http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล(เดือนพฤศจิกายน 2556)

เกษตรฯแถลงภาวะศก.การเกษตรปี 56 ขยายตัวแค่ 1.1% เหตุแล้งยาวนาน

เกษตรฯ แถลงภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 56 แจงขยายตัวร้อยละ 1.1 เหตุจากสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นยาวนาน ส่งผลให้ผลผลิตพืชที่สำคัญหลายชนิดลดลง คาด ปี 57 จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 3.0 – 4.0 จากแรงขับเคลื่อนสำคัญทั้งในสาขาพืช ปศุสัตว์ รวมถึงสาขาประมงที่คาดว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงกลางปี 2557

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงอัตราการเติบโตของภาคเกษตร โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ได้ประมาณการอัตราการเติบโตของภาวะเศรษฐกิจการเกษตร พบว่า ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2556 ขยายตัวประมาณร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับปี 2555 เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นยาวนาน ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2555 ต่อเนื่องมาจนถึงกลางปี 2556 ทำให้ผลผลิตพืชที่สำคัญหลายชนิดลดลง นอกจากนี้ ในช่วงปลาย ปี 2556 ได้เกิดปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ทางการเกษตรบางส่วน แต่ในภาพรวมไม่กระทบต่อการผลิตทางการเกษตรมากนัก สำหรับการผลิตสินค้าปศุสัตว์ที่สำคัญ เช่น ไก่เนื้อ สุกร ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ มีทิศทางเพิ่มขึ้น ส่วนการผลิตสาขาประมงยังคงหดตัวต่อเนื่องจากปัญหาโรคตายด่วน (Early Mortality Syndrome: EMS) ซึ่งเมื่อจำแนกแต่ละรายสาขาพบว่า

สาขาพืช ในปี 2556 ขยายตัวร้อยละ 3.0 เมื่อเทียบกับปี 2555 ซึ่งแม้ว่าในช่วงครึ่งแรกของปี จะประสบปัญหาภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง แต่ในช่วงครึ่งหลังของปี อิทธิพลของพายุโซนร้อน “มังคุด” และ “นารี” ที่พัดผ่านประเทศไทย ส่งผลให้มีฝนตกชุก สำหรับผลผลิตพืชสำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปี อ้อยโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ เช่น ลำไย ทุเรียน และมังคุด โดยผลผลิตข้าวนาปีเพิ่มขึ้นจากการขยายพื้นที่เพาะปลูก เนื่องจากแรงจูงใจทางด้านราคา ขณะที่ผลผลิตอ้อยโรงงานเพิ่มขึ้นจากการส่งเสริมให้ขยายพื้นที่เพาะปลูก รวมทั้งการบำรุงรักษาดี ส่วนยางพาราและปาล์มน้ำมันผลผลิตเพิ่มขึ้นตามเนื้อที่เปิดกรีดใหม่และเนื้อที่ให้ผลที่เพิ่มขึ้น สำหรับผลผลิตพืชที่ลดลง ได้แก่ ข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง สับปะรด และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยข้าวนาปรังได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งในช่วงการเจริญเติบโตของต้นข้าว ขณะที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งเช่นกัน สำหรับมันสำปะหลัง เกษตรกรได้ปรับเปลี่ยนไปปลูกอ้อยโรงงานและยางพาราทดแทน ผลผลิตสับปะรดลดลง เนื่องจากเนื้อที่ปลูกแซมในสวนยางพาราและปาล์มน้ำมันลดลงจากการที่ต้นยางพาราและปาล์มน้ำมันโตขึ้น

สาขาปศุสัตว์ ปี 2556 ขยายตัวร้อยละ 1.3 เนื่องจากมีระบบการผลิตที่ได้มาตรฐาน การเฝ้าระวังโรคระบาดอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณการผลิตสินค้าปศุสัตว์สำคัญเพิ่มขึ้น ทั้งไก่เนื้อ สุกร ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ โดยไก่เนื้อเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการจัดการฟาร์มที่ได้มาตรฐาน และการขยายการเลี้ยงเพื่อรองรับความต้องการของตลาด โดยเฉพาะตลาดสหภาพยุโรปที่อนุญาตให้นำเข้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งจากไทยได้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2555 ขณะที่การผลิตสุกรมีการปรับปรุงด้านการจัดการฟาร์มและสามารถควบคุมโรคได้ดีขึ้น สำหรับผลผลิตไข่ไก่เพิ่มขึ้นจากการนำเข้าพันธุ์ไก่ไข่ในช่วงปี 2553 - 2554 ทำให้มีแม่ไก่ไข่ยืนกรงรุ่นใหม่จำนวนมากส่วนการผลิตน้ำนมดิบเพิ่มขึ้นจากจำนวนแม่โครีดนมที่มากขึ้นและอัตราการให้น้ำนมโดยเฉลี่ยของแม่โคที่สูงขึ้น

สาขาประมง ปี 2556 ลดลงร้อยละ 7.2 โดยการผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงประสบปัญหาโรคตายด่วนหรือโรค EMS (Early Mortality Syndrome) ต่อเนื่องมาจากช่วงต้นปี 2556ประกอบกับเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งไม่มั่นใจในสถานการณ์ ส่งผลให้ผลผลิตกุ้งลดลงค่อนข้างมาก สำหรับผลผลิตจากการทำประมงทะเล ปริมาณสัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบเรือในภาคใต้มีปริมาณลดลงเช่นกัน ส่วนการผลิตประมงน้ำจืดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากสถานการณ์การผลิตในแหล่งผลิตหลักอยู่ในภาวะปกติ ประกอบกับความต้องการบริโภคภายในประเทศยังมีอย่างต่อเนื่อง โดยราคากุ้งขาวแวนนาไมที่เกษตรกรขายได้ ปรับตัวสูงขึ้นเกือบร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับปี 2555 เนื่องจากปริมาณผลผลิตลดลงจากปัญหาการระบาดของโรค ส่วนการส่งออกสินค้าประมงสำคัญส่วนใหญ่มีปริมาณและมูลค่าการส่งออกลดลง เนื่องจากแหล่งผลิตที่สำคัญของไทยประสบปัญหาโรคตายด่วนหรือโรค EMS ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ขณะที่ความต้องการซื้อของผู้บริโภคในตลาดผู้นำเข้าหลัก คือ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ยังมีอย่างต่อเนื่อง

สาขาบริการทางการเกษตรในปี 2556 ขยายตัวร้อยละ 1.1 เนื่องจากการขยายพื้นที่เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจสำคัญ เช่น ข้าว และอ้อยโรงงาน ประกอบกับค่าจ้างแรงงานภาคเกษตรที่เพิ่มสูงขึ้นจากปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ส่งผลให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนมาใช้บริการทางการเกษตรเพิ่มขึ้น ทั้งในกิจกรรมการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว อาทิ รถแทรกเตอร์ รถเกี่ยวนวดข้าว และรถตัดอ้อย อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2556 รวมทั้งปัญหาน้ำท่วมในบางพื้นที่ในช่วงปลายปีได้ส่งผลกระทบต่อพื้นเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว เป็นผลให้การบริการทางการเกษตรเพิ่มขึ้นไม่มากนัก

สาขาป่าไม้ปี 2556 ขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 3.8 เนื่องจากการทำไม้ การเผาถ่าน และการเก็บหาของป่า ขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยความต้องการผลิตภัณฑ์จากไม้เพิ่มขึ้นทั้งตลาดภายในและต่างประเทศ โดยเฉพาะไม้ยูคาลิปตัส ที่ได้รับการส่งเสริมอย่างจริงจังจากภาคเอกชนเพื่อผลิตกระดาษ ประกอบกับพื้นที่ตัดโค่นสวนยางพาราเก่าและปลูกทดแทนด้วยยางพาราพันธุ์ดีตามนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.0 ทำให้มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการเพิ่มมากขึ้น

ด้านนายอนันต์ ลิลา เลขาธิการ สศก. กล่าวเสริมว่า ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2557สศก. คาดว่า จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 3.0 – 4.0 โดยมีแรงขับเคลื่อนสำคัญจากการผลิตในสาขาพืช ปศุสัตว์ รวมถึงสาขาประมงที่คาดว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงกลางปี 2557 และสามารถขยายตัวเป็นบวกได้ในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ในปี 2557 ยังมีปัจจัยเสี่ยงหลายประการที่จะส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการผลิตภาคเกษตร เช่น ภาวะเศรษฐกิจโลก อัตราแลกเปลี่ยน ราคาน้ำมัน รวมถึงภัยธรรมชาติและโรคระบาดต่างๆ ซึ่งจำเป็นต้องมีการติดตามและประเมินสถานการณ์ โดย.

สาขาพืช คาดว่าในปี 2557 จะขยายตัวเพิ่มขึ้นอยู่ในช่วงร้อยละ 3.2 – 4.2 เมื่อเทียบกับปี 2556โดยผลผลิตพืชที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงาน ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ส่วนผลผลิตพืชที่มีแนวโน้มลดลง ได้แก่ ข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง สับปะรด และผลไม้ เช่น ทุเรียน มังคุด และเงาะ อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงเกี่ยวกับปริมาณน้ำที่ใช้การได้ในเขื่อนขนาดใหญ่ เช่น ภูมิพล และสิริกิติ์ ซึ่งมีความสำคัญต่อการเพาะปลูกพืช รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและการระบาดของศัตรูพืชต่าง ๆ ด้านราคาพืชที่เกษตรกรขายได้ส่วนใหญ่ในปี 2557 คาดว่าจะใกล้เคียงกับปี 2556 สำหรับการส่งออกสินค้าพืชและผลิตภัณฑ์ มีแนวโน้มดีขึ้นตามทิศทางของเศรษฐกิจกลุ่มประเทศคู่ค้าซึ่งมีสัญญาณของการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น

สาขาปศุสัตว์ คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.0 – 3.0 โดยปริมาณการผลิตไก่เนื้อ ไข่ไก่ สุกร และโคนม มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากการพัฒนาระบบการเลี้ยงและการบริหารจัดการที่เป็นมาตรฐานมากขึ้น มีกระบวนการควบคุมและเฝ้าระวังโรคระบาดอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีการขยายการเลี้ยงเพื่อรองรับความต้องการบริโภคของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังต้องมีการเฝ้าระวังโรคระบาดต่าง ๆ รวมทั้งความเสี่ยงจากปัญหาสภาพอากาศแปรปรวน ภัยธรรมชาติ และต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูง ที่อาจส่งผลกระทบต่อการผลิตปศุสัตว์

สาขาประมง มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2556 อยู่ในช่วงร้อยละ 2.2 – 3.2 เนื่องจากการผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นจากปัญหาการระบาดของโรค EMS ซึ่งกรมประมงร่วมกับภาคเอกชนได้ดำเนินมาตรการในการแก้ไขปัญหา อาทิ การดูแลทำความสะอาดบ่อเลี้ยง การ Clean up โรงเพาะฟักลูกกุ้ง ขณะเดียวกันได้มีการควบคุมดูแลการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์กุ้งทะเลจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นแหล่งที่ผ่านการตรวจสอบจากกรมประมงแล้วว่าปลอดเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรค นอกจากนี้ กรมประมงร่วมกับผู้นำเข้าพ่อแม่พันธุ์กุ้งทะเลได้ดำเนินการหาแหล่งนำเข้าพ่อแม่พันธุ์อื่นๆ ที่มีคุณภาพเพิ่มเติม

สาขาบริการทางการเกษตร คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 0.8 – 1.8 เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังในปี 2557 มีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับปี2556 จากสถานการณ์น้ำในเขื่อนที่อาจมีไม่เพียงพอต่อการปลูกข้าวนาปรังรอบสอง อย่างไรก็ตาม พื้นที่เพาะปลูกพืชที่สำคัญชนิดอื่นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เช่น ข้าวนาปี และอ้อยโรงงาน นอกจากนี้ ปัญหาการขาดแคลนแรงงานด้านการเกษตร ทำให้อัตราค่าจ้างแรงงานภาคเกษตรค่อนข้างสูง ส่งผลให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนมาใช้บริการเครื่องจักรกลทางการเกษตรเพิ่มขึ้น และ สาขาป่าไม้ คาดว่ายังคงขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 3.0 – 4.0 เนื่องจากเป้าหมายการตัดโค่นต้นยางพาราเก่าและปลูกทดแทนด้วยยางพาราพันธุ์ดีของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประมาณ 300,000 ไร่ ประกอบกับจำนวนพื้นที่เป้าหมายการตัดไม้ยูคาลิปตัสที่อายุครบตัดของภาคเอกชน ทั้งจากสวนป่าสมาชิกและหัวไร่ปลายนามีจำนวนเพิ่มขึ้น

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 29 พฤศจิกายน 2556

การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการบริหารจัดการนํ้า

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทานเปิดเผยว่า โครงการพัฒนาที่มีผลกระทบต่อชุมชน และสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน จะกล่าวถึง EIA (Environmental Impact Assessment) ซึ่งหมายถึง การใช้หลักวิชาการในการทำนาย หรือคาดการณ์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งทางบวกและทางลบที่อาจเกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการใน 4 ด้าน อันได้แก่ 1. ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ เช่น อากาศ น้ำ ดิน 2. ทรัพยากรทางชีวภาพ เช่น สัตว์ พืช หรือสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ 3. คุณค่าการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ เช่น ถนน ไฟฟ้า น้ำดื่ม/น้ำใช้ และ 4. คุณค่าต่อคุณภาพชีวิต ในประเด็นเศรษฐกิจ สังคม หรือสาธารณสุข เป็นต้น เพื่อจะได้หาทางป้องกันผลกระทบในทางลบที่อาจเกิดขึ้นให้เกิดน้อยที่สุด ในขณะเดียวกัน ก็มีการใช้ทรัพยากร ธรรมชาติได้อย่างมีประโยชน์ มีประสิทธิภาพและคุ้มค่าที่สุด

ส่วนคำว่า EHIA (Environment and Health Impact Assessment) หมายถึง การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ

EHIA จึงแตกต่างจาก EIA ตรงที่ กระบวนการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการ โดยได้ขยายมิติทางสุขภาพออกไปให้กว้างขึ้นจากที่มีอยู่เดิมใน EIA และสร้างความเชื่อมโยงระหว่างปัจจัยกำหนดสุขภาพกับปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม ระบบบริการสุขภาพและพฤติกรรมสุขภาพ นับเป็นกระบวนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ครบทุกมิติ รวมทั้ง EHIA ยังเป็นกระบวนการที่ดีที่ได้กำหนดให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมและรับฟังข้อห่วงกังวลต่าง ๆ จากประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียไว้อย่างชัดเจน

ทั้งนี้เนื่องจากมาตรา 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 กำหนดให้โครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ต้องศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน

EHIA จึงเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา เพื่อให้ผู้บริหารได้มีข้อมูลต่าง ๆ เป็นแนวทางตัดสินใจว่า สมควรพัฒนาโครงการ นั้น ๆ หรือไม่อย่างไร สำหรับโครงการพัฒนาด้านแหล่งน้ำของกรมชลประทานโดยเฉพาะเรื่องการก่อสร้างเขื่อนนั้น ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เปิดเผยว่ากระบวนการทำ EHIA ต้องดำเนินการศึกษาโดยนิติบุคคลที่มีผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อมที่ได้รับการอนุญาตจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเท่านั้นและมีคณะผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้องร่วมกันศึกษาวิเคราะห์ข้อมูล กรมชลประทานไม่สามารถดำเนินการจัดทำรายงานได้เอง ซึ่งขั้นตอนและวิธีการศึกษา ก็จะเป็นไปตามหลักวิชาการ ครบถ้วน รอบด้าน ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ สังคม พร้อมเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม รับฟังความคิดเห็นต่าง ๆ จากนั้นจึงนำข้อมูลจริงในพื้นที่ทั้งหมดที่ได้มาใช้ในการคำนวณและวิเคราะห์ตามหลักวิชาการ

“หากไม่ได้มีการอนุมัติ โครงการนั้น ๆ ก็จะต้องยุติไป ซึ่งกรมชลประทานก็พร้อมยอมรับ เนื่องจากกรมชลประทานไม่ได้มุ่งจะสร้างเขื่อนแต่อย่างใด แต่มุ่งที่จะแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนที่เดือดร้อนแสนสาหัสจากน้ำท่วม น้ำแล้งซ้ำซากทุกปีเท่านั้น” ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชล ประทานกล่าว.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 29 พฤศจิกายน 2556

รายงานพิเศษ : กรมหมอดินจัดใหญ่งานวันดินโลก เฉลิมพระเกียรติในหลวง “นักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม”

วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี นอกจากจะเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว ยังเป็น “วันดินโลก (“World soil Day)”อีกด้วย โดยสหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ ได้ตระหนักถึงพระปรีชาสามารถและพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงให้ความสำคัญต่อการบริหารจัดการทรัพยากรดิน และทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านการพัฒนาที่ดินอย่างต่อเนื่อง จนเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชนและเป็นที่ยอมรับนำไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมได้ ทั้งในประเทศและนานาประเทศทั่วโลก อีกทั้งยังเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของโลกที่ทรงได้รับรางวัล“นักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม” (The Humanitarian Soil Scientist) ซึ่งที่ผ่านมา องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้ประกาศสนับสนุน และผลักดันให้มีการจัดตั้งวันดินโลกในวันดังกล่าว พร้อมกับได้จัดงานเฉลิมฉลอง ณ สำนักงานใหญ่ FAO กรุงโรม ประเทศอิตาลี เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2555 ซึ่งกรมพัฒนาที่ดิน ได้จัดส่งกิจกรรมเข้าร่วมด้วย

นายอภิชาต จงสกุล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ได้เล่าให้ฟังว่า กรมพัฒนาที่ดิน เป็นหน่วยงานหนึ่ง ที่ได้น้อมนำแนวพระราชดำริในด้านการบริหารจัดการทรัพยากรดิน การอนุรักษ์ดินและน้ำ การใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝกป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดิน มาปฏิบัติจนเกิดเป็นผลสำเร็จให้ประโยชน์ทั้งในการพัฒนาประเทศ และการดำรงชีวิตของราษฎรให้ดีขึ้น ยังความร่มเย็นเป็นสุขมาสู่สังคมไทย และนับเป็นความภาคภูมิใจอีกครั้งหนึ่งของกรมพัฒนาที่ดิน ที่ได้รับความไว้วางใจจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้เป็นเจ้าภาพจัดงานวันดินโลก “ด้วยพระบารมี ปฐพีพัฒนา 5 ธันวา วันดินโลก” โดยกำหนดจัดระหว่างวันที่ 3 – 5 ธันวาคม 2556 ณ กรมพัฒนาที่ดิน ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสมหามงคลที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา 86 พรรษา 5 ธันวาคม 2556 เป็นการเฉลิมฉลองวันดินโลกและสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรดิน เป็นการเผยแพร่ความรู้วิธีปฏิบัติเพื่อการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะเรื่องดินสู่สังคมไทย ให้ประชาชนได้เห็นความสำคัญของเรื่องดิน เพื่อเป็นการขับเคลื่อนแนวคิด หลักวิธีการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของบุคคลหรือองค์กรต้นแบบให้เป็นตัวอย่างอันดีในสังคม และขยายผลการดำเนินงานให้กว้างขวาง

โดยกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “ในหลวงกับการพัฒนาที่ดิน” นิทรรศการดินเพื่อการดำรงชีวิต นิทรรศการดินต้องรู้ นิทรรศการดินมีชีวิต นิทรรศการดินกับวิทยาศาสตร์ นิทรรศการดินสำหรับคนเมือง นิทรรศการของภาคปฐพีวิทยา วิทยาเขตกำแพงแสน ร่วมกับ สมาคมดินและปุ๋ยแห่งประเทศไทย จัดการประชุมเสวนาวิชาการในวันพุธที่ 4 ธันวาคม 2556 ณ ห้องประชุม 801 ชั้น 8 กรมพัฒนาที่ดิน ในหัวข้อเรื่อง “ดินกับวิกฤตของประเทศ” โดยได้รับเกียรติอย่างสูงจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาที่ดิน มาเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษทั้งภาคเช้าและภาคบ่าย

นายอภิชาต กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ภายในงานยังมีการจำหน่ายสินค้า OTOP สินค้าเกษตรปลอดสารพิษ/เกษตรอินทรีย์ ราคาถูก การจัดการฝึกอบรมการผลิตและใช้น้ำหมักชีวภาพ ซุปเปอร์ พด. 2 พด. 6 การทำน้ำยาเอนกประสงค์เพื่อช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต การแจกจ่ายของขวัญที่ระลึก เอกสารวิชาการ หนังสือความรู้การพัฒนาที่ดิน ให้แก่ผู้ที่เข้าร่วมชมงานฟรี และขอเชิญชมพิพิธภัณฑ์ดินแห่งแรกของประเทศไทย ที่สวยงามและสมบูรณ์ทันสมัยที่สุดในอาเซียน มีการจัดวางองค์ประกอบที่ได้สัดส่วนด้วยระบบ แสง สี เสียง ที่น่าตื่นตาตื่นใจ มีสีสันและการใช้กราฟฟิกส์สวยงาม ตื่นตระการตากับห้องชมภาพยนตร์จอพานอราม่า ขนาด 40 ที่นั่ง จัดฉายภาพยนตร์สารคดีเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่นำเสนอพระราชกรณียกิจของพระองค์เกี่ยวกับการพัฒนาที่ดิน ในพื้นที่โครงการพระราชดำริต่าง ๆ ทั่วประเทศ ที่หาชมได้อย่างยากยิ่ง

ที่สำคัญ สำหรับผู้ที่เข้ามาร่วมชมงานนิทรรศการวันดินโลกเฉลิมพระเกียรติที่กรมพัฒนาที่ดินในวันที่ 5 ธันวาคม 2556 ขอเชิญทุกท่านร่วมกันแสดงพลังสามัคคีโดยพร้อมเพรียงกัน ในพิธีจุดเทียนชัยถวายพระพร ณ ลานสนามหญ้ากรมพัฒนาที่ดิน เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดีถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมกับรับสัญญาณถ่ายทอดสด ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ในเวลา 19.29 น. เป็นต้นไป

ขอเชิญชวนประชาชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา และเกษตรกรทั่วไป เข้าชมงานได้ระหว่างวันที่ 3 – 5 ธันวาคม 2556 นี้ ตั้งแต่เวลา 08.30 – 18.00 น. ณ กรมพัฒนาที่ดิน ถนนพหลโยธิน จตุจักร กรุงเทพฯ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมพัฒนาที่ดิน โทร. 02-579-8515 หรือสายด่วนกรมพัฒนาที่ดิน โทร. 1760

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 29 พฤศจิกายน 2556

กลุ่มมิตรผล จับมือ 3 พันธมิตร นำร่องปลูกถั่วเหลืองในไร่อ้อย เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้ดินตามแนวทางการปลูกอ้อยยุคใหม่

กลุ่มมิตรผล ร่วมกับ บริษัท กรีนสปอต จำกัด บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด และสมาคมผู้ผลิตน้ำมันถั่วเหลืองและรำข้าว เปิดโครงการนำร่องส่งเสริมให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยปลูกถั่วเหลืองในช่วงบำรุงดิน เพื่อคืนความอุดมสมบูรณ์ให้ดิน และเพิ่มผลผลิตอ้อยอย่างยั่งยืนตามแนวทางการปลูกอ้อยยุคใหม่ รวมทั้งช่วยสร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกร และลดการนำเข้าถั่วเหลืองจากต่างประเทศ ตั้งเป้าช่วยเพิ่มผลผลิตอ้อยได้ 15 ตันต่อไร่ พร้อมขยายโครงการสู่กว่า 10 จังหวัด ในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ทั้งนี้ กลุ่มมิตรผลจะสนับสนุนการเข้าถึงและให้ความรู้เกี่ยวกับประโยชน์ของการปลูกถั่วเหลืองแก่เกษตรกรชาวไร่อ้อย ส่วนสยามคูโบต้าจะให้ความรู้และคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการปลูก การเก็บเกี่ยว และการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรที่เหมาะสมในทุกขั้นตอน ส่วนกรีนสปอต ผู้ผลิตน้ำนมถั่วเหลืองตราไวตามิ้ลค์ และสมาคมผู้ผลิตน้ำมันถั่วเหลืองและรำข้าว จะรับซื้อผลผลิตทั้งหมดจากเกษตรกรในราคาที่เป็นธรรม นอกจากนี้ กรมวิชาการเกษตร และกรมส่งเสริมการเกษตร จะจัดหาเมล็ดพันธุ์คุณภาพและให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการปลูก รวมทั้งการบำรุงรักษา และการป้องกันโรคพืชแก่เกษตรกรด้วย

จากhttp://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

สศก.ระดมสมองวางแนวทาง พัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรไทย

นายอนันต์ ลิลา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ประเทศไทยนับเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญประเทศหนึ่งของโลก ปี 2555 การส่งออกสินค้าเกษตรอุตสาหกรรมมีมูลค่า 5.19 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้ส่งไปภูมิภาคเอเชีย 3.05 แสนล้านบาท ซึ่งจากความตกลงการค้าเสรีสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิต เพื่อเพิ่มโอกาสการส่งออกสินค้า โดยเฉพาะสินค้าข้าว มันสำปะหลัง อ้อยและน้ำตาล ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ไก่เนื้อ และกุ้ง นอกจากนี้ การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ซึ่งอุตสาหกรรมเกษตรของไทยจำเป็นต้องมีการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร โดยกระทรวงเกษตรฯ ได้กำหนดนโยบายที่สำคัญ ได้แก่

1.การบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (Zoning) เพื่อปรับระบบการใช้ที่ดินให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด มีความเหมาะสมของพื้นที่และสินค้าเกษตรแต่ละชนิด 2.นโยบายเขตเกษตรเศรษฐกิจ (Agro – economic Zone) เพื่อกำหนดการผลิตแบบกลุ่มสินค้าเศรษฐกิจ 3.แผนพัฒนาระบบ Logistic ด้านการเกษตร 4.การบริหารกลุ่มการผลิตรายสินค้า (Cluster) โดยดำเนินกิจกรรมในพื้นที่ใกล้เคียงกัน มีความร่วมมือเกื้อหนุนเชื่อมโยงและเสริมซึ่งกันและกันอย่างครบวงจร

ทั้งนี้ การนำนโยบายดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม จำเป็นต้องอาศัยนักวิชาการที่มีความรู้ ความสามารถ ในการวิเคราะห์และเสนอแนวทางการพัฒนาฯ และสามารถเชื่อมโยงภารกิจต่างๆ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้การพัฒนาภาคเกษตรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

“ห้วยเม็ก”สำรวจวางแผน ทำฝนหลวงช่วยภัยแล้ง

นายวัลลภ ประวัติวงศ์ นายอำเภอห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์ นายพิบูรณ์ คำแหงพล นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบล (ทต.) คำเหมือดแก้ว พร้อมด้วยนักวิชาการฝนหลวงศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น เจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอ และผู้นำชุมชนร่วมกันขึ้นเฮลิคอปเตอร์บินสำรวจแหล่งน้ำต่างๆ ในพื้นที่ อ.ห้วยเม็ก ประชุมร่วมกันวิเคราะห์วางแผนเตรียมดำเนินการทำฝนหลวง หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าว ช่วยเหลือประชาชนให้มีน้ำอุปโค บริโภคและทำการเกษตรในช่วงหน้าแล้ง

นายพิบูรณ์ กล่าวว่า พื้นที่ อ.ห้วยเม็ก โดยเฉพาะ ต.คำเหมือนแก้ว ประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพหลัก คือการทำนา และปลูกพืชไร่ ทั้งอ้อยและมันสำประหลัง ซึ่งปัจจัยหลักในการทำการเกษตรคือน้ำฝน แต่ระหว่างช่วงเดือน ก.พ.-พ.ค. จะประสบปัญหาภัยแล้งซ้ำซากทุกปี แหล่งน้ำตามธรรมชาติ ห้วย หนอง คลอง บึงต่างๆ แห้งขอด เนื่องจากมีความตื้นเขิน ดังนั้นเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยแล้งที่จะเกิดขึ้น ทาง ทต.คำเหมือดแก้ว จึงได้ประสานขอความช่วยเหลือไปยังศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เร่งสำรวจพื้นที่ โดยเฉพาะแหล่งน้ำตามธรรมชาติ รวมถึงพื้นที่ทำการเกษตร เพื่อวิเคราะห์และศึกษา เตรียมวางแผนเป็นแนวทางการทำฝนหลวงในช่วงหน้าแล้ง

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

อุบลฯปิดประตูเขื่อนปากมูล เตรียมความพร้อมรับภัยแล้ง

นายวันชัย สุทธิวรชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานการปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล ทั้ง 8 บาน ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยกองโรงไฟฟ้าเขื่อนสิรินธร ได้ทำการเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล ทั้ง 8 บาน ตั้งแต่วันที่ 12 ส.ค. 2556 ตามมติที่ประชุม จ.อุบลราชธานี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามแนวทางคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ จ.อุบลราชธานี ที่จะต้องมีการปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง เมื่อระดับน้ำที่สถานีวัดน้ำสะพานเสรีประชาธิปไตย จ.อุบลราชธานี ลดลงต่ำกว่าระดับ 112 เมตร

โดยล่าสุดระดับน้ำที่สถานีวัดน้ำสะพานเสรีประชาธิปไตย อยู่ที่ 110.49 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง ที่ประชุมจึงมีมติ ให้ปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลทั้ง 8 บาน ซึ่งถือเป็นการบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนในลุ่มแม่น้ำมูลอย่างสูงสุด ทั้งด้านการเกษตร ด้านประมง ด้านปศุสัตว์ รวมทั้งเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งด้วย

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

กรมหมอดินเสริม3พืชพลังงาน

ในอดีตที่ผ่านมาเกษตรกรไทยมีการปลูกพืชแบบทุนนิยม ส่งผลให้พืชผลทางการเกษตรล้นตลาดจำนวนมาก ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ กระทบทั้งต่อภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม ด้วยปัญหาดังกล่าวกรมพัฒนาที่ดินร่วมกับสถาบันพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทย จึงได้ดำเนินโครงการ “นำร่องการพัฒนาที่ดินเพื่อปลูกพืชและการปรับปรุงดินให้มีคุณภาพและเพิ่มผลผลิตที่เหมาะสมสำหรับมันสำปะหลังตามแนวคิด "สมาร์ทฟาร์มเมอร์" เพื่อช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวให้เกษตรกร

สุรเดช เตียวตระกูล รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการเพิ่มของประชากรโลกทำให้หลายประเทศเตรียมรองรับภาวะแก่งแย่งทรัพยากรไม่ว่าจะเป็นด้านอาหารและพลังงานอย่างมหาศาล ขณะที่พื้นที่ในการผลิตไม่สามารถเพิ่มตามได้ ฉะนั้นเพื่อสร้างความยั่งยืนทางพลังงานและการใช้พื้นที่ทางการเกษตรให้เกิดประโยชน์สูงสุดจำเป็นต้องจัดระบบ "โซนนิ่งภาคเกษตร" ขึ้น เพื่อให้เกษตรกรรู้จักวางแผนการผลิตแบบครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ พร้อมทั้งยกระดับความสามารถด้านการเพาะปลูกอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถลดต้นทุนการผลิตทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยพยายามที่จะเปลี่ยนมันสำปะหลัง อ้อย หรือหญ้าเนเปียร์ มาเป็นพลังงานทดแทน ซึ่งการผลิตพลังงานทดแทนส่วนใหญ่นิยมใช้ผลผลิตทางการเกษตรที่มีแป้งและน้ำตาลสูง

"โซนนิ่งเป็นข้อมูลเบื้องต้นเพื่อดูศักยภาพของดินที่สามารถนำมาใช้ในการปลูกพืชแบบใด เอาข้อมูลมาดูว่าดิน น้ำ อากาศเฉลี่ยในแต่ละปีว่ามีสภาพอย่างไรเพื่อที่จะให้เกิดความยั่งยืนและเกิดการผลิตที่ต่อเนื่อง กรมพัฒนาที่ดินจึงเน้นการส่งเสริมการปลูกมันสำปะหลัง การปลูกหญ้าแฝก และการปลูกหญ้าเนเปียร์ที่สามารถนำมาสกัดเป็นก๊าซเอทานอล ที่ถือเป็นหนึ่งทางเลือกพลังงานทดแทนของคนไทย เพื่อเพิ่มผลผลิตที่เหมาะสมตามแนวคิด “สมาร์ทฟาร์มเมอร์” โดยเน้นการพัฒนาให้เกษตรกรพึ่งพาตนเองได้"

ด้าน สุรชัย หมื่นสังข์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาที่ดิน เขต 3 นครราชสีมา กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ในฐานะที่ประเทศไทยมีความสามารถในการผลิตอาหารของโลก ก็สามารถผลิตพลังงานทดแทนได้แต่ขณะนี้ต้นทุนการผลิตยังไม่คุ้มเมื่อเทียบกับราคาน้ำมันเบนซินในปัจจุบัน ในอนาคตข้างหน้าเมื่อปริมาตรของน้ำมันในโลกลดลงราคาก็จะปรับเพิ่มขึ้น พลังงานทางเลือกเป็นแนวทางให้ลดการนำเข้าสามารถพึ่งพาตัวเองได้ อีกทั้งรัฐบาลไทยมีการนำนโยบายมาเปลี่ยนพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมจากการปลูกข้าว มาเป็นการปลูกพืชพลังงานตัวอื่น พร้อมทั้งการเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน โดยใช้ปุ๋ยหมัก ใช้ปุ๋ยพืชสด และฟื้นฟูสิ่งมีชีวิตในดินอย่างจุลินทรีย์ให้สามารถปลดปล่อยธาตุอาหารในดิน หรือตรึงไนโตรเจนจากอากาศได้ดี

"เกษตรกรสามารถเลือกได้ว่าจะปลูกพืชชนิดใดในพื้นที่ของตนให้ได้กำไรในแต่ละปี โดยกรมพัฒนาที่ดินจะคอยให้ข้อมูลและติดตามผลเป็นระยะ เป็นการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้เกษตรกรมีการพัฒนา ส่งผลดีโดยรวมต่อการเกษตรและการทำงานอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพได้มากขึ้น"

ส่วน พิษณุ เดชโยธิน หัวหน้ากลุ่มพัฒนารายได้และทรัพย์สิน กล่าวว่า "โครงการ 5 ไร่ได้มากกว่า" ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ดำเนินงานภายในระยะเวลา 3 ปีต่อรุ่น เพื่อให้เกษตรกรมีทักษะการทำเกษตรแบบยั่งยืน มีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 180,000บาทต่อครัวเรือนต่อปี โดยแปลงของเกษตรกร 5 ไร่ต่อคน แบ่งเป็น 3 ไร่ปลูกพืชไร่, 1 ไร่เป็นบ่อปลา, 1 ไร่ปลูกผัก ซึ่งช่วยแบ่งเบาภาระการดูแลราคาสินค้าที่มักผันผวนอยู่เสมอ ทำให้การทำตลาดสินค้าเกษตรได้ง่ายขึ้น

การพัฒนาดินเพื่อปลูกพืชทางเลือก นับเป็นการเพิ่มผลผลิตทางพลังงานทดแทนเพื่อชาวไทย อีกทั้งเป็นการเพิ่มบทบาทของเกษตรกรให้โดดเด่น และลดการนำเข้าเชื้อเพลิงในอนาคตเพื่อตอบรับการพัฒนาที่ยั่งยืน

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

โรงงานขู่งดให้ใบคิวชาวไร่เผาอ้อย

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า จากการเก็บข้อมูลปัญหาอ้อยไฟไหม้และอ้อยปนเปื้อนของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย (ฤดูการผลิตปี 2554/55 และ 2555/56) พบว่าอ้อยไฟไหม้และสิ่งปนเปื้อนในอ้อยยังเป็นปัญหาที่มีความรุนแรงและส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย โดยพบว่า สัดส่วนอ้อยไฟไหม้ฤดูการผลิตปี 2555/56 คิดเป็น 65.79% หรือประมาณ 64.20 ล้านตัน จากปริมาณอ้อยเข้าหีบประมาณ 100 ล้านตัน

ทั้งนี้ ผู้บริหารโรงงานน้ำตาลทรายพร้อมเจ้าหน้าที่ฝ่ายไร่และฝ่ายโรงงาน จึงได้ประชุมกลุ่มย่อยเพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้และสิ่งที่ปนเปื้อนมากับอ้อยโดยมีข้อเสนอแนะหลายประการ เช่น การจัดอบรมให้ความรู้ถึงผลกระทบจากการเผาอ้อย ให้ ความรู้เกี่ยวกับวิธีตัด คีบ กองรวม เรียงอ้อย และขึ้นอ้อย รวมถึงสร้างแรงจูงใจให้ตัด อ้อยสด เช่น การให้รางวัล ประกาศชมเชย ในทางกลับกันควรกำหนดมาตรการลงโทษ เช่น อาจใช้มาตรการทางสังคมตัดราคาอ้อย หรืองดจ่ายใบคิว เป็นต้น

จาก http://www.khaosod.co.th  วันที่ 27 พฤศจิกายน 2556

รายงานพิเศษ : นำร่องปลูกถั่วเหลืองในไร่อ้อย เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ในดินเพื่อความยั่งยืนของเกษตรกร

ปัจจุบันการปลูกถั่วเหลืองในประเทศไทยมีปริมาณไม่ถึงแสนตัน ในขณะที่ความต้องการใช้ถั่วเหลืองมีปริมาณสูงกว่า 1.5 ล้านตัน ดังนั้น เพื่อลดการนำเข้าถั่วเหลืองจากต่างประเทศ และสร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกร กลุ่มมิตรผล จึงร่วมกับ บริษัท กรีนสปอต จำกัด บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด และสมาคมผู้ผลิตน้ำมันถั่วเหลืองและรำข้าว จัดตั้งชมรมผู้ส่งเสริมการปลูกถั่วเหลืองในประเทศไทย พร้อมเปิดโครงการนำร่องส่งเสริมให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยปลูกถั่วเหลืองในช่วงบำรุงดิน เพื่อคืนความอุดมสมบูรณ์ในดิน และเพิ่มผลผลิตอ้อยอย่างยั่งยืนตามแนวทางการปลูกอ้อยยุคใหม่ ตั้งเป้าช่วยเพิ่มผลผลิตอ้อยได้ 15 ตันต่อไร่ พร้อมขยายโครงการสู่กว่า 10 จังหวัด ในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

นายกฤษฎา มนเทียรวิเชียรฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า กลุ่มมิตรผล ไม่เพียงให้ความสำคัญกับการสร้างความอยู่ดีกินดีให้กับชาวไร่อ้อยเท่านั้น แต่เรายังมุ่งให้ความรู้ด้านการจัดการอย่างเป็นระบบตามแนวทางการปลูกอ้อยยุคใหม่ หรือ Modern Farm ที่เน้นการจัดการไร่อ้อยอย่างยั่งยืน โดยหนึ่งในนั้นคือการปลูกถั่วเหลืองในช่วงบำรุงดิน สำหรับแปลงอ้อยที่รื้อตอ หลังการเก็บเกี่ยวอ้อย นอกจากชาวไร่อ้อยจะได้รายได้เสริมจากการปลูกถั่วเหลืองแล้ว ชาวไร่ยังไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายในการรื้อแปลงปลูกถั่วเหลืองหลังเก็บเกี่ยว เพราะสามารถไถกลบเตรียมปลูกอ้อยชุดใหม่ได้ทันที โดยถั่วเหลืองจะช่วยเพิ่มไนโตรเจนซึ่งเป็นธาตุอาหารในดินให้กับอ้อย ประโยชน์ที่ได้คือผลผลิตอ้อยที่เพิ่มมากขึ้น และต้นทุนในการใช้ปุ๋ยลดลง รวมทั้งช่วยตัดวงจรของโรคและแมลง ถือเป็นการทำไร่อ้อยด้วยระบบชีววิธีที่จะก่อให้เกิดความยั่งยืนในภาคเกษตร

ด้าน นายโอภาศ ธันวารชร กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวเสริมว่า แนวทางการจัดการเพาะปลูกในภาคการเกษตรปัจจุบันมีความจำเป็นต้องอาศัยระบบการเพาะปลูกพืชที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งขั้นตอนสำคัญหนึ่ง คือ มีระบบการพักดินและบำรุงดิน เพื่อปรับปรุงสภาพดินให้ดีขึ้น รวมทั้งยังช่วยตัดวงจรโรคพืชและแมลงศัตรูพืช โดยในระบบการปลูกพืชสมัยใหม่นี้มีหลักการสำคัญคือมีประสิทธิภาพและทันเวลา ดังนั้นเครื่องจักรกลการเกษตรจึงมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต นอกจากนี้ยังช่วยทดแทนแรงงานคนที่หายากและขาดแคลนอีกด้วย สยามคูโบต้า จึงเล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาเครื่องจักรกลการเกษตรให้เหมาะสม สามารถรองรับการใช้งานในทุกขั้นตอน ในปัจจุบันสยามคูโบต้า ได้พัฒนารถเกี่ยวนวดถั่วเหลืองมาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในขั้นตอนการเก็บเกี่ยวถั่วเหลือง

นายธรรมศักดิ์ จิตติมาพร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กรีนสปอต จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มน้ำนมถั่วเหลืองตราไวตามิ้ลค์ กล่าวว่า “ความร่วมมือระหว่างไวตามิ้ลค์กับพันธมิตรทางธุรกิจเอกชน 3 องค์กร ประกอบด้วย กลุ่มมิตรผล บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด และสมาคมผู้ผลิตน้ำมันถั่วเหลืองและรำข้าว รวมทั้งภาครัฐ ได้แก่ กรมวิชาการเกษตร และกรมส่งเสริมการเกษตร รวมทั้งสำนักวิชาการ นับเป็นการตอกย้ำพันธกิจขององค์กรใน “การเติมพลังชีวิตและความสุขให้กับทุกคน” โดยโครงการปลูกถั่วเหลืองในไร่อ้อยช่วงบำรุงดินในครั้งนี้ จะส่งเสริมให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยปลูกถั่วเหลืองในช่วงบำรุงดินเพื่อเพิ่มธาตุอาหารในดินอย่างครบวงจร และยังเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดต้นทุนการนำเข้าแล้ว ยังถือเป็นการสร้างและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรได้ เพราะไวตามิ้ลค์ยินดีที่จะเป็นหลักประกันรับซื้อผลผลิตทั้งหมดจากเกษตรกรในราคาที่เป็นธรรม เพื่อสนับสนุนเกษตรกรไทยให้มีความเป็นอยู่และมีรายได้ที่มั่นคงอย่างยั่งยืน

นอกจากความร่วมมือของภาคเอกชนแล้ว โครงการดังกล่าวยังได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ กรมวิชาการเกษตร และกรมส่งเสริมการเกษตร ในการจัดหาเมล็ดพันธุ์คุณภาพที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ และให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการปลูก การบำรุงรักษา และการป้องกันโรคพืช รวมทั้งส่งนักวิชาการมาอบรมความรู้และให้คำแนะนำ เพื่อให้โครงการสำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์ และเกษตรกรได้รับผลผลิตที่มีคุณภาพในปริมาณมาก

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 27 พฤศจิกายน 2556

สกลนครขานรับโซนนิ่งจากปลูกข้าวเป็นอ้อยโรงงาน

จังหวัดสกลนครมีพื้นที่เป้าหมายในการขยายพื้นที่ปลูกอ้อยโรงงานรวมรัศมี 50 กิโลเมตรจากกลุ่มโรงงานน้ำตาล จำนวน 49,660 ไร่ 7 อำเภอ รวม 30 หมู่บ้าน

นางเพ็ญศิริ วงษ์วาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการ เกษตรเขต 3 อุดรธานี (สศข.3) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จังหวัดสกลนครมีพื้นที่เป้าหมายในการขยายพื้นที่ปลูกอ้อยโรงงานรวมรัศมี 50 กิโลเมตรจากกลุ่มโรงงานน้ำตาล จำนวน 49,660 ไร่ 7 อำเภอ รวม 30 หมู่บ้าน โดยมอบหมายคณะอนุกรรมการอ้อยระดับท้องถิ่น (เกษตรจังหวัดสกลนคร เป็นประธาน) ได้พิจารณาจำนวนเกษตรกรเป้าหมายที่รวบรวมได้จากเกษตรตำบลจำนวน 2,590 ราย พื้นที่ดำเนินการ 26,889 ไร่ เพื่อจัดเวทีชี้แจงเกษตรกรเป้าหมาย และได้ประสานโรงงานพิจารณาคัดเลือกเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 2 แห่ง คือ โรงงานน้ำตาลทรายขาวเริ่มอุดม จ.สกลนคร ซึ่งมีความต้องการรับซื้ออ้อยเพิ่ม ปี 2557/58 จำนวน 300,000 ตัน และโรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาลอีสาน จ.กาฬสินธุ์ ที่มีความต้องการรับซื้ออ้อยเพิ่ม ปี 2557/58 จำนวน 225,000 ตัน

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของมาตรการจูงใจนั้น ได้สนับสนุนเงินเกี๊ยว 5,000-6,000 บาทต่อไร่ เงินให้เปล่า 500 บาท/ไร่ กรณีเป็นพื้นที่ปลูกใหม่ รัศมี 50 กม.จากโรงงาน และเงินจูงใจกรณีการขนส่งอ้อยขึ้นลงเขา ตามระยะทาง ซึ่งจากข้อมูลสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดสกลนครพบว่า มีเกษตรกรที่มาขอขึ้นทะเบียนชาวไร่อ้อย รวม 179 ราย และส่วนใหญ่เกษตรกรยังอยู่ระหว่างการตัดสินใจ

ทั้งนี้ จากการที่ภาครัฐมีนโยบาย “การปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวไม่เหมาะสมเป็นอ้อยโรงงาน” ดังกล่าว คาดว่าจะทำให้พื้นที่ปลูกอ้อยของภาคอีสานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่ง สศข.3 จะร่วมกับสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดสกลนคร และสำนักงานเกษตรจังหวัดสกลนคร เพื่อร่วมกันกำหนดระบบติดตามและรายงานผลการดำเนินงาน รวมทั้งนำเสนอปัญหาอุปสรรค ปี 2557 อย่างต่อเนื่องต่อไป.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 27 พฤศจิกายน 2556

ชาวไร่อ้อยอีสานเดือดร้อนโรงงานไม่เปิดหีบอ้อย

ชาวไร่อ้อยใน จ.อุดรธานี และภาคอีสานกำลังเดือดร้อน หลังเกิดปัญหาความขัดแย้งใน กอน. จนไม่สามารถประชุมเพื่อมีมติให้โรงงานน้ำตาลเปิดหีบอ้อย ตามที่ กอน.เสนอ ทำให้ชาวไร่อ้อยต้องรอคิวที่โรงงานน้ำตาลยาวกว่า 100 คัน

นายไพบูลย์ ธิติศักดิ์ นายกสมาคมชาวไร่อ้อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า ได้ทำบันทึกถึงผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการระดับจังหวัด ว่า ชาวไร่อ้อยเดือดร้อนจากการที่โรงงานเปิดหีบอ้อยไม่ได้ ทำให้ชาวไร่อ้อยต้องรอคิวที่โรงงานน้ำตาลยาวมากกว่า 100 คัน และมีอ้อยไฟไหม้ตกค้างอยู่ ยิ่งนานไปน้ำหนักก็จะลดลง ซึ่งล่าสุดโรงงานน้ำตาลเกษตรผลได้ช่วยเหลือชาวไร่อ้อย โดยเปิดหีบอ้อยก่อนมติคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ซึ่งจะต้องเสียค่าปรับวันแรก 200,000 บาท วันต่อไปวันละ 100,000 บาท

ด้านนายธีระชัย แสนแก้ว ประธานสมาพันธ์สมาคมชาวไร่อ้อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า อนุกรรมการระดับจังหวัดได้เสนอให้ กอน.เปิดหีบวันที่ 25 พ.ย. แต่เพราะเกิดปัญหาจากการกำหนดราคากากน้ำตาลที่ทางโรงงานน้ำตาลคัดค้าน ซึ่งที่ประชุม กอน.จะต้องพิจารณาอีกครั้ง แต่เกิดปัญหาประชุมไม่ได้มติให้เปิดหีบอ้อย จึงยังไม่มีการพิจารณา

“โรงงานน้ำตาลในภาคอีสาน 25 โรง บางส่วนต้องยอมเปิดหีบไปก่อน เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวไร่ โดยเฉพาะอ้อยที่ถูกไฟไหม้ โดยโรงงานต้องยอมเสียค่าปรับ เช่น โรงงานที่ จ.เลย อุดรธานี ขอนแก่น หากยังไม่มีมติให้เปิดหีบอ้อย ความเดือดร้อนจะมากขึ้น ซึ่งขณะนี้ได้นัดพูดคุยนอกรอบกับ 2 ฝ่าย ให้สามารถรับข้อเสนอกันได้ จึงจะมีการประชุม กอน. เชื่อว่าจะตกลงกันได้เร็วๆ นี้” นายธีระชัย กล่าว. - สำนักข่าวไทย

จาก http://www.mcot.net  วันที่ 26 พฤศจิกายน 2556

รง.น้ำตาลตั้งทีมลุยตรวจสอบคุณภาพ-แก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้/อ้อยสกปรก

โรงงานน้ำตาลทรายเอาจริงในการแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้และสิ่งปนเปื้อน เสนอมาตรการเชิงให้รางวัลและลงโทษ ให้อ้อยสด สะอาด เข้าหีบก่อน ตัดราคาอ้อยไฟไหม้ อ้อยสกปรก กำหนดมาตรฐาน จัดอบรม และรณรงค์ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ อีกทั้งจัดตั้งและจัดอบรมคณะทำงานหรือทีมงานตรวจสอบคุณภาพอ้อยตั้งแต่ในไร่อ้อยจนถึงโรงงาน และดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมเป็นชุมชนสีเขียว ไม่เอาอ้อยไฟไหม้

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย (Mr.Sirivuth Siamphakdee, President of the Thai Sugar Millers Corporation Limited’ s public relations working group) เปิดเผยว่า จากการเก็บข้อมูลสถานการณ์ปัญหาอ้อยไฟไหม้และอ้อยปนเปื้อนของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย (ฤดูการผลิตปี 2554/55 และ 2555/56) พบว่า อ้อยไฟไหม้และสิ่งปนเปื้อนในอ้อย ยังเป็นปัญหาที่มีความรุนแรงและส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย โดยพบว่า สัดส่วนอ้อยไฟไหม้ฤดูการผลิตปี 2555/56 คิดเป็น 65.79% หรือประมาณ 64.20 ล้านตัน จากปริมาณอ้อยเข้าหีบประมาณ 100 ล้านตัน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบฤดูการผลิตก่อนหน้านี้ ที่มีปริมาณอ้อยไฟไหม้ 65.53% หรือคิดเป็น 64.20 ล้านตันอ้อยจากปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด 97.97 ล้านตันอ้อย

ทั้งนี้ จากสถานการณ์ดังกล่าว ในการประชุมเชิงปฏิบัติการในเดือนพฤศจิกายน 2556 เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดหีบอ้อยฤดูการผลิตปี 2556/57 ผู้บริหารโรงงานน้ำตาลทรายพร้อมเจ้าหน้าที่ฝ่ายไร่และฝ่ายโรงงานได้มีการประชุมกลุ่มย่อยเพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้และสิ่งที่ปนเปื้อนมากับอ้อย โดยมีข้อเสนอแนะหลายประการ ที่หากร่วมกันนำไปปฏิบัติอย่างจริงจังก็จะสามารถช่วยลดปัญหานี้ได้

นายสิริวุทธิ์ กล่าวว่า แนวทางส่วนใหญ่จะต้องเกิดจากความร่วมมือกันระหว่างโรงงานและชาวไร่อ้อย เช่น การจัดอบรมให้ความรู้ถึงผลกระทบจากการเผาอ้อยและประโยชน์จากการตัดอ้อยสด, จัดอบรมให้ความรู้คนขับรถคีบอ้อยและคนตัดอ้อย เกี่ยวกับวิธีตัด คีบ กองรวม เรียงอ้อย และขึ้นอ้อย, จัดทำตกลงร่วมกันระหว่างชาวไร่อ้อย สมาคมชาวไร่อ้อย และโรงงาน ในจัดเก็บผลผลิตอ้อยสดและสะอาดเข้าหีบ, ทำลานคัดแยก ใช้หมอนรองอ้อยหรือแท่นรองอ้อย และสนับสนุนการใช้รถคีบของโรงงาน ซึ่งรถคีบและรถตัดอ้อยนี้ ควรจะพัฒนาให้มีประสิทธิภาพและมีความคล่องตัวในการใช้งานมากยิ่งขึ้น รวมถึงเสนอขอขยายระยะเวลาส่งคืนเงินกู้โครงการจัดซื้อรถตัดอ้อยของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย และของ ธ.ก.ส.

