http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล(เดือนพฤศจิกายน 2559)

'ธพ.' เตรียมตรวจเข้มโรงงานผลิตเอทานอล

"กรมธุรกิจพลังงาน" เตรียมตรวจเข้มโรงงานผลิตเอทานอล กำชับต้องรายงานแผนที่ชัดเจน หลังผลิตต่ำกว่าแผน จนผู้ค้าน้ำมันขอนำสำรองมาใช้

นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เปิดเผยว่า เตรียมหารือกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เพื่อ ให้ ธพ.เข้าไปดูแลโรงงานผลิตเอทานอลอย่างเต็มตัว ตาม พ.ร.บ.การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง 2543 โดยโรงงานเอทานอลนับเป็นผู้ค้ามาตรา 10 ซึ่งจะต้องมีการรายงานแผนกำลังผลิตที่ชัดเจนเหมือนกับโรงกลั่นน้ำมัน ทาง ธพ.จะได้มาร่วมวางแผนในการกำกับดูแลเพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน ป้องกันปัญหาการขาดแคลน และยังให้เกิดความเชื่อมั่นว่ากำลังผลิตเอทานอลจะมีเพียงพอ สำหรับการส่งเสริมการใช้ให้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะตามแผนหลักที่จะให้น้ำมันอี 20 เป็นน้ำมันที่มีการใช้เป็นหลักในกลุ่มเบนซิน

“ปัญหาการผลิตเอทานอลปีนี้ คือ เกิดปัญหากำลังผลิตตึงตัว เพราะโรงงานผลิตไม่ได้ตามแผน แผนที่ระบุว่าจะผลิตตามความต้องการใช้ขณะนี้ 3.6 -3.8 ล้านลิตรต่อวัน ส่งผลให้ผู้ค้าน้ำมัน ทั้งเชฟรอน (คาลเท็กซ์) ปตท. และเอสโซ่ กลัวว่าจะขาดแคลนและได้ยื่นหนังสือขอนำสำรองเอทาอลตามกฏหมายร้อยละ 1 มาใช้ โดยกรมฯ ยังไม่อนุมัติ เพราะจะไปตรวจโรงงานเอทานอลและเรียกประชุมผู้ผลิตเสียก่อน ซึ่งโรงงานเอทานอลทำให้ภาครัฐไม่ค่อยแน่ใจว่าจะเดินหน้าส่งเสริมอี 20 ได้เต็มที่หรือไม่” นายวิฑูรย์ กล่าว

ทั้งนี้ ผู้ผลิตเอทานอลส่งออกจำนวนมากเมื่อช่วงต้นปี 2559 เพราะราคาส่งออกดี แต่เมื่อเกิดปัญหาภัยแล้ง ส่งผลกระทบต่ออ้อย ก็ทำให้กำลังผลิตช่วงปลายปีตึงตัวเริ่มส่งได้ไม่ครบ ทางผู้ค้าน้ำมันเลยมีความวิตกกังวลว่าอาจจะขาดได้ เพราะในช่วงสิ้นปีนี้การใช้น้ำมันเพื่อการเดินทางจะมีสูง อย่างไรก็ตาม ธพ.ประเมินว่าปัญหาอาจจจะคลี่คลายได้เนื่องจากวันที่ 6 ธันวาคมนี้โรงงานน้ำตาลทรายจะเริ่มทยอยเปิดหีบ ซึ่งจะทำให้เริ่มมีโมลาส (กากน้ำตาล) ซึ่งเป็นวัตถุดิบผลิตเอทานอลมากขึ้น

สำหรับการเพิ่มสัดส่วนผสมไบโอดีเซลจากร้อยละ 3 (บี 3) เป็นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 (บี 5 ) มีผลตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมานั้น เบื้องต้นพบว่าทำให้ราคาไบโอดีเซล (บี100) ปรับขึ้นจากเดิม 32 บาทมาอยู่ที่ 33 บาทต่อลิตร ขณะที่น้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ขยับขึ้นในอัตราเท่ากันมาอยู่ที่ 29-30 บาทต่อลิตร ซึ่งปกติช่วงนี้ราคาปาล์มจะแพงก็ต้องติดตามต่อเนื่องก่อนเพื่อประกอบการตัดสินใจลดหรือเพิ่มสัดส่วนผสมไบโอดีเซล

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 30 พฤศจิกายน 2559

ก.อุตฯขานรับออกกำลังกายทุกพุธเริ่มวันนี้

กระทรวงอุตสาหกรรม ขานรับนโยบายชวนข้าราชการออกกำลังกาย 1 ชม. ทุกวันพุธ “Sport’s Wednesday” ดีเดย์ 30 พ.ย.นี้

นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา ได้กำหนดให้ทุกวันพุธ เวลา 15.00 - 16.30 น. เป็นช่วงเวลาออกกำลังกายของข้าราชการทุกส่วนราชการ โดยเริ่มตั้งแต่วันนี้ (30 พ.ย. 59) ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมดำเนินการตามมติดังกล่าว และเห็นว่าน่าจะเกิดผลดีต่อข้าราชการ และลูกจ้างในสังกัด สร้างเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี นำไปสู่ประสิทธิภาพการทำงาน ซึ่งหากทำได้อย่างสม่ำเสมอข้าราชการพนักงาน ทุกคนจะมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่เจ็บป่วยง่ายมีภูมิคุ้มกันโรค

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้กำหนดให้มีกิจกรรมออกกำลังกายเป็นประจำทุกวันพุธ ใช้ชื่อว่า “Sport’s Wednesday” ตั้งแต่เวลา 15.00-16.30 น. ใช้เวลาประมาณ 1 ชม. โดยในวันนี้ (30 พ.ย.) จะมีกิจกรรมแอโรบิคแดนซ์ ซึ่งจะจัดผู้เชี่ยวชาญมานำเต้นเพื่อการออกกำลังกายอย่างถูกวิธี ณ ชั้นดาดฟ้า กรมโรงงานอุตสาหกรรม ผมจะไปร่วมเต้นพร้อมกับข้าราชการและพนักงานกระทรวงอุตสาหกรรมทุกกรม รวมทั้งสื่อมวลชนด้วย และวันพุธต่อไปแต่ละกรม/สถาบัน และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดจะจัดกิจกรรมดังกล่าวในพื้นที่ของตัวเองตามความเหมาะสมต่อไป

จาก http://www.innnews.co.th   วันที่ 30 พฤศจิกายน 2559

KTISลุ้นอ้อยเข้าหีบเพิ่ม10% น้ำตาลบุรีรัมย์โรดโชว์ฮ่องกง

กลุ่ม KTIS คาดปีนี้อ้อยเข้าหีบเพิ่มกว่า 10% ดันผลงานปี 60 โตแน่ ด้าน BRR ยกทีมโรดโชว์นักลงทุนฮ่องกง ชี้ราคาน้ำมันเริ่มขึ้น

นายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ.เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น (KTIS) ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เปิดเผยว่า บริษัทจะเปิดหีบอ้อยสำหรับฤดูการผลิตปี 2559/60 ในวันที่ 8 ธ.ค.นี้ คาดว่าจะมีปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้ง 3 โรงงาน คือ เกษตรไทย รวมผล และไทยเอกลักษณ์ มากกว่าปี 2558/59 ไม่น้อยกว่า 10%

เนื่องจากปีนี้ปริมาณฝนมากกว่าปีก่อน ประกอบกับฝ่ายไร่ของ KTIS ได้เข้าไปร่วมคัดเลือกพันธุ์อ้อย ปรับปรุงดิน และให้ความรู้กับชาวไร่อ้อยในการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น ทำให้มั่นใจว่าผลดำเนินงานของกลุ่ม KTIS ในปี 2560 จะดีกว่าปี 2559 อย่างแน่นอน หลังจากรายได้รวม 9 เดือนปี 2559 เท่ากับ 12,559 ล้านบาท เทียบงวดเดียวกันปี 2558 ซึ่งมีรายได้ 15,030 ล้านบาท

นายภัทรพงศ์ พงศ์สวัสดิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส บมจ.น้ำตาลบุรีรัมย์ (BRR) กล่าวว่า บริษัทเตรียมเดินสายโรดโชว์ให้กับนักลงทุนสถาบันต่างประเทศ ร่วมกับ บล.CLSA ระหว่างวันที่ 30 พ.ย.-2 ธ.ค.นี้ ที่ฮ่องกง เนื่องจากอุตสาหกรรมน้ำตาลกำลังเป็นที่สนใจของนักลงทุน จากราคาน้ำตาลโลกที่กลับมาสูงขึ้น จากปัญหาสภาพอากาศในประเทศผู้ผลิตสำคัญๆ ที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิต ทำให้ดุลยภาพน้ำตาลของโลกขาดแคลน ประเมินว่าแนวโน้มราคาน้ำตาลในตลาดโลกจะยังคงวิ่งอยู่ระดับที่น่าพอใจในปีหน้า.

จาก http://www.thaipost.net   วันที่ 30 พฤศจิกายน 2559

ร่วมหารือผลกระทบ คก.โรงไฟฟ้าชีวมวล

 นายชูศักดิ์ ชุนเกาะ นายอำเภอพิมาย อ.พิมาย จ.นครราชสีมา เปิดประชุมการทบทวนร่างรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล (ส่วนขยาย) ของของบริษัท อุตสาหกรรม โคราช จำกัด ณ บริษัท อุตสาหกรรม โคราช จำกัด (โรงงานน้ำตาลพิมาย) ต.หนองระเวียง อ.พิมาย จ.นครราชสีมา เมื่อเร็วๆนี้ โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำชุมชน ที่อยู่ในรัศมีห่างไกลจากโรงงาน 5 กิโลเมตร มี ต.หนองระเวียง ต.นิคม ต.ธารละหลอด ต.สัมฤทธิ์ และบ้านหนองพวง เขต อ.จักราช จำนวนกว่า  300 คน เข้าร่วมประชุม นายอนุรักษ์ สุขประสิทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการของบริษัท อุตสาหกรรม โคราช จำกัด อ่านคำกล่าวรายงาน

บริษัท อุตสาหกรรม โคราช จำกัด ปัจจุบันมีกำลังการผลิต 23,969 ตันอ้อย/วัน พร้อมทั้งมีหน่วยผลิตไฟฟ้าและไอน้ำเพื่อใช้ในกระบวนการผลิตน้ำตาลของโครงการ ทั้งนี้ โครงการมีแผนการดำเนินการขยายกำลังผลิตเป็น 36,469 ตันอ้อย/วัน โดยได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ปัจจุบันโรงงานน้ำตาลพิมาย ดำเนินการผลิตน้ำตาล โดยมีหน่วยผลิตไฟฟ้าและไอน้ำอยู่แล้ว/แต่เนื่องจากโรงงานน้ำตาลมีการขยายกำลังการผลิตจึงมีความต้องการใช้ไฟฟ้าและไอน้ำเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องขยายกำลังการผลิตของหน่วยผลิตไฟฟ้าและไอน้ำเพื่อรองรับการขยายกำลังการผลิตของการบวนการผลิตน้ำตาล/ ซึ่งจะมีการติดตั้งหม้อไอน้ำใหม่ ขนาด 200 ตัน/ชั่วโมง จำนวน 2 ชุด

โดยใช้กากอ้อยจากกระบวนการผลิตน้ำตาลเป็นเชื้อเพลิงหลักและใช้ชิ้นไม้สับเป็นเชื้อเพลิงเสริม/ส่วนของของเครื่องกำเนิดไฟฟ้านั้นจะมีการเพิ่ม 2 ชุด/ขนาด 22 เมกะวัตต์และขนาด 35 เมกะวัตต์ จำนวนอย่างละ 1 ชุด สำหรับไฟฟ้าที่ได้จากการผลิต/จะแบ่งออกเป็น 2 ใส่วนใช้ในกระบวนการผลิตน้ำตาล 1 ส่วนและจำหน่ายแก่การไฟฟ้าอีก 1 ส่วน ส่วนไอน้ำที่ได้จากการผลิตจะจ่ายให้กับโรงงานน้ำตาลเพื่อใช้ในกระบวนการผลิต

ทั้งนี้ ภายหลังขยายกำลังการผลิตโครงการจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าสูงสุด 99 เมกะวัตต์

ซึ่งการดำเนินการทั้งขยายกำลังการผลิตโรงงานน้ำตาลและขยายกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าจำเป็นต้องทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ โดยการจัดประชุมในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ได้รับความคิดเห็นอันเกิดประโยชน์ต่อชุมชนเป็นอย่างมาก ด้านผลกระทบ ส่วนประชาชนที่อยู่ติดกับโรงงานก็ได้รับกลิ่นเหม็นบ้างเล็กน้อย แต่ก็ไม่ได้คัดค้าน เพราเห็นว่าทางโรงงานเปิดรับคนงานที่อยู่ในเขตใกล้เคียงได้มีงานทำที่อยู่ใกล้บ้าน ในวันที่ 6 ธ.ค.59 บริษัทอุตสาหกรรม โคราช จำกัด จะเริ่มเปิดหีบรับซื้ออ้อย ในราคาตันละ 1,020 บาท และจะไม่ให้ต่ำกว่าตันละ 1,000 บาท ช่วง 7 วันแรกที่เปิดหีบจะมีพิเศษตันละ 50 บาท

 จาก http://www.thairath.co.th   วันที่ 30 พฤศจิกายน 2559

เตือนรับมือปัจจัยเสี่ยงปี60 ศก.โลกป่วนค่าเงินแกว่ง-หวัง‘อีอีซี-ลงทุนรัฐ’ดันจีดีพี

นักวิชาการ-ซีอีโอเตือนระวังปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจปี 2560 ระบุปัจจัยภายนอกน่าห่วงสุด หวังมาตรการรัฐกระตุ้นเป็นแรงส่งหนุนบริโภค-ลงทุน “ซีพี”ลั่นนโยบายอีอีซีจะเป็นตัวเร่งลงทุนสำคัญ เดินแผนบุกตลาดรถเอ็มจี เพิ่มการผลิตอีกเท่าตัว

จับชีพจรเศรษฐกิจปี 2560 แม้จะเริ่มเห็นสัญญาณบวก หลังจากที่หลายสำนักออกมาพยากรณ์ล่วงหน้าว่าทิศทางเศรษฐกิจปีหน้าจะดีขึ้นโดยอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี)จะสูงกว่าปี 2559 แน่นอน แต่ถ้ามองอีกด้านการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจปีหน้ายังไม่ง่ายอย่างที่คิด เนื่องจากยังมีตัวแปรที่เป็นปัจจัยเสี่ยงอยู่หลายส่วนโดยเฉพาะปัจจัยภายนอก

ล่าสุด ”ฐานเศรษฐกิจ”สำรวจความเห็นจากมุมมองนักวิชาการ ภาคเอกชนในระดับซีอีโอทั้งภาคผลิต การค้า การลงทุน ภาคอสังหาฯ ต่างสะท้อนไปทิศทางเดียวกันว่าปี 2560 มีสัญญาณบวกแต่ก็ยังมีความกังวลต่อปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น และอาจจะฉุดให้การคาดการณ์จีดีพีปีหน้าไม่เป็นไปตามเป้าได้

 5ปัจจัยเสี่ยงหลักจากภายนอก

ในมุมนักวิชาการ นายสมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง เปิดเผย”ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ปี 2560 ยังมีปัจจัยเสี่ยงอยู่หลายประการที่อาจทำให้การคาดการณ์ต่างๆคลาดเคลื่อนได้ โดยเฉพาะ จากปัจจัยภายนอก 5 ส่วน ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง และอาจกระทบถึงไทยได้

ประการแรก นโยบายเศรษฐกิจของนายโดนัลด์ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ ยังเป็นตัวแปรสำคัญ ที่จะปลุกเศรษฐกิจในอเมริกาให้โตได้ราว 2-2.5% จากการลดภาษีต่างๆ และมีแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานใช้งบลงทุนนับแสนล้านบาทนั้น จะเป็นตัวเร่งทำให้เศรษฐกิจภายในประเทศอเมริกาฟื้นตัว แต่สิ่งที่จะตามมาคือเกิดเงินเฟ้อสูงขึ้น ดอกเบี้ยในอเมริกาจะสูงขึ้น และธนาคารกลางสหรัฐฯหรือเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อป้องกันเงินเฟ้อ ก็จะส่งผลให้ตลาดการเงิน ตลาดหุ้น ตลาดพันธบัตร รวมถึงตลาดสินค้าโภคภัณฑ์จะเกิดการผันผวน และจะเกิดการผันผวนของค่าเงินของแต่ละประเทศในประเทศที่กำลังพัฒนา

ประการที่ 2 ในระยะกลางนโยบายทรัมป์อาจไปสร้างปัญหาหนี้สาธารณะของอเมริกาให้ขยายตัวสูงขึ้น ปัจจุบันมีอยู่ 75%ของจีดีพี จะส่งผลกระทบต่อโลกได้ ประการที่ 3 การที่ทรัมป์กีดกันการค้าสูงขึ้นโดยเฉพาะกับจีนนั้น อาจจะทำไม่ได้ทั้งหมดตามที่ประกาศไว้ แต่จะกีดกันการค้าเฉพาะบางผลิตภัณฑ์ หรือบางประเทศ ตรงนี้จะนำไปสู่ผลกระทบที่ตามคือการค้าระหว่างประเทศชะลอตัวลง อีกทั้งนโยบายกีดกันทางการค้าก็จะทำให้การส่งออกของแต่ละประเทศไม่สดใสด้วย

ประการที่ 4 ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากกรณีการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (อียู) ของอังกฤษ หรือเบร็กซิท

ที่ขณะนี้ยังไม่ได้เริ่มต้น ถ้ามองในแง่ลบจะทำให้อัตราการเติบโตกลุ่มสหภาพยุโรป(อียู)ขยายตัวลดลง และประการสุดท้ายคือความเสี่ยงจากจีน ที่ยังต้องแก้ปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ เผชิญปัญหาหนี้สาธารณะและหนี้เอกชนรวมสูงถึง265%ของจีดีพี อีกทั้งยังมีปัญหาลูกโป่งในภาคอสังหาฯ และเริ่มรับศึกหนักจากที่การส่งออกมีค่าแรงที่สูงขึ้น จนทำให้จีนต้องหันมาบริโภคภายใน พร้อมกับบริหารหนี้ในระบบ ดังนั้นจากความเสี่ยงของจีนถ้ายิ่งขยายตัวอย่างไม่มีเสถียรภาพต่อไปอีก ก็จะมากระทบต่อโลกต่ออาเซียนได้ เพราะจีนเป็นตลาดใหญ่

 ศรีไทยฯแนะรัฐเร่งแก้ราคาข้าว

สอดคล้องกับที่ภาคเอกชน นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน)กล่าวว่าปีหน้าต้องเฝ้าระวังปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะนโยบายเศรษฐกิจของทรัมป์ เนื่องจากสหรัฐฯ ต้องใช้เงินจำนวนมหาศาลภายใต้นโยบายเศรษฐกิจใหม่ จึงอาจจำเป็นที่ต้องเพิ่มอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้น เพื่อดึงดูดเงินทุนไหลเข้า ซึ่งจะเป็นสาเหตุให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าขึ้นได้

เนื่องจากนี้ทรัมป์ ยังมีนโยบายกีดกันการค้ากับจีน ดังนั้นสหรัฐอาจตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากจีน หรือใช้กฎหมายต่อต้านการทุ่มตลาดสินค้าจากจีน และใช้มาตรการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษีอย่างอื่นกับจีน ซึ่งอาจกระทบต่อไทยทางอ้อมเพราะไทยส่งสินค้าไปจีนด้วย

อย่างไรก็ตามปีหน้า เมื่อมองภาวะเศรษฐกิจไทย ก็น่าจะเติบโตในอัตราใกล้เคียงกับปีนี้ ด้านการคลังตลอดจนสภาพคล่องทางการเงินในระบบเศรษฐกิจไทยยังดีอยู่ ธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนสูง สินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้แม้จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ยังควบคุมได้ อีกทั้งความตกลงจากหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก(ทีพีพี) เมื่อถูกยกเลิกไป นักลงทุนจีนที่เคยวางแผนการลงทุนในเวียดนามคงจะเปลี่ยนมาลงทุนในไทยแทน แต่รัฐบาลควรมุ่งแก้ปัญหาราคาข้าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือชาวนา ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ

 ซีพีชี้อีอีซี-เมกะโปรเจ็กต์ฟื้นศก.

นายธนากร เสรีบุรี รองประธานกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์(ซีพี) เปิดเผยว่า ถึงแม้จะมีความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก แต่ถ้ามามองภาพรวมเศรษฐกิจภายในประเทศปี 2560 ก็ยังมั่นใจภาพรวม จะดีขึ้นแน่นอนโดยมองจาก 2 ประเด็นใหญ่คือ 1. ประเทศไทยไม่ได้ลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานมานานแล้ว ในขณะที่ที่ผ่านมาการเมืองก็ไม่นิ่งทำให้โครงการลงทุนรัฐที่ต่อเนื่องระยะยาวไม่เกิดขึ้นเร็ว และจะเริ่มมองเห็นภาพการขับเคลื่อนการก่อสร้างจริงเกิดขึ้นในปีหน้าชัดเจนขึ้น

2.นโยบายส่งเสริมการลงทุนระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่รัฐบาลประกาศจะช่วยดึงทุนใหม่ลงพื้นที่ได้เร็ว จะเป็นจุดแข็งของไทยที่ในโลกนี้มีทำเลแบบนี้ไม่กี่ประเทศ ที่มีความพร้อมอยู่ในโซนเดียวกันทั้งทางบก ทางเรือ อากาศ ต่อไปโซนนี้จะมีรถไฟความเร็วสูงมีการขยายท่าเรือ โดยอีอีซีจะเป็นพื้นที่ที่ต่างชาติใช้เป็นศูนย์กลางอาเซียน และเป็นโซนที่รัฐบาลให้สิทธิประโยชน์จูงใจ

“พื้นที่ดังกล่าวจะทำให้ประเทศไทยโชติช่วงชัชวาลอีกครั้งในแง่การลงทุนถือว่ารัฐบาลนี้เดินมาถูกทางแล้วอยากให้ใช้ความได้เปรียบตรงนี้ดึงทุนจีนเข้ามาลงทุนให้มากขึ้น”

 เดินแผนขยายรถเอ็มจีอีกเท่าตัว

สำหรับซีพีและบริษัท เซี่ยงไฮ้ มอเตอร์ ออโต โมบิล จำกัด พันธมิตรร่วมทุน เมื่อมั่นใจว่าเศรษฐกิจปีหน้าจะฟื้นตัวดีกว่าปีนี้ จึงวางเป้าหมายว่าปี2560-2561 คือจะขายรถเอ็มจีให้ได้มากขึ้นถึงเท่าตัวหรือมีเป้าหมายอยู่ที่ 1.8 หมื่นคัน จากที่ปี 2559 จะขายได้ 9,000 คัน ในรถรุ่น MG3 ,MG5, MG6 และ รถMG GS 1500 เป็นรถเอนกประสงค์ ที่จะเปิดตัวในงานมอเตอร์โชว์ สามารถรับออร์เดอร์ได้ภายในปลายปีนี้ ตั้งเป้าในปีหน้า รถรุ่นนี้จะขายได้ถึง 2,000 คัน นอกจากนี้ปีหน้าจะเปิดตัวรถตู้ สำหรับใช้โดยสารและสำหรับนั่งไปทำงานขนาด 11 ที่นั่งเป็นรุ่น G10 อีกด้วย

 เลือกตั้งครึ่งปีหลังเป็นอีกตัวช่วย

นายประทีป ตั้งมติธรรม ประธานกรรมการบริหารบริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน)กล่าวว่า ปี2560 ภาพรวมจะดีขึ้น ดูจากแรงส่งหลายตัวจากปี2559 ไล่ตั้งแต่ภาคส่งออกก็ค่อยๆดีขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจโลกก็ทรงตัวไม่ได้แย่ลงไปกว่าเดิม รวมไปถึงขณะนี้ดอกเบี้ยทรงตัวในอัตราต่ำจะดีสำหรับภาคอสังหาฯ คนกู้บ้านก็จะกู้เงินได้มากขึ้น และค่าใช้จ่ายด้านดอกเบี้ยของภาคอสังหาฯ ก็ต่ำลง อีกทั้งครึ่งปีหลังปี2560 จะมีการเลือกตั้งยิ่งทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจภายในดีขึ้น

“แม้ว่าไตรมาส3 และ4 ปีนี้ภาคท่องเที่ยวจะชะลอตัว แต่รัฐบาลก็มีมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศ โดยออกมาให้ของขวัญปีใหม่กับประชาชน เช่นมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อยทั้งภาคเกษตรและที่ไม่ใช่ภาคเกษตร เป็นต้น”

สำหรับบมจ.ศุภาลัย ปีนี้มียอดขายเติบโต10% หรือมีมูลค่ายอดขายรวมจากการขายบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียมรวมราว 2.4 หมื่นล้านบาทปี2560 ถ้ารัฐบาลเอื้อให้คนต่างชาติสามารถต่อวีซ่าได้นานหลายปี จากปัจจุบันต่อวีซ่าได้ปีต่อปี ก็จะทำให้นักท่องเที่ยวอยู่ในไทยได้นาน และยิ่งส่งเสริมให้คอนโดมิเนียมขายดีมากขึ้น ถ้าทำได้สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ1.จะมีต่างชาติมาลงทุนซื้อคอนโดมิเนียมในไทยในไทยโดยที่รัฐบาลไม่ต้องไปยกเว้นภาษีให้ 2.จะเป็นการส่งเสริมการส่งออก เพราะเวลาที่มีต่างชาติมาซื้อคอนโดก็เหมือนกับที่เราส่งออกทุเรียน ได้เงินเข้ามาเหมือนกันแต่ของ(คอนโดฯ) ยังอยู่ในไทย 3. เท่ากับจะเป็นการส่งเสริมท่องเที่ยวให้กับประเทศ เพราะนักท่องเที่ยวจะซื้อคอนโดเพื่อมาพักผ่อนนานเป็นเดือน จะเป็นการส่งเสริมท่องเที่ยวอย่างถาวร และกฎหมายก็กำหนดไว้แล้วว่าการมาซื้ออาคารชุดหรือห้องชุดของต่างชาติถือครองได้ไม่เกิน49% แต่ถ้าซื้อโฉนดที่ดินต่างชาติมาซื้อไม่ได้

 อย่ากังวลกับนโยบาย “ทรัมป์”

ด้านนางสุพัตรา เป้าเปี่ยมทรัพย์ นายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย กล่าวว่าไม่อยากให้หลายฝ่ายกังวลกับนโยบายด้านเศรษฐกิจของ โดนัลด์ทรัมป์ ที่จะส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจของไทยในปีหน้ามากนัก แต่อยากให้มองมุมกลับว่ายังเป็นโอกาสทางการเติบโตด้านเศรษฐกิจและธุรกิจในอีกหลายส่วนมากกว่า ซึ่งยังคงมีความเชื่อมั่นในการเติบโตของภาพรวมเศรษฐกิจไทยอยู่ และ แนวโน้มการเติบโตของกลุ่มธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคในปีหน้าเชื่อว่าจะมีการเติบโตที่ดีขึ้นมากกว่าปีนี้

ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปีหรือช็อปช่วยชาติที่ภาครัฐผลักดันให้เกิดขึ้น มองว่าจะเป็นผลดีอย่างมากในการสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจในช่วงปลายปี โดยเฉพาะนโยบายเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้ต่ำกว่า 1 แสนบาทต่อปี ตั้งแต่ 1,500-3,000 บาท ของทางรัฐบาลที่จะเป็นการกระจายรายได้ไปยังกลุ่มรากหญ้า ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและกำลังซื้ออีกทางหนึ่งด้วย อย่างไรก็ตามกลุ่มธุรกิจหลักสำคัญที่จะมีการเติบโตและเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยในปีหน้า คือกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี (ธุรกิจขนาดกลาง) และธุรกิจสตาร์ทอัพ โดยเฉพาะการเติบโตของช่องทางออนไลน์และธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ที่จะเกิดขึ้นอีกจำนวนมากในปีหน้าและมีแนวโน้มการเติบโตต่อเนื่อง

 ส.อ.ท.มั่นใจศก.ไทยผงกหัวได้

ด้านนายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)และ นายถาวร ชลัษเฐียร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวในทิศทางเดียวกันว่าปี2560 เศรษฐกิจไทยจะผงกหัวได้ และเชื่อว่าจีดีพีของประเทศจะเติบโตเกิน3% โดยมีตัวเร่งจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐที่เริ่มก่อสร้างได้มากขึ้นโดยเฉพาะการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ เส้นบางปะอิน-โคราชรวมถึงรถไฟทางคู่ 5 สาย(ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ,ลพบุรี-ปากน้ำโพ,นครปฐม-หัวหิน,ชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น,ประจวบ-ชุมพร) ที่มีคืบหน้าแล้วในส่วนของขั้นตอนการดำเนินงาน เช่นงานด้านทีโออาร์

นอกจากนี้จะเริ่มเห็นว่ารถบรรทุกเริ่มขายดี จากกระแสงานก่อสร้าง ทำให้มีการขนส่งสินค้ารวมถึงมาตรการปลดล็อกรถคันแรกที่สิ้นสุดลงไปแล้วเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2559 เป็นการครบรอบ 5 ปีของโครงการประชานิยม ของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะทำให้ผู้บริโภคหันมาเปลี่ยนรถใหม่ป้ายแดงได้แล้วหลังจากที่ติดบ่วงนโยบายรถคันแรก โดยจะเริ่มเห็นสัญญาณว่ายอดการผลิตรถปี2559 ยังไม่ได้ต่ำลงจากปีก่อน โดยมีกำลังผลิตราว 1.98 ล้านคัน

 ศก.ระหว่างปท.บวกมากกว่าลบ

ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าปีหน้าต้องจับตาดูเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่อาจจะกระทบต่อไทยได้นั้น โดยส่วนตัวมองว่าโดยรวมน่าจะเกิดผลบวกต่อประเทศไทย เช่น การล้มความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือทีพีพีของอเมริกา จะทำให้ทุนญี่ปุ่นยังอยู่ในไทยต่อไป จากที่ก่อนหน้านี้จะมองการลงทุนในเวียดนามมากขึ้นเพื่ออาศัยสิทธิ์ทีพีพี และค่าแรงงานถูก ประกอบกับ ทีพีพี เมื่อถูกยกเลิกไป นักลงทุนจีนที่วางแผนจะลงทุนในเวียดนามจะเปลี่ยนมาลงทุนในไทยแทนมากขึ้น

โดยประธานและรองประธานส.อ.ท.ย้ำว่าตามที่กกร.ประกาศก่อนหน้านี้ว่าจีพีพีปีหน้าจะโต 3.5-4% เพราะมองว่าเวลานี้มีการกระจายรายได้ออกสู่ภูมิภาค หรือลงไปสู่รากหญ้าแล้ว ที่ขณะนี้เริ่มเห็นภาพจะลากยาวไปถึงปีหน้าดูจากการซื้อรถปิกอัพ รถมอเตอร์ไซด์ อีกทั้งจะเห็นว่าขณะนี้ราคาน้ำมันเริ่มนิ่งก็จะทำให้ธุรกิจเดินหน้าได้ราบรื่นขึ้น ไม่มีความเสี่ยงเหมือนช่วงที่ราคาน้ำมันผันผวนมาก ทำให้บริหารต้นทุนยาก แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องระวังคือนักท่องเที่ยวจีนที่มีปัญหาเรื่องทัวร์ศูนย์เหรียญที่จะทำให้ยอดนักท่องเที่ยวหายจีนไปได้

สำหรับสิ่งที่ต้องระวังคือ กลุ่มอาหารและเกษตรที่ไทยอาจจะเหนื่อยเนื่องจากอเมริกามีความพร้อมกว่าไทยมากโดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรกรรม

 กสิกรจับตาปรับดอกเบี้ยธ.ค.นี้

นายวศิน วณิชย์ วรนันต์ ประธานกรรมการบริหาร บลจ.กสิกรไทยฯ กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจในปีหน้าจะฟื้นตัวอย่างช้า ๆ คาดจะขยายตัว 3.3% สูงกว่าปีนี้ที่คาดไว้ที่ 3.1-3.2% เนื่องจากการส่งออกมีทิศทางขยับขึ้นบ้าง แต่ยังจะต้องจับตานโยบายของทรัมป์ที่จะมีผลต่อการลงทุน รวมถึงการปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือนธันวาคมนี้จะมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อด้วย และเงินทุนเคลื่อนย้ายกลับไปสหรัฐฯด้วย

“เศรษฐกิจไทยจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่จะค่อยๆฟั้นตัว ยกเว้นสหรัฐอเมริกาที่มีการฟื้นตัวชัดเจนขึ้น รวมถึงอัตราการจ้างงานก็ขยับขึ้นมาใกล้ช่วงวิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐฯ จึงเป็นไปได้สูงที่ดอกเบี้ยจะปรับขึ้นในเดือนธันวาคมนี้ และคาดว่าจะปรับขึ้นอีก1-2 ครั้งในปีหน้า”

อนึ่งก่อนหน้านี้ภาคเอกชนโดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)คาดการณ์ว่า จีดีพีของประเทศปี 2560 น่าจะขยายตัวได้ดีอยู่ที่ระดับ 3.5-4% เปรียบเทียบกับปีนี้ที่คาดว่าทั้งปีจีดีพีจะโต 3.3-3.5% เช่นเดียวกับที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์จีดีพีปีหน้าจะเติบโตราว 3.0-4.0% เทียบกับปีนี้ ที่คาดว่าจีพีดีอยู่ที่ระดับ 3.2%

จาก http://www.thansettakij.com   วันที่ 30 พฤศจิกายน 2559

ไทยขับเคลื่อนข้อตกลง‘TFA’ สศก.ชี้ช่วยหนุนนำเข้า-ส่งออกสินค้าการเกษตร

นางจันทร์ธิดา มีเดช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันไทยอยู่ระหว่างการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า ตามบทบัญญัติภายใต้ความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้า (Trade FacilitationAgreement: TFA) ข้อ 23.2ซึ่งไทยได้ให้สัตยาบัน เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม2558 โดยคณะอนุกรรมการ มีกระทรวงพาณิชย์เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักและมีหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องรวมทั้งหน่วยงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้าร่วมเป็นองค์ประกอบ

เนื้อหาของความตกลงดังกล่าว ประกอบด้วยบทบัญญัติเกี่ยวกับกระบวนการปฏิบัติด้านการนำเข้า ส่งออก และผ่านแดนของสินค้า ได้แก่ การเผยแพร่ข้อมูลที่มีความสําคัญสําหรับผู้ค้า เช่น อัตราภาษีศุลกากร ค่าธรรมเนียม กฎหมาย กฎระเบียบการออกคําวินิจฉัยล่วงหน้าเกี่ยวกับพิกัดของสินค้า การชําระภาษีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ และการตรวจสอบหลังการตรวจปล่อย การยอมรับให้ใช้สําเนาแทนเอกสารตัวจริง การพยายามนําระบบ Single Window มาใช้งาน เสรีภาพในการขนส่งสินคาผ่านแดนโดยการไม่เก็บค่าธรรมเนียมการผ่านแดนเว้นแต่เพื่อเป็นค่าบริการ หลักเกณฑ์เงื่อนไขด้านความร่วมมือกันของหน่วยงานศุลกากร เป็นต้น

ทั้งนี้ ความตกลงด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า จะมีส่วนสนับสนุนให้กระบวนการปฏิบัติด้านการนำเข้า ส่งออก และผ่านแดนของสินค้า มีความเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ และมีความโปร่งใส ช่วยลดภาระต้นทุน ระยะเวลา โดยเฉพาะสินค้าเกษตรซึ่งเป็นสินค้าที่มีความเสียหายง่าย นอกจากนี้ความตกลงดังกล่าว ยังสอดคล้องกับนโยบายของไทยในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อการค้าและการลงทุน โดยการลดต้นทุนรวมของการค้าระหว่างประเทศ ด้วยการลดต้นทุนทางการเงิน ต้นทุนเวลา และลดความไม่แน่นอน สำหรับการนำเข้า การส่งออก และผ่านแดนสินค้าซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อไทย

จาก http://www.naewna.com   วันที่ 30 พฤศจิกายน 2559

สผ.บี้กรมโรงงานขันน็อตอุตฯทั่วปท.ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง20%ในปี 73

นายปณิธาน จินดาภู รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงฯโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก(องค์การมหาชน) ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการจัดทำรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย 2559-2563 เพื่อช่วยให้ไทยสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตั้งเป้าหมายให้ไทยสามารถลดก๊าซดังกล่าวให้ได้ 20% ภายในปี 2573

 นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรอ.กล่าวว่า กรอ.จะรวบรวมข้อมูลของภาคอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และจะส่งข้อมูลให้สผ.จัดทำบัญชีการปล่อยก๊าซฯในภาพรวมของประเทศ พร้อมกระตุ้นให้โรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศลดการปล่อยก๊าซฯลง โดยปัจจุบันข้อมูลสถิติของภาคอุตสาหกรรมมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 44.52 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ คิดเป็น 14.57% ของการปล่อยก๊าซฯในภาพรวมของประเทศ

จาก http://www.matichon.co.th    วันที่ 30 พฤศจิกายน 2559

ค่าบาท 'แข็งค่า' ต่อเนื่อง

ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ '35.65 บาทต่อดอลลาร์" แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากวานนี้ แนะติดตามปัจจัยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในเดือนธ.ค. และราคาน้ำมัน

บาทเปิดตลาดเช้านี้ที่ระดับ 35.65 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากปิดตลาดวานนี้ ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์ยังมีทิศทางแข็งและเฟดขึ้นดอกเบี้ยธ.ค. มีโอกาสสูงหลังเลือกตั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐสูงสุดในรอบ8ปี และบาทยังอ่อนตัวตามราคาน้ำมันอ่อนค่าลง

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ รองผู้อำนวยการ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ที่ระดับ 35.65 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากปิดตลาดวานนี้ที่ระดับ 35.68 บาทต่อดอลลาร์

โดยจีดีพีสหรัฐไตรมาส 3 ที่เติบโตถึง 3.2% บวกกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวสูงขึ้นหลังเลือกตั้ง (107จุดสูงสุดในรอบ 8ปี) ชี้ว่าดอลลาร์ยังมีทิศทางแข็งค่าและการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐมีโอกาสเกิดขึ้นได้สูงมากในเดือนธันวาคม

สำหรับวันนี้ตลาดยังจับตาไปที่การประชุมโอเปกว่าจะหาข้อสรุปจากการประชุมในวันนี้ได้หรือไม่ โดยค่าเงินเอเชียยังมีแนวโน้มอ่อนตัวตามราคาน้ำมันที่อ่อนค่าลง มองกรอบวันนี้ที่ 35.60-35.70 บาทต่อดอลลาร์

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย กลุ่มงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ในช่วงเช้านี้ค่าเงินบาทแข็งค่ากว่าระดับ 35.60 บาทต่อดอลลาร์ จากปิดตลาดวานนี้ที่ 35.68บาทต่อดอลลาร์ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์ฯ เพื่อปรับโพสิชันของนักลงทุน

โดยเงินดอลลาร์ฯ แทบไม่ได้รับแรงหนุนจากตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/2559 ของสหรัฐฯ ที่ออกมาสูงกว่าที่ตลาดคาด

สำหรับกรอบความเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ คาดไว้ที่ 35.50-35.70 บาทต่อดอลลาร์ โดยนักลงทุนรอผลการประชุมโอเปก และตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ ตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชน ดัชนีราคาการใช้จ่ายด้านการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐาน (Core PCE Price Index) และยอดทำสัญญาซื้อบ้านที่รอปิดการขาย

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 30 พฤศจิกายน 2559

BRR เดินสายโรดโชว์ “ฮ่องกง”

           BRR เข้าสู่โหมดธุรกิจขาขึ้น เตรียมเดินสายโรดโชว์ฮ่องกง ร่วมกับ บริษัทหลักทรัพย์ CLSA วันที่ 30 พฤศจิกายน - 2 ธันวาคมนี้ ประเมินนักลงทุนสนใจธุรกิจมากขึ้นหลังราคาน้ำตาลตลาดโลกปรับตัวอยู่ในระดับที่น่าพอใจ ประกอบกับกำลังจะเข้าสู่ฤดูกาลหีบอ้อย ประกอบกับบริษัทมีการบริหารจัดการดี ผลผลิตต่อไร่สูง ขณะที่ผลงานไตรมาส3 กลับมาแรงชัดเจน

          นายภัทรพงศ์ พงศ์สวัสดิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมเดินสายนำเสนอข้อมูล (โรดโชว์) ให้กับนักลงทุนสถาบันต่างประเทศ ร่วมกับ บริษัทหลักทรัพย์ CLSA ในระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน - 2 ธันวาคมนี้ ที่ ฮ่องกง เนื่องจากอุตสาหกรรมน้ำตาลกำลังเป็นที่สนใจของนักลงทุน จากราคาน้ำตาลโลกที่กลับมาสูง โดยบริษัทจะแสดงศักยภาพการดำเนินงานของบริษัท ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำตาลที่มีระบบบริหารจัดการที่ดี และมีผลผลิตต่อไร่สูง

          "ราคาน้ำตาลตลาดโลกปรับตัวดีขึ้นจากปีที่ผ่านมา ทำให้อุตสาหกรรมน้ำตาลเป็นที่สนใจของนักลงทุน ซึ่งสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้ราคาน้ำตาลปรับตัวขึ้น เกิดจากปัญหาสภาพอากาศในประเทศผู้ผลิตสำคัญๆ ที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิต ทำให้ดุลยภาพน้ำตาลของโลกขาดแคลน ประเมินว่า แนวโน้มราคาน้ำตาลในตลาดโลกจะยังคงวิ่งอยู่ระดับที่น่าพอใจในปีหน้า"

          นายภัทรพงศ์ ระบุด้วยว่า น้ำตาลบุรีรัมย์จะเริ่มเปิดรับหีบอ้อยในวันพฤหัสบดีที่ 8 ธันวาคมนี้ โดยตั้งเป้าปริมาณอ้อยเข้าหีบราว 2.3 - 2.4 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 2.06 ล้านตันในปีก่อน และตั้งเป้าผลิตน้ำตาลทรายได้ 2.6 - 2.7 แสนตัน จากปีก่อนที่อยู่ที่ 2.3 แสนตัน หรือเพิ่ม 3 - 4 หมื่นตัน ซึ่งผลผลิตที่เพิ่มขึ้นจะได้รับอานิสงค์จากราคาน้ำตาลตลาดโลกที่ปรับตัวขึ้นมากในช่วงต้นปี 2560

          นอกจากทิศทางราคาน้ำตาลที่ยังคงมีแนวโน้มในการปรับตัวสูงขึ้นแล้ว ประสิทธิภาพในการดำเนินงานก็นับเป็นสิ่งสำคัญในการตัดสินใจของนักลงทุน โดยผลผลิตต่อไร่ของบริษัทสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากการที่บริษัทได้ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการไร่อ้อยโดยเน้นการให้ความรู้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยกว่า 12,000 ราย ตั้งแต่การเตรียมดิน การปลูก การบำรุงรักษา การให้ปุ๋ย และกำหนดวันตัดอ้อย โดยประเมินค่าความหวานในปีผลผลิตที่จะถึงนี้เพิ่มขึ้นเป็น 13.5 C.C.S จากเดิม 13 C.C.S

          สำหรับผลประกอบการไตรมาส 3 ที่ผ่านมาบริษัทมีมีรายได้รวม 1,041 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32 % จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 784 ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 100 ล้านบาท สามารถพลิกกลับมาเป็นบวกจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 7.14 ล้านบาท โดยมีอัตรากำไรขั้นต้น 21.33 % เพิ่มขึ้นจาก งวดเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ในระดับ 13 % มีอัตรากำไรสุทธิ 9.60 % จากราคาน้ำตาลที่สูงขึ้น

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

เกษตรไทย อินเตอร์ฯ คาดอ้อยเข้าหีบเพิ่มกว่า 10%ดันปี60สดใส     

         กลุ่มเกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น เตรียมเปิดหีบอ้อย 8 ธ.ค.นี้ คาดได้อ้อยเข้าหีบมากกว่าปีก่อนไม่น้อยกว่า 10% ซึ่งจะส่งผลต่อรายได้ที่ดีขึ้นในปี 2560 ทุกกลุ่มธุรกิจ ทั้งน้ำตาล เยื่อกระดาษ เอทานอล และไฟฟ้า เผยไตรมาส 3 ปีนี้มีรายได้จากโรงไฟฟ้า 178 ล้านบาท โตกว่างวดเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้เพียง 14 ล้านบาท เพราะเปิดดำเนินการโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวลแล้ว 2 แห่ง

        นายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เปิดเผยว่า บริษัทจะเปิด หีบอ้อยสำหรับฤดูการผลิตปี 2559/2560 ในวันที่ 8 ธันวาคมนี้ ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้ง 3 โรงงาน คือ เกษตรไทย รวมผล และไทยเอกลักษณ์ มากกว่าฤดูการผลิตปี 2558/2559 ไม่น้อยกว่า 10% เนื่องจากปีนี้ปริมาณฝนมากกว่าปีก่อน ประกอบกับการที่ฝ่ายไร่ของ KTIS ได้เข้าไปร่วมคัดเลือกพันธุ์อ้อย ปรับปรุงดิน และให้ความรู้กับชาวไร่อ้อยในการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น

               “เมื่ออ้อยซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตน้ำตาลทรายและผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง มีปริมาณเพิ่มขึ้น ก็จะสามารถผลิตน้ำตาลทรายได้มากขึ้น รวมไปถึงผลิตภัณฑ์อื่นๆ ทั้งเยื่อกระดาษ เอทานอล และไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงชีวมวล ก็จะได้ปริมาณมากขึ้น ในขณะที่ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกก็ปรับตัวสูงขึ้นด้วย ทำให้มั่นใจว่าผลการดำเนินงานของกลุ่มเคทิส ในปี 2560 จะดีกว่าปี 2559 อย่างแน่นอน” นายณัฎฐปัญญ์ กล่าว

               ทั้งนี้ นายณัฎฐปัญญ์ ได้ให้เหตุผลเพิ่มเติมถึงความมั่นใจในการเพิ่มขึ้นของปริมาณอ้อยของกลุ่ม KTIS ว่า ปกติปริมาณผลผลิตอ้อยของกลุ่ม KTIS จะมีสัดส่วนประมาณ 9.2 - 9.5% ของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของประเทศไทย และในปีนี้ปริมาณน้ำฝนในเขตพื้นที่ภาคเหนือค่อนข้างดี จึงเชื่อว่าจะทำให้สัดส่วนปริมาณผลผลิตอ้อยของกลุ่ม KTIS กลับไปอยู่ที่ระดับดังกล่าว ดังนั้น แม้ว่ามีการคาดการณ์ว่าผลผลิตอ้อยที่เข้าสู่โรงงานน้ำตาลทั้งประเทศในปี 2560 ลดลงไปอยู่ที่ประมาณ 91 ล้านตันอ้อย แต่ผลผลิตอ้อยของกลุ่ม KTIS น่าจะเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมากว่า 10% จึงทำให้เชื่อมั่นว่าผลการดำเนินงานของกลุ่ม KTIS ในปี 2560 จะดีขึ้นอย่างแน่นอน

               สำหรับผลประกอบการของกลุ่ม KTIS ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2559 นั้นสายธุรกิจที่มีรายได้สูงสุดของกลุ่มยังคงเป็นสายธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย ซึ่งมีรายได้ประมาณ 3,044 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 79% ของรายได้รวม 3,879 ล้านบาท ในขณะที่กลุ่มธุรกิจชีวพลังงานมีสัดส่วนรายได้ลดลงจากไตรมาสก่อนเหลือเพียง 21% เนื่องจากปริมาณอ้อยที่มีน้อยลงทำให้ได้ปริมาณชานอ้อยและโมลาสที่ส่งต่อไปยังสายการผลิตผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องลดลง

               รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม KTIS กล่าวด้วยว่า สายธุรกิจที่มีรายได้เติบโตสูงในไตรมาสที่ 3 ของปี 2559 คือโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวล ซึ่งมีรายได้ประมาณ 178 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีรายได้เพียง 14 ล้านบาท เนื่องจากไตรมาสที่ 3 ปีนี้สามารถรับรู้รายได้ทั้งโรงไฟฟ้าเกษตรไทยไบโอเพาเวอร์ และไทยเอกลักษณ์เพาเวอร์

               ทั้งนี้ รายได้รวม 9 เดือนของปี 2559 ของบริษัทและบริษัทย่อย เท่ากับ 12,559 ล้านบาท เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี 2558 ซึ่งมีรายได้ 15,030 ล้านบาท 

จาก http://manager.co.th  วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

มติ ครม.ตั้ง “บิ๊กหมู” นั่ง ปธ.กปภ.พร้อม 7 กรรมการ - ตั้ง 2 กก.บริหารกองทุนอ้อย  

        ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติแต่งตั้งอดีต ผบ.ทบ.นั่งประธานกรรมการการประปาส่วนภูมิภาค พร้อมกรรมการอีก 7 ราย และยังตั้ง ผอ.สำนักงบด้านเศรษฐกิจ 1 และรองปลัด ก.เกษตรฯ นั่ง กก.คณะกรรมการบริหารกองทุน ตาม พ.ร.บ.อ้อย แทนผู้เกษียณ

        วันนี้ (29 พ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการการประปาส่วนภูมิภาค จำนวน 8 คน เนื่องจากคณะกรรมการชุดเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสามปีแล้ว เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2559 ดังนี้ 1. พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ประธานกรรมการ 2. พล.ต.พงษ์สวัสดิ์ พรรณจิตต์ กรรมการ 3. นายประยูร รัตนเสนีย์ กรรมการ 4. นายฉัตรชัย พรหมเลิศ (บุคคลในบัญชีรายชื่อกรรมการรัฐวิสาหกิจ) กรรมการ 5. ร.ต.ท.อาทิตย์ บุญญะโสภัต (บุคคลในบัญชีรายชื่อกรรมการรัฐวิสาหกิจ) กรรมการ 6. นายจรินทร์ จักกะพาก (บุคคลในบัญชีรายชื่อกรรมการรัฐวิสาหกิจ) กรรมการ 7. นายเวทย์ นุชเจริญ (บุคคลในบัญชีรายชื่อกรรมการรัฐวิสาหกิจ) กรรมการ และ 8. น.ส.เยาวนุช วิยาภรณ์ ผู้แทนกระทรวงการคลัง (บุคคลในบัญชีรายชื่อกรรมการรัฐวิสาหกิจ) กรรมการ      

        นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรียังมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอแต่งตั้งผู้แทนส่วนราชการเป็นกรรมการในคณะกรรมการบริหารกองทุนตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 แทนผู้ที่เกษียณอายุราชการ จำนวน 2 คน ดังนี้ 1. น.ส.ชวนชม กิจพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักจัดทำงบประมาณด้านเศรษฐกิจ 1 ผู้แทนสำนักงบประมาณ 2. นายสุรพงษ์ เจียสกุล รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน 2559 เป็นต้นไป       

จาก http://manager.co.th  วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ครม.ไฟเขียวร่างการค้า-การลงทุน ไทย-จีน ครั้งที่ 5

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้ (29 พ.ย.59) มีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ ดังนี้ 1.เห็นชอบต่อร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน และเศรษฐกิจระหว่างไทย-จีน (Thailand-China Joint Committee on Trade, Investment and Economic Cooperation : JC เศรษฐกิจ) ครั้งที่ 5 และอนุมัติให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามในเอกสารผลลัพธ์การประชุม

2.เห็นชอบต่อการต่ออายุแผนพัฒนาเศรษฐกิจไทย-จีน ระยะ 5 ปี และเอกสารสำหรับการต่ออายุแผนพัฒนาเศรษฐกิจไทย-จีน ระยะ 5 ปี รวมถึงแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-จีน และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามในเอกสารผลลัพธ์การประชุมรวมถึงเอกสารอื่น ๆ ที่เป็นผลจากการหารือขยายความร่วมมือเฉพาะด้าน (หากมี)

3.หากในการประชุมดังกล่าว มีผลให้มีการตกลงเรื่องความร่วมมือ ด้านเศรษฐกิจการค้าในประเด็นอื่น ๆ นอกเหนือจากร่างเอกสารผลลัพธ์ฯ (ตามข้อ 1) และการต่ออายุแผนฯ (ตามข้อ 2) และ/หรือจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างเอกสารฯ และการต่ออายุแผนฯ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้าสองฝ่ายระหว่างไทย-จีน โดยไม่มีการจัดทำเป็นความตกลงหรือหนังสือสัญญาขึ้นมา ให้ พณ. และผู้แทนไทยที่เข้าร่วมการประชุมดังกล่าวสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง

4.มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ออกหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือผู้แทน สำหรับการลงนามดังกล่าว

สาระสำคัญของเรื่อง 1.กรอบการหารือสำหรับประชุม JC เศรษฐกิจ ครั้งที่ 5 ประกอบด้วย 1) ความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน 2) การขยายการค้าสินค้าเกษตร 3) ความร่วมมือด้านสาธารณูปโภคและโครงการต่าง ๆ 4)ความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นวัตกรรม และความร่วมมือด้านอวกาศ 5) ความร่วมมือด้านการเงิน 6) ความร่วมมือด้านท่องเที่ยว 7) พลังงาน 8) ความร่วมมือในระดับท้องถิ่น 9) การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค

2.การต่ออายุแผนพัฒนาเศรษฐกิจไทย – จีน ระยะ 5 ปี ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะต่ออายุแผนพัฒนาเศรษฐกิจไทย – จีน ระยะ 5 ปี ไทย-จีน (2555-2559) ออกไปอีก 5 ปี (2560-2564) เนื่องจากเห็นว่า เป็นเอกสารหลักในการกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับจีน ที่มีสารัตถะครอบคลุมสาขากิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างรอบด้าน ที่ครอบคลุมสาขาความร่วมมือ  14 สาขา ได้แก่

การอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน นวัตกรรมและเทคโนโลยีสีเขียว การให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการ ทรัพย์สินทางปัญญา วิสาหกิจขนาดกลางและย่อม เกษตร อุตสาหกรรม (สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องจักรและอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ เคมีภัณฑ์) สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เหมืองแร่ พลังงาน เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร การท่องเที่ยว โลจิสติกส์ และการเงิน ซึ่งร่างเอกสารต่ออายุแผนพัฒนาเศรษฐกิจไทย – จีน ระยะ 5 ปี จะนำไปสู่การกำหนดทิศทางการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศ โดยฝ่ายไทยมีการเพิ่มข้อบทที่เกี่ยวข้องกับการต่ออายุ การแก้ไข การยกเลิกเอกสารต่าง ๆ ตลอดจนกลไกการติดตามผลการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินการในอนาคต

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

"พาณิชย์" เล็งให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ครบวงจรภายในปี′62

นางสาวผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงฯ กำลังปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานและการให้บริการสู่ความเป็นองค์กรดิจิทัล ขณะเดียวกันก็จะให้บริการด้านเศรษฐกิจการพาณิชย์แบบครบวงจรด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ผ่านการรับรองมาตรฐานสากล ซึ่งเป็นตามแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจการพาณิชย์ พ.ศ. 2560-64 ตามแนวยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยในระยะสั้น 2560-61 จะพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์ (MOC e-Service) ให้ครบวงจรและบริการจุดเดียวจบ คาดประชาชนเริ่มใช้บริการนี้ได้ต้นปี 2562 โดยจะสามารถค้นข้อมูลข่าวสาร ทำธุรกรรมต่างๆ เช่น ขอใบอนุญาต จดทะเบียน และการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมไปถึงมีรูปแบบเอกสารเดียวกันหมดทั้งกระทรวงเมื่อประชาชนมาขอใช้บริการ จากปัจจุบันหรือที่ผ่านมาเมื่อประชาชนต้องค้นข้อมูลก็ทำได้อีกจุดหนึ่ง ทำธุรกรรมต่างๆ ก็ต้องติดต่อผ่านกรมโดยตรง หรือยังไม่สามารถชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ได้ และแต่ละหน่วยงานในกระทรวงมีรูปแบบเอกสารที่แตกต่างกันไป

"MOC e-Service จะเป็นประโยชน์อย่างมากในส่วนพาณิชย์ในภูมิภาค ที่เป็นสำนักงานพาณิชย์จังหวัด ซึ่งเป็นจุดรวมให้บริการงานกระทรวงพาณิชย์ทั้งหมดแก่ประชาชน เมื่อระบบนี้ให้บริการได้จะทำให้ประชาชนไม่จำเป็นต้องเดินเข้ามาที่สำนักงาน สามารถกรอกหรือค้นข้อมูลได้ทุกที่ทุกเวลา บริการจบในจุดเดียว ซึ่งจะช่วยประหยัดเวลาและต้นทุนของประชาชนที่ต้องมาติดต่อ ขณะเดียวกันก็ลดขั้นตอนการทำงาน ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการประเมินอันดับความยากง่ายในการทำธุรกิจให้ดีขึ้น" นางสาวผ่องพรรณกล่าว

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ตั้ง‘ประชารัฐคณะ14’ขับเคลื่อนอุตฯ4.0

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมช.พาณิชย์ กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา “F.T.I. Outlook 2017” ภายใต้หัวข้อ “อุตสาหกรรม 4.0 จุดเปลี่ยนประเทศไทย” ว่า กระทรวงแรงงาน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงศึกษาธิการ อยู่ระหว่างหารือ

บูรณาการทำงานร่วมกับภาคเอกชน ทั้ง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(สอท.) และสภาหอการค้าไทย จัดตั้งคณะทำงานประชารัฐ คณะที่ 14 เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยสู่ยุค 4.0 โดยจะเน้นการยกระดับแรงงานให้มีทักษะสูง สามารถทำงานได้ในยุคที่ต้องใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นพื้นฐานการผลิต

ปัจจุบันแรงงานไทย 60% อยู่อุตสาหกรรม 1.0 แรงงาน 30% อยู่ในระดับ 2.0 และแรงงาน 10% อยู่ในระดับ 3.0 เพื่อผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสู่มือผู้บริโภค ซึ่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้อนุมัติให้ใช้งบประมาณบูรณาการปี 2560-2561 ดำเนินแผนงานดังกล่าวแล้ว

“แม้ในอนาคตจะมีการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง แต่คณะทำงานประชารัฐที่จัดตั้งขึ้นก็จะช่วยให้สามารถดำเนินงานต่อไปได้อย่างไม่สะดุด โดยล่าสุด นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เห็นชอบในหลักการแล้ว น่าจะมีความชัดเจนภายในสิ้นปีนี้ พร้อมมอบหมายให้ตนเองและสอท.เป็นตัวแทนในการจัดตั้ง โดยงบประมาณส่วนใหญ่จะมาจากภาคเอกชน ขณะที่ภาครัฐจะสนับสนุนเรื่องสิทธิประโยชน์แก่อุตสาหกรรม 4.0 ที่จะเข้ามาลงทุน”

นายสุวิทย์กล่าวว่า จากการคาดการณ์ของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยต้องรับว่าหากอุตสาหกรรมไม่ปรับตัว ภายในปี 2563 จะมีแรงงานใน 15 เขตเศรษฐกิจทั่วโลกหายไปจากระบบถึง 7 ล้านราย ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องเร่งผลิตบุคลากรตอบโจทย์อุตสาหกรรมยุคใหม่ใน 3-5 ปี จากปัจจุบันที่ไทยติดอยู่ใน 3 กับดัก คือ กับดักรายได้ปานกลาง ไม่สามารถสร้างความร่ำรวยได้มากกว่าที่เป็นอยู่ กับดักของความเหลื่อมล้ำ ที่มีผู้รายได้สูงอยู่ในลักษณะกระจุกตัว และกับดักของความไม่สมดุล ที่ไม่สามารถสร้างความร่ำรวยอย่างยั่งยืนได้

จาก http://www.naewna.com วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

กรมโรงงานฯ สั่ง รง.เอทานอล เร่งกำจัดภูเขาก๊าซชีวภาพใน 4 สัปดาห์

        นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวถึงกรณีข่าวภูเขาก๊าซชีวภาพที่พองขึ้นจากบ่อกักเก็บน้ำกากส่า หรือน้ำเสียของโรงงานผลิตเอทานอล บริษัท ไทย อะโกร เอ็นเนอร์ยี่จำกัด (มหาชน) อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี ได้สร้างความเดือดร้อนเรื่องกลิ่นเหม็นไปทั่วบริเวณโดยรอบพื้นที่ชุมชน และยังเกิดปัญหาบ่อเก็บน้ำกากส่า ซึ่งเกิดก๊าซสะสมจำนวนมาก ทำให้ผ้าใบคลุมบ่อโป่งพองสูงขึ้น

จนชาวบ้านได้รับกลิ่นเหม็นและเกิดวิตกกังวลว่าเสี่ยงต่ออันตรายที่อาจจะเกิดการระเบิดได้ เบื้องต้นกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ให้เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมโรงงานภาคตะวันตกเข้าไปเพื่อตรวจวัดวิเคราะห์คุณภาพอากาศ

        อย่างไรก็ตาม ล่าสุด ได้ประสานไปยังอุตสาหกรรมจังหวัดสุพรรณบุรีทำหนังสือสั่งการให้โรงงานปรับปรุงแก้ไข ไม่ให้เกิดก๊าซเพิ่มมากขึ้นและให้มีการกำจัดก๊าซในบ่อกักเก็บน้ำกากส่าหรือน้ำเสียของโรงงาน โดยใช้วิธีเผาทิ้งหรือนำมารีไซเคิลกลับไปใช้ในบอยเลอร์ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการเกิดมลภาวะเรื่องกลิ่นเพิ่มขึ้นด้วย เพื่อบรรเทาปัญหาดังกล่าวให้อยู่ในสภาวะปกติ ไม่ให้สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน และชุมชนที่อยู่บริเวณโดยรอบโรงงาน ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 - 4 สัปดาห์

จาก http://manager.co.th วันที่ 28 พฤศจิกายน 2559

ส.ป.ก.หนุน"เกษตรทฤษฎีใหม่"เขตปฏิรูป70จว.ปี60!

โดย - โต๊ะข่าวเกษตร

          ส.ป.ก.ส่งเสริมเกษตรทฤษฎีใหม่ในเขตปฏิรูป เป้าปี 60 ตั้ง 135 ศูนย์ใน 70 จังหวัด ดึงเกษตรกรอบรม 5,400 ราย ภายใต้งบกว่า 11.5 ล้านบาท

         นายสมปอง อินทร์ทอง เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบการถือครองที่ดินที่ ส.ป.ก.ชี้พื้นที่เป้าหมายแปลงที่ดินที่มีผู้ครอบครองที่ดินตั้งแต่ 500 ไร่ ในพื้นที่ 27 จังหวัด จำนวน 431 แปลง เนื้อที่ 441,054 ไร่ พบว่าผลการตรวจสอบหลักฐานยื่นคัดค้านจาก ส.ป.ก.จังหวัด เนื้อที่ทั้งหมด 150,410 ไร่ ไม่มีผู้คัดค้านเลย 28 แปลง จำนวน  27,874 ไร่ คำคัดค้านฟังไม่ขึ้น 15,789 ไร่ คำคัดค้านฟังขึ้น 290,644 ไร่ และเนื้อที่ที่เหลือจากการคัดค้านบางส่วน 106,747 ไร่

ส.ป.ก.หนุน"เกษตรทฤษฎีใหม่"เขตปฏิรูป70จว.ปี60!

