพด และรากไม้ ที่รับซื้อจากเกษตรกรชุมชนรอบๆ โรงไฟฟ้า

เถ้าชีวมวลของโรงไฟฟ้าพลังงานปลูกได้ในกลุ่มเอ็นพีเอส ได้รับการรับรองจากกรมวิชาการเกษตรว่า มีคุณสมบัติที่เหมาะสมในการนำไปใช้ประโยชน์ทางการเกษตร โดยนำไปเป็นวัสดุปรับปรุงโครงสร้างดิน เพิ่มความร่วนซุย และความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน ช่วยเพิ่มผลผลิตพืชผลทางการเกษตรลดต้นทุนในการเพาะปลูกได้ เกษตรกรหลายรายในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า นำเถ้าชีวมวลผสมเป็นวัสดุปลูกพืชเกษตรบำรุงพืชที่ตัวเองเพาะปลูก อาทิ มะนาว ผักสวนครัว และพืชอื่นๆ ทำให้ได้ผลผลิตที่งอกงามและสมบูรณ์

ธนนท์ เจ้าของสวนมะนาว

ผลผลิตพืชเกษตรที่งอกงามจากการใช้เถ้าชีวมวล ทำให้เกษตรกรสามารถขายผลผลิตได้ สร้างรายได้ และทำให้คุณภาพชีวิตของครอบครัวดีขึ้น เป็นการเกื้อกูลกันระหว่างชุมชนกับโรงไฟฟ้าพลังงานปลูกได้ในกลุ่มเอ็นพีเอสอย่างยั่งยืน เช่น “ธนนท์ ประสิทธ์มณีรัตน์” หรือ ดำ เจ้าของสวนมะนาว เนื้อที่ 1 ไร่ ในพื้นที่หมู่ 3 บ้านนาใน ต. เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา บอกว่า ที่ผ่านมา เขาสามารถขายมะนาวสร้างรายได้ประมาณ 6,000-10,000 ต่อเดือน

นอกจากการผลิตเถ้าชีวมวลให้กับเกษตรกรรอบโรงไฟฟ้าแล้ว ล่าสุด เอ็นพีเอส ยังจัดกิจกรรม “พี่สอนน้องอนุรักษ์พลังงานสะอาด ปีที่ 6” ในหัวข้อ “วันป่าไม้โลก” ให้กับเยาวชน โรงเรียนบ้านท่าตูม ต.ท่าตูม อ.ศรีหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี เพื่อปลูกฝังให้เยาวชนเห็นถึงความสำคัญของป่าไม้และการสร้างพื้นที่สีเขียวในชุมชนในโอกาสวันป่าไม้โลก เป็นการเสริมสร้างองค์ความรู้ให้กับเยาวชนอีกทางหนึ่ง

จาก http://www.thansettakij.com วันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

รวงข้าวสรุปภาพรวมค่าเงินบาทสัปดาห์นี้อ่อนค่า

         บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด รายงานสรุปภาพรวมเงินบาทสัปดาห์นี้ว่า เงินบาทอ่อนค่าทดสอบระดับ 35.80 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนจะฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนก่อนช่วงวันหยุดยาว โดยเงินบาทเผชิญแรงขายในช่วงต้น-กลางสัปดาห์ สอดคล้องกับสถานะขายสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่ เงินดอลลาร์ทยอยได้รับแรงหนุนจากโอกาสของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเฟดเดือนมิถุนายน หลังข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ หลายตัวออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด ประกอบกับเจ้าหน้าที่เฟดยังคงส่งสัญญาณถึงความเป็นไปได้ของการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเฟดรอบใกล้ๆ นี้ ในวันพฤหัสบดี (19 พ.ค.) เงินบาทอยู่ที่ 35.69 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับ 35.41 บาทต่อดอลลาร์ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (13 พ.ค.)

        สำหรับสัปดาห์หน้า (23-27 พ.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 35.50-35.80 บาทต่อดอลลาร์ โดยตลาดอาจติดตามผลการประชุมของกลุ่ม G7 (20-21 พ.ค.) ข้อมูลการส่งออกของไทยในเดือนเม.ย. รวมถึงสัญญาณที่อาจบ่งชี้ถึงจังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ จากถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด และข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดขายบ้านใหม่ ยอดทำสัญญาซื้อบ้านที่รอปิดการขายเดือน เม.ย. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ค. และจีดีพีประจำไตรมาส 1/59 (รายงานครั้งที่ 2)

        นอกจากนี้ นักลงทุนอาจติดตามดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคบริการ (เบื้องต้น) เดือน พ.ค.ของทั้งสหรัฐฯ และประเทศชั้นนำอื่นๆ ด้วยเช่นกัน

 จาก  http://manager.co.th  วันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

กรมชลฯจัดแผนพัฒนาระบบน้ำไร่นา
ปี 59 จ่ายน้ำคลุมพื้นที่ 9.5 หมื่นไร่

กรมชลประทาน เผยแผนพัฒนาพื้นที่ระบบชลประทานในไร่นา 95,293 ไร่ เพื่อกระจายน้ำไปสู่แหล่งเพาะปลูกได้อย่างทั่วถึง รวมทั้งแผนพัฒนาพื้นที่ทางการเกษตร ด้วยการรวบรวมที่ดินหลายแปลงมาวางผังใหม่พร้อมทำถนนและระบบชลประทาน...

เมื่อวันที่ 21 พ.ค.2559 นายสิริวิชญ กลิ่นภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง กรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปี 2559 นี้ กรมชลประทานได้มอบหมายให้สำนักงานจัดรูปที่ดินกลางเร่งขับเคลื่อน พัฒนางานจัดรูปที่ดินตามพ.ร.บ.จัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2558 ซึ่งมีเป้าหมายพัฒนาพื้นที่ระบบชลประทานในไร่นา  95,293 ไร่ แยกเป็น การพัฒนาจัดรูปที่ดิน 8,060 ไร่ และพัฒนาเป็นงานจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม 87,233 ไร่ ซึ่งจะสามารถกระจายน้ำไปสู่แหล่งเพาะปลูกได้อย่างทั่วถึง 


นอกจากนั้น ยังเตรียมแผนดำเนินการศึกษาแผนงานก่อสร้างใหม่ขอบเขตพื้นที่ที่มีประสิทธิภาพ 40 ล้านไร่ ที่มีความเหมาะสมที่จะพัฒนาระบบชลประทานในไร่นาได้ 
ปัจจุบันสำนักงานจัดรูปที่ดินกลางอยู่ระหว่างเร่งจัดทำแผนแม่บทการจัดรูป ที่ดิน ตาม พ.ร.บ.จัดรูปที่ดินฯ ซึ่งเป็นกฎหมายใหม่ โดยดึงเกษตรกร เจ้าของที่ดิน และชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม มีเป้าหมายพัฒนาพื้นที่การเกษตรทั้งในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทานให้มีระบบแพร่กระจายน้ำในไร่นาอย่างทั่วถึง ทั้งในรูปแบบการจัดระบบน้ำและการจัดรูปที่ดิน 


"งานจัดรูปที่ดิน กรมชลประทานมุ่งพัฒนาที่ดินที่ใช้เพื่อเกษตรกรรมให้สมบูรณ์ทั่วถึงทุกแปลง โดยรวบรวมที่ดินหลายแปลงในบริเวณเดียวกัน เพื่อวางผังจัดรูปที่ดินใหม่ พร้อมจัดระบบชลประทาน จัดสร้างถนนหรือทางลำเลียงในไร่นา มีการปรับระดับพื้นที่ดิน ปรับปรุงบำรุงดิน ขณะเดียวกันส่งเสริมการวางแผนการผลิตและการจำหน่ายผลผลิตการเกษตร รวมถึงการแลกเปลี่ยน การโอน การรับโอนสิทธิในที่ดิน การให้เช่าซื้อที่ดิน และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมด้วย" ผู้อำนวยการสำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง กรมชลประทาน กล่าว

ส่วนการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม นายสิริวิชญ บอกว่า ได้มีเป้าหมายจัดระบบชลประทานจากทางน้ำชลประทานหรือแหล่งน้ำอื่นๆ นำไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่การเกษตรอย่างทั่วถึง มีทั้งการสร้างระบบส่งน้ำแบบคูส่งน้ำรูปสี่เหลี่ยมคางหมู ระบบส่งน้ำแบบ U-Shape และระบบส่งน้ำแบบท่อ เพื่อกระจายน้ำไปหล่อเลี้ยงพื้นที่เพาะปลูก ทำให้เกษตรกรมีน้ำใช้อย่างพอเพียงและเหมาะสมกับการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นนาข้าว อ้อย ปาล์มน้ำมัน สับปะรด มะม่วง และยางพารา ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนเพิ่มผลผลิตให้กับเกษตรกรตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขณะเดียวกันยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ ทำให้เกษตรกรมีโอกาสผลิตสินค้าเกษตรป้อนเข้าสู่ตลาดเพิ่มมากขึ้น และมีรายได้สูงขึ้น อันจะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ผอ.สำนักงานจัดรูปที่ดินกลางกล่าว

  จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ขอนแก่น 3…หวานทนแล้ง หลีกลี้หนีโรคเอดส์อ้อย

อาการของอ้อยตอเป็นโรคใบขาว

อ้อยหนึ่งในพืชเศรษฐกิจที่เกษตรกรนิยมปลูก เพราะปีแรกหลังจากปลูกแล้วตัดอ้อยส่งขายโรงงาน สามารถไว้ตอปลูกต่อได้อีก 2–3 ปี โดยไม่ต้องปรับสภาพหน้าดินปลูกใหม่เหมือนพืชหลายๆชนิด

แต่ถ้าเลือกพันธุ์อ้อยไม่ดี นอกจากทำให้ต้นทุนสูง ยังเสี่ยงเกิดโรคโดยเฉพาะโรคใบขาวอ้อย ที่ชาวไร่อ้อยกลัวกันมาก เพราะเป็นโรคที่ยากจะดูได้จากภายนอก และไม่มีวิธีกำจัดรักษา ไม่ต่างอะไรจากคนป่วยเป็นโรคเอดส์

นายสรรเสริญ เสียงใส นักวิชาการชำนาญการ กรมวิชาการเกษตร สวพ.3 ขอนแก่น บอกว่า โรคนี้มีสาเหตุมาจากเชื้อไฟโตพลาสติดมากับท่อนพันธุ์อ้อย ถ้าอ้อยสมบูรณ์ ได้รับน้ำ ปุ๋ย แดดดีอย่างต่อเนื่อง อ้อยจะเติบโตเป็นปกติ ดูไม่ออกว่าติดเชื้อนี้มา

“แต่เมื่อใดอ้อยกระทบแล้ง น้ำท่วม ขาดปุ๋ย หรือเป็นอ้อยตอปีที่ 2 อาการของโรคจะแสดงออกมาให้เห็น ใบอ้อยขาว แตกกอมากคล้ายกอตะไคร้ การกำจัดสามารถทำได้วิธีเดียว ขุดไปเผาทำลาย หากปล่อยทิ้งไว้จะกินปุ๋ย เปลืองน้ำ ต้นโตช้า หรือถ้าโตจะออกดอก ทำให้สูญเสียน้ำหนัก ความหวานลดลง”

หนทางที่จะแก้ปัญหานี้ได้ คือใช้วิธีป้องกัน เลือกใช้ท่อนพันธุ์ที่ปลอดเชื้อ

เพื่อแก้ปัญหานี้ ปี 2537 นักวิจัยของศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่นจึงนำพันธุ์อ้อยเค 84-200 (ต้นพ่อ) ซึ่งแตกกอ 4-5 ลำ ออกดอกน้อย ไม่เสียน้ำหนัก ความหวานอยู่ที่ 11-13 ซีซีเอสต่อตัน ให้ผลผลิตสูง 14-17 ตันต่อไร่ มาผสมกับอ้อยโคลน 85-2-352 ที่ให้ผลผลิต 17.79 ตันต่อไร่ ความหวาน 2.66 ซีซีเอสต่อตัน ลักษณะต้านทานโรคเหี่ยวเน่าแดงและแส้ดำ ทนแล้ง เหมาะกับสภาพ

ดินร่วนปนทราย เริ่มปรับปรุงพันธุ์

การวิจัยปรับปรุงพันธุ์ใช้เวลา 15 ปี ได้พันธุ์ใหม่ “อ้อยขอนแก่น 3” ปลูกได้ดีในสภาพดินร่วนปนทราย ทนแล้ง ลำใหญ่ แตกกอดี มีค่าความหวาน 12 ซีซีเอสต่อตัน ถ้าดูแลดีให้น้ำเพียงพอจะได้ผลผลิต 18-22 ตันต่อไร่ ส่วนอ้อยตอปี 2 ผลผลิต 16 ตันต่อไร่

ที่สำคัญ อ้อยตอพันธุ์ขอนแก่น 3 พบการระบาดโรคใบขาวน้อยมาก

เพื่อให้มีอ้อยพันธุ์ดีปลอดโรค เพียงพอกับความต้องการของเกษตรกร ศูนย์วิจัยพืชไร่จึงนำอ้อยพันธุ์ขอนแก่น 3 มาทำการขยายพันธุ์ด้วยวิธีเพาะเนื้อเยื่อ เพื่อเพิ่มปริมาณกล้าพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว ส่งต่อให้เกษตรกรนำไปปลูกขายท่อนพันธุ์เพื่อจำหน่ายกระจายพันธุ์สู่ชาวไร่อ้อยด้วยกันในราคาไร่ละ 15,000-20,000 บาท

และเมื่อเกษตรกรนำไปปลูกปรากฏว่า เป็นที่ชื่นชอบของโรงงานน้ำตาล เพราะพันธุ์ขอนแก่น 3 มีค่าความหวาน 11–13 ซีซีเอสต่อตัน สูงกว่ามาตรฐานที่โรงงานตั้งไว้ 10–11 ซีซีเอสต่อตัน.

 จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 

อุดรสนองรัฐจัดโซนนิ่งพื้นที่เกษตรเพิ่มผลผลิต

หน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในจังหวัดอุดรธานี สนองนโยบายรัฐ นำโครงการโซนนิ่งพื้นที่การเกษตร และการทำเกษตรแปลงใหญ่ ลงพื้นที่พร้อมถ่ายทอดความรู้การทำการเกษตรรูปแบบใหม่ให้เกษตรกร ตั้งเป้าเป็น Smart Farmmer

นายรักสกุล สุริโย เกษตรและสหกรณ์จังหวัดอุดรธานี เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่าได้ดำเนินโครงการตามนโยบายรัฐบาลเรื่อง“การบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรมให้เกิดประโยชน์สูงสุด” เพื่อส่งเสริมให้ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น การจัดโซนนิ่งพื้นที่เพาะปลูก ลดพื้นที่เพาะปลูก หรือการรวมแปลงและทำเกษตรแปลงใหญ่เพื่อลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิตและคุณภาพ ซึ่งจะทำให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต โดยตัวเกษตรกรจะทำหน้าที่บริหารจัดการกันเอง ส่วนฝ่ายราชการจะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงตามแผนที่รัฐบาลกำหนดคือ ตั้งแต่ ปี 2558-2564

สำหรับแนวทางนั้นจะต้องจัดทำแผนที่และรายงาน เพื่อเสนอแนะแนวทางการใช้พื้นที่ประโยชน์ของที่ดิน เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เป็นแนวทางในการจัดทำแผนปฏิบัติการพัฒนาเกษตรกรรมในระดับตำบล/หมู่บ้าน โดยคาดว่าหากมีการดำเนินการแนวทางดังกล่าวไป จะทำให้มีแนวทางในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติระดับตำบล-หมู่บ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับความต้องการของชุมชน จะทำให้เขตพื้นที่เกิดการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมในระดับตำบล/หมู่บ้าน เป็นไปอย่างยั่งยืน

ซึ่งโครงการแนวทางดังกล่าวของจังหวัดอุดรธานี ได้มีการลงมือดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2558 แล้ว ด้วยการทำการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลด้านศักยภาพ ด้านเศรษฐกิจและสังคม สภาพการใช้ประโยชน์ที่ดิน ป่าไม้ ชลประทาน และการประเมินความเหมาะสมของที่ดินด้านการเกษตร เพื่อนำเอาไปจัดทำแผนที่และจำแนกความเหมาะสมของที่ดินในแต่ละพื้นที่ว่าพื้นที่ใด ควรเพาะปลูกพืชประเภทใด

ขั้นตอนที่ 2 (ปี 2559) ตั้งแต่เดือนมกราคม- กันยายน จัดส่งคณะทำงานระดับจังหวัดลงพื้นที่ตรวจสอบพื้นที่ทั้งหมดเพื่อให้ได้ความชัดเจนเหมาะสมว่า พื้นที่หรือเขตใดมีความเหมาะสมในระดับดับใด โดยจะมีการแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ระดับคือ ระดับมีความเหมาะสมมาก(S1) เหมาะสมปานกลาง(S2) เหมาะสมน้อย (S3) และไม่มีความเหมาะสมเลย (N) โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มผลผลิต ด้วยการดำเนินการถ่ายทอดสู่เกษตรกรผ่านโครงการเกษตรแปลงใหญ่ 7 แปลง หรือศูนย์เรียนรู้ 20 ศูนย์ และในส่วนของพื้นที่เพาะปลูกในระดับเหมาะสมน้อย (S3) และ ไม่เหมาะสมเลย(N) จะให้การแนะนำเพาะปลูกพืชเกษตรชนิดอื่นที่มีความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ หรือแนะนำให้เกษตรกรในแต่ละพื้นที่/เขต ไปประกอบอาชีพชนิดอื่นที่เหมาะสมแทน(ดูตัวอย่างแผนผังโซนนิ่งอ้อยประกอบ)

ขั้นตอนที่ 3 ตั้งแต่ปี 2560-2564 จะเป็นลักษณะการขยายพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ หรือศูนย์เรียนรู้ โดยนำเอาวัตถุประสงค์ อุปสงค์ อุปทาน ทั้งหลายจากระดับตำบล/หมู่บ้านไปสู่ระดับประเทศ

นายรักสกุล กล่าวต่อว่าสำหรับศูนย์เรียนรู้จำนวน 20 ศูนย์ของจังหวัดอุดรธานี ได้มีการจัดตั้งไปครบทุกอำเภอ 20 อำเภอแล้วตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่จะให้มีการจัดตั้งทุกอำเภอจำนวน 882 แห่งทั่วประเทศ โดยมีเจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอทำหน้าที่เป็นประธานศูนย์ และมีเกษตรกรเป็นศูนย์กลาง เป้าหมายคือการทำให้เกษตรกรเป็น สมาร์ทฟาร์มเมอร์( Smart Farmmer) ที่จะทำให้การเพาะปลูกพืชการเกษตรที่สำคัญของชาติ มีการปรับเปลี่ยนทัศนคติในการทำการเกษตรจากรูปแบบเดิม เป็นเกษตรกรที่มีความรู้อย่างแท้จริงในการทำการเกษตร

จาก http://www.thansettakij.com วันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

มิตรผลคิด เครื่องปลูกอ้อยแบบ 2 แถว ช่วยเพิ่มผลผลิต

อ้อยนับเป็นพืชเศรษฐกิจที่สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรเป็นอย่างมาก และในปัจจุบันประเทศไทย เป็นผลิตอ้อยส่งออกน้ำตาล ซึ่งเป็นผลิตผลโดยตรงจากอ้อยในอันดับต้นๆของโลก ดังนั้นในทุกวันนี้จึงมีการคิดค้นพัฒนานวัตกรรมเกี่ยวกับเครื่องจักรกลใหม่ออกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยสามารถที่จะประกอบอาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

เครื่องปลูกอ้อย “รุ่นมหารวย” เป็นอีกหนึ่งผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่ถูกคิดค้นพัฒนาออกมาเพื่อช่วยเหลือชาวไร่อ้อย โดยบริษัท ไร่อีสาน จำกัด (บริษัทในเครือมิตรผล)และโรงงานน้ำตาลมิตรภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ

ทั้งนี้สาเหตุสำคัญอันเป็นที่มาของการคิดค้นจนได้เครื่องปลูกอ้อย Super Rich “รุ่นมหารวย” เกิดขึ้นเพราะเสียงสะท้อนจากปัญหาในการปลูกอ้อยของเกษตรกรในพื้นที่ส่งเสริมของบริษัท

ดั่งเช่น คุณอุทิศ บุตรเวียงพันธุ์ เกษตรกรชาวไร่อ้อยและช่างท้องถิ่น ตำบลสงเปือย อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่นเล่า ที่เล่าให้ฟังถึงปัญหาที่พบในการปลูกอ้อยว่า “การเลือกเวลาปลูกอ้อยที่เหมาะสมนับว่ามีความสำคัญมากเพราะเวลาปลูกมีอิทธิพลต่อการเตรียมดิน การบำรุงรักษา การเจริญเติบโตและคุณภาพของผลผลิตตลอดจนเวลาตัดหรือเก็บเกี่ยวที่สำคัญ คือ การปลูกอ้อยในประเทศไทยส่วนใหญ่ต้องอาศัยน้ำฝน จึงมีการปลูกอ้อยกัน 2 ช่วง คือ ปลูกต้นฝนกับปลูกปลายฝนอย่างทางภาคกลาง เมื่อก่อนก็ปลูกต้นฝน แต่ตอนนี้ หันมานิยมปลูกปลายฝนกันมากขึ้น คือช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย. ซึ่งมีระยะเวลาปลูกเพียง 45 วันเท่านั้น ที่ดินมีความชื้นเหมาะสมทำให้เปอร์เซ็นต์การงอกของอ้อยสูงสุด”

“ข้อดีของการปลูกอ้อยปลายฝน คือ ไม่ต้องสูบน้ำให้อ้อย ลดปัญหาวัชพืช อ้อยได้ใช้น้ำฝนเต็มที่และมีเวลาในการเจริญเติบโตนานกว่าจึงให้ผลผลิตสูงกว่านอกจากนั้นยังสามารถ

ตัดอ้อยได้ตั้งแต่ต้นฤดูหีบอีกด้วย แต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องปลูกให้เสร็จทันเวลา ก่อนที่ความชื้นในดินจะหมด อย่างเกษตรกรบางราย มีพื้นที่ปลูกหลายร้อยไร่ก็ปลูกไม่ทัน พอปลูกช้าไปสัก 2-3

เดือน เปอร์เซ็นต์การงอกของอ้อยต่ำ อ้อยยังโตไม่เต็มที่ก็ถึงคราวต้องตัดส่งขายโรงงานน้ำตาล ทำให้ผลผลิตอ้อยต่ำและเปอร์เซ็นต์ความหวานของอ้อยไม่สูง จึงขายไม่ได้ราคาเต็มตามที่ควรจะเป็น

“ เรื่องนี้จึงถือปัญหาที่ยังแก้กันไม่ตก ชาวไร่ไม่อยากจ้างผู้รับเหมาเพิ่ม เพราะมีทั้งค่าแรง ค่าน้ำมันที่เพิ่มขึ้น บางทีผลผลิตที่ได้ก็ไม่พอกับต้นทุน” คุณอุทิศ กล่าว

จากที่ได้รับทราบถึงปัญหาการปลูกอ้อยไม่ทันของเกษตรกรชาวไร่อ้อยทางบริษัท ไร่อีสาน จำกัด (บริษัทในเครือมิตรผล) และโรงงานน้ำตาลมิตรภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ จึงได้คิดค้นเครื่องปลูกอ้อยรุ่นใหม่ขึ้น เพื่อช่วยให้เกษตรกรปลูกอ้อยได้ทันเวลา เพิ่มผลผลิตอ้อยต่อไร่  มีอ้อยเข้าหีบทั้งปริมาณและคุณภาพสูง โดยใช้เวลาเท่าเดิม หรือน้อยกว่าเดิมเสียอีก

คุณสุเทพ มีบุญ รักษาการผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายไร่ 3 บริษัท ไร่อีสาน จำกัด อำเภอภูเขียว จังหัดชัยภูมิ หนึ่งในทีมผู้พัฒนาเครื่องปลูกอ้อย “รุ่นมหารวย” กล่าวว่า “เครื่องปลูกอ้อยรุ่นนี้เราคิดค้นขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาการปลูกอ้อยไม่ทันช่วงปลายฝนต้นหนาว ซึ่งเป็นระยะเวลาปลูกที่อ้อยจะให้ผลผลิตดีที่สุด เราได้ประดิษฐ์เครื่องปลูกอ้อยรุ่นใหม่ ชื่อ “รุ่นมหารวย” โดยนำรถแทรกเตอร์และเครื่องปลูกอ้อยเดิมที่มีอยู่แล้วมาปรับปรุงเพิ่ม ใช้เงินลงทุนเพียง 65,000 บาทเท่านั้น ก็สามารถดัดแปลงเป็นเครื่องปลูกอ้อยที่เคยปลูกได้ครั้งละแถวเดียว เป็นปลูกได้ครั้งละ 2 แถว ทำให้เกษตรกรสามารถปลูกอ้อยได้ปริมาณมากขึ้นจากเดิมเป็นเท่าตัวอีกทั้งประหยัดเวลา ประหยัดต้นทุนในการปลูกและการดูแลรักษาอ้อยถ้ามีพื้นที่ปลูกอ้อยจำนวนมาก ใช้เครื่องปลูกอ้อยรุ่นนี้ ยิ่งมีกำไรมาก”

ขณะที่ คุณกฤษฎา มนเทียรวิเชียรฉาย กรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า กลุ่มมิตรผลส่งเสริมให้โรงงานกับเกษตรกร ทำงานร่วมกัน ตามแนวคิด “ร่วมอยู่ ร่วมเจริญ” พอทางโรงงาน ทราบถึงความต้องการของเกษตรกร ก็พยายามหาทางช่วยแก้ไขปัญหา โดยทุกปี บริษัทฯ จะเปิดโอกาสให้พนักงานทุกระดับ ส่งผลงานเข้าประกวดในโครงการ “มิตรผลสร้างสรรค์นวัตกรรมดีเด่นประจำปี 2554”

 “สำหรับเครื่องปลูกอ้อย “รุ่นมหารวย” เป็นผลงานชนะเลิศของปีนี้ ในประเภท“นวัตกรรมด้านกระบวนการผลิต (Product & Process Excellence) ซึ่งทางกลุ่มมิตรผล รู้สึก

ภูมิใจในพนักงานและยินดีเป็นอย่างยิ่งที่โรงงานสามารถช่วยเกษตรกรชาวไร่อ้อยให้มีความยั่งยืนในอาชีพการทำไร่อ้อย เกษตรกรมีรายได้เพิ่มและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย”

คุณดวงมร บุญคุ้ม เกษตรกรบ้านสารจอด ตำบลหนองโพงาม อำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ ผู้ที่ได้ใช้เครื่องปลูกอ้อยรุ่นมหารวยมาแล้วบอกว่า ปกติจะปลูกด้วยเครื่องปลูกอ้อยแบบแถวเดียว อย่างมากก็ปลูกได้วันละ 8-10 ไร่ พอทางมิตรผลนำเครื่องปลูกอ้อยรุ่นมหารวยมาให้ทดลองใช้งาน ปรากฏว่าปลูกได้ถึงวันละ 18-20 ไร่ และปลูกได้ทันตามฤดูกาล ที่ดีกว่านั้น คือ ยังได้อ้อยเพิ่ม 3-4 ตันต่อไร่ด้วย  ลดค่าจ้างแรงงาน ลดค่าน้ำมัน ไปได้มากเลยทีเดียว เครื่องปลูกอ้อยรุ่น “มหารวย” ใช้งานสะดวก ง่ายมาก ลงทุนก็ไม่แพงจนเกินไป

เครื่องปลูกอ้อย Super Rich “รุ่นมหารวย” นับเป็นอีกผลงานความคิดสร้างสรรค์ของพนักงานที่ใช้งานได้จริงและเป็นประโยชน์ต่อวงการเกษตร ทั้งยังสร้างรายได้เพิ่มให้ชาวไร่อ้อยสมชื่อเครื่องปลูกอ้อยอีกด้วย

จาก http://www.khaosod.co.th   วันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ดัน‘Agri Map’พัฒนาภาคเกษตรเชิงรุก l ขยายผลสร้าง‘Smart Farmer’สู่การเป็น‘Smart City’

นางสาวจริยา สุทธิไชยา รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เปิดเผยว่า พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายต้องการขับเคลื่อนการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มโอกาสในการแข่งขันให้กับเกษตรกร โดยเฉพาะการถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกรผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) 882 ศูนย์ รวมถึงส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่และการทำเกษตรในพื้นที่เหมาะสม (โซนนิ่ง) ทั้งนี้กลไกหนึ่งที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์นำมาใช้คือ แผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก หรือ Agri-Map (Agricultural Map for Adaptive Management) เป็นแผนที่ที่ครอบคลุมพื้นที่จังหวัด มีการทับซ้อนข้อมูลด้านเกษตรทุกอย่างไว้ด้วยกัน

เช่นตัวอย่าง Agri-Map ของ จ.อุดรธานี ซึ่งแบ่งพื้นที่แต่ละอำเภอ ประกอบด้วย ข้อมูลชุดดินที่เหมาะสมต่อการปลูกพืชเศรษฐกิจของจังหวัดของกรมพัฒนาที่ดิน ข้อมูลน้ำของกรมชลประทาน ข้อมูลเชิงเศรษฐกิจของสศก.ทั้งพิกัดที่ตั้งของระบบโลจิสติกส์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงงานน้ำตาล โรงงานแป้งมัน โรงสีข้าว รวมถึงข้อมูลวิเคราะห์มูลค่าผลิตภัณฑ์สินค้าสำคัญ 5 อันดับของจังหวัด ต้นทุนการผลิต ราคาสินค้า ปริมาณผลผลิต ช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม เป็นต้น โดย Agri-Map จะถูกส่งไปให้กับคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แบบเบ็ดเสร็จ (Single Command) ทั้ง 77 จังหวัด อย่างไรก็ตาม ต้องมีการบูรณาการกับหน่วยงานในจังหวัด เช่น หอการค้า พาณิชย์จังหวัด เพื่อวางแผนหรือกำหนดนโยบายด้านการส่งเสริมการทำเกษตรในพื้นที่โดยใช้ตลาดนำ เพื่อให้มีผลตอบแทนมากขึ้น ขณะที่ต้นทุนลดลง เพิ่มโอกาสในการแข่ง

นางสาวจริยา กล่าวเพิ่มเติมว่า จากจุดเริ่มต้นที่แผนที่การเกษตร Agri-Mapเป็นเสมือนผังเมืองด้านการเกษตรของจังหวัดนั้นที่จะทำให้เกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจ เป็นเกษตรกรปราดเปรื่อง Smart Farmer ที่มีความรอบรู้ด้านการเกษตร การผลิตและการตลาด มีการนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น สามารถปรับปรุงพัฒนาระบบการผลิตสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาด แต่มีต้นทุนการผลิตลดลง เพื่อสร้างส่วนต่างของรายได้สุทธิให้เพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าในอนาคตอาจต้องมีการขยายผลสู่แผนที่ของจังหวัด เป็นสมาร์ทซิตี้ Smart City เช่น สมาร์ทอุดรธานี เพื่อพัฒนาเป็นเมืองอัจฉริยะด้านการบูรณาการ ที่มีข้อมูลจากทุกหน่วยงานให้สามารถใช้ร่วมกันได้ทั้งข้อมูลชุดดิน น้ำ เศรษฐกิจการเกษตร ผนวกเข้ากับข้อมูลผังเมือง ข้อมูลด้าน สิ่งแวดล้อม ข้อมูลด้านสาธารณสุข เป็นต้น

จาก http://www.naewna.com วันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

เกษตรฯรอท่าประกาศทำนา 

          ฉัตรชัยขอเกษตรกรชะลอทำกิจกรรมเกษตรไปก่อน เหตุฝนยัง ต้องน้อย-ไม่สม่ำเสมอ

          พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ รายงานให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 16 พ.ค.ที่ผ่านมา ว่า แม้ในระยะนี้จะเริ่มมีฝนตกมากขึ้น แต่ยังไม่มีความสม่ำเสมอและมีปริมาณน้อย จึงจะขอให้เกษตรกรชะลอการทำกิจกรรมด้านการเกษตรไปก่อน ขณะที่ปริมาณน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศยังมีเพียงพอจนถึงสิ้นเดือน ก.ค. 2559 แต่ภาครัฐยังต้องเฝ้าระวัง ค่าความเค็มของน้ำในบริเวณสถานีสูบน้ำสำแลไม่ให้เกินค่ามาตรฐาน

          นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ฝนที่ตกลงมาในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีปริมาณน้ำเข้าเขื่อนทั่วประเทศ 94 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) และช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นในดิน แต่ยังมีหลายพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำเค็มรุกพื้นที่ทำเกษตร โดยเฉพาะพื้นที่ทำสวนกล้วยไม้และผลไม้ในบริเวณปากคลองจินดา แม่น้ำท่าจีน จ.นครปฐม ซึ่งกรมได้เข้าไปช่วยเหลือโดยเร่งระบายน้ำเพื่อดันน้ำเค็ม

          นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ในปีนี้กรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน พ.ค.นี้

          แต่ทั้งนี้ต้องรอให้กรมอุตุฯ ประกาศการเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการเพาะปลูก

          "กรมอุตุฯ คาดว่า ปีนี้จะมีพายุเข้าไทย 2 ลูก โดยพายุจะเข้าในเดือน ส.ค. 1 ลูก และเข้ามาในเดือน ต.ค. อีก 1 ลูก ส่วนปริมาณน้ำฝนในปีนี้จะอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยปกติ แต่ยังต้องระวังในการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งกรมจะหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อวางแผนส่งเสริมการเพาะปลูกให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน" นายทองเปลว กล่าว

          นายทองเปลว กล่าวว่า ในช่วง 7 วันที่ผ่านมามีฝนตกหลายพื้นที่ ทำให้มีน้ำไหลเข้าเขื่อนสิริกิติ์ 23 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนอุบลรัตน์ 4 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนน้ำอูนและเขื่อนห้วยหลวง 4 แสน ลบ.ม. เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 10 ล้าน ลบ.ม. ส่วนเขื่อนภูมิพลยังไม่มีน้ำไหลเข้า ขณะที่ปริมาณน้ำในเขื่อนลุ่มเจ้าพระยาที่มี 1,400 ล้าน ลบ.ม. และลุ่มน้ำแม่กลองที่มีอยู่ 2,200 ล้าน ลบ.ม. มั่นใจว่าจะมีน้ำกินน้ำใช้เพียงพอถึงเดือน ก.ค.แน่นอน

          นอกจากนี้ กรมได้เพิ่มปริมาณน้ำจากแม่น้ำแม่กลองผ่านคลองท่าสารบางปลา ช่วยผลักดันความเค็มในแม่น้ำท่าจีน เพื่อลดผลกระทบต่อสวนกล้วยไม้และสวนผลไม้ในพื้นที่ แต่ยังต้องเฝ้าระวังน้ำเค็มรุกอีกครั้งในช่วงวันที่ 25-26 พ.ค.นี้ ซึ่งเป็นช่วงน้ำทะเลหนุนสูง

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

น้ำตาลบุรีรัมย์รับซื้อใบอ้อยใช้เป็นเชื้อเพลิงให้แก่โรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล

นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ  ผู้บริหาร น้ำตาลบุรีรัมย์  เผยว่า จะรับซื้อใบอ้อยที่ถูกทิ้งในไร่จากการจัดเก็บผลผลิต เพื่อนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงให้แก่โรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล เพราะนอกจากชาวไร่มีรายได้จากการขายใบอ้อยให้แก่โรงงานที่ช่วยเพิ่มเงินในกระเป๋าให้แก่เกษตรกรแล้ว ยังช่วยลดปัญหาอ้อยไฟไหม้ในช่วงฤดูการจัดเก็บ ที่ส่งผลต่อคุณภาพผลผลิตอ้อยและปัญหาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

จาก http://www.thansettakij.com   วันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนลฯ มั่นใจ Q2 โตต่อเนื่อง  

           กลุ่มเกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ฯ เผยผลงานไตรมาสที่ 2 ปีนี้เติบโตต่อเนื่องจากไตรมาสแรก เหตุได้แรงหนุนจากการรับรู้รายได้โรงไฟฟ้าใหม่ ประกอบกับราคาน้ำตาลทราย และราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกขยับขึ้น ส่งผลดีต่อสายธุรกิจน้ำตาล และเอทานอล

                นายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เปิดเผยว่า สายธุรกิจที่มีรายได้สูงสุดของกลุ่ม KTIS ในไตรมาสแรกของปี 2559 ยังคงเป็นสายธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย ซึ่งมีรายได้ 3,259.0 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 75% ของรายได้รวม 4,339.6 ล้านบาท

                “เนื่องจากราคาน้ำตาล และราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในไตรมาสที่ 2 มีแนวโน้มสูงกว่าไตรมาสแรกอย่างชัดเจน จึงคาดว่าผลการดำเนินงานของกลุ่ม KTIS ในไตรมาสนี้น่าจะดีกว่าไตรมาสแรก” นายณัฎฐปัญญ์ กล่าว

                สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล ในไตรมาสแรกของปี 2559 ยังมีการรับรู้รายได้เฉพาะโรงไฟฟ้าเกษตรไทยไบโอเพาเวอร์ กำลังการผลิต 60 เมกะวัตต์ ส่วนโรงไฟฟ้าไทยเอกลักษณ์เพาเวอร์ ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ เพิ่งเริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในเชิงพาณิชย์ (COD) เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2559 การรับรู้รายได้จึงเกิดขึ้นในไตรมาสที่ 2 และโรงไฟฟ้าอีกแห่งหนึ่ง คือ รวมผลไบโอเพาเวอร์ ประมาณการว่าจะเริ่มรับรู้รายได้ตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ โดยโรงไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งของกลุ่ม KTIS นี้ ใช้เทคโนโลยีใหม่ที่สามารถผลิตไอน้ำแรงดันสูง ซึ่งไฟฟ้าที่ผลิตได้ส่วนหนึ่งจะนำไปใช้ในกระบวนการผลิตน้ำตาล เพื่อประหยัดการใช้เชื้อเพลิงชานอ้อย ที่เหลือจึงขายให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

                นายณัฎฐปัญญ์ กล่าวถึงโครงการผลิตน้ำเชื่อม (Liquid Sucrose) และโครงการผลิตน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์พิเศษ (Super Refined Sugar) ที่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มพันธมิตรทางธุรกิจ คือ บริษัท นิสชิน ชูการ์ และบริษัท ซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น ด้วยว่า สำหรับน้ำเชื่อมนั้นบริษัทมีแผนที่จะจำหน่ายให้แก่ลูกค้าซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการอุตสาหกรรมน้ำอัดลม ส่วนน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์พิเศษนั้น บริษัทจะทำการผลิตเพื่อการส่งออก ซึ่งมีตลาดรองรับอยู่แล้ว

                ทั้งนี้ ในไตรมาสแรกของปี 2559 กลุ่ม KTIS มีรายได้รวม 4,339.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.4% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี 2558 ที่ทำได้ 3,827.9 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิในไตรมาสแรกของปี 2559 จำนวน 49.7 ล้านบาท

จาก http://manager.co.th   วันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

กรมชลประทานชี้เข้าสู่ฤดูฝนแล้ว มีฝนตกสม่ำเสมอยาวถึง ก.ค.

นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ฝนตกทั่วทั้งประเทศในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ถือเป็นสัญญาณที่ดีที่จะช่วยบรรเทาภาวะสถานการณ์ภัยแล้งให้คลี่คลายมากขึ้น อาทิ ในพื้นที่ จ.กาญจนบุรี มีฝนตกมากถึง 52-53 มิลลิเมตร (มม.) ช่วยเติมน้ำในเขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณให้เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า หรือจากเดิมจะมีน้ำไหลเข้าเขื่อนประมาณวันละ 10-12 ล้านลูกบาศ์กเมตร (ลบ.ม.) เพิ่มขึ้นเป็นวันละ 20 ล้าน ลบ.ม. รวมทั้งยังเป็นการเพิ่มปริมาณน้ำท่าช่วงเหนือเขื่อนเจ้าพระยาให้เพิ่มขึ้นจากระยะต่ำกว่า 14 เมตรจากระดับน้ำทะเล เป็นระดับที่สูงกว่า 14 เมตรจากระดับน้ำทะเล ซึ่งจะส่งผลดีต่อปริมาณน้ำสำหรับทำการเกษตรในฤดูกาลเพาะปลูกที่กำลังจะมาถึง นอกจากนี้ ฝนที่ตกยังช่วยบรรเทาปัญหาน้ำเค็มรุกพื้นที่ทางเกษตรในช่วงแม่น้ำแม่กลอง โดยเฉพาะพื้นที่คลองจินดา ใน จ.นครปฐม ให้คลี่คลายลงได้ ทั้งนี้ กรมชลประทานคาดว่าในช่วงปลายสัปดาห์นี้ กรมอุตุนิยมวิทยาน่าจะประกาศเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ

นายสุเทพกล่าวว่า ในช่วงนี้น่าจะมีฝนตกลงอย่างสม่ำเสมอ ถือเป็นสัญญาของการเข้าสู่ฤดูฝน โดยฝนน่าจะตกไปจนกระทั่งปลายเดือนมิถุนายน – ต้นเดือนกรกฎาคมที่จะเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงประมาณ 2 สัปดาห์ เนื่องจากร่องมรสุมจะขยับตัวสูงไปยังประเทศจีน หลังจากนั้นฝนจะกลับมาตกตามปกติในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม และเริ่มตกหนักขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคม -ตุลาคม 2559

จาก http://www.matichon.co.th    วันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ทีดีอาร์ไอแนะขึ้นภาษีน้ำตาล

ทีดีอาร์ไอยกบทเรียนในต่างประเทศ ชี้ขึ้นภาษีเครื่องดื่มน้ำตาลแก้ปัญหาพฤติกรรมบริโภคได้ แนะขึ้นภาษีน้ำตาลด้วย

 นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า ความพยายามของรัฐบาลในการขึ้นภาษีเครื่องดื่มน้ำตาล เพื่อแก้ไขปัญหาการบริโภคน้ำตาลที่เกินพอดี ซึ่งนำไปสู่ปัญหาทางด้านสุขภาพ

มีบทเรียนในต่างประเทศหลายแห่งที่ทำให้เห็นว่าการขึ้นภาษีสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคได้ เห็นได้จากประเทศเม็กซิโก ที่เมื่อขึ้นภาษีเมื่อปี 2556-2557 แล้ว ปริมาณการผลิตเครื่องดื่มน้ำอัดลมมีจำนวนค่อนข้างคงที่ ขณะที่การผลิตน้ำดื่มแบบขวดมีปริมาณเพิ่มขึ้นกว่าเดิมอย่างก้าวกระโดด

นอกจากนี้ ยังมีกรณีศึกษาของประเทศฝรั่งเศส ที่พบว่าภาระของภาษีไม่ได้ตกกับผู้ค้าปลีก ที่มักจะมีอำนาจต่อรองต่ำกว่าผู้ผลิตและผู้บริโภค แต่กลับเป็นผู้บริโภคที่จะได้รับผลของภาษีโดยตรง โดยพบว่าร้านค้าปลีกได้เพิ่มราคาสูงกว่าอัตราภาษีที่เพิ่มขึ้นเสียอีก ซึ่งเมื่อผู้บริโภคได้รับภาระทางภาษีที่เพิ่มขึ้น ก็จะมีส่วนทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้อย่างแท้จริง

นายนณริฏ กล่าวว่า การนำผลศึกษาดังกล่าวมาเผยแพร่ เนื่องจากที่ผ่านมามีข้อโต้แย้งในการขึ้นภาษีเครื่องดื่มน้ำตาล 2 ประการหลักๆ คือ การขึ้นภาษีจะไม่ทำให้ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หรือการขึ้นภาษีไม่อาจตอบโจทย์การควบคุมการบริโภคน้ำตาลได้ สอง กลุ่มผู้ค้าปลีกซึ่งมักจะเป็นผู้ค้ารายย่อย อาจจะเป็นผู้แบกรับต้นทุน เนื่องจากมีอำนาจต่อรองน้อยกว่าธุรกิจรายใหญ่ การขึ้นภาษีอาจจะส่งผลเสียต่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมทำให้ธุรกิจอยู่ได้ยากลำบากมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม การขึ้นภาษีเครื่องดื่มน้ำตาล รัฐบาลควรพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะการขึ้นภาษีเฉพาะเครื่องดื่มเพียงอย่างเดียว อาจจะไม่ตอบโจทย์การลดการบริโภคน้ำตาลที่ตรงเป้าหมายเสียทีเดียว เนื่องจากผู้บริโภคสามารถที่จะบริโภคน้ำตาลจากสินค้าชนิดอื่นนอกเหนือจากเครื่องดื่มได้ เช่น การบริโภคอาหารดังนั้นหากต้องการที่จะให้ตรงกับเป้าหมายอย่างแท้จริง อาจจะต้องพิจารณาเก็บเป็นภาษีจากการผลิตหรือขายน้ำตาลแทน อาจจะตรงกับโจทย์มากกว่า

ขณะเดียวกัน บทเรียนจากต่างประเทศบ่งชี้ว่า ผู้ผลิตจะมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีเช่นเดียวกัน ซึ่งหากเป็นการปรับเปลี่ยนไปผลิตเครื่องดื่มที่ปราศจากน้ำตาล หรือลดปริมาณน้ำตาลลงเพียงอย่างเดียวก็น่าจะเป็นไปตามเป้าหมายของนโยบายภาครัฐ แต่ก็มีความเป็นไปได้เช่นเดียวกัน ที่ผู้ผลิตจะใช้สารแทนความหวานที่อาจจะเป็นภัยต่อผู้บริโภคแทน ดังนั้นการขึ้นภาษีเครื่องดื่มน้ำตาลจะต้องพิจารณาล่วงหน้าไปถึงการควบคุมสารแทนความหวานชนิดอื่นๆที่อาจจะเป็นอันตรายด้วยเช่นกัน

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 

ไทย-อินเดียเตรียมเร่งเจรจาFTA มุ่งใช้เป็นช่องทางขยายการค้า-ลงทุน

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า จากที่ตนได้หารือกับนาย Bhagwant Singh Bishnoi เอกอัครราชทูตอินเดีย ประจำประเทศไทย ไปเมื่อเร็วๆ นี้ถึงการขยายการค้า การลงทุนระหว่างกันให้มากขึ้นนั้นซึ่งทั้ง 2 ฝ่าย เห็นตรงกันในการเร่งรัดให้มีการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-อินเดีย โดยเร็ว เพราะจะเป็นแนวทางหนึ่งในการเพิ่มการค้า การลงทุนระหว่างกันได้

โดยไทยได้เสนอให้สรุปผลการเจรจาเท่าที่ตกลงกันได้ก่อน ส่วนประเด็นที่ติดค้าง ให้ใส่ไว้ในแผนงานที่จะต้องเจรจากันต่อไปในอนาคต อีกทั้งไทยยังได้ขอให้อินเดียเร่งแก้ไขปัญหาการส่งออกสินค้าทองคำไปยังอินเดียทั้งนี้ไทยได้ชี้แจงกับอินเดียว่า ได้ตรวจสอบหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าย้อนหลังแล้ว แต่ไทยยังไม่ได้รับคำตอบจากอินเดีย จึงขอให้อินเดียเร่งดำเนินการให้ด้วย

ในขณะเดียวกันทั้ง 2 ฝ่าย เห็นว่า ควรมีการทบทวนความตกลงการค้าสินค้าภายใต้ FTA อาเซียน-อินเดีย ให้มีความคืบหน้า และควรร่วมกันผลักดันการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP)ให้แล้วเสร็จตามแผนภายในปี 2559 นี้

ส่วนนโยบายสำคัญของรัฐบาลอินเดีย เช่น Make in India,Smart Cities และโครงการระเบียงเศรษฐกิจ ไทยยินดีให้ความร่วมมือและสนับสนุนภาคเอกชนของไทยให้เข้าไปลงทุนในโครงการเหล่านี้ โดยเฉพาะในสาขาที่ไทยมีความพร้อมและมีศักยภาพ เช่น ก่อสร้าง อาหาร และบริการ เป็นต้น

นางอภิรดีกล่าวว่า อินเดียเป็นคู่ค้าอันดับที่ 15 ของไทย และเป็นคู่ค้าอันดับที่ 1 ของไทยในภูมิภาคเอเชียใต้ โดยในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา(2554-2558) การค้ารวมมีมูลค่าเฉลี่ย 8,468.01 ล้านเหรียญสหรัฐซึ่งในปี 2558 การค้ารวมมีมูลค่า 7,924.25 ล้านเหรียญสหรัฐคิดเป็นสัดส่วน 1.90% ของการค้าทั้งหมดของไทย โดยไทยได้เปรียบดุลการค้า 2,667.48 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปอินเดีย ได้แก่ เม็ดพลาสติกเคมีภัณฑ์ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่อง เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น

ส่วนสินค้าที่ไทยนำเข้าจากอินเดีย ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งแปรรูป พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น

จาก http://www.naewna.com วันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 

จีนเตรียมผงาดขึ้น เศรษฐกิจมหาอำนาจ วางหยวนเดินเกมการเงิน-การค้า

สาธารณรัฐประชาชนจีนนับเป็นประเทศที่ถูกจับตามองในเรื่องของเศรษฐกิจจากทั่วโลก ภายหลังประกาศปรับโครงสร้างเศรษฐกิจการเติบโตจากการลงทุนสู่การบริโภคภายในประเทศ ทำให้เศรษฐกิจที่เคยเติบโตร้อนแรงด้วยตัวเลข 2 หลัก ปรับลดลงเหลือตัวเลขหลักเดียว ประกอบกับที่ผ่านมาจะเห็นว่าทางการจีนพยายามดำเนินนโยบายทางการเงินต่างๆ ออกมามากมาย โดยเฉพาะการนำเงินหยวนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของตะกร้าเงินโลก หรือเรียกว่า SDR เพื่อให้สกุลเงินหยวนมีความเป็นสากลมากขึ้น แต่อีกมุมก็ส่งผลให้เกิดความผันผวนต่อตลาดโลกเช่นกัน ซึ่งจากนโยบายดังกล่าวล่าสุดสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีนร่วมกับมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จัดเสวนาโต๊ะกลม “วิเคราะห์เศรษฐกิจจีน ผ่านกลยุทธ์ เงินหยวน-ทองคำ โกอินเตอร์ ผลต่อเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทย” เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา

แนะไทยตั้งเกมรับเงิน 2 สกุลหลักให้ดี

ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว คณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ หนึ่งในวิทยากรร่วมเสวนา สะท้อนภาพเศรษฐกิจจีน ภายหลังการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ นับเป็นบริบทใหม่ที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจโลก สิ่งที่เป็น Key Word จากการเดิมเกมเศรษฐกิจของจีนครั้งนี้ เพื่อเป็นการวิวัฒนาการตัวเอง หรือ Evolution ที่มีกรอบระยะสั้น-ระยะยาว โดยกรอบระยะสั้น 1-3 ปี จีนพยายามทำให้สกุลเงินหยวนได้รับการยอมรับจากเวทีโลก โดยพยายามผลักดันให้อยู่ในตะกร้าเงินของโลก(SDR) จนได้รับการอนุมัติจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่จะมีผลภายในวันที่ 1 ตุลาคมนี้

สะท้อนว่าจีนเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลกประเทศหนึ่ง เนื่องจากสกุลเงินที่อยู่ในตะกร้าจะต้องเป็นประเทศที่มีความเข้มแข็งและมีเสถียรภาพ แม้ว่าสัดส่วนสกุลเงินหยวนในตะกร้า SDR มีเพียง 10.9% แต่ถือว่าเป็นประเทศใหม่ที่ได้การยอมรับจากเวทีโลก ซึ่งในอนาคตจะเห็นสัดส่วนเงินหยวนเข้ามาแทนที่เงินสกุลเยนและปอนด์ จากปัจจุบันเงินสกุลเยนมีอยู่ที่ 8.3% และปอนด์ 8.1%

ดังนั้น จะเห็นว่าทางการจีนปล่อยมือจากการเข้าไปดูแลค่าเงินโดยตรงเป็นแบบประคองโดยดูตามจังหวะและโอกาส ทำให้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ค่าเงินหยวนมีแนวโน้มอ่อนค่าลง สะท้อนว่าจีนมีความพร้อมที่จะผ่อนคลายภาคการเงินให้เหมาะสม นับเป็นจุดแข็งของภาคการเงินในภูมิภาคอาเซียนรวมถึงจีน ที่ดำเนินนโยบายแบบก๊อบปี้จากฝั่งตะวันตกนำมาใช้โดยต่อยอดจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาปรับใช้กับนโยบายของประเทศตัวเอง ขณะที่การเชื่อมโยงเศรษฐกิจระหว่างไทย-จีนในบริบทใหม่ ซึ่งไทยจะต้องปรับตัว ทั้งองค์กรหรือภาคธุรกิจควรหันมาทำกลยุทธ์หรือแผนยุทธศาสตร์ที่มีมติของจีนเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย เพราะในอนาคตจีนจะเข้าไปมีส่วนร่วมในทุกกิจกรรมและกระจายตัวทั่วโลก โดยภายใน 5-8 ปีข้างหน้า ไทยจะต้องเดินเกมให้ดี เพราะมีการเปลี่ยนผ่านของเกมการเงิน และเจอเงิน 2 สกุล(ดอลลาร์สหรัฐฯและหยวน) จึงต้องสร้างสมดุลให้ดี

” เพราะสหรัฐฯอยู่โดยไม่มีจีนไม่ได้ และหากดูในระยะ 10-20 ปีข้างหน้า จะเห็นประเทศมหาอำนาจทั้ง 2 ประเทศใกล้เคียงกัน โดยประเทศหนึ่งกำลังจะไต่ขึ้น ส่วนอีกประเทศกำลังลดกำลังลง แต่เป็นการลงอย่างช้าๆ ซึ่งทั้ง 2 ประเทศอาจจะไปเจอกันระหว่างทางได้ แต่ฟันธงได้ว่าจีนขึ้นแน่นอนแต่ระยะเวลาไม่แน่นอน + โดยโมเดลจีนขับเคลื่อนด้วยเครือข่ายภาคการค้าในระยะข้างหน้า นับเป็นทิศทางสำคัญ โดยจะเห็นเงินสกุลหลักและสกุลเงา และไทยควรเดินเกมให้ดี แทงกั๊กอย่างสง่างาม เพราะจะทิ้งสกุลดอลลาร์สหรัฐฯก็ไม่ได้ จะไม่จับหยวนก็ไม่ได้ ดังนั้น ในเชิงธุรกิจต้องเดินหมากให้ดี”

ธนชาตชี้อนาคตดอลลาร์ลดบทบาท

นายฐานิศร์ ศาสตราวาหะ ผู้อำนวยการอาวุโส ปริวรรตเงินตราต่างประเทศ บริหารเงินและตลาดทุน ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) (บมจ.) วิทยากรอีกท่านกล่าวว่า ภายหลังจากเงินสกุลหยวนได้เข้าไปอยู่ในตะกร้า SDR สิ่งที่จีนจะต้องทำ คือ ต้องทำให้เงินสกุลหยวนได้รับการยอมรับและใช้อย่างแพร่หลายให้มากขึ้น แม้การจะให้คนหันมานิยมใช้เงินหยวนคงไม่เร็วมาก ขณะเดียวกัน เริ่มเห็นสัญญาณลูกค้าของธนาคารธนชาตที่มีธุรกิจเกี่ยวข้องหรือมีการค้าขายกับประเทศจีนก็หันมาทำธุรกรรมซื้อขายเงินหยวนโดยตรง จึงเชื่อว่าอนาคตสกุลเงินหยวนจะมีความน่าเชื่อถือมากขึ้นและมีการซื้อขายโดยตรงโดยไม่ต้องผ่านเงินสกุลอื่น

ขณะที่การเคลื่อนไหวของค่าเงินหยวน นับตั้งแต่ปลายปีก่อนจนถึงปัจจุบันปรับตัวแข็งค่าขึ้นประมาณ 2% ซึ่งการเคลื่อนไหวดังกล่าวมาจากปัจจัยกระแสข่าวการปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ส่วนทิศทางหยวนเมื่อเทียบกับค่าเงินบาท จะเห็นการเคลื่อนไหวไม่มากนัก โดยปีก่อนเคลื่อนไหวอยู่ที่ประมาณ 5.70-5.80 บาทต่อหยวน ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 5.50 บาทต่อหยวน ทำให้ความเสี่ยงของผู้ประกอบการที่ค้าขายกับจีนไม่สูงมากนัก และคาดว่าในปีนี้เงินหยวนเมื่อเทียบกับค่าเงินบาทจะทรงตัวอยู่ในระดับนี้

“เมื่อก่อนจีนเป็นประเทศที่มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศสูงสุดถึง 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 3.21 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งหายไปเกือบ 9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นผลมาจากการถูกโจมตีค่าเงิน ส่วนไทยมีเงินทุนสำรองประมาณ 1.7-1.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งมาจากการค้าขายและกระแสเงินทุนไหลเข้า แต่จะเห็นตัวเลขฐานฟอร์เวิร์ดที่แบงก์ชาติไว้แทรกแซงหรือดูแลค่าเงินประมาณ 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จะเห็นว่าธปท.ดูแลค่าเงินไม่ให้มีความเสี่ยงเกินไป”

จับตาตลาดทองคำเซี่ยงไฮ้หลังใช้หยวน

เช่นเดียวกับนายบุญเลิศ สิริภัทรวณิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ออสสิริสฯ กล่าวให้ความเห็นผ่านวงเสวนาว่า นับตั้งแต่ปี 2556 จีนเป็นประเทศที่บริโภคทองคำมากที่สุด ซึ่งเป็นไปตามขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และภายหลังที่จีนต้องการให้สกุลเงินหยวนมีความเป็นสากล และก้าวไปสู่การกำหนดราคา (เบนมาร์ก) ซึ่งหากดูข้อมูลยอดทุนสำรองของทองคำประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีสัดส่วนของทองคำมากกว่า 50% ซึ่งประเทศจีนมีทุนสำรองทองคำประมาณ 1.7 พันตัน คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 6 ของทุนสำรอง หรืออยู่ในอันดับ 6 โดยประเทศสหรัฐฯ อยู่ในอันดับ 1 มีทุนสำรองทองคำอยู่ประมาณ 8 พันตัน หรือประมาณ 72% ของทุนสำรองทั้งหมด ขณะที่ไทยอยู่ในอันดับ 26 มีทุนสำรองทองคำ 152.4 ตัน หรือประมาณ 3%

“จีนเป็นผู้ผลิตทองคำรายใหญ่ และก็เป็นผู้บริโภครายใหญ่เช่นเดียวกัน หากรวมจีนและอินเดียจะสร้างดีมานด์สูงเกินกว่า 50% ซึ่งจะทำให้กระแสโฟร์ผ่านตลาดเซี่ยงไฮ้ทั้งหมด เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม”

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

เงินบาทเปิด 35.61/63 แนวโน้มอ่อนค่าต่อ

ค่าเงินบาทเปิด 35.61/63 บาท/ดอลลาร์ แนวโน้มอ่อนค่าต่อ หลังตัวเลขศก.สหรัฐหนุนดอลล์แข็ง คาดวันนี้เคลื่อนไหวกรอบ 35.50-35.65 บาท/ดอลลาร์

นักบริหารเงินจากธนาคารพาณิชย์ เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ระดับ 35.61/63 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าจากช่วงเย็นวานนี้ที่ปิดตลาดที่ระดับ 35.49/50 บาท/ดอลลาร์ เงินบาทวันนี้มีโอกาสเคลื่อนไหวไปในทิศทางที่อ่อนค่าได้ต่อ หลังจากที่การประกาศตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐหลาย รายการปรับตัวดีขึ้นกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ และเป็นปัจจัยที่ทำให้ตลาดมองว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีโอกาสมากขึ้นที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ย จึงทำให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลอื่นๆ

"วันนี้แนวโน้มบาทน่าจะอ่อนค่าได้ต่อ เพราะตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ หลายตัวออกมาดี จึงทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น" นักบริหารเงิน กล่าว

นักบริหารเงิน คาดว่า วันนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 35.50-35.65 บาท/ดอลลาร์

จาก http://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ปัญหาเกษตรที่นี่มีคำตอบ : ปรับปรุงดินและน้ำ บรรเทาภาวะโลกร้อน

คำถาม ในภาวะโลกร้อน ทำให้ดินและน้ำ

 มีปัญหา เราจะมีวิธีปรับปรุงบำรุงดินและน้ำอย่างไรครับ

เสริมบุญ เอกคณิต

อ.ร้องกวาง จ.แพร่

คำตอบ ภาวะโลกร้อน มีผลต่อประเทศไทย ซึ่งมีการทำเกษตรกรรมเป็นหลัก สภาวะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จึงเป็นปัญหาใหญ่ที่ไม่อาจมองข้าม ภาวะโลกร้อนได้ทำให้ปริมาณน้ำฝนมีการเปลี่ยนแปลง ทั้งในแง่ของการกระจายพื้นที่ ความบ่อยถี่ และปริมาณ ส่งผลให้บางพื้นที่เกิดภัยพิบัติจากน้ำท่วมที่รุนแรง บางพื้นที่เกิดภัยแล้งที่ยาวนานและซ้ำซาก และมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นให้เห็นบ่อยครั้งขึ้น เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง เป็นต้น

การเกษตรของไทยส่วนใหญ่ เป็นการเกษตรที่พึ่งพาน้ำฝนจากธรรมชาติ เป็นหลัก ภัยจากน้ำท่วม คลื่นความร้อน

 และการขาดแคลนน้ำ รวมไปถึงภาวะความแห้งแล้ง อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมากต่อผลผลิตทางการเกษตร

การทำเกษตรกรรม โดยไม่คำนึงถึงการอนุรักษ์ดินและน้ำ รวมถึงการปล่อยให้พื้นที่เสื่อมโทรมตลอดระยะเวลาการทำเกษตร และไม่ให้ความสำคัญต่อการฟื้นฟูบำรุงสภาพดิน เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ดินสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ และเสื่อมโทรม

วิธีรักษาความสมดุลให้กับระบบนิเวศ และลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อน การรณรงค์ลดเผาตอซังเศษพืช โดยให้หันมาใช้วิธีไถกลบแทน การปลูกไม้โตเร็ว ในพื้นที่ทิ้งร้าง พื้นที่สาธารณะ และโรงเรียน เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว ต้นไม้จะช่วยในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากักเก็บไว้ในดิน ไม่ให้ลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ อันเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน

ลดใส่ปุ๋ยเคมี ภาคเกษตร เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน จากการใส่ปุ๋ยเคมีมากเกินไป ทำให้เกิดการปลดปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์ เกษตรกรควรใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ คำนึงถึงความอุดมสมบูรณ์ของดิน ว่ามีธาตุอาหารอะไรบ้าง มีปริมาณเท่าไร ถ้าจะปลูกพืชชนิดใด ควรจะใส่ปุ๋ยในปริมาณเท่าใด จึงจะเหมาะสม ซึ่งช่วยให้เกษตรกรไม่ต้องใส่ปุ๋ย ในปริมาณที่มากเกินกว่าที่พืชต้องการ วิธีนี้จะช่วยลดสาเหตุของการปลดปล่อยก๊าซของภาคเกษตรได้แล้ว ยังช่วยลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรได้ด้วย

การบรรเทาภาวะโลกร้อน และการแก้ปัญหาก๊าซเรือนกระจกที่เกินมาตรฐาน เพื่อไม่ได้เป็นหน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง หรือของเกษตรกรเท่านั้น ทุกภาคส่วนของสังคมและประเทศ จะได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น ทุกฝ่ายควรร่วมมือร่วมใจกันลดกิจกรรมที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดก๊าซเรือนกระจก

วิธีง่ายๆ ที่จะสามารถช่วยลดโลกร้อนได้คือ ลดการตัดไม้ทำลายป่า ลดการเผาตอซังข้าว ลดการใช้ปุ๋ยเคมี และช่วยกัน

 ปลูกต้นไม้เพียงคนละ 1 ต้น ก็ยังดี เท่านี้ก็ถือว่าท่านได้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยบรรเทาภาวะโลกร้อนได้แล้ว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 17 พฤษภาคม 2559

ใบรับรองวิชาชีพข้าวและอ้อย

เส้นทางอาชีพ : ใบรับรองวิชาชีพข้าวและอ้อย : โดย...สุรัตน์ อัตตะ

                    ใกล้ความจริงมาทุกขณะสำหรับการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพสาขาวิชาชีพเกษตรกรรมการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจสำหรับอาชีพผู้ปฏิบัติงานด้านเพาะปลูกข้าวและอาชีพผู้ปฏิบัติงานเฉพาะด้านอ้อย โดยสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หน่วยงานราชการ ปราชญ์ชาวบ้านและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องที่ใช้ระยะเวลาดำเนินการมาเกือบ 2 ปีเต็ม เริ่มจากขั้นตอนการศึกษาข้อมูลจากต่างประเทศ อาทิ แคนาดา ออสเตรเลียและฟิลิปปินส์เพื่อมาประกอบการพิจารณา การใช้เทคนิควิเคราะห์หน้าที่งาน โดยเจ้าของอาชีพ การจัดทำประชาพิจารณ์การมีส่วนร่วมจากคนในอาชีพ การสร้างเครื่องมือ คู่มือและกระบวนการประเมิน จนได้ร่างมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพฉบับสมบูรณ์

                    ล่าสุด เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะทำงานได้มีการประชุมสรุปงานครั้งสุดท้าย ณ ห้องประชุมนนทรี เคยูโฮม ภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน เพื่อเก็บรายละเอียดปลีกย่อยเพิ่มเติมจากผู้ทรงวุฒิทุกภาคส่วน ทั้งปราชญ์ชาวบ้าน หน่วยราชการและอาจารย์มหาวิทยาลัย นำโดย รศ.ดร.ศักดา อินทรวิชัย จากภาควิชาเกษตรกลวิธาน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะผู้จัดการโครงการ ก่อนเสนอให้แก่หน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายบังคับใช้ต่อไป

                    สำหรับระดับคุณวุฒิวิชาชีพและการเลื่อนระดับคุณวุฒิวิชาชีพสาขาวิชาชีพเกษตรกรรม (ข้าวและอ้อย) นั้น เบื้องต้นจะแบ่งออกเป็น 4 สาขา ได้แก่ ผู้เตรียมดิน ผู้ปลูก ผู้ดูแลรักษาและผู้เก็บเกี่ยว โดยแต่ละสาขาจะแบ่งออกเป็น 5 ระดับชั้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวุฒิการศึกษาและประสบการณ์ของบุคคลนั้นๆ

                     เริ่มจากเกษตรกรชั้นหนึ่ง จะต้องมีประสบการณ์ในสาขาใดสาขาหนึ่งหรือทั้งสี่สาขามาไม่น้อยกว่า 2 ปี เกษตรกรชั้นสองจะต้องมีประสบการณ์ ไม่น้อยกว่า 4 ปี เกษตรกรชั้นสาม จะต้องมีประสบการณ์ ไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือผู้สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำระดับชั้นมัธยมปีที่ 3 หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง

                    เกษตรกรชั้นสี่ จะต้องมีประสบการณ์ไม่น้อยกว่า 8 ปี หรือผู้สำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงและสุดท้ายเกษตรกรชั้นห้า จะต้องมีประสบการณ์ไม่น้อยกว่า 11 ปี หรือผู้สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี (สาขาใดก็ได้) แต่ต้องมีประสบการณ์อย่างน้อย 1 ปี

                    หลังมีการตรวจสอบคุณสมบัติครบตามเกณฑ์ที่กำหนดแล้วจากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการทดสอบเพื่อประเมินผลทั้งภาคทฤษฎีและลงมือปฏิบัติจริงในแปลง โดยผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ ประกอบด้วยการสอบข้อเขียนแบบปรนัย การสัมภาษณ์เชิงเทคนิคและประสบการณ์ โดยผู้ที่ขอใบรับรองจะต้องมีอาชีพ 20 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นไปตามที่กฎหมายแรงงานกำหนด

                    จากนี้ไปก็เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่รับผิดชอบ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ที่จะดำเนินการขั้นต่อไปเพื่อให้มีผลทางกฎหมายบังคับใช้โดยเร็วที่สุดเพื่อประโยชน์ของเกษตรกรไทยในการใช้เป็นใบเบิกทางในการทำงานภาคการเกษตรให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลด้วย

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 17 พฤษภาคม 2559

ส่งออกเฝ้าระวังบาทแข็งทะลุ34 ชี้‘เฟด-ยูเค-นํ้ามัน’ปัจจัยกดดัน

ส่งออกเฝ้าระวังบาทแข็งค่าทะลุ 34 บาท/ดอลล์กระทบขีดแข่งขัน หวั่นสินค้าไทยจะยิ่ง เสียเปรียบเวียดนาม-มาเลย์ ด้านสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป ส่งข้อมูลค่าเงินรายวันให้สมาชิกคำนวณรับออร์เดอร์ใหม่ป้องกันขาดทุน ระบุล่าสุดยังโค้ดราคาที่ 35 บาท/ดอลล์ยืนพื้น ด้านสภาผู้ส่งออกสั่งจับตา 2 เหตุการณ์ใหญ่ประชุมเฟด- ลงประชามติUKถอนจากสมาชิกกลุ่มยุโรป จะป่วนค่าเงินโลกอีกระลอก ขณะที่แบงก์เชื่อระยะสั้น เงินบาทไม่แข็งลึกกว่า 34.80 บาท ชี้ปัจจัยกดดัน” เฟดไม่ขึ้นดบ.-น้ำมันทะลุ 50 ดอลล์”

นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ขณะนี้ผู้ส่งออกได้จับตามองอัตราแลกเปลี่ยน/ค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด เพราะหากแข็งค่าขึ้นจะกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออก หลังจากเมื่อประมาณ 10 วันก่อน เงินบาทแข็งค่าในช่วงสั้น ๆ ที่ระดับ 34.80 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นผลจากการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาในภาพรวมที่ยังไม่ค่อยดี (ยกเว้นอัตราการว่างงานในสหรัฐที่ยังทรงตัว) ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯอ่อน และบาทแข็งค่าขึ้น

อย่างไรก็ดี ณ ปัจจุบันค่าเงินบาทยังถือว่าอ่อนค่าในระดับ 35 บาทต้นๆ /ดอลลาร์สหรัฐฯ(13 พ.ค.59 ค่าเงินบาทเฉลี่ยที่ 35.30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ)ซึ่งเข้าใจว่าส่วนหนึ่งเป็นผลจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เข้าแทรกแซง

 “ที่น่าจับตาคือการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯหรือเฟดในวันที่ 16-17 มิถุนายนนี้จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในครั้งที่ 2 จากมีเป้าหมายจะปรับขึ้น 4 ครั้งภายในปีนี้หรือไม่ รวมทั้งต้องรอดูผลการทำประชามติของสหราชอาณาจักร(UK)ในวันที่ 23 มิถุนายนนี้ว่าจะถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่มสหภาพยุโรปหรือไม่ เพราะทั้งสองเหตุการณ์จะมีผลทำให้ค่าเงินของโลกมีความผันผวน”

ทั้งนี้หากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะมีผลให้เงินทุนสหรัฐฯไหลกลับ ทำให้ค่าเงินบาทอ่อน หากค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าหรือแข็งค่าไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินในภูมิภาคก็คงไม่กระทบมาก โดยหากอยู่ที่ระดับ 35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯขึ้นไปก็ยังมั่นใจว่าภาคการส่งออกของไทยยังแข่งขันได้ แต่หากแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 34.50 บาท การแข่งขันด้านราคาคงลำบาก เพราะต้นทุนสินค้าไทยภาพรวมไม่ได้เปรียบคู่แข่งขัน อย่างไรก็ดีมองว่าทิศทางเศรษฐกิจโลกในครึ่งหลังของปีนี้มีแนวโน้มน่าจะดีขึ้น และจะมีผลทำให้การส่งออกของไทยฟื้นตัว (จากไตรมาสแรกการส่งออกของไทยขยายตัวเพียง 0.90%)

 ด้านนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า ทางสมาคมซึ่งมีสมาชิกใน 6 กลุ่มสินค้าได้แก่ ทูน่า , ปลาและอาหารทะเล,สับปะรด, ผักและผลไม้, ข้าวโพดหวาน และอาหารพร้อมรับประทานและเครื่องปรุงรส ได้ติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด เพราะมีผลต่อกำไร-ขาดทุน และในการรับคำสั่งซื้อ(ออร์เดอร์) โดยทางสมาคมฯจะส่งรายงานอัตราแลกเปลี่ยนให้สมาชิกรับทราบทุกวันเพื่อใช้คำนวณราคาขายสินค้าและรับออร์เดอร์ จากปีที่แล้วในครึ่งปีแรกเงินบาทแข็งค่ามากระดับ 31-32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้การส่งออกลดลงอย่างมาก จากไม่กล้ารับออร์เดอร์ หรือรับน้อยลงเพราะเกรงขาดทุน แต่ในครึ่งหลังเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงเฉลี่ยที่ 35-36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯช่วยชดเชยรายได้ที่หายไปในครึ่งแรกได้

อย่างไรก็ดีในช่วงนี้สมาชิกของสมาคม(มีเกือบ 200 บริษัท)ส่วนใหญ่ได้โค้ดราคาขายสินค้าในอัตราแลกเปลี่ยนที่ 35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนนี้ในการคำนวณราคากลางขายสินค้าโดยยืนราคาไว้ 7 วัน ก่อนเสนอหรือโค้ดราคาใหม่ตามสถานการณ์ค่าเงิน ทั้งนี้ยังไม่มีรายใดโค้ดราคาในอัตราแลกเปลี่ยนที่ระดับ 34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ เพราะหากใช้อัตรานี้ราคาสินค้าจะสูงขึ้น และขายยาก

“ค่าเงินบาทช่วงนี้ยังค่อนข้างดี การแข็งค่าหรืออ่อนค่ายังเป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินในภูมิภาคที่เป็นคู่แข่งขันส่งออก ทำให้ไม่ได้เปรียบหรือเสียเปรียบกันมาก แต่มีอยู่ 2 ประเทศได้แก่ มาเลเซีย และเวียดนามที่ถัวเฉลี่ยค่าเงินเขาจะอ่อนค่ากว่าเรา และเขาเริ่มมีการพัฒนาผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและราคาใกล้เคียงกับเราคือ เช่นอาหารทะเล ซึ่งเวียดนามได้เปรียบไทย เพราะอยู่ติดทะเล มีวัตถุดิบมากกว่า ขณะที่ไทยต้องนำเข้าวัตถุดิบอาหารทะเล อีกทั้งเวียดนามยังได้เปรียบเพราะยังได้ยังได้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร(จีเอสพี) จากสหรัฐฯ และอียู และยังเป็นสมาชิกของทีพีพี ซึ่งหากความตกลงมีผลบังคับใช้ จะยิ่งได้เปรียบไทยมากขึ้น”

นายวิศิษฐ์ กล่าวอีกว่า หากเปรียบเทียบปัจจัยที่ส่งผกระทบกับการส่งออกแล้ว ความกังวลใจของผู้ส่งออกในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนถืออยู่ในอันดับต้น ๆ ส่วนปัจจัยเสี่ยง ๆที่ต้องระวัง ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า ที่จะส่งผลต่อกำลังซื้อ และต่อการนำเข้าสินค้า ขณะที่ใน 2 ปีที่ผ่านมาประเทศคู่แข่งหลายประเทศได้ใช้ค่าเงินในการกอบกู้เศรษฐกิจ เช่น สหรัฐฯออกคิวอี หลายประเทศในยุโรป และญี่ปุ่นใช้มาตรการดอกเบี้ยติดลบ จีนประกาศลดค่าเงินหยวนลง 7% เพื่อกระตุ้นการส่งออก หากประเทศเหล่านี้ประกาศมาตรการใดออกมาอีกจะกระทบค่าเงินบาทไทยผันผวน ที่ต้องจับตาในระยะเวลาอันใกล้นี้คือเฟดจะประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในรอบที่ 2 หรือไม่ และเมื่อใด

ด้านสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ(สคร.) ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา อ้างรายงานของ สำนักข่าว CNBC และรอยเตอร์ว่า ในเดือนมีนาคม 2559 สหรัฐฯขาดดุลการค้าลดลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยมียอดการนำเข้าลดลงต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2553 (ต่ำสุดรอบ 5 ปี)สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการสินค้าในประเทศที่ลดลง ซึ่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่บ่งบอกถึงเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงในไตรมาสแรกของสหรัฐฯ ทั้งนี้แม้ว่าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่แข็งค่าขึ้น และความต้องการของตลาดโลกที่ลดลงจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของสหรัฐฯ แต่สัญญาณดังกล่าวก็กำลังอ่อนตัวลงโดย The Institute for Supply Management(ISM) เปิดเผยว่า ตัวเลขด้านการผลิตของสหรัฐฯฯกำลังปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือนเมษายน 2559 เป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน และสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2557 โดยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับค่าเงินของกลุ่มประเทศคู่ค้าหลักของสหรัฐฯ คาดว่าน่าจะจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าสหรัฐฯในตลาดโลก