“มีข้อเสนอด้วยว่า ให้สร้างแรงจูงใจเกษตรกรให้ตัดอ้อยสด เช่น การให้รางวัล ประกาศชมเชย ให้สิทธิคิวอ้อยเข้าหีบก่อน หรือสนับสนุนเงินเกี๊ยว เป็นต้น ในทางกลับกัน ก็ควรกำหนดมาตรการลงโทษ เช่น มีระบบแจ้งเตือนชาวไร่อ้อย หัวหน้ากลุ่มชาวไร่อ้อยที่ส่งอ้อยสกปรก อาจใช้มาตรการทางสังคม ตัดราคาอ้อย หรืองดจ่ายใบคิว เป็นต้น ซึ่งก็เป็นข้อเสนอที่ควรพิจารณานำไปปฏิบัติ และขึ้นอยู่กับโรงงานแต่ละแห่ง คงไม่สามารถออกเป็นกฎตายตัวได้” นายสิริวุทธิ์กล่าวและว่า ในด้านของการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ไม่เผาอ้อยนั้น ควรมีการร่วมมือระหว่างโรงงานที่อยู่ใกล้เคียงกัน เพื่อใช้สื่อต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น วิทยุชุมชน ป้ายประชาสัมพันธ์ และแผนพับ เป็นต้น

นอกจากนี้ เพื่อให้การรณรงค์ได้ผล ควรดึงให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม โดยอาจตั้งเป็นหมู่บ้านสีเขียว ซึ่งแสดงถึงการสนับสนุนอ้อยสด ไม่เอาอ้อยไฟไหม้ และร่วมกันจัดตั้งและจัดอบรมคณะทำงานหรือทีมงานตรวจสอบคุณภาพอ้อยตั้งแต่ในไร่อ้อยจนถึงโรงงาน และมีช่องทางการสื่อสารระหว่างกันในแต่ละขั้นตอน ตั้งแต่การตัดอ้อย ลานอ้อย รถขนส่งอ้อย จุดป้อมแจ้งคิว ตาชั่ง จนถึงแท่นเทอ้อย เพื่อให้ได้คุณภาพผลผลิตอ้อยตามมาตรฐานที่กำหนด

“แนวทางการแก้ปัญหาต่างๆ ที่นำเสนอมานี้ จะใช้ได้ผลมากน้อยเพียงใด คงต้องมีการติดตามประเมินผล และกำหนดตัวชี้วัด (KPI) ร่วมกันทั้งฝ่ายโรงงานและชาวไร่อ้อย รวมทั้งต้องตรวจสอบเครื่องจักรในกระบวนการผลิตต่างๆ ของโรงงานเป็นระยะๆ เพื่อนำมาวิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากอ้อยสกปรกและสิ่งปนเปื้อน ซึ่งหากทุกฝ่ายสามารถทำงานประสานความร่วมมือกันอย่างเต็มที่ ก็น่าจะทำให้อ้อยที่จะเข้าหีบในฤดูการผลิตต่อๆ ไปมีคุณภาพดีขึ้น” นายสิริวุทธิ์ กล่าว

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 26 พฤศจิกายน 2556

เขื่อนลำปาวแนะ เกษตรกรร่วม ช่วยกันประหยัดน้ำ

นายปิยปัญญา ภู่ขวัญเมือง ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว กล่าวว่า ปัจจุบันเขื่อนลำปาวมีปริมาณน้ำอยู่ที่ 1,015 ล้าน ลบ.ม.จากระดับกักเก็บ 1,980 ล้านลบ.ม.หรือ 51% แต่สถานการณ์ยังไม่น่าเป็นห่วงเหมือนกับปีที่ผ่านมา แม้ปริมาณน้ำฝนที่ไหลเข้าอ่างในช่วงหน้าฝนมีปริมาณน้อยต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยมากก็ตาม ทั้งนี้ที่ผ่านมาเขื่อนลำปาวได้ส่งน้ำให้แก่พื้นที่การเกษตร เพื่อปลูกพืชฤดูฝนมาตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2556 และได้หยุดส่งน้ำมาตั้งแต่วันที่ 7 พ.ย. 2556

โดยเขื่อนลำปาวจะทำการส่งน้ำให้แก่เกษตรกรอีกครั้ง เพื่อปลูกพืชฤดูแล้งในวันที่ 16 ธ.ค. 2556 และจะหยุดส่งน้ำในวันที่ 18 เม.ย. 2557 ซึ่งในช่วงก่อนการหยุดส่งน้ำ ขอให้เกษตรกรกักเก็บน้ำไว้ในสระน้ำ แปลงนา บ่อพักน้ำ เพื่อใช้ในการประมง เลี้ยงปลา เลี้ยงกุ้ง ทำการเกษตรกร และใช้ประโยชน์ในการอุปโภคบริโภคไว้ให้มากที่สุด พร้อมกันนี้ขอให้เกษตรกรใช้น้ำอย่างเห็นคุณค่าและประหยัดมากที่สุดอีกด้วย ทั้งนี้ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและกลุ่มผู้ใช้น้ำดำเนินการทำความสะอาดคลองและคูส่งน้ำให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 ธ.ค. 2556

อย่างไรก็ตามฤดูแล้งปีนี้ทางเขื่อนลำปาวจะสามารถส่งน้ำให้กับเกษตรกรเพื่อปลูกพืชฤดูแล้งได้เพียง 300 ล้านลบ.ม.เท่านั้น ซึ่งจะสามารถช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรกรหน้าแล้งได้ 180,000 ไร่ จากพื้นที่ชลประทานที่เขื่อนลำปาวรับผิดชอบทั้งหมด 306,963 ไร่ เนื่องจากต้องสงวนน้ำที่เหลือไว้ใช้อุปโภค บริโภค ซึ่งยืนยันว่าเพียงพอในช่วงหน้าแล้งอย่างแน่นอน

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 26 พฤศจิกายน 2556

โลจิสติกส์และเกษตรรับมือ...เออีซี - นานาสารพัน

ทั้งนี้ผลวิจัยโลจิสติกส์ในปี 2556 ภายใต้บริบทเออีซี ทั้งเรื่องโครงสร้างพื้นฐานและการปรับรูปแบบโซ่อุปทานอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมเกษตรจะนำไปประกอบการตัดสินใจในการลงทุนแต่ละโครงการของภาครัฐ

เครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (คอบช.) ร่วมกับสำนักประสานงานโครงการวิจัยด้านโลจิสติกส์ร่วมระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดการแถลงข่าวเรื่อง “การปรับรูปแบบโซ่อุปทานอุตสาหกรรมและสินค้าเกษตรเพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ เพื่อนำเสนอผลงานวิจัยด้านโลจิสติกส์ภายใต้บริบทประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)

รศ.ดร.ดวงพรรณ กริชชาญชัย ผู้ประสานงานชุดโครงการวิจัยโลจิสติกส์ฯ กล่าวสรุปผลงานเรื่องยุทธศาสตร์วิจัยโลจิสติกส์ฯ ว่า ผลงานวิจัยเด่น ๆ ที่ได้จากชุดโครงการนี้ผลที่ได้จากโครงการวิจัยนี้จะเป็นผลพลอยได้เพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้มีอำนาจในการบริหารและพัฒนาประเทศ เพื่อให้ตอบโจทย์ประเทศว่าควรจะเป็นไปในทิศทางใด ทั้งเรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และจะมีการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมของประเทศที่มีศักยภาพ ได้แก่ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องนุ่งห่ม เกษตร และผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์อย่างไร รวมถึงการเกิดเครือข่ายวิจัยในภูมิภาคเพื่อหาผลวิจัยด้านโล จิสติกส์ เพื่อรองรับและตอบสนองต่อประชา คมเศรษฐกิจอาเซียนในทุกประเทศ

ทั้งนี้จากการพัฒนาแบบจำลองผลกระทบที่จะเกิดขึ้นพบว่า การเข้าสู่เออีซีจะมีผล กระทบเชิงเศรษฐกิจต่อภูมิภาคในเชิงบวกมากขึ้น โดยเฉพาะจีดีพีและจีพีพีของไทยที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลต่อการมีขีดความสามารถในแข่งขันเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการจัดการโซ่อุปทานและโลจิสติกส์ด้านสุขภาพ (การจัดการวัสดุคงคลังและการขนส่งเคลื่อนย้าย) ที่จะเกิดประสิทธิ ภาพสูงสุด เกิดการบูรณาการข้อมูลอย่างเป็นหนึ่งเดียวกันเพื่อเกิดการแลกเปลี่ยนและบริหารข้อมูลได้ ที่สำคัญคือเกิดการสอบย้อนกลับได้ของสินค้าและข้อมูล ซึ่งผลสุดท้ายเกิดแก่ความปลอดภัยของผู้ป่วยและประสิทธิภาพทั่วทั้งประเทศ ขณะนี้ประเทศไทยมีการบริการด้านสุขภาพที่ดีเยี่ยมอยู่แล้ว เมื่อประกอบกับการมีการจัดการโซ่อุปทานทั้งสินค้าและฐานข้อมูลที่มีมาตรฐานนานาชาติและมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลระดับนานาชาติ ก็จะทำให้ไทยเป็นฐานของภูมิภาคในอนาคต

ทั้งนี้ผลวิจัยโลจิสติกส์ในปี 2556 ภายใต้บริบทเออีซี ทั้งเรื่องโครงสร้างพื้นฐานและการปรับรูปแบบโซ่อุปทานอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมเกษตรจะนำไปประกอบการตัดสินใจในการลงทุนแต่ละโครงการของภาครัฐ ขณะที่งานวิจัยเกี่ยวกับท่าเรือทวายจะช่วยเตรียมความพร้อมด้านโลจิสติกส์หากท่าเรือทวายเปิดดำเนินการ รวมถึงงานวิจัยด้านสุขภาพที่ดำเนินงานตามความต้องการของโครงการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการคลังยาและเวชภัณฑ์แบบรวมศูนย์ของกระทรวงสาธารณสุข ปีงบประมาณ 2556-2557 ตลอดจนงานวิจัยโลจิสติกส์เกษตรเพื่อโซ่อุปทานและโลจิสติกส์สีเขียว

อุตสาหกรรมที่สำคัญของไทยที่ควรให้ความสำคัญมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมผู้ให้บริการโลจิสติกส์ และอุตสาหกรรมการเกษตร เนื่องจากได้รับผลกระทบจาก เออีซีมากที่สุด โดยมีจุดเด่น คือ คุณภาพของการบริการสูง เพราะมีความหลากหลายของระดับการให้บริการภายในประเทศ ดังนั้นผู้บริโภคจึงให้ความสนใจในเรื่องคุณภาพการให้บริการเป็นสำคัญ ขณะที่โซ่อุปทานสินค้าเกษตรจะยาวขึ้นหากมีการตรวจสอบย้อนกลับเพื่อยกระดับมาตรฐานสินค้าและสร้างความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค รวมถึงมีมาตรฐานจีพีเอที่แม่นยำมากขึ้น

...ทั้งนี้ไม่ควรขายสินค้าเกษตรที่เป็นวัตถุดิบเท่านั้น แต่จะต้องแปรรูปสินค้าให้มีมูลค่าสูงขึ้น เช่น อาหารฮาลาล เพราะประชากรเกินครึ่งของอาเซียนเป็นชาวมุสลิม แต่ปัจจุบันการพัฒนาอาหารฮาลาลยังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร จึงต้องอาศัยงานวิจัยมากขึ้น ...

นอกจากนี้รัฐบาลควรให้ส่งเสริมให้ภาคเอกชนมาลงทุนด้านโลจิสติกส์และอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในกัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม รวมถึงการพัฒนาโครงข่ายระบบรางคู่ให้ครอบคลุมในประเทศและเชื่อมโยงกับประเทศเหล่านี้ด้วย.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 26 พฤศจิกายน 2556

ครม.ไฟเขียวกำหนดราคาอ้อยฤดูกาลใหม่ตันละ 900 บาท

“โต้ง” สั่งให้คุยเกษตรกรเพิ่มอีก หลังผู้แทนสถาบันชาวไร่อ้อยค้านราคายังต่ำกว่าต้นทุนการผลิตอ้อยตันละ 1,129.92 บาท

นายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า ที่ประชุมครม. ได้รับทราบรายงานผลการประชุมของคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ถึงพิจารณาการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 56/57 ในอัตรา 900 บาทต่อตัน ที่ระดับความหวาน 10 ซี.ซี.เอส. หรือเท่ากับ 96.21 % ของประมาณการราคาอ้อยเฉลี่ยทั่วประเทศที่ 935.48 บาทต่อตัน และกำหนดราคาขึ้นลงของราคาอ้อยเท่ากับ 54 บาทต่อ 1 ซี.ซี.เอส.ต่อตัน ส่วนผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้นฤดูการผลิต 56/57 เท่ากับ385.71 บาทต่อตัน

ทั้งนี้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ได้เสนอให้หารือการช่วยเหลือเพิ่มเติมกับเกษตรกรชาวไร่อ้อยในคณะทำงานกำหนดแนวทางการให้ความช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อยฤดูการผลิต 56/57 ที่มีนางอรรชกา สีบุญเรือง อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เป็นประธาน เนื่องจากผู้แทนสถาบันชาวไร่อ้อยยังคัดค้านการกำหนดราคาอ้อยขั้นต่ำที่ตันละ 900 บาท เพราะเห็นว่ายังต่ำกว่าต้นทุนการผลิตอ้อยที่ตันละ 1,129.92 บาท

โดยมีแนวทางการช่วยเหลือเพิ่มเติม เช่น การให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายกู้เงินมาเพิ่มค่าอ้อยเหมือนปีที่ผ่านมา หรือให้รัฐบาลพิจารณาจัดสรรเงินอุดหนุนจากภาครัฐมาช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพิ่มเติม เช่นเดียวกับการสนับสนุนพืชเกษตรชนิดอื่น เพื่อให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยได้รับค่าอ้อย

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 25 พฤศจิกายน 2556

เปิดรับผู้แทนองค์กร-เกษตรกร เป็นกก.ทรงคุณวุฒิกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร

นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดรับสมัครเกษตรกรและผู้แทนองค์กรเกษตรกร เพื่อดำเนินการคัดสรร คัดเลือก และแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสงเคราะห์เกษตรกร จำนวน 10 ตำแหน่ง โดยผู้สมัครต้องมีคุณสมบัติดังนี้ 1.มีสัญชาติไทย 2.อายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี 3.เป็นเกษตรกรหรือเป็นผู้แทนองค์กรเกษตรกรที่ตนเป็นสมาชิก 4.มีความรู้หรือประสบการณ์ด้านเกษตรกรรม 5.ไม่เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต 6.ไม่เป็นผู้บริหารหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ 7.ไม่เป็นข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้าง ซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำของราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ 8.ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง และ 9.ไม่เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานเอกชน เพราะทุจริตต่อหน้าที่

โดยคณะกรรมการสงเคราะห์เกษตรกร จะมีอำนาจหน้าที่ คือ 1.พิจารณาอนุมัติหรือเสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรี ในการอนุมัติจัดสรรเงินกองทุนตามโครงการที่หน่วยงานของรัฐหรือองค์กรเกษตรกรเสนอ 2.ติดตามผลการดำเนินการตามโครงการที่ได้รับการช่วยเหลือหรือส่งเสริมจากกองทุนและเร่งรัดการชำระเงินคืนกองทุน 3.ออกระเบียบกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดสรรเงินกองทุนให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุน 4.ออกระเบียบเกี่ยวกับการรับจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงิน การใช้จ่ายเงินเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของกองทุน การจัดหาผลประโยชน์ของกองทุนและการจำหน่ายทรัพย์สินจากบัญชีของกองทุน
เป็นสูญ โดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง และ 5.ปฏิบัติการอื่นใดตามกฎหมายกำหนด ทั้งนี้กำหนดรับสมัครตั้งแต่วันที่

25 พฤศจิกายน–6 ธันวาคม โดยสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองบริหารงานกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร โทรศัพท์ 0-2282-6110โทรสาร 0-2282-4257

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 25 พฤศจิกายน 2556

กรมชลเร่งก่อสร้างเขื่อน‘ผาจุก’ เพิ่มพื้นที่ชลประทาน3แสนไร่อุตรดิตถ์-พิษณุโลก

นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้ดำเนินการก่อสร้าง เขื่อนทดน้ำผาจุก จ.อุตรดิตถ์ มาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2554 ขณะนี้มีความก้าวหน้าประมาณร้อยละ 31.61 ของแผนงานการก่อสร้าง ส่วนระบบชลประทานฝั่งขวา อยู่ระหว่างการปรับแก้ไขแบบเพื่อดำเนินการก่อสร้าง และกำลังจะเปิดประมูลในเร็วๆนี้ ซึ่งจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จตามแผนที่วางไว้คือ ตัวเขื่อนจะแล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายน 2557 ส่วนระบบชลประทานจะแล้วเสร็จในปี 2561 โดยใช้

งบประมาณราว 10,500 ล้านบาท

ทั้งนี้โครงการเชื่อนทดน้ำผาจุก เป็นการดำเนินงานตามแผนพัฒนาลุ่มน้ำน่านเพื่อให้การบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำน่านตอนล่างเกิดประสิทธิภาพสูงสุด เมื่อแล้วเสร็จจะสามารถส่งน้ำสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่การเกษตรในเขตชลประทานประมาณ 481,400 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ชลประทานเปิดใหม่ 304,000 ไร่ ครอบคลุม อ.เมือง อ.ลับแล อ.ตรอน อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ และ อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก พื้นที่ชลประทานเดิมของสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า 134,800 ไร่ และพื้นที่โครงการชลประทานน้ำริด จังหวัดอุตรดิตถ์ 42,600 ไร่

อธิบดีกรมชลประทานกล่าวด้วยว่า กรมชลประทานได้วางแผนพัฒนาลุ่มน้ำน่านมาตั้งแต่ปี 2510 ซึ่งตามแผนนั้นจะมีการก่อสร้างโครงการชลประทานขนาดใหญ่ คือ การก่อสร้างเขื่อนสิริกิติ์ โครงการพัฒนาชลประทานอุตรดิตถ์ หรือเขื่อนทดน้ำผาจุก โครงการชลประทานพิษณุโลกฝั่งซ้าย โครงการชลประทานพิษณุโลกฝั่งขวา หรือเขื่อนทดน้ำนเรศวร และโครงการเจ้าพระยาใหญ่ นอกจากนี้ยังมีโครงการขนาดกลางและขนาดเล็กอีกหลายโครงการ

อย่างไรก็ตาม จากแผนงานดังกล่าว สามารถดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จได้เพียง เขื่อนสิริกิติ์ โครงการชลประทานพิษณุโลก
ฝั่งขวา และโครงการเจ้าพระยาใหญ่ เท่านั้นส่วนโครงการที่เหลือต้องชะลอออกไปเนื่องจากแหล่งเก็บกักน้ำที่มีอยู่ขณะนั้น มีปริมาณน้ำต้นทุนไม่เพียงพอกับการชลประทาน แต่ในปัจจุบันการก่อสร้างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เสร็จเรียบร้อยแล้ว ทำให้มีปริมาณน้ำต้นทุนในระดับเก็บกักปกติเพิ่มขึ้นรวมประมาณ 1,729 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งทั้ง 2 โครงการสามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่โครงการชลประทานเจ้าพระยาใหญ่มากกว่า 2.45 ล้านไร่ ทำให้ปริมาณน้ำของเขื่อนสิริกิติ์ที่จะส่งให้กับโครงการเจ้าพระยาใหญ่เหลืออยู่ประมาณปีละ 500 ล้านลูกบาศก์เมตร เพียงพอที่จะส่งน้ำให้กับพื้นที่การเกษตรในเขตจังหวัดอุตรดิตถ์ ที่ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ

สำหรับการคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำใน จ.อุตรดิตถ์ และพื้นที่บางส่วนของ จ.พิษณุโลก ในปี 2566 จะมีความต้องการใช้น้ำในด้านต่างๆทั้ง การเกษตร อุปโภคบริโภค อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว ฯลฯ เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 354 ล้านลูกบาศก์เมตร ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างเขื่อนทดน้ำผาจุก เพื่อสนองความต้องการใช้น้ำในด้านต่างๆที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว

“โครงการเขื่อนทดน้ำผาจุก ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ผ่านขบวนการรับฟังความคิดเห็น และสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน ซึ่งมีประชาชนร้อยละ 99 เห็นด้วยกับการก่อสร้าง รวมทั้งมีการออกแบบและแก้ไขแบบให้เหมาะสมสอดคล้องกับความพื้นที่และความต้องการของประชาชนอีกด้วย ซึ่งโครงการนี้จะให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ 12.24%” อธิบดีกรมชลประทาน กล่าว

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

กรมชลดึง10หน่วยงานร่วม อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอ่างห้วยน้ำรี

นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ จ.อุตรดิตถ์ ว่ากรมชลประทานได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่เดือนเม.ย. 2555 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบันมีความก้าวหน้าโดยลำดับตามแผนงานที่วางไว้ ทั้งในส่วนของการก่อสร้างเขื่อนหัวงานพร้อมอาคารประกอบและระบบอุโมงค์ส่งน้ำจะแล้วเสร็จภายในปี 2559

สำหรับอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรี ถือเป็นโครงการชลประทานขนาดกลาง มีความจุในระดับกักเก็บ 73.70 ล้านลูกบาศก์เมตรมีพื้นที่อ่างฯ 2,936 ไร่ เมื่อแล้วเสร็จจะสามารถส่งน้ำผ่านอุโมงค์และท่อส่งน้ำไปยังพื้นที่การเกษตรในฤดูฝน 53,000 ไร่และฤดูแล้ง 39,920 ไร่ ครอบคลุม 60หมู่บ้าน รวมทั้งหมด 9 ตำบล ได้แก่ ต.จริม ต.หาดล้า ต.ท่าปลา ต.ร่วมจิต ต.น้ำหมัน อ.ท่าปลา ต.วังดิน ต.หาดงิ้ว ต.บ้านด่าน และ ต.แสนตอ อ.เมืองอุตรดิตถ์ รวมกว่า 6,856 ครอบครัว หรือมีประชากรประมาณ 24,501 คนที่ได้รับประโยชน์

นายเลิศวิโรจน์กล่าวต่อว่า โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.อุตรดิตถ์ เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำของกรมชลประทานที่ให้ความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อมโดยได้ผ่านการเห็นชอบรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีการจัดทำแผนการจัดการผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIMP) จำนวน 20 แผนซึ่งมีระยะเวลาดำเนินการ 10 ปี มีหน่วยงานที่รับผิดชอบทั้งสิ้น 10 หน่วยงาน พร้อมทั้งจะมีการส่งรายงานการติดตามผลการดำเนินงานให้กับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมปีละ 2 ครั้งอีกด้วย โดยแผน EIMP นี้จะใช้งบประมาณทั้งสิ้นกว่า 91 ล้านบาทซึ่งในส่วนนี้จะเป็นงบประมาณสำหรับการปลูกป่า ดูแล รักษาป่า ประมาณ 60 ล้านบาท

โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้ประสานของบประมาณเพิ่มเติมสำหรับการปลูกป่า ดูแล รักษาป่าเพิ่มขึ้นอีก 100 ล้านบาท ขณะที่กรมชลประทาน ได้ประสานขอรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

นอกจากนี้ ล่าสุดคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติได้มีมติ เมื่อวันที่ 1พ.ย. 2556 ที่ผ่านมา ให้เพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติลำน้ำน่านบางส่วนเพื่อใช้ในการก่อสร้างโครงการดังกล่าวอีกด้วย

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

รุกขับเคลื่อนสมาร์ทฟาร์มเมอร์ในเขตปฏิรูปที่ดิน

นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2557 ได้มอบหมายให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.) เร่งขับเคลื่อนนโยบายสมาร์ท ฟาร์มเมอร์ หรือเกษตรกรปราดเปรื่องในเขตปฏิรูปที่ดิน รองรับนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้เป็นรูปธรรมให้มากที่สุด โดยวางเป้าหมายเกษตรกรเข้าร่วมโครงการจำนวน 6,300 ราย และส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรที่มีมาตรฐานสากล ด้วยระบบการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (จีเอพี) เพื่อนำไปสู่รายได้เป้าหมายของเกษตรกร 180,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี

นายศิริวัฒน์ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมา ส.ป.ก.ได้ดำเนินการขับเคลื่อนนโยบาย สมาร์ทฟาร์มเมอร์ ในเขตปฏิรูปที่ดินอย่างต่อเนื่อง โดยการพัฒนาให้เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน ให้เป็นเกษตรกรปราดเปรื่อง มีความรู้ในเรื่องที่ทำอยู่ มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจ มีความตระหนักถึงคุณภาพสินค้าเกษตรและความปลอดภัยของผู้บริโภค มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม อีกทั้งมีความภาคภูมิใจในความเป็นเกษตรกร

“ในฐานะที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ ส.ป.ก. มีภารกิจในการจัดที่ดิน พัฒนาคุณภาพชีวิต รวมถึงการดูแลพี่น้องเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินให้ได้เข้าถึงองค์ความรู้ แหล่งเงินทุน ปัจจัยการผลิต รวมถึงการสนับสนุนการพัฒนาอาชีพและการใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด” นายศิริวัฒน์ กล่าว.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

รง.น้ำตาลสระแก้วลอบปล่อยน้ำเสีย ส่งผลปลาลอยตายเพียบ

ซากปลาที่ลอยตายเหนือน้ำในคลองยาง ต.โนนหมากเค็ง อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว ถูกชาวบ้านในพื้นที่อ้างว่า สาเหตุที่ปลาในคลองตายนั้น และน้ำในคลองเริ่มทรงกลิ่นเหม็น เกิดจากโรงงานน้ำตาลอ้อยแห่งหนึ่งในพื้นที่ ได้ลักลอบปล่อยน้ำเสียลงสู่คลองยาง
ชาวบ้าน กล่าวว่า เมื่อ 2 วันก่อน ขณะที่ออกมาหาปลา เพื่อนำไปบริโภคเป็นอาหารพบความผิดปกติ เห็นปลาลอยขึ้นมาตาย ขณะที่สีของน้ำในคลองก็ขุ่นเน่าเสียผิดปกติ จึงไม่กล้าจับไปบริโภคเป็นอาหาร แต่วันนี้กลับพบว่ามีปลาลอยขึ้นมาตายเป็นจำนวนมาก และมีคนพยายามเร่งเก็บปลาที่ตายใส่กระสอบปุ๋ยเพื่อนำไปฝั่ง และยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาตรวจสอบ จึงต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอุตสาหกรรมจังหวัด และเจ้าหน้าที่ด้านสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่ตรวจสอบอย่างเร่งด่วน เพื่อป้องกันน้ำในคลอง รวมถึงสิ่งมีชีวิตได้รับผลกระทบไปมากกว่านี้

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 24 พฤศจิกายน 2556

เกษตรขอนแก่น หนุนผสมปุ๋ยเอง ลดทุนการผลิต

นายโพยม ศรวิชัย นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตร จ.ขอนแก่น เปิดเผยว่า เนื่องจากปัจจุบันราคาปุ๋ยบำรุงพืชชนิดต่างๆ มีราคาสูงมาก สร้างความเดือดร้อนให้เกษตรกร เพราะต้นทุนในการปลูกพืชส่วนใหญ่ของเกษตรกรชาวอีสานมาจากการซื้อปุ๋ยเคมีบำรุงพืช ดังนั้นเพื่อเป็นการลดต้นทุนการเพาะปลูก กลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการเกษตร นอกจากจะสนับสนุนให้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในการปลูกพืชแล้ว หากเกษตรกรท่านใดยังจำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเคมี จึงสนับสนุนให้เกษตรกรผสมปุ๋ยไว้ใช้เอง โดยมีสูตรเฉพาะในพืชแต่ละชนิดและดินแต่ละประเภทด้วย

นายโพยมกล่าวว่า สำหรับสูตรปุ๋ยต่างๆ ที่เหมาะกับดินภาคอีสาน เช่น สูตร 16-16-8 ใช้สำหรับนาข้าวที่เป็นดินทราย ส่วนนาข้าวดินเหนียวควรจะใช้สูตร 16-20-0 พืชที่ต้องการเร่งดอกควรจะใช้สูตร 12-24-12 พืชที่ต้องการความหวานและหัวโต ควรจะใช้ปุ๋ย 13-13-21 ส่วนอ้อยตอ หรืออ้อยปลูก ใช้ปุ๋ยสูตร 16-11-14 แปลงพันธุ์อ้อย สูตร 25-7-7 ผักกินหัวฤดูหนาว 3-10-30 ยางอายุน้อย ใช้ปุ๋ยสูตร 20-10-12 ส่วนยางเปิดกรีด ใช้ปุ๋ยสูตร 30-5-18 เป็นต้น ซึ่งแม่ปุ๋ยที่ต้องใช้ผสมได้แก่ ยูเรีย ไดแอมโมเนียฟอสเฟต โพแทสเซียมคลอไรด์ ส่วนวัสดุตัวเติมคือดินและทรายนั้น ไม่แนะนำให้ใช้สำหรับการผสมปุ๋ยเอง แต่ควรจะใช้ปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ดแทน

สำหรับการใช้ปุ๋ยสั่งตัดหรือการผสมปุ๋ยใช้เองดังกล่าว จะทำให้เกษตรกรประหยัดราคาปุ๋ยได้ประมาณกระสอบละ 100 บาทโดยเฉลี่ย แต่ทั้งนี้เกษตรกรจะต้องนำดินไปทดสอบคุณภาพได้ตามสถานีพัฒนาที่ดินหรือที่กลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรจังหวัดขอนแก่น เพื่อให้เจ้าหน้าที่แนะนำว่าดินในพื้นที่ของเกษตรกรเหมาะจะใช้ปุ๋ยสูตรไหนบำรุงดิน เพื่อให้ได้ผลผลิตได้มากขึ้น

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

สกลนครเร่งเดินหน้าแผนโซนนิ่ง ปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมปลูกข้าวมาปลูกอ้อย

นางเพ็ญศิริ วงษ์วาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 3 อุดรธานี (สศข.3) เปิดเผยว่า สศข.3 ได้ร่วมหารือแนวทางการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวไม่เหมาะสมเป็นอ้อยโรงงาน ภายใต้โครงการการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม จ.สกลนคร เพื่อชี้แจงแนวทาง ขั้นตอนการขับเคลื่อน และติดตามความก้าวหน้าผลการปฏิบัติงาน

โดย จ.สกลนคร มีพื้นที่เป้าหมายในการขยายพื้นที่ปลูกอ้อยโรงงานรวมรัศมี 50 กิโลเมตรจากกลุ่มโรงงานน้ำตาล จำนวน 49,660 ไร่ 7 อำเภอ รวม 30 หมู่บ้าน โดยมอบหมายคณะอนุกรรมการอ้อยระดับท้องถิ่น พิจารณาจำนวนเกษตรกรเป้าหมายที่รวบรวมได้จากเกษตรตำบล จำนวน 2,590 ราย พื้นที่ดำเนินการ 26,889 ไร่ เพื่อจัดเวทีชี้แจงเกษตรกร และประสานโรงงานพิจารณาคัดเลือกเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 2 แห่ง คือ โรงงานน้ำตาลทรายขาวเริ่มอุดม จ.สกลนคร ซึ่งมีความต้องการรับซื้ออ้อยเพิ่ม ปี 2557/58 จำนวน 300,000 ตัน และโรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาลอีสาน จ.กาฬสินธุ์ ที่มีความต้องการรับซื้ออ้อยเพิ่ม ปี 2557/58 จำนวน 225,000 ตัน

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของมาตรการจูงใจนั้น ได้สนับสนุนเงินเกี๊ยวหรือเงินบำรุงอ้อย 5,000-6,000 บาทต่อไร่ เงินให้เปล่า 500 บาท/ไร่ กรณีเป็นพื้นที่ปลูกใหม่ รัศมี 50 กม.จากโรงงาน และเงินจูงใจกรณีการขนส่งอ้อยขึ้นลงเขา ตามระยะทาง ซึ่งจากข้อมูลสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดสกลนคร ณ วันที่ 19 พฤศจิกายน 2556 พบว่า มีเกษตรกรที่มาขอขึ้นทะเบียนชาวไร่อ้อย รวม 179 ราย และส่วนใหญ่เกษตรกรยังอยู่ระหว่างการตัดสินใจ ทั้งนี้ จากการที่ภาครัฐมีนโยบาย “การปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวไม่เหมาะสมเป็นอ้อยโรงงาน” ดังกล่าว คาดว่าจะทำให้พื้นที่ปลูกอ้อยของภาคอีสานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่ง สศข.3 จะร่วมกับสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดสกลนคร และสำนักงานเกษตรจังหวัดสกลนคร เพื่อร่วมกันกำหนดระบบติดตามและรายงานผลการดำเนินงาน รวมทั้งนำเสนอปัญหาอุปสรรค ปี 2557 อย่างต่อเนื่องต่อไป

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 22 พฤศจิกายน 2556

กรมชลฯเตือนเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติต์น้ำน้อยต้องช่วยกันประหยัด

ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน รายงานสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้งประเทศ ข้อมูลล่าสุด ณ 20 พ.ย. 56 มีปริมาณน้ำรวมกัน จำนวน 53,131 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 76 ของความจุอ่างฯขนาดใหญ่รวมกันทั้งหมด เทียบกับปี 2555 ณ เวลาเดียวกัน ปีนี้น้ำจะมากกว่าประมาณ 1,800 ล้านลูกบาสก์เมตร

สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ในพื้นที่ภาคเหนือ อาทิ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล จ.เชียงใหม่ มีปริมาณน้ำ 235 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 89 ของความจุอ่างฯ เขื่อนกิ่วลม จ.ลำปาง มีปริมาณน้ำ 102 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 96 ของความจุอ่างฯ เขื่อนภูมิพล จ.ตาก มีปริมาณน้ำ 7,296 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 54 ของความจุอ่างฯ เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีปริมาณน้ำ 5,984 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 63 ของความจุอ่างฯ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก มีปริมาณน้ำ 838 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 89 ของความจุอ่างฯ

ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาทิ เขื่อนห้วยหลวง จ.อุดรธานี มีปริมาณน้ำ 92 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 68 ของความจุอ่างฯ เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร มีปริมาณน้ำ 380 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 73 ของความจุอ่างฯ เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ มีปริมาณน้ำ 1,017 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 51 ของความจุอ่างฯ เขื่อนลำตะคอง จ.นครราชสีมา มีปริมาณน้ำ 310 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 99 ของความจุอ่างฯ

สำหรับในพื้นที่ภาคกลาง ที่ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มีปริมาณน้ำ 955 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 99 ของความจุอ่างฯ เขื่อนกระเสียว จ.สุพรรณบุรี มีปริมาณน้ำ 245 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 102 ของความจุอ่างฯ เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก มีปริมาณน้ำ 206 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 92 ของความจุอ่างฯ

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า ปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ อยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างน้อย ทำให้ในช่วงฤดูแล้งปี 56/57 กรมชลประทาน ต้องวางแผนจัดสรรน้ำ เพื่อใช้ในการสนับสนุนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งและกิจกรรมการใชน้ำต่างๆ ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้น้อยกว่าปีที่ผ่านๆมา จึงขอให้ประชาชนและเกษตรกรใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุดด้วย เพื่อลดความเสี่ยงต่อปัญหาการขาดแคลนน้ำที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 22 พฤศจิกายน 2556

กาฬสินธุ์เดินหน้าพัฒนาแก้มลิงหนองเลิงเปือยฯ

มูลนิธิปิดทองหลังพระ สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระสืบสานพระราชดำริ ร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วนในจังหวัดกาฬสินธุ์ เดินหน้าขับเคลื่อนโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขุดลอกหนองเลิงเปือย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก และภัยแล้งให้กับเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์

กาฬสินธุ์/ เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ศูนย์ประสานงานโครงการพัฒนาแก้มลิงหนองเลิงเปือย ตำบลสามัคคี อำเภอร่องคำ จังหวัดกาฬสินธุ์ หม่อมราชวงศ์ดิศนัดดา ดิสกุล ประธานมูลนิธิปิดทองหลังพระ สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระสืบสานพระราชดำริ นายสุวิทย์ สุบงกฎ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมด้วยนายอำเภอ หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และผู้นำท้องถิ่น ร่วมกันเข้ารับฟังความคิดเห็น ชี้แจงวัตถุประสงค์และประโยชน์ของการดำเนินงานโครงการพัฒนาแก้มลิงหนองเลิงเปือย โดยการพัฒนาแหล่งน้ำและขุดลอกหนองเลิงเปือย เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก แก้ไขปัญหาภัยแล้ง และทำให้ประชาชนในตำบลสามัคคี ตำบลเหล่าอ้อย ตำบลร่องคำ อำเภอร่องคำ และตำบลโพนงาม อำเภอกมลาไสย จำนวน 4,756 ครัวเรือน มีแหล่งน้ำที่ใช้อุปโภคบริโภค และใช้เพื่อการเกษตร สร้างรายได้ ยึดวีถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียงตามรอยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

นายสุวิทย์ สุบงกฎ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า โครงการพัฒนาแก้มลิงหนองเลิงเปือย ตำบลสามัคคี อำเภอร่องคำ จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยการขุดลอกครั้งนี้เป็นความร่วมมือกันระหว่างมูลนิธิปิดทองหลังพระ สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระสืบสานพระราชดำริ มูลนิธิอุทกพัฒน์ กองทัพบก สำนักงานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หน่วยงานราชการทุกภาคส่วน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อต้องการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก แก้ปัญหาภัยแล้ง และให้ประชาชนในพื้นที่มีแหล่งน้ำในการอุปโภคบริโภค และมีน้ำเพื่อทำการเกษตร ทำการประมง และเลี้ยงสัตว์ เพื่อให้ทุกครัวเรือนสามารถลืมตาอ้าปาก มีอาชีพ มีรายได้ เลี้ยงครอบครัว มีชีวิตในรูปแบบและยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เดินตามรอยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

สำหรับการดำเนินโครงการพัฒนาแก้มลิงหนองเลิงเปือยครั้งนี้ มีเนื้อที่ทั้งหมด 887 ไร่ ความลึก 4 เมตร สามารถกักเก็บน้ำได้ 6.8 ล้าน ลบ.ม. จากเดิมกักเก็บได้เพียง 3.2 ล้านลบ.ม. ใช้งบประมาณกว่า 380 ล้านบาท ซึ่งประชาชนจะได้รับประโยชน์ 4 ตำบล ประกอบด้วยตำบลสามัคคี ตำบลเหล่าอ้อย ตำบลร่องคำ อำเภอร่องคำ และตำบลโพนงาม อำเภอกมลาไสย จำนวน 4,756 ครัวเรือน และจะสามารถแก้ไขปัญหาพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากได้ 1,075 ไร่ แก้ไขปัญหาภัยแล้งอย่างน้อย 5,200 ไร่ โดยขณะนี้ได้ทำการออกแบบเสร็จแล้ว และได้ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งในวันที่ 21 พฤศจิกายนนี้ ทางทหารช่างพัฒนาของกองทัพบกจำนวน 6 กองพัน พร้อมเครื่องจักรไม่ต่ำกว่า 80 ตัว จะลงพื้นที่เข้าดำเนินการ คาดว่าน่าจะใช้เวลาขุดลอกประมาณ 4-5 เดือนก็จะแล้วเสร็จ และประชาชนจะได้ใช้ประโยชน์อย่างแน่นอน

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 22 พฤศจิกายน 2556

'ภัยแล้ง-น้ำท่วม'กดดันจีดีพีเกษตรโตต่ำ

สศก.ชี้แนวโน้มจีดีพี "ภาคเกษตร" ปี"56 ขยายตัว 0.5-1.5 % สาขาพืชขยายตัวมากสุด 3 % ปศุสัตว์ 2.2% ภาคประมงรับพิษอีเอ็มเอส"หดตัว"

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) คาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในภาพรวมปี 2556 ขยายตัว 0.5-1.5% จากปี 2555 แต่ปรับตัวลดลงจากที่เคยคาดการณ์ไว้เดิมเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วง 1.5 - 2.5% เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นยาวนาน ทำให้ผลผลิตพืชสำคัญหลายชนิดได้รับความเสียหาย เช่น ข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

นอกจากนี้ ยังเกิดปัญหาน้ำท่วมในบางพื้นที่ของประเทศในช่วงปลายปี 2556 ส่งผลให้พื้นที่ทางการเกษตรบางส่วนได้รับความเสียหายด้วย อย่างไรก็ตาม คาดว่าพืชหลายชนิดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เช่น ข้าวนาปี ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ลำไย ทุเรียน และมังคุด ขณะที่ผลผลิตปศุสัตว์มีทิศทางเพิ่มขึ้นจากการพัฒนาระบบการผลิตที่ได้มาตรฐานและการขยายการผลิตเพื่อรองรับความต้องการของตลาดในประเทศและต่างประเทศ

สำหรับสาขาประมงยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่อง จากปัญหาการระบาดของโรคอีเอ็มเอส ในกุ้งทะเลเพาะเลี้ยง ซึ่งเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งไม่สามารถปรับตัวได้ทันภายในปี 2556 ซึ่งกรมประมงร่วมกับภาคเอกชนได้ดำเนินมาตรการเชิงรุกเพื่อยับยั้งความเสียหายจากโรคระบาดดังกล่าว คาดว่าการผลิตกุ้งจะเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงปี 2557

สาขาพืชขยายตัว 2-3%

เมื่อจำแนกแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในภาพรวมปี 2556 พบว่า สาขาพืช ขยายตัว 2-3% เนื่องจากผลผลิตพืชที่สำคัญหลายชนิดมีทิศทางเพิ่มขึ้น เช่น ข้าวนาปี ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ต่าง ๆ แม้ว่าพื้นที่ทางการเกษตรบางส่วนจะประสบปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม รวมถึงมีการแพร่ระบาดของแมลงศัตรูพืช แต่ภาพรวมสาขาพืชยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง

ส่วนสถานการณ์ด้านราคาพืชหลายชนิด ได้แก่ ข้าวนาปีหอมมะลิ มันสำปะหลัง สับปะรด รวมทั้งผลไม้ เช่น ลำไย ทุเรียน และเงาะ มีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ดี เพราะความต้องการจากตลาดในประเทศและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ด้านการส่งออก คาดว่าพืชและผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกลดลง ได้แก่ ข้าวรวม ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน น้ำตาลและผลิตภัณฑ์ ผลไม้และผลิตภัณฑ์ เป็นไปตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะที่มูลค่าการส่งออกมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์จะเพิ่มขึ้น เพราะยังมีความต้องการในประเทศจีน ซึ่งเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่

สาขาปศุสัตว์ คาดขยายตัว 1.2 - 2.2% เนื่องจากการพัฒนาฟาร์มปศุสัตว์ให้เป็นระบบการเลี้ยงที่ได้มาตรฐาน การเฝ้าระวังโรคระบาด และการขยายการเลี้ยง รองรับความต้องการบริโภคในและต่างประเทศ ทำให้ปริมาณการผลิตสินค้าปศุสัตว์ส่วนใหญ่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ขณะที่การส่งออกขยายตัวได้เล็กน้อย โดยการส่งออกเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ไปยังตลาดญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป หรืออียู มีทิศทางลดลง แต่การส่งออกสินค้าปศุสัตว์ทั้งเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ เนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์ ไปตลาดอาเซียนและตะวันออกกลางขยายตัวได้จากความเชื่อมั่นในมาตรฐานการผลิตและคุณภาพสินค้าของไทย

อย่างไรก็ตาม ต้องเฝ้าระวังภาวะโรคระบาดและภัยธรรมชาติ ที่อาจส่งผลต่อปริมาณการผลิตปศุสัตว์ในช่วงปลายปี รวมถึงการควบคุมระดับผลผลิตที่ออกสู่ตลาดไม่ให้เกิดภาวะสินค้าล้นตลาดเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา โดยราคาปศุสัตว์ในปี 2556 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามต้นทุนการผลิตที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ทั้งจากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์และค่าแรงงาน

สาขาประมงหดตัว

สาขาประมง คาดว่าจะหดตัวลงจากปี 2555 อยู่ในช่วง (-7.1) - (- 6.1)% เป็นผลมาจากปัญหาโรคตายด่วน หรือ โรคอีเอ็มเอส ในกุ้งทะเลเพาะเลี้ยง สำหรับผลผลิตจากการทำประมงทะเลมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ในส่วนของผลผลิตประมงน้ำจืดในปี 2556 คาดมีแนวโน้มขยายตัวเล็กน้อย สำหรับราคาสินค้าประมงที่เกษตรกรขายได้ คาดอยู่ในเกณฑ์ดี หากสามารถผลิตสินค้าได้ตรงตามความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศที่มีอย่างต่อเนื่อง

สาขาบริการทางการเกษตร คาดขยายตัว 0.8 - 1.8% เพราะมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกพืชที่สำคัญ เช่น ข้าว อ้อยโรงงาน และมันสำปะหลัง ประกอบกับการขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตร รวมทั้งค่าจ้างแรงงานภาคเกษตรที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้เกษตรกรหันมาใช้บริการทางการเกษตร เช่น รถแทรกเตอร์ รถเกี่ยวนวดข้าว และรถตัดอ้อย ทดแทนแรงงานคนเพิ่มขึ้น แต่สถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี รวมทั้งปัญหาน้ำท่วมในช่วงปลายปี ทำให้การบริการทางการเกษตรเพิ่มขึ้นไม่มากนัก

