http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล(เดือนพฤศจิกายน 2560)

ชาวเพชรบูรณ์ต้านรง.น้ำตาล ‘วิศัลย์’ ชี้ผลกระทบเพียบ ด้านภาค ปชช.โหมกระแส ทำสติ๊กเกอร์ต้านแจก

เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน หลังจากนายเสกสรร นิยมเพ็ง นายกเทศมนตรีเมืองเพชรบูรณ์ ใช้เวที สนช.รับฟังปัญหาชาวเพชรบูรณ์ นำเสนอปัญหาความไม่เหมาะสมการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลแห่งที่ 3 ที่ ต.ห้วยใหญ่ อ.เมืองเพชรบูรณ์ พร้อมขอให้ทางสนช.ช่วยยับยั้ง ล่าสุด เฟสบุ๊ก “วิศัลย์ โฆษิตานนท์” คนดังเมืองมะขามหวาน และประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ และแกนนำเครือข่ายคนเพชรบูรณ์ไม่เอาเหมืองแร่ ได้โพสต์ข้อความชี้ให้เห็นถึงผลกระทบหากมีการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลแห่งที่ 3 ขึ้นที่ ต.ห้วยใหญ่ ซึ่งไม่เพียงทำให้วิถีชีวิตของชาวบ้านต.ห้วยใหญ่แปรเปลี่ยนไปเท่านั้น แต่ยังสร้างปัญหาต่างๆ รวมทั้งสร้างมลภาวะให้แก่พื้นที่โดยรอบ พร้อมตั้งคำถามถึงคนเพชรบูรณ์ยังจะเอาโรงงานน้ำตาลอีกหรือไม่

โดยข้อความบนเฟสบุ๊กวิศัลย์ระบุว่า กรณีโรงงานน้ำตาลแห่งที่ 3 ที่ ต.ห้วยใหญ่ อ.เมืองเพชรบูรณ์ ดูพื้นที่การส่งเสริมการปลูกอ้อยของโรงงานน้ำตาลแห่งที่ 3 ที่จะมาตั้งที่ ต.ห้วยใหญ่ จะส่งเสริมให้ปลูกอ้อยใน 14 เขต 5 อำเภอของจังหวัดเพชรบูรณ์…หล่มเก่า หล่มสัก เมืองเพชรบูรณ์ ชนแดน และหนองไผ่…!!! ลองนึกภาพดูครับ เมื่อถึงฤดูหีบอ้อย ซึ่งก็จะตรงกับช่วงเวลาที่มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวจังหวัดเพชรบูรณ์มากที่สุด!!!

รถบรรทุกอ้อยจากทั่วทุกสารทิศ หลายพันคันต่อวัน .. จะวิ่งพล่านบนท้องถนน และลำเลียงอ้อยมาสู่โรงงานน้ำตาลที่ห้วยใหญ่ .. ผ่านเส้นทางไหนบ้าง ?? การจราจรจะเป็นอย่างไร ?? สภาพถนนจะเป็นอย่างไร??

เมื่อจะตัดอ้อย ก็จะมีการเผาอ้อย เพื่อให้เข้าไปตัดง่าย..หิมะดำ หรือเถ้าจากการเผาใบอ้อย จะปลิวไปและตกลงที่ใดบ้าง ??

นี่ยังไม่พูดถึงเรื่อง มลพิษที่จะเกิดจากโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลโดยตรงนะครับ และที่ตั้งโรงงานแห่งที่ 3 นี้ เป็นเขตต้นน้ำลำธารด้วย ?? คนเพชรบูรณ์จะยังเอาอยู่ไหมครับ ??

ไปเลือกสร้างที่อื่นเถอะนะครับ อย่ามาสร้างในโซนเหนือของเพชรบูรณ์ ที่เราต้องปกป้องรักษาให้เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธาร เป็นพื้นที่เพื่อการทำเกษตรปลอดภัยและการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์…

จาก https://www.matichon.co.th วันที่ 30 พฤศจิกายน 2560

'วิศัลย์'โพสต์สร้างรง.น้ำตาลผลกระทบเพียบ

"วิศัลย์" โพสชี้สร้าง รง.น้ำตาลเพชรบูรณ์ ผลกระทบเพียบ ด้านภาคปชช.เริ่มเคลื่อนทำสติกเกอร์ต้านแจก

"วิศัลย์ โฆษิตานนท์" ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้โพสข้อความถึงกรณีโครงการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลแห่งที่ 3 ที่จะผุดขึ้นที่ ต.ห้วยใหญ่ อ.เมืองเพชรบูรณ์ โดยชี้ให้เห็นถึงผลกระทบหากมีการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลแห่งนี้ขึ้น ซึ่งไม่เพียงทำให้วิถีชีวิตของชาวบ้าน ต.ห้วยใหญ่ แปรเปลี่ยนไปเท่านั้น แต่ยังสร้างปัญหาต่างๆรวมทั้งสร้างมลภาวะให้แก่พื้นที่โดยรอบ อาทิ ประเด็นการส่งเสริมให้ปลูกอ้อย 14 เขต 5 อำเภอ หล่มเก่า หล่มสัก เมืองเพชรบูรณ์ ชนแดน และหนองไผ่ โดยให้ลองนึกภาพเมื่อถึงฤดูหีบอ้อย ซึ่งก็จะตรงกับช่วงเวลาที่มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวจังหวัดเพชรบูรณ์มากที่สุดอะไรจะเกิดขึ้น เมื่อมีรถบรรทุกวันละหลายพันคันวิ่งพล่านเต็มถนนจะเกิดอะไรขึ้น วิศัลย์ยังชี้ถึงประเด็นการเผาอ้อยเพื่อให้เข้าไปตัดง่าย ทำให้เถ้าหรือหิมะดำปลิวไปและตกลงที่ใดบ้าง? นี่ยังไม่พูดถึงเรื่อง มลพิษที่จะเกิดจากโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลโดยตรงนะครับ และที่ตั้งโรงงานแห่งที่ 3 นี้ เป็นเขตต้นน้ำลำธารด้วย จากนั้นตั้งคำถามถึงคนเพชรบูรณ์ยังจะเอาโรงงานน้ำตาลอีกหรือไม่?

อย่างไรก็ตามการต่อต้านโครงการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลทราย และโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่ ต.ห้วยใหญ่ อ.เมืองเพชรบูรณ์ ขณะนี้ได้กลายเป็นหัวข้อให้ชาวเพชรบูรณ์ ให้ความสนใจวิพากษ์กันอย่างกว้างขวาง ขณะเดียวกันก็มีชาวเพชรบูรณ์บางส่วนเริ่มเคลื่อนไหวรณรงค์ต่อต้าน โดยเตรียมจัดทำสติกเกอร์คัดค้านการสร้างโรงงานน้ำตาลแจกจ่ายแล้ว

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 30 พฤศจิกายน 2560

ไม้เด็ดพลิกเศรษฐกิจ “ตู่ สปีด EEC-อุ้มเกษตร-SME

แก้ปมเศรษฐกิจโจทย์หิน ครม.บิ๊กตู่ 5 สารพัดนโยบายรอสานต่อ “ฟื้น ศก.รากหญ้า-แก้พืชผลราคาตกต่ำ-ค่าครองชีพ-SMEs-ประมูลแหล่งปิโตรเลียม-ดันส่งออก-รถไฟฟ้า-ทางคู่” ชี้ดึง “ไพรินทร์” เร่งสปีด EEC ส่วนเจ้ากระทรวงเกษตรฯ “กฤษฎา” เผยไต๋มีทีเด็ดนโยบายเกษตร “ชาวนา-สวนยาง-ปาล์ม” เชียร์ลั่นได้คนตรงสเป็ก ด้าน รมต.ใหม่ฟิตจัด พร้อมทำงานทันทีหลังถวายสัตย์ปฏิญาณ

แม้จะประกาศรายชื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ตั้งแต่ 24 พ.ย. 2560 ที่ผ่านมา แต่การเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการของรัฐมนตรีใหม่ที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งจะมีขึ้นหลังการถวายสัตย์ปฏิญาณ 30 พ.ย.นี้ อย่างไรก็ตาม ช่วงรอยต่อก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่ สาธารณชนต่างจับตามองและรอดูนโยบายและแนวทางการทำงานของรัฐมนตรีใหม่กระทรวงเศรษฐกิจสำคัญ ๆ อย่างกระทรวงพาณิชย์ อุตสาหกรรม เกษตรฯ พลังงาน รวมทั้งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ฯลฯ

เพราะแม้เวลานี้เศรษฐกิจในภาพรวมจะดีขึ้น แต่หลายภาคส่วนยังมีปัญหา โดยเฉพาะชุมชนท้องถิ่น เกษตรกร ผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ราคาสินค้ากับค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น เป็นต้น ขณะเดียวกันการผลักดันการส่งออก การท่องเที่ยว โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่รัฐบาลกำลังเร่งดำเนินการล้วนเป็นงานสำคัญ ที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนภายในประเทศ

“สนธิรัตน์” ดันเศรษฐกิจฐานราก

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังการถวายสัตย์ปฏิญาณ ตนจะเข้าทำงานในกระทรวงพาณิชย์วันที่ 1 ธ.ค. 2560 ทันที เพราะมีงานสำคัญหลายเรื่องต้องทำเร่งด่วน แต่ได้หารืออย่างไม่เป็นทางการกับนางสาวชุติมา บุณยประภัศร รมช.พาณิชย์ ถึงแนวทางการทำงานและการผลักดันเศรษฐกิจฐานรากแล้ว จะเดินหน้าสร้างความเข้มแข็งให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจมหภาคที่เข้มแข็งอยู่แล้ว

นอกจากนี้จะเรียกประชุมผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์หารือแนวทางในการทำงาน เช่น การดูแลค่าครองชีพ ราคาสินค้า เกษตรกร เป็นต้น ส่วนการผลักดันการส่งออกจะหารือสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและทูตพาณิชย์ทั่วโลกเพื่อมอบนโยบายต่อไป

“สมชาย” หนุนพัฒนา SMEs

นายสมชาย หาญหิรัญ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า จะเริ่มเข้าทำงาน 1 ธ.ค.เช่นเดียวกัน โดยภารกิจที่เคยได้รับมอบหมายครั้งที่ดำรงตำแหน่งผู้ช่วย รมว.อุตสาหกรรม ยังดำเนินการต่อคือการเตรียมมาตรการช่วยเหลือ SMEs ทั้งระบบ การเชื่อมโยงนโยบายรัฐกับชุมชนเพื่อสร้างรายได้ ด้วยการพัฒนา SMEs ควบคู่กันไป และนำนโยบาย Conected Industries ของกระทรวง METI ญี่ปุ่นมาเป็นแนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมของไทย ให้รายเล็กกับรายใหญ่เชื่อมกัน ส่วนภารกิจนอกเหนือจากนี้ นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม จะมอบหมายให้เพิ่มเติม

 “ศิริ” ลุยเปิดประมูลปิโตรเลียม

รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงานเปิดเผยว่า ในส่วนของ ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน มีโครงการ แผนงาน หลายภารกิจใหญ่รอการสานต่อ เช่น การเปิดประมูลแหล่งบงกช-เอราวัณ การเปิดให้สิทธิ์สำรวจและผลิตแหล่งปิโตรเลียมรอบใหม่ หรือรอบที่ 21 ที่ล่าช้ามานานมาก รวมถึงการอนุมัติการผลิตไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อปเสรี การปรับแผนสำคัญด้านพลังงานอย่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ของประเทศ หรือแผน PDP (Power Development Plan) หลังพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าเปลี่ยนไปอย่างมาก และมีปัจจัยสำคัญอื่น ๆ เข้ามาส่งผลกระทบต่อภาพรวมไฟฟ้าของประเทศ

เร่งประมูลรถไฟฟ้า-ทางคู่

สำหรับกระทรวงคมนาคมซึ่งปรับเปลี่ยน รมช.จากนายพิชิต อัคราทิตย์ เป็นนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร อดีตประธานเจ้าหน้าที่ บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ปตท. คาดว่าจะเข้ามาดูแลหน่วยงานเดิมที่นายพิชิตกำกับดูแล อาทิ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) กรมการขนส่งทางบก (ขบ.)

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า ปัจจุบันมีโครงการเร่งด่วนในแผนปฏิบัติการปี 2559-2561 รวม 51 โครงการ วงเงิน 2.39 ล้านล้านบาท ที่รัฐบาลต้องการให้เป็นรูปธรรมในปี 2561 ได้แก่ รถไฟฟ้า 9 สาย มีสีน้ำเงิน ต่อขยายบางแค-พุทธมณฑลสาย 4, สีเขียว สมุทรปราการ-บางปู, สีเขียว คูคต-ลำลูกกา, สีส้ม ศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์, สีม่วง เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ, สีแดง ตลิ่งชัน-ศิริราช-ศาลายา, สีแดง รังสิต-ธรรมศาสตร์, สีแดง missing link และแอร์พอร์ตลิงก์ต่อขยายพญาไท-ดอนเมือง ส่วนระบบรถไฟฟ้ารางเบามี 4 โครงการ ที่ จ.ภูเก็ต เชียงใหม่ โคราช และขอนแก่น

ทางด่วน 3 สายทาง วงเงิน 62,711.97 ล้านบาท ได้แก่ กะทู้-ป่าตอง วงเงิน 13,916 ล้านบาท, ทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือเกษตร-นวมินทร์-วงแหวนตะวันออก 17,551 ล้านบาท และพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนตะวันตก 31,244 ล้านบาท ทางคู่เฟส 2 และทางคู่สายใหม่ 9 เส้นทาง 471,217.46 ล้านบาท คือ ปากน้ำโพ-เด่นชัย, จิระ-อุบลราชธานี, ขอนแก่น-หนองคาย, ชุมพร-สุราษฎร์ธานี, สุราษฎร์ธานี-สงขลา, หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์, เด่นชัย-เชียงใหม่, เด่นชัย-เชียงของ และบ้านไผ่-นครพนม รถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทาง 776,310 ล้านบาท สายกรุงเทพฯ-หัวหิน, กรุงเทพฯ-ระยอง, กรุงเทพฯ-พิษณุโลก และกรุงเทพฯ-โคราช รถไฟสายสีแดง missing link 44,157 ล้านบาท

“ไพรินทร์” หัวหอก EEC

“ที่สำคัญการปรับเปลี่ยน รมช.ครั้งนี้ รัฐบาลต้องการเร่งรัดโครงการ EEC ให้เดินหน้าโดยเร็ว นอกเหนือจากโครงการย่อย 103 โครงการ วงเงิน 745,710 ล้านบาท ที่อยู่ในแผนงาน”

โครงการอื่น ๆ มีรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา 226,000 ล้านบาท จะให้เปิดประมูลต้นปี 2561 การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 วงเงิน 35,099.54 ล้านบาท พัฒนาสถานีมักกะสัน 140 ไร่ กว่า 8 หมื่นล้านบาทให้เป็นเกตเวย์ EEC การพัฒนาพื้นที่สถานีกลางบางซื่อ 218 ไร่ เป็นศูนย์กลางธุรกิจและสมาร์ทซิตี้ที่ ปตท.ได้เคยศึกษาไว้ ฯลฯ นอกจากนี้จะเร่งจัดซื้อรถเมล์ NGV 489 คัน วงเงิน 4,020 ล้านบาท ที่ ขสมก.จะเปิดยื่นซองครั้งที่ 8 วันที่ 7 ธ.ค.นี้ หลังล้มประมูลไปแล้ว 7 ครั้ง และจัดหารถเมล์ไฟฟ้า 200 คัน วงเงิน 2,272 ล้านบาท

ตั้ง 3 รมต.เกษตรมาถูกทาง

ด้านนายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรฯ กล่าวว่า ยังไม่ขอพูดถึงแนวนโยบายในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ แต่จะมีทีเด็ดนโยบาย เพราะเข้าใจปัญหาด้านการเกษตรดี เนื่องจากตนเป็นลูกหลานเกษตรกรเช่นกัน ต้องรอเข้าเฝ้าฯ เพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนรับตำแหน่ง จากนั้นมีกำหนดเข้ากระทรวงเกษตรฯ ในวันที่ 1 ธ.ค. 60 เวลา 09.00 น.

ขณะที่แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรฯเปิดเผยว่า รมว.เกษตรฯคนใหม่มาจากสายการปกครองอาจเน้นการบูรณาการระหว่างกระทรวงเกษตรฯกับหน่วยงานท้องถิ่น เนื่องจากกระทรวงเกษตรฯ เป็นกระทรวงใหญ่ การดำเนินงานที่ผ่านมาค่อนข้างล่าช้าและไม่ลงลึกถึงตัวเกษตรกรในพื้นที่ นอกจากนี้ส่งผลดีต่อการจัดการปัญหาม็อบเกษตรกร ส่วนแผนงานและนโยบายที่ต้องขับเคลื่อนต่อ อาทิ การบริหารจัดการน้ำ เกษตรแปลงใหญ่ เกษตรทฤษฎีใหม่ การแก้ปัญหาทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) ฯลฯ

ขณะที่ รมช.เกษตรฯอีก 2 คนที่จะมาช่วยงาน อย่างนายลักษณ์ วัจนานวัช เชี่ยวชาญทั้งด้านการเงินและการเกษตร จะช่วยดูแลปัญหาหนี้สินเกษตรกรได้ นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร จะมาสานต่องานด้านเกษตรผสมผสาน ทฤษฎี 5 ประสาน โครงการในพระราชดำริ และการขับเคลื่อนเกษตรพอเพียง

“ชาวนา-สวนยาง” ยกธงเชียร์

นายสุเทพ คงมาก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่ามั่นใจใน ครม.ชุดใหม่ โดยนายกฤษฎาเคยเป็นปลัดกระทรวงมหาดไทย จะทำให้การดำเนินงานในภาพรวมกระทรวงเกษตรฯ ดีขึ้น โดยเฉพาะนโยบายด้านข้าว สามารถสานต่อนโยบายและขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ทันที ส่วน รมช.ลักษณ์ วัจนานวัช เคยเป็นผู้บริหารธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) คาดหวังว่าจะทำให้การดำเนินงานระหว่างกระทรวงเกษตรฯกับ ธ.ก.ส.คล่องตัวขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการเงินเกี่ยวกับเกษตรกร ซึ่งที่ผ่านมามีข้อติดขัด

นายทศพล ขวัญรอด ประธานภาคีเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางและสวนปาล์มน้ำมัน 16 จังหวัดภาคใต้ (คยป.) กล่าวว่า เท่าที่ดูประวัติ นายกฤษฎาเป็นคนลุยงานมาตลอด ทั้งนี้ เครือข่ายชาวสวนยางมีแผนจะเดินทางไปให้กำลังใจ รมว.เกษตรฯ และจะนำยุทธศาสตร์ยางไปพูดคุย เพื่อให้การขับเคลื่อนเรื่องยางเป็นไปอย่างต่อเนื่อง

“นอกจากนี้ชาวสวนยางชื่นชอบนายวิวัฒน์ เนื่องจากเป็นคนที่ทำงานในภาคเกษตรมาโดยตลอด และยังเป็นประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง ทำงานตามพระราชดำริในหลวง รัชกาลที่ 9 ครม.นี้ได้คนที่เคยเป็นปราชญ์ชาวบ้าน จะเสริมทัพให้ภาคเกษตรไทยเข้มแข็งขึ้น”

รักษาระดับเติบโตท่องเที่ยว

ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬามองว่า กระทรวงการท่องเที่ยวฯไม่มีปัญหาน่าห่วง ที่ผ่านมาภาคท่องเที่ยวไทยมีอัตราการเติบโตดี ทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ โจทย์ใหญ่นับจากนี้น่าจะเป็นการขับเคลื่อนให้รายได้จากการท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่องได้อย่างไร จะรักษาอัตราการเติบโตของรายได้ให้สูงกว่าจำนวนนักท่องเที่ยวเหมือนช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาได้อย่างไร สำหรับนายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รมว.ท่องเที่ยวฯคนใหม่ ทุกฝ่ายเชื่อในฝีมือ เนื่องจากเคยผ่านงานและมีส่วนในการริเริ่มผลักดันนโยบายพัฒนาการท่องเที่ยวระดับต่าง ๆ มาก่อน

ผู้สื่อข่าวได้ติดต่อไปยังนายวีระศักดิ์ สอบถามถึงแนวทางในการบริหารอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยจากนี้ไป ได้รับแจ้งว่ายังไม่สะดวกให้ข้อมูล จะชี้แจงรายละเอียดต่าง ๆ หลังการถวายสัตย์ปฏิญาณ

“ประสาร-บรรยง” ให้เร่งแก้ ศก.

ขณะที่นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ มองว่า ครม.ประยุทธ์ 5 มีคนเก่งหลายคนร่วมงาน ควรให้กำลังใจ เพราะรัฐบาลมีโจทย์การบ้านใหญ่สำคัญหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งต้องค่อย ๆ ทำ และทำดี ๆ อาจจะเริ่มต้นอะไรได้บ้าง แต่อย่าคาดหวังสูงนายบรรยง พงษ์พานิช อดีตกรรมการ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กล่าวในทำนองเดียวกันว่า การปรับ ครม.ประยุทธ์ 5 ภาพรวมทีมรัฐมนตรีออกมาค่อนข้างดี สำหรับโจทย์สำคัญในประเด็นเศรษฐกิจที่อยากให้เร่งแก้ไขคือ การให้ความสำคัญกำกับดูแลหน่วยงานรัฐวิสาหกิจไทย เพราะถือเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 30 พฤศจิกายน 2560

การใช้พลังงาน กับเศรษฐกิจไทยในช่วงสองทศวรรษ

 คอลัมน์ ช่วยกันคิด   โดย พรายพล คุ้มทรัพย์

ปัจจุบันการใช้พลังงานกำลังเป็นประเด็นสำคัญมากของประเทศไทย ณ วันนี้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกอยู่ที่ระดับ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลแล้ว ซึ่งเป็นราคาที่สูง มีหลายกระแสคาดการณ์เกี่ยวกับสาเหตุของราคาน้ำมันดิบที่แพงขึ้นในครั้งนี้ว่าเกิดขึ้นจากอะไร อย่างไรก็ตาม คงไม่กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก แต่ขอเน้นประเด็นเกี่ยวกับการใช้พลังงานในเศรษฐกิจไทยในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา

ช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบที่ประเทศไทยนำเข้าโดยตรง ได้เพิ่มขึ้น 80% จาก 24 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เป็น 44 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และคาดว่าแนวโน้มจะสูงขึ้นอีก และในระยะเวลาที่เหลืออยู่ของปีนี้อาจมีราคาที่สูงขึ้นไปเรื่อย ๆ มีนักวิเคราะห์ทางการเงินบางคนคาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันอาจสูงขึ้นอีก แต่ก็มีนักวิเคราะห์อีกคนหนึ่งที่คาดว่า ราคาน้ำมันอาจจะมีโอกาสลดฮวบฮาบลงอย่างรวดเร็วได้ในช่วงปลายปี โดยให้เหตุผลว่าขณะนี้ประเทศจีนกำลังชะลอการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ จึงอาจส่งผลให้ราคาน้ำมันลดตัวลงได้มาก

กล่าวโดยสรุป คือ ไม่มีใครที่สามารถคาดการณ์ความเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกได้อย่างแม่นยำ

ปัจจุบันประเทศไทยต้องใช้เงินตราต่างประเทศในการนำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น 80% จากมูลค่าเดิมประมาณ 3 แสนล้านบาทในแต่ละปี เป็นกว่า 5 แสนล้านบาทในปีนี้ ซึ่งคิดเป็นกว่า 10% ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยขาดดุลการค้าและขาดดุลการชำระเงินในปีนี้ ดังนั้นความเข้าใจในลักษณะและแบบแผนการใช้พลังงานในประเทศไทยจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ และเป็นรากฐานที่ทุกคนจะต้องทำความเข้าใจ เพื่อที่จะตอบคำถาม เราควรทำอย่างไรเกี่ยวกับปัญหาพลังงาน

การใช้พลังงานมีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางเดียวกันกับการเปลี่ยนแปลงของ real GDP หรือการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉลี่ยแล้วในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา การใช้พลังงานโดยรวมเพิ่มขึ้นในอัตราปีละ 6-7% ซึ่งใกล้เคียงกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ถ้าดูตัวเลขอย่างละเอียดจะเห็นได้ว่า อัตราการขยายตัวของการใช้พลังงานจะสูงกว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่บ้างเล็กน้อย ซึ่งเป็นสัญญาณที่ไม่ค่อยดีนัก

แต่ที่น่าสนใจคือ จะมีช่วงที่การใช้พลังงานลดต่ำลง ในปี 2541 ทั้งนี้ เพราะวิกฤตทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปี 2540 ส่งผลกระทบในปีต่อมา ทำให้เศรษฐกิจในปี 2541 หดตัวลง 10% และการใช้พลังงานก็หดตัวประมาณ 10% เช่นเดียวกัน

การใช้พลังงาน หรือ energy intensity วัดในรูปของหน่วยความร้อนต่อล้านบาทของ GDP สำหรับประเทศไทย มี 2 รูปแบบ คือ primary energy intensity หรือพลังงานขั้นต้น ซึ่งเป็นพลังงานในรูปก่อนที่จะนำมาใช้ในขั้นสุดท้าย เช่น ก๊าซธรรมชาติและลิกไนต์ที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า เป็นต้น ส่วนอีกรูปแบบคือ final energy intensity พลังงานในรูปที่เราใช้ในขั้นสุดท้าย เช่น ไฟฟ้า และน้ำมันสำเร็จรูป เป็นต้น

ทั้ง 2 รูปแบบมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังปีที่เกิดวิกฤตปี 2540-2541 เป็นต้นมา ประสิทธิภาพในการใช้พลังงานมีแนวโน้มลดลงในระดับหนึ่ง เมื่อเทียบกับหลาย ๆ ประเทศ ปรากฏว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศกำลังพัฒนาหลาย ๆ ประเทศที่มี energy intensity เพิ่มขึ้นแนวโน้มนี้แตกต่างจากในประเทศที่พัฒนาแล้ว ในช่วง 15-20 ปีที่ผ่านมา ข้อมูลชี้ให้เห็นว่า energy intensity ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ส่วนใหญ่มีแนวโน้มลดลง แสดงว่าประสิทธิภาพของการใช้พลังงานของประเทศที่พัฒนาแล้วมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ในขณะที่ประเทศที่กำลังพัฒนากลับมีแนวโน้มในทิศทางตรงกันข้าม

การพึ่งพาพลังงานนำเข้า ในช่วงปี 2527-2531 อัตราการพึ่งพาลดต่ำลง โดย primary energy ลดลงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 40% ในช่วงนั้น แต่หลังจากนั้นกลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นระดับ 57% และลดลงในช่วง 2-3 ปีหลังวิกฤตเศรษฐกิจ แต่เพิ่มขึ้นอีกในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ส่วนตัวเลข final energy มีระดับสูงถึง 90% ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าในรูปของน้ำมันดิบ ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาที่ต้องให้ความสำคัญอย่างมาก

ส่วนประเภทพลังงานขั้นต้นที่ใช้ในส่วนต่าง ๆ ของภาคเศรษฐกิจ ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาจะเห็นได้ชัดว่า พลังงานที่สำคัญที่สุด คือ น้ำมันปิโตรเลียม ซึ่งสัดส่วนโดยเฉลี่ยประมาณ 45% ของทั้งหมด รองลงไปคือ ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งส่วนใหญ่ได้จากแหล่งผลิตในอ่าวไทย แต่ในระยะหลัง ๆ เมื่อมีการใช้มากขึ้น จึงต้องมีการนำเข้าจากพม่าด้วย การใช้ก๊าซธรรมชาติมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นโดยตลอด การใช้ถ่านหินมีสัดส่วนโดยเฉลี่ยประมาณ 10% ของพลังงานทั้งหมด โดยในช่วงแรกมีการใช้ถ่านหินลิกไนต์ที่มีอยู่มากในประเทศ แต่ต่อมาได้มีการนำเข้าถ่านหินที่มีคุณภาพดีกว่ามาใช้มากขึ้น ส่วนพลังงานหมุนเวียนนั้น ในช่วงแรก ๆ มีการใช้มากในรูปของถ่าน ฟืน และแกลบ โดยใช้มากในครัวเรือนชนบท และอุตสาหกรรมบางประเภท แต่สัดส่วนนี้มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าน่าจะมีสัดส่วนลดลงต่อไป

การใช้พลังงานในสาขาเศรษฐกิจต่าง ๆ เห็นได้ชัดว่า กว่า 70% ของพลังงานถูกใช้ไปใน 2 สาขา คือ สาขาอุตสาหกรรม และสาขาการขนส่ง โดยทั้งสองสาขามีแนวโน้มที่จะใช้พลังงานในสัดส่วนที่สูงมาโดยตลอด

สัดส่วนการใช้พลังงานในสาขาอุตสาหกรรมมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากประมาณ 30% ในช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจมาเป็นประมาณ 35% ในปี 2545-2546 การใช้พลังงานในสาขาอุตสาหกรรมจำแนกตามประเภทของพลังงาน โดยรวมจะเห็นได้ว่า สาขาอุตสาหกรรม ใช้พลังงานค่อนข้างกระจายในแง่ของประเภทเชื้อเพลิงคือใช้ถ่านหิน น้ำมัน ไฟฟ้า และพลังงานหมุนเวียนในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน

การใช้ก๊าซธรรมชาติมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สาขาอุตสาหกรรมหันมาใช้ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติมากขึ้น เพื่อทดแทนน้ำมันและพลังงานหมุนเวียน สัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนรวมทั้งน้ำมันมีแนวโน้มลดลง การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวแสดงว่า สาขาอุตสาหกรรมสามารถปรับตัวได้ค่อนข้างมากในช่วง 15-20 ปีที่ผ่านมา โดยหันมาใช้ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหินเพื่อทดแทนน้ำมันซึ่งมีราคาแพงขึ้น

การใช้พลังงานในอุตสาหกรรมประเภทต่าง ๆ อาหารและเครื่องดื่ม เป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการผลิต (และมูลค่าเพิ่ม) ที่สูงที่สุด จึงเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานมากที่สุดด้วย แต่มีสัดส่วนการใช้พลังงานที่ลดลงมาโดยตลอด จากกว่า 40% ในปี 2531-2535 มาเป็น 30% ในปี 2542-2546 สาขาที่ใช้พลังงานมากที่สุดรองลงไปคือ อโลหะ ซึ่งได้แก่ อุตสาหกรรมที่ผลิตปูนซีเมนต์ คอนกรีต แก้วและกระจก รวมทั้งเซรามิก

อุตสาหกรรมอโลหะ มีสัดส่วนการใช้พลังงานที่ผันผวนอยู่ระหว่าง 23% และ 30% อุตสาหกรรมที่เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานอย่างรวดเร็ว ได้แก่ อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ และอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์โลหะ ส่วนอุตสาหกรรมสิ่งทอ มีสัดส่วนการใช้พลังงานที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง การเปลี่ยนแปลงสัดส่วนเหล่านี้น่าจะสะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตในสาขาอุตสาหกรรมได้ในระดับหนึ่ง อุตสาหกรรมอโลหะ เป็นอุตสาหกรรมที่มีการใช้พลังงานอย่างเข้มข้นมากที่สุด โดยเฉลี่ยแล้วการผลิตผลิตภัณฑ์อโลหะที่มีมูลค่าเพิ่ม 1 ล้านบาท ต้องใช้พลังงานเทียบเท่าประมาณ 90 ตันน้ำมันดิบ เทียบกับค่าเฉลี่ยของทุกอุตสาหกรรมโดยรวมที่ระดับประมาณ 15 ตันน้ำมันดิบ

อุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานอย่างเข้มข้นมากที่สุด รองลงไปคือ อุตสาหกรรมโลหะขั้นมูลฐาน โดยมีการผลิตเหล็กและเหล็กกล้า ซึ่งโดยปกติเป็นกิจกรรมที่ใช้ไฟฟ้าอย่างเข้มข้นมากอยู่แล้ว ข้อมูลชี้ให้เห็นด้วยว่าอุตสาหกรรมนี้มีการขยายตัวในลักษณะที่ใช้พลังงานเข้มข้นมากขึ้น อย่างไรก็ดี ความเข้มข้นของการใช้พลังงานในสาขาอุตสาหกรรมโดยรวมแล้ว มีแนวโน้มลดลงเล็กน้อย แสดงว่าอุตสาหกรรมของไทยมีประสิทธิภาพในการใช้พลังงานดีขึ้นเล็กน้อย

อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม เป็นอุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในแง่มูลค่าการผลิตและการจ้างงาน มีการใช้พลังงานหมุนเวียนค่อนข้างมาก ทั้งนี้ เพราะส่วนใหญ่จะใช้วัสดุเหลือใช้จากการเกษตรค่อนข้างมาก เช่น โรงสีข้าว ใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิงในการสีข้าว และโรงงานหีบอ้อยใช้ชานอ้อยเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตน้ำตาล อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำมันมากที่สุดด้วย

อุตสาหกรรมอโลหะ ซึ่งมีการใช้พลังงานอย่างเข้มข้นมากที่สุด ได้หันมาใช้ถ่านหินทดแทนเชื้อเพลิงอื่น ๆ จนทำให้ถ่านหินกลายเป็นพลังงานหลักของอุตสาหกรรมนี้ จะเห็นได้ว่าโรงงานปูนซีเมนต์ และโรงงานผลิตคอนกรีตส่วนใหญ่หันมาใช้ทั้งลิกไนต์ที่หาได้ในประเทศ และถ่านหินที่นำเข้าจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมอโลหะก็ยังมีแนวโน้มในการใช้ก๊าซธรรมชาติในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นด้วย

ช่วง 15 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมเคมีได้เปลี่ยนไปใช้ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติมากขึ้น เพื่อทดแทนพลังงานหมุนเวียน ไฟฟ้า และน้ำมัน ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์โลหะก็หันมาใช้ก๊าซธรรมชาติมากขึ้น เพื่อทดแทนน้ำมันและไฟฟ้า แต่ก็ยังต้องอาศัยไฟฟ้ามากถึงกว่า 60% ของพลังงานทุกประเภท

สาขาเศรษฐกิจที่ใช้พลังงานมากที่สุด คือ สาขาขนส่ง โดยกว่า 60% ของผลิตภัณฑ์น้ำมันถูกใช้ไปในสาขาการขนส่ง และสัดส่วนนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยตลอด กว่าครึ่งหนึ่งของพลังงานที่ใช้ในการขนส่งอยู่ในรูปของน้ำมันดีเซล ส่วนน้ำมันเบนซินมีความสำคัญรองลงมา และมีการใช้มากเป็น 25% ของพลังงานที่ใช้ทั้งหมด

เป็นที่น่าสังเกตว่าปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลได้เริ่มลดต่ำลงตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมา จนปี 2547 จึงกลับเพิ่มขึ้นอีก ปริมาณการใช้ทดแทนกันระหว่างน้ำมันดีเซลและน้ำมันเบนซินมีผลจากราคาเปรียบเทียบของน้ำมันทั้งสองชนิดนี้ โดยในช่วงปี 2541-2546 ผลิตภัณฑ์ทั้งสองมีราคาใกล้เคียงกัน ทำให้การใช้น้ำมันดีเซลเพื่อทดแทนน้ำมันเบนซินมีแนวโน้มลดลง แต่ในปี 2547 รัฐบาลตรึงราคาน้ำมัน ทำให้ราคาขายปลีกของน้ำมันดีเซลอยู่ต่ำกว่าของน้ำมันเบนซินมากถึงลิตรละ 3-4 บาท เป็นแรงจูงใจให้คนหันมาใช้น้ำมันดีเซลมากขึ้นอีก อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา เริ่มมีการใช้เชื้อเพลิงด้านขนส่งประเภทใหม่ ๆ คือ ก๊าซธรรมชาติ และแก๊สโซฮอล์ คาดว่าการส่งเสริมโดยภาครัฐจะทำให้การใช้เชื้อเพลิงเหล่านี้ในพาหนะชนิดต่าง ๆ มีความสำคัญมากขึ้น

พลังงานหลักที่ใช้ในที่อยู่อาศัย อยู่ในสองรูปแบบคือ ก๊าซหุงต้ม (LPG) และไฟฟ้า ระหว่างปี 2532-2546 โดยเฉลี่ยแล้ว บ้านอยู่อาศัยใช้ไฟฟ้าเป็นปริมาณร้อยละ 65 ของพลังงานทั้งหมด ที่เหลืออีกร้อยละ 35 อยู่ในรูปของก๊าซหุงต้ม ปริมาณการใช้พลังงานในที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ตั้งแต่ปี 2532 แต่กลับลดลงอย่างเห็นได้ชัดในปี 2541 อันเป็นผลจากวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 และเริ่มเพิ่มขึ้นอีกครั้งหนึ่งในปี 2545

โครงสร้างการใช้น้ำมันโดยรวมของประเทศไทยในช่วงปี 2525-2546 จะเห็นได้ว่ากว่าครึ่งหนึ่งของน้ำมันใช้ไปในการขนส่ง และสัดส่วนการใช้น้ำมันก็มีแนวโน้มสูงขึ้นด้วย สาขาการผลิตที่ใช้น้ำมันมากรองลงมาคือ อุตสาหกรรม (ประมาณ 13%) และเกษตรกรรม (ประมาณ 10%) ส่วนการใช้น้ำมันเพื่อผลิตไฟฟ้ามีปริมาณและสัดส่วนที่ลดลงมาก เพราะการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้ามีปริมาณเพิ่มขึ้นและทดแทนน้ำมันเป็นส่วนใหญ่ ปริมาณการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นทุกปีจนกระทั่งปี 2539 หลังจากนั้นก็ลดลง เพราะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 และลดลงต่อจากนั้นอีก 3-4 ปี แต่กลับมาอยู่ในระดับเดียวกันในปี 2545 ผลกระทบที่เกิดจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนั้นส่งผลต่อการใช้น้ำมันอยู่หลายปี

โครงสร้างการใช้ไฟฟ้าในช่วงปี 2524-2546 จะเห็นได้ว่าไฟฟ้าเกือบทั้งหมดถูกใช้ไปใน 3 สาขา คือ โรงงานอุตสาหกรรม ธุรกิจ (ซึ่งรวมถึงอาคารพาณิชย์และสถานที่ราชการด้วย) และบ้านเรือนที่อยู่อาศัย โดยประมาณ 45% ของไฟฟ้าถูกใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม 30% ใช้ไปในด้านธุรกิจ และอีก 20% ใช้ในบ้านอยู่อาศัย ปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นโดยตลอดทุกปีในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ยกเว้นในปี 2541 เท่านั้นที่ลดลง เนื่องจากผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ

การวิเคราะห์รูปแบบการใช้พลังงานข้างต้น ชี้ให้เห็นประเด็นสำคัญซึ่งอาจถือเป็นบทเรียนได้ 2 ข้อ คือ ประเด็นแรก การใช้พลังงานในเกือบทุกกลุ่มผู้ใช้มีความยืดหยุ่นหรือการตอบสนองค่อนข้างสูงต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งของราคาและของรายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ใช้ประเภทอุตสาหกรรม การเปลี่ยนแปลงราคาของเชื้อเพลิงในชนิดต่าง ๆ ทำให้อุตสาหกรรมมีการปรับตัวและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาค่อนข้างมาก

สาขาขนส่ง ก็มีการปรับเปลี่ยนการใช้ทดแทนกันระหว่างน้ำมันดีเซลและน้ำมันเบนซินอย่างรวดเร็ว โดยเป็นการตอบสนองต่อความแตกต่างระหว่างราคาของน้ำมันทั้งสองชนิดนี้บทเรียนดังกล่าวนี้น่าจะชี้ให้เห็นว่า นโยบายเกี่ยวกับภาษีและราคาพลังงานที่ผู้ใช้จะต้องจ่ายเป็นเรื่องสำคัญ กลไกการตลาดและระดับราคาน่าจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการส่งเสริมการประหยัดพลังงานและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ประเด็นที่สอง ในปัจจุบันพลังงานที่มีราคาแพงคือ น้ำมัน หากเป้าหมายหลักคือการลดการใช้น้ำมัน ก็ควรจะใช้มาตรการที่มุ่งไปในสาขาที่มีการใช้น้ำมันมาก ๆ ซึ่งก็คือ สาขาขนส่ง

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 30 พฤศจิกายน 2560

ลุ้น พ.ร.บ. EEC ยิ่งช้า ! ไทยเสียโอกาส

โดย มิติประชาชาติ

ถูกตั้งคำถามและจับตามองตลอดถึง “พ.ร.บ.ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก” ที่รัฐบาลไทยยกขึ้นมา “การันตี” ให้ความมั่นใจกับนักลงทุนว่า “โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก” หรือ EEC อภิมหาโปรเจ็กต์ระดับชาติจะเดินหน้าไปได้ แม้จะเปลี่ยนอีกกี่รัฐบาลก็ตาม

โดยเฉพาะการเกิดโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่อย่างสนามบิน ท่าเรือ รถไฟ ซึ่งใช้กลไกการลงทุนจากนักลงทุนเข้ามาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ผลักดันให้ GDP โตปีละกว่า 5% ต่อยอดเงินลงทุนกว่า 1.5 ล้านล้านบาท ภายใน 5 ปีนั้น ไม่ใช่เรื่องที่จะมาเริ่มนับหนึ่งทุกครั้งที่เปลี่ยนรัฐบาล

เมื่อ “พ.ร.บ. EEC” คือ “หัวใจ” สำคัญ ที่กำหนดรายละเอียดขอบเขตการทำงานของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งเรื่องอำนาจการบริหาร สิทธิประโยชน์ ผังเมือง หลักเกณฑ์การลงทุน การบริหารจัดการระบบสาธารณูปโภค น้ำ ไฟฟ้า ภาคการเกษตร ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงกระบวนการดำเนินการต่าง ๆ ที่เป็นสาระสำคัญจะถูกบัญญัติไว้ในตัวกฎหมาย

ไม่มีใครคาดเดาได้ว่า กฎกติกาที่แน่ชัดจะเป็นอย่างไร จึงเป็นเหตุผลว่า นักลงทุนต้องร้องเพลงรอ “กฎหมายเพียงฉบับเดียว”

แทบทุกเวทีการสัมมนาที่เกี่ยวข้องกับ EEC จะเกิดคำถามจากนักลงทุนทั้งไทยและเทศว่า พ.ร.บ. EEC จะประกาศใช้เมื่อไรแน่ !

แม้รัฐบาลจะพูดให้นักลงทุนอุ่นใจว่า “โครงการ EEC ไม่มีวันล้ม” เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ “รัฐบาลชุดใดไม่มีสิทธิ์ทำผิดกฎหมาย” !

หากย้อนกลับไปดูครั้งแรก “กระทรวงอุตสาหกรรม” ในฐานะเจ้าภาพ เตรียมจะคลอดกฎหมายตั้งแต่เดือน มิ.ย. 60 แต่ก็ต้อง “กินแห้ว” เลื่อนมาเดือน ต.ค. และต่อมาเดือน พ.ย. แม้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะรับร่างหลักการวาระ 1 ไปเรียบร้อยระหว่างช่วง 5 เดือนที่ผ่านมาได้มีการหยิบเอาวาระ 2 ขึ้นมาพิจารณา แต่แล้วการพิจารณาเสร็จไม่ทัน จึงต้องยืดออกไปอีก…

ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) ออกมายอมรับความล่าช้า โดยบอกว่าบางมาตรามีความซับซ้อน รายละเอียดค่อนข้างมาก ไปคาบเกี่ยวกับบางหน่วยงาน จึงต้องหาแนวทางตกลงร่วมกันให้ได้

จนในที่สุด คณะกรรมาธิการ สนช.ต้องขยับการพิจารณาออกไปอีก 60 วัน สกรศ.ได้แต่หวังว่า คณะกรรมาธิการจะเร่งประชุมให้ถี่ขึ้น เพื่อให้กรอบกำหนดที่จะประกาศใช้กฎหมายได้ทันภายในไตรมาส 1/2561

“ความล่าช้า” ที่เกิดขึ้น แน่นอนว่าส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของ “นักลงทุน” เพราะหากผลีผลามลงมือทำไปก่อน อาจกลายเป็นการ “ทำผิดกฎหมาย” ความเสียหายย่อมตามมา

ขณะที่อีกด้านความล่าช้าทำให้ประเทศไทยเสียโอกาส เพราะวันนี้ประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง โดยเฉพาะกลุ่ม CLMV รวมถึงอินโดนีเซียต่าง “เปิดหน้าต่าง” ให้สิทธิพิเศษเชิญชวนให้นักลงทุนไทยและต่างชาติเข้าไปลงทุนเช่นเดียวกับไทย

ในอดีตโครงการไม่น้อยที่ถูกล้มไปอย่างน่าเสียดาย เพราะนโยบายที่เข้ามาบริหารประเทศในแต่ละยุคมีแนวทาง กลไก และมุมมองแตกต่างกัน ดังนั้น นักลงทุนจะเชื่อมั่นได้อย่างไรว่า EEC จะไม่เป็นหมันซ้ำรอยประวัติศาสตร์

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 30 พฤศจิกายน 2560

 WTO ดันปฏิญญาบูเอโนสไอเรส ถกปมแรงงานต่างด้าว-ลดอุดหนุน-เกษตร-

ITD ร่วมกับ WTO เสวนา เตรียมพร้อมประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจองค์การการค้าโลก ปี แนะจับตาปฏิญญาบูเอโนสไอเรสฉบับใหม่ชูธงแก้ปัญหาแรงงานประมงผิดกฎหมาย พร้อมหนุนไมโครเอสเอ็มอีกระตุ้นเศรษฐกิจ รอง ผอ. WTO ชี้ไทยศูนย์กลางอาเซียนควรสร้างให้เกิดการมีส่วนร่วม

ดร.กมลินทร์ พินิจภูวดล ผู้อำนวยการสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) (สคพ.) หรือ ITD กล่าวว่า ทาง ITD ร่วมกับองค์การการค้าโลก (WTO) จัดเสวนาเชิงนโยบายในระดับภูมิภาคประจำปี 2560 ในประเด็น “Rebalancing Global Trade Agenda for Sustainable Development in Developing Countries” เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับนโยบายด้านการค้าและการลงทุนในภูมิภาค ซึ่งจะมีผลกระทบเชิงนโยบายทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนสำหรับการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศองค์การค้าการค้า (WTO) หรือที่เรียกว่า ประชุม MC 11 ขึ้นที่กรุงบูเอโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา ในระหว่างวันที่ 10-13 ธันวาคมนี้

นายโยนอฟ เฟอเดอริก อากาห์ (Yonov Federick Agah) รองเลขาธิการองค์การการค้าโลก (WTO) กล่าวว่า วาระสำคัญที่จะหยิบยกขึ้นมาหารือครั้งนี้เป็นการสานต่อการทำงานที่ได้ประชุมไว้ในรอบปี 2558 ที่กรุงเนโรบี ประเทศแอฟริกาใต้ เพื่อส่งเสริมให้เกิดความเข้มแข็งของระดับพหุภาคี และเพื่อให้สอดรับกับแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) โดยประเด็นสำคัญรอบนี้มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาแรงงานประมงผิดกฎหมาย การยุติมาตรการอุดหนุนทางการค้าและการเก็บสต๊อกอาหารเพื่อความมั่นคงทางอาหาร การส่งเสริมให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่มีขนาดเล็กจิ๋ว (MSME) และการค้าในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) และการอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกัน

โดยท่าทีขณะนี้สมาชิกในกลุ่มประเทศพัฒนาและเอเชียหลายประเทศ ขอให้หยิบยกเรื่องการเก็บสต๊อกออกจากเรื่องการอุดหนุน ผลกระทบของการเก็บสต๊อกต่อราคาอาหารในตลาดโลก แต่ยังมีอุปสรรคในเชิงวิชาการและเชิงเทคนิคหลายเรื่องที่ยังต้องหารือกันอยู่ อย่างไรก็ตามในการประชุมอาจต้องมีข้อเสนอให้มีมาตรการเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาด้วย ทั้งยังจะมีการหารือถึงประเด็นการออกกฎระเบียบ/มาตรฐาน/ใบรับรอง ภายในประเทศ เพื่อลดอุปสรรคทางการค้า จำเป็นต้องลดอคติ ลดการเลือกปฏิบัติ ซึ่งมีความคืบหน้าในการประชุมกลุ่มย่อยหลายการประชุม

ประเด็นสำคัญอีกด้าน คือ การส่งเสริมให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่มีขนาดเล็กจิ๋ว (MSME) ได้มีส่วนร่วมในการค้าระดับโลก โดยจะต้องคำนึงถึงความโปร่งใส เปิดโอกาสให้เข้าถึงข้อมูลและแหล่งเงินทุนด้วย และประเด็นเกี่ยวกับการส่งเสริมการค้าในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) เพราะสมาชิกหลายประเทศขอให้พัฒนาระบบอินเทอร์เน็ตและโครงสร้างพื้นฐาน เพื่ออำนวยความสะดวกในการส่งมอบ (delivery) การค้าออนไลน์ นอกจากนี้อาจจะมีการส่งเสริมการอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน

“ขณะนี้ทาง WTO ยกร่างปฏิญญาบูเอโนสไอเรส (Buenos Aires Declaration)ขณะนี้เหลือระยะเวลาเพียง 2 สัปดาห์ แต่มีสัญญาณเชิงบวกในหลายเรื่อง เพราะทุกฝ่ายเห็นพ้องกันว่าจะต้องผลักดันให้การประชุมรอบนี้ลุล่วงไปให้ได้ มีกระบวนการหารือ และถึงจุดต้องตัดสินใจว่าประเด็นใดที่จะเสนอจะทำอย่างไร ประเด็นที่จะเสนอต้องให้เกิดความก้าวหน้าต่อไป และต้องมีกระบวนการหลังการประชุม หรือ Post MC 11 ว่าจะต้องเป็นอย่างไรต่อไป อาจจะตัดสินใจดำเนินการบางอย่างเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมาย”

นายอากาห์กล่าวถึงประเด็นความยืดเยื้อของการเจรจา WTO ที่ล่าช้ามานานกว่า 14 ปีว่า แม้ว่าที่ผ่านมาสมาชิกมีความแตกแยกกันหลายประเด็น แต่หวังว่าการเจรจารอบนี้จะมีความยืดหยุ่น และมีผู้นำทางการเมืองที่นำไปสู่เป้าหมาย ในส่วนของไทยสามารถมีส่วนร่วมในการแสดงความเห็นในการประชุมได้ ไทยเปรียบเสมือนเป็นผู้นำของสมาชิกอาเซียนด้วย

“WTO เป็นองค์กรเดียว เป็นเวทีถาวร ที่จะช่วยแก้ปัญหาระหว่างประเทศพัฒนาแล้ว และประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ ประเทศกำลังพัฒนาสามารถยกมือและไม่เห็นชอบในการเจรจา WTO ได้อย่างไม่มีข้อจำกัด แม้ว่าการเจรจา WTO จะล่าช้า และสมาชิกมุ่งเน้นการเจรจาทวิภาคีมากขึ้น แต่อย่าลืมว่าเวทีนี้ดีกับประเทศกำลังพัฒนา เพียงแต่เราจะจัดการกับ WTO อย่างไร ถึงแม้ว่ารอบนี้จะมีผู้เดินวอล์กเอาต์ออกจากห้องประชุม ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเคยมีแล้วในการประชุมเมื่อปี 1947”

รายงานข่าวระบุว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอให้รับรองร่างปฏิญญาบูเอโนสไอเรส (Buenos Aires Declaration) ในการประชุม Global Conference on the Sus-tained Eradication of Child Labour ครั้งที่ 4ระหว่างวันที่ 14-16 พฤศจิกายน 2560 ณ กรุงบูเอโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา โดยมีเอกอัครราชทูต ณ กรุงบูเอโนสไอเรส เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุม

ทั้งนี้ ร่างปฏิญญาดังกล่าวซึ่งเป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ของผู้แทนรัฐบาล องค์กรนายจ้างและลูกจ้าง องค์กรระหว่างประเทศและระดับภูมิภาค และองค์กรภาคประชาสังคมที่เข้าร่วมการประชุม เพื่อแสดงความมุ่งมั่นในการขจัดปัญหาแรงงานเด็กและแรงงานบังคับ โดยได้กำหนดแนวปฏิบัติและการดำเนินการไว้ด้วย การรับรองร่างปฏิญญาจะเป็นการย้ำถึงเจตนารมณ์ที่แน่วแน่ของไทยในการขจัดปัญหาแรงงานเด็กและแรงงานบังคับ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายและแผนระดับชาติเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ปีงบประมาณ พ.ศ. 2558-2563

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 30 พฤศจิกายน 2560

เงินบาทเช้านี้อ่อนค่าหลังเลขศก.USดีเกินคาด

ตลาดเงินบาทเช้านี้เปิด 32.57 กลับมาอ่อนค่าหลัง GDP Q3/60 สหรัฐฯออกมาดีกว่าคาดหนุนดอลล์แข็ง มองกรอบ 32.50-32.60 บาทต่อดอลลาร์

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ 32.57 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าจาก

ช่วงปิดตลาดเย็นวานนี้ที่ระดับ 32.52 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากดอลลาร์กลับมาแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังตัวเลขจีดีพีของสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดยเงินบาทอ่อนค่าจากช่วงปิดตลาดเย็นวานนี้ เนื่องจากดอลลาร์แข็งค่าหลังตัวเลขจีดีพีของสหรัฐฯ เมื่อคืนนี้ออกมาดีเกินคาด

อย่างไรก็ตามประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ไว้ที่ 32.50-32.60 บาทต่อดอลลาร์

จาก http://www.innnews.co.th วันที่ 30 พฤศจิกายน 2560

เกมรุกขับเคลื่อนอาณาจักร “มิตรผล”

ท่ามกลางการแข่งขัน และความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกธุรกิจ”กลุ่มน้ำตาลมิตรผล”ผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาล อันดับที่ 4 ของโลกและอันดับ 1 ของเอเชีย ถือเป็นหนึ่งในผู้ประกอบอุโตสาหกรรมเกษตรที่ปรับแนวรบอย่างรวดเร็ว เพื่อรับมือกับโลกอนาคตที่ท้าทาย ซึ่ง”บันเทิง  ว่องกุศลกิจ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มมิตรผลได้มาเปิดวิสัยทัศน์การเดินเกมรุกที่จะก้าวไปข้างหน้ากับ “ประชาชาติธุรกิจ”

ปัจจุบันอัตรากำลังการผลิตน้ำตาลของกลุ่มมิตรผลทั้ง 6 โรงงาน อยู่ที่ 2.15 แสนตันต่อวัน เพิ่มขึ้นจากเดิมราว 2 หมื่นตันหรือ 1.9 แสนตันต่อวัน และคาดว่าในปีนี้จะสามารถผลิตน้ำตาลได้ 21 ล้านตัน ใช้ระยะเวลาในการหีบ 100 วัน

ปัจจัยที่ทำให้มีการผลิตน้ำตาลเพิ่มขึ้นเนื่องจากความต้องการของตลาดโลกโดยเฉพาะประเทศจีนมีการบริโภคเพิ่มขึ้นรวมถึงอินโดนีเซียที่เป็นตลาดส่งออกหลักของกลุ่มมิตรผลมีความต้องการนำเข้าเป็นจำนวนมาก โดยปัจจุบันสัดส่วนการส่งออกน้ำตาล 70% และจำหน่ายภายในประเทศ 30% มีส่วนแบ่งการตลาดในประเทศประมาณ 20%

“นายบันเทิง“ กล่าวอีกว่า แม้ปัจจุบันจะมีกระแสสังคมในเรื่องของการลดบริโภคน้ำตาล ส่งผลทำให้ราคาน้ำตาลถูกลง จึงเกิดเป็นคำถามว่าจะทำอย่างไรให้อ้อยที่เป็น core value ของกลุ่มมิตรผล จะสามารถพัฒนาเป็นสินค้าและผลิตภัณฑ์ประเภทอื่น

กลุ่มมิตรผลมีศูนย์นวัตกรรมและการวิจัย (RDI-Research Development and Innovation) ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อเพิ่ม productivity  และ              value adder ให้กับอ้อย และขณะเดียวกันเป็นการเตรียมความพร้อมในการขยายธุรกิจ ที่ผ่านมากลุ่มมิตรผลได้ร่วมทุนกับบริษัท Dynamic Food Ingredients (DFI) สหรัฐอเมริกา วิจัยสารให้ความหวานจากแป้งหรือน้ำตาลที่มีแคลอรี่ต่ำ 2 ชนิด คือ อีริทริทอล (Erythritol) และไซลีทอล (Xylitol) โดยใช้วัตถุดิบจากพืชเกษตรที่ปลูกในเมืองไทย

และเมื่อรัฐบาลมีนโยบายพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ทำให้กลุ่มมิตรผลมีความสนใจจะเข้าไปลงทุน โดยจะนำน้ำตาลที่มีอยู่แล้วไปต่อยอดหรือเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ อาทิ ไบโอพลาสติกฟาร์มาซูติคอล และการผลิตสารให้ความหวานที่มีแคลอรี่ต่ำ อย่างอีริทริทอล และไซลิทอล ตลอดจนผลิตภัณฑ์อื่นๆ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการศึกษา

และโครงการที่จะลงทุนในอีอีซี ถือเป็นโครงการไม่ใหญ่ และมีมูลค่าไม่สูงมาก คาดว่าในอีก 5 ปี จะเห็นผลิตภัณฑ์เหล่านี้ออกมาสู่ตลาด

“นายบันเทิง” กล่าวอีกว่า สำหรับแผนการลงทุนนั้น กลุ่มมิตรผลมีแผนที่จะลงทุนใหม่นอกจากโครงการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลที่ จ.อำนาจเจริญ ที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ คือการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ในพื้นที่ อ.หนองบัวแดง และ อ.เกษตรสมบูรณ์ จ. ชัยภูมิ ซึ่งได้รับใบอนุญาตในการก่อสร้างและเปิดโรงงานแห่งใหม่เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างทำการศึกษาข้อมูล

การก่อสร้างโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่นี้จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งเหมือนเอาตลาดไปอยู่ใกล้กับผู้ผลิตที่เป็นเกษตรกรชาวไร่อ้อยมากยิ่งขึ้น

ขณะที่การลงทุนในต่างประเทศนั้นกลุ่มมิตรผลมีแผนจะไปร่วมทุนกับพันธมิตรทางธุรกิจที่ประเทศอินโดนิเซียในการปรับปรุงโรงงานน้ำตาลและปลูกอ้อย ซึ่งอินโดนีเซียถือเป็นตลาดส่งออกใหญ่ในอาเซียนของกลุ่มมิตรผลโดยผู้ร่วมทุนมีโรงงานและพื้นที่อยู่แล้วและกลุ่มมิตรผลจะเข้าไปส่งเสริมเรื่องการปลูกอ้อย การทำโมเดิร์นฟาร์มเพื่อขยายพื้นที่ต่อไป

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 29 พฤศจิกายน 2560

โรงงานเปิดหีบอ้อย 1  ธ.ค.นี้คาดอ้อยพุ่ง106ล้านตัน

โรงงานน้ำตาลเตรียมเปิดหีบอ้อย 1ธันวาคมนี้คาดผลผลิตพุ่ง106ล้านตัน ชี้ราคาอ้อย880บาทต่อตันเหมาะสม กอน.จ่อถกเคาะราคาอ้อยขั้นต้น 1ธันวาคมนี้อีกรอบ

 นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงาน ด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรย เปิดเผยว่า. คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.)ได้กำหนดเปิดหีบอ้อยตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.นี้เป็นต้นไปซึ่งคาดว่าจะมีโรงงานบางแห่งทยอยเปิดหีบได้ โดยประเมินว่าปริมาณอ้อยเข้าหีบฤดูการผลิตปี60|61จะสูงประมาณ106ล้านตัน

 อย่างไรก็ตามการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้น60|61เฉลี่ยทั่วประเทศโรงงานส่วนใหญ่เห็นว่าระดับ 880 บาทต่อตันเป็นราคาที่เหมาะสมสำหรับต้นทุนการผลิตทั้งหมดแล้วเพราะหากราคาอ้อยขั้นสุดท้ายต่ำกว่าขั้นต้นแล้วรัฐกำหนดให้ไปหักจากราคาอ้อยในฤดูถัดไปนั้นโรงงงานไม่เห็นด้วยแน่ซึ่งเรื่องนี้กอน.จะสรุป1ธันวาคมนี้อีกครั้ง

“ฤดูผลิตที่ผ่านมาค่าความหวานเฉลี่ยสูงถึง 12.8 ซี.ซี.เอส นั่นหมายถึง 1 ซี.ซี.เอส.ชาวไร่จะได้รับค่าอ้อยเพิ่มอีก 53 บาทต่อตันดังนั้นหากชาวไร่อ้อยพัฒนาอ้อยให้ได้ความหวานที่สูงก็จะได้รับเพิ่มอยู่แล้ว”นายสิริวุทธิ์กล่าว

นายบุญถิ่น โคตรศิริ ผู้อำนวยการสำนักบริหารอ้อยและน้ำตาลทราย สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า สอน. ประเมินภาพรวมผลผลิตอ้อยเข้าหีบในฤดูการหีบอ้อยประจำปี 2560/61 จะมีปริมาณอยู่ที่ 103.6 ล้านตันอ้อย เพิ่มขึ้นจากฤดูกาลผลิตประจำปี 2559/60 ที่มีผลผลิตรวม 92.9 ล้านตันอ้อย เฉลี่ยผลผลิตต่อไร่ประมาณ 10.6 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ในระดับ 9 ตันต่อไร่ เนื่องจากปีนี้ฝนมีปริมาณฝนมากเพียงพอ

จาก https://mgronline.com  วันที่ 29 พฤศจิกายน 2560

“ระบบส่ง” เส้นเลือดใหญ่แห่งพลังงานไฟฟ้า เชื่อมโยงความสุขทุกทิศทั่วไทย

จากแสงเทียน..แสงตะเกียง..สู่แสงแรกแห่งสยาม…

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไฟฟ้าแสงแรกแห่งสยามเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2427 ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท  จากนั้นปี 2440 โรงไฟฟ้าเอกชนแห่งแรกของไทยที่วัดเลียบเริ่มเปิดดำเนินการ ครั้นปี 2457 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯให้จัดตั้งการไฟฟ้าหลวงสามเสนขึ้น นับเป็นรัฐวิสาหกิจแห่งแรกที่ดำเนินการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าในเขตพระนคร ต่อมาปี 2472 กิจการไฟฟ้าในต่างจังหวัดเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกที่สุขาภิบาลเมืองราชบุรีและนครปฐม   จนมาถึงปี 2500 รัฐบาลตราพระราชบัญญัติจัดตั้ง “การไฟฟ้ายันฮี” และเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2503 รัฐบาลตราพระราชบัญญัติจัดตั้ง “การลิกไนท์” โดยมีอำนาจดำเนินการในเขตจังหวัดลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ และตาก  จวบถึงปี 2505 รัฐบาลตราพระราชบัญญัติ “การไฟฟ้าตะวันออกเฉียงเหนือ”ขึ้นตามลำดับ

ก้าวแรกของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ถือกำเนิดขึ้นจากรวมกิจการระหว่าง การไฟฟ้ายันฮี การลิกไนท์ และการไฟฟ้าตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2512 รวมถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 48 ปี

โดยเส้นทางแห่งการพัฒนาพลังงานไฟฟ้า ยังคงต้องเคลื่อนไหว..ก้าวไป..ด้วยกลไกแห่งการสร้างสรรค์คุณภาพ ที่พร้อมส่องแสงอันสว่างไสว จากแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้าที่หลากหลายเชื้อเพลิง เชื่อมโยงผ่านด้วยสายใยของ “ระบบส่งไฟฟ้า”

ดังนั้น “ระบบส่งไฟฟ้าแรงสูงของ กฟผ.” นับว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญ “เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่แห่งพลังงานไฟฟ้า ที่เชื่อมโยงกันอยู่ทุกทิศทั่วไทย” ทำหน้าที่ส่งนำพากระแสไฟฟ้าจากระบบผลิตไปยังระบบจำหน่าย คือการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยจะปรับขนาดแรงดันไฟฟ้าก่อนส่งถึงผู้ใช้ไฟฟ้า ทุกภาคส่วนทุกครัวเรือนอย่างเหมาะสมต่อไป

จากเสาส่งไม้ซุง…สู่เสาส่งโครงเหล็ก…ปัจจุบันสายส่งไฟฟ้าแรงสูงของ กฟผ. มีความยาวรวมกันกว่า 33,300 วงจรกิโลเมตร โดยมีโครงข่ายครอบคลุมทั่วประเทศ เช่น สายส่งระดับแรงดันไฟฟ้า 115,000 โวลต์ 230,000 โวลต์ และ 500,000 โวลต์  ซึ่งถ้านำมาโยงตามแนวขอบเขตแดนประเทศไทยจะได้เกือบ 4 รอบ

นอกจาก “สายส่งไฟฟ้า” ยังมีส่วนประกอบอื่น ๆ ของ “ระบบส่งจ่ายไฟฟ้า” ได้แก่ เสาไฟฟ้าซึ่งประกอบด้วยโครงเหล็กและลูกถ้วย  หม้อแปลงไฟฟ้า  ลานไกไฟฟ้าและสถานีไฟฟ้าแรงสูง   โดยมี “ศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า”เป็นหน่วยงานที่บริหารการเดินเครื่อง“ ผลิตไฟฟ้า”ของโรงไฟฟ้าทุกแห่งในระบบ ในช่วงเวลาต่าง ๆ ให้ได้สมดุลกับความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าของประเทศ จาก“เชื้อเพลิง”ประเภทต่าง ๆ อันประกอบด้วย ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน ดีเซล และน้ำมันเตา ตลอดจนพลังน้ำ พลังลมและพลังงานจากแสงอาทิตย์   พร้อมควบคุมการจ่ายไฟฟ้าให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวคือ “ไฟฟ้าไม่ดับ – ไฟฟ้าไม่ตก” ตามหลักมาตรฐานสากล

ปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศได้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะมีการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้นอีกในอนาคต ซึ่งการผลิตไฟฟ้าต้องกระจายสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงที่เหมาะสม โดยไม่ต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติมากเกินไป เพื่อให้ระบบไฟฟ้าไทยมีความเพียงพอ สมดุล และมั่นคงระยะยาวด้วย