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ รองผู้อำนวยการ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) (บมจ.) หรือทีเอ็มบี เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่าโอกาสที่เงินบาทจะอ่อนค่าไปแตะกรอบถึงจุด 36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ อาจไม่เห็น เพราะมุมมองของตลาดได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว

อย่างไรก็ตามยังมองว่าแนวโน้มค่าเงินบาทในช่วงที่เหลือของปีนี้ว่ายังมีทิศทางอ่อนค่า แต่เป็นการอ่อนค่าที่ไม่เร็วมากนัก ซึ่งเป็นผลมาจากการแข็งค่าของสกุลเงินหลัก จากปัจจัยคาดการณ์เดิมที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีโอกาสที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเฟดถึง 4 ครั้ง ซึ่งทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าไปแตะระดับที่ 36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ปัจจุบันตลาดคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยเพียง 1 ครั้ง จึงมองว่ากรอบบนของค่าเงินบาทน่าจะอยู่ที่ 35.5-35.80 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่กรอบล่างมีทิศทางแข็งค่าแตะระดับ 34.80 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ หลังจากนั้นก็เริ่มมีแรงซื้อดอลลาร์สหรัฐฯ กลับเข้ามา ซึ่งเป็นแรงซื้อทั้งจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และธนาคารพาณิชย์ ดังนั้น คาดว่าค่าเงินบาทจะไม่แข็งค่าลงลึกเกินกรอบล่างที่ 34.80 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ

ทั้งนี้ปัจจัยที่จะส่งผลให้ค่าเงินบาทกลับมามีทิศทางแข็งค่าได้นั้น จะมาจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ 1.โอกาสที่เฟดไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ว่าจะมีการปรับขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายนหรือกันยายนนี้ และ 2.หากราคาน้ำมันมีการปรับราคาสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยราคาไปอยู่ในระดับเกิน 50 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล จะเป็นแรงกดดันให้เงินสกุลเอเชียมีความน่าสนใจ ส่งผลให้เกิดเงินทุนไหลเข้า ซึ่งมีผลต่อค่าเงินให้แข็งค่า อย่างไรก็ดี ธนาคารประเมินราคาน้ำมันเฉลี่ยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้อยู่ที่ระดับ 47 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล

“ในระยะสั้นค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มอ่อนค่า เพราะยังไม่มีปัจจัยที่มีผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าในระยะสั้น โดยตั้งแต่ต้นเดือนจนถึงปัจจุบันค่าเงินในภูมิภาคมีทิศทางอ่อนค่าเมื่อเทียบดอลลาร์สหรัฐฯ หมด ยกเว้นประเทศฟิลิปปินส์ที่แข็งค่าเพราะมีปัจจัยการเลือกตั้ง โดยเงินบาทอ่อนค่า 1.50%

แต่หากนับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันค่าเงินในภูมิภาคมีทิศทางแข็งค่า โดยเงินเยนญี่ปุ่นแข็งค่าสุดที่ 10.53% รองลงมาริงกิต-มาเลเซีย 6.61% และยูโร 4.49% ส่วนไทยแข็งค่า 1.78% ดังนั้นมองว่าระยะสั้นเงินบาทในอยู่ในเทรนอ่อนค่า”

จาก http://www.thansettakij.com   วันที่ 17 พฤษภาคม 2559

ไทยร่วมหารือการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ

กระทรวงพาณิชย์ เผย ไทยร่วมหารือการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ และยกระดับ SMEs ในเอเปก

นายวินิจฉัย แจ่มแจ้ง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตนจะเดินทางเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปก ครั้งที่ 22 ระหว่างวันที่ 17 - 18 พ.ค.นี้ ที่ เมืองอาเรกีปา สาธารณรัฐเปรู หัวข้อหลักของปีนี้ คือ “การเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพและการพัฒนามนุษย์” โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค และการดำเนินงานเพื่อมุ่งไปสู่การเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรีของเอเชีย-แปซิฟิก (Free Trade Area of the Asia-Pacific : FTAAP) ซึ่งจะให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ นอกจากนี้ เปรู เจ้าภาพยังได้ชูเรื่องการพัฒนา SMEs ให้เข้าไปมีส่วนร่วมในห่วงโซ่ของโลก ทั้งด้านการใช้ประโยชน์จาก E-Commerce ซึ่งสอดรับกับนโยบายของไทยที่ให้ความสำคัญกับบทบาทของ SMEs ในการเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

โดยในการประชุมครั้งนี้ ไทยจะสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีภายใต้ WTO และจะผลักดันให้ประเทศต่าง ๆ ดำเนินการเปิดเสรีการค้าการลงทุนภายในปี 2563 ตามเป้าหมายโบกอร์ และให้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพห่วงโซ่การผลิต และในระหว่างการประชุมฯ จะได้พบหารือสองฝ่ายกับประเทศต่าง ๆ อาทิ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น รัสเซีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และเปรู เพื่อหารือแนวทางความร่วมมือ และขยายการค้าระหว่างกันให้เพิ่มมากขึ้นด้วย

 จาก http://www.innnews.co.th   วันที่ 17 พฤษภาคม 2559

แก้ปมภัยแล้งลุ่มน้ำยม 

          พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำน้ำปี้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.เชียงม่วน จังหวัดพะเยา ว่า หลังจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ได้เห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวลด้อม โครงการดังกล่าวและคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 3 พ.ย.2558 ให้ความเห็นชอบการดำเนินโครงการ ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการจ้างประกวดราคาประมูลการก่อสร้างและที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างคาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในปี 2560

          สำหรับโครงการอ่างเก็บน้ำน้ำปี้เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร การอุปโภคและบริโภคบนพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนบน ตามแผนเดิมกำหนดความจุอ่างเพียง 27 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง โดยอ่างเก็ฐน้ำขนาดกลางพิเศษ ปริมาตรความจุ 96 ล้าน ลบ.ม. โดยเขื่อนจะตั้งปิดกั้นลำน้ำปี้ที่บริเวณหมู่ 3 บ้านปิน ต.เชียงม่วน อ.เชียงม่วน และที่พื้นที่อ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่จะอยู่ในเขต ต.เชียงม่วน และมีพื้นที่บางส่วนอยู่ในเขต ต.บ้านพี้ และ ต.สวด อ.บ้านหลวง จังหวัดน่าน ส่วนระบบชลประทานเป็นระบบท่อ ความยาวรวม 75 กิโลเมตรใช้งบก่อสร้าง 3,981 ล้านบาท

          "หลังก่อสร้างแล้วเสร็จ จะสามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทานของโครงการ บริเวณอำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา 28,000 ไร่ และส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทานของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่น้ำยม ในช่วงฤดูแล้งได้อีก 35,000 ไร่ พื้นที่ได้รับประโยชน์ด้านน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค 55,000 ไร่ ครอบคลุม 7,153 ครัวเรือน 34 หมู่บ้าน ใน 3 ตำบลของ อ.เชียงม่วน จังหวัดพะเยาและบริเวณท้ายน้ำของแม่น้ำยม ซึ่งตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งและฝนทิ้งช่วง"

จาก http://www.thairath.co.th   วันที่ 17 พฤษภาคม 2559

หนุนแผนจัดโซนนิ่งพืชพลังงาน-หวังต้นทุนต่ำลง

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงพลังงาน ได้หารือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เกี่ยวกับแนวทางในการบริหารจัดการและการส่งเสริมพลังงานทดแทนจากพืชทางการเกษตร โดยเฉพาะการผลิตเอทานอล และไบโอดีเซล ที่ประสบปัญหาต้นทุนโดยรวมของไทยสูงขึ้น และบางครั้งเมื่อมีปัญหาภัยธรรมชาติ ทำให้วัตถุดิบมีความไม่แน่นอนในเชิงปริมาณ ดังนั้นจึงเสนอที่จะศึกษาแนวทางการจัดโซนนิ่งพืชพลังงานทดแทน

“คงจะต้องศึกษาภาพรวมในการดำเนินงานเพราะที่ผ่านมาต้นทุนการผลิตพืชพลังงานของไทยสูง เพราะผลผลิตต่อไร่หรือยีลของไทยต่ำมาก และได้สะท้อนราคาไปยังพลังงานทดแทนที่มีต้นทุนสูงตามไปด้วย และเมื่อราคาน้ำมันดิบถูก ทำให้เอทานอลและไบโอดีเซลแพงกว่าเนื้อน้ำมัน การส่งเสริมการใช้ก็ต้องใช้เงินอุดหนุนเพิ่มอีก และการดำเนินงานทั้งหมดต้องเน้นให้ผลประโยชน์นั้นตกถึงเกษตรกรอย่างแท้จริงด้วย” นายอารีพงศ์ กล่าว

ทั้งนี้ หากมีส่งเสริมการจัดโซนนิ่งเฉพาะพืชพลังงาน และกำหนดมาตรการส่งเสริมการเพาะปลูก เพื่อเป้าหมายการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ที่สูงขึ้น รวมถึงการจัดระบบการทำเกษตรแบบมีสัญญา หรือ Contract Farming ที่มีการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ก็จะทำให้พลังงานทดแทนที่ผลิตจากพืชมีต้นทุนต่ำลง การวางเป้าหมายเกี่ยวกับการใช้พลังงานทดแทนภาพรวมของประเทศก็จะเร็วขึ้น และมีความชัดเจนมากขึ้นด้วย

แหล่งข่าวจากสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า กระทรวงพลังงานมีแผนที่จะขับเคลื่อนเป้าหมายการใช้พลังงานทดแทนจากพืชพลังงานให้เร็วและชัดเจนขึ้น จากปัจจุบันได้จัดทำแผนพลังงานทดแทนที่มีเป้าหมายจะใช้เอทานอลจากเฉลี่ย 3.5 ล้านลิตรต่อวัน เป็น 11.30 ล้านลิตรต่อวัน ไบโอดีเซลจาก 3.7 ล้านลิตรต่อวัน เป็น 14 ล้านลิตรต่อวันเมื่อสิ้นสุดปี 2579

“รัฐจะยกเลิกการจำหน่ายแก๊สโซฮอล์ 91โดยขณะนี้ได้กำหนดส่วนต่างของราคาให้ใกล้เคียงกับแก๊สโซฮอล์ 95 อยู่ ซึ่งการใช้ในช่วงที่ผ่านมาพบว่ามีผู้มาใช้แก๊สโซฮอล์ 95 เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ยอมรับว่าปี 2559 นี้คงจะไม่สามารถยกเลิกได้เพราะยังคงมีปัญหาเรื่องของการผลิตน้ำมันเบนซินพื้นฐาน (จีเอส) ที่จะต้องนำเข้า ดังนั้นจึงต้องดูจังหวะที่เหมาะสมอีกครั้ง” แหล่งข่าวกล่าว

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายและที่ปรึกษาสมาคมผู้ค้าผู้ผลิตเอทานอลไทยกล่าวว่า แนวความคิดในการจัดโซนนิ่งพืชพลังงาน หากดำเนินการได้ก็จะเป็นเรื่องที่ดี เพราะขณะนี้ต้องยอมรับว่าต้นทุนพืชเกษตรของไทยส่วนใหญ่ยังคงมีปัญหาผลผลิตต่อไร่ที่ต่ำมาก เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นอ้อยที่กระบวนการผลิตน้ำตาลจะได้โมลาส(กากน้ำตาล) มาเป็นวัตถุดิบในการผลิตเอทานอลหรือแม้แต่ปาล์มดิบที่จะนำมากลั่นเป็นปาล์มน้ำมันไบโอดีเซล (บี100) เพื่อผสมกับดีเซลในปัจจุบัน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

เร่งยกระดับความปลอดภัยในโรงงาน

นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม รองโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรมได้จัด“โครงการส่งเสริมและการพัฒนาความปลอดภัยในโรงงานอุตสาหกรรม” เพื่อส่งเสริมกำกับดูแลและพัฒนาแนวทางหลักเกณฑ์การปฏิบัติงานด้านความปลอดภัย รวมถึงการป้องกันอัคคีภัยในโรงงาน ปี 2559 นี้ได้นำร่องร่วมมือกับโรงงานอุตสาหกรรมในกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) จำนวน 41 โรงงาน ในพื้นที่ 14 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ กาญจนบุรี เพชรบุรี หนองคาย สุพรรณบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ราชบุรี นนทบุรี ชลบุรี ปทุมธานี ระยอง นครนายก ปัตตานี

โดยกรมจะจัดส่งผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยไฟฟ้าเข้าไปสำรวจตรวจสอบ และวิเคราะห์ข้อมูลโรงงานด้านไฟฟ้าและอัคคีภัย พร้อมทั้งติดตามและให้คำปรึกษา เพื่อให้เกิดการพัฒนาความปลอดภัย ตั้งเป้าการดำเนินโครงการให้กับผู้ประกอบการ SMEs เป็นต้นแบบการพัฒนาด้านความปลอดภัยในโรงงานทั่วประเทศ

นอกจากนี้กรมยังได้จัดทำแบบตรวจสอบประเมินตนเอง หรือ Self Checklist ส่งให้โรงงานในกลุ่มเสี่ยงอีกกว่า 100 โรงงาน เพื่อประเมินตนเองเบื้องต้น ในการตรวจสอบความปลอดภัยในโรงงาน ตลอดจนช่วยกำหนดแนวทางการวางแผนป้องกันอุบัติเหตุ รวมถึงการเกิดอัคคีภัยในระยะต่อไป

ทั้งนี้ ที่ผ่านมากรมมีข้อกำหนดให้โรงงานที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดเพลิงไหม้ จะต้องมีบุคลากรประจำโรงงานเพื่อดำเนินการตรวจสอบ และต้องผ่านการอบรมสำหรับการตรวจสอบความปลอดภัยระบบไฟฟ้าโรงงาน ตามหลักสูตรกรม คาดว่าจะช่วยลดความเสี่ยงและลดการเกิดอุบัติเหตุในโรงงานได้อย่างมีประสิทธิผล

สำหรับสถิติการเกิดอุบัติเหตุในโรงงานทั่วประเทศ2 ปีย้อนหลัง สาเหตุที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด 3 อันดับแรกคือ อัคคีภัย เคมีรั่วไหล และอันตรายจากเครื่องจักร, กลุ่มโรงงานที่พบอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ พลาสติก โฟม กระดาษยาง อาหาร แปรรูปไม้, จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ชลบุรี 29 ครั้ง สมุทรปราการ 25 ครั้งกรุงเทพฯ 22 ครั้ง ระยอง 21 ครั้ง สมุทรสาคร 20 ครั้ง

จาก http://www.naewna.com วันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

สรุปภาพรวมเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของไทยในปัจจุบันและแนวโน้มของปี 2559 และผลงานให้บริการอันดับเครดิตในปี

          บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด โดยนางสาววัฒนา ถิรานุชิต กรรมการผู้จัดการ ได้จัดแถลงข่าวเพื่อสรุปภาพรวมเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของไทย รวมทั้งมุมมองของทริสเรทติ้งเกี่ยวกับอุตสาหกรรมที่น่าจับตามองในปี 2559 พร้อมทั้งสรุปผลงานให้บริการจัดอันดับเครดิตของทริสเรทติ้งประจำปี 2558 ซึ่งเป็นปีที่ 22 ที่ทริสเรทติ้งได้ให้บริการมาตั้งแต่ปี 2536

          สรุปภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2558 และแนวโน้ม 2559

          เศรษฐกิจไทยในปี 2558 ขยายตัวต่ำกว่าคาดด้วยอัตรา 2.8% แม้ว่าจะเป็นอัตราการขยายตัวที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2557 แต่ยังคงเป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำกว่าศักยภาพของประเทศเมื่อพิจารณาจากอัตราการขยายตัวที่แท้จริงของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product - GDP) โดยเฉลี่ยที่เคยเท่ากับ 4.5% ต่อปีในระหว่างปี 2543-2555 เปรียบเทียบกับอัตราการขยายตัวโดยเฉลี่ยที่เท่ากับเพียง 2.1% ในระหว่างปี 2556 ถึง 2558

          การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2558 ได้รับการสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของการเกินดุลการค้าสินค้า (คิดเป็น 40%) การเกินดุลการค้าบริการ (27%) และการขยายตัวของการลงทุนจากภาครัฐ (18%) ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของดุลการค้าบริการสอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ อย่างไรก็ดี การเพิ่มขึ้นของดุลการค้าสินค้าระหว่างประเทศนั้นกลับเป็นผลสะท้อนมาจากการลดลงของการนำเข้าเป็นส่วนใหญ่ ทั้งจากการลดลงของราคาน้ำมัน และลดลงของการนำเข้าสินค้า ซึ่งเป็นผลมาจากสภาพเศรษฐกิจที่อ่อนแอของประเทศไทย ในส่วนของปัจจัยลบที่ทำให้เศรษฐกิจไทยไม่ขยายตัวเท่าที่ควรได้แก่การลดลงอย่างต่อเนื่องของมูลค่าการส่งออก ราคาพืชผลเกษตรที่ตกต่ำที่ทำให้รายได้ในภาคการเกษตรลดลง การชะลอตัวของการบริโภคในประเทศ และความล่าช้าของการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ภาครัฐ

          ทริสเรทติ้งพบว่าภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวด้านเศรษฐกิจของไทยในปี 2558 ประกอบด้วยการค้าส่งค้าปลีก ธุรกิจที่อยู่อาศัย การผลิตและจำหน่ายรถยนต์ ผู้ผลิตสินค้าเกษตร นอกจากนี้ สินค้าเกษตรซึ่งเน้นการส่งออกเป็นสำคัญ ได้แก่ กลุ่มอาหารทะเล เช่น ปลาทูน่า และกุ้ง ก็ได้รับผลกระทบจากปัญหาด้านผลผลิตจากการระบาดของโรคติดต่อ รวมทั้งมาตรการกีดกันทางการค้าที่เพิ่มขึ้นในรูปของมาตรฐานการนำเข้าที่สูงขึ้นจากประเทศผู้นำเข้าที่สำคัญ แม้ว่าราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก เช่น น้ำตาล และยางธรรมชาติ เริ่มมีการฟื้นตัว แต่ความต้องการในตลาดโลกยังคงอ่อนตัว ประกอบกับการแข่งขันที่รุนแรงจากผู้ส่งออกรายอื่น ๆ

          ดัชนีทางเศรษฐกิจของไทยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2559 แสดงถึงการฟื้นตัวเล็กน้อยของการบริโภคของภาคเอกชนและการเพิ่มขึ้นของผลผลิตและราคาสินค้าเกษตร อย่างไรก็ดี มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐยังคงมีความจำเป็นเพื่อกระตุ้นการบริโภค และการลงทุนของภาคเอกชน ในขณะที่ผลประกอบการที่อ่อนตัวลงของธุรกิจในต่างจังหวัด แต่สินเชื่อส่วนบุคคลกลับมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ยังคงเป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นถึงการอ่อนตัวของกำลังซื้อในภาคเกษตรและความต้องการสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้นมาก ซึ่งควรจะต้องมีการบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสมเพื่อป้องกันการเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์ด้อยคุณภาพในระยะปานกลางและระยะยาว

          ภาวะเศรษฐกิจไทยสำหรับปี 2559 คาดว่าจะยังคงอ่อนตัว โดยมีอัตราการขยายตัวระหว่าง 2.7%-3.0% โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากมาตรการของรัฐบาลในการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ และการลงทุนโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชน รวมทั้งการฟื้นตัวของราคาสินค้าเกษตรที่จะส่งผลต่อรายได้ของเกษตรกร ในขณะที่ปัจจัยลบที่ยังคงอยู่ได้แก่การฟื้นตัวที่ต่ำกว่าคาด ของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่สำคัญของประเทศไทยโดยเฉพาะ จีน อาเซียน และญี่ปุ่น ในขณะที่มาตรการที่มีลักษณะเป็นการกีดกันทางการค้าสินค้าเกษตรส่งออกของไทยโดยอเมริกาและยุโรปมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมทั้งผลกระทบจากภาวะภัยแล้งและสภาพภูมิอากาศที่อาจกระทบต่อผลผลิตในประเทศ

          ภาพรวมอุตสาหกรรมของไทยในปัจจุบันและแนวโน้มในปี 2559

          ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ แนวโน้มคงที่ถึงลบ

          ในปี 2559 คาดว่าอัตราการเติบโตของสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ยังคงชะลอตัวต่อเนื่องจากปี 2558 และความสามารถในการทำกำไรมีแนวโน้มทรงตัวถึงลดลงจากปีก่อน อันเป็นผลจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2556 รวมถึง ภาระหนี้ภาคครัวเรือน และภาคธุรกิจที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดหนี้เสียเพิ่มขึ้นจำนวนมาก และความสามารถในการทำกำไรของธนาคารพาณิชย์ลดลงจากภาระการสำรองหนี้สูญที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ใน Q1 ปี 2559 ผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์เอกชนที่ยังไม่สอบทานก็ยังคงบ่งบอกแนวโน้มของการลดลงในความสามารถทำกำไรอย่างต่อเนื่อง

          ยอดคงค้างสินเชื่อรวมของระบบธนาคารพาณิชย์จากรายงานของธนาคารแห่งประทศไทย มีอัตราเติบโตชะลอตัวลงจาก 11% ในปี 2556 เป็น 5% และ 4% ในปี 2557 และ 2558 ตามลำดับ โดยในปี 2558 สินเชื่อแก่ธุรกิจขนาดใหญ่แทบไม่เปลี่ยนแปลงจากปี 2557 ขณะที่สินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและย่อม และสินเชื่อรายย่อยยังมีอัตราเติบโตประมาณ 6% อัตราสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพิ่มขึ้นจาก 2.2% ในปี 2557 เป็น 2.6% ในปี 2558 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของ NPL ในสินเชื่อที่ให้แก่ทั้ง 3 กลุ่ม โดยมีอัตรา NPL ในระดับ 1.6%, 3.5% และ 2.6% ตามลำดับ

          ผลประกอบการปี 2558 ของธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 11 แห่ง ในฐานข้อมูลของทริสเรทติ้ง มีอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้เฉลี่ย 1.65% ลดลงต่อเนื่องจาก 1.98% ในปี 2556 และ 1.86% ในปี 2557 เนื่องจากต้นทุนด้านเครดิตเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น จาก 0.7% ในปี 2557 เป็น 1% ในปี 2558 อย่างไรก็ตาม ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนในระดับเพียงพอรองรับความเสี่ยงในอนาคต

          ทริสเรทติ้งคาดว่า การขยายตัวของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ในปี 2559 จะมีอัตรา 3%-5% สอดคล้องกับการขยายตัวเศรษฐกิจและได้รับผลบวกจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล รวมถึงการขยายการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและระบบคมนาคมขนส่ง ส่วนความสามารถในการทำกำไรของธนาคารพาณิชย์ยังได้รับแรงกดดันจากภาระการสำรองหนี้สูญที่เพิ่มขึ้น การถดถอยลงของคุณภาพสินทรัพย์ ยังเป็นปัจจัยที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดต่อไป

          ณ วันที่ 11 พ.ค. 2559 ธนาคารพาณิชย์ ที่จัดอันดับเครดิตโดยทริสเรทติ้งมีทั้งสิ้น 6 ราย มีอันดับเครดิตตั้งแต่ระดับ "A-" ถึง "AAA" ได้แก่ ธ. กรุงศรีอยุธยา (AAA/Stable) ธ. เมกะสากลพาณิชย์ (AA+/Stable) ธ. ธนชาต (AA-/Stable)

          ธ. ทิสโก้ (A/Stable) ธ. เกียรตินาคิน (A-/Stable) และ ธ. แลนด์แอนด์เฮ้าส์ (A-/ Positive Alert) ส่วนบริษัทโฮลดิ้งของธนาคารพาณิชย์ ได้แก่ บมจ. ทุนธนชาต (A+/Stable) และ บมจ. ทิสโก้ (A-/Stable)

          ธุรกิจสินเชื่อเช่าซื่อรถยนต์ แนวโน้มคงที่

          ในปี 2559 คาดว่าอุตสาหกรรมนี้จะยังคงชะลอตัวต่อเนื่องจากปี 2558 จากผลกระทบของโครงการรถยนต์คันแรก (1.25 ล้านคัน) ที่กระตุ้นให้เกิดความต้องการซื้อรถยนต์เกินอัตราที่แท้จริง เกิดเป็นการก่อหนี้ภาคครัวเรือนในระดับสูงและเกิดปัญหาอุปทานส่วนเกินในรถยนต์มือสองจนกระทั่งราคารถยนต์มือสองลดลงอย่างต่อเนื่องมากถึง 30%-35% เป็นนานถึง 2 ปีตั้งแต่กลางปี 2556 เมื่อรวมกับผลจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2556 ส่งผลให้เกิดหนี้เสียเพิ่มขึ้นจำนวนมาก และความสามารถในการทำกำไรของผู้ประกอบการลดลง จากภาระการสำรองหนี้สูญที่เพิ่มขึ้น

          ยอดคงค้างสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ของผู้ประกอบการรายใหญ่ 20 รายในฐานข้อมูลของทริสเรทติ้ง มีมูลค่ารวม 1.9 ล้านล้านบาท ฟื้นตัวขึ้น 0.6% ในปี 2558 จากที่หดตัวลง 1.8% ในปี 2557 เทียบกับที่ขยายตัวเกินจริงถึง 38% ในปี 2555 และ 21% ในปี 2556 ในขณะเดียวกัน คุณภาพสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ก็ถดถอยลงอย่างต่อเนื่องในปี 2555 ถึง 2557 โดยอัตราสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพิ่มขึ้นจาก 1.2% ในปี 2556 เป็น 2.2% ในปี 2557 และทรงตัวในระดับ 2.2% ในปี 2558

          จากภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวต่อไปในปี 2559 รวมทั้ง ราคารถยนต์มือสองฟื้นตัวเพียงเล็กน้อย

          ทริสเรทติ้งจึงมองว่าทิศทางการขยายตัวของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์จะยังคงจำกัด ในขณะที่คุณภาพสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์น่าจะมีทิศทางที่ทรงตัวถึงลดลงหลังจากที่ผู้ประกอบการได้ตัดหนี้สูญออกไปจำนวนมากและมีภาระต้นทุนทางเครดิตในการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นในอัตราสูงในช่วงปี 2557-2558 ซึ่งกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรในช่วงดังกล่าว อย่างไรก็ตาม การถดถอยลงของคุณภาพสินทรัพย์ยังเป็นปัจจัยที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดต่อไป

          ณ วันที่ 11 พ.ค. 2559 ผู้ประกอบการเช่าซื้อรถยนต์ที่จัดอันดับเครดิตโดยทริสเรทติ้งมีทั้งสิ้น 8 ราย มีอันดับเครดิตตั้งแต่ระดับ "BBB-" ถึง "AAA" โดยรายใหญ่เป็นธนาคารพาณิชย์ 3 ราย ได้แก่ ธ. ธนชาต (AA-/Stable) ธ. ทิสโก้ (A/Stable) และ ธ. เกียรตินาคิน (A-/Stable) นอกจากนี้ ยังมี บจก. โดโยต้าลีสซิ่ง (หุ้นกู้มีค้ำประกัน AAA/Stable) บมจ. อยุธยา แคปิตอล ออโต้ลีส (AA-/Stable) บมจ. เอเซียเสริมกิจลีสซิ่ง (BBB+/Stable) บมจ. ราชธานีลีสซิ่ง (BBB+/Stable) และ บมจ. ไมด้าลีสซิ่ง (BBB-/Stable)

          ธุรกิจการเกษตร แนวโน้มคงที่ถึงลบ

          เริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวในบางกลุ่มหลังจากที่กำไรของบริษัทต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมลดลงจากราคาตกต่ำในช่วงที่ผ่านมา ในส่วนของ ธุรกิจน้ำตาล นั้น ราคาน้ำตาลเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2558 ภาวะเอลนิโน่ส่งผลให้ผลผลิตอ้อยและน้ำตาลของประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ เช่น ไทย จีน และอินเดีย ลดลงในปี 2558/2559 ขณะที่บราซิลผู้ผลิตน้ำตาลอันดับหนึ่งของโลกผลิตน้ำตาลน้อยลงเพราะฝนตกหนักและยังคงนำอ้อยไปผลิตเอทานอลในสัดส่วนที่มากขึ้น ทำให้ปี 2558/2559 จะเป็นปีแรกในรอบ 6 ปีที่เกิดภาวะขาดดุลน้ำตาล (Deficit) ในตลาดโลก อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตน้ำตาลในประเทศไทยยังเผชิญความท้าทายจากปัญหาสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกทำให้ผลผลิตอ้อยและผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยลดลง คาดว่าผลผลิตน้ำตาลของไทยในปี 2558/2559 จะลดลงราว 10% เหลือประมาณ 10 ล้านตัน จากปีก่อนที่ผลิตน้ำตาลได้ 11.34 ล้านตัน ทำให้การฟื้นตัวของกำไรและกระแสเงินสดอาจจะเป็นไปอย่างจำกัดจากปัญหาต้นทุนเพิ่มและผลผลิตน้ำตาลที่ลดลง

          ปัจจุบันทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจน้ำตาล 3 ราย ได้แก่ บจก. น้ำตาลมิตรผล (A+/Stable) บมจ. น้ำตาลขอนแก่น (KSL -- A/Stable) และ บมจ. น้ำตาลบุรีรัมย์ (BRR -- BBB-/Stable)

          ในส่วนของ ธุรกิจไก่และหมู นั้น ปัญหาอุปทานล้นตลาดส่งผลให้ธุรกิจเข้าสู่วงจรตกต่ำตามวัฏจักรอีกครั้งในปี 2558 สำหรับปี 2559 คาดว่าผู้ประกอบการในธุรกิจสัตว์บกจะได้รับประโยชน์จากต้นทุนอาหารสัตว์ที่ลดลงและการฟื้นตัวของราคาเนื้อสัตว์บก ปัจจัยบวกสำหรับธุรกิจไก่ยังคงมาจากความต้องการส่งออกที่เพิ่มขึ้น โดยในช่วงปี 2558 ประเทศไทยมีการส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่รวม 681,073 ตัน เติบโต 17.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน คาดว่าผู้ประกอบการจะมีความสามารถในการทำกำไรที่ดีขึ้นและมีผลกำไรที่ดีขึ้นในปี 2559

ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตให้แก่ผู้ประกอบที่ดำเนินธุรกิจสัตว์บก 2 ราย ได้แก่ บมจ. เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF -- A+/Stable) และ บมจ. เบทาโกร (A/Stable)

          ในส่วนของ ธุรกิจอาหารทะเล นั้น ยังคงต้องจับตาเรื่องการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (IUU) ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการตรวจสอบจากสหภาพยุโรป หากสหภาพยุโรปตัดสินว่าการประมงของไทยไม่เป็นไปตามเกณฑ์ IUU หรือการแก้ไขปัญหาทางด้านประมงของประเทศไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานของสหภาพยุโรปยังไม่คืบหน้าอย่างชัดเจน สหภาพยุโรปจะประกาศห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากประเทศไทย การห้ามนำเข้าอาจรวมถึงผลิตภัณฑ์กุ้งซึ่งใช้ปลาป่นที่จับจากเรือประมงในการเลี้ยง ดังนั้นการส่งอาหารทะเลรวมถึงกุ้งไปสหภาพยุโรปมูลค่า 20,791 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 10% ของการส่งออกสินค้าประมงไทย ในปี 2558 ได้รับผลกระทบ ทางด้านปัจจัยบวกในธุรกิจนี้จะเป็นเรื่องปัญหาโรคกุ้งตายด่วนที่คลี่คลายลงเป็นลำดับ คาดว่าผลผลิตกุ้งจะเพิ่มขึ้นประมาณ 10% เป็น 290,000 ตันในปี 2559 แต่ผู้ประกอบการอาจเจอความท้าทายทางด้านการหาตลาดทดแทนตลาดสหภาพยุโรปหลังจากสหภาพยุโรปได้ยกเลิกสิทธิประโยชน์ภาษีสำหรับกุ้งนำเข้าจากไทยภายใต้ GSP ตั้งแต่ปี 2557-2558

          ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับอาหารทะเล 2 ราย ได้แก่ บมจ. ไทย ยูเนี่ยนกรุ๊ป (TU – AA-/Stable) และ บมจ. ซีเฟรชอินดัสตรี (BBB/Stable) ซึ่งคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากปัญหา IUU ไม่รุนแรงหากทาง EUประกาศยกเลิกการนำเข้าอาหารทะเลรวมถึงกุ้งจากไทยเนื่องจากมีตลาดและฐานการผลิตในประเทศอื่นช่วยลดความเสี่ยง

          ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ แนวโน้มคงที่ถึงลบ

          สภาพตลาดค่อนข้างอิ่มตัว โดย ณ สิ้นปี 2558 จำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในทุกระบบอยู่ที่ 83.0 ล้านเลขหมาย ลดลงจาก 97.0 ล้านเลขหมาย ณ สิ้นปี 2557 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลกระทบมาจากการลงทะเบียนซิมโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบเติมเงิน ส่วนอัตราการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ต่อประชากรอยู่ที่ 123.5% ทั้งนี้ พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ประกอบกับราคาโทรศัพท์มือถือที่ลดลง ทำให้มีการขยายตัวมากขึ้นของการใช้บริการด้านข้อมูล ซึ่งส่งผลให้สัดส่วนรายได้จากการให้บริการด้านข้อมูลผ่านโทรศัพท์มือถือ (Non-Voice Services) เพิ่มขึ้น ในอนาคตการใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อวัตถุประสงค์อื่นนอกจากการสื่อสารปกติทั่วไป (เช่น เพื่อความบันเทิง การซื้อขายสินค้าผ่านออนไลน์ การทำธุรกรรมทางการเงิน) จะยังคงเติบโตต่อไป

          ภายใต้สภาวะที่จำนวนผู้ใช้บริการที่ค่อนข้างอิ่มตัว และการที่ผู้ใช้บริการมีความอ่อนไหวด้านราคา ทำให้การแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการยังคงรุนแรง โดยผู้ประกอบการได้ออกโปรแกรมส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง เพื่อแย่งผู้ใช้บริการมาจากคู่แข่ง นอกจากนั้น ความต้องการใช้ข้อมูลที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วทำให้ผู้ประกอบการเร่งสร้างความพร้อมของเครือข่าย ซึ่งสะท้อนได้จากการประมูลใบอนุญาตการใช้คลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ และ 900 เมกะเฮิรตซ์ ที่มีการแข่งขันที่รุนแรงจนทำให้ราคาใบอนุญาตสูงเกินกว่าที่คาดไปมาก

          เมื่อมองไปข้างหน้าผู้ประกอบการจะยังคงมีภาระต้นทุนค่าใบอนุญาตในระดับสูง การลงทุนขยายโครงข่ายอย่างต่อเนื่อง และภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ผลประกอบการจะถูกกดดันจากการแข่งขันที่สูง และข้อกำหนดของทางการที่ควบคุมราคาค่าบริการ

          ทั้งนี้ ปัจจุบันทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตให้แก่บริษัทในกลุ่มธุรกิจนี้ 4 บริษัท ได้แก่ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (AA+/Stable) บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (AA+/Stable) บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น (BBB+/Stable) และ บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (BBB+/Stable)

          ธุรกิจที่อยู่อาศัย แนวโน้มคงที่

          ทริสเรทติ้งยังคงแนวโน้ม "คงที่" สำหรับธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในปี 2559 โดยยอดขายที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลอาจเติบโตได้เพียงเล็กน้อยในขณะที่ความต้องการในต่างจังหวัดยังคงได้รับผลกระทบเชิงลบจากภาวะภัยแล้งและราคาพืชผลทางการเกษตรที่ตกต่ำ กลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตจากทริสเรทติ้งยังคงเน้นกลุ่มลูกค้าและนักลงทุนที่มีรายได้ค่อนข้างสูงในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทั้งนี้ เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ยังคงค่อนข้างเข้มงวดในการปล่อยกู้ให้แก่กลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ต่ำโดยธนาคารยังมีความกังวลเกี่ยวกับภาระหนี้ครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ความพยายามของภาครัฐในการกระตุ้นความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยโดยการให้ธนาคารของรัฐปล่อยสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้ซื้อบ้านหลังแรกสำหรับที่อยู่อาศัยที่มีราคาต่ำกว่า 1.5 ล้านบาทน่าจะช่วยกระตุ้นตลาดได้ในระยะสั้นถึงปานกลาง อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งมองว่าการลงทุนของภาครัฐในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานน่าจะเป็นปัจจัยหลักที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศและกระตุ้นความต้องการซื้อบ้านในระยะยาว

          ในส่วนของราคาที่อยู่อาศัยนั้นยังคงมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเขตเมือง เนื่องจากราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญแม้ราคาวัสดุก่อสร้างและค่าแรงจะทรงตัวก็ตาม อัตรากำไรของผู้ประกอบการหลายรายมีแนวโน้มที่จะปรับลดลงจากการให้ส่วนลดหรือมีการส่งเสริมการขายเพื่อกระตุ้นยอดโอนเพิ่มมากขึ้น การแข่งขันน่าจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นในสินค้าที่อยู่อาศัยทุกระดับราคา โดยการเติบโตของยอดขายบ้านที่มีราคาค่อนข้างต่ำยังชะลอตัวอยู่ ในขณะที่อุปทานที่อยู่อาศัยราคาสูงมีเพิ่มมากขึ้น ผู้ประกอบการบางรายที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตจากทริสเรทติ้งจึงหันไปเน้นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่เป็นชาวต่างชาติในประเทศต่าง ๆ เช่น ไต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์ และจีน