สาขาป่าไม้ คาดขยายตัว 1-2% จากปี 2555 เพราะการผลิตสาขาป่าไม้ช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมาขยายตัวได้ต่อเนื่อง และโดยปกติไตรมาส 4 ของปี การผลิตและการส่งออกผลิตภัณฑ์สาขาป่าไม้จะขยายตัวได้ดีกว่าทุกไตรมาส

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 21 พฤศจิกายน 2556

ยุวเกษตรกรทั่วโลก ชมพิพิธภัณฑ์ยุวเกษตรกรไทย - เกษตรทั่วไทย

นายสุรพล จารุพงศ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ฝ่ายส่งเสริมและฝึกอบรม เปิดเผยว่า พิพิธภัณฑ์ยุวเกษตรกรแห่งประเทศไทย ณ โรงเรียนพรหมานุเคราะห์ เป็นสถานศึกษาที่จัดตั้งกลุ่มยุวเกษตรกรแห่งแรกของประเทศไทย เปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ปัจจุบันมีจำนวนนักเรียน 255 คน คณะครูอาจารย์ 9 คน จากมติของคณะครูที่เน้นจัดการด้านการศึกษาให้เป็นไปตามแนวทางพระราชดำริปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัว ผ่านกิจกรรมกลุ่มยุวเกษตรกรด้วยการฝึกอบรมวิชาชีพให้กับนักเรียน เพื่อให้นักเรียนนำประสบการณ์ไปใช้ในชีวิตประจำวันอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

โดยการศึกษาดูงานครั้งนี้ ประกอบด้วย 6 สถานี ได้แก่ 1. อาคารรวบรวมข้อมูลประวัติศาสตร์ ความเป็นมาการพัฒนาของยุวเกษตรกรของจังหวัดฉะเชิงเทรา 2. บ้านไทยวิถีไทย ซึ่งแสดงถึงวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของคนไทยในชนบทด้านการดำเนินชีวิต อาทิ การทำขนมจากการสีข้าว 3. การทำนาโดยปลูกข้าวไรซ์เบอรี่ข้าวที่มีคุณค่าทางโภชนากรสูง 4. การเลี้ยงสุกร 5. การเลี้ยงสัตว์น้ำแบบผสมผสาน ระหว่างกุ้งกับปลา 6. การนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติของราษฎรไทย

นอกจากนี้ยังมีการแสดงสินค้าพื้นบ้านจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนและกลุ่มของดีจังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อให้ชาวต่างชาติได้ชิมและซื้อเป็นของฝากให้กับคนทางบ้านของตนเองอีกด้วย อันเป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับสินค้าของคนไทยให้เป็นที่รู้จักในต่างประเทศมากขึ้น

นายสุรพล กล่าวอีกว่า การสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนไทยได้รู้จักใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ จากกิจกรรมกรมยุวเกษตรกร นับเป็นการส่งเสริมภายใต้พื้นฐานในการดำเนินชีวิตที่แท้จริง ซึ่งก็สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐ โดยในส่วนของกรมส่งเสริมการเกษตร โดย นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ได้กำหนดทิศทางชัดเจนที่จะพัฒนาสถาบันเกษตรกร โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน หรือยุวเกษตรกร ซึ่งในปีนี้จะพัฒนาทั้งโรงเรียนในระบบ และโรงเรียนนอกระบบ รวมถึงการสร้างเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการทำงานในลักษณะเป็นภาคีกันทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนด้วย รวมถึงมีการแลกเปลี่ยนเยาวชนกับต่างประเทศ ด้วยการส่งไปฝึกงาน และรับเข้ามาศึกษาดูงานภายในประเทศไทย เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์มากขึ้น

ด้าน ด.ช.ธัญพิสิทธิ์ แป้นนะริน และ ด.ช.ณัฐวุฒิ พานิช นักเรียนชั้น ป.5 ยุวเกษตรกรโรงเรียนพรหมานุเคราะห์ ผู้ดูแลบริษัทเลี้ยงไก่ไข่ของโรงเรียน ได้ร่วมกันเปิดเผยว่า โครงการยุวเกษตรกรเป็นกิจกรรมของโรงเรียนที่เปิดโอกาสให้นักเรียนชั้น ป.4-ป.6 ได้เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งในแต่ละช่วงชั้นปีก็จะมีกิจกรรมหมุนเวียนที่แตกต่างกันไป เช่น ช่วงชั้น ป.4 จะเรียนรู้เรื่องการเพาะปลูก ช่วงชั้น ป.5 จะเรียนรู้เรื่องการเลี้ยงไก่ไข่และการเลี้ยงสุกร ช่วงชั้น ป.6 จะเรียนรู้เรื่องการเลี้ยงปลาและทำนาข้าว เป็นต้น สำหรับตนทั้งสองขณะนี้จะดูแลบริษัทเลี้ยงไก่ ที่ประกอบไปด้วยสมาชิกกว่า 10 คน เลี้ยงไก่ไข่ประมาณ 76 ตัว สามารถเก็บไข่ได้วันละ 1-2 กระบะ กระบะละ 30 ฟอง นำไปจำหน่ายให้กับผู้ปกครองของนักเรียน ในราคากระบะละ 100 บาท

และ 4 ก. คือหัวใจของยุวเกษตรกรที่ยึดถือปฏิบัติคือ เกศ กมล กร กาย ซึ่งหมายถึงการเกษตรเกิดขึ้นได้จากตัวเรา และพึ่งพาอาศัยตัวเรา โดยใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

จากตัวอย่างเยาวชนในโครงการยุวเกษตรกรที่เข้าใจถึงหัวใจสำคัญในการทำการเกษตรดังที่กล่าวมา จะพบว่า เป็นการเรียนรู้และดำเนินกิจกรรมที่ไม่ได้มุ่งเน้นเพื่อการสร้างรายได้เพียงอย่างเดียว หากแต่เพื่อความยั่งยืนในการดำรงชีวิตอย่างมั่นคงด้วยตัวเองที่มีการเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายทั่วโลก ซึ่งจะเป็นแนวทางในการก่อเกิดการพัฒนาการเกษตรให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นในอนาคตเพราะเขาเหล่านั้นคือยุวเกษตรกร.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 21 พฤศจิกายน 2556

กลุ่มมิตรผล ร่วมกับชมรมผู้ส่งเสริมการปลูกถั่วเหลืองในประเทศไทย จัดโครงการนำร่องปลูกถั่วเหลืองในไร่อ้อยช่วงบำรุงดิน ตามแนวทางการปลูกอ้อยยุคใหม่ เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ในดิน และสร้างความยั่งยืนของเกษตรอุตสาหกรรมไทย

กลุ่มมิตรผล ร่วมกับ บริษัท กรีนสปอต จำกัด บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด และสมาคมผู้ผลิตน้ำมันถั่วเหลืองและรำข้าว จัดตั้งชมรมผู้ส่งเสริมการปลูกถั่วเหลืองในประเทศไทย พร้อมเปิดโครงการนำร่องส่งเสริมให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยปลูกถั่วเหลืองในช่วงบำรุงดิน เพื่อคืนความอุดมสมบูรณ์ในดิน และเพิ่มผลผลิตอ้อยอย่างยั่งยืนตามแนวทางการปลูกอ้อยยุคใหม่ รวมทั้งช่วยสร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกร และลดการนำเข้าถั่วเหลืองจากต่างประเทศ ตั้งเป้าช่วยเพิ่มผลผลิตอ้อยได้ 15 ตันต่อไร่ พร้อมขยายโครงการสู่กว่า10 จังหวัด ในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

โครงการดังกล่าว เกิดจากความมุ่งมั่นของกลุ่มมิตรผล และพันธมิตรทั้ง 3 องค์กรของชมรมผู้ส่งเสริมการปลูกถั่วเหลืองในประเทศไทย ในการสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยให้ปลูกถั่วเหลืองในช่วงบำรุงดินเพื่อเพิ่มธาตุอาหารในดินอย่างครบวงจรนับตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยกลุ่มมิตรผลจะสนับสนุนการเข้าถึงและให้ความรู้เกี่ยวกับประโยชน์ของการปลูกถั่วเหลืองแก่เกษตรกรชาวไร่อ้อย สยามคูโบต้าจะให้ความรู้และคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการปลูก การเก็บเกี่ยว และการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรที่เหมาะสมในทุกขั้นตอน เพื่อช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต ส่วนกรีนสปอต ผู้ผลิตน้ำนมถั่วเหลืองตราไวตามิ้ลค์ และสมาคมผู้ผลิตน้ำมันถั่วเหลืองและรำข้าว จะรับซื้อผลผลิตทั้งหมดจากเกษตรกรในราคาที่เป็นธรรม

นายกฤษฎา มนเทียรวิเชียรฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า “กลุ่มมิตรผล ไม่เพียงให้ความสำคัญกับการสร้างความอยู่ดีกินดีให้กับชาวไร่อ้อยเท่านั้น แต่เรายังมุ่งให้ความรู้ด้านการจัดการอย่างเป็นระบบตามแนวทางการปลูกอ้อยยุคใหม่ หรือ Modern Farm ที่เน้นการจัดการไร่อ้อยอย่างยั่งยืน โดยหนึ่งในนั้นคือการปลูกถั่วเหลืองในช่วงบำรุงดิน สำหรับแปลงอ้อยที่รื้อตอหลังการเก็บเกี่ยวอ้อย นอกจากชาวไร่อ้อยจะได้รายได้เสริมจากการปลูกถั่วเหลืองแล้ว ชาวไร่ยังไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายในการรื้อแปลงปลูกถั่วเหลืองหลังเก็บเกี่ยว เพราะสามารถไถกลบเตรียมปลูกอ้อยชุดใหม่ได้ทันที โดยถั่วเหลืองจะช่วยเพิ่มไนโตรเจนซึ่งเป็นธาตุอาหารในดินให้กับอ้อย ประโยชน์ที่ได้คือผลผลิตอ้อยที่เพิ่มมากขึ้น และต้นทุนในการใช้ปุ๋ยลดลง รวมทั้งช่วยตัดวงจรของโรคและแมลง ถือเป็นการทำไร่อ้อยด้วยระบบชีววิธีที่จะก่อให้เกิดความยั่งยืนในภาคเกษตร"

นายโอภาศ ธันวารชร กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวเสริมว่า “แนวทางการจัดการเพาะปลูกในภาคการเกษตรปัจจุบันมีความจำเป็นต้องอาศัยระบบการเพาะปลูกพืชที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งขั้นตอนสำคัญหนึ่ง คือ มีระบบการพักดินและบำรุงดิน เพื่อปรับปรุงสภาพดินให้ดีขึ้น รวมทั้งยังช่วยตัดวงจรโรคพืชและแมลงศัตรูพืช โดยในระบบการปลูกพืชสมัยใหม่นี้มีหลักการสำคัญคือมีประสิทธิภาพและทันเวลา ดังนั้นเครื่องจักรกลการเกษตรจึงมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต นอกจากนี้ยังช่วยทดแทนแรงงานคนที่หายากและขาดแคลนอีกด้วย สยามคูโบต้า จึงเล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาเครื่องจักรกลการเกษตรให้เหมาะสม สามารถรองรับการใช้งานในทุกขั้นตอน ในปัจจุบันสยามคูโบต้า ได้พัฒนารถเกี่ยวนวดถั่วเหลืองมาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในขั้นตอนการเก็บเกี่ยวถั่วเหลือง"

นายธรรมศักดิ์ จิตติมาพร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กรีนสปอต จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มน้ำนมถั่วเหลืองตราไวตามิ้ลค์ กล่าวว่า “ความร่วมมือระหว่างไวตามิ้ลค์กับพันธมิตรทางธุรกิจเอกชน 3 องค์กร ประกอบด้วย กลุ่มมิตรผล บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด และสมาคมผู้ผลิตน้ำมันถั่วเหลืองและรำข้าว รวมทั้งภาครัฐ ได้แก่ กรมวิชาการเกษตร และกรมส่งเสริมการเกษตร รวมทั้งสำนักวิชาการ นับเป็นการตอกย้ำพันธกิจขององค์กรใน 'การเติมพลังชีวิตและความสุขให้กับทุกคน' โดยโครงการปลูกถั่วเหลืองในไร่อ้อยช่วงบำรุงดินในครั้งนี้ จะส่งเสริมให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยปลูกถั่วเหลืองในช่วงบำรุงดินเพื่อเพิ่มธาตุอาหารในดินอย่างครบวงจร และยังเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดต้นทุนการนำเข้าแล้ว ยังถือเป็นการสร้างและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรได้ เพราะไวตามิ้ลค์ยินดีที่จะเป็นหลักประกันรับซื้อผลผลิตทั้งหมดจากเกษตรกรในราคาที่เป็นธรรม เพื่อสนับสนุนเกษตรกรไทยให้มีความเป็นอยู่และมีรายได้ที่มั่นคงอย่างยั่งยืน"

นายวิชิต วิทยฐานกรณ์ นายกสมาคมผู้ผลิตน้ำมันถั่วเหลืองและรำข้าว กล่าวว่า “ปัจจุบันการปลูกถั่วเหลืองในประเทศมีปริมาณไม่ถึงแสนตัน ในขณะที่ความต้องการใช้ถั่วเหลืองมีปริมาณสูงกว่า 1.5 ล้านตัน ดังนั้น การปลูกถั่วเหลืองในไร่อ้อยช่วงบำรุงดิน จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่จะมาทดแทนปริมาณการนำเข้า ผมเชื่อว่าโครงการนี้จะประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง เพราะจากที่ได้ศึกษาทุกภาคส่วนจะได้ประโยชน์จากโครงการอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นส่วนราชการหรือภาคเอกชน รวมถึงชาวไร่อ้อยทั้งหมด”

นอกจากความร่วมมือของภาคเอกชนแล้ว โครงการดังกล่าวยังได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ กรมวิชาการเกษตร และกรมส่งเสริมการเกษตร ในการจัดหาเมล็ดพันธุ์คุณภาพที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ และให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการปลูก การบำรุงรักษา และการป้องกันโรคพืช รวมทั้งส่งนักวิชาการมาอบรมความรู้และให้คำแนะนำ เพื่อให้โครงการสำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์ และเกษตรกรได้รับผลผลิตที่มีคุณภาพในปริมาณมาก

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว ได้ดำเนินการในพื้นที่ไร่ของกลุ่มมิตรผล โดยนำร่อง ที่ภาคกลาง ได้แก่ จังหวัดสุพรรณบุรี และที่ภาคอีสาน ได้แก่จังหวัดชัยภูมิ และกาฬสินธุ์ และจะขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ ที่อยู่ในเขตส่งเสริมไร่อ้อยของมิตรผล ประมาณ 10 จังหวัด โดยการเก็บเกี่ยวถั่วเหลืองในครั้งแรกนี้ คาดว่าจะได้ผลผลิตถั่วเหลืองราว 200 ตัน ซึ่งทางกรีนสปอต และสมาคมผู้ผลิตน้ำมันถั่วเหลืองและรำข้าว จะเป็นผู้รับซื้อไว้ทั้งหมด เพื่อสร้างหลักประกันด้านตลาดให้กับเกษตรกร และทดแทนการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ โดยถั่วเหลืองเกรดแปรรูปอาหารจะได้ราคาสูง และเกรดสกัดน้ำมันจะได้ราคารองลงมาตามราคาตลาดโลก

"พันธมิตรทุกฝ่ายรู้สึกภาคภูมิใจ ที่ได้มีโอกาสนำเสนอโครงการดีๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งเกษตรกร และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรมของไทย เราอยากเชิญชวนเกษตรกรชาวไร่อ้อยให้หันมาศึกษาถึงประโยชน์ของการปลูกถั่วเหลืองในช่วงบำรุงดิน เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ของตน และเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับทรัพยากรดินได้อย่างยั่งยืน" นายกฤษฎา กล่าวสรุป

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 21 พฤศจิกายน 2556

สศข.3เกาะติดโรงงานเปิดหีบอ้อย คาดอีสานราคายังต่ำกว่าต้นทุนผลิต

นางเพ็ญศิริ วงษ์วาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 3 อุดรธานี (สศข.3) เปิดเผยว่า ขณะนี้ใกล้ถึงช่วงที่โรงงานจะทำการเปิดหีบอ้อย ฤดูการผลิต 2556/57 คือ ประมาณปลายเดือนพฤศจิกายน 2556 และจากสถานการณ์การผลิตอ้อยโรงงาน ปี 2556/57 ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ จังหวัดอุดรธานี หนองบัวลำภู เลย หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร และนครพนม ซึ่งมีเนื้อที่เพาะปลูกอ้อยโรงงาน คิดเป็นร้อยละ 23 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สศข.3 ได้คาดคะเนพื้นที่เก็บเกี่ยวพบว่ามีประมาณ 8.27 แสนไร่ เทียบกับปีที่แล้วที่มีพื้นที่เก็บเกี่ยว 8.09 แสนไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 และผลผลิตรวมประมาณ 9.3 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 8.9 ล้านตันจากปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 4 เนื่องจากมีการส่งเสริมการปลูกอ้อยโรงงานจากโรงงานน้ำตาล ตั้งใหม่ ณ อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย 2 แห่ง และที่อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี 1 แห่ง โดยเกษตรกรได้ปลูกอ้อยโรงงานแทนมันสำปะหลัง และที่นาดอน เนื่องจากให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า

สำหรับด้านราคา ทางคณะกรรมการบริหาร (กบ.) ที่มีอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เป็นประธาน ได้เห็นชอบราคาอ้อยขั้นต้นในฤดูการผลิต 2556/57 ที่ 900 บาทต่อตัน บวกเงินค่าความหวาน (ซี.ซี.เอส) ประมาณ 6% จากราคาอ้อย ซึ่งในส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ค่าความหวานเฉลี่ยอยู่ที่ 12-13 ซี.ซี.เอส โดยคาดว่าราคาอ้อยจะไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท ขณะที่ต้นทุนการผลิตอ้อยโรงงาน อยู่ที่ 1,129.92 บาทต่อตัน ซึ่งสูงกว่าราคาอ้อยขั้นต้นถึง 230 บาท/ตัน ดังนั้น จึงมอบหมายให้คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เร่งหาแนวทางในการช่วยเหลือชาวไร่อ้อยต่อไป

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 21 พฤศจิกายน 2556

วางระบบติดตามน้ำเห็นภาพจริง กรมชลนำร่องลุ่มน้ำเพชรบุรี-ตั้งเป้าเสร็จพ.ค.ปีหน้า

นายวิชัย ไตรสุรัตน์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี กรมชลประทาน เปิดเผยว่า ภายในเดือนพฤษภาคม 2557 นี้ กรมชลประทานจะดำเนินการโครงการติดตั้งระบบติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่เขื่อนเพชรและอ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน แบบเห็นภาพ ณ เวลาจริง ซึ่งจะช่วยให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานสามารถรับข่าวสารทางภาพเคลื่อนไหว ณ เวลาจริงผ่านอินเตอร์เนต และระบบ Short Massage (SMS) รวมทั้งสามารถตรวจสอบการแจ้งเตือนได้ตลอดเวลา จะช่วยเสริมประสิทธิภาพในการเตือนภัย ทำให้การตัดสินใจด้านการบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างรวดเร็วทันต่อเหตุการณ์ ซึ่งจะลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นทั้งในช่วงฤดูฝนและฤดูแล้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้การติดตั้งระบบติดตามสถานการณ์น้ำดังกล่าวเป็นการพัฒนาต่อยอดจากเดิมที่จะติดตามสถานการณ์น้ำโดยใช้ระบบโทรมาตรที่บอกข้อมูล ณ เวลาจริงแต่ยังไม่มีข้อมูลภาพ

“ลุ่มน้ำเพชรบุรีมีอ่างกักเก็บน้ำสำคัญๆ 3 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน อ่างเก็บน้ำห้วยแม่ประจันต์ และอ่างเก็บน้ำห้วยผาก มีเขื่อนทดน้ำ 1 แห่ง คือ เขื่อนเพชร ระบบจะติดตามสถานการณ์น้ำ เชื่อมโยงข้อมูลของทั้งลุ่มน้ำเพชรบุรีตั้งแต่ช่วงต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งจะทำให้ทราบข้อมูลของปริมาณน้ำที่จะไหลเข้าตัวอ่างฯ เพื่อนำมาใช้บริหารจัดการน้ำ ตลอดจนวิเคราะห์ผลกระทบของน้ำที่จะผลักออกสู่ทะเล ให้เกิดสมดุลกับน้ำเค็มที่จะรุกเข้ามา ซึ่งระบบนี้จะเชื่อมเข้ากับระบบโทรมาตรเดิมที่มีอยู่” นายวิชัย กล่าว

นอกจากนี้กรมชลประทาน ยังจะติดตั้งจอแสดงภาพเคลื่อนไหวเป็นจอแสดงผลตัวอักษรแบบแอลอีดีของสถานการณ์น้ำ ณ เวลาจริง 2 แห่ง คือที่บริเวณหน้าเขื่อนเพชร และที่หน้าศาลากลาง จังหวัดเพชรบุรี

ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี กล่าวต่อด้วยว่า จอแสดงผลหรือภาพเคลื่อนไหวดังกล่าว จะเป็นการสื่อสารกับประชาชนในจังหวัดโดยตรง ซึ่งการที่ประชาชนสามารถเห็นภาพสถานการณ์น้ำได้ง่ายจะเป็นการช่วยเสริมสร้างโครงการเฝ้าระวังเพื่อการเตือนภัยน้ำล้นตลิ่งได้อีกทางหนึ่ง โครงการส่งน้ำฯ เพชรบุรี คาดว่าหลังจากที่ใช้ระบบติดตามสถานการณ์น้ำนี้แล้วจะช่วยให้การใช้น้ำทุกหยดเป็นไปอย่างสมเหตุสมผล และน้ำก่อให้เกิดคุณค่ากับชาวเพชรบุรีมากขึ้น

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 21 พฤศจิกายน 2556

กรมพัฒนาที่ดินแนะเกษตรกรใช้ปุ๋ยอินทรีย์สูตรพิเศษเพิ่มผลผลิตอ้อย ให้ทันการเก็บเกี่ยวเพื่อประสานนโยบายปลูกอ้อยพืชเศรษฐกิจตัวใหม่!

กรมพัฒนาที่ดิน (พด.) ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งให้ข้อมูลความรู้ในการปรับเปลี่ยนพื้นที่จากนาข้าวเป็นไร่อ้อย หรือที่เรียกว่า “โซนนิ่ง” ในเขตพื้นที่ 33 จังหวัด ให้สอดคล้องกับแผนนโยบายของรัฐบาล โดยกรมพัฒนาที่ดินพร้อมให้ความรู้เรื่องปุ๋ยที่เหมาะต่อการเพาะปลูกอ้อย เป็นการเพิ่มผลผลิตและลดการใช้ปุ๋ยเคมีหรือสารเคมี เพื่อให้เกษตรกรมีกำไรมากขึ้น เนื่องจากว่าปุ๋ยเคมีนอกจากทำให้สภาพดินเสื่อมโทรมแล้ว ยังก่อให้เกิดสารตกค้างที่เป็นอันตรายต่อคนและสัตว์ แถมทำให้ต้นทุนในการผลิตเพิ่มขึ้นแล้วยังส่งผลกระทบให้เกิดภาวะหนี้สินของเกษตรกรตามมา

นางกุลรัศมิ์ อนันต์พงษ์สุข รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดินด้านบริหาร เปิดเผยว่า ปุ๋ยที่เหมาะต่อการปลูกพืชเศรษฐกิจอ้อยที่ใช้ในการผลิตน้ำตาล คือ ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงสูตรไนโตรเจน เพราะไนโตรเจนเป็นธาตุองค์ประกอบหลักของเซลล์พืช ทำหน้าที่หลายอย่างทั้งการสร้าง ซ่อมแซม และการสังเคราะห์แสง ซึ่งเป็นปัจจัยหลักสำหรับการเจริญเติบโตทางกิ่งและใบของต้นพืช ทำให้พืชโตเร็วและมีผลผลิตมากขึ้น เพราะพืชแต่ละชนิดต้องการธาตุอาหารที่แตกต่างกัน ดังนั้นการใช้ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงควรคำนึงถึงความต้องการปริมาณและชนิดของธาตุอาหารในแต่ละช่วงเวลาการเจริญเติบโตของพืช และยังช่วยให้ประหยัดการใช้ปุ๋ยรวมถึงลดต้นทุนในการผลิตด้วย โดยวิธีการทำปุ๋ยอินทรีย์ไนโตรเจนมีดังนี้ นำกากเมล็ดถั่วเหลืองป่นหรือปลาป่น 60 กิโลกรัมกับมูลวัว 40 กิโลกรัม มาผสมให้เข้ากัน นำสารเร่งซูเปอร์ พด.1 จำนวน 1 ซอง ใส่ลงในสารเร่งซูเปอร์พด.2 ที่ขยายเชื้อแล้ว จำนวน 26-30 ลิตร คนเป็นเวลา 5-10 นาที เทลงบนกองวัตถุดินจากนั้นคลุกเคล้าให้ทั่วทั้งกองปรับความชื้นให้ได้ 30 เปอร์เซ็นต์ ตั้งกองปุ๋ยเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าให้มีความสูง 30-50 เซนติเมตร และใช้วัสดุคลุมให้มิดชิดเพื่อรักษาความชื้นในกองปุ๋ย กลับกองปุ๋ยทุก 5 วัน และควบคุมความชื้นให้เหมาะสมหลังจากหมักมาเป็นเวลา 3 วัน อุณหภูมิภายในกองปุ๋ยจะเท่ากับอุณหภูมิภายนอกกองปุ๋ย จึงสามารถนำไปใช้ได้ และยังมีปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงสูตรฟอสฟอรัส ที่ช่วยในเรื่องการผลิตหน่วยให้พลังงานที่เรียกว่า ATP ซึ่งจำเป็นสำหรับระยะที่พืชจะกระตุ้นเซลล์เนื้อเยื่อเจริญพื้นฐานให้พัฒนาด้วยเช่นกัน ซึ่งประโยชน์ของปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงมีมากมาย อาทิ เป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่มีธาตุอาหารสูง เป็นแหล่งธาตุอาหารรองและจุลธาตุแก่พืช มีจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อดินและพืชเพื่อเป็นการปลดปล่อยธาตุอาหารให้แก่พืชแบบช้าๆ ทำให้ลดการสูญเสียธาตุอาหาร และเป็นทางเลือกให้กับเกษตรกรในการทดแทนหรือลดการใช้ปุ๋ยเคมี รวมถึงลดต้นทุนการผลิตเกษตรกรสามารถผลิตใช้เองได้

เกษตรกรที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักวิจัยและพัฒนาการจัดการที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กทม.10900 โทร.0-2579-0111 ต่อ 2248, 2250 call center 1760 และเว็บไซต์ www.ldd.go.th

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 21 พฤศจิกายน 2556

“กรมหมอดิน” สานภารกิจเชิงรุก สร้างเครือข่ายส่งเสริม การเพาะปลูก พัฒนาดินเพิ่มผลผลิตพืชพลังงานทดแทน

นายสุรเดช เตียวตระกูล รองอธิบดีด้านปฏิบัติการ กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากการเพิ่มของประชากรโลกจะมีจำนวนถึง 7,000 ล้านคน ทำให้หลายประเทศไม่ละเลยที่จะเตรียมรองรับการเพิ่มขึ้นของประชากรถึง 9 พันล้านคนในอีก 10 ปีข้างหน้า ทำให้เกิดภาวะแก่งแย่งทรัพยากรและความต้องการทางอาหาร และพลังงานมหาศาลตามมา ขณะที่ความต้องการเพิ่มแต่พื้นที่ผลผลิตกลับเพิ่มตามไม่ได้ เป็นที่ทราบกันดีว่าวัตถุดิบในการผลิตเอธานอลพลังงานทดแทนส่วนใหญ่นั้นนิยมใช้ผลิตผลทางการเกษตรที่มีแป้งและน้ำตาลสูง เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ฯลฯ ปัจจุบันราคามันสำปะหลังลดต่ำลง การผลิตเอทานอลจึงมีต้นทุนที่จะสามารถผลิตได้หากน้ำมันมีราคา เนื่องจากประเทศไทยยังเป็นผู้นำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นหลัก หากมีการพัฒนาในเรื่องของพลังงานทดแทนอย่างต่อเนื่อง ก็จะเป็นรองรับความต้องการพลังงานอนาคตภายในประเทศอย่างยั่งยืน

ตามที่รัฐบาลมีนโยบายจัดระเบียบพื้นที่ทางการเกษตรที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดหรือระบบ “โซนนิ่งภาคเกษตร” ขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมเกษตรกรให้รู้จักวางแผนการผลิตแบบครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ โดยยึดหลักการตลาดนำการผลิต พร้อมทั้งยกระดับความสามารถด้านการแข่งขันในภาคเกษตรกรรมของประเทศ ไม่เพียงเท่านั้น ยังช่วยให้เกษตรกรสามารถทำการเพาะปลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถลดต้นทุนการผลิตและจำหน่ายผลผลิตได้ในราคาที่เหมาะสม มีตลาดรองรับ ทำให้เกษตรกรและสมาชิกสหกรณ์มีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย

“อย่างไรก็ตาม ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงผนึกกำลังร่วมกัน ซึ่งภารกิจหลักของกรมพัฒนาที่ดิน คือ การวิเคราะห์ดินในเขตพื้นที่ต่างๆ และทำการสำรวจว่าดินในเขตนี้เหมาะสมที่จะปลูกพืชอะไร โซนนิ่งเป็นเรื่องของหลักวิชาการ ไม่ใช่เรื่องที่ใครเคยปลูกอะไรอยู่แล้ว จะไปประกาศว่าพื้นที่นั้นเหมาะกับการปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์บางประเภทแบบไร้ข้อมูลอ้างอิงไม่ได้ แต่โซนนิ่งเป็นเรื่องวิชาการ เอาข้อมูลมาดูว่าดินน้ำอากาศเฉลี่ยทั้งปีว่ามีสภาพอย่างไร เพื่อที่จะให้เกิดความยั่งยืนและให้เกิดการผลิตที่ต่อเนื่อง ไม่ใช่ทำแบบชั่วคราวแล้วผ่านไป มิเช่นนั้นภาพของการเกษตรก็จะไม่เกิดความยั่งยืน” รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าว

จากการสำรวจวิเคราะห์ดินในพื้นที่ใน ต.ห้วยบง อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา พบว่า พื้นที่เหมาะสำหรับการปลูกสำปะหลัง การปลูกหญ้าเเฝก และการปลูกหญ้าเลเปีย ดังนั้น กรมพัฒนาที่ดินได้ประสานความร่วมมือกับสถาบันมันสำปะหลังเน้นส่งเสริมการปลูกพืช 3 ชนิดนี้ ซึ่งพืชทั้ง 3 ชนิดนี้มีคุณประโยชน์หลายด้าน รวมถึงสามารถมานำมาสกัดเป็นเอธานอลได้ ถือว่าเป็นหนึ่งทางเลือกพลังงานทดแทนของคนไทย โดยกรมพัฒนาที่ดิน ร่วมมือกับสถาบันพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทย ดำเนินโครงการนำร่องการพัฒนาดินเพื่อปลูกพืชและการปรับปรุงดินให้มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มผลผลิตที่เหมาะสมสำหรับพืชทั้ง 3 ชนิด ดังกล่าวขึ้น ตามแนวคิด “สมาร์ทฟาร์มเมอร์” โดยมีแนวทางในการพัฒนาและเพิ่มผลิตว่า กรมพัฒนาที่ดินจะเน้นการพัฒนาเกษตรกรให้มีความสามารถในการพึ่งพาตนเองได้ มีภูมิคุ้มกันพร้อมรับความเสี่ยงในมิติของการผลิตและการตลาด รวมทั้งมีความสามารถในการผลิตและการตลาดในระดับที่พร้อมก้าวสู่การเป็น “ผู้จัดการฟาร์มมืออาชีพ” ที่ทำการเกษตรได้จนประสบความสำเร็จ สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่าง

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 21 พฤศจิกายน 2556

เกษตรฯ ชี้แนวโน้มจีดีพีภาคเกษตรปีนี้ขยายตัวกว่าปีก่อน 0.5-1.5 %

เกษตรฯ ชี้แนวโน้มจีดีพีภาคเกษตรปี’56 จะยังขยายตัวมากกว่าปี’55 ประมาณ 0.5-1.5 % พบสาขาพืชขยายตัว 3 % และปศุสัตว์ขยายตัวได้ถึง 2.2 % เหตุฟาร์มปศุสัตว์เริ่มพัฒนาระบบการเลี้ยงเข้าสู่มาตรฐานและเฝ้าระวังโรคระบาดต่อเนื่อง ด้านภาคประมงหดตัวจาก “อีเอ็มเอส”คาดในปี 57 เข้าสู่ภาวะปกติ

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ได้คาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในภาพรวมทั้งปี 2556 ว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2555 อยู่ในช่วงร้อยละ 0.5 – 1.5 โดยปรับตัวลดลงจากที่เคยคาดการณ์ไว้เดิม ณ เดือนมิถุนายน 2556 ว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 1.5 – 2.5 เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นยาวนาน ทำให้ผลผลิตพืชที่สำคัญหลายชนิดได้รับความเสียหาย เช่น ข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ นอกจากนี้ ยังเกิดปัญหาน้ำท่วมในบางพื้นที่ของประเทศในช่วงปลายปี 2556 ส่งผลให้พื้นที่ทางการเกษตรบางส่วนได้รับความเสียหายด้วย อย่างไรก็ตาม คาดว่าพืชหลายชนิดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เช่น ข้าวนาปี ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ลำไย ทุเรียน และมังคุด ขณะที่ผลผลิตปศุสัตว์มีทิศทางเพิ่มขึ้นจากการพัฒนาระบบการผลิตที่ได้มาตรฐานและการขยายการผลิตเพื่อรองรับความต้องการของตลาดในประเทศและต่างประเทศ สำหรับสาขาประมงยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่องจากปัญหาการระบาดของโรค EMS ในกุ้งทะเลเพาะเลี้ยง ซึ่งเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งไม่สามารถปรับตัวได้ทันภายในปี 2556 อย่างไรก็ตาม กรมประมงร่วมกับภาคเอกชนได้ดำเนินมาตรการเชิงรุกเพื่อยับยั้งความเสียหายจากโรคระบาดดังกล่าว และคาดว่าการผลิตกุ้งจะเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงปี 2557

ทั้งนี้ เมื่อจำแนกแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในภาพรวมของปี 2556 เป็นรายสาขา พบว่า สาขาพืช คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.0 – 3.0 เนื่องจากผลผลิตพืชที่สำคัญหลายชนิดยังคงมีทิศทางเพิ่มขึ้น เช่น ข้าวนาปี ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ต่าง ๆ แม้ว่าพื้นที่ทางการเกษตรบางส่วนจะประสบปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม รวมถึงมีการแพร่ระบาดของแมลงศัตรูพืชบ้าง แต่ในภาพรวมแล้วสาขาพืชยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง สำหรับสถานการณ์ด้านราคาพืชหลายชนิด ได้แก่ ข้าวนาปีหอมมะลิ มันสำปะหลัง สับปะรด รวมทั้งผลไม้ เช่น ลำไย ทุเรียน และเงาะ มีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ดี เพราะความต้องการจากตลาดในประเทศและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ด้านการส่งออก คาดว่าพืชและผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกลดลง ได้แก่ ข้าวรวม ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน น้ำตาลและผลิตภัณฑ์ ผลไม้และผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นไปตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะที่มูลค่าการส่งออกมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากยังมีความต้องการอย่างต่อเนื่องในประเทศจีน ซึ่งเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่

สาขาปศุสัตว์ คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 1.2 – 2.2 เมื่อเทียบกับปี 2555 เนื่องจากการพัฒนาฟาร์มปศุสัตว์ให้เป็นระบบการเลี้ยงที่ได้มาตรฐาน การเฝ้าระวังโรคระบาดอย่างต่อเนื่อง และการขยายการเลี้ยงเพื่อตอบสนองต่อความต้องการบริโภคในประเทศและต่างประเทศ ทำให้ปริมาณการผลิตสินค้าปศุสัตว์ส่วนใหญ่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในขณะที่การส่งออกจะขยายตัวได้เล็กน้อย โดยการส่งออกเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ไปยังตลาดญี่ปุ่นและสหภาพยุโรปมีทิศทางลดลง แต่การส่งออกสินค้าปศุสัตว์ทั้งเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ เนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์ ไปยังตลาดอาเซียนและตะวันออกกลางจะขยายตัวได้จากความเชื่อมั่นในมาตรฐานการผลิตและคุณภาพสินค้าของไทย อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องเฝ้าระวังภาวะโรคระบาดและภัยธรรมชาติ ที่อาจส่งผลต่อปริมาณการผลิตปศุสัตว์ในช่วงปลายปี รวมถึงการควบคุมระดับผลผลิตที่ออกสู่ตลาดไม่ให้เกิดภาวะสินค้าล้นตลาดเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา โดยราคาปศุสัตว์ในปี 2556 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามต้นทุนการผลิตที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ทั้งจากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์และค่าแรงงาน

3. สาขาประมง คาดว่าจะหดตัวลงจากปี 2555 อยู่ในช่วงร้อยละ (-7.1) – (- 6.1) เป็นผลมาจากปัญหาโรคตายด่วนหรือโรค EMS ในกุ้งทะเลเพาะเลี้ยง ซึ่งกรมประมงร่วมกับภาคเอกชนได้ดำเนินมาตรการเชิงรุก เพื่อยับยั้งความเสียหายจากโรคระบาดดังกล่าว โดยการป้องกันและการบริหารจัดการในระหว่างการเลี้ยง รวมไปถึงมาตรการ Clean-up โรงเพาะฟักลูกกุ้ง ส่งผลให้สถานการณ์การระบาดเริ่มคลี่คลายลงบ้างแล้ว และคาดว่าการผลิตจะมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงปี 2557 สำหรับผลผลิตจากการทำประมงทะเลมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ในส่วนของผลผลิตประมงน้ำจืดในปี 2556 คาดว่ามีแนวโน้มขยายตัวเล็กน้อย สำหรับราคาสินค้าประมงที่เกษตรกรขายได้ คาดว่าจะอยู่ในเกณฑ์ดี หากสามารถผลิตสินค้าได้ตรงตามความต้องการของตลาด เพราะความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศยังมีอย่างต่อเนื่อง

4. สาขาบริการทางการเกษตร คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 0.8 – 1.8 เนื่องจากการขยายพื้นที่เพาะปลูกพืชที่สำคัญ เช่น ข้าว อ้อยโรงงาน และมันสำปะหลัง ประกอบกับการขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตร รวมทั้งค่าจ้างแรงงานภาคเกษตรที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้เกษตรกรหันมาใช้บริการทางการเกษตร อาทิ รถแทรกเตอร์ รถเกี่ยวนวดข้าว และรถตัดอ้อย เพื่อทดแทนแรงงานคนเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2556 รวมทั้งปัญหาน้ำท่วมในช่วงปลายปี ทำให้การบริการทางการเกษตรเพิ่มขึ้นไม่มากนัก

5. สาขาป่าไม้ คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2555 อยู่ในช่วงร้อยละ 1.0 - 2.0 เพราะการผลิตสาขาป่าไม้ในช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมาของปี 2556 สามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง และในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2556 คาดว่าการผลิตสาขาป่าไม้ จะยังคงขยายตัวได้ เนื่องจากโดยปกติในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี การผลิตและการส่งออกผลิตภัณฑ์สาขาป่าไม้จะขยายตัวได้ดีกว่าทุกไตรมาส

อย่างไรก็ตาม สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) จะทำการวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรที่เป็นตัวเลขสรุปตลอดทั้งปี 2556 รวมถึงคาดการณ์แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจการเกษตรของปี 2557 โดยจะมีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการในวันที่ 12 ธันวาคมนี้ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐ เอกชน เกษตรกรและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทางภาคเกษตรได้รับทราบถึงทิศทางการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจการเกษตร สำหรับใช้เป็นประโยชน์ในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 20 พฤศจิกายน 2556

ปลูกพืชในพื้นที่ ‘โซนนิ่ง’ เตรียมผลผลิตสู่อาเซียน

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากที่มีการวิเคราะห์พื้นที่พบว่า ข้าวที่อยู่ในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม ทำให้ได้ผลผลิตต่ำ ซึ่งต่างจากอ้อยบางพื้นที่ที่เหมาะต่อการปลูกอ้อยมากกว่าปลูกข้าว จึงจำเป็นต้องมีการผลักดันให้มีการปลูกอ้อยแทนมากกว่าการปลูกข้าว คือ การปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้เหมาะสมกับพืช ความเหมาะสมของดินและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีการวิเคราะห์ในตอนนี้น้ำตาลจากอ้อยมีโอกาสขยายพื้นที่เศรษฐกิจในอาเซียนได้มาก และรายได้จากการปลูกอ้อยมีมากกว่าการปลูกข้าว จากการวิเคราะห์ทางวิชาการทั้งหมดแล้วจึงพยายามที่จะให้เกิดการขับเคลื่อนเรื่องนี้โดยเร็วที่สุด โดยฤดูกาลในการปลูกอ้อยอยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน หรือที่เรียกว่า “การปลูกข้ามแล้ง” ทำให้อ้อยมีความหวานสูงและได้น้ำตาลที่มีคุณภาพ ผลผลิตก็สูงตามด้วย

นายอภิชาต จงสุกล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวทางการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรมเพื่อปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวที่ไม่เหมาะสมเป็นอ้อยโรงงานแทนนั้น ในขณะนี้จังหวัดบุรีรัมย์เป็นจังหวัดแรกที่ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนนาข้าวเป็นไร่อ้อย โดยมีพื้นที่ทั้งหมด 2 หมื่นไร่ ที่ทำการปลูกอ้อยแทนการปลูกข้าวแล้ว สำหรับพื้นที่โซนนิ่งในจังหวัดอื่น ๆ นั้น กำลังมีการขับเคลื่อนของภาครัฐและเอกชนอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ทันในช่วงฤดูกาลการปลูกอ้อยที่จะมาถึง ทั้งนี้กรมพัฒนาที่ดิน ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่คอยสนับสนุนให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้เหมาะสมกับพืช ตามนโยบายของรัฐบาลและเตรียมความพร้อมเพื่อก้าวสู่ประชาคมอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งกรมพัฒนาที่ดินพร้อมให้การช่วยเหลือเกษตรกรในเรื่องต่าง ๆ ของดิน เช่น การปรับปรุงบำรุงดิน ปุ๋ยอินทรีย์ชนิดต่าง ๆ และเทคโนโลยีชีวภาพปุ๋ย พ.ด. รวมถึงการอนุรักษ์ดินและน้ำ เป็นต้น เกษตรกรสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักวิจัยและพัฒนาการจัดการที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 20 พฤศจิกายน 2556

สศก.เห็นชอบราคาอ้อยฤดูผลิต 56/57 ที่ 900 บาทต่อตัน

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 3 ติดตามสถานการณ์ผลิตอ้อยโรงงาน ปี 2556/57 ในเขตพื้นที่ 7 จังหวัด แจงพื้นที่เก็บเกี่ยวและผลผลิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ด้าน กบ.เห็นชอบราคาอ้อยขั้นต้นในฤดูการผลิต ที่ 900 บาทต่อตันขณะที่ต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 1,129.92 บาทต่อตัน...

