http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล(เดือนพฤษภาคม 2560)

ก.พาณิชย์จีนเก็บภาษีนำเข้าน้ำตาลเพิ่ม

                    พาณิชย์ เผย จีนประกาศเก็บอากรปกป้องการนำเข้าน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นจากทั่วโลก 3 ปี ในอัตรา 45-35% คาด ผู้ส่งออกไทยโดนด้วย แต่คาดกระทบไม่มากนัก เหตุได้เปรียบต้นทุนค่าขนส่งเมื่อเทียบกับคู่แข่งสำคัญอย่างบราซิล  

                    นายวันชัย วราวิทย์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ของจีน ได้ประกาศผลการไต่สวนชั้นที่สุด ของมาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าน้ำตาลที่เพิ่มขึ้น (เซฟการ์ด) โดยกำหนดให้เรียกเก็บอากรปกป้องฯ เป็นเวลา 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.60- 21 พ.ค.63 ในอัตรา 45-35% และให้ผ่อนคลายลงปีละ 5%  ซึ่งการเรียกเก็บอากรปกป้องฯดังกล่าวนั้น ป็นการเรียกเก็บเพิ่มเติมจากปัจจุบันที่เรียกเก็บภาษีนำเข้าอยู่แล้วในอัตราในโควตา 15% และนอกโควตา 50%

 “การที่จีนเรียกเก็บอาการปกป้องฯ ครั้งนี้ จะทำให้ผู้ส่งออกน้ำตาลจากทุกประเทศ ที่ส่งออกไปจีน ต้องเสียอากรในอัตราเดียวกัน แต่ทั้งนี้ ผู้ส่งออกไทย น่าจะได้รับผลกระทบไม่มากนัก เมื่อเทียบกับบราซิล และผู้ส่งออกรายอื่นๆ เพราะไทยได้เปรียบในด้านการขนส่ง เนื่องจากอยู่ใกล้จีนมากกว่า อย่างไรก็ตาม กรมฯได้ประสานงานอย่างใกล้ชิดกับสำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงปักกิ่ง เพื่อติดตามการใช้มาตรการดังกล่าวต่อสินค้าน้ำตาลจากไทยแล้ว”

 สำหรับการประกาศผลการไต่สวนขั้นที่สุด เกิดขึ้นภายหลังจากที่ผู้ผลิตน้ำตาลของจีนได้ร้องเรียนต่อกระทรวงพาณิชย์ของจีน ให้เปิดไต่สวนเพื่อใช้มาตรการเซฟการ์ด เพราะได้รับผลกระทบจากการนำเข้าน้ำตาลจากทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นมากอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จีนได้รับข้อร้องเรียนและเปิดไต่สวนตั้งแต่วันที่ 29 ก.ย.59 ทั้งนี้ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา หรือตั้งแต่ปี 57-59 จีนนำเข้าจากบราซิล มากที่สุดเป็นอันดับ 1 ในปี 57 นำเข้า 2.1 ล้านตัน ปี 58 เป็น 2.7 ล้านตันและ ปี 59 อีก 1.9 ล้านตัน ขณะที่ไทยนำเข้ามากเป็นอันดับ 2 คือ ปี 57 ปริมาณ 535,650 ตัน ปี 58 ที่ 602,926 ตัน และปี 59 อีก 179,554 ตัน

จาก https://www.dailynews.co.th  วันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ไทย-รัสเซียเดินหน้า ลดอุปสรรคการค้า ตั้งเป้า5ปีขยาย5เท่า

นางสาวจริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)เปิดเผยว่า ปีนี้ไทยและรัสเซีย มีความสัมพันธ์อันดีมาครบ 120 ปี โดยที่ผ่านมามีความร่วมมือในด้านต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน มีการตั้งเป้าขยายมูลค่าการค้าร่วมกันเป็น 5 เท่า ภายใน 5 ปี (ปี 2560–2564) ให้ได้มูลค่ารวม 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ทั้งนี้ จากการจัดประชุมคณะอนุกรรมาธิการว่าด้วยความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจ ครั้งที่ 3 เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ในส่วนของการค้าสินค้าเกษตร ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นด้วยที่จะสนับสนุนและส่งเสริมการส่งออกและการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารระหว่างกัน ซึ่งไทยเสนอให้ฝ่ายรัสเซียนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารที่ไทยมีศักยภาพ เช่น ข้าว น้ำตาล ผัก ผลไม้ เนื้อไก่เนื้อหมู อาหารทะเล เป็นต้น และมีความพร้อมในการเป็นแหล่งวัตถุดิบสินค้ายางพาราธรรมชาติ เพื่อรองรับนโยบายการเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ของรัสเซีย อีกทั้งไทยพร้อมที่จะสนับสนุนนโยบายด้านความมั่นคงทางอาหารของรัสเซียอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นพ้องที่จะขจัดอุปสรรคทางการค้า โดยเฉพาะการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานสินค้า ด้วยการ

 สนับสนุนการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านแนวปฏิบัติและกฎระเบียบด้านการตรวจสอบและรับรองด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชและสัตว์ รวมทั้งเร่งรัดกระบวนการตรวจรับรองด้วย

จาก http://www.naewna.com วันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

กรมชลเดินหน้าแก้ปัญหาน้ำตามแผนงานยุทธศาตร์น้ำ 20 ปี

นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำว่า ภายหลังที่รัฐบาลประกาศจัดทำยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศแล้ว  พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) มีนโยบายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทบทวนปรับปรุงแผนการดำเนินงานยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำจาก 12 ปี เป็น 20 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศ และทันต่อการปรับนโยบายและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

โดยในส่วนของกรมชลประทานรับผิดชอบยุทธศาสตร์ที่ 2 น้ำสนับสนุนภาคการผลิต (น้ำเพื่อการเกษตรและอุตสาหกรรม) และยุทธศาสตร์ที่ 3 การป้องกันและบรรเทาอุทกภัย จึงทบทวนเป้าหมาย มาตรการ และตัวชี้วัด โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ทั้ง 6 ภาค คือ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ตอนบน และภาคใต้ตอนล่าง ตั้งแต่วันที่ 9 – 30 พฤษภาคม ที่ผ่านมา และจะสรุปผลส่งให้เลขานุการ กนช. เพื่อนำไปจัดทำการรับฟังความเห็นของภาคประชาชนทั้ง 6 ยุทธศาสตร์ ก่อนเสนอ กนช. และ คณะรัฐมนตรีเพื่อประกาศใช้เป็นแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ 20 ปี ต่อไป

 สำหรับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำนั้น เพื่อให้เกิดผลสำเร็จตามเป้าหมาย กรมชลประทานจึงต้องปรับมาตรการการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมกับสภาพในแต่ละพื้นที่  เช่น การปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำ การปรับปฏิทินการปลูกพืช และการออกมาตรการสนับสนุนการบริหารจัดการภัยแล้ง  โดยในระยะเร่งด่วนได้ดำเนินงานโครงการที่สามารถดำเนินการที่มีความพร้อม สามารถทำได้ทันทีและได้ผลเร็ว เช่น โครงการแก้มลิงขนาดเล็ก 30 แห่ง ในพื้นที่ 5 จังหวัดของภาคอีสาน โดยจะกักเก็บน้ำที่ไหลจากภูเขามาเก็บไว้ในพื้นที่ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำโขง สามารถกักเก็บน้ำได้ประมาณ 120,000 ลบ.ม. สำหรับการอุปโภคบริโภค และทำการเกษตรในครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่กว่า 200 ไร่ เพื่อให้ได้ยุทธศาสตร์น้ำและแผนปฏิบัติการที่สะท้อนต่อปัญหาและความต้องการของภาคประชาชน พร้อมกับอิงตามหลักวิชาการ ตามศาสตร์พระราชามากที่สุด

ส่วนการแก้ไขปัญหาระยะยาวเพื่อสร้างความมั่นคงน้ำให้กับประเทศนั้น กรมชลประทานได้วางแผนการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน โดยได้วางแผนพัฒนาแหล่งเก็บน้ำที่สามารถก่อสร้างได้ภายในปี 2562 จำนวนมากกว่า 50 โครงการ สามารถกักเก็บน้ำเพิ่มขึ้น 1,200 ล้านลบ.ม. เพิ่มพื้นที่ชลประทาน 1.1 ล้านไร่

แผนพัฒนาอาคารบังคับน้ำในลำน้ำหลัก ได้แก่ ประตูระบายน้ำ ฝาย เพื่อกักเก็บน้ำในลำน้ำก่อนไหลออกนอกลุ่มน้ำ ได้แก่ แม่น้ำยม แม่น้ำอิง แม่น้ำมูล แม่น้ำวังโตนด และแม่น้ำเลย กักเก็บน้ำในลำน้ำกว่า 300 ล้านลบ.ม. เพิ่มพื้นที่ชลประทานกว่า 7 แสนไร่ และแผนเพิ่มปริมาณน้ำให้กับเขื่อนภูมิพล จ.ตาก โดยการผันน้ำจากกลุ่มน้ำสาละวินและสาขา เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาโครงการ เมื่อแล้วเสร็จจะสามารถสร้างความมั่นคงให้กับน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและภาคอุตสาหกรรม เพิ่มพื้นที่ชลประทานกว่า 1 ล้านไร่

อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวอีกว่า ในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมมีการบูรณาการความร่วมมือในหลายหน่วยงานและต้องดำเนินการในหลายรูปแบบ ทั้งแผนงานระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยในส่วนของกรมชลประทานนั้น ได้มีการสร้างคันกั้นน้ำ  สร้างอาคารชลประทานเพื่อใช้ในการบริหารจัดการน้ำ ขุดลอกคลองต่าง ๆ  กำจัดวัชพืชและผักตบชวา ตลอดจนสิ่งกีดขวางทางน้ำ  นอกจากนี้ยังได้มีการวางแผนบริหารจัดการน้ำ มีการพร่องน้ำในอ่างเก็บน้ำเพื่อรองรับปริมาณน้ำฝนในแต่ละลุ่มน้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยามี 4 เขื่อนใหญ่ที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุน คือ เขื่อนภูมิพล  เขื่อนสิริกิติ์  เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์  มีปริมาณน้ำรวมกันเพียง 10,940 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) สามารถรองรับปริมาณน้ำได้อีก 13,931 ล้านลบ.ม. หรือมากกว่าร้อยละ 50 ของปริมาณความจุ  รวมทั้งที่ผ่านมาได้มีการปรับปฏิทินการปลูกพืชใหม่  ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน

จาก http://www.komchadluek.net วันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

จัดใหญ่งานประชุมพลังงานทดแทน

 นายมนู เลียวไพโรจน์ ประธานบริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ได้จับมือภาครัฐและเอกชนจัดงาน ASEAN Sustainable Energy Week 2017 งานแสดงเทคโนโลยีและการประชุมนานาชาติด้านพลังงานทดแทน การใช้พลังงานให้เกิดประสิทธิภาพและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน โดยจะจัดร่วมกับงาน Renewable Energy Asia Energy Efiiciency Expo และ Entech Pollutec Asia ระหว่างวันที่ 7 - 10 มิ.ย.60 ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุทม ไบเทค ยางนา โดยได้ขยายพื้นที่การจัดแสดงในปีนี้เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 15 โดยคาดว่าจะมีผู้ประกอบการจากแบรนด์ชั้นนำกว่า 1,500 ราย จาก 35 ประเทศเข้าร่วม ผู้ชมงานกว่า 27,000 คนจาก 45 ประเทศ

สำหรับงานดังกล่าวได้รับการสนับสนุนผสานความร่วมมือเป็นอย่างดีมาโดยตลอดระยะเวลาที่จัดงานมากว่า 12 ปี จากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน โดยในปีนี้ได้มีการแสดงโชว์เทคโนโลยีและอุปกรณ์ที่ทันสมัยเพื่อตอบโจทย์การแข่งขันทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น แผงโซลาร์เซล พลังงานลม พลังงานชีวมวล ก๊าซชีวภาพ เครื่องมือกักเก็บพลังงาน การบริหารจัดการพลังงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด หลอดไฟประหยัดพลังงาน การติดตั้งศูนย์เครือข่ายกลาง ระบบควบคุมมลพิษทางอากาศ ระบบบริหารจัดการนำดีน้ำเสีย ระบบผลิตน้ำเพื่อการบริโภค นวัตกรรมรถยน

ทั้งนี้เป้าหมายของรัฐบาลไทยที่จะลดระดับการพึ่งพาแหล่งพลังงานจากต่างประเทศ ไม่เกินร้อยละ 50 ในปี พ.ศ.2579 ทำให้ทุกหน่วยงานตื่นตัวในการปรับเปลี่ยนธุรกิจไปสู่การทำธุรกิจที่ยั่งยืน ลดการใช้พลังงานที่สามารถหมดไป ลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ ลดต้นทุนค่าใช้จ่าย และเพิ่มประสิทธิภาพทางด้านพลังงานต์ไฟฟ้า และอื่นๆอีกมากมาย

จาก http://www.siamrath.co.th วันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

สภาเกษตรกรฯ ปลื้มแทนเกษตรกร แผนแม่บทฉบับแรกผ่าน ครม.

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2560 ครม.มีมติเห็นชอบร่างแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม พ.ศ.2560-2564 ตามที่สภาเกษตรฯเสนอ ต้องขอบคุณนายกรัฐมนตรี คณะครม.ที่เห็นชอบ ด้วยสภาเกษตรกรฯมีหน้าที่ในการจัดทำแผนแม่บทตามกฎหมายโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการทำแผนแม่บทจากเกษตรกรเองจากล่างสู่บนใช้เวลา 3 ปี จัดเวทีหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัดแต่ละจังหวัดรวมกันเข้ามากลายเป็นแผนแม่บทซึ่งมียุทธศาสตร์หลากหลายเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรทั้งที่ยังพึ่งตนเองไม่ได้และที่ต้องเข้าสู่กระบวนการแข่งขัน แผนนี้จึงครอบคลุมในทุกมิติทุกด้านของเกษตรกรไทย ที่ผ่านมาเกษตรกรได้เคยพยายามเสนอแนะแนวนโยบายโครงการต่างๆไม่เคยได้ผล แต่ครั้งนี้ด้วยกฎหมายของสภาเกษตรกรฯที่ได้บัญญัติไว้ 1 มาตราว่าสภาเกษตรกรฯมีหน้าที่ทำแผนแม่บทต่อจากนี้จะเป็นการขับเคลื่อนแผนไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งจะไม่ใช่บทบาทหน้าที่ของสภาเกษตรกรฯ แต่จะเป็นอำนาจหน้าที่ที่แต่ละส่วนงาน คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นต้น ที่จะนำไปทำเป็นแผนปฏิบัติการตามแผนงาน โครงการของแต่ละหน่วยงาน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายของเกษตรกรคือ “องค์กรเกษตรกรเครือข่ายเข้มแข็ง โครงสร้างพื้นฐานและการจัดการทั่วถึง เกษตรกรพึ่งตนเองได้” โดยอยากเห็นการทำแผนปฏิบัติลงไปถึงระดับตำบลซึ่งเป็นส่วนที่เล็กที่สุด หลังจากนี้ก็จะเป็นการนัดประชุมกับรัฐมนตรีและผู้บริหารกระทรวงต่างๆ เพื่อที่จะสร้างกลไก กระบวนการให้เกิดแผนปฏิบัติการขึ้นมา สภาเกษตรฯจะเป็นส่วนหนึ่งเพื่อให้เกิดการประสานความร่วมมือกัน

 “ขอแสดงความยินดีกับพี่น้องเกษตรกรที่ทุ่มเททำแผนของตนเองมาตลอดหลายปี ลงพื้นที่ทุกอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน เพื่อที่จะไปสอบถามถึงความเดือดร้อน ความคิดเห็นสภาพปัญหาและข้อมูลต่างๆเพื่อที่จะเอาปัญหาทั้งหลายมาทำเป็นแผนแม่บท แก้ปัญหากันต่อไปทั้งระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว เวลานำแผนลงไปปฏิบัติเกษตรกรก็จะรู้สึกได้ว่าตนเป็นเจ้าของแผนนี้ ด้วยมีส่วนร่วมในการผลักดัน ขับเคลื่อนให้มีความสำเร็จต่อไป” ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าว

จาก http://www.siamrath.co.th  วันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 

“น้ำตาลบุรีรัมย์”เบรกสร้างโรงงาน

 น้ำตาลบุรีรัมย์เกาะติดภาวะตลาดน้ำตาลทราย หลังยุโรปหันกลับมาผลิต หวั่นกระทบยอดผลิตน้ำตาลคุณภาพสูง พร้อมชะลอก่อสร้างโรงงานใหม่ มองราคาน้ำตาลยังมีทิศทางที่ดี ชี้ทำสัญญาขายล่วงหน้าช่วยล็อกราคาขายได้

นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) BRR กล่าวว่า บริษัทได้ชะลอแผนขยายโรงงานผลิตน้ำตาลคุณภาพสูง ซึ่งมีมูลค่าลงทุนราว1 พันล้านบาท เนื่องจากอยู่ระหว่างการติดตามสถานการณ์การกลับเข้ามาสู่ตลาดน้ำตาลของกลุ่มสหภาพยุโรปจะส่งผลกระทบกับราคาน้ำตาลอย่างไร ในเบื้องต้นประเมินว่า อาจจะกระทบกับน้ำตาลทรายคุณภาพสูงที่จะออกมาสู่ตลาดมากขึ้น

“บริษัทอยู่ระหว่างการติดตามการกลับเข้าสู่ตลาดน้ำตาลอีกครั้งของสหภาพยุโรป ซึ่งกลุ่มดังกล่าวจะมีศักยภาพการผลิตน้ำตาลที่มีคุณภาพสูง ผลดังกล่าวทำให้บริษัทต้องชะลอแผนการลงทุนโรงงานผลิตน้ำตาลคุณภาพสูง จากเดิมเริ่มก่อสร้างปีนี้ รอดูทิศทางอีกครั้ง และมองว่าน่าจะตัดสินใจเริ่มการก่อสร้างหรือไม่ในสิ้นปี”

ทั้งนี้ ภาวะราคาน้ำตาลในตลาดโลก ปัจจุบันอยู่15.67 เซนต่อออนซ์ ปรับตัวลดลงจากไตรมาส1ที่สูงกว่า 20 เซนต่อออนซ์ เป็นผลมาจากการเข้าสู่ฤดูกาลส่งออกน้ำตาลของประเทศบราซิล ซึ่งถือว่าเป็นผู้ค้ารายใหญ่ รวมถึงติดตามกรณีมาตรการภาษีรัฐบาลจีนจะส่งผลกระทบกับราคาน้ำตาลอย่างไร

ด้านการบริหารจัดการราคาขายน้ำตาลนั้น บริษัทได้ทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแล้ว ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 23 เซนต่อออนซ์ คาดว่าน่าจะทำให้รายได้ไตรมาสที่1อยู่ที่ 2,188 ล้านบาท เติบโตจากช่วงเดียวกันของปีก่อน46 % แม้ว่าด้านปริมาณการขายไตรมาสแรกจะลดลง แต่แนวโน้มไตรมาส2ปีนี้รายได้จากการขายน้ำตาล ยังมีแนวโน้มที่ดีต่อเนื่อง ทั้งนี้ บริษัทยังคงเป้าหมายรายได้เติบโตจากปีก่อน 30 %

ด้านปริมาณการหีบอ้อยปีนี้น่าจะหีบได้ 2.21 ล้านตันตามเป้าหมาย และจากนี้บริษัทจะเน้นการเพิ่มกำลังการผลิตไร่อ้อยมากขึ้น โดยร่วมทำงานกับชาวไร่อ้อย และปีหน้าตั้งเป้าหมายจะมีกำลังการผลิตอ้อยอยู่ที่2.8 แสนตัน และต้องการมีการหีบอ้อยให้แตะ 3 ล้านตันอีก2-3ปีข้างหน้า ส่วนความคืบหน้าของการตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน โรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ ได้ในเดือน ก.ค.นี้ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการรออนุมัติการจัดตั้งกองทุนจากสำนักงานคณะกรรมกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มูลค่ากองทุนจะอยู่ที 3.7 พันล้านบาท

นอกจากนี้บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจา เพื่อหาพันธมิตรลงทุนก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ใน 2 พื้นที่ที่ได้รับใบอนุญาตก่อตั้งโรงงาน มูลค่าการลงทุนแห่งละ 5 พันล้านบาท อยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรจีนและญี่ปุ่น  ซึ่งเป้าหมายคือ พันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญธุรกิจการผลิตน้ำตาล และมีการใช้น้ำตาลอยู่แล้ว

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 

ฟัง 3 หญิงชาวไร่อ้อยรุ่นใหม่เปลี่ยนแล้วดียังไง

ใช้หลักบริหารเงินส่วนบุคคลควบการทำเกษตรยั่งยืน

ฝึกให้สตรีชาวไร่อ้อยจดบันทึกการเงิน

       "เกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อย" เป็นผู้ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เพราะเป็นทั้งผู้ที่ทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายที่ไทยส่งออกมากเป็นอันดับ 2 ของโลก และผู้ควบคุมค่าใช้จ่าย ดูแลครอบครัว แต่ปัจจุบันพวกเขายังมีปัญหาในการประกอบอาชีพและความเป็นอยู่ ซึ่งจากการประเมินความต้องการของเกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อยกลุ่มหนึ่งในอำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ และอำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี พบว่าพวกเขาต้องการความรู้และทักษะการบริหารการเงินส่วนบุคคล และการทำการเกษตรอย่างยั่งยืน และนี่จึงเป็นที่มาของ “โครงการธุรกิจยั่งยืนกับโคคา-โคลา เพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจเกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อย”อันเกิดจากความร่วมมือระหว่างกลุ่มธุรกิจโคคา-โคลา ในประเทศไทย กลุ่มน้ำตาลไทยรุ่งเรือง และสถาบันคีนันแห่งเอเซีย โดยการฝึกอบรมหลักสูตรการบริหารการเงินส่วนบุคคล และการทำการเกษตรอย่างยั่งยืน ที่ออกแบบจากความต้องการของชาวเกษตรกร ให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมและความเป็นอยู่ในพื้นที่ ซึ่งภายหลังจากที่ดำเนินโครงการนำร่องในเดือนสิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา ปรากฎว่ามีการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกที่เริ่มขึ้นกับสามเกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อยรุ่นใหม่จากอำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ที่มุ่งมั่นปฏิวัติวิถีการทำเกษตรกรรมแบบเดิมๆ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในชีวิต ทั้งยังสามารถเป็นตัวอย่างให้กับเกษตรกรคนอื่นๆ เห็นว่าชีวิตดีขึ้นได้ไม่ยาก เพียงแค่มีความตั้งใจและลงมือทำ

"จี๊ด" รจนา บุญเพชร

          "จี๊ด" รจนา บุญเพชรเกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อยที่ยึดมั่นในคติ “หาทางเลือก เพื่อทางรอด” เล่าว่า จากเมื่อก่อนขายอ้อยได้เท่าไร ก็นำมาใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายโดยไม่มีการวางแผน ปัจจุบันหันมาจดบันทึกค่าใช้จ่ายในแต่ละวัน ทำให้รู้ว่าค่าใช้จ่ายส่วนไหนไม่จำเป็น ใช้เงินเป็นระบบ จัดสรรเงินทุน และออมเงินได้อย่างถูกต้อง ไม่ใช่เพียงแค่ขายอ้อยและใช้เงินที่ได้มาไปวันๆ นอกจากนี้ จี๊ดยังนำเทคนิคการทำเกษตรที่ได้อบรมจากโครงการฯ แบ่งปันจากเพื่อนๆ รวมไปถึงการค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมบนสื่อโซเชียลมีเดีย เช่น การปรับหน้าดิน และเทคนิคการใช้น้ำหยดกับแปลงเกษตร ทำให้ได้มาซึ่งผลผลิตที่มีคุณภาพและราคาดียิ่งขึ้น แก้ปัญหาในอดีตที่ต้องเหนื่อยและลงแรงไปเยอะ แต่ได้ผลผลิตไม่คุ้มค่า สิ่งเหล่านี้คือทางเลือกที่ช่วยให้จี๊ดมีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปสู่ความยั่งยืน

"แหม่ม" ณัฐวรรณ ทองเกล็ด

        อดีตสาวแบงค์ที่ตัดสินใจกลับไปทำกิจการไร่อ้อยของครอบครัว เข้าใจถึงการแบกรับต้นทุนการทำเกษตรที่สูงเกินความจำเป็นจากการจ้างแรงงานคนและความเสียหายจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยว  "แหม่ม" ณัฐวรรณ ทองเกล็ด  เผยว่า หลังจากเข้าร่วมโครงการฯ และเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยการจดบันทึกรายรับรายจ่าย ทำให้มองเห็นภาพรวมการบริหารจัดการด้านการเงินและการเกษตรมากขึ้น จนเข้าใจแล้วว่าการลงทุนทำเกษตรของตัวเองนั้นหมดไปกับค่าแรงงานคนมากเกินไป หากปรับเปลี่ยนมาใช้เครื่องจักรจะสามารถแบ่งเบาและช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้ในระยะยาว นอกจากนั้นเธอยังตระหนักได้ว่า ปัญหาทุกอย่างเกิดจากความไม่รู้จักพอ สอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่หากสามารถปรับลดความต้องการให้พอดี ชีวิตก็จะลงตัวและสมดุล

   "เนะ" รจนา สอนชา

         "เนะ" รจนา สอนชาเกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อยผู้มีความมุ่งมั่นที่จะเป็นตัวอย่างให้เกษตรกรด้วยกัน กล่าวว่า ตัวเองอยากพิสูจน์ให้เกษตรกรคนอื่นเห็นว่า ถ้าเธอสามารถบริหารจัดการการเงินและทำการเกษตรยั่งยืนได้สำเร็จ ทุกคนก็ย่อมทำได้ หากเราไม่ร่วมมือกันเปลี่ยนแปลง ความยั่งยืนที่ทุกคนต้องการก็จะไม่เกิดขึ้น จากการเริ่มต้นจดบันทึกการเงิน รวมไปถึงการนำความรู้ด้านการเกษตรยั่งยืน ที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการฯ มาใช้ ทำให้เนะสามารถพัฒนาธนาคารปุ๋ย บริหารจัดการเงิน และทำเกษตรผสมผสาน เช่น มะเขือเทศราชินี ข้าวโพดเทียน เพื่อรายได้เสริมอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้น เนะ หรือ หมอดิน ที่เพื่อนเกษตรกรด้วยกันเรียกเพราะเชี่ยวชาญในเรื่องดิน ยังถ่ายทอดความรู้ที่มี และสร้างแรงบันดาลใจให้กับเกษตรกรด้วยกันในการบริหารจัดการชีวิต

"เกมเศรษฐี” หนึ่งกิจกรรมในการฝึกอบรมหลักสูตรการบริหารการเงินช่วยเข้าใจง่าย

          แม้จะมีองค์ความรู้หรือความช่วยเหลือจากโครงการฯ แต่หากเกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อยรุ่นใหม่เหล่านี้ ไม่มีความเชื่อและความตั้งใจที่จะเปลี่ยนแปลงเพื่ออนาคตที่ดีขึ้น ปัญหาต่างๆย่อมไม่ถูกแก้ไข แม้การเปลี่ยนแปลงอาจไม่เกิดขึ้นในระยะเวลาอันสั้น หากเพียงมีความคิดที่จะเริ่ม และลงมือทำ ย่อมนำไปสู่ผลลัพธ์ของเป้าหมายที่ตั้งไว้ เช่นเดียวกับจี๊ด แหม่ม และ เนะ ที่กำลังเดินหน้าสู่เส้นทางชีวิตของเกษตรกรที่มีคุณภาพอย่างยั่งยืน

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 

ชงครม.วันนี้เคาะอุตฯ4.0จัดโครงสร้าง

ชงแผนขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0 เข้า ครม.30 พ.ค.นี้ เล็งรื้อโครงสร้างสถาบันเครือข่าย

          นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงเตรียมเสนอแนวทางขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0 ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 30 พ.ค.นี้ เพื่อเห็นชอบกรอบการดำเนินงานโดยมีแผนการปรับโครงสร้างสถาบันเครือข่ายภายใต้กระทรวง เพื่อให้สอดคล้องกับการยกระดับอุตสาหกรรม 4.0 โดยเฉพาะสถาบันเพิ่มผลผลิต ศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต และสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ร่วมกันจัดตั้งสถาบันขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0 แห่งชาติ โดยอยู่ระหว่างศึกษาว่าจะให้ทั้ง 3 หน่วยงานยุบรวมกันเป็นสถาบันแห่งนี้ หรือจะให้ทั้ง 3 หน่วยงานร่วมกันจัดตั้งและดูแล คาดว่าจะมีความชัดเจนในเชิงปฏิบัติช่วงกลางปีนี้

          สำหรับการสัมมนารับฟังความเห็น "จาก ESB สู่ EEC  Roundtable" เป็นการอภิปรายการขับเคลื่อนอีอีซีให้สามารถเดินหน้าได้อย่างเต็มที่โดยใช้โมเดลจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีสเทิร์นซีบอร์ด หรืออีเอสบี) ทั้งนี้โครงการอีอีซีเป็นแผนยุทธศาสตร์ประเทศภายใต้ไทยแลนด์ 4.0 ที่ต่อยอดความสำเร็จมาจากอีสเทิร์นซีบอร์ดที่ดำเนินมาตลอดกว่า 30 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นอีอีซีจึงเป็นภาคต่อของยุครุ่งเรือง ถือเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศสู่ความเป็นผู้นำ

          นายอาณัติ อาภาภิรม อดีต รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า รัฐบาลต้องทำให้อีอีซีมีความเชื่อมั่น ส่งพลังออกไปให้คนภายนอกโดยเฉพาะนักลงทุนที่กำลังจับตามองเห็นถึงโอกาสความเป็นไปได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะแผนการขยายสนามบิน ขยายท่าเรือ การพัฒนาเส้นทางคมนาคมทั้งรถไฟความเร็วสูง รถไฟทางเดี่ยว-ทางคู่  เมื่อสื่อสารออกไปตามเป้าหมายก็จะสามารถเชิญชวนให้นักลงทุนคนไทยและนักลงทุนชาวต่างชาติเกิดความสนใจที่จะลงทุนและมีความเชื่อมั่นที่จะมาร่วมลงทุนในอีอีซีแน่นอน

          นายเสนาะ อูนากูล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การนำอีสเทิร์นซีบอร์ดมาต่อยอดเป็นอีอีซี รัฐบาลต้องคิดให้เป็นระบบครบวงจรที่สำคัญคือต้องทำเรื่องคน จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องให้เกียรติทุกคนที่มาทำงาน ต้องสนับสนุนการใช้กลยุทธ์เชื่อมโยงดึงดูดนักลงทุนรายใหญ่

          นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการ ส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) อยู่ระหว่างประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดจัดศูนย์บุคลากรทักษะฝีมือสูง (Strategic Talent Center : STC) รองรับไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งเตรียมเสนอคณะกรรมการบีโอไอ(บอร์ดบีโอไอ) พิจารณาเร็วๆ นี้

จาก http://www.posttoday.com วันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 

สรท.จับตาค่าบาทแข็งหวั่นส่งออกลำบาก

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) เปิดเผยสถานการณ์ส่งออกเดือนเมษายน 2560 ว่ามีมูลค่า 16,864 ล้านดอลลาร์สหรัฐขยายตัว 8.49%เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมามูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 581,717 ล้านบาท ขยายตัว 7.75% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้การส่งออกในช่วง 4 เดือนแรกปีนี้ มีมูลค่า 73,320.7ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโต 5.69% เมื่อเทียบกับปีก่อน

ทั้งนี้สรท.ยังคงคาดการณ์การส่งออกของไทยปีนี้จะเติบโต 3.5% โดยมีปัจจัยบวกจากราคาน้ำมันตลาดโลกที่ปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมาคิดเป็น 25% ทำให้สินค้ากลุ่มที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นส่งผลให้สินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกหลายรายการราคาปรับเพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกัน บวกกับปีนี้ฝนตกมากทำให้คาดว่าปริมาณผลผลิตทางการเกษตรจะเพิ่มขึ้นและเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มมูลค่ารวมของการส่งออกสินค้ากลุ่มเกษตรและกลุ่มเกษตรอุตสาหกรรม ตลอดจนมูลค่าส่งออกในภาพรวมของไทยในปีนี้

ปัจจัยที่ต้องจับตาใกล้ชิดได้แก่การแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับคู่แข่งสำคัญส่งผลต่อต้นทุนและขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกไทย ความเสี่ยงสถานการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศและการก่อการร้าย การกีดกันทางการค้าจากประเทศ คู่ค้าสำคัญและประเทศตลาดใหม่ โดยเฉพาะการตอบโต้รัฐบาลสหรัฐอเมริกา

รวมถึงผลกระทบจากการบอยคอตของจีนต่อเกาหลีใต้ขณะที่ญี่ปุ่นเผชิญกับสถานการณ์ตลาดภายในประเทศ เนื่องจากความสามารถในการบริโภคของประชาชนลดลงขณะที่เอสเอ็มอีไทยโอกาสในการทำตลาดลำบากมากขึ้นภายใต้การแข่งขันกับกลุ่มทุนขนาดใหญ่และช่องทางการค้าที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ผู้ส่งออกยังประสบปัญหาขาดแคลนตู้บรรจุสินค้าสำหรับการส่งออก (ตู้คอนเทนเนอร์) เนื่องจากสายการเดินเรือลดการจัดสรรตู้สินค้าให้กับต้นทางการขนส่งที่ไม่สามารถแบกรับต้นทุนในการขนส่งตู้เปล่ามาให้กับผู้ส่งออกไทย ทำให้ส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้าในต่างประเทศทันตามกำหนด โดยสรท.ได้หารือกับสายการเดินเรือแล้ว และอยู่ระหว่างจัดทำแชร์โค้ทเหมือนสายการบินที่ซื้อบริการจากสายการเดินเรือหนึ่งแต่สินค้าได้รับการส่งไปอีกสายการเดินเรือหนึ่ง

จาก http://www.naewna.com วันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 

แจงสี่เบี้ย : พด.จัดประชุมวิชาการดินและปุ๋ยแห่งชาติ ครั้งที่ 5 ‘ขับเคลื่อนนวัตกรรมด้านดินและปุ๋ยสู่...เกษตร 4.0’

กรมพัฒนาที่ดินเป็นเจ้าภาพจัดร่วมกับสมาคมดินและปุ๋ยแห่งประเทศไทย และสมาคมอนุรักษ์ดินและน้ำแห่งประเทศไทย โดยการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ จัดการประชุมวิชาการดินและปุ๋ยแห่งชาติ ครั้งที่ 5 เพื่อเปิดโอกาสให้นักวิชาการจากสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรอื่นๆ ทั่วประเทศ ใช้เป็นเวทีเผยแพร่ผลงานวิจัย แลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น และประสบการณ์ในสาขาวิชาด้านดินและปุ๋ยส่งเสริมการพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพ รวมทั้งเป็นเวทีอภิปรายเสวนา สร้างความรู้และความเข้าใจถึงแนวทางการขับเคลื่อนนวัตกรรมด้านดินและปุ๋ยสู่เกษตร 4.0 ที่มีเป้าหมายการพัฒนาการเกษตรของประเทศ เพื่อสร้างความเข้มแข็งของเกษตรกร เพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ส่งเสริมการปรับตัวและสร้างภูมิคุ้มกันภายใต้กระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก และมีการบริหารจัดการทรัพยากรดินที่มีความสมดุลและยั่งยืน

การประชุมวิชาการดินและปุ๋ยแห่งชาติ ครั้งที่ 5 หัวข้อ “ขับเคลื่อนนวัตกรรมด้านดินและปุ๋ย ก้าวสู่เกษตร 4.0” ระหว่างวันที่ 1-2 สิงหาคม 2560 ณ โรงแรมเซ็นทราบาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ ถ.แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ ทั้งนี้ผู้ที่สนใจสามารถส่งบทความเข้ามาได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 15 มิถุนายน 2560 จากนั้นผู้ทรงคุณวุฒิจะพิจารณาบทความและแจ้งผู้ส่งผลงานแก้ไข ภายใน 15 กรกฎาคม-30 มิถนายนพร้อมกับแจ้งรายชื่อผู้มีสิทธิ์นำเสนอผลงานภาคบรรยายและนิทรรศการ ในวันที่ 30 มิถุนายน 2560 และประกาศรายชื่อผู้นำเสนอผลงาน 15 กรกฎาคม 2560 โดยผลงานที่จะนำเสนอภาคบรรยาย จะต้องส่งทั้งบทคัดย่อและเรื่องเต็มสำหรับผลงานที่จะเสนอภาคนิทรรศการ จะต้องส่งบทคัดย่อ หรือส่งบทคัดย่อและเรื่องเต็ม ในกรณีที่มีความประสงค์ให้ลงพิมพ์ผลงานในเอกสารประกอบการประชุม(proceeding) สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.ldd.go.th/WEB_NSFC/index.htm

จาก http://www.naewna.com วันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 

ก.อุตฯชงแผนจับมือญี่ปุ่น เร่งดันลงทุน‘อีอีซี’

                กระทรวงอุตสาหกรรมเดินหน้าผลักดันการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี) หลังจากรัฐบาลได้ออกมาตรการจูงใจนักลงทุนต่อเนื่อง ทั้งเรื่องสิทธิประโยชน์และการลดขั้นตอนและข้อจำกัดทางกฎหมาย เพื่อให้เกิดการลงทุนโดยเร็ว

                     ในปีนี้ ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลได้เดินทางโรดโชว์ต่างประเทศ เพื่อจูงใจนักลงทุนในประเทศเป้าหมาย โดยก่อนหน้านี้เดินทางไปโรดโชว์โครงการที่จีนและฮ่องกง และล่าสุดเตรียมเดินไปไปหารือกับทางการญี่ปุ่น และนักธุรกิจญี่ปุ่น

                      นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงแผนการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ว่า ในวันที่ 30 พ.ค.นี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจะเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขอความเห็นชอบกรอบการลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) กับกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรม(เมติ) ของญี่ปุ่นในข้อตกลงความร่วมมือ “ไทย-ญี่ปุ่น คอนเนคเต็ด อินดันตรี พาทเนอร์ชิพ” หรือการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ของไทย เชื่อมโยงกับ ซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา,ลาว,เมียนมา,เวียดนาม) รวมทั้งการร่วมศึกษาการลงทุนพัฒนาในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ทั้งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และการลงทุนในด้านอื่นๆ

                  “ในสัปดาห์หน้ากระทรวงอุตสาหกรรมจะร่วมกับคณะของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเดินทางไปลงนามความร่วมมือกับกระทรวงเมติ ของญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมไทยไปสุ่อุตสาหกรรม 4.0 ร่วมกับ ซีแอลเอ็มวี เนื่องจากอยู่ในห่วงโซ่การผลิตเดียวกัน จึงควรจะพัฒนาไปด้วยกันทั้งหมด”

                 ในการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องยกระดับภาคอุตสาหกรรมในกลุ่มประเทศ ซีแอลเอ็มวี ไปด้วยกัน เพราะอยู่ในห่วงโซ่การผลิตเดียวกัน เช่น ในอุตสาหกรรมสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม จะเริ่มการผลิตต้นน้ำจำพวกเส้นใย ผ้าผืนในไทย แล้วส่งไปยังอุตสาหกรรมกลางน้ำตัดเย็บเสื้อผ้าที่กัมพูชา เวียดนาม และไปสู่ปลายน้ำการทำตลาดแบรนด์เนมส่งขายไปทั่วโลก หรือในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ จะเริ่มตั้งแต่การผลิตแผงวงจรในไทย และส่งไปประกอบเป็นตัวสินค้าขั้นกลางน้ำที่ประเทศเพื่อนบ้าน และส่งกลับมาผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูปที่ไทย เป็นต้น ดังนั้นจึงจำเป็นจะต้องพัฒนาให้เข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 ทั้งห่วงโซ่การผลิต

                 นอกจากนี้ จะเสนอแผนการรวมหน่วยงานศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (ไอดีซี) และศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต(ไอทีซี) และหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่น สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ เป็นต้น เพื่อตั้งสถาบันขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งจะเป็นหน่วยงานหลักในการดูแลเรื่องการปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 ของไทย โดยหน่วยงานใหม่นี้จะเป็นศูนย์กลางในการประสานงานกับกระทรวงเมติของญี่ปุ่น และความตกลงร่วมมือพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 กับประเทศเยอรมนี ที่อยู่ระหว่างการหารือในรายละเอียดและจะลงนามความร่วมมือในอนาคต

               “ขณะนี้การตั้งสถาบันขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0 อยู่ระหว่างการหารือในรายละเอียดของโครงสร้างสถาบันฯ คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 1 เดือน โดยในเบื้องต้นจะสังกัดภายใต้สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อให้การสนับสนุนเอสเอ็มอีเชื่อมโยงกับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0 อย่างเป็นรูปธรรม”

                  นอกจากนี้ ในการเดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่นในครั้งนี้ จะมีการโรดโชว์ขึ้นกล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่องการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ของไทย และโครงการพัฒนาอีอีซี ในการประชุมสัมมนานิเคอิฟอรั่ม ซึ่งบริษัทญี่ปุ่น ประมาณ 70-80 ราย เข้าร่วมสัมมนา เพื่อที่จะดึงดูดนักลงทุนชาวญี่ปุ่นให้เข้ามาลงทุนในพื้นที่ อีอีซี

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 

ร่ำไห้หมดตัว! ฝนตกหนักน้ำท่วมนาข้าว-ไร่อ้อยเกษตรกรบุรีรัมย์ เสียหายกว่า 1,000 ไร่

ฝนตกหนักต่อเนื่อง และน้ำเหนือจากโคราชไหลมาสมทบ ส่งผลให้น้ำท่วมขังนาข้าวและไร่อ้อย 10 ตำบลใน อ.หนองกี่ เน่าเสียหายกว่า 1,000 ไร่ เกษตรกรถึงกับร่ำไห้หมดตัว วันนี้ ( 29 พ.ค.)

         บุรีรัมย์- ฝนตกหนักต่อเนื่อง และน้ำเหนือจากโคราชไหลมาสมทบ ส่งผลให้น้ำท่วมขังนาข้าวและไร่อ้อย 10 ตำบลใน อ.หนองกี่ เน่าเสียหายกว่า 1,000 ไร่ เกษตรกรถึงกับร่ำไห้หมดตัว ทั้งกู้เงินมาลงทุนซื้อพันธุ์ ปุ๋ย ค่าจ้างไถ รายละ 2-3 แสน แต่ถูกน้ำท่วมเสียหายในพริบตา วอนภาครัฐช่วยเหลือ

               วันนี้ (29 พ.ค.) หลังเกิดฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องครอบคลุมหลายพื้นที่ของจังหวัดบุรีรัมย์ ประกอบกับน้ำเหนือจากจังหวัดนครราชสีมาไหลมาสมทบ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังพื้นที่นาข้าวของเกษตรกรที่ลงมือไถหว่านไว้เมื่อช่วงเดือนเมษายน และต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ในพื้นที่ 10 ตำบลของอำเภอหนองกี่ได้รับความเสียหายสิ้นเชิงแล้วกว่า 600 ไร่

        นอกจากนั้น น้ำยังเอ่อท่วมขังไร่อ้อยของเกษตรกร ทั้งที่ปลูกใหม่ และอ้อยตอ 2 ที่มีอายุประมาณ 3-4 เดือนจนเน่าเสียหายอีกกว่า 400 ไร่ ถึงแม้เกษตรกรหลายรายจะพยายามขุดร่องระบายน้ำ และใช้เครื่องสูบน้ำออก แต่จากปริมาณฝนที่ตกลงมาสมทบอย่างต่อเนื่องทำให้น้ำท่วมขังเป็นวงกว้าง ไม่สามารถที่จะระบายออกได้ จนเกิดน้ำท่วมขังทั้งนาข้าวและไร่อ้อยเป็นเวลานานร่วมเดือนแล้ว

               โดยระดับน้ำที่ท่วมนาข้าวและไร่อ้อยเฉลี่ย 50 เซนติเมตรถึง 1 เมตร สร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวนา และเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยเป็นอย่างมาก เพราะต้องลงทุนในการทำนาเฉลี่ยไร่ละ 5,000 บาท ปลูกอ้อยไร่ละ 8,000 บาท ซึ่งหลายรายต้องไปกู้ยืมเงินมาลงทุนซื้อพันธุ์ข้าว อ้อย ปุ๋ย ค่าจ้างไถรายละ 2-3 แสนบาท แต่กลับต้องมาถูกน้ำท่วมเน่าเสียหายในพริบตา

               จึงอยากวิงวอนให้หน่วยงานภาครัฐได้เร่งเข้ามาสำรวจช่วยเหลือด้วย เพราะบางรายถูกน้ำท่วมเสียหายทั้งหมด

        นางอาริสา ฤษกกระโทก อายุ 42 ปี เกษตรกร ต.ทุ่งกระตาด อ.หนองกี่ กล่าวทั้งน้ำตาว่า ปีนี้ได้กู้ยืมเงินโรงงานน้ำตาล และ ธ.ก.ส.มาลงทุนปลูกอ้อย และทำนากว่า 400,000 บาท แต่ขณะนี้ได้ถูกน้ำท่วมนาข้าวเสียหายไปแล้ว 16 ไร่ จากทั้งหมด 40 ไร่ ส่วนอ้อยเสียหายแล้วกว่า 40 ไร่ จากทั้งหมด 200 ไร่ หากยังมีฝนตกลงมาต่อเนื่องอาจถูกน้ำท่วมเสียหายมากกว่านี้

               จากผลกระทบที่เกิดขึ้นอยากให้หน่วยงานภาครัฐเข้ามาสำรวจและหาแนวทางช่วยเหลือด้วย เพราะหากผลผลิตเสียหายหมดแล้วไม่รู้จะหาเงินที่ไหนไปใช้หนี้

        ด้าน นายชานนท์ เข็มรัมย์ ประธานอาสาสมัครเกษตร จ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า หลังได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่าเกิดน้ำท่วมนาข้าว และไร่อ้อยของเกษตรกรในพื้นที่ อ.หนองกี่ เป็นวงกว้าง ได้ร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบเบื้องต้นพบว่ามีนาข้าวและไร่อ้อยถูกน้ำท่วมกระจายใน 10 ตำบล ได้รับความเสียหายแล้วกว่า 1,000 ไร่ โดยสาเหตุนอกจากฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องแล้ว สาเหตุสำคัญคือมีการก่อสร้างถนนกีดขวางทางน้ำ ไม่มีการวางท่อระบายน้ำ หรือท่อลอดที่ได้มาตรฐาน เมื่อมีฝนตกหนักติดต่อกันก็ทำให้เกิดน้ำท่วมขังพื้นที่การเกษตรของเกษตรกรได้รับความเสียหายดังกล่าว

               จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาสำรวจและหาแนวทางแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้น และระยะยาว เพราะเมื่อปี 2554 และปี 2555 เกิดปัญหาน้ำท่วมพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายจำนวนมากเช่นกัน

จาก http://manager.co.th วันที่ 29 พฤษภาคม 2560

เกษตรฯเตรียมชงครม.ของบฯพัฒนาพื้นที่ผ่าน ศพก. 882 ศูนย์ ทั่วประเทศ

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยนโอกาสมอบนโยบายให้กับประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) 9 จังหวัดภาคเหนือ จำนวนกว่า 200 คน ในการฝึกอบรมหลักสูตรเทคนิคการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงภาคการเกษตร ครั้งที่ 5 จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เล็งเห็นถึงความสำคัญของผู้ที่ทำหน้าที่ประธาน ศพก. 882 ศูนย์ ในการดึงภาคประชาชนมาเป็นแกนหลักในการพัฒนาภาคการเกษตร สู่ความยั่งยืน โดยเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบโครงการ 9,101 (9-10-1) ตามรอยพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อขอสนับสนุนงบประมาณสำหรับพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน โดยผ่าน ศพก. วางเป้า 9,101 ชุมชน ใน 77 จังหวัด

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวด้วยว่า รัฐบาลมีนโยบายในการปฏิรูปภาคการเกษตร รวมทั้งการพัฒนาประเทศในระยะยาว ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในพระบาทพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ร.9) เป็นพื้นฐานในการพัฒนาภาคการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงวางเป้าใช้ ศพก. 882 ศูนย์ เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาภาคการเกษตร โดยการนำนโยบายต่างๆ เข้าไปที่เกษตรกรโดยตรง เพื่อสร้างการรับรู้ สะท้อนปัญหาจากพื้นที่ และให้เกษตรกรเรียนรู้การวิเคราะห์ปัญหาในพื้นที่ โดยรัฐบาลและหน่วยงานรัฐ จะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงและสนับสนุน ทำให้เกิดการพัฒนาภาคการเกษตรอย่างยั่งยืนต่อไป

ทั้งนี้ศพก.และเครือข่ายเกษตรกร จะร่วมกับทุกหน่วยงานของรัฐ ในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ เพื่อให้สอดคล้องกับสินค้าหลัก และเหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ ตามหลัก Zoning และศพก.จะเป็นช่องทางการเรียนรู้ผ่านเกษตรกรต้นแบบ แปลงเรียนรู้ หลักสูตรการเรียนรู้ และ ฐานการเรียนรู้ เพื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนของตนเองต่อไป

นายสมชาย  ชาญณรงค์กุล  อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร  กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับ ศพก. ทั่วประเทศ ในการสร้างความเข็มแข็งและความเชื่อมั่นให้กับรัฐบาล ว่าเกษตรกรมีความพร้อมที่จะเป็นแกนนำภาคการเกษตรในชุมชนได้  กรมส่งเสริมการเกษตร ได้จัดหลักสูตรอบรม ให้กับ เกษตรกรต้นแบบเจ้าของ ศพก. ทั่วประเทศ ทั้ง 882 คน โดยมีหลักสูตร “เทคนิคการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงภาคเกษตร” และการเตรียมตัวสู่ ไทยแลนด์ 4.0 และ เกษตร 4.0 เพื่อให้มีทักษะและองค์ความรู้ในการถ่ายทอด การจัดอบรมจะดำเนินการไปตามภูมิภาค ทั่วประเทศ ซึ่งหลังจากรับฟังนโยบายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วันนี้ เกษตรกรต้นแบบ ศพก. จะต้องตั้งคณะกรรมการชุมชน จำนวน 9,101 ชุมชน ประกอบด้วย ประธานศพก. ผู้แทน ศพก. Smart Famer ฯลฯ เพื่อเตรียมความพร้อมในการปฏิรูปภาคการเกษตร ต่อไป

จาก http://www.naewna.com วันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 

เยอรมนีดึงไทยร่วมงานประชุมนานาชาติ ‘International Green Week’ที่เบอร์ลิน-เกษตรฯจีบแลกเปลี่ยนนวัตกรรม

นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า นายแบร์น อูโด ฮาฮ์น รองปลัดกระทรวงอาหารและการเกษตรเยอรมนี ได้เดินทางเข้าพบพร้อมกับมีการหารือเกี่ยวกับงานประชุมระดับนานาชาติว่าด้วยอาหารและการเกษตร (Global Forum for Food and Agriculture : GFFA) ซึ่งจะจัดคู่ขนานระหว่างการจัดงาน International Green Week 2018 ระหว่างวันที่ 19-28 มกราคม 2561 ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี โดยทางการเยอรมนีได้เชิญกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้าร่วมการจัดแสดงคูหา พร้อมทั้งเชิญ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วมการประชุม GFFA เพื่อหารือในประเด็นที่เป็นคำถามสำคัญระดับโลกเกี่ยวกับอนาคตของอุตสาหกรรมเกษตร โดยการประชุมจะประกอบด้วยผู้แทนจากหลากหลายสาขา ทั้งสาขาการเมือง ธุรกิจ วิทยาศาสตร์ และสังคม เพื่อร่วมแบ่งปันความคิดเห็นต่อนโยบายด้านการเกษตรในปัจจุบัน โดยระหว่างการสัมมนา GFFA ดังกล่าว จะมีการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านการเกษตรควบคู่ภายใต้การสัมมนา ซึ่งเป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านการเกษตร

นอกจากนี้ เยอรมนี ยังได้ขอทราบถึงนโยบายการปรับโครงสร้างด้านการเกษตรของไทย เพื่อก้าวเข้าสู่ “เกษตร 4.0W และความร่วมมือด้านความปลอดภัยทางอาหาร ขณะที่ฝ่ายไทยได้หารือถึงความร่วมมือแบบบูรณาการด้านการเกษตรร่วมกับเยอรมนี เนื่องจากเยอรมนีเป็นประเทศที่เป็นผู้นำด้านการผลิตสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีสูง ทั้งในด้านเครื่องจักรการเกษตร นวัตกรรมเทคโนโลยีพลังงานทดแทน การผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่มีคุณภาพ หากทั้งสองประเทศได้ร่วมมือกันในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตร ในเชิงของการพัฒนาสินค้าเกษตรของไทยตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และการเลือกเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ก็จะช่วยยกระดับขีดความสามารถของไทยไปสู่การผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม แก้ไขปัญหากลไกการตลาด สร้างศักยภาพการแข่งขันให้กับ SMEs ไทย และสามารถต่อยอดไปสู่การค้าต่อไปในอนาคต ซึ่งในรายละเอียดได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ของทั้งสองฝ่ายได้หารือกันต่อไป

นอกจากนี้ ยังได้แจ้งให้ทางเยอรมนีได้ทราบถึงการดำเนินงานของกรมประมงเพื่อต่อต้านการใช้แรงงานผิดกฎหมายและการใช้แรงงานเด็ก ซึ่งประเทศไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลไทยได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหาการประมงผิดกฎหมายเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งทางเยอรมนีได้รับทราบถึงความตั้งใจจริงในการแก้ไขปัญหาของไทย และจะแจ้งให้หน่วยงานในสหภาพยุโรปรับทราบต่อไป

จาก http://www.naewna.com วันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 

กรมชลฯยันน้ำเหนือไม่กระทบคน หลัง 31 พ.ค.ฝนอ่อนกำลังเข้าพม่าแทน

นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ปัญหาน้ำท่วมในเขตกรุงเทพฯ เกิดจากฝนตกหนักในพื้นที่ ทำให้มีน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำหลายแห่ง เนื่องจากระบายน้ำไม่ทัน กรมชลฯได้มุ่งบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ตอนบน เพื่อไม่ให้มีผลกระทบกับกรุงเทพฯ ซึ่งมีระบบทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออก มีคันกั้นน้ำรอบปริมณฑลและกรุงเทพฯ โดยระบายน้ำออกไปแม่น้ำท่าจีนและบางปะกง การที่พื้นที่ได้รับผลกระทบเกิดจากฝนตกในปริมาณมากและทางระบายน้ำไม่สามารถรองรับได้ทัน ทั้งนี้ ปริมาณน้ำที่จะไหลผ่านกรุงเทพฯและปริมณฑล สามารถรับได้สูงสุด 3,500 ลบ.ม./วินาที

สำหรับแผนการบริหารน้ำบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำสายหลักยังอยู่ในเกณฑ์ดี ปัญหาน้ำท่วม 15 จังหวัด ส่วนใหญ่เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว แต่ยังคงเหลือ 1 จังหวัด บริเวณพื้นที่ อ.คีรีมาศ จ.สุโขทัย ที่ยังมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำการเกษตร ภาพรวมพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ยังคงเฝ้าระวังพื้นที่ลุ่มต่ำที่อยู่ติดกับเเม่น้ำยมสายหลัก (ฝั่งซ้าย) ที่อาจเกิดภาวะล้นตลิ่ง ที่ระบายมาจากพื้นที่ อ.คีรีมาศ จ.สุโขทัย จึงขอให้ประชาชนติดตามการเเจ้งเตือนอย่างใกล้ชิด

ส่วนปริมาณน้ำ 4 เขื่อนหลัก ประกอบด้วย เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน และป่าสักชลสิทธิ์ ณ วันที่ 29 พฤษภาคม มีปริมาณน้ำรวม 4,222 ล้าน ลบ.ม. ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ซึ่งในปีนี้เขื่อนภูมิพลมีศักยภาพรับน้ำได้มากกว่าเกณฑ์เฉลี่ยความจุอ่างคิดเป็น 42% หากเทียบกับปีที่เเล้วในช่วงเวลาเดียวกันอยู่ที่ 30% ยังสามารถรองรับน้ำได้อีกถึง 7,741 ล้านลบ.ม. อย่างไรก็ดี กรมชลประทานได้ประสานกับการไฟฟ้าฯในการระบายน้ำออกบางส่วนเพื่อความสมดุล

 “แม่น้ำเจ้าพระยาและเเม่น้ำสายหลักอื่นๆ ระดับน้ำยังต่ำกว่าตลิ่งและสามารถรับน้ำได้อีกมาก กรมชลฯได้กำชับทุกพื้นที่โครงการสำรวจเเละติดตั้งเครื่องสูบน้ำในจุดเสี่ยงและเร่งระบายน้ำในพื้นที่ท่วมขัง ส่วนพื้นที่ กทม.เนื่องจากตกหนักทำให้ระบายไม่ทัน แต่มวลน้ำเหนือจะไหลลงสู่บางไทรก็ยังสามารถรองรับน้ำได้สูงสุด 3,500 ลบ.ม./วินาที หลายพื้นที่ก็เข้าสู่ภาวะปกติเเล้ว” นายสัญชัยกล่าว

น.ส.โสธรัตน์ อินสว่าง นักอุตุนิยมวิทยาชำนาญการพิเศษ กรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า ช่วงวันที่ 29-30 พฤษภาคม ประเทศไทยยังคงมีฝนตกหนักถึงหนักมากในบางพื้นที่ อาทิ  แม่ฮ่องสอน ตาก กำแพงเพชร พิษณุโลก นครราชสีมา สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ราชบุรี สมุทรสงคราม สุพรรณบุรี อุทัยธานี ชัยนาท นครสวรรค์ ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ รวมถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑลจะมีฝนตกต่อเนื่อง. แต่หลังจากวันที่ 31 พฤษภาคม ปริมาณฝนจะอ่อนกำลังลงตามลำดับ โดยฝนจะค่อยๆ อ่อนกำลังลงไปสู่ประเทศพม่า

จาก https://www.matichon.co.th วันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 

“อุตตม”ชงครม. 30 พ.ค. เคาะแผนอุตฯ4.0

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงเตรียมเสนอแนวทางขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0 ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 30 พฤษภาคมนี้ เพื่อให้เห็นชอบกรอบการดำเนินงาน ภายใต้แผนที่จะนำเสนอประกอบด้วย ความร่วมมือกับประเทศผู้นำอุตสาหกรรม 4.0 ของโลก คือ ญี่ปุ่น และเยอรมนี โดยระหว่างวันที่ 4-8 มิถุนายน จะมีการเดินทางไปลงนามความบันทึกความเข้าใจกับกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (เมติ) ของญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรม แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และพัฒนาบุคลากรร่วมกัน

นอกจากนี้ในแผนขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0 จะเสนอแผนการปรับโครงสร้างสถาบันเครือข่ายภายใต้กระทรวง เพื่อให้สอดคล้องกับการยกระดับอุตสาหกรรม 4.0 โดยเฉพาะสถาบันเพิ่มผลผลิต ศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต และสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ร่วมกันจัดตั้งสถาบันขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0 แห่งชาติ โดยอยู่ระหว่างศึกษาว่าจะให้ทั้ง 3 หน่วยงานยุบรวมกันเป็นสถาบันแห่งนี้ หรือจะให้ทั้ง 3 หน่วยงานร่วมกันจัดตั้งและดูแล คาดว่าจะมีความชัดเจนในเชิงปฏิบัติช่วงกลางปีนี้

จาก https://www.matichon.co.th วันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 

เอกชนหวั่นค่าเงินบาทแข็ง ทุบส่งออกไตรมาส 4 เตรียมถกแบงก์ชาติ ออกมาตรการป้องกัน

น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก เปิดเผยว่า การส่งออกเดือนเม.ย.2560 มีมูลค่า 16,864 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 8.49% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ขณะที่มูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทเท่ากับ 581,717 ล้านบาท ขยายตัว 7.75% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้การส่งออก 4 เดือนแรกของปี 2560 มีมูลค่า 73,320.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโต 5.69% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

“สภาผู้ส่งออกยังคาดการณ์ว่าการส่งออกของไทยปีนี้ จะเติบโตประมาณ 3.5% เนื่องจากราคาส่งออกสินค้าของไทยมีปัจจัยบวกจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลกประมาณ 25% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ทำให้สินค้ากลุ่มที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น อาทิ น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก และยังส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกหลายรายการมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นไปในทิศทางเดียวกัน นอกจากนี้ยังได้รับปัจจัยบวกจากปริมาณฝนที่ตกอย่างต่อเนื่อง มีปริมาณเหมาะสมสำหรับทำการเกษตรในช่วงฤดูร้อน ทำให้คาดการณ์ว่าปริมาณผลผลิตทางการเกษตรจะมีปริมาณเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มูลค่ารวมการส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นด้วย” น.ส.กัณญภัคกล่าว

น.ส.กัณญภัคกล่าวว่า สำหรับปัจจัยที่น่าเป็นห่วงและยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดคือ แนวทางการรับมือการแข็งค่าของสกุลเงินบาทเมื่อเทียบกับคู่แข่งสำคัญ ที่จะส่งผลต่อต้นทุนและขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกไทย ความเสี่ยงจากสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศและการก่อการร้าย และความเสี่ยงจากข้อกีดกันทางการค้าทั้งจากประเทศคู่ค้าสำคัญและตลาดใหม่ ปัญหาการขาดแคลนตู้บรรจุสินค้าสำหรับการส่งออก เนื่องจากผู้ประกอบการสายเรือปรับลดการส่งตู้สินค้า ปริมาณสินค้าคงคลังของประเทศคู่ค้าที่เพิ่มสูงขึ้นจากการสั่งซื้อสินค้าในช่วงปลายปี 2559 ถึงช่วงต้นปี 2560 ทำให้มีการสั่งซื้อสินค่าลดลงในช่วงไตรมาส 3 ปัจจัยด้านเศรษฐกิจในตลาดคู่ค้าหลัก อาทิ ผลกระทบจากการบอยคอตของจีนต่อเกาหลีใต้ และโอกาสในการทำตลาดของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี)

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การส่งออกในช่วงไตรมาส 3 ค่อนข้างจะนิ่ง เนื่องจากในประเทศอยู่ในช่วงฤดูร้อน อาจจะไม่มีการทำธุรกรรมมากนัก โดยคาดว่าจะเริ่มเห็นสัญญาณการส่งออกกลับมาเติบโตดีในช่วงไตรมาส 4 สิ่งที่ทางสรท. ยังคงเป็นกังวลในขณะนี้คือถ้าหากค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าเรื่อยๆ ผู้ส่งออกอาจจะยังไม่ได้ปิดรายการ (ออร์เดอร์) การสั่งซื้อสินค้า ในช่วงไตรมาสสุดท้ายราคาสินค้าอาจจะเพิ่มสูงขึ้น

ดังนั้นทางสรท. คาดว่าจะเข้าไปพบธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในช่วง 1-2 สัปดาห์หลังจากนี้ เพื่อรายงานสถานการณ์ส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินแข็งค่าขึ้น โดยเฉพาะหากเกิดเหตุการณ์อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ระดับต่ำกว่า 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะมีผลต่อการรับออร์เดอร์สินค้าในช่วงไตรมาส 4 ต้องชะลอออกไป เพราะผู้ประกอบการเองก็ยังต้องเฝ้าระวังว่าค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นหรือไม่

พร้อมกันนี้อยากให้ทางธปท. ช่วยดูว่าจะมีมาตรการอะไรออกมาหรือไม่ เพราะห่วงว่าค่าเงินบาทที่แข็งค่าเร็วหรือขึ้นครั้งละ 50 สตางค์ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา มีเงินทุนไหลเข้ามาผิดปกติหรือไม่ เป็นการลงทุนเรียลเซ็กเตอร์หรือการลงทุนในระยะยาวหรือไม่

จาก https://www.khaosod.co.th  วันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 

น้ำตาลบุรีรัมย์ฟุ้งQ2พุ่ง จ่อลงทุนรุกธุรกิจเกี่ยวเนื่องทั้งเอทานอล-ไฟฟ้า  

         น้ำตาลบุรีรัมย์เผยรายได้ไตรมาส2พุ่งต่อ รับอานิสงส์ราคาน้ำตาลโลกสูง ตั้งเป้าทั้งปีโต30% ดึงบริษัทน้ำมันร่วมลงขันตั้งโรงงานผลิตเอทานอลและรุกโรงไฟฟ้าชีวมวล

               นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด(มหาชน)(BRR) เปิดเผยว่าผลการดำเนินงานไตรมาส2/2560 คาดว่ามีรายได้เติบโตเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้1.21พันล้านบาทค่อนข้างมาก แม้ว่าจะมีปริมาณการส่งออกน้ำตาลในไตรมาสนี้อยู่ที่ 4หมื่นตันใกล้เคียงปีก่อน แต่ราคาส่งออกน้ำตาลทรายดิบปรับสูงขึ้นมาอยู่ที่ 23เซนต์/ปอนด์ ทำให้ทั้งปีบริษัทคาดว่าจะมีรายได้โตขึ้น30%จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 4.68 พันล้านบาท

               พร้อมกับวางเป้าหมายปริมาณการหีบอ้อยฤดูการผลิตปี 2560/61 เพิ่มขึ้นมาแตะ 2.8 ล้านตัน ทำให้ได้ผลผลิตน้ำตาลประมาณ 3.22 แสนตัน เพิ่มขึ้นจากปริมาณการหีบอ้อยฤดูการผลิตปี2559/60 อยู่ที่2.2ล้านตัน มีปริมาณน้ำตาล 2.51 แสนตัน

               ส่วนความคืบหน้าการตั้งโรงงานผลิตน้ำตาลทรายบริสุทธิ์(refinery sugar ) ขนาดกำลังผลิต 1-1.2พันตัน/วัน เงินลงทุน 1.5พันล้านบาทนั้น คงต้องเลื่อนออกไปก่อนจากเดิมที่จะเริ่มก่อสร้างแล้วเสร็จในปีนี้ เพราะจะรอให้กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานกลุ่มโรงไฟฟ้าน้ำตาลบุรีรัมย์(BRRGIF)ออกจำหน่ายก่อนเพื่อจะนำเงินมาใช้ในการลงทุน รวมทั้งดูแนวโน้มมาร์จินของน้ำตาลบริสุทธิ์ หลังจากทางยุโรปที่เคยเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลบริสุทธิ์รายใหญ่จะกลับมาส่งออกน้ำตาลบริสุทธิ์ได้อีกครั้ง คาดว่าโครงการนี้จะมีความชัดเจนในปีนี้

               นอกจากนี้ บริษัทยังได้หารือกับบริษัทน้ำมันเพื่อร่วมทุนตั้งโรงงานผลิตเอทานอล จากโมลาส ขนาด1.5-2 แสนลิตร/วัน ใช้เงินลงทุน 1พันบาทหลังจากพบว่าความต้องการใช้เอทานอลในประเทศยังมีต่อเนื่อง และไม่น่าจะได้รับผลกระทบจากแนวโน้มการใช้รถยนต์ไฟฟ้า

               บริษัทเตรียมเสนอขายไฟฟ้าตามโครงการวีเอสพีพี ไฮบริด ที่รัฐจะรับซื้อในช่วงไตรมาส3นี้ โดยจะนำโรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งที่ 3 กำลังผลิตติดตั้ง 9.9 เมกะวัตต์เข้าร่วมโครงการด้วย

               นายอนันต์ กล่าวถึงแผนการตั้งโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่อีก2โรงที่บุรีรัมย์และสุรินทร์ เงินลงทุนโรงละ 5พันล้านบาทว่า บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตร2-3รายทั้งญี่ปุ่น และจีนให้เข้ามาร่วมทุน โดยพันธมิตรร่วมทุนจะเป็นผู้ส่งออกน้ำตาล หรือมีธุรกิจที่ใช้น้ำตาล เพื่อลดความเสี่ยงด้านราคาในการส่งออกไปต่างประเทศ โดยระหว่างนี้บริษัทจะเร่งขยายพื้นที่เพาะปลูกอ้อย รวมทั้งทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องใช้เวลา2ปีจึงดำเนินการก่อสร้างโรงงานใหม่ได้

               สำหรับแหล่งเงินทุนนั้นจะมาจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ หรือ BRRGIF มูลค่าราว 3.6พันล้านบาท ขณะนี้ได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พิจารณาแล้วคาดว่าจะสามารถระดมทุนได้ภายในก.ค.นี้  โดยเม็ดเงินที่ได้จะนำมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและต่อยอดธุรกิจน้ำตาลทราย

 จาก http://manager.co.th วันที่ 29 พฤษภาคม 2560

อ่วม! น้ำขังไร่อ้อยอุตรดิตถ์นานนับสัปดาห์ เหตุ อบต.ดงคู่ ปิดทางระบายน้ำ

เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านในพื้นที่ ต.ข่อยสูง อ.ตรอน จ.อุตรดิตถ์ กลังเดือดร้อนอย่างหนักกับปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ปลูกอ้อยทั้งตำบลหลายพันไร่ หลังเกิดฝนตกหนักติดต่อกันหลายวันเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ไร่อ้อยเริ่มเน่าเสียหาย ซึ่งปกติอ้อยจะไม่ต้องการน้ำฝนหรือน้ำมากไรนัก แต่ปีนี้กลับเกิดน้ำท่วมขังนานนับสัปดาห์แล้ว ซึ่งปกติแล้วแม้ฝนจะตกลงมาปริมาณมากแค่ไหนก็ไม่เกิดน้ำท่วมขัง มีเพียงบางพื้นที่ที่เกิดน้ำหลากเท่านั้น จากนั้นก็จะระบายออกไปทางที่ลุ่มต่ำอีกฝั่งของถนนซึ่งเป็นพื้นที่ของ ต.ดงคู่ อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย ที่มีพื้นที่ติดกันแต่มีเพียงถนนเท่านั้นที่กั้นแบ่งเขตเอาไว้ จึงไม่ทำให้น้ำท่วมในพื้นที่ ต.ดงคู่ เหมือนกับปีนี้

ชาวบ้าน หมู่ 6 ต.ข่อยสูง กล่าวว่า ทุกปีแม้จะเกิดฝนตกหนักปริมาณมากแค่ไหนก็ไม่เกิดน้ำท่วมขังเลย มีเพียงน้ำหลากเล็กน้อยไม่กี่ชั่วโมงก็แห้งแล้ว แต่ปีนี้ไม่ทราบด้วยเหตุผลใด องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ดงคู่ ให้เจ้าหน้าที่มาทำการปิดท่อระบายน้ำหลายจุด เพื่อไม่ให้น้ำจากพื้นที่ ต.ข่อยสูงไหลผ่านเข้าไปในพื้นที่ ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่า น้ำในพื้นที่ ต.ข่อยสูง อาจจะเข้าไปท่วมในพื้นที่ ต.ดงคู่ ทาง อบต.ดงคู่จึงปิดท่อระบายน้ำ จึงทำให้น้ำไม่สามารถระบายออกไปได้ จึงเกิดน้ำท่วมขังพื้นที่ปลูกอ้อยเสียหายดังกล่าว แม้จะมีความพยายามเจรจาเพื่อขอให้เปิดท่อระบายน้ำแต่ก็ไม่เป็นผลแต่อย่างใด จึงอยากให้ทางราชการเข้ามาดูแลปละแกไขปัญหาให้กับชาวบ้านด้วย เพราะเวลานี้ไร่อ้อยเสียหายแล้ว ย่อมหมายถึงเงินที่ลงทุนไปสูญไปโดยไม่สามารถเอาคืนมาได้

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 

นายแบงก์เตือนผู้ประกอบการรับมือเงินบาทผันผวนหนัก

        นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ขณะนี้ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐปรับตัวผันผวนรุนแรง และแข็งค่าขึ้นอยู่เหนือความคาดหมายอย่างมาก โดยจากต้นปีนี้ศูนย์วิจัยฯ เคยคาดว่าค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงไปที่ 36.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่ในความจริงค่าเงินบาทกลับแข็งค่าขึ้นมาที่ 34 บาทดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหลังจากนี้ มองว่าค่าเงินบาทจะผันผวนแรงต่ออีก จึงขอเตือนให้ผู้ประกอบการที่ค้าขายกับต่างประเทศ ทั้งผู้ส่งออก และนำเข้าระมัดระวังอัตราแลกเปลี่ยน และควรไปทำประกันความเสี่ยงเพิ่มขึ้น

               ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาศูนย์วิจัยปรับประมาณการณ์อัตราแลกเปลี่ยนมาแล้ว 2 รอบ จากเดิมต้นปีเคยมองว่าอ่อนค่าที่ 36.5 บาทต่อดอลลาร์ แต่ต่อมาได้ปรับให้แข็งค่าขึ้นเป็น 35.7 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และล่าสุดเพิ่งปรับประมาณการณ์มาอยู่ 34.5 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากเดิม 1 บาทเศษ ซึ่งถือว่าค่อนข้างเยอะ เนื่องจากมองว่าการเคลื่อนไหวของค่าเงินดอลลาร์มีหลายปัจจัยเหนือการควบคุม และศูนย์วิจัยฯ ก็ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าต่อไปจะมีอะไรมากระทบอัตราแลกเปลี่ยนอีกหรือไม่

               สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทในสัปดาห์หน้า ประเมินค่าเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าได้ต่อที่ 33.85-34.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หลังจากสัปดาห์ที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่าสุดในรอบ 22 เดือนใกล้ระดับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ท่ามกลางแรงหนุนจากกระแสเงินทุนไหลเข้า โดยเฉพาะในส่วนของตลาดพันธบัตรที่นักลงทุนต่างชาติมีสถานะซื้อสุทธิถึง 1.33 หมื่นล้านบาท ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์เงินทุนหมุนเวียนในตลาดการเงินไทย ขณะที่ประเด็นสำคัญจากฝั่งสหรัฐฯ น่าจะอยู่ที่สัญญาณเกี่ยวกับจังหวะการขึ้นดอกเบี้ยจากถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด และตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ อาทิ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร เครื่องชี้ตลาดแรงงาน  ยอดทำสัญญาซื้อบ้านที่รอปิดการขาย ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐาน 

จาก http://manager.co.th วันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 

กรอ.เร่งจัดโซนนิ่งพื้นที่อุตฯอีอีซี เริ่ม3จังหวัดก่อน

นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมฯกำลังดำเนินโครงการศึกษาพัฒนาโซนนิ่งพื้นที่อุตสาหกรรม เพื่อรองรับการลงทุนในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ที่รัฐบาลกำหนดเป็นระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยอยู่ระหว่างจัดทำเงื่อนไข หลักเกณฑ์ และข้อกำหนดพื้นที่ส่งเสริมอุตสาหกรรม มุ่งเน้นการศึกษาและพัฒนาอุตสาหกรรมในกลุ่มซุปเปอร์ คลัสเตอร์ และ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งการดำเนินงานจะใช้การวิเคราะห์ข้อมูลด้วยระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (จีไอเอส) เทคนิคการวิเคราะห์ศักยภาพพื้นที่ (พีเอสเอ) และเทคนิคที่ใช้ในการวิเคราะห์ศักยภาพความพร้อมของพื้นที่ โดยการศึกษาได้ให้ความสำคัญกับการรับฟังความคิดเห็นจากพื้นที่ด้วย

สำหรับรายละเอียดโครงการ จะเน้นศึกษาการจัดทำฐานข้อมูลอุตสาหกรรมในพื้นที่เป้าหมายโดยให้ครอบคลุมทุกปัจจัยในการพัฒนาอุตสาหกรรมและพัฒนาเมือง อาทิ ด้านข้อมูลศักยภาพของพื้นที่อุตสาหกรรม ข้อมูลด้านอุปสงค์และอุปทานของระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งในส่วนสนับสนุนการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและการพัฒนาเมืองเพื่อส่งเสริมและพัฒนาให้เกิดพื้นที่อุตสาหกรรมที่เหมาะสมในจังหวัดเป้าหมาย มีโครงข่ายคมนาคม ขนส่งและโครงสร้างพื้นฐานที่มีผลต่อภาคการผลิต การค้า การลงทุน เพื่อให้เกิดการบูรณาการในการใช้พื้นที่ ลดต้นทุนด้านโลติสติกส์

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 

นายกไร่อ้อยสระแก้ว แฉจนท.ปราจีน เรียกเก็บส่วยแรงงานเขมรหัวละ 3 หมื่น แถมเก็บรายเดือนอีก 500

นายก ไร่อ้อยสระแก้ว แฉต่อ ต่อหน้า ประธาน สปท ด้านสังคม จนท. ปราจีน เรียกเก็บส่วย แรงงานเขมรหัวละ 3-3.5 หมื่นรายเดือนอีก หัวละ 500

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 26 พฤษถภาคม ที่ห้องประชุมบูรพา ศาลากลางจังหวัดสระแก้ว นายอโนทัย ฤทธิปัญญาวงศ์ ประธานคณะกรรมมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และคณะกรรมาธิการ ได้เดินทางไปรับฟังปัญหาแรงงานต่างด้าว ในภาคเกษตรกรรม และปัญหาอื่น ๆ ทางด้านสังคมของแรงงานต่างด้าว โดยเฉพาะแรงงานชาวกัมพูชา ในพื้นที่ จังหวัดสระแก้ว และ ปราจีนบุรี โดยมีนายกล้าณรงค์ พงษ์เจริญ ผู้ว่าร่าชการจังหวัดสระแก้ว และ หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ทั้งในจังหวัดสระแก้ว และ ปราจีนบุรี ร่วมประชุม

นายอโนทัย กล่าวว่า ทางคณะกรรมาธิการต้องการรับทราบปัญหาแรงงานต่างด้าว ในภาคการเกษตร เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหา และ จัดทำเป็นแนวทางปฎิบัติสำหรับจังหวัดอื่น ๆ ที่ติดกับแนวชายแดนต่อไป หลังจากที่ได้รับการร้องเรียนเพื่อให้ช่วยแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติ ในฤดูเก็บเกียว ซึ่งเรื่องดังกล่าวจะต้องเร่งแก้ไขโดยด่วน ก่อนที่ภาคการเกษตรจะได้รับความเสียหาย และเท่าทีมีการร้องเรียนนั้น ในส่วนของจังหวัดสระแก้ว ทางชาวไร่อ้อยต้องการที่จะขอเปิดให้มีการประทับตรา บอร์ดเดอร์พาส เข้าประเทศ ของแรงงานชาวกัมพูชา เพิ่มอีกแห่งหนึ่งคือ ที่จุดผ่านแดนชั่วคราวบ้านเขาดิน อำเภอคลองแทน เนื่องจาก แต่เดิมนั้น ทางจังหวัด อนุญาตให้มีการประทับตรา เพียงแห่งเดียว คือที่ด่านคลองลึก อำเภออรัญประเทศ แต่เนื่องจาก มีแรงงานที่ต้องการเดินทางเข้ามาทำงานเป็นจำนวนมากกว่า 2 หมื่น คน ในฤดูหีบอ้อย จึงเกิดความล่าช้า และเกิดความเสียหาย ต่อการเก็บเกี่ยว ส่งนในจังหวัดปราจีนบุรี นั้น มีปัญหา เนื่องจาก ไม่สามารถใช้แรงงานชาวกัมพูชา ที่ถือ บอร์ดเดอร์พาส หรือ หนังสือเดินทางแบบชั่วคราวได้ ในภาคการเกษตร เหมื่อ ในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว

ด้านนายมนตรี คำพล นายกสมาคมเกษตรกรชายแดน บูรพา กล่าวในที่ประชุมว่า ปัจจุบัน ทางสมาคม ต้องรับผิดชอบดูแลชาวไร่อ้อย ทั้งในเขตจังหวัดสระแก้ว ปราจีนบุรี และ จันทบุรี บางส่วน ในปีที่ผ่านมามีผลผลิตอ้อย 4.5 ล้านตัน และ จะเพิ่มเป็น 5 ล้านตัน ในปีนี้ ซึ่งจะต้องใช้แรงงานชาวกัมพูชา กว่า 2 หมื่น ส่วนในจังหวัดปราจีนบุรี มีพื้นที่ปลูกอ้อยประมาณ 7,475 ไร่ ใน 3 อำเภอ คือกบินทร์บุรี ศรีมหาโพธิ และ นาดี มีผลผลิตประมาณ 7.5 แสนตัน ต้องการใช้แรงงานต่างชาติ 2,665 คน ในปีที่ผ่านมา ทางจังหวัดสระแก้วอนุโลม ให้ใช้แรงงานกัมพูชา ประเภท ไป-กลับ ได้ แต่ต้องเข้า-ออก ตามช่องทางที่กำหนด และ อยู่ในความควบคุมอย่างเคร่งครัด แต่ในฤดูหีบปีหน้านี้ ทางรัฐบาลประกาศให้แรงงานทั้งหมด ต้องเข้าสู่ระบบ ซึ่งแรงงานทุกคนต้องมีบอร์ดเดอร์พาส สำหรับเดินทางเข้า-ออก ผ่านด่านคลองลึกซึ่งแออัดมาก เกินกว่าที่จะรองรับแรงงานกว่า 2 หมื่นคนได้

นายมนตรีกล่าวอีกว่า ในส่วนของจังหวัดปราจีนบุรี โดยเฉพาะในอำเภอกบินทร์บุรี ที่มีการปลูกอ้อยมากที่สุด นั้น ไม่สามารถจะใช้แรงงานจากกัมพูชาได้เลย ทั้งแบบไป-กลับ หรือ มีบอร์ดเดอรพาส เนื่องจากไม่ใช่จังหวัดชายแดน แต่ชาวไร่มีความจำเป็นต้องใช้แรงงาน เนื่องจากขาดแคลนแรงงานในประเทศ จึงจำเป็นต้องลักลอบใฃ้แรงงานกัมพูชาโดยผิดกฎหมาย จึงเป็นช่องทางให้ เจ้าหน้าที่ของรัฐ เข้าไปเรียกเก็บผลประโยฃน์ เพื่อแลกเปลี่ยนกับการถูกจับกุม มีการเรียกเก็บค่าหัวแรงงานชาวกัมพูชา หัวละ 3 หมื่น ถึง 3.5 หมื่น บาท และ อีกหัวละ 500 บาท ต่อเดือน หากชาวไร่มีคนงานจำนวน 300 คน จะต้องจ่ายเป็นเงินมากมาย ดังนั้นทางสมาคม จึงต้องการผลักดันให้ จังหวัดปราจีนบุรี สามรารถใช้แรงงานเขมร ที่มีบอร์ดเดอร์พาส ทำงาน ในภาคเกษตรกรรมได้ ดังเช่นจังหวัดสระแก้ว

จาก https://www.matichon.co.th วันที่ 26 พฤษภาคม 2560

คอลัมน์ เพื่อนผู้บริโภค: ยากำจัดศัตรูพืชอันตราย

          หลายคนน่าจะเคยได้ยินข่าวการผลักดันให้หน่วยงานรัฐออกกฎหมายยกเลิกการใช้สารเคมีทางการเกษตรที่เป็นอันตราย โดยมีเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) เป็นหัวเรือใหญ่ในการเดินหน้าให้ความรู้ รณรงค์ และผลักดันให้การ ลด ละ เลิก การใช้สารเคมีทางการเกษตรอันตราย เพราะมีหลักฐานทางวิชาการมากมายที่พบว่ามีฤทธิ์รุนแรงต่อสุขภาพ

          ทั้งนี้ ล่าสุดมีข่าวน่ายินดี เมื่อคณะกรรมการขับเคลื่อนปัปญหาการใช้สารเคมีป้ปองกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ที่มี รมว.สาธารณสุข เป็ปนประธาน และมีคณะทำงานประกอบด้วย นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญจากกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล มูลนิธิการศึกษาไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช มีมติร่วมกันให้ยกเลิกการใช้สารเคมี 2 ชนิดคือ "พาราควอต" และ "คลอร์ไพริฟอส" ซึ่งถูกกำหนดเป็นวัตถุอันตรายชนิด 4 ที่ไม่อนุญาตให้มีการใช้ โดยระหว่างนี้จะไม่อนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียนเพิ่ม ไม่ต่ออายุทะเบียน และต้องยุติการนำเข้าภายในวันที่ 1 ธ.ค. 2560 และยุติการใช้สารเคมีทั้งสองตัวในวันที่ 1 ธ.ค. 2562

          "พาราควอต" จัดเป็นยาพิษที่มีความรุนแรงไม่สามารถหายาถอนพิษได้ โดย 47 ประเทศทั่วโลกยกเลิกการใช้แล้ว ส่วน "คลอร์ไพริฟอส" ทำให้เกิดความผิดปกติด้านพัฒนาสมอง ไอคิวเด็กลดลง สมาธิสั้นกระทบต่อระบบต่อมไร้ท่อ การเจริญเติบโต และเสี่ยงเป็นโรคพาร์กินสันขณะนี้มีการให้กรมวิชาการเกษตรออกให้ความรู้กับเกษตรกร เพื่อขอให้ลดปริมาณการใช้และยกเลิกการใช้ในที่สุด ทั้งนี้ ที่ผ่านมาพบว่ามีการนำเข้าพาราควอตมากถึง 128 บริษัท และคลอไพริฟอสถึง 81 บริษัท

          นอกจากนี้ ก็เตรียมออกหลักเกณฑ์กำหนดพื้นที่การใช้ยากำจัดศัตรูพืชไกลโคเสต ซึ่งเป็นยาฆ่าหญ้าที่องค์การอนามัยโลกกำหนดให้เป็นสารที่อาจก่อมะเร็งมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรค 22 โรค โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะหารือ เพื่อกำหนดโซนการใช้ยาอย่างเข้มงวด เช่น งดใช้ในพื้นที่ใกล้โรงพยาบาล โรงเรียนศูนย์เด็กเล็ก ฯลฯ

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 26 พฤษภาคม 2560

ดึง30บิ๊กระดับโลกเข้าอีอีซี รัฐเปิดนโยบายเอื้อเต็มสูบ

          นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินโครงการอีอีซี ว่า ภายในเดือน เม.ย. 61 คาดว่า จะมีนักลงทุน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายจากทั่วโลก ตัดสินใจลงทุนในพื้นที่อีอีซีประมาณ 30 ราย ซึ่งเป็นรายใหญ่ระดับโลก เบื้องต้นขณะนี้ มีเอกชน 6 ราย แสดงความสนใจเข้ามาลงทุนแล้ว ส่วนใหญ่เป็นกิจการใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น กลุ่มอากาศยาน ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า อุปกรณ์การแพทย์ครบวงจร  รวมถึงอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และชิ้นส่วน หลังจากที่ไทยได้เร่งพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อดึงดูดนักลงทุน

          "ต่อไปจะเห็นภาพการลงทุนชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมาย หลังจากบางรายได้มีการลงนามในสัญญาบ้างแล้ว เช่น แอร์บัส ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจหรือเอ็มโอยู กับบมจ. การบินไทย ศึกษาตั้งศูนย์ซ่อมเครื่องบินที่สนามบินอู่ตะเภา ซาป ชิ้นส่วนอากาศยาน อาลีบาบา หรือลาซาด้า  อีคอมเมิร์ซ  ที่สัปดาห์หน้าจะมาหารือ รมว.อุตสาหกรรมในรายละเอียด  รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่โตโยต้าพร้อมขยายโรงงานและยังมีอีก 1 ราย

          ที่กำลังคุยอยู่ รวมไปถึง ฟูจิฟิล์ม อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร  ฮิราตะ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ เป็นต้น ซึ่งนี่ก็ถือว่าเริ่มต้นแต่รวมแล้วจะมี 30 ราย"

          ทั้งนี้ล่าสุดหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวส่งเสริมโครงการอีอีซี 3 ประเด็น ได้แก่ เร่งรัดการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ภายใน 1 ปี เร่งรัดอนุมัติการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน (พีพีพี) คาดว่า จะใช้เวลา 8-9 เดือน และยกเว้นบริษัทต่างชาติให้สามารถทำกิจการซ่อมบำรุงอากาศยาน โดยไม่ยึดกฎหมายเดิมเพื่อเปิดทางให้ถือหุ้นเกิน 50% ได้ ซึ่งแนวทางทั้งหมดก็จะทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นและตัดสินใจลงทุนได้ง่ายขึ้น

          "เดิมพ.ร.บ.ท่าอากาศยานของไทยกำหนดไว้ว่าอุตสาหกรรมการบินให้ไทยต้องถือหุ้น 51% แต่ขณะนี้กำลังปรับปรุงแต่ระหว่างนี้เราต้องการให้เขาตัดสินใจลงทุนเพราะเรามุ่งเน้น   เรื่องเทคโนโลยีชั้นสูง โดยตัวแอร์บัสเองไม่ได้มองเรื่องสัดส่วนหุ้นแต่บริษัทลูกของแอร์บัสที่ตามมาให้ความสำคัญ เพราะเป็นเรื่องของลิขสิทธิ์ เช่น เรื่องของใบพัดเครื่องยนต์เทคโนโลยีสูงมาก ซึ่งต่างประเทศต้องการถือหุ้นที่ มากกว่า 50% แต่เท่าใดนั้นต้องหารือกันเป็นเฉพาะราย"

          ส่วนอุตสาหกรรม อื่น ยังไม่ได้มีปัญหาเรื่องการถือหุ้นเพราะหากพิจารณาแล้วการขอส่งเสริมการลงทุนผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ สัดส่วนนี้ก็ไม่ได้มีปัญหา แต่ตัวการบินยังติดอยู่ที่พ.ร.บ.ท่าอากาศยาน ซึ่งขณะนี้กำลังแก้ไขอยู่ ส่วนมูลค่าการลงทุนจะเป็นจำนวน

          เท่าใด ขณะนี้ยังตอบไม่ได้ เพราะสิ่งที่ไทยสนใจ คือ การถ่ายทอด

          เทคโนโลยีมากกว่า ซึ่งเรื่องนี้ไม่สามารถที่จะวัดเป็นมูลค่าได้

          อย่างไรก็ตาม วันที่ 26 พ.ค.นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กรศ.) เพื่อหารือและติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานของแต่ละหน่วยงานที่ได้รับมอบหมาย โดยเฉพาะความคืบหน้าการพัฒนารถไฟทางคู่เชื่อมท่าเรือแหลมฉบัง สัตหีบ และมาบตาพุดก่อนที่จะรวบรวมแผนงานเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายอีอีซีชุดใหญ่ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อพิจารณาเห็นชอบ พร้อมลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้างาน

          ด้านต่าง ๆ ของโครงการในวันที่ 16 มิ.ย.นี้ มั่นใจว่า นโยบายการลงทุนอีอีซีนี้ ถือเป็นการลงทุนเพื่ออนาคต และเป็นการ ปรับโฉมอนาคตประเทศไทยอีกด้วย.