          สำหรับความเห็นจาก ส.ป.ก.ส่วนกลาง ได้มีการตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารหลักฐานแล้ว และได้ส่งกลับไปให้ ส.ป.ก.จังหวัดแต่ละจังหวัดดำเนินการตรวจสอบเพิ่มเติม จำนวน 21,978 ไร่  

           เลขาธิการ ส.ป.ก.เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ส.ป.ก.ได้ส่งเสริมเกษตรทฤษฎีใหม่ในเขตปฏิรูปที่ดิน โดยดำเนินการในปีงบประมาณ 2559 ได้จัดตั้งศูนย์ต้นแบบ 70 ศูนย์ ขยายผลองค์ความรู้การทำเกษตรทฤษฎีใหม่จากศูนย์ต้นแบบฯ 2,800 ราย และในปีงบประมาณ 2560 มีแผนดำเนินการจัดตั้งศูนย์ต้นแบบ 135 ศูนย์ ใน 70 จังหวัด พร้อมจัดฝึกอบรมขยายผลองค์ความรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ศูนย์ละ 40 ราย รวมเป้าหมาย 5,400 ราย วงเงินงบประมาณ 11,537,500 บาท 

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 28 พฤศจิกายน 2559

แบงก์ชาติ เตือนรับมือค่าเงินบาทผันผวน

                    แบงก์ชาติแนะผู้ส่งออกทำประกันรับความเสี่ยง หลังค่าบาทอ่อนค่า เงินทุนไหลออก ชี้นโยบายทรัมป์ทำตลาดป่วน

 นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ขอเตือนว่าแนวโน้มตลาดการเงินและค่าเงินทั่วโลกยังคงมีความผันผวนที่สูงขึ้นอีก หลังจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจออกมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้นักธุรกิจ ผู้ส่งออกนำเข้าและผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องเตรียมรับมือความผันผวนของค่าเงินบาทต่อไป พร้อมทั้งมีการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินล่วงหน้า

 “ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงได้อีก เนื่องจากนโยบายของทรัมป์จะใช้เงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องออกพันธบัตรเพื่อหาเงินมาชดเชยฐานะทางการคลังมากขึ้น และดันอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นอีก อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมาค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าน้อยกว่าสกุลในภูมิภาค และมีความผันผวนที่ต่ำกว่าด้วย ซึ่งเรื่องนี้ ธปท.ติดตามดูแลค่าเงินอย่างใกล้ชิดไม่ต้องเป็นห่วง”

สำหรับเงินทุนเคลื่อนย้ายในช่วงที่ผ่านมา มีเงินไหลออกไปจากตลาดพันธบัตร และตลาดหุ้น ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงจากพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯที่ผลตอบแทนปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่กรณีธนาคารกลางสหรัฐฯจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายช่วงเดือนธ.ค.นี้ เป็นเรื่องที่ตลาดการเงินรับรู้อยู่แล้ว และเชื่อว่าได้มีการทยอยปรับตัวเพื่อรองรับเรื่องดังกล่าวแล้วในระดับหนึ่ง ทำให้เมื่อมีการขึ้นดอกเบี้ยจริงจะไม่มีภาวะช็อกตลาด หรือมีการไหลออกของเงินในภูมิภาคนี้กลับไปสหรัฐฯอย่างรุนแรง ที่สำคัญธปท.ได้เตรียมการรับมือประเด็นนี้ไว้แล้ว

จาก http://www.dailynews.co.th   วันที่ 28 พฤศจิกายน 2559

'เคทิส'บนเส้นทางท้าทายยุค4.0 ต่อยอดงานวิจัย-พัฒนาไร่อ้อยยั่งยืน  

          อนัญชนา สาระคู

          ว่ากันว่า... ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งใหม่ ภายใต้นโยบาย "ไทยแลนด์ 4.0" ที่หลายคนอาจจะตั้งคำถามว่า "เพื่ออะไรและคนไทยจะได้อะไร"

          คำตอบที่ได้ในระยะเริ่มต้นและยังไม่เห็นภาพชัดเจนนั้น คือเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ท่ามกลางกระแสการค้าของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งในที่สุดแล้ว ประโยชน์ก็จะตกแก่คนไทยโดยรวม ไม่ทางตรง ก็ทางอ้อม

          ขณะที่ "การวิจัยและพัฒนา" จะเป็นหนึ่งในกลไกขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย ซึ่งเราจะได้เห็นความร่วมมือกันระหว่างภาคเอกชนและสถาบันการศึกษาหรือสถาบันวิจัยมากขึ้น แน่นอนว่า  ผลจะสำเร็จได้ก็ต้องอยู่ภายใต้การสนับสนุน อย่างต่อเนื่องจากภาครัฐอีกด้วย

          บริษัท เคทิส วิจัยและพัฒนา จำกัด  ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มบริษัทเกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กลุ่มอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายและอุตสาหกรรมต่อเนื่องรายใหญ่ของไทย คือตัวอย่างจากภาคเอกชนที่กำลังเดินหน้าไปสู่เส้นทางดังกล่าว  ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0

          ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาด้านนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ทั้งการลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิตต่อไร่ เพื่อสนับสนุนการทำการเกษตรแบบยั่งยืน การต่อยอดงานวิจัยใหม่ๆ จากสถาบันวิจัยให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ  ตลอดจนการส่งเสริมนักวิจัยรุ่นใหม่ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่สามารถตอบสนองความต้องการบริโภคของผู้คนในยุคปัจจุบัน  หรือแม้แต่การตอบโจทย์ในเรื่องการรักษา สิ่งแวดล้อม เป็นต้น

          จากนี้ไป จึงเป็นที่น่าติดตามว่า "เรา"  จะได้เห็นอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้นบ้าง โดยเฉพาะกับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย อย่างที่ผ่านมาได้ตอบโจทย์กันไประดับหนึ่งแล้ว เพราะหากพูดถึง "อ้อย" ในภาคของอุตสาหกรรมแล้ว ปัจจุบันไม่ได้มีแค่คำว่า "น้ำตาลทราย"

          "อภิชาต นุชประยูร" กรรมการผู้จัดการ บริษัท เคทิส วิจัยและพัฒนา ยกตัวอย่างของ บาย โพรดักส์ หรือผลพลอยได้จากอ้อยว่า สมัยก่อนกากอ้อยจะถือเป็นภาระที่จะต้องนำไปเผาทิ้ง แต่ปัจจุบันเราไม่นำไปเผาทิ้งแล้ว แต่นำไปเผาเพื่อให้เป็นพลังงานใช้ในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งโรงงาน น้ำตาลหลายๆ แห่งในปัจจุบันได้ทำกันแล้ว

          "แต่สิ่งที่เรามี คนอื่นไม่มี คือการนำชานอ้อยไปทำเป็นเยื่อกระดาษ ซึ่งกลุ่มเคทิส เป็นผู้ผลิตเยื่อกระดาษจากชานอ้อยรายเดียวในประเทศไทย ถือเป็นการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม โดยกระดาษจากชานอ้อยที่บริษัทเราผลิตได้นั้น สามารถลดการตัดต้นไม้ได้ 32 ล้านต้นต่อปี"

          นอกจากนี้ ยังสามารถนำไปผลิตเป็น สารสกัดอื่นๆ ได้อีก ส่วนกากตะกอนจากหม้อกรองของโรงงานน้ำตาล ก็นำไปผลิตเป็นปุ๋ยชีวภาพ กากน้ำตาลสามารถนำไปผลิตเอทานอลได้ รวมถึงซีอิ๊ว ผงชูรส หรือนำไปผลิตอาหารสัตว์ ซึ่งในส่วนของบริษัทเรา เน้นการทำเป็นเอทานอลเป็นหลัก และจากเอทานอลก็ยังสามารถต่อยอดเป็นอย่างอื่นได้อีก เป็นต้น

          นั่นจึงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลงานวิจัย และพัฒนาที่ผ่านมา แต่เมื่อมีการตั้งบริษัทเคทิส ขึ้นมาแล้ว มีวัตถุประสงค์ที่ขยายขอบเขตการวิจัยและพัฒนาให้กว้างมากขึ้น

          ล่าสุด บริษัทจึงได้ร่วมกับสถาบันการศึกษา และสถาบันวิจัยรวม 4 แห่ง ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.)  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี(มจธ.)และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ซึ่งแต่ละแห่งนั้น พบว่ามีจุดเด่นที่แตกต่างกันออกไป ความร่วมมือก็จะต่างกันไป

          อย่างเช่น มช. แม้ขณะนี้โครงการยังไม่ตกผลึก ไม่สรุปแน่ชัดว่าจะมีความร่วมมือกันในด้านใด แต่เราก็พบว่า มช.มีจุดแข็งด้านไบโอเคมิคอลและฟู้ด ขณะที่ มน. มีจุดเด่นตรงที่มีเครื่องไม้เครื่องมือในการเข้าไปช่วยเหลือชาวไร่ในการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลิต และการนำบาย โพรดักส์ไปใช้ประโยชน์ เป็นต้น

          ส่วนความร่วมมือกับมจธ. น่าจะมีความชัดเจนที่สุด คือโครงการวิจัยการใช้น้ำเสียที่บำบัดได้คุณภาพแล้ว ไปใช้ประโยชน์ในการปลูกหญ้า เนเปีย ซึ่งโครงการนี้จะใช้เวลา 1-2 ปี และคาดว่าปีหน้าน่าจะมีข้อมูลมาเปิดเผยกันมากขึ้น และความร่วมมือกับ วว. จะเน้นไปที่เรื่องไบโอเทคโนโลยี ซึ่งเราเห็นศักยภาพของ วว. ในเรื่องการผลิตปุ๋ยชีวภาพ หรือสารปรับปรุงดิน ว่าเขามีจุดเด่นและมีความพร้อมในด้านนี้ ที่จะสามารถสร้างประโยชน์ให้แก่เกษตรกรได้

          อภิชาตกล่าวว่า การที่เราเลือกทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษานั้น เพราะเห็นแล้วจากที่เราทำเองมาตลอด 10-20 ปี ในแผนกวิจัยของบริษัทเอง สิ่งสำคัญที่สุดคือ "บุคลากร" และคิดว่ากับงานวิจัย เราต้องการบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในหลากหลายแขนงมาก หากเราทำการวิจัยเฉพาะด้านอ้อย หรือวัตถุดิบเท่านั้น การศึกษาวิจัยด้วยตัวเอง สามารถทำได้อยู่แล้ว แต่ตอนนี้เราต้องการขยายขอบเขตของการวิจัยให้กว้างมากขึ้นทั้งกระบวนการผลิตเครื่องจักรผลิตภัณฑ์และของเสีย จึงคิดว่าความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาน่าจะเป็นช่องทางที่ทำให้การวิจัยและพัฒนาเห็นผลได้เร็ว เป็นประโยชน์ต่อองค์กร และประเทศ

          นอกจากนี้ สถาบันการศึกษามีคณาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถเยอะมาก และบางสถาบันมีองค์ความรู้ที่เราสนใจอยู่แล้ว ก็สามารถนำมา ต่อยอดได้ โดยไม่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์ คือเขามีองค์ความรู้ไว้ระดับหนึ่งแล้ว เราแค่มาเลือกและ ต่อยอดให้ตรงกับสิ่งที่เราต้องการ

          อย่างไรก็ตาม จากที่ได้สัมผัสมา เห็นว่า คนไทยมีความสามารถมาก และมีความคิดที่ กว้างไกล แต่อาจจะด้วยนโยบาย ทำให้บางครั้งงานวิจัยที่สถาบันการศึกษา หรือสถาบันวิจัยทำไว้ ไม่ได้ตอบโจทย์ภาคธุรกิจนัก แต่กลับตอบโจทย์ของสถาบันการศึกษาเอง ที่ทำเพื่อให้มีองค์ความรู้เก็บไว้เท่านั้น แต่จะใช้ประโยชน์ได้หรือไม่ ยังเป็นเครื่องหมายคำถามอยู่หลายส่วนแต่ตอนนี้ภาครัฐมีนโยบายให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างสถาบันการศึกษาและภาคเอกชน ซึ่งก็ตรงกับเรามากๆ เพราะบริษัทมีความตั้งใจที่จะทำงานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ แต่กรณีไม่สำเร็จก็อาจจะเป็นไปได้ แต่หากสำเร็จแล้ว จะต้องใช้ประโยชน์ได้จริง

          "ตอนนี้เราเหมือนมีสะพานข้ามที่นำทั้งสองฝ่ายมาร่วมมือกัน และเชื่อว่างบประมาณภาครัฐที่เคยมาสนับสนุนสถาบันการศึกษาต่างๆ ก็จะเข้ามาแบบก่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติจริงๆ สามารถนำไปใช้กับภาคเศรษฐกิจได้ ส่วนภาคเอกชน จากสมัยก่อนที่ไม่ค่อยลงทุนหรือใช้จ่ายด้านงานวิจัย ก็จะเข้ามามากขึ้น เพราะรู้แล้วว่าภาครัฐได้ให้การสนับสนุนและตรงกับสิ่งที่ภาคเอกชนต้องการจริงๆ" อภิชาต กล่าว

          ทั้งนี้ ภายโครงการประชารัฐ ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 นั้น บริษัทยังเตรียมที่จะลงนามเอ็มโอยูกับกระทรวงอุตสาหกรรม ในส่วนของ ไบโออีโคโนมี หรือเศรษฐกิจฐานชีวภาพ ที่เน้น นำสินค้าเกษตรมาเพิ่มมูลค่า โดยจะมีสถาบัน การศึกษาเข้ามาร่วมด้วย และเป้าหมายของเราคือเรื่องไบโอพลาสติก

          แต่เรื่องนี้ การจะเปลี่ยนผู้บริโภคมาให้เห็นความสำคัญ หรือใส่ใจในเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยเปลี่ยนจากการใช้พลาสติกที่ย่อยสลายไม่ได้  มาเป็นพลาสติกชีวภาพที่สามารถย่อยสลายได้เร็ว ก็ต้องการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง

          สำหรับบริษัท เคทิส วิจัยและพัฒนา จำกัด อภิชาต บอกด้วยว่า เป้าหมายของเราในระยะ 3-5 ปี คืออยากจะใช้ศักยภาพของสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยที่มีอยู่ในประเทศ ซึ่งมีศักยภาพ มีองค์ความรู้ มีบุคลากรอยู่แล้ว ให้ได้มากที่สุด เพราะเป็นสิ่งที่ทำขึ้นมาอยู่แล้ว แต่ไม่เคยมีใครนำมาใช้มาก่อนเราจึงจะเริ่มต้นจากตรงนี้ แทนที่จะเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ ซึ่งเชื่อว่ามีงานวิจัยอีกมากที่ทำไว้แล้ว แต่ยังไม่มีการรวบรวมทำให้เรายังไม่เห็นภาพ

          นอกจากนี้ ยังคิดว่าเมื่อมีการเข้าไปสนับสนุนมากขึ้นแล้ว ก็จะสะท้อนไปยังนักวิจัยที่จะสามารถพัฒนาศักยภาพ และส่งเสริมการผลิตนักวิจัยในประเทศให้มีมากขึ้นด้วย

          "บริษัทเอง ก็จะมีโครงการสนับสนุนให้ นักวิจัยที่ยังเป็นนักศึกษาเข้ามาช่วยในโครงการ เข้ามาทำงานในโรงงาน ให้ได้เห็นสถานที่จริง เห็นกระบวนการผลิตจริง ใครมีงานวิจัยที่ตรงกับความต้องการของบริษัทก็จับแมทชิ่งกันต่อไปได้ อีกทั้งความร่วมมือที่มี ก็ยังจะต่อเนื่อง คือจากเดิมเมื่อจบรุ่นหนึ่ง อาจจะไม่มีการต่อยอด แต่เมื่อร่วมมือกันแล้ว นักศึกษารุ่นเก่าจบไป ก็จะมีรุ่นใหม่เข้ามาสานต่อ หรือต่อยอดต่อไปได้" อภิชาต กล่าว

          อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุดแล้วสิ่งที่สำคัญที่สุดในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ก็คือต้นน้ำ บริษัทเรายังเน้นให้ความสำคัญกับต้นน้ำ แม้ว่าบริษัทวิจัยจะมีอยู่ 3 ฝ่าย 1.วัตถุดิบ คืออ้อยและพืชพลังงาน 2.กระบวนการผลิต และ 3.ผลิตภัณฑ์ที่มีการต่อยอด

          "ต้องยอมรับว่าเรายังเน้นเรื่องวัตถุดิบ เพราะเราพูดเสมอว่าน้ำตาลผลิตที่ไร่ การจะได้น้ำตาลที่ดีหรือไม่ดีนั้น เริ่มต้นที่ไร่ ถ้าปลูกอ้อยไม่ประสบความสำเร็จ อ้อยเข้ามาน้อย โรงงานก็ผลิตน้ำตาลได้น้อย เพราะฉะนั้นเราก็ยังเน้นในเรื่องการพัฒนาภาคเกษตรเป็นหลัก ที่เป็นต้นน้ำของเรา ส่วนนี้ก็จะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ด้วยต้นทุนที่ ต่ำลง ปลูกอ้อยได้ผลผลิตมากขึ้น เกษตรกรจะเห็นความยั่งยืนและไม่ปรับเปลี่ยนไปมาในการปลูกพืชชนิดอื่น อย่างที่บริษัทเรามีคำขวัญก็คือ ชาวไร่อ้อยมั่งคั่ง เคทิส มั่นคง" อภิชาต กล่าว

          เดินเครื่องเรื่องงานวิจัย-พัฒนา

          เกี่ยวกับบริษัท เคทิส วิจัยและพัฒนา จำกัด นั้น นายอภิชาต กล่าวว่า จัดตั้งขึ้นมาเพื่อทำให้งานวิจัยและพัฒนาของกลุ่มบริษัทมีความชัดเจนมากขึ้น และเต็มรูปแบบ โดยจะเน้นนำองค์ความรู้ที่มีอยู่แล้วมาต่อยอดให้เป็นรูปธรรม และมีสมมุติฐานการวิจัย ที่เป็นมาตรฐานสากล สามารถยื่นขอขึ้นทะเบียนเป็นโครงการวิจัยและพัฒนาได้นอกจากนี้ ยังจะเน้นในด้านกระบวนการผลิต ซึ่งจากการที่เรามีองค์ความรู้ดีๆ ก็จะนำมาต่อยอด เช่น เครื่องจักร ซึ่งทางกลุ่มบริษัทสร้างเครื่องจักรเอง จึงคิดว่าน่าจะเป็นจุดแข็งของเรา จึงจะดูว่าจะมีงานวิจัยด้านเครื่องจักรที่จะสามารถนำมาพัฒนาต่อยอดธุรกิจเราเองได้มากน้อยแค่ไหน

          สุดท้าย คือ ผลิตภัณฑ์ ซึ่งปัจจุบันเราเตรียมที่จะพัฒนาสินค้าที่เรามีอยู่ให้ หลากหลายมากขึ้น มีทางเลือกให้กับผู้บริโภคมากขึ้น ตลอดจนบริษัทมีหลักการในการลดกากของเสียให้เป็นศูนย์ จากเดิมนำไปกำจัดทิ้ง แต่หากมีการวิจัยและพัฒนา ก็อาจจะสามารถนำไปใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ ซึ่งตอนนี้เตรียมที่จะนำวัสดุเหล่านี้ มาสร้างประโยชน์เพิ่มขึ้น

          "บริษัท เคทิส วิจัยฯ เพิ่งจะเริ่มก่อตั้งมาได้ราว 1 ป คาดว่ากลางปหน้าน่าจะเริ่มมีรายงานของโครงการที่เราออกมา 10 โครงการแรกก่อน และปหน้าก็จะมีเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ แต่ในเรื่องการวิจัยและพัฒนานั้น กว่าจะเห็นผลก็จะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3-8 ป เหตุผลคือการวิจัยด้านผลผลิตทางการเกษตร จะต้องดูกันยาวๆ เนื่องจากมีเรื่องของการเปลี่ยนแปลงด้านดิน ฟ้า อากาศ กว่าจะศึกษาให้ได้ผลที่แน่นอนจะต้องใช้เวลา อย่างการวิจัยเรื่องการปลูกอ้อยด้านวัตถุดิบ จะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 ป เป็นต้น" อภิชาติกล่าว

          "ต้องยอมรับว่าเรายังเน้นเรื่องวัตถุดิบ เพราะเราพูดเสมอว่าน้ำตาลผลิตที่ไร่ การจะได้น้ำตาลที่ดีหรือไม่ดีนั้น เริ่มต้นที่ไร่ ถ้าปลูกอ้อยไม่ประสบความสำเร็จ อ้อยเข้ามาน้อย โรงงานก็ผลิตน้ำตาลได้น้อย เพราะฉะนั้นเราก็ยังเน้นในเรื่องการพัฒนาภาคเกษตรเป็นหลัก ที่เป็นต้นน้ำของเรา ส่วนนี้ก็จะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น"

จาก  http://www.komchadluek.net  วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ก.อุตฯเข้มโทษสูงสุดปิดกิจการโรงงานก่อความเดือดร้อนประชาชน  

          น.ส.นิสากร จึงเจริญธรรม รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงกรณีที่มีข่าวว่าห้างหุ้นส่วน เอส อาร์ ไอ เมททัล โปรดักส์ ซึ่งเป็นสถานประกอบกิจการโรงงานหลอมโลหะ ตั้งอยู่ที่ต.สระพังลาน อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ได้สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับประชาชนที่อาศัยบริเวณใกล้เคียง โดยประชาชนแจ้งว่าโรงงานเตรียมที่จะเสียค่าปรับให้กับกระทรวงอุตสาหกรรม แล้วก็จะสามารถประกอบกิจการได้ตามปกตินั้น กระทรวงขอชี้แจงว่า ในการกำกับดูแลสถานประกอบการของกระทรวงมี พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 เป็นเครื่องมือหรือกลไกในการกำกับดูแล

          โดยได้กำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนดำเนินการใน 2 มาตรการ หากผู้ประกอบการโรงงานกระทำผิด พนักงานเจ้าหน้าที่ก็จะดำเนินการทั้งทางอาญา และทางปกครอง ซึ่งเท่าที่ได้รับรายงาน ทราบว่าอุตสาหกรรมจ.สุพรรณบุรี ได้ดำเนินการทั้ง 2 กรณีแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการส่งเรื่องมาที่คณะกรรมการเปรียบเทียบคดีของ กระทรวง เพื่อเปรียบเทียบปรับตามกฎหมาย

          "น่าจะเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ว่าถ้าเจ้าของโรงงานสารภาพและยินยอมให้เปรียบเทียบปรับแล้ว คดีจะจบ เพราะขั้นตอน การดำเนินคดีอาญาที่มีความผิดทั้งปรับและจำคุก จะขึ้นอยู่กับฐานความผิด การจะปรับหรือไม่นั้น เป็นอำนาจของคณะกรรมการ เปรียบเทียบคดีที่จะพิจารณา ถ้าเห็นว่าไม่ควรถูกฟ้องหรือได้รับโทษจำคุก ก็จะเปรียบเทียบปรับ โดยโทษปรับอาจเพิ่มขึ้นหากมีการทำผิดเป็นครั้งที่ 2 และหากเป็นความผิดซ้ำซาก ก็จะส่งเรื่องกลับไปยังจังหวัดที่เป็นเจ้าของเรื่อง เพื่อส่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินคดีและส่งฟ้องศาลต่อไป สำหรับทางปกครองนั้น ก็ทำควบคู่กันไปกับทางอาญา โดยเจ้าของโรงงานต้องปรับปรุงแก้ไขตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ หากไม่ปรับปรุงแก้ไข จะนำไปสู่การสั่งปิดโรงงาน"น.ส.นิสากร กล่าว

          ทั้งนี้กรณีของห้างหุ้นส่วน เอส อาร์ ไอ เมททัล โปรดักส์ พนักงานเจ้าหน้าที่ได้มี คำสั่งตามมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 ให้ปรับปรุงแก้ไขระบบจัดการฝุ่นละออง เขม่าควัน และกลิ่นแล้ว นอกจากนี้จาก การตรวจสอบพบว่าโรงงานแห่งนี้ได้มีการ ขยายโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาตขยายโรงงานตามมาตรา 18 ซึ่งมีบทกำหนดโทษจำคุก ไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งจ.สุพรรณบุรีได้ส่ง เรื่องดำเนินคดีทางอาญากับโรงงานนี้มาให้ คณะกรรมการเปรียบเทียบคดี ดำเนินการเปรียบเทียบปรับ และได้มีคำสั่งให้ระงับการ กระทำที่ฝ่าฝืนแล้ว

จาก  http://www.naewna.com  วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

สมอ.เร่งกำหนด85มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตฯ

นายพิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า สมอ.อยู่ระหว่างจัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ตามกลุ่ม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (เอส-เคิร์ฟ) ของรัฐบาล เพื่อให้ผู้ประกอบการใช้เป็นมาตรฐานรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมอนาคต โดยในปี 2560 ตั้งเป้าประกาศใช้มาตรฐาน 85 เรื่อง จะเริ่มจากมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มาตรฐานทั่วไป จากนั้นจะพิจารณาตามความจำเป็นเพื่อเป็นมาตรฐานบังคับ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามนโยบายรัฐบาลต่อไป

สำหรับมาตรฐานที่จะประกาศใช้ในปี 2560คือ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ 7มาตรฐาน, อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ 11 มาตรฐาน, อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร 16 มาตรฐาน, หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม 12 มาตรฐาน, อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์16 มาตรฐาน, อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ 2 มาตรฐาน, อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร 6 มาตรฐาน, มาตรฐานนวัตกรรม 5 มาตรฐาน และมาตรฐานสมุนไพร 10 มาตรฐาน

“ขั้นตอนการประกาศมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมแต่ละประเภท เริ่มจากเสนอกระทรวงให้ตั้งคณะกรรมการวิชาการ (กว.) ประกอบด้วย ผู้ทำ ผู้ใช้ และนักวิชาการ เช่น มาตรฐานสมุนไพรก็จะตั้งสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) องค์การเภสัชกรรม, สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) หอการค้าไทย ยกร่างมาตรฐานขึ้นมา หลังจากได้ข้อสรุปทางวิชาการแล้ว ก็จะเปิดประชาพิจารณ์ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องแสดงความเห็น จากนั้นจะเสนอคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) อนุมัติและประกาศราชกิจจานุเบกษา เพื่อใช้เป็นมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมต่อไป” นายพิสิฐกล่าว

จาก  http://www.naewna.com วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ธพ.ห่วงเอทานอลขาดตลาด!

ธพ.ห่วงโรงกลั่นหยุดซ่อมกระทบหนัก เอทานอลในเดือน ธ.ค.หายจากตลาดถึง 6 แสนลิตร สั่งดึงสำรอง 1% มาใช้ครั้งแรกของประเทศ พร้อมดันใช้น้ำมันสำเร็จรูปแทน เผยอาจปรับแผนผลิต 20 ปีลง

นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ รองอธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า แผนการหยุดซ่อมโรงกลั่นเอทานอลประเทศไทย ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของทุกปี มีแนวโน้มส่งผลกระทบให้ปริมาณเอทานอลไม่เพียงพอกับความต้องการ เนื่องจากเวลาดังกล่าวถือว่าเป็นฤดูการท่องเที่ยว มีวันหยุดเยอะทำให้การใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นด้วย ล่าสุดคาดการณ์ว่าช่วงเดือน ธ.ค.59 เอทานอลจะขาดกว่า 600,000 ลิตรต่อวัน จากที่มีความต้องการกว่า 3.8 ล้านลิตรต่อวัน และส่งผลให้กระทบต่อกระบวนการผลิต

ดังนั้นกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) จะทำเรื่องเสนอต่อกระทรวงพลังงาน เพื่อที่จะให้ ธพ. ออกคำสั่งต่อโรงกลั่นเอทานอลที่มีทั้งหมด 6 แห่งในประเทศ นำเอาเอทานอลที่เก็บสำรองไว้ 1% ออกมาใช้งานแทนเพื่อตอบสนองต่อความต้องการที่กำลังจะขาด แต่การนำสำรอง 1% มาใช้จะชดเชยได้แค่ 4 วันเท่านั้น จึงมีนโยบายให้นำน้ำมันสำเร็จรูปโดยเฉพาะน้ำมันเบนซินพื้นฐาน นำมาสำรองไว้แทนที่ 1% เพื่อให้สามารถดึงไปใช้งานได้เลยหากเกิดปัญหาขาดแคลนขึ้น

นายวิศักดิ์กล่าวว่า ในปีหน้าทางกรมได้สั่งให้โรงกลั่นในประเทศทั้ง 6 โรงวางแผนการหยุดซ่อมให้มีการสอดรับกัน และไม่ให้หยุดพร้อมกัน เพื่อป้องกันการขาดของเอทานอลอีก นอกจากนี้ยังมองว่าน่าจะต้องมีการปรับแผนการผลิตเอทานอล ที่อยู่ภายใต้แผนน้ำมันระยะ 20 ปี (2558-2579) ให้ลดลงจากเดิมที่กำหนดไว้ว่าปลายแผนจะมีการผลิตเอทานอลทั้งหมด 9 ล้านลิตรต่อวัน เนื่องจากกระแสโลกที่หันไปใช้ระบบราง และรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) กันมากขึ้น ทำให้การใช้น้ำมันลดลงด้วย ซึ่งตัวเลขกำหนดปลายแผนยังไม่มีการสรุปอย่างชัดเจนว่าจะกำหนดไว้ที่เท่าไหร่.

จาก  http://www.thaipost.net วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

จับตาเวทีประชาพิจารณ์ค่าอ้อยขั้นต้น คาดชาวไร่-โรงงานเสียงแตกโยน กอน.เคาะ  

         เปิดเวทีประชาพิจารณ์ราคาอ้อยขั้นต้นฤดูผลิตปี59/60 วันที่ 28 พ.ย. คาดชาวไร่อ้อยและโรงงานยังคงจุดยืนเสียงแตก! โดยชาวไร่ยัน 2 ราคา คือ 1,020 บาท/ตัน (8 เขต) เว้นเขต 5 ราคา 950 บาท/ตัน ส่วนโรงงานขอราคาเดียวทั่วประเทศ 1,020 บาท/ตัน “กอน.” รับหน้าที่ทุบโต๊ะ

        นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทยและหัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 7 เปิดเผยว่า การประชาพิจารณ์ราคาอ้อยขั้นต้นฤดูกาลผลิตปี 59/60 ที่จะมีขึ้นในวันนี้ (28 พ.ย.) ชาวไร่อ้อยยืนยันที่จะสนับสนุนให้คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ประกาศราคาอ้อยขั้นต้นเป็น 2 ราคาโดยคำนวณเป็นรายเขต แยกเป็น 1,020 บาทต่อตัน (8 เขต) ยกเว้นเขต 5 (สุพรรณบุรี) ประกาศที่ 950 บาทต่อตัน เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ชาวไร่อ้อยรายเล็กและภาพรวม

        “จริงๆ ชาวไร่อ้อยอยากได้อ้อยหลายราคามากกว่า 2 ราคาด้วยซ้ำ เพราะจะทำให้เกิดความเป็นธรรมแก่รายย่อยอย่างแท้จริงเนื่องจากเขตที่ใกล้เคียงกันความหวานของอ้อยไม่ได้ต่างกันมากเลยแต่ผลผลิตน้ำตาลที่ออกมาต่างกันอยู่ที่ประสิทธิภาพของโรงงานน้ำตาล หากนำเอาเขตที่ราคาต่ำๆ มาเฉลี่ยรวมจะทำให้ภาพรวมราคาลดลงซึ่งไม่เป็นธรรมกับชาวไร่อื่นๆ โดยที่สุดจะเป็นอย่างไรก็อยู่ที่คณะกรรมการบริหาร (กบ.) จะเห็นชอบและเสนอให้คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ตัดสินใจในวันดังกล่าวอีกครั้ง” นายนราธิปกล่าว

               สำหรับการคำนวณต้นทุนการผลิตอ้อยฤดูการ 59/60 เบื้องต้นพบว่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1,068 บาทต่อตัน ในอดีตชาวไร่อ้อยจะสามารถเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาดูแลราคาอ้อยให้คุ้มกับต้นทุนการผลิตได้โดยเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาสนับสนุนแหล่งเงินกู้ และที่ผ่านมาได้กู้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และ บมจ.ธนคารกรุงไทย ผ่านกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) แต่จากนี้ไปจะเสนอกระบวนการให้รัฐไม่ได้เนื่องจากบราซิลได้ตั้งข้อกล่าวหาไทยอุดหนุนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายต่อองค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งในเวทีประชาพิจารณ์ก็คงจะต้องเสนอแนวทางให้ กอน.พิจารณาวิธีอื่นๆ ว่าจะทำได้หรือไม่ แต่ภาพรวมราคาอ้อยดังกล่าวก็ถือว่าสูงเมื่อเทียบกับที่ผ่านมาที่ต้องกู้เพิ่มค่าเงินอีก 160 บาทต่อตัน

               นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายกล่าวว่า โรงงานน้ำตาลต้องการให้กำหนดราคาอ้อยขั้นต้นเป็นราคาเดียวที่ 1,010 บาทต่อตันจะง่ายต่อการปฏิบัติ เพราะจะได้ไม่เกิดการแย่งอ้อย เพราะที่สุดแล้วการที่ประกาศให้เขต 5 ต่ำกว่าเขตอื่นโรงงานน้ำตาลทรายก็ต้องจ่ายให้ชาวไร่เท่ากับเขตอื่นอยู่ดี เพราะกรณีชาวไร่ไม่ได้เป็นคู่สัญญาก็สามารถขายอ้อยข้ามเขตได้

จาก http://manager.co.th  วันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

หวั่นโรงงานค้านแก้พ.ร.บ.อ้อยสอน.เมินบราซิลฟ้อง WTO-ผู้ผลิตโวยยกเลิกโควตา  

          สอน.ไม่หวั่นศึกนอกบราซิลฟ้อง WTO หลังการเจรจามีทิศทางดี ยังไม่ตั้งคณะผู้พิจารณานำไปสู่การไต่สวน ห่วงแต่ศึกในกลุ่มโรงงานน้ำตาลทราย เตะตัดขาแก้ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายล่าช้า ไม่ทันกรอบเงื่อนเวลาที่ให้ไว้ใน 1 ปี ขณะที่ผู้ประกอบการยังโวยต่อเนื่องยกเลิกระบบโควตา โอกาสเกิดน้ำตาลทรายขาดตลาดสูง จากการหันไปส่งออกแทน

          นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงความคืบหน้าในการเจรจากับทางบราซิลในฐานะเป็นผู้ฟ้องต่อองค์การการค้าโลก(WTO) กรณีที่ไทยมีมาตรการอุดหนุนการส่งออกน้ำตาล และอุดหนุนราคาน้ำตาลทรายภายในประเทศว่า ขณะนี้ได้ส่งรายละเอียดและกรอบการดำเนินงานตามแผนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายให้ทางบราซิลไปแล้ว จากที่ได้มีการเจรจากันล่าสุดเมื่อวันที่ 3-4 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

          โดยกรอบระยะเวลาในการดำเนินงานนั้น ทางคณะเจรจาฝ่ายไทย ได้ขอกับทางบราซิลไปว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 1 ปี ตามมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2559 เนื่องจากการแก้ไขปรับปรุงพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ที่ต้องใช้ระยะเวลานานเกือบ 1 ปี ซึ่งขณะนี้ร่างพ.ร.บ.ฉบับแก้ไขได้นำเสนอนางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมไปแล้ว เพื่อส่งให้ครม.เห็นชอบ นำเสนอไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป

          ขณะเดียวกันระหว่างนี้สอน.จะต้องมาจัดทำรายละเอียดที่ทางบราซิลกล่าวหา โดยจะหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายว่า จะมีแนวทางหรือทางออกที่จะไม่ให้ทางบราซิลนำไปสู่การตั้งคณะผู้พิจารณา(Panel) ขึ้นมาเพื่อดำเนินการไต่สวนในการฟ้อง โดยจะต้องให้แล้วเสร็จประมาณเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า และหลังจากนั้นจะนำรายละเอียดไปเจรจากับทางบราซิลอีกครั้งหนึ่ง

          ส่วนที่เป็นข้อกังวลที่อาจจะทำให้การดำเนินงานไม่เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่วางไว้ คงจะเป็นเรื่องของการแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ที่ขณะนี้ยังมีกลุ่มโรงงานน้ำตาลทราย ออกมาคัดค้านในการแก้ไขเกือบจะทุกประเด็น ซึ่งทางสอน.ยืนยันว่า หากจะให้แก้ไขใหม่คงจะไม่ทันตามกรอบเวลาที่ให้ไว้กับทางบราซิล

          ดังนั้น จึงอยากจะขอความร่วมมือกับทางกลุ่มโรงงานน้ำตาลทรายคำนึงถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากการฟ้องของบราซิลในครั้งนี้ก่อน และมาช่วยกันดูว่า ประเด็นไหนที่กลุ่มโรงงานน้ำตาลทรายยังไม่เห็นด้วย แล้วค่อยมาไล่พิจารณากันอีกครั้ง

          ด้านนายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า สำหรับการแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายนั้น ทางกลุ่มโรงงานน้ำตาลทราย ได้หารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมไปแล้วว่า ไม่เห็นด้วยกับการกำหนดนิยามผลพลอยได้ ที่ให้รวมกากอ้อยและกากตะกอนกรอง มาแบ่งเป็นรายได้ให้กับชาวไร่ นอกเหนือจากกาก น้ำตาล รวมถึงไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกระบบโควตาน้ำตาลทราย และการยกเลิกการควบคุมราคาน้ำตาลทรายในประเทศ เนื่องจากยังไม่มีวิธีปฏิบัติและราคาอ้างอิงที่ชัดเจน เป็นต้น ระหว่างนี้จะต้องมาหารือกันว่าจะได้ข้อยุติตรงไหน

          แหล่งข่าวจากวงการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า การที่กลุ่มโรงงานน้ำตาลทรายไม่เห็นด้วยต่อการแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มโรงงานน้ำตาลขนาดเล็ก ที่ไม่เห็นด้วยกับกรณีการยกเลิกระบบโควตา ก. ข. และ ค. และยกเลิกควบคุมราคาน้ำตาลทรายภายในประเทศเนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีวิธีปฏิบัติว่า เมื่อยกเลิกแล้วจะควบคุมการส่งออกน้ำตาลทรายได้อย่างไร เพราะหากน้ำตาลทรายในตลาดโลกมีราคาดี ก็จะมีการหันไปส่งออกน้ำตาลทรายกันหมด จะส่งผลให้น้ำตาลทรายในประเทศเกิดการขาดแคลน และปัญหาที่ต่อเนื่องตามมา จะทำให้กลุ่มโรงงานขนาดเล็กที่ไม่มีการต่อยอดธุรกิจอย่าง เอทานอล หรือมีสายป่านไม่ยาวพอ จะอยู่ ยาก เนื่องจากบรรดาโรงงานน้ำตาลขนาดใหญ่ จะกว้านซื้ออ้อยข้ามเขตในระยะทางที่ไกลขึ้น หรือเป็นการแย่งอ้อยเข้าโรงงาน โดยให้ราคาที่สูงกว่า เพื่อผลิตน้ำตาลทรายส่งออกให้มากที่สุดเพื่อทำกำไร ซึ่งจะส่งผลให้โรงานน้ำตาลที่มีเงินทุนไม่เพียงพอแย่งซื้ออ้อย ไม่มีอ้อยเข้าโรงงาน และอาจจะต้องปิดดำเนินการในที่สุด

จาก http://www.thansettakij.com วันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ธพ.เล็งชง ก.พลังงานสั่งโรงกลั่นปล่อยเอทานอลสำรอง รับฤดูท่องเที่ยว

        นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ รองอธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า แผนการหยุดซ่อมโรงกลั่นเอทานอลประเทศไทย ในปัจจุบัน มีการปิดซ่อมใกล้เคียงกันคือ ช่วงไตรมาสที่ 4 ของทุกปี ส่งผลให้มีแนวโน้มปริมาณเอทานอลจะไม่เพียงพอต่อความต้องการ เนื่องจากตรงกับฤดูการท่องเที่ยว มีวันหยุดเยอะ ทำให้การใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นด้วย

คาดการณ์ว่าเดือนธันวาคมนี้ เอทานอลจะขาดกว่า 600,000 ลิตรต่อวัน จากความต้องการปกติ 3.8 ล้านลิตรต่อวัน โดยได้รับแจ้งว่า กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) จะทำเรื่องเสนอต่อกระทรวงพลังงาน ให้กรมธุรกิจพลังงานออกคำสั่งต่อโรงกลั่นเอทานอลที่มีทั้งหมด 6 แห่งในประเทศ นำเอาเอทานอลที่เก็บสำรองไว้ร้อยละ 1 ออกมาใช้งานแทน เพื่อตอบสนองต่อความต้องการที่กำลังจะขาด

 จาก http://manager.co.th  วันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ไฟเขียว300ล.ปลอดดอกเบี้ย! สร้างระบบน้ำไร่นา50จว.

โดย - โต๊ะข่าวเกษตร

           กรมส่งเสริมสหกรณ์ จัดงบกองทุนสงเคราะห์ฯ 300 ล้าน หนุนสร้างระบบน้ำในไร่นา 50 จว. ขุดสระเก็บกัก-เจาะบ่อบาดาล ลดความเสี่ยงขาดแคลนน้ำ เพิ่มโอกาสทำเกษตรแก่สมาชิก 6,000 ราย เพิ่มพื้นที่รับน้ำกว่า 60,000 ไร่

           นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปี 2560 นี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้มีแผนเร่งขับเคลื่อนโครงการสนับสนุนเงินทุนเพื่อสร้างระบบน้ำในไร่นาของสมาชิกสถาบันเกษตรกร โดยกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรได้สนับสนุนเงินกู้วงเงินรวม 300 ล้านบาท ให้แก่สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรทั้งในเขตชลประทานและเขตรับน้ำฝนในพื้นที่ 50 จังหวัด จำนวน 100 แห่ง นำไปให้สมาชิกกู้ยืมแบบปลอดดอกเบี้ยเพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการลงทุนพัฒนาแหล่งน้ำในไร่นาของตนเองอย่างเป็นระบบ เพื่อลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนน้ำและเพิ่มโอกาสในการทำเกษตรกรรมตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

            ขณะเดียวกันยังมุ่งส่งเสริมการจัดระบบไร่นาของเกษตรกรให้มีความยั่งยืน มีแหล่งน้ำภายในฟาร์ม ลดการพึ่งพาน้ำจากระบบชลประทานและแหล่งน้ำธรรมชาติ พร้อมสร้างการเปลี่ยนแปลงจากระบบการทำเกษตรกรรมพึ่งธรรมชาติ เป็นเกษตรแบบบริหารจัดการเพื่อลดความเสี่ยงจากการขาดน้ำ โดยมีเป้าหมายสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯจำนวน 6,000 ราย คาดว่า จะได้รับประโยชน์จากน้ำเฉลี่ยรายละ 10 ไร่ และเพิ่มพื้นที่รับน้ำได้ไม่น้อยกว่า 60,000 ไร่

          “เบื้องต้นจะเร่งคัดเลือกสถาบันเกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯ โดยต้องมีสมาชิกส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่จำเป็นต้องมีแหล่งน้ำสำรอง และมีพื้นที่เหมาะสมในการขุดสระเก็บกักน้ำฝนหรือเจาะบ่อบาดาล จากนั้นจะพิจารณาจัดสรรเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยให้สหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรเพื่อให้สมาชิกกู้ยืมเป็นทุนในการสร้างแหล่งน้ำในไร่นาตามที่ต้องการ อาทิ การขุดสระเก็บกักน้ำ พื้นที่ประมาณ 1 ไร่ ลึกไม่น้อยกว่า 2  เมตร หรือการขุดเจาะบ่อบาดาลหรือปรับปรุงระบบน้ำบาดาล พร้อมกับอุปกรณ์เครื่องสูบน้ำ โดยกรอบวงเงินกู้แห่งละ 50,000 บาท กำหนดให้ชำระเงินคืนกองทุนฯ 5 ปี เฉลี่ยปีละ 60 ล้านบาท” อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์กล่าว

           นอกจากพัฒนาแหล่งน้ำในไร่นาของสมาชิกแล้ว ยังมีมาตรการการบริหารจัดการน้ำ โดยส่งเสริมการจัดรูปแปลงที่ดิน มุ่งให้ปลูกพืชหลากหลายชนิด ควบคู่กับการลี้ยงสัตว์ และทำประมง เป็นระบบเกษตรผสมผสานตามแนวทฤษฎีใหม่ ทั้งยังส่งเสริมให้วางแผนการผลิตล่วงหน้า เพื่อลดความเสี่ยงในวิกฤติน้ำใช้หรือการเปลี่ยนแปลงจากธรรมชาติ และสร้างระบบการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า โดยส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ระบบน้ำหยดหรือละอองน้ำในระบบการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น ทำให้เกษตรกรสมาชิกมีโอกาสผลิตสินค้าพืช ปศุสัตว์ และประมงแบบไม่ต้องพึ่งพาธรรมชาติ สามารถป้อนผลผลิตเข้าสู่ตลาดได้อย่างต่อเนื่อง เป็นช่องทางสร้างรายได้เพิ่มสูงขึ้น และสามารถชำระเงินคืนได้ตามกำหนด

          “โครงการฯนี้ จะทำให้สมาชิก มีแหล่งเก็บกักน้ำสำรองและมีน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้น คาดว่า สมาชิกกลุ่มเป้าหมายไม่น้อยกว่า 85% จะมีน้ำใช้ทำการเกษตรและมีน้ำใช้ได้ในระบบไร่นาจริง ทั้งยังสามารถลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ กรณีการขาดแคลนน้ำใช้เพื่อการเกษตรหรือมีระบบน้ำใช้เพื่อเกษตรกรรมไม่น้อยกว่า 95%” นายวิณะโรจน์กล่าว

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

เปิดฉากประชุมหอการค้าทั่วประเทศ

                    ประชุมหอการค้าทั่วประเทศครั้งที่ 34 ระดมสมองทำสมุดปกขาวเสนอรัฐบาล แนะทุกคนปรับตัวมุ่งสู่ไทยแลนด์ 4.0 รองรับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป

                    นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หอการค้าไทย ได้จัดงานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศครั้งที่ 34 ระหว่างวันที่ 25-27 พ.ย.นี้ โดยมีหอการค้าจังหวัด ตัวแทนจากหน่วยงานต่าง ๆ เข้าร่วมกว่า 800 คน เพื่อระดมความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ แนวทางการปรับกลยุทธ์การพัฒนาประเทศ ตลอดจนเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรภาครัฐและเอกชน ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ให้ดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน และเตรียมนำเสนอข้อมูล ทำเป็นสมุดปกขาว เสนอต่อรัฐบาล เพื่อใช้เป็นแนวทางในการทำงานร่วมกัน ทั้งภาครัฐและเอกชน ในการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศต่อไป

ทั้งนี้เนื่องจากขณะนี้ โลกเปลี่ยนแปลงไปมาก ทั้งด้านเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภค จึงทำให้รูปแบบการค้าเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย เช่น การใช้อีคอมเมิร์ช ในการค้าขาย โดยไม่จำเป็นหน้าร้าน  ภาคธุรกิจจึงต้องก้าวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก เพราะหากปรับตัวไม่ทันจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจ นอกจากนี้ยังต้องพัฒนาบุคลากร สร้างตราสินค้า และใช้อีคอมเมิร์ซ มีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้น

“คาดว่าในปี 63 จะมีเขตเศรษฐกิจ 15 เขตที่ครอบคลุมแรงงานกว่า 65% ของโลก อาทิ  อาเซียน อ่าวอาหรับ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย และ สหรัฐอเมริกา จะมีงานหายไปมากถึง 7 ล้านตำแหน่ง และพฤติกรรมของผู้บริโภคจะเปลี่ยนไป ภาคธุรกิจจึงต้องปรับตัว โดยเฉพาะการค้าผ่านออนไลน์ จะมีบทบาทสำคัญมากขึ้น ทำให้คนเดินห้างลดลง กว่า 50% และภายใน 10 ปีข้างหน้า 1 ใน 6 ของห้างสรรพสินค้าในสหรัฐฯ ต้องปิดตัวลง”

ขณะเดียวกันไทยก็กำลังเปลี่ยนแปลง เพื่อก้าวไปสู่ ประเทศไทย 4.0 ตามนโยบายภาครัฐ ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งจะช่วยให้ไทยก้าวขึ้นเป็นประเทศชั้นนำ ด้านความสามารถในการแข่งขันได้ โดยเฉพาะด้านการเกษตรและการบริการ รองรับการเปลี่ยนแปลงของโลก และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย แต่ที่ผ่านมา ยอมรับว่า ขณะนี้ยังมีผู้ประกอบการนำนวัตกรรมไปใช้ในเชิงปฏิบัติน้อยมาก ดังนั้นจึงอยากเห็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการใช้นวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง

“นโยบายไทยแลนด์ 4.0 นั้น จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทางการค้า การลงทุน การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี รวมทั้งยกระดับประสิทธิภาพแรงงานคุณภาพ”

นางเสาวนีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า  อีก 9 ปีข้างหน้า โลกจะมีการเปลี่ยนแปลงสำคัญ ๆ อาทิ ใช้หุ่นยนต์ในบ้านเพิ่มขึ้น,การแลกเปลี่ยนอัตราแลกเปลี่ยนบนโทรศัพท์มือถือ รถยนต์ไฟฟ้าไร้คนขับ แสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้น  ทำให้ธุรกิจ สินค้า บริการ มีรูปแบบ ที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นผู้ประกอบการจึงต้องใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ

จาก http://www.dailynews.co.th   วันที่ 26 พฤศจิกายน 2559

คลอดแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้ง l รองรับพื้นที่เพาะปลูก10.35ล้านไร่-หนุนลดทำนาปรัง

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน ได้กำหนดแผนการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2559/2560 เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในเขตชลประทานทั่วประเทศ คิดเป็นปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 31,245 ล้านลูกบาศก์เมตร

 (ลบ.ม.) สามารถสนับสนุนพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้งทั้งประเทศได้ประมาณ 10.35 ล้านไร่ ประกอบด้วย ข้าวนาปรัง 3.91 ล้านไร่

พืชไร่-พืชผัก 0.65 ล้านไร่ พืชอื่นๆ 3.57 ล้านไร่ รวมกับพื้นที่ส่งเสริมให้ปลูกพืชทดแทนข้าวนาปรังในเขตชลประทาน

 ทั่วประเทศอีก 2.22 ล้านไร่ ตามที่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบนโยบายการปรับลดพื้นที่การทำนาปรังในเขตชลประทาน เพื่อให้ผลผลิตเหมาะสมกับความต้องการของตลาดและสอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน โดยให้เกษตรกรหันมาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พืชหลากหลายและพืชปุ๋ยสด ทดแทนการทำนาปรัง

สำหรับในพื้นที่ชลประทานลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้วางแผนการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2559/60 ด้วยการใช้น้ำจากเขื่อนหลัก 4 แห่ง(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ 1 พ.ย. 2559-30 เม.ย. 2560 ตามมาตรการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน รวมกันเป็นจำนวน 9,704 ล้านลูกบาศก์เมตร แยกเป็นการใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค 1,100 ล้านลูกบาศก์เมตร การรักษาระบบนิเวศน์และอื่นๆ 1,450 ล้านลูกบาศก์เมตรและการเกษตร 3,400 ล้านลูกบาศก์เมตร และสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนปี 2560 อีก 3,754 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยในส่วนของการจัดสรรน้ำเพื่อสนับสนุนภาคการเกษตรนั้น ได้กำหนดพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้งในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาไว้รวมกันประมาณ 5.03 ล้านไร่ ประกอบด้วย ข้าวนาปรังประมาณ 2.60 ล้านไร่ พืชไร่-พืชผัก 0.08 ล้านไร่ พืชอื่นๆ 0.97 ล้านไร่ และพืชที่ได้ส่งเสริมให้เพาะปลูกแทนข้าวอีกประมาณ 1.38 ล้านไร่

อนึ่ง ในส่วนของเขื่อนที่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย ไม่สามารถสนับสนุนการใช้น้ำในภาคการเกษตรได้ จำเป็นต้องวางแผนการจัดสรรน้ำอย่างรัดกุม สำหรับเฉพาะการใช้น้ำเพื่ออุปโภค บริโภค และรักษาระบบนิเวศน์ เท่านั้น มีจำนวน 5 แห่ง ได้แก่

เขื่อนลำตะคอง เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนมูลบน เขื่อนลำแชะ จ.นครราชสีมา เขื่อนปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ และเขื่อนที่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย ไม่สามารถสนับสนุนการทำนาปรังได้ คงเหลือน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศน์ และพืชใช้น้ำน้อย จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ เขื่อนลำนางรอง จ.บุรีรัมย์ เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี และเขื่อนบางลาง จ.ยะลา

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

เศรษฐกิจและการส่งออกของไทยปี 2560

ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ

                          ที่มา : สศค., EIU

          Mega Projects ของภาครัฐเป็น Key Driver สำคัญที่จะกระตุ้นให้ภาคเอกชนลงทุนตาม การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐหลายโครงการเริ่มก่อสร้างในปี 2560 อาทิ Motorway รถไฟฟ้าในเขตเมือง รถไฟฟ้ารางคู่ เป็นต้น ปัจจัยดังกล่าวส่งผลเชิงบวก (Crowding In Effect) ต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม โดยในระยะสั้นจะช่วยให้เกิดการจ้างงาน และส่งผลดีต่อกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด อาทิ รับเหมาก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง เครื่องจักรและอุปกรณ์ เป็นต้น ขณะที่ในระยะถัดไปการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจะช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ และช่วยหนุนความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศให้กลับมาลงทุนมากขึ้น

ราคาสินค้าเกษตรเริ่มปรับฐานขึ้น โดยเฉพาะราคายางพารา อ้อย และผลไม้ที่มีสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้เกษตรกรซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น และหนุนให้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามสถานการณ์ภัยธรรมชาติ และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ผันผวนมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อรายได้เกษตรกรในระยะถัดไป

โครงการรถคันแรกครบอายุถือครอง โครงการรถยนต์คันแรกที่เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งกำหนดให้ผู้ซื้อต้องถือครองรถยนต์ 5 ปีนับจากวันรับรถจึงจะได้สิทธิ์คืนภาษี ได้ทยอยหมดอายุลงตั้งแต่ปลายปี 2559 ทำให้ผู้ซื้อรถสามารถขายเปลี่ยนมือ หรือซื้อรถยนต์คันใหม่ได้ ปัจจัยดังกล่าวทำให้เงินจำนวนหนึ่งที่ผู้ซื้อเคยใช้ผ่อนรถจะถูกนำมาใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภคด้านอื่นๆ มากขึ้น ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชนได้อีกทางหนึ่ง

การท่องเที่ยวยังมีความสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวม ล่าสุดหลายฝ่ายคาดว่า

          ในปี 2560 นักท่องเที่ยวต่างชาติจะเข้ามาท่องเที่ยวในไทยกว่า 37 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 33 ล้านคนในปี 2559 โดยนักท่องเที่ยวจีนยังเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ที่ยังขยายตัวสูง แม้จะชะลอลงบ้างในระยะสั้นจากการปราบทัวร์ศูนย์เหรียญ

          ตลาดสินเชื่อเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ สภาพคล่องในระบบยังมีอยู่อีกมาก สะท้อนจาก L/D Ratio ในไตรมาส 3 ปี 2559 อยู่ที่ 96.9% ซึ่งเป็นระดับที่เพียงพอในการสนับสนุนการฟื้นตัวของสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อครัวเรือนในระยะถัดไป

สำหรับในส่วนของ การส่งออกปี 2560 น่าจะดีขึ้นจากปี 2559 และมีความเป็นไปได้สูงที่จะกลับมาขยายตัวได้ครั้งแรกในรอบ 5 ปี โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก

          ราคาน้ำมันฟื้นตัวจากจุดต่ำสุด หลังจากปี 2559 เผชิญกับปัญหาอุปทานส่วนเกินอย่างมากภายหลังหลายประเทศกลับมาเพิ่มกำลังการผลิต โดยเฉพาะอิหร่านและอิรัก อย่างไรก็ตาม ในปี 2560 สถานการณ์ดังกล่าวมีแนวโน้มคลี่คลายลงมากหลังจากการผลิต Shale Oil ในสหรัฐฯ ชะลอลง ประกอบกับเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป จะส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันในระยะถัดไปเพิ่มขึ้น ล่าสุด IMF คาดการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกเฉลี่ยปี 2560 ที่ 50.6 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 43 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในปี 2559 ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน อาทิ น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์และยางพารา ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันกว่า 13% ของมูลค่าส่งออกรวมของไทย

          การส่งออกไปตลาดใหม่ๆ โดยเฉพาะ CLMV และ New Frontiers ยังไปได้ต่อเนื่อง โดยได้อานิสงส์จากCLMV เป็นกลุ่มประเทศที่เศรษฐกิจขยายตัวสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลกที่ราว 7-8% ขณะที่สัดส่วนการส่งออกของไทยไป CLMV (ราว 10% ของมูลค่าส่งออกรวม) ขยับแซงหน้าตลาด EU และญี่ปุ่นแล้ว โดยสินค้าส่งออกของไทยที่มีศักยภาพในตลาด CLMV อาทิ สินค้าอุปโภคบริโภค และวัสดุก่อสร้าง

          New Frontiers เป็นตลาดที่มีศักยภาพ โดยมูลค่าส่งออกของไทยไป New Frontiers ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาขยายตัวเฉลี่ยราว 10.5% ต่อปี สูงกว่าการส่งออกรวมที่ขยายตัวเฉลี่ย 6.8% ต่อปี

          ฐานมูลค่าส่งออกปี 2559 อยู่ในระดับต่ำ นับตั้งแต่ปี 2556 มูลค่าส่งออกของไทยหดตัวต่อเนื่อง แม้ว่ามูลค่าส่งออกปี 2559 มีแนวโน้มขยายตัว 0% หรืออาจพลิกกลับมาเป็นบวกเล็กน้อย แต่ถือว่ายังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยหนุนให้การส่งออกปี 2560 กลับมาขยายตัวได้

อย่างไรก็ตาม ยังมีสิ่งที่น่ากังวลสำหรับการส่งออกในปี 2560 ดังนี้

          นโยบายกีดกันทางการค้าของประธานาธิบดีคนใหม่สหรัฐฯ อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยทั้งแง่บวกและแง่ลบ

          การยกเลิกข้อตกลง TPP ช่วยปิดจุดอ่อนข้อเสียเปรียบของไทยจากการได้แต้มต่อทางภาษีของหลายประเทศคู่แข่งสำคัญที่อยู่ใน TPP โดยเฉพาะเวียดนามที่เป็นคู่แข่งของไทยในหลายสินค้า อาทิ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า อาหารทะเลกระป๋อง เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น

          การขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน จะเป็น โอกาส โดยสินค้าส่งออกของไทยที่เคยเป็นคู่แข่งกับจีนในตลาดสหรัฐฯ อาจแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดกลับมาได้บางส่วน อาทิ ยางล้อรถยนต์ เครื่องปรับอากาศ อย่างไรก็ตาม อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าวัตถุดิบและกึ่งวัตถุดิบของไทยไปจีนเพื่อผลิตและส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ อาทิ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์สมาร์ทโฟน และคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

          Brexit ที่ยังมีความไม่แน่นอน ว่ากระบวนดังกล่าวจะเริ่มขึ้นเมื่อไหร่ ประกอบกับการแยกตัวจะออกมาในรูปแบบใด ทั้งนี้ หลายฝ่ายคาดว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะเป็นการแยกตัวแบบ Soft Brexit (UK ยังได้รับสิทธิ์ด้านภาษีในการเข้า Single Market ของยุโรปได้เหมือนเดิม) ซึ่งหากเป็นกรณีนี้ก็อาจกระทบต่อการส่งออกของไทยไปตลาด EU และ UK ไม่มากนัก

          ปัญหาหนี้ภาคเอกชนและภาคการผลิตส่วนเกินในจีน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมหนักอาทิ เหล็กและถ่านหิน ปัจจัยดังกล่าวยังฉุดรั้งให้เศรษฐกิจจีนชะลอลงต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การใช้เครื่องมือทางการเงินและการคลังที่หลากหลายของรัฐบาลจีน ทำให้แม้เศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวลงแต่อยู่ในลักษณะ Soft Landing ทั้งนี้ IMF คาดว่าเศรษฐกิจจีนในปี 2560 จะขยายตัว 6.2% ชะลอลงจาก 6.6% ในปี 2559 ส่งผลให้การส่งออกของไทยไปจีนในปี 2560 ยังมีทิศทางไม่แน่นอน

          อัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวนมากขึ้น จากการใช้นโยบายการเงินที่สวนทางกันของประเทศมหาอำนาจ โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น EU และจีนยังใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ต้องจับตามองกระแส Nationalism ว่าจะส่งผลต่อการเลือกตั้งในเยอรมนีและฝรั่งเศสซึ่งจะมีขึ้นในปี 2560 มากเพียงใด ซึ่งหากมีการเปลี่ยนขั้วทางการเมืองจะสร้างความผันผวนต่อตลาดเงินและอัตราแลกเปลี่ยนเป็นระยะ ซึ่งผู้ส่งออกไทยจึงควรเตรียมเครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงให้พร้อม

 จาก http://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 24 พฤศจิกายน 2559

ส.ชาวไร่อ้อยอีสาน มอบ1ล้านให้ทหาร ซื้อข้าวช่วยชาวนา

สมาคมชาวไร่อ้อยอีสานเหนือ มอบ1ล้านบาท ให้ทหารรับซื้อข้าวช่วยชาวนา เลี้ยงกำลังพล

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 24 พฤศจิกายน ที่ห้องประชุม กองบัญชาการ มทบ.24 ค่ายประจักษ์ศิลปาคม พล.ต.อำนวย จุลโนนยาง ผบ.มทบ.24 ในฐานะ ผบ.กกล.รส.อุดรธานี เป็นประธานรับมอบเงินในการรับซื้อข้าวจากเกษตรกรโดยตรง จำนวน 1 ล้านบาท จากทางสมาคมชาวไร่อ้อยภาคอีสานเหนือ โดยมี นายธีระชัย แสนแก้ว นายกสมาคมชาวไร่อ้อยภาคอีสานเหนือ พร้อมนายอนุชิต ปุระสาทิต กรรมการรองผู้จัดการ โรงงานน้ำตาลทรายขาวเริ่มอุดม และตัวแทนโรงงานน้ำตาลไทยอุดรบ้านผือ และสมาคมชาวไร่อ้อยบ้านผือมี นายปราโมทย์ ธัญญพืช ปลัดจังหวัดอุดรธานี นายประเสริฐ ฝ่ายชาวนา พาณิชย์ จ.อุดรธานี นายรักสกุล สุริโย เกษตรและสหกรณ์ จ.อุดรธานี เป็นสักขีพยาน

นายธีระชัย แสนแก้ว นายกสมาคมชาวไร่อ้อยภาคอีสานเหนือ กล่าวว่า ทางกลุ่มโรงงานน้ำตาลใน จ.อุดรธานี ได้ปรึกษากันว่า ช่วงนี้ราคาข้าวเปลือกกำลังตกต่ำซึ่งที่ผ่านมาข้าวเปลือกมีราคา กก.ละ 5-6 บาทเท่านั้น สร้างความเดือดร้อนกับเกษตรกรที่ปลูกข้าวอย่างมาก ทั้งนี้เกษตรกรที่ปลูกข้าวและปลูกอ้อย ส่วนใหญ่จะเป็นคนเดียวกัน ทางสมาคมจึงปรึกษากับทางโรงงานน้ำตาลทั้ง 4 แห่งใน จ.อุดรธานี และมีความเห็นพ้องกันว่า ทางสมาคมชาวไร่อ้อยภาคอีสานเหนือ น่าจะเข้ามาช่วยเหลือเกษตรกรที่ปลูกข้าวได้

“โดยมีมติว่า จะนำเงินมาบริจาคร่วมกันแห่งละ 250,000 บาท รวมทั้งหมด 1 ล้านบาท มาดำเนินการช่วยเหลือ ให้ทาง มทบ.24 ดำเนินการซื้อข้าวสารที่สีแล้ว ผ่านทางกลุ่มหรือสหกรรณ์การเกษตร เพื่อนำกลับมาจำหน่ายให้กับส่วนต่าง ๆ ทั้งกำลังพลของหน่วยทหาร ขายให้กับคนงานในโรงงานน้ำตาลต่าง ๆ และบุคคลทั่วไปที่ต้องการซื้อขาวสารไว้บริโภค ซึ่งราคาที่รับซื้อจากทางกลุ่มหรือสหกรณ์ต่าง ๆ จะขายให้ในช่วงนี้ราคา กก.ละ 35 บาท และทางทหารหลังรับซื้อและนำมาบรรจุใหม่ จะขายในราคาเพียง กก.ละ 25 บาท ซึ่งเงิน 1 ล้านบาท จะใช้เป็นส่วนต่างของราคาที่รับซื้อ กก.ละ 10 บาท เพื่อเป็นการระบายข้าวช่วยเกษตรกร โดยเงิน 1 ล้านบาท ตั้งเป้าจะสามารถระบายข้าวช่วยเกษตรกรได้ 1 แสนตัน”

พล.ต.อำนวย จุลโนนยาง ผบ.มทบ.24 กล่าวว่า เงินที่ทางสมาคมชาวไร่อ้อยภาคอีสานเหนือมอบให้กับทาง มทบ.24 เราจะนำไปเปิดบัญชีชื่อ “ซื้อข้าวชาวชาวนาจังหวัดอุดรธานี” และใช้นำไปจัดซื้อข้าวจากกลุ่มหรือสหกรณ์การเกษตร ในเขต จ.อุดรธานี อย่างทั่วถึง โดยจะซื้อเฉพาะข้าวที่สีเป็นข้าวสารแล้วเท่านั้น ที่มีราคา กก.ละ 35 บาท เพื่อนำมาบรรจุถุงใหม่ถุงละ 5 กก. และนำออกไปจำหน่ายคืนให้กับบุคคลทั่วไป รวมทั้งให้กับคนงานของโรงงานน้ำตาลต่าง ๆ ที่ตั้งราคาขายไว่เพียง กก.ละ 25 บาทเท่านั้น โดยเงินส่วนต่าง 10 บาท จะเป็นเงินที่ทางสมาคมญ ได้มอบให้กับทางทหารเราไปดำเนินการ เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโดยตรง

นอกจากนี้ พล.ต.อำนวยฯ กล่าวอีกว่า ด้านความช่วยเหลือชาวนาเกี่ยวข้าว ถึงวันนี้ทาง มทบ.24 และ กรมทราบราบที่ 13 ออกช่วยเหลือชวบ้านเก็บเกี่ยวข้าวไปแล้ว 117 แปลง 1.027 ไร่ ได้ข้าวเปลือก 359,625 กก. และจะยังคงให้กำลังพลออกชาวยเหลือเกี่ยวข้าวต่อจนกว่าจะครบตามการร้องขอ นอกจากนี้ทางสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ ได้สนับสนุนรถเกี่ยวข้าวให้ทางกองทัพภาคที่ 2 จำนวน 10 คัน ซึ่งทาง มทบ.24 ได้รับมอบรถเกี่ยวข้าวมาใช้งาน 1 คัน ที่จะใช้สนับสนุนชาวนาที่ยากจน และนาข้าวที่ถูกน้ำท่วม ในเขต จ.อุดรธานี และ หนองคาย ได้

“ขณะนี้กำลังพลหัดขับรถเกี่ยวข้าว พร้อมจะดำเนินการได้แล้วตั้งแต่วันพรุ่งนี้ ที่จะเริ่มใช้รถเกี่ยวข้าวช่วยชาวนาในเขต อ.หนองหาน คาดว่าจะสามารถเกี่ยวข้าวได้วันละ 15 ไร่ โดยจะคิดค่าดำเนินการไร่ละ 300 บาท เป็นค่าบำรุงรักษารถเกี่ยวข้าว นอกนั้นเราจะช่วยเหลือทุกอย่าง ตั้งแต่กรอกข้าวเปลือกใส่กระสอบ พร้อมรถที่จะนำข้าวเปลือกไปส่งจนถึงยุ้งฉางของชาวนา ส่วนกำลังพลที่เกี่ยวข้าว ก็ยังคงมีช่วยชาวบ้านตามปกติ”

จาก http://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 24 พฤศจิกายน 2559

ไทยลุ้นเจรจา RCEP จบก่อนTPP เปิดเสรีสินค้าภาคบริการ-ลงทุน

จับตานโยบายทรัมป์ปรับท่าทีสานต่อ TPP ไทยฉวยจังหวะ TPP เอื่อยเร่งเครื่องเจรจา RCEP จบปี 2560

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า แม้ว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะมีนโยบายหาเสียงไม่สนับสนุนการเปิดการค้าเสรี และหันมาปกป้องผลประโยชน์ภายในประเทศ แต่หลังจากชนะการเลือกตั้งยังต้องติดตามว่าอาจเดินหน้าให้สัตยาบันความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ต่อไป เพราะกระบวนการผ่าน TPP ขึ้นอยู่กับสภาคองเกรสไม่ใช่ประธานาธิบดี

และนโยบายก่อนและหลังการเลือกตั้งอาจมีการปรับเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยส่วนตัวมองว่า สหรัฐน่าจะมีแนวโน้มเดินหน้าต่อไป เนื่องจากสหรัฐเป็นแกนนำในการเจรจาความตกลงนี้ หากไม่สานต่อจะกระทบความมั่นใจของหลาย ๆ ประเทศ อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาการให้สัตยาบันอาจยาวนานขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้ 2 ปี ดังนั้น ในช่วงนี้กลุ่มประเทศสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจในภูมิภาค (RCEP) 16 ประเทศ ควรเร่งผลักดันการเจรจา RCEP ให้ได้ในปี 2560

"RCEP มีโอกาสบรรลุตามเป้าหมายมีความเป็นไปได้มาก เพราะบรรยากาศการเจรจาระดับรัฐมนตรี RCEP ครั้งที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายวินิจฉัย แจ่มแจ้ง) เป็นหัวหน้าคณะ เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2559 ที่ฟิลิปปินส์ เห็นสัญญาณว่าหลายประเทศมีท่าทีผ่อนปรน และมีความยืดหยุ่นสูงขึ้น โดยเฉพาะประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น จีนและอินเดีย ทำให้การเจรจาคืบหน้าหลายประเด็น เช่น การยื่นตารางข้อผูกพันการลดภาษีสินค้าที่ยังค้างอยู่ในบางประเทศ การเคลื่อนย้ายแรงงานบุคคลธรรมดา

ด้านการลงทุนนั้นทุกประเทศเห็นถึงความสำคัญและผลักดันให้มีกฎเกณฑ์ที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน โดยให้คำนึงความอ่อนไหวของแต่ละประเทศ อีกทั้งยังเริ่มการหารือในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ และเพิ่มการกำหนดวินัยรัฐวิสาหกิจโดยหลังจากนี้จะมีการหารือระดับคณะเจรจาการค้าความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภูมิภาค (TNC) ครั้งที่ 16 ในระหว่างวันที่ 6-10 ธันวาคมนี้ที่อินโดนีเซีย ส่วนการเจรจาระดับรัฐมนตรี RCEP จะมีในปี 2560

ส่วนประเด็นที่ภาคประชาสังคมกังวล กรณีที่มีข้อเสนอของญี่ปุ่นและเกาหลี ที่ถอดแบบมาจากการเจรจาในกรอบ TPP ทั้งด้านทรัพย์สินทางปัญญา การคุ้มครองพันธุ์พืช และการคุ้มครองนักลงทุน ซึ่งอาจเปิดโอกาสให้มีการฟ้องรัฐ (ISDS) นั้น นายรณรงค์กล่าวว่า ญี่ปุ่นมีการเสนอจริง ซึ่งถือว่าเป็นสิทธิของสมาชิกที่จะเสนอให้มีการเจรจาแบบใดก็ได้ แต่สมาชิกหารือกันแล้วไม่ได้รับการยอมรับเรื่องดังกล่าว

"เกาหลี ญี่ปุ่นเสนอเรื่องการคุ้มครองการผูกขาดข้อมูลการทดสอบยา (Data Exclusivity) คล้ายกับ TPP ซึ่งไทยและอาเซียนคงยอมรับไม่ได้ โดยไทยมุ่งเจรจาครอบคลุมทั้ง 14 เรื่องไปพร้อมกันแต่ต้องถ่วงดุลเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสินค้าสำคัญที่ไทยมีศักยภาพส่งออก หากไม่ได้รับประโยชน์จะไม่ตกลงยอมรับประเด็นอื่น ๆ แน่นอน ทั้งนี้ หากเจรจา RCEP เสร็จสิ้นก่อน TPP มีโอกาสที่จะต้องขยายการให้สิทธิเปิดเสรีอย่างเท่าเทียม (MFN) กับ TPP เช่น หากไทยเปิดเสรีสินค้าใดสินค้าหนึ่งเป็นพิเศษให้กับ RCEP ก็ต้องให้กับประเทศ TPP เท่าเทียมกันด้วย แต่หาก TPP จบสิ้นก่อน ประเทศที่เข้าที่หลังจะต้องรับผลเจรจาที่ตกลงกันไปแล้ว

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 24 พฤศจิกายน 2559

"บ่อจิ๋ว"2,500บาท! เป้าปีหน้าขุดอีก 4.4 หมื่นบ่อ!!