ระบบส่งไฟฟ้า นับเป็นสมบัติของชาติ ที่คนไทยทุกคนควรต้องช่วยกันดูแลระวังรักษา ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานตลอดเวลา บางครั้งอาจเกิดปัญหาจาก “ภัยทางธรรมชาติ” เช่น ฟ้าผ่า หรือ “ภัยจากสัตว์” เช่น งู และนก หรือ “ภัยจากคน” อันเกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือความประมาทคึกคะนอง ทั้งการรุกล้ำปลูกสร้างอาคาร บ้านเรือนและไม้ยืนต้นเกินข้อกำหนดแนวเขตเดินสายส่งไฟฟ้า การเล่นว่าว ยิงนกที่เกาะสายไฟฟ้า การเผาไร่อ้อย เผาวัชพืชและจุดกองไฟใกล้แนวสายส่งไฟฟ้า การลักขโมยถอดชิ้นส่วนของโครงเสาส่งไฟฟ้า การปีนป่ายเสาส่งไฟฟ้า รวมถึงการปล่อยโคมลอยและจุดบั้งไฟใกล้แนวสายส่งไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้สายส่งไฟฟ้าแรงสูงและอุปกรณ์เกิดขัดข้องและเสียหาย อันอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน  ตลอดจนกระทบต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าโดยรวมของประเทศได้

เพราะ “พลังงานไฟฟ้า” มีความจำเป็นสำหรับการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง กฟผ.จะไม่มีวันหยุดนิ่ง ยังคงทำหน้าที่อย่างมุ่งมั่น ทุ่มเท พัฒนา สร้างสรรค์ อันจะเป็นพลังขับเคลื่อนระบบไฟฟ้าให้มีคุณภาพ มั่นคง เข้มแข็ง เพียงพอ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าของพลเมือง สังคม ประเทศชาติอย่างยั่งยืน

ถ้าเปรียบคนคุณภาพคือ“สมอง” โรงไฟฟ้าเป็น“หัวใจ” เชื้อเพลิงประดุจ“เลือด” สายใยสายส่งเสมือน“เส้นเลือดใหญ่แห่งพลังงานไฟฟ้า” ที่เชื่อมโยงส่งความสุข เพื่อคุณภาพชีวิต ทุกทิศทั่วไทย

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 29 พฤศจิกายน 2560

นายกฯ ลั่น 3 เดือนเร่งเพิ่มใช้ยางฯ สั่งกำหนดนโยบายที่ดิน คุมปริมาณสินค้าเกษตร

"ประยุทธ์" ลั่น 3 เดือนเร่งเพิ่มใช้ยางพาราผ่านกลไกให้เห็นผล จี้กยท.ทำให้เห็นผลใช้ยางปีนี้ 2 แสนตัน พร้อมสั่งก.ทรัพย์ฯยึดคืนป่าจากนายทุนบุกรุก ตัดฟันทิ้งให้หมด พร้อมเร่งพิจารณาที่ดินส.ป.ก.-กำหนดนโยบายที่ดินแห่งชาติ ให้ใช้ที่ดินทำกิน แต่ไม่ให้โฉนด เพื่อควบคุมปริมาณสินค้าเกษตร

วันนี้ (28 พ.ย.) เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 28 พ.ย.ที่อาคารคณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย อ.เมือง จ.สงขลา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมครม.สัญจร กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาราคาพืชผลเกษตรตกต่ำว่า ตนเคยบอกแล้วการปลูกพืชเชิงเดี่ยวนับวันจะมีปัญหา เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจโลกภาคการเกษตร ผลการผลิตการเกษตรจะลดลง ไม่ว่าจะเป็นข้าว ยางพารา และปาล์ม เพราะมีการใช้อย่างอื่นทดแทนได้ วันนี้ตนเข้าใจว่าโลกส่วนใหญ่มีปัญหาเหล่านี้ นั้นแหละคือประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นเราเป็นคนเลือกเราบอกของเราอยู่แล้ว ก็ต้องรับฟังกฎกติกาคนอื่นด้วย วันนี้ตนได้สั่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการกับนายทุนที่บุกรุก จะต้องตัดฟันทิ้งในพื้นที่ที่เป็นสวนป่าต้องลดการกรีดยาง ส่วนพื้นที่ประชาชนบุกรุกมานาน จะต้องหามาตรการดูแล ซึ่งปัญหาที่ตนกังวลคนที่มีรายได้จากการกรีดยางจะทำอย่างไร ต้องจึงให้กระทรวงทรัพย์ฯไปพิจารณาดูแลเอาคนพวกนี้มาปลูกป่า ดูแลป่าแทน แต่ส่วนนายทุนต้องให้ไม่ได้ เพราะเป็นการละเมิดกฎหมาย

 นายกฯกล่าวว่า วันนี้รัฐบาลได้แก้ปัญหาการบุกรุกป่า 2 ลักษณะ คือ เร่งพิจารณาที่ดินส.ป.ก.และการกำหนดการทำงานของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ซึ่งจะอนุญาตให้ใช้ที่ดินทำกิน แต่ไม่ให้โฉนด จะทำพยายามทำให้ได้ในทุกจังหวัด แต่เราจะต้องควบคุมปริมาณสินค้าเกษตรในประเทศให้ได้ ทั้งการขายทั้งในและต่างประเทศ

นายกฯกล่าวว่า วันนี้ยางพาราเราผลิตมาได้ปีละ 6 ล้านตัน รัฐบาลนี้เข้ามาทำให้ใช้ในประเทศได้ประมาณ 5 ล้านตัน ซึ่งก่อนหน้านี้ใช้ได้แค่ 3 ล้านกว่าตัน แล้วบอกรัฐบาลไม่ทำ รัฐบาลกำลังส่งเสริมเรื่องการลงทุนบีโอไอในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี และพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษซึ่งตนได้ตรวจสอบกับบีโอไอในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีการร้องขอสิทธิประโยชน์ในการลงทุนในประเทศไทยเกี่ยวกับเรื่องยาง ซึ่งเพิ่มการใช้ยางในประเทศได้อีก 5 แสนตันเป็นอย่างน้อย ซึ่งต้องให้เวลาสร้างโรงงงานและมีผลิตภัณฑ์ยางในช่วงนี้

 นายกฯกล่าวว่า วันนี้ให้การยางแห่งประเทศไทย(กยท.)และประธานคณะกรรมการบอร์ดการยางไปพิจารณาใช้ยางให้เป็นรูปธรรม ในการทำยางลองพื้นถนนกับคอสะพาน ซึ่งต้องมีการรับรองมาตรฐานการใช้งาน กำลังเร่งรัดอยู่ อย่างไรก็ตามตนพูดคุยกับผู้ว่าฯกยท.และประธานบอร์ดการยางฯแล้วว่า ปีนี้จะเร่งส่งเสริมการใช้ยางให้ได้ 2 แสนตัน ด้วยการใช้น้ำยางข้นในการปูพื้นสระอ่างเก็บน้ำที่รั่วซึม ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับเรื่องนี้ไป

 นอกจากนี้ การนำผลผลิตจากยาง ซึ่งมีการผลิตจากภาคเอกชนที่เราไม่ได้เป็นคนผลิตอุปกรณ์เหล่านี้เอง กำลังหารือว่าจะร่วมมือกันอย่างไรในการรับซื้อยางจากพื้นที่ เป็นยางใหม่เพื่อนำไปสู่การผลิต และหน่วยงานที่ต้องการใช้ยางนำไปใช้ประโยชน์ เราต้องเป็นตัวเชื่อมโยงผ่านการใช้งบประมาณภาครัฐ และต้องดูมาตรฐานให้ดี เพื่อไม่ให้มีปัญหาวันข้างหน้า ไม่อย่างนั้นถ้ามีปัญหาวันข้างหน้ารัฐบาลนี้จะถูกตำหนิอีก อย่างไรก็ตามใน 3 เดือนจะเร่งเรื่องเหล่านี้ให้มีความก้าวหน้า

จาก https://mgronline.com  วันที่ 28 พฤศจิกายน 2560

พลิกภาคเกษตรไทยสู่การปฏิรูปดันเกษตรกรก้าวข้ามสู่ยุค 4.0

               นายวิณะโรจน์  ทรัพย์ส่งสุข  เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เปิดเผยว่า ปัจจุบันเกษตรกรของประเทศส่วนใหญ่ยังเป็นเกษตรกรรายย่อย และมีระดับการพัฒนาที่หลากหลาย ทำให้การพัฒนาและยกระดับภาคการเกษตรต้องอาศัยการกำหนดนโยบายและแผนที่สอดคล้องกับลักษณะของเกษตรกร

                ข้อจำกัดดังกล่าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้กำหนดแนวทางรองรับการพัฒนาเกษตรกร  โดยกลุ่มเกษตรกรขนาดกลางและขนาดใหญ่ มีความก้าวหน้าในการทำการเกษตร มีศักยภาพที่จะพัฒนาต่อยอดสู่เกษตร 4.0      ได้รวดเร็ว  อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลผลการศึกษาของสถาบันการศึกษาหลายสถาบันเห็นพ้องต้องกันว่า เกษตรรายย่อยซึ่งยังมีจำนวนอยู่มาก ยังไม่สามารถก้าวข้ามเกษตร 2.0 ไปได้ จำเป็นต้องมีแนวทางและนโยบายในการพัฒนาเฉพาะ เช่น การสนับสนุนการรวมกลุ่มสร้างความเข้มแข็ง ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) การใช้กลไกสหกรณ์การเกษตรเป็นตัวขับเคลื่อนและสนับสนุนการพัฒนาของเกษตรกรรายย่อย และมีการดูแลตามสถานการณ์ เช่น อุทกภัย และภัยแล้งในช่วงที่ผ่านมา โดยภาครัฐให้ความช่วยเหลือและเยียวยาเร่งด่วนเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับเกษตรกร

                สำหรับแนวทางการพัฒนาภาคการเกษตรสู่เกษตร 4.0 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีที่มาจากพื้นที่ทางการเกษตรที่มีอยู่อย่างจำกัด จึงจำเป็นต้องกำหนดแนวทางการทำการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้วางรากฐานการทำการเกษตรด้วยเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพในภาคการเกษตรควบคู่กับการใช้ศาสตร์พระราชามาเป็นภูมิคุ้มกันให้เกษตรกร

               ทั้งนี้ ตัวอย่างของการนำวิธีการบริหารจัดการสมัยใหม่และการใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ตลอด Supply Chain ได้แก่ โครงการส่งเสริมให้เกษตรกรทำการเกษตรแบบแปลงใหญ่ซึ่งเป็นการสนับสนุนให้เกษตรกรรายย่อยมารวมกลุ่มรวมพื้นที่กันทำการเกษตรภายใต้การบริหารจัดการปัจจัยการผลิต การใช้เทคโนโลยีเครื่องจักรกล และการวางแผนการผลิตร่วมกันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โครงการปรับเปลี่ยนการผลิตในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมไปปลูกพืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่โดยการทำ Zoning จากแผนที่ Agi-Map ควบคู่กับการยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐาน อาทิ GAP และเกษตรอินทรีย์ และโครงการจัดตั้งศูนย์เกษตรอัจฉริยะ

              ซึ่ง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์               ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยจากญี่ปุ่นในการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการทำการเกษตรในประเทศไทยโดยจะทดลองใช้กับพืชสำคัญก่อน คือ ข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พร้อมนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังได้ส่งเสริมการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ควบคู่ไปกับการทำการเกษตรสมัยใหม่ด้วยเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและลดความเสี่ยงให้เกษตรกรจากสภาวะของตลาดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

จาก http://www.komchadluek.net   วันที่ 28 พฤศจิกายน 2560

ก.เกษตรฯ แจงผลการดำเนินงาน 2ปี  Zoning by Agri-Map

          นายสรวิศ  ธานีโต โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ผลการติดตามการดำเนินงาน Zoning by Agri-Map ตลอดระยะเวลา 2 ปี พบว่า ปี 2559 มีการปรับเปลี่ยนการผลิตทั้งสิ้น 32,618 ไร่ ในพื้นที่ 49 จังหวัด โดยผลสำรวจ 3 จังหวัดนำร่อง พบผลตอบแทนสุทธิของเกษตรกรเพิ่ม 7,303 บาท/ไร่/ปี จาก 840 บาท/ไร่/ปี สำหรับปี 2560 มีการปรับเปลี่ยนมาผลิตสินค้าที่เหมาะสม 157,701 ไร่ พื้นที่ 53 จังหวัด

        นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การประเมินผลโครงการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (Zoning by Agri-Map) ปีงบประมาณ 2559 และ 2560 ซึ่งมีกรมพัฒนาที่ดินเป็นหน่วยงานหลัก เพื่อส่งเสริมสนับสนุน จูงใจให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการผลิตทางการเกษตรในพื้นที่ไม่เหมาะสม (N) และเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นหลังจากการปรับเปลี่ยนการผลิต

             ในการนี้ สศก. ได้ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลการปรับเปลี่ยนการผลิตจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการของปีงบประมาณ 2559 ในพื้นที่นำร่อง 3 จังหวัด ได้แก่ บุรีรัมย์ ชัยภูมิ และอุทัยธานี ในช่วงเดือนมิถุนายน 2560 และของปีงบประมาณ 2560 ในพื้นที่ 15 จังหวัด ประกอบด้วย ภาคเหนือ 3 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 จังหวัด ภาคกลาง 2 จังหวัด ภาคตะวันออก 2 จังหวัด และภาคใต้ 3 จังหวัด ในช่วงเดือนสิงหาคม 2560 พร้อมติดตามผลการดำเนินงาน พบว่าปีงบประมาณ 2559 มีการปรับเปลี่ยนการผลิตทั้งสิ้น 32,618 ไร่ ในพื้นที่ 49 จังหวัด เกษตรกรจำนวน 10,502 ราย

             โดยในพื้นที่นำร่อง 3 จังหวัด มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสม (N) สำหรับการปลูกข้าว เป็นสินค้าที่เหมาะสมรวมทั้งสิ้น 3,930 ไร่ เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 950 ราย เมื่อปรับเปลี่ยนแล้วเกษตรกรมีผลตอบแทนสุทธิรวมทั้งสิ้นประมาณ 28.7 ล้านบาท/ปี (เฉลี่ย7,303 บาท/ไร่/ปี) เพิ่มจากเดิมที่มีผลตอบแทนสุทธิรวม  3.4 ล้านบาท/ปี (เฉลี่ย 864 บาท/ไร่/ปี) โดยมีผลตอบแทนสุทธิรวมเพิ่มขึ้น 25.4 ล้านบาท/ปี (เฉลี่ย 6,463 บาท/ไร่/ปี) จากสินค้าชนิดใหม่ที่ผลิต ได้แก่ การทำเกษตรผสมผสาน 2,220 ไร่ ปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ 1,470 ไร่ การผลิตอ้อยโรงงาน 145 ไร่ ปลูกหม่อน 55 ไร่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 30 ไร่ และเลี้ยงปลา 10 ไร่ โดยเกษตรกรส่วนใหญ่มีความพึงพอใจในระดับมาก

          ส่วนปีงบประมาณ 2560 มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสม (N) สำหรับการปลูกข้าว เป็นสินค้าที่เหมาะสมรวมทั้งสิ้น 157,701 ไร่ ในพื้นที่ 53 จังหวัด เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 30,444 ราย ประกอบด้วย อ้อยโรงงาน 88,132 ไร่ เกษตรผสมผสาน 38,287 ไร่ พืชอาหารสัตว์ 20,767 ไร่ ปาล์มน้ำมัน 5,427 ไร่ มันสำปะหลัง 2,439 ไร่ ประมง 2,061 ไร่ และหม่อน 588 ไร่ ทั้งนี้จากการประเมินผลในเบื้องต้น พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมโครงการมีความพึงพอใจในระดับมาก เนื่องจากได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ในการผลิต ได้ทราบถึงความเหมาะสมของการผลิตในพื้นที่ตนเอง ได้รับการสนับสนุนปัจจัยในการปรับเปลี่ยนการผลิต และมีเจ้าหน้าที่คอยให้คำปรึกษาแนะนำในการผลิตอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม สศก. จะทำการประเมินผลลัพธ์ของโครงการปีงบประมาณ 2560 อีกครั้งในช่วงเดือนพฤษภาคม 2561 และจะนำเสนอผลการประเมินให้ทราบต่อไป

             ทั้งนี้ การขับเคลื่อนโครงการในระยะต่อไปจะมีการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผลิตสินค้าที่ให้ผลตอบแทนระยะสั้น เช่น พืชผักสวนครัว ปศุสัตว์ เกษตรผสมผสาน ควบคู่กับการผลิตสินค้าที่ให้ผลตอบแทนระยะกลาง เช่น อ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ในพื้นที่โครงการปี 2559 - 2561 เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เสริมระหว่างรอผลผลิตจากพืชหลักซึ่งเป็นการสร้างความเข้มแข็งทางรายได้และลดความเสี่ยงให้เกษตรกรไม่หันกลับไปผลิตสินค้าชนิดเดิม

จาก http://www.komchadluek.net   วันที่ 28 พฤศจิกายน 2560

พลังงานเร่งคลอดPDPใหม่กลางปี61

พลังงานเร่งคลอด PDP ฉบับใหม่ ลุ้นคาดความต้องการใช้ไฟฟ้าจ่อลดลงหลังนำปัจจัยผลิตไฟฟ้าใช้เองมาประกอบการพิจารณา มั่นใจกลางปี 61ประกาศใช้จริงได้

แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานเตรียมสรุปความต้องการใช้ไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ (LOAD FORECAST) ภายในสิ้นเดือน พ.ย.2560 นี้ เพื่อนำไปจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว หรือ PDP ฉบับใหม่ แทนแผน PDP 2015 ซึ่งเป็นฉบับปัจจุบันที่กำหนดใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2558-2579 โดยแผน PDP ใหม่นี้คาดว่าจะเริ่มใช้จริงกลางปี 2561

"หลังจากได้ข้อสรุป ทางกระทรวงพลังงานจะเริ่มดำเนินการกำหนดสัดส่วนโรงไฟฟ้าแต่ละชนิดลงไป เพื่อวางแผนให้มีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพียงพอต่อความต้องการใช้ในระยะยาว หรือประมาณ 18 ปี ตามแผน PDP ฉบับใหม่ที่คาดว่าจะกำหนดใช้ระหว่างปี 2561-2579 ซึ่งคาดว่าความต้องการใช้ไฟฟ้ามีแนวโน้มต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่จะนำกรณีการผลิตไฟฟ้าใช้เองมาประกอบการพิจารณา ร่วมกับระบบการจัดหาไฟฟ้าปกติ" แหล่งข่าวกล่าว

นอกจากนี้ยังพบว่า แผนอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนประสบผลสำเร็จทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศลดลง รวมถึงการนำกรณีที่ไม่เกิดเหตุการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก) ของปี 2560 เป็นครั้งแรกในรอบหลายปีมาพิจารณาร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม แผน PDP 2015 ได้พยากรณ์ไว้ว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าตั้งแต่ปี 2558-2579 ไว้ที่ระดับ 49,655 เมกะวัตต์ และกำหนดแผนกำลังผลิตไฟฟ้าไว้ที่ 70,335 เมกะวัตต์

แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า คาดว่าไตรมาสแรกของปี 2561 กระทรวงพลังงานจะสามารถบรรจุโรงไฟฟ้าในแผน PDP ฉบับใหม่เสร็จ และจะเปิดรับฟังความเห็นของประชาชนทั่วประเทศ ใช้เวลาประมาณ 2 เดือน จากนั้นจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2561 และคาดจะประกาศใช้แผน PDP ฉบับใหม่ได้กลางปี 2561 ต่อไป.

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

เกษตรฯ จัดชุดใหญ่เคลียร์ทุกข้อสงสัยพาราควอต

กรมวิชาการเกษตร เปิดฉากเคลียร์พิจารณาคำขอต่ออายุใบสำคัญขึ้นทะเบียนพาราควอตตามกฎหมายให้เฉพาะผู้ประกอบการรายเดิม พร้อมการันตีพืชผัก GAP ปลอดภัย สุ่มตรวจทั้งปีกว่า 9,000 ตัวอย่าง ผลวิเคราะห์สารพิษตกค้างพบไม่ถึง 3 เปอร์เซ็นต์ ใช้ข้อมูลวิชาการยันพาราควอตแทบไม่มีโอกาสตกค้างในพืชผัก

นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ชี้แจงกรณีเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ ไทยแพน คัดค้านการต่ออายุวัตถุอันตรายพาราควอตทั้งที่สามารถชะลอการต่อทะเบียนออกไปก่อนได้ เนื่องจากคณะกรรมการวัตถุอันตรายยังไม่ได้พิจารณาให้ความเห็น และจะดำเนินการทางกฎหมายต่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์นั้น

กรมวิชาการเกษตรในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบในการควบคุมการขึ้นทะเบียน และควบคุมการผลิต นำเข้า ส่งออก และจำหน่ายวัตถุอันตราย ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ได้พิจารณารับขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายพาราควอต ตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบันรวมประมาณ 300 ทะเบียน ซึ่งอายุของใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายตามกฎหมายกำหนดไว้ 6 ปี และผู้ประกอบการจะต้องยื่นขอต่ออายุก่อนที่ใบสำคัญการขึ้นทะเบียนจะหมดอายุตามประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่องการขึ้นทะเบียนและการต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนฯ

ดังนั้นหากคณะกรรมการวัตถุอันตราย ยังไม่มีการประกาศห้ามใช้กรมวิชาการเกษตรต้องดำเนินการพิจารณาคำขอต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนฯ เนื่องจากตามขั้นตอนทางกฎหมายการต่ออายุไม่สามารถชะลอได้ โดยคณะอนุกรรมการได้พิจารณาข้อมูลความเป็นพิษของวัตถุอันตราย ผลการวิเคราะห์ของผลิตภัณฑ์ และผลการทดลองประสิทธิภาพ และรายละเอียดอื่นๆ แล้ว พบว่ามีเอกสารครบถ้วนและถูกต้องตามหลักวิชาการ จึงมีมติเสนอให้พนักงานเจ้าหน้าที่รับต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนได้

แต่ถ้าเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ที่ขอขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายพาราควอตซึ่งมีจำนวน 79 คำขอกรมวิชาการเกษตรยังไม่พิจารณารับขึ้นทะเบียนจนกว่าจะมีผลการพิจารณาชัดเจนจากคณะกรรมการวัตถุอันตราย

อย่างไรก็ตาม หากคณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณาแล้วมีมติว่าวัตถุอันตรายพาราควอต เป็นอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์ ตามข้อเสนอจากคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ของกระทรวงสาธารณสุข กรมวิชาการเกษตร ก็จะเพิกถอนทะเบียนวัตถุอันตรายที่ขึ้นไปแล้วรวมทั้งที่ต่ออายุทันที และเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตรายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมออกประกาศกำหนดวัตถุอันตรายพาราควอต เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ห้าม ผลิต นำเข้า ส่งออก และขาย

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ส่วนกรณีที่กลุ่มไทยแพนสุ่มตรวจผักและผลไม้ในช่วงเดือนสิงหาคมจำนวน 150 ตัวอย่างในห้างค้าปลีกและตลาดสด และพบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน MRL ทั้งหมดร้อยละ 46 โดยพบมีสารพาราควอตตกค้างในพืชผักผลไม้หลายชนิดได้แก่ ผักคะน้า พริก ถั่วฝักยาว กะหล่ำปลี มะละกอ และมะพร้าวน้ำหอมนั้น ในช่วงปี 2560 กรมวิชาการเกษตรได้สุ่มตัวอย่างสินค้าพืชเพื่อตรวจวิเคราะห์สารพิษตกค้างจำนวน 9,483 ตัวอย่าง ทั้งประเทศ โดยตัวอย่างพืชที่สุ่มตรวจมีจำนวนทั้งหมด 143 ชนิดพืช ได้แก่ ส้มเปลือกล่อน พริก ผักชี คะน้า ฝรั่ง ถั่วฝักยาว ซึ่งผลการตรวจวิเคราะห์สารพิษตกค้างจากห้องปฏิบัติการจำนวน 9,483 ตัวอย่าง

พบว่าตัวอย่างพืชจากแหล่งผลิตพืช GAP และจุดจำหน่าย จำนวน 5,012 ตัวอย่าง เกินค่า MRL จำนวน 145 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 2.89 ส่วนตัวอย่างพืชจากแหล่งผลิตพืชที่สมัครเข้าระบบ GAP และอยู่ระหว่างการตรวจสอบ จำนวน 4,471 ตัวอย่าง พบเกินค่า MRL จำนวน 365 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 8.16 ซึ่งผลการตรวจวิเคราะห์สารพิษดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าสินค้าพืชที่อยู่ในระบบ GAP มีความปลอดภัยสูงกว่าสินค้าพืชที่ยังไม่ได้ผ่านเข้าสู่ระบบ GAP

ทั้งนี้ ในปี 2561 กรมวิชาการเกษตรมีแผนที่จะดำเนินการสุ่มตรวจสารเคมีตกค้างจากแหล่งผลิตพืช GAP จำนวน 4,379 ตัวอย่าง แผนการสุ่มตัวอย่างประกอบการตรวจรับรองจำนวน 2,415 ตัวอย่าง และจะสุ่มเก็บตัวอย่างตามโครงการบูรณาการตลาดสดอีก จำนวน 800 ตัวอย่าง เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจในการบริโภคพืชผักและผลไม้ที่ปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภคโดยเฉพาะในช่วงเทศกาลต่างๆ

​อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ชี้แจงในประเด็นสุดท้ายในกรณีที่กลุ่มไทยแพนอ้างว่าพบสารพารา ควอตตกค้างในพืชผักผลไม้หลายชนิดนั้น ว่า ตามข้อมูลทางวิชาการ กรณีผักกินใบเกษตรกรจะใช้พาราควอต ๒ ระยะคือ พ่นกำจัดวัชพืชก่อนปลูกผัก ซึ่งละอองพาราควอตส่วนใหญ่จะสัมผัสกับวัชพืช มีส่วนน้อยที่จะตกลงสู่ดิน และรากของต้นผักไม่สามารถดูดสารพาราควอตจากดินได้ เนื่องจากพาราควอตเมื่อลงสู่ดินจะถูกอนุภาคของดินดูดยึดไว้อย่างเหนียวแน่น และเกษตรกรจะพ่นพาราควอตกำจัดวัชพืชระหว่างแถวหลังจากผักงอกแล้ว โดยหลีกเลี่ยงไม่ให้ละอองสารสัมผัสใบผัก ดังนั้นโอกาสที่ผักจะได้รับสารพาราควอตมีน้อยมาก

หรือกรณีมีลมแรงขณะพ่นละอองสารพาราควอต อาจปลิวไปสัมผัสกับใบผักได้ทำให้ใบผักที่ได้รับสารแห้งตายแต่เกษตรกรจะคัดใบที่มีรอยทำลายทิ้ง ก่อนนำไปจำหน่ายอยู่แล้วดังนั้นจากวิธีการใช้ของเกษตรกรทั้งสองระยะในพืชผักดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าพาราควอตแทบจะไม่มีโอกาสตกค้างในพืชผักที่จำหน่ายในท้องตลาดได้เลย

ส่วนกรณีการใช้สารพาราควอตไม้ผล โดยเฉพาะในมะพร้าวน้ำหอมซึ่งส่วนใหญ่จะให้ผลผลิตตั้งแต่ความสูง 2 เมตรขึ้นไป โดยเกษตรกรจะพ่นพาราควอตเพื่อกำจัดวัชพืชระหว่างแถวมะพร้าวน้ำหอม ซึ่งระดับความสูงของหัวพ่นสูงจากพืชดินประมาณ 50 เซนติเมตร ดังนั้น จึงไม่มีโอกาสที่ละอองสารพารา ควอตจะสัมผัสกับใบของมะพร้าว นอกจากนี้เนื่องจากลำต้นมะพร้าวมีเปลือกสีน้ำตาล แต่ด้วยคุณสมบัติของสารพาราควอตที่ยับยั้งการสังเคราะห์แสง หรือทำลายส่วนที่เป็นสีเขียวของพืชเท่านั้น ดังนั้น โอกาสที่ละอองของสารจะซึมเข้าทางลำต้นมะพร้าวได้นั้นไม่มีเลย

​“กรมวิชาการเกษตรขอยืนยันว่าการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับวัตถุอันตรายทางการเกษตรยังคงยึดหลักการตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่คำนึงถึงผลประโยชน์และความปลอดภัยของเกษตรกร ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ” อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าว

จาก https://mgronline.com   วันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

หนองแซงโมเดล ไร่อ้อยโมเดิร์นฟาร์ม

“คนแถบนี้ทำไร่อ้อยมานานแล้ว แต่ทำแบบต่างคนต่างพึ่งฟ้าพึ่งฝน แถมเจอปัญหาแรงงานตัดอ้อยค่าแรงขึ้นตลอด บางครั้งตัดอ้อยไม่เสร็จทันกำหนดนัดของโรงงาน และคนงานมักจุดไฟเผาอ้อยเพื่อให้ตัดได้ง่าย ทำให้ดินเสียเกิดมลพิษ ปี 2554 จึงรวมตัวกันแก้ปัญหา เริ่มจากญาติพี่น้องก่อนขยายสู่เพื่อนบ้าน จนกลายเป็นอ้อยแปลงใหญ่ อาศัยใครมีเครื่องไม้เครื่องมืออะไรพอช่วยกันได้ก็ช่วยกัน โดยมีบริษัทมิตรผลเข้ามาช่วยดูแลให้คำปรึกษา โดยเฉพาะเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆจนกลายเป็นหมู่บ้านบ้านต้นแบบอ้อยสดสะอาด

”ประสิทธิ์ ลาภปรากฏ หนึ่งในเกษตรกรตามโครงการมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม ชุมชนบ้านหนองแซง อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ เล่าถึงที่มาของหมู่บ้านต้นแบบอ้อยสดสะอาด...เมื่อรวมตัวกันได้แล้ว เริ่มปรับเปลี่ยนแปลงปลูกใกล้เคียงให้อยู่แนวเดียวกัน หันหน้าไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้รถไถ รถตัดอ้อยวิ่งได้สะดวกขึ้นในแปลงใหญ่ตัดอ้อยได้ทีละมากๆ ร่นระยะเวลา ลดการใช้แรงงานคน ประหยัดน้ำมัน

ต่อมาพัฒนาสู่การปรับทัศนคติเปลี่ยนวิธีการปลูก...จากเดิมเคยปลูกชิดกัน ระยะ 1-1.2 ม. เพราะคิดว่าจะได้ต้นอ้อยเยอะ ผลผลิตจะมาก เปลี่ยนมาทำวิธีตามคำแนะนำ ปลูกห่าง 1.85 ม. เพื่อให้แสงแดดส่องได้ทั่วถึง ต้นอ้อยเติบโตเสมอกัน แตกกอเยอะขึ้นพร้อมกับยกร่อง 15-20 ซม. เพื่อให้รถจักรกลวิ่งตามแนวร่อง โดยไม่เหยียบกออ้อย และลดการบดอัดทำให้ชั้นดินแน่นทึบ

“การทำแบบเดิม ปลูกอ้อยครั้งหนึ่งเลี้ยงตอไปได้ 3 ปี หรือ 3 ตอ แต่พอเปลี่ยนมาใช้วิธีตามคำแนะนำ เราเลยเลี้ยงตอไปได้ 3 ปี หรือ 3 ตอ แต่พอเปลี่ยนมาใช้วิธีตามคำแนะนำ เราเลยเลี้ยงตอไปได้ยาวถึง 5 ปี ยิ่งหันมาใช้รถตัดอ้อยแทนคนงาน ช่วยทุ่นทั้งเวลาและค่าแรงได้ไม่น้อย จากเดิมอ้อย 10 ไร่ ต้องใช้แรงงานอย่างน้อย 20 คน ค่าแรงตัดวันละ 350 บาท ใช้เวลาตัดถึง 1-2 วัน แต่ถ้าใช้รถตัดไม่ถึงครึ่งวัน โดยรวมลดต้นทุนไปได้กว่า 25%  จากเดิมต้นทุนรวมทั้งหมดจะเฉลี่ยอยู่ไร่ละ 8,000 บาท ลดลงมาเหลือแค่ 6,000 บาท เราทำตามแบบที่มิตรผลเข้ามาแนะนำส่งเสริม ในเวลาแค่เพียง 5 ปี (2554-58) ทำให้หมู่บ้านเรา ซึ่งมีพื้นที่ปลูกอ้อยรวมกัน 13,000 ไร่ สามารถผ่อนรถตัดอ้อยคันละ 12 ล้านบาทได้หมด”

และยังก่อให้เกิดอาชีพใหม่เพิ่มขึ้นอีก 4 แขนง กลุ่มรถกล่องบรรทุกอ้อยสู่โรงงาน กลุ่มรถไถเตรียมดิน กลุ่มรถวีแนสบรรทุกผลิตภัณฑ์จากเอทานอล สารปรับปรุงดิน ช่วยเพิ่มธาตุอาหาร ผลผลิตต่อไร่ ความหวาน ย่อยสลายสารอินทรีย์ และกลุ่มมัดอ้อย...มาร่วมทำงานกันแบบคนหัวอกเดียวกัน ก่อให้เกิดจ้างงานสร้างเงินหมุนเวียนในกลุ่ม (ไม่รวมค่าขายอ้อย) ถึงปีละ 42.3 ล้านบาท.

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

กรมชลงัดระบบ‘QR Code’ พัฒนาใช้ร่วมกับฐานข้อมูลโครงข่ายหมุดหลักฐาน

นายประทีป ภักดีรอด ผู้อำนวยการสำนักสำรวจด้านวิศวกรรมและธรณีวิทยาและรองโฆษกกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปีงบประมาณ

2561 เป็นต้นไป สำนักสำรวจด้านวิศวกรรมและธรณีวิทยา กรมชลประทาน จะนำเทคโนโลยี QR Code มาประยุกต์ใช้ร่วมกับระบบฐานข้อมูลโครงข่ายหมุดหลักฐาน ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวกรวดเร็วเป็นสากล ผ่านทางสมาร์ทโฟน โดยใช้ Application Line หรือ Application QR Code reader ต่างๆ ช่วยลดขั้นตอนในการติดต่อขอหมายหมุดหลักฐาน ค้นหาข้อมูล และจัดส่งข้อมูล สอดคล้องกับแนวทางในการพัฒนาหน่วยงานตามนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล

สำหรับระบบฐานข้อมูลโครงข่ายหมุดหลักฐานแผนที่ของกรมชลประทานนั้น เป็นหมุดที่ให้ค่าพิกัดและค่าระดับความสูงเหนือทะเลปานกลาง (รทก.) ใช้อ้างอิงในการบริหารจัดการน้ำของประเทศ หรือประกอบการปฏิบัติงาน โครงการชลประทานด้านอื่นๆ โดยจะทำขึ้นเป็นรายโครงการ ซึ่งเดิมนั้นหมุดหลักฐานจะเป็นระบบอนาล็อก ขั้นตอนการดำเนินงานในการสืบค้นและจัดส่งข้อมูลจะต้องใช้เวลานาน แต่เมื่อมีการนำเทคโนโลยี QR Code ซึ่งเป็นระบบดิจิตอลมาประยุกต์ใช้ ทำให้ลดขั้นตอนการทำงาน สืบค้นข้อมูลได้ทันท่วงที ประหยัดงบประมาณ และมีความแม่นยำช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานสูงขึ้น

รองโฆษกกรมชลประทาน กล่าวต่อว่า ในการประยุกต์ใช้งาน QR Code ร่วมกับหมุดหลักฐานดังกล่าวนั้น สำนักสำรวจด้านวิศวกรรมและธรณีวิทยา โดยส่วนวิศวกรรม ได้มีการออกแบบเพลทหมุดหลักฐานและระบบฐานข้อมูลเพื่อให้รองรับการทำงานร่วมกับQR Code โดยจะประสานขอใช้งานเครื่องคอม พิวเตอร์แม่ข่ายเสมือนภายใต้บริการ RID-Cloudเพื่อใช้เป็นพื้นที่สำหรับจัดเก็บข้อมูล และสร้างUniform Resource Locator (URL) สำหรับเชื่อมโยงมายังฐานข้อมูลหมายหมุดหลักฐาน พร้อมทั้งได้จัดทำมาตรฐานเพลทหมุดหลักฐานกรมชลประทานใหม่ เพื่อให้รองรับระบบการทำงานร่วมกับระบบฐานข้อมูล และระบบ QR Code โดยสร้างเพลทหมุดหลักฐานด้วยเครื่องยิง Laser fiber บนแผ่นเพลทโลหะ และจะนำไปติดไว้โครงการชลประทานต่างๆ แทนหมายหมุดเดิม ซึ่งผู้สนใจข้อมูลของโครงการไหนสามารถสืบค้นข้อมูลได้จากการสแกน QR Code ที่แสดงไว้บนหมุดหลักฐานนั้นได้เลย

จาก http://www.naewna.com วันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ก.อุตฯ เด้งรับหนุน ครม.สัญจรผุดเมืองต้นแบบเกษตรอุตฯ 3.6 พันไร่

ก.อุตฯ เด้งรับโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ผ่าน ศอ.บต. หนุนผุดเมืองต้นแบบเกษตรอุตสาหกรรม 3.6 พันไร่ ลงทุน 1.2 หมื่นล้านบาท ในพื้นที่เซฟตี้โซน เอกชนลงขันคึกคัก คาด 6 เดือนเห็นผล

 นายสุรพล ชามาตย์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม และในฐานะรองโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า  การประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ หรือ ครม.สัญจร วันที่ 28 พฤศจิกายน 2560 จังหวัดสงขลา ทางศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จะนำเสนอความก้าวหน้าของโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” เพื่อพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจเฉพาะ นำร่องในพื้นที่ที่มีความพร้อมด้านความปลอดภัย โดยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนนำไปสู่การสร้างธุรกิจอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตจากการสร้างงานและรายได้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ ซึ่งพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเดินทางไปเยี่ยมชมพื้นที่เกษตรอุตสาหกรรมแปรรูปโรงงานน้ำมันปาล์ม ตำบลบางเขา อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ที่ได้รับการคัดเลือกตามโครงการเมืองต้นแบบดังกล่าวด้วย

สำหรับเมืองต้นแบบเกษตรอุตสาหกรรมก้าวหน้าผสมผสานเป็นการร่วมทุนระหว่างเอกชนรายใหญ่กับเอกชนในพื้นที่หลายแห่งเพื่อดำเนิน 4 ธุรกิจ วงเงินประมาณ 12,000 ล้านบาท ได้แก่ ธุรกิจการเกษตร ธุรกิจผลิตไฟฟ้า ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง และธุรกิจบริการ โดยมีการดำเนินการที่น่าสนใจ คือ การปลูกปาล์ม 5,000 ไร่ มะพร้าว 5,000 ไร่ ทั้งสองเป็นพืชเศรษฐกิจที่ใช้น้ำน้อย โดยเฉพาะมะพร้าวแปรรูปได้ทั้งมะพร้าวน้ำหอมและมะพร้าวกะทิ ซึ่งทางภาคเอกชนมีความต้องการ เช่น บริษัท อำพลฟู้ดส์ และกลุ่มธุรกิจอิชิตัน การปศุสัตว์ เช่น เลี้ยงแพะ ซึ่งสัมพันธ์กับวิถีชีวิตชาวมุสลิม ประกอบกับมาเลเซียมีความต้องการเนื้อแพะเพื่อการบริโภคแต่ผลิตไม่เพียงพอ โดยเกษตรกรจะมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 12,000 บาทต่อการเลี้ยงแพะ 100 ตัว รวมทั้งการเลี้ยงไก่เบตงที่ตลาดในและต่างประเทศมีความต้องการสูงเช่นกัน และการตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวล โดยใช้ของเสีย วัสดุเหลือทิ้งจากการแปรรูปผลิตภัณฑ์ปาล์มและมะพร้าวสามารถนำไปผลิตกระแสไฟฟ้าได้

ในส่วนกระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมให้การสนับสนุนโครงการดังกล่าวอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการขออนุญาตตั้งเป็นเขตประกอบการอุตสาหกรรมของกลุ่มบริษัท ปาล์มพัฒนาชายแดนใต้ จำกัด ที่แจ้งความประสงค์จะพัฒนาพื้นที่ 3,600 ไร่ให้กลายเป็นเมืองต้นแบบเกษตรอุตสาหกรรม ภายในจะมีโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม โรงงานปุ๋ย โรงงานไบโอแก๊ส โรงงานผลิตวัสดุก่อสร้าง และกำลังยื่นโรงงานแปรรูปน้ำมะพร้าว โดยเป็นไปตามนโยบาย 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (เกษตรแปรรูป)

“การประกาศตั้งเขตประกอบการอุตสาหกรรมเป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ตามมาตรา 30 แห่ง พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 กำหนดให้โครงการฯ ต้องทำการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งกระทรวงฯ และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) พร้อมเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาแนะนำและช่วยวางระบบทั้งหมดเพื่อให้การขออนุญาตดังกล่าวเป็นไปตามกฎหมาย ประเมินกันว่าหากทุกฝ่ายเร่งดำเนินการจะใช้เวลาเพียงแค่ 6 เดือนเท่านั้น” นายสุรพลกล่าว

จาก https://mgronline.com  วันที่ 26 พฤศจิกายน 2560

พ.ร.บ.อีอีซีล่าช้าไม่ทันปีนี้

อุตสาหกรรมเผยสนช.ขอขยายเวลาพิจารณาร่างพ.ร.บ.อีอีซีออกไปอีก60วัน แต่มั่นใจไม่กระทบความเชื่อมั่นนักลงทุน                   

นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยถึงกรณีกรรมาธิการ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ขอขยายกรอบเวลาพิจารณาร่างพ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี)ออกไปอีก 60 วันซึ่งจะทำให้ประกาศใช้พ.ร.บ.อีอีซีล่าช้าไปจากแผนที่กำหนดสิ้นปี60ว่า เชื่อมั่นว่า จะไม่กระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนแต่อย่างใด ซึ่งทางคณะกรรมการอีอีซี จะพยายามดำเนินการแผนงานต่างๆ ให้อยู่ในกรอบเดิมที่วางไว้

“กรรมาธิการก็ทำงานต่อเนื่องผมมองว่ายังเป็นไปตามแผนอาจจะใช้เวลา 2-3 เดือน แม้ว่าจะเลื่อนมา 3 รอบไม่มีปัญหา เพราะทุกฝ่ายเข้าใจเราไม่ได้คลาดเคลื่อนจากแผนกาลงทุนที่ปี 61 มีการปักธงชัดเจนในโครงการหลัก กฏหมายก็จะเดินไปเพื่อให้สอดรับกัน”

จาก https://www.dailynews.co.th  วันที่ 26 พฤศจิกายน 2560

“เจ้าสัวเจริญ” เข้ารอบชิงดำ SPP 42 บริษัทแข่งเดือดลุ้นค่าไฟต่ำสุดเข้าวิน

 “ไทยเบฟ-ไทยโก้ฯ-เสริมสร้างฯ-มิตรผล” ลอยลำเข้ารอบประมูลโรงไฟฟ้า SPP Hybrid Firm รวมกำลังผลิตปาเข้าไป 1,062 เมกะวัตต์ แต่ กกพ.รับซื้อแค่ 300 MW มีลุ้นใครเสนอราคาขายต่ำสุดเป็นผู้ชนะประกาศผลกลางเดือนธันวาคมนี้

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เข้ามาว่า ตามที่มีผู้สนใจเข้ายื่นข้อเสนอขายไฟฟ้าในโครงการ SPP Hybrid Firm ในช่วงที่ผ่านมา ปรากฏมีผู้มายื่นข้อเสนอขายไฟฟ้ารวมทั้งหมด 85 โครงการ แต่เมื่อตรวจสอบคุณสมบัติและประเมินข้อเสนอขอขายไฟฟ้าด้านเทคนิค พบมีเพียง 42 โครงการเท่านั้นที่ผ่านเกณฑ์รวมกำลังผลิต 1,062.2 เมกะวัตต์ (MW) มีปริมาณไฟฟ้าเสนอขาย 755.3 MW ในขณะที่ กกพ.จะพิจารณารับซื้อแค่ 300 MW เท่านั้น

ทั้งนี้โครงการ SPP Hybrid Firm ทั้ง42 โครงการที่ผ่านเกณฑ์ ประกอบไปด้วย 1) กลุ่มที่ผ่านเข้ารอบ 4 โครงการคือ กลุ่มบริษัทไทยเบฟเวอเรจ เอ็นเนอร์ยี่ รวม 2 โครงการ กำลังผลิต 30 MW และบริษัทบางไทร ภูมิพัฒน์ (บริษัทในเครือนายเจริญ ศิริวัฒนภักดี) จำนวน 2 โครงการ กำลังผลิต 43 MW, กลุ่มบริษัทไทยโก้ เทคโนโลยี กำลังผลิต 43 MW, บริษัทเสริมสร้าง คอร์ปอเรชั่น กำลังผลิต95 MW 2) กลุ่มที่ผ่านเข้ารอบ 2 โครงการคือ บริษัทมิตรผล ไบโอ-เพาเวอร์ กำลังผลิต 52 MW, บริษัทบี กริม เพาเวอร์ กำลังผลิต 60 MW, บริษัทซุปเปอร์โซลาร์ เอ็นเนอร์ยี่ กำลังผลิต 64 MW, บริษัทพีเอสที เอ็นเนอร์ยี กำลังผลิต60 MW, บริษัทศรีเจ้าพระยา กำลังผลิต 48 MW และบริษัทไบโอ เพาเวอร์ แพลนท์ กำลังผลิต 45 MW และ 3) กลุ่มที่ผ่านเข้ารอบเพียง 1 โครงการ เช่น บริษัทเกษตรผล เพาวเวอร์ แพลนท์ และบริษัทพิจิตรผลิตไฟฟ้า เป็นต้น

ด้าน น.ส.นฤภัทร อมรโฆษิต เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า ผู้ที่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติทั้ง 42 โครงการขั้นตอนต่อไป กกพ.จะพิจารณาข้อเสนอทางด้านราคา และจะประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้ได้ภายในวันที่ 14 ธันวาคมนี้ โดยจะรับซื้อไฟฟ้าแบบ Feed-in Tariffs หรือ FIT ค่าไฟฟ้าเริ่มต้นที่ 3.66 บาท/หน่วย แบ่งเป็นอัตรา FIT คงที่ 1.81 บาท/หน่วย และอัตรา FIT ผันแปร 1.85 บาท/หน่วย (ตามอัตราเงินเฟ้อ) “จะแข่งกันทุกประเภทเชื้อเพลิง”

โดยให้ผู้ยื่นข้อคำร้องเสนอส่วนลด (%) จากอัตรา FIT คงที่ ทั้งนี้ผู้ที่ได้รับคัดเลือกจะต้องเร่งดำเนินการจัดทำ รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) หรือรายงานการปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน แก้ไข และติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Code of Practice : COP) ตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้ทันลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ภายในวันที่ 13 ธันวาคม 2562 และสามารถดำเนินการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ได้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2563 ถึงภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2564

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 25 พฤศจิกายน 2560

‘อุตตม’นำทัพดึงอียูลงทุน ใช้เวทีประชุมยูนิโดโชว์แผนอีอีซียกระดับอุตฯ4.0

“อุตตม” นำทีมเยือนออสเตรีย ในการประชุมประจำปีของยูนิโด สานต่อการยกระดับอุตสาหกรรม 4.0 ขณะที่ “คณิศ” ใช้เวทีนี้ประชาสัมพันธ์ให้ทั่วโลกได้รู้แผนพัฒนาอีอีซี พร้อมเจรจานักลงทุนกลุ่มสหภาพยุโรปเข้ามาลงทุน

 นายสุวินัย ต่อศิริสุข เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในระหว่างวันที่27พฤศจิกายน -1 ธันวาคมนี้นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม จะเป็นหัวหน้าคณะพร้อมด้วยนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ร่วมเดินทางไปด้วย เพื่อร่วมเข้าประชุมกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ กับองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ(ยูนิโด)ณกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ซึ่งมีสมาชิกหลายประเทศเข้าร่วมด้วย

โดยโอกาสนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม จะมีการหารือถึงความคืบหน้าในการร่วมมือพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 เพื่อยกระดับประเทศไทยสู่ไทยแลนด์ 4.0 หลังจากเมื่อช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมาทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการลงนามปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมือด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมกับทางยูนิโดไปแล้ว

 รวมถึงทางสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) โดยนายคณิศ ได้ร่วมลงนามในปฏิญญากับนายลี ยง ผู้อำนวยการใหญ่ ยูนิโด ว่าด้วยการเสริมสร้างความสัมพันธ์และเตรียมการวางแผนการดำเนินงานร่วมมือเพื่อสนับสนุนการกำหนดนโยบายอุตสาหกรรมของประเทศไทย ล่าสุดได้มีการตั้งทีมทำงานร่วมกันทั้ง2ฝ่าย เพื่อพิจารณาโครงการความร่วมมือ 4 ด้านได้แก่ 1.อุตสาหกรรม 4.0 2.การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี 3.การยกระดับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี)และ4.การใช้เทคโนโลยีและดิจิตอล ให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน

 นอกจากนี้ ทางยูนิโดมีความสนใจที่จะจัดตั้งสำนักงานเพื่อการส่งเสริมการลงทุนและเทคโนโลยีหรือไอทีพีโอในพื้นที่อีอีซี ซึ่งขณะนี้ทางยูนิโดได้รับหลักการแล้วและจะนำไปสู่การดำเนินงานในรูปธรรม ซึ่งศูนย์ดังกล่าวจะพัฒนา 3อุตสาหกรรมเป้าหมายก่อนได้แก่อุตสาหกรรมหุ่นยนต์รถยนต์ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์และนำไปสู่การยกระดับให้เป็นสำนักงานในภูมิภาคอาเซียน

บาร์ไลน์ฐานนายสุวินัย กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ในการประชุมดังกล่าว จะมีผู้บริหารของกลุ่มบริษัทต่างๆ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐของประเทศสมาชิก โดยเฉพาะกลุ่มบริษัทที่อยู่ในสหภาพยุโรป(อียู) จะเดินทางมาร่วมประชุมด้วยซึ่งในโอกาสนี้ทางสกรศ.จะใช้เวทีนี้ไปประชาสัมพันธ์ ให้นักลงทุนทราบถึงประเทศไทยมีนโยบายพัฒนาอีอีซีให้รู้จักเพื่อชักชวนมาลงทุนใน10กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย เนื่องจากกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปมีการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงอยู่แล้ว

 ประกอบกับประเทศไทยมียุทธศาสตร์หรือมีมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เป็นต้น ซึ่งการไปครั้งนี้ทางคณะมุ่งหวังว่าจะมีความร่วมมือในการนำเอามาตรฐานระดับโลกมาใช้ดำเนินการงานในพื้นที่อีอีซีด้วย

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 25 พฤศจิกายน 2560

ค่าเงินบาทแข็งโป๊ก! ดึงราคาทองคำในประเทศร่วง

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าดันเงินบาทกลับมาแข็งค่าที่ระดับ 32.66 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ  ฉุดราคาทองคำในประเทศลงบาทละ 50 บาท เกาะติดสถานการณ์ในต่างประเทศชี้ทิศทางทองคำในอนาคต                   

 นายพิชญา พิสุทธิกุล อุปนายกสมาคมค้าทองคำ เปิดเผยว่า ทองคำแท่งและทองรูปพรรณวันที่ 25 พ.ย. ลดลงบาทละ 50 บาท โดยทองคำแท่งรับซื้อบาทละ 19,850 บาท ขายออกบาทละ 19,950 บาท ทองรูปพรรณรับซื้อบาทละ 19,495.76 บาท และขายออกบาทละ 20,450 บาท เป็นผลมาจากค่าเงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นมาอยู่ระดับ 32.66 บาทต่อดอลาร์สหรัฐ เนื่องจากดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า แม้ว่าราคาทองคำในต่างประเทศจะปรับตัวเพิ่มขึ้นไม่ได้ทำให้ทองในประเทศปรับเพิ่มมากนัก

สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตามคือปัญหาในต่างประเทศ เช่น กลุ่มคนร้ายบุกโจมตีมัสยิดรอว์ดา ของชาวนิกายซูฟี ในเมืองบีร์ อัล-อับเดอ จังหวัดไซนายเหนือ ทางตอนเหนือของอียิปต์ ซึ่งยังไม่รู้ว่าเป็นกลุ่มไหน และปัญหาของซาอุดิอาระเบียกับการ์ตาจะมีผลต่อการเคลื่อนไหวของทองคำ ส่วนปัจจัยในประเทศที่เป็นห่วงคือเรื่องค่าเงินบาทไม่อยากให้แข็งค่ามากเกินไป ซึ่งหากค่าเงินบาทแตะระดับต่ำกว่า 32.55 บาทต่อดอลาร์สหรัฐ อาจทำให้ราคาทองคำในประเทศอยู่ที่ 19,750-19,800 บาท ในทางกลับกันหากค่าเงินบาทอ่อนค่าที่ระดับ 33 บาทต่อดอลาร์สหรัฐ อาจทำให้ราคาทองคำเกินบาทละ 20,000 บาท

รายงานข่าวจากบริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด แจ้งว่า กลยุทธ์แนะนำลงทุนระยะสั้น โดยรอซื้อเมื่อราคาย่อตัวลงไปบริเวณแนวรับที่ 1,281-1,274 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ให้ขายทำกำไรเมื่อราคาดีดตัวขึ้น โดยราคาทองคำมีลักษณะการแกว่งตัวในระยะสั้น แต่หากราคาทองคำไม่สามารถยืนเหนือแนวต้านได้อย่างแข็งแกร่งที่ 1,297-1,300 ดอลลาร์ต่อออนซ์นักลงทุนยังต้องระมัดระวังแรงขายทางเทคนิค และควรตั้งจุดตัดขาดทุนหากราคาหลุดบริเวณแนวรับ เพื่อลดความเสียหายของพอร์ทการลงทุน ในขณะที่นักลงทุนที่มีทองคำในมือ ให้ขายทำกำไรเมื่อราคาดีดตัวหรือไม่ผ่านบริเวณแนวต้านแล้วรอไปซื้อคืนบริเวณแนวรับ.

จาก https://www.dailynews.co.th  วันที่ 25 พฤศจิกายน 2560

ทุ่ม100ล้านบ.ดันพลังงานทดแทนชุมชนปีหน้า

ก.พลังงาน เล็งใช้งบกองทุนอนุรักษ์พลังงานปีหน้ากว่า100ล้านบาท ดันพลังงานทดแทนชุมชนทั่วประเทศระบุสั่งพลังงานจังหวัดขยายผลโครงการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์สำหรับสูบน้ำเพื่อใช้ในการเกษตร ช่วยสร้างรายได้ชุมชนเพิ่ม นำร่องพลังงานจ.น่าน ต้นแบบ

พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยระหว่างตรวจเยี่ยมและติดตามการใช้งบประมาณกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ภายใต้ “โครงการพลังงานชุมชนเพื่อชุมชนจัดการตนเองทางด้านพลังงาน (Block Grant) ในการสนับสนุนโครงการส่งเสริมการใช้พลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์สำหรับสูบน้ำเพื่อการเกษตรกรรม” ณ บ้านหาดเค็ด อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน ว่า ต้องการให้พลังงานจังหวัดต่างๆ นำเทคโนโลยีพลังงานมาเป็นส่วนช่วยสร้างรายได้ให้เกษตกรเพิ่มขึ้น โดยพลังงานจังหวัดน่านถือเป็นต้นแบบด้านการนำโซลาร์เซลล์มาผลิตไฟฟ้าสำหรับใช้สูบน้ำเพื่อการเกษตร ส่งผลดีพืชผลทางการเกษตรและช่วยสร้างรายได้ให้เกษตรกรเพิ่มขึ้น โดยตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ ได้แก่ บ้านหาดเค็ดและบ้านสบยาว ตำบลเมืองจัง อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน ซึ่งพลังงานจังหวัดพื้นที่อื่นๆสามารถนำไปขยายผลปรับใช้ตามความเหมาะสมของพื้นที่ได้ต่อไป

สำหรับบ้านหาดเค็ด ได้รับเงินสนับสนุนประมาณ 478,000 บาท ผลิตไฟฟ้าขนาด 4,200 วัตต์ พร้อมถังพักน้ำคอนกรีต ขนาด 30 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 1 ชุด นำไปติดตั้งบนพื้นที่สูงกว่าแหล่งน้ำประมาณ 30 เมตร และจ่ายน้ำด้วยระบบท่อไปยังแปลงเกษตรของเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงและเกษตรกรอื่นๆ จำนวน 293 ราย ในพื้นที่ 3 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ที่ 1 บ้านหาดเค็ด หมู่ที่ 9 บ้านใหม่สามัคคี และหมู่ที่ 4 บ้านเมืองหลวง ครอบคลุมพื้นที่กว่า 700 ไร่ ซึ่งภายหลังจากที่มีการจัดการระบบน้ำที่มีประสิทธิภาพและทั่วถึงในแต่ละพื้นที่แล้ว ทำให้กลุ่มเกษตรกร เช่น กลุ่มผู้ปลูกมะม่วงมีผลผลิตเพิ่มขึ้น 10% หรือเพิ่มเป็น 522 ตัน คิดเป็นมูลค่า 6.5 ล้านบาท ที่สำคัญยังสามารถพัฒนาเป็นมะม่วงส่งออกไปขายยังต่างประเทศสร้างรายได้เพิ่มให้กับกลุ่มเกษตรกร นอกจากนี้ ยังสามารถต่อยอดไปสู่การปลูกพืชหลังนา  พืชผักนอกฤดูกาล ทำให้คนในชุมชนมีอาชีพเสริม มีรายได้ที่ยั่งยืน และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

สำหรับพื้นที่บ้านสบยาว ได้สนับสนุนระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และเกษตรกรอื่นๆ จำนวน 50 ราย ในพื้นที่ 620 ไร่ ภายใต้งบประมาณ 478,000 บาท ผลิตไฟฟ้าด้วยโซลาร์เซลล์ขนาด 4,200 วัตต์ พร้อมถังพักน้ำคอนกรีต ขนาด 30 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 1 ชุด ติดตั้งบนพื้นที่สูงกว่าแหล่งน้ำประมาณ 70 เมตร และจ่ายน้ำด้วยระบบท่อไปยังแปลงเกษตรของเกษตรกร ซึ่งได้ช่วยให้เกษตรกรผู้ปลูกหม่อนสามารถเพิ่มรอบในการเลี้ยงหนอนไหมได้ 25-30%  ส่งผลให้เกษตรกรมีรายเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่ารายละ 20,000 บาท 

นายธรรมยศ  ศรีช่วย ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า คาดว่าในปีงบประมาณ 2561 กระทรวงพลังงานจะนำเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานมาสนับสนุนโครงการของพลังงานจังหวัดต่างๆทั่วประเทศประมาณ 100 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ให้เกิดประโยชน์และสร้างรายได้เพิ่มให้กับชุมชน และอยู่บนเงื่อนไขว่าเมื่อ สนับสนุนไปแล้วจะต้องมีผู้ดูแลอุปกรณ์หรือโครงการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดความยั่งยืนตลอดไป

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 24 พฤศจิกายน 2560

เอกชนค้านสูตรราคาเอทานอล รัฐเพิ่มตัวเลขตลาดฟิลิปปินส์-กดต้นทุน

ลุ้นสูตรคำนวณราคา – สนพ.อยู่ระหว่างพิจารณาปรับสูตรคำนวณราคาเอทานอลใหม่ ล่าสุดหารือเอกชนกลุ่มเอทานอลและโรงกลั่นน้ำมันเพิ่มราคาขายตลาดฟิลิปปินส์มาไว้ในสูตรราคา แต่ถูกคัดค้าน แม้จะทำให้ต้นทุนลดลงจริง แต่เกษตรกรจะได้รับผลกระทบจากราคามัน-กากน้ำตาลที่ลดลงตามไปด้วย

สนพ.เรียกเอกชนหารือปรับสูตรคำนวณราคาเอทานอลใหม่ เพิ่มราคาเอทานอลตลาดฟิลิปปินส์รวมไว้ในสูตร หวังกดดันราคาเอทานอลให้ต่ำลง โรงงานผลิต-โรงกลั่นน้ำมันค้านสุดตัว เพราะจะส่งผลกระทบต่อราคาอ้อย-มัน ต้องปรับลดลงด้วยเช่นกัน ระวังวัตถุดิบจากประเทศเพื่อนบ้านทะลักพราะถูกกว่าซื้อในประเทศ

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมัน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้หารือร่วมกับผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมเอทานอล เช่น ผู้ผลิตเอทานอล และโรงกลั่นน้ำมัน ในประเด็นการปรับสูตรการคำนวณราคาเอทานอลให้มีความเหมาะสมมากขึ้น โดยสูตรที่ใช้ในปัจจุบันคือให้ใช้ราคาเอทานอลอ้างอิงจากการราคา ระหว่างราคาเอทานอลที่ผู้ผลิตรายงานต่อกรมสรรพสามิตกับราคาเอทานอลที่ผู้ค้ามาตรา 7 รายงานต่อ สนพ. และตัดราคาสูงสุดและต่ำสุดออกไป ก็จะได้ราคาเอทานอลที่ประมาณ 24-25 บาท/ลิตร ซึ่ง สนพ.มองว่าสูตรคำนวณในปัจจุบันยังไม่ส่งผลให้ราคาเอทานอลถูกลง จึงมีแนวคิดให้นำราคาเอทานอลของตลาดฟิลิปปินส์มาคำนวณรวมด้วย โดยให้เหตุผลว่าจะเป็นการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับอุตสาหกรรมเอทานอล และทำให้ราคาเอทานอลถูกลง

ทั้งนี้ผู้ผลิตเอทานอลและโรงกลั่นน้ำมันได้ “คัดค้าน” สูตรคำนวณดังกล่าวเพราะ 1) สูตรดังกล่าวไม่ได้กดดันให้เฉพาะราคาเอทานอลถูกลงเท่านั้น แต่จะไปกดราคาส่วนอื่นด้วย โดยเฉพาะราคาพืชผลทางการเกษตรที่ต้องใช้เป็นวัตถุดิบคือ อ้อย กากน้ำตาล และราคามันสำปะหลัง ต้องลดลงไปด้วย 2) หากผู้ผลิตเอทานอลไม่สามารถหาวัตถุดิบที่มีราคาถูกได้ อาจมีการนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาพืชผลทางการเกษตรที่เกี่ยวข้องทันที สุดท้ายเกษตรกรก็จะไม่ได้รับประโยชน์จากการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนที่ผลิตในประเทศ และ 3) ผู้ผลิตเอทานอลอาจจะต้องทยอยปิดโรงงานเพราะไม่สามารถแข่งขันได้ และที่สำคัญคือ ขณะนี้มีโรงงานเอทานอลใหม่ ๆ ทยอยผลิตเข้าระบบเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามจากความเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องส่งผลให้ สนพ.ยังไม่ได้พิจารณาเห็นชอบว่าจะใช้สูตรคำนวณดังกล่าวหรือไม่

“ตลาดเอทานอลในไทยและฟิลิปปินส์มีความแตกต่างกันมาก โดยเฉพาะในแง่ของความต้องการใช้ที่มากกว่าไทยและมีกฎหมายที่ระบุชัดถึงเป้าหมายการใช้ว่าในปี 2006 ควรมีการใช้ทั้งประเทศที่ 5% และในบางพื้นที่ที่มีศักยภาพก็กำหนดว่าความต้องการใช้จะอัพเป็น 10% เป็นต้น ไทยใช้อยู่ประมาณ 600-700 ล้านลิตร/ปี ในขณะที่ฟิลิปปินส์ใช้มากกว่าไทยเท่าตัวหรือประมาณ 1,400 ล้านลิตร/ปี ซึ่งด้วยความที่ประเทศเป็นหมู่เกาะพื้นที่เพาะปลูกอ้อยค่อนข้างจำกัด จึงใช้วิธีนำเข้าจากประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีราคาถูกกว่าสั่งซื้อจากไทย”

แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมว่า เดิมทีนั้นฟิลิปปินส์นำเข้าเอทานอลจากไทยเป็นหลัก โดยก่อนหน้านี้ไทยส่งออกเอทานอลมายังฟิลิปปินส์เป็นจำนวนมากในช่วงปี 2555 รวม 160 ล้านลิตร แต่หลังจากที่กระทรวงพลังงานมีการประกาศยกเลิกจำหน่ายน้ำมันเบนซิน 91 ในปี 2556 ทำให้ความต้องการใช้เอทานอลเพิ่มขึ้น การส่งออกจึงน้อยลงตามไปด้วย รวมถึงเมื่อสหรัฐมีนโยบายส่งเสริมเอทานอลและยังมีการปลูกข้าวโพดตัดต่อพันธุกรรม หรือ GMO ที่มีราคาเพียง 5 บาท/กิโลกรัม ทำให้ราคาเอทานอลถูกมาก เมื่อรวมต้นทุนการขนส่งจนมาถึงฟิลิปปินส์ราคายังถูกกว่าไทยมากที่ 16-17 บาท/ลิตรเท่านั้น ในขณะที่ราคาเอทานอลของไทยอยู่ที่ 24-25 บาท/ลิตร ทำให้แข่งขันในตลาดไม่ได้ และในปัจจุบันสถานการณ์ปริมาณการผลิตเอทานอลในขณะนี้ถือว่าล้นระบบประมาณ 2 ล้านลิตร/วัน เนื่องจากโรงงานผลิตเอทานอลใหม่ได้เริ่มผลิตเข้าสู่ระบบมากขึ้นรวมปริมาณ 6 ล้านลิตร/วัน ในขณะที่ความต้องการใช้ไม่เกิน 4.2 ล้านลิตร/วัน

รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า สำหรับประเทศฟิลิปปินส์มีนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมเอทานอลทั้งระบบอย่างมีเป้าหมายและออกเป็นกฎหมายบังคับใช้อย่างชัดเจน ในขณะที่ไทยมีเฉพาะแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก 2558-2579 หรือ AEDP (Alternative Energy Development Plan) เท่านั้น ซึ่งภาครัฐให้เหตุผลที่ไม่มีการผลักดันให้มีกฎหมายกำกับดูแลเอทานอลโดยเฉพาะ เพราะการใช้แผนมีความยืดหยุ่นกว่า และยังสามารถปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันได้ดีกว่าอีกด้วย ทั้งนี้สำหรับราคาเอทานอลที่ประกาศโดย สนพ.ล่าสุดราคาอยู่ที่ประมาณ 24 บาท/ลิตร

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 24 พฤศจิกายน 2560

แก้พ.ร.บ.กองทุนส่งออกผ่านครม.ฉลุย

ครม. เคาะแก้ระเบียบกองทุนส่งออกฯ หลังใช้ 19 ปี หวังเพิ่มประสิทธิภาพ ด้าน สค.เผยเตรียมออกหลักเกณฑ์ใหม่คาดจะมีผลบังคับใช้ปี 2561 ยันไม่กระทบโครงการ ดันส่งออก-สภาพคล่องกองทุนแน่ ล่าสุดสถานะเงินกองทุนฯ สูงถึง 2,000 ล้านบาท ได้รับงบประมาณเสริมฯ จากรัฐบาล

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2560 อนุมัติในหลักการตามที่กระทรวงพาณิชย์ เสนอร่างแก้ไขระเบียบกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยการบริหารกองทุนส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2541 (ร่างระเบียบกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยการบริหารกองทุนส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ….) เพื่อให้สอดคล้อง พ.ร.บ. การบริหารกองทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558 และ พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างและการจัดซื้อพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการและใช้เงินกองทุนในการส่งเสริมการจัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออก ซึ่งจะเป็นส่วนที่ช่วยเสริมเพิ่มเติมจากงบประมาณประจำปีปกติ

“สาระสำคัญการแก้ไขร่างระเบียบคือให้ยกเลิกระเบียบกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยการบริหารกองทุนส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2541 ที่ใช้มานาน 19 ปี ซึ่งขณะนั้นยังใช้ชื่อกรมส่งเสริมการส่งออก แต่ตอนนี้เปลี่ยนเป็นกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศแล้ว อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะทางกรมบัญชีกลางได้ออก พ.ร.บ.บริหารจัดการกองทุนหมุนเวียนใหม่ ซึ่งกองทุนส่งเสริมการส่งออกจัดอยู่ในประเภทกองทุนหมุนเวียนด้วย จึงต้องมีการปรับระเบียบ และออกหลักเกณฑ์การปฏิบัติใหม่ให้สอดคล้องกับกฎหมาย เช่น การให้อำนาจคณะกรรมการกองทุนเพิ่มขึ้น การกำหนดรายละเอียดในส่วนของแผนงานประจำปี และตัวชี้วัดให้เกิดความชัดเจน”

หลังจากผ่าน ครม.แล้ว มีการตั้งข้อสังเกตจากบางหน่วยงาน จึงต้องปรับปรุงคำในระเบียบอีกครั้งเพื่อให้เกิดความเหมาะสม ลดการซ้ำซ้อน ซึ่ง ครม.จะส่งต่อให้กับคณะทำงานด้านกฎหมายภายใต้สำนักงานเลขานุการ ครม.ดำเนินการแก้ไข คาดว่าจะเสร็จและมีผลบังคับใช้ในต้นปี 2561

“ในช่วงระหว่างปรับปรุงระเบียบยังสามารถใช้เงินกองทุนได้ปกติ และทางกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จะต้องแก้ไขหลักเกณฑ์ภายใต้ระเบียบ 1 ฉบับ ซึ่งเป็นการแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมาย พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างใหม่ฯ ซึ่งมีผลบังคับเดือนสิงหาคม 2560 จากเดิมหลักเกณฑ์จัดจ้างฯ ภายใต้กองทุนเป็นวิธีการเฉพาะสำหรับกองทุนเพื่อความคล่องตัว ทั้งนี้ การแก้ไขไม่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการกองทุน และการประโยชน์จากเงินกองทุนไม่มีการเปลี่ยนแปลง”

ทั้งนี้ ปัจจุบันสถานะเงินกองทุน ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย มียอดคงเหลือประมาณ 2,000 ล้านบาท ในแต่ละปีอนุมัติโครงการเพื่อจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ ซึ่งมาจากการเสนอของ 10 องค์กรทั้งจากภาครัฐ และภาคเอกชน 4 องค์กร คือ สมาคมธนาคารไทย สภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ซึ่งโดยปกติจะมีการเสนอโครงการเพื่อขอใช้เงินเฉลี่ยปีละ 1,000 ล้านบาท ส่วนการเบิกจ่ายเงินเป็นไปตามที่ใช้จ่ายจริง ซึ่งอาจจะไม่ถึงวงเงินที่ขอใช้

สำหรับการขอใช้เงิน แต่ละองค์กรจะเสนอโครงการมาก่อนเริ่มต้นปีงบประมาณใหม่ 60 วัน ต่อคณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศพิจารณาอนุมัติ และเสนอต่อกรมบัญชีกลาง และรายงานต่อที่ประชุม ครม. และเมื่อใช้เงินดำเนินการเสร็จสิ้นต้องรายงานสรุปการดำเนินโครงการต่อคณะกรรมการบริหารจัดการกองทุน ภายในวันที่ 10 ของเดือนต่อไป เพื่อรายงานต่ออธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ในฐานะฝ่ายเลขาฯ และต้องเสนอรายงานต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ทุกไตรมาสด้วย

ส่วนแหล่งที่มาของเงินกองทุนมาจาก 3 ส่วน คือ จากการเก็บค่าธรรมเนียมการส่งออกสินค้าบางรายการตามที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ. การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 รายได้จากดอกผลของเงินกองทุนซึ่งมาจากดอกเบี้ย และรายได้จากการขอรับจัดสรรงบประมาณ ในส่วนนี้จะได้รับเฉพาะในบางปี ที่เสนอขอ

“แม้ที่ผ่านมารายได้ที่เข้าสู่กองทุนลดลง เพราะสินค้าหลายรายการถูกยกเลิกไม่เก็บค่าธรรมเนียมแล้ว และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากปรับลดลงไปมาก แต่กองทุนยังมีเงินที่ได้รับการจัดสรรจากงบประมาณในบางปี จึงมีสภาพคล่อง สามารถให้ความช่วยเหลือภาครัฐและเอกชนในการส่งเสริมการส่งออก หรือนำไปใช้แก้ปัญหาประเด็นการค้าที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นเงินที่เสริมจากงบประมาณที่กรมได้รับจัดสรรปกติ”

ส่วนกรณีที่กรมบัญชีกลางดึงเงินกองทุนกลับไปใช้ในการพัฒนาประเทศในด้านที่จำเป็นเมื่อ 2 ปีก่อน เป็นการพิจารณาของรัฐบาลว่ากองทุนไหนมีสภาพคล่องส่วนเกินมาก นำไปใช้ในโครงการที่เป็นประโยชน์ ซึ่งไม่ได้มีผลกระทบต่อสภาพคล่องและไม่เกี่ยวกับการปรับแก้ระเบียบครั้งนี้

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 24 พฤศจิกายน 2560

KTIS รวมพลคนสร้างอ้อย

นายประพันธ์ ศิริวิริยะกุล (ยืนกลาง) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง นำทีมผู้บริหารฯ ร่วมจัดงาน “รวมพลคนสร้างอ้อย” เพื่อเสริมสร้างขวัญกำลังใจและแนะแนวทางในการพัฒนาคุณภาพอ้อย ตามแนวทางเกษตร 4.0 เพื่อความมั่นคงทางรายได้ของชาวไร่อ้อยคู่สัญญา ตามคำขวัญที่ว่า “ชาวไร่อ้อยมั่งคั่ง กลุ่ม KTIS มั่นคง” โดยมีเกษตรกรชาวไร่อ้อยเข้าร่วมงานเกือบ 10,000 คน ณ โรงงานน้ำตาลเกษตรไทยฯ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์

จาก https://mgronline.com  วันที่ 23 พฤศจิกายน 2560

ส่อง GMO เพื่อนบ้าน กับความท้าทาย เทคโนโลยีเกษตรอาเซียน อนาคตแรงงานเกษตรลด?

