http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล(เดือนพฤษภาคม 2561)

ขอตันละพันร้อย! ชาวไร่อ้อยกำแพงเพชรร้องรัฐอุ้ม ผู้ว่าฯ แนะแบ่งที่ปลูกทุเรียน

กำแพงเพชร - ผู้ว่าฯ เมืองกล้วยไข่แนะแบ่งที่ปลูกทุเรียนคนละ 2 ต้นหวังเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ หลังชาวไร่อ้อยรวมตัวเต็มห้องประชุมยื่นหนังสือร้องรัฐปรับราคารับซื้ออ้อยจาก 880 บาทต่อตัน เป็น 1,100 บาทถ้วน

วันนี้ (31 พ.ค.) นายสุวิทย์ พันธุ์วิทยากูล นายกสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 6 พร้อมด้วยตัวแทนกลุ่มเกษตรกรชาวไร่อ้อยกว่า 700 คน ได้รวมตัวกันที่หอประชุมสมาคมชาวไร่อ้อย เขต 6 กำแพงเพชร เพื่อยื่นหนังสือขอความช่วยเหลือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ช่วยดูแลปัญหาความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อย

ต่อมา นายธัชชัย สีสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร พร้อมด้วย พ.อ.ประสาน แสงศิริรักษ์ รองผู้บังคับการ กกล.รส.กำแพงเพชร, พล.ต.ต.เฉลิมพล จินตรัตน์ ผบก.ภ.กำแพงเพชร พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมเดินทางเข้ารับหนังสือร้องเรียน

นายสุวิทย์ พันธุ์วิทยากูล นายกสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 6 เปิดเผยว่า เป็นการเสนอปัญหาความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อยและร่างแก้ไขพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พร้อมทั้งเรียกร้องให้ปรับราคาอ้อยจากปัจจุบันราคา 880 บาท ซึ่งไม่คุ้มต้นทุนการผลิต เป็น 1,100 บาทต่อตัน

นายสุวิทย์ยังได้กล่าวถึงปัญหาการควบคุมน้ำหนักรถบรรทุกอ้อย และหยุดส่งอ้อยเข้าโรงงานในช่วงเทศกาล รวมทั้งการเข้มงวดกับแรงงานต่างด้าว ซึ่งส่งผลทำให้การนำผลผลิตจากไร่ส่งโรงงานไม่ทันต่อฤดูกาลหีบอ้อย และได้รับความเดือดร้อนเช่นกัน

ด้านผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชรได้กล่าวกับเกษตรกรชาวไร่อ้อยว่า ต่อไปให้เหลือพื้นที่สำหรับพืชเศรษฐกิจคือ ทุเรียน โดยแนะนำให้ปลูกทุเรียนบ้านละ 2 ต้น ก็จะสามารถมีทุเรียนไว้บริโภค และเหลือแจกจ่าย รวมทั้งจำหน่ายเป็นอาชีพเสริมได้อีกด้วย เนื่องจากทุเรียน 1 ต้นให้ผลผลิตประมาณ 40 ลูก ถ้าปลูกทั้งจังหวัดก็จะได้พืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้เพิ่มให้อีกทางหนึ่งด้วย

จาก https://mgronline.com วันที่ 31 พฤษภาคม 2561

ชาวไร่อ้อยกว่า1,000 คน ยื่นหนังสือต่อผู้ว่าฯสระแก้วเพื่อเสนอแนวทางแก้ไขความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อย

เมื่อเวลา 10.00 น.ของวันนี้ ( 31 พ.ค.) ที่หอประชุมปางสีดา ศูนย์ราชการจังหวัดสระแก้ว นายมนตรี คำพล นายกสมาคมเกษตรกร ชายแดนบูรพา นำเกษตรกรชาวไร่อ้อยจังหวัดสระแก้ว และจังหวัดปราจีนบุรี จำนวนกว่า 1,000 คน ยื่นหนังสือ เรื่องข้อเสนอแนวทางความเดือนร้อนของชาวไร่อ้อยและข้อคัดค้านร่างแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ของคณะกรรมการพิจารณาศึกษาปรับปรุงสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยมี เจ้าหน้าที่ตำรวจ และทีม อส.ดูแลความปลอดภัย อำนวยความสะดวก จำนวนเกือบร้อยนาย ซึ่งบรรยากาศเป็นไปด้วยความเรียบร้อย จากนั้นนายพรพจน์ เพ็ญพาส ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว พร้อมหัวหน้าส่วนราชการ ได้เดินทางมารับหนังสือและยินดีแก้ปัญหาความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อยจังหวัดสระแก้ว ในเรื่องที่อยู่ในอำนาจที่แก้ไขได้

 นายมนตรี คำพล นายกสมาคมเกษตรกร ชายแดนบูรพา กล่าวว่า จากปัญหาราคาอ้อยที่ตกต่ำ ในฤดูกาลผลิต 2560/2561 และต่อเนื่องปี 2562 เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ ตลอดจนรัฐบาล ได้รับทราบข้อเท็จจริง ถึงความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวไร่อ้อย สมาคมฯ ขอนำเสนอปัญหาของเกษตรกรชาวไร่อ้อย นำเรียนผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว ถึงรัฐบาลให้ทราบแนวทางและหาทางช่วยเหลือพี่คลายปัญหาก่อนที่จะเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ จากนโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมา ส่งผลกระทบและเสียหายต่อเกษตรกรชาวไร่อ้อยและชาวนาเป็นอย่างมาก อาทิ นโยบายส่งเสริมให้ชาวนาหันมาปลูกอ้อยทำให้ปริมาณอ้อยเพิ่มขึ้น เรื่องของการควบคุมน้ำหนักบรรทุกอ้อยส่งโรงงาน การเข้มงวดนำเข้าแรงงานต่างด้าว ทำให้ไม่สามารถตัดอ้อยส่งโรงงานทันเวลากำหนด และขอให้ราชการได้มีการสำรวจปริมาณอ้อยที่ยังคงค้างในแต่ละพื้นที่และช่วยเยียวยาให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยต่อไป

นายกสมาคมเกษตรกร ชายแดนบูรพา กล่าวต่อว่า แนวทางแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน อย่างเร่งด่วนโดยเฉพาะชาวไร่อ้อยจังหวัดสระแก้ว ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้วนำเรียนต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการร้องเรียนของชาวไร่อ้อยจังหวัดสระแก้วนานนับ 10 ปี การแก้ไขหลักเกณฑ์ในการลงทุนก่อสร้างโรงงานน้ำตาลทรายรายใหม่ มิใช่ผูกขาดเพียงรายเดียว เพื่อทำให้เกิดการแข่งขันรองรับการซื้อผลผลิตอ้อยอย่างเสรีและเป็นธรรม และขอให้ชาวไร่อ้อยจังหวัดสระแก้วร่วมกับ 4 องค์กรสถาบันชาวไร่อ้อยทั่วประเทศเข้าพบนายกรัฐมนตรีเพื่อให้ชาวไร่อ้อยมีโอกาสได้ชี้แจงถึงรายละเอียดและประเด็นต่าง ๆ ให้เกิดความชัดเจนสามารถกำหนดแผนการแนวการแก้ไข ปัญหาร่วมกันอย่างจริงจังและยั่งยืน

นายพรพจน์ เพ็ญพาส ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว พร้อมหัวหน้าส่วนราชการ ได้รับหนังสือและยินดีแก้ปัญหาความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อยจังหวัดสระแก้ว ที่อยู่ในอำนาจทุกเรื่องโดยทันที โดยทีมงานจังหวัดสระแก้ว จะไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง  หลังรับหนังสือ จากนายก สมาคมเกษตรกร ชายแดนบูรพาสำหรับ แนวทางแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน อย่างเร่งด่วนโดยเฉพาะชาวไร่อ้อยในจังหวัดสระแก้ว ทางจังหวัดได้ระดมข้าราชการ ลูกจ้าง อีกทั้งทหาร ตำรวจ ผู้นำชุมชน ลงแขกตัดอ้อยเพื่อช่วยเหลือชาวไร่อ้อย แต่เนื่องจากอ้อยตกข้างอยู่จำนวนมาก จึงช่วยบรรเทาไปได้เพียงบางส่วนเท่านั้น ส่วนเรื่องที่เกษตรกรชาวไร่อ้อยยื่นมาถึงตนเอง ตนเอง จะนำกราบเรียนไปยังรัฐบาลได้พิจารณา นอกจากนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว ฝากความห่วงใยสุขภาพของประชาชน ดูแลรักษาสุขภาพ ตลอดจนโรคภัยที่มากับช่วงฤดูฝนที่ต้องช่วยกัน อาทิ โรคไข้เลือดออก เป็นต้น

จาก www.banmuang.co.th  วันที่ 31 พฤษภาคม 2561

ทุ่ม5พันล.หานํ้าป้อนอีอีซี-อีสท์ วอเตอร์ เล็ง 21 เขตส่งเสริมผลิตนํ้าอุตสาหกรรม

อีสท์ วอเตอร์ มั่นใจ ป้อนนํ้าให้อีอีซี 20 ปี ไม่มีปัญหา มีแผนลงทุน 5 ปีกว่า 5 พันล้านบาท ใช้ในการจัดหาแหล่งนํ้า พร้อมรุกเข้าสู่ธุรกิจป้อนนํ้าบริสุทธิ์ แทนขายนํ้าดิบ ตั้งเป้า 21 เขตส่งเสริมพิเศษในอีอีซี หลังเจรจากับกลุ่มอมตะ และกัลฟ์ ได้ข้อยุติปลายปีนี้

การบริหารจัดการนํ้าในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี) ถือเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะสร้างความเชื่อมั่นในการดึงดูดนักลงทุนเข้ามาลงทุน โดยล่าสุดทางบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรนํ้าภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสท์ วอเตอร์ ได้ออกมายืนยันแล้วว่าแหล่งนํ้าและระบบบริหารจัดการ นํ้าที่มีอยู่ สามารถรองรับการพัฒนาอีอีซีไปได้ถึง 10 ปี หรือภายในปี 2570 จะมีความต้องการอยู่ราว 800 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี จากปัจจุบันมีความต้องการใช้นํ้าอยู่ราว 260 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี จากปริมาณนํ้าต้นทุนที่มีอยู่ราว 390 ล้านลูกบาศก์เมตร

ทั้งนี้ เพื่อรองรับความต้องการใช้นํ้าของอีอีซีในอีก 20 ปีข้างหน้านั้น อีสท์วอเตอร์มีแผนที่จะพัฒนาแหล่งนํ้าต้นทุนเพิ่มเติม โดยในปี 2562 จะเพิ่มประสิทธิภาพการสูบนํ้าจากแม่นํ้าบางปะกงเพิ่มอีก 20 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มปริมาณความจุอ่างเก็บนํ้าคลองหลวงอีก 40 ล้านลูกบาศก์เมตร และปรับปรุงคลองพานทอง จะทำให้ได้นํ้าดิบอีก 20 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะทำให้มีปริมาณนํ้าต้นทุนเพิ่มขึ้นมา 470 ล้านลูกบาศก์เมตร และในปี 2563 จะมีการพัฒนาสระเก็บนํ้าทับมา เพิ่มอีก 27 ล้านลูกบาศก์เมตร ในปี 2564 จะมีการจัดหานํ้าจากบ่อดินของเอกชนเพิ่มอีก 12 ล้านลูกบาศก์เมตร

โดยในปี 2566 จะมีการจัดสรรนํ้าจากอ่างเก็บนํ้าประแสร์อีก 50 ล้านลูกบาศก์เมตร และในปี 2569 จะพัฒนาอ่างเก็บนํ้าทับมาอีก 20 ล้านลูกบาศก์เมตร และในปี 2571 จะมีการจัดสรรนํ้าจากอ่างเก็บนํ้าประแสร์เพิ่มอีก 70 ล้านลูกบาศก์เมตรดังนั้น ในช่วง 10 ปี(2562-2571) จะมีนํ้าต้นทุนอยู่ที่ 649ล้านลูกบาศก์เมตร และเมื่อถึงปี 2580 จะมีการผันนํ้าจากอำเภอแกลง อีก 70 ล้านลูกบาศก์เมตร การดำเนินงานทั้งหมดนี้จะทำให้มีปริมาณนํ้าเพียงพอที่จะป้อนพื้นที่อีอีซีในอีก 20 ปีได้

นายจิรายุทธ รุ่งศรีทอง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรนํ้าภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสท์ วอเตอร์ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า จากการคาดการณ์ความต้องการใช้นํ้าใน 20 ปี ข้างหน้าตามแผนการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี จะขึ้นไปอยู่ในระดับ 800 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยลูกค้าของบริษัทส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งจากการวางแผนดำเนินงานบริหารจัดการนํ้าบริษัทมั่นใจว่าจะสามารถป้อนความต้องการใช้นํ้าในพื้นที่อีอีซีได้อย่างเพียงพอ

โดยในแต่ละปีบริษัทจะใช้เงินลงทุนสำหรับการบริหารจัดการนํ้าไว้ราวปีละ 1 พันล้านบาท ส่วนใหญ่จะนำไปใช้ในการเพิ่มกำลังการผลิตและสถานีสูบ นํ้า เท่ากับว่าในช่วง 5ปี จากนี้ไปบริษัทจะใช้เงินลงทุนเพื่อป้อนนํ้าให้กับพื้นที่อีอีซีราว 5 พันล้านบาท สำหรับดำเนินโครงการต่างๆ

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการดำเนินงานบริษัทจะรุกเข้าสู่ธุรกิจนํ้าเพื่ออุตสาหกรรมมากขึ้น จากปัจจุบันจะเน้นการจำหน่ายนํ้าดิบให้กับนิคมอุตสาหกรรม โรงงาน และการประปาเป็นหลัก โดยหลังจากนี้ไปจะเป็นการให้บริการนํ้าแบบครบวงจร โดยอาศัยโครงข่ายท่อที่มีความยาว 490 กิโลเมตร เข้าไปตั้งโรงผลิตนํ้าบริสุทธิ์หรือคล้ายๆกับโรงกรองนํ้าทำประปา ให้กับนิคมอุตสาหกรรม หรือโรงงานต่างๆที่มีความต้องการนํ้าบริสุทธิ์ แทนที่จะซื้อนํ้าดิบแล้วไปดำเนินการตั้งโรงกรองนํ้าเอง

สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญจะเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่ตั้งขึ้นมาใหม่ โดยเฉพาะพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 21 แห่ง ในพื้นที่อีอีซี ที่คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ประกาศออกมาแล้ว เพื่อรองรับการลงทุนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย จะเป็นกลุ่มลุกค้าหลักที่บริษัทจะเข้าไปเจรจาในการตั้งโรงกรองนํ้าบริสุทธิ์ให้

โดยปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการเจรจากับนิคมอุตสาหกรรมอมตะ ซิตี้ จังหวัดระยอง และโรงไฟฟ้าไอพีพี ของกลุ่มบริษัทกัลฟ์ฯที่อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง ที่จะเข้าไปตั้งโรงผลิตนํ้าให้ ในปริมาณรวมกันราว 25 ล้านลูกบาศก์เมตร คาดจะใช้เงินลงทุนราว  800-900 ล้านบาท คาดจะได้ข้อสรุปลงนามในสัญญาได้ประมาณไตรมาสที่ 3-4 ของปีนี้

จาก www.thansettakij.com วันที่ 31 พฤษภาคม 2561

ก.เกษตรฯ ยืนยันปีนี้น้ำพอใช้ทุกภาคส่วน

ก.เกษตรฯ ยืนยันปีนี้สถานการณ์น้ำดี น้ำที่เก็บกักในเขื่อนต่าง ๆ มีพอเลี้ยงทุกภาคส่วน ขณะเดียวกันกำชับสำนักชลประทานทั่วประเทศเตรียมพร้อมรับภาวะน้ำหลากช่วงปลายฤดูที่ฝนจะตกชุกที่สุด

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบนโยบายการบริหารจัดการน้ำในฤดูฝนแก่สำนักชลประทานทั่วประเทศผ่านระบบประชุมทางไกล โดยระบุว่าปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนหลักทั่วประเทศรวมถึง 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยามีเฉลี่ยร้อยละ 60 ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 412 อ่าง มีปริมาณน้ำร้อยละ 70 ซึ่งขอให้สำนักชลประทานต่าง ๆ จัดสรรให้เพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภค การเกษตร การประกอบอุตสาหกรรม และการรักษาระบบนิเวศน์ ซึ่งเพียงพอใช้ตลอดถึงเดือนกรกฎาคม แม้บางช่วงจะฝนตกน้อยหรือฝนทิ้งช่วงก็ตาม

จากการทำแบบจำลองสภาพอากาศของศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะโดยผนวกการเกิดพายุในเดือนสิงหาคมซึ่งโดยเฉลี่ยจะเกิดปีละ 1 ลูก พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากหรือน้ำล้นตลิ่ง ได้แก่ เชียงใหม่ แพร่ น่าน สุโขทัย อุตรดิตถ์ ลำปาง เพชรบูรณ์ อุบลราชธานี หนองคาย เลย พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ ซึ่งให้สำนักชลประทานทั่วประเทศเตรียมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เครื่องมือ และวิธีการที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าปริมาณฝนปีนี้จะต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยร้อยละ 8 ภาวะน้ำหลากและน้ำล้นตลิ่งจะส่งผลกระทบน้อยกว่าปีที่ผ่านมา  ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 412 อ่าง ได้สั่งการให้รักษาปริมาณเก็บกักไม่ให้เกินร้อยละ 80 ของความจุอ่าง ซึ่งขณะนี้ยังมี 43 อ่างที่มีปริมาณเกินและทยอยระบายออก ในปีนี้ได้กำชับให้ระบายน้ำเข้าสู่ระบบชลประทาน จึงทำให้พื้นที่ดอนปกติต้องรอฝนหลายแห่งมีน้ำปลูกข้าวแล้ว

ส่วนเขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อน (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 12,979 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 52 (ปริมาณน้ำใช้การได้ 6,283 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 35) ปริมาณน้ำใช้การได้เทียบกับปี 2560 ปีนี้มีปริมาณน้ำมากกว่า 2,039 ล้าน ลบ.ม.  

ด้านการเพาะปลูกพืชฤดูฝนทั่วประเทศ ปัจจุบันมีการเพาะปลูกแล้ว 4.33 ล้านไร่ (แผน 16.47 ล้านไร่) หรือคิดเป็นร้อยละ 26 ของแผนการเพาะปลูกพืชฤดูฝนทั้งประเทศ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการเพาะปลูกพืชไปแล้ว 3.05 ล้านไร่ (แผน 7.73 ล้านไร่) หรือคิดเป็นร้อยละ 40 ของแผนการเพาะปลูกพืชฤดูฝนลุ่มน้ำเจ้าพระยา สำหรับการทำนาปีในพื้นที่ลุ่มต่ำทั้ง 13 ทุ่งนั้น ปัจจุบันทุ่งบางระกำมีการเพาะปลูกเต็มพื้นที่แล้วส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำ 12 ทุ่งเจ้าพระยาตอนล่าง มีการเพาะปลูกไปแล้ว 0.707 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 62 ของพื้นที่เป้าหมายที่ วางไว้ 1.15 ล้านไร่

ในส่วนของพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้มีการเลื่อนเวลาการเพาะปลูกข้าวนาปีให้เร็วขึ้น เพื่อใช้พื้นที่การเกษตรเหล่านั้นเป็นพื้นที่รับน้ำหลาก หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จแล้ว ได้แก่ พื้นที่ตอนบนตั้งแต่นครสวรรค์ขึ้นไป คือพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ ในปีนี้มีการปรับเพิ่มพื้นที่มากขึ้น จากเดิมปีที่แล้วมีพื้นที่ 265,000 ไร่ เพิ่มเป็น 382,000 ไร่ รับน้ำได้มากขึ้นจากเดิม 400 เป็น 550 ล้าน ลบ.ม. ได้ส่งน้ำให้เกษตรกรทำนาปีแล้วตั้งแต่ 1 เมษายน 2561 เพื่อให้เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตภายในเดือนกรกฎาคม ส่วนพื้นที่ตอนล่างตั้งแต่นครสวรรค์ลงมา พื้นที่ลุ่มต่ำ 12 ทุ่ง ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ได้แก่ ทุ่งเชียงราก ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก ทุ่งท่าวุ้ง ทุ่งบางกุ่ม ทุ่งป่าโมก ทุ่งผักไห่ ทุ่งเจ้าเจ็ด ทุ่งบางกุ้ง ทุ่งบางบาล โครงการ  ส่งน้ำและบำรุงรักษาโพธิ์พระยา โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระยาบรรลือ และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตใต้ พื้นที่รวมกว่า 1.15 ล้านไร่ รับน้ำได้ 1,500 ล้าน ลบ.ม. ได้มีการส่งน้ำให้เกษตรกรเริ่มทำนาปี ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2561 เพื่อให้เก็บเกี่ยวผลผลิตให้แล้วเสร็จภายในต้นเดือนกันยายน เพื่อจะใช้พื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่หน่วงน้ำในช่วงปลายเดือนกันยายนถึงตุลาคมลผลกระทบภาวะน้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ลุ่มต่ำในทุ่งป่าโมก จังหวัดอ่างทอง ทุ่งผักไห่ บางบาล เจ้าเจ็ด จังหวัดพระนครศรีอยุธยาซึ่งมั่นใจว่า ระดับน้ำจะต่ำกว่าปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ยังเตรียมพร้อมเครื่องจักร-เครื่องมือ อาทิ เครื่องสูบน้ำ 1,851 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 317 ชุด รถแทรกเตอร์/รถตัก 225 คัน และเครื่องจักรกลสนับสนุนอื่นๆ อีก 410 หน่วย ซึ่งกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค ในเขตสำนักงานชลประทานต่าง ๆ รวมทั้งสิ้น 2,803 หน่วย.

จาก www.tnamcot.com  วันที่ 31 พฤษภาคม 2561

นายกฯ ไร่อ้อยนำทีมบุกศาลากลางยื่นหนังสือถึงรัฐบาลผ่านผู้ว่าฯ กาญจน์ เร่งแก้ไข พ.ร.บ.ชาวไร่อ้อย

กาญจนบุรี - นายกฯ ไร่อ้อยนำกลุ่มชาวไร่อ้อยเขต 7 บุกศาลากลาง ยื่นหนังสือถึงรัฐบาลผ่านพ่อเมืองกาญจน์ เร่งแก้ไข พ.ร.บ.ชาวไร่อ้อยให้มีเอกภาพ ให้เสร็จก่อนปีการผลิต 2561/62 หากยังช้าขู่รวมตัวหน้าทำเนียบแน่

วันนี้ (31 พ.ค.) นายกำธร กิตติโชติทรัพย์ นายกสมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยเขต 7 นายปารเมศ โพธารากุล หรือกำนันบอย อดีต ส.ส.จังหวัดกาญจนบุรี พร้อมสมาชิกสมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยเขต 7 เป็นจำนวนมาก เดินทางมาที่ศาลากลางจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อยื่นหนังสือต่อ นายจีระเกียรติ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี

เพื่อเสนอแนวทางแก้ไขความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อย และขอให้สนับสนุนร่างแก้ไขพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย ที่เกษตรกรชาวไร่อ้อยเสนอ โดยมี นายบวรศักดิ์ วานิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี เป็นผู้รับเรื่อง แต่ทั้งนี้ เนื่องจากมีสมาชิกกลุ่มชาวไร่อ้อยเดินทางมาเป็นจำนวนมาก ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐจึงให้ส่งตัวแทนเข้าไปเจรจาเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกันภายในศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งการเจรจาใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงจึงแล้วเสร็จ

จากนั้น นายกำธร กิตติโชติทรัพย์ นายกสมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยเขต 7 จึงออกมายื่นหนังสือให้แก่ นายบวรศักดิ์ วานิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ที่หน้าศาลากลาง เพื่อให้สมาชิกทุกคนที่มาได้เห็นเพื่อเป็นประจักษ์พยาน โดยหนังสือที่ยื่นร้องเรียน ระบุว่า จากปัญหาราคาอ้อยตกต่ำในฤดูกาลผลิตปี 2560/61 และต่อเนื่องถึงปี 2561/62 เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ตลอดจนรัฐบาลได้รับทราบข้อเท็จจริงถึงความเดือดร้อนของกลุ่มเกษตรกรชาวไร่อ้อย

สมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยเขต 7 ขอนำเสนอปัญหาของเกษตรกรชาวไร่อ้อยนำเรียนผ่านท่านผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อนำเรียนต่อรัฐบาลให้รับทราบ และหาทางช่วยเหลือคลี่คลายปัญหาก่อนที่จะเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ หรืออาจนำไปสู่การล่มสลายของอุตสาหกรรมอ้อย และน้ำตาลทราย ดังนี้

1.ผลกระทบจากนโยบายของรัฐบาล จากนโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมา รวมถึงนโยบายปี 2560/61 ส่งผลกระทบ และสร้างความเดือดร้อนและเสียหายต่อเกษตรกรชาวไร่อ้อย และชาวนาเป็นอย่างมากดังนี้

1.1 นโยบายส่งเสริมให้ชาวนาหันมาปลูกอ้อย ทำให้ปริมาณอ้อยเพิ่มขึ้น จากปีที่แล้ว 92.95 ล้านตัน เป็น 134.77 ล้านตัน (ณ วันที่ 27 พฤษภาคม 2561) โดยการเพิ่มขึ้นนั้นมาจากพื้นที่ปลูกที่เพิ่มขึ้น มิใช่จากการเพิ่มของผลผลิตตันต่อไร่ ซึ่งในแต่ละปีระยะเวลาหีบของโรงงานมีระยะเวลาที่จำกัด เนื่องจากเมื่อเข้าสู่ฤดูฝนจะเป็นอุปสรรคต่อการเก็บเกี่ยว และคุณภาพอ้อยก็จะแย่ลง ต้นทุนสูงขึ้น เป็นผลให้ในปีการผลิต 2560/61 มีอ้อยเหลืออยู่เป็นจำนวนมาก

1.2 การควบคุมน้ำหนักการบรรทุกอ้อยส่งโรงงาน การจำกัดน้ำหนักการบรรทุกอ้อย การจำกัดความสูงที่ 3.6 เมตรนั้น ส่งผลกระทบให้มีปริมาณอ้อยคงเหลือ เนื่องจากอ้อยเป็นพืชที่มีระยะเวลาในการเก็บเกี่ยว กอปรกับปริมาณอ้อยที่เพิ่มขึ้น เป็นผลให้ชาวไร่อ้อยไม่สามารถนำอ้อยส่งโรงงานได้หมดตามฤดูหีบ จึงมีปริมาณอ้อยเหลือค้างอยู่

1.3 การกำหนดให้โรงงานน้ำตาลหยุดช่วงเทศกาลต่างๆ ในฤดูกาลหีบอ้อย ชาวไร่อ้อยต้องหยุดตัดอ้อย ทำให้การตัดอ้อยส่งโรงงานน้ำตาลล่าช้าลงไปอีก จึงส่งผลให้ตัดอ้อยเข้าโรงงานไม่หมด

1.4 การกำหนดนโยบายการนำเข้าแรงงานต่างด้าวที่เข้มงวด มองในแง่ความมั่นคงของประเทศเป็นข้อกำหนดที่ดี แต่สร้างผลกระทบต่อเกษตรกรจำนวนมากที่พึ่งพาแรงงานต่างด้าวในการเก็บเกี่ยวอ้อย ซึ่งมีระยะเวลาเพียง 4-5 เดือน หากไม่สามารถนำเข้าแรงงานกลุ่มนี้ได้ หรือการนำเข้ามีอุปสรรคมากก็ส่งผลให้ไม่สมารถตัดอ้อยได้เสร็จทันในฤดูกาลผลิต ทำให้เกษตรกรมีอ้อยคงเหลือในไร่ ก่อให้เกิดความเดือดร้อนตามมาอีก

2.ราคาอ้อยที่ตกต่ำ ฤดูกาลผลิตปี 2560/61 และปีการผลิต 2561/62 สืบเนื่องจากประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลอันดับ 2 ของโลก มีการบริโภคภายในประเทศเพียง 2.6 ล้านตัน และในกลุ่มประเทศผู้ผลิต เช่น ไทย อินเดีย บราซิล มีปริมาณอ้อยที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกลดลงอย่างต่อเนื่อง จากปีที่ผ่านมา มีราคาอยู่ที่ประมาณ 18 เซ็นต์/ปอนด์ ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 11 เซ็นต์/ปอน ในปัจจุบัน

รวมถึงโครงสร้างรายได้ของเกษตรกรชาวไร่อ้อยมาจากราคาน้ำตาลเพียงอย่างเดียว เป็นผลให้ราคาอ้อยขั้นต้นที่ได้รับในปี 2560/61 อยู่ที่ตันอ้อยละ 880 บาท ที่ 10 ซี.ซี.เอส. และมีข้อเท็จจริงขณะนี้ปรากฏว่า ราคาอ้อยชั้นสุดท้ายปีการผลิต 2560/61 จะติดลบไม่ต่ำกว่า 100 บาท/ตัน หมายถึงชาวไร่อ้อยไม่ได้รับเงินเพิ่ม

ซึ่งผลกระทบดังกล่าวนี้จะต่อเนื่องไปยังฤดูกาลผลิตปี 2561/62 ที่คาดว่าราคาอ้อยที่ชาวไร่อ้อยจะได้รับอยู่ที่ประมาณ 700 บาทต่อตันอ้อย ที่ 10 ซี.ซี.เอส. ซึ่งหากราคาอ้อยเป็นไปตามประมาณการดังกล่าว เกษตรกรชาวไร่อ้อยจะประสบปัญหาการขาดทุนอย่างหนัก ก่อให้เกิดหนี้สินตามมา ซึ่งจะสร้างความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อย และครอบครัวอย่างสาหัส เพราะการกำหนดราคาอ้อยที่ชาวไร่อ้อยได้รับควรไม่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิตการปลูกอ้อย

3.ร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. ... เกษตรกรชาวไร่อ้อยกว่า 20,000 ราย ได้เข้าชื่อในการเสนอร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. ... และจำนวนกว่า 200 ราย ได้เดินทางไปยื่นร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. ... ต่อประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมานั้น

เพื่อให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยในฐานะผู้ผลิต และถือว่าเป็นผู้ผลิตต้นน้ำได้มีความเป็นอยู่ที่ดี และมีรายได้เพิ่มขึ้น จึงขอยืนยัน และขอความสนับสนุนให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. ... ตามร่างที่เกษตรกรชาวไร่อ้อยเสนอ ซึ่งมีประเด็นที่สำคัญดังนี้

3.1 ให้มีการปรับปรุงการเพิ่มรายได้จากการผลิตอ้อยและน้ำตาลทราย ตลอดจนผลพลอยได้ เพื่อให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยมีราคาอ้อยที่เพิ่มสูงขึ้น

3.2 ยืนยันความเป็นสถาบันชาวไร่อ้อยที่ได้มีการกำหนดคุณสมบัติไว้แล้วในพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทรายที่เสนอ คือ การเป็นสถาบันชาวไร่อ้อยต้องมีคุณสมบัติเดียวกันทุกองค์กร และต้องมีปริมาณอ้อยของสมาชิกส่งโรงงานน้ำตาลใดโรงงานหนึ่งไม่ต่ำกว่า 55 เปอร์เซ็นต์

เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้องค์กรเกษตรกรชาวไร่อ้อยเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งจะทำให้การรักษาผลประโยชน์ของชาวไร่อ้อยมีเอกภาพยิ่งขึ้น และนำเรียนรัฐบาลให้หาแนวทางช่วยเหลือ และแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อยเป็นการด่วน เพื่อป้องกันมิให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยรวมตัวกันมาเรียกร้องต่อรัฐบาลที่หน้าทำเนียบ ก่อนจะมีการเปิดหีบในฤดูกาลผลิตปี 2561/62 ต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ นายบวรศักดิ์ วานิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ได้รับหนังสือร้องเรียนดังกล่าวแล้ว ก็ได้แจ้งให้แก่สมาชิกสมาคมกลุ่มเกษตรกรชาวไร่อ้อยให้ทราบว่าจะนำเรื่องเข้าที่ประชุมเพื่อเร่งแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรชาวไร่อ้อยเขต 7 โดยด่วน

จาก https://mgronline.com  วันที่ 31 พฤษภาคม 2561

ชาวไร่อ้อยอีสานเคลื่อนหนุนพ.ร.บ.อ้อยฯฉบับเกษตรกร จวกนโนบายรัฐต้นเหตุชาวไร่ขาดทุน

อุดรธานี-สมาคมชาวไร่อ้อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือผนึกกำลังสมาคมชาวไร่อีสานเหนือ จ.อุดรธานี ยื่นหนังสือหนุนร่าง พ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาลฉบับที่เกษตรกรชาวไร่อ้อยเสนอ ย้ำต้นตอปัญหาทำชาวไร่อ้อยเดือดร้อนเพราะรัฐหนุนปลูกอ้อยมากเกินไป ซ้ำจำกัดน้ำหนักรถบรรทุกอ้อยเข้าโรงงานเข้มเกินทำให้อ้อยตกค้างในไร่

วันนี้ (31 พ.ค.ที่ ศาลากลางจังหวัดอุดรธานี นายไพบูลย์ ธิติศักดิ์ นายกสมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมด้วยสมาคมชาวไร่อีสานเหนือ จ.อุดรธานี และคณะกรรมการสมาคมฯ ได้เข้าพบนายสิทธิชัย จินดาหลวง รอง ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เพื่อนำเสนอปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อย และยืนหนังสือเสนอแนวทางแก้ไขความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อยและขอให้สนับสนุนร่างแก้ไขพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาล พ.ศ....ที่เกษตรกรชาวไร่อ้อยเสนอ

นายไพบูลย์ ธิติศักดิ์ นายกสมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า จากปัญหาราคาอ้อยตกต่ำในฤดูกาลผลิตปี 2560/2561 ต่อเนื่องถึงปี 2561/2562 เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ตลอดจนรัฐบาลได้รับทราบข้อเท็จจริง สมาคมฯขอให้ความเห็นว่า จากนโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมาส่งผลกระทบและสร้างความเดือดร้อนและเสียหายต่อเกษตรกรชาวไร่อ้อยและชาวนาเป็นอย่างมาก คือ นโยบายส่งเสริมให้ชาวบ้านหันมาปลูกอ้อย ทำให้ปริมาณอ้อยเพิ่มขึ้น, การคุมน้ำหนักรถบรรทุกอ้อยส่งโรงงาน, การจำกัดน้ำหนักการบรรทุกอ้อย, การจำกัดความสูงที่ 3.60 เมตร ส่งผลกระทบให้มีปริมาณอ้อยคงเหลือ, การกำหนดให้โรงงานน้ำตาลหยุดช่วงเทศกาลสงกรานต์

ซึ่งเป็นฤดูหีบอ้อยทำให้อ้อยส่งโรงงานล่าช้า, การกำหนดนโยบายการนำเข้าแรงงานต่างด้าวที่เข้มงวด ทำให้สร้างผลกระทบต่อเกษตรกรที่พึ่งแรงงานเป็นหลัก ที่สำคัญยังเป็นต้นเหตุปัญหาความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อยกรณีที่ราคาอ้อยที่ตกต่ำ ในช่วงปี 2560/2561 และต่อเนื่องถึง ปี 2561/2562 อยู่ที่ตันละ 880 บาทเท่านั้น

ในขณะที่ในปี 2559 ราคาอ้อยอยู่ที่ 1,050 บาท ซึ่งที่ผ่านมาทาง สมาคมฯ มีการหาแหล่งเงินชดเชย ให้ชาวไร่อ้อย แต่ก็ยังไม่พอในส่วนที่ขาดทุนไป

นายไพบูลย์ กล่าวต่อว่า ขอให้รัฐบาลยึดเอา ร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาล พ.ศ.... ที่เกษตรกรชาวไร่อ้อยเข้าชื่อในการเสนอร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ...ที่เคยยื่นร่างไว้กับประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา

ด้านนายสิธิชัย จินดาหลวง รองผู้ว่าราชจังหวัดอุดรธานี ได้รับฟังข้อเสนอแนะและนำเรียนผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี และส่งเรื่องนี้ให้กลับรัฐบาลรับทราบเพื่อหาทางแก้ไขต่อไป

จาก https://mgronline.com  วันที่ 31 พฤษภาคม 2561

ชาวไร่อ้อยอุทัยฯ ฮือขึ้นศาลากลาง จี้รัฐเร่งแก้ปัญหาราคาร่วง-ผลผลิตล้น

อุทัยธานี - ชาวไร่อ้อยเมืองอุทัยฯ ฮือขึ้นศาลากลางยื่นหนังสือจี้รัฐเร่งแก้ปัญหาผลผลิตล้น-ราคาอ้อยร่วงหนัก แถมเจอปัญหาจำกัดปริมาณบรรทุกซ้ำอีก

วันนี้ (31 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายสมาคมชาวไร่อ้อย และเกษตรกรชาวไร่อ้อยในพื้นที่อุทัยธานีกว่า 300 คน ได้รวมตัวกันเข้ายื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี เพื่อเสนอแนวทางแก้ไขความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อย และขอให้สนับสนุนร่างแก้ไขพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย

หลังเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยได้รับผลกระทบด้านการผลิตในหลายๆ ด้าน ทั้งจากนโยบายของรัฐบาลที่ส่งเสริมให้ชาวนาหันมาปลูกอ้อย จนทำให้ปริมาณอ้อยเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 92.95 ล้านตัน เป็น 134.77 ล้านตัน ตลอดจนการควบคุมน้ำหนักการบรรทุกอ้อยส่งโรงงาน, การกำหนดให้โรงงานหยุดช่วงเทศกาลต่างๆ ในฤดูกาลหีบอ้อย, กำหนดนโยบายการนำเข้าแรงงานต่างด้าวที่เข้มงวด

รวมถึงปัญหาราคาอ้อยที่ตกต่ำ ที่แม้ประเทศไทยจะเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลอันดับ 2 ของโลก แต่ด้วยมีการบริโภคภายในประเทศเพียง 2.6 ล้านตัน ประกอบกับกลุ่มประเทศผู้ผลิตมีปริมาณอ้อยที่เพิ่มขึ้น จึงส่งผลให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกลดลงอย่างต่อเนื่อง

นายชูชีพ สารีนนท์ อุปนายกสมาคมชาวไร่อ้อย อุทัยธานีไทยเศรษฐ์ และรองสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ได้เป็นตัวแทนชาวไร่อ้อย ยื่นหนังสือดังกล่าวต่อ นายสมเจตน์ จงศุภวิศาลกิจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี เพื่อส่งมอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานีพิจารณา และนำเสนอต่อรัฐบาลให้เร่งหาแนวทางช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนในเรื่องดังกล่าวต่อไป

จาก https://mgronline.com  วันที่ 31 พฤษภาคม 2561

ไทยประชุมสภาน้ำเอเชีย ชง “บิ๊กตู่” ประกาศแผนน้ำ

สภาน้ำแห่งเอเชียปั้น 3 โครงการภายใต้แผนพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อจัดการความเสี่ยงภัยทางน้ำ ชงนายกฯประกาศแผนแก้น้ำท่วม น้ำแล้ง และน้ำเสีย 4 มิ.ย.นี้

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยในประชุมวิชาการด้านน้ำของภูมิภาคเอเชีย เรื่อง วิสัยทัศน์และทิศทางการบริหารจัดการน้ำของเอเชียซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็วนี้ ว่า สภาน้ำแห่งเอเชีย (AWC) เห็นชอบร่วมกันในการขับเคลื่อน 3 โครงการหลัก ภายใต้แผนพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อจัดการความเสี่ยงภัยทางน้ำ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น นอกจากนั้น ยังเปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำ ประเทศสมาชิกในเครือข่ายแต่ละประเทศแลกเปลี่ยนแนวทางการทำงานร่วมกัน

ขณะเดียวกัน การประชุมครั้งนี้ไทยยังถือโอกาสสร้างการรับรู้ให้แก่นานาชาติ ถึงนโยบายในการบริหารจัดการน้ำ ตลอดจนการจัดทำกรอบพื้นฐานในการจัดทำยุทธศาสตร์น้ำ 20 ปี เพื่อให้สมาชิกสภาน้ำแห่งเอเชียและภาคเครือข่ายได้เห็นความคืบหน้าในการดำเนินงานตามพันธสัญญาความตกลงปารีสภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปฏิญญาน้ำโลก และล่าสุดปฏิญญาเสียมราฐที่เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกจัดตั้งหน่วยงานบูรณาการด้านน้ำระดับนโยบาย รัฐบาลไทยจึงตั้ง สทนช.เป็นหน่วยงานกลางบูรณาเรื่ืองน้ำทั้งระบบ และยกร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. …ซึ่งยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

รายงานข่าวกล่าวต่อว่า จะนำเสนอผลสรุปการประชุมสภาน้ำแห่งเอเชียครั้งนี้ต่อที่ประชุมต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่จะประชุมในวันที่ 4 มิ.ย.นี้ที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งในวันดังกล่าวนายกรัฐมนตรีพร้อม 38 องค์กรเกี่ยวกับเรื่องน้ำ จะประกาศความร่วมมือในการแก้ปัญหาน้ำในปี 2561-2562

นาย Kim Seong-Han เลขาธิการคณะกรรมการสภาน้ำแห่งเอเชีย กล่าวว่า สมาชิก AWC จะต้องบูรณาการกัน นำสมาร์ทเทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาน้ำให้เป็นรูปธรรม โดยการติดตามสถานการณ์น้ำและจัดการน้ำ รวมทั้งต้องมีระบบรวบรวมข้อมูลข่าวสารน้ำ และการแชร์ข้อมูลร่วมกัน

“การประชุมครั้งนี้หารือ 3 เรื่องหลัก คือ น้ำท่วม น้ำแล้ง และน้ำเสีย สถานการณ์น้ำในปีนี้ แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่ก่อให้เกิดความผันผวนรุนแรง สมาชิกจะร่วมกันทำอะไรบ้างหลังจากก่อตั้งองค์กรนี้มา 3 ปี”

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 31 พฤษภาคม 2561

พาณิชย์เพิ่มช่องทางการค้าเกษตร

กรมการค้าต่างประเทศ จับมือ Lemon Farm ขยายช่องทางการค้าเกษตรนวัตกรรม เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ

 นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมการค้าต่างประเทศ โดยสถาบันส่งเสริมสินค้าเกษตรนวัตกรรม หรือ APi ร่วมกับ Lemon Farm ได้จัดกิจกรรมเจรจาจับคู่ทางธุรกิจเพื่อคัดเลือกผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรนวัตกรรมที่เน้นส่งเสริมสุขภาพและมีศักยภาพ เข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมช่องทางการตลาดสินค้าเกษตรนวัตกรรมผ่านช่องทาง Lemon Farm โดยมีผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติ เข้าร่วมเจราจาธุรกิจเป็นจำนวนมาก ทั้งผลิตภัณฑ์อาหาร เช่น ข้าวพร้อมทานเพื่อสุขภาพ น้ำนมข้าวยาคูออร์แกนิค อาหารเสริม ในรูปแบบผงชงดื่ม ซึ่งผู้ประกอบการที่ได้รับการคัดเลือกจาก Lemon Farm จะสามารถนำสินค้ามาวางจำหน่ายภายในร้านเป็นการถาวรได้

นอกจากนี้ APi ได้จัดทำแผนส่งเสริมตลาดสินค้าเกษตรนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยเข้าร่วมในงานแสดงสินค้าทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งล่าสุด ได้เข้าร่วมในงาน THAIFEX – World of Food Asia 2018 ที่ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็คเมืองทองธานี

จาก https://www.innnews.co.th  วันที่ 30 พฤษภาคม 2561

เขื่อนพิมายเร่งเปิดประตูน้ำให้เกษตรกรใช้ปลูกข้าวนาปี

เกิดฝนตกต่อเนื่อง เขื่อนพิมายโคราชเปิดประตูระบายน้ำให้เกษตรกรใช้ปลูกข้าวนาปี เพื่อรองรับปริมาณน้ำฝนที่จะไหลมา

ช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ในหลายพื้นที่ของจังหวัดนครราชสีมา ได้มีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปริมาณน้ำในเขตพื้นที่อำเภอพิมายเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ปริมาณน้ำเหนือเขื่อนพิมาย ไหลเข้ามาสระสมอยู่ภายในเขื่อนเพิ่มขึ้นทุกวัน ล่าสุดทางเจ้าหน้าที่จัดสรรน้ำโครงการศูนย์ส่งน้ำและบำรุงรักษาทุ่งสัมฤทธิ์ อำเภอพิมาย ได้ทำการ เปิดประตูเขื่อนระบายน้ำ ทางด้านทิศตะวันออก จำนวน 2 บานจากทั้งหมด 6 บาน ซึ่งมีขนาดสูง 1 เมตร เพื่อปล่อยน้ำลงสู่ลำน้ำมูล ให้เกษตรกรที่มีพื้นที่ปลูกข้าวนาปี ติดลำน้ำมูล ได้ใช้ในการเกษตร และยังได้เปิดประตูเขื่อนทางด้านปากคลองสายใหญ่ฝั่งทิศใต้ อีกจำนวน 2 บาน ซึ่งมีขนาดสูง 1 เมตรเช่นกัน เพื่อปล่อยน้ำลงสู่คลองส่งน้ำชลประทาน เป็นระยะทางความยาวประมาณ 25 กิโลเมตร เพื่อให้เกษตรกรที่มีพื้นที่ปลูกข้าวนาปี จำนวน 2 หมื่นไร่ ใน 4 ตำบล ได้แก่ ตำบลท่าหลวง ตำบลชีวาน ตำบลดงใหญ่ และตำบลกระชอน ได้สูบน้ำเข้าที่นาของตนเอง หลังจากรอคอยน้ำฝนมานานหลายสัปดาห์ ถือเป็นการปล่อยน้ำให้กับเกษตรกรทำนาปลูกข้าวในเขตพื้นที่ชลประทาน และยังเป็นการระบายน้ำเพื่อรองรับปริมาณน้ำฝนที่จะไหลเข้ามาเก็บสะสมอยู่ภายในเขื่อนพิมาย เพื่อป้องกันปัญหาน้ำเอ่อล้นไหลเข้าท่วมบ้านเรือนของประชาชนในเขตพื้นที่ตำบลในเมือง และเขตพื้นที่เทศบาลตำบลพิมาย หากยังมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ทุกวัน เนื่องจากอำเภอพิมายเป็นพื้นที่รองรับปริมาณน้ำจากแม่น้ำ และเขื่อนต่างๆ ในจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมักจะประสบกับปัญหาน้ำท่วมบ้านเรือนของประชาชนที่อยู่ติดแม่น้ำมูล และลำน้ำจักราชเป็นประจำทุกปี

จาก https://www.innnews.co.th  วันที่ 30 พฤษภาคม 2561

แฉความลับ ราคาเอทานอลไม่อ้างอิงตลาดโลก เหตุราคา ตปท.ต่ำกว่าไทยเท่าตัว

อดีต ส.ว.กรุงเทพฯ เผยความลับ รัฐบาลไม่ตั้งราคาเอทานอล อ้างอิงราคาตลาดโลกเหมือนน้ำมันและก๊าซหุงต้ม เพราะเอทานอลในไทยแพงกว่าตลาดโลกถึงลิตรละ 12 - 14 บาท เมื่อเอาเอทานอลมาเติมในเบนซิน เพื่อทำแกสโซฮอล์ จึงต้องเอาเงินกองทุนมาชดเชย แถมบวกค่าการตลาดสูงเวอร์ จี้นายกฯ ทำราคาเอทานอลให้มีประสิทธิภาพ อย่าใช้เป็นเครื่องมือล้วงเงินจากกระเป๋าประชาชน

วันนี้ (30 พ.ค.) เมื่อเวลา 14.51 น. น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านพลังงาน ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก รสนา โตสิตระกูล ในหัวข้อ “เหตุใด เอทานอลจึงไม่อ้างอิงราคาตลาดโลกเหมือนน้ำมันและก๊าซหุงต้ม !?!” ว่า น้ำมันสำเร็จรูปที่กลั่นในประเทศจนเหลือใช้ และสามารถส่งออกไปยังประเทศในอาเซียนเป็นสินค้าอันดับ 2 ของประเทศไทย แต่เวลาขายคนไทยก็ยังต้องอ้างอิงราคาของสิงคโปร์ บวกค่าขนส่งเทียม ราวกับว่าน้ำมันสำเร็จรูปทั้ง 100% กลั่นในสิงคโปร์ และนำเข้าจากสิงคโปร์

ก๊าซหุงต้มมาจากก๊าซดิบในอ่าวไทย100% นำมาแยกเป็นก๊าซหุงต้มรวมกับส่วนของโรงกลั่นได้เพียงพอใช้ในประเทศถึง99% ตามรายงานของกระทรวงพลังงานเมื่อเดือนมกราคม 2561 ระบุว่า ปริมาณการผลิตก๊าซหุงต้มในประเทศได้ 535,827 ตัน ส่วนความต้องการใช้ในประเทศ 541,215 ตัน ซึ่งขาดไปเพียง 5,387ตัน เท่ากับประเทศไทยมีกำลังผลิตก๊าซหุงต้มให้คนไทยใช้ได้ในปริมาณที่ต้องการถึง99% ขาดไปเพียง 1%

แต่เหตุใดราคาก๊าซที่ขายประชาชนจึงใช้ราคาอ้างอิงราคานำเข้าจากซาอุดิอาระเบียทั้ง 100% แถมบวกค่าขนส่งจากซาอุฯ แบบเดียวกับราคาน้ำมันที่อ้างราคาสิงคโปร์บวกค่าขนส่ง

แต่เหตุใดเอทานอลจึงไม่อ้างอิงราคาตลาดโลก!?!

ควมลับก็คือ ราคาเอทานอลในตลาดโลกมีราคาถูกกว่าราคาเอทานอลในประเทศไทยที่ตั้งราคาไว้ที่ ราคา 23.59 บาท/ลิตร (23 พ.ค. 2561) แต่ปัจจุบันราคาเอทานอลที่ชิคาโกอยู่ที่ ประมาณ 12.68 บาทต่อลิตร ($1.5/3.785 ลิตร) ราคาเอทานอลที่เซาเปาโล บราซิล อยู่ที่ 14.87 บาทต่อลิตร (14,867 บาท/1,000 ลิตร)

ในอดีตพี่ไทยเคยอ้างอิงเอทานอลจากบราซิลและบวกค่าขนส่ง 5 บาท ทั้งที่เอทานอลที่คนไทยใช้อยู่ในเวลานั้นผลิตในประเทศ 100% เช่นเดียวกับก๊าซหุงต้มและน้ำมัน

หลังจากที่เอทานอลในต่างประเทศมีราคาถูกลงมาก จึงมีการเปลี่ยนสูตรอ้างอิงราคาการนำเข้าจากบราซิล มาใช้ราคา “ที่แท้จริง” ในการผลิตเอทานอลภายในประเทศ ทำให้ราคาเอทานอลแพงกว่าน้ำมันเบนซินล้วนๆ ถึงลิตรละ 4.39 บาท (23 พ.ค. 2561) !!

การทำให้เอทานอลแพงกว่าน้ำมันเบนซินจึงเป็นกลไกการล้วงกระเป๋าประชาชน ใช่หรือไม่ ? ด้วยข้ออ้างว่าต้องส่งเสริมพลังงานสะอาด ต้องส่งเสริมเกษตรกรปลูกมันสำปะหลังให้ได้ราคาดี ทั้งที่เอทานอลในเวลานี้ผลิตจากกากน้ำตาลเป็นส่วนใหญ่และกากน้ำตาลมีต้นทุนวัตถุดิบต่ำกว่ามันสำปะหลังมาก แต่ก็คิดราคาเท่ากับเอทานอลที่ผลิตจากมันสำปะหลัง

แม้แต่น้ำมัน และก๊าซหุงต้ม นายกฯ ลุงตู่ และ รองนายกฯ ลุงป้อม ก็บอกให้ประชาชนต้องยอมรับกลไกตลาด แต่เรื่องราคาเอทานอล ท่านจะว่ายังไงที่ตลาดต่างประเทศราคาปัจจุบันประมาณ 12 - 14 บาทเท่านั้น ต่ำกว่าราคาในบ้านเราที่สูงถึง 23.59 บาท/ลิตร ซึ่งแพงกว่าราคาในตลาดโลก 10 - 12 บาทเลยทีเดียว

ดังนั้น ยิ่งเติมเอทานอลในเบนซินมากเท่าไหร่ ราคาน้ำมันชนิดนั้นกลับยิ่งแพงขึ้น ทั้งที่เอทานอลมีค่าพลังงานต่ำกว่าเบนซินประมาณ 30%

ต้องเอากองทุนน้ำมันมาชดเชยอี 85 ลิตรละ 9.35 บาท และชดเชยอี 20 ลิตรละ 3 บาท ให้มีราคาถูกลง และไม่ได้ชดเชยแค่เอทานอลแต่รวมชดเชยค่าการตลาดที่สูงเว่อร์ ซึ่งคือการบวกกำไรของโรงกลั่นที่สูงเกินจริงเข้าไปด้วยตั้งแต่ 3 - 6 บาท เป็นการล้วงกระเป๋ากันแบบดื้อๆ โดยมีอำนาจรัฐคุ้มครองให้ ใช่หรือไม่

ถ้าราคาเอทานอลในประเทศราคาสัก 15 บาท/ลิตร ก็จะมีราคาถูกกว่าน้ำมันเบนซินที่มีราคาประมาณ 19 บาท/ลิตร การเติมเอทานอลในน้ำมันจึงจะทำให้น้ำมันผสมพลังงานทดแทนมีราคาถูกลง เป็นการช่วยประชาชนประหยัดเงินในกระเป๋า และมีส่วนร่วมดูแลสิ่งแวดล้อมไปด้วย สมดังพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่ทรงเคยมีพระราชดำรัสว่าให้เติมเอทานอลในเบนซินสัก 10% จะลดราคาได้ 50 สตางค์ต่อลิตร

ถ้า นายกฯ ลุงตู่ ที่มักอ้างว่าจะเดินตาม “ศาสตร์พระราชา” ซึ่งเป็นศาสตร์ที่จะทำให้คนรัก คนพอใจ เพราะราชาแปลว่าผู้ทำให้คนรัก คนพอใจ ท่านนายกฯ ก็ควรสั่งการให้มีการชำระสะสางราคาน้ำมันและก๊าซหุงต้ม โดยเริ่มจากการเข้าไปจัดการราคาเอทานอลให้เป็นราคาที่มีประสิทธิภาพเสียก่อน ไม่ให้มีการใช้ราคาเอทานอลมาเป็นเครื่องมือล้วงกระเป๋าประชาชนอีกต่อไป ท่านจะทำได้หรือไม่ !?!

จาก https://mgronline.com   วันที่ 30 พฤษภาคม 2561

สศอ.เผยดัชนีผลผลิตอุตฯเม.ย. 61ขยายตัว4.0%

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI ) ประจำเดือนเมษายน ปี 2561 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาและขยายตัวเป็นบวกติดต่อกันเป็นเดือนที่ 12

นายณัฐพล รังสิตพล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index - MPI) ประจำเดือนเมษายน 2561 มีการขยายตัวร้อยละ 4.0 และขยายตัวเป็นบวกติดต่อกันเป็นเดือนที่ 12 ทำให้ 4 เดือนแรกของปี 2561 MPI ขยายตัวร้อยละ 4.1 โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลบวกประจำเดือนเมษายน 2561 ได้แก่ น้ำตาลทราย รถยนต์และเครื่องยนต์ เม็ดพลาสติก Hard Disk Drive และน้ำมันปิโตรเลียม

สินค้าในอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ประจำเดือนเมษายน มีการขยายตัวได้แก่น้ำตาลทราย ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 44.13 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลผลิตอ้อยที่มีมากกว่าปีก่อน ฝนตกชุกกระทบต่อการตัดอ้อยล่าช้ากว่าปกติ ผลผลิตจึงมากระจุกตัวอยู่ช่วงท้ายฤดูหีบอ้อย ส่งผลให้มีการผลิตน้ำตาลเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ

รถยนต์และเครื่องยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.31 จากเครื่องยนต์แก๊สโซลีน เครื่องยนต์ดีเซล รถยนต์นั่งขนาดไม่เกิน 1,800 cc และรถปิคอัพ เม็ดพลาสติก ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.41 จากสินค้า PP , PVC , PE และ LLDPE เป็นหลัก

จากการขยายกำลังการผลิตของบางบริษัทที่รองรับการส่งออก และความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องในประเทศ เช่น บรรจุภัณฑ์ ชิ้นส่วนรถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า

Hard Disk Drive ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.78 เนื่องจากผู้ผลิตได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นและภาพรวมอุตสาหกรรมยังเติบโต น้ำมันปิโตรเลียม ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.27 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากน้ำมันแก๊สโซฮอล 95 และน้ำมันดีเซลหมุนเร็วเป็นหลัก

นอกจากนี้ภาวะอุตสาหกรรมสำคัญที่ยังคงขยายตัวได้ดี ได้แก่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.03 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์หลัก ได้แก่ HDD, Monolithic IC, Semiconductor และ PCBA ตามการขยายตัวของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โลก โดย IC ปรับตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากการใช้เป็นชิ้นส่วนสำคัญในการพัฒนาสินค้าที่มีการใช้เทคโนโลยีสูง รวมถึงนำไปใช้เป็นชิ้นส่วน Smart phone, Tablet ส่วน HDD มีการพัฒนาให้มีความจุมากขึ้นเพื่อใช้ใน Cloud Storage

อุตสาหกรรมรถยนต์ การผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.87 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการเพิ่มขึ้นจากตลาดในประเทศและตลาดส่งออก เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศ การลงทุนจากภาครัฐและภาคเอกชน ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

อุตสาหกรรมอาหาร การผลิตในภาพรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 46.8 เพื่อรองรับผลผลิตสินค้าสำคัญที่เพิ่มขึ้นได้แก่ น้ำตาลทรายดิบ แป้งมันสำปะหลัง น้ำมันปาล์มดิบ น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ ทูน่ากระป๋อง ซาร์ดีนกระป๋องและไก่แช่เย็นและแช่แข็ง ประกอบกับภาพรวมการบริโภคในประเทศขยายตัวตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 30 พฤษภาคม 2561

‘เงินบาท’ อ่อนค่า 32.15 บาทต่อดอลลาร์ฯ ตามอ่อนค่าเงินสกุลในภูมิภาค

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบ ุเงินบาทอ่อนค่ากลับไปที่ระดับ 32.15 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ (30 พ.ค. 2561) ท่ามกลางการอ่อนค่าของสกุลเงินในภูมิภาค และสัญญาณการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงของนักลงทุน นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ฯ ขยับแข็งค่าขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเงินยูโร ซึ่งถูกกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับประเด็นทางการเมืองของอิตาลี

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ คาดไว้ที่ 32.00-32.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ประกอบด้วย ตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนเดือน พ.ค. และข้อมูลจีดีพีไตรมาส 1/2561

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 30 พฤษภาคม 2561

“ฉัตรชัย”สั่ง 15 หน่วยงาน พร้อมรับมือน้ำหลาก

วันนี้ (30 พฤษภาคม 2561 ) ที่ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ1 ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำครั้งที่ 2/2561 เพื่อติดตามการรายงาน สภาพภูมิอากาศ สถานการณ์น้ำ และการคาดการณ์แนวโน้มปริมาณฝนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล www.thaigov.go.th เปิดเผย ผลการประชุมว่า รองนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้คณะทำงาน 2 คณะภายใต้คณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์และบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ได้แก่ คณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และคณะทำงานอำนวยการจัดการข้อมูลสารสนเทศทรัพยากรน้ำแห่งชาติ จัดประชุมคณะทำงานเพื่อวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างทันต่อเหตุการณ์ สามารถแจ้งเตือนประชาชนได้ทันเวลา ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกประกาศว่า ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนอย่างทางการแล้ว เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมา รวมไปถึงเพื่อเป็นการวิเคราะห์และชี้เป้าพื้นที่ที่ต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งอย่างเป็นระบบ (Area Based) จำนวน 66 แห่ง ซึ่งคิดเป็นพื้นที่ 29.69 ล้านไร่ทั่วประเทศ และในจำนวนนี้มีพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก 28 แห่ง คิดเป็นพื้นที่ 8.52 ล้านไร่

พร้อมกันนี้ รองนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ประสานหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้ง 15 หน่วยงาน เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำหลากปี 2561 โดยมีแผนปฏิบัติการในแต่ละด้านให้ชัดเจน สร้างการรับรู้ให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนได้แก่ 1.การติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ฝน พายุ ดินถล่ม และเฝ้าระวังอุทกภัยด้วยดาวเทียม 2.การบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งเก็บน้ำธรรมชาติและแม่น้ำสายหลัก พร้อมกำหนดผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน

3.การตรวจสอบความมั่นคงและสภาพการใช้งานของเขื่อน ประตูระบายน้ำ คันคลองชลประทาน และคันกั้นน้ำ 4.การกำจัดสิ่งกีดขวางทางระบายน้ำ และการใช้พื้นที่ลุ่มต่ำตัดยอดน้ำและการป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเส้นทางสัญจรในพื้นที่ลุ่มต่ำ 5.การเตรียมความพร้อม เครื่องจักรเครื่องมือ เพื่อสนับสนุนการช่วยเหลือและการบรรเทาอุทกภัย โดยกำหนดให้มีแผนป้องกันภัยระดับจังหวัด

นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานรายงานปัญหาอุปสรรค เพื่อจะได้หาแนวทางแก้ไขปัญหาให้ทันสถานการณ์และรายงานความคืบหน้า ให้ที่ประชุมรับทราบเป็นระยะและกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดที่มีพื้นที่เสี่ยงเกิดอุทกภัยในช่วงเดือนต่าง ๆ ตามอิทธิพลลมมรสุม เป็นการสร้างการรับรู้ เฝ้าระวัง ให้กับประชาชนในพื้นที่ และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำหลาก ปี 2561 เพื่อชี้แจงข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจจากระบบการคาดการณ์

การเตรียมความพร้อมแหล่งน้ำและพื้นที่ลุ่มต่ำเป็นพื้นที่รองรับน้ำ รวมถึงเตรียมความพร้อมเครื่องมืออุปกรณ์บรรเทาอุทกภัย เพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยให้ได้มากที่สุด โดยมีกำหนดการลงพื้นที่สร้างการรับรู้ต่อประชาชน จำนวน 8 ครั้ง ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ประกอบด้วย จังหวัดเชียงใหม่ พิษณุโลก พระนครศรีอยุธยา สกลนคร อุบลราชธานี กาญจนบุรี ระยอง และจังหวัดสงขลา

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 30 พฤษภาคม 2561

เกษตรฯจับมือ11หน่วยงานบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อการผลิตอย่างยั่งยืน

นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวในโอกาสเป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อการผลิตอย่างยั่งยืน ระหว่าง 11 หน่วยงาน ประกอบด้วย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการคลัง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า ความร่วมมือตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว เกิดจากการที่หน่วยงานร่วมดำเนินการทั้ง 11 หน่วยงาน ตระหนักถึงทรัพยากรเพื่อการผลิตทางการเกษตร ประกอบด้วย น้ำ ดิน อากาศ และป่าไม้ที่เสื่อมโทรมลง อันเนื่องมาจากหลายปัจจัย ทั้งการเปลี่ยนแปลงโดยธรรมชาติ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการกระทำของมนุษย์ ส่งผลต่อความเป็นอยู่ของสิ่งมีชีวิต

นอกจากนี้ ยังเกี่ยวโยงถึงสภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยเฉพาะภาคการเกษตรที่ต้องพึ่งพาการผลิตจากทรัพยากรดังกล่าวเป็นหลัก การแก้ไขปัญหาดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคเกษตรกร และภาคประชาชน ในการบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อการผลิตทางการเกษตร โดยคำนึงถึงแนวทางตาม “ศาสตร์แห่งพระราชา” เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเพื่อการผลิตอย่างคุ้มค่า มีประสิทธิภาพและยั่งยืน ตลอดจนเป็นการสืบสานพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดช บรมนาถบพิตร โดยมุ่งหวังให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดี และเป็นการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของประเทศ

ภายหลังจากการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว ทั้ง 11 หน่วยงานจะร่วมกันจัดทำ และร่วมดำเนินการโครงการต่าง ๆ เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อการผลิตอย่างยั่งยืนตามวัตถุประสงค์ของความร่วมมือ นอกจากนี้ หน่วยงานร่วมดำเนินการจะร่วมกันจัดหา พัฒนา และสนับสนุนด้านบุคลากร งบประมาณ วัสดุอุปกรณ์รวมถึงสิ่งจำเป็นอื่นสำหรับใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อการผลิตอย่างยั่งยืน ตลอดจนสนับสนุน แลกเปลี่ยนและเสริมสร้างองค์ความรู้ ประสบการณ์ และข้อมูลทางวิชาการระหว่างกันเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อการผลิตอย่างยั่งยืนต่อไป

สำหรับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้จัดเตรียมโครงการภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการความร่วมมือ R3+ เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากร และการผลิตทางการเกษตรอย่างยั่งยืน พื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรี โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ร่วมกับกรมชลประทาน กรมป่าไม้ บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ ดำเนินงานในพื้นที่โครงการเขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เพื่อสืบสานพระราชปณิธาน ด้านการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการตั้งแต่พื้นที่ป่าต้นน้ำ การบริหารจัดการน้ำในชั้นบรรยากาศ การบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำ การจัดการน้ำเพื่อการเกษตรและการอุปโภคบริโภค

รวมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรี ทั้งการทำการเกษตรอย่างยั่งยืน ซึ่งกิจกรรมการดำเนินงาน ประกอบด้วย การอนุรักษ์ดิน น้ำ และป่าไม้ ส่งเสริมการผลิตทางการเกษตร และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน หากดำเนินการแล้วเสร็จสามารถเติมน้ำต้นทุนในลุ่มน้ำเพชรบุรี และเพิ่มความชุ่มชื้นในพื้นที่ป่าไม้และพื้นที่เกษตรกรรม รวมถึงการวางแผนอนุรักษ์ป่าต้นน้ำอย่างบูรณาการ ตลอดจนเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรี ทั้งการทำการเกษตรอย่างยั่งยืน และเพิ่มความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและสังคม

2.โครงการ “ปลูกป่าและไม้ยืนต้นสร้างความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการฝนหลวง” เพื่อสืบสาน “ศาสตร์พระราชา” ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รวมทั้งเพื่อสร้างความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศให้มากขึ้นในการเพิ่มโอกาสการเกิดฝนและการปฏิบัติการฝนหลวงประสบผลสัมฤทธิ์เพิ่มขึ้นโดยการฟื้นฟูสภาพป่าเสื่อมโทรมให้สามารถกลับมาอยู่ในสภาพสมบูรณ์ และสร้างผืนป่าให้เกิดความชุ่มชื้นเพื่อเป็นการเพิ่มป่าต้นน้ำตลอดจนเพิ่มพื้นที่ป่าชุมชน การปลูกป่าไม้ป่าเศรษฐกิจ ป่าชุมชน และไม้ยืนต้นบริเวณหัวไร่ปลายนา อีกทั้งเพื่อเป็นแหล่งอาหารของสัตว์ป่าในการดำรงชีวิต และการใช้ประโยชน์สำหรับชุมชน สำหรับการดำเนินการในโครงการแบ่งเป็น 2 กิจกรรม คือกิจกรรมปลูกป่าและไม้ยืนต้น และโปรยเมล็ดพันธุ์พืชทางอากาศ และ 3. แอปพลิเคชั่น Collector for ArcGIS ระบบติดตามการปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ

อย่างไรก็ตามปัญหาพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม การชะล้างพังทลายของหน้าดินในประเทศสร้างความสูญเสียมูลค่ากว่า 2.3 ล้านล้านบาท ดังนั้นจึงต้องให้ความสำคัญกับการรักษาป่า รักษาหน้าดิน การปลูกต้นไม้ และบ่อน้ำเพื่อเก็บความชื้นเอาไว้ให้มากที่สุด วันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทั้ง 11 หน่วยงานได้มาร่วมกันลงนามในข้อตกลงดังกล่าว เพื่อวางแผนในการที่จะทำอย่างไรให้มีความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศให้มากที่สุด เพื่อให้กรมฝนหลวงฯ สามารถปฏิบัติการได้ทุกช่วงเวลา ทุกพื้นที่ เป็นการลดปัญหาภัยแล้งไม่ให้เกิดขึ้น โดยการทำเมฆให้เกิดเป็นฝนได้นั้นต้องอาศัยความชื้นสัมพัทธ์ไม่น้อยกว่า 60% จึงต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคมเพราะฉะนั้นความสมบูรณ์ของดิน น้ำป่า จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง

จาก www.naewna.com วันที่ 30 พฤษภาคม 2561

'กฤษฎา'ดีเดย์สางหนี้เกษตรกร ลั่นทำให้จบรัฐบาลนี้

นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจแก้ไขหนี้สินเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูเพื่อพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) ว่า ได้รับมาดำเนินการแก้ไขในมูลหนี้ที่เกิดก่อนถึงวันที่ 30 ธ.ค.60 พร้อมกับตั้งคณะทำงานรวบรวมรายละเอียดอย่างรอบด้าน และดูข้อกฎหมายในการจัดการหนี้ให้กับเกษตรกรให้มีความชัดเจน

"อีก30 วัน จะเสนอแนวทางแก้ไขหนี้เกษตรกรเข้า ครม.ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรี มีความตั้งใจช่วยเหลือแก้ปัญหาหนี้สินให้เกษตรกร และทำให้จบในรัฐบาลนี้ ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย จะสามารถรักษาที่ดินทำกินของตนเองไว้ให้ได้ถึงรุ่นลูกหลาน" นายกฤษฎา กล่าว

ด้าน นายครรชิต สุขเสถียร ผอ.สำนักบริหารกองทุนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและรับเรื่องร้องเรียน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า รมว.เกษตรฯ มีเจตนารมย์แก้หนี้ให้สำเร็จ ได้สั่งการให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูแก้ไขหนี้เกษตรกรกองทุนทั้งระบบ โดยไม่เป็นภาระด้านงบประมาณและไม่กระทบวินัยการเงินการคลังของประเทศ ภายใน 30 วัน ต้องสรุปแนวทางแก้ไขเป็นเพ็คใหญ่เข้า ครม.

สำหรับมูลหนี้แบ่งเป็น 2 ส่วน เป็นหนี้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน กับหนี้นอกเกณฑ์คือใช้บุคคลค้ำซึ่งเกษตรกรมีการกู้หนี้ไปใช้นอกภาคเกษตร และกลุ่มเกษตรกรที่ต้องช่วยเร่งด่วนกว่า 7 - 8 พันคน ที่กำลังเข้าสู่ขั้นตอนทางกฎหมาย โดย รมว.เกษตรฯ สั่งให้ทำหนังสือไปถึงสถาบันการเงินเจ้าหนี้ให้ชะลอการบังคับคดี หรือยึดทรัพย์ออกไปอีก 1 เดือน

"เกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯขึ้นทะเบียนจนถึงปี 2560 จำนวนกว่า 4.6 แสนคน ขณะนี้มาแสดงตน 2.9 แสนคน อีก 2.3 แสนคน กำลังเปิดให้แสดงตนรอบสอง ในเบื้องต้นให้รัฐช่วยเหลือหนี้ชำระหนี้ 1.6 แสนคน โดยแยกออกมาเป็นหนี้เพื่อไปทำเกษตรกรรม 8.5 หมื่นคน อีกกว่า 7 หมื่นราย ไม่เข้าหลักเกณฑ์มีหนี้พ่วงนอกภาคเกษตร โดยบุคคลค้ำประกัน และมีการค้ำประกันต่อ ทั้งนี้ ในส่วนเกษตรเป็นหนี้เสีย หนี้ด้อยค่า ที่เป็นลูกหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) 3.6 หมื่นราย หากปรับโครงสร้างหนี้ ลดต้น 50% และหยุดดอกเบี้ยไว้ เรียกว่าแฮร์คัต ตามสูตรเดิมของ ธ.ก.ส.อาจต้องใช้วงเงินมากถึง 7 - 8 พันล้านบาท รมว.เกษตรฯ ห่วงกระทบวินัยการเงินของประเทศ จึงให้กรอบ 30 วัน มาดูเรื่องคุณสมบัติเกษตรกรที่เข้าเงื่อนไข รวมทั้งหารือกับสถาบันการเงิน ในเรื่องการตั้งสำรองหนี้สูญไว้ด้วย เพื่อวางกรอบแนวทางช่วยหนี้เอ็นพีแอลที่จะเข้าสู่ปรับโครงสร้างหนี้กลุ่มแรก" นายครรชิต กล่าว

จาก www.naewna.com วันที่ 29 พฤษภาคม 2561

“สมคิด”เร่งดันภาคเกษตรหนุนส่งออก

รองนายกฯสมคิด เร่งดันภาคเกษตร หนุน ส่งออกของประเทศในภาพรวม โตเกินเป้า 8% ในปีนี้ ไม่กังวลตัวเลข IMD ตก

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลัง เป็นประธานเปิดงาน THAIFEX – World of Food Asia 2018 ที่ อิมแพคเมืองทองธานี ว่า ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องผลักดันการส่งออกในอุตสาหกรรมอาหารของไทยให้มากขึ้น เพื่อหนุนอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ และทำให้จีดีพีภาคการเกษตร ขยายตัวมากกว่าร้อยละ 8 ซึ่งหากทำได้ ก็จะส่งผลให้ตัวเลขการส่งออกในภาพรวมของไทยขยายตัวได้มากกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ร้อยละ 8 ในปีนี้

ขณะที่ตัวเลขความสามารถในการแข่งขันจาก IMD ล่าสุดที่คะแนนภาพรวมของไทยตกลงนั้น รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ไม่มีอะไรน่ากังวล เพราะเป็นการรวบรวมคะแนนก่อนที่ไทยจะประกาศตัวเลขจีดีพีในเดือนล่าสุด และเกิดจากการที่ไทยขาดดุลงบประมาณด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งถือเป็นการขาดดุลที่มีความจำเป็น และเชื่อว่าหากโครงสร้างพื้นฐานของไทยแล้วเสร็จ จะทำให้ตัวเลขทางเศรษฐกิจต่างๆ ดีขึ้นตามมาอย่างแน่นอน

จาก https://www.innnews.co.th  วันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

พายุฝนทำไร่มัน-ไร่อ้อยอ.พิมายเสียหายหนัก

ฝนที่ตกลงมาติดต่อกันนานหลายวันในเขตพื้นที่ อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ส่งผลกระทบกับเกษตรกรผู้ปลุกมันสำปะหลัง และ ปลูกอ้อย ในตำบลนิคม อำเภอพิมาย ทำให้มันสำปะหลังที่เพิ่งปลูกได้เพียง 1 สัปดาห์ ได้รับความเสียหาย ถูกน้ำท่วมขังสูงถึง 30 เซนติเมตร ต้นมันสำปะหลังลอยขึ้นมาเหนือน้ำ ได้รับความเสียหายหลายสิบไร่

โดยนาย บุญส่ง เพียงพิมาย อายุ 50 ปี เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังในตำบลนิคม อำเภอพิมาย รายหนึ่งได้บอกว่า ตนเองได้ลงทุนปลูกมันสำปะหลัง จำนวน 56 ไร่ โดยมันสำปะหลังที่ปลูกไว้ ถูกน้ำท่วมได้รับความเสียหายไป 10 ไร่ เนื่องจากเกิดน้ำท่วมขังต้นมันสำปะหลังลอยขึ้นเหนือน้ำ เช่นเดียวกับเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยในตำบลหนองระเวียง อำเภอพิมาย ได้รับผลกระทบจากพายุฝนตกหนักเช่นเดียวกัน ส่งผลให้ปริมาณน้ำฝนเกิดท่วมขังไร่อ้อยได้รับความเสียหาย โดยเกษตรกรเปิดเผยว่า หากน้ำฝนยังท่วมขังไร่อ้อยนานหลายวัน ก็จะทำให้ รากของต้นอ้อยเน่าเสียหาย ซึ่งต้นอ้อยที่กำลังเจริญเติบโตอยู่นั้น จึงได้รับผลกระทบจากพายุฝนตกหนักในหลายพื้นที่ในขณะนี้

จาก https://www.innnews.co.th  วันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

‘ก.อุต’คุมเข้มโรงงานรีไซเคิลขยะไอที

นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมไปตรวจสอบโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าวัตถุอันตราย ตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย และอนุสัญญาบาเซล ที่มีอยู่ 7 โรงงาน หากพบการดำเนินการที่ไม่ถูกต้อง จะต้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด

พร้อมกันนี้ยังได้สั่งการให้อุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ สำรวจ และทำหนังสือแจ้งเตือนโรงงานอุตสาหกรรมที่ประกอบกิจการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ ประเภทโรงงานการคัดแยก ฝังกลบสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว (โรงงานลำดับที่ 105) และประเภทโรงงานผลิตวัสดุดิบที่มาจากผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่แล้ว เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ (โรงงานลำดับที่ 106) โดยให้ทุกโรงงานปฏิบัติตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 อย่างเคร่งครัด

นายพสุกล่าวว่า ยังมอบหมายให้อุตสาหกรรมจังหวัดประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตำรวจ ทหาร สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานสาธารณสุข เพื่อร่วมกันเข้าตรวจสอบโรงงาน พร้อมต้องให้คำปรึกษา ผู้ประกอบการให้สามารถประกอบกิจการได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งขณะนี้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ และสมุทรสงคราม ได้รายงานผลการตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมที่ประกอบกิจการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์

“ขณะนี้พบว่า ในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ ได้มี 2 โรงงาน ที่ไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 โดยมีการกองเศษวัตถุดิบ อยู่ภายนอกอาคารโรงงาน จึงได้ใช้คำสั่งมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ให้โรงงานดังกล่าวดำเนินการจัดเก็บวัตถุดิบภายในอาคาร และพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ได้มีการแจ้งหนังสือให้โรงงานดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนจังหวัดอื่นๆ จะทยอยรายงานผลการตรวจสอบ ซึ่งจะต้องรายงานผลการดำเนินงานให้ทราบภายในสัปดาห์นี้”

โดยปัจจุบันนี้โรงงานอุตสาหกรรมที่ประกอบกิจการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ มีจำนวน 1,761 โรงงาน แยกเป็นโรงงานการคัดแยก ฝังกลบสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช่แล้ว จำนวน 1,222 โรงงาน และโรงงานผลิตวัสดุดิบที่มาจากผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่แล้ว เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ จำนวน 539 โรงงาน และในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา

จาก www.naewna.com วันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ลุยไทยนิยม “ส.ป.ก.”สร้างฝายชะลอน้ำ 244 แห่งในพื้นที่ 23 จังหวัด

นายสุรจิตต์ อินทรชิต เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กล่าวถึง โครงการก่อสร้างฝายชะลอน้ำในเขตปฏิรูปที่ดิน เป็นโครงการที่ดำเนินการภายใต้งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมกลางปีงบประมาณ 2561 ซึ่งสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจำนวน 6,482,800 บาท เพื่อจัดทำโครงการก่อสร้างฝายชะลอน้ำประเภทชั่วคราวในเขตปฏิรูปที่ดิน ครอบคลุมพื้นที่ 23 จังหวัด จำนวนฝาย 244 แห่ง ในพื้นที่ภาคเหนือ 11 จังหวัด (กำแพงเพชร เชียงราย ตาก นครสวรรค์ น่าน พะเยา เพชรบูรณ์ แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน อุตรดิตถ์) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 10 จังหวัด (กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ นครราชสีมา บึงกาฬ บุรีรัมย์ มุกดาหาร สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อุบลราชธานี) และภาคกลาง 2 จังหวัด (ลพบุรี สระบุรี)

โครงการดังกล่าวใช้งบกลางปี ซึ่งรัฐบาลต้องการให้เป็นงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจกระจายรายได้สู่ชุมชน นอกจากเพื่อการอนุรักษ์แหล่งต้นน้ำลำธารและรักษาระบบนิเวศน์ทางธรรมชาติแล้ว ยังเป็นการจ้างแรงงานในท้องถิ่น เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้และเกษตรกรในชุมชนมีความรู้ความเข้าใจถึงประโยชน์ของฝายชะลอน้ำ ทั้งวิธีการพัฒนาคัดเลือกพื้นที่ การเลือกใช้วัสดุ เทคนิคการสร้างฝาย โครงการมีระยะเวลาดำเนินงานในช่วงไตรมาส 3-4 ของปีงบประมาณ 2561

นายสุริยน พัชรครุกานนท์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาพื้นที่ปฏิรูปที่ดิน กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา(ส.ป.ก.นครราชสีมา) มีแผนก่อสร้างฝายชะลอน้ำประเภทชั่วคราว ในเขตปฏิรูปที่ดิน จำนวน 25 แห่ง ในพื้นที่ตำบลปากช่อง อำเภอปากช่อง (หมู่ที่ 9 จำนวน 2 แห่ง หมู่ที่ 15 จำนวน 3 แห่ง) และ พื้นที่ตำบลวังน้ำเขียว อำเภอวังน้ำเขียว (หมู่ที่ 16 จำนวน 20 แห่ง) ส.ป.ก. โดยสำนักพัฒนาพื้นที่ปฏิรูปที่ดิน (สพป.) ร่วมกับสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา จึงได้จัดกิจกรรม คิกออฟ (Kick off) เริ่มต้นโครงการก่อสร้างฝายชะลอน้ำประเภทชั่วคราว ในเขตปฏิรูปที่ดิน ณ หมู่ที่ 15 ตำบลปากช่อง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ในวันจันทร์ที่ 28 พฤษภาคม 2561

สาเหตุที่เลือกพื้นที่แห่งนี้ สืบเนื่องจากเกษตรกรมีความต้องการพัฒนาพื้นที่ที่มีสภาพเสื่อมโทรม และเป็นพื้นที่ตามนโยบายรัฐบาลที่จัดที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกรผู้ไร้ที่ดินทำกิน เมื่อปี พ.ศ.2560 โดยมีผู้เข้าร่วมงานจำนวน 100 ราย ประกอบด้วยสมาชิกสหกรณ์การเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดินปากช่อง (คทช.) จำกัด เกษตรกรรุ่นใหม่ เครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์ ผู้นำท้องที่ เจ้าหน้าที่จากองค์การบริหารงานส่วนตำบล และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมเป็นเกียรติในครั้งนี้ และในระยะต่อไปจะมีการดำเนินโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ อาทิ การส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝก การปลูกป่าในรูปแบบวนเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดิน

คาดว่าโครงการดังกล่าว จะก่อเกิดประโยชน์ในด้านการอนุรักษ์แหล่งต้นน้ำลำธารและการรักษาระบบนิเวศน์ในพื้นที่ สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในชุมชน เสริมสร้างองค์ความรู้ ในการสร้างฝายชะลอน้ำฯ มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประโยชน์ของฝายชะลอน้ำฯ และมีการขยายผลในพื้นที่อื่นๆในช่องทางต่างๆอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น เอกสารเผยแพร่ สื่อสารมวลชน สื่อสารเทคโนโลยีสนเทศ เครือข่ายเกษตรกรและผู้สนใจ

ด้าน นายไพรัตน์ โลหณุต รักษาการปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า สำหรับรูปแบบที่ใช้ในการสร้างฝายเป็นรูปแบบฝายชะลอน้ำประเภทชั่วคราว ออกแบบโดยวิศวกรจากสำนักพัฒนาพื้นที่ปฏิรูปที่ดิน สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ใช้สร้างถนนลำน้ำหรือร่องน้ำขนาดกว้างไม่เกิน 6 เมตร ใช้ไม้ไผ่หรือไม้อื่นๆ (ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3”-4” ความยาว 6 เมตร) ที่จัดหาได้ในท้องถิ่นเป็นโครงสร้างยึดกระสอบทราย โดยใช้ทรายมีส่วนผสมของปูนซีเมนต์ต่อทรายในอัตราส่วน 1 : 10 เพื่อทำให้ทรายมีการจับตัวเป็นก้อนหลังจากสัมผัสกับน้ำ ทำให้โครงสร้างฝายมีความแข็งแรงมากยิ่งขึ้น

มีแนววางกระสอบทราย 2 แนว เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของตัวฝาย งบประมาณที่ใช้ในการสร้างฝาย จำนวน 9,370 บาทต่อ 1 ฝาย จัดแบ่งค่าใช้จ่ายเป็น 2 ส่วน คือ 1).ค่าวัสดุ เป็นเงินประมาณ 5,770 บาท 2).ค่าจ้างแรงงาน เป็นเงินประมาณ 3,600 บาท (ขึ้นอยู่กับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในจังหวัด) โดยใช้แรงงาน 4 ราย ระยะเวลาทำงาน 3 วันต่อฝาย 1 แห่งและวัสดุสำคัญที่ใช้ทำกิจกรรม คือ

1. ไม้ไผ่ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3”-4” ความยาว 6 เมตร จำนวน 26 ท่อน

2. ปูนซีเมนต์ จำนวน 14 ถุง

3. ทรายหยาบ จำนวน 4.50 ลูกบาศก์เมตร

4. ตะปูตอกไม้ ขนาด 5” จำนวน 2.50 กิโลกรัม

5. กระสอบทราย 18” x 30” จำนวน 130 ใบ

6. เชือกใยยักษ์ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 มิลลิเมตร จำนวน 265 เมตร

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

น้ำตาลส่อพุ่งปี’62 ยางพารายังไม่ขึ้นตามน้ำมัน

นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยแนวโน้ม

ราคาอ้อยในฤดูกาลผลิตหน้า รวมถึงทิศทางราคาน้ำตาลทรายในปีหน้าว่ามีแนวโน้มจะดีขึ้น เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าประเทศผู้ผลิต และส่งออกน้ำตาลขนาดใหญ่ เช่น บราซิลจะประสบปัญหาภัยแล้ง มีผลให้น้ำตาลทรายในตลาดโลกลดลง ซึ่งจะส่งผลให้ราคาในตลาดดีขึ้น ในขณะเดียวกันจีนได้ประกาศจะเพิ่มปริมาณน้ำตาลทรายสำรองในประเทศ (บัฟเฟอร์ สต๊อก) อีก 3 ล้านตัน เป็นต้น

“หลังจากที่จีนประกาศเพิ่มบัฟเฟอร์สต๊อกก็เริ่มส่งผลให้ราคาน้ำตาลเพิ่มสูงขึ้น โดยช่วงก่อนหน้านี้อยู่ที่ประมาณ 11 เซนต์ต่อปอนด์ เริ่มขยับมาเป็น 12 เซนต์ต่อปอนด์แล้ว แต่ก็ต้องติดตามต่อไป ถ้าขยับถึง 14 เซนต์ต่อปอนด์ จึงจะเรียกว่าอยู่ในระดับที่สบายใจได้ โดยปกติน้ำตาลทรายกับราคาน้ำมันดิบจะขยับขึ้นตามกัน แต่น้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับขึ้นช่วงที่ผ่านมานั้น ราคาน้ำตาลยังไม่ขยับมากเท่าที่ควร”

นางวรวรรณกล่าวถึงความคืบหน้าข้อพิพาทระหว่างไทยกับบราซิล โดยบราซิลฟ้องไทยต่อ องค์การการค้าโลก(WTO) กรณีที่กล่าวหาว่าไทยอุดหนุนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายว่า ล่าสุดยังไม่มีการตั้งคณะลูกขุนและยังไม่มีการถอนฟ้อง เพียงแต่รอดูท่าทีการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทย โดยคาดว่า หากไทยแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายแล้วเสร็จจะนำไปสู่การถอนฟ้องต่อไป

ส่วนแนวโน้มราคายาง แหล่งข่าวจากการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) ระบุว่า ราคายางแผ่นดิบคุณภาพดี ณ วันที่ 25 พฤษภาคม 2561 อยู่ที่ 48.65 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ ยางแผ่นดิบท้องถิ่นอยู่ที่ 46.63 บาทต่อกิโลกรัม โดยราคาลดลงตามตลาดล่วงหน้าในต่างประเทศ ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้น ขณะที่น้ำมันดิบในตลาดในโลกที่เคยปรับขึ้น แต่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาลดลงมาอยู่ที่ 71.48 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล เป็นผลมาจากสต๊อกน้ำมันน้ำมันดิบในสหรัฐเพิ่มขึ้น ท่ามกลางความกังวลว่าผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกจะเพิ่มกำลังการผลิตในการประชุมโอเปกวันที่ 22 มิถุนายน 2561 ที่จะถึง

มีรายงานแจ้งว่า สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกดีขึ้นอย่างต่อเนื่องขึ้นมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2560 จากระดับ 43 เหรียญต่อบาร์เรล ขึ้นมาจากการร่วมมือจำกัดการส่งออกของกลุ่มโอเปก และผู้ผลิตที่อยู่นอกกลุ่มโอเปก ทำให้ราคายางสังเคราะห์ (Synthetic) ปรับตัวขึ้นตามมาด้วย

ทั้งนี้ราคายางพาราขึ้น-ลงสอดคล้องกับราคาน้ำมัน เนื่องจากโรงงานอุตสาหกรรมจะใช้ยางสังเคราะห์จากยางพาราหรือจากพอลิเมอร์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันดิบมาเป็นวัตถุดิบ แต่หากราคาน้ำมันปรับตัวสูงทำให้พอลิเมอร์สูงตาม ดังนั้น โรงงานอุตสาหกรรมจะหันมาซื้อยางพารามาใช้ในการผลิตแทน