โดย - โต๊ะข่าวเกษตร 

            จากที่ พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดให้ปี 2559 เป็นปีแห่งการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มโอกาสในการแข่งขัน มีแนวทางการขับเคลื่อน 4 เรื่อง ได้แก่ ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตต่อหน่วย บริหารจัดการ และการตลาด โดยให้ทุกหน่วยงานในสังกัดร่วมบูรณาการกันทำงาน

            นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีมกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า ในส่วนของกรมพัฒนาที่ดินนั้น ได้สนองนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีการดำเนินการ ถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกรผ่านศูนย์เรียนรู้ต่างๆ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตสินค้าเกษตร จำนวน 882 ศูนย์ทั่วประเทศ เพื่อใช้เป็นกลไกขับเคลื่อนการดำเนินงานในระดับอำเภอ ให้เกิดการบูรณาการการทำงาน และแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรให้แก่เกษตรกรในพื้นที่อย่างจริงจัง 

            รวมทั้ง การใช้แผนที่การเกษตร (Agri Map)เพื่อการบริหารจัดการเชิงรุกของทุกจังหวัด จะประกอบไปด้วยข้อมูลหลักด้านการเกษตร เช่น น้ำ ดิน พืช ประมง การตลาด การขนส่งหรือระบบโลจิสติกส์ และข้อมูลประกอบอื่นๆที่สำคัญ เน้นสร้างความเข้าใจให้กับเกษตรกร นำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำการเกษตร สนับสนุนการรวมกลุ่มเป็นแปลงใหญ่ เพื่อให้สามารถนำองค์ความรู้ไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะทำให้เกิดการลดต้นทุน การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ การเพิ่มอำนาจในการต่อรอง และการเชื่อมโยงด้านการตลาด

            ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องน้ำเป็นอันดับต้นๆ โดยกรมพัฒนาที่ดินได้ดำเนินโครงการแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทานทั่วประเทศแล้ว หรือ "บ่อจิ๋ว"แล้วจำนวน 2 หมื่นบ่อ ซึ่งได้ดำเนินการเสร็จสิ้นหมดแล้ว โดยในปี 2560 จะได้ของบประมาณเพิ่มเพื่อดำเนินการต่อไป อีกจำนวน 4.4 หมื่นบ่อ โดยเกษตรกรสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่สำนักงานพัฒนาที่ดินใกล้บ้าน อีกทั้ง กรมพัฒนาที่ดินได้ดำเนินการขุดลอกห้วยหนอง คลองบึงให้กับเกษตรกร ซึ่งงานพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำของกรมพัฒนาที่ดินในปีนี้มีทั้งหมด 187 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งดำเนินการไปเรียบร้อยแล้วเช่นกัน

           “ณ วันนี้ ตามที่ท่านรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำชับให้ส่วนข้าราชการกระทรวงเกษตรฯ ปฏิบัติงานต้องมีความโปร่งใส ไม่คอรัปชั่น ทำงานตรงไปตรงมา ทางกรมพัฒนาที่ดินได้นำนโยบายดังกล่าวมากำชับให้ข้าราชการกรมฯ และลูกจ้างทั้งหมด ทำงานต้องยุติธรรม ไม่คอรัปชั่น และสุจริต เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนเป็นที่ตั้ง”อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าว

            ทั้งนี้ ในส่วนโครงการแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน หรือ"บ่อจิ๋ว" เกษตรกร ประชาชนผู้สนใจ ลงชื่อแจ้งความประสงค์ โดยเสียค่าใช้จ่าย 2,500 บาท ได้ที่สำนักพัฒนาที่ดินอำเภอ พัฒนาที่ดินจังหวัดใกล้บ้าน ในวันเวลาราชการ หรือเข้าไปดูเงื่อนไขรายละเอียดต่างๆ พร้อมลงทะเบียนได้ที่ http://eis.ldd.go.th/borjiew/php/workspace.php

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 24 พฤศจิกายน 2559

สมาคมเกษตรชลบุรี จัดตั้งทันฉลองวันชาวไร่ อ้อยสระแก้วชี้ราคาดีเหตุจีน-อินเดียเจอแล้ง

วันที่ 23 พฤศจิกายน 2559 ในการจัดงานวันชาวไร่ ของสมาคมกลุ่มอาชีพการเกษตรชลบุรี อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี ช่วงค่ำวันที่ 22 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้มีชาวไร่อ้อยในพื้นที่ชลบุรี และสระแก้วมาร่วมงานประมาณ 5,000 คน ซึ่งทุกปีถือว่าวันดังกล่าวเป็นวันชาวไร่ ซึ่งจะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ก่อนถึงฤดูการเปิดหีบอ้อย โดยมีนายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีเป็นประธานในการเปิดงาน นายจิรวุฒิ สิงห์โตทอง นายกสมาคมกลุ่มอาชีพการเกษตรชลบุรี ดำเนินการจัดงาน พร้อมทั้งมีการเลี้ยงโต๊ะจีนชาวไร่อ้อยทั้งหมด 300 ตัว

นายจิรวุฒิ สิงห์โตทอง นายกสมาคมกลุ่มอาชีพการเกษตรชลบุรีกล่าวว่า สมาคมฯได้ถูกคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายตรวจสอบการความสมบูรณ์ของสมาคมฯ ซึ่งในความเป็นจริงสมาคมฯได้มีการปฏิบัติตามกฎ ระเบียบที่ได้มีการกำหนดไว้ทุกประการ อาทิ มีชาวไร่อ้อย 600 คน มีอ้อยส่งโรงงานน้ำตาล 55 เปอร์เซ็นต์ แต่ปรากฏว่าช่วงการประชุมเพื่อรับรองสมาคมกลุ่มอาชีพการเกษตรชลบุรีประมาณเดือนตุลาคม 2559 ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่ของรัฐเดินออกจากห้องประชุม ทำให้องค์ประชุมไม่ครบและไม่สามารถรับรองสมาคมฯได้ ซึ่งเป็นการเล่นเกมส์กัน จึงได้ทำการร้องเรียน คสช.ไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะได้ยื่นเรื่องไปแล้ว 6 เดือน และในเดือนธันวาคมนี้จะเปิดหีบอ้อยแล้ว จึงได้มีการประชุมเร่งด่วนเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายนและให้การรับรอง ทำให้สมาคมฯเกิดความสมบูรณ์ ทั้งที่เป็นสมาคมฯต้นๆของประเทศ มีส่วนร่วมในการออกพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย และมีการช่วยเหลือชาวไร่อ้อยตลอดมา แต่มีกลุ่มที่ต้องการลบล้างสมาคมฯ ไม่อยากให้มีบทบาทเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาลทราย จึงต้องต่อสู้ให้ถึงที่สุดจนกระทั่งได้รับการรับรองเป็นสมาคมฯสมบูรณ์แบบดังกล่าว

“ส่วนสมาชิกชาวไร่อ้อยในฤดูการผลิตปี 2559/2560 เมื่อมีผลผลิตจะเก็บเงินเข้าสมาคมฯตันละ 3 บาท ทั้งที่ก่อตั้งสมาคมฯมาเกือบ 30 ปี ไม่เคยเก็บเงินเลย แต่ต้องเก็บเพราะว่าเงินส่วนหนึ่งจะต้องส่งคืนให้กับสมาคมชาวไร่อ้อยจังหวัดสระแก้ว เนื่องจากได้นำอ้อยมาหีบกับทางสมาคมฯ ไม่เช่นนั้นจะต้องรับผิดชอบปีละ 1.5 ล้านบาท ฉะนั้นจึงต้องเก็บเงิน แต่ชาวไร่อ้อยซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคมฯ หลังจากเก็บเงินแล้วจะส่งคืนเงินทั้งหมดให้ภายหลัง เพื่อจะได้มีเงินทุนในการทำไร่อ้อยต่อไป” นายจิรวุฒิ กล่าว

ด้านนายมนตรี คำพล นายกสมาคมชาวไร่อ้อยจังหวัดสระแก้ว กล่าวว่า ราคาอ้อยเบื้องต้นในฤดูการผลิตปี 2559/2560 นั้นได้กำหนดมาแล้วตันละ 1,020 บาท ซึ่งราคาดีกว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากจีน และอินเดียประสบปัญหาภัยแล้ง ผลิตน้ำตาลไม่เพียงพอต่อการบริโภค และจะต้องมีการนำเข้าน้ำตาล เมื่อผลผลิตมีราคาดีจึงได้เสนอรัฐบาลหักเงินค่าอ้อยตันละ 25 บาท เพื่อส่งคืนกองทุน หากราคาอ้อยดีอย่างนี้เชื่อว่าจะสามารถจ่ายเงินคืนกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งเป็นหนี้อยู่ 4 หมื่นกว่าล้านได้หมดในช่วงเวลา 2-3 ปีข้างหน้า

จาก http://www.matichon.co.th   วันที่ 23 พฤศจิกายน 2559

การค้าโลกเข้าโหมด "ชะลอตัว" เปิดเกม "ทุ่มตลาด-ตั้งกำแพงภาษี"

ถึงตอนนี้สถานะของ "โดนัลด์ ทรัมป์" ยังคงเป็นเพียงแค่ "ว่าที่" ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ยังไม่สามารถดำเนินการใด ๆ ตามที่ลั่นวาจาเอาไว้ในระหว่างการหาเสียงได้ ไม่ว่าจะเป็นการล้ม "ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก" (ทีพีพี), การเปิดการเจรจาเพื่อปรับเงื่อนไขความตกลงเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (นาฟต้า) หรือแม้กระทั่งการจัดการกำหนดกำแพงภาษีสำหรับการนำเข้าสินค้าจากจีนก็ตาม

นักวิชาการและนักวิเคราะห์ทั้งหลายเชื่อว่าหากทรัมป์ดำเนินการตามนั้นจะส่งผลให้เกิดการชะลอตัวอย่างรุนแรงของการค้าโลก ซึ่งจะส่งผลเสียหายใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวม เพราะโดยข้อเท็จจริง ภาวะการค้าโดยรวมทั่วโลกในเวลานี้ก็ตกอยู่ในสภาพที่สามารถเรียกได้ว่า "ตุปัดตุเป๋" อยู่ก่อนแล้ว

รายงานของ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เมื่อเดือน ต.ค.ผ่านมา ไอเอ็มเอฟแสดงตัวเลขให้เห็นว่าการค้าโลกอยู่ในสภาวะชะลอตัวอย่างหนัก สัดส่วนการขยายตัวรายปีนับตั้งแต่ปี 2012 เรื่อยมามีเพียง 3% เศษเท่านั้น

และเพื่อให้เห็นภาพการชะลอตัว รายงานของไอเอ็มเอฟระบุไว้ว่า "ระหว่างปี 1985-2007 อัตราการขยายตัวที่แท้จริงของการค้าทั่วโลกจะมีมูลค่าเฉลี่ยคิดเป็นราว 2 เท่าของการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมทั้งหมดของโลก แต่ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา อัตราการขยายตัวทางการค้าของโลกทำได้ดีที่สุดแค่เฉลี่ยแล้วพอ ๆ กับการขยายตัวของจีดีพีโลกเท่านั้น"

ไอเอ็มเอฟสรุปไว้ว่า สภาพการชะลอตัวทางการค้าของโลก (เมื่อเทียบกับผลผลิตทางเศรษฐกิจ) ต่อเนื่องกันยาวนานเช่นนี้ "ไม่เคยปรากฏมาก่อนในรอบ 50 ปี"

สภาวะการค้าของโลกยังสะท้อนออกมาให้เห็นผ่านทางธุรกิจเดินเรือสินค้า โดยบริษัทพาณิชย์นาวีขนาดใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็น "นิปปอน ยูเซน", "มิตซุย โอเอสเค" หรือ "คาวาซากิ ไคเซน" ล้วนประสบภาวะขาดทุนในการดำเนินธุรกิจทั้งสิ้น และคาดกันว่าทั้ง 3 บริษัทรวมกันจะขาดทุนสูงถึง 85,000 ล้านเยน (ราว 27.2 ล้านบาท) สำหรับการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2017 ซึ่งกำหนดสิ้นสุดปีงบประมาณใน มี.ค.ปีหน้า

"นิโคลาส เบอร์" ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน (ซีเอฟโอ) ของฮาแพค-ลอยด์ บริษัทพาณิชย์นาวีเยอรมันบอกกับที่ประชุมในนครแฮมบูร์กเมื่อ 10 พ.ย.ที่ผ่านมานี้ว่า ระดับการขาย "ซากเรือ" สูงสุดอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ตัวเลขของสิงคโปร์เองซึ่งได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีท่าเรือพาณิชย์ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ก็สะท้อนข้อเท็จจริงในทำนองเดียวกัน เพราะสัดส่วนความเคลื่อนไหวของคอนเทนเนอร์บรรทุกสินค้าที่ผ่านเข้าออกท่าเรือของสิงคโปร์ในปี 2015 ลดลง 8.7% และในปี 2016 นับถึงเพียงเดือน ต.ค.ก็ยังลดลงอีก 1.7% เช่นเดียวกัน จีดีพีของประเทศสิงคโปร์ในไตรมาส 3 ของปีนี้ก็หดตัวลงถึง 4.1%

ขณะที่ "แฮริสัน หู" หัวหน้าคณะนักเศรษฐศาสตร์ประจำจีนแผ่นดินใหญ่ของรอยัลแบงก์แห่งสกอตแลนด์ (อาร์บีเอส) บอกว่า แม้แต่ประเทศจีนซึ่งเคยเป็นตัวจักรสำคัญในการผลักดันให้การค้าโลกขยายตัวอย่างมากในทันทีที่จีนกลายเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก(ดับเบิลยูทีโอ) เมื่อปี 2001 เพราะนำเข้าชิ้นส่วนและวัตถุดิบจากนานาประเทศทั่วโลก ในขณะเดียวกันก็ส่งผลผลิตที่ได้ออกขายไปทั่วโลกเช่นเดียวกัน ก็ลดการนำเข้าทั้งในด้านของชิ้นส่วนต่าง ๆ และในส่วนวัตถุดิบลง จากที่เคยมีสัดส่วนสูงถึง 52% ของการนำเข้าทั้งหมดเมื่อปี 2007 เหลือเพียง 42% ในปีนี้

การปรับเปลี่ยนโมเดลเศรษฐกิจภายใต้แนวคิดของประธานาธิบดี "สี จิ้นผิง" จากเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพาการส่งออกเพื่อการเติบโตให้กลายเป็นเศรษฐกิจที่เติบโตได้ด้วยการบริโภคภายในประเทศเป็นหลักซึ่งจะทำให้จีนสามารถขยายตัวได้อย่างยั่งยืน ลดผลกระทบจากนอกประเทศลง แต่ในเวลาเดียวกันก็ส่งผลให้การค้าของจีนหดตัวลงตามไปด้วย ตัวเลขของสำนักงานภาษีศุลกากรทั่วไปของทางการจีนเองก็แสดงให้เห็นว่า ในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ จีนส่งออกรวมกันคิดเป็นมูลค่าเพียง 1.7 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วถึง 6.3% ในขณะที่การนำเข้าก็ลดลง 7.5%

"ทิม คอนดอน" หัวหน้าทีมนักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชียของธนาคาร "ไอเอ็นจี" ชี้ให้เห็นว่า เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำหลังวิกฤตเศรษฐกิจทำให้บริษัทจำนวนมากพากันขยายธุรกิจของตัวเองโดยไม่ดูกำลังซื้อ ส่งผลให้เกิด "ผลผลิตส่วนเกินสะสมกันอยู่มากมายทั่วโลก" ในเวลานี้ ทำให้จำเป็นต้องดิ้นรนแสวงหา

ผู้ซื้อซึ่งนับวันจะหายากมากขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ "การทุ่มตลาด" ที่จะนำไปสู่การปิดกั้นทางการค้าในรูปของการกำหนดกำแพงภาษีกันเพิ่มมากขึ้นเพื่อตอบสนองต่อเสียงเรียกร้องของผู้ผลิตในท้องถิ่นของตนเอง

ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนก็คือกรณีเหล็กจากจีนที่ทางอียูเพิ่งตัดสินใจเรียกเก็บภาษีป้องกันการทุ่มตลาดสูงถึง81.1% เป็นต้น หรือในกรณีที่สหรัฐอเมริกาขึ้นกำแพงภาษีต่อเหล็กที่นำเข้าจากทั้งจีน, อินเดีย, อิตาลี, เกาหลีใต้ และไต้หวันเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ในขณะที่จีนก็กล่าวหาทำนองเดียวกันกับสินค้านำเข้าจากญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ และสหภาพยุโรป เป็นต้น ซึ่งล้วนส่งผลกระทบ ทำให้ภาวะการค้าโลกยิ่งชะงักงันและชะลอตัวมากยิ่งขึ้นไปอีกนั่นเอง

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 23 พฤศจิกายน 2559

เอกชนมองปี60เศรษฐกิจโลกยังผันผวน

ภาคเอกชน มอง ปี 60 เศรษฐกิจโลกยังผันผวน หลาย ปท. เปลี่ยนผู้นำ ต้องจับตานโยบาย

จากงานสัมมนา thailand 2017 ภูมิทัศน์ใหม่ เศรษฐกิจไทย ซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโลก และการลงทุนในปี 2560 มีความผันผวนสูงมาก เพราะยังมีความไม่แน่นอนสูงจากปัจจัยต่างประเทศ และต้องเริ่มระวังวิกฤติเศรษฐกิจรอบใหม่ โดยให้จับตาภาระหนี้ของจีน ที่มีการก่อหนี้เพิ่มขึ้นเกินมาตรฐาน โดยความท้าทายของเศรษฐกิจในปี 2560 คือ ผลกระทบจากนโยบายของ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ใช้นโยบายกีดกันทางการค้า เศรษฐกิจของประเทศยักษ์ใหญ่ยังคงไม่ฟื้นตัวอย่างที่คาดหวัง ความผันผวนของตลาดการเงินที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ จากการที่เงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่ามาก และเงินหยวนถูกกดดันจากเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำนานเกินไปทำให้เกิดการบิดเบือนตลาดการเงิน

ด้าน นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย และประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ปัจจัยต่างประเทศ เป็นปัจจัยที่กระทบต่อเศรษฐกิจและธุรกิจในปี 2560 โดยในหลายประเทศจะมีการเลือกตั้ง ทำให้ยังไม่มีความชัดเจน รวมทั้งนโยบายของ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยเฉพาะนโยบายกีดกันทางการค้าที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจ และการค้าโลกให้ชะลอตัว ซึ่งจะมีผลกระทบมาถึงการส่งออกไทยยังไม่สดใส แต่การส่งออกไทยปี 2560 จะกลับมาขยายตัวร้อยละ 0.8 จากปีนี้หดตัวร้อยละ 0.5

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 23 พฤศจิกายน 2559

อีสท์ วอเตอร์ โชว์วิสัยทัศน์เวทีโลกแก้ปัญหาน้ำภาคอุตฯ

              อีสท์ วอเตอร์ แสดงศักยภาพการเป็นผู้นำการบริหารจัดการน้ำแบบครบวงจร สู่การสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้กับทุกภูมิภาค ในงานประชุมชลประทานโลกครั้งที่ 2  ที่ จ. เชียงใหม่ ชูแนวทาง Water complexตัวช่วยบริหารจัดการน้ำอย่างรู้คุณค่า การวางระบบน้ำแบบครบวงจรให้เหมาะกับการใช้งานของแต่ละอุตสาหกรรมและสามารถนำน้ำทิ้งกลับมาใช้ใหม่เพื่อเป็นแนวทางสู่การสร้างความมั่นคงด้านน้ำในภูมิภาคภายใต้สภาวะการเปลี่ยนแปลงของโลก พร้อมโชว์ความสำเร็จในการบริหารจัดการน้ำผ่านโครงข่ายท่อส่งน้ำในภาคตะวันออกของอีสท์วอเตอร์

              บริษัท  จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์ วอเตอร์ ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพร่วมจัดการประชุมคู่ขนานภายใต้หัวข้อ"การบริหารจัดการน้ำในโลกที่เปลี่ยนไป : บทบาทของการชลประทานเพื่อการผลิตอาหารที่ยั่งยืน"ในงานประชุมชลประทานโลกครั้งที่ 2  ซึ่งถือเป็นเวทีสำคัญระดับโลกที่จัดขึ้นทุก 3 ปี โดยในปีนี้ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกของคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยการชลประทานและการระบายน้ำ (ICID ) ที่มีจำนวนสมาชิกกว่า 110 ประเทศด้วยความพร้อมและศักยภาพด้านการชลประทานมากที่สุดในภูมิภาคซึ่งกรมชลประทานได้รับมอบหมายเป็นเจ้าภาพหลักในการจัดงานณศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ7 รอบพระชนมพรรษาระหว่างวันที่ 6-12 พฤศจิกายน2559  ที่ผ่านมา

              นายจิรายุทธ รุ่งศรีทอง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสท์ วอเตอร์ กล่าวว่า  "ในการประชุมชลประทานโลก ครั้งที่ 2 เป็นการจัดประชุมวิชาการเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ตลอดจนหาแนวทางร่วมกันในการพัฒนางานด้านการชลประทานและการระบายน้ำ โดยมีหัวข้อหลัก  "การบริหารจัดการน้ำในโลกที่เปลี่ยนไป : บทบาทของการชลประทานเพื่อการผลิตอาหารที่ยั่งยืน"ซึ่งทางอีสท์ วอเตอร์ได้รับเชิญให้เป็นเจ้าภาพร่วมจัดการประชุมคู่ขนานร่วมกับการประปาส่วนภูมิภาค (กป  .)เนื่องจากที่ผ่านมาการดำเนินงานของ อีสท์ วอเตอร์ ช่วยตอบสนองการแก้ปัญหาน้ำในภาคอุตสาหกรรมของประเทศซึ่งอุตสาหกรรมถือเป็นฟันเฟืองหนื่งที่สำคัญอันเป็นต้นทางในกระบวนการผลิตต่างๆ เพื่อความยั่งยืน การบริหารจัดการน้ำในโลกที่เปลี่ยนไปขณะนี้ จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

              ในฐานะที่อีสท์ วอเตอร์ มีความเชี่ยวชาญในเรื่องการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกมากว่า 24 ปี มีภารกิจสำคัญในการดูแลภาคอุตสาหกรรมไม่ให้เกิดความขาดแคลนน้ำ ในงานนี้เราได้นำเสนอทางออกการแก้ปัญหาระบบน้ำของประเทศด้วยโมเดลที่เรียกว่า "Water Complex"  ซึ่งเป็นอีกก้าวของอีสท์ วอเตอร์ ที่จะเดินหน้าสู่การเป็นผู้ให้บริการด้านน้ำแบบครบวงจรให้เหมาะกับแต่ละประเภทของอุตสาหกรรมไม่ว่าจะเป็นน้ำดิบระบบน้ำประปาระบบน้ำRO  ระบบReuse และRecycle เน้นการใช้น้ำทุกหยดอย่างคุ้มค่าและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่นำเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาช่วยให้การบริหารจัดการน้ำเกิดประสิทธิภาพสูงสุดลดการสูญเสียน้ำในระบบให้น้อยที่สุดและช่วยเพิ่มแหล่งน้ำต้นทุนซึ่งแนวคิดนี้สอดรับกับหัวข้อในการประชุมครั้งนี้   เพราะในโลกที่เปลี่ยนแปลงไป การผลิตอาหารส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก  การชลประทานที่มีประสิทธิภาพ การบริหารจัดการน้ำที่เป็นระบบ สร้างความมั่นคงเรื่องน้ำให้กับภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก จะช่วยให้การผลิตอาหารเพื่อสนองตอบความต้องการของประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นมีความเพียงพอและยั่งยืน

              แนวคิด Water Complexเป็นแนวคิดใหม่ที่อีสท์ วอเตอร์จะสร้างความยั่งยืนและสร้างเสถียรภาพของระบบสาธารณูปโภคด้านน้ำของประเทศ หลังจากที่ประสบความสำเร็จจากWater Grid หรือโครงข่ายท่อส่งน้ำที่สมบูรณ์ที่สุดที่แรกในอาเซียนอยู่ที่ภาคตะวันออกเชื่อมโยงแหล่งน้ำสำคัญๆใน 3 จังหวัดภาคตะวันออกได้แก่ระยองฉะเชิงเทราและชลบุรีสามารถควบคุมคุณภาพน้ำได้ตั้งแต่ต้นทางจนปลายทางและมีปริมาณน้ำสูญเสียไม่ถึง 3%  จากเดิมมากกว่า 20%การขยายWater Gridไปสู่ภูมิภาคต่างๆ เชื่อมโยงแหล่งน้ำทั้งประเทศด้วยท่อส่งน้ำขนาดใหญ่สามารถผันน้ำจากที่มีน้ำมากไปช่วยพื้นที่ที่มีน้ำน้อยสามารถช่วยแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในที่สุด

              นอกจากนี้อีสท์ วอเตอร์ ยังได้ร่วมกับการประปาส่วนภูมิภาคจัดนิทรรศการในงานชลประทานโลก เพื่อนำเสนอแนวคิด Water Management for Thailand 4.0 ประกอบไปด้วยเทคโนโลยี SCADA ที่เพิ่มประสิทธิภาพสูงสุดในการส่งน้ำผ่านระบบโครงข่ายท่อส่งน้ำ รวมทั้งยังได้เสนอทางออกการบริหารจัดการน้ำของประเทศ ด้วยการใช้แนวคิด 3 W แนวคิดใหม่สร้างระบบน้ำของประเทศสู่ความยั่งยืนอีกด้วย

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 23 พฤศจิกายน 2559

“ประยุทธ์” ย้ำแก้ปัญหาน้ำต้องทำทั้งระบบ เร่งสร้างแผนที่ครอบคลุมให้หน่วยงานอื่นทำงานต่อได้   

        นายกรัฐมนตรี กำชับแก้ปัญหาน้ำต้องทำทั้งระบบ พร้อมเน้นให้ทุกส่วนราชการคำนึงถึงความต้องการของประชาชนในพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำ เร่งสร้างแผนที่ครอบคลุมเพื่อให้หน่วยงานอื่น และประชาชนทำงานต่อได้ ส่วนมาตรการรองรับภัยแล้ง ให้ทำ 5 แนวทางของกระทรวงเกษตรฯ

        ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล วันนี้ (23 พ.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ครั้งที่ 4/2559 เพื่อรับทราบผลการดำเนินงาน ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมรายงานผลการดำเนินงานในกิจกรรมต่างๆ ซึ่งในปีนี้สถานการณ์น้ำ ในภาพรวมจะดีกว่าปี 2558 ร้อยละ 20       

        นายวรศาสน์ อภัยพงษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ แถลงว่า นายกฯ ได้เน้นให้ทุกส่วนราชการคำนึงถึงความต้องการประชาชนในพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำ ว่า ต้องมีระบบการกระจายน้ำเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน มีน้ำมั่นคงในภาคการผลิต โดยทุกส่วนราชการต้องปรับการบริหารงบประมาณ เพื่อให้มี ระบบกระจายน้ำในทุกๆ แหล่งน้ำให้เกิดการใช้ประโยชน์ ได้อย่างสมดุล

               นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาถึงแนวทางการเพิ่มน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนขนาดใหญ่ เช่น เขื่อนภูมิพล การเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา เพื่อให้สามารถรับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาจาก 3,300 ลบ.ม./วินาที เป็น 4,500 ลบ.ม./วินาที เพื่อลดความเสี่ยงกรณีน้ำ หลากในอนาคตจะเกิดถี่ขึ้น 3 - 7 ปี/ครั้ง      

        อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กล่าวว่า สำหรับมาตรการรองรับสถานการณ์ภัยแล้งที่จะมาถึงปี 2559 - 2560 ที่ประชุมได้เห็นชอบตามแนวทางที่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอใน 5 มาตรการ ได้แก่ 1. มาตรการส่งเสริมความรู้เพื่อลดความเสี่ยงจากภัยแล้ง 2. มาตรการจัดทำแผนชุมชนเพื่อบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้ง 3. มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ 4. มาตรการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน 5. มาตรการฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่ เกษตรกรประสบภัย      

        นอกจากนี้ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้เห็นชอบให้มีการปรับแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 12 ปี ให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และแผนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ สร้างความเข้มแข็ง เน้นแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบเพื่อการดำเนินการอย่างเป็นเอกภาพ

จาก http://manager.co.th  วันที่ 23 พฤศจิกายน 2559

โรงงานผลิตสารบำรุงดินทุ่ม 50 ล้านแก้ปัญหากลิ่นกากส่ารบกวนชาวบ้าน  

         ศูนย์ข่าวขอนแก่น - โรงงานผลิตสารบำรุงดินออกมารับผิดหลังพลาสติกคลุมบ่อน้ำกากส่าเกิดรั่วไหลส่งกลิ่นรบกวนชาวบ้าน เผยทุ่มงบกว่า 50 ล้านบาท มั่นใจใช้เวลา 3 เดือนระงับกลิ่นก๊าซรบกวนได้ ยืนยันสารบำรุงดินจากน้ำกากส่าอ้อยเป็นประโยชน์ต่อภาคการเกษตร

        วันนี้ (23 พ.ย. 59) ที่โรงงานผลิตสารบำรุงดิน (ปุ๋ยอินทรีย์) ริมถนนน้ำพอง-กระนวน บ้านสนามบิน ต.พังทุย อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น นายนิรุต ปัญญาสิทธิ์ กรรมการและผู้จัดการโรงงาน บริษัท เคเอสแอล แมททีเรียล ซัพพลายส์ จำกัด เผยว่า จากกรณีที่กลิ่นจากโรงงานส่งกลิ่นรบกวนประชาชนรอบๆ โรงงานนั้น ปัญหาจากเรื่องกลิ่นเกิดขึ้นจากบ่อเก็บกากส่า เกิดก๊าซชีวภาพจำนวนมาก เครื่องสูบก๊าซเพื่อนำไปเผาทิ้งเกิดเสีย ทำให้ผ้าที่คลุมบ่อโป่งพองออกมาจนเกิดอุบัติเหตุผ้าปริแตก ก๊าซชีวภาพจึงเล็ดลอดออกมาข้างนอกส่งกลิ่นเหม็นรบกวนชาวบ้านตั้งแต่ 9 ตุลาคมที่ผ่านมา

               โรงงานได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าคือซ่อมรอยแตกของผ้าที่คลุมบ่อกากส่า เรียบร้อยแล้ว ติดตั้งเครื่องเผาก๊าซสำรองแทนและทำการเผาก๊าซชีวภาพระหว่างที่รออะไหล่เผาก๊าซตัวหลัก โดยขณะนี้กลิ่นที่เหม็นไม่มีแล้ว

               สำหรับการแก้ไขระยะยาวนั้นทางบริษัทจะดำเนินการไม่ให้เกิดก๊าซที่บ่อเก็บกากส่า โดยจะแยกกากส่าสด และวัสดุปรับปรุงดินชนิดน้ำที่มีจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ออกจากกัน และจะทำการขุดบ่อแยกเก็บคนละบ่อโดยไม่ให้ผสมกันโดยเด็ดขาดเพื่อไม่ให้เกิดก๊าซขึ้น

               ทั้งนี้ ทางบริษัทฯ ได้ตั้งงบประมาณจำนวน 50 ล้านบาทเพื่อขุดบ่อ พร้อมปูผ้าพลาสติกรองพื้นและคลุมบ่อด้านบน โดยจะเริ่มดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 3 เดือนข้างหน้า ซึ่งวิธีการนี้ทางเรามีความมั่นใจ 99% ว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชนรอบๆ โรงงาน

               ทั้งนี้ ยืนยันว่าสารบำรุงดินชนิดน้ำที่มีจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์เหมาะสำหรับการเจริญเติบโตของพืช เนื่องจากมีธาตุอาหารหลัก อาหารรอง อาหารเสริมครบถ้วน เหมาะกับพืชทุกชนิด ซึ่งทางบริษัทยังได้ทำแปลงสาธิตเกษตรอินทรีย์โดยใช้สารบำรุงดินชนิดน้ำแทนปุ๋ยเคมีจำนวน 35 ไร่หลังโรงงาน ซึ่งเป็นโครงการตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของพ่อหลวงอีกด้วย

 จาก http://manager.co.th  วันที่ 23 พฤศจิกายน 2559

เกษตรฯเผยเขื่อนอุบลรัตน์ยังต้องคุมระบายน้ำ

กระทรวงเกษตรฯเผยสถานการณ์น้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ยังต้องคุมการระบายน้ำ ป้องกันผลกระทบต่อเกษตรกร ด้านปริมาณฝนภาคใต้ยังไม่น่าห่วง นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน ได้มีการติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ) ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดูแลเกษตรกรในพื้นที่ไม่ให้ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์น้ำ

นายณรงค์ ลีนานนท์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน ว่า ขณะนี้ (23 พฤศจิกายน 2559) ความกดอากาศสูงจากประเทศจีนยังคงมีกำลังแรง และได้ปกคลุมทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ทำให้เกิดฝนตกค่อนข้างมาก  โดยเฉพาะที่จังหวัดขอนแก่น ส่งผลให้เขื่อนอุบลรัตน์ยังต้องระบายน้ำออกจากเขื่อน เนื่องจากปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้น โดยเขื่อนมีปริมาณน้ำเก็บกักอยู่ที่ 2,431 ล้าน ลบ.ม. แต่มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน เป็นต้นมา สูงสุดถึงวันละ 70 ล้าน ลบ.ม.และลดลงมาเป็นลำดับ จนปัจจุบันมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนวันละ 18 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งทางเขื่อนอุบลรัตน์ โดยคณะกรรมการจัดการน้ำจังหวัดขอนแก่น (เจเอ็มซีขอนแก่น) ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ได้พิจารณากำหนดแนวทางการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์ โดยเห็นว่าต้องระบายน้ำออกทางด้านท้ายเขื่อนประมาณ 21 ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน ซึ่งจากสถานการณ์ดังกล่าวจะทำให้ปริมาณน้ำในลำน้ำชี และลำน้ำพองเพิ่มสูงขึ้น แต่หากปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนลดลงก็จะทำให้การปรับลดระบายลดลงด้วย เพื่อลดผลกระทบทางด้านท้ายเขื่อน

ขณะที่สถานการณ์ฝนทางภาคใต้นั้น แม้ร่องมรสุมได้เคลื่อนลงไปสู่พื้นที่ทางจังหวัดภาคใต้แล้ว แต่ปริมาณฝนตกยังมีไม่สูงมากนัก โดยอยู่ประมาณ 20 - 30 มิลลิเมตร ต่อพื้นที่ของจังหวัดโดยรวม ซึ่งถือว่าสถานการณ์ฝนทางภาคใต้ ยังไม่มีส่งผลกระทบทำให้เกิดน้ำท่วม หรือน้ำล้นตลิ่งแต่อย่างใด

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 23 พฤศจิกายน 2559

“กรมชล”วางแผนจัดสรรน้ำกว่า 3.1หมื่นล้าน ลบ.ม.รับแล้ง2559/60คาดช่วยเพาะปลูกได้กว่า10ล้านไร่

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน ได้กำหนดแผนการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2559/2560 เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในเขตชลประทานทั่วประเทศ คิดเป็นปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 31,245 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)สามารถสนับสนุนพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้งทั้งประเทศได้ประมาณ 10.35 ล้านไร่ ประกอบด้วย ข้าวนาปรัง 3.91 ล้านไร่ พืชไร่-พืชผัก 0.65 ล้านไร่ พืชอื่นๆ 3.57 ล้านไร่ รวมกับพื้นที่ส่งเสริมให้ปลูกพืชทดแทนข้าวนาปรังในเขตชลประทานทั่วประเทศอีก 2.22 ล้านไร่ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบนโยบายให้กรมชลประทาน กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมพัฒนาที่ดิน ดำเนินการปรับลดพื้นที่การทำนาปรังในเขตชลประทาน เพื่อให้ผลผลิตเหมาะสมกับความต้องการของตลาดและสอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ ด้วยการปรับเปลี่ยนให้เกษตรกรหันมาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พืชหลากหลาย และพืชปุ๋ยสด ทดแทนการทำนาปรัง ซึ่งเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯจะมีรายได้เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งจะทำให้การบริหารจัดการน้ำสำหรับการปลูกพืชในช่วงฤดูแล้งมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ลดความเสี่ยงปัญหาการขาดแคลนน้ำและผลผลิตเสียหายได้เป็นอย่างดี

นายทองเปลว กล่าวว่า สำหรับในพื้นที่ชลประทานลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้วางแผนการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2559/60 ด้วยการ ใช้น้ำจากเขื่อนหลัก 4 แห่ง ประกอบด้วย เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2559 – 30 เมษายน 2560 ตามมาตรการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน รวมกันเป็นจำนวน 9,704 ล้านลบ.ม.แยกเป็นการใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค 1,100 ล้านลบ.ม. การรักษาระบบนิเวศและอื่นๆ 1,450 ล้านลบ.ม.และการเกษตร 3,400 ล้านลบ.ม. และสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนปี 2560 อีก 3,754 ล้านลบ.ม.โดยในส่วนของการจัดสรรน้ำเพื่อสนับสนุนภาคการเกษตร นั้น ได้กำหนดพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้งในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาไว้รวมกันประมาณ 5.03 ล้านไร่ ประกอบด้วย ข้าวนาปรังประมาณ 2.60 ล้านไร่ พืชไร่-พืชผัก 0.08 ล้านไร่ พืชอื่นๆ 0.97 ล้านไร่ และพืชที่ได้ส่งเสริมให้เพาะปลูกแทนข้าวอีกประมาณ 1.38 ล้านไร่

นายทองเปลว กล่าวว่า ทั้งนี้ในส่วนของเขื่อนที่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย ไม่สามารถสนับสนุนการใช้น้ำในภาคการเกษตรได้ จำเป็นต้องวางแผนการจัดสรรน้ำอย่างรัดกุม สำหรับเฉพาะการใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ เท่านั้น มีจำนวน 5 แห่ง ได้แก่ เขื่อนลำตะคอง เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนมูลบน เขื่อนลำแชะ จ.นครราชสีมา เขื่อนปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ และเขื่อนที่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย ไม่สามารถสนับสนุนการทำนาปรังได้ คงเหลือน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ และพืชใช้น้ำน้อย จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ เขื่อนลำนางรอง จ.บุรีรัมย์ เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี และเขื่อนบางลาง จ.ยะลา อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าในช่วงฤดูแล้งปีนี้ ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา จะมีปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์เพียงพอที่จะสนับสนุนการใช้น้ำในทุกกิจกรรม แต่ยังคงต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้ร่วมใจกันรณรงค์ ให้มีการใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้เกิดความมั่นคงในด้านการใช้น้ำอย่างยั่งยืนตลอดไป

จาก http://www.matichon.co.th   วันที่ 23 พฤศจิกายน 2559

สอน.กำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ ระยะ 5 ปี

สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ดำเนินการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ โดยกำหนดมาตรฐานการตรวจสอบคุณภาพอ้อย พร้อมทั้งกำกับดูแลกระบวนการเก็บเกี่ยวก่อนส่งอ้อยเข้าโรงงานผลิตน้ำตาลทั่วประเทศ มุ่งแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้อย่างจริงจังให้หมดสิ้น หรือน้อยที่สุดภายใน 5 ปี อย่างมีประสิทธิภาพ

นายสมศักดิ์  จันทรรวงทอง เลขาธิการ สอน. เปิดเผยว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมา สอน.ได้ดำเนินการแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นกกรดำเนินการตามระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เรื่อง การตัดและส่งอ้อยให้แก่โรงงาน การตรวจสอบคุณภาพอ้อย และการรับอ้อยจากชาวไร่อ้อยหรือหัวหน้ากลุ่มชาวไร่อ้อย พ.ศ.2553 โดยมีคณะทำงานควบคุมการผลิตประจำโรงงานเป็นผู้พิจารณาว่า อ้อยใดเป็นอ้อยสดคุณภาพดี อ้อยไฟไหม้ อ้อยยอดยาว หรืออ้อยที่มีกาบใบซึ่งมีมาตรการ คือ อ้อยสดคุณภาพดีให้ได้รับเงินค่าอ้อยเพิ่ม ไม่เกินตันละเจ็ดสิบบาท อ้อยไฟไหม้ อ้อยยอดยาว หรืออ้อยที่มีกาบใบ ที่ส่งเข้าโรงงานน้ำตาลจะถูกหักเงินค่าอ้อยขั้นต้นไว้ตันละ 20 บาท รวมทั้งการจัดทำโครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร แต่จากสถิติพบว่าปริมาณอ้อยไฟไหม้ในแต่ละฤดู การผลิตยังไม่ลงเท่าที่ควร โดยในฤดูการผลิตปี 2548/2549 มีปริมาณอ้อยไฟไหม้ทั่วประเทศ คิดเป็นร้อยละ 64.77 จากปริมาณอ้อยเข้าหีบ 94,047,041.56 ตัน

ด้วยเหตุนี้ สอน. จึงได้เสนอให้คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย พิจารณาแต่งตั้งคณะทำงานในการกำหนดมาตรการแนวทาง “แก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้ให้หมดไปหรือเหลือน้อยที่สุด” พร้อมดำเนินการให้หมดสิ้นภายในระยะเวลา 5 ปี (ฤดูการผลิต 2559/690 – 2564/65 )โดยมีแนวทางการดำเนินงานในการแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้ ดังนี้

1.       แก้ไขระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลราย เกี่ยวกับการหักเงินค่าอ้อยไฟไหม้และจ่ายเงินคืนในอ้อยสดคุณภาพดี โดยให้โรงงานหักเงินค่าอ้อยไฟไหม้เพิ่มจากเดิมตันละ 20 บาท เป็นตันละ 30 บาท ส่งให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย  และให้กองทุนจ่ายเงินคืนให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดคุณภาพดีในแต่ละเขตการคำนวณราคาอ้อยไม่เกินตันละ 120 บาท หากมีเงินเหลือมให้นำเงินส่วนที่เหลือจ่ายคืนทุกตันอ้อยในเขตคำนวณราคานั้นๆ

2.       ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยทราบว่า มาตรการหักเงินอ้อยไฟไหม้เป็นเช่นไร และมูลค่าเพิ่มที่จะได้รับจากอ้อยสดเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นการสร้างแรงจูงใจให้แก่กลุ่มเกษตรกร

3.       ให้โรงงานประกาศทุกสัปดาห์ ว่ามีอ้อยสดเข้าหีบเท่าใด และอ้อยไฟไหม้เท่าใด

4.       แจ้งเป้าหมายการลดปริมาณอ้อยไฟไหม้ที่เข้าหีบให้โรงงานทราบ โดยสอน. แจ้งแต่ละโรงงานทราบเป้าหมายฯ และกำหนดเป็นหลักเกณฑ์ประกอบการพิจารณาคัดเลือกโรงงานดีเด่นประจำปี เพื่อให้โรงงานไปกำหนดมาตรการจูงใจ ให้มีการตัดอ้อยสดส่งโรงงานมากขึ้น และลดปริมาณอ้อยไฟไหม้ลงตามลำดับ

5.       ส่งเสริมโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อซื้อรถตัดอ้อย ซึ่งคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแล้ว

6.       ดำเนินการกับผู้ลักลอบวางเพลิงอย่างเข็มงวด โดยให้สอน. มีหนังสือแจ้งหน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการกับผู้ลักลอบวางเพลิงให้เข็มงวด

นอกจากนี้ เลขาธิการ สอน. กล่าวเพิ่มเติมว่า สอน. ขอความร่วมมือให้โรงงานรณรงค์ประชาสัมพันธ์ไม่ให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยเก็บเกี่ยวอ้อยด้วยวิธีการเผาไร่อ้อยก่อนตัดส่งเข้าโรงงาน ซึ่งเป็นความผิดมาตรา 25 วรรคสี่แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 220 วรรคแรก ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี ปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาท ทั้งนี้ ยังทำให้คุณภาพอ้อยไม่ได้มาตรฐาน ส่งผลเสียกับสภาพแวดล้อม เสียราคา ซึ่งสอน. จะให้ความสำคัญกับมาตรการดำเนินงานลดปริมาณอ้อยไฟไหม้อย่างจริงจัง

จาก http://www.matichon.co.th วันที่ 23 พฤศจิกายน 2559

หวั่นนโยบาย ‘อุตสาหกรรม4.0’ สะดุด พบไทยขาดผู้เชี่ยวชาญไอที จี้รัฐปั้นแรงงานใช้ทักษะ

นายสมหวัง บุญรักษ์เจริญ ผู้อำนวยการ สถาบันไทย-เยอรมัน เปิดเผยว่า นโยบายของภาครัฐต้องการผู้ประกอบการไทยยกระดับมาตรฐานการผลิต และสร้างนวัตกรรมใหม่ รองรับการผลักดันผู้ประกอบการอุตสาหกรรมก้าวสู่ “อุตสาหกรรม 4.0” โดยมุ่งสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในอุตสาหกรรมต่างๆ หันมาใช้เทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์อุตสาหกรรมในการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม สถาบันพบว่า ยังมีผู้ประกอบการอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่มีความพร้อมด้านบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม เนื่องจากแรงงานบางส่วนที่มีอยู่ในปัจจุบันยังไม่มีทักษะทางด้านนี้อย่างเพียงพอทำให้หลายรายชะลอการลงทุนออกไป

ทั้งนี้ สถาบัน ซึ่งได้รับมอบหมายจาก กระทรวงอุตสาหกรรม ให้เร่งกำหนดนโยบายเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนทรานฟอร์ชั่นของผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม ทั้งมาตรการส่งเสริมการลงทุนระบบเทคโนโลยีอัตโนมัติ และหุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรม พร้อมเร่งพัฒนาบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญทั้งในส่วนของการสร้างและซ่อมบำรุงเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรมได้ รองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์และชิ้นส่วนทางการแพทย์ อุตสาหกรรมอากาศยาน ที่มีความจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตชั้นสูง

“การผลักดันอุตสาหกรรมให้ก้าวสู่ 4.0 มีความจำเป็นต้องใช้แรงงานที่มีความเชี่ยวชาญสูง ซึ่งพบว่าในภาคอุตสาหกรรมของไทยยังขาดแคลนแรงงาน ที่มีความรู้ความเข้าใจด้านการนำเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์มาใช้ในภาคการผลิตเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิต ส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุนของภาคเอกชน”นายสมหวัง กล่าว

ทั้งนี้ สถาบันไทย-เยอรมัน ยืนยันว่า พร้อมสนับสนุนนโยบายภาครัฐ และออกแบบพัฒนาหลักสูตรเพิ่มเติมเพื่อเร่งสร้างบุคลากรทางด้านนี้โดยเฉพาะให้เพียงพอต่อความต้องการเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมใหม่ที่เรียกว่า New S-Curve

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 23 พฤศจิกายน 2559

ประยุทธ์’จี้อุตฯรื้อโครงสร้าง เล็งดึง กพร.ออก หลังการทำเหมืองแร่ในไทยลดลง

 “ประยุทธ์” จี้กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งปรับโครงสร้าง รับอุตสาหกรรม 4.0 หลัง “สมคิด” ไฟเขียวในหลักการแล้วให้ทุกหน่วยงานทำภารกิจหน้าที่เสนอ พร้อมตรวจงานภายใน พ.ย.นี้ ยันใช้ชื่อ “กระทรวงอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการ” ตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมขึ้นมารองรับขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมาย

นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยกับ”ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเดินทางมาตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของกระทรวง โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ปรับเปลี่ยนการดำเนินให้เป็นหน่วยงานแรกที่จะรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ว่าจะมีความคืบหน้าอย่างไร หลังจากที่แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรม 20 (2560-2579) ได้เสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาไปแล้วเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน จากเดิมที่จะต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งได้มีการบรรจุการปรับโครงสร้างของกระทรวงฯอยู่ในแผนดังกล่าวด้วย

สำหรับในรายละเอียดของโครงสร้างดังกล่าว ขณะนี้ได้ให้หน่วยงานในสังกัดเร่งดำเนินการจัดทำภารกิจหรืออำนาจหน้าที่ตามโครงสร้างใหม่ให้แล้วเสร็จ เพื่อพร้อมที่จะนำเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาได้ทันที ซึ่งในแต่ละกรม หรือสำนักงาน ก็จะมีหน้าที่และภารกิจที่แตกต่างกันไป

แหล่งข่าวจากระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สำหรับการปรับโครงสร้างของกระทรวงฯ ได้ผ่านการพิจารณาของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ ที่นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้มาดูแลเรื่องนี้แล้ว 2 ครั้ง และได้เห็นชอบโครงสร้างดังกล่าวไปแล้ว โดยจะเปลี่ยนชื่อกระทรวงใหม่ เป็นกระทรวงอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการ ซึ่งจะมีการปรับเปลี่ยนหน่วยงานและบทบาทในการทำงานในแต่ละสังกัดใหม่

โดยหน่วยงานส่วนกลางอย่างสำนักงานปลัดกระทรวง จากเดิมมีหน้าที่ส่งเสริมพัฒนา จะปรับบทบาทให้หน่วยงานในภูมิภาคทำหน้าที่เป็นผู้ปฏิบัติ(ส่งเสริมและพัฒนา) ที่จะมีสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด และสำนักงานอุตสาหกรรมภาค ขึ้นมาดูแลแทน

ขณะที่การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งปัจจุบันหน่วยงานภายในและสถาบันเครือข่ายต่างๆ การดำเนินงานยังไม่ครอบคลุมอุตสาหกรรมเป้าหมาย จะมีการปรับหน่วยงานภายในอย่างสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) เปลี่ยนมาเป็นสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ(สอช.) เพื่อเป็นผู้กำหนดนโยบาย โดยจะมีการจัดทำพ.ร.บ.พัฒนาอุตสาหกรรม เพื่อมารองรับการจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขา และการจัดตั้งสำนักงานพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ(สพอ.) เพื่อมาบริหารกองทุน อีกทั้ง จะยกระดับสถาบันอาหาร ขึ้นมาเป็นสำนักงานพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแห่งชาติ โดยจะออกพ.ร.บ.พัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแห่งชาติ ขึ้นมารองรับ

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ในส่วนของการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอีและผู้ประกอบการนั้น เนื่องจากปัจจุบันการพัฒนาผู้ประกอบการมีรูปแบบที่คล้ายกัน จำเป็นต้องขยายกลุ่มเป้าหมายการพัฒนาผู้ประกอบการและพัฒนาผู้ประกอบการตามวงจรชีวิต ทั้งในส่วนของการเริ่มธุรกิจ การสนับสนุนกิจการที่แข็งแรงแล้ว และดูแลผู้ประกอบการที่ประสบปัญหา ที่จะมีการปรับเปลี่ยนกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.) ในปัจจุบัน เปลี่ยนมาเป็นกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการ ทำงานควบคู่กับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และตั้งสำนักงานส่งเสริมผลิตภาพแห่งชาติขึ้นมา โดยจะมีพ.ร.บ.ส่งเสริมผลิตภาพแห่งชาติ ขึ้นมารองรับ

ส่วนการส่งเสริมและสนับสนุนการประกอบการ ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยงานที่ให้การอนุญาตและกำกับดูแล อย่างกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) จะปรับบทบาทมาเป็นหน่วยงานที่อำนวยความสะดวกในการประกอบการ การให้บริการ ณ จุดเดียว และส่งเสริมการดำเนินงานให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม พร้อมกับเปลี่ยนชื่อของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) มาเป็นสำนักงานคณะกรรมการอุตสาหกรรมชีวภาพ เพื่อให้ครอบคลุมการกำกับดูแลการนำพืชอย่างอ้อย มันสำปะหลัง ไปใช้ต่อยอดในอุตสาหกรรมไบโอชีวภาพ

สำหรับกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่(กพร.) ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาอยู่ว่า จะต้องมีหน่วยงานนี้อยู่ในโครงสร้างของกระทรวงฯที่ปรับใหม่หรือไม่ เนื่องจากเห็นว่าในอนาคตต่อไปบทบาทในการทำเหมืองแร่ของประเทศจะลดลง รวมถึงต้องจัดตั้งสำนักงานมาตรฐานแห่งชาติ ขึ้นมาด้วยหรือไม่ เนื่องจากปัจจุบันมี สมอ.ทำหน้าที่คอยกำกับดูแลอยู่แล้ว

จาก http://www.thansettakij.com   วันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

พณ.เจ้าภาพ ดึงผู้ผลิตเอทานอลเอ็มโอยูเกษตรกร เพิ่มรับซื้อหัวมันสำปะหลัง

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยจากการประชุมร่วมกับสมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลไทย และสมาคมเอทานอลจากมันสำปะหลัง เพื่อหาแนวทางส่งเสริมการใช้มันสำปะหลังในการผลิตเอทานอล ว่า กระทรวงฯได้ขอความร่วมมือผู้ผลิตเอทานอลให้ช่วยรับซื้อหัวมันสดมากขึ้น เพื่อนำไปผลิตเป็นเอทานอล จากปัจจุบันยังใช้มันสำปะหลังเพียง 28% ของการผลิตเอทานอลทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่ 66% ใช้กากน้ำตาลในการผลิต ที่เหลืออีก 6% จากวัตถุดิบอื่นๆ

“ ในเร็วๆนี้ จะจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือร่วมกัน (เอ็มโอยู) ระหว่างกลุ่มเกษตรกรและสหกรณ์ และสมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลไทย สมาคมเอทานอลจากมันสำปะหลัง เพื่อช่วยเชื่อมโยงกลุ่มเกษตรกรและสหกรณ์ เข้าสู่อุตสาหกรรมเอทานอล เพื่อเพิ่มการรับซื้อหัวมันสด และลดความเดือดร้อนเกษตรกร รวมถึงมีแผนส่งเสริมพัฒนาเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และผลักดันการส่งออกให้หลากหลายขึ้น ”

นายสุวิทย์ กล่าวต่อว่า สถานการณ์ราคามันสำปะหลังสด ปีผลิต 2559/60 จะออกมากเดือนธันวาคม 2559-มีนาคม 2560 โดยราคา ณ วันที่ 21 พฤศจิกายน 2559 โรงแป้งจังหวัดนครราชสีมา รับซื้อเชื้อแป้ง 25% กิโลกรัม (กก.)ละ 1.60-2.00 บาท เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคมที่รับซื้อกก.ละ 1.48-1.70 บาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่รับซื้อกก.ละ 2.30-2.55 บาท

จาก http://www.matichon.co.th   วันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ไทยลั่นร่วมมือทุกเวทีการค้า

ไทยประกาศพร้อมร่วมมือทุกเวทีเขตเศรษฐกิจ พร้อมทำความตกลงเขตการค้าเสรีของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (FTAAP) สร้างสมดุลเศรษฐกิจ

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวสุนทรพจน์ในการเป็นตัวแทน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เข้าร่วมประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ช่วงที่ 1 (First Leaders' Retreat) ภายใต้หัวข้อความท้าทายต่อการค้าเสรีและการลงทุนในบริบทโลกปัจจุบัน ณ ศูนย์การประชุม Lima Convention Center กรุงลิมา สาธารณรัฐเปรู ว่ารู้สึกขอบคุณต่อน้ำใจและความปรารถนาดีต่อปวงชนชาวไทย ซึ่งการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้นำมาซึ่งความเศร้าสลดของปวงชน ชาวไทยทั้งชาติ ความเห็นใจจากทุกท่านถือเป็นกำลังใจที่สำคัญยิ่ง

ทั้งนี้ เห็นว่าการบูรณาการทางเศรษฐกิจนั้นคือ หนทางที่นำพาเอเชียแปซิฟิกไปสู่ความมั่งคั่งและความมั่นคงทั้งในแง่เศรษฐกิจและสังคม โดยระบอบการค้าของโลกย่อมต้องปรับให้สอดรับกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วของโลกการรวมตัวกันของ 21 เขตเศรษฐกิจเป็นเครื่องบ่งชี้สำคัญถึงความเชื่อมั่นต่อระบอบการค้าพหุภาคีและความมุ่งมั่นที่จะรักษาระบอบดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม พล.อ.อ. ประจิน กล่าวถึงประเด็นสำคัญ 2 ประการ คือ คือ ประเด็นที่ 1 การได้รับประโยชน์จากการค้าเสรีและการบูรณาการทางเศรษฐกิจไม่ทั่วถึง โอกาสและการเข้าถึงทรัพยากรจะต้องถูกกระจายอย่างทั่วถึง เพื่อสร้างความมั่งคั่งและการเติบโตอย่างครอบคลุม จะต้องปฏิรูปโครงสร้างทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจจะต้องมีการปรับปรุงเพื่อลดภาระของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยที่มีข้อจำกัดทางด้านเงินทุน ทรัพยากรบุคคล และเวลาในการดำเนินการ อีกทั้งการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์จะเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับเอสเอ็มอีและผู้ประกอบการรายใหม่ หรือสตาร์ทอัพ ซึ่งเอเปกจะต้องให้ความสำคัญต่อการเสริมสร้างความสามารถ เนื่องจากยังคงมีความแตกต่างด้านความรู้ความเชี่ยวชาญและเทคโนโลยีระหว่างประเทศพัฒนาและประเทศกำลังพัฒนา

ประเด็นที่ 2 การบูรณาการด้านเศรษฐกิจในภูมิภาคมีการจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกว่า 44 ฉบับ ซึ่งนับเป็นจำนวนกว่าครึ่งหนึ่งของ FTA ที่ได้จัดทำมาทั่วโลก ประเทศไทยสนับสนุนการจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (FTAAP) ซึ่งเป็นวาระหลักของเอเปกช่วงหลังปี 2020

"เราคำนึงว่าเราได้ใช้ประโยชน์จากความตกลงก่อนๆ ที่เคยจัดทำขึ้นมากน้อยเพียงใด และความตกลงเหล่านี้ตอบสนองความต้องการของสมาชิกอย่างแท้จริงหรือไม่" พล.อ.อ.ประจิน กล่าว

สำหรับประเทศไทยยืนยันบทบาทในการประสานความต้องการของเขตเศรษฐกิจที่มีความหลากหลายดังที่ไทยได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องในเวทีต่างๆ รวมทั้งจะต้องพิจารณาทิศทางของเอเปก เพื่อกำหนดวิสัยทัศน์หลังปี 2020 ที่สอดคล้องกับบริบทโลกที่เปลี่ยนไป รวมถึงเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งจะต้องร่วมกันบรรลุข้อตกลงในปี 2030 และไทยในฐานะหนึ่งในสมาชิกก่อตั้งเอเปก ขอยืนยันความมุ่งมั่นของไทยในการร่วมมือกับทุกเขตเศรษฐกิจ เพื่อบรรลุความมั่งคั่งที่สมดุล ครอบคลุมและยั่งยืน

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ปิดปฏิบัติการฝนหลวงทั่วประเทศ ได้น้ำเข้าเขื่อนกว่า6พันล้านลบ.ม.

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ได้ปิดหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงปี 59 ทุกหน่วยทั่วประเทศที่ปฏิบัติฝนหลวง ระหว่างวันที่ 15 ก.พ. - 15 พ.ย.ซึ่งมีหน่วยฝนหลวงเชียงใหม่ ตาก บุรีรัมย์ ขอนแก่น โคราช หัวหิน สุราษฎร์ธานี และสงขลา เนื่องจากสภาพอากาศไม่เหมาะสม และเพื่อดำเนินการซ่อมบำรุงเครื่องบินฝนหลวง จากการปฏิบัติการในปีนี้มีปริมาณน้ำเข้าเขื่อน 34 ทั่วประเทศ สะสมรวม 6,056.70 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยเฉพาะเติมน้ำเขื่อนภูมิพล ได้ปริมาณน้ำระดับกักเก็บเพิ่ม 51% ถือว่าน้ำอยู่เกณฑ์ดี เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อย เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อยู่ในเกณฑ์ดีมาก ซึ่งได้เติมน้ำเขื่อนจนบรรลุเป้าหมายเป็นที่น่าพอใจ ไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำในฤดูแล้ง โดยเฉพาะอุปโภคบริโภค แต่ในบางพื้นที่มีน้ำในเขื่อนน้อย จึงลดน้ำด้านการเกษตร อาจจะปรับเปลี่ยนใช้น้ำน้อย เขื่อนลำตะคอง เขื่อนลำพระเพลิง

ทั้งนี้ ได้ตั้งหน่วยปฏิบัติการเคลื่อนเร็วไว้ 2 หน่วย ที่ จ.นครสวรรค์ โดยสามารถปฏิบัติทำฝนหลวงได้ทั่วประเทศ ในสภาพพื้นที่และอากาศเหมาะสม อย่างกรณีเขื่อนแก่งกระจาน เขื่อนปราณบุรี จะไปปฏิบัติการเติมน้ำสองแห่งนี้ เพราะยังมีน้ำน้อย และอยู่ในช่วงสภาพอากาศเอื้อในการขึ้นปฏิบัติการเติมน้ำระหว่างวันที่ 23 - 27 พ.ย.นี้

จาก http://www.naewna.com วันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

'บิ๊กฉัตร'ชงครม.อนุมัติเพิ่มวงเงินสินเชื่อเกษตรแปลงใหญ่

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เตรียมเสนอ ครม.วันที่ 22 พ.ย.นี้ อนุมัติเพิ่มวงเงินสินเชื่อโครงการเกษตรแปลงใหญ่ 20,000 ล้านบาท ตั้งเป้า 2 พันแปลง ปรับเปลี่ยนเป็นโครงการ 5 ปี โดยเพิ่มเงินกู้ให้กลุ่มเกษตรกรแปลงละ 10 ล้านบาท จากโครงการเดิมที่ ครม.อนุมัติไว้แปลงละ 5 ล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี อัตราดอกเบี้ยคงเดิมให้เกษตรกรจ่าย ร้อยละ 0.01 และรัฐบาลชดเชยร้อยละ 3 ซึ่งในวันนี้กระทรวงเกษตรฯ ได้ส่งลงแผนขยายสินเชื่อให้กับเลขาฯ ครม.แล้ว เมื่อผ่าน ครม.กลุ่มเกษตรกรกู้ได้ทันฤดูกาลเพาะปลูกนี้ จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) โดยพิจารณาจากศักยภาพของกลุ่มเกษตรกรที่ยื่นแผนกู้เงิน ทั้งนี้ได้นำสองโครงการเดิมมารวมกันเป็นการจูงใจเกษตรกร ให้เกิดการร่วมกลุ่มกันลดต้นทุนผลิตสินค้าเกษตรที่มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน นำเทคโนโลยีเครื่องจักรกลมาใช้พัฒนาแปลง และดูตลาด แก้ปัญหาความผันผวนด้านราคา

นายสมชาย กล่าวว่าในปีที่ผ่านมาโครงการเกษตรแปลงใหญ่ มีปัญหาล่าช้าในปี 59/60 ไม่ได้ตามเป้า โดยมีกลุ่มเกษตรกร ยื่นกู้ไปเพียง 133 ล้านบาท โดยจะเป็นกลุ่มนาข้าวแปลงใหญ่ 53 แปลง จากทั้งหมด ตั้งเป้าเกษตรแปลงใหญ่ทั่วประเทศ 650 แปลงๆ ละ 5 ล้านบาท วงเงินกู้ 3,250 ล้านบาท เป็นนาข้าวแปลงใหญ่ 381 แปลง และที่เหลือเป็นพืชอื่นๆ เนื่องจากในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาอยู่ระหว่างกลุ่มเกษตรกร กำลังทำโครงการ และแผนการทำธุรกิจเสนอธกส.ถึงศักยภาพการใช้คืน

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่าเมื่อตนเข้ามารับตำแหน่ง จึงมารื้อโครงการดูทั้งหมดติดขัดอะไร โดยเฉพาะการร่วมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน รวมถึงมาตรการไม่จูงใจ ระยะเวลากู้สั้นไป วงเงินกู้น้อย จึงเปลี่ยนเป็นโครงการให้กู้ยาว 5 ปี เดิมมีปัญหาโครงการนาข้าว 5 ล้านบาท บางแปลงได้ 2-3 ล้านบาท ให้กู้เพียง 1 ปี ต่อมาเริ่มขยายมาเป็นโครงการเกษตรแปลงใหญ่เพิ่มเป็น 3 ปี ในพืช 32 ชนิด

"ผมนำ 2 โครงการเดิมมารวมกันและขยาย วงเงิน 10 ล้านบาทเพื่อจูงใจ เดิมเกษตรกรไม่กู้ ระยะเวลาให้กู้สั้นไปไม่สะดวกหาซื้อเครื่องจักร ใช้ลดต้นทุนการผลิตยังไม่เท่าไร ก็ต้องรีบคืนเงินกู้แล้ว จึงมาปรับระยะเวลาและวงเงินเพิ่มจูงใจกลุ่มเกษตรกรมากขึ้น" นายสมชาย กล่าว

นายสมชาย กล่าวอีกว่ามาตรการลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรับ รอบ 2 ไปปลูกพืชอื่น 2.532 ล้านไร่ ซึ่งภายในสิ้นเดือน 30 พ.ย.นี้จะทราบชัดเจนว่ามีจำนวนเกษตรกรสมัครใจกี่ครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการ ขณะนี้กำลังทำประชาคมในพื้นที่ เจ้าหน้าที่ชี้แจงให้เกษตรกร ปรับเปลี่ยนมาปลูกพืชใช้น้ำน้อย เช่น ข้าวโพด 2 ล้านไร่ และพืชหลังนา เพื่อลดรอบการทำนา เป็นมาตราการที่ภาครัฐเข้าไปดำเนินการสนับสนุน ในพื้นที่เป้าหมายไปไร่ละ2 พันกว่าบาท รายละไม่เกิน 10 ไร่

จาก http://www.naewna.com วันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

‘วิกฤติแล้ง’ส่งผลกระทบต่อเนื่อง ศก.การเกษตรไตรมาส3หดตัว0.2

นางสาวจริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรไตรมาสที่ 3 ปี 2559 (กรกฎาคม–กันยายน) หดตัวร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยสาขาที่หดตัว คือ พืช ส่วนสาขาปศุสัตว์ สาขาประมง สาขาบริการทางการเกษตร และสาขาป่าไม้ ขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งเมื่อดูรายละเอียดพบว่า สาขาพืชหดตัวร้อยละ 2.0 เนื่องจากได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากปัญหาภัยแล้งและสภาพอากาศที่แปรปรวนในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นแบบน้ำท่วมไหลผ่าน ไม่ท่วมขังเป็นเวลานาน จึงไม่กระทบต่อการผลิตพืชมากนักโดยผลผลิตพืชสำคัญออกสู่ตลาดลดลง ได้แก่ ข้าวนาปี ซึ่งในไตรมาสที่ 3 ปี 2559 มีผลผลิตรวม 1.55 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 5.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 ที่มีผลผลิต 1.65 ล้านตัน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีผลผลิตรวม 1.30 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 8.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 ที่มีผลผลิต 1.42 ล้านตัน

สำหรับผลไม้ (ลำไย ทุเรียน มังคุด และเงาะ) มีผลผลิตรวม 625,720 ตัน ลดลงร้อยละ 26.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2558 ซึ่งมีผลผลิต 853,072 ตัน ในส่วนของยางพารา มีผลผลิตในไตรมาสที่ 3 ปี 2559 เป็น 1.27 ล้านตัน ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 ซึ่งมีผลผลิตอยู่ที่ 1.28 ล้านตัน ด้านราคาพืชที่สำคัญในไตรมาสที่ 3 ปี 2559 อาทิ ข้าวเปลือกเจ้า ปาล์มน้ำมัน สับปะรดโรงงานยางพารา และผลไม้ ปรับตัวดีขึ้นค่อนข้างมาก เนื่องจากผลผลิตลดลง ขณะที่ความต้องการของตลาดยังคงมีอย่างต่อเนื่อง

จาก http://www.naewna.com วันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ชงกพร.รื้อโครงสร้างก.อุตฯ เน้นขับเคลื่อนนโยบาย4.0    

          นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมเสนอโครงสร้างกระทรวงอุตสาหกรรมและสถาบันเครือข่าย 11 แห่งต่อคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) พิจารณาภายในสิ้นปีนี้ เพื่อเร่งขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ 20 ปี (60-79) ส่วนหนึ่งของนโยบายประเทศไทย 4.0 ที่รัฐบาลมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางโดยคาดว่าภารกิจบางส่วนจะเริ่มขับเคลื่อนได้ในปี 60

          "จะไม่มีการยุบหรือเปลี่ยนชื่อกระทรวงอุตสาหกรรม แต่จะเน้นปรับภารกิจให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ของรัฐบาลซึ่งก็ต้องรอให้ก.พ.ร.พิจารณาก่อน"

          สำหรับโครงสร้างกระทรวงอุตสาหกรรมภารกิจ หลัก ๆ เช่น กรมโรงงานอุตสาหกรรม ที่ผ่านมาเน้นภารกิจการกำกับดูแลและการให้ใบอนุญาตจะต้องนำเทคโนโลยีมาบริการเพื่อให้รวดเร็วจะต้องเพิ่มบทบาทให้ส่งเสริมการนำเทคโนโลยีมาปรับสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้นหรือก้าวสู่สังคมสีเขียว, กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมต้องเน้นนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ส่งเสริมทั้งวิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจทั่วไป สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (โอทอป)

          ส่วนสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมต้องมองการพัฒนาอุตสาหกรรมในภาพใหญ่ของประเทศโดยเฉพาะ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งขณะนี้กำลังพิจารณาภาพรวมและรายละเอียดในแต่ละอุตสาหกรรม, สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เน้นเร่งรัดการออกมาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายให้มากขึ้นโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร เช่น ผลิตภัณฑ์ยางที่ทำแล้วกว่า 100 มาตรฐาน การถ่ายทอดงานด้านมาตรฐานงานชุมชนจะมอบให้เป็นบทบาทจังหวัดทดสอบแทน

          ด้านสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) เน้นปรับไปดูอุตสาหกรรมที่จะเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบทางการเกษตรโดยเฉพาะอุตสาหกรรมอ้อยที่จะไปเน้นการผลิตไบโอชีวภาพมากขึ้น แต่ภาพรวมอุตสาหกรรมอ้อยก็ยังคงดูแลแต่กรณีต้นน้ำอื่น ๆ เช่น ปาล์ม ยางจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวแต่อย่างใด และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เน้นการพัฒนาวัตถุดิบแร่ในประเทศให้ก้าวไปสู่การพัฒนาโลหะกรรมเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง สำหรับสถาบันเครือข่าย 11 แห่ง  อาทิ สถาบันไทย-เยอรมัน สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ สถาบันอาหาร สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ สถาบันยานยนต์ สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์  เป็นต้น.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

รวมพลชาวไร่อ้อยภาคตะวันออกรับมือ "ฤดูเปิดหีบ"  

เป็นที่รับรู้รับทราบทั่วไป ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่แห่งหนึ่งของโลก

จากข้อมูลพื้นที่ปลูกอ้อยทั้งประเทศมีอยู่ที่กว่า 11 ล้านไร่นี้เองทั้งหมดถูกนำไปเป็นวัตถุดิบผลิตน้ำตาลบริโภคภายในประเทศประมาณ 30%ส่วนที่เหลือส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ นี่เองจึงทำให้ประเทศไทยขึ้นชั้นเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลน้ำตาลมากติดอันดับโลก ซึ่งถ้าไม่รวมประเทศบราซิลที่ยืนแป้นเป็นอันดับ 1 แล้วไทยกับออสเตรเลียกำลังเบียดชิงอันดับ 2 กันเรื่อยมา

สำหรับพื้นที่ภาคตะวันออก จ.ชลบุรี จัดเป็นแหล่งใหญ่รองลงมาจาก จ.สระแก้ว โดยมีชาวไร่ปลูกอ้อยเบ็ดเสร็จอยู่ที่กว่า 144,368 ไร่ ซึ่งที่ผ่านมา ต้องผ่านร้อนผ่านหนาวฟันฝ่าอุปสรรคมานานัปการ

หากย้อนไปสมัย นายดรงค์  สิงห์โตทอง อดีตนายกสมาคมกลุ่มอาชีพการเกษตรชาวนา-ชาวไร่ พูดไว้ในวันก่อตั้ง สมาคมกลุ่มอาชีพการเกษตรชลบุรี ที่บ้านบึงกระโดน หมู่ 1 ต.หนองชาก อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี

จึงเกิดเป็นคำขวัญที่ว่า “รวมกันเราอยู่ แยกกันเราตาย” ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2512 จนถึงบัดนี้ก็ยังคงอยู่ในหัวใจชาวไร่อ้อยมาจนถึงวันที่มีนายกสมาคมที่ชื่อ นายจิรวุฒิ สิงห์โตทอง ในปัจจุบัน

นายจิรวุฒิ หรือเสี่ยเป้า อดีต ส.ส.ชลบุรี 2 กล่าวว่า แม้ว่าคุณพ่อจะจากไปนาน 10 ปีเต็ม วันนี้ยังไม่ได้ทอดทิ้งพี่น้องชาวนา-ชาวไร่อ้อยที่เป็นกระดูกสันหลังของชาติให้ต่อสู้ชีวิตอยู่เพียงลำพัง

ยังกอดคอเกาะกลุ่มเหนียวแน่น ที่สำคัญในวันที่ 22 พ.ย.ที่จะถึงนี้ ได้เชิญชวนชาวนา-ชาวไร่ทุกสาขาอาชีพในภาคตะวันออกร่วมประชุมรับฟังปัญหาราคาอ้อยปี 2559/2560 เบื้องต้น พร้อมจัดโต๊ะจีนฟรีให้พบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น นอกจากนี้ยังระดมเหล่าดาราและตลก พร้อมด้วยนักร้องดัง แอ๊ด คาราบาว ไปโชว์ให้ชมการปลอบขวัญ เป็นการเกาะกลุ่มเตรียมการรับมือก่อนวันที่โรงงานน้ำตาลจะเปิดหีบอ้อยกลางเดือนธันวาคมนี้.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ก.อุตฯ ชง ก.พ.ร.สิ้นปีปรับภารกิจเร่งขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0  

          กระทรวงอุตสาหกรรมเดินหน้าชง ก.พ.ร.สิ้นปีนี้เคาะโครงสร้างกระทรวงอุตสาหกรรมและสถาบันเครือข่าย 11 แห่ง หวังเดินหน้าเร่งขับเคลื่อนนโยบายอุตสาหกรรม 4.0 ได้ในปี 2560 ย้ำไม่มีการเปลี่ยนชื่อกระทรวงแน่นอน

               นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมเสนอโครงสร้างกระทรวงอุตสาหกรรมและสถาบันเครือข่าย 11 แห่งต่อคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) พิจารณาภายในสิ้นปีนี้ เพื่อที่จะเร่งเดินหน้าขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ 20 ปี (2560-79) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายประเทศไทย 4.0 ที่รัฐบาลมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง โดยคาดว่าภารกิจบางส่วนจะเริ่มขับเคลื่อนได้ในปี 2560

                สำหรับโครงสร้างกระทรวงอุตสาหกรรม ภารกิจหลักๆ ได้แก่ 1. กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ที่ผ่านมาจะเน้นภารกิจการกำกับดูแลและการให้ใบอนุญาตจะต้องนำเทคโนโลยีมาบริการเพื่อให้รวดเร็ว จะต้องเพิ่มบทบาทให้ส่งเสริมการนำเทคโนโลยีมาปรับสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้นหรือก้าวสู่สังคมสีเขียว 2. กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) จะต้องเน้นนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ส่งเสริมทั้งวิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจทั่วไป สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) เป็นต้น

               3. สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) จะต้องมองการพัฒนาอุตสาหกรรมในภาพใหญ่ของประเทศโดยเฉพาะ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายในเชิงนโยบาย ซึ่งขณะนี้กำลังพิจารณาในภาพรวมและรายละเอียดในแต่ละอุตสาหกรรม 4. สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) จะเน้นเร่งรัดการออกมาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายให้มากขึ้นโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร เช่น ผลิตภัณฑ์ยางที่ดำเนินการแล้วกว่า 100 มาตรฐาน การถ่ายทอดงานด้านมาตรฐานงานชุมชนจะมอบให้เป็นบทบาทจังหวัดทดสอบแทน ฯลฯ

               5. สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) จะเน้นปรับไปดูอุตสาหกรรมที่จะเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบทางการเกษตร โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอ้อยที่จะไปเน้นการผลิตไบโอชีวภาพมากขึ้น แต่ภาพรวมอุตสาหกรรมอ้อยก็ยังคงดูแล แต่กรณีต้นน้ำอื่นๆ เช่น ปาล์ม ยางจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวแต่อย่างใด 6. กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เน้นการพัฒนาวัตถุดิบแร่ในประเทศให้ก้าวไปสู่การพัฒนาโลหกรรมเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง      

        สำหรับสถาบันเครือข่าย 11 แห่ง ได้แก่ สถาบันไทย-เยอรมัน สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ สถาบันอาหาร สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ สถาบันรับรองมาตรฐาน ISO สถาบันยานยนต์ สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สถาบันพลาสติก และสถาบันการก่อสร้างแห่งประเทศไทย จะต้องปรับภารกิจที่จะต้องตอบโจทย์อุตสาหกรรม 4.0       

        “จะไม่มีการปรับองค์กรใดๆ ไม่มีการยุบหรือเปลี่ยนชื่อกระทรวงอุตสาหกรรมทุกอย่างยังเป็นเหมือนเดิม แต่จะเน้นปรับภารกิจให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ของรัฐบาลซึ่งก็ต้องรอให้ ก.พ.ร.พิจารณาก่อน” นายสมชายกล่าว

จาก http://manager.co.th วันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ชลัช ชินธรรมมิตร์ เปิดแผนปรับโครงสร้าง "น้ำตาลขอนแก่น"

ทิศทางราคาน้ำตาลในตลาดโลกช่วงขาขึ้นถือเป็นช่วงจังหวะที่ดี หลายบริษัทกำลังเร่งปรับโครงสร้างภายในองค์กร เพื่อขยายกิจการให้เติบโตขึ้น ขณะเดียวกันเพื่อเตรียมรองรับการแก้ไขพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 หลังจากรัฐบาลบราซิลยื่นคำร้องต่อองค์การการค้าโลก (WTO) กล่าวหารัฐบาลไทยใช้มาตรการอุดหนุนการส่งออกและอุดหนุนการขายภายในประเทศ ส่งผลให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายต้องปรับตัวครั้งใหญ่ "ประชาชาติธุรกิจ" สัมภาษณ์ "ชลัช ชินธรรมมิตร์" รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือ KSL ซึ่งถือเป็นกลุ่มโรงงานน้ำตาลรายใหญ่อันดับต้น ๆ ของประเทศถึงการปรับโครงสร้างธุรกิจและแผนการลงทุน

- ผลประกอบการปีนี้

กลุ่ม KSL มีธุรกิจ 4 ส่วนหลัก ได้แก่ โรงงานน้ำตาล 5 แห่ง โรงงานผลิตเอทานอล 2 แห่ง โรงไฟฟ้า 3 แห่ง และธุรกิจในต่างประเทศมีโรงงานน้ำตาล 2 แห่งในลาวและกัมพูชา สำหรับธุรกิจน้ำตาลภายในประเทศมีโรงงาน 5 แห่ง มีกำลังหีบอ้อยรวม 110,000 ตันอ้อย/วัน ฤดูการผลิตปี 58/59 สรุปตัวเลขได้ค่อนข้างชัดเจนแล้ว มีอ้อยเข้าหีบเพียง 7,613,701 ตัน ผลิตน้ำตาลได้ 750,717 ตัน ผลิตกากน้ำตาลหรือโมลาส (molasses) 372,450 ตัน และที่ต่างประเทศอีก 2 โรง คือ ลาวและกัมพูชา มีกำลังหีบอ้อยรวม 9,000 ตันอ้อย/วัน แบ่งเป็นลาวประมาณ 3,000 ตันอ้อย/วัน, กัมพูชา 6,000 ตันอ้อย/วัน ฤดูการผลิตปี 58/59 มีผลผลิตอ้อยเข้าหีบทั้งลาวและกัมพูชารวม 318,775 ตัน ผลิตน้ำตาลได้ 36,265 ตัน ผลิตโมลาสได้ 12,343 ตัน

ในส่วนโรงงานผลิตเอทานอลมี 2 แห่ง ได้แก่ 1.อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น และ 2. อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี มีกำลังการผลิตรวม 350,000 ลิตรต่อวัน ปีนี้คาดว่าจะผลิตเอทานอลได้ 84 ล้านลิตร ทั้งนี้ มีแผนจะขยายโรงงานเอทานอลแห่งที่ 2 ที่ขอนแก่นในปี 2560 ตอนนี้กำลังทำ EIA จาก 1.5 แสนลิตร เป็น 3.5 แสนลิตร เท่ากับเพิ่ม 2 แสนลิตร จะทำให้ตัวเลขกำลังการผลิตเอทานอลร่วมจาก 3.5 แสนตันต่อวัน เพิ่มเป็น 5.5 แสนตันต่อวัน มูลค่าการลงทุน 1,000 ล้านบาท เป็นการสร้างโรงงานเอทานอลเพิ่มอีกโรงใกล้กับโรงงานเดิม

ส่วนโรงไฟฟ้ามี 3 แห่ง ได้แก่ 1.อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น 2.อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี และ 3.อ.วังสะพุง จ.เลย รวม 3 แห่งผลิตไฟได้ 190 เมกะวัตต์ (MW) ส่วนใหญ่นำไปใช้ในโรงงานน้ำตาล ที่เหลือขายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) เพียง 1 ใน 4 คือ 50 เมกะวัตต์ คิดเป็น 271,261 MW-HR

- แผนการย้ายโรงงาน

แผนการย้ายโรงงานน้ำตาลจากอ.พนัสนิคม จ.ชลบุรีไปตั้งที่จ.สระแก้ว นั้น ยังติดปัญหาเรื่องระยะห่างระหว่างโรงงานน้ำตาลเดิมที่ตั้งอยู่ห่างกันไม่ถึง 50 กม. จึงอยากเสนอให้ทางสอน.กระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาเรื่องความเหมาะสมของพื้นที่แต่ละจังหวัดเป็นกรณีไป ไม่ควรยึดเรื่อง 50 กม.เป็นเกณฑ์ เพราะจ.สระแก้วถูกล้อมรอบด้วยภูเขา แต่ยังมีพื้นที่ที่สามารถส่งเสริมการปลูกอ้อยได้อีก 7-8 ล้านไร่ ไม่ทำให้เกิดปัญหาการแย่งอ้อยกัน