ปัจจุบันเกษตรกรรม คือความท้าทายความมั่นคงด้านอาหารนานาประเทศ เนื่องจากต้องปรับให้สอดรับกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ประกอบกับองค์การสหประชาชาติ (UN) ได้ประเมินว่าในห้วงศตวรรษที่ 21 อาหารจะสามารถหล่อเลี้ยงประชากรโลก 9 พันล้านคนได้อย่างไร หากในอนาคตปี 2050 โลกต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทุกมิติ จึงนับเป็นเรื่องที่ตื่นตัวสำหรับภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม เกษตรกร ต้องร่วมมือกันกำหนดทิศทาง

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ครอฟไลฟ์ เอเชีย นำคณะสื่อมวลชนไทยเดินทางเวิร์กช็อปสัมมนาเกี่ยวกับบทบาทของ Plant Science ที่เข้ามาช่วยด้านการเกษตรและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นประเด็นปัญหาการใช้เทคโนโลยีเพื่อการเกษตรภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ร่วมกับสื่อมวลชนอาเซียน 50 คน พร้อมลงพื้นที่ศึกษาดูงานการวิจัยและพัฒนาข้าว สถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ (International Rice Research Institute หรือ IRRI) ณ ประเทศฟิลิปปินส์

ส่อง GMO เพื่อนบ้าน

ปัจจุบันมีหลายประเทศอนุญาตให้ปลูกพืชจีเอ็มโอ อาทิ อินเดีย จีน ปากีสถาน บังกลาเทศ ออสเตรเลีย บราซิล แคนาดา บราซิล รวมถึงประเทศในเอเชีย เช่น ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และเมียนมา ขณะที่บางประเทศยังไม่มีกฎหมายรองรับและยังเป็นเพียงการศึกษาวิจัยถึงความเป็นไปได้ในอนาคตเท่านั้น

ดร.โรโดร่า อัลเดอร์มิตา ผู้เชี่ยวชาญด้านไบโอเทคโนโลยี สถาบัน International Service for the Acquisttion of Agri-Biotech Applications (ISAAA) ให้ข้อมูลว่า ฟิลิปปินส์ค่อนข้างเปิดกว้างและก้าวหน้าในการใช้จีเอ็มโอกว่า 16% พื้นที่ 5 ล้านไร่ ของการเกษตร และเริ่มพัฒนาเป็นการเกษตรเชิงพาณิชย์ เช่น ข้าวจีเอ็มโอสีทอง ข้าวโพด บีทีคอตตอนหรือฝ้าย และมะละกอ

เช่นเดียวกับเวียดนามได้ส่งเสริมทดลองปลูกข้าวโพดจีเอ็มโอ 3.5 พันไร่ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ คือหมูและสัตว์ปีกในอนาคต รวมถึงเมียนมา มีการปลูกบีทีคอต หรือฝ้ายในเชิงพาณิชย์ มีชื่อว่า Ngwe Chi 6 และ 9 มาแล้วกว่า 10 ปี บนพื้นที่ 1.8 ล้านไร่ และในอนาคตรัฐบาลจะออกกฎหมายรองรับเทคโนโลยีชีวภาพปลอดภัย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทางการค้า

อนาคตแรงงานเกษตรลด

การสัมมนามีประเด็นเกี่ยวกับการพืชอารักขาของแต่ละประเทศ โดยมีการหยิบยกการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ได้พบว่าการทำเกษตรอินทรีย์อาจไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการอาหารที่เพิ่มขึ้นตามจำนวนประชากรโลกในปี ค.ศ. 2050 หากไม่ใช้สารอารักขาพืชแปลงเกษตรจะเสียหายจากการทำลายของศัตรูพืช ซึ่งเท่ากับว่าต้องใช้แรงงานคนในการกำจัดวัชพืชจำนวนมาก อนาคตจะเป็นเรื่องท้าทายแรงงานภาคเกษตรเป็นอย่างมากเพราะค่อนข้างขาดแคลน โดยเฉพาะสถานการณ์แรงงานอาเซียนอยู่ระหว่างช่วงของการเปลี่ยนผ่านคนรุ่นใหม่อาจไม่สนใจการทำเกษตรเหมือนในอดีต

ดร.พอล เต่ง นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีชีวภาพ มหาวิทยาลัยนานาชาติ NIT, NTU สิงคโปร์ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลายประเทศมีกฎหมายรองรับการใช้สารเคมีเเตกต่างกันออกไป ซึ่งปัจจุบันทุกประเทศได้กลับมาทบทวนปัญหาและกำลังวางกรอบที่ควรจะเป็นในอนาคต

“แต่มุมมองส่วนตัวนโยบายเกษตรของไทย ขณะนี้ได้ยกระดับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 รัฐบาลต้องเข้ามาช่วยเป็นแกนกลางที่ชัดเจนสำหรับการใช้เทคโนโลยีให้เกษตรกรควบคู่ไปกับ food safety สิ่งแวดล้อม แม้กระทั่งความปลอดภัยของเกษตรกรเองก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ หากอนาคตมีการจำกัดการใช้สารเคมี นั่นหมายความว่าอาจต้องพิจารณาถึงความจำเป็นที่ต้องใช้ปัจจัยผลิตอื่นมาทดแทนหรือไม่ และจะเลือกทางไหน หากอนาคตเกษตรกรต้องต่อสู้กับต้นทุนที่สูงขึ้นทั้งแรงงานและปัจจัยการผลิต

IRRI ความมั่นคงอาหาร

นอกจากนี้ คณะสื่อมวลชนได้เข้าเยี่ยมชมสถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ International Rice Research Institute หรือ IRRI ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยด้านการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวจากทั่วโลก ก่อตั้งเมื่อปี 2503 เพื่อมุ่งเน้นขจัดความยากจนหิวโหยเพื่อความยั่งยืน และเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ

โดย IRRI เป็นศูนย์รวมของธนาคารเชื้อพันธุ์ข้าวโลกที่เก็บรวบรวมตัวอย่างพันธุกรรมข้าวกว่า 1.28 แสนเชื้อพันธุ์ และมีแปลงทดลองพันธุ์ข้าวที่ทนต่อทุกสภาพภูมิอากาศ รวมถึงมีพื้นที่วิจัยพัฒนาพืชจีเอ็มโอข้าว ระบบปิด ห้องทดลองประเมินลักษณะทางกายภาพ สรีรวิทยาจากเมล็ดพันธุ์ข้าวทั่วโลกต้องส่งมาปรับปรุงพัฒนาสายพันธุ์ รสชาติ รวมถึงคุณค่าทางโภชนาการสารอาหารและขึ้นทะเบียนรับรองพันธุ์ข้าวของแต่ละประเทศ

ดร.บรู๊ซ เจ.โทเลนติโน รักษาการแทนผู้อำนวยการ IRRI ได้บรรยายภาพรวมถึงความท้าทายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับการเติบโตของประชากร และความมั่นคงด้านอาหาร โดยเฉพาะสถานการณ์พื้นที่ ปริมาณข้าวในอาเซียน และการปรับเปลี่ยนเพาะปลูกของไทยที่หันมาลดพื้นที่และพัฒนาข้าวคุณภาพในฐานะผู้ส่งออกข้าวโลก อย่างไรก็ตามล่าสุด ไทยเป็น 1 ใน 7 ประเทศที่มุ่งเน้นพัฒนาข้าวยั่งยืน จากการลดการปล่อยกาซเรือนกระจกในการผลิตข้าว จากการรับรองของ IRRI อีกด้วย

ไทยกับนโยบาย GMO

ดร.ดุ๊ก ฮิปป ผู้อำนวยการสัมพันธ์องค์กรครอฟไลฟ์ เอเชีย ได้สรุปการสัมมนาว่า การเติบโตของพลเมืองที่มากขึ้นภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ รวมถึงโรควัชพืชที่เพิ่มขึ้น ทำให้ต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นเพื่อให้ความมั่นใจว่าเทคโนโลยีทางการเกษตรมีความจำเป็นที่เพียงพอและควบคู่ไปกับทรัพยากร

“ประเทศไทยมีแหล่งทรัพยากรมากมายที่จำเป็นต่อการพัฒนา โดยเฉพาะด้านเกษตรกรรม ดังนั้น วิทยาศาสตร์ในด้านอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีจะช่วยชาวนารับรู้ปัญหาเพื่อปรับตัวเผชิญหน้ากับความท้าทาย เช่น น้ำท่วม โรควัชพืช และภัยแล้งในทุก ๆ ปีรวมถึงความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เลวร้ายสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาทั้งในปัจจุบันและอนาคต หากจะสามารถช่วยเหลือชาวนาในการปลูกข้าวในสภาวการณ์ต่าง ๆ ได้ จึงจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีจะต้องมีองค์ความรู้และใช้อย่างถูกต้อง

สำหรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เป็นเสมือนแกนกลางของการเกษตรกรรมของไทย ซึ่งทั้งหมดใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำการเกษตร นับว่าเป็นโครงการที่รัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญสำหรับอนาคตของประเทศไทย เพราะเกษตรกรรมเป็นองค์ประกอบใหญ่ และสิ่งสำคัญก็คือ ชาวนาไทยสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีนวัตกรรมได้ไม่ว่าจะเป็นแปลงใหญ่และการปรับตัวก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งรัฐบาลไทยมีการสนับสนุน แต่เหนือสิ่งอื่นใด รัฐบาลและเกษตรกรต้องเดินไปในทิศทางเดียวกัน” ดร.ดุ๊กกล่าวทิ้งท้าย

สำหรับประเทศไทย แม้ว่าจะมีการศึกษาทดลองเพื่อเตรียมความพร้อมกำกับดูแลความปลอดภัยทางชีวภาพของพืชดัดแปลงทางพันธุกรรม หรือจีเอ็มโอ มาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่สามารถควบคุมการทดลองปลูกในแปลงได้ชัดเจน เพราะยังมีปัญหาเรื่องการหลุดรอดออกไปสู่ธรรมชาติ ทำให้ปัจจุบันยังไม่อนุญาตให้มีการปลูกพืชจีเอ็มโอ ภายใต้พระราชบัญญัติความปลอดภัยทางชีวภาพ ซึ่งนับเป็นประเด็นท้าทาย ในอนาคตหากจำเป็นต้องพึ่งพาพืชจีเอ็มโอ ควรวางกรอบทิศทางอย่างไรให้ชัดเจน ภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 23 พฤศจิกายน 2560

หอการค้า 5 ภาคส่องเศรษฐกิจ “พืชผลเกษตรฟุบ-ฟื้นตัวกระจุก”

บนเวทีประชุมหอการค้าทั่วประเทศ ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถา เกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจภาคการเกษตรและประชาชนฐานรากแม้ยังไม่ฟื้นตัวนัก แต่ยังมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ พร้อมกับฝากภารกิจหอการค้าทั่วประเทศช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่นให้กลับมาคึกคัก สร้างความมั่นคงไปพร้อมกับภาพใหญ่ของเศรษฐกิจประเทศในภาพรวม

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สำรวจความเห็นของนักธุรกิจในจังหวัดต่าง ๆ ถึงสภาพเศรษฐกิจปีนี้ และทิศทางในปี 2561

ภาคตะวันออกได้อานิสงส์อีอีซี

“ธีรินทร์ ธัญญวัฒนกุล” เลขาธิการหอการค้าจังหวัดชลบุรี และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีอาร์ ไทย ฟู้ดส์ จำกัด กล่าวว่า เศรษฐกิจจังหวัดชลบุรียังยังไปได้ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว อุตสาหกรรม บวกกับโครงการพัฒนาระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่รัฐพยายามผลักดันทำให้ภาคตะวันออกค่อนข้างคึกคัก

“ผมมองว่าควอร์เตอร์สุดท้ายปีนี้เศรษฐกิจคึกคักขึ้น คนจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ส่วนหนึ่งอั้นมานาน อีกส่วนรัฐใส่งบฯเข้าโครงการบัตรสวัสดิการประชารัฐ เงินถึงรากหญ้ากระตุ้นการจับจ่าย ทำให้เงินหมุนเข้าระบบมากขึ้น ส่วนปีหน้ามองว่าน่าจะดีกว่าปีนี้ ถ้าภาครัฐยังใส่เม็ดเงินต่อเนื่อง ดูจากธุรกิจผมที่ทำเกี่ยวกับข้าว ควอร์เตอร์ 4 ปีนี้เทียบกับปีที่แล้ว เติบโตขึ้นถึง 30%”

นครศรีฯ หวังปัจจัยบวกท่องเที่ยว

“กรกฎ เตติรานนท์” ประธานหอการค้าจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า จากที่ภาคการผลิตของนครศรีธรรมราชพึ่งภาคการเกษตรเป็นหลัก ทำให้การใช้จ่ายไม่ค่อยดี ปีหน้าความคาดหวังเราต้องการให้ดีขึ้น แต่ถ้าราคาผลผลิตการเกษตรไม่ขยับการใช้จ่ายก็คงไม่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวช่วยได้บ้าง เริ่มเห็นตัวเลขภาคการท่องเที่ยวฝั่งทะเล ทั้งขนอม สิชล โตขึ้น เราจึงพยายามขับเคลื่อนและโปรโมตแหล่งท่องเที่ยวเพื่อดึงเงินเข้าจังหวัด

“ฝากภาครัฐว่านโยบายเศรษฐกิจ การคาดการณ์เศรษฐกิจของรัฐขณะนี้ทั้งประเทศใช้นโยบายเดียว ทั้งที่จริง ๆ แล้วควรจะแยกเป็นระดับภาค อย่างเช่นธนาคารแห่งประเทศไทยมองส่วนกลางว่าเศรษฐกิจเติบโต 4% แต่ภาคใต้คือ 2% ดังนั้นควรเงินอัดฉีดให้เฉพาะบางภาคส่วนที่มีปัญหา การพัฒนาท้องถิ่นก็ควรแยกเป็นภาค เหนือ อีสาน กลาง ใต้ เนื่องจากปัจจุบันข้อมูล และพื้นที่เป็นเรื่องสำคัญ จะได้แก้ปัญหาตรงจุด”

เศรษฐกิจอีสานเริ่มฟื้น

ขณะที่ “ประภาพร สงวนนาม” กรรมการผู้จัดการ โรงแรมรอยัล นาคารา จังหวัดหนองคาย และประธาน YEC จังหวัดหนองคาย กล่าวว่า ส่วนตัวทำธุรกิจเกี่ยวกับโรงแรม เป็นธุรกิจด้านการท่องเที่ยว มองว่าการท่องเที่ยวในจังหวัดหนองคายถือว่าเติบโตขึ้นมากในปีนี้ เพราะผู้ประกอบการหรือจำนวนโรงแรมเริ่มมีมากขึ้นเรื่อย ๆ เป็นตัวขับเคลื่อนเม็ดเงินให้เข้ามาในจังหวัด แม้การค้าการลงทุนจากผู้ประกอบการต่าง ๆ จะดูดรอปลงไปบ้างบางช่วง แต่มูลค่าทางด้านเศรษฐกิจกลับโตขึ้น และแนวโน้มปีหน้าของธุรกิจโรงแรมในจังหวัดหนองคายหากแย่ที่สุดน่าจะทรงตัว แต่ไม่ดรอปแน่นอน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวแบบเชื่อมโยงร่วมกับจังหวัดใกล้เคียงสามารถกระตุ้นเม็ดเงินให้จังหวัดได้ดี

สอดคล้องกับที่ “มงคล จุลทัศน์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท มงคลคาร์เซ็นเตอร์ จำกัด จังหวัดอุบลราชธานี ชี้ว่า ในฐานะผู้ประกอบการเต็นท์รถมือสอง มองทิศทางเศรษฐกิจในจังหวัดอุบลราชธานีว่าดีขึ้นจากปีที่แล้ว โดยเฉพาะราคาข้าว ซึ่งในปี 2559 การประกอบธุรกิจของธุรกิจขายรถมือสองต้องออกโครงการข้าวแลกรถ เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของเกษตรกรเนื่องจากข้าวขายได้ราคาต่ำ แต่ในปี 2560 ยอดขายรถมือสองเริ่มดีขึ้น เนื่องจากพืชผลทางการเกษตรมีราคาดีขึ้น ลูกค้าส่วนใหญ่นิยมใช้เงินสดซื้อรถ มากกว่าการผ่อนจ่ายที่ทำให้เป็นหนี้

ด้านจีดีพีประเทศที่เติบโตขึ้นอาจไม่สอดคล้องภาคเกษตร อย่างเกษตรกรที่ปลูกยางพาราขณะนี้ราคายางตกต่ำมาก แต่โดยภาพรวมไม่กระทบเศรษฐกิจหนองคาย เนื่องจากเกษตรกรที่ปลูกยางพารามีส่วนน้อย

โดยสรุปแนวโน้มและทิศทางเศรษฐกิจภาพรวมดีขึ้น เริ่มตั้งแต่ปลายปี 2560 ไฟแนนซ์มีการผ่อนผันในเรื่องเครดิตบูโร และปล่อยกู้เพิ่มขึ้น ในฐานะผู้ประกอบการเต็นท์รถมือสองบอกได้เลยว่าการขายรถเป็นตัวชี้วัดเศรษฐกิจได้ดี และคาดหวังว่าในปี 2561 จะเป็นไปในทิศทางบวก

ภาคเกษตรอ่วมกำลังซื้อกู่ไม่กลับ

ด้าน “วิโรจน์ จิรัฐิติกาลโชต์” ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคเหนือ มองว่า คาดว่าเศรษฐกิจภาคเหนือปี 2561 จะไม่เปลี่ยนแปลงจากนี้มากนัก เพราะยังมีปัจจัยลบราคาสินค้าเกษตร กับภัยแล้งและน้ำท่วม ทำให้กำลังซื้อคนส่วนใหญ่ยังไม่กลับมา อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวยังไปได้ มีการเติบโต และการค้าชายแดนเหนือยังเป็นลูกค้าที่ดีพอไปได้ คาดว่าปี 2561 เศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้คือไตรมาสที่ 2 และที่ 3 ฝากว่าหากเม็ดเงินจะตกมาถึงภูมิภาคได้ คอร์รัปชั่นต้องลดลง

“เรืองชัย ลิ้มบูรณพันธ์” ประธานหอการค้าจังหวัดอ่างทอง และประธานบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีอ่างทอง (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด กล่าวว่า หลังน้ำท่วม อ่างทองตอนนี้อยู่ในช่วงเยียวยา แต่ในวิกฤตก็ถือเป็นโอกาส เพราะน้ำลดเรามีพื้นที่เป็นปุ๋ย เกษตรกรจะเริ่มทำนา เพาะปลูก ภาคการเกษตรน่าจะเริ่มมีกิจกรรมมากขึ้น ส่วนการลงทุนภาคเอกชน ถือยังอยู่ในภาวะทรงตัว แต่มีการลงทุนมากขึ้น อาทิ มีการสร้างตลาด 2 ตลาด คือ ตลาดทรัพย์ทวี กับตลาดร่วมเจริญ เป็นตลาดขนาดใหญ่ อนาคตจะเป็นตลาดกลางค้าส่งผัก และตลาดกลางค้าส่งปลา ขณะนี้อยู่ในช่วงก่อสร้าง ใช้เงินลงทุนระดับ 100 ล้านทั้งสองแห่ง

“ปีหน้าแนวโน้มเศรษฐกิจน่าจะดีขึ้น เพราะหลังน้ำท่วม ประชาชนเริ่มลงทุนเพาะปลูก และรัฐส่งเสริมแหล่งเงินทุนโดยบริษัทประชารัฐ นอกจากนี้จังหวัดได้ลงไปยังชุมชนในพื้นที่หาผู้ประกอบการที่สนใจจะสร้างรายได้ พัฒนาผลิตภัณฑ์หรือสินค้า โดยผลักดันให้เกษตรกรในพื้นที่ได้มีการเพาะปลูก เช่น เพาะเห็ดเศรษฐกิจฮังการี เห็ดนางรมทอง โดยประชารัฐหาตลาดให้ ในส่วนของจังหวัดก็มีโครงการครัวสุขภาพเพื่อมหานคร มีการประสานกับห้างเดอะมอลล์นำสินค้าไปโรดโชว์ในกรุงเทพฯ เป็นการเปิดช่องทางตลาด เนื่องจากเศรษฐกิจอ่างทองขับเคลื่อนโดยภาคเกษตรเกือบ 100% แต่อ่างทองก็มีอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น ไทยเรยอน ไทยคาร์บอนแบล็ค บ่อทราย และอุตสาหกรรมไม้ ทำให้โดยภาพรวมเศรษฐกิจยังไปได้”

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 23 พฤศจิกายน 2560

เกษตรฯขับเคลื่อนโครงการ 5 ประสาน สืบสานเกษตรทฤษฎีใหม่ปี61

         วันที่ 23 พ.ย.พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนา เรื่อง "การขับเคลื่อนโครงการ 5 ประสาน สืบสานเกษตรทฤษฎีใหม่ถวายในหลวง โดยปราชญ์ชาวบ้าน" ณ สำนักพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการสหกรณ์ เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้น้อมนำแนวคิด "เกษตรทฤษฎีใหม่" ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มากำหนดเป็นนโยบายสำคัญ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร

           โดยได้จัดทำโครงการ "5 ประสาน สืบสานเกษตรทฤษฎีใหม่ ถวายในหลวง" ซึ่งเริ่มดำเนินงานตั้งแต่ปี 2560 ต่อเนื่องจนถึง ปี 2561 โดยมุ่งหวังให้เกษตรกรสามารถน้อมนำหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ปรับใช้ในพื้นที่ของตนเองอย่างเหมาะสม สอดคล้องกับสภาพภูมิสังคมของแต่ละพื้นที่ ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย เพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้พึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนทั้งนี้เกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศยังยากจน มีหนี้สิน บางรายไม่มีที่ดินทากิน เป็นของตนเอง และทำการเกษตรยังไม่ถูกต้องซึ่งการแก้ปัญหาความยากจนของเกษตรกร ต้องให้เกษตรกรทำการเกษตรอย่างถูกต้อง คือ ผลิตสินค้าเกษตรตรงตามความเหมาะสมของดิน ภูมิอากาศ ตรงกับความต้องการของตลาด

              โดยใช้เครื่องมือ Agri-Map อีกทั้งต้องลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และมีคุณภาพแข่งขันได้ ตรงกับความต้องการของตลาด ด้วยการบริหารจัดการด้านต่าง ๆ อาทิ การทำเกษตรแบบแปลงใหญ่การใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและการใช้เทคโนโลยี /นวัตกรรมสมัยใหม่ โดยใช้ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) เป็นโรงเรียนให้ความรู้กับเกษตรกร

                ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้ดำเนินโครงการพัฒนาการเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ โดยยึดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หรือ "โครงการพัฒนาศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้าน" ซึ่งดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561) โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 มีศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้าน เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 236 ศูนย์ และศูนย์ปราชญ์ชาวบ้านดังกล่าว เป็น 1 ใน 5 ประสาน ที่จะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนโครงการ 5 ประสาน สืบสานเกษตรทฤษฎีใหม่ ถวายในหลวง ให้สำเร็จลุล่วงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

           ดังนั้น เพื่อเป็นการชี้แจงและสร้างความเข้าใจให้ปราชญ์ชาวบ้านรับทราบเป้าหมายและแนวทางการขับเคลื่อนโครงการ 5 ประสาน สืบสานเกษตรทฤษฎีใหม่ ถวายในหลวง ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ตลอดทั้งสร้างความเข้าใจและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการประยุกต์ใช้ศาสตร์พระราชาในการขับเคลื่อนเกษตรทฤษฎีใหม่ของปราชญ์ชาวบ้าน จึงได้จัดการสัมมนา เรื่อง "การขับเคลื่อนโครงการ 5 ประสาน สืบสานเกษตรทฤษฎีใหม่ ถวายในหลวง โดย ปราชญ์ชาวบ้าน" ในวันพฤหัสบดีที่ 23 พฤศจิกายน 2560 ณ สำนักพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการสหกรณ์ เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาฯ ประกอบด้วย ปราชญ์ชาวบ้านและเกษตรกรต้นแบบจำนวน 150 ราย และเจ้าหน้าที่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 30 หน่วยงาน

                นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลการดำเนินงานโครงการ "5 ประสาน สืบสานเกษตรทฤษฎีใหม่ ถวายในหลวง" ปี 2560มีเกษตรกรสมัครใจเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น จำนวน 70,002 ราย ซึ่งเกษตรกรได้นำความรู้เรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ทำการเกษตรผสมผสาน ตามศักยภาพของตนเองในพื้นที่ เกิดการพึ่งพาตนเอง สามารถลดรายจ่ายจากการบริโภคผลผลิตที่ปลอดภัยของตนเองได้เฉลี่ยเดือนละ 533 บาท มีการลดต้นทุนการผลิต และลดการใช้สารเคมี โดยใช้ปัจจัยการผลิตและใช้แรงงานของตนเองได้เฉลี่ยเดือนละ556 บาท เกษตรกรมีการเคลื่อนย้ายแรงงานไปทำงานในเมือง ลดลงร้อยละ 1.47 มีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตตามหลัก เศรษฐกิจพอเพียง และจัดทำบัญชีครัวเรือน มีการลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ส่งผลให้ครัวเรือนร้อยละ 18.38 สามารถลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นลงได้ อีกทั้งยังมีการวางแผนและดำเนินการผลิตในแปลงที่เข้าร่วมโครงการ สร้างรายได้สุทธิเพิ่มขึ้น เฉลี่ยเดือนละ 4,613 บาท

                 สำหรับการดำเนินงาน ในปี 2561 ได้กำหนดรับสมัครเกษตรกรที่มีความสมัครใจเข้าร่วมโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่เพิ่มขึ้น จำนวน 70,000 ราย รวมเป็น 140,000 ราย โดยเกษตรกรรายเดิม ปี 2560ได้รับการประเมินศักยภาพ และจัดกลุ่มเกษตรกรเพื่อพัฒนาต่อเนื่องเป็นกลุ่ม A ,B ,C แล้ว (ณ วันที่ 20 พฤศจิกายน 2560) แยกเป็นรายภาค ดังนี้ ภาคเหนือ 13,257 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20,608 ราย ภาคกลาง  9,745 ราย และภาคใต้ 6,651 ราย รวมทั้งสิ้น 50,261ราย คิดเป็นร้อยละ 71.8

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 23 พฤศจิกายน 2560

ชาวไร่ชลบุรีวอนรัฐบังคับใช้กฎเหล็ก 19 ข้อขนอ้อยเข้าโรงหีบ หลังราคาดิ่งตันละ 880 บาท

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน ที่สมาคมกลุ่มอาชีพการเกษตรชลบุรี อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี นายจิรวุฒิ สิงห์โตทอง นายกสมาคมกลุ่มอาชีพการเกษตรชลบุรีได้จัดงานวันชาวไร่ โดยมีเกษตรกรผู้เพาะปลูกอ้อยมาร่วมประชุมและจัดงานเลี้ยงโต๊ะจีนกว่า 3,000 คน โดยนายจิรวุฒิกล่าวถึงสถานการณ์อ้อยในฤดูการผลิตปี 2560/2561ว่า ราคาอ้อยเบื้องต้น 880 บาท ยอมรับว่าราคาต่ำกว่าปีที่ผ่านมามากเหมือนกัน ที่สำคัญก็หวังว่าราคาอ้อยเบื้องสุดท้ายจะดีขึ้น เพื่อมาชดเชยราคาอ้อยเบื้องต้น อย่างไรก็ตามเมื่อราคาผลผลิตตกต่ำก็หวังว่าทางรัฐบาลจะให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยทั่วประเทศ โดยเฉพาะกฎเหล็ก 19 ที่รัฐบาลออกมาบังคับใช้กับช่วงฤดูการเปิดหีบอ้อย เกี่ยวกับการขนย้ายอ้อยควรจะมีการผ่อนปรนบ้างก็จะเกิดผลดีกับผู้ปลูกอ้อยทำให้เกษตรกรอยู่ได้ โดยสมาคมฯจะมีการเปิดหีบอ้อยในวันที่ 5 ธันวาคมนี้

ด้านนายเลอพงษ์ สิงห์โตทอง อดีตนายกสมาคมกลุ่มอาชีพการเกษตรชลบุรี กล่าวว่า หากมองในสถานการณ์ราคาอ้อยในขณะนี้ ถือว่าน่าเป็นห่วงเพราะมีปัจจัยหลายตัวที่จะส่งผลกระทบต่อราคาอ้อยในอนาคต ซึ่งมีปัจจัยหลักๆ คือ ค่าเงินบาทแข็งตัวส่งผลกระทบต่อการส่งออก กระทรวงสาธารณสุขรณรงค์เกี่ยวกับการลดการใช้น้ำตาลในเครื่องดื่ม รวมทั้งการขยายโรงงานเพิ่มมากขึ้น ทำให้ผลผลิตออกมามากเกินความต้องการของตลาด ทำให้อนาคตที่หวังว่าเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยจะร่ำรวยนั้นเป็นไปได้ยาก จะเหมือนกับผู้เลี้ยงไก่ ซึ่งจะมีผลกำไรไม่มากนักแต่พอเลี้ยงตัวเองได้เท่านั้นเอง

ด้านนายพิเนตร เลิศเขมทัต นายอำเภอบ้านบึง กล่าวว่า ในการบรรทุกอ้อยนั้นอยากให้ปฏิบัติตามคำสั่งรัฐบาล 19 ข้อที่กำหนดมาก็คงไม่มีปัญหาในการขนย้ายอ้อยเข้าโรงหีบ

จาก https://www.matichon.co.th วันที่ 23 พฤศจิกายน 2560

แนะ ธปท.รักษาเสถียรภาพด่วน

หวั่นค่าเงินแข็งใกล้หลุด 32 บาท ผู้ส่งออกร้องรัฐขาดทุนบักโกรก

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นที่ 32.50-32.70 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะนี้ทำให้การส่งออกของไทยได้ยากขึ้น เพราะราคาสินค้าไทยจะแพงมากกว่าคู่แข่ง โดยสินค้าเกษตรจะได้รับผลกระทบมากกว่าสินค้าอุตสาหกรรมเนื่องจากผลิตในประเทศ 100% ไม่ได้รับผลดีจากต้นทุนการนำเข้าที่ถูกลงเหมือนสินค้าอุตสาหกรรม

“อย่างข้าวหอมมะลิ ขณะนี้ค่าเงินบาท 32.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งออกที่ตันละ 920 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ช่วงเดียวกันปีก่อน ค่าเงินบาทอยู่ที่ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ตั้งราคาขายได้ที่ตันละ 800 เหรียญฯ ราคาถูกลงทำให้ขายได้ง่ายขึ้น แต่เงินบาทที่แข็งค่าทำให้ราคาห่างกันมาก ทำให้ข้าวหอมของกัมพูชาและเวียดนามถูกกว่าไทยมาก ลูกค้าจึงเริ่มไปซื้อข้าวจากคู่แข่งแทน โดยต้องการให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดูแลค่าเงินให้มีเสถียรภาพกว่านี้ เนื่องจากผู้ส่งออกได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน”

นายบุญชัย ศรีชัยยงพานิช นายกสมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย กล่าวว่า ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาก กระทบต่อการส่งออกไทยแน่นอน เพราะทำให้ราคาสินค้าไทยสูงขึ้น และแข่งขันยาก แต่ในช่วงนี้การส่งออกมันสำปะหลังยังไม่กระทบมากนัก เพราะราคาขายยังพอแข่งขันได้ โดยเฉพาะมันเส้น ประกอบกับราคาแอลกอฮอล์ของจีนเพิ่มขึ้น จึงทำให้ราคามันเส้นสูงขึ้นตาม โดยมองว่าค่าเงินบาทที่เหมาะสมควรจะอยู่ที่ 33-34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

ด้านนายธิติ ตันติกุลานันท์ ผู้บริหารสายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท เมื่อวานนี้ (22 พ.ย.) เปิดตลาดที่ 32.76 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าขึ้นจากปิดตลาดวันก่อนที่ระดับ 32.79 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และมายืนปิดตลาดที่ 32.73 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าขึ้นจากปิดตลาดวันก่อนที่ระดับ 32.79 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และมายืนปิดตลาดที่ 32.73 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่องจนถึงไตรมาส 1 ของปี 2561 จะแข็งค่าเคลื่อนไหว 32.20-32.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และค่อยๆอ่อนค่าลงโดยเฉลี่ยตลอดทั้งปี 34.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ.

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 23 พฤศจิกายน 2560

กรมชลประทานนำ QR Code ใช้ร่วมกับระบบฐานข้อมูลบริหารจัดการน้ำ

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมชลประทาน โดยสํานักสํารวจด้านวิศวกรรมและธรณีวิทยา ได้นําเทคโนโลยี QR Code มาประยุกต์ใช้ร่วมกับระบบฐานข้อมูลโครงข่ายหมุดหลักฐาน สามารถเข้าถึงข้อมูลของหมายหมุดหลักฐานได้ผ่านสมาร์ทโฟน โดยใช้แอปพลิเคชัน (LINE) หรือแอปพลิเคชัน QR Code reader ต่าง ๆ ซึ่งหมุดหลักฐานดังกล่าวเป็นนวัตกรรมที่สามารถเชื่อมโยงกับการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน ทำให้เจ้าหน้าที่ทราบได้ว่าพื้นที่จุดนี้สูงกว่าน้ำทะเลเท่าไร และสามารถระบายน้ำออกจากเขื่อนในปริมาณเท่าไร จึงจะสามารถส่งน้ำให้ประชาชนได้อย่างเพียงพอ ส่วนประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ คือสามารถเข้าถึงข้อมูลของพื้นที่ของอ่างเก็บน้ำได้ง่าย รวมถึงได้รับประโยชน์ทางอ้อมจากการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน

ด้านนายประทีป ภักดีรอด ผู้อำนวยการสำนักสำรวจด้านวิศวกรรมและธรณีวิทยา ในฐานะรองโฆษกกรมชลประทาน กล่าวว่า ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2561 เป็นต้นไป สำนักสำรวจด้านวิศวกรรมและธรณีวิทยา กรมชลประทานจะนำเทคโนโลยี QR Code มาประยุกต์ใช้ร่วมกับระบบฐานข้อมูลโครงข่ายหมุดหลักฐาน ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวกรวดเร็วเป็นสากล ผ่านสมาร์ทโฟน โดยใช้แอปพลิเคชันไลน์ (LINE) หรือแอปพลิเคชัน QR Code reader ต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนในการติดต่อขอหมายหมุดหลักฐาน ค้นหาข้อมูล และจัดส่งข้อมูล จากเดิมต้องใช้เวลานานหลายวันร่นเหลือเพียงไม่กี่นาที มีความแม่นยำเหมือนเดิม โดยช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานสูงขึ้น สอดคล้องกับแนวทางในการพัฒนาหน่วยงานตามนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล

จาก https://mgronline.com  วันที่ 22 พฤศจิกายน 2560

5กระทรวงต้าน"พาราควอต"หลังกก.วัตถุอันตรายต่อทะเบียนให้ใช้ต่ออีก6ปีแต่47ปท.ยกเลิก

คณะกรรมการขับเคลื่อนฯ ที่ประกอบด้วย 5 กระทรวงหลัก เตรียมหารือกลางเดือน ธ.ค.เพื่อรวบรวมข้อมูลพิษภัย โทษของ "สารเคมีพาราควอต" ก่อนเสนอไปยังคณะกรรมการวัตถุอันตรายอีกครั้ง หลังมีมติให้ไฟเขียวต่อทะเบียนอีก 6 ปี ด้านเครือข่าย 50 จังหวัดชี้ผิดหวังคำตัดสินต่อทะเบียน เตรียมหารือเคลื่อนไหว คาดอาจมีการฟ้องร้องให้มีการเพิกถอนใบต่อทะเบียน

จากกรณีคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน มีมติให้ต่อทะเบียน "พาราควอต" สารเคมีเกษตรไปอีก 6 ปี สามารถใช้ในภาคการเกษตรได้ต่อ เนื่องจากยังไม่มีผลการวิเคราะห์หรือตีความออกมาว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งมี 5 กระทรวงหลัก นำโดยกระทรวงสาธารณสุขเข้าร่วม มีมติและเสนอเป็นนโยบายให้ยุติการใช้สารเคมีทั้ง 2 ตัว คือ พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส ในวันที่ 1 ธ.ค.2562 โดยระบุว่า พาราควอตจัดเป็นยาพิษที่มีความรุนแรง และ 47 ประเทศประกาศยกเลิกการใช้แล้ว ระหว่างนี้จะไม่อนุญาตให้มีการต่ออายุ

วันที่ 21 พ.ย. ภกญ.อมรรัตน์ ลีนะนิธิกุล เภสัชกรชำนาญการพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในฐานะฝ่ายเลขาฯ คณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง กล่าวว่า คณะกรรมการขับเคลื่อนฯ ที่ประกอบด้วย 5 กระทรวงหลัก นำโดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้มีการหารือรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพจากสารพาราควอตดังกล่าวส่งไปยังกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขาฯ ของคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพื่อเสนอไปยังที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่คาดว่าจะมีการประชุมประมาณกลางเดือน ธ.ค. เพราะพาราควอตเป็นสารเคมีที่มีผลในเรื่องของสุขภาพ ส่งผลให้เกิดโรคพาร์กินสันหรือโรคทางสมอง หากไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพ 40-50 ประเทศทั่วโลกคงไม่มีการประกาศให้หยุดใช้

"อย่างไรก็ตาม อำนาจต่อทะเบียนสารพาราควอตดังกล่าวเป็นหน้าที่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่วนการที่จะยกเลิกการต่อทะเบียนเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย มาตรา 18 ไม่ใช่หน้าที่ของ สธ. เรามีหน้าที่เสนอนโยบาย หากออกเป็นนโยบายให้หยุดใช้ไปเลยไม่ได้ แต่การจำกัดการใช้ให้ค่อยๆ หมดไปก็มีกระบวนการหลายรูปแบบ สธ.จะดำเนินการตามกลไกที่มีอยู่ เช่น การรณรงค์อาหารปลอดภัยใน รพ.สังกัด สธ. ทั้งผักออร์แกนิก ผักปลอดสารพิษต่างๆ" ภกญ.อมรรัตน์กล่าว

น.ส.ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ Thai-PAN กล่าวว่า รู้สึกผิดหวังกับการตัดสินใจต่ออายุพาราควอตของคณะกรรมการควบคุมสารเคมีที่เป็นการเพิกเฉยต่อข้อมูลด้านสุขภาพที่ สธ.ได้ทำออกมา หากไม่มีผลทางสุขภาพ ประเทศใหญ่ๆ ทั้งอังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์ หรือแม้กระทั่งประเทศจีน ก็มีข้อมูลว่าประกาศยกเลิกการใช้สารดังกล่าว เพราะเป็นต้นตอปัญหาสุขภาพทั้งนั้น ตนจึงไม่ทราบว่าหน่วยงานที่มีอำนาจตัดสินใจต้องการข้อมูลขนาดไหนอีก ซึ่งทางเครือข่ายประมาณ 50 จังหวัดอาจจะมีการรวมตัวฟ้องร้องให้เพิกถอนการต่อทะเบียนสารดังกล่าว ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือเพื่อหาข้อสรุปว่าจะมีการเคลื่อนไหวอย่างไรต่อไป.

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 22 พฤศจิกายน 2560

เงินทุนต่างชาติไหลทะลักเข้าไทย เก็งกำไรค่าบาท

ค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง เหตุเงินทุนไหลเข้าตลาดตราสารหนี้ 3 วันติด รวมมูลค่ากว่า 35,000 ล้านบาท ผนวกเศรษฐกิจไทยแกร่ง แนะผู้ส่งออก-นำเข้าป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน                 

น.ส.รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการ ผู้บริหารกลุ่มวิจัยและวิเคราะห์ตลาดการเงิน ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแลโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ ยังแข็งค่าต่อเนื่อง อยู่ที่ระดับ 32.72-32.76  บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็นผลมาจากความไม่แน่นอนเศรษฐกิจของสหรัฐ และนักลงทุนมองว่าค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่องจึงนำเงินมาพักไว้ โดยในช่วง 3 วันที่ผ่านมาเงินทุนไหลเข้ามาตลาดตราสารหนี้ไทยมูลค่ากว่า 35,000 ล้านบาท ประกอบกับเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่งหลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ประกาศตัวเลขจีดีพีไตรมาสที่โตกว่าตลาดคาดการณ์ 4.3% และตัวเลขส่งออกในเดือนต.ค.ที่เติบโต13.1% 

"ทิศทางค่าบาทมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง คาดว่าจะแตะที่ระดับ 32.70 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่ถ้าหลุดกรอบดังกล่าวอาจจะแข็งค่าลึกแตะที่ระดับ 32.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ถือว่าค่อนข้างผันผวน เพราะเมื่อเงินไหลเข้ามาวันละ 10,000 ล้านบาท เวลาไหลออกก็จะรวดเร็วเช่นกัน นอกจากนี้หากธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเดือน ต.ค. ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มที่จะฟื้นตัวอาจมีผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้าย ทั้งนี้ แนะนำผู้ส่งออก-นำเข้าต้องประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนอย่างสม่ำเสมอ"

อย่างไรก็ตาม ไทยเสียเปรียบด้านการแข่งขันด้านราคาหากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากค่าเงินบาทของไทยแข็งค่ามากกว่า แต่เป็นรองค่าเงินวอนของเกาหลีใต้ ซึ่งตั้งแต่ต้นปีแข็งค่าที่ระดับ 10.6% ส่วนค่าเงินบาทอยู่ที่ระดับ 9.3% ค่าเงินริงกิตของมาเลเซีย 8.7% และค่าเงินหยวนของจีน 4.8% แต่เชื่อว่าการที่ตัวเลขส่งออกของไทยที่ออกมาดีเกิดจากเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวส่งผลดีต่อการส่งออกของไทยในอนาคต.                   

จาก https://www.dailynews.co.th   วันที่ 22 พฤศจิกายน 2560

ชงสนช.ยับยั้งรง.น้ำตาลเพชรบูรณ์

ค้านสร้างแห่งที่ 3-หวั่นปัญหาหิมะดำ สนช.เกรงสูญม็อตโต้เมืองมะขามหวาน

นายเสกสรร นิยมเง นายกเทศมนตรีเมืองเพชรบูรณ์ เปิดเผยว่า กรณีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) นำโดย นายพีระศักดิ์  พอจิต  รองประธาน สนช. เปิดเวทีรับฟังปัญหาต่างๆ จากชาวเพชรบูรณ์ ที่ห้องประชุมศูนย์ราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ที่ผ่านมาได้เสอนในเวที สนช.เรื่องการคัดค้านการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลในต.ห้วยใหญ่ อ.เมืองเพชรบูรณ์ ซึ่งเพชรบูรณ์จำเป็นต้องมีโรงงานน้ำตาลถึง 3 แห่งหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมาโรงงานน้ำตาลที่ศรีเทพ และอ.บึงสามพันแล้ว ปัจจุบันเริ่มมีการทาบทามชาวบ้านพื้นที่ ต.ห้วยใหญ่ เพื่อเตรียมก่อสร้างโรงงานน้ำตาลแห่งที่ 3

“พืชเศรษฐกิจของเพชรบูรณ์มีข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์  ยาสูบ  มะขาวหวาน และมีความโดดเด่นเรื่องการท่องเที่ยว เพราะมีธรรมชาติสวยงาม สิ่งเหล่านี้จะหายไปหากมีโรงงานน้ำตาลแห่งที่ 3 เกิดขึ้นที่ อ.เมือง เนื่องจากสถานที่ก่อสร้างอยู่ห่างจากชุมชนเมืองราว 10 กิโลเมตร และพื้นที่รอบๆจะมีการปลูกอ้อยทำให้เมืองเพชรบูรณ์ตกเป็นเมืองหิมะดำ ซี่งปัจจุบันพื้นที่อ.ศรีเทพ  และอ.บึงสามพัน ประสบปัญหาได้รับผลกระทบจากหิมะดำเยอะมาก เกิดจากการเผาไร่อ้อย เกิดเศษเถ้าปลิวลอยไปตกตามบ้านเรือนประชาชน โรงเรียน วัดสร้างความเดือนร้อนมาก นับวันปัญหารุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งชาวเพชรบูรณ์แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลแห่งที่ 3 ในเขตอ.เมืองเพชรบูรณ์“ นายเสกสรรกล่าว

พลเรือเอกพัลลภ ตมิศานนท์  สนช.กล่าวว่า ต้องวิเคราะห์ว่าพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์ ทำโซนนิ่งเกษตรหรืออย่างไร หากไม่กำหนดการปลูกพืชที่เหมาะสม และให้ก่อสร้างโรงงานน้ำตาลตามที่มีความกังวลผลกระทบสิ่งแวดล้อม จะกลายเป็นอันว่าอุตสาหกรรมนำการเกษตรหมายความว่าพื้นที่บริเวณนั้นไม่เหมาะสมจะปลูกอ้อยเท่ามะขาวหวาน แต่พอมีโรงงานน้ำตาลเกิดขึ้น ชาวบ้านจะหันมาปลูกอ้อย

“ต้องพึ่งพัฒนาที่ดินกำหนดโซนนิ่งพื้นที่ 3.2 ล้านไร่ของเพชรบูรณ์ พื้นที่ไหนเหมาะสมปลูกอ้อย ยางพารา มะขามหวาน หากปล่อยให้อุตสาหกรรมนำการเพาะปลูกทั้งหมด เกรงว่าม็อตโต้มะขามหวานของเพชรบูรณ์ต้องหมดไป กลายเป็นอ้อยแทน”

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 22 พฤศจิกายน 2560

ชาวไร่วอนรัฐขยับราคาอ้อยหวังดันขั้นต้น900บาท/ตัน

เปิดเวทีประชาพิจารณ์เคาะราคาอ้อยขั้นต้น 2560/2561 ชาวไร่เล็งขอขยับ 900 บาท/ตันอ้อย เหตุราคาขั้นต้นต่ำเกินไป

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทยและหัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 7 เปิดเผยว่า วันที่ 22 พ.ย. 2560 ตัวแทนจากชาวไร่อ้อยทั่วประเทศจะเข้าร่วมเวทีเปิดรับฟังความคิดเห็นราคาอ้อยขั้นต้นฤดูกาลผลิตปี 2560/2561 โดยคณะกรรมการบริหารคำนวณราคาเบื้องต้นไว้ที่ 860 บาท/ตันอ้อย ซึ่งเห็นว่าเป็นราคาที่ค่อนข้างต่ำ และจะนำเสนอข้อคิดเห็นดังกล่าวให้กับ คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) พิจารณาวันที่ 24 พ.ย

ทั้งนี้ ชาวไร่เตรียมเสนอขอให้รัฐพิจารณาเพิ่มราคาอ้อยให้มากกว่า 860 บาท/ตัน โดยการคำนวณราคาอ้อย ขั้นต้นดังกล่าวเป็นการคำนวณในสัดส่วนเพียง 94% ของราคาจริง ซึ่งคาดว่าจะเสนอขอให้เป็นระดับ 900 บาท/ตัน

"ราคาอ้อยดังกล่าวถือว่าเป็นอัตราที่ค่อนข้างต่ำมาก แม้ในอดีตจะมีตัวเลขที่ต่ำกว่านี้ ทางกระทรวงอุตสาหกรรมเคยขอ มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) หาแหล่งเงินกู้ให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อสนับสนุนเพิ่มราคาอ้อยโดยเฉลี่ยอีกถึงตันละ 160 บาท แต่หลังจากที่บราซิลกล่าวหาไทยต่อองค์การการค้าโลก (ดับเบิ้ลยูทีโอ) ว่ามีการอุดหนุนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ทำให้ไทยต้องปรับโครงสร้างใหม่ที่ไม่มีการอุดหนุน ส่งผลให้ตั้งแต่ฤดูการผลิตปีที่ผ่านมาไม่มีการกู้เงินเพิ่มค่าอ้อย แต่เป็นจังหวะที่ราคาตลาดโลกดี ทำให้การคำนวณราคาสูงถึง 1,050 บาท/ตัน จึงไม่จำเป็นต้องกู้เพิ่มได้แต่ ปีนี้ราคาต่างกันมาก" นายนราธิป กล่าว

จาก https://www.posttoday.com วันที่ 22 พฤศจิกายน 2560

“ลอยตัวน้ำตาล” จะแท้ง? คนไทยกินของแพงต่อไป

นับถอยหลังอีกไม่กี่วัน การเปิดหีบอ้อยในฤดูการผลิตปี 2560/2561 จะเริ่มขึ้น แต่จนถึงขณะนี้นโยบาย “การลอยตัว” ราคาน้ำตาลภายในประเทศ ที่เดิมกำหนดจะประกาศใช้ในวันที่ 1 ธันวาคม 2560 ยังไม่สามารถหาบทสรุปได้ และมีทีท่าจะเลื่อนยาวออกไป

หากย้อนหลังไปดูเรื่องการลอยตัวน้ำตาล ถือเป็นเรื่องที่พูดกันมาเนิ่นนานกว่า 20 ปี โดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้เคยว่าจ้างสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ ให้ศึกษาเรื่อง “การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย” มาถึง 2 ครั้ง แต่ผ่านไปหลายปีไม่มีความก้าวหน้าใดๆ

เนื่องจากลึกๆ ในใจทั้งฝ่ายชาวไร่อ้อยและฝ่ายโรงงานน้ำตาล ต่างไม่มีใครอยากจะแก้กฎหมาย และระเบียบใดๆ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องราคาน้ำตาลโควตา ก.เพื่อบริโภคภายในประเทศ ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายได้รับประโยชน์ร่วมกันอย่างลงตัว เพราะราคาควบคุมที่ 18 บาทต่อกิโลกรัม สูงกว่าราคมน้ำตาลในตลาดโลกมีเพียง 3-4 ปีต่อครั้งเท่านั้น ที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกจะสะวิงสูงกว่า ซึ่งไม่ได้เห็นบ่อยนัก

ขณะที่ฝ่ายชาวไร่อ้อยได้ประโยชน์จากการขอมติคณะรัฐมนตรีตั้งแต่สมัย คุณสมัคร  สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรีให้มีมติบวกราคาขายน้ำตาลโควตา ก. เพิ่มอีก 5 บาท คิดเป็นเงินเฉลี่ยปีละประมาณ 12,000 – 13,000 ล้านบาท เพื่อนำเงินดังกล่าวที่ผลักภาระให้ผู้บริโภคแบกรับไว้ชำระหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายกู้มาเพิ่มค่าอ้อยให้ชาวไร่ในทุกๆปี

จนมาถึงยุครัฐบาล คสช.มีเหตุให้ต้องหยิบยกเรื่องดังกล่าวขึ้นมา “ปัดฝุ่น” ใหม่อีกครั้ง เนื่องจากถูกรัฐบาลบราซิลซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลเบอร์ 1 ของโลก  ได้ยื่นคำร้องต่อองค์การการค้าโลก (WTO) ในเดือนพฤษภาคม 2559 กล่าวหารัฐบาลไทยใช้มาตรการอุดหนุนการส่งออกและอุดหนุนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลภายในประเทศ จนส่งผลกระทบต่อการส่งออกและอุตสาหกรรมน้ำตาลของบราซิล

โดยประเด็นหลัก บราซิลร้องว่าไทยอุดหนุนการส่งออกน้ำตาลสูงมาก และให้ไทยยกเลิกประกาศราคาน้ำตาลทรายในประเทศ  ที่ประกาศกระทรวงพาณิชย์กำหนดราคาไว้ที่ 23.50 บาทต่อกิโลกรัมโดยต้องเคลื่อนไหวตามทิศทางราคาน้ำตาลในตลาดโลก รวมถึงการอุดหนุนให้ผู้บริโภคซื้อน้ำตาลแพงด้วยการบวกเงิน 5 บาท เพิ่มเข้าไปในราคาขาย เพื่อนำเงินไปใช้หนี้ให้ชาวไร่อ้อย และการยกเลิกการจัดระบบการจำหน่ายน้ำตาลทรายออกเป็นโควตา ก. เพื่อบริโภคในประเทศ โควตา ข. ส่งออกโดยบริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด (อนท.) และโควตา ค. น้ำตาลที่ส่งออกไปต่างประเทสที่เหลือหักจากโควตา ก.และโควตา ข.