          ปัจจุบัน ทริสเรทติ้งมีการจัดอันดับเครดิตให้แก่ผู้ประกอบการในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทั้งสิ้น 19 ราย โดยมีอันดับเครดิตอยู่ระหว่าง "BB+" ถึง "A+" ยอดจองซื้อ (Pre-sale) ที่ค่อนข้างสูงในช่วงปี 2555-22556 ส่งผลให้การรับรู้รายได้ของผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงเติบโตในปี 2558 อย่างไรก็ตาม ตัวเลขอัตราส่วนทางการเงินของผู้ประกอบการในธุรกิจนี้มีแนวโน้มที่อ่อนตัวลง โดยผู้ประกอบการหลายรายมีอัตรากำไรที่ลดลงในขณะที่ภาระหนี้สินอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง ยอดขายสะสมคงเหลือ (Pre-sale) ณ สิ้นปี 2558 ของผู้ประกอบการทั้ง 19 รายอยู่ที่ระดับประมาณ 240,000-250,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีแนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" ทริสเรทติ้งปรับลดอันดับเครดิตผู้ประกอบการ 1 รายในปี 2558 และสำหรับไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 ทริสเรทติ้งปรับลดอันดับเครดิตผู้ประกอบการ 2 รายและปรับเพิ่มอันดับเครดิต 1 ราย

          ธุรกิจการท่องเที่ยว แนวโน้มเป็นบวก

          การท่องเที่ยวของไทยมีศักยภาพในการเติบโตที่ดีเนื่องจากมีแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณภาพในขณะที่ค่าครองชีพไม่สูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศรอบข้าง การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในเอเชียโดยเฉพาะจีนกระตุ้นให้ความต้องการท่องเที่ยวเติบโตสูงมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งช่วยลดทอนผลกระทบบางส่วนจากปัญหาด้านเศรษฐกิจ การเมือง และภัยธรรมชาติในประเทศ รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติขยายตัวอย่างรวดเร็วจากที่เคยคิดเป็นสัดส่วน 5% ของ GDP ในปี 2553 เพิ่มเป็น 11% ในปี 2558 จำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ เพิ่มขึ้นเป็น 30 ล้านคนในปี 2558 โดยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนนี้เป็นนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน

          รายได้ของผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมส่วนมากขยายตัวขึ้นในปี 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2557 ซึ่งเป็นปีที่ได้รับผลกระทบในเชิงลบจากปัญหาการเมือง ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีรายได้รวมสูงขึ้น 8% ในขณะที่อัตรากำไรจากการดำเนินงานค่อนข้างทรงตัวโดยอยู่ที่ 21% ในปี 2558 อัตราหนี้ต่อทุนขยับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 0.87 เท่า

          จากการลงทุนต่อเนื่องของผู้ประกอบการรายใหญ่

          ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม 3 ราย ได้แก่ บมจ. ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT -- A+/Stable) บมจ. โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา (CENTEL-- A/Stable) และ บมจ. ดุสิตธานี (DTC -- BBB+/Stable)

          ผลงานให้บริการอันดับเครดิตในปี 2558 และ 2559

          กรรมการผู้จัดการทริสเรทติ้งกล่าวว่า ในช่วงปี 2558 ทริสเรทติ้งให้บริการจัดอันดับเครดิตให้แก่ลูกค้าใหม่จำนวน 29 ราย เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่ 20 ราย โดยปัจจุบัน มีลูกค้าที่ใช้บริการจัดอันดับเครดิตทั้งประเภทองค์กรและตราสารหนี้ซึ่งเป็นลูกค้าทั้งภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจที่ให้ทริสเรทติ้งเปิดเผยผลดับเครดิตต่อสาธารณชนรวม 141 ราย

          มูลค่าการออกตราสารหนี้ใหม่ภาคเอกชนในปี 2558 เท่ากับ 572,424 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 568,887 ล้านบาทในปี 2557 ส่วนในช่วงสี่เดือนแรกของปี 2559 มูลค่าการออกตราสารหนี้ใหม่ภาคเอกชนเท่ากับ 202,371 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 48% เมื่อเทียบกับ 136,834 ล้านบาทในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2558 สำหรับปี 2559 ทริสเรทติ้งคาดว่า มูลค่าการออกตราสารหนี้ใหม่ภาคเอกชนจะอยู่ในช่วง 550,000-580,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำยังคงกระตุ้นให้ผู้ประกอบการออกตราสารหนี้เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนระยะยาวที่มีต้นทุนต่ำเพื่อใช้สำหรับขยายกิจการหรือการชำระคืนหนี้เดิม โดยอุตสาหกรรมที่มีการออกตราสารหนี้มากที่สุดได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ สื่อสาร วัสดุก่อสร้าง อาหาร ขนส่ง รวมถึงธนาคารและสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

เตรียมลงเสาเข็มอ่างเก็บน้ำ‘น้ำปี้’ กรมชลดีเดย์ต้นปีหน้า-ดับทุกข์คน‘เชียงม่วน’7พันครัวเรือน

ชาวบ้านลุ่มน้ำยมเฮ! กระทรวงเกษตรฯ ประกาศเตรียมลงเสาเข็มก่อสร้าง “โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำปี้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ภายในต้นปีหน้า ตั้งเป้าเสร็จไม่เกินปี 2564 กรมชล เผยช่วยปลดทุกข์คนลุ่มน้ำยมตอนบนพื้นที่ อ.เชียงม่วน จ.พะเยา มากถึง 7,153 ครัวเรือน หลังต้องผจญกับ“ภัยแล้ง-ขาดแคลนน้ำ” มานานหลายสิบปี

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการก่อสร้างก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำน้ำปี้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.เชียงม่วน จ.พะเยา ภายหลังจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ได้ให้ความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการดังกล่าว และคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2558 ให้ความเห็นชอบการดำเนินโครงการ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการจ้างประกวดราคาประมูลการก่อสร้างและที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ภายในต้นปี 2560 ที่จะถึงนี้

สำหรับโครงการอ่างเก็บน้ำน้ำปี้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร การอุปโภค และบริโภค บนพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนบน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชวินิจฉัยให้ดำเนินการ กรมชลประทานจึงเริ่มพิจารณาโครงการและจัดทำรายงานเบื้องต้น โดยตามแผนเดิมกำหนดความจุอ่างเพียง 27 ล้าน ลบ.ม. เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งอย่างเดียว โดยก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดกลางพิเศษ ปริมาตรความจุ 96 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เขื่อนหัวงานเป็นชนิดคอนกรีตบดอัด (RCC : Roller Compacted Concrete)ความกว้างสันเขื่อน8.00 เมตร ความยาวสันเขื่อน 810 เมตร สูง 54 เมตร หัวงานเขื่อนตั้งปิดกั้นลำน้ำปี้ที่บริเวณหมู่ 3 บ้านปิน ต.เชียงม่วน อ.เชียงม่วน ขณะที่พื้นที่อ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่จะอยู่ในเขต ต.เชียงม่วน และมีพื้นที่บางส่วนอยู่ในเขต ต.บ้านพี้ และ ต.สวด อ.บ้านหลวง จ.น่าน ส่วนระบบชลประทานเป็นระบบท่อ ความยาวรวม 75 กิโลเมตร ใช้งบประมาณก่อสร้างทั้งสิ้น 3,981 ล้านบาทระยะเวลาดำเนินการ 6 ปี ตั้งแต่ปี 2559-2564

“หลังจากก่อสร้างแล้วเสร็จจะสามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทานของโครงการ บริเวณอำเภอเชียงม่วนจ.พะเยา จำนวน 28,000 ไร่ และส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทานของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่น้ำยมในช่วงฤดูแล้งได้อีกถึง 35,000 ไร่ รวมทั้งมีพื้นที่ได้รับประโยชน์ด้านน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคมากถึง 55,000 ไร่ ครอบคลุม 7,153 ครัวเรือน 34 หมู่บ้านใน 3 ตำบลของ อ.เชียงม่วน จ.พะเยาประกอบด้วย ต.เชียงม่วน ต.บ้านมาง ต.สระ และบริเวณท้ายน้ำของแม่น้ำยม ซึ่งตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนน้ำอย่างหนักในช่วงฤดูแล้งและฝนทิ้งช่วง”

ด้าน นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำปี้ เป็นโครงการที่ราษฎรในเขต อ.เชียงม่วน ร้องเรียนขอความช่วยเหลือมาตั้งแต่ปี 2519 เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวขาดแคลนน้ำในการเพาะปลูกอย่างหนักในช่วงฤดูแล้งและฝนทิ้งช่วง แต่จากเหตุอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำยมขึ้นมาหลายครั้งโดยเฉพาะเหตุอุกทกภัยเมื่อปี 2554 กรมชลประทานจึงได้ศึกษาทบทวนเพิ่มปริมาณการเก็บกักน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำท่าในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อช่วยตัดยอดน้ำที่จะไหลบ่าลงสู่ลุ่มน้ำยมตอนล่างในช่วงฤดูฝนเพื่อป้องกันน้ำท่วมได้อีกประมาณเกือบ 100 ล้าน ลบ.ม. ตามแผนโครงการในปัจจุบัน

“ดังนั้น เมื่อการก่อสร้างโครงการแล้วเสร็จจึงไม่ใช่เพียงแค่จะสามารถช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งและขาดแคลนน้ำให้กับประชาชนจำนวนกว่า 7 พันครัวเรือน ใน อ.เชียงม่วน เท่านั้น แต่ยังสามารถช่วยในการบริหารจัดการน้ำเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนล่างบางส่วน และอาจรวมถึงการผลิตกระแสไฟฟ้าในอนาคตได้อีกด้วย” อธิบดีกรมชลประทาน กล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

“ศุภชัย”แนะไทยรอบคอบก่อนโดนแจมทีพีพี

 “ศุภชัย” แนะไทยพิจารณารอบคอบก่อนโดดร่วมแจมทีพีพี ชี้ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อประโยชน์ของโลก เอื้อสหรัฐเป็นหลัก ด้านเอกชนหนุนเต็มสูบ ชี้เป็นการกระตุ้นยุทธศาสตร์การค้าประเทศ

นายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) และอดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) ปาฐกถาพิเศษในโครงการสัมมนาสาธารณะ เรื่อง “ทีพีพี : ใครได้ใครเสีย” ว่า ค่อนข้างวิตกกังวลเกี่ยวกับความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (ทีพีพี) เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าไทยจะได้รับประโยชน์จากเรื่องนี้อย่างใด เพราะทีพีพีเป็นการรวมกลุ่มขึ้นมาโดยมีสหรัฐเป็นแกนนำ เนื่องจากความกังวลว่าจะเสียอำนาจการต่อรองในเวทีการค้าโลก ดังนั้นข้อกำหนดต่างๆ ในทีพีพีจำนวน 30 ข้อส่วนใหญ่จึงเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับสหรัฐเป็นหลัก

“การจะกำหนดว่าไทยควรเข้าร่วมทีพีพีหรือไม่นั้น คงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะตอนนี้องค์กรเศรษฐกิจ อาทิ ธนาคารโลกหรือองค์กรอื่นๆ ก็ไม่ได้ระบุว่าการดำเนินตามกรอบของทีพีพีจะเกิดประโยชน์ต่อประเทศใด ดังนั้นเราควรพิจารณาประเด็นของความสามารถในการแข่งขันการค้าในตลาดโลกของตนเอง ความได้เปรียบเสียเปรียบในข้อตกลงต่างๆ ที่จะออกมา ซึ่งอาจจะกลายเป็นเงื่อนไขที่ประเทศผู้นำเศรษฐกิจที่ใช้ขีดเส้นกำหนดหลักเกณฑ์ทำให้ประเทศที่ด้อยกว่าเสียเปรียบเงื่อนไขการค้าในทุกด้าน” นายศุภชัยกล่าว

นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนส่วนใหญ่เห็นด้วยที่ไทยจะเข้าร่วมทีพีพี เพราะปัจจุบันเป็นเรื่องของสงครามการค้า แต่ที่ผ่านมาไทยไม่เคยมียุทธศาสตร์การค้าชัดเจน ทีพีพีจึงน่าจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการคิดและการวางแผน ส่วนผลกระทบต่อเศรษฐกิจนั้นยังไม่ชัดเจน ดังนั้นไทยจึงควรเข้าร่วมก่อนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน เพราะหากไทยไม่ตัดสินใจหรือประกาศตัวชัดเจนอาจทำให้ต่างชาติชะลอการลงทุน รวมไปถึงด้านการค้าที่จะได้รับผลกระทบด้วย.

จาก http://www.thaipost.net   วันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2559  

BRR โชว์รายได้ไตรมาส 1/59 เติบโต 6.6 % ชี้ธุรกิจน้ำตาลทรายสดใสหลังผลผลิตเพิ่ม แถมราคาในตลาดโลกพุ่ง 

          'บมจ.น้ำตาลบุรีรัมย์' หรือ BRR โชว์ผลการดำเนินงานไตรมาส 1/59 ทำรายได้เติบโต 6.6 % หลังโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลเดินเครื่องเต็มไตรมาสและส่งมอบน้ำตาลทรายให้แก่ลูกค้าได้มากขึ้น ขณะที่ประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาลทรายยังอยู่เกณฑ์ที่ดีต่อเนื่องหรือเฉลี่ย 117 กิโลกรัมต่อตันอ้อย ช่วยหนุนปริมาณผลผลิตน้ำตาลทรายเพิ่มขึ้น

          สร้างโอกาสทำรายได้จากธุรกิจส่งออกน้ำตาลทรายในช่วงที่ราคาน้ำตาลตลาดโลกเป็นขาขึ้น แถมธุรกิจปุ๋ยมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องจากการเพิ่มผลผลิตต่อไร่และการขยายพื้นที่เพาะปลูกอ้อยรับฤดูการผลิตปี 59/60 ช่วยหนุนผลการดำเนินงานปีนี้เติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง

          นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR ผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายดิบ น้ำตาลทรายขาวสีรำส่งจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศและนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาลทรายไปต่อยอดสู่ธุรกิจพลังงานทดแทน เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานไตรมาส1/59 (มกราคม-มีนาคม) บริษัทฯ มีรายได้รวม 1,480 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.6 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่มีรายได้รวม 1,388 ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิทำได้ 123 ล้านบาท

ทั้งนี้ ปัจจัยการเติบโตที่ดีของผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/59 มาจากธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลที่ BRR สามารถรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลทั้ง 2 โรง สามารถเดินเครื่องเพื่อสร้างรายได้ตลอดทั้งไตรมาสแรก จากในปีที่ผ่านมาเริ่มเดินเครื่องโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลแห่งที่ 2 ขณะที่ธุรกิจน้ำตาลทรายในไตรมาส1/59 อยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม สามารถส่งมอบน้ำตาลทรายให้แก่ลูกค้าถึง 47 % จากปริมาณน้ำตาลทรายที่ผลิตได้ทั้งหมด

          "ในไตรมาสแรกปีนี้เรายังรักษาการเติบโตของผลการดำเนินงานได้ดี จากการเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งที่ 2 ที่รับรู้รายได้เต็มไตรมาส และธุรกิจน้ำตาลทรายที่สามารถส่งมอบให้แก่ลูกค้าในเกณฑ์ราคาเฉลี่ยที่ดี จึงส่งผลดีต่อทิศทางการดำเนินงานของ BRR ที่ยังรักษาอัตราเติบโตที่ดีได้" นายอนันต์ กล่าว

          ประธานกรรมการบริหาร BRR กล่าวว่า ส่วนเป้าหมายในปีนี้ คาดว่า น้ำตาลทรายจะยังเป็นรายได้หลักที่คาดว่าราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกจะปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังชีวมวลทั้ง 2 โรง ก็จะยังเป็นรายได้ที่สำคัญเนื่องจากบริษัทฯ มีกากอ้อยเพียงพอและคาดว่าจะสามารถเดินเครื่องได้ตลอดทั้งปียกเว้นช่วงบำรุงรักษา

          ในปีนี้ แม้ว่าประสบปัญหาภัยแล้งแต่บริษัทฯ ก็สามารถผลิตน้ำตาลทรายเพิ่มขึ้นเป็น 241,219 ตัน จากปีก่อนอยู่ที่231,408 ตัน หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 10,000 ตัน จากปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด 2.06 ล้านตันอ้อย คิดเป็นผลผลิตน้ำตาลทรายต่อตันอ้อยเฉลี่ย (ยิลด์) อยู่ที่ 117 กิโลกรัมต่อตันอ้อย สูงกว่าเกณฑ์ค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ผลิตได้ 104กิโลกรัมต่อตันอ้อย ซึ่งสะท้อนถึงความแข็งแกร่งของธุรกิจน้ำตาลทรายของ BRR ที่มีประสิทธิภาพการผลิตที่ดี

          นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสที่ดีของ BRR จะทำราคาจำหน่ายน้ำตาลทรายส่งออกไปยังลูกค้าเพื่อสร้างรายได้ที่ดี หลังจากแนวโน้มราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกอยู่ในช่วงขาขึ้น ทำให้บริษัทฯ สร้างรายได้จากธุรกิจน้ำตาลทรายเพิ่มขึ้น ขณะที่ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล มีวัตถุดิบที่เพียงพอต่อการนำไปเดินเครื่องจักรผลิตไฟฟ้าจำหน่ายให้แก่ กฟภ. ได้ตลอดทั้งปี ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นคงด้านรายได้ให้แก่ BRR อีกด้วย

          "เรามั่นใจว่าเป้าหมายการเติบโตในปีนี้จะทำได้แน่นอน เนื่องจากเราสามารถผลิตน้ำตาลทรายเพื่อจำหน่ายให้แก่ลูกค้าได้เพิ่มขึ้น สอดรับกับทิศทางของราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น จึงส่งผลดีต่อแนวโน้มรายได้จากธุรกิจน้ำตาลทราย และยังมีปัจจัยบวกจากการเพิ่มผลผลิตต่อไร่และการขยายพื้นที่เพาะปลูกอ้อยของ BRRทำให้ธุรกิจจำหน่ายปุ๋ยในปีนี้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้แก่ผลการดำเนินงานของเราอีกด้วย" นายอนันต์ กล่าว

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2559  

สำนักจัดรูปที่ดินกลางเดินหน้าพัฒนาระบบกระจายน้ำในไร่นา วางเป้าพัฒนาระบบชลประทานที่สมบูรณ์แบบ 150,000-200,000 ไร่ต่อปี พร้อมเร่งลดขั้นตอนการช่วยเหลือความเดือดร้อนของเกษตรกรและประชาชนให้มีความรวดเร็วขึ้น

          นายสิริวิชญ กลิ่นภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลาง ครั้งที่ 1/2559 ในปีนี้ พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ให้นโยบายสำนักงานจัดรูปที่ดินกลางเร่งพัมนาระบบน้ำและจัดรูปที่ดิน โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาระบบแพร่กระจายในน้ำไร่นาเพื่อเป็นระบบชลประทานที่กระจายน้ำในไร่นาเพื่อเป็นระบบชลประทานที่สมบูรณ์แบบ 150,000-200,000 ไร่ต่อปี พร้อมทั้งไปรับปรุงลดขั้นตอนในการดำเนินงานเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านหลังทำเรื่องร้องเรียนเข้ามายังสำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง ให้แล้วเสร็จภายใน 2-3 ปี เพื่อช่วยการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องเกษตรกรไทยได้อย่างทันท่วงทีต่อไป

          นายสิริวิชญ กล่าวด้วยว่า สำนักงานจัดรูปที่ดินกลางกำลังเร่งเดินหน้าสร้างเสริมองค์ความรู้การจัดรูปที่ดินด้านลดต้นทุนเพิ่มผลผลิตให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ ตลอดจนเสริมองค์ความรู้การเกษตรให้แก่เกษตรกรเพื่อสร้างเสริมรายได้ช่วงวิกฤติภัยแล้ง รวมทั้งเร่งพัฒนาพื้นที่การเกษตร จัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม การส่งเสริมเกษตรกรปลูกพืชใช้น้ำน้อยตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อให้เกษตรกรมีความยั่งยืนในอาชีพมากที่สุด

          ทั้งนี้ สำหรับผลดำเนินการในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา ได้มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางและคณะอนุกรรมการ จำนวน 6 คณะเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

จาก http://www.thaipost.net วันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 

คาดเงินหายจากระบบ5แสนล. ส่งออกทรุด-ภัยแล้งยาวนานเป็นปัจจัยลบหลัก

ส่งออกทรุด-ภัยแล้งยาวนานเป็นปัจจัยลบหลัก-ลุ้นลงทุนภาครัฐทำได้ตามแผน

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย ลดเป้าจีดีพี ปี’59 ลง 0.5% ชี้ส่งออกที่หดตัว และปัญหาภัยแล้ง ทำให้เม็ดเงินหายไปจากระบบ กว่า 5 แสนล้านบาท ลุ้นมาตรการลงทุนภาครัฐ ปลุกกำลังซื้อ บวกอานิสงส์การท่องเที่ยว ช่วยพยุงตัวเลขเศรษฐกิจทั้งปีโตได้ตามเป้า ด้านแบงก์ชาติ รอดูตัวเลขคลังก่อนจะชี้ว่าศก.ฟื้นแค่ไหน สมคิดปลุกใจ บอกไทยไม่ได้เลวร้าย

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยประมาณการภาวะเศรษฐกิจไทย ปี 2559-2560 ว่า ศูนย์พยากรณ์ฯ ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2559 ลงเหลือ 3% ในกรอบ 2.5-3.5% จากเดิมที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวในกรอบ 3 - 3.5% ปรับลดการขยายตัวการส่งออกอยู่ที่ 0.8% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 2% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปตลอดปีนี้คาดอยู่ที่ 0.4% จากเดิม 1.4% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ยังขยายตัวไม่ชัดเจน การส่งออกที่ชะลอตัวปัจจัยเสี่ยงปัญหาประมง สหภาพยุโรปตัดสิทธิพิเศษทางการค้า ปัญหามาตรฐานการบินของไทย และเศรษฐกิจจีนยังมีแนวโน้มชะลอตัว รวมถึงค่าเงินบาทเริ่มมีแนวโน้มแข็งค่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

“ตัวเลขคาดการณ์การส่งออกที่ลดลงนั้น จะทำให้เม็ดเงินหายไปจากระบบเศรษฐกิจ 400,000 ล้านบาท ส่วนภัยแล้งที่ยาวนาน ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ จะทำให้เงินหายไปจากระบบเศรษฐกิจประมาณ 120,000ล้านบาท ซึ่งรวมเงินจะหายไปจากระบบเศรษฐกิจ 520,000 ล้านบาท”

ทั้งนี้เศรษฐกิจไทย จะยังคงได้รับแรงหนุนจากการท่องเที่ยว ที่คาดว่ารายได้ของการท่องเที่ยวทั้งปีนี้จะเพิ่มเป็น 1.5 ล้านล้านบาท จากเดิม 1.4 ล้านล้านบาท มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ เช่น โครงการบ้านประชารัฐ มาตรการช้อปช่วยชาติ กองทุนหมู่บ้าน และหากรัฐเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ และลงทุนโครงสร้างพื้นฐานตามที่วางไว้ อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ที่ระดับ 1.5% รวมถึงสถานการณ์การเมืองในประเทศที่มีเสถียรภาพ โดยภาพรวมอาจจะทำให้เม็ดเงินหมุนกลับเข้ามาในระบบเศรษฐกิจประมาณ 400,000 ล้านบาท ซึ่งจะทดแทนเม็ดเงินส่วนที่หายไป และเมื่อหักลบแล้วเงินจะหายไปจากระบบเศรษฐกิจประมาณ 100,000ล้านบาท ซึ่งทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลง 0.5% จากที่คาดการณ์ไว้เดิม

อย่างไรก็ตาม มองว่าเศรษฐกิจไทยครึ่งปีแรกของปี 2559 จะ ขยายตัว 2.8% ครึ่งปีหลังอยู่ที่ 3.3% โดยรัฐบาลควรเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานตามที่ประกาศไว้มีการแก้ไขปัญหาความยากจนแก้หนี้นอกระบบให้ลดลง และส่งเสริมกลุ่มธุรกิจเริ่มต้นของผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม (สตาร์ทอัพ เอสเอ็มอี) ให้มีการใช้นวัตกรรม และเดินหน้าเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งหากสามารถดำเนินการได้ก็จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน ความเชื่อมั่นผู้บริโภค และจะทำให้เศรษฐกิจครึ่งปีหลังขยายตัวดีขึ้น และเศรษฐกิจทั้งปีขยายตัวตามที่คาดไว้

ส่วนในปี 2560 คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ 3.4% ในกรอบ 2.9-3.9% ซึ่งขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ที่จะสนับสนุนการส่งออกของไทย การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรม ขณะที่ส่งออกคาดว่าจะขยายตัวที่ 3.1% ในกรอบ 2.1-4.1% และอัตราเงินเฟ้อทั้งปี 2560 อยู่ที่ 1.2% ในกรอบ 0.8-1.6% บนสมมุติฐานเศรษฐกิจโลกขยายตัว 3.5% การลงทุนภาครัฐขยายตัว 20% อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย 1.5% อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐ 0.91% ราคาน้ำมันดิบดูไบ 43.01 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยน 34.98 บาทต่อเหรียญสหรัฐ และจำนวนนักท่องเที่ยว 34.51 ล้านคน

ด้านนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผยภายหลังเปิดงาน มหกรรมการเงิน ครั้งที่ 16 Money Expo 2016 ว่า เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวต่อเนื่องอย่างค่อยเป็นไปค่อยไปแต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตามอง คือ ความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก สถานการณ์ภัยแล้งที่รุนแรงและยาวนานกว่าที่ประเมินไว้ ประกอบกับแม้เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวแต่ยังไม่กระจายตัวไปในบางกลุ่มที่ยังคงเปราะบางอยู่ รวมถึงยังต้องติดตามตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ในไตรมาสแรก ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช.ว่าจะออกมาเป็นอย่างไร

“ธปท.จะปรับประมาณการขยายตัวของจีดีพีในปีนี้จากปัจจุบันที่ 3.1 % หรือไม่นั้น คงจะต้องติดตามตัวเลขจีดีพีในวันที่ 16 พฤษภาคมนี้ เนื่องจากเห็นว่าปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้นในไตรมาสแรกของปีนี้นั้น บางปัจจัยเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราวเท่านั้น เช่น ภาวะเศรษฐกิจจีน ความผันผวนในตลาดการเงินและตลาดทุน เป็นต้น”

ขณะที่บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด โดย นางสาววัฒนา ถิรานุชิต กรรมการผู้จัดการ ได้จัดแถลงข่าวเพื่อสรุปภาพรวมเศรษฐกิจปี 2559 โดยระบุว่า ดัชนีทางเศรษฐกิจของไทยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2559 แสดงถึงการฟื้นตัวเล็กน้อยของการบริโภคของภาคเอกชนและการเพิ่มขึ้นของผลผลิตและราคาสินค้าเกษตร อย่างไรก็ดี มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐยังคงมีความจำเป็นเพื่อกระตุ้นการบริโภค และการลงทุนของภาคเอกชน ส่วนภาวะเศรษฐกิจปี 2559 ทั้งปีคาดว่าจะยังคงอ่อนตัว โดยมีอัตราการขยายตัวระหว่าง 2.7% -3.0% โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากมาตรการของรัฐบาลในการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ และการลงทุนโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชน รวมทั้งการฟื้นตัวของราคาสินค้าเกษตรที่จะส่งผลต่อรายได้ของเกษตรกร ในขณะที่ปัจจัยลบที่ยังคงอยู่ได้แก่การฟื้นตัวที่ต่ำกว่าคาด ของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่สำคัญของประเทศไทยโดยเฉพาะ จีน อาเซียน และญี่ปุ่น ในขณะที่มาตรการที่มีลักษณะเป็นการกีดกันทางการค้าสินค้าเกษตรส่งออกของไทยโดยอเมริกาและยุโรปมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมทั้งผลกระทบจากภาวะภัยแล้งและสภาพภูมิอากาศที่อาจกระทบต่อผลผลิตในประเทศ

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดงานมหกรรมการเงิน ครั้งที่ 16 (มันนี่เอ็กซ์โป 2016) ว่า เศรษฐกิจไทยจะดีขึ้นเรื่อยๆ ดูจากบรรยากาศในงานคึกคักมาก เพราะเศรษฐกิจไทยขึ้นอยู่กับจิตใจคนไทยที่ต้องเข็มแข็ง อย่ามองโลกในแง่ร้ายจนเกินไป และต้องมองไปข้างหน้าแม้จะมีอุปสรรคบ้าง นอกจากนี้ยังมีข่าวดี บริษัท เอ.ที.เคียร์นีย์ หรือ A.T.Kearney ซึ่งเป็นที่ปรึกษาระดับโลก เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นการลงทุนระหว่างประเทศ ประจำปี 2559 โดยพบว่า ประเทศไทยติดอันดับที่ 21 ของประเทศที่มีความเชื่อมั่นด้านการลงทุน ซึ่งเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ไทยไม่ติด 1 ใน 25 ของการจัดอันดับบริษัทดังกล่าว สะท้อนความเชื่อมั่นจากนักลงทุนทั่วโลก อย่างไรก็ตาม แม้จะมีข่าวดีแต่ไม่ค่อยได้รับความสนใจ เพราะมีแต่ข่าวเชิงลบเต็มหน้าหนังสือพิมพ์ เป็นทำให้ความเชื่อมั่นของคนไทยฝ่อลง แต่รัฐบาลไม่ย่อท้อ

จาก http://www.naewna.com วันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 

แจงสี่เบี้ย : การชะล้างพังทลายของดินและการอนุรักษ์ดินและน้ำ(5) การชะล้างพังทลายของดินกับการเกษตร

1.การสูญเสียดิน มีความหมายครอบคลุมถึงความเสื่อมโทรมของดิน การชะล้างพังทลายของดินเป็นจุดเริ่มสู่สภาวะทะเลทราย การชะล้างพังทลายของดินจะมีผลกับตะกอนในลำน้ำและอ่างเก็บน้ำ ดินที่ถูกกัดชะจะไม่ถูกพัดพาสู่ลำน้ำทั้งหมดถ้าพื้นที่ลุ่มน้ำตอนล่างมีระบบการระบายน้ำไม่ดี แต่ถ้าระบบระบายน้ำดีการพัดพาตะกอนก็เกิดขึ้นสูง ผลกระทบของการสูญเสียดินในระยะสั้น ได้แก่ ทำลายต้นพืชต้นกล้า เมล็ดพันธุ์ ถูกพัดพาโดยน้ำ พืชรากลอยเกิดการทับถม สูญเสียน้ำและธาตุอาหาร อันมาจากการไหล่บ่าของน้ำ ในระยะยาวคุณภาพของดินลดลง ลดความอุดมสมบูรณ์ ลดระบบรากหยั่งลึก ลดปริมาณวัตถุในดิน

2.การสูญเสียประสิทธิภาพการผลิตการชะล้างพังทลายของดินไม่ได้ทำให้คุณสมบัติทางกายภาพเสียไปเท่านั้น แต่ความอุดมสมบูรณ์ของดินจะลดลง เนื่องจากการพัดพาธาตุอาหารพืชออกไป ทำให้ผลผลิตต่อหน่วยเนื้อที่ลดลง โครงสร้างของดินเสีย ชั้นดินตื้น เกิดเป็นร่องทั้งตื้นและลึกในพื้นที่ลาดชันที่มีการไถที่ขึ้นลงตามความลาดชัน โดยจะเห็นร่องในพื้นที่ที่ปลูกพืชไร่และขยายตัวเป็นร่องลึกในระยะยาวต่อมา

3.การสูญเสียธาตุอาหารในดิน จากการศึกษาการชะล้างพังทลายของดินสามารถประเมินปริมาณการสูญเสียธาตุอาหารพืชในดินได้ ดังนี้ 3.1 การสูญเสียธาตุไนโตรเจน เนื่องจากสารประกอบไนโตรเจนละลายน้ำได้ดี ทำให้ดินสูญเสียไนโตรเจนได้ง่าย เช่น แอมโมเนีย และไนเตรท 3.2 การสูญเสียธาตุฟอสฟอรัส ซึ่งส่วนมากอยู่ที่ผิวดิน การสูญเสียหน้าดินโดยการชะล้างพังทลายของอนุภาคดินเหนียวและดินที่มีอินทรียวัตถุสูงทำให้ฟอสฟอรัสสูญเสียไปกับตะกอนดินจากการไหลบ่า นอกจากนี้เมื่อใส่ปุ๋ยฟอสฟอรัสในสภาพที่แห้งแล้งแล้วฝนตกทันที มีผลทำให้ฟอสฟอรัสสูญเสียไป 22% ของปริมาณปุ๋ยที่ใส่ 3.3 การสูญเสียธาตุโพแทสเซียม ที่จะเกิดการสูญเสียไปพร้อมกับตะกอนดินที่ถูกพัดพาไปจากพื้นที่เป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ เพราะโพแทสเซียมทั้งหมดในดินนั้นอยู่ในสภาพที่พืชใช้ประโยชน์ไม่ได้ถึง 90-98 เปอร์เซ็นต์

จาก http://www.naewna.com วันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 

ปรับโครงสร้างอ้อยยังวุ่น รง.น้ำตาลค้านชาวไร่ขอแบ่งรายได้ทุกเม็ดไม่ยุติธรรม 

          สอน.ยันแผนปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเสร็จพ.ค.นี้ พร้อมนำเสนอครม.เห็นชอบ หวังแก้ปัญหาลดภาระรัฐบาลในการกู้ปีละ 1.6 หมื่นล้านบาทช่วยต้นทุนผลิตอ้อย โดยจะนำรายได้จากการขายน้ำอ้อย เอทานอล ไฟฟ้า กากอ้อย กากน้ำตาล มาแบ่งให้ชาวไร่ ขณะที่โรงงานน้ำตาลออกโรงคัดค้าน เป็นการไม่ยุติธรรม เพราะชาวไร่ไม่ได้ร่วมลงทุน และไม่มีรายได้เหลือจากการขายไฟฟ้า

          นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ขณะนี้ทางสอน.อยู่ระหว่างแก้ไขการจัดทำแผนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบใหม่ หลังจากมีผู้ร้องเรียนว่า แผนดังกล่าวยังไม่มีความเหมาะสมที่จะนำมาใช้กับประเทศได้

          ทั้งนี้เนื่องจากที่ผ่านมาได้มีการจัดประชุมรับความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องไปหลายครั้งแล้ว และมีความเห็นออกมาตรงกันว่าจะต้องดำเนินการปรับแก้กฎหมาย พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 รวมทั้งกฎหมายและระเบียบต่างๆที่เกี่ยวข้องให้ครอบคลุมการนำน้ำอ้อยไปผลิตเอทานอลและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้ เช่น ไบโอพลาสติก ไบโอเคมี นอกเหนือจากการผลิตเป็นน้ำตาลเพียงอย่างเดียว รวมทั้ง การเปิดให้ตั้งโรงงานหีบอ้อยได้ แต่ไม่มีการผลิตเป็นน้ำตาลทราย เพื่อที่จะนำน้ำอ้อยไปผลิตผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้ จากปัจจุบันที่กฎหมายยังไม่เอื้อให้ตั้งโรงงานได้อย่างเสรีพร้อมทั้ง ให้นำผลพลอยได้จากการหีบอ้อยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการผลิตเอทานอล ไฟฟ้า และอื่นๆต้องนำมาแบ่งให้กับชาวไร่อ้อยด้วย เพื่อให้ชาวไร่อ้อยได้มีรายได้เพิ่มขึ้น นอกเหนือจากรายได้ที่มาจากอ้อยเท่านั้นซึ่งจะช่วยลดภาระในการกู้เงินมาอุดหนุนต้นทุนการเพาะปลูกอ้อย ที่มีการเรียกร้องจากชาวไร่อ้อย ซึ่งในช่วงปี 2558 ที่ผ่านมาได้กู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)ในอัตราตันละ 160 บาท คิดเป็นวงเงิน 1.695 หมื่นล้านบาท และในปีนี้ก็ต้องขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรีในอัตราที่ใกล้เคียงกันอีก หากยังปล่อยในลักษณะนี้ต่อไป จะทำให้รัฐบาลมีหนี้สะสมเพิ่มมากขึ้น

          ดังนั้น การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายใหม่ จะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และลดต้นทุนการผลิตลง ไม่ต้องมาเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือต้นทุนการผลิตทุกปีโดยแนวทางการจัดทำแผนปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายใหม่นั้น คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคมนี้ และหลังจากนั้น จะเสนอให้ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พิจารณา เพื่อเสนอไปยังคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ เสนอไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ปรับแก้กฎหมายต่อไป

          นายอิสระ ถวิลเติมทรัพย์ กรรมการ บริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า สำหรับการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายใหม่นั้น ยังมีความวุ่นวายอยู่ ที่ยังไม่สามารถเห็นชอบไปในแนวทางเดียวกันได้ทั้งหมด เนื่องจากทางชาวไร่ต้องการผลประโยชน์ตอบแทนที่เป็นผลพลอยได้จากอ้อยทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการผลิตเอทานอล ไฟฟ้า กากอ้อย กากน้ำตาล อื่นๆ เช่น ปุ๋ยชีวภาพ ที่จำหน่ายได้มาแบ่งให้ ซึ่งโรงงานน้ำตาลเห็นว่าไม่มีความยุติธรรมเกิดขึ้น โดยที่ผ่านมาก็ได้ส่งหนังสือคัดค้านไปแล้ว เพราะการหารือในหลายๆ ครั้ง เหมือนเป็นการมัดมือชก และเร่งสรุปที่จะยืนตามที่ชาวไร่เสนอ ซึ่งเป็นการไม่แฟร์กับโรงงานน้ำตาล

          ทั้งนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่า ทางชาวไร่อ้อยไม่ได้มาร่วมลงทุนกับทางโรงงานน้ำตาลทรายด้วย และทางโรงงานน้ำตาลก็ไม่ได้มีกำไรเสมอไป อย่างโรงงานน้ำตาลของบริษัทเองปีที่แล้วก็ประสบปัญหาขาดทุน นำรายได้มาแบ่งทุกอย่างทางโรงงานก็จะไปไม่รอดเช่นกัน หรืออย่างกรณี การนำกากอ้อยไปผลิตเป็นไฟฟ้า ซึ่งบางแห่งก็ไม่ได้มีการจำหน่ายขายเข้าระบบ ผลิตเพื่อใช้ในโรงงานน้ำตาลเอง หากมีการคำนวณขายกากอ้อยเอาไปทำเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า และมาแบ่งให้ชาวไร่ด้วยนั้น คงไม่ถูกต้อง