จาก www.naewna.com วันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

สุโขทัยลงขันติดป้ายต้าน ไม่เอาโรงไฟฟ้าชีวมวล

วานนี้ (27 พ.ค.) ชาวบ้านหมู่ที่ 6 บ้านเกาะไม้แดง ต.วังลึก อ.ศรีสำโรง จ.สุโขทัย ได้พากันมาร้องเรียนผ่านสื่อมวลชน กรณีจะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล โดยใช้แกลบและไม้สับเป็นเชื้อเพลิง ในเขตพื้นที่หมู่บ้านแห่งนี้ ทว่าชาวบ้านหวั่นเกรงว่าจะมีผลกระทบเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมตามมา จึงรวมตัวกันคัดค้านโครงการฯ พร้อมระดมติดตั้งป้ายรณรงค์ ว่า “ชาววังลึกไม่เอาโรงงานไฟฟ้าชีวมวล”รวม 40 จุด ทั่วทั้งหมู่บ้าน

นายสมบัติ ชูพันธุ์ อายุ 55 ปี ซึ่งเป็นเกษตรกร และตัวแทนชาวบ้านที่คัดค้านในครั้งนี้ เปิดเผยว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ ไม่ต้องการให้มีโรงไฟฟ้าชีวมวลอยู่ในพื้นที่ เพราะกลัวผลกระทบที่จะตามมา ทั้งเรื่องถนนพัง ควัน ฝุ่นละออง จากรถบรรทุกพ่วงที่ขนเชื้อเพลิง วิ่งเข้า-ออก ผ่านชุมชนวันละหลายเที่ยว จนอาจเกิดอุบัติเหตุ เป็นอันตรายแก่เด็กๆ ในหมู่บ้านด้วย

และสิ่งสำคัญคือ ชาวบ้านกลัวมลพิษที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้า จะทำให้คนในพื้นที่เป็นโรคภูมิแพ้ โรคปอด สุดท้ายกลายเป็นมะเร็ง รวมถึงยังอาจส่งผลกระทบต่อ นาข้าว และไร่อ้อย ที่อยู่รอบพื้นที่โรงไฟฟ้า จนทำให้ได้ผลผลิตน้อยลง หรือไม่ได้เลย เพราะฝุ่นละอองที่ฟุ้งกระจายไปเกาะติดใบพืช ทำให้ต้นข้าว ต้นอ้อย ไม่เจริญเติบโต

"ที่พวกเราต่อต้าน ก็ทำเพื่อลูกหลานทั้งนั้น กลัวจะลำบากกันในวันข้างหน้า ส่วนป้ายที่ติดตั้งในหมู่ 3 หมู่ 4 หมู่ 6 รวมกว่า 40 แผ่นป้าย ก็ล้วนเป็นเงินบริจาคของชาวบ้าน คนละ 50 , 100 , 200 บาท ไม่มีใครหนุนหลัง หรือให้เงินมา มีแต่ชาวบ้านจริงๆเท่านั้นที่ช่วยกันเอง" ชาวบ้าน ต.วังลึก กล่าว

จาก https://mgronline.com   วันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ก.อุตฯ ตื่น! สั่งสอบ 7 โรงงานนำเข้าวัตถุอันตรายและรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั่วประเทศ

ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมสั่ง กรอ.รุดตรวจสอบโรงงานนำเข้าวัตถุอันตราย 7 แห่ง หากดำเนินการไม่ถูกต้องพร้อมลงโทษทันที พร้อมมอบอุตสาหกรรมจังหวัดปูพรมตรวจสอบโรงงานรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์กว่า 1,700 แห่งทั่วประเทศให้ปฏิบัติตามกฎหมาย

นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงกรณีที่ประชาชนร้องเรียนถึงความเดือดร้อนจากการได้รับผลกระทบจากโรงงานประกอบกิจการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการหลอมตะกั่วส่งกลิ่นเหม็นรบกวน และยังเป็นการลักลอบทำลายและคัดแยกแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่จังหวัดฉะเชิงเทราว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ไปตรวจสอบโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าวัตถุอันตราย ตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย และอนุสัญญาบาเซล ที่มีอยู่ 7 โรงงาน หากพบการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องจะต้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด

นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้อุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศสำรวจ และทำหนังสือแจ้งเตือนโรงงานอุตสาหกรรมที่ประกอบกิจการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ ประเภทโรงงานการคัดแยก ฝังกลบสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช่แล้ว (โรงงานลำดับที่ 105) และประเภทโรงงานผลิตวัตถุดิบที่มาจากผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่แล้วเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ (โรงงานลำดับที่ 106) โดยให้ทุกโรงงานปฏิบัติตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 อย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้อุตสาหกรรมจังหวัดประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตำรวจ ทหาร สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานสาธารณสุข เพื่อร่วมกันเข้าตรวจสอบโรงงาน พร้อมต้องให้คำปรึกษาผู้ประกอบการให้สามารถประกอบกิจการได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งขณะนี้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ และสมุทรสงครามได้รายงานผลการตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมที่ประกอบกิจการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ พบว่า

พื้นที่จังหวัดสมุทรปราการมี 2 โรงงานที่ไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 มีการกองเศษวัตถุดิบอยู่ภายนอกอาคารโรงงาน จึงได้ใช้คำสั่งมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ให้โรงงานดังกล่าวดำเนินการจัดเก็บวัตถุดิบภายในอาคาร และพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ได้มีการแจ้งหนังสือให้โรงงานดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนจังหวัดอื่นๆ จะทยอยรายงานผลการตรวจสอบ ซึ่งจะต้องรายงานผลการดำเนินงานให้ทราบภายในสัปดาห์นี้

ปัจจุบันนี้โรงงานอุตสาหกรรมที่ประกอบกิจการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์มีจำนวน 1,761 โรงงาน แยกเป็นโรงงานการคัดแยก ฝังกลบสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช่แล้ว จำนวน 1,222 โรงงาน และโรงงานผลิตวัตถุดิบที่มาจากผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่แล้วเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ จำนวน 539 โรงงาน และในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ถือว่ามีจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมประเภทดังกล่าวจำนวนมาก สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดในพื้นที่จึงต้องประสานกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมในการทำแผนการตรวจกำกับ และดูแลโรงงานอุตสาหกรรมที่ประกอบกิจการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเดิมอีก

จาก https://mgronline.com   วันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

เงินบาทสัปดาห์หน้า31.80-32.30/$

สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย คาด ค่าเงินบาทสัปดาห์หน้า 31.80-32.30 ต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จับตาเจรจาการค้าสหรัฐฯ จีน เกาหลีเหนือ

สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) คาดกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทสัปดาห์ข้างหน้า ระหว่างวันที่ 28 พฤษภาคม-1 มิถุนายน 2561 จะอยู่ที่ 31.80-32.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยต้องจับตาประเด็นเรื่องการเจรจาการค้าสหรัฐฯกับจีน รวมถึงปัญหาเกาหลีเหนือซึ่งท่าทีในการเจรจากับสหรัฐฯในวันที่ 12 มิถุนายนนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจน ขณะเดียวกันในสัปดาห์หน้าต้องจับตาการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของไทยเดือนเมษายน 2561 เช่น ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เครื่องชี้การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชน ดุลบัญชีเดินสะพัด อัตราการขยายตัวของสินเชื่อและเงินฝากในสถาบันการเงิน รวมถึงตัวเลขรายงานอัตราเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคม 2561 ในวันที่ 1 มิถุนายน 2561

จาก https://www.innnews.co.th   วันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

“THAIPAN” เคลื่อนพลร้อง “ตู่” ต้านพาราควอต

คกก.วัตถุอันตรายยื้อแบนพาราควอต ต่อ 2 เดือน ด้านกรมวิชาการฯ ชงมาตรการจำกัด-ควบคุม ส.พืชสวนร้องรัฐชดเชยต้นทุนเกษตรกร THAIPAN เตรียมร้องนายกฯ 5 มิ.ย. ทบทวนมติ ชี้เอื้อประโยชน์ยักษ์ใหญ่

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2561 ที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งมีนายสมบูรณ์ ยินดียั่งยืน รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน มีมติออกเสียง 17-18 จากทั้งหมด 23 เสียง เห็นด้วยให้มีการใช้สารเคมีปราบศัตรูพืช 3 ชนิด คือ พาราควอต คลอไพริฟอส และไกลโฟเซตต่อไป โดยยังคงกำหนดให้เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 3 ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 เช่นเดิม ซึ่งจำเป็นต้องกำหนดมาตรการจำกัดการใช้ โดยหลังจากนี้กรมวิชาการเกษตรซึ่งเป็นหน่วยงานหลักจะเป็นผู้เสนออีกครั้งภายใน 2 เดือน หากผ่านความเห็นชอบก็สามารถดำเนินการได้ทันที

ล่าสุดนายอุทัย นพคุณวงศ์ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรมเตรียมเสนอคณะกรรมการ พิจารณาให้ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ออกประกาศกระทรวงภายใต้ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย เพื่อควบคุม/กำกับการใช้สารเคมี เพื่อให้มีผลบังคับใช้ทันที

สำหรับแนวทางในการกำกับดูแล ได้แก่ 1.กำหนดสถานที่จำหน่าย เฉพาะร้านที่ได้รับการรับรอง Q shop ซึ่งเกษตรกรต้องขึ้นทะเบียนแสดงพื้นที่ปลูกและชนิดพืชที่ตรงกับฉลาก 2.กำหนดคุณสมบัติของผู้ใช้-ผู้รับจ้างพ่นสารเคมี (chemical applicator) ต้องเป็นผู้ได้รับการฝึกอบรม 3.กำหนดให้ผู้ผลิตและผู้นำเข้าให้ความรู้เกี่ยวกับวัตถุอันตราย เพื่อลดอันตรายและความเสี่ยงจากสารเคมี

4.กำหนดให้ผู้ผลิต/นำเข้า/ส่งออก หรือผู้มีไว้ในความครอบครอง แจ้งข้อมูลการผลิต นำเข้า ส่งออกและมีไว้ในการครอบครอง เพื่อให้ทราบเส้นทางตั้งแต่การนำเข้า จนถึงเกษตรกร และ 5.กำหนดองค์ประกอบ สิ่งเจือปน และฉลาก เพื่อควบคุม ป้องกัน บรรเทา หรือระงับอันตรายที่เกิดแก่บุคคล สัตว์ พืช ทรัพย์ หรือสิ่งแวดล้อม เช่น คำเตือน ระบุไม่ควรใช้ หรือห้ามใช้ในพื้นที่เสี่ยง อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

นายอนันต์ ดาโลดม นายกสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หากมีการประกาศยกเลิกใช้สารเคมีเหล่านี้จะขออำนาจศาลคุ้มครองชั่วคราว เพื่อนำข้อมูลทางวิชาการมาหารือใหม่ โดยให้กระทรวงเกษตรฯ เป็นเจ้าภาพพิจารณาทบทวน เพราะมีความเชี่ยวชาญมากกว่ากระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งรัฐบาลต้องอุดหนุนเงินชดเชยเกษตรกรที่ต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจาก 270-400 เป็น 580-630 ตัน ต่อ 5 ลิตร

นายวิทูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี และเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-Pan) กล่าวว่า ในวันที่ 5 มิ.ย.นี้ จะไปยื่นหนังสือเพื่อเรียกร้องให้มีการทบทวนและชี้ขาดต่อนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล เพราะในการประชุมคณะกรรมการผู้มีส่วนได้เสียจากสมาคมการค้า ซึ่งมีคนจากบริษัทสารเคมีดังกล่าวร่วมในกระบวนการพิจารณา อาจเข้าข่ายความผิดมาตรา 12 พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ระบุว่า “กรรมการผู้มีส่วนได้เสียเป็นการส่วนตัวเรื่องใดผู้นั้นไม่มีสิทธ์ออกเสียงเรื่องนั้น”

“ตอนนี้รัฐบาลต้องตัดสินใจ ท่านนายกรัฐมนตรีฐานะผู้นำ ควรพิจารณาความไม่โปร่งใส ผลประโยชน์ทับซ้อน เรายังแสดงจุดยืนให้แบน เพราะที่ผ่านมาควบคุมยาก ไทยไม่เคยประสบผลสำเร็จเรื่องนี้เลย”

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

อุตตม สาวนายน Game Changer อุตฯ 4.0

การพัฒนาอุตสาหกรรมมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงถึงการสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจไทย รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาให้ความสำคัญต่อนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจโดยผ่านนโยบายไทยแลนด์ 4.0

ซึ่งเชื่อมโยงกับการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม 4.0

“นายอุตตม สาวนายน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ฉายภาพความคืบหน้าการยกระดับอุตสาหกรรม 4.0 ในช่วงเวลาการดำเนินโครงการนี้อย่างต่อเนื่องมาถึง 4 ปี ว่าเริ่มเห็นผลชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว สะท้อนจาก GDP สูงสุดในรอบ 5 ปี

ตัวเลขดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนมีนาคม 2561 ขยายตัวต่อเนื่อง 11 เดือน ที่สำคัญ อัตราการใช้กำลังผลิตของภาคอุตสาหกรรมไทยสูงที่สุดถึง 76% ของอัตราการใช้กำลังผลิตที่มีอยู่ทั้งหมด 5 ปีที่ผ่านมาไม่เคยสูงอย่างนี้มาก่อน แสดงว่า ภาคการผลิต การบริการเริ่มเดินเครื่อง

กระทรวงอุตสาหกรรมยังคงเดินหน้าต่อตามเป้าหมายของประเทศไทยภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 คือการไปสู่ Thailand 4.0 โดยการพัฒนาต่อยอดอุตสาหกรรมที่เป็นจุดแข็งเดิม และเสริมสร้างอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) ขึ้นมาเป็นตัวขับเคลื่อนในประเทศ

ชู 3 อุตสาหกรรมหลัก

แนวทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมที่สำคัญ คือ การยกระดับอุตสาหกรรมหลักที่เป็นจุดแข็งของไทย 3 อุตสาหกรรม ส่งผลชัดเจนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ กล่าวคือ 1) อุตสาหกรรมยานยนต์ ที่กำลังก้าวไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ด้วยไทยเป็นฐานการผลิตให้กับทั่วโลก ดังนั้นเป้าหมายไม่ใช่เพียงการประกอบตัวรถ แต่ไทยจะเป็นผู้พัฒนาผลิตชิ้นส่วนสำคัญอย่างแบตเตอรี่ ระบบควบคุมสำหรับ EV มั่นใจว่าภายใน 5 ปี EV ต้องเกิดในการเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ให้ได้และป้อนให้กับทั่วโลก ดังนั้นภายใต้เงื่อนไขการลงทุนต่าง ๆ หากติดอุปสรรคด้านใด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งบีโอไอ กระทรวงการคลัง พร้อมที่จะนำมาตรการสนับสนุนมาใช้

2) อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ด้วยไทยขาดแคลนแรงงาน กำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงวัย และมีการพึ่งพาแรงงานจากเพื่อนบ้านมาตลอด บวกกับการแข่งขันในหลายธุรกิจ การนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาทดแทนแรงงานจึง

สำคัญ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ที่เริ่มปรับตัวลงทุนใช้หุ่นยนต์ในภาคการผลิตแล้ว รัฐจึงออกมาตรการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการที่ปรับเปลี่ยนเครื่องจักรได้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ รวมถึงการเร่งสร้างระบบรวมอัตโนมัติ systemintegrator (SI) จากปัจจุบันมีอยู่400 ราย ให้เพิ่มเป็น 1,000 ราย

ในเร็ว ๆ นี้ เพื่อสร้างเครือข่ายในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ เครือข่ายของการทำวิจัยจะเกิดความร่วมมือในสถาบันการศึกษา และใช้ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต (Industry Transformation Center : ITC) ที่มีอยู่ 11 แห่งทั่วประเทศมาช่วยรองรับเพื่อสร้างอุตสาหกรรมต่าง ๆ

3.อุตสาหกรรมไบโอชีวภาพ (bio industry) ต่อยอดจากสินค้าเกษตรซึ่งเป็นพื้นฐานหลักของประเทศไทย กระทรวงได้จัดทำโรดแมปอุตสาหกรรมนี้ เตรียมจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือนนี้ เป้าหมายคือการนำวัตถุดิบของประเทศ อ้อย ปาล์ม ข้าว มัน เพิ่มมูลค่าโดยการผลิตเป็นสินค้าใหม่ เช่น อาหารพิเศษ อาหารสำหรับนักกีฬา ไปสู่การสร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่ต่อยอดจากเกษตร ขยายพื้นที่ลงทุนจากที่ภาคตะวันออกไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นจาก 66,000 บาท/ครอบครัว เป็น 85,000 บาท/ครอบครัว ภายใน 10 ปี ถือเป็นการกระจายรายได้ลงสู่เศรษฐกิจฐานราก อุตสาหกรรมชีวภาพที่กำลังเกิดขึ้นจริง นำไปสู่การจ้างงาน การเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจฐานชีวภาพเดิม จาก 9.5 แสนล้านบาทให้เป็น 1.7 ล้านล้านบาทได้ ถ้าเดินได้ตามนี้จริงและร่วมกันทำ

EEC ยึดโยงเศรษฐกิจ-สังคม

ขณะที่เรื่องการส่งเสริมการพัฒนาเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก EEC ขออย่าคิดเพียงแค่เรื่องอุตสาหกรรม แต่ต้องคิดถึงการลงทุนสร้างฐานความเจริญใหม่ที่เป็นการพัฒนาที่ยึดโยงทั้งอุตสาหกรรมและเชิงสังคมเพื่อยกระดับคุณภาพความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเฉพาะเรื่อง

การพัฒนาสังคมเมืองใหม่ ที่เรียกว่า smart city ซึ่งจะมีทั้งการยกระดับเมืองเดิม ทั้งเรื่องการจราจร สาธารณสุข และที่จะกระจายเพิ่มสู่พื้นที่อื่นในประเทศ ตลอดจนการสร้างความเชื่อมโยงกับประเทศในกลุ่มภูมิภาค อย่างจีน ผ่านโครงการ One Belt One Road ต่อเชื่อมมายังลาว มาเลเซีย สิงคโปร์ ยึดโยงกันไปหมด ไทยกำลังดำเนินการเปิดประมูลรถไฟฟ้าความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า EEC เป็นการสร้างฐานการเจริญใหม่ลงทุนเพื่ออนาคตใหม่

ท้ายสุด “นายอุตตม” เน้นย้ำถึงสิ่งที่เป็น “game changer” ช่วยให้ไทยยืนในเวทีโลก ต้องเร่งปฏิรูปปรับเปลี่ยนภาคอุตสาหกรรมให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันก้าวทันเวทีโลก การสร้างเครื่องยนต์ใหม่เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ

โดยนำเอาเทคโนโลยีและระบบดิจิทัล การพัฒนาธุรกิจบริการ การสร้างบุคลากร ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนา ตลอดจนการเสริมความแข็งแกร่งให้กับผู้ประกอบการ SMEs และ startup ซึ่งเป็นบ่อเกิดของนวัตกรรม

โดยเร็ว ๆ นี้ได้ลอนช์โครงการศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 (ITC) 11 แห่ง เพื่ออำนวยความสะดวกสนับสนุนการพัฒนาเอสเอ็มอี นำร่องที่ “ITC กล้วยน้ำไท พระราม 4” ตึก ต้นคิด ต้นกล้า ต้นคูณ มีต้นแบบการนำนวัตกรรมหุ่นยนต์ชงกาแฟมาให้บริการ โดยอาศัยความร่วมมือของบิ๊กบราเทอร์อย่าง ปตท. รวมถึงเด็นโซ่ที่นำเอากระบวนการเทคโนโลยีจำลอง เปิดคอร์สอบรม SMEs กว่า 500 กว่าบริษัทต่อคิวรอรับการพัฒนา ถือเป็นการลงลึก ทำจริง

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ปตท.สผ. เดินหน้านำเข้า LNG โมซัมบิก

ปตท.สผ.ย้ำเดินหน้าลุยลงทุนโครงการโมซัมบิก โรวูมาฯ แม้ภาครัฐยกเลิกการให้โควตานำเข้า เตรียมเบนเข็มทำการตลาดในประเทศเอง เจาะกลุ่มอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้า SPP ที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิง ด้านส่วนขยายคลังก๊าซ LNG เพิ่มอีก 7.5 ล้านตัน ที่มาบตาพุด คาดก่อสร้างแล้วเสร็จปี”65

นายพจินต์ อภิวันทนาพร ผู้จัดการฝ่ายผู้ลงทุนสัมพันธ์ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงความคืบหน้าการลงทุนในโครงการโมซัมบิก โรวูมา ออฟชอร์ แอเรีย วัน ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ขนาดใหญ่ ของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.ที่ให้บริษัท พีทีทีอีพี โมซัมบิก แอเรีย 1 จำกัด บริษัทในเครือเข้าไปร่วมทุนนั้น คาดว่าเร็ว ๆ นี้ ปตท.สผ.จะสามารถตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้ายได้ หรือ FID (Final Investment Decision) ภายในปี 2561 นี้แน่นอน ทั้งนี้โครงการดังกล่าวจะใช้เวลาในการก่อสร้างรวม 5-6 ปี และในช่วงเริ่มต้นจะมีการผลิตอยู่ที่ปริมาณ 8 ล้านตัน หลังจากนั้นจึงจะขยายการผลิตให้เต็มศักยภาพของแหล่งที่ประมาณ 12 ล้านตันได้ในอนาคต

ทั้งนี้ ตามที่กระทรวงพลังงานมีนโยบายเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติ และจะไม่ใช้วิธีให้ ปตท.เข้าทำสัญญาซื้อขายก๊าซ LNG ระยะยาวกับผู้ผลิตต่าง ๆ แล้วนั้น แต่จะเปิดกว้างให้เกิดการแข่งขันในการนำเข้าก๊าซ LNG มากขึ้นนั้น แต่ ปตท.สผ.ก็ยังตัดสินใจที่จะเดินหน้าลงทุนในโครงการโมซัมบิกต่อไป โดย ปตท.จะทำการตลาดพร้อมทั้งหาลูกค้าเอง และกำลังมองไปยังลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรม และกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) และที่สำคัญ ปตท.เชื่อมั่นว่าความต้องการใช้ก๊าซจะเพิ่มขึ้นแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการไม่สามารถพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพาขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ได้

“สัญญาเบื้องต้นก็ระบุว่า สามารถนำก๊าซ LNG ไปขายที่ไหนก็ได้ เอาเข้าจริง ๆ การนำเข้าแบบเดิมโดยภาครัฐเป็นผู้ตรวจสอบทั้งหมดนั้น ปตท.ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากส่วนนี้เลย เฉลี่ยราคาที่นำเข้ามาที่ 100 ก็ขายที่ 100 แต่ส่วนที่ ปตท.จะได้คือจากการส่งก๊าซผ่านท่อ ซึ่งก็โดนควบคุมอยู่ที่ 21-22 บาท/ล้านบีทียู บวกกับกำไรเล็กน้อยในการทำการตลาด เรามองว่าขณะนี้รัฐบาลอาจจะกำลังสวิตช์ไปสู่เชื้อเพลิงกลุ่มพลังงานทดแทนมากขึ้น ปตท.ก็มองว่าเมื่อเรานำเข้ามาแล้วก็จะขอทำการตลาดเอง แม้ว่า ปตท.อาจจะค่อนข้างเสี่ยงที่ว่าจะทำกำไรได้มากน้อยแค่ไหน แต่เมื่อมี player มากขึ้น ผู้ซื้อก๊าซอาจจะเอ็นจอยก็ได้”

เดินหน้าโครงการโมซัมบิก – ความคืบหน้าโครงการโมซัมบิก โรวูมา ออฟชอร์แอเรีย วัน ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ขนาดใหญ่ ของ ปตท.สผ.ที่ให้บริษัท พีทีทีอีพี โมซัมบิก แอเรีย 1 จำกัด บริษัทในเครือเข้าไปร่วมทุน คาดว่าเร็ว ๆ นี้ปตท.สผ.จะสามารถตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้ายได้

นายพจินต์กล่าวเพิ่มเติมถึงการพัฒนาคลังก๊าซ LNG ส่วนขยายเพิ่มเติมในพื้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยองว่า ขณะนี้มีศักยภาพรองรับการนำเข้าได้ที่ 10 ล้านตัน โดยขณะนี้กำลังขยายเพิ่มอีก 1.5 ล้านตัน ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2562 รวมถึงขณะนี้ยังอยู่ระหว่างขยายศักยภาพเพิ่มอีกราว 7.5 ล้านตัน ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 2565 ทำให้ศักยภาพการรองรับก๊าซ LNG ได้สูงสุดถึง 19 ล้านตัน โดยศักยภาพที่เพิ่มขึ้นนั้นจะเปิดให้บุคคลที่ 3 เข้ามาทดลองระบบ (third party asset) คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่จะเริ่มนำร่องนำเข้าก๊าซ LNG ภายในช่วงปลายปีนี้

รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า สำหรับผู้ร่วมลงทุนในโครงการโมซัมบิก โรวูมา ออฟชอร์ แอเรีย วัน ประกอบไปด้วย บริษัทอนาดาโก้ที่ร้อยละ 26.5 บริษัท มิตซุย อีแอนด์พี โมซัมบิก แอเรีย วัน จำกัด ที่ร้อยละ 20 บริษัท Empresa Nacional de Hidrocarbonetos, EP (ENH) ที่ร้อยละ 15 บริษัท BPRL Ventures Mozambique B.V.(BPRL) ร้อยละ 10 บริษัท ONGC Videsh Limited (OVL) ร้อยละ 10 บริษัท BEAS Rovuma Energy Mozambique Limited (BREML) ร้อยละ 10 และบริษัท พีทีทีอีพี โมซัมบิก แอเรีย 1 จำกัด (พีทีทีอีพี เอ็มแซดเอ 1) ร้อยละ 8.5

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

รัฐตอบกระทู้ สนช. ยัน! เร่งโรดแมปแก้ 'อ้อย' ทั้งระบบ

ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิก สนช. ตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรี เรื่อง : นโยบายการแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยอย่างเป็นระบบ หลังอุตสาหกรรมอ้อยของไทยยังมีปัญหา ทั้งด้านการพัฒนาปัจจัยการผลิตและการบริหารจัดการ ทำให้มีต้นทุนการผลิตสูงและประสิทธิภาพการผลิตต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ซึ่งมีการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตอย่างเป็นรูปธรรม จึงขอถามไปยังรัฐบาลว่า "รัฐบาลมีนโยบายแก้ไขปัญหาการขาดแคลนเครื่องจักรตัดอ้อย (รถตัดอ้อย) ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย เพื่อแก้ปัญหามลภาวะ (มลพิษ) จากการเผาอ้อยหรือไม่? เนื่องจากเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยจำเป็นต้องเผาอ้อยในทุกฤดูกาลหีบอ้อย เพราะหากไม่เผาอ้อย จะไม่มีแรงงานตัดอ้อย และรัฐบาลมีมาตรการแก้ไขปัญหารถบรรทุกอ้อยบรรทุกน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุแก่ผู้ร่วมใช้ถนน และสร้างความเสียหายต่อพื้นผิวถนนหรือไม่? รวมทั้งมีมาตรการสนับสนุนการจัดหาแหล่งเงินกู้ปลอดดอกเบี้ย หรือ ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยหรือไม่? อย่างไร? ตลอดจนมีแนวทาง หรือ วิธีการเพิ่มผลผลิตอ้อยในการใช้พื้นที่ปลูกเท่าเดิม หรือ น้อยกว่าเดิม แต่มีผลผลิตเท่าเดิม หรือ มากขึ้นกว่าเดิม หรือไม่? อย่างไร?"

ด้าน นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ตอบกระทู้ถามแทนนายกรัฐมนตรี โดยชี้แจงว่า ตั้งแต่ปี 2553-2560 รัฐบาลได้อนุมัติสินเชื่อสำหรับซื้อรถตัดอ้อยแล้ว จำนวน 745 คัน ทำให้ขณะนี้ ทั้งประเทศมีรถตัดอ้อยรวมเกือบ 2,000 คัน มีประสิทธิภาพตัดอ้อยได้วันละกว่า 6.6 แสนตัน เมื่อเทียบกับปริมาณผลิตอ้อยทั่วประเทศ แต่เนื่องจากผู้ประกอบการรถตัดอ้อยในประเทศมีน้อย ไม่เพียงพอกับความต้องการ รัฐบาลจึงได้สนับสนุนให้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยใช้เทคโนโลยีแบบใหม่ในการตัดอ้อยแปลงใหญ่ โดยตั้งเป้าหมายไว้ปีละอย่างน้อย 100 ราย ซึ่งจะสามารถช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยคาดว่าผลผลิตจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ภายในปี 2563

ขณะที่ มาตรการแก้ไขปัญหารถบรรทุกอ้อยบรรทุกน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดนั้น สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำโรดแมปแก้ไขปัญหาทั้งระบบ โดยต้องมีการรวมแปลง รวมกลุ่มเกษตรกร ออกแบบแปลงและวิธีการปลูกอ้อยใหม่ ให้สะดวกต่อการใช้รถตัดอ้อย

ขณะที่ การขนส่งอ้อยจะต้องไม่เกินรัศมี 25 กิโลเมตร เพื่อลดค่าขนส่ง พร้อมสนับสนุนสินเชื่อเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง ในการแก้ปัญหาภัยแล้งและซื้อเครื่องจักรการเกษตร ซึ่งปัจจุบัน ได้ดำเนินการอนุมัติวงเงินปีละ 3 พันล้านบาท ขณะเดียวกัน ยังกำหนดให้มีการจัดทำคิวรับขนส่งอ้อย เพื่อลดระยะเวลาการจอดรอขนส่งอ้อยริมถนน ให้แล้วเสร็จภายใน 12-24 ชั่วโมง และจัดตั้งลานรับอ้อยจากรายย่อย ลดปัญหาการใช้รถบรรทุกอ้อยขนาดเล็กบนท้องถนน พร้อมให้แต่ละโรงงานจัดทำพื้นที่ให้รถบรรทุกจอดรอภายในโรงงาน ป้องกันอุบัติเหตุให้กับประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนทั่วไป

นอกจากนี้ ยังได้เสนอให้มีการปรับลดน้ำหนักบรรทุกและความสูง จำกัดความเร็ว ป้องกันอ้อยตกหล่น และทุกสมาคมต้องจัดรถบริการเก็บอ้อยกรณีเกิดการตกหล่นด้วย พร้อมทั้งรับแจ้งเหตุฉุกเฉิน

นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมยังได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ 3 ฝ่าย ระหว่าง สอน., โรงงานน้ำตาล และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจรด้วย ส่วนการเพิ่มผลผลิตอ้อยนั้น ขณะนี้ รัฐบาลได้ดำเนินการแจกต้นกล้าอ้อยพันธุ์ดีให้กับเกษตรกรฯ พร้อมทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ส่งเสริมการศึกษาพันธุ์อ้อยดี ว่า อ้อยแต่ละชนิดเหมาะปลูกในพื้นที่ใด ทั้งนี้ เพื่อให้ผลผลิตอ้อยมีความคงทนต่อสภาพแวดล้อมในแต่ละพื้นที่ อันเป็นการเพิ่มผลผลิตอ้อยอีกทางหนึ่ง

จาก  www.thansettakij.com  วันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

คกก.วัตถุอันตรายไม่แบน “พาราควอต” ขัดมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ สช.จ่อขับเคลื่อนยกเลิกต่อเนื่อง

เลขาธิการ สช. ชี้ มติ คกก. วัตถุอันตรายฯ ไม่แบน “พาราควอต” ขัดกับมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เล็งขับเคลื่อนให้ยกเลิกต่อเนื่อง ผ่านวาระจังหวัด หวังสังคมตื่นตัว

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมกรสุขภาพแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติไม่ยกเลิกสารเคมีทางการเกษตร 3 ตัว คือ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และ ไกลโฟเซต โดยแค่จำกัดการใช้ ว่า มติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ถือว่าไม่สอดคล้องกับมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในเรื่องเกษตรและอาหารปลอดภัย รวมถึงหลักการ “ทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพ” ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จึงจะขับเคลื่อนให้ยกเลิกการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชที่เป็นอันตรายต่อไป โดยเฉพาะพาราควอต ที่ขณะนี้กว่า 50 ประเทศไม่อนุญาตให้ใช้แล้ว

“เรายังมีความหวังจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ คือ ความตื่นตัวของสังคมและประชาชน เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนได้เรียนรู้ถึงปัญหาของสารเคมีเกษตรอันตราย เชื่อว่า จากนี้ไปเครือข่ายจะแข็งแรงและเติบโตมากยิ่งขึ้น” นพ.พลเดช กล่าวและว่า สช. จะขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะและสนับสนุนให้ ลด ละ เลิก การใช้พาราควอต รวมถึงสารเคมีทางการเกษตรอื่นๆ ผ่านสมัชชาสุขภาพจังหวัดและเครือข่าย ซึ่งขณะนี้มี “วาระจังหวัด” สอดคล้องกับแนวทางเกษตรและอาหารปลอดภัย อาทิ 20 จังหวัดภาคอีสาน เช่น หนองบัวลำภู ยโสธร อำนาจเจริญ รวมถึงจังหวัดในภาคอื่นๆ อาทิ ฉะเชิงเทรา สตูล กำแพงเพชร เป็นต้น พร้อมผลักดันธรรมนูญสุขภาพระดับพื้นที่ซึ่งได้รับการตอบสนองจากผู้ว่าราชการจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างดี

นพ.พลเดช กล่าวว่า เราคงต้องหันกลับมาสู่แนวทางการจัดการตนเอง เพื่อป้องกันผลกระทบจากนโยบายสารเคมีเกษตร เช่น รณรงค์ขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์ ขณะที่ผู้บริโภคต้องเลือกซื้อสินค้าที่ปลอดภัยและมีคุณภาพเอง สุดท้ายสังคมอาจเรียกร้องให้หน่วยงานที่มีอำนาจ เปลี่ยนแปลงมติและรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคต สำหรับการโต้แย้งของภาคส่วนต่างๆ ตนประเมินว่า เป็นการให้เชิงข้อมูลและงานวิชาการที่เป็นประโยชน์ให้สาธารณะได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารรอบด้าน เพื่อภาครัฐตัดสินใจบนฐานความสมดุลของเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพมากขึ้น

จาก https://mgronline.com   วันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

กรมชลประทานเผยแผนบริหารจัดการน้ำฤดูฝน

กรมชลประทานวางแผนบริหารจัดการน้ำเพื่อการเพาะปลูกฤดูฝนปี 61 เผยที่ลุ่มเกษตรกรปลูกข้าวเกือบเต็มพื้นที่ ยืนยันเขื่อนต่าง ๆ มีน้ำเพียงพอจัดสรร หากพื้นที่ใดฝนตกน้อยหรือฝนทิ้งช่วง

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า จากการประชุมติดตามสภาพอากาศร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร คาดว่า กรมอุตุนิยมวิทยาจะประกาศเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการสัปดาห์หน้า โดยคาดการณ์ว่าปริมาณฝนปีนี้จะต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยร้อยละ 8

นายทองเปลว กล่าวว่า กรมชลประทานได้ดำเนินแผนจัดสรรน้ำเพื่อการเพาะปลูกฤดูฝน 2561 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม คณะกรรมการข้าวครบวงจรคาดว่าพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศจะมีประมาณ 16 ล้านไร่ โดยส่งน้ำให้พื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำและ 12 ทุ่งลุ่มเจ้าพระยาปลูกก่อน ทุ่งบางระกำปลูกเต็มพื้นที่แล้ว ส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มเจ้าพระยาปลูกไปแล้วร้อยละ 70 คาดว่าต้นเดือนมิถุนายนจะปลูกได้หมด

ส่วนอ่างเก็บน้ำเขื่อนขนาดใหญ่ทั่วประเทศมีปริมาณน้ำเก็บกักในเกณฑ์ที่เหมาะสม เพื่อรองรับน้ำฝนได้ และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 412 อ่าง ได้สั่งการให้รักษาปริมาณเก็บกักไม่ให้เกินร้อยละ 80  ของความจุอ่างซึ่งขณะนี้ยังมี 43 อ่างที่มีปริมาณเกินและทยอยระบายออก ในปีนี้ได้กำชับให้ระบายน้ำเข้าสู่ระบบชลประทาน ทำให้พื้นที่ดอนปกติต้องรอฝนหลายแห่งมีน้ำปลูกข้าวแล้ว

อธิบดีกรมชลประทานยืนยันว่า ได้สำรองน้ำไว้อย่างเพียงพอที่จะใช้อุปโภคบริโภคและเลี้ยงพืชผลทางการเกษตรหากบางพื้นที่ฝนตกน้อยหรือฝนทิ้งช่วง

จาก http://www.tnamcot.com   วันที่ 25 พฤษภาคม 2561

โรงงานยืดเวลารับผลผลิตอ้อย

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม กลุ่มเกษตรกรชาวไร่อ้อย อ.สระโบสถ์ และอ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี กว่า 200 ราย เข้าร้องเรียนนายวิชัย  วงศ์ศรีไทย นายกสมาคมชาวไร่อ้อยโคกสำโรง ลพบุรี สระโบสถ์ ณ อบต.ดงมะรุม อ.โคกสำโรง ช่วยเจรจากับโรงงานน้ำตาลสระโบสถ์ให้ชะลอการปิดรับผลผลิต เนื่องจากยังมีอ้อยไม่ทันอีก 28,000 ไร่ ประสบปัญหาฝนตกทุกวันไม่สามารถเข้าไปบรรทุกอ้อยออกมาจากไร่ได้ โดยโรงงานมีกำหนดปิดรับวันที่ 26 พ.ค.นี้

ต่อมา นายอนันต์ จรุงโรจนต์รัศมี นายอำเภอโคกสำโรง ได้เชิญนายวิโรจน์  ฉันทตระกูลชัย ผู้จัดการโรงงานน้ำตาลสระโบสถ์ ฝ่ายวัตถุดิบ มาร่วมประชุมหาทางออก ก่อนยอมที่จะขยายเวลารับผลผลิตอ้อยจนถึงวันที่ 3 มิ.ย.นี้ เกษตรกรชาวไร่อ้อยพอใจ จึงยอมสลายตัว

จาก https://www.matichon.co.th   วันที่ 25 พฤษภาคม 2561

เครือข่ายแบบ “พารอควอต” นัดชุมนุมทำเนียบทั่วปท.5มิย.

ความคืบหน้าคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติให้ใช้สารพาราควอต  สารคลอร์ไพริฟอส และจำกัดการใช้สารไกลโฟเซต ซึ่งเป็นสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในแปลงเกษตรกรรมได้นั้น

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม นายวิฑูรย์  เลื่อนจำรูญ  ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ซึ่งเป็นหนึ่งในเครือข่ายสนับสนุนการแบบสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง 369 องค์กร เปิดเผยว่า เครือข่ายประชุมผ่านระบบออนไลน์กลุ่มที่มีสมาชิกจาก 60 จังหวัดทั่วประเทศ ได้ข้อสรุปว่าจะขอใช้สิทธิตามกฎหมายเคลื่อนไหวเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนเรื่องนี้จนถึงที่สุด โดยนัดชุมนุมใหญ่ที่หน้าทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 5 มิถุนายนนี้ ซึ่งตรงกับวันที่มีการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) และตรงกับวันสิ่งแวดล้อมโลก นอกจากนี้ในวันเดียวกันสมาชิกเครือข่ายใน 60 จังหวัด จะชุมนุมและจัดกิจกรรมต่อต้านการใช้สารเคมีอันตรายอยู่ในพื้นที่เช่นกัน

“พวกเราต้องการแสดงให้รัฐบาลเห็นว่าสารเคมีเหล่านี้มีปัญหาต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจริงๆ และไม่ต้องการให้ใช้ต่อไป ที่สำคัญก่อนหน้านี้ กลุ่มประชาคมนักวิชาการทุกภาคส่วนออกมาให้ข้อมูลทางวิชาการใหม่ๆ ที่แสดงให้เห็นแล้วว่าหลายประเทศทั่วโลกเขายกเลิกการใช้แล้วแม้แต่ในประเทศที่เคยเป็นผู้ผลิตอย่างจีน ก็ยุติการใช้ในประเทศเด็ดขาด มีแต่ผลิตแล้วส่งออกเท่านั้น ก็แสดงแล้วว่าแม้แต่จีนยังเป็นห่วงสุขภาพของประชาชนในประเทศ ดังนั้นในเมื่อเราออกมาเรียกร้องทุกช่องทางแล้ว ท่านยังไม่สนใจ เราก็จะขอใช้สิทธิชุมนุมในที่สาธารณะต่อไป” นายวิฑูรย์กล่าว

ด้าน รศ.จิราพร ลิ้นชมปานานนท์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านคุ้มครองผู้บริโภค ในคณะกรรมการวัตถุอันตราย กล่าวว่า ยังไม่หยุดความพยายามจะให้ยกเลิกการใช้สารทั้ง 3 ชนิด โดยจะติดตามต่อไปว่ากรมวิชาการเกษตรจะมีแผนจัดการความเสี่ยงในเรื่องนี้อย่างไรโดยส่วนตัวไม่เชื่อว่ารัฐจะจัดการความเสี่ยงในการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดได้

“หากกรมวิชาการเกษตรมีความจริงใจในเรื่องนี้จริง น่าจะทำไปนานแล้ว เพราะปัจจุบันทั้งพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซส อยู่ในบัญชี อ.3 แต่ที่ผ่านมากรมวิชาการเกษตรไม่ได้ดำเนินการใดๆ มีแต่เครือข่ายผู้บริโภค กลุ่มเกษตรกรทางเลือก นักวิชาการหน่วยงานด้านสุขภาพ ที่ออกมาเรียกร้องและเตือนให้สังคมเฝ้าระวังอันตรายจากการบริโภคพืชผักที่ปนเปื้อนสารพิษ แต่ไม่เคยเห็นคนจากหน่วยงานที่อยู่ในคณะกรรมการวัตถุอันตรายออกมาเตือนประชาชนให้ระมัดระวังในเรื่องเหล่านี้เลย” รศ.จิราพรกล่าว

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 25 พฤษภาคม 2561

เดินหน้าขับเคลื่อนงานวันดินโลก ปี 2561 "Be the Solution to Soil Pollution"

เมื่อวันที่ 24 พ.ค.61 นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิดงานขับเคลื่อนงานวันดินโลก ปี 2561 "Be the Solution to Soil Pollution" พร้อมบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ศาสตร์พระราชา เพื่อการพัฒนาที่ดินอย่างยั่งยืน” และเป็นประธานเปิดงานรณรงค์ลดการใช้พลาสติกที่ปนเปื้อนในดินและแหล่งน้ำ โดยมีนายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน นพร้อมด้วยายเข้มเเข็ง ยุติธรรมดำรง รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ด้านวิชาการ นายปราโมทย์ ยาใจ รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ด้านปฏิบัติการ และนางสาวภัทราภรณ์ โสเจยยะ รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ด้านบริหาร ร่วมให้การต้อนรับ ณ กรมพัฒนาที่ดิน กรุงเทพฯ

นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ทุกหน่วยงานต้องช่วยกันขับเคลื่อนงานวันดินโลกตั้งแต่บัดนี้ เพราะดินมีความสำคัญต่อมวลมนุษย์ เนื่องจากอาหารส่วนใหญ่เกิดจากดิน ดังนั้นการจัดงานวันดินโลกในปีนี้ มีกิจกรรมให้ทุกคนได้ร่วมมือกันอย่างเต็มความสามารถ พร้อมชักชวนบุคคลที่เกี่ยวข้อง ทำกิจกรรมสืบสานงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช โดยเฉพาะในพระราชกรณียกิจการอนุรักษ์ดินและน้ำ พร้อมทั้งร่วมกันจัดกิจกรรมวันดินโลกให้ยิ่งใหญ่ ด้วยการประกาศขับเคลื่อนงานวันดินโลกปี 2561 เพื่อให้คนไทยรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และน้อมนำศาสตร์พระราชามาปฏิบัติ เพื่อนำไปส่งเสริมเกษตรกร

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า สำหรับ“วันดินโลก” องค์การเกษตรและอาหารแห่งสหประชาชาติหรือ FAO จัดตั้งขึ้นปี 2555 ตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม เป็นวันคล้ายวันเฉลิมพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการพัฒนาดินมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ปรากฏผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์อย่างกว้างขวางทั้งในประเทศและนานาชาติ เช่น โครงการศึกษาฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม จังหวัดราชบุรี โครงการทดลองแก้ปัญหาดินเปรี้ยวที่จังหวัดฉะเชิงเทรา การใช้หญ้าแฝกป้องกันการไหลของหน้าดิน เมื่อน้อมนำแนวพระราชดำริด้านการพัฒนาและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับดิน Be the Solution to Soil Pollution ไปแก้ปัญหาให้เกษตรกรสามารถทำให้สภาพดินที่เสียกลับมาทำการเกษตรได้

นายวิวัฒน์ ยังได้กล่าวถึงกิจกรรมการรณรงค์ลดการใช้พลาสติกปนเปื้อนในดินและแหล่งน้ำว่า พลาสติกเป็นวัสดุที่ใช้เวลาย่อยสลายหลายสิบปี หากแก้ปัญหาได้จะทำให้ดินของประเทศไทยมีคุณภาพดีขึ้น

จาก https://siamrath.co.th  วันที่ 25 พฤษภาคม 2561

โรงงานน้ำตาลจ่อปิดหีบ พ.ค.นี้ คาดอ้อยทะลุ 135 ล้านตัน

โรงงานน้ำตาลเผยสถานการณ์หีบอ้อยหลังสงกรานต์ พบอ้อยเริ่มลดลง รวมถึงคุณภาพเริ่มต่ำลง มีสิ่งปนเปื้อนจำนวนมาก ย้ำจะเร่งรับอ้อยให้มากสุดก่อนปิดหีบภายใน พ.ค.นี้ คาดผลผลิตอ้อยแตะ 135 ล้านตันเพิ่มขึ้นกว่าปีก่อน 30%

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหารบริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) เปิดเผยว่า โรงงานน้ำตาลจะเร่งดำเนินการรับผลผลิตอ้อยเข้าหีบให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2561 ทั้งหมดเพื่อไม่ให้มีอ้อยเหลือตกค้างในไร่ โดยคาดว่าการผลิตอ้อยในฤดูกาลผลิตปี 2560/61 จะมีปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งสิ้นประมาณ 135 ล้านตันอ้อย เพิ่มขึ้นกว่า 30% จากฤดูกาลผลิตปีที่ผ่านมาที่มีปริมาณผลผลิตอ้อยเข้าหีบเพียง 92.95 ล้านตันอ้อย

ทั้งนี้ ที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรมได้ขอความร่วมมือให้โรงงานรับอ้อยให้มากสุดไม่ให้ตกค้างไร่เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยทำให้โรงงานมีการบริหารจัดการโดยหลังจากที่หยุดผลิตชั่วคราวช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาได้กลับมาผลิตอีกครั้งพบว่าคุณภาพอ้อยลดลงตามลำดับและส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการหีบสกัดอ้อยเป็นน้ำตาลปรับตัวลดลง โดยจากข้อมูลรายงานผลผลิตน้ำตาลทรายช่วงเปิดหีบ 1 ธ.ค. 60 - 12 เม.ย. 61 รวม 133 วันก่อนหยุดเทศกาลสงกรานต์ พบว่ามีผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) 109.68 กิโลกรัม (กก.)

แต่หลังจากที่กลับมาเปิดหีบอ้อยอีกครั้งหลังสงกรานต์ หรือตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน ถึง 17 พฤษภาคม 2561 กลับพบว่ามีปริมาณผลผลิตอ้อยเข้าหีบในช่วงเวลาดังกล่าวจำนวน 8.60 ล้านตันอ้อย แต่สามารถผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยอยู่ที่ 106.29 กิโลกรัมเท่านั้น หรือลดลง 3.39 กิโลกรัมต่อตันอ้อย เมื่อเทียบกับช่วงการผลิตก่อนเทศกาลสงกรานต์ นอกจากนี้ จากผลกระทบจากสิ่งปนเปื้อนในผลผลิตอ้อยเข้าหีบยังได้สร้างความเสียหายต่อเครื่องจักรในกระบวนการผลิตโรงงานน้ำตาลอย่างรุนแรงด้วย

“ปีนี้ปริมาณผลผลิตอ้อยเข้าหีบสูงกว่าทุกปีที่ผ่านมา ทำให้โรงงานจำเป็นต้องขยายระยะเวลาเปิดหีบอ้อยนานกว่าที่ผ่านมา อีกทั้งชาวไร่อ้อยติดปัญหาข้อจำกัดรถบรรทุกอ้อยได้น้อยลง ทำให้ไม่สามารถขนอ้อยเข้าสู่โรงงานได้ทันก่อนเทศกาลสงกรานต์ แม้โรงงานน้ำตาลจะพยายามเร่งดำเนินการหีบอ้อยอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทันก่อนฤดูฝน แต่ติดปัญหาหลายพื้นที่มีฝนตกยากต่อการเข้าจัดเก็บผลผลิตในไร่และยังมีสิ่งเจือปนจากเศษดินเพิ่มขึ้น จึงเป็นผลให้คุณภาพอ้อยเข้าหีบตั้งแต่หลังเทศกาลสงกรานต์จนถึงปัจจุบันมีคุณภาพลดลงและส่งผลกระทบต่อคุณภาพผลผลิตน้ำตาลในที่สุด” นายสิริวุทธิ์กล่าว

จาก https://mgronline.com วันที่ 24 พฤษภาคม 2561

รัฐบาลแจง สนช.แก้ปัญหาให้เกษตรผู้ปลูกอ้อยอย่างเป็นระบบ

รัฐบาลแจง สนช. แก้ปัญหาให้เกษตรผู้ปลูกอ้อยอย่างเป็นระบบ วางแผนร่วมเอกชนดำเนินการผลิตรูปแบบสมาร์ทฟาร์ม ลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันนี้(24 พ.ค.)  พิจารณากระทู้ถามนายกรัฐมนตรี เรื่อง นโยบายการแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยอย่างเป็นระบบ โดย นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ เป็นผู้ตั้งถาม ระบุว่า ที่ผ่านมาการจัดโครงการ สนช.พบปประชาชน ได้รับเรื่องร้องเรียนจากเกษตรผู้ปลูกอ้อยมากที่สุด ทั้งปัญหาไม่มีเอกสารสิทธิ์ในการถือครองที่ดินทำกิน ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน จึงต้องการทราบว่า รัฐบาลมีนโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนเครื่องจักรตัดอ้อย หรือรถตัดอ้อยให้กับเกษตรอย่างไร รวมถึง ปัญหารถบรรทุกอ้อยเกินน้ำหนัก และปัญหามลพิษจากการเผาไร่อ้อยอย่างไร

นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสหกรรม เป็นผู้ตอบกระทู้ถามแทนนายกรัฐมนตรี  ชี้แจงว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับปัญหาความเดือนร้อนของเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย โดยคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลได้ดำเนินการแก้ปัญหาการขาดแคลนเครื่องจักร รวมถึง ปัญหาคลาดแรงงาน ด้วยการสนับสนุนโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อแก้ปัญหาอย่างครบวงจร วงเงิน 3,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นงบประมาณเพื่อจัดซื้อรถตัดอ้อย เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร และงบประมาณด้านช่วยเหลือเกษตรกรในด้านต่าง ๆ

นายสมชาย กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีโครงการสินเชื่อสำหรับจัดซื้อรถตัดอ้อย วงเงิน 7,500 ล้านบาท ปัจจุบันประเทศไทยมีรถตัดอ้อยรวม 1,846 คน สามารถตัดอ้อยได้วันละกว่า 600,000 ตัน และยังได้ร่วมกับภาคเอกชนในการวางแผนร่วมกันดำเนินการผลิตในรูปแบบสมาร์ทฟาร์ม เพื่อบริหารจัดการไร่อ้อยแปลงใหญ่   เพราะการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ จะต้องดำเนินการปลูกแบบแปลงใหญ่  เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และการดำเนินโครงการนี้จะเห็นผลชัดเจนในปี 2563

นายสมชาย กล่าวด้วยว่า คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลยังได้ร่วมหารือกับหลายภาคส่วน วางแนวทางแก้ปัญหาการขนส่งอ้อยเข้าโรงงานน้ำตาล โดยการจัดทำโรดแมป เพื่อแก้ปัญหาทั้งระบบแล้ว ซึ่งจะลดต้นทุนการขนส่ง การแก้ปัญหารถบรรทุกส่งอ้อย และจัดการส่งอ้อยหน้าโรงงานให้เร็วยิ่งขึ้น โดยกำหนดการขนส่งอ้อยจะต้องไม่เกินรัศมี 25 กิโลเมตร

จาก www.tnamcot.com  วันที่ 24 พฤษภาคม 2561

ก.เกษตรฯ ขับเคลื่อนวันดินโลก

รมช.เกษตรฯ ขับเคลื่อนวันดินโลกปี 61 น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 พร้อมเร่งรณรงค์ลดใช้พลาสติกปนเปื้อนในดินและแหล่งน้ำ

ในโอกาสวันสถาปนาครบรอบ 55 ปี กรมพัฒนาที่ดิน นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานพิธีขับเคลื่อน “วันดินโลก” ซึ่งองค์การเกษตรและอาหารแห่งสหประชาชาติหรือ FAO จัดตั้งขึ้นปี 2555 ตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม เป็นวันคล้ายวันเฉลิมพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการพัฒนาดินมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ปรากฏผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์อย่างกว้างขวางทั้งในประเทศและนานาชาติ เช่น โครงการศึกษาฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม จังหวัดราชบุรี โครงการทดลองแก้ปัญหาดินเปรี้ยวที่จังหวัดฉะเชิงเทรา การใช้หญ้าแฝกป้องกันการไหลของหน้าดิน เมื่อน้อมนำแนวพระราชดำริด้านการพัฒนาและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับดิน Be the Solution to Soil Pollution ไปแก้ปัญหาให้เกษตรกรสามารถทำให้สภาพดินที่เสียกลับมาทำการเกษตรได้

สำหรับการขับเคลื่อนวันดินโลกปี 2561 มีวัตถุประสงค์ให้คนไทยรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และน้อมนำศาสตร์พระราชามาปฏิบัติ เพื่อนำไปส่งเสริมเกษตรกร

จากนั้นนายวิวัฒน์ ได้รณรงค์ลดการใช้พลาสติกปนเปื้อนในดินและแหล่งน้ำ ซึ่งเป็นวัสดุที่ใช้เวลาย่อยสลายหลายสิบปี หากแก้ปัญหาได้จะทำให้ดินของประเทศไทยมีคุณภาพดีขึ้น.

จาก www.tnamcot.com  วันที่ 24 พฤษภาคม 2561

สนช.เตรียมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย-กระทู้ถามนายกฯ แก้ปัญหาอ้อย

การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. วันนี้ (24 พ.ค.) มีวาระรับทราบรายงานผลการดำเนินการของคณะรัฐมนตรีตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการการพลังงาน เรื่อง โครงการพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (โครงการสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ) เกี่ยวกับการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนในพื้นที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา และพิจารณาร่างพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ซึ่งสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติวัตถุอันตรายปี 2535 เนื่องจากมีบทบัญญัติบางประการไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไงเกี่ยวกับการนำผ่าน การนำกลับเข้าและการส่งกลับออกไป เพื่อเป็นการลดภาระแก่ผู้ประกอบ การกำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับการโฆษณาวัตถุอันตรายให้เป็นธรรมต่อผู้บริโภคยิ่งขึ้น แก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการวัตถุอันตราย โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานกรรมการ และเพิ่มหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนการควบคุมวัตถุอันตรายได้อย่างมีประสิทธิภาพและให้การปฏิบัติงานของหน่วยงานผู้รับผิดชอบเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ตลอดจนเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมอายุและการต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย กำหนดให้มีการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ทั้งหมดหรือแค่บางส่วน ในกรณีการนำวัตถุอันตรายมาใช้เพื่อประโยชน์ในการศึกษา การทดสอบ การวิเคราะห์ การวิจัยและการพัฒนา ตลอดจนกำหนดให้มีการจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้น แก่ผู้เข้าช่วยเหลือ เคลื่อนย้าย บำบัด บรรเทา หรือเข้าจัดการความเสียหายที่เกิดขึ้น และแก้ไขเพิ่มเติมบทกำหนดโทษและบทบัญญัติเกี่ยวกับการเปรียบเทียบให้เหมาะสม

นอกจากนี้ ยังมีวาระพิจารณากระทู้ถามนายกรัฐมนตรี เรื่อง นโยบายการแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยอย่างเป็นระบบ โดยนายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ เป็นผู้ตั้งถาม

จาก https://mgronline.com วันที่ 24 พฤษภาคม 2561

โรงงานน้ำตาลเกษตรผลทุ่มกว่า4.3ล้าน สร้างถนนให้ชุมชนฟรี

นายธนากร บุรินทรชาติ ผู้จัดการโรงงานน้ำตาลเกษตรผล มอบเงิน 4.3 ล้านบาทให้เทศบาลต.ปะโค ไปใช้ก่อสร้างถนนให้กับชุมชน

อุดรธานี-โรงน้ำตาลเกษตรผล อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี ตอบแทนสังคมทุ่มเงินกว่า 4,320,000 บาท มอบให้เทศบาลต.ปะโค ใช้ก่อสร้างถนนในชุมชนและระบบไฟฟ้า หวังอำนวยความสะดวกให้เกษตรกรขนส่งสินค้าเกษตร และอำนวยความสะดวกให้ประชาชนในพื้นที่

วันนี้ (23พ.ค.61) ที่ห้องประชุมบริษัท น้ำตาลเกษตรผล จำกัด เลขที่ 9 หมู่ 9 ถนนมิตรภาพ ตำบลปะโค อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี นายธนากร บุรินทรชาติ ผู้จัดการโรงงานน้ำตาลเกษตรผล พร้อมนายโสภณ มุณีจินดา CSR Manager บริษัท น้ำตาลเกษตรผล จำกัด ได้มอบเงินจำนวน 4,320,000 บาท ให้กับเทศบาลตำบลปะโค อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี โดยมีนายบุญเลิศ ใจมั่น นายกเทศมนตรี พร้อมผู้บริหารเทศบาลตำบลปะโค รับมอบเงินจำนวนดังกล่าว เพื่อสนับสนุนการก่อสร้างถนน และระบบไฟส่องสว่าง

ตามที่เทศบาลตำบลปะโค ได้เสนอของบประมาณสนับสนุนการก่อสร้างถนน และระบบไฟส่องสว่างบริเวณถนนชนบทในพื้นที่รับผิดชอบนั้น ทางบริษัท น้ำตาลเกษตรผล เล็งเห็นความสำคัญการสร้างสิ่งสาธารณะประโยชน์ ว่ามีความสำคัญและมีประโยชน์ มีส่วนในการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับประชาชน อีกทั้งยังมีส่วนพัฒนาสังคม ทางบริษัท จึงได้อนุมัติเงินจำนวนดังกล่าว สนับสนุนในโครงการ และทำพิธีมอบวันนี้

ด้านนายบุญเลิศ ใจมั่น นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลปะโค เปิดเผยว่า เงินจำนวนนี้ทางเทศบาลจะนำไปจัดสรรสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กระยะทาง 1,350 เมตร คิดเป็นเงินประมาณ 4 ล้านบาท และนำไปก่อสร้างระบบไฟฟ้าส่องสว่างอีกราว 2 แสนบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปีนี้ หากถนนแล้วเสร็จประชาชนกว่า 1 หมื่นคน ในเขตตำบลตูมใต้ และตำบลปะโค จะได้รับความสะดวกสบายในการสัญจรไปมา อีกทั้งยังช่วยอำนวยความสะดวกในการขนถ่ายพืชผลทางการเกษตรไปขายในอนาคต

จาก https://mgronline.com วันที่ 23 พฤษภาคม 2561

ตายทีละนิด? "พาราควอต"ได้ไปต่อ คกก.วัตถุอันตรายเห็นชอบ18 ต่อ6

พาราควอต ได้ไปต่อ  อ้างข้อมูลผลกระทบด้านสุขภาพไม่เพียงพอ  โดยให้มีการจำกัดการใช้ คกก.วัตถุอันตราย มอบกรมวิชาการเกษตร ไปทำมาตรการควบคุมภายใน 2 เดือน ชี้พิจารณาข้อมูลทั้งหมดแล้ว มีคณะกรรมการร่วมลงความเห็นทั้งหมด 24คน อัตราส่วน 18 ต่อ 6

วันที่ 23 พ.ค.ที่กระทรวงอุตสาหกรรม นายสมบูรณ์ ยินดียั่งยืน รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับมอบหมายจากปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ครั้งที่ 30 –1/2561  กล่าวถึงข้อสรุปการพิจารณาการจำกัดหรือยกเลิกการใช้วัตถุอันตราย 3 รายการ คือ พาราควอต  คลอไพริฟอส และไกลโฟเซต ตามมติของ 5 กระทรวงหลัก นำโดยกระทรวงสาธารณสุข ว่า ผลสรุปของคณะกรรมการวัตถุอันตรายในวันนี้มีมติให้จำกัดการใช้สารทั้ง 3 ชนิด เนื่องจากข้อมูลต่างๆรวมทั้งข้อมูลผลกระทบทางด้านสุขภาพยังไม่เพียงพอ โดยมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรเป็นแม่งาน   ในการไปออกมาตรการการควบคุมเพื่อนำเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตรายอีกครั้งภายใน 2 เดือน ซึ่งจะดูว่ามาตรการที่เสนอมาจะได้ผลหรือไม่และจะมีผลกระทบอย่างไรหากผ่านความเห็นชอบ  ก็สามารถดำเนินการได้เลย โดยในวันนี้มีคณะกรรมการวัตถุอันตรายเข้าร่วมพิจารณา 24 ท่านโดยมี 17-18 คน ลงมติเห็นด้วยให้มีการใช้ต่อโดยการจำกัดการใช้และ 6 คนมีมติให้มีการยกเลิกการใช้   ทั้งนี้ได้มีการพิจารณาโดยใช้ข้อมูลทั้งจากผู้คัดค้าน ผู้สนับสนุน ข้อมูลมติของ 3 กระทรวงที่นายกฯ แต่งตั้ง และข้อมูลวิชาการของคณะอนุกรรมการทั้งหมดประกอบกันจนได้เป็นมติออกมา

“ทั้งนี้สารทั้ง 3 ชนิด ยังถูกกำหนดให้เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 3 ตามพ.ร.บ.วัตถุอันตรายเช่นเดิม ซึ่งยังไม่เห็นว่ามีความจำเป็นต้องแก้ไข  ซึ่งในการออกมาตรการจำกัดการใช้เพื่อให้ครอบคลุม ได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรไปดูทั้งเรื่องการซื้อขาย กลุ่มผู้ซื้อ ผู้ขาย และผลกระทบต่อสุขภาพทั้งหมด  ส่วนในเรื่องสารทดแทนพาราควอตนั้น เรื่องนี้พบว่าสารทดแทนยังมีราคาแพงอยู่และกำจัดศัตรูพืชได้บางชนิด ไม่ครอบคลุมกำจัดศัตรูพืชได้ทั้งหมดในวงกว้างเหมือนพาราควอตโดยขอยืนยันว่ามติที่ออกมานั้นได้พิจารณาข้อมูลจากทุกฝ่ายประกอบกันหมดแล้ว”นายสมบูรณ์

เมื่อผู้สื่อถามว่าทางเครือข่ายภาคประชาชนได้มีการเรียกร้องให้มีการเปิดเผยการลงมติและเหตุผลของกรรมการแต่ละท่าน จะสามารถเปิดเผยได้หรือไม่ นายสมบูรณ์ กล่าวว่า  ในเรื่องนี้นั้นเป็นความคิดเห็นส่วนตัว หากต้องการทราบก็ต้องไปถามที่กรรมการแต่ละท่านเอาเอง เพราะคนอื่นคงไม่สามารถไปเปิดเผยเองได้ ซึ่งหลังจากนี้หากจะมีการชุมนุมก็คงต้องยอมรับ เนื่องจากมีการพิจารณาตามข้อมูลวิชาการทั้งหมดจากทุกฝ่าย ซึ่งหลังจากนี้หากมีข้อมูลวิชาการเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพเพียงพอก็สามารถพิจารณาให้มีการแบนอีกครั้งได้.

ผู้สื่อข่าวรางานว่า ในการประชุมพบว่า มีคณะกรรมการ 24 คนจาก 29 คน เข้าร่วมพิจารณา ซึ่งมีข้อสังเกตว่าอาจจะเนื่องมาจากการที่ภาคประชาชนมีการยื่นหนังสือขอให้คณะกรรมการที่รู้ตัวว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน พิจารณาตัวเองไม่เข้าร่วมในการพิจารณาหรือไม่

จาก https://www.thaipost.net  วันที่ 23 พฤษภาคม 2561

ค่าบาท 'แข็งค่า' ตลาดภูมิภาคเอเชีย

บาทเปิดตลาดเช้านี้แข็งค่า "32.00 บาทต่อดอลลาร์" ตลาดการเงินยังไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง ขณะที่ไทยเกินดุลการค้าลดลง และเงินบาทเคลื่อนไหวตามทิศทางสกุลเงินเอเชียและดอลลาร์มากขึ้น

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 32.00บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ 32.05 บาท

ต่อดอลลาร์

ในคืนที่ผ่านมา ภาพรวมตลาดการเงินยังไม่มีความเปลี่ยนแปลงมาก นักลงทุนยังจับตาไปที่ความคืบหน้าของการเมืองในอิตาลี ปัญหาเรื่องกฏหมายความปลอดภัยทั้งในสหรัฐและยุโรปที่กำลังกดดันธุรกิจเทคโนโลยี เช่นเดียวกับการเมืองระหว่างประเทศ ที่ล่าสุดการพบกันล่าสุดระหว่างประธานาธิบดีมุน แจ อึน ของเกาหลีใต้ และประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐ ยังไม่ได้แสดงให้เห็นถึงเป้าหมายและความต้องการที่ชัดเจนว่าจะมีการเจรจากับเกาหลีเหนือหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่เริ่มทรงตัวใกล้ระดับ 80 เหรียญต่อบาร์เรล ช่วยลดความกังวลให้กับตลาดการเงินบ้าง โดยรวม เรายังมองว่าตลาดทุนในช่วงนี้ยังคงมีพื้นฐานที่ดีจากเศรษฐกิจ และมีปัจจัยเชิงบวกมากขึ้นจากสงครามการค้าที่สงบลง

ขณะที่นักลงทุนก็รับรู้ข่าวเชิงลบส่วนใหญ่ทั้งราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงและการเมืองที่วุ่นวายไปแล้ว แนวโน้มช่วงที่เหลือจึงน่าจะเป็นบวกกับตลาดเอเชียและตลาดเกิดใหม่

ในส่วนของค่าเงินบาท การส่งออกที่ขยายตัว 12.34% เป็นบวกต่อภาพเศรษฐกิจ แต่การขาดดุลการค้าเป็นครั้งที่สองของปีที่ระดับ 1,283 ล้านดอลลาร์ ชี้ให้เห็นว่าการลงทุนและราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้การเกินดุลการค้าของไทยลดลง และเงินบาทจะเคลื่อนไหวตามแนวโน้มทิศทางของสกุลเงินเอเชียและค่าเงินดอลลาร์มากขึ้น มองกรอบเงินบาทระหว่างวันที่ระดับ 31.95 - 32.10 บาทต่อดอลลาร์

จาก www.bangkokbiznews.com  วันที่ 23 พฤษภาคม 2561

‘อุตตม’จี้พัฒนา‘แอพ’ ช่วยเอกชนขยายตลาด

นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ได้มอบนโยบายแก่อุตสาหกรรมจังหวัด (อสจ.) ทั่วประเทศไทยโดยได้กำหนดขอบข่ายการทำงาน3 ด้านหลัก ที่ต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาล การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อยกระดับการบริหาร และการประสานกับเครือข่ายที่เกี่ยวข้องของกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับผู้ประกอบการและอุตสาหกรรม

พร้อมกันนี้ได้มอบหมายให้ นายพสุโลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ลงไปร่วมมือมือกับเครือข่ายชุมชนเพื่อยกระดับสินค้าชุมชนอย่างเป็นรูปธรรมโดยการคัดสรรสินค้าดีเด่นของชุมชนและนำมาประชาสัมพันธ์ในแอพพลิเคชั่นของกระทรวงอุตสาหกรรม

โดยขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรมได้เริ่มพัฒนาแอพพลิเคชั่นแล้ว โดยจะมีแผนที่แต่ละจังหวัด มีเรื่องราวเกี่ยวกับสินค้าที่โดดเด่น และได้มอบหมายให้ปลัดฯ ประสานกับ อสจ.คัดสรรสินค้าโดดเด่นมารวมไว้ให้ครบ 77 จังหวัด ภายใน 2 สัปดาห์นี้ โดยในแอพพลิเคชั่นนี้ไม่ใช่แค่ต้องการให้เกิดการซื้อขายระหว่างธุรกิจและลูกค้า (บีทูซี) แต่เพื่อให้เกิดความรับรู้ในวงกว้างว่า จังหวัดของไทยมีของดีเด่น พวกกองทุนหรือเวนเจอร์แคปปิตอลต่างๆ เข้าแอพฯ มาก็อาจจะติดต่อไปได้ทันที เกิดการสร้างเครือข่ายไปถึงระดับชุมชน

จาก www.naewna.com  วันที่ 22 พฤษภาคม 2561

'พลังงาน' เผย แนวทางบรรเทา "ผลกระทบวิกฤติราคาน้ำมัน"

ความผันผวนเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลกตลอดระยะเวลากว่า 2 เดือนที่ผ่านมา โดยที่น้ำมันดิบดูไบ (Dubai) มีราคาเพิ่มขึ้น 15.30 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล (จาก 61.75 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล เมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2018 เป็น 77.05 เหรียญสหรัฐฯ/ต่อบาร์เรล เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2018) ส่งผลให้ราคาดีเซลอ้างอิง Platts ในตลาดอาเซียน เพิ่มขึ้น 16.69 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล (จาก 76.55 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล เมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2018 เป็น 93.24 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2018) ในช่วงเวลาเดียวกัน เท่ากับ 3.30 บาท/ลิตร เมื่อคำนวณที่อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 16 มี.ค. 2018 ที่ 31.40 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนได้อ่อนตัวลงเป็น 32.29 บาท/เหรียญสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2018 ส่งผลให้ราคาดีเซลอ้างอิง Platts ในตลาดอาเซียน เพิ่มขึ้นอีก 0.52 บาท/ลิตร เป็น 3.82 บาท/ลิตร

แต่ด้วยการปรับสูตรการคำนวณราคาอ้างอิง ณ โรงกลั่น และการลดจำนวนเงินจัดเก็บเข้ากองทุนอนุรักษ์พลังงาน 0.15 บาท/ลิตร เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2018 ส่งผลให้ราคาดีเซลขายปลีกในประเทศ เพิ่มขึ้นต่ำกว่าที่ควรเป็น 0.62 บาท/ลิตร คือ เพิ่มขึ้นสุทธิจริงเท่ากับ 3.20 บาท/ลิตร เป็น 29.79 บาท/ลิตร

ในขณะเดียวกัน กระทรวงพลังงานได้ริเริ่มโครงการช่วยดูดซับปริมาณผลิตน้ำมันปาล์มดิบส่วนเกินด้วยการผลิตน้ำมันดีเซลเกรดพิเศษที่มีส่วนผสม ไบโอดีเซลเพิ่มจาก 7% สำหรับดีเซลเกรดทั่วไป (B7) เป็น 20% (B20) เพื่อใช้ในกลุ่มรถบรรทุกและรถโดยสารขนาดใหญ่ โดยจะมีมาตรการจูงใจด้วยราคาขายปลีกต่ำกว่าน้ำมันดีเซลเกรดปกติที่ 3 บาท/ลิตร ซึ่งคาดว่าจะเริ่มจำหน่ายได้ประมาณต้นเดือน ก.ค. 2018

การจำหน่ายน้ำมันดีเซลเกรดพิเศษ (B20) โดยมีส่วนลดให้ราคาขายปลีกต่ำกว่าน้ำมันดีเซลเกรดปกติที่ 3 บาท/ลิตร จะส่งผลให้ราคาต้นทุนน้ำมันของกลุ่มรถบรรทุกและรถโดยสารขนาดใหญ่ อยู่ในระดับต่ำประมาณ 27 บาท/ลิตร จึงไม่มีความจำเป็นต้องขึ้นค่ารถโดยสารสาธารณะหรือค่าขนส่ง

ในระหว่างที่ยังไม่มีการจำหน่ายน้ำมัน B20 กระทรวงพลังงานจะใช้กลไกของกองทุนน้ำมันเป็นเครื่องมือในการรักษาระดับราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกินกว่า 30 บาท/ลิตร เป็นระยะเวลาสั้น ๆ ก่อนมีการจำหน่ายน้ำมัน B20

และเพื่อลดผลกระทบจากราคาน้ำมันที่อาจจะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงกว่า 80 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล กระทรวงพลังงานจักได้เตรียมมาตรการดูแลกรณีวิกฤตราคาผันผวนอย่างรวดเร็วต่อผู้บริโภค โดยการใช้กองทุนช่วยลดภาระให้ขึ้นราคาขายปลีกเท่ากับ 50% ของราคาที่ควรจะเพิ่มขึ้น กล่าวคือ หากราคาน้ำมันตลาดโลกขึ้น 1 บาท จะใช้กองทุนช่วยลดภาระ 50 สตางค์ และขึ้นราคา 50 สตางค์

โดยที่หากราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้นถึง 90 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ซึ่งส่งผลให้ราคาดีเซลอ้างอิง Platts ในตลาดอาเซียน เพิ่มขึ้นเป็น 105 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล และด้วยฐานะกองทุนน้ำมันที่มีคงเหลือประมาณ 30,000 ล้านบาท จะเพียงพอสำหรับมาตรการการใช้กองทุนช่วยลดภาระการขึ้นราคาขายปลีก 50% ของราคาที่ควรจะเพิ่มดังกล่าว ได้ประมาณ 10 เดือน

จาก www.thansettakij.com   วันที่ 22 พฤษภาคม 2561

ขู่ฉีด “พาราควอต” หน้า ก.อุตฯ หาก 23 พ.ค.ตัดสินไม่แบนสารอันตราย

ภาคประชาชนจับตาพิจารณาแบน “พาราควอต” วันที่ 23 พ.ค. ขู่ฉีด “พาราควอต” หน้ากระทรวงอุตสาหกรรม หากไม่แบน เหตุไม่อันตราย ลั่นรัฐบาลต้องรับผิดชอบ พร้อมเล็งเปิด 3 คณะกรรมการ ผลประโยชน์ทับซ้อนบริษัทสารเคมีเอกชน

วันนี้ (22 พ.ค.) ที่โรงแรมตรัง ดร.มานะ นิมิตรมงคล ผู้อำนวยการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน กล่าวภายในเวทีอภิปราย “ยุติผลประโยชน์ทับซ้อน เรียกความโปร่งใสของคณะกรรมการวัตถุอันตราย” จัดโดยเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษอันตรายร้ายแรง ว่า เรื่องการแบนสารพาราควอตหรือไม่นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศึกษาผลกระทบจากพาราควอต ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะกรรมการวัตถุอันตราย ว่า มีผลกระทบต่อสุขภาพหรือไม่ หลังจากที่คณะกรรมการ 5 กระทรวง และคณะกรรมการ 3 กระทรวง เคยมีมติให้แบนชัดเจน แต่ก็ยังไม่จบ มีการยื้อเรื่องจนมาสู่การพิจารณาในชั้นนี้ ซึ่งกรรมการส่วนใหญ่มาจากกรมวิชาการเกษตร ที่เคยอ้างว่าไม่มีความรู้ในเรื่องสุขภาพ ดังนั้น เรื่องนี้ต้องรอดูผลการตัดสินในวันที่ 23 พ.ค. นี้ ว่า มีความสมเหตุสมผลหรือไม่ จะสะท้อนถึงการมีประโยชน์ทับซ้อนของข้าราชการหรือไม่

“ตามปกติแล้วในยุโรปหรือญี่ปุ่น หากมีข้อมูลผลิตภัณฑ์อะไรที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพประชาชน จะมีคำสั่งระงับการใช้ทันที จนกว่าจะมีข้อพิสูจน์ได้ว่าไม่เป็นอันตราย ดังนั้น หากรัฐบาลยังเห็นแก่ประโยชน์ของประชาชนจริงควรเริ่มต้นจากพาราควอต ซึ่งขณะนี้มีการแย้งกันอยู่ก็ขอให้หยุดไว้ก่อนจนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าไม่มีอันตราย แต่กลับมีการอนุญาตให้ใช้ต่อ จึงมองว่าถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องมีกฎหมายผลประโยชน์ทับซ้อน ออกมาเพื่อห้ามให้ข้าราชการรับเงินจากเอกชน และจะบอกข้อมูล หรือแนวนโยบายของราชการแก่เอกชนไม่ได้ เพราะเรื่องเหล่านี้เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทับซ้อนทั้งสิ้น ซึ่งก็เคยมีความพยายามจะออกมาตั้งแต่ปี 2552 จนขณะนี้ก็ยังไม่สามารถออกได้” ดร.มานะ กล่าว

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ มูลนิธิชีววิถี (BioThai) กล่าวว่า วันที่ 23 พ.ค. จะมีการตัดสินว่าจะแบนสารพาราควอตหรือไม่ ซึ่งหวังว่าหน่วยงานที่ทำหน้าที่ดูแลประชาชนจะทำหน้าที่ปกป้องประชาชน อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตถึงความไม่ชอบมาพากลเกี่ยวกับการแบนสารพาราควอตหรือไม่ 4 เรื่อง คือ  1. บทบาททับซ้อน เนื่องจากในคณะกรรมการวัตถุอันตรายมี 3 คน ที่มีตำแหน่งในบริษัทสารเคมีเอกชน ซึ่งตามปกติแล้วควรแยกบทบาทหน่วยงานควบคุมให้ชัดเจน ดังนั้น หากมีการอนุญาตให้ใช้ต่อจะมีการเปิดเผยรายชื่อของคณะกรรมการ 3 คนที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ให้ประชาชนได้ทราบถูกคน 2.การมีประโยชน์ทับซ้อน เพราะไม่มีการเปิดเผยข้อมูลการต่อทะเบียนหรือข้อสรุปผลการศึกษาทางวิชาการต่อสาธารณชนเลย สะท้อนให้เห็นว่าผลอาจอัปลักษณ์จนไม่มีใครกล้าเปิดเผยตัว กลัวจะถูกวิจารณ์ ซึ่งสิ่งที่ต้องการทราบคือพาราควอตมีฤทธิ์เฉียบพลันมากกว่าสารบางตัวที่ถูกยกเลิกการใช้ไปแล้วหรือไม่

3. กรรมการวัตถุอันตรายหลายคนและอนุกรรมการบางคน เคยเสนอให้พืชสมุนไพรที่ใช้ต้มยำทำแกง 13 ชนิด เป็นวัตถุอันตราย แต่ตอนนี้กำลังจะให้ใช้พาราควอตต่อ ซึ่ง 50 ประเทศแบนไปแล้ว อีกทั้งในรอบ 10 ปี ยังไม่เคยแบนสารพิษตัวไหนเลย และ 4.ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร รัฐบาล คสช. ต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการแบนพาราควอตตามมติของ 5 กระทรวง เพราะคณะกรรมการวัตถุอันตราย 19 จาก 29 คน เป็นข้าราชการที่อยู่ภายใต้การดูแลของรัฐบาล และหากไม่แบนพาราควอตสะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลเห็นแก่บรรษัทข้ามชาติมากกว่าประโยชน์ของประชาชน หวังคะแนนเสียงจากประชาชนและการสนับสนุนจากบริษัทผู้ค้าสารพิษ และโยนความเสี่ยงมาที่ประชาชนที่มีข้อมูลไม่เพียงพอ ให้ตายแบบเฉียบพลันหรือตายแบบผ่อนส่ง

นางบุญยืน ศิริธรรม สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายไทยแลนด์ 4.0 แต่หากพาราควอตได้ไปต่อ คงได้แค่ 0.4 หากซึ่งอยากบอกว่าไม่ต้องกังวลว่าจะไม่มีสารทดแทน ต้องเชื่อมั่นว่าต้องมีนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ใช้ทดแทนแน่นอน นอกจากนี้ รัฐบาลบอกว่ามีงบประมาณไม่เพียงพอในการรักษาผู้ป่วย แต่กลับไม่แก้ปัญหาจากสาเหตุที่ทำให้ประชาชนเจ็บป่วย ดังนั้น วันที่ 23 พ.ค. ขอให้ประชาชนเตรียมพาราควอตไปด้วย หากบอกไม่อันตรายก็ฉีดที่หน้ากระทรวงอุตสาหกรรมหลังจากมีคำตัดสิน

นายสุรชัย ตรงนาม ทนายความมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า แม้จะมีข้อถกเถียงเรื่องพาราควอต แต่คำตัดสินของคณะกรรมการวัตถุอันตรายก็ต้องคำนึงถึงชีวิต คนสัตว์ สิ่งของ และสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญตามรัฐธรรมนูญ ต้องมีการรวบรวมข้อมูลทั้งหมดให้ถูกต้องภายใต้เงื่อนไขและเป็นประโยชน์ที่สุด ซึ่งที่สุดแล้วคำตัดสินคงไม่ได้สิ้นสุดที่คณะกรรมการวัตถุอันตราย แต่ต้องชงให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้ตัดสินอีกครั้ง โดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการวัตถุอันตราย ดังนั้น หากผลออกมาอย่างไร หากมีการใช้ต่อก็สามารถใช้กระบวนการยุติธรรมในการตรวจสอบได้

น.ส.ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) กล่าวว่า หลังจาก สธ.ยืนมติเดิม ก็ยังไม่เห็นการตัดสินใจของรัฐบาล ซึ่งในวันที่ 23 พ.ค. ก็จะมีการพิจารณาสรุปโดยคณะกรรมการวัตถุอันตราย เราก็ได้เรียกร้องหาความโปร่งใส โดยอยากให้พิจารณาบนพื้นฐานทางวิชาการ และขอให้กรรมการที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนที่รู้ตัวอยู่แล้วว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทไม่เข้าร่วมในการพิจารณา และขอให้เปิดเผยข้อมุลการพิจารณา และคำวินิจฉัยส่วนบุคคลแต่ละท่า ไม่ว่าจะตัดสินแบนหรือไม่แบน และหากยังไม่สามารถพิจารณาได้ในวันพรุ่งนี้หรือเลื่อนการพิจารณาออกไป ภายใน 7 วัน จะมีการชุมนุมของเครือข่ายภาคประชาชนเพื่อเรียกร้องต่อไป

จาก https://mgronline.com  วันที่ 22 พฤษภาคม 2561

ก.เกษตรฯ เดินหน้าพัฒนาตลาดดิจิทัล

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประชุมจัดทำแผนยุทธศาสตร์ยกระดับการเกษตร 4.0 เพื่อพัฒนาตลาดเกษตรดิจิทัล จับคู่ผู้ซื้อ-ผู้ขายตามนโยบายตลาดนำการผลิต

นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมตลาดเกษตรดิจิทัล ซึ่งได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ยกระดับการเกษตร 4.0 หรือยุทธศาสตร์พระพิรุณ เพื่อเป็นการพัฒนาตลาดเกษตรดิจิทัลทั้งบนแพลตฟอร์ม e-Matching Market (EMM) และด้านกายภาพค้าปลีกและค้าส่ง มุ่งหวังยกระดับการค้าสินค้าเกษตรตามหลักตลาดนำการผลิตของนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ด้วยเครื่องมือจับคู่ผู้ซื้อขายที่ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่จะพัฒนาต่อยอดจากเว็บไซต์ตลาดเกษตรดิจิทัล และระบบตามสอบสินค้าเกษตรบนระบบคลาวด์สำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก ของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ให้เป็นแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนในชื่อ “Hello Trade”

สำหรับยุทธศาสตร์พระพิรุณ หรือ Agriculture 4.0 เป็นแผนยุทธศาสตร์และโครงการเชิงกลยุทธ์ที่จัดสรรพื้นที่ตลาด Free Digital Market และพัฒนาตลาดสินค้าเกษตรลักษณะ Digital Economy เพื่อสร้างมาตรการจูงใจเกษตรกรต่อการเข้าร่วมโครงการต่าง ๆ ของกระทรวงเกษตรฯ โดยเฉพาะการพัฒนาสินค้าเกษตรสู่มาตรฐาน โดยไม่ต้องแทรกแซงกลไกราคา แต่สร้างความสามารถในการแข่งขันและการเข้าถึงช่องทางการตลาดในทันทีของเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน ตลอดจนเอสเอ็มอีที่เกี่ยวข้องภาคเกษตรและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ผ่านเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่ Digital Thailand 4.0

ส่วน มกอช.ผลิตโปรแกรมจับคู่เฟสแรกและเริ่มทดลองใช้ตั้งแต่ปลายปี 2560 ผ่านเว็บไซต์ www.DGTFarm.com และจะมีการพัฒนาเป็นแอพพลิเคชั่นที่มีประโยชน์ และสามารถหาเงินได้สำหรับผู้ใช้ โดยตั้งเป้าอย่างน้อย 1 ล้านบัญชีในช่วงต้นปี 2562

จาก www.tnamcot.com  วันที่ 22 พฤษภาคม 2561

ชาวบ้านเตรียมล่าชื่อตรวจสอบ รง.มิตรผลขยายบ่อกักน้ำวีนัส ด้านโรงงานแจงยุติโครงการฯ แล้ว

กาฬสินธุ์ - บ.มิตรผลไบโอฟูเอลออกเอกสารชี้แจงกรณีชาวบ้าน ต.สมสะอาดฮือค้านขยายบ่อบำบัดน้ำเสีย เป็นเพียงแค่ขยายบ่อเก็บน้ำวีนัส ทั้งได้หยุดดำเนินการแล้วเพระไม่ผ่านเวทีประชาคมของชาวบ้าน ด้านชาวบ้านอ้างโรงงานไม่มีความจริงใจแก้ปัญหา เตรียมล่ารายชื่อคัดค้านและตรวจสอบโรงงานเอทานอลของโรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์กลุ่มมิตรผลขยายบ่อกักเก็บน้ำวีนัส ระบุส่งกลิ่นเหม็นจนแทบขายบ้านหนี

จากกรณีตัวแทนชาวบ้านใน ต.สมสะอาด อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ รวมตัวกันคัดค้านการขยายบ่อบำบัดน้ำเสียเพิ่มของโรงงานเอทานอล ซึ่งตั้งอยู่ในโรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์กลุ่มมิตรผล พร้อมระบุว่าบ่อบำบัดน้ำเสียเดิมที่มีอยู่แล้วยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและพื้นที่การเกษตรมากพออยู่แล้ว และหากมีการขยายบ่อบำบัดน้ำเสียเพิ่มขึ้นมาอีกยิ่งจะทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพคนในชุมชนเพิ่มขึ้น เนื่องจากขยายบ่อบำบัดน้ำเสียออกมาใกล้กับชุมชน

ล่าสุดวันนี้ (22 พ.ค.)ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัทมิตรผลไบโอฟูเอล จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานเอทานอล และอยู่ในกลุ่มมิตรผล ได้ทำหนังสือชี้แจงต่อกรณีปัญหาดังกล่าว โดยระบุว่า จากกรณีมีชาวบ้านเรียกร้องให้โรงงานเอทานอลหยุดดำเนินการขยายบ่อบำบัดน้ำเสียเพิ่มนั้น ทางโรงงานขอเรียนชี้แจงว่า บ่อที่กำลังมีการขยายเพิ่มเติมตามที่เป็นข่าว คือบ่อจัดเก็บวีนัส ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตเอทานอลและมีการจัดเก็บไว้ภายในโรงงาน เพื่อนำไปใช้เป็นสารปรับปรุงดินในไร่อ้อย

ทั้งนี้ เนื่องจากที่ผ่านมาบ่อจัดเก็บวีนัสที่มีอยู่เดิมจำนวน 10 บ่อ มีตะกอนที่ก้นบ่อจำนวนมาก ส่งผลให้การจัดเก็บวีนัสได้น้อยลง โรงเอทานอลกาฬสินธุ์จึงมีแผนเพิ่มจำนวนบ่อจัดเก็บอีก 3 บ่อ เพื่อให้สามารถบริหารการจัดเก็บได้อย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยก่อนการดำเนินงานสร้างบ่อเพิ่มนั้นทางโรงงานได้ชี้แจงแผนการดำเนินงานกับ อบต.สมสะอาด และเริ่มดำเนินการขุดบ่อจัดเก็บความจุ 60,000 ลบ.ม.จำนวน 1 บ่อ ตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค. 61

อย่างไรก็ตาม เมื่อโรงงานได้รับหนังสือแจ้งให้ระงับการขุดบ่อจาก อบต.สมสะอาด เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 61 เพื่อให้โรงงานสอบถามความคิดเห็นจากชาวบ้านผ่านการจัดทำประชาคมในหมู่บ้านดงมัน ต.สมสะอาด และบ้านกกตาล ต.บัวขาว ทางโรงงานจึงได้หยุดการดำเนินการขุดบ่อวีนัสทั้งหมดทันที และภายหลังการพูดคุยกับชุมชนในวันที่ 3 พ.ค. 61 แล้วพบว่า ชาวบ้านมีความวิตกกังวลกับการก่อสร้างดังกล่าว

ทางโรงงานจึงได้ยุติโครงการขุดบ่อวีนัสเพิ่ม และเปลี่ยนเป็นการเสริมประสิทธิภาพให้กับบ่อจัดเก็บวีนัสเดิมที่มีอยู่ ได้แก่ การเสริมคันดินบนบ่อวีนัสให้มีความหนาขึ้นเพื่อป้องกันการรั่วไหล พร้อมทั้งจัดการคลุมผ้าใบบ่อวีนัสให้มิดชิด ก่อนฤดูฝนที่กำลังจะมาถึง เพื่อป้องกันปัญหาเรื่องกลิ่น ซึ่งเป็นการดำเนินงานที่เพิ่มเติมจากมาตรการบริหารจัดการบ่อวีนัสที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน

ทางโรงงานยืนยันว่ามีความเป็นห่วงและคำนึงถึงความปลอดภัยของชุมชนและสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญพร้อมรับฟังความคิดเห็นของชุมชนตามแนวทาง “ร่วมอยู่ ร่วมเจริญ”ที่ยึดมั่นมาโดยตลอด และได้เน้นย้ำให้ทุกการดำเนินงานเป็นไปตามมาตรฐานอย่างเคร่งครัด

อุตสาหกรรมจังหวัดยันยุติโครงการฯ แล้ว

ด้านนายชนะศักดิ์ ทองผนึก เจ้าหน้าที่ฝ่ายโรงงานสำนักงานอุตสาหกรรม จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า สำนักงานอุตสาหกรรม จ.กาฬสินธุ์ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบ พร้อมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วพบว่า บริษัทมิตรผลไบโอฟูเอล จำกัด มีโครงการที่จะก่อสร้างบ่อสำหรับเก็บน้ำวีนัส (ปุ๋ยน้ำ) ที่เป็นผลพลอยได้จากการผลิตเอทานอลเพิ่มเติม จำนวน 3 บ่อ ซึ่งบ่อแรกปริมาตรความจุ 60,000 คิว และอีก 2 บ่อ ปริมาตรความจุ 100,000 คิว

การก่อสร้างจะทำการปั้นขอบคันดินสูงขึ้นกว่าระดับพื้นดินเดิม 6 เมตร ทำการบดอัดให้แน่น ปูก้นบ่อและปิดคลุมด้วยแผ่นพลาสติก ความหนา 1.5 มิลลิเมตร เพื่อป้องกันการซึมและป้องกันกลิ่นเหม็นไม่ไห้ปลิวไปรบกวนประชาชนที่อยู่อาศัยใกล้เคียง พร้อมได้เข้าปรึกษาหารือกับ อบต.สมสะอาดได้ข้อสรุปว่าไม่ต้องขออนุญาต

แต่มีตัวแทนชุมชนและประชาชนที่อยู่อาศัยใกล้เคียงเกรงว่าจะสร้างความเดือดร้อนและส่งผลกระทบ อบต.สมสะอาดจึงได้มีหนังสือแจ้งให้หยุดดำเนินการและให้จัดทำประชาคมชาวบ้านดงมัน และบ้านกกตาลที่อยู่ใกล้เคียง

ซึ่งการประชาคมที่บ้านดงมันไม่ผ่านมติ บริษัทมิตรผลไบโอฟูเอล จำกัด จึงได้หยุดดำเนินโครงการก่อสร้างบ่อสำหรับเก็บน้ำวีนัสตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน 2561 และจากการตรวจสอบพื้นที่ที่ดำเนินการก่อสร้างของคณะเจ้าหน้าที่ไม่พบการดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งเรื่องดังกล่าวจะรายงานไปยังผู้บังคับบัญชาต่อไป

ชาวบ้านอ้างโรงงานไม่จริงใจ เล็งล่าชื่อเข้าตรวจสอบ

ขณะที่นางเฉลย เพ็ญศรี อายุ 59 ปี ชาวบ้านดงมัน ต.สมสะอาด อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน กล่าวว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านทราบว่าทางโรงงานจะขยายบ่อบำบัดน้ำเสีย แต่ไม่ทราบว่าจะขยายบ่อกักเก็บน้ำวีนัส เพราะทางโรงงานขาดการประสัมพันธ์และทำความเข้าใจกับชาวบ้าน ทั้งนี้แม้ทางโรงงานจะทำการขยายบ่อกักเก็บวีนัส ไม่ใช่บ่อบำบัดน้ำเสียก็ตาม ชาวบ้านก็ไม่เห็นด้วยที่จะทำการขยาย เพราะไม่มีความจริงใจ เนื่องจากได้ดำเนินการขุดไปแล้ว 1 บ่อแล้วค่อยมาทำประชาคมภายหลัง

ที่สำคัญที่ผ่านมาบ่อเดิมที่มีอยู่ก็ส่งผลกระทบกับชาวบ้านมาโดยตลอด โดยเฉพาะปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็นและการรั่วซึม กลิ่นติดตามเสื้อผ้า บางคนต้องมีปัญหาระบบทางเดินหายใจ ซึ่งหลายคนทนกลิ่นเหม็นไม่ไหว โดยเฉพาะผู้สูงอายุ และเด็ก จนแทบจะขายบ้านขายที่ดินในราคาถูกย้ายหนี แต่ก็ไม่มีคนซื้อ เพราะไม่มีใครอยากมาอยู่ใกล้บ่อน้ำเหม็น ซึ่งมีเพียงโรงงานเท่านั้นที่จะกว้านซื้อ

แต่ถ้าหากขายแล้วก็ไม่รู้ว่าจะอยู่อาศัยที่ไหน ดังนั้นชาวบ้านจึงอยากให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่เข้ามาตรวจสอบอย่างจริงจัง รวมทั้งสอบถามความเดือดร้อนของชาวบ้านสักนิดก็ยังดี ไม่ใช่มายืนดูเฉยๆแล้วพูดคุยกับทางโรงงานเพียงฝ่ายเดียวแล้วกลับไปรายงานให้ผู้บัญชาเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม หากยังไม่ได้รับความชัดเจนจากทางโรงงานชาวบ้านก็พร้อมที่จะล่ารายชื่อคัดค้านการขยายบ่อและเรียกร้องให้มีการบริหารจัดการบ่อเก็บน้ำวีนัสอย่าให้ส่งผลกระทบกับประชาชนอีก

ด้านนายบรรจง กุลอาจศรี นายก อบต.สมสะอาด กล่าวว่า สำหรับเรื่องดังกล่าวทางอบต.ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังโรงงานเพื่อให้หยุดการขยายบ่อกักเก็บน้ำวีนัส เพราะชาวบ้านว่าเกรงว่าจะได้รับผลกระทบและต้องการทำประชาคม ซึ่งทางโรงงานก็หยุดดำเนินการและทำประคมตามแจ้งไป แต่การประชาคมไม่ผ่านเพราะชาวบ้านไม่เห็นด้วย ทั้งนี้ล่าสุดได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่าจะมีการล่ารายชื่อ เพื่อคัดค้านการขยายบ่อกักเก็บน้ำวีนัสให้ถึงที่สุด

พร้อมทั้งเรียกร้องให้ทางโรงงานบริหารจัดการบ่อกักเก็บน้ำวีนัส และบ่อน้ำเสียให้มีประสิทธิภาพไม่ส่งกลิ่นเหม็นกระทบกับประชาชน อีกทั้งยังเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบระบบบ่อกักเก็บน้ำวีนัสและบ่อบำบัดน้ำเสียอย่างจริงจังด้วย อย่างไรก็ตามขณะนี้มีชาวบ้านบางส่วนเริ่มทยอยเข้ามาลงชื่อแล้ว

จาก https://mgronline.com  วันที่ 22 พฤษภาคม 2561

'ทีเอ็มบี' ชี้ส่งออกไทยแรงไม่ตก คาดทั้งปีโต8.6%

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ประเมินการส่งออกของไทยปี 2561 โตได้ถึง 8.6% จากปัจจัยด้านราคาที่สูงขึ้นทั้งกลุ่มสินค้าเกษตร สินค้าโภคภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน และปัจจัยด้านปริมาณจากการขยายตัวต่อเนื่องของประเทศคู่ค้า

ภาคการส่งออกไทยใน 4 เดือนแรกของปี 2561 ทะยานขึ้นต่อเนื่องจากปีก่อนอีก 11.5%ด้วยมูลค่าการส่งออกเฉลี่ย 20,444 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อเดือนจากปัจจัยบวกทั้งด้านราคาสินค้าตามผลของราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน และด้านปริมาณตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการผลิตส่งผลให้เกือบทุกกลุ่มสินค้าและเกือบทุกตลาดสำคัญเติบโตได้ดี

สำหรับมูลค่าการส่งออกไทยในช่วง 8 เดือนที่เหลือของปี 2561 ศูนย์วิเคราะห์ฯคาดว่ามีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องแต่ในอัตราที่ชะลอตัวลงด้วยผลของฐานสูง ซึ่งการขยายตัวเป็นผลมาจากทั้งราคาและปริมาณที่เพิ่มขึ้น จากการศึกษาความสัมพันธ์ของราคาน้ำมันในตลาดโลกกับราคาสินค้าส่งออกในกลุ่มสินค้าเกษตรและสินค้าโภคภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันมีความสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกัน คือ ผลของราคาน้ำมันดิบที่เปลี่ยนแปลงทุก 1% จะทำให้ราคาสินค้าส่งออกเปลี่ยนไปในทิศทางเดียวกันประมาณ 0.11% ซึ่งศูนย์วิเคราะห์ฯ มองว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกในช่วงที่เหลือจะเฉลี่ยอยู่ที่ 71 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาเรล หรือเพิ่มขึ้น 30% จากช่วงเดียวกันของปี 2560 ที่ประมาณ 55ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาเรลดังนั้นผลทางด้านราคาที่เพิ่มขึ้นจะทำให้มูลค่าส่งออกในกลุ่มสินค้าเกษตร ยางพารา เคมีภัณฑ์ น้ำมันสำเร็จรูป และเหล็ก ที่มีสัดส่วนถึง 1/4ของมูลค่าส่งออกรวมจะปรับตัวสูงขึ้น

นอกจากนี้ สถานการณ์ทิศทางเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่องโดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปี 2561 จะขยายตัวได้ 3.9% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ขยายตัวได้ 3.7%และทิศทางการนำเข้าสินค้าโลกในปี 2561 ที่คาดว่าจะเติบโต5.7% จาก 5.5%ในปีก่อนหน้า นำโดยประเทศสหรัฐฯ กลุ่มประเทศยูโรโซน กลุ่มประเทศอาเซียน-5 และ CLMVก็เป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญที่ทำให้ปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นนอกจากปัจจัยหนุนปริมาณการส่งออกที่เติบโตจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวดังกล่าวข้างต้น การส่งออกไทยยังได้รับปัจจัยส่งเสริมจากการที่สหรัฐฯต่ออายุสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) กับไทยในปี 2561-2563 โดยได้เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 22 เมษายน 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางค้าของสหรัฐฯที่อาจมีต่อไทย และต้นทุนการส่งออกสินค้าของไทยไปสหรัฐฯ ได้ดังนั้น ผลทางปริมาณที่เพิ่มขึ้นจากการเติบโตของเศรษฐกิจโลกและการต่ออายุ GSP จะส่งผลทำให้มูลค่าการส่งออกในกลุ่มรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องนุ่งห่มและอัญมณี และอาหาร ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 2/3ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดเพิ่มมากขึ้นด้วยเหตุนี้ ศูนย์วิเคราะห์ฯ จึงประเมินว่า การส่งออกไทยทั้งปี 2561 จะเติบโตที่ 8.6% (สูงกว่าคาดการณ์เดิมที่ 4.8% ณ มกราคม 2561)

อย่างไรก็ตาม ในระยะถัดไป ยังคงมีประเด็นความเสี่ยงที่ผู้ส่งออกต้องติดตามอย่างใกล้ชิดอยู่ได้แก่ 1) สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่แม้ว่าผลกระทบต่อการค้าไทยในระยะสั้นยังค่อนข้างจำกัด แต่ในระยะปานกลางถึงยาวยังคงต้องเฝ้าระวังติดตามและ 2) เงินบาทที่มีทิศทางแข็งค่าต่อเนื่อง โดยศูนย์วิเคราะห์ฯ คาดว่า ณ สิ้นปี 2561 อัตราแลกเปลี่ยนจะอยู่ที่ระดับ 31.0 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นจากระดับปัจจุบัน 3.5%จากปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่ดีขึ้นต่อเนื่องทั้งจากรายได้การส่งออกสินค้า การท่องเที่ยว และด้วยแรงหนุนจากเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI)แนะว่าผู้ส่งออกควรมองหาเครื่องมือที่จะช่วยป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน เพื่อบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากทิศทางค่าเงินบาทแข็งค่า และบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพภายใต้สถานการณ์ต้นทุนที่มีทิศทางเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยรักษาอัตรากำไรและพยุงขีดความสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ต่อไป

จาก www.bangkokbiznews.com   วันที่ 22 พฤษภาคม 2561

ผู้ผลิตไฟฟ้าเอสพีพีชีวมวล วอน”ศิริ”ทบทวนค่าไฟใหม่

ผู้ผลิตไฟฟ้าชีวมวล วอน รมว.พลังงานทบทวนอัตราค่าไฟฟ้า รับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนใหม่จากที่ขีดเส้น ไม่เกิน  2.44 บาท/หน่วย ชี้ เหง้ามัน-ฟางข้าว-เหง้าข้าวโพด ต้นทุนสูง ด้าน กฟผ.ศึกษาสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลประชารัฐ รอ ก.พลังงานไฟเขียว

       ในงานเสวนารู้ลึก รู้จริงพลังงานหมุนเวียน เดินหน้าอย่างไรให้คนไทยได้ประโยชน์  นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี  รองผู้ว่าการพลังงานหมุนเวียน และพลังงานใหม่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ.  เปิดเผยว่า  มีแผนจะดึงวิสาหกิจชุมชมเข้ามาร่วมโครงการโรงไฟฟ้าประชารัฐชีวมวล โดย กฟผ.ลงทุนร้อยละ 90 และวิสาหกิจฯลงทุนร้อยละ 10 เพื่อรวมลงทุนในการได้ประโยชน์จากการผลิตไฟฟ้าชีวมวลร่วมกัน และส่งเสริมให้ชุมชนร่วมกันปลุกต้นไม้โตเร็วขายให้กับ กฟผ.  ซึ่งวิสาหกิจชุมชนฯจะได้เงินปันผลตามสัดส่วนของเงินลงทุน และได้ประโยชน์จากการขายชิ้นไม้  ซึ่ง กฟผ.เตรียมแผนงานใน 3 พื้นที่ กำลังผลิตแห่งละประมาณ  10 เมกะวัตต์  โดยเรื่องนี้ได้เสนอต่อ คณะกรรมการ กฟผ.แล้ว  โดยต้นทุนจะสูงถึงกว่า  3 บาทต่อหน่วย 

           นอกจากนี้ ภาครัฐควรพิจารณาสร้างความเป็นธรรมระหว่าง ผู้ซื้อไฟฟ้าอย่างเดียว หรือ consumer   กับผู้ผลิตไฟฟ้าที่ทั้งซื้อและขายเข้าระบบ  หรือ Prosumer  เพราะ consumerเป็นผู้จ่ายเข้าระบบทั้งหมด  ผ่านการลงทุนของ 3 การไฟฟ้าฯ ที่มีต้นทุนจากการลงทุนทั้งระบบสร้างสายส่งและสายจำหน่ายเพื่อรองรับการขายไฟมากขึ้น เฉลี่ย 0.69  สตางค์ต่อหน่วย  และจะสะท้อนไปในค่าไฟฟ้าผันแปร หรือ เอฟที ในขณะที่ Prosumer ได้ประโยชน์จากการขายไฟฟ้า และใช้ไฟฟ้าจากระบบด้วย ดังนั้น อาจไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภคที่เสียค่าไฟฟ้า ดังนั้น   จึงเป็นหน้าที่ คณะกรรมการกิจการพลังงาน หรือ กกพ. ต้องพิจารณาว่าควรมีความจำเป็นต้องเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติมหรือไม่ 

              ด้านนายนที สิทธิประศาสน์ ประธานชมรมผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก(เอสพีพี )ชีวมวล ระบุว่า ไม่เห็นด้วยที่ นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน กำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่ 2.44 บาท/ลิตร    เพราะต้นทุนการผลิตไฟฟ้าแตกต่างกัน  ซึ่งควรกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าจะแยกประเภท ไม่เช่นนั้น โรงไฟฟ้าชีวมวล ที่ต้องการส่งเสริมเกษตร และใช้สิ่งเหลือใช้มาทำประโยชน์ให้มากที่สุด ก็คงไม่เกิดขึ้น โดยในส่วนของฟางข้าว เหง้ามัน ซังข้าวโพด มีต้นทุนมากกว่า 3 บาท/หน่วย และมีกำลังผลิตมากกว่าอีก 1 พันเมกะวัตต์  โดยปัจจุบันนี้ กำลังผลิตโรงไฟฟ้าชีวมวลมีราว 3,100-3,200 เมกะวัตต์ ประมาณ 231 แห่ง  ในขณะที่กำลังผลิตตามแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าระยะยาว (พีดีพี ) ในสิ้นปี 2579 จะมีราว  5,570 เมกะวัตต์ –สำนักข่าวไทย

จาก www.tnamcot.com  วันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

กนช. สั่งกรมอุตุฯ-กรมชลฯ-กรมทรัพยากรน้ำ รับมือน้ำหลากปีนี้

ที่ประชุมกนช. สั่งกรมอุตุฯ-กรมชลฯ-กรมทรัพยากรน้ำ-หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับมือน้ำหลากปีนี้ เผยเร่งจัดประปา 256 หมู่บ้านเสร็จปี’62

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 21 พฤษภาคม ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล นายสมเกียรติ ประจำวงศ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 2/2561 ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน และ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรีในฐานะรองประธาน กนช. กำกับดูแล สทนช. เข้าร่วมประชุม ว่าที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบแผนงานสำคัญ 5 เรื่อง ได้แก่ 1.การปรับปรุงกระบวนการจัดทำแผนงาน โครงการ และงบประมาณ เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบ ซึ่งจากการรายงานของ สทนช. พบว่า งบประมาณบูรณาการด้านน้ำปี 2562 ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 63,271 ล้านบาท แต่ยังมีบางหน่วยงานนำเสนอแผนงานด้านน้ำเพื่อขอรับงบประมาณจากแหล่งอื่นๆ ที่ประชุมจึงมีมติให้ สทนช. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย สำนักงบประมาณ พิจารณาแนวทางในการปรับปรุงกระบวนการจัดทำแผนงานและโครงการจากทุกแหล่งเงิน เพื่อลดความซ้ำซ้อนกับแผนงานอื่น

2.การขับเคลื่อนแผนงานโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญปี 2562-2565 ทั้งหมด 30 โครงการ เพิ่มปริมาณการเก็บกักน้ำรวมทั้งหมดได้ 4,320 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) มีพื้นที่ได้รับประโยชน์รวม 4.5 ล้านไร่

3.โครงการระบบกระจายน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ จ.หนองบัวลำภู เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในการเพาะปลูก วงเงินประมาณ 210.82 ล้านบาท

4.การปรับปรุงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2550 ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบในหลักการให้ สทนช.ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยกร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารทรัพยากรน้ำแห่งชาติฉบับใหม่เพื่อเสนอ ครม.พิจารณาต่อไป

และ 5.การประสานความร่วมมือระหว่างประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ ที่ประชุมเห็นชอบให้ สทนช.เป็นหน่วยงานหลักด้านนโยบายในการประสานงานการบริหารจัดการน้ำกับองค์การนานาชาติ และกระจายภารกิจที่เกี่ยวข้องให้ครอบคลุมทุกหน่วยงานอย่างเป็นเอกภาพ

นายสมเกียรติกล่าวว่า ที่ประชุมยังได้รับทราบผลการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ตั้งแต่ปี 2557-2560 การดำเนินงานตามมติ กนช.และข้อสั่งการของนายกฯ ซึ่งมีเรื่องสำคัญ เช่น การจัดการน้ำอุปโภคบริโภคที่ยังคงเหลือหมู่บ้านที่ไม่มีระบบประปา จำนวน 256 หมู่บ้าน จะดำเนินการเร่งรัดให้ครบทุกหมู่บ้านภายในปี 2562 การกำหนด Area Based 66 พื้นที่ ให้ สทนช.ดำเนินการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำแผนงานโครงการสำคัญในพื้นที่ดังกล่าว ส่วนการเตรียมความพร้อมรับมือน้ำหลากในปีนี้นั้น ที่ประชุมได้สั่งการให้กรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเตรียมการรับมือ โดยให้ สทนช.เป็นหน่วยงานกลาง

นายสมเกียรติกล่าวว่า ทั้งนี้ สทนช.เตรียมจัดงาน “การเตรียมความพร้อมจัดการน้ำหลาก ปี 2561” ในวันที่ 4 มิถุนายน 2561 ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยมีนายกฯเป็นประธาน และได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมจัดนิทรรศการเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์การบูรณาการเตรียมความพร้อมของรัฐบาล

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

“เกษตรฯ” อัดฉีด 4 หมื่นล้าน ลุยแผนโลจิสติกส์ภาคการเกษตร ปี 60-64 เร่ง 105 โครงการ

“เกษตรฯ” อัดฉีด 4 หมื่นล้าน ลุยแผนโลจิสติกส์ภาคการเกษตร ปี 60-64 เร่ง 105 โครงการ พร้อมประเดิม สินค้าข้าว โมเดลระบบนำร่องแก้ปัญหาสินค้าเกษตรตลอดโซ่อุปทาน

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในฐานะอนุกรรมการและเลขานุการคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบโลจิสติกส์การเกษตร ถึงการประชุมคณะอนุกรรมการฯ ครั้งที่ 1/2561 โดยมีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานว่า ที่ประชุมได้รับทราบถึงแผนงาน/โครงการ ภายใต้แผนแม่บทการพัฒนาโลจิสติกส์และโซ่อุปทานภาคการเกษตร พ.ศ. 2560-2564 รวม 105 โครงการ วงเงิน 41,878 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วย 3 แนวทาง ดังนี้ แนวทางหลักที่ 1 การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านโลจิสติกส์การเกษตรตลอดโซ่อุปทาน จำนวน 41 โครงการ วงเงิน 18,596 ล้านบาท (ร้อยละ 44) แนวทางหลักที่ 2 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการอำนวยความสะดวกด้านโลจิสติกส์การเกษตร จำนวน 51 โครงการ วงเงิน 22,554 ล้านบาท (ร้อยละ 54) และ แนวทางหลักที่ 3 การพัฒนาปัจจัยสนับสนุนด้านโลจิสติกส์การเกษตร จำนวน 13 โครงการ วงเงิน 727 ล้านบาท (ร้อยละ 2) ทั้งนี้ ปีงบประมาณ 2561 (ตุลาคม 2560 – กุมภาพันธ์ 2561) เริ่มดำเนินการแล้วจำนวน 69 โครงการ วงเงินรวม 3,463 ล้านบาท

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบกรอบแนวทางบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์รายสินค้า (ข้าว) เพื่อเป็นต้นแบบในการนำระบบโลจิสติกส์มาแก้ปัญหาสินค้าเกษตรตลอดโซ่อุปทาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโลจิสติกส์และโซ่อุปทานข้าวอย่างยั่งยืน พัฒนาโซ่คุณค่า (Value Chain) และพัฒนาคลัสเตอร์ข้าว เพื่อเข้าสู่ระบบ Agro Community Industry ตามแนวทาง ดังนี้

ต้นทาง เน้นการรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อปลูกข้าว พื้นที่ 1,000 ไร่ขึ้นไป ให้เกิดการประหยัดต่อขนาด และใช้หลักการบริหารจัดการฟาร์มแบบสมัยใหม่ (Modern Farm Management) เพื่อให้การวางแผนการผลิต การจัดส่งและกระจายน้ำ การพัฒนาระบบผลิตข้าวคุณภาพ มีประสิทธิภาพสูงสุด กลางทาง เน้นให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรเข้ามามีบทบาทในการบริหารจัดการข้าว มากขึ้น ทั้งการรวบรวม การสีข้าว การแปรรูปข้าวเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ รวมถึงการต่อยอดสู่ธุรกิจเกษตรต่อเนื่อง ผ่านศูนย์กระจายสินค้าสหกรณ์ และจัดตั้งศูนย์เครื่องจักรกลการเกษตรของส่วนรวมให้บริการแก่เกษตรกรในราคาที่ต่ำกว่าท้องตลาด และปลายทาง เน้นให้ศูนย์กระจายสินค้าสหกรณ์เชื่อมโยงร้านค้าปลีก/ค้าส่ง การส่งออก และตลาด e-commerce

ทั้งนี้ สศก. ในฐานะหน่วยงานหลักของการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาโลจิสติกส์และโซ่อุปทานภาคการเกษตร พ.ศ. 2560 – 2564 ได้จัดทำแผนแม่บทฯ ภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอกประเทศ รวมถึงมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์เกษตรและสหกรณ์ระยะ 20 ปี และแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2560-2564) ซึ่งโครงการต่างๆ ภายใต้แผนแม่บททั้ง 105 โครงการ เป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ หน่วยงานภายนอก ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กระทรวงคมนาคม กระทรวงวิทยาศาสตร์ และกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนและพัฒนาโลจิสติกส์การเกษตร พัฒนากระบวนการส่งมอบสินค้าเกษตรที่ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับ ลดความสูญเสียและรักษาคุณภาพสินค้าเกษตรทั้งระหว่างขนส่งและเก็บรักษา เพื่อการส่งมอบที่รวดเร็วและมีต้นทุนโลจิสติกส์ที่เหมาะสม ให้ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศมีความเชื่อมั่นในสินค้าเกษตรไทย และเกิดความพึงพอใจสูงสุด

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ร้องกระทรวงพลังงาน คุย BOI ขอส่งเสริมลงทุนโรงงานก๊าซชีวภาพอัดลงถัง

เอกชนร้อง พพ.ช่วยคุยบีโอไอส่งเสริมลงทุนกิจการก๊าซชีวภาพอัดลงถัง กระตุ้นการลงทุน หลังรัฐชะลอรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนยิ่งทำการลงทุนเงียบเหงา ขณะที่น้ำเสียเกิดขึ้นทุกวันแต่ไม่สามารถผลักดันโครงการใหม่ได้เพราะลงทุนสูง จี้รัฐรับซื้อไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพเพื่อให้คุ้มค่าลงทุน

นายผจญ ศรีบุญเรือง นายกสมาคมผู้ค้าก๊าซชีวภาพไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เร็ว ๆ นี้ทางสมาคมจะทำหนังสือไปยังกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เพื่อให้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ให้มีการส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตก๊าซชีวภาพอัดลงถัง หรือ CBG ที่นำน้ำเสียจากโรงงานนำมาหมักตามกระบวนการ

ซึ่งเบื้องต้นบีโอไอได้ปฏิเสธที่จะส่งเสริมการลงทุนในกิจการดังกล่าว เนื่องจากรูปแบบของกิจการไม่ได้มีการพัฒนาหรือเป็นกิจการที่มีนวัตกรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งที่ในกระบวนการผลิตจะต้องมีการแยกก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ออกจากก๊าซมีเทน และที่สำคัญการลงทุนทำโรงงานผลิตก๊าซ CBG ต้องใช้เงินลงทุนสูงอย่างน้อยที่ 85 ล้านบาท หากจะให้คุ้มค่าลงทุนจะต้องได้รับการส่งเสริมลงทุน หรือนำก๊าซ CBG เข้าสู่การผลิตกระแสไฟฟ้าจึงจะคุ้มค่าการลงทุน

อย่างไรก็ตาม พพ.ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลและมีโครงการสนับสนุนภาคเอกชนมาอย่างต่อเนื่อง ควรมีการแก้ปัญหาในประเด็นดังกล่าว เนื่องจากกระบวนการผลิตจากโรงงานต่าง ๆ จะมีน้ำเสียเกิดขึ้นทุกวัน และก็ควรจะบำบัดหรือนำไปดำเนินการในรูปแบบอื่น ๆ เพื่อไม่ให้เกิดน้ำเสียสะสมหรือมีการลักลอบทิ้งในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่อีกด้วย ฉะนั้นควรผลักดันและส่งเสริมให้มีการนำน้ำเสียมาเข้าสู่กระบวนการผลิตเพื่อให้ได้ก๊าซชีวภาพและนำไปเป็นเชื้อเพลิงถือเป็นการใช้ศักยภาพด้านพลังงานของประเทศที่มีอยู่ และยังช่วยลดการนำเข้าพลังงานด้วย

“โรงงานที่มีน้ำเสียจากการผลิตก็กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ และยังไม่มีการพัฒนาศักยภาพที่มีอยู่ไปใช้ประโยชน์ เช่น เป็นพลังงาน เพราะยังไม่มีลูกค้ามากพอในกรณีที่นำก๊าซ CBG อัดลงถัง แล้วนำไปใช้กับหัวรถลาก ลงทุนไปก็ไม่คุ้มหากภาครัฐไม่ให้การสนับสนุน กำไรต่อหน่วยก็จะบางมาก จึงทำให้ไม่มีการลงทุนพัฒนาโครงการใหม่ ๆ เกิดขึ้นได้”

นายผจญ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ผู้ประกอบการในธุรกิจพลังงานทดแทนต้องการให้ ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ทบทวนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนใหม่ ภายหลังจากที่มีการประกาศอย่างไม่เป็นทางการว่าจะชะลอการรับซื้อไฟฟ้าออกไป ซึ่งทำให้ภาพรวมธุรกิจพลังงานทดแทนชะลอตัวลง และอาจจะส่งผลให้กระทรวงพลังงานไปถึงเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2558-2579 (Alternative Energy Development Plan : AEDP2015) ว่าจะต้องมีกำลังผลิตส่วนของก๊าซชีวภาพที่ 600 เมกะวัตต์ จากพลังงานแสงอาทิตย์ประมาณ 6,000 เมกะวัตต์ และจากชีวมวล 5,570 เมกะวัตต์ ฯลฯ ซึ่งอาจจะไปไม่ถึงเป้าหมายที่วางไว้

รายงานข่าวเพิ่มเติม ระบุว่า ขณะนี้กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลพลังงานทดแทนของแต่ละประเภทว่าเป็นอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านราคาที่ต้องการให้ปรับลดลงมาอยู่ที่ราคาต่ำกว่าประมาณ 2.40 บาท/หน่วยนั้น ภาคเอกชนมองว่าค่อนข้างดำเนินการลำบาก เนื่องจากต้นทุนต่าง ๆ ได้ปรับเพิ่มมากขึ้น โดยอัตราค่าไฟฟ้าดังกล่าวยังไม่รวมต้นทุนอื่น ๆ เช่น การลงทุนในระบบสายส่ง

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

‘สารเคมีเกษตร’ รู้มีพิษร้าย..แต่ไม่ง่ายที่จะเลิก

ไม่นานนี้ “แนวหน้า” เคยนำเสนอประเด็นสารเคมีกำจัดศัตรูพืช “ไกลโฟเซต-พาราควอด” (Glyphosate-Paraquat) ที่มีข้อถกเถียงกันว่า “ประเทศไทยควรห้ามใช้..หรือให้ใช้ได้ภายใต้การควบคุม หลังมีรายงานพบสารตกค้างในผลผลิตทางการเกษตรและในสิ่งแวดล้อม ในมุมของฝ่ายที่เชื่อว่าสารเคมีทั้ง 2 “หากใช้ถูกวิธีย่อมไม่เกิดอันตราย” อีกทั้ง “ถ้าไม่ให้ใช้ต้นทุนการเกษตรจะเพิ่มสูงมาก” พร้อมทั้งยกตัวอย่างบางประเทศที่เมื่อเลิกใช้แล้วไม่มีสารอื่นทดแทน ผลคือเกษตรกรเพาะปลูกยากขึ้น ส่งผลต่อความมั่นคงด้านอาหาร

สารเคมีเพื่อการเกษตร” อันตรายแน่..หรือแค่ใช้ไม่เป็น? : หน้า 13 นสพ.แนวหน้า ฉบับวันที่ 9 ม.ค. 2561, “ไกลโฟเซต*พาราควอด” “ห้าม-ปล่อย” ทางไหนก็กระทบ : หน้า 17 นสพ.แนวหน้า ฉบับวันที่ 16 พ.ค. 2561) ส่วนวันนี้ จะเป็นมุมมองของนักวิชาการที่ค้นพบ “อันตรายของไกลโฟเซต-พาราควอดต่อร่างกายมนุษย์” โดยเปิดเผยในเวทีวิชาการ “ข้อเท็จจริงทางวิชาการในการคุมสารเคมีอันตรายพาราควอด (Paraquat) ไกลโฟเซต (Glyphosate) และคลอร์ไพริฟอส (Chlorpyrifos)” ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑาผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ในสหรัฐอเมริกามีรายงานการค้นพบผู้ป่วยโรค“พาร์กินสัน” (Parkinson) จำนวนมากอย่างมีนัยสำคัญในพื้นที่ทำการเกษตร โดยเริ่มศึกษาตั้งแต่ปี 2517 ที่เริ่มมีมาตรการให้เกษตรกรผู้ใช้พาราควอดต้องขึ้นทะเบียน ด้วยการนำเกษตรกรกลุ่มดังกล่าวมาตรวจสอบรหัสพันธุกรรม และพบว่าหลายตัวมีความผิดปกติที่เกี่ยวพันพาราควอด รวมถึงสารเคมีอื่นๆ ที่ใช้ในการเกษตร

“พาราควอดสามารถเข้าทางเส้นเลือดที่จมูกได้ และเส้นเลือดที่จมูกเชื่อมกับสมองที่หน้าผาก จากที่หายใจละอองฝอยๆ เข้าไปทางปาก เข้าไปทางผิวหนังอ่อนเช่นง่ามขาง่ามก้น หรือบริเวณที่เป็นแผล มีรายงานว่าแค่มีแผลเล็กๆ ที่ผิวหนังแค่นั้นเอง นอกจากจะเกิดแผลที่ผิวหนังตรงนั้นแล้ว มันยังซึมเข้าเลือดไปทำลายปอด ทำให้ปอดอักเสบ ปอดมีเยื่อพังผืด และเสียชีวิตในที่สุด” นพ.ธีระวัฒน์ ระบุ

เช่นเดียวกับ รศ.ดร.จุฑามาศ สัตยวิวัฒน์ หัวหน้าห้องปฏิบัติการเภสัชวิทยา สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กล่าวถึงอันตรายของพาราควอดต่อระบบหายใจของมนุษย์ว่า เมื่อพาราควอดเข้าไปอยู่ในปอดก็จะสร้าง “อนุมูลอิสระ” ต้นเหตุของการเกิดเซลล์มะเร็ง ส่วนความเป็นพิษเฉียบพลันคือทำให้เกิดพังผืดในปอด ผู้ได้รับสารพิษจะหายใจไม่สะดวก ขาดออกซิเจน

“เรามักจะพูดกันว่าพาราควอดมีประโยชน์เรื่องเพิ่มผลผลิต แต่การควบคุมการใช้ค่อนข้างยาก ก็อยากจะฝากถึงเกษตรกรของบ้านเราที่อาจจะไม่ได้ทราบถึงพิษภัยของพาราควอดว่าถ้ามันเข้าไปในร่างกายแล้วจะเกิดอะไรขึ้น” หัวหน้าห้องปฏิบัติการเภสัชวิทยา สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กล่าว

จากทฤษฎีในห้องปฏิบัติการสู่พื้นที่จริง ศ.ดร.พรพิมล กองทิพย์ อาจารย์ภาควิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงผลการศึกษา “ครอบครัวเกษตรกร” กับการปนเปื้อนสารเคมีในเลือดพบว่า “หญิงตั้งครรภ์ที่อยู่ในแปลงเกษตรแม้ไม่ได้เป็นผู้ฉีดพ่นพาราควอดเองแต่ก็ได้รับสารเคมีด้วย” เช่นเดียวกับกรณีของคลอร์ไพริฟอสที่เป็นสารกำจัดแมลง (ไกลโฟเซตกับพาราควอดเป็นสารกำจัดวัชพืช) จากที่เคยสำรวจในจังหวัดหนึ่งทางภาคใต้ที่ทำนาข้าว พบปริมาณคลอร์ไพริฟอสในอากาศสูงกว่าค่ามาตรฐานในบางจุด และร้อยละ 90 ของเกษตรกรพบสารคลอร์ไพริฟอสในเลือด

“บ้านเรารณรงค์ให้แม่เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมของตัวเอง เราก็ไปขอเก็บตัวอย่างน้ำนม ปรากฏว่า 51 ตัวอย่าง พบคลอร์ไพริฟอส 21 ตัวอย่าง พอเด็กเกิดมารับประทานน้ำนม พบคลอร์ไพริฟอสเกินเอดีไอ (Acceptable Daily Intake : ADI) จำนวนที่บริโภคได้ต่อวัน) ไป 4.8 เปอร์เซ็นต์ อีไทออน (Ethion) เกินไปร้อยละ 76.2 ส่วนไกลโฟเซตพบว่าส่งผ่านมารดาไปถึงทารกได้ ผลตรวจซีรัมมารดาพบไกลโฟเซต 54 เปอร์เซ็นต์ ในสายสะดือทารก 49 เปอร์เซ็นต์ และถ้าเป็นเกษตรกร การตรวจพบไกลโฟเซตจะสูงกว่าผู้ที่ไม่ได้เป็นเกษตรกรถึง 11.9” อาจารย์พรพิมล กล่าว

ขณะที่ ผศ.ดร.นพดล กิตมะหัวหน้าภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าถึงการสำรวจ น่าน 1 ในจังหวัดที่ใช้สารเคมีเกษตรอย่างหนัก พบการปนเปื้อนของสารกำจัดศัตรูพืช แอทราซิน (Atrazine) ในแหล่งน้ำตั้งแต่ในนาจนถึงแม่น้ำน่าน และพบความผิดปกติของสัตว์ เช่นกบหนอง กลุ่มที่อยู่ในพื้นที่ปนเปื้อนสารเคมีมากน้ำหนักตัวจะเบากว่ากลุ่มที่อยู่ในพื้นที่ปนเปื้อนสารเคมีน้อยหรือไม่มีการใช้สารเคมี มีการเจริญของรังไข่ทั้งที่ไม่ใช่ฤดูสืบพันธุ์ และภูมิคุ้มกันลด

หรือ ปูนา น้ำหนักตัวของกลุ่มที่อยู่ในพื้นที่ปนเปื้อนสารเคมีค่อนข้างน้อยเช่นกัน ลักษณะของก้ามและกระดองท้องผิดปกติ ซึ่งแม้จะเป็นข้อค้นพบเฉพาะในสัตว์ยังไม่มีผลตรวจในมนุษย์ แต่ก็เป็นเรื่องน่าห่วงหรือไม่?เช่น การทำ “น้ำปู” อาหารขึ้นชื่อชนิดหนึ่งทางภาคเหนือของไทย ซึ่งพาราควอดต้องใช้ความร้อนถึง 300 องศาเซลเซียสถึงจะสลายไป แต่การทำน้ำปูคงไม่ได้ใช้ความร้อนสูงขนาดนั้น

“สารเคมีเกษตรอาจไม่ใช่ทางปฏิบัติเพียงอย่างเดียว มีกรณีศึกษาที่น่าสนใจ มีแปลงหนึ่งที่ไม่ใช้สารเคมีเลย ปลูกพืชเหมือนเดิม แต่ได้ผลผลิต 2 เท่าของนาทั่วไป แต่วิธีกำจัดวัชพืชของเขาคือใช้แรงงาน ต้องดายหญ้าถางหญ้า ไถพลิกให้ดินโดนแดด แล้วทำไมเกษตรกรอื่นๆเห็นตัวอย่างจากบ้านนี้แล้วไม่ทำตาม?มีปัจจัยหลายอย่าง แต่อย่างหนึ่งที่พบคือแปลงนี้ทำได้ผลผลิตมากกว่าแปลงอื่น 2 เท่า ไม่ใช้สารเคมี ก็คือทำนาครั้งเดียวต่อปี เวลาที่เหลือให้ดินได้พัก ให้สุขภาพได้พัก แต่มันก็มีมุมมองว่าอยู่เฉยๆ ครึ่งปี หนี้สินมาเรื่อยๆ จะทำอย่างไร” อาจารย์นภดล ยกตัวอย่าง

ด้าน รศ.ดร.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล ผู้อำนวยการสถานวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการด้านวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ฝากข้อคิดว่า หลายคนอาจมอง “เกษตรอินทรีย์มีต้นทุนสูงกว่าเกษตรเคมี” แต่อยากให้คิดในแง่ “ต้นทุนสารเคมีที่ใช้” ที่เอาจริงๆ ค่าใช้จ่ายอาจจะ “สูงกว่า” ด้วยความที่เกษตรกรไทยมักนิยม “ใช้ในปริมาณเยอะกว่าที่กำหนดไปมาก เฉลี่ย 6-8 เท่า” และจริงๆ เกษตรอินทรีย์ที่ประสบความสำเร็จมีมากมาย แต่ไม่ค่อยได้รับการเผยแพร่หรือส่งเสริมในวงกว้าง

“หลายพื้นที่ไม่ใช้สารเคมีแต่เขามีเทคนิคคลุมวัชพืช เขาทำได้อย่างไร? อันนี้เป็นเทคนิคที่ควรนำมาเผยแพร่ ต้องฝากทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ด้วย” อาจารย์พวงรัตน์ ฝากข้อคิด

ในเบื้องต้นคงต้องลุ้นวันที่ 23 พ.ค. 2561 ซึ่งจะมีการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ว่าจะมีมติกับสารเคมีเกษตร 3 ชนิด คือพาราควอดไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอสอย่างไร? จะห้ามใช้เด็ดขาดหรือใช้ภายใต้มาตรการคุมเข้ม? แต่ระยะยาวหากมุ่งประโยชน์ด้านสุขภาพทั้งผู้บริโภคอาหารรวมถึงเกษตรกรและครอบครัว

ภาคเกษตรไทยคงต้อง “ปรับทั้งระบบ” และภาครัฐทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องเข้ามาช่วยเกษตรกรในระยะเปลี่ยนผ่านอย่างจริงจัง!!!

จาก www.naewna.com วันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

นายกฯนัดประชุมคกก.ทรัพยากรน้ำแห่งชาติ

ความเคลื่อนไหวที่ทำเนียบรัฐบาลในช่วงเช้าวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เดินทางเข้ามายังตึกไทยคู่ฟ้าเพื่อปฏิบัติงานตามปกติ โดยช่วงเช้านี้นายกรัฐมนตรีไม่มีวาระงานหรือการประชุมใดเป็นพิเศษ ขณะที่ในช่วงบ่ายเวลา 13.30 น. นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ณ ตึกภักดีบดินทร์ ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยคาดว่าในการประชุมดังกล่าวจะมีการเสนอแผนรองรับการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำหลาก ปี 2561 จากหน่วยงานต่างๆ ซึ่งพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ได้มีการสั่งการในที่ประชุมคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาให้ทุกหน่วยงานจัดทำแผนให้แล้วเสร็จภายในเดือนนี้ โดยเบื้องต้นได้พบพื้นที่เสี่ยงเกิดอุทกภัยตามอิทธิพลของมรสุมในช่วงเดือนต่างๆ เดือนมิ.ย.ในพื้นที่ จ.น่าน แพร่ เพชรบูรณ์ ปราจีนบุรี จันทบุรี พังงา เดือนมิ.ย.- ก.ค.ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ อุบลราชธานี เดือนก.ค.- ส.ค. ในพื้นที่ ลำปาง พิษณุโลก เดือนส.ค.-ก.ย. ในพื้นที่ แพร่ สุโขทัย นครสวรรค์ อุทัยธานี เดือนก.ย.- ต.ค.ในพื้นที่ แพร่ สุโขทัย ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง อยุธยา เดือนต.ค.-พ.ย.ในพื้นที่ ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพฯ สงขลา และเดือนพ.ย.-ธ.ค. ในพื้นที่ สงขลา นครศรีธรรมราช

นอกจากนี้ในวันเดียวกันเวลา 19.15 น. นายกรัฐมนตรีจะเป็นเจ้าภาพงานเลี้ยงละศีลอด เดือนรอมฎอน ปี ฮ.ศ. 1439 ณ ตึกสันติไมตรี ส่วนความเคลื่อนไหวอื่นๆ ภายในทำเนียบรัฐบาลนั้น รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่ไม่มีภารกิจภายนอกได้เดินทางเข้าปฏิบัติงานที่ทำเนียบรัฐบาลตามปกติโดยเวลา 09.30 น. นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 และในช่วงบ่ายเวลา 14.00 น. นายวิษณุ เครืองาม

รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฏหมาย จะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ครั้งที่ 3/2561 ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล

จาก https://www.innnews.co.th  วันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

รมช.กษ.เรียกถกคกก.ชุดเฉพาะกิจฯแก้หนี้สินเกษตรกร25พ.ค.นี้

รมช.เกษตร หนี้สินเกษตรกร กองทุนฟื้นฟู รัฐบาล หนี้ ช่วยเหลือเกษตรกร

นายลักษณ์ วจนานวัช รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า วันที่ 25 พ.ค.นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการชุดเฉพาะกิจการแก้ไขปัญหาหนี้สินของสมาชิกในกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) ที่กระทรวงเกษตรฯ เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับหนี้สินที่มีอยู่ ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา ตีความไม่ให้ กฟก.ซื้อหนี้ที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยเป็นของเกษตรกร จำนวนกว่า 80,000 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อยที่เป็นสมาชิกของ ธ.ก.ส.ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา 9,000 ราย เหลือประมาณ 75,000 ราย ที่อยู่นอกเกณฑ์

ทั้งนี้ เบื้องต้นจะต้องมีการหารือกับเกษตรกรเจ้าของหนี้เพื่อทำความเข้าใจและแก้ปัญหา ขณะที่กระทรวงเกษตรฯต้องการหารือกับ ธ.ก.ส.เพื่อกำหนดมาตรการช่วยเหลืออื่นที่เป็นประโยชน์ใกล้เคียงกับแนวทางการซื้อหนี้คืนของ กฟก.โดยสมาชิกต้องการตัดหนี้สูญเงินต้นบางส่วน หลังจากนั้นจะมีการเจรจากับสถาบันการเงินอื่นๆ เพิ่มเติม โดยหากได้ข้อสรุปในแนวทางแก้ไขปัญหาจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ

จาก www.naewna.com วันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ยกระดับภาคเกษตรไทยสู่ยุค5G!!! MOU เดินหน้าพัฒนาด้านวิชาการทางการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ลงนามความร่วมมือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เดินหน้าพัฒนาขีดความสามารถด้านวิชาการทางการเกษตร เตรียมพร้อมสู่ยุค 5G รุกพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรม ติวเข้มเสริมศักยภาพบุคลากร มีความแม่นยำข้อมูล สร้างความเชื่อมั่น พร้อมก้าวทันการเปลี่ยนแปลง

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) พร้อมด้วยดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถด้านวิชาการทางการเกษตร ณ อาคารสารสนเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาตร์ วิทยาเขตบางเขต กรุงเทพฯ

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กล่าวว่า การลงนาม MOU ครั้งนี้ เป็นความร่วมมือด้านวิชาการเพื่อพัฒนาขีดความสามารถด้านวิชาการในการวิเคราะห์ วิจัย และการพยากรณ์ทางการเกษตร และร่วมกันสร้างผลงานทางวิชาการระหว่างบุคลากรของทั้งสองหน่วยงานให้มากยิ่งขึ้นเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในยุคการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยเข้ามาใช้ และเป็นการเตรียมพร้อมการเข้าสู่ยุค 5G ในปี 2563 ที่จะมาถึง ทั้งนี้ ที่ผ่านมา สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้มีความร่วมมือกับทางคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มาโดยตลอด โดยเฉพาะการจัดตั้งศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร (KU - OAE Foresight Center : KOFC) ร่วมกันตั้งแต่ปี 2553 เพื่อเป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ วิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจการเกษตร สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางการเกษตรที่มีผลต่อเศรษฐกิจการเกษตรของประเทศไทย การประเมินผลกระทบ และเผยแพร่ผลการวิเคราะห์และพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร

ด้าน ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ความร่วมมือกันดังกล่าว นับเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันของนักวิชาการและบุคลากรทั้ง 2 หน่วยงาน ขยายความร่วมมือให้มากขึ้นกับทางภาควิชาต่างๆ ในทุกคณะที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในส่วนของทางมหาวิทยาลัย พร้อมที่จะให้การสนับสนุน ให้ความร่วมมือและให้คำปรึกษา พัฒนาทักษะด้านวิชาการและการใช้เครื่องมือเพื่อการวิเคราะห์วิจัยและการพยากรณ์ทางการเกษตรแก่นักวิชาการของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรอย่างเต็มที่จากคณาจารย์และบุคลากรผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ สถิติ พืช ปศุสัตว์ ประมง อุตสาหกรรมเกษตร เป็นต้น รวมทั้งการสนับสนุนนักวิชาการและบุคลากรของหน่วยงานในการเข้าร่วมประชุมสัมมนาทางวิชาการที่จัดขึ้น เพื่อเพิ่มพูนศักยภาพและความสามารถทางด้านวิชาการ

ขณะที่ นางสาวทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กล่าวว่า สศก. จะให้การสนับสนุนข้อมูลด้านเศรษฐกิจการเกษตร เพื่อเพิ่มพูนศักยภาพและความสามารถทางด้านวิชาการ และความร่วมมือในการฝึกประสบการณ์การทำงานในส่วนที่เกี่ยวข้องแก่นักศึกษาของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน สภาวะการผลิตภาคเกษตรของประเทศไทยซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ความไม่แน่นอนของสภาพภูมิอากาศ และความผันผวนทางเศรษฐกิจที่จะต้องสื่อสารให้เกษตรกรต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์อยู่เสมอ ซึ่งเกษตรกรเองก็ต้องปรับตัวให้ก้าวทันการใช้ข้อมูลและองค์ความรู้ที่มีมากขึ้นอย่างรวดเร็ว การใช้ Big Data และเทคโนโลยี นวัตกรรมต่างๆ จึงมีความสำคัญ

“ดังนั้น เชื่อมั่นว่า ความร่วมมือทางวิชาการของทั้งสองหน่วยงานในครั้งนี้ จะเป็นอีกก้าวสำคัญในการพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและประสิทธิภาพเจ้าหน้าที่และนักวิชาการของทั้ง 2 หน่วยงาน ในการศึกษาวิเคราะห์และวิจัยด้านการเกษตรต่าง ๆ นำไปสู่การจัดทำข้อมูล การวิเคราะห์ วิจัย ที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร สถาบันเกษตรกร ตลอดจนเป็นประโยชน์ในการวางแผนและกำหนดทิศทางการพัฒนาการเกษตรของไทยให้มีความเจริญก้าวหน้า พร้อมทันการเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุค 5G อย่างเต็มตัว”รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กล่าว

จาก https://siamrath.co.th  วันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ธ.ก.ส. Kick off “เกษตรประชารัฐ”ลดต้นทุนการผลิต

ธ.ก.ส. Kick off มาตรการเกษตรประชารัฐ เพื่อลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร พร้อมเปิดตัว “บัตรเกษตรสุขใจ”  วงเงินรายละไม่เกิน 30,000 บาท เป้าหมายช่วยเหลือเกษตรกรทั่วประเทศ 3 ล้านราย นำไปซื้อปัจจัยการผลิตที่มีมาตรฐาน ราคาเป็นธรรม และสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายสังคมไร้เงินสดของภาครัฐ

นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดโครงการขับเคลื่อนมาตรการเกษตรประชารัฐ เพื่อลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร   ในพื้นที่เข้าร่วมกิจกรรม ณ สหกรณ์การเกษตรคลองเขื่อน จำกัด อ.คลองเขื่อน จ.ฉะเชิงเทรา

 นายลักษณ์ กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และธ.ก.ส. ดำเนินมาตรการเกษตรประชารัฐ เพื่อลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร 2 โครงการ วงเงิน 93,600 ล้านบาท ประกอบด้วยโครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อลดต้นทุนปัจจัยการผลิตให้แก่เกษตรกร  ซึ่งดำเนินการในรูปแบบบัตรสวัสดิการสินเชื่อแห่งรัฐ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อปัจจัยการผลิตผ่านร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ เป้าหมายเกษตรกร 3 ล้านราย รายละไม่เกิน 30,000 บาท วงเงินสินเชื่อรวม 90,000 ล้านบาทอัตราดอกเบี้ย MRR-3 ต่อปี (ปัจจุบัน MRR เท่ากับร้อยละ 7 ต่อปี)

และโครงการสนับสนุนการผลิตหรือจัดหาปุ๋ยสั่งตัดผ่านสถาบันเกษตรกร เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนให้แก่สถาบันเกษตรกรในการผลิตหรือจัดหาปุ๋ยสั่งตัดเพื่อจำหน่ายให้แก่สมาชิกของสถาบันเกษตรกรและเกษตรกรทั่วไป เป้าหมายสถาบันเกษตรกร  500 แห่ง วงเงินสินเชื่อ 3,600 ล้านบาท ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตรและกลุ่มเกษตรกร 300 แห่ง วงเงินกู้แห่งละไม่เกิน 10 ล้านบาท ตามศักยภาพและความจำเป็นในการใช้เงินกู้ และวิสาหกิจชุมชน 200 แห่ง วงเงินกู้แห่งละไม่เกิน 3 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยMLR-3 ต่อปี (ปัจจุบัน MLR เท่ากับร้อยละ 5 ต่อปี)  โดยทั้ง 2 โครงการมีระยะเวลาในการจ่ายเงินกู้ตั้งแต่วันที่ 1  พฤษภาคม 2561 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2562 กำหนดชำระหนี้คืนไม่เกิน 12 เดือน และไม่เกินวันที่ 30 เมษายน 2563 ทั้งนี้กระทรวงเกษตรฯจะสนับสนุนการให้ความรู้ ในการใช้ปัจจัยการผลิต ที่เหมาะสมแก่เกษตรกรด้วย

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า ธ.ก.ส. ได้จัดทำ “บัตรเกษตรสุขใจ” ซึ่งเป็นบัตรที่มี QR Code  โดยเกษตรกรสามารถนำบัตรดังกล่าวไปใช้จ่ายเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต ได้แก่ ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช เมล็ดพันธุ์ น้ำมันเชื้อเพลิง เครื่องจักรกลหรือเครื่องมือการเกษตรขนาดเล็ก และปัจจัยอื่นๆ ที่จำเป็น ได้แก่ ข้าวสาร ผ่านแอปพลิเคชั่น ธ.ก.ส. A-Shop กับร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการกว่า 17,000 ร้านค้าทั่วประเทศ  และร้าน Q-Shop ที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมวิชาการเกษตร ทั้งนี้ บัตรแต่ละใบมีวงเงินกู้สูงสุดไม่เกินรายละ 30,000 บาท

“บัตรเกษตรสุขใจมีความสะดวกปลอดภัย  ช่วยลดต้นทุนเรื่องอัตราดอกเบี้ย ทำให้เกษตรกรมีรายได้สุทธิเพิ่มขึ้น รวมถึงสามารถเข้าถึงปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ในราคาที่เป็นธรรมจากร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ และยังเป็นการสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายสังคมไร้เงินสดของภาครัฐ  โดยเริ่มแจกจ่ายบัตรเกษตรสุขใจที่สหกรณ์การเกษตรคลองเขื่อน อ.คลองเขื่อน จ.ฉะเชิงเทรา จำนวน 236 ใบ คาดว่าเกษตรกรจะได้รับประโยชน์จากการใช้บัตรเป็นส่วนลดสินค้า ช่วยลดต้นทุนให้กับเกษตรกร ประมาณ 4,831 ล้านบาท”ผู้จัดการ ธ.ก.ส.กล่าว

จาก www.tnamcot.com   วันที่ 19 พฤษภาคม 2561

คาดเงินบาทสัปดาห์หน้าเคลื่อนไหว 32.00-32.40

 กสิกรไทย คาดเงินบาทสัปดาห์หน้าเคลื่อนไหว 32.00-32.40 จับตาข้อมูลการส่งออกเดือนเม.ย.ของไทย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปความเคลื่อนไหวของเงินบาททยอยอ่อนค่าลง ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ได้รับแรงหนุนจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ ข้อมูลผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และผลสำรวจกิจกรรมการผลิตของเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย ที่เพิ่มขึ้นมากกว่าตัวเลขคาดการณ์ของตลาด และจากการปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ซึ่งทำสถิติสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2554 ที่ระดับ นอกจากนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทในช่วงปลายสัปดาห์ ยังเป็นทิศทางที่สอดคล้องกับสถานะขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติด้วยเช่นกัน ในวันศุกร์ (18 พ.ค.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 32.19 เทียบกับ 31.85 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (11 พ.ค.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (21-25 พ.ค.) ธนาคารกสิกรไทย ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 32.00-32.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยจุดสนใจของตลาดในประเทศน่าจะอยู่ที่ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/2561 และข้อมูลการส่งออกเดือนเม.ย. ของไทย ขณะที่ ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI เบื้องต้นสำหรับเดือนพ.ค. ยอดขายบ้านใหม่ ยอดขายบ้านมือสอง ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนเม.ย. นอกจากนี้ นักลงทุนอาจรอติดตามถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด รายงานการประชุมเฟดเมื่อช่วงต้นเดือนพ.ค. สถานการณ์การเมืองในอิตาลี ความคืบหน้าในการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ตลอดจนข้อมูล PMI ของประเทศชั้นนำอื่นๆ อาทิ ยูโรโซน และญี่ปุ่น

จาก www.bangkokbiznews.com  วันที่ 19 พฤษภาคม 2561

FTA หนุนการค้าไทย-อินเดียขยายตัว30%

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงภาวะการค้าไทยกับอินเดียในปัจจุบัน ว่า ในช่วงที่ผ่านมามีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2560 มูลค่าการค้ารวมระหว่างไทยกับอินเดียอยู่ที่ 10,385 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 34 และในช่วง2เดือนแรกของปี 2561 มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับอินเดีย อยู่ที่ 2,024 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 31 โดยไทยส่งออกไปอินเดีย 1,286 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้า 737 ล้านเหรียญสหรัฐ

และจากการติดตามข้อมูลการใช้สิทธิประโยชน์ FTA พบว่า ความตกลงการค้าเสรีไทย – อินเดีย ซึ่ง ปัจจุบันมีการยกเลิกภาษีนำเข้าสินค้าระหว่างกัน 83 รายการ เช่น ในสินค้า เงาะ ลำไย มังคุด ทุเรียน องุ่น ข้าวสาลี อาหารทะเลกระป๋อง อัญมณีและเครื่องประดับ ไทยมีการส่งออกไปอินเดียโดยใช้สิทธิภายใต้ FTA ไทย–อินเดีย ในช่วง2เดือนแรกของปีนี้ ที่ 114 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ กว่าร้อยละ 56 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ได้รับสิทธิ

โดย อินเดียเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายตามแผนดำเนินการตามนโยบายยุทธศาสตร์หุ้นส่วนเศรษฐกิจ (Strategic Partnership) ของกระทรวงพาณิชย์ เนื่องจากอินเดียเป็นตลาดใหม่ที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการไทย และเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงด้วยขนาดของตลาด จำนวนประชากรกว่า 1,300 ล้านคน และมีรัฐถึง 29 รัฐ ที่มีการบริโภคและความต้องการสินค้าและบริการที่แตกต่างกันไปในแต่ละรัฐ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจึงขอเชิญชวนผู้ประกอบการไทย เร่งใช้สิทธิ FTA ส่งออก – นำเข้า มากขึ้น และแสวงหาโอกาสจากตลาดอินเดีย โดยเฉพาะการส่งออกผลไม้ไทย เช่น ทุเรียน และลำไย เพิ่มเติมจากตลาดเดิมในอาเซียน หรือจีน เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ของผู้ส่งออกไทย

จาก https://www.innnews.co.th  วันที่ 19 พฤษภาคม 2561

เล็งตั้งกองทุน 2 แสนล้าน ช่วยเกษตรกรหลัง 4 ปี รัฐทุ่มเงินอุ้ม 4.66 แสนล้าน

นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เตรียมหารือกับข้าราชการกระทรวงเกษตรฯ และเกษตรกรทั่วประเทศ เพื่อจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือเกษตรกร ภายใต้ทุนประเดิม 2 แสนล้านบาท เพราะในช่วง 4 ปี (ปี 2557-60) ไทยมีการอุดหนุนเกษตรกรเป็นจำนวนมหาศาล สูงถึง 4.66 แสนล้านบาท ไม่รวมกรอบวงเงินกู้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่ให้ความเห็นชอบ ระยะเวลาตั้งแต่ปี 2557-2565 เป็นเงินทั้งสิ้น 402,516.04 ล้านบาท

โดยกองทุนฯ นี้จะใช้อุดหนุนภาคเกษตรในรูปแบบต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาให้เกษตรกรทุกสาขา อย่างยั่งยืนมีประสิทธิภาพ โดยออกเป็นกฎหมายหรือระเบียบกำหนดให้กองทุนฯ เป็นกลไกช่วยเหลือเกษตรกรที่ต้องการหลักประกัน หรือความคุ้มครองในการประกอบอาชีพทางการเกษตรจะต้องปฎิบัติตามเงื่อนไขคำแนะนำหรือข้อกำหนด

ทั้งนี้ เกษตรกรที่จะได้รับความคุ้มครองจากกองทุนฯ ต้องปลูกพืช ทำการปศุสัตว์ หรือทำการประมงตามแผนการผลิตที่กระทรวงเกษตรฯ หรือหน่วยงานรัฐกำหนดเป็นพื้นที่ ชนิด ประเภท หรือตามจำนวนแผนที่การผลิต หรือตามคุณสมบัติของพื้นที่ (Zoning by Agri-Map) หรือตามความต้องการของตลาด หรือต้องมารวมกลุ่มทำการเกษตรแปลงใหญ่ หรือต้องเป็นสมาชิกสหกรณ์การเกษตรหรือสมาชิกสถาบันเกษตรกรที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล หรือต้องลดการใช้สารเคมีในการทำการเกษตร เป็นต้น

นายกฤษฎา กล่าวว่า การบริหารจัดการกองทุนฯ นี้ จะดำเนินการพร้อมกับการวางแผนการผลิต ให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกหรือความต้องการของตลาด (Demamnd) สามารถแก้ไขปัญหาผลผลิตล้นตลาด (Over Supply) และควบคุมคุณภาพผลผลิตได้ รวมทั้งให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการกองทุนฯ ขึ้นมาทำหน้าที่วางมาตรรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตรเหมือนกับการที่ธปท. มีวิธีการดูแลรักษาค่าเงินบาท หรือการรักษาราคาอ้อยและน้ำตาลตามกฎหมายอ้อยและน้ำตาล เป็นต้น หากเกษตรกรรายใดที่เป็นสมาชิกกองทุนฯ ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อกำหนดดังกล่าวข้างต้น จะไม่ได้รับการช่วยเหลือคุ้มครองจากกองทุนฯ

จาก https://www.khaosod.co.th   วันที่ 19 พฤษภาคม 2561

ชาวยโสธรบุกกรุงฯ ร้องรัฐบาลฉีกใบอนุญาตโรงงานน้ำตาลทราย

กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายฯ ยโสธร บุกทำเนียบฯ ยื่นแถลงการณ์ขอรัฐบาลยกเลิกการขอใบอนุญาตโรงงานน้ำตาลทราย 2 หมื่นตันอ้อย/วัน โวยไม่ได้ทำอีไอเอตามขั้นตอนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่แท้จริง

 วันที่ 18 พ.ค. ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์รัฐบาล ข้างทำเนียบรัฐบาล กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร นำโดย นางมะลิจิตร เอกตาแสง พร้อมชาวบ้านประมาณ 12 คน มายื่นหนังสือเรียกร้องรัฐบาล กรณีได้รับผลกระทบจากโรงงานน้ำตาล โดยยื่นแถลงการณ์ขอให้พิจารณาทบทวนยกเลิกการขอใบอนุญาตโรงงาน  ของโครงการโรงงานน้ำตาลทราย ขนาด 20,000 ตันอ้อย/วันของบริษัท น้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด ตั้งอยู่ที่ตำบลน้ำปลีก อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ

ตามที่บริษัท น้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด ตั้งอยู่ที่ตำบลน้ำปลีก อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ ได้เสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านอุตสาหกรรมและระบบสาธารณูปโภคโครงการโรงงานน้ำตาลของบริษัทฯ ซึ่งจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยบริษัท คอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด เสนอให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ดำเนินการตามขั้นตอนการพิจารณารายงานฯ โดยมีขนาดโครงการทั้งหมด 716 ไร่ 2 งาน 37 ตารางวา มีกำลังการผลิต 20,000 ตันอ้อย/วัน ผลิตภัณฑ์ที่ได้เป็นน้ำตาลดิบ ปริมาณ 302,520 ตัน/ปี คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ และเจ้าหน้าที่ สผ. ได้ลงตรวจสอบพื้นที่เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2560 และเสนอให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ ในการประชุมครั้งที่ 26/2560 เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2560 มีมติไม่ให้ความเห็นชอบรายงานฯ โดยให้โครงการแก้ไขเพิ่มเติมตามแนวทางหรือรายละเอียดที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ กำหนด

ช่วงต่อมา สผ. ได้รับรายงานฉบับชี้แจงเพิ่มเติม เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2560 และคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ ในการประชุมครั้งที่ 42/2560 เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2560 ซึ่งคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ มีมติไม่เห็นชอบรายงานฯ และให้แก้ไขเพิ่มเติมตามแนวทางหรือรายละเอียดที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ กำหนด นับว่าสิ้นสุดกระบวนการพิจารณารายงานฯ ต่อมาโครงการได้เสนอรายงานฯ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2561 โดยมีเนื้อหาขอลดขนาดพื้นที่โครงการ เป็น 702 ไร่ 2 งาน 53.77 ตารางวา คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ เจ้าที่ สผ. ได้ตรวจสอบพื้นที่เมื่อวันที่ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2561 ซึ่งฝ่ายเลขานุการได้พิจารณารายงานดังกล่าวแล้วมีความเห็นเบื้องต้นให้แก้ไขเพิ่มเติมในประเด็นการจัดการน้ำ รายละเอียดของโครงการและการใช้ประโยชน์ที่ดิน การคมนาคม การมีส่วนร่วมของประชาชน พื้นที่สีเขียว และมาตรการฯ กระทั่งวันที่ 14 มีนาคม 2561 ทางคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ ได้มีการพิจารณา และมีมติเห็นชอบกับรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (ครั้งที่ 11/2561) ตลอดจนเปิดโอกาสให้ทางบริษัทที่ปรึกษากลับไปทำรายงานฉบับสมบูรณ์ และในปัจจุบันทางบริษัทกำลังดำเนินขั้นตอนในการขอใบอนุญาต รง.4

ทางกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร ซึ่งเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มีพื้นที่อยู่อาศัยภายในรัศมี 5 กิโลเมตร รวมทั้งชุมชนอื่นๆ อีกมากมายที่พึ่งพิงลำเซบายเป็นหลัก ถือว่าใกล้พื้นที่จะเกิดโรงงานน้ำตาล การมีวิถีชีวิตที่พึ่งพิงทรัพยากรจากดิน ลำน้ำเซบาย ป่าชุมชน ป่าบุ่งป่าทาม ทำให้ชุมชนเกิดความตระหนักที่จะมีโรงงานใกล้ชุมชนและทรัพยากรที่ชุมชนได้อาศัยอันจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อวิถีของชุมชน ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจฐานรากที่หาได้จากทรัพยากร วัฒนธรรม และอื่นๆ

โดยทางกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย จึงขอคัดค้านมติให้ความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมดังกล่าวของ คชก. โดยทางกลุ่มขอเรียนยืนยันตามข้อมูลข้อเท็จจริงและเหตุผล รวมถึงข้อคิดเห็นท้วงติงและข้อคัดค้านของหน่วยงานองค์กรและนักวิชาการต่างๆ เกี่ยวกับเหตุความไม่ถูกต้องเหมาะสมของโครงการ ซึ่งได้เคยยื่นส่งเป็นเอกสารและส่งตัวแทนเข้าร่วมชี้แจงในการประชุมพิจารณารายงาน EIA ของ คชก. แล้ว โดยกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ขอเรียนเน้นย้ำถึงเหตุผลข้อคัดค้านอันเป็นสาระสำคัญถึงความไม่ถูกต้องเหมาะสมของโครงการและยังมีข้อขัดแย้งทางข้อมูลต่อพื้นที่ ดังนี้

ประเด็นที่ 1 กระบวนการไม่มีส่วนร่วมของชุมชน การมีส่วนร่วมของของชุมชนถือว่าเป็นกระบวนการหลักถ้ามีโครงการหรือโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่จะเกิดขึ้น ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี พ.ศ. 2550 มาตรา 67 ที่ผ่านมา ระบุถึง “การให้สิทธิแก่ชุมชน” ไว้ว่า “สิทธิ ของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชน ในการอนุรักษ์ บำรุงรักษา และการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และในการคุ้มครองส่งเสริม และรักษาคุณภาพ สิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อม ที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ อนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตน ย่อมได้รับความคุ้มครองตามความเหมาะสม” และปัจจุบันตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี พ.ศ. 2560 มาตรา ตามมาตรา 57 (1) รัฐต้องอนุรักษ์ ฟื้นฟู และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณีอันดีงาม จัดให้มีพื้นที่สาธารณะสำหรับการทำกิจกรรม โดยต้องส่งเสริมให้ประชาชน ชุมชน และองค์กรท้องถิ่น  มีส่วนร่วมด้วย ตามมาตรา 57 (2) รัฐต้องอนุรักษ์ คุ้มครอง บำรุงรักษา ฟื้นฟู ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวิตภาพ โดยต้องให้ประชาชน และชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมดำเนินการและได้รับประโยชน์ด้วย และตามมาตรา 78 รัฐต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศด้านต่างๆ การจัดทำบริการสาธารณะ การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ การต่อต้านการทุจริต รวมทั้งการตัดสินใจทางการเมือง และการอื่นๆ ที่อาจมีผลกระทบต่อประชาชน

ฉะนั้นทำให้กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง วิเคราะห์ว่า บริษัทที่ปรึกษาซึ่งทำ EIA ของโรงงงานน้ำตาล ไม่ได้ทำตามขั้นตอนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่แท้จริง โดยเฉพาะ 1. การมีส่วนร่วมทั้งในเรื่องการให้ข้อมูลข่าวสารของโรงงานน้ำตาล จะต้องให้ข้อมูลทั้งสองด้านคือด้านลบและด้านบวก เพื่อให้คนในพื้นที่และระดับนักวิชาการได้ร่วมพิจารณาตั้งแต่เริ่มต้นที่จะมีการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมว่าจะเหมาะสมกับพื้นที่หรือไม่ เนื่องจากการให้ข้อมูลที่ครบถ้วนจะทำให้ชุมชนได้มีโอกาสในการไตร่ตรองข้อมูล ก่อนตัดสินใจ ซึ่งที่ผ่านมากระบวนการมีส่วนร่วมในการจัดเวที ได้ติดตามกระบวนการชี้แจงการดำเนินโครงการ ในเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้ง

จาก www.banmuang.co.th    วันที่ 18 พฤษภาคม 2561

ลุ้น 23 พ.ค. หากผลแบน “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส-ไกลโฟเซต” ม็อบรถบรรทุกอ้อยพร้อมเคลื่อนไหว

นายอนันต์ ดาโลดม นายกสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เตรียมลุ้นผลสรุปคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ของ 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงอุตสาหกรรม ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ในวันที่ 23 พ.ค.2561 ซึ่งในฐานะเกษตรกร หากมีการประกาศยกเลิกใช้สารเคมีเหล่านี้ จะขออำนาจศาลคุ้มครองชั่วคราว ก่อนให้นำข้อมูลทางวิชาการเข้ามาหารือกันใหม่

ทั้งนี้ จะให้มีการพิจาราณาให้ทบทวนการแบนและยกเลิกการใช้สารเคมีใหม่ โดยให้กระทรวงเกษตรฯ เป็นเจ้าภาพหลักในคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ วางโครงสร้างทั้งระบบ แทนกระทรวงสาธารสุข เพราะมีความเชี่ยวชาญมากกว่า รวมทั้งรัฐบาลจะต้องอุดหนุนเงินชดเชยค่าใช้จ่ายเกษตรกรที่เพิ่มมากขึ้นในการซื้อสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งปัจจุบันราคาปรับเพิ่มขึ้นจากเดิมอยู่ที่ 270-400 บาทต่อ 5 ลิตร ราคาขยับขึ้นมาอยู่ที่ 580-630 บาทต่อ 5 ลิตร ทำให้เกษตรกรจำนวนมากเดือดร้อนเพราะต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น โดยเฉพาะเกษตรกรที่ปลูกผลไม้ อ้อย และยางพารา

“ปัจจุบันมีการบิดเบือนข้อมูล ในคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ รวมทั้งมีการรับฟังข้อมูลด้านเดียว ไม่มีตัวแทนเกษตรกรในการประชุม ส่งผลทำให้ประชาพิจารณ์ไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเมื่อเดือนส.ค.ที่ผ่านมา กรมวิชการเกษตร จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเรื่องการควบคุมสารเคมี 3 ชนิดนี้ อาทิ จังหวัดสุราษฏร์ธานี เชียงใหม่ ขอนแก่น และกรุงเทพฯ โดยผลสรุประบุว่ามากกว่า 80% ของผู้ร่วมแสดงความเห็นคัดค้านการยกเลิกและจำกัดการใช้เนื่องจากมีผลกระทบต่อการทำการเกษตรและเศรษฐกิจของเกษตรกร และมีเกษตรเพียง 8 ราย จากที่ร่วมประชุมทั้งหมดจำนวนมาก”

นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เกษตรกรผู้ปลูกอ้อย อดีตเลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย กล่าวว่า ถ้าหากคณะกรรรมการขับเคลื่อนฯ มีการแบนสารเคมีจริง กลุ่มผู้ผลิตทางการเกษตรกรกว่า 150 ล้านไร่ ที่มีเกษตรชาวไร่อ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา เป็นต้น จะรวมตัวกันมาเคลื่อนไหว โดยจะนัดชุมนุมรถบรรทุกอ้อยทั่วประเทศ

นายภมร ศรีประเสริฐ อุปนายก สมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลัง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีเกษตรกรปลูกมันสำปะหลังสูงกว่า 550,000 ครัวเรือน ขนาดพื้นที่รวมประมาณ 7.9 ล้านไร่ ผลผลิตสูงเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน อันดับ 2 ของโลก และส่งออกเป็นอันดับ 1 ของโลก ซึ่งคิดเป็นมูลค่าการส่งออกสูงกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี โดยเกือบครึ่งหนึ่งของผลผลิตทั้งหมดอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา โดยผลผลิตสามารถใช้ได้ในอุตสาหกรรมหลากหลาย เพื่อการบริโภค อุปโภค และใช้ในอุตสาหกรรมพลังงาน เอทานอล

ประเทศไทยใช้มันสำปะหลังในอุตสาหกรรมอาหารมากที่สุด โดยแต่ละโรงงานผลิตมันสำปะหลังมีระบบประกันคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็น ISO GMP HACCP ขณะเดียวกัน สำนักงานมาตรฐานสินค้า กระทรวงพาณิชย์ มีการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง ยังไม่เคยพบสารพาราควอตในมันสำปะหลัง ผู้บริโภคจึงมั่นใจได้ว่า มันสำปะหลังมีคุณภาพดีและปราศจากการปนเปื้อน

จาก https://www.khaosod.co.th  วันที่ 18 พฤษภาคม 2561

จี้รัฐเร่งแผนไบโอชีวภาพหวั่นล่าช้ากระทบลงทุนตั้งคอมเพล็กซ์หมื่นล้าน

จีจีซี จี้กระทรวงอุตฯชงครม.ไฟเขียวมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ ภายในเดือนพ.ค.นี้ หวั่นล่าช้าโครงการไบโอคอมเพล็กซ์ 1หมื่นล้านบาทสะดุด ขณะที่โครงการชลบุรีคอมเพล็กซ์เตรียมก่อสร้างโรงงานกลีเซอรีน 2 หมื่นตันต่อปีภายหลังโรงงานไบโอดีเซลแห่ง 2 กำลังการผลิต 2 แสนตันต่อปี เสร็จไตรมาส 3 ปีนี้

นายจิรวัฒน์  นุริตานนท์ กรรมการผู้จัดการบริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ จีจีซี ในเครือบริษัท พีทีที โกลบอล เคมีคอล จำกัด(มหาชน) หรือ พีทีทีจีซี เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า บริษัทอยู่ระหว่างรอความชัดเจนในมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทยหรือไบโออีโคโนมี ที่จะเป็นการเชื่อมโยงกับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี)  ซึ่งขณะนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมยังไม่ได้นำเรื่องเสนอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เพราะหากอนุมัติแล้ว จะมีผลทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพของประเทศเดินหน้าต่อไปได้ เนื่องจากมาตรการดังกล่าว จะเป็นการปลดล็อกประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรม ว่าด้วยการตั้งโรงงานนํ้าตาลในรัศมีตํ่ากว่า 50 กิโลเมตร จากโรงงานนํ้าตาลเดิมที่ตั้งอยู่ก่อนแล้วได้

รวมถึงการแก้ไขพ.ร.บ.อ้อยและนํ้าตาลทราย ที่สามารถให้นำนํ้าอ้อยไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดอื่นได้ นอกจากนํ้าตาล อีกทั้งมาตรการการเงินการคลังในการสนับสนุน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ การปรับปรุงกฎหมายผังเมือง ให้สามารถก่อสร้างอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่ในเขตพื้นที่สีเขียวและพื้นที่ที่มีศักยภาพ สำหรับดำเนินกิจการอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการเชื่อมโยงด้านการลงทุนจากพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี ไปสู่ภูมิภาคอื่นของประเทศได้

โดยเฉพาะโครงการนครสวรรค์ Biocomplexเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ในพื้นที่นำร่อง อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ที่จะใช้เงินลงทุนระยะแรกกว่า 1 หมื่นล้านบาท จะสามารถเกิดขึ้นได้ตามแผนหรือเริ่มก่อสร้างได้ภายในปลายปีนี้หรืออย่างช้าต้นปีหน้า จากที่ก่อนหน้านี้บริษัทได้ลงนามความร่วมมือกับบริษัท เกษตรไทยอินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS เพื่อลงทุนไบโอคอมเพล็กซ์ (Biocomplex) ในสัดส่วนการถือหุ้นฝ่ายละ 50% ไปแล้ว

นายจิรวัฒน์ กล่าวอีกว่า ส่วนโครงการของบริษัทที่อยู่ในอีอีซีนั้น ขณะนี้โรงงานไบโอดีเซล (เมทิลเอสเทอร์) แห่งที่ 2 หรือ “ชลบุรี Biocomplex (CBC)”  ตั้งอยู่ในเขตประกอบการไทยอีสเทิร์น อำเภอหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรี กำลังการผลิตนํ้ามันไบโอดีเซล 2 แสนตันต่อปี คาดว่าโรงงานจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 3 ปีนี้ จะช่วยเสริมกำลังการผลิตของโรงงานแห่งที่ 1 (ซึ่งมีกำลังการผลิตติดตั้ง 3 แสนตันต่อปี)  ให้จีจีซีมีกำลังการผลิตติดตั้งมากถึง 5 แสนตันต่อปี

ทั้งนี้หลังจากที่โรงงานเมทิลเอสเทอร์แห่งที่ 2 แล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 3 ปีนี้แล้ว บริษัทจะเริ่มก่อสร้างโรงงานกลีเซอรีนแห่งที่ 2 ในพื้นที่ใกล้เคียงกำลังการผลิต2หมื่นตันต่อปีใช้กลีเซอรีนดิบ (Crude Glycerine) เป็นวัตถุดิบใช้เทคโนโลยีของ C.M. Bernardini (C.M.B) ด้วยเงินลงทุนประมาณ  326 ล้านบาท พร้อมดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2562 ขณะที่โรงที่ 1 ในจังหวัดระยองมีกำลังผลิต 3.6 หมื่นตันต่อปี ทั้งนี้กลีเซอรีน บริสุทธิ์ (Refined Glycerin, RGL 99.5%) เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้เป็นสารตั้งต้นหรือสารเติมแต่งสำคัญในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมเพื่อสุขอนามัย ได้แก่ สบู่ ครีม โลชั่น เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปาก อุตสาหกรรมยาและอาหาร ได้แก่ ยาแก้ไอนํ้าเชื่อม ผลไม้อบแห้ง ลูกอมและหมากฝรั่ง รวมถึงอุตสาหกรรมอื่นๆได้แก่ เรซินพลาสติก ยาสูบและอีพิคลอโรไฮดริน (ECH) เป็นต้น

“ที่ผ่านมาคาดว่าครม. จะเห็นชอบมาตรการฯได้ภายในพฤษภาคมนี้ ซึ่งจะทำให้การดำเนินงานเป็นไปตามแผนที่วางไว้ จากนั้นจะเริ่มก่อสร้างได้ภายในปลายปีนี้ ส่วนโครงการที่ชลบุรี โรงงานไบโอดีเซลแห่งที่ 2 จะแล้วเสร็จในไตรมาสที่ 3 ปีนี้ ภายหลังจากโรงงานแห่งนี้เสร็จ” นายจิรวัฒน์ กล่าว

จาก www.thansettakij.com   วันที่ 18 พฤษภาคม 2561

"กฤษฎา"เตรียมจัดตั้งกองทุนประชารัฐช่วยเหลือเกษตรกรยั่งยืน

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าได้มีการสั่งงานผ่านทางแอพพลิเคชั่นไลน์ ถึงปลัดเกษตรและผู้บริหาร ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เรื่อง ขอให้ช่วยกันพิจารณาเสนอแนวทางการบริหารจัดการภาคการเกษตรรูปแบบใหม่ ที่ยั่งยืนเป็นระบบ จึงได้ส่งสถิติข้อมูลเงินงบประมาณช่วยเหลือเกษตรกรในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเงินช่วยเหลือแก้ไขปัญหา ราคาผลผลิตทางการเกษตรทั้งประเภทพืช ปศุสัตว์และประมงตกต่ำ และส่วนใหญ่จะเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรทั้งในรูปจ่ายเงินชดเชย การประกันราคาผลผลิตหรือการรับจำนำผลผลิตหรือการใช้งบประมาณซื้อผลผลิตทางการเกษตรในราคานำตลาด เป็นต้น จะเห็นได้ว่ามาตรการต่างๆ ใช้งบประมาณการช่วยเหลือเกษตรกรดังกล่าวเป็นเงินจำนวนมาก แต่มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรก็เป็นมาตรการเดิมๆที่เคยใช้มาแล้วเหมือนกันเกือบทุกยุคทุกสมัย

"หากนำเงินงบประมาณดังกล่าว มาตั้งเป็นกองทุนช่วยเหลือเกษตรกรให้เป็นระบบ เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนมีประสิทธิภาพ โดยออกเป็นกฎหมายหรือระเบียบกำหนดให้กองทุนเป็นกลไกช่วยเหลือเกษตรกรที่ต้องการหลักประกัน หรือความคุ้มครองในการประกอบอาชีพทางการเกษตรจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขคำแนะนำ หรือข้อกำหนดของเกษตรหรือหน่วยงานรัฐ เช่น เกษตรกรที่จะได้รับความคุ้นครองจากกองทุน จะต้องปลูกพืชหรือทำการปศุสัตว์หรือทำการประมงตามแผนการผลิตที่กระทรวงหรือหน่วยงานรัฐกำหนดเป็นพื้นที่ ชนิด ประเภทหรือตามจำนวนแผนที่การผลิตหรือตามคุณสมบัติของพื้นที่(Zoning by Agri-Map)"

หรือตามความต้องการของตลาด หรือต้องมารวมกลุ่มทำการเกษตรแปลงใหญ่ หรือต้องเป็นสมาชิกสหกรณ์การเกษตร หรือสมาชิกสถาบันเกษตรกร ที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลหรือต้องลดการใช้สารเคมีในการทำการเกษตร เป็นต้น ซึ่งวิธีการนี้จะทำให้กษ.และหรือส่วนราชต่างๆสามารถวางแผนการผลิตได้อย่างเป็นระบบสอดคล้องกับสถานการณ์โลก หรือความต้องการของตลาด(Demamnd) สามารถแก้ไขปัญหาผลผลิตล้นตลาด(Over Supply)และควบคุมคุณภาพผลผลิตได้

รวมทั้งกระทรวงจะสามารถกำหนดแผนการผลิตได้ตามอำนาจหน้าที่ (Function)ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการกองทุนขึ้นมาทำหน้าที่วางมาตรรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตรเหมือนกับการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย มีวิธีการดูแลรักษาค่าเงินบาท หรือการรักษาราคาอ้อยและน้ำตาลตามกฎหมายอ้อยและน้ำตาล เป็นต้น หากเกษตรกรรายใดที่เป็นสมาชิกกองทุนไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อกำหนดดังกล่าวข้างต้น ก็จะไม่ได้รับการช่วยเหลือคุ้มครองจากกองทุนฯ

สำหรับการจัดตั้งกองทุนเกษตรกรรมประชารัฐนั้น ในขั้นแรกกระทรวงอาจพิจารณาเสนอกฎหมายรวมกองทุนต่างๆของกษ.ในปัจจุบันซึ่งมีจำนวน13 กองทุนให้เหลือเพียง1-2กองทุนและกำหนดระเบียบกติกาการใช้เงินกองทุนใหม่ตามแนวทางข้างต้น สำหรับเงินหมุนเวียนที่จะนำเข้าส่งเข้ากองทุนเพิ่มในแต่ละปี อาจจะขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาลให้นำเงินค่าธรรมเนียมส่งสินค้าเกษตรออกไปต่างประเทศบางส่วนหรือแบ่งจากภาษีอากรสินค้าเกษตร เป็นต้น

ดังนั้น จึงขอส่งข้อมูลงบประมาณการช่วยเกษตรกรในช่วง 4 ปี พร้อมแนวคิดของรมว.กษ.มาให้ข้าราชการ กษ.ได้พิจารณาและช่วยกันระดมสมอง(Brainstroming)เสนอแนวทางการบริหารจัดการภาคการเกษตรใหม่มายังส่วนกลาง

อนึ่ง รายงานจำนวนงบประมาณที่ใช้ในการขับเคลื่อนและช่วยเหลือด้านการเกษตร ตั้งแต่ปี 2557-2560

1.ส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

1.1 งบกลางสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรเรื่องสินค้าเกษตรต่างๆและความเสียหายจากภัยพิบัติ (เฉพาะในส่วนที่ กษ.เสนอขอ ครม.) ปี 2557 เป็นเงิน 26,344.30 ล้านบาท ปี 2558 เป็นเงิน 26,910.70 ล้านบาท ปี 2559 เป็นเงิน 18,022.74 ล้านบาท ปี 2560 เป็นเงิน 32,134.53 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 103,412.27 ล้านบาท

1.2 งบประมาณรายจ่ายประจำปีของ กษ.ที่ใช้ในการพัฒนาภาคเกษตร (ไม่รวมค่าใช้จ่ายประจำขั้นต่ำ) ตั้งแต่ปี 2557 - 2560 รวมเป็นเงิน 256,427.35 ล้านบาท

- รวมงบกลางสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินฯและงบประมาณรายจ่ายประจำปี ตั้งแต่ปี 2557-2560 เป็นเงินของของกระทรวงรวมทั้งสิ้น 359,839.62 ล้านบาท

2.ส่วนของกระทรวงพาณิชย์เสนอขอ ครม.ช่วยเหลือด้านสินค้าเกษตร

ปี 2557 เป็นเงิน 612 ล้านบาท ปี 2560 เป็นเงิน 53,749.26 ล้านบาท รวมเป็นเงินจำนวน 54,361.26 ล้านบาท

3.ส่วนของกระทรวงการคลัง เสนอขอ ครม.ช่วยเหลือด้านการเกษตร

ปี 2557 เป็นเงิน 4,112.80 ล้านบาท ปี 2558 เป็นเงิน 1,860.57 ล้านบาท ปี 2559 เป็นเงิน 45,589.67 ล้านบาท ปี 2560 เป็นเงิน 409.85 ล้านบาท รวมเป็นเงิน จำนวน 51,972.89 ล้านบาท รวมทุกส่วนราชการเป็นเงินทั้งสิ้น 466,173.77 ล้านบาท

4.กรอบวงเงินกู้ของ ธ.ก.ส.ที่ ครม. ให้ความเห็นชอบ ระยะเวลาตั้งแต่ปี 2557 - 2565 เป็นเงินทั้งสิ้น 402,516.04 ล้านบาท แบ่งเป็น สินค้าข้าว วงเงินกู้ 151,531.34 ล้านบาท มันสำปะหลัง วงเงินกู้ 184,972 ล้านบาท ยางพารา วงเงินกู้ 63,950 ล้านบาท ปศุสัตว์ วงเงินกู้ 2,062.70 ล้านบาท

จาก www.thansettakij.com   วันที่ 18 พฤษภาคม 2561

พบ “สารพาราควอต” ตกค้างเพียบใน “น้ำปู๋” จี้นายกฯ สั่งยกเลิกใช้

เครือข่ายผู้บริโภคเผยข้อมูล พบการตกค้างสารพาราควอตในสัตว์เกินมาตรฐาน ทั้งปูนา กบหนอง ปลากะมัง หอยกาบน้ำจืด อึ้ง!! น้ำปู๋ก็ยังพบ ทั้งที่ผ่านกระบวนการผลิตและความร้อนมาแล้ว ขณะที่หญิงท้องสามารถส่งสารพิษต่อไปยังลูกได้ จี้ นายกฯ กรรมการวัตถุอันตราย เห็นแก่ความปลอดภัย สั่งยกเลิกใช้พาราควอตในการประชุมวันที่ 23 พ.ค. นี้ หลังยืดเยื้อมากว่าปี

วันนี้ (18 พ.ค.) นางสุภาพร ถิ่นวัฒนากูล รองประธานคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) กล่าวว่า ขณะนี้มีข้อมูลพบการตกค้างของสารพาราควอตในสิ่งแวดล้อมและสัตว์เกินกว่าที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ กำหนด คือ ให้มีในอาหาร (เนื้อสัตว์) ไม่เกิน 5 ไมโครกรัม/กิโลกรัม ซึ่ง ผศ.ดร.นพดล กิตนะ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาพบว่า ปูนา มีสารพาราควอตอยู่ระหว่าง 24 - 56 ไมโครกรัม/กิโลกรัม พบในกบหนอง 17.6 - 1,233.8 ไมโครกรัม/กิโลกรัม พบในปลากะมัง 6.1 - 12.5 ไมโครกรัม/กิโลกรัม และพบในหอยกาบน้ำจืด 3.5 - 7.7 ไมโครกรัม/กิโลกรัม อีกทั้งยังพบในอาหารแปรรูปอย่างน้ำปู๋ หรือ น้ำปู ซึ่งโดยกระบวนการผลิตต้องผ่านความร้อนที่สูงมาก ยังพบว่าปริมาณการตรวจพบพาราควอตไม่ได้ลดลงกว่าปูนา และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วย