จาก https://www.dailynews.co.th  วันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 

ธ.ก.ส.จ่ายคืนดอกเบี้ยเกษตรกรแล้ว 2,091ล้านบาท ช่วยบรรเทาภาระหนี้สิน 961,399 ราย

ธ.ก.ส. จัด”โครงการชำระดีมีคืน”คลายปัญหาหนี้ ลดค่าใช้จ่ายให้พี่น้องเกษตรกร สร้างวินัยการเงินฐานราก ล่าสุด!จ่ายคืนดอกเบี้ยให้เกษตรกรที่มีวินัยการเงินดีแล้ว จำนวน 961,399 ราย วงเงิน 2,091ล้านบาท เดินหน้าจ่ายครบทุกรายตุลาคมนี้  ด้านเกษตรกรลูกค้าออกความเห็นมีความสุข ส่งชำระดีมีวินัยได้สิทธิพิเศษอยากให้สานต่อ

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า “ธ.ก.ส. ได้ดำเนินมาตรการส่งเสริมคุณภาพชีวิตเกษตรรายย่อยผ่าน ธ.ก.ส. ตามนโยบายรัฐบาลใน โครงการชำระดีมีคืนแก่เกษตรกรที่ไม่มีปัญหาการชำระหนี้  เพื่อเป็นการตอบแทนและสร้างกำลังใจให้กับเกษตรกรรายย่อยที่มีประวัติการชำระหนี้ดี ที่มีหนี้ ณ วันที่ 15 กันยายน 2559 ไม่เกินรายละ 300,000 บาท โดย ธ.ก.ส.จะคืนดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับเกษตรกรลูกค้าที่มาชำระหนี้ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 – 31 ตุลาคม 2560 ในอัตราร้อยละ 30 ของจำนวนดอกเบี้ยที่ชำระ การคืนดอกเบี้ยดังกล่าวในโครงการนี้จะไม่คืนเป็นเงินสด แต่จะนำไปชำระหนี้ต้นเงินกู้ที่เหลืออยู่ของสัญญาที่ชำระหนี้ หากมีจำนวนเงินเหลือหรือลูกค้าไม่มีหนี้เงินกู้คงเหลือแล้ว ธ.ก.ส.จะโอนเข้าบัญชีเงินฝากของลูกค้า”

นายอภิรมย์ กล่าวต่อว่า “ธ.ก.ส.ได้ดำเนินการจ่ายคืนดอกเบี้ยให้กับเกษตรกรลูกค้าในโครงการชำระดีมีคืนแล้ว ในเดือนเมษายน 2560 จำนวน  961,399 ราย วงเงิน 2,091,826,453 บาท สำหรับรอบต่อไปลูกค้าที่ชำระหนี้ตั้งแต่เดือนเมษายน– ตุลาคม 2560 ธ.ก.ส.จะจ่ายดอกเบี้ยคืนในเดือนตุลาคม 2560  เพื่อช่วยบรรเทาความทุกข์ร้อนด้านภาระหนี้สินให้กับเกษตรกรที่เป็นลูกค้าของ ธ.ก.ส. ที่มีประวัติการชำระดีจำนวน 2.2 ล้านราย ถือเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือน สร้างกำลังใจให้กับเกษตรกรที่มีวินัยการเงินดี ยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับเกษตรกร สร้างวินัยการเงินในระดับฐานราก ”

“โครงการชำระดีมีคืนนี้  ทางศูนย์วิจัยและพัฒนา ธ.ก.ส.ได้สรุปผลงานวิจัยและประเมินผลจากเกษตรกรในโครงการฯ พบว่า ความพึงพอใจของลูกค้าที่มีต่อโครงการมีระดับความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก โดยเกษตรกรมีคะแนนความพึงพอใจเฉลี่ย 4.07 และกลุ่มเกษตรกรและสหกรณ์มีคะแนนความพึงพอใจเฉลี่ย 3.98 จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน รวมทั้งพบว่าเกษตรกร กลุ่มเกษตรกรและสหกรณ์ ต่างเห็นพ้องกันว่าเป็นโครงการที่ดีและมีประโยชน์โดยตรงกับลูกค้า ต้องการให้มีโครงการนี้ต่อไป ธ.ก.ส.เห็นว่าโครงการนี้ช่วยตอบโจทย์ ช่วยแก้ปัญหาภาระหนี้ให้กับลูกค้าได้เป็นอย่างดี หากระบบเศรษฐกิจฐานรากของประเทศมีวินัยทางการเงินที่เข้มแข็ง จะส่งผลบวกต่อระบบเศรษฐกิจในประเทศด้วย” นายอภิรมย์กล่าว

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 

กรมชลประทานเตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนักพื้นที่ภาคกลาง

กรมชลประทานเร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เร่งระบายน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย และพิษณุโลก ลงสู่แม่น้ำยมและน่าน ย้ำหลายพื้นที่น้ำลดลงแล้ว มั่นใจสัปดาห์หน้าเข้าสู่ภาวะปกติ สั่งเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำป่าไหลหลาก และเครื่องมือ เครื่องจักร เครื่องสูบน้ำ รับมือฝนตกหนักพื้นที่ภาคกลาง 24-29 พฤษภาคมนี้

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ว่าในช่วงวันที่ 24-29 พฤษภาคม 2560 จะยังคงมีฝนตกหนัก กรมชลประทานยังได้สั่งการให้เฝ้าระวังน้ำหลาก โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณ กรุงเทพมหานคร กำแพงเพชร สุโขทัย พิษณุโลก เป็นพิเศษ รวมทั้งบริเวณพื้นที่อำเภอจอมทอง อำภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ ที่อาจมีน้ำป่าไหลหลากด้วย นอกจากนี้ยังได้เตรียมพร้อมเครื่องมือ เครื่องจักรหนัก รถขุด เครื่องสูบน้ำ เพื่อเข้าสนับสนุนพื้นที่ที่มีความเสี่ยงที่อาจจะเกิดน้ำท่วม เฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ลุ่มในเขตจังหวัดลพบุรี และจังหวัดพระนครศรีอยุธยาอีกด้วย

ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดสุโขทัยและพิษณุโลก โดยเฉพาะที่ที่อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย ยังมีมวลน้ำจากที่อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชรที่อยู่ทางด้านบนและมีความลาดชันสูง ไหลลงมาสบทบขณะนี้กรมชลประทานได้เร่งการระบายโดยใช้เครื่องสูบน้ำและขยายทางน้ำแล้ว สำหรับการแก้ไขปัญหาในช่วงเร่งด่วนนั้น กรมชลประทานได้ ตรวจสอบสิ่งกีดขวางทางน้ำ หากพบก็จะแก้ไขทันที เพื่อให้ระบายน้ำที่จากอำเภอพรานกระต่าย ถึงอำเภอคีรีมาศ ลงสู่แม่น้ำยมให้เร็วขึ้น พร้อมทั้งได้ควบคุมการระบายน้ำที่ ประตูระบายน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์ ให้ไม่เกิน 40 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ควบคุมการระบายน้ำที่ประตูระบายน้ำยางซ้าย ให้ไม่เกิน 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อเร่งระบายน้ำจากคลองสารบบและคลองสามพวงผ่านประตุระบายน้ำกม. 22 + 300 นอกจากนี้ยังได้เร่งระบายน้ำด้านท้าย ปตร.วังสะตือ โดยขณะนี้ที่ อำเภอพรานกระต่าย น้ำได้ลดลงแล้ว เพียงแต่ยังคงมีน้ำท่วมขังบริเวณที่ลุ่มต่ำแถว อำเภอคีรีมาศ แต่ระดับน้ำลดลงทุกวัน

ส่วนอีกแห่งที่ประสบปัญหาน้ำท่วมคือ ที่อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก กรมชลประทานทำการระบายน้ำออกทางแม่น้ำน่านให้มากขึ้น เนื่องจากในช่วงหน้าแล้งที่ผ่านมา ชาวบ้านไปทำฝายชั่วคราวกั้นลำน้ำเพื่อกักน้ำไว้ใช้จำนวนหลายแห่ง เมื่อน้ำไหลลงมามากจึงระบายไม่ทัน ซึ่งขณะนี้กรมชลประทานร่วมกับทางจังหวัด ฝ่ายความมั่นคง และองค์การปกครองท้องถิ่นรื้อฝายที่ขวางทางน้ำออก อย่างไรก็ตามบางพื้นที่ฝายดังกล่าว อบต. เป็นผู้สร้าง จึงต้องทำเรื่องขอให้รื้อถอนออก เมื่อรื้อฝายออกแล้วทำให้การระบายน้ำทำได้มากขึ้นไปเป็นเท่าตัว ขณะที่การระบายน้ำลงสู่แม่น้ำน่าน บริเวณสุโขทัยนั้น จะใช้คลองระบาย 2 สายของกรมชลประทาน สามารถระบายได้ 110 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้ระดับน้ำลดลงแล้วเช่นกัน  แต่ถ้าหากการกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำซึ่งจะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 3 – 4 วันแล้วเสร็จก็ทำให้ระบายน้ำมากขึ้น สถานการณ์จะคลี่คลายลงได้ คาดว่าภายในสัปดาห์หน้า สถานการณ์น้ำท่วมขังจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 

"อีอีซี"พลิกฟื้นประเทศไทย

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดเผยว่า หากในอนาคตการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในรวมในประเทศ (จีดีพี) ของไทย ยังขยายตัวเพียง 3% ในทุกๆปี จะส่งผลให้เวียดนาม และอินโดนีเซียมีมูลค่าทางเศรษฐกิจแซงหน้าไทย โดยประเทศไทยจะตกอันดับจาก 20 จากปัจจุบันไปอยู่ที่ อันดับที่ 25 จึง เป็นเหตุผลให้ไทยต้องเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านเศรษฐกิจ ด้านเทคโนโลยี และที่สำคัญโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ถือเป็นหนึ่งในทางออกที่นำไทยไปสู่การเปลี่ยนแปลง ครั้งยิ่งใหญ่ เพราะโครงการก่อสร้างทั้งหมดของอีอีซี ต้องใช้งบลงทุนจากภาครัฐ 10-20% เท่านั้น ที่ เหลืออีก 80% มาจากการลงทุนของภาคเอกชน จึงมั่นใจว่าอีอีซีจะทำให้โครงสร้างลงทุนไทยเปลี่ยนไป

ด้านนางสาวอรนุช ไวนุสิทธิ์ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบการเงินการคลัง ในฐานะโฆษกกรมบัญชีกลาง เผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ (กวพ.ได้มีมติขยายระยะเวลาให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู และพัฒนาเศรษฐกิจในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ได้แก่ จังหวัดยะลา จังหวัดปัตตานี จังหวัดนราธิวาส จังหวัดสตูล และจังหวัดสงขลา (อำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอนาทวี และอำเภอสะบ้าย้อย) ออกไป จนถึงวันที่พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ พ.ศ.2560 จะมีผลใช้เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ยังไม่กลับคืนเข้าสู่สภาวะปกติ.

จาก http://www.thairath.co.th วันที่ 26 พฤษภาคม 2560

เปิดเวทีรับฟังความเห็นโรงไฟฟ้าชีวมวลใช้ชานอ้อย ชาวบ้านหวังเพิ่มรายได้  

         อุบลราชธานี - บ.อุบลเพาเวอร์เปิดเวทีรับฟังความเห็นการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลใช้ชานอ้อยเป็นเชื้อเพลิง กำลังผลิต 54 เมกะวัตต์ต่อวัน คู่กับการตั้งโรงผลิตน้ำตาลมูลค่ารวมราว 1 หมื่นล้านบาท เบื้องต้นมีหน่วยงานสิ่งแวดล้อม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่แสดงความห่วงใยการจัดสรรทรัพยากรในพื้นที่ แต่หากโรงงานมีความพร้อมตามที่อ้างจริงก็เห็นด้วยให้ตั้งได้ เพราะต้องการมีรายได้จากปลูกอ้อยแทนการปลูกข้าว และการจ้างแรงงานในพื้นที่เพิ่มขึ้น

               วันนี้ (25 พ.ค.) ที่หอประชุมวิทยาลัยเทคโนโลยีบริหารธุรกิจรักไทยเขมราฐ ตั้งอยู่บ้านบาก ต.หัวนา อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี บริษัทไอเอสอีที (ประเทศไทย) จำกัด จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 1 ต่อร่างข้อเสนอโครงการและขอบเขตการศึกษารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลใช้ชานอ้อยเหลือใช้จากการผลิตน้ำตาลเป็นเชื้อเพลิงของบริษัท อุบลเพาเวอร์ จำกัด

               โดยมีประชาชน หน่วยงานท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ในรอบรัศมี 5 กิโลเมตรของโรงไฟฟ้าจากพื้นที่ 4 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เขมราฐ นาตาล กุดข้าวปุ้น และโพธิ์ไทร กว่า 300 คนเข้าร่วมแสดงความเห็นนานกว่า 3 ชั่วโมง

               นายทม ขจรบุญ วิศวกรที่ปรึกษาจากบริษัทซูเทคเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (Sutech Engineemy) ซึ่งเป็นผู้ออกแบบก่อสร้างโรงไฟฟ้า กล่าวว่า สำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวลใช้ชานอ้อยเป็นพลังงานเชื้อเพลิงมีกำลังการผลิตสูงสุดที่ 54 เมกะวัตต์ต่อวัน แต่จะเดินเครื่องเพียง 45 เมกะวัตต์ในช่วง 120 วันของฤดูเปิดหีบอ้อย และเดินเครื่องผลิตในช่วงละลายน้ำตาลวันละ 23 เมกะวัตต์ อีก 120 วัน ส่วนช่วงปิดหีบอ้อยจะเดินเครื่องเพียงวันละ 19 เมกะวัตต์

         โดยไฟฟ้าทั้งหมดจะนำไปใช้กับโรงงานผลิตน้ำตาลที่ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน และขายส่วนที่เหลืออีกวันละ 16 เมกะวัตต์ให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เพื่อนำไปเสริมความมั่นคงให้กับไฟฟ้าในพื้นที่ 4 อำเภอดังกล่าว

               ขณะผู้เข้าร่วมเวทีรับฟังความเห็นจากหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมและส่วนท้องถิ่นได้แสดงความห่วงใยถึงแหล่งน้ำดิบ คือ อ่างเก็บน้ำห้วยยาง ตั้งอยู่บ้านดอนโด่ ต.หัวนา อาจได้รับผลกระทบจากการนำน้ำไปใช้หล่อเลี้ยงโรงไฟฟ้าในช่วงหน้าแล้ง ซึ่งผู้ทำประชาพิจารณ์ชี้แจงว่าได้มีการวางแผนทำบ่อกักเก็บน้ำดิบจากน้ำฝนพื้นที่กว่า 100 ไร่ จึงไม่มีการดึงน้ำจากอ่างมาใช้เพราะปริมาณน้ำที่เก็บกักไว้มีอย่างเพียงพอ

               ด้านผลกระทบจากฝุ่นละอองระหว่างการลำเลียงชานอ้อยจากโรงงานน้ำตาลเข้าสู่โรงไฟฟ้า ก็ใช้วิธีการลำเลียงแบบท่อสายพานลำเลียงคลุมปิด มีการกางสแลนรอบลานเก็บชานอ้อยสูง 15 เมตร พร้อมมีการปลูกต้นไม้รอบลานใช้เก็บชานอ้อย เพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายและดักฝุ่นของเศษชานอ้อย

               ส่วนผลกระทบด้านเสียงระหว่างเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า โรงงานยืนยันว่ามีระดับเสียงไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานที่ราชการกำหนดไว้ และจะมีการตรวจวัดระดับการได้ยินของพนักงานและประชาชนรอบข้างโรงงานเป็นประจำทุกปี

               ขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้เสนอให้โรงไฟฟ้าช่วยลงทุนเดินสายไฟแรงต่ำให้กับหมู่บ้านรอบโรงไฟฟ้า เนื่องจากปัจจุบันตามหมู่บ้านมีไฟฟ้าใช้ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะหน้าฝนจะเกิดไฟฟ้าตามหมู่บ้านดับบ่อย เพื่อสนับสนุนให้ชาวบ้านมีไฟฟ้าใช้ได้อย่างเต็มที่ โดยให้ทำ MOU กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจ่ายเงินคืนให้กับโรงงานที่จะเป็นผู้ลงทุนเดินสายไฟฟ้าแรงต่ำให้ก่อน      

        ซึ่งการรับฟังความเห็นครั้งนี้ ตัวแทนหน่วยงานและตัวแทนชาวบ้านเห็นด้วยที่จะให้มีโรงไฟฟ้าชีวมวลใช้ชานอ้อยเกิดขึ้นในพื้นที่ เพราะเชื่อว่าการมีโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าจะทำให้ชาวบ้านที่เป็นเกษตรกรมีรายได้จากการปลูกอ้อยแทนการปลูกข้าวที่ไม่มีความแน่นอนเรื่องราคาข้าวในแต่ละปี และการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่จะมีความมั่นคงขึ้น

               สำหรับการเสนอขอตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัท อุบลเพาเวอร์ จำกัด สืบเนื่องมาจากเมื่อเดือนมีนาคม 2556 บริษัท น้ำตาลอุบล จำกัด ได้รับอนุญาตให้ตั้งโรงงานผลิตน้ำตาลขึ้นในพื้นที่บ้านบาก ต.หัวนา อ.เขมราฐ แต่ทางกรมโรงงานมีเงื่อนไขให้บริษัท น้ำตาลอุบล จำกัด ต้องสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลเพื่อใช้กำจัดกากคือชานอ้อยไม่ให้เหลือตกค้างในพื้นที่ และเพื่อไม่แย่งไฟฟ้าจากระบบปกติมาใช้ จึงเกิดโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งนี้ขึ้น

               โดยคาดว่าหากผ่านความเห็นชอบจากการทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม บริษัทจะดำเนินการก่อสร้างโรงงานผลิตน้ำตาล ซึ่งมีกำลังการผลิตเต็มกำลังวันละ 28,000 ตันอ้อยต่อวัน และจะมีชานอ้อยเหลือจากกระบวนการผลิตน้ำตาลวันละกว่า 8,000 ตันต่อวัน หรือคิดเป็นเกือบ 1 ล้านตันต่อปี มาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตกระแสไฟฟ้า

         ปัจจุบันบริษัทผลิตน้ำตาลแห่งนี้มีการสนับสนุนให้ชาวบ้านรอบรัศมี 50 กิโลเมตรของโรงงานกว่า 10,000 ครอบครัวปลูกอ้อยพันธุ์ขอนแก่น 3 เพื่อส่งมาขายให้โรงงาน ซึ่งรับซื้อและส่งอ้อยไปขายต่อให้เกษตรกรมานานหลายปีแล้ว

               ซึ่งหลังการก่อสร้างโรงงานคาดจะมีเกษตรกรเข้าร่วมปลูกอ้อยเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวในพื้นที่กว่า 3 แสนไร่ เพื่อส่งเข้ามาขายให้กับทางโรงน้ำตาลที่ตั้งขึ้นใหม่ ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนสูงราว 1 หมื่นล้านบาท

 จาก http://manager.co.th วันที่ 25 พฤษภาคม 2560

ปัจจัยต่างประเทศยังกดดันการลงทุนหุ้นไทย

        ความเคลื่อนไหวในต่างประเทศทั้ง กรณีที่คณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐ หรือ Fed มีมติปรับลดงบดุลบัญชีจากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 4.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป ประกอบกับเงินบาทค่าเงินบาทที่ยังคงแข็งค่าขึ้น ก็ถือเป็นปัจจัยสนับสนุนการไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) ขณะเดียวกัน วานนี้ (24 พ.ค.) คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ ได้เปิดเผยรายงานการประชุมประจำเดือน พ.ค. ซึ่งกรรมการเฟดส่วนใหญ่ มองว่า เป็นเรื่องเหมาะสมที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆ นี้ หากเศรษฐกิจยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

               นอกจากนี้ นักลงทุนยังคงติดตามผลการประชุมของกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน (โอเปก) และประเทศนอกกลุ่มผู้ผลิตน้ำมัน (นอน-โอเปก) ซึ่งเบื้องต้น คาดว่าน่าจะมีการลดกำลังการผลิตอย่างน้อย 6 เดือน ดังนั้น หากระยะเวลาการลดกำลังการผลิตมากเกินกว่าที่ตลาดคาดการณ์ ก็จะส่งผลดีต่อราคาน้ำมัน รวมถึงหากมีการประกาศลดกำลังการผลิตในปริมาณที่มากขึ้น ก็จะยิ่งเป็นปัจจัยบวกต่อราคาน้ำมันด้วย แต่หุ้นไทยก็ขานรับปัจจัยดังกล่าวมาระดับหนึ่งแล้ว

               นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ สำนักวิจัยทิสโก้ คาดความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทยวันที่ 25 พ.ค. ดัชนีมีแนวโน้มขยับตัวขึ้น ตามประเด็นเชิงบวกหลายกรณีข้างต้น โดยประเมินแนวรับที่ระดับ 1,560-1,555 จุด แนวต้านที่ระดับ 1,570-1,575 จุด โดยภาพรวมตลาดน่าจะยังมีลักษณะแกว่งตัวขึ้นในกรอบแคบหลังจากที่ดัชนีสามารถยืนตัวที่ระดับ 1,560 จุดได้

               ขณะที่ นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการสายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส คาดว่า ดัชนีหุ้นไทยเช้านี้มีโอกาสที่จะปรับลดลง เพราะปัจจัยแวดล้อมส่วนใหญ่ไม่มีปัจจัยบวกเข้ามาเพิ่มเติม อีกทั้ง ความคาดหวังว่า ที่ประชุมของประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และนอกโอเปก ในวันนี้จะขยายระยะเวลาการลดกำลังการผลิตน้ำมันออกไปอีกนั้น ก็ได้สะท้อนในราคาน้ำมันไปแล้ว ทำให้การปรับขึ้นของราคาน้ำมันอยู่ในอัตราที่ช้าลง ท่ามกลางภาวะที่ตลาดยังกังวลว่าสหรัฐฯ จะนำน้ำมันจากคลังสำรองทางยุทธศาสตร์ (SPR) ออกมาขายนั้น จะเป็นการสกัดกั้นการปรับขึ้นของราคาน้ำมัน พร้อมให้แนวรับบริเวณ 1,550 จุด และแนวต้านที่ 1,570 จุด 

จาก http://manager.co.th วันที่ 25 พฤษภาคม 2560

โครงการชลประทานทั่วประเทศ พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำเร่งระบายน้ำท่วม

กรมชลประทาน ให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเร่งระบายน้ำช่วยเหลือพื้นที่น้ำท่วมขัง หลังมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่ได้เกิดฝนตกชุกและตกหนักในหลายพื้นที่ บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภากลาง และภาคตะวันออก ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขัง ในพื้นที่ลุ่มต่ำและเขตชุมชนเมือง เนื่องจากระบายน้ำไม่ทัน นั้น กรมชลประทาน ได้สั่งการให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ ดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขัง พร้อมกับให้สำรวจพื้นที่ใดที่มีโอกาสจะเกิดน้ำท่วมขัง ให้ดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเตรียมพร้อมที่จะสูบระบายน้ำได้ตลอดเวลา พร้อมกับให้ประสานและรายงานสถานการณ์น้ำให้กับจังหวัดทราบอย่างต่อเนื่อง

สำหรับเครื่องจักรเครื่องมือ เครื่องสูบน้ำที่กรมชลประทานได้เตรียมพร้อมไว้ทั้งประเทศ มีดังนี้ เครื่องสูบน้ำ 2,193 เครื่อง เครื่อง ผลักดัน น้ำ 262 เครื่อง รถขุด 366 คัน รถแทรกเตอร์ 100 คัน ซึ่งกระจาย อยู่ตามโครงการชลประทานทั่วประเทศ และพร้อมที่จะสนับสนุนภารกิจการระบายน้ำท่วมขังได้อย่างทันท่วงที

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 25 พฤษภาคม 2560

"คณิศ"ฟันธง"อีอีซี"เปลี่ยนโครงสร้างลงทุนไทย ดันจีดีพีเขยิบ4.5-5% เม็ดเงินลงทุน3แสนล.บาท/ปี

นายคณิศ แสงสุพรรณ  เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา "เปลี่ยน...ให้ทันโลก New World New Oppotunity New Business" ในหัวข้อ Road Map EEC คลื่นลูกใหม่ลงทุนไทย ซึ่งจัดโดย หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ว่า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างโลกนั้นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นชัดเจนจาก2ประเทศใหญ่ คือการที่สหรัฐอเมริกาออกมาปกป้องตลาดของตัวเองเป็นครั้งแรกด้วยการกีดกันทางการค้ากับจีน ขณะที่จีนเริ่มเกิดการพัฒนาเมืองใหม่ขึ่นมาใช้เวลา 15ปี ในการเข้าสู่เวที WTO ส่งผลให้จีนมีอัตราการเติบโของเศรษฐกิจ  6-7% ต่อGDP

นายคณิศ กล่าวต่อว่า จากผลการศึกษาของ PwC สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจโลกในปี 2050 หรืออีก 34 ปีข้างหน้า (2016-2050) พบว่า ประเทศเกิดใหม่จะกลายมาเป็น 10 อันดับประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก แต่ไม่มีประเทศไทย โดยจีนจะยังคงอันดับ1 ของโลก อินเดียจะขึ้นมาเป็นอันดับ 2 แทนสหรัฐอเมริกาที่จะตกลงมาอยู่ที่3 อินโดนีเซียขึ้นมาเป็นที่ 4 แทนญี่ปุ่นที่จะตกไปเป็นอันดับที่ 8 และบราซิลจะขึ้นมาเป็นที่5 แทนเยอรมันที่ตกลงไปที่ 9 เป็นต้น  โดยเฉพาะเวียดนาม ฟิลิปปินส์  ไนจีเรีย จะเป็นประเทศที่มีอันดับ GDP ขยับขึ้นสูงที่สุด ซึ่งเวียดนามจะโตเฉลี่ยต่อปี 5.1% ทำให้ GDP ขยับขึ้นจากอันดับ 32 เป็น20 ฟิลิปปินส์โตเฉลี่ยต่อปี 4.3% ทำให้ GDP ขยับขึ้นจากอันดับที่ 28 เป็นอันดับที่ 19 ไนจีเรียโตเฉลี่ยต่อปี 4.2% ทำให้ GDP ขยับขึ้นจากอันดับที่ 22 เป็นเป็นอันดับที่ 14 ขณะที่ไทยเองหากยังคงมีการเติบโตเฉลี่ยเพียง 3%  ทุกๆปี แบบนี้จะทำให้ทั้งเวียดนามและอินโดนีเซียแซงไทยแน่นอน และไทยจะตกมาอยู่ที่อันดับ 25 จากอันดับ 20

เขากล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตามหากย้อนกลับไปดูในช่วงที่ผ่านมา จะพบว่าไทยยังคงมีปัญหาเรื่องของการเมือง เศรษฐกิจรุมเร้า ทำให้ตัวเลขการลงทุนไทยต่ำมากจึงเห็น GDP ไทยโตเพียง 3% เท่านั้น และนับตั้งแต่ปี 2549-2557 จะเห็นว่าแต่ละปีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเฉลี่ย  เติบโต 3.1% ต่อ GDP การลงทุนโดยรวมเติบโต2% การลงทุนเอกชน 2.9% จากความจริงที่ควรเติบโตปีละ 10% ดังนั้นไทยจะต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านเศรษฐกิจ เพราะไม่มีประเทศใดที่จะพ้นกับดักรายได้ปานกลางได้หากไม่มีการลงทุนด้านเทคโนโลยี ขณะเดียวกันภาครัฐ เอกชน ประชาชน จะแยกกันไม่ได้ ในส่วนของรัฐเองขณะจึงอยู่ในช่วงของการพัฒนาเพื่อให้เอกชนลงทุนได้ เพื่อเอื้อให้ประชาชน โดยเฉพาะนโยบายการพัฒนา เขตพัฒนาระเบียบเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จึงเป็นหนึ่งในทางออกที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง

"อีอีซี ได้หยิบโมเดลของ Thailand 4.0 ให้เป็นรูปธรรมด้วยการพัฒนาเชิงพื้นที่ รัฐบาลจึงใช้เลือกภาคตะวันออกของประเทศ จ.ฉะเชิงเทรา จ.ชลบุรี จ.ระยอง สานต่อโครงการอีสเทิร์ดซีบอร์ดให้เกิดเป็นโครงการอีอีซีขึ้นมา เช่นเดียวกับที่ญี่ปุ่นที่ให้โตเกียวเป็นศูนย์กลางแล้วให้จังหวัดรอบๆดึงเข้ามาพัฒนาเชื่อมกัน เช่นเดียวกับเกาหลีใต้ที่ใช้อินชอลเชื่อมกับโซล ดังนั้นโมเดลดังกล่าวก็เช่นกันใช้กรุงเทพฯเชื่อมการพัฒนาออกไปยังจังหวัดรอบๆเพื่อให้เมืองต่างจังหวัดโตไปด้วยอีอีซีจึงยกได้เป็นฐานสร้างเทคโนโลยี ฐานสะสมการลงทุน เพื่อเยาวชน"นายคณิศกล่าว

เขากล่าวต่อว่า ทั้งนี้จากการศึกษาอีอีซีมากว่า 1ปี โดยประชารัฐ กลุ่ม D5 ซึ่งมีนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ เป็นประธาน ได้กำหนดโรดแมปไว้ 4 กลุ่ม คือ โครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรมเป้าหมาย ท่องเที่ยว เมืองใหม่ ทั้งหมดจะเกิด 15 โครงการใหญ่ขึ้นมา โดยระยะแรก 5ปี จะเห็น 5 โครงการเกิดขึ้นก่อน ได้แก่ สนามบินอู่ตะเภาเมืองการบินภาคตะวันออกรองระบนักท่องเที่ยวสูงสุด 30 ล้านคน ท่าเรือน้ำลึกมาบตาพุดเฟส3 แหลมฉะบังเฟส3 สัตหีบ, รถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม3สนามบอนดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา, อุตสาหกรรมเป้าหมาย ยนยนต์ไฟฟ้า (EV/AV), เมืองใหม่พัทยา ชลบุรี ระยอง ซึ่งยังรวมไปถึงการตั้งเขตส่งเสริมดิจิทัลพาร์ค (EECd) และเขตส่งเสริมเมืองนวัตกรรม (EECi) ดังนั้นเมื่อทั้ง 7 โครงการจะต้องเสร็จตามแผน ผลที่ตามมาคือการจ้างงาน ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) รวมทั้งธุรกิจเกษตร/อาหาร

"หากดูการพัฒนาจากต่างประเทศการเปลี่ยนแปลงที่เห็นชัดดจน ที่ประเทศมาเลเซียพบว่า มาเลเซียสร้างแลน์บริดจ์ ใช้เส้นทางคมนาคมจากจีนตรงเข้าเขตพัฒนาชายแดนทั้ง 5 เขตได้เลย นั่นทำให้เห็นว่าเกิดทั้งการแข่งขันและการลงทุน โมเดลดังกล่าวเมื่อทำให้เอเชียใหญ่ ไทยก็ใหญ่ตามไปด้วย"เลขาธิการอีอีซีกล่าว และว่า เช่นเดียวกับอีอีซีที่จะใช้การเชื่อมโยงเส้นทางกับหลายประเทศ คือ 1.เชื่อมกรุงเทพฯไปสู่ชนบท 2.เชื่อมคุนหมิงจากจีน 3.เชื่อมไปทวาย 4.เชื่อมกัมพูชา 5.เชื่อมการคมนาคมให้มาขึ้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง ขณะเดียวกันอีอีซียังเชื่อมเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนในประเทศด้วนเช่นกัน

นายคณิศ กล่าวด้วยว่า โครงการก่อสร้างทั้งหมดจะใช้งบประมาณการลงทุนจากภาครัฐ 10-20% เท่านั้น ที่เหลืออีก80% จะมาจากการลงทุนของภาคเอกชน จึงมั่นใจว่าอีอีซีจะทำให้โครงสร้างลงทุนไทยเปลี่ยนและทำให้อันดับการเติบโตเฉลี่ยต่อปีของ GDP อยู่ที่ 4.5-5% เห็นเม็ดเงินลงทุน 300,000 ล้านบาท/ปี ไทยจะยังคงอันดับไว้ได้โดยไม่ถูกอีกหลายประเทศที่กำลังเปลี่ยนแปลง

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 25 พฤษภาคม 2560

ไทย-อิสราเอล เล็งสร้างระบบชลประทานประหยัดน้ำต้นแบบ

        พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับ        นายชีมอน โรเด็ด เอกอัครราชทูตรัฐอิสราเอล ประจำประเทศไทย ว่า ประเด็นสำคัญที่มีการหารือร่วมกันในครั้งนี้ คือ การผลักดันให้เกิดการลงนามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทย และกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทของอิสราเอล ที่ทั้งสองฝ่ายเห็นขอบร่วมกันเรียบร้อยแล้ว โดยคาดว่าจะมีการลงนามในช่วงเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งจะถือเป็นกรอบความร่วมมือด้านการเกษตรกรอบแรกที่ทั้งสองฝ่ายมีร่วมกันภายใต้กรอบความร่วมมือครอบคลุมในทุกสาขาด้านการเกษตร อาทิ การพัฒนาด้านการเกษตรทั้งพืช ปศุสัตว์ และประมง การพัฒนาด้านสหกรณ์และองค์กรภาคการเกษตร การเปลี่ยนแปลงสภาพทางภูมิอากาศในภาคการเกษตรและการแปรสภาพเป็นทะเลทราย รวมถึงการพัฒนาด้านชลประทานที่ดินและการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งอิสราเอลมีความเชี่ยวชาญและมีการใช้โทคโนโลยีขั้นสูงที่สามารถออกแบบระบบชลประทานประหยัดน้ำ โดยมีการสูญเสียน้ำน้อยที่สุด  เช่น ระบบน้ำหยด และระบบฉีดฝอย ที่จะเป็นประโยชน์กับการทำเกษตรในประเทศไทยเป็นอย่างมากโดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทาน หรือพื้นที่แห้งแล้ง เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับอิสราเอล คือ ร้อน แห้งแล้ง และไม่มีน้ำบนผิวดิน

          “อิสราเอลถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ประสบความสำเร็จในการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในภาคเกษตร ดังนั้น การลงนามความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนั้น จะส่งผลให้ไทยได้เรียนรู้เทคโนโลยีของอิสราเอล เพื่อนำมาปรับปรุงและพัฒนาการเกษตรของไทยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะที่อิสราเอลจะมีลู่ทางในการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีของอิสราเอลในประเทศไทยด้วย” พลเอก ฉัตรชัย กล่าว

           สำหรับโครงการแปลงสาธิตการเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงจากอิสราเอลภายใต้กรอบความร่วมมือนี้ ฝ่ายไทยเตรียมเสนอ “โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเกษตรและการใช้น้ำในพื้นที่ชลประทานอ่างเก็บน้ำห้วยประดู่ โครงการชลประทานมหาสารคาม จ.มหาสารคาม” ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาดินเค็ม ดินทรายจัด แลดินปนกรวด เกิดภาวะภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงทุกปี ทำให้แหล่งน้ำผิวดินไม่เพียงพอในการทำเกษตร จึงจะเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากประเทศอิสราเอลที่มีความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์การศึกษาและพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีในการผลิตสินค้าเกษตรภายใต้สภาวะวิกฤติขาดแคลนน้ำและความแห้งแล้ง

          ขณะเดียวกัน นอกจากในด้านการพัฒนาองค์ความรู้ในด้านการเกษตรแล้ว ความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นจะส่งให้สองประเทศมีการค้าการลงทุนสินค้าเกษตรระหว่างกันเพิ่มมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันอิสราเอลเป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรอันดับที่ 29 ของไทย ที่ในแต่ละปีไทยส่งสินค้าเกษตรส่งออกไปอิสราเอลมีมูลค่าการส่งออกเฉลี่ยปีละ 4,364 ล้านบาท และมีอัตราการส่งออกเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 4.82 ต่อปี โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทย เช่น ปลาทูน่า ข้าว พืชผัก ผลไม้ สับปะรด เป็นต้น

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 25 พฤษภาคม 2560

จับตาหุ้นไทยบวกต่อ! หลังเฟดมีแผนปรับลดงบดุลบัญชีค่อยเป็นค่อยไป-บาทแข็งหนุนฟันด์โฟลว์ต่างชาติลงทุน

ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจ รายงานว่า นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ สำนักวิจัยทิสโก้ กล่าววว่า ตลาดหุ้นไทยวันที่ 25 พ.ค. ดัชนีมีแนวโน้มขยับตัวขึ้น หลังจากมีข่าวเชิงบวกกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้หารือกันเกี่ยวกับแผนการปรับลดงบดุลบัญชีของเฟดอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 4.5 ล้านล้านดอลลาร์ ประกอบกับเงินบาทค่าเงินบาทที่ยังคงแข็งค่าขึ้น ก็ถือเป็นปัจจัยสนับสนุนการไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์)

นอกจากนี้ นักลงทุนยังคงติดตามว่าการประชุมของกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน (โอเปก) และประเทศนอกกลุ่มผู้ผลิตน้ำมัน (น็อน- โอเปก) ในวันนี้ จะมีข้อสรุปอย่างไร ซึ่งเบื้องต้นตลาดประเมินว่าน่าจะมีการลดกำลังการผลิตอย่างน้อย 6 เดือน ดังนั้นหากระยะเวลาการลดกำลังการผลิตมากเกินกว่าที่ตลาดคาดการณ์ ก็จะส่งผลดีต่อราคาน้ำมัน รวมถึงหากมีการประกาศลดกำลังการผลิต ในปริมาณที่มากขึ้นก็จะยิ่งเป็นปัจจัยบวกต่อราคาน้ำมันด้วย

สำหรับตลาดหุ้นไทยวันนี้ ประเมินแนวรับที่ระดับ 1,560 /1,555 จุดแนวต้านที่ระดับ 1,570 /1,575 จุดโดยภาพรวมตลาดน่าจะยังมีลักษณะแกว่งตัวขึ้นในกรอบแคบหลังจากที่ดัชนีสามารถยืนตัวที่ระดับ 1,560 จุดได้

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 25 พฤษภาคม 2560

เกษตรโอ่ผุด “อะกรีแมปโมบาย” ยกระดับบริหารจัดการอินเตอร์

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้พัฒนาระบบการจัดทำแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุกออนไลน์ในระบบโมบาย (อะกรีแมป โมบาย) เพื่อให้สามารถนำไปใช้อย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้นเพิ่มความสะดวกและรวดเร็วให้กับผู้ใช้งาน สามารถตอบสนองการใช้งานในพื้นที่ โดยให้บริการผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ซึ่งจะสามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือบริหารจัดการสินค้าเกษตรให้สอดคล้องตามสภาพพื้นที่สถานการณ์ปัจจุบัน และช่วยในการวางแผนการผลิตสินค้าเกษตรในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า แผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุกกระบบโมบาย สามารถให้บริการข้อมูลเชิงพื้นที่ที่ทันสมัย ถูกต้อง สามารถใช้งานได้สะดวก รวดเร็ว ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยมีคณะกรรมการกำกับดูแลให้เป็นระบบแผนที่เกษตรที่มีคุณภาพ ถือเป็นการพัฒนาไปสู่การเป็นเจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญ (สมาร์ทออฟฟิศเซอร์) และเกษตรกรปราดเปรื่อง (สมาร์ทฟาร์มเมอร์)ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เกิดความภาคภูมิใจในอาชีพ ส่งผลให้เกษตรกรรมมีความยั่งยืน “เครื่องมือดังกล่าวประกอบด้วย ข้อมูลทรัพยากรพื้นฐาน การผลิต ดิน น้ำ พืช ข้อมูลด้านการตลาด ข้อมูลเกษตรกร ซึ่งจะมีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลา ซึ่งนักบริหารในพื้นที่สามารถนำไปใช้ประกอบ การวางแผนด้านการผลิตสินค้าเกษตรภายในพื้นที่ให้สอดคล้องกับสภาพความเหมาะสมของปัจจัยการผลิตและการตลาดในพื้นที่ให้สอดคล้องกับสภาพความเหมาะสมของปัจจัยการผลิตและการตลาดในพื้นที่ได้อย่างดี”.

จาก http://www.thairath.co.th วันที่ 25 พฤษภาคม 2560

คืบหน้า “ธุรกิจยั่งยืนกับโคคา-โคลา” เพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจสตรีชาวไร่อ้อย   

 กิจกรรมเวิร์คช็อป “การจัดการการเงินเกมเศรษฐี” ส่งเสริมให้ชาวไร่อ้อยเรียนรู้การจัดการการเงินพร้อมความสนุกสนานและมีส่วนร่วม

         กลุ่มธุรกิจโคคา-โคลา ในประเทศไทย กลุ่มน้ำตาลไทยรุ่งเรือง และสถาบันคีนันแห่งเอเซีย เกาะติดความคืบหน้า “โครงการธุรกิจยั่งยืนกับโคคา-โคลา ในการ เพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจแก่เกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อย”หลังจัดอบรมนำร่องในจังหวัดเพชรบูรณ์และอุทัยธานีแล้ว 625 คน

               จากการประเมินผลล่าสุดพบว่า ชาวไร่อ้อยในจังหวัดเพชรบูรณ์ และอุทัยธานี เริ่มมีการนำทักษะและความรู้ที่ได้รับจากการอบรมไปใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งการประเมินสุขภาพทางการเงิน และการควบคุมค่าใช้จ่าย ตลอดจนการเตรียมตัวเริ่มต้นทำไร่อ้อยในฤดูกาลใหม่ ซึ่งหน่วยงานพันธมิตรยังคงประสานความร่วมมือในการทำงานและประเมินผลร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะสิ้นสุดระยะเวลานำร่องในเดือนกรกฎาคม 2560 นี้ ก่อนเตรียมขยายผลที่ได้ไปพัฒนาโครงการในระยะต่อไป

พันธมิตร “โครงการธุรกิจยั่งยืนกับโคคา-โคลา เพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจเกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อย” (จากซ้าย) และปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานอำนวยการและรองประธานกรรมการ สถาบันคีนันแห่งเอเชีย, นันทิวัต ธรรมหทัย ผู้อำนวยการองค์กรสัมพันธ์และการสื่อสารบริษัท โคคา-โคลา (ประเทศไทย) จำกัด และ ดร.ณัฐพล อัษฎาธร กรรมการบริหาร กลุ่มน้ำตาลไทยรุ่งเรือง 

         นันทิวัต ธรรมหทัย ผู้อำนวยการองค์กรสัมพันธ์และการสื่อสาร บริษัท โคคา-โคลา (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “โคคา-โคลา มีพันธกิจในการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบ ครอบคลุมถึงการจัดหาวัตถุดิบที่มีคุณภาพอย่างยั่งยืนเพื่อนำมาผลิตเครื่องดื่มตามมาตรฐานระดับโลก อย่างกรณีโคคา-โตลาซื้อน้ำตาลจำนวนมากจากผู้ผลิตในประเทศไทย ขณะเดียวกัน เราก็มุ่งพัฒนาศักยภาพของผู้หญิงที่ทำงานเกี่ยวเนื่อง ตามโครงการ 5by20 ที่มุ่งเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจให้กับผู้หญิงที่อยู่ในแวลูเชนของโคคา-โคลา จำนวน 5 ล้านคน ภายในปี 2020 ซึ่งพันธกิจทั้งสองนี้เป็นที่มาของโครงการธุรกิจยั่งยืนกับโคคา-โคลา โดยนำร่องกับเกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อยในเครือข่ายของกลุ่มน้ำตาลไทยรุ่งเรือง”

               “กลุ่มน้ำตาลไทยรุ่งเรืองส่งเสริมการทำเกษตรที่ยั่งยืน มีฝ่ายปฏิบัติงานไร่อ้อยที่เข้มแข็งและทำงานใกล้ชิดกับชาวไร่อยู่แล้ว จึงช่วยรับผิดชอบงานด้านฝึกอบรมการเกษตรที่ยั่งยืน และเข้าฝึกอบรมการบริหารการเงินส่วนบุคคลจากสถาบันคีนันแห่งเอเซียเพื่อเป็นวิทยากรร่วม ส่วนคีนันได้เข้ามาสำรวจพื้นที่และพูดคุยกับชาวไร่ตั้งแต่ก่อนเริ่มโครงการ เพื่อพัฒนาหลักสูตรการบริหารการเงินส่วนบุคคลที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและชีวิตความเป็นอยู่ของสตรีชาวไร่อ้อยในพื้นที่”

       สำหรับผลการดำเนินการที่ผ่านมา เกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อยเข้าร่วมโครงการถึง 625 คน ซึ่งเกินกว่าเป้าที่ตั้งไว้ 600 คน เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเชิงบวก อย่างไรก็ตาม โครงการนำร่องนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น เพราะการสร้างทัศนคติที่ถูกต้องและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างยั่งยืน ต้องใช้เวลาและการทำงานร่วมอย่างต่อเนื่อง

       “โคคา-โคลามีแผนที่จะขยายโครงการไปสู่ซัพพลายเออร์น้ำตาลรายอื่นๆ ในระยะต่อไป โดยขณะนี้ ได้เริ่มพูดคุย ซึ่งจะต้องประเมินด้วยว่า พันธมิตรรายใหม่มองเห็น “คุณค่าร่วม” หรือ “Shared Value” จากโครงการมากน้อยเพียงใด เพราะการปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมนั้นต้องทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง และพันธมิตรก็ต้องเห็นคุณค่าจากผลลัพธ์ของโครงการ และพร้อมที่จะลงทุน ลงแรง ด้วยกัน เราหวังว่าผลจากโครงการนำร่องซึ่งจะแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม 2560 นี้ จะช่วยทำให้ทุกฝ่ายเห็นว่าการประสานความร่วมมือบนฐานของการสร้างคุณค่าร่วมกัน จะช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม และภาคสังคมได้ในระยะยาว” นันทิวัต ธรรมหทัย กล่าว

       ทั้งนี้ โครงการ 5by20 เป็นพันธกิจระดับโลกของโคคา-โคลาที่มุ่งเพิ่มศักยภาพด้านการดำเนินธุรกิจให้กับผู้หญิงในห่วงโซ่คุณค่าของโคคา-โคลาจำนวน 5 ล้านคนภายในปีค.ศ. 2020 (พ.ศ. 2563) ผู้หญิงทั่วโลกล้วนมีบทบาทสำคัญต่อธุรกิจและห่วงโซ่คุณค่า จากแนวคิดนี้ จึงริเริ่มโครงการเพื่อช่วยเหลือผู้หญิงในห่วงโซ่คุณค่าของโคคา-โคลา เริ่มตั้งแต่ชาวสวนผลไม้ ไปจนถึงช่างฝีมือ

       ภายใต้โครงการ 5by20 โคคา-โคลา พยายามตอบโจทย์ปัญหาทางธุรกิจที่ผู้หญิงส่วนใหญ่พบเจอ ซึ่งนับว่าเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้เรียนรู้ทักษะในการดำเนินธุรกิจ การวางแผนด้านการเงิน และมีโอกาสทำความรู้จักกับเพื่อนร่วมอาชีพ หรือผู้ให้คำปรึกษา รวมถึงมอบความมั่นใจในการทำธุรกิจอย่างประสบความสำเร็จแก่พวกเขา

        ปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานอำนวยการและรองประธานกรรมการ สถาบันคีนันแห่งเอเซีย กล่าวว่า “คีนันมุ่งสร้างเครือข่ายพันธมิตรเพื่อร่วมกันพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ โดยก่อนเริ่มโครงการ ได้ลงพื้นที่รับฟังปัญหาของเกษตรกร แล้วนำข้อมูลมาพัฒนาหลักสูตรที่ตอบโจทย์ ใน 5 หัวข้อ คือ 1.การตั้งเป้าหมายชีวิตและเป้าหมายทางการเงิน 2.การใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพและการทำบัญชีครัวเรือน 3.การบริหารจัดการหนี้ 4.การออม และ 5.การลงทุนและทักษะการเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งเน้นการมีส่วนร่วมของผู้เข้าอบรม เข้าใจง่าย และสามารถนำความรู้ไปใช้ได้ทันที จากการดำเนินโครงการช่วงที่ผ่านมา เกษตรกรสตรีมีความรู้ด้านการจัดการการเงินเพิ่มขึ้นร้อยละ 29 เกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ร้อยละ 20

        นอกจากนี้ ยังมีความพึงพอใจต่อโครงการในภาพรวมถึงร้อยละ 80 ที่สำคัญคือ เกษตรกรจำนวนหนึ่งเริ่มตั้งเป้าหมายการเงิน หลายคนเริ่มทำบัญชีรายรับรายจ่ายและออมเงิน ทำอาชีพเสริมเพื่อลดหนี้และเพิ่มรายได้”

       ด้าน ดร.ณัฐพล อัษฎาธร กรรมการบริหาร กลุ่มน้ำตาลไทยรุ่งเรือง กล่าวว่า ในฐานะผู้ผลิตน้ำตาลคุณภาพ พรีเมียมจากวัตถุดิบอ้อย บริษัทฯ มุ่งสร้างความมั่นคงแก่เกษตรกรชาวไร่อ้อย ผ่านแนวคิดการส่งเสริมการเกษตรที่ยั่งยืน โดยเราได้คัดเลือกพนักงานจากเพชรบูรณ์ 19 คน และอุทัยธานี 10 คน เข้ารับการฝึกอบรมเป็นวิทยากรจากสถาบันคีนันแห่งเอเซีย โดยมุ่งใช้ความสัมพันธ์ที่ดีของพนักงานกลุ่มนี้ซึ่งต้องทำงานใกล้ชิดกับเกษตรกรอยู่แล้วในการค่อยๆ สร้างความเข้าใจ ถ่ายทอดความรู้ ให้คำปรึกษา ตลอดจนช่วยปรับพฤติกรรมด้านการบริหารการเงินในครัวเรือนและการทำธุรกิจไร่อ้อยอย่างต่อเนื่อง

       “เรายังได้นำโครงการช่วยเกษตรกรลดรายจ่าย เพิ่มผลผลิตและรายได้ที่บริษัทฯ ดำเนินการอยู่แล้วและตอบโจทย์เข้ามาเสริม คือ การทำน้ำหมักชีวภาพ และการจัดการน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง ซึ่งเมื่อนำสิ่งต่างๆ เหล่านี้มาผนวกกับความรู้ด้านการบริหารการเงินที่เกษตรกรได้รับ ก็น่าจะทำให้คุณภาพชีวิตของสตรีชาวไร่อ้อยมั่นคงและยั่งยืนมากยิ่งขึ้น”

       นางสาวณัฐวรรณ ทองเกล็ด (แหม่ม) หนึ่งในสตรีชาวไร่อ้อยรุ่นใหม่วัย 37 ปีจากเพชรบูรณ์ที่เข้าร่วมโครงการฯ บอกว่า ก่อนหน้านี้ทำเกษตรเชิงเดี่ยว และเมื่อมีปัญหาเข้ามาหรือไร่อ้อยเสียหาย ก็ไม่มีแผนหรือรายได้สำรอง หลังเข้าร่วมโครงการฯ ก็ได้นำความรู้การบริหารการเงินมาใช้ด้วยการจดบันทึกต้นทุน รายรับ รายจ่าย ทำให้มองเห็นภาพรวมการทำงานและการเงินของตัวเองได้มากยิ่งขึ้น รู้ว่ารายจ่ายส่วนไหนเยอะเกินความจำเป็น หรือไม่จำเป็น และปรับลดได้ถูกจุด

       “นอกจากนี้ ตนเองเริ่มต้นทำเกษตรผสมผสาน เช่น ปลูกมะเขือเทศราชินี ข้าวโพดเทียน มะนาว เพื่อเพิ่มรายได้ ลดความเสี่ยงจากการทำไร่อ้อยเพียงอย่างเดียว สิ่งเหล่านี้สอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 หากเราลดความต้องการลง มองเห็นว่าตัวเองกำลังอยู่จุดไหน ทำอะไร ปรับเปลี่ยนให้พอดี การใช้ชีวิตก็จะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น”

 จาก http://manager.co.th วันที่ 24 พฤษภาคม 2560

น้ำตาลมิตรผล รุกไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคยุคใหม่ เพิ่มช่องขายออนไลน์

น้ำตาลมิตรผล เปิดเกมรุกเข้มข้นต่อยอดกลยุทธ์ไลฟ์สไตล์แบรนด์ สู่ดิจิทัลแพลตฟอร์มครบวงจรเต็มรูปแบบเข้าถึงผู้บริโภคกระตุ้นการมีส่วนร่วม พร้อมเปิดช่องขายทางออนไลน์ ชูสินค้าพิเศษ
...

น.ส.สิรินิจ โชคชัยฤทธิกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานกลยุทธ์การตลาด กลุ่มธุรกิจน้ำตาล กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า ปีที่ผ่านปีที่ผ่านมา น้ำตาลมิตรผลได้เริ่มจากสร้างการรับรู้ในมุมมองใหม่ให้กับผลิตภัณฑ์น้ำตาล จากสินค้าบริโภคในชีวิตประจำวันสู่การเป็นไลฟ์สไตล์แบรนด์ เป็นสิ่งที่

  ที่เติมความสุขให้ชีวิตได้หลากหลายรูปแบบ ตอบโจทย์ความต้องการที่แตกต่าง โดยกำลังก้าวไปอีกขั้นเพื่อเข้าถึงผู้บริโภคอย่างเต็มรูปแบบมากขึ้น ผ่านการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี ตั้งแต่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายขึ้น การสื่อสารแนวใหม่ที่มีแพลตฟอร์มและคอนเทนต์ใหม่ๆ ซึ่งมีมิติที่หลากหลายยิ่งขึ้น

นอกจากการสร้างความรับรู้ซึ่งถือว่าเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ยังต้องสร้างการมีส่วนร่วมของผู้บริโภคอย่างรอบด้าน เป็นสิ่งที่ผู้อ่านรู้สึกว่าน่าสนใจ มีประโยชน์ ให้ความรู้ ทำให้เกิดการแสดงความคิดเห็น หรือนำไปแชร์ต่อ และยังมีการเปิดช่องทางการจำหน่ายแบบออนไลน์ เพื่อให้ความสะดวกสบายในการซื้อสินค้ายิ่งขึ้น

ทั้งนี้ในปีนี้ได้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาเสริมกลยุทธ์ทางธุรกิจอย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมากขึ้น นอกเหนือจากการเพิ่มรสชาติ ยังได้ปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์สู่รูปแบบ Intelligent Packaging เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลการใช้งานน้ำตาลแต่ละชนิดได้อย่างถูกต้อง การสื่อสารการตลาดมีการพัฒนาเนื้อหาและรูปแบบการนำเสนอใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องในช่องทางออนไลน์ต่างๆ นำเอาไลฟ์สไตล์ ความสนใจ ความชอบของผู้บริโภคในปัจจุบันมาสร้างเป็นเรื่องราวในการสื่อสารเพื่อให้เกิดความมีส่วนร่วม และการเปิดช่องทางการจัดจำหน่ายออนไลน์ในระบบ E-Commerce ที่จะช่วยให้ผู้บริโภคยุคใหม่เข้าถึงผลิตภัณฑ์ได้ง่ายมากยิ่งขึ้น และตอบโจทย์การใช้ชีวิตทั้งช่วยประหยัดเวลา และให้ความสะดวกสบายในการซื้อสินค้ายิ่งขึ้น พร้อมสินค้าพิเศษที่จำหน่ายเฉพาะในช่องทางออนไลน์

"ปีที่แล้ว ผู้บริโภครับรู้มุมมองใหม่ๆ เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์น้ำตาลที่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว ปีนี้ ผู้บริโภคจะสามารถเข้าถึงมิตรผลได้ง่ายขึ้นกว่าเดิมผ่านชีวิตประจำวันของตนเอง" น.ส.สิรินิจ กล่าว

จาก http://www.thairath.co.th วันที่ 24 พฤษภาคม 2560

ขาดวินัยทาง“บัญชี”ทำหนี้ท่วมชาวไร่อ้อย

               วาดฝันสวยหรูกับนโยบายเกษตร 4.0 ของรัฐบาล ที่ต้องการให้ภาคการเกษตรไทยก้าวไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน แต่อาจทำได้แค่เพียงฝัน หากเกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศยังติดชนักในเรื่ององค์ความรู้การจัดการทางการเงิน ไม่มีการทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายอย่างเป็นระบบ ทำให้การคำนวณต้นทุนการผลิตผิดพลาด อันนำมาซึ่งการเป็นหนี้เป็นสินอย่างไม่รู้ตัว โดยเฉพาะเกษตรกรชาวไร่อ้อย หนึ่งในพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศที่ทุกวันนี้มีแต่หนี้กับหนี้ ทั้งที่ทำรายได้ดีกว่าพืชไร่ชนิดอื่นๆ

               “ที่จริงอ้อยเป็นพืชที่ทำรายได้ให้เกษตรกรดีมากๆ ตัวหนึ่ง ราคาไม่มีตกต่ำ ต้นทุนก็ควบคุมได้ ที่สำคัญมีตลาดรองรับชัดเจน ทำให้เราสามารถคำนวณต้นทุนได้และรู้ทันทีว่าปีนี้จะมีรายได้เท่าไหร่ หลังหักต้นทุนแล้วจะมีกำไรเท่าไหร่ในแต่ละฤดูกาลผลิต แต่ทุกวันนี้ชาวไร่ก็ยังเป็นหนี้ พอเราศึกษาลงลึกก็พบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ยังไม่มีการบริหารจัดการทางการเงินที่ดีพอ ไม่มีการทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายที่ชัดเจน เมื่อเราเห็นจุดบอดตรงนี้จึงมีโครงการนี้ขึ้นมา”

               นันทิวัต ธรรมหทัย ผู้อำนวยการองค์กรสัมพันธ์และการสื่อสาร บริษัท โคคา-โคลา (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงโครงการธุรกิจยั่งยืนกับโคคา-โคลาเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจเกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อย โดยบริษัท โคคา-โคลา (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับกลุ่มบริษัท น้ำตาลไทยรุ่งเรือง และสถาบันคีนันแห่งเอเชีย จัดโครงการฝึกอบรมการประเมินสุขภาพทางการเงินให้แก่เกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อย ซึ่งเป็นลูกไร่ของบริษัทน้ำตาลไทยรุ่งเรืองจำนวน 625 ราย รวมพื้นที่หลายพันไร่ใน อ.ศรีเทพ และอ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ หลังจากโคคา-โคลาประสบความสำเร็จในการดำเนินการจัดฝึกอบรมประเมินสุขภาพทางการเงินให้แก่ลูกค้าเอเย่นต์ทั่วประเทศมาแล้วเมื่อ 4-5 ปีก่อน

                “กลุ่มบริษัทน้ำตาลไทยรุ่งเรืองถือเป็นลูกค้ารายใหญ่ เราก็อยากเข้าไปดูแลที่ต้นทางการผลิตคือกษตรกรชาวไร่อ้อย ต้องเป็นอ้อยอินทรีย์ ให้ผลิตดี มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ไม่มีหนี้มีสิน ถ้าต้นทางดีปลายทางก็จะดีตามไปด้วย นี่คือเป้าหมายหลักของโครงการ” นันทิวัตเผย

                จากนั้นทางโครงการได้คัดเลือกเกษตรกรแกนนำ ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่จำนวน 625 ราย ในเครือข่ายของกลุ่มบริษัท ไทยรุ่งเรือง เข้าฝึกอบรมในโครงการประเมินสุขภาพทางการเงินตามหลักสูตรที่สถาบันคีนันแห่งเอเชียกำหนด พร้อมลงพื้นที่เก็บข้อมูลแบบเจาะลึกและมีการประเมินผลเป็นรายเดือนอย่างต่อเนื่อง จนทำให้เกษตรกรรู้จักการทำบัญชี รู้ที่มาของรายรับ-รายจ่ายที่ชัดเจน อันนำมาสู่การบริหารจัดการทางการเงินของตัวเองและครอบครัวได้เป็นอย่างดี

               ณัฐวรรณ ทองเกล็ด หรือหนูแหม่ม เกษตรกรชาวไร่อ้อยรุ่นใหม่วัย 37 ปี แห่งบ้านสันติธรรม ต.ประดู่ธรรม อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ที่เข้าร่วมโครงการ เปิดเผยว่า มีไร่อ้อยอยู่ประมาณ 100 ไร่ ก่อนหน้านี้ทำเกษตรเชิงเดี่ยว และเมื่อมีปัญหาเข้ามาหรือไร่อ้อยเสียหายก็ไม่มีแผนหรือรายได้สำรอง หลังเข้าร่วมโครงการได้นำความรู้การบริหารการเงินมาใช้ด้วยการจดบันทึกต้นทุน รายรับ รายจ่าย ทำให้มองเห็นภาพรวมการทำงานและการเงินของตัวเองได้มากยิ่งขึ้น รู้ว่ารายจ่ายส่วนไหนเกินความจำเป็นหรือไม่จำเป็นและปรับลดได้ถูกจุด นอกจากนี้ยังเริ่มต้นทำเกษตรผสมผสาน เช่น ปลูกมะเขือเทศราชินี ข้าวโพดเทียน มะนาว เพื่อเพิ่มรายได้ ลดความเสี่ยงจากการทำไร่อ้อยเพียงอย่างเดียว โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาปรับใช้ เพื่อให้การใช้ชีวิตไปในทางที่ดีขึ้น

                “ปัญหาทุกอย่างเกิดจากความไม่รู้จักพอ เราต้องเริ่มบริหารจัดการจากสิ่งที่เรามี ซึ่งทุกอย่างสอดคล้องกับหลักปรัชญาของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่สั่งสอนเราตลอด หากเราปรับลดความต้องการลงได้ มองเห็นว่าตัวเรากำลังอยู่จุดไหนแล้วปรับเปลี่ยนให้พอดี การใช้ชีวิตก็จะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นแน่นอน” ณัฐวรรณย้ำชัด

              เช่นเดียวกับ รจนา สอนชา หรือเนะ เพื่อนเกษตรกรชาวไร่อ้อยอีกรายในหมู่บ้านเดียวกัน ยอมรับว่า ก่อนเข้าร่วมโครงการมีหนี้สินอยู่จำนวนหนึ่ง แต่หลังได้เรียนรู้การจดบันทึกรายรับรายจ่ายช่วยให้รู้ปัญหามากขึ้น พร้อมกับรับองค์ความรู้ด้านการเกษตรมาปรับสภาพไร่เพื่อปลูกพืชผสมผสานด้วย ทำให้ปัจจุบันเริ่มมีรายจ่ายลดลง มีรายได้เพิ่มมากขึ้น แล้วก็มาถ่ายทอดให้คนในชุมชนด้วย

              สำหรับแผนในอนาคต ตอนนี้ตั้งเป้าไว้ 3 อย่าง คือ พยายามปลดหนี้ให้หมดมีอยู่ประมาณ 7 แสนบาท ทำพื้นที่ให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุดและเพิ่มรายได้จากการปลูกพืชผสมผสานมากขึ้น ซึ่งตอนนี้มีการรวมกลุ่มปลูกพืชผักอินทรีย์ส่งให้ห้างท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ทุกสัปดาห์

“เราอยากพิสูจน์ให้เกษตรกรคนอื่นๆ เห็นว่า ถ้าสามารถจัดการการเงินและทำเกษตรยั่งยืนได้ คนอื่นๆ ก็สามารถทำได้ หากเราไม่ร่วมมือช่วยกัน สิ่งเหล่านี้ก็จะไม่ยั่งยืน” รจนา กล่าวย้ำ

ขาดวินัยทาง“บัญชี”ทำหนี้ท่วมชาวไร่อ้อย

             ไม่ใช่แค่เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยเท่านั้นที่ขาดวินัยทางการเงิน ไม่มีการทำบัญชีจดบันทึกรายรับ-รายจ่าย ทำให้ค่าใช้จ่ายบานปลายจนกลายเป็นหนี้สินล้นพ้นตัว แต่ยังมีเกษตรกรผู้รับจ้างปลูกอ้อย อย่าง ป้าวรรณา โตอิ้ม วัย 58 ปี แห่งบ้านฟุกสะแก ต.ซับสมบูรณ์ อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ ก็มีวิถีชีวิตที่ไม่แตกต่างกัน ซึ่งทุกวันนี้มีหนี้สินกว่า 9 แสนบาท แม้ว่ามีรายได้จากการรับจ้างปลูกอ้อยปีละกว่า 10 ล้านบาท เนื่องจากการไม่ได้ทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายที่ชัดเจน ทำให้ไม่รู้ทีี่มาที่ไปของเงิน เป็นผลให้ต้องกู้ยืม ธ.ก.ส. 2 แสนบาท และโรงงานน้ำตาลเพิ่มอีก 7 แสนบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการลงทุนปลูกอ้อยและค่าใช้จ่ายในครอบครัว

              “แต่ละปีรับจ้างปลูกอ้อยเฉลี่ย 500-600 ไร่ ไร่ละ 6,000 บาท คือต้องทำให้เขาหมดเลยตั้งแต่ไถปรับพื้นที่ปลูก หาท่อนพันธุ์ปลูก การติดตั้งระบบน้ำ ทำให้เสร็จเลย เจ้าของที่รอเก็บเกี่ยวอย่างเดียว และอ้อยเมื่อปลูกแล้วจะสามารถเก็บเกี่ยวไปได้นานประมาณ 4-5 ปี ฉะนั้นปีแรกเจ้าของที่อาจลงทุนมากหน่อย แต่ปีต่อไปไม่มีอะไรมาก แค่ดูแลให้น้ำ ใส่ปุ๋ย กำจัดวัชพืชแค่นั้น” ป้าวรรณาเผยข้อมูล และยอมรับว่า รายได้แต่ละปีกลับไม่มีเหลือ แถมยังเป็นหนี้อีกต่างหาก จนกระทั่งมีโอกาสเข้าร่วมโครงการธุรกิจยั่งยืนกับโคคา-โคลา เขาสอนให้มีการจัดบันทึกรายรับ-รายจ่ายทุกวัน ทุกเดือนทำให้รู้ว่า ทำไมถึงเป็นหนี้ ทั้งๆ ที่มีรายได้พอสมควร

              ไม่เพียงการเติมเต็มความรู้ด้านเงิน  ทางโครงการยังลงลึกไปถึงกระบวนการผลิตที่เน้นการปลูกอ้อยอินทรีย์ พร้อมทั้งประสานความร่วมมือภาครัฐในการหาแหล่งน้ำให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อย โดยผ่านองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ในการขุดสระน้ำขนาดเล็กในชุมชนเพื่อใช้สำหรับกระบวนการผลิตอ้อย นอกจากนี้ยังขอความร่วมมือสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มี ดร.รอยล จิตรดอน เป็นผู้อำนวยการ ในการนำองค์ความรู้เกี่ยวกับบ่อน้ำใต้ดินมาถ่ายทอดให้แก่เกษตรกรในพื้นที่อีกด้วย

              สุพล บุญเทียบ กำนันตำบลซับสมบูรณ์ กล่าวยอมรับว่า โครงการได้ส่งเจ้าหน้าที่มาแนะนำขั้นตอนการขุดบ่อน้ำใต้ดินในไร่อ้อยในการรองรับน้ำฝนเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งระยะเวลาประมาณ 6 เดือน ซึ่งที่ผ่านมามักจะมีปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงหน้าแล้งของทุกปี ส่งผลให้อ้อยที่ปลูกไว้ได้รับความเสียหาย

              “บ่อที่ขุดลึกประมาณ 5 เมตร ใส่บล็อกซีเมนต์ลงไป 4-5 วง รองพื้นบ่อด้วยก้อนกรวดเล็กเพื่อซับน้ำ ส่วนปากบ่อจะใช้รางท่อซีเมนต์รับน้ำเวลาฝนตกเพื่อให้น้ำลงไปในบ่อ จากนั้นน้ำในบ่อก็จะซึมกระจายไปใต้พื้นดิน รากอ้อยก็จะได้รับน้ำจากแหล่งน้ำตรงนี้ ใน 1 ไร่ก็จะใช้ประมาณ 2-3 บ่อแล้วแต่สภาพพื้นที่ ของผมมีอ้อยอยู่ 15 ไร่ ใช้ประมาณ 40 บ่อ” กำนันสุพลเผย พร้อมชี้ไปยังบ่อน้ำใต้ดินที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งใกล้จะแล้วเสร็จทันการปลูกอ้อยในฤดูกาลผลิตใหม่ปี 2560/61 ที่จะเริ่มขึ้นในต้นเดือนมิถุนายนนี้

                การถ่ายทอดองค์ความรู้การจัดการทางการเงินและบัญชี เพื่อให้ทราบที่มาของรายรับ-รายจ่าย นับเป็นอีกก้าวในการเสริมความแกร่งให้แก่เกษตรกร ไม่เฉพาะชาวไร่อ้อยเท่านั้น แต่ยังสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยิืน ให้แก่เกษตรกรในทุกชนิดของพืชด้วย

‘คีนัน’ตอบโจทย์เกษตรกรทางการเงิน-บัญชี

                  ปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานอำนวยการสถาบันคีนันแห่งเอเชีย กล่าวตอนหนึ่งในระหว่างการเสวนา “การเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจแก่เกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อย” ณ ห้องประชุมโรงงานน้ำตาลไทยรุ่งเรือง ต.ศรีเทพ อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ โดยระบุว่า คีนันมุ่งสร้างเครือข่ายพันธมิตรเพื่อร่วมกันพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ โดยก่อนเริ่มโครงการได้ลงพื้นที่รับฟังปัญหาของเกษตรกร แล้วนำข้อมูลมาพัฒนาหลักสูตรที่ตอบโจทย์ใน 5 หัวข้อ คือ 1.การตั้งเป้าหมายชีวิตและเป้าหมายทางการเงิน 2.การใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพและการทำบัญชีครัวเรือน 3.การบริหารจัดการหนี้ 4.การออม และ 5.การลงทุนและทักษะการเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งเน้นการมีส่วนร่วมของผู้เข้าอบรม เข้าใจง่าย และสามารถนำความรู้ไปใช้ได้ทันที

                  “จากการดำเนินโครงการช่วงที่ผ่านมา เกษตรกรสตรีมีความรู้ด้านการจัดการการเงินเพิ่มขึ้นร้อยละ 29 เกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ร้อยละ 20 นอกจากนี้ยังมีความพึงพอใจต่อโครงการในภาพรวมถึงร้อยละ 80 ที่สำคัญคือ เกษตรกรจำนวนหนึ่งเริ่มตั้งเป้าหมายการเงิน หลายคนเริ่มทำบัญชีรายรับ รายจ่าย และออมเงิน ทำอาชีพเสริมเพื่อลดหนี้และเพิ่มรายได้” ชลวิจารณ์กล่าว

‘ไทยรุ่งเรือง’มุ่งผลิตอ้อยอินทรีย์

                    ดร.ณัฐพล อัษฎาธร กรรมการบริหาร กลุ่มน้ำตาลไทยรุ่งเรือง กล่าวว่า "ในฐานะผู้ผลิตน้ำตาลคุณภาพ พรีเมียมจากวัตถุดิบอ้อย บริษัทมุ่งสร้างความมั่นคงแก่เกษตรกรชาวไร่อ้อย ผ่านแนวคิดการส่งเสริมการเกษตรที่ยั่งยืน โดยเราได้คัดเลือกพนักงานจากเพชรบูรณ์ 19 คน และอุทัยธานี 10 คน เข้ารับการฝึกอบรมเป็นวิทยากรจากสถาบันคีนันแห่งเอเชีย โดยมุ่งใช้ความสัมพันธ์ที่ดีของพนักงานกลุ่มนี้ ซึ่งต้องทำงานใกล้ชิดกับเกษตรกรอยู่แล้วในการค่อยๆ สร้างความเข้าใจ ถ่ายทอดความรู้ ให้คำปรึกษา ตลอดจนช่วยปรับพฤติกรรมด้านการบริหารการเงินในครัวเรือนและการทำธุรกิจไร่อ้อยอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้เรายังนำโครงการช่วยเกษตรกรลดรายจ่าย เพิ่มผลผลิตและรายได้ที่บริษัทดำเนินการอยู่แล้วและตอบโจทย์เข้ามาเสริม คือ การทำน้ำหมักชีวภาพ และการจัดการน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง ซึ่งเมื่อนำสิ่งต่างๆ เหล่านี้มาผนวกกับความรู้ด้านการบริหารการเงินที่เกษตรกรได้รับก็น่าจะทำให้คุณภาพชีวิตของสตรีชาวไร่อ้อยมั่นคงและยั่งยืนมากยิ่งขึ้น”

จาก http://www.komchadluek.net วันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 

อนุมัติแผนแม่บทพัฒนาเกษตรกรลุย4ยุทธศาสตร์ 

พ.อ.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติเห็นชอบตามที่สภาเกษตรกรแห่งชาติเสนอร่างแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม พ.ศ.2560-2564 สืบเนื่องมาจาก พ.ร.บ.สภาเกษตรแห่งชาติ พ.ศ.2533 ที่บัญญัติให้สภาเกษตรกรแห่งชาติจัดทำแผนแม่บทโดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้ได้เสีย รวมทั้งเชื่อมโยงกับแผนแม่บทระดับจังหวัดก่อนเสนอ ครม.