          ขณะที่การนำน้ำอ้อยไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้นั้น ทางโรงงานน้ำตาลเห็นด้วย เพราะเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับชาวไร่ในอีกส่วนหนึ่งได้ ขณะที่การแบ่งรายได้จากการผลิตเอทานอลนั้น ส่วนหนึ่งทางโรงงานก็พอจะรับฟังเหตุผลได้ แต่หากเป็นโรงงานน้ำตาลขนาดเล็กไม่มีการลงทุนในส่วนนี้ จะแก้ปัญหาอย่างไร ซึ่งปัญหาทั้งหมดนี้คงต้องมีการหารือกันอีกเป็นระยะๆ กว่าจะได้ข้อยุติ

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 

ชง"ม.44"ยึดคืนที่สปก.2ล้านไร่ ลุย34จังหวัด-จัดสรรทำเกษตร 

          กระทรวงเกษตรฯ ชงหัวหน้าคสช.ใช้ม.44 ยึดคืนที่ดิน สปก.2 ล้านไร่ ระบุที่ผ่านมามีเจ้าหน้าที่รัฐช่วยปิดบังข้อมูลผู้ถือครอง เล็งประเดิมเอาคืน 563 แปลง ใน 34 จังหวัดจัดสรรให้เกษตรกรไร้ที่ทำกิน ระบุต้องเร่งดำเนินการก่อนมีรัฐบาลเลือกตั้ง หวั่นปัญหาซ้ำรอยเดิม ขณะที่กรรมการตรวจสอบที่ดินเกาะนาคาน้อย มติเอกฉันท์เพิกถอนนส.3

          พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยวานนี้ (11 พ.ค.) ถึงกรณีสืบเนื่องจากการดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่เสื่อมโทรม ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้กรมป่าไม้ส่งมอบเพื่อนำไปดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตั้งแต่ปี2536 ว่ายังมีแปลงที่ดินซึ่งยังมิได้ทำการสำรวจรังวัดเนื้อที่ประมาณ2ล้านไร่

          ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเสนอให้ใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ในการทวงคืนที่ดินของรัฐ เพื่อให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายที่มีความเสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำจาก ผู้มีที่ดินโดยมิชอบจำนวนมาก ไปสู่เกษตรกร ผู้ไร้ที่ดินทำกินและจะเป็นการนำทรัพยากรที่ดินไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ภาคเกษตรอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต

          นายสรรเสริญ อัจจุมานัส เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) กล่าวว่า สาเหตุที่ไม่สามารถดำเนินการในที่ดินอีก2ล้านไร่ ดังกล่าว มีสาเหตุมาจาก ผู้ถือครองที่ดินรายใหญ่ไม่ให้ความร่วมมือ หรือไม่ยินยอมเข้าสู่กระบวนการปฏิรูปที่ดิน มีการปกปิดตัวตนผู้ถือครองที่แท้จริงโดยความร่วมมือของผู้ปกครองท้องที่ และข้าราชการบางราย

          ประกอบกับส่วนใหญ่เป็นผู้ถือครองที่ดินรายใหญ่ ที่ครอบครองที่ดินเกินกว่าจำนวนเนื้อที่ตามที่กฎหมายปฏิรูปที่ดินกำหนด ซึ่งถือเป็นอุปสรรคต่อการติดตามนำที่ดินของรัฐไปดำเนินการจัดให้แก่เกษตรกรผู้ไร้ที่ดินทำกิน

          จัดการล็อตแรก563แปลง34จังหวัด

          กระทรวงเกษตรฯ โดย สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จึงจำเป็นต้องเสนอให้ใช้มาตรา44 มาสนับสนุนกระบวนการบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิผลและเกิดความเป็นธรรมแก่สังคม

          ทั้งนี้ เงื่อนไขการดำเนินงานจะเริ่มใช้มาตรการบังคับกับผู้ถือครองรายใหญ่ที่มีเนื้อที่เกินกว่า500ไร่ ขึ้นไป เบื้องต้นได้กำหนดพื้นที่เป้าหมายใน34จังหวัด563แปลง พื้นที่540,351ไร่

          เร่งดำเนินการก่อนถึงมือรัฐบาลเลือกตั้ง

          ซึ่งขณะนี้ ส.ป.ก. ได้ส่งรายละเอียดพื้นที่เป้าหมายกลับไปยังจังหวัด เพื่อดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำเสนอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ พร้อมร่างคำสั่งเพื่อพิจารณาเสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อพิจารณาต่อไป

          " การทวงคืนครั้งนี้ต้องเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุดก่อนเลือกตั้งครั้งต่อไป หากปล่อยยืดเยื้อให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเข้ามารับผิดชอบแก้ไขจะทำให้การดำเนินการยากยิ่งขึ้น ในขณะที่ปัญหาดังกล่าว เกิดขึ้นต่อเนื่องมานานไม่มีอำนาจใดที่จะเข้าไปจัดการได้ เมื่อรัฐบาลยุค คสช.เข้ามาปฏิบัติหน้าที่แล้วก็ถือโอกาสนี้เร่งแก้ไขปัญหาให้เสร็จสิ้น" นายสรรเสริญ กล่าว

          มติเพิกถอนสิทธิที่ดินเกาะนาคาน้อย

          ด้านความคืบหน้ากรณีการตรวจสอบเอกสารสิทธิ์ นส.3 ก เลขที่ 3977 เนื้อที่ประมาณ 24 ไร่ของบริษัท ภูเขาหกลูก จำกัด บนเกาะนาคาน้อย  ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ภายหลังจากที่นายภูริ หิรัญพฤกษ์ ดารานักแสดงชื่อดังและครอบครัวหิรัญพฤกษ์ ได้ร้องขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิ์ ของบริษัทดังกล่าวฯ ว่ามีการออกถูกต้องหรือไม่ และทางกรมที่ดินได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อเพิกถอนตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน และได้มีการประชุมเพื่อสรุปเรื่องดังกล่าว เมื่อวันที่ 28 เม.ย.ที่ผ่านมา

          นายวัชรินทร์ เจตนาวณิชย์ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ขณะนี้คณะกรรมการสอบสวนเพื่อเพิกถอนตามมาตรา 61 ได้พิจารณาสรุปเรื่องการออกเอกสารสิทธิ นส.3 ก เลขที่ 3977 เนื้อที่ประมาณ 24 ไร่ของบริษัท ภูเขาหกลูก จำกัด เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยคณะกรรมการฯ ได้มีมติเป็นเอกฉันท์เห็นสมควรเพิกถอนเอกสารสิทธิ์แปลงดังกล่าว

          ชงข้อมูลอธิบดีกรมที่ดินชี้ขาดเพิกถอน

          ทั้งนี้ได้มีการส่งเรื่องมาให้จังหวัดภูเก็ตและได้ทำการส่งต่อให้กับกรมที่ดินแล้วโดยมติดังกล่าวเป็นเพียงความเห็นเบื้องต้น เพราะสุดท้ายแล้วอำนาจการสั่งเพิกถอนจะอยู่ที่อธิบดีกรมที่ดิน

          "ในการตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิ์แปลงที่ดินบนเกาะนาคาน้อยนั้นตามที่ครอบครัวหิรัญพฤกษ์ ได้ร้องเรียน มี 2 ส่วน คือ กรณีร้องเรียนผ่านศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย ทางกรมที่ดินมอบหมายให้สำนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต สาขาถลางตรวจสอบข้อเท็จจริงและอยู่ระหว่างดำเนินการ กับกรณีที่มีการร้องเรียนผ่านทางจังหวัดภูเก็ต ซึ่งได้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง

          ตั้งกรรมการอีกชุดสอบที่ดิน"หิรัญพฤกษ์"

          ขณะเดียวกันทางบริษัท ภูเขาหกลูก จำกัด ก็ได้มีการร้องเรียนให้ตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินแปลงเนื้อที่ประมาณ 53 ไร่ ของครอบครัวหิรัญพฤกษ์ด้วย ซึ่งก็ได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบในคราวเดียวกันด้วย"

          นายวัชรินทร์ กล่าวด้วยว่า ขั้นตอนหลังจากส่งเรื่องให้กับกรมที่ดินแล้ว ทางอธิบดีกรมที่ดินจะพิจารณาความเห็นของคณะกรรมการฯ ว่ามีเหตุผลและน้ำหนักน่าเชื่อถือได้เพียงใดว่าสมควรจะเพิกถอนหรือไม่ หากเห็นว่าสมควรเพิกถอนก็จะมีคำสั่งเพิกถอน นส.3 ก แปลงนั้น และแจ้งให้ผู้มีส่วนได้เสียทราบ ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายวิธีปฏิบัติทางการปกครอง เพื่อให้สิทธิ์ในการอุทธรณ์คำสั่ง โดยเรื่องนี้จะอยู่ในส่วนของกรมที่ดินโดยจะไปเข้าสำนักมาตรฐานออกหนังสือสำคัญที่จะพิจารณาและนำเสนอต่ออธิบดีกรมที่ดินมีคำสั่ง

          ระบุเจ้าของที่ดินอุทธรณ์ได้ภายใน15วัน

          อย่างไรก็ตาม กรณีที่มีคำสั่งเพิกถอนในส่วนของเจ้าของที่ดินหรือผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิ์ในการอุทธรณ์คำสั่งภายใน 15 วัน โดยผู้พิจารณาอุทธรณ์คำสั่งจะเป็นปลัดกระทรวงฯ ซึ่งจะมอบรองปลัดที่ดูแลกรมที่ดิน เป็นผู้พิจารณาอุทธรณ์ หากเห็นด้วยกับกรมที่ดินก็จะยืนตามคำสั่งของอธิบดีกรมที่ดิน หรือหากไม่เห็นด้วยสามารถที่จะเพิกถอนคำสั่งอธิบดีได้ ซึ่งกรณีที่ยืนตามคำสั่ง ทางบริษัทภูเขาหกลูกฯ สามารถใช้สิทธิ์ในการฟ้องศาลปกครองต่อไป

          ขณะที่นายโชคดี อมรวัฒน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวถึงการตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิบนเกาะนาคาน้อย ว่าคณะกรรมการฯ พิจารณาเสร็จเรียบร้อยแล้ว และได้ส่งเรื่องไปยังกรมที่ดินเพื่อพิจารณาแล้ว

          ขณะเดียวกันก็ได้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงการออกเอกสารสิทธิ์แปลงที่ดินครอบครัวหิรัญพฤกษ์ด้วย เนื่องจากทางบริษัทภูเขาหกลูก จำกัด มีการร้องเรียนเข้ามาด้วย ส่วนปัญหาในพื้นที่บนเกาะนาคาน้อยนั้น ขณะนี้ยังมีการร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาเจ็ทสกี และการเก็บค่าขึ้นเกาะ ซึ่งเรื่องอยู่ที่ศูนย์ดำรงธรรม

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 

แจงสี่เบี้ย : การชะล้างพังทลายของดินและการอนุรักษ์ดินและน้ำ (4) ความรุนแรงของการชะล้างพังทลายของดิน

การสูญเสียดินจะช่วยส่งผลกระทบเสียหายรุนแรงหรือไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับลักษณะของดินในแต่ละพื้นที่ หากกระบวนการเกิดดินเป็นไปอย่างรวดเร็วและดินมีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติสูง แม้จะมีอัตราการสูญเสียดินสูงก็อาจไม่มีผลกระทบต่อการใช้ที่ดิน ตรงกันข้ามถ้าดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำและกระบวนการเกิดดินเป็นไปอย่างช้าๆ แม้การสูญเสียดินเล็กน้อยก็อาจส่งผลกระทบเสียหายรุนแรงต่อการใช้ประโยชน์ที่ดินนั้น ค่าการสูญเสียดินเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับลักษณะตามธรรมชาติของดินย่อมสามารถวิเคราะห์ความเสียหายจากการชะล้างพังทลายของดินได้

การพัฒนาที่ดิน ได้มีการกำหนดจากข้อพิจารณาทั้งหมดข้างต้นสามารถกำหนดปริมาณสูญเสียดินสูงสุดที่ยอมรับได้สำหรับดินในประเทศไทยเป็น 2 ตันต่อไร่ต่อปี หรือเทียบเท่ากับ 0.96 มิลลิเมตรต่อปี การสูญเสียในระดับนี้จะไม่ทำให้สมรรถนะของดินสำหรับการเกษตรเปลี่ยนแปลงตลอดระยะเวลา 25 ปี ค่าการสูญเสียดินที่สูงกว่าระดับนี้จะมีผลเสียหายต่อคุณภาพดินและผลผลิตพืชในระยะยาว สำหรับการจัดชั้นความรุนแรงของการชะล้างพังทลายของดินในประเทศไทยจัดแบ่งไว้ 5 ระดับ

โดยมีรายละเอียดของแต่ละชั้นความรุนแรงดังนี้ ชั้นความรุนแรงของการชะล้างพังทลาย ชั้น 1 น้อยมาก มีอัตราการสูญเสียดิน 0-2 ตันต่อไร่ต่อปี 0-0.96 มิลลิเมตรต่อปี ชั้น 2 น้อย มีอัตราการสูญเสียดิน 2-5 ตันต่อไร่ต่อปี 0.96-2.4 มิลลิเมตรต่อปี ชั้น 3 ปานกลาง มีอัตราการสูญเสียดิน 5-15 ตันต่อไร่ต่อปี 2.4-7.2 มิลลิเมตรต่อปี ชั้น 4 รุนแรง มีอัตราการสูญเสียดิน 15-20 ตันต่อไร่ต่อปี 7.2-9.6 มิลลิเมตรต่อปี ชั้น 5 รุนแรงมาก มีอัตราการสูญเสียดิน มากกว่า 20 ตันต่อไร่ต่อปี มากกว่า 9.6 มิลลิเมตรต่อปี

สำหรับการชะล้างพังทลายของดินในประเทศไทย กรมพัฒนาที่ดิน (2545) รายงานไว้ว่าประเทศไทยมีเนื้อที่ทั้งหมด 320.7 ล้านไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่มีการสูญเสียดินอยู่ระหว่าง 0-50 ตันต่อไร่ต่อปี โดยภาคใต้มีการสูญเสียดินสูงกว่าภาคอื่น คือ พื้นที่ส่วนใหญ่มีการสูญเสียดินระหว่าง 0-50 ตันต่อไร่ต่อปี ขณะที่ภาคเหนือพื้นที่ส่วนใหญ่มีการสูญเสียดินระหว่าง 0-38 ตันต่อไร่ต่อปี ภาคกลางพื้นที่ส่วนใหญ่มีการสูญเสียดินอยู่ระหว่าง 0-17 ตันต่อไร่ต่อปี ภาคตะวันออกพื้นที่ส่วนใหญ่มีการสูญเสียดินอยู่ระหว่าง 0-16 ตันต่อไร่ต่อปี ภาคตะวันตกมีการสูญเสียดินอยู่ระหว่าง 0.10 ตันต่อไร่ต่อปี และภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีการสูญเสียดินต่ำสุด คือ พื้นที่ส่วนใหญ่มีการสูญเสียดินอยู่ระหว่าง 0.4 ตันต่อไร่ต่อปี

จาก http://www.naewna.com วันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 

เดินหน้าแก้ปัญหาดินเค็ม พื้นที่ภาคอีสาน

พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสาน ซึ่งมีพื้นที่การเกษตรมากที่สุดถึง 60 ล้านไร่ แต่ประสบปัญหาดินเค็มมีถึง 17.8 ล้านไร่ หรือ 29% ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งภาค คลุมพื้นที่ 18 จังหวัด 94 อำเภอ (ยกเว้น จ.เลย)

ในจำนวนนี้มีพื้นที่ดินเค็มมาก 5 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ร้อยเอ็ด สกลนคร มหาสารคาม และขอนแก่น นอกจากนี้ยังมีพื้นที่มีศักยภาพในการแพร่เกลืออีก 19.4 ล้านไร่ จากปัญหาดังกล่าวกรมพัฒนาที่ดินได้ร่วมกับกรมต่าง ๆ ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภาคเอกชน และท้องถิ่น ดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ดินเค็มในภาคอีสาน เพื่อแก้ปัญหาดินเค็มอย่างบูรณาการ โดยยึดโครงการพัฒนาพื้นที่ดินเค็มเมืองเพีย ต.เมืองเพีย อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น เป็นต้นแบบ หรือ “เมืองเพียโมเดล” โดยมีสำนักงานพัฒนา ที่ดินเขต 5 เป็นผู้รับผิดชอบ

นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า จากสภาพปัญหาของทรัพยากรดินที่มีความเสื่อมโทรม โดยเฉพาะปัญหาดินเค็ม และดินขาดความอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่ภาคอีสาน เป็นสาเหตุหนึ่งที่กรมพัฒนาที่ดินต้องเข้ามาพัฒนาและฟื้นฟูพื้นที่ให้สามารถใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดินเค็มได้อย่างเต็มศักยภาพ และมีความยั่งยืนเนื่องจากสภาพปัญหาดินเค็ม ส่งผล กระทบโดยตรงต่อเกษตรกรในพื้นที่ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ดังนั้นกรมพัฒนาที่ดินต้องนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาแก้ไขปัญหาเพื่อให้เหมาะสม และมีความสอดคล้องกับความต้องการของเกษตรกร โดยการแก้ปัญหาดินเค็มรูปแบบที่ง่ายที่สุดคือการใช้น้ำล้างเกลือออกไป แต่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นที่ทราบกันดีว่าปัญหาเรื่องขาดแคลนน้ำก็เป็นปัญหาใหญ่ไม่แพ้ปัญหาดินเค็มดังนั้นการล้างเกลือจึงต้องรอช่วงฤดูฝนใช้น้ำฝนล้างโดยวิธีธรรมชาติ แต่พอถึงช่วงฤดูแล้งปัญหาก็วนกลับมาอีก ฉะนั้นกรมพัฒนาที่ดินจึงมีแนวทางการแก้ปัญหาดินเค็มอย่างเป็นระบบ

ซึ่งกรมพัฒนาที่ดินได้มีการจัดกิจกรรมที่สำคัญในการฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่ดินเค็ม คือ โครงการปลูกไม้ยืนต้นป้องกันการแพร่กระจายดินเค็ม (เมืองเพีย) โครงการส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ดินเค็มแบบบูรณาการในพื้นที่ลุ่มน้ำย่อย เพื่อลดการแพร่กระจายดินเค็ม ซึ่งมีการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้การพัฒนาพื้นที่ดินเค็ม และจัดทำแปลงสาธิต

ผลจากการดำเนินงานทำให้มีการจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำ โดยได้รับการจัดสรรขุดบ่อน้ำตื้น แล้วมีการต่อ ยอดในกลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ โดยการปลูกผักปลอดสารพิษ และได้จัดตั้งกลุ่มผลิตผักขึ้นในพื้นที่ดินเค็ม เพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ ทำให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น“

ตลอดระยะเกือบ 40 ปีที่กรมพัฒนาที่ดินเดินหน้าแก้ปัญหาดินเค็ม ตั้งแต่ปี 2520 จนถึงปัจจุบัน นับว่าประสบผลสำเร็จได้ระดับหนึ่ง ทำให้วันนี้มีผลผลิตทางการเกษตรที่เกษตรกรปลูกในพื้นที่ดินเค็มนำมาจำหน่าย ทั้งข้าวหอมดินเค็ม เห็ด ผลิตภัณฑ์ประเภทผัก ซึ่งได้จากการเพาะปลูกในพื้นที่ดินเค็ม รวมถึงผลิตภัณฑ์ประเภทผ้าไหม และผลิตภัณฑ์จากต้นยูคาลิปตัส เมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสดปอเทือง และเมล็ดพันธุ์อะคาเซีย ทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่ดีขึ้น” นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าว.“

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 

"วิรไท" ปัดใช้ดอกเบี้ยทำค่าเงินบาทอ่อน

ธปท.ปัดใช้นโยบายดอกเบี้ยทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่า พร้อมระบุกรอบเงินเฟ้อทั่วไปในปัจจุบันที่ 1-4% ยังเหมาะสม

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งระเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.ไม่มีนโยบายหรือมีแนวคิดที่จะใช้อัตราดอกเบี้ย เพื่อมาทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงมาอยู่ในระดับใดระดับหนึ่ง เพื่อให้ได้เปรียบในการแข่งขันส่งออกสินค้า โดยขณะนี้การดำเนินนโยบายการเงินหรืออัตราดอกเบี้ยไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังน่าจะเติบโตได้

แต่คงเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป

อย่างไรก็ดี ในเรื่องค่าเงินธปท.พยายามส่งสัญญาณให้คนรับทราบว่ามันสามารถเปลี่ยนแลงได้ ทั้งสองด้าน ทั้งแข็งค่าและอ่อนค่า เนื่องจากยังมีแนวโน้มผันผวนสูง คนที่จะเกี่ยวข้องจึงควรปิดความเสี่ยงค่าเงินอย่าไปชะล่าใจในยามที่ค่าเงินอ่อนลงไปในบางช่วง

"แม้จะมีบางช่วงที่มีกระแสเงินไหลเข้าออก จนอาจทำให้บางช่วงที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลสูง จนทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเร็วบ้างในบางช่วง ซึ่งการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)เมื่อวานนี้ก็เห็นว่าถ้าแข็งค่าเร็วไปก็ไม่ค่อยดีเท่าไหร่นักกับเศรษฐกิจแต่เราก็ไม่มีนโยบายที่จะใช้ดอกเบี้ยมาทำให้อัตราแลกเปลี่ยนไปอยู่ที่ระดับใดระดับหนึ่ง หรือให้เป็นไปในลักษณะการสร้างความสามารถในการแข่งขัน หรือการได้เปรียบในการส่งออกสินค้า"นายวิรไทกล่าว

นายวิรไท กล่าวว่า ส่วนเรื่องที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีแสดงความไม่เห็นด้วยกับการใช้กรอบเงินเฟ้อทั่วไปที่ใช้อยู่ปัจจุบัน เนื่องจากกรอบเป้าหมายไม่สอดคล้องกับการดำเนินนโยบายการเงิน เพราะการจะขึ้นหรือลดดอกเบี้ยหรือไม่ต้องดูเป้าหมายเงินเฟ้อก่อนนั้น มองว่าการทำนโยบายการเงินหรือการกำหนดดอกเบี้ยต้องใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ยืดหยุ่น คือในช่วงที่มีภาวะเงินเฟ้อก็จะได้ไม่เผชิญกับแรงกดดันมากนัก สามารถให้ความสำคัญกับเรื่องอื่นๆได้

นอกจากนี้ในปัจจุบันการทำนโยบายการเงินหรือการกำหนดดอกเบี้ยคงไม่ได้ดูที่ตัวเลขเงินเฟ้อเป้าหมายอย่างเดียวอยู่แล้ว

เพราะต้องดูสาเหตุเงินเฟ้อด้วยว่ามาจากอะไร ซึ่งช่วงนี้เงินเฟ้อต่ำก็เป็นผลจากปัจจัยราคาน้ำมันและพลังงานในตลาดโลกต่ำ เมื่อราคาน้ำมันปรับขึ้นเงินเฟ้อก็จะทยอยปรับขึ้นได้ อย่างไรก็ดีมองว่ารอบเฟ้อหมายเงินเฟ้อทั่วไปในปัจจุบันที่ 2.5% บวกลบ 1.5% หรือ 1-4% ถึงกรอบจะค่อนข้างกว้างแต่ยังเหมาะสม

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 

กระทรวงเกษตรฯ เผยภัยแล้งคลี่คลาย เดินหน้าจัดทัพรับมือฤดูกาลเพาะปลูกใหม่ 

          จากผลดำเนินการแก้ปัญหาภัยแล้ง ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในช่วงที่ผ่านมามาตรการต่างๆ ที่กระทรวงเกษตรฯ ดำเนินการไปนั้นได้ผลเป็นอย่างมาก ตัวเลขพื้นที่ที่ได้รับการประกาศเป็นเขตภัยพิบัติปีนี้มีตัวเลขเพียง 5,000-6,000 หมู่บ้าน เทียบกับพื้นที่ภัยพิบัติเมื่อปี 2556 ซึ่งมีกว่า 30,000 หมู่บ้าน ก็เท่ากับว่าพื้นที่ภัยพิบัติในปีนี้ น้อยกว่าปี 2556 ถึงประมาณ 6-7 เท่า ทั้งที่ภัยแล้ง ปีนี้รุนแรงกว่ามาก จึงสะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพของมาตรการความช่วยเหลือของรัฐบาลได้เป็น อย่างดี

          พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงผลดำเนินการแก้ปัญหาภัยแล้งในช่วงที่ผ่านมาว่า สำหรับภาพรวมการดำเนินงานทั้ง 8 มาตรการของกระทรวงเกษตรฯ ส่งผลให้ประชาชนได้รับประโยชน์กว่า 2 ล้านราย พื้นที่ทำนาปรังลดลงจาก 9.75 ล้านไร่ในฤดูกาลเพาะปลูก 2557/2558 เหลือ 5.71 ล้านไร่ในฤดูกาล 2558/2559 รวมทั้งช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือนและสร้างโอกาสทางรายได้ให้กับเกษตรกรได้อย่างมากมาย โดยผ่านโครงการต่างๆ  อาทิ การแจกพันธุ์พืช สัตว์ และประมง แก่เกษตรกร 317,728 ราย การจ้างงาน 348,374 ราย คิดเป็นเงินรายได้ 2,755 ล้านบาท การสร้างอาชีพ 7,326 โครงการ มูลค่า 4,119 ล้านบาท การชดเชยดอกเบี้ย ให้เกษตรกร 415,983 ราย 1,881 ล้านบาท และการขยายเวลาชำระหนี้ 45,099 ราย 353 ล้านบาท

          ยังไม่นับรวมกับการสนับสนุนอื่นๆ เช่น การขุดบ่อบาดาล 3,737 แห่ง การส่งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงขึ้นบิน ปฏิบัติการถึง 1,087 เที่ยวบินภายในเวลาไม่ถึง 3 เดือน ซึ่งถือว่ามากที่สุดในประวัติการณ์ ขณะที่หลังจากนี้กระทรวงเกษตรฯพร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังมีแผนเร่งสำรวจแหล่งน้ำและวางระบบ "ประปาหมู่บ้าน" ให้กับหมู่บ้านที่ยังขาดแคลนกว่า 7,000 แห่ง โดยตั้งเป้าจะทำให้แล้วเสร็จทั้งหมดภายในปี 2560 นี้

          ส่วนการเตรียมพร้อมของกระทรวงเกษตรฯในการรับมือฤดูกาลเพาะปลูกใหม่ 59/60 พล.อ.ฉัตรชัย  กล่าวว่า ขณะนี้สามารถเบาใจได้ในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะในเขตชลประทาน เนื่องจากมั่นใจว่าจะสามารถดูแลเรื่องน้ำสำหรับอุปโภคและบริโภคได้จนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคมแน่นอนแม้ว่าจะไม่มีฝนตกลงมาเลยก็ตาม  โดยสถานการณ์น้ำ 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ประกอบด้วย เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ณ วันที่ 1 พฤษภาคม มีปริมาณน้ำเหลือใช้การได้ 1,785 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ขณะเดียวกันยังเกิดฝนจากอิทธิพลของพายุฤดูร้อนและปฏิบัติการ "ฝนหลวง" ในช่วงระหว่างวันที่ 25 เมษายน-2 พฤษภาคม ทำให้มีน้ำไหลลงอ่าง เก็บน้ำเขื่อนต่างๆ ทั่วประเทศรวมประมาณ 94 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งทำให้สถานการณ์ภัยแล้งในหลายพื้นที่เริ่มคลี่คลายลง

          อย่างไรก็ตาม แม้ขณะนี้สถานการณ์ภัยแล้งจะคลี่คลายลง แต่ก็ยังกังวลเพราะปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนต่างๆ ยังมีอยู่น้อยมาก  ทำให้ต้องจับตาสถานการณ์ช่วงโค้งสุดท้ายของภัยแล้งต่อไปอย่างใกล้ชิด  พร้อมทั้งได้เตรียมแผนเพาะปลูก "ข้าวนาปี" ฤดูกาลผลิต 2559/2560 ไว้แต่เนิ่นๆ โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าวนาปีทั้งประเทศ 57.41 ล้านไร่ คาดว่าจะได้ผลผลิต 24.01 ล้านตันข้าวเปลือก

          อย่างไรก็ดี การจะป้องกันผลกระทบต่างๆ ของเกษตรกร ยังมีอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ นั่นคือ เกษตรกรเองก็จำเป็นต้องเตรียมความพร้อม โดยเฉพาะการวางแผนการผลิตและหาแหล่งน้ำสำรอง เพื่อให้สามารถยืนหยัดต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างตลอดรอดฝั่งและมั่นคง

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 

แจงสี่เบี้ย : การชะล้างพังทลายของดินและการอนุรักษ์ดินและน้ำ (3)

1.การชะล้างแบบแผ่น เป็นการชะล้างพังทลายของดินที่เกิดจากแรงปะทะของเม็ดฝน ทำให้ผิวดินแตกกระจายและพัดพาไปเป็นแผ่นบางๆ ซึ่งจะสังเกตได้ยาก จะเกิดเป็นบริเวณกว้างบนพื้นที่ค่อนข้างมีความลาดเทสม่ำเสมอ

2.การชะล้างแบบ internal เป็นการกัดชะล้างพังทลายของดินที่เกิดขึ้นเนื่องจากแรงกระทบของเม็ดฝนทำให้ดินบนแตกกระจายออกจากกัน อนุภาคที่มีขนาดเล็กก็จะไหลปะปนกับน้ำลงไปในรอยร้าวหรือตามช่องว่างในดินลงสู่ดินล่าง ทำให้ดินแน่นตัว โดยทั่วไปแล้วการชะล้างพังทลายของดินแบบนี้ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรง

3.การชะล้างแบบร่อง ตรงกันข้ามกับแบบเป็นแผ่น คือ จะเกิดจากการชะล้างพังทลายของดินเมื่อมีน้ำในปริมาณมากๆ มารวมตัวกันขึ้น แล้วไหลลงสู่ที่ต่ำทำให้เกิดเป็นร่องน้ำขึ้นโดยไม่ต้องอาศัยแรงกระทบจากเม็ดฝนแบ่งออกได้เป็น 3 ชนิด คือ 3.1 การชะล้างแบบริ้วเป็นการชะล้างพังทลายของดินที่ก่อให้เกิดร่องเล็กๆ มากมาย มักเกิดจากน้ำไหลตามร่องพืชที่ปลูกตามแนวลาดเท หรือบริเวณพื้นที่ซึ่งมีความลาดเทเล็กน้อยไม่สม่ำเสมอกัน ความลึกของริ้วมีขอบเขตจำกัด คือลึกไม่เกิน 5-8 ซม. การชะล้างพังทลายของดินแบบนี้อาจไถกลบได้โดยใช้เครื่องมือไถพรวนธรรมดา 3.2 การชะล้างแบบร่องธาร เป็นการชะล้างพังทลายของดินกว้างกว่าแบบริ้ว เกิดขึ้นเนื่องจากการปลูกพืชตามแนวลาดเทซ้ำซาก หรือเกิดขึ้นบนพื้นที่ที่มีความลาดเทสูง และระยะของความลาดเทยาวมากอำนาจการชะละลายของน้ำจึงมีมากขึ้น ทำให้ดินถูกพัดพาไปเป็นจำนวนมาก3.3 การชะล้างในธารน้ำ เป็นการชะล้างพังทลายของดินที่เกิดขึ้นตามธารน้ำธรรมชาติ เช่น แม่น้ำ ลำธาร ซึ่งมีน้ำตลอดปีโดยการทำให้ดินแตกกระจายและชะล้างแร่ธาตุจากสองข้างฝั่งไป เนื่องจากกำลังแรงของกระแสน้ำ

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการชะล้างพังทลายโดยน้ำ ประกอบด้วย

1.น้ำหรือฝน หมายถึงการตกลงมาของน้ำในรูปของแข็งหรือของเหลวก็ตาม เช่น ฝน หิมะ ลูกเห็บ หมอก หรือน้ำค้าง โดยทั่วไปแล้วถือว่าฝนเป็นตัวการใหญ่ที่ทำให้เกิดการชะล้างพังทลาย แต่สำหรับประเทศหนาวหิมะก็มีส่วนมากเหมือนกัน การกัดกร่อนจะมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับลักษณะของฝน เช่นความมากน้อยที่ตกครั้งหนึ่ง ระยะเวลา จำนวนน้ำฝนทั้งหมด ขนาด ความเร็ว รูปร่างของเม็ดฝน และการแพร่กระจายของในแต่ละฤดู

2.สภาพภูมิประเทศ มีความสัมพันธ์อย่างมากกับน้ำไหลบ่า จะมีอิทธิพลแค่ไหนขึ้นอยู่กับความชันของความลาดเท ความยาวความลาดเท รูปร่างของความลาดเท ความไม่สม่ำเสมอของความลาดเท และทิศทางความลาดเท

3.สมบัติของดิน การชะล้างพังทลายจะเกิดขึ้นมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับปัจจัยของดิน ดังนี้ ความสามารถในการทนทานต่อการชะล้างพังทลายของดิน ความสามารถในการทนทานต่อการพัดพา และความสามารถในการทนทานต่อน้ำไหลบ่า

4.สิ่งปกคลุมผิวดิน การใช้ประโยชน์จากที่ดิน และการจัดการดินซึ่งอาจมีผลดังนี้ สิ่งปกคลุมดิน การมีเศษวัสดุปกคลุมอยู่มีผลโดยตรงต่อการลดแรงปะทะของเม็ดฝน การใช้ประโยชน์ที่ดิน โดยใช้ที่ดินให้เหมาะสมตามสมรรถนะของดิน เช่น การปลูกพืชปกคลุมดิน มีผลทำให้การชะล้างพังทลายและการสูญเสียดินลดลงได้ การจัดการดิน ได้แก่การไถพรวนถ้าทำให้ถูกวิธีที่เหมาะสมจะช่วยลดการชะล้างพังทลายของดิน วิธีการปลูกพืชมีอิทธิพลต่อการชะล้างพังทลายของดินขึ้นอยู่กับชนิดของพืชที่ปลูก ซึ่งถ้ามีพืชหนาแน่นและปลูกตามแนวระดับหรือขั้นบันไดจะลดการชะล้างพังทลายของดินเป็นอย่างมาก

จาก http://www.naewna.com วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 

รับโครงสร้างอ้อยยังวุ่น รง.น้ำตาลค้านชาวไร่ขอแบ่งรายได้ทุกเม็ดไม่ยุติธรรม 

          สอน.ยันแผนปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเสร็จพ.ค.นี้ พร้อมนำเสนอครม.เห็นชอบ หวังแก้ปัญหาลดภาระรัฐบาลในการกู้ปีละ 1.6 หมื่นล้านบาทช่วยต้นทุนผลิตอ้อย โดยจะนำรายได้จากการขายน้ำอ้อย เอทานอล ไฟฟ้า กากอ้อย กากน้ำตาล มาแบ่งให้ชาวไร่ ขณะที่โรงงานน้ำตาลออกโรงคัดค้าน เป็นการไม่ยุติธรรม เพราะชาวไร่ไม่ได้ร่วมลงทุน และไม่มีรายได้เหลือจากการขายไฟฟ้า

          นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ขณะนี้ทางสอน.อยู่ระหว่างแก้ไขการจัดทำแผนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบใหม่ หลังจากมีผู้ร้องเรียนว่า แผนดังกล่าวยังไม่มีความเหมาะสมที่จะนำมาใช้กับประเทศได้

          ทั้งนี้เนื่องจากที่ผ่านมาได้มีการจัดประชุมรับความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องไปหลายครั้งแล้ว และมีความเห็นออกมาตรงกันว่าจะต้องดำเนินการปรับแก้กฎหมาย พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 รวมทั้งกฎหมายและระเบียบต่างๆที่เกี่ยวข้องให้ครอบคลุมการนำน้ำอ้อยไปผลิตเอทานอลและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้ เช่น ไบโอพลาสติก ไบโอเคมี นอกเหนือจากการผลิตเป็นน้ำตาลเพียงอย่างเดียว รวมทั้ง การเปิดให้ตั้งโรงงานหีบอ้อยได้ แต่ไม่มีการผลิตเป็นน้ำตาลทราย เพื่อที่จะนำน้ำอ้อยไปผลิตผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้ จากปัจจุบันที่กฎหมายยังไม่เอื้อให้ตั้งโรงงานได้อย่างเสรีพร้อมทั้ง ให้นำผลพลอยได้จากการหีบอ้อยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการผลิตเอทานอล ไฟฟ้า และอื่นๆต้องนำมาแบ่งให้กับชาวไร่อ้อยด้วย เพื่อให้ชาวไร่อ้อยได้มีรายได้เพิ่มขึ้น นอกเหนือจากรายได้ที่มาจากอ้อยเท่านั้นซึ่งจะช่วยลดภาระในการกู้เงินมาอุดหนุนต้นทุนการเพาะปลูกอ้อย ที่มีการเรียกร้องจากชาวไร่อ้อย ซึ่งในช่วงปี 2558 ที่ผ่านมาได้กู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)ในอัตราตันละ 160 บาท คิดเป็นวงเงิน 1.695 หมื่นล้านบาท และในปีนี้ก็ต้องขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรีในอัตราที่ใกล้เคียงกันอีก หากยังปล่อยในลักษณะนี้ต่อไป จะทำให้รัฐบาลมีหนี้สะสมเพิ่มมากขึ้น

          ดังนั้น การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายใหม่ จะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และลดต้นทุนการผลิตลง ไม่ต้องมาเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือต้นทุนการผลิตทุกปีโดยแนวทางการจัดทำแผนปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายใหม่นั้น คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคมนี้ และหลังจากนั้น จะเสนอให้ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พิจารณา เพื่อเสนอไปยังคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ เสนอไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ปรับแก้กฎหมายต่อไป

          นายอิสระ ถวิลเติมทรัพย์ กรรมการ บริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า สำหรับการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายใหม่นั้น ยังมีความวุ่นวายอยู่ ที่ยังไม่สามารถเห็นชอบไปในแนวทางเดียวกันได้ทั้งหมด เนื่องจากทางชาวไร่ต้องการผลประโยชน์ตอบแทนที่เป็นผลพลอยได้จากอ้อยทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการผลิตเอทานอล ไฟฟ้า กากอ้อย กากน้ำตาล อื่นๆ เช่น ปุ๋ยชีวภาพ ที่จำหน่ายได้มาแบ่งให้ ซึ่งโรงงานน้ำตาลเห็นว่าไม่มีความยุติธรรมเกิดขึ้น โดยที่ผ่านมาก็ได้ส่งหนังสือคัดค้านไปแล้ว เพราะการหารือในหลายๆ ครั้ง เหมือนเป็นการมัดมือชก และเร่งสรุปที่จะยืนตามที่ชาวไร่เสนอ ซึ่งเป็นการไม่แฟร์กับโรงงานน้ำตาล