น.ส.บุญยืน ศิริธรรม นายกสมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า นอกจากการตรวจพบในสิ่งแวดล้อมแล้ว ศ.ดร.พรพิมล กองทิพย์ ยังวิจัยพบข้อมูลว่ามีการตกค้างในร่างกายคน เนื่องจากสารกำจัดวัชพืชส่งต่อจากแม่ไปสู่ลูกได้ มีการตกค้างของพาราควอตในซีรัมเด็กแรกเกิดและมารดาระหว่าง 17 - 20% และยังบอกอีกว่าคนท้องที่ทำเกษตรช่วง 6 - 9 เดือนของการตั้งครรภ์ พบพาราควอตตกค้างมากกว่าคนท้องที่ไม่ได้ทำงานถึง 5.4 เท่า และตรวจพบพาราควอตในขี้เทาเด็กแรกเกิดสูงถึง 54.7% อีกทั้งข้อมูลจาก ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ยังบอกว่า พาราควอตเป็นพิษในระยะยาว และก่อให้เกิดโรคทางสมองที่รักษาไม่ได้ เช่น โรคพาร์กินสัน โรคสมองเสื่อม และอาจจะเกี่ยวกับมะเร็ง ยิ่งไปกว่านั้นนี้ยังมีข้อมูลว่า 50 กว่าประเทศ มีการยกเลิกหรือประกาศยกเลิกการใช้พาราควอตแล้ว รวมถึงประเทศที่เป็นผู้ผลิตอย่างอังกฤษ จีน และ สวิตเซอร์แลนด์ อีกทั้งกลุ่มประเทศอาเซียนอย่าง ลาว เขมร และ เวียดนาม ก็อยู่ในกลุ่มนั้นด้วย

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า เรื่องนี้อยากเรียกร้องให้ท่านนายกรัฐมนตรี และ คณะกรรมการวัตถุอันตรายเห็นแก่ความปลอดภัยด้านอาหารของผู้บริโภค เห็นแก่สุขภาพของคนทั้งประเทศขอให้ยกเลิกการใช้สารพาราควอต ในการพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตรายวันที่ 23 พ.ค. นี้ และขอเชิญชวนประชาชนและสื่อมวลชนที่สนใจร่วมเวทีความร่วมมือองค์กรผู้บริโภค - ภาคธุรกิจ ยุติการใช้สารพาราควอต ในวันที่ 20 พ.ค. 2561 ระหว่างเวลา 9.30 - 13.30 น. ที่ห้องประชุมชั้น 2 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

จาก https://mgronline.com  วันที่ 18 พฤษภาคม 2561

“สอน.”ปรับโครงสร้างรองรับ”ไบโออีโคโนมี” โรงงานน้ำตาลสนใจลงทุนเทคโนโลยีชีวภาพ

“สอน.” เตรียมปรับโครงสร้างองค์กร รองรับยุทธศาสตร์ไบโออีโคโนมี ตั้งเป้าเปิดให้เอกชนเข้าใช้พื้นที่ศูนย์วิจัยทางชีวภาพในปี 2563 หวังยกเครื่องอุตสาหกรรมสร้างมูลค่าเพิ่มให้ประเทศ คาดหวังปี 2561-2563 มีมูลค่าลงทุนเพิ่มอีก 6.8 หมื่นล้านบาทจากปี 2560-2564 มีมูลค่า 1.33 แสนล้านบาท

นายวิฤทธิ์  วิเศษสินธุ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) ได้ปรับปรุงโครงสร้างการบริหารไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพที่ใช้วัตถุดิบจากอ้อยโดยได้เตรียมตั้งกองอุตสาหกรรมไบโอชีวภาพ เพื่อให้การส่งเสริมอุตสาหกรรมนี้เป็นการเฉพาะและจะตั้งศูนย์อุตสาหกรรมชีวภาพ จ.ชลบุรี

โดยในปี 2562 ได้เสนอขอรับงบประมาณ 45 ล้านบาท ในการก่อสร้างอาคาร และในปี 2563 ได้เสนอของบประมาณอีก 30 ล้านบาท ในการจัดซื้อเครื่องมือ เครื่องจักรต่างๆ ที่ใช้ในศูนย์แห่งนี้ซึ่งจะมีห้องทดลองวิทยาศาสตร์ในการวิจัยผลิตสินค้าชีวภาพต่าง คาดว่าจะเปิดให้ภาคเอกชนเข้ามาใช้พื้นที่วิจัยทางชีวภาพได้ภายในปี 2563

“ขณะนี้มีโรงงานน้ำตาลหลายแห่งมีแผนที่จะต่อยอดผลผลิตน้ำตาลไปสู่สินค้าชีวภาพต่างๆ แต่ติดขัดในการลงทุน ศูนย์วิจัยพัฒนา ดังนั้นการที่รัฐลงทุนตั้งศูนย์อุตสาหกรรมชีวภาพ ก็จะช่วยให้ภาคเอกชนเข้ามาทดสอบวิจัยต่อยอดผลผลิตอ้อยไปสู่สินค้าชีวภาพต่างๆ ได้ง่ายขึ้น โดยในระยะแรกปี 2562 จะเริ่มได้งานวิจัยพัฒนาใหม่ๆ ในปี 2563 เมื่อศูนย์อุตสาหกรรมชีวภาพพร้อม จะเริ่มทดสอบผลิตผลิตภัณฑ์ง่ายๆ ขึ้นมาก่อนเช่น จากชามที่ผลิตจากชานอ้อย และการผลิตพลาสติกชีวภาพ เพื่อช้างการแพทย์ในส่วนอุปกรณ์ที่ใช้แล้วทิ้ง”

โดยขั้นตอนการต่อยอดอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไปสู่อุตสาหกรรมชีวภาพ จะเริ่มตั้งแต่การผลิตไบโอเอนเนอยี่ เช่นการผลิต เอทานอล ไบโอดีเซล ซึ่งไทยมีความเชี่ยวชาญแล้ว ขั้นต่อไปจะยกระดับไปสู่การผลิตไบโอเคมีคัล เพื่อเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ การผลิตไบโอโปรดักส์ การผลิตอาหารเสริมและไปสู่การผลิตยา ซึ่งในแต่ละระดับจะเพิ่มมูลค่ามากขึ้นเรื่อยๆ โดยในขั้นแรกจะส่งเสริมใน 2 ระดับ ได้แก่ไบโอเคมีคัล และไบโอโปรดักส์

ก่อนหน้านี้ ตนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ระบุวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณายุทธศาสตร์เศรษฐกิจชีวภาพระยะที่ 2 ซึ่งจัดทำเสร็จแล้ว คาดว่าจะส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.)พิจารณา เพื่อกำหนดวาระเข้าที่ประชุม ครม.ต่อไป

ทั้งนี้ จากการประเมินยอดการลงทุนในอุตสาหกรรมชีวภาพของทั้งประเทศตามแผนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจชีวภาพคาดว่าในปี 2560-2564 จะมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 1.33 แสนล้านบาท และปี 2565-2569 จะมีการลงทุนเพิ่มอีก 6.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้ภาคการเกษตรขยายตัวประมาณ 40% ภายใน 10 ปี เกษตรกรมีรายได้เพิ่ม 8.5 หมื่นบาทต่อปี  ภายใน 10 ปี ภาคการเกษตรมีการจ้างงานเพิ่ม 8 แสนคนสร้างแรงงานที่มีความเชี่ยวชาญชั้นสูงเพิ่มอีก 2 หมื่นตำแหน่ง และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร 4 แสนล้านบาทต่อปี

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ของ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กล่าวว่าการที่รัฐบาลออกนโยบายส่งเสริมเทคโนโลยีชีวภาพเป็นเรื่องที่ถูกต้องเพราะในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทย ผลผลิตหลักจะเป็นน้ำตาลที่ต้องพึ่งพาการส่งออกสูงถึง 70-75% ทำให้ธุรกิจนี้ต้องแขวนไว้กับราคาตลาดโลกเป็นหลัก ดังนั้นจะต้องเพิ่มการพึ่งพาตลาดภายในประเทศมากขึ้น โดยการนำผลผลิตน้ำตาลมาผ่านเทคโนโลยีชีวภาพผลิตเป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงจะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมน้ำตาลได้มาก

อย่างไรก็ตาม การลงทุนในอุตสาหกรรมไบโอชีวภาพ จะติดขัดกฎหมายกฎระเบียบต่างๆ มากทั้งกฏหมายการนำวัตถุดิบน้ำอ้อยไปผลิตเป็นสินค้าชนิดอื่นกฏหมายผังเมือง กฎหมายสิ่งแวดล้อมต่างๆ ดังนั้นภาครัฐจึงคัดเลือกพื้นที่ส่งเสริมการลงทุนใน จ.นครสวรรค์และขอนแก่นก่อน เพราะมีความพร้อมมากที่สุดในการทดลองออกมาตรการแก้ไขอุปสรรคต่างๆ เหล่านี้

จาก www.bangkokbiznews.com  วันที่ 18 พฤษภาคม 2561

ค่าบาท'แข็งค่า'หลังราคาน้ำมันขึ้นกดดันเงินเฟ้อ

 บาทเปิดตลาดเช้านี้แข็งค่า ​"32.07 บาทต่อดอลลาร์" ขณะที่ราคาน้ำมันปรัวตัวขึ้นสูงกดดันเงินเฟ้อไทยเป็นความเสี่ยงระยะสั้นค่างชาติลดการลงทุนในไทยและบาทยังอ่อนต่อเนื่อง

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 32.07บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ 32.09 บาทต่อดอลลาร์

ในคืนที่ผ่านมาราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นแตะระดับ 80 เหรียญ/บาร์เรลเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2014 ขณะที่บอนด์ยีลด์สหรัฐอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นแตะระดับ 3.12% เป็นครั้งแรกในรอบเจ็ดปี

ปัจจัยดังกล่าวแม้จะส่งผลลบต่อหุ้นทั้วโลก แต่ก็ส่งผลบวกกับกลุ่มพลังงาน ตลาดหุ้นสหรัฐจึงไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากความกังวลเรื่องบอนด์ยิลด์ที่ปรับตัวสูงขึ้นหรือความสับสนในการเจรจาการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ

ในส่วนบอนด์ไทยจุดที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในปัจจุบันคือบอนด์ยิลด์ระยะสั้น (2ปี) นักลงทุนในประเทศพยายามลดความเสี่ยงด้วยการกลับมาถือเงินสด ขณะที่ต่างชาติก็ลดการลงทุนลงหลังจากเงินบาทอ่อนค่าลงเร็ว

ขณะที่ ตราสารหนี้ระยะยาวยังคงเป็นจุดที่เรามีความกังวล เนื่องจากยีลด์ปรับตัวขึ้นน้อย เมื่อเทียบกับราคาน้ำมันที่สูงขึ้นมากและกำลังจะกดดันเงินเฟ้อในไทย จึงทำให้มีความเสี่ยงในอนาคต นอกจากนี้ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าต่อในระยะสั้น ก็จะกดดันให้นักลงทุนต่างชาติลดการลงทุนในไทยด้วย

สำหรับวันนี้มองว่าเงินบาทมีโอกาสแกว่งตัวในกรอบกว้างตามสภาพคล่องในตลาดเงินที่อยู่ในระดับต่ำ

มองกรอบเงินบาทระหว่างวันที่ระดับ 32.00-32.15 บาทต่อดอลลาร์

จาก www.bangkokbiznews.com  วันที่ 18 พฤษภาคม 2561

ชาวนาอ่างทองน้ำตาซึมหลังปรับเปลี่ยนพื้นที่นาข้าวเป็นไร่อ้อย แต่โรงงานดังหยุดรับซื้อ

อ่างทอง - ชาวนาอ่างทองน้ำตาซึมหลังปรับเปลี่ยนพื้นที่นาข้าวเป็นไร่อ้อย โรงงานดังให้การสนับสนุนแต่หยุดรับซื้อ ชาวไร่ไร้ทางออกวอนหน่วยงานช่วยเหลือเป็นหนี้สินรุงรัง ด้านผู้ว่าฯ รับประเตรียมประสานโรงงานช่วยรับซื้อ

นางดอกแก้ว ยิ้มเป็นสุข อายุ 55 ปี ชาวจังหวัดอ่าวทองเล่าทั้งน้ำตาว่า ทำนาแล้วเปลี่ยนมาทำไร่อ้อย 15 ไร่ หลังทางโรงงานน้ำตาลดังส่งเสริม แต่ปัจจุบันต้องลำบากมากกว่าจะขายได้ โดยทางโรงงานได้เก็บผลผลิตไปจำนวน 7 ไร่ ส่วนที่เหลือยังทำอะไรไม่ได้เลย ทางโรงงานแจ้งว่าต้องหยุดก่อน เนื่องจากไม่มีรถมาขนอ้อยเข้าโรงงาน ที่เหลือก็ต้องทิ้งไป ทำให้เดือดร้อนขาดทุนอย่างหนัก คือทำไร่อ้อย 15 ไร่ แต่ขายได้เพียง 7 ไร่ ไร่ที่เหลือก็ต้องทิ้งไปไม่มีทางออก จำต้องให้ทางหน่วยงานช่วยเหลือ

ด้าน นางสาวใจ ครองตน อายุ 55 ปี กล่าวว่า ตนเองนาไร่อ้อยจำนวน 20 ไร่ หลังโรงงานน้ำตาลดังให้การส่งเสริมหวังลืมตาอ้าปาก แต่ในช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตต้องทุกข์หนักทางโรงงานให้คนงามมาตรวจดูแล้วบอกให้เตรียมตัดอ้อย โดยต้องเผาใบก่อน แล้วค่อยตัดเมื่อเผาอ้อยทั้งไร่ แต่เมื่อเผาใบอ้อยไปหมดแล้วทางโรงงานไม่ยอมมาตัด ตนเองต้องเสียค่าจ้างคนงานตัดเอง เสียเงินค่าตัดเอง และยังไม่รู้จะไปขายให้ใครทำให้อ้อยเสีย เริ่มขึ้นรา จำใจต้องตัดให้หมดทั้ง 20 ไร่เสียเงินไปกว่าสี่หมื่นบาท โดยไม่ได้อะไรขึ้นมาเลย เตรียมทำนาต่อหวังขายข้าวเผื่อยังมีโรงสีรับซื้อถึงราคาจะตกต่ำยังดีกว่าทำไร่อ้อยแล้วไม่มีโรงงานรับซื้อ

นายวินัย บุญศรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านพราน เปิดเผยว่า มีโรงงานน้ำตาลชื่อดังในจังหวัดสิงห์บุรี มาส่งเสริมการปลูกอ้อย พร้อมรับซื้อเข้าโรงงาน โดยมีเกษตรในจังหวัดอ่างทองประมาน 200 คนได้ทำไร่อ้อย และในช่วงนี้โรงงานน้ำตาลดังได้ปิดหีบอ้อยหยุดการรับซื้อทำให้เกษตรกรชาวนาที่หันมาปลูกอ้อยต้องได้รับความเดือดร้อนไม่มีที่ขายผลผลิตมีหนี้สินรุงรังไร้ทางออกจำนวน 240 กว่าราย วอนรัฐบาบาลให้การช่วยเหลือด้วย

ส่วนทางด้าน นายวีร์รวุทธ์ ปุตระเศรณี ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง ได้รับทราบความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนชาวไร่อ้อยที่ปลูกอ้อยแล้วไม่มีที่จำหน่ายเงินลงทุนก็ต้องกู้หนี้ยืมสินแถมตอนนี้ยังทำนาไม่ได้อ้อยก็ตัดไม่ได้ จึงได้ทำการประสานหน่วยงานราชการอำเภอแสวงหา ตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง รวมทั้ง พาณิชย์จังหวัดอ่างทอง และทางเกษตรจังหวัดอ่างทอง เพื่อหาทางแก้ไข พร้อมกับเตรียมประสานกับทางเจ้าของโรงงานน้ำตาลชื่อดัง เพื่อทำการซื้อผลผลิตต้นอ้อยของเกษตรกรที่ยังขายไม่ได้ต่อไป

จาก https://mgronline.com วันที่ 17 พฤษภาคม 2561

ก.อุตฯ ยกระดับสินค้าเกษตรแปรรูป นำร่องบุก 2 จังหวัดภาคเหนือ

กระทรวงอุตสาหกรรมบุก 2 ธุรกิจภาคเหนือ ยกระดับอุตสาหกรรมแปรรูปเกษตรยุค Industry 4.0 ดึงศักยภาพวัตถุดิบในพื้นที่มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในท้องถิ่น หวังสร้างรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน

นายพรเทพ การศัพท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า โครงการโอ-ปอย (OPOAI) ได้จัดทีมที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเข้าไปให้ความช่วยเหลือให้คำแนะนำสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการผ่านแผนงาน 7 ด้าน ประกอบด้วย 1. แผนงานการบริการจัดการลอจิสติกส์ 2. แผนการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต 3. แผนการปรับปรุงคุณภาพและพัฒนางาน 4. แผนการลดต้นทุนพลังงาน 5. การยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์/ระบบมาตรฐานสากล 6. แผนกลยุทธ์ขับเคลื่อนการตลาด และ 7. แผนการบริหารจัดการด้านการเงิน ซึ่งการทำงานของทีมที่ปรึกษาจะเข้าไปศึกษาข้อมูลของสถานประกอบการจากคณะผู้บริหารของสถานประกอบการ เพื่อดูว่าสมควรที่จะเข้าพัฒนาในแผนงานไหนมากที่สุด เมื่อได้ข้อสรุปทางทีมที่ปรึกษาจะมีแผนการดำเนินงานให้ปฏิบัติจริง และติดตามผลพร้อมทั้งคำปรึกษาเป็นระยะๆ รวมระยะเวลาในการปฏิบัติงานโดยประมาณ 4-6 เดือน จึงจะเสร็จสิ้นโครงการ

ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาในปี 2560 ผลลัพธ์ที่ได้จากการดำเนินโครงการในระยะเวลา 1 ปีสามารถลดต้นทุนเพิ่มรายได้ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้สถานประกอบการ โดยสามารถวัดมูลค่าเชิงเศรษฐกิจเป็นตัวเงินได้กว่า 459 ล้านบาท ซึ่งหากเปรียบเทียบกับวงเงินงบประมาณที่ใช้ในการพัฒนา 40 ล้านบาท ให้ผลประโยชน์มากถึง 11.48 เท่าของวงเงินงบประมาณ มีผู้เข้าร่วมโครงการ 171 ราย เฉลี่ยแล้วแต่ละรายสามารถลดต้นทุนเพิ่มรายได้และสร้างมูลค่าเพิ่มได้เฉลี่ยรายละ 2.45 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปี 2560 สามารถลดต้นทุนเพิ่มรายได้และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สถานประกอบการได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยสามารถวัดมูลค่าเชิงเศรษฐกิจเป็นตัวเงินได้กว่า 4,914 ล้านบาทจากวงเงินงบประมาณรวมทั้งหมดที่ได้รับ 394.60 ล้านบาท ให้ผลประโยชน์มากถึง 12.45 เท่าของวงเงินงบประมาณ มีสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการจำนวนกว่า 1,505 ราย เฉลี่ยแล้วแต่ละรายสามารถลดต้นทุนเพิ่มรายได้ และสร้างมูลค่าเพิ่มได้เฉลี่ย 3.27 ล้านบาท

สำหรับในปีงบประมาณ 2561 มีสถานประกอบการ SMEs อุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 200 ล้านบาท ทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการจำนวน 120 ราย 120 แผนงาน ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการให้คำปรึกษากับสถานประกอบการ โดยในวันนี้ได้มีการเยี่ยมชมและติดตามผลการดำเนินงานของสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ 2 แห่ง คือ บริษัท โอเมกา 3.6.9 แอนด์ไลโคปีน จำกัด และบริษัท มหาบูรพาผลิตภัณธ์อาหาร จำกัด ทั้ง 2 รายเป็นสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการในปี 2560 และเป็นโรงงานที่มีผลการปฏิบัติที่เป็นเลิศ Best Practice ทั้ง 2 โรงงาน ซึ่งเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของโครงการได้เป็นอย่างดี ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปพัฒนาตนเองได้อย่างเป็นรูปธรรม

นายวิชัย ใจวิสุทธิ์หรรษา กรรมการผู้จัดการ บริษัท โอเมกา 3.6.9 แอนด์ ไลโคปีน จำกัด กล่าวว่า บริษัทดำเนินธุรกิจประเภทอุตสาหกรรมอาหารเสริม ผลิตน้ำมัน โอเมกา 3.6.9 จากถั่วดาวอินคา สำหรับบริษัทเริ่มต้นธุรกิจในปี 2555 ด้วยทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท จำหน่ายผลิตภัณฑ์เองร้อยละ 90 และรับจ้างผลิตร้อยละ 10 มียอดขาย 10 ล้านบาทต่อปี (เมื่อปี 2560) โดยมีตลาดในประเทศ 97% ต่างประเทศ 3% โดยใช้วัตถุดิบจากพื้นที่ในจังหวัดกำแพงเพชร และพื้นที่ใกลคียง โดยเข้าร่วมโครงการโอ-ปอยในปี 2560 คือ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต จากการวิเคราะห์ข้อมูลของบริษัทฯ พบว่าพนักงานคัดแยกเมล็ดถั่วดาวอินคา มีปัญหาเรื่องความสูงของโต๊ะคัดแยก ซึ่งได้แก้ไขโดยให้มีการเปลี่ยนมาใช้เก้าอี้ที่สามารถปรับระดับความสูงได้ และมีการนำเครื่องเขย่าร่อนเมล็ดถั่วดาวอินคาเพื่อลดเวลาในการคัดแยกเมล็ด นอกจากนี้ ในส่วนของเครื่องจักรที่ใช้ในการบีบอัดน้ำมัน เป็นเครื่องจักรขนาดใหญ่ จึงได้ทำการเปลี่ยนมาใช้ไฮโครลิกขนาดเล็กแทน เพื่อลดปัญหาเครื่องจักรหยุด บริษัทฯ สามารถลดต้นทุน เพิ่มรายได้ให้สถานประกอบการได้ 94,080 บาท/ปี

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท มหาบูรพาผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด กล่าวว่า บริษัทเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2530 ด้วยทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท โดยโรงงานตั้งอยู่ศูนย์กลางของพื้นที่เพาะปลูกที่มีความหลากหลายของวัตถุดิบผักและผลไม้ต่างๆ ทางบริษัทฯ ได้ดำเนินการเพาะปลูกในพื้นที่ของเราเองและทำสัญญาการเพาะปลูกกับเกษตรกรในพื้นที่เพื่อเป็นการจัดหาวัตถุดิบป้อนเข้าโรงงานได้อย่างสม่ำเสมอ ที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้พัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่องเพื่อยกระดับความเป็นผู้นำในการเป็นผู้ผลิตผักและผลไม้กระป๋องโดยการจัดหาสินค้าที่มีคุณภาพสูงสุดให้แก่ลูกค้า โดยบริษัทฯ ได้รับมาตรฐาน BRC, เกรดเอ GMP และ HACCP บริษัทฯ เป็นผู้ผลิตผักผลไม้กระป๋องที่ได้รับความไว้วางใจจากผู้ซื้อทั่วโลกมาเป็นเวลานานกว่า 20 ปี

ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้เข้าร่วมโครงการใน 2 แผนงาน ประกอบด้วย แผนงานที่ 1 การบริหารจัดการลอจิสติกส์ (Best Practice) ได้มีการปรับปรุงน้ำหนักในการบรรจุกระป๋อง โดยปรับน้ำหนักให้ได้ตามมาตรฐานทั่วไป 1825-1875 g/กระป๋อง มีการปรับลดสัดส่วนการถือครองสารปรุงแต่ง น้ำตาลและเกลือ โดยปรับการสั่งซื้อและจัดเก็บให้เหมาะสมกับความต้องการ และเรื่องสุดท้าย มีการปรับเปลี่ยนวิธีการจัดวางและขนย้ายกระป๋อง เพื่อลดการบุบของกระป๋อง ซึ่งจากการดำเนินงานทั้งหมดคิดเป็นความสูญเสียที่ลดลงและมูลค่าที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนเงิน 3,864,684 บาทต่อปี

จาก https://mgronline.com วันที่ 17 พฤษภาคม 2561

อียูส่งสัญญาณไทยแก้ IUU ไปอีก4เดือน หลังตรวจล่าสุดไม่พอใจข้อมูลไม่ตรงกัน คาดยืดเวลาต่อใบเหลือง

แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรฯได้เรียกประชุมผู้บริหารกระทรวงฯ เพื่อขอรับทราบความชัดเจน และข้อเท็จจริงของการแก้ปัญหาการทำประมงที่ผิดกฏหมาย ขาดการรายงาน ไร้การควบคุม (IUU Fishing ) ภายหลังมีกระแสข่าวว่า ผลการตรวจสอบการแก้ปัญหาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับไอยูยูของไทยเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ของสหภาพยุโรป (อียู) ยังไม่เป็นที่พอใจใน 2 เรื่อง จนทำให้อียูไม่พิจารณาปลดใบเหลืองการประมงไทย จึงจะเข้ามาตรวจความคืบหน้าอีกครั้งใน 4 เดือนข้างหน้า หรือประมาณ ส.ค.2561

ทั้งนี้ 2 เรื่องที่อียู ยังกังวลการแก้ปัญหาไอยูยู ของไทยคือ การบริหารจัดการกองเรือ และการบริหารคำสั่งการปกครองและการบังคับคดี ซึ่งกรณีการบริหารจัดการกองเรือ เป็นภารกิจของกรมเจ้าท่า ซึ่งเมื่อครั้งอียูเข้าตรวจสอบข้อมูลปรากฏข้อมูลไม่ตรงกับฐานข้อมูล ทั้งเรื่องจำแนกจำนวนเรือและระบบเรือ และเมื่ออียูเข้าตรวจสอบกับข้อมูลของกรมเจ้าท่าก็เป็นตัวเลขจำแนกจำนวนเรือและระบบเรือและตัวเลขการจัดกลุ่มเรือ ทำให้ข้อมูลไม่สอดคล้องกัน และตอบคำถามกับทางอียูไม่ได้ รวมไปถึงกรณีการบริหารคำสั่งการปกครองและการบังคับคดีควรบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง และกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน หากกรณีออกคำสั่งการปกครอง จะต้องมีระบบ การติดตาม กรณีอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวน อัยการ และชั้นศาลได้จัดสัมมนาแล้ว และกำหนดจะจัดสัมมนาอีกครั้ง เพื่อวางกรอบระยะเวลาในการดำเนินคำสั่งการปกครองและการจัดการคดีให้มีความชัดเจนมากขึ้น หาก 2 กรณีนี้ มีความชัดเจนและก้าวหน้าตามระยะเวลา ภายใน 4 เดือน อียูจะรับรายงานและเข้าตรวจสอบอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมผู้บริหาร นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรฯ จึงได้สั่งการให้กรมประมงดำเนินการ 5 องค์ประกอบ คือ เรือ เครื่องมือประมง วิธีการทำประมง พื้นที่การทำประมง และ เรื่องอื่นๆ และกรณีการดำเนินงานตาม พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 ขอให้ทางสำนักกฎหมายของกรมประมงดำเนินการตรวจสอบคำสั่งที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้อง เพื่อให้อธิบดีกรมประมงหรือเจ้าหน้าที่ประมงในจังหวัดต่างๆ ปฎิบัติงานให้ถูกต้องเรียบร้อย เนื่องจากการยึดหรืออายัดเครื่องมือประมง หากไม่เป็นไปตามอำนาจการปกครองจะกลายเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ประกอบกับขณะนี้ชาวประมงทักท้วงว่า การออกกฎหมายของกรมประมงดำเนินการเกินกว่ากติกาของอียูซึ่งทำให้อาชีพประมงเสียหาย จึงขอให้ภาครัฐรับฟังความเห็นภาคประชาชนด้วย และขอให้กรมประมง รายงานผลตามคำสั่งหัวหน้าคณะ คสช.ที่ 8/2561 ลงวันที่ 24 เมษายน 2561 ต่อ รมว.เกษตร

ส่วนทางด้านพลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย เปิดเผยภายหลังการตรวจเยี่ยมและติดตามการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของศูนย์ติดตามและเฝ้าระวังการทำประมง (FMC) ณ กรมประมง ว่าศูนย์ติดตามและเฝ้าระวังการทำประมง (FMC) ถือเป็นหน่วยงานสำคัญในการควบคุมการทำประมงให้เป็นไปตามกฎ กติกา อย่างครบวงจร ตั้งแต่การควบคุมเรือที่เกี่ยวข้องกับการทำประมง ควบคุมการทำประมง เช่น พื้นที่ทำประมงที่ถูกต้อง พฤติกรรมการทำประมงอย่างถูกต้องตามเครื่องมือ จนถึงควบคุมการใช้แรงงานบนเรือประมง ที่สามารถส่งข้อมูลพฤติกรรมและเส้นทางการทำประมง ระหว่างการออกทำประมงให้ศูนย์ PIPO เป็นฐานในการเปรียบเทียบกับข้อมูลที่เรือต้องแสดงในการใช้แรงงาน เพื่อให้ตรวจสอบทั้งก่อนออกและหลังกลับจากการทำประมง

ดังนั้น ศูนย์ FMC จึงต้องมีความพร้อมในด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านเทคโนโลยี เช่น การพัฒนาเทคนิคของระบบติดตามเรือ (VMS) ด้านข้อมูล โดยรวบรวมและสอบทานทุกข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการทำประมงของประเทศไทย จากทุกหน่วยงาน ทั้งกรมประมง กรมเจ้าท่า ศปมผ. กระทรวงแรงงาน ตำรวจ ด้านการวิเคราะห์ข้อมูล โดยการนำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์ กำหนดเป้าหมาย โดยจัดชั้นความเสี่ยงตามพฤติกรรมการทำประมง ผลการวิเคราะห์ข้อมูลจะนำมากำหนดเป็นชั้นความเสี่ยงของเรือประมงที่แม่นยำ ซึ่งจะทำให้ศูนย์ PIPO และหน่วยตรวจในทะเล สามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างชัดเจน ตรงตัวคนทำผิด ส่วนผู้ที่ปฏิบัติตามกฎหมายก็จะได้รับความสะดวกรวดเร็ว ด้านการบังคับใช้กฎหมาย เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลแล้ว ศูนย์ FMC จะต้องสามารถบังคับใช้กฎหมายได้ทันทีด้วย โดยเชื่อมโยงงานกับฝ่ายตำรวจ เช่น สัญญาณ VMS ขาดหาย การรุกล้ำเขตทำประมงชายฝั่ง การออกทำประมงนอกเขตประเทศไทยโดยไม่ได้รับอนุญาต และพฤติกรรมการทำประมงและขนถ่ายสินค้าในการทำประมงนอกน่านน้ำไทย ด้านการพัฒนาบุคลากร การดำเนินการให้เกิดผลการทำงานตามที่กล่าวข้างต้นให้ชัดเจน จับต้องได้ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติต้องมีความรู้ ความเข้าใจในกฎเกณฑ์ กติกาต่างๆ รวมถึงพฤติกรรมการทำประมงในพื้นที่จริง ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ด้วยการฝึกฝนอยู่สม่ำเสมอ

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 17 พฤษภาคม 2561

'กฤษฎา'ผุดเมกะโปรเจค ตั้งกองทุนเกษตรกรรมประชารัฐ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์ในรายการ "เคลียร์ คัด ชัดเจน" ถึงการปฏิรูปโครงสร้างภาคเกษตร เข้าสู่ยุค 4.0 ว่าทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องภาคเกษตรต้องปรับตัวไปสู่การทำเกษตรที่ใช้ความแม่นยำสูง โดยรวบรวมข้อมูลการเกษตรไว้ทั้งหมดใน "บิ๊กดาต้า" สามารถเข้าถึงการวิเคราะห์ลักษณะสภาพพื้นที่ สภาพดิน น้ำ เหมาะสำหรับปลูกพืชชนิดไหน หรือเลี้ยงสัตว์ ยังสามารถหาตลาดได้ผ่านเว็บไซต์ตลาดกลางสินค้าเกษตร เพื่อแก้ปัญหาที่ผ่านมาปลูกแล้วมีผลผลิตมากไม่รู้จะขายที่ไหน ก็วนเวียนซ้ำซากล้นตลาดราคาตก พากันมาหารัฐบาล ให้ช่วยรับจำนำ ประกันราคา รวมทั้งตนได้รับโครงสร้างกระทรวงเกษตรฯ 14 กรม ไปสู่ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล เพื่อวางแผนเชิงรุกในการผลิต การตลาด ล่วงหน้า ร่วมกับทุกหน่วยงาน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม ภาคเอกชน บริษัทประชารัฐในพื้นที่ ซึ่งมีผู้ว่าราชการ นั่งหัวโต๊ะ โดยมีเกษตรกรและสหกรณ์ ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการฟาร์ม

"สิ่งหนึ่งที่ผมกำลังคิดร่วมกับกองทัพ เมื่อทหารเกณฑ์พ้นจากการฝึกตามกำหนดแล้ว ให้มาประจำศูนย์การเรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตการเกษตร (ศพก.) กว่าหมื่นแห่งทั่วประเทศ ตั้งเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ทดแทนเกษตรกรรุ่นพ่อแม่มีอายุมากขึ้น โดยการเกษตรกรจากนี้ต้องเปลี่ยนไป เพราะเกษตรกรอายุมาก มีที่นาไร่สวนแต่ไม่มีคนทำ ผมมีแนวคิดให้ตัวแทนแต่ละครอบครัวมาร่วมทำเกษตรแปลงใหญ่ ร่วมกันใช้เครื่องจักร ปัจจัยการเกษตร ลดต้นทุนได้มาก และแบ่งส่วนต่างกัน ซึ่งอนาคตอันใกล้นี้ระบบเกษตรเปลี่ยนไปในแนวนี้ สิ่งสำคัญต้องวางแผนการผลิตให้ตรงความต้องการของตลาด แต่ตอนนี้ยอมรับตรงๆ กำลังพยายามทำ แม้แต่ทุเรียน ขณะนี้ราคาดี ส่วนผลผลิตปีนี้ 8 แสนตัน หากต่อไปถามว่าต้องปลูกอีกเท่าไหร่ถึงจะพอดี รวมถึงข้าว ปีไหนราคาดี น้ำดี ก็ปลูกมากอีก" นายกฤษฎา กล่าว

รมว.เกษตรฯ กล่าวว่า กำลังคิดระบบให้ปลูกเท่ากับปริมาณความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและตลาดโลก ขณะนี้แผนการผลิตการเกษตรยังไม่ชัดเจน ต้องหาวิธีวางแผนชัดเจน และมีสิ่งประกัน ให้เกษตรกรมั่นใจในราคาด้วย เช่น ประเทศออสเตรเลีย หากเกษตรกรปลูกเกิน มีความผิด โดนตัดสวัสดิการสังคม ถูกเก็บภาษีมากขึ้น และปลูกตามรัฐกำหนดปริมาณผลผลิต จะได้รับการดูแลครบวงจร ถ้าเราสามารถกำหนดวางแผนการผลิตได้ มีคณะกรรมการกำหนดราคาสินค้าเกษตร เช่นเดียวกับสมัย พล.อ.เปรม ติณสูญลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี และประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ได้ทำไว้ ออก พ.ร.บ.กองทุนอ้อยและน้ำตาล แม้ว่าจะมีปัญหาด้านราคาบ้าง แต่เกษตรกรออกมาเรียกร้องน้อยกว่าเกษตรกรอาชีพอื่น เพราะมีกลไกดูแลราคา ซึ่งเราพยายามจำลอง มาปรับจุดอ่อนจุดแข็งใหม่ เพื่อใช้กับสินค้าเกษตรหลักๆ ซึ่งตนมีแนวคิดการปฏิรูประบบบริหารจัดการภาคเกษตรของประเทศไทย ใช้ระบบบริหารจัดการรูปแบบกองทุนเกษตรกรรมประชารัฐ โดยจะทำรายละเอียดที่มาของเงินกองทุนให้เสร็จภายในเดือนนี้

จาก www.naewna.com  วันที่ 17 พฤษภาคม 2561

พด. จัดใหญ่ ! “55ปี นวัตกรรมพัฒนาที่ดินก้าวไกลไทยยั่งยืน”

กรมพัฒนาที่ดิน เปิดบ้านครบรอบ 55 ปี โชว์นวัตกรรมพัฒนาที่ดิน ตามแนวพระราชดำริที่ประสบผลสำเร็จ เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานรากและยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทยสู่ความยั่งยืน

วันนี้ (16 พ.ค.61) นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาที่ดิน ได้กำหนดจัดวันสถาปนากรมพัฒนาที่ดิน ครบรอบ 55 ปี หัวข้อ “55 ปี นวัตกรรมพัฒนาที่ดินก้าวไกล ไทยยั่งยืน” ระหว่างวันที่ 23-25 พฤษภาคม 2561 ณ กรมพัฒนาที่ดิน ถ.พหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ โดยมีนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เกียรติเป็นประธานเปิด ซึ่งภายในงานจัดแสดงนิทรรศการวิชาการต่างๆ ที่ได้น้อมนำศาสตร์พระราชาเพื่อการพัฒนาที่ดินยั่งยืนไปสู่การปฏิบัติ สามารถนำไปถ่ายทอดสู่เกษตรกรผู้ใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพในเชิงพาณิชย์และมุ่งสู่ภาคอุตสาหกรรมได้ในอนาคต ช่วยสร้างเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ ตามนโยบายประเทศไทย 4.0 และแสดงโมเดลดินที่มีชีวิตพื้นที่ทางการเกษตรของหมอดินอาสา ซึ่งเป็นเกษตรกรที่ประสบผลสำเร็จ ด้านการพัฒนาที่ดินตามแนวพระราชดำริ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ที่สามารถช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพเกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตลอดทั้งปีโดยความร่วมมือของเครือข่ายทุกภาคส่วนทั่วประเทศ เพื่อเทิดพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 9 และสร้างให้เกิดการรับรู้ถึงความสำคัญของวันดินโลกอย่างกว้างขวาง

อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า รวมทั้งนิทรรศการเกษตรกรทำนาซื้อนา นิทรรศการนวัตกรรมพัฒนาที่ดินก้าวไกล การผลิตพริกไทยเมืองจันท์ นิทรรศการธารปราสาท ต้นแบบการพัฒนาที่ดินสู่ธุรกิจการผลิตปลานิลระดับประเทศ นิทรรศการกลุ่มวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนบ้านอุ่มแสง แหล่งผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ทุ่งกุลาร้องไห้ หอมไกลไปทั่วโลก นิทรรศการจัดการดินและน้ำในพื้นที่ดินเค็มจังหวัดขอนแก่น เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตพืชเพื่อการตลาดและส่งออก นิทรรศการการจัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำพื้นที่ลุ่มน้ำน่านแบบยั่งยืน นิทรรศการฝายชะลอน้ำเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ นิทรรศการหมอดินอินเตอร์ Smart Farmer การตลาดนำการผลิต นิทรรศการการผลิตอาหารปลอดภัย นำไทยสู่ความยั่งยืน และการผลิตสาธิตผลิตภัณฑ์หญ้าแฝก นิทรรศการตลาดนำการผลิตเกษตรอินทรีย์ หมอดินเมืองสตูล และองุ่นเงินล้านแห่งคาบสมุทรสทิงพระ นิทรรศการเกษตรอินทรีย์ วิถีไทย นิทรรศการศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน นิทรรศการผลสำเร็จของการพัฒนา น้อมนำศาสตร์พระราชาสู่เขาหินซ้อน นิทรรศการฟื้นผืนดิน คืนผืนป่า ด้วยศาสตร์พระราชา นิทรรศการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ กับการพัฒนาที่ดินตามศาสตร์พระราชา โครงการแกล้งดิน นิทรรศการวันดินโลก (World Soil Day)

นายสุรเดช กล่าวอีกว่า นโยบายกระทรวงเกษตรฯ มุ่งยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารของประเทศไทยทั้งระบบ ตั้งแต่ฟาร์มถึงผู้บริโภค โดยดำเนินการของกรมซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่ทันสมัยและหาชมจากที่อื่นๆ ได้ยาก ซึ่งมีความน่าสนใจและน่าที่จะได้เข้ามาศึกษาหาความรู้เป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นจึงขอเชิญชวนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ นักเรียน นิสิต นักศึกษา พี่น้องเกษตรกรและประชาชนทั่วไป เข้ามาร่วมชมงานในครั้งนี้

จาก https://siamrath.co.th   วันที่ 17 พฤษภาคม 2561

เงินบาทแนวโน้ม 'ผันผวน' หลังกนง.คงดอกเบี้ย

บาทเปิดตลาดเช้านี้แข็งค่า "32 บาทต่อดอลลาร์" เงินบาทยังมีทิศทางไม่แน่นอนหลังกนง. คงดอกเบี้ยที่1.5%วานนี้

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 32.00บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ 32.12 บาทต่อดอลลาร์

ในคืนที่ผ่านมา ตลาดการเงินเริ่มสงบตลาดหุ้นสหรัฐ S&P500 ปรับตัวบวกกลับมาได้เล็กน้อย 0.4% ขณะที่บอนด์ยิลด์สหรัฐอายุ 10 ปียังอยู่ที่ระดับ 3.10% ปรับตัวขึ้น 3bps ขณะที่ค่าเงินเยนและราคาทองคำไม่เปลี่ยนแปลง

นักลงทุนในฝั่งเอเชียกลับมาระวังตัว เนื่องจากปัญหาในคาบสมุทรเกาหลีกดดันตลาด ขณะที่ผลการจัดตั้งรัฐบาลของอิตาลีก็สร้างความกังวลให้กับนักลงทุนในฝั่งยุโรปเช่นกัน

สำหรับวันนี้ธนาคารกลางอินโดนีเซียอาจขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ไปที่ระดับ 4.25% ขณะที่จีดีพีมาเลเซียไตรมาสที่ 1 ก็มีแนวโน้มที่จะปรับตัวลงมาเติบโตแค่ระดับ 5.6% ชี้ว่าภาพการเติบโตของตลาดเอเชียไม่เปลี่ยนแปลง แต่ตลาดการเงินผันผวนมากขึ้น

สำหรับค่าเงินบาทก็ยังคงมีทิศทางไม่แน่นอน ล่าสุดคณะกรรมการนโยบายการเงิน กลับลำด้วยความเห็นเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 1.50% ทำให้ตลาดเกิดความสับสนและไม่มั่นใจว่าแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยจะเกิดขึ้นหรือไม่ จากผลดังกล่าวเรามองว่าโอกาสที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะขึ้นดอกเบี้ยมีความเป็นไปได้น้อยมาก และอาจเกิดขึ้นเร็วที่สุดในช่วงปีหน้าเท่านั้น มองกรอบเงินบาทระหว่างวันที่ระดับ 31.95- 32.10 บาทต่อดอลลาร์

จาก www.bangkokbiznews.com วันที่ 17 พฤษภาคม 2561

ปฏิวัติอุตสาหกรรมด้วยนวัตกรรม4.0 พลิกโฉมสายผลิตสู่เทคโนฯอัจฉริยะ

               มุ่งยกระดับผู้ประกอบการไทย มุ่งสร้างโอกาสแห่งการเรียนรู้ในเวทีจริง และมุ่งเชื่อมโยงความร่วมมือทางธุรกิจเพื่อก้าวเข้าสู่ “ยุคเครื่องจักรอัจฉริยะเต็มรูปแบบ”สำหรับงาน “อินตอร์แมค – ซับคอนไทยแลนด์ 2018” ซึ่งได้รวบรวมความเป็นที่สุดและครบวงจรทุกมิติในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกี่ยวกับเครื่องจักรกล และชิ้นส่วนอุตสาหกรรม กว่า 1 ล้านชิ้น ควบคู่ไปกับการจัดแสดงงานสาธิต สัมมนาวิชาการและการจับคู่ธุรกิจที่จะเชื่อมโยงโอกาสให้ผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และรายย่อย นักลงทุน และสตาร์ทอัพได้เข้ามาสร้างความร่วมมือ เรียนรู้ และต่อฐานเติมยอดอุตสาหกรรมในอนาคตให้แก่ประเทศไทย   

              “อินตอร์แมคและซับคอนไทยแลนด์ 2018 มีส่วนในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวไปสู่ยุค 4.0 เป็นโอกาสที่ทุกภาคส่วนต้องปรับตัว โดยเฉพาะผู้ประกอบการ จึงต้องใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะและมุ่งสู่การเป็นโรงงานอัจฉริยะเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาของประเทศให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน”       

               โชคดี แก้วแสง รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดงาน “อินตอร์แมค–ซับคอนไทยแลนด์ 2018” ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม โดยระบุว่า ภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 รัฐบาลมีแผนที่จะมุ่งหน้าสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยเทคโนโลยี ทั้งนี้ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีความก้าวหน้าอย่างมากในการเป็นศูนย์กลางการผลิตของภูมิภาคอาเซียน ซึ่งการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนประเทศสู่การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างแท้จริง

            รองเลขาธิการบีโอไอ กล่าวต่อว่า ในปีที่ผ่านมาได้รับผลตอบรับที่ดีจากนักลงทุนโดยเฉพาะชาวญี่ปุ่นและชาวจีน ซึ่งในปีนี้การเข้ามาจัดแสดงของทั้งสองชาติคาดว่าจะเพิ่มโอกาสการลงทุนได้อย่างแน่นอน ที่สำคัญเรายังมองหาโอกาสในการสร้างความร่วมมือกับเกาหลีใต้หนึ่งชาติในเอเชียที่โดดเด่นและเป็นผู้นำอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV (Electric Vehicle) ในอนาคตอันใกล้นี้ สอดรับกับการดำเนินงานตาม พ.ร.บ.อีอีซี ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายได้อย่างเชื่อมโยง

          “คาดว่าปีนี้จะมีผู้เข้าชมงานกว่า 45,000 ราย จะมีการจับคู่ธุรกิจภายในงานไม่น้อยกว่า 6,500 คู่ คิดเป็นมูลค่ากว่า 12,000 ล้านบาท ซึ่งจากการพูดคุยกับผู้เข้าร่วมงานในสายอาชีพต่างๆ พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า รู้สึกมั่นใจว่างานนี้จะได้รับโอกาสดีๆ ทั้งการเรียนรู้จากเครื่องจักรกลที่ทันสมัย งานแสดงภาคการผลิตและหัวข้อสัมมนาที่เปิดกว้างและครอบคลุมในทุกหน่วยธุรกิจ” โชคดีย้ำ

           อย่างไรก็ตาม อินเตอร์แมคและซับคอนไทยแลนด์ นับเป็นส่วนสำคัญในการเชื่อมโยงหลากหลายด้าน อาทิ การมีบทบาทสำคัญต่อการสนับสนุนพัฒนาอุตสาหกรรมของไทย หรือจะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่สำคัญยังเป็นฟันเฟืองที่สำคัญสู่การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมรับช่วงการผลิต เป็นเวทีที่สำคัญในการฝึกทักษะแรงงานเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง และผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตชั้นนำของอาเซียน ไม่ว่าจะเป็น ก่อสร้าง แม่พิมพ์ และยานยนต์ไฟฟ้า

           ขณะที่ มนู เลียวไพโรจน์ ประธานบริษัท บริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงงานอินเตอร์แมค 2018 หรืองานแสดงเทคโนโลยีเครื่องจักรกล ซึ่งได้จัดมากว่า 30 ปีแล้ว โดยในปีนี้จัดคู่กับงานซับคอนไทยแลนด์ 2018 หรืองานแสดงชิ้นส่วนอุตสาหกรรมและการจับคู่ธุรกิจ ซึ่งได้มีการรวบรวมเทคโนโลยีและนวัตกรรมล่าสุดของโลกมาไว้ในงาน และยังเป็นงานแรกของภูมิภาคที่ได้รวบรวมภาคอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำมารวมไว้ในงานเดียวด้วย อีกทั้งยังเป็นเวทีแห่งโอกาสที่ผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่ เอสเอ็มอี และสตาร์ทอัพ จะได้เข้ามาแลกเปลี่ยนความรู้ เชื่อมโยงความสัมพันธ์ทางด้านการค้าและการผลิตร่วมกัน ตลอดจนเปิดโลกทัศน์ในมิติของเทคโนโลยีและนวัตกรรมอัจฉริยะเพื่อก้าวเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ด้วยความพร้อมและเต็มเปี่ยมไปด้วยศักยภาพ

          “ในปีนี้ งานอินเตอร์แมค–ซับคอนไทยแลนด์ 2018 จัดขึ้นภายใต้ธีมงาน “พลิกโฉมสายการผลิตด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะ” โดยมุ่งเน้นการโชว์ศักยภาพความเป็นที่สุดผ่านการนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมอัจฉริยะมานำเสนอ ยกตัวอย่างเช่น โซน “Smart Factory Showcase” ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในอาเซียนที่จัดแสดงการสาธิตไลน์การผลิตแบบเต็มรูปแบบภายในโรงงานอัจฉริยะจำลองบนพื้นที่ 400 ตร.ม. โดยสามารถผลิตชิ้นงานได้จริงด้วยระบบออโตเมชั่นไร้การควบคุมจากแรงงานของมนุษย์”

          นอกจากนี้ ยังเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการสร้างความร่วมมือ เพราะได้รวบรวมแบรนด์ชั้นนำด้านเครื่องจักรกลมาโชว์ศักยภาพและขีดความสามารถในการผลิตชิ้นงาน เช่น OKUNO, UNIARC, CERATHAI สำหรับแขนกลอัจฉริยะ หรือจะเป็นเครื่องพับโลหะจากวงศ์ธนาวุฒิ และกลไกต่างๆ จากแบรนด์ KAESER, TUNGALOY และ PHOTONICS SCIENCE ร่วมผลิตชิ้นงานและมอบให้แก่ผู้เข้าร่วมงาน 

        ไม่เพียงเท่านั้นการทำงานของแต่ละเครื่องจักรยังสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้เพียงสแกนคิวอาร์โค้ดจากสมาร์ทโฟน ทั้งนี้ การจัดโซน “Smart Factory Showcase” ยังถือเป็นโอกาสที่ดีในภาคการผลิตที่จะก่อเกิดการจับคู่ธุรกิจในอนาคตเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ประกอบการและนักลงทุนได้นำไปต่อยอด และเป็นการเน้นย้ำการพลิกโฉมสายการผลิตด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะได้อย่างน่าสนใจ 

        ด้าน บุญเลิศ ชดช้อย อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทย เผยภาพรวมอุตสาหกรรมไทยโดยเฉพาะเครื่องจักรกลและขั้นตอนการผลิตต่างๆ กำลังก้าวผ่านรูปแบบเดิมๆ หากผู้ประกอบการไม่ปรับตัวจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจ ไม่เพียงเท่านั้นการเปิดภูมิภาคอาเซียนยิ่งทำให้เรามีคู่แข่งมากยิ่งขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการชาวไทยหันมายกระดับธุรกิจด้วยเครื่องกลอัจฉริยะที่มีหัวใจหลักอย่างเทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อนอย่างเต็มรูปแบบ เช่น งานพิมพ์ในยุคสมัยนี้ที่นำเอานวัตกรรมสุดทันสมัยมาปรับใช้ ไม่ว่าจะเป็น 3D พรินติ้ง เทคโนโลยีการพิมพ์บนพื้นผิวหรือฉลากบรรจุภัณฑ์ที่แม่นยำ รวดเร็ว

        “ไฮไลท์ที่น่าสนใจและแสดงออกถึงความเป็นที่สุดอีกมิติ คือ โซน “Progressive Bending Robot” เพราะถือเป็นครั้งแรกของโลกกับการทำงานร่วมกันระหว่างเครื่องพับ 3 เครื่อง และหุ่นยนต์แขนกลที่สามารถประมวลผลภาพการทำงานหรือสั่งการผ่านจอคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟน โดยสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในธุรกิจแขนงต่างๆ อย่างหลากหลาย ตอกย้ำการเดินหน้าสู่การเป็นโรงงานอัจฉริยะในอนาคตได้อย่างตรงประเด็น”

        “อินเตอร์แมค-ซับคอนไทยแลนด์ 2018” จัดขึ้นร่วมกับงาน MTA 2018 ระหว่างวันพุธที่ 16 ถึงวันเสาร์ที่ 19 พฤษภาคม ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา นับเป็นส่วนสำคัญในการเชื่อมโยงหลากหลายด้านและเป็นฟันเฟืองที่สำคัญสู่การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมรับช่วงการผลิตเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะและผลักดันไทยใหม้เป็นศูนย์กลางการผลิตชั้นนำของอาเซียน 

  “โรงงานอัจฉริยะ”เพิ่มศักยภาพการผลิต

         สมหวัง บุญรักษ์เจริญ ผู้อำนวยการสถาบันไทย-เยอรมัน กล่าวถึงการจำลอง Smart Factory จะทำให้ผู้ประกอบการเห็นภาพโรงงานอัจฉริยะเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกลไกการทำงานที่ขับเคลื่อนด้วยซอฟต์แวร์ทำให้แขนกลสามารถทำงานกับเครื่องกลึง เครื่องตัดและเครื่องวัดจนผลิตมาเป็นชิ้นงาน ยิ่งไปกว่านั้นการสาธิตดังกล่าวยังแสดงออกถึงขีดความสามารถในการแข่งขันภาคการผลิตของอุตสาหกรรมไทยและจะเป็นแม่พิมพ์ให้ผู้ประกอบการได้นำไปปรับใช้ และในเร็วๆ นี้ สำหรับผู้ที่สนใจในเรื่อง Smart Factory ทางสถาบันอยู่ระหว่างการจัดทำหลักสูตรเพื่อเปิดสอนให้แก่ผู้ที่สนใจโดยเฉพาะผู้ประกอบการชาวไทยทั้งรายใหญ่และรายย่อยด้วย

          อัฒพล สุริยนต์ ผู้จัดการจากมิตูโตโย กล่าวเสริมว่า สำหรับโซน “Smart Factory Showcase” มิตูโตโยได้นำเครื่องวัดมาเป็นส่วนประกอบในการตรวจสอบคุณภาพชิ้นงาน ซึ่งนอกจากความถูกต้อง แม่นยำ ยังฉายภาพหรือประมวลผลไปยังจอแสดงผลหรือสมาร์ทโฟน ซึ่งเพิ่มความสะดวกสบายในการตรวจสอบการผลิตในทุกช่วงเวลาและทุกสถานที่บนโลกใบนี้ ทั้งนี้ ยังมองว่าโซนดังกล่าวเป็นไอเดียที่เหมาะสมกับการก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0

          ทั้งนี้ ภายในงานยังก่อเกิดความร่วมมือครั้งแรก ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) บริษัทยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด และกลุ่มผู้ประกอบการระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ไทย(TARA) ที่จะร่วมจัดแสดง Smart Logistic และ Mini Smart Factory เพื่อให้นักธุรกิจภาคอุตสาหกรรมการผลิตได้มาศึกษาเทคโนโลยีจริงอย่างใกล้ชิดกับ Systems Integrator พร้อมกับนำเสนอโซน “Advanced Technology” หรือพื้นที่เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น นวัตกรรมการพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์แบบ 3D ที่เร็วที่สุดในโลก การฉายภาพเสมือนจริงของตัวอย่างโรงงานและผังสายการผลิตต่างๆ ด้วยเทคโนโลยี VR (Virtual Reality)

จาก www.komchadluek.net  วันที่ 17 พฤษภาคม 2561

ปลัดอุตฯ แจงสรรหาผู้ว่ากนอ. คนใหม่ ต้องรอบคอบ มั่นใจไม่ฉุดโครงการอีอีซีสะดุด

นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการคัดเลือกผู้ว่าการ กนอ. คนใหม่ วาระปี 2561-2563 แทนนายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ที่พ้นวาระไปเมื่อช่วงปลายเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ว่า คณะกรรมการสรรหาได้เริ่มดำเนินตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจตั้งแต่ต้นปี 2561 เป็นต้นมา ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบเพื่อคัดสรรบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ และเหมาะสมต่อการขับเคลื่อนองค์กรในยุคใหม่ คาดว่าจะสามารถเสนอผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนและเหมาะสมต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบตามพ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ และพ.ร.บ.การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในเร็วๆ นี้

“โดยยืนยันว่าแม้การสรรหาผู้มาดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ กนอ. คนใหม่จะยังไม่สิ้นสุด แต่ไม่มีผลกระทบต่อการบริหารงานของ กนอ. แต่อย่างใด โดยเฉพาะการดำเนินโครงการในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เนื่องจาก กนอ. ได้กำหนดระบบการบริหารงานและกลยุทธ์การดำเนินงานที่ชัดเจน ซึ่งเรื่องดังกล่าวได้มอบหมายให้รองผู้ว่าการปฏิบัติการ 3 เป็นผู้ดำเนินการ และติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด”

อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนนโยบายที่สำคัญต่างๆ ยังมีความก้าวหน้าด้วยทีมงานที่ทำงานเชิงบูรณาการกันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการพัฒนาโครงการต่างๆ ในพื้นที่อีอีซี ที่มีความคืบหน้าอย่างและเป็นไปตามแผนของการดำเนินโครงการ อาทิ โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรม มาบตาพุด ระยะที่ 3 ที่กนอ. ได้เปิดให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนร่วมแสดงความคิดเห็นการร่วมลงทุน (Market Sounding) ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ไปแล้ว คาดว่าการศึกษาและวิเคราะห์โครงการจะแล้วเสร็จภายในเดือนมิ.ย.นี้ และพร้อมประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนได้ภายในช่วงเดือนส.ค.-ก.ย.นี้ รวมถึงลงนามสัญญาร่วมลงทุนกับผู้ที่ได้รับการคัดเลือกภายในเดือนธ.ค. 2561

สำหรับการดำเนินโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ (สมาร์ต ปาร์ก) ในพื้นที่มาบตาพุด เพื่อรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมด้านดิจิตอลอยู่ระหว่างการออกแบบรายละเอียดของโครงการในด้านต่างๆ อาทิ การจัดระบบสาธารณูปโภค การพัฒนาระบบขนส่ง การใช้พลังงาน ซึ่งหลังจากที่ได้มีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการเมื่อช่วงเดือนก.พ.ที่ผ่านมา มีทั้งภาครัฐและเอกชนให้ความสนใจสอบถามข้อมูลในการร่วมพัฒนาเป็นจำนวนมาก และ กนอ. ยังได้ร่วมกับ สกรศ. เตรียมการจัดตั้งศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร (Total Solution Center) เพื่อให้บริการแก่นักลงทุนในพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษอีอีซีที่นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง ซึ่งจะเปิดบริการในระยะต่อไปด้วย

นอกจากนี้ กนอ. ยังได้จัดสรรพื้นที่ลงทุนกว่า 11,000 ไร่ ใน 14 นิคมฯ ของจังหวัดระยอง ฉะเชิงเทรา และชลบุรี ที่พร้อมรองรับการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายทั้ง 10 ประเภทได้ทันที และนิคมที่อยู่ระหว่างการพัฒนาอีก 15,000 ไร่ ใน 21 นิคม ซึ่งการพัฒนาส่วนต่างๆ เหล่านี้ถือเป็นภารกิจที่สำคัญ และยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

จาก https://www.khaosod.co.th   วันที่ 17 พฤษภาคม 2561

สมอ. 4.0 เดินหน้าอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการในการขอรับใบอนุญาต มอก.

สมอ. พร้อมรับคำขอรับใบอนุญาตผ่านระบบ Digital-License แล้ว 98 มาตรฐาน คาดภายในปี 61 ครอบคลุม 173 มาตรฐาน พร้อมแต่งตั้งหน่วยตรวจ (IB) เพิ่มเป็น 15 หน่วยงาน ดำเนินการตรวจโรงงานแทน สมอ. ควบคู่กับการถ่ายโอนการตรวจติดตามภายหลังการอนุญาต เพื่อให้การรับรองมาตรฐานรวดเร็วขึ้น

นายอภิจิณ โชติกเสถียร เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยความคืบหน้าการ Transform การมาตรฐานสู่ สมอ. 4.0 โดยนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในกระบวนการออกใบอนุญาต (Digital-License) เพื่ออำนวยความสะดวก และลดระยะเวลาในการออกใบอนุญาตให้กับผู้ประกอบการให้รวดเร็วยิ่งขึ้นภายใน 10 วันทำการ โดยตั้งแต่เปิดตัวโครงการระบบ Digital-License เมื่อวันที่19 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ได้ดำเนินการออกใบอนุญาตไปแล้ว 46 ฉบับ ครอบคลุม 12 มาตรฐาน ขณะนี้ยังพร้อมให้ผู้ประกอบการยื่นขอ มอก. ผ่านระบบเพิ่มอีก จำนวน 98 มาตรฐาน และจะดำเนินการให้ครอบคลุม 173 มาตรฐาน ภายในปี 2561 โดยมีเป้าหมายให้สามารถออกใบอนุญาตได้ครบทุกมาตรฐาน ภายในปี 2562

ด้านการถ่ายโอนงานการตรวจประเมินโรงงานให้หน่วยตรวจที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ตรวจสอบการทำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ Inspection Body (IB) ขณะนี้ สมอ. ได้แต่งตั้งศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) เป็นหน่วยตรวจประเมินโรงงานเรียบร้อยแล้ว ทำให้ขณะนี้ สมอ. มีหน่วยตรวจประเมินโรงงาน จำนวน 15 หน่วยงาน ครอบคลุม 1,700 มาตรฐาน ซึ่งในจำนวนนี้ สมอ. ได้ถ่ายโอนงาน      เต็มรูปแบบ จำนวน 173 มาตรฐาน แบ่งเป็น มาตรฐานทั่วไป 130 มาตรฐาน และมาตรฐานบังคับ 43 มาตรฐาน เช่น หลอดไฟฟ้า ถังก๊าซปิโตรเลียมเหลว ผ้าเบรกสำหรับรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ถังน้ำมันรถยนต์นั่ง เครื่องอบผ้าเฉพาะด้านความปลอดภัย เป็นต้น ซึ่งหน่วยตรวจดังกล่าวจะทำหน้าที่ประเมินระบบควบคุมคุณภาพของโรงงานที่ทำผลิตภัณฑ์ของผู้ขอรับใบอนุญาต ตั้งแต่การตรวจประเมินระบบของโรงงาน เก็บตัวอย่างและนำมาทำการทดสอบในห้องปฏิบัติการที่ได้รับการแต่งตั้ง รวมทั้งจัดทำรายงานเพื่อเสนอ สมอ. พิจารณา       ออกใบอนุญาต ส่งผลให้การขอรับใบอนุญาตของผู้ประกอบการสะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อหน่วยตรวจประเมินโรงงานได้ที่ www.tisi.go.th.

ท้ายนี้ เลขาธิการ สมอ. กล่าวว่า สมอ. เตรียมให้หน่วยตรวจ หรือ IB ทำหน้าที่ตรวจติดตามภายหลังการอนุญาต เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑและวิธีการการตรวจสอบ  เพื่อการอนุญาตและติดตามผล

จาก www.industry.go.th   วันที่ 17 พฤษภาคม 2561

กระทรวงเกษตรฯ หารือ สมาคมการเกษตรเยอรมนี สานต่อความร่วมมือด้านการพัฒนาการเกษตรไทยสู่เกษตรอัจฉริยะ (Smart Agriculture)

          นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังหารือร่วมกับ นายเพเตอร์ โกรทฮูส (Mr.Peter Grothues) กรรมการผู้จัดการสมาคมการเกษตรเยอรมนี และคณะผู้บริหารของสมาคมการเกษตรเยอรมนี ว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับภาคเกษตรกรรม ซึ่งแผนพัฒนาด้านการเกษตรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มุ่งเน้นทั้งเชิงรุกและเชิงรับ โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาภาคการเกษตร เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร รวมทั้งวางแผนการพัฒนาเกษตรกรให้ทันสมัย ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลก และการพัฒนาเกษตรกรให้เป็น Smart Farmer โดยการยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรและการพัฒนาเกษตรอินทรีย์และเกษตรปลอดภัยมาเป็นตัวขับเคลื่อนในการพัฒนา ซึ่งจากการเข้าร่วมประชุม Ag Machinery International Conference และการหารือร่วมกับกระทรวงอาหารและการเกษตรแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี สมาคมการเกษตรเยอรมนี และสมาคมส่งเสริมกลุ่มเกษตรกรและสหกรณ์การเกษตร ของ น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระหว่างวันที่ 11 – 17 พ.ย. 2560 ที่ผ่านมานั้น ได้หยิบยกประเด็นการจัดทำความร่วมมือด้านเครื่องจักรกลระหว่างกัน โดยพิจารณาแล้วเห็นว่ามีเครื่องจักรกลการเกษตรสมัยใหม่ที่เหมาะสมจะนำมาใช้ในระบบการผลิตการเกษตรแปลงใหญ่ ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อาทิ เครื่องตัดหญ้าอาหารสัตว์ ซึ่งเหมาะสมในการนำมาใช้ในแปลงผลิตพืชอาหารสัตว์ของกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อและโคนม ในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย

          “กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้สานต่อความร่วมมือด้านการพัฒนาการเกษตรไทยสู่เกษตรอัจฉริยะ (Smart Agriculture) โดยขณะนี้กำลังดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการโครงการพัฒนาศูนย์เรียนรู้เกษตรอัจฉริยะ ณ ศูนย์บริการการพัฒนาปลวกแดง ตามแนวพระราชดำริ จ.ระยอง เพื่อศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรอัจฉริยะที่เหมาะสมกับการผลิตทางการเกษตรของประเทศไทย สำหรับเป็นศูนย์ต้นแบบและเป็นที่ศึกษาดูงานของเกษตรกรและประชาชนที่สนใจ โดยมีหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมบูรณาการ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ให้ความสนใจในเครื่องจักรกลการเกษตรสมัยใหม่ของเยอรมนี ที่มีการนำระบบเซนเซอร์และระบบ GPS มาใช้ ทำให้เกิดความแม่นยำในการทำการเกษตรเพิ่มมากขึ้น เช่น เครื่องเซนเซอร์เก็บข้อมูลคุณภาพดิน เครื่องให้ปุ๋ยตามแผนที่ดิน เครื่องกำจัดวัชพืชควบคุมด้วยระบบ GPS เป็นต้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และลดโอกาสสูญเสียปริมาณผลผลิต ตลอดจนแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน”

          ทั้งนี้ มีเครื่องจักรกลที่มีการผลิตในประเทศ และนำเข้าจากต่างประเทศจำนวนมาก แต่ยังขาดการทดสอบสมรรถนะทั้งด้านการทำงานและความปลอดภัย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงให้ความสำคัญในการจัดตั้งศูนย์ทดสอบเครื่องจักรกลเกษตร (Testing Center) เพื่อยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร ลดการสูญเสียทางเศรษฐกิจ และเพิ่มความปลอดภัยจากสินค้าเครื่องจักรกลการเกษตรด้อยคุณภาพ โดยขอรับการสนับสนุนจากเยอรมนีเนื่องจากมีระบบการพัฒนามาตรฐาน เครื่องจักรกลการเกษตร การทดสอบ และศูนย์ทดสอบเครื่องจักรกลเกษตรที่เป็นมาตรฐานระดับโลก รวมทั้งมีผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งจะเป็นการช่วยพัฒนาการเกษตรของไทยต่อไป

จาก https://www.moac.go.th  วันที่ 16 พฤษภาคม 2561

ชาวกาฬสินธุ์โวยโรงงานเอทานอลกลุ่มมิตรผลขยายบ่อบำบัดน้ำเสีย กระทบชุมชนหนัก

เดือดร้อนหนัก ชาวบ้านในตำบลสมสะอาด อ.กุฉินารายณ์ รวมตัวกันเรียกร้องให้โรงงานเอทานอลของโรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์หยุดขยายบ่อบำบัดน้ำเสียเพิ่ม เหตุส่งกลิ่นเหม็นและเกิดมลพิษทางอากาศต่อชุมชน

วันนี้ (16 พ.ค.) ตัวแทนชาวบ้านใน ต.สมสะอาด อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ รวมตัวกันเรียกร้องให้โรงงานเอทานอล ซึ่งตั้งอยู่ในโรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ กลุ่มมิตรผล ซึ่งอยู่ใกล้กับชุมชนหยุดการดำเนินการขยายบ่อบำบัดน้ำเสียเพิ่ม หลังทางโรงงานกำลังขยายบ่อบำบัดน้ำเสียออกมาใกล้กับชุมชน

ชาวบ้านระบุว่า บ่อบำบัดน้ำเสียเดิมที่มีอยู่แล้วส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและพื้นที่การเกษตรมากพออยู่แล้ว และหากมีการขยายบ่อบำบัดน้ำเสียเพิ่มขึ้นมาอีกยิ่งจะทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพคนในชุมชนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะปัญหามลภาวะทางกลิ่น

นางคำมา สีเครือดง อายุ 68 ปี ชาวบ้านดงมัน ม.4 ต.สมสะอาด อ.กุฉินารายณ์ กล่าวว่า เดิมโรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ก่อตั้งขึ้นเพื่อรับซื้ออ้อยจากเกษตรกรและผลิตน้ำตาลนั้นก็ไม่ได้เกิดผลกระทบต่อชาวบ้านมากนัก จะมีปัญหาบางช่วงคือฤดูกาลเปิดหีบอ้อย ซึ่งจะมีปัญหาในเรื่องของฝุ่นและการทำอ้อยตกหล่นตามท้องถนน

แต่ปัจจุบันโรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ ซึ่งอยู่ในกลุ่มมิตรผลได้มีการขยายโรงงานผลิตไฟฟ้าชีวมวล และขยายโรงงานผลิตเอทานอลขึ้น จึงทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนไปตามๆ กัน โดยเฉพาะการทำบ่อบำบัดน้ำเสีย

เนื่องจากอยู่ใกล้กับชุมชนมีกลิ่นเหม็นคลุ้งไปทั่วตลอดเวลา เกิดมลภาวะทางอากาศ อีกทั้งน้ำเสียยังมีการรั่วไหลออกมาอีกด้วย โดยเฉพาะในช่วงหน้าฝน ซึ่งส่งผลกระทบชาวบ้านที่มีพื้นที่นาข้าว พืชสวน และบ้านเรือนที่อยู่ใกล้อย่างมาก ทำให้หลายคนล้มป่วยเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ พืชสวนผักนาข้าวไม่ได้ผลผลิตเสียหาย

นางคำมากล่าวอีกว่า ขณะนี้ทราบว่าทางโรงงานจะดำเนินการขยายบ่อบำบัดน้ำเสียเพิ่มอีกจำนวน 3 บ่อ จากเดิมที่มีอยู่แล้วกว่า 10 บ่อ ซึ่งบ่อเดิมก็ยังเกิดปัญหาอยู่ แต่หากทำการขยายเพิ่มอีกวิตกว่าจะส่งผลกระทบต่อชาวบ้านดงมัน และชุมชนใกล้เคียงมากยิ่งขึ้น เพราะการขยายพื้นที่ออกมายิ่งทำให้ใกล้ชุมชนและจะต้องมีกลิ่นเหม็นมากกว่าเดิม อีกทั้งยังไม่ผ่านการประชาคมของชาวบ้าน

ดังนั้นชาวบ้านจึงอยากเรียกร้องให้โรงงานหยุดการขยายบ่อบำบัดน้ำเสียเพิ่มเติม แต่ให้กลับไปปรับปรุงประสิทธิภาพการบำบัดน้ำเสียของเดิมจะดีกว่า เพื่อไม่ให้เกิดกลิ่นเหม็นส่งผลกระทบต่อชุมชนอีก

นอกจากนี้ ชาวบ้านยังเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่เข้ามาตรวจสอบปัญหาดังกล่าวด้วย ไม่ใช่ปล่อยปัญหาเกิดขึ้นเรื้อรังมานานจนชาวบ้านได้รับผลกระทบมานานหลายปี

ด้าน นายสยาม นาเมืองรักษ์ รองนายก อบต.สมสะอาด อ.กุฉินารายณ์ ตัวแทนชาวบ้าน กล่าวว่า ขณะนี้ได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านจำนวนมากว่าได้รับผลกระทบจากบ่อบำบัดน้ำเสีย โดยเฉพาะปัญหาเรื่องกลิ่นมลภาวะทางอากาศที่ทำให้ชาวบ้านมีปัญหาด้านสุขภาพระบบทางเดินหายใจ อีกทั้งพื้นที่ทางการเกษตรก็ได้รับผลกระทบจากการรั่วไหลของบ่อบำบัดน้ำเสีย ทั้งนี้ไม่เฉพาะชาวบ้านใน ต.สมสะอาดเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ

ยังมีชาวบ้านใน ต.สามขา ต.กุดค้าว และ ต.บัวขาวที่ได้รับผลกระทบด้วย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทราบว่าทางโรงงานเอทานอลจะขยายบ่อบำบัดน้ำเสียเพิ่มอีก 3 บ่อ ซึ่งอยู่ใกล้กับบ้านดงมัน ต.สมสะอาด

ขณะนี้ทางโรงงานได้ทำการสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคืบหน้าไปแล้ว 40 เปอร์เซ็นต์ จำนวน 1 บ่อ ขนาดความจุ 60,000 ลูกบาศก์เมตร และกำลังจะสร้างอีก 2 บ่อ ขนาดความจุบ่อละ 100,000 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งทางโรงงานได้เข้าไปทำประชาคมกับชาวบ้านแล้ว แต่การประชาคมไม่ผ่าน ชาวบ้านไม่ยอมให้ขยายพื้นที่

แต่ทางโรงงานกลับไม่ยอมรับฟังความเห็นชาวบ้าน ยังคงเดินหน้าขยายพื้นที่ออกมา ซึ่งการขยายพื้นที่นั้นจะใกล้เข้ามาติดกับชุมชนมากขึ้น จะทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบต่อสุขภาพมากกว่าเดิมอย่างแน่นอน

ดังนั้น ชาวบ้านจึงเรียกร้องให้ทางโรงงานหยุดการขยายพื้นที่บ่อบำบัดน้ำเสียเพิ่ม และรับฟังความคิดเห็น และเรื่องผลกระทบต่อประชาชนด้วย ซึ่งหากทางโรงงานยังไม่ยอมรับฟังและยังพยายามจะขยายพื้นที่โดยไม่ฟังเสียงใคร ชาวบ้านเตรียมที่จะล่ารายชื่อเพื่อคัดค้าน และยื่นร้องเรียนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

จาก https://mgronline.com วันที่ 16 พฤษภาคม 2561

เวทีวิชาการ เสนอควบคุมสารเคมีอันตราย 3 ชนิด

ในเวทีวิชาการ นักวิชาการ-แพทย์-เภสัชกร ย้ำพิษพาราควอต เรียกร้องให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณาเพื่อควบคุมสารเคมีอันตรายทั้ง 3 ชนิด‘พาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอไพริฟอส”

ศูนย์วิชาการและพัฒนาระบบยาร่วมกับ มหาวิทยาลัยนเรศวร คณะเภสัชศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะสาธารณสุขศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์ความเป็นเลิศด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและพิษวิทยา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา สภาเภสัชกรรมฯลฯ จัด เวทีวิชาการเพื่อให้ข้อมูลแก่สื่อมวลชนและประชาชน เรื่อง ”ข้อเท็จจริงทางวิชาการในการควบคุมสารเคมีอันตราย: พาราควอต,ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส โดยวิทยากรต่างนำเสนอข้อมูลจากการวิจัยที่มีมานานนับ10 ปีทั้งของไทยและต่างประเทศถึงการมีพิษเฉียบพลันของสารเคมี ที่เป็นสารฆ่าหญ้ากำจัด ศัตรูพืชทั้ง3 ชนิดและมากกว่านั้น

รศ.จุฑามาศ สัตยวิวัฒน์ รองผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและพิษวิทยา สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ อ้างอิงข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ถึงความเป็นพิษเฉียบพลันของพาราควอต ว่าสามารถส่งผลกระทบถึงชีวิต เข้าสู่ร่างกายทางปากทางผิวหนัง เช่นเดียวกับ ข้อมูลจากศูนย์พิษวิทยาโรงพยาบาลรามาธิบดี ที่พบอัตราการตายของผู้ป่วยในไทย ที่ได้รับสารพาราควอต สูงถึงร้อยละ46.18 จากผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษทุกชนิด ทั้งยัง ไม่มียาถอนพิษพาราควอตด้วย

ศ.นพ.ธีรวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวถึงผลกระทบต่อสุขภาพของพาราควอตและไกลโฟเซต ว่ามีหลักฐานมากมายจากการติดตามผู้สัมผัสกับสารเคมีเหล่านี้ และเป็นการศึกษาในห้องปฏิบัติการระดับเซลล์และในระดับยีนพบตรงกันว่าสารเหล่านี้มีพิษในระยะยาวก่อให้เกิดโรคทางสมองที่รักษาไม่ได้ได้แก่โรคพาร์กินสัน และโรคสมองเสื่อมและอาจเกี่ยวพันกับมะเร็ง โดยส่วนตัวได้พบคนตายอย่างทรมานหลายรายที่พลาดสัมผัสสารเคมีนี้ที่ผิวหนัง หรือกิน โดยอุบัติเหตุและตายทรมานจากเนื้อปอดเป็นพังผืด ตับวาย และไตวาย 

นอกจากนี้ภายในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมาพบว่าโรคพาร์กินสันก่อกำเนิดได้ โดยมีความเชื่อมโยงกับลำไส้  อาจเกิดจากเชื้อโรคหรือสารพิษ สารเคมีทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของจุลินทรีย์ ในลำไส้ส่งผลให้เกิดการอักเสบทำให้ผนังกั้นหลอดเลือดในสมอง เปิดเป็นผลให้สารพิษสามารถทะลักเข้าไปได้ ซึ่งสารพิษอาจจะเข้าไปสู่เส้นประสาทและส่งต่อผ่านไปยังสมองส่วนต่าง ๆ จนเกิดโรคทางสมองขึ้น                          

ศ.พรพิมล กองทิพย์ คณะสาธารณสุขศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดลนำเสนอผลงานวิจัย ที่ทำร่วมกับ อเมริกา พบพาราควอตและไกลโฟเซตสามารถผ่านจากมารดา ที่เป็นเกษตรกร สู่ตัวอ่อนในครรภ์ได้

รศ.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล ผู้อำนวยการสถานวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการและนวัตกรรมสิ่งแวดล้อม  มหาวิทยาลัยนเรศวร  กล่าวถึงข้อถกเถียงในการตรวจพบพาราควอตปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม เช่น พื้นที่ จ.น่าน จ.พิษณุโลก ว่าเกิดขึ้นได้ เนื่องจากพาราควอต เมื่อพ่นลงดินแล้วไม่ได้ เสื่อมฤทธิ์ทันที จะมีการดูดซับได้ดีในดิน เมื่อการใช้ซ้ำ ๆ ต่อเนื่องหลายปี หรือปริมาณมาก สารเคมีจะสะสม จนเกินสภาวะอิ่มตัวที่สาร อินทรีย์ในดินจะดูดซับได้ จะเกิดการคายซับ หรือการปลดปล่อยลงน้ำและสิ่งแวดล้อม ผู้บริโภคไม่สามารถขจัดสารตกค้างออกได้ด้วยการล้าง  ส่งผลให้ผู้บริโภคและประชาชนทุกคนมีโอกาสได้รับสารเคมีเหล่านี้ไม่ต่างไปจากเกษตรกร

ผศ.นพดล  กิตนะ  ภาควิชาชีววิทยา  คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนองานวิจัยที่พบการปนเปื้อนสารพาราควอตในสัตว์เช่น กบ ปูนา หอยน้ำจืดและปลากะมัง ซึ่งถือเป็นสัญญาณเตือนภัยใกล้ตัวจากการใช้สารฆ่าวัชพืชที่อาจจะเกิดขึ้นได้กับสิ่งมีชีวิตอื่นๆที่อาศัยในพื้นที่เกษตรรวมถึงมนุษย์

ในเวทีเสวนา ผศ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา เรียกร้องให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณาเพื่อควบคุมสารเคมีอันตรายทั้ง 3 ชนิดนี้ โดยใช้ข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งคณะผู้จัดการประชุมจะส่งหลักฐานทางวิชาการให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณายกเลิกพาราควอต คลอร์ไพรีฟอส และไกลโฟเซต     ตามมติของคณะกรรมาธิการการสาธารณสุขสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ต่อไป ซึ่งในวันที่ 23 พฤษภาคมนี้จะมีวาระการประชุมพิจารณาวัตถุอันตราย ของคณะกรรมการฯชุดนี้.

จาก www.tnamcot.com วันที่ 16 พฤษภาคม 2561

KTIS ชูรายได้ขายไฟ ฟ้าไตรมาสแรกโต 83%                                                                         

กลุ่ม KTIS โชว์รายได้จากการขายการให้บริการเพิ่มขึ้น 8.4% โดยรายได้จากการขายไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงชีวมวลเพิ่มขึ้นถึง 82.7% จากการเปิดเดินเครื่องครบทุกโรงและขายไฟฟ้าได้ตลอดทั้งไตรมาส เผยแม้ปริมาณอ้อยและน้ำตาลของกลุ่ม KTIS ปีนี้จะสูงกว่าปีก่อน แต่ราคาน้ำตาลลดลงมาก ส่งผลกระทบต่อกำไรสุทธิ                 

นายณัฎฐปัญญ์  ศิริวิริยะกุล  รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทในไตรมาสแรกปี 2561 (มกราคม – มีนาคม 2561) มีรายได้จากการขายและการให้บริการ 4,157.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 323.5 ล้านบาท หรือ 8.4% เมื่อเทียบกับปี 2560 ที่มีรายได้จากการขายและการให้บริการ 3,833.8 ล้านบาท  และมีกำไรสุทธิไตรมาสแรกปีนี้86.8 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน เนื่องจากราคาน้ำตาลทรายในช่วงต้นปีนี้ต่ำกว่างวดเดียวกันของปีก่อนอย่างมาก              

“การเพิ่มขึ้นของรายได้ในไตรมาสแรกปีนี้ เป็นผลมาจากปริมาณอ้อยที่เข้าหีบในฤดูหีบปี 60/61 มากกว่าปีก่อน ทำให้ผลิตน้ำตาลได้ปริมาณมากขึ้น และวัตถุดิบซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการผลิตน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นก็ส่งผลให้ธุรกิจต่อเนื่องมีผลผลิตที่มากขึ้นด้วย โดยเฉพาะในด้านการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวลซึ่งมีรายได้จากการขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นถึง 82.7% ในไตรมาสแรกของปีนี้เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีที่แล้ว” นายณัฎฐปัญญ์ กล่าว               

สำหรับรายได้จากสายธุรกิจผลิตเยื่อกระดาษฟอกขาวจากชานอ้อย เพิ่มขึ้น 7.9% เนื่องจากราคาขายเยื่อกระดาษเพิ่มขึ้นแม้ว่าปริมาณการขายจะลดลงเล็กน้อย ส่วนสายธุรกิจน้ำตาล รายได้เพิ่มขึ้น 4.7% จากปริมาณการขายน้ำตาลที่เพิ่มขึ้น และสายธุรกิจเอทานอล รายได้ลดลง 18.7% จากราคาขายเฉลี่ยที่ลดลง

นายณัฎฐปัญญ์ กล่าวด้วยว่า ผลผลิตอ้อยของฤดูการผลิตปี 2560/2561 ซึ่งขณะนี้เกือบจะปิดหีบทั้งหมดแล้ว กลุ่ม KTIS มีอ้อยเข้าหีบแล้วกว่า 11.34 ล้านตัน ผลิตน้ำตาลทรายได้กว่า 11.59 ล้านกระสอบ เพิ่มขึ้น 23.1% จากปีก่อนที่ได้น้ำตาล 9.4 ล้านกระสอบ

จาก  www.banmuang.co.th   วันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

'โสภณ'ยก11ข้อกม.เขตศก.พิเศษEECเตือนรบ. ชี้'ประเทศ-คนไทย'เสียเปรียบต่างชาติ

โสภณ พรโชคชัย ศูนย์ข้อมูลวิจัย อสังหาริมทรัพย์ เขตเศรษฐกิจพิเศษ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง EEC อีอีซี

15 พ.ค.61 นายโสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (AREA) กล่าวถึง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 หรือกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษ 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง หรือ EEC ว่าหากดูเป็นรายมาตรา จะพบหลายข้อที่ให้อำนาจการขยายเขตเศรษฐกิจพิเศษอย่างกว้างขวาง และไทยเป็นฝ่ายเสียเปรียบนักลงทุนต่างชาติ อาทิ

1.มาตรา 6 “ให้พื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรีและระยอง และพื้นที่อื่นใดที่อยู่ในภาคตะวันออกที่กำหนดเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาเป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ” มาตรานี้มีข้อสังเกตคือไม่ได้จำกัดเฉพาะ 3 จังหวัดตามที่โฆษณาแล้ว ต่อไปอาจลามไปทั้งภาคตะวันออก รวมถึงสระแก้ว ปราจีนบุรี จันทบุรี ตราด โดยไม่ต้องตราเป็น พ.ร.บ. อีกต่อไป หรืออาจลามไปทั่วประเทศโดยเฉพาะกรณีให้ต่างชาติเช่าที่ดินได้ 99 ปี

2.มาตรา 33 “ในกรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการใดเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษ ไม่ว่าการนั้นจำเป็นต้องดำเนินการภายในหรือภายนอกเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หากการดำเนินการดังกล่าวเป็นหน้าที่และอำนาจของหน่วยงานของรัฐหน่วยใดหน่วยหนึ่งหรือหลายหน่วย คณะรัฐมนตรีจะกำหนดให้หน่วยงานของรัฐหน่วยใดหน่วยหนึ่งหรือสำนักงานเป็นผู้ดำเนินการแต่เพียงหน่วยเดียว หรือให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมดหรือบางหน่วยร่วมกันดำเนินการ หรือร่วมกับสำนักงานดำเนินการก็ได้

หากมีกฎหมายกำหนดให้ผู้ดำเนินการนั้นต้องได้รับอนุมัติหรืออนุญาตหรือต้องได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานของรัฐหน่วยใด ให้คณะกรรมการนโยบายเป็นผู้พิจารณาอนุมัติหรืออนุญาตหรือให้ความเห็นชอบแทนหน่วยงานของรัฐตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น” มีข้อสังเกตคือ เท่ากับสามารถดำเนินการนอกพื้นที่ 7 จังหวัดได้อีก และคณะกรรมการนโยบายอยู่เหนือหน่วยราชการอื่นใดในประเทศไทยใช่หรือไม่?

3.มาตรา 35 “ให้สำนักงานและผู้ซึ่งทำธุรกรรมกับสำนักงานในกิจการเกี่ยวกับที่ดินและอสังหาริมทรัพย์บรรดาที่กฎหมายกำหนดให้ต้องมีการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามกฎหมายนั้น” มีข้อสังเกตว่าเอาใจต่างชาติมากเกินไปหรือไม่? เพราะหากเปรียบเทียบ เช่น สิงคโปร์ แค่ต่างชาติมาซื้อห้องชุดยังต้องเสียภาษีร้อยละ 15 ฮ่องกง ร้อยละ 30 แต่ไทยจะไม่เก็บค่าธรรมเนียม เช่นนี้คนไทยเสียเปรียบต่างชาติแล้ว

4.มาตรา 36 “คณะกรรมการนโยบายโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจให้สำนักงานเข้าใช้ประโยชน์ที่ดินที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้ ให้อำนาจของคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเป็นอำนาจของคณะกรรมการนโยบาย” มีข้อสังเกตว่าเกษตรกรผู้ที่ถือครองที่ ส.ป.ก.4-01 จะขาดความมั่นคงในการถือครองที่ดิน

5.มาตรา 39 “เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไปสู่การใช้เทคโนโลยีขั้นสูง สร้างนวัตกรรม และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศในด้านต่างๆ คณะกรรมการนโยบายจะประกาศกำหนดจากอุตสาหกรรมเป้าหมายทั้งหมดหรือบางส่วน หรืออุตสาหกรรมอื่นนอกเหนือจากอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยอาจรวมถึงอุตสาหกรรมการบริการ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการจัดประชุม หรืออุตสาหกรรมอื่นใดด้วยก็ได้แต่อย่างน้อยต้องประกอบด้วยอุตสาหกรรมด้านต่างๆ ดังต่อไปนี้”

ข้อนี้ขอตั้งข้อสังเกตว่า อุตสาหกรรมบริการ ท่องเที่ยว จัดประชุม ฯลฯ เกี่ยวกับเทคโนโลยีชั้นสูงและสิ่งแวดล้อมอย่างไร? ซึ่งคนไทยเองก็ทำได้ด้วยดีอยู่แล้ว เท่ากับเปิดช่องต่างชาติมาฆ่าผู้ประกอบการไทยหรือไม่? และรัฐอาจกำหนดอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้อีก ส่วนที่อ้างเรื่องยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ การบินและโลจิสติกส์ ดิจิตอล การแพทย์ครบวงจร ก็ไม่ต้องไปไกลถึงภาคตะวันออก ตั้งในนิคมอุตสาหกรรมใกล้ๆ ก็ได้ ไม่สิ้นเปลืองงบประมาณไปมหาศาลแบบ “ขี่ช้างจับตั๊กแตน” แบบนี้

6.มาตรา 48 “ให้ผู้ประกอบกิจการหรืออยู่อาศัยในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษได้รับสิทธิประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างตามที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด ดังต่อไปนี้ (1) สิทธิในการถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อื่นของคนต่างด้าว (2) สิทธิในการนำคนต่างด้าวเข้ามาและอยู่อาศัยในราชอาณาจักร (3) สิทธิในการที่จะได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีอากร (4) สิทธิในการทำธุรกรรมทางการเงิน(๕) สิทธิประโยชน์อื่น” มาตรานี้เท่ากับทำให้ EEC มีสถานะเป็นเขตเช่าของคนต่างชาติไปแล้วหรือไม่?