- รายได้ปี 58/59 ลดลง 10%

ปี 2558 ราคาเฉลี่ยของน้ำตาลส่งออกประมาณ 15 เซนต์ต่อปอนด์ ปี 2559 ราคาเพิ่มเป็น 16 เซนต์เศษต่อปอนด์ ผลผลิตน้ำตาลปี 2558 เกือบ 8.8 แสนตัน ปี 2559 แค่ 7.5 แสนตัน ถึงแม้ราคาขายจะเพิ่มขึ้นมาเกือบ 10% แต่ปริมาณผลผลิตอ้อยลดลงจากปัญหาภัยแล้ง ฝนเพิ่งมาตกช่วง 4 เดือนกว่ามานี้เอง ทำให้ปริมาณน้ำตาลลดลงไป 15-16% จะกระทบส่วนที่ส่งออก ส่วนเอทานอลขายน้อยลง แถมราคาก็ลง ส่วนธุรกิจไฟฟ้าราคาขายไฟลดลง แต่ฤดูการผลิตปี 59/60 คาดการณ์ว่ารายได้จะเติบโต 15-20% จากราคาน้ำตาลที่ปรับเพิ่มขึ้น ตอนนี้จีนเป็นผู้นำเข้าน้ำตาลรายใหญ่ไปแล้ว คาดว่าปี 2560-2561 ราคาน้ำตาลน่าจะอยู่ที่ 20 เซนต์ได้อยู่

- แผนการปรับโครงสร้างธุรกิจ

เรากำลังปรับโครงสร้าง ตัวโครงสร้างหลักของน้ำตาลขอนแก่น ซึ่งเป็นบริษัทแม่จะมีโรงงานน้ำตาล 2 แห่ง คือที่ อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น และ อ.วังสะพุง จ.เลย และถือหุ้นใหญ่ในโรงงานท่ามะกา จ.กาญจนบุรี, นิวกรุงไทย อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี และนิวกว้างสุ้นหลี อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี และถือหุ้นใหญ่ที่ลาวและกัมพูชา เวลาเราสร้างโรงงานเอทานอล กลุ่มขอนแก่นเข้าไปถือหุ้น 100% รวมถึงลงทุนในโรงไฟฟ้า และวันนี้จะแยกธุรกิจเอทานอลออกไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ภายในไตรมาส 3/2560 ในนามบริษัท ขอนแก่นแอลกอฮอล์ จำกัด (KKA)

- แผนต่อยอดธุรกิจ 5 ปีข้างหน้า

วันนี้มาดูแนวนโยบาย ผลิตน้ำตาลลงทุนมากก็เหนื่อย แต่กำไรสู้คนนำน้ำตาลไปทำอย่างอื่นไม่ได้ เรามาเริ่มดูว่าน่าจะวิจัยทำอย่างอื่น แต่เป็นดาบสองคม บางทีลูกค้ามองว่า เราจะผลิตสินค้าแข่ง จึงคิดว่าจะร่วมมือกับลูกค้าดีกว่า โดยเฉพาะตอนนี้กำลังมองหาพันธมิตรลงทุนในธุรกิจเครื่องดื่ม เป็นต้น ในส่วนเอทานอล เราเปิดเป็นศูนย์วิจัยอยู่ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นมา 2 ปีแล้ว ให้อาจารย์ที่เชี่ยวชาญศึกษาเรื่องยีสต์อยู่ จะต่อยอดนำไปทำอาหารสัตว์และธุรกิจน้ำหอม แต่คงไม่ทำไบโอพลาสติก เพราะประเทศไทยผู้บริโภคยังน้อย5 ปีต่อจากนี้วางแผนจะขยายธุรกิจในทุกด้านต้องเติบโตขึ้น เราพยายามจะแบ่งผู้บริหารให้โฟกัสในแต่ละธุรกิจ จะมีกรรมการ มีผู้บริหารแยกไปชุดหนึ่งไปคิดแผนมา ส่วนธุรกิจน้ำตาลขอนแก่นเองจะเติบโตไปอย่างไร จะมีโรงงานเพิ่มหรือไม่ หรือจะไปลงทุนปลายน้ำต่อ หรือจะไปลงทุนฟาร์มเพิ่มหรือไม่ ส่วนแผนทำไร่อ้อยแปลงใหญ่และใช้เครื่องจักรเข้ามาช่วยตัดอ้อยนั้น คิดว่า เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ส่วนธุรกิจโรงไฟฟ้ายังไม่ได้เริ่ม แต่มีแนวคิดคล้าย ๆ กับเอทานอล แต่ธุรกิจไฟฟ้ายังต้องพึ่งบริษัทแม่เยอะ ตอนนี้ให้ไปคิดทำอย่างไรให้ประหยัดพลังงานเพิ่มได้

เปิดโควตา ก.เสรี "อิงราคาตลาดโลก"

หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 11 ตุลาคม 2559 มีมติเห็นชอบหลักการและแนวทางแผนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบตั้งแต่ปี 2559-2564 และให้สอดคล้องกับพันธกรณีและความตกลงภายใต้ WTO ประกอบด้วย 5 แผนงาน คือ ปรับปรุง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย รวมทั้งกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้ครอบคลุมการนำอ้อยไปผลิตเป็นเอทานอลและผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องอื่น ๆ ได้ โดยจะยกเลิกระบบโควตาน้ำตาล, ยกเลิกการกำหนดราคาน้ำตาลภายในประเทศ, ยกเลิกมาตรการให้เงินช่วยเหลือค่าอ้อยแก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยที่อุดหนุนให้ 160 บาทต่อตันอ้อย, ยกเลิกให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายจ่ายเงินชดเชยค่าอ้อยให้กับโรงงานน้ำตาลกรณีราคาอ้อยขั้นสุดท้ายต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้น

นายชลัชชินธรรมมิตร์รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.น้ำตาลขอนแก่น (KSL) บอกว่า ที่ผ่านมาชาวไร่อ้อย โรงงาน และสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้เคยหารือเรื่องดังกล่าวไปเพียงครั้งเดียว เรื่องที่เข้า ครม.ยังไม่มีรายละเอียด รัฐบาลต้องการเคลียร์ปัญหาเก่า ๆ ที่สะสมมา โดยส่วนตัวผมเห็นว่า พ.ร.บ.เก่าไม่มีอะไรได้เปรียบเสียเปรียบกัน เหตุผลคือ เราใช้พ.ร.บ. 2527 มา 30 กว่าปี ชาวไร่อ้อยขยายกิจการขึ้นมา 100 กว่าล้านบาท โรงงานขยายตัวขึ้นมา 50 กว่าโรง ดังนั้นควรมาปรับแค่เรื่องโควตา ก.ในประเทศพอ ที่เหลือดีอยู่แล้ว

การเปิดโควตา ก.เสรี ตอนนี้เกิดปัญหาว่า จะคิดราคาอ้อยอย่างไร เช่น น่าจะอิงราคาตลาดโลก ค่าใช้จ่ายในการนำเข้า+มาร์จิ้นมาตั้งเป็นกติกา ปรับเปลี่ยนทุก ๆ เดือน ชาวไร่ห่วงว่าจะมีการบวกเพิ่มอะไรไว้ช่วยชาวไร่หรือไม่ เพราะเงื่อนไขไม่ให้เก็บจากผู้บริโภค ที่เราผิดกฎของ WTO 1 แต่ทำอย่างไรไม่ให้ผิด ผมเห็นว่าควรขึ้นราคาน้ำตาลไปเลย แล้วนำเงิน 5 บาทเข้ากองทุน ผู้บริโภคจ่ายเงินเท่าเดิม แต่ไม่ผิด เพียงแต่ปรับเงิน 5 บาทเข้าเป็นรายรับของระบบ เป็นเงินของระบบอ้อยและน้ำตาล น่าจะเป็นทางออกที่ดี

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

สมาคมเกษตรชลบุรีหนุน รบ.ลอยตัวน้ำตาล เชื่ออนาคตราคาอ้อยดี จะล้างหนี้กองทุน 4 หมื่นล้านหมด

นายจิรวุฒิ สิงห์โตทอง นายกสมาคมกลุ่มอาชีพการเกษตรชลบุรี เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มีการกำหนดราคาอ้อยเบื้องต้นตันละ 1,108 บาท และจ่ายให้กับเกษตรกร 90 เปอร์เซ็นต์ ตกราคาตันละ 1,020 บาท ถือว่าพอใจในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ในฐานะเกษตรกรก็อยากจะให้อ้อยมีราคาดีขึ้น เพราะจะได้มีเงินไปใช้หนี้ใช้สินกับเขาบ้าง รวมทั้งค่าปุ๋ย ค่ายา

“ส่วนการปล่อยให้ราคาน้ำตาลทรายขาวลอยตัวนั้น ถือว่าดีกับเกษตรกร หากได้ราคากิโลกรัมละ 23 บาทขึ้นไปก็จะส่งผลให้อ้อยราคาดีขึ้นไปด้วย เนื่องจากที่ผ่านมาแม้ว่าราคาน้ำตาลทรายขาวจะมีราคาสูงขึ้นไปก็ตาม แต่ได้มีการกำหนดราคาไว้ที่กิโลกรัมละ 22.50 บาท แม้ราคาน้ำตาลทรายขาวจะสูงขึ้นไปก็ตามก็ต้องขายในราคาที่กำหนดไว้ ทั้งที่ควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกของตลาด ส่วนชาวไร่อ้อยยังมีหนี้สินกับกองทุนอยู่ประมาณ 4 หมื่นล้านบาทนั้น ซึ่งในส่วนนี้ได้เก็บเงินจากค่ากระสอบน้ำตาล ก็จะนำไปชดใช้หนี้ให้กับกองทุน ที่ผ่านมามีหนี้สิน 6-7 หมื่นล้านบาทก็จะสามารถใช้หนี้ได้หมด หากราคาอ้อยดีขึ้นในอนาคต เชื่อว่า 2-3 ปีก็จะใช้หนี้ 4 หมื่นล้านหมดเช่นกัน” นายจิรวุฒิกล่าว

นายจิรวุฒิกล่าวว่า ขณะนี้สมาคมกลุ่มอาชีพการเกษตรชลบุรีได้รับการรับรองจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายว่าสมาคมฯมีความสมบูรณ์เต็มรูปแบบครบถ้วนตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 แล้ว ซึ่งจะทำให้สมาคมฯมีสิทธิมีเสียงทำงานให้กับชาวไร่อ้อยอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม ทางสมาคมฯยังยึดถือมติของคณะกรรมการเดิมคือไม่เก็บค่าสมาชิก ส่วนกรณีที่สมาคมเพื่อเกษตรกรภาคตะวันออก อ.บ่อทอง จ.ชลบุรี ได้มีการเก็บค่าสมาชิกของลูกไร่ของสมาคมกลุ่มอาชีพการเกษตรชลบุรีไป ซึ่งทางสมาคมฯจะต้องทวงคืนให้กับลูกไร่ต่อไป

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

เจาะลึก GDP เกษตร Q3 แล้งยังส่งผล หดตัว 0.2 ด้านรายได้เกษตรกรเพิ่ม 12.5% จากราคาสินค้าปรับตัวดีขึ้น

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ระบุภัยแล้งยังกระทบสาขาพืช ฉุดภาวะเศรษฐกิจการเกษตรไตรมาส 3 หดตัว 0.2 ในขณะที่อีก 4 สาขาขยายตัวดี โดยเฉพาะสาขาประมง เนื่องจากผลผลิตเพิ่มขึ้นและเกษตรกรมีการบริหารจัดการที่ดี ด้านรายได้เกษตรกรในไตรมาสที่ 3 เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 12.5 จากราคาสินค้าเกษตรสำคัญส่วนใหญ่ปรับตัวดีขึ้น

นางสาวจริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจการเกษตรไตรมาสที่ 3 ปี 2559 (กรกฎาคม – กันยายน 2559) ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 พบว่า หดตัวร้อยละ 0.2 โดยสาขาการผลิตที่หดตัว คือ สาขาพืช ส่วนสาขาปศุสัตว์ สาขาประมง สาขาบริการทางการเกษตร และสาขาป่าไม้ ขยายตัวเพิ่มขึ้น และเมื่อดูรายละเอียดของแต่ละสาขา พบว่า

สาขาพืชหดตัวร้อยละ 2.0 เนื่องจากได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากปัญหาภัยแล้งและสภาพอากาศที่แปรปรวนในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นแบบน้ำท่วมไหลผ่าน ไม่ท่วมขังเป็นเวลานาน จึงไม่กระทบต่อการผลิตพืชมากนัก โดยผลผลิตพืชสำคัญออกสู่ตลาดลดลง ได้แก่ ข้าวนาปี ซึ่งในไตรมาสที่ 3 ปี 2559 มีผลผลิตรวม 1.55 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 5.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 ที่มีผลผลิต 1.65 ล้านตัน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีผลผลิตรวม 1.30 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 8.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 ที่มีผลผลิต 1.42 ล้านตัน

สำหรับผลไม้ (ลำไย ทุเรียน มังคุด และเงาะ) มีผลผลิตรวม 625,720 ตัน ลดลงร้อยละ 26.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2558 ซึ่งมีผลผลิต 853,072 ตัน ในส่วนของยางพารา มีผลผลิตในไตรมาสที่ 3 ปี 2559 เป็น 1.27 ล้านตัน ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 ซึ่งมีผลผลิตอยู่ที่ 1.28 ล้านตัน

ด้านราคาพืชที่สำคัญในไตรมาสที่ 3 ปี 2559 อาทิ ข้าวเปลือกเจ้า ปาล์มน้ำมัน สับปะรดโรงงาน ยางพารา และผลไม้ ปรับตัวดีขึ้นค่อนข้างมาก เนื่องจากผลผลิตลดลง ขณะที่ความต้องการของตลาดยังคงมีอย่างต่อเนื่อง

สาขาปศุสัตว์ ขยายตัวร้อยละ 2.9 โดยผลผลิตไก่เนื้อ สุกร ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 , 6.3 , 8.5 และ 2.5 ตามลำดับ เนื่องจากการขยายการผลิตเพื่อรองรับความต้องการของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น รวมถึงราคาสินค้าปศุสัตว์ส่วนใหญ่ที่อยู่ในเกณฑ์ดี

สาขาประมง ขยายตัวร้อยละ 4.2 เนื่องจากปัญหาโรคกุ้งตายด่วนคลี่คลายลง ผลผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงเพิ่มขึ้น  ประกอบกับเกษตรกรมีการบริหารจัดการฟาร์มที่ดีและใช้พันธุ์กุ้งที่ต้านทานต่อโรคมากขึ้น ส่วนปริมาณสัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบเรือในภาคใต้ยังคงมีทิศทางลดลง

สาขาบริการทางการเกษตร ขยายตัวร้อยละ 1.9 เนื่องจากในช่วงฤดูเพาะปลูกของปีนี้เริ่มมีฝนตกตามฤดูกาล ทำให้เกษตรกรสามารถเพาะปลูกข้าวนาปีได้เพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีการจ้างบริการเตรียมดินและไถพรวนดินเพิ่มขึ้น

สาขาป่าไม้ ขยายตัวร้อยละ 2.3 จากผลผลิตไม้ยางพาราและไม้ยูคาลิปตัสที่เพิ่มขึ้น โดยไม้ยางพาราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการตัดโค่นต้นยางพาราเก่าที่หมดอายุจากการส่งเสริมของ กยท. และเป็นที่ต้องการของตลาดภายในและต่างประเทศ ขณะที่ไม้ยูคาลิปตัสเพิ่มขึ้นตามความต้องการของตลาดเช่นกัน

หากมองถึงรายได้เกษตรกรในไตรมาสที่ 3 ปี 2559 พบว่า เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 12.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรสำคัญส่วนใหญ่ปรับตัวดีขึ้น โดยข้าวเปลือกเจ้าในไตรมาสที่ 3 ปี 2559 ราคา 8,282 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ 7,809 บาท/ตัน สำหรับผลไม้ (ลำไย ทุเรียน มังคุด เงาะ และสับปะรด) ราคาเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 24.4 , 25.9 , 64.7 , 113.1 และ 5.3 ตามลำดับ ส่วนราคายางพารา และปาล์มน้ำมัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.5 และ 74.8 ตามลำดับ

สำหรับสถานการณ์ผลผลิตสินค้าข้าว ยางพารา และปาล์มน้ำมัน เมื่อเทียบกับต่างประเทศ พบว่า ผลผลิตข้าวของไทยในรอบ 5 เดือน (มี.ค. – ก.ค.) ปี 2559 อยู่ที่ 3.29 ล้านตันข้าวเปลือก ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ 4.66 ล้านตันข้าวเปลือก หรือลดลงร้อยละ 29.40 ส่วนผลผลิตข้าวของเวียดนามในรอบ 5 เดือน (มี.ค. – ก.ค.) ปี 2559 อยู่ที่ 19.50 ล้านตันข้าวเปลือก ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ 20.69 ล้านตันข้าวเปลือก หรือลดลงร้อยละ 5.75 จะเห็นได้ว่า ผลผลิตข้าวของไทยและเวียดนาม มีทิศทางลดลงเช่นเดียวกัน

ผลผลิตยางพารา (ยางแห้ง) ของไทยในไตรมาส 3/2559 อยู่ที่ 1.210 ล้านตัน ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2558 ซี่งอยู่ที่ 1.213 ล้านตัน หรือลดลงร้อยละ 0.25  และผลผลิตยางพารา (ยางแห้ง) ของมาเลเซียในไตรมาส 3/2559 อยู่ที่ 0.114 ล้านตัน ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2558 ซึ่งอยู่ที่ 0.116 ล้านตัน หรือลดลงร้อยละ 1.72

ด้านผลผลิตปาล์มน้ำมันของไทยในไตรมาส 3/2559 อยู่ที่ 2.63 ล้านตัน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2558 ซึ่งอยู่ที่ 2.50 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.20 เนื่องจากปี 2559 มีฝนตกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี ส่วนผลผลิตปาล์มน้ำมันของมาเลเซียในไตรมาส 3/2559 อยู่ที่ 24.69 ล้านตัน ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2558 ซึ่งอยู่ที่ 28.61 ล้านตัน หรือลดลงร้อยละ 13.70 เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้ง

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

อุบลไบโอฯทุ่ม 1.5 หมื่นล้าน ลุยโรงไฟฟ้า-เอทานอล

"อุบลไบโอเอทานอล" เปิดแผนลงทุน 5 ปี เตรียมทุ่ม 15,000 ล้านโปรเจ็กต์โรงไฟฟ้า โรงงานเอทานอล ผนึกกลุ่มทุนเกาหลีใต้รุกธุรกิจใหม่ไบโอพลาสติก สร้างท่าเรือภาคตะวันออก พร้อมหนุนเกษตรกรเมืองอุบล อำนาจเจริญ ยโสธรปลูกมันสำปะหลังป้อน 4 ล้านตัน/ปี รับซื้อไม่อั้น

นายเดชพนต์ เลิศสุวรรณโรจน์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท อุบลไบโอเอทานอล จำกัด จังหวัดอุบลราชธานี เปิดเผยว่า บริษัทดำเนินธุรกิจ 3 ประเภท ได้แก่ 1.ธุรกิจเอทานอล มีสัดส่วน 60% โดยจำหน่ายให้บริษัทผู้ถือหุ้นรายใหญ่คือ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยออยล์ เอทานอล จำกัด นอกจากนี้ยังจำหน่ายให้ ปตท. เชลล์ เอสโซ่ และเชฟรอน มีกำลังการผลิต 400,000 ลิตร/วัน มีความต้องการใช้มันสำปะหลัง 2 ล้านตัน/ปี

สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมเอทานอลจะขยายตัวต่อเนื่องจากปริมาณการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มน้ำมันแก๊สโซฮอล์ ทำให้ความต้องการเอทานอลปี 2559 ขยายตัว 3% หรืออยู่ที่ 3.61 ล้านลิตร/วัน ขณะที่ปี 2558 มีการใช้เอทานอล 3.5 ล้านลิตร/วัน ประกอบกับภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (เออีดีพี 2015) จึงคาดว่าปี 2560 ความต้องการเอทานอลจะเพิ่มขึ้นจากปีนี้อีก 10%

2.ธุรกิจผลิตแป้งมันสำปะหลัง สัดส่วนธุรกิจ 30% กำลังการผลิต 700 ตันแป้ง/วัน ส่งออกไปจีน อินโดนีเซีย ซึ่งตลาดเติบโตอย่างรวดเร็วตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมกระดาษ และอาหาร และเตรียมส่งไปจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าในยุโรปปลายปี 2560

3.ธุรกิจก๊าซชีวภาพและผลิตกระแสไฟฟ้า สัดส่วน 10% กำลังการผลิต 7 เมกะวัตต์ ผลิตเพื่อใช้ในบริษัท 5.6 เมกะวัตต์ จำหน่ายให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 1.9 เมกะวัตต์ ซึ่งจะลงทุนโรงไฟฟ้าเพิ่มในปี 2560 อีกด้วย

นอกจากนั้นยังได้เตรียมแผนการลงทุนในระยะ 5 ปี (ปี 2560-2564) ภายใต้งบประมาณราว 15,000 ล้านบาท โดยในปี 2560 จะลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าขนาด 7.5 เมกะวัตต์ มูลค่า 1,000 ล้านบาท เพื่อต่อยอดนำวัตถุดิบกากมันสำปะหลังและน้ำทิ้งที่เป็นของเหลือใช้จากกระบวนการผลิตแป้งมันสำปะหลังและเอทานอลมาใช้โดยตั้งเป้าผลิตไฟฟ้าใช้เองในบริษัท100%จะช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าได้150-180ล้านบาท/ปี

ขณะเดียวกันเตรียมจะขยายการลงทุนสายการผลิตเอทานอลโรงที่ 2 ระยะเวลา 5 ปี มูลค่า 4,500-5,000 ล้านบาท กำลังการผลิต 900,000 ลิตร/วัน เพื่อรองรับความต้องการเอทานอลที่เพิ่มขึ้นตามแผนเออีดีพี 2015 ที่ตั้งเป้าหมายการใช้เอทานอลเพิ่มขึ้นให้ได้วันละ 11.3 ล้านลิตร ในปี 2579 หากการลงทุนแล้วเสร็จจะทำให้กลุ่มบริษัทจะสามารถผลิตเอทานอลรวมได้ 1.3 ล้านลิตร/วัน มีสัดส่วนการผลิตสูงสุดเป็นอันดับ 1 ของผู้ผลิตเอทานอลในตลาดที่มี 21 ราย คิดเป็น 10% ของกำลังการผลิตในตลาดรวม 3.5 ล้านลิตร/วัน หรือ 1,500 ล้านลิตรต่อปี ช่วยลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศได้ 20,000-30,000 หมื่นล้านบาท/ปี ขณะนี้ได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ และผ่านการอนุมัติประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) แล้ว

ลงทุนเพิ่ม - บริษัท อุบลไบโอเอทานอล จำกัด เตรียมลงทุนครั้งใหญ่ทั้งโรงไฟฟ้า โรงงานผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลังโรงที่ 2 และท่าเรือในภาคตะวันออก พร้อมดึงนักลงทุนเกาหลีใต้ลงขันรุกธุรกิจไบโอพลาสติก

นายเดชพนต์กล่าวต่อว่า บริษัทยังมีแผนการลงทุนอื่น ๆ เช่น การสร้างท่าเรือในภาคตะวันออก และเตรียมพัฒนาธุรกิจผลิตภัณฑ์ไบโอพลาสติกชีวภาพ โดยจะร่วมทุนกับบริษัทอุตสาหกรรมอาหารชั้นนำ 1 ใน 3 ของเกาหลีใต้ เพื่อรองรับความพร้อมที่ประเทศไทยตั้งเป้าเป็นฐานการผลิตเทคโนโลยีชีวภาพตามนโยบายอุตสาหกรรม 4.0

ปัจจุบันบริษัทมีสมาชิกผู้ปลูกมันสำปะหลังในจังหวัดอุบลราชธานี อำนาจเจริญ และยโสธรกว่า 15,000 ครัวเรือน พื้นที่ปลูก5 แสนไร่ ซึ่งไม่มีปัญหาราคาตกต่ำ เพราะยืนยันรับซื้อผลผลิตจำนวนไม่อั้น ประกันราคาให้ไม่ต่ำกว่า 1.90 บาท/กก. ซึ่งแผน 5 ปี จะส่งเสริมเกษตรกรปลูกให้ได้ 4 ล้านตัน/ปี จากปัจจุบันอยู่ที่ 2 ล้านตัน/ปี คาดว่าช่วงเดือนธันวาคม 2559 และในปี 2560 ราคามันสำปะหลังจะปรับตัวดีขึ้นประมาณ 2.20 บาท/กก. จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.80-1.90 บาท/กก. เพราะจีนเริ่มผลิตข้าวโพดได้ลดลง

นอกจากนี้ยังส่งเสริมปลูกหญ้าเนเปียร์ เพิ่มอีก 6,000 ไร่จากเดิม 2,000 ไร่ รวมเป็น 8,000 ไร่ เพื่อนำมาผลิตไฟฟ้าและจำหน่ายให้กับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ สำหรับภาพรวมรายได้ปี 2559 จะอยู่ที่ 3,000 ล้านบาท

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ค่าอ้อยขั้นต้น59/60พุ่ง1,020บาท/ตัน ชง2แนวทางเปิดประชาพิจารณ์28พ.ย.

กบ.เตรียมเสนอ 2  แนวทางราคาอ้อย เปิดประชาพิจารณ์ 28 พ.ย.นี้โดยเป็นราคาที่ชาวไร่อ้อยเสนอ 2 ราคาที่ 1,020 บาทต่อตัน และเขต 5 ที่ 950 บ./ตัน  ราคาเดียวที่ 1,010 บ./ตันของฝ่ายโรงงานเสนอและชง กอน.เคาะในวันเดียวกัน ขณะที่ราคาขั้นสุดท้าย ทุกเขตสูงกว่าขั้นต้นเว้นเขต 5 ต่ำกว่าดึงเงินเก็บเข้ากองทุนฯ 20 บ./ตันรวมค่าการผลิต 8 บาทต่อตันวงเงิน 2,500 ล้านบาท

          นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยหลังการ ประชุมคณกรรมการบริหาร (กบ.) ที่มีนายสมคิด วงศ์ไชยสุวรรณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน ว่า กบ.ได้ประชุมราคาอ้อยขั้นต้นฤดูกาลผลิตปี 2559/60 ซึ่งเห็นชอบ 2 แนวทางคือข้อเสนอขาวไร่อ้อยที่ต้องการกำหนดราคาคำนวณตามรายเขตโดยแบ่งเป็น 1,020 บาทต่อตัน (8 เขต) ยกเว้นเขต 5 ประกาศที่ 950 บาทต่อตัน กับราคาเดียวของฝ่ายโรงงานน้ำตาลทรายที่ 1,010 บาทต่อตัน โดยจะเปิดประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นวันที่ 28 พ.ย.นี้ก่อนนำเสนอให้กบ.รับทราบก่อนเสนอคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) อนุมัติภายในวันเดียวกัน

          "ที่ประชุมมีการถกเถียงในเรื่องของการคำนวณอ้อยที่ฝ่ายชาวไร่ต้องการให้แยกเป็น 2 ราคาแต่โรงงานน้ำตาลทรายได้เสนอให้เป็นราคาเดียว ดังนั้น เมื่อ ประชาพิจารณ์แล้วอย่างไรสุดท้าย กอน.จะเป็นผู้ตัดสินใจ" นายสมศักดิ์กล่าว

          สำหรับการคำนวณราคาอ้อย ดังกล่าวคิดที่ราคา 94% ของเขตต่ำสุด ที่ไม่ใช่เขต 5 อิงราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกที่จำหน่ายส่งออก (โควตา ข.) ที่ 20.95 เซนต์ต่อปอนด์ อัตราแลกเปลี่ยน 34.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ปริมาณ อ้อยคาดการณ์ที่จะหีบได้ 94.05 ล้านตัน ปริมาณน้ำตาลทรายที่คาดว่าจะได้ 97 ล้านกระสอบ  ซึ่ง กบ.ได้พิจารณาสรุปวันเปิดหีบ 6 ธ.ค.นี้ เป็นต้นไป

          ส่วนราคาอ้อยขั้นสุดท้ายฤดูกาลผลิตปี 58/59 กบ.ได้พิจารณาพบว่าทุกเขตมีราคาคำนวณแล้วสูงกว่าราคาอ้อยขึ้นต้นที่กำหนดไว้ 808 บาทต่อตันและเขต 5 ราคา 773 บาทต่อตัน โดยราคาเขตสูงสุดอยู่ที่ 920 บาทต่อตัน ยกเว้นเขต 5 ซึ่งต่ำกว่าราคาขั้นต้นโดยอยู่ที่ 772 บาทต่อตันโดย กท.จะต้องชดเชย ซึ่ง จากมติ ครม.หากราคาขั้นสุดท้ายสูงกว่าขั้นต้นให้หักเงินไม่เกิน 25 บาทต่อตันเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) ทำให้ครั้งนี้จะหักค่าอ้อย 20 บาทต่อตันและค่าการผลิต 8 บาทต่อตันเข้า กท. รวมเป็นวงเงิน 2,500 ล้านบาท โดย จากนี้จะนำเข้าสู่ กอน.เห็นชอบต่อไป

          "ราคาอ้อยขั้นต้นที่จะประชาพิจารณ์นั้นจะไม่มีการมาพูดว่าชาวไร่ต้องการ ค่าอ้อยเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด เพราะตาม มติ ครม.ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม อ้อยและน้ำตาลทรายจากนี้จะไม่มีคำว่ากู้เงินแล้ว" นายสมศักดิ์กล่าว

          นางวรวรรณ ชิตอรุณ รองเลขาฯสอน.กล่าวว่า เมื่อวันที่ 3 พ.ย.ที่ผ่านมาคณะผู้แทนไทยซึ่งประกอบด้วยกระทรวงอุตสาหกรรม พาณิชย์ ชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลได้เดินทางไปประเทศบราซิลเพื่อชี้แจงกรณีรัฐบาลบราซิล ฟ้องร้องไทยต่อองค์การการค้าโลก (WTO) โดยระบุว่ารัฐบาลไทยมีการอุดหนุนอุตสาหกรรมน้ำตาลจนกระทบต่ออุตสาหกรรมน้ำตาลโลก ซึ่งผลการเจรจาเป็นที่น่าพอใจ แต่ทางบราซิลก็ไม่ได้ระบุว่าจะมีการถอนฟ้องแต่จะขอดูความจริงใจในแผนปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยในรายละเอียดและกำหนดจะมีการเจรจาอีกรอบในวันที่ 20 ม.ค. 2560.

จาก http://manager.co.th  วันที่ 18 พฤศจิกายน 2559

รอชง2แนวทาง เคาะอ้อยขั้นต้น 

กบ.เสนอ 2 แนวทางกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นเฉลี่ย 950-1,020 บาท/ตันอ้อยวงประชาพิจารณ์ 28 พ.ย.นี้

          นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยภายหลังการ ประชุมคณะกรรมการบริหาร (กบ.) ที่มีนายสมคิด วงศ์ไชยสุวรรณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้เสนอแนวทางการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิต 2559/2560 เป็น 2 รูปแบบ โดยรูปแบบที่ 1 ชาวไร่อ้อยเสนอให้กำหนด 2 ราคา ที่ 1,020 บาท/ตันอ้อย ยกเว้นเขต 5 สุพรรณบุรี ที่ 950 บาท/ตันอ้อย ขณะที่อีกแนวทางโรงงานน้ำตาลทรายเสนอให้กำหนดราคาเดียวที่ 1,010 บาท/ตันอ้อย ที่ค่าความหวาน 10 ซี.ซี.เอส.

          ทั้งนี้ ที่ประชุม กบ.จะเสนอแนวทางดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการประชาพิจารณ์ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง หลังจากนั้นจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ในวันที่ 28 พ.ย. 2559 อีกครั้ง เพื่อกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นที่ใกล้เคียงกับ 100% ของราคาต้นทุนและประสิทธิภาพมากที่สุด

          "หลัง กอน.สรุปราคาได้ในวันที่ 28 พ.ย.นี้ จะต้องนำเสนอเข้าที่ประชุม ครม.เห็นชอบต่อไป โดย สอน.อยากกำหนดให้เป็นราคาเดียว แต่ต้องลุ้นประชาพิจารณ์อีกครั้ง เพราะเราอยากให้ง่ายต่อการคำนวณ และเงินถึงมือเกษตรกรเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ส่วนการเพิ่มราคาอ้อยในฤดูการผลิตนี้คงไม่สามารถทำได้ เพราะขัดต่อหลักการค้าขององค์การการค้าโลก (ดับเบิ้ลยูทีโอ)" นายสมศักดิ์ กล่าว

          สำหรับวันเปิดหีบอ้อยของฤดูการ ผลิต 2559/2560 ที่ประชุมได้กำหนด วันที่ 6 ธ.ค. 2559 โดยปีนี้คาดว่าจะมีอ้อยเข้าหีบประมาณ 91.05 ล้านตันอ้อย ลดลงจากปีก่อน 3 ล้านตันอ้อย ที่มีอ้อย เข้าหีบปริมาณ 94.05 ล้านตันอ้อย คาดว่าจะมีผลผลิตน้ำตาลทรายที่ 9.7 ล้านตัน หรือ 97 ล้านกระสอบ คิดเป็นผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) 106.54 กิโลกรัม/ตันอ้อย

          นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายฤดูการผลิต 2558/2559 เขตที่ราคาสูงสุดประมาณ 920 บาท/ตันอ้อย ส่วนเขต 5 สุพรรณบุรี สามารถทำราคาได้ประมาณ 772 บาท/ตันอ้อย โดยเฉลี่ยถือว่าราคาอ้อยขั้นสุดท้ายสูงกว่าขั้นต้น ดังนั้นจึงต้องหักเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) ที่อัตรา 28 บาท/ตันอ้อย โดยหักคืนจากชาวไร่อ้อย 20 บาท/ตันอ้อย และหักจากโรงงานในอัตรา 8 บาท/ตันอ้อย โดยคาดว่าจะมีเงินเข้า กท.ประมาณ 2,500 ล้านบาท

จาก http://www.posttoday.com วันที่ 18 พฤศจิกายน 2559

ESC ดันยิลด์ผลผลิตรับราคาขึ้น

นายกิตติศักดิ์ วัธนเวคิน ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการและรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท น้ำตาลและอ้อยตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ ESC เปิดเผยว่า บริษัทฯ เตรียมเปิดรับผลผลิตอ้อยเข้าหีบประจำฤดูการผลิตปี 2559/60 ในวันที่ 1 ธันวาคมนี้ คาดว่าจะมีปริมาณผลผลิตอ้อยเข้าหีบสูงถึง 3.4 ล้านตัน หลังได้เพิ่มประสิทธิภาพการหีบอ้อยเฉลี่ยเป็นวันละ 36,000 ตันต่อวันทั้งนี้ บริษัทฯ มีเป้าหมายที่ต้องการยกระดับคุณภาพผลผลิตอ้อยเข้าหีบในฤดูการผลิตนี้ให้ดีขึ้น โดยจะเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาลทรายตันอ้อย (ยิลด์) เพิ่มขึ้นเป็น 108.64 กิโลกรัมน้ำตาล หรือผลิตน้ำตาลทรายได้ 3.78 แสนตัน และมีค่าความหวานเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 12 ซี.ซี.เอส. จากเดิมที่มีค่าความหวานเฉลี่ยอยู่ที่ 11.57 ซี.ซี.เอส. จึงได้เตรียมแผนงานในช่วงการจัดเก็บผลผลิตอ้อยในฤดูการผลิตปีนี้ ด้วยการเข้าไปรับซื้อใบอ้อยจากเกษตรกรคู่สัญญากับทางโรงงาน ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวไร่อ้อยมากขึ้น โดยจะรับซื้อใบอ้อยในราคาตันละ 700-800 บาท

สำหรับการรับซื้อใบอ้อยในครั้งนี้ คาดหวังกระตุ้นให้ชาวไร่หันมาจัดเก็บอ้อยสดเพิ่มขึ้นแทนการเผาไฟส่งให้แก่โรงงงานน้ำตาล เป็นการลดปัญหาอ้อยไฟไหม้ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม จากเดิมที่เฉลี่ยต่อปีมีอ้อยไฟไหม้เข้าหีบสูงถึง 70% ของปริมาณผลผลิตอ้อยเข้าหีบทั้งหมด ซึ่งถือเป็นปัญหาสำคัญของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายในประเทศที่ทุกโรงงานต้องช่วยกัน เนื่องจากที่ผ่านมาชาวไร่มองว่าการจัดเก็บอ้อยสดมีต้นทุนที่สูงกว่าการใช้วิธีเผาอ้อย ทำให้เกิดความนิยมการเผาอ้อยก่อนส่งมอบให้แก่โรงงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่งผลเสียต่อชาวไร่ที่จะมีรายได้จากการเพาะปลูกอ้อยลดลง เนื่องจากปริมาณน้ำตาลลดลง

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 18 พฤศจิกายน 2559

ลุ้นประชาพิจารณ์เคาะราคาอ้อยขั้นต้น  

สอน.จ่อประชาพิจารณ์ 28 พ.ย.นี้หวังหาข้อ สรุปราคาอ้อยขั้นต้น 59/60 ด้าน ESC ชี้ผลผลิตดี ตั้งเป้าอ้อยเข้าหีบสูง 3.4 ล้านตัน

          นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า เบื้องต้นที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร (กบ.) ที่มีนายสมคิด วงศ์ไชยสุวรรณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็น ประธาน ได้กำหนดราคาอ้อย ขั้นต้นฤดูกาลผลิตปี 2559/ 2560 ไว้ที่ 2 แนวทาง ได้แก่ แนวทางที่ 1 ชาวไร่อ้อยเสนอให้กำหนดราคาคำนวณทุกเขตที่ 1,020 บาทต่อตันอ้อย เว้นเขต 5 สุพรรณบุรี กำหนดไว้ที่ 950 บาทต่อตันอ้อย ที่ระดับความหวาน 10 ซี.ซี.เอส. เนื่องจากในพื้นที่เขต 5 มีปริมาณ อ้อยเพียง 2 แสนตัน จากปริมาณทั้งประเทศกว่า 91.05 ล้านตัน และแนวทางกำหนดราคาเดียวทั่วประเทศที่ 1,010 บาทต่อตันอ้อย และกำหนดวันเปิดหีบอ้อยประจำฤดูการผลิตปี2559/2560 ในวันที่ 6 ธ.ค.2559

          โดยจากนี้ที่ประชุม กบ. จะนำแนวทางดังกล่าวเปิดรับ ฟังความคิดเห็น (ประชาพิจารณ์) ซึ่งจะเปิดให้ชาวไร่อ้อยและโรงงาน ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้ แสดงความคิดเห็น ในวันที่ 28 พ.ย.2559 นี้ ก่อนเสนอเข้าที่ ประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ในวัน เดียวกัน เพื่อหาข้อสรุปราคาอ้อยขั้นต้นและวันเปิดหีบอ้อย ก่อนเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมน ตรีพิจารณาเห็นชอบ

          นายกิตติศักดิ์ วัธนเวคิน ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการและรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. น้ำตาลและอ้อยตะวันออก หรือ ESC เปิดเผยว่า บริษัทฯ เตรียมเปิดรับผลผลิตอ้อยเข้าหีบประจำฤดูการผลิตปี 2559/60 ในวันที่ 1 ธ.ค.นี้ คาดว่าจะมีปริมาณผลผลิตอ้อยเข้าหีบสูงถึง 3.4 ล้านตัน หลังได้เพิ่มประสิทธิภาพการหีบอ้อยเฉลี่ยเป็นวันละ 36,000 ตันต่อวัน

          "มีเป้าหมายที่จะยกระดับ และเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตน้ำตาล และเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรโดยการรับซื้อใบอ้อยจากเกษตรกรในราคาตันละ 700-800 บาท เพื่อนำไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้า "นายกิตติศักดิ์กล่าว.

จาก http://www.thaipost.net วันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

การลงทุนจะมีบทบาทมากขึ้น-แนะผู้ประกอบการขยายลงทุนทั้งในและต่างประเทศ

EXIM BANK เผยภาคการค้าโลกจะยังคงอ่อนแรงต่อเนื่อง มีบทบาทน้อยลงในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่การลงทุน จะสำคัญมากขึ้นสำหรับประเทศไทย แนะนำผู้ประกอบการเร่งปรับตัวตาม ด้วยการขยายการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยธนาคารพร้อมจะสนับสนุนในหลายรูปแบบ

นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า มูลค่าการลงทุนในต่างประเทศของทั้งโลกขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยขยายตัวถึง 12% ในปี 2558 เทียบกับการค้าโลกที่ขยายตัวเพียง 2.6% นั่นแสดงถึงการค้าโลกได้ลดบทบาทลงในปัจจุบัน องค์การการค้าโลก (WTO) คาดการณ์ว่า ในปี 2559 การค้าโลกจะขยายตัวเพียง 1.7% ต่ำกว่า GDP โลกที่ขยายตัว 2.2% ซึ่งหากไม่นับรวมปี 2552 ที่เกิดวิกฤติการเงินในสหรัฐฯ การค้าโลกจะขยายตัวต่ำกว่า GDP โลกเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี โดยมีสาเหตุมาจากบริษัทข้ามชาติย้ายฐานการผลิตกลับประเทศแม่ (Re-shoring) หลังจากค่าจ้างแรงงานในประเทศกำลังพัฒนาปรับตัวสูงขึ้น เทคโนโลยีภาคการผลิตพัฒนาอย่างรวดเร็วจนสามารถทดแทนการใช้แรงงานได้มากขึ้น กระแสการปกป้องการค้าที่รุนแรงขึ้น ไม่ว่าชาตินิยม การกีดกันทางการค้า และมาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษีศุลกากร รวมถึงนโยบายปรับสมดุลโครงสร้างเศรษฐกิจ ซึ่งหลายประเทศ อาทิ จีน ทยอยปรับลดการพึ่งพาภาคส่งออกและหันมาเน้นเศรษฐกิจในประเทศมากขึ้น

สำหรับประเทศไทย ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามูลค่าส่งออกของไทยหดตัวเฉลี่ย 2% ต่อปี สวนทางกับการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของไทย (Thai Direct Investment Outflow : TDI Outflow) ที่ขยายตัวเฉลี่ย 5% ต่อปี โดยมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วแซงหน้ามูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment Inflow : FDI Inflow) แสดงให้เห็นว่า การขยายการลงทุนในต่างประเทศเพื่อสร้างฐานการผลิตและตลาดการค้าแห่งใหม่ (Investment-induced Trade) กำลังเข้ามามีบทบาทขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย และอาจช่วยให้ไทยก้าวข้ามการเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) ไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงในอนาคตได้ แต่ผู้ประกอบการไทยและผู้ที่เกี่ยวข้องต้องปรับแนวทางและสภาพแวดล้อมในการสนับสนุนให้ธุรกิจที่มีศักยภาพของไทยสามารถขยายการลงทุนไปต่างประเทศ พร้อมกับเสริมขีดความสามารถให้แก่บริษัทไทยที่ไปลงทุนในต่างประเทศเพื่อให้สามารถเติบโตไปสู่บริษัทข้ามชาติตามแนวทางของประเทศพัฒนาแล้ว อาทิ เกาหลีใต้ ซึ่งเป็นตัวอย่างของประเทศที่ประสบความสำเร็จในการส่งเสริมให้ภาคเอกชน โดยเฉพาะธุรกิจไฮเทค ไปลงทุนในต่างประเทศ

นายพิศิษฐ์กล่าวอีกว่า EXIM BANK กำลังขยายความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อช่วยสนับสนุนให้

 ผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพสามารถขยายการลงทุนไปต่างประเทศ ซึ่งต้องมีความพร้อมด้านเงินทุนและขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งด้านอุตสาหกรรม การค้า และการลงทุนในระดับสากล โดยการเชื่อมโยงข้อมูลเชิงลึก อาทิ กฎระเบียบ ข้อมูลคู่ค้า ช่องทางการทำตลาด และเครือข่ายทางการค้าการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยประเทศในแถบเอเชียเป็นตลาดที่น่าลงทุน ด้วยความได้เปรียบด้านความใกล้ชิดทางสังคม วัฒนธรรม และการเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภค

“ผลการศึกษาของ OECD ระบุว่าเม็ดเงินลงทุนในต่างประเทศ 1 ดอลลาร์สหรัฐ จะสร้างเม็ดเงินส่งออก 2 ดอลลาร์สหรัฐ จึงกล่าวได้ว่าในโลกยุคใหม่ การลงทุนมีแนวโน้มจะทวีบทบาทสำคัญมากขึ้น EXIM BANK จึงพร้อมสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยปรับกลยุทธ์ไปลงทุนในต่างประเทศ เพื่อเจาะตลาดการค้าในประเทศนั้นๆ และขยายโอกาสส่งออกวัตถุดิบและสินค้า” นายพิศิษฐ์กล่าว

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่าเศรษฐกิจหลักหลายๆประเทศมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงในปีหน้า จากสถานการณ์หลังจากที่นายโดนัลด์ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งมีการประเมินว่ามูลค่าการขาดดุลงบประมาณอาจสูงกว่าในปัจจุบันเกือบ 3 เท่า จากค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นและนโยบายลดอัตราภาษี ทำให้จะต้องบังคับใช้กฎหมายเพดานหนี้อีกครั้งในวันที่ 16 มี.ค. 2017 ขณะที่จีนยังคงมีทุนสำรองต่างประเทศลดลงต่ำสุดในรอบ 5 ปี โดยมีหนี้สูงถึง 254% ต่อGDP หนี้เอกชนประมาณ 170% อาจทำให้จะต้องมีการปรับโครงสร้างหนี้ขนาด 20%-25% ของGDP ด้านหลายๆประเทศในยุโรปยังคงมีสัดส่วนสูงถึง 10% และอัตราการว่างงานที่สูงกว่า 90.7% ด้านประเทศญี่ปุ่นมีอัตราการขยายตัวค่อนข้างต่ำเพียง 0.8% ขณะที่อัตราการว่างงานยังคงอยู่ในระดับ 3.0% และมีทุนสำรองสูงเป็นอันดับ 2รองจากจีน

ด้านแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี’60 จะยังคงขยายตัวใกล้เคียงกับปี’59 อยู่ที่ 3.3% จากภาคการท่องเที่ยว การลงทุนของรัฐบาลและเอกชนที่ขยายตัวได้ดี คาดว่าการส่งออกจะปรับตัวดีขึ้น 0.8%จากที่หดตัว 0.5% ในปี’59 ซึ่งก็จะดันตัวเลขต่างๆ ให้ปรับตัวดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามนโยบายที่จะจัดการกับการขาดดุลของสหรัฐ เพราะจะมีการต่อรองกับหลายๆประเทศอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทย และราคาสินค้าเกษตรปี’60 อาจถูกกดดัน ซึ่งจะทำให้การบริโภคภายในประเทศเติบโตอย่างจำกัด

จาก http://www.naewna.com วันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

กลุ่มน้ำตาลและอ้อยตะวันออก เคาะวันเปิดหีบอ้อยรับผลผลิต 1 ธ.ค.นี้ พร้อมรับซื้อใบอ้อยจากชาวไร่หวังแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้ ดันยิลด์ผลผลิตน้ำตาลทรายรับราคาตลาดโลกขาขึ้น

           'น้ำตาลและอ้อยตะวันออก' ผู้ประกอบธุรกิจและจำหน่ายน้ำตาลทรายจากอ้อยและธุรกิจอุตสาหกรรมต่อเนื่อง พร้อมเปิดหีบอ้อยรับผลผลิตจากชาวไร่ 1 ธ.ค.นี้ เดินหน้ายกระดับคุณภาพผลผลิตอ้อยหนุนยิดล์เพิ่ม รับจังหวะราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกทะยานเตรียมซื้อใบอ้อยจากชาวไร่ หวังลดปัญหาอ้อยไฟไหม้กระตุ้นชาวไร่นำส่งอ้อยสดเข้าหีบและสร้างความมั่นคงด้านรายได้จากการเพาะปลูก

          นายกิตติศักดิ์ วัธนเวคิน ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการและรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท น้ำตาลและอ้อยตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ ESC ผู้ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายจากอ้อยและนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตไปต่อยอดสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ธุรกิจผลิตไฟฟ้า ธุรกิจผลิตเอทานอล ธุรกิจผลิตก๊าซชีวภาพและธุรกิจผลิตปุ๋ยอินทรีย์เคมี เปิดเผยว่า บริษัทฯ เตรียมเปิดรับผลผลิตอ้อยเข้าหีบประจำฤดูการผลิตปี 2559/60 ในวันที่ 1 ธันวาคมนี้ คาดว่าจะมีปริมาณผลผลิตอ้อยเข้าหีบสูงถึง 3.4 ล้านตัน หลังได้เพิ่มประสิทธิภาพการหีบอ้อยเฉลี่ยเป็นวันละ 36,000 ตันต่อวัน

          ทั้งนี้ บริษัทฯ มีเป้าหมายที่ต้องการยกระดับคุณภาพผลผลิตอ้อยเข้าหีบในฤดูการผลิตนี้ให้ดีขึ้น โดยจะเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาลทรายตันอ้อย (ยิลด์) เพิ่มขึ้นเป็น 108.64 กิโลกรัมน้ำตาล หรือผลิตน้ำตาลทรายได้ 3.78 แสนตัน และมีค่าความหวานเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 12 ซี.ซี.เอส. จากเดิมที่มีค่าความหวานเฉลี่ยอยู่ที่ 11.57 ซี.ซี.เอส. จึงได้เตรียมแผนงานในช่วงการจัดเก็บผลผลิตอ้อยในฤดูการผลิตปีนี้ ด้วยการเข้าไปรับซื้อใบอ้อยจากเกษตรกรคู่สัญญากับทางโรงงาน ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวไร่อ้อยมากขึ้น โดยจะรับซื้อใบอ้อยในราคาตันละ 700 - 800 บาท

          สำหรับการรับซื้อใบอ้อยในครั้งนี้ คาดหวังกระตุ้นให้ชาวไร่หันมาจัดเก็บอ้อยสดเพิ่มขึ้นแทนการเผาไฟส่งให้แก่โรงงงานน้ำตาล เป็นการลดปัญหาอ้อยไฟไหม้ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม จากเดิมที่เฉลี่ยต่อปีมีอ้อยไฟไหม้เข้าหีบสูงถึง 70% ของปริมาณผลผลิตอ้อยเข้าหีบทั้งหมด ซึ่งถือเป็นปัญหาสำคัญของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายในประเทศที่ทุกโรงงานต้องช่วยกัน เนื่องจากที่ผ่านมาชาวไร่มองว่าการจัดเก็บอ้อยสดมีต้นทุนที่สูงกว่าการใช้วิธีเผาอ้อย ทำให้เกิดความนิยมการเผาอ้อยก่อนส่งมอบให้แก่โรงงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่งผลเสียต่อชาวไร่ที่จะมีรายได้จากการเพาะปลูกอ้อยลดลง เนื่องจากปริมาณน้ำตาลลดลง

          ทั้งนี้ บริษัทฯ จะนำใบอ้อยที่ได้จากการรับซื้อทั้งหมดไปใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าในโรงไฟฟ้าเป็นโรงไฟฟ้าสีเขียวไม่ใช้ถ่านหินพลังงานชีวมวล ที่ปัจจุบันมีกำลังการผลิตติดตั้ง 78 MW จึงต้องเตรียมความพร้อมเพื่อสร้างความมั่นคงด้านวัตถุดิบ เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงให้เพียงพอต่อแผนดำเนินงานที่ในอนาคตมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าสูงขึ้น

          "เรามีแนวคิดที่ต้องการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยที่เป็นคู่สัญญากับโรงงาน เพื่อสร้างความมั่นคงด้านรายได้ที่ดียิ่งขึ้นให้แก่ชาวไร่ โดยรับซื้อใบอ้อยจากการจัดเก็บผลผลิตอ้อยเข้าหีบซึ่งเป็นการกระตุ้นให้ชาวไร่หันมาให้ความสำคัญกับการจัดเก็บอ้อยสดส่งมอบให้แก่โรงงาน ที่จะสามารถผลิตน้ำตาลทรายได้มากขึ้นอีกด้วย เพื่อรับกับโอกาสของราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกที่ยังอยู่ในช่วงขาขึ้นและยังทำให้ชาวไร่มีรายได้ จากการเพาะปลูกอ้อยมากขึ้นอีกด้วย" นายกิตติศักดิ์ กล่าว

จาก http://www.bangkokbiznews.com    วันที่ 17 พฤศจิกายน 2559

คกก.จ่อชงกำหนดราคาอ้อย2แนวทาง

คณะกรรมการบริหาร จ่อชงกำหนดราคาอ้อยขั้นต้น 2 แนวทาง เปิดประชาพิจารณ์ 28 พ.ย. นี้ ชาวไร่อ้อยหวัง 1,020 บาทต่อตัน เว้นเขต 5 สุพรรณบุรี

นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า เบื้องต้นที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร (กบ.) ที่มี นายสมคิด วงศ์ไชยสุวรรณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน ได้กำหนดราคาอ้อยขั้นต้นฤดูกาลผลิตปี 2559/2560 ไว้ที่ 2 แนวทาง ได้แก่ แนวทางที่ 1 ชาวไร่อ้อยเสนอให้กำหนดราคาคำนวณทุกเขตที่ 1,020 บาทต่อตันอ้อย เว้นเขต 5 สุพรรณบุรี กำหนดไว้ที่ 950 บาทต่อตันอ้อย ที่ระดับความหวาน 10 ซีซีเอส เนื่องจากในพื้นที่เขต 5 มีปริมาณอ้อยเพียง 2 แสนตัน จากปริมาณทั้งประเทศกว่า 91.05 ล้านตัน และแนวทางกำหนดราคาเดียวทั่วประเทศที่ 1,010 บาทต่อตันอ้อย พร้อมกำหนดวันเปิดหีบอ้อยประจำฤดูการผลิตปี 2559/2560 ในวันที่ 6 ธันวาคม 2559 โดยจากนี้ที่ประชุมกบ. จะนำแนวทางดังกล่าวเปิดรับฟังความคิดเห็น (ประชาพิจารณ์) โดยจะเปิดให้ชาวไร่อ้อยและโรงงาน ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้แสดงความคิดเห็น ในวันที่ 28 พฤศจิกายน ก่อนเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ในวันเดียวกัน เพื่อหาข้อสรุปราคาอ้อยขั้นต้นและวันเปิดหีบอ้อย จากนั้นจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบ

ขณะที่ผลการเจรจากับทางรัฐบาลบราซิล กรณีที่ยื่นคำร้องต่อองค์การการค้าโลก (WTO) กล่าวหา รัฐบาลไทยดำเนินมาตรการอุดหนุนการส่งออกและอุดหนุนภายในประเทศให้กับสินค้าน้ำตาลทราย ล่าสุด รัฐบาลบราซิลพึงพอใจต่อแผนดำเนินการของไทยที่เป็นไปตามกรอบและขอดูถึงความจริงใจของรัฐบาลไทย ซึ่งจะมีการเปิดเจรจาอีกครั้งในเดือนมกราคม 2560 แต่ไม่สามารถตอบได้ว่าจะถอนฟ้องหรือไม่

จาก http://www.innnews.co.th   วันที่ 17 พฤศจิกายน 2559

กษ.เผยเตรียมระบายน้ำเขื่อนอุบลรัตน์เพิ่ม

รมว.เกษตรฯ เผย เตรียมระบายน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ วันละ 21 ล้านลูกบาศก์เมตร ลดระดับน้ำเหนือเขื่อน

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำเขื่อนอุบลรัตน์ ว่า ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ของกระทรวงเกษตรฯดูแลเกษตรกรในพื้นที่ไม่ให้ได้รับความเดือดร้อนเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์น้ำ พร้อมขอให้พิจารณาเก็บน้ำในพื้นที่ที่เก็บได้ เช่น ทุ่งนาที่เก็บเกี่ยวแล้วและหากเป็นไปได้ให้เก็บน้ำในเขื่อนให้มากที่สุด โดยเขื่อนอุบลรัตน์ มีระดับน้ำเก็บกัก โดยไม่มีน้ำท่วมพื้นที่เหนือเขื่อนที่ 2,431 ล้าน ลบ.ม. และวันที่ 17 พ.ย. 59 มีน้ำ 2,496 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 103 เป็นน้ำใช้การได้ 1,915 ล้าน ลบ.ม. ยังสามารถรับน้ำได้อีก 235 ล้าน ลบ.ม. และตั้งแต่วันนี้ เป็นต้นไป เขื่อนอุบลรัตน์ จะระบายน้ำวันละ 21 ล้าน ลบ.ม. อีก 7 วัน หรือจนกว่าระดับน้ำลดลงไม่ท่วมพื้นที่เหนือเขื่อน และหากใน 7 วันนี้ มีฝนเพิ่มเติมเข้ามาอีกจะพิจารณาระบายน้ำเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม ทางด้านคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำขอนแก่น (JMC ขอนแก่น) ได้มีการประชุมหารือเมื่อวันที่ 14 พ.ย. 59 เพื่อบริหารจัดการน้ำให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุดในส่วนของพื้นที่ปลูกข้าวที่รอการเก็บเกี่ยวอยู่ และไม่สามารถระบายน้ำได้มากกว่าวันละ 15 ล้าน ลบ.ม. เพราะหากมากกว่านี้ น้ำจะท่วมนาข้าว ซ้ำเติมทุกข์ให้ชาวนาอีก และในช่วง 2 วันที่ผ่านมา ทางจังหวัดได้ขอรับการสนับสนุนกำลังพลทหารใน จ.ขอนแก่น ช่วยเกี่ยวข้าวในพื้นที่ใต้เขื่อน เก็บเกี่ยวเสร็จเมื่อวานนี้

จาก http://www.innnews.co.th   วันที่ 17 พฤศจิกายน 2559

ลุ้น 2 ทางเลือก เคาะค่าอ้อยขั้นต้นปี60

                    ชง 2 แนวทางเคาะราคาค่าอ้อยขั้นต้นปี 60 สองราคา 950 -  1,020บาท และราคาเดียว 1,010 บาท เปิดประชาพิจารณ์ 28 พ.ย.                                          

                    นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยหลังการประชุมคณกรรมการบริหาร(กบ.)ว่า ได้ประชุมราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 59/60 เห็นชอบ 2 แนวทาง คือ เสนอชาวไร่อ้อยที่ต้องการกำหนดราคาคำนวณตามรายเขตโดยแบ่งเป็น 1,020 บาทต่อตัน (8เขต) ยกเว้นเขต 5 (สุพรรณบุรี) ประกาศราคาที่ 950 บาทต่อตัน กับราคาเดียวของฝ่ายโรงงานน้ำตาลทรายที่ 1,010 บาทต่อตัน โดยจะเปิดประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นวันที่ 28 พ.ย.นี้ ก่อนนำเสนอให้กบ.รับทราบ จากนั้นจะเสนอคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.) อนุมัติภายในวันเดียวกัน

            “ที่ประชุมมีการถกเถียงในเรื่องของการคำนวณอ้อยที่ฝ่ายชาวไร่ต้องการให้แยกเป็น 2 ราคาแต่โรงงานน้ำตาลทรายได้เสนอให้เป็นราคาเดียวดังนั้นเมื่อประชาพิจารณ์แล้วอย่างไรสุดท้ายกอน.จะเป็นผู้ตัดสินใจ”

 สำหรับการคำนวณราคาอ้อยดังกล่าวคิดที่ราคา 94% ของเขตต่ำสุดที่ไม่ใช่เขต 5 อิงราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกที่จำหน่ายส่งออก(โควตา ข.) ที่ 20.95 เซนต์ต่อปอนด์ อัตราแลกเปลี่ยน 34.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ปริมาณอ้อยคาดการที่จะหีบได้ 94.05 ล้านตัน ปริมาณน้ำตาลทรายที่คาดว่าจะได้ 97 ล้านกระสอบ  ซึ่งกบ.ได้พิจารณาสรุปวันเปิดหีบ 6 ธ.ค.นี้เป็นต้นไป

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 17 พฤศจิกายน 2559

โรงน้ำตาลมิตรผลติดคานเหล็กเช็กน้ำหนักรถอ้อย

                    โรงงานน้ำตาลมิตรผล  ติดคานเหล็กสูง4.20 เมตร  เช็กความสูงและน้ำหนักรถบรรทุกอ้อย ตามนโยบายรัฐบาล                       

                    นายวิชิต  นิเวศน์รังสรรค์  ผู้อำนวยการอาวุโสด้านโรงงานฝ่ายบริหาร  โรงงานน้ำตาลมิตรผลภูเขียว ต.โคกสะอาด  อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ เปิดเผยว่า   ทางโรงงานพร้อมสนองนโยบายพล.อ. ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกวดขันน้ำหนักการบรรทุกเพื่อรักษาถนนและความปลอดภัยในการสัญจร    ด้วยการสร้างคานเหล็กสูง4.20 เมตร ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ คสช.กำหนด  ติดตั้งตรงทางเข้าลานอ้อยหน้าโรงงานน้ำตาลเรียบร้อยแล้ว   ซึ่งดำเนินการเป็นปีแรกรถทุกคันที่จะเข้ามาต้องลอดผ่านคานนี้ถ้าบรรทุกสูงเกินกำหนดจะไม่สามารถเข้ามาขายอ้อยให้กับทางโรงงานได้ มาตรการดังกล่าวจะช่วยจำกัดและควบคุมการบรรทุกอ้อยของเกษตรกรชาวไร่อ้อยให้ปลอดภัยขึ้น  

นายวิชิต กล่าวต่อว่า   ขณะเดียวกันจะสร้างคานที่สถานีขนถ่ายของโรงงานไว้วัดระดับก่อนปล่อยรถออกวิ่งบนท้องถนนเช่นเดียวกัน  สำหรับเรื่องน้ำหนักการบรรทุกนั้นทางโรงงานจะประเมินหลังจากควบคุมส่วนสูงในครั้งนี้ก่อน  แต่เบื้องต้นนอกจากควบคุมการบรรทุกสูงแล้วยังควบคุมน้ำหนักได้ด้วย  ถ้ายังน้ำหนักเกินอีกก็จะหาแนวทางควบคุมอื่นๆต่อไป  แต่ทั้งนี้ต้องอาศัยหน่วยงานภาครัฐ  ทั้งตำรวจแขวงการทางกรมทางหลวงตรวจสอบตามท้องถนนอีกทางหนึ่ง  ทั้งนี้ทางโรงงานมีนโยบายชัดเจนเน้นผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายปฏิบัติตามกฎหมาย  วันที่ 18 พ.ย. นี้ จะร่วมประชุมหารือกับผวจ.ชัยภูมิเพื่อทราบนโยบายหรือคำสั่งเพิ่มเติมหลังได้ข้อสรุปกลุ่มงานประชาสัมพันธ์ จะเร่งทำความเข้าใจกับเกษตรกรพร้อมขอความร่วมมือให้ปฏิบัติตามข้อกำหนดด้วย

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 17 พฤศจิกายน 2559

กอน.เตรียมเคาะราคาอ้อยขั้นต้นฤดูกาลผลิตปี59/60

กอน.เตรียมเคาะราคาอ้อยขั้นต้นฤดูกาลผลิตปี59/60 หลังเปิดประชาพิจารณ์ 2 ราคา 1,020 บาท/ตัน และเขต 5 ราคา 950 บาท/ตันพร้อมเปิดหีบอ้อย 6 ธ.ค.นี้

นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ที่ประชุม คณะกรรมการบริหาร (กบ.) ได้พิจารณากำหนดราคาอ้อยขั้นต้นของฤดูการผลิตปี 2559/2560 โดยแบ่งราคาอ้อยออกเป็น 2 ราคา คือ ในส่วนของราคาอ้อยขั้นต้นเขต 5 จ.สุพรรณบุรี จะอยู่ที่ 950 บาทต่อตันอ้อย และที่เหลือ 8 เขต จะอยู่ที่ราคา 1,020 บาทต่อตัน โดยเป็นการคำนวณต้นทุนและจากราคาตลาดโลกที่มีการซื้อขายล่วงหน้าของน้ำตาลทรายดิบไปแล้ว 70 % จากผลผลิตอ้อย 91.05 ล้านตัน และผลิตเป็นน้ำตาล 9.7 ล้านตัน ที่ราคากว่า 20.95 เซ็นต์ต่อปอนด์

โดยการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นดังกล่าว จะต้องนำไปเปิดรับฟังความเห็นจากโรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อย พร้อมนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.) ในวันเดียวกันคือ วันที่ 28 พ.ย.นี้ ก่อนจะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ(ครม.) พิจารณาและเริ่มประกาศใช้ต่อไป

ส่วนการกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้ายฤดูการผลิตปี2558/2559 ที่ประชุม กบ. กำหนดราคาสูงสุดที่ 920 บาทต่อตัน และราคาต่ำสุดที่ 772 บาทต่อตัน ซึ่งราคาอ้อย 8 เขตทั่วประเทศสูงกว่าราคาขั้นต้นของฤดูกาลผลิตปี2558/2559 ที่ 808 บาทต่อตัน ยกเว้นเขต 5 จ.สุพรรณบุรี ราคาอ้อยขั้นต้นที่ 773 บาทต่อตัน ซึ่งจากมติครม.หากราคาขั้นสุดท้ายสูงกว่าขั้นต้นให้หักเงินไม่เกิน 25 บาทต่อตันเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย(กท.) ทำให้จะต้องหักค่าอ้อย 20 บาทต่อตัน และค่าการผลิต 8 บาทต่อตัน เข้ากองทุนฯรวมเป็นวงเงิน 2,500 ล้านบาท

ทั้งนี้ กำหนดวันเปิดรับผลผลิตอ้อยเข้าหีบประจำฤดูการผลิตปี 2559/2560 ในวันที่ 6 ธ.ค.นี้ แต่ต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของ กอน.ในวันที่ 28 พ.ย.นี้อีกครั้ง

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 17 พฤศจิกายน 2559

'ก.พลังงาน'อัดงบ765ลบ. ศึกษาระบบกักเก็บพลังงาน

"กระทรวงพลังงาน" อัดงบ 765 ล้านบาท ดึงโมเดลรัฐแคลิฟอร์เนียต้นแบบพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน พร้อมเร่งวิจัยใน 2 ปี

​นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ และรองโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การขับเคลื่อนภาคพลังงานของประเทศตามแนวนโยบายเอ็นเนอร์ยี่ 4.0 ซึ่งจะมุ่งเน้นการผลักดันให้เกิดนวัตกรรมด้านพลังงานใหม่ๆ การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับด้านพลังงาน เพื่อ ต่อยอดธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานของประเทศให้เติบโต และก้าวหน้า

ดังนั้น ภาคพลังงานของประเทศไทยจะต้องเตรียมพร้อมในการกำหนดนโยบายและการกำกับดูแลในอนาคต ทั้ง การบริหารจัดการพลังงานทดแทนให้มีความเสถียร (Firm Renewable Energy) จากการพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) ซึ่งถือเป็นนโยบายสำคัญที่กระทรวงพลังงานจะได้เตรียมความพร้อม เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในอนาคตยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ จากการศึกษาระบบกักเก็บพลังงานที่ปัจจุบันมีความน่าสนใจ และคาดว่าจะเป็นต้นแบบการศึกษาให้แก่ประเทศไทยได้ คือ ระบบกักเก็บพลังงานขนาดใหญ่ ซึ่งได้ถูกพัฒนาและติดตั้งที่รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา โดยหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับกิจการพลังงานหรือเรกูเลเตอร์ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ได้สั่งการให้เซาท์เทอร์ แคลิฟอร์เนีย เอดิสัน (Southern California Edison) ซึ่งมีลักษณะการดำเนินงานคล้ายกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ) ได้ติดตั้งระบบดังกล่าว ซึ่งเบื้องต้น ระบบกักเก็บไฟฟ้าขนาดใหญ่นี้ สามารถเก็บไฟฟ้าได้สูงถึง 260 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น ในส่วนของสถานีหลัก เก็บไฟฟ้าได้สูงถึง 100 เมกะวัตต์ และในส่วนของสถานีย่อยๆ อีกประมาณ 160 เมกะวัตต์ เป็นต้น

นายสราวุธ กล่าวว่า ปัจจุบันกระทรวงพลังงาน โดยคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ได้มีมติอนุมัติงบประมาณ 765 ล้านบาท เพื่อนำไปจัดทำโครงการสนับสนุนการศึกษาวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) ภายในระยะเวลา 2 ปี ซึ่งจะเป็นงบประมาณเพื่อปูทางสนับสนนุให้สถาบันการศึกษา หน่วยงานที่สนใจ สร้างงานวิจัยเพื่อต่อยอดการศึกษาในเรื่องดังกล่าวต่อไปในอนาคต

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 17 พฤศจิกายน 2559

"ประจิน"อนุมัติกองทุนฟื้นฟูซื้อหนี้เกษตร90ล้านบาท

“ประจิน” ฟิตอนุมัติกองทุนฟื้นฟูฯ ซื้อหนี้เกษตรกร 90 ล้านบาท เตรียมถกปัญหาคืนโฉนด800ราย

นายภูมิพัฒน์ เหมือนจันทร์ ผู้แทนเกษตรกรภาคใต้ กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตร ที่ทำเนียบรัฐบาลว่า เป็นการประชุมคณะกรรมการครั้งแรกของพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี หลังได้รับมอบหมายให้เป็นประธานคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟู ฯ โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบรายชื่อเกษตรกรให้ได้รับการจัดการหนี้กรณีที่ไม่ใช่โครงการส่งเสริมของรัฐตามมาตรา 37/9 จำนวน 89 ราย รวมมูลค่าหนี้กว่า มูลค่าหนี้กว่า 90 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นกรณีเร่งด่วนเนื่องจากเป็นหนี้ที่กำลังถูกบังคับคดี โดยคณะกรรมการจัดการหนี้ และคณะกรรมการบริหารฯ ได้พิจารณาแล้วว่า เป็นหนี้เพื่อการเกษตรและมีมูลค่าหนี้ไม่เกิน 2.5 ล้านบาท ส่วนรายชื่อที่เหลือจากจำนวนทั้งสิ้น 3,008 ราย ที่ประชุมมีมติให้นำรายชื่อกลับมาพิจารณาอีกครั้งในการประชุมครั้งต่อไปซึ่งจะมีภายในเดือนธันวาคมนี้

นายภูมิพัฒน์ กล่าวว่า พล.อ.อ.ประจิน ยังได้สั่งการให้มีการนำประเด็นการคืนโฉนดที่ดินทำกินให้กับเกษตรกรจำนวน 800 รายที่ชำระหนี้ให้กับกองทุนฟื้นฟูฯครบถ้วนแล้ว แต่ยังไม่ได้รับโฉนดคืน เนื่องจากยังมีข้อติดขัดในเรื่องกฎหมาย เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการฯในการประชุมครั้งต่อไปเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาและคืนโฉนดให้แก่เกษตรกรโดยเร็วที่สุด

“พล.อ.อ.ประจินได้ยืนยันในที่ประชุมว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วงพี่น้องเกษตรกร โดยเฉพาะพี่น้องชาวนา ส่วนการทำงานของกองทุนฟื้นฟูฯ ท่านก็ต้องการให้เป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญเพื่อแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรโดยจะพยายามหาทางออกเพื่อให้กองทุนฟื้นฟูฯขับเคลื่อนงานไปได้พร้อมๆกับแก้ปัญหาตามข้อท้วงติงของ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน” นายภูมิพัฒน์กล่าว

จาก http://www.posttoday.com   วันที่ 17 พฤศจิกายน 2559

ก.อุตฯจับมือ 25 โรงงาน ช่วยชาวนา

        ก.อตฯจับมือโรงงาน ซื้อข้าวจากชาวนา เล็งร่วมมือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงพาณิชย์ หาแนวทางช่วยเหลือ เผยภาคการผลิตซื้อแล้ว 807 ตัน

               นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงการสั่งซื้อข้าวตรงจากชาวนาภายใต้ชื่อ“โครงการอุตสาหกรรมรวมใจ ช่วยชาวนาไทยขายข้าว” ว่า ได้มีพิธีลงนามสัญญาซื้อข้าวของโรงงานขนาดใหญ่ สภาอุตสาหกรรมและสมาคมต่างๆ ในจังหวัดสมุทรปราการ รวม 25 ราย มีคำสั่งซื้อข้าวจำนวนทั้งสิ้น 32 ตัน นอกจากนี้ได้นำข้าวอีก 14 ตัน มาขายแก่พนักงานในสวนอุตสาหกรรมเทพารักษ์ (เอ็ม.ไทย เอสเตท) อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ เช่น ข้าวหอมมะลิ ขายในราคาเพียงกิโลกรัมละ 30 บาท และยังมีข้าวขาวและข้าวเหนียวมาจำหน่ายในงานด้วย