          โดยมีวิสัยทัศน์คือ องค์กรเกษตรกร เครือข่ายเข้มแข็ง โครง สร้างพื้นฐานและการจัดการทั่วถึงเกษตรกรทุกคน ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.การพัฒนา ทรัพยากรบุคคลและความเข้มแข็งขององค์กรเกษตรกร โดยส่งเสริมการรวมกลุ่มของเกษตรกร ให้มีการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีการเกษตรแก่เกษตรกร 2.พัฒนา และคุ้มครองทรัพยากรทางการเกษตร โดยส่งเสริมสิทธิเกษตรกรให้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินของตนเองอย่างทั่วถึง 3.พัฒนาประสิทธิภาพการผลิต และรักษาเสถียรภาพด้านราคาสินค้าเกษตร โดยสร้างความเป็นธรรมด้านราคาผลผลิตทางการเกษตร การเชื่อมโยงและพัฒนาความร่วมมือด้านการแปรรูปผลผลิต การตลาด และการบริโภคเพื่อการยังชีพระหว่างเครือข่ายองค์กรเกษตรกร ภาครัฐ และภาคเอกชน และ 4.แก้ ไขปัญหาหนี้สินภาคการเกษตร สร้างความเข้มแข็งและบริหารจัด การกองทุนด้านการเกษตร

          ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้กระ ทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยว ข้อง  ทั้งกระทรวงพาณิชย์, กระ ทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงศึก ษาธิการ และกระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำแผนแม่บทไปบูรณาการร่วมกับแผนพัฒนาการเกษตร ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 เพื่อสร้างความเข้มแข็งและความยั่งยืนแก่เกษตรกรต่อไป.

จาก http://www.thaipost.net วันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 

EU เตรียมประกาศห้ามใช้สาร Propiconazole จากเดิมให้ขออนุญาตใช้ป้องกันเชื้อราได้

นายวันชัย วราวิทย์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงบรัสเซลส์ได้รายงานว่า หน่วยงานจัดการเคมีภัณฑ์ของสหภาพยุโรป (European Chemicals Agency : ECHA) อยู่ระหว่างพิจารณาทบทวนปรับสาร Propiconazole จากเดิมเป็นสารชีวฆาต (Biocidal Products : BP) ที่สามารถขออนุญาตใช้ในการป้องกันเชื้อราในข้าว สี ฟิล์มปิดอาหาร น้ำยาทาเล็บ ไม้ และอื่นๆ อย่างแพร่หลายให้เป็นสารอันตรายที่ไม่สามารถใช้ได้ใน EU อีกต่อไป

ที่ผ่านมา EU อนุญาตให้จำหน่ายสาร Propiconazole ซึ่งเป็นสาร BP ในการต้านเชื้อราในสินค้าเกษตรและอื่นๆ หลายชนิดรวมทั้งข้าวใน EU ได้ แต่อย่างไรก็ดีระยะเวลาในการอนุญาตให้ใช้สารฯ ดังกล่าวกำลังจะสิ้นสุดลง ขณะนี้ ECHA  อยู่ระหว่างพิจารณาทบทวนให้สารฯ ดังกล่าวเป็นสารอันตราย เนื่องจากอาจจะมีผลกระทบต่อเด็กในครรภ์ โดยไม่ต่ออายุการอนุญาตให้ใช้สารฯ ดังกล่าวใน EU อีกต่อไป นอกจากนี้จะปรับลดค่าสารตกค้าง (Maximum Residual Level : MRL) ของสารฯ ดังกล่าวจากเดิม 1.5 มิลลิกรัม / กิโลกรัม เป็น 0.01 มิลลิกรัม / กิโลกรัมก่อนสิ้นปี 2560 ซึ่งการใช้มาตรการดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าข้าวของไทยรวมทั้งประเทศสมาชิกอื่นในอาเซียนด้วย

กรมการค้าต่างประเทศจะติดตามความคืบหน้ากฎระเบียบต่างๆ ของ EU อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งจะเผยแพร่ข้อมูลให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องทราบ ซึ่งผู้สนใจสามารถสืบค้นเพิ่มเติมได้ที่ http://echa.europa.eu/ documents/10162/13626/clh_odd_propiconazole_en.pdf/678fee77-e127-0161-c7fc-fdab8d3ce0df

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

กรมชลฯเตรียมพร้อมรับฝนตกหนักอีกระลอก 24-29 พ.ค.นี้

กรมชลประทานเตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนัก หลังกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเตือนภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะมีฝนตกหนักในช่วงวันที่ 24-29 พ.ค.60 นี้ เน้นการใช้อาคารชลประทาน และระบบชลประทาน ในการบริหารจัดการน้ำหลากอย่างเต็มศักยภาพ

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดการณ์ว่าในช่วงวันที่ 24 – 29 พ.ค. 60 จะมีร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและภาคใต้ มีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนตกเพิ่มขึ้นร้อยละ 60 – 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก โดยภาคใต้จะมีฝนตลอดช่วงและตกหนักบางแห่งนั้น

กรมชลประทาน ได้สั่งการไปยังโครงการชลประทานในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศแจ้งเตือนข้างต้น เพื่อให้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ โดยจะใช้ระบบชลประทานและระบบป้องกันน้ำท่วมที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งให้เตรียมความพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ และติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำในจุดที่มักจะเกิดปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำ และมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมที่จะเข้าไปสนับสนุนช่วยเหลือประชาชนหากเกิดสถานการณ์น้ำท่วมได้อย่างทันท่วงที

สำหรับสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา หลังจากที่มีฝนตกหนักถึงหนักมากในพื้นที่ตอนบน ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้มีปริมาณน้ำจำนวนมากไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาที่จ.นครสวรรค์ ส่งผลให้มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น นั้น ในช่วงเช้าวันนี้ (23 พ.ค. 60) ที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่านประมาณ 1,373 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที กรมชลประทาน ได้ควบคุมปริมาณน้ำให้ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา 649 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลให้ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ตั้งแต่อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ไปจนถึงต.บางหลวงโดด อ.บางบาล และต.บ้านกระทุ่ม ต.หัวเวียง อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค. 60 เป็นต้นมา ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่มีน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำแต่อย่างใด โดยก่อนหน้านี้กรมชลประทาน ได้ทำหนังสือแจ้งรายงานสถานการณ์น้ำไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพื่อแจ้งเตือนประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาให้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดต่อไปแล้ว

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

เขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำทะลุ 600 ลบ.ม.ต่อวินาที เตือนท้ายเขื่อนน้ำขึ้นอีก

เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม จากที่บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนตกหนัก ทำให้มีน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตราเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเมื่อเวลา 07.00 น. ระดับน้ำเหนือเขื่อนวัดได้ 16.75 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง โดยเขื่อนเจ้าพระยาปรับเพิ่มการระบายน้ำขึ้นไปที่อัตรา 649 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพิ่มขึ้น 50 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลให้ระดับรับน้ำท้ายเขื่อน เพิ่มขึ้น 29 ซม. โดยวัดได้ 10.15 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งจะทำให้พื้นที่ท้ายเขื่อนตั้งแต่ อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ลงไปมีระดับน้ำสูงขึ้นได้อีก 10-20 ซม.

ด้านนายสุชาติ เจริญศรี ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 12 ชัยนาท กล่าวว่า จากปริมาณน้ำเหนือที่เข้าสู่เขื่อนเจ้าพระยามากขึ้น ทำให้จะมีแนวโน้มที่จะต้องมีการระบายน้ำลงท้ายเขื่อนสูงขึ้นอยู่ในเกณฑ์ประมาณ 700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะสงผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนเพิ่มสูงขึ้นอีก โดยเฉพาะบริเวณ ต.บางหลวงโดด อ.บางบาล และ ต.บ้านกระทุ่ม ต.หัวเวียง อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ขอให้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

น้ำตาลไทยสู้ได้จีนใช้เซฟการ์ด สกัดเหล็กH-Beamทำรอบคอบ

พาณิชย์ชี้ จีนใช้เซฟการ์ดกำหนดภาษีนอกโควตาน้ำตาลกระทบไทยเล็กน้อย เหตุยังได้เปรียบคู่แข่ง แจงสกัดเหล็ก H-Beam พิจารณาอย่างรอบคอบ

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกน้ำตาลของไทยไปตลาดจีน คาดว่าจะได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อยจากกรณีที่จีนจะประกาศใช้มาตรการปกป้องสินค้านำเข้าที่เพิ่มขึ้น (เซฟการ์ด) กับสินค้าน้ำตาล โดยจีนจะกำหนดภาษีนำเข้าน้ำตาลในโควตา 15% และนอกภาษีนอกโควตา 45% เพราะการใช้มาตรการเซฟการ์ดต้องใช้กับทุกประเทศ

โดยเชื่อว่าไทยยังมีศักยภาพแข่งขันได้ดีกว่าประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลรายอื่น เช่น บราซิล และออสเตรเลีย เนื่องจากระยะทางขนส่งจากไทยไปจีนใกล้กว่าสองประเทศดังกล่าว และจากการร่วมกับภาคเอกชนผู้ส่งออกน้ำตาลแล้ว ส่วนใหญ่ยอมรับว่าอาจได้รับผลกระทบ แต่เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งแล้ว มั่นใจว่าไทยมีโอกาสทางการค้ามากกว่า เพราะมีต้นทุนการขนส่งที่น้อยกว่า

ด้าน นายวันชัย วราวิทย์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีรัฐบาลไทยประกาศใช้มาตรการเซฟการ์ดกับการนำเข้าเหล็ก H-Beam เจืออัลลอย ว่า เซฟการ์ดเป็นมาตรการที่องค์การการค้าโลก หรือ WTO ยอมรับให้ประเทศที่เปิดการค้าเสรีและมีการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น สามารถออกมาตรการปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นได้

ซึ่งกฎการใช้มาตรการ ข้อแรก จะต้องมีการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นมาก สอง สินค้าที่นำเข้านั้นเข้ามาด้วยเหตุที่ไม่คาดเดามาก่อน สาม การนำเข้านั้นจะทำให้อุตสาหกรรมภายในได้รับความเสียหาย ซึ่งก่อนการประกาศใช้ได้มีการพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว.

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

กรมชลเดินสายระดมสมอง6ภาค สางปัญหาสิ่งกีดขวางทางเพิ่มประสิทธิภาพระบายน้ำทั่วประเทศ

นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯโดยกรมชลประทาน ได้จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำ การเสริมสร้างความมั่นคงน้ำภาคการผลิตและการป้องกันอุทกภัยทั้งระบบ รวมถึงการบูรณาการแผนการดำเนินการสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเป็นการทบทวนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ และปรับให้สอดคล้องกับปัญหาน้ำที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะยุทธศาสตร์ที่ 2 น้ำสนับสนุนภาคการผลิต (น้ำเพื่อการเกษตรและอุตสาหกรรม) และยุทธศาสตร์ที่ 3 การป้องกันและบรรเทาอุทกภัย โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องสิ่งกีดขวางทางน้ำ ไม่ว่าจะเป็นถนน สะพาน รวมทั้งพื้นที่ชุมชนที่มีการขยายตัว ซึ่งเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดน้ำท่วม

ด้าน ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้วางแผนจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการในเรื่องดังกล่าว ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยแบ่งสัมมนาเขตพื้นที่ 6 ภาค คือ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ตอนบน และภาคใต้ตอนล่าง ระหว่างวันที่ 9-30 พฤษภาคม 2560 โดยจะมีข้าราชการและเจ้าหน้าที่หรือตัวแทนจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาน้ำ โดยเฉพาะน้ำท่วม เช่น กรมชลประทาน กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมเจ้าท่า กรมทรัพยากรน้ำ หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น เข้าร่วมสัมมนาไม่น้อยกว่าเขตพื้นที่ละ 200 คน

ทั้งนี้แผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2558 นั้น กรมชลประทาน ได้ตระหนักถึงบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้กำหนดให้มีการทบทวนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่เกี่ยวข้องกับกรมชลประทานตามที่ได้รับมอบหมายจาก กนช. เพื่อการดำเนินการที่ถูกต้อง ครบถ้วนและทันท่วงที ตามสภาวะภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง โดยคำนึงถึงการบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ

สำหรับการสัมมนาเชิงปฏิบัติการในเขตพื้นที่ 6 ภาคดังกล่าว เปิดสัมมนาครั้งแรกที่แรก ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2560 ณ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ครั้งที่ 2 ในพื้นที่ภาคกลาง จัดที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2560 ครั้งที่ 3 ภาคตะวันออก วันที่ 18 พฤษภาคม 2560 ณ อ.เมือง จ.ระยอง ครั้งที่ 4 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วันที่ 23 พฤษภาคม 2560 ณ อ.เมือง จ.ขอนแก่น ครั้งที่ 5 ภาคใต้ตอนบน วันที่ 25 พฤษภาคม 2560 ณ อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี และครั้งที่ 6 ปิดการสัมมนาที่ ภาคเหนือ วันที่ 30 พฤษภาคม 2560 ณ อ.เมือง จ.พิษณุโลก

จาก http://www.naewna.com วันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

แจงสี่เบี้ย : การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ช่วยลดต้นทุน-เพิ่มผลผลิตพืชอย่างยั่งยืน

ปัจจุบันเกษตรกรส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจการใช้ปุ๋ยที่ถูกต้อง ทำให้ใส่ปุ๋ยในอัตราสูงความต้องการพืชและดิน โดยเฉพาะช่วงที่ปุ๋ยเคมีราคาแพง ต้นทุนการผลิตมากขึ้นไปด้วย กระทรวงเกษตรฯจึงมีนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรให้ใช้ปุ๋ยในพืชหลักต่างๆอย่างพอเพียงเพื่อช่วยลดรายจ่าย โดยมอบให้กรมพัฒนาที่ดิน เผยแพร่องค์ความรู้การวิเคราะห์ดินในพื้นที่ การใช้ปุ๋ยที่ถูกวิธี และร่วมวางแผนการใช้ปุ๋ยกับกลุ่มเกษตรกร พร้อมให้ความสำคัญกับแปลงใหญ่เป็นลำดับแรก เพื่อให้ใส่ปุ๋ยอย่างเหมาะสมกับความต้องการของพืช

ทั้งนี้การวิเคราะห์ดินให้ทราบความอุดมสมบูรณ์และปัญหาของดินในแปลงปลูก พร้อมคำแนะนำในการปรับปรุงแก้ไข เช่น การใช้ปุ๋ย การใช้วัสดุปูนปรับปรุงดินกรดหรือดินเปรี้ยวจัด รวมทั้งการใช้การวัสดุหรือสารปรับปรุงดินอย่างอื่นตามความจำเป็น เพื่อให้สามารถปลูกพืชแล้วได้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้นและมีคุณภาพดีขึ้น เมื่อได้รับผลวิเคราะห์ดินแล้วพบว่า ดินมีความเป็นกรด หรือมีอินทรียวัตถุธาตุ อาหารพืช ฟอสฟอรัส หรือโพแทสเซียมต่ำ ดินนั้นย่อมต้องการการแก้ไขปรับปรุงเพื่อให้สามารถใช้ในการเพาะปลูกพืชให้ได้ผลผลิตคุ้มค่าต่อการลงทุน การจัดการดินตามผลวิเคราะห์ ดินนี้ให้ได้ตัวอย่าง เพื่อให้สามารถอ่านรายงานผลวิเคราะห์ตัวอย่างดินได้ถูกต้อง และสามารถนำไปปฏิบัติหรือให้คำแนะนำแก่เกษตรกรรายอื่นได้

ส่วนการลดต้นทุนการผลิต โดยการใส่ปุ๋ยเท่าที่จำเป็นจะช่วยให้ได้ผลผลิตพืชที่ทำให้ผลกำไรสูงสุด การใส่ปุ๋ยเท่าที่จำเป็นนั้น จะต้องประกอบไปด้วยการใส่ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยเคมีในอัตราและสัดส่วนที่พอเหมาะ ซึ่งจะทราบถึงอัตราและสัดส่วนจากการวิเคราะห์ตัวอย่างดิน ซึ่งจะทำให้รู้ถึงสมบัติทางกายภาพและเคมีของดิน จากนั้นก็กำหนดสูตร (สัดส่วน) และอัตรา (ปริมาณ) ปุ๋ยที่ต้องใส่ให้กับพืช ตามชนิด สายพันธุ์ ช่วงอายุ และตามสภาพภูมิอากาศในแต่ละท้องถิ่นด้วย เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนทางการเกษตรและการพัฒนาภาคการเกษตรของไทยในปัจจุบันและอนาคต

จาก http://www.naewna.com วันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ก.อุตฯชงครม.ความคืบหน้าทำร่างพรบ.EEC

กระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมเสนอ ครม. ความคืบหน้าจัดทำร่างพรบ.อีอีซี การพัฒนาระบบอำนวยความสะดวกการประกอบธุรกิจ

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้ (23 พ.ค.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานมีวาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับด้านเศรษฐกิจที่ต้องจับตา อาทิ กระทรวงการคลัง จะเสนอให้ ครม. พิจารณาร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ลดอัตราและยกเว้นภาษีสรรพสามิต โดยสาระสำคัญให้คงการเก็บภาษีสรรพสามิตในส่วนของน้ำมันหล่อลื่นเหลวและน้ำมันที่คล้ายกัน ลิตรละ 5 บาท ให้ยกเว้นภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันหล่อลื่นเหลวและน้ำมันที่คล้ายกันที่ทำจากน้ำมันหล่อลื่นเหลวและน้ำมันที่คล้ายกันที่ใช้แล้ว รวมทั้งให้ยกเว้นภาษีสรรพสามิต ที่นำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการอุตสาหกรรมการผลิตสิ่งของอื่น เช่น ยางสังเคราะห์ ยางรถยนต์ เทียนไข น้ำยาขัดเงา ดินน้ำมัน สิ่งประสานไม้อัด เป็นต้น เพื่อลดภาระต้นทุนภาคอุตสาหกรรม และให้ยกเว้นภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันหล่อลื่นเหลวและน้ำมันที่คล้ายกัน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง และ ช่วยลดภาระการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมในอนาคต

ขณะที่ กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมรายงานความคืบหน้าให้ครม.รับทราบ เกี่ยวกับการจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) พ.ศ. ... ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างให้คณะกรรมการกฤษฎีกาดำเนินการปรับร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวตามความเห็นของที่ประชุมครม. ที่ได้เห็นชอบก่อนหน้านี้

รวมถึง คณะรัฐมนตรี จะมีการพิจารณาข้อเสนอการพัฒนาระบบอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจแบบครบวงจร หรือ doing business portal วงเงิน 4,000 ล้านบาท ซึ่งสนับสนุนโดย คณะกรรมการกิจการ กระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการ โทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้วย

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ค่าบาท 'แข็งค่า' ตามภูมิภาค

บาทเปิดตลาดเช้านี้แข็งค่าขึ้นที่ "34.30 บาทต่อดอลลาร์" ยังแข็งค่าตามภูมิภาค

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 34.30บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากระดับ 34.38 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงปิดสิ้นวันก่อนหน้า

ในคืนที่ผ่านมาค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับยูโรและเยน โดยประเด็นที่น่าสนใจคือการที่นายกรัฐมนตรีเยอรมัน นาง Angela Merkel ออกมาให้ความเห็นว่าค่าเงินยูโร “อ่อนค่าเกินไป” ส่งผลให้เงินยูโรปรับตัวขึ้นทันที ขณะที่ค่าเงินดอลล่าร์ยังไม่มีฟื้นตัวแม้ว่าโอกาสในการขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายนของเฟดปรับตัวขึ้นมาที่ระดับ 80% โดยความเสี่ยงการเมืองในสหรัฐ ยังคงเป็นสิ่นที่นักลงทุนจับตามากในช่วงนี้

ด้านเงินบาทยังคงแข็งค่าตามภูมิภาค แม้ว่าจะมีเหตุการณ์ก่อการร้ายเกิดขึ้น มองว่าถ้าภาพรวมความผันผวนปรับตัวสูงขึ้นก็มีความเป็นไปได้ที่นักลงทุนอาจลดความเสี่ยงในหุ้นเอเชีย ลงแต่เชื่อว่าจะพักเงินที่บอนด์ก่อน มองว่าจะไม่มีเงินทุนไหลออกรุนแรงจากเหตุการณ์ดังกล่าว มองกรอบค่าเงินระหว่างวันที่ระดับ 34.27-34.37 บาทต่อดอลลาร์

จาก http://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

"อุตตม" รับอีอีซีเจอโรคเลื่อน มั่นใจไม่กระทบความเชื่อมั่น

          นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและจะกลับมาสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ขณะเดียวกันก็ยังต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่เมื่อเสร็จเรียบร้อย จึงจะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยขั้นตอนทั้งหมดนี้ต้องใช้เวลา คาดว่าทุกๆขั้นตอนจะแล้วเสร็จในเดือน ต.ค.นี้ จากเดิมภายในเดือน มิ.ย.นี้ อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่าไม่กระทบต่อความเชื่อมั่น

          ล่าสุด กระทรวงอุตสาหกรรมได้เสนอให้ ป.ย.ป. พิจารณา 3 เรื่องได้แก่ 1.สนับสนุนอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอากาศยานที่ไทยกำลังมุ่งพัฒนาสนามบินอู่-ตะเภา และที่สำคัญคือพัฒนาอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอากาศยานในประเทศไทยในพื้นที่อีอีซีที่จะต้องลงทุนจากบริษัทชั้นนำด้านอากาศยานจากต่างประเทศ เช่น ในประเทศสิงคโปร์ ที่มีเงื่อนไขที่ทำให้บริษัทที่เข้าไปมาลงทุนมั่นใจในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่เหมาะสม จึงได้เสนอ ป.ย.ป. พิจารณาเป็นพิเศษโดยกรณีที่ประเทศไทยอาจพิจารณาให้ต่างชาติถือหุ้นได้มากกว่า 50% โดยเฉพาะ อุตสาหกรรมอากาศยานและชิ้นส่วนอากาศยาน ภายใต้เงื่อนไขที่ประเทศไทยดูเทคโนโลยีการผลิตที่มีนวัตกรรมจริง 2.กระบวนการดำเนินงานอีอีซีเฉพาะในส่วนประกาศเขตส่งเสริมฯพิเศษในอีอีซี ได้แก่ จัดทำรายงานผลประทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ให้รวดเร็วแต่ไม่ได้เป็นการลดขั้นตอน 3.เร่งรัดกระบวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ในพื้นที่เฉพาะของอีอีซีให้รวดเร็ว.

จาก http://www.thairath.co.th   วันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

เร่งแผน'ทำธุรกิจง่าย'เป้าอันดับ30ของโลก บิ๊กตู่มอบวิษณุ-สมคิดลุย'ส่งออก'เม.ย.โตอีก8.5%อนันต์ลาออกเครือแลนด์ 

          รัฐบาลตั้งเป้า 30 อันดับแรกของโลกทำธุรกิจง่าย เดินตามเกณฑ์ลดขั้นตอน-อำนวยความสะดวกแบงก์โลก มอบ'สมคิด-วิษณุ'เกาะติด 'อนันต์ อัศวโภคิน'ไขก๊อกทุกตำแหน่งเครือแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์

          'บิ๊กตู่'หัวโต๊ะมินิคาบิเนตครั้งที่ 6

          เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ ครั้งที่ 6/2560 โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายอำพน กิตติอำพน ประธานกรรมการคณะกรรมการบริหารสำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี (พีเอ็มดียู) ร่วมประชุม

          ถกยกเครื่องสภาพัฒน์

          ภายหลังการประชุม นายวิษณุให้สัมภาษณ์ ว่า ได้พิจารณาใน 3 เรื่อง ได้แก่ 1.การปรับแก้กฎหมายเพื่อยกเครื่องโครงสร้างสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จากเดิมที่มีภารกิจ 2 อย่าง คือ 1.การจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมกับติดตามแต่ละหน่วยงานดำเนินงานตามแผนดังกล่าว 2.การให้ความคิดเห็นแก่รัฐบาลในด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยเพิ่มภารกิจอีก 2 เรื่องได้แก่ 1.เรื่องเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ชาติ 6 ด้าน คือ การเมืองและการต่างประเทศ การพัฒนากำลังคน การเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำและการให้ความเป็นธรรม การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การพัฒนากฎระเบียบต่างๆทางราชการ 2.การปฏิรูปประเทศ โดยจะมีการตั้งอีก ทั้งจะให้มีคณะกรรมการย่อยของ สศช. 7 คณะ ซึ่งเป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 ด้าน และให้มีคณะกรรมการเรื่องของสิ่งแวดล้อม ผังเมือง การใช้ที่ดิน การใช้น้ำ เพื่อรองรับนโยบายประเทศไทย 4.0

          ลดขั้นตอนอนุญาตทำธุรกิจ

          นายวิษณุกล่าวว่า 2 พิจารณากฎหมายที่เกี่ยวกับโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่ถูกวิจารณ์เกี่ยวกับการให้ต่างประเทศเช่าที่ดิน 99 ปี ซึ่งหน่วยงานเกี่ยวข้องเคยชี้แจงแล้วว่าไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ และกฎหมายเรื่องนี้ใช้เวลาอีกนานกว่าจะเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ระหว่างนี้อาจออกมาตรการบางอย่างออกมาใช้ก่อน และ 3.เรื่องการอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการอนุญาตการประกอบธุรกิจ นายกฯสั่งการให้สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ กระทรวงดีอีจัดตั้งศูนย์ข้อมูลกลาง เพื่อรวบรวมข้อมูลจากทุกกระทรวงสำหรับการจดทะเบียนขอจัดตั้งกิจการให้เสร็จภายในเดือนกันยายนนี้ ประชาชนสามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มเดียวกับการยื่นขอกับหน่วยงานราชการ เพื่อให้ขั้นตอนขอจัดตั้งธุรกิจสะดวกและง่ายขึ้น

          โชว์แผนขยับสู่30อันดับแรก

          ส่วนกรณีธนาคารโลกจัดทำรายงานผลการจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) ปี 2017 จัดให้ไทยอยู่ในอันดับที่ 46 จาก 190 ประเทศ

          ขณะที่รัฐบาล กำหนดเป้าหมายว่า ประเทศไทยจะต้องขยับไปอยู่ในกลุ่ม 30 ประเทศแรกให้ได้ และมอบหมายให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ติดตามการดำเนินการอย่างใกล้ชิดนั้น รัฐบาลได้ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมในการอำนวยความสะดวกให้กับภาคธุรกิจ และมีโครงการพัฒนาระบบอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจแบบครบวงจร ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการเข้าสู่เป้าหมายการขยับไปอยู่ในอันดับ 30 ประเทศแรก (อ่านรายละเอียด น.2)

          เลื่อนกม.อีอีซีคาดบังคับใช้ต.ค.นี้

          วันเดียวกันมีการประชุมคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน ภายหลังการประชุม นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ที่ประชุมรับทราบระยะเวลาการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก คาดว่าแล้วเสร็จประมาณเดือนตุลาคมนี้ ล่าช้าจากเดิมคาดว่าจะเสร็จกลางปี เนื่องจากยังอยู่ในขั้นตอนพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาในการปรับเนื้อหา อย่างไรก็ตาม การเลื่อนออกไปจะไม่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน เพราะปัจจุบันรัฐบาลมีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ที่ตั้งขึ้นโดยใช้อำนาจหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามมาตรา 44 ที่เดินหน้าโครงการอยู่แล้ว โดยเฉพาะการผลักดันโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ โดยจะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กรศ.) เพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการวันที่ 26 พฤษภาคมนี้

          ยื่นกู้กองทุนเอสเอ็มอี1.2หมื่นล.

          นายอุตตมกล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าการปล่อยกู้เงินกองทุนเอสเอ็มอี และไมโครเอสเอ็มอี ทั้งหมด 38,000 ล้านบาท ที่ประกอบด้วย กองทุนเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ 20,000 ล้านบาท กองทุนฟื้นฟูเอสเอ็มอี 2,000 ล้านบาท กองทุนพลิกฟื้นเอสเอ็มอี 1,000 ล้านบาท และกองทุนเพื่อปรับกระบวนการผลิตของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย 15,000 ล้านบาท ล่าสุดเอสเอ็มอีใน 8 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ สงขลา ชลบุรี นครปฐม เชียงใหม่ พิษณุโลก กระบี่ อุบลราชธานี และอุดรธานี ทางคณะกรรมการพิจารณาที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ได้ยื่นเรื่องขออนุมัติเงินเข้ามาแล้วประมาณ 12,000 ล้านบาท จากจำนวนผู้ประกอบการ 3,800 ราย คาดว่าวงเงินดังกล่าวจะสามารถอนุมัติได้ภายในเดือนพฤษภาคมมิถุนายนนี้

          สงขลาประชุมรับนายกฯ24พ.ค.

          ด้านความคืบหน้าจังหวัดต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมต้อนรับคณะนายกรัฐมนตรี ในการเดินสายส่งเสริมธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี)

          ผู้สื่อข่าว จ.สงขลารายงานว่า จังหวัดสงขลาได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ตัวแทนจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ (ม.อ.หาดใหญ่) ตัวแทนจากอุตสาหกรรมจังหวัด หน่วยงานด้านเกษตร และภาคประชาชน หารือเตรียมความพร้อมต้อนรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะ ซึ่งมีกำหนดการเดินทางมาตรวจราชการ และปาฐกถาพิเศษเรื่อง "การขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 ในภาคใต้" ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติ ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี รวมทั้งตรวจเยี่ยมตลาดเกษตร ม.อ.หาดใหญ่ และมอบเงินทุนแก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อย หรือเอสเอ็มอี ที่โรงแรมหรรษาเจบี อ.หาดใหญ่ ในวันที่ 24 พฤษภาคมนี้

          ม.อ.โชว์ต้นแบบตลาดเกษตร

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเดินทางของนายกฯ ครั้งนี้ เป็นไปตามคำเชิญของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เพื่อนำเสนอผลการดำเนินงานที่ร่วมกับมหาวิทยาลัยในเครือข่ายภาคใต้ ขับเคลื่อนการศึกษาด้วยงานวิจัย ซึ่งเป็นพื้นฐานทำให้เกิดนวัตกรรมต่างๆ ที่สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ตามนโยบายประเทศไทย 4.0ได้

          ผศ.ทวีศักดิ์ นิยมบัณฑิต คณบดีคณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ กล่าวว่า สำหรับตลาดเกษตร ม.อ. ตั้งอยู่ภายในบริเวณ คณะทรัพยากรธรรมชาติ ม.อ.หาดใหญ่ เปิดขึ้นมาเพื่อให้เกษตรกรและผู้ประกอบการ มาจำหน่ายสินค้าด้วยตัวเอง มีพ่อค้าแม่ค้า จำนวน 185 ราย มีรายได้รวมต่อปีประมาณ 100 ล้านบาท ซึ่งทั้งหมดกลับคืนสู่เกษตรกร เนื่องจากทางคณะเก็บค่าเช่าดือนละ 1,000 บาทเท่านั้น เชื่อว่าจะเป็นต้นแบบให้แก่จุดอื่นๆ ดำเนินการเปิดตลาดในลักษณะนี้ รวมถึงให้เกษตรกรหันมาปลูกผักปลอดสารพิษเพิ่มมากขึ้น

          เชียงใหม่ชี้เอสเอ็มอีขอกู้ยาก

          ที่ จ.เชียงใหม่ นายวีระยุทธ สุขวัฑฒโก ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคเหนือ กล่าวว่า ภาคเอกชนกำลังจัดเตรียมความพร้อมต้อนรับ คณะนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะเดินทางมาในพื้นที่ระหว่างวันที่ 26-27 พฤษภาคมนี้ นโยบายเกี่ยวกับเอสเอ็มอีเป็นเรื่องที่ดี แต่ที่ผ่านมามีการ พุ่งเป้าไปให้ความช่วยเหลือในกลุ่มสตาร์ตอัพมากขึ้น จึงไม่อยากให้ทิ้งกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี โดยเฉพาะกองทุนสินชื่อเอสเอ็มอี เงื่อนไขของการยื่นกู้ที่ระบุว่า ต้องดูว่าผลประกอบการของธุรกิจที่ผ่านมาขาดทุนติดต่อกัน 3 ปีหรือไม่ หากมีเกณฑ์ลักษณะนี้คงช่วยเอสเอ็มอีไม่ได้

          "กลุ่มธุรกิจที่กำลังน้ำท่วมถึงคอ รอวันตาย ไม่ช่วยเหลือจะปล่อยให้เขาตายหรือ ผู้ประกอบ การไม่มีเงินหมุนเวียนก็ไปไม่รอด อยากให้รัฐหันมาช่วยเอสเอ็มอีกลุ่มนี้ ไม่ได้หมายความว่าให้ทิ้งกลุ่มสตาร์ตอัพ แต่อยากถามว่าตั้งแต่สนับสนุนกลุ่มสตาร์ตอัพมีที่สำเร็จไปแล้วกี่ราย" นายวีระยุทธกล่าว

          ชลฯชงนำร่องกองทุนประชารัฐ

          ที่ จ.ชลบุรี นางเพ็ญทิพย์ พรจะเด็จ นายกสมาคมส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย จ.ชลบุรี เปิดเผยว่า จังหวัดชลบุรีได้รับอนุมัติงบประมาณช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ทั้งหมด 225 ล้านบาท จากกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ โดยจะมีการนำร่อง 2 โครงการที่จะเข้าพิจารณาระดับจังหวัด คือการส่งเสริมสินค้าอาหารแปรรูป และนวัตกรรมทางด้านยานยนต์ ในวันที่ 24 พฤษภาคมนี้ เพื่อเป็นต้นแบบช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายอื่นๆ ต่อไป ปัจจบุนมีเอสเอ็มอีในพื้นที่ จ.ชลบุรี ขึ้นทะเบียนไว้แล้วประมาณ 80,000 กว่าราย

          ที่ จ.อุบลราชธานี นายสมชาติ พงคพนาไกร ประธานหอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า หอการค้าจังหวัดอุบลราชธานีได้ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมช่วยเหลือผู้ประกอบการ ซึ่งที่ผ่านมาติดปัญหาการเงิน ระบบบัญชี โดยประสานไปยังธนาคารเพื่อพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอีแบงก์ สนับสนุนสินเชื่อรายย่อยเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนและปรับปรุงกิจการ

          ส่งออกเม.ย.8.5%

          ที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) แถลงตัวเลขการค้าระหว่างประเทศเดือนเมษายนว่า การส่งออก มีมูลค่า 16,864 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 8.5% เทียบเดือนเดียวกันปีก่อน ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 นับจากมีนาคมปีนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว การส่งออกขยายตัวในเกือบทุกตลาดที่เป็นคู่ค้าสำคัญ ทั้งสหรัฐอเมริกา จีน อาเซียน ญี่ปุ่น เป็นต้น ประกอบกับราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาสินค้าเกี่ยวเนื่องได้รับผลดี และสินค้าในกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรกรยังขยายตัวต่อเนื่องที่ 11.9% สินค้าที่ยังส่งออกได้ดี อาทิ ยางพารา น้ำตาลทราย ข้าว และอาหารทะเลแช่แข็ง

          น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า สำหรับการนำเข้าเดือนเมษายนมีมูลค่า 16,808 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 13.38% เป็นผลจากการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิง สินค้าทุน สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป นับเป็นการนำเข้าสินค้าในระดับน่าพอใจ เนื่องจากเป็นสินค้าทุนเพื่อใช้ในการผลิตต่อไป ส่งผลให้การส่งออก 4 เดือนแรก (มกราคม-เมษายน) ปีนี้มีมูลค่า 73,321 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 5.7% นับว่าสูงสุดในรอบ 6 ปี ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 69,211 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 14.5% ทำให้เกินดุลการค้า 4,110 ล้านเหรียญสหรัฐ

          น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า สำหรับการติดตามนโยบายการค้าของสหรัฐ กระทรวงพาณิชย์กำลังตั้งคณะทำงานภายในขึ้นมาเฉพาะ เพื่อติดตามดูการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐเพื่อเตรียมมาตรการออกมารองรับ และจะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ (กนศ.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในวันที่ 26 พฤษภาคมนี้

          'อนันต์'ไขก๊อกแลนด์แอนด์เฮ้าส์

          จากกรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ออกหมายเรียกนายอนันต์ อัศวโภคิน นักธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์ชื่อดัง ประธานเครือแลนด์แอนด์ เฮ้าส์ให้มารับทราบข้อกล่าวหาฐานสมคบกันและร่วมกันฟอกเงินสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นในวันที่ 7 มิถุนายน ทำให้มีการคาดหมายอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจในเครือด้วยนั้น

          ล่าสุด วันเดียวกันนี้ นางศศิธร พงศธร กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้ทำหนังสือแจ้งกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า นายอนันต์ อัศวโภคิน ประธานกรรมการ ได้ลาออกจากการเป็นประธานกรรมการและกรรมการ บริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือแอลเอชแบงก์ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา

          นอกจากนี้ ในเวลาต่อมานายอนันต์ยังได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งต่างๆ ในบริษัทเครือแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ด้วย คือลาออกจากประธานกรรมการ ประธานกรรมการบริหาร และกรรมการ บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ลาออกจากการเป็นประธานกรรมการและกรรมการของบริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) และลาออกจาก ตำแหน่งกรรมการ บริษัท ควอลิตี้เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ด้วย โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคมเป็นต้นไป โดยการลาออกจากทั้ง 4 บริษัท นายอนันต์ไม่ได้ระบุถึงสาเหตุการลาออกแต่อย่างใด

          'แอลเอช'เร่งหาประธานใหม่

          นายรณดล นุ่มนนท์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.ได้รับหนังสือแจ้งการลาออกของนายอนันต์จากตำแหน่งประธานกรรมการและกรรมการของแอลเอชแบงก์ รวมทั้งประธานกรรมการและกรรมการของบริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) แล้ว ส่วนการแต่งตั้งประธานกรรมการคนใหม่ จะต้องส่งเรื่องให้ ธปท.พิจารณาทันที

          นายวิเชียร อมรพูนชัย ผู้ช่วยสายงานสำนักกรรมการผู้จัดการ แอลเอชแบงก์ กล่าวว่า ธนาคารจะมีการสรรหาผู้ที่มีคุณสมบัติมาเป็นกรรมการผู้จัดการคนใหม่ เช่นเดียวกับบริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่ต้องสรรหาประธานกรรมการคนใหม่เช่นกัน จากเดิมนายอนันต์นั่งทั้งสองตำแหน่ง ส่วนการสรรหาใหม่ ไม่จำเป็นต้องเป็นคนเดียวกัน แต่จะสรรหาจากผู้ที่มีความเหมาะสมและคุณสมบัติครบ โดยกระบวนการสรรหาสามารถเริ่มได้ทันที เพราะมีคณะกรรมการสรรหาอยู่แล้ว

          "หากสามารถคัดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติได้ภายในเดือนมิถุนายน ก็จะมีการเสนอรายชื่อเพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาเห็นชอบ ในส่วนของแอลเอชแบงก์ ผู้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการจะต้องมีการนำเสนอต่อ ธปท.เพื่ออนุมัติต่อไป ส่วนบริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กระบวนการสรรหาเป็นไปตามบริษัทจดทะเบียนทั่วไป" นายวิเชียรกล่าว

          ราคาหุ้นแลนด์ทรงตัว

          ผู้สื่อข่าวรายงานราคาหุ้นของกลุ่มบริษัทแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ วันนี้ (22 พ.ค.) ว่า แม้ดัชนีหุ้นไทยจะบวกขึ้นสดใสตลอดทั้งวัน แต่ราคาหุ้นของกลุ่มแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ส่วนใหญ่ซื้อขายไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงจากวันทำการก่อนหน้า โดยบริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป ปิดที่ 1.74 บาท ไม่เปลี่ยนแปลงจากวันก่อนหน้า บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ปิดที่ 9.70 บาท เพิ่มขึ้น 0.20 บาท หรือ 2.11% บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ปิดที่ 9.55 บาท ไม่เปลี่ยนแปลงจากวันก่อนหน้า บริษัท ควอลิตี้เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) มีแรงขายท้ายตลาดทำให้ราคาลดลงปิดที่ 2.42 บาท ลดลง 0.02 บาท หรือ 0.82% ส่วนดัชนีตลาดหุ้นไทยปิดตลาดที่ 1,557.73 จุด เพิ่มขึ้น 8.09 จุด หรือ 0.52%

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ผู้ส่งออกน้ำตาลทรายจ๊าก! จีนประกาศเซฟการ์ด เพิ่มภาษีนำเข้าอีก45%

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงการติดตามนโยบายการค้าของสหรัฐ ว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ตั้งคณะทำงานภายในขึ้นมาเฉพาะ เพื่อติดตามดูการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐ เพื่อเตรียมมาตรการออกมารองรับ 2 ส่วนหลัก คือ 1.ติดตามดูกลุ่มที่ให้ข้อมูลกับสหรัฐ ซึ่งให้เข้มงวดกับไทยในบางสินค้า เช่น สินค้ากุ้ง เป็นต้น 2.ดูทิศทางของสหรัฐว่าจะไปทิศทางไหน

เบื้องต้นสหรัฐฯให้ความสำคัญกับการค้าดิจิทัล ด้วยการออกมาตรการที่ต้องทันกับโลกสมัยใหม่ สหรัฐฯยังมองหาการปรับปรุงบทบัญญัติ ทั้งเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา รัฐวิสาหกิจ ภาคบริการ พิธีการศุลกากร สุขอนามัย แรงงาน สิ่งแวดล้อม และเอสเอ็มอี เป็นต้น นอกจากนี้ ไทยจะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ (กนศ.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในวันที่ 26 พฤษภาคมนี้

นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวอีกว่า สำหรับกรณีจีนเตรียมประกาศใช้มาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (เซฟการ์ด) สำหรับสินค้าน้ำตาลทราย ซึ่งจะใช้กับทุกประเทศที่ส่งออกไปจีน โดยขึ้นภาษีนำเข้าเพิ่มจากเดิมอีก 45% ทำให้น้ำตาลนอกโควต้าจะต้องเสียภาษีรวมอยู่ที่ 95% ซึ่งรวมอัตราภาษีเดิมที่กำหนดเรียกเก็บอยู่ 50%

ส่วนน้ำตาลในโควต้าจะยังคงข้อกำหนดจัดเก็บภาษีไว้ที่ 15% เรื่องนี้ยอมรับว่าการส่งออกน้ำตาลของไทยจะได้รับผลกระทบแน่นอน แต่ได้รับผลกระทบน้อยเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง อย่างบราซิล และออสเตรเลีย ที่ต้องเสียค่าขนส่งมากกว่าไทย เนื่องจากอยู่ไกลจีนมากกว่า และหลังจากนี้ผู้ส่งออกไทยอาจจะต้องเร่งการส่งออกน้ำตาลไปจีนผ่านการใช้โควต้าเพื่อลดต้นทุน

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 

กรมชลประทาน แถลงแนวทางการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี 2560

กรมชลประทาน จัดแถลงข่าวแนวทางการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี 2560 หลังกรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศการเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการแล้ว

นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ประกาศการเข้าสู่ฤดูฝนปี 2560 อย่างเป็นทางการไปแล้วเมื่อวันนี้ 16 พ.ค. 60 ที่ผ่านมา กรมชลประทาน ได้กำหนดแนวทางการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี 2560 พร้อมกับวางแผนการบริหารจัดการน้ำและการเพาะปลูกพืชฤดูฝนปี พ.ศ. 2560 โดยให้สอดคล้องกับนโยบายการผลิตข้าวครบวงจร 15.95 ล้านไร่ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดังนี้      

การบริหารจัดการน้ำและการวางแผนเพาะปลูกพืชฤดูฝน 2560 ทั้งในเขตและนอกเขตชลประทานทั่วประเทศ โดยในเขตชลประทานของลุ่มน้ำเจ้าพระยา พื้นที่ 7.6 ล้านไร่ นั้น กรมชลประทาน ได้ปรับปฏิทินการส่งน้ำให้กับพื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบน คือ พื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ 265,000 ไร่ ให้ทำนาปีให้เร็วขึ้น ตั้งแต่ 1 เม.ย. - 31 ก.ค. 60 เพื่อให้เก็บเกี่ยวทันก่อนฤดูน้ำหลาก และจะใช้พื้นที่ลุ่มต่ำนี้เป็นพื้นที่หน่วงน้ำ/รับน้ำนองในช่วงเดือนสิงหาคมได้ประมาณ 400 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งตรงกับความต้องการและได้รับผลตอบรับจากเกษตรกรในพื้นที่เป็นอย่างดี ปัจจุบันเพาะปลูกไปแล้วเต็มพื้นที่ พร้อมกันนี้ ยังได้ปรับปฏิทินการส่งน้ำเพื่อทำนาปีให้เร็วขึ้นในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง 1.15 ล้านไร่ โดยเริ่มส่งน้ำให้ตั้งแต่ 1 พ.ค. 60 เป็นต้นมา เพื่อเก็บเกี่ยวให้แล้วเสร็จก่อนสิ้นเดือนสิงหาคม หลีกเลี่ยง น้ำหลากในเดือนกันยายนของทุกปี และเมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวเสร็จแล้ว จะใช้เป็นพื้นที่ตัดยอดน้ำบริเวณหน้า   เขื่อนเจ้าพระยาในช่วงที่เกิดน้ำหลาก โดยสามารถรองรับปริมาณน้ำได้ประมาณ 1,500 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้มีการเพาะปลูกไปแล้วประมาณร้อยละ 80 ของพื้นที่เป้าหมายที่วางไว้ สำหรับพื้นที่ดอน 6.19 ล้านไร่ ได้เริ่มส่งน้ำให้ทำการเพาะปลูกแล้วตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค. 60 ปัจจุบันมีการเพาะปลูกไปแล้วประมาณ 700,000 ไร่

ส่วนในพื้นที่โครงการชลประทานอื่นๆ รวมทั้งลุ่มน้ำแม่กลอง และพื้นที่นอกเขตชลประทานทั่วประเทศ หลังจากที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว กรมชลประทาน ได้เริ่มส่งน้ำเข้าระบบชลประทาน เพื่อให้เกษตรกรเพาะปลูกตามฤดูกาลปกติแล้วเช่นกัน

ทั้งนี้ ฝนที่ตกชุกและตกหนักบางแห่ง ในช่วงวันที่ 16 – 20 พ.ค. 60 ส่งผลดีต่อพื้นที่การเกษตร เนื่องจากเกษตรกรจะใช้น้ำฝนในการเพาะปลูกเป็นหลัก ทำให้ลดการใช้น้ำจากเขื่อนต่างๆ ได้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในลุ่มน้ำเจ้าพระยา กรมชลประทาน ได้ลดการระบายน้ำจาก 4 เขื่อนหลัก จากเดิมวันละ 43 ล้าน ลบ.ม. เหลือวันละ 11.62 ล้าน ลบ.ม. ทำให้มีน้ำเก็บกักเพิ่มมากขึ้น เพียงพอที่จะสนับสนุนการใช้น้ำในกรณีที่เกิดภาวะฝนทิ้งช่วงในเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคมนี้ 

ในส่วนของแผนการป้องกันและบรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำ(ฤดูฝน) พ.ศ. 2560 นั้น กรมชลประทานและหน่วยงาน  ที่เกี่ยวข้อง 10 หน่วยงาน บูรณาการทำงานร่วมกันในรูปแบบของคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์ โดยจะมีการประชุมเพื่อวางแผนและกำหนดมาตรการในการบริหารจัดการน้ำร่วมกันทุกสัปดาห์ พร้อมไปกับการคาดการณ์และติดตามสภาวะทางอุตุ-อุทกวิทยา การบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำโดยใช้ ReservoirReservoir Operation Simulation และ Reservoir Operation Rule Curve รวมไปถึงการเตรียมพร้อมใช้งานอาคารชลประทาน การใช้เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลัก  ดันน้ำ เครื่องจักรเครื่องมือในการระบายน้ำ ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ทันต่อเหตุการณ์หากเกิดอุทกภัย  รวมทั้งการกำจัดผักชวาในคลองและแม่น้ำสายต่างๆ เพื่อให้น้ำไหลได้สะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ว่า ฤดูฝนปีนี้จะใกล้เคียงกับปี 2542 โดยปริมาณฝนรวมทั้งประเทศจะสูง กว่าค่าปกติเล็กน้อย ประมาณร้อยละ 5 โดยในช่วงปลายเดือนมิถุนายนถึงต้นเดือนกรกฎาคม มีโอกาสที่จะเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง หรือมีฝนตกน้อย อาจทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำในพื้นที่การเกษตรได้ โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทาน   จึงขอให้ ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุดด้วย 

ส่วนในเดือนสิงหาคมถึงกันยายน คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ อาจก่อให้เกิดสภาวะ น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งได้ในบางพื้นที่ กรมชลประทานได้สั่งการให้โครงการชลประทาน   ทุกแห่งเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมกับบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้มีที่ว่างเพียงพอที่จะรองรับปริมาณน้ำฝนที่จะตกลงมาตามความเหมาะสม รวมไปถึงการประชาสัมพันธ์ แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ และหน่วยงานท้องถิ่นที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำในอ่างเก็บน้ำล่วงหน้า ตลอดจนประสานงานกับผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อรายงานสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด รวมทั้งการตรวจสอบสภาพความพร้อมใช้งานของอาคารชลประทาน ที่ใช้ในการส่งน้ำและระบายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นอาคารชลประทานหรือสถานีสูบน้ำ ต้องอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้ตลอดเวลา นอกจากนี้ ยังให้ดำเนินการตรวจสอบเส้นทางการระบายน้ำ สิ่งกีดขวางทางน้ำ ทั้งทางน้ำชลประทานและทางน้ำในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบ หากมีปัญหาด้านการระบายน้ำให้ดำเนินการแก้ไขโดยทันทีต่อไปแล้ว

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 

เกษตรย้ำ ปลูกพืชรอบใหม่ต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกรไม่เกิน 60 วันหลังปลูก

           นายสมชาย  ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ในการขึ้น/ปรับปรุงข้อมูลทะเบียนเกษตรกร มีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังนี้

         1. เกษตรกรสามารถแจ้งข้อมูลกับเจ้าหน้าที่เกษตรตำบล  หลังจากปลูกพืชแล้วไม่น้อยกว่า 15 วันและไม่เกิน 60 วัน

          2. เกษตรกรที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ปลูก สามารถแจ้งปรับปรุงข้อมูลได้กับอาสาสมัครเกษตรของหมู่บ้านท่าน (อกม.) หรือไปที่องค์การบริหารส่วนตำบล หรือที่ว่าการอำเภอ ที่เป็นหน่วยงานภาคีกับกรมส่งเสริมการเกษตร  โดยนำบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงมาเป็นหลักฐานในการแจ้งปรับปรุงข้อมูล

          3. เกษตรกรที่ยังไม่เคยขึ้นทะเบียนมาก่อน หรือมีซื้อที่ดินเพื่อเพาะปลูกเพิ่มเติม   ให้ไปแจ้งขึ้นทะเบียนใหม่   ณ สำนักงานเกษตรอำเภอที่ตั้งแปลงปลูก ในวันและเวลาราชการ  โดยนำบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงและแสดงหลักฐานแสดงสิทธิ์การถือครองที่ดินตัวจริงพร้อมสำเนาที่มีการรับรองสำเนาจากผู้ครองครอง หรือหลักฐานการเช่า   หลังจากที่เจ้าหน้าที่เกษตรตำบลรับแจ้งแล้วจะบันทึกข้อมูลเข้าระบบทะเบียนเกษตรกรของกรมส่งเสริมการเกษตร และจะมีการตรวจสอบข้อมูลกับสำนักทะเบียนราษฎร์ กรมการปกครองเพื่อยืนยันตัวบุคคล ไม่ให้มีการขึ้นทะเบียนซ้ำซ้อนของคนในทะเบียนบ้านเดียวกัน

          4.  หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จะทำการตรวจสอบข้อมูลการแจ้งปลูกพืชของเกษตรกรโดยจะมีพิมพ์รายชื่อและข้อมูลออกไปติดประกาศในชุมชน และ/หรือ การวาดขอบเขตแปลงเพื่อตรวจสอบพื้นที่จริง หากพบว่าข้อมูลเป็นจริงจะยืนยันผลในระบบ และถือว่าการแจ้งปรับปรุงข้อมูลหรือขึ้นทะเบียนสำเร็จสมบูรณ์

          5. เกษตรกรที่ผ่านการตรวจสอบข้อมูลแล้วเกษตรกรสามารถนำสมุดทะเบียนเกษตรกรมาปรับปรุงข้อมูลลงบนสมุดจัดเก็บไว้เพื่อแสดงตัวตน

           6. หากเมื่อใดที่รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรจำเป็นต้องมีคณะกรรมการตรวจสอบและรับรองสิทธิ์ภายในชุมชนอีกครั้งหนึ่ง

                กรมส่งเสริมการเกษตรจึงขอความร่วมมือจากเกษตรกรแจ้งข้อมูลตามความเป็นจริง เพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ของตนเอง สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้านท่าน

จาก http://www.komchadluek.net วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 

เดือดร้อนรง.น้ำตาลสร้างมลพิษ 

          นครสวรรค์-นางสมบัติ เมฆวิลัย ชาวบ้าน หมู่ 7 ต.บ้านมะเกลือ อ.เมืองนครสวรรค์ เปิดเผยว่าขณะนี้ได้รับความเดือดร้อนมาก เนื่องจากโรงงานน้ำตาลแห่งหนึ่งที่อยู่ใกล้เคียง ก่อปัญหาด้านมลพิษไม่ว่าจะเป็นเรื่องฝุ่นละออง เสียงรบกวน น้ำเหม็นเด็กเล็กๆเป็นผื่นคันกันจำนวนมาก เคยไปแจ้งเจ้าหน้าที่ของโรงงานแล้ว ได้รับคำตอบว่าจะแก้ไขให้ ขณะที่เจ้าหน้าที่ทหาร มทบ.31 ค่ายจิระประวัตินครสวรรค์และเจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ได้ลงไปตรวจสอบในพื้นที่แล้ว ซึ่งได้ส่งเรื่องไปยังเจ้าของโรงงาน ได้รับคำตอบว่าจะใช้เวลาในการแก้ไขปัญหาทุกๆด้านให้แล้วเสร็จสิ้นภายใน 90 วัน.

จาก http://www.thairath.co.th วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 

'อภิรดี'นั่งประธานบอร์ดใหม่สถาบันสินค้าเกษตรนวัตกรรม 

          เปิดตัว "สถาบันส่งเสริมสินค้าเกษตรนวัตกรรม" ภายใต้กรมการค้าต่างประเทศ ประเดิมประชุมบอร์ดนัดแรก 22 พ.ค.นี้ ตั้งเป้าทำตลาดสินค้านวัตกรรมข้าว- มันสำปะหลัง หลังหมดยุคโครงการรับจำนำ

          นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้า ต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2560 จะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารสถาบัน ส่งเสริมสินค้าเกษตรนวัตกรรม (Institute for Agricultural Product Innovation : API) ครั้งที่ 1/2560 โดยมีนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน เพื่อกำหนดแนวทางการทำงานของสถาบันฯ หลังจากได้มีคำสั่ง 177/2560 แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารสถาบันฯ ขึ้นเมื่อ 23 มีนาคม 2560

          "เดือนกันยายนนี้คาดว่าจะเปิดระบายข้าวสารในสต๊อกหมด ตามนโยบายของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในยุคของ คสช.จะไม่มีโครงการรับจำนำสินค้าเกษตรแน่นอน ต่อไปการทำงานของกรมจะมุ่งส่งเสริมการตลาดสินค้าเกษตรนวัตกรรม ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นนวัตกรรมที่ก้าวล้ำมาก ๆ เพียงให้เป็นการประยุกต์ พัฒนา และใช้ได้ในชีวิตประจำวันสร้างมูลค่าเพิ่มจากเดิมผู้ประกอบการไทยมักจะขายสินค้าเกษตรขั้นพื้นฐาน ทำให้ขายได้ราคาไม่สูงนัก การพัฒนานวัตกรรมจะทำให้มีความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน"

          สำหรับการประชุมครั้งแรกจะหารือถึงบทบาทหน้าที่ของสถาบัน โดยหลักจะมุ่งเน้น อำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ เช่น การขอใบอนุญาตจากหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งสถาบันนี้จะช่วยประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่อยู่ภายใต้คณะกรรมการฯ นอกจากนี้กรมจะเชื่อมโยงการทำตลาดสินค้าเกษตรนวัตกรรมกับโครงการพัฒนาผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในอาเซียน (YEN-D) เพื่อขยายตลาดให้สินค้าไทย

          "บทบาทของสถาบันไม่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่นแน่นอน อย่างกรมการข้าวจะเน้นดูแลภาคการผลิต หรือหน่วยงานอื่นอีก 5 หน่วยงาน เช่น สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จะเน้นด้านการวิจัย แต่สถาบันจะเน้นด้านการทำตลาด และอำนวยความสะดวกให้ ผู้ประกอบการ โดยสินค้าเป้าหมายกลุ่มแรกเน้นสินค้าข้าวและมันสำปะหลัง ขณะนี้มีผู้ประกอบการไทยพัฒนานวัตกรรมและมีองค์การต่าง ๆ ที่ทำวิจัยไปบ้างแล้ว ทางสถาบันจะเข้าไปต่อยอดช่วยด้านการตลาด ส่วนงบประมาณสนับสนุนในปีแรกจะดึงจากกองทุนข้าว ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารของกรมการค้าต่างประเทศประมาณ 10 ล้านบาท สำหรับใช้บริหารจัดการชั่วคราวก่อนจะทำแผนเสนอของบประมาณ ปี 2562"

          ทั้งนี้  สถาบันฯเป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดกรมการค้าต่างประเทศ มีฐานะเทียบเท่ากอง โดยมีนางสาวจารุมน วินิชสุวรรณ เป็นผู้อำนวยการสถาบันคนแรก สำหรับองค์ประกอบของคณะกรรมการบริหารสถาบันฯมี 13 คน โดยมีรมว.พาณิชย์เป็นประธาน และปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นรองประธาน โดยมีกรรมการ 4 คน ประกอบด้วยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, ปลัดกระทรวงสาธารณสุข, ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

          มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 4 คน ประกอบด้วยนางพวงรัตน์ อัศวพิศิษฐ์, รศ.ดร.สิรี ชัยเสรี, ดร.พรรณวิภา กฤษฎาพงษ์, นายวัชรพล บุญหลาย โดยมีอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเป็นกรรมการและเลขานุการ, มีรองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ และมีนายวรวรรณ วรรณวิล นักวิชาการพาณิชย์ชำนาญการพิเศษ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ช่วยเลขานุการ

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 

เตือนก่อนลงดาบสารเคมี3ตัวแนะศึกษาผลกระทบเกษตรกร 

           สมาคมอารักขาพืชไทยยืนยันให้กรมวิชาการเกษตรพิจารณาข้อมูลทางวิทยาศาสตร์อย่างรอบคอบ ก่อนลงดาบ สารเคมี 3 ตัว พาราควอตไกลโฟเสท-คลอไพริฟอส รวมทั้งศึกษาผลกระทบต่อเกษตรกรและภาคการผลิตพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศ เผยเคยห้ามสารคาร์โบฟูราน-เมโทมิล ปี2556 โดยไม่มีการพิจารณาข้อมูลผลกระทบจากพิษภัยการใช้ของเกษตรกรโดยตรง แต่กลับเอาข้อมูลคนตั้งใจกินฆ่าตัวตายมาเป็นข้อห้ามแทน ทำให้สารเคมีต้องห้ามทะลักเข้ามาแอบขายหลังร้านค้าจนถึงวันนี้

          นางสาววัชรีภรณ์ พันธุ์ภูมิพฤกษ์ นายกสมาคมอารักขาพืชไทย เปิดเผยถึงกรณีที่มีความพยายามในการห้ามใช้สารเคมีเกษตร 3 ตัว ได้แก่ สารกำจัดวัชพืชคือพาราควอตและไกลโฟเสท และสารกำจัดแมลงศัตรูพืชคือคลอไพริฟอส ว่า เป็นเพียงข้อเสนอแนะของคณะกรรมการขับเคลื่อนของกระทรวงสาธารณสุขต่อกรมวิชาการเกษตร ซึ่งรับผิดชอบควบคุมวัตถุอันตรายทางการเกษตรโดยตรง แต่ข้อเสนอแนะดังกล่าว ยังไม่ได้พิจารณาถึงข้อมูลทางวิทยาศาสตร์อย่างครบถ้วน ทั้งด้านบวกและลบ อาทิ ด้านพิษวิทยา ข้อมูลผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ข้อมูลสารตกค้างและความปลอดภัยของผู้บริโภค และยังไม่ได้พิจารณาถึงผลกระทบต่อภาคการเกษตรอย่างครบวงจร เช่น ผลกระทบต่อผลผลิต ต้นทุนการผลิต การบริหารความเสี่ยงกรณีศัตรูพืชดื้อยา และ ฯลฯ

          "กรมวิชาการเกษตรต้องศึกษาผลกระทบให้ชัดเจนประกอบการพิจารณา เพราะเกษตรกรจะเป็นผู้แบกรับความเสี่ยงเพียงผู้เดียว ประเมินทั้งประโยชน์และโทษของสารทั้ง 3 ตัว แล้วดูว่าจะบริหารความเสี่ยงที่เกิดขึ้นอย่างไร มันต้องเป็นกระบวนการขั้นตอน เช่น เริ่มจากใช้เฉพาะพืชประเภทไหน ห้ามใช้กับพืชชนิดไหน จนถึงขั้นห้ามใช้โดยสิ้นเชิง เหล่านี้มีขั้นตอนที่ชัดเจน  เป็นแนวทางสากลที่หลายประเทศใช้กันอยู่"

          นายกสมาคมอารักขาพืชไทยกล่าวว่า เมื่อแรกได้ยินข่าวมีข้อเสนอห้ามใช้ สารเคมี 3 ตัวก็รู้สึกแปลกใจว่า มีน้ำหนักพอมากพอที่จะห้ามใช้จริงหรือ สมาคมฯ จึงต้องขอให้พิจารณาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ทั้งหมด รวมทั้งผลกระทบต่อเกษตรกรไทย โดยเฉพาะสารทั้ง 3 ตัวใช้กันมานานกว่า 40 ปีแล้วในพืชเศรษฐกิจหลัก ของประเทศ ไม่ว่าข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และไม้ผล

          "เปรียบเทียบระหว่างประเทศที่ใช้สาร 3 ตัว กับประเทศที่ห้ามใช้  เป็นเครื่องยืนยันชั้นหนึ่งว่า ประเทศที่ยังคงใช้อยู่มีจำนวนมากกว่าประเทศที่ห้ามใช้ หรือแม้แต่ประเทศที่เคยห้ามใช้สารพาราควอตอย่างมาเลเซีย สุดท้ายก็หวนกลับมาใช้อีก เพราะไม่มีสารตัวใดกำจัดลูกปาล์มใต้โคนต้นแม่ซึ่งเป็นวัชพืชได้ โดยต้นแม่ไม่ตาย หรือกรณีไกลโฟเสทสามารถกำจัดวัชพืชที่มีหัวหรือเหง้าใต้ดินได้ โดยไม่มีในสารตัวอื่น เช่นเดียวกับคลอไพริฟอสที่มีไอระเหยกำจัดหนอนเจาะลำต้นทุเรียน โดยที่สารตัวอื่นไม่มีคุณสมบัติจำเพาะเช่นนี้"

          น.ส.วัชรีภรณ์ กล่าวว่า ผู้ประกอบการธุรกิจสารเคมีเกษตร อีกด้านหนึ่งก็เป็นผู้บริโภคเช่นเดียวกัน ห่วงใยความปลอดภัยในการบริโภคของตัวเองเช่นกัน ถ้ามีข้อมูลยืนยันว่า สารชนิดใดมีโทษมากกว่าประโยชน์ หรือไม่มีประโยชน์เลย ก็ไม่สนับสนุนให้เกษตรกรใช้ แต่ปัญหาใหญ่อยู่ที่เกษตรกรในฐานะเป็นผู้ใช้สารเคมียังขาดความรู้เรื่องการใช้สารเคมีอย่างถูกต้องและปลอดภัย (Safe use) ซึ่งทุกฝ่ายต้องมาช่วยกันเพื่อผลประโยชน์ต่อประเทศโดยรวม

          "สารเคมีได้ชื่อว่าเป็นวัตถุอันตรายอยู่แล้ว แต่ถ้ามีความรู้ความเข้าใจ เกษตรกรสามารถใช้ได้ถูกต้องเหมาะสม มีประสิทธิภาพ ปลอดภัยในการใช้ และประหยัดต้นทุนการผลิต เพราะเพิ่มผลผลิตและได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ทั้งปลอดภัยในการบริโภค ถ้าสารเคมีไม่ดีเลย ทำไมยังต้องใช้สารเคมีตัวอื่นทดแทนด้วย"

          สิ่งที่สมาคมฯ กังวลในขณะนี้ประการหนึ่งคือสารเคมีต้องห้ามจะทะลักเข้ามาสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก ตราบใดที่เกษตรกรยังจำเป็นต้องใช้ จึงเป็นช่องว่างที่สารเคมีจะเข้ามาในรูปแบบผิดกฎหมาย ดังตัวอย่างจากการห้ามใช้สารหลายชนิดก่อนหน้านี้ ปัจจุบันยังคงพบสารเหล่านั้นจำหน่ายในตลาดในรูปยาหลังร้าน ซึ่งไม่สามารถควบคุมคุณภาพสารได้ ผลร้ายตกอยู่กับเกษตรกรอีก ในขณะที่รัฐเองก็ขาดรายได้จากภาษี

          เช่นเดียวกัน การห้ามสารที่มีคุณสมบัติจำเพาะ 3 ตัว แล้วไปใช้สารตัวอื่นที่มีคุณสมบัติทดแทนได้บางระดับ เมื่อใช้นานๆ เข้า ย่อมมีโอกาสดื้อยาได้ ถึงตอนนั้นจะหาสารตัวใดมากำจัดศัตรูพืชเหล่านั้นได้ ในเมื่อรัฐห้ามใช้ไปแล้ว จึงเป็นเรื่อง ที่กรมวิชาการเกษตรต้องใคร่ครวญถึงผลกระทบทั้งในระยะสั้นและระยะยาวด้วย

          อย่างไรก็ตาม มีรายงานข่าวระบุว่า ความพยายามห้ามใช้สารทั้ง 3 ตัวยังคงขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องเป็นกระบวนการ ทั้งจากกลุ่มเอ็นจีโอที่อยู่ในคณะกรรมการขับเคลื่อนของกระทรวงสาธารณสุข  ซึ่งประสานกับระดับนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มาแต่ต้น โดยใช้กรมวิชาการเกษตรรับไม้ขับเคลื่อนต่อ ในฐานะรับผิดชอบโดยตรง ก่อนที่จะส่งให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดใหญ่ที่มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานพิจารณาตัดสินใจขั้นสุดท้าย

          "การทำงานของกรมวิชาการในระยะหลังๆ มีการตั้งข้อสังเกตว่า ตอบสนองการเมืองหรือกระแสสังคม มากกว่าจะใช้ความเป็นวิชาการเป็นคำตอบ โดยเฉพาะการห้ามใช้สารเคมี 2 ตัว เมื่อปี 2556 คือ คาร์โบฟูรานกับเมโทมิล กรมวิชาการเกษตรรายงานเฉพาะเรื่องคนกินแล้วตาย ในขณะคณะกรรมการชุด ใหญ่ท้วงติงให้นำเสนอข้อมูลผลกระทบจากการใช้ของเกษตรกรโดยตรง ไม่ใช่การกินฆ่าตัวตายซึ่งถือเป็นการใช้ผิดประเภท แต่จนแล้วจนรอด กรมฯ ก็ไม่ได้ทดสอบพิษจากการใช้จนบัดนี้ และไม่รับขึ้นทะเบียน จึงไม่แปลกที่ผู้ประกอบการธุรกิจสารกำจัดศัตรูพืชจะหวั่นเกรงว่าจะลงเอยอีหรอบเดิม" แหล่งข่าวกล่าว

          แหล่งข่าวกล่าวว่า  การจะทำให้ทุกฝ่ายยอมรับผลการตัดสินใจของกรมวิชาการเกษตรนั้น ต้องมาจากกระบวนการและขั้นตอนในการพิจารณาที่ครบถ้วน โปร่งใส ตรวจสอบได้

          "ถ้ายึดหลักการให้สมกับหน่วยงานวิชาการ ทำทุกขั้นตอนอย่างชัดเจน ตรงไปตรงมา ไม่อยู่ใต้อาณัติใคร ทุกฝ่ายก็ยอมรับผลการพิจารณาอยู่แล้ว แต่ทุกวันนี้มีปัญหาไม่น้อย มีผู้ประกอบการร้องเรียนและฟ้องร้องกรมฯ ไปบ้างแล้ว และมีแนวโน้มจะตามมาอีกหลายคดี".

จาก http://manager.co.th วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 

แจงสี่เบี้ย : ‘54 ปี กรมพัฒนาที่ดิน’ ขับเคลื่อนชีวิตเกษตรกรสู่ความยั่งยืน

เนื่องในโอกาสครบรอบ 54 ปี ในวันที่ 23 พฤษภาคมนี้ กรมพัฒนาที่ดิน กำหนดจัดงานวันสถาปนากรมพัฒนาที่ดิน ภายใต้หัวข้อ “54 ปี พัฒนาที่ดิน ขับเคลื่อนคุณภาพชีวิตเกษตรกรสู่ความยั่งยืน” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนงานตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ประกาศให้ปี 2560 เป็น “ปีแห่งการยกระดับมาตรฐานการเกษตรสู่ความยั่งยืน”

โดยไฮไลท์สำคัญของการจัดงาน คือ การจัดแสดงนิทรรศการขับเคลื่อนงานตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ นิทรรศการแนวคิด “การยกกระดาษ A4” ของ รมว.กษ. นิทรรศการ Agri-Map Online นิทรรศการ Zoningby Agri-Map นิทรรศการศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร นิทรรศการเกษตรแปลงใหญ่ นิทรรศการเกษตรทฤษฎีใหม่/เกษตรผสมผสาน นิทรรศการจัดหาที่ดินทำกิน (ยึดคืนที่ดิน ส.ป.ก.) นิทรรศการระบบส่งน้ำ/กระจายน้ำ นิทรรศการแผนผลิตข้าวครบวงจร (การปลูกพืชปุ๋ยสด ปอเทือง) นิทรรศการธนาคารสินค้าเกษตร (ธนาคารปุ๋ยอินทรีย์) นิทรรศการ Smart Office/Smart farmer และนิทรรศการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร

นอกจากนี้ ยังมีการจัดประชุมคัดเลือกผลงานวิชาการกรมพัฒนาที่ดิน ปี 2560 การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การเพิ่มประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับงาน Back Office” เพื่อสร้าง Smart Officer การฝึกอบรมประชาชนทั่วไป หลักสูตร “ผลิตภัณฑ์ จุลินทรีย์ พด. เพื่อปรับปรุงดิน เพิ่มธาตุอาหาร ฮอร์โมนพืช และรักษาสิ่งแวดล้อม” การประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2560 สมาคมอนุรักษ์ดินและน้ำแห่งประเทศไทย ห้องประชุม 801 ชั้น 8 รวมทั้งให้เกษตรกรได้ออกร้านจัดจำหน่ายผลผลิตและผลิตภัณฑ์ สินค้าเกษตรอินทรีย์คุณภาพดีเกรดพรีเมียม ราคาถูกกว่าท้องตลาด

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 

กรมชลยืนยัน ไม่จมบาดาลแบบปี’54 วอนอย่าตื่นตระหนก

กรมชลยืนยันไม่จมบาดาลแบบปี’54วอนอย่าตื่นตระหนก‘ชาวคีรีมาศ’ยังระทม‘กำแพงเพชร’ไล่จับไอ้เข้หลุดฟาร์ม1ตัว

กรมชลประทานยืนยัน น้ำไม่ท่วมเท่าปี 2554 วอนประชาชนอย่าตื่นตระหนก เจ้าหน้าที่ประเมินสถานการณ์ตลอดเวลา ทุกหน่วยเตรียมเครื่องมือพร้อม สั่งเร่งระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา ส่วนที่ คีรีมาศ จ.สุโขทัย ท่วมหนักสุดในรอบ 15 ปี ขณะที่กู้ภัยพรานกระต่าย จ.กำแพงเพชร จับจระเข้หลุดฟาร์มตัวที่ 3

เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากที่ฝนตกต่อเนื่องในตอนบนของประเทศ สถานการณ์น้ำเริ่มมีสภาพน้ำหลากเข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่วันที่ 18พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยสถานีวัดน้ำ ซี 2 จ.นครสวรรค์ อยู่ในเกณฑ์ประมาณ1,400-1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จึงสั่งการให้ 1.รับน้ำเข้าทุ่งฝั่งตะวันออกและตะวันตกให้ได้มากที่สุด จะสามารถรับเข้าได้ประมาณ 650 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที การใช้น้ำ 2 ฝั่ง รวมทั้งสถานีสูบน้ำ ตั้งแต่นครสวรรค์-ชัยนาท ประมาณ 50 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระบายท้ายเขื่อนเจ้าพระยาประมาณ 500-600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และรักษาความต่างของระดับเหนือ-ท้ายน้ำ ไม่เกิน 10.50 เมตร ตามเกณฑ์กำหนด

2.เร่งกระจายน้ำเข้าระบบให้เกษตรกรทำนา เพื่อให้เก็บเกี่ยวทันก่อนน้ำหลาก ช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม 3.ใช้น้ำจากน้ำฝนให้มากที่สุดเพื่อรักษาน้ำในเขื่อนหลักไว้ใช้ช่วงฤดูถัดไป 4.เร่งรัดจัดเก็บผักตบชวาที่ลอยมาติดเขื่อนเจ้าพระยาและลำน้ำหลักไม่ให้กีดขวางการระบายน้ำ และ 5.ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด คาดว่าปริมาณน้ำจะทรงตัวและลดลงเรื่อยไป ประมาณวันที่ 24 พฤษภาคมนี้

นายทองเปลว กล่าวต่อว่า ได้แจ้งเตือนจังหวัดที่อยู่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา เพิ่มการระบายน้ำผ่านเขื่อน 590 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ไม่เกิน700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ในวันเดียวกันนี้ ปริมาณน้ำระบายถึง จ.สิงห์บุรี โดยก่อนหน้านี้ได้แจ้งจังหวัดล่วงหน้า 2-3 วัน เพราะปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา มีระดับสูงขึ้น จ.นครสวรรค์ สูงตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม

ทั้งนี้ พื้นที่ลุ่มต่ำมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น เช่น อ.สรรพยา จ.ชัยนาท , อ.บางบาล อ.บางหลวงโดด อ.บ้านกระทุ่ม อ.หัวเวียง อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา ยังไม่มีผลกระทบจากน้ำล้นตลิ่ง ถ้าจะล้นมีปริมาณระบายน้ำในระดับ 1.1 -1.2 พันลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และล้นคันกั้นน้ำอยู่ที่ปริมาณ 2 พันลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวอีกว่า ปริมาณฝนตกช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา อยู่ในระดับ 150 มิลลิเมตร ถือว่าอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยตามการคาดการณ์กรมอุตุนิยมวิทยา ไม่ส่อเค้าว่าปริมาณมากผิดปกติ ไม่ทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่แบบปี 2554 โดยปริมาณฝนในปี 2554 สูงกว่าค่าเฉลี่ย 40% และยังได้รับผลข้างเคียงจากพายุ 4 ลูก จึงเกิดน้ำท่วมใหญ่ จากปริมาณฝนสูงสุดในรอบ 70 ปี จะมีท่วมขนาดนี้อย่างน้อย 1 ครั้ง

นายทองเปลว กล่าวว่า ขออย่าตื่นตกใจกับข่าวว่าน้ำจะท่วมหนักเท่าปี 2554 ปีนี้รัฐบาลเตรียมรับมือแล้วะชาชนในการซ่อมแซมบ้าน อุปกรณ์ไฟฟ้า เครื่องมือทางการเกษตร ยานพาหนะ หากเกิดน้ำท่วมและได้รับความเสียหาย รวมทั้งดูแลและบำรุงรักษาเรือ ฝึกทำสุขาลอยน้ำ ให้ความรู้แก่ประชาชนด้านการป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร การป้องกันอุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่อาจได้รับความเสียหายจากเหตุน้ำท่วม นอกจากนี้จัดเตรียมพาหนะ เช่น รถบรรทุกหกล้อ หรือเรือ ไว้ช่วยขนย้ายสัมภาระของประชาชนด้วย

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 

ฝนหลวงฯ เตรียมขยับเป็นหนึ่งในอาเซียนด้านการดัดแปรสภาพอากาศ

                 นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า กรมฝนหลวงฯ ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่เข้าร่วมประชุมคณะอนุกรรมการด้านอุตุนิยมวิทยาและธรณีฟิสิกส์ (SCMG) ครั้งที่ ๓๙ ระหว่างวันที่ ๓ – ๕ พฤษภาคม ๒๕60 ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านอุตุนิยมวิทยาและธรณีฟิสิกส์ จากประเทศสมาชิก ASEAN จำนวน 8 ประเทศ เข้าร่วมประชุม ได้แก่ บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม และไทย รวมถึงตัวแทนจากจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น โดยวัตถุประสงค์ของการประชุมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน อันจะนำมาซึ่งการเพิ่มขีดความสามารถในการเตือนภัยพิบัติธรรมชาติเพื่อลดและบรรเทาความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้นต่อประชาชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันจะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนข้อมูลของประเทศสมาชิก และความร่วมมือการวิจัยในหัวข้อต่างๆ เกี่ยวกับด้านอุตุนิยมวิทยา ธรณีฟิสิกส์ การผันแปรของสภาพอากาศ มรสุม ผลกระทบจากเขตพรมแดนทางทะเล มลพิษทางอากาศ แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด และการประเมินความเสี่ยง

                 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับฝนหลวง กรมได้เสนอให้มีการจัด ASEAN Weather Modification Workshop เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเทคโนโลยีของประเทศสมาชิก ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวได้รับการบรรจุไว้ในแผนปฏิบัติงานภายใต้กรอบ SCMG (Work Plan of Meteorological and Geophysics) โดยกำหนด   จัดในเดือนมิถุนายน 2561 ณ ประเทศไทย ซึ่งมีประเทศในภูมิภาคให้ความสนใจเข้าร่วม เช่น ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และประเทศอื่นๆ ทั้งนี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้รายงานถึงความร่วมมือ ในอาเซียนด้านการดัดแปรสภาพอากาศว่าในอดีตได้มีการดำเนินความร่วมมือ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย 

                 ในการร่างข้อเสนอโครงการ ASEAN Cooperative Weather Modification Project โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีการทำฝน และประเมินศักยภาพการทำฝนเทียมในภูมิภาคอาเซียน แต่เนื่องจากข้อจำกัดด้านงบประมาณในการดำเนินโครงการ และมีการปรับปรุงโครงสร้างของกรมฝนหลวงและ   การบินเกษตรในช่วงเวลานั้น จึงทำให้โครงการมีความก้าวหน้าไม่มากนัก ประเทศไทยจึงขอเสนอโครงการ ASEAN Weather Modification Workshop เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างความร่วมมือด้านการดัดแปรสภาพอากาศในอาเซียนอีกครั้ง  และได้นำเสนอเทคโนโลยีฝนหลวงซึ่งเป็นเทคนิคที่ริเริ่มคิดค้นโดยพระบาทสมเด็จ   พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ผลการปฏิบัติการ เทคนิคและขั้นตอนการทำฝนตามตำราฝนหลวงพระราชทาน อุปกรณ์และเครื่องมือที่ใช้ในการปฏิบัติงาน รวมทั้งงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีฝนหลวงที่อยู่ระหว่างการดำเนินงาน

                สำหรับการเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้  นับได้ว่าเป็นประโยชน์ต่อกรมฝนหลวงและการบินเกษตร   ในการได้เรียนรู้การพัฒนาการพยากรณ์และระบบการเตือนภัยเพื่อลดความเสียหายที่เกิดจากภัยธรรมชาติด้านอุตุนิยมวิทยาและธรณีฟิสิกส์ที่ได้ดำเนินการในภูมิภาคอาเซียน เพื่อนำมาใช้เป็นแนวทางในการวางแผนปฏิบัติการฝนหลวง และเป็นโอกาสในการนำเสนอศักยภาพการปฏิบัติงานด้านการดัดแปรสภาพอากาศของหน่วยงาน ซึ่งนับว่าเป็นการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ 20 ปี ของกรมฝนหลวงฯ ในการพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการดัดแปรสภาพอากาศในอาเซียนภายในระยะเวลา 10 ปี  และได้มีโอกาสเรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านอุตุนิยมวิทยา และการดัดแปรสภาพอากาศในภูมิภาค และเทคนิคในการทำฝนของประเทศสมาชิก เพื่อนำมาพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการฝนหลวงของไทยให้เกิดผลสำเร็จยิ่งขึ้นต่อไป  นายสุรสีห์ กิตติมณฑล กล่าวทิ้งท้าย

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 

ข้อตกลงการค้า "ทีพีพี" เดินหน้าต่อแม้ไม่มีสหรัฐ

                    นิวซีแลนด์ยืนยันว่า 11 ประเทศจะร่วมกันผลักดันข้อตกลงการค้าเสรี "ทีพีพี" ต่อไป แม้สหรัฐถอนตัวก็ตาม  

                    สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม เมื่อวันที่ 22 พ.ค. ว่านายท็อดด์ แมคเคลย์ รมว.กระทรวงการค้านิวซีแลนด์ กล่าวนอกรอบการประชุมรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจและการค้าของกลุ่มประเทศความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก ( เอเปก ) ที่กรุงฮานอย เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ว่าความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก ( ทีพีพี ) จะเดินหน้าต่อไปโดยการผลักดันของ 11 ประเทศที่เหลือ ได้แก่ นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น แคนาดา มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม บรูไน ออสเตรเลีย ชิลี เปรู และเม็กซิโก

ทั้งนี้ เสถียรภาพของทีพีพีสั่นคลอนอย่างหนัก เมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ นำสหรัฐถอนตัวออกจากการเป็นหนึ่งในประเทศที่ร่วมลงนาม เมื่อปลายเดือนม.ค.ปีนี้ หลังใช้เวลาเจรจาร่วมกันนานถึง 7 ปี ขณะที่มีเพียง 2 ประเทศเท่านั้นซึ่งให้สัตยาบันต่อข้อตกลงแล้ว คือญี่ปุ่นและนิวซีแลนด์ ซึ่งหนึ่งในข้อกำหนดสำคัญของทีพีพีระบุว่าข้อตกลงจะมีผลบังคับใช้เมื่อมีอย่างน้อย 6 ประเทศร่วมให้สัตยาบัน และผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ( จีดีพี ) ของทั้ง 6 ประเทศนั้นต้องมีสัดส่วนอย่างน้อย 85% ของจีดีพีสมาชิกทีพีพีทั้งหมด ซึ่งในทางทฤษฎีหมายความว่าสหรัฐต้องร่วมให้สัตยาบันด้วย

ขณะที่แหล่งข่าวในการประชุมเอเปกครั้งนี้เผยว่า ญี่ปุ่นกำลังพยายามวิ่งเต้นให้มีการเปลี่ยนชื่อข้อตกลงการค้าเป็น "ทีพีพี 11" และสมาชิกที่เหลือพร้อมและยินดีเป็นอย่างยิ่ง หากสหรัฐจะกลับเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของทีพีพีอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม นายโรเบิร์ต ไลธิเซอร์ ผู้แทนเจรจาการค้าของสหรัฐ ยืนยันว่ารัฐบาลวอชิงตันของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ "จะไม่เปลี่ยนจุดยืน" ที่มีต่อทีพีพี

จาก https://www.dailynews.co.th  วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 

บาทเปิด34.35บาท/ดอลล์ แข็งค่ารอบเดือน จับตาประชุมกนง.24 พค.นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ค่าเงินบาทวันที่ 22 พฤษภาคม 2560 เปิดตลาดที่ 34.35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าเล็กน้อยจากสัปดาห์ก่อนที่ปิดตลาด เป็นการแข็งค่ามากที่สุดในรอบเดือน ที่ 34.39 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้มองกรอบที่ระดับ 34.20-34.70 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยต้องจับตาการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ในวันที่ 24 พฤษภาคมนี้ คาดว่าจะคงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.50% อย่างไรก็ตามมองว่าเงินเฟ้อในช่วงที่ผ่านมาถือว่าค่อนข้างต่ำและมีความเป็นไปได้ที่เงินเฟ้อทั้งปีอาจหลุดกรอบที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ตั้งไว้ ความเป็นไปได้ที่จะ “ลดดอกเบี้ย” จึงเพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ก็เป็นอีกปัจจัยที่ธปท. อาจแสดงความกังวลในการประชุมครั้งนี้ ซึ่ง ธปท.เคยลดดอกเบี้ยเนื่องจากเงินบาทแข็งค่ามากในช่วงกลางปี 2558

รวมทั้ง การประชุมของกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันออก (โอเปค) ในวันที่ 25 พฤษภาคม เชื่อว่าจะมีข้อตกลงในการยืดระยะเวลาในการลดกำลังการผลิตต่อไปจนถึงปีนาคมปี 2561 หรือตรึงกำลังการผลิตไว้ที่ 32.5 ล้านบาเรลล์ต่อวัน น่าจะส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นได้บ้างในระยะสั้น อย่างไรก็ตามยังมองกรอบการเคลื่อนไหวในปีนี้ที่ระดับ 45-60 เหรียญต่อบาเรลล์

ด้านการรายงานตัวเลขอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ(จีดีพี) สหรัฐ ไตรมาส 1 ครั้งที่ 2 ในวัน 26 พฤษภาคม คาดว่าจีดีพีไตรมาสที่ 1 จะเติบโตที่ระดับ 0.9% ไม่เปลี่ยนแปลงจากการรายงานครั้งก่อนหน้า โดยเป็นการชะลอตัวของการบริโภคภาคเอกชนจากปัญหาสภาพอากาศในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งไม่เป็นแรงบวกกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ปัญหาการเมืองยังคงกดดันให้ดอลลาร์อ่อนค่าลงในระยะสั้น

จาก https://www.matichon.co.th วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 

น้ำท่วมพรานกระต่ายเริ่มแห้ง “วังตะแบก” อ่วมถนน ทุ่งนา ไร่อ้อยยับเยิน

กำแพงเพชร - สถานการณ์น้ำท่วมพรานกระต่าย เริ่มคลี่คลาย ชลประทานตั้งเครื่องสูบน้ำออกเต็มที่ แต่ “ต.คุยบ้านโอ่ง ต.วังตะแบก” ยังอ่วม พบผืนนา ไร่อ้อย ไร่มันสำปะหลัง สวนดาวเรือง บ้านเรือนชาวบ้านเสียหายยับเยิน แต่น้ำใจยามยากล้นเหลือ อาสากู้ภัยฯ ชาวตลาดคลองพิไกร ขนข้าวน้ำส่งถึงบ้าน

               วันนี้ (21 พ.ค.) นายอนันต์ โฆษิตพิพัฒน์ ผอ.โครงการชลประทานกำแพงเพชร ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 2 เครื่อง เร่งระบายน้ำที่ยังท่วมขังในพื้นที่เทศบาลตำบลพรานกระต่าย ลงสู่คลองมะม่วงหัวแดง เพื่อให้สถานการณ์น้ำเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว

               พร้อมกับเปิดประตูระบายน้ำบ้านคุยประดู่ ประตูระบายน้ำบ้านห้วยน้ำใส เพื่อรองรับน้ำจากตำบลพรานกระต่าย เข้าสู่ตำบลถ้ำกระต่ายทอง ตำบลคุยบ้านโอง ตำบลวังตะแบก ก่อนเข้าสู่อำเภอคีรีมาส จังหวัดสุโขทัยต่อไป

               อย่างไรก็ตาม สถานการณ์น้ำท่วม อ.พรานกระต่าย เริ่มคลี่คลายมากขึ้นแล้ว ถนนหลายสายในเขตเทศบาลพรานกระต่าย เริ่มแห้ง การจราจรคล่องตัวมากขึ้น แต่บางเส้นทางก็ยังมีน้ำขังอยู่บ้างเล็กน้อย ส่วนพื้นที่วัด โรงเรียน เจ้าหน้าที่ได้เร่งการสูบน้ำให้แห้ง เพื่อให้ทันการเปิดเรียนในวันพรุ่งนี้ (22 พ.ค.)