7.มาตรา 49 “ให้ผู้ประกอบการซึ่งเป็นนิติบุคคลและเป็นคนต่างด้าวตามประมวลกฎหมายที่ดิน ให้มีสิทธิถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อื่นภายในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษได้โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตตามประมวลกฎหมายที่ดิน หรือภายใต้การจำกัดสิทธิของคนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด แล้วแต่กรณี” เรื่องนี้น่าเป็นห่วงยิ่งกว่ากรณีเช่าที่ดิน 99 ปี เพราะเท่ากับประเคนที่ดินให้ต่างชาติ ทั้งที่ก็ไม่เห็นมีใครเรียกร้องอะไรเลย

8.มาตรา 51 “บุคคลดังกล่าวรวมทั้งคู่สมรส บุพการีและบุตร อาจได้รับการลดหย่อนภาษี สิทธิเกี่ยวกับการเข้าเมืองและการขออนุญาตทำงาน และสิทธิอื่นเพิ่มเติม ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการนโยบายประกาศกำหนดก็ได้” ข้อนี้เห็นว่าเอื้อให้ต่างชาติขนคนเข้ามาโดยไม่เสียอะไรเลย แต่คนไทยแท้ๆ ต้องเสียภาษี

9.มาตรา 52 “การเช่า เช่าช่วง ให้เช่า หรือให้เช่าช่วงที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ มิให้นำความในมาตรา 540 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม พ.ศ. 2542 มาใช้บังคับ ห้ามมิให้ทำสัญญาเช่าเป็นกำหนดเวลาเกินห้าสิบปี การต่อสัญญาเช่าอาจทำได้แต่จะต่อสัญญาเกินสี่สิบเก้าปีนับแต่วันครบห้าสิบปีไม่ได้”

ประเด็นนี้ที่ยกเลิกไม่ใช่มาตราตามกฎหมายเดิม เพราะกฎหมายเดิมระบุชัดว่าจะต่อสัญญาได้อีกก็ต่อเมื่อหมดสัญญาเดิมที่จดทะเบียนไว้แล้วเท่านั้น แต่นี่ทำสัญญาซ้อนเป็นการถูกกฎหมายใช่หรือไม่? ยิ่งกว่านั้นยังปล่อยให้เช่าช่วงได้อีก หากต่างชาติไม่ใช่ที่ดินแล้ว ยังปล่อยให้เช่าช่วงอีก ส่วนที่ดิน ส.ป.ก.4-01 เมื่อเกษตรกรไม่ใช้ทำเกษตรแล้ว ยังต้องคืนหลวง เท่ากับจะปล่อยให้ต่างชาติมาหากินกับที่ดินไทยหรือ?

10.มาตรา 58 “ผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ (1) ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินทั้งหมดหรือบางส่วน (2) สามารถใช้เงินตราต่างประเทศเพื่อชำระค่าสินค้าหรือบริการระหว่างผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ” เท่ากับต่างชาติสามารถใช้เงินตราสกุลของเขาเองได้ ต่อไปคงเอาไปซื้อก๋วยเตี๋ยวได้ ก็เป็นห่วงว่าไทยจะเหมือนกัมพูชาที่เดี๋ยวนี้ใช้แต่เงินดอลลาร์ กลายเป็นประเทศราชทางการเงินของมหาอำนาจ

และ 11.มาตรา 59 “(1) ในกรณีที่การประกอบวิชาชีพใดมีกฎหมายกำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพหรือผู้ขออนุญาตต้องมีสัญชาติไทยหรือต้องได้รับใบอนุญาต จดทะเบียน หรือรับรองก่อนการประกอบวิชาชีพตามกฎหมายแล้ว คณะกรรมการนโยบายอาจประกาศให้ผู้ซึ่งได้รับใบอนุญาต จดทะเบียน หรือรับรองให้ประกอบวิชาชีพนั้นในประเทศที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด สามารถประกอบวิชาชีพนั้นเพื่อกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษได้” เรื่องนี้มีคำถามว่าเราจะไม่ยกระดับนักวิชาชีพไทย และให้นักวิชาชีพต่างชาติมาเอาเปรียบนักวิชาชีพไทยหรือ?

จาก  www.naewna.com  วันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

อุตฯ ดัน SME TRANSFORM เข้าสู่ยุค 4.0 หนุนก้าวสู่ตลาดโลก

ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีถือว่ามีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เพราะเป็นผู้ประกอบการที่มีจำนวนมากที่สุด แต่ด้วยโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วส่งผลให้การดำเนินธุรกิจกำลังก้าวเข้าสู่ “โลกยุคใหม่” ที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด

SMEs จำเป็นต้องเร่งปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น เพื่อความอยู่รอด และแข่งขันกับผู้ประกอบการรายอื่นๆ ได้ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงทิศทางในการเข้าไปช่วยเหลือเอสเอ็มอีเข้าสู่ยุค 4.0 ไว้อย่างน่าสนใจ

- ก้าวทันพฤติกรรมผู้บริโภค

นายอุตตม ชี้ให้เห็นว่า อิทธิพลของเทคโนโลยี มีผลต่อวิธีการดำเนินธุรกิจในแทบจะทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบกระบวนการผลิตสินค้าและบริการ การดำเนินธุรกิจ (Business Model) พฤติกรรมผู้บริโภค ความต้องการของลูกค้า ตลาดแรงงาน วิธีการทำการตลาด หรือการทำธุรกรรมทางการเงิน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยียุคนี้ นอกจากเป็นไปอย่างรวดเร็วและซับซ้อนขึ้นแล้ว ยังได้เชื่อมโยงส่วนต่างๆ เข้าด้วยกัน ส่งผลให้เส้นแบ่งระหว่างผลิตภัณฑ์หรือการบริการต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

บริบทและกระแสต่างๆ ที่กล่าวมา บังคับให้ทุกประเทศในโลกจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรับกับการเปลี่ยนแปลง และไม่ใช่เฉพาะในภาคการผลิต แต่ครอบคลุมทุกอย่างในชีวิตมนุษย์บนโลก เป็นความท้าทายต่อทุกสาขาอาชีพ ยึดโยงกับทุกภาคส่วน การปรับตัวจึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะโลกเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ถ้าเรายังทำสิ่งเดิมๆ ต่อไป แม้จะเดินหน้าต่อไปได้ ก็จะช้าลงเรื่อยๆ แรงถ่วงจะมีมากขึ้นทุกขณะ

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้ดำเนินการจัดงานแสดงกิจกรรมมาตรการเพื่อขับเคลื่อน SMEs สู่ยุค 4.0 ภายใต้ชื่องาน SME Transform #พร้อมเปลี่ยน ประชารัฐร่วมใจ เชื่อม SMEs ไทยสู่สากล ระหว่างวันที่ 18-20 พฤษภาคม 2561 ณ อาคารชาเลนเจอร์ 2 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการร่วมมือกันทุกภาคส่วน รวมถึงตอกย้ำถึงพลังเครือข่ายประชารัฐที่ช่วยขับเคลื่อนและยกระดับ SMEs สู่ยุค 4.0

อีกทั้งยังเป็นเวทีให้ SMEs ที่ประสบความสำเร็จได้แสดงถึงศักยภาพในการเติบโต ถ่ายทอดแนวคิดว่าต้องผ่านอะไรมาบ้างจึงประสบความสำเร็จ อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ที่ให้ SMEs ที่ต้องการพัฒนาตนเอง ได้เรียนรู้ ทำความเข้าใจแนวทาง กลไกในการยกระดับ รวมไปถึงโอกาสการปรับเปลี่ยนธุรกิจ สู่การเป็น Smart SMEs นอกจาก SMEs แล้วยังรวมไปถึง เกษตรกรเปลี่ยนตัวเองสู่ นักธุรกิจเกษตร, Smart OTOP และ Startup ด้วยภาครัฐมีความตั้งใจให้ทั้ง SMEs เกษตรกร OTOP และ Startup เข้มแข็ง เพราะถึงแม้จะเป็นฟันเฟืองเล็กๆ แต่สำคัญของประเทศ ด้วยสัดส่วนผู้ประกอบการในกลุ่มเหล่านี้มีถึงร้อยละ 99 ของวิสาหกิจทั้งหมด

- เปิดมุมมองเปลี่ยนธุรกิจสู่ยุค 4.0

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการ SMEs ที่เข้าร่วมงาน จะได้เปิดมุมมองการปรับเปลี่ยนธุรกิจให้ก้าวทันสู่ยุค 4.0 พร้อมบริการต่าง ๆ จากเครือข่ายธุรกิจ พี่เลี้ยงทางธุรกิจ และสินเชื่อที่เหมาะสมกับธุรกิจ โดยมีโซนต่างๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ โซนเศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็ง (Local Economy Zone) พบการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ชุมชน เชื่อมโยงสู่การท่องเที่ยว และการยกระดับวิสาหกิจชุมชน สู่นักธุรกิจมืออาชีพ ,โซนพลิกโอกาสสร้างธุรกิจ (Startup Zone) พบกับผลงานความสำเร็จของนักธุรกิจรุ่นใหม่ พร้อมบริการที่เหมาะสมสู่การเป็น Startup โซนปรับเปลี่ยนยกระดับธุรกิจ (Spring Up Zone) พื้นที่แสดงเครื่องมือในการปรับเปลี่ยนธุรกิจรองรับ 4.0 และ Big Brother องค์กรขนาดใหญ่ที่จะมาช่วยเหลือให้คำปรึกษาแก่ SMEsให้เติบโต มั่นคง และขยายโอกาสสู่ตลาดต่างประเทศ เช่น ปตท. Denso ลาซาด้า SCG เถ้าแก่น้อย เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีโซนพลังประชารัฐพัฒนาธุรกิจ (Pracharath Zone) เป็นส่วนที่ให้บริการปรึกษาแนะนำทางธุรกิจครบวงจร มาจุดเดียวครบทุกหน่วยงานที่ให้บริการแก่ SMEs โซนการเงินเสริมแกร่ง (Financial Zone) รวมแพ็กเก็จสินเชื่อ SMEs จากทุกธนาคาร ในโปรโมชันสุดพิเศษ และโซนช็อปสินค้าดีมีคุณภาพ (Premium Product) พบกับสินค้า SMEs มีมาตรฐาน คุณภาพดี ในราคาโรงงาน

ที่สำคัญมีไฮไลต์งานสัมมนาเพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการดำเนินธุรกิจ และหัวข้อสัมมนาที่เป็นองค์ความรู้นำไปต่อยอดธุรกิจให้ก้าวกระโดด ตลอดทั้ง 3 วัน จากวิทยากรที่มีชื่อเสียงและมีประสบการณ์ตรง ทั้งภาครัฐ และเอกชน  บูธศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม หรือ ITC ซึ่งเป็นเครื่องมือที่จะช่วยปรับเปลี่ยน และยกระดับให้ SMEs สู่สากล  พื้นที่จัดแสดงหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ประกอบด้วย หมู่บ้านสมุนไพร-น้ำเกี๋ยน หมู่บ้านสีเขียว-นาตีน หมู่บ้านเกษตรแปรรูป-ศาลาดิน การปรับกระบวนการผลิตด้วยดิจิตอล-บ้านเชียง และการยกระดับเกษตรกรสู่ SMEs เกษตร เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนด้วยนวัตกรรม ผลิตภัณฑ์ไข่ขาวพร้อมทาน มะม่วงน้ำดอกไม้พร้อมทาน เงาะอบแห้งจากสุราษฎร์ธานี ผลิตภัณฑ์ไม้ไผ่จากปราจีนบุรี

- เข้าถึงนโยบายรัฐและทิศทางธุรกิจ

นายอุตตม กล่าวอีกว่า สำหรับเอสเอ็มอีที่มาร่วมงานดังกล่าว จะเกิดการรับทราบและความเข้าใจในนโยบายของกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ อีกทั้งทิศทางในการดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรม รวมถึงผลสำเร็จของกระทรวงอุตสาหกรรมจากการต่อยอดจากนโยบายของภาครัฐ โดยผู้ประกอบการจะเกิดความตระหนักและแรงบันดาลใจในการพัฒนาธุรกิจของตนเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับภาคอุตสาหกรรมให้มีความเจริญรุดหน้าสร้างความเข้มแข็งและมั่นคงให้กับเศรษฐกิจของประเทศ ส่งผลให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น พร้อมสร้างภาพลักษณ์องค์กรในฐานะผู้นำการขับเคลื่อนนโยบายด้านการพัฒนาเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมเอสเอ็มอี และผู้ประกอบการไทย ให้แข็งแกร่งพร้อมก้าวเข้าสู่ Thailand 4.0 และสู่ตลาดโลกได้

“การก้าวเข้าสู่ตลาดโลกของเอสเอ็มอี ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ  ซึ่งบางทีเอสเอ็มอีอาจมีผลิตภัณฑ์เป็นที่ต้องการของตลาด แต่บรรจุภัณฑ์ไม่ดึงดูด ก็ทำให้ไม่สามารถขายของได้  เราจึงต้องการมีส่วนช่วยปรับปรุงและพัฒนาเอสเอ็มอีให้ก้าวไปสู่ระดับโลกได้ ซึ่งภายในงานจะมีบูธต่างๆที่พร้อมจะช่วยผลักดันเอสเอ็มอีให้ไปสู่ตลาดโลกได้”

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาจัดงานทั้ง 3 วัน คาดว่าจะมีเอสเอ็มอี และวิสาหกิจชุมชน เข้าร่วมงานไม่ต่ำกว่า 50,000 คน โดยน่าจะมีความสนใจเข้ารับบริการผ่านมาตรการส่งเสริมและพัฒนา จำนวนไม่ต่ำกว่า 5,000 ราย หรือมีมูลค่าสินเชื่อที่ยื่นขอกับธนาคารต่างๆ ที่มาร่วมออกบูธทั้งหมดรวมกันไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท

จาก  www.thansettakij.com   วันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ส.อ.ท.ยันกฎหมาย ’อีอีซี’ มีผลดันการลงทุนไทยเดินหน้า  

ส.อ.ท.ยันกฎหมายอีอีซีมีผลสร้างความเชื่อมั่นดันการลงทุนไทยเดินหน้า เร่งรัฐพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ยอมรับอุตสาหกรรมไทยบางกลุ่มยังไม่พร้อมต้องรอเอกชนต่างชาติหนุน ชี้สัญญาณการตอบรับของนักลงทุนยังดีเรื่อย ๆ

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่าหลังจากราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 ในโครงการการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มีผลบังคับใช้แล้วจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศมากยิ่งขึ้น และจะก่อให้เกิดการผลักดันให้นักลงทุนตัดสินใจเข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซีมากยิ่งขึ้นโดยขณะนี้ก็จะเห็นว่ามีการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) เข้ามายังพื้นที่อีอีซีอย่างต่อเนื่องในอุตสาหกรรมเป้าหมาย

ในส่วนของภาครัฐจะต้องเร่งเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งสนามบิน ท่าเรือ รถไฟความเร็วสูง เพื่อรองรับการลงทุนในอีอีซี ซึ่งอยากให้เห็นสำคัญว่าการลงทุนในอีอีซีจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจของไทยพัฒนาขึ้นมา ขณะที่ความพร้อมของภาคเอกชนต้องยอมรับว่าถ้าเป็นเอกชนไทยเองยังไม่พร้อมเต็มที่ในทุกด้าน ซึ่งก็ต้องรอการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติด้วย ซึ่งอุตสาหกรรมไทยในส่วนก็จะสามารถเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่การผลิตได้ ทั้งนี้แนวโน้นการลงทุนของต่างชาติ ยังพอมีสัญญาณที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากต่างชาตินั้นมีความสนใจอยู่เดิมแล้ว

“ในตัวกฎหมายจะออกมากำหนดความชัดเจนทั้งของด้านการลงทุน การจ้างงาน ทั้งของไทยและต่างชาติ อย่างไรก็ตามการที่กฎหมายอีอีซีสามารถออกมาบังคับใช้ได้แล้ว ก็จะเป็นผลดีอย่างแน่นอน แต่ก็ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้มากน้อยเพียงใด แต่สิ่งที่ทำไว้ขณะนี้ถือว่าดีอยู่แล้วและที่ผ่านมาเองก็จะเห็นว่ากฏหมายการลงทุนของไทยโอกาสเปลี่ยนแปลงน้อยมากแม้การเมืองจะเปลี่ยนไป”นายสุพันธุ์ กล่าว

จาก  https://www.thaipost.net   วันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ค่าบาท 'อ่อนค่า' รับแรงกดดันต้นทุนพลังงาน

บาทเปิดตลาดเช้านี้อ่อนค่า "31.91 บาทต่อดอลลาร์" ค่าเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าเร็วกว่าสกุลเงินเอเชียอื่นๆ จากแรงกดดันต้นทุนพลังงาน และตลาดยังรอดูท่าทีของการประชุมกนง.ในวันพรุ่งนี้ก่อน

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 31.91บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ 31.84 บาทต่อดอลลาร์

ในคืนที่ผ่านมา ภาพรวมตลาดการเงินยังคงเปิดรับความเสี่ยง ตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวบวกติดต่อกันเป็นวันที่สี่ ขณะที่บอนด์ยีลด์ทั่วโลกปรับตัวขึ้นจากแรงกดดันด้านนโยบายการเงิน และแนวโน้มเงินเฟ้อที่มีโอกาสเร่งตัวขึ้นในปีนี้จากราคาน้ำมัน

ที่ชัดเจนที่สุดคือบอนด์ยีลด์ในยุโรปที่ปรับตัวขึ้นเฉลี่ยราว 0.05% ทั่วทุกอายุแทบทั้งทวีป เนื่องจากความกังวลกับปัญหาการเมืองในอิตาลี และการให้ความเห็นของคณะกรรมการธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่มองว่าการ “ขึ้นดอกเบี้ย” ของ ECB อาจจะเกิดขึ้นภายในระยะเวลาไม่กี่ไตรมาสหลังจากนี้

อย่างไรก็ตามผลกระทบไม่ได้ลามมาถึงฝั่งอเมริกา บอนด์ยีลด์สหรัฐอายุ 10 ปีที่ปรับตัวสูงขึ้นแตะระดับ 3.0% (+3bps) อีกครั้งยังมาจากภาพรวมเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ขณะที่คณะกรรมการเฟดยังคงย้ำว่าการขึ้นดอกเบี้ยจะไม่เกิดขึ้นเร็วจนทำให้ผลตอบแทนระยะสั้นปรับตัวสูงขึ้นกว่ายีลด์ระยะยาวเพราะอาจส่งผลให้ตลาดการเงินผันผวนมากเกินไป

สำหรับในฝั่งเอเชียยังมองภาพรวมตลาดที่เปิดรับความเสี่ยงเป็นบวกกับการลงทุน แต่ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นต้นทุนที่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องระมัดระวัง และในส่วนของค่าเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าเร็วกว่าสกุลเงินเอเชียอื่นๆ จากแรงกดดันต้นทุนพลังงาน เพราะการเกินดุลการค้าที่จะลดลงเร็วถ้าราคาน้ำมันปรับตัวสูงมาก

อย่างไรก็ตามเชื่อว่าตลาดจะรอดูท่าทีของการประชุมกนง.ก่อนที่จะกำหนดทิศทางการซื้อขายที่ชัดเจน

มองกรอบเงินบาทระหว่างวันที่ระดับ 31.87 - 31.97 บาทต่อดอลลาร์

จาก  www.bangkokbiznews.com   วันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ประกาศใช้แล้ว พ.ร.บ.อีอีซี พัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมระดับสูง-ให้สิทธิพิเศษเอื้อลงทุน

วันนี้ (14พ.ค.2561)เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 แล้ว ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕ ตอนที่ ๓๔ ก ราชกิจจานุเบกษา ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๑ โดยให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป มีบทบัญญัติทั้งสิ้น 73 มาตรา

เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ภาคตะวันออกเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ ทางเศรษฐกิจสูง หากมีการพัฒนาพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เป็นระบบและโดยสอดคล้องกับหลักการพัฒนา อย่างยั่งยืนแล้ว จะทําให้การใช้ที่ดินในภาคตะวันออกเป็นไปอย่างเหมาะสมกับสภาพและศักยภาพของพื้นที่ได้อย่างแท้จริง ทั้งยังจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การส่งเสริมให้มีการประกอบพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ทันสมัย สร้างนวัตกรรม และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการเกษตรกรรมดั้งเดิม ตลอดจนวิถีชีวิตของชุมชนในพื้นที่ดังกล่าว

แต่กฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันไม่เอื้อต่อการพัฒนาพื้นที่ตามแนวทางดังกล่าว ไม่มีการวางแผน การบริหารพื้นที่แบบองค์รวม การพัฒนาด้านต่าง ๆ จึงเป็นไปอย่างแยกส่วนและกระจัดกระจาย ผลของการขาดการบูรณาการดังกล่าว ทําให้ไม่สามารถพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออกได้อย่างเต็มศักยภาพ

ทั้งการจัดทําระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของหน่วยงานของรัฐต่าง ๆ ยังขาดความต่อเนื่องและ เชื่อมโยงกัน กรณีจึงสมควรกําหนดให้ภาคตะวันออกเป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก มีการวางแผน การใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ชัดเจนแน่นอนโดยเหมาะสมกับสภาพและศักยภาพของพื้นที่ สอดคล้องกับ หลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน มีการบูรณาการการจัดทําโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคให้ต่อเนื่องและ เชื่อมโยงกันทั้งในและนอกเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พัฒนาเมืองให้มีความทันสมัยระดับนานาชาติ ที่เหมาะสมต่อการอยู่อาศัยและการประกอบกิจการ มีการให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร รวมทั้ง ให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเป็นการเฉพาะ จึงจําเป็นต้องตรา พระราชบัญญัตินี้

จาก  www.thansettakij.com  วันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

นายกฯ สั่งเลื่อน! ปฎิทินเพาะปลูกเร็วขึ้น 1 เดือน

นายกรัฐมนตรีให้กำลังใจเกษตรกรเนื่องในวันพืชมงคล ย้ำ! รัฐบาลห่วงใยให้ความสำคัญเกษตรกร เลื่อนปฏิทินเพาะปลูกเร็วขึ้น 1 เดือน

วันที่ 14 พ.ค. 2561 - พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้กำลังใจแก่เกษตรกรเนื่องในวันพืชมงคล ว่า เกษตรกรถือเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศมาอย่างยาวนาน จึงขอให้ทุกคนมีพลังกายและใจที่เข้มแข็ง การเพาะปลูกมีความอุดมสมบูรณ์พืชพันธุ์เจริญงอกงาม

ทั้งนี้ รับบาลให้ความสำคัญกับชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรเป็นอย่างมาก เพราะถือเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ จึงมุ่งมั่นยกระดับคุณภาพชีวิตและขจัดความยากจนให้หมดสิ้นไป โดยออกมาตรการต่าง ๆ ที่จะช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต สร้างรายได้ รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาความรู้และทักษะที่เป็นประโยชน์ เช่น ปฏิรูปภาคการเกษตร 149 ล้านไร่ พัฒนาเกษตรกร 6 ล้านครัวเรือน สนับสนุนสินเชื่อเพื่อลดต้นทุนปัจจัยการผลิต สนับสนุนปัจจัยการผลิตทั้งเมล็ดพันธุ์และปุ๋ย ส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ ประกันภัยข้าวนาปี รวมทั้งพัฒนาแหล่งน้ำและระบบกระจายน้ำ เป็นต้น

"นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำรัฐบาล ให้ออกมาตรการแก้ไขปัญหาผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม โดยเลื่อนปฏิทินการเพาะปลูกเร็วขึ้น 1 เดือน และใช้พื้นที่ 12 ทุ่งลุ่มเจ้าพระยา เป็นแก้มลิงธรรมชาติ สำหรับพักชะลอน้ำรองรับน้ำหลากหลังเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จช่วงเดือน ก.ย. ทำให้ผลผลิตเสียหายน้อยลง และก่อให้เกิดอาชีพประมง สร้างรายได้เสริม และช่วยให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ ตัดวงจรการเกิดโรคพืชและแมลงต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี"

จาก  www.thansettakij.com  วันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

"สนธิรัตน์" ลั่น! การค้าโลกเปลี่ยน แนะนักธุรกิจไทยปรับกลยุทธ์ เร่งผลักดันอีคอมเมิร์ซ

 “สนธิรัตน์” ลั่นการค้าโลกกำลังปรับเปลี่ยน แนะนักธุรกิจไทยต้องเข้าใจ และปรับกลยุทธ์ พร้อมย้ำกระทรวงพาณิชย์เร่งเดินหน้าสร้างความเข้มแข็งผ่านการผลักดันตลาดอีคอมเมิร์ซ รุกเข้าถึงเมืองรอง กระจายโอกาสทางการแข่งขันให้ธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม มั่นใจโรดแมพจะหนุนส่งออกไทยปีนี้โต 8%

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “แนวโน้มเศรษฐกิจและโอกาสการพัฒนาธุรกิจไทย”ภายในงานประชุมสมาชิก Entrepreneurs’ Organization หรือ EO เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2561 ณ โรงแรมสุโขทัย กรุงเทพฯ โดยระบุว่า ปัจจุบันการค้าโลกได้ถูกปรับเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างมาก กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดขอองการปรับใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากที่สุดต่อการขับเคลื่อนการค้า

นอกจากนี้ การค้าออนไลน์ หรืออีคอมเมิร์ซ ก็เป็นตลาดที่สร้างโอกาสทางการค้ามากขึ้น ยกระดับขีดความสามารถให้กับผู้ค้าทั้งขนาดกลาง และขนาดย่อมให้มีโอกาสทางการแข่งขัน เข้าถึงตลาดได้เท่าเทียมกับผู้ค้ารายใหญ่ ยกตัวอย่างกระแสนิยมทุเรียนไทย ที่ทำให้มียอดจำหน่ายสูงในระยะเวลาอันรวดเร็ว เพียงแต่ผู้ประกอบการเข้าถึงโอกาสการค้าอีคอมเมิร์ซ

“กระทรวงพาณิชย์เราได้ปรับการทำงานใหม่ ไม่ได้มองแค่การส่งออกไปยังตลาดหลัก และตั้งเป้าเพิ่มตัวเลขทางการส่งออก แต่เรามองการเข้าถึงเมืองรอง มองโอกาสการต่อยอดตลาดด้วยอีคอมเมิร์ซ มองการทำพาร์ทเนอร์กับประเทศต่างๆ เป็นส่วนผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยออกไปเติบโตและส่งเงินกลับเข้าสู่ประเทศ จึงจะเห็นได้ว่าปัจจุบันเราพยายามผลักดันการลงทุนตั้งฐานการผลิตในประเทศเพื่อนบ้าน ทำพาร์ทเนอร์กับประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ กัมพูชา เพื่อมองโอกาสการขนส่งระยะใกล้ไปยังตลาดใหญ่อย่างจีน ส่วนนี้จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการไทย และส่งเงินกลับประเทศได้มหาศาล”

นายสนธิรัตน์ ยังกล่าวอีกว่า สำหรับแนวโน้มของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ มั่นใจว่าจะมีอัตราการขยายตัวในระดับ 4% เช่นเดียวกับภาคการส่งออกของไทย ในปีนี้มั่นใจว่าจะขยายตัวสูงถึง 8% ซึ่งเกิดจากปัจจัยบวกแวดล้อมทั้งเศรษฐกิจโลก และกลยุทธ์การส่งออกใหม่ที่ขยายไปยังเมืองรอง ทำการค้าแบบอีคอมเมิร์ซเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น ทั้งนี้เชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศมหาอำนาจด้านการค้าได้อย่างแน่นอน เพราะมีจุดแข็งที่ตั้งที่เป็นไข่แดงของภูมิภาคที่มีเศรษฐกิจเข้มแข็งอย่างอาเซียนอยู่แล้ว หลังจากนี้เมื่อมีการพัฒนาโลจิสติกส์จะเพิ่มขีดความสามารถให้ไทยได้มากขึ้น

ทั้งนี้ จากปัจจัยบวกข้างต้น อยากชี้แนะแก่ผู้ประกอบการไทยที่กำลังมองโอกาสขยายธุรกิจในตลาดการค้าโลก ให้ประเมินใน 3 ปัจจัยหลักเพื่อสร้างความเข้มแข็ง คือ 1.ต้องรู้ศักยภาพของตนเอง หาจุดแข็งที่จะเข้าไปอยู่ในตลาดระดับโลก 2.มองทิศทางในอนาคต พร้อมกับวิเคราะห์จุดยืนของตนเอง เมื่อหากมีธุรกิจอื่นเข้ามาทดแทนจะต้องทำอย่างไร และ 3.ต้องเข้าใจถึงกลไกการค้าโลกที่เปลี่ยนไป นักธุรกิจเกิดใหม่อย่างต่อเนื่อง การแข่งขันในตลาดโลกก็หมุนเปลี่ยนไวและมีการแข่งขันตลอด

“การทำธุรกิจในเวทีการค้าโลก ต้องไม่มองแค่ตัวเอง ต้องมองรอบด้าน ประเมินสิ่งที่จะเกิดขึ้น เพื่อรับมือ และวางกลยุทธ์ ยุทธศาสตร์ให้ทัน ตอนนี้การค้าเปลี่ยนแปลง ต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจ และตามให้ทัน” นายสนธิรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ Entrepreneurs’ Organization หรือ EO เป็นสมาคมนักธุรกิจชั้นนำระหว่างประเทศที่มีเครือข่ายระดับโลก ครอบคลุมในหลากหลายอุตสาหกรรม ก่อตั้งขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี ค.ศ.1987 ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 12,000 คน ใน 58 ประเทศทั่วโลก โดยสมาชิกเป็นเจ้าของธุรกิจในหลากหลายอุตสาหกรรม มียอดขายรวมกันมากกว่า 536,000 ล้านดอลลาร์ สหรัฐต่อปี สำหรับประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1995 ปัจจุบันมีจำนวนสมาชิกประมาณ 109 คน มียอดขายธุรกิจรวมกันประมาณกว่า 100,000 ล้านบาท

จาก  www.thansettakij.com  วันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

เตรียมแจงต่างชาติบังคับใช้ “พ.ร.บ.อีอีซี” 15 พ.ค.นี้

เมื่อวันนี้ (14 พ.ค.) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พ.ร.บ.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 หรือ พ.ร.บ.อีอีซี และกำหนดให้มีผลบังคับใช้ในวันที่(15 พ.ค.) โดยมีทั้งหมด 73 มาตรา และให้พื้นที่พัฒนาครอบคลุมฉะเชิงเทรา ชลบุรีและระยอง และออกพระราชกฤษฎีกาประกาศพื้นที่เพิ่มได้

มาตรา 8 กำหนดให้โครงการในอีอีซีต้องทํารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม สุขภาพของประชาชนหรือชุมชน มาตรา 10 กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีหน้าที่กำหนดนโยบายพัฒนาอีอีซี

มาตรา 39 การกําหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษกําหนดจากอุตสาหกรรมเป้าหมายทั้งหมดหรือบางส่วนจากอุตสาหกรรมเป้าหมาย แต่อย่างน้อยต้องมีอุตสาหกรรมด้านต่างๆ เช่น ยานยนต์สมัยใหม่

มาตรา 49 ให้ผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษซึ่งเป็นนิติบุคคลและเป็นคนต่างด้าวตามประมวลกฎหมายที่ดิน มีสิทธิถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินภายในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อการประกอบกิจการที่ได้รับอนุญาตได้โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตตามประมวลกฎหมายที่ดิน

มาตรา 52 การเช่า เช่าช่วง ให้เช่า หรือให้เช่าช่วงที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษมิให้นําความในมาตรา 540 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.การเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมมาใช้บังคับ การเช่า เช่าช่วง ให้เช่า และห้ามมิให้ทําสัญญาเช่าเป็นกําหนดเวลาเกิน 50 ปี ถ้าทําสัญญานานกว่านั้นให้ลดลงมาเป็น 50 ปี การต่อสัญญาเช่า อาจทําได้แต่จะต่อสัญญาเกิน 49 ปีนับแต่วันครบ 50 ปีไม่ได้

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การที่ พ.ร.บ.อีอีซี มีผลบังคับใช้จะสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติว่าโครงการต่างๆ จะขับเคลื่อนไปได้ โดยในปลายเดือน พ.ค.นี้ จะชี้แจงกฎหมายอีอีซีพร้อมนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานอีอีซี ให้กับเอกอัครราชทูตทุกประเทศที่ประจำประเทศไทย เพื่อให้นำข้อมูลไปเผยแพร่ต่อนักลงทุน

จาก  www.bangkokbiznews.com   วันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

จับตา23พ.ค.นี้! 'บิ๊กขรก.' โหวตแบนพาราควอตหรือไม่

มูลนิธิชีววิถี ชี้ให้จับตา23พ.ค.นี้ "บิ๊กขรก." โหวตแบนพาราควอตหรือไม่ สะท้อนท่าทีรัฐบาลคสช.

เพจเฟซบุ๊ค "มูลนิธิชีววิถี" ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า วันพุธที่ 23 พฤษภาคมนี้ ประชาชนและสื่อมวลชนต้องติดตามประเด็นใหญ่ 3 ประเด็น ทั้งในประเด็นการใช้ข้อมูลเพื่อไม่แบนสารพิษ ผลประโยชน์ทับซ้อน และที่สำคัญที่สุดคือท่าทีของรัฐบาลว่าต้องการจะแบนสารพิษนี้เช่นเดียวกับกว่า 50 ประเทศหรือไม่

พึงตระหนักว่า คณะกรรมการวัตถุอันตรายจำนวน 29 คนนั้น เสียงส่วนใหญ่จำนวน 19 คน เป็นกรรมการที่เป็นตัวแทนของหน่วยงานของรัฐ ดังนั้นหากรัฐบาลประสงค์จะแบนสารพิษที่มีความเสี่ยงสูงตามข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ก็สามารถทำได้ไม่ยาก เว้นแต่ว่ารัฐบาลนี้ เลือกยืนอยู่ข้างผลประโยชน์ของบรรษัทสารพิษมากกว่าจะปกป้องสุขภาพของประชาชน และสิ่งแวดล้อมหรือไม่

จาก  www.bangkokbiznews.com   วันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ชี้ Q2 ค่าเงินบาทอ่อนสุด 32.50 ร่วงช่วงสั้นผู้ส่งออกถือดอลล์จ้องฟันกำไร

เทรนด์ค่าเงินบาทช่วงไตรมาส 2 อ่อนยวบสุดในรอบปี หลังเงินบาทร่วง 32.20 บาท/ดอลล์ รับผลดอลลาร์แข็ง-ยีลด์บอนด์สหรัฐทะลุ 3% “กสิกรฯ” ชี้บาทอ่อนช่วงสั้น ฟันธง Q3 กลับมาแข็งค่า เตือนปีนี้ค่าบาทผันผวนหนักกว่าปีก่อน CIMBT เผยปัจจัยในสหรัฐลากบาทป่วน ทั้งเลือกตั้งกลางสมัย-เฟดขึ้นดอกเบี้ยเร็วและถี่ ส่วนไทยขึ้นดอกเบี้ยปีหน้า 2 ครั้ง อยู่ที่ 2%

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (7-10 พ.ค.) ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่าทะลุระดับ 32.00 บาท ซึ่งอ่อนค่าสุดในรอบปี โดยตั้งแต่ต้นสัปดาห์ (8 พ.ค.) ค่าเงินบาทปิดตลาดที่ 31.95/97 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งเป็นผลจากค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง โดยคงมีปัจจัยหนุนจากอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล (ยีลด์บอนด์) อายุ 10 ปีของสหรัฐ ที่ยังปรับตัวขึ้นทะลุ 3% และเงินเฟ้อที่ยังมีทิศทางเพิ่มขึ้น เป็นต้น อาจส่งผลให้ธนาคารกลางของสหรัฐ (เฟด) พิจารณาปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นเร็วกว่าคาดการณ์ ส่งผลให้กลางสัปดาห์ที่ผ่านมา (9 พ.ค.) ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ 32.02/04 บาท/ดอลลาร์ และเคลื่อนไหวอ่อนค่าลงไปบริเวณ 32.20/23 บาท/ดอลลาร์ ก่อนจะมาปิดตลาดในต่อมา (10 พ.ค.) อยู่ที่ระดับ 32.06/08 บาท/ดอลลาร์

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ช่วงนี้เงินบาทอ่อนค่า 32.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ถือว่าเร็วกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้ ซึ่งเดิมคาดการณ์ว่า ไตรมาส 2 ค่าเงินบาทจะอยู่ที่ 31.20 บาท/ดอลลาร์

อย่างไรก็ตาม รอบนี้เงินบาทน่าจะอ่อนค่าชั่วคราว เพราะแนวโน้มดอลลาร์ยังแข็งค่าต่อเนื่อง หลังตัวเลขทางเศรษฐกิจสหรัฐปรับตัวดีขึ้น เช่น อัตราว่างงานต่ำลง อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 2.5% ทำให้ตลาดมองว่า เฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 3 ครั้งและบางส่วนคาดปรับขึ้น 4 ครั้งในปีนี้

“แต่ไตรมาส 3 นี้ ก็มีปัจจัยที่ทำให้ดอลลาร์อ่อนค่าได้ เช่น การเมืองในสหรัฐ ประเด็นการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ เหตุการณ์ตะวันออกกลางด้วย หากเกิดปัญหาหรือสงคราม นักลงทุนส่วนใหญ่ก็จะถอนสินทรัพย์ในสกุลดอลลาร์ออกไปหาสกุลเงินอื่น เช่น ฟรังก์สวิส ยูโร เยน รวมถึงบาท เราจึงคาดไตรมาส 3 นี้ เงินบาทจะแข็งค่าที่ 31.60 บาท/ดอลลาร์ และกลับไปอ่อนค่าอีกครั้งปลายปีนี้ จึงยังคงเป้าหมายค่าบาทสิ้นปีนี้ที่ 32.00 บาท/ดอลลาร์ ปีนี้จะเห็นค่าเงินบาทผันผวนมากขึ้นกว่าปีที่แล้ว เพราะมีปัจจัยซ้อนหลาย ๆ ด้าน เช่น ข้อพิพาททางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ การที่สหรัฐถอนตัวจากข้อตกลงเรื่องนิวเคลียร์ของอิหร่าน ฯลฯ ดังนั้นภาคธุรกิจจะบริหารอัตราแลกเปลี่ยนยากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ส่งออกที่ส่วนใหญ่เลือกถือเงินบาท เพื่อรอลุ้นค่าเงินบาทจะอ่อนค่าได้มากกว่านี้ โดยไม่ทำเฮดจิ้ง (ป้องกันความเสี่ยง)” นายเชาว์กล่าว

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) กล่าวว่า ค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งขึ้น เนื่องจากตลาดมีมุมมองที่ดีต่อตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐ และเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง จึงคาดว่าไตรมาส 2 นี้ จะเป็นช่วงที่ค่าเงินบาทอ่อนค่ามากที่สุดในรอบปีอยู่ที่ระดับ 32.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

“โดยอาจจะเห็นค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นในช่วงกลางเดือน มิ.ย. 2561 ที่เฟดจะพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่ค่าเงินดอลลาร์ยังแข็งค่าในวงจำกัด เพราะ 1.มีปัญหาเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ทำให้คนยังกังวลในการถือเงินดอลลาร์สหรัฐ 2.การขาดดุลการค้าสหรัฐ ทำให้สหรัฐต้องการให้สกุลเงินดอลลาร์อ่อนค่าเพื่อแก้ไขปัญหาภายในนี้”

ส่วนในไตรมาส 3 นี้มีโอกาสที่ค่าเงินบาทจะกลับมาแข็งค่าขึ้น ซึ่งคาดอยู่ที่ระดับ 31.50 บาท/ดอลลาร์ เนื่องจากกระแสเงินทุนไหลกลับเข้ามาลงทุนในกลุ่มประเทศเกิดใหม่รวมถึงไทยที่ยังมีความน่าสนใจ แต่ในไตรมาส 4 นี้ ก็มีปัจจัยที่เงินดอลลาร์สหรัฐพลิกแข็งค่าได้ คือ 1.ความชัดเจนการเลือกตั้งกลางสมัย (midterm elections) 2.เฟดขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งที่ 4 ของปี จะสนับสนุนให้ตลาดสนใจกลับไปลงทุนในสหรัฐมากขึ้น ดังนั้นค่าเงินบาทจึงมีโอกาสอ่อนค่าอยู่ที่ 32 บาท/ดอลลาร์ ในสิ้นปีนี้ พร้อมกันนี้ ได้คาดการณ์การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของไทยว่าจะเกิดขึ้นในปี 2562 ราว 2 ครั้ง จาก 1.5% มาอยู่ 2% และปีถัดไปที่จะขึ้นอีก 2 ครั้ง

จาก  https://www.prachachat.net   วันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

กอน.ไฟเขียวโรงงานขายน้ำตาลทรายดิบผลิตเอทานอลเพิ่ม 3 แสนตัน

นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากในฤดูการผลิตปี 2560/2561 ผลผลิตน้ำตาลในตลาดโลกมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านๆ มา ส่งผลให้ราคาน้ำตาลโดยรวมปรับตัวลดลง ดังนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ที่ผ่านมา จึงมีนโยบายให้โรงงานน้ำตาลสามารถขายน้ำตาลทรายดิบในฤดูการผลิตปี 2560/2561 เพิ่มอีกจำนวน 300,000 ตัน จากเดิมที่เคยอนุมัติไว้ 200,000 ตัน รวมเป็นจำนวน 500,000 ตัน ให้แก่กิจการอุตสาหกรรมผลิตเอทานอลในประเทศได้

ทั้งนี้ เพื่อช่วยลดปริมาณน้ำตาลทรายที่จะส่งออกสู่ตลาดโลก และเพื่อเป็นการส่งเสริมและขยายตลาดการใช้น้ำตาลทรายเป็นวัตถุดิบในประเทศให้เพิ่มสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากในอนาคตราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกมีแนวโน้มลดลงอีก และบริษัทน้ำตาลมีความประสงค์ขออนุญาตจำหน่ายน้ำตาลทรายดิบภายในราชอาณาจักรในลักษณะนี้อีก ทางสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายจะพิจารณา และนำเสนอคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายกำหนดเป็นนโยบายเพื่อเพิ่มปริมาณการอนุญาตให้จำหน่ายน้ำตาลทรายดิบภายในราชอาณาจักรได้อีกตามความเหมาะสมต่อไป

จาก  https://mgronline.com  วันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

มองโกเลียสนใจฝนหลวง ส่งเจ้าหน้าที่มาศึกษางาน นำไปแก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ทะเลทรายโกบีหวังช่วยเพิ่มปริมาณฝน

อธิบดีกรมฝนหลวงฯเตรียมปรับปรุงสนามบินท่าใหม่ จ.จันทบุรี เร่งด่วนให้แล้วเสร็จปีหน้า ใช้งบ 83 ล้านบาท เผยทางการมองโกเลีย ขอศึกษาเทคนิคฝนหลวง ช่วยแก้ความแห้งแล้ง

เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2561 ที่หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจันทบุรี สนามบินท่าใหม่อ.ท่าใหม่ จ.จันทรบุรี นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร พร้อมกับนายวิทูรัช ศรีนาม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ได้ร่วมในพิธีรับมอบน้ำแข็งแห้งจากบริษัทบางกอกอินดัสเทรียสแก็ส จำกัด จำนวน 70 ตัน มูลค่ารวมกว่า 1 ล้านบาท เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร และเพื่อสนับสนุนภารกิจของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงทุกภูมิภาคทั่วประเทศ โดยทุกปีใช้น้ำแข็งแห้งประมาณ 600 ตันซึ่งถูกนำมาใช้ในขั้นตอนโจมตีใต้ฐานก้อนเมฆ ขั้นตอนที่ 4 เพื่อดึงกลุ่มเมฆให้ตกลงสู่พื้นที่เป้าหมาย เป็นตัวเพิ่มปริมาณน้ำฝน เร่งอัตราการตกของฝนและช่วยระยะเวลาในการตกของฝนยาวนานขึ้น ช่วยพื้นที่เกษตรแก้ไขวิฤกตการณ์ภัยแล้ง การขาดแคลนน้ำและสร้างความชุ่มชื้นให้ผืนป่า

นายสุรสีห์ กล่าวว่านายกฤษฏา บุญราช รมว เกษตรฯได้ให้ความสำคัญมากเรื่องเพิ่มผืนป่าต้นน้ำเพื่อสร้างความชื้นสัมพัทธ์ให้มากขึ้นเอื้อต่อการทำฝนหลวง จะมีการลงนามเอ็มโอยู กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ในโครงการโปรยเมล็ดพันธุ์ไม้ รวมทั้งพัฒนาแอฟพิเคชั่น ดาว์โหลดรูปภาพปักหมุดพื้นที่โปรยเมล็ดพันธุ์ ปลูกต้นไม้ไว้ไปตามดูได้ในปีต่อๆไปติดตามความเจริญเติบโตของป่าไม้ พร้อมกันนี้จะดำเนินการปรับปรุงสนามบินท่าใหม่ ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี ซึ่งงบเบื้องต้น 83 ล้านบาท ภายหลังที่ได้ประชุมร่วมกับกับกองทัพอากาศ กองทัพเรือ การท่าอากาศยาน เมื่อวันที่ 30 เม.ย. มีมติปรับปรุงอย่างเร่งด่วนได้มองในแง่ความปลอดภัยในการใช้งาน รวมถึงมีความจำเป็นต้องใช้งานด้านปฎิบัติการฝนหลวงทุกปี ตั้งแต่เริ่มต้นฤดูกาล ที่สวนผลไม้ต้องการใช้น้ำมาก และทำฝนหลวงให้กับภาคตะวันออกมีหลายจังหวัดเป็นพื้นที่อับฝน

นายสุรสีห์ กล่าวว่าสนามบินนี้มีพื้นที่รันเวย์เป็นดินลูกรังบดอัดแน่น ประสบปัญหาเป็นฝุ่นในฤดูแล้งและลื่นในช่วงหน้าฝน ที่ผ่านมาต้องใช้นักบินชุดเดิมที่เชียวชาญคุ้นเคยกับสภาพสนามบิน โดยจะปรับปรุงรันเวย์ราดแอสฟาติกส์ เพิ่มระยะทางทั้งหมด จาก 1.50 พันเมตร เป็น 1.3 พันเมตร เพิ่มระยะวิ่งจาก980 เมตร ที่รองรับได้เฉพาะเครื่องบินขนาดเล็ก รุ่นคาราแวน เพื่อให้เครื่องบินขนาดกลาง รุ่นคาซ่าลงได้โดยขยาย1.2 พันเมตร

“ดำเนินการปรับปรุงส่วนแท็กซี่รันเวย์ ทางวิ่ง ทางเข้าและลานจอด ระบบไฟสนามบิน รวม 83 ล้านบาท ตามรายละเอียดเบื้องต้น มติที่ประชุม ดำเนินการไปออกแบบ จะขอความร่วมมือจากกรมท่าอากาศยาน มีความเชี่ยวชาญด้านออกแบบสนามบิน ทั้งนี้กรมฝนหลวงฯมีภาระกิจใช้สนามบินแห่งนี้ ให้กรมไปพิจารณาเงินเหลือจ่าย หากไม่พอเสนอเข้าครม.ของบกลางเพิ่ม โดยนายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รมช.เกษตรฯมาช่วยดูแลการปรับปรุงสนามบินท่าใหม่ ตั้งแต่นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ภาคตะวันออก เห็นว่าดำเนินก่อสร้างปีนี้ ภายในปีหน้าแล้วเสร็จ โดยสนามบินนี้ในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยพระองค์ท่านได้ริเริ่มมาทำฝนหลวง จากที่ชาวสวนผลไม้ถวายฎีกาขอฝน พระองค์ให้มาตั้งหน่วยฝนหลวง ปี 2515 ได้สำเร็จซึ่งชาวสวนชาวผลไม้ ได้ถวายทุนทรัพย์จัดซื้อเครื่องบินด้วย”นายสุรสีห์ กล่าว

นอกจากนี้ในอนาคตอาจมีแผนเฟสสองพัฒนาเป็นสนามบินพาณิชย์ จะมีขั้นตอนพิจารณาศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ปริมาณความคุ้มทุน ขยายรันเวย์ ไปอีกมุม ไม่กินพื้นที่ชาวบ้านโดยพื้นที่ทั้งหมด 830 กว่าไร่ หากพัฒนาต้องสร้างหอบังคับการบิน และอาคารผู้โดยสาร เพื่อรองรับเขตระเบียบเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี

อธิบดีกรมฝนหลวงฯกล่าวว่าในวันที่ 14 พ.ค.นี้เจ้าหน้าที่ระดับสูง และระดับผู้ปฎิบัติ เกี่ยวข้องการทำฝนเทียมของประเทศมองโกเลีย จะมาไทยและเข้าเฝ้าสมเด็จพระเทพพระรัตนราชสุดาฯขอศึกษาการทำฝนหลวงสูตรพระราชทาน ในขั้นตอนก่อกวน เลี้ยงเมฆให้อ้วนเพื่อเพิ่มปริมาณเมฆและฝนตกมากขึ้น โดยมองโกเลียมีฝนตกน้อยเพียงปีละ200-400 มม.รวมทั้งมีสภาพพื้นที่ทะเลทรายโกบี ที่ผ่านมามองโกเลียใช้การทำฝนแบบเมฆเย็นโจมตีด้วยจรวด

จาก  http://www.naewna.com วันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

'น้ำตาล' เริ่มไม่หวาน!!

... คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้ผลิตน้ำตาลในโลกเริ่มยืนอยู่บนความเสี่ยง มองกันตั้งแต่เรื่องใกล้ตัว ที่พลเมืองโลกต่างใส่ใจกับปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เริ่มให้ความสำคัญต่อยานพาหนะที่ไม่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงมากขึ้น ดูจากการพัฒนาผลิตรถยนต์ไฟฟ้า หรือ รถอีวี รถยนต์ไฮบริด ที่หลายประเทศลงมาชิงความรวดเร็วด้านเทคโนโลยีและความได้เปรียบจากการทำตลาด ในขณะที่ ไทยก็อยู่ในช่วงโหนกระแสไปด้วย ดูจากแอคชันภาครัฐ โดยเฉพาะการใช้เครื่องมือต่าง ๆ เป็นตัวเร่งกระตุ้นการลงทุน หรือแม้แต่การใช้ชีวิตเดินทางประจำวัน ที่หลายคนยอมจอดรถทิ้งไว้ที่บ้าน หันมาขึ้นบีทีเอสแทน ทำให้แนวโน้มคนใช้น้ำมันน้อยลง และเมื่อการบริโภคน้ำมันลดลง กระทบต่อราคาเอทานอล (เอทานอลผลิตจากอ้อย, มันสำปะหลัง และข้าวโพด) ทันที

ประการต่อมา เมื่อราคาเอทอนอลถูกลง ผู้ผลิตน้ำตาลรายสำคัญในตลาด เช่น บราซิลก็นำอ้อยไปผลิตน้ำตาลแทน ยิ่งตอกย้ำให้ผลผลิตน้ำตาลโลกมีปริมาณมากเกินความต้องการใช้

สอดคล้องกับที่บริษัทวิจัยในเยอรมนี F.O.licht ประมาณการดุลยภาพน้ำตาลโลก ว่า ปี 2560/2561 ผลผลิตน้ำตาลรวมอยู่ที่ 194.0 ล้านตันน้ำตาล ขณะที่ การบริโภครวมอยู่ที่ 183.6 ล้านตันน้ำตาล และปี 2561/2562 ผลผลิตน้ำตาลรวมอยู่ที่ 192.7 ล้านตันน้ำตาล มีการบริโภครวมอยู่ที่ 186.6 ล้านตันน้ำตาล สะท้อนให้เห็นว่า ปริมาณน้ำตาลล้นตลาดต่อเนื่อง

อีกทั้ง ผลผลิตทั้งอ้อยและน้ำตาลรายใหญ่ ต่างมีปริมาณที่สูงขึ้น นอกจาก 'บราซิล' ในฐานะผู้ส่งออกน้ำตาลเบอร์ 1 ของโลกแล้ว ที่น่าจับตาในเวลานี้ คือ 'ไทย' ในฐานะผู้ส่งออกน้ำตาลเบอร์ 2 ของโลก ที่ปีนี้มีผลผลิตอ้อยมากถึง 133-135 ล้านตันอ้อย และคาดว่าจะผลิตน้ำตาลได้ 14.5-15 ล้านตันน้ำตาล และ 'อินเดีย' ที่ปีนี้จะมีผลผลิตน้ำตาลเพิ่มขึ้นจาก 20.3 ล้านตันน้ำตาล เป็น 31.5-32 ล้านตันน้ำตาล (บริโภคในประเทศประมาณ 25 ล้านตัน) ต่างมีผลผลิตในปีนี้สูงเกินคาด

ด้วยเหตุผลดังกล่าว กำลังจะเป็นตัวแปรทุบราคาน้ำตาลร่วงลงต่อเนื่อง!

หากมองเฉพาะประเทศไทย จะเห็นว่า ฤดูกาลผลิตอ้อยและน้ำตาล ปี 2560/2561 ค่อนข้างแน่นอนแล้วว่า ภาพรวมปริมาณอ้อยทะลุ 130 ล้านตันอ้อยมาแล้ว สูงสุดนับแต่มีอุตสาหกรรมอ้อยในประเทศ เทียบกับปีที่ผ่านมา ปริมาณอ้อยโดยรวมไต่ระดับอยู่ที่ 92.95 ล้านตันอ้อย ในขณะที่ ราคาน้ำตาลดิบในตลาดโลกขณะนี้ ยืนอยู่ที่ระดับ 11 เซ็นต์ต่อปอนด์ ซึ่งเวลานี้ เริ่มมีเสียงบ่นจากวงการน้ำตาล ว่า ปลายปีนี้มีโอกาสที่ราคาน้ำตาลจะดิ่งลงเหลือเลขหลักเดียวก็อาจจะเป็นไปได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมอย่างดิน ฟ้า อากาศด้วย

แต่ที่แน่ ๆ ปัญหาที่น่าติดตามต่อมา คือ ราคาอ้อยเบื้องต้นที่กำหนดโดยคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ซึ่งประกาศออกไปแล้วก่อนหน้านี้ ที่ราคา 880 บาทต่อตัน ในค่าความหวานที่ 10 ซีซีเอสนั้น กำลังจะกลับมาสู่วังวนเดิม ที่ทำให้ระบบอ้อยและน้ำตาลกระทบ เพราะเวลานี้ สถานการณ์เปลี่ยนราคาน้ำตาลร่วง โรงงานน้ำตาลที่ควักกระเป๋าจ่ายค่าอ้อยเบื้องต้นไปแล้ว ซึ่งขณะนั้น เป็นการกำหนดราคาตามที่ บริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย (อนท.) แจ้งมา เป็นประมาณการราคาส่งออก ที่ราคาน้ำตาลทรายดิบราว 16.4 เซ็นต์ต่อปอนด์ เป็นราคาที่สูงกว่าตลาดในปัจจุบัน ที่ล่าสุดลงมาอยู่ที่ 11 เซ็นต์ต่อปอนด์แล้ว

นอกจากนี้ 'ไทยพรีเมียม' ซึ่งเป็นเงินส่วนเพิ่มจากราคาขายน้ำตาลที่ผู้ซื้อน้ำตาลเพิ่มให้ผู้ขายน้ำตาลของไทย ที่เคยได้รับตั้งแต่ระดับ 50-80 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน ปัจจุบัน ร่วงลงมาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 20 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตันนั้น ยิ่งทำให้รายได้ของระบบอ้อยและน้ำตาลลดลง เพราะผู้ซื้อไม่จำเป็นต้องจ่ายเพิ่มในภาวะที่น้ำตาลล้นตลาดโลกแบบนี้ เพราะมีช่องทางซื้อน้ำตาลได้มากขึ้นกว่าเดิม

จากข้อสังเกตทั้งหมดที่กล่าวถึง ... หากมองในมุมของผู้ผลิตน้ำตาล รวมถึงรายได้ที่เข้ามายังระบบแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลในสัดส่วน 70:30 ที่ลดลง ... 'น้ำตาล' ที่เคยว่าหวาน เพราะเป็นธุรกิจที่ทำให้โรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อย (บางราย) กอบโกยรายได้จนรวยอื้อไปเป็นแถวนั้น ก็อาจจะขมได้!!!

จาก  www.thansettakij.com  วันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

แรงงานเขมร ทะลัก !! เข้าไทย

แรงงานเขมร ทะลัก!! เข้าไทย เพื่อตัดอ้อย ช่องอนุโลม 2,000-3,000 คนต่อวัน ระบุถูกเก็บคนละ 10 บาท หลังกองกำลังบูรพา

          เมื่อเวลา 08.00 น.วันที่ 12 พ.ค.2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ช่องอนุโลมดอยเต่า บ้านทับพริก-คลองหว้า ต.ทับพริก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว มีแรงงานชาวกัมพูชา จำนวน 2,000-3,000 คน

          เดินทางข้ามแดนเข้ามาเพื่อรับจ้างตัดอ้อยและทำงานด้านการเกษตรในพื้นที่ อ.คลองหาด อ.อรัญประเทศ และพื้นที่ใกล้เคียงใน จ.สระแก้ว ภายหลังกองกำลังบูรพา มีคำสั่งให้ขยายเวลาห้วงการนำแรงงานเขมรจากราชอาณาจักรกัมพูชา เข้ามาตัดอ้อยในประเทศไทยในลักษณะมาเช้า-เย็นกลับ

         จากเดิมกำหนดไว้ห้วงเวลา 07.00-17.00 น โดยขยายเพิ่มเป็น ตั้งแต่เวลา 05.30-18.30 น.นั้น ส่งผลให้มีแรงงานเขมรทะลักเข้ามาทำงานเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะช่องเขาดอยเต่า ต.ทับพริก และช่องเขาช่องแคบ อ.คลองหาด

         ทั้งนี้ ผู้ประกอบการชาวไร่รายหนึ่ง ซึ่งเดินทางไปรับแรงงานเขมรมาทำงานเกษตรในพื้นที่ แจ้งว่า แรงงานชาวกัมพูชานิยมเข้ามาลักษณะนี้มากกว่า เพราะสะดวก ได้ค่าจ้างที่สูงกว่า เช่น ตัดอ้อยได้ในราคามัดละ 3 บาท จากเดิมที่เข้ามาอยู่ในช่วงฤดูกาลได้เพียงมัดละ 2 บาท อีกทั้งต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ขณะที่การเข้ามาแบบไปเช้า-เย็นกลับ เสียเงินเพียงคนละ 10 บาทจากฝั่งเขมรก่อนที่จะข้ามมายังฝั่งไทยเท่านั้น

          ขณะที่ ร.ท.สมโภช จรัญยาอ่อน ผบ.ร้อย ทพ.1302 ระบุว่า ที่ผ่านมาทางฝ่ายไทยและกัมพูชามีการพัฒนาความสัมพันธ์กันมาตลอดเกือบจะทุกเดือน กรณีที่บอกว่า ต้องจ่าย 10 บาทก่อนข้ามมายังฝั่งไทยนั้น ได้ตรวจสอบไปยังฝ่าย ตชด.ที่ดูแลพื้นที่แล้ว ยืนยันว่า ไม่มีการเก็บเงิน อาจจะมีการแอบอ้างเก็บค่าใช้จ่ายโดยบุคคลอื่นได้ ซึ่งทางกัมพูชาจะได้ตรวจสอบต่อไป สำหรับฝั่งประเทศไทยนั้น เพื่อเป็นการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร เราทำตามนโยบายเพื่ออำนวยความสะดวก โดยผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้บังคับบัญชารับทราบทุกขั้นตอน

             ผบ.ร้อย ทพ.1302 กล่าวอีกว่า ขั้นตอนการนำแรงงานเขมรเข้ามาตัดอ้อยนั้น จะมีแบบรายงาน แรงงานเข้ามาเช้า-เย็นกลับ ของจุดผ่อนผันแรงงานชาวกัมพูชาเขาดอยเต่า ให้เกษตรกรผู้ประกอบการไร่อ้อยหรือชาวไร่อื่น ๆ ได้กรอกก่อนมารับแรงงาน

          ซึ่งต้องกรอกชื่อ อายุ เลขบัตรประชาชน ประเภทงานเกษตร จำนวนแรงงาน เวลาเข้า-ออก และทะเบียนรถยนต์ที่มารับ เพื่ออนุญาตให้แรงงานเข้าไปในเขตพื้นที่ของหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 13 ซึ่งจะต้องมีลายเซ็นของผู้ขอรับแรงงาน , ผบ.ร้อยฯ ที่ดูแลจุด ,ผู้ร่วมตรวจสอบที่เป็น รอง สวป.สภ.คลองน้ำใส และผู้ร่วมตรวจสอบ กำนันตำบลทับพริก ก่อนนำเข้าไปในพื้นที่ ซึ่งทั้งหมดไม่มีการเรียกเก็บเงินหรือค่าธรรมเนียมใด ๆ ทั้งสิ้น

             อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศตั้งแต่ช่วงเช้ามืด หลังเวลา 05.30 น.ของทุกเช้าจนถึงช่วง 08.00 น. แรงงานชาวกัมพูชาจะเตรียมเครื่องมือการเกษตร มีด พร้า กระติกน้ำ ข้าวปลาอาหาร เดินทางข้ามมายังฝั่งประเทศไทย เพื่อรอนายจ้างที่เป็นผู้ประกอบการชาวไร่อ้อย ไร่ข้าวโพดและอื่น ๆ นำรถปิกอัพและรถบรรทุก มาติดต่อรับไปทำงานจำนวนมาก ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าช่วงที่ผ่านมาหลายเท่า หลังจากฝ่ายทหารได้อำนวยความสะดวกเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวไร่อ้อยเกือบ 40,000 ไร่ ให้สามารถตัดอ้อยเข้าโรงงานได้ทันปิดหีบในช่วงปลายเดือน พ.ค.นี้

จาก  http://www.komchadluek.net  วันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

กรมชลพร้อมเดินหน้าแผนการบริหารจัดการน้ำ-เปิดปฎิทินเพาะปลูกพืชฤดูฝนแต่ละภาค

กรมชลพร้อมเดินหน้าแผนการบริหารจัดการน้ำและเพาะปลูกพืชฤดูฝนปี2561 ย้ำทุกโครงการชลประทานทุกแห่ง บริหารน้ำในอ่างเก็บให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม พร้อมเก็บกักน้ำให้มีน้ำกินน้ำใช้เพียงพอตลอดทั้งปี

เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยได้ย่างเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว กรมชลประทานได้จัดทำแผนการจัดสรรน้ำและเพาะปลูกพืชฤดูฝนในเขตชลประทานปี 2561 ทั่วประเทศ 16 ล้านไร่ เพื่อเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน ระหว่างวันที่ 1 พ.ค. – 31 ต.ค. โดยมีเป้าหมายให้ปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำต่างๆ มีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับการใช้น้ำตลอดฤดูฝนปี 2561 และเก็บกักไว้ใช้ในฤดูแล้งที่กำลังมาถึง ด้วยการวางแนวทางในการดำเนินการ คือ การจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศให้เพียงพอตลอดทั้งปี การส่งเสริมการปลูกพืชฤดูฝนให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัก ใช้น้ำชลประทานเสริมกรณีฝนทิ้งช่วงเท่านั้น การบริหารจัดการน้ำท่าให้มีประสิทธิภาพสูงสุดด้วยระบบและอาคารชลประทาน การเก็บกักน้ำในเขื่อนให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมที่เหมาะสมตามช่วงเวลา เพื่อความมั่นคงด้านการอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศ โดยในพื้นที่ชลประทาน จะต้องมีน้ำกินน้ำใช้ตลอดทั้งปี

สำหรับแผนการเพาะปลูกฤดูกาลผลิตปี 2561/62 นั้น ได้มีการปรับปฏิทินการเพาะปลูกข้าวนาปีในเขตชลประทานของลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน หลังประสบความสำเร็จในปีที่ผ่านมา โดยแยกเป็น 2 ส่วน คือ พื้นที่ทางตอนบนของลุ่มเจ้าพระยา(ตั้งแต่จังหวัดนครสวรรค์ขึ้นไป) ได้แก่ พื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ มีพื้นที่รวม 382,000 ไร่ ได้ส่งน้ำเพื่อให้เกษตรกรเริ่มทำการเพาะปลูกข้าวนาปี ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 ส่วนพื้นที่ดอนที่มีอยู่ประมาณ 1.857 ล้านไร่ ให้เริ่มเพาะปลูกเมื่อกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูฝน โดยใช้น้ำฝนเป็นหลัก และเสริมด้วยน้ำท่าและน้ำชลประทาน อีกส่วนคือพื้นที่ตอนล่างของลุ่มเจ้าพระยาใหญ่ (ตั้งแต่จังหวัดนครสวรรค์ลงมา) ประกอบด้วยพื้นที่ลุ่มต่ำ 12 ทุ่ง ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง พื้นที่รวม 1.15 ล้านไร่ ได้ส่งน้ำให้เกษตรกรเริ่มทำการเพาะปลูกข้าวนาปีตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2561 สำหรับพื้นที่ดอนที่มีอยู่ประมาณ 4.27 ล้านไร่ ให้เริ่มเพาะปลูกเมื่อกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูฝน โดยใช้น้ำฝนเป็นหลักและเสริมด้วยน้ำท่าและน้ำชลประทาน ทั้งนี้ เพื่อให้เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวให้เสร็จก่อนฤดูน้ำหลากจะมาถึง ก่อนจะใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเหล่านี้เป็นพื้นที่รับน้ำนองในช่วงฤดูน้ำหลาก ช่วยลดผลกระทบพื้นที่ตอนล่างได้เป็นอย่างมาก

ในส่วนของพื้นที่ชลประทานลุ่มน้ำแม่กลอง ซึ่งใช้น้ำต้นทุนจากเขื่อนหลัก 2 แห่ง คือ เขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนวชิราลงกรณ นั้น ในพื้นที่ลุ่มต่ำที่มีอยู่ประมาณ 0.08 ล้านไร่ แนะนำให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกเมื่อกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูฝน ส่วนพื้นที่ดอนที่มีอยู่ประมาณ 0.80 ล้านไร่ ปกติฤดูเพาะปลูกจะเริ่มเดือนกรกฎาคม คาดว่าปีนี้จะมีปริมาณน้ำเพียงพอ จึงแนะนำให้เพาะปลูกได้ตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป

สำหรับพื้นที่โครงการชลประทานอื่นๆ ทั่วประเทศ การเพาะปลูกพืชฤดูฝน จะดำเนินการตามมติคณะกรรมการจัดการชลประทาน ของแต่ละพื้นที่ โดยในเขต ภาคเหนือ ที่มีพื้นที่ชลประทานประมาณ 1.67 ล้านไร่ แนะนำให้เพาะปลูก ได้ตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม ภาคกลาง มีพื้นที่ชลประทานประมาณ 0.45 ล้านไร่ แนะนำให้เพาะปลูก เมื่อกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูฝน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีพื้นที่ชลประทานประมาณ 3.33 ล้านไร่ แยกเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มีพื้นที่ชลประทานประมาณ 1.60 ล้านไร่ แนะนำให้เพาะปลูกได้ตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายน ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง มีพื้นที่ชลประทานประมาณ 1.73 ล้านไร่ แนะนำให้เพาะปลูกได้ตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม ภาคตะวันออก ที่มีพื้นที่ชลประทานประมาณ 1.31 ล้านไร่ แนะนำให้เพาะปลูกได้ตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม ภาคใต้ ที่มีพื้นที่ชลประทานประมาณ 0.699 ล้านไร่ แยกเป็น ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีพื้นที่ชลประทานประมาณ 0.029 ล้านไร่ แนะนำให้เพาะปลูกได้ตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคม ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีพื้นที่ชลประทานประมาณ 0.67 ล้านไร่ แนะนำให้เพาะปลูกได้ตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป

ทั้งนี้ ในส่วนของพื้นที่เพาะปลูกนอกเขตชลประทาน แนะนำให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกตามฤดูกาลปกติ เมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูฝนตกชุก สำหรับพื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันออกที่ฤดูฝนจะแตกต่างจากภาคอื่น แนะนำให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกตามฤดูกาลปกติประมาณเดือนตุลาคม อย่างไรก็ตาม หากพบว่าพื้นที่ใดประสบปัญหาเรื่องน้ำ ผู้นำท้องถิ่นสามารถประสานขอความช่วยเหลือไปยังโครงการชลประทานในพื้นที่ได้ตลอดเวลา หรือโทรศัพท์แจ้งขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนกรมชลประทานหมายเลข 1460 เจ้าหน้าที่ชลประทานยินดีที่จะให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาเรื่องน้ำด้วยความเต็มใจ

จาก  https://www.prachachat.net  วันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

สั่ง 22 รง.น้ำตาลยืดปิดหีบอ้อยรับผลผลิตทะลัก-

ผลผลิตอ้อยปี 2560/2561 สูงเป็นประวัติการณ์ 135 ล้านตันทำให้ชาวไร่อ้อยในอีสานตัดอ้อยส่งโรงงานน้ำตาลไม่ทัน เรียกร้องให้โรงงานน้ำตาลกว่า 22 แห่ง “เลื่อน” ปิดหีบอ้อย

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวกับ”ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ขอให้โรงงานน้ำตาลทั่วประเทศที่ยังไม่ปิดหีบอ้อยจำนวน 22 โรงให้เลื่อนกำหนดการปิดหีบออกไปจนกว่าคู่สัญญากับทางโรงงานจะส่งอ้อยเข้าหีบหมด คาดว่าจะไปปิดหีบภายในเดือนพฤษภาคมนี้จากปกติที่จะปิดหีบภายในเดือนเมษายน ทั้งนี้ทางกระทรวงอุตสาหกรรมคาดการณ์ผลผลิตอ้อยปีนี้ไว้ที่จำนวน 135 ล้านตันจากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 132 ล้านตัน ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 10ปีที่ปริมาณอ้อยสูงกว่าปีการผลิตก่อนถึง 40% และยังคงเหลืออ้อยที่ยังไม่ได้หีบอีก 2.02 ล้านตัน

ขณะที่ นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า โรงงานน้ำตาลทุกโรง “รับปาก” จะเลื่อนการปิดหีบอ้อยออกไปจนกว่าอ้อยจะหมด ในบางรายหากเข้าหีบไม่ทันตามกำหนดของโรงงานน้ำตาลที่อยู่ใกล้อาจจะใช้การเยียวยาด้วยการรับซื้ออ้อยไว้เป็นรายกรณีเพื่อช่วยเหลือชาวไร่อ้อย สอดคล้องกับ นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทน้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) แจ้งว่า โรงงานได้เลื่อนระยะเวลาปิดหีบออกไปเพื่อให้คู่สัญญากับชาวไร่อ้อยส่งอ้อยเข้าหีบจนหมดจากปรากฎการณ์อ้อยมากขนาดนี้นับเป็นเหตุการณ์ครั้งแรกที่เคยเกิดขึ้น

ด้าน นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัทไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด กล่าวว่า โรงงานน้ำตาลได้ขยายระยะเวลาปิดหีบล่าช้ากว่าปกติ 1 เดือนจากที่เคยปิดหีบก่อนช่วงสงกรานต์ เพื่อรองรับผลผลิตอ้อยที่มีจำนวนถึง 132 ล้านตันจากปีก่อนที่มีเพียง 92 ล้านตัน ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยปัจจุบันโรงงานสามารถหีบอ้อยได้เฉลี่ยวันละ 150,000 ตัน โดยผลผลิตอ้อย 130 ล้านตันจะผลิตเป็นน้ำตาลได้ประมาณ 13 ล้านตันใช้บริโภคภายในประเทศ 3 ล้านตันและส่งออกอีก 10 ล้านตัน (สูงกว่าค่าเฉลี่ยส่งออกปีละ 8 ล้านตัน)

จาก  https://www.prachachat.net   วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

กลุ่ม KTIS ขยายเวลาปิดหีบช่วยชาวไร่อ้อย

กลุ่ม KTIS ขยายเวลารับอ้อยเข้าหีบถึงที่สุดแม้จะกระทบกับการซ่อมบำรุงเครื่องจักร “ประพันธ์” ยัน เมื่อชาวไร่อ้อยเดือดร้อน กลุ่ม KTIS ต้องช่วยแบ่งเบา เผยข้อมูลล่าสุด ปริมาณอ้อยและน้ำตาลที่ผลิตได้สูงกว่าปีก่อนอย่างมาก มีอ้อยเข้าหีบกว่า 11.2  ล้านตัน ผลิตน้ำตาลทรายได้แล้วกว่า 11.4 ล้านกระสอบ ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่อง

นายประพันธ์  ศิริวิริยะกุล  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เปิดเผยว่า เนื่องจากในปีนี้ผลผลิตอ้อยทั่วประเทศมีปริมาณมากกว่าปีที่ผ่านมาอย่างมาก รวมถึงอ้อยที่อยู่ในพื้นที่ของโรงงานน้ำตาลในกลุ่ม KTIS  ด้วย ซึ่งคณะผู้บริหารของกลุ่ม KTIS ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า หากทางโรงงานปิดรับอ้อยเข้าหีบตามเวลาที่กำหนด จะส่งผลกระทบต่อชาวไร่อ้อยคู่สัญญาจำนวนมาก จึงเห็นควรให้ขยายเวลาการรับอ้อยเข้าหีบของโรงงานน้ำตาลเกษตรไทย ออกไปเป็นวันที่ 20 พฤษภาคม 2561

 “เนื่องจากทางกลุ่ม KTIS เราให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือชาวไร่อ้อยมาเป็นอันดับแรก ดังนั้น เราจะพยายามหีบอ้อยที่ชาวไร่อ้อยคู่สัญญานำส่งให้ได้ทั้งหมด ถึงแม้จะส่งผลกระทบต่อเครื่องจักรที่อาจเกิดความเสียหายและต้องมีค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงมากขึ้นก็ตาม เพราะปรัชญาของกลุ่ม KTIS คือชาวไร่อ้อยมั่งคั่ง กลุ่ม KTIS มั่นคง ในทางกลับกัน หากชาวไร่อ้อยเดือดร้อน ทางกลุ่ม KTIS ก็ต้องเข้าไปช่วยแบ่งเบาความเดือดร้อนนั้นด้วย” นายประพันธ์กล่าว

ทั้งนี้ การหีบอ้อยของกลุ่ม KTIS ล่าสุด มีอ้อยเข้าหีบแล้วกว่า 11.2 ล้านตัน ผลิตน้ำตาลทรายได้กว่า 11.4 ล้านกระสอบ ซึ่งสูงกว่าปีก่อนที่ได้น้ำตาลประมาณ 9.4 ล้านกระสอบ โดยปริมาณอ้อยที่เพิ่มมากขึ้นนี้ ทำให้มีชานอ้อยและใบอ้อยที่จะเข้าสู่โรงไฟฟ้าชีวมวลทั้ง 3 โรงมากขึ้น สามารถผลิตไฟฟ้าได้เป็นระยะเวลาที่ยาวนานขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้มีรายได้จากการขายไฟฟ้ามากขึ้น อีกทั้งมีชานอ้อยเข้าสู่โรงงานผลิตเยื่อกระดาษชานอ้อยและผลิตบรรจุภัณฑ์จากเยื่อชานอ้อยมากขึ้น  ปริมาณอ้อยจึงส่งผลดีทั้งต่ออุตสาหกรรมน้ำตาลทรายและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง

ด้านนายทองคำ เชิงกลัด ประธานสหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทยและนายกสมาคมชาวไร่อ้อย เขต 11 นครสวรรค์ กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณผู้บริหารของกลุ่ม KTIS ที่ขยายเวลาการรับอ้อยเข้าหีบ ทั้งๆ ที่ชาวไร่อ้อยไม่ได้ร้องขอ แสดงถึงความใส่ใจของโรงงานน้ำตาลต่อชาวไร่อ้อยอย่างแท้จริง เพราะหากปิดหีบตามกำหนด จะมีอ้อยค้างในไร่และส่งผลกระทบต่อชาวไร่อ้อยจำนวนมาก

“ที่ผ่านมากลุ่ม KTIS จะช่วยเหลือชาวไร่อ้อยคู่สัญญาในทุกๆ เรื่องอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเพิ่มผลผลิตอ้อยต่อไร่ การตัดอ้อย การขนส่งอ้อยเข้าโรงงาน รวมถึงการหีบอ้อยในทุกปีที่ผ่านมา หากมีอ้อยค้าง กลุ่ม KTIS ก็จะขยายเวลาหีบอ้อยจนหมด โดยที่ชาวไร่ไม่ต้องร้องขอทางโรงงานเลย เช่นเดียวกันกับปีนี้ ต้องขอขอบคุณในความเป็นครอบครัวเดียวกันของโรงงานกับชาวไร่อ้อย” นายทองคำกล่าว   

จาก  http://www.banmuang.co.th   วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

กอน.ไฟเขียวให้ รง.ขายน้ำตาลทรายดิบ

 กอน. อนุญาตให้โรงงานจำหน่ายน้ำตาลทรายดิบ ระบุนำไปผลิตเอทานอล  ในฤดูการผลิต60/61 จำนวน 5 แสนเมตริกตัน

 นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ครั้งที่ 5/2561 เมื่อวันที่ 10 พ.ค.2561  ที่ประชุมมีนโยบายเพิ่มเติมปริมาณการจำหน่ายน้ำตาลทรายดิบภายในราชอาณาจักรให้แก่กิจการอุตสาหกรรมผลิตเอทานอล ฤดูการผลิตปี 2560/2561 เป็นจำนวนรวม 500,000 เมตริกตัน เนื่องจากในฤดูการผลิตปี 2560/2561 ผลผลิตน้ำตาลในตลาดโลกมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นกว่าปีที่ผ่าน ๆ มา ส่งผลให้ราคาน้ำตาลโดยรวมปรับตัวลดลงตามลำดับ

ดังนั้น เพื่อลดปริมาณน้ำตาลทรายที่จะส่งออกสู่ตลาดโลก และเพื่อเป็นการส่งเสริม และขยายตลาดการใช้น้ำตาลทรายเป็นวัตถุดิบในประเทศให้เพิ่มสูงขึ้น ที่ประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย จึงมีมติอนุมัติเพิ่มเติมให้บริษัทน้ำตาลจำหน่ายน้ำตาลทรายดิบภายในราชอาณาจักรให้แก่กิจการอุตสาหกรรมผลิตเอทานอล ฤดูการผลิตปี 2560/2561 เพิ่มอีกจำนวน 300,000 เมตริกตัน (จากเดิมที่เคยอนุมัติไว้ 200,000 เมตริกตัน) รวมเป็นจำนวน 500,000 เมตริกตัน

  ทั้งนี้ หากในอนาคตราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกมีแนวโน้มลดลงอีก และบริษัทน้ำตาลมีความประสงค์ขออนุญาตจำหน่ายน้ำตาลทรายดิบภายในราชอาณาจักรให้แก่กิจการอุตสาหกรรม ที่ใช้น้ำตาลทรายดิบเป็นวัตถุดิบในการผลิตเอทานอล ทางสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย จะพิจารณา และนำเสนอคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายกำหนดเป็นนโยบายเพื่อเพิ่มปริมาณการอนุญาตให้จำหน่ายน้ำตาลทรายดิบภายในราชอาณาจักรได้อีกตามความเหมาะสมต่อไป

จาก  http://www.banmuang.co.th   วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ... เชื่อมโยงโอกาสอีอีซีสู่การค้าโลก

โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ที่รัฐบาลหวังจะใช้ขับเคลื่อนให้เกิดการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว ผ่านการทุ่มงบประมาณลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และหวังจะมีการเข้ามาลงทุนของต่างชาติใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ในการสร้างรายได้ให้กับประเทศ ถือเป็นส่วนหนึ่งที่รัฐบาลหวังจะใช้เป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยงกับ "หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง" หรือ The Belt and Road Initiative (BRI) ยุทธศาสตร์ระดับชาติของจีน ที่จะช่วยผลักดันให้การพัฒนาอีอีซีเกิดขึ้นได้

ช่วยยกระดับอุตฯเป้าหมาย

ทั้งนี้ มีรายงานของ นางอักษรศรี พานิชสาส์น อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยยุทธ์ศาสตร์ไทย-จีน สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ได้จัดทำบทวิเคราะห์ "โครงการอีอีซีของไทยจะเชื่อมโยงกับข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง BRI ของจีน ได้ดั่งฝันหรือไม่?"

อักษรศรี พานิชสาส์น อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยยุทธ์ศาสตร์ไทย-จีน สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ

โดยรายงานชี้ให้เห็นว่า โอกาสจาก BRI ในการเชื่อมโยงกับโครงการอีอีซีดังกล่าว จะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สอดคล้องและเสริมกันและกัน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยุคใหม่ ภายใต้นโยบาย Made in China 2025 ของจีน และอุตสาหกรรมใหม่ New S-Curve ของไทย ที่สอดคล้องและคล้ายคลึงกัน เช่น อุตสาหกรรมการบิน อุตสาหกรรมผลิตหุ่นยนต์ และอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ซึ่งมีศักยภาพในการเชื่อมโยงขยายเครือข่ายห่วงโซ่อุปทานการผลิตระหว่างไทย-จีน และขยายส่งออกไปยังตลาดโลกต่อไป อีกทั้งการใช้ประโยชน์และเรียนรู้เทคโนโลยีนวัตกรรมจากจีน ซึ่งขณะนี้ จีนได้ก้าวขึ้นเป็นประเทศชั้นนำของโลกด้านการคิดค้น AI และพัฒนาเทคโนโลยีดิจิตอล เพื่ออุตสาหกรรมแห่งอนาคต

เชื่อมโยงการค้าโลกด้วยราง

รวมทั้ง การเชื่อมโยงด้านการคมนาคมขนส่งกับแนวเส้นทาง BRI ของจีน ได้ผลักดันการขนส่งระบบรางตามแนวเส้นทางสายไหมไปจนถึงยุโรปได้สำเร็จแล้ว และมีศักยภาพในการเชื่อมโยงกับโครงการอีอีซี โดยเฉพาะการใช้เส้นทางรถไฟเช่ือมโยงจีน-ยุโรป เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการขนส่งสินค้า ส่งออกของไทยไปยังประเทศในยุโรป เช่น ไทยสามารถขนส่งสินค้าทางรถไฟจากแหล่งผลิตในมาบตาพุดภายใต้โครงการอีอีซี ผ่านไปทางชายแดน จ.หนองคาย เพื่อเชื่อมต่อกับรถไฟใน สปป.ลาว ที่กำลังก่อสร้าง แล้วข้ามพรมแดนจีนไปใช้รถไฟในมณฑลยูนนาน ซึ่งอยู่ระหว่างก่อสร้าง และต่อไปยังมณฑลเสฉวน เพื่อขนส่งรถไฟออกชายแดนจีนที่ซินเจียง แล้วข้ามพรมแดนไปยังคาซัคสถาน รัสเซีย เบลารุส โปแลนด์ และกระจายต่อไปยังประเทศต่าง ๆ ในยุโรป โดยใช้เวลาประมาณ 15-20 วัน แล้วแต่จุดหมายปลายทาง ซึ่งช่วยประหยัดเวลากว่าการขนส่งทางทะเล

ดังนั้น ไทยสามารถใช้ประโยชน์จากเส้นทางรถไฟเชื่อมโยงจีน-ยุโรป เพื่อเป็นอีกทางเลือกสำคัญในการขนส่งสินค้าไทย-จีนด้วยระบบราง และยังสามารถใช้จีนเป็นทางผ่านเพื่อส่งออกสินค้าไทยไปยังประเทศคู่ค้าในยุโรปได้อีกด้วย โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่ไทยจะผลิตในโครงการอีอีซี

พัฒนาอีอีซีต้องต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.อักษรศรี สะท้อนให้เห็นว่า แม้ BRI ของจีน จะเป็นโอกาสสำหรับอีอีซีก็ตาม แต่รัฐบาลจะต้องมีความชัดเจนของการพัฒนาอีอีซี และได้รับการผลักดันอย่างต่อเนื่อง โดยมีกฎหมายรองรับ รวมทั้งมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะและความเชี่ยวชาญของบุคลากรไทยอย่างจริงจัง เพื่อรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย และควรให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ที่อาจจะถูกกระทบจากการพัฒนาอีอีซี ขณะที่ ในการส่งเสริมและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ควรเน้นนักลงทุนต่างชาติที่มีคุณภาพ ไม่เน้นปริมาณ โดยมีเป้าหมายให้ความสำคัญกับบริษัทข้ามชาติที่ก้าวหน้าในยุค 4.0 และมีเทคโนโลยีเพื่ออนาคต ตลอดจนการตั้งเงื่อนไขให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบุคลากรไทย และสร้างความเชื่อมโยงระหว่างสถาบันวิจัยและสถาบันการศึกษาของไทย ไปทำงานร่วมกับบริษัทต่างชาติที่มาลงทุน เพื่อให้สามารถนำเทคโนโลยีของบริษัทชั้นนำเหล่านั้นไปพัฒนาต่อยอด และพัฒนาทักษะของบุคลากรของไทยให้สอดคล้องต่อไปด้วย

รวมถึงรัฐบาลควรจะเน้นรักษาผลประโยชน์ของท้องถิ่นและกระจายผลประโยชน์ให้ทั่วถึง และการให้ความสำคัญกับการเฝ้าระวังไม่ให้เกิดผลกระทบทางลบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมที่สำคัญจะต้องนำรายได้จากการลงทุนของต่างชาติจากอีอีซี ไปกระจายความเจริญให้กับภูมิภาคอื่นของไทยด้วย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำต่อไป อีกทั้งการเร่งรัดดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานตามแผน เพื่อรองรับการลงทุนอย่างเป็นรูปธรรม สำหรับแหล่งเงินลงทุนเพื่อการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน อาจจะมีทั้งแบบรัฐลงทุนเองและแบบร่วมลงทุนจากเอกชน PPP เพื่อให้ได้ประโยชน์ร่วมกัน

จาก  www.thansettakij.com  วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ค่าบาท 'แข็งค่า' หลังเงินเฟ้อสหรัฐไม่เร่ง

 บาทเปิดตลาดเช้านี้แข็งค่า31.94บาทต่อดอลลาร์ ตลาดคาดเงินเฟ้อสหรัฐไม่เร่ง เฟดขึ้นดอกเบี้ยค่อยเป็นค่อยไป แนะนักลงทุนเตรียมรับมือบาทความผันผวนในระยะนี้

นักบริหารเงินธนาคารทหารไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 31.94 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจาก 32.06 บาทต่อดอลลาร์ ณ สิ้นวันทำการที่ผ่านมา ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลอื่น โดยดัชนีดอลลาร์ปปรับตัวลดลงสู่ระดับ 92.5 จุด หลังตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ (CPI) เพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดยอัตราเงินเฟ้อในเดือนเมษายน เพิ่มขึ้นเพียง 0.2% จากเดือนก่อนหน้า น้อยกว่าที่ตลาดมองไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 0.3% ทำให้ตลาดเริ่มมองว่าอัตราเงินเฟ้ออาจจะยังไม่เพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง และเฟดมีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปต่อ

สำหรับวันนี้ ตลาดจะจับตาตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ โดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน ซึ่งตัวเลขดังกล่าวมีโอกาสปรับตัวลดลง หลังตัวเลขภาคการบริการ และการใช้จ่ายส่วนตัวของสหรัฐฯ ในระยะหลังนี้เริ่มมีการชะลอตัวลง นอกจากนี้ในวันเดียวกัน ตลาดจะจับตา ถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางยุโรป ว่าจะมีการส่งสัญญาณถึงแนวโน้มการปรับเปลี่ยนโครงการซื้อสินทรัพย์หรือไม่ และประธานธนาคารกลางยุโรปมีความเห็นอย่างไรกับตัวเลขเศรษฐกิจยุโรปที่ออกมาแย่กว่าคาดในระยะหลังนี้ ความเห็นดังกล่าวต่อนโยบายการเงินและแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรปสามารถกระทบค่าเงินยูโรได้ มองเงินบาทมีแนวโน้มที่จะแกว่งตัวในช่วงกรอบ 31.90-32.10 บาทต่อดอลลาร์

นักลงทุนและผู้ประกอบควรเตรียมรับมือกับความผันผวนของค่าเงินบาทในระยะนี้ หลังจากช่วง1-2สัปดาห์ที่ผ่านมา ค่าเงินบาทเริ่มแกว่งตัวในกรอบที่กว้างขึ้นในแต่ละวัน เช่น จากเดิมค่าเงินบาทจะแกว่งตัว ไม่เกิน 10สตางค์ต่อวัน ก็เริ่มขยับมาแกว่งตัวประมาณ 20 สตางค์ต่อวัน ซึ่งปริมาณธุรกรรมที่เบาบาง(low liquidity)ในบางจังหวะ และธุรกรรมตลาด Offshore ที่มีขนาดใหญ่ก็ปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดความผันผวนดังกล่าว

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 11 พฤษภาคม 2561

แจกพันธุ์อ้อย...เพื่อใคร

มาอีกแล้วโครงการส่งเสริมให้ปลูกโน่นนั่นนี่ แบบไม่ดูตาม้าตาเรือ....ไหนล่ะที่คุย การตลาดนำการผลิต

การลงมือปฏิบัติยังคงเส้นคงวาเหมือนเดิม รู้ทั้งรู้อนาคตชาวไร่อ้อยกำลังตกที่นั่งรถขบวนเดียวกับชาวสวนยาง ปาล์มน้ำมัน ราคามีแต่ลง

เพราะบราซิลประกาศจะฟ้องร้องไทยต่อองค์การการค้าโลก (WTO) เรื่องเราละเมิดกฎกติกาการค้าเสรี แอบอุดหนุนแทรกแซงราคาน้ำตาลทราย จนในที่สุดต้องยอมให้ราคาน้ำตาลทรายลอยตัวตามตลาดโลก

ไม่ใช่ปล่อยให้คนในประเทศกินของแพง แต่เวลาส่งออกกลับเอาไปขายในราคาถูก ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการค้าระหว่างประเทศ...วันนี้เงินอุดหนุนที่ได้จากให้คนที่ได้จากให้คนไทยได้กินของแพง เพื่อไปหนุนส่งโรงงานและเกษตรกรชาวไร่ ทำไม่ได้อีกแล้ว

ปีนี้โรงงานหีบอ้อยเลยเปิดล่าช้า ส่วนหนึ่งเพราะรอราคาตลาดโลก ที่แต่ก่อนช้าสุดได้เงินค่าตัดอ้อยส่งโรงงานตั้งแต่ต้นปี มาปีนี้นั่งนับวันรอ นอกจากได้เงินช้าราคายังตกจากเคยได้ตันละ 1,200-1,300 บาท เหลือแค่ 890 บาท...ไม่ใช่จะได้เหมือนที่ ครม.ประกาศให้ตันละ 1,033.36 บาทเท่ากันทั่วประเทศดอก ใครจะได้ครบตาม ครม. ต้องรอโรงงานตรวจค่าความหวาน แล้วโรงงานจ่ายให้ตามหลัง ที่เรียกกันว่า เงินเกี๊ยว เอาเข้าจริงได้เพิ่มมาไม่กี่บาท และกว่าเงินจะตกถึงมือชาวไร่อ้อย ใช้เวลาหลายเดือน เพราะเขาแบ่งจ่าย 2 งวด

ทั้งที่ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นมาหลายเพลา และเรื่องบราซิลร้อง WTO มีมาตั้งแต่กลางปี 2559 แต่เหตุไฉน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถึงไม่รู้สึกรู้สา ไม่รับรู้การเปลี่ยนแปลง ไม่เข้ายุคสมัย 4.0 เอาซะเลย

ยังคงเดินหน้าผลิตไล่แจกพันธุ์อ้อยให้เกษตรกรใน 5 จังหวัด มหาสารคาม ยโสธร นครราชสีมา พิษณุโลก และอุตรดิตถ์กันอยู่อีก เห็นโครงการแล้ว เป็นมึนตึ้บคิดกันมาได้ยังไง เลยให้สงสัยทำไปเพื่ออะไร...เพราะรู้ๆกันอยู่ สุดท้ายใครจะได้ ใครจะเสีย ในเงินงบประมาณก้อนนี้.