วันนี้ (19 พ.ย.56) นางเพ็ญศิริ วงษ์วาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 3 อุดรธานี (สศข.3) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า สถานการณ์การผลิตอ้อยโรงงานปี 2556/57 ในพื้นที่ จ.อุดรธานี หนองบัวลำภู เลย หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร และนครพนม มีพื้นที่ปลูกอ้อย 23% ของพื้นที่ปลูกอ้อยทั้งหมดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยคาดว่าในช่วงฤดูกาลผลิต ปี 2556-57 จะมีพื้นที่เก็บเกี่ยวอ้อยประมาณ 827,000 ไร่ เพิ่มขึ้น 2% จากปีก่อนที่มีพื้นที่เก็บเกี่ยว 809,000 ไร่ โดยมีปริมาณผลผลิตรวม 930,000 ล้านตัน

ขณะนี้ใกล้ถึงช่วงที่โรงงานจะทำการเปิดหีบอ้อย ฤดูการผลิต 2556/57 (ประมาณปลายเดือนพฤศจิกายน 2556) และจากสถานการณ์การผลิตอ้อยโรงงาน ปี 2556/57 ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ จังหวัดอุดรธานี หนองบัวลำภู เลย หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร และนครพนม ซึ่งมีเนื้อที่เพาะปลูกอ้อยโรงงาน คิดเป็นร้อยละ 23 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

สศข.3 ได้คาดคะเนพื้นที่เก็บเกี่ยวพบว่ามีประมาณ 8.27 แสนไร่ เทียบกับปีที่แล้วที่มีพื้นที่เก็บเกี่ยว 8.09 แสนไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 และผลผลิตรวมประมาณ 9.3 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 8.9 ล้านตันจากปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 4 เนื่องจากมีการส่งเสริมการปลูกอ้อยโรงงานจากโรงงานน้ำตาล ตั้งใหม่ ณ อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย 2 แห่ง และที่อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี 1 แห่ง โดยเกษตรกรได้ปลูกอ้อยโรงงานแทนมันสำปะหลัง และที่นาดอน เนื่องจากให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า

สำหรับด้านราคา ทางคณะกรรมการบริหาร (กบ.) ที่มีอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เป็นประธาน ได้เห็นชอบราคาอ้อยขั้นต้นในฤดูการผลิต 2556/57 ที่ 900 บาทต่อตัน บวกเงินค่าความหวาน (ซี.ซี.เอส) ประมาณ 6% จากราคาอ้อย ซึ่งในส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ค่าความหวานเฉลี่ยอยู่ที่ 12-13 ซี.ซี.เอส (ภาพรวมทั้งประเทศ เฉลี่ยที่ 11.64 ซี.ซี.เอส) โดยคาดว่าราคาอ้อยจะไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท ขณะที่ต้นทุนการผลิตอ้อยโรงงาน อยู่ที่ 1,129.92 บาทต่อตัน ซึ่งสูงกว่าราคาอ้อยขั้นต้นถึง 230 บาท/ตัน ดังนั้น จึงมอบหมายให้คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เร่งหาแนวทางในการช่วยเหลือชาวไร่อ้อยต่อไป.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 20 พฤศจิกายน 2556

โรงงานน้ำตาลบ้านไร่ จ.อุทัยธานี ทำบุญก่อนเปิดหีบอ้อยฤดูการผลิต 2556/2557 คาดว่าปีนี้เกษตรกรจะนำอ้อยเข้าสู่โรงงาน มากกว่า 3.7 ล้านตัน

วันนี้ (19 พ.ย.56) เวลา 11.00 น. ที่บริษัทอุสาหกรรมน้ำตาลบ้านไร่ อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี จัดทำบุญถวายเพลพระสงฆ์ จำนวน 9 รูป เพื่อความเป็นศิริมงคลก่อนเปิดหีบอ้อยฤดูการผลิต 2556/2557 โดยมี นายวันชัย โอสุคนธ์ทิพย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการ พนักงานบริษัทและเกษตรกร เข้าร่วมทำบุญกันเป็นจำนวนมาก

นายวิสิศักดิ์ ชัยกิตติภรณ์ ผู้จัดการโรงงาน เปิดเผยว่า ในฤดูการผลิตนี้คาดว่าจะมีเกษตรกรชาวไร่อ้อยนำอ้อยป้อนเข้าสู่โรงงานไม่ต่ำกว่า 3 ล้าน 7 แสนตัน ในพื้นที่เพาะปลูกจำนวน 3 แสน 5 หมื่นไร่ โดยทางโรงงานจะเริ่มเปิดหีบอ้อยในระหว่างวันที่ 2 ธันวาคม 2556 – 12 เมษายน 2557 ซึ่งขณะนี้ทางโรงงานได้จัดเตรียมพื้นที่บริเวณด้านหน้าโรงงานเพื่อรองรับเกษตรกร และรถบรรทุกอ้อยที่จะนำอ้อยเข้าสู่โรงงานไว้แล้ว

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 19 พฤศจิกายน 2556

สศข.3เผย กบ.เห็นชอบราคาอ้อยขั้นต้นฤดูผลิต56/57ที่ 900 บาทต่อตัน

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 3 ติดตามสถานการณ์ผลิตอ้อยโรงงาน ปี 2556/57ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ 7 จังหวัดแหล่งผลิตภาคอีสานแจงพื้นที่เก็บเกี่ยวและผลผลิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากการส่งเสริมการปลูกอ้อยโรงงานของโรงงานน้ำตาลตั้งใหม่ ด้าน กบ.เห็นชอบราคาอ้อยขั้นต้นในฤดูการผลิต ที่ 900 บาทต่อตันขณะที่ต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 1,129.92 บาทต่อตัน พร้อมมอบ กอน.เร่งหาแนวทางในการช่วยเหลือชาวไร่อ้อยแล้ว

นางเพ็ญศิริ วงษ์วาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต3 อุดรธานี (สศข.3) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่าขณะนี้ใกล้ถึงช่วงที่โรงงานจะทำการเปิดหีบอ้อย ฤดูการผลิต 2556/57(ประมาณปลายเดือนพฤศจิกายน 2556) และจากสถานการณ์การผลิตอ้อยโรงงาน ปี2556/57 ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ จังหวัดอุดรธานี หนองบัวลำภู เลย หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร และนครพนม ซึ่งมีเนื้อที่เพาะปลูกอ้อยโรงงาน คิดเป็นร้อยละ 23 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สศข.3 ได้คาดคะเนพื้นที่เก็บเกี่ยวพบว่ามีประมาณ8.27 แสนไร่ เทียบกับปีที่แล้วที่มีพื้นที่เก็บเกี่ยว 8.09 แสนไร่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 และผลผลิตรวมประมาณ 9.3 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 8.9ล้านตันจากปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 4เนื่องจากมีการส่งเสริมการปลูกอ้อยโรงงานจากโรงงานน้ำตาล ตั้งใหม่ ณอำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย 2 แห่ง และที่อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี 1 แห่งโดยเกษตรกรได้ปลูกอ้อยโรงงานแทนมันสำปะหลัง และที่นาดอนเนื่องจากให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า

สำหรับด้านราคา ทางคณะกรรมการบริหาร (กบ.) ที่มีอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.) เป็นประธาน ได้เห็นชอบราคาอ้อยขั้นต้นในฤดูการผลิต 2556/57 ที่ 900บาทต่อตัน บวกเงินค่าความหวาน (ซี.ซี.เอส) ประมาณ 6% จากราคาอ้อยซึ่งในส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ค่าความหวานเฉลี่ยอยู่ที่ 12-13 ซี.ซี.เอส(ภาพรวมทั้งประเทศ เฉลี่ยที่ 11.64 ซี.ซี.เอส) โดยคาดว่าราคาอ้อยจะไม่ต่ำกว่า1,000 บาท ขณะที่ต้นทุนการผลิตอ้อยโรงงาน อยู่ที่ 1,129.92 บาทต่อตันซึ่งสูงกว่าราคาอ้อยขั้นต้นถึง 230 บาท/ตัน ดังนั้นจึงมอบหมายให้คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.)เร่งหาแนวทางในการช่วยเหลือชาวไร่อ้อยต่อไป

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 19 พฤศจิกายน 2556

อุตฯ การค้า-ส่งออก พาณิชย์โชว์แผนคุมสินค้าปี57

พาณิชย์โชว์แผนกำกับดูแลราคาสินค้าปี 57 ชู 3 แนวสร้างความเป็นธรรมผู้บริโภค-ผู้ประกอบการอยู่ร่วมกันได้ สั่งคุมเข้มกลุ่มสินค้าควบคุมทั้ง ข้าว ไข่ไก่ น้ำมันพืช เนื้อหมู ห้ามฉวยโอกาสปรับราคา สมชาติ สร้อยทองสมชาติ สร้อยทอง พร้อมเล็งบังคับผู้ผลิตสบู่ แชมพู ผงซักฟอก ผลิตสินค้าขนาดมาตรฐานเดียวกันให้ผู้ซื้อเปรียบเทียบราคาก่อนซื้อ หลังที่ผ่านมาแข่งลดไซส์ แต่ขายราคาเดิม เอาเปรียบผู้บริโภค ชูจัดงานธงฟ้า 939 ครั้งลดค่าครองชีพ

นายสมชาติ สร้อยทอง อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงมาตรการในการกำกับดูแลราคาสินค้าเพื่อช่วยลดค่าครองชีพของประชาชนในช่วงปลายปีนี้ และในปี 2557 ว่า มี 3 แนวทาง ได้แก่ 1.ราคาต้องสมเหตุสมผล ซึ่งจะพิจารณาจากต้นทุนที่สูงขึ้นหรือลดลงให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง 2.ราคาต้องเป็นธรรม ไม่เป็นภาระของประชาชน หรือผู้ผลิตมากเกินไป และ 3.แบบค่อยเป็นค่อยไป คือการทยอยปรับราคา เพื่อให้ประชาชนไม่ได้รับผลกระทบที่รุนแรง

นอกจากนี้กรมยังมีมาตรการในการกำกับดูแลราคาสินค้าใน 3 ระดับรวม 205 รายการ ประกอบด้วย 1.ระดับปกติ (Watch List : WL) คือ สินค้าที่ต้องติดตามทุกสัปดาห์ ปัจจุบันมี 185 รายการ เช่น สบู่ ผงซักฟอก นมสด แชมพู ทราย เมล็ดพลาสติก แก๊สโซฮอล์ เครื่องแบบนักเรียน แถบบันทึกเสียง แปรงสีฟัน ผ้าอ้อมสำเร็จรูป เป็นต้น ซึ่งกรมจะกำกับดูแลราคาให้เป็นไปตามกลไกตลาด และดูแลไม่ให้มีการฉวยโอกาสขายสินค้าในราคาที่สูงเกินไป 2.ระดับเริ่มไม่ปกติ (Priority Watch List : PWL) ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์ราคาเป็นประจำสัปดาห์ละ 2 ครั้งซึ่งมีอยู่กว่า 10 รายการ และหากมีการเปลี่ยนแปลงราคาต้องแจ้งให้กรมรู้ล่วงหน้า เช่น ไข่ไก่ น้ำตาลทราย ปุ๋ยเคมี อาหารสัตว์ เป็นต้น และ 3.ระดับที่มีความอ่อนไหว (Sensitive List : SL) ซึ่งมี 9 รายการที่ต้องเฝ้าดูเป็นพิเศษ โดยติดตามใกล้ชิดเป็นประจำทุกวันหากมีการเปลี่ยนแปลงราคาจะต้องแจ้งให้กรมทราบเพื่อพิจารณาประกาศราคาแนะนำ หรือชะลอการปรับราคา เช่น ข้าวถุง ไข่ไก่ น้ำมันพืช สุกรชำแหละ ก๊าซแอลพีจี เป็นต้น

"สถานการณ์ราคาสินค้า ณ ปัจจุบันยังไม่น่าห่วง ยังไม่มีผู้ประกอบการขอปรับขึ้นราคาเนื่องจากเป็นช่วงปลายปี ผู้ประกอบการส่วนใหญ่แข่งทำโปรโมชันเพื่อกระตุ้นยอดขาย แต่ในช่วงปีใหม่จะต้องมาดูอีกครั้ง ขณะเดียวกันจะให้เจ้าหน้าที่ไปดูว่าสินค้าที่กรมดูแล้ว มีตัวไหนที่ผู้บริโภคไม่นิยมก็จะนำมาทบทวนใหม่เพื่อให้ข้อมูลอัพเดตมากขึ้น เช่น ผงซักฟอก หรือน้ำยาล้างห้องน้ำ หรือสบู่ที่ผู้บริโภคเริ่มหันมาใช้แบบเหลวกันมากขึ้น ซึ่งกรมก็จะเข้าไปดูถึงคำนิยามว่าครอบคลุมถึงกันหรือไม่ ถ้าตรงไหนไม่มีความจำเป็นก็อาจจะลดจำนวนสินค้าที่ต้องติดตามดูแลลง หลังจากนั้นจะเสนอให้คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) พิจารณาว่าสินค้าใดยังเป็นสินค้าควบคุม สินค้าใดควรยกเลิกหรือลดลง ซึ่งจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาประมาณต้นปีหน้าต่อไป

นอกจากนี้ยังได้เตรียมพิจารณาหาช่องทางร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำหนดขนาดบรรจุสินค้าอุปโภค-บริโภคจำเป็น เช่น สบู่ แชมพู สระผม ซึ่งอาจให้มี 5 ขนาดบรรจุ เพื่อให้ผู้บริโภคเปรียบเทียบความคุ้มค่า และราคาของแต่ละยี่ห้อ ป้องกันผู้ผลิตเอาเปรียบ จากปัจจุบันผู้บริโภคค่อนข้างสับสน เช่น ผงซักฟอก เดิมมีปริมาตรบรรจุ 5 พันกรัม ลดลงเหลือ 3-4 พันกรัม แต่ยังคงขายราคาเดิม หรือแชมพู เดิมบรรจุ 500 กรัม ลดเหลือ 350-380 กรัม แต่ราคาคงเดิม หรือแม้แต่สบู่ ที่เดิมขนาด 100 กรัมมีการรับลดขนาดเหลือ 80-90 กรัม เป็นต้น

"เบื้องต้นจะขอความร่วมมือไปยังผู้ประกอบการก่อน เพื่อให้การบรรจุปริมาณสินค้าไปในทิศทางเดียวกัน แต่ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือก็จะมาดูในช่วงตอนนี้ที่ผู้ประกอบการขอปรับขึ้นราคาก็จะดูต้นทุน กำไรว่าอยู่ที่เท่าไหร่ และจะเรียกมาคุย หากผู้ประกอบการแจ้งปริมาณเป็นเท็จและขายเกินราคาควบคุม จะมีโทษปรับ 1.4 แสนบาท จำคุก 7 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ"
ส่วนมาตรการลดค่าครองชีพของประชาชนในปีงบประมาณ 2557 (ต.ค.56-ก.ย.57) ทางกรมมีแผนจัดงานธงฟ้าราคาประหยัดรวมทั้งสิ้น 939 ครั้ง แบ่งเป็น ระดับประเทศ 2 ครั้ง ระดับภาค 8 ครั้ง ระดับอำเภอ 878 ครั้ง ระดับ
กรุงเทพมหานคร 50 ครั้ง และระดับงานธงฟ้าสู่เออีซี อีก 1 ครั้ง ซึ่งในส่วนของงบประมาณอยู่ระหว่างการดำเนินการ ส่วนปีนี้ (พ.ย-ม.ค.) เหลือการจัดงานธงฟ้าอีก 406 ครั้ง แบ่งเป็น ระดับประเทศ 1 ครั้ง ระดับภาค 4 ครั้ง ระดับอำเภอ 396ครั้ง และระดับกรุงเทพมหานคร 10 ครั้ง

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 19 พฤศจิกายน 2556

‘กสส.’ เสริมแกร่งธุรกิจกลุ่มเกษตรกร - เกษตรทั่วไทย

นอกจากกรมส่งเสริมสหกรณ์จะขับเคลื่อนงานสหกรณ์ให้เกิดความเข้มแข็งทั้งระบบแล้ว ยังส่งเสริมและพัฒนากลุ่มเกษตรกรให้สามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย โดยดำเนินการตามอุดมการณ์การช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกันด้วยวิธีการสหกรณ์ ซึ่งปัจจุบันสมาชิกกลุ่มเกษตรกรต้องแบกรับภาระต้นทุนการผลิตที่ขยับตัวสูงขึ้น ทั้งค่าปัจจัยการผลิตทางการเกษตร ค่าแรงงาน เครื่องจักรกลการเกษตร น้ำมัน และอาหารสัตว์ ที่สำคัญกลุ่มเกษตรกรยังขาดแคลนเงินทุนเพื่อใช้ประกอบธุรกิจ ทำให้ไม่สามารถให้บริการสมาชิกได้ทั่วถึง จากปัญหาดังกล่าว กรมส่งเสริมสหกรณ์จึงได้ดำเนิน “โครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อพัฒนากลุ่มเกษตรกร” เพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มเกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งทุนซึ่งจะช่วยพัฒนาธุรกิจของกลุ่มเกษตรกรให้ยืนหยัดอยู่ได้อย่างมั่นคง

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้ส่งเสริมให้กลุ่มเกษตรกรดำเนินธุรกิจเพื่ออำนวยความสะดวก และตอบสนองความต้องการของสมาชิก โดยมุ่งให้กลุ่มเกษตรกรมีความเข้มแข็งและมีคุณภาพ สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของสมาชิกด้วยหลักการและวิธีการสหกรณ์ จากการที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ตรวจสอบและคัดกรองกลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศ ล่าสุดพบว่า มีกลุ่มเกษตรกร จำนวน 6,129 กลุ่ม สมาชิกกว่า 642,000 คน โดยกลุ่มเกษตรกรทำธุรกิจหลายด้าน ทั้งธุรกิจสินเชื่อ ธุรกิจรวบรวมผลิตผลเกษตร ธุรกิจแปรรูปผลิตผล ธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย ธุรกิจรับฝากเงิน ธุรกิจบริการและส่งเสริมการเกษตร ปริมาณธุรกิจกว่า 11,226.58 ล้านบาท

ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้พัฒนาศักยภาพและประสิทธิภาพของกลุ่มเกษตรกรให้เข้มแข็งโดยจัดมาตรฐานกลุ่มเกษตรกร ขณะนี้มีกลุ่มเกษตรกรผ่านเกณฑ์มาตรฐานแล้วจำนวน 3,236 กลุ่ม สำหรับกลุ่มเกษตรกรที่ผ่านมาตรฐานนี้จะได้รับสิทธิพิเศษเรื่องเงินกู้และเป็นเงื่อนไขสำคัญในการเข้ารับการคัดเลือกเป็นกลุ่มเกษตรกรดีเด่นในระดับต่าง ๆ ด้วย

เนื่องจากกลุ่มเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่ได้รับการสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำจากแหล่งเงินทุนต่าง ๆ ทำให้สมาชิกขาดโอกาสพัฒนาศักยภาพการผลิตและไม่สามารถแข่งขันทางการตลาดได้ กรมส่งเสริมสหกรณ์จึงได้จัดทำโครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อพัฒนากลุ่มเกษตรกรขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนเงินจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร (กสก.) เพื่อส่งเสริมและพัฒนากลุ่มเกษตรกรให้ครอบคลุมทั้งกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกพืช กลุ่มเกษตรกรประมง กลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ และกลุ่มเกษตรกรประเภทอื่น ๆ ให้ได้รับการสนับสนุนเงินทุนพัฒนาธุรกิจทุกด้าน สามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนในการประกอบอาชีพและช่วยยกระดับรายได้ของสมาชิกให้สูงขึ้น และเพื่อให้กลุ่มเกษตรกรมีฐานะการเงินที่มั่นคง มีความเข้มแข็งและดำเนินธุรกิจได้ด้วยตนเอง

อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์กล่าวอีกว่า ปี 2557 นี้ โครงการฯได้เตรียมเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยจาก กสก. วงเงินกู้รวม 500 ล้านบาท เพื่อจัดสรรให้กลุ่มเกษตรกรที่ได้มาตรฐานกู้ยืมเพื่อการลงทุน มีเป้าหมาย 1,400 กลุ่ม ระยะเวลากู้ยืมไม่เกิน 2 ปี โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ จะตรวจสอบการใช้เงินกู้ของกลุ่มเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง เบื้องต้นคาดว่า กลุ่มเกษตรกรจะมีเงินทุนพัฒนาศักยภาพการดำเนินธุรกิจไม่ต่ำกว่า 500,000 บาท/กลุ่ม สามารถจัดหาวัสดุอุปกรณ์การผลิต ทั้งพืชและสัตว์มาบริการสมาชิกได้อย่างทั่วถึงและสอดคล้องกับความต้องการของสมาชิก

ทั้งนี้ คาดว่าจะช่วยให้สมาชิกกลุ่มเกษตรกรมีเงินทุนประกอบอาชีพการเกษตร เฉลี่ย 30,000 บาท/ คน สามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตและมีรายได้เพิ่มขึ้นเพียงพอต่อการดำรงชีพ และกลุ่มเกษตรกรจะสามารถขยายตลาดจำหน่ายผลผลิตได้เพิ่มขึ้น รวมถึงได้รับการส่งเสริมให้ดำเนินธุรกิจครบวงจรไม่ต่ำกว่า 2 ธุรกิจ/กลุ่ม ได้แก่ ธุรกิจให้เงินกู้ กับธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย ทำให้มีฐานะทางการเงินมั่นคง มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 50% และทุนเพิ่มขึ้น 50% ที่สำคัญคือมีความเข้มแข็ง สามารถช่วยสมาชิกได้อย่างยั่งยืน.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 19 พฤศจิกายน 2556

วิกฤติพลังงานไทย 'ไอเออีเอ' ชี้ชัดแย่สุดในอาเซียน!!

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดงานสัมมนาวิชาการผลิตไฟฟ้า ของสายงานพัฒนาธุรกิจ และสายงานผลิตไฟฟ้า ครั้งที่ 14 ประจำปี 2556 หรือ EGAT Power Generation Conference 2013 ภายใต้แนวคิด "The Spirit of Excellence" อันมีความหมายถึงการปฏิบัติงานของ กฟผ.ที่ทำทุกอย่างให้ดีที่สุด ด้วยจิตวิญญาณอย่างมืออาชีพ เพื่อเป็น การแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเผยแพร่ ความรู้ในด้านการผลิตไฟฟ้า สร้างความมั่นใจในการดำเนินธุรกิจการให้บริการแก่โรงไฟฟ้าทั่วไป

นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "มองอนาคตพลังงานไทยในอีก 20 ปี" ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าห่วงที่สุดในอาเซียน เพราะมีการนำเข้าพลังงาน ก๊าซธรรมชาติเป็นหลักมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า โดยในปี 2555 ได้นำเข้าพลังงานคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท หรือมีสัดส่วนครึ่งหนึ่งของงบประมาณแผ่นดินที่จัดสรรไว้ 2.6 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ ประเทศไทยได้นำเข้าพลังงาน คิดเป็นสัดส่วน 80% อีก 20% ผลิตได้ในประเทศ ขณะที่การใช้พลังงานเติบโตอย่าง ต่อเนื่องเฉลี่ยอยู่ที่ 4% ต่อปี โดยปี 2555 พบว่า มีการใช้พลังงานมีมูลค่า 2.1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 19% ของจีดีพี

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาประเทศไทย ได้ส่งเสริมพลังงานทดแทนเพื่อลดการนำเข้า เช่น การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม แต่ขณะนี้สามารถผลิต ได้เพียง 10% เท่านั้นจากเป้าหมายตั้งไว้ 25% ดังนั้น ในอนาคตความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศไทยยังน่าห่วง ซึ่งจาก ข้อมูล IAEA ระบุว่า ในกลุ่มประเทศอาเซียน ด้วยกันปรากฏว่าไทยอยู่อันดับแย่ที่สุด

นายสุเทพ กล่าวว่า การจะพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าในประเทศคงหมดหวัง เพราะโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่ง กฟผ.อยู่ระหว่าง ดำเนินการผลักดัน 6 แห่ง เช่น หัวไทร กระบี่ แต่ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ เพราะถูกคัดค้าน และในอนาคตยังจะเป็น ปัญหายืดเยื้อต่อไป เช่นเดียวกับโรงไฟฟ้า จากพลังงานิวเคลียร์ รวมถึงการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพื่อผลิตไฟฟ้า ต้องใช้เรือขนส่งขนาดแสนกว่าตัน จำนวน 2 ลำ ลอยอยู่ในอ่าวไทย ซึ่งทางเสนาธิการ ทหารเรือก็มีความกังวลใจต่อความมั่นคงของประเทศ

ในอนาคตประเทศไทยต้องนำเข้า LNG มากถึง 23 ล้านตัน ขณะที่ราคานำเข้า LNG สูงกว่าก๊าซธรรมชาติทั่วไปถึง 3 เท่า เมื่อนำไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าจะ ส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าขยับสูงขึ้น 7-8 บาทต่อหน่วย จากปัจจุบันอยู่ที่ 3.75 บาท ต่อหน่วย แม้ว่าในระยะอันใกล้ กฟผ.สามารถ ดูแลค่าไฟฟ้าให้อยู่ในระดับต่ำได้ แต่ในอนาคตราคาต้องขยับสูงขึ้นอย่างแน่นอน

นางอัญชลี ชวนิชย์ ประธานกรรมการ กฟผ. กล่าวในหัวข้อ "กฟผ. กับจุดยืนไฟฟ้าไทยในเวทีอาเซียน" ว่า ในอนาคตฟอสซิลและถ่านหินยังเป็นเชื้อเพลิงหลักของโลก แต่จะมีการผลิตพลังงานทดแทนเพิ่มมากขึ้น เพราะได้รับการอุดหนุนด้านราคา โดยในประเทศเยอรมนีได้กำหนด ว่าในอนาคตต้องมีพลังงานทดแทนให้ได้ 50% แต่ของโลกกำหนดไว้ในสัดส่วน 20% ซึ่งการที่ให้เยอรมนีหันมาส่งเสริมพลังงาน ทดแทนแล้วยกเลิกโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ทำให้ค่าไฟของเยอรมนีสูงที่สุดในยุโรป

นางอัญชลี กล่าวว่า การผลิตไฟฟ้า ในไทยต้องมีการปรับตัวหลายประการทั้งเพื่อรองรับความต้องการไฟฟ้าในประเทศ และการเปลี่ยนแปลงของตลาดโลก รวมถึงการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 โดยเฉพาะโครงการระบบส่งไฟฟ้า ASEAN Power Grid จะเป็นโอกาส ที่สำคัญของภูมิภาคในการร่วมมือส่งเสริม ซึ่งจะเห็นว่าธุรกิจไฟฟ้าในยุโรปกำลังได้รับผลกระทบ แต่ธุรกิจไฟฟ้ามีการขยายตัว เพิ่มในภูมิภาคเอเชียรวมถึงจีนด้วย

นอกจากนี้ ปัจจุบันการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้ามีสัดส่วนภาครัฐ 55% เอกชน 45% แต่แนวโน้มในอนาคตการลงทุนจะให้ เอกชนเข้ามาลงทุนในสัดส่วนมากขึ้น

ด้านนายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า การจัดงานสัมมนาวิชาการปีนี้มีการบรรยายพิเศษโดยผู้ทรงคุณวุฒิ ที่เป็นการเปิดกว้างโดยการเชิญบริษัทคู่ค้าและพันธมิตรเข้าร่วมบรรยาย โดยปลัดกระทรวงพลังงาน ปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ "มองอนาคตพลังงานไทยในอีก 20 ปี" และการบรรยายพิเศษโดยประธานกรรมการ กฟผ.ในหัวข้อ "กฟผ.กับจุดยืนไฟฟ้าไทยในเวทีอาเซียน" ซึ่งสอดคล้องกับการที่ กฟผ.จะต้องเตรียมตัวเพื่อก้าวสู่ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในอีก 2 ปี ข้างหน้า ส่วน ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "The Spirit of Excellence" เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจพลังงาน จนประสบความสำเร็จในระดับสากล

นอกจากนี้ กิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วยการจัดสัมมนาย่อย 3 ห้อง ได้แก่ ห้อง Operation & Production Optimization เป็นการบรรยายเกี่ยวกับการเดินเครื่องและการผลิตไฟฟ้าให้ได้ประโยชน์และคุ้มค่าสูงสุด ห้อง Main-tenance & Plan Improvement บรรยาย เกี่ยวกับการบำรุงรักษาอย่างไร ที่จะสามารถ ปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพให้ได้มากที่สุด และห้อง Power Plant & Environmental เป็นการบริหารจัดการโดยคำนึง ถึงสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีการคัดกรองหัวข้อที่น่าสนใจจากคณะกรรมการ จำนวนกว่า 24 หัวข้อ เช่น การออกแบบโรงไฟฟ้าพลังงาน ลมด้วยระบบอาณาจักรมด โดยจุดเด่นของ งานสัมมนาวิชาการในครั้งนี้คือ เป็นการบรรยายภาษาอังกฤษ เพื่อรองรับการเข้า สู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน พร้อมโชว์การแสดงนวัตกรรมหุ่นยนต์ที่ใช้ในการซ่อม Generator ในพื้นที่เล็กและแคบ ซึ่ง เป็นการพัฒนาและคิดค้นโดยทีมงาน กฟผ. (EGAT Generator Inspection Vehicle : EGAT GIV)

จาก http://www.siamturakij.com  วันที่ 19 พฤศจิกายน 2556

จัดสรรที่ดินอย่างเหมาะสม... สร้างความมั่นคงอาชีพเกษตร

มีปัญหาที่สำคัญซึ่งเกษตรกรไทยยังคงเผชิญและรอการแก้ไขอย่างเร่งด่วน นั่นคือ ปัญหาการไร้ที่ดินทำกินเป็นของตนเอง เพราะการไร้ที่ทำกินก็เหมือนซึ่งไร้หนทางในการประกอบอาชีพ

สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่เข้ามาทำหน้าที่ในการจัดสรรที่ดินของรัฐและเอกชนเพื่อกระจายสิทธิการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินเพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรมให้แก่เกษตรกรและผู้ไร้ที่ดินทำกิน ที่ผ่านมามีการจัดสรรที่ดินของรัฐไปแล้วกว่า 34 ล้านไร่ และมีเกษตรกรที่ได้รับการจัดสรรที่ดินไปแล้วกว่า 2.6 ล้านราย

นายสมปอง อินทร์ทอง รองเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กล่าวว่า ปัจจุบัน ส.ป.ก. มีที่ดินอยู่ 2 ประเภทที่ดำเนินการอยู่ คือ ที่ดินของรัฐ และที่ดินของเอกชน ในส่วนที่ดินของรัฐ ส.ป.ก. ได้ให้สิทธิแก่เกษตรกรและผู้ยากไร้ที่ดินทำกินในการเข้ามาใช้ประโยชน์ตามกฎหมาย ส่วนที่ดินของเอกชน ส.ป.ก. ได้มุ่งเน้นที่การจัดหาที่ดินด้วยการจัดซื้อที่ดินจากเอกชน โดยใช้เงินกองทุนเป็นส่วนสนับสนุน ปัจจุบันนี้ยังมีเกษตรกรที่รอความหวัง และต้องการมีที่ดินทำกินเป็นของตนเองอีก 3.7 แสนราย คาดว่าภายในระยะเวลาไม่กี่ปี ส.ป.ก. น่าจะดำเนินการจัดสรรที่ดินให้ได้เรียบร้อย

หลังจากที่ได้จัดสรรที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกรแล้ว ส.ป.ก. ยังได้เข้ามาดูแลพื้นที่ ทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาที่ดิน แหล่งน้ำ และปัจจัยการผลิต รวมทั้งการพัฒนาตัวเกษตรกร ในเรื่องของความรู้ความสามารถ ทักษะ และประสบการณ์ของการทำอาชีพเกษตรกรรม เพื่อให้การประกอบอาชีพเกษตรกรรมมีความมั่นคง และมีรายได้เพียงพอกับการดำเนินชีวิต โดยทำควบคู่กับหน่วยงานอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมการเกษตร เป็นต้น

สำหรับปัญหาที่ดินทำกินที่ยังพบอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ ปัญหาผู้ไร้ที่ดินทำกิน ซึ่งมีอยู่ประมาณ 3.7 แสนราย ส.ป.ก.ยังคงทำหน้าที่จัดหาที่ดินให้ ปัญหาของผู้ที่มีที่ดินทำกินแล้ว แต่ยังมีการใช้ประโยชน์ที่ดินไม่มีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาทักษะและองค์ความรู้ด้านการจัดการอย่างต่อเนื่อง ปัญหาการบุกรุกที่ดินทำกินของรัฐ และการกระจายสิทธิที่ดินที่ไม่เป็นธรรม บางรายถือครองที่ดินเป็นจำนวนมาก ส.ป.ก. ต้องเข้าไปเจรจาเพื่อจัดซื้อที่ดินมากระจายสิทธิให้ผู้ไร้ที่ดินทำกิน ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ล้วนเป็นปัญหาหลัก ๆ ในเรื่องที่ดินทำกินของคนไทยที่ยังดำรงอยู่ ซึ่งหน่วยงานภาครัฐหลายส่วนได้พยายามดำเนินการแก้ปัญหาอยู่อย่างต่อเนื่อง

สำหรับปัญหาเร่งด่วนที่ ส.ป.ก. ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน เรื่องแรกคือ การจัดซื้อจากภาคเอกชน โดยมีการแก้ไขกฎหมายบางมาตรา เพื่อให้ ส.ป.ก.ได้เข้าไปจัดซื้อที่ดินได้ และการจัดสรรที่ดินของรัฐใหม่ ด้วยการตรวจสอบที่ดินที่จัดสรรไปก่อนหน้านี้ที่นำไปใช้ประโยชน์ผิดวัตถุประสงค์ ผิดประเภท เพื่อนำมาจัดสรรให้ผู้ไร้ที่ดินทำกินรายใหม่ รวมทั้งการพัฒนาเกษตรกร และการพัฒนาพื้นที่ ตามนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งการโซนนิ่งพื้นที่การเกษตรทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น พื้นที่เพาะปลูกพืช พื้นที่สำหรับการเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น

นอกจากนั้น ส.ป.ก. ยังมีโครงการใหม่ที่รับมาดำเนินการ คือ ศูนย์รับรองตรวจสอบสินค้าเกษตร ขณะนี้ ส.ป.ก.ได้รับการรับรอง จากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ให้ศูนย์ดังกล่าวของส.ป.ก.สามารถตรวจสอบและรับรองมาตรฐาน GAP ให้แก่เกษตรกรได้ ในกลุ่มพืชประเภท อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และสับปะรด และเตรียมที่จะพัฒนาไปยังพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ เช่น ข้าว และผัก ด้วย

ทั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมและขยายศักยภาพทางด้านการผลิตสินค้าเกษตรในพื้นที่ต่าง ๆ ให้มีมาตรฐานมากขึ้นรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ที่จะมีการเปิดเสรีในกลุ่มสินค้าเกษตร

ซึ่งเกษตรกรไทยจำเป็นต้องปรับมาตรฐานการผลิตของตนเองให้มีคุณภาพและมีความปลอดภัย ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในตลาดสากล.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 19 พฤศจิกายน 2556

"สารคาม"ลุยจัดโซนนิ่งพืชเกษตร บูมปลูกอ้อยเฉียด2ล้านไร่โกยรายได้สะพัด2พันล.

มหาสารคาม เด้งรับลูกโซนนิ่งพืชเกษตร ผลสำรวจล่าสุดพบพื้นที่ไม่เหมาะสมปลูกข้าวกว่า 3 แสนไร่ นำร่องเฟสแรกหนุนชาวนาอำเภอชื่นชมเปลี่ยนมาปลูกอ้อย ชูธงเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ ขณะที่สมาคมชาวไร่อ้อยหนุนเต็มสูบเร่งขยายพื้นที่ปลูกอ้อยเพิ่มอีก 3.5 แสนไร่ ป้อนตลาดอาเซียน สร้างรายได้เข้าชุมชนกว่า 2 พันล้านบาท คาดหลังเปิดเออีซี ราคาอ้อยพุ่งไม่ต่ำกว่าตันละ 1,400 บาท

ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดมหาสารคามว่า ภาครัฐและเอกชนจังหวัดมหาสารคามขานรับนโยบายการบริหารจัดการพื้นที่ เกษตรกรรม หรือเกษตรโซนนิ่งของรัฐบาล เพื่อพัฒนาศักยภาพพื้นที่ปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ให้สอดคล้องกับความต้องการ ของการตลาด เชื่อมโยงแหล่งผลิต และแหล่งแปรรูป ซึ่งจังหวัดมหาสารคามมีพื้นที่ปลูกข้าวทั้งหมดกว่า 2 ล้านไร่ แต่สามารถปลูกข้าวให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพอยู่เพียง 1 ล้านไร่เศษ และมีพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าวเพราะมีสภาพเป็นพื้นที่นาดอน มีดินปนทราย ประมาณ 3 แสนไร่ ล่าสุดจังหวัดมหาสารคามได้ปรับยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด ปี 2557 โดยการสนับสนุนให้มีการปรับพื้นที่กว่า 3 แสนไร่ดังกล่าว นำไปปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน อาทิ การปลูกอ้อย

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการ ขับเคลื่อนนโยบายเกษตรโซนนิ่งระดับจังหวัดมหาสารคามเปิดเผยว่า จากการสำรวจพื้นที่พบว่าอำเภอชื่นชม เป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการปลูกอ้อย ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ในพื้นที่มีการปลูกอ้อยเป็นพืชหลักอยู่แล้ว แต่ได้กันพื้นที่บางส่วนที่อยู่นอกเขตชลประทานมาปลูกข้าวเพื่อบริโภค

ดังนั้นทางจังหวัดจึงได้นำร่องโซนนิ่งพื้นที่กว่า 4,000 ไร่ของอำเภอชื่นชมไว้สำหรับปลูกอ้อย ขณะนี้มีเกษตรกรกว่า 700 รายเข้าร่วมโครงการ พร้อมทั้งจัดหาตลาดไว้รองรับผลผลิตอ้อยแล้ว โดยการประสานกับโรงงานน้ำตาลทั้งที่อยู่ในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง เชื่อว่าการปลูกอ้อยในพื้นที่เกษตรโซนนิ่งจะช่วยสร้างรายได้ที่มั่นคงให้แก่ เกษตรกร

สำนักงานเกษตรจังหวัดมหาสารคามระบุว่า ปัจจุบันจังหวัดมหาสารคามมีการผลิตพืชเศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ ข้าวนาปี อ้อยโรงงาน และมันสำปะหลัง โดยในปี 2551 มีพื้นที่ปลูกข้าวนาปี 2,083,669 ไร่ มูลค่า 8,996 ล้านบาท พื้นที่ปลูกอ้อยโรงงาน 126,529 ไร่ มูลค่า 922 ล้านบาท และมันสำปะหลัง 94,565 ไร่ มูลค่า 536 ล้านบาท ขณะที่ในปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกข้าว 2,237,922 ไร่ อ้อยโรงงาน 163.814 ไร่ และมันสำปะหลัง 119,968 ไร่

นายวิชิต แสนแก้ว นายกสมาคมชาวไร่อ้อยจังหวัดมหาสารคาม เปิดเผยว่า นโยบายการส่งเสริมปลูกพืชเศรษฐกิจเพื่อสร้างรายได้เข้าสู่ชุมชน โดยการขยายพื้นที่ปลูกอ้อยเพิ่มขึ้นอีกจำนวน 3.5 แสนไร่ เน้นพื้นที่ ที่ไม่เหมาะสมต่อการปลูกข้าว เช่น ในเขตอำเภอชื่นชม อำเภอโกสุมพิสัย และอำเภอกุดรัง หากรวมกับพื้นที่ปลูกอ้อยเดิมที่มีอยู่แล้ว 1.4 ล้านไร่ จะทำให้จังหวัดมหาสารคามมีพื้นที่ปลูกอ้อยมากถึง 1.8 ล้านไร่

ทั้งนี้ประเมินว่าในอีก 2 ฤดูกาลผลิตข้างหน้า มหาสารคามจะมีผลผลิตอ้อยเพิ่มขึ้นกว่า 1 ล้านตัน จากปริมาณผลผลิตเดิมอยู่ที่ประมาณ 9.3 แสนตัน ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีรายได้จากการจำหน่ายอ้อยทั้งหมดปีละเกือบ 2 พันล้านบาท

"อ้อยจะเป็นพืชเศรษฐกิจอีกตัวหนึ่งของจังหวัดมหาสารคามที่สามารถ สร้างรายได้เข้าสู่ชุมชนได้เป็นอย่างดี โดยคาดว่าหลังเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนไปแล้ว ราคาอ้อยจะพุ่งสูงขึ้นไปอยู่ที่ตันละไม่ต่ำกว่า 1,400 บาท เพราะราคาอ้อยจะลอยตัวตามตลาดโลก จากเดิมที่กระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ควบคุมราคาโดยคำนวณราคาน้ำตาลทรายมากำหนด ราคาอ้อย"

นายวิชิตกล่าวว่า ปัจจุบันโรงงานหีบอ้อยในประเทศไทยมีความต้องการวัตถุดิบอ้อยสดป้อนโรงงานมาก ถึงปีละ 300 ล้านตันอ้อย แต่ปัจจุบันมีปริมาณผลผลิตเพียง 100 ล้านตันอ้อยเท่านั้น อ้อยจึงเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีอนาคต และเมื่อทางราชการเข้ามาส่งเสริมด้วยก็จะเป็นแรงกระตุ้นให้เกษตรกรที่ปลูก พืชชนิดอื่นหันมาปลูกอ้อยมากขึ้นเพราะมีรายได้ดีกว่า ซึ่งขณะนี้สมาคมชาวไร่อ้อยจังหวัดมหาสารคาม และโรงงานหีบอ้อยที่อำเภอโกสุมพิสัย (โรงงานกลุ่มวังขนาย) ร่วมกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ได้ออกไปส่งเสริมให้คำแนะนำแก่เกษตรกรที่สนใจที่จะปลูกอ้อยอย่างต่อเนื่อง

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

จ.สุพรรณบุรี นำร่องปลูกอ้อยยุคใหม่เสริมรายได้ด้วยถั่วเหลือง

จังหวัดสุพรรณบุรี โดยกลุ่มมิตรผล ผนึกชมรมผู้ส่งเสริมการปลูกถั่วเหลืองในประเทศไทย นำร่องปลูกอ้อยยุคใหม่เสริมรายได้ด้วยถั่วเหลือง เพื่อความยั่งยืนของเกษตรอุตสาหกรรมไทย

นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดโครงการปลูกถั่วเหลืองในไร่อ้อยช่วงบำรุงดิน ณ ตำบลหนองมะค่าโมง อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี โดยกล่าวว่า โครงการปลูกถั่วเหลือในไร่อ้อยตามแนวคิดการจัดการไร่อ้อยยุคใหม่ ซึ่งนับเป็นโครงการนำร่องเพื่อขยายสู่การพัฒนาในพื้นที่อื่นๆ และรายละเอียดการสนับสนุนเกษตรกรจากต้นน้ำถึงปลายน้ำอย่างครบวงจร รวมทั้งประโยชน์ที่เกษตรกรชาวไร่อ้อยจะได้รับจากโครงการอย่างยั่งยืน ซึ่งกลุ่มมิตรผล ผนึกชมรมผู้ส่งเสริมการปลูกถั่วเหลืองในประเทศไทย นำร่องปลูกอ้อยยุคใหม่เสริมรายได้ด้วยถั่วเหลือง เพื่อความยั่งยืนของเกษตรอุตสาหกรรมไทย

ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวอีกว่า การรณรงค์ให้เกษตรกรลดการเผาซากอ้อย และหันมาปลูกถั่วเหลืองเสริมรายได้ในช่วงว่างเว้นจากการปลูกอ้อยแทน ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลดการเกิดฝุ่นละอองและมลพิษ ช่วยเพิ่มธาตุไนโตรเจนให้กับดินได้โดยไม่ทำให้ดินเสื่อมสภาพเหมือนการใส่ปุ๋ยเคมีในดิน เพื่อเป็นอีกทางหนึ่งในการปลูกอ้อยครั้งต่อไป ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาเครื่องมือตัดใบอ้อยที่มีประสิทธิภาพในอนาคตอีกด้วย นำมาใช้ทดแทนการเผาใบอ้อยก่อนการเก็บเกี่ยวผลผลิตอ้อย

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 18 พฤศจิกายน 2556

แจงชาวนาปรับพื้นที่ปลูกอ้อย

นายโฆสิต วิโรจน์เพ็ชร์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 12นครสวรรค์ (สศข.12) เปิดเผยว่า ได้ร่วมประชุมหารือเรื่องการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวที่ไม่เหมาะสมเป็นอ้อยโรงงาน ภายใต้โครงการการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (Zoning)ของ จ.นครสวรรค์ โดยได้พิจารณาแนวทางการปฏิบัติงานการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวที่ไม่เหมาะสมเป็นอ้อยโรงงานของจังหวัดนครสวรรค์ร่วมกัน

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้หารือและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในส่วนต่างๆ โดยมอบหมายให้สำนักงานเกษตรจังหวัดนครสวรรค์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการอ้อยระดับท้องถิ่นจัดประชุมคณะอนุกรรมการอ้อยระดับท้องถิ่น เพื่อพิจารณาจำนวนเกษตรกรเป้าหมายที่สำรวจได้จากเกษตรตำบล ให้เหมาะสมสัมพันธ์กับโรงงานน้ำตาลที่เข้าร่วมโครงการ และกำหนดวันประชุมชี้แจงเกษตรกรเป้าหมาย ภายในวันที่ 18–20 พฤศจิกายน โดยเชิญผู้แทนโรงงานน้ำตาล ผู้แทนสมาคมชาวไร่อ้อย นายอำเภอ กำนันและผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่เป้าหมายเข้าร่วมชี้แจงข้อมูลแก่เกษตรกรด้วยพร้อมทั้งจัดทำฐานข้อมูลเกษตรกรที่ประสงค์จะปรับเปลี่ยนจากข้าวเป็นอ้อยโรงงาน

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ระดมสมองสร้างอ่าง‘ห้วยตาเปอะ’ ศึกษาทางแก้แล้งซ้ำซากลุ่มน้ำห้วยบางทราย

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดําริ (กปร.) ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ดำเนินโครงการศึกษาทบทวนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยตาเปอะ อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร โดยจะศึกษาครอบคลุมในทุกด้าน ทั้งวิศวกรรม เศรษฐกิจ สังคม รวมทั้งยังจะเปิดโอกาสให้ส่วนราชการท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมพิจารณาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ

ทั้งนี้กรมชลประทานได้กำหนดระยะเวลาในการศึกษาตั้งแต่เดือนกันยายน 2556 ที่ผ่านมา จนถึงเดือนกันยายน 2557และได้ทำการเปิดปฐมนิเทศโครงการดังกล่าวเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน ที่โรงแรมมุกดาหาร แกรนด์โฮเทล อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งมีประชาชน เกษตรกร ตัวแทนจากชุมชน นักวิจัยชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ข้าราชการ สื่อมวลชน และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมปฐมนิเทศโครงการ โดยมีนายธวัชชัยธรรมรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหารเป็นประธาน อีกด้วย

สำหรับโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยตาเปอะเป็นการดำเนินงานภายใต้โครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยบางทรายตอนบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งถือเป็นโครงการที่มีความสำคัญในลำดับต้นๆ ที่มีความจำเป็นในการพัฒนาเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับราษฎรซึ่งประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตร โดยกรมชลประทานได้ทำการศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นมาตั้งแต่ ปี 2538 2540 2542 และ 2545 ตามลำดับ

“อ่างเก็บน้ำห้วยตาเปอะ เป็นอ่างฯขนาดกลาง มีความจุประมาณ 20 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยมีพื้นที่รับน้ำฝน ด้านเหนืออ่างฯประมาณ 50 ตารางกิโลเมตร และมีปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยปีละ 22.28 ล้านลูกบาศก์เมตร หากสามารถดำเนินการก่อสร้างได้ก็จะเป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับการอุปโภคบริโภค และจัดสรรน้ำให้กับพื้นที่การเกษตรได้ประมาณ 7,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่บ้านตาเปอะ ตำบลบ้านค้อในเขตอำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร รวมทั้งยังสามารถเสริมการเพาะปลูกของราษฏร 2 ฝั่งลำห้วยบางทราย ตลอดจนช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วม เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ และเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของชุมชนอีกด้วย” ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน กล่าวในตอนท้าย

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

กรมฝนหลวงตั้งเป้าที่หนึ่งเอเชีย องค์กรชั้นนำด้านแปรสภาพอากาศ

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดพิธีถวายราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติ “พระบิดาแห่งฝนหลวง” ขึ้นเป็นประจำทุกปี ซึ่งในปีนี้ถือเป็นระยะเวลา 58 ปีแล้ว นับจากวันที่ 14พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 ซึ่งเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริที่จะคิดค้นวิจัยหาวิธีการทำฝนหลวง เพื่อแก้ไขปัญหาความทุกข์ยากของเกษตรกรและประชาชนทั่วไปที่ประสบภัยแล้ง รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรน้ำของประเทศ จนเกิดเป็นโครงการพระราชดำริฝนหลวงสืบมาจนถึงปัจจุบัน

นายวราวุธ ขันติยานันท์ รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากที่กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นกรมแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2556 กรมฝนหลวงฯได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์ที่จะเน้นการทำงานเชิงรุกมากขึ้น โดยมีเครือข่ายอาสาสมัครเข้ามาช่วยเสริมการปฏิบัติการฝนหลวง รวมถึงการพัฒนาองค์ความรู้ขึ้นมาในแต่ละศูนย์ปฏิบัติการฯ และที่สำคัญ คือ การขับเคลื่อนนำพระบรมราโชบาย “ที่ไหนมีคน ที่ไหนมีการเกษตร ที่นั่นต้องมีน้ำ” มาปฏิบัติให้เกิดผลสำเร็จให้ได้ ดังนั้น สิ่งที่กรมฝนหลวงต้องทำ คือ บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และร่วมกันวางแผนประจำปีในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำไม่ให้เกิดการสูญเสีย หรือสูญเปล่า เพื่อกรมฝนหลวงจะก้าวขึ้นเป็นองค์กรชั้นนำในภูมิภาคเอเชียในด้านการดัดแปรสภาพอากาศ และบริหารจัดการน้ำในชั้นบรรยากาศ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งและบรรเทาภัยพิบัติอย่างบูรณาการได้อย่างแท้จริง

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

กรมชลฯเผยน้ำในเขื่อนหลักกักเก็บร้อยละ76

ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน รายงานสภาพน้ำในเขื่อนหลัก กักเก็บร้อยละ 76

ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน รายงานสภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง ปริมาตรน้ำในอ่างฯ 56,925 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 76 (ปริมาตรน้ำใช้การได้ 33,122 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 44) ปริมาตรน้ำในอ่างฯ เทียบกับปี 2555 (54,672 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 73) มากกว่าปี 2555
จำนวน 2,253 ล้าน ลบ.ม.

ปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ จำนวน 112.18 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำระบาย จำนวน 112.95 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับ
น้ำได้อีก 17,774 ล้าน ลบ.ม. สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ปริมาตรน้ำในอ่างฯ 53,131 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 76 (ปริมาตรน้ำใช้การได้ 29,628 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 42) ปริมาตรน้ำในอ่างฯ เทียบกับปี 2555 (51,561 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 73) มากกว่าปี 2555 จำนวน 1,570 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ จำนวน 82.74 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำระบายจำนวน 76.42 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีก 17,195 ล้าน ลบ.ม.