                แต่พื้นที่ ต.คุยบ้านโอง ต.วังตะแบก ยังคงถูกน้ำท่วมหนัก โดยเฉพาะ ต.วังตะแบก อ.พรานกระต่าย ที่ถูกน้ำท่วมเกือบทั้งตำบล แม้ขณะนี้ระดับน้ำได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง ถนนในหมู่บ้านบางสายแห้งเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ก็ยังมีถนนบางสาย รวมถึงท่วมบ้านเรือนของประชาชนที่อยู่ในที่ลุ่มต่ำน้ำยังท่วมขัง ทำให้ชาวบ้านต้องลุยน้ำเข้าออกบ้าน

               ขณะที่ผืนนาที่เพาะปลูกไปแล้วก็มีน้ำท่วมขังทั้งตำบลประมาณ 70% ไร่มันสำปะหลัง ไร่อ้อย สวนดาวเรือง รวมถึงถนนเส้นทางสัญจรในหมู่บ้านถูกน้ำกัดเซาะพังเสียหายยาวกว่า 10-20 เมตรหลายจุด เสาไฟฟ้าข้างทางโค่นล้ม ทั้งนี้ ยังพบพื้นดินใต้บ้านเรือนของประชาชนได้รับความเสียหายจากน้ำกัดเซาะดินทำให้เป็นหลุมลึกกว้างอีกด้วย

               นอกจากนี้ ชาวบ้าน ต.วังตะแบก ยังขาดแคลนเรื่องน้ำดื่นอุปโภคบริโภค เนื่องจากระบบน้ำประปาหมู่บ้านถูกน้ำท่วม ทำให้ไฟฟ้าช็อตเครื่องผลิตน้ำประปาเสียหาย ไม่สามารถส่งน้ำให้แก่ประชาชนได้ เบื้องต้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นวังตะแบก ได้นำน้ำดื่มแจกจ่ายให้แก่ประชาชนเพื่อบรรเทาความเดือนร้อนก่อน

               ขณะที่สมาคมกู้ภัยข่าวภาพกำแพงเพชร และชาวบ้านในตลาดคลองพิไกร อ.พรานกระต่าย ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม ได้ร่วมใจกันทำข้าวกล่อง พร้อมนำบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และน้ำดื่ม มาแจกจ่ายให้แก่ผู้ประสบอุทกภัย พร้อมกับพูดคุยให้กำลังใจถึงบ้าน เพื่อไม่ให้เกิดความเครียด

 จาก http://manager.co.th  วันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

เตรียมพร้อม! เขื่อนเจ้าพระยาเร่งพร่องน้ำรับมวลน้ำเหนือ

นายสุชาติ เจริญศรี ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 12 ชัยนาท เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ตอนบนของประเทศ ในระยะ 1 สัปดาห์ที่ผ่าน ทำให้เริ่มมีมวลน้ำส่วนหนึ่งไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาในวันนี้ ซึ่งตรวจสอบที่จุดวัดน้ำค่าจิรประวัติ จ.นครสวรรค์ พบว่า ปริมาณน้ำเพิ่มจากเมื่อวาน (20 พ.ค.) วัดได้ 744 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพิ่มขึ้นเป็น 1,454 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ที่จุดวัดน้ำเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จากเดิมที่วัดได้ 16.03 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง วันนี้วัดได้ 16.75 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง เพิ่มขึ้น 72 เซนติเมตร ทำให้เขื่อนเจ้าพระยาต้องเร่งพร่องน้ำ เพื่อรองรับประมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากน้ำป่าไหลหลากจากทางตอนบน โดยจากเดิมที่ระบายคงที่ 70 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพิ่มขึ้นเป็น 599 ลูกบาศก์เมตร ส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนจากเดิมวัดได้ 5.65 เมตร เพิ่มขึ้นเป็น 9.86เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ในวันนี้

ทั้งนี้ คาดว่าปริมาณน้ำจากภาคเหนือจะไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระบาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องไปตลอดสัปดาห์หน้า แต่จะยังไม่มีผลกระทบต่อพื้นที่ริมตลิ่งทั้ง 2 ฝั่ง โดยกรมชลประทานมีแผนในการผันน้ำเข้าสู่พื้นที่เกษตรทั้งฝั่งซ้ายและขวาของแม่น้ำ เพื่อให้เกษตรกรได้ทำการเพาะปลูก และจะเหลือน้ำที่ระบายลงท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ไม่เกิน 600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ดังนั้น จะยังไม่เกิดปัญหาน้ำล้นตลิ่งในระยะนี้อย่างแน่นอน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ไทยเตรียมจัดงานASEAN–India Expo1ส.ค.

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เผย ไทยเตรียมจัดงาน ASEAN–India Expo 1 ส.ค.สร้างโอกาสการค้า,ลงทุน

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปีนี้เป็นปีที่ครบรอบ 25 ปี ความสัมพันธ์หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียน-อินเดีย และครบรอบ 70 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและอินเดีย กระทรวงพาณิชย์จึงได้เตรียมจัดงาน ASEAN – India Expo and Forum โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเปิดงานฯ ในวันที่ 1 สิงหาคมนี้ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ในมิติต่างๆ ทั้งด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวและวัฒนธรรม รวมทั้งเสริมสร้างบทบาทความเป็นศูนย์กลางของไทยในภูมิภาค ซึ่งตลาดอินเดียมีความสำคัญโดยมีประชากรมากกว่า 1,300 ล้านคน และมีภูมิศาสตร์ใกล้ชิด ASEAN จึงมีโอกาสที่จะร่วมมือกันในด้านต่างๆ ได้อีกเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะในด้านการค้าการลงทุน จึงได้จัดให้มีงาน ASEAN – India Expo and Forum ขึ้น ระหว่างวันที่ 1 - 4 สิงหาคมนี้ ที่ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยจะเป็นการฉลองครบรอบ 70 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและอินเดียอีกด้วย

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

‘จีน’จี้ไทยสางอุปสรรคลงทุนอีอีซี

นายจิตติ ตั้งสิทธิภักดี ประธานสมาคมหอการค้าไทย-จีน เปิดเผย ในงานสัมมนาเจาะลึกโอกาสการลงทุน เมืองฉงจั่ว ประตูสู่อาเซียน ภายใต้ยุทธศาสตร์ One BeltOne Road ว่า นโยบาย One Belt One Road ของรัฐบาลจีนที่สนับสนุนให้ผู้ประกอบการออกไปลงทุนยังต่างประเทศมากขึ้น สอดคล้องกับการดำเนินนโยบาย 4.0 ของไทย ที่ต้องการดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาในประเทศ โดยเฉพาะโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ซึ่งนักลงทุนจีนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้นักลงทุนจีนมีความต้องการความชัดเจนเกี่ยวกับการให้สิทธิประโยชน์และนโยบายการลงทุนของรัฐในระยะยาว เพื่อไม่ให้กระทบกับแผนการลงทุนของภาคเอกชนจีน ดังนั้น หอการค้าไทย-จีน จะรวบรวมความคิดเห็นของนักลงทุนทั้งไทยและจีน เสนอให้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีพิจารณาในเดือนมิถุนายนนี้ ว่าต้องการสิทธิประโยชน์ในการลงทุนเพิ่มเติมจากรัฐอย่างไร และต้องการให้รัฐแก้ไขปัญหาที่เกิดจากลงทุนอย่างไร อาทิ ขั้นตอนการขออนุญาตเข้ามาลงทุน และเพิ่มจำนวนปีของบุคลากรจีนที่จะพำนักในประเทศไทยเป็น 5 ปี จากปัจจุบันขึ้นอยู่กับรายได้ของบริษัทที่เข้ามาลงทุน เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการทำการค้าและลงทุนระหว่างกันทั้งนี้ ปี 2559 ที่นักลงทุนจีนเข้ามาขอรับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ 69 โครงการ คิดเป็นเม็ดเงิน 24,288 ล้านบาท เป็นรองเพียงญี่ปุ่นเท่านั้น

นางสาวนิสากร ตึงเจริญธรรม รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในงานมีการลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่างนิคมอุตสาหกรรมไทยจีนฉงจั่วกับ 3 นิคมอุตสาหกรรมของไทย เพื่อพัฒนาการค้าการลงทุนระหว่างกัน โดยนิคมฯ ไทยจีนฉงจั่วตั้งเป้าหมายเป็นฐานการผลิตอาหารที่สำคัญของเขตการค้าเสรีจีนและอาเซียน ล่าสุด มีผู้ประกอบการรายใหญ่เข้าร่วมลงทุนแล้ว 86 ราย มียอดเงินลงทุนกว่า1 พันล้านหยวน และสามารถผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อส่งออกไปจำหน่ายมากกว่า 80 ประเทศ ในปีนี้ตั้งเป้าขยายตัวร้อยละ 33% หรือมีมูลค่าการผลิตรวม 80,000 ล้านหยวน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

“กำนันไร่อ้อย” ระดมชาวนาเตรียมรื้อคันดินของ “หน่วยทหารพัฒนา” หลังน้ำรอบบึงท่วมข้าว

 “กำนันไร่อ้อย” ระดมชาวนาลุกฮือ เตรียมรื้อคันดินของ “หน่วยทหารพัฒนา” ที่กั้นน้ำไม่ให้เข้าบึง หลังน้ำรอบบึงท่วมนาข้าวเสียหายกว่า 15,000 ไร่

เมื่อเวลา 09.19 น.วันที่ 19 พฤษภาคม ที่บริเวณโครงการขุดลอกบึงช่อ หมู่ 7 ต.ไร่อ้อย อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ นายสมบัติ ทั่งเรือง กำนัน ต.ไร่อ้อย พร้อมชาวบ้าน ต.ไร่อ้อย ต.ท่าสัก และ ต.บ้านดารา อ.พิชัย กล่าว 50 คน เข้าเจรจากับ จ.ส.ท.อภิชาติ จำเหล์ ทหารสังกัดกรมการทหารช่าง จ.ราชบุรี ผู้ควบคุมดูแลโครงการขุดลอกบึงช่อ ออกแบบและงบประมาณของกรมชลประทาน โดยให้กรมการทหารช่าง จ.ราชบุรี เป็นหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการ และกรมการทหารช่าง จ.ราชบุรี เช่าเครื่องจักรกลหนักจากภาคเอกชนเข้ามาดำเนินการขุดลอกบึงช่อ แต่ขณะทำการขุดลอกบึงช่อ ผู้รับเหมานำดินมาปิดปากท่อระบายน้ำราว 10 แห่ง เพื่อไม่ให้น้ำจุดที่ขุดลอกมากจนไม่สามารถขุดลอกได้ ท่อระบายน้ำทั้ง 10 จุดนั้น หากน้ำในทุ่งนารอบ ๆ บึงช่อมีปริมาณที่มากเกินไป น้ำก็จะไหลเข้าสู่บึงช่อทันที เพื่อกักเก็บน้ำไว้ในบึงเป็นแหล่งน้ำสำหรับไว้ใช้ในยามที่ขาดแคลนน้ำช่วงแล้ง

นายสมบัติ กล่าวว่า ก่อนที่จะมีการขุดลอกบึงช่อและนำคันดินมาปิดทางระบายน้ำ ช่วงฤดูหากเกิดฝนตกหนักหากในพื้นที่จะไม่มีปัญหาน้ำท่วมขังบริเวณรอบๆบึงช่อเลย แต่หลังจากมีโครงการขุดลอกบึงช่อพร้อมทั้งปิดทางระบายน้ำ ประกอบกับน้ำที่ไหลบ่ามาจาก อ.ตรอน ที่อยู่เหนือ 3 ตำบลดังกล่าว ไหลมาสะสมกันอยู่รอบบึงช่อ ก็มีผลกระทบทันทีกับนาข้าวทั้ง 3 ตำบล ที่ทำการเพาะปลูกไว้อีกไม่กี่วันก็จะเก็บเกี่ยวได้แล้วราว 15,000 ไร่ จมอยู่ใต้น้ำเสียหายหมด ลักษณะโดยรอบบึงเวลานี้มองผิวเผินไม่ต่างไปจากน้ำทะเล จะมองเห็นเพียงต้นไม้ และถนนเข้าสู่ท้องนาเท่านั้น หากไม่ทำการเปิดคันดินที่ปิดท่อระบายน้ำให้น้ำรอบบึงช่อที่ท่วมนาข้าวไหลเข้าบึงช่อนาข้าวก็จะเสียหายทั้งหมด อีกทั้งจะไม่สามารถทำนาทดแทนที่เสียหายไปได้อีกเลย ปัญหาที่จะตามมาคงมีอีกหลายอย่าง โดยเฉพาะหนี้สินที่จะเพิ่มพูนขึ้น

อย่างไรก็ตาม หลังจากการเจรจาของนายสมบัติ กลุ่มชาวนาและ จ.ส.ท.อภิชาติ เห็นพ้องตรงกันว่า คันดินที่ปิดทางระบายน้ำจะยังไม่เอาออก แต่จะขอเวลาแก้ไขปัญหาน้ำท่วมนาข้าว 2 วัน โดยจะทำการเปิดทางน้ำให้ไหลเข้าสู่คลองละมุง เพื่อไหนลงสู่แม่น้ำน่านที่ ต.บ้านดารา หากยังไม่สามารถระบายน้ำออกได้หมดก็จะมีวิธีการแก้ไขอย่างอื่น สุดท้ายหากไม่ได้ผลจริง ๆ หนทางสุดท้ายคือ การเปิดคันดินเพื่อระบายน้ำให้เข้าสู่บึงช่อชั้นใน

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 19 พฤษภาคม 2560

เศรษฐกิจการค้าไทยQ1โต3.3% ส่งออกขยายตัว-เงินเฟ้ออยู่ในเกณฑ์ดี

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) และโฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค.ได้จัดทำรายงานภาวะเศรษฐกิจการค้าไตรมาส 1 ปี 2560 และแนวโน้มทั้งปี 2560 โดยพบว่าภาพรวมเศรษฐกิจการค้าไทยในช่วงไตรมาส 1 ปี 2560 ขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องจากปี 2559 ทั้งเศรษฐกิจการค้าในประเทศและการค้าต่างประเทศซึ่งภาพรวมเศรษฐกิจการค้าไทยไตรมาส 1 ปี 2560 เติบโต3.3% จากไตรมาส 4 ปี 2559 ที่เติบโต 3%

โดยการส่งออกขยายตัวสูงสุดในรอบ 17 ไตรมาสการจัดตั้งนิติบุคคลในประเทศขยายตัวดี การลงทุนโดยตรงของไทยทั้งขาออกและขาเข้าขยายตัวต่อเนื่อง ในขณะที่เสถียรภาพด้านราคาเพิ่มขึ้นเล็กน้อยและอยู่ในระดับที่เหมาะสมต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยรวมคาดว่าเศรษฐกิจไทยการค้าไทยทั้งปี 2560 จะขยายตัวได้ดีต่อเนื่องจากปี 2559

ทั้งนี้สถานการณ์เศรษฐกิจการค้าในประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนได้จากสถานการณ์การจดทะเบียนนิติบุคคลในไตรมาส 1 ที่ยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง โดยจำนวนนิติบุคคลจดทะเบียนจัดตั้งใหม่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นขณะที่การจดทะเบียนเลิกกิจการของนิติบุคคลมีจำนวนลดลง รวมถึงสถิติทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาไทย มีปัจจัยบวกจากการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้เสถียรภาพด้านราคาอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับมาขยายตัวเป็นบวกเล็กน้อยต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 จากราคาน้ำมันและราคาอาหารสด ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงขยายตัวในเกณฑ์ดีได้อย่างต่อเนื่อง และดัชนีความเชื่อมั่นต่างๆ มีทิศทางที่ดีขึ้น สะท้อนการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศที่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง

ส่วนสถานการณ์เศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ มีแนวโน้มกลับเข้าสู่ระดับศักยภาพ โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าไตรมาส 1 ปี 2560 อยู่ในระดับสูงที่สุดในรอบ 17 ไตรมาส และขยายตัวในลักษณะกระจายมากกว่ากระจุก ทั้งในมิติรายสินค้าและรายตลาด สะท้อนถึงความสามารถในการแข่งขันและการปรับตัวในระดับที่ดีของไทยตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกสำหรับการส่งออกบริการในปี 2559 ยังคงขยายตัวในระดับสูง โดยบริการที่สร้างรายได้ให้กับประเทศได้มากที่สุดได้แก่ สาขาการท่องเที่ยว และสาขาที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดี ได้แก่ บริการทางการเงิน ประกันภัย โทรคมนาคม คอมพิวเตอร์ และบริการข้อสนเทศ

สำหรับสถานการณ์การลงทุนไตรมาส 4 ปี 2559 นั้น การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของไทยมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับที่ดี และมีมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิเพิ่มขึ้นทั้งสาขาการผลิตและสาขาบริการ ส่งผลให้ยอดคงค้างเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของไทยเพิ่มขึ้น โดยกลุ่มประเทศที่มีการลงทุนในไทยสะสมสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น อาเซียน สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และฮ่องกง ตามลำดับ

ในด้านการลงทุนในต่างประเทศของไทย มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องโดยกลุ่มประเทศที่ไทยออกไปลงทุนสูงได้แก่ กลุ่มประเทศอาเซียน โดยเฉพาะสิงคโปร์ เมียนมา และเวียดนาม ส่วนใหญ่ธุรกิจไทยลงทุนในสาขาการผลิตสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม การทำเหมืองแร่ การบริการค้าปลีก และบริการทางการเงิน

“โดยรวมคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2560 จะขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะการบริโภคและการลงทุนในประเทศ รวมทั้งการส่งออกที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีที่ระดับ 3-4% ตามภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่เสถียรภาพด้านราคายังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราเงินเฟ้อในปี 2560 คาดว่าจะขยายตัว 1.5-2.2%” น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว

อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงของราคาสินค้าเกษตรบางรายการ เนื่องจากปริมาณผลิตคาดว่าจะสูงขึ้นจากปี 2559 รวมถึงสถานการณ์เศรษฐกิจโลก และกระแสการค้าที่เริ่มซับซ้อนขึ้น โดยประเด็นที่ต้องติดตาม ได้แก่ เสถียรภาพของยูโรโซน ความตึงเครียดและความขัดแย้งของการเมืองระหว่างประเทศ และการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 19 พฤษภาคม 2560

ปั้นคนส่งโรงงานน้ำตาล

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ของ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า หลัง 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย คือ สมาคมโรงงานน้ำตาลไทย สมาคมผู้ผลิตน้ำตาลและชีวพลังงานไทย สมาคมการค้าอุตสาหกรรมน้ำตาล ลงนามข้อตกลง (เอ็มโอยู) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เป็นระยะเวลา 3 ปี เพื่อร่วมกันพัฒนาบุคลากรวิชาชีพระดับอาชีวศึกษา ในรูปแบบ “ทวิภาคี” ซึ่งเป็นโปรแกรมการศึกษาสายอาชีพ ในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) เพื่อป้อนแรงงานวิชาชีพเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย รวมถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่อง หลังพบมีความต้องการใช้แรงงานด้านวิชาชีพในสายงานต่างๆ เช่น สาขาซ่อมบำรุงเครื่องกล สาขาเครื่องมือการเกษตรและเทคโนโลยีการจัดการเกษตรสมัยใหม่ สาขาพืชศาสตร์ รวม 1,000 ตำแหน่ง ซึ่งจะหารือร่วมกับ สอศ.เพื่อวางแผนจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอน ทั้งภาคทฤษฎี ภาคปฏิบัติ และการฝึกอาชีพในโรงงานน้ำตาล

“3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย และ สอศ.จะร่วมกันกำหนดหลักเกณฑ์พิจารณาคัดเลือก นักศึกษาอาชีวะระดับ ปวส.เข้าอบรมหลักสูตร ใช้เวลาเรียน 2 ปี เพื่อให้ได้บุคลากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญตรงกับสายงานที่อุตสาหกรรมดังกล่าวต้องการ โดยเริ่มเปิดรับสมัครนักศึกษาระดับ ปวส. เข้าอบรมหลักสูตรในปีการศึกษา 2561 แล้ว”.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 19 พฤษภาคม 2560

“สมคิด” เร่งเต็มสูบพัฒนาอีอีซี

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในงานเจรจาจับคู่ธุรกิจไทย-จีน Thailand Cross Border Trade & Investment Conference ซึ่งจัดโดยธนาคารแห่งประเทศจีน (แบงก์ออฟไชน่า) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ว่า คุณค่าของนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (วันเบลท์วันโรด) หรือเสหรือเส้นทางสายไหมใหม่ของจีน ไม่ได้อยู่ที่เรื่องวัตถุ หรือแค่มีโครงสร้างพื้นฐานเกิดขึ้นมา แต่อยู่ที่การใช้โครงสร้างพื้นฐานเหล่านั้นเชื่อมโยงนักธุรกิจ ประชาชนของแต่ละประเทศเป็นพลังแห่งเอเชียที่แท้จริง และประเทศไทยกำลังเร่งพัฒนาโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เต็มที่เพื่อเชื่อมกับนโยบายวันเบลท์วันโรดของจีนอย่างเป็นเนื้อเดียวกัน

ทั้งนี้ ต้องการให้มีความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและจีนต่อไปในระยะยาว ไม่ใช่แค่เป็นโครงการใดโครงการหนึ่งเท่านั้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้ง 2 ประเทศ ทั้งการเชื่อมโยงด้านคมนาคมขนส่ง ด้านรถไฟ อินเตอร์เน็ตความเร็วสูง เพื่อไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 และรองรับยุคดิจิทัลที่จะมาถึง ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศจีนซึ่งเป็นธนาคารใหญ่ มีลูกค้าอยู่ทั่วโลก การเดินทางมาครั้งนี้จึงสำคัญที่จะช่วยนำนักธุรกิจที่มีความเหมาะสมกับไทยมาจับคู่เจรจาการค้ากัน โดยเฉพาะผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอีของทั้ง 2 ประเทศ

ในปัจจุบันผู้ประกอบการของไทยยังตื่นตัวกับอุตสาหกรรม 4.0 น้อยมาก ซึ่งในอนาคตหากผู้ประกอบการไม่เปลี่ยนแปลงตัวเอง พัฒนาเพื่อเข้าไปสู่ห่วงโซ่อุปทานหรือซัพพลายเชนของโลก ก็จะตกขบวน ดังนั้น จึงขอให้ทางธนาคารแห่งประเทศจีนช่วยแนะนำลูกค้าที่เป็นนักธุรกิจจากทั่วโลกซึ่งไม่เฉพาะจีนเท่านั้นมาจับคู่ธุรกิจกับผู้ประกอบการของไทย ทั้งธุรกิจขนาดกลาง ขนาดใหญ่ และเอสเอ็มอี เพื่อให้เกิดการกระตุ้นและเกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี”

ขณะเดียวกัน การจัดงานจับคู่ธุรกิจในครั้งต่อไป ต้องการให้ทางธนาคารแห่งประเทศจีน เชิญนักธุรกิจจากกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวีคือ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม มาร่วมงานด้วย เพื่อให้ ทุกประเทศเติบโตไปพร้อมๆกันเพื่อให้เป็นห่วงโซ่อุปทานร่วมกันไปได้ในภูมิภาค หากมีความแตกต่างทางเทคโนโลยีสูงจะมีปัญหาอย่างแน่นอน

ขณะที่นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า นอก จากนักธุรกิจจีนจะมาจับคู่ธุรกิจกับนักธุรกิจไทยแล้ว จะไปเยี่ยมชม พื้นที่อีอีซี และรับฟังนโยบายส่งเสริมการลงทุนของไทยด้วย ซึ่ง นักธุรกิจจีนส่วนใหญ่ให้ความสนใจต่อแผนการเตรียมพื้นที่การพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆของภาครัฐในอีอีซี.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 19 พฤษภาคม 2560

กลุ่มอุตฯน้ำตาลพร้อมรับเพิ่มกว่า1,000ตำแหน่ง

กลุ่มอุตฯน้ำตาล สำรวจความต้องการแรงงานสายวิชาชีพพร้อมรับเพิ่มกว่า 1,000 ตำแหน่ง เสนอสอศ.ออกแบบหลักสูตรพัฒนา

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ของ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า หลังจาก 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นระยะเวลา 3 ปี เพื่อร่วมกันพัฒนาบุคลากรวิชาชีพระดับอาชีวศึกษาในรูปแบบทวิภาคี ซึ่งเป็นโปรแกรมการศึกษาสายอาชีพในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง หรือ ปวส. ที่จะป้อนแรงงานวิชาชีพเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายรวมถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่อง  ล่าสุด คณะทำงานได้เริ่มสำรวจ ความต้องการบุคลากรด้านวิชาชีพของโรงงานน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เบื้องต้นพบว่า ภาคอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง มีความต้องการใช้แรงงานด้านวิชาชีพในสายงานต่างๆ เช่น สาขาซ่อมบำรุงเครื่องกล สาขาเครื่องมือการเกษตรและเทคโนโลยีการจัดการเกษตรสมัยใหม่ สาขาพืชศาสตร์ รวมกว่า 1,000 ตำแหน่ง  โดยหลังจากนี้จะนำข้อมูลดังกล่าวไปหารือร่วมกับ  สอศ. เพื่อวางแผนจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอน ทั้งภาคทฤษฎี  ปฏิบัติ และการฝึกอาชีพในโรงงานน้ำตาล รวมทั้งร่วมกันกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกนักศึกษาอาชีวะระดับ ปวส. เข้าอบรมหลักสูตร โดยหลักสูตรดังกล่าวจะใช้เวลาการเรียนการสอน 2 ปี  คาดว่าจะเริ่มเปิดรับสมัครนักศึกษาระดับ ปวส. เข้าอบรมหลักสูตรได้ในปีการศึกษา 2561

จาก http://www.innnews.co.th   วันที่ 18 พฤษภาคม 2560

'ฝนหลวง'ปรับภารกิจสอดรับฤดูกาล เติมน้ำเขื่อนหลัก-เลี่ยงที่เสี่ยงน้ำท่วม

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า จากประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมาที่ประเทศไทยมีฝนตกต่อเนื่องเกือบทั่วไป แต่ในบางพื้นที่ยังประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำเนื่องจากฝนตกไม่ทั่วถึง และปริมาณน้ำในเขื่อนหลักต่างๆ ยังมีปริมาณน้อย กรมฝนหลวงและการบินเกษตรจึงมีการปรับแผนปฏิบัติการเพื่อให้สอดรับกับฤดูฝน

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการปฎิบัติการฝนหลวงให้เหมาะสมกับพื้นที่ยังขาดแคลนน้ำกรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้มีการปรับแผน การปฏิบัติการที่รอบคอบมากขึ้นเพื่อไม่ให้กระทบกับพื้นที่การเกษตร และพื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดปัญหาน้ำท่วม โดยประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ และสำนักงานชลประทานในพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ และปฏิบัติการเฉพาะในพื้นที่ขอรับบริการและเติมน้ำในพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนหลักเพื่อสำรองน้ำ อีกทั้งหลีกเลี่ยงการปฏิบัติการในพื้นที่เสี่ยงการเกิดน้ำท่วมไปพร้อมกัน โดยการโจมตีกลุ่มเมฆให้ฝนตกเฉพาะในพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนหลัก จะช่วยลดจำนวนกลุ่มเมฆที่จะเคลื่อนตัวไปยังพื้นที่ข้างเคียงและพื้นที่การเกษตรที่มีปริมาณน้ำเพียงพอแล้ว ซึ่งเป็นการป้องกันความเสียหายในพื้นที่ดังกล่าวที่จะเสี่ยงเป็นพื้นที่น้ำท่วมอีกทางหนึ่งด้วย

สำหรับผลการปฏิบัติการฝนหลวงตั้งแต่เริ่มตั้งหน่วยปฏิบัติการ เมื่อวันที่ 3 มีนาคม - 17 พฤษภาคม 2560 มีการขึ้นปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 72 วัน มีวันฝนตกจากการปฏิบัติการฝนหลวงคิดเป็นร้อยละ 97.5 ขึ้นปฏิบัติงานจำนวน 1,434 เที่ยวบิน (2,024:15 ชั่วโมงบิน) ปริมาณการใช้สารฝนหลวง 1,237.73 ตัน พลุซิลเวอร์ไอโอไดด์สำหรับภารกิจปฏิบัติการฝนหลวงจำนวน 433 นัด และภารกิจปฏิบัติการยับยั้งความรุนแรงพายุลูกเห็บจำนวน 1,176 นัด จังหวัดที่มีรายงานฝนตกรวม 55 จังหวัด และ ทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างสะสมรวม 257.45 ล้าน ลบ.ม

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 18 พฤษภาคม 2560

3สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายร่วมวางหลักสูตรอบรมระดับปวส. ป้อนเข้าโรงงานหลังสำรวจพบขาดแคลนกว่า 1 พันตำแหน่ง

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ของ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า หลังจาก 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย ได้แก่ สมาคมโรงงานน้ำตาลไทย สมาคมผู้ผลิตน้ำตาลและชีวพลังงานไทย สมาคมการค้าอุตสาหกรรมน้ำตาล ได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นระยะเวลา 3 ปี เพื่อร่วมกันพัฒนาบุคลากรวิชาชีพระดับอาชีวศึกษาในรูปแบบทวิภาคี เป็นโปรแกรมการศึกษาสายอาชีพในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง หรือ ปวส. เพื่อป้อนแรงงานวิชาชีพเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายรวมถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่อง

นายสิริวุทธิ์ กล่าวว่า ล่าสุดคณะทำงานด้านการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ของ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายได้เริ่มสำรวจความต้องการบุคลากรด้านวิชาชีพของโรงงานน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เพื่อรวบรวมข้อมูลและคุณสมบัติของแรงงานด้านวิชาชีพในสายงานต่างๆ ที่ยังขาดแคลน หรือต้องการรับบุคลากรเพิ่มเติม จากการประเมินเบื้องต้นพบว่ามีความต้องการแรงงานด้านวิชาชีพในสายงานต่างๆ เช่น สาขาซ่อมบำรุงเครื่องกล สาขาเครื่องมือการเกษตรและเทคโนโลยีการจัดการเกษตรสมัยใหม่ สาขาพืชศาสตร์ รวมกว่า 1,000 ตำแหน่ง ทั้งนี้จะนำข้อมูลดังกล่าวไปหารือร่วมกับสอศ. เพื่อวางแผนจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอน ทั้งภาคทฤษฎี ภาคปฏิบัติ และการฝึกอาชีพในโรงงานน้ำตาล ใช้เวลาการเรียนการสอน 2 ปี เพื่อให้ได้บุคลากรที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญตรงกับสายงานที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการ คาดว่าจะเริ่มเปิดรับสมัครนักศึกษาระดับ ปวส. เข้าอบรมหลักสูตรได้ในปีการศึกษา 2561

จาก https://www.matichon.co.th   วันที่ 18 พฤษภาคม 2560

"สมคิด"ผนึกBOI ดึงธุรกิจจีนจับคู่การค้าไทยกว่า 1,000 คน เน้นลงทุนกลุ่ม S-Curve

"สมคิด"ผนึกBOI ดึงธุรกิจจีนจับคู่การค้าไทยกว่า 1,000 คน เน้นลงทุนกลุ่ม S-Curve ด้านบีโอไอเตรียมนำคณะธุรกิจจีน และญี่ปุ่นดูลู่ทางการลงทุนในพื้นที่อีอีซี

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงาน “Thailand Cross Border Trade & Investment Conference” หรือ การประชุมเจรจาจับคู่ธุรกิจไทย-จีน จัดโดย ธนาคารแห่งประเทศจีน (Bank of China) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ว่า การจัดงานในวันนี้ เป็นผลสำเร็จจากการที่ได้มีโอกาสไปเยือนกรุงปักกิ่ง สาธารณะรัฐประชาชนจีนเมื่อปลายปี 2559 ที่ผ่านมา และได้หารือกับธนาคารแห่งประเทศจีน ณ กรุงปักกิ่ง จึงได้เชิญชวนให้ธนาคารมาจัดงานในรูปแบบของการเจรจาจับคู่ธุรกิจครั้งใหญ่ในประเทศไทยจีน มาร่วมเจรจาจับคู่ธุรกิจกับนักธุรกิจไทย โดยเฉพาะบริษัทจากจีนใน10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ S-Curve ซึ่งจะช่วยหู้ประกอบการไทยสามารถพัฒนาด้านนวัตกรรม และนำพาประเทศไทยก้าวสู่ ไทยแลนด์ 4.0

โดยธนาคารแห่งประเทศจีน เป็นธนาคารขนาดใหญ่ที่สำคัญ และมีบริษัทจีนจากทั่วโลกเป็นลูกค้า กิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจที่เกิดขึ้นจึงเป็นการสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุนร่วมกันของนักธุรกิจจากประเทศจีนกับนักธุรกิจไทย รวมทั้งผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)ของทั้ง2ประเทศ ซึ่งเป็นพลังสำคัญของความร่วมมือกันสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน และเป็นพลังขับเคลื่อนในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยและจีน

“ธนาคารได้นำลูกค้าที่เป็นนักธุรกิจจากประเทศจีนเดินทางมาเข้าร่วมเจรจาจับคู่ธุรกิจกับนักธุรกิจไทย ซึ่งในวันนี้มีผู้ร่วมเจรจาจับคู่รวมกว่า 1,000 คน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการทั้ง2ประเทศ โดยเฉพาะ SMEs เชื่อมโยงให้ภาคธุรกิจ2ประเทศให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น และเราได้เชิญชวนให้นักธุรกิจจีนพิจารณาการลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และจะเป็นศูนยกลางการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาค และเชื่อมโยงเศรษฐกิจกับนโยบาย One Belt One Road ของจีน”

นับตั้งแต่ปี 2014จีนเป็นประเทศคู่ค้าและตลาดนำเข้าที่ใหญ่ที่สุดของไทย และในปี 2016 จีนเป็นประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุดลำดับที่ 2 มีจำนวนทั้งสิ้น 81 โครการ รวมมูลค่ากว่า 52,700 ล้านบาท

นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI)เปิดเผยว่า นอกจากการมาจับคู่ธุรกิจและดูลู่ทางการลงทุนในไทยแล้ว บีโอไอยังจะนำคณะของธนาคารแห่งประเทศจีนไปเยี่ยมชมพื้นที่ EEC และรับฟังนโยบายส่งเสริมการลทุน ซึ่งนักธุรกิจจีนส่วนใหญ่ให้ความสนใจต่อแผนการเตรียมพื้นที่การพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ ของภาครัฐ

นอกจากนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการลงทุน ณ นครโอซาก้า (บีโอไอโอซาก้า) ยังได้นำคณะนักลงทุนญี่ปุ่นจำนวน 100 ราย จากอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ พลังงานแสงอาทิตย์และภาคขนส่ง เข้าร่วมกิจกรรมสร้างเครือข่ายการลงทุนและกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ โดยมีสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย สมาคมอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทย สมาพันธ์สมาคมอุตสาหกรรมสนับสนุนและกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์และสุขภาพเข้าร่วม

นอกจากนั้นยังรับฟังรายละเอียดของนโยบายส่งเสริมการลงทุนใหม่ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุนฉบับแก้ไข และพระราชบัญญัติการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อประโยชน์ต่อการตัดสินใจลงทุนในประเทศไทย

ทั้งนี้ คณะนักลงทุนจากโอซาก้า ได้ลงพื้นที่สำรวจโอกาสการลงทุนในภาคตะวันออก โดยให้ความสนใจ กับพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC )เป็นพิเศษ เพราะมีความโดดเด่นด้านภูมิศาสตร์และเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพจากการสนับสนุนของรัฐบาล

ในปี 2559 มีโครงการลงทุนจากญี่ปุ่นยื่นขอรับส่งเสริมจำนวน 264 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 57,466 ล้านบาท

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 18 พฤษภาคม 2560

พาณิชย์คาดเศรษฐกิจปี’60 โตต่อเนื่อง แต่ยังกังวลความเสี่ยงราคาสินค้าเกษตร

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2560 จะขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะการบริโภคและการลงทุนในประเทศ รวมทั้งการส่งออกที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีที่ 3.0-4.0% ตามภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่เสถียรภาพด้านราคายังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราเงินเฟ้อในปี 2560 คาดว่าจะขยายตัวที่ 1.5-2.2%

อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงของราคาสินค้าเกษตรบางรายการ เนื่องจากมีปริมาณผลิตคาดว่าจะสูงขึ้นจากปีก่อน รวมถึงสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและกระแสการค้าที่เริ่มซับซ้อนขึ้น โดยประเด็นที่ต้องติดตามได้แก่ เสถียรภาพของยูโรโซน ความตึงเครียดและความขัดแย้งของการเมืองระหว่างประเทศ และการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุน

ทั้งนี้ นโยบายของกระทรวงพาณิชย์ในปี 2560 เน้นการดำเนินการเชิงรุก ใช้อุปสงค์ตลาดเป็นตัวนำ และสร้างพันธมิตรทางการค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์อย่างมีประสิทธิภาพ โดยด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจในประเทศ มุ่งเน้นการดูแลราคาสินค้าเกษตร เพื่อให้รายได้ของเกษตรกรไทยอยู่ในระดับที่เหมาะสม และการดูแลค่าครองชีพที่ใช้นโยบายเชิงรุก ในการตรวจตราราคาสินค้า โดยให้พาณิชย์จังหวัดรายงานภาวะราคาสินค้าเป็นประจำทุกสัปดาห์ และติดตามการขึ้นราคาสินค้าโดยไม่เป็นธรรม ส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่นเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว รวมไปถึงพัฒนาผู้ประกอบการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเรียนรู้การนำเทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์

ด้านการค้าระหว่างประเทศ ส่งเสริมการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือ ทั้งในระดับรัฐต่อรัฐ และเอกชนต่อเอกชน และติดตามแนวโน้มการค้าโลก เพื่อพัฒนาสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการตลาด โดยให้ความสำคัญกับการสร้างมูลค่าเพิ่มตามแนวนโยบาย Thailand 4.0 และ Creative Economy รวมไปถึงส่งเสริมการค้าชายแดนและสนับสนุนภาคเอกชนไทยในการสร้างศูนย์กระจาย/เปลี่ยนถ่ายสินค้าตามแนวชายแดน และจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าในประเทศเพื่อนบ้าน

ขณะเดียวกันมุ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ โดยทบทวนกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บางฉบับที่มีความเข้มงวดและขาดความยืดหยุ่นในการเริ่มต้นธุรกิจให้มีความทันสมัย รวมถึงกลุ่ม Startup ให้สามารถขยายธุรกิจให้เติบโตต่อไปได้ รวมทั้งใช้ระบบอัตโนมัติ และเทคโนโลยีออนไลน์ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการติดต่อกับภาครัฐในด้านต่างๆ ด้วย

จาก https://www.khaosod.co.th วันที่ 18 พฤษภาคม 2560

สวก.-กลุ่มมิตรผล สานพลังประชารัฐ ขับเคลื่อน "การพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่

          ประเทศไทยมีพื้นที่ทางการเกษตร 140 ล้านไร่ ถือเป็นประเทศที่มีพื้นที่ทางการเกษตร ต่อประชากรสูงที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน แต่ประสิทธิภาพการผลิต (Productivity) กลับอยู่ในระดับต่ำ โดยประชากรในภาคเกษตรประมาณ 22 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 34% ของประชากรทั้งหมด สามารถสร้างรายได้เป็น GDP ให้กับประเทศได้ไม่ถึง 10% ภาคเกษตร จึงยังมีโอกาสในการพัฒนาได้อีกมาก โดยเฉพาะการเป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของประเทศ

          สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก.เป็นหน่วยงานหนึ่งได้ดำเนินการขับเคลื่อนการพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่ตามนโยบายประชารัฐ ร่วมกับบริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด และบริษัทในเครือ โดยการลงนามความร่วมมือด้านการวิจัย พัฒนา และต่อยอดเทคโนโลยี การวิจัยการเกษตร เพื่อการทำเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อพัฒนาให้ได้เทคโนโลยี

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 18 พฤษภาคม 2560

กรมชลฯระดมมันสมองภาครัฐ แก้น้ำท่วม-สิ่งกีดขวางทางน้ำ

กรมชลประทานวางแผนเดินสายระดมมันสมองจากหน่วยงานภาครัฐ 6 ภาคพื้นที่ กว่า 1,200 คน ร่วมบูรณาการแก้ปัญหาสิ่งกีดขวางทางน้ำ หวังเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำหลากและเจาะลึกถึงสาเหตุของปัญหาและการเกิดอุทกภัยในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ

นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการทบทวนยุทธศาสตร์น้ำของประเทศในครั้งนี้ว่า เป็นการบูรณาการร่วมกันคิดและร่วมกันแก้ไขเรื่องน้ำในภาพรวม โดยจะต้องปรับให้สอดคล้องกับปัญหาน้ำที่เกิดขึ้น จากแผน 12 ปี เป็นแผนงาน 20 ปี โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ที่ 2 น้ำสนับสนุนภาคการผลิต (น้ำเพื่อการเกษตรและอุตสาหกรรม) และยุทธศาสตร์ที่ 3 การป้องกันและบรรเทาอุทกภัย โดยในยุทธศาสตร์นี้จะต้องทบทวนในประเด็นเรื่องสิ่งกีดขวางทางน้ำเพิ่มเติม ซึ่งเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดน้ำท่วม ไม่ว่าจะเป็นถนน สะพาน รวมทั้งพื้นที่ชุมชนที่มีการขยายตัว ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ดีที่จะได้จัดทำแผนอย่างเป็นระบบและร่วมมือกันแก้ไขปัญหาตามบทบาทของแต่ละหน่วยงาน

ด้าน ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทานเปิดเผยว่า กรมชลประทานวางแผนจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำ การเสริมสร้างความมั่นคงน้ำภาคการผลิตและการป้องกันอุทกภัยทั้งระบบ รวมถึงการบูรณาการแผนการดำเนินการสิ่งกีดขวางทางน้ำ ในเขตพื้นที่ 6 ภาค คือ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ตอนบน และภาคใต้ตอนล่าง ระหว่างวันที่ 9-30 พฤษภาคม 2560 เพื่อบูรณาการแผนปฏิบัติงานของภาครัฐ พร้อมกับทบทวนเป้าหมายและมาตรการที่สอดคล้องกัน ก่อนส่งต่อให้ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ไปจัดทำการรับฟังความคิดเห็นกับภาคประชาชนทั้ง 6 ยุทธศาสตร์ต่อไป รวมถึงระดมสมองแก้ไขและปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งวิเคราะห์ถึงปัญหาและสาเหตุการเกิดอุทกภัยในแต่ละพื้นที่ โดยจะมีข้าราชการและเจ้าหน้าที่หรือตัวแทนจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมสัมมนาไม่น้อยกว่าเขตพื้นที่ละ 200 คน

ทั้งนี้แผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2558 นั้น กรมชลประทานได้ตระหนักถึงการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้กำหนดให้มีการทบทวนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่เกี่ยวข้องกับกรมชลประทานตามที่ได้รับมอบหมายจาก กนช. เพื่อการดำเนินการที่ถูกต้อง ครบถ้วนและทันท่วงที ตามสภาวะภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง โดยคำนึงถึงการบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งการแก้ไขและปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำ เป็นมาตรการหนึ่งที่กรมชลประทาน เห็นว่าควรดำเนินการแก้ไขและปรับปรุง เป็นอันดับต้น ๆ เพื่อการระบายน้ำหลากได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับการสัมมนาเชิงปฏิบัติการในเขตพื้นที่ 6 ภาคดังกล่าว จะเริ่มเปิดสัมมนาครั้งแรก ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง โดยจัดสัมมนาในวันที่ 9 พฤษภาคม 2560 ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยมี นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน จากนั้นจะไปสัมมนาที่ภาคกลาง วันที่ 16 พฤษภาคม 2560 ที่กรุงเทพฯ ภาคตะวันออก วันที่ 18 พฤษภาคม 2560 ที่ อ.เมือง จ.ระยอง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วันที่ 23 พฤษภาคม 2560 ที่ อ.เมือง จ.ขอนแก่น ภาคใต้ตอนบน วันที่ 25 พฤษภาคม 2560 ที่ อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี ตามลำดับ และปิดการสัมมนาที่ภาคเหนือ วันที่ 30 พฤษภาคม 2560 ที่ อ.เมือง จ.พิษณุโลก

ส่วนข้าราชการและเจ้าหน้าที่หรือตัวแทนจากหน่วยงานราชการที่เข้าร่วมสัมมนาเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้จะมาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาน้ำ โดยเฉพาะน้ำท่วม ประกอบด้วย กรมชลประทาน กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมเจ้าท่า กรมทรัพยากรน้ำ หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 18 พฤษภาคม 2560

บาทเปิด 34.47 บาทต่อดอลล่าร์ แนวโน้มอ่อนค่า

เงินบาทเปิดตลาด 34.47 บาทต่อดอลล่าร์ แนวโน้มอ่อนค่าตามภูมิภาค หลังความกังวลการเมืองสหรัฐฯกดดอลล์อ่อน

นักบริหารเงินจากธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ระดับ 34.47 บาท/ดอลลาร์ ใกล้เคียงจากช่วงเย็นวานที่ปิดตลาดที่ระดับ 34.49/53 บาท/ดอลลาร์วันนี้บาทคงจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบ แต่ก็มีแนวโน้มไปในทิศทางที่อ่อนค่าตามค่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาค

หลังจากที่ตลาดมีความกังวลต่อปัญหาทางการเมืองในสหรัฐ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการผลักดันนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ และนโยบายปฏิรูปอื่นๆ ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

"ตอนนี้คนกลัวความเสี่ยงเรื่องทรัมป์ เพราะอาจจะมีผลต่อการผลักดันนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ตามที่เขาเคยหาเสียงไว้ก่อนหน้านี้ เช้านี้ตลาดหุ้นในเอเชียก็ติดลบกัน ขณะที่เมื่อคืนดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กก็ปิดร่วงไปกว่า 300 จุด" นักบริหารเงิน ระบุนักบริหารเงิน คาดว่า เงินบาทวันนี้จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 34.45-34.55 บาท/ดอลลาร์

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 18 พฤษภาคม 2560

สศก.ดึงเทคโนโลยี Big Data จัดเก็บข้อมูลด้านการเกษตรแบบเรียลไทม์ ช่วยวางแผนการผลิต

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร นำเทคโนโลยี Big Data วางแผนเศรษฐกิจการเกษตร บูรณาการร่วมหน่วยงานและกระทรวงที่เกี่ยวข้อง รวบรวมข้อมูลทะเบียนเกษตรกร และเศรษฐกิจการเกษตรทุกด้าน ใช้การวิเคราะห์ข้อมูลอัจฉริยะ หรือ Big Data Analytics ให้อยู่ในระบบฐานข้อมูลแบบเรียลไทม์ มั่นใจ ช่วยการวางแผนการผลิตทางการเกษตรได้มีประสิทธิภาพ ทุกหน่วยงานนำไปใช้ได้ทันที

นายคมสัน จำรูญพงษ์ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบัน การวางแผนการผลิตด้านการเกษตร จำเป็นต้องใช้ข้อมูลที่หลากหลายมาใช้ในการวิเคราะห์และตัดสินใจ ซึ่ง สศก. ได้ดำเนินจัดทำโครงการพัฒนาฐานข้อมูลเกษตรกรกลาง เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยในปี 2559  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้พัฒนาระบบฐานข้อมูลเกษตรกรกลาง (Farmer ONE) ร่วมกับสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (EGA) ซึ่งให้ความร่วมมือทางโครงสร้างพื้นฐานทางระบบคอมพิวเตอร์ มีศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ให้คำแนะนำในการตรวจสอบชำระข้อมูลทะเบียนเกษตรกร  จากกรมส่งเสริมการเกษตร กรมประมง และกรมปศุสัตว์ เพื่อให้ได้ฐานข้อมูลเกษตรกรกลางที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้รับผิดชอบในการนำข้อมูลจากฐานข้อมูลเกษตรกรกลางดังกล่าวมาใช้ร่วมกับคลังข้อมูลสถิติการเกษตรและการวิเคราะห์นำเสนอด้วยระบบ Business Intelligence ซึ่งเริ่มดำเนินการแล้วในปี ที่ผ่านมา และในปี 2560 ได้ขยายฐานข้อมูลด้วยการนำข้อมูลทะเบียนเกษตรกรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เช่น ข้อมูลเกษตรกรจากกรมหม่อนไหม กรมการข้าว และกรมอื่นๆ เพิ่มเติมเพื่อให้ครอบคลุมทุกสาขาการเกษตร ซึ่งจะได้ฐานข้อมูลเกษตรกรกลางที่สมบูรณ์ นำมาจัดเก็บเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และใช้การวิเคราะห์ข้อมูลอัจฉริยะ (Big Data Analytics) ซึ่งจะทำให้การวางแผนการผลิตทางการเกษตรได้มีประสิทธิภาพ มีข้อมูลที่หลากหลายเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจและนำมาใช้ในเชิงนโยบายด้านการเกษตร ทำให้การคาดการณ์ล่วงหน้าและการแก้ไขปัญหาด้านการเกษตร การเชื่อมโยงข้อมูล ทั้งฐานข้อมูลด้านเศรษฐกิจการเกษตร สถิติการเกษตร ฐานข้อมูลภาวะเศรษฐกิจสังคมครัวเรือนเกษตรมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 17 พฤษภาคม 2560

บริษัทน้ำตาลกำไรหวานเจี๊ยบ

ราคาตลาดโลกพุ่งปรี๊ดฟันกำไรสูงเป็นประวัติการณ์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ที่ทำธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายต่างพากันรายงานรายงานตัวเลขผลประกอบการไตรมาส 1 ออกมา โชว์กำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์แทบทั้งสิ้น หลังราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปีก่อน โดยนายอนันต์  ตั้งตรงเวชกิจ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.น้ำตาลบุรีรัมย์ (BRR) เปิดเผยว่า ปี 60 แนวโน้มราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะไตรมาส 1 เพิ่มขึ้นจากช่วงปีก่อน 30% จากปัญหาภัยแล้งในประเทศผู้ผลิตสำคัญอย่างอินเดียและจีน ควบคู่กับความต้องการบริโภคทั้งในและต่างประเทศโตต่อเนื่อง ขณะที่บริษัทมีผลผลิตน้ำตาลเพิ่มขึ้น จากการเพิ่มประสิทธิผลการผลิต การพัฒนาศักยภาพเกษตรกรนักธุรกิจชาวไร่อ้อย ประกอบกับรายได้จากธุรกิจโรงไฟฟ้าและปุ๋ยก็ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้บริษัทมีกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยไตรมาส 1 มีรายได้รวม 2,188 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 46% และมีกำไรสุทธิ 397 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 221%

บริษัทยังมีแผนพัฒนาอ้อย, เพิ่มศักยภาพเกษตรกร และขยายพื้นที่เพาะปลูก โดยมีเป้าหมายเพิ่มปริมาณอ้อย 3 ล้านตันในปีการผลิตหน้า และบริษัทกำลังเจรจากับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ เพื่อร่วมลงทุนก่อสร้างโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ในบุรีรัมย์และสุรินทร์ เพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำตาลที่มีแนวโน้มสูงขึ้นขึ้นโดยเฉพาะในเอเชียมีความต้องการบริโภคปีละ 77-80 ล้านตัน แต่ผลิตได้เพียง 65-68 ล้านตัน

ด้านนายประพันธ์ ศิริวิริยะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่ม บมจ.เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น (KTIS) เผยว่า ไตรมาสแรกปี 60 มีรายได้รวม 3,943.8 ล้านบาท ลดลง 10% เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่มีกำไรสุทธิ 412.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 729.8% จากงวดปีก่อน เพราะราคาน้ำตาลทรายที่ขายได้ปีนี้สูงกว่าปีก่อนมาก โดยราคาเฉลี่ยปีนี้อยู่ที่ตันละ 17,158.9 บาท ขณะที่ปีที่แล้วขายได้เฉลี่ยตันละ 13,363.1 บาท สูงกว่ากันถึง 28.4% นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกก็สูงขึ้นด้วย ทำให้สายธุรกิจเอทานอลมีรายได้และกำไรที่ดีขึ้นด้วย ขณะที่บมจ.น้ำตาลขอนแก่น แจ้งกำไร 453 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27%.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 17 พฤษภาคม 2560

น้ำตาลบุรีรัมย์ ผลประกอบการ Q1/60 กำไรพุ่ง 221%

‘บมจ. น้ำตาลบุรีรัมย์ หรือ BRR’ โชว์ผลการดำเนินงานไตรมาส 1/60 กำไรr6j' 221% รับผลจากราคาน้ำตาลตลาดโลกพุ่งสูง เสริมด้วยอ้อยและผลผลิตน้ำตาลมากขึ้น ควบคู่กับโรงไฟฟ้าชีวมวลเดินเครื่องเต็มสูบ ส่วนยอดขายปุ๋ยก็ขยายตามพื้นที่ปลูกอ้อย  พร้อมลุยขยายพื้นที่เพิ่มปริมาณอ้อยและน้ำตาลในหีบหน้า เร่งเจรจาพันธมิตรสร้างโรงงานแห่งใหม่ ขณะที่กองทุนโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้าฯ ใกล้คลอดภายในปีนี้

 นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาสแรกปี 2560 บริษัทมีรายได้รวม 2,188 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 46 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2559 ที่มีรายได้รวม 1,496 ล้านบาท  มีกำไรสุทธิ 397 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 221 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยคิดเป็นกำไรต่อหุ้นที่ 0.59 บาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีกำไรต่อหุ้น 0.18 บาท อัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 31 %  ส่วนอัตรากำไรสุทธิของบริษัทอยู่ที่ 18.40 % จากปีก่อนที่ 8.37 %  โดยกำไรที่เพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ในช่วงไตรมาสแรก นั้นเป็นผลมาจากราคาน้ำตาลในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นเฉลี่ย 30% เมื่อเทียบกับปีก่อน ควบคู่กับความต้องการบริโภคทั้งในและต่างประเทศก็เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทมีผลผลิตน้ำตาลเพิ่มขึ้น จากการเพิ่มประสิทธิผลการผลิต การพัฒนาศักยภาพเกษตรกรนักธุรกิจชาวไร่อ้อยตามปรัชญา “น้ำตาลสร้างในไร่” ประกอบกับรายได้จากธุรกิจโรงไฟฟ้าและปุ๋ยก็ปรับตัวสูงขึ้น

 ขณะที่ทิศทางราคาน้ำตาลนั้นมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะสมดุลมากขึ้น หลังจากปัญหาภัยแล้งในประเทศผู้ผลิตสำคัญอย่างอินเดีย จีน และไทยคลี่คลายลง  คาดราคาน้ำตาลตลาดโลกปีนี้วิ่งอยู่ในช่วง 15-18 เซ็นต์ต่อปอนด์ ส่วนในปีการผลิตปัจจุบันนี้ บริษัทได้ทำสัญญาขายน้ำตาลล่วงหน้าไปเกือบหมดแล้วในช่วงที่ราคาตลาดโลกสูงกว่า 20 เซนต์ต่อปอนด์ และจะทยอยรับรู้รายได้ในไตรมาสต่อๆ ไปตามสัญญาการส่งมอบน้ำตาล

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 16 พฤษภาคม 2560

สศก.พร้อมลุยพื้นที่นำร่อง 6 จังหวัด เจาะทิศทาง Agri-Map ศึกษาแนวทางช่วยเกษตรกรปรับเปลี่ยนการผลิต

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร รุกแนวทาง zoning by Agri-Map เตรียมลงพื้นที่นำร่อง 6 จังหวัด เพื่อช่วยกำหนดทางเลือกให้แก่เกษตรกรในการปรับเปลี่ยนการผลิต แนะเกษตรกรสามารถนำ Agri-Map Online มาเป็นตัวช่วยในการวางแผนการผลิต ผู้ที่สนใจสามารถใช้งาน Agri-Map Online ได้ที่ เว็บไซต์ http://agri-map-online.moac.go.th

นางสาวจริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการดำเนินโครงการบริหารจัดการเขตเกษตรเศรษฐกิจสำหรับสินค้าเกษตรโดยการใช้แผนที่เพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (zoning by Agri-Map) ซึ่ง สศก.มีหน้าที่ในการเสนอแนะด้านนโยบายและมาตรการในการปรับเปลี่ยนการผลิต วิเคราะห์แนวทางการผลิตทางการเกษตรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและการสร้างสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานสินค้าเกษตร โดยการสำรวจต้นทุนการผลิตและผลตอบแทนสินค้าเกษตรที่สำคัญในระดับจังหวัด

สศก.ได้จัดประชุมหารือร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน และเกษตรกรในระดับพื้นที่เกี่ยวกับแนวทางปรับเปลี่ยนเป็นสินค้าทางเลือกที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า โดยมีเป้าหมายศึกษา 24 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งที่ผ่านมา สศก.ได้จัดประชุมหารือในพื้นที่ภาคกลาง ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภออรัญประเทศ จ.สระแก้ว ศพก. อำเภอเมือง จ.ปราจีนบุรี และ ศพก. อำเภอเมือง จ.ลพบุรี เพื่อเป็นข้อมูลและทางเลือกให้กับเกษตรกรในการปรับเปลี่ยนการผลิต พบว่า มีหลายปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดให้เกษตรกรตัดสินใจปรับเปลี่ยนการผลิต เช่นเกษตรกรในพื้นที่ ต.หนองสังข์ อ.อรัญประเทศ ส่วนใหญ่ปลูกอ้อยและมันสำปะหลังเนื่องจากใกล้โรงงานมันเส้นและโรงงานน้ำตาล

สำหรับเกษตรกรในพื้นที่ อ.เมืองปราจีนบุรี ทำนาข้าวและ สวนผลไม้ เกษตรกรเพาะปลูกข้าวขึ้นน้ำในฤดูฝนเพราะเป็นพื้นที่ลุ่มมีน้ำท่วมขังสูงปลูกพืชชนิดอื่นไม่ได้ และตลาดยังมีความต้องการข้าวชนิดนี้เพื่อแปรรูป ขณะที่ฤดูแล้งสามารถปรับเปลี่ยนมาปลูกพืชสมุนไพรซึ่งเป็นพืชที่มีศักยภาพเนื่องจากมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ตั้งอยู่ในพื้นที่มีความต้องการพืชสมุนไพรเพิ่มขึ้น

เกษตรกรในพื้นที่ อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ปลูกข้าวนาปีและแบ่งพื้นที่บางส่วนปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากมีโรงงานแปรรูปอาหารสัตว์ตั้งอยู่ไม่ไกลจากพื้นที่ สนใจปรับเปลี่ยนพื้นที่นาข้าวมาปลูกอ้อยเพราะมีโรงงานน้ำตาลอยู่ไม่ไกล และในช่วงปลายพฤษภาคมนี้ สศก. จะลงพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก และชัยภูมิ ส่วนเดือนกรกฎาคม ลงพื้นที่ ชัยนาท จันทบุรี สงขลา และสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็น 6 จังหวัดนำร่อง ของ 6 ภูมิภาค ตามโครงการบริหารจัดการเขตเกษตรเศรษฐกิจสำหรับสินค้าเกษตรโดยการใช้แผนที่เพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (zoning by Agri-Map)

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังได้ร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (NECTEC) พัฒนาระบบการจัดทำแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุกออนไลน์ (Agri-Map Online) ที่สามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือบริหารจัดการสินค้าเกษตรให้สอดคล้องตามสภาพพื้นที่ เกษตรกรสามารถนำ Agri-Map Online มาเป็นตัวช่วยในการวางแผนการผลิตสินค้าเกษตรในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยผู้ที่สนใจสามารถใช้งาน Agri-Map Online ได้ที่ เว็บไซต์ http://agri-map-online.moac.go.th หรือค้นในกูเกิ้ลด้วยคำว่า “Agri-Map Online”

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 16 พฤษภาคม 2560

‘พาณิชย์’ มุ่งขยายการค้าการลงทุนของไทยสู่ One Belt, One Road

เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เข้าร่วมการประชุม Belt and Road Forum for International Cooperation ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุมกลุ่มย่อยภายใต้หัวข้อ “ความเชื่อมโยงทางการค้า” และร่วมแสดงข้อคิดเห็นที่เกี่ยวข้องกับการค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อแสดงเจตนารมณ์อันแน่วแน่ของไทยในการสนับสนุนแนวคิดและเชื่อมโยงการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยเข้ากับยุทธศาสตร์ One Belt, One Road (OBOR) ซึ่งเป็นการกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับจีนที่เป็นรูปธรรม ทั้งในระดับทวิภาคี ภูมิภาค และพหุภาคี

 นางอภิรดี เปิดเผยว่า การประชุม BRF เป็นการประชุมระดับสูงครั้งแรกนับตั้งแต่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีนประกาศข้อริเริ่ม One Belt, One Road (OBOR) เมื่อเดือนตุลาคม 2556 โดยการประชุมในครั้งนี้ มีผู้นำกว่า 29 ประเทศ พร้อมด้วยผู้แทนระดับสูงจากหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรระหว่างประเทศ จากกว่า 130 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมการประชุม อาทิ ประธานาธิบดีรัสเซีย (นายวลาดิเมียร์ ปูติน) ประธานาธิบดีตุรกี (นายเรเจพ เทยิพ แอร์โดอาน) นายกรัฐมนตรีปากีสถาน (นายนาวาซ ชารีฟ) เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (นายอังตอนีอู กูแตรึช) ประธานธนาคารโลก (นายจิม ยอง คิม) และประธาน IMF (นางคริสติน ลาการ์ด) เป็นต้น เพื่อหารือถึงแนวทางการขยายความเชื่อมโยงทางกายภาพทั้งทางบกและทางทะเลระหว่างภูมิภาคเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา ความเชื่อมโยงทางดิจิทัล และความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนผ่านการศึกษา วัฒนธรรม และวิทยาศาสตร์ เป็นต้น 

สำหรับแผนการขับเคลื่อนแนวคิด OBOR ของจีน และการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลไทยมีความสอดคล้องและเอื้อต่อกัน ได้แก่ 1.ความเชื่อมโยงด้านนโยบาย ไทยและจีนต่างให้ความสำคัญกับการยกระดับภาคการผลิต เน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี กล่าวคือ นโยบาย Made in China 2025 กับนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรม S-Curves ของไทย กำลังเดินหน้าไปในทิศทางเดียวกัน

2.ความเชื่อมโยงด้านการพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ได้แก่ โครงข่ายรถไฟ/รถไฟความเร็วสูง ท่าเรือ และสนามบิน ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกและลดต้นทุนการขนส่ง และช่วยสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุนสำหรับพื้นที่ที่ห่างไกลความเจริญ ในการนี้ Asian Infrastructure Investment Bank (AIIB) และ Silk Road Fund จะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนด้านการเงินสำหรับการลงทุนและดำเนินโครงการต่างๆ ให้เป็นรูปธรรม

3.ความเชื่อมโยงด้านข้อมูลและดิจิทัล นโยบาย Internet Plus & Information Highway ของจีน และการพัฒนา Digital Economy ของไทย เน้นการใช้ประโยชน์จากการบริหารจัดการข้อมูลต่างๆ ด้วยระบบดิจิทัลและอินเตอร์เน็ต รวมถึงการรองรับรูปแบบการค้าสมัยใหม่ผ่านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และระบบชำระเงินดิจิทัล

4.การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน ไทยและจีนต่างให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและการพัฒนาธุรกิจ Startups เพื่อให้ประโยชน์จากการพัฒนาเศรษฐกิจมีการแบ่งปันอย่างทั่วถึงและเป็นสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจชุมชน ภาครัฐต้องสร้างบรรยากาศที่เอื้อกับการประกอบธุรกิจและการใช้ประโยชน์จากช่องทางการค้าใหม่ๆ อาทิ e-Commerce เป็นต้น 5.   ความเชื่อมโยงระหว่างประชาชน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการศึกษาและวัฒนธรรม ตลอดจนการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะช่วยให้ประชาชนมีความเข้าใจ และเป็นการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน

  ทั้งนี้ ในการประชุมห้องย่อยในหัวข้อความเชื่อมโยงทางการค้า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้แสดงวิสัยทัศน์ในการพัฒนาการค้าที่ยั่งยืน ด้วยการส่งเสริมความเข้มแข็งและพัฒนาศักยภาพของ SMEs ที่มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 99 ของเศรษฐกิจไทย ให้สามารถดำเนินธุรกิจผ่านช่องทางการค้าออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมยกตัวอย่างการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ที่จะเชื่อมโยงกับ Belt and Road Initiative โดยไทยพร้อมเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ในภูมิภาค โดยมีเส้นทางรถไฟเชื่อมจีน-ไทย-มาเลเซีย-สิงคโปร์ และถนนเชื่อมโยงจีน-ลาว-ไทย ตลอดจนระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก ที่เชื่อมโยงท่าเรือน้ำลึกมาบตาพุด-ดานังทางตะวันออกกับท่าเรือในเมียนมาร์ทางตะวันตก สนามบินนานาชาติและศูนย์ซ่อมบำรุง นอกจากนั้น EEC ยังเป็นศูนย์สำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ตลอดจนมีการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษสำหรับการพัฒนานวัตกรรม Smart City ซึ่งการพัฒนาเหล่านี้ เน้นการมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ มหาวิทยาลัย และชุมชนท้องถิ่น

การประชุม BRF ครั้งนี้ ถือว่าเป็นความสำเร็จของจีนในการขยายบทบาทและแสวงหามิตรประเทศที่จะช่วยสนับสนุนให้จีนบรรลุเป้าหมายการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ โดยได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีมากจากประเทศต่างๆ ทั้งที่อยู่ในเส้นทาง Belt and Road และประเทศคู่ค้าสำคัญในทวีปยุโรปและอเมริกาใต้ ประเทศไทยซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่ตั้งอยู่บนแนวระเบียงเศรษฐกิจจีน-อินโดจีน ได้ใช้โอกาสนี้ในการสนับสนุนนโยบายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและความเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค โดย EEC ของไทยพร้อมเป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุนให้กับนักลงทุนจีนเพื่อขยายโอกาสไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจจีน-อินโดจีน (China – Indochina Economic Corridor)

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 16 พฤษภาคม 2560

คาดกองทุนโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้า BRRGIF ระดมทุนในไตรมาส 3 นี้

บมจ. น้ำตาลบุรีรัมย์ หรือ BRR โชว์ผลประกอบการไตรมาสแรกปี 60 กำไรพุ่ง 221% รับอานิสงส์ราคาน้ำตาลตลาดโลกสูงขึ้น ขณะที่โรงไฟฟ้าชีวมวลเดินเครื่องเต็มสูบ คาดกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ ระดมทุนได้ในไตรมาส 3 นี้

นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาสแรกปี 2560 บริษัทมีรายได้รวม 2,188 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 46% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2559 ที่มีรายได้รวม 1,496 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 397 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 221% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยคิดเป็นกำไรต่อหุ้นที่ 0.59 บาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีกำไรต่อหุ้น 0.18 บาท อัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 31% ส่วนอัตรากำไรสุทธิของบริษัทอยู่ที่ 18.40% จากปีก่อนที่ 8.37%

สำหรับกำไรที่เพิ่มขึ้นเป็นในช่วงไตรมาส 1 เป็นผลมาจากราคาน้ำตาลในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นเฉลี่ย 30% เมื่อเทียบกับปีก่อน ควบคู่กับความต้องการบริโภคทั้งในและต่างประเทศก็เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทมีผลผลิตน้ำตาลเพิ่มขึ้น จากการเพิ่มประสิทธิผลการผลิต การพัฒนาศักยภาพเกษตรกรนักธุรกิจชาวไร่อ้อยตามปรัชญา น้ำตาลสร้างในไร่ ประกอบกับรายได้จากธุรกิจโรงไฟฟ้าและปุ๋ยก็ปรับตัวสูงขึ้น

นายอนันต์ กล่าวว่า ฤดูการผลิตปี 2559/60 ซึ่งปิดหีบไปเมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา บริษัทสามารถหีบอ้อยได้รวม 2.21 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากฤดูการผลิตก่อนหน้าที่มีปริมาณอ้อย 2.06 ล้านตัน และได้ผลผลิตน้ำตาลทรายกว่า 251,000 ตัน ปัจจุบัน บริษัทยังมุ่งการพัฒนาด้านอ้อย การเพิ่มศักยภาพของเกษตรกรและการขยายพื้นที่เพาะปลูก คาดว่าจะมีปริมาณอ้อยเข้าหีบแตะ 3 ล้านตันในปีการผลิตหน้า

ขณะที่ ทิศทางราคาน้ำตาลนั้นมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะสมดุลมากขึ้น หลังจากปัญหาภัยแล้งในประเทศผู้ผลิตสำคัญอย่างอินเดีย จีน และไทยคลี่คลายลง คาดราคาน้ำตาลตลาดโลกปีนี้วิ่งอยู่ในช่วง 15-18 เซนต์ต่อปอนด์ ส่วนในปีการผลิตปัจจุบันนี้ บริษัทได้ทำสัญญาขายน้ำตาลล่วงหน้าไปเกือบหมดแล้วในช่วงที่ราคาตลาดโลกสูงกว่า 20 เซนต์ต่อปอนด์ และจะทยอยรับรู้รายได้ในไตรมาสต่อๆ ไปตามสัญญาการส่งมอบน้ำตาล

นายอนันต์ ระบุว่า บริษัทอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ เพื่อร่วมลงทุนก่อสร้างโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ในจังหวัดบุรีรัมย์ และจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนในช่วงปลายปีนี้หรือต้นปี 2561 เพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำตาลที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และโดยเฉพาะในทวีปเอเชียที่ถือว่าเป็นตลาดน้ำตาลทรายที่มีพลวัตรสูงที่สูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มีความต้องการบริโภคปีละ 77 - 80 ล้านตัน แต่ผลิตได้เพียง 65 - 68 ล้านตัน และยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องที่ปีละ 1.6 - 1.7%

จากแผนการเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยและปริมาณอ้อยที่จะเพิ่มขึ้นแตะ 3 ล้านตัน ทำให้บริษัทเตรียมลงทุนขยายธุรกิจไฟฟ้าชีวมวล โดยปัจจุบันอยู่ในช่วงรอการเปิดรับซื้อไฟฟ้าชีวมวลของภาครัฐ พร้อมกับเสริมว่า อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเป็นอุตสาหกรรมเกษตรที่มีเสถียรภาพมากที่สุดอันหนึ่ง มีศักยภาพในการต่อยอดสู่อุตสาหกรรมพลังงานทดแทนและอุตสาหกรรมชีวภาพที่กำลังเป็นกระแสของโลก

 ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทมีโรงไฟฟ้า 3 แห่ง ได้แก่ บริษัท บุรีรัมย์พลังงาน จำกัด (BEC) บริษัท บุรีรัมย์เพาเวอร์ จำกัด (BPC) ส่วนโรงไฟฟ้าแห่งที่ 3 คือ บุรีรัมย์เพาเวอร์พลัส จำกัด (BPP) มีกำลังการผลิตโรงละ 9.9 เมกะวัตต์ (MW) เท่าๆ กัน โดยโรงไฟฟ้า BEC และ BPC ขายไฟให้กับการไฟฟ้าโรงละ 8 เมกะวัตต์ (MW) รวม 16 เมกะวัตต์ (MW)

สำหรับความคืบหน้าการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ หรือ BRRGIF นั้น ได้ส่งเรื่องให้ กลต. พิจารณาแล้ว และคาดว่าจะสามารถระดมทุนได้ภายในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ โดยเม็ดเงินที่ได้จะนำมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและต่อยอดธุรกิจน้ำตาลทรายและธุรกิจต่อเนื่อง.