จาก http://www.thairath.co.th   วันที่ 10 พฤษภาคม 2561

กระทรวงเกษตรเตรียมต้อน “ล้ง” เข้าสู่ระบบเกษตรพันธสัญญา

 กระทรวงเกษตรฯปลื้มผู้ประกอบธุรกิจเกษตรตบเท้าจดแจ้งสู่ระบบเกษตรพันธสัญญายอดพุ่ง 159 ราย    มั่นใจอานิสงส์กฎหมายเกษตรพันธสัญญาหนุนอุตสาหกรรมเกษตรไทยก้าวกระโดด  พร้อมเตรียมประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจในรอบ 1 ปี และเร่งประชาสัมพันธ์กฎหมายต้อน “ล้ง” เข้าสู่ระบบ  ป้องกันกระทบต่อเศรษฐกิจการส่งออกสินค้าเกษตรไทยอนาคต

 นายพีรพันธ์    คอทอง    รองโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์   กล่าวว่า     ภายหลังกระทรวงเกษตรฯได้บังคับใช้พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. ๒๕๖๐ระยะเวลา 7 เดือนนับจากวันที่ 23 กันยายน 2560 ที่ผ่านมาปรากฏว่ามีผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรจดแจ้งเข้าสู่ระบบเกษตรพันธสัญญาเพิ่มขึ้นเป็น 159 รายจากเดิม 90 ราย   ครอบคลุมธุรกิจด้านทางการเกษตรทุกประเภท   แบ่งเป็นด้านพืชจำนวน 103 ราย  ด้านปศุสัตว์จำนวน 34 ราย   ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจำนวน 11 ราย ด้านพืชและปศุสัตว์จำนวน 2 ราย  นอกนั้นอีกจำนวน 9 รายอยู่ในขั้นดำเนินจัดทำเอกสารจดแจ้งสู่ระบบ ซึ่งแต่ละรายส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการที่มีชื่อเสียงและความมั่นคงในการประกอบธุรกิจด้านการเกษตรมาอย่างยาวนาน  เช่น  กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล   กลุ่มธุรกิจเมล็ดพันธุ์พืช กลุ่มธุรกิจเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ  กลุ่มธุรกิจปศุสัตว์ เช่น  ผู้เลี้ยงไก่เนื้อ เป็นต้น จากข้อมูลดังกล่าวเป็นดัชนีชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มความเจริญก้าวหน้าในอุตสาหกรรมเกษตรไทยที่จะสร้างความมั่นคงและยั่งยืนในอนาคต

 นอกจากนี้        ยังได้เร่งประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับกฎหมายเกษตรพันธสัญญาไปยังผู้ประกอบการรวบรวมผลไม้หรือล้ง  เพื่อให้ผู้ประกอบการดังกล่าวได้ทบทวนพิจารณาธุรกิจของตนเองว่าเข้าข่ายการทำสัญญาระบบเกษตรสัญญาหรือไม่ ถ้าหากเข้าข่ายผู้ประกอบการเหล่านั้นจะต้องมาแจ้งการประกอบธุรกิจในระบบเกษตรพันธสัญญากับสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรฯ หรือสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดในทันที  ซึ่งปัจจุบันได้รับร้องเรียนปัญหาของล้งเข้ามา  2 กรณีหลักๆ คือ สัญญาที่ล้งทำกับเกษตรกรมีการเอาเปรียบ   และสองล้งมาทำให้ระบบการผลิตสินค้าเกษตรเสียหาย  ไม่มีการกำหนดสเปกคุณภาพของผลผลิตที่ชัดเจน ทำให้กระบวนการซื้อขายไม่เป็นไปตามกลไกตลาด  กระทบต่อเศรษฐกิจการส่งออกสินค้าเกษตรไทยเป็นอย่างมาก   ดังนั้นจึงอยากผลักดันให้ล้งเข้ามาสู่ระบบเกษตรพันธสัญญา เพื่อจะได้ควบคุมล้งเข้าสู่ขบวนการผลิตที่มีคุณภาพและป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต

นายพีรพันธ์     ด้วยว่า   ปัจจุบันมีการนำระบบเกษตรพันธสัญญามาใช้ในกระบวนการผลิตผลิตผลบริการทางการเกษตรอย่างแพร่หลาย      หากส่งเสริมและพัฒนาตามหลักสากลจะช่วยสร้างความไว้วางใจความร่วมมือในระยะยาว    โดยในส่วนของเกษตรกรจะมีความมั่นคงทางรายได้ ได้รับการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีการผลิตที่ได้มาตรฐาน มีการควบคุมต้นทุนในการผลิตผลิตผลหรือบริการทางการเกษตร  ที่สำคัญคือมีการป้องกันความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก

 ในขณะที่ผู้ประกอบการก็จะได้รับผลิตผลที่มีคุณภาพมาตรฐานตามระยะเวลาที่กำหนด แตกต่างจากในอดีตซึ่งสัญญามีลักษณะผสมผสาน มีความซับซ้อนและยุ่งยาก เกษตรกรรายย่อยมีอำนาจต่อรองน้อยกว่าและมีความเสี่ยงในการปฏิบัติเงื่อนไข  ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ เชื่อมั่นว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้จะเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาหลักเกณฑ์ในการทำสัญญาเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายและจะเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันให้อุตสาหกรรมเกษตรไทยมีความมั่นคง ยั่งยืน ตลอดจนยกระดับขบวนการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพและมาตรฐานตามที่ตลาดภายในและต่างประเทศต้องการ

 ทั้งนี้  ในรอบ 7 เดือนที่กฎหมายได้ประกาศใช้   กระทรวงเกษตรฯได้ใช้อำนาจกฎหมายในการเข้าไปไกล่เกลี่ยปัญหาระหว่างเกษตรกรและผู้ประกอบการประสบความสำเร็จในหลายกรณี  พร้อมทั้งจะเข้มงวดในการเข้าไปตรวจสอบการทำสัญญาใหม่ระหว่างเกษตรกรและผู้ประกอบการอย่างใกล้ชิด  รวมทั้งได้ทำจดหมายเวียนไปยังผู้ประกอบการทั่วประเทศที่มีความสนใจในการทำธุรกิจในระบบเกษตรพันธสัญญาให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของกฎหมายเกษตรพันธสัญญาอย่างเข้มงวด เช่น ต้องจัดทำเอกสารสำหรับการชี้ชวนก่อนการทำสัญญา หากไม่ปฏิบัติตามกฎหมายกำหนดบทลงโทษปรับไม่เกิน3แสนบาทหรือแล้วแต่กรณี หากผู้ประกอบการมีพฤติกรรมเอาเปรียบเกษตรกรอย่างไม่เป็นธรรมและคดีถึงที่สุดแล้ว ให้ทางราชการประกาศรายละเอียดของการฝ่าฝืนหรือพฤติกรรมของผู้ประกอบการดังกล่าวต่อสาธารณชนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบและไม่ได้รับความเป็นธรรมระหว่างคู่สัญญาในอนาคต

“ ขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ ยังอยู่ระหว่างประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการทำธุรกิจเกษตรพันธสัญญาคาดว่าหลังประกาศใช้กฎหมาย 1ปีจะได้ตัวเลขที่ชัดเจนอีกด้วย”  นายพีรพันธ์    กล่าว

จาก www.banmuang.co.th   วันที่ 10 พฤษภาคม 2561

ส.อ.ท.ยันรัฐไม่เคลียร์! ซื้อไฟพลังงานหมุนเวียนไม่อั้นเมื่อไหร่แน่

ส.อ.ท.ยอมรับ ก.พลังงานยังให้คำตอบไม่เคลียร์พร้อมซื้อไฟพลังงานหมุนเวียนไม่อั้นเมื่อใดแน่ และค่าไฟไม่เป็นภาระประชาชนคือเท่าใด ย้ำธุรกิจ 300-400 รายเกิดจากนโยบายรัฐตามแผน AEDP จี้รัฐปีนี้ควรรับซื้อ SPP Semi Firm 268 เมกะวัตต์ และโซลาร์รูฟฯ เสรี

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงการเข้าพบกับนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน เมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2561 เพื่อหารือถึงนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนว่า รมว.พลังงานยืนยันว่าไม่ได้หยุดหรือชะลอการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 5 ปีตามที่เป็นข่าว แต่การรับซื้อจะต้องมีราคาที่ไม่เป็นภาระต่อประชาชน ดังนั้นในเรื่องดังกล่าวทาง ส.อ.ท.โดยเฉพาะกลุ่มพลังงานทดแทนเห็นด้วยอย่างยิ่งแต่ต้องการให้เกิดความชัดเจนในแนวทางการนำไปสู่ภาคปฏิบัติ และราคาที่ไม่เป็นภาระประชาชนนั้นเป็นอัตราใดแน่เพราะราคาที่จำหน่ายให้ประชาชนมีตั้งแต่ 2.5-5 บาทต่อหน่วย ทั้งนี้ก็เพื่อที่ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องจะได้วางแผนดำเนินงานได้ถูกต้อง

“ท่านก็ยืนยันไม่ได้ชะลอซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน แต่ราคาต้องไม่เป็นภาระประชาชน และได้ระบุว่าราคาขายต่ำกว่า หรือเท่ากับ Grid Parity และต้องเป็นประเภท Firm โดยจะรับซื้อไม่จำกัด แต่จะไม่รวมถึงโรงไฟฟ้าจากขยะ ส่วนราคา 2.44 บาทต่อหน่วยนั้นเป็นราคาเฉลี่ยจากการประมูล SPP Hybrid ครั้งล่าสุด ดังนั้นจึงเห็นว่ารัฐควรจะมีราคากลางออกมาให้ชัดเจน และต้องมองว่าพลังงานทดแทนจะเป็นส่วนสร้างความมั่นคง เพราะในอนาคตเทรนด์พลังงานจะเป็นไฟฟ้าเพิ่มขึ้นทั้งรถยนต์ไฟฟ้า(อีซี) รถไฟฟ้า ระบบอีคอมเมิร์ซทุกอย่างล้วนต้องใช้ไฟ และเทรนด์อนาคตก็ยังมองในเรื่องของพลังงานสะอาดอีกด้วย” นายสุพันธุ์กล่าว

นายสุวัฒน์ กมลพนัส ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน ส.อ.ท.กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ผลิตไฟฟ้าในกลุ่มพลังงานทดแทนรวมกับอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องมีอยู่ประมาณ 300-400 ราย มีทั้งรายใหญ่ รายกลาง และเล็ก ซึ่งล้วนเกิดมาจากนโยบายรัฐที่กำหนดการรับซื้อพลังงานทดแทนไว้ในแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ที่กำหนดรับซื้อไฟจากพลังงานทดแทนเมื่อสิ้นสุดแผนปี 2579 ที่ประมาณ 1.9 หมื่นเมกะวัตต์ (รวมน้ำ) ขณะนี้มีการรับซื้อแล้วประมาณ 1 หมื่นเมกะวัตต์ จึงต้องการให้รัฐรับซื้อตามแผน โดยในปีนี้ก็ควรจะพิจารณาซื้อไฟตามกำหนดที่วางไว้ในส่วนของ VSPP Semi-Firm รวม 268 เมกะวัตต์ และโซลาร์รูฟท็อปเสรีที่ประกาศมานานกว่า 1 ปีแล้วแต่จนขณะนี้ก็ยังไม่นำไปสู่ภาคปฏิบัติ

“การผลิตไฟที่จะขายในราคา 2.44 บาทต่อหน่วยนั้นยอมรับว่าแต่ละเชื้อเพลิงและเทคโนโลยีก็ต่างกันออกไปรวมถึงข้อจำกัดในแง่ความเป็นเจ้าของวัตถุดิบ มองขณะนี้มีเพียงโซลาร์ฯ ขนาดตั้งแต่ 50 เมกะวัตต์เท่านั้นที่จะผลิตได้ในต้นทุนดังกล่าวมากสุด” นายสุวัฒน์กล่าว

ส่วนกรณีที่รัฐมองว่าการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในช่วงที่ผ่านมารัฐได้มีการอุดหนุนคิดเป็นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) ประมาณ 18-21 สตางค์ต่อหน่วยในขณะนี้ที่เป็นภาระประชาชนจ่ายเพิ่ม ก็ต้องเข้าใจว่าต่างประเทศก็เริ่มต้นเช่นไทยที่ระยะแรกต้องอุดหนุนจากนั้นราคาก็เริ่มต่ำลงเช่นเดียวกับของไทยที่เดิมมีการอุดหนุนรูปแบบ ADDER ก็ปรับมาเป็น FiT และล่าสุดก็ใช้วิธีประมูลแข่งขันราคาก็ต่ำลงมาต่อเนื่อง

จาก https://mgronline.com  วันที่ 10 พฤษภาคม 2561

"กฤษฎา"สั่งช่วยด่วน"เกษตรกร"ล้มละลาย

          "กฤษฏา"สั่งกฟก.เร่งประสานเจ้าหนี้ 3 กลุ่ม ช่วยเกษตรกรกรณีหนี้เร่งด่วน 7.9 พันราย ทั้งถูกฟ้องล้มละลาย ขายทอดตลาดเตรียมปรับโครงสร้างให้เกษตรกรกองทุนฟื้นฟู พร้อมสำรวจหนี้รอบใหม่ขยายเวลาถึง 30 มิ.ย.”

           นายสไกร พิมพ์บึง รองเลขาธิการ รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร(กฟก.) เปิดเผยว่านายกฤษฏา บุญราช รมว.เกษตรฯให้ กฟก.เร่งประสานกับเจ้าหนี้ 3 กลุ่ม คือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กรมส่งเสริมสหกรณ์ และธนาคารหรือนิติบุคคลอื่น เพื่อให้มีการแก้ไขปัญหาหนี้โดยการปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันเจ้าหนี้

          จากนั้นให้สถาบันเจ้าหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ องค์กรเกษตรกร และเกษตรกรสมาชิกที่เป็นหนี้ จัดทำแผนฟื้นฟูแบบบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนร่วมกัน ภายหลังครม.มีมติขยายเวลาแก้ไขหนี้ ช่วยเหลือเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ 180 วัน  โดยเฉพาะกรณีหนี้เร่งด่วนทั้งหมดในชั้นดำเนินคดีขึ้นไป เช่น หนี้ล้มละลาย ขายทอดตลาด ถูกบังคับคดี มีคำพิพากษาหรือชั้นฟ้องคดี  จำนวน 7,930 ราย

             รวมทั้งผลการสำรวจหนี้รอบ 2  มีเกษตรกรกลุ่มเป้าหมายมารายงานตัวประมาณ 17 % จำนวน 40,179 ราย 74,331 สัญญาเมื่อรวมเกษตรกรที่มายืนยันตนรอบ 1 และรอบ 2 เป็นจำนวน 330,836 ราย 599,051 สัญญา นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้เกษตรกรมารายงานตัวได้อีกไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2561

           สำหรับข้อมูลหนี้เกษตรกร สำรวจในรอบที่ 1 จำนวน 290,657 ราย เป็นเกษตรกรที่ประสงค์ให้กองทุนฟื้นฟูฯจัดการหนี้ จำนวน 164,360 ราย มูลหนี้ 28,690 ล้านบาท และไม่ประสงค์ให้กองทุนฟื้นฟูฯ จัดการหนี้ 126,297 ราย มูลหนี้ 15,912 ล้านบาท ซึ่งมีการตรวจสอบรายละเอียดแล้วจำนวน 85,864 ราย 186,731 สัญญา อยู่ในหลักเกณฑ์ที่ กฟก.สามารถจัดการหนี้ได้จำนวน 10,679 ราย

             เป็นหนี้ที่มีวัตถุประสงค์การกู้เพื่อการเกษตรมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และเป็นหนี้ไม่เกิน 2.5 ล้านบาทอยู่ในหลักเกณฑ์ตามระเบียบคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรโดยกองทุนฟื้นฟูฯ ได้จัดการหนี้ไปแล้วจำนวน 1,670 ราย มูลหนี้ 481,796,661.35 ล้านบาท

             อีกส่วนหนึ่งรอการจัดการหนี้จำนวน 9,009 ราย มูลหนี้2,527,902,099.59 บาท ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจา นอกจากนี้ยังมีหนี้บุคคลค้ำประกันและวัตถุประสงค์การกู้ไม่ใช่เพื่อการเกษตรจำนวน 75,185 ราย มูลหนี้ 17,337 ล้านบาท ทั้งนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ได้ดำเนินการจัดการหนี้ร่วมกับสถาบันเจ้าหนี้ โดยเสนอให้เจ้าหนี้ปรับโครงสร้างหนี้

            ในการสำรวจหนี้ระยะที่ 2 ส่วนที่เหลือที่ยังไม่มารายงานตัว จำนวน 238,123 ราย มูลหนี้ 33,751 ล้านบาท สำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ จะดำเนินการภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2561 โดยการสำรวจและการตรวจสอบข้อมูลหนี้ของเกษตรกร เป็นการนำเข้าข้อมูลจากสถาบันเจ้าหนี้ เข้าสู่ระบบและตรวจสอบจากสถาบันเจ้าหนี้ ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.),สหกรณ์การเกษตร,ธนาคารพาณิชย์ และนิติบุคคลอื่นตามกฎหมาย

            จากนั้นให้เกษตรกรสมาชิกมายืนยันในแบบสำรวจและตรวจสอบโดยมีผู้แทน กฟก.แต่ละจังหวัด ผู้แทนจากสถาบันเจ้าหนี้ และผู้แทนฝ่ายความมั่นคง (ทหาร) และเกษตรกรรับรอง และนำข้อมูลเข้าสู่ระบบ และส่งให้สำนักงานตรวจสอบบัญชีสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์แต่ละจังหวัดรับรองความถูกต้อง เพื่อนำเสนอคณะอนุกรรมการระดับอำเภอและระดับจังหวัดเห็นชอบ

           จากนั้นจะนำผลการสำรวจรายชื่อ พร้อมมูลหนี้เสนอคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจพิจารณาให้ความเห็นชอบ กรณีหนี้ที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขการชำระหนี้ จะเสนอให้กองทุนฟื้นฟูฯ ชำระหนี้ตามกฎหมาย

           ส่วนกรณีหนี้บุคคลค้ำประกัน หนี้ที่อุทธรณ์วัตถุประสงค์การกู้ไม่ใช่เพื่อการเกษตรสามารถใช้การปรับโครงสร้างหนี้ได้ หรือหากการเจรจาไม่ได้ข้อยุติจะนำเสนอคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจ หรือรายงานคณะรัฐมนตรี หรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำสู่การแก้ไขปัญหาต่อไป

จาก www.komchadluek.net   วันที่ 10 พฤษภาคม 2561

เตือน ! "เกษตรกร"อย่าหลงเชื่อ "ยูเอ็น-ธนาคารโลก"ปล่อยกู้

“กฤษฏา"ยืนยันยูเอ็น-ธนาคารโลกไม่เคยตั้งงบมาปล่อยกู้เป็นรายบุคคลให้เกษตรกรหรือบริษัทเอกชนรายใด ออกโรงเตือนเกษตรกรอย่าหลงเชื่อตกเป็นเหยื่อสั่งเจ้าหน้าที่เดินหน้าตรวจสอบเอาผิดขบวนการที่เกี่ยวข้องเผยพบว่ามีมากกว่า 153 บริษัท ในเครือบริษัท พันปี กรุ๊ป ไทย ลาว กัมพูชา จำกัด ชวนเชื่อเกษตรกรทำเกษตรพันธสัญญา”

          นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยกรณีเกษตรกรร้องเรียนผ่านศูนย์ดำรงธรรม ได้รับความเสียหายจากที่มีบริษัทอ้างว่าได้เงินทุนจากสหประชาชาติ(ยูเอ็น)และธนาคารโลก จำนวนมากมาปล่อยให้เกษตรกรยากจนกู้รายละ 1-15 ล้านบาทแต่ขณะนี้ยังไม่มีใครได้รับเงินกู้

           ทั้งนี้เกษตรกรกังวลเรื่องเอกสารหลักฐานสำเนาบัตรปะชาชน ทะเบียนบ้าน บัญชีธนาคาร ได้ส่งไปให้บริษัทดังกล่าวแล้วเกรงว่าจะนำเอกสารไปดำเนินการ ด้านการเมือง หรือธุรกรรมอื่น ๆ รวมทั้งบริษัทนี้มีสมาชิกกว่า 6 หมื่นราย นั้น ยืนยันว่าที่ผ่านมาสหประชาชาติ หรือยูเอ็น ไม่เคยมีการตั้งงบมาปล่อยกู้เป็นรายบุคคลให้เกษตรกร หรือบริษัทเอกชนรายใด

            หากจะมีการช่วยเหลือใด ๆ เกิดขึ้นจะต้องผ่านมาทางรัฐบาลเท่านั้น ดังนั้นอย่าหลงเชื่อตกเป็นเหยื่อ ซึ่งผู้ที่ได้รับความเสียหายแล้วให้เข้าร้องเรียนได้ที่ศูนย์ดำรงธรรมประจำจังหวัด นอกจากนี้ยังสั่งเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรฯทุกจังหวัด เดินหน้าตรวจสอบสอบถามเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อเอาผิดขบวนการที่เกี่ยวข้องทันที

           นายพีรพันธ์ คอทอง ผู้ช่วยปลัดกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า ได้รับแจ้งจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน จ.สุรินทร์ และกองบัญชาการตำรวจสันติบาล ว่าเครือข่ายบริษัทนี้ มีนายพิชย์พิพรรธ ศรีตระกูลรักษ์ หรือ พันปี หรือปีเตอร์ และทีมงาน ได้เคยถูกออกหมายจับในคดีฉ้อโกงหลายพื้นที่

           รวมทั้งสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา(สลท.)ได้เคยรับเรื่องร้องเรียนจากประธานกรรมการบริหารบริษัท ไซนี่ อินเตอร์คอร์ปอเรชั่น จำกัดและที่ปรึกษาสหกรณ์การเกษตร วัน วัน วัน จำกัด ขอให้แจ้งเตือนและตรวจสอบกรณีบริษัทพันปี กรุ๊ป ผิดข้อตกลงสัญญาซื้อขายข้าว วงเงินเสียหายกว่า 23 ล้านบาทพร้อมกับแจ้งความดำเนินคดีฉ้อโกง

             ทั้งนี้บริษัทดังกล่าวมีเครือข่ายกว่า 153 แห่ง กระจายในภาคอีสาน 5 จังหวัดที่ได้รับการร้องเรียนจากเกษตรกร ที่บริษัทชักชวนเกษตรกรเข้าเป็นสมาชิกทำเกษตรพันธสัญญา โดยบริษัทอ้างว่าจะให้เงินไปส่งเสริมการลงทุนปลูกพืช เลี้ยงโคเนื้อ ซึ่งเกษตรและสหกรณ์จังหวัด ได้รายงานมาเบื้องต้นพบเกษตรกรได้รับความเสียหาย เช่นจ.สุรินทร์ บุรีรัมย์ บึงกาฬ อุบลราชธานี และสกลนคร

            โดยจะไปรวบรวมเอกสารหลักพิสูจน์ทราบก่อน เช่นเรื่องการชักชวนให้เกษตรกรไปอบรม จ่ายค่าอบรมรายละ 200 บาท และให้ไปชักชวนกันมาให้ครบ 4 พันราย  ชักชวนปลูกอินทผาลัม จ.บึงกาฬ  โดยก่อนหน้านี้บริษัทได้มาจดแจ้งทำธุรกิจเกษตรพันธสัญญา กับสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา(สลพ.)ของกระทรวงเกษตรฯเมื่อวันที่ 2 เม.ย.61 ได้แจ้งในชื่อบริษัทพันปีกรุ๊ป ไทย ลาว กัมพูชา จำกัด

           แต่ขณะนี้ยังไม่ปรากฎข้อมูลว่าบริษัทนี้ได้ทำสัญญาในระบบเกษตรพันธสัญญา เนื่องจากยังไม่จัดส่งสำเนาเอกสารสำหรับการชี้ชวนให้ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจต้องจัดส่งภายใน 30 วัน ตามประกาศกระทรวงเกษตรฯเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการในการจัดส่งและเก็บรักษาเอกสารสำหรับการชี้ชวนเกษตรกรในระบบเกษตรพันธสัญญา หากไม่ดำเนินการต้องถูกปรับ 3 แสนบาทและเพิกถอนการจดแจ้ง

           รวมทั้งดำเนินการตามกฎหมายอาญา หากบริษัทมีเจตนาหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จทำให้เกษตรกรเข้าทำสัญญากับบริษัท ทำเอกสารสิทธิ ถือว่าการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ตามกฎหมายอาญามาตรา 341 และเมื่อการกระทำได้ทำต่อประชาชน จึงมีความผิดฐานฉ้อโกง ในมาตรา 343 ซึ่งเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน

           นอกจากนี้การกระทำของบริษัทพันปี กรุ๊ป ตามที่ปรากฏสื่อออนไลน์ต่าง ๆ เป็นการกระทำที่มีลักษณะโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชน มาตรา 14 ของพรบ.คอมพิวเตอร์ ทั้งนี้มาตรการต่อไปได้ให้เจ้าหน้าที่เกษตรทุกจังหวัด เร่งลงพื้นที่ตรวจสอบเรื่องนี้รวบรวมหลักฐานจากเกษตรกร หากพบความผิดให้ส่งฟ้องดำเนินคดีในแต่ละพื้นที่ด้วยเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรอย่างใกล้ชิด

             ผู้สื่อข่าวรายงานว่ากระทรวงเกษตรฯยังได้รับรายงานด้วยว่ายังมีโครงการรากหญ้า ที่บริษัทอ้างว่าได้รับเงินจากยูเอ็น มาปล่อยกู้ให้คนยากจนในไทยรายละ 4-5 แสนบาทโดยมีแม่ข่ายลงไปชักชวนประชาชนแบบเคาะประตูบ้าน เช่น จ.เชียงใหม่ เชียงราย  ทั้งนี้ล่าสุดผู้บริหารบริษัทเครือข่ายพันปี ได้ส่งคลิปปลุกระดมสมาชิกกว่า 60,000 คน ให้เชื่อมั่นในบริษัท อย่าหวั่นไหวต่อกระแสข่าว และประกาศจะฟ้องทางการไทยต่อศาลโลก

จาก www.komchadluek.net   วันที่ 10 พฤษภาคม 2561

"สมคิด" มองบาทอ่อนส่งผลบวกการส่งออก-สินค้าเกษตร แต่ยังคงเป้าส่งออกที่ 8%

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีค่าเงินบาทอ่อนว่าการอ่อนหรือแข็งค่าของเงินบาทเป็นไปตามทิศทางการไหลเข้าออกของเงินทุน ซึ่งเงินบาทจะอ่อนหรือแข็งก็เป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ต้องดูแลให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

ทั้งนี้ ค่าเงินบาทที่อ่อนลงก็เป็นผลดีต่อภาคการส่งออก และสินค้าเกษตรเมื่อขายไปยังต่างประเทศเมื่อแปลงกลับมาเป็นเงินบาทก็จะได้มูลค่าเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามในขณะนี้ยังไม่ได้ปรับเป้าการส่งออกเพิ่มขึ้นจากเป้าเดิมที่กระทรวงพาณิชย์วางไว้ที่ 8%

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 10 พฤษภาคม 2561

'กฤษฎา' เร่งผลักดันเกษตรกรไทยเข้าสู่ยุค 4.0 เปิดตลาดกลางเกษตรดิจิทัล

"กฤษฎา" หนุนตลาดเกษตรดิจิตอล เริ่มนำร่องซื้อขายผ่าน www.DGTFarm.com หวังเพิ่มช่องทางตลาดสินค้าเกษตรคุณภาพ เชื่อมโยงผู้ผลิต-ผู้ซื้อโดยตรง

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการหารือแนวทางการขับเคลื่อนตลาดเกษตรดิจิตอล ว่า ตามที่รัฐบาลได้กำหนดนโยบายส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งนำไปสู่แผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมที่มุ่งหวังให้เกิดการนำเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัยและหลากหลายมาเปลี่ยนแปลงวิธีการดำเนินธุรกิจ การดำเนินชีวิตของประชาชน และการดำเนินการของภาครัฐ โดยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงเกษตรฯ ได้มอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ริเริ่มโครงการที่เกี่ยวข้อง

โดยโครงการที่ได้เริ่มดำเนินการและมีความก้าวหน้า คือ การพัฒนาระบบตลาด Business Matching Digital Farm (DGTFarm) เป็นโครงการนำร่องและสร้างความคุ้นเคยในการเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลของเกษตรกรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อการค้าสินค้าเกษตรและอาหาร ที่มีรูปแบบของเว็บไซต์ www.DGTFarm.com ซึ่งเป็นศูนย์กลางในการจับคู่เกษตรกรผู้ผลิตและผู้ซื้อ โดยทั้งผู้ผลิตและผู้ซื้อจะต้องลงทะเบียนโดยใช้เลขบัตรประชาชน 13 หลักในการแสดงตัวตน ข้อมูลต่าง ๆ และเพื่อความสะดวกในการตรวจสอบย้อนกลับได้ ซึ่งฐานข้อมูลดังกล่าวจะเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลประชากรของกระทรวงมหาดไทย จะช่วยสร้างความมั่นใจในการซื้อขายสินค้าเกษตรออนไลน์ โดยสินค้าที่เริ่มจำหน่ายในเว็บไซต์แล้ว ได้แก่ ข้าว พืช ผลไม้ เป็นต้น และจะมีสินค้าปศุสัตว์เพิ่มเติมในอนาคตด้วย

“ขณะนี้ กระทรวงเกษตรฯ เตรียมความพร้อมของระบบ และสร้างการรับรู้ให้แก่เจ้าหน้าที่ในสังกัดทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคให้มีความรู้ความเข้าใจในระบบอย่างถูกต้อง ทั้งนี้จะดำเนินการระบบให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน วางเป้าหมายมีผู้เข้าใช้งาน 1,000,000 คน ภายใน 3 เดือนหลังเปิดตัวอย่างเป็นทางการ และถือเป็นการตอบโจทย์นโยบายรัฐบาล 4.0 และนโยบายกระทรวงเกษตรฯ การตลาดนำการผลิต นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างตลาดการซื้อขายสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ ผู้ขายมีความซื่อสัตย์ มีระบบการซื้อขาย-แลกเปลี่ยนที่ได้มาตรฐาน ไม่แพ้เว็บไซต์ของต่างชาติด้วย” นายกฤษฎา กล่าว

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 10 พฤษภาคม 2561

'พาณิชย์'ชี้ไทยได้ประโยชน์จากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน

"พาณิชย์" เปิดผลศึกษา ชี้ไทยได้ประโยชน์จากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน เหตุสัดส่วนส่งออกไปสหรัฐฯมากกว่าส่งไปจีน

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค.ได้วิเคราะห์ผลกระทบที่มีต่อการค้าไทยจากมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ-จีนในกรณีต่างๆ โดยพบว่าการที่สหรัฐฯ ประกาศใช้มาตรา 301 กับสินค้าจากจีนจำนวน 1,333 รายการ จะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยในภาพรวมอย่างมีนัยสำคัญ แต่ไทยกลับจะได้รับประโยชน์คิดเป็นมูลค่าประมาณ  120-1,195 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

สำหรับสินค้าที่ไทยจะได้รับประโยชน์ ประกอบด้วย เครื่องจักร/เครื่องใช้กล, เครื่องจักรไฟฟ้า/อุปกรณ์ประกอบ ขณะที่สินค้าที่อาจจะได้รับผลกระทบเชิงลบ เช่น เคมีภัณฑ์เบ็ดเตล็ด และเหล็กและเหล็กกล้า โดยผลการศึกษาได้พิจารณาทั้งผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบ 2 กรณีเข้าด้วยกัน คือ 1.ผลทางลบจากการอยู่ในห่วงโซ่การผลิตของสินค้าจีนที่ส่งไปยังสหรัฐฯ และ 2.ผลทางบวกจากการที่สหรัฐฯนำเข้าจากไทยทดแทนจีน

"การศึกษาของ สนค.ชี้ให้เห็นว่าไทยได้ประโยชน์จากสงครามการค้า เนื่องจากสัดส่วนการส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯ มากกว่าที่ส่งไปจีน ส่งผลทางบวกจากการที่สหรัฐฯ อาจนำเข้าจากไทยทดแทนจีนมีมากกว่าผลทางลบจากการอยู่ในห่วงโซ่การผลิตของจีน" น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว

ทั้งนี้ สนค.ได้ประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานเศรษฐกิจ ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงแรงงาน กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม กรณีที่จีนมีการระบายสินค้าส่งออกของจีนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของสหรัฐฯ ไปยังตลาดอื่นถือเป็นความเสี่ยงต่อไทยใน 2 ด้าน คือ 1.สินค้าของจีนบางส่วนจะไหลเข้าสู่ไทยมากขึ้น โดยเบื้องต้นคาดว่ามีมูลค่ารวม 1,176 ล้านเหรียญฯ และอาจจะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตภายในประเทศได้ และ 2.สินค้าบางส่วนของจีนจะกระจายไปยังคู่ค้าที่สำคัญของไทย และจะทำให้การแข่งขันในตลาดคู่ค้าของไทยมีสูงขึ้น โดยเฉพาะ ญี่ปุ่น ฮ่องกง อินเดีย เป็นต้น คาดว่าไทยจะได้รับผลกระทบ 1,984 ล้านเหรียญฯ  ซึ่งรวม 2 ส่วนมีมูลค่าประมาณ  3,160 ล้านเหรียญฯ ซึ่งในส่วนนี้สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศได้ติดตามและพูดคุยกับภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง เบื้องต้นภาคเอกชนยังไม่ได้รับผลกระทบใดๆ ต่อการส่งออกไปยังสหรัฐฯและจีน

"การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมหารือระหว่างหน่วยงานเศรษฐกิจ เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบดังกล่าว รวมถึงพิจารณาแนวทางการรับมือที่เป็นไปได้จากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างมหาอำนาจทางเศรษฐกิจทั้งสองประเทศได้อย่างทันท่วงที โดยที่ประชุมได้ให้ข้อเสนอแนะว่าไทยสามารถแสวงหาโอกาสทางการค้าโดยการเพิ่มช่องทาง การเจรจาการค้าในระดับทวิภาคีกับทั้งสองประเทศ พร้อมทั้งสร้างบรรยากาศในการลงทุนเพื่อดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งเป็นการพัฒนาความรู้ความสามารถประชากรในประเทศ

...ที่ประชุมเชื่อว่าสงครามการค้าครั้งนี้มีแนวโน้มคลี่คลาย และคาดว่าทั้งสองประเทศจะเจรจาตกลงกันได้ โดยหน่วยงานเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องจะต้องเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดว่าจะมีมาตรการอื่นๆ ที่มีผลกระทบต่อไทยเพิ่มเติมอีกหรือไม่" น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 10 พฤษภาคม 2561

เตรียมตัวได้เลย 10 ปี เลิกใช้แล้วเงินสด

“สมคิด” มั่นใจ GDP ปีนี้โตร้อยละ 4 พร้อมปลุกคนไทยตื่นตัวใช้ดิจิทัล เชื่ออีก 10 ปีข้างหน้าจะเลิกใช้เงินสด เปิดอย่างเป็นทางการ “MONEY EXPO 2018” เหล่าแบงก์ตบเท้าหั่นดบ.ดูดลูกค้า

วันนี้ (10พ.ค.2561) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดงานมหกรรมการเงิน ครั้งที่ 18 หรือ MONEY EXPO 2018 ว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้คาดว่าโตร้อยละ 4 โดยดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มดีขึ้นทุกตัว ทั้งการบริโภค การลงทุน รวมทั้งดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ขณะเดียวกันนานาชาติให้การยอมรับประเทศไทย โดยที่ผ่านมามีผู้นำของหลายชาติเข้าพบปะหารือตลอด เรียกได้ว่าหัวบันไดไม่แห้ง ดังนั้นโอกาสกำลังเป็นของประเทศไทย หากทุกคนรวมพลังจะสามารถเปลี่ยนโอกาสให้เป็นประโยชน์กับประชาชนและประเทศได้

นายสมคิด กล่าวว่า สิ่งที่กังวลมากที่สุด คือ เรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล เนื่องจากที่ผ่านมา 2 ปีรัฐบาลได้เร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เพื่อการก้าวสู่ประเทศไทย 4.0 แต่พบว่าประชาชนยังติดอยู่กับระบบอนาล็อก ดังนั้น หากไม่มีการเปลี่ยนตามจะลำบาก เพราะคาดว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าโลกกำลังจะเลิกใช้เงินสดเข้าสู่สังคมไร้เงินสดอย่างเต็มรูปแบบ ดังนั้น ประชาชนต้องปรับตัวใช้ดิจิทัล โดยเฉพาะการเงินดิจิทัล ซึ่งปัจจุบันสถาบันการเงินไทยใช้เทคโนโลยียุคใหม่เข้ามา เช่น เทคโนโลยีเอไอ บล็อกเชน บริการพร้อมเพย์ และ QR Code ซึ่งการเงินดิจิทัลมีส่วนสำคัญในการผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจที่แท้จริง

นายสันติ วิริยะรังสฤษฎ์ ประธานจัดงานฯ กล่าวว่า มหกรรมการเงินครั้งที่ 18 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-13 พฤษภาคมนี้ ที่อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพคเมืองทองธานี ภายใต้แนวคิด “ Wealth Transformation มิติใหม่แห่งความมั่งคั่ง” ปีนี้สถาบันการเงินแข่งปล่อยกู้สินเชื่อบ้านดอกเบี้ยร้อยละ 0 นาน 1 ปี , สินเชื่อบ้านผู้สูงอายุดอกเบี้ยร้อยละ 0 นาน 2 ปี , เงินฝากอัตราดอกเบี้ยพิเศษร้อยละ 4 ต่อปี , เงินฝากเผื่อเรียกพิเศษสูงอายุ 24 เดือน อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1.875 , เงินฝากเผื่อเรียกพิเศษ สำหรับผู้สูงวัย 105 วัน ดอกเบี้ยสูงสุดร้อยละ 9 ต่อปี ยกเว้นภาษี, บัญชีเงินฝากประจำพิเศษสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ประจำ 6 เดือน ดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี ขั้นต่ำ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับไฮไลท์ที่น่าสนใจภายในงาน สถาบันการเงินแต่ละแห่งจะโชว์นวัตกรรมทางการเงินที่ล้ำสมัยในยุคดิจิทัล เช่น ธนาคารกสิกรไทยนำเสนอ K PLUS Beacon แอพพลิเคชั่นที่ชนะรางวัลระดับโลกสุดยอดนวัตกรรมที่จะเปลี่ยนโลกผู้บกพร่องทางการมองเห็นและผู้สูงอายุให้สามารถทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ผ่านสมาร์ทโฟนได้อย่างมั่นใจ ทั้งนี้งาน MONEY EXPO 17 ปีที่ผ่านมาสร้างยอดธุรกรรมกว่า 1.8 ล้านล้านบาท จากผู้เข้าชมงานกว่า 15 ล้านคน โดยในปีที่ผ่านมามียอดธุรกรรมรวมกว่า 116,300 ล้านบาท

จาก www.siamrath.co.th   วันที่ 10 พฤษภาคม 2561

เกษตรกรใจชื้น! กรมฝนหลวงฯ เร่งเติมน้ำในเขื่อน สำรองจ่ายทำการเกษตร

 กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมวิเคราะห์สถานการณ์น้ำรองรับการใช้น้ำเพื่อการเกษตรในอ่างเก็บน้ำที่ยังคงมีปริมาณ้ำไม่เพียงพอในหลายพื้นที่

วันนี้ (10 พ.ค.61) นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า จากรายงานสภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนหลายพื้นที่ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยบริเวณภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ยังคงมีฝนฟ้าคะนองมากกว่าบริเวณอื่นๆ โดยช่วงวันที่ 9-13 พฤษภาคม 2561 จะมีฝนฟ้าคะนองเพิ่มมากขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง ในขณะที่ปริมาณน้ำใช้การได้ในเขื่อนหลายแห่งมีน้อย ซึ่งจากการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ (WMSC) ครั้งที่ 10/2561 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2561 เพื่อให้การบริหารและจัดสรรน้ำต้นทุนเกิดประโยชน์สูงสุด กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้รับการประสานให้เร่งปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเติมน้ำในเขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนวชิราลงกรณ์ และเขื่อนลำตะคอง ซึ่งยังคงมีปริมาณน้ำต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ เพื่อให้มีปริมาณน้ำต้นทุนเพียงพอสำหรับหล่อเลี้ยงพืชที่กำลังจะให้ผลผลิต และเตรียมพร้อมสำหรับการเริ่มต้นเพาะปลูก ซึ่งขณะนี้หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ได้เร่งทำฝนหลวงเพื่อหล่อเลี้ยงพื้นที่การเกษตรที่ประสบภัยแล้ง พร้อมกับปฏิบัติการเติมน้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดเชียงใหม่ ได้เร่งปฏิบัติการเติมน้ำให้กับพื้นที่ลุ่มรับน้ำของเขื่อนแม่กวงอุดมธารา หน่วยปฏิบัติการฯ จังหวัดกาญจนบุรี เร่งเติมน้ำให้เขื่อนวชิราลงกรณ์ และหน่วยปฏิบัติการฯ จังหวัดนครราชสีมา เร่งเติมน้ำให้เขื่อนลำตะคอง

อย่างไรก็ตาม กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้มีการติดตามสถานการณ์น้ำและวิเคราะห์สภาพอากาศในทุกพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยให้การบริหารจัดการน้ำมีประสิทธิภาพ และไม่ทำให้การปฏิบัติการฝนหลวงส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทางเกษตรที่ไม่ต้องการน้ำ โดยสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ทาง เพจ Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร หรือเว็บไซต์กรมฝนหลวงและการบินเกษตร

จาก www.siamrath.co.th   วันที่ 10 พฤษภาคม 2561

ไทย-อังกฤษเตรียมขยายการค้าการลงทุนระหว่างกัน

เอกชนไทย - อังกฤษ ขยายความร่วมมือเพิ่มมูลค่าการค้าการลงทุนสองประเทศ รมว.พาณิชย์ เผย เตรียม จัดตั้งคณะทำงานร่วมกัน ก่อนเจรจา FTA สองประเทศ

สมาชิกสภาผู้นำธุรกิจไทย-สหราชอาณาจักร ประกอบด้วย ภาคเอกชนไทย 12 องค์กร นำโดย นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานฝ่ายไทย และ ภาคเอกชนสหราชอาณาจักร 11 องค์กร นำโดย นายไบรอัน เดวิดสัน เอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย ร่วมประชุมเพื่อรับฟังความคืบหน้าในการดำเนินงานของคณะทำงานทั้งสามด้านภายใต้สภาผู้นำธุรกิจไทย-สหราชอาณาจักร  ได้แก่ 1) คณะทำงานความร่วมมือด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และโอกาสในการลงทุน   2) คณะทำงานด้านการอำนวยความสะดวกต่อการดำเนินธุรกิจ 3) คณะทำงานด้านโอกาสในการส่งออกและห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้อง โดยร่วมกันพิจารณาแนวทางในอนาคตพร้อมการปรับปรุงกรอบการทำงานของสภาฯอีกทั้งได้ร่วมหารือเพื่อขยายขอบเขตการดำเนินงานเพื่อเตรียมพร้อมเสนอรัฐบาลพิจารณาการทำข้อตกลงการค้าเสรี หลังจากที่สหราชอาณาจักรถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกภาพของสหภาพยุโรปสำเร็จ

นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานฝ่ายไทย เปิดเผยว่า การประชุมครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและผู้นำธุรกิจของทั้งสองประเทศ โดยมีความพยายามที่จะให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และอุปสรรคต่างๆ ที่รัฐบาลทั้งสองประเทศจำเป็นต้องก้าวข้ามเพื่อสนับสนุนการค้าและการลงทุนระหว่างกัน นับแต่การลงนามในแถลงการณ์ร่วมจัดตั้งสภาผู้นำธุรกิจไทย-สหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2559 กลุ่มผู้นำธุรกิจไทย-สหราชอาณาจักรได้ร่วมให้ข้อคิดเห็นผ่านมุมมองของผู้ค้าและนักลงทุนแก่รัฐบาลไทยและสหราชอาณาจักร เพื่อสร้างโอกาสที่เป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจชั้นนำของไทยและสหราชอาณาจักรจะรายงานความก้าวหน้าและประเด็นสำคัญจากการประชุมให้กับรัฐบาลแต่ละประเทศเพื่อพิจารณาปรับปรุงกฎระเบียบ หรือแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ ในการทำธุรกิจระหว่างกัน เพื่อที่จะผลักดันธุรกิจการค้าและการลงทุน

นายเทวินทร์ กล่าวว่า ประเด็นส่วนใหญ่ที่ได้รับการหยิบยกให้การประชุมครั้งก่อนได้รับการแก้ไขและรายงานให้กับหน่วยงานที่รับผิดชอบและรัฐบาลทั้งสองประเทศ เช่น ประเด็นการพัฒนาแรงงานเพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจ และยังมีอีกหลายประเด็นที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ ได้แก่

1. ความร่วมมือทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น Digitization ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) เมืองอัจฉริยะ (Smart City) วัสดุขั้นสูง (Advanced materials) เป็นต้น ซึ่งจะเป็นหัวข้อความร่วมมือที่สามารถใช้ในผลักดันร่วมกับภาคอุตสาหกรรมของสหราชอาณาจักร

2. ความร่วมมือทางธุรกิจเพื่อตอบโจทย์สังคมผู้สูงอายุ ผ่านความสามารถทางกลุ่มธุรกิจไทยที่เกี่ยวข้องกับแรงงานและการบริการ ซึ่งมีศักยภาพในการสร้างโอกาสทางธุรกิจในด้านอาหาร และประกันสุขภาพ รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบสำหรับผู้สูงอายุ กลุ่มบริษัททางฝั่งสหราชอาณาจักรสามารถร่วมให้การสนับสนุนด้านเทคโนโลยี หรือการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการรักษาทางการแพทย์

3. เตรียมความพร้อมด้านข้อมูลจากมุมมองของฝั่งธุรกิจสำหรับสนับสนุนการทำข้อตกลงการค้าเสรีในอนาคตระหว่างรัฐบาลทั้งสองประเทศ

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กว่าวว่า สหราชอาณาจักรให้ความสำคัญกับการกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนกับไทย โดยได้จัดเตรียมตั้งคณะทำงานระหว่างประเทศไทยและสหราชอาณาจักร เพื่อนำไปสู่การเจรจาทำความตกลงทางการค้าของ 2 ประเทศ หรือ FTA โดย ที่คาดว่าขะสามารถจัดตั้งคณะกรรมการได้ภายในปีนี้อย่างแน่นอน

ทั้งนี้ สหราชอาณาจักรเห็นความสำคัญของไทยในฐานะศูนย์กลางการค้าในภูมิภาค จึงต้องการกระชับความสัมพันธ์ด้วย ขณะที่ไทยย้ำว่า สหราชอาณาจักรเป็นตลาดหลักในทวีปยุโรปและเป็นคู่ค้าที่สำคัญ โดยมีแนวโน้มการลงทุนของไทยใน สหราชอาณาจักรเพิ่มขึ้น และต้องการเชิญชวนให้สหราชอาณาจักรขยายการลงทุนในเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ของไทย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่สหราชอาณาจักรเชี่ยวชาญ เช่น นวัตกรรมเทคโนโลยี โครงสร้างพื้นฐาน และอากาศยาน  ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นว่าเวทีสภาผู้นำนักธุรกิจไทย-สหราชอาณาจักร (Thai-UK Business Leadership Council) จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

ทั้งนี้ สหราชอาณาจักรเป็นคู่ค้าอันดับ 18 ของไทย และเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของไทยในสหภาพยุโรป โดยในปี 2560 มีมูลค่าการค้ารวม 7,019 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 19.7 การส่งออกมีมูลค่า 4,079.21 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ ได้เเก่ รถยนต์เเละอุปกรณ์ ไก่แปรรูป รถจักรยานยนต์เเละส่วนประกอบ อากาศยาน อัญมณีเเละเครื่องประดับ แผงวงจรไฟฟ้า เเละการนำเข้ามีมูลค่า 2,940.69 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ ได้เเก่ เครื่องจักรกลเเละส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้าน้ำมันดิบ เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์เวชกรรมเเละเภสัชกรรม เคมีภัณฑ์ และในปี 2560 ไทยไปลงทุนในสหราชอาณาจักรมูลค่าประมาณ 3,770 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่สหราชอาณาจักรมีการมาลงทุนในไทยมูลค่าประมาณ 990 ล้านเหรียญสหรัฐ

นอกจากนี้ ไทยตอบรับความต้องการจากกลุ่มผู้นำทางธุรกิจจากประเทศสหราชอาณาจักร ทั้งการที่รัฐบาลไทยมีความพยายามปรับปรุงกฎหมายประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวของประเทศ ให้เทียบเท่ากับมาตรฐานสากล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดค่าใช้จ่ายในการทำธุรกิจ รวมถึงการให้แรงจูงใจกับนักลงทุนต่างประเทศในการลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ของรัฐบาลไทย ขณะเดียวกันประเทศไทยกำลังมองหาโอกาสในการทำข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ร่วมกับสหราชอาณาจักร ซึ่งสภาผู้นำธุรกิจไทย-สหราชอาณาจักรก็จะเป็นกลไกที่สำคัญในการให้ข้อมูลจากมุมมองฝั่งธุรกิจของทั้งสองประเทศ

นายไบรอัน เดวิดสัน เอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย กล่าวว่า สภาผู้นำธุรกิจไทย-สหราชอาณาจักรจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลทั้งสองประเทศ เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุน รวมทั้งเป็นตัวช่วยในการสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ

จาก http://www.tnamcot.com วันที่ 10 พฤษภาคม 2561

เกษตรกรใจชื้น! กรมฝนหลวงฯ เร่งเติมน้ำในเขื่อน สำรองจ่ายทำการเกษตร

กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมวิเคราะห์สถานการณ์น้ำรองรับการใช้น้ำเพื่อการเกษตรในอ่างเก็บน้ำที่ยังคงมีปริมาณ้ำไม่เพียงพอในหลายพื้นที่

วันนี้ (10 พ.ค.61) นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า จากรายงานสภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนหลายพื้นที่ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยบริเวณภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ยังคงมีฝนฟ้าคะนองมากกว่าบริเวณอื่นๆ โดยช่วงวันที่ 9-13 พฤษภาคม 2561 จะมีฝนฟ้าคะนองเพิ่มมากขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง ในขณะที่ปริมาณน้ำใช้การได้ในเขื่อนหลายแห่งมีน้อย ซึ่งจากการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ (WMSC) ครั้งที่ 10/2561 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2561 เพื่อให้การบริหารและจัดสรรน้ำต้นทุนเกิดประโยชน์สูงสุด กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้รับการประสานให้เร่งปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเติมน้ำในเขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนวชิราลงกรณ์ และเขื่อนลำตะคอง ซึ่งยังคงมีปริมาณน้ำต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ เพื่อให้มีปริมาณน้ำต้นทุนเพียงพอสำหรับหล่อเลี้ยงพืชที่กำลังจะให้ผลผลิต และเตรียมพร้อมสำหรับการเริ่มต้นเพาะปลูก ซึ่งขณะนี้หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ได้เร่งทำฝนหลวงเพื่อหล่อเลี้ยงพื้นที่การเกษตรที่ประสบภัยแล้ง พร้อมกับปฏิบัติการเติมน้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดเชียงใหม่ ได้เร่งปฏิบัติการเติมน้ำให้กับพื้นที่ลุ่มรับน้ำของเขื่อนแม่กวงอุดมธารา หน่วยปฏิบัติการฯ จังหวัดกาญจนบุรี เร่งเติมน้ำให้เขื่อนวชิราลงกรณ์ และหน่วยปฏิบัติการฯ จังหวัดนครราชสีมา เร่งเติมน้ำให้เขื่อนลำตะคอง

อย่างไรก็ตาม กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้มีการติดตามสถานการณ์น้ำและวิเคราะห์สภาพอากาศในทุกพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยให้การบริหารจัดการน้ำมีประสิทธิภาพ และไม่ทำให้การปฏิบัติการฝนหลวงส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทางเกษตรที่ไม่ต้องการน้ำ โดยสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ทาง เพจ Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร หรือเว็บไซต์กรมฝนหลวงและการบินเกษตร

จาก https://siamrath.co.th  วันที่ 10 พฤษภาคม 2561

อึ้ง !! สั่งระดมข้าราชการไปตัดอ้อย

สั่งการด่วน ระดมกำนัน ผญบ. ขรก. ทหาร ตร. ชาวบ้านจิตอาสา ไปตัดอ้อยแก้ปัญหาอ้อยตกค้างไร่กว่า 4 แสนตัน ซัดแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ระบุ เหนื่อยที่สุดในชีวิต

              8 พ.ค. 61  ที่ บริเวณ ม.2 ต.วังใหม่ อ.วังสมบูรณ์ จ.สระแก้ว  มีการระดมคนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาในการตัดอ้อยในพื้นที่ อ.วังสมบูรณ์ จ.สระแก้ว ตามหนังสือสั่งการด่วนที่สุดของ นายวรภัทร ขำสุวรรณ นายอำเภอวังสมบูรณ์ ที่ สก.0918.1/ว.326 เมื่อวันที่ 4 พ.ค. 61 ที่ผ่านมา เรื่อง การดำเนินกิจกรรมรวมกลุ่มพลังมวลชนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาในการตัดอ้อย เนื่องจากจังหวัดสระแกว แจ้งว่า เกษตรกรประสบปัญหาอ้อยคงค้างไม่สามารถตัดอ้อยให้ทันกำหนดในการปิดหีบอ้อย และเพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกร จังหวัดจึงให้อำเภอจัดโครงการกิจกรรมในพื้นที่ ระหว่างวันที่ 8 - 14 พ.ค. นี้

                นายวรภัทร ขำสุวรรณ นายอำเภอวังสมบูรณ์ กล่าวว่า โครงการนี้เป็นนโยบายของจังหวัดที่ต้องการให้หน่วยงานต่างๆ ระดมคนมาดำเนินกิจกรรมดังกล่าว ช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อย อาทิ ที่ทำการปกครองอำเภอรวมสถานศึกษา 30 คน , กรมทหารพรานที่ 13 จำนวน 20 คน , ตำรวจ สภ.วังสมบูรณ์ 20 คน , เจ้าหน้าที่สาธารณสุข 20 คน , เกษตรอำเภอ - ปศุสัตว์ - พัฒนาการ 12 คน , เจ้าหน้าที่ อบต.วังใหม่ 25 คน , เทศบาลวังสมบูรณ์ 10 คน , กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้ช่วยฯ ต.วังใหม่ ทุกคน รวม 56 คน , กลุ่มพลังมวลชนจิตอาสา หมู่บ้านละ 5 คน รวม 70 คน และกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้ช่วยฯ ต.วังสมบูรณ์ ทุกคน 32 คน รวมทั้งสิ้นประมาณ 300 คน โดยพื้นที่ อ.วังสมบูรณ์ จัดกิจกรรมดังกล่าวในพื้นที่ 2 วัน ในพื้นที่ ม.2 ต.วังใหม่ และ วันที่ 10 พ.ค. ในพื้นที่ ม.1 ต.วังทอง ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมต้องแต่งกายชุดปฏิบัติงานพร้อมตัดอ้อยและอุปกรณ์ในการตัดอ้อย ในช่วงเวลา 08.00 - 16.30 น. ด้วย

               มีรายงานว่า ภายหลังมีการนำนโยบายดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมในแต่ละอำเภอ ก็มีเสียงติติงและโห่ฮาอย่างมากในทุกพื้นที่ว่า ข้าราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และจิตอาสา รวมถึงเจ้าหน้าที่หน่วยงาน จะสามารถตัดอ้อยได้หรือไม่ เพราะไม่มีความชำนาญ และส่วนใหญ่แทบไม่เคยทำงานตัดอ้อยมาก่อน แม้กระทั่งเจ้าของไร่อ้อยเอง ส่วนใหญ่มักจะใช้การจ้างแรงงานชาวกัมพูชาตัดอ้อยเกือบทั้งสิ้น การให้ไปทำงานตัดอ้อยตั้งแต่ 08.00 - 16.30 น. เชื่อว่าจะได้ผลเพียงเล็กน้อยและสิ้นเปลืองงบประมาณ เนื่องจากสามารถเบิกค่าใช้จ่ายได้จากสำนักงานจังหวัดสระแก้ว ซึ่งวันนี้ (8 พ.ค.) จ.สระแก้ว มีการดำเนินการโครงการนี้ 2 พื้นที่ ใน ต.ท่าเกษม อ.เมือง ซึ่งมีนายพรพจน์ เพ็ญพาส ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว เดินทางไปร่วมกิจกรรมด้วย

               พล.ท.ชวลิต สาลีตี๊ด อดีตหัวหน้าสำนักปลัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นหนึ่งในจิตอาสาที่เข้าร่วมกิจกรรมนี้ กล่าวว่า การตัดอ้อยครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในชีวิตตั้งแต่รับราชการและมาอยู่ในพื้นที่ ไม่ยุ่งยากเท่าไหร่เพียงแต่ต้องตัดให้ถูกวิธี เราไม่รู้เลยว่าวิธีการเขาตัดกันอย่างไร เป็นงานที่หนักมาก เหนื่อยที่สุด ทำไปได้สักพักก็ต้องหยุดพัก

               ทพ.วิเชียร จุมพล เจ้าหน้าที่ทหารพรานจากกรมทหารพรานที่ 13 บอกว่า ไม่เคยตัดอ้อยมาก่อน ถือเป็นครั้งแรกในชีวิตเช่นกัน ตัดได้ 1 ชั่วโมง ก็ว่าจะพักแล้วครับ สู้แดดไม่ไหว เพราะเราไม่ถนัด ไม่คล่อง ไม่รู้ว่าเขาตัดอย่างนี้หรือเปล่า ซึ่งตั้งแต่ทำงานทหารพรานมา 30 ปี ไม่เคยตัดอ้อย ไม่เคยทำไร่เลย ครั้งแรกในชีวิต

                สำหรับบรรยากาศการระดมคนไปตัดอ้อยในวันนี้ แต่ละภาคส่วนราชการและเจ้าหน้าที่ได้จัดคนมาร่วมกิจกรรมดังกล่าว ซึ่งหลังเวลาผ่านไปได้ประมาณ 1 ชั่วโมงเศษ สามารถตัดอ้อยได้เพียงเล็กน้อยประมาณ 1 งานเศษ ท่ามกลางอากาศที่ร้อนจัด ทำให้จิตอาสาหลายคนทยอยกันไปนั่งพักในร่มบริเวณรอบๆ เป็นระยะๆ ซึ่งเจ้าของไร่และชาวไร่ในพื้นที่บอกว่า การตัดอ้อยลักษณะนี้อาจจะทำให้ได้ผลผลิตไม่ครบถ้วน เนื่องจากไม่รู้วิธีตัดเหมือนชาวกัมพูชา ไม่ตัดถึงโคนต้น อีกทั้งอ้อยบางส่วนล้ม ทำให้ยากต่อการตัดอย่างมาก

               นายมนตรี คำพล นายกสมาคมเกษตรกรชายแดนบูรพา กล่าวว่า โครงการนี้ถือว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด เพราะสิ่งที่สมาคมและเกษตรกรชาวไร่อ้อยเรียกร้องให้ช่วยเหลืออ้อยค้างไร่กว่า 4 แสนตัน จำนวน 40,000 ไร่ ซึ่งเกษตรกรเดือดร้อนประมาณ 1,000 ราย ที่คาดว่า จะตัดอ้อยเข้าโรงงานไม่ทันการปิดหีบปีนี้ โดยการเลื่อนการปิดหีบออกไป และให้จังหวัดซึ่งเป็นตัวแทนคณะกรรมการประชุมเจรจากับคู่สัญญา หากปีนี้ดำเนินการไม่ทันควรมีการช่วยเหลือชดเชยบ้าง และทำสัญญาพักหนี้ หรือจะไม่มีการฟ้องร้องชาวบ้านกรณีที่ไม่ได้ตัดอ้อย พร้อมทั้งไปเจรจาแก้ปัญหาการนำเข้าแรงงานชาวกัมพูชาให้สามารถดำเนินการได้ทุกจังหวัด ไม่จำกัดเฉพาะจังหวัดพื้นที่ติดชายแดนสระแก้วเท่านั้น ทั้งนี้ เชื่อว่ากำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งไม่เคยตัดอ้อยกัน ไม่สามารถทำได้ทั้งวันแน่ แค่มาถ่ายรูปตัดอ้อยสร้างภาพได้เท่านั้น

               อ.สามารถ นิ่มเงิน นักวิชาการท้องถิ่น กล่าวว่า ไม่ใช่แก้ปัญหาแบบหญ้าปากคอก คือ แก้ไม่ตรงจุด เรื่องนี้เป็นปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวไร่อ้อยกว่า 1,000 ราย ที่ไปร้องต่อศาลปกครอง ซึ่งเมื่อศาลตัดสินออกมาแล้ว แต่ก็ยังไม่มีการปฏิบัติตาม ตะแบงเอาชนะคะคานกัน ซึ่งตนไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะคำว่า จิตอาสา คือการไปช่วยทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะ ถนน หนทาง งานสาธารณะ แต่นี่เป็นผลประโยชน์ของชาวไร่อ้อยและโรงงานอุตสาหกรรม การตัดอ้อยเขาใช้แรงงานกัมพูชา ใครๆ ก็รู้ นี่ให้จิตอาสาและผู้สูงวัยหรือเจ้าหน้าที่หน่วยงาน ไปทำจะสามารถทำได้เต็มวันตั้งแต่เช้ายันเย็นหรือ เพราะปกติเขาใช้รถตัดและมีรถคีบ

จาก www.komchadluek.net   วันที่ 9 พฤษภาคม 2561

นายกฯ เผย 4 ปี จัดงบบริหารจัดการน้ำ กว่า 5 พันล้าน

"ประยุทธ์" เผย 4 ปี จัดงบบริหารจัดการน้ำ กว่า 5 พันล้าน แผนระยะยาวอีก 6 พันล้าน ชี้ วันหน้าใครเป็น รบ. ต้องลงพื้นที่สรุปแผนงาน ฝาก สื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ

เมื่อวันที่ 8 พ.ค.61 เวลา 13.40 น. ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ(ครม.สัญจร)ว่า ครั้งนี้เป็นการประชุมนอกสถานที่ครั้งที่ 19 ก็ให้ย้อนกลับไปดูว่าช่วงปีแรกๆ เราทำอะไร ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาความเดือดร้อนในพื้นที่ที่มีปัญหาก่อน หลังจากนั้นก็จะไปในจังหวัดต่างๆไปสร้างงานให้เกิดการบูรณาการเกิดขึ้น แม้จะไปไม่ทุกจังหวัด อย่างไรก็ตาม ใน 4 ปีที่ผ่านมา เราให้งบประมาณโดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำไปทั้งหมดกว่า 5 พันล้านบาท ซึ่งไม่ต้องขอเรามาโดยตรง แต่รัฐบาลต้องคิดมาก่อน ขณะเดียวกันก็มีแผนระยะยาวเรื่องน้ำที่เราวางไว้ 6 พันกว่าล้านบาท ที่สอดคล้องกับแผนแม่บท

โดยการลงพื้นที่ครั้งนี้ ก็มีการขอกันมาหลายมิติ ทั้งเรื่องบริหารจัดการน้ำ พัฒนาคุณภาพชีวิต เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน สร้างหอประชุม พัฒนาด้านสาธารณะสุข โครงสร้างพื้นฐาน สนามบิน รถไฟความเร็วสูง การท่องเที่ยว เป็นต้น ซึ่งเราจำเป็นต้องสนับสนุนและงบประมาณในทางปฏิบัติก็มีอยู่แล้ว ก็ให้หน่วยงานไปปรับแผนในการดำเนินงานในอันที่ทำไม่ได้ ให้ทำได้ แต่บางอย่างก็อาจทำไม่ได้เพราะติดเรื่องอีเอชไอเอ และ เอชไอเอ ซึ่งรัฐบาลอยากทำทุกอย่างที่ขอมา แต่ก็ต้องดูงบประมาณที่มีอยู่ว่าเพียงพอหรือไม่ เราไม่อยากนำเงินในอนาคตมาใช้มากเกินไป เพราะจะกลายเป็นปัญหาหนี้สาธารณะ

นายกฯ กล่าวว่า การที่เราจะแก้ปัญหาให้ประเทศเราเดินหน้าไปได้ ไม่ใช่แก้แล้วพันหน้าพันหลังไป นี่คือปัญหาของเรารัฐบาลนี้ระมัดระวังอย่างเต็มที่ โครงการที่เสนอมา ทั้งการศึกษา วิจัยพัฒนา การสร้างบุคลากร เราต้องพิจารณาดูให้ เพราะต้องดูแผนแม่บทก่อนว่าแต่ละพื้นที่ต้องเป็นอย่างไร เชื่อมโยงอย่างไร อันไหนเป็นศูนย์กลาง ถ้าทุกจังหวัดเป็นศูนย์กลางกันหมด แล้วจะไปขยายตรงไหนได้ นายกฯมาไม่ใช่ไปชี้นู่นชี้นี่ รองนายกฯ รัฐมนตรีทุกคนต้องลงพื้นที่ทุกจังหวัดในกลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ก็สรุปรายงาน และแผนงานต่างๆมามากมาย การทำงานต้องเป็นแบบนี้ และวันหน้าต้องเป็นแบบนี้ด้วยไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาลก็ตาม ฝากสื่อแล้วกัน ตนอยู่หรือไม่อยู่ยังไม่รู้ แต่สื่ออยู่มาทุกรัฐบาล ต้องสร้างความเข้าใจให้ประชาชนเข้าใจให้ดีขึ้น อย่างน้อยก็ร่วมมือกับรัฐบาลหน้า จะเป็นใครก็ตาม แต่ต้องสร้างการยอมรับ สร้างการไว้เนื้อเชื่อใจต่อกันให้มากยิ่งขึ้น

จาก www.bangkokbiznews.com  วันที่ 9 พฤษภาคม 2561

"อุบล ไบโอ เอทานอล" ยื่นไฟลิ่งขายไอพีโอ 1.37 พันล้านหุ้น จ่อเข้า SET ตั้งเอเชีย พลัส-TMB เป็น FA

นายเดชพนต์ เลิศสุวรรณโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.อุบล ไบโอ เอทานอล (UBE) กล่าวว่า บริษัทได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เมื่อวันที่ 27 เม.ย.ที่ผ่านมา เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน ไม่เกิน 1,370,000,000 หุ้น รวมเป็นหุ้นที่เสนอขายไม่เกิน 35% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทภายหลัง IPO โดยมีบริษัทที่ปรึกษา เอเซีย พลัส จำกัด และธนาคารทหารไทย เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และมี บล.เอเซีย พลัส จำกัด เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย

หุ้น IPO ที่จะเสนอขาย ประกอบด้วย หุ้นเพิ่มทุนใหม่จำนวนไม่เกิน 1,174,286,000 หุ้น และหุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดยผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทฯ ได้แก่ บริษัท ไทยออยล์ เอทานอล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บมจ.ไทยออยล์ (TOP) จำนวนไม่เกิน 97,857,000 หุ้น และบริษัท บีบีจีไอ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) กับ บมจ.น้ำตาลขอนแก่น (KSL) จำนวนไม่เกิน 97,857,000 หุ้น

ทั้งนี้ ภายหลังการเสนอขาย IPO ครั้งนี้ UBE จะมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วจำนวนไม่เกิน 3,914,286,000 บาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญ 3,914,286,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท

นายเดชพนต์ กล่าวว่า การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ครั้งนี้ เงินที่ได้จากการระดมทุนนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงาน, ชำระคืนเงินกู้ยืม รวมทั้งลงทุนในโครงการผลิตก๊าซชีวภาพ โครงการผลิตไฟฟ้าจากการหมักและหญ้าเนเปียร์ (โครงการ RAPTOR หรือ Rapid Transformation Organic Residues) เพื่อขยายธุรกิจให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง มั่นคงในระยะยาว และเพิ่มความสามารถในการลดต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ธุรกิจหลักของ UBE แบ่งออกเป็น 3 ธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจผลิตและจำหน่ายเอทานอล, ธุรกิจผลิตและจำหน่ายแป้งมันสำปะหลัง และธุรกิจผลิตก๊าซชีวภาพและไฟฟ้า โดยบริษัทฯ ถือเป็นผู้ผลิตและแปรรูปมันสำปะหลังแบบครบวงจรรายใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และเป็นผู้ผลิตเอทานอลโดยใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตรายใหญ่ของประเทศ นอกจากนี้ ผลพลอยได้ที่ได้จากการกระบวนการผลิต ถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

โรงงานผลิตเอทานอลของบริษัทฯ มีกำลังการผลิต 400,000 ลิตรต่อวัน ซึ่งถือเป็นโรงงานที่มีกำลังการผลิตต่อ 1 สายการผลิตที่ใหญ่ที่สุดในกลุ่มผู้ผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลัง โดยบริษัทฯ ผลิตเอทานอลเกรดเชื้อเพลิงซึ่งมีความบริสุทธิ์ 99.5% เพื่อจำหน่ายให้แก่ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ได้แก่ BCP TOP PTT Shell และ ESSO เป็นต้น ปัจจุบัน บริษัทฯ เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเอทานอลรายใหญ่ที่มีส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 10% ของปริมาณการใช้เอทานอลทั้งหมดของประเทศ

อีกทั้งบริษัทเป็นผู้ผลิตแป้งมันสำปะหลังทั้งเกรดอาหารและเกรดอุตสาหกรรม ภายใต้ เครื่องหมายการค้า "Sunflower" และ "ซันฟลาวเวอร์" มีกำลังการผลิต 700 ตันต่อวัน และได้รับการรับรองคุณภาพจากสถาบันชั้นนำต่างๆ ทัดเทียมกับผู้ผลิตแป้งมันสำปะหลังรายใหญ่ในอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ บริษัทนำผลพลอยได้ที่ได้จากกระบวนการผลิตมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยนำน้ำใช้และกากมันสำปะหลังที่ได้จากกระบวนการผลิตเอทานอลและแป้งมันสำปะหลังมาใช้ในการผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงหมุนเวียนภายในโรงงานได้ประมาณ 200,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และสามารถผลิตกระแสไฟฟ้า เพื่อใช้ภายในกลุ่มบริษัท และจำหน่ายให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) อยู่ที่ 7.5 เมกะวัตต์

สำหรับรายได้จากการประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายเอทานอล ผลิตภัณฑ์แป้งมันสำปะหลัง และผลิตก๊าซชีวภาพและไฟฟ้า ในปี 58-60 มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทฯ มีรายได้จากการขายเท่ากับ 3,674.34 ล้านบาท 3,550.19 ล้านบาท และ 4,689.33 ล้านบาท ตามลำดับ คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ย 12.97% ต่อปี มีกำไรสุทธิเท่ากับ 56.07 ล้านบาท 103.32 ล้านบาท และ 308.18 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 1.52%, 2.91% และ 6.52% ตามลำดับ โดยธุรกิจผลิตและจำหน่ายเอทานอล เป็นรายได้หลัก มีสัดส่วนประมาณ 70-80% ของรายได้ทั้งหมด

จาก https://mgronline.com   วันที่ 8 พฤษภาคม 2561

FTAไทย-ออสเตรเลีย2 เดือนแรกปี61ใช้สิทธิส่งออกเพิ่ม18.8% นำเข้า 6.5%

กรมเจรจาฯ เผยการใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA ไทย-ออสเตรเลียในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2561 ใช้สิทธิส่งออกเพิ่มขึ้น 18.8% นำเข้า 6.5%

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การค้าระหว่างไทยกับออสเตรเลียในช่วงที่ผ่านมา มีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ในปี 2561 (มกราคม – กุมภาพันธ์) มูลค่าการค้ารวมระหว่างไทยกับออสเตรเลีย อยู่ที่ 2,489.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ของช่วงเวลาเดียวกัน ร้อยละ 18.4 โดยไทยส่งออกไปออสเตรเลีย 1,811 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากออสเตรเลีย 678.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจากการติดตามข้อมูลการใช้สิทธิประโยชน์ FTA พบว่าภายใต้ความตกลงการค้าเสรีไทย –ออสเตรเลีย หรือ TAFTA ที่มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2548 หรือเกือบ 14 ปีมาแล้ว

ปัจจุบันออสเตรเลียได้ลดภาษีสินค้าทุกรายการเป็นร้อยละ 0 ไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 ส่วนไทยได้ลดภาษีสินค้าเกือบทั้งหมดเหลือศูนย์แล้วเช่นกัน แต่ยังคงเหลือเฉพาะสินค้าเกษตรอ่อนไหวบางรายการ ที่ไทยยังใช้มาตรการโควตาภาษีและมาตรการปกป้องพิเศษอยู่ ทั้งนี้ ไทยมีการส่งออกไปออสเตรเลียโดยใช้สิทธิภายใต้ FTA ไทย – ออสเตรเลีย ในช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2561 ถึง 1,445.8 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 90.2 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ได้รับสิทธิ เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.8 ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ขณะที่นำเข้าโดยใช้สิทธิ FTA ไทย – ออสเตรเลีย 126.7 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 18.7 ของการนำเข้าสินค้าที่ได้รับสิทธิ เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนหน้า ร้อยละ 6.5

ขณะที่ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน – ออสเตรเลีย - นิวซีแลนด์ หรือ AANZFTA ซึ่งมีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2553 ครอบคลุมการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน โดยในด้านสินค้าครอบคลุมการเปิดตลาดสินค้า จำนวน 6,224 รายการ และไทยได้ลดภาษีร้อยละ 89.8 ของจำนวนรายการสินค้าทั้งหมดเป็น 0 แล้วตั้งแต่ปี 2558 โดยในช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2561 ไทยใช้สิทธิเพื่อส่งออก 60.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 3.9 ของมูลค่าการส่งออกของรายการสินค้าที่ได้รับสิทธิ ขณะที่นำเข้าโดยใช้สิทธิภายใต้ FTA อาเซียน – ออสเตรเลีย –นิวซีแลนด์ มีมูลค่า 11.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 1.5 ของมูลค่านำเข้าสินค้าที่ได้รับสิทธิ

ทั้งนี้ สินค้าส่งออกหลักสำคัญของไทยไปออสเตรเลีย ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และผลิตภัณฑ์ยาง และสินค้านำเข้าสำคัญของไทยจากออสเตรเลีย ได้แก่ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ น้ำมันดิบ สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ ถ่านหิน และเคมีภัณฑ์ ในปี 2560 ไทยมีมูลค่าการส่งออกไปออสเตรเลีย 10,506.7 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากออสเตรเลีย 4,441.1 ล้านเหรียญสหรัฐ

นางอรมน กล่าวเสริมว่า ถึงแม้ว่าออสเตรเลียจะเป็นตลาดที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก โดยมีประชากรประมาณ 24.6 ล้านคน แต่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 14 ของโลก ในปี 2560 นับได้ว่าเป็นตลาดที่มีความสำคัญมาก เนื่องจากประชากรออสเตรเลียมีศักยภาพในการซื้อสูง ซึ่งหากไทยสามารถส่งออกสินค้าที่มีคุณภาพ และมาตรฐานการผลิตสอดคล้องกับข้อกำหนดและความต้องการของผู้บริโภคในออสเตรเลีย จะทำให้ไทยสามารถเพิ่มมูลค่าทางการค้าได้อีกมากในอนาคต

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 8 พฤษภาคม 2561

“อุตตม” เสนอครม.สินเชื่ออ้อย2พันล.