               จากการสรุปข้อมูลวันที่ 2-15 พฤศจิกายน 2559 มีโรงงานภายนอกนิคมฯ จำนวน 167 โรงจาก 30 จังหวัด ได้สั่งซื้อข้าวแล้วรวมทั้งสิ้น 807.6 ตัน และยังมียอดคำสั่งซื้อจากโรงงานทั่วประเทศทยอยเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ที่ซื้อขายและส่งมอบข้าวไปยังโรงงานแล้วมีจำนวน 154.1 ตัน คิดเป็นเงินประมาณ 3.45 ล้านบาท ยังไม่รวมตัวเลขของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ที่มีเป้าหมายในการรับซื้อข้าวให้ได้อย่างน้อย 5,000 ตัน หรือประมาณการว่าสามารถช่วยกันซื้อข้าวได้โรงงานละ 1 ตัน ล่าสุดได้มียอดสั่งซื้อข้าวแล้ว จำนวน 145 ตัน

               “ตามปกติภาคอุตสาหกรรมสั่งซื้อข้าวเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้า ซึ่งจากฐานข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) มีผู้ผลิตประมาณ 2,102 ราย พบว่า มีโรงงานที่ประกอบกิจการทำอาหารจากแป้ง จำนวน 1,338 ราย เช่น โรงงานทำเส้นก๋วยเตี๋ยว เส้นหมี่ ขนมจีน โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับแป้งข้าวเจ้าสำหรับทำขนม มีจำนวน 11 ราย และโรงงานที่ประกอบกิจการเกี่ยวกับอาหารสัตว์ จำนวน 753 ราย โดยแต่ละรายใช้ข้าวเป็นวัตถุดิบตั้งแต่ 5-450 ตัน จึงไม่สามารถสั่งซื้อตรงจากเกษตรกรผู้ปลูกข้าว หรือสหกรณ์การเกษตรได้ เนื่องจากติดข้อจำกัด 3 ประการ คือ 1) ปริมาณการสั่งซื้อ เพราะโรงงานซื้อแต่ละครั้งเป็นจำนวนมาก 2) คุณภาพ ที่ต้องผ่านการควบคุมให้ตรงกับความต้องการของแต่ละอุตสาหกรรม และ 3) ความแน่นอนในการส่งมอบ ดังนั้น ภาคอุตสาหกรรมจึงสั่งซื้อผ่านโรงสี หรือตัวแทนจำหน่ายที่เป็นพ่อค้าคนกลาง จึงไม่สามารถสั่งซื้อตรงจากชาวนาได้” นางอรรชกา กล่าว

        อย่างไรก็ตาม ภาคอุตสาหกรรมสามารถช่วยชาวนาได้ในหลายรูปแบบ ได้แก่

       1. โรงงานขนาดใหญ่ส่วนใหญ่ซื้อข้าวเป็นอาหารกลางวันแก่พนักงาน หรือ ร้านอาหารในโรงอาหารของโรงงาน ที่ขายในราคาถูกกว่าร้านข้างนอก เพื่อเป็นสวัสดิการแก่พนักงาน และลดค่าใช้จ่ายภาระค่าครองชีพ เช่น โรงงานโตโยต้าอำนาจเจริญ ซื้อข้าวหอมมะลิ ปีละ 4 ตัน บริษัท ทัศนาการศิลา จำกัด ประกอบกิจการโรงโม่หิน ซื้อข้าวหอมมะลิเดือนละ 1.5 ตัน บริษัท จีเอฟพีทีนิชิเร (ประเทศไทย) ผู้ผลิตอาหารกึ่งสำเร็จรูปจากเนื้อไก่ ได้ซื้อข้าวขาว 5% เดือนละ 30 ตัน บริษัทไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม ผู้ผลิตน้ำตาลทรายซื้อข้าวขาว เดือนละ 1.5 ตัน เป็นต้น

               2. โรงงานรับเป็นสื่อกลางสั่งซื้อข้าวถุงมาส่งที่โรงงานเพื่อให้พนักงานซื้อข้าวถุงในราคาถูก กลับไปบริโภคที่บ้าน เช่น สวนอุตสาหกรรมบางกะดี ซึ่งสั่งซื้อข้าวตรงจากสหกรณ์การเกษตรสุรินทร์ จำนวน 14 ตันมาจำหน่าย

               3. การเปิดจุดให้ชาวนาซื้อขายข้าวในทุกนิคม/เขต/สวนอุตสาหกรรม รวมประมาณ 89 แห่ง กระจายอยู่ใน 17 จังหวัด ซึ่งมีการทยอยจัดกิจกรรมไปบ้างแล้ว เช่น จ.ปทุมธานี เปิดโรงงานไทยสแตนเลย์ ขายข้าวจำนวน 6 ตันหมด จ.สระบุรี เปิดพื้นที่กลุ่มโรงงานปูนฯ อนุญาตให้นำข้าวมาขายในช่วงเงินเดือนออก และที่จัดกับหน่วยงานของจังหวัด อาทิ เพชรบูรณ์ พิจิตร อุทัยธานี อำนาจเจริญ ร้อยเอ็ด กาญจนบุรี สุรินทร์ เป็นต้น

               4. การซื้อเป็นของชำร่วย หรือของแจกช่วงปีใหม่ เช่น สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สถาบันในเครือข่ายสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม ซื้อข้าวถุงละ 1 กิโลกรัม รวม 1 ตัน ฯลฯ

               5. การเปิดพื้นที่ของโรงงานให้ชาวนาได้ตากข้าว เพื่อลดความชื้น เช่น โรงสีต่างๆ หรือบริการช่วยอบข้าวฟรี โดย โรงสีเจียเม้ง จ.นครราชสีมา เปิดให้อบข้าวฟรี 7,500 ตันเป็นเวลา 15 วัน มีกำลังผลิตรับได้วันละ 500 ตัน คาดว่าสามารถช่วยชาวนาได้ 2,500-3,000 ราย

               นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมโดยอุตสาหกรรมจังหวัดทุกจังหวัด ยังได้สำรวจข้อมูลความต้องการเครื่องจักรกลที่เกี่ยวข้องกับการผลิตข้าว เช่น เครื่องสีข้าว เครื่องอบข้าว เครื่องซีลสูญญากาศ เครื่องคัดแยกข้าว และเครื่องทำการเกษตรแบบน้ำหยด เพื่อหาแนวทางหรือมาตรการช่วยเหลืออื่น โดยอาจร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงพาณิชย์ เพื่อพิจารณาหาแนวทางช่วยเหลือ

               ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับรายงานว่า มีโรงงานฯ จากทุกจังหวัดเต็มใจซื้อข้าวตรงจากชาวนา เพื่อเป็นการช่วยเหลือชาวนาจริงๆ และมียอดความต้องการซื้อของโรงงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกวัน ซึ่งกระทรวงฯ จะช่วยเป็นตัวกลางในการประสานสั่งซื้อ ซึ่งมั่นใจว่า 1.ราคาเป็นธรรมกับผู้ซื้อ ถูกกว่าห้างขายส่งเนื่องจากไม่ได้ผ่านพ่อค้าคนกลาง 2.ต้องซื้อจากหน่วยงาน สหกรณ์ที่สั่งซื้อข้าวตรงจากชาวนาเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม หากเป็นการซื้อข้าวข้ามเขตจังหวัด เนื่องจากภายในจังหวัดไม่มีการปลูกข้าว เช่น พื้นที่ภาคใต้ ก็อาจมีต้นทุนค่าขนส่งเพิ่มขึ้นเปล่า

 จาก http://manager.co.th   วันที่ 16 พฤศจิกายน 2559

กระทรวงพลังงานส่งเสริมใช้พลังงานทดแทน

กระทรวงพลังงาน ส่งเสริมใช้พลังงานทดแทน ตั้งเป้าลดใช้ฟอสซิลร้อยละ 30 สอดรับ แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2558 - 2579

นายธรรมยศ ศรีช่วย รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2558 - 2579 ประเทศไทยตั้งเป้าหมายลดการใช้พลังงานจากฟอสซิลลง ร้อยละ 30 ซึ่งขณะนี้สามารถทำได้แล้วตามเป้าหมายคิดเป็นร้อยละ 14 ส่วนที่เหลือเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย ดังนั้น จำเป็นต้องส่งเสริมภาคชุมชนให้เข้ามามีส่วนร่วมด้วยไม่ใช่ส่งเสริมเพียงผู้ประกอบการรายใหญ่เท่านั้น ขณะเดียวกัน หากพิจารณาการใช้พลังงานต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือ Energy Intensity ของประเทศไทยอยู่ที่ 8.23 ktoe ต่อ 1,000 ล้านบาท ดังนั้น ถือว่าระดับการใช้พลังงานของประเทศไทย นับว่ายังสามารถลงได้อีก

อย่างไรก็ตาม โครงการส่งเสริมการผลิตพลังงานทดแทนจะช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับการพัฒนาโครงการด้านพลังงานทดแทน ในระดับชุมชนต่อไป และยังเป็นมิติใหม่ของการพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศและยังสอดคล้องกับทิศทางของประเทศที่เดินหน้าขับเคลื่อนการพัฒนาพลังงาน ให้เป็นไปตามเป้าหมายของแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ.2558 - 2579 อีกด้วย

จาก http://www.innnews.co.th    วันที่ 16 พฤศจิกายน 2559

ไทยพร้อมเข้าทีพีพี

       “สมคิด” ย้ำ หาก “ทรัมป์” หนุนต่อ แต่ถ้าไม่มี ก็เชื่อยังไงสหรัฐฯ ก็ให้ความสำคัญเอเชียเป็นหลัก  

          นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมเข้าเป็นสมาชิกตามตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือทีพีพี แม้ยังไม่รู้ว่าสหรัฐฯ จะสานต่อข้อตกลงดังกล่าวหรือไม่ ภายหลังจากที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ โดยไทยเองต้องจับตาเรื่องดังกล่าวอย่างใกล้ชิดหากสหรัฐฯ เดินหน้าต่อ แต่ถ้าสหรัฐฯ ไม่เดินหน้าข้อตกลงดังกล่าว ไทยเองก็ยังมีข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ อาร์เซป ซึ่งไทยก็ต้องเน้นการค้าในกลุ่มประเทศอาเซียน และประเทศเพื่อนบ้านกลุ่มซีแอลเอ็มวีมากขึ้น

“ถ้าสหรัฐฯไม่เดินหน้าทีพีพีต่อ ก็ยังเชื่อว่านโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ยังให้ความสำคัญกับเอเชีย เพราะเอเชียเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญ แข็งแรง และเอเชียเองก็ต้องเชื่อมต่อกันเองเพิ่งพากันมากขึ้น โดยมีข้อตกลงอาร์เซป จะกลายเป็นทางเลือกเดียวที่เป็นเวทีการเชื่อมโยงการค้าในภูมิภาคขนาดใหญ่ ซึ่งนายโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นคนที่ฉลาด เขารู้ว่าอะไรเดินได้เดินไม่ได้ ผมว่าเขาไม่ใช่คนที่จะเอาหัวชนกำแพง ไม่เดินนโยบายสุดโต่งเกินไป”

ส่วนการบริหารเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เอง จากนี้ไปคงต้องจับตามองในเรื่องของการลดภาษีเงินได้นิติบุคคล ว่า จะมีผลทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวได้หรือไม่ เช่นเดียวกับนโยบายการหาเสียงของนายโดนัลด์ ทรัมป์ เองที่ระบุจะทุ่มงบประมาณกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ หากเรื่องดังกล่าวสามารถผลักดันออกมาได้จริง เชื่อว่า ทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯกระเตื้องขึ้น จนสามารถเติบโตได้ในระยะต่อไป หลังจากที่สหรัฐฯ เองไม่ได้ลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ มานาน

จาก http://www.dailynews.co.th   วันที่ 16 พฤศจิกายน 2559

พพ.ถกเอกชน รับรง.เอทานอล หยุดพ.ย.-ธ.ค.

นายอุกฤษฏ์ อัษฎาธร นายกสมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลไทย และกรรมการผู้จัดการกลุ่มบริษัทน้ำตาลไทยรุ่งเรือง เปิดเผยว่า กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้หารือร่วมกับผู้ค้าน้ำมันและผู้ผลิตเอทานอลเพื่อติดตามปริมาณเอทานอลในช่วง พ.ย.และต้น ธ.ค.59 ใกล้ชิด เนื่องจากมีความกังวลเอทานอลตึงตัว เพราะมีการหยุดซ่อมของโรงงานผลิตเอทานอลช่วง พ.ย.นี้ค่อนข้างมาก โดย พพ.ขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการรายงานตัวเลขการผลิตและการส่งมอบเอทานอลใกล้ชิดเพื่อป้องกันภาวะการขาดแคลน

"พพ.ได้หารือทั้งผู้ค้ามาตรา 7 และผู้ผลิตเอทานอลเพื่อติดตามภาวะตึงตัวเอทานอล โดยทางสมาคมได้แจ้งไปยังสมาชิกและผู้ผลิตให้รายงานการผลิตและส่งมอบเอทานอลวันเว้นวันตามที่ พพ.ขอแล้วเพื่อติดตามใกล้ชิด ซึ่งภาพรวมจากการติดตามขณะนี้ไม่น่ามีปัญหาถึงขั้นขาดแคลน" นายอุกฤษฏ์กล่าว

ขณะเดียวกัน ทางสมาคมได้รายงานถึงปัญหาการหยุดซ่อมของการผลิตเอทานอลที่จะกระทำทุกปีในช่วง พ.ย.นี้ เพื่อที่จะรองรับการผลิตใหม่ที่จะมีการเปิดหีบอ้อย ซึ่งจะทำให้ได้วัตถุดิบมาผลิตคือ กากน้ำตาล (โมลาส) โดยในฤดูหีบการผลิตปี 2559/60 โรงงานน้ำตาลจะทยอยเปิดหีบตั้งแต่ 1 ธ.ค.เป็นต้นไป ซึ่งจากนั้นจะทำให้มีโมลาสในการผลิตเอทานอลได้ในช่วงกลาง ธ.ค. ปัญหาก็จะคลี่คลายขึ้น ขณะเดียวกันทางฟากของผู้ค้าน้ำมันก็มีสต็อกเอทานอลอยู่ระดับหนึ่งก็สามารถดึงสต็อกมาใช้ได้.

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 16 พฤศจิกายน 2559

ไทยเฮ‘ทรัมป์’สั่งล้มทีพีพี ลดเสียเปรียบเวียดนาม-มาเลย์/ห่วงส่งออกไปอียูแทน

 “ทรัมป์” สั่งล้มทีพีพีที่เจรจากันมา 11 ปี เอกชนไทยเฮ ลดความเสียเปรียบเวียดนาม-มาเลเซีย สมาชิกทีพีพีในการส่งออกไปสหรัฐฯ และยังคาดหวังทุนต่างชาติจะแห่เข้าไทยมากขึ้น แต่อีกด้านห่วงส่งออกไปตลาดอียูยังเสียเปรียบ 3 ชาติอาเซียน จากเอฟทีเอไทย-อียูสะดุด ประธานหอการค้าฯสั่งจับตามาตรการทางการค้าของผู้นำสหรัฐฯคนใหม่ ทำใจดีไม่กระทบไทยมาก

จากที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนใหม่ได้ประกาศ 10 ข้อสัญญาฉบับเร่งด่วนที่จะต้องลงมือทำทันทีในวันแรกที่ก้าวสู่ทำเนียบขาว ซึ่ง 1 ในนั้นคือการถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ ทีพีพี ที่รัฐบาลโอบามาได้เป็นผู้นำการเจรจาจนบรรลุข้อตกลงไปแล้วนั้น

นายบัณฑูร วงศ์สีลโชติ รองประธานคณะกรรมการเจราจาการค้าระหว่างประเทศ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” โดยระบุว่าประกาศดังกล่าวถือว่าทีพีพีล้มเลิกไปโดยปริยาย ในแง่บวกจะส่งผลดีกับประเทศไทนที่จะลดความเสียเปรียบการแข่งขันส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแข่งขันกับสินค้าที่ผลิตในเวียดนาม และมาเลเซียที่เป็นสมาชิกทีพีพีที่จะได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าสหรัฐฯหากความตกลงมีผลบังคับใช้ นอกจากนี้การยกเลิกทีพีพีจะมีผลให้ทุนต่างชาติที่กำลังมีแผนจะไปลงทุนในเวียดนาม หรือมาเลเซียเพื่อใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลงทีพีพีจะชะลอการตัดสินใจ และอาจหันเหมาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น

“เมื่อทีพีพีถูกยกเลิก การลงทุนที่จะไปเวียดนามจะชะลอตัวลง อย่างไรก็ดีเวียดนาม สิงคโปร์ และมาเลเซียก็ยังมีความได้เปรียบไทยในการส่งออกไปอีกหนึ่งตลาดใหญ่คือสหภาพยุโรป(อียู) เพราะเวลานี้เขาได้มีการเจรจาและจัดทำเขตการค้าเสรี หรือเอฟทีเอกับอียูแล้ว รอมีผลบังใช้เท่านั้น แต่เอฟทีเอไทย-อียูยังติดปัญหาการเมือง”

สอดคล้องกับนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป ที่กล่าวว่า จากนโยบายของทรัมป์ที่ไม่เอาทีพีพี จะส่งผลเชิงบวกกับการส่งออกของไทยที่จะเสียเปรียบเวียดนาม และมาเลเซียที่เป็นสมาชิกทีพีพีลดลง และในอนาคตการเจรจาการค้าไทย-สหรัฐฯ ภายใต้รัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ อาจจะเปลี่ยนไปในรูปแบบอื่นที่อาจจะเป็นประโยชน์กับไทย

ขณะที่นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แม้ทรัมป์ประกาศไม่สนับสนุนทีพีพี แต่การค้า และการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯยังคงดำเนินการไปตามปกติ อีกทั้งมองว่าคงเป็นการยากที่สหรัฐฯจะไม่ซื้อสินค้าที่เคยนำเข้าจากไทย หรือปิดประตูขังตัวเอง ขณะเดียวกันในแต่ละปีที่ผ่านมาสัดส่วนการส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯมีสัดส่วนประมาณ 10% ของการส่งออกในภาพรวมเท่านั้น มองว่าหากรัฐบาลใหม่ของสหรัฐฯมีการออกมาตรการทางการค้าใหม่ๆ ที่ทำให้ไทยและทั่วโลกส่งเข้าไปสหรัฐฯยากขึ้น ก็คงไม่กระทบต่อการส่งออกของไทยมากนัก

ส่วนในมุมมองของนายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กรณีผู้นำใหม่ของสหรัฐฯประกาศจะถอนตัวออกจากทีพีพีจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนใน 4 ประเทศของอาเซียนที่เป็นสมาชิกของทีพีพี ได้แก่ เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ และบรูไนที่อาจเปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้คงต้องจับตาว่าจีนจะใช้โอกาสนี้มาสร้างอิทธิพลทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนมากขึ้นหรือไม่

“ข้อตกลงทีพีพีที่ได้ข้อสรุป และมีการลงนามความตกลงไปแล้ว มีเงื่อนไขว่า หากมีสมาชิก 6 ประเทศที่มีจีดีพีรวมกันมูลค่าอย่างน้อย 85% ของมูลค่าทั้งหมดให้สัตยาบันข้อตกลงนี้ก็จะมีผลบังคับใช้ทันที แต่ในจำนวนนี้สหรัฐฯประเทศเดียวมีขนาดจีดีพีถึง 60% ของทีพีพี ดังนั้นหากไม่มีสหรัฐฯร่วมโอกาสแจ้งเกิดของทีพีพีก็เป็นไปได้ยาก”

อนึ่ง ทีพีพีได้ก่อกำเนิดขึ้นในปี 2548 หรือ 11 ปีที่แล้ว มีสมาชิก 12 ประเทศ ประกอบด้วย สหรัฐฯ แคนาดาออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู เม็กซิโก ญี่ปุ่น บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม โดยสมาชิกได้มีการเจรจามาเป็นลำดับ และได้สรุปผลการเจรจาความตกลงเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม2558 ณ เมืองแอตแลนตา มลรัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา และเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2558 สมาชิกได้เผยแพร่ข้อบทความตกลงทั้งฉบับ(Full Text) ต่อสาธารณชน ขณะที่สมาชิกทั้ง 12 ประเทศได้มีการลงนามความตกลงทีพีพีเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2559 ที่เมืองโอ๊คแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์ ล่าสุดประเทศสมาชิกอยู่ในกระบวนการภายใน ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 ปี เพื่อให้สัตยาบันก่อนที่ความตกลงจะมีผลบังคับใช้อย่างสมบูรณ์

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 16 พฤศจิกายน 2559

บาทเปิด 35.42 บาทต่อดอลล่าร์ อ่อนค่า

เงินบาทเปิดตลาด 35.42 บาทต่อดอลล่าร์ กลับมาอ่อนค่าหลังดอลล์แข็งจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐหนุน-เงินยังไหลออก

นักบริหารเงิน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ระดับ 35.42 บาท/ดอลลาร์อ่อนค่า จากช่วงปิดตลาดเย็นวานนี้ที่ระดับ 35.37/38 บาท/ดอลลาร์ เนื่องจากดอลลาร์แข็งค่าหลังตัวเลขยอดค้าปลีกฯ ออกมาดี ประกอบกับมีเงินทุนต่างประเทศไหลออกจากตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตร

"บาทกลับมาอ่อนค่าหลังพักมีการฐานแล้วแข็งค่าได้วันเดียว เนื่องจากดอลลาร์กลับมาแข็งค่าหลังตัวเลขออกมาดีและมี flow ไหลออกจากตลาดหุ้นและพันธบัตร" นักบริหารเงิน ระบุ นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ไว้ระหว่าง 35.35-35.50 บาท/ดอลลาร์

"บาทยังมีแนวโน้มอ่อนค่าแต่น่าจะอยู่ในกรอบ แนวต้าน 35.50 (บาท/ดอลลาร์) ยังแข็งแกร่ง ไม่สามารถผ่านได้หลายรอบแล้ว" นักบริหารเงิน กล่าว

จาก http://www.posttoday.com วันที่ 16 พฤศจิกายน 2559

น้ำตาลบุรีรัมย์ ไตรมาส 3 ฟื้นกำไร 100 ล.   

          น้ำตาลบุรีรัมย์ เทิร์นอะราวนด์แรงไตรมาส 3 กำไรพลิกบวกแตะ 100 ล้านบาท หลังราคาน้ำตาลทรายกลับมาทะยานแรงเท่าตัว เชื่อปีหน้ารับอานิสงส์เต็มๆ เหตุน้ำตาลทรายโลกยังอยู่ในภาวะขาดแคลน บวกกับได้เงินย้อนหลังเปลี่ยนสัญญาขายไฟจาก Adder เป็น FiT พร้อมเตรียมเปิดหีบอ้อยธันวาคมนี้ พร้อมเพิ่มปริมาณอ้อยเข้าหีบแตะ 2.3-2.4 ล้านตัน จาก 2.06 ล้านตัน ในฤดูการผลิตที่แล้ว

               นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR เปิดเผยผลประกอบการไตรมาส 3 ปีนี้ว่า บริษัท และบริษัทย่อยมีรายได้รวม 1,041 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32 % จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 784 ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 100 ล้านบาท สามารถพลิกกลับมาเป็นบวกจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 7.14 ล้านบาท โดยมีอัตรากำไรขั้นต้น 21.33% เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ในระดับ 13% มีอัตรากำไรสุทธิ 9.60% โดยกำไรที่เติบโตขึ้นมาจากราคาน้ำตาลทรายที่ปรับตัวสูงขึ้น รายได้จากการเปลี่ยนสัญญาขายไฟระบบ adder เป็นระบบ FiT ของโรงไฟฟ้าบุรีรัมย์พลังงาน และเงินชดเชยค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัย กรณีกากน้ำตาลเสียหายเมื่อช่วงต้นปี

               โดยผลประกอบการพลิกกลับมาเป็นบวกในไตรมาสนี้มาจากการเพิ่มขึ้นของ 2 ธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจน้ำตาลทราย และธุรกิจไฟฟ้าชีวมวล โดยการดำเนินธุรกิจผลิต และจำหน่ายน้ำตาลทราย มีกำไร 78 ล้านบาท หลังบริษัทได้รับราคาขายเพิ่มสูงขึ้นจากเฉลี่ยในระดับ 13-14 เซ็นต์/ปอนด์ ในช่วงต้นปี เป็น 18-19 เซนต์/ปอนด์ ในช่วงไตรมาสนี้ ซึ่งเป็นไปตามกลไกราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น จากภาวะผลผลิตถดถอยของประเทศผู้ผลิตสำคัญๆ อันเนื่องมาจากปัญหาสภาพอากาศ ขณะที่ปริมาณน้ำตาลทรายส่งออกก็เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

               กอปรกับบริษัทมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ทั้งในด้านวัตถุดิบ คือ ผลผลิตอ้อยที่มีคุณภาพความหวานสูงขึ้น การให้ความรู้เกษตรกร และชาวไร่อ้อย ตลอดจนการควบคุมต้นทุนในการบริหารจัดการที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้บริษัทสามารถกลับมามีกำไรได้ แม้ว่าจะมีปริมาณการส่งออกน้ำตาลทรายสู่ท้องตลาดไม่มาก เนื่องจากเป็นช่วงท้ายฤดูกาลอันเป็นเรื่องปกติของอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายของไทย ขณะที่ธุรกิจผลิต และจำหน่ายไฟฟ้าชีวมวล มีกำไร 30 ล้านบาท จากการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น พร้อมกับรายได้ย้อนหลังการเปลี่ยนสัญญาขายไฟระบบ Adder เป็นระบบ FiT ของโรงไฟฟ้าบุรีรัมย์พลังงาน

               “ผลประกอบการที่ออกมาแสดงให้เห็นว่า ธุรกิจของบริษัทผ่านจุดต่ำสุดมาเรียบร้อยแล้ว โดยราคาน้ำตาลยังอยู่ในช่วงขาขึ้น คาดว่าจะปรับตัวอยู่ในระดับ 22-24 เซ็นต์/ปอนด์ หลังจากที่ตกลงไปอย่างมากในช่วงเดือนสิงหาคม 2558 ที่ 10 เซ็นต์/ปอนด์ และค่อยๆ ปรับตัวสูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายปี 2558 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นการกลับมาค่อนข้างแรงจากภาวะดุลยภาพน้ำตาลทรายของโลกที่อยู่ในภาวะขาดแคลน” นายอนันต์ กล่าว

               นายอนันต์ ระบุด้วยว่า แนวโน้มราคาน้ำตาลจะยังอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องไปจนถึงช่วงปี 2560-2561 เนื่องจากภาวะขาดแคลนน้ำตาลทรายในตลาดโลกยังดำรงอยู่โดยเฉพาะในประเทศผู้ผลิตสำคัญ เช่น อินเดีย และจีน ที่ยังผลผลิตยังไม่ฟื้นตัวจากปัญหาภาวะภัยแล้ง และด้วยราคาน้ำตาลทรายในปี 2560 ที่ปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปีนี้ เชื่อว่าจะทำให้การจำหน่ายน้ำตาลทรายของบริษัทในปีหน้ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยในช่วงเดือนธันวาคมนี้ บริษัทจะเริ่มเปิดหีบอ้อยเพื่อผลิตน้ำตาลในรอบฤดูการผลิตปี 2559/2560 โดยตั้งเป้าปริมาณอ้อยเข้าหีบราว 2.3-2.4 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 2.06 ล้านตันในปีก่อน และตั้งเป้าผลิตน้ำตาลทรายได้ 2.6-2.7 แสนตัน จากปีก่อนที่อยู่ที่ 2.3 แสนตัน

จาก http://manager.co.th  วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

BRR พลิกกำไรพุ่ง Q3 ราคาน้ำตาลทรายโลกหนุน  

           BRR เทิร์นอะราวแรงไตรมาส 3 กำไรพลิกบวกพุ่งแตะ 100 ล้านบาท หลังราคาน้ำตาลทรายกลับมาทะยานแรงเท่าตัว เชื่อปีหน้ารับอานิสงค์เต็มๆ เหตุน้ำตาลทรายโลกยังอยู่ในภาวะขาดแคลน บวกกับได้เงินย้อนหลังเปลี่ยนสัญญาขายไฟจาก Adder เป็น FiT พร้อมเตรียมเปิดหีบอ้อยธันวาคมนี้ พร้อมเพิ่มปริมาณอ้อยเข้าหีบแตะ 2.3 - 2.4 ล้านตัน จาก 2.06 ล้านตันในฤดูการผลิตที่แล้ว

          นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR เปิดเผยผลประกอบการไตรมาส 3/2559 (กรกฎาคม-กันยายน) ว่า บริษัทและบริษัทย่อย มีรายได้รวม 1,041 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32 % จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 784 ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 100 ล้านบาท สามารถพลิกกลับมาเป็นบวกจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 7.14 ล้านบาท โดยมีอัตรากำไรขั้นต้น 21.33 % เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ในระดับ 13 % มีอัตรากำไรสุทธิ 9.60 % โดยกำไรที่เติบโตขึ้นมาจาก ราคาน้ำตาลทรายที่ปรับตัวสูงขึ้น รายได้จากการเปลี่ยนสัญญาขายไฟระบบ adder เป็นระบบ FiT ของโรงไฟฟ้าบุรีรัมย์พลังงาน และเงินชดเชยค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัย กรณีกากน้ำตาลเสียหายเมื่อช่วงต้นปี

          สาเหตุที่ผลประกอบการพลิกกลับมาเป็นบวกในไตรมาสนี้ มาจากการเพิ่มขึ้นของ 2 ธุรกิจหลักคือธุรกิจน้ำตาลทราย และธุรกิจไฟฟ้าชีวมวลโดยการดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายมีกำไร 78 ล้านบาท หลังบริษัทได้รับราคาขายเพิ่มสูงขึ้นจากเฉลี่ยในระดับ 13 - 14 เซนต์/ปอนด์ในช่วงต้นปี เป็น 18 - 19 เซนต์/ปอนด์ ในช่วงไตรมาสนี้ ซึ่งเป็นไปตามกลไกราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นจากภาวะผลผลิตถดถอยของประเทศผู้ผลิตสำคัญๆ อันเนื่องมาจากปัญหาสภาพอากาศ ขณะที่ปริมาณน้ำตาลทรายส่งออกก็เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

          ประกอบกับบริษัทมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ทั้งในด้านวัตถุดิบคือผลผลิตอ้อยที่มีคุณภาพความหวานสูงขึ้น การให้ความรู้เกษตรกรและชาวไร่อ้อย ตลอดจนการควบคุมต้นทุนในการบริหารจัดการที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้บริษัทสามารถกลับมามีกำไรได้ แม้ว่าจะมีปริมาณการส่งออกน้ำตาลทรายสู่ท้องตลาดไม่มากเนื่องจากเป็นช่วงท้ายฤดูกาลอันเป็นเรื่องปกติของอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายของไทย

          ขณะที่ธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าชีวมวล มีกำไร 30 ล้านบาท จากการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น พร้อมกับรายได้ย้อนหลังการเปลี่ยนสัญญาขายไฟระบบ Adder เป็นระบบ FiT ของโรงไฟฟ้าบุรีรัมย์พลังงาน

          "ผลประกอบการที่ออกมาแสดงให้เห็นว่าธุรกิจของบริษัทผ่านจุดต่ำสุดมาเรียบร้อยแล้ว โดยราคาน้ำตาลยังอยู่ในช่วงขาขึ้นคาดว่าจะปรับตัวอยู่ในระดับ 22 - 24 เซนต์/ปอนด์ หลังจากที่ตกลงไปอย่างมากในช่วงเดือนสิงหาคม 2558 ที่ 10 เซนต์/ปอนด์ และค่อยๆ ปรับตัวสูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายปี 2558 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นการกลับมาค่อนข้างแรงจากภาวะดุลยภาพน้ำตาลทรายของโลกที่อยู่ในภาวะขาดแคลน" นายอนันต์ กล่าว

          นายอนันต์ ระบุด้วยว่า แนวโน้มราคาน้ำตาลจะยังอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องไปจนถึงช่วงปี 2560 - 2561 เนื่องจากภาวะขาดแคลนน้ำตาลทรายในตลาดโลกยังดำรงอยู่โดยเฉพาะในประเทศผู้ผลิตสำคัญ เช่น อินเดียและจีน ที่ยังผลผลิตยังไม่ฟื้นตัวจากปัญหาภาวะภัยแล้ง

ด้วยราคาน้ำตาลทรายในปี 2560 ที่ปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปีนี้ เชื่อว่าจะทำให้การจำหน่ายน้ำตาลทรายของบริษัทในปีหน้ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยในช่วงเดือนธันวาคมนี้ บริษัทจะเริ่มเปิดหีบอ้อยเพื่อผลิตน้ำตาลในรอบฤดูการผลิตปี 2559/2560 โดยตั้งเป้า ปริมาณอ้อยเข้าหีบราว 2.3-2.4 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 2.06 ล้านตันในปีก่อน และตั้งเป้าผลิตน้ำตาลทราย ได้ 2.6-2.7 แสนตัน จากปีก่อนที่อยู่ที่ 2.3 แสนตัน

  จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ผวาเอทานอลขาดแคลน! สั่งมอนิเตอร์ปริมาณการผลิตใกล้ชิด  

         ผู้ผลิตเอทานอลพร้อมร่วมมือ “พพ.” ส่งรายงานตัวเลขผลิตเอทานอลและการส่งมอบวันเว้นวัน เพื่อมอนิเตอร์เอทานอลใกล้ชิดหลังผวาตึงตัวช่วง พ.ย.-ต้น ธ.ค.เหตุจากโรงงานเอทานอลหยุดซ่อมบำรุง และการใช้เอทานอลที่สูงขึ้นตามการใช้แก๊สโซฮอล์ที่เพิ่มขึ้น

               นายอุกฤษฏ์ อัษฎาธร นายกสมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลไทย และกรรมการผู้จัดการกลุ่มบริษัท น้ำตาลไทยรุ่งเรือง เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้หารือร่วมกับผู้ค้าน้ำมันและผู้ผลิตเอทานอลเพื่อติดตามปริมาณเอทานอลในช่วง พ.ย.และต้น ธ.ค. 59 ใกล้ชิดเนื่องจากมีความกังวลเอทานอลตึงตัวเพราะมีการหยุดซ่อมของโรงงานผลิตเอทานอลช่วง พ.ย.นี้ค่อนข้างมาก โดย พพ.ขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการรายงานตัวเลขการผลิตและการส่งมอบเอทานอลใกล้ชิดเพื่อป้องกันภาวะการขาดแคลน

               “พพ.ได้หารือทั้งผู้ค้ามาตรา 7 และผู้ผลิตเอทานอลเพื่อติดตามภาวะตึงตัวเอทานอล โดยทางสมาคมฯได้แจ้งไปยังสมาชิกและผู้ผลิตให้รายงานการผลิตและส่งมอบเอทานอลวันเว้นวันตามที่ พพ.ขอแล้วเพื่อติดตามใกล้ชิดซึ่งภาพรวมจากการติดตามขณะนี้ไม่น่ามีปัญหาถึงขั้นขาดแคลน” นายอุกฤษฎ์กล่าว

               ทั้งนี้ ทางสมาคมฯ ได้รายงานถึงปัญหาการหยุดซ่อมของการผลิตเอทานอลที่จะกระทำทุกปีในช่วง พ.ย.นี้เพื่อที่จะรองรับการผลิตใหม่ที่จะมีการเปิดหีบอ้อยซึ่งจะทำให้ได้วัตถุดิบมาผลิต คือ โมลาส (กากน้ำตาล) โดยในฤดูหีบการผลิตปี 2559/60 โรงงานน้ำตาลจะทยอยเปิดหีบตั้งแต่ 1 ธ.ค.เป็นต้นไป จากนั้นจะทำให้มีโมลาสในการผลิตเอทานอลได้ในช่วงกลาง ธ.ค. ปัญหาก็จะคลี่คลายขึ้น ขณะเดียวกัน ทางฟากของผู้ค้าน้ำมันก็มีสต๊อกเอทานอลอยู่ระดับหนึ่งก็สามารถดึงสต็อกมาใช้ได้

               สำหรับโมลาสฤดูหีบ 59/60 คงจะต้องติดตามว่าจะมีมากน้อยเพียงใดเนื่องจากมีการคาดการณ์ปริมาณอ้อยน่าจะลดลงจากภาวะภัยแล้งซึ่งจะกระทบต่อโมลาสลดต่ำลงด้วย ส่วนราคาภาพรวมเอทานอลในขณะนี้เฉลี่ยที่มีการประมูลขายช่วงไตรมาส 4 อยู่ที่ 23-24 บาทต่อลิตร

        แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงานกล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงพลังงานโดย พพ.ได้เตรียมมาตรการต่างๆ ร่วมกับผู้ค้าน้ำมันและผู้ผลิตเอทานอลไว้รองรับแล้วกรณีฉุกเฉินจริงโดยจะไม่มีผลกระทบต่อการจำหน่ายแก๊สโซฮอล์ (เบนซินผสมเอทานอล) อย่างแน่นอน โดยที่ผ่านมาได้หารือเพราะมีความกังวลระยะสั้นๆ ช่วง พ.ย.-ต้น ธ.ค.เท่านั้นเนื่องจากโรงงานผลิตส่วนใหญ่หยุดซ่อมบำรุงประจำปี และจากการติดตามตัวเลขใกล้ชิดตั้งแต่ต้น พ.ย.จนขณะนี้สถานการณ์ก็ยังไม่น่าห่วง

               ทั้งนี้ นอกจากโรงผลิตหยุดซ่อมแล้วยังพบว่าปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะตึงตัวคือการใช้น้ำมันกลุ่มแก๊สโซฮอล์ที่เพิ่มขึ้นในปี 2559 ต่อเนื่องจากระดับราคาน้ำมันที่มีราคาถูกส่งผลให้การใช้เอทานอลเพิ่มขึ้นโดยการใช้เอทานอลล่าสุดเฉลี่ยอยู่ที่กว่า 3.8 ล้านลิตรต่อวัน โดยประเมินว่าสิ้นปีนี้อาจแตะระดับ 4 ล้านลิตรต่อวันได้หากการใช้ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยการผลิตเอทานอลส่วนหนึ่งมาจากโมลาส และอีกส่วนจะมาจากมันสำปะหลังโดยระยะนี้ขอให้ทางผู้ผลิตจากมันฯ เร่งผลิตให้เต็มที่

 จาก http://manager.co.th  วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

นัดถกราคาอ้อยปี’59/60 เคาะขั้นต้นไม่ต่ำกว่าตันละพันบาท

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และหัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 7เปิดเผยว่าวันที่ 17 พฤศจิกายนนี้ จะประชุมคณะกรรมการบริหาร(กบ.) เพื่อพิจารณาราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2559/60 เพื่อสรุปตัวเลขก่อนนำไปสู่การเปิดประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นก่อนนำเสนอคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.) พิจารณาเห็นชอบในวันที่ 28 พฤศจิกายนนี้ เบื้องต้นราคาอ้อยขั้นต้นเฉลี่ยอยู่ระดับ 1,080 บาทต่อตัน

“ราคาอ้อยขั้นต้นฯคำนวณที่ 100% ความหวาน 10 ซี.ซี.เอส.สูงกว่า 1,000 บาทต่อตัน แต่ก็อยู่ที่กบ.จะคำนวณที่ระดับ 95% ที่เท่าใดและจะต้องมาดูว่าจะประกาศรายเขตแบบใดซึ่งฤดูผลิตปีที่แล้วประกาศ 2 ราคา โดย 8 เขต เท่ากัน แต่เขต 5 (สุพรรณบุรี) จะเป็นอีกราคาหนึ่ง ซึ่งจะดูตัวเลขแล้วคงจะกำหนดวันประชาพิจารณ์ซึ่งปีที่ผ่านๆ มามักจะเป็นวันเดียวกับประชุมกอน.คือประชาพิจารณ์เช้าบ่ายเข้ากอน.” นายนราธิปกล่าว

อย่างไรก็ตาม ราคาดังกล่าวภาพรวมชาวไร่อ้อยถือว่าเป็นระดับที่พอใจโดยที่ผ่านๆ มาการหารือจะต้องดูต้นทุนที่คำนวณ หากออกมาไม่คุ้มทุนจะมีการเสนอรัฐให้สนับสนุนแหล่งเงินทุนด้วยการให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย(กท.) กู้ผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)แต่ปัจจุบันครม.ได้มีมติปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายหลังจากที่บราซิลได้ยื่นกล่าวหาไทยอุดหนุนน้ำตาลทรายส่งออกกับองค์การการค้าโลก(WTO) การกู้รูปแบบเดิมจะดำเนินการไม่ได้ดังนั้นจะมีการช่วยเหลือเพิ่มราคาหรือไม่อาจจะต้องไปดูวิธีดำเนินการรูปแบบอื่นในเวทีประชาพิจารณ์

นอกจากนี้กบ.จะหารือถึงราคาอ้อยขั้นสุดท้ายปี 2558/59 เพื่อที่จะนำเสนอกอน.กำหนดแนวทางการหักเงินเข้ากองทุนอ้อยฯตามมติครม.กรณีที่ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายสูงกว่าขั้นต้นไม่เกิน 25 บาทต่อตัน เบื้องต้นราคาอ้อยขั้นสุดท้าย 2558/59 เฉลี่ยทุกเขตยังไม่หักเข้ากองทุนจะสูงกว่าราคาอ้อยขั้นต้นประเมิน 60 บาทต่อตัน ยกเว้นเขต 5 ที่ติดลบ 0.45 บาทต่อตัน จากราคาอ้อยขั้นต้นเฉลี่ย 808 บาทต่อตัน

สำหรับแนวโน้มฤดูหีบปี 2559/60 ที่จะทยอยเปิดหีบตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคมนี้ คาดว่าผลผลิตอ้อยเฉลี่ยจะใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาที่มีอ้อยหีบ 94.05 ล้านตัน หรืออาจจะต่ำกว่าเล็กน้อยที่ระดับ 92 ล้านตัน แต่ในแง่พื้นที่เพาะปลูกยอมรับว่ามีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น แต่ต้องติดตามตัวเลขที่ชัดเจนอีกครั้งเนื่องจากมีเกษตรกรปลูกข้าวนาดอนได้เริ่มหันมาปลูกอ้อยเช่นเดียวกับผู้ปลูกมันสำปะหลังส่วนหนึ่งที่เปลี่ยนมาปลูกอ้อยเพราะราคาข้าว และมันสำปะหลังไม่สู้ดีนัก

จาก http://www.naewna.com วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

น้ำขจัดความยากจน ผลสรุปประชุมชลประทานโลก

โดย -โต๊ะข่าวเกษตร

            นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน และเลขาธิการคณะกรรมการด้านการชลประทานและการระบายน้ำแห่งประเทศไทย(THAICID)เปิดเผยว่า การประชุมชลประทานโลกครั้งที่2ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ที่ผ่านมาประสบผลสำเร็จอย่างน่าพอใจ มีประเทศเข้าร่วมประชุมถึง52ประเทศและที่สำคัญประเทศเหล่านี้ล้วนเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญในเรื่องการชลประทานและการเกษตรโดยได้ข้อสรุปร่วมกันว่าน้ำเพื่อการเกษตรนั้นในปัจจุบันยังไม่เพียงพอกับความต้องการจำเป็นจะต้องนำนวัตกรรมใหม่ๆมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำให้เกิดความสมดุล และจะต้องใช้น้ำอย่างประหยัดให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

            อย่างไรก็ตามทุกประเทศยังเห็นว่า การเพิ่มพื้นที่ชลประทาน เพื่อสร้างความมั่นคงในเรื่องน้ำยังมีความจำเป็น เพราะน้ำจะทำให้เกิดความยั่งยืนของภาคการเกษตร อาหาร และการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ตัวอย่างเช่น ประเทศจีน ได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาชลประทาน20ปี ที่จะเพิ่มพื้นที่ชลประทานเต็มศักยภาพที่จะสามารถดำเนินการได้ เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ได้จัดทำยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ20ปี ที่วางเป้าหมายจะเพิ่มพื้นที่ชลประทานให้ได้เพิ่มขึ้นอีก18.5ล้านไร่ จากปัจจุปันที่มีอยู่แล้ว 31.8 ล้านไร่ เป็นการแสดงให้เห็นว่าประเทศที่มีความยิ่งใหญ่ระดับโลกอย่างจีน ได้ให้ความสำคัญในเรื่องการขยายพื้นที่ชลประทานเพื่อสร้างความมั่นคงในเรื่องน้ำ เช่นเดียวกับประเทศไทย

            นอกจากนี้ในที่ประชุมแต่ละประเทศยังได้แสดงจุดเด่น จุดด้อย และแนวทางแก้ไขปัญหาของตัวเอง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศอื่นๆ ที่จะนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม อย่างไรก็ตาม ได้มีการพูดคุยอย่างกว้างขวางว่า ประเทศที่มีความเจริญหรือพัฒนาแล้ว และมีระบบชลประทานที่สมบูรณ์ ควรจะให้ความช่วยเหลือประเทศที่กำลังพัฒนา เพื่อสร้างความทัดเทียม สร้างความมั่นคงทางด้านน้ำและอาหาร รวมทั้งจะต้องให้ความสำคัญกับประชาชนให้มีส่วนร่วมในการบริหารหรือการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อให้ประชาชนได้เห็นคุณค่าของน้ำ และใช้น้ำอย่างประหยัด

           ทั้งนี้ในส่วนของประเทศไทย คณะอนุกรรมการINWEPF THAIซึ่งไดรับการสนับสนุนจากTHAICIDและกรมชลประทานนำเสนองานวิจัยการทำนาแบบใช้น้ำน้อยหรือการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง ในการทำนาปรังในเขตชลประทานช่วงฤดูแล้ง ซึ่งจะช่วยลดการใช้น้ำลง20 -35 %รวมทั้งยังช่วยลดเมล็ดพันธุ์ข้าวได้เกือบ70%ลดการใช้สารเคมี70-100 %ลดค่าใช้จ่าย แรงงาน และสามารถเพิ่มผลผลิตจากเดิมเป็น1ตัน/ไร่ อีกทั้งยังลดการปล่อยก๊าซมีเทนลง9 %สอดคล้องกับการลดภาวะเรือนกระจก(GHGs)พร้อมมีแผนภายใน 5 ปีจะขยายผลสู่พื้นที่เป้าหมาย 4 ล้านไร่ สามารถประหยัดน้ำได้ 850 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมากจากประเทศที่เข้าร่วมประชุม จนได้รับรางวัลWater Save Awards 2016ซึ่งเป็นรางวัลที่จัดขึ้นเพื่อมอบให้กับผลงานที่มีความโดดเด่นในเรื่องของการประหยัดน้ำ

            รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวต่อว่า ในส่วนของประเทศลาว และประเทศภูฎาน นอกจากการเสนอให้ประเทศไทยเป็นประเทศศูนย์กลางการพัฒนาเทคโนโลยีด้านชลประทานและการระบายน้ำในภูมิภาคอาเซียน เนื่องจากเห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพและความพร้อมด้านชลประทานมากที่สุดในภูมิภาคนี้แล้วยังจะนำการทำเกษตรแบบทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ไปขยายผลประยุกต์ใช้ในการทำการเกษตรในประเทศของตนเอง เพราะเล็งเห็นว่าเป็นแนวทางที่สามารถสร้างความมั่นคงด้านน้ำ และสร้างความยั่งยืนให้กับอาชีพเกษตรกรรม รวมทั้งยังเป็นการใช้ประโยชน์จากที่ดินและน้ำอย่างคุ้มค่าอีกด้วย

           “ความสำเร็จในการประชุมชลประทานโลกในครั้งนี้ ทำให้เกิดเป็นปฏิญญาเชียงใหม่ ที่ทุกประเทศเห็นร่วมกันในการมุ่งขจัดความยากจนของโลกด้วยการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารและน้ำ โดยใช้ขบวนการบริหารจัดการน้ำทั้งน้ำบนผิวดินและน้ำใต้ดิน ตลอดจนการใช้เครื่องมือชลประทานและข้อมูลที่ทันสมัย ในการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรและการบรรเทาภัยจากน้ำ รวมทั้งส่งเสริมการลงทุนเพื่อการพัฒนา แบ่งปันความรู้ ประสบการณ์ แนวทางปฏิบัติ ตลอดจนการพัฒนาเทคโนโลยีในการเพิ่มประสิทธิภาพและการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน” เลขาธิการTHAICIDกล่าวในตอนท้าย

จาก http://www.komchadluek.net วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

"ทรัมป์"จุดชนวนการค้าโลก เพิ่มเสี่ยงศก.-ลากส่งออกไทยติดลบยาว

"ทรัมป์เอฟเฟ็กต์" สะเทือนการค้าโลก แบงก์ออฟอเมริกาประเดิมปรับลดจีดีพีสหรัฐ "ศุภวุฒิ สายเชื้อ" เผย 3 เดือนก่อนรับตำแหน่ง "ตลาดเงิน-ตลาดทุน" ผันผวนหนัก จับตา "หยวน" ทำนิวโลว์ต่อเนื่อง ผวาเกิดสงครามการค้า 2 มหาอำนาจ พ่นพิษส่งออกไทยทั้งทางตรง-ทางอ้อม ส.อ.ท.ชี้ไทยได้อานิสงส์ยกเลิก "ทีพีพี" นักลงทุนชะลอแผนย้ายฐานผลิตไปเวียดนาม

ปรับลดจีดีพีโลกปี′60

นายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการหัวหน้าสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ภัทร กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ตามที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศไว้ในช่วงหาเสียง และร่างขึ้นเป็นข้อสัญญาว่า นับตั้งแต่วันแรกเข้าทำงานในตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ จะทำ 7 ข้อเพื่อปกป้องแรงงานสหรัฐ ซึ่งประเด็นเหล่านี้จะสร้างความเสี่ยงให้กับการค้าโลกเพิ่มขึ้น และ 3 เดือนหลังจากนี้จนถึงวันที่ 20 ม.ค. 2560 ก่อนที่ทรัมป์จะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอย่างเป็นทางการ ก็จะมีความผันผวนเกิดขึ้นอยู่เป็นระยะ ๆ ในตลาดหุ้นตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตรา เพราะตลาดจะจับคำพูดของทรัมป์ไปตีความต่าง ๆ นานา

ส่วนทิศทางเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า ขณะนี้ก็ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะดำเนินไปทิศทางใด แต่เชื่อว่าจะมีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น และตอนนี้ บล.ภัทรอยู่ระหว่างการปรับประมาณการจีดีพีไทยและโลกปี 2560 ใหม่ จากปัจจุบันคาดว่าจีดีพีไทยปีหน้าจะขยายตัว 3.2% ส่วนแบงก์ ออฟ อเมริกา ล่าสุดก็ได้ปรับประมาณการจีดีพีสหรัฐปี 2560 ลดมาอยู่ที่ 1.8% จากเดิมคาดว่าโต 2.1%

ส่อเค้าเกิด "Trade War"

นายศุภวุฒิกล่าวด้วยว่า มีความชัดเจนว่าการค้าและการส่งออกไทยจะได้รับผลกระทบจากนโยบายกีดกันการค้าของผู้นำใหม่สหรัฐ ทั้งทางตรงและทางอ้อม แม้ว่าค่าเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐอาจจะอ่อนค่าลงในอนาคต เพราะเศรษฐกิจสหรัฐดีขึ้นดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น แต่ไทยก็อาจจะไม่ได้ประโยชน์จากประเด็นนี้ เพราะเมื่อดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นก็ย่อมแข็งค่าเมื่อเทียบสกุลเงินหลักของโลก ซึ่งสกุลเงินอื่นอาจอ่อนค่ามากกว่าเงินบาทและอาจทำให้การส่งออกไทยเสียเปรียบการแข่งขันได้

กรณีเงินหยวนที่อ่อนค่ามากที่สุดในรอบ6 ปี นายศุภวุฒิกล่าวว่า ยังมีโอกาสที่หยวนจะอ่อนค่าทำสถิติไปเรื่อย ๆ เพราะสัปดาห์ที่ผ่านมา ดอลลาร์สหรัฐก็แกว่งมากและอยู่ในทิศทางแข็งค่าขึ้น ซึ่งจะทำให้ระยะข้างหน้าในตลาดซื้อขายเงินตราจะมีความผันผวนมากขึ้น เพราะตลาดกังวลว่าจะเกิด Trade War หรือสงครามการค้าของ 2 อภิมหาอำนาจ ซึ่งก็มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นได้เพราะจีนเกินดุลการค้ากับสหรัฐถึง 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ แล้วสหรัฐก็เป็นปลายทางส่งออกใหญ่ของจีน

"โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศชัดเจนว่าจะสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศ จะสร้างอเมริกันให้ยิ่งใหญ่อีกครั้ง ซึ่งในประวัติศาสตร์อเมริกาในรอบ 86 ปีที่ผ่านมา ทรัมป์เป็นคนเดียวที่ประกาศว่าจะใช้นโยบายกีดกันการค้า เพราะเขาเป็นนักธุรกิจที่คิดว่า ที่ผ่านมาสหรัฐขาดดุลการค้ากับจีนมากถึง 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือแม้แต่ของไทยที่เกินดุลการค้าสหรัฐอยู่ 1.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ดังนั้น ทรัมป์ย่อมต้องหาวิธี สร้างกติกาการค้าที่เข้มข้นขึ้น เขาคงพร้อมชนกับจีน และก็คาดว่าจีนก็คงจะไม่ยอม" นายศุภวุฒิกล่าว

ส่งออกไปจีนกระทบด้วย

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ออกรายงานผลกระทบกรณีที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นผู้ชนะการเลือกตั้งว่า ไม่เพียงกระทบการส่งออกไทยไปสหรัฐ แต่จะส่งผลซ้ำเติมการส่งออกของไทยในภาพรวมมากขึ้น จากมาตรการกีดกันทางการค้าแบบสุดโต่งกับสินค้าจากจีนและเม็กซิโก ที่ต่างก็พึ่งพาการส่งออกไปตลาดสหรัฐเป็นอันดับ 1 ด้วยสัดส่วน 18% และ 81% ตามลำดับ ซึ่งจะส่งผลกระทบเป็นห่วงโซ่การผลิตมายังธุรกิจไทย ส่งผลให้สินค้าส่งออกของไทยที่ไปตลาดจีนก็มีความเสี่ยงจะได้ผลกระทบมากขึ้น

ดอลลาร์แข็งกดทุกสกุลเงินอ่อน

นางสาวกาญจนาโชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ทิศทางของค่าเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐ หลังรู้ผลเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในช่วงแรก เงินเอเชียหลายสกุลอ่อนค่าแต่ไม่มาก ขณะที่เงินสกุลหลักเทียบดอลลาร์สหรัฐ เช่น ฟรังก์ เยน กลับแข็งค่า เนื่องจากนักลงทุนถือว่า 2 สกุลเงินดังกล่าวเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย แต่ตลาดหุ้นนิวยอร์กเปิดและพุ่งขึ้นแรง ส่งผลให้วันศุกร์ (11 พ.ย.) เงินดอลลาร์สหรัฐดีดตัวแข็งค่าขึ้นแรง และทำให้เงินสกุลอื่น ๆ ทั่วโลกอ่อนค่าลงอย่างมาก แม้แต่เงินฟรังก์ เยน และสกุลเงินเอเชีย โดยเงินบาทอ่อนค่าไปถึง 35.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือว่าอ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 1 เดือน แต่ก็ยังไม่อ่อนค่าเท่าหยวนที่มากที่สุดในรอบ 6 ปี และเงินเปโซที่อ่อนค่ามากที่สุดรอบ 7 ปี คือหลายสกุลอ่อนค่าทำสถิติกันมาก

สาเหตุที่ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นแรงและเร็วเพราะตลาดมองว่า ปี 2560 สหรัฐจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่แรงมากพอที่จะปลุกให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐเติบโตอย่างมากและเมื่อเศรษฐกิจได้รับการกระตุ้นหนักก็น่าจะเอื้อให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ก็อาจส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ขึ้นดอกเบี้ยได้ หลังจากคาดว่าในรอบเดือน ธ.ค.นี้ ก็น่าจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้หลายฝ่ายก็วิเคราะห์ว่ามีความเป็นไปได้ที่เฟดอาจขยายกรอบเวลาการขึ้นอัตราดอกเบี้ยออกไป

คลังแจงฐานะการเงินไทยแกร่ง

พล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลกระทบจากการเลือกตั้งสหรัฐว่า ไม่ควรไปตกใจ ขณะนี้ยังไม่มีผลกระทบกับประเทศไทย และยืนยันว่าจะมีมาตรการไว้รองรับอยู่แล้ว เพราะที่ผ่านมาก็มีการตั้งหลักมานานพอสมควร และไทยก็ไม่ได้ค้าขายกับสหรัฐเพียงรายเดียว ขณะเดียวกันก็ต้องรอดูว่า ประธานาธิบดีใหม่สหรัฐจะทำได้ทุกเรื่องตามที่หาเสียงไว้หรือไม่

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวว่า ประเทศไทยมีการเตรียมรับมือมานานแล้ว ทั้งเรื่องฐานะการเงิน ความเข้มแข็งทางการเงินของประเทศ เพราะเคยผ่านวิกฤตมาหลายเรื่อง ซึ่งการเตรียมพร้อมทำให้ประเทศไทยไม่ถูกกระทบกระเทือน กรณีสหรัฐขณะนี้ยังบอกไม่ได้ว่า การเปลี่ยนแปลงจะไปในทางไหน เพราะทุกอย่างมาจากนโยบายหาเสียง

"การหาเสียงกับสิ่งที่ปฏิบัติได้จริง คงไม่เหมือนกัน คงต้องรอดูสิ่งที่จะเกิดขึ้นในเดือน ก.พ. 2560 หลังจากเขามีคณะรัฐมนตรีใหม่ มีนโยบายใหม่เกิดขึ้น แต่ว่าเราก็ไม่ได้ประมาท ก็เตรียมความเข้มแข็งของประเทศ" นายอภิศักดิ์กล่าว

ทั้งนี้ ยืนยันว่าไม่จำเป็นต้องตั้งวอร์รูมมาดูแลเป็นพิเศษ เพียงแต่ทุกคนก็ต้องเตรียมตัวไว้ ไม่ประมาท กรณีที่หลายฝ่ายกังวลเรื่องการเคลื่อนย้ายเงินทุนนั้น ในส่วนของประเทศไทยมีเงินทุนสำรองสูงถึง 1.8 แสนล้านเหรียญสหรัฐ มากกว่าหนี้ระยะสั้นถึง 3-4 เท่า ดังนั้นแม้มีเงินไหลออกก็ไม่มีปัญหา ส่วนภาระหนี้ต่อ GDP ก็ยังต่ำแค่ 42% ยังสามารถกู้ได้อีก

"ต้องบอกว่าประเทศไทยไม่ได้มีผลกระทบอะไรมาก มีคนบอกว่าจะกระทบการส่งออก แต่จริง ๆ แล้วการส่งออกไทยไปสหรัฐก็มีสัดส่วนไม่มากแค่ 10% กว่า ถ้ากระทบก็มีผลโดยรวมไม่มากนัก แต่ทั้งนี้ก็ต้องดูอีกทีในเดือน ก.พ. 2560" รมว.คลังกล่าว

สั่งทูตพาณิชย์จับตาผลกระทบ

ด้านนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ผลกระทบต่อการค้า การส่งออกของไทยไปในตลาดสหรัฐ ยังไม่สามารถประเมินได้ทันที ต้องรอดูนโยบายที่ชัดเจนของประธานาธิบดีสหรัฐจะเป็นอย่างไร อย่างไรก็ดี พาณิชย์ได้มอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศในสหรัฐติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ขณะที่เป้าหมายการทำงานและการแก้ไขปัญหาที่ต้องจับตาคือกรณี PWL ทรัพย์สินทางปัญญา ที่สหรัฐขึ้นบัญชีประเทศไทยไว้ ต้องเดินหน้าแก้ไขเพื่อให้ประเทศได้รับการปรับอันดับที่ดีขึ้น เนื่องจากมีผลทางการค้า ส่วนสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ของไทยในตลาดสหรัฐก็ได้ต่ออายุในรายการสินค้าไปแล้ว จะมีผลกระทบก็เรื่องความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนในสถานการณ์ปัจจุบัน อย่างไรก็ดี มองว่ามีผลระยะสั้น และมองว่าการส่งออกไตรมาสสุดท้ายยังขยายตัวในทิศทางที่ดี

สำหรับกรณีทีพีพียังไม่มีความชัดเจนภายใต้นโยบายของทรัมป์แต่การไม่มีทีพีพี การส่งออกของไทยก็ยังปกติ เพราะสัดส่วนการค้า การส่งออก ส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาคเอเชียและอาเซียน ขณะที่ประเทศไทยก็ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมหรือไม่ ซึ่งนโยบายของไทยให้ความสำคัญในเรื่องของการเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือทางเศรษฐกิจมากกว่าการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี(เอฟทีเอ) ซึ่งมองว่าไทยจะต้องเดินหน้ามากขึ้น

ด้านนางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า สหรัฐเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทยด้วยสัดส่วน 11% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด หรือประมาณ 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี โดยคาดว่าการส่งออกไปสหรัฐปี 2559 ขยายตัวอยู่ที่ 1% และคาดว่าปี 2560 จะขยายตัว 3% โดยยังมั่นใจว่าสหรัฐยังมีความต้องการนำเข้าสินค้าอาหาร เช่น กุ้ง ทูน่า อีกทั้งยังมองว่าภายใต้นโยบายของทรัมป์ จะทำให้ชาวสหรัฐมีรายได้เพิ่มขึ้น ก็จะมีผลต่อกำลังซื้อและความต้องการสินค้า

สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญไปสหรัฐ อาทิ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์และชิ้นส่วน เครื่องนุ่งห่ม รวมทั้งอาหารทะเลและผลไม้กระป๋องแปรรูป ซึ่งสินค้าเหล่านี้มีสัดส่วนรวมกันถึง 51.4% ของการส่งออกไทยไปสหรัฐทั้งหมด

ปรับเป้าส่งออกปีหน้า -1%

นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผลกระทบระยะสั้นจะเกิดความผันผวนในตลาดเงิน ตลาดทุน ซึ่งอาจทำให้ดอลลาร์อ่อนค่าลง และบาทแข็งค่าขึ้น ซึ่งหากบาทแข็งมา 34 ยังพอรับได้ แต่ผลดังกล่าวอาจทำให้เศรษฐกิจอเมริกาชะลอตัวในช่วงไตรมาส 1 ถึงไตรมาส 2 ชั่วคราว หลังจากนั้นระยะยาวสถานการณ์น่าจะดีขึ้น

ทางสภาผู้ส่งออกอาจต้องปรับลดคาดการณ์ส่งออกสหรัฐ จากประเมินไว้ปี 2559 ว่าจะขยายตัวเป็นบวก อาจจะเป็น 0% หรือติดลบ และส่งออกภาพรวมปี 2560 ประเมินไว้ 0% ถึง 1% อาจจะเป็น -1% ถึง 0%

สหรัฐเลิก TPP ส่งผลดีไทย

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การที่ทรัมป์ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ เชื่อว่าผลกระทบจะไม่รุนแรงอย่างที่คาดไว้ ส่วนผลดีที่ไทยจะได้รับเห็นได้ชัดคือเรื่อง TPP ที่ทรัมป์ไม่สนับสนุน และไทยยังไม่ได้เข้าร่วม โดยล่าสุดพบว่าผู้ประกอบการไทยชะลอการตัดสินใจและยืนยันที่จะปักหลักลงทุนไทยต่อไป จากที่ก่อนหน้านี้มีแนวโน้มที่จะย้ายฐานการผลิตไปเวียดนาม หนึ่งในสมาชิก TPP

ทั้งนี้ ไทยควรดูท่าทีและนโยบายที่ชัดเจนจากประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่เสียก่อน อย่าตื่นตระหนกจนเกินไป เพราะหากประเมินแล้วจะเห็นได้ว่า สินค้าที่สหรัฐนำเข้าส่วนใหญ่ยังคงเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐเองรวมทั้งสินค้าจากจีน นั่นก็เพราะบริษัทของสหรัฐเข้าไปลงทุนที่จีน และส่งสินค้ากลับประเทศ จึงมองว่าการกีดกันการค้าเสรีระหว่างประเทศจึงน่าจะเป็นเพียงนโยบายหาเสียง หากจะทำจริงคงไม่ง่าย เพราะสหรัฐไม่ใช่ประเทศผู้ผลิตสินค้าในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งยังคงต้องพึ่งพาประเทศอื่น ๆ อย่างมาก

"หากสหรัฐกีดกันสินค้าระหว่างประเทศจริง คนที่เดือดร้อนคือผู้นำเข้าและประชาชนของเขาเอง อย่างไรก็ตามต้องตรวจสอบข้อมูลว่า มีสินค้าอะไรบ้างที่ส่งออกไปสหรัฐ เพื่อประเมินแผนรับมือสำหรับสินค้าที่ไม่สร้างประโยชน์ต่อสหรัฐ เพราะทรัมป์ประกาศนโยบายว่า จะเน้นกีดกันสินค้าที่ไม่สร้างประโยชน์ต่อเศรษฐกิจสหรัฐ เพราะต้องการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ"

จับตาแคลิฟอร์เนียขอ "แยกตัว"

ขณะที่กระแสต่อต้านนายโดนัลด์ ทรัมป์ ยังคงมีให้เห็นทั่วประเทศสหรัฐ โดยเฉพาะในรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นฐานเสียงของนางฮิลลารี่ คลินตัน ผู้คนที่ไม่ยอมรับในตัวประธานาธิบดีคนใหม่ได้ออกมารณรงค์ขอแยกตัวรัฐแคลิฟอร์เนียเป็นอิสระจากอเมริกา หรือ #Calexit ซึ่งเป็นแผนที่รัฐแคลิฟอร์เนียเคยวางไว้ว่าจะมีการทำประชามติกันในปี 2018 เนื่องจากแคลิฟอร์เนียเป็นรัฐที่มีประชากรมากที่สุดในประเทศ เป็นรัฐแห่งเกษตรกรรมที่มีกำลังผลิตเป็นอันดับหนึ่ง มีจีดีพีถึง 14% ของทั้งสหรัฐ ทั้งยังโดดเด่นในเรื่องธุรกิจบันเทิง เช่น ฮอลลีวูด และนวัตกรรม โดยชาวแคลิฟอร์เนียส่วนหนึ่งมองว่าพวกเขาจ่ายภาษีให้รัฐบาลกลางไม่คุ้มกับผลตอบแทนจากทางรัฐ และไม่พอใจในการบริหารประเทศของรัฐบาลกลางตลอดเวลาที่ผ่านมา

"บิสซิเนส อินไซเดอร์" รายงานเพิ่มเติมว่าหากแคลิฟอร์เนียแยกตัวออกจากสหรัฐจริง ทางรัฐบาลกลางจะต้องสูญเสียรายได้จากภาษีของรัฐนี้มากถึงหลายแสนล้านดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว

ธุรกิจไทยรับอานิสงส์ TPP ล่ม

นักธุรกิจนักลงทุนไทยกำลังรอดูนโยบาย ในการบริหารประเทศของ "โดนัลด์ ทรัมป์" ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่มองในทิศทางบวก

ดร.รัชดา เจียสกุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และหุ้นส่วนและกรรมการผู้จัดการ บจ.โบลลิเกอร์ แอนด์ คอมพานี (ประเทศไทย) กล่าวว่า แม้ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ แต่คงไม่ต้องวิตกกังวลมากเกินไปว่าจะส่งผลกระทบทำให้ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ TPP ยุติลง หรือถูกยกเลิก เนื่องจากเสียงในพรรครีพับลิกันส่วนใหญ่ยังสนับสนุน TPP และที่ผ่านมาส่วนใหญ่เมื่อประธานาธิบดีคนใหม่ได้รับข้อมูลชัดเจนจากฝ่ายข้าราชการ นโยบายที่ออกมาเป็นทางการจะมีการปรับเปลี่ยนไม่น่าจะสุดโต่งเหมือนช่วงหาเสียง

หากทรัมป์ไม่ให้ความสำคัญหรือยกเลิก TPP ไทยควรพิจารณาสานความสัมพันธ์ทางการค้าผ่านเวทีอื่น ๆ เช่น กรอบความตกลงทางการค้าและการลงทุน (TIFA) ซึ่งเป็นกรอบที่เจรจากันต่อเนื่องอยู่แล้ว จึงไม่น่ามีปัญหา ที่สำคัญต้องติดตามสถานการณ์ และรู้ทันการกีดกันทางการค้า โดย Team Thailand ต้องทำงานเข้มแข็งขึ้น ทั้งภาครัฐและเอกชน และจากที่ทรัมป์สนับสนุนภาคธุรกิจ น่าจะเป็นโอกาสดีที่ธุรกิจไทยจะไปขยายธุรกิจในสหรัฐ โดยเฉพาะธุรกิจบริการ และอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป

ที่น่าสนใจคือ การโจมตี NAFTA เป็นโอกาสดีที่ไทยจะสานสัมพันธ์กับแคนาดา เม็กซิโก นอกจากนี้ นักธุรกิจ นักลงทุนหัวก้าวหน้า โดยเฉพาะพวกซิลิกอนวัลเลย์ แสดงออกชัดว่าไม่ชอบทรัมป์ น่าจะดึงดูดนักลงทุนเหล่านี้มาลงทุน ท่องเที่ยวและใช้ชีวิตที่เมืองไทย

นายวัลลภ วิตนากร ประธานกรรมการ บริษัท ไฮเทค กรุ๊ป ผู้ผลิตและส่งออกเสื้อผ้ากีฬารายใหญ่ ในฐานะรองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย มองว่า อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มของไทยไม่น่าได้รับผลกระทบจากนโยบายของทรัมป์ เพราะสหรัฐยังต้องการนำเข้าเสื้อผ้า เพราะหากจะเนรเทศแรงงานผิดกฎหมายให้ธุรกิจใช้แรงงานคนงานสหรัฐจะไม่คุ้ม เนื่องจากค่าแรงสหรัฐอยู่ที่ 7 เหรียญ/ชั่วโมง เทียบเท่าค่าแรงของไทย/วัน การชนะเลือกตั้งของทรัมป์จึงน่าเป็นผลดีกับไทยมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายกีดกันการค้าจีน ดังนั้นไทยจะส่งออกสินค้าได้เพิ่มขึ้น

เช่นเดียวกับ TPP ที่ทรัมป์ไม่สนับสนุน ก็เป็นปัจจัยบวกในการแข่งขันของไทย จากปัจจุบันคู่แข่งอย่างเวียดนาม เป็นหนึ่งในประเทศสมาชิก TPP ได้เปรียบ

นายวิษณุ ลิ่มวิบูลย์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และโทรคมนาคม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) มองในทำนองเดียวกันว่า การไม่สนับสนุน TPP ส่งผลดีต่อไทยมาก เพราะที่ผ่านมาไทยเสียเปรียบเวียดนาม ทำให้บริษัทที่คิดจะย้ายฐานผลิตไปเวียดนามอาจชะลอหรืออาจไม่เกิดขึ้น

ด้าน นายฤทธิรงค์ บุญมีโชติ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจกุ้ง บมจ.ไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป (TU) เปิดเผยว่า ยังเร็วไปที่จะบอกว่าไทยจะได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าวอย่างไรบ้าง ต้องรอทรัมป์ประกาศนโยบายชัดเจนก่อน สำหรับ TU เองเท่าที่พิจารณาเบื้องต้นคิดว่า ไม่มีผลกระทบทางลบ ทุกเรื่องน่าจะเป็นเรื่องที่ดีต่อ TU และประเทศไทย การที่ TU มีบริษัทอยู่ที่ในสหรัฐ ได้รับผลดีในเรื่องการลดภาษีส่วนบุคคล เพราะคนทำงานมีรายได้มากขึ้น เสียภาษีน้อยลง ในแง่ของบริษัทจะได้รับการลดภาษีจาก 35% เหลือ 15% ซึ่งถือว่าสูงมาก ถูกกว่าประเทศไทยที่เก็บอยู่ 20% และการลดภาษีจะทำให้บริษัทลงทุนมากขึ้น มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น เท่าที่ดูนโยบายของทรัมป์โดยรวม ต้องการกระตุ้นกำลังซื้อ และความแข็งแกร่งในประเทศเป็นหลัก ให้คนอเมริกันมีกำลังซื้อมากขึ้น หากเป็นจริงการส่งออกทูน่า และกุ้งจากไทยก็จะมากขึ้น ยกเว้นว่าจะออกมาตรการกีดดัน หรือขึ้นภาษี แต่เท่าที่ฟังต่อประเทศไทยยังไม่มี

"เราไปลงทุน ไปสร้างงานในประเทศอเมริกา ประเทศอเมริกาเปิดสำหรับการลงทุน เราไม่ได้ไปแย่งงานเขาทำ เราไปจ้างคนทำงาน ทำให้อัตราการว่างงานลดลง ผมว่าเขายินดีต้อนรับ"

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย และในฐานะรองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยชี้ว่า การส่งออกกุ้งสด แช่เยือกแข็ง และทูน่า ไปในตลาดสหรัฐ หลังจากมีประธานาธิบดีคนใหม่ แม้จะมีนโยบายกีดกันทางการค้า แต่สินค้าทั้ง 2 รายการคงไม่ได้รับผลกระทบ เพราะแม้สหรัฐสามารถผลิตได้แต่ไม่เพียงพอ ต้องการนำเข้าเพื่อการบริโภค โดยสหรัฐนำเข้ากุ้งจากต่างประเทศถึง 2 ใน 3 ของสินค้าที่ผลิตได้

ขณะที่โรงงานทูน่าในสหรัฐรายใหญ่ปิดตัวลงจากปัญหาของต้นทุนค่าแรง เชื่อว่าสหรัฐยังเป็นตลาดสำคัญของการส่งออก แต่ขึ้นอยู่กับว่าไทยจะมีสินค้าส่งออกหรือไม่

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ชาวไร่อ้อยลุ้น 17 พ.ย.เคาะค่าอ้อยขั้นต้นปี 59/60 ทะลุพันบาท  

         กบ.เตรียมหารือราคาอ้อยขั้นต้นฤดูกาลผลิตปี 59/60 วันที่ 17 พ.ย.นี้ ชาวไร่อ้อยยิ้มออกแน่ ราคาเบื้องต้นที่คำนวณไม่เป็นทางการสูงกว่าระดับ 1,000 บาทต่อตันแน่นอน ก่อนชง “กอน.” เห็นชอบ 28 พ.ย. ส่วนการเพิ่มราคาอ้อยขั้นต้นด้วยการกู้เงินจะไปต่อแบบไหนไปว่ากันที่เวทีประชาพิจารณ์ซึ่งอาจเป็นวันเดียวกับการประชุม กอน.

                นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทยและหัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 7 เปิดเผยว่า วันที่ 17 พ.ย.นี้จะมีประชุมคณะกรรมการบริหาร (กบ.) เพื่อพิจารณาราคาอ้อยขั้นต้นฤดูกาลผลิตปี 2559/60 เพื่อสรุปตัวเลขที่ชัดเจนจากนั้นจะนำไปสู่การเปิดประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นก่อนนำเสนอคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) พิจารณาเห็นชอบในวันที่ 28 พ.ย. เบื้องต้นราคาอ้อยขั้นต้นเฉลี่ยอยู่ระดับ 1,080 บาทต่อตัน

               “ราคาอ้อยขั้นต้นฯ คำนวณที่ 100% ความหวาน 10 ซี.ซี.เอส.สูงกว่า 1,000 บาทต่อตัน แต่ก็อยู่ที่ กบ.จะคำนวณที่ระดับ 95% ที่เท่าใด และจะต้องมาดูว่าจะประกาศรายเขตแบบใด ซึ่งฤดูผลิตปีที่แล้วประกาศ 2 ราคา โดย 8 เขตเท่ากัน แต่เขต 5 (สุพรรณบุรี) จะเป็นอีกราคาหนึ่งซึ่งจะดูตัวเลขแล้วคงจะกำหนดวันประชาพิจารณ์ซึ่งปีที่ผ่านๆ มามักจะเป็นวันเดียวกับประชุม กอน.คือประชาพิจารณ์เช้า แล้วบ่ายเข้า กอน.” นายนราธิปกล่าว      

        อย่างไรก็ตาม ราคาอ้อยระดับดังกล่าวภาพรวมชาวไร่อ้อยถือว่าเป็นระดับที่พอใจ โดยที่ผ่านมาการหารือจะต้องดูต้นทุนที่คำนวณหากออกมาไม่คุ้มทุนจะมีการเสนอรัฐให้สนับสนุนแหล่งเงินทุนด้วยการให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) กู้ผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แต่ปัจจุบัน ครม.ได้มีมติปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย หลังจากที่บราซิลได้ยื่นกล่าวหาไทยอุดหนุนน้ำตาลทรายส่งออกต่อองค์การการค้าโลก (WTO) การกู้รูปแบบเดิมจะดำเนินการไม่ได้ ดังนั้นจะมีการช่วยเหลือเพิ่มราคา หรือไม่ก็อาจจะต้องไปดูวิธีดำเนินการรูปแบบอื่นในเวทีประชาพิจารณ์

               นอกจากนี้ กบ.จะหารือถึงราคาอ้อยขั้นสุดท้ายปี 2558/59 เพื่อที่จะนำเสนอ กอน.กำหนดแนวทางการหักเงินเข้ากองทุนอ้อยฯ ตามมติ ครม.กรณีที่ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายสูงกว่าขั้นต้นไม่เกิน 25 บาทต่อตัน เบื้องต้นราคาอ้อยขั้นสุดท้าย 58/59 เฉลี่ยทุกเขตยังไม่หักเข้ากองทุนฯ จะสูงกว่าราคาอ้อยขั้นต้นประเมิน 60 บาทต่อตันยกเว้นเขต 5 ที่ติดลบ 0.45 บาทต่อตัน จากราคาอ้อยขั้นต้นเฉลี่ย 808 บาทต่อตัน 

จาก http://manager.co.th  วันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ก.อุตฯจับตานโยบายทรัมป์หวั่นกระทบศก.โลก

กระทรวงอุตสาหกรรม จับตานโยบาย โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ หวั่นกระทบเศรษฐกิจโลกหดตัว

นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม อยู่ระหว่างติดตามนโยบายของ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนใหม่ อย่างใกล้ชิด ซึ่งจากแนวนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ สหรัฐฯ อาจมีนโยบายในเชิงกีดกันสินค้า ซึ่งเชื่อว่าจะดำเนินการกับประเทศที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ามาก โดยการกีดกันทางการค้าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกหดตัว ประเทศผู้ส่งออก รวมถึงประเทศกำลังพัฒนาที่พึ่งพิงการส่งออกจะได้รับผลกระทบจนเดือดร้อนในที่สุด ส่วนไทยจะต้องเตรียมพร้อมที่จะรับมือนโยบายสหรัฐฯ ด้วยการกระจายตลาดส่งออกไปยังตลาดใหม่ๆ

ขณะที่การถอนโครงการลงทุนในประเทศไทยกลับไปสหรัฐฯ นั้น มองว่านักลงทุนจากสหรัฐฯ จะไม่ถอนการลงทุนกลับไป เพราะการเข้ามาลงทุน เช่น ฟอร์ด เข้ามาลงทุนผลิตรถยนต์ในประเทศไทย ไม่ได้ส่งออกรถยนต์ไปขายที่สหรัฐฯ เท่านั้น ยังขายในประเทศไทยและส่งออกไปขายในประเทศในประเทศเพื่อนบ้านและภูมิภาคอื่นๆ ด้วย นักลงทุนรายอื่นๆ ของสหรัฐฯ ก็เช่นกัน ไม่ได้เข้ามาลงทุนเพื่อผลิตส่งออกไปสหรัฐฯ เพียงอย่างเดียว

จาก http://www.innnews.co.th   วันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

'รมว.อุตฯ' จับตานโยบายกีดกันการค้าสหรัฐ

"รมว.อุตสาหกรรม" จับตานโยบายผู้นำสหรัฐคนใหม่อย่างใกล้ชิด เชื่อนักลงทุนสหรัฐจะไม่ถอนการลงทุนกลับประเทศ

นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากกรณีที่สหรัฐอเมริกาอยู่ระหว่างเปลี่ยนผู้นำประเทศ ทางกระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างติดตามนโยบายของผู้นำประเทศคนใหม่อย่างใกล้ชิด ซึ่งจากแนวนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ คาดว่า สหรัฐอาจมีนโยบายในเชิงกีดกันสินค้า อย่างไรก็ตาม หากสหรัฐมีนโยบายกีดกันทางการค้า ก็น่าจะดำเนินการกับประเทศที่สหรัฐขาดดุลการค้ามาก ซึ่งการกีดกันทางการค้าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกหดตัว ประเทศผู้ส่งออกรวมถึงประเทศกำลังพัฒนาที่พึ่งพิงการส่งออกจะได้รับผลกระทบจนเดือดร้อนในที่สุด ส่วนประเทศไทยจะต้องเตรียมพร้อมที่จะรับมือนโยบายสหรัฐเอาไว้ก่อนด้วยการกระจายตลาดส่งออกไป ยังตลาดใหม่ๆ

ในส่วนของการถอนโครงการลงทุนในประเทศไทยกลับไปสหรัฐนั้น นักลงทุนจากสหรัฐ ไม่น่าจะถอนการลงทุนกลับไปสหรัฐ เพราะการเข้ามาลงทุน เช่น ฟอร์ด เข้ามาลงทุนผลิตรถยนต์ในประเทศไทย ก็ไม่ได้เพียงส่งออกรถยนต์ไปขายที่สหรัฐเท่านั้น ยังขายในประเทศไทยและส่งออกไปขายในประเทศในประเทศเพื่อนบ้านและภูมิภาคอื่นๆ ด้วย นักลงทุนรายอื่น ๆ ของสหรัฐก็เช่นกันไม่ได้เข้ามาลงทุนเพื่อผลิตส่งออกไปสหรัฐเพียงอย่างเดียว

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ถกใหญ่แผนน้ำ12ปี ‘บิ๊กฉัตร’เร่งกรมชลประทาน สรุปภายในม.ค.ปีหน้า

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยหลังประชุมการบริหารจัดการน้ำของพื้นที่ฝั่งตะวันตกและตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาว่า กระทรวงเกษตรฯได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ทั้งนักวิชาการ อาจารย์ ผู้มีประสบการณ์ด้านน้ำเข้าหารือและรับฟังข้อเสนอแนะมาปรับปรุงแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำ 12 ปี ให้มีความสมบูรณ์ และเร่งรัดโครงการระยะยาวให้มีความรวดเร็วขึ้น โดยมอบหมายให้กรมชลประทานเป็นผู้รับผิดชอบ และเรียกประชุมเพื่อดูความคืบหน้าของแผนอีกครั้งภายในต้นเดือนมกราคม 2560

“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่า สถานการณ์น้ำในวันนี้มีความเปลี่ยนแปลงไป พื้นที่ที่โดนน้ำท่วมประจำมีจำนวนถี่ขึ้น โดยเฉพาะปรากฏการณ์เอลนิโญและลานิญาส่งผลรุนแรงขึ้นทุกที จึงอยากจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาคุยกัน เพื่อหาวิธีเร่งผลักดันโครงการระยะยาวของแผนน้ำ 12 ปี ขึ้นมาป้องกันปัญหาน้ำในปัจจุบัน” พล.อ.ฉัตรชัยกล่าว

พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวว่า ได้สั่งการให้กรมชลประทานไปทำแผน หากป้องกันน้ำตั้งแต่ จ.นครสวรรค์ลงมาจะทำอย่างไรได้บ้าง แบ่งเป็น 2 ตอน คือ ตอนบนให้ไปทำแก้มลิงเพิ่มเติม ส่วนตอนล่างใช้กักเก็บน้ำและระบายน้ำ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญเสนอแนะว่าไม่ควรจะระบายน้ำออกอย่างเดียว ต้องกักเก็บด้วย บางพื้นที่อาจจะต้องทำถนน ส่วนเวลาน้ำมาก็นำถนนไปเป็นคลองแทน ซึ่งแนวคิดนี้กรมชลฯจะนำไปปรับปรุงแผนต่อไป

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ลุยร่างพรบ.สรรพสามิต คลังกล่อมผู้ผลิต‘น้ำตาล-เครื่องดื่ม’ลงตัว

เผย สมาคมหอการค้าไทย และ สภาอุตฯยอมรับร่าง พ.ร.บ.สรรพสามิตฉบับใหม่แล้ว โดย กรรมาธิการ สนช. ยอมแก้ไขประเด็นเรื่องการเปิดเผยโครงสร้างราคาสินค้าที่ถือ “ความลับทางการค้า” แล้ว ด้าน “คลัง” ทุ่มงบ 2,000 ล้านบาทให้ กรมศุลซื้อเครื่องเอกซเรย์ ใช้สแกนสินค้าหรู –วัตถุต้องห้ามนำเข้าประเทศ รวมทั้ง “ของก๊อบ”

นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยความคืบหน้าในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต ว่า ยังอยู่ที่

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และอยู่ในชั้นของการพิจารณาของ คณะกรรมาธิการ หรือ วาระที่ 2 พบว่า มีความคืบหน้าไปมาก คาดว่าจะประชุมอีก 2-3 ครั้ง ก็จะพิจารณารายละเอียดครบทุกมาตรา และ สนช. พิจารณาเห็นชอบในวาระที่ 3 ได้ ก่อนบังคับใช้ในปีหน้า

สำหรับประเด็นที่ผู้ประกอบการกังวล เรื่องการเปลี่ยนแปลงการเก็บภาษีจากเดิมเก็บจากฐานราคาขายปลีกหรือราคาสำแดงนำเข้า มาเป็นราคาขายปลีกหรือราคาแนะนำขั้นสุดท้าย ที่ผ่านมาได้มีการหารือกับผู้ประกอบการผ่าน สมาคมหอการค้าไทย และ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ก็ได้ทำความเข้าใจเป็นที่ยอมรับได้ทุกฝ่ายแล้ว

นายสมชายกล่าวว่า สำหรับประเด็นที่ผู้ประกอบการกังวลคือเรื่องที่ต้องส่งโครงสร้างราคาขายปลีกให้กรมฯพิจารณา เพราะถือเป็นความลับทางการค้า แต่หากมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างราคาไปจากที่ส่งมา จะมีความผิดแจ้งข้อเท็จจริงเป็นเท็จในการเสียภาษีได้ ดังนั้น คณะกรรมาธิการก็จะเขียนกฎหมายผ่อนผันมากขึ้น เช่น การส่งโครงสร้างราคาขายปลีกแบบกว้าง ว่าราคาขายปลีกประกอบด้วย จากการผลิตเท่าไร จากรายการอื่นๆ เท่าไร ไม่ต้องลงรายละเอียดว่าต้นทุนจากการผลิตมาจากวัตถุดิบแต่ละอย่างเท่าไร ซึ่งผู้ประกอบการก็เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว

นายสมชายกล่าวว่า เมื่อพ.ร.บ.ฉบับใหม่ มีผลบังคับใช้ในปีหน้า จะทำให้การเก็บภาษีของกรมสรรพสามิตมีประสิทธิภาพมากขึ้น เกิดความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการภายในและนอกประเทศมากขึ้น

มีรายงานแจ้งว่า ก่อนหน้านี้ กลุ่มผู้ประกอบการ ภาคเอกชนโดยเฉพาะกลุ่มน้ำตาล และเครื่องดื่ม ได้ทำหนังสือถึงคณะกรรมาธิการ ท้วงติงเรื่องดังกล่าว

ด้าน นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังได้อนุมัติงบประมาณจัดซื้อเครื่องเอกซเรย์คร่อมสายพานลำเลียงกระเป๋าสนามบินทั่วประเทศแล้ว เพื่อใช้ในการตรวจสอบการนำเข้าสินค้าหรูและวัตถุสิ่งของต้องห้ามนำเข้ามาในประเทศ วงเงิน 2,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ เครื่องเอกซเรย์ จะทำการตรวจกระเป๋าตั้งแต่วิ่งอยู่บนสายพานลำเลียงกระเป๋าเข้าสนามบินเพื่อมาให้ผู้โดยสาร หากมีกระเป๋าที่ต้องสงสัยนำเข้าสินค้าหรูเข้ามาเกินกฎหมายกำหนด หรือสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ หรือสิ่งของต้องห้ามเข้ามาในประเทศ กระเป๋าใบดังกล่าวก็จะถูกทำเครื่องหมายและเมื่อผู้โดยสารนำออกมาก็จะถูกเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภายในกระเป๋าอีกครั้งหนึ่ง หากมีการนำเข้าสินค้าหรูเกินก็จะต้องเสียภาษีให้ครบก่อนนำเข้า หากเป็นสิ่งของต้อมห้ามก็ต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

สำหรับการใช้เครื่องเอกซเรย์คร่อมสายพาน ทำให้การตรวจสอบสินค้านำเข้า โดยเฉพาะสินค้าหรูราคาแพงที่นำเข้ามาเกินกำหนดของกฎหมายอนุญาตไว้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จากเดิมที่กรมศุลกากรจะสุ่มตรวจเป็นบางกระเป๋าเท่านั้น แต่หลังจากนี้ทุกใบจะถูกเอกซเรย์ตรวจสอบทั้งหมด

นายกุลิศกล่าวว่า การติดตั้งเครื่องเอกซเรย์คร่อมสายพานแบ่งเป็นที่สนามบินสุวรรณภูมิ 23 สายพาน และที่สนามบินดอนเมือง สมุย เชียงใหม่ ภูเก็ต อีก 6 สายพาน วงเงินประมาณ 2,000 ล้านบาท การติดตั้งนี้ยังรวมถึงห้องควบคุมเครื่องเอกซเรย์ที่ทันสมัย สามารถดูการเอกซเรย์คร่อมสานพานลำเลียงได้ทั้งหมดแบบเรียลไทม์ หรือย้อนภาพกลับมาตรวจสอบซ้ำก็ได้ ซึ่งจะดำเนินการติดตั้งเสร็จในปี 2560 และเริ่มใช้ในปี 2561 นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังเห็นชอบงบประมาณอีกจำนวน 681 ล้านบาท

ให้กรมศุลกากรซื้อเครื่องเอกซเรย์ที่เป็นรถตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อนำไปใช้ในด่านต่างๆ ที่มีการนำเข้าสินค้าจำนวนมาก ซึ่งจะทำให้การเก็บภาษีของกรมศุลกากรมีประสิทธิภาพ และลดการทุจริตของเจ้าหน้าที่และผู้นำเข้าได้มากขึ้น

จาก http://www.naewna.com วันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

เล็งรื้อใหญ่โครงข่ายชลประทาน เจ้าพระยาตอนล่างฝั่งตะวันออก-ตกเพิ่มศักยภาพระบายน้ำ

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานมีแผนปรับปรุงโครงข่ายระบบชลประทานของแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างทั้งฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก เพื่อเพิ่มอัตราการไหลและจัดระบบการไหลของแม่น้ำเจ้าพระยาให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวม 3 พื้นที่ ประกอบด้วย 1.พื้นที่ตอนบนของแม่น้ำเจ้าพระยา มีแผนจะก่อสร้างคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร พร้อมอาคารประกอบเพื่อผันน้ำเลี่ยงตัวเมืองพระนครศรีอยุธยาให้ระบายน้ำได้ 1,200 ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)/วินาที แผนปรับปรุงแม่น้ำเจ้าพระยาจากด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ถึงบริเวณปากคลองบางบาลให้ระบายน้ำ 2,500 ลบ.ม./วินาที โดยไม่ล้นตลิ่ง และแผนเพิ่มประสิทธิภาพคลองชัยนาท-ป่าสักให้ระบายน้ำได้ 1,000 ลบ.ม./วินาที

2.พื้นที่ตอนล่างฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ประกอบด้วย แผนปรับปรุงโครงข่ายระบบชลประทานตั้งแต่ท้ายคลอง

 เจ้าเจ็ด-บางยี่หนจนถึงอ่าวไทย เพื่อระบายน้ำลงสู่พื้นที่ตอนล่างออกไปทางแม่น้ำท่าจีน แม่น้ำเจ้าพระยา โดยใช้พื้นที่เกาะกลางถนนพุทธมณฑลสาย 5 ขุดคลองระบายในแนวเหนือ-ใต้ลงสู่คลองภาษีเจริญให้ได้ 30 ลบ.ม./วินาที พร้อมก่อสร้างอุโมงค์บางน้ำจืดรับน้ำจากเขตภาษีเจริญลงคลองมหาชัย 50 ลบ.ม./วินาที มาลงที่พื้นที่รับน้ำมหาชัย-สนามชัยในอัตราเดียวกัน รวมทั้งมีแผนปรับปรุงขุดลอกสันดอนแม่น้ำท่าจีน/คลองลัดธรรมชาติเดิม เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำแม่น้ำท่าจีนตอนล่างออกสู่ทะเลให้ได้ 500 ลบ.ม./วินาที และแผนปรับปรุงโครงข่ายคลองในแนวเหนือ-ใต้ของฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าจีนให้สามารถระบายน้ำลงสู่ทะเลโดยตรงได้ 150-200 ลบ.ม./วินาที

3.พื้นที่ตอนล่างฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มตั้งแต่คลองระพีพัฒน์จนถึงอ่าวไทย กรมชลประทานมีแผนงานที่สำคัญคือ แผนงานปรับปรุงระบบชลประทาน เพื่อระบายน้ำจากแม่น้ำป่าสัก ผ่านคลองระพีพัฒน์ไปทางแม่น้ำนครนายก แม่น้ำบางปะกงตอนล่าง และลงสู่อ่าวไทยให้ได้ 400 ลบ.ม./วินาที แผนการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำระยะทาง 20 กิโลเมตร เพื่อช่วยเพิ่มอัตราการระบายในพื้นที่ลุ่มต่ำของสนามบินสุวรรณภูมิ และแผนงานขุดคลองระบายน้ำหลากสายใหม่จากแม่น้ำป่าสัก-อ่าวไทย ให้ระบายน้ำได้ 600-1,000 ลบ.ม./วินาที

จาก http://www.naewna.com วันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

รมว.เกษตรฯเผยสถานการณ์น้ำดีขึ้น

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผย สถานการณ์น้ำดีขึ้น จะทำให้ผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้น แนะเกษตรกรหันปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทนข้าว ป้องกันราคาตก

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ถึงสถานการณ์น้ำ ว่า ขณะนี้สถานการณ์น้ำเริ่มดีขึ้น และกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยปริมาณน้ำในเขื่อนหลัก พบว่าทุกเขื่อนน้ำปรับตัวเพิ่มขึ้นจนเข้าสู่ระดับปกติ และเพียงพอกับความต้องการในการทำการเกษตรอย่างแน่นอน จึงคาดว่าปริมาณพืชผลทางการเกษตรปรับเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะข้าว ซึ่งทางด้านกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เตรียมมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร และรองรับผลผลิตข้าวที่กำลังจะออกมา ป้องกันปัญหาราคาตกต่ำ โดยการเชิญชวนให้เกษตรกรหันไปปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยแทนการปลูกข้าว อาทิ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง รวมถึงเพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนจากปัญหาราคาข้าวตกต่ำ จึงได้มอบหมายให้กรมสหกรณ์การเกษตร ไปรับซื้อข้าวจากชาวนาราคาที่สูงกว่าท้องตลาดมาบรรจุถุงจำหน่ายให้กับประชาชน รวมถึงได้สั่งการให้ทุกหน่ายของกระทรวงเกษตรฯ เปิดจุดจำหน่ายข้าวให้กับประชาชนอีกด้วย

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

พาณิชย์หวังสหรัฐปลดไทยพ้นบัญชีPWL

พาณิชย์มั่นใจไทยมีโอกาสหลุดจากบัญชี PWL สูง แม้ “ทรัมป์” ขึ้นเป็นประธานาธิบดี และมีนโยบายคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาสุดเข้ม ระบุไทยมีผลงานชัด ทั้งแก้กฎหมายปราบปราม พัฒนาการจดทะเบียน

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยถึงกรณีที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ และมีแนวโน้มว่าจะใช้นโยบายเข้มงวดในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญากับประเทศคู่ค้า ว่า ไทยเชื่อว่าในการประเมินสถานะประเทศไทยภายใต้กฎหมายการค้าสหรัฐ มาตรา 301 ที่จะมีขึ้นในช่วงเดือน เม.ย.2560 ไทยมีโอกาสที่จะหลุดจากบัญชีประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) ได้ เพราะการทำงานที่ผ่านมา ไทยมีเป้าหมายชัดเจน ทั้งการปรับปรุงกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด และมีโรดแมปการทำงานที่ชัดเจนในทุกเรื่อง

"นอกเหนือจากการปรับปรุงกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย ไทยยังได้มีการผลักดันและพัฒนาให้มีการนำงานด้านทรัพย์สินทางปัญญาไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่มุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรมให้กับสินค้าและบริการของคนไทย” นางอภิรดีกล่าว

ด้านนายทศพล ทังสุบุตร รักษาการอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า ไทยได้มีการหารือกับสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) อย่างต่อเนื่อง เพื่อติดตามผลการทำงานด้านทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างไทยกับสหรัฐ ซึ่งที่ผ่านมา ไทยได้มีการแก้ไขกฎหมายตามที่สหรัฐเรียกร้อง เช่น กฎหมายลิขสิทธิ์ที่ให้เอาผิดการละเมิดทางอินเทอร์เน็ต การเข้มงวดในการปราบปรามสินค้าละเมิดให้หมดไป การเข้าเป็นภาคีพิธีสารมาดริด การปรับปรุงการจดสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าให้มีความรวดเร็วขึ้น โดยการทำงานทุกเรื่องมีความคืบหน้าชัดเจน

โดยเรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญ และสั่งการมาโดยตลอดให้เร่งแก้ไขปัญหา ทั้งเรื่องการจดทะเบียนที่คั่งค้าง ที่ได้อนุมัติกำลังคนให้ถึง 120 อัตรา ส่วนเรื่องการปราบปราม นายกฯ ได้มอบหมายให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เข้ามาดูแล

ซึ่งผลการทำงาน รัฐบาลสหรัฐได้รับรู้และตระหนักว่า ไทยตั้งใจทำงานมาโดยตลอด ซึ่งหากไม่เปลี่ยนรัฐบาล โอกาสไทยที่จะอยู่ในบัญชีที่ดีขึ้นนั้น มีแน่ และถึงแม้จะเปลี่ยนรัฐบาล ผลการทำงานก็น่าจะบอกได้ชัดว่าไทยทำดี และคาดหวังสหรัฐจะจัดอันดับไทยมาอยู่ในสถานะที่ดีขึ้นในปี 2560 จากบัญชี PWL มาอยู่ในบัญชีจับตามอง หรือ WL.

จาก http://www.thaipost.net   วันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ก.อุตฯ ฟันธงปีนี้จีดีพีเอสเอ็มอีขยายตัว 5-5.5%

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปี 2559 ประเมินการขยายตัวผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ของภาคเอสเอ็มอี (จีดีพีเอสเอ็มอี) ขยายตัวตามกรอบเดิม 5 – 5.5% แต่จะประเมินใหม่อีกครั้งประมาณกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ เนื่องจากขณะนี้คนไทยกำลังอยู่ในอาการเศร้าโศก หลังจากการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ส่วนปี 2560 คาดว่าจีดีพีเอสเอ็มอีจะขยายตัวในกรอบ 5-5.5% เช่นกัน เนื่องจากยังมีทั้งปัจจัยบวก อาทิ การลงทุนของภาครัฐ โครงการขนาดใหญ่ ทำให้การลงทุนภาคเอกชนตามมา นอกจากนี้รัฐบาลยังมีนโยบายสนับสนุนเอสเอ็มอีต่อเนื่อง โดยเฉพาะมาตรการด้านเงินทุนเพื่อช่วยเหลือสภาพคล่อง นอกจากนี้นโยบายสำคัญต่อเอสเอ็มอีที่ต้องดำเนินการ คือ การสนับสนุนให้มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกลุ่มธุรกิจที่มูลค่าสูง (ไฮ แวลู) และกลุ่มธุรกิจที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจสูง (ไฮ อิมแพค) เพราะกลุ่มนี้แม้จะมีไม่มาก แต่ถ้าผลักดันอย่างเป็นระบบทุกภาคส่วน เชื่อว่าจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างมากแน่นอน แต่ก็ไม่ได้ละเลยกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ต้องการความช่วยเหลือผ่านโครงการต่างๆ

“ปัจจัยลบในปี 2560 เรื่องหลัก คือ เศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะผลกระทบจากภาคการส่งออก อาทิ นโยบายการค้าของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ จะมีทิศทางอย่างไร ผลกระทบจากการปราบทัวร์ศูนย์เหรียญ ที่ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงแต่ไทยจะได้นักท่องเที่ยวคุณภาพในระยะยาว” นายสนธิรัตน์กล่าว

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

การบริหารจัดการน้ำสมดุล ความท้าทายที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือ

"ICID" เป็นองค์กรระหว่างประเทศด้านการชลประทานและการระบายน้ำ ในปีนี้ไทยรับไม้ต่อจากตุรกีจัดประชุม World Irrigation forum ครั้งที่ 2 ที่เชียงใหม่ น่าสนใจว่า หัวข้อหลักครั้งนี้จะเน้นหารือ "การบริหารจัดการน้ำภายใต้สภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก" นับเป็นปรากฏการณ์อันท้าทายต่อการพัฒนาทุกมิติทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งเเวดล้อม เพื่อลดความยากจนเเละความหิวโหยและโดยเฉพาะภาคการเกษตร น้ำกับภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ได้หารือใน 3 หัวข้อ 1.การแสวงหาแนวทางการบริหารจัดการเพื่อสร้างความสมดุลระหว่าง น้ำ อาหาร พลังงานและระบบนิเวศ 2.การร่วมกำหนดวิธีการรับมือที่เหมาะสมกับสภาพการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศที่มีผลต่อปริมาณน้ำ ทั้งอุทกภัย และภัยแล้ง และ 3.เป็นการใช้ระบบชลประทานและการระบายน้ำเพื่อลดความยากจน และความหิวโหยโดยร่วมวางแนวทางพัฒนาแหล่งน้ำ ซึ่งถือเป็นปัจจัยพื้นฐานให้เพียงพอที่จะสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยใช้ทำการเกษตร

ซึ่งแนวทางของไทยมีการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ คือ ดำเนินการพื้นที่ทำกินขนาดเล็กด้วยการจัดการระดับไร่นาอย่างเหมาะสม การทำแก้มลิงในการชะลอน้ำ เก็บน้ำ เพื่อลดปัญหาน้ำท่วม รวมถึงอ่างเก็บน้ำเขื่อนต่าง ๆ ทั่วประเทศและที่ประชุมเห็นว่าประชากรมากกว่าร้อยละ 75 อยู่ชนบทกับการเกษตรหลัก จึงได้สรุปว่าการดำเนินงานจากนี้ให้ส่งเสริมเกษตรกรรวมกลุ่มรูปแบบเกษตรแปลงใหญ่ ให้มีอำนาจการต่อรอง เพื่อยกระดับเครือข่ายชนบทควบคู่กับการพัฒนาเมืองรวมถึงการส่งเสริมสร้างภูมิคุ้มกันครัวเรือนที่มีรายได้น้อยในชนบท

ทางด้าน ดร.ซาอีด ไนรีซี ประธาน ICID กล่าวว่า การชลประทานและการระบายน้ำเป็นกุญแจสำคัญต่อความมั่นคงทางน้ำและอาหารที่ต้องเผชิญธรรมชาติที่มีอย่างจำกัด เราได้ตระหนักถึงการเติบโตที่มีความจำเป็นต่อการปรับปรุงการผลิตน้ำเพื่อการเกษตรและการแข่งขันเรื่องน้ำที่ทวีความรุนแรง ซึ่งที่ผ่านมา การประชุมสภาพภูมิอากาศ Paris Climate Conference (COP21) ได้มีการเรียกร้องระดับโลกร่วมกันเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง และแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบันและอนาคต

กูรูน้ำฮอนแลนด์ชี้หลักบริหารน้ำ

ศาสตราจารย์บาร์ธ ชูลทส์ ผู้เชี่ยวชาญระดับโลกด้านการระบายน้ำและการพัฒนาที่ลุ่ม ประเทศเนเธอร์แลนด์ กล่าวว่าความท้าทายที่มนุษย์ต้องเผชิญในการบริหารจัดการน้ำ ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของโลก มี 2 ประเด็นหลัก คือ 1.หลักการบริหารจัดการน้ำกับการเติบโตของจำนวนประชากร 2.บทบาทน้ำกับความยั่งยืนด้านอาหาร

ในอนาคตการเติบโตของจำนวนประชากรจะเป็นสิ่งชี้วัดการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ชนบทโดยส่วนมากเป็นพื้นที่เกษตรกรรมจะมีอัตราการเติบโตของประชากรเพิ่มขึ้นเท่าตัว แน่นอนว่าพื้นที่เหล่านี้การติดตั้งระบบชลประทานจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการเกษตร ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นคือความไม่เพียงพอของอาหาร จะสังเกตเห็นได้ว่า ประเทศที่มีศักยภาพเเละพัฒนาแล้วจะเป็นแหล่งผลิตเเละส่งออก ตรงกันข้ามกับประเทศที่ด้อยพัฒนาหรือกำลังพัฒนาจะต้องพึ่งพาการนำเข้าอาหารและสินค้าทดแทน อาทิ ข้าวโพดสาลี มันฝรั่ง นั่นคือความท้าทายด้านชลประทาน ชูลทส์ได้ยกตัวอย่างพัฒนาการด้านการเกษตรประเทศฝรั่งเศสระยะหลังจะผลิตอาหารเพื่อป้อนชุมชนเมืองโดย ที่ราคาข้าว ข้าวโพด ข้าวสาลี หรืออาหารจำพวกธัญพืชเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในปี 2008 นับเป็นโชคดีของผู้บริโภคแต่กลับเป็นโชคร้ายของเกษตรกรรวมถึงโจทย์บริหารน้ำที่รัฐบาลต้องจัดการให้เพียงพอ

ดังนั้น รัฐบาล องค์กร เกษตรกรต้องหันหน้าเข้าหากันบริหารจัดการไม่ใช่เฉพาะหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง จึงเป็นความท้าทายการบริหารน้ำในประเทศนั้น ๆ ขณะเดียวกันยังมีผลกระทบความเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินของมนุษย์โดยเฉพาะแถบชายฝั่ง นานาประเทศประเมินความเสี่ยงดินทรุดถี่ขึ้น แต่รัฐบาลเนเธอร์แลนด์แม้จะมีความเสี่ยง 1 ใน 1,000 ปีข้างหน้า แต่ไม่นิ่งนอนใจด้วยสภาวะการเปลี่ยนแปลงของโลกเเล้ว ต้องให้ความใส่ใจความปลอดภัยเรื่องของที่ดินตลอดเวลาและมีการวางแผน อนุสัญญาปารีสจะเป็นสิ่งสะท้อนความตื่นตัวด้านทรัพยากรบนโลก

ดังนั้น ที่ดินจึงเป็นปัจจัยหลักอีกประการของปัญหาการจัดการทรัพยากรน้ำ ส่วนปัจจุบันทั่วโลกอาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบท 3,400 ล้านคน หรือร้อยละ 45 และภายในปี 2050 ประชากรจะลดลงเหลือร้อยละ 34

ในทางกลับกันประเทศที่กำลังพัฒนาร้อยละ 75 อยู่ในพื้นที่ชนบท ส่วนใหญ่ยังต้องพึ่งพาเกษตรกรรมและเผชิญความยากจน ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงชนบทจะเป็นพลังสำคัญต่อการพัฒนา

สอดคล้องกับ Ms.Kundhavi Kadiresan (Director General FAO) กล่าวว่า เอฟเอโอได้ประเมินว่าอนาคตเอเชียจะมีน้ำจืดลดลง บริบทต่าง ๆ จะเปลี่ยนแปลงไปทั้งการชลประทานเพื่อเป็นแหล่งผลิตอาหารจะเริ่มเป็นปัญหารวมถึงสิ่งแวดล้อมจะเข้ามาท้าทายระบบนิเวศ การจัดการด้านทรัพยากรต้องถูกวางอย่างเป็นระบบเพราะแต่ละประเทศต้องอาศัยการลงทุน พัฒนาขีดความสามารถ

"เราจะไม่สามารถแก้ปัญหาอื่นได้หากไม่บริหารจัดการน้ำก่อน"

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ทิศทางค่าเงินบาทสัปดาห์หน้า(14-18 พ.ย.)

เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 1 เดือน ก่อนลดช่วงติดลบลงมาบางส่วน โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยในช่วงแรก โดยอาจมีแรงหนุนจากแรงขายเงินดอลลาร์ฯ ในประเทศ หลังจากราคาทองคำในตลาดโลกปรับสูงขึ้นท่ามกลางความกังวลต่อชัยชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ อย่างไรก็ดี เงินบาทกลับมาอ่อนค่าลงในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ ฟื้นตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งจากแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อาจได้รับแรงกระตุ้นเพิ่มเติมจากมาตรการเศรษฐกิจของนายทรัมป์ ประกอบกับตลาดประเมินว่า เฟดยังมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือนธ.ค. นี้

สำหรับในวันศุกร์ (11 พ.ย.) เงินบาทอยู่ที่ 35.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 34.97 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ (4 พ.ย.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (14-18 พ.ย.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 35.10-35.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยจุดสนใจของตลาดการเงินทั่วโลกน่าจะอยู่ที่ผลกระทบที่ตามมาหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และสัญญาณเกี่ยวกับแนวโน้มดอกเบี้ยสหรัฐฯ จากถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดระดับสูง และตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญได้แก่ ดัชนีกิจกรรมการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์กและสาขาฟิลาเดลเฟีย ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือนพ.ย. ยอดค้าปลีก ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ดัชนีราคานำเข้าและส่งออก การผลิตภาคอุตสาหกรรม การเริ่มสร้างบ้านและการอนุญาตก่อสร้างเดือนต.ค. รวมถึงข้อมูลเงินทุนไหลเข้าสุทธิและปริมาณการซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ของต่างชาติเดือนก.ย. นอกจากนี้ นักลงทุนอาจมีจุดสนใจเพิ่มเติมที่ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3 ของญี่ปุ่นและยูโรโซน ตลอดจนตัวเลขเศรษฐกิจเดือนต.ค. ของจีน

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

บราซิลพอใจถกไทยกรณีอุดหนุนน้ำตาล  

ไทยบินถกบราซิลกรณีถูกร้องต่อ WTO ว่าอุดหนุนการส่งออกน้ำตาลคืบหน้าหลัง "บราซิล" พอใจแผนปรับโครงสร้างอุตฯอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยแต่หวั่นไม่ปฏิบัติจริงขอให้ไทยส่งแผนปฏิบัติภายใน 1 เดือนก่อนบินถกอีกรอบ 7 ก.พ. 60

          แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยได้เดินทางเพื่อเจรจากับบราซิลกรณีที่บราซิลยื่นคำร้องต่อองค์การการค้าโลก(WTO) กล่าวหาไทยอุดหนุนการส่งออกน้ำตาลทรายจนเป็นผลให้ราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกตกต่ำ ซึ่งการเจรจาเป็นไปด้วยดีโดยทางบราซิลพอใจต่อแผนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ของไทยที่ได้ผ่านมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)ไปแล้วเมื่อตุลาคมแต่ต้องการเห็นความชัดเจนจึงขอให้ไทยนำเสนอแผนปฏิบัติกลับมาให้พิจารณาอีกครั้งในภายใน1 เดือน จากนั้นจะมีการหารือกันอีกรอบประมาณวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560

          ทั้งนี้ ไทยได้ชี้แจงให้เห็นถึงความตั้งใจต่อแผนปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อย และน้ำตาลทรายที่ได้กำหนดแผนหลักๆ 3 ด้านเพื่อที่จะทำให้บราซิลหายกังวลได้แก่ 1.การปรับโครงสร้างราคาน้ำตาลทรายโดยนำไปสู่การลอยตัว 2.การยกเลิกโควตาน้ำตาลทรายทั้งหมดที่ปัจจุบันกำหนดเป็นโควตา ก. (บริโภคในประเทศ) และการ ส่งออก(โควตา ข.และโควตา ค.) 3.งดการช่วยเหลือด้านราคาอ้อยกับเกษตรกร

          นายธีระชัย แสนแก้ว  ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน กล่าวว่า การเดินทางไปเจรจากับบราซิลมีทิศทางที่ดีขึ้นซึ่งก็คงจะต้องเจรจาและดูท่าทีกันต่อไปอีก อย่างไรก็ตาม กรณีราคาอ้อยขั้นต้นฤดูกาลผลิตปี 59/60 คงจะไม่มีการขอกู้เงินเพิ่มจาก ธ.ก.ส.เช่นที่ผ่านๆ มาแต่ในแผนปรับโครงสร้างฯ นั้นชาวไร่และโรงงานจะได้มาหารือถึงแนวทางต่อไปกรณีที่ราคาอ้อยไม่คุ้มกับต้นทุนการผลิตซึ่งก็มีวิธีดำเนินการได้ไม่ยาก

          "บราซิลมองว่ารัฐอุดหนุนส่วนหนึ่งเพราะการช่วยเหลือค่าอ้อยเพิ่มเติมจากที่ประกาศได้นำไปเข้า ครม.เพื่อรับทราบให้ ธ.ก.ส.ปล่อยกู้ให้ซึ่งจุดนี้จริงๆ แล้วถ้าไม่ผ่าน ครม.ก็จบ เพราะจริงๆ แล้วเป็นการกู้ ของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย(กท.) กับธ.ก.ส. ต่อไป ถ้าก็ไม่ต้องรายงาน ครม.ให้เป็นเรื่องของเอกชนกับเอกชนแต่ตอนนี้ทำอย่างไรให้กองทุนอ้อยนั้นมีเงินสะสมเพราะขณะนี้ยังเป็นหนี้อยู่ ทั้งหมดเราก็คงจะ ต้องใช้เวลาอีกปีหนึ่งถึงจะปฏิบัติได้" นาย ธีระชัย กล่าว.

จาก http://manager.co.th  วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ลุ้นบราซิลถอนฟ้องไทย

           สอน.เผยสัญญาณดี หลังบินถกบราซิลหวังถอนฟ้องไทยคดีอุดหนุนน้ำตาลทราย เร่งสรุปแผนปรับโครงสร้างน้ำตาลเสนอดับเบิ้ลยูทีโอ

          นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะผู้แทนไทยประกอบด้วย กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ ชาวไร่อ้อย และโรงงานน้ำตาลทราย ได้เดินทางไปประเทศบราซิลเพื่อชี้แจง กรณีรัฐบาลบราซิลฟ้องร้องไทยต่อองค์การการค้าโลก (ดับเบิ้ลยูทีโอ) ที่กล่าวหาว่ารัฐบาลไทยมีการอุดหนุนอุตสาหกรรมน้ำตาลทราย

          ทั้งนี้ ข้อกล่าวหาดังกล่าวทำให้ไทยต้องเร่งดำเนินการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเพื่อให้บราซิลและดับเบิ้ลยูทีโอเห็นความตั้งใจในการแก้ไขของไทย โดยผลการหารือเบื้องต้นพบว่ามีสัญญาณที่ดี คาดว่าบราซิลจะไม่นำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการไต่สวน แต่มีเงื่อนไขว่าไทยจะต้องทำข้อมูลรายละเอียดการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมให้ชัดเจนภายในเดือน ก.พ. 2560

          อย่างไรก็ตาม สอน.จะประสานกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำเสนอแผน กลับไปยังกรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของดับเบิ้ลยูทีโออีกครั้ง โดยหากดำเนินการเรียบร้อยจะนำรูปแบบการปรับโครงสร้างมาใช้ในฤดูกาลผลิตปี 2560/2561

          สำหรับแผนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้ง ระบบ ซึ่งผ่านการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 11 ต.ค.ที่ผ่านมา เห็นชอบแผนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ รวม 5 เรื่อง คือ การปรับปรุง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาล ซึ่งตามแผนจะยกเลิกโควตาน้ำตาลเพื่อบริโภคในประเทศ (โควตา ก.) รวมทั้งกฎหมายและระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้ครอบคลุมการนำอ้อยไปผลิตเอทานอลและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้

          นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการเพิ่มผลิตภาพอ้อยและน้ำตาลทราย รวมถึงกำหนดต้นทุนมาตรฐานอ้อยและน้ำตาลทราย และมาตรฐานการผลิตน้ำตาลทราย การรักษาเสถียรภาพกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย และให้มีการจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาอ้อยและน้ำตาลทรายและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง

          ขณะเดียวกัน สอน.ยังอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างภายในองค์กรเพื่อให้สอดคล้องกับแผนการปรับโครงสร้างใหม่ของกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งจะมีบทบาทในการส่งเสริมอุตสาหกรรมชีวภาพมากขึ้น โดยจะมีการจัดตั้งสำนักพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพขึ้นเพิ่มเติม โดยมีหน้าที่หลักในการวางนโยบายการพัฒนาด้านเอทานอลจากอ้อย สนับสนุนเรื่องวิจัยและการพัฒนา และสนับสนุนด้านข้อมูลแก่ผู้ประกอบการและประชาชน

          นายสมศักดิ์ กล่าวว่า พร้อมกันนี้จะยกสถานะกองกฎหมายซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระภายใต้ สอน.ขึ้นมามีสถานะเทียบเท่ากับสำนัก เนื่องจากปัจจุบันมีการฟ้องร้องเกิดขึ้นหลายคดี ทำให้ต้องมีการเตรียมความพร้อมรองรับอนาคตเพิ่มขึ้น โดยจะนำเสนอสู่ที่ประชุมปรับโครงสร้างของกระทรวงอุตสาหกรรมที่มี นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม เป็นประธาน

          ทั้งนี้ ปัจจุบันโครงสร้างของ สอน.ประกอบด้วย 4 สำนัก คือ 1.สำนักบริหารกลาง ทำหน้าที่ดูแลงานทั่วไป 2.สำนักนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ บริหารงานด้านงบประมาณ นโยบายและแผนงานทั้งในและต่างประเทศที่เกี่ยวข้อง

          3.สำนักพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย บริหารงานภาพรวมด้านผลิตภาพอ้อย การปรับโครงสร้าง การพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายอย่างยั่งยืน และ 4.สำนักบริหารอ้อยและน้ำตาลทราย บริหารงานด้านการตลาด โดยภายหลังแผนปรับโครงสร้างสมบูรณ์จะทำให้ สอน.มีสำนักบริหารรวมทั้งหมด 6 สำนัก

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ลุ้นบราซิลถอนฟ้องไทยพ้นคดี'อุดหนุนน้ำตาล'  

          นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะผู้แทนไทย ประกอบด้วย กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ ชาวไร่อ้อย และโรงงานน้ำตาล ได้เดินทางไปบราซิลเพื่อชี้แจงกรณีรัฐบาลบราซิลฟ้องร้องไทยต่อองค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) โดยระบุว่ารัฐบาลไทยมีการอุดหนุนอุตสาหกรรมน้ำตาลจนกระทบต่ออุตสาหกรรมน้ำตาลโลก ซึ่งทำให้ไทยเร่งดำเนินการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลเพื่อให้บราซิลเห็นความตั้งใจ และทำให้ข้อกำหนดของอุตสาหกรรมเกิดความชัดเจน และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย รวมทั้งตลาดโลกด้วย เบื้องต้นการหารือมีสัญญาณที่บ่งบอกว่าบราซิลจะไม่นำเรื่องเข้าสู่กระบวนการ แต่มีเงื่อนไขว่าไทยจะต้องทำข้อมูลรายละเอียดการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมให้ชัดเจน เป็นแบบแผนไปให้พิจารณา

          นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า สอน.อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างภายในองค์กร เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการปรับโครงสร้างใหม่ของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยจัดตั้งสำนักพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ มีหน้าที่วางนโยบายการพัฒนาด้านเอทานอลจากอ้อย สนับสนุนเรื่องวิจัยและการพัฒนา และสนับสนุนด้านข้อมูลแก่ผู้ประกอบการและประชาชน ยกสถานะกองกฎหมายเป็นหน่วยงานอิสระภายใต้ สอน.ขึ้น เนื่องจากปัจจุบันมีการฟ้องร้องเกิดขึ้นหลายคดี ทำให้ต้องมีการเตรียมความพร้อมรองรับอนาคตเพิ่มขึ้น โดยจะนำเสนอนางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เร็วๆ นี้ ทั้งนี้ โครงสร้าง สอน.ประกอบด้วย คือ สำนักบริหารกลาง สำนักนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ สำนักพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย และสำนักบริหารอ้อยและน้ำตาลทราย

จาก มติชน วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

สนพ.รับลูกนายกฯ เร่งวิเคราะห์ทำแผนลดใช้พลังงาน

"สนพ." รับลูก "นายกรัฐมนตรี" สั่งหน่วยงานราชการ เร่งวิเคราะห์ทำแผนลดใช้พลังงาน ตามมาตรการลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภค

นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า สนพ.ได้สั่งการให้พลังงานจังหวัดทั่วประเทศ เร่งชี้แจ้งทำความเข้าใจกับหน่วยงานราชการให้ตระหนักถึงการลดใช้พลังงานในภาครัฐ ตามคำสั่งมาตรการลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภค ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยให้แต่ละหน่วยงานราชการดำเนินการวิเคราะห์เป้าหมายการลดใช้พลังงานภายในหน่วยงาน ก่อนจัดทำแผนลดใช้พลังงานให้เหมาะสมกับแต่ละหน่วยงาน เพื่อลดใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

ส่วนที่นายกรัฐมนตรี มีแนวคิดให้หน่วยงานราชการติดตั้งโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าบนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) ภายในหน่วยงานเพื่อประหยัดค่าไฟฟ้านั้น มองว่า การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป เป็นส่สนหนึ่งในการประหยัดพลังงาน แต่จะต้องพิจารณาความคุ้มค่าในแต่ละองค์กร และการลดใช้พลังงานยังสามารถทำได้หลายวิธี ดังนั้น ต้อประเมินศัยกภาพการลดใช้พลังงานแต่ละองค์กรให้ถูกวิธี

นอกจากนี้ สนพ. เตรียมปรับหลักเกณฑ์โครงการลดการใช้พลังงานในภาครัฐ (EUI) ในปี 2560 เพื่อยกระดับการปรับลดพลังงานให้เข้มข้นขึ้น ซึ่งจะเพิ่มการส่งข้อมูลสถานะการใช้ก๊าซหุงต้ม(แอลพีจี) จากเดิมที่ใช้ข้อมูลการใช้น้ำมันและไฟฟ้าเป็นหลัก เพื่อให้การคำนวนครอบคลุมชนิดของเชื้อเพลิงมากขึ้น พร้อมเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐทุกแห่งเร่งส่งข้อมูลการใช้พลังงาน ภายในวันที่ 30 พ.ย. นี้เพื่อสรุปผลดัชนีการประหยัดพลังงานของแต่ละหน่วยงาน ก่อนนำมาปรับรูปแบบวิธีการคำนวนได้แม่นยำมากขึ้น เพื่อให้เกิดการประหยัดพลังงาน ตามนโยบายของรัฐบาลที่ตั้งเป้าหมายลดใช้พลังงานภาครัฐลง 10% ต่อปี

ขณะที่ปีหน้า สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.ร.) อยู่ระหว่างปรับเปลี่ยน KPI หรือเกณฑ์การชี้วัดการประหยัดการใช้พลังงานของส่วนราชการใหม่ โดยจะขยายรวมไปถึงการประหยัดการใช้น้ำของส่วนราชการด้วย และโครงการEUI อาจไม่ให้มาตรการถาวรในการวัดผล KPI ดังนั้น ควรปรับรูปแบบโครงการ EUI ให้เป็นมาตรการสมัครใจมากขึ้น เพราะจากผลการดำเนินโครงการลดใช้พลังงานในภาครัฐของปี 2558 หน่วยงานราชการสามารถลดใช้ไฟฟ้าได้ 190 ล้านหน่วยต่อปี และลดการใช้น้ำมันได้ 59 ล้านลิตร หรือคิดเป็นมูลค่าการประหยัดได้ 2,000 ล้านบาทต่อปี

โดยส่วนราชการในภาพรวมทั่วประเทศ สามารถลดการใช้พลังงานลง เฉลี่ยเกือบร้อยละ 30 จากเป้าหมายประหยัดการใช้พลังงานลงร้อยละ 10 ของค่ามาตรฐานการใช้พลังงานของแต่ละหน่วยงานที่แตกต่างกันไปตามภาระกิจ

นายทวารัฐ กล่าวว่า ส่วนแนวโน้มสถานการณ์ราคาพลังงานในปี 2560 ยังต้องติดตามผลการประชุมกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ในวันที่ 30พ.ย.นี้ รวมถึงความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐใหม่ เพราะจะส่งผลกระทบต่อกำลังการผลิตและการใช้น้ำมันของโลกและสะท้อนต่อราคาน้ำมันในระยะต่อไป ก่อนทบทวนแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ(แผนพีดีพี 2558-2579) ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

สอน.ลุยปรับโครงสร้าง พร้อมแตกหน่วยงานออกเป็น 6 สำนัก

นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า สอน.อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างภายในองค์กรเพื่อให้สอดคล้องกับแผนการปรับโครงสร้างใหม่ของกระทรวงอุตสาหกรรม จะมีบทบาทในการส่งเสริมอุตสาหกรรมชีวภาพมากขึ้น โดยจะมีการจัดตั้งสำนักพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพขึ้นเพิ่มเติม มีหน้าที่หลักในการวางนโยบายการพัฒนาด้านเอทานอลจากอ้อย สนับสนุนเรื่องวิจัยและการพัฒนา และสนับสนุนด้านข้อมูลแก่ผู้ประกอบการและประชาชน พร้อมกันนี้จะยกสถานะกองกฎหมายซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระภายใต้ สอน.ขึ้นมามีสถานะเทียบเท่ากับสำนัก เนื่องจากปัจจุบันมีการฟ้องร้องเกิดขึ้นหลายคดี ทำให้ต้องมีการเตรียมความพร้อมรองรับอนาคตเพิ่มขึ้น โดยจะนำเสนอสู่ที่ประชุมปรับโครงสร้างของกระทรวงอุตสาหกรรมที่มีนางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน

ปัจจุบันโครงสร้างของ สอน.ประกอบด้วย 4 สำนัก คือ สำนักบริหารกลาง ทำหน้าที่ดูแลงานทั่วไป สำนักนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ บริหารงานด้านงบประมาณ นโยบายและแผนงานทั้งในและต่างประเทศที่เกี่ยวข้อง สำนักพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย บริหารงานภาพรวมด้านผลิตภาพอ้อย การปรับโครงสร้าง การพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายอย่างยั่งยืน และสำนักบริหารอ้อยและน้ำตาลทราย บริหารงานด้านการตลาด โดยภายหลังแผนปรับโครงสร้างสมบูรณ์จะทำให้ สอน.มีสำนัก บริหาร 6 สำนัก

จาก http://www.matichon.co.th วันที่ 10  พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

“อาคม”สั่งคุมเข้มน้ำหนักรถบรรทุกเกินทั่วประเทศ ประกาศ!ไม่ผ่อนผันฤดูกาลหีบอ้อย

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับมาตรการควบคุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดว่า กระทรวงได้สั่งการให้กรมทางหลวง(ทล.) กรมทางหลวงชนบท(ทช.) และกรมการขนส่งทางบก(ขบ.) บูรณาการตรวจรถบรรทุกน้ำหนักเกินทั่วประเทศ หลังพบว่าถนนชำรุดเสียหายจำนวนมาก จากรถบรรทุกน้ำหนักเกินมากเท่าตัว เช่น รถบรรทุก 10 ล้อ ตามกฎหมายกำหนดไว้ 25 ตัน ก็บรรทุก 50 ตัน รถบรรทุกพ่วงกำหนดไว้ 50.5 ตัน ก็บรรทุก 100 ตัน จนส่งผลให้น้ำหนักของรถบรรทุกไปบดถนนให้เกิดการชำรุดเร็วขึ้น

“ในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทาง ทล.และทช. ได้เข้มงวดในการชั่งน้ำหนักรถบรรทุกทั้งด่านชั่งถาวร และด่านชั่งเคลื่อนที่ทั่วประเทศ โดยเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายนที่ผ่านมา สามารถจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินได้ 19 คัน”นายอาคม กล่าว

ทั้งนี้สำหรับช่วงฤดูกาลหีบอ้อยทุกปีจะมีการขอผ่อนผันเรื่องน้ำหนักรถบรรทุกอ้อยเข้ามาด้วย แต่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา นโยบายของรัฐบาลชัดเจน คือ ไม่อนุญาตให้บรรทุกน้ำหนักเกิน และไม่อนุญาตให้มีการผ่อนผัน เพราะหากรถอ้อยบรรทุกเกิน แลไม่มีผ้าคลุม จะทำให้อ้อยตกเรี่ยราดบนถนน จนเป็นอันตรายกับรถคันอื่น ซึ่งทาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมบูรณาการกับหน่วยงานของจังหวัด ตำรวจ และทหาร เพื่อร่วมกันตรวจตราให้เข้มงวดรถบรรทุกน้ำหนักเกินมากขึ้นด้วย

จาก http://www.matichon.co.th วันที่ 10  พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

บาทอ่อน เปิดตลาด 35.05 บาท/ดอลล์ คาดวันนี้เคลื่อนไหวในกรอบ 34.90-35.20 บาท/ดอลลาร์

ผู้สื่อข่าวรายงานจากธนาคารกสิกรไทย ระบุว่า ค่าบาทเปิดตลาดวันนี้ที่ระดับ 35.05 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่อยู่ในระดับ 35.02 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยประเมินทิศทางค่าเงินบาทวันนี้อาจมีทิศทางอ่อนค่าตามค่าเงินสกุลเอเชีย หลังจากสหรัฐฯ ทราบผลเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐแล้ว และตลาดหุ้นสหรัฐในคืนที่ผ่านมา (ตามเวลาท้องถิ่น) พุ่งขึ้น ส่งผลให้ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น ขณะที่ค่าเงินเปโซ เม็กซิโก อ่อนค่ามาก

อย่างไรก็ตาม ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบความเคลื่อนไหวเงินบาทวันนี้ที่ระดับ 34.90-35.20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยตลาดรอดูตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐและความเห็นของประธานเฟด เซนต์หลุยซ์ที่จะส่งสัญญาณเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐในคืนนี้ (ตามเวลาประเทศไทย)

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 10  พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

นวัตกรรม‘น้ำ’ตอบอุตสาหกรรม

ธิติ โตวิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษํท ธรรมสรณ์ จำกัด ที่ทำธุรกิจด้านการจัดการน้ำดีและน้ำเสีย กล่าวว่า ระบบการผลิตน้ำประปาภายใต้สภาพน้ำดิบที่แตกต่างกัน และความต้องการระบบบำบัดน้ำเสียร่วมกับการรีไซเคิล กำลังขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมและชุมชน ทำให้เกิดโอกาสสำหรับเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อการผลิตน้ำประปาและรีไซเคิลน้ำเสีย

เดิมการผลิตน้ำประปา ต้องมีถังสำหรับตกตะกอนแยกออกมา และใช้สารเคมีจำนวนมากเพื่อให้ตกตะกอนได้ดีขึ้น น้ำจะได้ใส ข้อเสียคือ ใช้เวลานานในการตกตะกอน ใช้น้ำปริมาณมาก และหากน้ำดิบในพื้นที่ต่างกันก็จะมีความขุ่นและใสที่ต่างออกไปเช่นกัน ดังนั้น ระบบเดียวจึงไม่สามารถนำไปใช้ได้ทุกพื้นที่

ธรรมสรณ์นำเข้าเทคโนโลยีที่มองแล้วว่า ตอบโจทย์ความต้องการของไทยและเป็นเทคโนโลยีที่ต่างประเทศใช้แล้วได้ผลดี นั่นคือ DOS PCF ระบบผลิตน้ำประปาสำหรับแหล่งน้ำที่มีความขุ่นต่ำจากบริษัท Sseng เกาหลีใต้ ข้อดีของระบบนี้คือ ระบบการกรองด้วยเส้นใยทำให้ใช้สารเคมีน้อยลง ใช้กับน้ำปริมาณน้อยได้ ในขณะเดียวกันก็ไม่ต้องใช้ถังตกตะกอน ทำให้ลดใช้พื้นที่

ระบบผลิตน้ำประปา DOS PCF เป็นการใช้เส้นใยกรอง PCF Filter ทำจากพอลิโพรไพลิน (PP) ที่มีความทนทานสูง มีรูกรองขนาดเล็กถึง 5 ไมครอน ซึ่งสามารถติดตั้งเข้าไปในถังกรองน้ำเพื่อช่วยกรองความขุ่นได้เลย นอกจากนี้ ยังสามารถขจัดสิ่งสกปรกได้ง่ายด้วยการล้างย้อน ซึ่งรูกรองจะขยายออกทำให้สิ่งสกปรกที่กรองและกักไว้ในเส้นใยถูกชะล้างออกได้ง่าย

“เทคโนโลยีนี้สามารถลดใช้สารเคมีและไฟฟ้าได้ถึง 50% และยังลดใช้พื้นที่ในการติดตั้งกว่า 75% แม้ต้นทุนในช่วงแรกจะแพงกว่า แต่จากการคำนวณสามารถคืนทุนได้ภายใน 7 ปี”

กรรมการผู้จัดการใหญ่ธรรมสรณ์ชี้ว่า ในขณะเดียวกัน เทคโนโลยีด้านการผลิตน้ำประปาพัฒนาไปมาก ตอบโจทย์น้ำดิบที่มีความแตกต่างกัน น้ำทั่วไปมีความขุ่นต่ำ แต่หากเป็นพื้นที่ที่เป็นแหล่งต้นน้ำ ใกล้ภูเขา หรือในฤดูน้ำหลาก น้ำจะมีความขุ่นสูงมาก

ระบบ Actiflo ของ VEOLIA จากฝรั่งเศส จะข้ามาตอบโจทย์น้ำดิบที่มีความขุ่นสูง เป็นการใช้เม็ดทรายปั่นด้วยความเร็วเพื่อจับตะกอนที่มีอยู่มาก โดยที่ลดความขุ่นได้สูงถึง 99% ในเวลาเพียงไม่ถึง 5 นาที จากระบบตกตะกอนเดิมที่ต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมง

นอกจากนี้ ยังมีเทคโนโลยีรีไซเคิลน้ำเสียด้วยระบบบำบัดสำเร็จรูป ที่ธรรมสรณ์ออกแบบให้เหมาะกับประเทศไทย โดยอยู่ในรูปถังบำบัดน้ำเสียพร้อมจุดเด่นที่ติดตั้งและบำรุงรักษาง่าย สามารถใช้ทดแทนระบบเดิมได้เลย มีประสิทธิภาพการกรองสูง แก้ปัญหาแผ่นเมมเบรนอุดตัน น้ำที่ผ่านการบำบัดมีความใส และสามารถนำไปใช้ซ้ำ

จาก http://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 10  พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

เกษตรฯจัดงานวันพระบิดาแห่งฝนหลวง14พ.ย.

กระทรวงเกษตรฯ เตรียมจัดงานวันพระบิดาแห่งฝนหลวงปี 2559 ในวันที่14 พฤศจิกายนี้ น้อมรับลึกในพระมหากรุณาธิคุณ

นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในการแถลงข่าวจัดงาน วันพระบิดาแห่งฝนหลวง ปี 2559 ว่า วันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันที่มีความสำคัญยิ่งสำหรับทุกคนเพราะไม่เพียงแต่ทุกคนต้องน้อมรับลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในฐานะองค์พระบิดาแห่งฝนหลวง แต่ยังเป็นวันที่โลกต้องจารึก ถึงการกำเนิดของเทคโนโลยีฝนหลวง นวัตกรรมอันยิ่งใหญ่ ที่สามารถเอาชนะภัยธรรมชาติได้ ทำให้คนไทยและประชาชนอีกหลายประเทศรอดพ้นจากวิกฤติขาดแคลนน้ำมานับครั้งไม่ถ้วน โดยพระองค์ทรงมุ่งมั่น ทุ่มเทพระสติปัญญา  พระวรกาย และสละพระราชสาส์นส่วนพระองค์ทำการศึกษาวิจัยพัฒนาจนประสบความสำเร็จเป็นเทคโนโลยีการทำฝนเทียมอันทรงประสิทธิภาพและก่อให้เกิดเป็นโครงการพระราชดำริฝนหลวงขึ้นมา

ทั้งนี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้กำหนดจัดงานขึ้นในระหว่างวันที่ 14 -16 พฤศจิกายน 2559 ณ ลานอเนกประสงค์อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถนนแจ้งวัฒนะ โดยจะมีพิธีถวายสักการะเบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณา ที่คุณอันหาที่สุดมิได้ขององค์พระบิดาแห่งฝนหลวงในวันจันทร์ที่ 14 พฤศจิกายนนี้ตั้งแต่เวลา 07:00 น. เป็นต้นไป พร้อมได้จัดแสดงนิทรรศการเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาที่คุณอันล้นพ้นหาที่สุดไม่ได้ภายใต้แนวคิดพระสถิตย์ในดวงใจตราบนิรันดร์เพื่อให้ประชาชนได้เข้าชมอีกด้วย

จาก http://www.innnews.co.th วันที่ 9  พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

เลือกตั้งสหรัฐทำค่าเงินบาทผันผวน

กนง.มีติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% ระบุ”ทรัมป์”ชนะการเลือกตั้งสหรัฐกระทบค่าเงินบาทและเงินทุนเคลื่อนย้ายผันผวนสูงขึ้น นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า ที่ประชุมกนง.วันนี้ (9 พ.ย.) มีมติเป็นเอกฉันท์(7 เสียง)ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ต่อเนื่องในอัตราที่ใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ก่อนหน้าที่ 3.2% แต่มีความเสี่ยงที่โตต่ำมากขึ้น จากปัจจัยทั้งในและต่างประเทศ อย่างไรก็ดี ปัจจัยในต่างประเทศมีผลกระทบมากกว่า เพียงแต่เสถียรภาพเศรษฐกิจไทยโดยรวม

“รอบนี้กนง.ให้น้ำหนักในการติดตามพัฒนาการด้านเศรษฐกิจมากขึ้น เพราะถึงจะมีปัจจัยบวกแต่ก็มีปัจจัยลบ ส่งผลให้โอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะโตต่ำกว่าที่คาดยังมี อย่างภาคการส่งออกของไทยดีขึ้น โดยมีแนวโน้มติดลบน้อยกว่าคาดที่ -2.5% แต่ภาคการท่องเที่ยวอาจได้รับผลกระทบจากมาตรการจัดระเบียบการท่องเที่ยวหรือทัวร์ศูนย์เหรียญมากกว่าคาด ปีนี้นักท่องเที่ยวอาจลดลงมากกว่า 2 แสนคน ปีหน้าก็อาจลดมากกว่าคาด แถมอัตราเงินเฟ้อที่เคยมองว่าจะกลับเข้าสู่กรอบล่างที่ 1% ภายในไตรมาส 4 ปีนี้ก็อาจจะเลื่อนอกไป” นายจาตุรงค์กล่าว

นายจาตุรงค์ กล่าวว่า กรณีการเลือกตั้งสหรัฐที่แนวโน้มนายโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกันน่าจะได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯน่าจะส่งผลให้ตลาดการเงินโลกมีความไม่แน่นอนสูงขึ้น ซึ่งทำให้ความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะค่าเงินบาทและเงินทุนเคลื่อนย้าย ซึ่งธปท.จะติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด แต่ธปท.อยากส่งสัญญาให้ภาคเอกชนหรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องต้องเข้าใจว่าสัญญาณนโยบายของสหรัฐที่จะออกมาจะส่งผลต่อตลาดมากขึ้นในระยะต่อไป ซึ่งการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ผันผวนขึ้นพอสมควร ขณะเดียวกันค่าเงินบาทก็มีการปรับตัวรับการเลือกตั้งมากขึ้นหลังรับรู้ผลการเลือกตั้งเบื้องต้น

ด้านการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ เคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 34.88 บาท/เหรียญสหรัฐ ปรับแข็งค่าขึ้นพอสมควรจากช่วงเช้าที่เปิดตลาดที่ระดับ 34.94 บาท/เหรียญสหรัฐ ซึ่งระหว่างวันเคลื่อนไหวแข็งค่าสุดที่ระดับ 34.85 บาท และอ่อนค่าสุดที่ระดับ 35.00 บาท คิดเป็นการแข็งค่าขึ้นจากต้นปีประมาณ 3% โดยตลาดเงินมีการปรับตัวรับการเลือกตั้งสหรัฐหลังผลการเลือกตั้งพลิกมาเป็นนายทรัมป์น่าจะชนะแทนที่จะเป็นนางฮิลลารี คลินตันจากเดโมเครตที่ตลาดเคยคาดการณ์ก่อนหน้านี้

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 9  พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

“เกษตรกร”แห่สมัครเกษตรทฤษฎีใหม่ล้นหลาม-เร่งคัดเลือกเหลือ 7หมื่นแห่ง 20 พ.ย.นี้

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ภายหลังที่กระทรวงฯเดินหน้าสนับสนุนโครงการส่งเสริมเกษตรทฤษฎีใหม่และเกษตรผสมผสาน ขณะนี้มีผู้สมัครเข้ามาเกินเป้าจำนวน 94,994 ราย เกินเป้าเหมายที่ตั้งไว้ประมาณ 37% จากเป้าหมายที่วางไว้ 70,000 แห่ง ซึ่งกระทรวงจะคัดเลือกและสรุปได้เหลือตามเป้าหมายที่วางไว้ภายใน 20 พฤศจิกายนนี้ แบ่งเป็น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) จำนวน 42,839 ราย ภาคเหนือ 20,514 ราย ภาคกลาง 18,031 ราย และภาคใต้ 13,610 ราย

“จากการลงพื้นที่สำรวจพบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่เป็นหนี้สิน อยากหลุดพ้นจากหนี้สิน เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน หากดำเนินการตามโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่และเกษตรผสมผสาน ถือเป็นทางเดียวที่จะทำให้เกษตรกรไทย หลุดพ้นจากหนี้สิน อาทิ ชาวนา เคยประกอบอาชีพทำนา แต่ไม่มีเงินทุน ก็ใช้วีธีไปกู้ยืมเงินจากโรงสีเพื่อมาซื้อปัจจัยการผลิต เมื่อเก็บเกี่ยวผลได้ก็ต้องนำมาขายให้โรงสี ราคาที่ขายได้จึงไม่หลุดพ้นจากการเป็นหนี้สิน” พล.อ.ฉัตรชัยกล่าว

พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวว่า เตรียมประสานเอกชนให้เข้ามาช่วยเหลือในงาน ส่งเสริม เกษตรทฤษฎีใหม่และเกษตรผสมผสาน เพื่อช่วยเหลือในแง่ปัจจัยการผลิต ทั้งนี้ กระทรวงฯได้ประมาณการงบประมาณไว้ที่ 170 ล้านบาท คาดว่าจะมีการเปิดตัวโครงการได้ภายในเดือนมกราค 2560 ขณะนี้อยู่ระหว่างปรับปรุงแผนงานตามนโยบาย และอยู่ระหว่างจัดเตรียมแผนในการสนับสนุนปัจจัยการผลิต ในเรื่องพืช ประมงและปศุสัตว์ รวมถึงการขอสนับสนุนจากเอกชนด้วย

จาก http://www.matichon.co.th   วันที่ 9  พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

‘อภิรดี’ชี้นโยบายทรัมป์ เสี่ยงกระทบส่งออกไทยฟื้นตัว

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่านโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เน้นการปฏิรูปและไม่สนับสนุนการเปิดเสรีทางการค้า รวมถึงเน้นการเพิ่มอุปสงค์ภายในประเทศ ที่ส่งเสริมการลงทุนและมาตรการภาษี  ปกป้องการค้าของสหรัฐฯ ชัดเจนที่จะปฏิเสธผู้ลี้ภัยต่างชาติและแรงงานต่างชาติ และลดความสำคัญประเด็นสิ่งแวดล้อม และ มีแนวโน้มทบทวนความสัมพันธ์และการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศพันธมิตรใหม่  ซึ่งล้วนเป็นประเด็นอาจนำไปสู่ความ ไม่เชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจและเกิดความผันผวนระยะสั้น แต่อย่างไรไม่น่ากระทบต่อคาดการณ์ส่งออกปีนี้

นางอภิรดี กล่าวว่า ปีหน้ามีหลายประเด็นที่ต้องจับตา ทั้งการเปลี่ยนแปลงนโยบายของสหรัฐฯในด้านต่างๆ ทั้งการคลัง การเงิน การค้าระหว่างประเทศ และการเจรจาการค้า  ซึ่งจะเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลก และประเทศคู่ค้า รวมถึงเสี่ยงต่อการส่งออกไทย เนื่องจากปัจจุบันสหรัฐฯเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย  ถ้าไม่นับอาเซียน 10 ประเทศรวมกัน โดยในปี 2558 ไทยมีมูลค่าส่งออกไปสหรัฐฯ  24,055 ล้านเหรียญสหรัฐฯ  หรือสัดส่วนร้อยละ 11.2 ของมูลค่าการส่งออกของไทยทั้งหมด

จาก http://www.matichon.co.th   วันที่ 9  พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

กูรูคาดบาทอ่อนรับปธน.คนใหม่ แนะไทยปรับตัวภาคส่งออกยังติดลบเหตุนโยบายกีดกัน

ศูนย์วิจัย/นักเศรษฐศาสตร์ ชี้ เลือกตั้งสหรัฐฯ กระทบเงินทุนไหลเข้าระยะสั้น หลังผลชัดเจนเงินไหลสู่กลับดันบาทสิ้นปีอ่อนค่า 35.50-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ลั่นไทยปรับตัวรับการส่งออกยังติดลบ เหตุผลกระทบทางอ้อมนโยบายกีดกันทางการค้า คาดปี 60 เงินบาทยังอ่อนค่าต่อแตะ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) (บมจ.) เปิดเผยว่า ในมุมการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา จะเห็นนโยบายเศรษฐกิจของตัวแทนทั้ง 2 คน ค่อนข้างเป็นที่กังขา แต่ นายโดนัลด์ ทรัมป์ นั้นเป็นนโยบายที่ส่งผลกระตุ้นระยะสั้น แม้ว่าระยะยาวจะมีความเสี่ยง แต่ถูกใจชนชั้นกลาง เพราะเป็นตัวสะท้อนผู้ที่เบื่อการเมือง อย่างไรก็ดี หากทรัมป์ได้รับตำแหน่ง จะเห็นค่าเงินบาทอ่อนค่าทั้งก่อนและหลังเลือกตั้ง เนื่องจากคนเกิดความวิตกกังวล ทำให้คนวิ่งไปหาสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น ดอลลาร์สหรัฐฯ เงินเยน-ญี่ปุ่น และทองคำ อย่างไรก็ดี หากดูปัจจัยพื้นฐานของไทยยังมีเสถียรภาพไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง มีเงินสำรองค่อนข้างสูง โดยธนาคารประเมินว่าเงินบาทภายใต้ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีกรอบเงินบาทจะอยู่ที่ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

ขณะที่ กรณีฮิลลารี คลินตัน ได้รับตำแหน่ง จะเห็นเงินทุนไหลเข้าระยะสั้น เนื่องจากตลาดจะมองว่าสินทรัพย์ปลอดภัยดี และมีการโยกไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้น ทำให้ค่าเงินบาทจะแข็งระยะสั้น ประกอบกับมองว่าภายใต้การนำของฮิลลารีจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น 1 ครั้ง ในการประชุมธนาคารกลาง (เฟด) ที่จะมีขึ้นกลางเดือนธันวาคม ส่งผลให้ค่าเงินจะกลับมาอ่อนค่าอยู่ที่ระดับ 35.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

อย่างไรก็ดี แนวโน้มการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2560 ของทั้ง 2 คน จะมีความแตกต่างเช่นกัน โดยนโยบายทรัมป์จะเห็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง เนื่องจากนโยบายส่วนใหญ่จะเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจและเรื่องของภาษี ซึ่งกดดันอัตราเงินเฟ้อทำให้ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยขึ้นอย่างน้อย 2 ครั้ง ขณะที่นโยบายของฮิลลารี จะเห็นการเผชิญภาวะหนี้สาธารณะชนเพดาน จึงต้องดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินเข้ามาช่วย โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้เพียง 1 ครั้งในช่วงปลายปี เพื่อรักษาเสถียรภาพการคลัง ซึ่งในส่วนของไทยจะเห็นการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 1.5% เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและค่าเงินบาทจะยังอยู่ในทิศทางอ่อนค่าอยู่ที่กรอบ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ รองผู้อำนวยการ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ บมจ.ธนาคารทหารไทย หรือ ทีเอ็มบี เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ทิศทางค่าเงินบาทในปีนี้ จะเห็นว่าแข็งค่าขึ้นประมาณ 3% เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศสิงคโปร์และมาเลเซียแข็งค่าอยู่ที่ 2% ทั้งนี้ ค่าเงินบาทที่แข็งค่ากว่าเล็กน้อยส่วนหนึ่งมาจากเสถียรภาพการเงินและการเมืองที่ดี และนโยบายภาครัฐที่กำลังขับเคลื่อน ทำให้ยังเห็นการไหลเข้าของเงินทุน แต่หลังจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา จะเห็นทิศทางเงินทุนเปลี่ยนทิศเช่นเดียวกับตลาดเกิดใหม่ที่ไม่รับความสนใจ โดยเงินลงทุนจะหันไปที่ยูโรโซนและญี่ปุ่น ส่งผลให้กระแสเงินลงทุนในภูมิภาคไม่มาก โดยมองกรอบเงินบาทอยู่ที่ 34.85-35.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงก่อนและหลังเลือกตั้งสหรัฐฯ

จาก http://www.thansettakij.com   วันที่ 9  พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

'อ้อย-น้ำตาล'เสี่ยงเจอราคาผันผวนรับมือหลังเลิกโควตา ก,,  

          ชี้!ธุรกิจอ้อย-น้ำตาลจะสับสนชั่วขณะ หลังปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ยกเลิกโควตา ก ข ค และรัฐยกเลิกเงินอุดหุน ราคาอ้อย-น้ำตาลจะเหวี่ยงขึ้นลงตามกลไกราคาตลาดโลก บางช่วงผู้บริโภคจะเดือดร้อนจากราคาน้ำตาลแพง บางช่วงชาวไร่อ้อย โรงงานน้ำตาลจะเดือดร้อนจากราคาตกต่ำ แต่ในที่สุดทุกฝ่ายจะคุ้นชิน และร่วมกันประคับประคองเพื่อให้เกิดสมกุลร่วมกัน พร้อมแจงข่าวดีอ้อย-น้ำตาลจะราคาสูงต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 1-2 ปี

          นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และหัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 7 กล่าวในรายการ"เขียนเศรษฐกิจ"ที่จัดโดยกองบรรณาธิการ"ดอกเบี้ยธุรกิจ"ถึงมติครม.ที่ให้มีการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลอยู่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ประเทศบราซิลในฐานะผู้ผลิตอ้อยอันดับ 1 ของโลก ฟ้องไปยัง  WTOว่าไทยมีการอุดหนุนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ทำให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกตกต่ำจนเป็นปัญหาต่อประเทศบราซิล

          "มีประเด็นเรื่องที่ไทยรัฐให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลตามกฎหมายที่ออกมาตั้งแต่ปี 2527 ทำให้ผลผลิตอ้อยของไทยเพิ่มจากปีละ 27 ล้านตัน มาเป็นปีละ 100 ล้านตัน ทำให้ประเทศบราซิลเกิดความสงสัยว่าทำให้ราคาน้ำตาลโลกถึงตกต่ำ เพราะในส่วนของประเทศบราซิลแทบไม่รอดในการประกอบธุรกิจ แต่ประเทศไทยกลับมีการขยายกำลังการผลิตทั้งโรงงานน้ำตาลและเกษตรกร จึงเป็นประเด็นว่าประเทศไทยมีการอุดหนุนในเรื่องของนโยบายรัฐ...