จาก http://www.thairath.co.th   วันที่ 16 พฤษภาคม 2560

เกษตรฯ จับมือกลุ่มมิตรผล พัฒนางานวิจัยเกษตรเชิงพาณิชย์

เกษตรฯ จับมือกลุ่มมิตรผล พัฒนางานวิจัยและต่อยอดเทคโนโลยีการเกษตรเชิงพาณิชย์ระยะ 5 ปี นำร่อง 3 โครงการ

          พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีลงนามความร่วมมือด้านการวิจัยพัฒนา และต่อยอดเทคโนโลยีการเกษตรตามแนวทางเกษตรยั่งยืน ระหว่างสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. กับ บริษัทน้ำตาลมิตรผล จำกัด และบริษัทในเครือ ว่า การลงนามความร่วมมือระหว่างกันครั้งนี้จะเป็นการร่วมมือแบบประชารัฐเน้นการปรับเปลี่ยนเพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร ซึ่งจำเป็นต้องใช้ความรู้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับพื้นที่ สภาพอากาศ สภาพสังคม โดยในช่วงที่ผ่านมางบประมาณด้านการวิจัยพัฒนาน้อยมากๆ เมื่อเทียบกับประเทศที่เจริญแล้ว จำเป็นต้องร่วมมือกับภาคเอกชนที่มีความพร้อม โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องใช้เครื่องจักรกล และเทคโนโลยี เป็นการทำงานในลักษณะประชารัฐ ที่กระทรวงเกษตรฯ คาดหวังว่าจะเป็นแบบอย่างให้กับงานอื่นๆ ในอนาคตด้วย

          สำหรับโครงการวิจัยภายใต้ความร่วมมือในครั้งนี้ในช่วงแรก ระยะ 5 ปี จะมีความร่วมมือในงานวิจัย 3 โครงการ คือ 1. โครงการวิจัยการปลูกพืชหลังนาเพื่อเป็นพืชหมุนเวียน และ บำรุงรักษาดิน งบประมาณ 5.4 ล้านบาท โดยพืชที่เลือกใช้ คือ ถั่วเหลือง เพราะตลาดมีความต้องการสูง แต่ผลผลิตในประเทศยังไม่เพียงพอ ต้องนำเข้าต่อปีในปริมาณที่มาก โดยปัจจุบันไทยมีความต้องการถั่วเหลืองโดยเฉลี่ยประมาณ 2 ล้านตัน แต่เราสามารถผลิตได้ในประเทศเฉลี่ยเพียงปีละ 50,000 ตันเท่านั้น  ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นการทดลองปลูกถั่วเหลืองพันธุ์เชียงใหม่ 60 และ สจ.5  โดยนำร่องในพื้นที่ 150 ไร่ ของ อ.ชุมแพ และ อ.ภูผาม่าน จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นการปลูกถั่วเหลืองโดยวิธีเกษตรสมัยใหม่ คือ ใช้เครื่องจักรกล เทคโนโลยี ทั้งช่วงต้นฤดูฝน และ ฤดูแล้ง ในพื้นที่แปลงนาข้าวซึ่งผลที่คาดว่าจะได้รับทำให้มีแนวทางการปลูกพืชก่อน และหลังนา โดยใช้เครื่องจักรกลที่มีอยู่เดิม รวมถึงทำให้การปลูกถั่วเหลืองก่อนและหลังนา มีต้นทุนลดลง ผลผลิตมากขึ้น และ มีคุณภาพดีขึ้นตรงความต้องการของผู้บริโภค เกษตรกรสามารถนำการวิจัยไปขยายผลในพื้นที่อื่นๆ ได้

           2. โครงการวิจัยการป้องกันศัตรูพืชด้วยสารควบคุมศัตรูพืชที่ได้จากธรรมชาติ เป็นการส่งเสริมการทำการเกษตรอินทรีย์ ซึ่งจะต้องไม่ใช้สารเคมีทำการเกษตร  จึงต้องการวิจัยพัฒนาการป้องกันควบคุมแมลงศัตรูพืชที่ไม่ใช้สารเคมี โดยใช้วิธีธรรมชาติ และ นวัตกรรมอื่นๆ ซึ่งผลที่คาดว่าจะได้รับจะส่งผลให้มีสินค้าเกษตรที่ปลอดภัย และลดการนำเข้าสารเคมี 3. โครงการปรับปรุงคุณสมบัติของดิน เป็นการศึกษาวิธีการปรับปรุงคุณสมบัติของดิน ให้เหมาะสมกับการทำการเกษตรในพื้นที่มีผลผลิตต่ำ โดยเน้นเป็นพื้นที่เฉพาะบริเวณ รวมทั้งการใช้ปุ๋ยที่เหมาะสมกับสภาพดินในแต่ละพื้นที่อีกด้วย ผลที่คาดว่าจะได้รับ สามารถลดค่าใช้จ่ายด้านปุ๋ย และ เพิ่มผลผลิตทางการเกษตร

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 16 พฤษภาคม 2560

ค่าบาทเช้านี้ 'ทรงตัว'

บาทเปิดตลาดเช้านี้ทรงตัวที่ "34.53 บาทต่อดอลลาร์" และแนวโน้มค่าเงินบาทช่วงนี้ยังมีทิศทางแข็งค่าต่อตามสกุลเงินหลักของเอเชียอื่น

 นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 34.53บาทต่อดอลลาร์ ไม่เปลี่ยนแปลงจากราคาปิดสิ้นวันก่อนในช่วงคืนที่ผ่านมา ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าราว 0.3% เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักพร้อมกับราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น 2% (น้ำมันดิบเบรนท์ซื้อขายที่ระดับ 51.8 เหรียญ/บาเรลล์) หลังจากที่รัสเซียและซาอุดิอารเบียออกแถลงการณ์ร่วมว่าจะมีการ “ลดกำลังการผลิต” ต่อเนื่องไปจนถึงเดือนมีนาคมปี 2018 ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ทั้งสหรัฐและในยุโรปปรับตัวขึ้น 1-3bps เช่นกัน

แนวโน้มค่าเงินบาทช่วงนี้ยังมีทิศทางแข็งค่าต่อตามสกุลเงินหลักของเอเชียอื่น ๆ ทั้งนี้พบว่าแรงซื้อดอลลาร์เพื่อจ่ายปันผลของบริษัทจดทะเบียนเริ่มลดน้อยลง ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจไทยก็ปรับตัวดีขึ้น เป็นแรงหนุนให้ค่าเงินบาทแข็งค่าอยู่ในกรอบปัจจุบัน

มองกรอบค่าเงินระหว่างวันที่ระดับ 34.45-34.55บาทต่อดอลลาร์

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 16 พฤษภาคม 2560

ดึงเยอรมันหุ้นส่วน ขับเคลื่อน‘อุตฯ4.0’

  อุตสาหกรรมดึงเยอรมนี ขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0 รูปแบบประชารัฐ

  นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวหลังร่วมงาน "Industry 4.0 in Thailand 4.0 : Germany - Thai Partnership for the Industry of Tomorrow ว่าได้เสนอให้ประเทศเยอรมนี ที่เป็นผู้นำอุตสาหกรรม 4.0 เป็นหุ้นส่วนไทย-เยอรมนีขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0 เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนห่วงโซ่อุปทานผ่านรูปแบบกลไกประชารัฐ รวมถึงช่วยยกระดับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 เพื่อเอสเอ็มอีเป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 ในอนาคตต่อไป

จากนั้นขยายโอกาสออกไปสู่กลุ่มประเทศ CLMV หรือกัมพูชา ลาว เมียนมาและเวียดนามต่อไป ซึ่งไทยเป็นศูนย์กลางมีความเชื่อมโยงและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศเพื่อนบ้าน ขณะเดียวกัน กลุ่มประเทศ CLMV จะได้รับประโยชน์จากการพัฒนาเช่นกัน ส่วนเอกชนเยอรมนี ขณะนี้มีการลงทุนในไทยประมาณ 600 บริษัท และมีโอกาสที่จะเข้ามาลงทุนเพิ่มอีก

 สำหรับคณะทำงานหุ้นส่วนไทย-เยอรมนีขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0 ผ่านกลไกประชารัฐ โดยมีนายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานคณะทำงาน  กำหนดกรอบการทำงานเบื้องต้นเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ โดยคณะทำงานฝ่ายไทย ประกอบด้วยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.) และภาคเอกชนผ่านกลไกประชารัฐ หรือ Public-Private Collaboration ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ส่วนฝ่ายเยอรมัน จะมีสถานทูตเยอรมัน บริษัทขนาดใหญ่ที่มีความเชี่ยวชาญอุตสาหกรรม 4.0 เช่น BOSCH SIEMENS และSAP เป็นต้น เข้าร่วมขับเคลื่อนการเป็นหุ้นส่วน

 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมารัฐบาลเดินหน้าปรับเปลี่ยนประเทศตามนโยบาย Thailand 4.0 โดยลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งในส่วนที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ เช่น ลงทุนโครงข่ายอินเทอร์เน็ต 76,000 หมู่บ้าน ทำให้ประชาชนทั่วประเทศสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตราคาถูกใน 2 ปีข้างหน้าและโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ เช่น การปรับเปลี่ยนและออกกฎหมายใหม่เพื่อรองรับแล้ว รวมถึงมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่รองรับกับอุตสาหกรรมใหม่ โดยมี 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เรียกว่า S-Curve ดังนั้นปีนี้จึงเป็นช่วงเวลาที่จะลงมือปฏิบัติอย่างเป็นระบบ คือการสร้างความเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

ฝ่ายเยอรมันเห็นว่านโยบายภาพรมของไทยในการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 เดินมาถูกทาง เห็นได้จากการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ การออกกฎหมายใหม่ๆเพื่ออำนวยความสะดวกในการค้า และการลงทุน และพ.ร.บ.เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ควรเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านอินเทอร์เน็ต และพัฒนาระบบการศึกษา สร้างบุคลากรรองรับอุตสาหกรรม 4.0

 นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่าอุตสาหกรรม 4.0 ทำให้เกิดการใช้แรงงานที่มีอยู่อย่างจำกัดให้มีประสิทธิภาพขึ้น ผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูง และใช้ทรัพยากรได้คุ้มค่ามากขึ้น โดยจากการสำรวจของ ส.อ.ท. พบว่าประมาณ 70% ของอุตสาหกรรมไทยยังอยู่ในระดับอุตสาหกรรม 2.0-2.5

ดังนั้น ส.อ.ท. จึงกำหนดเป้าหมาย โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี มุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากร 3 กลุ่มคือ กลุ่มผู้ผลิตเครื่องจักรกลที่จะช่วยยกระดับจากอุตสาหกรรม 2.0-2.5 ไปเป็นอุตสาหกรรม 3.0 กลุ่ม System Integratorที่จะนำกลไกต่างๆ มาเชื่อมโยงให้เป็นระบบ และกลุ่มผู้ดูแลรักษาระบบให้มีประสิทธิภาพ หลังจากนั้นจึงจะพัฒนาต่อเนื่องไปสู่ระดับอุตสาหกรรม 4.0

“อุตสาหกรรม 4.0 เป็นการผลิตที่ยกระดับด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้เครื่องจักรต่าง ๆ สามารถเชื่อมโยงการทำงานเป็นระบบ มีการสื่อสารระหว่างกัน รวมถึงมีการผลิตด้วยความเร็วสูงและมีความยืดหยุ่น เกิดนวัตกรรมของบริการและสินค้าใหม่ ๆ สิ่งที่ตามมาคือการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศ ส่งผลให้ประเทศไทยก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง" นายเจน กล่าว

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 16 พฤษภาคม 2560

กรมชลฯของบแสนล้าน หวังแก้น้ำท่วมระยะยาว

กรมชลประทานเตรียมเสนอ ครม.อนุมัติงบกว่าแสนล้าน ปี 2560-2561 รองรับโครงการบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยา

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานสรุปโครงการที่จะเสนอของบประมาณเร่งด่วนในปี 2560 และ 2561 ตามโครงการบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีทั้งโครงการขนาดใหญ่และโครงการเร่งด่วนระยะสั้นวงเงินกว่า 1 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ มีโครงการปรับปรุงระบบชลประทานพื้นที่เจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่างเพื่อบรรเทาอุทกภัยในระยะเร่งด่วนวงเงิน 1,500 ล้านบาท ขณะที่โครงการขนาดใหญ่คือโครงการคลองระบายน้ำหลากป่าสัก-อ่าวไทย ระยะทาง 135 กิโลเมตร วงเงิน 7 หมื่นล้านบาท และโครงการระบายน้ำหลากชัยนาทป่าสัก 3.5 หมื่นล้านบาท ระบายน้ำได้ 400 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ซึ่งคาดว่าจะสามารถเสนอของบประมาณได้ปี 2561

นอกจากนี้ ยังมีโครงการระบายน้ำควบคู่กับวงแหวนรอบ 3 อยู่ระหว่างการศึกษากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คาดจะเสร็จในเดือน ก.พ. 2560 ด้านโครงการพัฒนาแก้มลิงในบึงใหญ่ 4 แห่ง ได้แก่ บึงบอระเพ็ด 240 ล้านบาท บึงสีไฟ 518 ล้านบาท บึงกว๊านพะเยา 500 ล้านบาท และหนองหาน 240 ล้านบาท ซึ่งกรมชลประทาน รับหน้าที่บริหารจัดการน้ำ

จาก http://www.posttoday.com วันที่ 16 พฤษภาคม 2560

'อีอีซี'เตรียมนำโครงการ 4.46 แสนล้านเข้า ครม.ลดเวลาก่อสร้างจาก 40 เดือนเป็นเสร็จใน 20 เดือน

          รายงานจากคณะทำงานพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเตรียมนำรายงานสำคัญของเกี่ยวกับแผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอย่างเร่งด่วน โดยการกระทรวงอุตสาหกรรมจะนำเสนอรายละเอียดการลงทุนในพื้นที่พัฒนา หรือ อีอีซี อย่างเร่งด่วน โดยคณะทำงานเตรียมปรับแผนเป็นดึงเอกชนมาร่วมทำงานและลงทุนร่วมกันกับรัฐ หรือ พีพีพี ให้กับคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียบเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กรศ.) รับทราบก่อนที่จะนำเอาโครงการนำเสนอ  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการ พิจารณาต่อไป

          สำหรับโครงการสำคัญดังกล่าว จะบรรจุให้เป็นโครงการสำคัญที่จะบรรจุเป็นโครงการ"พีพีพีอีอีซีฟาสต์แทรค" ซี่งเป็นโครงใหญ่ 3 โครงการ คือ1.โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา 2.โครงการท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 และ3.โครงการไฟฟ้าความเร็วสูงระหว่างกรุงเทพฯ-ระยอง ทั้งนี้คณะทำงานตั้งเป้าจะเริ่มเปิดประมูลได้ภายในต้นปี 2561 โดยรัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณในการก่อสร้างแท็กซี่เวย์ภายในสนามบิน เชื่อมระหว่างรันเวย์กับศูนย์ซ่อมอากาศยานเช่นเดียวกับโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-ระยอง ซึ่งเป็นโครงที่ทำอีไอโอไปแล้ว คณะที่โครงการการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 กำลังอยู่ในระยะที่คืบหน้าไปมากพอสมควร เท่ากับว่าโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลทั้งสามโครงการได้ก้าวหน้าไปมากพอสมควร ซึ่งรัฐบาลคาดว่าในต้นปีหน้าจะสามารถเปิดประมูลและเริ่มก่อสร้างได้ โดยรัฐจะพยายามเร่งรัดให้เกิดการลงทุนตามเป้าหมาย

          ด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม "นายอุตตม สาวนายน" กล่าวว่า  โครงการลงทุนที่จะต้องเร่งดำเนินการ คือโครงการขยายสนามบินอู่ตะเภาจะมีการลงทุนสร้าง 2 ทางวิ่ง และอาคารผู้โดยสาร ใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปีงบประมาณ 2แสนล้านบาท และโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-ระยองจะเชื่อมต่อระหว่าง 3 สนามบินหลักของประเทศ ได้แก่ สนามบินอู่ตะเภาสุวรรณภูมิ และดอนเมือง มูลค่าการลงทุน 1.58 แสนล้านบาท รวมทั้ง 2 โครงการมูลค่า 3.58 แสนล้านบาท ซึ่งมาตรการ พีพีพีอีซีซีฟาสต์แทรค จะช่วยลดระยะเวลาการดำเนินงานลง 40 เดือน และทุกขั้นตอนต้องผ่านเกณฑ์ตามมาตรฐาน พีพีพี อย่างเข้มงวด

จาก พิมพ์ไทย วันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 

ไทย-เยอรมันรุกอุตฯ4.0 หนุนเอสเอ็มอีสู่อาเซียน 

          นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยในการประชุมอุตสาหกรรม 4.0 สู่ประเทศไทย 4.0 : หุ้นส่วนความร่วมมือไทย-เยอรมัน เพื่อมุ่งสู่อุตสาหกรรมในอนาคต ว่า ได้เห็นชอบร่วมกันที่จะจัดตั้งคณะทำงานหุ้นส่วนความร่วมมือไทย-เยอรมันเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน  โดยแนวทางดำเนินงานจะอยู่ภายใต้กลไกประชารัฐที่เป็นความร่วมมือทั้งรัฐและเอกชน ภายใน 2 สัปดาห์คาดว่า จะสรุปแนวทางดำเนินการให้เห็นภาพที่ชัดเจน

          "แนวทางที่สำคัญของความร่วมมือ เช่น การปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต การนำเทคโนโลยีมาใช้ และการพัฒนาบุคลากร โดยเฉพาะการให้ความสำคัญต่อธุรกิจเอส เอ็มอี ที่จะทำอย่างไรให้ก้าวไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งถือว่าเยอรมนีเป็นต้นแบบในเรื่องนี้ และครั้งนี้ผู้บริหารจากบริษัท บ๊อช และซีเมนส์ ยืนยันร่วมมือกับไทย"

          ทั้งนี้ปัจจุบันธุรกิจเยอรมันเข้ามาลงทุนในไทย 600 บริษัท ความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นเวทีการเชื่อมโยงภาคอุตสาหกรรมไทยและอุตสาหกรรมเยอรมันและรัฐ เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) สภาหอการค้าเยอรมัน ฯลฯ จะทำงานร่วมกัน ซึ่งนอกเหนือจากการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้แล้วเยอรมันก็จะได้ใช้ไทยเป็นประตูการค้าและการลงทุนสู่ประเทศซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม ) และจะนำไปสู่การลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายในไทยมากขึ้น.

จาก https://www.dailynews.co.th วันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

KTIS ไตรมาสแรกกำไรสุทธิทะยาน 730%  

        KTIS โชว์ผลงานไตรมาสแรกปี 60 กำไรสุทธิ 412 ล้านบาท โตขึ้น 729.8% ผู้บริหาร เผยสาเหตุกลักจากผลผลิตอ้อย และราคาขายน้ำตาลเฉลี่ยสูงขึ้น ประกอบธุรกิจเอทานอลได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมันปรับตัวสูง

               นายประพันธ์ ศิริวิริยะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS เปิดเผยถึง ผลประกอบการไตรมาสแรกปี 2560 ว่า บริษัทมีรายได้รวม 3,943.8 ล้านบาท ลดลงปีก่อน 10% ที่มีรายได้รวม 4,382.3 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 412.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 729.8% ที่กำไรสุทธิ 49.7 ล้านบาท

               “ปัจจัยหนุนสำหรับการเติบโตอย่างมากของกำไรไตรมาสแรกนี้เกิดจากบริษัทมีอ้อยเพิ่มมากขึ้น 15.4% และจากคุณภาพที่ดีมาก ทำให้ทำน้ำตาลได้เพิ่มขึ้นถึง 29.9% บวกกับราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกสูงขึ้นกว่าปีก่อน โดยราคาเฉลี่ยปีนี้อยู่ที่ตันละ 17,158.9 บาท จากปีก่อนเฉลี่ยอยู่ที่ตันละ 13,363.1 บาท หรือสูงกว่า 28.4% นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกสูงขึ้นด้วย ทำให้สายธุรกิจเอทานอลมีรายได้และกำไรที่ดีขึ้น”      

        สำหรับสายธุรกิจอื่น ทั้งโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวล โรงงานผลิตเยื่อกระดาษชานอ้อย และบรรจุภัณฑ์จากเยื่อชานอ้อย 100% ก็มีแนวโน้มที่ดี เพราะมีวัตถุดิบมากกว่าปีก่อน จากปริมาณอ้อยที่เพิ่มขึ้น

               ทั้งนี้ สายธุรกิจโรงไฟฟ้าของกลุ่ม KTIS ขณะนี้โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวลทั้ง 3 โรง ได้ทำการขายไฟฟ้าครบถ้วนแล้ว ทั้งโรงไฟฟ้าเกษตรไทยไบโอเพาเวอร์ (KTBP) และรวมผลไบโอเพาเวอร์ (RPBP) ที่ จ.นครสวรรค์ และโรงไฟฟ้าไทยเอกลักษณ์เพาเวอร์ (TEP) ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยไฟฟ้าที่ผลิตจากโรงไฟฟ้าทั้ง 3 โรงนี้ ส่วนหนึ่งจะนำไปใช้ในกระบวนการผลิต และอีกส่วนหนึ่งขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

 จาก http://manager.co.th  วันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

เกษตรฯ หนุน "สวก.-กลุ่มมิตรผล" จับมือพัฒนางานวิจัยและต่อยอดเทคโนโลยีการเกษตรเชิงพาณิชย์ นำร่อง 3 โครงการ

 สวก. จับมือ กลุ่มมิตรผล พัฒนางานวิจัยและต่อยอดเทคโนโลยีการเกษตรเชิงพาณิชย์ระยะ 5 ปี นำร่อง 3 โครงการปลูกถั่วเหลืองหลังนาทดแทนนำเข้า–เสริมทัพเกษตรอินทรีย์-พัฒนาคุณภาพดิน

พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือด้านการวิจัยพัฒนา และต่อยอดเทคโนโลยีการเกษตรตามแนวทางเกษตรยั่งยืน ระหว่างนางพรรณพิมล ชัญญานุวัตร ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. กับนายกฤษฎา มนเทียรวิเชียรฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มมิตรผล โดยมีนายอิสระ ว่องกุศลกิจ หัวหน้าทีมภาคเอกชนคณะกรรมการสานพลังประชารัฐ และประธานกรรมการกลุ่มมิตรผล ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องราชดำเนิน ชั้น 1 โรงแรมรอยัลปริ๊นเซส หลานหลวง กรุงเทพฯ

พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์ด้านการเกษตรเปลี่ยนไปมาก สภาพอากาศแปรปรวน ที่ดินทำการเกษตรมีจำกัด แรงงานสูงอายุ ต้องใช้เครื่องจักร ราคาผลผลิตเป็นไปตามกลไกตลาดโลก ความต้องการบริโภคสินค้าคุณภาพดีและปลอดภัยต่อสุขภาพมีมากขึ้น และเกษตรกรมีรายได้ไม่เพียงพอ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงมี “นโยบายยกกระดาษ A4” เพื่อให้เกษตรปรับเปลี่ยนทำเกษตรสมัยใหม่ เพิ่มรายได้ และภูมิใจในอาชีพ ด้วยการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และยกมาตรฐานสินค้าเกษตร ใช้พื้นที่สูงสุด ใช้ความรู้ เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับพื้นที่ สภาพอากาศ สภาพสังคมด้วยเกษตรทฤษฎีใหม่และผสมผสาน วิเคราะห์พื้นที่แบบแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารเชิงรุก (Agri-Map) เมื่อเหมาะสมต้องต่อยอดเป็นเกษตรแปลงใหญ่ เกษตรอินทรีย์ และการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม (Good Agriculture Practices หรือ GAP) ให้ศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ทั้ง 882 แห่งเป็นศูนย์ถ่ายทอดความรู้ ข้อมูลข่าวสาร และบริการด้านเกษตรของชุมชน รวมทั้งให้ความสำคัญกับงานวิจัยพัฒนา ซึ่งภาคราชการมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ จึงต้องร่วมมือกับภาคเอกชนที่มีความพร้อม โดยเฉพาะด้านเครื่องจักรกลและเทคโนโลยี ทำงานในลักษณะประชารัฐ เป็นแบบอย่างให้งานอื่นต่อไป

“การลงนามความร่วมมือครั้งนี้ เป็นการร่วมมือแบบประชารัฐเน้นการปรับเปลี่ยนเพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร ซึ่งจำเป็นต้องใช้ความรู้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับพื้นที่ สภาพอากาศ สภาพสังคม โดยในช่วงที่ผ่านมางบประมาณด้านการวิจัยพัฒนาน้อยมากๆ เมื่อเทียบกับประเทศที่เจริญแล้ว จำเป็นต้องร่วมมือกับภาคเอกชนที่มีความพร้อม โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องใช้เครื่องจักรกล และเทคโนโลยี เป็นการทำงานในลักษณะประชารัฐ ที่กระทรวงเกษตรฯ คาดหวังว่าจะเป็นแบบอย่างให้กับงานอื่นๆ ในอนาคตด้วย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว

พลเอกฉัตรชัย กล่าวว่า ทั้งนี้ สวก. และกลุ่มมิตรผล จะร่วมดำเนินการโครงการวิจัย ในช่วงแรก ระยะ 5 ปี จำนวน 3 โครงการ คือ 1. โครงการวิจัยการปลูกพืชหลังนาเพื่อเป็นพืชหมุนเวียน และ บำรุงรักษาดิน งบประมาณ 5.4 ล้านบาท โดยพืชที่เลือกใช้ คือ ถั่วเหลือง เพราะตลาดมีความต้องการสูง แต่ผลผลิตในประเทศยังไม่เพียงพอ ต้องนำเข้าต่อปีในปริมาณที่มาก ปัจจุบันไทยมีความต้องการถั่วเหลืองโดยเฉลี่ยประมาณ 2 ล้านตัน แต่สามารถผลิตได้ในประเทศเฉลี่ยเพียงปีละ 50,000 ตันเท่านั้น ทั้งนี้ นำร่องในพื้นที่ 150 ไร่ ของ อำเภอชุมแพ และ อำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น จะทดลองปลูกถั่วเหลืองพันธุ์เชียงใหม่ 60 และ สจ.5 โดยเป็นการปลูกถั่วเหลืองโดยวิธีเกษตรสมัยใหม่ คือ ใช้เครื่องจักรกล เทคโนโลยี ทั้งช่วงต้นฤดูฝน และ ฤดูแล้ง ในพื้นที่แปลงนาข้าวซึ่งผลที่คาดว่าจะได้รับทำให้มีแนวทางการปลูกพืชก่อน และหลังนา โดยใช้เครื่องจักรกลที่มีอยู่เดิม รวมถึงทำให้การปลูกถั่วเหลืองก่อนและหลังนา มีต้นทุนลดลง ผลผลิตมากขึ้น และมีคุณภาพดีขึ้นตรงความต้องการของผู้บริโภค เกษตรกรสามารถนำการวิจัยไปขยายผลในพื้นที่อื่นๆ ได้ 2. โครงการวิจัยการป้องกันศัตรูพืชด้วยสารควบคุมศัตรูพืชที่ได้จากธรรมชาติ เป็นการส่งเสริมการทำการเกษตรอินทรีย์ ซึ่งจะต้องไม่ใช้สารเคมีทำการเกษตร จึงต้องการวิจัยพัฒนาการป้องกันควบคุมแมลงศัตรูพืชที่ไม่ใช้สารเคมี โดยใช้วิธีธรรมชาติ และ นวัตกรรมอื่นๆ ซึ่งผลที่คาดว่าจะได้รับจะส่งผลให้มีสินค้าเกษตรที่ปลอดภัย ลดการนำเข้าสารเคมี และ3.โครงการปรับปรุงคุณสมบัติของดิน เป็นการศึกษาวิธีการปรับปรุงคุณสมบัติของดิน ให้เหมาะสมกับการทำการเกษตรในพื้นที่มีผลผลิตต่ำ โดยเน้นเป็นพื้นที่เฉพาะบริเวณ รวมทั้งการใช้ปุ๋ยที่เหมาะสมกับสภาพดินในแต่ละพื้นที่อีกด้วย ผลที่คาดว่าจะได้รับ สามารถลดค่าใช้จ่ายด้านปุ๋ย และ เพิ่มผลผลิตทางการเกษตร

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ หัวหน้าทีมภาคเอกชนคณะกรรมการสานพลังประชารัฐ และประธานกรรมการกลุ่มมิตรผล กล่าวว่า จากการที่ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทและความร่วมมือพัฒนาการเกษตรตามนโนบายประชารัฐในช่วงเวลาเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ภาคเอกชนได้นำความรู้ความเชี่ยวชาญ ทั้งในด้านนวัตกรรม เทคโนโลยีมาพัฒนาภาคการเกษตร ส่งผลให้ช่วยเพิ่มปริมาณผลผลิตเป็นอย่างมาก ตรงต่อความต้องการของตลาด และลดต้นทุน ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาในภาคเกษตรกรอย่างครบวงจร ซึ่งความร่วมมือระหว่าง สวก. และกลุ่มมิตรผล มุ่งเน้นให้เกิดการต่อยอดเทคโนโลยีการวิจัยการเกษตรเพื่อการทำเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำ ลดการทำลายสิ่งแวดล้อม นับเป็นการปฏิรูปภาคการเกษตรตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง และผลักดันให้นำผลงานวิจัยที่จะเกิดขึ้นไปใช้ให้เกิดประโยชน์จริงในวงกว้าง

ด้าน นางพรรณพิมล ชัญญานุวัตร ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) กล่าวว่า ในฐานะหน่วยงานที่สนับสนุนทุนวิจัยด้านการเกษตร การลงนามข้อตกลงร่วมมือกับกลุ่มมิตรผลครั้งนี้เป็นหนึ่งในภารกิจในการสนองตอบนโยบายภาครัฐ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่จะพัฒนาการวิจัยการเกษตร โดยมีแนวทางการร่วมกันพัฒนางานวิจัยด้านเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ สนับสนุนให้ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิผล ทั้งข้อมูล บุคลากร เทคโนโลยี วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ พื้นที่สำหรับดำเนินการโครงการ อีกทั้งพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้และทักษะด้านการวิจัยการเกษตร เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และประสบการณ์ด้านการวิจัยการเกษตรของไทย และผลักดันให้นำผลงานวิจัยนี้ไปใช้ประโยชน์ทั้งเชิงนโยบายและการพาณิชย์ให้มากที่สุด ด้วยคาดหวังว่าจะทำให้เกษตรกรไทยพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น ส่งผลให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

ขณะที่ นายกฤษฎา มนเทียรวิเชียรฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า กลุ่มมิตรผล มีความยินดียิ่งที่ได้ร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เพื่อสร้างงานวิจัยและผลักดันให้นำผลงานวิจัยนั้นไปพัฒนาการเกษตรของไทยให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ อีกทั้งเป็นการช่วยภาคเกษตรที่มีสัดส่วน 1 ใน 3 ของประเทศ และเพื่อผลักดันภาคเกษตรในการสร้างรายได้ให้ประเทศมากยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันสามารถสร้างรายได้ไม่ถึง 10% ของ GDP อีกทั้งเพื่อสนับสนุนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (ปี พ.ศ.2559-2564) ที่ระบุเป้าหมายให้พัฒนาภาคเกษตรให้ขยายตัวเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3% ต่อปี และด้วยปรัชญาการทำงานตลอด 60 ปีของกลุ่มมิตรผล “ร่วมอยู่...ร่วมเจริญ” ต่างฝ่ายต่างต้องเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ทุกคนก็จะอยู่และเจริญเติบโตไปด้วยกันได้

จาก http://www.siamrath.co.th   วันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

แห่งแรกของไทย !! รวมเทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์ 4 ชนิด

 “โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทับสะแก”

วันนี้ (15 พฤษภาคม 2560) นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกับนายทวี นริสศิริกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นประธานในพิธีเปิดโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ทับสะแกและศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ทับสะแก อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ  ผู้นำชุมชน และประชาชนในพื้นที่กว่า 500 คน ร่วมพิธี

นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า กฟผ. ได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนอย่างต่อเนื่องควบคู่กับการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงหลักตลอดมา เพื่อสนองตอบแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกของประเทศ พ.ศ. 2558 – 2579 หรือ AEDP2015 ที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน จัดทำขึ้น ซึ่งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทับสะแกนับเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ กฟผ. ได้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ มาพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนรองรับนโยบาย Energy 4.0 ของกระทรวงพลังงานและในอนาคต กฟผ. จะนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่มาผลิตไฟฟ้าด้วยการพัฒนาพลังงานทางเลือกแบบผสมผสานโดยจับคู่แหล่งผลิตตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไปในรูปแบบ Hybrid และการวิจัยพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้า (Energy Storage) มาใช้กับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้มีเสถียรภาพมากขึ้นเพื่อสนองตอบนโยบาย Energy 4.0 ของกระทรวงพลังงานในการขับเคลื่อนและพัฒนาระบบไฟฟ้าด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

สำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทับสะแก มีขนาดกำลังการผลิต 5 เมกะวัตต์ โดย กฟผ. ต้องการสร้างให้เป็นแหล่งศึกษาและวิจัยประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ ที่ได้ติดตั้งเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ถึง 4 ชนิด ไว้ในพื้นที่เดียวกันแห่งเดียวในประเทศไทย ประกอบด้วย ชนิดที่ 1 ติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดผลึกซิลิคอน (Crystalline Silicon) ขนาดกำลังผลิต 1 เมกะวัตต์ โดยนำระบบติดตามดวงอาทิตย์แบบถ่วงน้ำหนักด้วยน้ำมาติดตั้ง ชนิดที่ 2 ติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดอะมอร์ฟัสซิลิคอน (Amorphous Silicon) ขนาดกำลังผลิต 2 เมกะวัตต์ ชนิดที่ 3 ติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดไมโครคริสตอลไลน์อะมอร์ฟัสซิลิคอน (Micro Amorphous Silicon) ขนาดกำลังผลิต 1 เมกะวัตต์ และชนิดที่ 4 ติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดสารประกอบของคอปเปอร์อินเดียมแกลเลียมไดเซเลไนด์ CI(GS)S (Copper Indium Galliam Di-Selenide) ขนาดกำลังผลิต 1 เมกะวัตต์ โดยแผงเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดที่ 2 – 4 ใช้การติดตั้งแบบคงที่ โดย กฟผ. จะทำการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าของเทคโนโลยีแต่ละชนิดว่ามีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ริมชายฝั่งทะเลที่มีภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยและฝนตกชุกตลอดทั้งปีหรือไม่ เพื่อพัฒนาต่อยอดเป็นต้นแบบที่เหมาะสมของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่ภาคใต้และพื้นที่ริมชายฝั่งทะเลทั่วประเทศต่อไป

นอกจากนี้ กฟผ. ได้สร้างศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ทับสะแก หรือ ศูนย์การเรียนรู้ “คิดดี” โดยออกแบบเป็นอาคารประหยัดพลังงาน พื้นที่ประมาณ 1,700 ตารางเมตร โดยนำลักษณะอาคารพื้นถิ่นริมทะเลและเรือประมงมาประยุกต์ ใช้ในการออกแบบสถาปัตยกรรม โดยตั้งอยู่บริเวณฝั่งตรงข้ามของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทับสะแก สำหรับเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ด้านพลังงาน ภารกิจของ กฟผ. รวมทั้งประวัติความเป็นมาและสิ่งที่น่าภูมิใจของชุมชนให้กับประชาชนในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตลอดจนผู้ที่สนใจได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพลังงานและชุมชนทับสะแกมากขึ้น โดยจุดเด่นของศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้อยู่ที่โรงภาพยนตร์ 4 มิติ และการนำเสนอข้อมูลความรู้ด้านพลังงานในรูปแบบของสวนสนุกซึ่งใช้ตัวการ์ตูนเป็นตัวแทนของพลังงานธรรมชาติที่จะสร้างความน่าสนใจและแรงบันดาลใจเชิงบวกให้กับผู้เข้าชม โดยเฉพาะนักเรียนและเยาวชนซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก และในโอกาสนี้นายเสริมคุณ คุณาวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท CMO จำกัด มหาชน บริษัทคู่สัญญางานสื่อจัดแสดงในศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ทับสะแก ได้มอบหนังสือมูลค่า 100,000 บาท ให้ กฟผ. นำไปใช้เพื่อประโยชน์ต่อสังคมต่อไป

 “วันนี้ นอกจาก กฟผ. จะมีพิธีเปิดโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทับสะแกและศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ทับสะแกอย่างเป็นทางการแล้ว กฟผ. ยังได้มอบอุปกรณ์การแพทย์มูลค่ากว่า 782,000 บาท ให้กับแพทย์หญิงสุภาภรณ์ ภมรสูตร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทับสะแก เพื่อใช้ประโยชน์กับผู้ป่วยและประชาชนที่มารับบริการจากโรงพยาบาลทับสะแก มอบรถฉุกเฉินมูลค่ากว่า 470,000 บาท ให้กับนายชาญชัย กัยวิกัยกำเนิด ประธานมูลนิธิสว่างรุ่งเรือง ธรรมสถาน อำเภอทับสะแก เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุบัติเหตุหรือภัยธรรมชาติ กฟผ. ขอยืนยันว่าตลอดระยะเวลา 48 ปีที่ผ่านมา ได้ดำเนินงานภายใต้หลักธรรมาภิบาล โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ ควบคู่กับความรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมครอบคลุมทุกขั้นตอนการดำเนินงาน และมุ่งมั่นที่จะพัฒนาพลังงานไฟฟ้า เพื่อความสุขของคนไทย ควบคู่กับการพัฒนาสังคมชุมชนและการมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ให้อยู่ดีมีสุขอย่างยั่งยืนตลอดไป” ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวในที่สุด

ด้านนายทวี นริสศิริกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า การผลิตไฟฟ้ามาใช้มีหลายวิธี ซึ่ง กฟผ. ก็ได้คิดค้นและเลือกวิธีการผลิตที่เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดให้กับประเทศ เช่น การมาสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ทับสะแกนี้ ก็เป็นพลังงานสะอาด ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายจากการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ และ กฟผ. ยังได้สร้างศูนย์การเรียนรู้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน โดยเฉพาะเยาวชนที่จะเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า ที่จะได้รับความรู้เรื่องพลังงานไฟฟ้า โดย กฟผ. อาจมีหนังสือเชิญชวนไปถึงโรงเรียนต่างๆ ในพื้นที่ใกล้เคียงที่มีอยู่กว่า 200 โรงเรียน ให้มาชมศูนย์การเรียนรู้และถ่ายทอดองค์ความรู้สู่สังคมต่อไป โดยหาก กฟผ. จะสนับสนุนเรื่องการเดินทางมาเยี่ยมชมด้วยก็จะเป็นประโยชน์มาก

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

รายงานพิเศษ : เกษตรเขตชัยนาท’สั่งทุกศพก.จัดงาน‘FIELD DAY’ กระตุ้นเกษตรกรวางแผนการผลิตอย่างเหมาะสม

เกษตรเขต 1 กรมส่งเสริมการเกษตร สั่งการทุก ศพก.เตรียมพร้อมจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีปี’60 หวังกระตุ้นให้เกษตรกรมีการวางแผนการผลิตอย่างเหมาะสม พร้อมเผยแพร่องค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เหมาะสมและตรงตามความต้องการของเกษตรกรมาเผยแพร่ให้ได้เรียนรู้ผ่าน ศพก.ทุกอำเภอทั้ง 9 จังหวัด

นายสุรัตน์ สงวนทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1 จังหวัดชัยนาท กรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า สำหรับการจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี(Field Day) เพื่อเข้าสู่ฤดูการผลิตใหม่จะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการทำเกษตรในด้านต่างๆ เทคโนโลยีสมัยใหม่ เครื่องจักรกลการเกษตร อย่างครอบคลุมให้กับเกษตรกรได้รู้จักและนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับการทำการเกษตรของตนเอง โดยมีหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐที่เกี่ยวข้องมาบริการให้ข้อมูลความรู้ด้านการผลิตสินค้าเกษตร ซึ่งการจัดงานดังกล่าวจะใช้ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ที่มีอยู่ทุกอำเภอทั่วประเทศ เป็นศูนย์กลางในการจัดงาน และเป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่มีความจำเป็นในภาคเกษตรกรรมมาจัดแสดง เพื่อถ่ายทอดความรู้แบบเห็นของจริง

ปัจจุบันประเทศไทยมีศูนย์การเรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร(ศพก.) จำนวน 882 ศูนย์ทั่วประเทศ แบ่งเป็นอำเภอละ 1 ศูนย์ ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเกษตรระหว่างภาครัฐและเกษตรกร และเป็นศูนย์กลางองค์ความรู้ด้านการเกษตรในทุกๆ ด้าน ที่มีความเหมาะสมแตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่ เนื่องจากประเทศไทยมีพื้นที่การทำการเกษตรที่หลากหลาย ในส่วนของ ศพก.ที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1 จังหวัดชัยนาท กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีด้วยกันทั้งสิ้น 78 ศูนย์ ใน 9 จังหวัด ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นาข้าว และมีพื้นที่ส่วนน้อยปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นบ้าง อาทิ มันสำปะหลังอ้อย มะม่วง เป็นต้น

ทั้งนี้การจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีปี 2560 จะเริ่มต้นขึ้นหลังวันแรกนาขวัญ ซึ่งเป็นวันที่แสดงถึงสัญลักษณ์การเริ่มต้นฤดูการ

 ผลิตใหม่ในช่วงฤดูฝน โดยในส่วนของพื้นที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1 จังหวัดชัยนาท จะมีกำหนดการจัดงานขึ้นตั้งแต่หลังวันแรกนาขวัญ เดือนพฤษภาคม ไปจนถึงเดือนมิถุนายน เนื่องจากฤดูการเพาะปลูกของแต่พื้นที่มีการเริ่มต้นที่แตกต่างกันไปตามปัจจัยสภาพแวดล้อม จึงทำให้การจัดงานในแต่ละพื้นที่มีช่วงระยะเวลาที่ไม่เหมือนกัน

นายสุรัตน์ กล่าวว่า ในส่วนของกิจกรรมที่จะจัดขึ้นในงาน ประกอบไปด้วยกิจกรรมหลัก คือ สถานีเรียนรู้ต่างๆ ซึ่งแต่ละสถานีจะมีเนื้อหาที่สอดคล้องกับแต่ละพื้นที่ เช่น ปัญหาด้านการผลิตพืชต่างๆ ได้แก่ การวิเคราะห์ดิน การใช้ปัจจัยการผลิตที่เหมาะสมถูกต้อง การเลือกพันธุ์พืชให้เหมาะสมกับพื้นที่ และข้อมูลปัญหาต่างๆ ที่เกษตรต้องการ โดยองค์ความรู้เหล่านี้ทางศพก.จะเป็นผู้รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล นอกจากนี้ก็จะมีการให้บริการด้านการเกษตรของหน่วยงานต่างๆ มีนิทรรศการทั้งของหน่วยงานราชการ เอกชน สถาบันเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร เป็นข้อมูลองค์ความรู้ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับประเด็นในการถ่ายทอดความรู้ รวมไปถึงมีการสาธิตด้านการเกษตรแบบเห็นของจริง นอกจากนี้ในส่วนของกิจกรรมเสริมของศพก.ที่อยู่ในความดูแลของสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1 จังหวัดชัยนาท ก็ได้จัดให้มีการออกร้านจำหน่ายสินค้าของเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชนต่างๆ เพื่อเป็นการเผยแพร่สินค้าเกษตรให้เป็นที่รับรู้ในวงกว้างต่อไป

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่มีการจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีไปแล้ว ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะมีการสรุปผลการเรียนรู้พร้อมกับกำหนดแผนการดูแลเกษตรกร เพื่อให้ทราบถึงผลการดำเนินงานทั้งของศพก.และเกษตรกรว่าเป็นในทิศทางที่เหมาะสมหรือไม่ อย่างไร ซึ่งคาดว่าการดำเนินงานการจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี (Field Day) น่าจะมีส่วนในการช่วยกระตุ้นให้เกษตรกรมีการวางแผนการผลิตที่ดีมีความเหมาะสม ลดต้นทุนการผลิต และผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพตรงกับความต้องการของตลาด ในฤดูการผลิตใหม่ที่จะมาถึงในปี 2560 นี้ได้เป็นอย่างดี 

จาก http://www.naewna.com วันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ปั้นหมอดินอาสาเป็น‘Smart Farmer’ พัฒนาศักยภาพ-เชื่อมองค์ความรู้สู่เกษตรกรในพื้นที่

นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาที่ดินเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ได้ร่วมขับเคลื่อนภารกิจตามนโยบาย รมว.เกษตรและสหกรณ์ ไม่ว่าด้านการยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร การสร้างศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรกร (ศพก.) 882 ศูนย์ทั่วประเทศ ตลอดจนการสร้างเกษตรกรต้นแบบที่มีองค์ความรู้ สามารถใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ทางการเกษตร ที่ช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต หรือที่เรียกว่า “Smart Farmer” โดยมีการฝึกอบรมความรู้ด้านต่างๆ เกี่ยวกับการพัฒนาที่ดินไปยังหมอดินอาสาประจำหมู่บ้านทั่วประเทศ เพื่อร่วมกันในการยกระดับพัฒนาความรู้ให้เกษตรกร ชุมชนเกษตรกร สร้างพื้นฐานความยั่งยืนให้กับภาคเกษตรกรรมไทยในอนาคต ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการยกระดับรายได้ประชากรไทย และพัฒนาให้ประเทศไทยก้าวไปสู่การเป็นประเทศดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ตามนโยบาย Thailand 4.0 ที่มุ่งเน้นให้เกษตรกรพัฒนาศักยภาพของตนเอง รู้จักนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตและการตลาด มีความพร้อมรับมือสถานการณ์ด้านการเกษตรที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

นายสุรเดชกล่าวอีกว่า หมอดินอาสาถือเป็นผู้ที่ทำคุณประโยชน์ให้กับกรมพัฒนาที่ดินและเกษตรกรที่ประกอบอาชีพการเกษตรในชุมชน เป็นผู้ที่คอยช่วยเหลือให้คำแนะนำเรื่องการดูแลทรัพยากรดิน การปรับปรุงบำรุงดิน การใช้เทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของกรมพัฒนาที่ดิน รวมทั้งให้คำแนะนำแก่เกษตรกรอื่นๆ ในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งปัจจุบันมีหมอดินอาสาครอบคลุมทั่วประเทศ 80,000 กว่าราย

“สำหรับหลักสูตรการฝึกอบรมหมอดินอาสานั้น เป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้แผนที่ข้อมูลกลุ่มชุดดิน ข้อมูลแผนที่ความเหมาะสมของดินกับพืชเศรษฐกิจ ข้อมูลแผนที่การใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อให้รับรู้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน สามารถอธิบายให้

ผู้อื่นเข้าใจได้ตลอดจนมีความสามารถที่จะเป็นวิทยากรบรรยายความรู้และสาธิตงานเกี่ยวกับด้านการพัฒนาที่ดิน ประจำศูนย์เรียนรู้และจุดเรียนรู้ด้านการพัฒนาที่ดิน สร้างจิตสำนึกและปรับทัศนคติแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อประยุกต์ใช้เป็นหลักในการพึ่งตนเอง ของเกษตรกร โดยหมอดินอาสาที่ผ่านการฝึกอบรมจะได้นำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจากการฝึกอบรมไปประยุกต์ใช้กับงานที่รับผิดชอบ สามารถทำหน้าที่เป็นตัวแทนของกรมพัฒนาที่ดิน ได้อย่างมีประสิทธิภาพและสัมฤทธิผล สามารถช่วยเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้ปุ๋ย การปรับปรุงบำรุงดิน การถ่ายทอดข่าวสารด้านการพัฒนาที่ดินและเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ได้ต่อไป” อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

เตือนเกษตรกรอย่าลืมขึ้นทะเบียนหลังเริ่มฤดูการผลิตปี60

เตือนเกษตรกร เริ่มฤดูการผลิตแล้ว อย่าลืมขึ้นทะเบียนเกษตรกร-ปรับปรุงข้อมูลปี 60ให้ถูกต้อง พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรดําเนินการรับขึ้นทะเบียนเกษตรกร (ทบก.) โดยจัดทําฐานข้อมูลเกษตรกรเป็นรายครัวเรือน เพื่อทราบสถานการณ์การผลิตประกอบการวางแผนพัฒนาด้านการเกษตรของประเทศ รวมถึงการให้ความช่วยเหลือเกษตรกร และสนับสนุนการดําเนินงานตามนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล ตลอดจน เป็นฐานข้อมูลสําหรับตรวจสอบการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรในกรณีเกิดภัยพิบัติ โดยจะต้องเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก่อนเกิดภัยพิบัติแล้วเท่านั้น ซึ่งการรับขึ้นทะเบียนเกษตรกรได้ดําเนินการมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากขณะนี้เป็นช่วงเวลาเริ่มฤดูการผลิตใหม่ ปี 60 หากเกษตรกรท่านใดเตรียมวางแผนเพาะปลูกพืชใหม่ หรือปรับเปลี่ยนชนิด พื้นที่ ในการเพาะปลูก ขอได้โปรดปรับปรุงข้อมูลการขึ้นทะเบียนด้วย

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการปรับปรุง/ขึ้นทะเบียนเกษตรกร เกษตรกรรายเดิมเมื่อปลูกพืชแล้วไม่น้อยกว่า 15 วัน ให้มาแจ้งปรับปรุงข้อมูลทะเบียนเกษตรกรกับเจ้าหน้าที่เกษตรตำบล ที่สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้านท่าน แต่ถ้าเป็นเกษตรกรรายใหม่ไม่เคยขึ้นทะเบียนมาก่อน ให้ไปแจ้งขึ้นทะเบียน ณ สำนักงานเกษตรอำเภอที่ตั้งแปลงปลูก เพื่อกรอกคำร้องขอขึ้นทะเบียนเกษตรกรพร้อมแนบสำเนาเอกสารสิทธิ์ที่ดินที่ทำการเกษตร สัญญาเช่าที่ดิน (กรณีเช่า) บัตรประจำตัวประชาชน ยื่นต่อเจ้าหน้าที่เพื่อบันทึกข้อมูลเข้าระบบ หลังจากที่เจ้าหน้าที่เกษตรตำบลรับแจ้งขึ้นทะเบียนแล้ว จะดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลแล้ว จะแจ้งให้เกษตรกรนำสมุดทะเบียนเกษตรกรมาปรับปรุงข้อมูลลงบนสมุดจัดเก็บไว้เพื่อแสดงตัวตน หากเมื่อใดที่รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรจำเป็นต้องมีคณะกรรมการตรวจสอบและรับรองสิทธิ์ภายในชุมชนอีกครั้งหนึ่ง

"อยากขอความร่วมมือจากเกษตรกรแจ้งข้อมูลตามความเป็นจริง เพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ของตนเอง โดยนำเอกสารประกอบการขึ้นทะเบียน/ปรับปรุงไปติดต่อขอรับบริการได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอทั่วประเทศในวันและเวลาราชการ"อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรกล่าว

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 14 พฤษภาคม 2560

เงินบาทอ่อนค่าสุดในรอบ 7 สัปดาห์

“เงินบาทอ่อนค่าสุดในรอบ 7 สัปดาห์ ขณะที่ ดัชนีหุ้นไทยทำสถิติต่ำสุดรอบ 2 เดือน”

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 7 สัปดาห์ที่ 34.82 บาทต่อดอลลาร์ฯ ก่อนฟื้นตัวกลับมาบางส่วนช่วงปลายสัปดาห์ โดยการอ่อนค่าของเงินบาทระหว่างสัปดาห์ สอดคล้องกับทิศทางของเงินเยนและสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ ได้รับแรงหนุนอย่างแข็งแกร่งท่ามกลางกระแสการคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับโอกาสการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในการประชุม FOMC เดือนมิ.ย. นี้ อย่างไรก็ดี เงินบาทดีดตัวกลับมาแข็งค่าขึ้นได้เล็กน้อยในช่วงปลายสัปดาห์ ตามการปรับโพสิชันของนักลงทุน และน่าจะมีแรงขายเงินดอลลาร์ฯ บางส่วนจากฝั่งผู้ส่งออก

สำหรับในวันศุกร์ (12 พ.ค.) เงินบาทอยู่ที่ 34.71 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับ 34.66 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (5 พ.ค.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (15-19 พ.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 34.60-34.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยตลาดในประเทศน่าจะรอจับตาตัวเลขจีดีพีประจำไตรมาส 1/2560 ของไทย ขณะที่ ประเด็นที่น่าสนใจของสหรัฐฯ น่าจะยังคงอยู่ที่ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด และตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัย ผลสำรวจกิจกรรมการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์ก และเฟดสาขาฟิลาเดลเฟียเดือนพ.ค. ข้อมูลการผลิตภาคอุตสาหกรรม การเริ่มสร้างบ้าน และการอนุญาตก่อสร้างเดือนเม.ย. และข้อมูลเงินทุนไหลเข้าสุทธิเดือนมี.ค. นอกจากนี้ ตลาดน่าจะติดตามสถานการณ์การเมืองในสหรัฐฯ ตัวเลขยอดค้าปลีกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีน รวมถึงตัวเลขเงินเฟ้อและจีดีพีของยูโรโซนด้วยเช่นกัน

ดัชนีหุ้นไทยปรับลดลงตามแรงขายของกลุ่มนักลงทุนสถาบัน โดยดัชนี SET ทำสถิติต่ำสุดในรอบ 2 เดือนที่ 1,537.43 ก่อนจะปิดตลาดที่ระดับ 1,543.94 จุด ลดลง 1.60% จากสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้น 30.86% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 46,941.23 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai ปิดที่ 555.73 จุด ลดลง 4.94% จากสัปดาห์ก่อน

ดัชนี SET ลดลงตลอดทั้งสัปดาห์ ท่ามกลางแรงกดดันจากผลประกอบการไตรมาส 1/2560 ของหลายบริษัทจดทะเบียน (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก) ที่ออกมาต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ ประกอบกับมีแรงขายทางเทคนิค และตลาดยังขาดปัจจัยบวกใหม่ๆ มากระตุ้น

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (15-19 พ.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,530 และ 1,515 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,555 และ 1,565 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/2560 ของไทย ปัจจัยการเมืองในสหรัฐฯ และ ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ขณะที่ ข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขตลาดที่อยู่อาศัย ข้อมูลการผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ยอดค้าปลีกของจีน รวมถึงตัวเลขเงินเฟ้อและจีดีพีของยูโรโซน

จาก https://www.matichon.co.th   วันที่ 14 พฤษภาคม 2560

ก.อุตสาหกรรม มอบน้ำตาลทรายร่วมถวายสักการะพระบรมศพ

ก.อุตสาหกรรม มอบน้ำตาลทรายเพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบประกอบอาหารบริการประชาชนที่มาร่วมถวายสักการะพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

วันที่ 11 พฤษภาคม 2560 รัฐบาลโดยสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นำโดยนางสาวนิสากร จึงเจริญธรรม รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และนางสาวทัศนียา ลัธธนันท์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารกลาง สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมนางสาวอุบลวรรณ ทองดง ผู้จัดการฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท มิตรผล จำกัด พร้อมด้วยข้าราชการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบน้ำตาลทราย จำนวน 1,000 กิโลกรัม ให้แก่ พลตรีชวการ คมคาย ที่ปรึกษาเเม่ทัพภาคที่ 1 และพันโทนพพร อธินุวัฒน์ เสนาธิการ (กอร.รส.) คุณสภานุ แก้วประเสริฐ ผู้จัดการศูนย์ประสานงานอาสาสมัคร Volunteers For DAD ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) เพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบประกอบอาหารบริการประชาชนที่มาร่วมถวายสักการะพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

จาก http://www.komchadluek.net วันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

วีนัด สำราญวงศ์ เกษตรกรดีเด่นระดับประเทศ ปี 60 สาขาทำไร่

            นายสมชาย  ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ผลการคัดเลือกเกษตรกรดีเด่นระดับประเทศ ประจำปี 2560 สาขาอาชีพพืชไร่ ได้แก่ นายวีนัด สำราญวงศ์  อยู่บ้านเลขที่ 141 หมู่ที่ 13 บ้านโคกใหม่ ตำบลหินโคน อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ อายุ 49 ปี จบการศึกษาประถมศึกษาปีที่ 4 เดิมทีทำงานก่อสร้างที่ต่างประเทศเป็นเวลา 10 ปี และกลับมาทำนา ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จ แต่ได้เห็นเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ประสบความสำเร็จ จึงเป็นแรงบันดาลใจให้หันมาปลูกอ้อยแทนการทำนา

            เขาเริ่มต้นประกอบอาชีพทำไร่อ้อย จำนวน 8 ไร่ เมื่อปี พ.ศ.2541 แต่การปลูกอ้อยในระยะแรกไม่ประสบความสำเร็จ มีต้นทุนการผลิตสูง เพราะมีการปฏิบัติตามชาวไร่อ้อยทั่วไป ใส่ปุ๋ยเคมี ใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช และเผาอ้อยก่อนตัดส่งโรงงาน ทำให้ไม่สามารถไว้ตอได้นาน จึงมีความคิดที่จะแก้ไขปัญหาในการลดต้นทุนการผลิตและรักษาตออ้อยให้ไว้ตอได้นานหลายปี โดยเริ่มศึกษาเข้าอบรมเพื่อหาความรู้เพิ่มเติมจากเจ้าหน้าที่ของภาครัฐและเอกชน พร้อมน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาทดลอง และปรับใช้ในการทำไร่อ้อย ส่งผลให้มีการไว้ตออ้อยได้ถึง 15 ตอ โดยไม่ต้องปลูกใหม่ ปัจจุบันมีพื้นที่ทำไร่อ้อยทั้งสิ้น 148 ไร่

                  ปัจจุบันนายวีนัด ทำหน้าที่เป็นอาสาสมัครเกษตรของกรมส่งเสริมการเกษตรและยังเป็นผู้แทนเกษตรกรร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร ในการทำแปลงวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (ประชารัฐ) โดยใช้พันธุ์อ้อยจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ และเป็นแปลงขยายอ้อยพันธุ์สะอาดปลอดโรคใบขาว เป็นวิทยากรและแหล่งเรียนรู้ศึกษาดูงาน ให้ความรู้เรื่องการทำไร่อ้อยอย่างยั่งยืนของสถาบันการศึกษา หน่วยงานราชการ โรงงานน้ำตาลต่างๆ และเกษตรกรชาวไร่อ้อย นอกจากนี้ยังเป็นเกษตรกรต้นแบบชาวไร่อ้อยที่มีการบริหารจัดการไร่อ้อยที่มีความปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถทำให้เกษตรกรรายอื่นนำไปปฏิบัติได้โดยง่าย ไม่ต้องลงทุนสูง และได้ผลตอบแทน คุ้มค่า

            นอกจากนี้ยังช่วยเหลือชุมชนอย่างสม่ำเสมอ มอบทุนอาหารกลางวันให้กับโรงเรียนในพื้นที่เป็นประจำทุกปี และมีความพอเพียงแบ่งพื้นที่การเกษตรให้เพื่อนบ้านดำเนินการปลูกอ้อยเป็นของตนเอง โดยไม่เก็บค่าเช่าเพื่อให้ไม่ต้องออกไปขายแรงงานต่างจังหวัด ทำให้ครอบครัวอยู่กันพร้อมหน้า เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันครอบครัวและชุมชน ด้วยเหตุนี้ นายวีนัด จึงได้รับรางวัลเกษตรกรดีเด่นระดับประเทศ ประจำปี 2560 สาขาอาชีพทำไร่ เพื่อเป็นขวัญ กำลังใจในการพัฒนาอาชีพการเกษตรของไทยต่อไป

จาก http://www.komchadluek.net วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

บริหารจัดการน้ำแนวใหม่ ห้องไลน์กลายเป็นศูนย์กลางการมีส่วนร่วม

                บ่อยครั้งที่เทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือหรือสมาร์ทโฟน ถูกมองทางลบว่า ทำให้เกิดปรากฏการณ์สังคมก้มหน้า ไม่สนใจใยดีคนรอบข้าง แต่ด้านบวก นอกจากอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันแล้ว ยังสามารถใช้ในการบริหารจัดการน้ำของเกษตรกรได้ด้วย

                โดยเฉพาะแอพพลิเคชั่น ไลน์ ที่จัดตั้งเป็นห้องสนทนาระหว่างผู้เกี่ยวข้อง ตั้งแต่เกษตรกร กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฝ่ายปกครองและตัวแทนกรมชลประทานในระดับพื้นที่ สามารถส่ง-แลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับน้ำได้อย่างรวดเร็ว ทันการณ์ ทันเวลาสำหรับการบริหารจัดการน้ำเป็นอย่างยิ่ง และเกิดประโยชน์ต่อคนหมู่มาก

                นายพรชัย พ้นชั่ว ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาประแสร์ สำนักงานชลประทานที่ 9 กรมชลประทาน กล่าวว่า ในอดีตการส่งน้ำในช่วงฤดูแล้ง (มกราคม-พฤษภาคม) มักมีปัญหาน้ำไปไม่ถึงจุดหมายปลายทางที่ต้องการ เพราะมีการแย่งน้ำกัน  เกษตรกรปลายทางไม่ได้รับน้ำก็ร้องเรียนมา ตนจึงลงสำรวจพื้นที่พร้อมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อหาข้อมูลคลายข้อสงสัย ซึ่งพบเกษตรกรใช้กระสอบทรายกักน้ำเป็นระยะๆ เพื่อให้น้ำไหลเข้าสระของตัวเองหรือสูบน้ำขึ้นไป

                “ผมลงไปคุยกับชาวบ้าน ขอร้องให้เขารื้อกระสอบทรายออก ไม่เช่นนั้นน้ำไปไม่ถึงปลายทาง บอกกับเขาว่าถ้ามีปัญหาน้ำก็ขอให้แจ้งจะจัดการให้ทันที  ผมใช้วิธีการให้เบอร์โทรศัพท์มือถือแลกกัน เดินสำรวจตลอดคลองนับสิบกิโลเมตร  เจรจาขอร้องกับทุกกลุ่ม  สุดท้ายทุกคนยอมรื้อกระสอบทรายออก หรือเปิดช่องให้น้ำผ่านลงไปด้านล่างได้  เพียงแค่ 2 วันน้ำก็ถึงปลายคลอง นับแต่นั้นมาไม่มีปัญหาจากการกั้นกระสอบทรายเลย เพราะต้องการน้ำก็โทรมาได้  ผมพร้อมสูบน้ำให้ตลอด 24 ชั่วโมง”

                อ่างเก็บน้ำประแสร์ อ.วังจันทร์ มีความจุอ่างเก็บน้ำ 295 ล้านลูกบาศก์เมตร นอกจากส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตรในโครงการฯ ทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวารวมกว่า 175,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ อ.วังจันทร์ อ.เขาชะเมาและ อ.แกลง แล้ว ยังส่งน้ำเพื่ออุตสาหกรรมและอุปโภคบริโภคไปให้ทั้งอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ ส่งต่อไปยังอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล นิคมอุตสาหกรรมาบตาพุด พัทยา และชลบุรี

                จากโทรศัพท์มือถือได้พัฒนามาใช้แอพพลิเคชั่นไลน์ จัดตั้งห้องไลน์ให้ทุกคนสามารถสนทนาแจ้งข้อมูลน้ำได้ตลอดเวลา จากเริ่มต้นสมาชิกไม่กี่คน ขณะนี้มีมากร่วม 100 คน และจากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และสมาชิกในกลุ่มยังคงเชิญเกษตรกรผู้ใช้น้ำที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกลุ่มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

                “ขาดน้ำเขาแจ้งมา  เราก็ส่งไป บางทีน้ำก็ล้นความต้องการ ผมก็ขอให้เขาแจ้งกลับมาด้วยว่า ได้รับน้ำเพียงพอแล้ว  เราจะได้หยุดส่ง เกษตรกรก็ให้ความร่วมมือ เพราะตระหนักดีว่าควรประหยัดน้ำ ตอนนี้ห้องไลน์เลยกลายเป็นศูนย์กลางการมีส่วนร่วมไปในตัว มีการแจ้งข่าวสารข้อมูลจากทุกฝ่าย ไม่ใช่จากกรมชลประทานฝ่ายเดียว แต่จากเกษตรกรผู้ใช้น้ำด้วย ฝ่ายปกครองอย่างนายอำเภอ หรือ อปท. อย่างนายก อบต. หรือกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ล้วนร่วมรับรู้ข้อมูลสภาพปัญหาด้วยกัน  ทำให้การบริหารจัดการน้ำโครงการฯ ประแสร์ราบรื่น” นายพรชัยกล่าว

                นายพรชัยกล่าวว่า  ลำพังการส่งน้ำโดยอาศัยเจ้าหน้าที่ชลประทานเพียงอย่างเดียวก็ไม่ทั่วถึง ยังต้องอาศัยทั้งเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และกลุ่มผู้ใช้น้ำ ซึ่งเมื่อมีห้องไลน์ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาก็แจ้งตารางการส่งน้ำให้ทราบเป็นการล่วงหน้า

                “ถึงเวลาเขาก็เปิดปิดวาล์วจุดจ่ายน้ำเอง บริหารจัดการน้ำกันเอง ชลประทานเสมือนเป็นตัวเสริมในแง่จัดการส่งน้ำให้ ห้องไลน์จึงมีทั้งข้อมูล ทั้งภาพแสดงการขาดน้ำ การได้รับน้ำแล้ว การแจ้งให้หยุดจ่ายน้ำเพื่อประหยัดน้ำ  ทำให้เกษตรกรมีความเข้าใจ  ไม่แย่งชิงน้ำเหมือนแต่ก่อน เพราะเข้าใจถึงหัวอกของคนใช้น้ำด้วยกัน”

                นายสุจินต์ หลิ่มโตประเสริฐ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กรมชลประทานกล่าวว่า  การมีส่วนร่วมของเกษตรกรในโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาประแสร์ ส่วนที่สำคัญคือการยึดแนวทางเข้าถึง เข้าใจ และพัฒนา ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่า ผู้บริหารโครงการต้องลงไปพบปะเกษตรกรผู้ใช้น้ำตลอดเวลา เพื่อรับทราบสภาพปัญหา และแก้ไข  อีกทั้ง ยังใช้เทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่ เช่น ห้องไลน์สำหรับสื่อสารสนทนาจากหลายฝ่าย ทำให้ทุกคนได้รับรู้สภาพน้ำร่วมกันทั้งหมด และเกษตรกรผู้ใช้น้ำมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำอย่างมาก

จาก http://www.naewna.com วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ผลผลิตน้ำตาลทะลัก 100 ล้านกระสอบ ชาวไร่แห่เพิ่มพื้นที่ปลูก

นายสิริวุทธิ์  เสียมภักดี  ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ของ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า หลังจากโรงงานน้ำตาลทรายทั้ง 54 แห่ง ได้เริ่มรับผลิตอ้อยเข้าหีบประจำปีการผลิต 2559/60 เมื่อเดือน ธ.ค.2559 ล่าสุด ได้ปิดหีบอ้อยเมื่อวันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมาคิดเป็นเวลาหีบอ้อย 149 วัน พบว่ามีปริมาณอ้อยเข้าหีบ 92.95 ล้านตันอ้อย ลดลงจากปีก่อนที่มีอ้อยเข้าหีบ 94.05 ล้านตันอ้อย ปริมาณการผลิตน้ำตาลปีนี้ ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีกว่าปีก่อนสามารถผลิตน้ำตาลรวม 10.03 ล้านตัน คิดเป็น 100.3 ล้านกระสอบ(100 กิโลกรัม(กก.) ต่อกระสอบ) เพิ่มขึ้น 2.44 ล้านกระสอบ เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาที่ผลิตได้ 97.86 ล้านกระสอบ

ปัจจัยที่มีผลทำให้ฤดูการผลิตปี 2559/60 ผลิตน้ำตาลได้ปริมาณเพิ่มขึ้น มาจากคุณภาพผลผลิตอ้อยเข้าหีบอยู่ในเกณฑ์ที่ดี มาจากสภาพอากาศเย็นและฝนตกในช่างเก็บเกี่ยว ทำให้ค่าความหวานอ้อยปีนี้อยู่ที่ 12.27 ซีซีเอส และโรงงานน้ำตาลทุกโรงได้เพิ่มประสิทธิภาพการหีบอ้อยเพื่อสกัดน้ำตาล ทำให้ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย(ยิลด์) เพิ่มขึ้นเป็น 107.9 กก.ต่อตันอ้อย จากปีก่อนที่มียิลด์ 104.05 กก.ต่อตันอ้อย ส่วนผลผลิตกากน้ำตาล(โมลาส) ปีนี้อยู่ที่ 3.86 ล้านตัน ลดลง 0.47 จากปีก่อนหน้า

สำหรับการเพาะปลูกอ้อยปีการผลิต 2560/61 ที่จะเริ่มในเดือน พ.ย.นี้ เชื่อว่าจะดีกว่าปีการผลิต 2559/60 เนื่องจากเริ่มีฝนตกในพื้นที่ปลูกอ้อย และชาวไร่หลายรายเตรียมพื้นที่เพาะปลูกและลงตออ้อยใหม่เพื่อหวังผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น บางรายขยายพื้นที่เพาะปลูก เนื่องจากยังมองแนวโน้มราคาน้ำตาลโลกที่อยู่ในเกณฑ์ที่ดี คาดว่าปริมาณอ้อยเข้าหีบจะดีกว่าปีนี้

จาก http://www.thairath.co.th วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 

อุตฯขอ5,900ล้าน ดันเศรษฐกิจปี'61 

 อุตสาหกรรมชงของบประจำปี 2561 รวม 5,900 ล้าน สนับ สนุน ยุทธศาสตร์ชาติ อีอีซี เอสเอ็มอี

          นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้เสนอของบประมาณ ประจำปี 2561 จำนวน 5,901 ล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณ 2560 ราว 1% หรือ 21 ล้านบาท ส่วนใหญ่จะใช้ในการดำเนินงานตามนโยบายสำคัญของรัฐบาล 47% จำนวน 2,770 ล้านบาท เพื่อตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

          สำหรับแผนงานในปี 2561 ตามนโยบายรัฐบาลของกระทรวงอุตสาหกรรม มี 5 เรื่องหลัก ได้แก่ ศูนย์ทดสอบ ยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ วงเงินในการพัฒนา 625 ล้านบาท โครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก 122 ล้านบาท การพัฒนาอุตสาหกรรมศักยภาพ 660 ล้านบาท การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ 286 ล้านบาท และเอสเอ็มอี 567 ล้านบาท

          นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการเสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายใน 286 ล้านบาท ตลอดจนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและชุมชน เข้มแข็ง 104 ล้านบาท ผ่านการพัฒนามาตรฐานสินค้าชุมชน วิสาหกิจชุมชน อุตสาหกรรมชุมชน หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ รวมถึงงบประมาณที่ลงจังหวัด การพัฒนาโลจิสติกส์อุตสาหกรรม 53 ล้านบาท การบริหารจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม 46 ล้านบาท และอื่นๆ อีก 21 ล้านบาท

          "ในการผลักดัน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศในปีหน้าจะ เข้มข้นขึ้น โดยกระทรวงจะเข้าไป ส่งเสริมใน 7 สาขา ได้แก่ ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ แปรรูปอาหาร หุ่นยนต์ เชื้อเพลิงชีวภาพ และเคมีชีวภาพ ดิจิทัล และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร ส่วนที่เหลือ เช่น การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและเชิงสุขภาพ เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และการบินและโลจิสติกส์ จะเป็นความรับผิดชอบของกระทรวงอื่นที่เกี่ยวข้อง" นายสมชาย กล่าว

          ทั้งนี้ คาดว่าคณะกรรมาธิการฯ จะไม่ตัดลดงบประมาณที่เสนอขอไปอีก เพราะงานหลักของกระทรวงอุตสาหกรรมในขณะนี้ล้วนเป็นยุทธศาสตร์ของ การพัฒนาประเทศ มีส่วนในการสร้างรายได้แก่ประชาชนรวมทั้งดึงการลงทุนใหม่ๆ เข้ามา ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวตามเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้ได้

จาก http://www.posttoday.com วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 

สภาเกษตรกร จ.สระแก้ว ติดตั้งระบบศูนย์ข้อมูลสารสนเทศทรัพยากรน้ำจังหวัดแรกในไทย

นายณรงค์รัตน์ ม่วงประเสริฐ หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดสระแก้ว เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 4 พ.ค.2560 สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาตินำทีมเทคนิคจากสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(สสนก.) เข้าทำการติดตั้งระบบศูนย์บริหารจัดการน้ำระดับจังหวัด และอบรมการใช้ข้อมูลเพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ ณ สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดสระแก้ว

โดยผู้เข้าร่วมอบรมประกอบด้วยผู้แทนจากสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ผู้แทนจากสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดสระแก้ว ผู้แทนจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดสระแก้ว นอกจากนี้ยังมีผู้แทนเครือข่ายลุ่มน้ำปราจีนบุรีมาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการบริหารจัดการน้ำกับผู้เข้าร่วมอบรมในครั้งนี้ด้วย ซึ่งการติดตั้งระบบศูนย์ข้อมูลสารสนเทศทรัพยากรน้ำนี้จะทำให้ทราบข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับพยากรณ์อากาศ,สถานการณ์น้ำ,น้ำฝน ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเกษตร การเพาะปลูกพืชทุกชนิด การคาดการณ์ว่าน้ำ,ฝนจะมาเมื่อไหร่แล้วแจ้งให้เกษตรกรทราบว่าควรทำหรือเตรียมการอย่างไร เช่น ช่วงฤดูฝนอาจจะมีปัญหาเรื่องน้ำท่วมก็สามารถเตือนเกษตรกรได้ ฤดูแล้งก็สามารถแจ้งเตือนภัยแล้งและเตรียมการรับมือล่วงหน้าจากประเด็นคาดการณ์พยากรณ์อุตุนิยมวิทยาได้

ทั้งนี้ ประโยชน์ของศูนย์ข้อมูลฯยังจะใช้เพื่อการวางแผนทางการเกษตร โดยศูนย์ข้อมูลฯจะจัดทำผังน้ำซึ่งจะทำให้รู้ทิศทางของน้ำว่าไหลไปทางไหน น้ำมีปริมาณเพียงพอต่อภาคเกษตรในจังหวัดหรือไม่ ในจังหวัดสระแก้วมีเครือข่ายเกษตรกรระดับหมู่บ้าน 731 หมู่บ้าน ตอนนี้อาจจะยังกระจายข้อมูลไปได้ไม่สมบูรณ์เต็ม 100 % แต่จะขับเคลื่อนให้ครบได้ในไม่ช้า

เบื้องต้นจะทำการรายงานผ่านไลน์กลุ่ม ซึ่งปีนี้ตั้งเป้าไว้ 100 คนที่จะทราบข้อมูลสถานการณ์น้ำ ความเคลื่อนไหว การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ส่วนในฤดูฝนจะมีรายงานทุกวัน และในเดือนมิถุนายน 2560 สภาเกษตรกรจังหวัดสระแก้วจะส่งทีมงาน,เกษตรกร,เครือข่ายเกษตรกรเข้ารับการฝึกอบรมเพิ่มเติมระบบโปรแกรม GIS (Geographic Information System) หรือระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์   เพื่อการป้อนข้อมูลเข้าสู่ระบบใช้วางแผนเกษตรกรรมในระยะยาว คาดว่าภายในเดือนกันยายนทุกอย่างน่าจะลงตัวหมด ปีงบประมาณหน้าจะเป็นการขับเคลื่อนอย่างเต็มประสิทธิภาพ และหวังจะให้เกษตรกรได้รับประโยชน์จากการใช้ข้อมูลจากศูนย์ฯและสะท้อนสิ่งต่างๆกลับมายังศูนย์ฯเพื่อพัฒนาต่อไปในอนาคต

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

54 โรงงานน้ำตาลปิดหีบแล้ว! พบอ้อยวูบเหลือแค่ 92.95 ล้านตัน แต่น้ำตาลดีขึ้น  

         โรงงานน้ำตาลทรายทั้ง 54 โรง ประกาศปิดหีบอ้อยประจำฤดูการผลิตปี 59/60 เผยภาพรวมผลผลิตอ้อยเข้าหีบลดลงเหลือ 92.95 ล้านตันอ้อย แต่ผลิตน้ำตาลได้มากขึ้นเป็น 10.03 ล้านตัน หลังปัจจัยบวกช่วยหนุนทั้งความร่วมมือของชาวไร่ที่จัดส่งอ้อยสดให้แก่โรงงาน สภาพอากาศที่เย็นช่วยเพิ่มค่าความหวาน ทำให้คุณภาพอ้อยปีนี้ดีขึ้น แถมโรงงานน้ำตาลเพิ่มประสิทธิภาพการหีบสกัดน้ำตาล

                นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ของ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า หลังจากโรงงานน้ำตาลทรายทั้ง 54 โรง ได้ประกาศเริ่มรับผลิตอ้อยเข้าหีบประจำฤดูการผลิตปี 2559/60 เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2559 ล่าสุด โรงงานน้ำตาลได้ประกาศปิดหีบอ้อยเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา โดยคิดเป็นระยะเวลาการหีบอ้อยรวม 149 วัน ซึ่งพบว่า มีปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งสิ้น 92.95 ล้านตันอ้อย ลดลงจากปีก่อนที่มีปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งสิ้น 94.05 ล้านตันอ้อย อย่างไรก็ตาม ปริมาณการผลิตน้ำตาลทรายในปีนี้ ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีกว่าปีก่อน โดยสามารถผลิตน้ำตาลรวมทั้งสิ้น 10.03 ล้านตัน หรือคิดเป็น 100.3 ล้านกระสอบ (100 กก./กระสอบ) เพิ่มขึ้น 2.44 ล้านกระสอบ เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาที่ผลิตน้ำตาลได้ 97.86 ล้านกระสอบ      

        สำหรับปัจจัยที่มีผลทำให้ฤดูการผลิตปี 2559/60 สามารถผลิตน้ำตาลได้ปริมาณเพิ่มขึ้นนั้น มาจากคุณภาพผลผลิตอ้อยเข้าหีบปีนี้อยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยมีปัจจัยมาจากสภาพอากาศเย็นและแห้งในช่วงเก็บเกี่ยว ทำให้ค่าความหวานในอ้อยปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 12.27 ซี.ซี.เอส. ขณะเดียวกัน โรงงานน้ำตาลทุกโรงได้เพิ่มประสิทธิภาพการหีบอ้อย เพื่อสกัดน้ำตาลให้ได้ปริมาณสูงสุด จึงทำให้ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) เพิ่มขึ้นเป็น 107.9 กิโลกรัมต่อตันอ้อย จากปีก่อนที่มียิดล์อยู่ที่ 104.05 กิโลกรัมต่อตันอ้อย หรือเพิ่มขึ้น 3.85 กิโลกรัมต่อตันอ้อย แม้ว่าสัดส่วนปริมาณอ้อยไฟไหม้ลดลงเพียงเล็กน้อยอยู่ที่ 64.17% ของปริมาณอ้อยเข้าหีบในปีนี้ เทียบกับจำนวน 64.78% ในปีก่อนหน้า ส่วนปริมาณผลิตกากน้ำตาล (โมลาส) ในปีนี้อยู่ที่ 3.86 ล้านตัน ลดลง 0.47 ล้านตัน จากปีก่อนก่อนหน้า      

        “ปีนี้ถือเป็นปีที่ดีของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทย โดยเชื่อว่าทุกฝ่ายทั้งชาวไร่และโรงงานต่างพึงพอใจกับภาพรวมการผลิตที่ได้ปริมาณน้ำตาลทรายที่มากขึ้น และฝ่ายโรงงานได้เพิ่มประสิทธิภาพการหีบอ้อยและการบริหารรถอ้อยเข้าคิวได้ดีขึ้น จึงทำให้หีบสกัดอ้อยน้ำตาลที่มากขึ้น ทำให้ชาวไร่มีรายได้และผลตอบแทนจากการเพาะปลูกจากช่วงราคาน้ำตาลในตลาดโลกอยู่ในเกณฑ์ที่ดีอีกด้วย” นายสิริวุทธิ์ กล่าว

               ส่วนการประเมินภาพรวมการเพาะปลูกอ้อยประจำฤดูการผลิตปี 60/61 เชื่อว่า จะดีกว่ารอบการผลิตของปี 59/60 เนื่องจากเริ่มมีฝนตกในพื้นที่ปลูกอ้อย ขณะเดียวกัน พบว่า ชาวไร่อ้อยหลายรายเตรียมพื้นที่เพาะปลูกและลงตออ้อยใหม่ เพื่อหวังผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ชาวไร่บางรายได้ขยายพื้นที่เพาะปลูก เนื่องจากยังมองแนวโน้มราคาน้ำตาลโลกที่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยคาดว่าปริมาณอ้อยเข้าหีบในฤดูการผลิตปี 60/61 น่าจะดีกว่าปีนี้

 จาก http://manager.co.th  วันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ปิดหีบอ้อยวูบแต่น้ำตาลดีขึ้น

                    โรงงานน้ำตาลทรายทั้ง 54 โรง ประกาศปิดหีบ ภาพรวมผลผลิตอ้อยเข้าหีบลดลงเหลือ 92.95 ล้านตันอ้อย แต่ผลิตน้ำตาลได้มากขึ้นเป็น 10.03 ล้านตัน หลังปัจจัยบวกช่วยหนุน ทั้งความร่วมมือของชาวไร่ อากาศเย็นช่วย เพิ่มค่าความหวาน             

                       นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ของ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยภายหลังโรงงานน้ำตาลทรายทั้ง 54 โรง ได้ประกาศเริ่มรับผลิตอ้อยเข้าหีบประจำฤดูการผลิตปี 59/60 เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.ที่ผ่านมาว่า ล่าสุดโรงงานน้ำตาลได้ประกาศปิดหีบอ้อยเมื่อวันที่ 3 พ.ค. 60 คิดเป็นเวลาการหีบอ้อยรวม 149 วัน พบว่า มีปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งสิ้น 92.95 ล้านตันอ้อย ลดลงจากปีก่อนที่มีปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งสิ้น 94.05 ล้านตันอ้อย แต่ปริมาณการผลิตน้ำตาลทรายในปีนี้ ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีกว่าปีก่อน โดยสามารถผลิตน้ำตาลรวมทั้งสิ้น 10.03 ล้านตัน หรือคิดเป็น 100.3 ล้านกระสอบ (100 กก./กระสอบ) เพิ่มขึ้น 2.44 ล้านกระสอบ เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาที่ผลิตน้ำตาลได้ 97.86 ล้านกระสอบ เนื่องจากคุณภาพผลผลิตอ้อยเข้าหีบปีนี้อยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยมีปัจจัยมาจากสภาพอากาศเย็นและแห้งในช่วงเก็บเกี่ยว ทำให้ค่าความหวานในอ้อยปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 12.27 ซี.ซี.เอส.