สอน.ตั้งเป้าให้ชาวไร่กู้ซื้อเครื่องจักรหวังเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิต

“อุตตม” ลงพื้นที่สุรินทร์-บุรีรัมย์ กระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่เตรียมเสนอ ครม.จัดสินเชื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปลูกอ้อย 2 พันล้าน พร้อมดันนิคมอุตสาหกรรมอุปกรณ์ประดับยนต์

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังหารือกับเอกชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 คือ จ.สุรินทร์ บุรีรัมย์  นครราชสีมา และชัยภูมิ ว่าการประชุมครั้งนี้ได้รับฟังความเห็นของภาคเอกชนที่ต้องการให้รัฐแก้ไข เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ รวมทั้งยังมีโครงการและแผนงานของกระทรวงอุตสาหกรรมที่จะเข้าไปช่วยพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของจังหวัดเพื่อเป็นการสร้างงานสร้างรายได้

นายอุตตม กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ได้ไปเยี่ยมชมโรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์ อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ และศูนย์วิจัยและพัฒนาอ้อย โรเรียนสอนชาวไร่อ้อย ซึ่งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 มีพื้นที่ปลูกอ้อย 1.7 ล้านไร่ มีผลผลิต 21.6 ตันต่อปี โดยมีปัญหาขาดแคลนแรงงานในการบริหารจัดการไร่อ้อยต้นทุนค่าแรงสูงและยังขาดประสิทธิภาพการผลิต

โดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) มีแผนขยายโครงการส่งเสริมสินเชื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร ออกไปอีก 3 ปี (2562-2564) วงเงินปีละ 2 พันล้านบาท เพื่อให้สินเชื่อแก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยในการพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการไร่อ้อยสู่การเป็นเกษตรอัจฉริยะ เพื่อมุ่งสู่ 4.0

นายอุตตม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดและโรงงานน้ำตาลในพื้นที่ให้ความช่วยเหลือชาวไร่อ้อยภาคอีสานที่ยังไม่สามารถตัดอ้อยได้ทันก่อนการปิดหีบอ้อย โดยให้เลื่อนกำหนดระยะปิดหีบอ้อยออกไปในเดือน พ.ค.2561 เพื่อพยายามรับซื้ออ้อยจากชาวไร่อ้อยทั้งหมด  ซึ่งขณะนี้ในพื้นที่ภาคอีสานมีอ้อยคงเหลือ 2 ล้านตัน หากชาวไร่อ้อยไม่สามารถตัดอ้อยได้ทัน อาจจะทำให้เกิดอ้อยค้างไร่ และชาวไร่อ้อยขาดรายได้

นางวรวรรณ  ชิดอรุณ เลขาธิการสอน. กล่าวว่า สอน.กำลังเตรียมรายละเอียดการขยายวงเงินสินเชื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยครบวงจร เพื่อเสนอคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กนอ.) และคณะรัฐมนตรี(ครม.) ภายในเดือน มิ.ย. 2561 โดยวงเงินกู้ปีละ 2 พันล้านบาท ชาวไร่อ้อยจะกู้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งชาวไร่จะเสนนดอกเบี้ยต่ำ 2% และรัฐอุดหนุนดอกเบี้ยให้ 2-3%

สำหรับสินเชื่อปี 2562-2564 จะปรับเงื่อนไขการกู้ใหม่ เพราะที่ผ่านมามีเงื่อนไขการกู้ที่เหมาะกับชาวไร่รายกลางหรือที่มีไร่อ้อย 100 ไร่ขึ้นไป จึงจะคุ้มค่ากับการกู้เงินมาซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ที่สอน.จะเสนอให้ปรับเงื่อนไขการกู้ที่เอื้อกับชาวไร่รายเล็ก เช่น การให้ชาวไร่รายเล็กรวมเป็นเกษตรแปลงใหญ่ขอกู้เงินเพื่อให้คุ้มค่ากับการกู้เงิน

ทั้งนี้ สินเชื่อดังกล่าวดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2559-2561 เพื่อให้ชาวไร่กู้เงินซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร ซึ่งจะเป็นการลดใช้แรงงานภาคการเกษตรที่ขาดแคลนและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

นอกจากนี้การลงพื้นที่ของกระทรวงอุตสาหกรรมได้รับฟังข้อเสนอของสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสุรินทร์  3 ข้อ คือ 1.การฟื้นฟูและพัฒนาเหมืองแร่โดยนำเหมืองเก่าที่ได้เลิกกิจการแล้วมาฟื้นฟูเป็นอ่างเก็บน้ำ พร้อมทั้งปรับปรุงทัศนียภาพเป็นแหล่งท่องเทียวทางน้ำ หรือสุรินทร์โมเดล ในระยะแรกจะดำเนินการในพื้นที่ 27 ไร่ จุน้ำ 6 แสนลูกบาศก์เมตร

2 โครงการ Inland Container Depot (ICO) ใน จ.นครราชสีมา ที่กระทรวงอุตสาหกรรมจะช่วยต่อยอดได้ เช่น พัฒนาเป็นเขตประกอบการโกดังการซ่อมตู้คอนแทนเนอร์และโครงการด้านโลจิสติกส์อุตสาหกรรม

3.โครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอุปกรณ์ประดับยนต์ (มอเตอร์สปอร์ต) ที่จ.บุรีรัมย์ เพราะมีสนามแข่งรถมาตรฐานระดับโลก และนำรถเข้ามาแข่งในพื้นที่จำนวนมาก รวมทั้งเอสเอ็มอีไทยสามารถผลิตอุปกรณ์ประดับยนต์ส่งออก โดยมีมูลค่าการผลิต 5 หมื่นล้านบาท และความต้องการด้านยานยนต์ในประเทศเพื่อนบ้านขยายตัวรวมถึงความต้องการในไทยชยายตัวทำให้อุปกรณ์ตกแต่งยานยนต์ ทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เติบโตขึ้นตามไปด้วย

สำหรับผลสำรวจศักยภาพชิ้นส่วนประกอบรถยนต์ปี 2556 ของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) พบว่าไทยมีศักยภาพในการผลิตอุปกรณ์ตกแต่งยานยนต์สูงมากและเป็นที่นิยมของต่างประเทศ และผู้ผลิตทั้งหมดเป็นเอสเอ็มอี รวมทั้งมีศักยภาพเป็นโปรดักแชมเปี้ยนในกลุ่มรถยนต์ คือ 1.สเกิร์ตสปอยเลอร์ กันชน 2.ล้ออัลลอย 3. บังลมกันแดน 4.ซันรูฟ 5.อุปกรณ์กันขโมยและ 6.โคมไฟหน้า

ส่วนในกลุ่มรถจักรยานยนต์ ที่มีศักยภาพสูงคือ 1.หมวกกันน็อก 2.งานพลาสติกตกแต่งตัวถังรถ 3.จานเบรกและคาลิเปอร์ 4.โคมไฟส่องสว่าง 5.โช้คอัพแต่ง 6.โซ่และจานโซ่

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 8 พฤษภาคม 2561

รมว.อุตฯ นำคณะชมโรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์

"อุตตม" นำคณะเข้าเยี่ยมชมโรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์ และศูนย์วิจัยและพัฒนาอ้อย โรงเรียนสอนชาวไร่อ้อย

เมื่อวันที่ 7 พ.ค.61 นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นำคณะเข้าเยี่ยมชมโรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์ โดยมี นายสันติ กีระนันทน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม นายสุรพล ชามาตย์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายณัฐพล รังสิตพล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย นายเอกภัทร วังสุวรรณ นายวิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย นายเดชา จาตุธนานันท์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมและคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรมเข้าร่วม

โดย นายอุตตม และคณะได้เยี่ยมชมโรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์ อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ และศูนย์วิจัยและพัฒนาอ้อย โรงเรียนสอนชาวไร่อ้อย ซึ่งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 มีพื้นที่ปลูกอ้อย 1.7 ล้านไร่ มีผลผลิต 21.6 ตันต่อปี โดยมีปัญหาขาดแคลนแรงงานในการบริหารจัดการไร่อ้อย ต้นทุนค่าแรงสูง และยังขาดประสิทธิภาพการผลิต กระทรวงอุตสาหกรรมโดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย จึงมีแผนขยายโครงการส่งเสริมสินเชื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร ออกไปอีก 3 ปี (พ.ศ. 2562 – 2564) วงเงินปีละ 2,000 ล้านบาท เพื่อให้สินเชื่อแก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยในการพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการไร่อ้อยสู่การเป็นเกษตรอัจฉริยะ เพื่อมุ่งสู่ 4.0

นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมยังได้ประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดและโรงงานน้ำตาลในพื้นที่ ให้ความช่วยเหลือชาวไร่อ้อยภาคอีสาน ที่ยังไม่สามารถตัดอ้อยได้ทันก่อนการปิดหีบอ้อย โดยให้เลื่อนกำหนดระยะปิดหีบอ้อยออกไปในเดือนพฤษภาคม 2561 เพื่อพยายามรับซื้ออ้อยจากชาวไร่อ้อยทั้งหมด ซึ่งขณะนี้ในพื้นที่ภาคอีสานมีอ้อยคงเหลือประมาณ 2 ล้านตัน หา กชาวไร่อ้อยไม่สามารถตัดอ้อยได้ทัน อาจจะทำให้เกิดอ้อยค้างไร่ และชาวไร่อ้อยขาดรายได้

จาก www.bangkokbiznews.com   วันที่ 7 พฤษภาคม 2561

เงินบาทขยับแข็งค่า 31.72 บาทต่อดอลลาร์ฯ ตามแรงเทขายทำกำไรค่าเงินดอลลาร์

เงินบาท7 พ.ค.61ขยับแข็งค่า 31.72 บาทต่อดอลลาร์ฯ หลังตลาดเทขายทำกำไรเงินดอลลาร์ฯ จับตาถ้อยแถลงเฟด-อีซีบี ตัวเลขเศรษฐกิจประเทศหลัง มองกรอบ31.67-31.77 บาทต่อดอลลาร์ฯ

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ระบุค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 31.72 บาทต่อดอลลาร์ฯ แข็งค่าขึ้นจาก 31.79 บาทต่อดอลลาร์ฯ ณ สิ้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลอื่นๆ หลังตลาดมีการขายทำกำไรค่าเงินดอลลาร์ออกมาบ้าง ประกอบกับตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐฯในวันศุกร์ที่ผ่านมาค่อนข้างผสม เนื่องจากตัวเลขสำคัญอย่าง การขยายตัวของรายได้และยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมกลับออกมาน้อยกว่าที่ตลาดมอง ในขณะที่ อัตราการว่างงานปรับลดลงสู่ระดับต่ำสุดตั้งแต่ปี 2000

สำหรับสัปดาห์นี้มีตัวเลขเศรษฐกิจ ที่น่าสนใจดังนี้ เริ่มจากวันพุธ นักวิเคราะห์ประเมินว่า ยอดการส่งออกและนำเข้าของจีนจะสามารถกลับมาขยายตัวได้ 6% และ 13% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ สะท้อนว่าการค้าโลกยังคงมีแนวโน้มที่ดีในปีนี้ ทว่ามาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ จะยังคงสิ่งที่ต้องจับตามองในปีนี้ และอาจจะกระทบแนวโน้มการค้าโลกได้ วันพฤหัสบดี ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี มองว่า ธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) จะยังคงนโยบายการเงินต่อ โดยคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0.5% อย่างไรก็ดี หากตัวเลขเศรษฐกิจอังกฤษเริ่มดีขึ้นต่อเนื่อง และเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงเกิน 2.5% ต่อ อาจจะเป็นแรงหนุนให้ธนาคารกลางอังกฤษสามารถขึ้นดอกเบี้ยได้ในเดือนมิถุนายน

นอกจากนี้ในวันเดียวกัน ตลาดจะจับตา ตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ (CPI YoY) โดยเฉพาะ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI YoY) ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ระดับ 2.1% แตะระดับ 2.2% และมีโอกาสช่วยหนุนการขึ้นดอกเบี้ยอีก 2-3 ครั้งของเฟดในปีนี้ นอกจากการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจดังกล่าว ตลาดจะให้ความสนใจถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟด โดยเฉพาะถ้อยแถลงของประธานเฟด ในวันอังคาร โดยตลาดจะจับตาสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยได้มากกว่า 2 ครั้งได้ (รวมขึ้นดอกเบี้ยทั้งปี เกิน 3ครั้ง) และแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ จากถ้อยแถลงดังกล่าว

มองเงินบาทมีแนวโน้มที่จะแกว่งตัวในกรอบ 31.45-31.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ ได้สัปดาห์หน้า เนื่องจากตลาดอาจจะเริ่มเทขายทำกำไรค่าเงินดอลลาร์บ้าง รวมทั้งตลาดจะรอลุ้นตัวเลขเศรษฐกิจในหลายประเทศหลัก โดยเฉพาะตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และเฟด ซึ่งสามารถบ่งชี้ถึงแนวโน้มการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน และกระทบตลาดการเงินได้ อย่างไรก็ดี ค่าเงินบาทอาจจะไม่อ่อนค่าไปได้มาก เนื่องจากผู้ส่งออกจำนวนมากอาจจะรอขายดอลลาร์ หากเงินบาทอ่อนค่าใกล้ระดับ 31.70-31.75 บาทต่อดอลลาร์ฯ สำหรับวันนี้มองเงินบาทมีแนวโน้มที่จะแกว่งตัวในช่วงกรอบ 31.67-31.77 บาทต่อดอลลาร์ฯ

จาก http://www.thansettakij.com   วันที่ 7 พฤษภาคม 2561

มิตรผล โมเดิร์นฟาร์ม เรียนรู้สู่เกษตรกรรุ่นใหม่

ด้วยแนวคิดของ “บรรเทิง ว่องกุศลกิจ” ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มมิตรผล ที่ให้มีการริเริ่มกิจกรรมที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจด้านการเกษตรให้กับเยาวชนรุ่นใหม่ ภายใต้ชื่อ Modern Farm the Compass ที่เป็นส่วนหนึ่งของการมอบทุนการศึกษาให้แก่น้อง ๆ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประจำปี 2561

นอกจากจะเป็นการสนับสนุนการศึกษาให้กับน้อง ๆ นักศึกษา ยังเป็นการสร้างองค์ความรู้ จุดประกายให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในภาคเกษตรของไทย และทั่วโลก รวมทั้งวิธีการทำเกษตรสมัยใหม่แบบมิตรผล โมเดิร์นฟาร์มอีกด้วย

“บรรเทิง” กล่าวว่า กลุ่มมิตรผลได้พัฒนาเรื่อง smart farming มากว่า 5 ปี ทั้งยังถ่ายทอดแนวทางนี้สู่ชาวไร่อ้อย ภายใต้ชื่อของการทำไร่อ้อยสมัยใหม่แบบมิตรผล โมเดิร์นฟาร์ม ซึ่งเป็นการนำองค์ความรู้ และการบริหารจัดการไร่อ้อยมาตรฐานระดับโลกจากหลายประเทศเข้ามาปรับใช้ให้เหมาะสมกับประเทศไทย โดยเน้นเรื่องการบูรณาการเทคโนโลยี ร่วมกับการใช้เครื่องจักร และการบริหารจัดการไร่ ทำให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น ใช้แรงงานน้อย ลดต้นทุน แต่ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ทั้งยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

“การจัดกิจกรรมครั้งนี้ เราตั้งใจเปิดโอกาสให้น้อง ๆ เรียนรู้เกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงในแวดวงเกษตรกรรมของไทย และโลก รวมถึงนวัตกรรมที่จะช่วยให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ อีกทั้งยังเป็นการสร้างแรงบันดาลใจ เพื่อให้เห็นว่าอาชีพเกษตรกรนั้นน่าภูมิใจ และไม่ได้ลำบากเหมือนสมัยก่อน”

“เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากิจกรรมครั้งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมให้เกษตรกรรุ่นใหม่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี และองค์ความรู้ต่าง ๆ เพื่อสร้างผลผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพในปริมาณที่เพียงพอ และเหมาะสม ขณะเดียวกันมีความมั่นใจในความสำคัญ และความก้าวหน้าของสาขาที่ตนกำลังศึกษาอยู่เพิ่มมากขึ้น”

สำหรับกิจกรรม Modern Farm the Compass “บรรเทิง” บอกว่า จะเริ่มต้นจากกิจกรรม ล้อมวงคุย ลุยกลางไร่ เพื่อแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับการทำการเกษตรสมัยใหม่ของมิตรผลที่ได้รับการยอมรับระดับนานาชาติ ผ่านมาตรฐาน Bonsucro

“หลังจากนั้น น้อง ๆ จะได้เรียนรู้แนวทางการทำไร่อ้อยสมัยใหม่แบบมิตรผล โมเดิร์นฟาร์ม ที่ไร่กุดจอก อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ โดยมีฐานการเรียนรู้ 6 ฐาน ได้แก่ 1) การเตรียมดินและปลูกพืชตระกูลถั่ว 2) การควบคุมรอยล้อเครื่องจักร 3) การลดการไถพรวน 4) การตัดอ้อยสดและทิ้งใบอ้อยคลุมดิน 5) การให้น้ำและระบบให้น้ำ และ 6) อากาศยานไร้คนขับ (UAV) ซึ่งเป็นหลักการทำไร่อ้อยสมัยใหม่ของมิตรผล”

“อีกทั้งยังจะได้ร่วมทัศนศึกษาที่บริษัท มิตรผลวิจัย พัฒนาอ้อยและน้ำตาล จำกัด (RDI) โรงงานน้ำตาล โรงงานผลิตกระแสไฟฟ้า และโรงงานผลิตเอทานอลของกลุ่มมิตรผล เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการทั้งหมดในการนำอ้อยมาใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าทุกส่วน (from zero waste to value creation) สุดท้ายน้อง ๆ จะร่วมกันนำเสนอผลการเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์ และรับมอบทุนการศึกษาต่อไป”

“มะลิวัลย์ ชินโคตร” นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาส่งเสริมการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการกล่าวว่า รู้สึกดีใจมากที่ได้ร่วมกิจกรรมนี้ ซึ่งจะได้เรียนรู้ว่าเทคโนโลยีสามารถช่วยพัฒนา ทั้งงานเกษตรกรรม และเกษตรกรอย่างเห็นได้ชัด ทั้งยังช่วยให้รู้จักการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด เรียกว่าใช้แรงงานน้อย แต่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

“สำหรับกิจกรรมที่ประทับใจเป็นพิเศษ คือ ฐานการให้น้ำ หรือระบบชลประทานในไร่อ้อย แบบ Linear Pivot ซึ่งเป็นเทคโนโลยีล้ำสมัยที่ใช้แรงงานน้อยมาก แต่สามารถทำการเกษตรบนแปลงขนาดใหญ่ จนทำให้เกิดผลผลิตมหาศาลได้ ทั้งยังทำให้รู้สึกว่าอาชีพเกษตรกรเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่น่าสนใจ และรู้สึกกระตือรือร้นที่จะศึกษาต่อในด้านนี้ เพื่อนำไปประกอบอาชีพ และช่วยสนับสนุนเกษตรกรรมของไทยต่อไป”

นับเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่นอกจากจะมอบทุนทรัพย์ในการเรียนให้แก่น้อง ๆ นักศึกษา ยังเป็นการสร้างแรงบันดาลใจ สร้างทักษะความรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรสมัยใหม่ เพื่อให้น้อง ๆ นำไปต่อยอดในสาขาวิชาที่กำลังศึกษา และมุ่งสู่เกษตรกรยุคใหม่ของประเทศต่อไป

จาก https://www.prachachat.net    วันที่ 7 พฤษภาคม 2561

หวั่นยกเลิก'พาราควอต'กระทบอุตสาหกรรมน้ำตาล

นักวิชาการถกปมสารกำจัดวัชพืช  ชี้หากยกเลิก "พาราควอต" อุตสาหกรรมส่งออกน้ำตาลเตรียมล่ม จ่อสูญ 3 แสนล้านและผู้บริโภคจำใจต้องซื้อราคาที่สูงขึ้น                   

สมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ ร่วมกับกลุ่มโรงงานน้ำตาลลุ่มน้ำแม่กลอง จัดเสวนา "วิเคราะห์เศรษฐกิจเกษตร หากไร้พาราควอต " เพื่อประเมินความเสียหายระบบเศรษฐกิจภาคการเกษตร โดยเวทีเสวนาคาดว่าจะส่งผลให้ต้นทุนของเกษตรกรเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันราคาอ้อยตกต่ำอยู่แล้ว อาจสูญเสียทั้งต้นทุนและผลผลิตลดลง รวมถึงอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลสูญกว่า 300,000 ล้านบาท/ปี

ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต นายกสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ มองว่า สารกำจัดวัชพืช”พาราควอต” มีความจำเป็นกับพืชเศรษฐกิจหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น ยางพารา ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน โดยเฉพาะผลผลิตจากอ้อย อาทิ น้ำตาลดิบ ส่งออกเป็นอันดับต้นๆ ของโลก หากยกเลิก”พาราควอต”จะมีผลกระทบเป็นห่วงโซ่ เพราะเมื่อต้นน้ำเกษตรกรแบกรับภาระต้นทุน ทำให้ขาดแคลนพืชผลการเกษตรป้อนเข้าโรงงาน ท้ายสุดแล้วปลายน้ำคือ การผลิตและแปรรูป ผู้บริโภคจำต้องซื้อสินค้าในราคาที่สูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ขณะที่ ดร.บรรพต ด้วงชนะ นักวิชาการด้านอ้อยและน้ำตาล กลุ่มโรงงานน้ำตาลลุ่มน้ำแม่กลอง เห็นว่า วัชพืชเป็นปัญหาสำคัญของอ้อย แม้ดินและน้ำดีเพียงใด ถ้ากำจัดวัชพืชไม่ทันเวลา ก็ไม่ต้องหวังว่าอ้อยจะได้ผลผลิตดี โดยเฉพาะช่วงเจริญเติบโตตั้งแต่เริ่มงอกไปจนถึงระยะย่างปล้อง อายุ 4-5 เดือน เป็นช่วงที่มีฝนตกชุกและมีวัชพืชขึ้นมาก ชาวไร่อ้อยไม่สามารถกำจัดวัชพืชด้วยการถาก หรือใช้เครื่องจักรและสารกำจัดวัชพืชอื่นได้ ดังนั้น ”พาราควอต “จึงเป็นคุณสมบัติพิเศษเพียงตัวเดียว ที่กำจัดวัชพืชในช่วงฝนตกชุกได้

เนื่องด้วยคุณสมบัติออกฤทธิ์เร็ว เป็นสารกำจัดวัชพืชประเภทไม่เลือกทำลาย ไม่ซึมผ่านสู่ชั้นดิน ซึ่งไม่พบคุณสมบัตินี้ในสารตัวอื่นที่จะทดแทนหรือเป็นทางเลือกได้ ออกฤทธิ์ทำลายวัชพืชเฉพาะในส่วนสีเขียวที่อยู่เหนือดินเท่านั้น และคงทนต่อการชะล้างน้ำฝน ให้ผลดีแม้มีฝนตกหลังฉีดเพียงครึ่งชั่วโมง ปลอดภัยต่ออ้อยแม้ฉีดถึงโคนในระยะแตกกอ ประหยัดต้นทุนมากกว่าใช้แรงงานถาก เปรียบเสมือนหนึ่ง "ยาสามัญประจำไร่" เพื่อประสิทธิภาพการผลิต

“ หากไร้พาราควอตจะผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลลดลงอย่างน้อย 20% และจะกระทบเป็นห่วงโซ่ ได้แก่ พื้นที่ปลูกอ้อยทั่วประเทศ11 ล้านไร่ ชาวไร่อ้อย 200,000 ครอบครัว จะขาดรายได้และเกิดหนี้สิน เพราะต้นทุนของเกษตรกรเพิ่มขึ้น รวมไปถึงกระทบประสิทธิภาพและต้นทุนการผลิตของโรงงานทั้ง 54โรงงานในประเทศไทย ทั้งยังมีต่ออันดับผู้ผลิตและผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ของโลก ซึ่งไทยเป็นที่ 2 รองจากบราซิล ตลอดจนแผนยุทธศาสตร์ ความความเสถียรภาพอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของประเทศไทย “ ดร.บรรพต กล่าว

ด้าน นายคมกฤต ปานจรูญรัตน์ รองประธานกลุ่มรวบรวมข้าวโพดหวานแห่งประทศไทย บอกว่า ไม่ใช่อ้อยที่จะได้รับกระทบ แต่ยังข้าวโพดหวาน 700,000 ไร่ ส่งออกเป็นอันดับ 1 ของโลก โดยเฉลี่ย 1 ไร่จะขายได้ 6,000 บาท แต่ต้นทุน 5,000 บาท ถ้าทำแล้วต้นทุนกับรายได้เท่ากัน ซ้ำยังมีความเสี่ยงฝนตกหรือน้ำแล้ง ชาวไร่ขาดทุนก็ต้องเลิกทำ อุตสาหกรรมข้าวโพดหวานอาจจะหายไป จากอันดับผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลก

ทั้งนี้ตัวเองยังมองไม่เห็นว่า หากเลิกใช้ ”พาราควอต” จะช่วยเกษตรกรได้ การเลิกใช้อีกอย่างไปทำอีกอย่าง ก็ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จ ปัจจุบันยังไม่มีสารใดทดแทนในประสิทธิภาพที่เท่ากัน แต่หากมีการห้ามใช้” พาราควอต” จริง ต้นทุนการเกษตรเพิ่มขึ้น คิดเป็นมูลค่า 800 ล้านบาท และจะกระทบต่อเนื่องไปยังกลุ่มผู้ผลิตข้าวโพดกระป๋อง คิดเป็นมูลค่า 7,000 ล้านบาท

"ถ้าพาราควอตจะถูกแบนจริง ๆควรต้องหาสารที่ราคาถูกและประสิทธิภาพใกล้เคียงกันมาทดแทน ซึ่งต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อช่วยเกษตรกรกว่า 5 ล้านครอบครัว ทั้งรายย่อย ปานกลาง ส่วนรายใหญ่อาจไม่น่าห่วง แต่เกษตรกรรายย่อยที่มีต้นทุนเพิ่มขึ้น ต้องอยู่รอดและยั่งยืนให้ได้ เพราะทุนและการเข้าถึงแหล่งทุนมีข้อกำจัด จากต้นทุนการกําจัดวัชพืชโดยใช้สารพาราควอต เป็นเงิน 100 บาท/ไร่ กลายเป็นต้นทุนใช้แรงงาน 6-8 คน/ไร่/วัน เป็นเงิน 1,800-2,400 บาท/ไร่" นายคมกฤต กล่าว

เช่นเดียวกับ นายภมร ศรีประเสริฐ อุปนายกสมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลัง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า มันสำปะหลังเป็นพืชเศรษฐกิจประจำภาคอีสาน ซึ่งถูกนำมาแปรรูปในประเทศเพียง 11% แต่ส่งออกมากถึง 89% กลายเป็นประเทศส่งออกเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย และเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากบราซิล มีพื้นที่ปลูก 8ล้านไร่ ซึ่งระยะ 2 ปีที่ผ่านมา ราคาตกต่ำมาก 1.20 สตางต์/กก. โดยจะมีจำนวน 600,000 ครัวเรือน ได้รับผมกระทบอย่างมาก จากเดิมใช้พาราควอต 150บาท/ไร่ ฉีดได้10 ไร่/วัน หากถูกแบนจริงจะต้องจ้างแรงงานกำจัดวัชพืชอยู่ที่ 300-600/วัน เพราะขึ้นอยู่กับความรกของไร่

จาก https://www.dailynews.co.th  วันที่ 7 พฤษภาคม 2561

ชาวไร่อ้อยโคราชทุกข์หนักน้ำท่วมเสียหายนับร้อยไร่

หลังในหลายพื้นที่ของจังหวัดนครราชสีมา ได้มีฝนตกลงมาติดต่อกันนานหลายวัน ส่งผลทำให้ ปริมาณน้ำฝนเกิดท่วมขังไร่อ้อยของเกษตรกรใน อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา นับร้อยไร่ เกษตรกรจำเป็นต้องรีบขนย้ายผลผลิตทางการเกษตรลงแพ ข้ามแม่น้ำมูล หวั่นผลผลิตได้รับความเสียหาย และต้องรีบส่งขายก่อนที่โรงงานจะปิดหีบรับซื้อ โดยนางพิณ ทันกลาง อายุ 63 ปี เกษตรกรหมู่ 6 บ้านเปราะปอ-เมืองที ต.ดอนชมพู อ.โนนสูง บอกว่า ในปีนี้ ตนเอง ได้ลงทุนปลูกอ้อย จำนวน 21 ไร่ เป็นเงินลงทุนไร่ละ 5,000 บาท โดยในช่วงนี้ ประสบกับปัญหาฝนตกชุก สามารถตัดอ้อยขายได้ไร่ละ 15 ตัน จากเดิม ไร่ละประมาณ 20 ตัน อีกทั้งน้ำฝนเกิดท่วมขังทางเข้าออกไร่อ้อย จึงทำให้ไม่สามารถนำผลผลิตออกได้ทัน เนื่องจากโรงงานจะปิดหีบภายในวันที่ 20 พ.ค.นี้แล้ว

ส่งผลทำให้อ้อยที่ตัดไว้รอการขนย้ายส่งโรงงาน ได้รับความเสียหาย อ้อยเป็นเชื้อรา โดยจำเป็นต้องหาวิธีแก้ปัญหา ด้วยการรีบขนย้ายอ้อยที่ตัดแล้ว ขึ้นแพ ข้ามแม่น้ำมูล และนำมาขึ้นรถบรรทุกก่อนที่จะขนย้ายส่งไปขายในโรงงาน จึงทำให้ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่าย ในการ จ้างรถแบ็คโฮจำนวน 2 คัน จ้างแรงงานคนเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมเกือบเท่าตัว อีกทั้งราคาอ้อยในปัจจุบันยังตกต่ำ เนื่องจาก อ้อยเป็นเชื้อรา และอ้อยถูกน้ำท่วม ทำให้ความหวานลดลง จากเดิมรับซื้อในราคา ตันล่ะ 1,200 บาท ปัจจุบันรับซื้อเพียงตันล่ะ 1,000 บาท และอ้อยที่เป็นเชื้อรา ก็ไม่สามารถนำส่งขายให้กับโรงงานได้ จึงทำให้เกษตรกรหลายรายในอำเภอโนนสูงได้รับความเดือดร้อนอยู่ในขณะนี้

จาก  https://www.innnews.co.th   วันที่ 7 พฤษภาคม 2561

ชงแผนลงทุนอุตไบโอ 1.3 แสนล้าน  “มิตรผล-ซีพี-ปตท.” นำทีมบุก

เปิดแผนพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ 1.33 แสนล้าน “อุตตม” เตรียมเสนอ “แพ็กเกจBioeconomy” เข้า ครม. ดัน 3 พื้นที่ตั้งโครงการทั้งใน-นอก EEC พร้อมต่อยอด 3 จังหวัด “นครสวรรค์-กำแพงเพชร-ขอนแก่น” ฐานที่ตั้งอุตฯน้ำตาล-อาหาร-ปิโตรเคมีของกลุ่มมิตรผล-เกษตรไทย-ซีพี-ปตท.เอเซียสตาร์-BIG-UENO-DSM

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงโครงการเขตเศรษฐกิจชีวภาพ หรือ Bioeconomy ว่า โครงการนี้จัดเป็นเป้าหมายที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการให้มีศักยภาพในการแข่งขัน ทางกระทรวงและประชารัฐ กลุ่มการพัฒนาคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (D5) จึงได้จัดทำ แผนพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ (2561-2570) ขึ้นเตรียมนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เร็ว ๆ นี้

ทั้งนี้อุตสาหกรรมไบโอชีวภาพปัจจุบันเริ่มมีการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) อยู่แล้ว จากนั้นรัฐบาลจะ “ต่อยอด” อุตสาหกรรมไบโอชีวภาพออกไปนอกเขต EEC โดยภาคเอกชนสนใจที่จะลงทุนในพื้นที่ภาคหนือตอนล่างกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง ครอบคลุมจังหวัดนครสวรรค์ กำแพงเพชร ขอนแก่น รวมมูลค่าโครงการทั้งใน EEC กับนอกเขต EEC ภายใน 5 ปีคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 133,000 ล้านบาท

ขณะที่ นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า แพ็กเกจไบโอชีวภาพเสร็จเรียบร้อยแล้ว และได้เสนอต่อนายอุตตมเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อพิจารณาอีกครั้งก่อนที่จะนำเสนอเข้า ครม.ให้ทันภายในเดือนพฤษภาคมนี้

ปตท. -มิตรผล -ซีพี พร้อมลงทุน

สำหรับรายละเอียดของโครงการเขตเศรษฐกิจชีวภาพ จะประกอบไปด้วยแผนงาน 3 ส่วนคือ 1)โครงการ Bioeconomy EEC ถือเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) ที่รัฐบาลให้การสนับสนุนตามแผน 5 ปี (1560-2564) จะมีมูลค่าการลงทุน 9,740 ล้านบาทจากกลุ่มนักลงทุน ได้แก่ บริษัท Baxter ผลิตน้ำยาล้างไต ตั้งอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จ.ระยอง มูลค่าการลงทุน 2,240 ล้านบาท, บริษัทโททาล(TOTAL) ร่วมกับบริษัท Corbion ผลิต Lactide 100 KTA กับ PLA 75 KTA ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย จ.ระยอง ลงทุน 3,500 ล้านบาท บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC ในเครือ ปตท. โครงการ Palm Biocomplex เฟส 1 และ 2 เพื่อผลิตเมทิลเอสเตอร์ 200 KTA จ.ชลบุรี มูลค่า 4,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีการลงทุนในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EECI ใน 2 พื้นที่คือ วังจันทร์วัลเลย์ ของ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) กับ อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ ของ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์กรมหาชน) หรือ GISTDA ซึ่งทั้ง 2 พื้นที่นี้ได้ถูกประกาศเป็นเขต EECI แล้ว

2)ส่วนต่อขยายการลงทุนในโครงการ Bioeconomy ในภาคเหนือตอนล่าง มูลค่าการลงทุน 49,000 ล้านบาท แบ่งเป็น นครสวรรค์ ลงทุน 41,000 ล้านบาท ประกอบไปด้วย โครงการ Biocomplex มูลค่า 10,000 ล้านบาท ของบริษัทโกลบอลกรีนเคมีคอล (GGC) ร่วมกับบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS เพื่อผลิต Latic Acid, Bio-succinic Acid (BSA) & Bio 1,4 Butanedio, PLA, Furfural และ Lactic Acid สำหรับอาหาร ส่วนที่กำแพงเพชร (ลงทุน 8,000 ล้านบาท) จะมีโครงการ Dried Yeast ของบริษัท คริสตอลลา จำกัด ผลิต Yeast Extract, Beta-Glucan สำหรับอุตสาหกรรมอาหารและอาหารสัตว์

3)ส่วนต่อขยายการลงทุนในโครงการ Bioeconomy ในภาคอีสานตอนกลางลงทุน 29,705 ล้านบาทในขอนแก่น ประกอบไปด้วย นิคมอุตสาหกรรม Bioeconomy ของบริษัท น้ำตาลมิตรผล

จำกัด ร่วมกับบริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด (BIG), โครงการผลิตเอ็นไซม์น้ำ Yeast Probiotics และ Beta-glucan ของกลุ่มบริษัท เอเชีย สตาร์ เทรด จำกัด (AST) และ บริษัท เอเชีย สตาร์ แอนิมัล เฮลธ์ จำกัด (ASAH), โครงการ Dried Yeast-เอมไซม์ไฟเตส

สำหรับอุตสาหกรรมอาหาร-Lactic Acid/Sugar Alcohol สำหรับอุตสาหกรรมอาหาร/เครื่องสำอาง ของบริษัท น้ำตาลมิตรผล, บริษัท ดีเอสเอ็ม นิวทริชั่นแนล โปรดักส์ (ประเทศไทย) จำกัด (DSM), บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF, บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) และบริษัท อูเอโนไฟน์เคมีคัลส์ อินดัสตรี (ประเทศไทย) จำกัด (UENO)

แก้ปัญหาติดผังเมือง

ล่าสุด กระทรวงอุตสาหกรรมได้แก้ปัญหากรณีโรงงานในเขตเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ติดปัญหาผังเมืองในพื้นที่ 3 จังหวัด (นครสวรรค์-กำแพงเพชร-ขอนแก่น) โดยนายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่า ได้เสนอให้แก้ประกาศแนบท้ายกระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดประเภทโรงงานใหม่จาก “เคมี” เป็น “เคมีชีวภาพ” กับเสนอให้ผู้ประกอบการสามารถตั้งโรงงานไบโอชีวภาพในเขตที่เป็นสีเขียวได้ตามความเหมาะสม โดยไม่ต้องแก้สีผังเมือง ซึ่งทั้ง 2 แนวทางอยู่ที่การพิจารณาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 7 พฤษภาคม 2561

วอนหน่วยงานช่วยปัญหาแรงงาน-อ้อยค้างไร่ 4 หมื่นไร่ เดือดร้อนกว่า 1,200 ราย ด้านผู้ว่าฯ สั่งเรียกประชุมด่วน

บ่ายวันนี้ ที่สมาคมเกษตรกรชายแดนบูรพา อ.คลองหาด จ.สระแก้ว นายมนตรี คำพล นายกสมาคมเกษตรกรชายแดนบูรพา กล่าวว่า ได้มีเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยภายในจังหวัดสระแก้วกว่า 600 คน มาร้องเรียนให้ช่วยเหลือ ร้อยละ 60 ของเกษตรกรที่ยังมีปริมาณอ้อยสดตกค้างภายในไร่ ซึ่งคาดว่าจะเก็บเกี่ยวไม่ทันปิดหีบโรงงานในช่วงวันที่ 15  พ.ค.นี้ เดินทางมาร่วมประชุมเพื่อหารือแนวทางแก้ไขปัญหาด้านแรงงานและการช่วยเหลือเกษตรกรหากเกิดปัญหาดังกล่าว หรือไม่สามารถขยายการเปิดหีบออกไปได้ โดยมีนายมนตรี คำพล นายกสมาคมเกษตรกรชายแดนบูรพา หารือ ท่ามกลางหน่วยงานทหารและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ นายพรพจน์ เพ็ญพาส ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาแก้ไขปัญหาดังกล่าว

นายมนตรี คำพล นายกสมาคมเกษตรกรชายแดนบูรพา กล่าวเพิ่มเติมว่า นายพรพจน์ เพ็ญพาส ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว นั่งหัวโต๊ะเป็นประธานในที่ประชุม โดยมี พ.ต.อ.เบญจพล รอดสวาสดิ์ ผกก.ตม.จว.สระแก้ว หน่วยงานความมั่นคงและภาครัฐ ตำรวจ อุตสาหกรรมจังหวัด แรงงานจังหวัด เพื่อประชุมโดยมีปัญหาของเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่สำคัญ 2 เรื่อง คือ ปัญหาการขาดแคลนแรงงานตัดอ้อย ที่เป็นแรงงานชาวกัมพูชา ไม่สามารถเข้ามาทำงานได้ หากไม่อยู่ในจังหวัดที่ติดกับชายแดนไทย-กัมพูชา และปัญหาอ้อยที่ยังเหลืออยู่อีกจำนวนมากในพื้นที่ที่คาดว่าจะตัดไม่ทันการปิดหีบอ้อยของโรงงานน้ำตาล บริษัทอ้อยและน้ำตาลตะวันออก ต.ห้วยโจด อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว ที่มีกำหนดการจะปิดหีบในวันที่ 15 พ.ค.61นี้ ได้ยกเลิกการปิดหีบและขยายเวลาออกไปถึงสินเดือนพฤษภาคมนี้ จะได้ช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยไปอีกทางหนึ่ง แต่ได้แจ้งเกษตรกรชาวไร่อ้อยในพื้นที่ทราบแล้ว เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่สมาคมเกษตรกรชายแดนบูรพา เพื่อสรุปข้อเสนอต่ออนุกรรมการที่มี

นายภูสิต สมจิตต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัด ดูแล ทั้งนี้ จะนำปัญหาทั้งหมดเสนอต่อคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล ในส่วนกลางด้วย ได้กำหนดขยายเปิดหีบ ได้ผ่านบอร์ดจังหวัดและคณะอนุกรรมการบริหารส่วนท้องถิ่น เพื่อเสนอบอร์ดใหญ่ในส่วนกลาง ซึ่งตัวเลขไร่อ้อยค้างไร่ขณะนี้มีมากถึง 400,000 ตันหรือประมาณ 40,000 ไร่ เกษตรกรเดือดร้อนประมาณ 1,200 ราย โควต้ารายละ 20-200 ไร่  อย่างไรก็ตาม สำหรับประเด็นเรียกร้องเรื่อง แรงงานชาวกัมพูชาที่เข้ามาตัดอ้อยที่ถือ  border pass จำนวน 20,000 คน ได้เดินทางกลับไปช่วงเทศกาลสงกรานต์แล้วจำนวนมากไม่ได้กลับมาทำงานตัดอ้อยต่อ จึงขาดแคลนแรงงาน แต่เกษตรกรยังต้องการแรงงานประมาณ 3,000 คน ซึ่งแรงงานที่แจ้งความประสงค์จะเข้ามาเป็นคนจังหวัดชั้นในของกัมพูชาที่นอกจากพระตะบอง และศรีโสภณ ด้วย โดยขอให้อนุโลมให้แรงงานสามารถเข้ามาทางจุดผ่านแดนถาวรบ้านเขาดิน เพียงช่องทางเดียว เนื่องจากให้เหตุผลว่า หากเข้ามาทางช่องทางอื่นเพิ่มเพื่อสะดวกในการเดินทางแรงงานเช้ามาเย็นวันละ 7,000 คน และแรงงานที่เข้ามาพักในไร่อ้อย 8,000 คน ก็ยังไม่เพียงพออยู่

จาก www.banmuang.co.th  วันที่ 6 พฤษภาคม 2561

“อุตตม”เตรียมร่วมวงครม.สัญจรลงพื้นที่หนุนขับเคลื่อนศก.ท้องถิ่น

"อุตตม"เตรียมลงพื้นที่ 7-8 พ.ค.นี้ร่วมครม.สัญจร เตรียมหารือกับภาคเอกชนพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่กลุ่มจังหวัดสุรินท์ บุรีรัมย์ นครราชสีมา และชัยภูมิ หนุนพัฒนาอุตฯชิ้นส่วนยานยนต์และรถยนต์จักรยานยนต์ในพื้นที่บุรีรัมย์ ดันโคราชเป็นศูนย์กลางคลังรวบรวมสินค้า และต่อยอดอุตฯอ้อยน้ำตาลสู่ไบโอชีวภาพ

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การเข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)สัญจรระหว่างวันที่ 7-8 พ.ค.ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจะลงพื้นที่จังหวัดสุรินทร์และบุรีรัมย์นั้นในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมจะลงพื้นที่และร่วมหารือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)จังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งทางเอกชนในพื้นที่ได้เสนอที่จะพัฒนา 3 อุตสาหกรรมสำคัญได้แก่ 1. จ.บุรีรัมย์เสนอการพัฒนาอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์และรถจักรยานยนต์ 2. จะมีการนำเสนอครม.ให้จ.นครราชสีมาเป็นศูนย์กลางคลังรวบรวมสินค้าภายใน (Inland Depot) 3. การพัฒนาอุตสาหกรรมไบโอชีวภาพจากอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายในพื้นที่บุรีรัมย์และใกล้เคียง

ทั้งนี้การพัฒนาอุตสาหกรรมชิ้นสว่นประกอบยานยนต์ที่ทางจังหวัดบุรีรัมย์เสนอนั้นสอดรับกับนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายของภาครัฐซึ่งจะได้นำประเด็นดังกล่าวสรุปเพื่อรายงานให้ครม.รับทราบที่กระทรวงฯจะเข้าไปร่วมส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาผู้ประกอบการ และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.)จะได้ช่วยแนะนำพื้นที่ที่เหมาะสมในการพัฒนาได้

" ทราบว่าจะมีการแข่งขันจักรยานยนต์ความเร็วสูงในเดือนต.ค. เป็นโอกาสที่จะพัฒนาชิ้นส่วนประกอบและการแต่งรถซึ่งการพัฒนารถสมรรถนะสูงนั้นต้องทดสอบในสนามแข่งขันแทนที่จะใช้แข่งขันอย่างเดียวก็จะทดสอบได้ด้วยก็จะพัฒนาได้จริงจังก็จะเป็นการต่อยอดสนามแข่งขันที่มีอยู่ที่บุรีรัมย์ "นายอุตตมกล่าว

สำหรับการเสนอครม.เพื่อผลักดันให้จ.นครราชสีมาเป็นศูนย์กลางคลังรวบรวมสินค้าเพื่อกระจายสินค้าไปยังภาคอีสานเนื่องจากจ.นครราชสีมาเป็นประตูสู่ภาคอีสานอยู่แล้วประกอบกับมีระบบขนส่งผ่านหลายเส้นทางซึ่งเรื่องการพัฒนาการขนส่งจะเป็นเรื่องของกระทรวงคมนาคม แต่ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมจะเข้าไปช่วยเหลือและสนับสนุนในแง่ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมที่จะมีการขนถ่ายรวมไปถึงอุตาหกรรมต่อเนื่องเช่น ตู้คอนเทนเนอร์ การบำรุงรักษา ฯลฯ

นอกจากนี้ในส่วนของการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในพื้นที่เพื่อยกระดับไปสู่อุตสาหกรรมไบโอชีวภาพจะได้มีการหารือกับโรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์ ซึ่งได้มีศูนย์วิจัยและพัฒนา(R&D) ไปสู่อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและไบโอชีวภาพในการเพิ่มมูลค่าอ้อย ซึ่งจะเป็นตัวอย่างที่กระทรวงฯจะสนับสนุนให้มีการพัฒนาในพื้นที่อื่นๆ ทั้ง สุรินทร์ บุรีรัมย์ นครราชสีมา และชัยภูมิ อย่างไรก็ตามกระทรวงฯคาดว่าจะสามารถนำแนวทางการพัฒนาไบโออีโคโนมีเฟส 2 เข้าครม.ได้ไม่เกินปลายเดือนนี้โดยขณะนี้อยู่ระหว่างปรับเปลียนแก้ไขรายละเอียดบางประเด็นจึงยังไม่สามารถเข้าครม.ได้ทันในครั้งนี้

" สุรินทร์ บุรีรัมย์ นครราชสีมาและชัยภูมิถือเป็นกลุ่มจังหวัดที่มีอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป วิสาหกิจชุมชนที่ได้ประสานไปยังส.อ.ท. จังหวัดซึ่งช่วงเช้าวันที่ 7 พ.ค.ได้มอบหมายให้นายสมชาย หาญหิรัญ รมช.อุตสาหกรรมลงไปฉายภาพใหญ่ให้ผู้นำชุมขนเห็นภาพการยกระดับไปสู่ 4.0 ว่าทำอะไรบ้างโดยเฉพาะหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์หรือ CIV ศุนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม(ITC) พร้อมกันนี้ทางธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและย่อมแห่งประเทศไทย(ธพว.) จะนำหน่วยรถบริการเคลื่อนที่รถม้าเติมทุนไปให้บริการสินเชื่อถึงที่"นายอุตตมกล่าว

จาก https://mgronline.com  วันที่ 6 พฤษภาคม 2561

กระทรวงเกษตรฯ หารือผู้ประกอบการค้าปัจจัยการผลิตทางการเกษตร

 กระทรวงเกษตรฯ หารือผู้ประกอบการค้าปัจจัยการผลิตทางการเกษตร เร่งหาแนวทางช่วยเหลือให้เกษตรกรโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำได้ซื้อในราคาพิเศษ

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังการประชุมหารือนโยบายแก่ผู้ประกอบการค้าปัจจัยการผลิตทางการเกษตรเพื่อลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร ณ ห้องประชุม 124 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2561 เห็นชอบ มาตรการเกษตรประชารัฐเพื่อลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดำเนินการจัดทำโครงการภายใต้มาตรการนี้ 2 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อลดต้นทุนปัจจัยการผลิตให้แก่เกษตรกร และ 2) โครงการสนับสนุนการผลิตหรือจัดหาปุ๋ยสั่งตัดผ่านสถาบันเกษตรกร กลุ่มเป้าหมายสถาบันเกษตรกรนั้น เพื่อให้การดำเนินโครงการดังกล่าวเกิดประโยชน์ และช่วยลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกร จึงได้มีการเชิญผู้ประกอบการค้าปัจจัยการผลิตทางการเกษตร อาทิ สมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย สมาคมการค้าผู้ผลิตปุ๋ยไทย สมาคมธุรกิจปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยชีวิภาพไทย สมาคมคนไทยธุรกิจการเกษตร สมาคมอารักขาพืชไทย สมาคมนวเกษตรกรรมไทย และสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย ร่วมหารือแนวทางในการช่วยเหลือเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการเป้าหมาย 3 ล้านคนทั่วประเทศ

โดยเป็นเกษตรกรรายบุคคลที่เป็นลูกค้า ธ.ก.ส. หรือเกษตรกรทั่วไป หรือเกษตรกรผู้ที่ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐที่ ธ.ก.ส. รับขึ้นทะเบียนเป็นลูกค้า ธ.ก.ส. มีบัตรสวัสดิการสินเชื่อแห่งรัฐ ให้ได้ซื้อปัจจัยการผลิตในราคาพิเศษและให้ได้รับปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพดี พร้อมทั้งเป็นการเพิ่มโอกาสและความมั่นใจให้แก่เกษตรกรในการเลือกซื้อปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพดีและราคายุติธรรม โดยให้สมาคมฯ ไปรวบรวมบริษัทที่จะเข้าร่วมลดราคา ว่าสามารถลดได้ราคาสูงสุดและต่ำสุดเท่าไร ตามความสมัครใจของบริษัทนั้นๆ ผ่านร้านค้าปัจจัยการผลิตที่เข้าร่วมโครงการ

จาก www.bangkokbiznews.com วันที่ 5 พฤษภาคม 2561

ก.เกษตรฯ จับมือ 3 หน่วยงาน ลงนาม MOU หนุนงานวิจัยด้านทรัพยากรน้ำ

กระทรวงเกษตรฯ จับมือ 3 หน่วยงาน ลงนาม MOU สนับสนุนงานวิจัยด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เร่งแก้ไขปัญหาน้ำขาดแคลน และปัญหาน้ำท่วม

นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการบริหารจัดการน้ำ ณ อาคารศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ กรมชลประทาน สามเสน ว่า การลงนามดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่าง สถาบันการศึกษา และหน่วยงานภาครัฐ ให้เกิดความต่อเนื่องในการพัฒนาองค์ความรู้และการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ในการเตรียมพร้อมรับมือกับความผันผวนของปริมาณน้ำได้อย่างทันต่อเหตุการณ์และนำไปใช้ได้จริง โดยมี พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี ร่วมด้วยตัวแทนจาก 4 หน่วยงาน ได้แก่ นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน นางพรรณพิมล ชัญญานุวัตร ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ การลงนามดังกล่าวจะนำไปสู่ความร่วมมือในการพัฒนาเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำที่มีชื่อว่า “โปรแกรมการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการและทันต่อเหตุการณ์ หรือ NARK4.0” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (Smart Water Operation Center; SWOC) ภายใต้การกำกับดูแลของกรมชลประทาน

สำหรับโปรแกรม NARK4.0 สามารถคาดการณ์ปริมาณฝน ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำ และวางแผน ตัดสินใจระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำได้ล่วงหน้า 12 เดือน โดยมีระดับความแม่นยำมากกว่าร้อยละ 80 และสามารถใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์จำลองปริมาณการไหลในลำน้ำ การจัดสรรน้ำในระดับโครงการชลประทาน ไปจนถึงการคำนวณผลผลิตและรายได้ ซึ่งผลการพัฒนาแบบจำลองฯ สามารถเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกในลุ่มน้ำเจ้าพระยาเฉลี่ยได้ร้อยละ 18.02 และสามารถรักษาปริมาณการใช้น้ำต้นทุนจากอ่างเก็บน้ำเฉลี่ยได้มากถึงร้อยละ 32.99 เป็นการสร้างความมั่นคงทางน้ำต่อสภาวะภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ส่งผลให้กรมชลประทานมีเครื่องมือในการคาดการณ์สถานการณ์น้ำและช่วยในการตัดสินใจในการวางแผนการบริหารจัดการน้ำล่วงหน้ารายฤดูกาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ได้มีการพัฒนา “แผนที่เกษตรที่เหมาะสมกับการคาดการณ์ปริมาณน้ำต้นทุน” จากการพิจารณาปริมาณน้ำต้นทุนคาดการณ์ทั้งปริมาณฝนและน้ำชลประทานที่สามารถส่งถึงคลองส่งน้ำสายหลักและสายซอยจากแบบจำลองคณิตศาสตร์ ร่วมกับพื้นที่ความเหมาะสมของการทำเกษตรกรรมการปลูกพืช (Agri-Map) ทำให้สามารถเสนอแนะแนวทางเลือกการทำเกษตรกรรมที่มีปริมาณน้ำต้นทุนเพียงพอ และเป็นพื้นที่เหมาะสมในการทำการเกษตรกรรมปลูกพืชให้แก่เกษตรกร

“ความสำเร็จของโครงการวิจัยดังกล่าวได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อภาคส่วนในหลายด้าน อาทิ 1. ด้านความต้องการน้ำ (Demand) จากการเสนอแนะแนวทางการทำเกษตรกรรมที่สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนซึ่งสามารถเป็นข้อมูลข่าวสารเชิงรุกให้แก่เกษตรกรในการวางแผนการทำเกษตรกรรม 2. ด้านปริมาณน้ำ (Supply) โดยการพัฒนาเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำให้แก่กรมชลประทานใช้ในการคาดการณ์และวางแผนการตัดสินใจระบายน้ำได้อย่างเหมาะสม และ 3. ด้านนโยบาย (Policy) รัฐบาลสามารถใช้ในการกำหนดมาตรการพัฒนาหรือส่งเสริมผลผลิตภาคการเกษตรที่มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีความผันผวนรายฤดูกาล เป็นการสร้างความมั่นคงทางน้ำและความมั่นคงทางอาหารให้แก่ประเทศไทย” นายเลิศวิโรจน์ กล่าว

จาก www.bangkokbiznews.com วันที่ 5 พฤษภาคม 2561

2 โรงงานน้ำตาลยอมขยายเวลาเปิดหีบถึง 10 พ.ค.นี้ แต่ให้สิทธิ์ขายกลุ่มชาวไร่อ้อยในพื้นที่ก่อน

อุดรธานี - พลังชาวบ้านไร่! ชาวไร่อ้อยรวมตัวหน้าโรงงานเกษตรผล อ.กุมภวาปี เรียกร้องขยายวันปิดหีบอ้อย หลังอ้อยตกค้างในไร่จำนวนมาก ด้านเจ้าของโรงงานชาวญี่ปุ่นยอมถอย เลื่อนวันปิดหีบไปถึง 10 พ.ค.นี้ จะคัดชาวไร่ในพื้นที่ก่อน

ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.อุดรธานี วันนี้ (4 พ.ค.) ที่หน้าโรงงานน้ำตาลเกษตรผล ถนนมิตรภาพ อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี เกษตรกรชาวไร่อ้อยประมาณ 200 คน ได้เดินทางมารวมตัวกันเพื่อเขียนคำร้องทุกข์ที่ประตูทางเข้าโรงงาน เพื่อเรียกร้องให้ทางราชการแก้ไขปัญหาโรงงานน้ำตาลกุมภวาปี และโรงงานน้ำตาลเกษตรผล เลื่อนการเปิดหีบอ้อยต่อไปจนถึงวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ หลังจากประกาศจะปิดหีบในวันพรุ่งนี้ (5 พ.ค.) เพราะยังมีอ้อยตกค้างในไร่จำนวนมาก

สำหรับบรรยากาศที่บริเวณลานจอดรถในโรงงานมีรถอ้อยทั้งรถบรรทุกเล็ก, รถการเกษตร, รถบรรทุก 6 ล้อ, บรรทุก 10 ล้อ, รถพ่วง และเทรลเลอร์ มาจอดเข้าคิวรอการเทอ้อยจนเต็มลานและล้นออกมาริมถนนมิตรภาพ ยาวเยียดกว่า 2.5 กม. โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.กุมภวาปี มาอำนวยความสะดวกให้รถบรรทุกอ้อย

นางเซง โคตรจันทา อายุ 54 ปี ชาวไร่อ้อยบ้านดงเย็น ต.นางิ้ว อ.เขาสวนกวาง จ.ขอนแก่น ตัวแทนชาวไร่ให้สัมภาษณ์ว่า มีโควต้าส่งอ้อย 5,000 ตัน ตอนนี้เหลืออยู่ 500 ตัน จึงอยากมาขอรัฐบาล-โรงงานให้ขยายเวลาหีบไป 7 หรือ 10 วันก็ได้ เพราะยังเอาอ้อยออกจากไร่ไม่หมด สาเหตุจากฝนตกลงมาพอดี และอ้อยก็ปลูกในนาข้าวที่รัฐบาลและโรงงานส่งเสริมให้ปลูกและลดพื้นที่การปลูกข้าวทำให้ขนส่งอ้อยออกมาไม่ได้

นางเซงกล่าวว่า พวกตนทยอยตัดอ้อยส่งมาเรื่อยๆ แต่ก็ประสบปัญหาเรื่องฝน เรื่องการตรวจจับน้ำหนัก ต้องขนกันทีละน้อยๆ 3-4 วันจึงจะได้ 1 เที่ยวเท่านั้น ส่วนที่ว่ามีอ้อยจากนอกเขตมาส่งด้วย เป็นชาวไร่ในพื้นที่ ไม่รู้ว่าจะมีอ้อยนอกเข้ามาส่ง ไม่รู้เรื่องอ้อยจากที่อื่น รู้แต่ว่าอ้อยบ้านตัวเองยังไม่เสร็จ ถ้าโรงงานไม่หีบต่อไม่รู้จะเอาอ้อยไปไหน รวมของพี่น้องเหลือ 3-4,000 ตัน

นายทรงวุธ ป้องสุวรรณ อายุ 52 ปี โชเฟอร์รถอ้อยจาก บ.หนองเชียงชื่อ ต.ป่าหวาย อ.บ้านฝาง จ.ขอนแก่น เปิดเผยว่า เป็นอ้อยที่ขนมาจาก อ.บ้านฝาง จ.ขอนแก่น ชาวบ้านปลูกไม่มีโควตาส่งที่ไหน จะมีพ่อค้าไปรับซื้อจากไร่เอามาส่งที่โรงงานน้ำพอง ตอนนี้โรงงานปิดแล้ว คันนี้จึงมาส่งโรงงานเกษตรผลในโควตาชาวไร่ อ.โนนสะอาด เมื่อส่งแล้วก็เอาบิลไปขึ้นเงิน และอ้อยที่บ้านฝางมีนายทุนไปมัดจำไว้ยังไม่ได้ตัดอีกจำนวนมาก ตัดแล้วไม่ได้เอาออกมาก็มีเพราะโรงงานปิดหนีก่อน

ต่อมาที่ห้องประชุมชั้น 2 โรงงานน้ำตาลเกษตรผล นายนติพัฒน์ ลีลาเลิศแล้ว นายอำเภอกุมภวาปี, นางพาขวัญ กาจหาญ อุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี, นายธวัชชัย เต็งณฤทธิ์ศิริ หัวหน้าเขตบริหารอ้อยและน้ำตาลทราย, นายไพบูลย์ ธิติศักดิ์ นายกสมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เดินทางเข้าร่วมประชุมกับ กรรมการผู้จัดการ นายโตชิโอะ โยโกฮามา, นายธนากร บุรินทร์ธนชาติ ผจก.โรงงาน และนายไกรสร สามเสน ผจก.ฝ่ายไร่ โรงงานน้ำตาลกุมภวาปี และโรงงานน้ำตาลเกษตรผล

โดยในที่ประชุม นายไพบูลย์ ธิติศักดิ์ นายกสมาคมฯ กล่าวว่า ขอให้โรงงานช่วยขยายหีบอ้อยต่อ เพื่อช่วยชาวไร่ไม่ให้ขาดทุนไปมากกว่านี้ ในปีหน้าชาวไร่จะได้ปลูกอ้อยต่อ ป้อนโรงงานน้ำตาลที่มีการขยายกำลังผลิตพอดี ถ้าชาวไร่ทิ้งอาชีพปลูกอ้อย ก็จะกระทบกับโรงงานในปีต่อๆ ไป โดยยอมรับอ้อยจากพื้นที่อื่นมาเข้าคิวที่โรงงานทั้ง 2 หลังจากโรงงานอื่นปิดหีบแล้ว

ขณะที่ตัวแทนหน่วยงานราชการได้อ้างถึงการประชุมล่าสุดอังคารที่ผ่านมา ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี ขอให้โรงงานทั้ง 2 โรง ขยายเวลาหีบอ้อยออกไปถึง 15 พฤษภาคมนี้ โดยชาวไร่ต้องส่งอ้อยเข้าโรงงานไม่ต่ำกว่าวันละ 5,000 ตัน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่เดือดร้อน เป็นการขอความเห็นใจจากโรงงาน โดยจะไม่ขอขยายเวลาอีกแม้อ้อยจะเหลืออยู่ ทางราชการรับทราบปัญหาที่เกิดจากชาวไร่ เจ้าของโควตา และโรงงาน

สำหรับตัวแทนโรงงาน ได้ชี้แจงและตอบข้อซักถามว่า โรงงานน้ำตาลทั้ง 2 โรง มีแผนการเดินเครื่องจักร 80 เปอร์เซ็นต์ มีสัญญากับชาวไร่รวม 3.13 ล้านตัน เมื่อเริ่มหีบอ้อยพบว่าผลผลิตเพิ่ม กลางมกราคมได้แจ้งให้ชาวไร่มาทำสัญญาเพิ่ม ก็มีสัญญาเพิ่มเป็น 3.2 ล้านตัน และเดือนเมษายนได้ขอยืนยันปริมาณอีกครั้ง คาดจะปิดหีบได้วันที่ 30 เมษายน โดยถึงวันที่ 25 พฤษภาคม โรงงานหีบอ้อยไปแล้ว 3.6 ล้านตัน ล่าสุดชาวไร่ส่งอ้อยเกินสัญญาแล้ว บางรายเกินกว่า 200 เปอร์เซ็นต์ ประกอบกับฝนที่ตกมาช่วงเมษายนที่ผ่านมา โรงงานประสบปัญหาคุณภาพอ้อย ปนเปื้อนของดิน โคลน ทราย มีปริมาณสูงมากจากอ้อย 5,000 ตัน จะมีทรายกว่า 2,000 ตัน ส่งผลให้ลูกหีบชำรุดรวดเร็ว หม้อต้มอุดตัน ต้องหยุดเครื่องซ่อม ทำให้กำลังผลิตลดลง จึงเกิดภาวะรถอ้อยล้นออกนอกโรงงาน ได้ขยายเวลาหีบมาถึงวันที่ 5 พฤษภาคม เมื่อสิ้นสุดการหีบจะใช้อ้อยไปถึง 3.7 ล้านตัน สูงกว่าสัญญา 5 แสนตัน ขณะเครื่องจักรอาจพันจนทำงานต่อไม่ได้ ไม่รวมปัญหาอ้อยไฟไหม้ถูกน้ำจนเน่า โรงงานต้องทิ้งน้ำอ้อยในส่วนนั้น

ตัวแทนโรงงานกล่าวต่อว่า โรงงานอยากจะช่วยชาวไร่ แต่เครื่องจักรโรงงานกำลังวิกฤต การประชุมบอร์ดเมื่อวานยังคงยืนยันปิดหีบในวันที่ 5 พฤษภาคมนี้ โดยรถอ้อยที่มาเข้าคิวในวันนั้นจะให้เข้าส่งให้โรงงานทั้งหมดทุกคัน แล้วโรงงานก็จะหีบไปสุดความสามารถ เครื่องพังเมื่อไหร่ก็หยุด อ้อยที่รับซื้อมาก็เอาไปทิ้ง เอทางราชการยังยืนยันจะขอให้โรงงานหีบต่อ ก็จะส่งเรื่องไปให้บอร์ดตัดสินใจ

นายนติพัฒน์ ลีลาเลิศแล้ว นายอำเภอกุมภวาปี จ.อุดรธานี กล่าวว่า ผู้หลักผู้ใหญ่ห่วงใยเรื่องนี้ สอบถามการตัดสินใจมาตลอด เกรงว่าจะเกิดเรื่องไม่ดีไม่งาม ก็หวังว่าบอร์ดจะมีข่าวดีให้ชาวไร่ เพราะทุกคนมีความหวังได้ขายผลผลิต หากไม่ได้ขายไม่รู้จะมีเหตุน่าเศร้าเกิดขึ้นหรือไม่ โรงงานเองก็ตั้งอยู่ที่นี่มานาน มีผลกำไรจากโรงงานนี้มานานก็ส่งคืนกลับมาบ้างก็ได้

หลังประชุมแล้วเสร็จ นายอำเภอกุมภวาปี จ.อุดรธานี พร้อมนายสมาคมฯ ได้ออกมาชี้แจงชาวไร่อ้อยที่เคลื่อนจากหน้าประตูใหญ่มาอยู่หน้าประตูสำนักงาน ระบุว่า เห็นใจและเข้าใจทุกฝ่าย ได้ขอให้โรงงานขยายเวลา แต่โรงงานต้องรอให้บอร์ดชี้ขาด ระหว่างรอก็ขอให้ทุกคนเคารพกฎหมาย ไม่ก่อเหตุไม่ดีงามหรือวุ่นวายที่จะเกิดความเสียหายในภาพรวม

ล่าสุด เมื่อเวลา 17.30 น. กลุ่มชาวไร่อ้อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้รับแจ้งจากผู้บริหารโรงงานน้ำตาลกุมภวาปี และโรงงานน้ำตาลเกษตรผล ยินดีให้ความช่วยเหลือชาวไร่อ้อยในพื้นที่ยังเหลืออ้อยตกค้าง โดยจะเปิดหีบอ้อยต่อไปอีก 5 วัน หรือไปจนถึงวันที่ 10 พฤษภาคม ซึ่งรถบรรทุกอ้อยทุกคันจะต้องได้รับการตรวจสอบละเอียดว่าเป็นอ้อยของชาวไร่ในพื้นที่จริงๆ จะได้รับการพิจารณานำเข้าโรงงานก่อน

สำหรับอ้อยที่อยู่นอกพื้นที่ต้องรอให้อ้อยในพื้นที่ส่งหมดก่อน นอกจากนี้สมาคมรับปากจะผลักดันให้ยกเว้นการใช้ระเบียบมาตรฐานโรงงานตั้งแต่หลังฝนตกมาราวเดือนเมษายน

จาก https://mgronline.com  วันที่ 5 พฤษภาคม 2561

ชาวไร่อ้อยได้เฮ!!โรงงานยอมเลื่อนรับอ้อยถึง 10 พ.ค.

ที่จ.อุดรธานี เหล่าบรรดาเกษตรกรชาวไร่อ้อยนำรถบรรทุกอ้อยมาต่อคิวยาวเกือบ 5 กม.หวังให้โรงงานรับซื้ออ้อยหากไม่ได้ขู่ปิดถนน สุดท้ายในที่ประชุมของผู้บริหารยอมเลื่อนเปิดหีบไปถึงวันที่ 10 พ.ค.นี้ เกษตรกรชาวอ้อยได้เฮกันถ้วนหน้า

 วันนี้ (4 พ.ค.61) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่โรงงานน้ำตาลเกษตรผล ถนนมิตรภาพ อ.กุมภวาปี มีชาวไร่อ้อยราว 200 คน มารวมตัวที่ประตูทางเข้าโรงงาน พร้อมแจกจ่ายเอกสารทำบันทึก แนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน เพื่อเรียกร้องให้ทางราชการ แก้ไขปัญหาโรงงานน้ำตาลกุมภวาปี และโรงงานน้ำตาลเกษตรผล เลื่อนการเปิดหีบอ้อยต่อไป จนถึงวันที่ 15 พฤษภาคม หลังจากประกาศจะปิดหีบในวันพรุ่งนี้ เพราะยังมีอ้อยตกค้างในไร่จำนวนมาก โดยมีบริการน้ำกาแฟ และอาหารกล่อง

ขณะบริเวณลานจอดรถในโรงงาน มีรถอ้อยทั้งรถบรรทุกเล็ก , รถการเกษตร , รถบรรทุก 6 ล้อ , บรรทุก 10 ล้อ , รถพ่วง และเทเลอร์ มาจอดเข้าคิวรอการเทอ้อยจนเต็มลาน ล้นออกมาริมถนนมิตรภาพ ต่อกันไปด้านทิศตะวันตกรวมยาวกว่า 5 กม. มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.กุมภวาปี มาอำนวยความสะดวกให้รถบรรทุกอ้อย มีคิวตามสัญญาเข้าไปภายในโรงงาน  และให้รถวิ่งผ่านลดความเร็ว และห้ามรถออกจากโรงงานเลี้ยวขวาขึ้นถนนมิตรภาพ

นางเซง โคตรจันทา อายุ 54 ปี ชาวไร่อ้อยบ้านดงเย็น ต.นางิ้ว อ.เขาสวนกวาง จ.ขอนแก่น ตัวแทนชาวไร่ให้สัมภาษณ์ว่า มีโควต้าส่งอ้อยให้โรงงานแห่งนี้ 5,000 ตัน ตอนนี้เหลืออยู่ 500 ตัน จึงอยากมาขอรัฐบาล-โรงงานให้ขยายเวลาหีบไป 7 หรือ 10 วันก็ได้ เพราะยังเอาอ้อยออกจากไร่ไม่หมด สาเหตุจากฝนตกลงมาพอดี และอ้อยก็ปลูกในนาข้าว  ที่รัฐบาลและโรงงานส่งเสริมให้ปลูก และลดพื้นที่การปลูกข้าว ทำให้ขนส่งอ้อยออกมาไม่ได้

นางเซง โคตรจันทา  ตอบข้อซักถามด้วยว่า เราทยอยตัดอ้อยส่งมาเรื่อยๆ แต่ก็ประสบปัญหาเรื่องฝน เรื่องการตรวจจับน้ำหนัก ต้องขนกันทีละน้อยๆ 3-4 วันจึงจะได้ 1 เที่ยวเท่านั้น  ส่วนที่ว่ามีอ้อยจากนอกเขตมาส่งด้วย เป็นชาวไร่ในพื้นที่ ไม่รู้ว่าจะมีอ้อยนอกเข้ามาส่ง ไม่รู้เรื่องอ้อยจากที่อื่น รู้แต่ว่าอ้อยบ้านตัวเองยังไม่เสร็จ ถ้าโรงงานไม่หีบต่อไม่รู้จะเอาอ้อยไปไหน รวมของพี่น้องเหลือ 3-4,000 ตัน ที่เกษตรกชาวไร่อ้อยมาวันนี้หวังให้ทางโรงงานช่วยชาวบ้านบ้างหลายคนบอกว่าหากโรงงานไม่ยอมเลื่อนจะนำรถสิบล้อมาปิดถนนพวกเราไม่อยากทำอย่างนั้นสักนิดเลย ขอเพียงให้ทางโรงงานรับซื้ออ้อยของชาวบ้านทั้งหมดนี้ด้วย

ต่อมาที่ห้องประชุมชั้น 2 โรงงานน้ำตาลเกษตรผล นายนิติพัฒน์ ลีลาเลิศแล้ว นายอำเภอกุมภวาปี , นางพาขวัญ กาจหาญ อุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี , นายธวัชชัย เต็งณฤทธิ์ศิริ  หน.เขตบริหารอ้อยและน้ำตาลทราย , นายไพบูลย์ ธิติศักดิ์ นายกสมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เดินทางเข้าร่วมประชุมกับ นายโตชิโอะ โยโกฮามา กรรมการผู้จัดการ , นายธนากร บุรินทร์ธนชาติ ผจก.โรงงาน และนายไกรสร สามเสน ผจก.ฝ่ายไร่ โรงงานน้ำตาลกุมภวาปี และโรงงานน้ำตาลเกษตรผล

นายไพบูลย์ ธิติศักดิ์ นายกสมาคมฯ กล่าวว่า ขอให้โรงงานช่วยขยายหีบอ้อยต่อ เพื่อช่วยชาวไร่ไม่ให้ขาดทุนไปมากกว่านี้ ในปีหน้าชาวไร่จะได้ปลูกอ้อยต่อ ป้อนโรงงานน้ำตาลที่มีการขยายกำลังผลิตพอดี ถ้าชาวไร่ทิ้งอาชีพปลูกอ้อย ก็จะกระทบกับโรงงานในปีต่อๆไป โดยยอมรับอ้อยจากพื้นที่อื่น มาเข้าคิวที่โรงงานทั้ง 2 หลังจากโรงงานอื่นปิดหีบแล้ว

ตัวแทนหน่วยงานราชการ อ้างถึงการประชุมล่าสุดอังคารที่ผ่านมา ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี ขอให้โรงงานทั้ง 2 โรง ขยายเวลาหีบอ้อยออกไปถึง 15 พฤษภาคมนี้ โดยชาวไร่ต้องส่งอ้อยเข้าโรงงานไม่ต่ำกว่าวันละ 5,000 ตัน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่เดือดร้อน เป็นการขอความเห็นใจจากโรงงาน โดยจะไม่ขอขยายเวลาอีกแม้อ้อยจะเหลืออยู่

 ตัวแทนโรงงาน ชี้แจงและตอบข้อซักถามว่า โรงงานน้ำตาลทั้ง 2 โรง มีแผนการเดินเครื่องจักร 80 เปอร์เซ็นต์ มีสัญญากับชาวไร่รวม 3.13 ล้านตัน เมื่อเริ่มหีบอ้อยพบว่าผลผลิตเพิ่ม กลางมกราคมได้แจ้งให้ชาวไร่มาทำสัญญาเพิ่ม ก็มีสัญญาเพิ่มเป็น 3.2 ล้านตัน และเดือนเมษายนได้ขอยืนยันปริมาณอีกครั้ง คาดจะปิดหีบได้วันที่ 30 เมษายน โดยถึงวันที่ 25 พฤษภาคม โรงงานหีบอ้อยไปแล้ว 3.6ล้านตัน ล่าสุดชาวไร่ส่งอ้อยเกินสัญญาแล้ว บางรายเกินกว่า 200 เปอร์เซนต์

ทางโรงงานบอกอีกว่า ฝนที่ตกมาช่วงเมษายนที่ผ่านมา โรงงานประสบปัญหาคุณภาพอ้อย ปนเปื้อนของดิน โครน ทราย มีปริมาณสูงมากจากอ้อย 5,000 ตัน จะมีทรายกว่า 2,000 ตัน ส่งผลให้ลูกหีบชำรุดรวดเร็ว หม้อต้มอุดตัน ต้องหยุดเครื่องซ่อม ทำให้กำลังผลิตลดลง จึงเกิดภาวะรถอ้อยล้นออกนอกโรงงาน ได้ขยายเวลาหีบมาถึงวันที่ 5 พฤษภาคม เมื่อสิ้นสุดการหีบจะใช้อ้อยไปถึง 3.7 ล้านตัน สูงกว่าสัญญา 5 แสนตัน ขณะเครื่องจักรอาจพันจนทำงานต่อไม่ได้ ไม่รวมปัญหาอ้อยไฟไหม้ถูกน้ำจนเน่า โรงงานต้องทิ้งน้ำอ้อยในส่วนนั้น”    

ตัวแทนโรงงาน กล่าวต่อว่า โรงงานอยากจะช่วยชาวไร่ แต่เครื่องจักรโรงงานกำลังวิกฤติ การประชุมบอร์ดเมื่อวาน ยังคงยืนยันปิดหีบในวันที่ 5 พฤษภาคมนี้ โดยรถอ้อยที่มาเข้าคิวในวันนั้น จะให้เข้าส่งให้โรงงานทั้งหมดทุกคัน แล้วโรงงานก็จะหีบไปสุดความสามารถ เครื่องพังเมื่อไหร่ก็หยุด อ้อยที่รับซื้อมาก็เอาไปทิ้ง และทางราชการยังยืนยันจะขอให้โรงงานหีบต่อ ก็จะส่งเรื่องไปให้บอร์ดตัดสินใจ

นายนิติพัฒน์ ลีลาเลิศแล้ว นายอำเภอกุมภวาปี จ.อุดรธานี กล่าวว่า ผู้หลักผู้ใหญ่ห่วงใยเรื่องนี้ สอบถามการตัดสินใจมาตลอด เกรงว่าจะเกิดเรื่องไม่ดีไม่งาม ก็หวังว่าบอร์ดจะมีข่าวดีให้ชาวไร่ เพราะทุกคนมีความหวังได้ขายผลผลิต หากไม่ได้ขายไม่รู้จะมีเหตุน่าเศร้า ชาวไร่อ้อยฆ่าตัวตายเกิดขึ้นหรือไม่ โรงงานเองก็ตั้งอยู่ที่นี่มานาน มีผลกำไรจากโรงงานนี้มานาน ก็ส่งคืนกลับมาบ้างก็ได้

จากนั้น นายนิติพัฒน์ ลีลาเลิศแล้ว นายอำเภอกุมภวาปี จ.อุดรธานี และนายไพบูลย์ ธิติศักดิ์ นายกสมาคมฯ ได้ออกมาร่วมชี้แจงชาวไร่อ้อย ที่เคลื่อนจากหน้าประตูใหญ่ มาอยู่หน้าประตูสำนักงาน ระบุว่า เห็นใจและเข้าใจทุกฝ่าย ได้ขอให้โรงงานขยายเวลา แต่โรงงานต้องรอให้บอร์ดชี้ขาด ระหว่างรอก็ขอให้ทุกคนเคารพกฎหมาย ไม่ก่อเหตุไม่ดีงามหรือวุ่นวายหรือขู่จะนำรถอ้อยมาปิดถนนซึ่งจะเกิดความเสียหายในภาพรวม

ต่อมาเวลา 17.30 น. นายไพบูลย์ ธิติศักดิ์ นายกสมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งจากผู้บริหารโรงงานน้ำตาลกุมภวาปี และโรงงานน้ำตาลเกษตรผล ยินดีให้ความช่วยเหลือชาวไร่อ้อย ในพื้นที่ยังเหลืออ้อยตกค้าง โดยจะเปิดหีบอ้อยต่อไปอีก 5 วัน หรือไปจนถึงวันที่ 10 พฤษภาคม ซึ่งรถบรรทุกอ้อยทุกคัน จะต้องได้รับการตรวจสอบละเอียด ว่าเป็นอ้อยของชาวไร่ในพื้นที่จริงๆ จะได้รับการพิจารณานำเข้าโรงงานก่อน สำหรับอ้อยที่อยู่นอกพื้นที่ ต้องรอให้อ้อยในพื้นที่ส่งหมดก่อน

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 4 พฤษภาคม 2561

อุตฯเกษตรวอนรัฐเลิกใช้พาราควอตเสียหายทั้งระบบสูญกว่าแสนล./ปี

ภาคอุตสาหกรรมเกษตรวอนรัฐเห็นใจเกษตรกร หากเลิกใช้พาราควอต หวั่นเศรษฐกิจเกษตรเสียหายทั้งระบบ สูญกว่าแสนล้านบาทต่อปี

สมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ ร่วมกับ กลุ่มรวบรวมข้าวโพดหวานแห่งประเทศไทย กลุ่มโรงงานน้ำตาลลุ่มน้ำแม่กลอง สมาคมส่งเสริมธุรกิจพืชอาหารสัตว์ สมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และผู้เชี่ยวชาญด้านปาล์มน้ำมัน จัดเสวนา วิเคราะห์เศรษฐกิจเกษตร หากไร้พาราควอต พบว่า เกิดความเสียหายขึ้นทันทีหากยกเลิกใช้ สารพาราควอต มูลค่าสูงกว่าแสนล้านบาท เพราะพาราควอตเป็นปัจจัยการผลิตสำคัญกับพืชเศรษฐกิจหลายชนิดไม่ว่าจะเป็นยางพาราในพื้นที่ 25 ล้านไร่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 8 ล้านไร่ ข้าวโพดหวาน 7 แสนไร่ อ้อย 11 ล้านไร่ มันสำปะหลัง 8 ล้านไร่ และปาล์มน้ำมัน 5 ล้านไร่

ดังนั้น ภาคอุตสาหกรรมเกษตร ร้องขอให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าใจถึงผลกระทบและความเสียหายต่อเกษตรกร ระบบการผลิต อุตสาหกรรมการแปรรูป อุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งเชื่อมโยงเป็นห่วงโซ่ที่แยกจากกันไม่ได้ โดยเฉพาะ เกษตรกร ในฐานกระดูกสันหลังของชาติ ขอให้พิจารณาผลกระทบอย่างรอบคอบ หากเกษตรกรอยู่ไม่ได้ สร้างผลผลิตไม่ได้ จะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังอุตสาหกรรมเกษตรทั้งระบบ

ดร. นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต นายกสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ เผยว่า สินค้าเกษตรมีบทบาทสำคัญด้านการส่งออกสำคัญของประเทศไทย ได้แก่ ข้าวโพด มันสำปะหลัง ผลผลิตจากอ้อย อาทิ น้ำตาลดิบ ส่งออกเป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยมีเทคโนโลยีปัจจัยการผลิตสำคัญ นั่นคือ สารกำจัดวัชพืชพาราควอต ที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุน บริหารปัญหาวัชพืชอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถผลิตได้อย่างมีคุณภาพและตรงตามความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้ง กลุ่มนักวิชาการและแพทย์ชี้ข้อเท็จจริงแล้วว่า พาราควอต มีความจำเป็นต่อเกษตรกร และประเด็นด้านสุขภาพจากเอกสารงานวิจัยต่าง ๆ ไม่ได้ระบุว่า พาราควอต เป็นสาเหตุของการเกิดโรค และอาการต่าง ๆ ดังกล่าวอ้าง เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็น

ดร. บรรพต ด้วงชนะ นักวิชาการด้านอ้อยและน้ำตาล กลุ่มโรงงานน้ำตาลลุ่มน้ำแม่กลอง กล่าวว่า อ้อย กับ วัชพืช เป็นของคู่กัน โดยเฉพาะระยะการเจริญเติบโตของอ้อยในช่วง 4-5 เดือน จะต้องปลอดวัชพืช ดังนั้น สารพาราควอต เสมือนเป็นยาสามัญประจำบ้าน มีความจำเป็นต่อการเพาะปลูกอ้อยของไทย ในพื้นที่รวมกว่า 11 ล้านไร่ สร้างรายได้สูงเกือบ 300,000 ล้านบาทต่อปี หากมีการยกเลิกใช้สารพาราควอต คิดเป็นมูลค่าความเสียหายสูงถึง 60,000 ล้านบาท เนื่องจาก ปัจจุบัน อุตสาหกรรมโรงงานน้ำตาล ร้อยละ 80 เป็นผู้ให้เงินทุนสนับสนุนต่อชาวไร่อ้อย หากชาวไร่อ้อยไม่สามารถผลิตอ้อยส่งได้ตามเป้าหมาย เกษตรกรก็จะขาดรายได้และเกิดหนี้สิน ส่วนโรงงานน้ำตาลก็ขาดวัตถุดิบและต้นทุนการผลิตสูงขึ้น กระทบต่อเนื่องไปยังอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายดิบ

นายคมกฤต ปานจรูญรัตน์ รองประธาน กลุ่มรวบรวมข้าวโพดหวานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า พื้นที่ปลูกข้าวโพดหวานทั่วประเทศ มีขนาด 700,000 ไร่ มูลค่าการส่งออกเกือบ 7,000 ล้านบาท ยังไม่นับการบริโภคภายในประเทศ อาจมีมูลค่าไม่น้อยกว่า 6,000 ล้านบาท และประเทศไทย ส่งออกเป็นอันดับหนึ่งของโลก ปัจจุบัน ยังไม่มีสารใดสามารถใช้ทดแทนได้ในประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่เท่ากัน หากมีการห้ามใช้ สารพาราควอต ข้าวโพดหวาน จะส่งผลต้นทุนการเกษตรเพิ่มขึ้น คิดเป็นมูลค่า 800 ล้านบาท และจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังกลุ่มผู้ผลิตข้าวโพดกระป๋อง คิดเป็นมูลค่า 7,000 ล้านบาท

ด้านการส่งออก ปัจจุบัน กลุ่มประเทศในยุโรป ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ นำเข้าข้าวโพดหวานจากไทยเป็นจำนวนมาก แม้ว่าจะมีการใช้สารพาราควอต ในกระบวนการผลิต ไม่เคยเกิดกรณีตีกลับข้าวโพดหวานจากสารพาราควอตตกค้าง หรือมีอันตรายต่อผู้บริโภค แต่กระแสข่าวที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับพาราควอต ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นด้านการส่งออกในระดับนานาชาติ

นายเดชรักษา ทัพทวี นายกสมาคมส่งเสริมธุรกิจพืชอาหารสัตว์ กล่าวว่า โปรตีนจากเนื้อสัตว์ เป็นแหล่งอาหารสำคัญของประชากรโลก ณ ปัจจุบัน โดยปัจจัยสำคัญต่ออุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ คือ พืชอาหารสัตว์ เช่น มันสำปะหลัง ข้าวโพด หญ้าเนเปียร์ และพืชอื่นๆ ปัจจุบัน ต้นทุนพืชอาหารสัตว์สูง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อไปยังอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ ที่จะมีราคาสูงขึ้น หากมีการห้ามใช้ สารพาราควอต อีก ก็จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของเกษตรกรสูงขึ้น ปริมาณผลผลิตพืชอาหารสัตว์ลดลง สุดท้ายก็จะส่งผลต่อผู้บริโภครับประทานเนื้อสัตว์ในราคาที่แพงขึ้น คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 700 ล้านบาท

นายภมร ศรีประเสริฐ อุปนายก สมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลัง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า ประเทศไทยส่งออกมันสำปะหลังเป็นอันดับ 1 ของโลก มีพื้นที่เพาะปลูก 7.9 ล้านไร่ มูลค่าส่งออกอุตสาหกรรมแป้งมันและมันเส้นมากกว่า 110,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ประเทศไทยใช้มันสำปะหลังในอุตสาหกรรมอาหารมากที่สุด โดยแต่ละโรงงานผลิตมันสำปะหลังมีระบบประกันคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็น ISO GMP HACCP ขณะเดียวกัน สำนักงานมาตรฐานสินค้า กระทรวงพาณิชย์ ก็ได้มีการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง ยังไม่เคยพบสารพาราควอตในมันสำปะหลัง ผู้บริโภคจึงมั่นใจได้ว่า มันสำปะหลังมีคุณภาพดีและปราศจากการปนเปื้อน ดังนั้น การห้ามใช้ พาราควอต จึงไม่มีความจำเป็น เพราะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค แต่กลับจะส่งผลต้นทุนการเกษตรเพิ่มขึ้น ผลผลิตสูญหาย และกระทบต่อเนื่องไปยังอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลังและมันสำปะหลังเส้น จนถึงการส่งออกไปต่างประเทศ

รศ. ดร. พรชัย เหลืองอาภาพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านปาล์มน้ำมัน กล่าวว่า ปาล์มน้ำมัน ใช้ในหลายอุตสาหกรรมทั้งการบริโภค อุปโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไบโอดีเซล ปัจจุบัน มีเกษตรกรสวนปาล์มรวมพื้นที่ 5.5 ล้านไร่ ปกติใช้สารกำจัดวัชพืช พาราควอต ปีละ 1-2 ครั้ง ไม่สามารถทดแทนด้วยกำลังคน เนื่องจากมีต้นทุนแรงงานที่สูง และหาแรงงานยาก หากมีการห้ามใช้ พาราควอต จะส่งผลต้นทุนการเกษตรเพิ่มขึ้น คิดเป็นมูลค่า 466 ล้านบาท สำหรับยางพาราต้นทุนจะเพิ่มขึ้นเป็นมูลค่า 10,389 ล้านบาท

ท้ายที่สุด กลุ่มรวบรวมข้าวโพดหวานแห่งประเทศไทย กลุ่มโรงงานน้ำตาลลุ่มน้ำแม่กลอง สมาคมส่งเสริมธุรกิจพืชอาหารสัตว์ สมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และผู้เชี่ยวชาญด้านปาล์มน้ำมัน มีความเห็นตรงกันว่า ไม่ควรห้ามใช้ สารกำจัดวัชพืช พาราควอต เพราะเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิต ส่งผลกระทบกับห่วงโซ่อุปทานทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำ (การผลิต) จนถึงปลายน้ำ (ผลิตผลหรือสินค้าแปรรูป) และยังไม่มีสารอื่นที่สามารถมาทดแทนได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่เท่าเทียมกัน รวมทั้ง ภาครัฐยังไม่มีมาตรการรองรับผลกระทบด้านต้นทุนของเกษตรกร หากมีการห้ามใช้ พาราควอต จะส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรของไทยอย่างใหญ่หลวง พิจารณาเพียงแค่กลุ่มเกษตรกรข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ส่งผลกระทบเสียหายทั้งระบบรวมมูลค่ากว่าแสนล้านบาท ดังนั้น จึงขอให้ภาครัฐคำนึงถึง เกษตรกร บริบทของประเทศไทย ผลประโยชน์ของประเทศชาติ เป็นหลัก และพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนการตัดสินใจ เพราะประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม เกษตรกรคือกลจักรสำคัญของประเทศ ที่จะก้าวสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 เป็น ครัวของโลก ได้อย่างแท้จริง

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 4 พฤษภาคม 2561

เกษตรกางแผนรับน้ำ ตั้งวอร์รูมติดตามสถานการณ์ทั่วประเทศ ป้องกันอุทกภัยพื้นที่เสี่ยง

"บิ๊กฉัตร" สั่งพร่องน้ำเหนือ-อีสานรับพายุเข้าไทย เดือน ส.ค.ต.ค. คุมอ่างเก็บน้ำเร่งจัดทำแผนบริหารน้ำหลากรายพื้นที่

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ว่าได้ตั้งคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารน้ำทั้งประเทศ เพื่อบริหารน้ำหลาก เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย. 2561 จะมีพายุเข้าไทย 2 ลูก

ทั้งนี้ ให้ทำแผนบูรณาการบริหารน้ำทั้งหมดให้มีความชัดเจนแยกเป็นรายพื้นที่และกำหนดหน่วยงานที่รับผิดชอบให้ชัดเจนเพื่อรายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งจะลดความเสียหายหากมีอุทกภัย โดยให้แล้วเสร็จในเดือน พ.ค. และชี้แจงประชาชนในต้นเดือนมิ.ย.

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า สิ่งที่เป็นห่วงปีนี้คือ น้ำท่วม โดยกรมอุตุฯ คาดว่า ช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย. และเดือน ก.ย.-ต.ค.จะมีพายุรวม 2 ลูก โดยแนวพายุจะผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งปัจจุบันอ่างเก็บน้ำมีน้ำมากกว่า 80% ประมาณ 22 แห่ง แต่เป็นอ่างขนาดกลางและเล็ก

สำหรับพื้นที่น่าห่วงคือ ลุ่มน้ำชี ปลายลุ่มน้ำมูลและน้ำโขง โดยให้กรมชลประทานไปปรับแผนบริหารน้ำในอ่างเก็บน้ำใหม่ทั้งหมด ซึ่งมีเกือบ 60 แห่ง โดยเฉพาะในพื้นที่แนวที่คาดว่าพายุจะเข้า คือภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อใช้เป็นเครื่องมือบริหารน้ำช่วยลดผลกระทบ

นอกจากนั้น มีมติมอบทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการ 4 มาตรการหลักรองรับสถานการณ์ล่วงหน้าคือ 1.การบริหารจัดการน้ำในเขื่อนต่างๆ ให้เหมาะสม 2.การชี้แจงทำความเข้าใจกับเกษตรกร และประชาชนในพื้นที่ลุ่มต่ำ ภาคกลาง 13 ทุ่ง สามารถรองรับน้ำได้รวม 2,050 ล้านลูกบาศก์เมตร ( ลบ.ม.)3.การสำรวจสิ่งก่อสร้างและอุปสรรคที่กีดขวางทางน้ำและแผนรองรับให้แล้วเสร็จก่อนฤดูน้ำหลากและ 4.สำรวจและเตรียมความพร้อมอุปกรณ์ เครื่องจักรเครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ข้อมูลวันที่ 1 พ.ค. 2561 มีปริมาณน้ำใช้การได้ 5 หมื่นล้าน ลบ.ม. มากกว่าปี 2558 ประมาณ 20-25% โดยเตรียมปรับแผนบริหารในอ่างเก็บน้ำใหม่ เนื่องจากสถานการณ์เปลี่ยน ซึ่งจะส่งน้ำให้เกษตรกรเพื่อทำการเกษตรไม่ได้ระบายทิ้ง จากแผนเดิมที่จะให้เกษตรกรใช้น้ำฝน แต่พบว่าจะมีภาวะฝนทิ้งช่วงเป็นระยะ

จาก https://www.posttoday.com   วันที่ 4 พฤษภาคม 2561

ค่าเงินบาทแข็งค่าเล็กน้อยหลังเฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ย ตลาดจับตาดูตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 3 พฤษภาคม 2561 ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 31.69/71 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (2/5) ที่ระดับ 31.70/72 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ออกแถลงการณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ซึ่งเสร็จสิ้นลงเมื่อวานนี้ (2 พ.ค.) ว่า ตลาดแรงงานยังคงมีความแข็งแกร่ง และกิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับตัวขึ้นในระดับปานกลาง ส่วนการขยายตัวของการจ้างงานในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมานั้น มีความแข็งแกร่งและอัตราว่างงานยังคงอยู่ในระดับต่ำ ข้อมูลที่มีการเปิดเผยเมื่อไม่นานมานี้บ่งชี้ว่า อัตราการขยายตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนอยู่ในระดับปานกลาง หลังจากมีการขยายตัวอย่างแข็งแกร่งในไตรมาส 4 ขณะที่การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรยังคงขยายตัวแข็งแกร่ง ส่วนตัวเลขเงินเฟ้อรายปี ทั้งอัตราเงินเฟ้อทั่วไป และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่นับรวมราคาในหมวดอาหารและพลังงาน เคลื่อนตัวเข้าใกล้ระดับ 2% ส่วนข้อมูลเงินเฟ้อที่ได้จากการคำนวณมาตรวัดของตลาดนั้น ยังคงอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจการคาดการณ์เงินเฟ้อระยะยาวบ่งชี้ว่า มีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย

ทั้งนี้ คณะกรรมการ FOMC มุ่งมั่นที่จะสนับสนุนการจ้างงานให้เติบโตอย่างเต็มที่และหนุนราคาให้มีเสถียรภาพ คณะกรรมการคาดว่า ด้วยการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินอย่างค่อยเป็นค่อยไปนั้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะขยายตัวปานกลางในระระกลาง และภาวะในตลาดแรงงานจะยังคงมีความแข็งแกร่ง ส่วนอัตราเงินเฟ้อเมื่อเทียบรายปีนั้น คาดว่าจะปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 2% ซึ่งเป็นเป้าหมายในระยะกลางของคณะกรรมการ FOMC ขณะที่แนวโน้มความเสี่ยงในระยะใกล้ของเศรษฐกิจยังคงมีความสมดุล เมื่อพิจารณาถึงภาวะตลาดแรงงานและเงินเฟ้อที่เป็นไปตามการคาดการณ์แล้ว คณะกรรมการได้ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น ที่ระดับ 1.50-1.75% ขณะที่จุดยืนด้านนโยบายการเงินนั้น ยังคงอยู่ในลักษณะผ่อนคลาย ซึ่งจะช่วยสนับสนุนภาวะตลาดแรงงานให้ปรับตัวดีขึ้นต่อไป และจะช่วยหนุนเงินเฟ้อให้ปรับตัวสู่ระดับ 2% อีกครั้ง

ในการตัดสินใจเกี่ยวกับช่วงเวลาและขนาดในการปรับอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในอนาคตนั้น ทางคณะกรรมการจะประเมินภาวะเศรษฐกิจทั้งในแง่ของความเป็นจริงและการคาดการณ์ ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับเป้าหมายของการจ้างงานสูงสุดและเงินเฟ้อที่ 2% การประเมินนี้จะพิจารณาข้อมูลในวงกว้าง ซึ่งรวมถึงมาตรวัดภาวะตลาดแรงงาน ปัจจัยชี้วัดเกี่ยวกับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ และคาดการณ์เงินเฟ้อ และการพิจารณาถึงความคืบหน้าทางการเงินและสถานการณ์ในต่างประเทศ คณะกรรมการจะจับตาความคืบหน้าเกี่ยวกับการบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด ทั้งในแง่ความเป็นจริงและการคาดการณ์ คณะกรรมการคาดว่าภาวะทางเศรษฐกิจจะปรับตัวในแนวทางที่จะสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป และอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นมีแนวโน้มที่จะยังคงต่ำกว่าระดับที่คาดการณ์ไว้ในระยะยาวต่อไปสักระยะหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ทิศททางที่แท้จริงของอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นจะขึ้นอยู่กับแนวโน้มเศรษฐกิจตามข้อมูลที่กำลังจะมีการเปิดเผยต่อจากนี้ ซึ่งนักลงทุนกำลังจับตาดูตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรในวันศุกร์นี้ (4/5) ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 31.66-31.76 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.66/61.68 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้ (3/5) เปิดตลาดที่ระดับ 1.1975/78 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าลงจากราคาปิดตลาดในวันพุธ (2/5) ที่ระดับ 1.2005/07 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร หลังจากเฟดส่งสัญญาณแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐที่ดีขึ้นและมีโอกาสในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่เร็วกว่าเดิม ส่งผลให้นักลงทุนมีแรงเทขายเงินยูโรออกมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับเศรษฐกิจในแถบยูโรโซนที่เริ่มชะลอตัวลง โดยล่าสุดสำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (ยูโรสแตท) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจยูโรโซนขยายตัว 0.4% ในไตรมาสแรก โดยลดลงจากระดับ 0.7% ในไตรมาส 4 ของปีที่แล้วเมื่อเทียบรายปี เศรษฐกิจยูโรโซนขยายตัว 2.5% ในไตรมาสแรก นอกจากนี้ ยูโรสแตทยังเปิดเผยว่า อัตราการว่างงานในยูโรโซนทรงตัวในเดือนมีนาคม โดยอยู่ที่ระดับ 8.5% ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 1.1947-1.2008 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.1972/74 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ในส่วนของค่าเงินเยนวันนี้ (3/5) เปิดตลาดที่ระดับ 109.70/72 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากราคาปิดตลาดในวันพุธ (2/5) ที่ระดับ 109.82/84 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่นักลงทุนกำลังจับตาดูตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐ ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 109.55-109.87 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 109.56/59 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลทางเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัยของสหรัฐที่ต้องจับตาดูในสัปดาห์นี้ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ดุลการค้าเดือน มี.ค. ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเดือน เม.ย. จากมาร์กิต ดัชนีภาคบริการเดือน เม.ย.จากสถาบัน จัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) คำสั่งซื้อภาคโรงงานเดือน มี.ค. และตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน เม.ย.