          ทั้งนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่า ทางชาวไร่อ้อยไม่ได้มาร่วมลงทุนกับทางโรงงานน้ำตาลทรายด้วย และทางโรงงานน้ำตาลก็ไม่ได้มีกำไรเสมอไป อย่างโรงงานน้ำตาลของบริษัทเองปีที่แล้วก็ประสบปัญหาขาดทุน นำรายได้มาแบ่งทุกอย่างทางโรงงานก็จะไปไม่รอดเช่นกัน หรืออย่างกรณี การนำกากอ้อยไปผลิตเป็นไฟฟ้า ซึ่งบางแห่งก็ไม่ได้มีการจำหน่ายขายเข้าระบบ ผลิตเพื่อใช้ในโรงงานน้ำตาลเอง หากมีการคำนวณขายกากอ้อยเอาไปทำเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า และมาแบ่งให้ชาวไร่ด้วยนั้น คงไม่ถูกต้อง

          ขณะที่การนำน้ำอ้อยไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้นั้น ทางโรงงานน้ำตาลเห็นด้วย เพราะเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับชาวไร่ในอีกส่วนหนึ่งได้ ขณะที่การแบ่งรายได้จากการผลิตเอทานอลนั้น ส่วนหนึ่งทางโรงงานก็พอจะรับฟังเหตุผลได้ แต่หากเป็นโรงงานน้ำตาลขนาดเล็กไม่มีการลงทุนในส่วนนี้ จะแก้ปัญหาอย่างไร ซึ่งปัญหาทั้งหมดนี้คงต้องมีการหารือกันอีกเป็นระยะๆ กว่าจะได้ข้อยุติ

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 

ครม.ไฟเขียวกู้ธ.ก.ส.'1.5หมื่นล้าน'ช่วยภัยแล้งไร่อ้อย 

          ครม.ไฟเขียวกอน.กู้เงินธ.ก.ส.เพิ่ม 1.5 หมื่นล้าน จ่ายช่วยเหลือชาวไร่อ้อยที่ได้รับผลกระทบ จากภัยแล้งในอัตรา 160 บาทต่อตัน พร้อมเห็นชอบหลักการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม อ้อย ให้จัดทำแผนงานให้ชัดเจนมาเสนอ อีกครั้ง

          นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)รับทราบแนวทางช่วยเหลือ ชาวไร่อ้อย ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ตามที่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล เสนอในแนวทางเดียวกับฤดูกาลผลิต ที่ผ่านมา

          โดยให้เพิ่มเงินช่วยเหลือชาวไร่อ้อย 160 บาทต่อตันอ้อนและให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายพิจารณากู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)หรือ ธนาคารพาณิชย์อื่นในอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน ตามปริมาณอ้อยที่เข้าหีบในฤดูกาลผลิตปี2558/2559รวม 94.05 ล้านตัน วงเงินช่วยเหลือ 15,047.53 ล้านบาท เนื่องจากชาวไร่อ้อยได้รับผลกระทบและความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยแล้งที่รุนแรง สำหรับราคาอ้อยขั้นต้นในฤดูกาลผลิตปี2558/2559ในอัตรา 773บาท ต่อตันอ้อยและ 808 บาทต่อตันอ้อย ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส แต่ต้นทุนการผลิตของ ชาวไร่อ้อยอยู่ที่ 1,126.66บาทต่อตัน โดยมีประมาณการปริมาณอ้อย 109.85 ล้านตัน แต่เนื่องจากต้นทุนการผลิตอ้อย มีมูลค่าสูงกว่าราคาอ้อยขั้นต้น ประกอบกับปริมาณการผลิตอ้อยอยู่ในระดับต่ำกว่า ประมาณการ เนื่องจากภาวะภัยแล้งอย่างรุนแรง ทำให้ชาวไร่อ้อยได้รับความเดือดร้อนและร้องขอความช่วยเหลือเงินเพิ่มค่าอ้อย" นางอรรชกา กล่าว

          นอกจากนี้ ครม.เห็นชอบในหลักการ ข้อเสนอแนวทางการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย 5 เรื่อง คือ การปรับปรุงพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย รวมทั้งกฎหมายและระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้ครอบคลุมการนำอ้อยไปผลิตเอทานอล และผลิตภัณฑ์อื่นๆได้การเพิ่มผลิตภาพอ้อยและน้ำตาลทราย กำหนดต้นทุนมาตรฐานอ้อยและน้ำตาลทรายและมาตรการการผลิตน้ำตาลทราย การรักษาเสถียรภาพกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย การจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาอ้อยและน้ำตาลทรายและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง แต่ให้ไปปรับแผนการดำเนินงานให้มีรายละเอียดที่ชัดเจนและนำกลับมาเสนอ ครม.พิจารณาอีกครั้ง

          รายงานสถานการณ์ราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์ก สัญญาเดือนพ.ค. 2016 อยู่ที่ 15.55 เซนต์ต่อปอนด์ ลดลง 0.22 เซนต์ต่อปอนด์ ราคาน้ำตาลทรายขาวตลาดลอนดอน สัญญาเดือนส.ค. 2016 อยู่ที่ 460.80 ดอลลาร์ต่อตัน ลดลง 3.20 ดอลลาร์ต่อตัน

          นอกจากนี้เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร ทางสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและ น้ำตาลทรายได้ประสานโครงการสินเชื่อ สำหรับการจัดซื้อรถตัดอ้อย โดยรัฐบาล ได้สนับสนุนสินเชื่อเงินกู้ให้กับเกษตรกร ชาวไร่อ้อยในอัตราดอกเบี้ยต่ำ วงเงิน 1,500 ล้านบาท สามารถเพิ่มรถตัดอ้อยได้ประมาณ 100 คัน และขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานงานกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในการปล่อย สินเชื่อเงินกู้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยอีก 5,000 ล้านบาท เพื่อนำไปซื้อเครื่องจักรอุปกรณ์และรถตัดอ้อย นำมาใช้ในกระบวนการผลิตและเก็บเกี่ยวอ้อย ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหา การเผาไร่อ้อยได้

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 

ครม.เห็นชอบจ่ายชดเชยชาวไร่อ้อย 160 บาทต่อตัน -ปรับโครงสร้างอุตฯอ้อยทั้งระบบ

เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2559 เวลา 14.00 น. นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าที่ประชุมมีมติเห็นชอบนำเงินจากกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กนอ.) จ่ายชดเชยให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อย จำนวน 160 บาทต่อตันอ้อย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเฉพาะฤดูกาลผลิตปี 58/59 และนำจัดเก็บเงินจากส่วนต่างของราคาอ้อยขั้นสุดท้ายกับราคาอ้อยขั้นต้น จำนวน 25 บาทต่อตัน เพื่อใช้รักษาเสถียรภาพเงินของกองทุนอ้อยฯ

อีกทั้งคณะรัฐมนตรียังมีมติยังเห็นชอบในหลักการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เช่น การปรับปรุง พ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาลทราย รวมทั้งกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ให้ครอบคลุมไปยังการผลิตเอทานอล และกฎหมายผังเมือง รองรับการตั้งโรงงานน้ำตาลและการผลิตเอทานอล และผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการเพิ่มผลิตภาพอ้อยและน้ำตาลทราย ด้วยการส่งเสริมการปลูกด้วยแปลงขนาดใหญ่ โดยใช้เครื่องมือเครื่องจักรมาใช้ และการป้องกันปัญหาไฟไหม้ภายในช่วง 5 ปี และการนำของเสียจากการผลิตอ้อยไปใช้บำรุงดินในไร่อ้อยการการกำหนดมาตรฐานการผลิตอ้อย

พร้อมกันนี้ได้กำหนดต้นทุนให้ได้มาตรฐาน เพื่อความเป็นธรรมและเพิ่มโอกาสเรียกเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย พร้อมเตรียมจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมอ้อย โดยกระทรวงอุตสาหกรรม พร้องส่งเสริมโรงงานน้ำตาล 52 แห่ง จัดทำแปลงโมเดลเกษตรสมัยใหม่ เป็นต้น

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 

ตรวจสอบโรงงานน้ำตาล 

          สระแก้ว - นายศุภกฤต พรรคนาวิน อุตสาหกรรมจังหวัดสระแก้ว พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ เข้าตรวจสอบโรงงานน้ำตาลบริษัทเอกชน ใน ต.ห้วยโจด อ.วัฒนานคร เพื่อกำกับดูแล ควบคุมด้านสิ่งแวดล้อมให้ได้มาตรฐานสากล จากการตรวจสอบ ทางโรงงานน้ำตาลได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเรียบร้อยแล้ว โดยใช้ทุนก่อสร้างระบบบำบัดกว่า 300 ล้านบาท และได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว

จาก http://www.matichon.co.th วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 

แผนยุทธศาสตร์ชาติอุตฯ20ปี 

เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดทำยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (2560-2579) และอยู่ระหว่างเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณา ทั้งนี้แบ่งเป็น 4 ช่วง ช่วงละ 5 ปี เป้าหมายระยะ 1 คือพัฒนาขีดความสามารถและส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เป้าหมาย ระยะ 2 ขยายเครือข่ายการผลิตสู่ต่างประเทศและเชื่อมโยงการผลิตในภูมิภาค ระยะ 3 ดันอุตสาหกรรมศักยภาพเป็นที่ยอมรับในภูมิภาค ระยะ 4 ส่งเสริมอุตสาหกรรมศักยภาพก้าวสู่การผลิตชั้นนำของโลก ผ่าน 12 อุตสาหกรรมของรัฐบาล

จาก http://www.matichon.co.th วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 

ก.อุตฯชงใช้ม.44ปลดล็อกรง.น้ำตาล ลุ้น14รง.เก่า-ใหม่-เอทานอลหลุดผังเมือง6จังหวัด 

          สอน.ชง "อรรชกา" เสนอรัฐบาล คสช.ใช้ ม.44 ทะลวงปัญหาตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ 14 แห่ง ติดผังเมืองสีเขียว และสีเขียวคาดขาว รอลุ้นคณะทำงาน ม.44 ชี้ชะตา

          นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ทางรัฐบาลได้มีนโยบายมายังหน่วยงานราชการต่าง ๆ ว่า หากมีเรื่องอะไรเร่งด่วนที่เป็นนโยบายของรัฐบาลที่ต้องเร่งดำเนินการ และยังติดขัดปัญหาต่าง ๆ ไม่สามารถดำเนินการได้ ให้หน่วยงานราชการทำเรื่องเสนอมาตามขั้นตอน เพื่อขอให้มีการพิจารณาใช้มาตรา 44 ในการแก้ปัญหาดังกล่าว ดังนั้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ทาง สอน.จึงได้นำเสนอปัญหากรณีการตั้งและขยายโรงงานน้ำตาล 14 แห่ง ติดปัญหาผังเมืองในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ จ.นครสวรรค์ จ.สระแก้ว จ.ชัยภูมิ จ.สุรินทร์ และ จ.บึงกาฬ ส่งขึ้นไปให้นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้พิจารณา เนื่องจากผู้ประกอบการได้รับผลกระทบยังไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างได้ ซึ่ง นางอรรชกาได้พิจารณาแล้ว และได้ลงนามเสนอขึ้นไปให้คณะทำงานตามมาตรา 44 ของรัฐบาลพิจารณาต่อไปแล้วเมื่อเร็ว ๆ นี้

          สำหรับโรงงานน้ำตาลทั้ง 14 แห่ง แบ่งเป็นโรงงานน้ำตาลขอตั้งใหม่ 6 แห่ง และโรงงานน้ำตาลเก่าอีก 8 แห่งที่ขอขยายมา ได้รับการอนุมัติจากกระทรวงอุตสาหกรรมแล้วตามหลักเกณฑ์ แต่ยังไม่สามารถก่อสร้างได้ รวมถึงปัญหาการตั้งโรงงานเอทานอล เป็นความเดือดร้อนของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอ้อย น้ำตาลทราย และอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ยังเดินไม่ได้ เพราะที่ดินที่เตรียมจะตั้งโรงงานทั้งหมดอยู่ในพื้นที่สีเขียว และ สีเขียวคาดขาว

          "ทางรัฐบาลเห็นว่าอะไรก็ตามที่เป็นเรื่องนโยบายของรัฐบาล อะไรที่เป็นเรื่องเร่งด่วนที่เห็นว่าควรจะต้องออกตามมาตรา 44 เพื่อแก้ปัญหาให้จบไปเลยทีเดียวด้วยความรวดเร็ว หน่วยงานไหนที่จะนำเสนอเรื่องอะไรก็เสนอได้ เมื่อเปิดโอกาสให้ยื่น ทาง สอน.จึงเสนอเรื่องนี้เข้าไป ถ้าจะขอเว็ป ขอเว็ปในส่วนนี้จะได้เดินหน้าขนานไปกับที่เจรจาหารือกับกรมโยธาธิการและผังเมืองทำอยู่ แต่อันนี้เป็นแค่คำขอ ต้องผ่านการพิจารณาอีกหลายวาระว่า 1.มีความเหมาะสมหรือไม่ 2.มีความจำเป็นหรือไม่ ซึ่งจะมีคณะทำงานพิจารณาต่อไป เรายื่นไปว่าเป็นเหตุเร่งด่วนได้หรือไม่ หากคณะทำงานมาตรา 44 เห็นว่าเรื่องนี้ไม่เร่งด่วน ไม่ถึงขั้นต้องใช้มาตรา 44 ต้องแก้ด้วยวิธีการปกติต่อไป ซึ่งที่ผ่านมาทาง สอน.ได้พยายามแก้ปัญหาดังกล่าวร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม และกรมโยธาธิการ และผังเมืองมาระยะหนึ่งแล้ว แต่เรื่องดำเนินการตามขั้นตอนอย่างค่อยเป็นค่อยไป" นายสมศักดิ์กล่าวและว่า

          ที่ผ่านมาผู้ประกอบการแต่ละรายได้ยื่นขอตั้งโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ และขอขยายโรงงานน้ำตาลมาตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องให้ตั้งหรือขยายโรงงานน้ำตาลในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ฉบับลงวันที่ 17 สิงหาคม 2558 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 32 (1), (2) ออกตามอำนาจของพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการ โดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีออกประกาศไว้ ซึ่งมีการกำหนดว่า โรงงานแห่งใหม่ที่จะตั้งขึ้นต้องมีระยะห่างจากเขตโรงงานน้ำตาลที่ได้รับใบอนุญาตไว้แล้วไม่น้อยกว่า 50 กม. โดยการวัดระยะเป็นเชิงเส้นตรง และเมื่อมาพิจารณาพื้นที่ตามผังเมืองอีก ทำให้บางจังหวัดที่เป็นแหล่งปลูกอ้อยไม่เหลือพื้นที่ตั้งโรงงานได้เลย

          ถึงวันนี้มีผู้ประกอบการยื่นคำขอตั้งโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่เข้าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ทั้งหมด 15 โรง อนุมัติขยายโรงงานเก่าอีก 14 โรง รวมเป็น 29 โรง รวมกับโรงงานเก่าที่ได้สิทธิ์ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมข้อ 5 ที่เปิดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับความเห็นชอบให้ตั้ง หรือย้าย หรือขยายโรงงานน้ำตาลตามมติ ครม. และได้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.3) ก่อนวันที่ 17 สิงหาคม 2558 ไว้แล้ว 2 โรง และยังไม่ได้ยื่นขอ รง.3 อีก 4 โรง รวมเป็นโรงงานที่ได้สิทธิ์ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมข้อ 5 เป็น 6 โรง หากรวมทั้งหมดจะมีโรงงานที่ได้รับอนุมัติ 34 โรง ซึ่งเป็นข้อขัดแย้งของภาคเอกชน บางแห่งตั้งได้บางแห่งตั้งไม่ภาคเอกชนต้องการความชัดเจน

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 

ก.อุตฯชงแผนยุทธศาสตร์20ปี พัฒนาศักยภาพคลัสเตอร์แห่งอนาคต

นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงแผนงานในภารกิจหลักของกระทรวงอุตสาหกรรมระยะ 20 ปี

 (พ.ศ.2560-2579) ซึ่งส่งให้กับสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี รวบรวมนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีพิจารณา เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ว่า แผนงานของกระทรวงที่เสนอไปนั้น แบ่งเป็น 4 ช่วง และแต่ละช่วงมีระยะ 5 ปี

โดยในแผนงานได้ระบุระดับความสำเร็จของแต่ละช่วงเป็นลำดับขั้น เช่น แผนงานที่มีจำนวนโครงการและงบประมาณมากที่สุดคิดเป็น 50% คือ แผนงานการพัฒนาอุตสาหกรรมศักยภาพและคลัสเตอร์อุตสาหกรรมแห่งอนาคต เป้าหมายระยะที่ 1 (พ.ศ.2560-2564) คือ พัฒนาขีดความสามารถและส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมศักยภาพให้ลงทุนในพื้นที่เป้าหมาย ระยะที่ 2 (พ.ศ.2565-

 2569) ขยายเครือข่ายการผลิตสู่ต่างประเทศและเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงการผลิตในภูมิภาค ระยะที่ 3 (พ.ศ.2570-2574) อุตสาหกรรมศักยภาพเป็นที่ยอมรับในภูมิภาค ระยะที่ 4 (พ.ศ.2575-2579) อุตสาหกรรมศักยภาพก้าวสู่การผลิตชั้นนำของโลกและเป็นที่ยอมรับในตลาดสากล

นอกจากนี้ยังกำหนดเป้าหมายของอุตสาหกรรมศักยภาพฯที่ภาครัฐส่งเสริมเป็นอุตสาหกรรมอนาคตของไทย จำนวน

 12 สาขา ประกอบด้วย 1.อุตสาหกรรมแม่พิมพ์ 2.อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ 3.อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และเครื่องจักรกลอัตโนมัติ 4.อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 5.อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป 6.อุตสาหกรรมเหล็กและโลหะการ

 7.อุตสาหกรรมแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ 8.อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร 9.อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์โทรคมนาคม 10.อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ 11.อุตสาหกรรมอ้อย น้ำตาลทราย และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง 12.อุตสาหกรรมเซรามิก ซึ่งทั้ง 12 สาขาจะมีโครงการและงบประมาณสนับสนุน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 

‘ชานอ้อย’ป้องกันฟันผุ

เรื่อง - สาลินีย์ ทับพิลา

ความเชี่ยวชาญด้านทันตกรรมของมหิดลจับคู่ มิตรผล ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำตาล สร้างนวัตกรรมดูแลช่องปากในรูปของหมากฝรั่งและเจลลี่จากชานอ้อย อวดจุดเด่นไม่ทำให้ฟันผุ พร้อมทั้งเตรียมสานต่อความร่วมมือสู่การพัฒนาน้ำตาลผสมฟลูออไรด์

“มิตรผลเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสารให้ความหวาน ใช้วัตถุดิบอ้อยปีละกว่า 20 ล้านตัน มีชานอ้อยเป็นผลผลิตพลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาล 25% หรือราว 5 ล้านตัน การใช้ประโยชน์จากชานอ้อยจะมุ่งด้านพลังงานเป็นหลัก แต่เมื่อมองเรื่องคุณสมบัติความเป็นกากใยที่ทำความสะอาดฟันได้ จึงน่าจะใช้เป็นองค์ประกอบพิเศษสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์สุขภาพฟันได้”อัมพร กาญจนกำเนิด ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มธุรกิจ กลุ่มงานการผลิตและการตลาดกลุ่มมิตรผล กล่าว

จับมือพัฒนาขนมลดฟันผุ

คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และกลุ่มมิตรผล ร่วมกันวิจัยและพัฒนาในการบูรณาการองค์ความรู้และการวิจัย เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาทันตสุขภาพของประชาชน ด้วยการนำเส้นใยชานอ้อย มาพัฒนาเป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ทางทันตสุขภาพ ในรูปของหมากฝรั่งเส้นใยชานอ้อยและเจลลี่ผสมผงชานอ้อยบดที่มีสารให้ความหวานและไม่ก่อให้เกิดให้ฟันผุ

ศ.คลินิก ทพ.พาสน์ศิริ นิสาลักษณ์ คณบดี กล่าวว่า โครงการวิจัยเริ่มจากการพัฒนาคุณสมบัติและปรับปรุงโครงสร้างชานอ้อยที่เดิมเป็นกากใยหยาบ เนื้อสัมผัสไม่เหมาะกับการเคี้ยวของเด็ก จึงแก้ปัญหาโดยการสไลด์เป็นแผ่นบางสำหรับหมากฝรั่งและปั่นให้เล็กลงสำหรับเจลลี่ แล้วต้มเพื่อให้นุ่มลง และลดปริมาณน้ำตาลในชานอ้อย

รวมถึงการพัฒนาสารให้ความหวานที่เหมาะสม เรียกว่า Sugar Alcohol ที่ใช้สารให้ความหวานชนิดที่มีคุณสมบัติไม่ทำให้ฟันผุ ได้แก่ Stevia, Erythritol และ Sorbitol Syrup เป็นส่วนประกอบในหมากฝรั่งและเจลลี่ ขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพในการป้องกันหรือลดการเกิดฟันผุ โดยเพิ่มส่วนผสมของเส้นใยชานอ้อยเป็นองค์ประกอบหลักเพื่อทำหน้าที่ในการขัดฟัน

“ปัจจุบัน เราประสบความสำเร็จในการสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบหมากฝรั่ง ซึ่งมีคุณสมบัติในการขัดฟัน กระตุ้นการหลั่งของน้ำลาย ซึ่งจะมีผลในการลดโอกาสของการเกิดฟันผุ โดยใช้สารให้ความหวานที่ไม่ก่อให้เกิดฟันผุ ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ ส่วนเจลลี่ผสมผงชานอ้อยบด ให้รสชาติอร่อยเหมือนเจลลี่ทั่วไป แต่มีผงชานอ้อยบดและสารให้ความหวานที่ไม่ก่อให้เกิดฟันผุเช่นกัน” คณบดีกล่าว

น้ำตาลผสมฟลูออไรด์

ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบกับกลุ่มเป้าหมาย ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคฟันผุสูง ได้แก่ กลุ่มเด็กนักเรียนที่อยู่ห่างไกลในถิ่นทุรกันดาร ผ่านหน่วยทันตกรรมพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ระยะแรกจะเป็นการประเมินรสชาติ เนื้อสัมผัส และความพึงพอใจของเด็ก ในส่วนของประสิทธิภาพการลดปัญหาฟันผุนั้น ทีมวิจัยชี้ว่า ต้องใช้เวลานานเนื่องจากฟันผุเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งขนมหวาน การแปรงฟัน ฯลฯ จึงต้องศึกษาในรายละเอียดเป็นเวลานาน

ท้ายที่สุดแล้ว ผลิตภัณฑ์ทางเลือกนี้จะนำร่องผลิตแจกจ่ายให้เด็กในพื้นที่ห่างไกล และวางจำหน่ายในร้าน M-Dent ของมหาวิทยาลัยมหิดล จากนั้นจะนำเสนอไปยังธุรกิจผลิตขนม โดยมิตรผลจะสนับสนุนด้านวัตถุดิบซึ่งก็คือ ชานอ้อยและองค์ความรู้ โดยจะไม่ขยายเชิงพาณิชย์ ด้วยจุดแข็งเป็นเรื่องของน้ำตาลและสารให้ความหวานนั่นเอง

ความสำเร็จของความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาของ 2 องค์กร ทำให้มีความเป็นไปได้ในโครงการต่อไป โดยมหาวิทยาลัยมหิดลสนใจเรื่องฟลูออไรด์ป้องกันฟันผุ ที่นิยมใช้ผสมในน้ำนม ขณะที่ประเทศลาวมีการผสมในเกลือ ด้วยมองว่า อาหารทุกชนิดมีเกลือเป็นส่วนผสม แต่ทางนักวิจัยไทยมองโอกาสของน้ำตาลผสมฟลูออไรด์ที่จะช่วยป้องกันฟันผุไปด้วย

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 

บ.ไทยชูการ์ฯ เผยภัยแล้งกระทบผลผลิตอ้อยต่ำสุดในรอบ 5 ปี

        นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์และสันทนาการ บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด เปิดเผยภาพรวมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยในรอบฤดูการหีบปี 2558/2559 ว่า ได้รับกระทบรุนแรงจากปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลต่อปริมาณ และคุณภาพผลผลิตอ้อย โดยผลผลิตอ้อยเข้าหีบลดลงเหลือเพียง 94.05 ล้านตันอ้อย ผลิตน้ำตาลทรายได้เพียง 97.87 ล้านกระสอบ ซึ่งถือเป็นปริมาณอ้อยเข้าหีบต่ำสุดในรอบ 5 ปี นับตั้งแต่ฤดูการผลิตปี 2553/2554 ที่มีปริมาณอ้อยเข้าหีบ 95.36 ล้านตันอ้อย

        ทั้งนี้ หากเทียบกับปริมาณผลผลิตอ้อยเข้าหีบปีนี้กับผลผลิตกับปีก่อนพบว่า ฤดูหีบอ้อยปี 2558/2559 มีปริมาณอ้อยเข้าหีบปีนี้ลดลงกว่า 11.91 ล้านตันอ้อย เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีปริมาณอ้อยเข้าหีบ 105.96 ล้านตันอ้อย และปริมาณน้ำตาลทรายลดลง 15.58 ล้านกระสอบ ในปีก่อนที่ผลิตน้ำตาลทรายได้ 113.39 ล้านกระสอบ ขณะที่ค่าความหวานสะท้อนถึงคุณภาพผลผลิตอ้อยลดต่ำลงเหลือเพียง 11.95 ซี.ซี.เอส. จากปีก่อนที่มีค่าความหวานอยู่ที่ 12.23 ซี.ซี.เอส. ซึ่งทั้งปริมาณและคุณภาพอ้อยปีนี้ได้รับผลกระทบที่รุนแรงจากปัญหาภัยแล้ง และจากผลกระทบดังกล่าวทำให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยปีนี้มีการส่งออกน้ำตาลทรายลดลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อซัพพลายน้ำตาลทรายในตลาดโลกขาดแคลนมากขึ้น ขณะที่ประเทศผู้ส่งออกเบอร์ 1 ของโลก ได้แก่ บราซิล ก็ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติเช่นกัน

        สำหรับฤดูการเพาะปลูกอ้อยรอบการผลิตปีนี้ คาดว่า ปัญหาภัยแล้งจะยังคงคุกคามอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอ้อยตอที่ชาวไร่อ้อยเริ่มลงมือเพาะปลูกอ้อยที่จำเป็นต้องมีแหล่งน้ำเพียงพอในการเพาะปลูก ซึ่งที่ผ่านมาโรงงานน้ำตาลทรายพยายามจัดหาแหล่งน้ำให้แก่ชาวไร่อ้อย แต่ปัจจุบันพบว่าแหล่งน้ำที่จัดเตรียมให้มีปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูกอ้อยแล้ว และหากฝนทิ้งช่วงจะส่งผลกระทบต่ออ้อยที่ชาวไร่อ้อยเริ่มลงมือเพาะปลูกในช่วงนี้เติบโตไม่ทันต่อฤดูการหีบอ้อยปี 2559/2560 ที่จะเปิดหีบรับผลผลิตอ้อยช่วงปลายปีนี้ ซึ่งคาดว่าจะทำให้ปริมาณและคุณภาพอ้อยเข้าหีบลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยประเมินว่าปริมาณอ้อยเข้าหีบลดลงเหลือไม่ถึง 90 ล้านตันอ้อย

จาก http://manager.co.th วันที่ 8 พฤษภาคม 2559

แล้ง!กระทบอ้อย-น้ำตาลวูบ หวั่นปีหน้าเหลือแค่90ตัน ลุ้นกนง.คงดอกเบี้ย1.50%

แล้ง! นานฉุดผลผลิต อ้อยและน้ำตาลปี 58/59 ตกวูบ ต่ำสุดในรอบ 5 ปี หวั่นฝนไม่ตกกระทบหนัก คาดปริมาณอ้อยเข้าหีบไม่ถึง 90 ล้านตัน ด้าน TMB คาด กนง.คงดอกเบี้ย 1.50% หลังเศรษฐกิจไทยมีสัญญาณบวกมากขึ้น สมคิดปลื้มไทยติดอันดับที่ 21 ความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติ

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์และสันทนาการ บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด เปิดเผยว่า ภาพรวมของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยในรอบฤดูการหีบปี 58/59 ได้รับผลกระทบที่รุนแรงจากปัญหาภัยแล้งที่ยาวนาน ส่งผลต่อปริมาณและคุณภาพผลผลิตอ้อยลดลงต่ำสุดในรอบ 5 ปี โดยผลผลิตอ้อยเข้าหีบลดลงเหลือเพียง 94.05 ล้านตันอ้อย หรือลดลงกว่า 11.91 ล้านตันอ้อย เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีปริมาณอ้อยเข้าหีบ 105.96 ล้านตันอ้อย

นอกจากนี้ ผลผลิตน้ำตาลทรายเหลือ 97.87 ล้านกระสอบ ลดลง 15.58 ล้านกระสอบ เมื่อเทียบกับปีก่อนที่ผลิตน้ำตาลทรายได้ 113.39 ล้านกระสอบ ขณะที่ค่าความหวานที่สะท้อนถึงคุณภาพผลผลิตอ้อยก็ลดต่ำลงเหลือเพียง 11.95 ซีซีเอส จากปีก่อนที่มีค่าความหวานอยู่ที่ 12.23 ซีซีเอส

"ผลกระทบดังกล่าว ทำให้การส่งออกน้ำตาลทรายลดลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อซัพพลายน้ำตาลทรายในตลาดโลกขาดแคลนมากขึ้น ขณะที่ประเทศผู้ส่งออกเบอร์ 1 ของโลก ได้แก่ ประเทศบราซิล ก็ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติเช่นกัน อย่างไรก็ตาม หากฝนทิ้งช่วงยาว จะส่งผลกระทบกับผลผลิตอ้อยเข้าหีบของฤดูการผลิตปี 59/60 จะมีปริมาณลดลงไปอีก โดยประเมินว่าปริมาณอ้อยเข้าหีบจะลดลงเหลือไม่ถึง 90 ล้านตันอ้อย” นายสิริวุทธิ์กล่าว

นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 11 พ.ค.59 นี้ มีแนวโน้มที่จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 1.510% เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีสัญญาณบวกมากขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกที่ขยายตัว 2 เดือนติดต่อกัน ซึ่งก่อนหน้านี้การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 23 มี.ค.59 ได้มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50%

อย่างไรก็ตาม การส่งออกมีแนวโน้มปรับดีขึ้นหลังสามารถขยายตัวได้ 2 เดือนติดต่อกันในเดือน ก.พ. และ มี.ค.เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 10.3% และ 1.3% ตามลำดับ หลังหดตัวติดต่อกันต่อเนื่องกว่า 13 เดือน

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้สถาบันจัดอันดับ A.T.Kearney ที่ได้ทำการสำรวจและจัดให้ประเทศไทยกลับมาอยู่ในอันดับที่ 21 ใน 25 ประเทศ ภายใต้ดัชนีความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุน หลังจากที่ไทยได้หลุดออกจาก 25 อันดับประเทศที่นักลงทุนต่างชาติให้ความมั่นใจที่จะลงทุนในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับมาแล้ว.

จาก http://www.thaipost.net วันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 

“น้ำตาลกุมภวาปี” มอบรางวัลรถแทรกเตอร์   

        เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2559 ที่ผ่านมา กลุ่มบริษัท น้ำตาลกุมภวาปี จำกัด และบริษัท น้ำตาลเกษตรผล จำกัด ได้ทำการจับรางวัล และมอบรางวัลรถแทรกเตอร์นั่งขับ ขนาด 21 แรงม้า และรถแทรกเตอร์นั่งขับ ขนาด 24 แรงม้า 4 คัน และรางวัลอื่นๆ มูลค่ากว่า 6 ล้านบาท ให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดส่งโรงงาน ตามโครงการอ้อยสดสวยงาม ประจำปีการผลิต 2558/59 โดยมี นายไกรสร สามเสน ผู้จัดการทั่วไปโรงน้ำตาลกุมภวาปี จำกัด เป็นผู้จับรางวัล

 จาก http://manager.co.th วันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ไอเดียบรรเจิด ปลูกอ้อยในท่อพีวีซี ได้ลำยาว 5-6 เมตร แถมน้ำหวานดี๊ดี

ผู้เขียน

อภิวัฒน์ คำสิงห์

ยังสร้างความประหลาดใจให้กับเกษตรกรและผู้ที่สนใจในอาชีพเกษตรกรรม สำหรับการทำการเกษตรของเกษตรกรนอกกรอบ อย่างลุงไสว ศรียา ผู้ที่มีเทคนิคการทำการเกษตรแบบภูมิปัญญาชาวบ้านที่เห็นแล้วต้องอึ้ง ไม่ว่าจะเป็นปลูกพริกกลับหัว ทำให้ได้ผลผลิตเร็วและปริมาณมาก ปลูกต้นไม้ 1 ต้น แต่ได้ผลผลิต 15 อย่าง การนำหินถ่วงบวบให้ผลยาว หรือแม้แต่การเพิ่มมูลค่าให้กับไม้ผลด้วยการจับใส่ขวดแก้ว

ไม่หมดเพียงเท่านี้ครับ ล่าสุด ลุงไสว โชว์ผลงานต้นพีวีซีที่สูงชะลูด ซึ่งหลายคนก็เกิดความสงสัยว่า ลุงไสวแห่งสวนศรียา แกบ้าจนถึงขั้นปลูกท่อพีวีซีเลยเชียวหรือ

แต่เมื่อได้รับการไขข้อข้องใจจากลุงไสวจนกระจ่าง ก็ต้องยกนิ้วให้ในความคิดสุดโต่งของแกจริงๆครับ

ลุงไสวเล่าให้ฟังว่า ครั้งหนึ่งเคยไปดูงานที่ไร่อ้อย แล้วเห็นว่าต้องปลูกกันเป็นร้อยเป็นพันไร่ถึงจะทำเงินได้ แต่การปลูกเยอะก็ต้องลงทุนเยอะ ลุงไสวเลยเกิดไอเดียว่า งั้นก็ปลูกน้อยต้น แต่ให้ได้ลำอ้อยที่ยาวไปเลยน่าจะดี เลยคิดนำท่อพีวีซีมาสวมครอบลำอ้อยที่เพิ่งแตกหน่อ เมื่อหน่ออ้อยมองเห็นแสงสว่างที่ปลายท่อ ก็จะรีบโตพุ่งขึ้นหาแสงสว่าง พอลำอ้อยโตพ้นปลายท่อ ก็เสริมความยาวท่อขึ้นไปอีกเรื่อยๆ จนได้ลำอ้อยที่มีความยาวมากกว่าปกติ 5-6 เมตร กลายเป็น “ต้นอ้อย พีวีซี” แสนแปลกตา

ที่สำคัญลุงไสวยังการันตีอีกว่า น้ำอ้อยที่ได้ หวานอร่อยมากๆ อีกด้วย เพราะการครอบด้วยท่อพีวีซีแบบนี้ทำให้ไม่มีแมลงศัตรูพืชหรือโรคภัยมาเบียดเบียนได้นั่นเอง

จาก http://www.matichon.co.th วันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ภัยแล้งฟาดหางอ้อยเข้าหีบลดกระทบน้ำตาลโควตาก.จ่อตึง

          ภัยแล้งพ่นพิษ ส่งผลให้มีปริมาณอ้อยเข้าหีบต่ำเหลือแค่ 94 ล้านตัน กระทบกับปริมาณน้ำตาลทรายหายจากระบบ 1.5 ล้านตัน คณะกรรมการน้ำตาลทราย ต้องจัดสรรโควตาน้ำตาลบริโภคใหม่ ที่ 2.55 ล้านตัน ลดการส่งออก หวังให้พอบริโภคภายในประเทศแก้ปัญหาขาดแคลน ขณะที่ "บิ๊กซี" เผยที่ผ่านมาน้ำตาลทรายเริ่มตึงตัวไม่พอบริโภคแล้ว

          นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กระทรวงอุตสาห กรรมเปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากการปิดหีบฤดูอ้อย 2558/2559 เมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา พบว่ามีปริมาณอ้อยเข้าหีบในปริมาณ 94 ล้านตัน ต่ำกว่าฤดูหีบปี 2557/2558 ที่มีปริมาณอ้อยเข้าหีบที่ประมาณ 106 ล้านตัน เนื่องจากการปลูกอ้อยในหลายพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ทำให้อ้อยได้รับความเสียหายเข้าหีบไม่ได้ตามจำนวนที่คาดการณ์ไว้

          ทั้งนี้ จากปริมาณอ้อยที่เข้าหีบดังกล่าว ส่งผลให้การผลิตน้ำตาลทรายปรับตัวลดลงมาที่ระดับ 9.7 ล้านตัน จากปีก่อนผลิตได้ปริมาณ 11.2 ล้านตัน ส่งผลให้ปริมาณน้ำตาลหายไปจากระบบประมาณ 1.5 ล้านตันและส่งผลกระทบถึงการบริโภคน้ำตาลทรายภายในประเทศหรือโควตา ก. อาจจะเกิดการขาดแคลนหรืออยู่ในระดับตึงตัวได้ ซึ่งสอดคล้องกับการผลิตน้ำตาลทรายโลกที่ปรับตัวลดลง จากการผลิตที่ไม่สมดุลกับความต้องการ โดยมีประมาณการว่าในปีนี้ตลาดโลกจะขาดแคลนน้ำตาลอยู่ราว 5-8 ล้านตัน ซึ่งเป็นผลมาจากปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นกับจีน อินเดีย และไทย เป็นต้น

          ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำตาลทรายในประเทศ ทางคณะกรรมการน้ำตาลทราย ที่มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จึงได้มีการพิจารณาปรับปริมาณน้ำตาลทรายโควตา ก. ที่ใช้บริโภคภายในประเทศใหม่ ให้เพิ่มขึ้นเป็นที่ 2.55 ล้านตัน จากเดิมที่จัดสรรไว้เพียง 2.5 ล้านตัน และไปจัดสรรลดโควตาการส่งออกน้ำตาลทรายไปต่างประเทศลงมาแทน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการขาดแคลน แต่ก็ต้องยอมรับว่าปริมาณน้ำตาลทรายที่จัดสรรแล้วยังอยู่ในภาวะตึงตัว