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2556

ส.ชาวไร่อ้อยดึง รมต.อุตฯถกขอขึ้นราคา

สมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยเขต 7 จัดประชุมใหญ่เชิญ รมต.อุตสาหกรรมร่วม จี้ ขอเพิ่มราคา

ที่สมาคมชาวไร่อ้อยเขต 7 ต.ท่าไม้ อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี จัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี มี นายประเสริฐ บุญชัยสุข รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน และมี นายกาศพล แก้วประพาฬ รองผู้ว่าฯกาญจนบุรี นายประชา โพธิพิพิธ นายกสมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยเขต 7 นายกำธร กิตติโชติทรัพย์ เลขาธิการสมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยเขต ๗ และมีสมาชิกสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 7 ประมาณ 30,000 คน จาก 5 จังหวัด ให้การต้อนรับ ซึ่งคาดว่าจะมีการเรียกร้องราคาอ้อย ขอให้เพิ่มจากเดิม เนื่องจากต้นทุนการผลิตของเกษตรกรมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นกว่าเดิม

โดยบรรยากาศทั่วไป จะมีการชี้แจงรายรับ รายจ่ายของสมาคมชาวไร่อ้อย และมอบโล่เกียรติบัตรแก่โรงงานที่เข้าร่วมโครงการรับซื้ออ้อยผลิตน้ำตาลและภาคค่ำมีการเลี้ยงสังสรรค์

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ.2556

ก.อุตสาหกรรม-อียู เชื่อมเครือข่ายและความร่วมมือด้าน SMEs

สำนักข่าวไทย 16 พ.ย.-กระทรวงอุตสาหกรรมไทยและอียูเชื่อมเครือข่ายและความร่วมมือด้าน SMEs เพิ่มศักยภาพให้ไทยเป็นประตูเชื่อมต่อสหภาพยุโรปสู่ภูมิภาคอาเซียน รองรับการเข้าสู่ AEC

นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ประเทศไทยและสหภาพยุโรปมีความสัมพันธ์ต่อเนื่องยาวนานภายใต้ความร่วมมือในมิติที่หลากหลาย ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยเฉพาะด้านการค้าการลงทุน ซึ่งกลุ่มสหภาพยุโรปนับเป็นตลาดการค้าหลักที่สำคัญในลำดับต้นๆ ของไทย เห็นได้จากตัวเลขมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป ในปี 2555 มีมูลค่ารวม 1,296,444 ล้านบาท โดยการส่งออกสินค้าไทย มีมูลค่า 674,064 ล้านบาท และการนำเข้าสินค้าจากสหภาพยุโรป มีมูลค่า 622,380 ล้านบาท

ทั้งนี้ ในส่วนของ SMEs มีมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปรวม 456,927 ล้านบาท ซึ่งการส่งออกสินค้าไทยมีมูลค่า 200,979 ล้านบาท ประเทศที่ SMEs ส่งออกสินค้าไปมากที่สุด ได้แก่ สหราชอาณาจักร เยอรมนี และเบลเยี่ยม สินค้าที่มีการส่งออกมากที่สุด ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องจักร คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ และของปรุงแต่งจากเนื้อสัตว์ ปลา หรือสัตว์น้ำ ส่วนการนำเข้าสินค้าจากสหภาพยุโรปมีมูลค่า 255,948 ล้านบาท ประเทศที่ SMEs ไทยนำเข้าสินค้ามากที่สุด ได้แก่ เยอรมนี อิตาลี และสหราชอาณาจักร สินค้าที่นำเข้ามากที่สุด ได้แก่ เครื่องจักร คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ อุปกรณ์ไฟฟ้าและส่วนประกอบ รวมทั้งยานยนต์และส่วนประกอบ

“ด้วยความสำคัญของการเป็นตลาดคู่ค้าหลัก ขณะที่ไทยและสหภาพยุโรปต่างก็ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริม สนับสนุนและช่วยเหลือ SMEs ให้ประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ จึงมุ่งที่จะพัฒนาเงื่อนไข และกรอบการดำเนินงานของ SMEs ด้วยการลดภาระการบริหารจัดการ และส่งเสริมให้บริษัทต่างๆ ก้าวสู่ระดับสากล โดยมองว่าตลาดทั่วโลกยังมีช่องทางธุรกิจที่ SMEs จะได้รับประโยชน์จากโอกาสที่อำนวยให้ ดังนั้นไทยและสหภาพยุโรปจึงมุ่งหวังจะให้เกิดความร่วมมือในระดับที่สูงขึ้นระหว่าง SMEs ที่ประกอบธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ” นายประเสริฐ กล่าว

สำหรับความร่วมมือของไทยกับสหภาพยุโรป ภายใต้หนังสือแสดงเจตจำนงว่าด้วยการหารือเชิงนโยบายด้าน SMEs ในครั้งนี้ จะมุ่งเน้น 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.การแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายและการดำเนินงานของ SMEs เพื่อพัฒนากรอบนโยบาย SMEs สมัยใหม่ ที่เอื้อประโยชน์ต่อการเป็นผู้ประกอบด้านสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจที่ดีขึ้น 2.การส่งเสริมให้เกิดพันธมิตรทางธุรกิจระหว่าง SMEs ของไทยและสหภาพยุโรป

และ 3.การหารือเชิงนโยบายด้าน SMEs เพื่อส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน และเพิ่มความร่วมมือในระดับทวิภาคี ทั้งนี้ จะให้ความสำคัญในเรื่องต่างๆ อาทิ การแลกเปลี่ยนวิธีการดำเนินงานสู่ความเป็นเลิศเพื่อให้เกิดการตรากฎหมายที่เอื้อต่อ SMEs และการยกระดับ SMEs สู่สากล การปรึกษาหารือด้านธุรกิจของภาครัฐ-เอกชน และความร่วมมือด้านการวิจัยและนวัตกรรม การส่งเสริมให้เกิดพันธมิตรทางธุรกิจระหว่าง SMEs ของไทยและสหภาพยุโรป การสนับสนุนความร่วมมือเกี่ยวกับ SMEs ในด้านต่างๆ ซึ่งไทยและสหภาพยุโรปจะมีการระบุภาคส่วนเป้าหมายอีกครั้ง

“เชื่อว่าความร่วมมือในครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ SMEs ผ่านการขยายเครือข่ายความร่วมมือกับพันธมิตรต่างประเทศ เพื่อสร้างโอกาสทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการไทย ในการเข้าสู่ตลาดในกลุ่มสหภาพยุโรปซึ่งมีสมาชิก 28 ประเทศ และสามารถใช้โอกาสนี้สร้างความเชื่อมั่นเกี่ยวกับศักยภาพของประเทศไทยและภาคเอกชนไทย ในการเป็นฐานการผลิตสินค้าและบริการ และเป็นประตูที่เชื่อมโยงสหภาพยุโรปสู่ประเทศในกลุ่มอาเซียนรองรับการเข้าสู่ AEC ที่จะมาถึงในปี 2558 นี้ ได้อีกด้วย” นายประเสริฐ กล่าว .-สำนักข่าวไทย

จาก http://www.mcot.net  วันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ.2556

ก.อุตฯเผยแผนลดทุนโลจิสติกส์ ปีนี้ช่วยเอกชน500รายกว่า3พันล.

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยในงานสัมมนา "Industrial Suppy Logistics Conference 2013" ที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ถนนแจ้งวัฒนะ วันที่ 14 พฤศจิกายนว่า กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ดำเนินงานด้านโลจิสติกส์ภายใต้แผนแม่บทการพัฒนาระบบโลจิสติกส์อุตสาหกรรม (2555-2559) ให้ต้นทุนของภาคอุตสาหกรรมลดลง 15% และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการทั้งระบบให้ได้ 10% ภายในปี 2559 โดยการสรุปแผนการดำเนินการภายใต้ปีงบประมาณ 2556 พบว่าสามารถพัฒนาผู้ประกอบการพัฒนาโลจิส ติกส์มากกว่า 500 ราย ลดต้นทุนได้ไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาท

นายปณิธาน จินดาภู อธิบดี กพร. กล่าวว่า ปีงบประมาณ 2557 กระทรวงได้รับงบพัฒนาโลจิสติกส์ ภาคอุตสาหกรรม รวม 147.5 ล้านบาท มีเป้าหมายพัฒนาสถานประกอบการ 501 ราย ลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ไม่น้อยกว่า 3,500 ล้านบาท พัฒนาการเชื่อมโยงโซ่อุปทานไม่น้อยกว่า 30 โซ่อุปทาน

นายเจน นำชัยศิริ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ต้นทุนด้านโลจิส ติกส์ของไทยจากการสำรวจล่าสุดอยู่ที่ 17% ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด เทียบกับประเทศกลุ่มสหภาพยุโรปจะเฉลี่ยอยู่ที่ 8-9% จึงอยากให้ไทยใช้โมเดลของยุโรปเป็นหลัก เปรียบเทียบที่ตั้งทางภูมิศาสตร์กับประเทศเยอรมนีซึ่งเป็นประเทศศูนย์กลางและสามารถบริหารต้นทุนโลจิส ติกส์ได้มีประสิทธิภาพ สามารถใช้ประโยชน์จากการขนส่งต่างๆ ทั้งราง ถนน เรือ และอากาศ ขณะที่ไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียน แต่ใช้การขนส่งทางรางเพียง 2% น้ำ 10% ขณะที่ถนนมากถึง 82% จึงอยากให้เน้นการขนส่งทางเรือและรางมากขึ้น

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ประยุกต์เทคโนโลยีสำรวจพื้นที่ นำร่อง“ปากโทก”จัดทำข้อมูลเกษตรพิษณุโลก

นายชวพฤฒ อินทรเทศ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 2 พิษณุโลก (สศข.2) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สศก.ได้นำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานตามภารกิจหลัก เพื่อจัดทำและเผยแพร่ข้อมูลสารสนเทศการเกษตร จำแนกข้อมูลพื้นที่การใช้ประโยชน์ที่ดินรายแปลงจากแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศสี มาตราส่วน 1:4000 ซึ่ง สศข.2 ได้ดำเนินการจัดทำในพื้นที่ ต.ปากโทก อ.เมือง จ.พิษณุโลก เป็นตำบลนำร่อง พร้อมมอบแก่ผู้นำชุมชน ได้แก่ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล และผู้ใหญ่บ้าน เป็นต้น เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

ในการนี้ สศข.2 ได้ศึกษาวิเคราะห์ โดยการใช้ข้อมูลระยะไกล (Remote Sensing) มาจำแนกข้อมูลพื้นที่การใช้ประโยชน์ที่ดินรายแปลง ได้แก่ ข้อมูลภาพถ่ายทางอากาศและภาพถ่ายดาวเทียมสำหรับจัดทำข้อมูลในเชิงพื้นที่ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีความถูกต้อง สอดคล้องกับข้อเท็จจริง สามารถนำไปใช้กำหนดนโยบายและวางแผนพัฒนาการเกษตรของจังหวัดพิษณุโลก ให้เกิดผลสำเร็จตามเป้าหมายที่ต้องการ ตลอดจนช่วยเหลือเกษตรกรกรณีแจ้งและรับรองข้อมูลพื้นที่เพาะปลูกคลาดเคลื่อนไม่ตรงตามความเป็นจริง รวมถึงได้รู้ข้อมูลพื้นที่ผู้ประสบภัยพิบัติชัดเจนยิ่งขึ้น และจากที่เจ้าหน้าที่ สศข.2 ได้ออกสำรวจข้อมูลรายแปลงของเกษตรกร ร่วมกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ ทั้ง 7 หมู่บ้าน ซึ่งในปี 2556 พบว่า ตำบลปากโทก มีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 11,309 ไร่ เป็นพื้นที่ทำการเกษตรประมาณร้อยละ 98 ด้านเอกสารสิทธิ์เป็นโฉนดทั้งหมด แบ่งเป็นพื้นที่ทำนาปีรวม 7,924.44 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 700 กิโลกรัมต่อไร่ และพื้นที่ทำนาปรัง รวม5,500 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ 800 กิโลกรัม และเกษตรกรส่วนใหญ่ทำนาโดยวิธีหว่านน้ำตม ข้าวพันธุ์ส่งเสริม ได้แก่ ปทุมธานี 1 พิษณุโลก 2 สุพรรณบุรี 1 สุพรรณบุรี 3

ทั้งนี้ การจำแนกข้อมูลพื้นที่การใช้ประโยชน์ที่ดินรายแปลงดังกล่าว ยังสามารถบอกแหล่งที่ตั้ง ขนาดพื้นที่ ลักษณะรูปร่างของแปลง และการใช้ประโยชน์ของที่ดินเพื่อกำหนดมาตรการส่งเสริมช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยธรรมชาติและภัยพิบัติต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง แม่นยำและสอดคล้องกับข้อเท็จจริงสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในด้านการสำรวจและจัดเก็บข้อมูลทางการเกษตร ทำให้ผู้ใช้ข้อมูลทราบถึงการเปลี่ยนแปลงของพืชชนิดต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนพื้นที่จริงที่เป็นปัจจุบันทั้งในเชิงตัวเลขและเชิงพื้นที่ในเวลาเดียวกัน อีกทั้งยังสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับสารสนเทศ ได้ฐานข้อมูลเชิงพื้นที่ที่แสดงการใช้ประโยชน์ที่ดินของเกษตรกรมีความถูกต้องสามารถเรียกค้นและปรับแก้ไขข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

แนะใช้ปุ๋ยสูตรพิเศษเพิ่มผลผลิตอ้อย

กรมพัฒนาที่ดิน ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งให้ข้อมูลความรู้ในการปรับเปลี่ยนพื้นที่จากนาข้าวเป็นไร่อ้อย ในเขตพื้นที่ 33 จังหวัด ให้สอดคล้องกับแผนนโยบายโซนนิ่งของรัฐบาล มุ่งให้ความรู้เรื่องปุ๋ยที่เหมาะต่อการเพิ่มผลผลิตอ้อย

นางกุลรัศม์ อนันตพงษ์สุข รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดินด้านวิชาการ เปิดเผยว่า ปุ๋ยที่เหมาะต่อการปลูกพืชเศรษฐกิจอ้อยที่ใช้ในการผลิตน้ำตาล คือ ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง สูตรไนโตรเจน เพราะไนโตรเจนเป็นธาตุองค์ประกอบหลักของเซลล์พืช ทำหน้าที่หลายอย่างทั้งการสร้าง ซ่อมแซม และการสังเคราะห์แสงซึ่งเป็นปัจจัยหลักสำหรับการเจริญเติบโตทางกิ่งและใบของต้นพืช ทำให้พืชโตเร็วและมีผลผลิตมากขึ้น เพราะพืชแต่ละชนิดต้องการธาตุอาหารที่แตกต่างกัน ดังนั้นการใช้ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงควรคำนึงถึงความต้องการปริมาณและชนิดของธาตุอาหารในแต่ละช่วงเวลาการเจริญเติบโตของพืช และยังช่วยให้ประหยัดการใช้ปุ๋ยรวมถึงลดต้นทุนในการผลิตด้วย เนื่องจากประโยชน์ของปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง มีธาตุอาหารรองและจุลธาตุแก่พืช มีจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อดินและพืชเพื่อเป็นการปลดปล่อยธาตุอาหารให้แก่พืชแบบช้า ๆ ทำให้ลดการสูญเสียธาตุอาหารและเป็นทางเลือกให้เกษตรกรในการทดแทนหรือลดการใช้ปุ๋ยเคมี รวมถึงลดต้นทุนการผลิตเกษตรกรสามารถผลิตใช้เองได้ สนใจสอบถามได้ที่สำนักวิจัยและพัฒนาการจัดการที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กทม. 10900 โทร. 0-2579-0111 ต่อ 2248, 2250 คอลเซ็นเตอร์ 1760 และทางเว็บไซด์ www.ldd.go.th

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 14 พฤศจิกายน 2556

เกษตรของบ500ล. ผุด2สถานีสูบน้ำฝั่งตะวันตกลุ่มน้ำเจ้าพระยาปกป้องพื้นที่เศรษฐกิจ-ชุมชนท่าจีน

เกษตรฯ เตรียมของบ 500 ล้านบาท ปี 2558 สร้างสถานีสูบน้ำ 2 แห่งแก้ปัญหาพื้นที่ฝั่งตะวันตกเจ้าพระยา

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้เตรียมแผนของบประมาณปี 2558 จำนวน 567 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างสถานีสูบน้ำ 2 แห่ง ในฝั่งตะวันตกของลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพื่อช่วยบริหารระบบระบายน้ำป้องกันอุทกภัยในฝั่งตะวันตกตามแผนงานป้องกันแก้ไข ปัญหาอุทกภัยปี 2555 ในพื้นที่ทุ่งตะวันตกของลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบนล่างของคณะกรรมกรรมยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ(กยน.)

ทั้งนี้โครงการประกอบด้วย การก่อสร้างสถานีสูบน้ำคลองโยง 2 ใช้งบก่อสร้าง 147 ล้านบาท และสถานีสูบน้ำมหาสวัสดิ์ 2 งบประมาณ 420 ล้านบาท ที่ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำในเขตพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระพิมลลงสู่แม่น้ำท่าจีน
สำหรับแผนการก่อสร้างสถานีสูบน้ำคลองโยง 2 จะติดตั้งเครื่องสูบน้ำด้วยไฟฟ้าถาวรขนาด 3 ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)ต่อวินาที จำนวน 6 เครื่อง มีประสิทธิภาพการสูบน้ำ18 ลบ.ม.ต่อวินาที เมื่อรวมกับสถานีสูบน้ำถาวรเดิมที่มีอยู่ จะมีประสิทธิภาพการระบายน้ำได้ 42 ลบ.ม.ต่อวินาที หรือ 3.63 ล้านลบ.ม. ต่อวัน พร้อมยกเลิกสถานีสูบน้ำกึ่งถาวรที่กีดขวางบานประตูระบายน้ำตาลจำนวน 2 ช่อง

ขณะที่สถานีสูบน้ำมหาสวัสดิ์ 2 จะติดตั้งเครื่องสูบน้ำด้วยไฟฟ้าถาวรขนาด 3 ลบ.ม.ต่อวินาที จำนวน 12 เครื่อง มีประสิทธิภาพการสูบน้ำ 36 ลบ.ม. ต่อวินาที เมื่อรวมกับสถานีสูบน้ำถาวรเดิมที่มีอยู่จะมีประสิทธิภาพการระบายน้ำได้ 72 ลบ.ม. ต่อวินาที หรือ 6.22 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน

นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า การก่อสร้างสถานีสูบน้ำคลองโยง 2 และสถานีสูบน้ำมหาสวัสดิ์ 2 จะช่วยเพิ่มการระบายน้ำจากแม่น้ำท่าจีนประมาณ 40 % ลดการเกิดน้ำท่วมในพื้นที่เศรษฐกิจและชุมชนแม่น้ำท่าจีน ได้แก่ เขต จ.นนทบุรี สมุทรสาคร นครปฐม และกทม. เนื่องจากคลองโยง และคลองมหาสวัสดิ์รับน้ำจากคลองต่างในแนวเหนือ-ใต้จากพื้นที่ตอนบน หากไม่สร้างสถานีสูบน้ำเพิ่มจะทำให้น้ำจากคลองทั้งสองไหลออกมาที่แม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีน ทำให้ระบายไม่ทัน

จาก http://www.posttoday.com วันที่ 14 พฤศจิกายน 2556

กสร.เร่งร่าง “มาตรฐานแรงงานไทย” เชื่อแก้ค้ามนุษย์-แรงงานเด็ก

กสร.เร่งร่างมาตรฐานแรงงานไทย เชื่อช่วยแก้ปัญหาการค้ามนุษย์และใช้แรงงานเด็กได้ คาดเสร็จ ม.ค. 2557 จ่อเรียกกลุ่มธุรกิจอ้อย ล้งกุ้ง ล้งปลา เรียกทำความเข้าใจ พร้อมออกตรวจเยี่ยม หากไม่มีแรงงานเด็กจะออกใบรับรอง

วันนี้ (14 พ.ย.) นายพานิช จิตร์แจ้ง อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ การใช้แรงงานเด็กนั้น ในวันที่ 29 พ.ย.จะเชิญผู้ประกอบการในธุรกิจอ้อย ผู้ประกอบกิจการแปรรูปและเก็บถนอมอาหารทะเล หรือล้ง ทั้งล้งกุ้ง ล้งปลา และกิจการทางด้านประมงมา เพื่อทำความเข้าใจและให้เกิดความตระหนักถึงปัญหาจากการใช้แรงงานเด็ก รวมทั้งบูรณาการความร่วมมือและทำสัตยาบันกับนายจ้างที่มีความพร้อม โดย กสร.จะออกตรวจเยี่ยมสถานประกอบการว่าไม่มีการใช้แรงงานเด็กตามที่แจ้ง จากนั้นจะออกหนังสือรับรองว่าสถานประกอบการแห่งนี้ไม่มีการใช้แรงงานเด็กเพื่อให้คู่ค้าเกิดความมั่นใจว่าซื้อสินค้าจากโรงงานที่มีการประกอบการที่ดี

นายพานิช กล่าวอีกว่า ประเทศไทยมีเพียงมาตรฐานแรงงานไทย ความรับผิดชอบทางสังคมของธุรกิจไทย (มรท.) 8001 - 2553 ที่ให้สถานประกอบการต่างๆ นำไปปฏิบัติใช้เท่านั้น ซึ่งส่วนมากสถานประกอบการที่สามารถปฏิบัติได้มักจะเป็นสถานประกอบการขนาดใหญ่ จึงมีแนวความคิดจะจัดทำ มรท.เพิ่มเติมให้ครอบคลุมการปฏิบัติของสถานประกอบการ ได้แก่ มรท.ด้านการใช้แรงงานที่ดี ซึ่งครอบคลุมเรื่องเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ การใช้แรงงานเด็ก การใช้แรงงานบังคับ เป็นต้น มรท.ด้านความปลอดภัยและชีวอนามัย มรท.โรงงานสีขาว ซึ่งคิดว่าน่าจะร่าง มรท.ทั้ง 3 ฉบับเสร็จภายใน ม.ค. 2557 จากนั้นจะเสนอต่อ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อให้พิจารณาและเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ทริสเรทติ้งเพิ่มอันดับเครดิตองค์กร & หุ้นกู้ไม่มีประกัน “บ. น้ำตาลขอนแก่น” เป็น “A” จาก “A-”และคงแนวโน้ม “Stable”

ทริสเรทติ้งปรับเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันของ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) เป็นระดับ “A” จากเดิมที่ระดับ “A-” โดยแนวโน้มยังคง “Stable” หรือ “คงที่” สืบเนื่องจากสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งขึ้นหลังจากประสบความสำเร็จในการเปิดโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ที่อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี รวมทั้งมีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจพลังงานเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงความเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของประเทศไทย ตลอดจนการขยายกิจการไปสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจน้ำตาล ทั้งนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตดังกล่าวยังคำนึงถึงความเสี่ยงทั้งในด้านกฎระเบียบและการดำเนินธุรกิจอ้อยและน้ำตาลในประเทศลาวและกัมพูชา รวมทั้งความผันผวนของราคาน้ำตาลและปริมาณผลผลิตอ้อยด้วย ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่า

กลุ่มน้ำตาลขอนแก่นจะยังคงดำรงสถานะการเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของไทยเอาไว้ได้ โดยระบบแบ่งปันผลประโยชน์ในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลและการเติบโตของธุรกิจเอทานอลและไฟฟ้าจะช่วยรองรับการดำเนินงานในช่วงวงจรขาลงของธุรกิจน้ำตาลได้

บริษัทน้ำตาลขอนแก่นก่อตั้งในปี 2488 โดยตระกูลชินธรรมมิตร์และคณะ ปัจจุบันตระกูลชินธรรมมิตร์ถือหุ้นในบริษัทรวม 70.0% ของหุ้นทั้งหมด บริษัทเป็นเจ้าของและบริหารโรงงานน้ำตาล 5 แห่งในประเทศไทย โดยมีกำลังการหีบอ้อยรวม 92,000 ตันอ้อยต่อวัน กลุ่มน้ำตาลขอนแก่นสามารถหีบอ้อยได้ 7.7 ล้านตันอ้อยในปีการผลิต 2555/2556 และผลิตน้ำตาลได้ 738,952 ตัน ซึ่งจัดเป็นกลุ่มผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 4 ของประเทศไทย ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาด 7.4% ในปีการผลิต 2555/2556 รองจากกลุ่มมิตรผลซึ่งมีส่วนแบ่งการตลาด 19.9% กลุ่มไทยรุ่งเรือง 16.3% และกลุ่มไทยเอกลักษณ์ 9.3%

ตั้งแต่ปี 2549 บริษัทได้ขยายการลงทุนไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจน้ำตาลเพื่อใช้ประโยชน์สูงสุดจากอ้อยอันประกอบด้วยธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้าและเอทานอล โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา รายได้จากธุรกิจพลังงาน (ไฟฟ้าและเอทานอล) คิดเป็นสัดส่วนโดยเฉลี่ย 10% ของรายได้รวม ในขณะที่กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จากธุรกิจพลังงานคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20% ของ EBITDA รวมของบริษัท ปัจจุบันธุรกิจน้ำตาลในประเทศลาวและกัมพูชามีสัดส่วนไม่มากเมื่อเทียบกับธุรกิจน้ำตาลในประเทศไทย โดยผลผลิตน้ำตาลในทั้ง 2 ประเทศในปีการผลิต 2555/2556 มีเพียง 35,000 ตัน คิดเป็นสัดส่วนน้อยกว่า 5% ของผลผลิตน้ำตาลในประเทศไทย ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าผลการดำเนินงานของโรงงานของบริษัทในทั้ง 2 ประเทศ นี้จะถึงจุดคุ้มทุนในปีการผลิต 2556/2557

จากพื้นที่ปลูกและปริมาณอ้อยที่มีจำกัดในเขตพื้นที่โรงงานน้ำตาลเดิม บริษัทได้สร้างศูนย์การผลิตแห่งใหม่ในอำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี โดยใช้เงินลงทุน 7,250 ล้านบาท หลังจากศูนย์การผลิตน้ำตาลและเอทานอลสร้างเสร็จในเดือนตุลาคม 2555 ทำให้กำลังการหีบอ้อยของกลุ่มเพิ่มขึ้น 43.8% จาก 64,000 ตันต่อวันเป็น 92,000 ตันต่อวัน ส่วนแบ่งการผลิตของบริษัทก็เพิ่มขึ้นจาก 6.4% ในปีการผลิต 2553/2554 เป็น 7.4% ในปีการผลิต 2555/2556 และกำลังการผลิตเอทานอลรวมก็เพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัว คือจาก 150,000 ลิตรต่อวันเป็น 350,000 ลิตรต่อวัน

แม้ว่าราคาน้ำตาลลดลง แต่ผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วงปีการเงิน 2555-2556 ก็ยังคงอยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดยบริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้น 35% เป็น 22,212 ล้านบาทในปีการเงิน 2555 จาก 16,460 ล้านบาทในปีการเงิน 2554 เนื่องจากศูนย์การผลิตแห่งใหม่ในจังหวัดกาญจนบุรีและจังหวัดเลยเริ่มเปิดดำเนินการ EBITDA ในปีการเงิน 2555 สูงขึ้นเป็น 4,580 ล้านบาทจาก 3,891 ล้านบาทในปี 2554 EBITDA จากธุรกิจเอทานอลและไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจาก 500 ล้านบาทในปี 2554 เป็น 1,000 ล้านบาทในปี 2555 โดยปริมาณขายเอทานอลเพิ่มขึ้นมากกว่า 200% จากกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นในศูนย์การผลิตที่บ่อพลอยและความต้องการใช้เอทานอลที่เพิ่มขึ้นหลังจากมีการยกเลิกการใช้น้ำมันเบนซิน 91 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556

โครงสร้างเงินทุนของบริษัทค่อนข้างคงที่ โดยอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนอยู่ที่ระดับ 50%-55% ในแต่ละปีการเงินซึ่งสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ตุลาคม ส่วนในระหว่างปี 2557 ถึง 2559 บริษัทมีแผนลงทุนในโครงการต่าง ๆ ประมาณ 2,000 ล้านบาท ถึง 3,000 ล้านบาทต่อปี เมื่อพิจารณาจากการคาดการณ์ EBITDA ประมาณ 3,000 ล้านบาท ถึง 4,000 ล้านบาทต่อปี คาดว่าบริษัทยังคงสามารถรักษาระดับเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนที่ระดับนี้ต่อไปได้

ปริมาณผลผลิตอ้อยและราคาน้ำตาลในตลาดโลกมีความผันผวนเป็นอย่างมาก ในปีการผลิต 2555/2556 ปริมาณผลผลิตอ้อยของไทยมีจำนวน 100 ล้านตันอ้อย ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 98 ล้านตันในปีการผลิต 2554/2555 ส่วนราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกซึ่งหลังจากเพิ่มขึ้นไปอยู่ในระดับสูงสุดที่ 36.11 เซนต์/ปอนด์ในเดือนมกราคม 2554 แล้วก็ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 18-19 เซนต์/ปอนด์ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2556 เป็นต้นมาเนื่องจากปริมาณผลผลิตน้ำตาลในประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น

บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) (KSL)
อันดับเครดิตองค์กร: A
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
KSL14DA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2557 A
KSL15DA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558 A
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

จากhttp://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

อาเซียน..บีบ! ปี 58 น้ำตาลไทย..ไปทางไหน?

น้ำตาลเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทย โดยเราเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ติด 1 ใน 3 ของโลก ในช่วงรอยต่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ราคาน้ำตาลไทยอาจต้องใช้ระบบ..ลอยตัว

เนื่องจากปัจจุบันราคาขายปลีกน้ำตาลในเมืองไทยไม่ได้อิงกับราคาตลาดโลกเพราะฉะนั้นไม่ว่าราคาตลาดโลกจะขึ้น หรือลงก็ไม่ส่งผลกระทบต่อกระเป๋าคนไทย เรายังซื้อน้ำตาลตามราคาควบคุมคือกิโลกรัมละ 22.30-23.30 บาท

แต่เมื่อเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี การใช้ระบบควบคุมจะ ส่งผลกระทบต่อน้ำตาลไทยทั้งขึ้นทั้งล่อง คือหากราคาในตลาดโลกตกต่ำ ราคาขายปลีกในเมืองไทยสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ก็จะมีการลักลอบนำเข้าน้ำตาลมาขายในเมืองไทย ในขณะเดียวกันหากราคาขายในประเทศเพื่อนบ้านสูงกว่าเมือง ไทย ก็จะมีการลักลอบขนน้ำตาลในโควตา ก. ซึ่งเป็นน้ำตาลสำหรับบริโภคในประเทศ ออกไปขายในตลาดเพื่อนบ้าน

ด้วยเหตุนี้จึงมีการนำเสนอว่าถึงเวลาหรือยังที่ไทยจะลอยตัวราคาน้ำตาลให้เป็นราคาเดียวกับตลาดโลก เพื่อป้องกันการลักลอบส่งออกหรือนำเข้า

แต่ประเด็นที่ต้องขบคิดคือหากลอย ตัวราคาน้ำตาลแล้วจะกระทบต่อชาวไร่อ้อยหรือเปล่า จะมีการนำเงินไปอุดหนุนชาวไร่อ้อยในช่วงราคาตกต่ำเหมือนระบบ เดิมหรือเปล่า ซึ่งระบบเดิมนั้นกำหนดสูตร ส่วนแบ่งรายได้ระหว่างชาวไร่อ้อยกับโรงงาน 70-30 คืออ้อยที่ขายไปในตลาดชาวไร่อ้อยจะได้ส่วนแบ่ง 70% โรงงาน 30% โดยจะมีการประกาศราคาอ้อยขั้นต้น ด้วยการคำนวณปัจจัยรอบด้านทั้งราคาตลาดโลก อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงิน พื้นฐานทางเศรษฐกิจ ถ้าราคาอ้อยขั้น-ต้นสูงในระดับที่ชาวไร่อ้อยรับได้ก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าราคาต่ำกว่าต้นทุนการผลิต กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายก็จะต้อง หาเงินไปชดเชยส่วนต่างนั้น เช่นราคาอ้อยขั้นต้นฤดูกาลผลิตปี 56/57 ราคา 950 บาทต่อตันอ้อย ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต 200 บาท เนื่องจากต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 1,150-1,200 บาท กองทุนอ้อยฯ จะต้องกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ หรือ ธ.ก.ส.ไปชดเชยให้ชาวไร่อ้อยตันละ 200 บาทเป็นอย่างต่ำ หากมีอ้อยเข้าสู่ระบบ 100 ล้านตัน ต้องใช้เงินสูงถึง 2 หมื่นล้านบาท

เมื่อกองทุนอ้อยฯ กู้เงินมาแล้วก็มีภาระต้องหาเงินไปคืน ธ.ก.ส. ปัจจุบันเงินจำนวนนี้ได้มาจากส่วนแบ่งน้ำตาลทรายกิโลกรัมละ 5 บาทที่ประกาศขึ้นราคา สมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช จากกิโลกรัมละ 18 บาทเป็น 23 บาท หากเปลี่ยนมาใช้ระบบลอยตัวราคาน้ำตาล เงิน ส่วนนี้ก็จะหายไป ต้องใช้เงินงบประมาณของประเทศ หากงบประมาณมีปัญหาเงิน อาจไม่ถึงมือชาวไร่อ้อย ก็จะกระทบต่ออุตสาหกรรมน้ำตาลทั้งระบบ

นายบัญชา คันธชมภู รองผู้อำนวย การสำนักกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย เปิดเผย "สยามธุรกิจ" ว่าอีกไม่ถึง 2 ปีประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เราคงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องปรับราคาน้ำตาลให้สอดคล้องกับราคา ในตลาดโลก ซึ่งวันนี้มีการพูดคุยกัน เกี่ยวกับเรื่องนี้บ่อยครั้ง โดยจะเปลี่ยนระบบการค้าน้ำตาลจากการควบคุมราคามาเป็นการลอยตัวราคา แต่ยังติดปัญหาว่าถ้าเปลี่ยนเป็นระบบลอยตัวจะมีส่วนแบ่งเข้าสู่กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายเท่าไหร่ เพราะกองทุนก็มีภาระต้องอุดหนุนชาวไร่อ้อยทุกปี ปัจจุบันแม้สถานะกองทุนจะดีขึ้นมาบ้างโดยมีหนี้ลดจาก 1.6 หมื่นล้านบาท เหลือ 8 พันล้านบาท แต่ก็อาจต้องกู้เงินล็อตใหม่อีก เพื่อจ่ายชดเชยราคาอ้อยขั้นต้นฤดูกาลใหม่ให้กับชาวไร่อ้อย

สอดคล้องกับนายจำรูญ ชินธรรมมิตร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.น้ำตาลขอนแก่น ที่ยอมรับว่าการลอยตัวราคาน้ำตาลต้องคุยกันอีกมาก เพื่อไม่ให้กระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไร่อ้อย ในส่วนของโรงงานน้ำตาลเองก็แทบไม่มีกำไร จากการขายน้ำตาล โชคดีที่มีอ้อยเข้าสู่ระบบจำนวนมากจึงไม่เจ็บตัว

ด้าน นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด เปิดเผยว่า ทีมงานของ ไทยชูการ์ มิลเลอร์ ได้สำรวจข้อมูลราคาน้ำตาลทรายในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เน้นกลุ่มประเทศอาเซียน โดยใช้ข้อมูลจากสำนักงานการค้าในประเทศต่างๆ ประกอบกับข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย และเทรดเดอร์น้ำตาลทราย รายใหญ่ของโลก โดยเทียบเป็นสกุลเงินบาท พบว่า น้ำตาลทรายของไทยมีราคาขายปลีกต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยน้ำตาลทรายขาวมีราคาขายปลีกต่อกิโลกรัม อยู่ที่ 22.60 บาท น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ กิโลกรัมละ 23.60 บาท เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ประเทศลาวและกัมพูชา มีราคาขายปลีกน้ำตาลทรายขาว 30-33 บาทต่อกิโลกรัม พม่า 30.01 บาท เวียดนาม 25.50-28.50 บาท มาเลเซีย 25.87 บาท อินโดนีเซีย 33.95 บาท สิงคโปร์ 40.35 บาท ฟิลิปปินส์ 41.20 บาท นอกจากนี้ ประเทศที่ต้องบริโภคน้ำตาลทรายในราคาสูงกว่าไทย ได้แก่ ประเทศจีน กิโลกรัมละ 57.09-77.85 บาท ญี่ปุ่น 66.90 บาท เกาหลีใต้ 49.50 บาท ออส-เตรเลีย 59.75 บาท

นายสิริวุทธิ์ กล่าวว่า จากราคาขายปลีกน้ำตาลทรายของไทยที่ต่ำที่สุดดังกล่าว ทำให้มีความกังวลว่า เมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (AEC) ซึ่งมีความเสรีในการติดต่อค้าขายกันมากขึ้น หากไทยยังไม่ปรับเปลี่ยนนโยบายในเรื่องนี้ ปัญหา การลักลอบนำน้ำตาลทรายในประเทศไปขายต่างประเทศจะยิ่งรุนแรงมากขึ้น อันจะส่งผลต่อปริมาณน้ำตาลทรายที่กันโควตา ก. ไว้สำหรับบริโภคภายในประเทศ ไม่เพียงพอต่อความต้องการ

ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด กล่าวด้วยว่าการนำเสนอข้อมูลเรื่องนี้ ให้สังคมได้รับรู้ ก็เพื่อให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะภาครัฐที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ ได้เร่งหาทางป้องกันปัญหาแต่เนิ่นๆ โดยมีหลักคิดอยู่ว่า ทำอย่างไรจะไม่ให้เกิดการขาดแคลนของน้ำตาล ทรายที่ใช้บริโภคภายในประเทศ และผลตอบแทนที่ชาวไร่อ้อยจะได้รับในสัดส่วน 70% ของรายได้จากการขายน้ำตาลทรายจะต้องคุ้มค่ากับต้นทุนด้านการเพาะปลูก และมีกำไรส่วนต่างที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตและพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อให้อาชีพชาวไร่อ้อยเป็นอาชีพที่มีความมั่นคง

จาก http://www.siamturakij.com  วันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

คลอดดัชนีอุตฯ สะท้อน ศก.

นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการจัดทำดัชนีเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นเครื่องชี้วัดภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศไทย และนับเป็นครั้งแรกที่ได้มีการนำข้อมูลของแต่ละหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมมาบูรณาการเข้าด้วยกัน เพื่อจัดทำดัชนีที่สามารถสะท้อนภาพภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในระดับประเทศเพื่อให้ผู้สนใจ หน่วยงานของรัฐ ภาคธุรกิจ นักลงทุน สามารถมองเห็นการเคลื่อนไหวของสภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมได้อย่างครบถ้วนยิ่งขึ้น โดยดัชนีใหม่นี้จะครอบคลุมมิติต่างๆ 3 มิติ คือ ด้านการผลิต การลงทุน และความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ซึ่งทุกภาคส่วนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง ครบถ้วน แม่นยำ

ทั้งนี้ ข้อมูลที่ได้นำมาบูรณาการเข้าด้วยกันเพื่อใช้สร้างดัชนีเศรษฐกิจอุตสาหกรรมทั้ง 3 ด้านนั้น ประกอบไปด้วยดัชนีย่อยทั้งหมด 11 ดัชนี คือ มิติด้านการผลิต ประกอบด้วยดัชนี 2 ดัชนี คือ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม และอัตราการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรม ซึ่งแสดงถึงสถานการณ์ความเคลื่อนไหวของการผลิตในภาคอุตสาหกรรม มิติด้านการลงทุน ประกอบด้วยดัชนี 4 ดัชนี ดัชนีจำนวนการประกอบกิจการโรงงานที่ขอเปิดกิจการดัชนีจำนวนเงินทุน ดัชนีจำนวนแรงม้า และดัชนีจำนวนการจ้างงาน ของสถานประกอบกิจการที่ขออนุญาตเปิดดำเนินการ ซึ่งแสดงถึงการลงทุนในการขยายการผลิตของภาคอุตสาหกรรม มิติด้านความเชื่อมั่นประกอบด้วยดัชนี 5 ดัชนี คือ ดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจอุตสาหกรรม ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ดัชนีจำนวนคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนภาคอุตสาหกรรม ดัชนีจำนวนโครงการ ดัชนีเงินลงทุนและดัชนีการจ้างงานของโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งดัชนีทั้งหมดนี้แสดงถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อภาคอุตสาหกรรม

“เชื่อมั่นว่าดัชนีที่สร้างขึ้นมาใหม่นี้จะเป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม ทุกภาคส่วนสามารถรับรู้ข้อมูลเศรษฐกิจอุตสาหกรรมได้อย่างครบด้านมีความแม่นยำ ครอบคลุมทุกมิติของสถานการณ์อุตสาหกรรม โดยดัชนีเศรษฐกิจอุตสาหกรรมจะนำออกเผยแพร่ให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ และผู้สนใจได้นำดัชนีไปใช้ประโยชน์ภายในต้นปี 57” นายประเสริฐ กล่าว

จาก  http://www.siamturakij.com  วันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

เร่งปรับโซนนิ่งปลูกอ้อยแทนข้าว

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวที่ไม่เหมาะสมเป็นพื้นที่ปลูกอ้อยโรงงานแล้ว 31 จังหวัด จากทั้งหมด 33 จังหวัด ดำเนินการไปแล้ว 200,000 กว่าไร่ และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 400,000 กว่าไร่ ให้ทันภายในวันที่ 15 พฤศจิกายนนี้ เพื่อให้ทันฤดูกาลปลูกอ้อยที่เหมาะสมของปีนี้ หรือเรียกว่าช่วงข้ามแล้ง ทำให้อ้อยมีความหวานสูงและได้น้ำตาลที่มีคุณภาพ ผลผลิตก็จะสูงตามไปด้วย และจะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการสินค้าเกษตรในปี 2557 เพราะจะรู้ความต้องการและผลผลิตที่จะออกสู่ตลาดล่วงหน้า เพื่อป้องกันผลผลิตล้นตลาดและขาดตลาดได้โดยต้องเร่งทำความเข้าใจกับเกษตรกร โดยเฉพาะการให้ความรู้และทำความเข้าใจกับเกษตรกรในพื้นที่ปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวมาเป็นอ้อย ที่สร้างรายได้สูงกว่าหลายเท่า ซึ่งจะต้องทำให้เกิดความสมดุลกับความต้องการ การผลิต การพัฒนาคนในพื้นที่ เกษตรกร และปัจจัยการผลิตต่างๆ

ปัจจุบันโรงงานน้ำตาลทั้งประเทศมีศักยภาพในการผลิตน้ำตาล 13 ล้านตัน แต่ผลิตได้เพียงประมาณ 100 ล้านตัน โดยมีพื้นที่ปลูกอ้อยประมาณ 10 ล้านไร่ จึงทำให้โรงงานน้ำตาลยังมีความต้องการขอพื้นที่ปลูกอ้อยอีก 3 ล้านไร่ เพื่อสอดคล้องกับศักยภาพของโรงงาน

นอกจากนี้ นายยุคล ยังกล่าวอีกว่า ยุทธศาสตร์สินค้าเกษตรของไทยนั้น จะต้องเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ จึงจะสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ และที่สำคัญต้องทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าลดลง ราคาผลผลิตสูงขึ้น และเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

KBS อวดผลดำเนินงาน Q3/56 โตต่อเนื่อง โชว์กำไรสุทธิ 169.9 ลบ.อานิสงส์กำไรขั้นต้นจากกากน้ำตาลเพิ่มขึ้น

“น้ำตาลครบุรี” หรือ KBS โชว์ผลดำเนินงานไตรมาส 3/56 มีรายได้รวม 1,638.3 ล้านบาท และกำไรสุทธิ169.9 ล้านบาท ผลจากกำไรจากการขายกากน้ำตาลเพิ่มขึ้นจากอุปสงค์เอทานอลในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้นจากกนโยบายส่งเสริมของรัฐบาล ผลักดันให้บริษัทฯ มีกำไรขั้นต้นสูงขึ้น “ทัศน์ วนากรกุล” มั่นใจด้วยศักยภาพและความแข็งแกร่ง บวกวิสัยทัศน์และแผนธุรกิจ จะช่วยเสริมความเชื่อมั่นและผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้น เพื่อการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ ขณะที่ฤดูเปิดหีบใหม่ 56/57 คาดจะหีบอ้อยได้มากกว่าปีก่อน ส่วนโรงไฟฟ้าชีวมวลจะเริ่มขายไฟให้กับ กฟผ. ได้ในเดือนเมษายน นายทัศน์ วนากรกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) หรือ KBS เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานบริษัทฯ ประจำไตรมาส 3/2556 มีรายได้รวมทั้งสิ้น1,638.3 ล้านบาท และกำไรสุทธิ169.9 ล้านบาท เทียบกับงวดเดียวกันปีก่อนที่มีรายได้รวม 1,725 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 152 ล้านบาท โดยกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 11.8 เนื่องจากบริษัทฯ มีอัตรากำไรขั้นต้น (Margin) ที่สูงขึ้นจากกากน้ำตาล ซึ่งเป็นผลจากปริมาณความต้องการเอทานอล อันเนื่องมาจากผลพวงของนโยบายรัฐบาลที่ส่งเสริมการใช้เอทานอลเป็นพลังงานทดแทน ประกอบกับประชาชนเริ่มหันมานิยมใช้รถอีโคคาร์ (Eco Car) กันมากขึ้น เช่น E20 และ E85 เพื่อประหยัดพลังงาน

“ผลการดำเนินงานไตรมาส 3/56 ถือว่าอยู่ในระดับที่ดี เพราะเป็นการบริหารท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มชะลอลง ประกอบกับราคาน้ำตาลตลาดโลกขณะนี้ที่เริ่มทรงตัว ซึ่งปัจจุบัน KBS มีสัดส่วนการจำหน่ายในต่างประเทศร้อยละ 75 อย่างไรก็ดี ส่วนที่เหลือเป็นการจำหน่ายในประเทศ ด้วยศักยภาพการดำเนินธุรกิจ ทั้งในด้านวิสัยทัศน์ แผนงาน การบริหารต้นทุน และบุคลากร ได้ช่วยเสริมความเชื่อมั่นและผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้น เพื่อการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ สู่ความสำเร็จอย่างไม่หยุดยั้ง ในฐานะผู้นำทางธุรกิจ”

นายทัศน์ กล่าวต่อถึงกลยุทธ์บริษัทฯ ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ยังคงให้ความสำคัญกับแผนด้านการตลาด จากก่อนหน้านี้ที่ได้มีการเสริมทัพความแข็งแกร่ง โดยการปรับโครงสร้างองค์กร รองรับการขยายงาน รวมทั้งได้ทีมจากกลุ่มมิตซุย ประเทศญี่ปุ่น และทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจน้ำตาลเข้ามาช่วยผนึกกำลังเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่ง โดยบริษัทฯ จะได้รับประโยชน์ ทั้งในด้านการตลาดที่จะสามารถขยายตลาดเพิ่มขึ้นในประเทศต่างๆ รวมถึงการเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในปี 2558

“ขณะนี้กำลังเริ่มเข้าสู่ฤดูการเปิดหีบปี 56/57 ช่วงเดือนธันวาคมนี้ ซึ่งคาดว่าบริษัทฯ จะหีบอ้อยได้มากกว่าปีก่อนซึ่งมีปริมาณอ้อยเข้าหีบ 2.54 ล้านตัน เนื่องจากสภาวพอากาศปีนี้ที่ฝนตกดีกว่าปีก่อน ประกอบกับบริษัทฯ มีการเตรียมความพร้อมทั้งเครื่องจักรและโรงไฟฟ้าใหม่ ซึ่งจะช่วยเสริมประสิทธิภาพของโรงงานน้ำตาลให้สูงขึ้น”

เขากล่าวในช่วงท้ายถึงความคืบหน้าของธุรกิจโรงไฟฟ้าชีวมวลของ "บริษัท ผลิตไฟฟ้าครบุรี จำกัด" ซึ่งจะผลิตไฟฟ้าจากกากอ้อย กำลังการผลิต 35 เมกกะวัตต์ มูลค่าโครงการ 1,638 ล้านบาท มีกำหนดเริ่มขายไฟให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ประมาณเดือนเมษายน ปี 2557 และคาดว่าจะช่วยผลักดันผลประกอบการบริษัทฯ สู่เป้าหมายความสำเร็จที่หวังไว้

จาก http://news.thaiquest.com  วันที่ 13 พฤศจิกายน 2556

"พาณิชย์"ผุดโครงการเออีซีแอดวานซ์ ติวเข้มบุกAECเป็นรายสินค้า-รายอุตสาหกรรม

“พาณิชย์”จับมือเอกชนทำโครงการ “เออีซี แอดวานซ์” ติวเข้มเทคนิคและโอกาสบุกอาเซียนรับเปิด AEC เจาะลึกเป็นรายสินค้า ทั้งเกษตร อุตสาหกรรม และการค้าบริการ พร้อมร่วม อบต. อบจ. ลุยเป็นรายจังหวัด

นางจินตนา ชัยยวรรณาการ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงแผนการเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการไทยรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 ว่า ในปี 2557 กรมฯ จะจัดทำโครงการ “เออีซี แอดวานซ์” เพื่อให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ นักธุรกิจ นักลงทุน เพื่อเตรียมความพร้อมในการสร้างโอกาสทางการค้า การลงทุนรองรับการเปิดเออีซี โดยจะร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย หน่วยงานภาครัฐ เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงศึกษาธิการ เป็นต้น

“ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กรมฯ ได้เน้นการให้ความรู้เกี่ยวกับเออีซีว่าเออีซีคืออะไร จะเกิดอะไรขึ้นหลังเปิดเออีซีในปี 2558 แต่ปี 2557 จนถึงปีที่เปิดเออีซี กรมฯ จะเน้นการให้ความรู้เชิงแอดวานซ์จะลงลึกในรายละเอียดเจาะลึกเป็นรายสินค้า รายอุตสาหกรรม และรายบริการว่าอะไรจะได้ประโยชน์จากเออีซี การใช้ประโยชน์จากเออีซีต้องทำยังไง หรือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมีแผนช่วยเหลือในการปรับตัวยังไง ซึ่งขณะนี้ กำลังอยู่ระหว่างการหารือเพื่อทำแผนร่วมกับภาคเอกชนและหน่วยงานต่างๆ”นางจินตนากล่าว

สำหรับแผนการให้ความรู้ภายใต้โครงการเออีซี แอดวานซ์ ยกตัวอย่างเช่น ข้าว จะมีการให้ความรู้ทั้งสายการผลิต ตั้งแต่การเพาะปลูก การแปรรูป การส่งออก ระบบการขนส่ง และจะชี้โอกาสให้เห็นว่า การเปิดเออีซี ไทยจะใช้ประโยชน์ได้อย่างไร เช่น โอกาสการเข้าไปลงทุนของโรงสีข้าวไทยในประเทศเพื่อนบ้าน หรือสินค้ายานยนต์ นอกจากเชื่อมโยงสายการผลิต นำเข้าวัตถุดิบจากอาเซียน ไทยยังสามารถใช้โอกาสในการเข้าไปลงทุนตั้งศูนย์บริการ อู่ซ่อมรถ ในประเทศเพื่อนบ้านได้ หรือสินค้าสิ่งทอ ไทยสามารถเข้าไปตั้งฐานการผลิตในประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อใช้ประโยชน์จากค่าแรง หรือนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศในอาเซียนมาผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูป

นอกจากนี้ กรมฯ ยังจะร่วมมือกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ในการให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการในส่วนภูมิภาค ซึ่งจะดำเนินการในขั้นแอดวานซ์เช่นเดียวกัน โดยจะดูว่าในจังหวัดนั้นๆ มีธุรกิจอะไร ก็จะเข้าไปอบรมให้ความรู้ให้ถูกต้องกับธุรกิจหลักของจังหวัดนั้นๆ รวมไปถึงจังหวัดที่อยู่ตามแนวชายแดน ก็จะเน้นการสร้างความรู้ และความพร้อมในการทำการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านด้วย