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.6/-2.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -0.7/-0.2 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 3 พฤษภาคม 2561

รับมือน้ำท่วมอ้อย! “สอน.” ประสานโรงงานรับอ้อยเข้าหีบให้มากสุด

“สอน.” ประสานโรงงานน้ำตาลใกล้ชิดเพื่อช่วยเหลือชาวไร่อ้อยหลังฝนตกหนักทั่วประเทศกระทบการตัดอ้อย ทั้งให้โรงงานบางแห่งเลื่อนปิดหีบ โดยแห่งสุดท้ายจะปิด 15 พ.ค. และให้รับซื้ออ้อยที่ตัดไม่ได้จากน้ำท่วมกับชาวไร่อ้อยที่เป็นคู่สัญญาเพื่อให้อ้อยค้างไร่น้อยที่สุด ขณะที่ 4 องค์กรชาวไร่เตรียมหารือ 8 พ.ค.ประเมินสถานการณ์ฤดูผลิตใหม่ที่แนวโน้มไม่สดใส

นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ช่วงฤดูฝนทำให้ฝนตกทั่วประทเศในขณะนี้จนกระทบต่อการตัดอ้อยในหลายพื้นที่ สอน.จึงได้ประสานงานกับโรงงานน้ำตาลใกล้ชิดโดยเฉพาะชาวไร่อ้อยที่เป็นคู่สัญญาโรงงานจะต้องรับซื้ออ้อยให้หมดเพื่อให้อ้อยค้างไร่เหลือน้อยที่สุด ซึ่งจากการประเมินในเบื้องต้นล่าสุดยังคงเหลืออ้อยค้างหีบอีกประมาณกว่า 2 ล้านตัน โดยโรงงานน้ำตาลจะปิดหีบโรงสุดท้ายในวันที่ 15 พ.ค.นี้ คาดว่าจะมีอ้อยเข้าหีบฤดูการผลิตปี 2560/61 ประมาณ 134 ล้านตัน

“โรงงานก็ให้ความร่วมมือ บางโรงกำหนดจะปิดแล้วก็เลื่อนการปิดออกไปบ้าง หลังจากที่ฝนตกทำให้ตัดอ้อยไม่ได้ทำให้โรงงานขณะนี้ปิดหีบแล้ว 29 แห่ง ที่เหลือประมาณ 25 แห่งยังเปิดอยู่ และโรงสุดท้ายจะปิด 15 พ.ค.นี้ เราก็มอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดช่วยดูแลอย่างใกล้ชิดในการประสานกับโรงงานที่จะช่วยเหลือชาวไร่และก็ต้องแก้ไขเป็นกรณีๆ ไป เช่น กรณี จ.สระแก้วก็มีปัญหาว่าได้ผ่อนผันให้ใช้แรงงานต่างด้าวมาตัดอ้อยถึง 30 เม.ย. แต่ปรากฏว่าอ้อยมากต้องขอให้ผ่อนผันต่อไปอีก ทางจังหวัดก็ดำเนินการแก้ไขกันแล้ว เป็นต้น” นางวรวรรณกล่าว

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ยอมรับว่าฝนตกทั่วประเทศกระทบต่อการตัดอ้อยของชาวไร่บางส่วนทำให้ได้รับความเสียหาย แต่กรณีชาวไร่อ้อยที่เป็นคู่สัญญาทางโรงงานจะรับซื้อทั้งหมดก็จะทำให้ผลกระทบน้อยลง อย่างไรก็ตาม วันที่ 8 พ.ค.นี้ 4 องค์กรชาวไร่อ้อยจะหารือถึงสถานการณ์การหีบอ้อยฤดูผลิตปี 2560/61 ที่ยอมรับว่าผลผลิตมากกว่าที่ประเมินไว้ค่อนข้างสูง และเป็นกังวลในปี 2561/62 ทั้งราคาน้ำตาลตลาดโลกที่ยังทรงตัวระดับต่ำจะกระทบต่อราคาอ้อยขั้นต้น แล้วหากพิจารณาถึงฐานะกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) ก็ดูจะลำบากคงจะต้องประเมินไว้เพื่อหาแนวทางรับมือตั้งแต่แรก

“ปีนี้เราก็พบปัญหาจากที่ไม่เคยเจอเพราะอ้อยเยอะมาก ฝนมาช่วงยังไม่ปิดหีบในขณะนี้ แล้วการขนส่งอ้อยเราก็ถูกควบคุมน้ำหนักอย่างมากเป็นประสบการณ์ที่ต้องเตรียมไว้ว่าฤดูหน้าควรทำอย่างไร และถ้าราคาน้ำตาลตลาดโลกเฉลี่ย 11 เซ็นต์ต่อปอนด์ราคาขั้นต้นคงไม่ถึง 700 บาทต่อตันแน่ กองทุนฯ เคยกู้มาเพิ่มได้ก็จะทำไม่ได้เราจะทำอย่างไรปีหน้าน่าจะเผาจริง” นายนราธิปกล่าว

สำหรับราคาอ้อยขั้นต้นฤดูผลิตปี 60/61 ที่รัฐประกาศอยู่เฉลี่ยที่ 880 บาทต่อตัน แต่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เห็นชอบให้ช่วยเหลือเพิ่มจากกองทุนอ้อยฯ วงเงิน 6,285 บาท เฉลี่ยชาวไร่อ้อยจะได้รับค่าอ้อยเพิ่มตามระบบแบ่งปันผลประโยชน์ ชาวไร่และโรงงาน 70:30 คาดว่าชาวไร่จะได้รับเพิ่มเฉลี่ยตันละ 31-32 บาท

จาก https://mgronline.com  วันที่ 3 พฤษภาคม 2561

KBS ปลื้มปีนี้อ้อยเข้าหีบเฉียด 4 ล้านตัน

 “น้ำตาลครบุรี” คาดปีนี้รายได้โตขึ้น แม้ว่าราคาน้ำตาลตลาดโลกลดวูบเหลือ 11 เซ็นต์/ปอนด์ แต่ปีนี้มีปริมาณอ้อยเข้าหีบพุ่งขึ้นแตะ 3.9 ล้านตันอ้อย มากกว่าปีก่อนกว่า 60%

นายอิสสระ ถวิลเติมทรัพย์ กรรมการ บริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) (KBS) เปิดเผยว่า ในฤดูกาลผลิตปี 2560/61 โรงงานน้ำตาลครบุรีมีอ้อยเข้าหีบสูงถึง 3.9 ล้านตันอ้อย เพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีอ้อยเข้าหีบ 2.4 ล้านตันอ้อย เนื่องจากผลผลิตอ้อยในปีนี้สูงมาก ราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกอ่อนตัวลงมากล่าสุดอยู่ที่ 11 เซ็นต์กว่า/ปอนด์ ต่ำกว่าราคาเฉลี่ยปีที่แล้วที่ 17-18 เซ็นต์/ปอนด์ รวมทั้งราคาขายน้ำตาลทรายในประเทศก็อ่อนตัวลงด้วย และค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ทำให้ผลประกอบการในปีนี้บริษัทคาดว่าจะมีรายได้สูงกว่าปีก่อนที่มีรายได้รวม 8.17พันล้านบาท เนื่องจากต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) ลดลงจากปริมาณอ้อยเข้าหีบมาก แม้ว่าราคาน้ำตาลจะอ่อนตัวลงก็ตาม

“ยังไม่สามารถคาดเดาแนวโน้มราคาน้ำตาลทรายดิบโลกในปีนี้จะอยู่ที่ระดับราคาเท่าไร หลังจากปรับตัวจากระดับ 10 เซ็นต์กว่า/ปอนด์ มาอยู่ที่ 11 เซ็นต์กว่า ประเมินว่าราคาน่าจะทรงตัวอยู่ระดับนี้”

นายอิสสระกล่าวถึงความคืบหน้าการตั้งโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ ขนาด 2 หมื่นตันอ้อย/วัน ที่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ว่าบริษัทฯ ยังไม่ได้รับใบอนุญาตจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) หลังจากได้ยื่นรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ไปก่อนหน้านี้ ทำให้โครงการดังกล่าวต้องชะลอออกไป

จาก https://mgronline.com  วันที่ 3 พฤษภาคม 2561

‘บิ๊กฉัตร’ ถกวางแผนจัดการน้ำหลาก พร้อมประกาศพื้นที่เสี่ยงท่วม

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 1/2561 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นองค์ประกอบในคณะอนุกรรมการฯ อาทิ กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)

สำหรับสถานการณ์น้ำหลาก ปี 2561 ตามที่ สทนช. จัดทำระบบคาดการณ์ โดยรวมรวมข้อมูลจากทุกหน่วยงานมาวิเคราะห์ เช่น ปริมาณน้ำฝน ข้อมูลน้ำท่า ข้อมูลน้ำในแหล่งเก็บกักน้ำต่างๆ โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงซึ่งได้มีการประเมินพื้นที่ต่างๆ มีความเสี่ยงที่จะเกิดอุทกภัยตามอิทธิพลของมรสุมในช่วงเดือนต่างๆ ดังนี้ เดือนมิ.ย. 2561 ได้แก่ จ.น่าน แพร่ เพชรบูรณ์ ปราจีนบุรี จันทบุรี พังงา เดือนมิ.ย.-ก.ค. 2561 ได้แก่ จ.เชียงใหม่ อุบลราชธานี เดือนก.ค.-ส.ค. 2561 ได้แก่ ลำปาง พิษณุโลก ส.ค.-ก.ย. ได้แก่ แพร่ สุโขทัย นครสวรรค์ อุทัยธานี

เดือนก.ย.-ต.ค. 2561 ได้แก่ แพร่ สุโขทัย ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง อยุธยา เดือนต.ค.-พ.ย. 2561 ได้แก่ ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพฯ สงขลา และเดือนพ.ย.-ธ.ค. 2561 ได้แก่ สงขลา นครศรีธรรมราช

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กล่าวภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้ร่วมมีมติมอบทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการใน 4 มาตรการหลักรองรับสถานการณ์ล่วงหน้า คือ 1. การบริหารจัดการน้ำในเขื่อนต่างๆ ให้เหมาะสม และสามารถรองรับปริมาณฝนในช่วงฤดูฝนได้ ซึ่งเบื้องต้นพบว่ามีปริมาณน้ำเก็บกักเฉลี่ย 63% ของความจุอ่างฯ และให้พิจารณาจัดตั้งอาสาสมัครเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก

2. การชี้แจงทำความเข้าใจกับเกษตรกร และประชาชนในพื้นที่ลุ่มต่ำภาคกลาง 13 ทุ่ง สามารถรองรับน้ำได้รวม 2,050 ล้านลบ.ม. แบ่งเป็น ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบน พื้นที่ทุ่งบางระกำ 3.82 แสนไร่ ซึ่งเกษตรกรเริ่มเพาะปลูกไปตั้งแต่ 1 เม.ย. 2561 และจะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จก่อนเดือนส.ค. โดยจะรับน้ำเข้าทุ่งประมาณกลางเดือนส.ค. สามารถหน่วงน้ำได้ 550 ล้านลบ.ม. และลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง จำนวน 12 ทุ่ง พื้นที่ 1.15 ล้านไร่ เริ่มเพาะปลูก 1 พ.ค. 2561 เก็บเกี่ยวแล้วเสร็จประมาณ 15 ก.ย. 2561 เริ่มรับน้ำเข้าทุ่ง ระหว่าง 20 ก.ย.- 20 ต.ค. 2561 สามารถหน่วงน้ำได้ 1,500 ล้านลบ.ม. โดยเน้นย้ำให้นำประเด็นปัญหาและอุปสรรคจากการดำเนินการในปีที่ผ่านมามาพิจารณาดำเนินการปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

3. การสำรวจสิ่งก่อสร้าง และอุปสรรคที่กีดขวางทางน้ำ และแผนรองรับให้แล้วเสร็จก่อนฤดูน้ำหลาก และ 4. สำรวจและเตรียมความพร้อมอุปกรณ์ เครื่องจักรเครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ และเรือ ให้พร้อมใช้งาน โดยร่วมกันบูรณาการช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบกรณีเกิดภัยโดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงข้างต้นด้วย อย่างไรก็ตาม สทนช. จะติดตามสถานการณ์น้ำและผลการดำเนินงานแต่ละแผนงานอย่างใกล้ชิดต่อไป

จาก https://www.khaosod.co.th  วันที่ 3 พฤษภาคม 2561

"สมคิด"สั่งคลัง-สศช.สร้าง Big data เชื่อมโยงข้อมูลทุกกระทรวง วางนโยบายประเทศ         

วันที่ 2 พ.ค. 2561 ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน การร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการบูรณาการข้อมูลด้านการเงิน-สาธารณูปการ ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ร่วมมือกับรัฐวิสาหกิจกลุ่มสถาบันการเงินของรัฐ จำนวน 9 แห่ง และรัฐวิสาหกิจ กลุ่มสาธารณูปการ จำนวน 4 แห่ง เช่น การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค  การประปานครหลวง และการประปาส่วนภูมิภาค  ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์  ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร  ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย         

โดยถือเป็นจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อนนโยบายด้านบูรณาการข้อมูลรัฐวิสาหกิจที่เป็นรูปธรรม มีการนำข้อมูลมาบูรณาการร่วมกันได้อย่างเป็นระบบ และมีการนำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data มาวิเคราะห์ โดยมอบหมายกระทรวงการคลัง - สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลทุกกระทรวง เพื่อประกอบการกำหนดนโยบาย และจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อการพัฒนาสินค้าและบริการ โดยยึดถือประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศเป็นอย่างยิ่ง   ด้านดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ บอกด้วยว่า การบูรณาการข้อมูลด้านการเงิน-สาธารณูปการนี้ จะทำให้สถาบันการเงินของรัฐสามารถพิจารณาสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น จากข้อมูลที่ได้จากสาธารณูปการ และขณะเดียวกันรัฐวิสาหกิจด้านไฟฟ้า-ประปาก็จะสามารถพัฒนาบริการประชาชนให้ได้ดียิ่งขึ้น จากข้อมูลของผลประกอบการของ SMEs    นอกจากนี้ สคร.ได้ร่วมกับบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด วางแผนการดำเนินโครงการ SMEs Financial Intelligence เพื่อนำข้อมูลจากการบูรณาการมาวิเคราะห์ เพื่อออกแบบนโยบายที่สามารถช่วยเหลือ SMEs ให้ตรงจุด เช่น การกำหนดอุตสาหกรรม SMEs เป้าหมายที่ต้องสนับสนุนได้อย่างชัดเจน และสามารถนำฐานข้อมูล Big Data มาต่อยอดเป็นการสร้างระบบนิเวศที่เหมาะสมให้กับ SMEs     โดยให้บริการผ่านทาง Digital Platform ซึ่งจะทำให้สามารถสร้างเครือข่าย SMEs ให้ต่อยอดธุรกิจ มีระบบ E-Commerce ในการซื้อ-ขายสินค้า SMEs ได้สะดวก รวดเร็วมากยิ่งขึ้น  

"ขุนคลัง"ตั้งกลุ่มงานสร้าง Big data

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในระยะยาวมีความเป็นไปได้ที่จะเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกระทรวงต่าง ๆ เข้าด้วยกัน  นายสมคิด ได้มอบหมายให้สภาพัฒน์เป็นแกนหลักในเรื่องนี้ และคาดว่าเมื่อเชื่อมโยงได้ผู้ที่จะได้รับประโยชน์มากที่สุด คือ ผู้มีรายได้น้อย       

ทั้งนี้ จากนโยบายดังกล่าวทางกระทรวงการคลังได้มอบหมายให้สำนักปลัดเป็น “แกน” ดูแลในส่วนนี้ และมีความเป็นไปได้ที่จะมีกลุ่มงานเล็ก ๆ ขึ้นมาดูแลโดยเฉพาะ อาจจะไม่ได้ถึงขนาดจัดตั้งเป็นหน่วยงาน แต่สังกัดอยู่ในหน่วยงานเทคโนโลยีของกระทรวงการคลัง เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้ไปวิเคราะห์ได้ว่าข้อมูลส่วนไหนสำคัญ และจะเร่งสร้างแพลตฟอร์มสำหรับกระทรวงได้โดยเร็ว ขณะนี้กระทรวงคลังได้เตรียมพร้อมเพื่อให้สามารถเชื่อมโยงกับกระทรวงอื่นๆ ได้ แม้ว่าข้อมูลกระทรวงการคลังจะมีจำนวนมาก แต่หากมีข้อมูลจากกระทรวงอื่นๆ จะทำให้สามารถมีข้อมูลที่จะทำอะไรได้ลงไปลึกกว่านั้นได้อีก         

นายอภิศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันข้อมมูลที่มีจะต้องเป็นข้อมูลที่วิเคราะห์ได้ (Data Analytic) ซึ่งต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญ เพราะเป็นเรื่องใหญ่และหัวใจสำคัญคือจะต้องพัฒนาแพลตฟอร์มที่จะต้องบอกได้ว่าข้อมูลอะไรที่สำคัญ ก่อนจะนำมารวมกันและสามารถนำไปใช้วิเคราะห์หรือสังเคราะห์ต่อได้         

“สำหรับการรวมข้อมูลในภาพรวมจริงๆ แล้วในประเทศไทยยังไม่ได้มีใครทำ ซึ่งเป็นนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่มองว่าเป็นเรื่องสำคัญ จึงได้มอบหมายให้ทุกๆ หน่วยงานเร่งทำ โดยกระทรวงการคลังก็ได้ทำเรื่อง Big Data นี้พอสมควร” นายอภิศักดิ์กล่าว        

นายอภิศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนแรกที่กระทรวงคลังได้ทำไปแล้วคือการรวมข้อมูลของผู้เสียภาษีอากรให้มีเบอร์บัญชีเดียว ขณะเดียวกันสามารถเชื่อมผู้เสียภาษีอากรระหว่างกรมสรรพากร กรมศุลกากร และกรมสรรพสามิตรให้เชื่อมเข้าด้วยกัน ซึ่งจะทำให้สามารถที่จะเก็บข้อมูลของผู้เสียภาษีอากรได้ และช่วยให้สามารถขยายฐานภาษีได้มากขึ้น       

ส่วนที่สองคือ กระทรวงคลังได้ทำข้อมูลผู้มีรายได้น้อย ซึ่งเก็บข้อมูลได้จากผู้ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย ซึ่งเห็นได้ชัดว่าผู้มีรายได้น้อยได้รับเงินจากรัฐนำไปซื้อสินค้าอะไรและไปซื้อที่ไหน ส่วนนี้จะทำให้สามารถที่จะขยายนโบายในอนาคตต่อไปได้ โดยจะบอกว่าคนเหล่านี้มีความจำเป็นอะไร ในเรื่องการขึ้นรถไฟ,บขส.ชี้ชัดเหมือนกันว่าคนเหล่านี้เดินทางไปที่ไหน ใช้ช่วงเวลาไหน ซึ่งเป็นข้อมูลใหญ่ที่กระทรวงการคลังมีอยู่         

และสำหรับส่วนที่สาม คือ กระทรวงคลังได้ทำคืออาศัยข้อมูลของรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากมีฐานข้อมูลที่ใหญ่มาก และรัฐวิสาหกิจก็มีข้อมูลของตัวเอง จากนี้สิ่งที่ต้องทำ คือ นำเอาข้อมูลของทุกรัฐวิสาหกิจซึ่งสามารถเชื่อมโยงกันได้นำมาเชื่อมโยงกัน และผลที่เกิดมาก็คือว่าครั้งนี้การเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อช่วยเอสเอ็มอี ซึ่งกลุ่มเอสเอ็มอีทั้งหมดจะได้รับการช่วยเหลือจากข้อมูลที่มีสามารถวิเคราะห์ขึ้นมาได้         

“ในที่สุดเอสเอ็มอีจะได้แหล่งเงินที่เร็วขึ้น ขณะเดียวกันด้วยกลุ่มแบงก์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องก็จะทำให้ต้นทุนการให้สินเชื่อ (credit cost) ลดลงได้ สามารถที่จะให้ดอกเบี้ยถูกลงไปได้ ประกอบกับกลุ่มแบงก์เองสามารถที่จะวิเคราะห์ถึงความเสี่ยงหรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ซึ้งเป็นจุดเริ่มต้น และยังมีความสามารถที่จะไปต่อได้อีก แต่ถือเป็นทิศทางที่ดีที่อย่างน้อยแสดงให้เห็นว่าถ้าข้อมูลเหล่านี้ผสมผสานและร่วมมือกันได้ผู้ได้รับประโยชน์คือประชาชน” นายอภิศักดิ์กล่าว         

นายอภิศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับความร่วมมือในการขับเคลื่อนนโยบายด้านบูรณาการข้อมูลการเงินและสาธารณูปการระหว่าง สคร.และบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ ร่วมมือกับรัฐวิสาหกิจกลุ่มสถาบันการเงินของรัฐกว่า 9 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม       

และรัฐวิสาหกิจกลุ่มสาธารณูปการ จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปานครหลวง และการประปาส่วนภูมิภาค เป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ที่สามารถนำมาวิเคราะห์เพื่อประกอบการวางนโยบายของประเทศได้ อีกทั้งสามารถเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อการพัฒนาสินค้าและบริการ โดยยึดถือประโยชน์ประชาชนได้รับเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศเป็นอย่างยิ่ง      

“ซึ่งแสดงให้เห็นในเบื้องต้นว่าการทำ Big Data จะทำได้อย่างไร เราบอกว่าเรากำลังจะเข้าสู่ Digital Economy ในเรื่องของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงเร็วมาก ซึ่งจากการเข้าร่วมประชุมในต่างประเทศ ทุกองค์ประชุมต่างขับเคลื่อนเรื่องดิจิทัล และแต่ละประเทศจะก้าวเร็วอยากจะไปเร็ว ทีนี้การเข้าสู่ยุคดิจิทัลนอกจากในเรื่องเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปที่จะต้องก้าวให้ทันแล้ว ก็จะมีเรื่องของคนที่จะต้องทำด้วย ขณะเดียวกันส่วนที่เป็นพื้นฐานสำคัญ คือ ข้อมูล (Data) ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้เราสามารถที่จะเอาข้อมูล (Data) ทั้งหลายมาวิเคราะห์และรวมกันเพื่อทำให้เกิดผลลัพธ์ ซึ่งสามารถนำไปประเมินการทำนโยบายต่างๆ ได้”

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินงานด้านต่างๆ ของกระทรวงดิจิทัลฯ ว่า ช่วงที่ผ่านมาองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development: OECD) ได้ทำความร่วมมือกับไทยในโครงการ Country  Programme โดยไทยต้องการแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับ OECD ในการขับเคลื่อนการพัฒนาและปฏิรูปประเทศอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน  สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ โดยโครงการฯ ดังกล่าวถือเป็นก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่การตัดสินใจของไทยในอนาคต เกี่ยวกับการเข้าเป็นสมาชิก  OECD องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา โดยไทยจะเป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียนในการเข้าเป็นสมาชิก ซึ่งไทยยังได้เชิญ OECD เข้า มาจัดประชุมในประเทศไทยอีกด้วย        

ในส่วนของการดำเนินการด้านการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ซึ่งขณะนี้หลายๆ หน่วยงาน ทั้งระดับกระทรวง กรม เริ่มจัดทำข้อมูล Big Data กันมากขึ้น จากดำริของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้ทุกหน่วยงานเร่งวางขั้นตอนในการทำ Big Data โดยให้ทุกหน่วยงานวางแผนให้ครอบคลุมการเก็บข้อมูล รวมถึงการใช้ Big Data โดยศึกษาแนวทางของต่างประเทศให้ครบทุกมิติ  โดยคณะรัฐมนตรีโดยใช้เอกสารบัตรประจำตัวประชาชนโดยไม่ต้องถ่ายเอกสาร

จาก www.banmuang.co.th   วันที่ 3 พฤษภาคม 2561

สอน.รับมือฝนมาเร็ว เลื่อนเวลาปิดหีบอ้อย

สอน.หารือโรงงาน น้ำตาลเลื่อนปิดหีบอ้อยถึง 15 พ.ค.นี้ หลังฝนตกกระทบชาวไร่ตัดอ้อยเข้าโรงงานช้านางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและ น้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ประสานกับโรงงานน้ำตาลทรายทั่วประเทศอย่างใกล้ชิดหลังประเทศไทยกำลังเข้าสู่ช่วงฤดูฝน ซึ่งมีผลกระทบกับการตัดอ้อยในหลาย พื้นที่ โดยเฉพาะชาวไร่อ้อยที่เป็นคู่ สัญญาโรงงานจะต้องรับซื้ออ้อยให้ หมด เพื่อให้อ้อยเหลือค้างไร่น้อยที่สุด ซึ่งเบื้องต้นยังเหลืออ้อยค้างหีบกว่า 2 ล้านตัน ขณะที่โรงงานน้ำตาลจะ ปิดหีบโรงงานสุดท้ายวันที่ 15 พ.ค.นี้ โดยคาดจะมีอ้อยเข้าหีบฤดูกาลผลิตปี 2560/2561 ประมาณ 134 ล้านตัน"

บางโรงงานกำหนดจะปิดหีบ แล้วก็เลื่อนออกไปบ้างหลังฝนตก ทำให้ตัดอ้อยไม่ได้ซึ่งขณะนี้มีโรงงาน ปิดหีบแล้ว 29 แห่ง ที่เหลือประมาณ 25 แห่งยังเปิดอยู่ และโรงสุดท้ายจะปิด 15 พ.ค.นี้ โดย สอน.ได้มอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกพื้นที่ช่วยดูแลอย่างใกล้ชิดในการประสานกับโรงงานน้ำตาลทรายที่จะช่วยเหลือชาวไร่"นางวรวรรณ กล่าว

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้า สำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่ง ประเทศไทย กล่าวว่า ในวันที่ 8 พ.ค.นี้ 4 องค์กรชาวไร่อ้อยจะหารือถึงสถานการณ์การหีบอ้อยฤดูกาลผลิตปี 2560/2561 ที่ผลผลิตมากกว่าที่ประเมินไว้ค่อนข้างสูงและส่งผลไปถึงความกังวลว่าในฤดูกาลผลิตปี 2561/2562 ราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกที่ยังทรงตัวระดับต่ำจะกระทบต่อราคาอ้อยขั้นต้น และหากพิจารณาถึงฐานะกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) อาจจะลำบากในการบริหาร ซึ่งต้องประเมินเพื่อหาแนวทางรับมือ"

ปีนี้เราพบปัญหาจากที่ไม่เคยเจอเพราะอ้อยเยอะมาก ฝนมาช่วงยังไม่ปิดหีบ การขนส่งอ้อยเราก็ถูกควบคุมน้ำหนัก เป็นประสบการณ์ที่ต้องเตรียมไว้ว่าฤดูหน้าควรทำอย่างไร และถ้าราคาน้ำตาลตลาดโลกเฉลี่ย 11 เซนต์/ปอนด์ ราคาขั้นต้นคงไม่ถึง 700 บาท/ตันกองทุนฯ ที่เคยกู้มาเพิ่มได้ก็จะทำไม่ได้" นายนราธิป กล่าว

สำหรับราคาอ้อยขั้นต้นฤดูกาล ผลิตปี 2560/2561 ที่รัฐบาลประกาศอยู่เฉลี่ยที่ 880 บาท/ตัน แต่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เห็นชอบให้ช่วยเหลือเพิ่มจากกองทุนอ้อยฯเฉลี่ยชาวไร่อ้อยจะได้รับค่าอ้อยเพิ่มตามระบบแบ่งปันผลประโยชน์ชาวไร่และโรงงาน 70:30 คาดว่าชาวไร่จะได้รับเพิ่มเฉลี่ยตันละ 31-32 บาท/ตัน

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 3 พฤษภาคม 2561

ค่าบาท 'ทรงตัว' หลังเฟดคงดอกเบี้ยตามคาด

บาทเปิดตลาดเช้านี้ทรงตัว "31.72 บาทต่อดอลลาร์" หลังผลประชุมเฟดคงดอกเบี้ยตามคาดที่1.50-1.75%และดอลลาร์ยังแข็งค่าขณะที่เงินบาทอ่อนช้ากว่าสกุลเงินอื่น

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 31.72บาทต่อดอลลาร์ไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อน

ในคืนที่ผ่านมา ผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐเป็นไปตามที่ตลาดคาดไว้ เฟด “คงนโยบายการเงิน” และอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 1.50-1.75% ในการประชุมคืนวันที่ผ่านมา เนื้อหาสำคัญที่มีการเปลี่ยนแปลงมีเพียงแค่มุมมองด้านเงินเฟ้อในสหรัฐที่เฟดเชื่อว่าเงินเฟ้อจะเคลื่อนไหวในช่วง 2% ตามที่ตั้งเป้าไว้ จากก่อนหน้านี้ที่มองว่างเงินเฟ้อยังไม่ถึงเป้าหมาย

จากผลการประชุมที่เป็นไปตามคาดทำให้บอนด์ยิลด์สหรัฐอายุ 10ปีปรับตัวขึ้นเพียง 0.02% และยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 3% ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักอื่น แต่ตลาดหุ้น S&P500 ปรับตัวลง 0.7% จากความกังวลเรื่องแนวโน้มเงินเฟ้อสูง

ตลาดฝั่งเอเชียในวันนี้จะจับตาไปที่ความคืบหน้าของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ในช่วงนี้เราเชื่อว่ายังคงมีความเสี่ยงจากปัจจัยดังกล่าวอยู่เนื่องจากต้องมีการตั้งกำแพงภาษีจากฝั่งสหรัฐและจีนตอบโต้กันแน่นอน แนวโน้มการค้าจึงมีโอกาสที่จะชะลอตัว

มุมมองของค่าเงินบาทวันนี้ เชื่อว่ายังมีโอกาสที่จะอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ได้อีกเล็กน้อย เนื่องจากถ้าเทียบกับสกุลเงินในเอเชียตั้งแต่ต้นปี เงินบาทยังคงอ่อนค่าช้ากว่าสกุลเงินอื่น ขณะที่ราคาน้ำมันเป็นปัจจัยหลักที่จะกดดันให้ไทยต้องนำเข้าสูงขึ้นและการเกินดุลการค้าจะลดลงในอนาคต มองกรอบเงินบาทระหว่างวันที่ระดับ 31.68 - 31.78 บาทต่อดอลลาร์

จาก www.bangkokbiznews.com วันที่ 3 พฤษภาคม 2561

ชาวไร่อ้อยโคราชเร่งขาย หลังโรงงานปิดหีบ 5พ.ค.นี้

รถบรรทุกอ้อยนับพันเข้าคิวขายโรงงาน หลังโรงงานใกล้ปิดล่าสุดยังมีอ้อยที่เร่งเก็บอีกกว่า 2 แสนตัน

เกษตรกรชาวไร่อ้อยเร่งบรรทุกผลผลิตส่งขาย โรงงานน้ำตาลที่อำเภอแก้งสนามนาง จ.นครราชสีมา ทำให้ขณะนี้มีรถบรรทุกอ้อยกว่า 1,000 คัน เข้าคิวต่อแถวขายอ้อยให้กับโรงงานยาวเหยียดแน่นขนัดเต็มพื้นที่ โดยผลผลิตอ้อยปีนี้มีปริมาณมาก ขณะที่โรงงานน้ำตาลในพื้นที่อำเภอแก้งสนามนางประกาศขยายเวลาปิดหีบรับซื้ออ้อยไปจนถึงวันที่ 5 พ.ค.นี้ จากเดิมกำหนดปิดหีบตั้งแต่วันที่ 30 เม.ย ที่ผ่านมา เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อย เนื่องจากช่วงนี้มีฝนตกลงมาในพื้นที่ต่อเนื่องจึงทำให้เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตล่าช้า

สำหรับสถานการณ์เปิดหีบอ้อยปีการผลิต 2560/61 โรงงานน้ำตาลทั่วประเทศเปิดหีบอ้อยตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2560 ที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้มีปริมาณผลผลิตอ้อยออกสู่ตลาดประมาณ 129 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 40 % เมื่อเทียบกับผลผลิตอ้อยปีที่ผ่านมา ที่มีปริมาณอ้อยเข้าหีบอยู่ที่ 93 ล้านตัน เนื่องจากช่วงฤดูปลูกอ้อยปีนี้มีปริมาณฝนเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นอ้อย ทำให้ผลผลิตอ้อยเฉลี่ยต่อไร่เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 15 – 20 ตันต่อไร่ และขณะนี้เกษตรกรจำนวนมากเก็บเกี่ยวอ้อยส่งโรงงานน้ำตาลไม่ทัน และพบว่ายังมีผลผลิตอ้อยในเขตพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น และชัยภูมิเหลือตกค้างในไร่อ้อยเป็นจำนวนมาก ทางจังหวัดนครราชสีมาจึงได้ประสานโรงงานน้ำตาลพื้นที่ให้ขยายเวลาปิดหีบรับอ้อยเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร คาดว่า ยังคงมีผลผลิตอ้อยตกค้างอยู่ประมาณ 200,000 ตัน และมั่นใจว่าภายในวันที่ 5 พ.ค.นี้ เกษตรกรในพื้นที่จะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตอ้อยส่งขายโรงงานได้ทันกำหนดระยะเวลาแน่นอน

จาก https://www.innnews.co.th  วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

รมว.เกษตรฯ สั่งดูแลเกษตรกรพื้นที่ ส.ป.ก.

รมว.เกษตรฯ ย้ำเจ้าหน้าที่ต้องดูแลเกษตรกรในพื้นที่ ส.ป.ก.ให้สามารถสร้างอาชีพ รายได้ พัฒนาคุณภาพชีวิตดีขึ้น ควบคู่กับการจัดที่ดินทำกิน 

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมรับฟังบรรยายสรุปภารกิจ แผนงานและผลงานที่สำคัญของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) พร้อมทั้งมอบนโยบายการปฏิบัติงานให้กับผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่  ว่า พื้นที่ประเทศไทยมีประมาณ 320.7 ล้านไร่ แบ่งเป็นที่ดินเอกชนร้อยละ 40 และที่ดินรัฐร้อยละ 60 ซึ่งเป็นที่ดินเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก) ประมาณ 40 ล้านไร่ หรือร้อยละ 12.5 ในส่วนนี้ได้จัดที่ดินแล้ว 35.84 ล้านไร่ เกษตรกร 2.82 ล้านราย โดยเน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลอาชีพ รายได้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรจำนวนนี้ว่าปัจจุบันมีความเป็นอยู่อย่างไร พร้อมทั้งตรวจสอบว่าปฏิบัติตามเงื่อนไขของกฎหมายหรือไม่ หากขาดคุณสมบัติจะต้องนำมาจัดสรรใหม่ นอกจากนี้ ต้องดำเนินงานตามนโยบายการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนของรัฐบาล หรือคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) โดยการส่งเสริมพัฒนาอาชีพตามศักยภาพของพื้นที่

สำหรับกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมปีงบประมาณ 2561 วงเงิน 3,800 ล้านบาทนั้น ให้ศึกษาดูว่าเป็นทุนหมุนเวียนและใช้จ่ายโดยสามารถนำมาจัดซื้อ หรือเช่าที่ดินเพื่อจัดสรรได้อีกจำนวนเท่าไร ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานในพื้นที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพครอบคลุม จึงต้องบูรณาการร่วมกับจังหวัดผ่านกลไกขับเคลื่อนของคณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ (อพก.) ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน เพื่อรับทราบปัญหาและหาแนวทางแก้ไขร่วมกัน

“ส.ป.ก.ต้องดูแลเกษตรกรและพัฒนาอาชีพควบคู่กับการจัดที่ดินทำกิน เพื่อให้มีประสิทธิภาพ เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ 5 จังหวัดที่ได้รับพระราชทานที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตั้งแต่ปี 2518 ได้แก่ ฉะเชิงเทรา พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นครปฐม และนครนายก รวมพื้นที่ 44,000 ไร่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ต้องเข้าไปช่วยดูแลพัฒนาอาชีพ รายได้ และความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดีขึ้นได้อย่างไร” นายกฤษฎา กล่าว.-สำนักข่าวไทย

จาก www.tnamcot.com  วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

เงินเฟ้อ‘เมย.’พุ่ง พาณิชย์หวั่นน้ำมันดันของแพง

เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2561 กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป หรืออัตราเงินเฟ้อเดือนเมษายน 2561 พบว่า สูงขึ้น ร้อยละ 1.07 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และถือว่าต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 และเป็นอัตราสูงที่สุดในรอบ 14 เดือน

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นเป็นผลมาจากสินค้าในหมวดพลังงาน มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.69 รวมถึง

อาหารสด มีการปรับราคาสูงขึ้น หลังจากสภาพอากาศแปรปรวนโดยผักสดราคาเพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.8

โดยสินค้าที่ราคาปรับสูงขึ้น อาทิ น้ำมันเชื้อเพลิง ข้าวสารเจ้า ก๊าซหุงต้ม และผลไม้สดที่ปรับจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ส่วนราคาสินค้าที่ยังทรงตัว และสินค้าที่ลดลงเช่น เนื้อหมู ไก่สด ไข่ไก่ และข้าวเหนียว เป็นต้น

ส่วนสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น ร้อยละ 0.68 และหมวดอื่นๆที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น ร้อยละ 1.31 จากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นถึง ร้อยละ 3.90

“สินค้าเกษตรสำคัญบางชนิดมีราคาสูงขึ้นอาทิ ข้าวเปลือก เนื่องจากสต๊อกลดลง ความต้องการเพิ่มและราคาตลาดโลกเพิ่ม, มันสำปะหลังสดสูงขึ้นเนื่องจากผลผลิตน้อยจากการปรับพื้นที่เพาะปลูก และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สูงขึ้นเนื่องจากมาตรการเชื่อมโยงตลาดของรัฐ นอกจากนี้มาจากการดำเนินมาตรการต่างๆ ของภาครัฐในการดูแลเสถียรภาพด้านราคาสินค้าเกษตรเริ่มส่งผลและสนับสนุนให้ราคาสินค้าเหล่านี้เริ่มปรับตัวสูงขึ้น”

นางสาวพิมพ์ชนกกล่าวอีกว่า กระทรวงพาณิชย์ ได้ประเมินการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อเดือนเมษายน แม้จะมีปัจจัยมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานและการปรับตัวของราคาสินค้าเกษตรเป็นหลักแต่โดยรวมสะท้อนว่าการบริโภค และการใช้จ่ายของทางภาครัฐและเอกชนอยู่ในระดับที่ดี ทำให้มีการหมุนเวียนเงินในระบบเอื้อต่อกำลังซื้อและการบริโภคของประชาชน โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อไตรมาส 2 ยังมีแนวโน้มสูงขึ้นตามราคาสินค้าและบริกาที่จะเพิ่มขึ้นตามราคาพลังงาน รวมทั้งโครงการลงทุนภาครัฐ เอกชนเริ่มดำเนินการได้เป็นรูปธรรมส่งผลให้ความต้องการ และราคาสินค้าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ส่วนอัตราเงินเฟ้อ 4 เดือนแรก ของปี 2561 พบว่าเงินเฟ้อทั่วไปขยายตัว ร้อยละ 0.75 และเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัว ร้อยละ 0.62 อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ ยังคงประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั้งปีอยู่ที่ ร้อยละ 0.7-1.7 โดยมีสาเหตุสำคัญจากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาพลังงาน การลดลงของผลผลิตสินค้าเกษตรบางตัว และกำลังการบริโภคเฉลี่ยของประชาชนที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ในขณะที่ต้นทุนราคาสินค้าอุตสาหกรรมโดยรวมยังชะลอตัว สอดคล้อกับเครื่องชี้วัดด้านการใช้จ่าย การลงทุน และต้นทุนการผลิต ซึ่งชี้ว่าการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อที่ผ่านมาเป็นผลจากปัจจัยด้านความต้องการใช้จ่ายและการลงทุน มากกว่าผลด้านต้นทุนและการผลิต

จาก www.naewna.com วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

เร่งพ.ร.บ.การชลประทานฉบับใหม่ เพิ่มประสิทธิภาพแผนจัดการน้ำ

              ร่างพระราชบัญญัติการชลประทานฉบับใหม่ใกล้แล้วเสร็จ  ใช้แทนฉบับเก่าที่ใช้มายาวนานตั้งแต่ปี 2485 เผยสาระสำคัญเพื่อให้แผนการบริหารจัดการน้ำสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และช่วยแก้ไขภาวะน้ำแล้งน้ำท่วมได้ทันท่วงที มีประสิทธิภาพมากขึ้น

            นายสิทธิวัตร แสงสิริไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายและที่ดิน กรมชลประทานเปิดเผยว่า    กรมชลประ ทานได้ยกร่าง พระราชบัญญัติการชลประทาน พ.ศ. … เพื่อปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พ.ศ. 2485 ที่ใช้มายาวนานจนถึงปัจจุบัน    โดยได้ปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาบางส่วนให้ทันสมัย  ครบถ้วน  เพื่อประสิทธิภาพประสิทธิผลที่จะจัดการน้ำได้ดีขึ้น       ไม่ว่าจะเป็นด้านการบริหารจัดการน้ำ  การขออนุญาตใช้น้ำ  การจัดเก็บค่าชลประทาน การคุ้มครองดูแลทางน้ำชลประทาน การแก้ไขสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ และปัญหาน้ำท่วม เป็นต้น

          สำหรับ พ.ร.บ. การชลประทานหลวง พ.ศ. 2485 ที่ใช้อยู่นั้น สาระสำคัญเกี่ยวกับหน้าที่หลัก คือ ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ของกรมชลประทานดำเนินการเกี่ยวกับการชลประทาน เช่น การเข้าไปสำรวจตรวจสอบเกี่ยวกับการก่อสร้างชลประทาน การเข้าใช้ที่ดินของบุคคลอื่นหรือการเข้าไปดำเนินการรื้อถอนกรณีที่มีผู้บุกรุกทางน้ำชลประทาน หรือกระทำการกีดขวางทางน้ำชลประทานในกรณีฉุกเฉิน เป็นต้น

         ส่วนสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. การชลประทาน พ.ศ. ... ได้แก่   การจัดทำแผนการชลประทานตามมาตรา 6 ซึ่งเป็นหลักการใหม่ที่กำหนดให้กรมชลประทานต้องจัดทำแผนการชลประทานที่สอดคล้องกับสาระสำคัญ และระยะเวลาของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอต่อรัฐมนตรี เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแผน เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแผนการชลประทานแล้ว  ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามภารกิจและอำนาจหน้าที่เพื่อบูรณาการการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำร่วมกัน

         นอกจากนี้ การกำหนดการขออนุญาตใช้น้ำตามมาตรา 13 ในร่าง พ.ร.บ. การชลประทาน พ.ศ. ... ได้กำหนดไว้ว่า เมื่อรัฐมนตรีได้ประกาศให้ทางน้ำใดเป็นทางน้ำชลประทานแล้ว ผู้จะใช้น้ำจากทางน้ำชลประทานจะต้องได้รับอนุมัติจากอธิบดี ซึ่งในใบอนุญาตจะกำหนดประเภทของกิจกรรมที่ใช้น้ำด้วยก็ได้ โดยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการอนุญาต ยกเว้นการขอรับใบอนุญาต การออกใบอนุญาต และแบบใบอนุญาต ให้กำหนดเป็นกฎกระทรวง ซึ่งตามมาตรา 26 ใน พ.ร.บ. การชลประทานหลวง พ.ศ. 2485 ยังมีเนื้อหาไม่ชัดเจนถึงการอนุญาตให้ใช้น้ำจากทางน้ำชลประทาน จึงได้แก้ไขเพื่อให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

            ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายและที่ดิน กรมชลประทาน กล่าวต่อว่า  นอกจากนี้ยังมีสาระสำคัญอื่นๆ ที่แก้ไข  เช่น การแก้ไขสถานการณ์ขาดแคลนน้ำและปัญหาน้ำท่วม มาตรา 4 ในร่าง พ.ร.บ. การชลประทาน พ.ศ. ... ได้ให้นิยามคำว่า “เจ้าพนักงาน” หมายความว่า เจ้าพนักงานที่กรมชลประทานหรือเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ ซึ่งอธิบดีแต่งตั้งให้มีหน้าที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการชลประทานตามพระราชบัญญัตินี้ โดยมาตรา 31 ในพ.ร.บ. เดียวกัน ในกรณีฉุกเฉินให้เจ้าพนักงานมีอำนาจใช้ที่ดินหรือทรัพย์สินของบุคคลใดเพื่อก่อสร้าง หรือติดตั้งอุปกรณ์เพื่อระบายน้ำ หรือกักเก็บน้ำเป็นการชั่วคราว หรือกระทำการอื่นใดในที่ดินใกล้เคียงหรือบริเวณที่อาจเกิดอันตรายแก่การชลประทาน เพื่อป้องกันหรือแก้ไขอันตรายที่อาจเกิดแก่การชลประทานได้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องแจ้งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินทราบล่วงหน้า และมาตรา 37 กำหนดให้กรณีจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องบรรเทาหรือแก้ไขสถานการณ์การขาดแคลนน้ำเพื่อการชลประทาน หรืออุทกภัยร้ายแรงในพื้นที่ หรือเพื่อการรักษา หรือฟื้นฟูคุณภาพน้ำในทางน้ำชลประทานหรือแหล่งน้ำสาธารณะใด ซึ่งเป็นหลักการที่กำหนดขึ้นในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์การขาดแคลนน้ำและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเพื่อกิจการชลประทานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

             “ขณะนี้ ร่าง พ.ร.บ.การชลประทาน พ.ศ. ... ได้ผ่านการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเรียบร้อยแล้ว และจะได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อเข้าสู่การพิจารณาในชั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป โดยมาตรา 3 ร่าง พ.ร.บ.การชลประทาน พ.ศ. ... ได้กำหนดให้การใช้ทรัพยากรน้ำเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกัน ซึ่งหากมีกฎหมายใดกำหนดไว้โดยเฉพาะก็ให้ดำเนินการไปตามกฎหมายเฉพาะนั้น เว้นแต่บทบัญญัติในพระราชบัญญัตินี้จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น จึงจำต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมายชลประทานเพื่อให้การบูรณาการทรัพยากรน้ำร่วมกันทุกฝ่าย ทั้งนี้ ประชาชนสามารถเข้าไปศึกษาและแสดงความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.การชลประทาน พ.ศ.... ได้ในเว็บไซต์ www.rid.go.th” นายสิทธิวัตรกล่าวทิ้งท้าย

จาก www.komchadluek.net  วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ชาวไร่อ้อยเฮ! ครม.เห็นชอบราคาอ้อยขั้นสุดท้ายตันละ 1,083 บาท

ครม.เห็นชอบราคาอ้อยขั้นสุดท้ายฤดูการผลิต 59/60 ตันละ 1,083 บาท พร้อมขยายเวลาส่งเสริมบุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจ

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ (1 พฤษภาคม) ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบการกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิต ปี 2559/2560 ตามมาตรา 55 วรรค 2 แห่งพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทรายเป็นรายเขต 9 เขต โดยราคาเฉลี่ยทั่วประเทศในอัตราตันอ้อยละ 1,083.86 บาท ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส และกำหนดอัตราขึ้น/ลงของราคาอ้อยเท่ากับ 65.03 บาท ต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอสต่อเมตริกตัน และผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้ายอยู่ที่ 464.51 บาทต่อตันอ้อย ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 31 มกราคมปี 2560 ครม.ได้กำหนดราคาอ้อยและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายราคาน้ำตาลทรายขั้นต้น ในเขตคำนวณราคาอ้อยที่ 1,2,3,4,6,7 และ9 ไว้ที่ 1,050 บาทต่อตันอ้อย ส่วนผลตอบแทนและจำหน่ายการผลิตน้ำตาลทรายขั้นต้นอยู่ที่ 450 บาท และเขตที่ 5 ราคาอยู่ที่ 890 บาท สำหรับราคาอ้อยขั้นต้นและราคาผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายอยู่ที่ 420 บาท

“จากมติ ครม.วันนี้เกษตรกรจะได้รับการจ่ายตามส่วนต่างดังกล่าวโดยโรงงานจะต้องชำระค่าอ้อยเพิ่มจากส่วนต่างราคาอ้อยขั้นสุดท้ายกับราคาอ้อยขั้นต้นให้แก่ชาวไร่อ้อยจนครบตามราคาอ้อยขั้นสุดท้ายภายใน 15 วันนับแต่วันที่ประกาศราคาอ้อยขั้นสุดท้าย สำหรับการกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายราคาน้ำตาลขั้นสุดท้ายไม่ได้ขัดข้องกับข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศ (WTO) แต่อย่างใด

กรณีประเด็นข้อพิพาทที่ประเทศบราซิลฟ้องนั้นมิได้มีประเด็นเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดราคาอ้อยทั้งขั้นต้นและขั้นสุดท้าย ซึ่งล่าสุดมีรายงานด้วยว่า ทางบราซิลได้ระงับการฟ้องดังกล่าวไว้แล้ว เนื่องจากรัฐบาลไทยกำลังอยู่ในช่วงการจัดทำ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลฉบับใหม่ โดยทางบราซิลกำลังรอสังเกตการณ์กฎหมายฉบับนี้อยู่และระหว่างนี้ได้ถอนฟ้องแล้ว” นายณัฐพร กล่าว

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 1 พฤษภาคม 2561

กอน.คาดอ้อยเหลือหลังปิดหีบ 4 ล้านตัน

กอน.เผยฤดูการผลิตปี 60/61 มีผลผลิตอ้อย 130 ล้านตัน คาดเหลือ 4 ล้านตัน หลังปิดหีบต้นเดือนพฤษภาคมนี้

นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เปิดเผยว่า ฤดูการผลิตปี 2560/2561 มีโรงงานน้ำตาลทรายเปิดหีบอ้อยทั้งสิ้น 54 โรงงาน มีปริมาณผลผลิตอ้อย ณ วันที่ 26 เมษายน 2561 จำนวน 130.05 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2559/2560  ซึ่งอยู่ที่ 92.95 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.91 ส่วนผลผลิตน้ำตาลทราย 13.32 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.80 จาก 10.03 ล้านตันในปีก่อนหน้า ค่าความหวานอ้อยเฉลี่ยอยู่ที่ 12.52 ซี.ซี.เอส. เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่ 12.28 ซี.ซี.เอส. และประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาลทรายเฉลี่ยที่ 109.32 กิโลกรัม/ตันอ้อย เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่ 107.94 กิโลกรัม/ตันอ้อย

ทั้งนี้ ในขณะนี้มีโรงงานน้ำตาลปิดหีบอ้อย  29 โรงงาน  (ส่วนใหญ่ในเขตพื้นที่ภาคกลาง จ.กาญจนบุรี) เหลือโรงงานที่ยังไม่ปิดหีบ 25 โรงงาน ส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ยังไม่ปิดหีบ ได้แก่ ขอนแก่น ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ และหนองบัวลำภู เป็นต้น มีอ้อยคงเหลือประมาณ 2,020,981 ตัน และภาคเหนือบางส่วนที่ยังไม่ปิดหีบ ได้แก่ นครสวรรค์  เพชรบูรณ์ และอุทัยธานี มีอ้อยคงเหลือประมาณ 869,777 ตัน รวมถึงโรงงานน้ำตาลภาคกลางบางส่วน ได้แก่ สระบุรี ลพบุรี และสิงห์บุรี มีอ้อยคงเหลือประมาณ 943,186 ตัน และภาคตะวันออกในพื้นที่จังหวัดสระแก้วมีอ้อยคงเหลือประมาณ 400,000 ตัน โดยโรงงานส่วนใหญ่กำหนดปิดหีบต้นเดือนพฤษภาคม 2561 โดยคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณอ้อยคงเหลือไม่เกิน  4,233,946 ตัน

นางวรวรรณ  กล่าวว่า จากการประสานงานกับผู้ว่าราชการจังหวัดและโรงงานน้ำตาลในพื้นที่ เพื่อขอความร่วมมือในการช่วยเหลือชาวไร่อ้อย เนื่องจากยังมีปริมาณอ้อยคงเหลืออีกจำนวนมาก โดยได้ขอเลื่อนกำหนดระยะเวลาปิดหีบอ้อยของโรงงาน ซึ่งชาวไร่อ้อยได้รับความเดือดร้อนในการขนส่งและตัดอ้อยเข้าหีบ เนื่องจากขณะนี้เข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งฝนตกหนักทำให้ชาวไร่อ้อยไม่สามารถตัดอ้อยจนเกิดอ้อยค้างไร่ โดยเฉพาะในจังหวัดสระแก้วยังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าวที่ตัดอ้อยในพื้นที่ที่ประสบภาวะขาดแคลน เนื่องจากแรงงานต่างด้าวเดินทางกลับประเทศในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งมีโรงงานน้ำตาลและอ้อยตะวันออกในพื้นที่จังหวัดสระแก้วเพียงโรงเดียวที่ยังไม่ปิดหีบ คาดว่าจะมีปริมาณอ้อยคงเหลือประมาณ 400,000 ตัน โดยได้ประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวเดินทางกลับเข้ามาทำงานในประเทศ เพื่อบรรเทาปัญหาภาวการณ์ดังกล่าว โดยคาดว่าโรงงานน้ำตาลและอ้อยตะวันออกจะกำหนดปิดหีบอ้อยในวันที่ 25 พฤษภาคม 2561

ส่วนมาตรการแก้ไขเยียวยาชาวไร่อ้อยที่ไม่สามารถหีบอ้อยได้ก่อนฤดูฝนนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมได้รับความร่วมมือจากหลายโรงงานในพื้นที่ต่าง ๆ อาทิ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคกลาง กว่า 15 โรงงาน โดยจะเลื่อนกำหนดระยะเวลาปิดหีบออกไปอีกเป็นช่วงเดือนพฤษภาคม 2561 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยให้สามารถส่งอ้อยเข้าโรงงาน เพื่อรับรายได้จากการปลูกได้จนถึงที่สุด หากไม่สามารถตัดอ้อยได้จนเกิดอ้อยค้างไร่  โรงงานจะรับผิดชอบดูแลและเยียวยาชาวไร่อ้อยคู่สัญญาที่ไม่สามารถหีบอ้อยได้ก่อนฤดูฝนต่อไป

จาก www.tnamcot.com   วันที่ 1 พฤษภาคม 2561

ชาวไร่รับค่าอ้อยขั้นสุดท้าย ฤดูผลิต 59/60 เพิ่ม

ครม.อนุมัติราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ฤดูผลิตปี 2559/2560 เพิ่มทั้ง 9 เขต สั่งโรงงานจ่ายส่วนต่างภายใน 15 วัน

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันนี้(1พ.ค.) มีมติเห็นชอบการกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิต ปี 2559/2560 ตามมาตรา 55 วรรค 2 แห่งพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทรายเป็นรายเขต 9 เขต โดยราคาเฉลี่ยทั่วประเทศในอัตราตันอ้อยละ 1,083.86 บาท ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส และกำหนดอัตราขึ้นและลงของราคาอ้อยเท่ากับ 65.03 บาท ต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอสต่อเมตริกตัน และผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้ายอยู่ที่ 464.51 บาทต่อตันอ้อย ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ

เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2560 ครม.กำหนดราคาอ้อย และผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายราคาน้ำตาลทรายขั้นต้น ในเขตคำนวณราคาอ้อยที่ 1,2,3,4,6,7 และ 9 ไว้ที่ 1,050 บาทต่อตันอ้อย ส่วนผลตอบแทนและจำหน่ายการผลิตน้ำตาลทรายขั้นต้นอยู่ที่ 450 บาท และเขตที่ 5 ราคาอยู่ที่ 890 บาท สำหรับราคาอ้อยขั้นต้นและราคาผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายอยู่ที่ 420 บาท

“จากมติครม.เกษตรกรจะได้รับการจ่ายตามส่วนต่าง โรงงานจะต้องชำระค่าอ้อยเพิ่มจากส่วนต่างราคาอ้อยขั้นสุดท้ายกับราคาอ้อยขั้นต้นให้แก่ชาวไร่อ้อยจนครบตามราคาอ้อยขั้นสุดท้ายภายใน 15 วันนับแต่วันที่ประกาศราคาอ้อยขั้นสุดท้าย”นายณัฐพร กล่าว

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 1 พฤษภาคม 2561

ชาวไร่อ้อยเฮได้รับส่วนต่างราคาอ้อย

ครม.เคาะราคาอ้อยขั้นสุดท้ายตันละ 1,083.86 บาท สูงกว่าราคาขั้นต้น ทำให้โรงงานน้ำตาลต้องจ่ายค่าอ้อยเพิ่มให้กับชาวไร่อ้อยภายใน 15 วัน                   

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม.เห็นชอบการกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้าย และผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้ายฤดูการผลิตปี 59/60  โดยราคาอ้อยขั้นสุดท้ายเฉลี่ยทั่วประเทศกำหนดที่ตันละ 1,083.86 บาท ที่ระดับความหวาน 10 ซี.ซี.เอส.ต่อเมตริกตัน มีอัตราขึ้นลง 65.03 บาทต่อ 1 ซี.ซี.เอส ส่วนผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้ายอยู่ที่ 464.51 บาทต่อตัน โดยราคาอ้อยขั้นสุดท้ายที่กำหนดครั้งนี้ สูงกว่าราคาอ้อยขั้นต้น ทำให้โรงงานน้ำตาลต้องจ่ายค่าอ้อยเพิ่มให้กับชาวไร่อ้อยจนครบตามราคาอ้อยขั้นสุดท้ายภายใน 15 วัน นับแต่ประกาศราคาอ้อยขั้นสุดท้าย

สำหรับการกำหนดราคาดังกล่าว ก่อนหน้านี้ครม.ได้เห็นชอบการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 59/60 ไว้สำหรับในเขตคำนวณราคาอ้อยที่1,2,3,4,6,7และ 9 อยู่ที่อัตราตันละ 1,050 บาท ส่วนอัตราขึ้นลงอยู่ที่  63 บาทต่อ 1ซี.ซี.เอส ส่วนผลตอบแทนและการจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้นอยู่ที่ตันละ  450 บาท ขณะที่เขตที่ 5 กำหนดราคาอ้อยขั้นต้นที่ตันละ 980 บาท อัตราขึ้นลง 58.80บาทต่อซี.ซี.เอส ส่วนผลตอบแทนและการจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้นอยู่ที่ตันละ  420 บาทส่วนเขตที่ 8 โรงงานหยุดประกอบการชั่วคราว

จาก https://www.dailynews.co.th วันที่ 1 พฤษภาคม 2561

ครม.เห็นชอบราคาอ้อยขั้นสุดท้ายตันละ 1,083 บาท

ทำเนียบฯ 1 พ.ค. – ครม.เห็นชอบราคาอ้อยขั้นสุดท้ายฤดูการผลิต 59/60 ตันละ 1,083 บาท พร้อมขยายเวลาส่งเสริมบุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจ

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบการกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้ายฤดูการผลิตปี 2559/2560 ทั้ง 9 เขต ราคาเฉลี่ย 1,083 บาทต่อตันอ้อย ระดับความหวาน 10 CCS กำหนดอัตราขึ้นลงเท่ากับ 65.03 บาท  และกำหนดผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายเท่ากับ 465.51 บาทต่อตันอ้อย หลังจากช่วงต้นฤดูกาลผลิตราคาอ้อยขั้นต้น 1,050 บาทต่อตัน กำหนดผลตอบแทนการผลิตและนำหน่ายน้ำตาลทรายเท่ากับ 450 บาทต่อตันอ้อย สำหรับอ้อยในพื้นที่ 1,2,3,4,6,7,9 ส่วนพื้นที่เขต 5 ราครา 980 บาท ผลตอบแทน 420 บาท ดังนั้น โรงงานอ้อยและน้ำตาลต้องจ่ายส่วนต่างที่เกิดขึ้นเพิ่ม จากส่วนต่างราคาอ้อยขั้นต้นและราคาขั้นปลายให้กับชาวไร่อ้อยภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ประกาศราคาอ้อยขั้นปลาย

ส่วนกรณีประเทศบราซิลฟ้ององค์การการค้าโลก ( WTO) เกี่ยวกับการอุดหนุนชาวไร่อ้อยนั้น ขณะนี้ไทยอยู่ระหว่างยกร่างกฎหมายอ้อยและน้ำตาลทรายฉบับใหม่ ทางบราซิลจึงได้ถอนฟ้อง เพื่อรอดูร่างกฎหมายฉบับใหม่ว่าเป็นอย่างไรบ้าง

นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรียังเห็นชอบมาตรการส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจในรูปนิติบุคคล รายได้ไม่เกิน 5 ล้านบาท จากรอบบัญชี 10 สิงหาคม 2560 ถึง 31 ธันวาคม 2560 เมื่อโอนทรัพย์สิน รายจ่ายในการจัดตั้งบริษัทใหม่ ค่าทำบัญชี ค่าสอบบัญชี นำมาหักเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่า เป็นระยะเวลา 5 รอบบัญชีต่อเนื่องกัน  และยังได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรสแตมป์ เพื่อส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคล ทั้งห้างหุ้นส่วนสามัญ บุคคลธรรมดา คณะบุคคลที่ไม่ใช่บุคคล ตั้งแต่ 1 มกราคม -31 ธันวาคม 2561 เพื่อส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคล.

จาก www.tnamcot.com  วันที่ 1 พฤษภาคม 2561

ก.วิทย์ร่วมมิตรผลลงขันวิจัยเคมีชีวภาพ6พันล.

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ฯ จับมือ “น้ำตาลมิตรผล” ลงขัน 6,000 ล้านบาทดึงสถาบันวิจัยฟรอนโฮเฟอร์จากเยอรมนี ร่วมวิจัยเทคโนโลยีเคมีชีวภาพ

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ฯ จับมือ “น้ำตาลมิตรผล” ลงขัน 6,000 ล้านบาทดึงสถาบันวิจัยฟรอนโฮเฟอร์จากเยอรมนี ร่วมวิจัยเทคโนโลยีเคมีชีวภาพ (Biorefinery) แปรรูปผลผลิตและของเหลือการเกษตรให้เป็นสารตั้งต้นมูลค่าสูง นำร่องอ้อย มันสำปะหลัง เล็งดึงภาคเอกชนรายใหญ่ 10 รายเข้ามาร่วมในอีอีซีไอ

น้ำตาลมิตรผลได้ทำวิจัยร่วมกับศูนย์ไบโอเทคมากกว่า 10 โครงการวิจัย รวมทั้งงานวิจัยภายในองค์กร อาทิ ยีสต์ที่ได้จากการผลิตเอทานอลมาทำเป็นอาหารสัตว์ รวมถึงการต่อยอดนำยีสต์มาแยกเซลล์พบว่ามีเบต้ากลูแคนที่สามารถพัฒนาเป็นอาหารเสริม นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างศึกษาผลิตภัณฑ์อีกหลายตัว เช่น กรดแลคติคส่วนผสมในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องสำอาง หรือการเปลี่ยนน้ำตาลให้เป็นน้ำตาลแคลอรีต่ำ

โมเดลต้นแบบไบโอโพลิส

จากนโยบายรัฐบาลที่ผลักดันการพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือ EECi หนึ่งในนั้นคือการผลักดัน การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้วยองค์ความรู้ทางด้านไบโอรี่ไฟเนอรี่ เพื่อเปลี่ยนวัตถุดิบทางการเกษตรให้เป็นผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูงที่สามารถตอบสนองความต้องการในอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมชีวเคมี ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ภายใต้ไบโอโพลิส (BIOPOLIS) ศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพ

สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กล่าวว่า บริษัท มิตรผลวิจัย พัฒนาอ้อยและน้ำตาล จำกัด ได้ลงทุนวิจัยพัฒนาร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในต่อยอดเทคโนโลยีชีวภาพให้เป็นไบโอรีไฟเนอรี่ต่างๆ โดยมุ่งให้เกิดเป็นโมเดลตัวอย่างจากอ้อยและมันสำปะหลัง

ล่าสุดทั้งสองหน่วยงานลงทุนวิจัย 6,000 ล้านบาทระยะเวลา 3 ปี ทั้งยังมีแนวทางความร่วมมือกับสถาบันวิจัยทั้งในเยอรมนี ยุโรปและญี่ปุ่น ที่เข้ามาร่วมในอนาคต เช่น สถาบันวิจัยฟรอนโฮเฟอร์จากเยอรมนี

กลุ่มมิตรผลเป็นต้นแบบของความร่วมมือระหว่างเอกชนกับหน่วยงานภาครัฐ ที่ร่วมกันทำงานวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านอุตสาหกรรมพลังงานและเคมีชีวภาพ ที่ทำให้เห็นผลเป็นรูปธรรม เพื่อทำหน้าที่เป็นกองทัพเศรษฐกิจของประเทศไทยในเวทีโลก พร้อมกับการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้มีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จากการผลิตวัตถุดิบที่นำมาแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้น

วท.ยังเตรียมจะดึงเอกชนรายใหญ่เข้ามาร่วมต่อจิ๊กซอว์อีก 10 รายอาทิ ทียูเอฟ ปตท. เอสซีจี เบทาโกร ผ่านรูปแบบความร่วมงานแบบประชารัฐ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทย ไปสู่การเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจฐานชีวภาพของภูมิภาคในอนาคต

หวังแจ้งเกิดอุตฯอนาคต

กฤษฎา มนเทียรวิเชียรฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า ประเทศไทยมีศักยภาพและความได้เปรียบทางด้านการเกษตร เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในการพัฒนา ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) โดยการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีมาลงทุนต่อยอดพืชเกษตรเพิ่มเติมในด้านอุตสาหกรรมพลังงานและเคมีชีวภาพ ไบโอเทคโนโลยีด้านเกษตร อาหารคน อาหารสัตว์ เครื่องสำอางและยา เริ่มต้นจากกลุ่มอ้อยและมันสำปะหลัง

ปีนี้บริษัทได้ลงทุนงานวิจัยเพิ่มเป็น 1,000 ล้านบาทคิดเป็นสัดส่วน 1%ของรายได้จากเดิมปีละ 500 ล้านบาท เพื่อผลักดันองค์กรสู่เศรษฐกิจฐานชีวภาพโดยใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยี ร่วมกับการบริหารจัดการอย่างบูรณาการ สอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ขณะเดียวกันยังให้ความสำคัญกับการนำงานวิจัยและเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาต่อยอดผลผลิตทางการเกษตรให้มีมูลค่าสูงขึ้นทำให้เกษตรกร จำนวนกว่าแสนคนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

“ที่ผ่านมา มิตรผลได้พัฒนาจากหน่วยงานภายในองค์กรเอง รวมทั้งเข้าไปมีความร่วมมือกับสถาบันวิจัยทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ทำให้สามารถพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมขึ้นมาได้ในระดับหนึ่งในการต่อยอดธุรกิจน้ำตาลต่างๆ เหล่านี้ แต่ความร่วมครั้งนี้กับ วท.จะทำให้การพัฒนาทำได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น ทำให้ประเทศสามารถจะเป็น “ไบโอฮับ” ได้ในอนาคต” กฤษฎา กล่าว

จาก www.bangkokbiznews.com  วันที่ 1 พฤษภาคม 2561

NARK4.0 พยากรณ์น้ำเพื่อการเกษตรแม่นยำ 80%

แสดงการคำนวณปริมาณการใช้น้ำและพื้นที่เหมาะสมเกษตรกรรม และ NARK4.0 แสดงปริมาณน้ำต้นทุนคาดการณ์ เป็น 2 แอพพลิเคชั่นจาก มจพ. โดยแอพฯ แรกตอบโจทย์ให้กับเกษตรกร ส่วนแอพฯ ถัดมาเพื่อประโยชน์ระดับนโยบาย

iFarmer แสดงการคำนวณปริมาณการใช้น้ำและพื้นที่เหมาะสมเกษตรกรรม และ NARK4.0 แสดงปริมาณน้ำต้นทุนคาดการณ์ เป็น 2 แอพพลิเคชั่นจาก มจพ. โดยแอพฯ แรกตอบโจทย์ให้กับเกษตรกร ส่วนแอพฯ ถัดมาเพื่อประโยชน์ระดับนโยบาย

ทั้ง 2 แอพฯ เป็นผลผลิตจากความร่วมมือของ 4 หน่วยงาน มุ่งบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เร่งแก้ไขปัญหาน้ำขาดแคลนและปัญหาน้ำท่วม ล้วนเป็นความท้าทายภายใต้สภาวะความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่มีความผันผวนมากในปัจจุบัน จึงต้องอาศัยงานวิจัยและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ

นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) โดยศูนย์วิจัยวิศวกรรมน้ำและโครงสร้างพื้นฐาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) กรมชลประทาน และ วช. ได้ร่วมมือกันพัฒนาเครื่องมือบริหารจัดการน้ำที่มีชื่อว่า “โปรแกรมการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการและทันต่อเหตุการณ์ หรือ NARK4.0” ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ สังกัดกรมชลประทาน เป็นศูนย์กลางการพยากรณ์ การติดตามและการสั่งการ ครอบคลุมทั้งมิติของการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง และมิติกรณีน้ำมากในช่วงเกิดอุทกภัย

นาร์ก4.0 เป็นเครื่องมือคาดการณ์ปริมาณน้ำฝน ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำ และวางแผนตัดสินใจระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำได้ล่วงหน้า 12 เดือน ที่ระดับความแม่นยำมากกว่า 80% ทั้งสามารถจำลองปริมาณการไหลในลำน้ำ การจัดสรรน้ำในระดับโครงการชลประทานไปจนถึงการคำนวณผลผลิตและรายได้ ผลการทดลองใช้ “นาร์ก4.0” สามารถเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกในลุ่มน้ำเจ้าพระยาเฉลี่ยได้ 18.02% รักษาปริมาณการใช้น้ำต้นทุนจากอ่างเก็บน้ำเฉลี่ยได้มากถึง 32.99% เป็นการสร้างความมั่นคงทางน้ำต่อสภาวะภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ทำให้กรมชลประทานมีเครื่องมือในการคาดการณ์สถานการณ์น้ำ และช่วยการตัดสินใจวางแผนการบริหารจัดการล่วงหน้ารายฤดูกาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะที่ iFarmer จะช่วยด้านวางแผนเพาะปลูกพืชที่สอดคล้องกับน้ำต้นทุนและสภาพพื้นที่ ความแม่นยำของการคาดการณ์ 70-95% โดยจะแสดงพื้นที่เพาะปลูกที่เหมาะสมของพืชไร่อย่าง ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง อ้อย ถั่วเหลือง ข้อมูลรายตำบลที่สามารถคาดการณ์ปริมาณน้ำต้นทุนในพื้นที่เกษตรกรรม ปริมาณการใช้น้ำไปจนถึงการคำนวณรายได้จากการทำเกษตร

จาก www.bangkokbiznews.com  วันที่ 1 พฤษภาคม 2561

'สมคิด' หารือญี่ปุ่น ย้ำไทยพร้อมเข้าร่วมวงทีพีพี

“สมคิด” หารือญี่ปุ่น ย้ำไทยพร้อมเข้าร่วมวงทีพีพี สั่ง 2 อธิบดีกรมการค้า ตปท. - และกรมเจราการค้าระหว่างประเทศ เดินสายล็อบบี้ 11 ประเทศสมาชิกขอเสียงสนับสนุนพร้อมศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมในประเด็นสินค้าอ่อนไหว

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังหารือกับนายโทชิมิตสึ โมเทกิ รัฐมนตรีประจำสำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น ที่ทำเนียบรัฐบาล ขณะนี้ญี่ปุ่นเป็นแกนนำหลังจากที่สหรัฐมีการถอนตัวจากข้อตกลงดังกล่าว โดยในการหารือกับญี่ปุ่นได้ยืนยันว่าไทยให้การสนับสนุนข้อตกลงการค้าเสรีรวมทั้งทีพีพีและสนับสนุนที่ญี่ปุ่นเป็นประเทศผู้นำในการเจรจาในข้อตกลงนี้ซึ่งขั้นตอนการเจรจาทีพีพีระหว่างประเทศสมาชิกทั้ง 11 ประเทศ ได้แก่ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี ญี่ปุ่น มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ และเวียดนาม ซึ่งจะใช้ระยะเวลาอีกหลายเดือนในการรับรองการเจรจา และจะมีการประกาศข้อตกลงทีพีพีร่วมกันอย่างเป็นทางการได้ในช่วงต้นปี 2561 จากนั้นประเทศไทยจึงจะสามารถขอเข้าเป็นสมาชิกทีพีพีรายใหม่ได้ อย่างไรก็ตามสามารถที่จะหารือถึงประเด็นย่อยๆกับประเทศอื่นๆได้ก่อนที่จะถึงขั้นตอนการเปิดรับสมาชิกใหม่

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศไปหารือกับประเทศสมาชิกทีพีพีทั้ง 11 ประเทศ เพื่อขอเสียงสนับสนุนล่วงหน้าในการให้ประเทศไทยเป็นสมาชิกทีพีพี ขณะที่คณะทำงานก็จะรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นที่ประเทศไทยมีความกังวลหรือมีความอ่อนไหวเป็นพิเศษซึ่งสามารถจะดำเนินการไปก่อนล่วงหน้าได้ซึ่งในส่วนนี้ญี่ปุ่นจะให้ข้อแนะนำกับเราได้ดี

ในส่วนที่จะต้องมีการเจรจาเป็นสินค้าที่ไทยมีความกังวลและมีข้อจำกัด เช่น ในเรื่องของข้อตกลงเรื่องการเกษตรที่เรามีข้อกังวลในเรื่องเทคโนโลยีไบโอเทคโนโลยีที่อาจเกี่ยวข้องกับจีเอ็มโอหรือในส่วนที่เป็นดิจิทัล และภาคบริการที่เป็นภาคเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของเศรษฐกิจในอนาคต รวมทั้งในส่วนที่เป็นสินค้าอ่อนไหวต่างๆที่มีความพร้อมไม่เท่ากันก็ต้องมีการหารือในรายละเอียดปีกย่อยซึ่งยังมีเวลาในการเจรจาร่วมกันจนถึงต้นปีหน้า

จาก www.bangkokbiznews.com  วันที่ 1 พฤษภาคม 2561

เงินเฟ้อ เม.ย.สูงขึ้นร้อยละ 1.07 ตามราคาน้ำมัน

กระทรวงพาณิชย์ระบุจากราคาน้ำมันและราคาอาหารสดที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเดือนเมษายนที่ผ่านมาสูงขึ้นร้อยละ 1.07 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 และเป็นอัตราสูงที่สุดในรอบ 14 เดือน

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า ทางสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าได้สรุปจำนวนรายการสินค้าทั้ง 422 รายการ ที่นำมาคำนวณอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนเมษายน 2561 พบว่า มีสินค้าที่ราคาปรับสูงขึ้น 239 รายการ เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง ข้าวสารเจ้า ก๊าซหุงต้ม และผลไม้สดที่ปรับจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ส่วนราคาสินค้าที่ยังทรงตัว 71 ราย และสินค้าที่ลดลง 112 รายการ เช่น เนื้อหมู ไก่สด ไข่ไก่ และข้าวเหนียว เป็นต้น โดยสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.68 และหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 1.31 จากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นถึงร้อยละ 3.90 ทำให้อัตราเงินเฟ้อเดือนเมษายนที่ผ่านมาสูงขึ้นร้อยละ 1.07 สูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 และเป็นอัตราสูงที่สุดในรอบ 14 เดือน และในช่วง 4 เดือนแรก อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นร่อยละ 0.75

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ได้ประเมินการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อเดือนนี้ แม้ว่าจะมีปัจจัยมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานและการปรับตัวของราคาสินค้าเกษตรเป็นหลัก แต่โดยรวมสะท้อนว่าการบริโภคและการใช้จ่ายของทางภาครัฐและเอกชนอยู่ในระดับที่ดี ทำให้มีการหมุนเวียนเงินในระบบเอื้อต่อกำลังซื้อและการบริโภคของประชาชน โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อไตรมาส 2 ยังมีแนวโน้มสูงขึ้นตามราคาสินค้าและบริการที่จะเพิ่มขึ้นตามราคาพลังงาน รวมทั้งโครงการลงทุนภาครัฐเอกชนเริ่มดำเนินการได้เป็นรูปธรรมส่งผลให้ความต้องการและราคาสินค้าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้คาดว่าทั้งปีอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในกรอบที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 0.7 - 1.7 ตามเดิม

จาก www.tnamcot.com   วันที่ 1 พฤษภาคม 2561

‘บิ๊กฉัตร’ ห่วงฝนตกน้ำต้นทุนมากอาจปล่อยน้ำจากเขื่อน หวั่นกระทบเกษตรกร

พ.อ.หญิงทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในที่ประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี แสดงความกังวลเรื่องสถานการณ์น้ำฝนที่ตกมาในขณะนี้ว่ามีปริมาณที่มาก และขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ภาวะหน้าฝน ซึ่งปริมาณน้ำมีมากใกล้เคียงกับปี 2557 แต่สิ่งที่ต้องระวังคือน้ำในเขื่อนซึ่งเป็นน้ำต้นทุน ยังคงมีจำนวนมาก อาจมีความจำเป็นต้องมีการระบายน้ำออกจากเขื่อน เพื่อรองรับน้ำใหม่ที่จะเกิดขึ้นมา โดยสำนักบริหารจัดการน้ำ และกรมชลประทาน ต้องร่วมหารือ และหาทางบริหารจัดการน้ำในช่วงจากนี้เป็นต้นไป

“โดยในที่กระชุมรองนายกฯ กำชับ ว่า ช่วงนี้ฝนตกน้ำมีจำนวนมาก ขณะนี้ที่น้ำในเขื่อนก็มีมากเช่นกัน จึงอาจต้องระบายน้ำออกจากเขื่อน หน่ยงานที่เกี่ยวข้องต้องเตื่อนประชาชน ประชาชนต้องรับฟังข่าวสารจากทางการ เพื่อปรับเวลาในการเพาะปลูก ให้เหมาะสมกับการระบายน้ำ และลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการประกอบอาชำเกษตรกรรม เพื่อลดการขาดทุนจากภัยธรรมชาติที่จะกระทบกับผลผลิตทางการเกษตร”พ.อ.หญิงทักษดา กล่าว

จาก https://www.khaosod.co.th    วันที่ 1 พฤษภาคม 2561

ครม.อนุมัติงบกลาง241ลบ.ตั้งสนง.แข่งขันการค้า

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติงบกลาง 241 ล้านบาท ตั้งสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันการค้า พร้อมขยายเวลาส่งเสริมธุรกิจถึง ธ.ค. 2561

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติจัดสรร 241 ล้านบาท ซึ่งงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นในปีงบประมาณ 2561 อุดหนุนทั่วไปของสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.) หลังจากที่ สขค.ได้รับโอนงบประมาณจากกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ตาม พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 จำนวน 6.5 ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพอต่อการสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยงานที่ตั้งขึ้นใหม่ จึงได้มีการขอรับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม

นอกจากนี้ ยังมีมติเห็นชอบขยายเวลามาตรการส่งเสริมประกอบธุรกิจในรูปนิติบุคล และร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่….)พ.ศ… เนื่องจากยังมีผู้ประกอบการที่เป็นบุคคลธรรมดาประสงค์จะเปลี่ยนรูปแบบในการประกอบธุรกิจเป็นนิติบุคคลไม่ทราบถึงนโยบายดังกล่าว จึงมิได้ดำเนินการในช่วงเวลาที่กำหนด ดังนั้นเพื่อเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมให้มีผู้ประกอบธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคลรายใหม่ในระบบภาษีเพิ่มขึ้นจึงควรขยายระยะเวลาในการส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจในรูปของนิติบุคคล โดยให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สินให้แก่นิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นใหม่ออกไป เพื่อเป็นการส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคลต่อไป ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.- 31 ธ.ค. 61 จากที่ระยะเวลาสิ้นสุด 31 ธ.ค. 60

จาก https://www.innnews.co.th  วันที่ 1 พฤษภาคม 2561

"พาณิชย์"แนะเกษตรกรใช้FTAส่งออก หลังคู่ค้าลดภาษีเหลือ0%เพียบ

“พาณิชย์”แนะเกษตรกรใช้ FTA ส่งออกผลไม้ไทยสู่ตลาดโลก เผยอาเซียน จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ลดภาษีเหลือ 0% แล้ว ส่วนเกาหลี และญี่ปุ่น ลดแล้วหลายรายการ ระบุการส่งออกไปตลาดที่ลดภาษีปี 60 อาเซียนโตสูงถึง 90.35% จีนโต 25.46% มีทุเรียน ลำไย มังคุดเป็นสินค้าดาวเด่น

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ลงพื้นที่พบปะชาวสวนผลไม้ ณ จังหวัดจันทบุรี และจังหวัดตราด ระหว่างวันที่ 1-3 พ.ค.2561 เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจกับเกษตรกรและผู้ประกอบการผลไม้ไทย ให้สามารถใช้ประโยชน์จากการที่ประเทศคู่ค้าของไทยได้ลดเลิกภาษีศุลกากรกับสินค้าผลไม้ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และแนะนำเกษตรกรให้รู้ทันกฎเกณฑ์การค้าและรูปแบบการค้าที่เปลี่ยนไป เพื่อให้พัฒนาผลผลิตให้ได้คุณภาพและมาตรฐานตามที่ตลาดต้องการและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งการขายในประเทศและส่งออก รวมไปถึงการใช้ช่องทางการค้าออนไลน์ที่กำลังได้รับความนิยมอยู่ในปัจจุบันในการขยายตลาด

โดยในปัจจุบันประเทศคู่เจรจา FTA ของไทยหลายประเทศ ได้มีการลดภาษีผลไม้แล้ว โดยอาเซียนได้ยกเว้นภาษีนำเข้าผลไม้และผลไม้แปรรูปภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2553 ส่งผลให้การส่งออกผลไม้และผลไม้แปรรูปไปอาเซียนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และกลายเป็นตลาดอันดับหนึ่งของผลไม้ไทย โดยปี 2560 ไทยส่งออกไปอาเซียนมีมูลค่า 1,181 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 90.35% ผลไม้ที่ได้รับความนิยม ได้แก่ ลำไย ทุเรียน และมังคุด มียอดส่งออกลำไย 675 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 64% ทุเรียน 300 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 230% และมังคุด 146 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 132%

ส่วนตลาดจีน ที่เป็นตลาดส่งออกอันดับ 3 รองจากอาเซียนและสหรัฐฯ มีการลดภาษีภายใต้ FTA อาเซียน-จีน ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2546 โดยปี 2560 ไทยส่งออกผลไม้และผลไม้แปรรูปไปจีน 740 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 25.46% เมื่อเทียบกับปี 2559 และสูงขึ้น 1,650% เมื่อเทียบกับปี 2545 ซึ่งเป็นปีก่อนหน้าที่จีนยกเลิกภาษีนำเข้าผลไม้จากไทย โดยผลไม้สำคัญที่ส่งออกไปจีน ได้แก่ ลำไย ทุเรียน และมังคุด โดยส่งออกลำไย 241 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 36.54% ทุเรียน 215 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 32.64% และมังคุดไปจีน 60 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 8.98%

นอกจากนี้ ยังมีประเทศคู่เจรจา FTA อื่นๆ ที่ได้ลดภาษีนำเข้าผลไม้ เช่น ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ได้ยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับผลไม้ที่นำเข้าจากไทยแล้วทุกรายการ เกาหลีใต้ ยกเลิกภาษีแล้ว เช่น ถั่วพิตาชิโอ ถั่วแมคคาดีเมีย อัลมอนด์ ฮาเซลนัท มะพร้าว ราสเบอร์รี่ มัลเบอร์รี่ แบล็คเบอร์รี่ เกรฟฟุต และแตงโม เป็นต้น ส่วนผลไม้ที่ลดภาษีแล้ว แต่ยังไม่เป็น 0% เช่น ฝรั่ง มังคุด มะม่วง ปัจจุบัน 24% จากอัตราปกติ 30% และทุเรียน 36% จากปกติ 45% ส่วนญี่ปุ่น ยกเลิกภาษีแล้ว เช่น ถั่วอัลมอนด์ ฮาเซลนัท ถั่วพิตาชิโอ ถั่วแมคคาดีเมีย เม็ดมะม่วงหิมพานต์ มะพร้าว แอปเปิล ลูกแพร แตงโม มะม่วง มังคุด และทุเรียน เป็นต้น

“ความตกลงการค้าเสรี เป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยผลักดันให้การส่งออกผลไม้ไทยขยายตัว สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการไทย แต่เกษตรกรและผู้ประกอบการไทย ก็ต้องผลิตสินค้าให้ได้คุณภาพมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เพราะจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาดต่างประเทศนำเข้าผลไม้จากไทยมากขึ้น ซึ่งการลงพื้นที่ในครั้งนี้ นอกจากชี้โอกาสในการใช้ประโยชน์จากการค้าเสรี ยังจะช่วยแนะนำการผลิตผลไม้ให้ตรงตามความต้องการของตลาด ซึ่งต้องทำให้ดีตั้งแต่การเพาะปลูก เก็บเกี่ยว บรรจุหีบห่อ เพราะล้วนแต่เป็นส่วนช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับเกษตรกรไทย”นางอรมนกล่าว

จาก https://mgronline.com วันที่ 1 พฤษภาคม 2561

พณ.เผยเงินเฟ้อเมย.โตสูงสุดรอบ14ด.แตะ1.07%

กระทรวงพาณิชย์ เผย ราคาน้ำมัน,ผักขึ้น ดันเงินเฟ้อ เม.ย. โต 1.07% สูงสุดรอบ 14 เดือน เฉลี่ย 4 เดือนบวก 0.75%ทั้งปี 0.7-1.7%

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า หรือ สนค. กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป หรือ อัตราเงินเฟ้อ ในช่วงเดือนเมษายน 2561 พบว่า อัตราเงินเฟ้อมีการขยายตัวสูงขึ้นร้อยละ1.07 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นอัตราเงินเฟ้อที่ขยายตัวสูงสุดในรอบ 14 เดือน ทั้งนี้ เป็นผลมาจากสินค้าในหมวดพลังงานมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.69 รวมถึงอาหารสด มีการปรับราคาสูงขึ้น หลังจากสภาพอากาศแปรปรวนโดยผักสดราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.82

ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในช่วง 4 เดือนแรกของปีขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 0.75 โดยกระทรวงพาณิชย์ยังคงประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั้งปีอยู่ที่ร้อยละ 0.7-1.7

จาก https://www.innnews.co.th วันที่ 1 พฤษภาคม 2561

ขาดแรงงานอ้อยค้างไร่ 4 แสนตัน !!

รวมตัวประชุมที่สมาคมเกษตรกรชายแดนบูรพา ชาวไร่อ้อยหารือปัญหาแรงงานและปริมาณอ้อยสดที่ยังตัดไม่เสร็จตกค้างกว่า 4 หมื่นไร่ เดือดร้อนกว่า 1,000 ราย

               30 เม.ย. 61  เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ สมาคมเกษตรกรชายแดนบูรพา อ.คลองหาด จ.สระแก้ว  มีเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยภายในจังหวัดสระแก้วกว่า 500 คน หรือร้อยละ 50 ของเกษตรกรที่ยังมีปริมาณอ้อยสดตกค้างภายในไร่ ซึ่งคาดว่าจะเก็บเกี่ยวไม่ทันปิดหีบโรงงานในช่วงต้นเดือน พ.ค. นี้ เดินทางมาร่วมประชุมเพื่อหารือแนวทางแก้ไขปัญหาด้านแรงงานและการช่วยเหลือเกษตรกรหากเกิดปัญหาดังกล่าว หรือไม่สามารถขยายการเปิดหีบออกไปได้ โดยมีนายมนตรี คำพล นายกสมาคมเกษตรกรชายแดนบูรพา เป็นประธานการหารือ ท่ามกลางหน่วยงานทหารและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง

                ซึ่งมีรายงานก่อนหน้านี้ว่า เกษตรกรทั้งหมดจะเดินทางไปรวมตัวที่ศาลากลางจังหวัดสระแก้วในวันเดียวกัน เพื่อให้นายพรพจน์ เพ็ญพาส ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังหน่วยงานความมั่นคงและภาครัฐ เข้าเจรจาจนมีการปรับเปลี่ยนเป็นการนัดมาเพื่อประชุมหารือกันที่สมาคมฯ โดยมีปัญหาของเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่สำคัญ 2 เรื่อง คือ ปัญหาการขาดแคลนแรงงานตัดอ้อย ที่เป็นแรงงานชาวกัมพูชา ไม่สามารถเข้ามาทำงานได้ หากไม่อยู่ในจังหวัดที่ติดกับชายแดนไทย-กัมพูชา และปัญหาอ้อยที่ยังเหลืออยู่อีกจำนวนมากในพื้นที่ที่คาดว่าจะตัดไม่ทันการปิดหีบอ้อยของโรงงานน้ำตาล บริษัทอ้อยและน้ำตาลตะวันออก ต.ห้วยโจด อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว ที่มีกำหนดการจะปิดหีบในวันที่ 10 พ.ค. นี้

               นายมนตรี คำพล นายกสมาคมเกษตรกรชายแดนบูรพา เปิดเผยว่า ได้ยกเลิกจะไม่นำเกษตรกรชาวไร่อ้อยไปรวมตัวกดดันผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว เพราะเกรงว่าจะเสียภาพลักษณ์ของ จ.สระแก้ว แต่ได้นัดเกษตรกรชาวไร่อ้อยในพื้นที่มาประชุมเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่สมาคมเกษตรกรชายแดนบูรพา เพื่อสรุปข้อเสนอต่ออนุกรรมการที่มี นายภูสิต สมจิตต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัด ดูแล ทั้งนี้ จะนำปัญหาทั้งหมดเสนอต่อคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลในส่วนกลางด้วย เพราะการกำหนดปิดหีบหรือเปิดหีบ ต้องผ่านบอร์ดจังหวัดและคณะอนุกรรมการบริหารส่วนท้องถิ่น เพื่อเสนอบอร์ดใหญ่ในส่วนกลาง ซึ่งตัวเลขไร่อ้อยค้างไร่ขณะนี้มีมากถึง 400,000 ตัน หรือประมาณ 40,000 ไร่ เกษตรกรเดือดร้อนประมาณ 1,000 ราย โควต้ารายละ 20 - 200 ไร่

                "ถ้าตัดอ้อยไม่หมด ทางโรงงานคู่สัญญาต้องเข้ามาดูแลและเยียวยาชาวไร่ ซึ่งในอดีตชาวไร่ถูกเอาเปรียบด้วยการชดเชยเพียงตันละ 50 - 100 บาทเท่านั้น และจะเป็นปัญหาลูกโซ่ตามมา เพราะเมื่อชาวบ้านไม่มีเงินใช้หนี้โรงงานในปีนี้หรือใช้หนี้ไม่หมด จะมีปัญหาการฟ้องร้องชาวไร่อีกหรือไม่ จึงต้องการให้คณะกรรมการมีมติจากทางจังหวัดว่า จะมีการช่วยเหลือเยียวยาอย่างไร และโรงงานจะไม่ฟ้องร้องชาวไร่ สำหรับประเด็นแรงงานชาวกัมพูชา หลังจากมีการเข้มงวดตามระเบียบแม้จะเปิดด่านผ่านแดนถาวรเขาดินก็ตาม แต่ให้แรงงานกัมพูชาเฉพาะจังหวัดที่อยู่ติดชายแดนไทย สามารถทำบอร์เดอร์พาสเข้ามาทำงานได้เท่านั้น จึงมีแรงงานไม่เพียงพอ ประกอบกับช่วงหลังสงกรานต์แรงงานกลับบ้านและไม่กลับมา จึงเป็นปัญหาต่อเนื่อง" นายมนตรี กล่าว

               นายพรพจน์ เพ็ญพาส ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว กล่าวระหว่างเดินทางลงพื้นที่ อ.เขาฉกรรจ์ ว่า ได้สั่งการให้มีการเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งด่วน เรื่อง การแก้ปัญหาไร่อ้อยที่ยังไม่สามารถนำเข้าโรงงานได้เกือบ 500,000 ตัน เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อย โดยมีสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ทหาร ตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำหรับสั่งการแก้ไขปัญหาอ้อยสดตกค้างในไร่ ซึ่งเบื้องต้น น่าจะมีโอกาสขยายเวลาปิดหีบได้อีกระยะหนึ่ง

จาก www.komchadluek.net วันที่ 1 พฤษภาคม 2561