          เพราะฉะนั้นในเบื้องต้นคณะรัฐมนตรีมีมติในวันที่ 11 ตุลาคมที่ผ่านมา ว่าต้องมีการปรับปรุงเรื่องระบบการจัดการใหม่ ซึ่งไม่ได้หมายความว่ากฎหมายไร่อ้อยหรือน้ำตาลที่เริ่มตั้งแต่ปี 2527  จะยกเลิกไปแต่จะมาดูเฉพาะในส่าวนที่มี ผลที่ขัดแย้งกับ WTO ที่ประเทศบราซิลหยิบยกเป็นประเด็นขึ้นมา โดยชาวไร่อ้อยโรงงาน้ำตาล และ รัฐ ที่เกี่ยวข้องในกรอบกฎหมายอ้อยจะมาร่วมกันดูรายละเอียดอีกครั้งน้ำหนักจะมุ่งเน้นไปที่การพยายามไม่ให้ขัดกับ หลัก WTO หรือกฎหมายการค้าสากล โดยเฉพาะกฎหมายอาเซียน กฎหมาย AFTA นี่คือเป็นประเด็นหลักที่ไทยอยู่ในกระบวรการดำเนินการ ถ้ามองในแง่นี้ก็คือการบริหารร่วมระหว่าง โรงงาน ชาวไร่ กับภาครัฐ ในเชิงนโยบาบจะยังอยู่เหมือนเดิม แต่เชิงนโยบายที่เข้ามาสนับสนุนจะหายไป"

          นายนราธิปกล่าวด้วยว่าสำหรับระบบโควตาอ้อยและน้ำตาลยังคงใช้ระบบ 70:30  เหมือนเดิม ส่วนการปรับปรุงเชิงโครงสร้างนั้น ทางสหพันธ์ชาวไร่อ้อยมองว่า ควรมีการต่อยอดผลิตภัณฑ์จากอ้อย โดยไม่ควรนำไปทำน้ำตาลอย่างเดียว แต่ควรนำอ้อยไปทำผลิตภัณฑ์อย่างอื่นต่อเนื่อง เช่น เอทานอล ไบโอเคมี ยา หรือผลิตภัณฑ์อย่างอื่นที่เพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมที่สามารถนำผลกำไรมาแบ่งปันกันมากขึ้น เพื่อชดเชยในกรณีที่ภาครัฐจะไม่ใช้นโยบายอุดหนุนเหมือนที่ผ่านมา

          ส่วนการยกเลิกโควตาน้ำตาล ก ข ค นั้น นายนราธิปกล่าวว่า จะกระทบทั้งระบบอุตสาหกรรมอ้อย-น้ำตาลและผู้บริโภค

          "อย่างในจังหวัดปราจีนบุรียกตัวอย่างขึ้นมาว่า การกำหนดโควตาตามกฎหมายเดิมเช่น ก ข ค อย่าง ก หมายถึง การบริโภคน้ำตาลในประเทศ ก็จะทำไม่ได้ เมื่อทำไม่ได้ก็เปรียบเสมือนว่าน้ำตาลในประเทศทั้งปริมาณและราคาจะถูกลอยตัว ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ที่เป็นผู้ดูแลผู้บริโภค ภาคเกษตรกร และ ภาคอุตสาหกรรมน้ำตาล หรือในส่วนของโรงงานที่กระทรวงอุตสาหกรรมต้องมาดูรายละเอียดในกรอบที่พยายามจะทำให้เสร็จภายใน 1 ปี และจะนำเรื่องนี้ไปบอกประเทศบราซิลซึ่งก็มีการคุยกันไปบ้างแล้ว อย่างประเด็นหลัก เช่น กรณี น้ำตาลลอยตัว ราคาน้ำตาลในประเทศจะมีกรอบอย่างไร อาจจะไม่กำหนดราคาแบบเดิมเพราะการกำหนดราคาแบบเดิมอาจจะเข้าข่ายผิดหลัก WTO ดังนั้น ราคาน้ำตาลในประเทศอาจจะมีการวิ่งขึ้น-ลง...

          ในส่วนของเกษตรกร มีผ่านมาบางปีที่มีการสร้างเสถียรภาพให้อุตสาหกรรมโดยการกำหนดราคาให้สูงกว่าตลาด ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ผู้บริโภคให้ความช่วยเหลือ ทำให้อุตสาหกรรมมีเสถียรภาพมากขึ้น บางปีราคาอาจจะสูงขึ้นโดยการกำหนดกรอบควบคุมทำให้ผู้บริโภคไม่ต้องห่วงในเรื่องของราคาที่จะมีการแกว่งตัวหรือการกำหนดปริมาณเมื่อมีราคาสูงขึ้น โดยผู้ผลิตหรืออุตสาหกรรมที่อยู่ในกรอบของกฎหมายต้องไม่นำน้ำตาลส่งออกจนขาดแคลน ซึ่งก็เคยเกิดขึ้นบางปี แต่ว่าในแง่ของกฎหมายอ้อยและน้ำตาลที่มีอยู่ไม่ได้ให้กองทุนอ้อยฯซื้อซื้อกลับคืนมา ก็ทำให้เกิดความยุ่งยากนิดหน่อยในการบริหารในปีถัดไป"

          สำหรับชาวไร่อ้อยนั้น นายนราธิปกล่าวว่าหลังการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยน้ำตาล ชาวไร่อ้อยอาจต้องปรับตัวบ้าง แต่ที่ผ่านมาทุกฝ่ายก็เข้าใจดีว่าราคาพืชผลเกษตรโดยเฉพาะการส่งออกเป็นหลักยังต้องพึ่งพาตลอดโลก ซึ่งถ้าราคาในตลาดโลกตกต่ำก็จะส่งผลกระทบอย่างแน่นอน เพียงแต่อดีตที่ผ่านมามีการอุดหนุนโดยกองทุนอ้อยและน้ำตาลที่กู้เงินมาช่วยเกษตรกร และเมื่อราคาดีขึ้นก็จะเก็บเงินสะสมเข้ากองทุนฯเพื่อไปใช้หนี้โดยไม่ได้ผูกกับรัฐ

          "โดยหลักของราคาน้ำตาลจะมีการขึ้นลงในรอบ 3-4 ปี จะเป็นไปตามวัฏจักร อย่างปัจจุบันนี้จะเห็นว่าราคาในตลาดโลกสูง ราคาอ้อยจึงสูงขึ้นกว่าพืชอื่น แต่ราคาที่สูงขึ้นก็ต้องเก็บเงินเข้ากองทุนฯเพื่อรักษาเสถียรภาพไว้...

          ทางเลือกเกษตรกรในปัจจุบันต้องบอกว่ามืดมนทุกการเกษตรยกเว้นอ้อย ถ้าพี่น้องเกษตรกรที่เคยปลูกพืชอื่นอาจเห็นว่าราคาอ้อยปัจจุบันตันละ 1,000 บาท จากที่เคยได้ตันละ 880บาท  ก็อาจจะเป็นเหตุจูงใจให้อยากมาปลูกอ้อยบ้าง แต่ก็ต้องไปดูก่อนว่ามีโรงงานน้ำตาลที่ตั้งอยู่ใกล้หรือไม่ พื้นที่เหมาะกับการปลูกอ้อยหรือไม่ ถ้าอยู่ในพื้นที่เอื้ออำนวยแบบนี้ก็อาจลองเสี่ยงมาปลูกอ้อยอย่างแน่นอน ยิ่งถ้าปีหน้ามีปริมาณน้ำฝนแบบนี้ คิดว่าอ้อยในประเทศจะมีมากกว่า 100 ล้านตัน"

          อย่างไรก็ตาม นายนราธิป  กล่าวว่า ถ้ามองในแง่ของตลาดโลกเป็นหลัก  โดยประเมินการผลิตของผู้ผลิตอ้อยรายใหญ่ของโลก อย่างบราซิลที่ผลิตอ้อยได้ 600 ล้านตัน  ขณะที่ไทยที่มีผลผลิต 100 ล้านตัน"

          อย่างไรก็ตาม นายนราธิป กล่าวว่า ถ้ามองในแง่ของตลาดโลกเป็นหลัก โดยประเมินการผลิตของผู้ผลิตอ้อยรายใหญ่ของโลก อย่างบราซิลที่ผลิตอ้อยได้ 600 ล้านตัน ขณะที่ไทยที่มีผลผลิต 100 ล้านตัน

          "บราซิลยังผูกพันเรื่องอ้อยกับอุตสาหกรรมเอทานอล ทำให้แยกกันไม่ออก ส่วนหนึ่งทำให้อ้อย 600 ล้านตัน ของบราซิลไม่ได้ผลิตมาเพื่อทำน้ำตาลทั้งหมด แต่นำมาผลิตน้ำตาลเพียง 60% เท่านั้น อีก 40% ผลิตเป็นเอทานอลไปใช้ในด้านอุตสาหกรรมรถยนต์ ดังนั้นถ้ามองถึงอตสาหกรรมน้ำตาลในโลกถือว่ายังขาดแคลนอยู่ หากมองในระยะสั้น  1-2 ปี  คิดว่าราคาอ้อยยังเป็นราคาที่ดีกว่าพืชเกษตรทุกตัวเป็นราคาที่เกษตรกรสามารถพอจะดำรงชีพอยู่ได้ในสภาวะปัจจุบัน...

          ส่วนระยะเปลี่ยนผ่านระบบของประเทศไทยที่ยังผูกพันกับตลาดโลกเป็นหลักนั้น ในอนาคตมองว่าที่ผ่านมารัฐสนับสนุนเรื่องงบประมาณน้อยมาก เกษตรกรก็ยังสามารถพึ่งพาตัวเองได้ แต่มีข้อแม้ว่าพืชเกษตรมีขึ้นมีลงโดยเฉพาะเกษตรที่อาศัยตลาดโลกเป็นหลักอย่างอ้อยคงจะไม่ไปบอกว่าขายในประเทศหรือส่งออกจะมีราคาเท่าไหร่ พอยกเลิกระบบโควตาหรือเลิกระบบการกำหนดราคาก็จะเป็นไปตามกลไกตลาด ส่วนราคาที่จะกำหนดขายในประเทศก็ต้องมาดูแลร่วมกันทั้กระทรวงพาณิชย์ ภาครัฐ เกษตรกร หรือผู้ประกอบการว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เดือดร้อนทั้ง 2 ฝ่าย ตรงนี้ก็เป็นเพียงแค่ 1 ส่วน  แต่ส่วนสำคัญของราคาอ้อยและน้ำตาลคือการส่งออก เพราะปัจจุบันไทยส่งออกน้ำตาลถึง 4 ส่วน การบริโภคภายในประเทศมีเพียงประมาณ 2 ล้านตันเท่านั้น นอกนั้นน้ำตาลที่มีอยู่ 8 ล้านตันต้องส่งออก เรื่องปริมาณการผลิตก็หนีไม่พ้นเรื่องสภาพดินฟ้าอากาศ สภาพแวดล้อมแต่ละประเทศ เช่น ในปีที่ผ่านมาไทยแห้งแล้งทำให้ผลผลิตอ้อยจาก 100 ล้านตัน ลดลงมาเหลือ 90 ล้านตัน...

          ส่วนราคาอ้อย-น้ำตาลที่ต่อไปต้องไปผูกกับตลาดโลก โดยไม่มีการอุดหนุนจากรัฐนั้นเกษตรกร และผู้ประกอบการอุตสาหกรรม จะเดือดร้อนในช่วงที่ราคาต่ำ แต่กลับกันคือเมื่อราคาในตลาดโลกสูง  ถ้าผู้บริโภคไม่คุ้นเคยกับระบบก็จะรู้สึกว่าเดือดร้อน ในส่วนของคนไทยที่ต้องกำหนดร่วมกันในการกำหนดราคาน้ำตาลในประเทศ จะต้องไปดูว่ากรอบ WTOที่ให้ทำได้เป็นอย่างไร เช่น ประเทศไทยคงไม่เสรี 100% อย่างเรื่องราคาน้ำมันก็มีกลไกในการช่วยเหลือ ซึ่งจะแตกต่างกับน้ำมันที่ตันน้ำเป็นเกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศ  เวลาที่ราคาตกต่ำไทยจะให้กรอบต่ำอยู่ในระดับไหน ในช่วงราคาสูงมากก็เช่นกัน คือเมื่อผู้บริโภคเดือดร้อนจะให้เม็ดเงินช่วยเท่าไหร่ ต้องเข้าใจว่าไม่ใช่แนวคิดสุดโต่ง แต่เป็นเรื่องที่รัฐ อุตสาหกรรมกับเกษตรกร ต้องมานั่งคุยกัน และต้องวางกติกาว่าการขับเคลื่อนใหม่ของราคาและราคาของตลาดโลกที่จะเกิดขึ้น จะมีส่วนไหนที่จะไม่ขัดกับหลักของกฎหมาย WTO ไม่ขัดกับเรื่องของเสรีที่แต่ละประเทศบริหารกัน ก็ต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยนประมาณ 1 ปี ซึ่งในส่วนซองกระทรวงพาณิชย์ก็ต้องเป็นหลักในการดูแลร่วมกัน...

          "ในภาคผู้ผลิตที่ใช้น้ำตาลเช่นน้ำอัดลมอาหาร ผลกระทบไม่ค่อยมี เนื่องจากปัจจุบันมีการส่งเสริมให้นำน้ำตาลไปใช้การผลิตเพื่อการส่งออก ไทยเองมีนโยบายกำหนดโควตาให้ผู้ผลิตฯซึ่งราคาก็เป็นไปตามระบบเสรีเพื่อการส่งออก ส่วนภายในประเทศกรณีที่ผู้ผลิตใช้น้ำตาลเพื่ออุตสาหกรรมนั้น ผู้ผลิตสามารถไปติดต่อที่โรงงานตามกรอบที่เป็นไปตามแต่ละช่วงอยู่แล้วแต่ต่อไปผู้ผลิตต้องบริหารอุตสาหกรรมโดยต้องบริหารความเสี่ยงเรื่องวัตถุดิบด้วย เช่น เดิมทีผลิตเพื่อใช้บริโภคในประเทศ ผู้ผลิตจะได้ราคาตายตัว จะซื้อตอนไหนก็ราคาเท่าเดิม แต่ต่อไปผู้ผลิตฯต้องมองดูว่าแผนในการซื้อน้ำตาลช่วงจังหวะไหนที่จะซื้อ แน่นอนว่าน้ำตาลในประเทศไม่ว่าจะใช้จำนวนเท่าไหร่ ทางคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องทางรัฐ กระทรวงพาณิชย์กระทรวงอุตสาหกรรม คงไม่ให้เกิดคำว่าขาดหรือไม่เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ เพราะฉะนั้นอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำตาลและใช้เป็นสินค้าเพื่อจำหน่ายให้กับประชาชนในประเทศก็ต้องบริหารตรงนี้ด้วย"

          ทั้งนี้ นายนราธิปยังกล่าวถึงกรณการฟ้องร้องของประเทศบราซิลว่า  เบื้องต้นที่ได้หารือในรอบแรกและให้ข้อมูลกับประเทศบราซิลในเรื่องมติครม.ของไทยนั้น ประเทศบราซิลค่อนข้างพอใจในระดับหนึ่ง ซึงอาจจะไม่เข้าสู่กระบวนการในการไต่สวน และอาจจะถอนฟ้อง

          "ในข้อเท็จจริงบางเรื่องภายในประเทศบราซิลที่บริหารก็ไม่ได้ต่างจากไทย เพียงแต่ว่าประเทศบราซิลไม่ได้มีระบบโควตา ประเทศบราซิลเข้าใจว่าประเทศไทยมีเงินช่วยชาวไร่อ้อยโดยมีความเห็นชอบจากรัฐบาลอย่างในปีที่ผ่านมา 160   บาท ประเทศบราซิลก็เข้าใจว่ารัฐเอางบประมาณมาสนับสนุน แต่ในข้อเท็จจริงคือชาวไร่อ้อยได้นำเงินอาคตมาจ่ายค่าอ้อยในวันนี้ ส่วนในปีหน้าถ้าอ้อยราคาดีก็ถูกหักค่าอ้อยกลับมา เหมือนกับกฎหมายเดิมไปเขียนไว้เฉพาะว่า ให้ความเห็นชอบโดยคณะรัฐมนตรี เลยเข้าใจว่ารัฐเข้ามาเป็นเชิงนโยบายให้การสนับสนุน ซึ่งก็มีหลายเรื่องที่จริงๆแล้วที่ประเทศไทยพยายามบริหารหลีกเลี่ยงการช่วยเหลือเป็นเม็ดเงินจากรัฐ  ยกเว้นระบบโครงสร้างพื้นฐานเรื่องของน้ำชลประทานซึ่งรัฐสามารถทำได้อยู่แล้ว ก็พยายามลดต้นทุนเพื่อที่จะหลีกเลี่ยงการจ่ายเงินเพื่อค้าอ้อย และทางประเทศบราซิลน่าจะพอใจในระดับหนึ่งเมื่อได้มีการชี้แจงไป"

จาก ดอกเบี้ยธุรกิจ วันที่ 9  พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

"โคคา-โคลา" 5by20 พัฒนาเกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อย

จากรายงานขององค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) ระบุว่า ผู้หญิงเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม คือการใช้จ่ายทั่วโลกที่เกิดจากผู้หญิงมีมูลค่าสูงกว่า 20 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และแรงงานของผู้หญิงคิดเป็นร้อยละ 66 ของแรงงานทั่วโลก แต่รายได้ของผู้หญิงกลับมีเพียงร้อยละ 10 ของรายได้รวมของทั้งโลก ในขณะที่ผู้หญิงนำรายได้กว่าร้อยละ 90 ไปใช้จ่ายในครัวเรือน

ดังนั้น การเพิ่มศักยภาพของผู้หญิงให้สามารถเพิ่มรายได้ ซึ่งถือเป็นการพัฒนาความเป็นอยู่ของสังคมในภาพรวม จึงถือเป็นเรื่องสำคัญ ด้วยเหตุนี้เอง "โครงการธุรกิจยั่งยืนกับโคคา-โคลา" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการระดับโลก 5by20 จึงมุ่งพัฒนาศักยภาพของผู้หญิงในห่วงโซ่คุณค่าของโคคา-โคลา จำนวน 5 ล้านคน กว่า 100 ประเทศทั่วโลก ให้เกิดขึ้นในปี 2563

โดยผู้หญิงในห่วงโซ่คุณค่าจะประกอบไปด้วยร้านค้าปลีก ผู้ผลิตวัตถุดิบ ซัพพลายเออร์ผู้แทนจำหน่าย คนเก็บบรรจุภัณฑ์เพื่อนำไปรีไซเคิล และช่างฝีมือที่ใช้วัสดุจากผลิตภัณฑ์

ปี 2547 "กลุ่มธุรกิจโคคา-โคลา" ในประเทศไทย ที่ประกอบไปด้วยบริษัท โคคา-โคลา (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด และบริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน) จึงสานต่อนโยบายระดับโลกของโคคา-โคลา โดยเริ่มดำเนินโครงการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจเจ้าของร้านค้าปลีกหญิง

ล่าสุดมีเปิดโครงการ "ธุรกิจยั่งยืนกับโคคา-โคลา เพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจเกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อย" โดยร่วมกับกลุ่มบริษัทน้ำตาลไทยรุ่งเรือง และ สถาบันคีนันแห่งเอเซีย ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม โดยมีเกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อยใน อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ และ อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี เข้าร่วมโครงการนำร่อง จำนวน 600 คน

โดยโครงการจะมีการฝึกอบรมหลักสูตรการบริหารจัดการการเงิน และทำการเกษตรอย่างยั่งยืน ภายใน 1 ปี คือตั้งแต่สิงหาคม 2559-กรกฎาคม 2560 ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อขยายผลการดำเนินโครงการนำร่องไปสู่เกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อย และกลุ่มพันธมิตรผู้ผลิตวัตถุดิบน้ำตาลรายอื่นในระยะต่อไป และที่สำคัญคือการพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีของเกษตรกรชาวไร่อ้อยในรูปแบบการสร้างคุณค่าร่วมกัน และการเติบโตอย่างยั่งยืน

"พรวุฒิ สารสิน" ประธานกรรมการ บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัดกล่าวว่า กลุ่มธุรกิจโคคา-โคลาในประเทศไทย ให้ความสำคัญกับการสร้างคุณค่าร่วมกันระหว่างภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคประชาสังคม เพื่อให้เกิดการสร้างธุรกิจให้เติบโตไปพร้อมกับการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน

"จากการเปิดตัวโครงการแรกในปี2557มีกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเจ้าของร้านค้าปลีกหญิงเข้าร่วมโครงการไปแล้วกว่า 10,000 คนทั่วประเทศ และในปีนี้เราจึงได้ขยายโครงการไปสู่กลุ่มเกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อย โดยร่วมกับพันธมิตรในการออกแบบหลักสูตรการฝึกอบรมที่มุ่งเน้นใน 2 เรื่อง คือ การบริหารการเงินส่วนบุคคล และการทำการเกษตรอย่างยั่งยืน"

"ทั้ง 2 เรื่องเกิดจากการศึกษาเพื่อประเมินความต้องการของกลุ่มเกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อย ระหว่างมกราคมถึงมีนาคม พ.ศ. 2559 โดยสถาบันคีนันแห่งเอเซียพบว่ากลุ่มเกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อยเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการดูแลครอบครัว และมีอำนาจตัดสินใจทางการเงิน แต่ยังขาดความรู้และทักษะใน 2 เรื่องนี้"

"ในระยะที่ 2 ของโครงการเรายังมุ่งหวังให้เกิดการสร้างคุณค่าร่วมให้ทุกฝ่ายที่ทำงานในโครงการ คือการส่งเสริมพันธกิจพัฒนาศักยภาพเกษตรกรชาวไร่อ้อย ของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย การส่งเสริมการผลิตน้ำตาลและจัดหาวัตถุดิบที่ได้คุณภาพของน้ำตาลไทยรุ่งเรือง และการส่งเสริมแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ด้วยองค์ความรู้ของสถาบันคีนันแห่งเอเซีย เพื่อสอดคล้องกับพันธกิจการจัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืน (Sustainable Sourcing) ของโคคา-โคลา"

ขณะที่ "ดร.ณัฐพล อัษฎาธร" กรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทน้ำตาลไทยรุ่งเรืองกล่าวว่า โครงการนี้ตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกรชาวไร่อ้อยอย่างแท้จริง ทั้งยังสอดคล้องกับพันธกิจของกลุ่มบริษัทน้ำตาลไทยรุ่งเรืองที่เล็งเห็นความสำคัญของการยกระดับคุณภาพชีวิตชาวไร่อ้อยโดยดำเนินโครงการส่งเสริมเกษตรยั่งยืนเพื่อมุ่งเน้นการเตรียมและบำรุงดินในการเพิ่มอินทรีย์ และปรับปรุงคุณภาพดิน การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อเพิ่มน้ำต้นทุน ไปจนถึงการส่งเสริมการลดการเผาอ้อยในฤดูเก็บเกี่ยว

"สำหรับปีนี้เราคัดเลือกเกษตรกรสตรีเป้าหมายที่มีศักยภาพในการต่อยอดองค์ความรู้ให้เครือข่ายเกษตรกรเข้าร่วมโครงการกว่า600 คน และจะมีเจ้าหน้าที่ของบริษัท 30 คนเข้ารับการอบรมเพื่อทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงกับกลุ่มเกษตรกร เพื่อให้คำแนะนำและติดตามผลตลอดโครงการ โดยคาดว่าหลังจากนี้ต่อไปอีก 1 ปี เกษตรกรสตรีที่เข้าร่วมโครงการจะมีผลการทดสอบระดับความรู้เรื่องการทำเกษตรอย่างยั่งยืนเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ20"

"ปิยะบุตรชลวิจารณ์" ประธานอำนวยการและรองประธานกรรมการ สถาบันคีนันแห่งเอเซียกล่าวว่า การฝึกอบรมเกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อยในโครงการนี้ มีวัตถุประสงค์สำคัญที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวไร่อ้อยให้ดีขึ้นผ่านการเสริมสร้างทักษะการทำบัญชี และการบริหารจัดการเงินในครัวเรือนโดยสถาบันคีนันแห่งเอเซีย

"ขณะนี้เราเริ่มอบรมเกษตรกรไปแล้วกว่า200คน และตลอดการดำเนินโครงการจะมีการติดตามและประเมินผลเกษตรกรที่เข้ารับการอบรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับปรุงโครงการให้สอดคล้องกับความต้องการหรือปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจเปลี่ยนแปลงไป เราคาดว่าภายหลังเข้ารับการอบรมเกษตรกรสตรีจะมีผลการทดสอบระดับความรู้เรื่องการบริหารจัดการการเงินเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ20และมีระดับความตระหนักถึงความสำคัญในการจัดการการเงินเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30" เพราะจะช่วยให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เกิดการสร้างคุณค่าร่วมกัน และก้าวไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

อุตฯ สุดปลื้มยอดเปิด-ขยาย รง.คึก

  นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงสถานการณ์การลงทุนเปิดโรงงานใหม่และขยายโรงงานในช่วง 10 เดือนแรกปี 59 ว่า น่าพอใจและถือเป็นระดับปกติของการลงทุนภาคอุตสาหกรรมของประเทศ ซึ่งใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาท่ามกลางสถานการณ์ส่งออกของประเทศที่ติดลบประมาณ 1% ​ข้อมูลจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมระบุว่าสถิติการขอประกอบการโรงงานใหม่และขยายโรงงานเดิม ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-7 พ.ย.59 มีเอกชนแจ้งเริ่มประกอบการใหม่และขยายโรงงาน รวมทั้งสิ้น 3,559 โรงงาน วงเงินลงทุนรวม 363,770.87 ล้านบาท ก่อให้เกิดการหมุนเวียนของเงินลงทุนในระบบเศรษฐกิจของประเทศและก่อให้เกิดการจ้างงานรวม 125,373 คน

  ทั้งนี้ ในจำนวนนี้แบ่งเป็นการประกอบการใหม่รวม 3,126 โรงงาน วงเงินลงทุน 258,121.58 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน 78,081 คน และขยายโรงงาน 433 โรงงาน วงเงินลงทุน 105,649.28 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน 47, 292 คน

  ส่วนยอดขอจดทะเบียนใบอนุญาตประกอบกิจการ (รง.4) ภาพรวมยอมรับว่าลดลงจริง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร ชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น โดยยอดขอจดทะเบียนขยายตัวมากขึ้น ได้แก่ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น อย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การลงทุนเปิดโรงงานใหม่และขยายโรงงานจริงๆ ที่ปีนี้น่าพอใจไม่ลดน้อยไปกว่าปีที่ผ่านมา ส่วนอีก 2 เดือนที่เหลือจะต้องติดตามต่อไป

  ขณะที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมปีนี้ (MPI) จะขยายตัว 0.5-1.0% โดยภาคอุตสาหกรรมปัจจุบันมีสัดส่วนคิดเป็น 30% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยปีนี้คาดว่าจะขยายตัวประมาณ 3.5% อย่างไรก็ตามปีนี้ยังคงห่วงภาคอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้ากลุ่มอาหารที่ยอดส่งออกลดลง แต่ก็มีบางอุตสาหกรรมที่มียอดส่งออกสูงขึ้นบ้างคือยานยนต์ ซึ่งยอดขายในประเทศสูงขึ้นในรอบหลายเดือน ทั้งปีคาดว่ายอดขายในประเทศจะสูงกว่าปีที่ผ่านมาคิดเป็น 1% การส่งออกรถยนต์ปีนี้น่าจะส่งออกได้ 1.22 ล้านคัน ยอดผลิตน่าจะใกล้เคียง 1.9-2 ล้านคัน ซึ่งเป็นลักษณะการขยายตัวปกติของอุตสาหกรรมยานยนต์อยู่แล้ว ต่างจากช่วงมาตรการรถยนต์คันแรกที่ยอดผลิตและจำหน่ายรถยนต์สูงผิดปกติ

  ส่วนปีหน้าคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะมีแนวโน้มดีกว่าปีนี้ขยายตัวสูงกว่า 3.5% โดยเห็นได้จากดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการในช่วง 3 เดือนข้างหน้ายังดีกว่าปัจจุบัน รวมถึงการตัดสินใจลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลอย่างรวดเร็ว ซึ่งโครงการลงทุนขนาดใหญ่เกี่ยวกับสาธารณูปโภคเหล่านี้จะช่วยเพิ่มยอดการใช้เหล็ก วัสดุก่อสร้าง และชนิดอื่นที่เกี่ยวข้อง ก็ย่อมที่จะช่วยให้เม็ดเงินลงทุนสูงนี้เข้าไปมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้ ประกอบการกับการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณจะช่วยกระตุ้นการบริโภคในประเทศให้เพิ่มขึ้นได้

จาก  http://www.banmuang.co.th  วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

สศก.ถกความมั่นคงอาหาร ดันทั่วโลกพัฒนาเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน

 นายวินิต อธิสุข ผู้อำนวยการกองเศรษฐกิจการเกษตรระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดว่า สศก. ได้ร่วมประชุมคณะกรรมการความมั่นคงอาหารของโลก หรือ CFS (Committee on Food Security) ครั้งที่ 43 ณ กรุงโรม ประเทศอิตาลี ระหว่างวันที่ 17-21 ตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อหารือเกี่ยวกับการพัฒนาเกษตรกรรมที่ยั่งยืนเพื่อความมั่นคงอาหารและโภชนาการ รวมถึงบทบาทของภาคปศุสัตว์ ในฐานะเป็นกลไกขับเคลื่อนที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในระบบอาหารทั่วโลก

นอกจากนี้ ยังได้มีการรับรองข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการสร้างความเชื่อมโยงของผู้ประกอบการรายย่อยในการเข้าสู่ตลาด ตลอดจนร่วมกันพิจารณาแผนการดำเนินการของ CFS สำหรับปี 2561-2562 และการมีส่วนร่วมของ CFS ในวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030

ในการนี้ สศก. ได้นำเสนอให้ที่ประชุมรับทราบถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงมีพระราชดำริในเรื่องแหล่งอาหารโปรตีนของคนไทยมาช้านาน โดยได้ทรงนำโคนมเข้ามาในประเทศไทยเมื่อกว่า 70 ปีที่แล้ว ตลอดจนยังได้พระราชทานส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงแหล่งอาหารโปรตีนที่หลากหลาย เช่น ปลานิล สุกร ไก่ เป็นต้น และยังทรงพระราชทานแนวทางปรัญชาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน สร้างภูมิคุ้มกันและความยืดหยุ่นให้แก่เกษตรกรไทย ภายใต้การเปลี่ยนแปลงในบริบทต่างๆ ตลอดจนเพื่อให้เกษตรกรรายย่อยมีความพร้อมในการเข้าสู่กลไกตลาด นอกจากนั้น ยังได้เผยแพร่การดำเนินงานของไทยในส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น การดำเนินงานเรื่องเชื้อดื้อยาในสัตว์ การดำเนินงาน Agri-Map และการจัดงานตลาดดิจิตอลเพื่อเชื่อมโยงเกษตรกรรายย่อยเข้าสู่ตลาดสมัยใหม่ เป็นต้น

ทั้งนี้ การประชุม CFS เป็นเวทีการประชุมของ FAO สำหรับการหารือและความร่วมมือเกี่ยวกับความมั่นคงอาหารของโลก ระหว่างรัฐบาล องค์การระหว่างประเทศ ภาคประชาสังคม เอกชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน ซึ่งจะมีการประชุมเป็นประจำทุกปีที่กรุงโรม เพื่อติดตามนโยบายความมั่นคงอาหาร แบ่งปันประสบการณ์และแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีของประเทศสมาชิก ตลอดจนจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในเรื่องสำคัญต่างๆ ซึ่งไทยสามารถนำมาปรับใช้ในการวางแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงอาหารและยุทธศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งในระดับชาติและระดับภูมิภาคได้ต่อไป

จาก  http://www.naewna.com  วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

บิ๊กตู่สั่งคุมเข้มรถบรรทุกน้ำหนักเกินทำถนนพัง

นายกฯสั่งคุมเข้มรถบรรทุกน้ำหนักเกิน หลังมีผู้ร้องเรียนถนนพังจำนวนมาก เผยห่วงปัญหาน้ำท่วมกระทบระบบขนส่ง

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม.วันที่ 8 พ..ย.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงคมนาคมตรวจสอบรถบรรทุกที่ขนสินค้าน้ำหนักเกินกฎหมายกำหนดทั่วประเทศ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาได้รับการร้องเรียนเรื่องถนนพังและเสียหายเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะถนนที่อยู่ในระหว่างการซ่อมแซมในพื้นที่ชนบทและต่างจังหวัดซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนในแต่ละพื้นที่ ดังนั้นมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) บูรณาการร่วมมือกับจังหวัด กระทรวงมหาดไทย ตำรวจ และทหารเข้มงวดดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด

"การควบคุมน้ำหนักรถบรรทุกปกติมีกฎหมายดูแลอยู่แล้ว พร้อมมีด่านชั่งตรวจสอบน้ำหนักของรถในแต่ละพื้นที่ และมีรถเคลื่อนที่คอยตรวจสอบ

แต่ก็ยังพบผู้ประกอบการที่ลักลอบขนสินค้าน้ำหนักเกินจนส่งผลกระทบต่อถนนเกิดเป็นหลุมเป็นบ่อ โดยเฉพาะ ช่วงฤดูการเก็บเกี่ยวอ้อย ประมาณช่วงเดือนพ.ย.ถึงเม.ย.จะมีรถบรรทุกขนอ้อยวิ่งกันมากจึงเร่งให้แก้ปัญหาเรื่องนี้โดยเร็วประกอบกับในช่วงนี้เป็นฤดูฝนซึ่งทำให้ถนนหลายแห่งไม่อยู่ในสภาพสมบูรณ์อีกด้วย"นายอาคมกล่าว

นายอาคมกล่าวต่อว่า นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีได้กำชับเรื่องการแก้ปัญหาน้ำท่วม โดยการออกแบบถนนให้เพิ่มท่อระบายน้ำ ท่อลอดถนนในช่วงที่กำลังก่อสร้างถนนให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อให้สามารถระบายน้ำและแก้ปัญหาน้ำท่วมในแต่ละพื้นที่ได้มากขึ้น หรือเป็นการระบายน้ำจากฝั่งหนึ่งไปสู่แก้มลิง เพื่อลดปัญหาน้ำท่วมขังและผลกระทบต่อระบบขนส่งและการคมนาคมของประชาชน เช่น ที่ จังหวัดนครสวรรค์ที่ผ่านมาน้ำท่วมเป็นเวลา และถนนต่ำกว่าระดับน้ำและเมื่อฝนตกหนักเกิดน้ำท่วมขัง เพราะท่อระบายน้ำมีขนาดเล็กเกินไป เป็นต้น

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ระดมสมอง‘Water Footprint’ ประเมินการใช้น้ำตลอดห่วงโซ่ผลิตภาคการเกษตร

นางจันทร์ธิดา มีเดช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการการจัดทำฐานข้อมูล Water Footprintภาคเกษตร เพื่อประเมินการใช้น้ำในการผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญตลอดห่วงโซ่การผลิต ทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมถึงประเมินมูลค่าการใช้น้ำภาคเกษตรในเชิงเศรษฐศาสตร์ ซึ่งสศก. ได้ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดทำโครงการมีระยะเวลาดำเนินงาน 9 เดือน (เมษายน - ธันวาคม 2559)

ภาคเกษตรของไทยมีความต้องการใช้น้ำในปริมาณกว่าร้อยละ 80 โดยเป็นน้ำจากแหล่งน้ำตามธรรมชาติ เขื่อนและน้ำบาดาลซึ่งในระยะหลัง ความผันผวนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้นบ่อยครั้ง บางที่เกิดสภาพอากาศแห้งแล้ง ทำให้ปริมาณฝนในประเทศต่ำกว่าค่าปกติส่งผลให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่ไม่เพียงพอในการทำการเกษตรซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการบริหารจัดการน้ำ เพื่อให้การใช้น้ำเพื่อการเกษตร เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ดังนั้น โครงการจัดทำฐานข้อมูล Water Footprint จึงได้ทำการประเมินการใช้น้ำสำหรับผลิตสินค้าเกษตรตลอดห่วงโซ่การผลิต และประเมินมูลค่าการใช้น้ำภาคเกษตรในเชิงเศรษฐศาสตร์ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยในการกำหนดนโยบายและแนวทางการบริหารจัดการน้ำในภาคเกษตรให้มีทิศทางที่ถูกต้อง มีประสิทธิภาพ และยั่งยืน

การจัดสัมมนาในครั้งนี้ ได้มีทีมที่ปรึกษาถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจในกรอบแนวคิด และวิธีการประเมินปริมาณการใช้น้ำในการผลิตสินค้าเกษตร รวมถึงมูลค่าการใช้น้ำในเชิงเศรษฐศาสตร์ ซึ่งถือว่าเป็นการพัฒนาศักยภาพบุคลากรของภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ก่อให้เกิดการตระหนักรู้ต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ โดยเฉพาะเมื่อมีผลกระทบต่อภาคเกษตร และผู้เข้าร่วมสัมมนาสามารถนำความรู้ที่ได้รับดังกล่าวไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อหน่วยงาน และต่อประเทศต่อไปในอนาคต อีกทั้งผู้เข้าร่วมสัมมนายังได้ร่วมกันแสดงข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ ต่อผลการศึกษาในเบื้องต้น ซึ่งมีประโยชน์อย่างมากที่ทาง สศก.จะนำไปปรับปรุงรายงานผลการศึกษาให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นต่อไป

จาก http://www.naewna.com วันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

พญาอินทรีคนต่อไป : ผลกระทบต่อไทยและอาเซียน

ความท้าทายเศรษฐกิจไทยและอาเซียน หลังเลือกตั้งสหรัฐฯ

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย  ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผย ถึงผลกระทบนโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดีสหรัฐฯคนใหม่ต่ออาเซียนและไทย ว่า “จากโพลล์ต่างๆที่สำรวจความคิดเห็นของคนอเมริกันจะพบว่านางฮิลลารีคลินตันมีคะแนนนิยมเหนือกว่านายโดนัลด์ทรัมป์ แม้ส่วนต่างที่เคยมากเริ่มใกล้กันมากขึ้นหลัง FBI จะทบทวนการสอบสวนการใช้อีเมล์ส่วนตัวของนางฮิลลารีคลินตัน ขณะปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีต่างประเทศ แต่หลังโพลล์สำรวจอังกฤษออกจากอียู (Brexit) ที่ผลออกมาตรงกันข้ามทำให้ผมคิดว่าเราไม่น่าจะสามารถเชื่อผลโพลล์ได้มากนัก” ในที่นี้เราลองมาประเมินผลกระทบของนโยบายเศรษฐกิจของผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีที่จะมีความเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการค้าระหว่างประเทศและนโยบายการคลังโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากนโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดีคนใหม่ที่จะมุ่งขับเคลื่อนการเติบโตจากภายในแล้วเศรษฐกิจอาเซียนรวมทั้งไทยจะได้รับผลกระทบหรือไม่อย่างไร

สำหรับนโยบายการค้าระหว่างประเทศ ตัวแทนผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทั้งสองคนเห็นด้วยกับการสร้างงานให้มากขึ้นโดยการหาวิธีลดการนำเข้าหรือไม่ก็เจรจาข้อตกลงโดยเฉพาะ TPP (Trans – Pacific Strategic Economic Partnership Agreement) หรือความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชียและแปซิฟิกกันใหม่ โดยทรัมป์อ้างว่า รายงานการจ้างงานของสหรัฐฯ ดูย่ำแย่ ขณะที่คนอเมริกันจำนวนมากสูญเสียงานให้กับจีนและเวียดนาม ส่วนคลินตันระบุว่า การทุ่มตลาดเหล็กของจีนก่อให้เกิดการปิดตัวลงของอุตสาหกรรมเหล็กของสหรัฐฯ

 “ผมคาดการณ์ในเรื่องนี้ว่าประธานาธิบดีคนใหม่จะดำเนินนโยบายตอบโต้ทางการค้าที่รุนแรงกับประเทศต่างๆโดยเฉพาะจีนซึ่งอาจจะรวมทั้งการเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าหรือตั้งกำแพงทางการค้าที่มิใช่ภาษี แต่ในที่สุดอาจเป็นผลลบต่อสหรัฐฯเอง ถามว่าทำไม ก็เพราะสหรัฐฯพึ่งพาสินค้าและวัตถุดิบจากจีนมากโดย 1 ใน 5 หรือ 20% ของการนำเข้าของสหรัฐฯมาจากจีน ขณะที่สหรัฐมีสัดส่วนการนำเข้าจากอาเซียน 7.3% โดยในอาเซียนนั้น เวียดนามมีส่วนแบ่งการนำเข้าจากสหรัฐฯมากที่สุดประมาณ 1.9% ตามด้วยมาเลเซียและไทย ขณะที่ผลิตภาพของแรงงานสหรัฐก็ไม่สูงพอที่จะชดเชยการผลิตจากภายนอกประเทศด้วยต้นทุนต่ำ ดังนั้นถ้าสหรัฐขึ้นราคาสินค้านำเข้าถามว่า จะไม่ยิ่งทำให้ต้นทุนการผลิตและค่าครองชีพของสหรัฐฯสูงขึ้นเลยหรือ แต่ถ้าเกิดขึ้นจริง ผมคิดว่าการส่งออกของอาเซียนคงจะหดตัวลงใน   ปีหน้า ทั้งที่ส่งออกไปยังจีนและระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกันเอง”

ทั้งนี้ ความไม่แน่นอนของการรวมกลุ่ม TPP กำลังจะช่วยสลายจุดอ่อนของไทย จากการที่ผู้ท้าชิงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทั้งคู่ต่างแสดงจุดยืนด้านนโยบายว่า ไม่ต้องการ TPP เพราะต้องการให้สหรัฐฯ กลับมาเป็นมหาอำนาจในการผลิตสินค้าภายในประเทศมากกว่าพึ่งพิงตลาดต่างประเทศ ไทยจึงควรใช้โอกาสนี้ผลักดันความร่วมมือทางการค้าของไทยในกลุ่ม RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) หรือความตกลงพันธมิตรทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคมากยิ่งขึ้น ซึ่งน่าจะเริ่มมีสัญญาณชัดเจนขึ้นภายในปลายปีนี้หรือปีหน้าหลังจากที่ได้ประชุมร่วมกันมาแล้วถึง 15 รอบ

นายอมรเทพ ขยายความว่า “นโยบายไม่ต้องการ TPP ของผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทั้งสองคนกำลังช่วยสลายจุดอ่อนของไทยในเชิงการค้า สืบเนื่องจากไทยไม่ได้เข้าร่วมกับ TPP ตั้งแต่ต้น ซึ่งเดิมได้ส่งผลให้ไทยเสียความน่าสนใจในการลงทุนให้แก่เวียดนามซึ่งเข้าร่วมกับ TPP ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ขณะเดียวกันประเทศที่เข้าร่วม TPP อย่างญี่ปุ่นอาจตัดสินใจย้ายฐานการผลิตจากไทยไปเวียดนามหรือประเทศอื่นๆที่เข้าร่วม TPP ได้ ทำให้ไทยอาจเสียเปรียบเวียดนามในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ส่วนอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของไทยก็จะเสียเปรียบในการแข่งขันมากขึ้นเนื่องจากประเทศคู่แข่งโดยเฉพาะเวียดนามจะได้สิทธิประโยชน์ทั้งสิทธิ GSP และข้อตกลง TPP รวมทั้งต้นทุนการผลิตต่ำกว่าไทย ทั้งนี้ งานศึกษาของต่างประเทศระบุว่าเวียดนามได้ประโยชน์สูงสุดจากการเข้าร่วม TPP”

ดังนั้น หากสหรัฐฯ ดำเนินนโยบายไม่ต้องการ TPP ขึ้นมา ทำให้เวียดนามไม่มีความได้เปรียบไทยมากนัก อีกทั้งยังทำให้ความน่าสนใจในการลงทุนของไทยยังมีอยู่จากการที่ไทยมีพรมแดนและการคมนาคมเชื่อมโยงกับกลุ่มประเทศ CLMV ที่กำลังเติบโตและนักลงทุนสามารถใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อตอบโจทย์การลงทุน นอกจากนี้ ไทยเองต้องพยายามเดินหน้าความร่วมมือกับกับประเทศในเอเชียมากขึ้น เพื่อลดแรงกดดันจากการที่สหรัฐฯ กำลังจะเปลี่ยนนโยบายการค้ามาเน้นผลิตสินค้าในประเทศมากขึ้นและลดการพึ่งพาตลาดต่างประเทศลง ซึ่งนโยบายนี้ของสหรัฐฯจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยทั้งโดยทางตรงและทางอ้อมจากการที่ไทยเป็นคู่ค้าของสหรัฐฯและไทยเป็นคู่ค้าของจีนที่ผลิตเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ

ในเมื่อ TPP มีความล่าช้าทำให้อุตสาหกรรมบางประเภท เช่น เครื่องจักรกล ที่คาดว่าจะสูญเสียความสามารถการแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ และญี่ปุ่นให้กับประเทศคู่แข่งโดยเฉพาะมาเลเซีย ก็อาจไม่ได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ยังรวมถึงอุตสาหกรรมยาที่ TPP ได้กำหนดมาตรฐานยารักษาโรคให้สูงขึ้น ส่งผลให้ราคายานำเข้าปรับตัวสูงขึ้น ก็อาจจะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการนำเข้ายา

ด้าน นโยบายการคลัง ตัวแทนผู้สมัครทั้งสองคนมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน คือ หนี้สาธารณะจะเพิ่มสูงขึ้น มีรายงานว่าปัจจุบันหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ อยู่ที่ 77% ของจีดีพี แต่จากนโยบายของคลินตัน คาดกันว่าหนี้สาธารณะของสหรัฐฯจะขยับขึ้นเป็น 86% ของจีดีพีภายในระยะเวลา 10 ปี แต่ภายใต้นโยบายของทรัมป์ หนี้สาธารณะจะพุ่งขึ้นมากกว่าโดยคาดว่าจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 105% ของจีดีพี

คลินตันต้องการเห็นเศรษฐกิจสหรัฐฯเติบโตขึ้นโดยชนชั้นกลาง นโยบายจึงมุ่งไปที่การเพิ่มค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ การสร้างงานจากกลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน ภาคการผลิต และโอกาสที่มากขึ้นจากโครงการพลังงานสะอาด ขณะที่ผู้ร่ำรวยจะถูกเก็บภาษีเพิ่ม ซึ่งตรงข้ามกับ นโยบายของทรัมป์ที่ต้องการเก็บภาษีผู้ร่ำรวยน้อยลงและมุ่งมั่นที่จะนำงานมาให้คนอเมริกันภายใต้แคมเปญ “ทำอเมริกาให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง” (Make America Great Again) โดยทรัมป์มองว่าภายใต้นโยบายเศรษฐกิจของเขานี้โดยเฉพาะการลดภาษีจะทำให้จีดีพีของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นซึ่งจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาหนี้สาธารณะ

“ถึงตรงนี้ผมคิดว่านโยบายเศรษฐกิจของตัวแทนผู้สมัครทั้ง 2 คน ค่อนข้างเป็นที่กังขา หากยึดข้อมูลบนพื้นฐานของการคาดการณ์จากสำนักงบประมาณของสหรัฐฯ ในอีก 30 ปีข้างหน้า จะพบว่า ยอดขาดดุลงบประมาณจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ 2.9% ของจีดีพีมาเป็น 8.8% ของจีดีพี โดยการใช้จ่ายด้านประกันสังคมจะขยับขึ้นจาก 4.9% ของจีดีพีในปัจจุบันเป็น 6.3% ของจีดีพี ขณะที่การใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพจะขยับขึ้นจาก 5.5% ของจีดีพีในปัจจุบันเป็น 8.9% ของจีดีพี ตรงจุดนี้ ชี้ให้เห็นว่าในอนาคตนั้น รายจ่ายภาครัฐมากกว่าครึ่งจะเกี่ยวข้องกับสิทธิ/ข้อผูกพัน ซึ่งหนีไม่พ้นว่าหนี้สาธารณะจะต้องสูงขึ้น ถ้ารัฐบาลไม่หาหนทางขึ้นภาษีหรือลดรายจ่ายอื่นลงไม่ว่าใครจะมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีก็ต้องเผชิญกับปัญหาด้านการคลังในอนาคตทั้งสิ้น ปัญหาการคลังอาจปะทุขึ้นถ้าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลักมาจากคนละพรรคกันกับประธานาธิบดีซึ่งเพิ่มความเป็นไปได้ที่จะเกิดภาวะปิดหน่วยงานราชการสหรัฐฯ (Government Shutdown) ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปลายปี 2556 ซึ่งเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงินและภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจ”

ในทางทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ หากมีการจัดเก็บภาษีนิติบุคคล บริษัทจะสามารถผลักภาระภาษีไปให้แรงงานได้ผ่านการลดค่าจ้าง ในทางกลับกัน หากทรัมป์ มีนโยบายลดภาษีให้ธุรกิจ ก็คาดว่าจะสามารถช่วยคนงานที่มีรายได้น้อยได้ผ่านการจ้างงานและการเพิ่มแรงจูงใจให้คนมาทำงานที่ดีขึ้น      ซึ่งอาจช่วยให้เศรษฐกิจสหรัฐฯเร่งแรงขึ้นได้จนภาระหนี้ต่อจีดีพีเพิ่มไม่สูง

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ในอาเซียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการไหลกลับของเงินทุนไปสู่สินทรัพย์ปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เงินเยนหรือทองคำในระหว่างที่เกิดภาวะความไม่แน่นอนของตลาดการเงินโลกโดยเฉพาะในกรณีที่ทรัมป์ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ ในทางกลับกัน หากคลินตันได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี ก็มีความเป็นไปได้ว่า นักลงทุนจะมีความต้องการสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้นซึ่งจะส่งผลให้มีเงินไหลเข้ามาในภูมิภาคเอเชีย เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐฯ แต่คาดว่าความผันผวนนั้นจะเป็นเพียงชั่วคราว เพราะตลาดจะให้น้ำหนักกับการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) ในช่วงกลางเดือนธันวาคมต่อไป ซึ่งทางสำนักวิจัยมองเงินบาทปลายปีนี้ที่ระดับ 35.50 ในกรณีคลินตันและ 36.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในกรณีทรัมป์เป็นประธานาธิบดี

สำหรับ แนวโน้มอัตราดอกเบี้ย  สำนักวิจัยคาดว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ในเดือนธันวาคมตามที่คาดการณ์ไว้ แม้หากทรัมป์ได้รับการเลือกมาเป็นประธานาธิบดีและส่งผลให้ตลาดมีความผันผวนก็ตาม เนื่องจากเชื่อว่า เฟดจะดูปัจจัยพื้นฐานในประเทศเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการจ้างงานที่ดีขึ้น อัตราเงินเฟ้อที่ขยับขึ้นและการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน เพราะหากพูดแล้วไม่ทำตามคำพูดก็จะเสียความน่าเชื่อถือได้ มองต่อไป อัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ในปีหน้าก็มีโอกาสขยับขึ้นต่อเนื่องได้ เพียงแต่ไม่น่าเร่งตัวแรง โดยนโยบายเศรษฐกิจของทั้งทรัมป์และคลินตันน่าจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ  โตได้ดีกว่าในปีนี้ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มขยับตัวสูงขึ้น

อย่างไรก็ดี ระดับอัตราดอกเบี้ยอาจแตกต่างกันในกรณีของทรัมป์และคลินตัน โดย สำนักวิจัยมองว่านโยบายเศรษฐกิจของทรัมป์น่าจะสามารถเร่งการเติบโตในระยะสั้นได้ดีกว่าแม้ว่าจะมีความเสี่ยงต่อภาระหนี้ในระยะยาวก็ตาม ซึ่งอาจทำให้อัตราดอกเบี้ยปลายปีหน้าขยับสูง 2 ครั้งไปอยู่ที่ระดับ 1.00-1.25% แต่หากคลินตันได้รับเลือก อัตราดอกเบี้ยอาจขยับขึ้นได้เพียงครั้งเดียวอยู่ที่ 0.75-1.00% ปลายปีหน้า

“สำหรับ อัตราดอกเบี้ยของไทยนั้น สำนักวิจัยมองว่ายังไม่น่าจะขยับขึ้นตามสหรัฐฯแม้เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวแต่ก็เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่การลงทุนภาคเอกชนยังอ่อนแอ อัตราเงินเฟ้อยังต่ำ ทั้งนี้ นักลงทุนอาจติดตามตัวเลขเศรษฐกิจไทยเพื่อประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งทางสำนักวิจัยมองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยน่าจะคงที่ระดับ 1.50% ต่อปีจนถึงปลายปีหน้า” นายอมรเทพ กล่าว

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

พลังงานจับมือก.อุตฯ-พาณิชย์ หนุนใช้แผงโซลาร์เซลล์ในปท.

กระทรวงพลังงาน เตรียมจับมือ “อุตสาหกรรม-พาณิชย์” เดินหน้ามาตรการหนุนใช้แผงโซลาร์เซลล์ที่ผลิตในประเทศ พร้อมจี้ สมอ. เร่งหามาตรการตรวจสอบคุณภาพสินค้านำเข้าจากจีนตามมาตรฐาน มอก. ฟากเอกชนเผย ศักยภาพผู้ผลิตแผงเซลล์ในไทย 5 ราย กำลังการผลิตรวม 300 เมกะวัตต์ต่อปี

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์ และรองโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างหารือร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพาณิชย์ หลังจากที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการให้ 3 กระทรวงเร่งหามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ผลิตแผงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์(โซลาร์เซลล์) ในประเทศ เนื่องจากพบว่าต้นทุนการแผงโซลาร์เซลล์ยังไม่สามารถแข่งขันกับจีนได้ นอกจากนี้ยังต้องนำเข้าสารซิลิคอนซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ เบื้องต้นนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) พิจารณามาตรการดังกล่าว

นอกจากนี้ส่วนตัวเห็นว่าจำเป็นต้องมีมาตรการตรวจสอบคุณภาพสินค้าแผงโซลาร์เซลล์ ให้เป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ซึ่งทางสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) จะเป็นผู้พิจารณา เนื่องจากปัจจุบันผู้ประกอบการของไทยร้องเรียนว่ายังไม่มีการกำหนดมาตรฐานแผงโซลาร์เซลล์จากจีน ซึ่งมีคุณภาพต่ำกว่าสินค้าของไทยค่อนข้างมาก

ขณะเดียวกันนายกฯ ยังสั่งการให้หน่วยงานราชการติดตั้งแผงผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์(โซลาร์เซลล์) บนหลังคา เพื่อใช้ในหน่วยงานราชการ เพื่อลดค่าใช้จ่าย เบื้องต้นคาดว่าทางหน่วยงานราชการจะหารือกับสำนักงบประมาณ เพื่อตั้งงบติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์แต่ละหน่วยงานต่อไป

ขณะที่ความคืบหน้าการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโซลาร์ฟาร์มสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์การเกษตร ระยะที่ 2 จำนวน 519 เมกะวัตต์ ขณะนี้ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) อยู่ระหว่างการพิจารณา คาดว่าจะเปิดรับซื้อในช่วงต้นปีหน้า โดยคาดว่าอัตรารับซื้อไฟฟ้าตามต้นทุนรูปแบบฟีดอินทารีฟ จะลดลงตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เมื่อวันที่ 26 กันยายนที่ผ่านมา อยู่ที่ 4.12 บาทต่อหน่วย จากเดิมระยะที่ 1 อยู่ที่ 5.66 บาทต่อหน่วย เนื่องจากต้นทุนแผงและค่าติดตั้งปรับลดลง จากปี 2557 อยู่ที่ 54 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ ปัจจุบันลดลงเหลือ 42 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์

อย่างไรก็ตามคาดว่าแนวโน้มต้นทุนแผงโซลาร์เซลล์ในปี 2560 จะปรับลดลงอีกเล็กน้อย ซึ่งอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่ 4.12 บาทต่อหน่วย จะใช้ในช่วงปี 2560-2561 แต่หลังจากนั้นทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) จะทบทวนต้นทุนโซลาร์ฟาร์มอีกครั้ง

นายดนุชา น้อยใจบุญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอกรัฐวิศวกรรม จำกัด (มหาชน) กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า ภาครัฐควรออกมาตาการตรวจสอบคุณภาพ มาตรฐานแผงโซลาร์เซลล์ โดยเฉพาะสินค้าที่นำเข้าจากจีน ให้เป็นไปตาม มอก. เช่นเดียวกับสินค้าของไทย เนื่องจากปัจจุบันแผงโซลาร์เซลล์ของจีนมีราคาต่ำจนผู้ประกอบการไทยหรือแม้กระทั่งผู้ประกอบการทั่วโลกก็ไม่สามารถแข่งขันได้ สาเหตุมาจากคุณภาพมาตรฐานสินค้าที่แตกต่างกัน โดยสินค้าของจีนเมื่อนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยยังไม่มีหน่วยงานของภาครัฐเข้าไปตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานแต่อย่างใด

นอกจากนี้ปัจจุบันโรงงานของจีนที่เข้ามาตั้งในไทย ผลิตเพียงเฟรมขอบแผงเท่านั้น ส่วนแผงยังคงนำเข้าจากจีน เทียบกับสินค้าของไทยที่ต้องได้รับมาตรฐานตั้งแต่เริ่มกระบวนการผลิต ดังนั้นต้องการให้ภาครัฐเร่งตรวจสอบเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการในประเทศ เพราะหากยังปล่อยให้สินค้าคุณภาพต่ำเข้ามาในตลาด ผู้ประกอบการไทยคงไม่สามารถแข่งขันได้ โดยปัจจุบันโรงงานผลิตแผงโซลาร์เซลล์ของผู้ประกอบการไทยมีทั้งสิ้น 5 แห่ง กำลังการผลิตรวม 300 เมกะวัตต์ต่อปี

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

กลุ่มมิตรผลปลูกต้นกล้าทดแทนป่าไฟไหม้

ร่วมบริจาคเงินและสิ่งของเพื่อสาธารณประโยชน์ชุมชน

กลุ่มมิตรผล นำโดย บรรเทิง ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มธุรกิจกลุ่มงานอ้อย ผู้นำด้านเกษตรสมัยใหม่และการบริหารจัดการไร่อ้อยยั่งยืน จัดทัพ “มิตรอาสา”นำทีมโดยบรรเทิง ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มธุรกิจกลุ่มงานอ้อยร่วมด้วยพนักงานกลุ่มมิตรผลและเกษตรกร ซึ่งมีทักษะฟื้นฟูพื้นที่เกษตรกรรมที่ได้รับความเสียหายจากไฟไหม้ พร้อมด้วยชุมชนในพื้นที่ กว่า 600 คน ร่วมจัดกิจกรรม “มิตรอาสาฟื้นฟูป่าภูหลง ณ วัดป่ามหาวัน อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ” ร่วมใจปลูกต้นกล้าคืนผืนป่าต้นน้ำ ปลูกต้นกล้าพะยูงและมะค่า จำนวน 6,999 ต้น ทดแทนป่าผืนสุดท้ายที่ถูกไฟไหม้ในพื้นที่ป่าภูหลง พร้อมมอบเงินสนับสนุนเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์ในการป้องกันไฟและฟื้นฟูป่ารวมถึงชุมชนที่ได้รับผลกระทบ กว่า 900,000 บาทเมื่อเร็วๆ นี้

ทั้งนี้ กลุ่มมิตรผล ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนโดยคำนึงถึงมาตรฐานการผลิตควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อมและชุมชน ภายใต้แนวคิด “ร่วมอยู่ ร่วมเจริญ” ซึ่งยึดถือและยึดมั่นปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่องตลอด 60 ปี ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาและผลกระทบที่เกิดจากสถานการณ์ไฟไหม้ป่าครั้งล่าสุดณ บริเวณ พื้นที่ป่าภูหลง บนเทือกเขาภูแลนคา อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำสำคัญที่ได้รับความเสียหายอย่างหนักกว่า3,000 ไร่ โดยมีสาเหตุมาจากการลักลอบเผาป่าเพื่อล่าสัตว์ของนายพรานนอกพื้นที่

จาก http://www.naewna.com วันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

อุตฯหวั่นขยะพิษล้นเมือง เล็งตั้งรง.กำจัดซาก‘โซลาร์เซลล์’3.88แสนตัน

อุตฯวางแผนรับมือล่วงหน้า เพื่อกำจัดซากแผงโซลาร์เซลล์ โดยปัจจุบันมีสะสมแล้ว 12.9 ล้านแผง หนักกว่า 3.88 แสนตัน

 เริ่มเสื่อมชำรุด เล็งศึกษาตั้งโรงงานกำจัด ขณะที่ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนฯ เสนอขอใช้งบฯ 6,000 ล้านบาท สนับสนุนหน่วยงานราชการติดตั้งแผง “โซลาร์ รูฟท็อป”

นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรมอยู่ระหว่างจัดทำแผนกำจัดซากผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ : เซลล์แสงอาทิตย์ (แผงโซลาร์เซลล์) อย่างเป็นระบบ เนื่องจากมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความต้องการติดตั้งแผงโซลาร์ฯของประชาชนเพิ่มขึ้น จากราคาแผงที่เริ่มปรับลดลง และเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลที่ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนราชการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อลดภาระค่าไฟฟ้า

ขณะที่ กรมได้คาดการณ์ปริมาณซากแผงโซลาร์ฯ สะสมตั้งแต่ปี 2545-2559 อยู่ที่ 388,347 ตัน หรือคิดเป็น 12.9 ล้านแผง และปริมาณซากสะสมถึงปี 2563 จะอยู่ที่ 551,684 ตัน หรือ 18.38 ล้านแผง ซึ่งต้องทยอยกำจัดซากในอนาคต เพราะแต่ละแผงจะมีอายุการใช้งานประมาณ 20-25 ปี

“ตอนนี้ยังมีแผงโซลาร์ฯ ที่ต้องกำจัดไม่มาก เพราะอายุใช้งานส่วนใหญ่นานถึง20-25 ปี เช่น ติดตั้งปี 2545 จะต้องกำจัดซากในปี 2570 แต่ตอนนี้ก็มีแผงโซลาร์ฯ ที่เสียออกมาบ้าง โดยใช้วิธีการกำจัดซาก นำไปแยกชิ้นส่วนที่สามารถรีไซเคิลได้ประมาณ 50% เช่น แก้ว แผงวงจร ส่วนอีก 50% จะนำไปบด แล้วใส่น้ำยาเฉพาะ ก่อนนำไปฝังกลบ แต่หลังจากแนวโน้มคนนิยมติดตั้งเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จึงต้องทำแผนอย่างเป็นระบบ ส่วนหนึ่งกำลังพิจารณาข้อมูลทางวิชาการอยู่ว่า ควรตั้งโรงงานรีไซเคิลและกำจัดแผงโซลาร์ฯ โดยเฉพาะขึ้นมาเลยหรือไม่ โดยตั้งเป้าว่า จะต้องนำเศษซากชิ้นส่วนออกมารีไซเคิลให้ได้ไม่ต่ำกว่า 80% จากปัจจุบัน 50% ซึ่งต้องใช้เทคโนโลยีที่สูงกว่าในปัจจุบัน จึงต้องพิจารณาว่า คุ้มทุนหรือไม่”นายมงคลกล่าว

อย่างไรก็ดีในปี 2558 ที่ผ่านมากรม ได้ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จัดทำร่างแผนแม่บทการจัดการซากผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ :เซลล์แสงอาทิตย์ โดยกรมจะนำผลการศึกษาดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน

นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า พพ.เตรียมใช้เงินกองทุนเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน 6,000 ล้านบาท สนับสนุนหน่วยราชการดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน รวมถึงโครงการติดตั้งโซลาร์เซลล์สำหรับผลิตไฟฟ้าบนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) ในหน่วยงานราชการทั่วประเทศ ตามนโยบายพล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีด้วย โดย พพ. อยู่ระหว่างออกหลักเกณฑ์การขอใช้งบประมาณดังกล่าว คาดว่า แล้วเสร็จภายในเดือนนี้ และคาดว่าจะประกาศเปิดให้ร่วมโครงการได้ในเดือน ธันวาคม 2559 นี้

สำหรับหลักเกณฑ์เบื้องต้นจะกำหนดให้หน่วยงานละไม่เกิน 50 ล้านบาท และต้องเป็นหน่วยงานรัฐที่ไม่เคยได้รับงบการสนับสนุนงบในลักษณะดังกล่าวมาก่อนด้วย โดยคาดว่า งบ 6,000 ล้านบาท อาจไม่เพียงพอที่จะช่วยดำเนินการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เองสำหรับหน่วยงานรัฐ จึงเตรียมไปหารือกับสำนักงบประมาณ เพื่อให้จัดสรรงบประมาณสำหรับดำเนินการโครงการดังกล่าว ซึ่งต่อไปถ้าหน่วยงานรัฐ เช่น โรงพยาบาล สถานีตำรวจ ต้องการติดโซลาร์รูฟท็อป และมีเงินจากสำนักงบประมาณแล้ว ก็สามารถติดตั้งได้สะดวก เพียงแค่จ้างที่ปรึกษาให้ดำเนินการ

มีรายงานแจ้งว่า สำหรับปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์นั้น ปัจจุบันยังพบว่ามี ขยะจากอุปกรณ์ไฟฟ้า มือถือ ชิ้นส่วน ฯลฯ ถูกทิ้งเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ จำนวนมากอีกด้วย ขยะเหล่านี้หากจำกัดไม่ถูกวิธีจะมีปัญหาในเรื่องของมลพิษด้วย

จาก http://www.naewna.com วันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

KBSมั่นใจรายได้ปีหน้าโตเกือบเท่าตัว

นายรักกิติ ตั้งล้ำเลิศ ผู้อำนวยการด้านการเงิน บริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) หรือ KBS ผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย และธุรกิจที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์พลอยได้ที่ได้จากการผลิตน้ำตาลทราย ได้แก่ การขายกากน้ำตาล การขายไฟฟ้า เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่าผลประกอบการในปี 2560 จะเติบโตกว่าปี 2559 เกือบเท่าตัว จากช่วงครึ่งปีแรก 2559 นี้บริษัทมีรายได้อยู่ที่ระดับ 3,596.19 ล้านบาท

ทั้งนี้เนื่องจากบริษัท ผลิตไฟฟ้านครบุรี จำกัด (KKP) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย จะกลับมาเดินเครื่องผลิตได้เต็มกำลัง 100% หลังจากที่เกิดความเสียหายจากการเกิดอุบัติเหตุท่อเมนไอน้ำ ซึ่งได้มีการซ่อมบำรุงและเดินเครื่องผลิตแล้วเมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ประกอบกับราคาน้ำตาลในตลาดโลกได้มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังจากที่ราคาตกต่ำมาหลายปี ทั้งนี้สัดส่วนของการส่งออกน้ำตาลของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 70% ของยอดขายรวม และส่วนที่เหลืออีก 30% เป็นการขายในประเทศ