แต่จนถึงวันนี้หลากหลายประเด็นที่ต้องเร่งแก้ไข ยังไม่สามารถหาข้อยุติระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลได้ โดยแหล่งข่าวในวงการอ้อยและน้ำตาลกระเส็นกระสายมาว่า ถึงวันนี้มีรายละเอียดหลายเรื่องยังตกลงวิธีการปฏิบัติกันไม่ได้ แต่ที่หนักสุดคงเป็นเรื่องที่ฝ่ายชาวไร่พยายามจะให้โรงงานบวกราคาขายหน้าโรงงานเพิ่มเข้าไปอีก 2-3 บาท เพิ่มจากสูตรลอยตัวราคาน้ำตาล ซึ่งจะใช้ฐานราคาไทยพรีเมียม เป็นราคาอ้างอิงกลางซึ่งหลายโรงงานไม่เห็นด้วย เพราะไม่มีกฎหมายหรือระเบียบ หรือมติ ครม.รองรับเกรงจะทำผิดกฎหมาย ต่างกับโครงสร้างเดิมที่บวก 5 บาท มีมติ ครม.รองรับ

ความล่าช้าที่เกิดขึ้นคาดการณ์กันว่าการเปิดหีบอ้อยฤดูการผลิตปี 2560/2561 ที่จะมีขึ้นอีกไม่กี่วัน คงต้องยึดหลักปฏิบัติตาม พ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาล พ.ศ. 2527 และกฎระเบียบต่างๆ ตามเส้นทางเดิมๆ ต่อไป

นั้นหมายถึงเงินกู้ของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย 5,800 ล้านบาทที่มีอยู่จะมีเงินมาใช้หนี้ และหากปีถัดไปยังตกลงกันไม่ได้ กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายจะมีเงินสะสมเป็นก้นถุงไว้ใช้ได้อีกหลายหมื่นล้านบาทที่เดียว กว่าจะเปิดเสรีลอยตัวน้ำตาลในอนาคตอีกไม่กี่ปี นั่นหมายถึงคนไทยคงต้องแบกรับภาระเงิน 5 บาท ด้วยการกินน้ำตาลราคาแพงกว่าตลาดโลกกันต่อไป

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 22 พฤศจิกายน 2560

เอกชนค้านสูตรราคาเอทานอล รัฐเพิ่มตัวเลขตลาดฟิลิปปินส์

สนพ.เรียกเอกชนหารือปรับสูตรคำนวณราคาเอทานอลใหม่ เพิ่มราคาเอทานอลตลาดฟิลิปปินส์รวมไว้ในสูตร หวังกดดันราคาเอทานอลให้ต่ำลง โรงงานผลิต-โรงกลั่นน้ำมันค้านสุดตัว  เพราะจะส่งผลกระทบต่อราคาอ้อย-มัน ต้องปรับลดลงด้วยเช่นกันระวังวัตถุดิบจากประเทศเพื่อนบ้านทะลักเพราะถูกกว่าซื้อในประเทศ

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมัน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าเมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้หารือร่วมกับผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมเอทานอลเช่น ผู้ผลิตเอทานอล และโรงกลั่นน้ำมันในประเด็นการปรับสูตรการคำนวณราคาเอทานอลให้มีความเหมาะสมมากขึ้น โดยสูตรที่ใช้ในปัจจุบันคือให้ใช้ราคาเอทานอลอ้างอิงจากการราคา ระหว่างราคาเอทานอลที่ผู้ผลิตรายงานต่อกรมสรรพสามิตกับราคาเอทานอลที่ผู้ค้ามาตรา 7 รายงานต่อ สนพ. และตัดราคาสูงสุดและต่ำสุดออกไป ก็จะได้ราคาเอทานอลที่ประมาณ 24-25 บาท/ลิตร  ซึ่งสนพ.มองว่าสูตรคำนวณในปัจจุบันยังไม่ส่งผลให้ราคาเอทานอลถูกลง  จึงมีแนวคิดให้นำราคาเอทานอลของตลาดฟิลิปปินส์มาคำนวณรวมด้วย โดยให้เหตุผลว่าจะเป็นการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับอุตสาหกรรมเอทานอล และทำให้ราคาเอทานอลถูกลง

ทั้งนี้ผู้ผลิตเอทานอลและโรงกลั่นน้ำมันได้ “คัดค้าน” สูตรคำนวณดังกล่าวเพราะ 1)สูตรดังกล่าวไม่ได้กดดันให้เฉพาะราคาเอทานอลถูกลงเท่านั้น แต่จะไปกดราคาส่วนอื่นด้วย โดยเฉพาะราคาพืชผลทางการเกษตรที่ต้องใช้เป็นวัตถุดิบ คือ อ้อย กากน้ำตาล และราคามันสำปะหลัง ต้องลดลงไปด้วย 2) หากผู้ผลิตเอทานอลไม่สามารถหาวัตถุดิบที่มีราคาถูกได้ อาจมีการนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น

เกษตรกรก็จะไม่ได้รับประโยชน์จากการส่งเสริมการใช้พลังงงานทดแทนที่ผลิตในประเทศ และ 3)ผู้ผลิตเอทานอลอาจจะต้องทยอยปิดโรงงานเพราะไม่สามารถแข่งขันได้ และที่สำคัญคือ ขณะนี้มีโรงงานเอทานอลใหม่ๆ ทยอยผลิตเข้าระบบเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามจากความเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องส่งผลให้ สนพ.ยังไม่ได้พิจารณาเห็นชอบว่าจะใช้สูตรคำนวณดังกล่าวหรือไม่

“ตลาดเอทานอบในไทยและฟิลิปปินส์มีความแตกต่างกันมาก โดยเฉพาะในแง่ของความต้องการใช้ที่มากกว่าไทยและมีกฎหมายที่ระบุชัดถึงเป้าหมายการใช้ว่าในปี 2006 ควรมีการใช้ทั้งประเทศที่ 5% และในบางพื้นที่ที่มีศักยภาพก็กำหนดว่าต้องการใช้จะอัพเป็น 10% เป็นต้น ไทยใช้อยู่ประมาณ 600-700 ล้านลิตร/ปี ในขณะที่ฟิลิปปินส์ใช้มากกว่าไทยเท่าตัวหรือประมาณ 1,400 ล้านลิตร/ปี ซึ่งด้วยความที่ประเทศเป็นหมู่เกาะพื้นที่เพาะปลูกอ้อยค่อนข้างจำกัด จึงใช้วิธีนำเข้าจากประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีราคาถูกกว่าสั่งซื้อจากไทย”

แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมว่า เดิมที่นั้นฟิลิปปินส์นำเข้าเอทานอลจากไทยเป็นหลัก โดยก่อนหน้านี้ไทยส่งออกเอทานอลมายังฟิลิปปินส์เป็นจำนวนมากในช่วงปี 2555 รวม 160 ล้านลิตร แต่หลังจากที่กระทรวงพลังงานมีการประกาศยกเลิกจำหน่ายน้ำมันเบนซิน 91 ในปี 2556 ทำให้ความต้องการใช้เอทานอลเพิ่มขึ้นการส่งออกจึงน้อยลงตามไปด้วย รวมถึงเมื่อสหรัฐอเมริกามีนโยบายส่งเสริมเอทานอลและยังมีการปลูกข้าวโพดตัดต่อพันธุกรรมหรือ GMO ที่มีราคาเพียง 5 บาท/กิโลกรัม ทำให้ราคาเอทานอลถูกมาก เมื่อรวมต้นทุนการขนส่งจนมาถึงฟิลิปปินส์ราคายังถูกกว่าไทยมากที่ 16- 17 บาท/ลิตรเท่านั้น ในขณะที่ราคาเอทานอลของไทยอยู่ที่ 24-25 บาท/ลิตร ทำให้แข่งขันในตลาดไม่ได้และในปัจจุบันสถานการณ์ปริมาณการผลิตเอทานอบในขณะนื้ถือว่าล้นระบบประมาณ 2 ล้านลิตร/ปี เนื่องจากโรงงานผลิตเอทานอลใหม่ได้เริ่มผลิตเข้าสู่ระบบมากขึ้นรวมปริมาณ 6 ล้านลิตร/วัน ในขณะที่ความต้องการใช้ไม่เกิน 4.2 ล้านลิตร/วัน

รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า สำหรับประเทศฟิลิปปินส์มีนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมเอทานอลทั้งระบบอย่างมีเป้าหมายและออกเป็นกฎหมายบังคับใช้อย่างชัดเจน ในขณะที่ไทยมีเฉพาะแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก 2558-2579 หรือ AEDP ( Alternative Energy Development Plan) เท่านั้น ซึ่งภาครัฐให้เหตุผลที่ไม่มีการผลักดันให้มีกฎหมายกำกับดูแลเอทานอลโดยเฉพาะ เพราะการใช้แผนมีความยึดหยุ่นกว่า และยังสามารถปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันได้ดีกว่าอีกด้วย ทั้งนี้สำหรับราคาเอทานอลที่ประกาศโดย สนพ.ล่าสุดราคาอยู่ที่ประมาณ 24 บาท/ลิตร

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 22 พฤศจิกายน 2560

บาทเปิด 32.76 ยังแข็งค่า

เงินบาทเปิดตลาด 32.76 บาทต่อดอลล่าร์ ยังแข็งค่าต่อจากแรงขายดอลล์-เม็ดเงินไหลเข้าพันธบัตร มองกรอบวันนี้ 32.70-32.85

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดที่ระดับ 32.76 บาท/ดอลลาร์

"เงินบาทยังคงแข็งค่าต่อ เมื่อคืนนี้มีแรงเทขายดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลหลักทุกสกุล ทั้งที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯออกมาดีกว่าคาด มองว่าช่วงนี้ปริมาณธุรกรรมน่าจะเบาบางเพราะใกล้ถึงวันขอบคุณพระเจ้า และวานนี้ก็ยังมี Flow เข้ามาในตลาดตราสารหนี้

"นักบริหารเงินระบุนักบริหารเงิน คาดว่า วันนี้เงินบาทน่าจะเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 32.70-32.85 บาท/ดอลลาร์

จาก https://www.posttoday.com วันที่ 22 พฤศจิกายน 2560

เปิดเวทีรับฟังความเห็นราคาอ้อย 860 บาท/ตันพรุ่งนี้ ชาวไร่จ่อขอเพิ่ม

เปิดเวทีประชาพิจารณ์ราคาอ้อยขั้นต้นฤดูผลิต 60/61 วันพรุ่งนี้ (22 พ.ย.) ชาวไร่อ้อยบ่นอุบ 860 บาทต่อตันต่ำไป เตรียมเสนอขอให้เพิ่มเป็น 900 บาทต่อตัน “กอน.” นัดถกเคาะราคา 24 พ.ย.นี้ รับเพิ่มราคาคงได้ไม่มาก โอกาสเป็น 900 บาทต่อตันยาก

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทยและหัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 7 เปิดเผยว่า วันที่ 22 พ.ย.ตัวแทนจากชาวไร่อ้อยทั่วประเทศจะเข้าร่วมเวทีเปิดรับฟังความคิดเห็น (ประชาพิจารณ์) ราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 60/61 ที่คณะกรรมการบริหาร (กบ.) เห็นชอบการคำนวณราคาเบื้องต้นไว้ที่ 860 บาทต่อตันซึ่งยอมรับว่าเป็นระดับราคาที่ค่อนข้างต่ำ โดยชาวไร่เตรียมจะเสนอขอให้รัฐพิจารณาเพิ่มราคาอ้อยให้มากกว่า 860 บาทต่อตัน

“การคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นดังกล่าวอยู่ที่ 860 บาทต่อตันซึ่งเป็นการคำนวณในสัดส่วนเพียง 94% ของราคาจริง ดังนั้นก็เห็นว่าเพิ่มได้แต่ไม่เกิน 100% โดยคาดว่าจะเสนอขอให้เป็นระดับ 900 บาทต่อตัน” นายนราธิปกล่าว

ทั้งนี้ยอมรับว่าราคาอ้อยดังกล่าวถือว่าเป็นอัตราที่ค่อนข้างต่ำมากแม้ในอดีตจะมีตัวเลขที่ต่ำกว่านี้ แต่กระทรวงอุตสาหกรรมยังสามารถขอมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้หาแหล่งเงินกู้ให้กับกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) เพื่อสนับสนุนเพิ่มราคาอ้อยโดยเฉลี่ยอีกถึงตันละ 160 บาท แต่หลังจากที่บราซิลกล่าวหาไทยต่อองค์การการค้าโลก (WTO) ว่ามีการอุดหนุนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทำให้บราซิลได้รับความเสียหายจึงทำให้ไทยต้องปรับโครงสร้างใหม่ที่ไม่มีการอุดหนุน ทำให้ตั้งแต่ฤดูการผลิตปีที่ผ่านมาไม่มีการกู้เงินเพิ่มค่าอ้อยแต่ฤดูผลิตปี 59/60 ราคาตลาดโลกดีมากการคำนวณออกมาอยู่ที่ 1,050 บาทต่อตันจึงไม่จำเป็นต้องกู้เพิ่มได้แต่ปีนี้ราคาต่างกันมาก

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) กล่าวว่า หลังจากเปิดรับฟังความเห็นแล้วจะมีการนำเสนอข้อคิดเห็นดังกล่าวให้กับ กอน.พิจารณาวันที่ 24 พ.ย. ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวชาวไร่อ้อยจะขอเพิ่มราคานั้นก็คงอยู่ที่มติเสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมว่าจะเพิ่มราคาได้มากน้อยเพียงใด โดยยอมรับว่าการคำนวณให้เพิ่มคงจะต้องต่ำกว่า 100% เพื่อป้องกันปัญหาราคาขั้นสุดท้ายต่ำกว่าขั้นต้น โดยหากพิจารณาระดับการคำนวณที่ 97-98% ของราคาจริงก็น่าจะได้เพิ่มอีกตันละ 10-20 บาทเท่านั้น

จาก   https://mgronline.com    วันที่ 21 พฤศจิกายน 2560

เอกชนห่วงบาทแข็ง กระทบการส่งออก "สมคิด"พอใจจีดีพีQ3โต4.3%

ภาคเอกชนเกาะติดค่าเงินบาท หลังแข็งค่าสุดในรอบกว่า 2 ปี แถมสูงกว่าประเทศคู่แข่ง หวั่นผันผวนเร็วกระทบขีดความสามารถการแข่งขันด้านส่งออก แบงก์พาณิชย์ชี้แนวโน้มบาทยังแข็งค่าต่อ เหตุเงินไหลเข้าตลาดพันธบัตร แถมจีดีพีไตรมาส 3 ขยายตัวสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ด้าน "สมคิด" พอใจจีดีพีไตรมาส 3 โตถึง 4.3% ลั่นปีหน้าเศรษฐกิจจะดีกว่านี้อีก

นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ภาคเอกชนกำลังติดตามภาวะอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด หลังแข็งค่าสุดในรอบกว่า 2 ปี ที่ระดับ 32.83 บาทต่อเหรียญสหรัฐ โดยเป็นอัตราที่แข็งค่ามากสุด เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งทางการค้า ซึ่งจำเป็นที่รัฐจะต้องดูแลไม่ให้ผันผวนเร็วเกินไป เพราะอาจกระทบต่อขีดความสามารถทางการแข่งขันในการส่งออกของไทยได้

"เงินบาทเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะคู่แข่งทางการค้า เราแข็งค่ามากสุด แม้ว่าการส่งออกในช่วงที่ผ่านมา เราจะยังเติบโตต่อเนื่อง แต่หากบาทแข็งค่าเร็วไป ก็จะกระทบในการโค้ดราคาสินค้าที่จะทำได้ยากขึ้น และจะทำให้เราแข่งขันได้ลำบากขึ้น ซึ่งต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะผู้ส่งออกขนาดกลางและเล็กต้องบริหารความเสี่ยงค่าเงินให้ดีด้วย"นายเกรียงไกรกล่าว

 นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าอุตสาหกรรมไทย กล่าวว่า ระยะสั้นเงินบาทคาดว่าจะยังแข็งค่า เนื่องจากภาวะเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าจากความไม่เชื่อมั่น และการวิตกกังวลปัญหาคาบสมุทรเกาหลี ทำให้เงินทุนยังคงไหลเข้ามาไทยต่อเนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังคงเติบโตในปีนี้และสัญญาณดีต่อถึงปี 2561 โดยค่าเงินบาทแข็งนั้น มีทั้งผลดีและผลเสีย กล่าวคือ อาจกระทบขีดความสามารถการแข่งขันของการส่งออก แต่ขณะเดียวกันการนำเข้าวัตถุดิบ สินค้าทุนก็จะได้รับประโยชน์

 ด้านนักบริหารเงินจากธนาคารพาณิชย์ รายงานค่าเงินบาทวานนี้ (20 พ.ย.) ปิดตลาดที่ระดับ 32.77 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐซึ่งเป็นระดับแข็งค่าสุดของวัน และแข็งค่าขึ้นจากเปิดตลาดช่วงเช้าที่ 32.79 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ระดับอ่อนค่าสุดของวันอยู่ที่ 32.82 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยปัจจัยที่หนุนให้เงินบาทแข็งค่า มาจากทิศทางเงินที่ยังไหลเข้าในตลาดพันธบัตรอย่างต่อเนื่อง รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 3 ที่สภาพัฒน์ประกาศออกมาขยายตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ก็เป็นอีกส่วนที่ช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งบาทขึ้นด้วย โดยคาดการณ์กรอบเงินบาทวันนี้ที่ระดับ 32.75-32.85 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

 ด้านนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลพอใจที่เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ขยายตัวที่ 4.3% ซึ่งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนไทยว่าเศรษฐกิจไทยกำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ทุกฝ่ายได้ร่วมกันทำงานมาอย่างหนัก และในปีหน้า จะเน้นการรักษาระดับจีดีพีให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ โดยจะเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นให้เข้มแข็ง ผลักดันราคาสินค้าเกษตรให้ปรับตัวสูงขึ้น และเน้นการพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก ผู้ประกอบการชุมชน ให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น โดยมั่นใจว่า ปีหน้าเศรษฐกิจจะดีกว่าปีนี้

จาก   https://mgronline.com    วันที่ 21 พฤศจิกายน 2560

ชง 5 ยุทธศาสตร์ปฏิรูปภาคเกษตรกร

"สภาเกษตรฯ"ชงยุทธศาสตร์สร้างความมั่นคง-เข้มแข็งของเกษตรกร-ภาคชนบทในประชุมยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี วันนี้

        นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะทำงานจัดทำยุทธศาสตร์ด้านการเกษตร สภาเกษตรกรแห่งชาติ ได้จัดการประชุม 3 ครั้ง เพื่อพิจารณากรอบจัดทำยุทธศาสตร์สร้างความมั่นคงและเข้มแข็งของเกษตรกรและภาคชนบท เพื่อเสนอในที่ประชุมยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีในวันนี้ (อังคารที่ 21 พฤศจิกายน 2560 )ภายใต้วิสัยทัศน์ “ฐานรากของชาติมั่นคง  เศรษฐกิจของประชาชนมั่งคั่งด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืน”โดยหลักการจะช่วยลดช่องว่างทางเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำทางสังคม ด้วยแนวทาง“การเติบโตอย่างมีส่วนร่วม”เป้าหมายของยุทธศาสตร์คือต้องการให้ภาคเกษตรหลุดพ้นจากการพึ่งพารัฐและเติบโตเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญในการนำพาชาติให้ก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางของประเทศ ซึ่งมีแนวนโยบายและระบบบริหารจัดการภาครัฐที่เอื้อต่อการบรรลุเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ และมีกระบวนการส่งเสริมแบบใหม่ ที่เน้นการยกระดับเกษตรกรให้เป็นผู้ประกอบการเกษตร

        สำหรับข้อเสนอต่อที่ประชุม วันนี้ ทางสภาเกษตรฯจะเสนอยุทธศาสตร์หลัก 5 ข้อคือ 1.ปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจฐานราก  2.การเชื่อมโยงความสามารถของเกษตรกรและการเข้าถึงฐานทรัพยากร  3.การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (bio economy) และความหลากหลายทางชีวภาพ  4.การพัฒนาระบบความมั่นคงทางสังคมของชุมชนเกษตรกรรม  5.การปรับเปลี่ยนโครงสร้างเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์

         วิธีการสำคัญที่กำหนดเป็นแนวทางในยุทธศาสตร์ คือ ระบบการจัดการจากล่างสู่บนตั้งแต่ครัวเรือน ชุมชนท้องถิ่นตามสภาพภูมิสังคมขึ้นมา เพื่อให้เข้าถึงทรัพยากรในการผลิตที่ใช้ฐานความรู้จากนวัตกรรมเทคโนโลยีผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่นนำสู่เกษตรกรเป็นผู้ประกอบการขนาดย่อมและองค์กรเกษตรกรเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางด้านอาหาร ที่อยู่อาศัย สุขภาพ พลังงาน  ภาครัฐต้องปรับเปลี่ยนบทบาทจากการควบคุมและกำหนด เป็นการกำกับและสนับสนุน  สร้างระบบสนับสนุนด้านนโยบาย ข้อมูล ระบบกองทุน แก้ไขกฎหมายที่สร้างข้อจำกัด มาตรการทางภาษี รวมถึงหน่วยงานที่เป็นกลไก ส่งเสริมสนับสนุนเกษตรกรให้มีอิสระในการกำหนดทิศทาง เป้าหมาย แผนงาน และบริหารจัดการด้วยตนเอง สามารถเข้าถึงทรัพยากรที่ดิน น้ำ ป่าไม้ พันธุกรรมพืชและสัตว์  เพื่อเพิ่มพูนศักยภาพในการพัฒนาการผลิตทางการเกษตรต่อไป

จาก   http://www.komchadluek.net    วันที่ 21 พฤศจิกายน 2560

ดันสหกรณ์เชื่อม‘แปลงใหญ่’ l เกษตรฯลุยยกระดับสร้างรายได้-ความยั่งยืน

กระทรวงเกษตรฯ เดินหน้าแผนยกระดับสหกรณ์ ชูนโยบายขับเคลื่อนการพัฒนาความเข้มแข็งสหกรณ์ปี 2561 หวังเชื่อมโยงเกษตรแปลงใหญ่ สร้างรายได้และความยั่งยืนแก่สมาชิก

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงความก้าวหน้าการดำเนินงานด้านสหกรณ์ ว่า ตามที่ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ดำเนินงานด้านสหกรณ์ โดยเน้นการสร้างความเข้มแข็ง การบูรณาการเพื่อให้สามารถรองรับการทำเกษตรกรรมแบบแปลงใหญ่ ซึ่งจะเป็นการสร้างความมั่นคงและสร้างโอกาสให้แก่สมาชิกสหกรณ์ รวมถึงการยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร การเพิ่มมูลค่าของสินค้าเกษตร เพื่อให้สมาชิกสหกรณ์การเกษตรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ตลอดจนการผลักดันให้สหกรณ์ ในปี 2561 ให้เกิดเกษตร 4.0 นั้น กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้รายงานความก้าวหน้า ดังนี้

นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนการยกระดับความเข้มแข็งของสหกรณ์ ปี 2559 – 2560 กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ดำเนินการยกระดับชั้นสหกรณ์ จากปี 2558 มีสหกรณ์ชั้น 1 - 2,252 แห่ง ชั้น 2 - 4,102

แห่ง ชั้น 3 - 788 แห่ง และชั้น 4 - 1,088 แห่ง ผลการดำเนินงานจนถึงปัจจุบันสามารถยกระดับสหกรณ์ชั้น 1 - 3,096 แห่ง ชั้น 2 - 3,646 แห่ง ชั้น 3 - 398 แห่ง และชั้น 4 - 780 แห่ง สามารถยกระดับสหกรณ์ที่เข้มแข็ง (ชั้น 1,2) เพิ่มขึ้น เป็นร้อยละ 85 จากเดิมร้อยละ 77 ซึ่งสามารถแก้ไขข้อบกพร่องสหกรณ์แล้วเสร็จ 1,125 แห่ง ลดมูลค่าความเสียหายได้ถึง 29,975 ล้านบาท

สำหรับนโยบายการขับเคลื่อนการพัฒนาความเข้มแข็งสหกรณ์ปี 2561 ประกอบด้วย 4 แนวทาง คือ 1) สร้างความเข้มแข็งของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรภายใต้ 5 มาตรการ ตามแผนพัฒนาความเข้มแข็งสหกรณ์ 2) ส่งเสริมสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรให้มีบทบาทขับเคลื่อนนโยบายรัฐ/ยกกระดาษ A4 จำนวน 15 โครงการสำคัญ 3) ยกระดับคุณภาพและมาตรฐานสินค้า สร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตร โดยส่งเสริมสมาชิกผลิตสินค้ามาตรฐาน GAP เกษตรปลอดภัย และเกษตรอินทรีย์ รวมทั้งสนับสนุนการแปรรูปสินค้าเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางการตลาด และ 4) พัฒนาคนบุคลากรทั้งในหน่วยงานและสหกรณ์ โดยพัฒนา Smart Officer, Smart farmer, Smart director, Smart manager เป็นต้น

จาก http://www.naewna.com วันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

‘9101’สร้างเงินหมุนเวียน5.4หมื่นล. เปิดผลสำรวจเกษตรกร2.5ล้านคนมีรายได้แน่นอน-ยั่งยืน

เกษตรสรุปผลการดำเนินโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน พบเกษตรกรส่วนใหญ่พึงพอใจมาก เนื่องจากสร้างรายได้ ลดต้นทุนการผลิต ลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนและช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งและการพึ่งพาตนเองของชุมชน รวมถึงช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมด้วย

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อฯ ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 19,783.67 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าจ้างแรงงานร้อยละ 50.19 และค่าวัสดุอุปกรณ์ ร้อยละ 49.81 ก่อให้เกิดโครงการทั่วประเทศรวม 24,147 โครงการ ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 9 ประเภท คือ 1.ด้านการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ 8,504 โครงการ 2.ด้านการผลิตพืชและพันธุ์พืช 5,037 โครงการ 3.ด้านปศุสัตว์ 3,474 โครงการ 4.ด้านการผลิตอาหาร การแปรรูปผลผลิตและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร 2,898 โครงการ 5. ด้านประมง 2,586 โครงการ 6.ด้านฟาร์มชุมชน 954 โครงการ 7.ด้านการจัดการศัตรูพืช 441 โครงการ 8.ด้านการปรับปรุงบำรุงดิน 211 โครงการ และ 9.ด้านการเกษตรอื่นๆ 42 โครงการ

นอกจากนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้ประเมินผลโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อฯ ทั้งในด้านผลสำเร็จของโครงการและผลการรับรู้และความพึงพอใจของเกษตรกรในโครงการ พบว่า โครงการนี้สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรที่เป็นแรงงานกว่า 2.25 ล้านคน เฉลี่ยคนละ 4,400 บาท อีกทั้งยังเกิดโครงการของชุมชนที่จำหน่ายผลผลิต ประมาณร้อยละ 80.78 ทำให้สร้างรายได้กลับสู่โครงการเฉลี่ย 195,200 บาท/โครงการ รวมถึงมีรูปแบบการดำเนินโครงการที่ช่วยพัฒนาการเกษตร เสริมสร้างความเข้มแข็งและการพึ่งพาตนเองของชุมชนด้วย

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวต่อว่า โครงการของชุมชนโดยส่วนใหญ่สามารถลดต้นทุนการผลิตจากการปรับปรุงบำรุงดิน การทำปุ๋ยอินทรีย์ และการจัดการศัตรูพืช และยังช่วยลดรายจ่ายในครัวเรือน จากการปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ของชุมชนเอง อีกทั้งในภาพรวมยังกระตุ้นให้เกิดกระแสเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 54,040 ล้านบาท หรือ 2.73 เท่าของงบประมาณที่ใช้ทั้งหมด และมีโครงการที่เกิดกองทุนหมุนเวียนถึงร้อยละ 62.78 ด้านสินค้าและผลิตภัณฑ์แปรรูปภายใต้โครงการต่างมีตลาดรองรับที่แน่นอนโดยบางชุมชนสามารถเชื่อมโยง

 เครือข่ายทางการตลาดได้ด้วย

“แนวทางการดำเนินงานโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อฯ ยังได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศว่า “เป็นแนวทางการดำเนินงานที่ดี และจะขยายผลสู่โครงการอื่นๆ ต่อไป” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรกล่าว

สำหรับ “โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมีเพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน” นั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2560 ให้กระทรวงเกษตรฯดำเนินโครงการดังกล่าวภายใต้วงเงิน 22,752.50 ล้านบาท โดยมีหลักการสำคัญ คือ ให้แต่ละชุมชนเป็น

 ผู้กำหนดโครงการพัฒนาโดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน และบริหารจัดการโครงการด้วยตนเอง เฉลี่ยตำบลละ 2.5

ล้านบาท ภายใต้การสนับสนุนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเชื่อว่าการดำเนินการลักษณะดังกล่าว นอกจากจะทำให้เกิดการพัฒนาที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนแล้ว ยังเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับกลไกการทำงานในพื้นที่ ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ ผ่านกระบวนการคิด วิเคราะห์ และนำไปปฏิบัติจริงเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ในการแก้ไขปัญหาให้เหมาะสมกับสภาพของท้องถิ่นและชุมชน อันจะส่งผลต่อเนื่องให้ภาคการเกษตรมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไป

จาก http://www.naewna.com วันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

“พาราควอต” ได้ไปต่ออีก 6 ปี อุตฯโบ้ยเกษตรไม่มีผลวิเคราะห์อันตราย

คณะกรรมการวัตถุอันตรายผนึกกรมวิชาการเกษตร “ตีแสกหน้า” กระทรวงสาธารณสุข “ไฟเขียว” ต่อทะเบียน “ยาฆ่าหญ้า” พาราควอต”มูลค่าหลายหมื่นล้านบาท ให้บริษัทนำเข้ามาขายได้อีก 6 ปี ส่งผลยักษ์ใหญ่ “ซินเจนทา-เอเลฟองเต้-ดาว อโกรไซแอนส์” ลอยลำ ด้านกรมวิชาการเกษตรแจ้งยังไม่มีมติแบน หากไม่ต่อทะเบียนให้ รัฐอาจถูกฟ้องได้

สืบเนื่องจากวันที่ 5 เม.ย. 60 ที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ครั้งที่ 4/2560ซึ่งมี 5 กระทรวงหลักเข้าร่วม มีมติให้ยกเลิกการใช้สารเคมี 2 ชนิด คือ”พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส” ซึ่งถูกกำหนดเป็นวัตถุอันตราย และระหว่างนี้จะไม่อนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียนเพิ่ม ไม่ต่ออายุทะเบียน (โดยปกติจะต่อ6 ปี/ครั้ง) และต้องยุติการนำเข้าภายในวันที่ 1 ธ.ค. 2560 และยุติการใช้สารเคมีทั้ง 2 ตัว ในวันที่ 1 ธ.ค. 2562 โดยระบุว่า พาราควอตจัดเป็นยาพิษที่มีความรุนแรง 47 ประเทศยกเลิกการใช้แล้ว และเตรียมกำหนดพื้นที่การใช้ “ไกลโฟเสต” ซึ่งองค์การอนามัยโลกระบุให้เป็นสารที่อาจก่อมะเร็ง และได้ส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการต่อนั้น

นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า พาราควอต อยู่ภายใต้อำนาจการดูแลของพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 โดยทางกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ควบคุมอยู่ การประชุมครั้งล่าสุดประมาณปลายเดือนตุลาคม 2560 ได้รับรายงานจากอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ในฐานะกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ว่า พาราควอตยังคงสามารถใช้ในภาคการเกษตรได้ต่อ เนื่องจากยังไม่มีผลการวิเคราะห์หรือตีความออกมาว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

“ทางกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งเป็นต้นเรื่องจะต้องเป็นผู้ฟันธงออกมาก่อนว่ามีผลต่อสุขภาพจริงหรือไม่ อันตรายแค่ไหน จากนั้นทาง กรอ. จึงจะชี้ชัดเพื่อออกคำสั่งต่อไปว่าจะแบน ห้ามขาย หรือยังสามารถนำเข้า หรือนำมาขายได้ หรือไปตรงในกฎหมายมาตราใดอย่างไร ขณะนี้คณะกรรมการยังคงประชุมกันบ่อยขึ้นเพื่อให้ได้ผลชี้ชัดกว่านี้ และร่วมกันแนะนำหาผู้เชี่ยวชาญมาช่วยดูว่าพาราควอตอันตรายต่อมนุษย์จึงเห็นควรต้องยกเลิกใช้ไปเลยหรือไม่” นายพสุกล่าว

นายอุทัย นพคุณ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้กรมวิชาการเกษตรได้ต่อทะเบียนใบอนุญาตให้สามารถใช้สารเคมีพาราควอตแล้ว 3 ราย ประกอบด้วย 1.ซินเจนทา 3 รายการ 2.เอเลฟองเต้ 1 รายการ และ 3.ดาว อโกรไซแอนส์ 1 รายการ และอีก 1 รายอยู่ระหว่างดำเนินการ ส่วนคลอร์ไพริฟอสอยู่ระหว่างดำเนินการ 1 ราย ทั้งนี้ เนื่องจากคณะอนุกรรมการวัตถุอันตรายรับมอบอำนาจพิจารณาขึ้นทะเบียน ส่วนการที่จะยกเลิกการต่อทะเบียนเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย มาตรา 18 ควบคุมอยู่ ในเมื่อยังไม่มีมติแบนสารพาราควอต หากไม่ต่อทะเบียนให้บริษัท หน่วยงานภาครัฐอาจถูกฟ้องร้องได้ ทั้งนี้ พาราควอตที่พิจารณาต่อทะเบียนไปแล้วจะมีกำหนดเวลาให้ 6 ปี

ปัจจุบันมีคำขอขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายที่รอการพิจารณาจากอนุกรรมการเพื่อพิจารณาการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายที่คงค้างการพิจารณา จำนวน 4,100 คำขอ เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นคำขอขึ้นทะเบียนสารเดิมอยู่ก่อนแล้ว และบางคำขอใช้ผลการทดลองประสิทธิภาพร่วมกัน โดยแบ่งเป็น 1.รับขึ้นทะเบียนแล้ว 987 คำขอ 2.ไม่ผ่าน 107 คำขอ 3.รอกฤษฎีกาตีความ (แผนร่วม) 1,585 คำขอ 4.ชะลอให้ไปทดลองในพืชอาหาร 619 คำขอ และ 5.รอกฤษฎีกาตีความ ทดลองในพืชอาหาร 802 คำขอ

สำหรับการต่ออายุ 3 สารเคมี ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตรายว่าจะแบนในปี 2562 หรือไม่นั้น ล่าสุดทางคณะกรรมการเห็นควรให้จำกัดเฉพาะการใช้ไกลโฟเซตยังไม่มีแนวทางยกเลิกทั้งหมด แต่ให้ผู้ประกอบการรายงานการนำเข้า การผลิต การส่งออก การจำหน่าย พื้นที่การใช้ และปริมาณคงเหลือ และต้องระบุพื้นที่ห้ามใช้ในฉลากวัตถุอันตราย ควบคุมการโฆษณา ภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)

ส่วนอีก 2 ชนิด คือ พาราควอตและควอร์ไพริฟอส ต้องส่งเรื่องหารือไปยังคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้รวบรวมข้อมูลด้านพิษวิทยาของสาร ด้านประสิทธิภาพในการใช้ ด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงด้านการห้ามใช้ในต่างประเทศ และด้านการห้ามใช้ตามข้อตกลงของอนุสัญญาประกอบกับข้อมูลจากการรับฟังความคิดเห็น รวมทั้งข้อมูลด้านสุขภาพอนามัย ที่ได้รวบรวมจากหน่วยงานด้านสาธารณสุขด้วย

“เนื่องจากกรมยังไม่มีความเชี่ยวชาญที่จะพิจารณานำข้อมูลด้านสุขภาพอนามัยมาวินิจฉัยได้อย่างชัดแจ้งว่าสารดังกล่าวมีอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ตามที่มีการกล่าวอ้างหรือไม่ จึงเห็นสมควรที่จะขอคำปรึกษาในเรื่องดังกล่าวจากคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่าง ๆ รวมไปถึงผู้แทนจากหน่วยงานด้านสาธารณสุข ตามอำนาจหน้าที่ในมาตรา 7 โดยกรมวิชาการเกษตรมีอำนาจหน้าที่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับวัตถุอันตรายตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตรายเท่านั้น”

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

มิตรผล...“ปลูก เพ(ร)าะสุข Farmer’s Market” ส่งต่อความสุขจากเกษตรกรสู่คนเมือง

 ความสุขไม่ใช่ของหายาก หนทางนำมาซึ่งความสุขไม่ได้ซับซ้อน ใคกำลังไขว่คว้าหาความสุข ลองถามตัวเองว่าตั้งขีดความสุขไว้สูงไปหรือไม่ มีความต้องการไม่มีที่สิ้นสุดหรือเปล่า นี่เองเป็นที่มาที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงให้ประชาชนชาวไทยนำไปปรับใช้ ให้มองหาความสุขใกล้ตัว และพอใจสิ่งที่ตนมี

หลายคนอาจเข้าใจว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” คือแนวคิดมุ่งวิถีเกษตรเป็นหลัก เหมาะกับเกษตรกร เท่านั้น แท้จริงแล้วหลักความพอเพียงทุกคนนำไปปรับใช้ได้ แม้กระทั่งคนในเมืองใหญ่ ก็มีความสุขอย่างเรียบง่ายได้โดยการ “ปลูก เพ(ร)าะ สุข’”

เริ่มจาก “ปลูก” ฝังทัศนคติการสร้างความสุขอย่างยั่งยืนด้วยการน้อมนำเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ให้ความรู้ด้านเกษตรทฤษฎีใหม่แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อย จัดตั้งคณะทำงานและปราชญ์เกษตรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญมาถ่ายทอดความรู้ในพื้นที่ ให้รู้จักบริโภคและดำรงตนอย่างพอประมาณ ไม่สร้างความเดือดร้อนแก่ ใช้เหตุผลนำการใช้ชีวิต เตรียมภูมิคุ้มกันรับความเปลี่ยนแปลงเสมอ หมั่นเติมความรู้และยึดมั่นในคุณธรรม

จากนั้นจึงบ่ม “เพาะ” แนวคิดและความรู้สู่การปฏิบัติจริง ผู้อาศัยในเมือง งานรัดตัว เริ่มง่ายๆ ด้วยการปรับการกินอยู่ให้เหมาะกับร่างกายและวิถีชีวิต ปรับจากผู้ซื้อเป็นผู้ผลิตเพื่อลดค่าใช้จ่าย แบ่งพื้นที่ที่อาศัยมาปลูกพืชผักสวนครัวง่ายๆ แค่ริมรั้วหรือระเบียงก็ได้ ใช้ชิวิตให้สมดุลนอกจากทำงานหรือเรียน เช่นออกกำลังกาย ทำกิจกรรมสร้างสรรค์ และพักผ่อนอย่างเพียงพอ

เมื่อบ่มแนวคิดและความรู้ที่ได้รับจนงอกงาม ก็จะพบความสุขที่ยั่งยืน จากการพึ่งพาตัวเอง ภาคภูมิใจจากพืชผักที่ตนรดน้ำพรวนดินผลิดอกออกผล สุขภาพรดีจากการบริโภคผลผลิตสะอาดปลอดภัย มีผลผลิตเหลือไปแจกผู้อื่น ที่สำคัญที่สุด คือ พึงพอใจและยินดีในสิ่งที่ตนมี เพียงเท่านี้ก็มีความสุขได้ง่ายๆ

ผู้พิสูจน์แล้วว่าแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงนำความสุขอย่างยั่งยืนมาสู่ชีวิตได้ อย่างสมศักดิ์ เครือวัลย์ ที่ปรึกษาโครงการทำตามพ่อ กินอยู่อย่างพอดี มีความสุขกับการเพาะปลูกผลผลิตในไร่ตัวเองตามแนวคิดของพ่อ เผยว่า "การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ถ้าลงมือทำจริงก็รวยได้ ด้วยปัจจัยสี่ที่อยู่ในสวน ในรั้วบ้าน เแนวคิดของพระองค์สามารถนำไปปรับใช้ได้กับชีวิตทุกคน พิสูจน์แล้วว่าเหมาะกับเกษตรกรและประเทศไทย แล้วคนเมืองก็นำไปประยุกต์ใช้ได้ พวกเราและประเทศไทยจะอยู่รอดได้ในโลกที่เปลี่ยนแปลง เริ่มจากทำแปลงผักเล็กๆ หน้าบ้านหรือริมระเบียงคอนโดฯ

ฟากของ ปรีชา หงอกสิมมา ปราชญ์เกษตรรุ่นใหม่ กล่าวถึงเส้นทางเพาะความสุขจากแนวคิดในหลวงรัชกาลที่ 9 ว่า "แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่เป็นปรัชญาสากลชี้นำแนวทางการดำรงชีวิตให้ประชาชนทุกกลุ่ม มิได้แค่เกษตรกร คนไทยทุกคนควรเรียนรู้เพื่อให้เกิดความสุขยั่งยืนท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนแปลง ผมเชื่อว่าเกษตรทฤษฎีใหม่ช่วยให้คนในชุมชนใช้ชีวิตอย่างมั่นคง สมดุลกับสิ่งแวดล้อม พอใจในสิ่งที่ตนมีและใช้ทรัพยากรในมือให้เกิดประโยชน์สูงสุด"

บรรเทิง ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มมิตรผล กล่าวถึงโครงการ “ทำตามพ่อ ปลูก เพ(ร)าะ สุข” เริ่มจากแนวคิดน้อมนำแนวพระราชดำริปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมาดูแลชาวไร่และชุมชน เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดีขึ้นและดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข” โครงการทำตามพ่อ ดำเนินการปลูกความสุขสู่ชาวไร่ ด้วยการให้ความรู้ด้านเกษตรทฤษฎีใหม่ จัดตั้งคณะทำงานและปราชญ์เกษตรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญถ่ายทอดความรู้ในพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ สุพรรณบุรี สิงห์บุรี ขอนแก่น ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ เลย อำนาจเจริญ และตาก คัดเลือกเกษตรกรที่มีความพร้อมเข้ารับการอบรม แนะนำแนวทางพัฒนาพื้นที่ ติดตามผลใกล้ชิด เพื่อสร้างพื้นฐานต่อยอดและพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน ก่อนคัดเลือกเกษตรกรที่พร้อมจัดสรรพื้นที่และถ่ายทอดความรู้ 70 คน จัดตั้ง “ศูนย์ปลูก เพ(ร)าะ สุข” จำนวน 70 แห่ง ขยายผลลัพธ์สู่ 700 และ 7,000 ครัวเรือนในปีต่อๆไป

“การดำเนินงานโครงการได้ผ่านระยะที่ 1 - ปลูกองค์ความรู้ และระยะที่ 2 – เพาะกล้าความสุข และกิจกรรม “ฝากปลูก” ไปแล้ว ขณะนี้เข้าสู่ระยะที่ 3 - ส่งต่อความสุข ในงาน “ปลูก เพ(ร)าะ สุข Farmer’s Market” โดยกลุ่มมิตรผลเป็นตัวกลางส่งต่อความสุขระหว่างชาวไร่และคนเมือง ให้คนเมืองฝากปลูกกับเกษตรกร และเกษตรกรส่งผลิตผลตรงถึงคนเมืองได้บริโภคพืชผัก ผลไม้สดๆ จากไร่ และเกษตรกรมีรายได้เพิ่ม อีกทั้งกิจกรรม “ปลูกสุขริมรั้ว” ที่เกษตรกรมาถ่ายทอดความรู้ปลูกพืชผักสวนครัวให้คนเมืองปลูกบริโภคเองที่บ้าน แบ่งปันประสบการณ์จริงจากการดำรงชีวิตอย่างมีสุขรอบด้านและมีภูมิคุ้มกันตามแนวคิดพอเพียงที่น่าสนใจและทำได้ง่ายๆ แม้อาศัยในเมืองใหญ่” นายบรรเทิงเสริม

ผู้ร่วมงาน “ปลูก เพ(ร)าะ สุข Farmer’s Market” ยังได้พบกับการออกร้านจำหน่ายพืชผลทางเกษตรคุณภาพ ปลอดสารจากเกษตรกรในราคากันเอง กิจกรรมร่วมแบ่งปันแนวคิดสร้างสุข โซนนิทรรศการและเวิร์คชอป “ปลูกสุขริมรั้ว” ร่วมแบ่งปันแรงบันดาลใจการใช้ชีวิตพอเพียงจากปราชญ์เกษตรและเกษตรกร และกิจกรรมไฮไลท์ “ฝากปลูก” สื่อกลางส่งต่อความสุขจากชาวไร่สู่คนเมืองด้วยผลผลิตคุณภาพ เพื่อตอกย้ำว่าความสุขนั้นปลูกได้ทุกที่และส่งต่อให้กันได้ไม่รู้จบ

หนึ่งในเซเลบฯ ร่วมสุขที่เข้าร่วมกิจกรรมฝากปลูกอย่าง “จุ๋ย” จรสพรรณ สวัสดิวัตน์ ณ อยุธยา ทายาทธุรกิจพลังงานทดแทนและเจ้าของแบรนด์ปูดองออนไลน์สุดฮิต “ปูดองอันยอง” เผยความประทับใจจากกิจกรรมนี้ว่า “จุ๋ยชอบเข้าครัวและพิถีพิถันคัดเลือกวัตถุดิบ จีงไม่รีรอเข้าร่วมกิจกรรมฝากปลูกเพื่อได้ทานผักผลไม้สดๆ คุณภาพดีจากไร่ และสนับสนุนพี่ๆ เกษตรกรพึ่งพาตัวเอง มีรายได้จากการปลูกพืชหมุนเวียน เป็นการแบ่งปันส่งต่อความสุขกันง่ายๆ ที่ทำแล้วอิ่มเอมใจมากค่ะ”

เช่นเดียวกับ “พราว” ภูมิใจ ว่องกุศลกิจ อีกหนึ่งเซเลบที่ใช้ชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง กล่าวถึงกิจกรรมฝากปลูกว่า “กิจกรรมนี้พราวได้เห็นความสุขที่แท้จริงจากการน้อมนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ บางคนนึกว่าเกษตรทฤษฎีใหม่ต้องหยิบเครื่องมือไปทำสวนทำไร่ แต่จริงๆ ทุกคนสามารถใช้ชีวิตอย่างพอเพียงโดยปรับให้เข้ากับวิถีชีวิตตัวเอง พราวเองก็ปลูกผักทานเองเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์และเริ่มพึ่งพาตัวเอง พอลงมือทำสำเร็จสักอย่าง เราก็จะสามารถพึ่งพาตนเองในเรื่องอื่นได้อีกค่ะ"

จาก https://www.siamrath.co.th  วันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ช้างติดปีก “โดรน” เปิดตลาดบริการ เกษตร-โลจิสติกส์

 “เจ้าสัวเจริญ” โดดลุย “โดรน”ธุรกิจเครื่องบินอากาศยานไร้คนขับ ใช้ “ทีซีซี เทคโนโลยี”ผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานทางไอทีธุรกิจในเครือเป็นหัวหอก แง้มแผนลงทุนจากธุรกิจการเกษตร-โลจิสติกส์มุ่งบินโดรนเข้าสู่ธุรกิจบริการ

นายอรุณวิชย์ วัฒนาพัฒน์กิตติ community creator สำนักงานดรีมออฟฟิศจาก C ASEAN ในเครือไทยเบฟกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในวันที่ 23 พฤศจิกายนนี้จะมีการเปิดตัว โครงการ DATA THON 2 “Drone as a Service”ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ หรือโดรน (drone) สู่การให้บริการเชิงพาณิชย์ โดยบริษัท ทีซีซี เทคโนโลยี จำกัด ดำเนินการร่วมกับพันธมิตรหลายฝ่าย อาทิ C ASEAN (บริษัท ซี เอ ซี)-เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (ซอฟต์แวร์ปาร์ก)-สำนักงานพัฒนานวัตกรรมแห่งชาติ และยังมีพันธมิตรจากกลุ่มสมาชิกประเทศอาเซียน เช่น กระทรวงวิทยาศาสตร์จาก สปป.ลาว เข้าร่วมด้วย

ทั้งนี้ภายในงานครั้งนี้จะมีการจัดสัมมนาในหัวข้อ Moving Forward with Drone หลังจากนั้นระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน-2 ธันวาคม จะมีการจัดกิจกรรมแคมป์สำหรับนักศึกษาและบุคคลทั่วไป รวม 8 กลุ่ม (40 คน) ขึ้นที่ C ASEAN เพื่อฝึกอบรมและเข้าร่วมการทดสอบการใช้ “ระบบคราวน์” เชื่อมต่อกับ “โดรน” เพื่อประมวลผลข้อมูลและจะมีการประกวดชิ้นงาน โดยผู้ชนะเลิศจะได้รับรางวัลเงินสดสูงสุด 100,000 บาทด้วย

 “เทคโนโลยีโดรนเป็นเทคโนโลยีที่กำลังเป็นกระแสมาแรงทั่วโลกขณะนี้ ทางทีซีซี เทคฯ เล็งเห็นถึงศักยภาพและโอกาสในการลงทุน เพราะปัจจุบันไทยได้เริ่มใช้เทคโนโลยีโดรนมากขึ้น แต่ใช้ในการถ่ายภาพเท่านั้น ทั้งที่จริง ๆ แล้วเทคโนโลยีนี้มีการพัฒนาอย่างกว้างขวางและสามารถนำไปใช้ในด้านอื่น ทีซีซี เทคฯ มองถึงก้าวต่อไปของการลงทุนเพิ่มแน่นอน โดยเฉพาะการพัฒนาเพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมด้านการเกษตร ด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ และด้านการสำรวจพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยด้วย ซึ่งในการสัมมนาและกิจกรรมเปิดตัวโครงการนี้จะมีการทดสอบการใช้ระบบคราวน์มาใช้ในการประมวลผลเก็บข้อมูลที่ได้จากโดรนแบบออนไลน์ จากปกติที่ประเทศไทยจะใช้ระบบออฟไลน์ถ่ายภาพเก็บข้อมูล หากพัฒนาระบบนี้มาเชื่อมโยงจะทำให้เรามีข้อมูล bigdata ที่จะสามารถนำไปเป็นประโยชน์ต่อยอดด้านอื่น ๆ ด้วย โดยทางทีซีซีฯก็มีบริษัทลูกที่ทำธุรกิจโดรนอยู่แล้วภายใต้ชื่อ บริษัท ยู เอ วี” นายอรุณวิชย์กล่าว

ด้านนางสาวนันทัชพร จิระวิชชาสกุล community creator ผู้รับผิดชอบโครงการ DATA THON 1 ระบุว่า โครงการนี้จะเป็นการเปลี่ยนโจทย์จากเดิม โดยดาต้าตรอน เฟส 1 จะเน้นเรื่องเทคโนโลยีด้านเกษตรและอาหาร แต่ที่ปรับโจทย์มาเป็น “โดรน” ก็เพื่อต่อยอดสู่การบริการ เพราะปัจจุบันตลาดโดรนในไทยปีนี้มีโอกาสจะขยายตัวเป็นมูลค่า 800-1,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีมูลค่าประมาณ 600 ล้านบาท และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 1,200 ล้านบาทในปี 2561 แต่ผู้ประกอบการไทยนิยมใช้เทคโนโลยีนี้ไปเพื่อการถ่ายภาพ คิดเป็นสัดส่วน 40% และอีก 30% ใช้เพื่องานอดิเรก “ทางทีซีซีฯมองว่าเทคโนโลยีโดรนสามารถต่อยอดไปใช้ด้านอื่น ๆ ได้อีกมาก” น.ส.นันทัชพรกล่าว

เบื้องหลังคือ ไทยเบฟ

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ตรวจสอบพบว่า บริษัททีซีซี เทคโนโลยี เป็นบริษัทลูกของกลุ่มไทยเบฟ ทำธุรกิจศูนย์บริการข้อมูล (data center) และระบบคราวน์ ก่อตั้งขึ้นมานับตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม 2544 มีทุนจดทะเบียน 430 ล้านบาท เพื่อให้บริการข้อมูลสารสนเทศ บริการโครงสร้างพื้นฐานระบบสารสนเทศ โดยมีกรรมการประกอบด้วย นายชัยยุทธ ปิลันธน์โอวาท หรือ นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล หรือนายปณต สิริวัฒนภักดี หรือนายโฆษิต สุขสิงห์ หรือนางนิดดา ธีระวัฒนชัย หรือนายวรดิษฐ์ วิญญรัตน์ ซึ่งถือเป็นคีย์แมนคนสำคัญของบริษัทนี้ ส่วนกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทนี้ประกอบไปด้วย บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นในสัดส่วน 51% และบริษัททีซีซี แอสเซ็ทส์ (ประเทศไทย) ถือหุ้น 49%

ส่วน C ASEAN จดทะเบียนในนามบริษัท ซี เอ ซี จำกัด ก่อตั้งเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2556 เป็นกิจการขนาดใหญ่ที่มีทุนจดทะเบียน 30 ล้านบาท ประกอบธุรกิจเพื่อบริการอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนธุรกิจซึ่งมิได้มีการจัดประเภทไว้ในที่อื่น การบริการที่สนับสนุนการศึกษา โดยมีนายวิเชฐ ตันติวานิช และ ดร.การดี เลียวไพโรจน์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ ส่วนรายชื่อกรรมการทั้งหมดประกอบด้วย นายฐาปน สิริวัฒนภักดี, นายพลภัทร สุวรรณศร, นายวิเชฐ ตันติวานิช, นายโฆษิต สุขสิงห์, นายเอกพล ณ สงขลา และ ดร.การดี เลียวไพโรจน์ ผู้ถือหุ้นใหญ่ 99.99% คือ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) รองลงมาคือ บริษัท ทศภาค จำกัด ถือหุ้น 0.0003% และบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ถือหุ้น 0.0003%

ตลาดโลก 4.54 ล้านล้านบาท

สำหรับมูลค่าตลาดโดรนนั้น บริษัทไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส คอนซัลติ้ง (PwC Consulting) ได้ประเมินมูลค่าว่า ในปี 2563 มูลค่าตลาดโดรนทั่วโลกจะอยู่ที่ 127,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 4.54 ล้านล้านบาท จากปัจจุบันมูลค่าตลาดอยู่ที่ 2,000 ล้านเหรียญหรือประมาณ 72,000 ล้านบาท พร้อมระบุ “โดรน” จะมีอิทธิพลต่อหลาย ๆ อุตสาหกรรมมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากสามารถทำงานแทนแรงงานมนุษย์ได้และมีคุณสมบัติเด่นคือ สามารถรายงานผลกลับได้อย่าง “เรียลไทม์” มีความปลอดภัยสูงและต้นทุนต่ำ

ทั้งนี้ 3 อุตสาหกรรมหลักที่โดรนจะเข้ามามีบทบาทสูง ได้แก่ 1)อุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) คาดว่าจะมีมูลค่าตลาดโดรนสูงที่สุดถึง 45,200 ล้านเหรียญ หรือราว 1.62 ล้านล้านบาท ภายในปี 2563 โดยจะใช้โดรนเพื่อสำรวจพื้นที่เพื่อข้อมูลเชิงลึกสำหรับการตัดสินใจลงทุน ซ่อมบำรุง หรือแม้แต่สำรวจสินค้าคงคลัง 2)อุตสาหกรรมการเกษตร (agriculture) คาดว่าในปี 2563 จะมีมูลค่าตลาดโดรน 32,400 ล้านเหรียญ หรือ 1.16 ล้านล้านบาท โดยจะใช้เพื่อสำรวจพื้นที่เก็บข้อมูลทำแผนที่ 3 มิติ วิเคราะห์ดินและหว่านเมล็ด และ 3)อุตสาหกรรมคมนาคมขนส่ง (transport) คาดว่าจะมีมูลค่าตลาด 13,000 ล้านเหรียญ หรือ 465,000 ล้านบาท โดยใช้ขนส่งสินค้าให้เข้าถึงพื้นที่ได้คล่องตัวขึ้นและต้นทุนต่ำ

ส่วนการกำกับดูแลการใช้โดรนของประเทศไทยนั้น ทางกระทรวงคมนาคมได้ออกประกาศหลักเกณฑ์การขออนุญาตและเงื่อนไขในการบังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอก พ.ศ. 2558 ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดูในการจัดระเบียบเพื่อความปลอดภัยที่จะทำให้ตลาดโดรนในเมืองไทยขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว

และล่าสุดในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้มีมติ (11 ต.ค. 2560) ให้ผู้ครอบครอง “โดรน” ต้องขึ้นทะเบียนกับ กสทช.ก่อนใช้งาน ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ “ตั้งแต่มีการประกาศให้ขึ้นทะเบียน ตั้งแต่วันที่ 12 ต.ค.จนถึงวันที่ 14 พ.ย. 2560 มีผู้ขึ้นทะเบียนกับสำนักงาน กสทช.แล้ว 4,703 ลำ แบ่งเป็นขึ้นทะเบียน ณ ส่วนกลาง 1,980 ลำ ส่วนภูมิภาคขึ้นทะเบียน 2,723 ลำ แต่ตัวเลขนี้ยังไม่ได้รวมข้อมูลผู้ที่ไปขึ้นทะเบียนกับสถานีตำรวจทั่วประเทศ ซึ่งกำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อส่งกลับมาที่ กสทช.อยู่” นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.กล่าว

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ธพ.จี้รง.เอทานอล “ลดราคา” ดึงการใช้เพิ่มแก้ล้นระบบ

ธพ.ตอกกลับโรงงานเอทานอล เร่งขยายโรงงานแข่งกันเองจนล้นระบบ ยันตามแผน AEDP ระบุชัดเจนความต้องการใช้ในปี”60 แค่ 4 ล้านลิตร/วัน ย้อนถามโรงงานเอทานอลช่วย “ลดราคา” เอทานอลเพื่อถ่างส่วนต่างราคาถูกลงอีกหรือไม่ หวังกระตุ้นการใช้เพิ่ม ด้าน สนพ.อยู่ระหว่างคุ้ยต้นทุนราคาเหมาะสมหรือไม่

นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตามที่ผู้ผลิตเอทานอลได้ยื่นหนังสือถึงกระทรวงพลังงาน เพื่อให้มีมาตรการแก้ไขสถานการณ์การผลิตเอทานอลที่ล้นระบบอยู่เกือบ 2 ล้านลิตร/วัน เนื่องจากมีโรงงานใหม่รวมกับโรงงานเดิมผลิตเข้าระบบสูงถึง 5.8 ล้านลิตร/วัน ขณะที่ความต้องการใช้เอทานอลมีแค่ 4 ล้านลิตร/วัน กรมธุรกิจพลังงานขอชี้แจงว่า อุตสาหกรรมเอทานอลเป็น “ตลาดเสรี” การตัดสินใจว่าจะลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตเอทานอลหรือไม่ ขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการเอง

ซึ่งเมื่อพิจารณาจากแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก หรือ AEDP (Alternative Energy Development Plan 2558-2579) ได้คาดการณ์ว่า ในปี 2560 จะมีความต้องการใช้อยู่ที่ไม่เกิน 4 ล้านลิตร/วันเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการสามารถส่งออกเอทานอลได้ ส่วนการอ้างว่าราคาไม่สามารถแข่งขันได้นั้น ก็ควร “ลดราคา” เพราะปัจจุบันราคาเอทานอลที่ผลิตในประเทศถือว่าค่อนข้างสูงที่ 24-25 บาท/ลิตร ทั้งที่ราคาวัตถุดิบทั้งกากน้ำตาลและมันสำปะหลังไม่ได้สูงมากเมื่อเทียบกับก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานได้ดำเนินการส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานทดแทนไม่ว่าจะเป็นเอทานอล หรือไบโอดีเซล มาอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงยังคงชดเชยราคาให้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ (E20) มากกว่า 3 บาท/ลิตร เพื่อให้มีราคาถูกกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับน้ำมันแก๊สโซฮอล์ (E10) หวังจูงใจให้ผู้บริโภคหันมาเติม แต่ความต้องการใช้ก็ไม่สามารถเพิ่มขึ้นได้อย่างรวดเร็วและยังต้องใช้เวลาอีกสักระยะ สำหรับการยกเลิกน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 ไม่มีการพิจารณาแน่นอน เพราะต้องการให้ผู้บริโภคเป็นตัวตัดสินมากกว่าว่าต้องการใช้น้ำมันประเภทใด

“ไม่รู้ว่าจะแข่งกันตั้งโรงงานเอทานอลทำไม ในเมื่อดีมานด์มันจำกัด แต่แปลกซัพพลายล้น แต่ราคาเอทานอลไม่เคยลดลง ตอนราคาน้ำมันแพง ๆ โรงงานเอทานอลก็ฟันกำไรไปมากมายก็ไม่เห็นจะบ่นอะไรกัน การส่งเสริมเอทานอลของ ก.พลังงาน เราก็ทำมาตลอด แต่ครั้งนี้เราคิดว่ามันเป็นเรื่องของการตัดสินใจที่ผิดพลาดของผู้ประกอบการเอง ก็ต้องแก้ไขกันเอง”

นายวิฑูรย์กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ขณะนี้กรมธุรกิจฯมีแนวคิดว่า เพื่อส่งเสริมให้มีการใช้เอทานอลเพิ่มขึ้นตามที่ผู้ผลิตเอทานอลต้องการนั้น มีความเป็นไปได้หรือไม่ ที่ผู้ผลิตเองจะ “ปรับลด” ราคาเอทานอลลงมา เพื่อเพิ่มส่วนต่างราคาแก๊สโซฮอล์ (E20) ให้มีราคาถูกลงไปอีก ซึ่งเชื่อมั่นว่าความต้องการใช้จะเพิ่มขึ้นได้แน่นอน และทำให้อุตสาหกรรมเอทานอลอยู่ได้อย่างยั่งยืนด้วย อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตว่า ราคาเอทานอลที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน คือ หากใช้กากน้ำตาล (โมลาส) เป็นวัตถุดิบ มีราคาอยู่ที่ 24 บาท/ลิตร ส่วนที่ใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบ มีราคาอยู่ที่ 25 บาท/ลิตรนั้น เป็นการกำหนดราคาที่เหมาะสมหรือไม่ โดยขณะนี้ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) อยู่ระหว่างศึกษาเพื่อปรับโครงสร้างราคาเอทานอลและไบโอดีเซล ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็ว ๆ นี้

รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า สำหรับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนฯ วางเป้าหมายของการใช้พลังงานทดแทนในปี 2579 จะมีความต้องการใช้เอทานอลอยู่ที่ 11.30 ล้านลิตร/วัน ส่วนความต้องการใช้ไบโอดีเซลอยู่ที่ 14 ล้านลิตร/วัน รวมถึงยังระบุศักยภาพการผลิตเอทานอลในปี 2560 อยู่ที่ 4.35 ล้านลิตร/วัน ส่วนในปี 2562 อยู่ที่ 5.09 ล้านลิตร/วัน และในปี 2569 จะผลิตอยู่ที่ 7.38 ล้านลิตร/วัน

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

โฆษกรัฐเผยกรมชลฯทยอยระบายน้ำจากพื้นที่ลุ่มต่ำลงทะเล

โฆษกรัฐบาลเผย กรมชลประทานทยอยระบายน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำลงทะเล เผย 8 จังหวัดยังมีน้ำท่วม นายกฯสั่งช่วยผู้ประสบภัยทุกด้าน

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิดโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้รับรายงานสถานการณ์อุทกภัยล่าสุดว่า ขณะนี้ยังคงมีน้ำท่วมขังใน 8 จังหวัด ได้แก่ จ.พิจิตร นครสวรรค์ อ่างทองพระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี หนองบัวลำภู ขอนแก่น และมหาสารคาม รวม 28 อำเภอ 223 ตำบล 1,369 หมู่บ้าน

"กรมชลประทานได้ปรับลดการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 1,500 ลบ.ม./วินาที และจะปรับลดลงอย่างต่อเนื่องเพื่อให้พื้นที่บริเวณคลองบางบาล คลองโผงเผง จ.พระนครศรีอยุธยา เข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด โดยก่อนหน้านี้ได้ระบายน้ำเข้าระบบชลประทานฝั่งตะวันออกและตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างเต็มศักยภาพ พร้อมกับรับน้ำเข้าทุ่งในพื้นที่ลุ่มต่ำ เพื่อลดปริมาณน้ำไหลลงสู่พื้นที่ตอนล่าง

โดย จ.พระนครศรีอยุธยา ได้เริ่มเก็บน้ำในพื้นที่ 600,000 ไร่ ของอ.บางบาลและอ.ผักไห่ ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย.60 เป็นต้นมา รวมปริมาณน้ำที่เก็บกักได้ 100 ล้าน ลบ.ม. หรือบรรจุได้เท่ากับเขื่อนป่าสัก และระหว่างนั้นได้ปล่อยปลาให้เกษตรกรนำไปเลี้ยงด้วยตามแนวทางปล่อยน้ำเข้านา ปล่อยปลาเข้าทุ่ง"พล.ท.สรรเสริญกล่าว

ขณะนี้ กรมชลประทานได้ทยอยระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำ เริ่มจากทุ่งบางระกำ จ.พิษณุโลก เป็นทุ่งแรกทำให้ระดับน้ำลดลงเรื่อย ๆ แต่จะคงปริมาณน้ำไว้ราว 100 ล้าน ลบ.ม. เพื่อให้เกษตรกรในทุ่งได้ใช้สำหรับเตรียมแปลงเพาะปลูกพืชในช่วงฤดูแล้งต้นเดือน ธ.ค. ตามที่ตกลงไว้กับเกษตรกรได้อย่างเพียงพอ เช่นเดียวกับพื้นที่ลุ่มต่ำตอนล่าง 12 ทุ่งของลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยยืนยันว่าน้ำที่ระบายออกจากทุ่งทั้งหมดจะไหลผ่านระบบชลประทานไปลงแม่น้ำยม แม่น้ำน่าน แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน ลงสู่ทะเล ซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ที่น้ำไหลผ่าน

"นายกฯ กำชับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะต้องดำเนินการในลักษณะเดียวกันในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ยังมีน้ำท่วมขังด้วย โดยให้กรมชลประทาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และหน่วยทหาร ช่วยกันระดมสรรพกำลังและเครื่องไม้เครื่องมือเร่งระบายน้ำอย่างเหมาะสมพร้อมทั้งแจ้งเตือนประชาชนใน 19 จังหวัดภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้ ให้ระมัดระวังและเตรียมพร้อมรับมือกับภาวะฝนตกหนักในระหว่างวันที่ 18 - 24 พ.ย. 60 ตามคำพยากรณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาไว้ด้วย

" ทั้งนี้ สำหรับพื้นที่ที่ประสบภัยนั้นทุกหน่วยงานได้บูรณาการเร่งให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ เช่น แจกจ่ายถุงยังชีพอย่างต่อเนื่อง ระดมเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย รวมทั้งเต็นท์ที่พัก รถผลิตน้ำดื่ม รถไฟฟ้าส่องสว่าง รถบรรทุก รถสุขาเคลื่อนที่เรือท้องแบน และเครื่องสูบน้ำ สนับสนุนการแก้ไขปัญหาพร้อมกับติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำเพิ่มเติม และสำรวจความเสียหายเพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูเยียวยาที่ครอบคลุมการช่วยเหลือทุกด้านต่อไป

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 

อาเซียนคือจุดเชื่อมความร่วมมือ

ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐอเมริกาที่ประเทศฟิลิปปินส์ต้นสัปดาห์นี้ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ยกย่องบทบาทของ “อาเซียน” ในการเป็นเวทีศูนย์กลางในการหารือสร้างความร่วมมือ และยํ้าว่าสหรัฐฯต้องการเสริมสร้าง “มิตรภาพและความเป็นหุ้นส่วน” กับ 10 ชาติอาเซียน

 นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวปาฐกถาเปิดประชุม “อาเซียน-สหรัฐฯ ซัมมิต” ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ว่ารัฐบาลสหรัฐฯต้องการเห็นพันธมิตรในอาเซียนมีความเข้มแข็ง เป็นอิสระ และมีความเจริญรุ่งเรือง “ผมขอกล่าวในนามประชาชนชาวอเมริกัน 350 ล้านคนที่ส่งถ้อยคำแห่งมิตรภาพและความเป็นหุ้นส่วนมายังท่านทั้งหลาย ผมมาที่นี่เพื่อเสริมสร้างสันติภาพ ความมั่นคง และร่วมมือกับทุกท่านในการดำรงไว้ซึ่งอิสรภาพที่แท้จริงและความเปิดกว้างแห่งภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก” การประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมย่อยที่เกิดขึ้นคู่ขนานกับการประชุมระดับผู้นำของอาเซียนครั้งที่ 31 ซึ่งปีนี้ฟิลิปปินส์เป็นเจ้าภาพ

TP10-3314-1Bผู้นำสหรัฐฯกล่าวชื่นชม 10 ชาติอาเซียนว่ามีความเป็นปึกแผ่นมาตลอด 5 ทศวรรษที่ผ่านมา และเป็นการรวมกลุ่มที่สำคัญของชาติที่ร่วมกันเผชิญสถานการณ์ต่างๆ ทั้งระดับภูมิภาคและระดับโลกด้วยฉันทามติ สหรัฐฯขอให้การสนับสนุนบทบาทของอาเซียนในการเป็นเวทีศูนย์กลางแห่งความร่วมมือที่สำคัญ ซึ่งจะนำความมั่นคงและมั่งคั่งมาสู่ประชาชนทุกคนของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกและรวมถึงประชาชนชาวอเมริกันด้วย ไม่เพียงเท่านั้น สหรัฐฯยังต้องการแสวงหาพันธมิตรทางเศรษฐกิจ ตลอดจนความเป็นหุ้นส่วนที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นธรรมและต่างตอบแทนกัน อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่าย

บาร์ไลน์ฐานสหรัฐฯเองมีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจนับตั้งแต่ที่เขาได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งในปีที่ผ่านมา โดยมูลค่าหลักทรัพย์ของบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯได้ขยับสูงขึ้นคิดเป็นมูลค่าถึง 5.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อีกทั้งยังมีระดับอัตราการว่างงานตํ่าที่สุดเท่าที่เคยมีมาในรอบ 17 ปี บริษัทอเมริกันเริ่มกลับมาลงทุนขยายธุรกิจในประเทศกันมากยิ่งขึ้น สภาวะต่างๆ ที่ดีขึ้นนี้ทำให้บรรยากาศการค้าการลงทุนมีความกระตือรือร้นในระดับสูงสุด ซึ่งน่าจะเป็นสัญญาณที่ดีต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยเช่นกัน เนื่องจากสหรัฐฯและอาเซียนมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันตลอดมา เป็นที่สังเกตว่า ในการเยือนเวทีการประชุมระดับผู้นำของอาเซียนครั้งนี้ ประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนซึ่งมักจะเป็นประเด็นอ่อนไหวที่ชาติมหาอำนาจตะวันตกนำมาติเตียนชาติสมาชิกอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นฟิลิปปินส์ เมียนมา รวมทั้งไทย อยู่เสมอๆ ไม่ ได้ถูกผู้นำสหรัฐฯหยิบยกขึ้น มากล่าวถึงแต่อย่างใด ทำให้บรรยากาศ มีความเป็นมิตรเกินคาด

จาก http://www.thansettakij.com วันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

เงินบาทแข็งปึ้ก ทุบสถิติ30เดือน

ประเด็น: จี้บอร์ดกองทุนฯเคลียร์หนี้เกษตรล็อตแรก166, เอดีบีขึ้นแนวโน้มเอเชียส่งออกฟืนกระตุ้นเศรษฐกิจ , ธปท-ยกหลักเกณฑ์ชัด-อนันต์-พ้นบอร์ดแบงก์

เงินบาทแข็งสุดรอบ 30 เดือน หลุด 33 บาท/ดอลลาร์ ลุ้นมีปัจจัยส่งผลให้แข็งค่าได้ต่อในระยะใกล้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า เงินบาทแข็งค่าทะลุระดับ 33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ 32.83 บาท/ดอลลาร์ นับเป็นสถิติแข็งค่าที่สุดในรอบ 30 เดือน สอดคล้องกับกระแสการแข็งค่าของสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชีย เนื่องจากทิศทางการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ต่อเนื่อง ประกอบกับในช่วงนี้ขาดปัจจัยหนุนใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มเติม หลังจากตลาดรับรู้โอกาสของการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในเดือน ธ.ค.แล้ว รวมถึงแผนปฏิรูปภาษีสหรัฐที่ยังอยู่ระหว่างการหาข้อสรุปร่วมกันในสภาคองเกรส

ด้านปัจจัยฝั่งเงินบาท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลอย่างต่อเนื่องของไทย นับเป็นปัจจัยเชิงโครงสร้างสำคัญที่หนุนให้เงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางที่แข็งค่า ทั้งที่เศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวอย่างเปราะบาง การใช้จ่ายในประเทศยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ส่งผลต่อเนื่องให้การฟื้นตัวของการนำเข้ายังคงอยู่ในกรอบจำกัดด้วยเช่นกัน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เงินบาทอาจจะยังมีโอกาสเคลื่อนไหวในกรอบที่แข็งค่ากว่าระดับ 33.00 บาท/ดอลลาร์ได้อีก โดยคาดว่าทิศทางของค่าเงินบาทในไตรมาสสุดท้ายของปี ยังน่าจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางที่สอดคล้องกับธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศ ขณะที่สถานการณ์การลงทุนของนักลงทุนต่างชาติก็อาจจะทยอยชะลอลงในช่วงนับถอยหลังเข้าสู่ช่วงสิ้นปี

อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่ยังคงจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด จะเป็นเรื่องความคืบหน้าเกี่ยวกับการผลักดันแผนปฏิรูปภาษีของสหรัฐในสภาคองเกรส ตลอดจนสัญญาณเกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดในปีหน้า

สำหรับปัจจัยที่กำหนดทิศทางของเงินบาทในปีหน้านั้น มองว่า ปัจจัยพื้นฐานจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่ยังมีโอกาสเกินดุลต่อเนื่อง ที่ประมาณ 38.6 พันล้านดอลลาร์ ตามตัวเลขคาดการณ์ของ ธปท.อาจจะยังคงเป็นปัจจัยหนุนทิศทางเงินบาท เพราะแม้เงินดอลลาร์จะยังมีโอกาสกลับมาแข็งค่าได้ในช่วงปีข้างหน้า ตามสัญญาณคุมเข้มนโยบายการเงินของเฟด ซึ่งยังมีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายและทยอยลดงบดุล และอาจมีแรงหนุนเพิ่มเติมหากแผนปฏิรูปภาษีของสหรัฐสามารถหาข้อสรุปที่ลงตัวได้

ด้านปัจจัยหนุนค่าเงินดอลลาร์ทั้งสองเรื่องนั้น ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในเรื่องจังหวะเวลาที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในระหว่างปี และช่วงเวลาที่จะเริ่มเห็นความชัดเจนของการเดินหน้าได้จริงตามแผนปฏิรูปภาษีของสหรัฐ ดังนั้นความผันผวนของสถานการณ์ค่าเงินดอลลาร์ จึงยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ภาคธุรกิจจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และต้องให้ความสำคัญกับการป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ลุ้นเลขาฯอาเซียนคนใหม่ ขับเคลื่อนนโยบาย