นางจินตนากล่าวว่า ในการเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการของไทย จะไม่เจาะจงแค่เออีซีอย่างเดียว แต่จะขยายขอบเขตและการสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการไทยไปสู่ประเทศคู่เจรจาอื่นๆ ของอาเซียนด้วย เพราะขณะนี้อาเซียนมีการเจรจาเปิดเสรีกับประเทศคู่เจรจาเป็นรายประเทศ ทั้งจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย และกำลังจะขยายเป็นความตกลงพันธมิตรทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งจะทำให้เกิดโอกาสทางการค้า การลงทุนเพิ่มมากขึ้น

ขณะเดียวกัน ในการให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ นอกจากการมุ่งสร้างโอกาสทางการค้า การลงทุนแล้ว จะให้คำแนะนำในการเตรียมความพร้อมรับมือกับประเด็นที่คาดว่าจะมีความสำคัญเพิ่มขึ้น เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อม แรงงาน เพราะขณะนี้หลายๆ ประเทศเริ่มให้ความสำคัญ และนำมาเป็นเงื่อนไขทางการค้ามากขึ้น หากไทยไม่เตรียมรับมือ ก็จะเสียโอกาสได้

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 13 พฤศจิกายน 2556

สพธอ.พร้อมเทคโนโลยีรับเปิดเสรีอาเซียน

สพธอ.เตรียมความพร้อมรองรับ AEC 2015 ผลักดันมาตรฐานธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และนำไปประยุกต์ใช้ในกระบวนการนำเข้า-ส่งออกสินค้าผ่านระบบ National Single Window (NSW) เพื่อการยกระดับคุณภาพการให้บริการของภาครัฐ และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของภาคเอกชน

นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ. ซึ่งเป็นองค์การภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า สพธอ. เตรียมพร้อมโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญต่อการขับเคลื่อนระบบ National Single Window ซึ่งเป็นระบบกลางสำหรับรองรับการเชื่อมโยงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า-ส่งออก และระบบโลจิสติกส์ของประเทศ ความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกด้านศุลกากรด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน (Agreement to Establish and Implement ASEAN Single Window) รุกจัดงานสัมมนาเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและส่งเสริมให้มีการนำมาตรฐานธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์มาประยุกต์ใช้ในกระบวนการนำเข้า-ส่งออกสินค้าผ่านระบบ National Single Window (NSW) ที่สามารถใช้งานได้จริงสำหรับสินค้าทุกประเภทได้อย่างเต็มรูปแบบ ก่อนการเปิด AEC ในปี 2558

ปัจจุบัน สพธอ. ได้มีความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรมศุลกากร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการศึกษาวิเคราะห์รูปแบบการวางแผนธุรกิจ และการพัฒนากลไกและระบบบริหารจัดการ National Single Window (Business Model) โดยรหัสมาตรฐานข้อมูลสากลที่กรมศุลกากรให้นำมาประยุกต์ใช้กับการแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่านระบบ NSW ได้นำมาจากข้อเสนอแนะของ UN/CEFACT จำนวน 7 ฉบับ ได้แก่ Codes for Types of Cargo, Packages and Packaging Materials Code for Modes of Transport, UN/LOCODE-Code for Ports and Other Locations, Country Code, Measurement Unit, Currencies Code, Incoterms ซึ่งในอนาคตถ้าเราสามารถผลักดันได้สำเร็จ ระบบ NSW สามารถเชื่อมโยงข้อมูลได้ทั้งหมด ก็จะส่งผลดีต่อประเทศอย่างมาก ส่งผลให้กระบวนการนำเข้า-ส่งออกสินค้ามีปริมาณมากขึ้นและมีมูลค่าสูงขึ้น ซึ่งจะสามารถช่วยเพิ่มความคล่องตัวของเศรษฐกิจของประเทศได้ และเมื่อประเทศเรามีการเชื่อมโยงกับ NSW ทั้งหมดแล้ว เมื่อเปิด AEC 2015 เราก็พร้อมที่จะก้าวไปสู่ ASEN Single Window ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ สพธอ. ยังมีบทบาทในการยกร่างพระราชกฤษฎีกาเกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ในภาพรวมทั้งหมด เพื่อรองรับระบบ National Single Window เพื่อเตรียมพร้อมพัฒนาสู่ระบบ ASEAN Single Window และ สพธอ. ยังเป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำหน่วยงานต่างๆ ในการใช้งานรหัสมาตรฐานข้อมูลสากลสำหรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่านระบบ National Single Window เพื่ออำนวยความสะดวกในการนำเข้า-ส่งออก ซึ่ง สพธอ.นำมาจัดทำเป็นข้อมูลเสนอแนะที่เกี่ยวกับมาตรฐานที่จำเป็นต่อธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์อีกด้วย

ดังนั้น หากมีการประกาศพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ สิ่งที่คาดว่าจะส่งผลต่อการนำเข้า-ส่งออกคือ การขอขึ้นทะเบียนการใช้งานระบบเชื่อมโยงข้อมูลและธุรกิจบริการรองรับการนำเข้า-ส่งออก นำร่องและโลจิสติกส์ผ่านระบบเชื่อมโยงข้อมูล (NSW) ผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ได้รับความสะดวกมากขึ้น มีการกำหนดแนวทางที่ชัดเจนในการสนับสนุนการจัดทำแนวนโยบายและแนวปฏิบัติในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศและการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามประกาศคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่กำหนด และได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานที่มีอำนาจตามกฎหมาย, มีการกำหนดแนวนโยบายและแนวปฏิบัติเพื่อใช้เป็นแนวทางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการนำเข้า-ส่งออกผ่านระบบเชื่อมโยงข้อมูล (NSW) แก่หน่วยงานของรัฐและผู้ประกอบธุรกิจบริการให้มีการบริหารจัดการแลกเปลี่ยนข้อมูลให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน, มีการกำหนดแนวทางที่ชัดเจนสำหรับการใช้งานระบบเชื่อมโยงข้อมูล เพื่อเป็นแนวทางตัวอย่างที่เกี่ยวกับการสร้างเอกสาร การรับรองเอกสาร การลงลายมือชื่อด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือการเก็บรักษาเอกสาร เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายหรือมาตรฐานสากล

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจปัญหาและอุปสรรคของหน่วยงานภาครัฐที่เป็นหน่วยงานนำร่อง ที่เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการนำเข้า-ส่งออก ได้มีการทดลองดำเนินการผ่านระบบ National Single Window ซึ่งมีหน่วยงานนำร่อง ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กระทรวงอุตสาหกรรม กรมการค้าต่างประเทศ (กต.) กระทรวงพาณิชย์ กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การท่าเรือแห่งประเทศไทย กระทรวงคมนาคม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข

โดยสรุปอุปสรรค คือ ความไม่มั่นใจ และความไม่พร้อมในการเปลี่ยนแปลงระบบ ความไม่มั่นใจในการออกใบอนุญาต-ใบรับรองในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ว่าจะมีผลในทางกฎหมายหรือไม่ หรือรูปแบบของแบบฟอร์มกลาง (Single Form) ที่ใช้ระหว่างหน่วยงานในประเทศและต่างประเทศจะสามารถใช้ทดแทนเอกสารเดิมที่มีอยู่ได้หรือไม่ ส่วนในแง่ของความไม่พร้อม คือความไม่พร้อมในส่วนของการแก้กฎหมายภายในเพื่อรองรับการออกใบอนุญาต-ใบรับรอง เพื่อการนำเข้า-ส่งออกผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ และยังมีความไม่พร้อมในแง่ของงบประมาณในการจัดทำระบบ เช่น ระบบ Digital Signature ด้านบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญ เป็นต้น

สำหรับระบบ National Single Window (NSW) เป็นระบบการบริการเชื่อมโยงข้อมูลหน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจ สำหรับการนำเข้า-ส่งออก และโลจิสติกส์เพื่อรองรับการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน และประเทศในภูมิภาคอื่นๆ โดยเป็นระบบบริการแบบอัตโนมัติและกึ่งอัตโนมัติควบคู่ไปกับการปฏิรูปกระบวนการและขั้นตอนการให้บริการและการลดรูปเอกสาร เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการ ได้แก่ ผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออก และโลจิสติกส์ เป็นต้น

ระบบ NSW จะมีความสำคัญต่อกระบวนการนำเข้า-ส่งออก ในแง่ของการอำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจให้มีความรวดเร็ว ปลอดภัยมากขึ้น ภายใต้การเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานในรูปแบบไร้เอกสาร (Paperless) โดยผู้ใช้บริการทั้งหน่วยงานภาครัฐ และภาคธุรกิจ สามารถติดตามผลในทุกๆ ขั้นตอนของการดำเนินงานนำเข้า-ส่งออก และการอนุมัติต่างๆ ผ่านทางอินเตอร์เน็ตได้ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง

สำหรับ สพธอ. มีหน้าที่ในการควบคุมดูแล Thailand NRCA หรือ Thailand National Root Certificate Authority ซึ่งเป็นระบบ National Root ที่คอยควบคุมดูแล Subordinate CA ซึ่งก็คือหน่วยงานที่ทำหน้าที่ออก Certificate ให้แก่หน่วยงานต่างๆ ให้นำไปใช้ในกระบวนการต่างๆ ได้ เช่น การเงิน (e-banking), การนำเข้า-ส่งออก (National Single Window) เช่น การออกใบรับรองสำหรับรับรองซอฟต์แวร์ (Code Singing Certificate) เป็นต้น โดยประเทศไทยมี Subordinate CA หลักๆ คือ CAT, TOT, Thailand Digital ID (TDID) และระบบ NRCA จะช่วยทำให้ใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ ที่รับรองตัวบุคคล, นิติบุคคล หรือเซิร์ฟเวอร์ให้เชื่อมโยงและสามารถตรวจสอบได้

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 13 พฤศจิกายน 2556

จังหวัดสิงห์บุรีเป็นเจ้าภาพจัดประชุมใหญ่ ชาวไร่อ้อย เขต 5 ขอให้รัฐบาลช่วยดูแลราคาอ้อย ให้คุ้มกับต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น

วันนี้ (13 พ.ย.56) เวลา 10.00 น. กลุ่มเกษตรกรสมาชิกสมาคมชาวไร่อ้อยกว่า 2,500 คน จาก 6 จังหวัดประกอบด้วย จังหวัดสุพรรณบุรี ลพบุรี กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สระบุรี และจังหวัดสิงห์บุรี เข้าร่วมประชุมใหญ่ ชาวไร่อ้อย เขต 5 ประจำปี 2556 ตามที่สมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย จัดขึ้น ที่ศาลเจ้าปึงเถ่ากงม่า อำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี โดยมีนายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี เป็นประธารเปิดการประชุม เพื่อให้เกษตรได้ทราบถึงการวางแผนการผลิต และทิศทางของราคาอ้อย ร่วมไปถึงข้อเสนอในการพยุงราคากับทางรัฐบาลในการดูแลช่วยเหลือให้คุ้มต้นทุนการผลิต นอกจากนี้ภายในงานยังจัดแสดงนิทรรศการขั้นตอนการปลูกอ้อย เป็นการให้ความรู้ที่ถูกต้องลดต้อนทุนการผลิตแก่เกษตรกร และเครื่องมือทางการเกษตร

นายสุชัย ลิ้มสมมุติ ประธานสหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ได้กล่าวกับสมาชิกชาวไร่อ้อยว่า ทางสมาคมจะเป็นตัวกลางระหว่างสมาชิกชาวไร่อ้อยกับทางรัฐบาลในการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อย ในการปรับราคาตามเหมาะสมกับต้นทุนที่ใช้ในการเพาะปลูกเนื่องจากปัจจุบันมีต้นทุนในการเพาะปลูกเพิ่มสูงขึ้น

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 13 พฤศจิกายน 2556

กรมพัฒนาที่ดิน แนะ เกษตรกรใช้ปุ๋ยอินทรีย์สูตรพิเศษ เพิ่มผลผลิตอ้อยให้ทันการเก็บเกี่ยวเพื่อประสานกับนโยบายปลูกอ้อย พืชเศรษฐกิจตัวใหม่!

กรมพัฒนาดิน ร่วมกับกระทรวงเกษตรกรและสหกรณ์ เร่งให้ข้อมูลความรู้ในการปรับเปลี่ยนพื้นที่จากนาข้าวเป็นไร่อ้อย หรือที่เรียกว่า “โซนนิ่ง” ในเขตพื้นที่ 33 จังหวัด ให้สอดคล้องกับแผนนโยบายของรัฐบาล โดยทางกรมพัฒนาที่ดินพร้อมให้ความรู้เรื่องปุ๋ยที่เหมาะต่อการเพาะปลูกอ้อย เป็นการเพิ่มผลผลิตและลดการใช้ปุ๋ยเคมีหรือสารเคมี เพื่อให้เกษตรกรมีกำไรมากขึ้น เนื่องจากว่า ปุ๋ยเคมีนอกจากทำให้สภาพดินเสื่อมโทรมแล้ว ยังก่อให้เกิดสารตอค้างที่เป็นอันตรายต่อคนและสัตว์ แถมทำให้ต้นทุนในการผลิตเพิ่มขึ้นแล้วยังส่งผลกระทบให้เกิดภาวะหนี้สินของเกษตรกรตามมา

นางกุลรัศม์ อนัตต์พงษ์สุข รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดินด้านบริหาร เปิดเผยว่า ปุ๋ยที่เหมาะต่อการปลูกพืชเศรษฐกิจอ้อยที่ใช้ในการผลิตน้ำตาล คือ ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงสูตรไนโตรเจน เพราะไนโตรเจนเป็นธาตุองค์ประกอบหลักของเซลล์พืชทำหน้าที่หลายอย่างทั้งการสร้าง ซ่อมแซม และการสังเคราะห์แสง ซึ่งเป็นปัจจัยหลัก สำหรับการเจริญเติบโตทางกิ่งและใบของต้นพืช ทำให้พืชโตเร็วและมีผลผลิตมากขึ้น เพราะพืชแต่ละชนิดต้องการธาตุอาหารที่แตกต่างกัน ดังนั้นการใช้ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงควรคำนึงถึงความต้องการปริมาณและชนิดของธาตุอาหารในแต่ละช่วงเวลาการเจริญเติบโตของพืช และยังช่วยให้ประหยัดการใช้ปุ๋ยรวมถึงลดต้นทุนในการผลิตด้วย โดยวิธีการทำปุ๋ยอินทรีย์ไนโตรเจนมีดังนี้ นำกากเมล็ดถั่วเหลืองป่นหรือปลาป่น 60 กิโลกรัมกับมูลวัว 40 กิโลกรัม มาผสมให้เข้ากัน นำสารเร่งซูปเปอร์ พด.1 จำนวน 1 ซองใส่ลงในสารเร่งซูปเปอร์พด.2 ที่ขยายเชื้อแล้ว จำนวน 26-30 ลิตร คนเป็นเวลา 5-10 นาที เทลงบนกองวัตถุดินจากนั้นคลุกเคล้าให้ทั่วทั้งกองปรับความชื้นให้ได้ 30 เปอร์เซ็นต์ตั้งกองปุ๋ยเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าให้มีความสูง 30-50 เซนติเมตร และใช้วัสดุคลุมให้มิดชิดเพื่อรักษาความชื้นในกองปุ๋ย กลับกองปุ๋ยทุก 5 วัน และควบคุมความชื้นให้เหมาะสมหลังจากหมักมาเป็นเวลา 3 วัน อุณหภูมิภายในกองปุ๋ยจะเท่ากับอุณหภูมิภายนอกกองปุ๋ย แล้วจึงสามารถนำไปใช้ได้ และยังมีปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงสูตรฟอสฟอรัส ที่ช่วยในเรื่องการผลิตหน่วยให้พลังงานที่เรียกว่า ATP ซึ่งจำเป็นสำหรับระยะที่พืชจะกระตุ้นเซลล์เนื้อเยื่อเจริญพื้นฐานให้พัฒนาด้วยเช่นกัน ซึ่งประโยชน์ของปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงมีมากมาย อาทิเช่น เป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่มีธาตุอาหารสูง เป็นแหล่งธาตุอาหารรองและจุลธาตุแก่พืช มีจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อดินและพืชเพื่อพืชเพื่อเป็นการปลดปล่อยธาตุอาหารให้แก่พืชแบบช้าๆ ทำให้ลดการสูญเสียธาตุอาหาร และเป็นทางเลือกให้กับเกษตรกรในการทดแทนหรือลดการใช้ปุ๋ยเคมี รวมถึงลดต้นทุนการผลิตเกษตรกรสามารถผลิตใช้เองได้

เกษตรกรที่สนใจ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักวิจัยและพัฒนาการจัดการที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กทม. 10900 โทร 0-2579-0111 ต่อ 2248,2250 call center 1760 และทางเว็บไซต์ www.ldd.go.th

จาก http://www.thaipost.net วันที่ 13 พฤศจิกายน 2556

รายงานพิเศษ : ปลูกอ้อยข้ามแล้งแทนข้าว

จากการวิเคราะห์พื้นที่ศักยภาพของดิน ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่า ข้าวที่อยู่ในพื้นที่ๆไม่เหมาะสม ทำให้ได้ผลผลิตต่ำ ซึ่งต่างจากอ้อยบางพื้นที่ที่เหมาะต่อการปลูกอ้อยมากกว่าปลูกข้าว จึงจำเป็นต้องมีการผลักดันให้มีการปลูกอ้อยแทนมากกว่าการปลูกข้าว คือ การปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้เหมาะสมกับพืช ความเหมาะสมของดินและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีการวิเคราะห์ ในตอนนี้น้ำตาลจากอ้อยมีโอกาสขยายพื้นที่เศรษฐกิจในอาเซียนได้มาก และรายได้จากการปลูกอ้อยมีมากกว่าการปลูกข้าว

จากการวิเคราะห์ทางวิชาการทั้งหมดแล้วจึงพยายามที่จะให้เกิดการขับเคลื่อนเรื่องนี้โดยเร็วที่สุด โดยฤดูกาลในการปลูกอ้อยอยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน หรือที่เรียกว่า “การปลูกข้ามแล้ง” ทำให้อ้อยมีความหวานสูงและได้น้ำตาลที่มีคุณภาพ ผลผลิตก็สูงตามด้วย ทั้งนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐบาลและภาคเอกชน จะต้องจับมือร่วมกันช่วยกันผลักดันเรื่องนี้โดยเร็ว โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดของแต่ละจังหวัดใน 33 จังหวัด เป็นประธานในการดำเนินการ ในพื้นที่ Zooning นั้นพื้นที่ปลูกอ้อยจะอยู่ใกล้โรงงานผลิตน้ำตาล ในรัศมี 50 กิโลเมตร รอบโรงงานน้ำตาล และตอนนี้มีโรงงานผลิตน้ำตาลทั้งหมด 50 โรง ในจำนวน 20 โรง มีศักยภาพในการผลิตถึง 8 แสนไร่ ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ทางภาคอิสานเเละภาคกลาง

ภารกิจดังกล่าวนายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดไฟเขียวสนับสนุนเต็มที่

ขณะที่นายอภิชาต จงสุกล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวทางการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรมเพื่อปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวที่ไม่เหมาะสมเป็นอ้อยโรงงานแทนนั้น ให้สอดคล่องกับนโยบายของรัฐบาลและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยมีเป้าหมายที่ชัดเจน โดยได้รับความร่วมมือจากกระทรวงมหาดไทย และกระทวงเกษตรและสหกรณ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การดำเนินงานเป็นไปตามแผนและคอยสนับสนุนเกษตรกรที่จะเปลี่ยนมาปลูกอ้อยแทนการปลูกข้าว อีกอย่างเป็นการแก้ปัญหาที่ดินที่ไม่เหมาะสมต่อการปลูกพืช ทำให้เกิดปัญหาดินต่างๆตามมา ในขณะนี้จังหวัดบุรีรัมย์เป็นจังหวัดแรกที่ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนนาข้าวเป็นไร่อ้อย โดยมีพื้นที่ทั้งหมด 2 หมื่นไร่ ที่ทำการปลูกอ้อยแทนการปลูกข้าวแล้ว สำหรับพื้นที่ Zooning ในจังหวัดอื่นๆนั้น กำลังมีการขับเคลื่อนของภาครัฐและเอกชนอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ทันในช่วงฤดูกาลการปลูกอ้อยที่จะมาถึงเร็วๆนี้

ทั้งนี้ กรมพัฒนาที่ดิน ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่คอยสนับสนุนให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้เหมาะสมกับพืช ตามนโยบายของรัฐบาลและเตรียมความพร้อมเพื่อก้าวสู่ประชาคมอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งกรมพัฒนาที่ดินพร้อมให้การช่วยเหลือเกษตรกรในเรื่องต่างๆของดิน เช่น การปรับปรุงบำรุงดิน ปุ๋ยอินทรีย์ชนิดต่างๆ และเทคโนโลยีชีวภาพปุ๋ย พ.ด. รวมถึงการอนุรักษ์ดินและน้ำ เป็นต้น

โดยเกษตรกรสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักวิจัยและพัฒนาการจัดการที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กทม.10900 โทร 0-2579-0111 ต่อ2248, 2250 call center 1760 และ ทางเว็บไซต์www

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 13 พฤศจิกายน 2556

อุตฯเบรกโรงงานลัดขั้นตอนขอใบ “รง.4”

ที่ กระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อวันที่11 พฤศจิกายน2556 นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้หารือกับ นายประยงค์ หิรัญญะวณิชย์ ตัวแทนจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น และรองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)นางเพ็ญทิพย์ พรจะเด็ด นายกสมาคมส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี)และตัวแทนจากภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการขอนุญาตประกอบกิจการ(รง.4) เพื่อทำความเข้าใจถึงแนวทางการขออนุญาตตั้งโรงงาน หรือใบรง.4

นายวิฑูรย์ กล่าวว่า เอกชนได้สอบถามเรื่องหลักเกณฑ์การกรอกคำขอ รง.4ใหม่ของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่จัดทำขึ้นมาเพื่อให้การยื่นเอกสารขออนุญาตคล่องตัวขึ้น โดยกระทรวงฯแจ้งว่าเตรียมจะเดินสายชี้แจงทำความเข้าใจเรื่องกรอกเอกสารในจังหวัดต่างๆ อาทิ เชียงใหม่ ชลบุรี สงขลา

ขณะที่เอกชนยังขอให้กระทรวงฯผ่อนปรนเรื่องวิศวกรโรงงานที่มีอำนาจเซ็นรับรองโรงงาน โดยขอให้เป็นวิศวกรทั่วไป แต่กระทรวงฯชี้แจงว่าต้องเป็นวิศวกรที่ผ่านการอบรมจากกระทรวงฯเท่านั้น เพื่อให้มีความเชี่ยวชาญในการอนุญาต นอกจากนี้เอกชนยังขอให้กระทรวงฯ

ออก รง.4ให้กับโรงงานระหว่างที่กำลังยื่นพิจารณารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ)เพื่อให้การอนุญาตเดินหน้าควบคู่กัน ซึ่งประเด็นนี้กระทรวงชี้แจงว่าไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะตามกฎหมายโรงงานต้องได้รับอีไอเอก่อนจึงจะขอรง.4ได้

ด้าน นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.)กล่าวว่า ที่ผ่าน โรงงานที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาต มาจากหลายสาเหตุ อาทิ ถูกถอนเรื่องเพราะเอกสารไม่พร้อม ถูกดำเนินคดีเพราะก่อสร้างก่อน กรอ.อยู่ระหว่างอนุญาต

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 12 พฤศจิกายน 2556

งัด5โครงการด่วนพัฒนาลุ่มน้ำพะเนียง

บรรเทาปัญหาน้ำท่วม-ภัยแล้ง“หนองบัวลำภู”

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้กรมชลประทาน ได้จัดประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะเนียง จ.หนองบัวลำภู โดยมีผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมกว่า 200 คน ซึ่งได้สรุปเป็นร่างผลการศึกษาว่า หากต้องการแก้ปัญหาภัยแล้งและบรรเทาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่ลุ่มน้ำลำพะเนียง จำเป็นต้องดำเนินโครงการตามแผนหลักที่บูรณาการแผนงานจากท้องถิ่นและส่วนราชการต่างๆมากกว่า 170 โครงการ

โดยมีแผนงานในระยะสั้น 17 โครงการ และในระยะเร่งด่วน 5 โครงการ เป็นโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำของอ่างเก็บน้ำที่มีอยู่แล้ว 2 โครงการคือ โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำอ่างเก็บน้ำห้วยเหล่ายาง ต.ลำภู อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำอ่างเก็บน้ำห้วยผาวัง ต.วังทอง อ.นาวัง จ.หนองบัวลำภู โครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำขึ้นมาทดแทนฝายเดิมที่พังไปแล้ว ได้แก่ โครงการประตูระบายน้ำลำพะเนียงหนองหว้าใหญ่ ต.หนองหว้า อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู โครงการประตูระบายน้ำลำพะเนียงหลวงปู่หลอดกั้นลำน้ำลำพะเนียงบริเวณบ้านโนนคูณ ต.บ้านขาม อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู และโครงการปรับปรุงลำพะเนียง ระยะทาง 40 กิโลเมตรอีกด้วย ทั้งนี้เพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัย และแก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ตอนกลางและตอนท้ายลำพะเนียงทำให้สามารถลดความลึกของน้ำท่วมลงได้ 0.5-1.5 เมตร และลดระยะเวลาน้ำท่วมจากเดิม 10-28 วัน เป็น 7-14 วัน

โดยทั้ง 5 โครงการดังกล่าว ขณะนี้ได้ออกแบบก่อสร้างในเบื้องต้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งอาจจะมีการปรับปรุงให้ตามเหมาะตามความต้องการของประชาชน หลังจากนั้นก็จะเจรจากับผู้ที่ได้รับผลกระทบ เพื่อหาแนวทางในการเยียวยาหรือชดเชยให้ตามความเหมาะสม และสรุปผลการนำเสนอของบประมาณเพื่อดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลาในก่อสร้างไม่เกิน 2 ปี

อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างทั้ง 5 โครงการดังกล่าว ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน หากประชาชนคัดค้านหรือไม่เห็นด้วย หรือไม่สามารถเจรจาหาข้อยุติได้ กรมชลประทานจะยังไม่ดำเนินการก่อสร้าง และอาจจะต้องชะลอโครงการไปโดยปริยาย นอกจากนี้ในระยะเร่งด่วนยังเหลืออีก 12 โครงการที่กรมชลประทานจะต้องขอความร่วมมือในการดำเนินการศึกษาเพื่อตอบสนองต่อการแก้ไข ปัญหาน้ำผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมต่อไป

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 12 พฤศจิกายน 2556

อ.ชื่นชม จ.มหาสารคาม ปรับพื้นที่ นำร่องเกษตรโซนนิ่ง ปลูกอ้อย ป้อนโรงงาน สร้างความมั่นคงด้านรายได้แก่เกษตรกร

จังหวัดมหาสารคาม ขับเคลื่อนนโยบายเกษตรโซนนิ่ง นำร่องพื้นที่กว่า 4,000 ไร่ ในเขตอำเภอชื่นชม ที่ไม่สามารถปลูกข้าวได้ หันมาปลูกอ้อย ป้อนสู่โรงงานน้ำตาล สร้างความมั่นคงด้านรายได้แก่เกษตรกร ติดตามได้จากรายงานพิเศษ

นโยบายการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรมหรือเกษตรโซนนิ่ง รัฐบาลได้ให้ความสำคัญต่อการจัดระเบียบพื้นที่ที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อพัฒนาศักยภาพพื้นที่ปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ให้มีลู่ทางการตลาด เชื่อมโยงแหล่งผลิต และแหล่งแปรรูป ซึ่งในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม จากการสำรวจพื้นที่ปลูกข้าวทั้งจังหวัดมีอยู่ประมาณ 2 ล้านกว่าไร่ แต่สามารถปลูกข้าวให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพอยู่เพียง 1 ล้านไร่เศษ ส่วนพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม คือ มีสภาพเป็นพื้นที่นาดอน มีดินปนทราย จะมีอยู่ประมาณ 3 แสนไร่ ดังนั้น จังหวัดมหาสารคาม จึงได้วางแนวทางในการปรับยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด ปี 2557 ในด้านการเกษตร ด้วยการปรับพื้นที่กว่า 3 แสนไร่ดังกล่าว เพื่อหันไปปลูกพืชทางเลือกอื่นทดแทน

นายนพวัชร สิงห์ศักดา ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเกษตรโซนนิ่งระดับจังหวัด กล่าวว่า จากการสำรวจพบว่าเขตอำเภอชื่นชม เป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมอย่างยิ่งในการปลูกอ้อย และเกษตรกรส่วนใหญ่ในพื้นที่ ปลูกอ้อยเป็นพืชหลักอยู่แล้ว แต่ก็ได้กันพื้นที่บางส่วนที่อยู่นอกเขตชลประทาน สำหรับปลูกข้าวเพื่อบริโภค ดังนั้น ทางจังหวัดจึงได้นำร่องพื้นที่กว่า 4,000 ไร่ ของอำเภอชื่นชมไว้ปลูกอ้อย โดยมีเกษตรกรกว่า 700 ราย เข้าร่วมโครงการ พร้อมจัดหาโรงงานน้ำตาลทั้งในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง เพื่อกระจายผลผลิตให้เกษตรกร เชื่อว่าการปลูกอ้อยในพื้นที่เกษตรโซนนิ่งจะเป็นการสร้างรายได้ที่มั่นคงให้แก่กษตรกร

ขณะที่นายภิเชฎ สีน้อยขาว เกษตรกรบ้านจอมศรี หมู่ 5 ตำบลชื่นชม อำเภอชื่นชม กล่าวว่า จากพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 20 ไร่ ตนเองได้ปลูกข้าวมาตลอดแต่ได้ผลผลิตไม่ดี ขาดทุน ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีหน่วยงานด้านการเกษตรได้เข้ามาส่งเสริมให้ปลูกอ้อย จึงได้กันพื้นที่ 4 ไร่ ไว้ปลูกข้าวเพื่อบริโภค ที่เหลือหันมาปลูกอ้อย เพื่อป้อนโรงงาน ซึ่งมีรายได้ดีกว่า ตกไร่ละประมาณ 15,000 บาท พร้อมหวังให้รัฐบาลส่งเสริมอย่างต่อเนื่องเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของเกษตรกร สำหรับการกระจายผลผลิตของเกษตรกรเพื่อเชื่อมโยงสู่ระบบการตลาดนั้น จังหวัดมหาสารคามมีโรงงานน้ำตาลตั้งอยู่ที่ ตำบลแก้งแก อำเภอโกสุมพิสัย ซึ่งจะเป็นการลดต้นทุนค่าขนส่ง ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ ได้เป็นอย่างดี

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

“ยุคล” เร่งปรับโซนนิ่ง ปลูกอ้อยแทนพื้นที่ปลูกข้าวที่ไม่เหมาะสม ให้ทัน 15 พ.ย. นี้ พร้อมกำหนดยุทธศาสตร์สินค้าเกษตรของไทยให้มีคุณภาพและเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยความคืบหน้าการทำโซนนิ่งเกษตรว่า ขณะนี้กระทรวงเกษตรฯได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวที่ไม่เหมาะสมเป็นพื้นที่ปลูกอ้อยโรงงานแล้ว 31 จังหวัด จากทั้งหมด 33 จังหวัด ดำเนินการไปแล้ว 200,000 กว่าไร่ และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 400,000 กว่าไร่ ให้ทันภายในวันที่ 15 พฤศจิกายนนี้ เพื่อให้ทันฤดูกาลปลูกอ้อยที่เหมาะสมของปีนี้ หรือเรียกว่าช่วงข้ามแล้ง ทำให้อ้อยมีความหวานสูงและได้น้ำตาลที่มีคุณภาพ ผลผลิตก็จะสูงตามไปด้วย และจะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการสินค้าเกษตรในปี 2557 เพราะจะรู้ความต้องการและผลผลิตที่จะออกสู่ตลาดล่วงหน้า เพื่อป้องกันผลผลิตล้นตลาดและขาดตลาดได้โดยต้องเร่งทำความเข้าใจกับเกษตรกร โดยเฉพาะการให้ความรู้และทำความเข้าใจกับเกษตรกรในพื้นที่ปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวมาเป็นอ้อย ที่สร้างรายได้สูงกว่าหลายเท่า ซึ่งจะต้องทำให้เกิดความสมดุลกับความต้องการ การผลิต การพัฒนาคนในพื้นที่ เกษตรกร และปัจจัยการผลิตต่าง ๆ
ปัจจุบันโรงงานน้ำตาลทั้งประเทศมีศักยภาพในการผลิตน้ำตาล 13 ล้านตัน แต่ผลิตได้เพียงประมาณ 100 ล้านตัน โดยมีพื้นที่ปลูกอ้อยประมาณ 10 ล้านไร่ จึงทำให้โรงงานน้ำตาลยังมีความต้องการขอพื้นที่ปลูกอ้อยอีก 3 ล้านไร่ เพื่อสอดคล้องกับศักยภาพของโรงงาน
นอกจากนี้ นายยุคล ยังกล่าวอีกว่า ยุทธศาสตร์สินค้าเกษตรของไทยนั้น จะต้องเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ จึงจะสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ โดยต้องสร้างความพร้อมให้กับเกษตรกร ทำให้เกษตรกรมีความเข้าใจว่าต้องทำสินค้าที่มีคุณค่า ให้ความสำคัญกับผู้บริโภค ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญต้องทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าลดลง ราคาผลผลิตสูงขึ้น และเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

กระทรวงอุตฯ เผยผลบริหารโรงงาน จับมือ Nedo ลดใช้พลังงาน 30%

ดร.วิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เผยว่า จากการที่กระทรวงอุตสาหกรรม และองค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรมประเทศญี่ปุ่น (Nedo) ตกลงร่วมกันที่จะดำเนินโครงการเทคโนโลยีการวิเคราะห์และบริหารจัดการพลังงานให้เกิดประโยชน์สูงสุดในวงกว้าง (The Area-Wide Pinch Technology)

โดย กนอ. ได้รับมอบหมายจากกระทรวงอุตสาหกรรม ในการร่วมมือกับบริษัท ชิโยดะ คอร์ปปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์กร Nedo ทำการวิเคราะห์การใช้พลังงานไฟฟ้าและพลังงานความร้อนให้เกิดประโยชน์สูงสุด ภายใต้ทฤษฎีพลศาสตร์ความร้อนในโรงแยกก๊าซ LNG โรงกลั่นน้ำมัน โรงไฟฟ้า และโรงงานปิโตรเคมี หรือที่เรียกว่า Pinch Technology เพื่อลดต้นทุนพลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

พร้อมทั้งยังมีการนำเสนอผลงานในรูปแบบต่างๆ อีกหลายโครงการภายใต้เทคโนโลยี "Area-wide pinch technology" ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินงานโครงการ 2 ปี ตั้งแต่เดือน ต.ค. 54-ก.ย. 56 เทคโน โลยีนี้ได้รับการพัฒนาจากบริษัท ชิโยดะ คอร์ปปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งประสบผลสำเร็จในการนำมาบริหารจัดการกลุ่มบริษัทอุตสาหกรรมเคมีฯ ในประเทศญี่ปุ่น

โครงการดังกล่าว จัดขึ้นเพื่อแสดงผลตามขีดความสามารถของแต่ละผู้ประกอบการด้านการลดต้นทุนพลังงาน ลดการใช้และอนุรักษ์พลังงานในนิคมฯ ด้วยการใช้พลังงานร่วมกันระหว่างโรงงานต่างๆ และการบริหารจัดการการใช้พลังงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด เสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคอุตสาหกรรมที่ลงทุนในไทย ตลอดจนเป็นการกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยและญี่ปุ่นด้วย

โดยกำหนดให้พื้นที่นิคมอุตสาห กรรมมาบตาพุด เป็นพื้นที่นำร่องแห่งแรก เนื่องจากพื้นที่นิคมฯมาบตาพุด มีสถานประกอบการอุตสาหกรรมปิโตรเคมีจำนวนมาก มีการใช้พลังงานในปริมาณมหาศาล หากนำโครงการดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ จะสามารถลดการใช้พลังงานได้มาก และช่วยลดต้นทุนการใช้พลังงานและส่งผลต่อการลดการปล่อยปริมาณก๊าซเรือนกระจกโดยรวมของประเทศ

กนอ. ได้จัดพิธีปิดโครงการโดยตลอดระยะเวลาการดำเนินโครงการ พบว่ามีแนวโน้มในการลดการใช้เชื้อเพลิงและพลังงานประมาณ 30% จากผลรวมการใช้ในปัจจุบัน และลดใช้พลังงานด้วยทางเลือกอื่นๆเพิ่มขึ้นอีก 10% ซึ่งถือว่าเป็น 1 ใน 3 จากผลวิจัยการลดใช้พลังงานโดยรวม โดยเก็บรวบรวมข้อมูลตั้งแต่เดือน เม.ย. 55

จาก ทรานสปอร์ต เจอร์นัล  วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

จัด‘วันพระบิดาแห่งฝนหลวง’ เฉลิมพระเกียรติในหลวง14พย.พร้อมกันทั่วปท.

นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีแถลงข่าวการจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติและถวายราชสดุดีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องใน “วันพระบิดาแห่งฝนหลวง” ว่า เนื่องในวันที่ 14 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้เป็น “วันพระบิดาแห่งฝนหลวง” ที่เวียนมาบรรจบครบรอบปีที่ 58 นับจากวันที่ 14 พฤศจิกายน 2498 ซึ่งเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริในการคิดค้นวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการทำฝนหลวง เพื่อแก้ไขปัญหาความทุกข์ยากของเกษตรกรและประชาชนทั่วไปที่ประสบภัยแล้ง รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรน้ำของประเทศ จนเกิดเป็นโครงการพระราชดำริฝนหลวงสืบมาจนถึงปัจจุบัน และยังครบรอบปีที่ 11 นับจากวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2545 เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฐานะทรงเป็น “พระบิดาแห่งฝนหลวง” โดยกำหนดให้วันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปีเป็น “วันพระบิดาแห่งฝนหลวง” เพื่อจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ของชาติไทย

สำหรับกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องใน“วันพระบิดาแห่งฝนหลวง” ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 14 พฤศจิกายนนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำหนดให้มีพิธีถวายราชสดุดีโดยพร้อมกันทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยได้รับความร่วมมือจากท่านผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ดังต่อไปนี้1.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จะจัดพิธีวางพานพุ่มถวายราชสดุดี และนิทรรศการฝนหลวงเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ ศูนย์ฝนหลวงหัวหิน ท่าอากาศยานหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมีคณะผู้บริหารของทุกกระทรวง กรมต่างๆ คณะหัวหน้าส่วนราชการของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และกลุ่มอาสาสมัครฝนหลวงในภาคใต้ตอนบน เข้าร่วมในพิธี 2.จังหวัดต่างๆ ทุกจังหวัด โดยการประสานดำเนินการของเกษตรและสหกรณ์จังหวัด จะร่วมจัดพิธีวางพานพุ่มถวายราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ศาลากลางจังหวัดพร้อมกันทุกจังหวัด โดยเชิญหัวหน้าส่วนราชการ พ่อค้า ประชาชน และอาสาสมัครฝนหลวงประจำจังหวัดเข้าร่วมพิธี

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

เสนอ ครม.เคาะราคาอ้อย 900 บาท/ตัน

รายงานข่าวจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เปิดเผยว่า การประชุม กอน. ที่มีนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบราคาอ้อยขั้นต้นฤดูกาลผลิตปี2556/2557 ที่ 900 บาทต่อตันอ้อย (ความหวาน 10 ซี.ซี.เอส.) จากนั้นจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.)อนุมัติในวันที่ 12 พ.ย.นี้ รวมทั้งยังเห็นชอบตั้งคณะทำงานที่มีนางอรรชกา สีบุญเรือง อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เป็นประธานพิจารณาแนวทางการช่วยเหลือเงินเพิ่มราคาอ้อยให้คุ้มต้นทุนการผลิตที่1,129.92 บาทต่อตัน ตามข้อเรียกร้องชาวไร่อ้อย ก่อนสรุปเพื่อนำเสนอครม.อนุมัติ

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการบริหาร (กบ.) ภายใต้พ.ร.บ.อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย จะเรียกประชุมเพื่อพิจารณากำหนดวันเปิดหีบอ้อยฤดูกาลผลิตปี 2556/2557 หลังจากที่ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายได้ทำหนังสือแจ้งพร้อมที่จะเปิดหีบ วันที่25 พ.ย. แต่ทั้งนี้ยังต้องติดตามสถานการณ์พายุขณะนี้อย่างใกล้ชิด หากปริมาณฝนยังคงตกหลายจังหวัดต่อเนื่องอีกภายในสัปดาห์นี้ก็อาจจะทำให้การเปิดหีบในวันที่ 25 พ.ย.นี้ เลื่อนออกไปได้ขณะที่กองทุนอ้อยและน้ำตาลมีหนี้เก่าค้างชำระ 8,200 ล้านบาท จะชำระหมดในเดือน มิ.ย. 2557 การกู้ใหม่ก็จะเริ่มรอบเดือน ก.ค. 2557 ซึ่งหากนโยบายให้กู้เพื่อให้คุ้มต้นทุนผลิตชาวไร่จะต้องกู้ 2.3 หมื่นล้านบาท

จาก http://www.posttoday.com วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

จี้ออกรง.4ใน30วันสอท.นำทีมพบกระทรวงอุตฯวันนี้ระบุออกใบอนุญาตเร็วเพิ่มการลงทุน

ส.อ.ท.เร่งรัฐออกใบ ร.ง.4 ใน 30 วัน เพิ่มการลงทุน พร้อมผนึกภาคีต้านคอร์รัปชั่นเข้าฟังชี้แจงวันนี้
นายเจน นำชัยศิริ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)เปิดเผยว่า วันที่ 11 พ.ย.นี้ ส.อ.ท.จะเข้ารับฟังการชี้แจงเกี่ยวกับกระบวนการออก

ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4)กับกระทรวงอุตสาหกรรม โดยเอกชน

อยากเห็นการอนุญาตเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว ซึ่งจะสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ เอกชนอยากให้ร่นระยะเวลาในการออกใบอนุญาตเป็น 30 วัน เช่น ในกรณีโรงงานที่ไม่ต้องผ่านกระบวนการรับฟังความเห็นของประชาชน หรือการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) จากเดิมที่ต้องใช้เวลาถึง 90 วัน

"ที่ผ่านมาเอกชนเองมีการสร้างโรงงานไปก่อนที่จะขออนุญาตและทำกันจนเป็นแนวปฏิบัติไปแล้ว ซึ่งหากจะให้ต่อจากนี้เอกชนกลับเข้ามาขออนุญาตก่อนแล้วค่อยลงทุนก่อสร้างก็ต้องทำกระบวนการให้รวดเร็ว และเป็นไปได้หรือไม่ที่จะย่นระยะเวลาลงมาให้สั้นกว่า 90 วัน" นายเจนกล่าว

ทั้งนี้ เอกชนอยากเห็นการอนุญาตเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพรวดเร็วเหมือนการออกพาสปอร์ตที่เดิมก็ต้องผ่านขั้นตอนจำนวนมาก แต่ตอนนี้ดำเนินการได้อย่างรวดเร็วและรับเล่มได้ภายใน 3 วันเท่านั้นการออกใบอนุญาต ร.ง.4 ก็เช่นเดียวกันเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในประเทศก็ควรจะผลักดันให้การอนุญาตเร็วได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่านายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ออกหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 6 พ.ย. 2556 เชิญผู้ประกอบการฟังการชี้แจงขั้นตอนการพิจารณาและแสดงความเห็นเกี่ยวกับการขออนุญาตตามพระราชบัญญัติโรงงานพ.ศ. 2535 โดยจะมีการหารือในวันที่ 11 พ.ย.2556 เวลา 10.00-12.00 น. ที่กระทรวงอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ ในหนังสือเชิญชี้แจงระบุว่าเพื่อชี้แจงขั้นตอนพิจารณาและแสดงความเห็นเกี่ยวกับการอนุญาตกับทุกภาคส่วน เพื่อให้การอนุญาตเป็นไปอย่างรวดเร็วเกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์แก่ผู้ขออนุญาตและผู้ประกอบการอุตสาหกรรม

สำหรับผู้ที่จะเข้าร่วมฟังครั้งนี้ ประกอบด้วย ประธานภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์ รัปชั่น ประธาน ส.อ.ท. ประธานหอการค้าและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายกสมาคมส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย ผู้อำนวยการต่อต้านคอร์รัปชั่น

จาก http://www.posttoday.com วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ไร่อ้อยวอนรัฐหนุนราคาเพิ่มอีก 250 บ./ตัน

สมาคมชาวไร่อ้อย กำแพงเพชร ยื่นหนังสือ “วราเทพ” เรียกร้องรัฐบาลหนุนราคาอ้อยอีก 250 บาทต่อตันอ้อย เหตุราคารับซื้อต่ำกว่าต้นทุนผลิต...

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 10 พฤศจิกายน นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน การประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2556 ของสมาคมชาวไร่อ้อย เขต 6 กำแพงเพชร โดยนายสุชัย ลิ้มสมมุติประธานสหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทยในฐานะองค์กรตัวแทนชาวไร่อ้อยตั้งแต่เขตที่ 1 ถึงเขตที่ 9 ได้ยื่นหนังสือต่อนาย วราเทพ รัตนกร เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาสนับสนุนเงินค่าอ้อยให้กับเกษตรกรอีกตันอ้อยละ 250 บาท รวมเป็นตันอ้อยละ 1,150 บาท เนื่องจากราคาอ้อยในขณะนี้ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต

นายสุชัย ระบุว่า ปัจจุบันราคารับซื้ออ้อยที่ตันอ้อยละ 900 บาท ที่ 10 ซี.ซี.เอส. ในขณะที่ต้นทุนการผลิตอยู่ที่ตันไร่อ้อยละ 1,129 บาท ซึ่งหากรัฐบาลพิจารณาสนับสนุนเงินค่าอ้อยเพิ่มขึ้นอีกตันไร่อ้อยละ 250 บาท จะทำให้ราคารับซื้ออยู่ที่ 1,129 บาทต่อตันไร่อ้อย ซึ่งจะเป็นราคาที่ครอบคลุมต้นทุนการผลิต และหากรัฐบาลเร่งดำเนินการทันฤดูกาลผลิต 2556/2557 จะทำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยได้รับราคาอ้อยขั้นต่ำในฤดูกาลผลิตปี 2556/2557 ที่ 1,150 บาทที่ 10 ซี.ซี.เอส.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 10 พฤศจิกายน 2556

ไร้อ้อยหลังรร.