“ภาพรวมรายได้ในปี 2559 คาดว่าจะต่ำกว่าปี 2558 ที่สามารถทำได้ในระดับ 6,726.64 ล้านบาท เนื่องจากมีการปิดปรับปรุงโรงไฟฟ้าของ KKP เนื่องจากเกิดอุบัติเหตุท่อเมนไอน้ำเสียหาย จึงทำให้โรงไฟฟ้าต้องหยุดการผลิตเพื่อซ่อมบำรุง ซึ่งโรงไฟฟ้าดังกล่าวสามารถสร้างรายได้เข้าบริษัทได้ประมาณ 700 ล้านบาท”นายรักกิติ กล่าวว่า

นอกจากนี้บริษัทอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรทางธุรกิจประมาณ 2-3 ราย เพื่อลงทุนในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชูก้าร์ เอ็นเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ ที่สีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา บนเนื้อที่กว่า 1,000 ไร่ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 6,000 ล้านบาท

“ในปี 2560 คาดว่าจะเป็นปีที่ดีที่สุดของกลุ่ม KBS โดยคาดว่าจะเติบโตกว่าปี 2559 นี้เกือบ 100% เนื่องจากราคาน้ำตาลตกต่ำมาหลายปี รวมถึง KKP ก็สามารถเดินเครื่องได้เต็มกำลังการผลิตแล้ว และสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าส่วนเกินขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ อีกทั้งยอดการส่งออกน้ำตาลทรายขาวไปต่างประเทศยังทำได้กว่า 70%” นายรักกิติ กล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ไทยเป็นเจ้าภาพประชุมชลประทานโลกครั้งที่2

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเปิดการประชุมชลประทานโลก ครั้งที่ 2 และการประชุมมนตรีฝ่ายบริหารระหว่างประเทศ ครั้งที่ 67 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 6 - 12 พ.ย.59 ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จ.เชียงใหม่ ว่า การจัดการประชุมชลประทานโลกและการประชุมมนตรีฝ่ายบริหารระหว่างประเทศครั้งนี้ เป็นการจัดประชุมภายใต้หัวข้อ "การบริหารจัดการน้ำภายใต้สภาวะการเปลี่ยนแปลงของโลก : บทบาทการชลประทานต่อความยั่งยืนด้านอาหาร" มีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งระดับรัฐมนตรี เจ้าหน้าที่ระดับสูง ผู้บริหารจากสถาบันการศึกษา นักวิชาการด้านน้ำและชลประทาน ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ตอบรับเข้าร่วมประชุม 40 ประเทศ ประมาณ 1,200 คน

ทั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ 3 หัวข้อ คือ การแสวงหาแนวทางการบริหารจัดการเพื่อสร้างความสมดุลระหว่าง น้ำ อาหาร พลังงานและระบบนิเวศ การร่วมกำหนดวิธีการรับมือที่เหมาะสมกับสภาพการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศที่มีผลต่อปริมาณน้ำ ทั้งอุทกภัย และภัยแล้ง และเป็นการใช้ระบบชลประทานและการระบายน้ำเพื่อลดความยากจนและความหิวโหย โดยร่วมวางแนวทางพัฒนาแหล่งน้ำ ซึ่งถือเป็นปัจจัยพื้นฐานให้เพียงพอที่จะสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยใช้ทำการเกษตร

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวต่อว่า การประชุมครั้งนี้ยังเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและพระอัจฉริยภาพด้านการบริหารจัดการน้ำของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยจัดนิทรรศการเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจและโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พร้อมทั้งจัดพื้นที่ให้ผู้เข้าร่วมประชุมและประชาชนได้ถวายสักการะเบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ และลงนามเพื่อแสดงความอาลัย อีกทั้งยังได้มีการจัดทำแบบจำลองศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั้ง 6 ศูนย์ มาแสดงในบริเวณงานอีกด้วย อาทิ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร และศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น

สำหรับนิทรรศการที่เป็นโซนเฉลิมพระเกียรติจะนำเสนอผลงานด้านบริหารจัดการน้ำ ภายใต้พระมหากรุณาธิคุณมาจัดแสดงร่วมกับนิทรรศการที่แสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งจะมีคำบรรยายทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษรวม 13 เรื่อง ได้แก่ นิทรรศการฝนหลวงแก้ปัญหาแล้ง นิทรรศการป่าต้นน้ำ/ระบบป่าเปียก นิทรรศการฝายต้นน้ำลำธาร หรือ Check dam นิทรรศการหญ้าแฝก อ่างเก็บน้ำ/เขื่อน นิทรรศการฝายทดน้ำ/อาคารบังคับน้ำ/ประตูระบายน้ำ  นิทรรศการเครือข่ายอ่างเก็บน้ำ (อ่างพวง) นิทรรศการทฤษฎีใหม่ นิทรรศการแก้มลิง นิทรรศการระบบระบายน้ำ นิทรรศการระบบป้องกันน้ำเค็ม นิทรรศการเครื่องกลเติมอากาศ และนิทรรศการการบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีทางธรรมชาติ

ด้าน นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน และประธานคณะกรรมการด้านการชลประทานและการระบายน้ำแห่งประเทศไทย (THAICID) กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังเปิดโอกาสให้เกษตรกรผู้ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบชลประทานเข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเกษตรกรของต่างประเทศ โดยในส่วนของประเทศไทยคัดเลือก Smart Farmer หรือเกษตรกรปราดเปรื่อง 8 คน เข้าร่วมประชุมและร่วมพบปะหารือแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านต่างๆ กับ Smart Farmers จาก 5 ประเทศ ได้แก่ ซูดาน อินเดีย อิหร่าน อิรัก และเกาหลีใต้ รวม 16 คน ซึ่งถือเป็นการพัฒนาต่อยอดความรู้ ความสามารถ ความเข้มแข็ง ทักษะ ประสบการณ์ใหม่ๆ และเพิ่มศักยภาพในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมของเกษตรกรรุ่นใหม่ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาการเกษตรในอนาคตอย่างมั่นคง ยั่งยืน เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารของโลกตามนโยบายของรัฐบาล

จาก http://www.naewna.com วันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

กระทรวงอุตสาหกรรม เดินหน้าปรับโครงสร้างกระทรวงฯ รองรับการพัฒนาสู่ Industry 4.0 และ SMEs 4.0  

          นางสาวนิสากร จึงเจริญธรรม รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยความคืบหน้าการปรับโครงสร้างการทำงานภายในของกระทรวงอุตสาหกรรม ว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของจัดทำรายละเอียดของการปรับปรุงโครงสร้างเพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี โดยขั้นตอนจะต้องเป็นไปตามข้อกำหนดของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 ที่ทุกกระทรวงต้องดำเนินการ ซึ่งการปรับโครงสร้างของกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการผู้ประกอบการสู่ Industry 4.0  และ SMEs 4.0

          "หลังจากที่รองนายกรัฐมนตรี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้มาให้ข้อเสนอแนะการปรับบทบาทกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อต้องการให้การทำงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยมีความคล่องตัวมากขึ้น โดยการใช้หลักการ 4 ข้อ คือ 1.รวดเร็วขึ้น (Faster) 2.เข้าถึงง่ายขึ้น (Easier) 3.ต้นทุนถูกลง (Cheaper) และ 4.เป็นหน่วยงานที่สง่างาม (Smart) โดยเฉพาะการพัฒนาอุตสาหกรรมเข้าสู่ Industry 4.0 การพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs) และผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน (OTOP) เข้าสู่ SMEs4.0 ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมยังคงมีบทบาทในการพัฒนาตามหลัก 3 p 1 c คือ people (ผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชน) product (ผลิตภัณฑ์) process (กระบวนการผลิต) และ cluster (คลัสเตอร์) เพื่อให้เป็นผู้ประกอบการยุด 4.0 พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ต้องใช้นวัตกรรม ภูมิปัญญา และเทคโนโลยี อันเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มทำให้ประเทศไทยสามารถเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 ต่อไป อีกทั้งยังต้องบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่วัตถุดิบ เทคโนโลยี และการตลาด" โฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว

          โฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวด้วยว่า กรณีที่มีข่าวว่ากระทรวงอุตสาหกรรมจะปรับบทบาทเป็นกระทรวงหลักในการดำเนินการของ SMEs เพียงหน่วยงานเดียวนั้น ข้อเท็จจริงคือกระทรวงอุตสาหกรรมยังยึดแนวทางในการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนของกระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  โดยเฉพาะการพัฒนา SMEs และ OTOP นั้น กระทรวงอุตสาหกรรมจะทำงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อพัฒนาในส่วนของบุคลากรในชุมชน ผู้ประกอบการ รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีศักยภาพและแข่งขันได้

          สำหรับภาพรวมการปรับโครงสร้างของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม ขณะนี้มีการตั้งคณะทำงานพิจารณา โดยมีนางอรรชกา ศรีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน  เพื่อทำกรอบโครงสร้างและรายละเอียดเสนอขอความเห็นชอบจากคณะผู้บริหารของกระทรวงอุตสาหกรรมก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

จาก http://www.thaipost.net   วันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ยอดขอร.ง.4 ช่วง 10 เดือน ลดลง5.71%

กรอ. เผย 10 เดือน ยอดขอ ร.ง.4 ขยายกิจการวูบ ลดลง 5.71% มูลค่ารวมลดลง 24.15% หวังโครงการขนาดใหญ่ดันยอด

นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า การขอใบอนุญาตประกอบกิจการ ร.ง.4 และขยายกิจการช่วง 10 เดือนปี 2559 (ม.ค. - ต.ค.) มีจำนวนโรงงานทั้งสิ้น 4,287 โรงงาน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.71 มูลค่าการลงทุนอยู่ที่ 3.80 แสนล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 24.15 โดยอุตสาหกรรมที่มีจำนวนเปิดกิจการใหม่และขยายกิจการที่มีมูลค่ามากที่สุดในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2559 ได้แก่ การผลิตยานพาหนะและอุปกรณ์รวมทั้งการซ่อมยานพาหนะและอุปกรณ์ มูลค่าการลงทุน 5.99 หมื่นล้านบาท อุตฯ อาหาร 4.74 หมื่นล้านบาท เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี 2.80 หมื่นล้านบาท เป็นต้น 

ทั้งนี้ กรอ. ยังอยู่ระหว่างติดตามปัจจัยที่ส่งผลกระทบอย่างใกล้ชิด คาดว่า มาจากหลายปัจจัยที่มีนัยสำคัญ และยอดสะสมตลอดปีนี้อาจจะน้อยกว่าปี 2558 ที่มีมูลค่า 6 แสนล้านบาท แต่เชื่อว่าจะน้อยกว่าไม่มากนัก เพราะยังมีโครงการขนาดใหญ่มูลค่ากว่า พันล้านบาทถึงหมื่นล้านบาทหลายโครงการอยู่ระหว่างตัดสินใจลงทุน โดยเฉพาะกิจการที่อยู่ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย

    จาก     จาก http://www.innnews.co.th วันที่ 4 พฤศจิกายน 2559าก

สอน.ตรวจสอบสภาพเครื่องจักรและอุปกรณ์โรงงานน้ำตาลทั่วประเทศ

สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ตรวจสอบสภาพความพร้อมเครื่องจักร และอุปกรณ์โรงงานน้ำตาลทั่วประเทศ ประจำฤดูการผลิต 2559/60 จำนวน 54 โรงงาน

นายสมศักดิ์  จันทรรวงทอง เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า เป็นการตรวจสอบความพร้อมของเครื่องจักร แท่นเทอ้อย และระบบติดตามตัวอย่างน้ำอ้อยของโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศก่อนเปิดทำการผลิต โดยมีโรงงานน้ำตาลที่อยู่ในกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ตาม พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 จำนวน 54 โรงงาน ในพื้นที่ 4 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ภาคกลาง และภาคตะวันออก โดยมีขั้นตอนการดำเนินการที่สำคัญ คือ โรงงานน้ำตาลทั่วประเทศ จะต้องแจ้งสภาพความพร้อมของโรงงานที่จะทำการเปิดหีบอ้อยผลิตน้ำตาลทรายต่อสอน. ภายในวันที่ 15 กันยายนของทุกปี ซึ่งทาง สอน. จะดำเนินการตรวจสอบสภาพความพร้อมเครื่องจักร และอุปกรณ์โรงงานน้ำตาลทั่วประเทศ โดยมีคณะทำงาน 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ผู้แทน สอน. ชาวไร่อ้อย และโรงงานน้ำตาล ร่วมดำเนินการตรวจสอบสภาพความพร้อม ในการติดตั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

เลขาธิการ สอน. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับรายการที่ต้องตรวจสอบ ดังนี้

1.       ระบบการลงอ้อยของชาวไร่อ้อยประกอบด้วย แท่นเทอ้อย ตะกาวช่วยในการเทอ้อย ระบบกำจัดสิ่งไร้ประโยชน์ที่ติดมากับอ้อย

2.       ระบบการแยกและติดตามอ้อยประกอบด้วย เครื่องติดตามตัวอย่างน้ำอ้อย การติดตั้งสะพานละเลียงอ้อย พร้อมอุปกรณ์

3.       ระบบการเก็บตัวอย่างน้ำอ้อย ประกอบด้วย ชุดลูกหีบ  ตำแหน่งจุดเก็บตัวอย่างน้ำอ้อย ถาดรองรับตัวอย่างน้ำอ้อย ตะแกรงกรองน้ำอ้อย ถังรองรับตัวอย่างน้ำอ้อย ท่อและปั้มส่งตัวอย่างน้ำอ้อยและถังเก็บตัวอย่างน้ำอ้อย

4.       เครื่องจักรในกระบวนการผลิตประกอบด้วย ลูกหีบ  หม้อต้ม  หม้อเคี่ยว หม้อปั้น  รางกวนและหม้อไอน้ำ

โดยกำหนดวันปฏิบัติงานให้แล้วเสร็จภายในเดือน ตุลาคม – พฤศจิกายน 2559 เมื่อเจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจสภาพความพร้อมเครื่องจักร และอุปกรณ์โรงงานน้ำตาลทั่วประเทศครบถ้วนแล้ว ผลการาตรวจสอบสภาพความพร้อมนั้น จะถูกใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาในการกำหนดวันเปิดทำการผลิตอ้อยประจำฤดูการผลิต 2559/60 ต่อไป

จากมติ      จาก http://www.matichon.co.th วันที่ 4 พฤศจิกายน 2559

อย่าเ  อย่าเชื่อข่าวลือ รง.น้ำตาลทิ้งชาวไร่ 

จากกรณีมีข่าวลือว่าโรงงานน้ำตาลระยอง ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลธาตุทอง  อ.บ่อทอง  จ.ชลบุรี  ผู้บริหารจะทิ้งชาวไร่และผู้ประกอบการปลูกอ้อยในจ.ชลบุรีนั้น นายจิรวุฒิ สิงโตทอง อดีตเลขานุการ รมว.คลังและนายกสมาคมกลุ่มอาชีพการเกษตรชลบุรี อ.บ้านบึง เปิดเผยว่า จากกรณีดังกล่าวสร้างความสับสนให้กับชาวไร่ผู้ปลูกอ้อยเป็นอย่างมาก ดังนั้นตนเองจึงไปพบกับผู้บริหารระดับสูง ซึ่งยืนยันอย่างหนักแน่นว่าทางโรงงานน้ำตาลระยองไม่ได้ขายกิจการแต่อย่างใดและจะอยู่คู่เคียงข้างชาวไร่อ้อยและจะเปิดรับหีบอ้อยของชาวไร่กลางเดือน ธ.ค.นี้ด้วย

จากไท      จาก  http://www.thairath.co.th  วันที่ 4 พฤศจิกายน 2559

           พระอัจฉริยภาพด้านน้ำ 'ด้วยพระเมตตา'นานาชาติร่วมแซ่ซ้อง

          การประชุมชลประทานโลก ที่เป็น "เวทีวิชาการระดับโลกเกี่ยวกับน้ำและการชลประทาน"ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งที่ 2 (The 2nd World Irrigation Forum : WIF2) โดยจะจัดขึ้นระหว่างวันที่6-12 พ.ย. 2559 นี้ ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จ.เชียงใหม่ ควบคู่กับเวทีการประชุมมนตรีฝ่ายบริหารระหว่างประเทศ ครั้งที่ 67 (The 67th International Executive Council Meeting : 67th IEC Meeting) โดยในงานใหญ่ที่เป็นเวทีนานาชาติดังกล่าวนี้ จะมี นักวิชาการน้ำจากทั่วโลกเดินทางมาเข้าร่วมประชุมในไทย...

          พร้อม 'เฉลิมพระเกียรติ ในหลวงรัชกาลที่ 9"

          ในฐานะที่ 'พระองค์ทรงเป็นปราชญ์ด้านน้ำ"

          ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวในครั้งนี้ จะเป็นการประชุมเพื่อหาความร่วมมือในระดับนานาชาติ ในหัวข้อ "การบริหารจัดการน้ำภายใต้สภาวะการเปลี่ยนแปลงของโลก : บทบาทการชลประทานต่อความยั่งยืนด้านอาหาร (Water Management in a Changing World : Role of Irrigation for Sustainable Food Production)"...นี่เป็นการระบุไว้โดย พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานเปิดการประชุม โดยนอกเหนือจากการประชุมกันของบรรดานักวิชาการแล้ว ภายในเวทีเดียวกันนี้ก็ได้เปิดโอกาสให้เกษตรกรของไทยร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเกษตรกรจากต่างประเทศด้วย

          สำหรับในส่วนของประเทศไทยนั้น ได้มีการคัดเลือกSmart Farmer หรือเกษตรกรปราดเปรื่อง จำนวน 8 คน ซึ่งจะเข้าร่วมประชุมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับเกษตรกรจาก 5 ประเทศ ได้แก่...ซูดาน อินเดีย อิหร่าน อิรัก และเกาหลีใต้ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการพัฒนาต่อ ยอดความรู้ และเพิ่มพูนศักยภาพในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมแก่เกษตรกรไทยรุ่นใหม่ อันจะนำไปสู่การพัฒนาการเกษตรให้มั่นคง ยั่งยืน และเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารของโลกต่อไป...

          และที่สำคัญ...นอกจากมีเวทีประชุมเรื่องน้ำและการชลประทานแล้วภายในงานระดับนานาชาติงานนี้ยังจะมีการจัดแสดง "นิทรรศการพระราชกรณียกิจและโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ"เพื่อเฉลิมพระเกียรติ 'ในหลวงรัชกาลที่ 9" เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อพสกนิกรไทย ผ่าน'พระราชกรณียกิจเกี่ยวกับน้ำ"

          กิจกรรมสำคัญดังกล่าวนี้ จะจัดขึ้นบริเวณโซนที่ 1 หรือ "โซนเฉลิมพระเกียรติ" โดยจะมีการนำเสนอ "พระอัจฉริยภาพด้านน้ำและการชลประทาน" ของ "ในหลวงรัชกาลที่ 9" ผ่าน 13 เรื่องราว ผ่าน 13 นิทรรศการหลัก ดังนี้คือ...

          'ฝนหลวงแก้ปัญหาแล้ง"นิทรรศการที่แสดงถึงพระอัจฉริยภาพในการกำหนดบังคับฝนให้ตกลงสู่พื้นที่เป้าหมาย ทำให้พื้นที่การเกษตร และป่าไม้ของไทย มีน้ำใช้ในการเพาะปลูก มีน้ำฝน มาเป็นเวลากว่า 30 ปี, 'ป่าต้นน้ำ/ระบบป่าเปียก" นิทรรศการที่แสดงถึงพระอัจฉริยภาพในการพัฒนาป่าไม้โดยใช้การชลประทานช่วยสร้างความชุ่มชื้นให้ผืนป่า

          'ฝายต้นน้ำลำธาร" นิทรรศการที่แสดงถึงพระอัจฉริยภาพด้านการอนุรักษ์ดินและน้ำโดยใช้สิ่งก่อสร้างเพื่อชะลอการไหลของน้ำให้ช้าลงและเพื่อกักเก็บตะกอนไม่ให้ไหลลงไปทับถมในลำน้ำตอนล่าง, 'หญ้าแฝก"นิทรรศการที่แสดงถึงพระอัจฉริยภาพในการใช้หญ้าแฝกเพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำ ป้องกันการพังทลายและทำให้ดินอุดมสมบูรณ์, 'อ่างเก็บน้ำ/เขื่อน"นิทรรศการที่แสดงให้เห็นความสำคัญของเขื่อนและอ่างเก็บน้ำที่ช่วยอำนวยประโยชน์ด้านต่าง ๆ ซึ่งเรื่องนี้พระองค์ท่านก็ทรงมีพระเมตตาต่อปวงไทย

          'ฝายทดน้ำ/อาคารบังคับน้ำ/ประตูระบายน้ำ" นิทรรศการที่แสดงถึงพระอัจฉริยภาพในการใช้อาคารชลประทานเพื่อการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ต่าง ๆ, 'เครือข่ายอ่างเก็บน้ำ (อ่างพวง)" นิทรรศการที่จัดแสดงรูปแบบการจัดการน้ำโดยใช้อ่างเก็บน้ำเชื่อมกัน โดยนำน้ำส่วนเกินจากอ่างหนึ่งผันไปเติมให้อ่างที่ขาดแคลน ซึ่งเป็นอีกหนึ่ง พระอัจฉริยภาพด้านการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ชัด, 'ทฤษฎีใหม่" นิทรรศการที่จัดแสดงเกี่ยวกับการทำการเกษตรที่ยั่งยืน ตามพระราชดำรัส "ทฤษฎีใหม่", 'แก้มลิง"นิทรรศการที่แสดงถึงพระอัจฉริยภาพในการบริหารจัดการน้ำโดยใช้แก้มลิงชะลอน้ำหรือเก็บกักน้ำเพื่อลดปัญหาน้ำท่วม

          'ระบบระบายน้ำ" นิทรรศการที่แสดงพระอัจฉริยภาพในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมด้วยการก่อสร้างทางผันน้ำหรือขุดคลองลัดเชื่อมต่อกับแม่น้ำในพื้นที่ที่มีปัญหาน้ำท่วม, 'ระบบป้องกันน้ำเค็ม"นิทรรศการที่แสดงถึงพระอัจฉริยภาพในการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการป้องกันน้ำเค็ม, 'เครื่องกลเติมอากาศ"นิทรรศการที่แสดงถึงพระอัจฉริยภาพในการแก้ปัญหาคุณภาพน้ำโดยใช้เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอยหรือ "กังหันน้ำชัยพัฒนา", และนิทรรศการ 'การบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีทางธรรมชาติ" ที่แสดงถึงพระอัจฉริยภาพด้านการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม น้ำเสีย ขยะ โดยการใช้วิธีธรรมชาติ เป็นต้น

          นี่คือส่วนหลัก ๆ ของนิทรรศการสำคัญ...

          ที่ "ทั่วโลกต่างแซ่ซ้องในพระอัจฉริยภาพ"

          ทั้งนี้ นอกจากส่วนที่ได้ระบุมาข้างต้นโดยสังเขปแล้ว ในเวทีนี้ยังจะมีการจัดแสดงแบบจำลอง'ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ"ที่ประสบความสำเร็จด้วย โดยนิทรรศการ เฉลิม พระเกียรติ "ในหลวงรัชกาลที่ 9" นี้ จะเปิดให้ประชาชนเข้าชมระหว่างวันที่ 7-8 พ.ย. 2559 ในช่วงที่มีเวทีการประชุมชลประทานโลกครั้งที่ 2 ที่เป็นเวทีใหญ่ระดับนานาชาติ

          นานาชาติต่างประจักษ์ชัดถึง 'พระอัจฉริยภาพ"

          และปวงไทยต่างสำนึกใน 'พระเมตตาล้นพ้น"

          ที่จะปรากฏและตราตรึงสืบไปนานเท่านาน...

จาก เด        จาก  http://www.dailynews.co.th  วันที่ 4 พฤศจิกายน 2559

เกษตร       เกษตรทฤษฎีใหม่   

          พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยความคืบหน้าการจัดทำโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ 70,000 แห่งทั่วประเทศว่า ขณะนี้โครงการมีเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมแล้วกว่า 16,000 ราย มั่นใจว่าจะสามารถดำเนินการเปิดโครงการได้ในต้นปี 2560 ซึ่งได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน รวมทั้งสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ที่จะเข้ามาสนับสนุนในเรื่องปัจจัยการผลิตในกิจกรรมนี้ด้วย.

จากไทย    จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 4 พฤศจิกายน 2559

ผลการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านเกษตร

          รายงานข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านเกษตรและป่าไม้ ครั้งที่ 38 และการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านเกษตรและป่าไม้กับรัฐมนตรีประเทศบวกสาม ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี รวมถึงการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง

          ในระหว่างวันที่ 3-7 ตุลาคม 2559 ที่ผ่านมา ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์  ว่าที่ประชุม ได้มีการหารือร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนในการสนับสนุนและร่วมมือตามแผนงานความร่วมมือด้านอาหาร การเกษตร และป่าไม้ ปี ค.ศ. 2016-2025

          โดยจะให้มีความต่อเนื่องและเป็นไปตามแผนงานที่ได้กำหนดไว้ รวมไปถึง ยังยืนยันที่จะแสดงความมุ่งมั่นของเหล่าประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อดำเนินการความร่วมมือด้านความมั่นคงด้านอาหารและความปลอดภัยของอาหาร ผ่านการสนับสนุนการดำเนินงานในกรอบแผนบูรณาการการดำเนินงานของอาเซียนด้านความมั่นคงอาหาร (AIFS) และแผนกลยุทธ์ของการดำเนินการ ในระหว่างปี 2015-2020

          นอกจากนี้ ในการประชุมยังได้รับการยืนยันจากรัฐมนตรีของประเทศบวกสามในการสนับสนุนการดำเนินงานของอาเซียนกับประเทศบวกสามภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมืออาเซียนบวกสามด้านอาหาร การเกษตร และป่าไม้เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงอาหารอย่างต่อเนื่องต่อไป โดยเฉพาะการปฏิบัติงานขององค์การสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียนบวกสาม (APTERR) และ ระบบข้อมูลสารสนเทศความมั่นคงอาหารแห่งอาเซียนบวกสาม (AFSIS)

          เพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านอาหารของภูมิภาคและของโลก และบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อภาคการเกษตร.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 

สศก.เร่งเครื่องพัฒนา เทคโนโลยีระยะไกล จัดเก็บข้อมูล‘เกษตร’

นายคมสัน จำรูญพงษ์ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สศก. ร่วมกับ ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA จัดประชุมโครงการนวัตกรรมวิธีการจัดเก็บข้อมูลด้านสถิติการเกษตรและชนบท เมื่อวันที่ 17 ตุลาคมที่ผ่านมา ที่โรงแรมริชมอนด์ จ.นทบุรี เพื่อพัฒนารูปแบบสำหรับประเมินพื้นที่ปลูกข้าวและผลผลิตต่อไร่ โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการรับรู้ระยะไกล เพื่อสนับสนุนนโยบายทางการเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร

ทั้งนี้ ผลการประเมินพบว่า เนื้อที่ปลูกข้าวที่ประเมินโดยข้อมูลระยะไกล(Remote Sensing) มีความแตกต่างจากค่าสถิติของพื้นที่ปลูกประมาณร้อยละ 14 ส่วนข้อมูลผลผลิตต่อไร่ที่ได้จากการจัดเก็บข้อมูลและการสอบถามเกษตรมีความแตกต่างจากค่าสถิติของผลผลิตต่อไร่ ร้อยละ 12 และ 34 ตามลำดับ ซึ่งคาดว่าการดำเนินงานโครงการดังกล่าว จะสามารถนำมาพัฒนาและประยุกต์ใช้กับการดำเนินงานของ สศก. ได้ต่อไป อย่างไรก็ตาม สศก. ADB และ GISTDA นำผลการศึกษาในครั้งนี้ไปปรับปรุงระเบียบและวิธีการจัดเก็บข้อมูลให้มีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น และจะนำมาพัฒนาการจัดทำข้อมูลด้านสถิติการเกษตรของประเทศต่อไป

จาก http://www.naewna.com วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

กฟผ. ยันเขื่อนวชิราลงกรณ ระบายน้ำตามแผนปกติ

นายดิลก ธโนศวรรย์ ผู้อำนวยการเขื่อนวชิราลงกรณ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวลือเผยแพร่ทาง Social Media เมื่อวันที่ 31ต.ค.2559 ว่า เขื่อนวชิราลงกรณ ได้ระบายน้ำในปริมาณ 1,000 - 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจากการระบายน้ำดังกล่าวจะมีผลทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง ในอำเภอบ้านโป่ง จ.ราชบุรี ได้รับความเดือดร้อนน้ำท่วมเป็นจำนวนมาก

โดยชี้แจงว่าข่าวลือดังกล่าว ไม่เป็นความจริง และขอยืนยัน กฟผ.เขื่อนวชิราลงกรณ มีการระบายน้ำ ระหว่างวันที่ 31ตุลาคม 2559 ถึงวันที่ 6พฤศจิกายน 2559 เป็นไปตามแผนการระบายน้ำตามปกติ โดยมีการระบายน้ำเฉลี่ย 2 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน คิดเป็น 23.148ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งไม่เกิดผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณริมฝั่งแม่น้ำแม่กลองอย่างแน่นอน และสามารถติดตามเหตุการณ์ทางกล้อง CCTV ตลอด 24ชั่วโมง ที่ http://www.vrk.egat.com รวมทั้งเขื่อนได้รายงานแผนการระบายน้ำอย่างต่อเนื่องให้กับหน่วยงานราชการในจังหวัดกาญจนบุรี และจังหวัดราชบุรี เป็นประจำทุกสัปดาห์ ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนอย่าได้กังวล และถ้าหากมีข้อสงสัย หรือได้รับข่าวต่างๆ ที่เกิดผลกระทบกับเขื่อน โปรดสอบถามข้อเท็จจริงได้ที่ กฟผ. เขื่อนวชิราลงกรณ โทร. 034-598031

จาก http://www.banmuang.co.th วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ธปท.แจงหยวนอ่อนค่าสุดรอบ 6 ปี เป็นไปตามกลไกตลาด ยันกระทบเงินบาทเล็กน้อย  

         ธปท.แจงกรณีเงินหยวนอ่อนค่าสุดรอบ 6 ปี เป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์เอาไว้ ถือว่าเป็นไปตามกลไกตลาดที่มาจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นสำคัญ ยันกระทบค่าเงินบาทเพียงเล็กน้อย

               นางสาววชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงกรณีที่ค่าเงินหยวนของจีนอ่อนค่าลงในรอบ 6 ปี โดยระบุว่า ช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ทางการจีนกำหนดค่ากลางเงินหยวนทิศทางที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ แม้ขนาดการอ่อนค่าจะค่อนข้างมาก ประมาณร้อยละ 1.28 แต่เป็นขนาดที่ตลาดคาดการณ์เอาไว้ก่อนหน้านี้แล้ว

               ทั้งนี้ การอ่อนค่าของเงินสกุลหยวนดังกล่าวถือว่าเป็นไปตามกลไกตลาดที่มาจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นสำคัญ โดยเฉพาะหลังจากนักลงทุนปรับเพิ่มคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) น่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งภายในปีนี้

               อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่าการอ่อนค่าของค่ากลางของเงินหยวนไม่ส่งผลกระทบต่อค่าเงินภูมิภาค รวมทั้งเงินบาทมากนัก โดยการเคลื่อนไหวของค่าเงินภูมิภาคส่วนใหญ่ยังขึ้นกับทิศทางของเงินดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงปัจจัยเฉพาะของแต่ละประเทศเป็นสำคัญ

               สำหรับค่าเงินบาทเดือนตุลาคม อ่อนค่าลงประมาณร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2559 โดยทาง ธปท.จะติดตามสถานการณ์ตลาดการเงินโลกอย่างใกล้ชิดต่อไป

จาก http://manager.co.th   วันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

เกษตรฯสั่งทุกหน่วยเกาะติดสถานการณ์น้ำ

กระทรวงเกษตรฯ สั่งทุกหน่วยงานเกาะติดสถานการณ์น้ำใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติการฝนหลวงเติมน้ำในเขื่อนที่มีน้ำน้อยอย่างต่อเนื่อง

พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานการณ์น้ำทางภาคเหนือไม่ค่อยมีปัญหาแล้ว แต่จะมีปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา คือ พื้นที่บริเวณคลองโผงเผง ซึ่งขณะนี้ระดับน้ำได้ลดลงแล้วแต่จะมีปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา คือ พื้นที่บริเวณคลองโผงเผง ซึ่งขณะนี้ระดับน้ำได้ลดลงแล้ว อย่างไรก็ตาม ในการระบายน้ำต้องคำนึงถึงการรักษาระบบนิเวศ โดยได้สั่งการให้กรมชลประทานปรับการระบายน้ำจากท้ายเขื่อนพระราม 6 ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม รวมทั้งสั่งการให้นำเครื่องสูบน้ำเร่งเข้าช่วยเหลือในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง ซึ่งคาดว่าสถานการณ์น้ำจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว

ทั้งนี้ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดขณะที่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างสถานการณ์น้ำเริ่มดีขึ้น เนื่องจากมีฝนตกซึ่งช่วยเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง ลำตะคอง ลำมูลบน และลำแชะ ควบคู่กับการทำปฏิบัติการฝนหลวงเพิ่มเติมน้ำในอ่างเก็บน้ำที่มีน้ำน้อย

ด้าน นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำภาพรวมในปีนี้มีปริมาณน้ำดีกว่าปีที่แล้ว โดยขณะนี้อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 34 อ่าง มีปริมาณน้ำดี จำนวน 11 แห่ง มีน้ำพอใช้จำนวน 7 แห่ง และมีปริมาณน้ำน้อย จำนวน 2 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำปราณบุรี และอ่างเก็บน้ำบางลาง โดยอ่างเก็บน้ำปราณบุรีขณะนี้เป็นช่วงที่ฤดูฝนในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ซึ่งคาดว่าในช่วงประมาณ 1-2 เดือน ปริมาณน้ำในเขื่อนปราณบุรี และบางลาง จะมีปริมาณน้ำเพิ่มมากขึ้น โดยในภาพรวมปริมาณน้ำในอ่างทั้งขนาดใหญ่ และกลางทั้งหมด มีมากกว่าปีที่แล้ว จำนวน 8,800 ล้าน ลบ.ม.

ขณะที่อ่างเก็บน้ำลำตะคอง ลำพระเพลิง มูลบน และลำแชะ ในช่วงที่ผ่านมามีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำพอสมควรเนื่องจากกรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้เข้าไปปฏิบัติการฝนหลวง อีกทั้งร่องความกดอากาศบางส่วนได้พาดผ่านในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนใต้ ส่งผลให้ปริมาณน้ำทั้ง 4 เขื่อนดังกล่าวมีสถานการณ์น้ำดีขึ้น ส่วนสถานการณ์น้ำในฤดูแล้งในปีต่อไป คาดว่าทั้งในด้านการอุปโภคและบริโภคจะไม่มีปัญหา โดยทั้ง 4 เขื่อนมีน้ำใช้การได้อย่างเพียงพอ ขณะที่สถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน และป่าสักชลสิทธิ์ (ณ วันที่ 1 พ.ย.59) มีน้ำใช้การถึง 9,700 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 53 มากกว่าเมื่อปีที่แล้วในวันเดียวกัน (ณ วันที่ 1 พ.ย.58) ที่มีปริมาณน้ำเพียง 4,247 ล้าน ลบ.ม. โดยปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 5,000 กว่าล้าน ลบ.ม.

สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมบริเวณคลองโผงเผง อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา นั้น คาดว่าในวันพรุ่งนี้ระดับน้ำในคลองโผงเผงจะต่ำกว่าตลิ่งแล้ว โดยกรมชลประทานได้ปรับลดการระบายน้ำจากท้ายเขื่อนพระราม 6 ซึ่งได้ระบาย 80 ลบ.ม. ต่อวินาที ให้เหลือ 20 ลบ.ม.ต่อวินาที ทั้งนี้ ต้องคำนึงถึงระบบนิเวศวิทยาด้วย แม้กรมชลประทานอยากจะลดระดับน้ำมากกว่านั้น แต่เนื่องจากในพื้นที่ท้ายเขื่อนพระราม 6 ต้องใช้น้ำในการรักษาระบบนิเวศวิทยา จึงไม่สามารถลดการระบายน้ำได้ทั้งหมดทันที

ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมที่ จ.เพชรบุรี เนื่องจากมีฝนตกในพื้นที่ด้านท้ายเขื่อนแก่งกระจาน ในช่วงวันที่ 26 -29 ต.ค.59 ที่ผ่านมา และทำให้เขื่อนแม่ประจัน ซึ่งเป็นเขื่อนขนาดกลาง มีปริมาณน้ำเต็มอ่างนั้น สาเหตุที่เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ด้านท้ายเขื่อนแก่งกระจานเนื่องจากมีฝนตกหนักทำให้ปริมาณน้ำไหลลงเข้าพื้นที่ท้ายเขื่อน จนมาถึงเขื่อนเพชร ซึ่งมีประตูระบายน้ำที่ควบคุมการระบายเป็นปกติ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากคันกั้นน้ำบางส่วนเกิดความชำรุด ทำให้น้ำบางส่วนไหลเข้าในบริเวณตัวเมือง จ.เพชรบุรี ซึ่งขณะนี้กรมชลประทานได้ดำเนินการปิดช่วงจุดที่คันกั้นน้ำที่ชำรุดพร้อมทั้งได้ซ่อมคันกั้นน้ำเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งนำเครื่องสูบน้ำเข้าไปช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ ทั้งนี้ หากไม่มีฝนตกคาดว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ส่วนที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่มีฝนตกหนัก กรมชลประทานได้ประสานกับเทศบาล อ.หัวหิน เพื่อเตรียมเครื่องสูบน้ำติดตั้งตามจุดที่น้ำท่วมขังแล้วเช่นกัน

ด้าน ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า จากสถานการณ์อ่างเก็บน้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนใต้ที่มีปริมาณน้ำน้อย กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้มีหน่วยปฏิบัติการ 3 หน่วย คือ หน่วย จ.นครราชสีมา ขอนแก่น และบุรีรัมย์ โดยตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.-1 พ.ย.59 ได้มีการปฏิบัติการขึ้นบิน จำนวน 146 เที่ยวบิน จำนวนขึ้นบิน 26 วัน มีฝนตกทั้ง 26 วัน ส่วนผลการปฏิบัติการเติมน้ำในเขื่อนลำตะคอง มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อน ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.- 1 พ.ย.59 อยู่ที่ร้อยละ 34.26 เขื่อนลำพระเพลิง ร้อยละ 39.79 เขื่อนมูลบน ร้อยละ 47.73 และเขื่อนลำแชะ ร้อยละ 32.12 โดยเขื่อนมูลบน และลำแชะ มีปริมาณน้ำเก็บกักในปี 2559 สูงกว่าปี ที่แล้ว แต่เขื่อนลำตะคอง และลำพระเพลิง ยังมีปริมาณน้อยกว่าปี 2558 อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติการฝนหลวงจะยังคงดำเนินการต่อเนื่องไปจนกว่าสภาพอากาศจะไม่เอื้ออำนวย ซึ่งกรมฝนหลวงฯได้ติดตามสภาพอากาศและพร้อมที่จะปฏิบัติการทั้ง 3 หน่วยอย่างต่อเนื่องเพื่อเติมน้ำในเขื่อนที่มีปริมารน้ำน้อย ในส่วนเขื่อนแก่งกระจาน ปราณบุรี และบางลาง ได้ปฏิบัติการเช่นกัน โดยสามารถเพิ่มน้ำในเขื่อนได้ร้อยละ 20.11 ร้อยละ 24.09 และร้อยละ 12.98 ตามลำดับ

จาก http://www.posttoday.com   วันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ภาวะน้ำเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว-เกษตรสั่งกรมฝนหลวงเร่งเติมน้ำพื้นที่อีสาน

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานการณ์น้ำทางภาคเหนือไม่ค่อยมีปัญหาแล้ว แต่จะมีปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา คือ พื้นที่บริเวณคลองโผงเผง ซึ่งขณะนี้ระดับน้ำได้ลดลงแล้ว อย่างไรก็ตาม ในการระบายน้ำต้องคำนึงถึงการรักษาระบบนิเวศ โดยได้สั่งการให้กรมชลประทานปรับการระบายน้ำจากท้ายเขื่อนพระราม 6 ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม รวมทั้งสั่งการให้นำเครื่องสูบน้ำเร่งเข้าช่วยเหลือในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง ซึ่งคาดว่าสถานการณ์น้ำจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ทั้งนี้ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ขณะที่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างสถานการณ์น้ำเริ่มดีขึ้น เนื่องจากมีฝนตกซึ่งช่วยเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง ลำตะคอง ลำมูลบน และลำแชะ ควบคู่กับการทำปฏิบัติการฝนหลวงเพิ่มเติมน้ำในอ่างเก็บน้ำที่มีน้ำน้อย

นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สถานการณ์น้ำภาพรวมในปีนี้มีปริมาณน้ำดีกว่าปีที่แล้ว โดยขณะนี้อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 34 อ่าง มีปริมาณน้ำดี จำนวน 11 แห่ง มีน้ำพอใช้จำนวน 7 แห่ง และมีปริมาณน้ำน้อย จำนวน 2 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำปราณบุรี และอ่างเก็บน้ำบางลาง โดยอ่างเก็บน้ำปราณบุรีขณะนี้เป็นช่วงที่ฤดูฝนในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ซึ่งคาดว่าในช่วงประมาณ 1-2 เดือน ปริมาณน้ำในเขื่อนปราณบุรี และบางลาง จะมีปริมาณน้ำเพิ่มมากขึ้น โดยในภาพรวมปริมาณน้ำในอ่างทั้งขนาดใหญ่ และกลางทั้งหมด มีมากกว่าปีที่แล้ว จำนวน 8,800 ล้าน ลบ.ม.

นายสัญชัย กล่าวว่า ขณะที่อ่างเก็บน้ำลำตะคอง  ลำพระเพลิง มูลบน และลำแชะ ในช่วงที่ผ่านมามีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำพอสมควร เนื่องจากกรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้เข้าไปปฏิบัติการฝนหลวง อีกทั้งร่องความกดอากาศบางส่วนได้พาดผ่านในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนใต้ ส่งผลให้ปริมาณน้ำทั้ง 4 เขื่อนดังกล่าวมีสถานการณ์น้ำดีขึ้น ส่วนสถานการณ์น้ำในฤดูแล้งในปีต่อไป คาดว่าทั้งในด้านการอุปโภคและบริโภคจะไม่มีปัญหา โดยทั้ง 4 เขื่อนมีน้ำใช้การได้อย่างเพียงพอ ขณะที่สถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน และป่าสักชลสิทธิ์ ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 มีน้ำใช้การถึง 9,700 ล้าน ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือร้อยละ 53  มากกว่าเมื่อปีที่แล้วในวันเดียวกัน หรือ ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2558 มีปริมาณน้ำเพียง 4,247 ล้าน ลบ.ม. โดยปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 5,000 กว่าล้าน ลบ.ม.  สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมบริเวณคลองโผงเผง อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา นั้น คาดว่าในวันที่ 3 พฤศจิกายน ระดับน้ำในคลองโผงเผงจะต่ำกว่าตลิ่งแล้ว โดยกรมชลประทานได้ปรับลดการระบายน้ำจากท้ายเขื่อนพระราม 6 ซึ่งได้ระบาย  80 ลบ.ม. ต่อวินาที ให้เหลือ 20 ลบ.ม.ต่อวินาที ทั้งนี้ ต้องคำนึงถึงระบบนิเวศวิทยาด้วย แม้กรมชลประทานอยากจะลดระดับน้ำมากกว่านั้น แต่เนื่องจากในพื้นที่ท้ายเขื่อนพระราม 6 ต้องใช้น้ำในการรักษาระบบนิเวศวิทยา จึงไม่สามารถลดการระบายน้ำได้ทั้งหมดทันที

           นายสัญชัย กล่าวว่า  ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมที่ จ.เพชรบุรี เนื่องจากมีฝนตกในพื้นที่ด้านท้ายเขื่อนแก่งกระจาน ในช่วงวันที่ 26 -29 ตุลาคมที่ผ่านมา และทำให้เขื่อนแม่ประจัน ซึ่งเป็นเขื่อนขนาดกลาง มีปริมาณน้ำเต็มอ่างนั้น สาเหตุที่เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ด้านท้ายเขื่อนแก่งกระจานเนื่องจากมีฝนตกหนักทำให้ปริมาณน้ำไหลลงเข้าพื้นที่ท้ายเขื่อน จนมาถึงเขื่อนเพชร ซึ่งมีประตูระบายน้ำที่ควบคุมการระบายเป็นปกติ  อย่างไรก็ตาม เนื่องจากคันกั้นน้ำบางส่วนเกิดความชำรุด ทำให้น้ำบางส่วนไหลเข้าในบริเวณตัวเมือง จ.เพชรบุรี ซึ่งขณะนี้กรมชลประทานได้ดำเนินการปิดช่วงจุดที่คันกั้นน้ำที่ชำรุดพร้อมทั้งได้ซ่อมคันกั้นน้ำเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งนำเครื่องสูบน้ำเข้าไปช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ ทั้งนี้ หากไม่มีฝนตกคาดว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ส่วนที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่มีฝนตกหนัก กรมชลประทานได้ประสานกับเทศบาล อ.หัวหิน เพื่อเตรียมเครื่องสูบน้ำติดตั้งตามจุดที่น้ำท่วมขังแล้วเช่นกัน

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า จากสถานการณ์อ่างเก็บน้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนใต้ที่มีปริมาณน้ำน้อย  กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้มีหน่วยปฏิบัติการ 3 หน่วย คือ หน่วย จ.นครราชสีมา ขอนแก่น และบุรีรัมย์  โดยตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม -1 พฤศจิกายน 2559  ได้มีการปฏิบัติการขึ้นบิน จำนวน 146 เที่ยวบิน จำนวนขึ้นบิน 26 วัน มีฝนตกทั้ง 26 วัน ส่วนผลการปฏิบัติการเติมน้ำในเขื่อนลำตะคอง มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อน อยู่ที่ร้อยละ 34.26 เขื่อนลำพระเพลิง 39.79% เขื่อนมูลบน 47.73% และเขื่อนลำแชะ 32.12%  โดยเขื่อนมูลบน และลำแชะ มีปริมาณน้ำเก็บกักในปี 2559 สูงกว่าปี ที่แล้ว แต่เขื่อนลำตะคอง และลำพระเพลิง ยังมีปริมาณน้อยกว่าปี 2558 อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติการฝนหลวงจะยังคงดำเนินการต่อเนื่องไปจนกว่าสภาพอากาศจะไม่เอื้ออำนวย  ซึ่งกรมฝนหลวงฯได้ติดตามสภาพอากาศและพร้อมที่จะปฏิบัติการทั้ง 3 หน่วยอย่างต่อเนื่องเพื่อเติมน้ำในเขื่อนที่มีปริมารน้ำน้อย ได้ปฏิบัติการฝนหลวงเช่นกัน โดยสามารถเพิ่มน้ำในเขื่อนได้ในส่วนเขื่อนแก่งกระจานได้ 20.11% ปราณบุรี 24.09 % และบางลาง 12.98 %

จาก http://www.matichon.co.th    วันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

“เกษตร”เตรียมหารือหอการค้าร่วมหนุนปัจจัยผลิตโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดทำโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ 70,000 แห่งทั่วประเทศให้เกิดขึ้นใหม่อีกครั้ง ภายในปี 2560 เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ว่า ขณะนี้ได้มีการวางแผนเตรียมการเป็นลำดับ มั่นใจว่าจะสามารถดำเนินการเปิดโครงการได้ในต้นปี 2560 ซึ่งได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน รวมทั้งสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ที่จะเข้ามาสนับสนุนในเรื่องปัจจัยการผลิตในกิจกรรมนี้ด้วย นอกจากนี้ ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2559 จะมีการพูดคุยหารือร่วมกัน โดยจะใช้แผนงานโครงการเดิมที่มีอยู่แล้วของกระทรวงเกษตรฯ เป็นหลัก ส่วนสภาหอการค้าฯ จะเข้ามาช่วยเสริมในส่วนที่ยังขาดอยู่

นายสุรพงษ์ เจียสกุล รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ เป็นนโยบายสำคัญที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯให้ความสำคัญ และเน้นย้ำทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ทำงานในเชิงบูรณาการ โดยมุ่งหวังให้เกษตรกรได้ลดรายจ่ายในครัวเรือน ตลอดจนต้องการให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืน ดังนั้นจึงมีการเตรียมความพร้อมในการคัดเลือกเกษตรกร โดยสำรวจพื้นที่ที่เกษตรกรมีความพร้อมและมีศักยภาพ ซึ่งขณะนี้ได้ตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นแล้ว โดยใช้ข้อมูลจากกรมพัฒนาที่ดินที่ไปสนับสนุนสระน้ำในไร่นาในอดีตที่ผ่านมา ประมาณ 100,000 ราย ขณะเดียวกัน กรมชลประทานได้ไปตรวจสอบพื้นที่ที่กรมชลประทานรับผิดชอบ ที่มีเกษตรกรมีความพร้อมในเรื่องแหล่งน้ำในไร่นาตัวเองประมาณ 4,000 ราย

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ และ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ได้สนับสนุนเรื่องแหล่งน้ำในไร่นาในพื้นที่ที่รับผิดอยู่ ซึ่งได้มีการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นรายงานว่า มีเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมแล้วกว่า 16,000ราย อย่างไรก็ตาม เกษตรกรที่เข้าร่วมจะต้องสมัครและไม่มีการบังคับ ทั้งนี้ คาดว่าจะได้ข้อมูลเกษตรกรทั้งหมดภายในวันที่ 5 พฤศจิกายนนี้ จากนั้นจะนำมาตรวจสอบความถูกต้อง แล้วส่งไปให้จังหวัดต่าง ๆ ตามยอดที่ตรวจสอบรับรองเรียบร้อยแล้ว ขณะเดียวกันจะส่งรายชื่อดังกล่าวให้กับส่วนราชการเพื่อจัดเตรียมการสนับสนุนและดำเนินการในระยะต่อไป

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า สำหรับการสนับสนุนปัจจัยด้านการผลิตเบื้องต้นให้แก่เกษตรกรนั้น ประกอบด้วย พืช ประมง และปศุสัตว์ โดยจะเข้าไปดำเนินการช่วงเดือน พฤศจิกายน – ธันวาคม ดังนี้ คือ 1. ด้านพืช ผลไม้ เมล็ดพันธุ์ กรมส่งเสริมการเกษตรและกรมวิชาการเกษตร รับผิดชอบร่วมกับภาคเอกชนบางส่วน 2. ด้านประมง เตรียมพันธุ์ปลา โดยขอสนับสนุนอาหารปลา/ลูกปลา จากภาคเอกชนบางส่วน และ 3. ด้านปศุสัตว์ ได้จัดเตรียมสัตว์ปีก ไก่และเป็ด ทั้งแบบเนื้อและไข่ ซึ่งขณะนี้ กรมปศุสัตว์ได้เตรียมการไว้แล้ว พร้อมประสานกับสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่เพื่อขอรับการสนับสนุนได้แล้วบางส่วน และได้ให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรฯ ติดตามรายงานเป็นระยะ รวมทั้ง สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรจะติดตามประเมินผลตามแผนที่กำหนดไว้ ต่อไป

จาก http://www.matichon.co.th    วันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

โชว์พระอัจฉริยภาพด้านน้ำ ให้รัฐมนตรีทั่วโลกได้ชม

โดย -  ดลมนัส กาเจ

           การประชุม “ชลประทานโลกครั้งที่ 2” และการประชุม“มนตรีฝ่ายบริหารระหว่างประเทศในครั้งที่ 67” ปีนี้ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพที่จะจัดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-12 พฤศจิกายน 2559 ณ ซึ่งทางกรมชลประทาน จะใช้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ เป็นสถานที่ต้อนรับและดูงานของผู้เข้าร่วมประชุมระดับรัฐมนตรี

          ก่อนหน้านี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ “พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ” บอกว่า มีการเชิญมีรัฐมนตรีจากประเทศต่างๆ 23 ประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้ ทางประเทศ จีน อียิปต์ อินเดีย อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ เนปาล ปากีสถาน รัสเซีย แอฟริกาใต้ ซูดาน ยูเครน อุซเบกิสถาน ซิมบับเว ตอบรับเรียบร้อยแล้ว

          การที่กรมชลประทาน ใช้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ดอยสะเก็ด ม่ เป็นสถานที่ต้อนรับและดูงานของผู้เข้าร่วมประชุมระดับรัฐมนตรีนั้น เพื่อแสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพด้านการบริหารจัดการน้ำของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่พลิกผืนดินที่แห้งแล้งกว่า 8,500 ไร่ให้เป็นผืนดินที่อุดมบูรณ์

         ปัจจุบันกลายเป็นศูนย์การศึกษาที่สมบูรณ์แบบ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อราษฎรที่จะเข้ามาศึกษากิจกรรมต่างๆ แล้วนำไปใช้ปฏิบัติอย่างได้ผล ทั้งการพัฒนาพื้นที่ป่าไม้ การพัฒนาแหล่งน้ำ ตลอดจนการส่งเสริมการประกอบอาชีพต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอาชีพด้านการเกษตร การประมง ปศุสัตว์ รวมทั้งด้านการเกษตรอุตสาหกรรม ดังมีพระราชดำริว่า ให้ศูนย์ศึกษาการ พัฒนาฯ ทำหน้าที่เสมือน “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต” หรืออีกนัยหนึ่งเป็น “สรุปผลของการพัฒนา” ที่ประชาชนจะเข้าไปเรียนรู้และนำไปปฏิบัติได้

         นอกจากนี้ ภายในสถานีที่จัดการประชุม ยังจะมีการจัดนิทรรศการนำเสนอแนวพระราชดำริด้านการบริหารจัดการน้ำชลประทานตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมจากทั่วโลกได้เยี่ยมชม และรับทำให้ได้รับทราบถึงพระอัจฉริยภาพด้านการบริหารจัดการน้ำของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 รวมทั้งยังเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ในวันที่ 7-8 พฤศจิกายน 2559 นี้

         เนื่องเพราะรัฐบาลได้ให้ความสำคัญของการจัดประชุมครั้งนี้มาก เพราะจะทำให้ทั่วโลกได้รับทราบความก้าวหน้าของการชลประทานของไทย และมีผลทางอ้อมช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวของประทศอีกด้วยขณะนี้มีรัฐมนตรี เจ้าหน้าที่ระดับสูง เอกอัครราชทูต ผู้บริหารจากสถาบันการศึกษา นักวิชาการด้านน้ำและชลประทาน ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ตอบรับเข้าร่วมประชุมแล้ว 60 ประเทศ จำนวนกว่า 1,200 คน

         ก็น่าภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งครับ ที่ประเทศไทยมีพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระอัจฉริยภาพและมีพระวิสัยทัศน์อันยาวไกล ในการพัฒนาภาคการเกษตร อย่างทะลุถึงในทุกมิติ จนทำให้พสกนิกร มีชีวิตที่ดีขึ้นตามลำดับ

        ที่สำคัญการประชุมครั้งนี้ จะทำให้ทั่วโลกได้ประจักษ์แก่สายตา ถึงพระปรีชาสามารถของของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้วยตัวเองครับ

จาก http://www.komchadluek.net   วันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

KBS รออีไอเอผุดโรงงานน้ำตาลใหม่ สรุปพันธมิตรร่วมทุน Q1/60  

          “น้ำตาลครบุรี” คาดเริ่มก่อสร้างโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ที่สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ได้ในปีหน้า พร้อมได้ข้อสรุปพันธมิตรร่วมทุน คาดว่าจะเปิดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในปลายปี 61

                นายอิสสระ ถวิลเติมทรัพย์ กรรมการ บริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) (KBS) เปิดเผยความคืบหน้าการตั้งโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ว่าขณะนี้บริษัทฯ ได้ยื่นรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) คาดว่าจะได้รับอนุมัติภายในต้นปี 2560 หลังจากนั้นก็จะดำเนินการจัดหาผู้รับเหมาก่อสร้างโรงงานน้ำตาลขนาด 2 หมื่นตัน/ปี และโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 30-40 เมกะวัตต์ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปลายปี 2561

                โดยโครงการนี้คาดว่าจะใช้เงินลงทุน 7-8 พันล้านบาท ซึ่งบริษัทฯ อยู่ระหว่างการเจรจาหาพันธมิตรร่วมทุนเพื่อเข้าถือหุ้นในโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ดังกล่าว ล่าสุดมีผู้ที่สนใจร่วมทุน 4 รายเป็นบริษัทไทย 3 รายและจีนอีก 1 ราย คาดว่าจะสรุปคัดเลือกเหลือเพียงรายเดียว ถือหุ้น 30-49% หลังจากโครงการดังกล่าวได้ผ่านอนุมัติผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว

               หลังจากโรงงานน้ำตาลที่ อ.สีคิ้ว เปิดดำเนินการได้ระยะ1-2 ปี บริษัทฯ จะพิจารณาขยายกำลังการผลิตน้ำตาลเฟส 2 ในพื้นที่ดังกล่าวเพิ่มขึ้นอีก 1.6 หมื่นตัน/ปี และโรงไฟฟ้าชีวมวลอีก 30 เมกะวัตต์ ที่อาจจะมีการตั้งโรงงานผลิตเอทานอลขนาด 2 แสนลิตร/วัน พร้อมกัน      

        สำหรับการตั้งโรงงานน้ำตาล เฟส 2 ที่ อ.สีคิ้ว นั้นยืนยันว่าไม่มีปัญหาขาดแคลนอ้อยเพื่อป้อนโรงงานน้ำตาลส่วนขยาย เนื่องจากพื้นที่บริเวณโดยรอบมีการปลูกอ้อยประมาณ 6 ล้านตันอ้อย เพียงพอที่จะป้อนโรงงานของบริษัทฯ และโรงงานน้ำตาลอื่นๆ โดยรอบ ซึ่งเห็นว่าราคาข้าวที่ตกต่ำในช่วงนี้หากเกษตรกรปรับเปลี่ยนจากการปลูกข้าวหันมาปลูกอ้อยน่าจะได้ราคาที่ดีกว่า เนื่องจากแนวโน้มราคาน้ำตาลตลาดโลกยังคงสูงนับจากนี้ไปอีก 2 ปี และความต้องการอ้อยในการเข้าหีบของโรงงานน้ำตาลก็ยังสูงอยู่

               นายอิสสระกล่าวต่อไปว่า ในปีหน้าบริษัทฯ คาดว่าราคาน้ำตาลตลาดโลกจะเฉลี่ยอยู่ที่ 20 กว่า เซ็นต์/ปอนด์ เป็นระดับราคาที่ดีกว่าปีนี้ที่มีราคาเฉลี่ย 17 เซ็นต์/ปอนด์ ส่งผลให้บริษัทผู้ผลิตน้ำตาลในไทยมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นเมื่อเทียบจากช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา 

จาก http://manager.co.th  วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

'ปลัดเกษตรฯ'วางแผนรับมือ ภัยแล้งปี59/60

1 พ.ย. 59 นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังประชุมคณะอนุกรรมการวางแผนและติดตามการป้องกันแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร ในฤดูแล้งปี59/60 ว่าตามที่กรมชลประทาน ประเมินสถานการณ์น้ำและพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง รวมทั้งวางแผนจัดสรรน้ำ โดยมีปริมาณน้ำใช้การได้ 34 เขื่อนหลัก ณ วันที่ 1 พ.ย. 59 มีปริมาณ 25,664 ล้านลบ.ม. ซึ่งมีมากกว่าปี 58 ถึง 8,062 ล้านลบ.ม. และแยกเป็นปริมาณน้ำลุ่มเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลักมีน้ำใช้การได้ 9,703 ล้านลบ.ม. ซึ่งมีมากกว่าปี58 ถึง 5,456 ล้านลบ.ม.โดยน้อยกว่าปี 55 เพียง 372 ล้านลบ.ม.

นายธีรภัทร กล่าวว่ายังมีพื้นที่แล้งซ้ำซากนอกเขตชลประทาน ประมาณ 32 ล้านไร่ บางจังหวัด เกิดซ้ำน้อยกว่าหรือเท่ากับ 3 ครั้ง ในรอบ 10 ปีและแล้งซ้ำซาก เกิดมากกว่า6 ครั้งในรอบ10 ปีมีพื้นที่จุดเสี่ยง 2.8 ล้านไร่ โดยให้เตรียมมาตรการวางแผนรับมือภัยแล้งในพื้นที่เกษตรจะมีการกำหนดจุดให้ชัดเจน

“สถานการณ์ภัยแล้งปี59/60 ไม่วิกฤติเท่ากับสองปีที่ผ่านมา ได้เตรียมแผนรับมือผลกระทบอาจเกิดขึ้นเบื้องต้นจะมีโครงการปรับเปลี่ยนจากปลูกข้าวมาปลูกพืชใช้น้ำน้อย ทำเกษตรผสมผสาน ลดนาปรังรองสอง 2.5ล้านไร่ ส่งเสริมประสิทธิภาพใช้น้ำพื้นปลูกข้าว ปลูกข้าวเปียกสลับแห้ง ส่งเสริมเพิ่มมากขึ้น”นายธีรภัทร กล่าว

รวมทั้งมีเขื่อนที่ไม่สามารถส่งน้ำเพื่อการทำนาปรังแต่ส่งให้กับปลูกอื่นใช้น้ำน้อยได้บ้าง เช่นเขื่อนลำตะคอง เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนลำแซะ เขื่อนมูลบน เขื่อนปราบุรี ในส่วนเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เขื่อนลำนางรอง เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ์ เขื่อนแก่งกระจาน เขื่อนบางลาง ไม่สามารถสนับสนุนน้ำทำนาปรัง ช่วงฤดูแล้ง ในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ยังมีความแห้งแล้ง ไม่วิกฤติมากเท่าที่ผ่านมาต้องควบคุมในการใช้น้ำกิจกรรมต่างๆ ทั้งหมดซึ่งแผนรับมือภัยแล้งจะเสนอคณะกรรมการป้องกันแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร โดย รมว.เกษตรฯเป็นประธาน สัปดาห์หน้า

จาก http://www.naewna.com   วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

พณ.เผยเงินเฟ้อต.ค.บวก0.34%คงทั้งปี0-1%

กระทรวงพาณิชย์ เผย เงินเฟ้อโตต่อเนื่อง ต.ค. บวก 0.34% ขณะ 10 เดือนขยายตัว 0.06% ทั้งปี คง 0 - 1% 

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า หรือ สนค. กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึง ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป หรือ อัตราเงินเฟ้อ ในช่วงเดือนตุลาคม 2559 พบว่า อัตราเงินเฟ้อมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.34 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ชี้ให้เห็นว่าการใช้จ่ายของครัวเรือนมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง จากการดำเนินนโยบายประชารัฐของรัฐบาล ในการสนับสนุนกำลังซื้อฐานรากทำให้ครัวเรือนมีรายได้และมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น รวมถึงการดูแลค่าครองชีพของกระทรวงพาณิชย์ สนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในภาพรวม

และสำหรับอัตราเงินเฟ้อในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.06 ซึ่งทาง สนค. ยังคงประมาณการอัตราเงินเฟ้อใน 2559 อยู่ที่ร้อยละ 0 - 1 หลังภายใต้สมมุติฐานที่ภาวะเศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 3.3 ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 40 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนที่ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

จาก http://www.innnews.co.th วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

เกษตรฯเผย11เขื่อนใหญ่มีน้ำน้อยต้องงดส่งทำนาปรัง

ปลัดเกษตรฯวางแผนรับมือภัยแล้งปี59/60 ชี้ 11 เขื่อนใหญ่ มีน้ำใช้การน้อยไม่สามารถส่งน้ำทำนาปรัง

นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังประชุมคณะอนุกรรมการวางแผนและติดตามการป้องกันแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร ในฤดูแล้งปี59/60 ว่า กระทรวงเตรียมหามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่จะได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งในปี 2560 เพื่อจะได้มีมาตรการช่วยเหลือได้ทันความต้องการของประชาชน ซึ่งขณะนี้มีประมาณ 11 เขื่อนที่ประกาศงดส่งน้ำทำนาปรัง

ทั้งนี้มีพื้นที่แล้งซ้ำซากนอกเขตชลประทานประมาณ 32 ล้านไร่ บางจังหวัด เกิดซ้ำน้อยกว่าหรือเท่ากับ 3 ครั้ง ในรอบ 10 ปีและแล้งซ้ำซาก เกิดมากกว่า6 ครั้งในรอบ10 ปีมีพื้นที่จุดเสี่ยง 2.8 ล้านไร่ แต่ยืนยันว่าสถานการณ์ภัยแล้งปี59/60 ไม่วิกฤติเท่ากับสองปีที่ผ่านมา และกระทรวงเกษตรฯมีแผนลดการปลูกข้าวลง 2.5 ล้านไร่เพื่อส่งเสริมการปลูกพืชอื่น รวมทั้งมีเขื่อนที่ไม่สามารถส่งน้ำเพื่อการทำนาปรังแต่ส่งให้กับปลูกอื่นใช้น้ำน้อยได้บ้าง เช่นเขื่อนลำตะคอง เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนลำแซะ เขื่อนมูลบน เขื่อนปรานบุรี ในส่วนเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เขื่อนลำนางรอง เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ์ เขื่อนแก่งกระจาน เขื่อนบางลาง ซึ่งแผนรับมือภัยแล้งจะเสนอคณะกรรมการป้องกันแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร โดย รมว.เกษตรฯเป็นประธาน สัปดาห์หน้า

สำหรับรายงานความก้าวหน้าการแก้ไขปัญหาน้ำล้นตลิ่งแม่น้ำเพชรบุรี บริเวณ อ.เมือง จ.เพชรบุรี เมื่อคืนวันที่ 31 ต.ค. 59 คันดินฝั่งซ้ายแม่น้ำเพชรบุรี ช่วงหลังบ้านพักกำลังพล มทบ.15 ทรุดตัว ประมาณ 1 ม. ยาว 30 - 50 ม. ทำให้ไหลบ่าเข้าท่วมถนนราชดำเนินช่วงหน้าพระราชวังบ้านปืนถึงแยกวัดยาง/ถนนราชดำริ ระดับน้ำสูงประมาณ 0.30 - 0.50 ม. และ ไหลข้ามถนนราชดำเนิน เข้าท่วมอีกฝั่งของถนนราชดำเนิน

กรมชลประทานได้เข้าไปช่วยเหลือในทันที ทำการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ขนาด 8 นิ้ว จำนวน 2 เครื่อง บริเวณสถานีตำรวจทางหลวงเพชรบุรี และ เครื่องสูบน้ำ ขนาด 8 นิ้ว จำนวน 2 เครื่อง บริเวณถนนราชดำเนินในส่วนคันดินที่ทรุดนั้น หน่วยงานในพื้นที่ได้ทำงานร่วมกันซ่อมแซมคันดินด้วยกระสอบทรายในส่วนบริเวณพื้นที่เมือง ได้เร่งทำแนวป้องกันน้ำ ลดการขยายวง พร้อมเร่งสูบน้ำออก คาดว่าอีก 2 วัน เหตุการณ์จะกลับสู่สภาวะเดิม

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ปรับโครงสร้างอุตฯสู่4.0ยังไม่จบ  

          น.ส.นิสากร จึงเจริญธรรม รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยความคืบหน้าการปรับโครงสร้างการทำงานภายในของกระทรวงอุตสาหกรรมว่า ยังอยู่ในขั้นตอนการจัดทำรายละเอียดของการปรับปรุงโครงสร้างเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยขั้นตอนต้องเป็นไปตามข้อกำหนดของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 ที่ทุกกระทรวงต้องดำเนินการ ซึ่งการปรับโครงสร้างของกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการผู้ประกอบการสู่อินดัสทรี 4.0 และเอสเอ็มอี 4.0

          น.ส.นิสากรกล่าวว่า ที่ผ่านมา นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เสนอแนะการปรับบทบาทกระทรวงอุตสาหกรรมว่ากระทรวงยังคงมีบทบาทการพัฒนา ผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชน ผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิต และคลัสเตอร์ เพื่อให้เป็นผู้ประกอบการยุค 4.0 พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ต้องใช้นวัตกรรม ภูมิปัญญา และเทคโนโลยี อันเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มทำให้ประเทศไทยก้าวพ้นประเทศรายได้ปานกลาง

จาก http://www.matichon.co.th วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

เร่งคลอดยุทธศาสตร์เปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ สศก.ระดมสมองยกร่าง-ขับเคลื่อนภาคเกษตรสู่ความยั่งยืน

นางจันทร์ธิดา มีเดช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สศก. ร่วมกับศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดสัมมนาการจัดทำยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ พ.ศ.2560-2564 ครั้งที่ 2 ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม เพื่อร่วมกันวิเคราะห์และสังเคราะห์ในการจัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์ฯ หลังที่ได้ร่วมกันพิจารณาให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 2 กันยายนที่ผ่านมา

ปัจจุบัน ความแปรปรวนด้านดินฟ้าอากาศมีแนวโน้มที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งรายงานจากธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ระบุว่า ภาคการเกษตรเป็นภาคที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศรุนแรงที่สุด และแม้ที่ผ่านมาทั่วโลกจะพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรอย่างต่อเนื่อง แต่การทำการเกษตรส่วนใหญ่ซึ่งต้องพึ่งพาสภาวะแวดล้อมทางธรรมชาติเป็นหลัก ยังคงเกิดความสูญเสียในแต่ละปีที่คิดเป็นมูลค่ามหาศาล

นอกจากนี้ รายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ.2557 ระบุว่า หากภาคเกษตรไม่มีการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศแล้ว ภายในปี 2593 หรือประมาณอีก 30 ปีข้างหน้า ผลผลิตเกษตรที่สำคัญ เช่น ข้าวสาลี ข้าว และข้าวโพด ในพื้นที่เขตร้อนและอบอุ่นจะมีปริมาณผลผลิตลดลงร้อยละ 25 และส่งผลต่อความมั่งคงอาหารของโลกในอนาคต ซึ่งกระทบต่อประเทศไทยที่มีพื้นที่อยู่ในเขตร้อน เป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าอาหารย่อมได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จะเห็นได้ว่า การพัฒนาการเกษตรของไทยให้มีความยั่งยืนภายใต้สภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ นับเป็นเรื่องที่มีความท้าทายอย่างมาก การจัดทำยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้านการเกษตร พ.ศ. 2560-2564 จึงนับเป็นจุดเริ่มต้นที่จะช่วยให้ภาคเกษตรสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม บนพื้นฐานทรัพยากรและสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เหมาะสมของแต่ละพื้นที่

ดังนั้น สศก. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้านการเกษตร และคณะทำงานการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้านการจัดทำยุทธศาสตร์ วิชาการ และฐานข้อมูล เชื่อมั่นว่า ยุทธศาสตร์ฉบับที่ 2 จากการระดมความคิดเห็นของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จะสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนภาคการเกษตรไปสู่ความยั่งยืน ภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

จาก http://www.naewna.com วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ค่าบาทเปิดตลาด 35.03 บาท/ดอลล์ ปัญหาอีเมล์ฮิลลารีกดดันดอลลาร์อ่อนค่าเทียบทุกสกุล

ผู้สื่อข่าวรายงานจากธนาคารกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทเปิดตลาดวันนี้ (1 พ.ย.) ที่ระดับ 35.03 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ใกล้เคียงกับระดับปิดตลาดวันก่อนหน้าที่ระดับ 35.02 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และช่วงก่อน 10.00 น. วันนี้ เคลื่อนไหวอยู่ที่ 34.99 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จึงประเมินกรอบความเคลื่อนไหวค่าเงินบาทระหว่างวันอยู่ที่ระดับ 34.85-35.02 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยปัจจัยหลักที่เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าในวันนี้ยังอยู่ที่ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเมื่อเทียบกับทุกสกุล เพราะตลาดมีแรงกดดันจากกรณี FBI รื้อการสอบสวนการใช้อีเมล์ของทีมงานนางฮิลลารี คลินตัน ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ และความกังวลต่อคะแนนเสียงในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐที่กำลังจะมีขึ้นในสัปดาห์หน้า

อย่างไรก็ตาม เมื่อวานนี้ (31 ต.ค.) นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิสินทรัพย์ในประเทศไทยกว่า 5,500 ล้านบาท โดยขายสุทธิหุ้นไทยราว 2,500 บาท และขายสุทธิพันธบัตรไทยราว 3,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ในวันที่ 1-2 พ.ย. (ตามเวลาท้องถิ่น) ยังมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) และเช้าวันที่ 1 พ.ย. มีการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) พร้อมประกาศประมาณการเศรษฐกิจญี่ปุ่นของปี 2559 และ ปี 2560 อีกรอบด้วย

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559