นอกจากนี้โรงงานน้ำตาลทุกโรงได้เพิ่มประสิทธิภาพการหีบอ้อย เพื่อสกัดน้ำตาลให้ได้ปริมาณสูงสุด จึงทำให้ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) เพิ่มขึ้นเป็น 107.9 กิโลกรัมต่อตันอ้อย จากปีก่อนที่มียิดล์อยู่ที่ 104.05 กิโลกรัมต่อตันอ้อย หรือเพิ่มขึ้น 3.85 กิโลกรัมต่อตันอ้อย แม้ว่าสัดส่วนปริมาณอ้อยไฟไหม้ลดลงเพียงเล็กน้อยอยู่ที่ 64.17% ของปริมาณอ้อยเข้าหีบในปีนี้ เทียบกับจำนวน 64.78% ในปีก่อนหน้า ส่วนปริมาณผลิตกากน้ำตาล (โมลาส) ในปีนี้อยู่ที่ 3.86 ล้านตัน ลดลง 0.47 ล้านตัน จากปีก่อนก่อนหน้า

     “ปีนี้ถือเป็นปีที่ดีของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทย โดยเชื่อว่าทุกฝ่ายทั้งชาวไร่และโรงงานต่างพึงพอใจกับภาพรวมการผลิตที่ได้ปริมาณน้ำตาลทรายที่มากขึ้น และฝ่ายโรงงานได้เพิ่มประสิทธิภาพการหีบอ้อยและการบริหารรถอ้อยเข้าคิวได้ดีขึ้น จึงทำให้หีบสกัดอ้อยน้ำตาลที่มากขึ้น ทำให้ชาวไร่มีรายได้และผลตอบแทนจากการเพาะปลูกจากช่วงราคาน้ำตาลในตลาดโลกอยู่ในเกณฑ์ที่ดีอีกด้วย”

จาก https://www.dailynews.co.th   วันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

รายงานพิเศษ : โครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล เส้นทางสู่ความมั่งคั่ง...พลิกชีวิตคนอีสาน

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ ภาคอีสาน เป็นภูมิภาคที่มีพื้นที่การเกษตรมากที่สุดของประเทศ คือ 69.91 ล้านไร่ แต่มีพื้นที่ชลประทานน้อยที่สุดเพียง 8.06 ล้านไร่ หรือ ร้อยละ 11.53 ของพื้นที่การเกษตรเท่านั้น พื้นที่ส่วนใหญ่อีกกว่า 60 ล้านไร่ ยังต้องอาศัยน้ำฝนทำให้ขาดความมั่นคงในเรื่องน้ำ อีกทั้งในฤดูฝนก็ประสบปัญหาน้ำท่วม และในฤดูแล้งก็ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำซ้ำซาก เกิดขึ้นเป็นประจำเกือบทุกปี

จึงไม่แปลกเลยที่ทำให้มีผลผลิตข้าวนาปีเฉลี่ยของภูมิภาคนี้ ค่อนข้างต่ำเพียงประมาณ 360 กิโลกรัมต่อไร่เท่านั้น ในขณะที่พื้นที่ชลประทานในภูมิภาคอื่นๆ โดยเฉพาะกลางมีผลผลิตข้าวเฉลี่ยสูงถึง 1,000 กก.ต่อไร่ดังนั้นเกษตรกรในภาคอีสานจึงมีรายได้เฉลี่ยค่อนข้างต่ำเพียง 87,486 บาท/ครัวเรือน/ปี ต่ำกว่าเกษตรกรภูมิภาคอื่นๆที่มีรายได้เฉลี่ยประมาณ 148,437 บาท/ครัวเรือน/ปี และประชากรในภาคอีสานจึงมีคนยากจนมากที่สุดถึง 1.93 ล้านคน อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากปริมาณน้ำฝนที่ตกในภาคอีสานนั้นไม่น่าจะแห้งแล้งเพราะมีฝนตกเฉลี่ยไม่แตกต่างจากภูมิภาคอื่นๆเลยคือ ประมาณ 1,300 มิลลิเมตร(มม.)/ปี แต่ด้วยลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบสูง ทำให้มีพื้นที่ที่เหมาะสมในการสร้างอ่างเก็บน้ำน้อย พื้นที่ที่เหมาะสมจะอยู่บริเวณต้นน้ำด้านทิศตะวันตกกลับมีฝนตกน้อย และยังประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงค่อนข้างนานอีกด้วย ในขณะที่ด้านทิศตะวันออกติดกับแม่น้ำโขงเป็นที่ราบลุ่มกลับมีฝนตกชุก แต่กลับมีพื้นที่ที่เหมาะสมในการสร้างอ่างเก็บน้ำน้อยมาก จึงทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วม

ความไม่สมดุลของการกระจายตัวของฝนและลักษณะภูมิประเทศ มีส่วนสำคัญที่ทำให้ภาคอีสานแห้งแล้ง ขาดแคลนน้ำ นอกจากนี้พื้นที่ป่าของภาคอีสานที่มีค่อนข้างน้อย ทำให้ปริมาณน้ำที่ซึมซับอยู่ใต้ดินก็มีน้อยอีกด้วย

ส่วนข้อดีของภาคอีสานนั้นคือ มีศักยภาพด้านทรัพยากรมนุษย์ค่อนข้างพร้อม คือ มีประชากรมากถึงร้อยละ 33 ของประเทศ และ

 ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร มีแรงงานภาคเกษตร ร้อยละ 50 ของประเทศ นอกจากนี้ยังมีทรัพยากรดิน คือ มีพื้นที่ถือครองการเกษตรมากถึงร้อยละ 43 ของประเทศ ดังนั้น หากสามารถแก้ไขปัญหาเรื่อง “น้ำ” ก็จะเพิ่มพื้นที่ชลประทานในภาคอีสานได้ ความมั่นคงในอาชีพการเกษตร ฐานะทางด้านเศรษฐกิจของเกษตรกรจะเกิดขึ้นทันที เพราะจะทำให้เกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์จากที่ดินได้เต็มศักยภาพจากปัจจุบันที่ใช้ที่ดินทำการเกษตรได้เฉพาะในช่วงฤดูฝน 4-5 เดือนเท่านั้น และยังมีความเสี่ยงที่จะได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมอีกด้วย

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์หาแนวทางสร้างความมั่นคงน้ำภาคการผลิตให้เพียงพอกับความต้องการในทุกพื้นที่ การแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำให้กับภาคอีสานนั้นว่า มีแนวทางการพัฒนาแหล่งน้ำโดยการพิจารณานำน้ำก่อนไหลลงแม่น้ำโขงมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่ง พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบนโยบายให้กรมชลประทานพัฒนาแหล่งเก็บน้ำขนาดเล็ก เช่น แก้มลิง ฝาย และประตูระบายน้ำ เพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุดก่อนที่จะไหลลงแม่น้ำโขงซึ่งเป็นแม่น้ำนานาชาติ ทั้งนี้ รัฐบาลได้อนุมัติและดำเนินการก่อสร้างแก้มลิง จำนวน 30 แห่ง ใน 5 จังหวัดในลุ่มน้ำโขง-อีสาน เสร็จเรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ตาม เพื่อสร้างความมั่นคงและเป็นการหาแนวทางแก้ไขปัญหาในระยะยาว มีโครงการที่สำคัญๆและมีความเป็นไปได้ในทางวิศวกรรม ได้แก่ โครงการบริหารจัดการน้ำโขง-เลย-ชี-มูล โดยแรงโน้มถ่วง เป็นการผสมผสานแนวคิดเดิมและเสนอแนวคิดใหม่ในการที่จะแก้ไขปัญหาน้ำให้เป็นระบบ โดยใช้หลักการพัฒนาแบบองค์รวมเชื่อมโยงกันระหว่างโครงการที่พัฒนาแล้วกับโครงการที่จะเกิดขึ้นใหม่ เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาแบบเบ็ดเสร็จรวบยอดเกิดประโยชน์ครอบคลุมทั้งภาคอีสาน ซึ่งจะทำให้ประชาชนอยู่ดีมีสุขกันถ้วนหน้าจากการมีน้ำใช้หล่อเลี้ยงชีวิตให้อุดมสมบูรณ์และมีโอกาส มีทางเลือกหลากหลายในการประกอบอาชีพและการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขสมบูรณ์

สำหรับการดำเนิน โครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วงนั้น หากจะพัฒนาให้เต็มศักยภาพก็จะมีการสร้างอุโมงค์ส่งน้ำจำนวน 17 แถว คลองส่งน้ำ สายหลัก 6 สาย ระยะทางรวม 2,084 กม. ซึ่งจะทำให้พื้นที่รับประโยชน์ครอบคลุมถึง 20 จังหวัด 281 อำเภอ สามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทานได้ 33.50 ล้านไร่ โดยแบ่งเป็นพื้นที่ส่งน้ำด้วยแรงโน้มถ่วง 21.78 ล้านไร่ และพื้นที่ส่งน้ำด้วยระบบสูบน้ำอีก 11.72 ล้านไร่ ปริมาณน้ำที่จะส่งในฤดูฝนประมาณ 22,274 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) และในฤดูแล้งประมาณ 10,260 ล้าน ลบ.ม.

อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินงานนั้น จะดำเนินการพัฒนาโครงการในระยะที่ 1 ก่อน โดยจะสร้างอุโมงค์ส่งน้ำจำนวน 1 แถว คลองส่งน้ำสายหลัก 2 สาย ระยะทางรวม 244 กม. เมื่อแล้วเสร็จจะมีพื้นที่รับประโยชน์ 6 จังหวัด 22 อำเภอ สามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทานได้ 1.69 ล้านไร่โดยแบ่งเป็นส่งน้ำด้วยแรงโน้มถ่วง 0.94 ล้านไร่ และส่งน้ำด้วยระบบสูบน้ำ0.75 ล้านไร่ ปริมาณน้ำส่งในฤดูฝน 1,669 ล้าน ลบ.ม. และปริมาณน้ำส่งในฤดูแล้ง 1,259 ล้าน ลบ.ม.

รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าวด้วยว่า โครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล เป็นโครงการที่ใช้ประโยชน์จากสภาพภูมิประเทศบริเวณปากแม่น้ำเลย อ.เชียงคาน จ.เลย โดยจะทำการปรับปรุงปากแม่น้ำเลย ขุดคลองชักน้ำ และขุดเจาะปากทางเข้าอุโมงค์ส่งน้ำ พร้อมก่อสร้างอาคารชลประทานพร้อมระบบกระจายน้ำ เพื่อกระจายน้ำให้กับพื้นที่ต่างๆ และนำส่วนที่เหลือน้ำไปเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนต่างๆ เช่น เขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น เขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ เขื่อนห้วยหลวงจังหวัดอุดรธานี

นอกจากนี้ผลศึกษายังได้เสนอให้มีการสร้างประตูระบายน้ำเพื่อยกระดับน้ำให้ไหลๆไปตามลำน้ำเลยเป็นระยะทาง 49 กิโลเมตร ซึ่งจะสามารถเก็บกักตามลำน้ำได้ประมาณ 16 ล้าน ลบ.ม. และเพื่อให้พื้นที่สองฝั่งลำน้ำเลยมีการนำน้ำไปใช้ประโยชน์อย่างเต็มศักยภาพ ยังเสนอให้มีการพัฒนาระบบชลประทานด้วยการสูบน้ำ ซึ่งจะสามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่การเกษตรได้อีกประมาณ 66,905 ไร่ ครอบคลุมตั้งแต่บริเวณบ้านธาตุอ.เชียงคาน ขึ้นไปจนถึงตัวอำเภอเมืองเลยด้วย

ผลจากการพัฒนาตามโครงการนี้ จะทำให้อีสานมีคลองชลประทานขนาดใหญ่เพิ่มอีกหกสายที่วางตัวอยู่บนขอบเนินที่สูง มีน้ำไหลตลอดปี และเป็นการฟื้นชีวิตลำน้ำธรรมชาติเกือบทุกสายในภาคอีสาน โดยเฉพาะลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำชี และพื้นที่ลุ่มน้ำเลยจุดเริ่มต้นของโครงการ

อีสานจะเขียวขจีทั่วทุกพื้นที่ ความเป็นอยู่ที่มั่นคง เศรษฐกิจที่มั่งคั่งจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน!!

จาก http://www.naewna.com วันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

นักลงทุนเชื่อมั่น “อีอีซี" ผงาดฮับโลก

              กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพาณิชย์ของไทย และสภาพัฒนาการค้าฮ่องกง (เอชเคทีดีซี) ร่วมจัดงานสัมมนาที่โรงแรมพลาซ่า แอทธินี เมื่อวันที่ 8 พ.ค.60 ในหัวข้อหลักเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการลงทุนไทย-ฮ่องกง-นครเซี่ยงไฮ้ ภายใต้ยุทธศาสตร์หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง(One BeltOne road)ของทางการจีน โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คณะผู้บริหารระดับสูงภาครัฐและเอกชนเขตเศรษฐกิจพิเศษฮ่องกงและนครเซี่ยงไฮ้มาเข้าร่วม

           นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในอนาคตฮ่องกงจะมีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจมากขึ้น และนักลงทุนทั่วประเทศกำลังจับตามองการประชุมนโยบายOne BeltOne roadของจีน ที่กรุงปักกิ่ง ในช่วงเดือน พ.ค.นี้ อย่างมาก และไทยจะส่ง 6 รัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจเข้าร่วมรับฟังข้อมูล เพราะนโยบายดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโลก ซึ่งโลกในปัจจุบันยังเผชิญกับความไม่แน่นอนสูงโดยเฉพาะการดำเนินนโยบายของสหรัฐ ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของทั่วโลก

         ดังนั้น ไทยพร้อมที่จะสนับสนุนนโยบายดังกล่าวของจีน เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าการลงทุนระหว่างกัน โดยในปี 2559 ฮ่องกงนำเข้าสินค้าจากไทย 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือราว 4 แสนล้านบาท ขณะที่นักลงทุนฮ่องกงที่เข้ามาลงทุนในไทยปีที่ผ่านมามีมูลค่า 2 หมื่นล้านบาท นับเป็นนักลงทุนอันดับ 5 และ ไตรมาส แรกปีนี้ มีมูลค่าการลงทุนสูงเป็นอันดับ 2 รองจากญี่ปุ่น และเชื่อว่าปีนี้ตัวเลขการลงทุนของฮ่องกงที่มาไทยจะสูงขึ้นแน่นอน

        นายสมคิด กล่าวว่ารัฐบาลจะส่งเสริมให้อีอีซีเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อนโยบาย One BeltOne road ของจีน ซึ่งจะเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ทางร่วมมือรถไฟไทย-จีน ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว รวมถึงรถไฟทางคู่ ท่าทียบเรือมาบตาพุด เฟส 3 การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ท่าเทียบเรือจุกเสม็ด เป็นต้น อีกทั้งยังต้องลงทุนดิจิทัลอีโคโนมีเพื่อเชื่อมโยงกับจีนด้วยระบบอินเทอร์เน็ตพลัส

        รวมถึง รัฐบาลจะผลักดันให้เกิดการจัดตั้งสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าฮ่องกง (ETO)ในไทย เพื่อใช้ไทยเป็นศูนย์ในการประชุมและร่วมมือกำหนดยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะทำให้นักลงทุนฮ่องกงได้สิทธิประโยชน์จากประเทศในแถบ ซีแอลเอ็มวีและเออีซีตามกรอบเอฟทีเอ ฮ่องกง-อาเซียนในอนาคต

         “ฮ่องกง เปรียบได้กับหัวของมังกรที่จะเชื่อม11เมืองในฮ่องกง เชื่อมกับจีนมายังอาเซียน นับว่าฮ่องกงเป็นหัวหอกในการลงทุนในอาเซียน โดยมีไทยเป็นศูนย์กลางเชื่อมภูมิภาค ซึ่งการเข้ามาของแต่ละประเทศจะไม่ใช่แค่การลงทุน แต่จะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมของไทยด้วย”นายสมคิดกล่าว

         นายโจว หยาจุน รองอธิบดีแห่งฮ่องกงและมาเก๊า สำนักกิจการแห่งรัฐบาลประชาชนเทศบาลนครเซี่ยงไฮ้ กล่าวว่า ทางการจีนมีความเชื่อมั่นว่าโครงการพัฒนาด้านต่างๆของไทย ทั้งระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี) และอุตสาหกรรมแห่งอนาคตจะทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงเศรษฐกิจแห่งสำคัญในภูมิภาค ซึ่งหากจับมือเป็นพันธมิตรกับเอกชนจีนและฮ่องกง ที่มีความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจโลจิสติกส์แล้ว ก็จะยิ่งทำให้ไทยเป็นฮับแห่งสำคัญของโลกในไม่ช้า

        ด้านนายวินเซนต์ โล ประธานเอชเคทีดีซี กล่าวว่า ฮ่องกงมีความยินดีที่จะสนับสนุนการค้าและการลงทุนระหว่างกันกับไทยอย่างเต็มที่ ซึ่งที่ผ่านมา ฮ่องกงอำนวยความสะดวกในภาคกลุ่มอุตสาหกรรมวิสาหกิจขนาดกลางหรือขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ของไทยอย่างเต็มที่มาโดยตลอด ขณะเดียวกันนักลงทุนชาวฮ่องกงก็สนใจที่จะเข้ามาลงทุนในกิจการของไทยด้วยเช่นกัน

        นายโลเสริมว่า ขณะนี้ฮ่องกงยังมีแผนที่จะเปิดการเจรจาในลักษณะการเปิดเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ระหว่างฮ่องกงและสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ซึ่งฮ่องกงจะเป็นศูนย์กลางในกลุ่มฮ่องกงและจีน ส่วนไทยจะเป็นศูนย์กลางในกลุ่มอาเซียนโดยเฉพาะในกลุ่มกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม (ซีแอลเอ็มวี) จึงคาดว่าน่าจะมีความชัดเจนร่วมกันได้ในอนาคต

        นอกจากนี้ ประธานเอชเคทีดีซีระบุว่า ฮ่องกงจะเคลื่อนย้ายทรัพยากรทั่วโลกสำหรับการลงทุนไปยังไทย และเรียกร้องให้รัฐบาลไทยผ่อนคลายอุปสรรคด้านภาษี ซึ่งเป็นวิธีสำคัญในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนเข้าประเทศ

       “หากเราลงทุนในประเทศไทยและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของโลก และหากมีประโยชน์ทางภาษีสำหรับนักลงทุน พวกเขาก็จะอยากเข้ามาลงทุนมากขึ้น เหมือนกับจีนแผ่นดินใหญ่ช่วงที่เปิดประเทศครั้งแรก ก็เสนอประโยชน์ทางภาษีมากมาย ดังนั้น ผมจึงคิดว่าสิ่งเหล่านี้จะช่วยดึงดูดเงินทุนจำนวนมหาศาลเข้าประเทศไทย”

         ด้านนายถัง เหว่ย รองประธานบริษัทเซี่ยงไฮ้ คอนสตรัคชัน กรุ๊ป กล่าวว่า บริษัทของเขาจะดึงศักยภาพความเชี่ยวชาญด้านการก่อสร้างมาช่วยพัฒนาในเขตเศรษฐกิจตะวันออกของไทย และมั่นใจว่าหากไทยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีอีซีก็จะเป็นเขตเศรษฐกิจที่เฟื่องฟูที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย

         นายมอร์ริส เฉิง ประธานบริษัทเอ็มทีอาร์ อะคาเดมี ในเครือเอ็มทีอาร์ คอร์เปอเรชันของฮ่องกง กล่าวเน้นย้ำถึงการแบ่งปันความร่วมมือในทุกภาคส่วนระหว่างไทยกับเอกชนจีน ฮ่องกง และมาเก๊า ซึ่งจะช่วยให้โครงการพัฒนาของไทยมมีความก้าวหน้าไปได้อีกมาก

         ขณะที่นายนิโคลัส โฮ รองกรรมการผู้จัดการบริษัทโฮ แอนด์ พาร์ทเนอร์ อาร์คิเทคท์ส เอนจิเนียร์ส แอนด์ ดีเวลลอปเมนท์ คอนซัลแทนท์ ลิมิเต็ดในฮ่องกง ระบุว่า มีความเชื่อมั่นว่าไทยมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกมาก โดยเฉพาะหลังจากพัฒนาอีอีซีแล้ว และบริษัทของเขามีความเชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรมและวิศวกรรม ซึ่งคาดว่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมบริการในเขตเศรษฐกิจของไทยได้

         ด้านนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่าตามแผนของอีอีซี คาดว่า ภายในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้าจะมีความต้องการใช้พื้นที่เพื่อการลงทุนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายกว่า 70,000 ไร่ ประกอบด้วย อุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 18,000 ไร่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและหุ่นยนต์กว่า 7,200 ไร่ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร การเกษตรเทคโนโลยีชีวภาพ เชื้อเพลิงชีวภาพ 21,500 ไร่ อุตสาหกรรมการบิน 500 ไร่ อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ 20,000 ไร่ และอุตสาหกรรมดิจิทัลและการแพทย์ครบวงจร 3,000 ไร่

          ในช่วงของการพัฒนาโครงการอีอีซี ระหว่างปี 2560-2565 ซึ่งใช้เงินลงทุนสูงถึง 1.5 ล้านล้านบาทนั้น รัฐบาลหวังว่าจะสามารถยกระดับอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยจาก 3% ไปสู่ระดับ 5% ต่อปี และสามารถสร้างงานใหม่ปีละ 100,000 อัตรา สร้างฐานภาษีใหม่ปีละ 100,000 ล้านบาท ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านโลจิสติกส์ได้ปีละ 400,000 ล้านบาท อีกทั้งจะเป็นก้าวย่างที่สำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยเข้าสู่ยุค ไทยแลนด์ 4.0 รวดเร็วยิ่งขึ้น

         นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การลงนามร่วมมือระหว่างไทยกับองค์การสภาพัฒนาการค้าฮ่องกง(HKTDC)เพื่อศึกษาแนวทางความร่วมมือพัฒนาอีอีซีคาดว่า 1-2 เดือนจากนี้ จะเริ่มเห็นแผนความร่วมมือที่ชัดเจน

        อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือน มิ.ย.นี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เตรียมนำคณะนักลงทุนเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น เพื่อชักชวนให้เกิดความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างหน่วยงานรัฐและเอกชนของ 2ประเทศ ซึ่งคล้ายกับลักษณะที่ดำเนินการกับฮ่องกง

        “ญี่ปุ่น เป็นประเทศเป้าหมายที่ 2 ที่รัฐบาลหวังจะให้เกิดการลงนามเอ็มโอยูพัฒนาอีอีซี ร่วมกันเช่นเดียวกับที่ดำเนินการกับฮ่องกง เป็นประเทศแรก ซึ่งขณะนี้ทูตทั้ง 2 ประเทศอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ร่วมกัน” นายอุตตม กล่าว

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

สมคิดชูฮ่องกงร่วมลงทุนดันเอฟทีเอเชื่อมอาเซียนกรมชลฯไร้ปัญหางบสะดุด 

          'สมคิด' มั่นใจฮ่องกงเชื่อมโยงลงทุนไทย-ภูมิภาค ดึงพัฒนา 'อีอีซี' พร้อมผลักดันทำข้อตกลงค้าเสรีร่วมกับอาเซียน

          'บิ๊กตู่'ถกงบประมาณปี'61

          เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาการจัดทำงบประมาณในลักษณะบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์แผนงานบูรณาการเสริมสร้างความเข้มแข็ง และยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 ครั้งที่ 1/2560

          ภายหลังการประชุม พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ถือเป็นการประชุมระดับนโยบายในเรื่องการเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 ที่จัดเพิ่มเติมขึ้นมา ซึ่งเป็น กลุ่มงานยุทธศาสตร์ งานสร้างความเข้มแข็ง ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยมี แต่รัฐบาลนี้มีความมุ่งมั่นที่จะทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ได้โดยเร็ว ทั้งนี้ได้ให้นโยบายไปว่า ได้เห็นชอบในหลักการในวงเงินที่เสนอขึ้นมา แต่จะต้องนำไปกลั่นกรองอีกครั้งหนึ่ง

          พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า จากนี้ไปคณะกรรมการทั้ง 6 ภาคก็จะไปหารือร่วมกันกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และจำต้องสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ในการกำหนดกรอบความเร่งด่วน โดยมี 3 ระยะคือ ระยะสั้นคือ ภายใน 1 ปีที่จะต้องเกิดผลสัมฤทธิ์ ระยะกลางคือ 2 ปี และระยะยาว 3 ปีขึ้นไป ทั้งนี้จะพยายามทำให้เร็วที่สุดแต่ขึ้นอยู่กับวิธีการบริหารจัดการ อีกสิ่งที่สำคัญอย่ามาว่างบจำนวนมากและจะต้องมีการทุจริต ยืนยันว่าจะต้องมีคนติดตามเรื่องนี้

          กรมชลฯยันไร้ปัญหางบสะดุด

          ส่วนกรณีการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธาน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีมติอนุมัติโครงการบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ภายใต้วงเงินงบประมาณ 2.2 แสนล้านบาท แต่ไม่ได้อนุมัติงบประมาณ เนื่องจากเกรงว่างบประมาณจำนวนมากดังกล่าว อาจส่งผลกระทบ ต่อโครงการของรัฐอื่นๆ อาจส่งให้โครงการบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างของกรมชลประทานขับเคลื่อนได้ยาก

          นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชล ประทาน กล่าวว่า กรมชลฯคงต้องไปจัดทำลำดับความสำคัญของโครงการ ว่าโครงการใดควรทำก่อนหลัง เพื่อเสนอให้ กนช.พิจารณา อีกรอบ แต่หากยังไม่ได้รับอนุมัติงบประมาณในการดำเนินโครงการอีก ก็จะไม่ส่งผลกระทบและก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมใหญ่ในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างเหมือนที่หลายฝ่ายกังวล เนื่องจากขณะนี้กรมชลฯยังมีงบประมาณปี 2560 และงบประมาณปี 2561 ซึ่งอยู่ในระหว่างเตรียมการเสนอเข้าที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สามารถโยกงบประมาณดังกล่าวมาใช้ในดำเนินการโครงการที่จำเป็นก่อนได้

          'สมคิด'ชูฮ่องกงเชื่อมโยงลงทุน

          ที่โรงแรมพลาซ่า แอทธินี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในงานสัมมนาระหว่างคณะผู้บริหารระดับสูงภาครัฐและเอกชนเขตเศรษฐกิจพิเศษฮ่องกงและนครเซี่ยงไฮ้เดินทางเยือนไทย ในโครงการความร่วมมือด้านยุทธศาสตร์ระหว่างไทยฮ่องกง-เซี่ยงไฮ้ ภายใต้นโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road) ว่า การจัดสัมมนาการลงทุนไทย-ฮ่องกง-เซี่ยงไฮ้ระหว่างวันที่ 8-9 พฤษภาคมที่ประเทศไทย มีนักธุรกิจจากฝั่งไทยและฮ่องกงเข้าร่วมกว่า 300 ราย โดยกรอบเนื้อหาความร่วมมือหลักจะมุ่งไปที่การพัฒนาการใช้พื้นที่ เส้นทางคมนาคม และอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเชิญชวนเอกชนให้มาลงทุนในไทยโดยเฉพาะ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซุปเปอร์คลัสเตอร์ ระบบการขนส่งสาธารณะ ภายใต้โครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และผลักดันให้เกิดการจัดตั้งสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าฮ่องกงในไทยต่อไป

          "ฮ่องกงคือตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนให้ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้าการลงทุน และการเชื่อมให้อนุภูมิภาคนี้เข้ากับนโยบาย One Belt One Road ให้แนบแน่นขึ้นในอนาคต เปรียบได้กับฮ่องกงเป็นหัวของมังกรที่จะเชื่อม 11 เมืองในฮ่องกงโยงไปจีน และมายังอาเซียนได้ โดยมีไทยเป็นศูนย์กลางเชื่อมภูมิภาค ปีที่ผ่านมาฮ่องกงลงทุนในไทย 2 หมื่นล้านบาทนับเป็นอันดับที่ 5 ของต่างชาติลงทุนในไทยทั้งหมด ส่วนจีนเป็นอันดับ 3 มีการลงทุนในไทย 3 หมื่นล้านบาท เฉพาะไตรมาสแรกปีนี้ การลงทุนของ ฮ่องกงขึ้นมาเป็นอันดับ 2 รองจากญี่ปุ่นเท่านั้น" นายสมคิดกล่าว

          ช่วยหนุนลงทุนอีอีซี

          นายสมคิดกล่าวว่า ความร่วมมือของไทยและฮ่องกงจะเน้นความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ โดยไทยมีอีอีซีเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ในประเทศและกลุ่มซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม) พยายามทำให้อีอีซีเข้ากับ One Belt One Road เชื่อมโยงผ่านทางรถไฟไทย-จีน ซึ่งจะเร่งดำเนินการในเร็ววัน มีนักลงทุนฮ่องกงขอส่งเสริมการลงทุนอีอีซีในปีที่ผ่านมา 1.4 หมื่นล้านบาท และจีนขอส่งเสริมการลงทุน 1.6 หมื่นล้านบาท แสดงว่าเริ่มเข้ามาลงทุนแล้ว เชื่อว่าหลังการพบปะของนักธุรกิจไทยและฮ่องกงใน 2 วันนี้ จะทำให้ในอนาคตเห็นการลงทุนของฮ่องกงในไทยเพิ่มมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา

          "เดือนเมษายนที่ผ่านมาหนังสือพิมพ์ ไชน่า เดลี่ ของจีน ลงบทสัมภาษณ์นักลงทุนถึงอีอีซีว่า ไทยมีที่ตั้งที่เหมาะสมที่สุดในการขยายธุรกิจเล็กๆ ให้เติบโตและขยายสู่ซีแอลเอ็มวีได้ ผมเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าอนาคตข้างหน้า ทั้งฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้จะกลายเป็นมหาเศรษฐกิจโลกดังเช่นลอนดอนและนิวยอร์ก โดยเซี่ยงไฮ้เปรียบเหมือนนิวยอร์กและฮ่องกงเปรียบเหมือนลอนดอน" นายสมคิดกล่าว

          ผลักดันเอฟทีเอฮ่องกง-อาเซียน

          นายสมคิดกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ฮ่องกงยังมีความสนใจในการส่งเสริมและผลักดันให้เกิดความตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ฮ่องกง-อาเซียน เพื่อเชื่อมความร่วมมือระหว่างฮ่องกงและอาเซียน โดยเห็นว่าไทยเป็นศูนย์กลางในแถบนี้และซีแอลเอ็มวี และในช่วงกลางเดือนนี้จะมีการประชุมถึงนโยบาย One Belt One Road ที่ปักกิ่ง ไทยจะส่งรัฐมนตรี 6 กระทรวงเข้าร่วม การประชุมครั้งนี้จะเป็นความหวังใหม่และความร่วมมือกันที่จะเผชิญความไม่แน่นอน การเปลี่ยนแปลงนโยบายของสหรัฐอเมริกา การก้าวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร ทำให้ความตกลงเขตการค้าเสรีถูกท้าทายอย่างยิ่ง

          วันเบลท์ฯเชื่อมโยงภูมิภาค

          นายสมคิดกล่าวอีกว่า นโยบาย One Belt One Road ที่จีนประกาศออกมาเพียงไม่กี่ปี ส่งผลให้การค้าการลงทุนขยายตัวสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด คาดว่าในอนาคตจะเติบโต สูงขึ้น นับว่าจะช่วยเชื่อมโยงประเทศต่างๆ ในภูมิภาค สร้างการเชื่อมโยงทางการคมนาคม การสื่อสาร รวมทั้งผลักดันให้เกิดความตกลงเขตการค้าเสรีในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งจะครอบคลุมเศรษฐกิจถึง 40% ของจีดีพีโลก และครอบคลุมประชากรกว่าครึ่งโลก

          นายวินเซนท์ โล ประธานองค์การสภาพัฒนาการค้าฮ่องกง (เอชเคทีดีซี) กล่าวว่า นโยบาย One Belt One Road ต้องใช้ความร่วมมือและทรัพยากรจำนวนมาก การเยือนไทยครั้งนี้ของนักธุรกิจฮ่องกงมีความสนใจที่จะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และสนใจตั้งฐานการผลิตสินค้าในไทย เพราะมีสิ่งอำนวยความสะดวกและโครงสร้างพื้นฐานรองรับ และไทยนับเป็นประเทศแรกที่ให้ความสำคัญในการเป็นประตูเชื่อมฮ่องกงกับประเทศอื่นในอาเซียน

          ไทยชวนตั้งสำนักงานอีทีโอ

          นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า หลังจาก นักธุรกิจฮ่องกง-เซี่ยงไฮ้เดินทางมาพบปะนักธุรกิจไทยครั้งนี้ ในเดือนมิถุนายนก็มีกำหนดเยือนไทยอีกครั้ง เพื่อลงพื้นที่อีอีซี คาดว่าในช่วง 1-2 เดือนนี้จะเกิดการลงทุนในหลายอุตสาหกรรม อาทิ ท่าอากาศยาน การพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด สัตหีบ แหลมฉบัง ระบบขนส่งทางรถไฟ ขณะเดียวกันไทยได้ชวนหน่วยงานด้านเศรษฐกิจและการค้าของฮ่องกง (อีทีโอ) ทำหน้าที่คล้ายทูตพาณิชย์ของไทยเข้ามาตั้งสำนักงานด้วย เพื่อกระชับการลงทุนระหว่างหน่วยงานรัฐเชื่อมโยงไปเอกชน หากอีทีโอตั้งสำนักงานในไทยจะเป็นสำนักงานที่ 3 ในอาเซียนต่อจากสำนักงานในสิงคโปร์ และอินโดนีเซีย

          "เดือนมิถุนายนนี้ รัฐบาลไทยนำโดยนายสมคิดมีกำหนดเดินทางเยือนญี่ปุ่น เพื่อหารือกับตัวแทนภาครัฐ รูปแบบเดียวกับที่เยือนฮ่องกง" นายอุตตมกล่าว

          นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่า หลังเอ็มโอยูระหว่างสำนักงานพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกและเอชเคทีดีซี ภายใน 1 เดือนจะมีกรอบการลงทุนที่ชัดเจนว่าการลงทุนใดเกิดขึ้นบ้างในอีอีซี

          ธนารักษ์ดูข้อกม.คอนโดประชารัฐ

          นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยถึงกรณีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ส่งหนังสือเพื่อขอให้ทบทวนโครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐ พหลโยธิน ซอย 11 ว่า ได้ส่งหนังสือดังกล่าวให้ฝ่ายกฎหมายพิจารณาตามที่ สตง.ระบุในหนังสือว่า โครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐ พหลโยธิน ซอย 11 เป็นการกระทำผิดกฎหมายหรือไม่ ถ้าผิดกฎหมายกรมขอย้ำอีกครั้งว่าพร้อมจะยกเลิกโครงการ แต่ต้องให้ชัดเจนก่อนว่าโครงการนี้ผิดกฎหมาย และถ้ารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ไม่ผ่าน โครงการนี้ต้องยุติไปตามทีโออาร์ ที่ระบุว่าเอกชนต้องไปจัดทำอีไอเอ หากไม่ผ่านต้องยกเลิกโครงการ

          "สตง.ทำหนังสือมาถึงกรมเพื่อให้ทบทวน โดยมีข้อคิดเห็นเสนอมายังกรม 4 ข้อ ดังนั้นคงต้องให้เวลาฝ่ายกฎหมายไปดูให้ละเอียด หากฝ่ายกฎหมายยืนยันว่าการดำเนินการของกรมที่ผ่านมา เป็นไปตามกฎหมาย กรมจะเสนอเรื่องไปยังหน่วยงานที่ 3 คือคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ช่วยพิจารณาด้วย โดยยืนยันว่าที่ผ่านมากรมไม่เคยทำอะไรที่ผิดกฎหมาย" นายจักรกฤศฏิ์กล่าว

          ย้ำหากผิดกฎหมายพร้อมเลิก

          นายจักรกฤศฏิ์กล่าวว่า ก่อนดำเนินโครงการได้ส่งเจ้าหน้าที่ของกรมไปสำรวจเบื้องต้น ทั้งในเรื่องถนน การวางผังโครงการ ความเหมาะสมในการดำเนินโครงการ และมีการติดใบประกาศเพื่อแจ้งให้คนในพื้นที่รับทราบว่าจะนำที่ดินดังกล่าวไปประมูลเพื่อสร้างคอนโดมิเนียมธนารักษ์ประชารัฐ ในช่วงนั้นคนในพื้นที่ไม่ได้มีการคัดค้านอะไร แต่ภายหลังกลับการคัดค้าน และล่าสุด ผู้คัดค้านนำเจ้าหน้าที่จาก กทม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปวัดถนน ซึ่งกรมกำลังรอดูอยู่ว่าจะมีหน่วยงานไหนสรุปหรือไม่ว่า โครงการนี้ผิดกฎหมาย ซึ่งกรมพร้อมยกเลิก แต่คงไม่สามารถไปยกเลิกโครงการโดยที่ไม่มีเหตุผลเพียงพอ เพราะอาจถูกฟ้องร้องจากเอกชนได้

          นายจักรกฤศฏิ์กล่าวว่า ส่วนกรณีการร้องเรียนว่ามีการไปรื้อถอนให้เกิดเสียงดังจากการระเบิดแท็งก์น้ำในช่วงเช้า หากมีหลักฐาน ให้ประชาชนฟ้องร้องให้ได้ทันที เพราะในการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง กรมว่างจ้างเอกชนมาดำเนินการ และย้ำว่าให้ดำเนินการอย่างถูกกฎหมาย ถ้าฝ่าฝืนสามารถฟ้องร้องได้ ที่ผ่านมา รับการร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่ระบุว่า การรื้อถอนทำให้เกิดฝุ่น กรมก็สั่งให้บริษัทรับเหมาไปแก้ไขแล้ว

          กทม.ยังไม่อนุมัติก่อสร้าง

          นางกนกรัตน์ พันธ์นรา ผู้อำนวยการเขตพญาไท กรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า ปัจจุบัน กทม.ยังไม่มีข้อมูลความคืบหน้าใดๆ เกี่ยวกับโครงการดังกล่าว ที่ผ่านมา กทม.ได้ยื่นหนังสือไปยังกรมธนารักษ์เพื่อขอข้อมูลการก่อสร้างบ้านธนารักษ์ประชารัฐและข้อมูล อีไอเอ เพื่อนำมาพิจารณาว่าจะสามารถอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารได้หรือไม่ ซึ่งจะต้องนำมาพิจารณาให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 กรณีการก่อสร้างอาคารสูง

          "ต้องเรียนตามตรงว่า ขณะนี้ กทม.ยังไม่มีข้อมูลใดมาพิจารณาว่าจะอนุญาตให้มีการก่อสร้างโครงการหรือไม่ เพราะได้ยื่นหนังสือขอข้อมูลความคืบหน้าไปสักระยะแล้ว แต่ก็ยังไม่มีการตอบกลับมา" นาง กนกรัตน์กล่าว

จาก  http://www.matichon.co.th  วันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

1เดือนลุยแผนอีอีซี

สมคิด ชวนนักธุรกิจจีน ฮ่องกงลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ใช้ระบบพีพีพีฟาสต์แทร็ก ประมูลปีนี้ 3 โครงการ คาด 1 เดือนภาพชัด

          นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการเปิดสัมมนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจภายใต้ยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road) ระหว่างไทยและเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ในโอกาสนักลงทุนจากฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้มาเยือนไทยเพื่อรับข้อมูลการลงทุนและพบกับผู้ประกอบการไทย (Business Matching)

          นายสมคิด กล่าวว่า คณะนักลงทุนฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ที่มาเยือนไทยครั้งนี้ คาดว่าจะทำให้มีเม็ดเงินลงทุนจากทั้งฮ่องกงและจากจีนเพิ่มขึ้นอีก โดยเฉพาะในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งปัจจุบันฮ่องกงและจีนมีการลงทุนคงค้างในอีอีซีอยู่แล้ว 1.5 หมื่นล้านบาท และ 1.6 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ

          ทั้งนี้ อยากให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนพัฒนาหลายโครงการ เช่น รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยอง การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา รถไฟทางคู่ ท่าเรือแหลมฉบัง มาบตาพุด รวมถึงการลงทุนด้านดิจิทัล โดยเตรียมพื้นที่การลงทุนเป็นกลุ่ม เช่น พื้นที่สำหรับนักลงทุนจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้โดยเฉพาะ

          นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำหรับการประมูลโครงสร้างพื้นฐานในปีนี้จะเน้น 3 โครงการ คือ 1.สนามบินอู่ตะเภา 2.รถไฟฟ้าความเร็วสูง 3.ท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง ใช้ซูเปอร์ พีพีพีฟาสต์แทร็ก โดยใช้เวลาศึกษา 8-10 เดือน ร่นระยะเวลาจากปกติ 40 เดือน

          นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า นักลงทุนจากฮ่องกงเตรียมเข้าพื้นที่ศึกษาการลงทุนในอีอีซีภายในเดือน มิ.ย.นี้ ในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น ปิโตรเคมี ยานยนต์ ก่อสร้าง อิเล็กทรอนิกส์ และเตรียมผลักดันจัดตั้งสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าฮ่องกง (อีทีโอ) ในไทย เพื่อผลักดันการค้าระหว่างกันต่อไป และจะเดินทางไปดึงหน่วยงานของรัฐบาลญี่ปุ่นร่วมมือในลักษณะนี้ต่อไป

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

เกษตรฯ ประกาศ เพิ่มประสิทธิภาพตรวจรับรองสินค้าเกษตรอินทรีย์

           นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ โดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ประกาศปรับลดขั้นตอนการตรวจรับรองสินค้าเกษตรอินทรีย์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจรับรองให้รวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งผู้ผลิตที่ได้รับการรับรองมาตฐานเกษตรอินทรีย์สากลแล้ว แต่ประสงค์จะได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของไทย ตราออร์แกนิคไทยแลนด์ (Organic Thailand) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะได้รับการตรวจเพิ่มเติม เพียง 5 รายการ แทนที่จะต้องตรวจใหม่ทั้งหมด 15 รายการ

         ทั้งนี้ การเร่งรัดการปรับปรุงกระบวนการตรวจรับรองให้มีประสิทธิภาพ โดยจะลดขั้นตอนการทำงาน และถ่ายโอนภารกิจตรวจรับรองให้เอกชนดำเนินการมากขึ้น เช่นเดียวกับการเร่งรัดยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์ให้เกิดผลเชิงรูปธรรม โดยตั้งเป้าภายในระยะเวลา 5 ปี จะต้องมีพื้นที่เกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว รวมถึงผลักดันให้ผู้ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ขอรับการรับรองให้มากขึ้น

                 นางสาวชุติมา กล่าวต่อไปว่า การลดขั้นตอนดังกล่าว เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบเพิ่มเติม เรื่อง 1) เอกสารสิทธิ์ ทุกแปลงที่ขอการรับรองจากทางราชการ ต้องมีเอกสารหรือหลักฐานยืนยันว่าทำการเพาะปลูกบนพื้นที่ที่ถูกกฎหมาย ไม่บุกรุกป่าหรือพื้นที่สาธารณะ 2) การทำแนวกันชนกรณีพื้นที่ข้างเคียงใช้สารเคมี เช่น การปลูกพืชที่มีความสูงกั้นสารเคมี หรือสิ่งปนเปื้อนที่อาจปลิวมาจากแปลงข้างเคียง หรือทำคันดิน กั้นสิ่งปนเปื้อนที่อาจมากับน้ำหรือวิธีการอื่นๆ ที่สามารถป้องกันสารเคมี หรือสิ่งปนเปื้อนที่อาจมาทางน้ำ ทางอากาศได้ 3) ตรวจน้ำใช้ หากพบว่ามีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อน จะตรวจวิธีการในการลดการปนเปื้อนสารเคมี/โลหะหนักที่อาจปนเปื้อนมา 4) ตรวจสอบให้มั่นใจว่าปุ๋ยอินทรีย์ หรือสารอินทรีย์อื่นที่นำเข้ามาใช้ในฟาร์มเป็นอินทรีย์จริง และ 5) ตรวจสอบว่าไม่มีการนำของเสียจากมนุษย์มาใช้ในการผลิต โดยมาตรการดังกล่าวได้เริ่มดำเนินการแล้วตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2560

                สำหรับการเพิ่มความสามารถในการตรวจรับรองเกษตรอินทรีย์ให้รวดเร็วและทันกับความต้องการ ขณะนี้กำลังเร่งดำเนินการอยู่ โดยทยอยถ่ายโอนภารกิจให้หน่วยตรวจรับรองเอกชนเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งกำลังศึกษารูปแบบการบริหารจัดการ การสนับสนุนงบประมาณการตรวจรับรองที่เหมาะสมที่จะขับเคลื่อนภารกิจการตรวจรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ รวมทั้งการให้คำปรึกษาแนะนำ และให้บริการการฝึกอบรม คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปลายปีนี้

                ทั้งนี้ ผู้ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกษ.9000) ของกระทรวงเกษตรฯ จะสามารถแสดง เครื่องหมายรับรอง ออร์แกนิคไทยแลนด์ ซึ่งแสดงถึงคุณภาพของสินค้าว่าได้รับการรับรองตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ สร้างความมั่นใจและเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค ได้เลือกซื้อสินค้าตามคุณภาพที่ตนเองต้องการ ซึ่งเกษตรกรที่ต้องการขอรับการรับรองสามารถขอรับการตรวจรับรองได้จากกรมวิชาการเกษตร หรือหน่วยตรวจรับรองเอกชน (CB) ที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

KBSมั่นใจผลงานปี’60โดดเด่น อานิสงส์ราคาน้ำตาลตลาดโลกฟื้น

นายทัศน์ วนากรกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทน้ำตาลครบุรี (KBS) เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 2560 คาดว่าจะกลับมาโดดเด่นได้อีกครั้ง โดยได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำตาลในตลาดที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ล่าสุดราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์ก สัญญาเดือนพฤษภาคม 2017 อยู่ที่ 16.54 เซนต์ต่อปอนด์ เพิ่มขึ้น 0.22 เซนต์ต่อปอนด์ เมื่อเทียบกับปี 2559

อยู่ที่ 11-12 เซนต์/ปอนด์ ทำให้ราคาน้ำตาลส่งออกของไทยดีขึ้นตามไปด้วย

นอกจากนี้สายการผลิตใหม่ หรือโครงการราง C ขนาดกำลังการผลิต 12,000 ตันอ้อย/วัน เปิดสวิทช์เครื่องจักรให้ทำงานแล้ว ส่งผลให้บริษัทมีกำลังการผลิตรวมในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 35,000 ตันอ้อย/วัน อีกทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการหีบสกัดน้ำอ้อยอย่างเห็นได้ชัด จากการใช้เทคโนโลยีดีฟฟิวเซอร์(Diffuser)นอกจากนี้ยังลดระยะเวลาที่ชาวไร่อ้อยต้องรอระหว่างนำอ้อยเข้าสู่กระบวนการผลิต (การติดคิว) ได้

อีกทั้งโครงการไซโลลดความชื้นน้ำตาลและอาคารบรรจุใหม่ ซึ่งแล้วเสร็จเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2559 จะลดต้นทุนจากการ Repack และการรักษาคุณภาพน้ำตาลให้อยู่ ในระดับที่ดีซึ่งลดการปฏิเสธการรับน้ำตาลจากลูกค้าได้เป็นอย่างดี

ด้านธุรกิจโรงไฟฟ้า ปัจจุบันทางบริษัท ผลิตไฟฟ้า ครบุรี ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ได้กลับมาเดินเครื่อง Boiler เป็นปกติ และขายไฟให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้แล้วตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2559 ซึ่งคาดว่าจะทำให้ผลประกอบการบริษัทดีขึ้นจากที่บริษัทย่อยสามารถกลับมารับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าแล้ว

ส่วนความคืบหน้าแผนการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ ขนาดกำลังการผลิต 20,000 ตันอ้อย/วัน ที่อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการเรื่อง EIA และศึกษาแผนการจัดหาเงินเพื่อสนับสนุนโครงการ มั่นใจว่าหากทุกอย่างเป็นไปตามแผนจะช่วยผลักดันธุรกิจเติบโตอย่างแข็งแกร่งและมั่นคง

จาก http://www.naewna.com วันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

KBSยิ้มราคาน้ำตาลฟื้น-ผลงานโตแกร่ง

KBS ประเมินผลดำเนินงานปี 60 โตโดดเด่น อานิสงส์ราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกฟื้น แถมโครงการราง C เดินเครื่อง ธุรกิจไฟฟ้าช่วยหนุน หลังขายไฟใฟ้ กฟผ.แล้ว

นายทัศน์ วนากรกุล กรรมการผู้จัดการ บมจ. น้ำตาลครบุรี (KBS) เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 2560 คาดว่าจะสามารถพลิกกลับมาโดดเด่นได้อีกครั้ง โดยได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำตาลในตลาดที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยล่าสุดราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์ก สัญญาเดือน พ.ค.2560 อยู่ที่ 16.54 เซนต์ต่อปอนด์ เพิ่มขึ้น 0.22 เซนต์ต่อปอนด์ เมื่อเทียบกับปี 2559 อยู่ที่ 11-12 เซนต์/ปอนด์ ทำให้ราคาน้ำตาลส่งออกของไทยดีขึ้นตามไปด้วย

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยบวกที่เป็นแรงเสริมคือ สายการผลิตใหม่ หรือโครงการราง C ขนาดกำลังการผลิต 12,000 ตันอ้อย/วัน เปิดสวิตช์เครื่องจักรให้ทำงานแล้ว ส่งผลให้บริษัทมีกำลังการผลิตรวมในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 35,000 ตันอ้อย/วัน อีกทั้งสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการหีบสกัดน้ำอ้อยอย่างเห็นได้ชัดจากการใช้เทคโนโลยีดีฟฟิวเซอร์ (Diffuser) นอกจากนี้ยังสามารถลดระยะเวลาที่ชาวไร่อ้อยต้องรอระหว่างนำอ้อยเข้าสู่กระบวนการผลิต (การติดคิว) ได้อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งคือหนึ่งในการดำเนินงานตามแผนกลยุทธ์ของบริษัทในรอบปีที่ผ่านมา

สำหรับแผนการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ ขนาดกำลังการผลิต 20,000 ตันอ้อย/วัน ที่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา คาดว่าจะใช้เวลาในการดำเนินการประมาณ 3 ปี ขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการเรื่อง EIA และศึกษาแผนการจัดหาเงิน (Financing) เพื่อสนับสนุนโครงการ หากทุกอย่างเป็นไปตามแผน จะช่วยผลักดันธุรกิจเติบโตอย่างแข็งแกร่งและมั่นคง สร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้น

ด้านธุรกิจโรงไฟฟ้า ปัจจุบันบริษัท ผลิตไฟฟ้า ครบุรี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ได้กลับมาเดินเครื่อง Boiler เป็นปกติ (หลังจากเกิดอุบัติเหตุต้องหยุดเดินเครื่องไป 6 เดือน) และขายไฟให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้แล้วตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 59 เป็นไปตามสัญญา Firm Contract ซึ่งคาดว่าจะทำให้ปีนี้ผลประกอบการของบริษัทน่าจะดีขึ้น.

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ยอดตั้งรง.4เดือนแรกแผ่ว ‘ปลัดอุต’ลุ้นสิ้นปีได้ตามเป้า5แสนล.

นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า การขอใบอนุญาตประกอบกิจการ รง.4 และขยายกิจการในเดือนมกราคม-เมษายน 2560 มีจำนวนโรงงานทั้งสิ้น 1,533 โรงงาน ลดลง 5.07 % จากช่วงเดียวกันในปี 2559 ที่มีอยู่ 1,615 โรงงาน

ส่วนมูลค่าการลงทุนอยู่ที่ 1.17 แสนล้านบาท พบลดลง 29.51% จากช่วงเดียวกันของปี 2559 ที่อยู่ที่ 1.66 แสนล้านบาท

นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวยอมรับว่า ภาพรวมการขอใบอนุญาต รง.4 ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมามีมูลค่าที่ลดลง เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นโครงการขนาดกลางและเล็กที่เริ่มมีการลงทุน แต่เชื่อมั่นว่าโครงการขนาดใหญ่จะเข้ามาลงทุนในช่วงปลายปีเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ เป็นต้น รวมทั้งนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่จะส่งผลให้เอกชนลงทุนในช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากขณะนี้เอกชนรอดูความชัดเจนของมาตรการต่างๆก่อนจะลงทุนจริง

พร้อมมั่นใจว่าจำนวนและมูลค่าการลงทุนของยอดขอรง.4 ปีนี้ไม่น้อยกว่าปีที่ผ่านมาหรือประมาณ 5 พันกว่าโรงงาน หรือมูลค่าลงทุนอยู่ที่ประมาณ 5 แสนล้านบาท

“มูลค่าการลงทุนและจำนวนที่ลดลงยังไม่น่ากังวลมากนัก เนื่องจากสิ้นปีเอกชนจะแห่เข้ามาขอใบ รง.4เหมือนปกติทุกปี แต่สิ่งที่น่าสังเกต คือ จำนวนจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้นโดยใน 4 เดือนมีจำนวนจ้างแรงงาน 6.5 หมื่นคน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่อยู่ที่ 6.1 หมื่นคน โดยเฉพาะในเดือนเมษายนที่มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการขนาดเล็กและใช้จำนวนแรงงานมาก โดยเบื้องต้นส่วนใหญ่น่าจะไม่ใช่กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่กระทรวงกำลังเร่งผลักดันอยู่”นายสมชายกล่าว

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ทิศทางการลงทุนภาคเอกชน ขณะนี้ภาคเอกชนยังอยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดสิทธิประโยชน์ต่างๆ ก่อนตัดสินใจลงทุน เชื่อว่าจะค่อยๆทยอยการลงทุนเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป โดยขณะนี้ผู้ประกอบการกำลังปรับปรุงกระบวนการผลิตไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 และขยายกำลังการผลิตให้เต็มศักยภาพ และคาดว่าในอนาคตจะมีการลงทุนอย่างแน่นอน เนื่องจากมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายเป็นแรงกระตุ้นในการลงทุน แต่ต้องใช้เวลาศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดก่อนที่จะมีการลงทุน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ฝนหลวงเร่งเติมน้ำเขื่อนภูมิพล สกัดแล้ง-ช่วยเกษตรแปลงใหญ่

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมาประเทศไทย มีหลายพื้นที่มีความต้องการน้ำฝน กรมฝนหลวงและการบินเกษตร มีการติดตามเติมน้ำในเขื่อนต่างๆ โดยเฉพาะเขื่อนภูมิพล ซึ่งเป็นเขื่อนที่สำคัญของประเทศ ที่ผ่านมาทำให้มีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนภูมิพลสะสมรวม 131.61 ล้าน ลบ.ซม. และเฝ้าติดตามสถานการณ์เพื่อเติมน้ำในเขื่อนอื่นๆ อย่างสม่ำเสมอ ในขณะเดียวกันยังช่วยเหลือพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ซึ่งได้ดำเนินการปฏิบัติการทำฝนในวันที่ 1 พฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมามีการขึ้นปฏิบัติการ 6 เที่ยวบิน รวม 7.45 ชั่วโมงบิน ปริมาณใช้สารฝนหลวง8.8 ตัน ทำให้เกิดฝนตกหนัก ถึงหนักมากในบางแห่ง บริเวณ อำเภอปากช่อง อำเภอสีคิ้ว อำเภอวังน้ำเขียว อำเภอสูงเนิน อำเภอปักธงชัย อำเภอครบุรี อำเภอเสิงสาง อำเภอหนองบุญมาก อำเภอโชคชัย อำเภอจักราช อำเภอเฉลิมพระเกียติ อำเภอโนนไทย อำเภอพระทองคำ อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา ตลอดจนพื้นที่พื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนลำตะคอง เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนลำแซะ เขื่อนลำนางรอง ในส่วนเกษตรแปลงใหญ่ภาคตะวันออก มีการขึ้นปฏิบัติการ 4 เที่ยวบิน รวม 4 ชั่วโมงบิน ปริมาณใช้สารฝนหลวง 2.9 ตัน ทำให้ฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลางบริเวณ อำเภอท่าตะเกียบ อำเภอสนามชัยเขต ตลอดจนพื้นที่ลุ่มรับน้ำอ่างเก็บน้ำคลองสียัด อย่างไรก็ตามกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จะดำเนินการเพื่อสำรองน้ำในเขื่อนต่างๆ และช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรอย่างเต็มความสามารถ

โดยผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารของกรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้ที่ เพจ Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร หรือ เว็บไซต์กรมฝนหลวงและการบินเกษตร

จาก http://www.naewna.com วันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

พด.ระดมงานวิจัยแก้ปัญหา‘ดินเค็ม’ เปิดเวทีวิชาการแลกเปลี่ยนความรู้แก้ปัญหาในภาคอีสาน

  นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาที่ดิน เตรียมจัดการประชุมวิชาการดินเค็มภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครั้งที่ 5 ที่โรงแรมพูลแมนขอนแก่นราชาออร์คิด อ.เมือง จ.ขอนแก่น ระหว่างวันที่ 27-28 เมษายนที่ผ่านมา เนื่องจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบดินเค็มประมาณ 11.5 ล้านไร่ โดยเฉพาะพื้นที่ อ.บ้านไผ่ อ.โนนศิลา และอ.ชนบท จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องโครงการพัฒนาพื้นที่ดินเค็มหรือโครงการดินเค็มทุ่งเมืองเพียลุ่มน้ำชีส่วนที่ 3 และลุ่มน้ำย่อยขามเรียนครอบคลุมพื้นที่ 768,000 ไร่

โดยการจัดประชุมดังกล่าว เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์การวิจัยด้านดินเค็มของนักวิชาการ และผู้มีส่วนได้เสียจากองค์กรต่างๆ กำหนดแนวทางการวิจัยและพัฒนาพื้นที่ดินเค็มในอนาคตและทำให้ทราบข้อมูลที่ทำการศึกษาวิจัยที่ผ่านมา รวมทั้งสร้างเครือข่ายและสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรต่างๆ เช่น ผู้แทนภาคเอกชน สถาบันการศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงชุมชนเข้มแข็งในพื้นที่ดินเค็มเป็นการแสดงศักยภาพของการพัฒนาในแนวใหม่ในการบูรณาการพัฒนา และการใช้ประโยชน์พื้นที่ดินเค็มอย่างยั่งยืนระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และเกษตรกรหลักของพื้นที่ หรือที่เรียกว่า “ประชารัฐ”

สำหรับการจัดประชุมปีนี้ มีการนำเสนอผลงานวิจัยเกี่ยวกับดินเค็ม โดยแบ่งเป็นการนำเสนอผลงานภาคบรรยาย 6 เรื่อง และภาคโปสเตอร์ 15 เรื่อง การจัดแสดงนิทรรศการจากหน่วยงานภาครัฐ 7 นิทรรศการ หน่วยงานภาคเอกชน 2 นิทรรศการ การเสวนาในหัวข้อเรื่อง “การปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมในการปลูกข้าว และพัฒนาผลผลิตพืชชนิดอื่นแบบบูรณาการสู่การแข่งขันตลาดสินค้าเกษตรปลอดภัยแบบครบวงจร” นอกจากนี้ยังมีการบรรยายพิเศษโดยผู้ทรงคุณวุฒิใน 3 หัวข้อ ได้แก่ 1.โอกาสและอุปสรรคของพื้นที่มีปัญหาดินเค็มกับนโยบายการใช้แผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) ภายใต้โมเดลพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาล หรือ ประเทศไทย 4.0

2.การศึกษาวิจัยการเสริมสร้างศักยภาพของหน่วยงานและของเกษตรกร ในการจัดการพื้นที่ดินเค็มอย่างมีผลสัมฤทธิ์และยั่งยืนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ 3.ประสบการณ์ในการพัฒนาพื้นที่ดินเค็มในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ อย่างไรก็ตามเชื่อว่าการประชุมดังกล่าว จะสามารถนำไปสู่การแก้ปัญหาดินเค็มได้อย่างยั่งยืนต่อไป

จาก http://www.naewna.com วันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ไทยฝ่าด่านเกินดุลการค้า US "ทรัมป์" งัด ม.201-301 สกัดนำเข้า

อุณหภูมิการค้าระหว่างไทยและสหรัฐร้อนระอุพอกับสภาพอากาศ หลังการลงนามในคำสั่ง 3 ฉบับของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เพื่อเบรกการขาดดุลการค้าของสหรัฐที่มีต่อ 13 ประเทศคู่ค้า ประกอบด้วย แคนาดา จีน สหภาพยุโรป อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย เม็กซิโก สวิตเซอร์แลนด์ ไต้หวัน เวียดนาม และไทย

 การติดร่างแห 1 ใน 13 ประเทศของไทยได้สร้างความกังวลให้ผู้นำเข้า-ส่งออกที่ค้าขายกับตลาดสหรัฐเป็นอย่างมาก

และเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2560 สหรัฐได้เปิดเกมบี้ไทย ด้วยการให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ผู้นำเข้า-ส่งออกทำข้อมูลสาเหตุ ปัจจัยที่ทำให้สหรัฐต้องขาดดุลชี้แจงให้สหรัฐ ภายในวันที่ 10 พฤษภาคม 2560 และวันที่ 18 พฤษภาคม 2560 สหรัฐจะเปิดรับฟังความคิดเห็น

เปิด 3 คำสั่งพิเศษทรัมป์

หากพิจารณาสาระสำคัญของคำสั่งพิเศษทั้ง 3 ฉบับ เพื่อให้ทรัมป์สามารถสั่งการให้หน่วยงานฝ่ายบริหารเร่งดำเนินการ โดยไม่ต้องผ่านการรับรองจากคองเกรส เป็นการส่งสัญญาณว่า ทรัมป์กำลังทำตามคำสัญญาที่ได้หาเสียงไว้ ในการต่อสู้กับปริมาณการนำเข้าสินค้าที่อ้างว่าไม่เป็นธรรมเข้าไปยังสหรัฐ

โดยคำสั่งพิเศษฉบับที่ 1 ลงวันที่ 31 มีนาคม 2560 สั่งให้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ และสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) จัดทำรายงานประเมินสาเหตุที่ทำให้สหรัฐขาดดุลกับประเทศคู่ค้า และจัดทำรายงานเสนอทรัมป์ภายใน 90 วัน

ฉบับที่ 2 เป็นคำสั่งพิเศษของประธานาธิบดี ในการขยายการจัดเก็บและการบังคับใช้กฎหมายการเก็บอากรต่อต้านการทุ่มตลาด การอุดหนุน และการฝ่าฝืนกฎหมายการค้าและศุลกากร ลงวันที่ 31 มีนาคม 2560 เพื่อออกมาตรการในการจัดเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) และอากรตอบโต้การอุดหนุน (CVD) ของสหรัฐ ให้มีประสิทธิภาพ

ฉบับที่ 3 เกี่ยวกับการซื้อสินค้าอเมริกันและจ้างงานแรงงานอเมริกัน ลงวันที่ 18 เมษายน 2560 โดยคำสั่งนี้ได้แจกแจง คือ กรณีกำหนดนโยบายให้หน่วยงานสหรัฐจัดซื้อสินค้าที่ผลิตในสหรัฐ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการจ้างงานภายในประเทศ และกรณีกำหนดนโยบายแค่หมวดกฎระเบียบ

เล็งสหรัฐงัดมาตรการสกัด

หลังจากสหรัฐให้แต่ละประเทศคู่ค้าชี้แจงเหตุผลการขาดดุลของสหรัฐแล้ว คาดการณ์กันว่าสหรัฐคงเตรียมออก 4-5 มาตรการ เพื่อสกัดการนำเข้าสินค้าต่าง ๆ ที่ทำให้ขาดดุล

โดยเฉพาะ 3 มาตรการสำคัญใน Trade Act of 1974 ใน Section 201 ให้อำนาจประธานาธิบดีสหรัฐใช้มาตรการปกป้อง (Safeguard) เป็นการชั่วคราว เพื่อบรรเทาความเสียหายร้ายแรง จากการนำเข้าสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่งที่เพิ่มมากขึ้น จนก่อให้เกิดผลเสียหายต่ออุตสาหกรรมภายในสหรัฐ อาทิ การขึ้นภาษี การจำกัดปริมาณนำเข้า การกำหนดโควตาภาษี เป็นต้น

ปัจจุบันสหรัฐได้มี การใช้มาตรการ 201 กับสินค้าโซลาร์เซลล์ที่นำเข้า โดยคณะกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกา (USITC) เนื่องจากอุตสาหกรรมภายในร้องเรียนว่าส่งผลกระทบ ขณะนี้อยู่ระหว่างการไต่สวนว่ามีผลกระทบหรือไม่ หากพบว่ากระทบจะมีการใช้มาตรการ จะมีผลกระทบต่อประเทศผู้ส่งออกทุกรายที่ส่งเข้าตลาดสหรัฐ โดยเฉพาะจีน ซึ่งเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่

Section 301 ใช้อำนาจของ USTR ไต่สวน เพื่อใช้มาตรการตอบโต้การปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม (unfair trade practices) รวมถึงการฝ่าฝืนข้อตกลงทางการค้า หรือนโยบายของคู่ค้าที่เลือกปฏิบัติที่ส่งผลกระทบต่อสหรัฐ นอกจากนี้ สหรัฐจะต้องเข้าสู่ขบวนการระงับข้อพิพาท ภายใต้ข้อตกลงต่าง ๆ กับประเทศคู่ค้า

ควบคู่กันไปด้วย อาทิ การระงับการยกเลิก การใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้า หรือขึ้นภาษีสินค้าของประเทศคู่ค้า โดยต้องคำนึงถึงความเหมาะสมด้วย

รวมถึง Special 301 ให้อำนาจ USTR ระบุรายชื่อประเทศคู่ค้าที่ไม่ให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเพียง พอและมีประสิทธิภาพ ในกรณีนี้ประเทศไทยปัจจุบันอยู่ในกลุ่มประเทศที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่ ต้องจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) ยังมีความน่าเป็นห่วง เนื่องจากสหรัฐมีอำนาจไต่สวนประเทศในกลุ่มนี้เมื่อไรก็ได้

นอกจากนี้ Super 301 ให้อำนาจ USTR จัดทำรายชื่อประเทศที่ไม่เปิดตลาด หรือมีมาตรการทางการค้าที่เป็นอุปสรรค และมีผลกระทบรุนแรงต่อสหรัฐ และจำเป็นต้องเร่งรัดแก้ไขปัญหา โดยมีกรอบเวลากำหนดให้ USTR เร่งเจรจา เพื่อแก้ไขปัญหากับประเทศคู่ค้าภายใน 90 วัน หากไม่สำเร็จ ต้องกำหนดแนวทางตอบโต้ต่อไป

สำหรับมาตรการนี้มีการประกาศใช้เป็น ระยะ และหมดอายุครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2544 ปัจจุบันไม่มีผลบังคับใช้ แต่การกำหนดให้ National Trade Estimate-NTE จัดทำรายงานการค้าที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นการสำรวจฝ่ายเดียวโดยสหรัฐ และกำหนดส่งรายงานทุกวันที่ 31 มีนาคมของทุกปี ซึ่งไทยถูกติดผลสำรวจดังกล่าวด้วย

ส่วน Trade Expansion Act of 1962 ใน Section 232 ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ เปิดการไต่สวน (Self-initiation) หากสหรัฐเห็นว่าการนำเข้าสินค้าใดก่อให้เกิดภัยคุกคามต่อความมั่นคงของ ประเทศ ประธานาธิบดีสหรัฐสามารถพิจารณาลดหรือจำกัดการนำเข้าสินค้าดังกล่าว หรือใช้มาตรการที่เหมาะสมอื่น ๆ แทนได้ โดยในกรณีนี้ ความน่าเป็นห่วงอยู่ตรงที่คำว่า national security ซึ่งไม่มีคำนิยามที่ชัดเจน จึงมีผลต่อสินค้าใดที่สหรัฐพิจารณาว่าเป็นภัยคุกคามได้ ปัจจุบันมาตรการนี้ได้ถูกใช้กับสินค้าเหล็ก ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะมีการใช้มาตรการใด เช่น ห้ามนำเข้า ขึ้นภาษี เมื่อพิจารณาแล้วว่ากระทบจริง

สำหรับ Tariff Act of 1930 ใน Section 337 ห้ามการนำเข้าสินค้าที่ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมทางการค้า ที่เกี่ยวกับการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

ทั้งนี้ การที่สหรัฐจะนำมาตรการต่าง ๆ มาใช้ ต้องคำนึงถึงพันธสัญญาและข้อผูกพันภายใต้ WTO ด้วย ขณะที่ไทยพร้อมชี้แจงผลการขาดดุลการค้ามาจากหลายปัจจัย ทั้งจากสหรัฐเข้ามาลงทุนในไทยเพื่อส่งออก บางสินค้าสหรัฐไม่สามารถผลิตได้ รวมถึงสินค้าที่สหรัฐต้องการนำเข้า ไทยมั่นใจในการชี้แจงข้อมูลอย่างเต็มที่ แต่สหรัฐจะเดินเกมอย่างไรต่อไป ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

อุตฯ เร่งเชื่อมโครงสร้างพฐ. EEC หลังธุรกิจขนาดใหญ่สนใจลงทุน 

          แนวทางแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจรัฐบาลช่วงนี้มีนโยบายออกมาค่อนข้างหลายอย่าง แต่ที่จับต้องได้แบบเป็นรูปธรรม ยังไม่ค่อยมี ที่น่าสนใจมากสุดคือ โครงการระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก หรือEEC ที่ต้องการขยายเศรษฐกิจภาคตะวันออก ตามโครงการเต็มระบบ ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าการลงทุน1.5 ล้านล้านบาท ถ้ามีการลงทุนเกิดขึ้นจริง

          เป้าหมายของ EEC คือ

          1.ยกระดับความสำคัญของประเทศไทยในเอเชีย โดยตั้งเป้าหมายเป็นฐานเชื่อมโยงกลุ่มประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม หรือที่เราเรียกว่าซีแอลเอ็มวี และบวกกับประเทศในอาเซียนอย่างจีน อินเดีย ให้เข้ากันกับประเทศไทย รวมทั้งให้เป็นฐานการผลิตและบริการชั้นนำของเอเชียด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยสุดท้ายต้องทำให้กรุงเทพฯและอีอีซีเชื่อมต่อเป็นเขตเมืองที่อยู่อาศัยที่น่าอยู่ระดับแนวหน้าของเอเชียให้ได้

          2.ผลักดันการปรับโครงสร้างประเทศสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยการทำให้ประเทศไทยพ้นจากกับดักอัตรารายได้ของประชากรขั้นกลาง ภายใน 15 ปีด้วยการลงทุนอย่างเต็มประสิทธิภาพ เต็มรูปแบบนโยบายประชารัฐ ซึ่งต้องเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทุกกิจการ ทั้งเกษตร อุตสาหกรรม บริการและท่องเที่ยว รวมถึงสร้างคนไทย 4.0 ด้วยการหลอมรวมการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ การผลิตใหม่และธุรกิจแบบใหม่ๆ

          3. คือต้องสร้างประโยชน์ให้ประชาชนในพื้นที่ยกระดับรายได้ของครัวเรือนสู่กลุ่มรายได้ระดับสูง

          สร้างงานคุณภาพกว่า 100,000 ตำแหน่งต่อปี และให้มีโรงเรียน โรงพยาบาลระดับนานาชาติที่ประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้ง่าย พร้อมกับดูแลสิ่งแวดล้อมระดับสากลด้วยการผลิตสมัยใหม่ และมีกองทุนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก เพื่อพัฒนาท้องถิ่นและชุมชน

          ที่สำคัญยังมีโครงการขนาดใหญ่ 2 โครงการหลัก คือ

          1.โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา2.การพัฒนารถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯระยอง ที่จะขยายเชื่อมต่อระหว่าง 3 สนามบินหลักของประเทศ ได้แก่ อู่ตะเภา สุวรรณภูมิ และดอนเมือง มูลค่าลงทุน 1.58 แสนล้านบาท มูลค่ารวมทั้ง 2 โครงการ 3.58 แสนล้านบาท นอกจากนี้ยังมีการติดตามความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 โครงการรถไฟทางคู่และพัฒนาเมืองใหม่ ที่จะรองรับการเติบโตเขตพื้นที่ จ.ชลบุรี

          ล่าสุด นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2560 มีการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ พิเศษภาคตะวันออกที่กระทรวงอุตสหกรรม มีวาระสำคัญคือ การติดตามความคืบหน้า ผลการชักชวนนักลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายรายสำคัญ ให้เข้าลงทุนในพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) พบว่ามีนักลงทุนหลายรายให้ความสนใจลงทุน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า และส่วนประกอบ ประกอบด้วย โตโยต้า เซี่ยงไฮ้ มอเตอร์ บีเอ็มดับบลิว ซูซูกิ และเมอร์เซเดสเบนซ์

          ทางด้าน บริษัท ฟูจิฟิล์ม สนใจลงทุนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเมดิคอล ฮับ หรือศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ บริษัท ลาซาด้า สนใจลงทุนจัดตั้งศูนย์กลางการกระจายสินค้าไปสู่ประเทศในภูมิภาคอาเซียนและประเทศอื่นๆ และบริษัท ซาป สนใจจัดตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงและผลิตอะไหล่เครื่องบิน นอกเหนือจากบริษัทแอร์บัส ที่อยู่ระหว่างการทำข้อตกลงทุนกับการบินไทยทั้งด้านอู่ซ่อมและการส่งสินค้า

          ที่ประชุมรับทราบโครงการลงทุนท่าเรือหลัก3 แห่ง คือ แหลมฉบัง สัตหีบ มาบตาพุด โดยเป้าหมายพัฒนาท่าเรือ 3 แห่ง เพื่อเพิ่มปริมาณการรับสินค้าของท่าเรือให้เพียงพอกับการขยายตัวของอีอีซีในอนาคต และการเชื่อมโยงท่าเรือโดยระบบรถไฟทางคู่ เพื่อลดต้นทุนการขนส่ง ปรับโครงสร้างการขนส่งให้เหมาะสม ลดความแออัดและอุบัติเหตุทางถนน เป็นประโยชน์ต่อระบบขนส่งของประเทศ โดยมีมติให้ 4 หน่วยงาน คือ การรถไฟแห่งประเทศไทยการท่าเรือแห่งประเทศไทย การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศ และการท่าเรือสัตหีบ เร่งจัดทำแผนแม่บทโครงข่ายรถไฟทางคู่เชื่อมโยง 3 ท่าเรือ และพัฒนาระบบขนส่งสินค้าอย่างไร้รอยต่อให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือนเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายEEC ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานพิจารณา

          ที่ประชุมยังมีมติจัดตั้งเขตส่งเสริมอุตสาหกรรม และนวัตกรรมดิจิทัลหรือ EECD เป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ โดยให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ศึกษาความเหมาะสมโครงการเพิ่มเติม ให้สร้างประโยชน์ต่อท้องถิ่น มีมาตรการเยียวยาผลกระทบต่อประชาชนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต มีแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน มีแผนที่แนวเขตชัดเจน และมีแผนการเผยแพร่ผลการศึกษาเพื่อรับฟังความเห็นประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อนำเสนอคณะกรรมการนโยบาย EEC ในครั้งต่อไป

          อีกโครงการหนึ่งคือ การส่งเสริมให้ SME มีความเข้มแข็ง เนื่องจาก SME ขนาดเล็ก ยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในโครงการต่างๆ ที่ภาครัฐให้ความช่วยเหลือได้เท่าที่ควร เบื้องต้นจะแก้ไขหลักเกณฑ์การใช้ความช่วยเหลือบางประการเพื่อนำงบประมาณจาก กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอี ตามแนวทางประชารัฐ 20,000 ล้านบาท กองทุนฟื้นฟูเอสเอ็มอี 2,000 ล้านบาท กองทุนพลิกฟื้นเอสเอ็มอี1,000 ล้านบาท และ จากโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ15,000 ล้านบาท รวมวงเงิน 38,000 ล้านบาทขยายความช่วยเหลือ ไปยังไมโครเอสเอ็มอี รวมถึงฝึกอบรมให้ ความรู้ พัฒนาทักษะ การออกแบบ การตลาด นำไปสู่การเชื่อมโยงกับนโยบายขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล

          โดยมาตรการสำหรับ ไมโครเอสเอ็มอี จะเป็นความช่วยเหลือแบบครบวงจร ช่วยให้เกิดการปรับตัวและปรับเปลี่ยนไปสู่เอสเอ็มอี 4.0 ได้ เพราะจะครอบคลุมเอสเอ็มอีทุกระดับ ทุกพื้นที่ คาดจะมีมาตรการสรุปออกมาชัดเจนและเริ่มปฏิบัติการทันทีในปลายเดือนพฤษภาคมนี้

          นอกจากนี้ ยังมีโครงการเอสเอ็มอีสัญจรลงพื้นที่นำร่อง 8 จังหวัด เพื่อรับฟังปัญหาข้อเสนอและความต้องการรับความช่วยเหลือของเอสเอ็มอีในระดับภูมิภาค ระดับจังหวัด ได้แก่ ภาคเหนือ เชียงใหม่ และพิษณุโลก ภาคกลางที่ นครปฐม และชลบุรี ภาคอีสานที่อุดรธานี และอุบลราชธานี ภาคใต้ได้แก่ กระบี่ และสงขลา

          กระทรวงอุตสาหกรรมมี 3 ภารกิจสำคัญที่จะผลักดันให้เห็นเป็นรูปธรรมคือ 1.การยกระดับอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) 2.การสร้างความเข้มแข็งและพัฒนาเอสเอ็มอี 3.การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ (EEC) ที่จะมีความก้าวหน้าให้เห็นตลอดปี 2560

          "การส่งเสริม SME มีหลายหน่วยงานทำงานด้านนี้ ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรม มีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เป็นหน่วยงานหลักซึ่งมีแผนดำเนินงานภายใต้ งบประมาณ 485 ล้านบาท คาดว่าจะสนับสนุน SME ได้ 7,000 ราย แบ่งเป็น 3 แนวทางคือ 1. สร้างและพัฒนาผู้ประกอบการใหม่เชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรม 2. การส่งเสริมเอสเอ็มอีทั่วไปจะพัฒนาให้มีศักยภาพและผลิตภาพมากขึ้น  และให้ความช่วยเหลือ SME รายที่ประสบปัญหาธุรกิจ 3. SME ที่มีศักยภาพจะทำให้มีความสามารถทางการแข่งขันมากขึ้น" นายอุตตมกล่าว

          โครงการเร่งด่วนที่สำคัญอีกโครงการหนึ่งคือคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(กรศ.) มีมติให้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) เป็นเจ้าภาพร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)การท่าเรือแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันจัดทำแผนแม่บทพัฒนาระบบรถไฟรางคู่เชื่อมเข้ากับ 3 ท่าเรือ (แหลมฉบัง- สัตหีบ-มาบตาพุด) อย่างไร้รอยต่อ เพื่อทำให้ระบบการขนส่งสินค้ามีประสิทธิภาพมากขึ้นในการรองรับการเติบโตการลงทุนในพื้นที่อีอีซี โดยขอให้ศึกษาเสร็จภายใน 1 เดือน เพื่อนำเสนอ กรศ. วันที่ 26 พ.ค.พิจารณารายละเอียดก่อนนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาเขต ศก.ภาคตะวันออก ที่มีนายกฯ เป็นประธานในวันที่ 16 มิ.ย.