          สำหรับการที่ต้องดึงน้ำตาลส่งออกมาใช้บริโภคภายในประเทศแทน เนื่องจากขณะนี้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกปรับตัวขึ้นสูงในระดับ 16 เซ็นต์ต่อปอนด์ เมื่อเกิดการขาดแคลนน้ำตาลในประเทศ จะทำให้ต้องนำเข้ามาในราคาที่แพงกว่าจำหน่ายในประเทศ และหาน้ำตาลที่ยากขึ้น ซึ่งถือเป็นหลักการที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้น หากสามารถกักตุนใช้ในประเทศให้ได้เพียงพอก่อนจะเป็นแนวทางที่ดีกว่า

          นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ไม่ต้องการให้ผู้บริโภคตื่นตระหนก และเกิดการกักตุนน้ำตาลทรายเกิดขึ้น เพราะหากผู้บริโภคแห่ไปซื้อรายละ 1-2 กิโลกรัม แล้ว ก็จะเกิดปัญหาน้ำตาลทรายขาดบนชั้นวางสินค้าได้ ซึ่งจะยิ่งสร้างความตระหนกให้ผู้บริโภคเพิ่มยิ่งขึ้นอีก

          "แม้ว่าราคาน้ำตาลในตลาดโลกค่อนข้างดี แต่หากส่งออกน้ำตาลทรายไปเหมือนกับหลายๆ ปีที่ 8-9 ล้านตัน จะทำให้น้ำตาลทรายในประเทศขาดแคลนแน่นอน เพราะปีนี้อ้อยเข้าหีบได้น้อย และตลาดโลกก็เกิดการขาดแคลนที่สำคัญมีการขยายตัวของโมเดิร์นเทรดค่อนข้างมาก ทำให้น้ำตาลทรายที่ได้รับการจัดสรรมีค่อนข้างจำกัด อาจจะไม่สามารถรองรับได้ อีกทั้ง ปัจจุบันต้นทุนการบรรจุน้ำตาลถุง 1 กิโลกรัม มีต้นทุนสูงทำให้ผู้ประกอบการไม่อยากจะดำเนินการ เพราะขอปรับราคาขึ้นไม่ได้ ดังนั้น จึงจะขอความร่วมมือประชาชนอย่าตื่นตระหนกในการกักตุนน้ำตาล หากเห็นว่าบางสถานที่มีน้ำตาลถุงวางเหลืออยู่น้อย แต่ทางภาครัฐยืนยันว่าน้ำตาลจะไม่ขาดแคลนแน่นอน เพียงแต่ตึงตัวเท่านั้น"

          ต่อกรณีนี้นายชลัช ชินธรรมมิตร์ กรรมการ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือ เคเอสแอล เปิดเผยว่า จากปัญหาภัยแล้งต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ปริมาณอ้อยเข้าหีบลดลง โดยปี 2558/2559 ปริมาณอ้อยเข้าหีบลดลง 10% จากปีก่อน อยู่ที่ 94 ล้านตันอ้อย และคาดว่าในปี 2559/2560 ปริมาณอ้อยเข้าหีบก็จะลดลงอีก 10% อยู่ที่ 85 ล้านตันอ้อย เนื่องจากผลผลิตอ้อยน้อยลง ประกอบกับสภาพอากาศที่ร้อนมากขึ้น ทำให้การบริโภคเครื่องดื่มปรับตัวสูงขึ้นมาก คาดว่าความต้องการใช้น้ำตาลทรายในประเทศปีนี้จะเพิ่มขึ้น 2-3% จากปีก่อน ย่อมส่งผลต่อการบริโภคน้ำตาลทรายที่เพิ่มขึ้น

          สำหรับปัญหาน้ำตาลทรายขาดแคลนนั้น ส่วนตัวเห็นว่าแม้ความต้องการบริโภคน้ำตาลทรายจะเพิ่มขึ้น เทียบกับปริมาณการผลิตที่ลดลง แต่จะไม่เกิดปัญหาขาดแคลนอย่างแน่นอน เนื่องจากมีคณะกรรมการน้ำตาลทรายจับตาสถานการณ์นี้อย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกันการบริโภคน้ำตาลในประเทศอยู่ที่ 2.5-2.6 ล้านตันต่อปี คิดเป็น 1 ใน 3 ของการผลิตทั้งหมดที่ 9 ล้านตันต่อปี ดังนั้นคงไม่เกิดภาวะขาดแคลนในประเทศ แต่จะส่งผลต่อราคาส่งออกน้ำตาลทรายที่ปรับสูงขึ้น

          "ปัญหาภัยแล้งส่งผลให้การปลูกอ้อยลดลง หากฝนยังทิ้งช่วง หรือตกในช่วงนี้ก็คงไม่ทันเพราะปลูกอ้อยไม่ทันแล้ว ส่วนจะเกิดปัญหาขาดแคลนหรือไม่นั้น ส่วนตัวมองว่าคงไม่เกิด เพราะการบริโภคในประเทศอยู่ที่เพียง 2.5-2.6 ล้านตัน ซึ่งคาดว่าปีนี้การบริโภคจะเพิ่มขึ้น 2-3%" นายชลัชกล่าว

          นางสาววารุณี กิจเจริญพูลสิน ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การจำหน่ายน้ำตาลทรายในห้างบิ๊กซีในช่วงที่ผ่านมา อยู่ในภาวะตึงตัวเล็กน้อย เนื่องจากอยู่ในช่วงวิกฤตภัยแล้ง แต่ก็ยังไม่พบปัญหาใดๆ ยังวางจำหน่ายน้ำตาลทรายในปริมาณปกติ โดยไม่ขาดแคลน และไม่ได้จำกัดจำนวนซื้อ รวมทั้งไม่มีลูกค้าเข้ามาซื้อในปริมาณมาก เพื่อเป็นการกักตุน ทั้งนี้บิ๊กซีตกลงสั่งโควตาน้ำตาลทรายจากซัพพลายเออร์รายใหญ่เป็นรายปี โดยซัพพลายเออร์จะมีหน้าที่จัดสรรน้ำตาลทรายมาให้เพียงพอกับการสั่งซื้อตลอดทั้งปี ซึ่งที่ผ่านมาก็ยังไม่เคยเกิดปัญหาขึ้น ทำให้เชื่อมั่นได้ว่า บิ๊กซีจะมีน้ำตาลทรายจำหน่ายให้กับลูกค้าอย่างแน่นอน

จาก http://www.thansettakij.com วันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

สอน.อ้อนธกส. ปล่อยกู้ชาวไร่ แก้อ้อยไฟไหม้

นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า สอน.เตรียมมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ เนื่องจากในฤดูการผลิตปี 2558/59 พบมีอ้อยไฟไหม้ถึง 64% จากปริมาณอ้อยทั้งหมด 94 ล้านตัน ซึ่งเป็นผลมาจากการขาดแคลนแรงงาน ส่งผลเสียกับภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรมอ้อยน้ำตาลทรายไทย กลายเป็นอุตสาหกรรมที่ทำลายสิ่งแวดล้อม

สำหรับมาตรการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้นั้นต้องเร่งจากการสร้างความรู้ความเข้าใจให้ทราบว่า การเผาอ้อยในที่อยู่ใกล้ชุมชน บ้านเรือน จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 และมีมาตรการตัดราคาอ้อยไฟไหม้ที่ส่งเข้าหีบเป็นเงิน 20 บาทต่อตันอ้อย โดยนำเงินส่วนนี้ไปเพิ่มให้กับเกษตรกรที่ตัดอ้อยสด

อย่างไรก็ตาม ในปี 2558 ที่ผ่านมา สอน.ได้ดำเนินโครงการสินเชื่อสำหรับการจัดซื้อรถตัดอ้อย โดยรัฐบาลได้สนับสนุนสินเชื่อเงินกู้ให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยในอัตราดอกเบี้ยต่ำ วงเงิน 1,500 ล้านบาท สามารถเพิ่มรถตัดอ้อยได้ประมาณ 100 คัน และขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานงานกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส) ในการปล่อยสินเชื่อเงินกู้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยอีก 5,000 ล้านบาท เพื่อนำไปซื้อเครื่องจักรอุปกรณ์และรถตัดอ้อย นำมาใช้ในกระบวนการผลิตและเก็บเกี่ยวอ้อย ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาการเผาไร่อ้อยได้ และในระยะยาวได้ส่งเสริมและสนับสนุนการปลูกอ้อยเกษตรสมัยใหม่ ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อลดต้นทุนและลดปริมาณอ้อยไฟไหม้ให้หมดไป.

จาก http://www.thaipost.net วันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ผลผลิตน้ำตาลต่ำสุดในรอบ5ปีพิษภัยแล้งปัจจัยฉุดยอดกังวลทวีความรุนแรงขึ้น

นายสิริวุทธิ์  เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์และสันทนาการ บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด หรือ TSMC เปิดเผยว่า ภาพรวมของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยในรอบฤดูกาลหีบปี 58/59 ได้รับกระทบที่รุนแรงจากปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลต่อปริมาณและคุณภาพผลผลิตอ้อย โดยผลผลิตอ้อยเข้าหีบลดลงเหลือเพียง 94.05 ล้านตันอ้อย ผลิตน้ำตาลทรายได้เพียง 97.87 ล้านกระสอบ (100 กก./กระสอบ) ซึ่งถือเป็นปริมาณอ้อยเข้าหีบที่ต่ำสุดในรอบ 5 ปี นับตั้งแต่ฤดูการผลิตปี 53/54 ที่มีปริมาณอ้อยเข้าหีบ 95.36 ล้านตันอ้อย

ทั้งนี้ หากเทียบกับปริมาณผลผลิตอ้อยเข้าหีบของปีนี้กับผลผลิตกับปีก่อน พบว่า ฤดูหีบอ้อยปี 58/59 มีปริมาณอ้อยเข้าหีบในปีนี้ลดลงกว่า 11.91 ล้านตันอ้อย เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีปริมาณอ้อยเข้าหีบ 105.96 ล้านตันอ้อย และปริมาณน้ำตาลทรายลดลง 15.58 ล้านกระสอบ ในปีก่อนที่ผลิตน้ำตาลทรายได้ 113.39 ล้านกระสอบ ขณะที่ค่าความหวานที่สะท้อนถึงคุณภาพผลผลิตอ้อยก็ลดต่ำลงเหลือเพียง 11.95ซีซีเอส จากปีก่อนที่มีค่าความหวานอยู่ที่ 12.23 ซีซีเอส ซึ่งทั้งปริมาณและคุณภาพอ้อยปีนี้ได้รับผลกระทบที่รุนแรงจากปัญหาภัยแล้ง

นายสิริวุทธ์กล่าวว่า จากผลกระทบดังกล่าว ทำให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยในปีนี้มีการส่งออกน้ำตาลทรายลดลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อซัพพลายน้ำตาลทรายในตลาดโลกขาดแคลนมากขึ้นขณะที่ประเทศผู้ส่งออกเบอร์ 1 ของโลก ได้แก่ ประเทศบราซิล ก็ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติเช่นกัน

ทั้งนี้ฤดูกาลเพาะปลูกอ้อยรอบการผลิตปีนี้ คาดว่าปัญหาภัยแล้งจะยังคงคุกคามอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอ้อยตอที่ชาวไร่อ้อยได้เริ่มลงมือเพาะปลูกอ้อยที่จำเป็นต้องมีแหล่งน้ำเพียงพอในการเพาะปลูก ซึ่งที่ผ่านมา โรงงานน้ำตาลทรายได้พยายามจัดหาแหล่งน้ำให้แก่ชาวไร่อ้อย แต่ปัจจุบันพบว่า แหล่งน้ำที่จัดเตรียมให้นั้นมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูกอ้อยแล้ว และยิ่งหากฝนทิ้งช่วง จะส่งผลกระทบต่ออ้อยที่ชาวไร่อ้อยที่เริ่มลงมือเพาะปลูกในช่วงนี้ เติบโตไม่ทันต่อฤดูกาลหีบอ้อยในปี 59/60 ที่จะเปิดหีบรับผลผลิตอ้อยในช่วงปลายปีนี้ซึ่งคาดว่าจะทำให้ปริมาณและคุณภาพอ้อยเข้าหีบลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยประเมินว่าปริมาณอ้อยเข้าหีบลดลงเหลือไม่ถึง 90 ล้านตันอ้อย

“เรามีความกังวลต่อสภาพปัญหาภัยแล้งทีทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกปี ซึ่งส่งผลกระทบต่อปริมาณและคุณภาพผลผลิตอ้อยโดยรวมของรอบปี 58/59 ตกต่ำที่สุดในรอบ 5 ปี แม้ที่ผ่านมาทางโรงงานน้ำตาลได้พยายามจัดหาแหล่งน้ำให้เพียงพอต่อการเพาะปลูกอ้อยแต่ด้วยสภาพอากาศที่แห้งแล้งยาวนานต่อเนื่อง จึงหวั่นเกรงว่า หากฝนทิ้งช่วงจะยิ่งทำให้ผลผลิตอ้อยเข้าหีบของฤดูการผลิตปี 59/60 จะมีปริมาณลดลงไปอีกได้”นายสิริวุทธิ์ กล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

เตือนปุ๋ยปลอมระบาด 

          ร้อยเอ็ด : นายเสน่ห์ รัตนาภรณ์ เกษตร จ.ร้อยเอ็ด เปิดเผยว่า สำนักงานเกษตรจ.ร้อยเอ็ด ได้รับแจ้งจากกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ดำเนินการปราบปรามผู้ผลิตและจำหน่ายปุ๋ยปลอมอย่างจริงจัง ตามนโยบายของ พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หลังพบว่า ในช่วงเวลา 3 เดือนต่อจากนี้ไป จะมีบุคคลบางกลุ่มผลิตปุ๋ยปลอมหรือปุ๋ยไม่เต็มสูตร ออกมาจำหน่ายให้เกษตรกร ทำให้ต้นทุนการผลิตสูง ผลผลิตต่ำลง หากเกษตรกร หรือ ผู้นำท้องที่ กำนันผู้ใหญ่บ้าน พบเบาะแสหรือมีสงสัยว่ามีผลิตภัณฑ์เป็นปุ๋ยปลอม รวมถึงสารกำจัดศัตรูพืชปลอม หรือร้านค้าจำหน่ายปุ๋ยปลอม สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชปลอม ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานเกษตรอำเภอ หรือสำนักงานเกษตร จ.ร้อยเอ็ด โดยเจ้าหน้าที่จะเข้าไปเก็บตัวอย่างปุ๋ย สารเคมี ไปตรวจสอบ หรือประสานงานนักวิชาการเกษตร สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 1-8 ที่ตั้งภายใน จ.ร้อยเอ็ด สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) โทร.1135 หรือสารวัตรเกษตร โทร.0-2940-4535

จาก http://www.siamrath.co.th   วันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ไทยโพสต์: ภัยแล้งยังวิกฤติหลายพื้นที่รัฐต้องเร่งบริหารจัดการน้ำ 

          สถานการณ์ภัยแล้งหลายพื้นที่ของประเทศไทย ยัง คงอยู่ในภาวะวิกฤติต่อเนื่อง และกำลังขยายวงปัญหาความรุนแรง จากการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร ไปสู่การขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภค แม้ช่วงที่ผ่านมาพายุฤดูร้อนพัดเข้ามาบริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จนทำให้เกิดฝนตกลงมาอย่างหนัก แต่ฝนที่ตกลงมาส่วนใหญ่ก็ตกอยู่ท้ายเขื่อน ทำให้ไม่มีน้ำไหลลงเขื่อน ปริมาณน้ำที่จะเก็บกักไว้ใช้ในเขื่อนจึงไม่มีปริมาณเพิ่มขึ้นมากนัก ซึ่งถือเป็นสถานการณ์ที่น่ากังวลและต้องเร่งหามาตรการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

          ตามข้อมูลจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ขณะนี้มีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) 30 จังหวัด 166 อำเภอ 789 ตำบล 6,324 หมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ 8.44 ของจำนวนหมู่บ้านทั่วประเทศ

          หากแยกเป็นจังหวัดที่มีปัญหาด้านน้ำอุปโภคบริโภค 12 จังหวัด ได้แก่ น่าน พิจิตรลำพูน สุรินทร์ ขอนแก่น ชัยนาท สระบุรี ชลบุรี ตรัง ตาก ประจวบคีรีขันธ์ และ พังงา จังหวัดที่มีปัญหาด้านน้ำเพื่อการเกษตร 9 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ พะเยา สุโขทัย นครพนม มหาสารคาม บุรีรัมย์ กาญจนบุรี สระแก้ว จันทบุรี และจังหวัดที่มีปัญหาด้านน้ำอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตร 9 จังหวัด ได้แก่ อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ นครราชสีมา เพชรบุรี ตราด สตูล กระบี่ นครศรีธรรมราช และหนองบัวลำภู

          แม้กรมอุตุนิยมวิทยาจะพยากรณ์สภาพอากาศในช่วงวันที่ 7-8 พฤษภาคม 2559 บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ มีลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมทั้งแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงเตรียมพร้อมรับมืออันตรายที่อาจเกิดขึ้น และพร้อมปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด ระมัดระวังอันตรายจากพายุลมแรง อยู่ให้ห่างจากต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณา และสิ่งก่อสร้างที่ไม่แข็งแรงในระยะนี้

          แต่ปริมาณฝนที่ตกลงมาและบริเวณที่ฝนตก ก็ไม่สามารถ คาดการณ์ได้ว่าจะตกลงมาในเขื่อน เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนมากน้อยแค่ไหน และเพียงพอต่อการนำน้ำมาอุปโภคบริโภค หรือนำมาเพาะปลูกได้หรือไม่ ยิ่งเห็นผลสำรวจปริมาณน้ำในเขื่อนสำคัญๆ ล่าสุดยิ่งน่ากังวลและน่าวิตก โดยเฉพาะเขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี มีปริมาณน้ำกักเก็บสามารถใช้การได้อยู่ที่ 1,650 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 22 ขณะที่เขื่อนวชิราลงกรณ์ มีปริมาณน้ำอยู่ที่ 890 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 15

          ขนาดนายวีระศักดิ์ ศรีกาวี ผู้อำนวยการเขื่อนศรี นครินทร์ ยังยอมรับภัยแล้งปีนี้รุนแรงที่สุดตั้งแต่ก่อสร้างเขื่อนมาเมื่อปี พ.ศ. 2523 หรือในรอบ 36 ปี ซึ่งแม้ปริมาณน้ำที่มีอยู่ทั้งหมดจะเพียงพอสำหรับส่งให้ประชาชนในพื้นที่เขตชลประทานลุ่มน้ำแม่กลอง รวมไปถึงลุ่มเจ้าพระยาบางส่วน ใช้สำหรับอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ และทำการเกษตรได้จนถึงช่วงฤดูฝนของปี 2559 แต่ประชาชนที่อาศัยอยู่นอกเขตชลประทานอาจต้องประสบกับสถานการณ์ภัยแล้งในบางจุด

          ต้องยอมรับว่าปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่หรือไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย ภัยแล้งเกิดขึ้นทุกๆ ปี และดูเหมือนทุกๆปีหน่วยงานภาครัฐ ไม่ว่าจะยุครัฐบาลมาจากนักการเมือง หรือรัฐบาลมาจากทหารอย่างในปัจจุบัน แนวทางการแก้ไขแก้ปัญหาภัยแล้งเบื้องต้น นอก จากการแจกจ่ายน้ำเพื่อการบริโภคและอุปโภคตามพื้นที่ที่ประ สบภัยแล้ง และเร่งกรมฝนหลวงส่งเครื่องบินขึ้นบินเพื่อทำ ฝนหลวงในช่วงที่เกิดความชื่นในอากาศเช่นนี้ รวมทั้งรณรงค์ให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด ตระหนักถึงการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า  เก็บกักน้ำและสำรองน้ำไว้ใช้ประโยชน์ยาม ขาดแคลน และหันมาปลูกพืชใช้น้ำน้อยเพื่อสู้กับวิกฤติการณ์ภัยแล้ง

          แต่ดูเหมือนแนวทางการแก้ปัญหาภัยแล้งอย่างจริง จังและต่อเนื่อง จะยังไม่มีอะไรให้เห็นเป็นรูปธรรม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกระตือรือร้นกันเพียงในช่วงแล้งช่วงวิกฤติที่เกิดขึ้น พอฝนเริ่มตกน้ำเริ่มมีปริมาณสูงขึ้นเพียงพอต่อการบริโภค อุปโภค และภาคการเกษตร การเดินหน้าแก้ปัญหาภัยแล้งก็ลืมเลือน ชาวนา ชาวสวน ชาวไร และประชาชนยิ่งแล้วใหญ่ ลืมการใช้น้ำอย่างประหยัด ลืมคุณค่าแห่งน้ำ ลืมการเก็บกักน้ำไว้ใช้ยามจำเป็น

          เห็นด้วยกับแนวทางการแก้ปัญหาภัยแล้งของพลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่สั่งกรมชลประทานให้ทำแผนบูรณาการแก้ปัญหาน้ำ ในการศึกษาการออกแบบโครงข่ายน้ำ เชื่อมโยงระหว่างยมกับน่าน ในส่วนน้ำที่จะเข้าสุโขทัย พยายามที่จะนำน้ำเข้าสู่คลองสาขาที่มีอยู่จำนวนมาก เพื่อการชะลอน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งจะสามารถเก็บหรือชะลอน้ำได้ไม่น้อยกว่า 5 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมทั้งประสานงานกับเกษตรกรให้เริ่มปลูกพืชฤดูฝนตามกำหนด เพื่อที่จะได้เก็บเกี่ยวให้เสร็จก่อนในช่วงเดือนสิงหาคม เพื่อที่จะนำพื้นที่การเกษตรดังกล่าวเป็นที่รับน้ำ ถือเป็นการเตรียมเมื่อถึงฤดูแล้งจะมีน้ำใช้ และยังแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก

          ที่สำคัญเมื่อรัฐบาลภายใต้การบริหารงานของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีอำนาจในการบริหารจัดการ โดยปราศจากปัญหาใดๆ หรือความกังวลใดจ่อคะแนนเสียงหรือฐานเสียง ก็ต้องเดินหน้าการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ และต้องให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุด ปัญหาภัยแล้ง ปัญหาน้ำท่วม จะได้ไม่ต้องสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนซ้ำๆ กันทุกปี.

จาก http://www.thaipost.net วันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

“สอน.” เผยชาวไร่เผาอ้อยหนักมากเหตุขาดแรงงาน หนุนซื้อรถตัด 

         “สอน.” เผยผลผลิตอ้อยฤดูกาลผลิตปี 58/59 มีอ้อยเข้าหีบ 94.05 ล้านตัน พบ 64% เป็นอ้อยไฟไหม้กระทบผลผลิตน้ำตาลทรายลดลง เร่งให้ความรู้เกษตรกรเหตุมีความผิดทางกฎหมาย เร่งเปิดสินเชื่อสำหรับซื้อรถตัดอ้อยเพิ่มขึ้นอีก 5,000 ล้านบาท

       นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า ฤดูกาลผลิตอ้อยปี 2558/59 พบว่ามีปริมาณอ้อยเข้าหีบที่ 94.05 ล้านตัน พบว่าเป็นอ้อยไฟไหม้ถึง 64% ซึ่งกระทบต่อประสิทธิภาพของปริมาณน้ำตาลที่จะได้ลดลงไปด้วย โดยปัจจัยหลักที่ทำให้เกษตรกรใช้วิธีการเผาไร่อ้อยก่อนเก็บเกี่ยวเนื่องจากปัญหาการขาดแคลนแรงงานในปัจจุบันที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้น สอน.จึงได้มีการเร่งให้ความรู้แก่เกษตรกรผู้เพาะปลูกด้วยเกษตรสมัยใหม่เพื่อจะสามารถใช้เครื่องจักรในการตัดอ้อยสด และมีระบบการบริหารจัดการที่ดีมากขึ้น       

        นอกจากนี้ สอน.ได้มีมาตรการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ ประกอบด้วย สร้างความรู้ความเข้าใจให้ทราบว่า แปลงที่อยู่ใกล้ชุมชน บ้านเรือน หากเผาไร่อ้อยจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และมีมาตรการตัดราคาอ้อยไฟไหม้ที่ส่งเข้าหีบเป็นเงิน 20 บาทต่อตันอ้อย โดยนำเงินส่วนนี้ไปเพิ่มให้กับเกษตรกรที่ตัดอ้อยสด       

        พร้อมกันนี้ ในปีที่ผ่านมา สอน.ได้ดำเนินโครงการสินเชื่อสำหรับการจัดซื้อรถตัดอ้อย โดยรัฐบาลได้สนับสนุนสินเชื่อเงินกู้ให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยในอัตราดอกเบี้ยต่ำ วงเงิน 1,500 ล้านบาท ซึ่งสามารถเพิ่มรถตัดอ้อยได้ประมาณ 100 คัน และขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานงานกับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส) ในการปล่อยสินเชื่อเงินกู้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยอีก 5,000 ล้านบาท เพื่อนำไปซื้อเครื่องจักรอุปกรณ์ และรถตัดอ้อย นำมาใช้ในกระบวนการผลิตและเก็บเกี่ยวอ้อย ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาการเผาไร่อ้อยได้ และในระยะยาวได้ส่งเสริมและสนับสนุนการปลูกอ้อยเกษตรสมัยใหม่ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อลดต้นทุน และลดปริมาณอ้อยไฟไหม้ให้หมดไป  

จาก http://manager.co.th   วันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

อุตฯน้ำตาลทราย-อ้อยทรุดหนักรอบ5ปี

อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย ทรุดหนักรอบ 5 ปี จากภัยแล้งรุนแรง ฉุดปริมาณและคุณภาพผลผลิตอ้อยเข้าหีบของฤดูการผลิตปี 58/59 ลดวูบ 

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์และสันทนาการ บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด หรือ TSMC เปิดเผยว่า ภาพรวมของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยในรอบฤดูการหีบปี 2558/2559 ได้รับกระทบจากปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลต่อปริมาณและคุณภาพผลผลิตอ้อย โดยผลผลิตอ้อยเข้าหีบลดลงเหลือเพียง 94.05 ล้านตันอ้อย ผลิตน้ำตาลทรายได้เพียง 97.87 ล้านกระสอบ ซึ่งถือเป็นปริมาณอ้อยเข้าหีบที่ต่ำสุดในรอบ 5 ปี นับตั้งแต่ฤดูการผลิตปี 2553/2554 ที่มีปริมาณอ้อยเข้าหีบ 95.36 ล้านตันอ้อย เช่นเดียวกับปริมาณผลผลิตอ้อยเข้าหีบของปีนี้ลดลงกว่า 11.91 ล้านตันอ้อย เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีปริมาณอ้อยเข้าหีบ 105.96 ล้านตันอ้อย ขณะที่ค่าความหวานที่สะท้อนถึงคุณภาพผลผลิตอ้อย ลดต่ำลงเหลือเพียง 11.95 ซี.ซี.เอส. จากปีก่อนที่มีค่าความหวานอยู่ที่ 12.23 ซี.ซี.เอส. ซึ่งทั้งปริมาณและคุณภาพอ้อยปีนี้ได้รับผลกระทบที่รุนแรงจากปัญหาภัยแล้ง ซึ่งจากผลกระทบดังกล่าว ทำให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยในปีนี้มีการส่งออกน้ำตาลทรายลดลง และจะส่งผลกระทบต่อซัพพลายน้ำตาลทรายในตลาดโลกขาดแคลนมากขึ้น ขณะที่ประเทศผู้ส่งออกเบอร์ 1 ของโลก ได้แก่ ประเทศบราซิล ก็ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติเช่นกัน

ขณะที่ฤดูการเพาะปลูกอ้อยรอบการผลิตปีนี้ คาดว่า ปัญหาภัยแล้งจะยังคงคุกคามอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอ้อยตอที่ชาวไร่อ้อยได้เริ่มลงมือเพาะปลูกอ้อยที่จำเป็นต้องมีแหล่งน้ำเพียงพอในการเพาะปลูก ซึ่งที่ผ่านมา โรงงานน้ำตาลทรายได้พยายามจัดหาแหล่งน้ำให้แก่ชาวไร่อ้อย แต่ปัจจุบันพบว่า แหล่งน้ำที่จัดเตรียมให้นั้น มีปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูกอ้อยแล้ว และยิ่งหากฝนทิ้งช่วง จะส่งผลกระทบต่ออ้อยที่ชาวไร่อ้อยที่เริ่มลงมือเพาะปลูกในช่วงนี้ เติบโตไม่ทันต่อฤดูการหีบอ้อยในปี 59/60 ที่จะเปิดหีบรับผลผลิตอ้อยในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งคาดว่า จะทำให้ปริมาณและคุณภาพอ้อยเข้าหีบลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยประเมินว่าปริมาณอ้อยเข้าหีบลดลงเหลือไม่ถึง 90 ล้านตันอ้อย

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

เกษตรบูรณาการ : ผลกระทบต่อประเทศไทย จากภาวะโลกร้อน

คำถาม จากสภาวะโลกร้อนขณะนี้ จะส่งผลต่อประเทศไทย อย่างไรบ้างครับ

กิติพันธุ์ โชติสุทธิ

อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช

คำตอบ ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นในประเทศไทย สามารถสังเกตเห็น และรู้สึกถึงผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นได้ในหลายด้าน เช่น ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการเกษตร ด้านเศรษฐกิจสังคม และสุขภาพ ในด้านสิ่งแวดล้อมจะรู้สึกได้ว่าอากาศร้อนขึ้นกว่าปีก่อน ฝนตกไม่มาก น้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำมีน้อยลง มีน้ำทะเลเซาะ และท่วมชายหาดหลายแห่ง และบริเวณภาคใต้จะมีฝนมากกว่าปกติ และมีพายุรุนแรงเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก็เกิดภาวะฝนแล้ง และฝนทิ้งช่วงยาวนานกว่าเดิม ซึ่งมีผลต่อการประกอบอาชีพเกษตรกรรมอย่างมาก เกิดปัญหาทางประชากรในเมืองเพิ่มขึ้น คนวัยแรงงานย้ายเข้าไปทำงานในเมืองมากขึ้น และทิ้งคนแก่และเด็กอยู่ในหมู่บ้าน และประชากรจากประเทศเพื่อนบ้าน ก็จะหนีภัยแล้งเข้ามาหางานทำในประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งจะเป็นตัวเร่งให้เกิดการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ถูกใช้มากขึ้น และหมดไปได้อย่างรวดเร็ว

ผลกระทบที่มีต่อภัยพิบัติจากธรรมชาติ เกิดบ่อยขึ้น และรุนแรงมากขึ้น เป็นเพราะสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงไป ฤดูหนาว

 สั้นลง ฤดูร้อนยาวนานขึ้น และเมื่ออุณหภูมิของโลกสูงขึ้น น้ำจากทะเลและจากแหล่งน้ำต่างๆ ก็เกิดการระเหยมากขึ้น ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมา ก็จะมีปริมาณน้ำสูงขึ้นจนทำให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ พืชผลปลูกได้ยากขึ้น จากการที่อากาศเปลี่ยนไป เพราะมีภัยพิบัติมาคอยทำลายพื้นที่เพาะปลูก ก็จะเกิดการขาดแคลนอาหารและน้ำสะอาดอีกด้วย

ผลกระทบต่อกรุงเทพมหานคร เมื่อระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น จะทำให้ได้รับผลกระทบ ทั้งทางด้านกายภาพและชีวภาพต่างๆ หลายประการ มีความเป็นไปได้ของภาวะการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ เกิดอุทกภัยที่ถี่ขึ้น และรุนแรงยิ่งขึ้นในพื้นที่ราบลุ่ม เมื่อระดับน้ำในมหาสมุทรที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในบริเวณชายฝั่งของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเมืองหลวงและศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ ทั้งยังมีความหนาแน่นของประชากรสูง และอยู่เหนือระดับน้ำทะเลเพียง 1 เมตรเท่านั้น ระดับการรุกของน้ำเค็มจะเข้ามาในพื้นที่แม่น้ำเจ้าพระยาถึง 40 กิโลเมตร ส่งผลกระทบรุนแรงต่อพื้นที่เกษตรกรรมน้ำจืด น้ำเค็มรุกเข้าพื้นที่เกษตร เกิดความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำล้นตลิ่ง และอุทกภัย ที่จะก่อความเสียหายกับระบบสาธารณูปโภค และที่อยู่อาศัยของคนจำนวนมาก

ผลกระทบต่อรูปแบบของฝนและอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงไป

 ทำให้วัฏจักรของน้ำเปลี่ยนแปลงไป ลักษณะการไหลของระบบน้ำผิวดิน และระดับน้ำใต้ดิน ก็จะได้รับผลกระทบด้วย ทั้งพืชและสัตว์ จึงต้องปรับปรุงตัวเองเข้าสู่ระบบนิเวศที่เปลี่ยนไป ลักษณะความหลากหลายทางชีวภาพก็จะเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย

ผลกระทบต่อพื้นที่ป่าไม้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก มีผลกระทบ

 ความสมบูรณ์ของป่าไม้ไทย ป่าแล้งเขตร้อน มีแนวโน้มว่าจะลุกเข้าไปในป่าชื้นใกล้เขตร้อน พื้นที่ป่าชื้นมีแนวโน้มลดลง และพื้นที่ป่าแล้ง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ผลกระทบต่อภัยธรรมชาติ เหตุการณ์พายุถล่มทางภาคใต้ของประเทศ ก่อให้เกิดความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง เกิดภาวะน้ำท่วม แล้วยังมีพายุฝนต่อเนื่อง รวมทั้ง

 แผ่นดินถล่ม เหตุการณ์เหล่านี้ เป็นเหตุการณ์ภัยธรรมชาติที่รุนแรงมากที่สุด

ผลกระทบต่อประชาชน ปัญหาน้ำท่วมขังในบางพื้นที่ ยังส่งผลต่อการแพร่กระจายของโรคระบาด ทั้งในมนุษย์ สัตว์ และพืช และมีการระบาดของแมลงศัตรูพืชที่สำคัญในการเกษตร

ผลกระทบต่อเกษตรไทย การปลูกพืชเศรษฐกิจของไทยที่มีปัญหาอยู่เสมอ เช่น ข้าวโพด และอ้อย พื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดมีจำกัด ผลผลิตต่อหน่วยพื้นที่ต่ำ เนื่องจากความแปรปรวนของน้ำฝนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ปัญหาปริมาณน้ำฝนที่ไม่สม่ำเสมอ ก็ยังมี

 ผลกระทบต่อการทำไร่อ้อยด้วย

ความแห้งแล้งนี้ เป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ปัญหาการขาดแคลนน้ำ และสภาวะแห้งแล้ง จะเกิดขึ้นในหน้าแล้งและหน้าร้อน มีสาเหตุมาจากฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน ทำให้แหล่งน้ำตามธรรมชาติแห้ง น้ำใต้ดินลดลง ไม่เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคของประชาชน ซึ่งปรากฏการณ์นี้ ก็เกิดเป็นผลต่อเนื่องมาจากสภาวะที่โลกร้อน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

พณ.จัดงานเกษตรอินทรีย์28-31ก.ค.นี้

กระทรวงพาณิชย์ เร่งรุกตลาดสินค้าอินทรีย์ หวัง ยกระดับชีวิตเกษตรกรไทย จัดงานเกษตรอินทรีย์ 28 - 31 ก.ค.นี้

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์มีแผนที่จะพัฒนายกระดับมาตรฐานและรูปแบบของสินค้าอินทรีย์ใหม่ ๆ เพื่อป้อนเข้าสู่ตลาดโลก รองรับความต้องการสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่มีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น โดยตั้งเป้าที่จะพัฒนาสินค้าอินทรีย์ไม่ต่ำกว่า 10 ชนิด เช่น ฝ้าย ชา ซึ่งได้ดำเนินการร่วมกับโครงการตามพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จนประสบความสำเร็จได้รับมาตรฐานอินทรีย์ในระดับส่งออก และกำลังขยายไปสู่สินค้ากาแฟ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ รวมถึงข้าวไรซ์เบอร์รี่ ซึ่งเป็นสินค้าตัวใหม่ที่จะทำการผลักดันให้มีมาตรฐานและส่งออกสู่ตลาดโลกต่อไป

โดยกระทรวงพาณิชย์ได้ประสานงานกับ 9 ประเทศอาเซียน เพื่อร่วมกันเป็นเจ้าภาพในการจัดงานแสดงสินค้าอินทรีย์ระดับนานาชาติในประเทศไทย และถือเป็นงานที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน โดยกำหนดจัดงาน Organic & Natural Expo 2016 ที่ประเทศไทย ระหว่างวันที่ 28 - 31 ก.ค. นี้ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งจัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 6 และในปีหน้ามีแผนที่จะยกระดับการจัดงานไปสู่ระดับภูมิภาค

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ครม. เห็นชอบนำเงินต้น"กองทุนการค้าตปท." 2.4 พันล้านบาท ทำแผนเชิงรุก

เห็นชอบนำเงินต้นกองทุนส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ส่งคืนคลังเป็นรายได้แผ่นดินตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) จำนวน 269,521,302.85 บาท และอนุมัติหลักการในการใช้เงินต้น จำนวน 2,467,450,783.32 บาท ภายหลังส่งคืนเงินเป็นรายได้แผ่นดิน เพื่อดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์กองทุนส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559 เป็นต้นไป โดยคณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเป็นผู้พิจารณาอนุมัติแผนงานและจัดสรรเงินตามระเบียบและหลักเกณฑ์เงินกองทุนฯ เพื่อดำเนินงานพัฒนาและส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559 เป็นต้นไป

อย่างไรก็ตามที่ประชุมครม.ได้มีข้อคิดเห็นว่าการนำเงินต้นของกองทุนฯ ไปใช้ในการใด กระทรวงพาณิชย์ต้องจัดทำแผนการใช้จ่าย ประกอบด้วยรายละเอียดแผนงานโครงการหรือกิจกรรม รวมทั้งงบประมาณรายจ่าย เสนอให้กระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณพิจารณาและต้องได้รับความเห็นชอบจากครม.พิจารณาเพื่อทราบก่อนดำเนินการต่อไป

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

หวั่นบาทแข็งกระทบส่งออก

 กกร.ห่วงเงินบาทแข็งค่า กดดันส่งออกทรุด จับตาใกล้ชิด แต่ยังมั่นใจรัฐคงเป้าหมายจีดีพี 3-3.5%

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ในฐานะประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) ประกอบด้วยส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทยว่า ในที่ประชุมกกร.กังวลเรื่องค่าเงินบาท ที่เคลื่อนไหวในทิศทางแข็งค่าเพิ่มขึ้น

หลังจากที่มีทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยระยะนี้มากขึ้น ซึ่งกกร.จะติดตามทิศทางการเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด ว่าควรทบทวนตัวเลขส่งออกหรือไม่อย่างไร จากปัจจุบันคาดการณ์ที่ 0-2 % เช่นเดิมส่วนจีดีพีนั้น ยังคาดการณ์ไว้ระดับเดิม 3-3.5% เช่นเดิม เนื่องจากมีสัญญาณหลายด้านฟื้นตัว เช่น การส่งออกที่เริ่มดีขึ้น ขณะที่แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจากภาครัฐ โดยเฉพาะงบลงทุนเริ่มเบิกจ่ายมาก ขึ้น โดยการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสมช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 59 อยู่ที่ 31.9% ของงบลงทุนทั้งหมด รวมทั้งการท่องเที่ยวยังขยายตัวค่อนข้างแข็งแกร่ง

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ค่าเงินบาทช่วงสิ้นปีที่แล้ว เฉลี่ย36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่ความเคลื่อนไหวช่วงมี.ค.-เม.ย. อยู่ที่ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย แต่ภาพรวมทั้งปี คาดว่าค่าเงินบาทของไทยน่า จะเฉลี่ยที่36.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ถือว่ายังเป็นอัตราที่ไม่ผิดปกติแต่อย่างใด หากเทียบกับภูมิภาค แต่ทั้งนี้ต้องติดตามใกล้ชิด“

จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

คนไทยติดหวานจัด เพิ่มน้ำตาลโควตาก.