โดย...พี่กันดั้ม

การขาดแคลนบุคลากรสายเกษตรกรรมกลายเป็นปัญหาระดับประเทศและระดับโลก เพราะไม่มีใครเลยที่อยากปลูกข้าวปลูกพืชไร่เลี้ยงชีพ เพียงเพราะค่านิยมคนในสังคมชื่นชมคนในชุดสูทผูกไท ได้ใบปริญญาสูงๆ ดังนั้นบริษัทในกลุ่มมิตรผล จึงได้ริเริ่มหลักสูตรพัฒนาอาชีพท้องถิ่น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรในระบบการศึกษาเพิ่มเติมจากหลักสูตรแกนกลาง โดยร่วมกับโรงเรียนซึ่งตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ชุมชนใกล้เคียงที่ตั้งของโรงงานน้ำตาลในกลุ่มมิตรผลให้เด็กๆ ได้ลงมือปฏิบัติจริงหลังจากได้เรียนรู้ภาคทฤษฎีจากในชั้นเรียน

โรงเรียนบ้านหนองไผ่ดุสิตประชาสรรค์ อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น เป็นหนึ่งในหลายโรงเรียนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ร่วมโครงการพัฒนาหลักสูตรปลูกอ้อยในโรงเรียน วัฒนา สมหวัง ผู้อำนวยการ โรงเรียนบ้านหนองไผ่ดุสิตประชาสรรค์ เล่าว่า คนในชุมชนบ้านหนองไผ่ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 80 ดำเนินชีวิตด้วยการยึดอาชีพเกษตรกรรมปลูกอ้อยเป็นหลัก นอกจากอ้อยจะเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตน้ำตาล ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศแล้ว วัตถุดิบเหลือใช้ที่ได้จากอ้อย เช่น ชานอ้อย ใบอ้อย และโมลาส ยังสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีก จากการนำมาผลิตเป็นวัสดุทดแทนไม้ ไฟฟ้าชีวมวล รวมถึงเอทานอลพลังงานสะอาดที่ช่วยลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศคิดเป็นมูลค่าปีละหลายพันล้านบาท

ดังนั้น หลักสูตรการปลูกอ้อยนี้ไม่เพียงแต่จะทำให้เด็กๆ มีความเข้าใจถึงวงจรชีวิตและการดูแลอ้อยอย่างครบวงจร เพื่อให้พวกเขาได้เข้าใจและภาคภูมิใจในวิถีของเกษตรกรรมไร่อ้อย ซึ่งเป็นอาชีพหลักของครอบครัว สร้างรายได้เป็นให้พวกเขาสานต่ออาชีพเกษตรกรที่ทรงคุณค่า

น้องเนย ด.ญ.กัญญาดา ลีลาศ นักเรียนชั้น ป.6 โรงเรียนบ้านลาด บอกกับพี่ๆ ว่าพอจะรู้ถึงวิธีการทำไร่อ้อยอยู่บ้าง แต่หนูคิดว่าโตขึ้นอยากจะเป็นครูแต่ตอนนี้หนูรู้จักวิธีทำไร่แล้ว เพราะมีหลักสูตรปลูกอ้อยที่โรงเรียน ซึ่งหนูจะได้ลงแปลงสัปดาห์ละครั้ง หนูเรียนรู้การปลูกอ้อยตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงการกำจัดศัตรูพืช โดยหน้าที่หลักของหนูในระหว่าง ลงแปลงสาธิตโรงเรียน คือ ดายหญ้าระหว่างแปลงและใส่ปุ๋ยในไร่ ทำให้หนูสามารถเรียนรู้กระบวนการปลูกอ้อยได้รู้ว่าจะต้องทำอะไรเมื่อไหร่

รวมถึงให้คำแนะนำพ่อกับแม่ถึงวิธีการปลูกอ้อยที่แตกต่างกัน ซึ่งจะช่วยให้ไร่อ้อยที่บ้านหนูมีผลผลิตที่ดีขึ้นค่ะ ตอนนี้หนูคิดว่า ต่อไปหนูอาจจะไม่ได้เป็นครูสอนเด็กๆ แล้วแต่อาจจะได้ทำไร่ให้มีผลผลิตสูงๆ และสอนคนอื่นๆ ด้วย

สิ่งเหล่านี้เราต้องบอกกับทุกคนว่าไม่ว่าจะอาชีพอะไร เราควรรู้จักการให้เกียรติ และเคารพความรู้ในทุกวิชาชีพหากทุกคนรังเกียจอาชีพชาวไร่ สิ่งที่เราได้ประสบในวันนี้ก็คือความเป็นอยู่เรื่องอาหารการกินของเราทุกคน จะลำบากขึ้นเท่าตัวจากการนำเข้าอาหารจากต่างประเทศนั่นเอง

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 10 พฤศจิกายน 2556

ธปท. ยอมรับค่าเงินบาทยังผันผวนต่อเนื่องในทิศทางอ่อนค่า แนะเอกชนระมัดระวัง

ธปท. ยอมรับค่าเงินบาทยังผันผวนต่อเนื่องในทิศทางอ่อนค่า ยอมรับในช่วงนี้ได้มีปัจัยการเมืองในประเทศเข้ามากดดัน ทั้งตลาดการเงิน และตลาดหุ้นยิ่งกระทบให้บาทอ่อนค่าลง ดังนั้น ผู้ประกอบการ และภาคเอกชนยังต้องใช้ความระมัดระวัง และควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยง

นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ทิศทางค่าเงินบาทยังมีความผันผวน ซึ่งที่ผ่านมา ธปท.เข้ามาดูแลเพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อภาคการค้า และให้ภาคเอกชนสามารถปรับตัวได้ทัน โดยปัจจัยหลักที่ทำให้บาทอ่อนค่าเกิดจากการที่สหรัฐฯ จะทยอยลดขนาดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือ QE ส่งผลให้เงินสกุลคู่ค้ากับสหรัฐฯ อ่อนค่าลง และคาดว่าแนวโน้มค่าเงินบาทจะยังอ่อนค่าจนกว่าการทยอยลดขนาด QE จะยุติ

ประกอบกับในช่วงนี้ยังมีปัจัยการเมืองในประเทศเข้ามากดดันทั้งตลาดการเงิน และตลาดหุ้น ยิ่งกระทบให้บาทอ่อนค่าลง ดังนั้น ผู้ประกอบการ และภาคเอกชนยังต้องใช้ความระมัดระวัง และควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่มีอยู่ในระบบในการดูแลความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งที่ผ่านมา ธปท.ได้ให้ความรู้แก่ภาคเอกชนผ่านทางสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) อย่างต่อเนื่อง

สำหรับแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจโลกนั้น ธปท.ยังประเมินว่าเศรษฐกิจในประเทศ G3 ประกอบด้วย สหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น จะฟื้นตัวช้า และการเติบโตของประเทศเกิดใหม่ โดยเฉพาะจีน และประเทศในเอเชียไม่ร้อนแรงเหมือนช่วงที่ผ่านมา ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะยังคงทำให้เกิดความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้าย โดยประเทศไทยจะได้รับผลกระทบให้การส่งออกให้ชะลอตัวลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยปีนี้ให้ขยายตัวประมาณร้อยละ 3.7 และสูงขึ้นเป็นร้อยละ 4.8 ในปีหน้า

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 10 พฤศจิกายน 2556

ชาวบ้านกัมพูชาบุกไทยร้องกรรมการสิทธิ์-กรรมการปฏิรูปกฏหมาย : บริษัทน้ำตาลไทยละเมิดสิทธิมนุษยชน

วันนี้ (8 พ.ย.56) ณ ศศนิเวศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชาวบ้านจากจังหวัดเกาะกง โอดอร์เมียนเจย และกำปงสปือ ประเทศกัมพูชา ร่วมกับองค์กร Equitable Cambodia และ Inclusive Development International ซึ่งร่วมกันทำรายงานผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนของโครงการ “ทุกอย่างยกเว้นยุทโธปกรณ์ (Everything But Arms)” ของสหภาพยุโรป ได้เปิดตัวรายงานและแถลงข่าวถึงปัญหาผลกระทบสิทธิมนุษยชนที่ชุมชนได้รับจากการที่สหภาพยุโรปอนุญาตให้มีการขายสินค้าโดยปลอดภาษีจากกัมพูชาไปยังสหภาพยุโรปมานับตั้งแต่ปี 2544 แต่โครงการดังกล่าวกลับเอื้อให้เกิดการย้ายทุนจากต่างแดนเพื่อลงทุนทำไร่อ้อยขนาดใหญ่และโรงงานตาลในกัมพูชา นำมาซึ่งปัญหาการแย่งที่ดินและละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้มีบริษัทน้ำตาลยักษ์ใหญ่ที่มีบริษัทแม่อยู่ในประเทศไทยเกี่ยวข้องด้วย

“โครงการนี้มีจุดประสงค์เพื่อแก้ปัญหาความยากจน ผ่านการกระตุ้นการเติบโตของภาคการส่งออก โดยให้สิทธิพิเศษแก่ประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด (Least developed country: LDC) ในการส่งสินค้าทุกชนิดยกเว้นอาวุธยุทโธปกรณ์ เข้าไปขายในตลาดยุโรปได้โดยปลอดภาษี ทว่า นโยบายถ้อยคำสวยหรูนี้ กลับกำลังก่อให้เกิดสถานการณ์ที่ตรงกันข้ามในประเทศกัมพูชา” เดวิด เพลด (David Pred) ผู้จัดการโครงการสากลเพื่อการพัฒนาที่ทั่วถึง (Managing Associate of Inclusive Development International) ผู้เขียนรายงานกล่าว และเสนอให้เห็นภาพปัญหาการเข้าครอบครองที่ดินสัมปทานของบริษัทข้ามชาติจากต่างประเทศหลายบริษัท

“การลงทุนปลูกอ้อยและทำโรงงานน้ำตาล เป็นสาเหตุของปัญหาการยึดแย่งที่ดินจากชาวบ้านที่เลวร้ายที่สุดในประเทศของเราและเราไม่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล แต่ชาวบ้านกลับโดนขับไล่และไล่ล่าจนต้องหนีหัวซุกหัวซุน ฉันเองโดนจับติดคุก 8 เดือนหลังจากร่วมประท้วงบริษัท และต้องคลอดลูกในคุก” นางฮอย ไม (Hoy Mai) ตัวแทนชุมชนจากอำเภอ สำโรง (Samrong) จังหวัดโอดอร์เมียนเจยกล่าว และเสริมว่า “ดิฉันรู้สึกผิดหวังที่บริษัทไทยยังปฏิเสธที่จะพบพวกเราเพื่อพูดคุยกัน”

“คนกัมพูชาหลายพันคนต้องไร้ที่อยู่อาศัย ไร้ที่ทำกินและประสบกับความยากจนอย่างสาหัส ลูกหลานของเราต้องออกจากโรงเรียนเพื่อทำงานจุนเจือครอบครัวโดยการเป็นคนงานในไร่อ้อยแทนและไม่มีหลักประกันในชีวิตใด ๆ” นายเตง กาว (Teng Kao) ตัวแทนชุมชนจากอำเภอสเรอัมบึล (Sre Ambel) จังหวัดเกาะกงผู้ได้รับผลกระทบเสริม

ทั้งนี้ กลุ่มผู้ปลูกอ้อยในภาคอีสานของไทยร่วมแถลงสนับสนุนการเรียกร้องของชาวบ้านกัมพูชาด้วย

“การละเมิดสิทธิมนุษยชนของบริษัทไทยในประเทศเพื่อนบ้านเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้และประชาชนในภูมิภาคไม่ควรยอมให้เกิดกรณีเช่นนี้อีกต่อไป” อุบล อยู่หว้าจากเครือข่ายเกษตรทางเลือกกล่าว

“ประชาชนไทยจำนวนมากเติบโตมากับการปลูกอ้อย แต่ชีวิตเรากลับไม่มีอะไรดีขึ้น ตรงกันข้าม เรากลับต้องเสียที่ดินให้บริษัทเพราะตกอยู่ในวงจรหนี้และสุขภาพเสื่อมโทรมจากการปลูกอ้อยด้วยสารเคมีมาชั่วนาตาปี โดยที่บริษัทไม่รับผิดชอบต่อชีวิตของเราที่ทำงานกันรุ่นแล้วรุ่นเล่า” นายพิชิตพล แสนโคตรจากเครือข่ายเกษตรกรพันธะสัญญากล่าว

ทั้งนี้ นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและนายสมชาย หอมละออ คณะกรรมการปฏิรูปกฏหมายต่างยืนยันว่าการตรวจสอบบริษัทไทยเพื่อให้สังคมเข้าใจประเด็นการลงทุนข้ามพรมแดนสามารถทำได้ และน่าจะเป็นประโยชน์กับความก้าวหน้าของการทำงานร่วมกันระหว่างภาคประชาสังคมและประชาชนอาเซียน

“พฤติกรรมของบริษัท พูดได้ว่าขัดกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนหลายฉบับที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันไว้ และยังมีความผิดตามหลักกฎหมายสากลในหลายข้อและจำเป็นต้องแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นโดยเร่งด่วน” นายสมชาย หอมละออ กล่าว

“ขอยืนยันว่าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีขอบเขตอำนาจในการตรวจสอบบริษัทไทยและเราทำร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ ในประเทศอาเซียนด้วย” นายแพทย์นิรันดร์กล่าวหลังการรับคำร้องจากประชาชนกัมพูชา

ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ประชาชนและองค์กรในกัมพูชากำลังทำการยื่นคำร้องเพื่อให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตรวจสอบบริษัทน้ำตาลมิตรผลและบริษัทน้ำตาลขอนแก่นของไทยและเป็นกรณีที่กำลังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบ

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 8 พฤศจิกายน 2556

แผนพีดีพีชาติ2013 เสร็จธ.ค.นี้

นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ปลัดกระทรวงพลังงานกล่าวในงานสัมมนาการผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ย้ำว่านายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงพลังงานเร่งจัดทำแผนพัฒนาไฟฟ้าระยะยาว 20 ปี หรือพีดีพี ให้เสร็จภายในเดือนธันวาคมนี้โดยประเด็นสำคัญต้องพิจารณาถึงความเพียงพอ มั่นคง และต้นทุนต่ำแข่งขันได้

ตามแผนพีดีพีปัจจุบัน ปลายแผนหรือปี 2573 ไทยต้องนำเข้าแอลเอ็นจีประมาณ 23 ล้านตัน มาผลิตไฟฟ้า เพราะก๊าซอ่าวไทยลดน้อยลงต้นทุนแอลเอ็นจีแพงกว่าอ่าวไทย 3 เท่าและส่งผลกระทบทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้นเป็นประมาณ 7-8 บาทต่อหน่วย

ดังนั้นจึงต้องปรับแผนให้เหมาะสมเพราะการนำเข้าแอลเอ็นจีระดับสูง มีความเสี่ยงจากเรือนำเข้าเป็นจำนวนมากอีกด้วย โดยฐานนำเข้าและผลิตเชื้อเพลิงจากก๊าซฯ ในขณะนี้อยู่ที่มาบตาพุดซึ่งที่ผ่านมาได้มีความพยายามกระจายฐานรับก๊าซและผลิตไปประจวบคีรีขันธ์หรือสงขลาแต่ก็ถูกคัดค้าน ดังนั้นจะต้องมีการกระจายเชื้อเพลิงไปรูปแบบอื่นขณะเดียวกัน ในระยะสั้นต้องปรับแผนการซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้ารองรับการปิดซ่อมบำรุงแหล่งก๊าซฯ เพื่อไม่ให้กระทบความมั่นคง ไม่ว่าจะเป็นการปิดซ่อมแหล่งก๊าซเมียนมาร์ปลายเดือนธันวาคมนี้ รวมไปถึงการปิดซ่อมแหล่งเจดีเอ 28 วัน ในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2557

นางอัญชลี ชวนิตย์ ประธานคณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ).กล่าวว่าการผลิตไฟฟ้าในไทยต้องปรับตัวหลายประการทั้งรองรับความต้องการไฟฟ้าในประเทศ และการเปลี่ยนแปลงของตลาดโลกทั้งเออีซีเริ่มเปิดเสรีในปลายปี 2558 การผลิตเซลแก๊สในสหรัฐการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ด้านมลพิษการผลิต พลังงานทดแทนเพิ่มมากขึ้นในยุโรป เช่น เยอรมนีกำหนดว่าในอนาคตต้องมีพลังงานทดแทนถึงประมาณ 50% ส่วนของโลกกำหนดไว้ในสัดส่วนประมาณ 20% แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือค่าไฟฟ้าแพงขึ้นส่งผลกระทบต่อความสามารถการแข่งขัน โดยในส่วนของไทยกำหนดไว้ว่าจะใช้พลังงานทดแทนประมาณ 25% เช่นกันอย่างไรก็ตาม พลังงานหลักของไทยยังต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติและถ่านหินเป็นฐานหลักเพราะสามารถผลิตไฟฟ้าต่อเนื่อง

นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการ กฟผ.กล่าวว่าด้วยการเชี่ยวชาญของบุคลากร กฟผ.จึงทำให้ไทยเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่มีความสามารถในการเดินเครื่องและบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า ทั้งนี้ ในงานได้แสดงงานพัฒนาของ กฟผ. เช่น การออกแบบโรงไฟฟ้าพลังงานลมด้วยระบบอาณาจักรมด การแสดงนวัตกรรมหุ่นยนต์ที่ใช้ในการซ่อมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าในพื้นที่เล็กและแคบเป็นต้น

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 8 พฤศจิกายน 2556

ชาวไร่อ้อยเอาบ้าง อ้อนรัฐบาลช่วย จัดสรรงบหมื่นล.ลดภาระขาดทุน

กบ.เคาะราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี’56/57 ที่ 900 บาท ต่อตันชง “กอน.” ชี้ขาด ด้านชาวไร่อ้อยโวยไม่คุ้มต้นทุน เรียกร้องรัฐบาลอุดหนุน อ้างข้าวเจ๊งเป็นแสนล้านบาทยังอุ้ม

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการบริหาร (กบ.) ที่มีนางอรรชกา ศรีบุญเรือง อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เป็นประธาน

เปิดเผยว่า เมื่อ 6 พฤศจิกายน 2556 กบ.ได้เห็นชอบการคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 56/57ที่ 900 บาทต่อตันโดยจะเสนอผลการประชุมดังกล่าวให้คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.)พิจารณาในวันที่ 7 พฤศจิกายนนี้เพื่อประกาศราคาอ้อยขั้นต้นอย่างเป็นทางการก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบต่อไป

ทั้งนี้ กบ.ได้เสนอข้อมูลไปตามข้อเท็จจริงส่วนการช่วยเหลือราคาอ้อยตามที่ชาวไร่อ้อยให้ได้คุ้มกับต้นทุนที่ได้มีการคำนวณจากฝ่ายราชการที่ 1,129.92 บาทต่อตันนั้นกบ.จะให้ความเห็นเพียงมีความจำเป็นจะต้องหาเงินช่วยแต่รายละเอียดจะอยู่ที่กอน.

นายธีระชัย แสนแก้ว ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสานกล่าวว่า ชาวไร่อ้อยยอมรับหลักการราคาอ้อยที่ 900 บาทต่อตัน แต่ที่ผ่านมาการช่วยเหลือราคาอ้อยให้คุ้มกับต้นทุนการผลิตเป็นเพียงการให้แหล่งเงินกู้กับชาวไร่ก็คือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธ.ก.ส.) ดังนั้นครั้งนี้ชาวไร่อ้อยต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือด้านงบประมาณเช่นเดียวกับพืชเกษตรอื่นๆ เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ข้าวโพด เพราะรัฐบาลเองส่งเสริมให้จัดโซนนิ่งการปลูกอ้อยด้วยการส่งเสริมให้นาข้าวมาปลูกอ้อยเพิ่มขึ้น รัฐบาลก็ต้องดูแลราคาไม่ให้ต่ำเกินกว่าต้นทุน

“ที่ผ่านมาชาวไร่อ้อยได้แต่กู้เงินมาเพิ่มค่าอ้อยพร้อมกับการจ่ายดอกเบี้ย แต่ข้าวเจ๊งเป็นแสนๆ ล้านบาทรัฐบาลยังช่วยดังนั้นจึงเห็นว่าราคาอ้อยขั้นต้นครั้งนี้จะเป็นประวัติศาสตร์ที่เราจะขอให้รัฐบาลช่วยเหลืองบประมาณราวหมื่นล้านบาทเนื่องจากราคาอ้อย 900 บาทต่อตันหากจะให้คุ้มทุนการผลิตที่ 1,129.92 บาทต่อตันจะต้องกู้เงินมาเพิ่มราว 230 บาทต่อตันหรือคิดที่อ้อย 101 ล้านตันก็ราว 2.3 หมื่นล้านบาท”นายธีระชัยกล่าว

สาเหตุที่ต้องให้รัฐบาลช่วยเหลือเนื่องจากฐานะกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย(กท.)มีรายได้ 1.5 หมื่นล้านบาท ทำให้มีศักยภาพในการกู้เพิ่มแค่ 1.5 หมื่นล้านบาทยังมีส่วนต่างอีกหมื่นล้านบาท รัฐบาลก็น่าจะสนับสนุนเพราะหากเทียบกับพืชอื่นถือว่าต่ำมาก แต่หากจะให้กู้ทั้งหมดรัฐบาลต้องลดดอกเบี้ยของธ.ก.ส.ลงมาจากปัจจุบันที่คิดสูงถึง 4.5%

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 7 พฤศจิกายน 2556

เร่งคลอดแผนโลจิสติกส์การเกษตร

นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมการจัดทำแผนปฏิบัติการตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย ฉบับที่ 2 ได้หารือถึงแผนปฏิบัติงานและงบประมาณ 4 ปี พ.ศ.2556–2560 ของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ เพื่อรองรับการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การพัฒนาโลจิสติกต์และระบบห่วงโซ่อุปทานภาคการเกษตร พ.ศ.2556–2560 ซึ่งประกอบด้วย 2 ยุทธศาสตร์ 7 กลยุทธ์ คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานการเกษตร ประกอบด้วย กลยุทธ์หลัก 4 กลยุทธ์ ได้แก่ 1.สร้างและพัฒนาความเป็นมืออาชีพด้านโลจิสติกส์การเกษตร 2.การสร้างและพัฒนาระบบโซ่คุณค่าสินค้าเกษตร

3.การสร้างและพัฒนาเครือข่ายโลจิสติกส์และโซ่อุปทานสินค้าเกษตร และ 4.การพัฒนาการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และนวัตกรรมการจัดการโลจิสติกส์การเกษตร ส่วนยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาระบบสนับสนุนการบริหารจัดการโลจิสติกส์และระบบห่วงโซ่อุปทานการเกษตร ประกอบไปด้วย กลยุทธ์หลัก 3 กลยุทธ์ ได้แก่ 1.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านโลจิสติกส์การเกษตร 2.การพัฒนาระบบเครือข่ายเชื่อมโยงข้อมูลและการอำนวยความสะดวกทางการค้าและบริการสินค้าเกษตร และ 3.การปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ เพื่อเอื้อต่อการอำนวยความสะดวกทางการค้าและบริการสินค้าเกษตร

ทั้งนี้ การกำหนดแผนงานและงบประมาณในแต่ละยุทธศาสตร์นั้น จะต้องมีความสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2556–2560) ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ(กบส.) ดังนั้น ได้มอบหมายให้แต่ละงานทบทวนแผนงานโครงการ รวมถึงการจัดสรรงบประมาณ โดยมุ่งเป้าหมายสำคัญ คือการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์ของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรให้มีความเข้มแข็งในห่วงโซ่อุปทาน เพื่อลดต้นทุนและการสูญเสียในกระบวนการผลิต การเพิ่มโอกาสในการเก็บเกี่ยวมูลค่าเพิ่มจากโซ่อุปทาน การสร้างความร่วมมือในโซ่อุปทานสินค้าเกษตรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 7 พฤศจิกายน 2556

ศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตรเผย 8 จังหวัดยังได้ผลกระทบด้านการเกษตร

ศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานสถานการณ์อุทกภัย ณ วันที่ 6พฤศจิกายน ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ 8จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี สุรินทร์ ศรีสะเกษ นครราชสีมา นครนายก สุพรรณบุรี ฉะเชิงเทรา และปราจีนบุรี ได้รับผลกระทบด้านการเกษตร ช่วงภัยวันที่ 1กันยายน 2556ถึงปัจจุบันมีพื้นที่ประสบภัยด้านการเกษตร 53จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร เชียงราย ตาก เชียงใหม่ นครสวรรค์ แพร่ พะเยา พิจิตร น่าน เลยพิษณุโลก เพชรบูรณ์ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน สุโขทัย อุทัยธานี กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด สระบุรี หนองบัวลำภู มุกดาหาร ยโสธร ศรีสะเกษ สุรินทร์ หนองคาย อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ชัยนาท พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สิงห์บุรี เพชรบุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง นนทบุรี ปทุมธานี จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี นครนายก ปราจีนบุรี ระยอง สระแก้ว กาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรปราการ ประจวบคีรีขันธ์ และพังงา ด้านพืช 50จังหวัด เกษตรกร 551,020ราย พื้นที่ประสบภัย 5,641,011ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 4,323,698ไร่ พืชไร่ 1,147,459ไร่ พืชสวนและอื่นๆ 169,590ไร่

ด้านประมง 36จังหวัด เกษตรกร 52,535ราย พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำประสบภัย 86,648ไร่ (ปลา 76,583ไร่ กุ้ง/ปู/หอยทะเล 10,065ไร่) กระชัง/บ่อซีเมนต์ 14,128ตารางเมตร

ด้านปศุสัตว์ 36 จังหวัด เกษตรกร 71,027 ราย สัตว์ได้รับผลกระทบ 4,229,571 ตัว แบ่งเป็น โค 180,547 ตัว กระบือ 30,843 ตัว สุกร 80,151 ตัว แพะ 3,580 ตัว แกะ 452 ตัว สัตว์ปีก 3,933,985 ตัว ม้า 13 ตัว แปลงหญ้า 1,339 ไร่ สัตว์ตายหรือสูญหายเบื้องต้น 255,731 ตัว แบ่งเป็น โค-กระบือ 10 ตัว สุกร 796 ตัว แพะ-แกะ 35 ตัว สัตว์ปีก 254,890 ตัว แปลงหญ้า 8 ไร่

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

เร่งตรวจสอบที่ดินส.ป.ก.

นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังลงพื้นที่

นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและมอบนโยบายเกี่ยวกับการจัดที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินรอบบริเวณมหาวิทยาลัยพะเยา ต.แม่กา อ.เมืองพะเยา จ.พะเยา แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่า จากกรณีปัญหามีการนำที่ดิน ส.ป.ก.ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งสร้างหอพักและร้านค้า รวมทั้งกรณีร้องเรียนเรื่องการบังคับให้เจ้าของที่ ส.ป.ก.เดิมสิ้นสิทธิโดยไม่ชอบธรรม การบังคับซื้อที่ ส.ป.ก.จากเกษตรกร รวมทั้งการสวมสิทธิในที่ดิน ส.ป.ก.รอบมหาวิทยาลัยพะเยานั้น ขณะนี้ได้ตั้งคณะอนุกรรมการในการตรวจสอบการใช้ประโยชน์ในเขตพื้นที่ปฏิรูปที่ดินขึ้นมาแล้ว 1 ชุด เพื่อตรวจสอบปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วนแล้ว โดยเฉพาะการเร่งตรวจสอบผู้ถือครองรายใหญ่ให้เกิดความชัดเจน โปร่งใสและเป็นธรรม นอกจากนี้ยังวางกรอบมาตรการแก้ปัญหาระยะเร่งด่วนไว้ 2 แนวทางคือ การเร่งตรวจสอบแนวเขตปฏิรูปที่ดินโดยรอบมหาวิทยาลัยและการตรวจสอบสิทธิและการทำประโยชน์ในพื้นที่รายแปลง ทั้งแปลงที่ดินที่จัดให้เกษตรกรแล้วและที่ดินคงค้างการจัดที่ดิน.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และสำนักงาน กปร.เตรียมขยายศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ธ.ก.ส.สู่ชุมชน จาก 84 แห่งเป็น 231 แห่งทั่วประเทศ

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และสำนักงาน กปร.เตรียมขยายศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ธ.ก.ส.สู่ชุมชน จาก 84 แห่งเป็น 231 แห่งทั่วประเทศ
นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และนายสุวัฒน์ เทพอารักษ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ลงนามความร่วมมือ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพและความเข้มแข็งของชุมชน ตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยจะขยายศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ธ.ก.ส. สู่ชุมชน จาก 84 แห่งเป็น 231 แห่งทั่วประเทศ เพื่อเป็นสถานที่ถ่ายทอดความรู้แก่ชุมชนและเกษตรกรในด้านต่างๆ โดยสำนักงาน กปร.สนับสนุนกิจกรรมให้ความรู้และกำหนดมาตรฐานการพัฒนาตามแนวทางพระราชดำริ ส่วน ธ.ก.ส.สนับสนุนด้านเงินทุน การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการตลาดของเกษตรอย่างครบวงจร

นอกจากนี้ ธ.ก.ส.และสำนักงาน กปร.ได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย ได้แก่ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กรมพัฒนาที่ดิน กรมป่าไม้ กรมพัฒนาชุมชน กรมส่งเสริมการเกษตร กรมปศุสัตว์ กรมวิชาการเกษตร และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จัดกิจกรรมนำเสนอผลงานการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ธ.ก.ส. 26 แห่ง วันที่ 6-8 พฤศจิกายนนี้ ที่ธ.ก.ส.สำนักงานใหญ่ บางเขน เพื่อประเมินผลการพัฒนาเปรียบเทียบกับมาตรฐาน ตลอดจนแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ในการบริหารจัดการศูนย์เรียนรู้ให้มีมาตรฐานสอดคล้องกับสังคม เพื่อเพิ่มความยั่งยืนให้แก่เกษตรกรและชุมชน

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

วาง3ยุทธศาสตร์จักรกลเกษตร เดินหน้าผลักดันไทยศูนย์กลางอาเซียน

นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันการทำการเกษตรของไทยมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบจากเดิมที่มีการทำการเกษตรเพื่อความอยู่รอด มาเป็นการทำการเกษตรเพื่อธุรกิจการค้าและอุตสาหกรรมมากขึ้น ประกอบกับอัตราค่าจ้างแรงงานมีราคาสูงขึ้นและหาแรงงานยาก เนื่องจากปัญหาประชากรที่อยู่ในภาคการเกษตรลดจำนวนลง กระทรวงเกษตรฯ จึงมีนโยบายส่งเสริมและพัฒนาการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรและอุปกรณ์การเกษตร เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยกำหนดยุทธศาสตร์สำคัญ 3 ด้าน เพื่อผลักดันและส่งเสริมให้มีการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในภาคการเกษตรของประเทศให้สูงขึ้น โดยยุทธศาสตร์ดังกล่าวประกอบด้วย 1.ยุทธศาสตร์ด้านนโยบาย ปรับแก้กฎ ระเบียบ นโยบาย รวมถึงวิธีปฏิบัติเพื่อให้เหมาะสมสำหรับการส่งเสริมอุตสาหกรรมการเกษตรของไทย 2.ยุทธศาสตร์ด้านการวิจัยและพัฒนา มุ่งต่อยอดองค์ความรู้ไปสู่อุตสาหกรรม จนถึงการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อการเกษตร 3.ยุทธศาสตร์ด้านการส่งเสริมและพัฒนาส่งเสริมการใช้ภายในประเทศ และการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรให้เป็นศูนย์กลางเครื่องจักรกลของอาเซียน ซึ่งมั่นใจว่าประเทศไทยมีความพร้อมและศักยภาพในการผลิตและพัฒนาเครื่องจักรกลการเกษตรส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้

ทั้งนี้ การผลิต การบริโภค และการตลาด ของเครื่องจักรกลทางการเกษตรและอุปกรณ์การเกษตร ระหว่างปี 2550-2553 พบว่าการผลิตภายในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.68 ต่อปี จากมูลค่า 16,000 ล้านบาท เป็น 25,300 ล้านบาท การบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.22 ต่อปี จากมูลค่า 32,000 ล้านบาท เป็น 46,700 ล้านบาท มูลค่าการค้าเครื่องจักรกลการเกษตรของไทย ในปี 2553 มูลค่า 42,400 ล้านบาท แบ่งเป็นการนำเข้า มูลค่า 31,900 ล้านบาท ได้แก่ แทรกเตอร์เพื่อการเกษตร เครื่องสูบน้ำ เครื่องเกี่ยวนวดข้าว เครื่องฉีดพ่นทางการเกษตร และเครื่องคัดแยกขนาด และการส่งออก 10,500 ล้านบาท ได้แก่ แทรกเตอร์เดินตาม เครื่องสีและขัดธัญพืช แทรกเตอร์เพื่อการเกษตร เครื่องสูบน้ำ และเครื่องเกี่ยวนวดข้าว เป็นต้น

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

เปิดมิติใหม่นวัตกรรมไทยเข้มแข็ง นำร่องภาคเกษตร และโลจิสติกส์ - หลากเรื่องราว

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ผนึกความร่วมมือกับการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD–อังค์ถัด) จัดทำมาตรการส่งเสริมการพัฒนาระบบนวัตกรรมไทยให้เข้มแข็ง ขานรับยุทธศาสตร์ประเทศเน้นสร้างงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มศักยภาพของประเทศให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น และส่งเสริมการเติบโตอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นำร่องศึกษาและพัฒนามาตรการส่งเสริมนวัตกรรมในภาคการเกษตร ระบบรางและโลจิสติกส์

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ เลขาธิการ สวทน. เปิดเผยว่า สวทน. ได้ร่วมมือกับอังค์ถัด ซึ่งเป็นหน่วยงานของสหประชาชาติที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลเรื่องการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม การลงทุน และการพัฒนาองค์กรธุรกิจ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ดำเนินโครงการวิเคราะห์และทบทวนนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของไทย โดยประยุกต์กรอบการวิเคราะห์และทบทวนนโยบาย วทน. ของอังค์ถัด มาใช้ปรับปรุงนโยบายและแผน วทน. แห่งชาติให้เป็นสากลและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยเราจะนำร่องการศึกษาเพื่อพัฒนามาตรการส่งเสริมนวัตกรรมใน 2 ภาคส่วนสำคัญของไทย คือ ภาคการเกษตร และระบบรางและโลจิส ติกส์ ทาง สวทน. คาดหวังว่า ครั้งนี้จะเป็นโอกาสที่ทำให้หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ 20 กระทรวง เอกชน กลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ มีความตื่นตัวขึ้น เนื่องจากคนนอกมาบอกเราว่าของเรามีดีตรงไหน เรามีของดีแต่เราไม่ได้ใช้ หรือเราทำช้าไป หรือเราไม่ร่วมมือกัน ที่สำคัญคือจะสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลปัจจุบันที่ต้องการให้มีการลงทุนในการวิจัยมากขึ้น ตรงนี้ก็จะเป็นรูปธรรมชิ้นหนึ่งที่จะไปนำเสนอต่อรัฐบาลได้ว่านี่คือวิธีที่เขาคิดว่า เราน่าจะทำ หลังจากนั้นเราก็จะนำไปทำรายละเอียดต่อได้

นายเอนเฮล กอนสาเลซ สานซ์ (Mr. Angel Gonzalez Sanz) ผู้เชี่ยวชาญและหัวหน้าคณะนักวิจัยจากอังค์ถัด กล่าวว่า อังค์ถัดได้พัฒนากรอบการวิเคราะห์และทบทวนนโยบาย วทน. เพื่อสนับสนุนการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ผ่านกลไกการจัดทำนโยบายและแผน วทน. ที่เชื่อมโยงและสอดคล้องกับนโยบายและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ รวมถึงการวิเคราะห์/ทบทวน/ประเมินผล และปรับปรุงนโยบายและแผน วทน. ให้ทันสมัยสอดคล้องกับบริบทของการพัฒนาประเทศ และพลวัตของการค้าและการพัฒนาของโลก การดำเนินงานเน้นการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ในระบบนวัตกรรมของประเทศ (National Innovation System) ผ่านกระบวนการปรึกษาหารือ และการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เพื่อร่วมกันจัดลำดับความสำคัญของการปฏิบัติตามนโยบาย อันจะนำไปสู่การวางกลยุทธ์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

ผลจากการวิเคราะห์ข้อมูลและการประมวลข้อเสนอแนะนโยบายต่าง ๆ จะบันทึกไว้ในรูปแบบของรายงานบทปริทัศน์ด้าน วทน. (STI Policy Review Report) ซึ่งรัฐบาลสามารถนำไปพิจารณาใช้เป็นกรอบอ้างอิงในการกำหนดนโยบายและแผนปฏิบัติงานด้าน วทน. ในอนาคต โดยที่ผ่านมา อังค์ถัดได้จัดทำบทวิเคราะห์ดังกล่าวให้กับประเทศต่าง ๆ มาแล้วทั้งสิ้น 11 ประเทศ และอยู่ระหว่างรับเรื่องคำร้องขอจัดทำการศึกษาจากอีก 7 ประเทศ

สำหรับประเทศไทยนั้น ผู้เชี่ยวชาญและหัวหน้าคณะนักวิจัยจากอังค์ถัด แสดงความเห็นว่า จากการที่ได้พูดคุยกับคนไทย กับหน่วยงานต่าง ๆ ปรากฏว่าจริง ๆ แล้วประเทศไทยก็มีของดี มีนโยบายที่เขียนไว้ดีแล้ว มีหน่วยงาน สถาบันการศึกษาที่มีความสามารถ และระบบเกษตรที่ใหญ่พอสมควร แต่มีบางจุดที่ไทยอาจจะมองข้ามไปหรือทำน้อยเกินไป เช่น ไม่เก่งในเชิงปฏิบัติ คือ คนไทยจะคิดเก่งแต่ทำไม่เก่งเท่าที่คิด ขาดการประสานงานที่ดีระหว่างหน่วยงาน ทำให้ไม่สามารถผลิตผลผลิตที่ดีออกมาได้ และแม้ว่าคนไทยจะมีทรัพยากรพอที่จะลงทุนในการสร้างความรู้มากกว่าที่เป็นอยู่ แต่กลับลงทุนน้อย ความรู้ในโลกสมัยใหม่ ต้องเป็นความรู้ที่นำไปสู่นวัตกรรมใหม่ ๆ การที่จะย่ำตามรอยเดิม ๆ จะช้าไปและอาจไม่มีประสิทธิผลเท่ากับสิ่งที่เราลงแรงไป

...ฉะนั้นการที่จะทำโดยใช้เงื่อนไขใหม่ ๆ สังคมไทยต้องตื่นตัว และยอมรับการเปลี่ยนแปลง ถ้าแก้ไขในจุดเหล่านี้ได้ เชื่อว่าประเทศไทยจะทำอะไรได้มากกว่าที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วทน. ต้องคำนึงถึงว่าจะก้าวกระโดดต่อไปอย่างไร จะเพิ่มโอกาสให้ลูกหลานได้อย่างไร โดยใช้สิ่งดี ๆ ที่เมืองไทยมีอยู่ ทำให้มันดีขึ้นและลงทุนให้มากขึ้น.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ลดดอกเบี้ยจูงใจโซนนิ่ง ยุคลคัดพืชนำร่อง 6 ชนิด

′ยุคล′ ยันรัฐบาลหนุนเกษตรกรเข้าโซนนิ่งทุกด้าน ประกาศกฎกระทรวงแล้ว 15 ชนิด ปี 2557 นำร่องพืช 6 ชนิด

เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันกระทรวงเกษตรฯได้ประกาศพื้นที่โซนนิ่งเกษตรเป็นกฎกระทรวงแล้วจำนวน 15 ชนิด แบ่งเป็นพืช 8 ชนิด ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน อ้อยโรงงาน ข้าวโพด ยางพารา สับปะรดโรงงาน และลำไย ปศุสัตว์ 5 ชนิด ได้แก่ โคเนื้อ โคนม สุกร ไก่เนื้อ ไก่ไข่ ประมง 2 ชนิด ได้แก่ เพาะเลี้ยงกุ้งทะเล และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด ส่วนสินค้าเกษตรอีก 5 ชนิด ต้องรอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวบรวมพื้นที่ที่เหมาะสมมาประกอบประกาศกระทรวงอีกครั้ง สำหรับการเพาะปลูกเดิมในพื้นที่ที่ประกาศโซนนิ่งจะเป็นอย่างไรนั้น จะได้รับความชัดเจนในวันที่ 15 พฤศจิกายน

นายยุคลกล่าวว่า เพื่อให้เห็นผลอย่างชัดเจน ในปี 2557 จะใช้พืช 6 ชนิดนำร่อง ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน อ้อยโรงงาน ข้าวโพด ยางพารา โดยเน้นการเปลี่ยนจากการปลูกข้าวมาเป็นปลูกอ้อยที่คาดว่าจะสำเร็จได้ในปี 2557 ส่วนปี 2558 ต้องดูแผนที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเสนอมา สำหรับเขตเหมาะสมต่อการปลูกข้าวมีทั้งสิ้น 76 จังหวัด 809 อำเภอ 5,880 ตำบล แบ่งเป็น ภาคเหนือ 17 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ภาคกลาง 19 จังหวัด ภาคตะวันออก 7 จังหวัด และภาคใต้ 13 จังหวัด เขตเหมาะสมสำหรับการปลูกอ้อยโรงงาน 51 จังหวัด 432 อำเภอ 2,369 ตำบล แบ่งเป็น ภาคกลาง 11 จังหวัด ภาคตะวันออก 6 จังหวัด ภาคเหนือ 14 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด เขตเหมาะสมสำหรับการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รวมทั้งสิ้น 42 จังหวัด แบ่งเป็น ภาคเหนือ 17 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12 จังหวัด ภาคกลาง 7 จังหวัด ภาคตะวันออก 6 จังหวัด

"พื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับปลูกยางพารามีทั้งสิ้น 68 จังหวัด 499 อำเภอ 2,251 ตำบล แบ่งเป็น ภาคกลาง 8 จังหวัด ภาคตะวันออก 7 จังหวัด ภาคเหนือ 17 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด และภาคใต้ 14 จังหวัด เขตเหมาะสมสำหรับการปลูกมันสำปะหลังมีทั้งสิ้น 49 จังหวัด 478 อำเภอ 2,314 ตำบล แบ่งเป็น ภาคกลาง 9 จังหวัด ภาคตะวันออก 6 จังหวัด ภาคเหนือ 14 จังหวัด และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด และสุดท้ายคือเขตเหมาะสมสำหรับการปลูกปาล์มน้ำมัน มีทั้งสิ้น 26 จังหวัด 185 อำเภอ 856 ตำบล แบ่งเป็น ภาคกลาง 5 จังหวัด ภาคตะวันออก 7 จังหวัด และภาคใต้ 14 จังหวัด" นายยุคลกล่าว

นายยุคลกล่าวว่า สำหรับมาตรการสนับสนุนนั้น รัฐบาลจะช่วยเหลือด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น หากพื้นที่โซนนิ่งยังขาดด้านชลประทาน กรมชลประทานพร้อมสนับสนุน รวมทั้งจะช่วยเหลือและให้ความรู้ทางวิชาการที่เป็นประโยชน์กับเกษตรกรที่หันมาปลูกพืชตามคำแนะนำ สนับสนุนเมล็ดพันธุ์ หาตลาดที่มีความต้องการตรงกับผลผลิตที่ได้ ส่วนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พร้อมที่จะลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้ลูกหนี้ที่หันมาปลูกพืชตามเขตโซนนิ่ง

นายยุคลกล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กรมวิชาการเกษตรได้จัดทำแนวทางดำเนินการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตปาล์มน้ำมัน โดยการกำหนดเป้าหมายในการขับเคลื่อนนโยบายการบริหารจัดการเขตเกษตรเศรษฐกิจ หรือโซนนิ่งปาล์มน้ำมันในพื้นที่นำร่อง 3 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี ที่มีความพร้อมในการจัดโซนนิ่ง เนื่องจากมีโรงงานแปรรูปและพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน โดยจะจัดระบบปาล์มน้ำมัน ลดต้นทุนการผลิต ดูแลพันธุ์ปาล์ม จัดทำมาตรฐานทลายปาล์มน้ำมัน และการรับซื้อปาล์มน้ำมันตามคุณภาพผลผลิต และโรงงานอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันที่ไม่ก่อให้เกิดของเสีย โดยใช้เครื่องจักรกลเกษตรเป็นตัวดำเนินการ ซึ่งได้นำเสนอผ่านคณะอนุกรรมการปาล์มน้ำมันแล้ว และจะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายน้ำมันปาล์มแห่งชาติ (กนป.) ที่มีนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานเพื่อพิจารณาต่อไป

นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กล่าวว่า การทำโซนนิ่งพืชพันธุ์ และการเกษตร ที่ทางคณะกรรมการภูมิสารสนเทศแห่งชาติเป็นผู้ดำเนินการนั้น ไม่ได้กำหนดความเหมาะสมของเพียงแค่พื้นที่ ภูมิอากาศ และเรื่องดินเท่านั้น โดยปัจจัยเรื่องความเหมาะสมในที่ดิน

นายอานนท์กล่าวว่า การโซนนิ่งนั้นไม่ใช่เรื่องที่สำคัญที่สุด แต่จะเอาความเหมาะสมที่ดีที่สุดในทุกด้านมาทับซ้อนกัน โดยเอาทั้งหลักการด้านวิทยาศาสตร์และด้านสังคมมาใช้ เพื่อให้ตัวเกษตรกรในพื้นที่นั้นๆ ได้รับประโยชน์สูงสุด อย่างไรก็ตาม ในส่วนของจิสด้านั้นไม่ได้มีหน้าที่ที่จะขับเคลื่อน หรือชักจูงให้เกษตรกรปฏิบัติตาม แต่จะทำข้อมูลที่ดีที่สุด เหมาะสมที่สุด และเป็นปัจจุบันที่สุดให้หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงนำไปใช้

"เวลานี้เรามีข้อมูลทุกอย่างทุกด้านพร้อมทั้งหมดแล้ว และสิ่งที่จะต้องทำต่อไปคือ การเอาข้อมูลทั้งหมดมาซ้อนกัน แล้ววิเคราะห์ สังเคราะห์ว่า แต่ละพื้นที่มีปัญหาอะไร ควรจะปลูกพืชชนิดไหนให้ได้รับประโยชน์สูงสุดและเหมาะสมมากที่สุด โดยเวลานี้พืชหลักมีปัญหาปลูกมากเกินไป และสามารถปรับเปลี่ยนไปปลูกในพื้นที่อื่นๆ ได้ 6 ชนิด คือ ข้าว ข้าวโพด อ้อย มัน ยาง และปาล์ม และมีพืชและการเลี้ยงสัตว์อื่นๆ ที่เป็นทางเลือก เพราะในตลาดทั้งในและนอกประเทศยังมีความต้องการสูง เช่น กาแฟ หญ้าเนเปีย สับปะรด ลำไย กุ้งขาว และมันฝรั่ง" นายอานนท์กล่าว และว่า ประเทศไทยมีพื้นที่สำหรับทำการเกษตรประมาณ 150 ล้านไร่ แต่ละแห่งมีข้อได้เปรียบ เสียเปรียบ และมีปัญหาต่างกัน หลังจากนี้ก็จะมีการประเมิน วิเคราะห์ สังเคราะห์ โดยการเอาข้อมูลทั้งหมดมาทับซ้อนกัน เข้าไปคุยกับเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดนำร่องเพิ่มเติม แล้วจะออกมาว่า แต่ละพื้นที่ที่เห็นว่ามีปัญหาควรจะแก้ไขอย่างไร ในทิศทางใด

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ก.เกษตรฯเตรียมจัดงาน'ชุมนุมยุวเกษตรกรโลก'

ก.เกษตรฯเตรียมจัดงาน'ชุมนุมยุวเกษตรกรโลก' ครั้งที่ 10 World IFYE Conference 2013 ระหว่างวันที่ 11 – 18 พฤศจิกายนนี้

5พ.ย.2556 นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การจัดงานชุมนุมยุวเกษตรกรโลก ครั้งที่ 10 พ.ศ. 2556 หรือ 10th World IFYE Conference 2013 ในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทย ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพ ภายใต้วัตถุประสงค์ ในการจัดงานคือ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ของภาคการเกษตรระหว่างประเทศสมาชิกด้วยกัน รวมทั้งเสริมสร้างเครือข่ายและความสัมพันธ์อันดีในการพัฒนายุวเกษตรกรระหว่างประเทศสมาชิก IFYE และประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ชื่อเสียงของประเทศไทยไปพร้อมกัน

การจัดงานดังกล่าว สืบเนื่องมาจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกมีการส่งเสริมและพัฒนายุวเกษตรกร เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ ต่อไปในอนาคต และส่วนหนึ่งของการดำเนินการพัฒนายุวเกษตรกร คือ การสร้างเครือข่าย ยุวเกษตรกรระหว่างประเทศภายใต้โครงการแลกเปลี่ยนยุวเกษตรกรระหว่างประเทศ หรือ International Farm Youth Exchange (IFYE) ซึ่งผู้ที่ผ่านการแลกเปลี่ยนยุวเกษตรกรของประเทศต่างๆ ได้มีการรวมตัวกันเป็นสมาคม IFYE Association ระดับประเทศและระดับภูมิภาค และมีการจัดประชุมสัมมนาระดับภูมิภาคและระดับโลกเป็นประจำ เพื่อสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน

สำหรับกิจกรรมต่างๆ ภายในงาน แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 ด้านวิชาการ ประกอบด้วย นิทรรศการของผู้แทนประเทศไทย และต่างประเทศ กิจกรรมการแข่งขันทางการเกษตรของผู้แทนยุวเกษตรกร จาก 77 จังหวัด การศึกษาดูงานและสัมผัสวัฒนธรรมชนบท (Homestay) และ 2. ดูงานพิพิธภัณฑ์กลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนพรหมานุเคราะห์ อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา และประการสำคัญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาเป็นประธานในพิธีเปิด และทรงบรรยายพิเศษ เรื่อง “ยุวเกษตรกรของประเทศไทย” หลังจากนั้น จะทรงเสด็จทอดพระเนตรนิทรรศการ

“การประชุมในครั้งนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์ด้านความร่วมมือในการกำหนดแนวทางการพัฒนายุวเกษตรกรของประเทศต่างๆ ในอนาคต ตลอดจนการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ เกิดมิตรภาพระหว่างสมาชิกยุวเกษตรกรของประเทศต่างๆ ที่สำคัญ คือ เป็นการเสริมสร้างบทบาทและชื่อเสียงของประเทศไทยด้านการพัฒนายุวเกษตรกรในเวทีระดับโลก ถือว่าเป็นการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทย การประชุมดังกล่าวจะเป็นอีกก้าวสำคัญของการพัฒนางานยุวเกษตรกรของประเทศไทย เกิดความตระหนักถึงความสำคัญของยุวเกษตรกรที่มีต่อการพัฒนาภาคการเกษตรและสังคมอย่างมีส่วนร่วม” นายวราเทพ กล่าว

นาย โอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดงานชุมนุมยุวเกษตรกรโลก ครั้งที่ 10 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 1,000 และผู้แทนต่างประเทศที่เป็นสมาชิกกว่า 20 ประเทศ ประมาณ 300 คน ภายในงานนอกจากมีการประชุมสัมมนาสมาชิก IFYE ผู้แทนประเทศ ของแต่ละภูมิภาค และระหว่างภูมิภาคร่วมกัน 7 ภูมิภาคของโลกแล้ว ยังมีการจัดกิจกรรมต่างๆ อาทิ การจัดนิทรรศการแสดงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้านเศรษฐกิจพอเพียง และพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้านการพัฒนายุวเกษตรกรในประเทศไทย นิทรรศการเกี่ยวกับงานยุวเกษตรกรและ IFYE ของแต่ละประเทศ ที่เดินทางมาร่วมงาน รวมไปถึงกิจกรรมวิชาการและนวัตกรรมใหม่ๆ ด้านการเกษตร