โดย...ปิยนุช ผิวเหลือง

บริษัท บางกอกโพสต์ ได้จัดงาน “บางกอกโพสต์ ฟอรัม 2017” เมื่อวันที่ 16 พ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อใช้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน ถึงความร่วมมือกันภายหลังการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเป็นทางการ ย่างเข้าสู่ปีที่ 3 ภายในงานได้รับเกียรติจาก อภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ ร่วมกล่าวปิดงานพร้อมแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับหัวข้อการครบรอบ 50 ปีอาเซียน

อภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ สะท้อนความคิดเห็นว่าการก่อตั้งอาเซียนเกิดขึ้นเมื่อปี 2510 ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความร่วมมือที่ทำให้อาเซียนอยู่รอดได้กว่า 50 ปี โดยภูมิภาคนี้มีอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) สูงกว่าค่าเฉลี่ยจีดีพีโลกในปี 2520 เริ่มมีข้อตกลงทางการค้าในภูมิภาคร่วมกัน กระทั่งขยายเป็นเขตการค้าเสรี (FTA) และขยายเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในที่สุด ซึ่งกำจัดกำแพงภาษีเหลือเพียง 0-5% เท่านั้น แต่อาเซียนพบอุปสรรค มาตรฐานสินค้าเดียวกันและมาตรฐานที่แตกต่างกัน ทำให้ไม่สามารถทำการค้าร่วมกันได้อย่างเสรี

ทั้งนี้ อาเซียนควรเร่งขจัดอุปสรรคทางการค้าทั้งสองด้าน คือ ภาษีและมาตรฐานสินค้าเพื่อส่งออกระหว่างกัน ขณะที่อี-คอมเมิร์ซเข้ามามีบทบาทหลักของการค้ายุคปัจจุบัน อาเซียนต้องเร่งปรับตัวและปรับกฎระเบียบเอื้อต่อการเติบโตของอี-คอมเมิร์ซซึ่งอี-คอมเมิร์ซจะเป็นเครื่องมือหลักให้กับผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่เป็นภาคส่วนธุรกิจสำคัญของแต่ละประเทศ

อย่างไรก็ตาม การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่ผ่านมาได้กล่าวถึงประเด็นความมั่นคงทางอาหาร ดังนั้นทิศทางการพัฒนาของกลุ่มในประเทศอาเซียนหลังจากนี้ จะให้ความสำคัญด้านเทคโนโลยีการเกษตรมากขึ้น มุ่งเน้นเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าการเกษตร ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนาและส่งออกสินค้าเกษตร แต่พบว่า 1-10 ประเทศแรกที่มีการส่งออกสินค้าเกษตรเป็นประเทศกลุ่มพัฒนาแล้ว ขณะที่ความท้าทายในการพัฒนาภาคส่วนเกษตรกรรมของอาเซียน คือ การสร้างสมาร์ทฟาร์เมอร์ โดยการประชุม สุดยอดผู้นำอาเซียนปีล่าสุด ยังกล่าวถึงข้อตกลงการเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นในการเคลื่อนย้ายถิ่นฐาน และการลงทุนในภูมิภาคอาเซียนด้วย

สำหรับในระดับอนุภูมิภาคไทยเป็นส่วนหนึ่งของซีแอลเอ็มวีที (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม ไทย) ซึ่งค่าเฉลี่ยจีดีพี 4.5% และเป็นกลุ่มประเทศที่มีประชากรวัยทำงานจำนวนมาก มีแนวโน้มการขยายตัวของชนชั้นกลางต่อเนื่อง เป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่ดึงดูดการลงทุน และประเด็นสำคัญอาเซียนต้องตระหนักถึงการขับเคลื่อนความร่วมมือทางเศรษฐกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น คือการแก้ไขปัญหาเชิงนโยบายที่เป็นอุปสรรคทางการค้าการลงทุนและเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ เลขาธิการอาเซียนจะต้องมีบทบาทสร้างการเปลี่ยนแปลงในภูมิภาค ที่ผ่านมาพบว่ามีผู้ดำรงตำแหน่งที่เหมาะสมและไม่เหมาะสม อยากให้อาเซียนมีกระบวนการคัดเลือกเลขาธิการอาเซียนที่ดีขึ้น เพื่อสร้างความเปลี่ยน แปลงด้านความร่วมมือในภูมิภาคให้เห็นเป็นรูปธรรม รวมถึงการพัฒนาทรัพยากรบุคคลในภูมิภาคสำคัญอย่างมากในยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หรืออุตสาหกรรมดิจิทัลเทคโนโลยีใหม่หลั่งไหลเข้ามามากมาย ซึ่งเข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิตและรูปแบบธุรกิจจากเดิมอย่างสิ้นเชิง จำเป็นต้องหาแนวทางการรับมือด้วย

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

เครื่องใส่ปุ๋ยแม่นยำในไร่อ้อย ฝีมือนักวิจัย มทร.ธัญบุรี คว้ารางวัลเหรียญทองระดับโลก

เครื่องใส่ปุ๋ยแบบแม่นยำในไร่อ้อย ฝีมือนักวิจัย มทร.ธัญบุรี คว้ารางวัลเหรียญทองงานนวัตกรรม "INOVA-BUDI UZOR2017" ประเทศโครเอเชีย

ผศ.ดร.เกียรติศักดิ์ แสงประดิษฐ์ นักวิจัยภาควิชาวิศวกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เปิดเผยว่า ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลเป็นอันดับสองของโลก รองจากประเทศบราซิล ทั้งนี้ต้นทุนการผลิตอ้อยและน้ำตาลของประเทศไทยมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยอ้อยเป็นสินค้าที่อยู่ภายใต้ภาษีข้อตกลง WTO ส่งผลให้ประเทศไทยต้องเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยและน้ำตาล โดยในการเพิ่มผลผลิตการใส่ปุ๋ยเป็นสิ่งสำคัญ ในการใส่ปุ๋ยของเกษตรกร จะให้ปุ๋ยแบบโรยข้างต้นอ้อยโดยมีการกำหนดการให้ปุ๋ยแบบคงที่ต่อไร่ ในทุกๆ พื้นที่เท่ากันหมด ไม่สามารถปรับอัตราปุ๋ยได้ โดยในปัจจุบันมีงานวิจัยหลากหลายที่ทำการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว เช่น การออกแบบการให้ปุ๋ยติดกับรถไถเดินตามแบบให้ปุ๋ยได้โดยกำหนดที่เฟืองแบบ 3 จุด และได้มีการศึกษาเพื่อการใส่ปุ๋ยอ้อยแบบมีประสิทธิภาพสูงสุดสำหรับเกษตรกร ในประเทศเยอรมันได้นำทฤษฎีการกำหนดการให้ปุ๋ยมาประยุกต์ใช้ในสวนปาล์ม และประเทศมาเลเซียได้นำการให้ปุ๋ยมาประยุกต์ใช้ RFID-BASED มาใช้เช่นเดียวกัน

คณะผู้วิจัยจึงได้นำหลักการดังกล่าว ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีความแม่นยำทางการเกษตร เพื่อเข้ามาช่วยในระบบการจัดการและการให้ปุ๋ยโดยเป้าหมายหลัก คือ การบริหารจัดการการใส่ปุ๋ยโดยใช้ระบบการประมวลผลภาพ (Image Processing) การนำภาพมาประมวลผลหรือคิดคำนวณด้วยคอมพิวเตอร์ นำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์หาข้อมูลเชิงปริมาณ คือ ค่าเปอร์เซ็นต์ความเขียวของพืช จากนั้นนำข้อมูลเชิงปริมาณมาวิเคราะห์และสร้างเป็นระบบ เพื่อใช้ประโยชน์ในด้านการประมวลผล และกำหนดปริมาณการให้ปุ๋ยอ้อย เพื่อเป็นการลดปริมาณปุ๋ยไม่ให้การสูญเสียและมีการลดต้นทุนในการผลิตอ้อย ผู้วิจัยจึงได้ออกแบบและพัฒนาเครื่องใส่ปุ๋ยแบบแม่นยำในไร่อ้อยโดยเทคนิคประมวลผลภาพ

เครื่องใส่ปุ๋ยแบบแม่นยำในไร่อ้อยโดยเทคนิคประมวลผลภาพ เป็นการประยุกต์ด้วยวิศวกรรมเกษตร วิศวกรรมควบคุม วิศวกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ วิศวกรรมเครื่องกล และการถ่ายภาพเข้าด้วยกัน ในการออกแบบและสร้างเครื่องใส่ปุ๋ยแบบแม่นยำในไร่อ้อย โดยเทคนิคประมวลผลภาพ ประกอบด้วย ชุดไถสิ่วเปิดหน้าดิน ชุดหยอดปุ๋ย ชุดควบคุมระดับปุ๋ย กล้องถ่ายภาพ ชุดประเมินผล โดยกล้องถ่ายภาพทรงพุ่มของพืชส่งมายังคอมพิวเตอร์ประมวลผล จากนั้นชุดประเมินผลจะส่งไปยังชุดควบคุมระดับปุ๋ยให้เหมาะต่อความต้องการในแต่ละต้นหรือพื้นที่นั้น ซึ่งกล้องจะติดอยู่ด้านหน้ารถแทรกเตอร์และชุดให้ปุ๋ยและชุดควบคุมระดับปุ๋ยจะติดตั้งกับด้านหลังรถแทรกเตอร์ ส่วนชุดคอมพิวเตอร์ประเมินผลจะอยู่ภายในแทรกเตอร์เพื่อให้คนปฏิบัติงานมองเห็นและใช้งานง่าย

นายสุริยา วรวงศ์ นักศึกษาระดับปริญญาโท คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี ในฐานะผู้ช่วยวิจัย กล่าวว่า งานวิจัยนี้มีนวัตกรรมที่มุ่งเน้นความแม่นยำในการให้ปุ๋ยเม็ดโดยใช้เทคนิคจากการถ่ายภาพ ซึ่งนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจะให้จำนวนปุ๋ยตามขนาดทรงพุ่มของพืชที่เกิดขึ้นจริง คือ ทรงพุ่มเล็กให้ปุ๋ยมาก ทรงพุ่มใหญ่ให้ปุ๋ยน้อย สรุปง่ายๆ คือ ให้ปริมาณปุ๋ยเท่ากับปริมาณความต้องการของพืชนั้นเอง โดยภาพถ่ายที่ถ่ายจะได้นำมาประมวลผลเพื่อหาขนาดทรงพุ่มของพืชและกำหนดปริมาณปุ๋ยจากการเขียนโปรแกรมควบคุมที่ได้มาจากการทดสอบและการทดลอง นอกเหนือจากนั้นตัวงานวิจัยออกแบบให้มีตัวควบคุมปริมาณปุ๋ยของปุ๋ยชนิดเม็ด โดยผ่านหัวจ่ายเม็ดปุ๋ยที่ควบคุมด้วยชุดไฮดรอลิกค์ใช้จ่ายเม็ดปุ๋ยตามจำนวนที่ได้จากชุดประมวลผล และที่สำคัญไปกว่านั้นเครื่องใส่ปุ๋ยแบบแม่นยำในไร่อ้อยโดยเทคนิคการประมวลภาพสามารถนำไปติดตั้งกับรถแทรกเตอร์ที่มีอยู่แล้ว เพื่อใช้ประโยชน์ในด้านการประมวลผล และกำหนดปริมาณการใส่ปุ๋ยที่เหมาะสมกับอ้อยในช่วงระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อเป็นการลดปริมาณปุ๋ยไม่ให้การสูญเสียและเป็นการลดต้นทุนในการผลิตอ้อยสดจึงได้มีการออกแบบและพัฒนาเครื่องใส่ปุ๋ยแบบควบคุมปริมาณให้ปุ๋ยสำหรับอ้อย

การใส่ปุ๋ยเม็ดนั้นมีความจำเป็นและใช้งานเป็นจำนวนมาก แต่ยังมีความสามารถในการทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ หรือให้ปุ๋ยมากหรือน้อยกว่าความต้องการของพืชในพื้นที่นั้นๆ ซึ่งในความเป็นจริงในพื้นที่นั้นมีแร่ธาตุในดินไม่เท่ากันฉะนั้นการให้ปุ๋ยต้องมีความแม่นยำ ดังนั้นการใช้ในเชิงพาณิชย์นั้นมีโอกาสสูงที่จะมีความต้องการจำนวนมาก ซึ่งทางนักวิจัยได้ร่วมกับ บริษัท เอกชน ในไทย เพื่อพัฒนาและผลิตให้เข้าสู่ท้องตลาดต่อไป เกษตรกรท่านใดสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เกียรติศักดิ์ แสงประดิษฐ์ โทร. 081-493-2489

สำหรับเครื่องใส่ปุ๋ยดังกล่าวคว้ารางวัลเหรียญทองและรางวัลพิเศษ INOVA BEST CIVIL ENGINEERING INVENTION ในงาน INOVA-BUDI UZOR 2017 42nd International Invention Show ณ เมืองโอซีเยก ประเทศโครเอเชีย

จาก https://mgronline.com วันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

สภาเกษตรกรขยายผลร่วมมือ พัฒนา‘นวัตกรรมการเกษตร’

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากการที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ร่วมขับเคลื่อนแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมร่วมกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ ในโครงการพัฒนาเกษตรกรด้วยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งในปีงบประมาณ 2560 ที่ผ่านมา กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯได้ส่งนักวิจัยเข้ามาช่วยหลายเรื่อง โดยมีหน่วยงานหลัก คือ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสนก. มุ่งเรื่องการจัดการน้ำ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย(วว.) ที่มุ่งเรื่องการนำงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม ไปพัฒนาการผลิต การแปรรูป สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) รวมทั้งสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งผลการดำเนินงานเป็นไปอย่างดียิ่ง ดังนั้นจึงจะมีการขยายผลความร่วมมือกันอย่างต่อเนื่องในปี 2561 โดยให้ครอบคลุมการวิจัยไปถึงการผลิตในสาขาต่างๆ ทั้งพืชและปศุสัตว์ โดยเน้นการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม

นายเสน่ห์ วิชัยวงษ์ รองเลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า 2560 สภาเกษตรกรฯได้ร่วมกับ สสนก.จัดตั้งศูนย์น้ำใน 20 จังหวัด ซึ่งสามารถแจ้งข้อมูลข่าวสารด้านน้ำและสภาพภูมิอากาศถึงเกษตรกรในระดับหมู่บ้าน ซึ่งมีประโยชน์ในการวางแผนการผลิตได้ดี สำหรับด้านงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม ได้ร่วมมือกับ วว. ดำเนินการใน 3 กิจกรรม คือ เกษตรกรไฮเทค, การสร้างผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร และสร้างชุมชนเกษตรนวัตกรรม ผลงานที่เห็นเด่นชัดคือ การพัฒนาให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านโนนใน อ.ลานกระบือ จ.กำแพงเพชร ลดต้นทุนการแปรรูปกล้วย โดยใช้เตาชีวมวลประสิทธิภาพสูงทดแทนแก๊สหุงต้ม สามารถลดต้นทุนค่าเชื้อเพลิงได้ 7,200 บาทต่อเดือน ซึ่งในปี 2561 จะได้ร่วมมือกับ วว. ในการขยายผลการดำเนินโครงการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น การสร้างเกษตรกรไฮเทค 100,000 ราย การสร้างผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร 15,000 ราย สร้างชุมชนเกษตรนวัตกรรม 235 ชุมชนKTISโชว์รายได้1.53หมื่นล. มั่นใจทั้งปีผลงานทะลุเป้า2หมื่นล.

จาก http://www.naewna.com วันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

เว้นค่าเช่าที่ 2 ปีลงทุน 5 เขตพัฒนาชายแดน

กนพ.เห็นชอบให้กรมธนารักษ์ปรับปรุงเพิ่มเติมรายละเอียดสรรหาคัดเลือกผู้ลงทุนในพื้นที่พัฒนา เพิ่มมาตรการเร่งรัดลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาฯ ให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นค่าเช่าที่ดินราชพัสดุ 2 ปี เฉพาะ 5 เขตพัฒนาฯ ชายแดน

17 พ.ย.60-เว็บไซต์www.thaigov.go.th เผยแพร่ข่าวว่า เมื่อเวลา 14.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ครั้งที่ 2/2560 ร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยภายหลังการประชุมนายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กนพ. ได้พิจารณาประเด็นการขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่สำคัญ 4 เรื่องและมีมติ ดังนี้

1. การสรรหาและคัดเลือกผู้ลงทุนในพื้นที่พัฒนาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ที่ประชุมเห็นชอบให้กรมธนารักษ์ไปปรับปรุงเพิ่มเติมรายละเอียดในการสรรหาและคัดเลือกผู้ลงทุนในพื้นที่พัฒนา เพื่อให้สามารถดึงดูดการลงทุนโดยเฉพาะ SMEs ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งให้กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงการคลัง พิจารณาปรับแนวทางและมาตรการส่งเสริมการลงทุนให้ชัดเจน เพื่อกระตุ้นการค้า การลงทุน และการบริการ ในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษให้มากขึ้น พร้อมกับเห็นชอบมาตรการเร่งรัดการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นค่าเช่าที่ดินราชพัสดุเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษตาก กาญจนบุรี นครพนม มุกดาหาร และหนองคายเป็นเวลา 2 ปี หากมีการลงทุนจริงไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของเงินลงทุน (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) ในปีที่ 1 ของรอบปีที่ทำสัญญาเช่า และยกเว้นค่าเช่าฯ เป็นเวลา 1 ปี หากมีการลงทุนจริงไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของเงินลงทุน (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) ในปีที่ 2 ของรอบปีที่ทำสัญญาเช่า เพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุนเพิ่ม ทั้งนี้สิทธิประโยชน์จะสิ้นสุดภายในปี 2563

 2. การบริหารจัดการที่ดินราชพัสดุในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ  2.1 เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก ในส่วนของที่ดินซึ่งเป็นพื้นที่พัฒนาที่ประชาชนมีกรรมสิทธิ์ครอบครองและยินยอมเจรจากับภาครัฐ เห็นชอบให้มีการแลกเปลี่ยนที่ดิน และชดใช้เงินตามกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ และแนวทางที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้พื้นที่พัฒนาเป็นผืนเดียวกัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการบริหารจัดการพัฒนาต่อไป นอกจากนั้นยังได้เห็นชอบให้ปรับขนาดของที่ดิน เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้ประโยชน์ของ กนอ. รวมทั้งเห็นชอบในหลักการ ให้กรมศุลกากรใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่พัฒนาบางส่วน จำนวน 120 ไร่ เพื่อจัดตั้งด่านศุลกากรแม่สอด แห่งที่ 2 ด้วย

2.2 เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนครพนม เห็นชอบให้กันที่ดินราชพัสดุ แปลงที่ 1 บางส่วนในบริเวณที่ติดกับที่พักสงฆ์สามัคคีอุปถัมภ์ออก ประมาณ 42-1-22.60 ไร่ เพื่อคงไว้ตามสภาพเดิม ส่วนพื้นที่ที่เหลือประมาณ 1,363-2-17.10 ไร่ ให้ดำเนินการเปิดประมูลให้เอกชนเช่า

3. การตลาดและประชาสัมพันธ์ ที่ประชุม กนพ. เห็นชอบกรอบแนวทางการจัดทำแผนการตลาดและประชาสัมพันธ์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยเน้นเป็นรายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อดึงดูดการลงทุนจากในและต่างประเทศ ส่งเสริมและพัฒนา SMEs และวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ และให้มีคณะขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ เป็นกลไกบูรณาการการจัดทำแผนการตลาดและประชาสัมพันธ์รายพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2560 ทั้งนี้ต้องให้ความสำคัญกับการดำเนินงานตามประชารัฐ การมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม ภาคเอกชนและจังหวัดในการประชาสัมพันธ์ โดยมีการปรับปรุงการดำเนินงานและรายงานความก้าวหน้าต่อสาธารณะอย่างสม่ำเสมอ

วิทยุพลังงาน4.  การดำเนินงานเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในระยะต่อไป ที่ประชุม กนพ. เห็นชอบแนวทางการดำเนินงานเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในระยะต่อไป ดังนี้ 4.1 เร่งรัดการดำเนินโครงการและมาตรการสำคัญใน 10 เขตฯ ให้แล้วเสร็จเพื่อเป็นประตูเศรษฐกิจเชื่อมโยงการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว 4.2 กำหนดพื้นที่ศักยภาพการลงทุนสูง 4 เขตฯ ได้แก่ ตาก สงขลา สระแก้ว และมุกดาหาร เน้นพัฒนาให้เชื่อมโยงและเกื้อกูลกับประเทศเพื่อนบ้าน และให้มีมาตรการเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการพัฒนาในพื้นที่ อาทิ การเพิ่มศักยภาพ/โอกาสการลงทุนของ SMEs และการเปิดโอกาสให้เอกชนเสนอโครงการลงทุนและรัฐพิจารณาสนับสนุนโครงการ/มาตรการที่เหมาะสม และ 4.3 เน้นการท่องเที่ยว การค้าและบริการใน 6 เขตฯ ได้แก่ ตราด หนองคาย นครพนม เชียงราย กาญจนบุรี และนราธิวาส  โดยกำหนดบทบาทที่ควรสนับสนุนในแต่ละพื้นที่

 นอกจากนี้ ที่ประชุมมีมติมอบหมายให้ (1) คณะอนุกรรมการด้านสิทธิประโยชน์ กำหนดพื้นที่และศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านการลงทุน พิจารณาความเหมาะสมในการกำหนดมาตรการให้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนตามจุดเน้นการพัฒนาในพื้นที่ศักยภาพการลงทุนสูง 4 เขตฯ และการสนับสนุน SMEs ในการลงทุน (2) หน่วยงาน ได้แก่ สธ./ศธ./คค./พณ./อก./กก./รง./ศก. พิจารณาสนับสนุนการดำเนินงานตามแนวทางฯ ให้บรรลุผล โดยเฉพาะในพื้นที่ศักยภาพการลงทุนสูง 4 เขตฯ และ (3) หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินโครงการ/มาตรการสำคัญใน 10 เขตฯ ให้แล้วเสร็จ

จาก http://www.thansettakij.com วันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ฟันธงปีหน้าค่าเงินบาทอ่อน

นักวิเคราะห์มั่นใจ ปีหน้าเข้าเทรนด์บาทอ่อน เงินไหลออก เตือนระวังค่าเงินผันผวนหนัก

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ปี 2561 เห็นภาพชัดว่าเป็นทิศทางค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งจากดอกเบี้ยที่สหรัฐจะปรับขึ้น แม้ว่าจะขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ฉะนั้นแนวโน้มเงินบาทปีหน้าจะเป็นทิศทางอ่อนค่ากว่าปีนี้ แต่จะมีความผันผวนมากขึ้น เพราะหลายประเทศมีกำหนดการเลือกตั้ง เช่น อิตาลี กัมพูชา มาเลเซีย สหรัฐ และไทย ฉะนั้นผู้ส่งออกโดยเฉพาะเอสเอ็มอีต้องหาทางป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน

สำหรับแนวโน้มดอกเบี้ยคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงดอกเบี้ย 1.5% ถึงสิ้นปี 2561 ส่วนต่างดอกเบี้ยไทยสหรัฐแคบลง ทำให้เงินไหลออกซึ่งเป็นห่วงดอกเบี้ยต่ำเวลานานเป็นชนวนของวิกฤตได้ เพราะคนต้องไปหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นในความเสี่ยงมากขึ้น ในระยะต่อไปหากไม่เห็นสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย คนอาจจะถูกภาวะจำยอมที่ต้องการผลตอบแทนทางการเงินเพิ่มเพื่อใช้ชีวิต เช่น คนเกษียณ

นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ภัทร กล่าวว่า แนวโน้มการลดดอกเบี้ยคง ไม่เห็นแล้ว แต่ต้องจับตาว่าดอกเบี้ย ที่สหรัฐจะขึ้น 3 ครั้งอย่างที่ส่งสัญญาณหรือไม่หากสหรัฐขึ้นดอกเบี้ย ไทยก็มีโอกาสปรับขึ้นดอกเบี้ยตามแต่ไม่จำเป็นต้องขึ้นทันที

ด้านแนวโน้มค่าเงินบาทในระยะสั้นปีนี้ เห็นเงินบาทยังแข็งค่าจากปัจจัยพื้นฐานของประเทศ การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูงเกือบ 10% ของจีดีพีรวมถึงการส่งออกและท่องเที่ยวดี ทุนสำรองระหว่างประเทศแข็งแกร่ง หนี้ต่างประเทศต่ำ ประกอบกับปัจจัยดอลลาร์อ่อน

อย่างไรก็ดี ปีหน้าจะกลับทิศเป็นดอลลาร์แข็ง จากดอกเบี้ยสหรัฐขาขึ้น ทำให้ทุนเคลื่อนย้ายไหลออกไป ทำให้เงินบาทจะอ่อนค่าลงในปีหน้าแต่อ่อนไม่มากเพราะปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งยังคงอยู่

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

KTISโชว์รายได้1.53หมื่นล. มั่นใจทั้งปีผลงานทะลุเป้า2หมื่นล.

KTIS ผลงานทะลุเป้า บริษัทเกษตรไทย             

นายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทเกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่นหรือ KTIS เปิดเผยว่าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 (มกราคม-กันยายน 2560) กลุ่ม KTIS มีรายได้รวม 15,305.3 ล้านบาท สูงกว่าปี 2559 ทั้งปีที่มีรายได้รวม 15,086.6 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิงวด 9 เดือน 1,140.2 ล้านบาท สูงกว่างวดเดียวกันของปี 2559 ถึง 4,307%

“จากตัวเลข 9 เดือน จะเห็นว่ารายได้ยังคงเป็นไปตามเป้าหมายที่เคยคาดการณ์ไว้ ที่คาดว่าจะทำรายได้ในปี 2560 นี้ ได้เกิน 20,000 ล้านบาท โดยกำไรสุทธิในระดับ 1,140 ล้านบาท ก็อยู่ในระดับที่น่าพอใจ” นายณัฎฐปัญญ์ กล่าว

อย่างไรก็ตามหากดูเฉพาะตัวเลขของไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ พบว่า รายได้ของสายธุรกิจผลิตและจำหน่ายเยื่อกระดาษฟอกขาวจากชานอ้อย เติบโตสูงสุดถึง 30% เนื่องจากปริมาณการขายเยื่อกระดาษเพิ่มขึ้นแม้ว่าราคาเฉลี่ยจะลดลง รองลงมาเป็นการผลิตและจำหน่ายเอทานอล ซึ่งมีรายได้เพิ่มขึ้น 8.7% จากราคาขายที่สูงขึ้น และธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย ก็มีรายได้เพิ่มขึ้น 4% อย่างไรก็ตาม การจำหน่ายไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวลมีรายได้ลดลง เนื่องจากการหยุดซ่อมบำรุงใหญ่ประจำปี

สำหรับผลผลิตอ้อยของฤดูกาลผลิตปี 2560/2561 นี้หากมองในภาพรวมของอุตสาหกรรมน้ำตาลทั้งประเทศพบว่าแม้พื้นที่ปลูกอ้อยในประเทศบางส่วนจะได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยอยู่บ้าง แต่คาดการณ์ว่าปริมาณผลผลิตอ้อยจะสูงถึงกว่า 100 ล้านตัน ซึ่งมากกว่าปีก่อนที่มีปริมาณผลผลิตอ้อย 93 ล้านตัน และในส่วนของปริมาณอ้อยของกลุ่ม KTIS จะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

เลาะรั้วเกษตร : พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช

ช่วงนี้เปิดเว็บไซต์ของกรมวิชาการเกษตร จะพบแบนเนอร์ เกี่ยวกับ ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช ที่กำลังเปิดรับฟังความคิดเห็นจนถึงวันที่ 20 พฤศจิกายนนี้....คงจำกันได้ว่า เมื่อสัก 1 เดือนที่ผ่านมา บรรดาเอ็นจีโอทั้งหลายต่างพากันคัดค้านการแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช โดยชูประเด็นว่าเกษตรกรที่ซื้อพันธุ์พืชมาจากบริษัท ถ้าปลูกแล้วและเก็บพันธุ์นั้นไปปลูกต่อเหมือนอย่างที่เคยทำๆ กันมานั้น เกษตรกรอาจจะมีความผิดได้รับโทษถึงจำคุก

นอกจากนี้ยังมีการพาดพิงไปถึงว่า การแก้ไข พ.ร.บ.ครั้งนี้ เป็นไปเพื่อเอาใจสหรัฐอเมริกา และเพื่อประโยชน์ของบริษัทเมล็ดพันธุ์พืชยักษ์ใหญ่.....ช่างคิดจริง.......

เมื่อกระแสต้านแรง กรมวิชาการเกษตรไม่ทันตั้งตัว ไม่ได้เตรียมข้อมูลที่จะตอบโต้เอ็นจีโอผู้คัดค้าน อธิบดีกรมวิชาการเกษตร สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ จึงตัดสินใจชะลอเรื่องนี้ และเปิดโอกาสให้สาธารณชนแสดงความคิดเห็น ทั้งๆ ที่การแก้กฎหมายครั้งนี้ได้ผ่านขั้นตอนนี้ไปแล้ว....

อย่างไรก็ตาม ยังพอมีเวลาสำหรับท่านที่สนใจจะแสดงความคิดเห็นผ่านช่องทางต่างๆ ที่ระบุไว้ที่แบนเนอร์ดังกล่าวข้างต้น ทั้งเว็บไซต์ของกรมวิชาการเกษตร www.doa.go.th อี-เมลของสำนักคุ้มครองพันธุ์พืช pvpo@doa.in.th โทรศัพท์หมายเลข 0-2940-7214 จดหมายส่งถึง สำนักคุ้มครองพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร ถ.พหลโยธิน เขตจตุจักร กทม.10900 หรือท่านที่อยู่ต่างจังหวัดจะยื่นเอกสารด้วยตนเองก็ได้ที่สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขต หรือศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร ที่มีในจังหวัดของท่านก็ได้

ในแบนเนอร์นั้นระบุว่า “ทุกความคิดเห็นมีความสำคัญจะถูกนำมาประมวลอีกครั้งหนึ่ง” แต่ไม่ได้บอกว่าประมวลแล้วจะนำไปปรับปรุงแก้ไขเปลี่ยนแปลงอะไรอีกหรือไม่ หรือเป็นเพียงการยื้อเวลาให้ความแรงของกระแสการคัดค้านบรรเทาลง และกรมวิชาการเกษตรได้ตั้งหลักอย่างมั่นคง

ช่วงที่เปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นนี้ ก็ได้รับข้อความจากไลน์ของคนที่เคารพนับถือ ซึ่งก็คงแชร์ต่อๆ กันมา แต่เห็นว่าเป็นความคิดเห็นที่น่าสนใจ และคนที่แสดงความคิดเห็นก็ไม่ใช่อื่นไกล มีชื่อว่า อดิศักดิ์ ศรีสรรพกิจ...อดีตเลขาธิการ ส.ป.ก. ที่เคยโกนศีรษะประท้วงความไม่ถูกต้องมาแล้ว แต่มาเกษียณอายุราชการที่ตำแหน่งอธิบดีกรมวิชาการเกษตร หน่วยงานที่ดูแล พ.ร.บ. ฉบับนี้นั่นเอง

สิ่งที่อดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตรยืนยัน คือ ข้าราชการกรมวิชาการเกษตรที่เกี่ยวข้อง ต่างมองประโยชน์ส่วนรวมของประเทศเป็นสำคัญ ไม่มีผลประโยชน์จากบริษัทต่างๆ อย่างที่ถูกกล่าวหา ไม่มีเลศนัยที่จะแอบเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ หรือ UPOV เพราะเป็นไปไม่ได้ที่เรื่องการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศใดๆ จะไม่ผ่านรัฐสภา

ต่อประเด็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันหนักและว่ากันไปต่างๆ นานา คือ เรื่อง สิทธิของเกษตรกร เมื่อซื้อพันธุ์พืชไปปลูกแล้วจะสามารถเก็บพันธุ์นั้นไปปลูกต่อในปีต่อๆ ไปได้หรือไม่ ความคิดเห็นของอดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร อดิศักดิ์ ศรีสรรพกิจ คือ ถ้าเป็นพันธุ์พืชทั่วไปที่มีอยู่แล้ว ไม่ใช่พันธุ์พืชที่พัฒนาปรับปรุงขึ้นมาใหม่ และนำไปจดทะเบียนคุ้มครอง เกษตรกรสามารถเก็บไปปลูก ขาย หรือแจกจ่ายได้กฎหมายไม่ได้ห้ามไว้สำหรับพันธุ์พืชทั่วไป

แต่ถ้าเป็นพันธุ์พืชใหม่ที่จดทะเบียน คุ้มครองแล้ว ในมาตร 35 วรรคหนึ่ง ของ พ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 ระบุว่า ถ้าซื้อมาอย่างถูกต้องก็สามารถเก็บไปปลูกต่อได้ ผลผลิตก็สามารถนำไปขายได้ แต่ต้องไม่กระทำการใดๆ ให้เข้าข่ายว่าเป็นการปลูกเพื่อขยายพันธุ์ หรือ ปลูกเพื่อขายต่อเป็นเมล็ดพันธุ์ ไม่ใช่เมล็ดเพื่อการบริโภค

ส่วนประเด็นที่ว่า มีการแก้ไขขยายการผูกขาดให้กับบริษัทเมล็ดพันธุ์ยักษ์ใหญ่นั้น เป็นการขยายเวลาการคุ้มครองให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เหมือนอย่างที่ประเทศอื่น ๆ เขาทำกัน มีการเพิ่มการคุ้มครองไปถึงผลผลิตและผลิตภัณฑ์ก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ให้กับเจ้าของพันธุ์จริงๆ ในกรณีที่ได้ผลผลิตจากพันธุ์ที่ลักลอบมาปลูก หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากผลผลิตที่มาจากพันธุ์ที่ลักลอบมา...ประเด็นนี้น่าจะมีประโยชน์ต่อผู้ที่เป็นเจ้าของพันธุ์ไม่ว่าจะเป็นคนธรรมดา บริษัทเล็ก หรือบริษัทยักษ์ใหญ่เพียงไร

ยังมีอีกหลายประเด็นที่เอ็นจีโอเห็นแย้งกับร่างที่แก้ไข และท่านอดิศักดิ์ ได้ให้ความเห็นไว้.....ยังเหลือเวลาอีกไม่กี่วันก็จะครบกำหนดของ

 การเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นแล้ว ไว้รอดูว่ากรมวิชาการเกษตรจะทำอย่างไรกับข้อคิดเห็นดังกล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ค่าบาท 'แข็งค่า' สุดรอบ 2 ปี

. บาทเปิดตลาดเช้านี้แข็งค่าสุดในรอบ 2ปีแตะ "32.90 บาทต่อดอลลาร์" ตลาดทุนกลับมาคึกคักหลังสหรัฐผ่านมาตรการลดภาษีแล้ว มองบาทยังแข็งค่าต่อ

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเช้าวันนี้เปิดที่ระดับ 33.90 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากช่วงปิดตลาดสิ้นวันก่อนที่ระดับ 33.95 บาทต่อดอลลาร์

โดยในคืนที่ผ่านมา ตลาดทุนกลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังจากที่สภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐผ่านมาตรการลดภาษีเป็นที่เรียบร้อย ค่าเงินดอลล่าร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับยูโรและเยน ขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวขึ้น 0.8% และผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีปรับตัวขึ้นมาที่ระดับ 2.37% (+4bps) ชัดเจนว่าตลาดกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น

ภาพรวมในวันนี้ ตลาดจะได้รับแรงหนุนจ้าฝั่งสหรัฐเชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ตลาดหุ้นทั่วโลกจะตอบรับการฟื้นตัวดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ค่าเงินเอเชียในช่วงที่ผ่านมายังไม่ได้ปรับตัวตามทิศทางดอลลาร์มากนัก เนื่องจากมีแรงซื้อจากทั้งผู้ประกอบการและนักลงทุน มีความเป็นไปได้น้อยที่จะเห็นค่าเงินเอเชียอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์

เช่นเดียวกับเงินบาท ซึ่งวันนี้ปรับตัวลงมาที่ระดับ 32.90 บาทต่อดอลลาร์แข็งค่าที่สุดในรอบกว่าสองปี แสดงให้เห็นว่ายังคงมีปริมาณความต้องการเงินบาทระดับสูง และแนวโน้มการเคลื่อนไหวยังไม่มีทีท่าว่าจะกลับตัวเป็นเงินบาทอ่อนหรือดอลล่าร์แข็งง่ายๆ มองกรอบเงินบาทที่ระดับ 32.85-32.95 บาทต่อดอลลาร์ในระหว่างวัน

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ชาวโพธิ์สุวรรณพร้อมใจลงแขกตัดอ้อย สุดประทับใจเห็นความสามัคคีของคนนชุมชน

นายอนุสรณ์ แสงกล้า นายอำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ จ.ศรีสะเกษ เป็นประธานเปิดโครงการ ลงแขกตัดอ้อยคุณภาพดีโพธิ์ศรีสุวรรณ ณ บริเวณแปลงไร่อ้อยของนายอมฤต พิมพ์จันทร์ ต. ผือใหญ่อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ

โดยมีนายชัยเดช วงศ์ประสาร เกษตรอำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณกล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์ของโครงการในครั้งนี้ว่าในสภาพปัจจุบันอ้อยโรงงานจัดเป็นเศรษฐกิจที่สำคัญยิ่งของประเทศไทยที่สามารถผลิตน้ำตาลจากอ้อยได้มากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และขณะที่ทางจังหวัดศรีสะเกษมีนโยบายที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกอ้อยโรงงานคุณภาพดีเพื่อทดแทนพื้นที่ปลูกข้าวไม่เหมาะสมอยู่แล้วด้านอำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณมีพื้นที่การเกษตรที่เกษตรกรปลูกอ้อย จำนวน 77 ราย รวมเนื้อที่ประมาณ 1,000ไร่ ซึ่งถือว่าเกษตรกรให้ความสนใจปลูกอ้อยกันพอสมควร

ที่สำคัญการลงแขกตัดอ้อยครั้งนี้เป็นการรวมตัวของคนจิตอาสาที่ต้องการทำความดีต่อกันและกันในสังคม เป็นกิจกรรมที่ทุกคนทำดีด้วยกายเต็มใจช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน ทุกคนต่างมุ่งมั่นให้ความช่วยเหลือเอื้อเฟื้อ ซึ่งกันและกันจากโครงการดังกล่าวยังได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานราชการ จนท.ตร. สภ.โพธิ์ศรีสุวรรณ จนท.อส. ,จนท.ธกส. จนท.ทหาร กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต.ผือใหญ่ มาร่วมในกิจกรรมประมาณ 80 คนซึ่งเป็นภาพที่ประทับใจกับผู้พบเห็นเป็นอย่างยิ่งด้านนายอนุสรณ์ แสงกล้า นายอำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ หลังกิจกรรมนี้เสร็จสิ้นลงคาดว่ากิจกรรมนี้จะสร้างแรงจูงใจให้คนในชุมชนมีความเอื้อเฟื้อ และเกื้อกูลกันยิ่งขึ้นต่อไป

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 16 พฤศจิกายน 2560

ผนึก ซี.พี.-มิตรผล-เบทาโกร นำร่อง 16 แปลงพืช-ปศุสัตว์

การพัฒนาเกษตรสมัยใหม่ เพื่อให้ห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำครบวงจรอย่างยั่งยืน

ล่าสุดได้เครือเบทาโกร จำกัด กลุ่มน้ำตาลมิตรผล จำกัด และบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.)แสดงความประสงค์เข้าร่วมพัฒนา ภายใต้โครงการขับเคลื่อนหัวขบวนแปลงใหญ่ 4.0 จำนวน 5 กลุ่มสินค้า 16 แปลงใหญ่ เพื่อสร้างและพัฒนาแปลงใหญ่เป็นรายสินค้าเกษตร เน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม งานวิจัยตามแนวทางเกษตร 4.0 จัดทำแปลงตัวอย่างเป็นแนวทางให้เกษตรกรนำไปพัฒนาพื้นที่ของตนเอง โดยจะเริ่มดำเนินการในเดือน พ.ค. 2561

สำหรับ 16 แปลงใหญ่ แบ่งเป็น แปลงเกษตรสมัยใหม่ 6 แปลง และแปลงกระทรวงเกษตรฯ 10 แปลง ประกอบด้วย ข้าว 3 แปลง ในจังหวัดสุพรรณบุรี เชียงราย อุตรดิตถ์ 2.แปลงใหญ่พืชไร่ 3 แปลง คือ มันสําปะหลัง ในจังหวัดนครราชสีมา, กําแพงเพชร ข้าวโพด (เพชรบูรณ์) 3.แปลงใหญ่พืชสวน จํานวน 4 แปลง คือ ทุเรียน จังหวัดระยอง มังคุด จังหวัดชุมพร หม่อนไหม จังหวัดน่าน สมุนไพร จังหวัดสุราษฎร์ธานี 4.แปลงใหญ่ปศุสัตว์ 4 แปลง คือ โคนม 3 แปลง ในจังหวัดสระบุรี เชียงใหม่ ขอนแก่น และโคเนื้อ จังหวัดกําแพงเพชร 5.แปลงใหญ่ประมง 2 แปลง คือ กุ้งทะเล ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี และปลานิล-กุ้งจังหวัดปราจีนบุรี

ทั้งนี้ การกำหนดขั้นตอนการดำเนินงาน 5 ขั้นตอน 1.วิเคราะห์กลุ่มสินค้าเกษตรที่มีศักยภาพ 5 กลุ่มสินค้า ประกอบด้วย กลุ่มข้าว กลุ่มพืชไร่ กลุ่มพืชสวน กลุ่มปศุสัตว์ (โคนม โคเนื้อ) และกลุ่มประมง 2.กำหนดพื้นที่แปลงใหญ่ที่มีศักยภาพ 3.กำหนดวิธีการปฏิบัติ โดยพิจารณาจากห้วงฤดูการเพาะปลูกของรายสินค้าเกษตร) เชื่อมโยงตลาด 4.กำหนดเป้าหมาย การเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน และคุณภาพ เปรียบเทียบการผลิตแบบเดิม 5.ตลาด ต้องตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค

การขับเคลื่อนใช้หลัก 1.ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สร้างภูมิคุ้มกัน : การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ทำบัญชีฟาร์ม 2.ใช้เทคโนโลยี/นวัตกรรม/งานวิจัย และ 3.การบริหารจัดการสินค้าครบวงจร

ในเดือนพฤษภาคม 2561 สามารถออกแบบแปลงใหญ่ 4.0 เสร็จและเริ่มดำเนินการ และจากนี้ไปอีกประมาณ 2 เดือน จะตั้งคณะทำงาน สำรวจความพร้อมของพื้นที่เกษตรกร แล้วนำเทคโนโลยีลงไป ก่อนจะกำหนดงบประมาณ และลักษณะของโครงการ กำหนดว่าใครจะรับผิดชอบในแปลงใหญ่อะไร เอกชน หรือรัฐบาลจะเป็นคนดำเนินการ

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 16 พฤศจิกายน 2560

จับตาค่าบาท 'แข็งค่า' หลุด 33บาทต่อดอลลาร์

บาทเปิดตลาดเช้านี้ "33.01 บาทต่อดอลลาร์" แผนภาษีสหรัฐยังไม่สำเร็จทำให้เงินดอลาร์ไร้แรงหนุนระยะสั้น จับตาบาทแข็งหลุด 33.00 บาทต่อดอลลาร์ในวันนี้หรือไม่

 นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 33.01บาทต่อดอลลาร์ ไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงปิดตลาดสิ้นวันก่อน

โดยในคืนที่ผ่านมาฝั่งการเมืองยังหาข้อสรุปเรื่องภาษีและประกันสุขภาพในสหรัฐไม่สำเร็จส่งผลให้ดอลลาร์ยังไม่มีแรงหนุนระยะสั้น ขณะที่ตัวเลขค้าปลีกในสหรัฐกลับขยายตัวดีกว่าคาดที่ระดับ 0.2% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน เช่นเดียวกับเงินเฟ้อที่ปรับตัวขึ้นได้ถึง 2% เมื่อเทียบกับปีก่อน พร้อมกับเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่นับรวมอาหารและพลังงาน) ปรับตัวขึ้นยืนที่ระดับ 1.8% ทำให้โอกาสที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยในเดือนธันวาคมชัดเจนมาก

ในส่วนของตลาดการเงิน ค่าเงินเยนเป็นสกุลเงินที่แข็งแกร่งที่สุดในคืนที่ผ่านมา โดยปรับตัวแข็งค่าลงมาที่ระดับ 112.79 เยน/ดอลลาร์ ขณะที่หุ้นฝั่งสหรัฐยังคงปรับตัวลงต่อพร้อมกับหุ้นยุโรป ชี้ว่าในระยะสั้นตลาดยังคงปิดรับความเสี่ยงอยู่

ด้านเงินบาท พบว่ามีแรงซื้อตามสกุลเงินเอเชียเช่นกัน แต่ไม่สามารถแข็งค่าตามแนวโน้มการอ่อนค่าของดอลลาร์รอบนี้ได้มากนักในวันก่อนเนื่องจากติดแนวโน้มจิตวิทยาที่ราคา 33 บาท/ดอลลาร์ ต้องจับตาว่าแนวโน้มสกุลเงินเอเชียวันนี้ว่าจะสามารถดึงเงินบาทให้ลงไปหลุดระดับ 33 บาทภายในวันนี้ได้หรือไม่

มองกรอบเงินบาทที่ระดับ 32.95-33.05 บาท/ดอลลาร์ในระหว่างวัน

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 16 พฤศจิกายน 2560

มิตรผลเล็งผลเลิศ จับมืออินโดลงอีอีซี

มิตรผลเล็ง 5ปี ผุดผลิตภัณฑ์ใหม่เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์จากอ้อยในอีอีซี พร้อมจับมือกับพันธมิตรในอินโดนีเซีย ขยายการลงทุนโรงงานนํ้าตาลนำมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มต่อยอดตลาดใหม่

 นายบรรเทิง ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มมิตรผลเปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากที่รัฐบาลมีนโยบายการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี ทางบริษัทมีความสนใจที่จะเข้าไปลงทุนเช่นกัน ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำแผนการลงทุน ซึ่งอาจจะเป็นโครงการที่ไม่ใหญ่ แต่จะเน้นการต่อยอดหรือเพิ่มมูลค่าจากอ้อยและนํ้าตาลที่บริษัทมีวัตถุดิบอยู่แล้ว ที่จะนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์ฟาร์มาซูติคัลหรือยา ไบโอพลาสติกไซลิทอล โดยวางเป้าหมายที่จะเข้าไปลงทุนได้ในช่วง 5 ปีนี้

 “ผลิตภัณฑ์จากอ้อยและนํ้าตาลบริษัทสามารถนำมาต่อยอดได้มากมายและยังมีผลพลอยได้ นำมาทำเป็นปุ๋ย หรือแม้แต่กากหม้อกรองที่เหลือจากการผลิตเอทานอลมาพัฒนาเป็นสารปรับปรุงดินกลับไปใช้ในไร่อ้อย และธุรกิจ Bio-Based ที่ต่อยอดส่วนที่เหลือจากกระบวนการผลิตอ้อยให้เป็นพลาสติกชีวภาพ อาหารเสริม เป็นต้น”

นายบันเทิง กล่าวอีกว่า ส่วนการลงทุนใหม่ๆ นอกจากโรงงานนํ้าตาล ที่กำลังก่อสร้างเพิ่มเติมที่อำนาจเจริญ ขณะนี้บริษัท กำลังศึกษาการลงทุนที่อำเภอหนองบัวแดงและอำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ เพิ่มเติม ซึ่งขณะนี้มิตรผลมีใบอนุญาตเรียบร้อยแล้วหากมีการเปิดโรงงานแห่งใหม่ที่นี่ ก็จะทำให้สามารถลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ และเป็นการนำโรงงานไปสู่ชาวไร่อ้อยได้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น

 นอกจากนี้ มิตรผลยังมีแผนที่จะไปร่วมทุนกับพันธมิตรที่ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อลงทุนสร้างโรงงานนํ้าตาลและปลูกอ้อย ซึ่งผู้ร่วมทุนมีพื้นที่อยู่แล้วมิตรผลจะเข้าไปส่งเสริมการปลูกอ้อย การทำโมเดิร์นฟาร์ม เช่นเดียวกับที่เมืองไทย

 ส่วนกำลังการผลิตนํ้าตาลของมิตรผล ปัจจุบันมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 2.1 แสนตันต่อปีและปีนี้จะเพิ่มกำลังการผลิตเป็น2.15 แสนตันต่อปีจากการหีบอ้อยทั้งหมด21ล้านตัน และหลังจากบริษัทใช้โมเดลการพัฒนาเกษตรกร ด้วยมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม เพื่อเป็นการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการปลูกอ้อยให้มากขึ้นทำให้มิตรผลสามารถกลับมาเป็นผู้ผลิตและส่งออกนํ้าตาลอันดับ 4 ของโลกและอันดับ 1ในเอเชียอีกครั้ง โดยมีสัดส่วนการส่งออกอยู่ที่70%และจำหน่ายในประเทศ 30% มีส่วนแบ่งตลาดในประเทศประมาณ 20%

จาก http://www.thansettakij.com วันที่ 15 พฤศจิกายน 2560

แรงงานกัมพูชากว่า 2 หมื่น ทะลักเข้าไทย รับเทศกาลตัดอ้อย

สระแก้ว - เตรียมรับมือแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชา 2 หมื่นคนเข้ามาตัดอ้อยตั้งแต่ 1 ธ.ค.นี้เป็นต้นไป หลังพบกระบวนการเข้าเมืองผิดกฎหมายจนต้องอนุโลมและสามารถนำแรงงานเข้าสู่ระบบได้ไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากขั้นตอนล่าช้า ผู้ว่าฯเตรียมเสนอใช้วันสต๊อปเซอวิสเสร็จในวันเดียว โดยนัดพิจารณาร่วมอีกครั้ง 21 พ.ย.นี้

วันนี้ (15 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมดอกแก้ว ศาลากลางจังหวัดสระแก้ว ได้มีการประชุมพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานตัดอ้อยฤดูกาลผลิตปี 2559 ครั้งที่ 6 /2560 เพื่อรองรับฤดูการตัดอ้อยปี 2560/61 ซึ่งจะเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2560 เป็นต้นไป โดยมีนายพรพจน์ เพ็ญพาส ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว เป็นประธาน และมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย นายรณรงค์ นครจินดา รองผู้ว่าราชการจังหวัด, นายสิทธิศักดิ์ ธารนัย แรงงานจังหวัด, นายวสันต์ ปาลาศ จัดหางานจังหวัด, เจ้าหน้าที่ทหารจากกองกำลังบูรพา, มณฑลทหารบกที่ 19, กอ.รมน.สระแก้ว, ตำรวจตระเวนชายแดน, หัวหน้าสถานีตำรวจและตัวแทนทั้ง 9 อำเภอ, บริษัทเอกชน, นายมนตรี คำพล นายกสมาคมเกษตรกรชายแดนบูรพา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวนกว่า 40 คน

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้แต่ละหน่วยงานนำเสนอข้อมูลการปฏิบัติงานในปี 2559 ซึ่งพบว่า ประสบปัญหาการนำเข้าแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชาในทางปฏิบัติชัดเจน เนื่องจากทางราชการตั้งเป้าว่า จะต้องนำแรงงานเข้าสู่ระบบที่หน่วยงานราชการกำหนดให้ได้ 50 เปอร์เซ็นต์คือ แรงงานมีบอร์ดเดอร์พาสตามกฎหมายและเข้ามาทำงานชั่วคราวได้เพียง 3 เดือน แต่สามารถนำแรงงานเข้าสู่ระบบได้เพียง 3,177 คน จากจำนวนตัวเลขที่สมาคมเกษตรกรชายแดนบูรพาแจ้งว่า มีการใช้แรงงานจริง 17,013 คน หรือคิดเป็น 18.67 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ทำให้มีการถกเถียงถึงขั้นตอนและวิธีการเพื่อให้การนำเข้าแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชา มาเพื่อตัดอ้อยในฤดูกาลนี้ ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.60 นั้นไม่เกิดปัญหาอีก โดยหน่วยทหารและหน่วยความมั่นคงเป็นห่วงในขั้นตอนการอนุโลมฯ จะส่งผลให้มีแรงงานที่ยังไม่เข้าสู่ระบบเล็ดลอดเข้าสู่ตลาดแรงงานชั้นใน ซึ่งเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ

นายมนตรี คำพล นายกสมาคมเกษตรกรชายแดนบูรพา กล่าวว่า ขั้นตอนการปกติที่ผ่านมา ซึ่งมีการอนุโลมให้ชาวไร่อ้อยที่ต้องการใช้แรงงานกัมพูชาตัดอ้อยในแต่ละปี จะต้องไปขึ้นทะเบียนที่สมาคมฯและติดต่อนำแรงงานเข้ามาเพื่อทำเอกสารที่สมาคมฯพร้อมนำไปพักไว้พักกับนายจ้าง รอขั้นตอนการส่งเอกสารไปยังด่าน ตม.ปอยเปต ประเทศกัมพูชา และด่านผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ก่อนนำแรงงานกลับไปผ่านแดนตามขั้นตอน และเข้าสู่กระบวนการขอโควต้าจากจัดหางานจังหวัดและตรวจโรคตามกฎหมาย ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 7-10 วัน ส่งผลให้เกิดการแออัดอย่างมาก ที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองอรัญประเทศ เพราะแต่ละปีต้องใช้แรงงานมากถึง 20,000 คน ซึ่งปีที่แล้วมีตัวเลข 17,013 คน ไม่รวมผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรของแรงงานอีก 5,713 คน หากสามารถเปิดด่านผ่านแดนถาวรแห่งที่ 2 บ้านเขาดินได้ทันเวลา ก็จะลดขั้นตอนและเวลาดำเนินการได้รวดเร็วขึ้น

 นายพรพจน์ เพ็ญพาส ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว กล่าวว่า จากข้อมูลที่เจ้าหน้าที่เกษตรจังหวัดรายงานว่า มีพื้นที่เพาะปลูกปี 60/61 เพียง 371,964 ไร่ คาดว่าจะมีผลผลิตประมาณ 2.51 ล้านตัน มีเกษตรกร 66,579 ครัวเรือน ขณะที่โรงงานมีการหีบอ้อย 3.46 ล้านตัน จากเนื้อที่ 370,000 กว่าไร่ คาดว่า ปีนี้จะมีอ้อยมากถึง 4 ล้านกว่าตัน และผลการดำเนินการเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวก็ไม่มีปัญหา มีแรงงานหลบหนีเล็กน้อย แต่มีปัญหาอยู่ที่การนำเข้าแรงงานเพื่อเข้าสู่ระบบได้ไม่ถึงร้อยละ 50 ประกอบกับปี 2651 พรก.แรงงานต่างด้าว จะมีผลบังคับใช้ 1 ม.ค.60 ดังนั้น ปีนี้ที่ประชุมจึงเห็นด้วยที่จะไม่มีการอนุโลมต่อไป และสามารถปรับวิธีการปฏิบัติที่ต้องใช้เวลา 7-10 วันให้สั้นลง ได้หรือไม่

 ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว กล่าวอีกว่า สรุปว่าทางสมาคมเกษตรกรฯ ยังไม่พร้อมที่จะดำเนินการตามกฎหมาย จึงได้เสนอแนะเพื่อขอให้มีการพูดคุยกับทางกัมพูชาเพื่อหารือในประเด็นการอนุญาตเข้ามาทำงานร่วมกันอีกครั้ง หลังจากนั้นทางหน่วยงานราชการไทยจะมาร่วมกันบูรณาการเพื่อให้กระบวนการสั้นลง หากสามารถดำเนินการได้แบบวันสต๊อปเซอวิส โดยขอความร่วมมือส่วนราชการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้สามารถดำเนินการวันเดียวได้แบบจบกระบวนการต่อไป ทั้งนี้ ได้กำชับว่า จะต้องไม่มีปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์และใช้แรงงานเด็กแฝงมากับการใช้แรงงานตัดอ้อย พร้อมทั้งเตรียมนัดพิจารณาร่วมกันกรณีนี้อีกครั้งในวันที่ 21 พ.ย.นี้ อย่างไรก็ตาม จัดหางานจังหวัดได้รายงานตัวเลขปัจจุบันว่า มีการนำแรงงานกัมพูชาเข้ามาในกิจการเกษตรทุกประเภทในปัจจุบันแล้ว จำนวน 14,000 คน

จาก https://mgronline.com วันที่ 15 พฤศจิกายน 2560

ประชาชน98%หนุนพ.ร.บ.นํ้า ต่อรองขอใช้ฟรีก่อน3ปี-ฝ่ายค้านหวั่นต้นทุนเกษตรพุ่ง

เปิดผลสรุปรับฟังความเห็นร่าง พ.ร.บ. ทรัพยากรนํ้า พ.ศ. ... ผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 98% โหวตเห็นด้วยควรมีกฎหมาย ด้านกมธ.วิสามัญพิจารณาร่างฯ เฮ “ประยุทธ์” ใช้ ม.44 ตามข้อเสนอตั้งสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรนํ้าแห่งชาติ ยันพิจารณาร่างเสร็จทันตามกรอบ 25 ม.ค.นี้

 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 77 กำหนดให้การตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง
พร้อมวิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดขึ้นในการใช้กฎหมายอย่างรอบด้าน เช่นเดียวกับร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ทรัพยากรนํ้า พ.ศ. .... ที่ได้เปิดรับฟังความเห็นร่างฯ ผ่านเว็บไซต์ ระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม-26 กรกฎาคม
2560 นั้น

แหล่งข่าวจากกรมทรัพยากรนํ้า เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า มีผู้ตอบแบบสอบถามทั้งสิ้น 3,218 คน ในจำนวนนี้มีผู้เห็นด้วยว่าควรที่จะมี พ.ร.บ.ทรัพยากรนํ้าฯ 3,169 คน คิดเป็น 98.48% ไม่เห็นด้วย 49 คน คิดเป็น 1.52% ผู้เห็นด้วยมีเหตุผลสนับสนุน 
เช่น เป็นพ.ร.บ.ที่รอมานานแล้ว มีประโยชน์ต่อการบริหารจัดการ นํ้าของประเทศชาติอย่างเป็นระบบ อยากให้ พ.ร.บ.ผ่านความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติ
แห่งชาติ (สนช.) ก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง และมีความคาดหวังว่า พ.ร.บ.นี้จะสามารถสร้างความชัดเจน และหาข้อยุติเกี่ยวกับ
การใช้ทรัพยากรนํ้าจากทุกภาคส่วนอย่างเท่าเทียมกัน มีบทลงโทษผู้ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรนํ้าที่ชัดเจน ส่วนการคิดค่านํ้าให้มีการติด
ตั้งมิเตอร์วัด ให้จำแนกค่านํ้า
ออกมา 1% เพื่อเก็บเข้ากองทุนนํ้า และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นคนละครึ่ง และควรมีระยะเวลาให้ใช้นํ้าฟรีไปก่อน 1-3 ปี

บาร์ไลน์ฐานส่วนผู้ที่ไม่เห็นด้วย มีเหตุผล เช่น ยังไม่เข้าใจกฎหมายฉบับนี้ การรับฟังความคิดเห็นประชาชนยังน้อยเกินไป กฎหมายนี้จะทำให้เกษตรกรมีค่าใช้จ่ายด้านนํ้า อาจทำให้ต้นทุนสินค้าเกษตรมีราคาสูงขึ้น ไม่มีข้อมูลร่างฯ ฉบับเต็มให้ศึกษา เป็นต้น อย่างไรก็ดีร่างฯ ดังกล่าวนี้ล่าสุดอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ทรัพยากรนํ้า พ.ศ. … ของ สนช. ที่มี พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ เป็นประธาน โดยมีมติขอขยายระยะเวลาการพิจารณาออกไปเป็นกรณีพิเศษอีก 90 วัน จะสิ้นสุดในวันที่ 25 มกราคม 2561”

ขณะที่นายสุรจิต ชิรเวทย์ กรรมาธิการวิสามัญร่างพ.ร.บ. ทรัพยากรนํ้า พ.ศ. …. ของสนช. เผยว่า จากคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อาศัยอำนาจในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ลงวันที่ 25 ตุลาคม 2560 ให้มีการจัดตั้งสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรนํ้าแห่งชาติ ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ซึ่งตรงกับแนวคิดของคณะกรรมาธิการวิสามัญร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรนํ้า พ.ศ.…ในหลักการที่ว่าควรมีหน่วยงานบูรณาการในการจัดการ
บริหารนํ้าเพราะในอนาคตอาจจะมีรัฐบาลผสมหลายพรรค
และเรื่องนํ้าเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง ปัญหาที่ผ่านมาในอดีตคือการบูรณาการ โดยมอบอำนาจภารกิจสำนักงานนี้ไว้คือ บูรณาการข้อมูลสารสนเทศ เป็นฝ่ายแผนงานและโครงการ เป็นฝ่ายงบบริหารจัดการ และเป็นฝ่ายติดตามและประเมินผลการ
บริหารจัดการทรัพยากรนํ้าเพื่อประโยชน์ในการกำหนดนโยบายการบริหารจัดการทรัพยากรทั้งระบบ มีผู้อำนวยการสำนักงานเป็นผู้บังคับบัญชา

แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์“ต้องจับตามองในขั้นปฏิบัติสำนักงานนี้จะมีโครงสร้างแบ่งสัดส่วนงานภายในอย่างไร ในแง่ที่มีศูนย์ข้อมูลต่างๆที่
เกี่ยวข้องแล้วนำไปบริหารจัดการต่อ เพราะจะเป็นหน่วยงานที่กำหนดนโยบายโดยสำนักงานนี้ทำหน้าที่เป็นฝ่ายประจำในการดูแล และประกาศคำสั่ง กฎเกณฑ์ต่างๆ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการทรัพยากรนํ้าแห่งชาติ (กนช.)ไม่ใช่โดยอธิบดีกรมทรัพยากรนํ้า”

ส่วนความคืบหน้าการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรนํ้าได้ขยายระยะเวลาเป็นรอบ
ที่ 4 รวมกว่า 7 เดือนแล้ว คาดจะพิจารณาเสร็จสิ้นทันตาม
กำหนดภายในวันที่ 25 มกราคม 2561

จาก http://www.thansettakij.com วันที่ 15 พฤศจิกายน 2560

“อภิรดี” สั่งกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจัดกิจกรรมขยายตลาดอาเซียนปี”61 เป็นพิเศษ

 “อภิรดี” สั่งการกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจัดกิจกรรมขยายตลาดอาเซียนปี 61 เป็นพิเศษ หวังสร้างการรู้จักสินค้าไทยและผลักดันการส่งออกให้ได้เพิ่มมากขึ้น “จันทิรา”รับลูกเตรียมจัดงาน Top Thai Brand และ Mini Thailand Week นำสินค้าไทยโชว์ เผยยังมีแผนนำสินค้าไทยขยายตลาดอินเดีย ศรีลังกา บังคลาเทศ ปากีสถาน และอิหร่านด้วย

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มอบนโยบายให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจัดกิจกรรมขยายตลาดอาเซียนปี 2561 เป็นพิเศษ เพื่อหาทางผลักดันสินค้าไทยเข้าสู่ตลาดให้ได้เพิ่มมากขึ้น และขยายการส่งออกสินค้าไทยเข้าสู่ตลาดอาเซียนให้ได้มากขึ้น โดยให้เน้นการจัดงานกิจกรรมแนะนำสินค้าไทย รวมถึงการจัดงานแสดงสินค้าไทย เพื่อผลักดันให้สินค้าไทยเป็นที่รู้จักและเป็นที่ต้องการเพิ่มมากขึ้น ทั้งกับผู้ซื้อ ผู้นำเข้า รวมถึงผู้บริโภคในประเทศต่างๆ ของอาเซียน

 “ปัจจุบันตลาดอาเซียนเป็นตลาดหลักที่สำคัญของไทย มีแนวโน้มการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาด CLMV ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะให้ความสำคัญกับการบุกเจาะตลาดอย่างเต็มที่ และขอให้มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมด้านการตลาดเป็นพิเศษ”นางอภิรดีกล่าว

นางจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า กรมฯ ได้จัดทำแผนการขยายตลาดอาเซียนเสร็จแล้ว โดยได้กำหนดที่จะจัดงาน Top Thai Brand 2018 ที่กัมพูชา เมียนมา เวียดนาม สปป.ลาว และมาเลเซีย และจัด Mini Thailand Week 2018 ที่สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ เวียดนาม กัมพูชา เมียนมา โดยจะเน้นในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ของใช้ของตกแต่งบ้าน สินค้าความงาม แฟชั่น ไลฟ์สไตล์ เครื่องนุ่งห่ม สินค้าเกษตร อัญมณีและเครื่องประดับ และสินค้าบริการ เครื่องจักรกล เครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะจัด Thailand Week 2018 ในประเทศต่างๆ นอกเหนือจากอาเซียน เช่น อินเดีย ศรีลังกา บังคลาเทศ ปากีสถาน และอิหร่าน เป็นต้น

 สำหรับการจัดงาน Top Thai Brand 2018 ได้กำหนดจัด 6 ครั้ง ได้แก่ พนมเปญ กัมพูชา วันที่ 1-4 ก.พ.2561 , ย่างกุ้ง เมียนมา วันที่ 22-25 มี.ค.2561 , โฮจิมินห์ซิตี้ เวียดนาม วันที่ 10-13 พ.ค.2561 , เวียงจันทน์ สปป.ลาว เดือนพ.ค.2561 , ฮานอย เวียดนาม วันที่ 16-19 ส.ค.2561 และกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย วันที่ 23-25 ส.ค.2561

ส่วนงาน Mini Thailand Week 2018 กำหนดจัด 6 ครั้ง ได้แก่ ที่เวียงจันทน์ สปป.ลาว เดือนก.พ.2561 จำนวน 5 วัน , มะนิลา ฟิลิปปินส์ วันที่ 15-18 มี.ค.2561 , นครไฮฟอง เวียดนาม วันที่ 15-18 มี.ค.2561 , เสียมราฐ กัมพูชา เดือนเม.ย.2561 จำนวน 4 วัน , เกิ่นเทอ เวียดนาม วันที่ 6-8 ก.ค.2561 และตองยี เมียนมา วันที่ 24-26 ส.ค.2561

ขณะที่กำหนดการจัดงาน Thailand Week 2018 ในประเทศอื่นๆ ได้แก่ โกลกาตา อินเดีย เดือนก.พ.-มี.ค.2561 , โคลัมโบ ศรีลังกา วันที่ 9-11 มี.ค.2561 , ธากา อินเดีย วันที่ 22-26 พ.ค.2561 , มุมไบ/บังกาลอร์ อินเดีย เดือนมิ.ย. หรือ ก.ค.2561 , เจนไน อินเดีย วันที่ 10-12 ส.ค.2561 , การาจีน ปากีสถาน เดือนก.ย.2561 และเตหะราน อิหร่าน เดือนส.ค.หรือก.ย.2561

สำหรับตลาดอาเซียน เป็นคู่ค้าอันดับ 1 และเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย โดยการส่งออกในช่วง 9 เดือนของปี 2560 (ม.ค.-ก.ย.) มีมูลค่า 43,750.84 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 9.82% และมูลค่าคิดเป็น 24.94% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย คาดว่าการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี 2560 ตลาดอาเซียนจะยังคงขยายตัวได้ดีต่อไป

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 15 พฤศจิกายน 2560

เกษตรฯ ฟันธง"หนอนนิวกินี" ไม่ใช่ ศัตรูพืช

กรมวิชาการเกษตร เคลียร์ชัดหนอนนิวกินี ไม่ใช่ศัตรูพืช พบเข้ามาในประเทศไทยกว่า 10 ปียังไม่มีรายงานความเสียหายในระบบการปลูกพืช พร้อมทำงานร่วม สผ.

นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงกรณีมีการนำเสนอข่าวการพบหนอนตัวแบนนิวกินีในประเทศไทยและสำนักงานนโยบายและแผน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีหนังสือประสานมายังกรมวิชาการเกษตรให้ตรวจสอบพื้นที่การระบาด การประเมินความเสี่ยงผลกระทบ แกละวิธีการควบคุมกำจัดหนอนตัวแบบนิวกินี พร้อมเผยแพร่ข้อมูลสร้างความรู้ความเข้าใจที่ที่ถูกต้องแก่สาธารณะนั้น กรมวิชาการเกษตรได้ตรวจสอบข้อมูลทางวิชาการเบื้องต้นแล้วพบว่าหนอนตัวแบนนิวกินีไม่ใช่ศัตรูพืชกักกันตามพระราชบัญญัติกักพืชพ.ศ.2507

นายสุวิทย์ กล่าวอีกว่าแต่หนอนตัวแบนนิวกินีเป็นสิ่งมีชีวิตในกลุ่มปรสิต หรือพยาธิ มิใช่ศัตรูพืช แต่เป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่น ซึ่งชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่อาจมีขึ้นในประเทศไทย มีสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เป็นหน่วยงานประสานกลาง ในการควบคุม ดูแลชนิดพันธุ์ต่างถิ่นดังกล่าว โดยกรมวิชาการเกษตรพร้อมให้ร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินการกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีกฎหมายเฉพาะ เพื่อควบคุมกรณีดังกล่าว

“จากการตรวจสอบข้อมูลทางวิชาการในเบื้องต้นพบว่าหนอนตัวแบนนิวกินีไม่ใช่ศัตรูพืชกักกันตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ.2507 โดยที่ยังไม่มีรายงานพบความเสียหายของระบบนิเวศน์หรือการเข้าทำลายพืชเศรษฐกิจแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามกรมวิชาการเกษตรและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติจะเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาและเฝ้าระวังในระบบการปลูกพืชของประเทศเพื่อคลายข้อกังวลของประชาชนโดยเร็ว” อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าว

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 15 พฤศจิกายน 2560

SD tech รถตัดอ้อยไทยทำ

รัฐบาลต้องการขับเคลื่อนประเทศให้เป็นไทยแลนด์ 4.0 ภาคเกษตรต้อง 4.0 เช่นกัน...การใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรให้มากขึ้น เป็นหนึ่งในแผนงานที่จะก้าวเดินไปสู่จุดนั้นแต่ถ้ามัวแต่พึ่งจมูกคนอื่นหายใจ คิดแต่ควักเงินซื้อเครื่องจักรกลนำเข้าจากต่างประเทศมาใช้ คงไม่ดีแน่ ภาคเกษตรไทยคงจะเติบโตได้ไม่มั่นคง ไม่แข็งแรง พึ่งพาตนเองไม่ได้

วันนี้โชคดี ภาคเอกชนไทย บริษัท ตั้งเซียะปิงโลหะกิจ จำกัด อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี ได้ออกแบบและผลิตรถตัดอ้อยรุ่นใหม่ SD tech ได้สำเร็จ มีด้วยกัน 2 รุ่น ขนาด 250 แรงม้า มีประสิทธิภาพตัดอ้อยได้ชั่วโมงละ 30 ตัน รุ่น 300 แรงม้า ตัดได้ชั่วโมงละ 60 ตัน ประสิทธิภาพไม่แพ้ของต่างประเทศ แต่ราคาถูกกว่า 30%ประสิทธิภาพเท่ากัน SD tech รุ่น 300 แรงม้า ราคา 8.5 ล้าน...รถนำเข้า 11-12 ล้านที่สำคัญอึดทนมากกว่า

“วันนี้บ้านเรามีรถตัดอ้อยใช้งานกันอยู่ประมาณ 2,000 คัน ไม่พอต่อความต้องการใช้ เพราะปริมาณแค่นี้รองรับพื้นที่ปลูกอ้อยได้แค่ 30% เท่านั้น และรถจำนวนนี้ 80% นำเข้าจากต่างประเทศ ส่วนใหญ่เป็นรถมือสองจากออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา เอามาใช้งานในบ้านเรา มักมีปัญหาเรื่องตัวถัง หรือเฟรม มักจะบิดเบี้ยว แตกร้าว ถ้าโชคดีจะเสียหายแค่ซ่อม เสียเวลารออะไหล่ ตัดอ้อยได้ไม่ทันคิวนัดของโรงงาน แต่ถ้าโชคร้ายเฟรมแตกถึงขั้นถังน้ำมันรั่ว เกิดประกายไฟขึ้นมา รถสิบกว่าล้านถูกไฟเผากลางไร่ ต้องขายเป็นเศษเหล็ก”ศิริวัฒน์ แดงบุปผา วิศวกรผู้ออกแบบ SD tech ที่คนในวงการยกให้เป็น ปรมาจารย์รถตัดอ้อยเมืองไทย ด้วยมีประสบการณ์มามาตั้งแต่ยุคเราเริ่มนำเข้ารถตัดอ้อยจากออสเตรเลียมาใช้เมื่อปี 2535 ชี้ให้เห็นถึงจุดอ่อนของรถตัดอ้อยนำเข้า เพราะการออกแบบไม่เหมาะกับสภาพพื้นที่บ้านเรา

ไร่อ้อยต่างประเทศมีการปรับสภาพพื้นที่ให้ราบเรียบ เอารถจักรกลไปใช้งานจึงลื่นไหล ไม่ค่อยมีปัญหา...ต่างจากบ้านเรา ไร่อ้อยไม่ราบเรียบ เป็นลอนลูกฟูกสูงต่ำลับ เอารถจักรกลมาใช้ รถวิ่งไปพร้อมกับอาการโยกเยก โคลงเคลง กระโดดไปมา ส่งผลให้ตัวถังบิดตัว แตกร้าว

ข้อด้อยในจุดนี้ ศิริวัฒน์ นำมาเป็นโจทย์สร้าง SD tech ให้ตัวถังอึดอดทนต่อสภาพไร่อ้อยบ้านเราโดยเฉพาะ...ออกแบบให้เฟรมเป็นกล่องที่มีโครง มีคาน มีเชสซี เพื่อให้ทนทานบิดตัวได้ยาก และใช้เหล็กสปริงที่ทนแรงบิดตัวได้สูง ไม่เหมือนรถตัดอ้อยทั่วไปที่ใช้เหล็กธรรมดาที่แตกร้าวง่าย พร้อมออกแบบให้ฐานล้อรับแรงกระแทกขณะทำงาน ย้ายถังน้ำมันให้มาอยู่นอกเฟรม เผื่อเวลาเกิดปัญหาถังน้ำมันรั่วซึมจะได้ซ่อมง่ายและเร็ว...ไม่เหมือนรถฝรั่ง ถังน้ำมันอยู่ในเฟรม เกิดถังรั่วซ่อมได้ยาก

ที่สำคัญออกแบบให้สามารถนำอะไหล่ของรถยี่ห้ออื่นมาใช้แทนได้ ในเมืองไทยหาซื้ออะไหล่ได้ง่าย และออกแบบให้ช่างที่เคยซ่อมรถยี่ห้ออื่นสามารถซ่อม SD tech ได้ โดยไม่ต้องไปอบรมใหม่แต่อย่างใด

นี่เป็นเพียงสรรพคุณข้อดีบางส่วนของรถตัดอ้อยฝีมือวิศวกรไทยแบบพึ่งพาตนเอง...ไม่หวังยืมจมูกคนอื่นมาหายใจ

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 15 พฤศจิกายน 2560

เปิดเวทีประชาพิจารณ์ราคาอ้อยขั้นต้น 860 บาท/ตัน 22 พ.ย.นี้

เปิดประชาพิจารณ์ราคาอ้อยขั้นต้นฤดู 60/61 วันที่ 22 พ.ย.นี้ หลัง กบ.เคาะที่ 860 บาทต่อตันโดยใช้ระเบียบกฎหมายเดิม ชาวไร่แนะให้เลื่อนลอยตัวราคาน้ำตาลไปฤดูผลิตหน้าหรือช่วง ธ.ค. 61 แทน ขณะที่โรงงานจี้จะลอยหรือไม่ก็ขอให้ชัดเจนหลังลูกค้าชะลอซื้อเพื่อรอราคาใหม่

 นายธีระชัย แสนแก้ว นายกสมาคมชาวไร่อ้อยอีสานเหนือ เปิดเผยว่า วันที่ 22 พ.ย.นี้คณะกรรมการบริหาร (กบ.) จะเปิดรับฟังความคิดเห็น (ประชาพิจารณ์) แนวทางการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2560/61 ที่เมื่อเร็วๆ นี้ กบ.ได้เห็นชอบราคาเบื้องต้นไว้ที่ 860 บาทต่อตันที่ค่าความหวาน 10 ซีซีเอส จากนั้นจะนำความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียเข้าสู่ความเห็นชอบจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) วันที่ 24 พ.ย.ต่อไป ซึ่งเห็นว่าแนวทางการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายที่ได้กำหนดการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายก็ควรจะเลื่อนออกไปเป็นฤดูการผลิตปี 61/62 เพื่อให้ระเบียบต่างๆ มีความพร้อมเสียก่อน

“ในเมื่อที่ผ่านมา กอน.ไปกำหนดลอยตัว 1 ธ.ค. แต่ระเบียบต่างๆ แก้ไขรองรับไม่ทันก็เห็นว่าควรจะเลื่อนออกไปก็ไม่เสียหายที่จะเป็นฤดูการผลิตปี 61/62 หรือช่วง ธ.ค. 61 เพื่อให้ทุกอย่างพร้อมก่อน และการคำนวณราคาอ้อยก็ใช้ระเบียบเดิมภายใต้ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 อยู่แล้วในขณะนี้ และการคำนวณราคาอ้อยขั้นสุดท้ายก็ต้องใช้ระเบียบเดิมด้วยเช่นกัน การออกระเบียบใหม่ต่างๆ ก็ควรจะไปใช้ลอยตัวในฤดูถัดไป” นายธีระชัยกล่าว

นายสิริวุทธ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ของ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาล กล่าวว่า โรงงานน้ำตาลมีหน้าที่ปฏิบัติตามรัฐอยู่แล้วแต่ขอให้ชัดเจนว่าในเมื่อลอยตัวราคาน้ำตาลไม่ทัน 1 ธ.ค. 60 เพราะแก้ไขระเบียบต่างๆ รองรับไม่ทันก็ต้องบอกมาว่าแล้วเมื่อใดหรือจะเลื่อนไปฤดูการผลิตปีหน้า เพราะขณะนี้ผู้ซื้อน้ำตาลได้ชะลอการซื้อเพราะคาดหวังว่าราคาน้ำตาลที่รัฐกำหนดจะลดราคาลงทำให้ตลาดน้ำตาลมีปัญหามีปริมาณค้างกระดานพอสมควร

“ก่อนหน้าบราซิลตั้งข้อสังเกตว่าไทยอุดหนุนราคาน้ำตาลกับองค์การการค้าโลก (WTO) และเราก็ตั้งทีมเจรจาและตกลงที่จะนำมาสู่การปรับโครงสร้างด้วยการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายและก็ตกลงว่าจะเป็น 1 ธ.ค. ซึ่งในเมื่อทำไม่ทันโจทย์อยู่ที่รัฐต้องไปบอกบราซิลว่าไม่ทันไม่เกี่ยวกับโรงงาน และหลักการลอยตัวก็ต้องถอดเงินที่ขึ้นราคาหน้าโรงงาน 5 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ออกจากระบบแน่นอนว่าใครก็เห็นว่าต้องลดราคาลง แต่ก็ถามว่า 5 บาทนั้นโรงงานก็ไม่ได้อะไรจะลอยตัวหรือไม่ฐานะเราก็คงเดิม” นายสิริวุทธ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม การลอยตัวราคาน้ำตาลนั้นไม่เกี่ยวกับการแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยฯ เพียงแต่แก้ไขระเบียบต่างๆ ในการรองรับเท่านั้น ส่วนกรณีที่หากจะดำเนินการลอยตัวแล้วต้องใช้คำสั่ง ม.44 ในการยกเลิก พ.ร.บ.ฯ ก็เป็นเรื่องของนโยบายรัฐบาลว่าจะตัดสินใจดำเนินการหรือไม่แต่ทั้งหมดขอแค่มีความชัดเจน

นางวรวรรณ ชิตอรุณ รักษาราชการแทนเลขาธิการ กอน. กล่าวว่า คาดว่าไทยจะปล่อยลอยตัวราคาน้ำตาลทรายภายในประเทศให้ปรับขึ้นลงตามกลไกตลาดเสรีที่สะท้อนราคาตลาดโลกภายในฤดูการผลิตปี 2560/2561 ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) อยู่ระหว่างดำเนินการส่งร่างแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องประมาณ 4-5 ฉบับที่ออกภายใต้พ.ร.บ.อ้อยฯ พ.ศ. 2527 ไปให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา หากคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบจึงจะสามารถปล่อยลอยตัวราคาน้ำตาลทรายภายในประเทศได้

จาก https://mgronline.com วันที่ 15 พฤศจิกายน 2560

"เกษตรฯจัดงาน"วันพระบิดาแห่งฝนหลวง

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดงาน“วันพระบิดาแห่งฝนหลวง”น้อมระลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

พลเอกฉัตรชัย  สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังพิธีถวายราชสักการะแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เนื่องในวันพระบิดาแห่งฝนหลวง โดยมีข้าราชการ เจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หน่วยงานราชการส่วนต่าง ๆ ผู้แทนเหล่าทัพ นักเรียน นักศึกษา และอาสาสมัครฝนหลวง เข้าร่วม ณ ลานอเนกประสงค์ อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จัดงาน “วันพระบิดาแห่งฝนหลวง” 14 พฤศจิกายน เพื่อน้อมระลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ทรงมีพระราชดำรัสที่จะคิดค้นวิจัยหาวิธีการทำฝนหลวงเพื่อแก้ไขปัญหาความทุกข์ยากของเกษตรกรและประชาชนทั่วไปที่ประสบภัยแล้ง รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรน้ำของประเทศ จนเกิดเป็นโครงการพระราชดำริฝนหลวงสืบมาจนปัจจุบัน   

             ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2545 เฉลิมพระเกียรติพระองค์ท่านในฐานะทรงเป็น “พระบิดาแห่งฝนหลวง” เพื่อจารึกไว้เป็นวันสำคัญในประวัติศาสตร์ชาติไทย และเป็นวันสำคัญของปวงชนชาวไทยที่จะได้ร่วมกันแสดงความจงรักภักดี และน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบิดาแห่งฝนหลวง ที่ทรงตรากตรำพระวรกายในการทรงงาน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต บำบัดทุกข์บำรุงสุขของราษฎร ผู้ยากไร้ด้อยโอกาส ทั่วทุกภาคของประเทศให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ด้วยทรงมีพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกล ตลอดจนพระอัจฉริยะภาพและพระวิริยะอุตสาหะในการทรงทุ่มเทให้กับการประดิษฐ์คิดค้นวิจัยและพัฒนา จนเกิดเป็นโครงการพระราชดำริมากมายนานัปการ รวมทั้งโครงการพระราชดำริฝนหลวงนี้ ก่อให้เกิดประโยชน์คุณูปการอเนกอนันต์แก่ปวงชนชาวไทยเป็นเวลามายาวนานกว่า 60 ปี   

           นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดงานวันพระบิดาแห่งฝนหลวง ประจำปี 2560 ในครั้งนี้ เพื่อเป็นการถวายราชสักการะและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้ ของพระบาทสมเด็จพระปรมิทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร โดยในปีนี้กำหนดจัดงานขึ้นระหว่างวันที่ 13 – 17 พฤศจิกายน 2560 มีกิจกรรม ประกอบด้วย การแสดงนิทรรศการ“ฝนหลวงของเรา ในหลวงของเรา” โดยมีพิธีเปิดนิทรรศการไปเมื่อวันจันทร์ที่ 13 พฤศจิกายน 2560 ภายใต้แนวคิด “ฝนหลวง 4.0 ศาสตร์พระราชา พัฒนาจากผืนฟ้า นำไทยยั่งยืน” ประกอบไปด้วยนิทรรศการเล่าเรื่องโครงการพระราชดำริฝนหลวงจาก 5 พระอัจฉริยภาพ ผ่านระบบ AR Application

           การจำลองการปฏิบัติการ ฝนหลวงผ่านเทคโนโลยี VR (Virtual Reality) เห็นภาพเสมือนจริง 360 องศา กิจกรรมการระบายสีเครื่องบินด้วยระบบ AR Scanner นิทรรศการโครงการพระราชดำริต่าง ๆ จากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หน่วยงานร่วมบูรณาการ นิทรรศการแสดงผลงานภาพถ่ายและภาพวาด การประกวดจัดนิทรรศการของนักศึกษา การสาธิตส่งเสริมอาชีพ รวมถึงการออกร้านจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรตลอดการจัดงาน            "เกษตรฯจัดงาน"วันพระบิดาแห่งฝนหลวง

           ทั้งนี้ ยังมีกิจกรรมในส่วนของภูมิภาคอีก 76 จังหวัดทั่วประเทศ โดยผู้ว่าราชการจังหวัด เกษตรและสหกรณ์จังหวัดทุกจังหวัด ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ นักเรียน นักศึกษา อาสาสมัครฝนหลวง และประชาชน ร่วมทำพิธีถวายราชสักการะแด่องค์พระบิดาแห่งฝนหลวงด้วยเช่นกัน

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 15 พฤศจิกายน 2560

ครม.ไฟเขียว ขยายเวลาดำเนินโครงการชลประทานขนาดใหญ่ 3 โครงการ

วันที่ 14 พฤศจิกายน 2560 เวลา 12.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานจากตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาลว่า นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังจากการประชุมในวันนี้ว่าด้วยเรื่อง ขออนุมัติขอขยายระยะเวลาดำเนินโครงการชลประทานขนาดใหญ่ จำนวน 3 โครงการจากขอเสนอของทางกระทรวงเกษตรเเละสหกรณ์

โดยโครงการที่ 1 คือโครงการเขื่อนทดน้ำผาจุก จ.อุตรดิตถ์ ซึ่งเป็นการบริหารจัดการน้ำในรุมแม่น้ำน่านตอนล่าง เพื่อที่จะส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานในเขตโครงการประมาณ 48,000 กว่าไร่ ที่ผ่านมาเกิดปัญหา คือการปรับแผนดำเนินการใหม่เนื่องจากสภาพภูมิประเทศได้เกิดการเปลี่ยนแปลงไป มีการจัดหาที่ดินล่าช้า เนื่องจากการเจรจาต่อรองระหว่างภาครัฐและประชาชนไม่ลงตัว และภาคแปลงติดปัญหาข้อกฏหมาย นอกจากนี้ยังมีการแก้ไขแบบก่อสร้างระบบส่งน้ำ เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน ในกรณีนี้คาดว่าจะแล้วเสร็จทุกรายการภาคในปีงบประมาณ 2566 มีการขยายไปอีก 5 ปี

โครงงานที่ 2 คือโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.อุตรดิตถ์ วัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มพื้นที่ชลประทานฤดูฝนอีก 53,000 ไร่ บริหารจัดการน้ำและบรรเทาอุทกภัยในรุมแม่น้ำน่านตอนล่าง ที่ผ่านมามีปัญหาพื้นที่การก่อสร้างต้องออก พ.ร.ก.เพิกถอนอุทยานฯ และเพิ่งจะมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 30 มี.ค 2560 โครงการนี้ขยายระยะเวลาออกไปอีก 3 ปี คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2564

เเละโครงการที่ 3 คือโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการรุมแม่น้ำปิงตอนบน และเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนของอ่างเก็บน้ำ เพื่อใช้ในการเกษตร อุปโภค บริโภค อุตสาหกรรม และระบบนิเวศน์ รวมถึงเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกในช่วงฤดูแล้ง ที่ผ่านมาเกิดปัญหาคือขั้นตอนการขอเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติศรีลานนา บางส่วนเพื่อใช้ในการก่อสร้างใช้ระยะเวลานาน ดังนั้นจึงขอขยายระยะเวลาออกไปอีก 5 ปี คาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในปี 2565

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 14 พฤศจิกายน 2560

คณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนถกอนาคต AEC

คณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Council) ปลื้มผลการเดินหน้าตามพิมพ์เขียวก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2025 พร้อมรับรอง 23 แผนงานต่อยอดจากมาตรการเดิมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขยายมูลค่าการค้าและการลงทุนภายในอาเซียน เน้นเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ MSMEs ส่งเสริมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และนวัตกรรม

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงผลการหารือของคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Council) ครั้งที่ 15 เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2560 ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 31 ณ กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ว่าการประชุมครั้งนี้เป็นการหารือครั้งแรกในรอบ 2 ปี หลังจากการก่อตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เมื่อปลายปี 2558 ซึ่งไทยได้กล่าวเน้นย้ำในที่ประชุมว่าอาเซียนต้องให้ความสำคัญของการเสริมสร้างผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดเล็ก และรายย่อย หรือ MSMEs ที่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญในขณะนี้ และดำเนินการแก้ปัญหามาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษีอย่างจริงจัง เพื่อให้การค้าภายในอาเซียนขยายตัวได้อย่างเต็มที่

นางอภิรดีกล่าวเพิ่มเติมว่า ได้หารือความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2025 (AEC Blueprint 2025) ซึ่งที่ประชุม AEC Council ได้รับรองแผนงานรายสาขา (Sectoral Work Plans) ได้ครบถ้วนทั้ง 23 แผนงาน โดย 3 แผนงานสุดท้ายที่ได้รับรอง คือ (1) แผนปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์ด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า โดยมีเป้าหมายที่จะลดต้นทุนธุรกรรมทางการค้าลงร้อยละ 10 ภายในปี 2563 และเพิ่มมูลค่าการค้าภายในภูมิภาคเป็น 2 เท่า ภายในปี 2568 (2) แผนการดำเนินการด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน ซึ่งเป็นแนวทางการดำเนินเพื่อส่งเสริมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ภายในภูมิภาค และ (3) แผนปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์ด้านภาษีอากร ซึ่งเป็นแนวทางการดำเนินการด้านภาษีอากร เช่น การสนับสนุนการดำเนินการเพื่อจัดทำความตกลงอนุสัญญาภาษีซ้อนให้แล้วเสร็จ การขยายขอบเขตโครงสร้างภาษีหัก ณ ที่จ่าย การปรับปรุงการปฏิบัติงานในการแลกเปลี่ยนข้อมูลให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ซึ่งแผนงานดังกล่าวเป็นแผนงาน/กิจกรรมที่จะดำเนินการนับจากนี้จนถึงปี 2568 รวมทั้งที่ประชุมครั้งนี้ได้รับรองปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยนวัตกรรม ซึ่งแสดงถึงเจตนารมณ์ร่วมกันของประเทศสมาชิกอาเซียนในการใช้นวัตกรรมเป็นปัจจัยขับเคลื่อนให้เกิดการเติบโต และการแข่งขันของอุตสาหกรรมระดับภูมิภาค โดยเอกสารดังกล่าวจะเสนอต่อผู้นำอาเซียนให้ความเห็นชอบภายในการประชุมผู้นำอาเซียนในครั้งนี้

นางอภิรดีกล่าวว่า ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบรายงานของ AEC Council ต่อผู้นำอาเซียน ซึ่งมีข้อเสนอให้ผู้นำอาเซียนพิจารณา ได้แก่ การให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกันระหว่างองค์กรรายสาขา และเสาหลักของประชาคมอาเซียน การให้ประเทศสมาชิก RCEP แสดงความยืดหยุ่นและปรับระดับความคาดหวัง เพื่อให้การเจรจาความตกลง RCEP บรรลุผล และการหารือในระดับนโยบายทั้งภายในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเอง และระหว่าง 3 เสา เพื่อมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน ครอบคลุมทุกภาคส่วน และบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

นอกจากนี้ ประเทศสมาชิกอาเซียนได้แสดงความยินดีกับความสำเร็จของฟิลิปปินส์ในฐานะประธานอาเซียนที่ได้ผลักดันประเด็นสำคัญให้บรรลุผลสำเร็จ เช่น การวัดผลสัมฤทธิ์ของมาตรการอำนวยความสะดวกทางการค้าของอาเซียน กรอบการดำเนินงานเพื่อให้ธุรกิจรายเล็กและรายย่อยมีส่วนร่วมในห่วงโซ่มูลค่าโลก การส่งเสริมผู้ประกอบการสตรีและเยาวชน การปรับปรุงกฎระเบียบการจดทะเบียนธุรกิจของสมาชิกอาเซียนให้สอดคล้องกัน การจัดกิจกรรมเชื่อมโยงระหว่าง MSMEs กับบริษัทข้ามชาติ (MNEs) เป็นต้น และร่วมกันเสนอแนะประเด็นสำคัญที่ควรสานต่อในวาระที่สิงคโปร์เป็นประธานอาเซียนในปี 2561 เช่น การส่งเสริมนวัตกรรม พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และเศรษฐกิจดิจิทัล การเสริมสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ และการส่งเสริมการค้าบริการ เป็นต้น

ในปี 2559 อาเซียนมีมูลค่าการค้ารวม 2.24 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และมีการลงทุนโดยตรงเข้ามายังภูมิภาคอาเซียนมูลค่ารวม 98 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ นอกจากอาเซียนจะค้าขายกันเองมากที่สุดแล้ว คู่ค้ารายใหญ่นอกกลุ่มอาเซียน ได้แก่ จีน สหภาพยุโรป และสหรัฐฯ โดยสหภาพยุโรปยังคงเป็นผู้ลงทุนอันดับหนึ่งของอาเซียน ตามด้วยสหรัฐฯ และญี่ปุ่น

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 14 พฤศจิกายน 2560

'บิ๊กฉัตร'เร่งเยียวยาเกษตรกรน้ำท่วม หลังครม.อนุมัติงบ

14 พ.ย.60 เมื่อเวลา 08.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงการดำเนินการฟื้นฟูและเยียวยาเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมว่า หลังจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รับการอนุมัติงบประมาณจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว 4.7 พันล้านบาท ได้สั่งการให้เร่งดำเนินการบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ผู้ที่เข้าข่ายได้รับในส่วนของเงินเยียวยาให้ถึงมือพี่น้องเกษตรกรให้เร็วที่สุด พร้อมกำชับในเรื่องความโปร่งใสในทุกขั้นตอน

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ช่วงฟื้นฟูนี้ยังถือเป็นโอกาสดีในการนำนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ลงไปปรับใช้ เช่น โครงการ 5 ประสาน สืบสานเกษตรทฤษฎีใหม่ถวายในหลวง ที่เป็นความร่วมมือของ 5 ภาคส่วน ประกอบด้วย เกษตรกร ปราชญ์เกษตรกร เจ้าหน้าที่ภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา โดยเน้นไปที่ส่งเสริมให้เกษตรกรได้เห็นประโยชน์และความสำคัญของการพัฒนาเกษตรสมัยใหม่ การเกษตรแปลงใหญ่ใช้ประโยชน์จากวิทยาการ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อเป็นเกษตรกร 4.0 และเพื่อแก้ไขปัญหาพื้นฐานที่สำคัญของภาคเกษตรไทย ทั้งการขาดความรู้และการบริการจัดการผลิต โดยให้เกษตรกรได้มีรายได้และความภาคภูมิใจในอาชีพ

“โดยมีเป้าหมายเพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต หากลดต้นทุนได้ จะยิ่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งในและต่างประเทศ ที่สำคัญคือการนำแนวพระราชดำริในหลวง ร.9 เรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่ไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ของเกษตรกรเอง ทั้งนี้ มอบหมายให้ศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ที่มีทั้งหมด 822 ศูนย์ทั่วประเทศเป็นศูนย์กลางการทำงานแบบบูรณาการของหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ด้วย” พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

เชื่อม‘แปลงใหญ่’ศพก.สำเร็จ เดินหน้าขับเคลื่อนปฏิรูปภาคการเกษตรเป็นรูปธรรม

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า จากนโยบาย พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ที่ต้องการให้เกิดการปฏิรูปภาคการเกษตร โดยใช้เกษตรกรเป็นศูนย์กลางในการปฏิรูป โดยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและต้องการให้เกิดการขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ จึงต้องการให้ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพ การผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) เป็นแหล่งเรียนรู้ของเกษตรกร และยังก่อให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญโดยเฉพาะแปลงใหญ่

ทั้งนี้ ศพก. เป็นมิติของการพัฒนาภาคการเกษตร โดยให้เกษตรกรเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ทั้งโครงการ นโยบายสำคัญต่างๆ สอดคล้องกับความต้องการในพื้นที่อย่างแท้จริง ผลการขับเคลื่อนที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดแปลงใหญ่อย่างเป็นรูปธรรม รวมจำนวนแปลงใหญ่ 2,535 แปลง พื้นที่ 3,375,524 เกษตรกร 249,106 ราย จากทั้งเกษตรกร ศพก. 882 ศูนย์ และเครือข่าย ศพก. อีกกว่า 10,523 แห่ง ส่งผลให้ภาพรวมของการผลิตสินค้าในแต่ละประเภท เกิดการปรับตัวทั้ง สินค้าข้าว สามารถลดต้นทุน 19.58% ผลผลิตเพิ่ม 26.85% ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สามารถลดต้นทุน 26.22% ผลผลิตเพิ่ม 33.96% ปาล์มน้ำมัน สามารถลดต้นทุน 26.22% ผลผลิตเพิ่ม 33.96% กาแฟ สามารถลดต้นทุน 28.47% ผลผลิตเพิ่ม 32.5% ผัก/สมุนไพร สามารถลดต้นทุน 23.76% ผลผลิตเพิ่ม 36.48% เงาะโรงเรียน สามารถลดต้นทุน 19.79% ผลผลิตเพิ่ม 12.8%

ในปี 2561 กรมส่งเสริมการเกษตร ได้วางแผนการทำงานเป็น 4 ไตรมาส ซึ่งจะทำให้เห็นเป้าหมายชัดเจนมากขึ้น และจะต้องทำงานให้เกิดการบูรณาการ และการรับฟังความคิดเห็นของ คณะกรรมการแปลงใหญ่ ทุกระดับ เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาในระดับพื้นที่อย่างแท้จริง

นายเชิดชัย จิณะแสน ประธานคณะกรรมการเครือข่าย ศพก. ระดับประเทศ เปิดเผยว่า ผลสำเร็จที่ทำให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม คือ การเชื่อมโยงการดำเนินงานแปลงใหญ่ วางเป้าหมายในการพัฒนาร่วมกันอย่างเป็นระบบ เพื่อนำไปสู่การลดต้นทุน 20% การเพิ่มผลผลิต 20% ตามนโยบายยกกระดาษ A4 ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำหรับในปี 2561 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดเป้าหมายให้ “เป็นปีแห่งการสร้างความเข้มแข็งเครือข่าย ศพก.” เน้นการพัฒนาให้ ศพก. มีความพร้อม และสนับสนุน การดำเนินงาน แปลงใหญ่ พัฒนหลักสูตรการเรียนรู้ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ศพก. อีกกว่า 10,523 ศูนย์ ให้สำเร็จไปพร้อมๆ กับการดำเนินการ ศพก. 882 ศูนย์ ได้

จาก http://www.naewna.com วันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

รมว.พาณิชย์ลงนามFTAอาเซียน–ฮ่องกง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ลงนาม FTA อาเซียน–ฮ่องกง,เร่งเจรจาRCEP เตรียมเสนอผู้นำที่ฟิลิปปินส์

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในโอกาสที่จะร่วมคณะนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 31 ระหว่างวันที่ 12-14 พฤศจิกายนนี้ ที่ประเทศฟิลิปปินส์ รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนจะลงนามความตกลงการค้าเสรี และความตกลงด้านการลงทุนระหว่างอาเซียนและฮ่องกง ซึ่งไทยในฐานะประเทศผู้ประสานงานและประธานร่วมฝ่ายอาเซียน ได้มีบทบาทสำคัญให้การเจรจาสรุปผลได้สำเร็จ รวมทั้งจะเข้าร่วมการประชุมผู้นำ RCEP ครั้งแรกนับตั้งแต่เปิดการเจรจา RCEP เมื่อปี 2556

โดยผู้นำประกาศเน้นย้ำ ที่จะสรุปผลการเจรจา RCEP ให้บรรลุผลได้โดยเร็วภายในปี 2561เพื่อให้ RCEP เป็นความตกลงที่มีคุณภาพสูงและเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน

โดยในปี 2559 อาเซียนมีการส่งออกรวมมูลค่า 1.14 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 7.2 ของมูลค่าการส่งออกของโลก และมีการนำเข้ารวมมูลค่า 1.08 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6.6 ของมูลค่าการนำเข้าองโลก

ในขณะที่การค้าระหว่างไทยกับอาเซียนในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2560 มีมูลค่า 66,035 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็นการส่งออก 38,673 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้า 27,362 ล้านเหรียญสหรัฐ

จาก http://www.innnews.co.th   วันที่ 13 พฤศจิกายน 2560

ชวนเกษตรเพาะปลูกด้วยวิธี KAS ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต สร้างรายได้ให้ยั่งยืน

เป็นเวลากว่า 40 ปีที่สยามคูโบต้าได้เห็นความสำคัญของการเกษตร และอยู่ร่วมเคียงข้างเกษตรกรไทยมาโดยตลอด  รวมทั้งมีการพัฒนาเครื่องจักรกลการเกษตรให้มีคุณภาพ จนทำให้เกิดองค์ความรู้ที่เรียกว่า KUBOTA ( Agri ) Solutions เกษตรครบวงจร หรือ KASให้แก่พี่น้องเกษตรกรไทย

สำหรับระบบการจัดการด้านการเกษตร ที่นำเครื่องจักรทางการเกษตรเข้ามามีบทบาทในการทำการเกษตรในทุกๆ ขั้นตอนให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น คือ วิธีการทำเกษตรแบบ KAS ที่ทางสยามคูโบต้าได้อธิบายในคลิปวิดีโอ โดยมีการเปรียบเทียบการทำเกษตรที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันไว้อย่างชัดเจน ตั้งแต่การเตรียมดิน การเพาะปลูก บำรุงรักษา จนถึงการเก็บเกี่ยว

แน่นอนว่าผลลัพธ์ที่ได้นั้น พบว่า วิธี KAS มีส่วนช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุน และเพิ่มรายได้จากผลผลิต ทั้งในแง่ของปริมาณและคุณภาพ รวมถึงยังช่วยลดการใช้สารเคมี และการเผาไหม้ ซึ่งเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมในชุมชนได้ด้วย ต่างจากวิธีปัจจุบัน ที่นอกจากผลผลิตจะไม่มีคุณภาพแล้ว ยังสิ้นเปลืองเวลาและค่าใช้จ่ายอีกด้วย

เห็นได้จากการทำอ้อยข้ามแล้ง ในวิสาหกิจชุมชนทำนาห้วยตาดข่า จ.อุดรธานี จากในวิดีโอจะพบว่า วิธี KAS สามารถทำรายได้มากกว่าวิธีการแบบดั้งเดิมถึง 66%  จึงถือได้ว่า การทำเกษตรด้วยวิธี  KAS เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่น่าสนใจในยุคปัจจุบัน

และถ้าหากต้องการศึกษารายละเอียดการทำเกษตรด้วยวิธี KAS สามารถเข้าไปดูได้ที่ www.kubotasolutions.com ศึกษาเสร็จแล้ว อย่าลืมนำไปเผยแพร่ให้กับชุมชนของตัวเอง เพื่อให้ภาคการเกษตรกรของไทยเรา เติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป

จาก https://www.khaosod.co.th    วันที่ 13 พฤศจิกายน 2560

ปั้นนักบริหารการเกษตรรุ่นใหม่ l กษ.เปิดคอร์สติวเข้มพัฒนาความรู้ความสามารถ-ภาวะผู้นำ

นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสถาบันเกษตราธิการ ได้ดำเนินการจัดฝึกอบรมและพัฒนาหลักสูตร “นักบริหารการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ระดับกลาง” มาอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นการพัฒนานักบริหารระดับกลาง ให้มีภาวะผู้นำ ที่มีความรู้ ความสามารถ ทักษะและสมรรถนะในด้านการบริหารอย่างถูกต้อง เหมาะสม และสอดคล้องกับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มีความพร้อม สำหรับการก้าวสู่ผู้บริหารในระดับนโยบาย และสามารถขับเคลื่อนนโยบาย ยุทธศาสตร์ สร้างหรือนำการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในหน่วยงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มพูนทักษะในการสร้างแรงจูงใจและพัฒนาประสิทธิภาพของทีมงานและองค์การได้อย่างเป็นรูปธรรม เข้าใจกระบวนการสร้างเครือข่าย (Network) และระบบพันธมิตร (Partner) เพื่อเพิ่มพลังการทำงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และส่งเสริมในการมีพฤติกรรมที่สะท้อนคุณธรรมและจริยธรรม ที่เป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง

สำหรับการจัดฝึกอบรมหลักสูตร นักบริหารการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ระดับกลาง รุ่นที่ 82 ในครั้งนี้ กำหนดจัดระหว่างวันที่ 6 พฤศจิกายน -9 ธันวาคม 2560 รวม 27 วัน โดยความร่วมมือระหว่างสถาบันเกษตราธิการ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีผู้เข้ารับการฝึกอบรมเป็นบุคลากรในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จำนวน 120 คน โดยมีกิจกรรมแบ่งเป็น 3 ช่วง ประกอบด้วย ช่วงที่ 1 การปฐมนิเทศและกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ เป็นการพัฒนากระบวนการคิดและสร้างทีมงาน ช่วงที่ 2 การบรรยายวิชาการ การแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์และการปัจฉิมนิเทศ และช่วงที่ 3 การศึกษาดูงานในส่วนภูมิภาค นอกจากนี้ ยังได้กำหนดกิจกรรมต่างๆ ของหลักสูตร ในรูปแบบของการแบ่งกลุ่ม เพื่อให้เกิดความหลากหลายทางความคิด และสร้างสัมพันธภาพที่ดี ระหว่างผู้เข้ารับการฝึกอบรมด้วย

“การฝึกอบรมในครั้งนี้ จะทำให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้รับความรู้ที่หลากหลาย ทันกับสถานการณ์ในยุคการบริหารราชการแนวใหม่ที่เน้นการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี มีทักษะความเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง และเกิดการสร้างเครือข่ายการทำงาน ภายในหน่วยงานของกระทรวง

 เกษตรฯ ในการประสานสัมพันธ์สร้างความสามัคคีภายในหมู่คณะ ซึ่งจะส่งผลให้มีการบูรณาการการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นในอนาคต” นายเลิศวิโรจน์ กล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

FTA อาเซียน-ฮ่องกง เปิดตลาดการค้า-ลงทุนบนเส้นทางสายไหม

ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 31 ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ระหว่างวันที่ 12-15 พฤศจิกายน 2560 ผู้นำอาเซียนรวมทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย มีกำหนดการที่จะลงนามในความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ฮ่องกง ซึ่งประกอบด้วย ความตกลงด้านการค้าและบริการ (AHKFTA) กับความตกลงด้านการลงทุนระหว่างรัฐบาลของเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐ ประชาชนจีน กับรัฐบาลของประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (AHKIA) หลังจากใช้เวลาเจรจามานานเกือบ 3 ปีนับจากปี 2557 โดยความตกลงทั้ง 2 ฉบับนี้คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2562

ฮ่องกงประตูเชื่อม OBOR

ฮ่องกงถือเป็นคู่ค้าสำคัญของอาเซียนในปี 2559 มีการค้าระหว่างกัน 100,234 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็นอาเซียนส่งออก 78,751 ล้านเหรียญ-นำเข้า 21,482 ล้านเหรียญ โดยอาเซียนเป็นฝ่ายได้ดุลการค้าฮ่องกง 57,268 ล้านเหรียญ ส่วนการค้าไทย-ฮ่องกงนั้น ฮ่องกงถือเป็นคู่ค้าอันดับที่ 9 ในปี 2559 มีมูลค่า 13,067 ล้านเหรียญ ปรับตัวลดลงต่อเนื่องมา 4 ปีนับจากปี 2556 โดยไทยส่งออก 11,467 ล้านเหรียญ-นำเข้า 1,599 ล้านเหรียญ ฮ่องกงเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า 9,868 ล้านเหรียญ และฮ่องกงยังถือเป็นนักลงทุนอันดับที่ 7 ของไทย

ที่สำคัญฮ่องกงถือ เป็นเขตเศรษฐกิจที่มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับจีน มีการทำความตกลง Closer Economic Partnership (CEPA) กับความร่วมมือ Pan Pearl River Delta (PPRD) ในอนาคตฮ่องกงจะมีบทบาทสำคัญในนโยบายเส้นทางสายไหมยุคใหม่ (One Belt One Road-OBOR) ดังนั้นการที่อาเซียนทำ FTA กับ “ฮ่องกง” จึงไม่ใช่เพียงการเปิดตลาดฮ่องกง แต่ยังเป็นการเปิดประตูสู่ตลาดจีนอีกด้วย

สตาร์ตลดภาษีสินค้า 6,300 รายการปี”61

สำหรับรายละเอียดของความตกลงทั้ง 2 ฉบับนั้น กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้จัดประชุมประชาพิจารณ์รอบสุดท้าย เพื่อขอความเห็นการลงนามความตกลงไปเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา หรือก่อนจะถึงกำหนดลงนามเพียง 4 วันเท่านั้น

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ให้เหตุผลว่า กรมได้จัดประชาพิจารณ์และประชุมรับฟังความเห็นกลุ่มย่อยก่อนหน้านี้ไปแล้ว หลายครั้ง ส่วนการประชุมครั้งนี้ กรมจะรวบรวมความเห็นที่ได้ไปนำเสนอระดับนโยบายในการปรับปรุงความตกลงในลำดับ ต่อไป

ทั้งนี้ ความตกลงอาเซียน-ฮ่องกง ครอบคลุม 14 ข้อบท ทั้งสินค้า-บริการและความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและวิชาการ 5 ด้าน คือ บริการวิชาชีพ พิธีการศุลการ การอำนวยความสะดวกทางการค้า/โลจิสติกส์ เอสเอ็มอี และอีคอมเมิร์ซ

ในส่วนความตกลงด้านการค้าสินค้าและบริการ หรือ AHKFTA กำหนดว่า ไทยจะเริ่มลดภาษีนำเข้าสินค้าทันที 6,300 รายการให้กลายเป็น 0% ใน 3 ปีนับจากความตกลงมีผลบังคับใช้ ในกลุ่มสินค้าปกติ 1 ได้แก่ ล็อบสเตอร์, สัตว์น้ำสำหรับทำพันธุ์, สับปะรด, ฝรั่ง, มะม่วง, ขนแกะ, ทองแดง, เครื่องดับเพลิง, กล้องถ่ายภาพยนตร์

จากนั้นจะทยอยลดภาษีสินค้าปกติกลุ่มที่ 2 เช่น เห็ดมัชรูม, ส้ม, ยารักษาโรคที่มีเพนิซิลลิน, กลุ่มใยสังเคราะห์ทำด้วยโพลีเอสเตอร์ให้เป็น 0% ใน 10 ปี แต่ยังคงภาษีสินค้าอ่อนไหว เช่น แป้ง, ข้าวสาลี, เนื้อ, เครื่องใน, ลิ้นจี่, ลำไย, โลหะป้องกันหัวรองเท้า, รองเท้าสนับแข้งทำด้วยไม้, เครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณที่เป็นของเทียมไว้ที่ 0-5% ภายใน 12 ปี และสินค้าอ่อนไหวสูง เช่น เครื่องนุ่งห่ม, โมเพ็ด และรถจักรยานที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์, จานเบรก, เครื่องทำน้ำร้อนด้วยไฟฟ้า, กระเบี้อง อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยขอ “ยกเว้น” ไม่นำสินค้า 359 รายการมาเจรจาเปิดตลาด ได้แก่ ยานยนต์ไฟฟ้า, ข้าว, ข้าวโพด, ไหม, กระดาษ, กาแฟ, ชา, ไวน์, ยาสูบ, ผลิตภัณฑ์นม, ไข่ และผลิตภัณฑ์จากสัตว์

โดยประเทศอาเซียนกลุ่มแรกที่จะลดภาษีพร้อมไทย คือ บรูไน-มาเลเซีย-ฟิลิปปินส์ ส่วนอินโดนีเซีย-เวียดนาม จะทยอยลดภาษีลงเป็น 0% ในสัดส่วนที่น้อยกว่าและช้ากว่า และกลุ่มสุดท้ายคือ ลาว-เมียนมา-กัมพูชา จะทยอยลดภาษีลงช้าที่สุดในระยะเวลา 8 ปี และยกสินค้าที่ไม่พร้อมที่จะเปิดเสรีออกได้ 15% จากสินค้าทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ไทยไม่ได้คาดหวังจะให้ฮ่องกงเร่งลดภาษีลงมา เนื่องจากภาษีนำเข้าส่วนใหญ่ของฮ่องกงเป็น 0% อยู่แล้ว แต่การทำเอฟทีเอเป็นการ “ล็อกภาษีนำเข้าในอนาคตไว้ที่ 0%” ในสินค้ากลุ่มที่ฮ่องกงไม่ได้มีข้อผูกพันกับองค์การการค้าโลก (WTO) ว่า จะคงภาษีเป็น 0% ซึ่งมีถึง 53% ของจำนวนสินค้าทั้งหมด เพื่อช่วยให้เอกชนไทยสามารถวางแผนการค้าการลงทุนในระยะยาวได้ และสามารถนำเข้าสินค้าวัตถุดิบจากฮ่องกงได้ในราคาถูกลง

ส่วนที่กังวล ว่า “สินค้าจีนจะทะลัก” โดยอาศัยการส่งออกผ่านฮ่องกงมาอาเซียนนั้น เลิกกังวลได้เลย เพราะเดิมจีนมีเอฟทีเอกับอาเซียนอยู่แล้ว สามารถส่งออกผ่านช่องทางดังกล่าวได้ไม่จำเป็นต้องผ่านฮ่องกง อีกทั้งความตกลงฉบับนี้ ได้กำหนดกฎแหล่งกำเนิดสินค้าที่เข้มงวดสามารถป้องกันไม่ให้สินค้าจีนแฝงมา ได้ต่อยอดเปิดเสรีธุรกิจบริการมากกว่า WTO

การเปิดเสรีภาคบริการ ประเทศไทยจะเปิดเสรีภาคบริการให้ฮ่องกง 74 สาขา (เทียบเท่ากับที่เปิดให้ความตกลงเปิดเสรีบริการอาเซียน โดยเปิดคู่ค้าอาเซียน-ฮ่องกงเข้ามาให้ถือหุ้นสูงสุด 70% ในสาขาบริการให้คำปรึกษา และบริการด้านพยากรณ์อากาศและอุตุนิยมวิทยา) และเปิดให้มีการเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา 44 สาขาย่อย เช่น ผู้เยี่ยมเยือนทางธุรกิจ และผู้โอนย้ายภายในบริษัท เป็นต้น

ส่วน ฮ่องกงเปิดเสรีธุรกิจบริการ 87 สาขาหรือ “มากกว่า” ที่ไทยเปิดให้ฮ่องกง และที่สำคัญยังเปิดให้ถือหุ้น 100% ได้ในจำนวน 80 สาขาจาก 87 สาขา เช่น บริการเกี่ยวกับการผลิตรายการวิทยุโทรทัศน์ และ “ยกเว้น” บางสาขาที่ฮ่องกงเปิดตลาดแบบมีเงื่อนไข เช่น บริการวิศวกรรม, บริการด้านโทรคมนาคม และบริการด้านการเงิน ส่วนสาขาบริการที่เหลือจะหารือกันต่อหลังจากความตกลงมีผลบังคับใช้ครบ 1 ปี

จะเห็นได้ว่า ฮ่องกงเปิดตลาดบริการให้กับอาเซียนมากกว่าที่ผูกพันไว้ใน WTO ถือเป็นโอกาสสำคัญของนักลงทุนไทยที่จะขยายการลงทุน ทั้งยังจะได้รับการอำนวยความสะดวกมากขึ้น และสามารถยกระดับมาตรฐานภาคบริการของไทยได้ ขณะที่ฮ่องกงต้องการขยายตลาดธุรกิจบริการที่มีศักยภาพ เช่น บริการทางการเงิน โลจิสติกส์ มายังอาเซียน

ภาคการลงทุนเจรจาต่อหลังปี”62

สุดท้าย ความตกลงด้านการลงทุน AHKIA มี 29 ข้อบท ครอบคลุมการคุ้มครองการลงทุนซึ่งจะเน้นการปฏิบัติด้วยความเป็นธรรมและเท่า เทียมกัน การส่งเสริมและอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน มุ่งเน้น การสร้างบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุน กระบวนการที่ช่วยให้การขออนุมัติการลงทุนง่ายขึ้น การตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ และการเผยแพร่ข้อมูลการลงทุน

ส่วนประเด็นที่เหลือ “การระงับข้อพิพาทด้านการลงทุนระหว่างภาคีกับนักลงทุน” จะหารือกันต่อเนื่องในอีก 1 ปี หลังจากความตกลง AHKIA มีผลบังคับใช้แล้ว

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 12 พฤศจิกายน 2560

เล็งใช้โควตาอ้อยน้ำตาลต่อ “สูตรลอยตัว” วุ่นชาวไร่ชงโรงงานบวก 3 บาท

ผู้บริโภคเตรียมแบกรับราคาน้ำตาล 5 บาทต่อ หลัง “สูตรลอยตัวน้ำตาล” จบไม่ลง สอน.เล็งให้ยึดกฎหมายเดิมฤดูกาลนี้ไปก่อน เผยชาวไร่ชงบวกเพิ่มราคาขาย 3 บาทให้ผู้บริโภคแบกเหมือนเดิม แต่โรงงานหวั่นผิดกฎหมาย

หลังจากที่กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เตรียมประกาศลอยตัวน้ำตาลที่ขายภายในประเทศในวันที่ 1 ธันวาคม 2560 และแจ้งว่าจะมีการยกเลิกระบบโควตา ก. (น้ำตาลบริโภคภายในประเทศ) โควตา ข. (ส่งออกโดยผ่านบริษัทอ้อยและนํ้าตาลไทย จำกัด (อนท.) จำนวน 8 แสนตัน) โควตา ค. (น้ำตาลส่งออกไปต่างประเทศ ส่วนที่เหลือโดยหักโควตา ก. และโควตา ข. ออกจากปริมาณน้ำตาลที่ผลิตได้ทั้งหมด) แต่ล่าสุดมีแนวโน้มว่าไม่สามารถประกาศลอยตัวได้ทันภายในวันที่ 1 ธันวาคมนั้น

แหล่งข่าวจากวงการน้ำตาล เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้เรื่องการลอยตัวยังมีหลายประเด็นที่ชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลไม่สามารถตกลงกันได้ ส่งผลให้ต้องมีการเลื่อนการประกาศลอยตัวออกไป โดยเฉพาะประเด็นที่ชาวไร่อ้อยมีความพยายามจะให้โรงงานบวกเงินเพิ่มเข้าไปในราคาขาย 2-3 บาท เหมือนกับโครงสร้างเดิมที่ผลักภาระให้ผู้บริโภคด้วยการบวกเงินเพิ่ม 5 บาทเข้าไปในราคาขาย เพื่อนำเงินจากผู้บริโภคไปใช้หนี้เงินกู้แทนชาวไร่อ้อยผ่านกองทุนอ้อยและน้ำตาล ซึ่งโรงงานส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย และการบวกเพิ่มดังกล่าวไม่มีกฎหมาย หรือระเบียบ หรือมติคณะรัฐมนตรีรองรับหลายโรงงานเกรงจะเป็นการทำผิดกฎหมาย จึงมีการหารือถึงขั้นที่จะให้ออกมาตรา 44 รองรับระเบียบดังกล่าว แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถตกลงกันได้ จึงค่อนข้างมีแนวโน้มว่าในฤดูการผลิตต่อไปจะยังคงใช้กฎหมายและระเบียบเดิมไปก่อน เท่ากับผู้บริโภคต้องแบกรับภาระเงิน 5 บาท เพื่อใช้หนี้ให้ชาวไร่ที่กองทุนอ้อยและน้ำตาลยังติดค้างอยู่ 5,800 ล้านบาทกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่กู้มาตั้งแต่ปี 2558/2559

แม้ในที่ประชุมคณะ กอน.เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 60 จะได้ผ่านความเห็นชอบ โดยเขียนระบุไว้ในร่างระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจัดเก็บเงินจากการจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักรเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาล พ.ศ. …ที่จะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ในสัปดาห์หน้า โดยระบุว่า เป็นการนำส่วนต่างที่เกิดขึ้นจากการสำรวจราคาเฉลี่ยของน้ำตาลทรายภายในประเทศที่ขายได้จริงในหนึ่งเดือนมาบวกรวมกับราคาเฉลี่ยของราคาน้ำตาลทรายขาวในตลาดลอนดอนหมายเลข 5 และค่าส่วนเพิ่มทางการตลาดที่เกิดขึ้นในหนึ่งเดือน ส่งเข้ากองทุนเพื่อใช้ในการรักษาเสถียรภาพของระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล แต่การให้โรงงานบวกเพิ่มราคาระเบียบดังกล่าวนี้ไม่ได้รองรับ

ทั้งนี้ หากเปิดเสรีลอยตัวจริงคือ เมื่อนำราคาน้ำตาลตลาดลอนดอน หมายเลข 5 บวกไทยพรีเมี่ยม ให้ถือเป็นราคาอ้างอิงกลาง และให้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาสำรวจราคาขายหน้าโรงงาน หากโรงงานใดขายสูงกว่าราคาอ้างอิงดังกล่าวให้นำส่วนต่างตรงนั้นส่งเข้ากองทุนเพื่อใช้ในการรักษาเสถียภาพของระบบอ้อยและน้ำตาล ซึ่งส่วนต่างไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นเท่าไหร่ โรงงานใหญ่บริหารต้นทุนดีราคาต้นทุนต่อหน่วยอาจจะต่ำกว่าโรงงานขนาดเล็กที่มีต้นทุนสูงกว่า

“ฝ่ายชาวไร่อ้อยจึงพยายามล็อบบี้แต่ละโรงงานให้บวกราคาน้ำตาลเพิ่ม ซึ่งเป็นการผลักภาระให้ผู้บริโภคเหมือนเดิม ซึ่งหลายโรงงานไม่เห็นด้วย และไม่ได้มีส่วนได้เงินตรงนั้นด้วย แถมยังต้องเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมาย จึงยังตกลงกันไม่ได้ ขณะที่ฝ่ายราชการไม่สามารถหาทางออกให้กับชาวไร่อ้อยได้

ที่จะทำให้การเก็บเงินจากผู้บริโภคเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ตอนนี้ชาวไร่อ้อยเองที่จะให้บวกเงิน 3 บาทเพิ่ม ยังไม่สามารถบอกได้ว่า จะให้ไปบอกประชาชนได้อย่างไรว่า เงิน 3 บาทที่มาบวกเพิ่มมีที่มาที่ไปของเงินอย่างไร ส่วนต่างที่เกิดขึ้นจากการสำรวจราคาเฉลี่ยของน้ำตาลทรายภายในประเทศที่ขายได้จริงในหนึ่งเดือนคิดมาจากโรงงานน้ำตาลอย่างไร และยังไม่รู้ว่า กระทรวงพาณิชย์จะเห็นด้วยหรือไม่อย่างไร เพราะราคาเฉลี่ยที่ออกมาจะมองว่าเป็นการฮั้วราคาหรือเปล่า

ที่สำคัญหลายคนยังกังวลว่า การบวกเงิน 3 บาทดังกล่าวเข้าไปหากราคาออกมาสูงกว่าตลาดโลก 2-3 บาทต่อกิโลกรัม ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรายใหญ่อาจจะสั่งนำเข้าน้ำตาลจากต่างประเทศเข้ามาแทนย่อมทำได้ เพราะถือว่าเป็นกลไกตลาดเสรี จึงเท่ากับว่า การเปิดเสรีราคาน้ำตาลของไทย ยังไม่เสรีอย่างแท้จริง เพราะยังโอบอุ้มชาวไร่ไว้เหมือนเดิม

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 12 พฤศจิกายน 2560

วอนรัฐแก้เอทานอลล้นประเทศ! เลิกโซฮอล์91ดึงคนเติมE20

เอทานอลเข้าสู่ภาวะวิกฤต “ล้นตลาด” ไม่ต่ำกว่า 2 ล้านลิตร/วัน ส่งออกก็สู้ราคาสหรัฐไม่ได้ ภายในประเทศก็แห่เปิดโรงงาน-ขยายกำลังผลิตใหม่กันยกใหญ่ ส่งผลสมาคมเอทานอลฯวิ่งโร่ทำหนังสือถึงกระทรวงพลังงาน วอนรัฐยกเลิกน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 หวังคนหันมาเติม E20 เพิ่มยอดใช้เอทานอลในประเทศ

นายพิพัฒน์ สุทธิวิเศษศักดิ์ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้กำลังผลิตเอทานอลภายในประเทศอยู่ในสภาวะ ล้นตลาด อย่างหนัก หลังจากที่มีโรงงานเอทานอลที่เปิดใหม่เริ่มผลิตเข้าระบบแล้วอีก3 โรงด้วยกัน คือ บริษัท ที พี เคเอทานอล จำกัด กำลังผลิต 340,000 ลิตร/วัน สถานที่ตั้งจังหวัดนครราชสีมา, บริษัท อิมเพรส เอทานอล จำกัด กำลังผลิต 200,00 ลิตร/วัน จังหวัดปราจีนบุรี และบริษัท ฟ้าขวัญทิพย์ จำกัด กำลังผลิต 60,000 ลิตร/วัน จังหวัดปราจีนบุรี ส่งผลให้ภาพรวมกำลังผลิตเอทานอลรวมกันสูงถึง 6 ล้านลิตร/วัน ขณะที่ความต้องการใช้เอทานอลในปัจจุบันอยู่ที่เพียง 4 ล้านลิตร/วัน เท่ากับมีปริมาณเอทานอล ล้นเกิน อยู่ถึง 2 ล้านลิตร/วัน

ที่ผ่านมา เมื่อมีเอทานอลส่วนเกินในระบบเกิดขึ้น โรงงานผู้ผลิตเอทานอลก็จะส่งออกส่วนเกินไปตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดฟิลิปปินส์ แต่ปัจจุบันตลาดนี้กลายเป็นแหล่งนำเข้าเอทานอลจากโรงงานผู้ผลิตในสหรัฐอเมริกาไปแล้ว เนื่องจากเอทานอลสหรัฐมีราคา ถูกกว่า เอทานอลที่ผลิตจากประเทศไทยถึง 15 บาท/ลิตร เมื่อรวมต้นทุนการขนส่งจากไทยไปฟิลิปปินส์ที่อยู่ระหว่าง 17-18 บาท/ลิตรเข้าไปแล้ว จะทำให้ราคาเอทานอลของไทยที่ผลิตจากกากน้ำตาล มีราคาจำหน่ายสูงถึง 24 บาท/ลิตร ส่วนเอทานอลที่ใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบ ราคาอยู่ที่ 25 บาท/ลิตร ซึ่งไม่สามารถแข่งขันในตลาดส่งออกกับเอทานอลจากสหรัฐได้

“พอส่วนล้นเกินความต้องการใช้ส่งออกไม่ได้ ผู้ผลิตเอทานอลบางรายก็หันมาขายแบบตัดราคากันเอง ไม่น้อยกว่า 1 บาท/ลิตร เพื่อระบายสต๊อกค้างในกระบวนการผลิต ส่งผลให้ภาพของเอทานอลวันนี้ต่างจากช่วงปลายปี 2559 ต่อต้นปี 2560 ที่เอทานอลอยู่ในภาวะตึงตัว เพราะมีโรงงานใหญ่บางโรงต้องหยุดการผลิตจากสาเหตุความขัดข้อง ประกอบกับกากน้ำตาลที่เป็นวัตถุดิบ สามารถนำไปใช้ในกิจการอื่นที่สร้างมูลค่าได้มากกว่า เช่น การทำเหล้า ส่งผลให้มีปริมาณกากน้ำตาลหายไป ประมาณ 500,000 ตัน และด้วยเหตุผลนี้ ทำให้กระทรวงพลังงานตัดสินใจยังไม่ยอมยกเลิกการจำหน่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 ส่งผลให้ความต้องการใช้เอทานอลไม่เพิ่มขึ้นตามที่คาดการณ์เอาไว้” นายพิพัฒน์กล่าว

ล่าสุด กลุ่มโรงงานผู้ผลิตเอทานอลรวม 26 โรง ได้ยื่นหนังสือถึง นายธรรมยศ ศรีช่วย ปลัดกระทรวงพลังงาน ขอให้มีการทบทวนใน 2 ประเด็น คือ 1) ให้มีการลดประเภทน้ำมันเชื้อเพลิงลง ด้วยการยกเลิกจำหน่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 เพื่อให้ผู้บริโภคหันมาใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 ทดแทน และ 2) ให้ปรับเป้าหมายในแผน Alternative Energy Development Plan 2558-2579 หรือ แผน AEDP ที่คาดการณ์ว่า ความต้องการใช้เอทานอลในปี 2579 อยู่ที่ 11.3 ล้านลิตร/วัน เนื่องจากในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ภายหลังเกิดเหตุการณ์เอทานอลตึงตัว ได้มีการปรับลดเป้าหมายความต้องการใช้เอทานอลเหลือเพียง7 ล้านลิตรเท่านั้น ในขณะที่ปัจจุบันความต้องการใช้เอทานอลอยู่แค่ 4 ล้านลิตร/วัน ฉะนั้นหากเดินหน้าตามแผน AEDP ได้ จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปรับลดเป้าหมายดังกล่าว

ด้านนายเดชพนต์ เลิศสุวรรณโรจน์ ผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัท อุบลไบโอเอทานอล จำกัด และนายกสมาคมเอทานอลจากมันสำปะหลัง กล่าวว่า โรงงานเอทานอลหลายแห่งเดินเครื่องผลิตเพียงร้อยละ 60 เท่านั้น แต่บางรายก็ต้องเดินเครื่องเต็มกำลังการผลิตจากข้อจำกัดทางเทคนิค จึงมีปริมาณเอทานอลส่วนเกินเกิดขึ้น และผู้ประกอบการเองก็ไม่มีถังเก็บเอทานอลเพียงพอ ดังนั้นหลายโรงงานจึงเลือกใช้วิธีจำหน่าย “ต่ำกว่า” ราคาตลาดทั่วไป สำหรับโรงงานผลิตเอทานอลที่เข้าระบบในปีนี้ทั้ง 3 โรงนั้น เป็นไปตามแผนลงทุนที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนฯของกระทรวงพลังงาน แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์เอทานอลล้นเกินอย่างนี้แล้ว “ทางสมาคมก็ได้เข้าหารือกับภาครัฐ และได้นำเสนอแนวทางแก้ไขคือ ควรยกเลิกน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91”

ทั้งนี้ในปี 2561 จะมีกำลังผลิตเอทานอลใหม่เข้ามาเพิ่มเติมในระบบอีกอย่างน้อย 2 โรง กำลังผลิตรวมกันอีกกว่า 700,000 ลิตร/วัน และหากรัฐบาลยังไม่มีนโยบายที่ส่งเสริมหรือการแก้ไขปัญหาเอทานอลล้นเกินก็ อาจจะส่งผลให้ผู้ผลิตเอทานอลบางรายต้อง ปิดกิจการ เพราะขาดทุนสะสม สำหรับในส่วนของบริษัทอุบลไบโอเอทานอล ที่เดิมมีแผนจะเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนั้น

“เราอาจจะต้องพิจารณาสถานการณ์เอทานอลช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ ไปจนถึงไตรมาส 1 ของปี 2561 ก่อนว่าเป็นอย่างไร ในกรณีที่ปริมาณเอทานอลยังคงล้นตลาดก็อาจจะต้องเลื่อนแผนเข้าตลาดหลัก ทรัพย์ฯออกไปอีก”

อย่างไรก็ตาม กลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอลยังคงสนับสนุนให้กระทรวงพลังงาน เดินหน้าตามแผน AEDP รวมถึงการยกเลิกน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 เพื่อส่งเสริมการใช้แก๊สโซฮอล์ E20 ให้เพิ่มมากขึ้น เพราะเมื่อตลาด E20 อยู่ตัวแล้ว รัฐบาลสามารถลดการเก็บเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในกลุ่มเบนซินที่ ต้องนำมาชดเชยราคาให้กับแก๊สโซฮอล์ E20 ได้ และยังทำให้ภาพรวมราคาน้ำมันในอนาคตลดลงได้อีกด้วย

มีรายงานเพิ่ม เติมจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เข้ามาว่า ปัจจุบันมีโรงงานเอทานอลที่ใช้กากน้ำตาลเป็นวัตถุดิบ จำนวน 11 โรง รวมกำลังผลิต 2.69 ล้านลิตร/วัน, โรงงานเอทานอลที่ใช้มันสำปะหลังร่วมกับกากน้ำตาลเป็นวัตถุดิบ จำนวน 5 โรง รวมกำลังผลิต 900,000 ลิตร/วัน, โรงงานเอทานอลที่ใช้เฉพาะมันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบ จำนวน 9 โรง รวมกำลังผลิต 2.29 ล้านลิตร/วัน และยังมีโรงงานเอทานอลที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างส่วนขยายเพิ่มเติมอีก 2 โรง ที่จะทยอยเข้าระบบในปี 2561 ได้แก่ บริษัท ที พี เค เอทานอล จำกัด ในเฟส 2 และ 3 จังหวัดนครราชสีมา ใช้มันเส้นเป็นวัตถุดิบ กำลังผลิต 680,000 ลิตร/วัน และบริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป เทรดดิ้ง จำกัด ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ใช้กากน้ำตาลเป็นวัตถุดิบ กำลังผลิต 25,000 ลิตร/วัน