          การขนส่งระบบรางเป็นเรื่องใหญ่ นักลงทุนให้ความสนใจเรื่องนี้มากถ้าระบบรถไฟขนคน ขนของ ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ อุตสาหกรรมและเมืองก็เกิดลำบากมาก โครงข่ายพื้นฐานจึงสำคัญและช่วยให้ประสานการรถไฟ ให้พิจารณาการเชื่อมโยงระบบขนส่งจาก EEC ไปยังกัมพูชา ผ่านทางอรัญประเทศ ที่ดำเนินการอยู่ให้เร็วขึ้น

          นอกจากนี้ ยังได้พิจารณาเรื่องของพลังงานให้เพียงพอในพื้นที่ EEC โดยเฉพาะไฟฟ้าเป็นหลักเพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่ๆ ซึ่ง กระทรวงพลังงาน โดย สำนักนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.)ได้รายงานคืบหน้าที่จะทำการศึกษาเชิงลึกว่าความต้องการใช้ไฟใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เป็นอย่างไร ซึ่งเบื้องต้นปริมาณไฟที่ต้องการใช้มากขึ้นอีก 400 เมกะวัตต์ ในปี 2579 ซึ่งระยะสั้นยังเพียงพอ แต่ในอีก5ปีข้างหน้าอาจไม่พอจำเป็นต้องศึกษาเชิงลึกหาแนวทางรองรับทั้งปริมาณที่เพียงพอและคุณภาพที่รองรับอุตสาหกรรมที่เป็นอี-คอมเมิร์ซพาร์ค ซึ่งสำคัญไฟต้องนิ่ง

          ที่ประชุมยังเห็นชอบประกาศให้ จัดตั้งเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัล (EECD) โดยให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ศึกษาความเหมาะสมของโครงการเพิ่มเติม เพื่อให้มีส่วนในการสร้างประโยชน์ต่อประชาชนในท้องถิ่น และมีมาตรการเยียวยาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน พร้อมกำหนดให้มีแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตส่งเสริมและแผนที่แนวเขตที่ชัดเจน แผนการเผยแพร่ผลการศึกษาเพื่อรับฟังความเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย ประชาชน และชุมชนที่เกี่ยวข้อง พร้อมการนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพิจารณาในครั้งต่อไป

          นายอุตตม กล่าวอีกว่า ตนยังได้เสนอให้ทางการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)ไปจัดพื้นที่รองรับวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม(SME) รองรับในพื้นที่ EEC ด้วยโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เช่น การใช้ห้อง LAB ทดลองงานเบื้องต้น

จาก http://www.siamrath.co.th  วันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 

ทางแพร่งในแปลงเกษตรไทย 

          ให้ยาแรงหยุดเคมีเกษตร

          คณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ที่มี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานการประชุมแถลงข่าวเมื่อวันที่ 5 เมษายน ว่า ที่ประชุมครั้งที่ 4/2560 มีมติเห็นชอบให้ยกเลิกการใช้สารเคมีเกษตร 2 ตัว คือ พาราควอตกับ คลอร์ไพริฟอส โดยให้จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ไม่อนุญาตให้ใช้ ระหว่างนี้ไม่อนุญาตให้ขึ้นทะเบียนเพิ่ม ไม่ต่ออายุทะเบียน ให้ยุติการนำเข้าภายในวันที่ 1 ธันวาคม 2560 และยุติการใช้สิ้นเชิง 1 ธันวาคม 2562

          การประชุมดังกล่าวมีหน่วยงานเข้าร่วมประกอบด้วย นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญจาก กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล มูลนิธิการศึกษาไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช

          ทั้งนี้ เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการและเกษตรกร มีเวลาเตรียมตัวหาทางเลือกอื่นและจัดการกับผลิตภัณฑ์คงค้างในตลาด โดยมีแผนปฏิบัติการเพื่อลด ละ เลิก การใช้พาราควอต  และคลอร์ไพริฟอส คือ 1.กำหนดเพดานปริมาณการนำเข้า อ้างอิงจากค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี 2.ให้บริษัทรายงานปริมาณการนำเข้าปริมาณการขายและปริมาณคงค้างแก่กรมวิชาการเกษตร และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ทุก 3 เดือน 3.บริษัทเรียกคืนผลิตภัณฑ์คงค้างในตลาดให้แล้วเสร็จภายใน 31 ธันวาคม 2562 4.เฝ้าระวัง/สุ่มตรวจร้านค้า และเฝ้าระวังการตกค้างในผลผลิตและสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมาพบว่ามีการนำเข้าพาราควอตมากถึง 128 บริษัท และคลอร์ไพริฟอสถึง 81 บริษัท

          "พาราควอต" คนทั่วไปมักรู้จักกันในชื่อการค้า "กรัมม็อกโซน" เป็นสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีพิษเฉียบพลันสูงและไม่มียาถอนพิษ ส่วน "ไกลโฟเสต" หรือที่รู้จักกันในชื่อทางการค้าว่า "ราวด์อั้พ" ในขณะที่ "คลอร์ไพริฟอส" กำจัดแมลงศัตรูพืช ที่เน้นเฉพาะพาราควอต เพราะเกษตรกรนิยมใช้กันมากเป็นอันดับ 2 รองจากไกลโฟเสต

          ทั้งนี้ ไกลโฟเสต จะไม่ได้ห้ามใช้เด็ดขาดแต่จะมีมาตรการจำกัดอนุญาตให้ใช้ในส่วนที่จำเป็นเท่านั้น และจะงดใช้ในพื้นที่ใกล้โรงพยาบาล โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก รวมถึงในพื้นที่อุทยาน พื้นที่สูง เพราะสารปนเปื้อนจะกระจายไปได้ทั้งหมด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการกำหนดขอบเขต โดยจะกำหนดข้อบังคับใช้ไว้ใน พ.ร.บ.ของแต่ละกระทรวง

          ทั้งนี้ "จากความร่วมมือกันของรัฐบาล ประชารัฐและเอกชนในครั้งนี้ ทำให้เห็นภาพสว่างว่านับจากปัจจุบันเป็นต้นไป ประชาชนจะได้รับการดูแลให้มีผักผลไม้ที่ปลอดสารพิษและมีราคาที่ถูกลง" นพ.ปิยะสกล กล่าว

          คำถามจากคนใช้สาร         

          คณะกรรมการชุด นพ.ปิยะสกล มีมติให้เลิกใช้สาร 2 ชนิด ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็ตั้งวงขึ้นเมื่อวันที่ 25 เมษายน โดยมีกรมวิชาการเกษตรในฐานะเจ้าภาพได้จัดเวทีรับฟังข้อคิดเห็น และรวบรวมข้อมูลจากทุกภาคส่วนประกอบการพิจารณาการควบคุมสารเคมีอันตราย คือ พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส ซึ่งการประชุมครั้งนี้เจ้าภาพส่งเทียบเชิญผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตั้งแต่เกษตรกร นักวิชาการทั้งภาครัฐและเอกชน เครือข่ายเตือนภัยเกษตรกร รวมถึงผู้ประกอบการนำเข้า จัดจำหน่าย มารับฟังแลกเปลี่ยนร่วมกันถึงข้อมูลทางวิชาการและข้อกังวลด้านสุขภาพ โดยมีสุวิทย์ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร นั่งหัวโต๊ะแจ้งให้ทุกภาคส่วนที่เข้าร่วมประชุมรับทราบว่าผลจากการประชุมครั้งนี้เพื่อรวบรวมข้อมูลประกอบการควบคุมวัตถุอันตราย แต่ยังไม่ใช่ประชาพิจารณ์

          สุกรรณ สังข์วรรณะ เกษตรกรดีเด่น จ.สุพรรณบุรี ปราชญ์ชาวบ้านและประธานศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ความเห็นว่า ขณะนี้เกษตรกรมีความห่วงกังวลถึงการบริหารจัดการวัชพืชในไร่นาของเกษตรกรในอนาคต หรือเกษตรกรต้อง หันไปใช้วิธีถอนหญ้าด้วยมือ หรืออุปกรณ์กำจัดวัชพืชแบบ ดั้งเดิม

          สุกรรณ ยกตัวอย่างว่า หากต้องการจะถอนหญ้าในแปลงขนาด 1 ไร่ใน 1 วัน แรงงาน 1 คนสามารถถอนหญ้าได้ 16 ตร.ม.ต่อ ชม. ถ้าต้องถอน 1 ไร่ต้องใช้แรงงาน 14 คน มีต้นทุนค่าแรงอยู่ที่เฉลี่ย 300 บาท ดังนั้นหากต้องการถอนหญ้าในแปลงจะมีต้นทุนอยู่ที่ 4,200 บาทต่อไร่ ในขณะที่ถ้าใช้สารเคมีจะมีต้นทุนอยู่ที่ 100 บาทต่อไร่ และเกษตรกรก็ใช้สาร (ที่ถูกห้าม) เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

          "สารเคมีที่ถูกสั่งแบนเหล่านี้มีความจำเป็นในภาคการผลิต เกษตรกรต้องหามาใช้ให้ได้ ไม่มีหน้าร้านก็หาได้จากหลังร้าน วันนี้ถ้ารัฐสั่งแบนแล้วสารเหล่านี้จะลงใต้ดิน จะไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้ เป็นการสร้างปัญหาใหม่ขึ้นมา วันนี้ 17 ล้านครัวเรือนเป็นภาคการเกษตร นอกจากเป็นผู้ผลิตที่สัมผัสสารเคมีโดยตรงแล้วยังเป็นผู้บริโภคเช่นเดียวกับกลุ่มผู้มีความเสี่ยงอื่นตามที่ คณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีออกมาอ้าง ดังนั้นปัญหาน่าจะอยู่ที่วิธีการบริหารจัดการสารเคมีมากกว่าความเป็นพิษ" สุกรรณกล่าว

          สุกรรณเสนอว่า วันนี้รูปแบบการใช้สารเคมีของภาคการเกษตรเปลี่ยนไป คนใช้จริงสัมผัสกับสารโดยตรงกลายเป็นผู้มีอาชีพรับจ้างฉีดพ่น หากกรมสามารถจัดหลักสูตรอบรมสอนการ ฉีดพ่นการใช้สารอย่างถูกต้องพร้อมออกใบรับรองให้สามารถทำงานรับจ้างฉีดพ่นได้อย่างถูกกฎหมาย ปัญหาความเป็นพิษจากการสัมผัสจะลดลงไป ในขณะที่การขึ้นทะเบียนเกษตรกรจะช่วยคัดกรองการซื้อสารเคมีจากร้านค้าที่ได้รับการรับรองจากกรมจะช่วยให้ปัญหาการรับพิษ หรือเฝ้าระวังการนำไปใช้ไม่ถูกประเภทลดลงไปได้

          ธรรมนูญ ยิ่งยืน

          เกษตรกรชาวไร่มันสำปะหลังและข้าวโพดใน อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา กล่าวว่า ยังไม่มีข้อมูลถึงผลกระทบ ด้านเศรษฐกิจ สังคม ในขณะที่ผลกระทบด้านสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมยังเป็นข้อมูลที่เก็บตัวอย่างมาจากโรงพยาบาล ซึ่งต้องมีผู้ป่วยเข้ามารับการรักษาอย่างแน่นอน ยังไม่สามารถนำมาเป็นข้อมูลชัดเจนถึงสาเหตุความเจ็บป่วยได้ อยากให้ไปเก็บตัวอย่างจากเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ที่มีความหลากหลายของการผลิตการเกษตรแต่ละชนิด มีโอกาสใช้สารเคมีปัจจัย ทางการผลิตจริงนำมาเปรียบเทียบจึงจะทำให้ข้อมูลมีความ สมบูรณ์ขึ้น ส่วนข้อมูลในด้านอื่นๆ เช่น เศรษฐกิจนั้น หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจต้องออกมาพูดกันว่าวันนี้ภาคการเกษตรเราสามารถทำรายได้ให้ประเทศเท่าไหร่ มีการลงทุนด้านไหน ไปบ้าง อย่างไร

          "ผมทำพืชไร่มีทั้งมันสำปะหลังกับข้าวโพด 2 ตัวนี้ต้องใช้ สารเคมีอย่างเดียวในการดูแลเพื่อให้ได้ผลผลิตที่สูงและมีคุณภาพในสถานการณ์ที่ดินฟ้าอากาศไม่อำนวย สารเคมีเหล่านี้ช่วยได้มาก ทั้งเรื่องคุมวัชพืชและศัตรูพืช ซึ่งเกษตรกรในอุตสาหกรรมเกษตรใช้ตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด ใช้เป็นช่วงเวลาไม่ใช่ตลอดเวลาหากต้องมีการแบนจริงสารตัวใหม่ที่ใช้ทดแทนราคาไม่ได้ ถูกกว่า ในขณะที่ต้นทุนส่วนอื่นสูงขึ้น แต่ราคาผลผลิตกลับตกต่ำสวนทางลงกว่า 20% จากที่รัฐกำหนดราคารับซื้อไว้ ผมมองว่าปัญหาไม่ใช่อยู่ที่ความเป็นพิษของมัน แต่อยู่ที่ระบบการบริหารจัดการ คือใครเป็นคนใช้ จัดเก็บอย่างไร ใครเป็นคนขาย ทุกคน ต้องมีความรู้ที่จะนำไปใช้ ข้อมูลวันนี้อยากให้ภาครัฐนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์เพื่อกำหนดมาตรการการบริหารจัดการให้ ชัดเจน"

          ด้าน กิตติ ชุณหวงศ์

          นายกสมาคมวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย ได้ให้ทัศนะว่า สารเคมีเป็นสิ่งที่เป็นอันตรายหากใช้ผิดประเภท หรือเกินคำแนะนำเป็นข้อมูลที่ทุกคนทราบ แต่ไม่มีหน่วยงานทางวิชาการของภาคการเกษตรออกมาพูดถึงตัวเลขสากลที่รับได้ในค่ามาตรฐานให้สังคมคลายกังวล กลับปล่อยให้หน่วยงานที่ทำหน้าที่ด้านสุขภาพของคนมาให้ข้อมูลเพียง ด้านเดียว จนทำให้สังคมเกิดคล้อยตามข้อมูลด้านสุขภาพจนลืมไปว่าในข้อมูลด้านมหภาคทางเศรษฐกิจมีเหตุผลอย่างไรในการนำเข้าสารเคมีดังกล่าวเข้ามาใช้

          กิตติ ได้ยกตัวอย่างภาคการผลิตอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยที่มีพื้นที่เพาะปลูกทั่วประเทศราว 10 ล้านไร่มีตัวเลขผลผลิตต่อปีประมาณ 100 ล้านตัน มูลค่าการส่งออกอยู่ที่แสนล้านบาท ไทยส่งออกน้ำตาลและผลผลิตน้ำตาลในรูปแบบอื่นปัจจุบันสูงเป็นอันดับ 4 ของโลกรองจากบราซิล อินเดีย และจีน แต่ในภูมิภาคอาเซียนไทยส่งออกคิดเป็นปริมาณ 50% ของการบริโภค ในขณะที่อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยกำลังมุ่งไปที่พลังงานทดแทน ผลิตภัณฑ์ไบโอพลาสติก ไทยเป็นผู้นำของภูมิภาคอาเซียน จำเป็นที่พืชไร่อย่างอ้อยยังต้องพึ่งพาการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในพื้นที่ไร่อ้อยขนาดใหญ่และในกระบวนการปลูกอ้อยเองใช้สารเคมีสำหรับศัตรูพืชและวัชพืชอยู่ที่ประมาณ 500 บาทต่อไร่ ในขณะที่ต้นทุนรวมอยู่ที่ 9,000 บาทต่อไร่ ถือว่ายังน้อยหากเทียบกับต้นทุนการผลิต ทั้งหมด

          "ปัญหานี้เป็นเรื่องการบริหารจัดการถ้าทำอย่างเป็นระบบมีการขึ้นทะเบียนเกษตรกรว่าใครได้รับอนุญาตให้ใช้ ขึ้นทะเบียนร้านค้า ใครเป็นคนขาย ขึ้นทะเบียนสารเคมีอย่างถูกต้องมีหลักเกณฑ์ชัดเจน รวมถึงจัดอบรมเจ้าหน้าที่แนะนำสารเคมีประจำร้าน หรือนำเจ้าของร้านที่ผ่านการขึ้นทะเบียนมาอบรมรับใบรับรองว่าเป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจในการแนะนำผลิตภัณฑ์เช่นเดียวกับเภสัชกรประจำรู้ร้านขายยา ตรงนี้จะช่วยทำให้ปัญหานี้ถูกแก้ไข ตรงจุดคือระเบียบและกฎเกณฑ์ที่กรมวิชาการเกษตรในฐานะผู้มีบทบาทหน้าที่โดยตรงต้องมีความทันสมัย ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของโลก มีความชัดเจน มีงานวิจัยของกรมที่หนักแน่นสร้างความน่าเชื่อถือ ป้องกันความสับสนที่อาจเกิดขึ้นตอบข้อสงสัยของสังคมได้" กิตติกล่าว

          มหันตภัยยาปราบศัตรูพืช

          ฟงความจากฝ่ายที่ให้เหตุผลถึงความจำเป็นของ "เคมีเกษตร" ในภาคการผลิตไปแล้ว มาดูความเห็นของฝ่ายที่สนับสนุนให้ยกเลิกการใช้สารอันตรายทั้งสองชนิดกันบ้างเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ "ไทยแพน" (Thai-PAN) ได้สำรวจและจัดทำรายงานผลการปนเปื้อนของสารพิษกำจัดศัตรูพืชตกค้างในผักผลไม้ของประเทศไทยปี 2559 พบการตกค้างเกินมาตรฐานถึงร้อยละ 51 สอดคล้องกับข้อมูลจากมหาวิทยาลัยมหิดลที่พบว่าผักผลไม้ในท้องตลาดมีสารพิษตกค้างสูงตั้งแต่ร้อยละ 90-100

          โดยสาเหตุต้องสั่งห้ามนำเข้าและห้ามใช้"พาราควอต" เนื่องจากเป็นยาฆ่าหญ้าที่ได้รับความนิยมแพร่หลายแต่มีพิษตกค้างอันตรายต่อมนุษย์ขั้นรุนแรง โดยชื่อการค้าวางขายในท้องตลาด คือ กรัมม็อกโซน, แอคชั่น, อะโกรควอท, อะโกรโซน, เฮอโบโซน, เฮอบิคิว, พาราควอต, พารา, พาราโค และอื่นๆ อีกกว่า 200 ชื่อ นับเป็นสารเคมีนำเข้ามาก คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 20 ของสารเคมีที่ประเทศไทยนำเข้าทั้งหมด

          เนื่องจากพิษของ พาราควอตร้ายแรง หากสะสมในร่างกายต่อเนื่องอาจเป็นสาเหตุของโรคพาร์กินสันและโรคเกี่ยวกับระบบประสาท ผิวหนังเน่า ฯลฯ ยิ่งไปกว่านั้นยังตกค้างในสิ่งแวดล้อม น้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน สัตว์น้ำ ฯลฯ หลายประเทศจึงไม่อนุญาตให้ใช้เช่น จีน เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย รวมถึงประเทศในแถบยุโรปเกือบทั้งหมด รัฐบาลไทยจึงมีนโยบาย เลิกนำเข้าและเลิกใช้ด้วยเช่นกัน เนื่องจากปัจจุบันมีสารตัวอื่นใช้ทดแทนพาราควอตได้ เช่น "กลูโฟซิเนต-แอมโมเนีย" หรือ "นิโครซัลฟูรอน"

          ส่วนสารพิษถูกสั่งแบนอีกตัวหนึ่ง "คลอร์ไพริฟอส" นั้น เป็นกลุ่มสารพิษกำจัดศัตรูพืช หรือ "ยาฆ่าแมลง" พบพิษร้ายตัวนี้ตกค้างมากสุดในผักและผลไม้ รวมถึงเป็นยาฆ่าแมลงที่มีตัวเลขนำเข้าสูงสุด ผลการศึกษาวิจัยหลายชิ้นรายงานตรงกันว่า คลอร์ไพริฟอสส่งผล กระทบต่อการเจริญเติบโตของสมองเด็กอย่างถาวร ทำให้ความจำสั้น ไอคิวต่ำ ฯลฯ ประเทศต่างๆ ทั่วโลกประกาศเลิกใช้แล้วเช่น จีน อเมริกา สหภาพยุโรป ฯลฯ ชื่อสินค้าของ "คลอร์ไพริฟอส" วางขายในท้องตลาด ได้แก่ลอร์สแบน คลอร์ไพริฟอส 40 คลอริดิน 40 ไดแอน 40 ฯลฯ โดยกรมวิชาการเกษตรแนะนำให้ใช้สารเคมีทดแทนหลายชนิด มีคุณสมบัติคล้ายคลึงกัน เช่น ฟิโพรนิล ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช แสดงความเห็นต่อการแบนหรือสั่งห้ามใช้สารพิษทั้ง 2 ชนิดข้างต้นว่า เป็นนิมิตหมายอันดี เพราะภาคประชาชนเรียกร้องมานานหลายปีแล้ว เนื่องจากสารพิษทั้ง 2 ชนิดทำให้เกิดผลเสียกับร่างกายผู้บริโภคและสะสมพิษต่องเนื่องสิ่งแวดล้อมมานาน ประกอบกับปัจจุบันมีสารเคมีเกษตรคุณสมบัติดีกว่าให้เลือกใช้หลายชนิด แต่เกษตรกรยังไม่ค่อยรู้จัก แม้ว่าราคาอาจแพงกว่า แต่ปริมาณใช้ก็น้อยกว่า ทำให้ต้นทุนในส่วนนี้ไม่แตกต่างกันมากนัก

          "โดยเฉพาะตัวพาราควอต เป็นยาฆ่าหญ้าใช้เกือบทุกพื้นที่แปลงเกษตรทั่วประเทศไทย ข้าวโพด อ้อย สวนยาง มันสำปะหลัง ฯลฯ ตามหลักการแล้ววิธีกำจัดหญ้าหรือวัชพืชสามารถใช้ได้หลายวิธีเพื่อความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค เช่น ใช้รถไถเอาหญ้าออก ใช้สารธรรมชาติกำจัดวัชพืช เราไม่แนะนำการใช้ยาฆ่าหญ้าเป็นทางเลือกแรก ถึงเวลาที่เกษตรกรไทยควรปรับตัว ปรับวิธีการเปลี่ยนไปสู่ทางเลือกที่เหมาะสม และแปลงเกษตรทั่วโลกต่างสนับสนุนให้เลิกใช้พาราควอตแล้ว ไม่ใช่เพื่อปกป้องผู้บริโภคอย่างเดียว แต่เพื่อปกป้องชีวิตชาวไร่ชาวสวนด้วย" ตัวแทนเครือข่ายเตือนภัยแนะนำ

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 

อุตฯทุ่มงบหนุนยุทธศาสตร์รัฐบาล 

          กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งถือเป็น หน่วยงานหลักสำหรับการขับเคลื่อนด้านอุตสาหกรรมของประเทศ ได้รับการจัดทำงบประจำปี 2561 ลดลงเล็กน้อย

          แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวว่าขั้นตอนขณะนี้อยู่ในขั้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งคาดว่าจะชี้แจงได้ในช่วงต้นเดือนมิ.ย.นี้

          ล่าสุด สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณให้ในปีงบประมาณ 2561 อยู่ที่ 5,901 ล้านบาท น้อยกว่าปีงบประมาณ 2560 ที่ได้รับงบ 5,922 ล้านบาท หรือลดลง 21 ล้านบาท แบ่งออกเป็น เงินเดือนและค่าใช้จ่ายประจำ 1,617 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา แผนงานพื้นฐาน 817 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่มีจำนวน 1,691 ล้านบาท แผนงานบูรณาการ 2,770 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีจำนวน 1,732 ล้านบาท แผนงานเชิงยุทธศาสตร์ 695 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่มีจำนวน 719 ล้านบาท

          "แม้ว่าจะได้รับงบประมาณที่ลดลง แต่ก็ได้จัดสรรเพิ่มเติมในส่วนของงานแผนงานบูรณาการที่เป็นงบประมาณในส่วนที่เป็นยุทธศาสตร์ของรัฐบาลในส่วนของอุตสาหกรรมเป้าหมาย และส่งเสริมเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นสัดส่วนของงบประมาณที่มากที่สุดของกระทรวงอุตสาหกรรม"

          ในส่วนของงบแผนการบูรณาการในปี 2561 จำนวน 2,770 ล้านบาท แบ่งออกเป็น การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย 1,286 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนที่มีจำนวน 840 ล้านบาท การส่งเสริมเอสเอ็มอี 567 ล้านบาท มากกว่าปีก่อนที่มีจำนวน 485 ล้านบาท การพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ 286 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนที่มีจำนวน 140 ล้านบาท การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) 122 ล้านบาท

          นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จะพยายามต่อรองกับคณะกรรมาธิการไม่ให้ตัดลดงบประมาณของกระทรวงอุตสาหกรรมที่ได้รับ 5.9 ล้านบาท ลงอีก เพราะงานหลักของกระทรวงอุตสาหกรรมขณะนี้ล้วนเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาของประเทศชาติ

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 

กระทรวงอุตฯยัน ลอยตัว "น้ำตาล" เลิกระบบโควต้า ผู้บริโภคไม่กระทบ

ช่วงหลายปีมานี้ ในแวดวงของอุตสาหกรรมน้ำตาลทราย ทั้งหน่วยงานกำกับ คือ กระทรวงอุตสาหกรรม ผู้ผลิต คือ ชาวไร่อ้อย และโรงงานน้ำตาลทรายมีการหยิบยกประเด็นการลอยตัวน้ำตาลทราย ภายใต้ภาพใหญ่คือการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายขึ้นมาหารือ ที่จำเป็นต้องปรับแก้เพราะ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งมีการบังคับใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2527 ขณะที่โลกการค้าปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะด้านการค้าโลกที่ดุเดือด มีการช่วงชิงจังหวะแบบหมัดต่อหมัด

เพราะอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทย ถูกประทับตราว่าเป็นสินค้าการเมืองสำคัญชนิดหนึ่ง มีผลประโยชน์ มีการกำหนดสัดส่วนรายได้จากผลผลิตอ้อย กระบวนการแปรรูปเป็นน้ำตาล ไปจนถึงการนำผลผลิตพลอยได้อย่างกากน้ำตาล (โมลาส) ชานอ้อย ฯลฯ มาสร้างมูลค่า เมื่อมีการหยิบยกประเด็นปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลขึ้นมาทีไร จึงมักถูกต่อต้าน โดยเฉพาะจากกลุ่มชาวไร่ ที่เป็นผู้ผลิตต้นทาง ซึ่งกังวลว่าสัดส่วนแบ่งปันของอุตสาหกรรม ที่กำหนดให้ชาวไร่ได้ 70% และโรงงานได้ 30% จะเปลี่ยนแปลงทำให้ชาวไร่ได้รับรายได้ลดลง

แต่ล่าสุด มีแรงกดดันสำคัญที่ทำให้การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายต้องเดินได้จริงจัง มาจากการที่ประเทศบราซิลยื่นเรื่องต่อองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) กล่าวหาไทยอุดหนุนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย จนกระทบต่อตลาดโลกในช่วงปี 2558 โดยประเด็นที่บราซิลจี้ไทย มีทั้งการกำหนดราคาขายปลีก การกำหนดโควต้าเป็น 3 ส่วน คือ น้ำตาลเพื่อการบริโภคในประเทศ หรือ โควต้า ก. น้ำตาลที่ส่งออกโดยบริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด (อนท.) หรือโควต้า ข. และน้ำตาลเพื่อส่งออก รวมทั้งประเด็นการเพิ่มเงินชาวไร่อ้อยในกรณีที่ชาวไร่ได้รับเงินขั้นต้นต่ำกว่าต้นทุนการผลิตจริง

จนปี 2559 ประเด็นฟ้องร้องเริ่มขยายผล จนรัฐบาลไทยเริ่มกังวลต่อผลกระทบต่อประเทศไทย หากบราซิลชนะคดี เพราะหนึ่งในผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น คือ ประเทศไทยอาจต้องเสียเงินค่าปรับจำนวนมหาศาล นี่ยังไม่นับรวมผลกระทบด้านอื่นต่อประเทศไทยในฐานะผู้ส่งออกน้ำตาลอันดับ 2 ของโลก

รัฐบาลจึงมีนโยบายเร่งด่วนให้กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งเดินหน้าปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย โดยกรอบสำคัญ คือ การปรับปรุงร่าง พ.ร.บ. อ้อยฯ แต่ด้วยข้อจำกัดด้านเวลาที่ต้องใช้เวลามากกว่า 1 ปี กระทรวงอุตสาหกรรมจึงเลือกปรับโครงสร้างประเด็นสำคัญอย่าง ราคาน้ำตาล และโควต้าน้ำตาลทรายก่อน มีผลบังคับใช้ปลายปี 2560 เพื่อใช้กับฤดูกาลผลิต 2560/2561 โดยแนวทางนี้จะเป็นข้อมูลชี้แจงต่อดับเบิลยูทีโอต่อไป

ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ อุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม ระบุว่า เดือนตุลาคมปีนี้ จะมีการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายในประเทศ โดยเปลี่ยนมาอิงราคาตลาดโลก อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยืนยันว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน ชาวไร่อ้อย และโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำตาลผลิตสินค้า เพราะจะมีการดูแลให้น้ำตาลทรายเพียงพอกับความต้องการใช้ในประเทศ และมีมาตรการดูแลของกระทรวงพาณิชย์ด้วย

โดยประเด็นนี้การลอยตัวราคาน้ำตาลทรายในประเทศเดือนตุลาคม 2560 จะเป็นการลอยตัวแบบมีการจัดการ โดยจะมีการตั้งกองทุนดูแลช่วงที่ราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกตกต่ำ กองทุนจะเข้ามาช่วยเหลือชาวไร่อ้อย สำหรับที่มาของเงินนั้น จะจัดเก็บช่วงราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกสูง

ภายหลังประเด็นลอยตัวราคาน้ำตาลทรายถูกนำเสนอ กระทรวงพาณิชย์ โดย สมศักดิ์ เกียรติชัยลักษณ์ รองอธิบดีกรมการค้าภายใน ให้ข้อมูลถึงการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายของไทยว่า ปัจจุบันน้ำตาลทรายเป็นสินค้าอยู่ในบัญชีควบคุม ตามประกาศของคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ โดยกำหนดราคาเพดานสูงสุดสำหรับขายปลีกไม่เกินกิโลกรัม (กก.) ละ 23.50 บาท แต่หากมีการลอยตัวราคาน้ำตาลทราย ตามกำหนดตั้งแต่เดือนตุลาคมที่จะถึงนี้เป็นต้นไป ราคาน้ำตาลของไทยจะขึ้นหรือลงตามราคาตลาดโลก ไม่มีการกำหนดราคาเพดานขายปลีกสูงสุดอีกต่อไป

 “ราคาขายปลีกน้ำตาลทราย กก.ละ 23.50 บาทในปัจจุบันนั้น จะแบ่งนำเงินเข้าสู่กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย กก.ละ 5 บาท เพื่อให้รัฐนำไปช่วยเหลือแก่เกษตรกรผู้ปลูกอ้อย 160 บาทต่อตันอ้อย ดังนั้น เมื่อลอยตัวราคาน้ำตาลทรายแล้ว ก็จะไม่ต้องนำเงินส่งกองทุนอีกต่อไป”

อย่างไรก็ตาม เมื่อลอยตัวราคาน้ำตาลแล้ว กระทรวงพาณิชย์อาจไม่จำเป็นต้องถอดออกจากการเป็นสินค้าควบคุมก็ได้ เพียงแต่อาจเสนอให้คณะกรรมการกลางฯ พิจารณายกเลิกการกำหนดราคาเพดานขายปลีกสูงสุด เพื่อให้กระทรวงพาณิชย์ยังคงสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของสถานการณ์การขาย และราคาอย่างใกล้ชิด เพราะเป็นสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน และมีการใช้ในปริมาณมาก ทั้งในประเทศ และเพื่อส่งออก แต่หากลอยตัวราคาแล้ว ผู้ประกอบการไม่ยอมปรับราคาขายให้ขึ้นหรือลงตามราคาตลาดโลก กรมจะเชิญมาหารือให้ปรับราคาให้สอดคล้องกัน เพื่อไม่ให้เกิดการเอาเปรียบผู้บริโภค

ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายได้ดำเนินการต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของการแก้และปรับกฎหมายต่างๆ รองรับการลอยตัวราคาน้ำตาลทราย คาดว่าจะสามารถสรุปได้ภายในเดือนตุลาคมนี้และนำไปสู่การลอยตัวราคาได้จริงในเดือนธันวาคม 2560 ซึ่งเป็นช่วงฤดูหีบอ้อยปี 2560/2561 โดยการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายเป็นไปตามแนวทางการเจรจากับบราซิล ซึ่งก่อนหน้าได้มีการยื่นคำร้องต่อองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) กล่าวหาไทยอุดหนุนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายจึงนำมาสู่การเจรจาเพื่อไม่ให้นำไปสู่การฟ้องร้อง

สำหรับหลักการนำไปสู่การลอยตัวจะต้องยกเลิกระบบโควต้าน้ำตาลทรายซึ่งเดิมกำหนดเป็น 3 ส่วน คือ น้ำตาลทรายบริโภคในประเทศ (โควต้า ก.) น้ำตาลทรายดิบส่งออก 8 แสนตัน (โควต้า ข.) น้ำตาลทรายส่งออกส่วนที่เหลือจากโควต้า ก.และ ข. (โควต้า ค.) โดยแนวทางใหม่จะป้องกันการขาดแคลนบริโภคในประเทศด้วยการกำหนดให้โรงงานน้ำตาลทรายต้องสต๊อกน้ำตาลทรายขาวรองรับล่วงหน้า 1 เดือน เพื่อป้องกันไม่ให้นำน้ำตาลทรายไปส่งออกทั้งหมด อย่างไรก็ตาม หากขายออกไปจนทำให้ขาดแคลนจะมีโทษ

สอน.ยังเชื่อว่าระบบโควต้าดังกล่าวจะไม่ทำให้น้ำตาลทรายขาดแคลน เพราะปัญหาที่ผ่านมาราคาน้ำตาลทรายไม่สอดรับกับตลาดโลก เมื่อราคาน้ำตาลต่างประเทศสูงกว่าก็จะทำให้เกิดการไหลออก และหากราคาในประเทศสูงกว่าจะทำให้น้ำตาลไหลเข้า เมื่อราคาในประเทศใกล้เคียงตลาดโลกจะสร้างความสมดุลมากขึ้น นอกจากนี้ การลอยตัวจะนำไปสู่ระบบการซื้อขายที่เสรี กลไกการค้าเสรีจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

มีโอกาสสอบถาม สมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ยืนยันว่า การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลจะไม่มีการยกเลิกระบบแบ่งปันผลประโยชน์ 70:30 แต่จะเลิกระบบโควต้า เพื่อให้การจัดสรรน้ำตาลมีแค่ใช้ในประเทศแต่ต้องเพียงพอ และการจัดสรรเพื่อส่งออกแต่สัดส่วนนี้ก็สามารถนำมาขายในประเทศได้ตลอดเวลา ไม่มีความผิด

 “ประเด็นราคาน้ำตาลทรายที่บางฝ่ายกังวลว่าจะทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบนั้น กระทรวงยืนยันว่าจะดูแลไม่ให้เกิดผลกระทบแน่นอนหากราคาตลาดโลกปรับขึ้น ขณะเดียวกันก็จะดูแลชาวไร่ไม่ให้ได้รับผลกระทบหากราคาตลาดโลกปรับลดลง”

เมื่อประเด็นการค้ากดดันให้ไทยต้องปรับตัว คงต้องฝากความหวังไว้กับภาครัฐว่าจะดูแลประชาชนให้ได้ใช้น้ำตาลราคาเหมาะสมราคาไม่แพงจนเกินไป ในฐานะประเทศผู้ผลิตหลักจนสามารถส่งออกเป็นอันดับ 2 ของโลก

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ลอยตัว'น้ำตาล'เลิกระบบโควต้าผู้บริโภคไม่กระทบ 

          ช่วงหลายปีมานี้ ในแวดวงของอุตสาหกรรมน้ำตาลทราย ทั้งหน่วยงานกำกับ คือ กระทรวงอุตสาหกรรม ผู้ผลิต คือ ชาวไร่อ้อย และโรงงานน้ำตาลทราย มีการหยิบยกประเด็นการลอยตัวน้ำตาลทราย ภายใต้ภาพใหญ่คือการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายขึ้นมาหารือ ที่จำเป็นต้องปรับแก้เพราะ พ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งมีการบังคับใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2527 ขณะที่โลกการค้าปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะด้านการค้าโลกที่ดุเดือด มีการช่วงชิงจังหวะแบบหมัดต่อหมัด

          เพราะอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทย ถูกประทับตราว่าเป็นสินค้าการเมืองสำคัญชนิดหนึ่ง มีผลประโยชน์ มีการกำหนดสัดส่วนรายได้จากผลผลิตอ้อย กระบวนการแปรรูปเป็นน้ำตาล ไปจนถึงการนำผลผลิตพลอยได้อย่างกากน้ำตาล (โมลาส) ชานอ้อย ฯลฯ มาสร้างมูลค่า เมื่อมีการหยิบยกประเด็นปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลขึ้นมาทีไร จึงมักถูกต่อต้าน โดยเฉพาะจากกลุ่มชาวไร่ ที่เป็นผู้ผลิตต้นทาง ซึ่งกังวลว่าสัดส่วนแบ่งปันของอุตสาหกรรม ที่กำหนดให้ชาวไร่ได้ 70% และโรงงานได้ 30% จะเปลี่ยนแปลงทำให้ชาวไร่ได้รับรายได้ลดลง

          แต่ล่าสุด มีแรงกดดันสำคัญที่ทำให้การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายต้องเดินได้จริงจัง มาจากการที่ประเทศบราซิลยื่นเรื่องต่อองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) กล่าวหาไทยอุดหนุนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย จนกระทบต่อตลาดโลกในช่วงปี 2558 โดยประเด็นที่บราซิลจี้ไทย มีทั้งการกำหนดราคาขายปลีก การกำหนดโควต้าเป็น 3 ส่วน คือ น้ำตาลเพื่อการบริโภคในประเทศ หรือ โควต้า ก. น้ำตาลที่ส่งออกโดยบริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด (อนท.) หรือโควต้า ข. และน้ำตาลเพื่อส่งออก รวมทั้งประเด็นการเพิ่มเงินชาวไร่อ้อยในกรณีที่ชาวไร่ได้รับเงินขั้นต้นต่ำกว่าต้นทุนการผลิตจริง

          จนปี 2559 ประเด็นฟ้องร้องเริ่มขยายผล จนรัฐบาลไทยเริ่มกังวลต่อผลกระทบต่อประเทศไทย หากบราซิลชนะคดี เพราะหนึ่งในผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น คือ ประเทศไทยอาจต้องเสียเงินค่าปรับจำนวนมหาศาล นี่ยังไม่นับรวมผลกระทบด้านอื่นต่อประเทศไทยในฐานะผู้ส่งออกน้ำตาลอันดับ 2 ของโลก

          รัฐบาลจึงมีนโยบายเร่งด่วนให้กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งเดินหน้าปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย โดยกรอบสำคัญ คือ การปรับปรุงร่าง พ.ร.บ. อ้อยฯ แต่ด้วยข้อจำกัดด้านเวลาที่ต้องใช้เวลามากกว่า 1 ปี กระทรวงอุตสาหกรรมจึงเลือกปรับโครงสร้างประเด็นสำคัญอย่าง ราคาน้ำตาล และโควต้าน้ำตาลทรายก่อน มีผลบังคับใช้ปลายปี 2560 เพื่อใช้กับฤดูกาลผลิต 2560/2561 โดยแนวทางนี้จะเป็นข้อมูลชี้แจงต่อดับเบิลยูทีโอต่อไป

          ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ อุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม ระบุว่า เดือนตุลาคมปีนี้ จะมีการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายในประเทศ โดยเปลี่ยนมาอิงราคาตลาดโลก อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยืนยันว่าจะไม่ส่งผล กระทบต่อประชาชน ชาวไร่อ้อย และโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำตาลผลิตสินค้า เพราะจะมีการดูแลให้น้ำตาลทรายเพียงพอกับความต้องการใช้ในประเทศ และมีมาตรการดูแลของกระทรวงพาณิชย์ด้วย

          โดยประเด็นนี้การลอยตัวราคาน้ำตาลทรายในประเทศเดือนตุลาคม 2560 จะเป็นการลอยตัวแบบมีการจัดการ โดยจะมีการตั้งกองทุนดูแลช่วงที่ราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกตกต่ำ กองทุนจะเข้ามาช่วยเหลือชาวไร่อ้อย สำหรับที่มาของเงินนั้น จะจัดเก็บช่วงราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกสูง

          ภายหลังประเด็นลอยตัวราคาน้ำตาลทรายถูกนำเสนอ กระทรวงพาณิชย์ โดย สมศักดิ์ เกียรติชัยลักษณ์ รองอธิบดีกรมการค้าภายใน ให้ข้อมูลถึงการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายของไทยว่า ปัจจุบันน้ำตาลทรายเป็นสินค้าอยู่ในบัญชีควบคุม ตามประกาศของคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ โดยกำหนดราคาเพดานสูงสุดสำหรับขายปลีกไม่เกินกิโลกรัม (กก.) ละ 23.50 บาท แต่หากมีการลอยตัวราคาน้ำตาลทราย ตามกำหนดตั้งแต่เดือนตุลาคมที่จะถึงนี้เป็นต้นไป ราคาน้ำตาลของไทยจะขึ้นหรือลงตามราคาตลาดโลก ไม่มีการกำหนดราคาเพดานขายปลีกสูงสุดอีกต่อไป

          "ราคาขายปลีกน้ำตาลทราย กก.ละ 23.50 บาทในปัจจุบันนั้น จะแบ่งนำเงินเข้าสู่กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย กก.ละ 5 บาท เพื่อให้รัฐนำไปช่วยเหลือแก่เกษตรกรผู้ปลูกอ้อย 160 บาทต่อตันอ้อย ดังนั้น เมื่อลอยตัวราคาน้ำตาลทรายแล้ว ก็จะไม่ต้องนำเงินส่งกองทุนอีกต่อไป"

          อย่างไรก็ตาม เมื่อลอยตัวราคาน้ำตาลแล้ว กระทรวงพาณิชย์อาจไม่จำเป็นต้องถอดออกจากการเป็นสินค้าควบคุมก็ได้ เพียงแต่อาจเสนอให้คณะกรรมการกลางฯ พิจารณายกเลิกการกำหนดราคาเพดานขายปลีกสูงสุด เพื่อให้กระทรวงพาณิชย์ยังคงสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของสถานการณ์การขาย และราคาอย่างใกล้ชิด เพราะเป็นสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน และมีการใช้ในปริมาณมาก ทั้งในประเทศ และเพื่อส่งออก แต่หากลอยตัวราคาแล้ว ผู้ประกอบการไม่ยอมปรับราคาขายให้ขึ้นหรือลงตามราคาตลาดโลก กรมจะเชิญมาหารือให้ปรับราคาให้สอดคล้องกัน เพื่อไม่ให้เกิดการเอาเปรียบผู้บริโภค

          ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายได้ดำเนินการต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของการแก้และปรับกฎหมายต่างๆ รองรับการลอยตัวราคาน้ำตาลทราย คาดว่าจะสามารถสรุปได้ภายในเดือนตุลาคมนี้และนำไปสู่การลอยตัวราคาได้จริงในเดือนธันวาคม 2560 ซึ่งเป็นช่วงฤดูหีบอ้อยปี 2560/2561 โดยการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายเป็นไปตามแนวทางการเจรจากับบราซิล ซึ่งก่อนหน้าได้มีการยื่นคำร้องต่อองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) กล่าวหาไทยอุดหนุนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายจึงนำมาสู่การเจรจาเพื่อไม่ให้นำไปสู่การฟ้องร้อง

          สำหรับหลักการนำไปสู่การลอยตัวจะต้องยกเลิกระบบโควต้าน้ำตาลทรายซึ่งเดิมกำหนดเป็น 3 ส่วน คือ น้ำตาลทรายบริโภคในประเทศ (โควต้า ก.) น้ำตาลทรายดิบส่งออก 8 แสนตัน (โควต้า ข.) น้ำตาลทรายส่งออกส่วนที่เหลือจากโควต้า ก.และ ข. (โควต้า ค.) โดยแนวทางใหม่จะป้องกันการขาดแคลนบริโภคในประเทศด้วยการกำหนดให้โรงงานน้ำตาลทรายต้องสต๊อกน้ำตาลทรายขาวรองรับล่วงหน้า 1 เดือน เพื่อป้องกันไม่ให้นำน้ำตาลทรายไปส่งออกทั้งหมด อย่างไรก็ตาม หากขายออกไปจนทำให้ขาดแคลนจะมีโทษ

          สอน.ยังเชื่อว่าระบบโควต้าดังกล่าวจะไม่ทำให้น้ำตาลทรายขาดแคลน เพราะปัญหาที่ผ่านมาราคาน้ำตาลทรายไม่สอดรับกับตลาดโลก เมื่อราคาน้ำตาลต่างประเทศสูงกว่าก็จะทำให้เกิดการไหลออก และหากราคาในประเทศสูงกว่าจะทำให้น้ำตาลไหลเข้า เมื่อราคาในประเทศใกล้เคียงตลาดโลกจะสร้างความสมดุลมากขึ้น นอกจากนี้ การลอยตัวจะนำไปสู่ระบบการซื้อขายที่เสรี กลไกการค้าเสรีจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          มีโอกาสสอบถาม สมชาย หาญหิรัญปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ยืนยันว่า การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลจะไม่มีการยกเลิกระบบแบ่งปันผลประโยชน์ 70:30 แต่จะเลิกระบบโควต้า เพื่อให้การจัดสรรน้ำตาลมีแค่ใช้ในประเทศแต่ต้องเพียงพอ และการจัดสรรเพื่อส่งออกแต่สัดส่วนนี้ก็สามารถนำมาขายในประเทศได้ตลอดเวลา ไม่มีความผิด

          "ประเด็นราคาน้ำตาลทรายที่บางฝ่ายกังวลว่าจะทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบนั้น กระทรวงยืนยันว่าจะดูแลไม่ให้เกิดผลกระทบแน่นอนหากราคาตลาดโลกปรับขึ้น ขณะเดียวกันก็จะดูแลชาวไร่ไม่ให้ได้รับผลกระทบหากราคาตลาดโลกปรับลดลง"

          เมื่อประเด็นการค้ากดดันให้ไทยต้องปรับตัว คงต้องฝากความหวังไว้กับภาครัฐว่าจะดูแลประชาชนให้ได้ใช้น้ำตาลราคาเหมาะสมราคาไม่แพงจนเกินไป ในฐานะประเทศผู้ผลิตหลักจนสามารถส่งออกเป็นอันดับ 2 ของโลก

จาก http://www.matichon.co.th   วันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

กรมชลฯ ส่งน้ำเกษตรแปลงใหญ่ทั่วถึง มุ่งช่วยเกษตรกรลดต้นทุน พร้อมหนุนแหล่งน้ำช่วงฤดูแล้ง

กรมชลฯ สนองนโยบาย กษ. ส่งน้ำเกษตรแปลงใหญ่ทั่วถึงมุ่งช่วยเกษตรกรลดต้นทุน พร้อมหนุนแหล่งน้ำช่วงฤดูแล้ง

นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ตามที่ พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายขับเคลื่อนการดำเนินงานที่สำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือนโยบาย “เพื่อยกกระดาษ A4” ซึ่งเปรียบเทียบพื้นที่เกษตรกรรมในประเทศไทยที่มีจำกัด 149 ล้านไร่ เหมือนกระดาษ A4 1 แผ่น โดยหนึ่งในนโยบายสำคัญคือ โครงการส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ เป็นระบบการส่งเสริมการเกษตรที่ยึดพื้นที่เป็นหลัก ซึ่งจะเลือกพื้นที่ที่มีขนาดเหมาะสม ไม่ผิดกฎหมาย มีความเหมาะสมทางด้านดิน น้ำ และภูมิอากาศ และยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินงาน

ทั้งนี้ กรมชลประทานได้มอบนโยบายให้สำนักงานชลประทานทั่วประเทศเร่งขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนแหล่งน้ำให้กับพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ โดยให้มีการจัดทำแผนพัฒนาแหล่งน้ำ ปรับปรุงระบบส่งน้ำ และกระจายน้ำเข้าสู่พื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกรอย่างทั่วถึง เพื่อลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกร รวมทั้งป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำและความเสียหายกับผลผลิตทางการเกษตร โดยการดำเนินงานมีความก้าวหน้าในหลายพื้นที่ ดังเช่นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ประเภทข้าว ประกอบด้วย ตำบลหัวเวียง ตำบลบ้านกระทุ่ม อำเภอเสนา มีพื้นที่ 3,511 ไร่ เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 115 ราย โดยกรมชลประทานได้ตั้งแผนงานก่อสร้างสถานีสูบน้ำฝั่งขวาแม่น้ำน้อย ปรับปรุงคูน้ำเพื่อกระจายน้ำเข้าสู่แปลงใหญ่ และตรวจสอบสภาพอาคารบังคับน้ำในพื้นที่ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการทำนาปี นอกจากนี้ยังได้ปรับปรุงอาคารบังคับน้ำตามคำขอของเกษตรกรในพื้นที่ ผลการดำเนินงานในปัจจุบัน ได้ซ่อมแซมอาคารบังคับน้ำเพื่อให้สามารถบริหารจัดการน้ำสำหรับการทำนาปีได้อย่างเพียงพอ

ส่วนพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ ตำบลบ้านแพน อำเภอเสนา ซึ่งทำการเพาะปลูกข้าวพันธุ์ กข 31 กข 57 พิษณุโลก 2 และปทุมธานี 1 มีพื้นที่ประมาณ 1,265 ไร่ เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ จำนวน 42 ราย โดยกรมชลประทานได้ดำเนินการส่งน้ำเข้าสู่พื้นที่แปลงใหญ่ และเข้าไปดูระบบการกระจายน้ำ เพื่อเสนอแผนขอรับการสนับสนุนน้ำในพื้นที่ที่รับน้ำไม่ถึงเป็นลำดับต่อไป โดยพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ในส่วนนี้เป็นโครงการเพิ่มเติม ปี 2560 ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่ตำบลบ้านแพนด้วยความสมัครใจ และมั่นใจในศักยภาพการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน

และพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ ตำบลโคกม่วง อำเภอภาชี ซึ่งทำการเพาะปลูกข้าวพันธุ์ชัยนาท 1 ปทุมธานี 1 มีพื้นที่ประมาณ 1,276 ไร่ เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ จำนวน 45 ราย เนื่องจากพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ดังกล่าวเพิ่งจัดตั้ง รวมทั้งมีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ กรมชลประทานจึงเข้าไปตรวจสอบสถานภาพความพร้อมของแหล่งน้ำ ระบบส่งน้ำ และระบบกระจายน้ำ พบว่ามีสภาพชำรุดทรุดโทรมตามอายุการใช้งาน ปัจจุบันกรมชลประทานได้ทำเรื่องของบประมาณซ่อมแซม ปรับปรุงระบบส่งน้ำ และระบบกระจายน้ำอย่างเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรในพื้นที่อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวในตอนท้าย

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

เลาะรั้วเกษตร : ว่าด้วยการแบนสารเคมีเกษตร

ผ่านมา 1 เดือนแล้วที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.ปิยะสกลสกลสัตยาทร แถลงผลการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ครั้งที่ 4/2560 เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2560 ว่า ที่ประชุมมีมติให้ประกาศยกเลิกการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช 2 ชนิด คือ พาราควอท และ คลอร์ไพริฟอส ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไป โดยห้ามนำเข้าสารเคมีทั้ง 2 ชนิด ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2560 นี้

คลอร์ไพริฟอส เป็นสารกำจัดแมลงกลุ่มออร์แกนโนฟอสเฟต ประเภทไม่ดูดซึม แมลงต้องสัมผัส หรือกินจึงจะตาย กรมวิชาการเกษตรแนะนำให้ใช้กำจัดหนอนเจาะสมอฝ้าย เสี้ยนดิน เพลี้ยอ่อน เพลี้ยจักจั่น ด้วงงวงมันเทศ ผีเสื้อข้าวเปลือก ด้วงงวงข้าวโพด มอดแป้ง หนอนเจาะลำต้น หนอนเจาะฝักแมลงดำหนาม ด้วงงวงกล้วย โดยให้ใช้กับพืช ถั่วเหลือง ถั่วลิสง มันเทศ ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว และกล้วย ไม่แนะนำให้ใช้กับพืชผัก และผลไม้อื่นๆ แต่เกษตรกรมักนำไปใช้กับพืชที่ไม่แนะนำให้ใช้นี่แหละจึงเป็นประเด็น

ส่วนพาราควอท เป็นสารเคมีกำจัดวัชพืชที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดในโลก มีการสังเคราะห์ขึ้นมาใช้ครั้งแรกเมื่อกว่า 130 ปีมาแล้ว นำมาใช้กำจัดวัชพืชครั้งแรกเมื่อ 62 ปีที่แล้ว และมีการผลิตจำหน่ายครั้งแรกเมื่อประมาณ 56 ปีมาแล้วโดยบริษัทยักษ์ใหญ่ของอังกฤษ คือ ไอซีไอ และยังใช้มาจนถึงทุกวันนี้ โดยมีบริษัทอื่นนำไปผลิตภายใต้เครื่องหมายการค้าต่างๆ มากมาย

พาราควอท จะหยุดยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์วัชพืชส่วนที่เป็นสีเขียว และทำให้เนื้อเยื่อของเซลล์นั้นแห้ง วัชพืชจึงแห้งตายไปแต่ในทางพิษวิทยา พาราควอท จะทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อส่วนที่สัมผัส เกิดแผลพุพอง ถ้าถูกตาจะทำให้ตาบวมแดง อักเสบประสิทธิภาพในการมองเห็นลดลง ที่มีข่าวว่ามีการใช้พาราควอทเป็นยาพิษในการฆ่าตัวตาย เพราะเมื่อดื่มพาราควอทเข้าไป จะทำให้ระคายเคืองลำคอ ปอด และหายใจไม่ออก และการที่ใช้เป็นสารพิษฆ่าตัวตายนี่แหละเป็นสาเหตุหนึ่งที่นำมาอ้างในการแบน

หลังจากมติ ของคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ออกมาไม่กี่วัน หลังจากสนุกสนานกับเทศกาลสงกรานต์กันไปแล้ว กรมวิชาการเกษตรในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย และดูแล พ.ร.บ.วัตถุอันตราย จึงรีบเชิญหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งประกอบด้วย นักวิชาการทั้งภาครัฐและเอกชน เครือข่ายเตือนภัยเกษตรกรผู้ประกอบการนำเข้า ผลิต และจำหน่ายสารเคมีเกษตร รวมทั้งผู้แทนเกษตรกรรวมประมาณ 80 คนมาร่วมประชุม เมื่อวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมาอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ดร.สุวิทย์ชัยเกียรติยศ ปฏิเสธว่าไม่ได้เชิญมาประชาพิจารณ์เหมือนอย่างที่สื่อบางฉบับเอาไปเขียน แต่เชิญหน่วยงานต่างๆ มาให้ข้อคิดเห็นเพื่อรวบรวมข้อมูลจากทุกภาคส่วน ทั้งในทางวิชาการและด้านพิษภัยต่างๆ นำมาประกอบการพิจารณาในการควบคุม หรือ แบนสารเคมีทั้ง 2 ชนิดดังกล่าว

ข้อคิดเห็นจากบรรดานักวิชาการ หรือเครือข่ายต่าง ๆ ซึ่งไม่ใช่คนใช้สารเหล่านั้นก็ดูจะไม่สำคัญเท่ากับเกษตรกรคนใช้จริงๆอย่างเกษตรกรจากจังหวัดสุพรรณบุรี ที่มีดีกรีเป็นเกษตรกรดีเด่น เป็นปราชญ์ชาวบ้าน และ เป็นประธาน ศพก. อำเภอหนองหญ้าไซสุกรรณ สังข์วรรณะ ที่บอกว่า ถ้าแบนพาราควอทซึ่งเป็นสารกำจัดวัชพืชที่ใช้มานาน แล้วเกษตรกรจะทำอย่างไร จะหันกลับไปใช้วิธีถอนหญ้าทีละต้นหรือ จะเอาแรงงานที่ไหนมาทำ พร้อมทั้งคำนวณให้เสร็จสรรพว่า แรงงาน 1 คนสามารถถอนหญ้าได้ชั่วโมงละ 16ตารางเมตร ถ้าต้องการจะถอนหญ้า 1 ไร่ใน 1 วัน ต้องใช้แรงงานถึง 14 คน ค่าแรงคนละ 300 บาทต่อวัน จะต้องลงทุนค่าถอนหญ้าหรือกำจัดวัชพืชถึงไร่ละ 4,200 บาท

ที่เกษตรกรยกตัวอย่างอาจจะดูโอเวอร์ไป แต่พอจะเห็นภาพว่าเราไม่สามารถจะย้อนกลับไปใช้วิธีกำจัดวัชพืชแบบเดิมๆ ได้อีกต่อไปแล้ว ครั้นจะใช้สารเคมีชนิดอื่นมาทดแทนพาราควอท ตามที่ฝ่ายขอให้แบนพาราควอทเสนอมา สารที่ว่าก็มีราคาแพงกว่าพาราควอทหลายเท่า..เกษตรกรจะทำอย่างไรดี...

“การสั่งแบนจึงไม่ใช่คำตอบ” สุกรรณยืนยัน พร้อมกับชี้โพรงว่า “ถึงไม่มีหน้าร้าน เกษตรกรก็หาจากหลังร้าน หรือใต้ดินได้”....นี่สิของจริง

การสั่งแบนจึงไม่ใช่คำตอบ จริงๆ.....เรื่องนี้...สาธารณสุขจะรู้ดีไปกว่าเกษตรได้อย่างไร.....

จาก http://www.naewna.com วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

กรมชลฯ ปรับปฏิทินส่งน้ำให้พื้นที่ลุ่มต่ำเจ้าพระยาตอนล่าง

กรมชลฯ ปรับปฏิทินส่งน้ำให้พื้นที่ลุ่มต่ำเจ้าพระยาตอนล่าง ทำนาปีเร็วขึ้น เลี่ยงฤดูน้ำหลากท่วมผลผลิต

       นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน ได้ต่อยอดความสำเร็จจากการปรับปฏิทินการส่งน้ำทำนาปีให้กับพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ ที่ให้เกษตรกรทำนาปีตั้งแต่ 1 เมษายน 2560 เป็นต้นมา เพื่อให้เก็บเกี่ยวผลผลิตให้เสร็จทันก่อนฤดูน้ำหลากจะมา นั้น นำมาปรับปฏิทินการส่งน้ำทำนาปีให้กับเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง พื้นที่รวมประมาณ 1.15 ล้านไร่ โดยเริ่มส่งน้ำเข้าระบบชลประทาน ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2560 เป็นต้นมา เพื่อให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิตให้แล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2560 ก่อนเข้าสู่ฤดูน้ำหลาก ประกอบไปด้วย 12 ทุ่ง คือ ทุ่งเชียงราก ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-  ป่าสัก ทุ่งท่าวุ้ง และทุ่งบางกุ่ม ซึ่งใช้น้ำจากคลองชัยนาท – ป่าสัก , ทุ่งป่าโมก ทุ่งผักไห่ และทุ่งเจ้าเจ็ด ใช้น้ำที่ส่งผ่านทางแม่น้ำน้อย, ทุ่งบางกุ้ง ทุ่งบางบาล ใช้น้ำจากสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าจากแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำอื่นๆ ได้แก่ พื้นที่ในเขตของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโพธิ์พระยา โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระยาบรรลือ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระพิมล และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตใต้ จะใช้น้ำจากบ่อตอก บ่อน้ำตื้นและน้ำนอนคลอง

        ทั้งนี้ การทำนาปีของเกษตรกรในปีนี้ เป็นไปตามนโยบายของพลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเป็นไปตามความต้องการของเกษตรกรในพื้นที่ เนื่องจากในช่วงฤดูน้ำหลากลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง จะเกิดขึ้นในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคมของทุกปี ดังนั้น เพื่อให้เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ก่อนถึงฤดูน้ำหลาก กรมชลประทานจึงได้กำหนดปฏิทินการส่งน้ำให้เกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าวใหม่ เพื่อให้เกษตรกรได้ทำนาก่อนพื้นที่อื่นๆ ที่เป็นที่ดอน โดยได้เริ่มส่งน้ำตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม และเก็บเกี่ยวผลผลิตให้แล้วเสร็จภายในสิงหาคม 2560

         ด้านนายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า การกำหนดส่งน้ำทำนาปีในพื้นที่ลุ่มต่ำให้เร็วขึ้น นั้น นอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงที่ผลผลิตข้าวจะได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมแล้ว ยังจะทำให้เกษตรกรมีรายได้     มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และยังช่วยให้ภาครัฐสามารถประหยัดงบประมาณจากการจ่ายเงินค่าชดเชยความเสียหายจากน้ำท่วมได้อีกด้วย ที่สำคัญ หลังจากที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จแล้ว สามารถใช้พื้นที่ลุ่มต่ำดังกล่าวเป็นแก้มลิงธรรมชาติ รองรับน้ำในฤดูน้ำหลาก เพื่อลดผลกระทบจากอุทกภัยที่จะเกิดขึ้นในเขตชุมชนและสถานที่ราชการ ตลอดจนเป็นการตัดยอดน้ำเพื่อบรรเทาผลกระทบกับพื้นที่ตอนล่างของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลอีกด้วย ซึ่งจะสามารถเก็บกักน้ำได้ประมาณ 1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร ในระยะเวลาประมาณ 2-3 เดือน นอกจากนี้ ยังจะช่วยส่งเสริมให้เกษตรกร มีรายได้เสริมจากการทำอาชีพประมง อีกทั้งปริมาณน้ำที่เก็บกักไว้ในพื้นที่ลุ่มต่ำ ยังสามารถนำมาใช้ในการบริหารจัดการเป็นน้ำต้นทุนในการทำนาปรัง และการอุปโภคบริโภคในช่วงฤดูแล้งได้ด้วย

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

พลังงานปรับแผนพีดีพีใหม่

กระทรวงพลังงานเล็งปรับแผนพีดีพี2015 สั่งหน่วยงานตรวจสอบความสำเร็จ 5 แผนพลังงาน โดยเฉพาะแผนอนุรักษ์พลังงาน-พลังงานทดแทน หวั่นในอนาคตทำยากขึ้น "อารีพงศ์"ย้ำไม่ขยับสัดส่วนก๊าซเพิ่มแน่นอน ปลายแผนคงไว้ที่ 30-40% ขณะที่ถ่านหิน 20-25%

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ขณะนี้กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ พ.ศ.2558-2579 หรือ(พีดีพี 2015) เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดู 5 แผนพลังงาน เทียบกับข้อเท็จจริงว่าสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายเดิมที่วางไว้อยู่หรือไม่ โดยเฉพาะแผนอนุรักษ์พลังงานและแผนพลังงานทดแทนที่จะต้องเร่งการดำเนินงานมากขึ้น แต่ก็คงไม่น่าเป็นห่วง เนื่องจากในช่วงจากนี้ไป ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เตรียมออกประกาศเปิดรับซื้อไฟจากพลังงานทดแทนเพิ่ม อาทิ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในหน่วยงานราชการและสหกรณ์การเกษตร (โซลาร์ฟาร์ม) โรงไฟฟ้าชีวมวล และโรงไฟฟ้าขยะ เป็นต้น

 อย่างไรก็ตามในส่วนแผนอนุรักษ์พลังงาน ในอนาคตอาจทำได้ยากขึ้นหรือไม่ ดังนั้นจะต้องกลับมาพิจารณาอีกครั้ง

 ขณะที่การปรับสัดส่วนเชื้อเพลิงนั้น ในการปรับแผนพีดีพี2015 ใหม่ เบื้องต้นยังต้องคงสัดส่วนก๊าซธรรมชาติและถ่านหินตามแผนเดิม คือสัดส่วนก๊าซ ช่วงปลายแผนปี 2579 อยู่ที่ 30-40% และถ่านหิน ปลายแผนอยู่ที่ 20-25% เนื่องจากต้องการกระจายเชื้อเพลิง โดยเฉพาะก๊าซที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าลดลง จากปัจจุบันอยู่ที่ 64-65%

ส่วนกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ขนาดกำลังการผลิต 800 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าเทพา ขนาดกำลังการผลิต 2 พันเมกะวัตต์ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ไม่สามารถเดินหน้าโครงการได้นั้น เบื้องต้นจะยังยึดสัดส่วนเดิมไว้ก่อน เพราะหากโรงไฟฟ้าถ่านหินดังกล่าวไม่สามารถเกิดขึ้นได้ก็ยังพิจารณาพื้นที่อื่นๆเข้ามาทดแทนได้

"ขณะนี้กำลังรอดูรายละเอียดข้อเท็จจริงของทั้ง 5 แผนก่อนว่า มีการดำเนินงานเป็นไปตามที่วางเป้าหมายไว้ได้หรือไม่ เพราะจะต้องนำมาประเมินเหตุการณ์และแนวทางเลือกต่างๆ ซึ่งอาจจะนำไปสู่ให้มีการปรับแผนพีดีพีใหม่ ซึ่งได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูแผนแล้ว"

นายอารีพงศ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ อาจจะต้องรอในส่วนการพัฒนาพลังงานทดแทนของกฟผ. ที่เคยเสนอมาจำนวน 2 พันเมกะวัตต์ ซึ่งได้สั่งให้ไปจัดทำรายละเอียดที่ชัดเจน เพื่อเสนอกลับมาให้กระทรวงพลังงานพิจารณาอีกครั้ง ว่าจะสามารถเข้าไปบรรจุอยู่ในแผนพีดีพีใหม่ได้ด้วยหรือไม่ เพราะภายหลังจากกฟผ.ปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ โดยจะเน้นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ เพื่อให้พลังงานทดแทนมีความเสถียรในการจ่ายไฟฟ้ามากขึ้น อาทิ การพัฒนาเครือข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) การพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้า (Energy Storage) เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้มีเสถียรภาพ และการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนที่ผลิตไฟฟ้าได้บางช่วงเวลาให้พึ่งพาได้ตลอดเวลา โดยจับคู่แหล่งผลิตตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไปในรูปแบบที่เรียกว่า Hybrid รวมถึงมีการเตรียมรองรับการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า โดยพัฒนารถต้นแบบและสถานีชาร์จไฟฟ้า

 ทั้ง แนวทางการพัฒนาพลังงานทดแทนของกฟผ.มีความชัดเจน ก็มีความเป็นไปได้ที่จะนำกำลังการผลิตในส่วนนี้เข้าไปบรรจุอยู่ในแผนพีดีพีได้ จากเดิมที่มีกำลังการผลิตเพียง 500 เมกะวัตต์ ที่บรรจุอยู่ในแผนเท่านั้น

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

เดินหน้าผัน‘น้ำโขง’1.7ล้านล้าน กรมชลยันผลการศึกษาคุ้มค่า-ได้น้ำมากกว่าเขื่อนภูมิพล3เท่า

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมโครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล ทั้งด้านวิศวกรรมและสิ่งแวดล้อม พร้อมจัดทำแบบจำลองทางกายภาพของโครงการตามที่

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ สั่งการให้ศึกษารายละเอียดเพื่อพิสูจน์ให้ชัดเจนว่า จะสามารถส่งน้ำให้ไหลผ่านทางอุโมงค์ที่มีขนาดใหญ่และมีความยาวได้ และไม่กระทบต่อปริมาณน้ำในแม่น้ำโขง

ทั้งนี้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นภูมิภาคที่มีพื้นที่การเกษตรมากที่สุดถึง 69.91 ล้านไร่ แต่มีพื้นที่ชลประทานน้อยที่สุดเพียง 8.06 ล้านไร่ หรือร้อยละ 11.53 ทำให้เกิดน้ำท่วมและภัยแล้งซ้ำซาก นอกจากนี้ลักษณะภูมิประเทศก็ไม่เอื้ออำนวยต่อการสร้างอ่างเก็บน้ำ กรมชลประทานจึงวางแผนโครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง เพื่อแก้ไขปัญหาแบบเบ็ดเสร็จ เกิดประโยชน์ครอบคลุมทั้งภาค

สำหรับการดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วงนั้น หากพัฒนาให้เต็มศักยภาพ ซึ่งจะต้องดำเนินการปรับปรุงแม่น้ำเลย ขุดคลองชักน้ำ สร้างอุโมงค์ส่งน้ำยาว 64.8 กม. 17 แถว และคลองส่งน้ำสายหลัก 6 สาย ระยะทางรวม 2,084 กม. แล้ว จะทำให้มีพื้นที่รับประโยชน์ครอบคลุมถึง 20 จังหวัด 281 อำเภอ สามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทานที่จะเปิดใหม่ได้ 33.50 ล้านไร่ โดยแบ่งเป็นพื้นที่ส่งน้ำด้วยแรงโน้มถ่วง 21.78 ล้านไร่ และพื้นที่ส่งน้ำด้วยระบบสูบน้ำอีก 11.72 ล้านไร่

รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าวต่อว่า โครงการดังกล่าวถึงแม้จะต้องใช้เงินลงทุนสูงประมาณ 1.785 ล้านล้านบาท แต่เมื่อเปรียบเทียบกับผลตอบแทนที่ได้รับแล้วถือว่าคุ้มค่า เพราะจะสามารถนำน้ำมาใช้ประโยชน์ได้ถึง 32,534 ล้าน ลบ.ม. หรือเท่ากับปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลที่เต็มความจุ 3 เขื่อน โดยนำมาใช้ช่วงฤดูฝนประมาณ 22,274 ล้าน ลบ.ม. และในช่วงฤดูแล้งประมาณ 10,260 ล้าน ลบ.ม. เพียงพอสำหรับการนำมาใช้ในทุกภาคส่วนอย่างยั่งยืนแก้ปัญหาน้ำในภาคอีสานได้อย่างเบ็ดเสร็จ ทั้งในภาคการเกษตร การอุปโภคบริโภค การอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม และการท่องเที่ยว

นอกจากนี้ ยังสามารถนำน้ำไปเติมให้กับเขื่อนต่างๆ คือ เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ และเขื่อนห้วยหลวง จ.อุดรธานี ได้อีกถึง 1,062 ล้าน ลบ.ม. เสริมความมั่นคงในเรื่องน้ำให้กับพื้นที่ชลประทานเดิมกว่า 802,728 ไร่ รวมทั้งยังสามารถนำน้ำมาใช้ประโยชน์ในการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำที่สะอาดปราศจากมลพิษได้อีกด้วย

สำหรับผลกระทบต่อแม่น้ำโขงนั้นมีน้อยมาก เพราะเมื่อมีการพัฒนาโครงการเต็มศักยภาพจะทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงบริเวณอำเภอโขงเจียมลดลงเพียง 11% นอกจากนี้การสร้างเขื่อนของประเทศจีนและประเทศลาว ก็จะส่งผลบวกต่อโครงการเพราะจะช่วยเสริมน้ำในแม่น้ำโขงช่วงฤดูแล้งให้มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตามในการดำเนินงานโครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วงนั้น กรมชลประทานจะดำเนินการพัฒนาโครงการในระยะที่ 1 ก่อน โดยจะสร้างอุโมงค์ส่งน้ำจำนวน 1 แถว คลองส่งน้ำสายหลัก 2 สาย ระยะทางรวม 244 กม. เมื่อแล้วเสร็จจะมีพื้นที่รับประโยชน์ 6 จังหวัด 22 อำเภอ สามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทานได้ 1.69 ล้านไร่ โดยแบ่งเป็นส่งน้ำด้วยแรงโน้มถ่วง 0.94 ล้านไร่ และส่งน้ำด้วยระบบสูบน้ำ 0.75 ล้านไร่ ปริมาณน้ำส่งในฤดูฝน 1,669 ล้าน ลบ.ม. และปริมาณน้ำส่งในฤดูแล้ง 1,259 ล้าน ลบ.ม

จาก http://www.naewna.com วันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

แตกใบอ่อน : 1พันบาท‘จัดการน้ำ’

ย่างเข้าเดือนพฤษภาคมของทุกปี เกษตรกรไทยส่วนใหญ่คงต้องพากันสาละวนกับการเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับฤดูกาลผลิตใหม่ที่จะมาถึง ซึ่งให้บังเอิญว่า หลังจากเมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว ได้นำเสนอนวัตกรรม “แอคทีฟแพ็กเกจจิ้ง” (Active Packaging) นวัตกรรมสำหรับการยืดอายุการผลิตผลมะนาว คงรสชาติเปรี้ยวและสีเขียวสดได้นานถึง 3 เดือน

แต่คล้อยหลังได้เพียงไม่กี่วัน คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เจ้าของผลงาน “แอคทีฟแพ็กเกจจิ้ง” ก็จัดการเปิดตัวนวัตกรรมชิ้นใหม่ “สมาร์ทฟาร์มคิท” หรือชุดอุปกรณ์ควบคุมการรดน้ำอัจฉริยะ ซึ่งถ้าจะพูดแบบให้ทันสมัยหน่อย ก็คงต้องบอกว่านวัตกรรมชิ้นนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยเสริมประสิทธิภาพการผลิตให้กับเกษตรกรไทยในยุค 4.0 เท่านั้น แต่ยังมีราคาประหยัดแค่ 1,000 บาท

รศ.ดร.สุเพชร จิรขจรกุล อาจารย์สาขาวิชาเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนายั่งยืน คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. บอกว่า

 อุปกรณ์ “สมาร์ทฟาร์มคิท” (Smart Farm Kit) หรือระบบควบคุมการรดน้ำอัจฉริยะ เป็นการพัฒนาร่วมกันของทีมนักวิจัยสาขาวิชาเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนายั่งยืน และเทคโนโลยีการเกษตร โดยระบบสมาร์ทฟาร์มคิททำให้ระบบมีการใช้น้ำที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถช่วยลดการใช้น้ำในการเกษตรได้ไม่ต่ำกว่า 3 เท่า โดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง 3 อุปกรณ์ ดังนี้

•ระบบควบคุมการเปิด-ปิดน้ำ โดยภายในจะมีบอร์ดไมโครคอนโทลเลอร์ที่ช่วยควบคุมอุปกรณ์เปิด-ปิดไฟฟ้า (Relay) ที่ทำหน้าที่เปิดปิดวงจรไฟฟ้าในชนิดเดียวกับสวิตช์ไฟฟ้า โดยจะสามารถสั่งเปิด-ปิดปั๊มน้ำ สำหรับรดน้ำผักในแปลงเกษตรได้ อีกทั้งยังสามารถตั้งเวลาเปิด-ปิดน้ำได้ตามความต้องการของชนิดพืช ยกตัวอย่างเช่น สั่งเปิดระบบไฟฟ้าของปั๊มน้ำทุกๆ 08.00 น. โดยรดน้ำเป็นเวลา 5 นาที เป็นต้น ทำให้ช่วยลดความกังวลที่เกษตรกรต้องเดินทางไปต่างจังหวัดหลายวัน ไม่มีเวลาดูแลรดน้ำพืชผล ก็ให้ใช้อุปกรณ์รดน้ำอัตโนมัติช่วยควบคุมการรดน้ำได้

•ระบบเซ็นเซอร์ติดตามสภาพอากาศ จะเป็นการตรวจวัดปัจจัยสภาพแวดล้อมของแปลงเกษตรใน 2 รูปแบบ คือ 1) การตรวจวัดอุณหภูมิ ในกรณีที่สภาพแวดล้อมของแปลงมีอุณหภูมิเกินที่กำหนด เช่น อุณหภูมิสูงเกิน 35 องศา ระบบจะทำการสั่งเปิดปั๊มน้ำเป็นระบบน้ำหยด หรือ สปริงเกอร์ จนกว่าอุณหภูมิจะลดระดับ 2) การวัดความชื้นในดิน ในกรณีที่ตรวจพบความชื้นในอากาศต่ำกว่าที่กำหนด เช่น ความชื้นในดินที่ต่ำกว่า 50% ระบบก็จะสั่งรดน้ำโดยอัตโนมัติ

•ระบบสั่งการและแจ้งเตือนผ่านสมาร์ทโฟน จะเป็นการส่งข้อความแจ้งเตือน พร้อมแสดงผลสภาพอากาศบริเวณพื้นที่แปลงเกษตร ผ่านระบบ Line Notify บนสมาร์ทโฟนของเกษตรกร เช่น อุณหภูมิที่ร้อน ความชื้นในดินที่แล้ง และปริมาณน้ำที่ลดน้อยลง ฯลฯ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวก เพิ่มประสิทธิภาพ และประหยัดเวลาของเกษตรในการควบคุมและสั่งเปิด-ปิดระบบรดน้ำปุ๋ย รวมถึงน้ำสมุนไพรสำหรับป้องกันแมลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนหาแนวทางการป้องกันและกำจัดโรคให้ทันท่วงที เพื่อเพิ่มคุณภาพของผลิตผลทางการเกษตร

ขณะที่ต้นทุนของ “สมาร์ทฟาร์มคิท” เกษตรกรสามารถหาซื้ออุปกรณ์ต่างๆ เพื่อนำมาประกอบเองได้ในงบประมาณ 1,000 บาทเท่านั้น โดยอุปกรณ์ 1 ชุด สามารถใช้กับพื้นที่แปลงเกษตรขนาด 1 ตารางกิโลเมตร หรือ 625 ไร่ ซึ่งโดยปกติหากเกษตรต้องการติดตั้งระบบรดน้ำอัตโนมัติ พร้อมติดตามผลสภาพอากาศของพื้นที่เกษตร อาจจะมีค่าใช้จ่ายอุปกรณ์และค่าดำเนินการติดตั้งราคาค่อนข้างสูงมาก

ขณะที่ รศ.ปกรณ์ เสริมสุข คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แอบกระซิบบอกว่า เกษตรกรที่สนใจชุดอุปกรณ์สมาร์ทฟาร์มคิท สามารถขอคำแนะนำการเลือกซื้ออุปกรณ์ โดยสอบถามที่หมายเลขโทรศัพท์ 0-2564-4482 สาขาเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนายั่งยืน และ 0-2564-4488 สาขาเทคโนโลยีการเกษตร หรือเข้าไปที่เว็บไซต์ www.sci.tu.ac.th

ส่วนเกษตรกรที่อยู่ต่างจังหวัด หรือผู้ที่ไม่มีด้านเทคโนโลยีพื้นฐานในการจัดทำอุปกรณ์ ก็สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อขอคำแนะนำ หรือเข้ามาศึกษาดูงานที่แปลงสาธิตเกษตรของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ได้ฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

แบบนี้แหละครับ ถึงเรียกได้ว่าเป็นนวัตกรรมเพื่อคนไทยของจริง

จาก http://www.naewna.com วันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ทุ่ม 2.2 แสนล.แก้วิกฤตน้ำลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างเบ็ดเสร็จ

ก.เกษตรฯเสนอกนช.วันนี้(3 พ.ค.60) พิจารณา 9 แผนงาน 2.2 แสนล้านแก้วิกฤตน้ำท่วมลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างเบ็ดเสร็จ

          ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมของโครงการบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างมาตั้งแต่ปี 2558 เพื่อเป็นเพิ่มศักยภาพในการระบายน้ำเหนือออกสู่ทะเล ลดความสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจอันเกิดจากอุทกภัย และเพิ่มความมั่นคงในเรื่องน้ำเพื่อการเกษตร การอุปโภค-บริโภค ขณะนี้ผลการศึกษาแล้วเสร็จพร้อมนำเสนอข้อมูลแผนงานในการบรรเทาปัญหาน้ำท่วมให้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิจารณาในวันพุธที่ 3 พฤษภาคม 2560 นี้

          สำหรับการศึกษาโครงการบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างดังกล่าวนั้น ได้นำเหตุการณ์ มหาอุทกภัยในปี 2554 ที่โครงสร้างระบบชลประทานที่มีอยู่ ไม่สามารถรองรับปริมาณน้ำหลากจำนวนมหาศาลได้ มาใช้เป็นโจทย์ในศึกษา ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นพบว่า มีปริมาณน้ำเหนือที่ไหลหลากลงมากเกินปริมาณน้ำที่แม่น้ำเจ้าพระยาจะลองรับได้เหนือเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาทประมาณ 1,800 ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) ต่อวินาที  ดังนั้นหากจะไม่ให้เหตุการณ์มหาอุทกภัยเกิดขึ้นอีก จำเป็นจะต้องหาแนวทางในการบริหารจัดการน้ำจำนวนดังกล่าว เพื่อระบายออกสู่ทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          ดร.สมเกียรติ กล่าวต่อว่าจากผลการศึกษาพบว่า จะต้องดำเนินงานทั้งหมด 9 แผนงานด้วยกัน แบ่งออกเป็นฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา 3 แผนงาน ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา 2 แผนงาน และในส่วนของแม่น้ำเจ้าพระยา 4 แผนงาน สำหรับแผนงานโครงการบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างฝั่งตะวันออกทั้ง 3 แผนงานประกอบด้วย 1.แผนการสร้างคลองระบายน้ำควบคู่กับคลองส่งน้ำชัยนาท-ป่าสัก ซึ่งจะสามารถระบายน้ำในช่วงน้ำหลากได้ถึง ประมาณ 930 ลบ.ม.ต่อวินาที 2. แผนการปรับปรุงโครงสร้างระบบชลประทานเดิมที่มีอยู่ ที่ระบายน้ำผ่านทางคลองระพีพัฒน์และคลองสาขาต่างๆ รวม 23 คลอง ยาว 490 กิโลเมตร สามารถเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำจากสูงสุดในปัจจุบันคือ 210 ลบ.ม.ต่อวินาที เป็น 400 ลบ.ม.ต่อวินาที และ3. แผนการก่อสร้างคลองระบายน้ำสายใหม่ จากแม่น้ำป่าสักลงสู่ทะเลโดยตรง สามารถระบายน้ำได้สูงสุดประมาณ 600 ลบ.ม.ต่อวินาที

            ส่วนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมี 2 แผนงานประกอบด้วย 1.แผนการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของแม่น้ำท่าจีน ซึ่งจะต้องมีการขุดคลองระบายน้ำหลาก(บายพาส) แม่น้ำท่าจีนบริเวญอ.โพธิ์พระยา จ.สุพรรณบุรี ขุดช่องลัดแม่น้ำท่าจีนที่มีลักษณะเป็นกระเพาะหมูจำนวน 4 แห่ง และขุดลอกแม่น้ำท่าจีนตั้งแต่ กิโลเมตรที่ 40 จากปากแม่น้ำขึ้นมา ซึ่งจะสามารถเพิ่มการระบายได้จาก 464 ลบ.ม.ต่อวินาที เป็น 535 ลบ.ม.ต่อวินาที และ 2.แผนการปรับปรุงโครงสร้างระบบชลประทานของโครงการชลประทานเดิมที่มีอยู่ เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำตั้งแต่คลองเจ้าเจ็ดมายังคลองพระยาบันลือ ต่อไปยังคลองพระพิมล คลองมหาสวัสดิ์ คลองภาษีเจริญ คลองสนามชัย-มหาชัย และออกสู่ทะเลอ่าวไทย ซึ่งจะสามารถระบายน้ำเพิ่มได้จาก 50 ลบ.ม.ต่อวินาทีในปัจจุบันเป็น 130 ลบ.ม.ต่อวินาที

              รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวอีกว่า ในส่วนของแม่น้ำเจ้าพระยาเอง มีทั้งหมด 4 แผนงานคือ 1.แผนการขุดคลองระบายน้ำหลาก(คลองบายพาส)บางบาล-บางไทร เพื่อลดปริมาณน้ำที่ไหลผ่านตัวเมืองพระนครศรีอยุธยา ซึ่งจะระบายน้ำได้ 1,200 ลบ.ม.ต่อวินาที 2.แผนการขุดลอกลำน้ำเจ้าพระยา ซึ่งจะขุดลอกเป็นช่วงๆรวมระยะทาง 20 กิโลเมตร เพื่อให้แม่น้ำเจ้าพระยาสามารถระบายน้ำได้ในอัตรา 2,800 ลบ.ม.ต่อวินาที 3.แผนการสร้างเขื่อนป้องกันชุมชนในพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกันน้ำ ซึ่งมีจำนวน 14 แห่ง สร้างไปแล้ว 6 แห่ง เหลืออีก 8 แห่งจำเป็นจะเร่งด่วนดำเนินการ และ 4.แผนการสร้างคลองระบายน้ำควบคู่กับถนนวงแหวนรอบ 3 ฝั่งตะวันออก คลองสายนี้จะตัดยอดน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณอ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ได้ประมาณ 500 ลบ.ม.ต่อวินาที ขณะนี้กรมชลประทาน กรมทางหลวง และไจก้ากำลังทำการศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้เบื้องต้น ก่อนจะทำการศึกษา EIAควบคู่กับการก่อสร้างถนนวงแหวนรอบที่ 3

             นอกจากนี้ กรมชลประทานยังมีแผนที่จะบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเริ่มดำเนินการในฤดูฝนปี 2560 โดยใช้แผนการใช้พื้นที่ลุ่มต่ำในพื้นที่จังหวัดลพบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา และชัยนาท ให้เป็นพื้นที่แก้มลิงรับน้ำในช่วงฤดูฝน ซึ่ง จะสามารถเก็บกักน้ำได้ประมาณ 1,500 ล้านลบ.ม. อย่างไรก็ตามโครงการบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างหากสามารถดำเนินงานได้ทั้ง 9 แผนงานดังกล่าว ซึ่งสามารถแยกดำเนินงานแต่แผนงานได้ ทั้งหมดสามารถดำเนินการได้ทั้งโครงการภายใน 1-2 ปีนี้เลย เช่น คลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร คลองระบายน้ำควบคู่กับคลองส่งน้ำชัยนาท-ป่าสัก เป็นต้น บางแผนงานอาจจะแยกมาดำเนินในส่วนที่ไม่มีปัญหาก่อน เช่น การปรับปรุงโครงสร้างระบบชลประทานเดิมที่มีอยู่ ในส่วนของการขุดลอกสามารถดำเนินการได้ทันที เป็นต้น ส่วนแผนงานแผนการก่อสร้างคลองระบายน้ำสายใหม่ คลองระบายน้ำควบคู่กับถนนวงแหวนรอบ 3 แม้จะสามารถก่อสร้างทั้งโครงการได้แต่ก็ต้องรอผลการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA)ก่อน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ตั้งองค์กรกลาง "บริหารน้ำ" บูรณาการ "งาน-งบ" 9 กระทรวง

การประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ 34 หน่วยงาน 9 กระทรวง โดยเป็นการประชุมคณะกรรมการชุดนี้เป็นครั้งแรกของปี 2560 ซึ่งมีการเตรียมตั้งองค์กรบริหารจัดการน้ำของประเทศ

นายวรศาสน์ อภัยพงษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กล่าวว่าที่ประชุมกนช.หารือถึงความพร้อมของการจัดตั้งองค์กรบริหารจัดการน้ำของประเทศ ซึ่งเป็นองค์กรที่ต้องจัดตั้งขึ้นตาม ร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการน้ำ พ.ศ...ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (กนช.) ในวาระที่ 2 และคาดว่าขั้นตอนการพิจารณากฎหมายอาจจะแล้วเสร็จในเดือน มิ.ย.นี้

ในเบื้องต้นรูปแบบขององค์กรบริหารจัดการน้ำจะเป็นหน่วยงานราชการที่เป็นหน่วยงานกลาง สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี และขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นรูปแบบที่แตกต่างจากในอดีตที่องค์กรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องน้ำจะสังกัดหน่วยงานราชการในระดับกระทรวง

หน่วยงานนี้จะมีหน้าที่หลักในการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ มีศูนย์ข้อมูลการจัดการข้อมูลน้ำ ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลน้ำ ป่า และที่ดินที่จำเป็นต่อการตัดสินใจเชิงนโยบายเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำเสนอให้กับนายกรัฐมนตรีตัดสินใจโดยตรง โดยที่ประชุมมอบหมายให้นำรูปแบบและรายละเอียดขององค์กรใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้นมาเสนอให้ที่ประชุม กนช.พิจารณาในครั้งต่อไป

“รูปแบบขององค์กรที่จะจัดตั้งขึ้นเป็นไปตามร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำที่อยู่ในการพิจารณาวาระที่ 2 ของสนช. ซึ่งการออกกฎหมายมาก็ต้องคำนึงถึงระยะต่อไปว่าประเทศกำลังจะมีการเลือกตั้ง ซึ่งการออกแบบองค์กรมาให้เป็นองค์กรกลางสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี จะทำให้ปลอดจากเรื่องการเมืองมากกว่าการไปเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง”

ในส่วนของเรื่องงบประมาณบูรณาการที่จัดสรรสำหรับการบริหารจัดการน้ำของหน่วยงานต่างๆซึ่งมีแผนงานเกี่ยวกับเรื่องน้ำทั้ง 34 หน่วยงาน 9 กระทรวง ซึ่งมีอยู่มากถึงปีละ 5 – 7 หมื่นล้านบาท ที่ประชุมมีความคิดเห็นตรงกันว่าที่ผ่านมาการเสนอขอและอนุมัติงบประมาณในบางส่วนยังคงมีความซ้ำซ้อน และไม่เป็นไปตามหลักการอนุมัติโครงการตามความจำเป็นเร่งด่วน

ดังนั้น มีความจำเป็นที่จะมีการวางกลไกการกลั่นกรองโครงการที่รอบคอบเพื่อลดความซ้ำซ้อนและทำให้การใช้งบประมาณมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยตั้งเป้าหมายว่าในปีงบประมาณ 2561 – 2562 การบูรณาการงบประมาณเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำแต่ละกระทรวงต้องสามารถที่จะตอบสังคมได้ว่าการอนุมัติงบประมาณแต่ละโครงการเกิดประโยชน์สูงสุดและเป็นผลดีต่อการบริหารจัดการน้ำในภาพรวมได้อย่างไร

สำหรับปัญหาที่ที่ประชุมมีการหารือกันเรื่องปัญหาของการซ่อมบำรุง ซ่อมแซม และดูแลแหล่งน้ำและโครงการบริหารจัดการน้ำที่ได้มีการถ่ายโอนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดูแลไปแล้วประมาณ 10,000 แห่งทั่วประเทศ

นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายให้กรมทรัพยากรน้ำให้เป็นเจ้าภาพในการหารือเพื่อเร่งรัดการทบทวนและปรับปรุงซ่อมแซมแหล่งน้ำตามภารกิจถ่ายโอนที่ได้มอบให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปแล้วประมาณ1หมื่นกว่าแห่งทั่วประเทศ ซึ่งมีปัญหาในเรื่องการไม่มีงบประมาณในการซ่อมแซม บำรุงรักษาเนื่องจากงบประมาณแต่ละปีที่ได้รับไม่ได้เพิ่มขึ้น และในอนาคตการโอนภารกิจจะเพิ่มมากขึ้น หากไม่เร่งวางแนวทางไว้แต่ตอนนี้จะมีปัญหาตามมา

แนวทางที่จะดำเงินการนั้นคือจะต้องให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ไปทำความเข้าใจกับชุมชนใกล้แหล่งน้ำเพื่อร่วมกันดูแลรักษา ส่วนแหล่งน้ำที่อยู่ไกลชุมชนให้ดูเรื่องการลงทุนกระจายน้ำและดึงชุมชนเข้ามาดูแลร่วมกับหน่วยงานของรัฐ

เตรียมหาแหล่งน้ำรับอีอีซี

นอกจากนั้นที่ประชุมได้มีการหารือเรื่องความพร้อมของแหล่งน้ำต้นทุนภาคตะวันออกซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของประเทศที่ในปัจจุบันเป็นแหล่งผลิตอุตสาหกรรม การเกษตรและการท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ และในอนาคตจะมีการลงทุนในโครงการพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งความพอเพียงของทรัพยากรน้ำต้นทุนในพื้นที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อมั่นของนักลงทุนด้วย

ทั้งนี้ที่ประชุมฯได้มอบหมายให้กรมทรัพยากรน้ำ และกรมชลประทานทำงานร่วมกันในการประเมินความต้องการใช้น้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกในอนาคต รวมทั้งศึกษาและนำเสนอแนวทางการจัดหาน้ำต้นทุนรองรับความต้องการใช้น้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเป็นแนวทางเพิ่มเติมจากการผันน้ำจากแหล่งน้ำต่างๆมาใช้เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาความขัดแย้งกันระหว่างการใช้น้ำในอุตสาหกรรม การเกษตร และการท่องเที่ยว ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

ที่ประชุมได้รับทราบแนวทางการนำน้ำจากเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำสตึงนำ ประเทศกัมพูชา ที่อยู่ใกล้กับชายแดนประเทศไทยมาใช้ภายใต้ความร่วมมือกับประเทศกัมพูชาที่เราจะนำน้ำจากเขื่อนดังกล่าวมาใช้ปั่นเครื่องกำเนิดไฟฟ้าในประเทศไทย ซึ่งเมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จภายใน 7 – 8 ปี จะสามารถส่งน้ำมายังประเทศไทยได้สูงสุดถึง 400 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

“เราอาจจะสามารถนำน้ำบางส่วนมาใช้ในพื้นที่ภาคตะวันออกและบางส่วนส่งคืนกลับไปยังฝั่งกัมพูชาเพื่อรักษาระบบนิเวศน์ซึ่งแนวทางนี้จะต้องมีการศึกษาความเหมาะสมต่อไป”

พื้นฟูแหล่งน้ำใน 15 จังหวัด

ขณะที่การแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำของประเทศ ที่ประชุมได้เห็นชอบโครงการปรับปรุงและฟื้นฟูแหล่งน้ำโดยความร่วมมือของกองทัพบกร่วมกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ จำนวน 22 โครงการ ในพื้นที่ 15 จังหวัด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในช่วงน้ำหลาก การกระจายน้ำให้กับพื้นที่การเกษตร ประมาณ 2,600 ไร่ มีน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 3.57ล้านลูกบาศก์เมตร และมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์นำแผนพัฒนาแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ 4 แห่ง ประกอบด้วย บึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ บึงสีไฟ จ.พิจิตร กว๊านพะเยา จ.พะเยา และหนองหาน จ.สกลนคร โดยให้ไปหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

รวมทั้งสั่งการให้มีการสร้างความรับรู้ความเข้าใจให้กับภาคประชาชนเกี่ยวกับการบริหารจัดการ ความเสี่ยงเพื่อเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และการจัดหาแหล่งน้ำดิบในพื้นที่ที่ขาดแคลน รวมถึงการเร่งรัดจัดหาประปาหมู่บ้านให้ครบทุกหมู่บ้านโดยจากการสำรวจพบว่ายังมีหมู่บ้านที่ไม่มีน้ำประปาใช้อีกประมาณ 690 หมู่บ้านที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขจากเดิมที่มีการสำรวจหมู่บ้านที่ไม่มีน้ำประปาใช้ 7,490 หมู่บ้าน ซึ่งคาดว่าภายในปี 2560 จะสามารถแก้ไขได้ทั้งหมด

สำหรับสถานการณ์น้ำในปี 2560 กรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่าในปีนี้สภาพอากาศจะเป็นภูมิอากาศแบบเอนโซ (ENSO) คือเป็นภาวะที่อยู่ตรงกลางระหว่างเอลนีโญและลานีญาอยู่ตรงกลางระหว่างภาวะฝนมากและแห้งแล้ง โดยคาดว่าในช่วงฤดูฝนจะมีพายุดีเปรสชั่น 2 ลูก แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะตกเหนือเขื่อนหรือใต้เขื่อน แต่ก็มีการสั่งการแล้วว่าในการปลูกข้าวหลังเดือน พ.ค.ให้เริ่มต้นปลูกตั้งแต่วันที่ 1พ.ค.ที่ผ่านมาเมื่อครบระยะเวลาเก็บเกี่ยวภายใน 120 วันก็จะได้พื้นที่รองรับน้ำประมาณ 1.5 ล้านไร่ ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ค่าบาท 'อ่อนค่า' รับศก.สหรัฐโตลดลงชั่วคราว

บาทเปิดตลาดเช้านี้อ่อนค่า "34.55บาทต่อดอลลาร์" หลังเฟดมองเศรษฐกิจสหรัฐไตรมาสแรกขยายตัวในอัตราที่ลดลลงแค่ชั่วคราว เป็นไปตามคาดและบาทไม่อ่อนแรง

 นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ที่ระดับ 34.55บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากระดับ 34.47 บาทในสิ้นวันก่อนหลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้มุมมองว่าการเติบโตที่ลดลงของเศรษฐกิจสหรัฐในช่วงไตรมาส 1เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพียง “ชั่วคราว”

เศรษฐกิจสหรัฐยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี และเงินเฟ้อกำลังเข้าใกล้เป้าหมายที่ธนาคารกลางตั้งเป้าหมายไว้ที่ (2%) แม้ในครั้งนี้เฟดจะมีมติให้ “คง” ดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.75-1.00% ในการประชุม FOMC ครั้งนี้ แต่ตลาดมองว่ามีโอกาสมากกว่า 9 ใน 10 ที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% ในการประชุมครั้งต่อไป (15 มิ.ย.) ส่งผลให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นพร้อมกับบอนด์ยีลด์สหรัฐสวนกลับราคาทองที่ปรับตัวลงทันที

สำหรับฝั่งตลาดเงินเอเชียเช้านี้ ไม่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงตามภาพรวมการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด มองว่าการสื่อสารของเฟดไม่ได้มีทิศทางใหม่ จึงมีความเป็นไปได้มากที่ค่าเงินบาทจะไม่อ่อนค่าหนักเนื่องจากไม่มีแรงเก็งกำไรดอลลาร์เพิ่มเติมขณะที่ยังคงมีแรงขายของผู้ส่งออก

มองกรอบค่าเงินระหว่างวันที่ระดับ 34.50-34.60 บาทต่อดอลลาร์

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

9จังหวัดภาคกลางเตรียมพร้อม รับมือภัยแล้งลดความเสียหายพืชผลการเกษตร

นายสุรัตน์ สงวนทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1 จ.ชัยนาท เปิดเผยว่า สถานการณ์ภัยแล้งในปัจจุบันมีความรุนแรงกว่าในอดีตมาก ซึ่งพื้นที่ 9 จังหวัดภาคกลางในความดูแลของสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1จ.ชัยนาท อยู่ในเขตชลประทานใช้น้ำจาก 4 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งจะใช้ร่วมกับจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ซึ่ง 4 เขื่อนหลักปัจจุบันมีน้ำเหลือใช้ 5,160 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 20.7%

แต่ด้วยสถานการณ์ภัยแล้งในปี 2560 ที่มีความรุนแรงน้อยกว่าปี 2559 ที่ผ่านมา เป็นผลมาจากปีนี้มีน้ำในเขื่อนหลักๆ เหลือมากกว่าปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เกษตรกรเพาะปลูกข้าวนาปรังทั้งประเทศเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้จาก 6.9 ล้านไร่เป็น 11.5 ล้านไร่ เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ 60% โดยเขตภาคกลาง 9 จังหวัด กำหนดเป้าหมายการปลูกข้าวไว้ 1.53 ล้านไร่แต่มีเกษตรกรปลูกข้าวนาปรัง 2.44 ล้านไร่เกินเป้าหมาย 60% ส่วนที่ทำนาปรังเกินเป้าหมายทำให้การส่งน้ำเข้ามาต้องใช้น้ำเกินกำหนดถึงเท่าตัว ประกอบกับขณะนี้มีเกษตรกรที่ยังไม่เก็บเกี่ยวข้าวนาปรังอยู่อีก 1.4 ล้านไร่ ซึ่งขณะนี้ได้รับรายงานพื้นที่ปลูกข้าวได้รับผลกระทบจากภัยแล้วในพื้นที่ อ.บางระจัน 80 ไร่ อ.อินทร์บุรี 539 ไร่ ประกอบกับขณะนี้มีเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวข้าวนาปรังแล้ว เริ่มปลูกรอบที่ 2 จำนวน 67,000 ไร่ ทำให้ต้องใช้น้ำเยอะจึงเสี่ยงต่อภัยแล้งที่จะเกิดขึ้น

ดังนั้นเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือภัยแล้งที่จะสร้างความเสียหายให้กับพืชผลทางการเกษตร ทางสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1 จังหวัดชัยนาทกรมส่งเสริมการเกษตร จึงวอนขอให้เกษตรกรที่เก็บเกี่ยวข้าวนาปรังรอบแรก งดปลูกข้าวนาปรังรอบที่ 2 เพื่อลดความเสี่ยงต่อปัญหาภัยแล้งที่จะเกิดขึ้น ในส่วนของพืชอื่นๆ เช่น พืชไร่ พืชผัก ไม้ผลที่อยู่นอกเขตชลประทานทางสำนักงานฯ ก็ไม่ได้ทอดทิ้ง โดยจะมีมาตรการช่วยเหลือด้วยการส่งเสริมความรู้การวางแผนการผลิตพืชให้เหมาะสมกับพื้นที่ในแต่ละช่วงเวลา พร้อมทั้งส่งเสริมการจัดการแปลงปลูกอย่างเหมาะสม อาทิ การกำจัดวัชพืช การคลุมโคนต้น การพรางแสง เพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้กับพืชในช่วงที่ประสบภัยแล้ง รวมถึงแนะนำให้ใช้เทคโนโลยีประหยัดน้ำ ได้แก่ ระบบน้ำหยด ระบบสปริงเกอร์ เพื่อประหยัดการใช้น้ำไปพร้อมกันด้วย ซึ่งการส่งเสริมดังกล่าวจะมีศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) เป็นศูนย์กลางในการให้ความรู้และการส่งเสริมด้านต่างๆ

จาก http://www.naewna.com วันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

KTIS จ่อยื่นขอขยายกำลังผลิต รองรับไบโอคอมเพล็กซ์     

         KTIS จ่อยื่นขอขยายกำลังผลิตรองรับไบโอคอมเพล็กซ์ KTIS เตรียมยื่น ก.อุตสาหกรรมขอขยายกำลังการผลิตหีบอ้อยเพิ่มที่นครสวรรค์รองรับโครงการไบโอคอมเพล็กซ์ มูลค่า 7 พันล้านบาท ยันบริษัทมีความพร้อมด้านเงินลงทุนแล้ว      

        นายประเสริฐ ศิริวิริยะกุล กรรมการและรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น (KTIS) เปิดเผยความคืบหน้าการร่วมทุนในโครงการไบโอคอมเพล็กซ์ จังหวัดนครสวรรค์ว่า ขณะนี้ทางพันธมิตรร่วมทุน คือ บมจ.โกลบอลกรีนเคมิคอล (GGC) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) อยู่ระหว่างดำเนินการยื่นเสนอรายละเอียดโครงการไบโอคอมเพล็กซ์กับหน่วยงานรัฐ รวมทั้งคาดว่าจะได้ข้อสรุปใน 2-3 เดือนข้างหน้า ซึ่งรัฐได้สนับสนุนให้จังหวัดนครสวรรค์เป็นอุตสาหกรรมชีวภาพ (ไบโอฮับ) หลังจากนั้นคาดว่าเริ่มดำเนินโครงการในเฟสแรก มูลค่าโครงการ 7 พันล้านบาท      

        แหล่งเงินทุนบริษัทฯ มีความพร้อมอยู่แล้ว โดยจะถือหุ้น 50% เนื่องจากก่อนหน้านี้ บริษัทมีแผนที่จะขยายโรงงานหีบอ้อยเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับปริมาณอ้อยในพื้นที่ที่ปัจจุบันมีค่อนข้างมาก แต่เมื่อตัดสินใจร่วมทุนกับทางกลุ่ม PTTGC เพื่อพัฒนาโครงการไบโอคอมเพล็กซ์สนองนโยบายรัฐ จึงได้ชะลอการลงทุนดังกล่าวไป ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯ มีใบอนุญาตจากกระทรวงอุตสาหกรรมในการขยายกำลังการผลิตเพิ่มอีก 1 หมี่นตันอ้อย/วัน จังหวัดนครสวรรค์ ดังนั้น บริษัทเตรียมที่จะยื่นขอเพิ่มกำลังการผลิตอีกราว 2 หมื่นตันอ้อย/วันในพื้นที่ดังกล่าวเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ในโครงการไบโอคอมเพล็กซ์      

        ทั้งนี้ ไบโอคอมเพล็กซ์ในเฟส 1 จะมีโรงงานหีบอ้อย 2 หมื่นตันอ้อย/วัน เพื่อนำมาผลิตเป็นเอทานอล 6 แสนลิตร/วัน รวมทั้งมีโรงไฟฟ้าชีวมวล 85 เมกะวัตต์ โดยไฟฟ้าส่วนหนึ่งจะใช้ภายในโครงการ อีกส่วนหนึ่งจะเสนอขายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ประมาณ 30 เมกะวัตต์      

        สำหรับราคาน้ำตาลในตลาดโลก ขณะนี้พบว่าราคาอ่อนตัวลงมาอยู่ที่ 16 เซ็นต์/ปอนด์ จากเดิมที่เคยขึ้นไปถึง 20 เซ็นต์/ปอนด์ เนื่องจากมีกำลังการผลิตน้ำตาลเพิ่มขึ้นทั้งจากบราซิล อินเดีย และไทย ขณะที่ปริมาณอ้อยของไทยที่จะเข้าหีบในปีการผลิต 2560/2561 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 110 ล้านตันอ้อยจากปีนี้ที่ 94 ล้านตัน เนื่องจากเกษตรกรหันมาปลูกอ้อยเพิ่มขึ้น

จาก http://manager.co.th  วันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

นายกฯ ถก กก.ทรัพยากรน้ำ ขู่บิ๊ก ขรก.แก้ไม่ได้ดีกว่าเดิมมีผลต่อประเมิน ก.ย.นี้แน่  

         นายกรัฐมนตรี ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กำหนดเป้างาน 1 ปี หวังจัดการน้ำให้ทั่วถึงชาวบ้านมากสุด ใช้งบน้อยสุด ใช้รับมือฤดูแล้งหน้า ทำโครงการต่อให้เสร็จ โครงการไหนมีปัญหาให้ปรับเป็นขนาดเล็ก แย้มใช้ประเมินขีดความสามารถของผู้บริหาร ถ้าแก้ไม่ได้ดีกว่าเดิมจ่อนำไปพิจารณา ก.ย.นี้ด้วย

               วันนี้ (3 พ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 09.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กล่าวในช่วงต้นในการเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติครั้งที่ 1/2560 ว่าวันนี้เป็นการประชุมสำคัญเพราะตนจะกำหนดเป้าหมายของการทำงาน 1 ปี ที่มีทั้งระบบการกักเก็บน้ำ และการกระจายน้ำ รวมทั้งน้ำบาดาล และระบบสูบน้ำโดยรวมเพื่อให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย และบริหารจัดการน้ำให้ทั่วถึงประชาชนมากที่สุดตลอดปี 2560-2561 นี้ ถึงแม้อาจทำได้ไม่ครบถ้วนแต่ต้องทำให้ได้มากที่สุด โดยใช้งบประมาณน้อยที่สุด เพื่อเตรียมการไว้ใช้รับมือฤดูแล้งหน้า อะไรที่เป็นโครงการที่ยังทำอยู่ก็ทำต่อให้เสร็จ อะไรที่เป็นโครงการใหม่และเป็นโครงการขนาดใหญ่และมีปัญหาให้ปรับเป็นโครงการขนาดเล็กทั้งหมด

               พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ส่วนโครงการตามแผนระยะยาว สิ่งสำคัญที่สุดวันนี้คือต้องคำนึงถึงงบประมาณ และระยะเวลาที่มีอยู่ ที่ต้องทำให้ประชาชนคลายความเดือดร้อน บรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติให้ได้โดยเร็ว ส่วนการบริหารจัดการน้ำมีนโยบายให้มีศูนย์บริหารจัดการน้ำที่สำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บริหารโดยรวม โดยนำข้อมูลจากทุกหน่วยงานเข้ามาบริหารเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติให้ได้ ให้เกิดความต่อเนื่อง เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องการให้เป็นเหมือนศูนย์บรรเทาภัยพิบัติ เพราะทรัพยากรน้ำเป็นเรื่องสำคัญของประเทศไทย

               “สำหรับการทำงานในภาพรวมปีนี้จะถือว่าเป็นการประเมินผลขีดความสามารถของผู้บังคับหน่วยและผู้นำองค์กรทุกองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ หากไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ดีกว่าเดิมถือว่าเป็นข้อพิจารณาของนายกรัฐมนตรีในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ จึงขอกำชับไปถึงหน่วยงานในทุกพื้นที่ไม่ว่าจะฝ่ายไหนก็ตาม ทุกคนต้องเป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง คิดใหม่ อย่าติดกับกับเรื่องเดิม ทำแบบเดิม” นายกรัฐมนตรีกล่าว

จาก http://manager.co.th  วันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

กรมชลนำร่องแหล่งน้ำประชารัฐ

กรมชลประทานเร่งเครื่องนำร่องโครงการพัฒนาแหล่งน้ำประชารัฐใน 8 ลุ่มน้ำย่อยภาคตะวันออก ใช้การมีส่วนร่วมของประชาชนผนวกหน่วยงานรัฐขับเคลื่อนปัญหาเรื่องน้ำ  ทั้งการฟื้นฟูศักยภาพแหล่งน้ำเดิมและการพัฒนาแหล่งน้ำใหม่

นายสุจินต์  หลิ่มโตประเสริฐ  ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กรมชลประทาน เปิดเผยว่า  เพื่อเดินหน้ายุทธศาสตร์การมีส่วนร่วม กองส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน สำนักงานชลประทานที่ 9 และสำนักบริหารโครงการ จึงร่วมบูรณาการโครงการพัฒนาลุ่มน้ำแบบประชารัฐใน 88 ลุ่มน้ำย่อยของลุ่มน้ำปราจีนบุรี ลุ่มน้ำบางปะกง ลุ่มน้ำโตนเลสาป และลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก  ในระหว่างปี 2560-2566  โดยนำร่องดำเนินการใน 8 ลุ่มน้ำย่อย 8 จังหวัด ก่อนในปี 2560-2561 ประกอบด้วย จ.ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี และตราด

ทั้งนี้ นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน ได้ลงนามตั้งคณะทำงานโครงการพัฒนาลุ่มน้ำแบบประชารัฐ (คนป.) ทั้ง 8 จังหวัดดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว  ขณะนี้ คนป. ได้ลงพื้นที่และเตรียมเสนอรายชื่อคณะทำงานประชารัฐ (คปร.) ให้ฝ่ายปกครองแต่งตั้ง ซึ่งจะประกอบด้วยผู้แทนภาคอุปโภคบริโภค ภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม ภาคท่องเที่ยว การรักษาระบบนิเวศ สถานศึกษา และหน่วยงานต่างๆ

ตามกรอบการดำเนินงานของ คปร. ประกอบด้วย การศึกษาสภาพที่มาที่ไปของปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วม การจัดทำแผนปรับปรุง ซ่อมแซม โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเดิมที่มีอยู่ในพื้นที่ การจัดทำแผนงาน โครงการพัฒนาแหล่งน้ำใหม่ให้เหมาะสมกับปริมาณความต้องการใช้ในอนาคต และเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปศึกษาความเหมาะสม

"คณะทำงานประชารัฐ (คปร.) จะเป็นผู้ขับเคลื่อนโครงการในแต่ละลุ่มน้ำย่อย  โดยในชั้นต้นในปี 2560 จะศึกษาสภาพปัญหาเรื่องน้ำในพื้นที่ และเสนอแนวทางฟื้นฟูศักยภาพน้ำให้กลับมาใช้งานได้

ตามศักยภาพเดิม  ชั้นต่อไปในปี 2561 จึงศึกษาและเสนอแผนหรือโครงการพัฒนาแหล่งน้ำใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำระยะยาว 20 ปี ล้อไปตามยุทธศาสตร์ของประเทศ แต่ไม่ว่าการฟื้นฟูหรือการพัฒนาแหล่งน้ำใหม่ คปร. จะเสนอหน่วยงานเกี่ยวข้องไปศึกษาความเหมาะสมและดำเนินโครงการ  อาจเป็นกรมทรัพยากรน้ำ กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมน้ำบาดาล กรมเจ้าท่า หรือกรมชลประทาน และ ฯลฯ  ก็สุดแท้แต่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานใด" นายสุจินต์กล่าว

นายสุจินต์กล่าวว่า รูปแบบการดำเนินงานแบบประชารัฐผนวกกับการมีส่วนร่วมของประชาชน จะช่วยคลี่คลายปัญหาเรื่องน้ำได้แบบเบ็ดเสร็จในตัว กล่าวคือคณะทำงานประชารัฐนั้น รวมเอาทุกหน่วยเกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วน  เข้าเป็นกรรมการในการศึกษาปัญหาทุกด้าน ทำให้เกิดความรอบด้านในการแก้ไขปัญหา ขณะเดียวกัน ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาก็จัดทำเป็นข้อเสนอ แล้วส่งให้หน่วยงานเกี่ยวข้องรับไปพิจารณาและดำเนินการ

" คล้ายๆ แนวคิด One Stop Service กลายๆ เพราะทุกภาคส่วนร่วมศึกษาปัญหาน้ำมาด้วยกัน พอจะแก้ปัญหา หน่วยงานไหนรับผิดชอบเรื่องอะไรก็แทบจะเอาไปดำเนินการได้เลย เป็นการบูรณาการแก้ปัญหาไปในตัว เป็นข้อเด่นของโครงการพัฒนาลุ่มน้ำแบบประชารัฐ"

การเลือกพื้นที่สำนักงานชลประทานที่ 9 ที่ครอบคลุมพื้นที่ภาคตะวันออกเป็นพื้นที่นำร่อง เนื่องจากสอดคล้องกับแนวคิดของ นายเกิดชัย ธัญวัฒนกุล  ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 9 ที่ต้องการให้ การแก้ไขปัญหาน้ำใช้วิธีการให้ประชาชนในพื้นที่นั้นๆ มีส่วนร่วมด้วย ซึ่งจะคลี่คลายปัญหาข้อขัดแย้งได้ดีกว่าเดิม และถือว่าคนในพื้นที่เผชิญปัญหาน้ำด้วยตัวเอง ย่อมรับรู้ปัญหาได้ดีกว่า โดยกรมชลประทานจะนำเอาความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมมาช่วยวางแผนออกแบบ และพัฒนาโครงการตอบโจทย์ปัญหาให้ประชาชน

ขณะเดียวกัน รัฐบาลได้ประกาศใช้การดำเนินโครงการแบบประชารัฐ ซึ่งหมายถึงการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชน และแก้ไขปัญหาให้เกิดขึ้นอย่างบูรณาการจริงจัง  กรมชลประทานจึงนำสองแนวคิดดังกล่าวมาผนวกเป็นโครงการพัฒนาลุ่มน้ำแบบประชารัฐ  เพราะรูปแบบการพัฒนาดังกล่าวสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของกรมชลประทาน ทั้งการพัฒนาแหล่งน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทานตามศักยภาพลักษณะลุ่มน้ำและการเสริมอำนาจประชาชนในระดับพื้นที่  การสร้างเครือข่าย และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการบริหารจัดการน้ำชลประทาน

จาก http://www.banmuang.co.th   วันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ส่อเค้าแล้งหนัก!คลองชลประทานแห้งยาวนับสิบกิโล

เมื่อเวลา 08.00 น. ของวันนี้ (3 พ.ค. 60) ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปตรวจสอบน้ำในคลองชลประทาน ริมถนนสายชันสูตร-เสนา ในพื้นที่ อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง หลังทราบว่าที่คลองดังกล่าวที่เมื่อช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาเคยมีน้ำอยู่ในคลองบ้างแต่ตอนนี้น้ำแห้งหาย โดยเมื่อเดินทางไปถึงพบว่าคลองดังกล่าวนั้นแห้งขอด ไมมีน้ำหลงเหลืออยู่ในคลอง

แม้จะมีประกาศจากนายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทานถึงกรณีจะปล่อยน้ำให้กับชาวนาลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างเพื่อทำนาในฤดูกาล 2560-2561ในวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา แต่สภาพคลองชลประทานชันสูตร-เสนา ตั้งแต่บริเวณหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 3 โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายางมณี ต.ม่วงเตี้ย อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง ไปจนถึง บริเวณตำบลท่าช้าง อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง ระยะทางกว่า 10 กม.อยู่ในสภาพที่ไม่มีน้ำติดก้นคลองทำให้ชาวนาหลายรายต่างวิตกว่าจะไม่มีน้ำทำนา  โดยระดับน้ำเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่หลังสงกรานต์ ซึ่งประชาชนในน้ำในคลองดังกล่าวเล่นน้ำสงกรานต์ที่รู้จักกันนามถนนข้าวสุก แต่หลังจากนั้นก็เริ่มลดลงจนกระทั่งแห้งไม่มีน้ำในที่สุด

ขณะที่สถานการณ์ระดับน้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านจังหวัดอ่างทอง ยังคงมีปริมาณที่น้อย โดยระดับน้ำล่าสุดที่สถานีชลมาตร C7A สำนักชลประทานที่ 12 หน้าศาลากลางจังหวัดอ่างทอง ระดับน้ำอยู่ที่ 0.88 เมตร/รทก.จากระดับตลิ่ง 9.32 เมตร/รทก. ซึ่งจัดว่าน้อยมาก โดยทางจังหวัดอ่างทองเตรียมความพร้อมในการรับมือสถานการณ์ภัยแล้งแล้ว

จาก http://www.banmuang.co.th   วันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ครม.ไฟเขียวงบกลาง521ล้านช่วยเกษตรกร

ครม.ไฟเขียวงบกลางฯปี 2560 เพิ่มเติมวงเงิน 521.8 ล้านบาท ให้กระทรวงเกษตรฯช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบอุทกภัยปี 2559/60 อีก 1.7 แสนครัวเรือน

  พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบอนุมัติงบกลางเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรตามมาตรการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยปี 2559/60 เพิ่มเติม 521.8 ล้านบาท ตามข้อเสนอของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ทั้งนี้ ครม.เคยมีมติอนุมัติวงเงินช่วยเหลือเกษตรกรประสบอุทกภัยปี 2559/60 ครัวเรือนละ 3,000 บาท โดยคณะกรรมการระดับจังหวัดได้ประกาศการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) ตั้งแต่วันที่ 18 พ.ค. 2559 - 28 ก.พ.2560 จำนวน 64 จังหวัดและคณะอนุกรรมการการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์จังหวัดได้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้อง โดยข้อมูล ณ วันที่ 23 มี.ค. 2560 มีเกษตรกรที่ได้รับการเยียวยา 1,758,821 ครัวเรือน วงเงิน 5357.46 ล้านบาท

จากการสำรวจของคณะกรรมการระดับจังหวัดสำรวจพบว่ายังมีเกษตรกรที่ยังตกสำรวจและไม่ได้รับเงินเยียวยาจากผลกระทบจากอุทกภัยในปี 2559/60 อีก 173,953 ครัวเรือน คิดเป็นงบประมาณที่ต้องอุดหนุนเพิ่มเติมอีก 521.8 ล้านบาทจึงขออนุมัติงบประมาณจากงบกลางฯปี 2560 เพื่อจัดสรรให้กับเกษตรกรต่อไป

งบประมาณดังกล่าวยังไม่รวมกรอบวงเงินที่จะช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรผู้ที่ได้รับผลกระทบในระยะต่อไปจนสิ้นสุดฤดูฝน

สำนักงบประมาณได้ให้ความเห็นว่าในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรตามโครงการนี้และโครงการต่อๆไปขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการการตรวจสอบการขอรับความช่วยเหลือให้ไม่มีความซ้ำซ้อนและเป็นไปตามข้อกำหนดตามหลักเกณฑ์ที่มีการวางไว้เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและคุ้มค่า

ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาว่าควรมีการจัดสรรงบประมาณให้กับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ โดยในขั้นตอนการดำเนินงานต่อไปของกระทรวงเกษตรฯควรดำเนินการตามระเบียบที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัดและอยู่ภายใต้กรอบระยะเวลาที่กำหนดเพื่อให้การช่วยเหลือเกษตรกรเป็นไปอย่างโปร่งใสและเกิดประโยชน์สูงสุด

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

คลังเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจหวังโตเต็มศักยภาพที่ 4%

"คลัง" เตรียมออกมาตรการกระตุ้นหวังดันเศรษฐกิจให้ขยายตัวเต็มศักยภาพที่ 4% พร้อมออกมาตรการเพิ่มรายได้เกษตรกรแบบยั่งยืน

 นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า จะหารือกับนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เกี่ยวกับแนวทางออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปีนี้ให้ขยายตัวได้เต็มศักยภาพที่ร้อยละ 4 จากขณะนี้คาดว่าเศรษฐกิจปีนี้จะขยายตัวร้อยละ 3.5 สำหรับมาตรการจะพิจารณาถึงเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเติบโตที่เหมาะสม

สำหรับเศรษฐกิจไตรมาส 1 ปีนี้มีแนวโน้มขยายตัวดีกว่าไตรมาส 4 ปีที่ผ่านมา จากปัจจัยบวก เช่น การท่องเที่ยวดีต่อเนื่อง การส่งออกเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว การบริโภคภาคเอกชนดีขึ้น รายได้เกษตรกรปรับตัวสูงขึ้น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนยังอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ หาก ภาคเอกชนกลับมาลงทุนจะช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ดีมากขึ้น

ส่วนสาเหตุที่การลงทุนเอกชนยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ เพราะยังไม่มั่นใจ ดังนั้น สิ่งสำคัญ คือ การสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคเอกชน ประชาชน ส่วนการเติบโตทางเศรษฐกิจเร็วไปก็ไม่ดีต้องคำนึงถึงเสถียรภาพ โดยเศรษฐกิจจะเติบโตมากน้อยขึ้นอยู่กับการลงทุนภาคเอกชนด้วย แต่ขณะนี้เอกชนเริ่มให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซีมากขึ้น หากเป็นไปตามแผนจะทำให้การลงทุนภาคเอกชนฟื้นตัวขึ้นได้

 นายสมชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงการคลังยังเตรียมเสนอมาตรการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรอย่างยั่งยืนให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณาด้วย หากได้รับความเห็นชอบจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป โดยมาตรการที่ออกจะต้องคำนึงงบประมาณ ปัญหาและอุปสรรค และการดำเนินงานหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

บทสรุปสัมมนาแบน"สารเคมีเกษตร" พิสูจน์ความจริงใจภาครัฐต่อเกษตรกร

        หลังคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารรสุขเป็นประธาน มีมติเห็นชอบให้ยกเลิกการใช้สารเคมีเกษตร 2 ตัวคือ"พาราควอต"และ"คลอร์ไพริฟอส"  จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ไม่อนุญาตให้ใช้ ระหว่างนี้ไม่อนุญาตขึ้นทะเบียนเพิ่ม ไม่ต่ออายุทะเบียน ให้ยุติการนำเข้าภายในวันที่ 1 ธันวาคม 2560 และยุติการใช้สิ้นเชิง 1 ธันวาคม 2562 ได้สร้างความสับสนให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการ รวมถึงผู้เกี่ยวข้องในแวดวงเกษตรเป็นอย่างมากว่า อำนาจในการสั่งแบนมิใช่อยู่ในบทบาทของกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้วหรือ

       กระทั่งล่าสุดเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2560 กรมวิชาการเกษตร ในฐานะเจ้าภาพได้จัดเวทีการประชุม ณ ตึกกสิกรรม กรมวิชาการเกษตร เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นและรวบรวมข้อมูลจากทุกภาคส่วนประกอบการพิจารณาการควบคุมสารเคมีอันตราย 2 ตัวที่ใช้ในภาคการเกษตรได้แก่ พาราควอต และ คลอร์ไพริฟอส ซึ่งการประชุมครั้งนี้ เจ้าภาพส่งเทียบเชิญผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตั้งแต่เกษตรกร นักวิชาการทั้งภาครัฐและเอกชนเครือข่ายเตือนภัยเกษตรกร รวมถึงผู้ประกอบการนำเข้า จัดจำหน่าย มารับฟังแลกเปลี่ยนร่วมกันข้อมูลทางวิชาการถึงข้อกังวลด้านสุขภาพ โดยมีนายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร นั่งหัวโต๊ะแจ้งให้ทุกภาคส่วนที่เข้าร่วมประชุมรับทราบว่าผลจากการประชุมครั้งนี้เพื่อรวบรวมข้อมูลประกอบการควบคุมวัตถุอันตราย แต่ยังไม่ใช่ประชาพิจารณ์

       ผู้สื่อข่าวรายงานว่าบรรยากาศภายในห้องประชุมวันนั้น ล้วนเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการอันเกี่ยวข้องกับความเป็นพิษต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่กรมกองต่างๆ ส่งตัวแทนเข้ามาให้ความรู้แบบสร้างสรรค์ ทั้งจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมอนามัย กรมควบคุมโรค กรมการแพทย์ กรมควบคุมมูลพิษ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ท่ามกลางผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่น อาทิ สมาพันธ์ชาวสวนยาง สมาพันธ์ชาวนา,ชาวไร่อ้อย ,ชาวไร่มัน ,ชาวสวนปาล์มน้ำมัน ,ชาวนาไทย รวมถึงเครือข่ายเตือนภัยสสารเคมีกำจัดศัตรูพืช,มูลนิธิชีววิถี,มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค ตลอดจนสมาคมผู้ประกอบการสารเคมี เข้าร่วมกว่า 80 ชีวิต ข้อมูลยังคงวนเวียนเรื่องความเป็นพิษต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม แต่ยังไม่มีประเด็นความชัดเจนเรื่องการแบนหรือไม่สำหรับสารเคมีทั้ง 3 ตัวจากแง่มุมของผู้ใช้หรือเกษตรกร

      สุกรรณ สังข์วรรณะ เกษตรกรดีเด่นจังหวัดสุพรรณบุรี ปราชญ์ชาวบ้านแห่งหนองหญ้าไซ และเป็นประธานศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้พร้อมคำถามและคำชี้แจงในฐานะเกษตรกรผู้ใช้สารเคมีโดยตรงว่า จากข่าวการแบนสารพาราควอตและคลอริไพริฟอสนั้น ขณะนี้เกษตรกรมีความห่วงกังวลถึงการบริหารจัดการวัชพืชในไร่น่าของเกษตรกรในอนาคตว่าจะทำอย่างไรต่อไป หรือเกษตรกรต้องหันไปใช้วิธีถอนหญ้าด้วยมือหรืออุปกรณ์กำจัดวัชพืชแบบดั้งเดิม ซึ่งหากเป็นรูปแบบดังกล่าวเขาได้ยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า หากต้องการจะถอนหญ้าในแปลงขนาด 1 ไร่ใน 1 วัน แรงงาน 1 คนสามารถถอนหญ้าได้ 16 ตร.ม./ชม. ถ้าต้องถอน 1 ไร่ต้องใช้แรงงาน 14 คน มีต้นทุนค่าแรงอยู่ที่ เฉลี่ย 300 บาท ดังนั้นหากต้องการถอนหญ้าในแปลงจะมีต้นทุนอยู่ที่ 4,200 บาท ต่อไร่ ในขณะที่ใช้สารเคมีจะมีต้นทุนอยู่ที่ 100 บาทต่อไร่ เกษตรกรใช้สารดังกล่าวเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

       นอกจากนี้เขายังได้พูดถึง กลูโฟซิเนท ที่ฝ่ายเรียกร้องให้แบนได้เสนอเพื่อใช้เป็นสารทดแทนว่า เป็นสารตัวใหม่ที่เกษตรกรยังไม่คุ้นเคย และมีต้นทุนสูงกว่าสารตัวเดิมถึง 7.5 เท่า ในขณะที่ประสิทธิภาพด้อยกว่า วันนี้หากพูดว่าจะสั่งแบนสารดังกล่าว ในความเป็นจริงกรมฯ ได้สั่งแบนแล้วหลายตัว แต่ปรากฏว่าสารดังกล่าวเกษตรกรก็ยังสามารถหาซื้อได้จากหลังร้านทั่วไป

       “การสั่งแบนจึงไม่ใช่คำตอบ เพราะสารเหล่านี้มีความจำเป็นในภาคการผลิต เกษตรกรต้องหามาใช้ให้ได้ ไม่มีหน้าร้านก็หาได้จากหลังร้าน วันนี้ถ้ารัฐสั่งแบนแล้ว สารเหล่านี้จะลงใต้ดิน จะไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้ เป็นการสร้างปัญหาใหม่ขึ้นมา วันนี้ 17 ล้านครัวเรือนเป็นภาคการเกษตร นอกจากเป็นผู้ผลิตที่สัมผัสสารเคมีโดยตรงแล้ว ยังเป็นผู้บริโภคเช่นเดียวกับกลุ่มผู้มีความเสี่ยงอื่นตามที่คณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีฯ ออกมาอ้าง ดังนั้นปัญหาน่าจะอยู่ที่วิธีการบริหารจัดการสารเคมีมากกว่าความเป็นพิษ วันนี้ผมเองรู้สึกดีใจที่กระทรวงเกษตรฯ ยังเป็นของพี่น้องเกษตรกรไทยที่รับฟังพวกเราบ้างว่า เราคิดเห็นอย่างไร ไม่ใช่รับฟังข้อมูลจากคนที่เขาไม่ได้ใช้ แต่มาสั่งว่าห้ามใช้” สุกรรณกล่าวด้วยความอัดอั้น

        นอกจากนี้สุกรรณยังได้นำเสนอทางออกสำหรับการแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีไม่ถูกต้องว่า วันนี้รูปแบบการใช้สารเคมีของภาคการเกษตรเปลี่ยนไป คนใช้จริงสัมผัสกับสารโดยตรงกลายเป็นผู้มีอาชีพรับจ้างฉีดพ่นหากกรมฯสามารถจัดหลักสูตรอบรมสอนการฉีดพ่นการใช้สารอย่างถูกต้อง พร้อมออกใบรับรองให้สามารถทำงานรับจ้างฉีดพ่นได้อย่างถูกกฎหมาย ปัญหาความเป็นพิษจากการสัมผัสจะลดลงไป ในขณะที่การขึ้นทะเบียนเกษตรกรจะช่วยคัดกรองการซื้อสารเคมีจากร้านค้าที่ได้รับการรับรองจากกรมฯ จะช่วยให้ปัญหาการรับพิษ หรือเฝ้าระวังการนำไปใช้ไม่ถูกประเภทลดลงไปได้

        ซึ่งสอดคล้องมุมมองกับ ธรรมนูญ ยิ่งยืน เกษตรกรชาวไร่มันสำปะหลัง และข้าวโพดในอ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ที่เข้าร่วมรับฟังในครั้งนี้ได้สะท้อนข้อคิดเห็นว่า นับเป็นเรื่องดีที่กรมวิชาการเกษตรได้จัดเวทีประชุมนี้ขึ้น แต่อยากให้กรมฯ รับฟังให้รอบด้านจากผลกระทบทั้งหมด วันนี้เป็นผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม แต่ยังไม่มีข้อมูลถึงผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคม ในขณะที่ผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมยังเป็นข้อมูลที่เก็บตัวอย่างมาจากโรงพยาบาล ซึ่งต้องมีผู้ป่วยเข้ามารับการรักษาอย่างแน่นอน ยังไม่สามารถนำเป็นข้อมูลชัดเจนถึงสาเหตุความเจ็บป่วยได้ อยากให้ไปเก็บตัวอย่างจากเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ ที่มีความหลากหลายของการผลิตการเกษตรแต่ละชนิด มีโอกาสใช้สารเคมีปัจจัยทางการผลิตจริงนำมาเปรียบเทียบจึงจะทำให้ข้อมูลมีความสมบูรณ์ขึ้น ส่วนข้อมูลในด้านอื่นๆ เช่น เศรษฐกิจนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเศรษฐกิจต้องออกมาพูดกันว่าวันนี้ภาคการเกษตรเราสามารถทำรายได้ให้ประเทศได้เท่าไหร่ มีการลงทุนด้านไหนไปบ้างอย่างไร

       “ผมทำพืชไร่มีทั้งมันสำปะหลังกับข้าวโพด 2 ตัวนี้ต้องใช้สารเคมีอย่างเดียวในการดูแลเพื่อให้ได้ผลผลิตที่สูงและมีคุณภาพ ในสถานการณ์ที่ดินฟ้าอากาศไม่อำนวย สารเคมีเหล่านี้ช่วยได้มาก ทั้งเรื่องคุมวัชพืชและศัตรูพืช ซึ่งเกษตรกรในอุตสาหกรรมเกษตรใช้ตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด ใช้เป็นช่วงเวลาไม่ใช่ตลอดเวลา หากต้องมีการแบนจริง สารตัวใหม่ที่ใช้ทดแทนราคาไม่ได้ถูกกว่า ในขณะที่ต้นทุนส่วนอื่นสูงขึ้น แต่ราคาผลผลิตกลับตกต่ำสวนทางลงกว่า 20% จากที่รัฐกำหนดราคารับซื้อไว้ ผมมองว่าปัญหาไม่ใช่อยู่ที่ความเป็นพิษของมัน แต่อยู่ที่ระบบการบริหารจัดการ คือใครเป็นคนใช้ จัดเก็บอย่างไร ใครเป็นคนขาย ทุกคนต้องมีความรู้ที่จะนำไปใช้ ข้อมูลวันนี้อยากให้ภาครัฐนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์เพื่อกำหนดมาตรการการบริหารจัดการให้ชัดเจน”เกษตรกรคนเดิมกล่าวย้ำ

          เปรม ณ สงขลา เจ้าของสวนเคหเกษตร อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี ได้โพสในเฟสบุ๊ค Prem Na Songkla ในประเด็นดังกล่าวโดยระบุว่า ความคิดหาทางออกของสารเคมีที่มีข้อมูลระบุว่าอันตราย อย่างพาราควอต คลอร์ไพรีฟอสและไกลโฟเสทนั้น ควรใช้วิธีการควบคุม การนำเข้า การจำหน่าย ตลอดเส้นทาง จากบริษัทนำเข้าจากต้นทาง ท่าเรือ บรรจุ ขนส่งไปยังร้านจำหน่าย เกษตรกรผู้ซื้อ แปลงปลูกอะไร ที่ไหน เท่าไร ใครที่ซื้อไปฆ่าตัวตายก็สามารถทราบว่าซื้อมาจากร้านใด เมื่อไร การตรวจสอบเส้นทางสามารถทำได้โดยผ่านแอปพลิเคชั่นที่สามารถพัฒนาขึ้นได้ ผู้โหลดไปใช้สามารถจ่ายค่าระบบในราคาเหมาะสม เป็นการใช้นโยบาย4.0 ให้เกิดผลจริงๆ คุ้มค่ากับการพัฒนาคลื่นอินเตอร์เน็ตทุกตำบลของรัฐบาลต่อไป

          การจัดการเชิงระบบนี้จะสามารถเห็นการเคลื่อนไหวของการใช้สารเคมีควบคุมเหล่านี้ได้ อย่างเป็นสาธารณะโดยสามารถให้ทุกคนที่สนใจเข้าดูได้อย่างโปร่งใส การปรับเข้าสู่ระบบนี้อาจใช้เวลา 2-3 ปี และสามารถขยับไปสู่การดำเนินการกับวัตถุอันตรายอื่นๆต่อไป ยุ่งยาก วุ่นวาย ไม่เห็นด้วยและ ต่อต้านระยะหนึ่ง แต่ท้าทายในการจะทำให้เกิดความปลอดภัยในห่วงโซ่อาหารและสิ่งแวดล้อมทั้งมวล ขณะที่การห้ามหรือการยกเลิกการขึ้นทะเบียน แต่สารทดแทนที่แพงกว่าหลายเท่านั้นเป็นการทำร้ายเกษตรกรและหลอกตนเอง เพราะจะเกิดการจำหน่ายใต้ดิน หลังร้านตามมา อย่างกรณีเมทโธมิลไม่ได้มีการขึ้นทะเบียน และห้ามจำหน่ายมาหลายปีแล้วแต่ยังหาซื้อของเถื่อนได้ง่ายและราคาถูก ทั้งของจริงและของปลอมในตลาดทั่วไป

        ทางด้าน กิตติ ชุณหวงศ์ นายกสมาคมวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย  ได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับกรณีความสับสนที่เกิดขึ้นกับการเผยแพร่ข่าวการแบนสารเคมีดังกล่าวว่า ปัญหานี้เกิดขึ้นเพราะหลักเกณฑ์ ความชัดเจนในระบบบริหารจัดการการใช้สารเคมีในเมืองไทย สารเคมีเป็นสิ่งที่เป็นอันตรายหากใช้ผิดประเภท หรือเกินคำแนะนำเป็นข้อมูลที่ทุกคนทราบ แต่ไม่มีหน่วยงานทางวิชาการของภาคการเกษตรออกมาพูดถึงตัวเลขสากลที่รับได้ในค่ามาตรฐานให้สังคมคลายกังวล กลับปล่อยให้หน่วยงานที่ทำหน้าที่ด้านสุขภาพของคนมาให้ข้อมูลเพียงด้านเดียว จนทำให้สังคมเกิดคล้อยตามข้อมูลด้านสุขภาพ จนลืมไปว่าในข้อมูลด้านมหภาคทางเศรษฐกิจมีเหตุผลอย่างไรในการนำเข้าสารเคมีดังกล่าวเข้ามาใช้

        เขาได้ยกตัวอย่างภาคการผลิตอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทย ที่มีพื้นที่เพาะปลูกทั่วประเทศราว 10 ล้านไร่ มีตัวเลขผลผลิตต่อปีประมาณ 100 ล้านตัน มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ แสนล้านบาท ไทยส่งออกน้ำตาลและผลผลิตน้ำตาลในรูปแบบอื่นปัจจุบันสูงเป็นอันดับ 4 ของโลกรองจาก บราซิล อินเดีย และจีน แต่ในภูมิภาคอาเซียนไทยส่งออกคิดเป็นปริมาณ 50% ของการบริโภค ในขณะที่อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทย กำลังมุ่งไปที่พลังงานทดแทน ผลิตภัณฑ์ไบโอพลาสติก ไทยเป็นผู้นำของภูมิภาคอาเซียน จำเป็นที่พืชไร่อย่างอ้อยยังต้องพึ่งพาการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ในพื้นที่ไร่อ้อยขนาดใหญ่ และในกระบวนการปลูกอ้อยเองใช้สารเคมีสำหรับศัตรูพืชและวัชพืชอยู่ที่ ประมาณ 500 บาทต่อไร่ ในขณะที่ต้นทุนรวมอยู่ที่ 9,000 บาทต่อไร่ ถือว่ายังน้อยหากเทียบกับต้นทุนการผลิตทั้งหมด

      “ปัญหานี้เป็นเรื่องการบริหารจัดการถ้าทำอย่างเป็นระบบมีการขึ้นทะเบียนเกษตรกร ว่าใครได้รับอนุญาตให้ใช้ ขึ้นทะเบียนร้านค้า ใครเป็นคนขาย ขึ้นทะเบียนสารเคมีอย่างถูกต้องมีหลักเกณฑ์ชัดเจน รวมถึงจัดอบรมเจ้าหน้าที่แนะนำสารเคมีประจำร้าน หรือนำเจ้าของร้านที่ผ่านการขึ้นทะเบียนมาอบรมรับใบรับรอง ว่าเป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจในการแนะนำผลิตภัณฑ์ เช่นเดียวกับเภสัชกรประจำรู้ร้านขายยา ตรงนี้จะช่วยทำให้ปัญหานี้ถูกแก้ไข ตรงจุดคือระเบียบและกฎเกณฑ์ที่กรมวิชาการเกษตรในฐานะผู้มีบทบาทหน้าที่โดยตรงต้องมีความทันสมัย ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของโลก มีความชัดเจน มีงานวิจัยของกรมฯ ที่หนักแน่นสร้างความน่าเชื่อถือป้องกันความสับสนที่อาจเกิดขึ้นตอบข้อสงสัยของสังคมได้” นายกิตติกล่าวทิ้งท้าย

       หลังจบการประชุมวันนั้น เกษตรกรใจชื้นขึ้นที่ภาครัฐเข้ามา “ฟัง” ความจริงจากผู้ใช้ถึงความจำเป็นและภาระที่เกษตรกรเผชิญหน้าอยู่ ทว่าสิ่งที่เกษตรกรอยากให้ความจริงนี้สะท้อนเป็นความจริงใจของภาครัฐที่จะช่วยเหลือเกษตรกร 17 ล้านครัวเรือน ที่เป็นทั้งผู้ผลิต และฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจขนาด 1.22 ล้านล้าน ต่อปีหรือไม่ อันนี้ต้องจับตากันต่อไป

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ร่วมมือวิจัยพัฒนา

นายประพันธ์ ศิริวิริยะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทเกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่ม KTIS และนายอภิชาต นุชประยูร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เคทิส วิจัยและพัฒนา จำกัด ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาวิชาการสร้างความมั่นคงด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลอย่างครบวงจร กับ ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมีคณะผู้บริหารกลุ่ม KTIS และคณะผู้บริหาร มก. ร่วมเป็นสักขีพยาน

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

เร่งแผนลอยตัว น้ำตาลเริ่มธ.ค.

สอน.ชี้แผนลอยตัวราคาน้ำตาลเสร็จเดือน ต.ค.นี้ หวังบังคับใช้ให้ทันเดือน ธ.ค. 2560 เล็งกำหนดสต๊อกแทนเลิกโควตา

นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า ขณะนี้การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายได้ดำเนินการในส่วนของการแก้และปรับกฎหมายต่างๆ เพื่อรองรับการลอยตัวราคาน้ำตาลทราย โดยคาดว่าขั้นตอนต่างๆ จะได้ข้อสรุปภายในเดือน ต.ค.นี้ และนำไปสู่การลอยตัวราคาน้ำตาลทรายได้ในเดือน ธ.ค. ซึ่งเป็นช่วงฤดูหีบอ้อยปี 2560/2561

ทั้งนี้ การลอยตัวราคาน้ำตาลทรายเป็นไปตามแนวทางการเจรจากับบราซิลที่ก่อนหน้าได้มีการยื่นคำร้องต่อองค์การการค้าโลก (ดับเบิ้ลยูทีโอ) กล่าวหาไทยว่าอุดหนุนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย จึงนำมาสู่การเจรจาเพื่อไม่ให้นำไปสู่การฟ้องร้อง ซึ่งที่ผ่านมาคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน. เห็นชอบในหลักการไปแล้วที่จะปรับโครงสร้างนำไปสู่การลอยตัว

สำหรับหลักการที่จะนำไปสู่การลอยตัวราคาน้ำตาลทรายจะต้องยกเลิกระบบโควตาน้ำตาลทรายที่เดิมกำหนดไว้เป็นน้ำตาลทรายบริโภคในประเทศ (โควตา ก.) น้ำตาลทรายดิบส่งออก 8 แสนตัน (โควตา ข.) ผ่านบริษัท อ้อยและน้ำตาลทราย (อนท.) และส่งออกส่วนที่เหลือจากโควตา ก. และ ข. ผ่านบริษัทเอกชน (โควตา ค.) โดยแนวทางใหม่ที่จะใช้ดำเนินการแม้มีการยกเลิกระบบโควตา แต่จะกำหนดให้มีการสต๊อกน้ำตาลทราย

เพื่อป้องกันการขาดแคลนบริโภคภายในประเทศ

“กติกาจะกำหนดให้โรงงานน้ำตาลทรายต้องสต๊อกน้ำตาลทรายขาวไว้รองรับให้ได้ทุก 1 เดือน ป้องกันไม่ให้นำไปส่งออกหมด ซึ่งหากขายออกไปจนเกิดการขาดแคลนก็จะมีโทษตามกฎหมาย เชื่อว่าจะสร้างความสมดุลมากขึ้นและการลอยตัวจะนำไปสู่ระบบการซื้อขายเสรีและกลไกทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ”นายสมศักดิ์ กล่าว

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ลุ้นลอยตัวน้ำตาลทรายธ.ค.นี้

สอน.เผยปรับโครงสร้างน้ำตาลได้ข้อสรุปภายใน ต.ค.นี้ คาดสามารถลอยตัวน้ำตาลได้ในช่วง ธ.ค.ชี้เป็นช่วงมีราคาตลาดโลดเหมาะสม ยืนยันไม่ทำให้ขาดแคลน

นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า ขณะนี้การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายได้ดำเนินการต่อเนื่องในส่วนของการแก้และปรับกฎหมายต่างๆ รองรับซึ่งการลอยตัวราคาน้ำตาลทราย ซึ่งขั้นตอนต่างๆ จะสรุปได้ภายในเดือน ต.ค.2560 และนำไปสู่การลอยตัวราคาได้ในเดือน ธ.ค.นี้ ซึ่งเป็นช่วงฤดูหีบอ้อยปี 2560/61

"การลอยตัวราคาน้ำตาลทราย เป็นไปตามแนวทางการเจรจากับบราซิล ซึ่งก่อนหน้าได้มีการยื่นคำร้องต่อองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) กล่าวหาไทยอุดหนุนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย จึงนำมาสู่การเจรจาเพื่อไม่ให้นำไปสู่การฟ้องร้อง และที่ผ่านมาคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ก็เห็นชอบในหลักการที่จะปรับโครงสร้าง เพื่อนำไปสู่การลอยตัว ซึ่งก็คิดว่าในช่วงนี้จังหวะราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกอยู่ในช่วงที่เหมาะสมเพราะราคาไม่ได้สูงหรือต่ำมากนัก" นายสมศักดิ์กล่าว

ทั้งนี้หลักการนำไปสู่การลอยตัวจะต้องยกเลิกระบบโควตาน้ำตาลทรายที่เดิมกำหนดไว้เป็น เพื่อป้องกันการขาดแคลนบริโภคในประเทศ จึงต้องมีกติกากำหนดให้โรงงานน้ำตาลทรายต้องสต็อกน้ำตาลทรายขาวไว้รองรับให้ได้ทุก 1 เดือน เพื่อป้องกันไม่ให้นำไปส่งออกหมด ซึ่งการลอยตัวราคานั้นจะนำไปสู่ระบบการซื้อขายที่เสรี กลไกการค้าเสรีก็จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จาก http://www.thaipost.net   วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ลุ้นลอยตัวราคาน้ำตาล

นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า ขณะนี้การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายได้ดำเนินการไปอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในส่วนของการแก้ไขและปรับปรุงกฎหมายต่างๆเพื่อรองรับการลอยตัวราคาขายปลีกน้ำตาล ซึ่งการลอยตัวราคาจะเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องดำเนินราคา โดยคาดว่าขั้นตอนต่างๆที่กำลังเดินหน้าจะสรุปได้ในเดือน ต.ค.นี้และนำไปสู่การลอยตัวราคาได้ในเดือน ธ.ค.นี้ ที่เป็นช่วงฤดูหีบอ้อยปี 2560/61

 “การลอยตัวราคาน้ำตาล เป็นไปตามแนวทางการเจรจากับประเทศบราซิลซึ่งก่อนหน้าได้มีการยื่นคำร้องต่อองค์การการค้าโลกหรือ WTO กล่าวหาประเทศไทยอุดหนุนราคาของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย จึงนำมาสู่การเจรจาเพื่อไม่ให้นำไปสู่การฟ้องร้อง ที่ผ่านมาคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ก็เห็นชอบในหลักการไปแล้วที่จะปรับโครงสร้างทั้งระบบเพื่อนำไปสู่การลอยตัวราคาขายปลีกในประเทศ โดยการเริ่มลอยตัวขึ้นลงตามราคาตลาดโลกในเดือน ธ.ค.ถือเป็นจังหวะเวลาที่ดี เพราะอยู่ในช่วงราคาน้ำตาลตลาดโลกไม่สูงหรือต่ำจนเกินไปมากนัก”

สำหรับหลักการนำไปสู่การลอยตัวราคาขายปลีกในประเทศ ก็ต้องยกเลิกระบบโควตาน้ำตาลทรายที่เดิมกำหนดไว้เป็นน้ำตาลทรายบริโภคในประเทศ หรือโควตา ก., น้ำตาลทรายดิบส่งออกโดยบริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด (อนท.) จำนวน 800,000 ตัน หรือโควตา ข. และน้ำตาลทรายส่งออกส่วนที่เหลือจากโควตา ก. และ ข. หรือ โควตา ค. โดยแนวทางดังกล่าวเพื่อป้องกันการขาดแคลนของความต้องการบริโภคในประเทศ ที่จะมีกติกาให้โรงงานน้ำตาลทรายทุกแห่งต้องสต๊อกน้ำตาลทรายขาวไว้รองรับความต้องการของผู้บริโภคให้ได้ทุกๆ 1 เดือนในแต่ละโรงงาน เพื่อป้องกันไม่ให้นำไปส่งออกทั้งหมด ซึ่งหากขายออกไปโดยทำให้เกิดการขาดแคลนในประเทศก็จะมีโทษทางกฎหมาย.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

แจงสี่เบี้ย : พด.เร่งขับเคลื่อนและพัฒนาเกษตรอินทรีย์ไทยอย่างยั่งยืน

การตอบโจทย์ว่า ทำอย่างไรให้การทำเกษตรอินทรีย์เกิดการพัฒนาที่เป็นองค์รวมตลอดห่วงโซ่การผลิตถึงการบริโภคก่อให้เกิดความยั่งยืน กรมพัฒนาที่ดินจึงเร่งเดินหน้าขยายผลลการทำเกษตรอินทรีย์ให้มากขึ้น โดยจำเป็นต้องมีแนวร่วมเครือข่ายพันธมิตรเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ผลิตตลอดห่วงโซ่จนถึงผู้บริโภค ซึ่งมีรูปแบบการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ที่มีความหลากหลายมากขึ้นด้วยพลังการขับเคลื่อน 3 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านผู้บริโภคและผู้ประกอบการ มีความตื่นตัวเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ทำให้ตลาดมีความต้องการอาหารอินทรีย์ 2.ด้านผู้ผลิตโดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยที่มีจิตวิญญาณ เห็นคุณค่าของระบบเกษตรนิเวศน์ที่ไม่ใช้สารเคมีสังเคราะห์ ทำให้ลดต้นทุนการผลิต ก่อเกิดรายได้ที่มั่นคง คุณภาพชีวิต สุขภาพ และสิ่งแวดล้อมดีขึ้น เกิดระบบเศรษฐกิจแบบพอเพียงและอยู่รอด 3.จากการขับเคลื่อนของหน่วยงานภาครัฐ องค์กรต่างๆ ที่สนับสนุนการปรับเปลี่ยนสู่การผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหารและพัฒนาคุณภาพชีวิตไปพร้อมกัน

กรมพัฒนาที่ดิน จึงเร่งขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ โดยชูแผนการดำเนินงานใช้ระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม

(PGS) ในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค หวังยกระดับสินค้าเกษตรอินทรีย์อย่างยั่งยืน ซึ่งในปัจจุบันเกษตรอินทรีย์มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ด้วยความตระหนักรู้ของผู้บริโภคและผู้ผลิตต่อวิกฤตโลกที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน การแสวงหาแนวทางความยั่งยืนที่แท้จริงต่อการผลิตและการบริโภคอาหารตอบสนองวิกฤติโลกต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพ ความมั่นคงทางอาหาร ห่วงโซ่การผลิตและการบริโภคสั้น อาหารสุขภาพปราศจากสารเคมีสารพิษ สวัสดิภาพสัตว์ ความเสมอภาคทางสังคม และการพัฒนาคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อมโดยรวมของประชากร ในขณะที่อัตราการบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างรวมเร็ว แต่ด้านการผลิตยังเป็นไปอย่างช้าๆ

สำหรับการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ดังกล่าวได้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการ “ขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์กรมพัฒนาที่ดิน” เพื่อชี้แจงนโยบายเกษตรอินทรีย์และแนวทางการดำเนินงานโครงการเกษตรอินทรีย์ ปี 2560 กรมพัฒนาที่ดินได้มุ่งเน้นที่การสนับสนุนให้กลุ่มเกษตรกรผ่านระบบการตรวจรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม (PGS) มีเป้าหมายเริ่มจากพี่น้องเกษตรกรรายย่อยเดิมที่ทำเกษตรอินทรีย์อยู่แล้วแต่ไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคได้ เนื่องจากไม่สามารถตรวจรับรองจากหน่วยงานต่างๆ ได้ แต่กระบวนการรับรองแบบมีส่วนร่วมดังกล่าว เป็นกระบวนการรับรองโดยใช้รูปแบบการรับรองโดยเกษตรกรด้วยกันเอง ไม่มีค่าใช้จ่าย ทั้งยังเป็นรูปแบบและมาตรฐานเดียวกับที่ยอมรับกันในระดับสากล คาดว่าจะสามารถส่งเสริมให้เกษตรกรผู้ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ได้รับการรับรองจากระบบดังกล่าว และสร้างความเชื่อถือในผลผลิตเกษตรอินทรีย์ของเกษตรกรให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนต่อไป

จาก http://www.naewna.com วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

น้ำมันดันเงินเฟ้อเม.ย.เพิ่ม0.38%

น้ำมันดันเงินเฟ้อเม.ย.เพิ่ม0.38% ชี้มาตรการรถยนต์คันแรกสิ้นสุดหนุนประชาชนมีกำลังซื้อ

               นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) เดือนเม.ย. 2560 เท่ากับ 100.49 สูงขึ้น 0.38% เมื่อเทียบกับเม.ย. 2559 และสูงขึ้น 0.16% เทียบกับมี.ค. 2560 ส่งผลให้เงินเฟ้อเฉลี่ย 4 เดือน (ม.ค.-เม.ย. 2560) สูงขึ้น 1.03% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

               ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (เงินเฟ้อพื้นฐาน) หักสินค้าอาหารสดและพลังงาน เดือนเม.ย. 2560 เท่ากับ 101.13 สูงขึ้น 0.50%เทียบกับ เม.ย. 2559 และสูงขึ้น 0.02% เทียบกับ มี.ค. 2560 ส่งผลให้เงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ย 4 เดือน 2560 สูงขึ้น 0.61% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เมื่อแยกเป็นรายการสินค้าที่คำนวณเงินเฟ้อ 422 รายการ พบว่า สินค้ามีราคาสูงขึ้น 124 รายการ คิดเป็นสัดส่วน 42.75%ของน้ำหนักรวม

                นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวว่าสาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น 0.38% เป็นผลจากดัชนีหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น 0.73% สินค้าสำคัญที่ราคาเพิ่มขึ้น คือ น้ำมันเชื้อเพลิง เพิ่ม 12.42% หมวดบันเทิง การอ่าน และการศึกษาฯ เพิ่ม 0.62% หมวดตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล เพิ่ม 0.39% หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 0.09%

               ส่วนดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลง 0.26% ซึ่งเป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 15 ปี นับตั้งแต่เดือน เม.ย.ปี 2545 ส่วนดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลง 0.3% สาเหตุมาจากราคาผักและผลไม้ในปีที่ผ่านมามีราคาสูงขึ้นมาก จากผลกระทบของภัยแล้ง

             แม้เงินเฟ้อขยับขึ้น แต่สนค. ยังคงคาดการณ์เงินเฟ้อปี 2560 อยู่ในกรอบ 1.5-2.2% ภายใต้สมมุติฐานการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย 3-4% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากรายได้การส่งออกที่มีทิศทางขยายตัวมากขึ้น รายได้เกษตรปรับตัวดีตามราคาสินค้าเกษตรและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก ซึ่งเป็นผลดีต่ออุปสงค์ภายในประเทศ อาทิ การใช้จ่ายครัวเรือนและภาคเอกชน และการลงทุนภาคเอกชนสูงขึ้นจากนโยบายการเงินที่ผ่อนปรน รวมถึงการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายให้กับธุรกิจรายย่อย รวมทั้งการอัดฉีดงบหลายหมื่นล้านบาทลงเศรษฐกิจภูมิภาค

             ขณะเดียวกัน ยังคาดการณ์ภายใต้สมมุติฐานด้านราคาน้ำมันดิบตลาดดูไบ อยู่ที่ 50-60 ดอลลาร์/บาร์เรล โดยราคาน้ำมันดิบตลาดดูไบเฉลี่ยเดือนเม.ย. 2560 อยู่ที่ 52.45 ดอลลาร์/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 35.5-37.5 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยเม.ย. 2560 อยู่ที่ 34.44 บาท/ดอลลาร์

              “หากดูจากแนวโน้มเงินเฟ้อน่าจะสอดคล้องกับการขยายตัวเศรษฐกิจไทย และยิ่งเมื่อมาตรการรถยนต์คันแรกเริ่มทยอยผ่อนชำระหมดลง จะส่งผลให้ประชาชนมีเงินมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นตั้งแต่ต้นปีจนถึงกลางปี โดยกระทรวงพาณิชย์จะต้องเข้าไปดูแลราคาสินค้าไม่ให้มีผลกระทบต่อกำลังซื้อต่อไป ส่วนการปรับขึ้นค่ากระแสไฟฟ้า (เอฟที) ที่จะมีผลในเดือนหน้านี้ คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อทั้งปีเพียงเล็กน้อย หรือเพิ่มขึ้น 0.05% เท่านั้น”

จาก http://www.komchadluek.net วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

“สอน.” ลั่น ธ.ค.นี้ ลอยตัวราคาน้ำตาลแน่! หลังตลาดโลกเอื้อ  

         “สอน.” เผยแผนลอยตัวราคาน้ำตาลทรายคลอดได้ ต.ค.นี้ เพื่อนำไปสู่การลอยตัวราคาน้ำตาลทรายใน ธ.ค.นี้แน่นอน เหตุเป็นจังหวะที่ราคาตลาดโลกจะเอื้อเพราะไม่ต่ำและสูงจนเกินไป ย้ำยกเลิกระบบโควตา ก.ข.ค. แต่มีแนวทางการสต็อกเพื่อป้องกันการขาดแคลน            

        นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า ขณะนี้การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายได้ดำเนินการต่อเนื่องในส่วนของการแก้และปรับกฎหมายต่างๆ รองรับซึ่งการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายจะเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องดำเนินการโดยคาดว่าขั้นตอนต่างๆ ที่จะเดินหน้าจะสรุปได้ภายในเดือนตุลาคมนี้ และนำไปสู่การลอยตัวราคาได้ในเดือนธันวาคม 2560 ซึ่งเป็นช่วงฤดูหีบอ้อยปี 2560/61

                “ลอยตัวราคาน้ำตาลทรายเป็นไปตามแนวทางการเจรจากับบราซิล ที่ก่อนหน้าได้มีการยื่นคำร้องต่อองค์การการค้าโลก หรือ WTO กล่าวหาไทยอุดหนุนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย จึงนำมาสู่การเจรจาเพื่อไม่ให้นำไปสู่การฟ้องร้อง โดยที่ผ่านมาคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ก็เห็นชอบในหลักการไปแล้วที่จะปรับโครงสร้างนำไปสู่การลอยตัวซึ่งก็คิดว่าในช่วงนี้จังหวะราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกอยู่ในช่วงที่เหมาะสมเพราะราคาไม่ได้สูงหรือต่ำมากนัก” นายสมศักดิ์กล่าว

               สำหรับหลักการนำไปสู่การลอยตัวจะต้องยกเลิกระบบโควตาน้ำตาลทรายที่เดิมกำหนดไว้เป็นน้ำตาลทรายบริโภคในประเทศ (โควตา ก.) น้ำตาลทรายดิบส่งออก 8 แสนตัน (โควตา ข.) น้ำตาลทรายส่งออกส่วนที่เหลือจากโควตา ก.และ ข. (โควตา ค.) โดยแนวทางดังกล่าวเพื่อป้องกันการขาดแคลนบริโภคในประเทศจะมีกติกากำหนดให้โรงงานน้ำตาลทรายต้องสต๊อกน้ำตาลทรายขาวไว้รองรับให้ได้ทุก 1 เดือนเพื่อป้องกันไม่ให้นำไปส่งออกหมดซึ่งหากขายออกไปโดยทำให้ขาดแคลนจะมีโทษ

               ทั้งนี้ ระบบโควตาดังกล่าวเชื่อว่าจะไม่ทำให้น้ำตาลทรายขาดแคลน เพราะปัญหาที่ผ่านมาราคาน้ำตาลทรายไม่สอดรับกับตลาดโลกเมื่อราคาน้ำตาลต่างประเทศสูงกว่าก็จะทำให้เกิดการไหลออก และหากราคาในประเทศสูงกว่าก็จะทำให้ราคาไหลเข้าเมื่อราคาใกล้เคียงตลาดโลก ปัญหานี้ก็จะสร้างความสมดุลมากขึ้น และการลอยตัวก็จะนำไปสู่ระบบการซื้อขายที่เสรีกลไกการค้าเสรีก็จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 จาก http://manager.co.th  วันที่: 1 พฤษภาคม 2560              

ลอยตัวราคาน้ำตาลธ.ค.นี้

                    สอน.เตรียมประกาศแผนลอยตัวน้ำตาลทรายและคาดว่าจะดำเนินการได้จริงในเดือนธ.ค. นี้     

                    นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า  ภายในเดือนต.ค.นี้ แผนการลอยตัวราคาน้ำตายทราย คาดว่า จะมีความชัดเจน เพื่อนำไปสู่การลอยตัวราคาน้ำตาลทรายได้ในเดือนธ.ค. 60 ซึ่งเป็นช่วงฤดูหีบอ้อยปี 60/61 เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่มีความเหมาะสม เพราะราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกอยู่ราคาไม่ได้สูงหรือต่ำมากนัก ไม่กระทบต่อผู้บริโภคมากนัก

“ การเจรจาครั้งนี้ เป็นไปตามแนวทางการเจรจากับบราซิล ซึ่งก่อนหน้าได้มีการยื่นคำร้องต่อองค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) กล่าวหาไทยอุดหนุนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย จึงนำมาสู่การเจรจาเพื่อไม่ให้เกิดการฟ้องร้อง ซึ่งที่ผ่านมาคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.)ก็เห็นชอบในหลักการไปแล้วที่จะปรับโครงสร้างนำไปสู่การลอยตัว  และช่วงนี้มีความเหมาะสม โดยการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายได้ดำเนินการต่อเนื่องในส่วนของการแก้และปรับกฏหมายต่างๆ รองรับซึ่งการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายจะเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องดำเนินการ”

   จาก https://www.dailynews.co.th   วันที่: 1 พฤษภาคม 2560         

ไร่อ้อยตะวันออกเดือดร้อนหนัก ขาดแคลนแรงงาน วอนอนุโลมแรงงานเขมรเข้าเพิ่ม

ชาวไร่-อ้อย 4 จว. ขอรัฐเพิ่มจุดผ่านแดนภาคเกษตร ดึงแรงงานเขมรช่วยงาน

เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ที่รัฐสภา นายมนตรี คำพล นายกสมาคมเกษตรกรชายแดนบูรพา (จ.สระแก้ว ปราจีนบุรี จันทบุรี ฉะเชิงเทรา) และประธานสมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยตัวแทน เข้ายื่นหนังสือต่อนายวิเชียร ชวลิต รองประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านสังคม เพื่อขอให้แก้ปัญหาการใช้แรงงานต่างด้าวจังหวัดสระแก้วและจังหวัดปราจีนบุรี เนื่องจากปัจจุบันการตัดอ้อยเข้าสู่โรงงานน้ำตาลและอ้อยตะวันออก มีความจำเป็นต้องการแรงงานต่างด้าวประมาณ 20,000 คนในจังหวัดสระแก้ว ส่วนจังหวัดปราจีนบุรีต้องการแรงงาน 30,000 คน และนับวันมีความต้องการแรงงานเพิ่มสูงขึ้น แต่ที่ผ่านมาการจ้างแรงงานต่างด้าวแม้เป็นแรงงานต่างด้าวเดินทางเข้าออกถูกต้องตามกฎหมายแต่อีกส่วนก็เป็นไปอย่างอนุโลม ซึ่งทางสมาคมจึงต้องการให้มีการจ้างแรงงานเข้าสู่ระบบอย่างถูกต้องตามนโยบายรัฐบาล แต่ก็ยังมีปัญหาในเรื่องจุดผ่านแดนที่มีบริการรองรับน้อยเกินไป หรือมีจุดเดียวคือบริเวณตลาดโรงเกลือ จ.สระแก้ว ทางสมาคมฯจึงขอให้จึงขอให้รัฐมีการเปิดช่องทางในการแสตมป์หนังสือผ่านแดนเพิ่มขึ้นในจุดบ้านเขาดิน อ.คลองหาด จ.สระแก้ว และให้เพิ่มในจังหวัดปราจีนบุรี สามารถใช้หนังสือผ่านแดนในภาคการเกษตรได้ด้วย

จาก http://www.matichon.co.th   วันที่: 1 พฤษภาคม 2560          

ชลประทาน เร่งกักน้ำรับมือแล้งช่วยพื้นที่เกษตร หวั่นฝนทิ้งช่วง

เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม นายเฉลิมชัย จันทร์วงษา หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรม โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพัฒนาลุ่มน้ำก่ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม เปิดเผยว่า ที่ จ.นครพนม สถานการณ์ภัยแล้งยังเสี่ยงมีปัญหาฝนทิ้งช่วงขาดน้ำ หลังสภาพน้ำโขงแปรปรวนลดระดับรวดเร็ว ถึงแม้บางช่วงจะเกิดปัญหาน้ำโขงผันผวนเพิ่มระดับเร็ว เนื่องจากทางประเทศจีนมีการระบายน้ำจากเขื่อน แต่ยังเป็นปัญหา เพราะระดับน้ำโขงมีการเพิ่มลดระดับเร็ว เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาขาดน้ำหากประเทศจีนมีการกักน้ำในระยะยาว อาจจะส่งผลกระทบให้แม่น้ำโขงบางพื้นที่แห้งขอด เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำในการอุปโภค บริโภค และการเกษตร ขณะเดียวกันทางด้านชลประทาน โครงการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำตอนล่าง ตามแนวทางพระราชดำริ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ที่ควบคุมดูแลเก็บกักน้ำ ที่ไหลมาจากลำน้ำก่ำ ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาสายหลัก จากพื้นที่ หนองหาน จ.สกลนคร ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำโขง ได้มีการปิดประตูระบายน้ำที่กักน้ำจากแม่น้ำสาขา 100 เปอร์เซ็นต์ เพื่อเก็บกักน้ำ รักษาปริมาณน้ำให้อยู่ที่ระดับ ประมาณ 40 -50 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณความจุ ที่ 30 ล้านลูกบาศก์เมตร จากความจุทั้งหมดประมาณ 60 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร สามารถแจกจ่ายเข้าสู่ระบบชลประทานใช้ทำการเกษตรในพื้นที่ รองรับมือปัญหาภัยแล้ง มีพื้นที่การเกษตรที่รับผิดชอบ กว่า 60,000 ไร่ ให้มีน้ำเพียงพอในการทำการเกษตร และวางแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้พียงพอ หรือหากเกิดปัญหาฝนทิ้งช่วง ยังสารมารถผันน้ำโขง กลับเข้าสู่ระบบชลประทาน เพื่อส่งจ่ายไปช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรของเกษตรกรที่ขาดน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่นาปรังที่รอการเก็บเกี่ยว พร้อมประกาศเตือนพี่น้องเกษตรกรที่มีการทำนาปรังหรือการเกษตรในพื้นที่ไม่มีระบบชลประทาน ให้งดการเพราะปลูก เนื่องจากปีนี้ยังมีความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาแล้งจากฝนทิ้งช่วง และขอความร่วมมือให้ประชาชนร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัด

จาก http://www.matichon.co.th วันที่ 1 พฤษภาคม 2560