อย่างไรก็ตาม การจัดงานดังกล่าวจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 11 – 18 พฤศจิกายน 2556 ณ โรงแรม แอมบาสเดอร์ซิตี้ จอมเทียน จังหวัดชลบุรี และจะมีพิธีเปิดงานในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2556 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ประชุมเอเปกหนุนเปิดค้าเสรี

นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในการร่วมประชุมรัฐมนตรีเอเปก ครั้งที่ 25 ณ เมืองบาหลี ประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซีย รัฐมนตรีด้านการค้าได้ประชุมหารือถึงเรื่องการเจรจาในองค์การการค้าโลก (WTO) รอบโดฮา

โดยเอเปกต้องการให้การประชุมรัฐมนตรี WTO ครั้งที่ 9 (MC 9) เดือนธันวาคมนี้ ณ บาหลี ประสบผลสำเร็จ โดยมี “Bali Package” คือ สามารถมีข้อตกลงในบางเรื่องได้ก่อนเช่น การอำนวยความสะดวกทางการค้าเกษตร และประเด็นผลประโยชน์ของประเทศพัฒนาน้อยที่สุด

“ซึ่งไทยพร้อมร่วมผลักดันให้การประชุม MC 9 สำเร็จ เพราะมองว่าเป็นก้าวสำคัญในการผลักดันให้การเจรจารอบโดฮาเดินหน้าและบรรลุผล โดยไทยเรียกร้องให้สมาชิกแสดงความยืดหยุ่นในการเจรจา เพื่อลดช่องว่างระหว่างท่าทีที่แตกต่างกันลงมา” รมว.พาณิชย์ กล่าว

นายนิวัฒน์ธำรง กล่าวว่า ประเด็นหลักของปี 2556 ประกอบไปด้วยเรื่องการบรรลุเป้าหมายโบกอร์ เพื่อเปิดเสรีการค้าการลงทุนในภูมิภาค ภายในปี 2563 โดยเน้นการเจริญเติบโตอย่างเท่าเทียม ลดช่องว่างการพัฒนาของสมาชิก เช่น มาตรการภาษี มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (NTMs) และการร่วมกันต่อต้านมาตรการกีดกันทางการค้าทุกรูปแบบ รวมถึงการลดภาษีสินค้าสิ่งแวดล้อมให้เหลือไม่เกิน 5% ภายในปี 2558

ซึ่งไทยเห็นว่าปัจจุบันมีการนำ NTMs มาใช้เพื่อกีดกันทางการค้า จึงหนุนให้มีกลไกเสริมสร้างความโปร่งใสของ NTMs เพื่อให้การนำมาใช้มีเหตุผลอันชอบธรรม และเกิดผลกระทบน้อยที่สุดต่อการค้า รวมทั้งสนับสนุนเรื่องการลดภาษีสินค้าสิ่งแวดล้อมของเอเปก 54 รายการ ให้เหลือไม่เกิน 5% ภายในปี 58 ด้วย อีกเรื่องคือการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยความเท่าเทียม เน้นความสำคัญบทบาทของสตรี และ SMEs รวมทั้งเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของสตรีในระบบเศรษฐกิจ และการเพิ่มขีดความสามารถ

โดยทางการแข่งขันของ SMEs รวมถึงเรื่องความมั่นคงทางอาหาร พลังงาน และสาธารณสุข ซึ่งไทยได้สนับสนุนการมีส่วนร่วมของเกษตรกรในเวทีเอเปก ความมั่นคงด้านน้ำ พร้อมทั้งยืนยันให้ที่ประชุมทราบว่ารัฐบาลไทยมีแผนการลงทุนบริหารจัดการน้ำ และสนับสนุนให้เอเปกเสริมสร้างความร่วมมือด้านการจัดการน้ำให้มากขึ้น เพื่อความมั่นคงด้านน้ำในภูมิภาค และการพัฒนาภาคเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

เตรียมพร้อมรับมืออาเซียน เน้นควบคุมคุณภาพการผลิต

นายวินัย กสิรักษ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในอีก 2 ปีที่จะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)

นายวินัย กสิรักษ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในอีก 2 ปีที่จะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ส่วนของสหกรณ์ซึ่งเป็นองค์กรธุรกิจที่มีอยู่ด้วยกัน 7 ประเภทนั้น กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้เตรียมความพร้อมในการดูแลสหกรณ์ทุกประเภท โดยเฉพาะสหกรณ์การเกษตรที่มีการผลิตสินค้าทั้งพืชและสัตว์ที่จะต้องแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน กรมฯ จะดูแลตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำจนถึงปลายน้ำ มุ่งเน้นเรื่องคุณภาพสินค้าเป็นหลักสำคัญ

ในส่วนของต้นน้ำกรมฯ จะเป็น Smart Officer สร้างเจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์ที่สามารถเข้าไปถ่ายทอดความรู้ด้านต่าง ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมสมาชิกสหกรณ์ให้เป็น Smart Farmer ที่มีองค์ความรู้ในการผลิตสินค้า คือผลิตสินค้าตามความต้องการของตลาดเพื่อให้ขายได้ และต้องเข้าสู่ระบบมาตรฐาน เช่น สหกรณ์ผู้ปลูกผลไม้จังหวัดจันทบุรี ต้องผลิตผลไม้ที่มีคุณภาพผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP จากกรมวิชาการเกษตร ไม่ว่าจะผลิตเพื่อการส่งออกหรือเพื่อบริโภคภายในประเทศก็ต้องดูแลให้ได้มาตรฐานเหมือนกัน ส่วนกลางน้ำต้องดูแลเรื่องโรงงานแปรรูป โรงคัดบรรจุที่ได้มาตรฐาน GMP หรือ ISO และปลายน้ำเป็นเรื่องคุณภาพสินค้าที่ผลิตออกมาจะต้องได้รับการรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ กรมฯ ยังให้การรับรองสินค้ามาตรฐานสหกรณ์ หรือ สมส. เพื่อเป็นการรับรองความยั่งยืนของกลุ่มที่ทำการผลิตสินค้าคุณภาพ โดยมีระยะเวลารับรอง 3 ปี ถ้าไม่รักษาคุณภาพให้ดีตามเงื่อนไขที่กำหนด จะถอนใบรับรองดังกล่าว ทั้งนี้ สมส. จะดูแลทั้งการควบคุมทางด้านบัญชี ความต่อเนื่องของสินค้า ผลประโยชน์ที่สมาชิกจะได้รับ และความปลอดภัยของผู้บริโภคด้วย อย่างไรก็ดี สิ่งที่กรมฯ มุ่งหวังคือการสอนให้คนช่วยกันรับผิดชอบ เพราะสหกรณ์คือการรวมคนทำงานร่วมกัน ถ้าไม่มีความรับผิดชอบร่วมกันกลุ่มนั้นก็อยู่ไม่ได้ หรือถ้ามีบุคคลใดบุคคลหนึ่งเอาเปรียบก็อยู่ไม่ได้เช่นกัน.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

สศข.2เปิดผลสำรวจ ปั้นเกษตรกรรุ่นใหม่ มั่นใจยกระดับธุรกิจ

นายชวพฤฒ อินทรเทศ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 2 พิษณุโลก (สศข.2) เปิดเผยผลการติดตามความสำเร็จของการดำเนินงานโครงการสร้างและพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จังหวัดพิษณุโลก โดยสำรวจผู้ผ่านการอบรมตามโครงการปี 2556 จำนวน 110 คน พบว่า ในภาพรวมผู้เข้าอบรมร้อยละ 99 มีความพึงพอใจในระดับมาก และเห็นว่าเนื้อหาการอบรมตรงตามความต้องการ และสามารถนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ได้ อีกทั้งยังเพิ่มขีดความสามารถและเพิ่มโอกาสด้านการผลิต ส่งผลให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

นอกจากนี้ พบว่า ผู้ผ่านการอบรมได้มีการรวมกลุ่มนำความรู้จากการอบรมไปดำเนินงานต่อถึงร้อยละ 79 และร้อยละ 93 มีการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในแปลงเกษตรเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม จากผลการติดตาม สศข.2 มีความเห็นว่า ควรเน้นการส่งเสริมแบบยั่งยืนที่ต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ที่ได้รับการอบรม สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปปฏิบัติหรือถ่ายทอดให้กับผู้อื่นได้ โดยเน้นการถ่ายทอดความรู้และสนับสนุนปัจจัยการผลิตตามความเหมาะสมรวมทั้งสำรวจความต้องการของกลุ่มเป้าหมายเพื่อให้ผู้ที่ต้องการเข้าร่วมอบรมได้รับความรู้อย่างทั่วถึง และสนับสนุนปัจจัยการผลิตแก่ผู้ผ่านการอบรม ที่มีความต้องการปัจจัยการผลิตให้สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง ตลอดจนสนับสนุนและประสานด้านการตลาด เพื่อรองรับผลผลิตของผู้ที่นำความรู้ไปปฏิบัติเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรต่อไป

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ทั่วโลกแห่งัดมาตรการคุ้มครองการค้า สศก.เตือนกระทบไทย-WTOเร่งถกอุดช่องว่าง

นายคนิต ลิขิตวิทยาวุฒิ รองเลขาธิการและรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า คณะกรรมาธิการยุโรปได้นำเสนอรายงานเกี่ยวกับมาตรการคุ้มครองทางการค้า ที่รัฐบาลประเทศต่างๆ มีการดำเนินการอย่างแพร่หลายในช่วงวิกฤติทางการเงินและเศรษฐกิจช่วงระหว่าง 1 พฤษภาคม 2555 - 31 พฤษภาคม 2556 (Tenth report on potentially trade-restrictive measures identified in the context of the financial and economic crisis 1 May 2012 - 31 May 2013) โดยระบุว่า ในช่วงปีที่ผ่านมา หลายประเทศทั่วโลก มีการใช้มาตรการปกป้องทางการค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ หรือ BRICS ประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ เป็นกลุ่มที่ใช้มาตรการดังกล่าวมากที่สุด ซึ่งในช่วงระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา มีการใช้มาตรการคุ้มครองทางการค้าใหม่ๆ มากถึง 154 มาตรการ และตั้งแต่เดือนตุลาคม 2551 จนถึงปัจจุบัน และมีการใช้มาตรการคุ้มครองทางการค้ารวมเกือบ 700 มาตรการ

สำหรับรูปแบบของมาตรการคุ้มครองการค้าที่ถูกนำมาใช้ ได้แก่ กฎระเบียบการนำเข้าสินค้า ข้อกำหนดให้ใช้สินค้าในชาติ การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ มาตรการกีดกันการบริการและการลงทุน มาตรการจำกัดการส่งออก เป็นต้น ทั้งนี้ อาร์เจนตินา รัสเซีย แอฟริกาใต้ อินโดนีเซีย และบราซิล จะใช้มาตรการการขึ้นภาษีนำเข้าในอัตราที่สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบราซิล มีการใช้มาตรการกีดกันที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐมากกว่าหนึ่งในสามของมาตรการคุ้มครองทางการค้า ซึ่งเป็นการจงใจป้องกันอุตสาหกรรมภายในประเทศไม่ให้สินค้าจากต่างประเทศเข้ามามีส่วนแบ่งหรือยึดครองตลาดภายในประเทศ

รองเลขาธิการฯ สศก. กล่าวต่อไปว่า นายโรแบร์โต อาเซเวโด ผู้อำนวยการองค์การการค้าโลกคนใหม่ ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับลัทธิกีดกันทางการค้าว่า ปัจจุบันการปกป้องทางการค้าได้เพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ และค่อยๆ เพิ่มทีละนิด แต่จะมีรูปแบบที่แตกต่างกัน โดยจะมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น ยากแก่การตรวจสอบ ซึ่งจะไม่เห็นการใช้มาตรการทางภาษีและการอุดหนุนการส่งออกโดยตรงอีกต่อไป เพราะจะขัดกับพันธกรณีที่มีอยู่ และอาจถูกตอบโต้ได้ ทำให้ประเทศต่างๆ ได้ปรับเปลี่ยนวิธีหรือรูปแบบการใช้มาตรการปกป้องการค้าแบบแอบแฝงมากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงข้อบังคับและการถูกลงโทษโดยองค์การการค้าโลก (WTO)

ดังนั้น ประเทศไทยในฐานะผู้ส่งออกสินค้าเกษตร จึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าเหล่านี้ได้ ซึ่งภาครัฐและเอกชนนั้นต้องทำงานร่วมกันแบบบูรณาการ คอยติดตามสถานการณ์ และนโยบายของประเทศคู่ค้าต่างๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถปรับตัวและหาแนวทางลดผลกระทบได้ทัน อย่างไรก็ตาม สำหรับบทบาทของ WTO ในเรื่องดังกล่าว ผู้อำนวยการองค์การการค้าโลกได้เรียกร้องให้ประเทศสมาชิก WTO ยกระดับข้อบังคับของ WTO เพื่อแก้ปัญหาการกีดกันทางการค้าที่ซับซ้อน เพื่อให้เกิดการแข่งขันเสรีอย่างแท้จริง ทั้งนี้ การประชุมรัฐมนตรีขององค์การการค้าโลก สมัยสามัญ ครั้งที่ 9 ณ ประเทศอินโดนีเซีย ที่จะจัดขึ้นสิ้นปี 2556 นี้ จะเป็นการพิสูจน์บทบาทของ WTO ในอนาคต ว่าจะอุดช่องโหว่การใช้มาตรการปกป้องที่แอบแฝงเหล่านี้ได้หรือไม่ต่อไป

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

จ่อเคาะราคาอ้อยกลางพ.ย.นี้

'เกษตร' เดินแผน 9 โครงการภายใต้งบ 57 กว่า 8 หมื่นล. สั่งหน่วยงานในสังกัดกำหนดแผนปฏิบัติการชัดเจน ด้าน กบ.เตรียมเคาะราคาอ้อยขั้นต้นกลางเดือนพ.ย. คาดต่ำกว่าปีก่อน

4 พ.ย. 56 นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้รับการจัดสรรงบประมาณประจำปี 2557 จำนวนทั้งสิ้น 80,411.38 ล้านบาท แบ่งเป็นงบดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ประเทศ 5,690.59 ล้านบาท, ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล รวมถึงโครงการเพิ่มพื้นที่ชลประทานด้วย จำนวน 45,694.47 ล้านบาท, นโยบายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจภาคเกษตร 27,909.89 ล้านบาท และนโยบายการอนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 1,114.43 ล้านบาท

สำหรับแผนปฏิบัติงานแบ่งออกได้ 9 โครงการสำคัญ ประกอบด้วย 1. โครงการบริหารจัดการเขตเกษตรเศรษฐกิจสำหรับสินค้าที่สำคัญ 21 รายสินค้าทั้งด้านพืช ประมง และปศุสัตว์ 2. โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง หรือสมาร์ทฟาร์มเมอร์ 3. โครงการพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรสู่มาตรฐาน ซึ่งจะเน้นสินค้าเกษตรที่ใช้บริโภคในชีวิตประจำวัน เช่น ข้าว ผัก ไก่ สุกร และปลา 4. โครงการเมืองเกษตรสีเขียว

5. โครงการพัฒนาเป็นศูนย์กลางการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชรองรับประชาคมอาเซียน หรือฮับเมล็ดพันธุ์เขตร้อนของเอเชีย 6. โครงการเพิ่มประสิทธิภาพด่านสินค้าเกษตรชายแดนเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน 7. โครงการส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรทดแทนแรงงานเกษตร 8. โครงการเพิ่มพื้นที่ชลประทาน และ 9. โครงการพัฒนาศักยภาพของภาคเกษตรเพิ่มเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

"เพื่อให้การดำเนินโครงการต่างๆ ข้างต้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้มอบหมายให้แต่ละหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ทำแผนปฏิบัติการที่ชัดเจนในแต่ละโครงการและเป้าหมายในแต่ละคลัสเตอร์การผลิต กรอบระยะเวลาดำเนินการที่จะเริ่มเห็นผลที่ชัดเจน" นายยุคล กล่าว

ด้าน นางอรรชกา ศรีบุญเรือง อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหาร (กบ.) กล่าวว่า ราคาอ้อยขั้นต้นฤดูกาลผลิตปี 2556/57 คาดว่าจะเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และประกาศราคาอ้อยขั้นต้นได้กลางเดือนพฤศจิกายน 2556 ทั้งนี้ราคาอ้อยในตลาดโลกที่ใช้คำนวณราคาอ้อยขั้นต้นอยู่ที่ 19 เซนต์ต่อปอนด์ ถือว่าต่ำกว่าราคาที่ใช้คำนวณปีที่แล้ว ทำให้ราคาขั้นต้นปีนี้ออกมาต่ำกว่าปีที่แล้วที่อ้อยขั้นต้นอยู่ที่ 950 บาทต่อตันอ้อย ขณะที่ต้นทุนการผลิตต่อไร่ที่ใช้คำนวณอยู่ที่ 838 บาทต่อไร่ ส่วนต้นทุนที่ชาวไร่คำนวณสูงกว่าตันละ 1,000 บาทนั้น ได้รวมต้นทุนขนส่งเข้าไปด้วย ราคาดังกล่าวต้องมีการชดเชยส่วนเพิ่มให้แก่ชาวไร่อ้อยมากแค่ไหนต้องหารือขั้นตอนต่อไป

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

กรมพัฒนาที่ดินแนะการปลูกพืชเศรษฐกิจในพื้นที่ “ โซนนิ่ง” สร้างรายได้ เตรียมผลผลิตสู่ประชาคมอาเซียน

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากที่มีการวิเคราะห์พื้นที่ พบว่า ข้าวที่อยู่ในพื้นที่ๆไม่เหมาะสม ทำให้ได้ผลผลิตต่ำ ซึ่งต่างจากอ้อยบางพื้นที่ที่เหมาะต่อการปลูกอ้อยมากกว่าปลูกข้าว จึงจำเป็นต้องมีการผลักดันให้มีการปลูกอ้อยแทนมากกว่าการปลูกข้าว คือ การปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้เหมาะสมกับพืช ความเหมาะสมของดินและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีการวิเคราะห์ ในตอนนี้น้ำตาลจากอ้อยมีโอกาสขยายพื้นที่เศรษฐกิจในอาเซียนได้มาก และรายได้จากการปลูกอ้อยมีมากกว่าการปลูกข้าว จากการวิเคราะห์ทางวิชาการทั้งหมดแล้วจึงพยายามที่จะให้เกิดการขับเคลื่อนเรื่องนี้โดยเร็วที่สุด โดยฤดูกาลในการปลูกอ้อยอยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน หรือที่เรียกว่า “การปลูกข้ามแล้ง” ทำให้อ้อยมีความหวานสูงและได้น้ำตาลที่มีคุณภาพ ผลผลิตก็สูงตามด้วย ทั้งนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐบาลและภาคเอกชน จะต้องจับมือร่วมกันช่วยกันผลักดันเรื่องนี้โดยเร็ว โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดของแต่ละจังหวัดใน 33 จังหวัด เป็นประธานในการดำเนินการ ในพื้นที่ Zooning นั้นพื้นที่ปลูกอ้อยจะอยู่ใกล้โรงงานผลิตน้ำตาล ในรัศมี 50 กิโลเมตร รอบโรงงานน้ำตาล และตอนนี้มีโรงงานผลิตน้ำตาลทั้งหมด 50 โรง ในจำนวน 20 โรง มีศักยภาพในการผลิตถึง 8 แสนไร่ ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ทางภาคอิสานเเละภาคกลาง

ด้านนายอภิชาต จงสุกล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวทางการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรมเพื่อปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวที่ไม่เหมาะสมเป็นอ้อยโรงงานแทนนั้น ให้สอดคล่องกับนโยบายของรัฐบาลและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยมีเป้าหมายที่ชัดเจน โดยได้รับความร่วมมือจากกระทรวงมหาดไทย และกระทวงเกษตรและสหกรณ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การดำเนินงานเป็นไปตามแผนและคอยสนับสนุนเกษตรกรที่จะเปลี่ยนมาปลูกอ้อยแทนการปลูกข้าว อีกอย่างเป็นการแก้ปัญหาที่ดินที่ไม่เหมาะสมต่อการปลูกพืช ทำให้เกิดปัญหาดินต่างๆตามมา ในขณะนี้จังหวัดบุรีรัมย์เป็นจังหวัดแรกที่ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนนาข้าวเป็นไร่อ้อย โดยมีพื้นที่ทั้งหมด 2 หมื่นไร่ ที่ทำการปลูกอ้อยแทนการปลูกข้าวแล้ว สำหรับพื้นที่ Zooning ในจังหวัดอื่นๆนั้น กำลังมีการขับเคลื่อนของภาครัฐและเอกชนอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ทันในช่วงฤดูกาลการปลูกอ้อยที่จะมาถึงเร็วๆนี้

ทั้งนี้ กรมพัฒนาที่ดิน ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่คอยสนับสนุนให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้เหมาะสมกับพืช ตามนโยบายของรัฐบาลและเตรียมความพร้อมเพื่อก้าวสู่ประชาคมอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งกรมพัฒนาที่ดินพร้อมให้การช่วยเหลือเกษตรกรในเรื่องต่างๆของดิน เช่น การปรับปรุงบำรุงดิน ปุ๋ยอินทรีย์ชนิดต่างๆ และเทคโนโลยีชีวภาพปุ๋ย พ.ด. รวมถึงการอนุรักษ์ดินและน้ำ เป็นต้น

โดยเกษตรกรสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักวิจัยและพัฒนาการจัดการที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กทม.10900 โทร 0-2579-0111 ต่อ2248, 2250 call center 1760 และ ทางเว็บไซต์www.ldd.go.th

จาก http://www.bangkokbiznews.com    วันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

เคาะราคาอ้อยขั้นต้น900บ./ตันสอน.ยันเหมาะสมแม้ต่ำกว่าปีก่อน

นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริหาร อ้อยและน้ำตาลทราย (กบ.) ที่มีนาง อรรชกา ศรีบุญเรือง อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาห กรรม (กสอ.) เป็นประธานได้กำหนดราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2556/2557 ที่ 900 บาทต่อตันอ้อย ขณะนี้อยู่ระหว่างรับฟังความเห็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ก่อนที่จะนำเสนอต่อคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ที่มีนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานเห็นชอบ คาดว่าจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และประกาศในกลางเดือนพฤศจิกายนนี้

นางอรรชกากล่าวว่า ราคาอ้อยในตลาดโลกที่ใช้สำหรับการคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นอยู่ที่ 19 เซ็นต์ต่อปอนด์ ปรับขึ้นจากระดับต่ำสุดในช่วงกลางปีที่ 16-17 เซ็นต์ต่อปอนด์ ถือว่าต่ำกว่าราคาที่ใช้คำนวณในปีที่แล้ว ขณะเดียวกัน ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงมาอยู่ 31-32 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ทำให้ราคาขั้นต้นปีนี้ ต่ำกว่าปีที่แล้วที่ 950 บาทต่อตันอ้อย

นายสมศักดิ์ สุวัฒิกะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า หลังจาก กบ. กำหนดราคาอ้อยขั้นต้นแล้วจะเป็นขั้นตอนการเปิดประชาพิจารณ์ 10 วัน เสร็จวันที่ 6 พฤศจิกายน นำเข้าที่ประชุม กอน. ในวันที่ 7 พฤศจิกายน และนำเข้า ครม.ให้เร็วที่สุด อย่างไรก็ตาม ราคาคงไม่เปลี่ยนแปลงจากนี้แล้ว เพราะที่ประชุม กบ.มีตัวแทนจากทั้งภาครัฐ โรงงานน้ำตาล และชาวไร่อ้อย ซึ่งเห็นสอดคล้องกันว่า 900 บาทต่อตันอ้อยเป็นราคาที่เหมาะสม

นายสมศักดิ์กล่าวว่า ราคาอ้อยขั้นต้นที่ 900 บาทต่อตันอ้อยถือว่าสูงกว่าราคาที่คำนวณออกมาได้ที่ประมาณ 880 บาทต่อตันอ้อย แต่โรงงานน้ำตาลไม่ค่อยชอบเพราะมีภาระต้องกู้เงินกับธนาคารมาจ่ายชาวไร่สูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม คาดว่าสถานการณ์ความเชื่อมั่นต่ออุตสาหกรรมน้ำตาลจะดีขึ้นตามราคาในตลาดที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เพราะหลายพื้นที่เพาะปลูกเกิดภัยพิบัติ และโรงงานน้ำตาลในบราซิลมีการปิดตัวไปแล้ว 57 แห่ง ทำให้กำลังผลิตลดลง สต๊อกในตลาดโลกปัจจุบันลดลงเหลือ 3.9 ล้านตัน เทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้วที่มีอยู่ 6.5 ล้านตัน

จาก http://www.matichon.co.th วันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

คลังชง ครม.เพิ่มงบบัตรเครดิตเกษตรกร 1.4 พันล.

คลังขอเพิ่มงบโครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกรอีก 1.4 พันล้าน เพื่อชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกร รวมถึงค่าใช้จ่ายพัฒนาระบบ ตามที่ ธ.ก.ส.เสนอ...

เมื่อวันที่ 31 ต.ค. มีรายงานว่า ในการประชุม ครม.นอกสถานที่ จ.ลพบุรี วันที่ 1 พ.ย. ทางกระทรวงการคลัง เตรียมเสนอ ครม.รับทราบ โครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกรตามนโยบายรัฐบาล และขอความเห็นชอบดังนี้ 1. รับทราบการดำเนินโครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกรของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

2. ขอความเห็นชอบการขอเพิ่มเติมวัตถุประสงค์การใช้งบประมาณรายจ่าย จากเดิมที่กำหนดไว้เพียงเพื่อชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับเกษตรกรเท่านั้น เป็นเพื่อชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับเกษตรกร รวมถึงค่าใช้จ่ายพัฒนาระบบและดำเนินงานโครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกร รวมเป็นจำนวน 1,406.12 ล้านบาท โดยเป็นค่าชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับเกษตรกร จำนวน 178.12 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายพัฒนาระบบและดำเนินโครงการจำนวน 1,228 ล้านบาท ตามที่ ธ.ก.ส. เสนอ ซึ่งยังคงอยู่ภายในวงเงินงบประมาณที่ได้รับจัดสรรแล้ว เมื่อปีงบประมาณ 2555 และ 2556 จำนวน 1,590.70 บาท.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ทั่วโลกแห่งัดมาตรการคุ้มครองการค้า สศก.เตือนกระทบไทย-WTOเร่งถกอุดช่องว่าง

นายคนิต ลิขิตวิทยาวุฒิ รองเลขาธิการและรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า คณะกรรมาธิการยุโรปได้นำเสนอรายงานเกี่ยวกับมาตรการคุ้มครองทางการค้า ที่รัฐบาลประเทศต่างๆ มีการดำเนินการอย่างแพร่หลายในช่วงวิกฤติทางการเงินและเศรษฐกิจช่วงระหว่าง 1 พฤษภาคม 2555 - 31 พฤษภาคม 2556 (Tenth report on potentially trade-restrictive measures identified in the context of the financial and economic crisis 1 May 2012 - 31 May 2013) โดยระบุว่า ในช่วงปีที่ผ่านมา หลายประเทศทั่วโลก มีการใช้มาตรการปกป้องทางการค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ หรือ BRICS ประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ เป็นกลุ่มที่ใช้มาตรการดังกล่าวมากที่สุด ซึ่งในช่วงระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา มีการใช้มาตรการคุ้มครองทางการค้าใหม่ๆ มากถึง 154 มาตรการ และตั้งแต่เดือนตุลาคม 2551 จนถึงปัจจุบัน และมีการใช้มาตรการคุ้มครองทางการค้ารวมเกือบ 700 มาตรการ

สำหรับรูปแบบของมาตรการคุ้มครองการค้าที่ถูกนำมาใช้ ได้แก่ กฎระเบียบการนำเข้าสินค้า ข้อกำหนดให้ใช้สินค้าในชาติ การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ มาตรการกีดกันการบริการและการลงทุน มาตรการจำกัดการส่งออก เป็นต้น ทั้งนี้ อาร์เจนตินา รัสเซีย แอฟริกาใต้ อินโดนีเซีย และบราซิล จะใช้มาตรการการขึ้นภาษีนำเข้าในอัตราที่สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบราซิล มีการใช้มาตรการกีดกันที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐมากกว่าหนึ่งในสามของมาตรการคุ้มครองทางการค้า ซึ่งเป็นการจงใจป้องกันอุตสาหกรรมภายในประเทศไม่ให้สินค้าจากต่างประเทศเข้ามามีส่วนแบ่งหรือยึดครองตลาดภายในประเทศ

รองเลขาธิการฯ สศก. กล่าวต่อไปว่า นายโรแบร์โต อาเซเวโด ผู้อำนวยการองค์การการค้าโลกคนใหม่ ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับลัทธิกีดกันทางการค้าว่า ปัจจุบันการปกป้องทางการค้าได้เพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ และค่อยๆ เพิ่มทีละนิด แต่จะมีรูปแบบที่แตกต่างกัน โดยจะมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น ยากแก่การตรวจสอบ ซึ่งจะไม่เห็นการใช้มาตรการทางภาษีและการอุดหนุนการส่งออกโดยตรงอีกต่อไป เพราะจะขัดกับพันธกรณีที่มีอยู่ และอาจถูกตอบโต้ได้ ทำให้ประเทศต่างๆ ได้ปรับเปลี่ยนวิธีหรือรูปแบบการใช้มาตรการปกป้องการค้าแบบแอบแฝงมากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงข้อบังคับและการถูกลงโทษโดยองค์การการค้าโลก (WTO)

ดังนั้น ประเทศไทยในฐานะผู้ส่งออกสินค้าเกษตร จึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าเหล่านี้ได้ ซึ่งภาครัฐและเอกชนนั้นต้องทำงานร่วมกันแบบบูรณาการ คอยติดตามสถานการณ์ และนโยบายของประเทศคู่ค้าต่างๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถปรับตัวและหาแนวทางลดผลกระทบได้ทัน อย่างไรก็ตาม สำหรับบทบาทของ WTO ในเรื่องดังกล่าว ผู้อำนวยการองค์การการค้าโลกได้เรียกร้องให้ประเทศสมาชิก WTO ยกระดับข้อบังคับของ WTO เพื่อแก้ปัญหาการกีดกันทางการค้าที่ซับซ้อน เพื่อให้เกิดการแข่งขันเสรีอย่างแท้จริง ทั้งนี้ การประชุมรัฐมนตรีขององค์การการค้าโลก สมัยสามัญ ครั้งที่ 9 ณ ประเทศอินโดนีเซีย ที่จะจัดขึ้นสิ้นปี 2556 นี้ จะเป็นการพิสูจน์บทบาทของ WTO ในอนาคต ว่าจะอุดช่องโหว่การใช้มาตรการปกป้องที่แอบแฝงเหล่านี้ได้หรือไม่ต่อไป

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

เคาะราคาอ้อยขั้นต้น900บ.เชื่อมั่นประชาพิจารณ์หนุนฉลุย หวังครม.ไฟเขียวกลางเดือนพ.ย.

เคาะอ้อยขั้นต้น 900 บาทต่อตันอ้อย เปิดทำประชาพิจารณ์ก่อนเสนอ ครม.อนุมัติกลางเดือนนี้

นายประเสริฐ บุญชัยสุข รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริหารที่มีนางอรรชกา สีบุญเรืองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.)เป็นประธาน ได้กำหนดราคาอ้อยขั้นต้นฤดูกาลผลิตปี 2556/2557 ที่ 900 บาทต่อตันอ้อย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการรับฟังความเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (ประชาพิจารณ์)ก่อนจะเสนอต่อคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ที่มีนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานเห็นชอบ โดยคาดว่าจะสามารถนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)และประกาศในกลางเดือน พ.ย.

ทั้งนี้ ราคาอ้อยในตลาดโลกที่ใช้สำหรับคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นอยู่ที่ 19 เซนต์ต่อปอนด์ ปรับขึ้นจากระดับต่ำสุดในช่วงกลางปีที่ 16-17 เซนต์ต่อปอนด์ แต่ยังต่ำกว่าราคาที่ใช้คำนวณในปีที่ผ่านมาประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่ามาอยู่ที่ระดับ 31-32 บาทต่อเหรียญสหรัฐ จึงทำให้ราคาขั้นต้นปีนี้ต่ำกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่950 บาทต่อตันอ้อย

ขณะที่ต้นทุนการผลิตต่อไร่ที่ใช้คำนวณอยู่ที่ 838 บาทต่อไร่ ซึ่งต่ำกว่าต้นทุนของชาวไร่ เนื่องจากเป็นราคาหน้าไร่ยังไม่รวมต้นทุนการขนส่ง โดยต้นทุนที่ชาวไร่คำนวณจะสูงกว่า 1,000 บาท

อย่างไรก็ตาม ราคาดังกล่าวจะต้องมีการชดเชยส่วนเพิ่มให้กับชาวไร่อ้อยอย่างไร จะมีการหารือในขั้นตอนต่อไปหลังประกาศราคาอ้อยขั้นต้นแล้ว

ด้านนายสมศักดิ์ สุวัฒิกะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า หลังจากคณะกรรมการบริหารกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นแล้ว ตอนนี้เป็นขั้นตอนการเปิดประชาพิจารณ์เป็นเวลา 10 วัน โดยจะเสร็จสิ้นในวันที่ 6 พ.ย. ก่อนนำเข้าที่ประชุม กอน.ในวันที่ 7 พ.ย. และจะเสนอ ครม.ให้เร็วที่สุดเพื่อให้สามารถประกาศราคาได้กลางเดือน พ.ย.

"ราคาคงไม่เปลี่ยนแปลงจากนี้ เพราะในการหารือของคณะกรรมการบริหารมีตัวแทนจากทั้งภาครัฐ โรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อยร่วมด้วย ซึ่งแต่ละฝ่ายเห็นสอดคล้องกันว่า 900 บาทต่อตันอ้อย เป็นราคาที่เหมาะสม"ที่สูงกว่าราคาที่คำนวณออกมาได้ที่ประมาณ 880 บาทต่อตันอ้อย เนื่องจากไม่ต้องการให้ชาวไร่ได้ราคาที่ต่ำเกินไป แต่โรงงานน้ำตาลจะมีภาระต้องกู้เงินกับธนาคารมาจ่ายชาวไร่สูงขึ้น ในขณะที่สถานการณ์ราคาน้ำตาลในตลาดโลกปีนี้ยังต่ำกว่าปีที่แล้ว อาจจะทำให้ธนาคารพาณิชย์เข้มงวดในการปล่อยกู้ให้โรงงานน้ำตาลมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม คาดว่าความเชื่อมั่นต่ออุตสาหกรรมน้ำตาลจะดีขึ้นตามราคาในตลาดที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หลังสต๊อกในตลาดโลกลดเหลือ 3.9 ล้านตัน

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

กรอ.ทำโครงการรวมระเบียบสิ่งแวดล้อมรับAEC

กรมโรงงาอุตสาหกรรม (กรอ.) จัดโครงการเปรียบเทียบกฎระเบียบสิ่งแวดล้อมวัตถุอันตรายและสารเคมีในอาเซียน ต้อนรับ AEC สร้างความรู้แก่ผู้ประกอบการ นักลงทุน

นายชุมพล ชีวะประภานันท์ รองอธิบดีกรมโรงงาอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า กรอ. จัดทำโครงการวิเคราะห์เปรียบเทียบ กฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย วัตถุอันตราย และสารเคมี ที่มีผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 และเพื่อจัดเก็บข้อมูลด้านกฎระเบียบ เกี่ยวกับภาคอุตสาหกรรมของประเทศต่างๆ ในอาเซียน โดยจะนำข้อมูลเผยแพร่ต่อผู้ประกอบการในช่วง 3 สัปดาห์แรก ของเดือนธันวาคมนี้ ในพื้นที่ 5 ภาค ได้แก่ ภาคเหนือ กลาง ตะวันออก ตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ซึ่งจะช่วยสร้างความพร้อมให้กับผู้ประกอบการที่สนใจไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน แต่ยังขาดความรู้ในส่วนกฎระเบียบของประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะกลุ่มขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ซึ่งหลังจากเสร็จสิ้นโครงการดังกล่าว กรอ. เตรียมนำข้อมูลที่ได้รับไปหารือกับประเทศในอาเซียน ว่ามีส่วนไหนที่แตกต่างสามารถปรับปรุงให้สอดคล้องกัน เพื่อให้กฎระเบียบใกล้เคียงกันมากขึ้น

ด้าน นายอรรจน์สิทธิ สร้อยทอง ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาลงทุนไทยในต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า เมื่อ กรอ. จัดทำข้อมูลเสร็จเรียบร้อยแล้ว บีโอไอจะนำข้อมูลดังกล่าวไปเผยแพร่ให้นักลงทุนไทยที่สนใจไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านด้วย เนื่องจากที่ผ่านมา เคยเกิดกรณีผู้ประกอบการไทยประเมินกฎระเบียบประเทศเพื่อนบ้านไว้ต่ำเกินไป จนเกิดการทำผิดกฎหมาย และจนต้องเสียค่าปรับเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กฎหมายของกลุ่ม CLMV ที่มีการเปลี่ยนแปลงบ่อย

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ.2556

คอลัมน์ Green Industry: กับดักรายได้

วิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

ทุกวันนี้เราได้ยินคำว่า "ความสามารถในการแข่งขัน"(Competitiveness) มานานแล้ว โดยมีแนวคิดและข้อเสนอว่า องค์กรที่มุ่งสู่ความเป็นเลิศทางธุรกิจควรมีความเป็นผู้นำด้านต้นทุนการดำเนินงานที่ต่ำกว่าคู่แข่ง (Cost Leadership) และควรมีความสามารถในการสร้างความแตกต่าง (Differentiation) ในตัวสินค้าหรือบริการจากคู่แข่ง ซึ่งอาจมีความสามารถในการแข่งขันต่างกันไป

แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้มีการกล่าวถึง "กับดักรายได้ปานกลาง"(Middle Income Trap) ที่ทำให้ประเทศที่กำลังพัฒนาไม่สามารถก้าวขึ้นมาเป็น "ประเทศที่พัฒนาแล้ว" (Gross National Income :GNI)

ธนาคารโลกได้กำหนดว่า ประเทศที่มีรายได้อยู่ในระดับต่ำจะมีรายได้ต่อหัวประชากรระหว่าง 30,180-119,250 บาทต่อปี (1,006-3,975 เหรียญสหรัฐต่อปี) ส่วนประเทศที่มีรายได้ปานกลางจะมีรายได้ต่อหัวระหว่าง 119,280-368,250 บาทต่อปี (3,976-12,275 เหรียญสหรัฐต่อปี)

เมื่อปี2554 ประเทศไทยมีรายได้ต่อหัวประมาณ 113,050 บาทต่อปี (4,435 เหรียญสหรัฐ) ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 1.5 แสนบาท (5,000 เหรียญสหรัฐ) โดยต้องใช้เวลาถึง 37 ปี ในการก้าวขึ้นมาสู่ประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ขณะที่เกาหลีใต้ใช้เวลา 19 ปี และจีนใช้เวลาเพียง 17 ปีเท่านั้น

จากการศึกษาตัวเลขทางเศรษฐกิจหลายๆ ประเทศ พบว่าประเทศที่สามารถก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง มักมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดด เฉลี่ยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 7 ต่อปี

จะว่าไปแล้ว ไม่มีคำนิยามที่ชัดเจนเกี่ยวกับประเทศที่ติด "กับดักรายได้ปานกลาง" แต่หมายถึงประเทศที่ไม่สามารถแข่งขันกับประเทศที่มีค่าแรงหรือต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า โดยเฉพาะการส่งออกที่ต้องพึ่งแรงงานเข้มข้น และมีสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีไม่สูง และขาดนวัตกรรม

เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงจากประเทศที่มีรายได้ต่ำไปเป็นระดับปานกลาง เกือบทุกประเทศในโลกมักเริ่มจากสังคมภาคเกษตรกรรมและค่อยปรับไปเป็นภาคอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานที่มีต้นทุนและทักษะต่ำ และใช้ทรัพยากรธรรมชาติเป็นทุนเดิม

โดยหลักการแล้ว การก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง สามารถทำได้หลายวิธี อาทิ การให้ความสำคัญกับ "ผลิตภาพโดยรวม" โดยนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใส่เข้าไปในภาคการผลิตและบริการ คือ ไม่ใช่แค่ด้านแรงงานและทุนเท่านั้น

นวัตกรรมอีกอย่างหนึ่ง คือ นวัตกรรมของสถาบันของประเทศหรือสถาบัน เช่น เรื่องธรรมาภิบาล(Good Governance) ของสถาบันและรัฐบาลในระดับประเทศ อย่างฮ่องกงที่อดีตมีแต่เรื่องเจ้าพ่อและมาเฟียแต่ปัจจุบันมีนโยบายและมาตรการปราบปรามทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างเด็ดขาด ทำให้ทุกวันนี้มีคนมาดูงานเรื่องธรรมาภิบาลในฮ่องกงแทน

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายโมเดลของการพัฒนา ซึ่งอาจไม่ใช่ภาคอุตสาหกรรมเท่านั้นที่จะทำให้ประเทศก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางเช่น อิตาลีที่ทิ้งอุตสาหกรรมยานยนต์ไปสู่อุตสาหกรรมเบา (Light Industry) คือ เน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นอย่างอุตสาหกรรมแฟชั่น

ทุกวันนี้เราจึงต้องเน้นการพัฒนาด้านทุนมนุษย์ นวัตกรรม และการพัฒนาประสิทธิภาพในระบบบริหารจัดการประเทศให้มากขึ้น

เพราะความจริงที่น่าเป็นห่วงก็คือ เรามี "คนเก่ง" มากมาย แต่มักจะรวมกันทำงานเป็น "องค์รวม" ของชาติ เพื่อประโยชน์ของประเทศ ได้ยาก ครับผม!

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

“นครสวรรค์”เดินหน้าโซนนิ่งเกษตร

นายโฆสิต วิโรจน์เพ็ชร์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 12 นครสวรรค์ (สศข.12) เปิดเผยว่า สศข.12 ได้ร่วมประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์ที่ดินด้านเกษตรกรรม ครั้งที่ 2/2556 ซึ่งมี มีนายชัยโรจน์ มีแดง ผู้ว่าราชการ จังหวัดนครสวรรค์ เป็นประธานการประชุม เพื่อร่วมกันพิจารณาการขับเคลื่อนการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (Zoning) ในการปรับปรุงฐานข้อมูลสินค้าเกษตรที่สำคัญของจังหวัด ปีงบประมาณ 2558 แผนการจัดการสินค้าเกษตรภายในจังหวัด ปี 2557 แผนคำของบประมาณ ปี 2558 และตรวจสอบพื้นที่ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศไปแล้ว ซึ่งจะทำให้ข้อมูลที่จัดทำมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ตามที่รัฐบาลได้กำหนดให้มีการจัดทำเขตเกษตรเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดความเหมาะสมระหว่างอุปทานและอุปสงค์ รวมทั้งเฝ้าระวังเพื่อหามาตรการรองรับได้ทันท่วงที ตลอดจนเพื่อสนับสนุนการผลิตทางการเกษตรที่สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ ทั้งนี้ การกำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจสำหรับสินค้าเกษตร จะก่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน มีการผลิตที่เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ ลดปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรจากการใช้ที่ผิดประเภท และทำให้มีระบบการผลิตมีเสถียรภาพยิ่งขึ้น

สำหรับพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดนครสวรรค์ คือ ข้าว ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วลิสง อ้อย ฝ้าย งา และมันสำปะหลัง โดยนครสวรรค์นับเป็นแหล่งปลูกข้าวที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ และเป็นแหล่งปลูกข้าวโพดที่ใหญ่เป็นอันดับที่สองในภาคเหนือ รองจากจังหวัดเพชรบูรณ์ อีกทั้งยังเป็นแหล่งปลูกอ้อยรองจากจังหวัดกำแพงเพชรอีกด้วย

ส่วนข้าวนาปรัง จังหวัดนครสวรรค์มีแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญที่สุด คืออำเภอชุมแสง อำเภอบรรพตพิสัย โดยมีตลาดกลางข้าว 8 แห่ง ที่อำเภอเมืองนครสวรรค์ อำเภอพยุหะคีรี และอำเภอเก้าเลี้ยว มีตลาดกลางข้าว "ท่าข้าวกำนันทรง" ที่ได้ชื่อว่าเป็นตลาดกลาง ข้าวเปลือกที่ใหญ่และมีชื่อ เสียงที่สุดของประเทศ นอกจากนี้ เพื่อส่งเสริมการส่งออกข้าวออกสู่ตลาดต่างประเทศ ทางจังหวัดได้จัดตั้งศูนย์ส่งออกข้าวแบบเบ็ดเสร็จที่ท่าข้าวกำนันทรง และศูนย์ส่งเสริมการส่งออกที่ศาลากลางจังหวัดนครสวรรค์ชั้นล่างอีกด้วย

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ภาวะเงินเฟ้อ 2 เดือนสุดท้ายปี 56 ยังต่ำกว่าระดับ 2.0% เชื่อไม่เกิดภาวะเงินฝืด

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ มองแนวโน้มภาวะเงินเฟ้อ 2 เดือนสุดท้ายปี 2556 จะยังคงต่ำกว่าระดับ 2.0% โดยทั้งปีใกล้กรอบที่ระดับ 2.1-2.5% เชื่อไม่เกิดภาวะเงินฝืด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินอัตราเงินเฟ้อของไทยในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 2556 หลังจากเช้าวันนี้ (1 พ.ย.) กระทรวงพาณิชย์ ได้ออกมาเปิดเผยอัตราเงินเฟ้อในช่วงเดือนตุลาคม 2556 ว่า ขยายตัวสูงขึ้นร้อยละ 1.46 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) โดยมองว่า จะยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าร้อยละ 2.0 (YoY) เนื่องจากการปรับตัวขึ้นของราคาสินค้าในช่วงที่เหลือของปี ยังน่าจะเป็นไปอย่างช้าๆ ท่ามกลางสัญญาณที่อ่อนแอของตัวแปรที่มีผลต่อเงินเฟ้อ ทั้งทางฝั่งสถานการณ์การใช้จ่ายภายในประเทศที่ยังคงไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนนัก นอกจากนี้ แรงกดดันต่อทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลกก็น่าจะทำให้แรงผลักเงินเฟ้อจากฝั่งต้นทุนไม่เร่งตัวขึ้นมากนักเช่นกัน

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงยังคงประเมินว่ามีความเป็นไปได้ที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2556 จะโน้มเอียงเข้าใกล้กรอบต่ำของประมาณการร้อยละ 2.1-2.5 ของศูนย์วิจัยกสิกรไทยมากขึ้น ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2556 นั้น อาจมีค่าเฉลี่ยที่ร้อยละ 1.0 ตามตัวเลขประมาณการกรณีพื้นฐาน

สำหรับในช่วงปี 2557 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า หากเศรษฐกิจไทยสามารถกลับเข้าสู่เส้นทางการฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งแรกของปี สอดรับกับการทยอยปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจโลกแล้ว น่าจะทำให้สถานการณ์เงินเฟ้อของไทยในปี 2557 ทยอยปรับตัวสูงขึ้นตามทิศทางต้นทุนของผู้ผลิต โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2557 น่าจะขยับขึ้นไปอยู่ในกรอบร้อยละ 2.4-3.2 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปี 2557 อาจไล่ขึ้นไปอยู่ในกรอบร้อยละ 1.4-2.2

ด้าน น.ส.อุรวี เงารุ่งเรือง รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากอัตราเงินเฟ้อในช่วงเดือนตุลาคมที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 1.46 และเงินเฟ้อเฉลี่ยในช่วง 10 เดือนแรกของปี ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.27 ทางกระทรวงพาณิชย์ คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีนี้จะขยายตัวได้ไม่มากนัก ใกล้เคียงกับในช่วงเดือนตุลาคม ประมาณร้อยละ 1.7 เนื่องจากในช่วงหน้าหนาวเป็นประจำที่ราคาสินค้าผักสด และผลไม้จะปรับตัวลดลง หลังจากผลผลิตดีขึ้น ประกอบกับนโยบายในการลดภาระค่าครองชีพของรัฐบาลยังคงอยู่ ทำให้อัตราเงินเฟ้อในปีนี้ไม่น่าเป็นห่วงและคงไม่เข้าสู่ภาวะเงินฟืด ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในปีหน้า ทางกระทรวงพาณิชย์ อยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบราคาสินค้า และแนวโน้มราคาเสนอต่อปลัดกระทรวงพาณิชย์ ก่อนจะมีการประกาศเป้าหมายเงินเฟ้อในปีหน้าอย่างเป็นทางการได้

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556