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 12 พฤศจิกายน 2560

จับมือ26ปท.จี้มะกันต่ออายุจีเอสพี

                    พาณิชย์สั่งสำนักงานในกรุงวอชิงตันจับมือกับสมาชิกกลุ่มจีเอสพี อลิแอนซ์ ร่วมกันจี้มะกันต่ออายุโครงการจีเอสพี                   

                   นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้สำนักงานพาณิชย์ ในต่างประเทศ ณ กรุงวอชิงตัน  ในฐานะประธานกลุ่มจีเอสพี อลิแอนซ์ ที่มีประเทศสมาชิกที่ได้รับสิทธิจีเอสพี 27 ประเทศ หารือดำเนินการแสดงเจตนารมณ์ให้รัฐสภาสหรัฐฯ ต่ออายุกฎหมายโครงการพิจารณาการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ที่ใกล้หมดอายุในสิ้นปีนี้ออกไปอีก  หลังจากมีสมาชิก 20 ประเทศได้ร่วมผลักดันให้สหรัฐฯ ต่ออายุโครงการจีเอสพีแล้ว และเตรียมร่วมลงนามในหนังสือถึงคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องผลักดันต่อไป     

          “ไทยเป็นประเทศที่มีมูลค่าการใช้สิทธิจีเอสพีสหรัฐฯ มากที่สุดเป็นอันดับสองรองจากอินเดีย โดยในปี 59 ไทยใช้สิทธิจีพี 3,900ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 70% ของรายการสินค้าที่ได้จีเอสพีซึ่งปัจจุบันไทยได้รับสิทธิในสินค้ากว่า 3,400 รายการ เช่น  ชิ้นส่วนเครื่องปรับอากาศ ถุงมือทำจากยาง เป็นต้น จึงต้องผลักดันให้สหรัฐฯ มีการต่ออายุโครงการจีเอสพีที่จะสิ้นสุดในปีนี้ให้ได้”                   

จาก  https://www.dailynews.co.th  วันที่ 12 พฤศจิกายน 2560

สอน.ยันลอยตัวราคาน้ำตาลฤดูหีบอ้อย 60/61

."สอน." ยันปล่อยลอยตัวราคาน้ำตาลทรายในประเทศภายในฤดูการผลิตปี 2560/2561 เชื่อจะส่งผลให้ราคาน้ำตาลถูกลง

 นางวรวรรณ ชิตอรุณ รองเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) รักษาราชการแทนเลขาธิการ กอน. คาดว่า ประเทศไทยจะปล่อยลอยตัวราคาน้ำตาลทรายภายในประเทศให้ปรับขึ้นลงตามกลไกตลาดเสรีที่สะท้อนราคาตลาดโลกภายในฤดูการผลิตปี 2560/2561 ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) อยู่ระหว่างดำเนินการส่งร่างแก้ไขกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องประมาณ 4-5 ฉบับที่ออกภายใต้พระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ไปให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา หากคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ จึงจะสามารถปล่อยลอยตัวราคาน้ำตาลทรายภายในประเทศได้ โดยราคาน้ำตาลหลังลอยตัวตามกลไกตลาดเสรีราคาจะปรับเปลี่ยนตามกลไกตลาด หากราคาน้ำตาลตลาดโลกต่ำลงราคาน้ำตาลจำหน่ายในประเทศก็จะจำหน่ายในราคาที่ต่ำลงเช่นกัน และหากช่วงที่มีการปล่อยลอยตัวราคาน้ำตาลระดับราคาน้ำตาลในตลาดโลกยังคงทรงตัวอยู่ในระดับเท่า ๆ กับปัจจุบัน เชื่อว่าเมื่อลอยตัวระดับราคาน้ำตาลในประเทศไทยน่าจะถูกลง

สำหรับราคาน้ำตาลทรายในประเทศ จะสะท้อนราคาตามกลไกตลาดการค้าเสรี โดยจะต้องรอการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม ยังจะมีกลไกกำกับดูแลราคาน้ำตาลทรายในประเทศให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายทั้งเกษตรกรชาวไร่อ้อย ผู้ผลิตน้ำตาล และผู้บริโภค

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าน้ำตาลทรายเพื่อการบริโภคในประเทศ ทั้งในส่วนของประชาชนและภาคผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารจะมีอย่างเพียงพอ เพราะกำหนดให้โรงงานผลิตน้ำตาลทรายจะต้องสำรองการผลิต 1 เดือน หรือประมาณเดือนละ 2.5 ล้านกระสอบ หรือมีน้ำตาลสำรองเดือนละ 250,000 ตัน จากยอดบริโภคภายในประเทศปีละ 2.5-2.6 ล้านตัน ระบบนี้นับเป็นการเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่น้ำตาลผลิตได้จะจัดสรรตามระบบโควตาน้ำตาล ก. โควตา ข.และโควตา ค. ซึ่งถูกยกเลิกเปลี่ยนมาเป็นระบบบัฟเฟอร์สตอกสำรองน้ำตาลไว้ใช้ภายในประเทศ ซึ่งเป็นไปในลักษณะเดียวกันกับที่หลายประเทศใช้ ทั้งนี้ เพื่อสร้างความมั่นคงในการมีน้ำตาลไว้บริโภคภายในประเทศอย่างเพียงพอ

ด้านชาวไร่อ้อยมั่นใจได้ว่าจะยังคงได้รับการดูแลต่อไป โดยชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลจะตกลงกันเพื่อดำเนินการจัดเก็บเงินรายได้จากการจำหน่ายน้ำตาลทราย และส่งเข้ากองทุนอ้อยฯ สะสมไว้ เพื่อสำรองไว้นำมาใช้ช่วยเหลือชาวไร่อ้อยในหลายรูปแบบต่อไป จะไม่อยู่ในรูปแบบการจ่ายเงินเพิ่มค่าอ้อยแต่ละฤดูการผลิตอีกต่อไป สำหรับสถานะกองทุนแม้จะยังมีหนี้สินเดิมอยู่ แต่ก็มีสินทรัพย์มากกว่า

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 10 พฤศจิกายน 2560

ทหารลงพื้นที่วังใหม่ อึ้งไม่มีใครอยากได้รง.น้ำตาล-ชีวมวลฯ

ทหาร มทบ.19 ลงพื้นที่สอบถามชาวบ้านวังใหม่ ถึงกับอึ้ง แทบไม่มีใครอยากได้โรงงานน้ำตาล-ชีวมวลฯ แฉซ้ำผู้ใหญ่บ้าน-กำนัน ไม่เคยช่วยเป็นปากเสียงให้ชาวบ้าน กระบวนการไม่โปร่งใส สร้างโรงงานคร่อมหัวชาวบ้าน

 เมื่อวันที่ 10 พ.ย.60 ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากชาวบ้านและทหารจากมณฑลทหารบกที่ 19 จ.สระแก้ว กรณีปัญหามีชาวบ้านในพื้นที่ ต.วังใหม่ อ.วังสมบูรณ์ จ.สระแก้ว รวมตัวกันนำโรงศพมาตั้งประท้วงบริเวณด้านหน้าตลาดวังใหม่ เพื่อคัดค้านโครงการก่อสร้างและขยายโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาด 60 เมกกะวัตต์ ในพื้นที่ ม.1 ม.4 และ ม.10 เนื่องจากตั้งอยู่ติดกับสหกรณ์โคนม ชุมชน ตลาด และมีผลกระทบต่ออาชีพเลี้ยงโคนม มะม่วงส่งออก และลำไย โดยเรียกร้องให้ย้ายโครงการฯไปตั้งในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ จ.สระแก้วนั้น

ล่าสุด ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก นายสมจิตร พันธ์เพ็ง อายุ 58 ปี ชาวบ้านในพื้นที่ ม.1 ต.วังใหม่ ซึ่งอยู่ห่างจากพิกัดก่อสร้างโครงการฯไม่ถึง 500 เมตร บอกว่า ตั้งแต่ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีเจ้าหน้าที่ทหารจากมณฑลทหารบกที่ 19 หรือ มทบ.19 ได้ส่งทหารลงพื้นที่ เพื่อสอบถามข้อมูลความเป็นจริง ความต้องการของชาวบ้านเกี่ยวกับการก่อสร้างโรงงานดังกล่าว โดยส่งทหารประมาณ 4-5 นาย เข้าพื้นที่ทุกบ้าน ทุกซอย ของแต่ละหมู่บ้านในรัศมี 5 กม. เพื่อพูดคุยสอบถาม พร้อมถ่ายภาพ วีดีโอไว้เป็นหลักฐาน ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ตอบกับทหารว่า ไม่อยากได้โรงงาน

นายสมจิตร บอกว่า ปัญหานี้เป็นปัญหาที่ประชาชนชาววังใหม่พยายามที่จะส่งเสียงเรียกร้องว่า ถ้าหากเกิดโรงงานไฟฟ้าขนาด 60 เมกกะวัตต์ หรือโรงงานน้ำตาลขึ้นในหมู่บ้านเรา สิ่งที่ชาวบ้านกลัวมากที่สุดคือ ผลกระทบที่จะมีต่อชาวบ้าน เพราะว่าสถานที่ก่อสร้างโรงงานมันอยู่ในชุมชน พูดง่าย ๆ คือ ปลูกสร้างคร่อมหัวชาวบ้านอยู่ เราพยายามเรียกร้องทุกหน่วยงาน ทุกคน แต่ไร้ผล รู้สึกจะไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาแก้ไขดูแลเราเลย แม้กระทั่งผู้ใหญ่บ้าน กำนันในหมู่บ้านก็เงียบหมด เราไม่รู้ว่า เป็นเพราะสาเหตุใด ถ้าจะมองว่า ชาวบ้านต่อต้านโรงงานไม่อยากให้โรงงานเกิดนั้นไม่ใช่ อยากให้มีแต่มันใกล้ชุมชนเกินไป เพราะหากเกิดผลกระทบแล้วแก้ไขทีหลังแก้ไขลำบากมาก

"เวลาชาวบ้านไปเรียกร้องว่า โรงงานไฟฟ้ากับโรงงานน้ำตาล สร้างความเดือดร้อน มีน้ำเสีย มีฝุ่นควัน สร้างผลกระทบต่อชุมชน หน่วยงานราชการก็จะถามว่า ทำไมเวลาเขาจะสร้างทำไม่ไม่พากันมาร้องเรียน ทำไมไม่เรียกร้องก่อนที่เค้าจะสร้าง เมื่อสร้างเสร็จแล้วจะให้ไปแก้ไขอะไรได้ยังไง เราพยายามเรียกร้องขณะที่มันยังไม่เกิดขึ้นจริง ๆ แล้วชาวบ้านไม่ได้ขัดแย้งกับใครทั้งสิ้น แม้กระทั่งโรงงานเราก็ไม่ได้ขัดแย้ง เพียงแต่ขอร้องว่า ให้อยู่ห่างชุมชนซักหน่อย เพราะนี่มันกลางชุมชนเกินไป ผลกระทบมีแน่นอน ทุกคนรู้ว่ามีผลกระทบผมอยากให้ได้รับการแก้ไขตรงนี้ ถ้าหากหน่วยงานราชการหรือทางฝ่ายทหาร ช่วยเป็นปากเป็นเสียงให้ชาวบ้านได้ ผมคิดว่า จะเป็นการดี" นายสมจิตร ระบุ

ทางด้าน น.ส.กนกกาญจน์ วงษ์ชัยยะ ตัวแทนชาวบ้าน ต.วังใหม่ และเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง ที่ออกมาเรียกร้องให้มีการย้ายโรงงานไปตั้งในพื้นที่อื่น ซึ่งไม่มีผลกระทบกับชุมชน กล่าวว่า จากการสอบถามทหารที่เข้ามาเดินสอบถามข้อมูลความต้องการของชาวบ้านทั้งหมดทุกบ้าน ชาวบ้านส่วนใหญ่บอกกับทหารว่า ไม่ต้องการโรงงาน เช่น หมู่ 2 มีคนต้องการโรงงานแค่ 5 คน ,ซอย 5 ตลาดวังใหม่ มีคนต้องการโรงงานแค่ 2 คน ชาวบ้านบอกกับทหารตรง ๆ เลยว่า ไม่อยากได้ เพราะไม่ได้มีผลประโยชน์อะไรกับการที่โรงงานมาตั้งเลย

พร้อมยืนยันว่า การออกมาคัดค้านและแสดงออกของชาวบ้าน ไม่มีกลุ่มการเมืองหรือบุคคลใดมาหนุนหลังทั้งสิ้น เป็นความเดือนร้อนของชาวบ้านจริง ๆ พร้อมทั้งเรียกร้องให้ผู้หลักผู้ใหญ่เข้ามาดูแลเรื่องนี้ เพราะชาวบ้านเดือดร้อนจริง ๆ การวางโลงศพไม่ได้เป็นการท้าทายอำนาจรัฐ หรือประท้วงรัฐบาล เป็นความเดือดร้อนจริง เพื่อแสดงออกให้เห็นว่า ความตายกำลังจะเข้ามาสู่คนในพื้นที่นี้แล้ว หากเกิดโรงงานขึ้นจริง

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 10 พฤศจิกายน 2560

อ้อย 1 ไร่..ไม่ยกร่อง 26.5 ต้น..ฝันเป็นจริง

ใช้ชีวิตเป็นมนุษย์เงินเดือน ซ่อมเครื่องยนต์ขนาดใหญ่ในเมืองกรุงมาตั้งแต่อายุ 19 ...ผ่านไป 20 ปี มีเงินเก็บสี่หมื่น กริชอารักษ์ รักษาผล ตัดสินใจกลับบ้านเกิด ต.บ่อใหญ่ อ.บรบือ จ.มหาสารคาม ตั้งความหวังจะขอแบ่งที่ดินไร่อ้อยจากพ่อแม่มาทำกินเอง

ด้วยห่างเหินชีวิตชาวไร่ไปนาน การลงมือในช่วงแรกเป็นได้แค่ลูกมือ.แต่เพราะผ่านชีวิตคนเมืองมาพอสมควร ที่ใช้ชีวิตปรับตัวแข่งกับคน ระหว่างเป็นลูกมือได้ข้อคิดจากการสังเกตสังกา การทำไร่อ้อยของพ่อแม่ยังคงยึดถือวิธีแบบเก่า

ถึงเวลาโรงงานอ้อยเปิดเป็นอันได้เวลาตัดอ้อยส่งเข้าโรงหีบอ้อย แต่ละปีหลังหักต้นทุนค่าพันธุ์อ้อย ปุ๋ย แรงงาน เงินแทบไม่เหลือ และเมื่อ สยามคูโบต้า และกลุ่มน้ำตาลวังขนาย ทำโครงการส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่รอบโรงงานน้ำตาล ปลูกอ้อยด้วยนวัตกรรม Kubota (agri) solutions (KAS) จึงขอร่วมคณะดูชาวไร่ในจังหวัดชัยภูมิ นครราชสีมา และลพบุรี ปลูกอ้อยด้วยวิธีใหม่ ทำกันแบบไหนถึงกำไรงาม ได้กันไร่ละ 20–22 ตัน...

“การปลูกอ้อยแบบ KAS เน้นใช้เครื่องมือ เครื่องจักรเข้าไปช่วยให้ทำงานได้เร็ว ลดปัญหาแรงงาน และปรับวิธีการปลูกอ้อยใหม่ แบบแถวคู่ ไม่ยกร่อง นอกจากช่วยประหยัดต้นทุนกลบร่องอ้อย ช่วงที่ต้นอ้อยยังโตไม่เต็มที่ สามารถนำรถเข้าไปกำจัดวัชพืชได้ ช่วยให้ทำงานได้เร็ว ค่าใช้จ่ายถูกกว่าจ้างแรงงาน เลยอยากปรับเปลี่ยนเปลี่ยนวิธีการปลูกบ้าง แต่พ่อแม่กลัวถ้าปรับพื้นที่เปลี่ยนทั้งหมด หากไม่ได้ผลเหมือนอย่างที่ไปเห็นมา สิ้นปีมีหนี้แน่”

ปี 2557/2558 กริชอารักษ์ ทดลองปลูกอ้อยแบบใหม่แค่ 1 ไร่ เผื่อไม่ได้ผลอย่างน้อยสิ้นปีรายได้ขาดหายไม่มากนัก

ส่วนวิธีปลูกเริ่มจากระเบิดดินด้านล่างแล้วใช้โรตารี่ปั่นให้ดินร่วน ลงไถผาน 3 แบบตีร่องคู่ ไม่ชักร่อง...ส่วนระหว่างร่องคู่ เว้นระยะห่าง 1.20 เมตร จากนั้นใช้พันธุ์อ้อยพันธุ์ CSB 162, และ KKU 9903 มาปลูก เพราะทั้งสองสายพันธุ์ปลอดโรคใบขาว ไม่มีหนอนกอ ไม่มีเชื้อรา ต้านเพลี้ยกระโดด ทนแล้ง ความหวาน 14.60 บริกซ์ เหมาะกับพื้นที่ดินทรายภาคอีสาน พื้นที่ 1 ไร่ ใช้ท่อนพันธุ์ 1.5 ตัน วิธีนี้นอกจากช่วยลดต้นทุนค่ากลบร่อง ยังกำจัดวัชพืชหน้าดินได้ง่ายกว่าวิธีวัชพืชหน้าดินได้ง่ายกว่าวิธียกร่องแบบเดิม ลงท่อนพันธุ์เสร็จฉีดยาคุมหญ้า และเมื่ออ้อยมีอายุได้ 5-6 เดือน ฉีดยาคุมหญ้าอีกรอบใส่ปุ๋ยสูตร 16-16-8  ปริมาณ 50 กก.ต่อไร่ เสร็จแล้วกลบโคนช่วยป้องกันไม่ให้ต้นอ้อยล้มง่าย ป้องกันปุ๋ยไหลหากฝนตก หรือให้น้ำ อ้อย 1 ไร่ ลงทุนทั้งหมด 7,000 บาท ปีแรกได้ 26.5 ตัน หักต้นทุนเหลือกำไร 30,000 บาท ส่วนอ้อยตอ ปี 2–3 มีแต่ได้กับได้... ปีถัดมาปรับพื้นที่ทั้งหมด 25 ไร่ เช่าที่เพิ่มอีก 30 ไร่ หันปลูกอ้อยแบบ KAS อย่างเดียว

จาก https://www.thairath.co.th วันที่ 10 พฤศจิกายน 2560

ภูมิปัญญาไทย! หนุ่มประดิษฐ์เครื่องสางใบอ้อย เพิ่มรายได้-ลดมลภาวะทางอากาศ

เป็นอีกหนึ่งภูมิปัญญาชาวสวนที่น่านำไปใช้ทดลอง หลังจากมีผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “เช กูวาร่า” โพสต์คลิปวิดีโอ รถคูโบต้าติดตั้งอุปกรณ์เสริมพิเศษชนิดหนึ่งใช้สางใบอ้อยอย่างรวดเร็ว และได้รับความสนใจจากชาวโซเชียลอย่างมากมาย

ล่าสุดผู้สื่อข่าว “ข่าวสด” ได้รับการเปิดเผยจาก นายรณชัย หรือแมน ศรีตะลา อายุ 27 ปี กล่าวว่า “เครื่องยนต์ติดตั้งชนิดพิเศษที่เห็นตามคลิปคือเครื่องสางใบอ้อย ตนเพิ่งทำเสร็จไม่นานและอยู่ในขั้นตอนการทดลอง โดยใช้เวลาประมาณ 1 เดือนในการประดิษฐ์ มีอุปกรณ์หลักคือ เฟือง และเอ็นตัดหญ้า เป็นกลไกในการทำงาน”

 “มีคนสอบถามผมเข้ามาเป็นจำนวนมากถึงเครื่องชนิดนี้ ซึ่งผมไม่ได้เป็นผู้คิดค้นอุปกรณ์ดังกล่าว เท่าที่ทราบเครื่องสางใบอ้อย มีคนคิดค้นมา 2 ปีแล้ว โดยน่าจะเป็นอาจารย์จากทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (วิทยาเขตกำแพงแสน) จ.นครปฐม ผมอาศัยศึกษาจากคลิปวิดีโอในยูทูปมาประดิษฐ์ใช้งานในไร่ตัวเองเท่านั้น”

 “ประโยชน์ของเครื่องสางใบอ้อยชนิดนี้คือ ทำให้ไม่ต้องใช้วิธีจุดไฟเผาอ้อย เป็นการช่วยลดมลพิษทางอากาศ และยังทำให้มีรายได้มากขึ้น จากที่ปกติเวลานำอ้อยไปส่งโรงงาน หากเป็นอ้อยที่ผ่านการเผาไฟมาโรงงานจะหักเงิน 20 บาท ต่อ 1 ตัน แต่ถ้าเป็นอ้อยสดที่ใช้เครื่องสางเหมือนที่ผมทำ ทางโรงงานจะให้เงินเพิ่มจากเดิมอีกตันละ 70 บาท นอกจากนี้ยังเป็นการประหยัดเวลาในการขนส่งโรงงานด้วย” นายรณชัย กล่าว

จาก https://www.khaosod.co.th  วันที่ 10 พฤศจิกายน 2560

บาทเปิด 33.09 บาทต่อดอลล่าร์ แข็งค่า

เงินบาทเปิดตลาด 33.09 บาทต่อดอลล่าร์ แข็งค่า หลังมีแรงขายดอลล์จากกังวลแผนปฏิรูปภาษีสหรัฐฯอาจล่าช้า

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ที่ระดับ 33.09 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าจากเย็นวานนี้ที่ปิดตลาดที่ 33.11 บาท/ดอลลาร์

"บาทแข็งค่าลงมาเนื่องจากดอลลาร์โดนเทขายเมื่อเทียบกับสกุลหลักๆ หลังตลาดมีความกังวลว่าแผนปฏิรูปภาษีของสหรัฐฯอาจจะล่าช้าออกไปถึงปี 2019 แม้ว่าข่าวนี้จะยังไม่ชัดเจน แต่ตลาดได้ยินข่าวก็เลยขายดอลลาร์ออกมาก่อน"

นักบริหารเงิน กล่าว

นักบริหารเงิน คาดว่าวันนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 33.05-33.15 บาท/ดอลลาร์

จาก https://www.posttoday.com วันที่ 10 พฤศจิกายน 2560

เกษตรจมน้ำสูญหมื่นล.ผลกระทบปีนี้เสียหายกว่า3.41ล้านไร่

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจเกษตร เผยน้ำท่วมทำเฉพาะด้านพืชเสียหาย 1.1 หมื่นล้านกระทบจีดีพีเกษตร 0.59% แนะรัฐ เร่งวางโครงการบริหารน้ำกันทั้งท่วมและแล้ง

นายภูมิศักดิ์ ราศรี ผู้อำนวยการศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร (KU-OAE Foresight Center : KOFC) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงผลสำรวจผลกระทบจากอุทกภัยตั้งแต่เดือน ก.ค.-ต.ค. 2560 ซึ่งเกิดจากพายุตาลัสเซินกา และทกซูรี พบว่าภาคเกษตรได้รับความเสียหายโดยสิ้นเชิงประมาณ 3.41 ล้านไร่ มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ 14,959 ล้านบาททั้งนี้ เบื้องต้นเกิดความเสียหายด้านพืช 11,817 ล้านบาท ด้านประมง 133 ล้านบาท และปศุสัตว์ 8 ล้านบาท ขณะที่ เมื่อเทียบกับปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในปี 2554 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ อย่างมหาศาล โดยเฉพาะภาคเกษตร พื้นที่ การเกษตรได้รับความเสียหายมากถึง 12.22 ล้านไร่ เกษตรกรได้รับความเสียหาย 1.289 ล้านราย ส่งผลกระทบและการหยุดชะงักของภาคการผลิต

นายกัมปนาท เพ็ญสุภา รักษาการแทน รองอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ กล่าวว่า จากการคำนวณ เบื้องต้น ณ วันที่ 6 พ.ย. 2560 ประเมินผล กระทบจากมูลค่าความเสียหายของอุทกภัยที่มีต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) พบว่า ส่งผลกระทบต่อจีดีพี มูลค่า 3,648 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 0.04% ของมูลค่าจีดีพี รวมทั้งประเทศ และคิดเป็น 0.59% ของมูลค่าจีดีพี สาขาเกษตร โดยผลกระทบ ต่อจีดีพีมากที่สุด คือ สาขาพืช โดยมีมูลค่า ความเสียหาย 3,593 ล้านบาท รองลงมาเป็น สาขาประมง 53 ล้านบาท และสาขาปศุสัตว์ 1.38 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม เสนอให้รัฐบาลเร่งวางมาตรการแก้ไขปัญหา ทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยมาตรการระยะสั้นรัฐบาลควรเร่ง

เร่งดำเนินการปรับปรุงระบบลำน้ำ การระบาย หนองบึงที่จะสามารถกักเก็บน้ำได้ ในขณะที่ มาตรการระยะยาวควรศึกษาความเป็นไปได้ ในการสร้างเขื่อนหรือพนังกั้นน้ำ และอ่างเก็บน้ำ เพื่อทำหน้าที่ควบคุมไม่ให้น้ำเข้าท่วม พื้นที่ที่ต้องการป้องกัน และสร้างฝายยกระดับ เพื่อผันน้ำเข้าพื้นที่เก็บน้ำ เพื่อบรรเทาน้ำท่วม กระจายให้ครอบคลุมพื้นที่เพื่อเก็บน้ำใช้ในฤดูแล้งและยังสามารถช่วยควบคุมการไหลของน้ำไม่ให้ไหลลงสู่พื้นที่ท้ายน้ำมากเกินไป การปรับปรุงผังเมืองให้สอดคล้องกับ แนวทางการระบายน้ำและควรส่งเสริมการทำ การปลูกพืชอายุสั้นทันเก็บเกี่ยวก่อนน้ำมา ตลอดจนการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อลดความเสี่ยงในการทำการเกษตร

จาก https://www.posttoday.com วันที่ 10 พฤศจิกายน 2560

คมนาคมอัดแสนล.หนุนอีอีซี เน้นพัฒนาราง-น้ำ/สั่งอุตฯโปรโมตค้าชายแดนลุยโรดโชว์

          คมนาคม กางแผน ปี 62 อัดงบแสนล้าน ลุยพัฒนาโลจิสติกส์ทางน้ำ หวังบูรณาการร่วมกับระบบขนส่งอื่น ด้าน "นายก" สั่งอุตฯ ทำแผนประชาสัมพันธ์ 10 เขตการค้าชายแดน ชูจุดเด่นแต่ละพื้นที่หวังให้นักลงทุนเห็นศักยภาพอย่างเจาะจง พร้อมนำผู้ประกอบการโรดโชว์ประเทศเพื่อนบ้านชักจูงลงทุน

          นายพิชิต อัคราทิตย์ รมช. คมนาคม เปิดเผยว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม ได้ สั่งการให้จัดทำงบประมาณปี 2562 เน้นไปที่การพัฒนาโครง สร้างพื้นฐานระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยเฉพาะด้านการเชื่อมโยงระบบขนส่งทางบก ทางรางและทางน้ำทั้งในประเทศและการเชื่อมโยงระบบขนส่งไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างกลุ่ม CLMV ซึ่งกระทรวงคมนาคมให้ความสำคัญในอันดับต้นๆ

          ทั้งนี้ งบประมาณด้านการ ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในปี 2563-2564 ของกระทรวงคมนาคม จะอยู่ที่ประมาณ 200,000 ล้านบาทหรือเฉลี่ยปีละ 100,000 ล้านบาท โดยในปี 62 การลงทุนจะเน้นไปที่งบประมาณลงทุนโครงสร้างพื้นฐานส่วนใหญ่จะเน้นไปที่ระบบรถไฟทางคู่ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางน้ำ การพัฒนาสนามบินภูมิภาค 28 แห่ง ตลอดจนการพัฒนาศูนย์ขนส่งสินค้าภูมิภาค และจุดพักรถบรรทุกตามถนนเส้นสำคัญ นอกจากนี้ยังเน้นให้มีการพัฒนาท่าเรือตามแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะท่าเรือที่เป็นจุดเชื่อมต่อระบบขนส่งรถไฟฟ้าและรถโดยสารสาธารณะอย่างท่าเรือสาทร และท่าเรือพระนั่งเกล้า

          นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า การจัดทำงบประมาณปี 62 ที่เน้นไปเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ทางน้ำนั้น จะมีการจัดทำแผนของแต่ละโครงการให้บูรณาการในภาพ รวมกับระบบขนส่งอื่นมากขึ้น เช่นการขอขุดร่องน้ำใหม่ทางภาคใต้และภาคตะวันออกของไทย เพื่อเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งจากทางบกมาเป็นทางน้ำ (Shift Mode)

          "ปัจจุบันการสร้างถนนไม่เพียงพอต่อการรองรับการขนส่งทางบก และยังมีต้นทุนด้านการซ่อมบำรุงสูง มีการเติบโตที่รวดเร็ว ส่วนการขนส่งทางน้ำมีต้นทุนน้อยกว่าทางบกถึง 3 เท่าอีก ดังนั้นโครงการพัฒนาจะเน้นไปที่การ พัฒนาร่องน้ำ การพัฒนาท่า เรือ และการสร้างถนนเชื่อมต่อเข้าไป ยังท่าเรือทั่วประเทศ" นายชัยวัฒน์ กล่าว

          นายอุตตม สาวนายน รมช.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ในการประ ชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน ได้มีมติกระทรวงอุตสาหกรรม เร่งจัดทำแผนการประชาสัมพันธ์และการตลาดของทั้ง 10 เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนเพื่อชูจุดเด่นของแต่ละเขตเศรษฐกิจพิเศษให้นักลงทุนได้เห็นศักยภาพของพื้นที่อย่างชัดเจน และนำแผนส่งให้คณะกรรมการชุดใหญ่พิจารณาในวันที่ 17 พ.ย.นี้

          "ที่ผ่านมามีเพียงแผนการตลาดในภาพใหญ่ทั้ง 10 เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ทำให้นักลงทุนสับสน ไม่รู้ว่าอุตสาหกรรมของตัวเองเหมาะสมที่จะลงทุนในพื้นที่ไหน แต่ในแผนใหม่จะจัด ทำแผนการตลาด และประชาสัม พันธ์อย่างเจาะจงของแต่ละเขต เพื่อให้มีแผนชัดเจนในการโฟกัสนักลงทุนกลุ่มต่างๆ ส่วนการดึง ดูดนักลงทุน จะมุ่งเข้าไปเจาะรายอุตสาหกรรมที่เหมาะสมกับเขต เศรษฐกิจพิเศษต่างๆ ตามฐาน ข้อมูลรายชื่อบริษัทที่คณะกรรม การส่งเสริมการลงทุนมีอยู่" นาย อุตตมกล่าว.

จาก http://www.thaipost.net วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 

เจาะรายประเทศลงเขตศก.พิเศษ 

          นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) วันที่ 17 พ.ย.นี้ จะเสนอแผนประชา สัมพันธ์และการตลาดเฉพาะเจาะจง เพื่อชูจุดเด่นแต่ละเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 10 แห่ง ให้นักลงทุนเห็นศักยภาพของพื้นที่ชัดเจน จากที่ผ่านมาแผนดึงดูดการลงทุนจะเป็นแผนแบบกว้าง ๆ ทำให้นักลงทุนหลายรายสับสนว่า อุตฯที่ตัวเองสนใจเหมาะสมลงทุนในพื้นที่ใด

          นอกจากนี้เตรียมขยายขอบข่ายทางเศรษฐกิจในพื้นที่ที่ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงการลงทุนกับการค้าชายแดน แต่รวมไปถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนมุกดาหาร มีแนวคิดดึงมหาวิทยา ลัยชั้นนำของต่างชาติเข้ามาร่วมลงทุนกับมหาวิทยาลัยในพื้นที่ เพื่อพัฒนากำลังคนรองรับอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น

          "การประชุมครั้งนี้ ได้เชิญตัวแทนภาคเอกชนที่เชี่ยวชาญด้านการค้า การลงทุนชายแดน จากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศ ไทยเข้าร่วมหารือด้วย ซึ่งแนวทางการดำเนินงานจะจัดทำแผนการตลาดของเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 10 แห่ง อย่างเฉพาะเจาะจง จากที่

          ผ่านมาเป็นมิติในวงกว้าง ต่อไปจะให้ลงลึกเลยว่า นักลงทุนประเทศนี้ ให้ความสนใจการลงทุนกลุ่มพื้นที่ไหน จะได้จัดหาพื้นที่การลงทุนไปนำเสนอได้ถูก และจัดหาผู้ประกอบการไทยที่เกี่ยวข้องไปจับคู่ธุรกิจได้"

          สำหรับกลุ่มนักลงทุนเป้าหมายที่จะออกไปดึงดูดการลงทุน ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน ฮ่องกง เกาหลีใต้ ยุโรป และกลุ่มประเทศ ซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา, ลาว, เมียนมา, เวียดนาม) โดยเฉพาะกลุ่มซีแอลเอ็มวีมีความสำคัญ เนื่องจากทำให้ประเทศเพื่อนบ้านได้เข้ามาร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการในประเทศ เพื่อขยายตลาดในภูมิภาคนี้ ทำให้เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนเกิดประโยชน์ทั้งกับประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งตรงกับจุดมุ่งหมายที่ต้องการให้เกิดการกระจายความเจริญไปในพื้นที่ต่าง ๆ ของไทย

          นอกจากนี้ ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมเอง ก็จะสั่งการให้อุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ และศูนย์ส่งเสริมอุตสาห กรรมภาคทั่วประเทศทั้ง 11 แห่ง ประสานงานกับหอการค้าจังหวัด และสภาอุตสาหกรรมจังหวัด นำคณะนักธุรกิจข้ามไปประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อชักจูงการลงทุนร่วมกัน โดยอาศัยความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นของนักธุรกิจชาย แดนกับประเทศเพื่อนบ้านในการต่อยอดให้เกิดการร่วมลงทุนระหว่างกัน ซึ่งจะได้ผลมากกว่าการผลักดันจากส่วนกลาง.

จาก https://www.dailynews.co.th  วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ร่งแก้กฎหมายก่อนลอยตัวราคาน้ำตาลทราย

กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งแก้ไขพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 เพื่อนำไปสู่การลอยตัวราคาน้ำตาลให้เป็นไปตามกลไกตลาด และให้ประกาศใช้ได้ทันก่อนวันที่ 1 ธ.ค. 2560

​นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2559 ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้เร่งรัดการจัดทำแนวทางการบริหารจัดการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อให้สามารถนำแนวทางดังกล่าวไปปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม มีความเหมาะสมและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เชื่อมโยงกับแผนปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ ให้เป็นไปตามกรอบการเจรจาหารือเพื่อระงับข้อพิพาทเรื่องน้ำตาลระหว่างไทยกับบราซิล ภายใต้ข้อตกลงขององค์การการค้าโลก (WTO) ตามที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบรับทราบแล้ว เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 ประกอบด้วย การยกเลิกระบบโควตาน้ำตาลทราย การยกเลิกการกำหนดราคาน้ำตาลทรายภายในประเทศ การยกเลิกมาตรการให้เงินช่วยเหลือ 160 บาทต่อตันอ้อย รวมทั้งการแก้ไขพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527

​ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการแล้วเสร็จโดยเร็ว จึงมีความจำเป็นต้องเร่งแก้ไขระเบียบภายใต้พระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 โดยมีสาระสำคัญ ได้แก่ การปรับบทบาทการกำกับดูแลจากหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้ภาคเอกชนเข้ามาบริหารจัดการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย การยกเลิกการกำหนดโควตาน้ำตาลทราย อันนำไปสู่การลอยตัวราคาน้ำตาลภายในประเทศให้เป็นไปตามกลไกตลาด และเพื่อให้ประกาศใช้ได้ทันก่อนวันที่ 1 ธันวาคม 2560 นี้ แต่ยังคงไว้ซึ่งระบบแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างเกษตรกรชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล โดยที่ผ่านมาทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย

ทั้งภาครัฐและเอกชนพยายามช่วยกันหาแนวทางและสร้างระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายที่จะเปลี่ยนแปลงใหม่ให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืนยิ่งขึ้น และสร้างความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งโรงงานและชาวไร่อ้อยตลอดจนผู้บริโภค และเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อเห็นชอบต่อไป

อย่างไรก็ตาม ​กระทรวงอุตสาหกรรม คาดว่าในฤดูการผลิต 2560/2561 การผลิตน้ำตาลทรายโลกมีปริมาณอยู่ที่ 179.30 ล้านตัน ปริมาณการบริโภคอยู่ที่ 174.66 ล้านตัน มีปริมาณน้ำตาลเกินดุลอยู่ที่ 4.63 ล้านตัน มีปริมาณน้ำตาลที่สามารถส่งออกอยู่ที่ 62.13 ล้านตัน และมีอุปสงค์การนำเข้า อยู่ที่ 57.62 ล้านตัน กล่าวคือ มีการส่งออกเกินดุลที่ 4.53 ล้านตัน ซึ่งคาดว่าในปีนี้จะมีแรงกดดันพื้นฐานส่งผลต่อราคาตลาดโลก ทำให้ทรงตัวหรือปรับตัวลดลง หากมีการลอยตัวราคาน้ำตาลภายในประเทศในช่วงเวลาดังกล่าว กระทรวงอุตสาหกรรม คาดการณ์ว่าราคาน้ำตาลภายในประเทศ จะปรับตัวลดลงต่ำกว่าราคาเดิมในฤดูการผลิตก่อนตามภาวะตลาดโลก ทั้งนี้กระทรวงอุตสาหกรรมจะร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ กำกับดูแลให้ราคาน้ำตาลทรายภายในประเทศ มีความเป็นธรรมแก่เกษตรกรชาวไร่อ้อย โรงงานน้ำตาล และผู้บริโภคต่อไป

​ส่วนราคาอ้อยเบื้องต้นฤดูการผลิต 2560/2561 ที่จะเปิดหีบในต้นเดือนธันวาคม 2560 นี้ กระทรวงอุตสาหกรรม คาดว่าจะมีปริมาณอ้อยเข้าหีบ 103 ล้านตัน โดยจะมีการประชุมคณะกรรมการบริหาร (กบ.) เพื่อกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิต 2560/2561 ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2560

จาก http://money.sanook.com  วันที่ 8 พฤศจิกายน 2560

ซีพีเอฟ เดินหน้าโครงการปันน้ำปุ๋ยสู่เกษตรกรในชุมชน เพิ่มผลผลิต-ลดต้นทุนค่าปุ๋ยกว่า 1.28 ล้านบาทต่อปี

ซีพีเอฟ เดินหน้าโครงการปันน้ำปุ๋ยสู่เกษตรกรในชุมชน เพิ่มผลผลิต-ลดต้นทุนค่าปุ๋ยของเกษตรกรรวมกว่า 1.28 ล้านบาทต่อปี เพิ่มรายได้แก่ชาวชุมชนอย่างยั่งยืน

นายสมพร เจิมพงศ์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ฟาร์มสุกรของบริษัทที่กระจายอยู่ในทุกภาคของประเทศตลอดจนเกษตรกรในโครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงสุกรกับซีพีเอฟ ได้ร่วมกันจัดโครงการปันน้ำปุ๋ยให้ชุมชน เพื่อให้เกษตรกรจำนวน 120 ราย นำไปใช้กับการเพาะปลูกพืชหลากหลายชนิด อาทิ นาข้าว อ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง หญ้าเลี้ยงสัตว์ ยูคาลิปตัส ปาล์มน้ำมัน ต้นสัก ยางพารา ผักสวนครัว มะนาว กล้วย สวนไผ่ ฯลฯ ในพื้นที่รวมกว่า 3,800 ไร่ ช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ยให้กับเกษตรกรรวมร่วม 1,280,000 บาทต่อปี โดยน้ำที่บริษัทแบ่งปันให้ชุมชนนั้นเป็นน้ำที่ผ่านการบำบัดในระบบแก๊สชีวภาพ สู่บ่อบำบัดน้ำหลังระบบ ต่อไปสู่บ่อพักน้ำ จนได้น้ำที่สะอาดและได้มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งยังมีธาตุอาหารที่เหมาะสมกับพืชทุกชนิด อาทิ โพแทสเซียม ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส แคลเซียม แมกนิเซียม และโซเดียม จากผลการตรวจคุณภาพน้ำปุ๋ยในห้องปฏิบัติการ พบว่ามีโพแทสเซียมสูงถึง 297 มิลลิกรัมต่อน้ำ 1 ลิตร และมีไนโตรเจนถึง 154 มิลลิกรัมต่อน้ำ 1 ลิตร ทำให้พืชที่ได้รับน้ำปุ๋ยเติบโตเร็ว ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นและมีคุณภาพดีขึ้น

ซีพีเอฟมีนโยบายให้ฟาร์มไม่มีการปล่อยน้ำออกสู่ภายนอก จะใช้รดน้ำต้นไม้ภายในฟาร์ม บางส่วนนำมาผ่านการบำบัดอีกครั้งและฆ่าเชื้อจนสะอาดเพื่อใช้ล้างทำความสะอาดโรงเรือนทดแทนการใช้น้ำดี ช่วยประหยัดน้ำในธรรมชาติ กระทั่งเกิดปัญหาภัยแล้งเมื่อกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ชาวชุมชนผู้เพาะปลูกพืชไร่พืชสวนที่อยู่ใกล้ๆฟาร์ม สังเกตเห็นความอุดมสมบูรณ์ของต้นไม้ที่ปลูกอยู่ทั่วทั้งฟาร์มตามโครงการฟาร์มสีเขียว แม้อยู่ในฤดูแล้ง จึงปรึกษาขอใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งโดยมีการทำหนังสือผ่านอบต. และผู้ใหญ่บ้านว่าต้องการใช้น้ำจากฟาร์มอย่างถูกต้อง

“เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตเกษตรกรได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ทำให้ต้นทุนลด กำไรเพิ่ม และแก้ปัญหาขาดน้ำได้ จึงมีการขอใช้น้ำเรื่อยมาทั้งในฤดูแล้งและสำหรับการเพาะปลูกทั่วไป ด้วยการต่อท่อน้ำตรงจากฟาร์มสู่พื้นที่เพาะปลูก หรือบางส่วนอยู่ไกลออกไปฟาร์มก็จะจัดรถขนน้ำไปส่งให้เกษตรกร ขณะเดียวกัน พนักงานซีพีเอฟที่ทำงานภายในฟาร์มทุกแห่ง ยังนำน้ำปุ๋ยนี้มาใช้กับแปลงผักปลอดสารที่ปลูกภายในฟาร์ม ทำให้มีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี พนักงานได้รับประทานผักคุณภาพดี และมีรายได้เสริมจากการขายผักเข้าโรงครัวของฟาร์ม” สมพร กล่าว

นางภณิตา โชติรัตน์ทัตกุล ผู้จัดการ สหกรณ์การเกษตรคูเมือง จำกัด ต.คูเมือง อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า สหกรณ์ฯมีพื้นที่ติดกับฟาร์มสุกรบุรีรัมย์ของซีพีเอฟ และเห็นว่าฟาร์มมีน้ำปุ๋ยคุณภาพดีประกอบกับช่วงปี 2559 ที่ผ่านมาในพื้นที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในการทำการเกษตร จึงประสานงานกับฟาร์มและทำเรื่องขอใช้น้ำผ่านอบต.คูเมือง จากนั้นจึงดำเนินการต่อท่อส่งน้ำและสูบน้ำเข้าแปลงปลูกหญ้าเนเปีย บนพื้นที่ 100 ไร่ของสมาชิกสหกรณ์ 30 ราย โดยขอน้ำมาใช้ตลอดระยะปลูก 3 เดือน หนึ่งปีปลูกได้ 3 รอบ

“หลังจากนำน้ำปุ๋ยมาใช้พบว่าผลผลิตหญ้าเนเปียเพิ่มขึ้นถึง 1 เท่าตัว จากที่เคยได้หญ้า 5 ตันต่อไร่ เพิ่มเป็น 10 ตันต่อไร่ และยังช่วยลดการซื้อปุ๋ยเคมีลงถึงครึ่งหนึ่ง จากแต่ก่อนใช้ปุ๋ยไร่ละ 50 กิโลกรัม ปัจจุบันใช้เพียงไร่ละ 25 กิโลกรัม เกษตรกรทุกคนพอใจมากที่มีรายได้เพิ่มขึ้นจากผลผลิตที่มากขึ้น ต้นทุนการผลิตลดลง สามารถต่อยอดสู่การผลิตปุ๋ยจากหญ้าเนเปีย และไม่เคยประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอีกเลย ขอขอบคุณซีพีเอฟและฟาร์มบุรีรัมย์ที่มีโครงการดีๆแบบนี้ให้กับชุมชน” นางภณิตา กล่าว

ส่วน นายสิงห์คำ เคียงปัญญา เกษตรกรผู้เพาะปลูกข้าวโพด ตำบลข่วงเปา อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ระบุว่า ตนเองทำไร่ข้าวโพด 6 ไร่ เมื่อก่อนมีปัญหามากตอนฤดูแล้งที่น้ำไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก จึงทำเรื่องขอใช้น้ำจากฟาร์มสุกรจอมทอง มาตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลากว่า 14 ปี ด้วยการสูบน้ำปุ๋ยไปใช้โดยตรงปริมาณ 12,000 ลูกบาสก์เมตรต่อรอบการปลูก แต่ละปีปลูกได้ 2 รอบ พบว่าผลผลิตเพิ่มขึ้นจากก่อนการใช้น้ำปุ๋ยได้ข้าวโพด 1,500 ตันต่อรอบการปลูก เพิ่มเป็น 2,500 ตันต่อรอบการปลูก

“น้ำปุ๋ยจากฟาร์มมีประโยชน์ต่อหน้าดิน ทำให้มีผลผลิตเพิ่มขึ้นเกือบ 70% ช่วยลดค่าใช้จ่ายจากการใช้ปุ๋ยเคมีจากแต่ก่อนใช้ปุ๋ยไร่ละ 300 กิโลกรัม หลังจากใช้น้ำปุ๋ยก็แทบไม่ต้องใช้ปุ๋ยเลย มากที่สุดก็ใช้เพียง 100 กิโลกรัมต่อไร่ ขอขอบคุณฟาร์มจอมทองที่แบ่งปันน้ำปุ๋ยให้พี่น้องเกษตรกรรอบข้างมาตลอด ช่วยให้เรามีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างแท้จริง” นายสิงห์คำ กล่าว.

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 8 พฤศจิกายน 2560

TPIPP รายได้ขายไฟพุ่งหนุน Q3 กำไรโต 108%

TPIPP อวดงบไตรมาส 3 กำไรสุทธิ 593 ล้านบาท เติบโต 108.76% จากงวดปีก่อน กวาดรายได้รวม 1,233 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33.25% ส่วน 9 เดือน กำไรเติบโต 40.70%

บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP แจ้งผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ปี 2560 กำไรสุทธิ 593.35 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.071 บาท เพิ่มขึ้น 108.76% จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 284.23 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.048 บาท ส่วนงวด 9 เดือนปี 2560 กำไรสุทธิ 1,998.21 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.263 บาท เพิ่มขึ้น 40.70% จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 1,420.18 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.241 บาท

 บริษัทฯ มีรายได้จากการขายไฟฟ้าและสินค้า รวมทั้งรายได้ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าในไตรมาส 3 ปี 2560 จำนวน 1,143 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27.33% จากจำนวน 898 ล้านบาท ในไตรมาส 3 ปีก่อน เนื่องจากปริมาณการไฟฟ้าที่ขายเพิ่มขึ้น โดยไตรมาส 3 ปีนี้มีรายได้รวม 1,233 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33.25% จากจำนวน 925 ล้านบาท ในไตรมาส 3 ปีก่อน

 ทั้งนี้ ในไตรมาส 3 ปี 2560 บริษัทฯ มีกำไรจากการดำเนินธุรกิจ 550 ล้านบาท กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนสุทธิ 43 ล้านบาท ขณะที่งวดปีก่อนมีกำไรจากการดำเนินธุรกิจปกติ 266 ล้านบาท และกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนสุทธิ 18 ล้านบาท ขณะที่งวด 9 เดือน ปี 2560 มีกำไรจากการดำเนินธุรกิจปกติจำนวน 1,841 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 38.41% จากกำไรจำนวน 1,330 ล้านบาทในงวดปีก่อน

จาก http://www.thansettakij.com วันที่ 8 พฤศจิกายน 2560

ซิว! “ขุมทรัพย์พลังงาน” ประมูลรอบใหม่ดุแน่

เอกชนหนุนปรับแผนแม่บทพลังงาน เพิ่มสัดส่วนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็นเท่าตัว ชี้! เอกชนมีศักยภาพทำได้ แต่ขอมีความชัดเจนเป็นรายปี จับตาประมูล VSPP Semi-Firm ช่วงต้นปีหน้าอีกรอบ หลัง “เอสพีพี ไฮบริด” แข่งขันกันถล่มทลาย

จากที่ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้มีนโยบายปรับปรุงแผนแม่บทพลังงานของประเทศใหม่ โดยจะเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนมากขึ้น จากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า หรือ พีดีพี ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน จาก 20% หรือราว 1.96 หมื่นเมกะวัตต์ เป็น 30-40% หรือกว่า 3 หมื่นเมกะวัตต์ ได้ส่งผลให้วงการธุรกิจด้านผลิตไฟฟ้าเกิดการตื่นตัว ที่จะรุกเข้าสู่พลังงานทดแทนมากขึ้น

 นายชลัช ชินธรรมมิตร์ กรรมการ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือ เคเอสแอล เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การที่กระทรวงพลังงานได้ปรับแผนแม่บทพลังงานของประเทศใหม่ โดยมุ่งส่งเสริมพลังงานทดแทนมากขึ้นนั้น ถือว่าเป็นนโยบายที่เดินมาถูกทาง เนื่องจากผู้ประกอบการแต่ละรายมีขีดความสามารถในการลงทุนด้านพลังงานทดแทน แต่ขึ้นอยู่กับว่า แต่ละรายจะใช้เชื้อเพลิงประเภทไหน

ทั้งนี้ เห็นได้จากการเปิดประมูลเสนอขายไฟฟ้าในรูปแบบเอสพีพี ไฮบริด เฟิร์ม (SPP Hybrid Firm) ในปริมาณ 300 เมกะวัตต์ ถือว่า ภาครัฐประสบความสำเร็จค่อนข้างสูง เนื่องจากมีผู้เข้าประมูลถึง 85 โครงการ คิดเป็นกำลังการผลิตติดตั้ง รวม 2,464 เมกะวัตต์ ส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่รุนแรง และทำให้ราคาค่าไฟฟ้าที่รับซื้อต่ำกว่า 3.66 บาทต่อหน่วย ตามที่กำหนดไว้ได้ ซึ่งบริษัทก็เป็นหนึ่งในผู้ยื่นประมูลโรงไฟฟ้าชีวมวล จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โรงไฟฟ้าเอสพีพี ที่ อ.วังสะพุง จ.เลย กำลังการผลิต 20-25 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่ อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น กำลังการผลิต 20 เมกะวัตต์

 อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการอยากเห็นความชัดเจนของแผนส่งเสริมพลังงานทดแทนในระยะสั้นและระยะยาว รวมทั้งมีการประกาศความชัดเจน ปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในแต่ละปี ไปจนถึงปลายแผนปี 2579 เพื่อให้ผู้ประกอบการมั่นใจว่า เมื่อลงทุนไปแล้ว จะไม่มีความเสี่ยงจากนโยบายของภาครัฐ

 นอกจากนี้ การกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ควรแบ่งแยกตามเชื้อเพลิง เนื่องจากราคาวัตถุดิบแต่ละชนิดในการผลิตไฟฟ้ามีต้นทุนที่แตกต่างกัน เพราะการเหมารวมราคาเพื่อประมูลแข่งขันกันนั้น มีปัจจัยที่แตกต่างกัน อาทิ โรงไฟฟ้าชีวมวลมีต้นทุนวัตถุดิบที่ไม่สามารถกำหนดได้อย่างตายตัวในระยะยาว ขณะที่ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) มีต้นทุนที่ลดลงทุกปี แต่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เพียง 4-5 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น เทียบกับโรงไฟฟ้าชีวมวลที่เดินเครื่องได้ 24 ชั่วโมง

วิทยุพลังงาน

“การเปิดประมูลเอสพีพี ไฮบริด เฟิร์ม ที่ กกพ. เปิดรอบนี้ 300 เมกะวัตต์ ส่วนใหญ่ยังคงเป็นกลุ่มโรงงานน้ำตาลที่ประมูลแข่งขัน ซึ่งบริษัทก็ประมูลในราคาที่เหมาะสมและอยู่ได้ และหากในอนาคต ภาครัฐเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น บริษัทก็พร้อมขยายการลงทุน แต่คงต้องรอแผนพลังงานทดแทนของกระทรวงพลังงานก่อนว่า จะออกมาอย่างไร มีความชัดเจนหรือไม่” นายชลัช กล่าว

 แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในการประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน ครั้งที่ 7 เมื่อวันที่ 2 พ.ย. ที่ผ่านมา พบว่า ต่างชาติยังมองประเทศไทยเป็นผู้นำด้านพลังงานทดแทน และอยู่ระหว่างการปรับแผนแม่บท เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น ซึ่งการปรับแผนพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นเท่าตัว เพราะแนวโน้มเทคโนโลยีที่ดีขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนถูกลง ส่งผลให้โอกาสที่จะพัฒนาพลังงานทดแทนมีมากขึ้น

 นอกจากนี้ แนวโน้มพลังงานทดแทนของไทยในอนาคต จะต้องสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบอย่างต่อเนื่อง ในรูปแบบไฮบริด ทั้งชีวมวล ก๊าซชีวภาพ โซลาร์เซลล์ และลม ต้องมีการกำหนดสัดส่วนที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้กระทบกับต้นทุนไฟฟ้าของประเทศ และสามารถกระจายไปตามพื้นที่ต่าง ๆ ลดการสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้ฟอสซิลขนาดใหญ่ได้ด้วย

 โดยหลังจากเปิดรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ ‘เอสพีพี ไฮบริด เฟิร์ม’ ไปแล้ว จะมีการเปิดรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ VSPP Semi-Firm จำนวน 269 เมกะวัตต์ รวมถึงโครงการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ติดตั้งบนหลังคาและอาคาร (โซลาร์รูฟท็อป) อีกจำนวน 300 เมกะวัตต์ ดังนั้น จะส่งผลให้ธุรกิจด้านพลังงานทดแทนเกิดความคึกคัก เพราะทุกบริษัทต้องการขยายโอกาสการลงทุน

น.ส.นฤภัทร อมรโฆษิต เลขาธิการสำนักงานคระกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า การเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก หรือ วีเอสพีพี ในรูปแบบเซมิ เฟิร์ม 269 เมกะวัตต์ คาดว่าจะไม่ทันปลายปีนี้ เนื่องจากต้องรอประกาศรายชื่อผู้ชนะการประมูลโครงการเอสพีพี ไฮบริด เฟิร์ม ในวันที่ 14 ธ.ค. นี้ จากนั้นคาดว่า จะสามารถเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากวีเอสพีพี เซมิ เฟิร์ม ภายในต้นปี 2561 ขณะที่ การเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการขยะชุมชน 80 เมกะวัตต์ คาดว่าจะสามารถเปิดรับซื้อภายในปีหน้าเช่นกัน

จาก http://www.thansettakij.com วันที่ 8 พฤศจิกายน 2560

ไทยจับมือเเคนาดา ขยายการค้า-ลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ พร้อมเชิญนักธุรกิจเเคนาดาลงทุนใน EEC

ไทยจับมือแคนาดาขยายการค้าการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ เน้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีสูง และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งเชิญชวนนักธุรกิจแคนาดาลงทุนใน EEC อีกทั้งย้ำให้เชื่อมั่นว่าไทยปลอดไข้หวัดนก ขอให้แคนาดาปรับลดเงื่อนไขนำเข้าไก่ปรุงสุก หวังเพิ่มส่วนแบ่งตลาดไก่

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค (AMM) เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2560 ได้พบหารือกับนายฟรองซัวส์ ฟิลิปป์ ชอมปาญ (François-Philippe Champagne) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าระหว่างประเทศของแคนาดา ณ เมืองดานัง สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ซึ่งเป็นการพบกันครั้งแรกนับตั้งแต่นายฟรองซัวส์ เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนมกราคม 2560 โดยได้หารือเรื่องการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการค้า การลงทุนไทย-แคนาดา การยกระดับพันธมิตรทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนกับแคนาดา ซึ่งครบรอบ 40 ปี ของความสัมพันธ์อาเซียน-แคนาดา

ในโอกาสนี้ รมว.พาณิชย์ ได้ย้ำกับแคนาดาว่าไทยเป็นประเทศปลอดไข้หวัดนก โดยขอให้เชื่อมั่นในการนำเข้าไก่แช่แข็งจากไทย และขอให้เร่งพิจารณาข้อเรียกร้องของไทย ที่ให้ปรับระดับอุณหภูมิไก่ปรุงสุกจาก 80 องศาเซลเซียส เหลือ 70 -72 องศาเซลเซียส ตามมาตรฐานระหว่างประเทศขององค์การโรคระบาดสัตว์โลก (OIE) ซึ่งปัจจุบันไทยเป็นแหล่งนำเข้าไก่สำคัญอันดับ 2 ของแคนาดา รองจากสหรัฐฯ โดยแคนาดามีการนำเข้าไก่ปรุงสุกจากไทยมูลค่าเฉลี่ยปีละ 30.2 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณร้อยละ 20 ของมูลค่าการนำเข้าไก่ปรุงสุกทั้งหมดของแคนาดา ทั้งนี้ การปรับลดเงื่อนไขดังกล่าวจะช่วยขยายการส่งออกไก่ไทยไปแคนาดามากขึ้น

​รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ยังได้แจ้งแคนาดาถึงนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมใหม่ของไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีสูง และอุตสาหกรรมที่ช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของแคนาดา และทั้งสองฝ่ายสามารถร่วมมือกันได้ โดยได้เชิญชวนแคนาดาให้นำนักธุรกิจมาเยือนไทย เพื่อขยายการค้าและการลงทุน พร้อมกับเชิญชวนให้มาลงทุนในโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ซึ่งรัฐบาลไทยเน้นส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมการบิน หุ่นยนต์ การศึกษา สุขภาพ วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม เป็นต้น

การหารือระหว่างไทยกับแคนาดาครั้งนี้ ได้เสริมสร้างความเชื่อมั่นของแคนาดาต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของไทย โดยไทยจะเป็นประตูการค้าสู่อาเซียน ส่วนแคนาดาสามารถจะเป็นประตูการค้าของไทยสู่ภูมิภาคอเมริกาเหนือ ซึ่งไทยยังมีโอกาสขยายการค้าการลงทุนกับแคนาดาได้อีกมาก ในปี 2561 ไทยมีแผนส่งเสริมและประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการไทยในตลาดแคนาดา เช่น การแลกเปลี่ยนการเยือนของผู้แทนการค้าระหว่างกัน เน้นส่งเสริมกิจการร้านอาหารไทยในประเทศแคนาดาผ่านโครงการ Thai Select ซึ่งสินค้าอาหารส่งออกของไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง เช่น ข้าว ผลไม้สดแช่เย็น/แช่แข็ง และไก่แปรรูป เป็นต้น

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือเพื่อพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค โดยอาเซียนและแคนาดาอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำความตกลงการค้าเสรีอาเซียน – แคนาดา และอยู่ระหว่างการประเมินความพร้อมและพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมในการยกระดับการเป็นพันธมิตรทางเศรษฐกิจระหว่างสองภูมิภาคในอนาคต

​ในปี 2560 (ม.ค. – ก.ย.) แคนาดาเป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของไทยในภูมิภาคอเมริกาเหนือ โดยมีมูลค่าการค้ารวม 1,670 ล้านเหรียญสหรัฐ (ร้อยละ 0.5 ของมูลค่าการค้ารวมทั้งหมดของไทย) เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 1.36 โดยไทยส่งออกไปแคนาดาเป็นมูลค่า 1,051 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 0.6 ของการส่งออกทั้งหมด โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลไม้กระป๋อง และผลิตภัณฑ์ยาง โดยไทยนำเข้าจากแคนาดามูลค่า 619 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 0.5 ของการนำเข้าทั้งหมด ซึ่งมีสินค้านำเข้าหลัก เช่น เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ และพืชและผลิตภัณฑ์จากพืช ทำให้ไทยได้ดุลการค้าแคนาดามูลค่า 432 ล้านเหรียญสหรัฐ

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 8 พฤศจิกายน 2560

กนง. คงดอกเบี้ย มองเศรษฐกิจโตดี จับตาเงินบาทผันผวนสูง

กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีกว่าที่ประเมินไว้จากการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยว ด้านการบริโภคภาคเอกชนเติบโตต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังไม่ส่งผ่านได้อย่างทั่วถึง รายได้ของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยจึงยังฟื้นตัวไม่ชัดเจน รวมทั้งกลุ่ม SMEs อาจยังไม่ได้รับผลประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ ด้านการลงทุนภาคเอกชนปรับดีขึ้นตามการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ ขณะที่การลงทุนภาครัฐยังเป็นแรงขับเคลื่อนให้กับเศรษฐกิจแม้ชะลอลงบ้าง

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับสูงขึ้นเล็กน้อยตามราคาอาหารสดและราคาพลังงานที่ทยอยปรับสูงขึ้น ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นอย่างช้าๆ ตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ และการปรับขึ้นอัตราภาษีสรรพสามิต รวมถึงผลกระทบจากมาตรการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวที่อาจมีต่อค่าจ้างแรงงานในระยะข้างหน้า

เงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ทรงตัวจากการประชุมครั้งก่อน ส่วนเงินบาทเทียบกับสกุลคู่ค้าคู่แข่งไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ สำหรับในระยะข้างหน้า อัตราแลกเปลี่ยนจะยังมีแนวโน้มผันผวนสูงจากความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลัก โดย กนง. มองว่าควรติดตามสถานการณ์ในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด

กนง. มองเศรษฐกิจไทยยังเสี่ยงจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ อาทิ ผลกระทบจากมาตรการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว ความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐฯ และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์   

อีไอซีคาด กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% ต่อเนื่องถึงปี 2018 เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจไทยที่ยังคงขยายตัวแบบไม่ทั่วถึง สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป แม้จะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น แต่ยังคงอยู่ต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย อีกทั้งความไม่แน่นอนของปัจจัยที่จะช่วยผลักดันอัตราเงินเฟ้อยังคงมีอยู่ เช่น ปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองต่อราคาน้ำมันดิบ และผลของมาตรการจัดระเบียบแรงงานต่อค่าจ้าง นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วงปลายปีน่าจะมีผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ แม้ว่าผลกระทบอาจลดน้อยลงเมื่อเทียบกับปีก่อน ในระยะต่อไป การขยายตัวทางเศรษฐกิจจะยังคงมีแรงต้านจากการบริโภคที่ยังคงขยายตัวอย่างช้าๆ ปัญหาหนี้สูง และความเสี่ยงจากการเมืองในประเทศ

ด้านกลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีความเห็นต่อผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ว่า กนง. มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ นับเป็นการลงมติอย่างเป็นเอกฉันท์ครั้งที่ 20 ติดต่อกัน โดยค่าเงินบาทเคลื่อนไหวเล็กน้อยและซื้อขายอยู่ใกล้ระดับ 33.13 ต่อดอลลาร์ หลังจากการประชุมกนง. นับตั้งแต่ต้นปี เงินบาทแข็งค่าขึ้น 7.3% ด้วยปัจจัยหนุนจากยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัด

คณะกรรมการกนง. มีมุมมองเชิงบวกต่อเนื่อง โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ดีกว่าที่ประเมินไว้จากการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะที่อุปสงค์ในประเทศขยายตัวดีขึ้นต่อเนื่องและอัตราแลกเปลี่ยนยังมีเสถียรภาพ แถลงการณ์ของ กนง. วันนี้ระบุว่าภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) อาจยังไม่ได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างเต็มที่  กนง.ยอมรับว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับสูงขึ้นเล็กน้อย แต่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังต่ำ ขณะที่ความเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างอาจส่งผลให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นช้ากว่าในอดีต  และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวเข้าสู่เป้าหมายในช่วง 1.0-4.0% ในกลางปี 2561

คณะกรรมการกนง. มีกำหนดการประชุมรอบถัดไปเป็นครั้งสุดท้ายของปีนี้ในวันที่ 20 ธันวาคม 2560  โดยในวันนี้ กนง. มีมุมมองที่แสดงถึงจุดสมดุลจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ  รวมทั้งความเป็นไปได้ที่ค่าเงินจะมีความผันผวนมากขึ้น ทั้งนี้ กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า กนง. น่าจะยังคงดอกเบี้ยไว้เท่าเดินในอีก 2-3 ไตรมาสหน้า และวัฎจักรการคุมเข้มนโยบายการเงินน่าจะเริ่มในช่วงปลายปี 2561

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 8 พฤศจิกายน 2560

เกษตรฯ พร้อมเยียวยาครัวเรือนละ 3,000 บาททันสิ้นปีนี้ ‘บิ๊กฉัตร’ ยันไม่มีมาตรการเพิ่ม แค่นี้พอแล้ว 

นายพีรพันธ์ คอทอง รองโฆษกและผู้ช่วยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์. กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยหลังน้ำลด โดยเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบขยายจากพายุตาลัส-เซินกา ระหว่างวันที่ 5 ก.ค.- 15 ส.ค. 2560 จะได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยา ครัวเรือนละ 3,000 บาท (เพิ่มเติม) ครอบคลุมพื้นที่ 30 จังหวัด เกษตรกร 1.19 ล้านครัวเรือน วงเงิน 3,592.66 ล้านบาท

คาดว่าจะทำการจ่ายเงินให้แก่เกษตรกรผ่านบัญชีของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนพ.ย. ส่วนเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากพายุทกซูรี และร่องมรสุม ระหว่างวันที่ 16 ส.ค. 31 ต.ค. 2560 จะได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยา ครัวเรือนละ 3,000 บาท ครอบคลุมพื้นที่ 39 จังหวัด เกษตรกร 250,000 ครัวเรือน วงเงิน 750 ล้านบาท คาดว่าจะทำจ่ายเงินให้แก่เกษตรกรได้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนธันวาคม

สำหรับคุณสมบัติของเกษตรกรที่จะได้รับเงินเยียวยา ประกอบด้วย 1. เป็นเกษตรกรที่การผลิตอยู่ในพื้นที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ช่วงภัยตั้งแต่วันที่ 16 ส.ค. 31 ต.ค. 2560 และต้องเป็นเกษตรกรที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาครัวเรือนละ 3,000 บาทในช่วงพายุตาลัสและเซินกา 2. เป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรก่อนเกิดภัย และมีการทำกิจกรรมการเกษตรจริงในพื้นที่เกิดภัย และให้ได้รับการช่วยเหลือเพียง 1 ด้าน 3. ให้คณะกรรมการระดับหมู่บ้าน และชุมชน เป็นผู้รับรอง โดยหลักฐานที่ใช้ยื่นขอรับการช่วยเหลือ ประกอบด้วย สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนากน้าสมุดบัญชีเงินฝากธ.ก.ส. และสำเนาทะเบียนเกษตรกร

“มาตรการดังกล่าวถือเป็นมาตรการที่ออกมาช่วยเหลือเกษตรกรเพิ่มเติม นอกเหนือจากเงินช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง ซึ่งคิดเป็นไร่ ทั้งนี้ การที่ให้เงินช่วยเหลือเกษตรกรครัวเรือนละ 3,000 บาท มาจากฐานที่คิดจากอัตราค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท จำนวน 10 วัน ซึ่งถือเป็นระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำเงินดังกล่าวไว้ใช้สำหรับประทังชีวิตในช่วงหลังประสบภัย โดยการจ่ายเงินช่วยเหลือดังกล่าวจะต้องรวดเร็วที่สุด เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระใหแก่เกษตรกร”นายพีรพันธ์ กล่าว

ด้านพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า มาตรการที่ครม. อนุมัติประกอบด้วย การเยียวยาเกษตรกรครัวเรือนละ 3,000 บาท รวมถึงการขยายระยะเวลาชำระหนี้แก่สมาชิกสหกรณ์ กลุ่มเกษตร 3% ต่อปี ในพื้นที่ 36 จังหวัด สมาชิก 138,317 ราย วงเงิน 233.51 ล้านบาท การสนับสนุนวัสดุปรับปรุงบำรุงดินและพันธุ์พืชระยะสั้น การช่วยเหลือพื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่ง โดยสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวนาปี ไร่ละ 5 กิโลกรัม (ก.ก.) พื้นที่ 14.1 ล้านไร่ วงเงิน 127.61 ล้านบาท ดำเนินการในช่วงเดือนก.พ.-มี.ค. 2561

การปล่อยปลาเข้าทุ่ง ปี 2561 จำนวน 20.2 ล้านตัว วงเงิน 2.20 ล้านบาท ดำเนินการในช่วงเดือนก.ย.-ต.ค. 2561 และการส่งเสริมอาชีพทางเลือก อาทิ ปลูกพืชหลากหลาย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พืชปุ๋ยสด และอาหารสัตว์ ดำเนินการในช่วงเดือนต.ค. 2560-มิ.ย. 2561 ถือว่าค่อนข้างเพียงพอแล้ว ขณะนี้คงยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องออกมาตรการเพิ่มเติมอีก เนื่องจากเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจะได้รับเงินช่วยเหลือปกติ ตามระเบียบกระทรวงการคลังอีก

จาก https://www.khaosod.co.th   วันที่ 8 พฤศจิกายน 2560

ลอยตัวราคาขายปลีกน้ำตาลไม่ทันธันวานี้

นางวรวรรณ  ชิตอรุณ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.)เปิดเผยความคืบหน้าการลอยตัวราคาขายปลีกน้ำตาลทรายในประเทศว่า คงไม่สามารถทำได้ทันตามกำหนดที่วางไว้คือตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.นี้ เพราะสอน.จะต้องแก้ไขกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องของพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายอีกหลายเรื่องสาเหตุที่ล่าช้าเพราะต้องหารือร่วมกันในคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เมื่อได้ข้อสรุปต้องเสนอให้ รมว.อุตสาหกรรม นำเสนอให้ครม.พิจารณาต่อไป”หลักเกณฑ์ที่ต้องแก้ไขเช่น การยกเลิกเงินอุดหนุนให้ชาวไร่อ้อยจากเดิมตันละ 160 บาทที่ต้องให้คณะกรรมการกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย(กท.) ไปกู้ธนาคารเพี่อการเกษตรและสหกรณ์(ธกส.)ในแต่ละปี การคำนวณราคาอ้อยแต่ละปี รวมถึงการยกเลิกโควตาน้ำตาลทั้ง 3 ชนิด และจะมีการจัดสรรปริมาณน้ำตาลเพื่อการบริโภคในประเทศในแต่ละปีการผลิตไม่ต่ำกว่า 25-26 ล้านตัน”

ทั้งนี้การลอยตัวราคายังไม่ได้ข้อสรุปว่าราคาขายปลีกจะลดลงได้กิโลกรัม(กก.) ละกี่บาทหรือหากต้องขึ้นราคาตามตลาดโลก จะต้องขึ้นไปกี่บาทต่อกก. เพราะขณะนี้ยังไม่มีการเปิดหีบอ้อยในปีการผลิต 2560/61 จึงยังไม่ทราบถึงปริมาณอ้อยเข้าหีบเพื่อนำมาผลิตเป็นน้ำตาล และหากปล่อยลอยตัวก็จะมีกระทรวงพาณิชย์มาควบคุมราคาให้เป็นธรรมกับผู้บริโภคเพราะน้ำตาลอยู่ในบัญชีสินค้าควบคุมราคา

นายกำธร  กิตติโชติทรัพย์  นายกสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 7 กาญจนบุรี กล่าวว่า ยังไม่มีใครระบุได้ว่าหากลอยตัวราคาจะเป็นเท่าใด แต่ยืนยันว่าเงินที่เรียกเก็บจากผู้บริโภค 5 บาทต่อกก. ในขณะนี้ต้องถูกออกไปในทันที่

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 8 พฤศจิกายน 2560

ถอย! ลอยตัวราคาน้ำตาล 1 ธ.ค.ไม่ทันซะแล้ว เหตุระเบียบยังแก้ไม่เสร็จ

 “สอน.” แจงยอมรับต้องถอยลอยตัวราคาน้ำตาลทรายไม่ทันกำหนดเวลา 1 ธันวาคมนี้แล้ว เหตุต้องแก้ระเบียบต่างๆ รองรับอีกระลอก ยันราคาน้ำตาลไม่มีใครตอบได้จะถูกลงกี่บาทหรือจะปรับขึ้น โยนพาณิชย์ไปหามาตรการดูแลผู้บริโภคหลังลอยตัว

 นางวรวรรณ ชิตอรุณ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.)เปิดเผยว่า เดิมที่เคยกำหนดที่จะลอยตัวราคาน้ำตาลทรายในประเทศตามแผนปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายวันที่ 1 ธันวาคมนั้น ล่าสุดคงไม่สามารถดำเนินการได้ทันตามกรอบดังกล่าวเนื่องจาก สอน.จะต้องทำการแก้ไขกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อ้อยและน้ำตาลทรายอีกหลายๆ เรื่องซึ่งจำเป็นต้องหารือกันในคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เมื่อได้ข้อสรุปจึงต้องเสนอให้ นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม นำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป

“ยังมีรายละเอียดที่ต้องแก้ไขอีกพอสมควร แต่การลอยตัวราคาขายปลีกเองก็ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะลดลงหรือไม่ อย่างไรเพราะขึ้นอยู่กับราคาตลาดโลก ซึ่งหากปรับขึ้นก็ยังตอบไม่ได้ว่าขึ้นกี่บาทต่อกิโลกรัม เพราะขณะนี้ยังไม่มีการเปิดหีบอ้อยในปีการผลิต2560/61 และหากมีการปล่อยลอยตัวก็จะมีกระทรวงพาณิชย์มาดูแลควบคุมราคาให้เป็นธรรมต่อผู้บริโภค เพราะน้ำตาลเป็นสินค้าที่ถูกบรรจุในบัญชีสินค้าควบคุมราคา” นางวรวรรณกล่าว

 นายกำธร กิตติโชติทรัพย์ นายกสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 7 กาญจนบุรี กล่าวว่า หากจะลอยตัวราคาขายปลีกน้ำตาลทรายก็ไม่ได้มีปัญหาแต่อย่างใด โดยขณะนี้กองทุนอ้อยและน้ำตาลมีหนี้ค้างสะสมอยู่อีก 6,000 ล้านบาทแต่ก็สามารถนำเงินรายได้มาทยอยชำระหนี้ได้ อย่างไรก็ตาม หลังลอยตัวยังไม่มีใครระบุได้ว่าจะเป็นราคาเท่าใดเพราะเหตุการณ์จริงยังไม่เกิดขึ้น แต่ขอยืนยันว่าเงินที่เรียกเก็บจากผู้บริโภค 5 บาทต่อ กก. ขณะนี้เมื่อลอยตัวราคาส่วนนี้จะต้องถูกดึงออกไป

จาก https://mgronline.com  วันที่ 7 พฤศจิกายน 2560

บิ๊กฉัตร”ยันสถานการณ์น้ำดีขึ้น ห่วงลำน้ำชีช่วงมหาสารคาม-กาฬสินธุ์ เตรียมชงมาตรการช่วยเหลือกว่า4พันล้านบาทเข้า ครม.