นายบุญถิ่น โคตรศิริ ผู้อำนวยการสำนักบริหารอ้อยและน้ำตาลทราย สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า การระบายน้ำตาลทรายเพื่อการบริโภคในประเทศตั้งแต่เดือน ม.ค.59 เฉลี่ยที่ 500,000 กระสอบต่อสัปดาห์ เพิ่มขึ้น 10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่เฉลี่ย 460,000 กระสอบต่อสัปดาห์ โดยปริมาณการบริโภคที่เพิ่มขึ้นเกิดจากอากาศที่ร้อนจัด ส่งผลให้ประชาชนบริโภคน้ำตาลเพิ่มขึ้นผ่านการบริโภคน้ำอัดลม น้ำหวาน ชาเชียว เพื่อคลายร้อน ประกอบกับการท่องเที่ยวที่ขยายตัว ทำให้ สอน.ต้องหารือกับโรงงานน้ำตาลทรายในการจัดสรรปริมาณน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย หลังการปิดหีบอ้อยเมื่อเดือน เม.ย.59 โดยอาจต้องเพิ่มปริมาณน้ำตาลทรายบริโภคในประเทศ (โควตา ก.) จาก 25 ล้านกระสอบเป็น 25.5 ล้านกระสอบ โดยจะเสนอให้คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) พิจารณาในเร็วๆนี้

สำหรับราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกขณะนี้ ขยับขึ้นเฉลี่ยมาอยู่ที่ 16 เซนต์ต่อปอนด์ ถือเป็นสัญญาณที่ดีต่อราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2559/60 ที่อาจจะได้ราคา 850-900 บาทต่อตัน และราคาน้ำตลาดโลกน่าจะพ้นต่ำสุดมาแล้ว จากนี้ไปน่าจะเป็นวัฏจักรขาขึ้น.

จาก http://www.thairath.co.th   วันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ร้อนจัด!ดันบริโภคน้ำตาลพุ่งรัฐจ่อเพิ่มโควตาก.อีก5แสนกระสอบ 

         อากาศร้อนจัด! หนุน คนไทยบริโภคน้ำตาลกระฉูดเฉลี่ยระบายน้ำตาลออก 5 แสนกระสอบต่อสัปดาห์เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 10% สำนักบริหารอ้อยฯเตรียมหารือโรงงานจ่อปรับเพิ่มปริมาณน้ำตาลทรายโควตาก. เพิ่มอีก 5 แสนกระสอบเป็น 25.5 ล้านกระสอบในปีนี้เพื่อให้เพียงพอ ขณะที่แนวโน้มราคาอ้อยฤดูผลิตใหม่ส่อแววขยับเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 850-900 บาทต่อตันหลังน้ำตาลโลกเริ่มกระเตื้องต่อเนื่อง

        นายบุญถิ่น โคตรศิริ ผู้อำนวยการสำนักบริหารอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การระบายน้ำตาลทรายเพื่อการบริโภคในประเทศนับตั้งแต่ต้นปีเฉลี่ยอยู่ที่ 4.9- 5 แสนกระสอบต่อสัปดาห์ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่จะเฉลี่ยอยู่ที่ 4.6 แสนกระสอบต่อสัปดาห์หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 10% ด้วยปริมาณการบริโภคที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากภาวะอากาศที่ร้อนจัด ดังนั้นเร็วๆ นี้คงจะมีการหารือกับโรงงานน้ำตาลทรายในการจัดสรรปริมาณน้ำตาลทรายขั้นสุดท้ายหลังการปิดหีบที่อาจจะต้องเพิ่มปริมาณน้ำตาลทรายบริโภคในประเทศ(โควตาก.)จากเดิม 25 ล้านกระสอบเป็น 25.5 ล้านกระสอบ

                " ก่อนหน้านั้นเราประเมินแล้วว่าการบริโภคน่าจะเพิ่มขึ้นจึงมีการปรับเพิ่มน้ำตาลโควตาก.จาก 24.5 ล้านกระสอบเป็น 25 ล้านกระสอบและจากภาวะอากาศที่ร้อนจัด ประกอบกับการท่องเที่ยวที่ขยายตัวสูงทำให้การบริโภคน้ำตาลทรายทั้งทางตรงและอ้อมเพิ่มขึ้นมากทะลุเกินเป้าหมายที่คาดไว้จึงคิดว่าจำเป็นจะต้องเพิ่มโควตาก.อีก 5 แสนกระสอบซึ่งคงจะต้องหารือเร็วๆ นี้เพื่อเสนอคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.)เคาะพิจารณาในขั้นตอนสุดท้าย"นายบุญถิ่นกล่าว

                สำหรับแนวโน้มราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกเริ่มขยับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยมาอยู่ที่ระดับ 16 เซนต์ต่อปอนด์ขณะนี้ถือเป็นสัญญาณที่ดีต่อราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 59/60 ที่น่าจะได้ระดับ 850-900 บาทต่อตันโดยหลายฝ่ายมองว่าราคาน้ำตาลตลาดโลกที่ลดต่ำช่วง 1-2 ปีต่อเนื่องถือเป็นจุดต่ำสุดแล้วและจากนี้ไปน่าจะเป็นวัฎจักรขาขึ้น โดยขณะนี้บริษัทอ้อยและน้ำตาลทรายไทย(อนท.)ก็กำลังหาช่วงจังหวะในการทำเสนอขายน้ำตาลทรายส่งออกในฤดูการผลิตใหม่อยู่

                นายธีระชัย แสนแก้ว ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน กล่าวว่า ขณะนี้มีปริมาณฝนตกลงมาบ้างแล้วในบางพื้นที่ของประเทศซึ่งก็บรรเทาภาวะภัยแล้งได้บ้างแต่ก็ยังไม่มากนักคงจะต้องรอให้ปริมาณฝนตกต่อเนื่องมากกว่านี้เพราะจากภาวะภัยแล้งปีนี้ที่ค่อนข้างยาวนานส่งผลให้อ้อยตอบางส่วนแห้งตายไปบ้างหากได้น้ำเร็วก็จะทำให้โอกาสฟื้นมีมากขึ้น อย่างไรก็ตามหากฝนมาช่วงพ.ค.นี้คาดว่าผลผลิตอ้อยแนวโน้มคงจะลดต่ำกว่าฤดูหีบ ปี 2558/59 ที่อ้อยเข้าหีบอยู่ที่ระดับ 94.05 ล้านตันที่ความหวาน 11.95 ซีซีเอส ลดลงจากฤดูการผลิตปีที่ผ่านมา 11.93 ล้านตันจากการผลิตระดับ 106 ล้านตัน เนื่องจากอ้อยเจอภาวะภัยแล้งช่วงปลายฤดู

                " การช่วยเหลือราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 58/59 อีกตันละ 160 บาทจากราคาประกาศที่ เฉลี่ย 808 บาทต่อตันทางกระทรวงอุตสาหกรรมแจ้งว่าภายใน 1-2สัปดาห์นี้คงจะเข้าสู่คณะรัฐมนตรีได้ซึ่งก็จะทำให้ชาวไร่ได้มีกระแสเงินสดเพิ่มขึ้นมาใช้ในการบำรุงรักษาอ้อยต่อไป ส่วนราคาอ้อยขั้นต้นปี 59/60 เชื่อว่าจะดีขึ้นกว่าปีนี้เฉลี่ยน่าจะอยู่ระดับ 850-900 บาทต่อตันจากราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกที่เริ่มสูงขึ้น"นายธีระชัยกล่าว

 จาก http://manager.co.th  วันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

กลุ่มอุตS-Curveแห่ลงทุน2.45แสนล้าน l กรมโรงงานลงพื้นที่ช่วยผู้ประกอบการ

กรมโรงงานฯเผยยอดขยายโรงงาน 4 กลุ่มอุตสาหกรรมS-Curve มูลค่าการลงทุนรวมกว่า 2.45 แสนล้านบาท พร้อมชูนโยบายส่งเสริมการจดขยายโรงงานแห่งอนาคต เพื่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย

นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม และรองโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในปี 2558 กระทรวงอุตสาหกรรมได้เสนอ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต หรือ S-Curve ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ 2 รูปแบบ คือ 1.การต่อยอด 5 อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร

2.การพัฒนา 5 อุตสาหกรรมอนาคต ได้แก่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมการบินโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิตอล และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร ซึ่งการพัฒนาดังกล่าวกรมโรงงานอุตสาหกรรม

 มีบทบาทในการช่วยส่งเสริมการจัดตั้งโรงงานตลอดจนการอำนวยความสะดวกรวมถึงให้คำปรึกษาในการจัดตั้งและขยายโรงงานให้เป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ

ล่าสุดจากสถิติการจดประกอบกิจการและการขยายโรงงานเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2557-26 เมษายน 2559 พบว่า 4 ประเภทอุตสาหกรรมดังกล่าวเติบโตอย่างต่อเนื่องรวมมูลค่าลงทุนกว่า 245,383.34 ล้านบาทได้แก่

1.อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร มีจำนวนโรงงานที่จดประกอบและขยาย จำนวน 985 โรงงาน มีการใช้แรงงานจำนวนมากมีมูลค่าการลงทุนปี 2557-2559 กว่า 117,019.46 ล้านบาท และมีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาสูงโดยกลุ่มจังหวัดที่มีขยายตัว อาทิ จังหวัดสมุทรสาคร ปทุมธานี และกรุงเทพฯ

2.อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ มีจำนวนโรงงานที่จดประกอบและขยาย จำนวน 307 โรงงาน ถือเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศไทยกว่า 40 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันมีมูลค่าถึง 5.8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ โดยกลุ่มจังหวัดที่มีขยายตัว อาทิ สมุทรปราการ พระนครศรีอยุธยา สมุทรสาคร

3.อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ มีจำนวนโรงงานที่จดประกอบและขยาย จำนวน 275 โรงงาน โดยกลุ่มจังหวัดที่มีขยายตัว อาทิ จังหวัดชลบุรี สมุทรสาคร สมุทรปราการ

4.อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ มีจำนวนโรงงานที่จดประกอบและขยาย จำนวน 52 โรงงาน โดยจังหวัดที่มีการเติบโต อาทิ อ่างทอง นครสวรรค์ บุรีรัมย์ อุบลราชธานี นครศรีธรรมราช เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และแขนกล ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมในกลุ่ม News S-Curve ปัจจุบันมีการจดประกอบโรงงาน 11 โรงงาน มีมูลค่าการลงทุน 302.33 ล้านบาท

จากข้อมูลประชากรศาสตร์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวนรวม 20 จังหวัด มีกลุ่มผู้ใช้แรงงานจำนวนมากที่สุด มีจำนวนแรงงาน 321,855 ราย โดย ปี 2557-2559 มีโรงงานจำพวกที่ 2 และ 3 จดประกอบกิจการ 1,698 โรงงาน จังหวัดที่มีการจดประกอบกิจการเพิ่มขึ้น 5 อันดับแรก ได้แก่ นครราชสีมา อุบลราชธานี ขอนแก่น อุดรธานี กาฬสินธุ์ ตามลำดับ และมีกลุ่มประเภทโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตสูงในพื้นที่ดังกล่าว ได้แก่ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และแปรรูปอาหาร

นายพสุกล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายให้การพิจารณาอนุญาตโรงงานทุกประเภทรวมถึงโรงงานกลุ่ม S-Curve มีความสะดวกโดยปรับปรุงขั้นตอนการอนุญาตเพื่อลดระยะเวลาในการออกใบอนุญาต จากเดิม 90 วัน เป็น 30 วัน พร้อมทั้งจัดตั้งศูนย์อำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ และเพื่อให้เกิดการกระตุ้นและส่งเสริมการจัดตั้งโรงงาน กรมโรงงานฯ จะส่งเจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัดลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงงานเพื่อรับฟังและให้คำปรึกษาแนะนำการแก้ไขปัญหาเพื่อสนับสนุนการลงทุนให้แก่ผู้ประกอบการ

จาก http://www.naewna.com วันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

กำหนดหลักเกณฑ์เปิดคลังสินค้า-ไซโล มุ่งปรับลดขั้นตอนการขออนุญาต

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2559 ที่ผ่านมาสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ได้ประกาศผลการจัดสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศคู่ค้า ตามกฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ ประจำปี 2559 โดยสหรัฐฯ ยังคงจัดไทยเป็นประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ (Priority Watch List-PWL) ต่อไป ทั้งนี้ไทยอยู่ในบัญชี PWL ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา

โดยรายงานของ USTR ระบุว่า สหรัฐฯเห็นถึงความตั้งใจของไทยในการพัฒนาระบบคุ้มครองและป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งนายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้อย่างเห็นได้ชัด จากการที่ได้กล่าวในรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” สนับสนุนให้คนไทยเคารพสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา และตระหนักว่าทรัพย์สินทางปัญญาเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ และมีการดำเนินการหลายด้าน เช่น การแก้ไข พ.ร.บ.ศุลกากร ในเรื่องการตรวจกักสินค้าผ่านแดนและถ่ายลำ และการแก้ไข พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ในเรื่องการแก้ไขปัญหาการละเมิดบนอินเตอร์เนต และการแอบถ่ายในโรงภาพยนตร์

อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯยังคงเห็นว่าไทยควรให้ความสำคัญกับการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาให้มากขึ้นเนื่องจากยังคงพบปัญหาการละเมิดในรูปแบบต่างๆ เช่น การละเมิดลิขสิทธิ์บนอินเตอร์เนต การขายสินค้าปลอม การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์การขโมยสัญญาณเคเบิลและดาวเทียม และยังคงมีปัญหางานค้าง(backlog)การจดทะเบียนสิทธิบัตร เป็นต้น

นอกจากนี้สหรัฐฯได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการกำหนดโควตาภาพยนตร์ต่างประเทศ การเสนอร่างกฎหมายความปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งสหรัฐฯให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่เข้าถึงข้อมูลการติดต่อสื่อสารของภาคเอกชน และมีข้อเสนอแนะในเรื่องการให้ความคุ้มครองข้อมูลการทดสอบยาและเคมีภัณฑ์เกษตร และการกำหนดมาตรการด้านสาธารณสุข ซึ่งสหรัฐฯเน้นย้ำว่าควรมีกระบวนการที่โปร่งใสและเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเจ้าของสิทธิได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นด้วย

นางอภิรดี กล่าวว่า สหรัฐฯยังได้เสนอให้ไทยพิจารณาปรับปรุงกฎหมายในประเด็นที่มีข้อกังวล อาทิ การเอาผิดเจ้าของพื้นที่ที่ปล่อยให้มีการขายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา การให้ความคุ้มครองมาตรการทางเทคโนโลยีและข้อมูลการบริหารสิทธิอย่างเพียงพอ และการกำหนดกระบวนการให้ผู้ให้บริการทางอินเตอร์เนต (ISP) จะเอาเนื้อหาที่มีการละเมิดออกจาก เว็บไซต์ (notice-and-takedown) ที่ชัดเจน และเสนอให้ไทยพิจารณาจัดทำแผนปฏิบัติการ (Action plan) ร่วมกับสหรัฐฯ เพื่อพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาของไทยให้มีความก้าวหน้ายิ่งขึ้น ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการผลักดันให้สหรัฐฯถอดไทยออกจาก บัญชี PWL โดย USTR จะจัดทำร่าง Action plan ส่งให้ฝ่ายไทยพิจารณาต่อไป

จาก http://www.naewna.com วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

พด.ส่งหมอดินอาสา8หมื่นคน ปูพรมกู้วิกฤติแล้งทั่วประเทศ 

นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้น ส่งผลให้พื้นที่การเกษตรของเกษตรกรในหลายพื้นที่ยังคงน่าเป็นห่วง กรมพัฒนาที่ดินจึงได้เร่งส่งหมอดินอาสาที่มีองค์ความรู้ถูกต้องตามหลักวิชาการ ลงพื้นที่ช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนทั่วประเทศ

ทั้งนี้ หมอดินอาสาของกรมพัฒนาที่ดิน จำนวน 8 หมื่นกว่ารายทั่วประเทศ ทั้งที่เป็นหมอดินอาสาประจำหมู่บ้าน หมอดินอาสาประจำตำบล หมอดินอาสาประจำอำเภอ และหมอดินอาสาประจำจังหวัด ซึ่งหมอดินอาสาเหล่านี้ ล้วนมีความเชี่ยวชาญและองค์ความรู้ที่หลากหลาย สอดคล้อง กับสภาพปัญหาของแต่ละพื้นที่ อาทิ หมอดินอาสาภาคเหนือ จะมีองค์ความรู้และเชี่ยวชาญ การอนุรักษ์ดินและน้ำ ที่สามารถป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน เนื่องจากเป็นพื้นที่ลาดชันสูง หมอดินอาสาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะมีความรู้และเชี่ยวชาญการปรับปรุงบำรุงดิน ที่มีปัญหาดินที่ค่อนข้างเป็นดินทราย ดินขาดอินทรียวัตถุ หมอดินอาสาภาคใต้ จะมีองค์ความรู้และเชี่ยวชาญการปรับปรุงบำรุงดิน ที่มีปัญหาเกิดจากการสะสมเศษซากอินทรีย์ หรือดินพรุ หมอดินอาสาภาคกลางจะมีความรู้และเชี่ยวชาญการปรับปรุงบำรุงดินที่มีปัญหาดินเปรี้ยวจัด เป็นต้น นอกเหนือจากต้องการให้เกษตรกรมีความรู้เรื่องดินแล้ว องค์ความรู้ของหมอดินอาสาของกรมพัฒนาที่ดินที่นำไปส่งเสริมให้กับเกษตรกรนั้น ต้องมีความรู้เรื่องการจัดการดินให้เหมาะสมกับพืชที่ปลูกแต่ละชนิดด้วย ซึ่งจะช่วยในเรื่องของการลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต นำไปสู่การเพิ่มโอกาสการแข่งขันให้กับเกษตรกรเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถผ่านพ้นวิกฤติภัยแล้งนี้ ตลอดจนเป็นภูมิคุ้มกันเพื่อเพิ่มความมั่นคงในอาชีพเกษตรกรรมต่อไป

จาก http://www.naewna.com วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

เขตเศรษฐกิจพิเศษ เออีซี..ลุยให้สุด

 “เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ” จิ๊กซอว์ ชิ้นสำคัญที่จะสร้างการกระจายรายได้ ดึงเม็ดเงินเข้าประเทศ...ผลักดันให้ประเทศก้าวผ่าน “กับดักประเทศรายได้ปานกลาง” ไปสู่ประเทศพัฒนาแล้วที่มีรายได้สูง

ดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ บอกว่า ที่ผ่านมาเราพยายามประชาสัมพันธ์เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อประกาศความพร้อมของประเทศไทย ในการเป็นศูนย์กลางการลงทุนในภูมิภาคและเชื่อมโยงสู่ทั่วโลก สร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน

“หลังจากงานโอเพ่นเฮาส์เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กระทรวงฯ ได้นำคณะนักลงทุนกว่า 70 ราย ลงพื้นที่เยี่ยมชมเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสระแก้ว”

พร้อมกันนี้ยังทำสื่อประชาสัมพันธ์...วีดิทัศน์แนะนำเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ทั้ง 10 เขต แผ่นพับ หนังสือคู่มือนักลงทุน โดยทำทั้งหมด 4 ภาษา...ไทย อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น เพื่อมอบให้สถานทูต...หน่วยงานของไทยในต่างประเทศ รวมถึงนำไปใช้ประชาสัมพันธ์ในกิจกรรมโรดโชว์ต่างประเทศ เพื่อแนะนำนักลงทุน

74 ปี...กรมการค้าต่างประเทศ ภายใต้กระทรวงพาณิชย์ ดวงพร ย้ำว่า กรมการค้าต่างประเทศต้องเป็นที่พึ่งให้ผู้ประกอบการ เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สร้างธุรกิจการค้าของประเทศไทยให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เคียงคู่ผู้ประกอบการไทย

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงจากกระแสโลกาภิวัตน์ โดยเฉพาะด้านการค้าในปัจจุบัน เป็นปัจจัยให้เกิดการลงทุน...การผลิตของโลกไปในทิศทางใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี เงินทุน สินค้า บริการ สามารถเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนกันอย่างอิสระ กรมการค้าต่างประเทศยิ่งต้องจับตากระแสการค้าโลกอย่างใกล้ชิด

“ยืนหยัดที่จะเป็นลมใต้ปีก นำพาผู้ประกอบการไทยก้าวเข้าสู่เวทีโลกอย่างมั่นใจ”

กรมการค้าต่างประเทศเปรียบเสมือนบันไดก้าวแรกที่คอยพาผู้ประกอบการไทยสู่การค้าสากลด้วยการบริการที่มีความหลากหลาย นับตั้งแต่...การบริการขั้นพื้นฐาน เช่น การออกบัตรประจำตัวผู้ส่งออก การออกหนังสือสำคัญการนำเข้า...ส่งออกประเภทต่างๆ

เมื่อ “ผู้ประกอบการ” สามารถส่งออกได้แล้ว กรมการค้าต่างประเทศจะมีแนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพการส่งออกในรูปแบบต่างๆ เช่น การใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้า การจับคู่ธุรกิจการค้า การลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้าน การให้คำปรึกษาด้านมาตรการการค้าต่างประเทศ

และยังต้องจัดระเบียบ บริหารการนำเข้า...ส่งออกสินค้า

นอกจากนี้แล้วยังมีบทบาทในการดำเนินมาตรการป้องกัน...ตอบโต้ทางการค้า เพื่อการปกป้องดูแลรักษาผลประโยชน์ ส่งเสริมการค้าที่เป็นธรรม ในการป้องกันพฤติกรรมการทุ่มตลาดที่เข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น รวมถึงการแก้ไขปัญหา อุปสรรค ข้อกีดกันทางการค้า ที่นับวันนานาประเทศต่างพร้อมที่จะตั้งกฎเกณฑ์ใหม่ๆ ที่ท้าทาย...เข้มงวดมากขึ้น

ดวงพร บอกว่า เราเป็นหน่วยงานที่มีกฎหมายในการกำกับดูแล อำนวยความสะดวกทางการค้า มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ให้บริการครอบคลุมทุกมิติความต้องการของผู้ประกอบการด้านการค้าระหว่างประเทศ ถือเป็นที่พึ่งของผู้ประกอบการไทยอย่างแท้จริง

กรณีตัวอย่างที่น่าสนใจ...การยื่นขอให้สหรัฐฯได้ทบทวนโครงการ GSP ประจำปี 2557 ทำให้สินค้าที่ได้รับการผ่อนผันดังกล่าว จะได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ มีมูลค่ากว่า 70 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็น...“สินค้าเกษตร” 9 รายการ อาทิ กล้วยไม้สด ทุเรียนสด มะละกอแห้ง มะขามตากแห้ง

สำหรับกรณียกเว้นเพดานการนำเข้าสหรัฐฯ (CNL Waivers) สัดส่วนการนำเข้าเกินร้อยละ 50 มี 2 รายการ ได้แก่ มะพร้าวปรุงแต่ง ลวดทองแดง มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558

ขีดวงกระแสการค้าเมื่อเปิดประตูเออีซีก็เร่งส่งเสริม “การค้าชายแดน” รองรับอย่างแข็งขัน ข้อมูลการค้าชายแดนปี 2558 มีมูลค่าทั้งสิ้น 1,001,241 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.38 เมื่อเทียบกับปี 2557

โดยการค้ากับมาเลเซียคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 49...เมียนมา มีสัดส่วนร้อยละ 21... สปป.ลาว มีสัดส่วนร้อยละ 18 และกัมพูชา มีสัดส่วนร้อยละ 12

สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ยางพารา คิดเป็นร้อยละ 13.7 รถยนต์...อุปกรณ์และส่วนประกอบ คิดเป็นร้อยละ 5.5 เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ คิดเป็นร้อยละ 5.2

ในปีนี้...การค้าชายแดน 3 เดือนแรก ช่วงมกราคมถึงมีนาคม มีมูลค่ารวม 254,173 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.95 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 โดยเป็นการส่งออก 151,029 ล้านบาท...เพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.42 นำเข้า 103,144 ล้านบาท...ลดลงร้อยละ 0.13 น่าสนใจว่าไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า 47,884 ล้านบาท

ที่สำคัญ...เราจะหยุดนิ่งไม่ได้ ยังคงต้องมุ่งมั่นผลักดันการค้าการลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้าน ต่อยอดเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตามนโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะตลาดในกลุ่มประเทศ CLMV ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม ซึ่งเป็นตลาดที่มีอนาคตแนวโน้มการเติบโตสูง และยังมีความต้องการสินค้า การลงทุนจากเรา

ดวงพร บอกอีกว่า ที่ต้องพูดถึงคือการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการ ไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ภายใต้โครงการ Young Entrepreneur Network Development Program (Yen-D Program) สร้างเครือข่ายผู้ประกอบการรุ่นใหม่ของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน... หนึ่งในแผนงาน กลยุทธ์เจาะตลาดอาเซียนเชิงลึก

จัดฝึกอบรมไปแล้ว 4 รุ่น...รวม 240 คน ผลตอบรับ...ประสบความสำเร็จมาก หลังจบการอบรมไปแล้วนักธุรกิจรุ่นใหม่ของไทยและประเทศเพื่อนบ้านมีการร่วมลงทุน...จับคู่ทางธุรกิจระหว่างกัน มูลค่ารวมกว่า 1,000 ล้านบาท

ปีนี้จะต่อยอดเป็นซีซั่นที่ 2 เปิดฝึกอบรมในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม 2559 โดยมีผู้ประกอบการ ข้าราชการรุ่นใหม่จากไทยและประเทศเพื่อนบ้านเข้าร่วมโครงการฯ รวม 320 คน ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและเกิดการขยายผลทางการค้า การลงทุนอย่างยั่งยืน

อีกประเด็นที่ต้องกล่าวถึงกรณีปัญหาน้ำซึมบ่อทราย...รั่วไปไม่รู้เท่าไหร่กับ “มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด”...มาตรการทางการค้าที่ประเทศผู้นำเข้าใช้เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศที่ได้รับความเสียหาย หรือมีแนวโน้มที่จะได้รับความเสียหายจากการทุ่มตลาด อันเกิดจากการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศที่ไม่เป็นธรรม

ดวงพร บอกว่า กรมฯเตรียมยกร่างการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. 2542 เพื่อแก้ปัญหาการหลบเลี่ยง เนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากภาคเอกชนเข้ามามากว่า...มีการส่งออกสินค้ามายังประเทศไทยในลักษณะที่เป็นการหลบเลี่ยงมาตรการการตอบโต้การทุ่มตลาด

“เรื่องนี้นิ่งนอนใจไม่ได้ ทำให้ต้องมีการจัดทำร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. ในส่วนที่เกี่ยวกับมาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุน เพื่อเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อภาคเอกชน เพื่อให้การใช้มาตรการมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น”

เวทีการค้าโลกสุดแสนสลับซับซ้อน ต้องรู้เท่าทัน โอกาสมีอยู่แต่จะคว้าเอาไว้ได้หรือไม่นั้น เป็นบทพิสูจน์ศักยภาพ...กึ๋นข้าราชการไทย ควบคู่ไปกับตัวบทกฎหมายที่ต้องปรับปรุงให้เท่าทันสถานการณ์.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

พด.ส่งหมอดินอาสา8หมื่นคน ปูพรมกู้วิกฤติแล้งทั่วประเทศ

นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้น ส่งผลให้พื้นที่การเกษตรของเกษตรกรในหลายพื้นที่ยังคงน่าเป็นห่วง กรมพัฒนาที่ดินจึงได้เร่งส่งหมอดินอาสาที่มีองค์ความรู้ถูกต้องตามหลักวิชาการ ลงพื้นที่ช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนทั่วประเทศ

ทั้งนี้ หมอดินอาสาของกรมพัฒนาที่ดิน จำนวน 8 หมื่นกว่ารายทั่วประเทศ ทั้งที่เป็นหมอดินอาสาประจำหมู่บ้าน หมอดินอาสาประจำตำบล หมอดินอาสาประจำอำเภอ และหมอดินอาสาประจำจังหวัด ซึ่งหมอดินอาสาเหล่านี้ ล้วนมีความเชี่ยวชาญและองค์ความรู้ที่หลากหลาย สอดคล้อง กับสภาพปัญหาของแต่ละพื้นที่ อาทิ หมอดินอาสาภาคเหนือ จะมีองค์ความรู้และเชี่ยวชาญ การอนุรักษ์ดินและน้ำ ที่สามารถป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน เนื่องจากเป็นพื้นที่ลาดชันสูง หมอดินอาสาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะมีความรู้และเชี่ยวชาญการปรับปรุงบำรุงดิน ที่มีปัญหาดินที่ค่อนข้างเป็นดินทราย ดินขาดอินทรียวัตถุ หมอดินอาสาภาคใต้ จะมีองค์ความรู้และเชี่ยวชาญการปรับปรุงบำรุงดิน ที่มีปัญหาเกิดจากการสะสมเศษซากอินทรีย์ หรือดินพรุ หมอดินอาสาภาคกลางจะมีความรู้และเชี่ยวชาญการปรับปรุงบำรุงดินที่มีปัญหาดินเปรี้ยวจัด เป็นต้น นอกเหนือจากต้องการให้เกษตรกรมีความรู้เรื่องดินแล้ว องค์ความรู้ของหมอดินอาสาของกรมพัฒนาที่ดินที่นำไปส่งเสริมให้กับเกษตรกรนั้น ต้องมีความรู้เรื่องการจัดการดินให้เหมาะสมกับพืชที่ปลูกแต่ละชนิดด้วย ซึ่งจะช่วยในเรื่องของการลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต นำไปสู่การเพิ่มโอกาสการแข่งขันให้กับเกษตรกรเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถผ่านพ้นวิกฤติภัยแล้งนี้ ตลอดจนเป็นภูมิคุ้มกันเพื่อเพิ่มความมั่นคงในอาชีพเกษตรกรรมต่อไป

จาก http://www.naewna.com วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

สถาบันเพิ่มผลผลิตจ่อศึกษาความต้องการสินค้าโลก

สถาบันเพิ่มผลผลิตฯ เล็งศึกษาความต้องการสินค้าโลก เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน

นายสันติ กนกธนาพร ผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ เปิดเผยว่า สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติเตรียมปรับแนวทางการทำงานให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของรัฐบาล เพื่อวางแผนทิศทางของประเทศไทยระยะยาวมากขึ้น และศึกษาลงลึกถึงแนวโน้มสินค้าที่สำคัญต่างๆ ว่า  อนาคตจะเปลี่ยนเปลงไปในทิศทางใด เนื่องจากขณะนี้แนวโน้มความต้องการสินค้าของโลกเปลี่ยนแปลงไปต่อเนื่อง แต่ยุทธสาสตร์ของไทย ส่วนใหญ่เป็นแผนระยะสั้น หากไม่ปรับตัว จะไม่สามารถอยู่รอดได้ และตกกระแสโลกไปในที่สุด เพราะติดกับดักความสำเร็จ เดิมทำให้ไม่ยอมปรับเปลี่ยนให้สอดรับกับกระแสโลกใหม่

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้หน่วยงานภาครัฐแต่ละแห่ง มีแผนยุทธศาสต์ระยะสั้น - กลางประมาณ 3-5 ปี อยู่แล้ว แต่แผนระยะยาวอีก 20 ปีข้างหน้า ยังไม่มีหน่วนงานใดคาดการณ์อนาคตอย่างจริงจัง ซึ่งการวางแผนระยะยาวเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เนื่องจากแผนระยะยาวจะต้องเตรียมพื้นฐานต่างๆ ให้สอดคล้องกันอนาคตในอีก 20 ปี ข้างหน้า หากมีเพียงแผนระยะสั้น หรือระยะกลางเท่านั้น จะไม่เพียงพอต่อการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ  

ส่วนการที่จะเข้ารับตำแหน่ง เลขาธิการองค์การเพิ่มผลผลิตแห่งเอเชีย (เอพีโอ) ในวันที่ 1 ก.ย. นั้น จะเข้าไปสนับสนุนนโยบาย และโครงการวิจัยต่างๆ ของประเทศสมาชิกทั้ง 19 ประเทศ เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิตให้ก้าวหน้าไปด้วยกัน โดยในส่วนของประเทศไทย ได้เสนอขอสนับสนุนในการวิจัยเรื่องความไม่แน่นอนในอนาคต การพัฒนาประเทศไปสู่ยุคเทคโนโลยี 4.0 การประเมินประสิทธิภาพการใช้

จาก http://www.naewna.com วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

พาณิชย์รับลูกประเทศไทย4.0 เร่งรื้อกฎการค้าล้าสมัยปัดเอื้อร่วมTPP

พาณิชย์เด้งรับนโยบาย "ประเทศไทย 4.0" ย้ำต้องต้องปรับปรุงกฎระเบียบการค้า การลงทุนที่ล้าสมัย "อภิรดี" ยันไม่ใช่ทำเพื่อเข้าร่วมข้อตกลง TPP พร้อมเปิดทางให้ผู้ที่มีความกังวลเข้าหารือ เสนอแนะ ก่อนรวบรวมเสนอรัฐบาลพิจารณา

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์มีแผนจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ โดยได้ทำการศึกษาการปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบทางการค้า การลงทุนที่ล้าสมัย และไม่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจใน

 ปัจจุบัน เพื่อผลักดันให้เข้าสู่แผนประเทศไทย 4.0 ตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งไทยจะต้องมีการปรับปรุงกฎระเบียบให้มีความทันสมัย แต่ไม่ใช่ทำเพื่อรองรับการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ตามที่มีหลายๆ ฝ่ายแสดงความกังวล

“ไทยจำเป็นต้องปรับปรุงกฎระเบียบทางการค้าให้มีความทันสมัย เพราะเราจะเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วม TPP ไทยก็ต้องมีการปรับปรุงอยู่แล้ว เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ และยิ่งรัฐบาลมีแผนผลักดันประเทศไปสู่ประเทศไทย 4.0 ยิ่งต้องมีการปรับมาตรฐานประเทศไทยให้ดีขึ้น เพื่อดึงดูดการค้า การลงทุนให้เข้ามา” นางอภิรดีกล่าว

สำหรับการพิจารณาเข้าร่วมความตกลง TPP ขณะนี้กระทรวงฯ อยู่ระหว่างการหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน โดยเปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมที่ยังมีความกังวลได้เข้ามาแจ้งความกังวลว่าอยู่ตรงไหน มีปัญหาอะไร และมีข้อเสนอหรือมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาอย่างไร เพื่อที่จะได้รวบรวมเป็นข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลเพื่อประกอบการตัดสินใจต่อไป

ส่วนผลการศึกษาข้อดี ข้อเสียในการเข้าร่วม TPP ของสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ที่ได้มีการศึกษาในเบื้องต้นเสร็จแล้วนั้น ได้ขอให้ไปปรับปรุงใหม่ให้ทันสมัย เพราะผลการศึกษาได้ยึดข้อมูลเดิมก่อนที่สมาชิก TPP ทั้ง 12 ประเทศ จะได้บรรลุข้อตกลงร่วมกัน โดยรายละเอียดในข้อตกลงบางประเด็นได้มีการปรับปรุงใหม่ จึงต้องมีการศึกษาใหม่ให้สอดคล้องกับข้อตกลงที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

สำหรับผลการศึกษาของสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ในเบื้องต้น พบว่า หากไทยเข้าร่วม TPP จะเกิดผลดีกับไทยมากกว่าผลกระทบ โดยจะช่วยให้เศรษฐกิจของไทยมีการขยายตัวได้เพิ่มขึ้น และยังช่วยยกระดับมาตรฐานการผลิตสินค้าและบริการของไทยให้สูงขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาประเทศ รวมทั้งช่วยในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย โดยที่นักลงทุนจะยังคงใช้ไทยเป็นฐานในการลงทุนต่อไป ไม่หันไปลงทุนในประเทศคู่แข่ง

ส่วนผลกระทบที่จะมีต่อภาคการเกษตร ล่าสุดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รายงานว่ามีมาตรการที่จะดูแลข้อกังวลของกลุ่มเกษตรกร ซึ่งมีความเป็นห่วงว่าจะถูกผูกขาดเมล็ดพันธุ์พืชใหม่ โดยกระทรวงเกษตรฯ มีการเตรียมความพร้อมด้วยการจัดตั้งศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์ในทุกภูมิภาค เพื่อสร้างเมล็ดพันธุ์ราคาถูกและมีคุณภาพมาจำหน่าย รวมทั้งจะมีการปรับปรุง พ.ร.บ.พันธุ์พืช ให้มีการจดทะเบียนคุ้มครองพันธุ์พืชของไทย ป้องกันปัญหาต่างชาติมาแอบใช้พันธุ์พืชของไทย.

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2559