เมื่อวันที่ 7 พ.ย.2560 เวลา 08.25 น. พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้ถึงกรณีสถานการณ์น้ำทั้ง 4 ภาคนั้นว่า ที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาขณะนี้ได้ลดการระบายน้ำลงจากสัปดาห์ที่แล้วอีก 500 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เหลือระบายน้ำประมาณ 2,100 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ทำให้น้ำตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ลดลงประมาน 50 เซนติเมตร ส่วนทางด้านเหนือเขื่อนได้กลับสู่ภาวะปกติแล้ว

ในส่วนของภาคอีสานนั้น พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวว่า เขื่อนอุบลรัตน์ได้ปรับลดการระบายน้ำเหลือเพียง 20 ล้านลูกบาศก์เมตร/วัน จึงทำให้ลำน้ำพองลดระดับลง และคาดว่าในระยะเวลาอันใกล้จะกลับสู่ภาวะปกติ

ขณะที่ลำน้ำชียังคงมีปัญหาอยู่ในช่วงกลางที่จังหวัดมหาสารคามและกาฬสินธุ์ ที่ทีการระบายน้ำค่อนข้างช้าเนื่องจากมีทางน้ำค่อนข้างคดเคี้ยว แต่คาดว่าจะสามารถคลี่คลายได้ภายในสิ้นเดือนนี้ ส่วนพื้นที่แก้มลิงนั้นได้มีการระบายน้ำออกบางส่วนเพื่อให้เกษตรกรดำเนินการเพาะปลูกได้ในต้นเดือนธันวาคมนี้

ส่วนของภาคใต้นั้นยังคงมีปัญหาในเรื่องพายุที่เข้ามาติดต่อกัน ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งการติดตามปัญหาอย่างใกล้ชิดและลงพื้นที่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และได้ร่วมมือกับ กระทรวงมหาดไทย กองทัพและกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งในด้านของกระทรวงเกษตรฯได้จัดเครื่องสูบน้ำ 380 เครื่อง และเครื่องมืออื่นๆ รวมแล้วกว่า 500 เครื่อง วางกระจายในพื้นที่ 14 จุดเพื่อช่วยเหลือประชาชนได้อย่างรวดเร็ว และเรื่องของอาหารสัตว์นั้นก็ได้เตรียมวางไว้หมดแล้วเช่นกัน โดยจะใช้อาหารสัตว์ 2,000 ตัน พร้อมให้สัตวแพทย์จากกรมปศุสัตว์ลงอยู่ประจำพื้นที่ด้วย

ในส่วนของการช่วยเหลือฟื้นฟูนั้น พล.อ.ฉัตรชัยระบุว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะนำมาตรการช่วยเหลือประชาชนในวงเงินกว่า 4,000 ล้านบาทเข้า ครม.ในวันนี้ เนื่องจากมีสำรวจความเดือดร้อนของประชาชนพบว่ามีความเดือดร้อนกว่า 1.6 ล้านครัวเรือน เพิ่มจากเดิม 9 แสนคน นอกจากนี้ยังมีมาตรการช่วยเหลืออื่นเช่นการจ้างงาน และเรื่องของการชะลอการชำระหนี้ของเกษตรกร และพร้อมสนับสนุนด้านเมล็ดพันธุ์

ทั้งนี้ยืนยันว่าในฤดูกาลหน้าในเขตชลประทานมีน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูกอย่างแน่นอน

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 7 พฤศจิกายน 2560

ค่าบาท ​'แข็งค่า' จับตาทรัมป์เยือนเอเชีย

บาทเปิดตลาดเช้านี้แข็งค่า "33.09 บาทต่อดอลลาร์" ตลาดเงินเอเชียเคลื่อนไหวกรอบแคบรอดูท่าทีจากการมาเยือนเอเชียของทรัมป์

 นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 33.09บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากช่วงปิดสิ้นวันก่อนที่ระดับ 33.15 บาทต่อดอลลาร์

ภาพรวมตลาดการเงินในคืนที่ผ่านมา ถูกปกคลุมด้วยราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นแรง (ล่าสุด WTI และ Brent ขึ้นมาถึงระดับ 57 และ 64 ดอลลาร์/บาร์เรลตามลำดับ) จากมีปัญหาการเมืองในซาอุดิอาระเบีย ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น ๆ

อย่างไรก็ตามบอนด์ยีลด์สหรัฐอายุ 10 ปียังคงไม่ขยัยขึ้นตามและซื้อขายอยู่ที่ระดับ 2.32% ชี้ว่าตลาดยังไม่มีความเชื่อมั่นมากนักว่าราคาน้ำมันจะสามารถไปได้ต่ออีกไกล ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐและเงินเฟ้ออื่น ๆ ก็ยังดูไร้แรงกระตุ้น ขณะที่ตลาดหุ้นก็ยังไม่เปิดรับความเสี่ยงเต็มที่เช่นกัน

ในฝั่งของเอเชีย สกุลเงินหลักยังคงเคลื่อนไหวในกรอบแคบ และรอดูท่าทีจากการมาเยือนเอเชียของโดนัลด์ทรัมป์ อย่างไรก็ตาม ตลาดยังเชื่อว่าการมาเยือนครั้งนี้น่าจะนำไปสู่การค้าและการลงทุนที่มากขึ้นทั้งในเอเชียและอเมริกามองกรอบเงินบาทที่ระดับ 33.05-33.15 บาทต่อดอลลาร์

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 7 พฤศจิกายน 2560

กรมชลฯวางแผนเชื่อมโยง 68 คลองฝั่งตะวันตกแม่น้ำเจ้าพระยา แก้ปัญหาน้ำท่วม 7 จว.ภาคกลางตอนล่าง

 โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำพื้นที่ตอนล่างของฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าจีนจนถึงแม่น้ำแม่กลองมูลค่ากว่า 15,000 ล้านบาทใกล้คลอด กรมชลประทานสรุปผลการศึกษา สร้างเป็นโครงข่ายในการส่งและระบายน้ำ เชื่อมโยง68 คลอง ใช้อาคารบังคับน้ำ 86 แห่งบริหารจัดการ มั่นใจแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคกลางตอนล่างได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้ดําเนินโครงการศึกษาความเหมาะสมการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำพื้นที่ตอนล่างของฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าจีนจนถึงแม่น้ำแม่กลอง เพื่อแก้ปัญหานํ้าท่วมที่มีแนวโน้มความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ก่อให้เกิดความเสียหายเป็นพื้นที่กว้างซึ่งผลการศึกษาได้ข้อสรุปว่าจะต้องดำเนินการปรับปรุงระบบชลประทานในพื้นที่ตอนล่างของฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของคลองในแนวเหนือ-ใต้ ตั้งแต่พื้นที่ใต้คลองท่าเรือ-บางพระ จนไปถึงทะเล ร่วมกับคลองในแนวนอนจากแม่น้ำแม่กลองถึงแม่น้ำท่าจีน โดยจะเชื่อมโยงระบบคลองต่างๆเป็นโครงข่ายในการส่งน้ำและระบายน้ำ มีจำนวนทั้งสิ้น 68 คลอง ซึ่งมีทั้งคลองชลประทานและคลองธรรมชาติ ประกอบด้วย กลุ่มคลองในแนวนอนเชื่อมต่อระหว่างแม่น้ำแม่กลอง-แม่น้ำท่าจีน จำนวน 4คลอง กลุ่มคลองในแนวเหนือ-ใต้ เชื่อมโยงจากคลองท่าผา-บางแก้ว จนถึงทะเล 3 แนว จำนวน 22 คลองและกลุ่มคลองที่เพิ่มประสิทธิภาพในการส่งน้ำและระบายน้ำจำนวน 42 คลอง

อย่างไรก็ตามในจำนวนทั้ง 68 คลองดังกล่าว จะมีคลองที่ดำเนินการปรับปรุง-ขุดลอกจำนวน 32 คลอง ที่เหลืออีก 36 คลอง ไม่ต้องปรับปรุง นอกจากการปรับปรุงคลองแล้ว ยังจะต้องดำเนินการปรับปรุงและก่อสร้างอาคารบังคับน้ำ เช่น สถานีสูบน้ำ ประตูระบายน้ำ ท่อระบายน้ำ เป็นต้น เพื่อใช้ในการบริหารจัดการน้ำทั้งในช่วงฤดูน้ำหลากและฤดูน้ำแล้ง จำนวน 43 อาคาร จากทั้งหมด ที่จะต้องนำมาใช้บริหารจัดการน้ำทั้งสิ้น 86 อาคาร โดยอาคารบังคับน้ำที่ปรับปรุงทั้ง 43 อาคารนั้นแบ่งเป็นอาคารเดิมมีสภาพชำรุดและใช้งานมานาน ซึ่งอาจจะต้องมีการปรับปรุงเพิ่มช่องระบายน้ำ หรือถ้าชำรุดมากจะต้องทำการรื้อถอนก่อสร้างใหม่แทนอาคารเดิม เพื่อใม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำในระบบโครงข่าย มีจำนวนทั้งหมด 21 อาคาร ที่เหลืออีก 22 อาคาร เป็นอาคารบังคับน้ำที่เสนอก่อสร้างใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งน้ำและกักเก็บน้ำในช่วงฤดูแล้ง

อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวต่อว่า การเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำพื้นที่ตอนล่างของฝั่งตะวันตกดังกล่าว ยังจะต้องทำการปรับปรุงแนวคันควบคุมน้ำทะเลพร้อมอาคารประกอบด้วย โดยเริ่มต้นจาก ปตร.บางนกแขวก ต.บางนกแขวก อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม ไปสิ้นสุดที่ ปตร.บางยาง ต.สวนส้ม อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร ระยะทางประมาณ 62 กม. พร้อมปรับปรุง/ก่อสร้างอาคารบังคับน้ำตามแนวคันควบคุมน้ำทะเล จำนวน 34 คลอง ซึ่งจะมีอาคารบังคับน้ำประกอบด้วย 3 กลุ่ม คือ กลุ่มอาคารที่ใช้การได้ 10แห่ง กลุ่มอาคารที่จะต้องปรับปรุง 7 แห่ง และ กลุ่มอาคารที่เสนอก่อสร้างใหม่19แห่ง (รวมแผนก่อสร้างอาคารบังคับน้ำใหม่ในโครงข่ายระบบชลประทาน 2 แห่ง ได้แก่ อาคารบังคับน้ำในคลองบางคนที และคลองทองหลางด้วย)

สำหรับงบประมาณในการดำเนินโครงการดังกล่าวซึ่งประกอบด้วย งานปรับปรุง-ขุดลอกคลอง งานปรับปรุง-ก่อสร้างอาคารบังคับน้ำ และงานปรับปรุงแนวคันควบคุมน้ำทะเลพร้อมอาคารประกอบนั้น คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 15,767.80 ล้านบาท (ไม่รวมค่าชดเชยที่ดินและทรัพย์สิน) ใช้ระยะเวลาในการดำเนินโครงการประมาณ 5 ปี ถือว่าคุ้มค่าเมื่อเปรียบกับผลประโยชน์ที่ได้รับที่จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งน้ำและการระบายน้ำให้กับพื้นที่ชลประทานในพื้นที่ตอนล่างระหว่าง แม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำแม่กลอง ลดภาระในการระบายน้ำของแม่น้ำท่าจีนลง เพิ่มปริมาตรน้ำเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง ลดผลกระทบจากการรุกล้ำของน้ำเค็มเข้ามาในพื้นที่ชลประทาน และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำให้กับพื้นที่ชลประทาน 4 โครงการ ได้แก่ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครปฐม โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครชุม โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาราชบุรีฝั่งซ้าย และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาดำเนินสะดวก

“หากการดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำพื้นที่ตอนล่างของฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าจีนจนถึงแม่น้ำแม่กลองแล้วเสร็จสมบูรณ์ จะสามารถบรรเทาน้ำท่วมในพื้นที่ 7 จังหวัดคือ สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสงครามและสมุทรสาคร ลดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินเป็นมูลค่ามหาศาล รวมทั้งยังสามารถกักเก็บน้ำไว้ในคลองชลประทานและคลองธรรมชาติที่ปรับปรุงได้เพิ่มขึ้นกว่า 3 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อใช้ในการอุปโภค บริโภค และการเกษตรในช่วงฤดูแล้งอีกด้วย” ดร.สมเกียรติกล่าวในตอนท้าย

จาก https://www.siamrath.co.th   วันที่ 7 พฤศจิกายน 2560

เร่งแผนปฏิรูปศก.-พลังงาน

คณะกรรมการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจ-พลังงาน เร่งทำแผนก่อนชงบอร์ดยุทธศาสตร์ชาติปลายปี

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะกรรมการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจได้วางกรอบแนวคิดเรื่องปฏิรูปเศรษฐกิจระยะ 20 ปีแล้ว โดยมีเป้าหมายหลัก คือ การพัฒนาเศรษฐกิจให้ยั่งยืนและครบทุกมิติ และมีเป้าหมายรอง คือ การเติบโตที่รวดเร็วมีคุณภาพให้สามารถแข่งขันได้ กระจายสู่ทุกคนและยั่งยืน

ทั้งนี้ ขอบเขตในการทำงานของคณะกรรมการปฏิรูปจะประกอบไปด้วย 3 เสาหลัก ได้แก่ ด้านความสามารถในการแข่งขัน ความเท่าเทียมและการเติบโตอย่างมีส่วนร่วม และปฏิรูปด้านสถาบันเศรษฐกิจ แต่ละด้านจะมีรายละเอียดเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในวันที่ 24 ธ.ค. เพื่อรวมกับแผนการปฏิรูปด้านอื่นๆ เพื่อจัดทำเป็นแผนปฏิรูปในภาพรวมของประเทศ คาดว่าจะมีความชัดเจนได้ในปลายเดือน ม.ค. 2561 บางเรื่องเพื่อให้ผูกพันในรัฐบาลต่อไป อาจจะต้องมีการออกเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)

อย่างไรก็ตาม การเติบโตที่เหมาะสม จะทำให้ประเทศไทยหลุดจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางได้ใน 20 ปีข้างหน้านั้นจะต้องเติบโตเฉลี่ยอย่างน้อยปีละ 5% ซึ่งจะทำให้รายได้ของคนไทยเพิ่มจาก 6,000 ดอลลาร์สหรัฐ/คน/ปี เป็น 1.2 หมื่นดอลลาร์/คน/ปี ใน 20 ปีข้างหน้า

นายพรชัย รุจิประภา ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน กล่าวว่า ปัจจุบันพลังงานมีความเสี่ยงทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องนำเข้าพลังงานกว่า 80% ของความต้องการใช้ความเสี่ยงการบริหารจัดการพลังงานจากการใช้พลังงานที่ขนาดประสิทธิภาพนำไปสู่การต้องปฏิรูปทั้งนี้ คณะกรรมการได้วางกรอบการปฏิรูปใน 7 ประเด็น ได้แก่ การบริหารจัดการ พลังงานทดแทน การปฏิรูปเทคโนโลยี ปิโตรเลียมไฟฟ้า การผลิตจำหน่ายและสายส่ง นวัตกรรม และการอนุรักษ์พลังงาน หลังจากนี้จะได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นทั่วประเทศผ่านช่องทางต่างๆ ก่อนจะรวบรวมเสนอต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติปลายเดือน ธ.ค.นี้

ด้าน นายดนุชา พิชยนันท์ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน กล่าวว่า เป้าหมายการปฏิรูปพลังงาน คือ การสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน และเพื่อให้ประชาชนทุกคนได้ประโยชน์

จาก https://www.posttoday.com วันที่ 7 พฤศจิกายน 2560

ลงทุนEECสะดุด ชี้กม.ไทยล่าช้า-ต่างชาติรอชัดเจน

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) เปิดเผย ความคืบหน้าการลงทุนในพื้นที่ อีอีซี 3 จังหวัด ประกอบด้วย ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา ว่า ได้ขยายระยะเวลาการเชิญชวนนักลงทุนประเภทใช้เทคโนโลยีขั้นสูงจากต่างประเทศ จากเดิมตั้งเป้าหมายระยะแรก 30 ราย ภายในสิ้นปี 2560 ขยายเป็นเดือนมีนาคม 2561 เนื่องจากสำนักงาน

 อีอีซี เริ่มก่อตั้งช่วงเดือนมีนาคม 2560 ดังนั้นอยากขอเวลาทำงาน 1 ปี เพื่อให้การชักชวนการลงทุนประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

โดยนักลงทุนต่างชาติที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย ทาง อีอีซี จะเน้นกลุ่มที่มี เทคโนโลยีขั้นสูง เป็นเทคโนโลยีใหม่ของประเทศ เน้นผลประโยชน์กับประเทศ เน้นการถ่ายทอดเทคโนโลยี การฝึกฝนบุคลากร มากกว่าเม็ดเงินลงทุนที่จะเข้ามา

“ยอมรับว่าการทำงานของสำนักงานอีอีซีค่อนข้างมีข้อจำกัด คือ นักลงทุนที่ตัดสินใจลงทุนแล้วทั้งหมดเป็นนักลงทุนที่มีการลงทุนในไทยอยู่ก่อนแล้ว อาทิ โตโยต้ายื่นลงทุนในเทคโนโลยียานยนต์ไฮบริดกว่า 20,000 ล้านบาท และตอนนี้มีบริษัทหลายรายแสดงความสนใจลงทุนเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี อาทิ นิสสัน ฮอนด้า ส่วนรายใหญ่ๆ ในอุตสาหกรรมอื่น อาทิ อุตสาหกรรมอากาศยาน คือ แอร์บัส อุตสาหกรรมดิจิทัล คือ ลาซาด้า ต่างรอให้กฎหมาย คือ ร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)อีอีซี ประกาศใช้ก่อน ผมจึงหวังว่ากฎหมายจะผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติ แห่งชาติ(สนช.)ภายในปีนี้ เพื่อให้การลงทุนในอีอีซีขับเคลื่อนไปได้ตามเป้าหมายของรัฐบาล” นายคณิศกล่าว

ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(สอท.)ดูแลด้านการลงทุน กล่าวว่า ในส่วนของเอกชนเองขณะนี้ได้มีการรวมตัวบริษัทขนาดกลางถึงใหญ่ ของไทยประมาณ 30-40 บริษัท ติดต่อขอร่วมลงทุนกับบริษัทต่างชาติที่มีเทคโนโลยีสูงให้เข้ามาลงทุนในไทย โดยสอท.เป็นหน่วยงานกลางในการประสานพาเอกชนไทย ไปหารือกับบริษัทต่างชาติโดยตรง ขณะนี้อยู่ระหว่างวางโปรแกรมและบางส่วนได้เดินทางไปหารือแล้ว โดยประเทศเป้าหมาย อาทิ เยอรมนี เม็กซิโก ฝรั่งเศส ออสเตรีย สวิตเซอร์แลนด์ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา แคนาดา อิสราเอล ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน

นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่า การขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน(ร.ง.4)และขยายกิจการในพื้นที่โครงการอีอีซี ในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม 2560 ว่า มีจำนวนโรงงานทั้งสิ้น 495 โรงงาน ลดลง 9% จากช่วงเดียวกันในปี 2559 ที่มีอยู่ 544 โรงงาน ขณะที่มูลค่าการลงทุนอยู่ที่ 5.25 หมื่นล้านบาท ลดลง 50% จากช่วงเดียวกันของปี 2559 ที่อยู่ที่ 1.05 แสนล้านบาท และการจ้างงานทั้งหมด 8.06 พันคน ลดลง 49.96% จากช่วงเดียวกันของปี 2559 ที่อยู่ที่ 1.6 หมื่นคน

ทั้งนี้ในพื้นที่อีอีซี จ.ชลบุรี เป็นพื้นที่มีการขอใบอนุญาตประกอบกิจการ ร.ง.4 และขยายกิจการมากที่สุด จำนวน 250 โรงงาน จ.ระยอง จำนวน 148 โรงงาน จ.ฉะเชิงเทรา จำนวน 91 โรงงาน

จาก http://www.naewna.com   วันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ปริมาณน้ำต้นทุน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพียงพอใช้ในฤดูแล้ง

                  วันที่ 6 พ.ย. นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทานเผยถึงสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบัน(6 พ.ย. 60) ปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ ลดลงอย่างต่อเนื่อง เช้านี้วัดได้ 2,515 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำลดลงเมื่อวาน(5 พ.ย. 60) 10 เซนติเมตร ต่ำกว่าตลิ่ง 2.04 เมตร ส่วนปริมาณน้ำไหลผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ยังคงปรับลดลงอย่างต่อเนื่องเหลือ 2,147 ลบ.ม./วินาที ทำให้ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนไปจนถึงบริเวณคลองโผงเผง คลองบางบาล แม่น้ำน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ลดลงตามไปด้วย

           สำหรับการนำน้ำออกจากทุ่งพื้นที่ลุ่มต่ำ ซึ่งเริ่มจากทุ่งบางระกำ จ.พิษณุโลก เป็นทุ่งแรก นั้น ปัจจุบันทุ่งบางระกำมีปริมาณน้ำคงค้างในทุ่งเหลือ 431 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำที่ระบายออกจากทุ่งรวม 69 ล้าน ลบ.ม. ระดับน้ำในทุ่งลดลงอย่างต่อเนื่อง คาดว่าประมาณต้นเดือนธันวาคม 2560 จะคงเหลือปริมาณน้ำในทุ่งให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เพื่อให้เกษตรกรเตรียมแปลงเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้งต่อไป ส่วนในพื้นที่ลุ่มต่ำตอนล่าง 12 ทุ่ง ขณะนี้ได้มีการนำน้ำออกจากทุ่งไปแล้วรวม 40.55 ล้าน ลบ.ม. คงเหลือปริมาณน้ำในทุ่งรวมกันประมาณ 1,305 ล้าน ลบ.ม. คาดว่าภายในเดือนธันวาคมนี้จะสามารถนำน้ำออกได้ตามแผนที่วางไว้

          ในส่วนของสถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) ณ วันที่ 1 พ.ย. 60 ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นของการเข้าสู่ฤดูแล้งปี 2560/61 มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 20,883 ล้านลบ.ม. หรือร้อยละ 84 ของปริมาณน้ำทั้งหมด มีปริมาณน้ำใช้การได้ 14,187 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 78 ของปริมาณน้ำใช้การได้ทั้งหมด ซึ่งเป็นไปตามที่กรมชลประทาน ได้คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำแผนจัดสรรน้ำให้ครอบคลุมทุกกิจกรรมการใช้น้ำตลอดในช่วงฤดูแล้ง หากดำเนินการแล้วเสร็จจะได้แจ้งให้ทราบในระยะต่อไป อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าปริมาณน้ำในปีนี้จะอยู่ในเกณฑ์ดี และสามารถจัดสรรน้ำได้มากกว่าหลายปีที่ผ่านมา แต่ยังคงรณรงค์ให้มีการใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้มีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ในอนาคตอย่างเพียงพอตลอดไป

จาก http://www.komchadluek.net    วันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

"ประสาร" กางแผนปฏิรูปเศรษฐกิจ

                    ตั้งเป้ารายได้ต่อหัว 20 ปี เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวแตะคนละ 4 แสนต่อปี เศรษฐกิจโตอย่างน้อย 5% เตรียมรวบรวมประเด็นขับเคลื่อน 9 เรื่องชงคณะยุทธศาสตร์ชาติ 24 ธ.ค.นี้                    

                    นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า คณะกรรมการปฏิรูปฯ ได้แถลงข่าวถึงแผนการทำงานปฏิรูปเป็นครั้งแรก หลังจากได้ประชุมกันไปแล้วหลายครั้ง ล่าสุดได้กำหนดกรอบการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศไทยในระยะยาว 20 ปี ให้สอดคล้องกับการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ โดยตั้งเป้าหมายเพิ่มรายได้ต่อหัวคนไทยจากปัจจุบันที่มีคนละ 224,495 บาทต่อปี เพิ่มเป็นคนละ 448,990 บาทต่อปี หรือเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว ขณะที่การเติบโตทางเศรษฐกิจต้องขยายตัวอย่างต่ำปีละ 5% ซึ่งจากนี้ไปจะรวบรวมรายละเอียดก่อนจัดทำออกมาเป็นมาตรการต่างๆ เพื่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบขับเคลื่อนต่อไป

 “คณะกรรมการได้ตั้งกรอบแนวคิดในการพัฒนาเศรษฐกิจเอาไว้ มีเป้าหมายรวมคือต้องพัฒนาเศรษฐที่แท้จริง เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน ต้องเป็นเศรษฐกิจที่มีศักยภาพ มีความสามารถในการแข่งขันที่ดี การเติบโตต้องดี และต้องทำให้คนมีงานทำด้วย โดยในรายละเอียดต่างๆ ของการทำงานได้แบ่งออกเป็น 3 เสาหลัก 9 เรื่อง ทำในระยะสั้น กลาง ยาว ซึ่งจะลงรายละเอียดอีกครั้ง ด้วยการจัดทำเป็นประเด็นเชิงลึกแต่ละเรื่อง รวบรวมเสนอคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ในวันที่ 24 ธ.ค.นี้ เพื่อบรรจุเรื่องต่างๆ อยู่ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ และถ้ามีบางเรื่องจะออกมาเป็นกฎหมายก็ต้องทำออกมา

จาก https://www.dailynews.co.th  วันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

คาดลอยตัวน้ำตาล1ธ.ค.นี้ ราคาปลีกลดลงกิโลละ2-3บาท

“กอน.” มั่นใจลอยตัวน้ำตาลธ.ค.นี้ ราคาปลีกลดกก.ละ 2- 3 บาท เหตุราคาโลกต่ำ ขณะที่ราคาอ้อยขั้นต้นฤดูผลิต 60/61 คาดอยู่ที่ 850-870 บาทต่อตัน           

รายงานข่าวจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เปิดเผยว่า การประชุมกอน.เมื่อวันที่ 31 ต.ค. ได้เห็นชอบหลักการแนวทางการบริหารจัดการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย และร่างระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องประมาณ 5 ระเบียบ เพื่อรองรับการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อให้ทันกำหนดลอยตัวราคาน้ำตาลทรายวันที่ 1 ธ.ค.นี้ ซึ่งหลักปฏิบัติได้มีการหารือทุกภาคส่วนแล้ว โดยการคำนวณราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานจะอ้างอิงราคาน้ำตาลทรายขาวตลาดลอนดอนนับเบอร์ 5 บวกราคาไทยพรีเมี่ยม ซึ่งเป็นส่วนเพิ่มทางการตลาดของการขายน้ำตาลไทยให้กับผู้ซื้อ จะพิจารณาเฉลี่ยเป็นรายเดือน เบื้องต้นคาดว่า การลอยตัวเดือนธ.ค.จะส่งผลให้ราคาขายปลีกลดลง 2-3 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) หรือกก.ละ 20.50-21 บาทต่อกก.

“ตอนนี้ราคาคำนวณจะมีส่วนของ 5 บาทต่อกก. ที่เป็นราคาน้ำตาลทรายเก็บเข้ากองทุนอ้อย และน้ำตาลทราย(กท.) ตามหลักการเปิดเสรีต้องตัดส่วนนี้ออกไป ดังนั้นเมื่อคำนวณราคาตามสูตรลอนดอนนัมเบอร์ 5 บวกไทยพรีเมียมราคาหน้าโรงงานจะออกมาประมาณ 13.50-14.50 บาทต่อกก. โดยการขายจริงของโรงงานนั้น จะปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาดซื้อขาย ซึ่งปกติจะสูงกว่า ส่วนเกินนี้ต้องนำส่งเข้ากองทุนอ้อยฯ เพื่อสะสมไว้ดูแลระบบ ประเมินว่าจะได้ประมาณ 3 บาทต่อกก. ขณะที่ราคาขายปลีกปลายทางที่กระทรวงพาณิชย์ดูแลจะพิจารณาตามต้นทุนค่าบรรจุภัณฑ์ การตลาด ขนส่ง ขณะนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 3.50 บาทต่อกก.  ตามสูตรนี้คาดว่า ราคาขายปลีกน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์เฉลี่ยจะอยู่ที่ 20.50-21 บ.ต่อกก.หรือลดลง 2-3 บาทต่อกก.”             

ส่วนการคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นก็ได้กำหนดหลักการไว้แล้วโดยคาดว่าฤดูการผลิตปี 60/61 ราคาอ้อยขั้นต้นจะเฉลี่ยอยู่ที่ 850-870 บาทต่อตัน คาดหวังว่า เมื่อมีการคำนวณราคาอ้อยขั้นสุดท้ายแล้วจะมีเงินที่ถูกเก็บสะสมเข้ากองทุนฯในการนำมาดูแลราคาอ้อยให้กับชาวไร่ฯได้

จาก https://www.dailynews.co.th   วันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ตัวเลขภาคบริการสหรัฐฯ แกร่ง กดค่าเงินบาทอ่อน

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐกลับมาแข็งค่าขึ้นหลังจากตัวเลขการบริการของสหรัฐดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ ฉุดค่าเงินบาทอ่อนค่า-ทองคำขาลง                   

น.ส.รุ่ง สงวนเรือง  ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแลโกลบอลมาร์เก็ตส์  ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า   ค่าเงินบาทเปิดตลาดเมื่อเช้านี้ที่ 33.18 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงเล็กน้อย จากเมื่อวันศุกร์ที่ 3 พ.ย.ปิดตลาดที่ระดับ 33.12  บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็นผลมาจาการกประกาศตัวเลขภาคการบริการของสหรัฐดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ แม้ว่าการจ้างงานนอกภาคเกษตรในเดือน ต.ค.ปรับตัวขึ้นต่ำกว่าคาดเพียง   261,000 ตำแหน่ง ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐกลับมาแข็งค่าขึ้น  ซึ่งต้องติดตามการประชุมคณะกรรมการนโยบายทางการเงิน (กนง.)ในวันที่ 8 พ.ย.นี้ หากคงดอกเบี้ยจะทำให้ค่าเงินบาทกลับมาแข็งค่า ส่วนปัจจับต่างประเทศเป็นเรื่องแผนปฏิรูปภาษีของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐมีความคืบหน้ามากน้อยแค่ไหนในช่วงที่เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ  และติดตามการเยือนภูมิภาคเอเชียของทรัมป์ และบ่ายวันนี้จะมีการแถลงในช่วงที่เยือนญี่ปุ่น

รายงานข่าวบริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนลแจ้งว่า  ราคาทองคำวันศุกร์ที่ 3 พ.ย. ปิดปรับตัวลดลง  6.51  ดอลลาร์ต่อออนซ์ เนื่องจากถูกแรงเทขายหลังจากสกุลเงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขานรับการเปิดเผยคำสั่งซื้อภาคโรงงานและตัวเลขในภาคบริการของสหรัฐที่แข็งแกร่งเกินคาด ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)เดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคต    โดยแนะนำติดตามการเคลื่อนไหวของราคาอย่างใกล้ชิดโดยเน้นการเก็งกำไรในกรอบ 1,263-1,279 ดอลลาร์ ต่อออนซ์ หากราคาทองคำยังพยายามยืนเหนือโซนแนวรับ 1,263  ดอลลาร์ฯ ต่อออนซ์ได้ ทำให้ราคามีโอกาสขยับขึ้นเพื่อทดสอบแนวต้านอีกครั้ง  ซึ่งประเมินแนวรับที่  1,263 ดอลลาร์ฯ ต่อออนซ์และ 1,245 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แนวต้านที่ 1,279 ดอดอลลาร์ ต่อออนซ์ และ 1,296 ดอลลาร์ต่อออนซ์

จาก https://www.dailynews.co.th   วันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ที่นี่บราซิล? "ลอยตัวน้ำตาลทราย" อนาคตคนไทยกินน้ำตาลแพงขึ้น?

1 ธันวาคมนี้ จะเป็นวันที่กำหนดลอยตัวราคาน้ำตาลทราย ซึ่งจะส่งผลทำให้น้ำตาลทรายกลายเป็นสินค้าที่ไม่ได้ถูกควบคุมว่าห้ามขายเกินราคาอีกต่อไป

... รายงาน

ปัจจุบัน น้ำตาลทราย เป็นสินค้าที่อยู่ในบัญชีควบคุม ตามประกาศของคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ กำหนดเพดานสูงสุดสำหรับขายปลีกไม่เกิน 23.50 บาทต่อกิโลกรัม

แต่หลังจากวันที่ 1 ธันวาคม 2560 เป็นต้นไป ราคาน้ำตาลทรายจะไม่ได้กำหนดราคาเพดานขายปลีกสูงสุดแบบตายตัวแล้ว แต่จะ "ขึ้น" หรือ "ลง" ตามราคาตลาดโลกแทน

สาเหตุสำคัญที่ต้องลอยตัวน้ำตาลทราย เพราะประเทศบราซิล ไปฟ้ององค์การการค้าโลก (WTO) กล่าวหาว่าไทยอุดหนุนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายจนเกินไปในช่วงปี 2558 ทำให้มีกระทบต่อตลาดโลก

รัฐบาลก็เลยกังวลว่า หากบราซิลชนะคดี นอกจากไทยต้องจ่ายค่าปรับมหาศาลแล้ว อาจจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกน้ำตาลของไทย ที่ตอนนี้ยังเป็นรองอันดับ 2 ต่อจากบราซิล

เรื่องนี้เกษตรกรชาวไร่อ้อยต่างก็มองว่า รัฐบาลไทยกลัวบราซิลมากเกินไป ถ้ายังไม่พร้อมก็ไม่อยากให้รีบลอยตัว ที่ผ่านมาใช้สูตรคำนวณราคาที่มีมากว่า 30 ปีก็ไม่มีปัญหาอะไร

สำหรับสูตรการคำนวณราคาน้ำตาลทรายนับจากนี้ หน้าโรงงานจะอ้างอิงราคาน้ำตาลทรายขาวตลาดลอนดอน นัมเบอร์ไฟว์ บวก (+) ราคาไทยพรีเมียม (ส่วนเพิ่มทางการตลาดของการขายน้ำตาลไทยให้กับผู้ซื้อ)

ขณะเดียวกัน จากเดิมจะมีส่วนที่เก็บเก็บเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) 5 บาทต่อกิโลกรัม ก็จะยกเลิกไปด้วย โดยจะนำราคาส่วนต่างนำส่งเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายแทน เพื่อสะสมไว้ดูแลระบบ

ปัจจุบัน เมื่อคำนวณราคาตามสูตรลอนดอนนัมเบอร์ไฟว์ บวกไทยพรีเมียม ราคาหน้าโรงงานจะอยู่ที่ 13.50-14.50 บาทต่อกิโลกรัม โดยการขายจริงของโรงงานนั้นจะปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด ซึ่งปกติจะสูงกว่า

โดยโรงงานจะต้องจ่ายเงินส่วนต่างเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ประมาณ 3 บาทต่อกิโลกรัม

เมื่อนำมาขายปลีก กระทรวงพาณิชย์จะดูแลราคาส่วนนี้ โดยพิจารณาตามต้นทุนค่าบรรจุภัณฑ์ การตลาด ขนส่ง เฉลี่ยอยู่ที่ 3.50 บาทต่อกิโลกรัม

คาดว่าราคาขายปลีกน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์เฉลี่ยจะอยู่ที่ 20.50-21 บาทต่อกิโลกรัม

ฟังดูเหมือนจะดี ... แต่จะแน่ใจได้อย่างไรว่า อนาคตคนไทยจะบริโภคน้ำตาลในราคาไม่สูงขึ้นไปกว่านี้

ในเมื่อน้ำตาลทรายกำลังจะกลายเป็น "สินค้าการเมือง" ไม่ต่างจากข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา หรือแม้กระทั่ง น้ำมัน

เพราะในเมื่อราคาน้ำตาลทรายขึ้นอยู่กับราคาตลาดโลก แม้ว่าราคาน้ำตาลทรายขาวลอนดอนนัมเบอร์ไฟว์จะราคาต่ำอยู่

แต่หากวันหนึ่งราคาน้ำตาลในตลาดโลกสูงขึ้นมา คนไทยจะต้องบริโภคน้ำตาลราคาแพงขึ้นหรือไม่?

เพราะการขึ้นราคาน้ำตาลทราย จะส่งผลกระทบต่อเป็นลูกโซ่ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม และอุตสาหกรรมขนมหวาน ซึ่งต้องใช้น้ำตาลทรายเป็นวัตถุดิบหลัก

ไม่นับรวมในอีก 2 ปีข้างหน้า กรมสรรพสามิตจะบังคับใช้พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 เต็มรูปแบบ ซึ่งจะเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีความหวาน

ทำให้เครื่องดื่มประเภท น้ำอัดลม ชาเขียวปรุงแต่ง กาแฟกระป๋อง เครื่องดื่มชูกำลัง นมเปรี้ยว และนมถั่วเหลือง จะไม่ได้รับการยกเว้นด้วยเหตุมีส่วนผสมทางด้านการเกษตรอีกต่อไป

ปัจจุบันคนไทยบริโภคน้ำตาลเฉลี่ยมากกว่า 28 ช้อนชาต่อวัน ซึ่งสูงกว่าคำแนะนำไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน ส่วนใหญ่มักจะมาในรูปแบบของเครื่องดื่ม ขนมหวาน และอาหารที่ต้องปรุงรสด้วยน้ำตาลลงไป

แม้จะมีการรณรงค์ให้ลดการบริโภคน้ำตาล แต่ใครจะเชื่อว่าทุกวันนี้ขนมหวานที่เรารับประทานต้องใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบหลักอยู่ดี โดยเฉพาะขนมไทยและเค้กที่ขายตามท้องตลาด

แม้จะเป็นกุศโลบายที่ดีที่คนไทยจะได้ปรับตัวลดการบริโภคน้ำตาลทราย แต่คำถามคือ ถ้าราคาน้ำตาลทรายยังขึ้นๆ ลงๆ ราคาสินค้าอาหารและบริโภคจะกระทบไปถึงค่าครองชีพประชาชนหรือไม่?

จาก https://mgronline.com   วันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

“ลอยตัว”น้ำตาล ดีเดย์1ธค.ราคาลง

คนกินหลานเฮ 1 ธ.ค.ลอยตัวราคาน้ำตาลทรายลด 2-3 บาท/กก.

แหล่งข่าวคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.) เปิดเผยว่าที่ประชุมกอน.เมื่อวันที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้เห็นชอบหลักการแนวทางการบริหารจัดการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายและร่างระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง 5 ระเบียบ เพื่อรองรับการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายให้ทันกำหนดลอยตัวราคาน้ำตาลทรายวันที่ 1 ธันวาคมนี้ ซึ่งหลักปฏิบัติได้มีการหารือและตกผลึกกับทุกภาคส่วนแล้ว โดยการกำหนดราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานจะอ้างอิงราคาน้ำตาลทรายตลาดลอนดอน No.5 บวกราคาไทยฟรีเมียม(ส่วนเพิ่มทางการตลาดของการขายน้ำตาลไทยให้กับผู้ซื้อ) โดยจะพิจารณาเฉลี่ยเป็นรายเดือน เบื้องต้นคาดว่าการลอยตัวจะส่งผลให้ราคาขายปลีกลดลง 2-3 บาท/กิโลกรัม ซึ่งขณะนี้ราคาคำนวณจะมีส่วนของ 5 บาท/กก. ที่เป็นราคาน้ำตาลทรายเก็บเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) ตามหลักการเปิดเสรีจะต้องตัดส่วนนี้ออกไป ดังนั้นเมื่อคำนวณราคาตามสูตรตลาดลอนดอน No.5 บวกไทยฟรีเมียมราคาหน้าโรงงานจะออกมาราว 13.50-14.50 บาท/กก. “ราคาขายปลีกปลายที่กระทรวงพาณิชย์ดูแลพิจารณาตามต้นทุนค่าบรรจุภัณฑ์ การตลาด ขนส่ง ซึ่งขณะนี้เฉลี่ยจะอยู่ที่ 3.50 บาท/กก. ซึ่งตามสูตรนี้คาดว่าราคาขายปลีกน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์เฉลี่ยจะอยู่ที่ 20.50-21 บ./กก. หรือลดลง 2-3 บาท/กก.“ แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวว่า นอกจากนี้หลักการต้องยกเลิกปริมาณการจัดสรรน้ำตาลทั้งหมดโดยโควตา ก.สำหรับบริโภคภายในประเทศนั้น ให้ประมาณการปริมาณน้ำตาลทรายและเพื่อให้มั่นใจว่าจะมีเพียงพอจึงให้โรงงานสำรองน้ำตาลทรายตามปริมาณบัฟเฟอร์สต๊อก ที่กำหนด และให้โรงงานขายน้ำตาลตามความต้องการของตลาดภายในประเทศเบื้องต้น กอน.ได้ประมาณการน้ำตาลบริโภคในประเทศฤดูผลิตปี 2560/61 ไว้ที่ 26 ล้านกระสอบเพื่อจัดสรรตัวเลขน้ำตาลตามความรับชอบของโรงงานโดยไม่มีงวดจำหน่ายเช่นปัจจุบันที่จะกำหนด 52 สัปดาห์ ส่วนการคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นก็ได้กำหนดหลักการไว้แล้ว คาดว่าฤดูการผลิตปี 2560/61 ราคาอ้อยขั้นต้นจะเฉลี่ยอยู่ที่ 850-870 บาทต่อตัน คาดหวังว่าเมื่อมีการคำนวณราคาอ้อยขั้นสุดท้ายแล้วจะมีเงินที่ถูกเก็บสะสมเข้ากองทุนในการนำมาดูแลราคาอ้อยให้กับชาวไร่ได้

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

นับถอยหลังลอยตัวน้ำตาล! ประเดิมแน่ ธ.ค.นี้ราคาจ่อลง 2-3 บาท/กก.

 “กอน.” เร่งเครื่องลอยตัวราคาน้ำตาลทรายใกล้ถึงโค้งสุดท้าย มั่นใจทัน 1 ธ.ค.หลังเคลียร์ทุกภาคส่วนลงตัว กางโมเดลคำนวณราคาหน้าโรงงาน ค่าอ้อยขั้นต้นและขั้นสุดท้าย คาดราคาขายปลีกถึงมือประชาชนประเดิมเดือนแรก ธ.ค.ลด 2-3 บาทต่อ กก. เหตุราคาโลกต่ำหัก 5 บาทออก ขณะที่ราคาอ้อยขั้นต้นฤดูผลิต 60/61 คาดอยู่ที่ 850-870 บาทต่อตัน

 แหล่งข่าวจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เปิดเผยว่า การประชุม กอน.เมื่อ 31 ต.ค.ที่ผ่านมาได้เห็นชอบหลักการแนวทางการบริหารจัดการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายและร่างระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องประมาณ 5 ระเบียบ เพื่อรองรับการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเพื่อให้ทันกำหนดลอยตัวราคาน้ำตาลทรายวันที่1 ธันวาคมนี้ ซึ่งหลักปฏิบัติได้มีการหารือและตกผลึกกับทุกภาคส่วนแล้ว โดยการคำนวณราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานจะอ้างอิงราคาน้ำตาลทรายขาวตลาดลอนดอน No.5 บวกราคาไทยพรีเมียม (ส่วนเพิ่มทางการตลาดของการขายน้ำตาลไทยให้แก่ผู้ซื้อ) โดยจะพิจารณาเฉลี่ยเป็นรายเดือน เบื้องต้นคาดว่าการลอยตัวจะส่งผลให้ราคาขายปลีกลดลง 2-3 บาทต่อกิโลกรัม (กก.)

“ขณะนี้ราคาคำนวณจะมีส่วนของ 5 บาทต่อ กก.ที่เป็นราคาน้ำตาลทรายเก็บเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) ตามหลักการเปิดเสรีจะต้องตัดส่วนนี้ออกไป ดังนั้นเมื่อคำนวณราคาตามสูตรลอนดอน No.5 บวกไทยพรีเมียมราคาหน้าโรงงานจะออกมาราว 13.50-14.50 บาทต่อ กก. อย่างไรก็ตาม การขายจริงของโรงงานนั้นจะปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาดซื้อขายซึ่งปกติจะสูงกว่า ส่วนเกินนี้จะต้องนำส่งเข้ากองทุนอ้อยฯ เพื่อสะสมไว้ดูแลระบบซึ่งประเมินว่าจะได้ประมาณ 3 บาทต่อ กก. ขณะที่ราคาขายปลีกปลายทางที่กระทรวงพาณิชย์ดูแลจะพิจารณาตามต้นทุนค่าบรรจุภัณฑ์ การตลาด ขนส่ง ซึ่งขณะนี้เฉลี่ยจะอยู่ที่ 3.50 บาทต่อ กก. ตามสูตรนี้คาดว่าราคาขายปลีกน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์เฉลี่ยจะอยู่ที่ 20.50-21 บาทต่อ กก. หรือลดลง 2-3 บาทต่อ กก.” แหล่งข่าวกล่าว

สำหรับหลักการต้องยกเลิกปริมาณการจัดสรรน้ำตาลทั้งหมด โดยโควตา ก. สำหรับบริโภคภายในประเทศ โดยให้ประมาณการปริมาณน้ำตาลทรายและเพื่อให้มั่นใจว่าจะมีเพียงพอจึงให้โรงงานสำรองน้ำตาลทรายตามปริมาณ Buffer Stock ที่กำหนด และให้โรงงานขายน้ำตาลตามความต้องการของตลาดภายในประเทศ เบื้องต้น กอน.ได้ประมาณการน้ำตาลบริโภคในประเทศฤดูผลิตปี 60/61 ไว้ที่ 26 ล้านกระสอบ เพื่อจัดสรรตัวเลขน้ำตาลตามความรับผิดชอบของโรงงานโดยไม่มีงวดจำหน่ายเช่นปัจจุบันที่จะกำหนด 52 สัปดาห์

ส่วนการคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นก็ได้กำหนดหลักการไว้แล้ว คาดว่าฤดูการผลิตปี 60/61 ราคาอ้อยขั้นต้นจะเฉลี่ยอยู่ที่ 850-870 บาทต่อตัน ซึ่งคาดหวังว่าเมื่อมีการคำนวณราคาอ้อยขั้นสุดท้ายแล้วจะมีเงินที่ถูกเก็บสะสมเข้ากองทุนฯ ในการนำมาดูแลราคาอ้อยให้ชาวไร่ได้

“โมเดลนี้ก็ยังคงต้องจับตาว่าจะทำให้มีเงินไหลเข้ากองทุนฯ สะสมได้มากน้อยเพียงใด เพราะต่อไปโรงงานจะขายได้เสรีไม่จำกัดงวดผลิต โดยหากระบบมีการดัมป์ราคาขายแข่งมากเงินส่วนต่างก็อาจจะไม่ได้ไหลเข้ากองทุนฯ มากเช่นกัน แต่ระหว่างทางดำเนินการก็ถือเป็นการทดสอบระบบ หากมีปัญหาก็สามารถปรับเปลี่ยนได้” แหล่งข่าวกล่าว

จาก https://mgronline.com   วันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

สินค้าเกษตรขยับรับปีใหม่ ‘ข้าว-น้ำตาล-มัน-กุ้ง’ ยกเว้น‘ยาง’ยังทรงตัว

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตร และสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัย และพัฒนา ธ.ก.ส. ได้คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรเดือนพฤศจิกายน 2560 มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น 6 ชนิด ราคาเพิ่มสูงสุดถึง 4% ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ น้ำตาลทรายดิบ มันสำปะหลัง และกุ้งขาวแวนนาไม หลังมีความต้องการบริโภคภายในประเทศ และยอดสั่งซื้อจากต่างแดนเพื่อใช้ในเทศกาลปีใหม่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม สินค้าการเกษตรอื่น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า 5% ปาล์มน้ำมัน ยางพารา และสุกร ยังมีแนวโน้มทรงตัว และอาจลดลงจากเดือนก่อนเล็กน้อย เนื่องจากปริมาณผลผลิตจะออกมามากกว่าความต้องการจนทำให้มีผลผลิตส่วนเกินและราคาตกลง ประกอบกับผลกระทบจากภาวะตลาดต่างประเทศ ที่มีความต้องการนำเข้าสินค้าบางประเภทน้อยลง

สำหรับรายละเอียดสินค้าเกษตรรายการสำคัญที่มีโอกาสเพิ่มขึ้นคือ ข้าวเปลือกหอมมะลิคาดจะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1-3% อยู่ที่ราคา 11,725-11,957 บาทต่อตัน เนื่องจากสต๊อกข้าวหอมมะลิของภาคเอกชนเหลือน้อย ทำให้โรงสีและผู้ส่งออกมีความต้องการมาเก็บและส่งออกตามคำสั่งซื้อจากต่างประเทศในช่วงปลายปี เพื่อใช้ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว คาดจะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 2-4% อยู่ที่ 8,825-8,998 บาทต่อตัน เนื่องจากรัฐมีการกำหนดราคาสนับสนุนสินเชื่อในโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีสูงกว่าราคาตลาด ทำให้ผลผลิตจะค่อยทยอยออกมาไม่ถูกกดราคาเหมือนก่อน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

สินค้าเกษตร 6 ชนิดราคาพุ่งเกือบ 4% รับอานิสงส์ยอดสั่งซื้อในและต่างประเทศขยายตัวช่วงสิ้นปี

ศูนย์วิจัยฯ​ ธ.ก.ส. คาดราคาสินค้าเกษตรเดือนพฤศจิกายน 6 ชนิดพุ่งสูงขึ้นเกือบร้อยละ 4 รับอานิสงส์ความต้องการสินค้าอุปโภค-บริโภควันหยุดยาวช่วงเทศกาลปีใหม่และต่างชาติมีความต้องการสินค้าเกษตรของไทยปริมาณมากในช่วงสิ้นปี

นายอภิรมย์  สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร​ (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนา ธ.ก.ส. ได้คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรในเดือนพฤศจิกายน 2560 ที่มีแนวโน้มปรับราคาเพิ่มขึ้นจำนวน 6 ชนิด ประกอบด้วย

1. ข้าวเปลือกหอมมะลิ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.0 – 3.0 อยู่ที่ราคา 11,725 – 11,957 บาท/ตัน เนื่องจากสต็อกข้าวหอมมะลิของภาคเอกชนเหลือน้อย ทำให้โรงสีและผู้ส่งออกมีความต้องการมาเก็บและส่งออกตามคำสั่งซื้อจากต่างประเทศในช่วงปลายปี เพื่อใช้ในช่วงเทศกาลปีใหม่และเทศกาลต่างๆ

2. ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 2.0 – 4.0 อยู่ที่ราคา 8,825 – 8,998 บาท/ตัน เนื่องจากการกำหนดราคาในการสนับสนุนสินเชื่อในโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีสูงกว่าราคาตลาด คาดว่าทำให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯมากขึ้น

3. ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ คาดว่า จะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.20 – 1.00 อยู่ที่ราคา 5.98 – 6.03 บาท/กิโลกรัม เนื่องจากเข้าสู่ฤดูหนาวปริมาณฝนลดลง ส่งผลให้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีคุณภาพดีขึ้นจากความชื้นที่ลดลง ประกอบกับมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐผ่านโมเดลไตรภาคีเชื่อมโยงรับซื้อผลผลิต และโครงการสนับสนุนสินเชื่อให้กับเกษตรกรเพื่อการรวบรวมผลผลิต จะเป็นปัจจัยหนุนให้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เกษตรกรขายได้เพิ่มขึ้นเล็กน้อย

4. น้ำตาลทรายดิบ คาดว่า จะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.50-2.00 อยู่ที่ราคา 14.48-14.70 เซนต์/ปอนด์ (10.58-10.74 บาท/กิโลกรัม) เนื่องจากแรงซื้อน้ำตาลคืนจากตลาดของกลุ่มกองทุนและนักเก็งกำไร จากความกังวลเกี่ยวกับการ คาดการณ์ของสมาคมอุตสาหกรรมน้ำตาลแห่งบราซิล (UNICA) ที่เปิดเผยข้อมูลการผลิตในช่วงครึ่งหลังเดือนกันยายน ผลผลิตอ้อยต่ำกว่าคาดการณ์อยู่ที่ 40.31 ล้านตัน หรือลดลงร้อยละ 5.22 ส่วนผลผลิตน้ำตาลอยู่ที่ 2.848 ล้านตัน หรือลดลงร้อยละ 3.85 ส่งผลให้ผลผลิตน้ำตาลทรายในตลาดโลกลดลง

5. มันสำปะหลัง คาดว่า จะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.74-2.94 อยู่ที่ราคา 1.37-1.40 บาท/กิโลกรัม เนื่องจากความต้องการทั้งในและต่างประเทศที่มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการร่วมมือกันระหว่าง 3 สมาคมมันสำปะหลัง ในการกำหนดราคาขั้นต่ำสำหรับส่งออกมันเส้น โดยไม่ขายตัดราคากัน

6. กุ้งขาวแวนนาไม คาดว่า จะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.12-3.98 อยู่ที่ราคา 181.50-188.50 บาท/กิโลกรัม เนื่องจากเป็นช่วงเข้าสู่ฤดูหนาวที่ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง ส่งผลให้ราคาขายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

“สำหรับสินค้าการเกษตรอื่น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า 5% ปาล์มน้ำมัน ยางพารา และสุกร มีแนวโน้มทรงตัวและอาจปรับลงจากเดือนก่อนเล็กน้อย เนื่องจากคาดการณ์ปริมาณผลผลิตจะออกมามากกว่าความต้องการและผลกระทบจาก ภาวะตลาดต่างประเทศ” นายอภิรมย์กล่าว

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 5 พฤศจิกายน 2560

7 องค์กรหลักใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศพัฒนาการเกษตรเชิงพื้นที่

7 องค์กรหลักใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศพัฒนาการเกษตรเชิงพื้นที่ ระบุหากกระบวนการด้านการเกษตรถูกพัฒนาให้เกิดศักยภาพและเหมาะสมกับบริบทของประเทศและท้องถิ่นแล้วจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ

เมื่อวันศุกร์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 ณ ห้องประชุม 115 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือการบริหารจัดการเกษตรเชิงพื้นที่โดยใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศของ 7 หน่วยงานหลัก ได้แก่ กรมชลประทาน (ชป.) กรมพัฒนาที่ดิน (พด.) กรมวิชาการเกษตร (วก.) กรมส่งเสริมการเกษตร (กสก.) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กรมการข้าว (กข.) และ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (สทอภ.)

นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การเกษตรเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย ในปัจจุบันการบริหารจัดการด้านการเกษตรของประเทศไทยได้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการเกษตรเชิงพื้นที่ยังไม่กว้างขวางนัก เนื่องจากขาดบุคลากรผู้เชี่ยวชาญในการถ่ายทอดองค์ความรู้ ซึ่งส่งผลให้กระบวนการเพาะปลูกและการผลิตยังคงมีต้นทุนสูงทำให้เกษตรกรผู้ผลิตมีรายได้ลดลง ขาดประสิทธิภาพในการวางแผนและดำเนินงาน รวมถึงความตระหนักในการใช้ทรัพยากรให้เกิดคุณค่าสูงสุด

"ดังนั้น หากกระบวนการด้านการเกษตรถูกพัฒนาให้เกิดศักยภาพและเหมาะสมกับบริบทของประเทศและท้องถิ่นแล้วจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ รวมถึงเกิดความยั่งยืนทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตลอดจนคุณภาพชีวิตของเกษตรกรจะถูกพัฒนาอย่างเหมาะสมตามกลไกของการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น"

ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทยุคดิจิตอลในปัจจุบัน เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศซึ่งเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการบริหารจัดการด้านการเกษตร โดยการประยุกต์ใช้เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจ วางแผน วิเคราะห์ ตลอดจนแก้ไขปัญหาการดำเนินงาน อีกทั้ง ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคม ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร นอกจากนี้ ยังเป็นการดำเนินการตามนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยี “ไทยแลนด์ 4.0” ซึ่งต้องการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจไปสู่ Value Based Economy หรือ เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม โดยมีหลักการสำคัญคือเปลี่ยนจากการเกษตรแบบดั้งเดิมในปัจจุบันไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ หรือ Smart Farming นั่นเอง ปลัด กษ. กล่าว

ทางด้าน รศ.นพ. สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า การลงนามในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การพัฒนาการเกษตรของไทยให้มีประสิทธิภาพโดยนำเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ อาทิ การติดตามพื้นที่เพาะปลูกพืช การวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ภัยแล้ง หรือภัยพิบัติน้ำท่วม เป็นต้น ซึ่งนอกจากจะนำข้อมูลจากเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศมาใช้แล้ว ยังร่วมมือกันพัฒนาศักยภาพบุคลากรของหน่วยงานและจัดทำ Application ด้านการบริหารจัดการเกษตรเชิงพื้นที่และด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกด้วย

การลงนามครั้งนี้ ถือเป็นการลงนามครั้งที่ 2 ซึ่งเดิมได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการว่าด้วยการร่วมกันพัฒนาข้อมูลพื้นที่เพาะปลูกข้าวของประเทศไทยจากภาพถ่ายดาวเทียม ของ 5 หน่วยงาน ได้แก่ ชป. กสก. สศก. กข. และ สทอภ. เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ.2559 ที่ผ่านมา และมีผลบังคับใช้เป็นเวลา 1 ปี แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2560 ในการประชุมหารือร่วมกันระหว่าง สทอภ. และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เห็นชอบให้มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงฯ ฉบับใหม่โดยให้มีเนื้อหาการดำเนินงานและความร่วมมือที่กว้างขึ้นจากฉบับเดิม และให้เพิ่มหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้าร่วมอีก 2 หน่วยงาน ได้แก่ พด. และ วก. ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการบูรณาการและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างหน่วยงาน รวมถึงการร่วมกันนำเสนอข้อมูลพื้นที่เพาะปลูกที่เป็นข้อมูลเดียวกัน

ปลัด วท. กล่าวเสริมอีกว่า ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นการขยายผลการดำเนินงานตามกรอบบันทึกความร่วมมือด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศเพื่อบริหารจัดการเกษตรเชิงพื้นที่เพื่อนำไปสู่เกษตรอัจฉริยะ โดยมุ่งเน้นการสนับสนุนการใช้ทรัพยากรด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างหน่วยงาน อีกทั้งเป็นการเพิ่มโอกาสในการขยายความร่วมมือเป็นพันธมิตรของ 7 หน่วยงานตลอดจนเชื่อมโยงเครือข่ายในการดำเนินการอย่างบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ อีกด้วย

จาก https://mgronline.com   วันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ก.เกษตรฯจับมือ ก.วิทย์ ใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศหนุนติดตามพื้นที่เพาะปลูก ประเมินสถานการณ์รับมือแล้ง-น้ำท่วม

นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การเกษตรเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยในปัจจุบัน การบริหารจัดการด้านการเกษตรของประเทศไทยได้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการเกษตรเชิงพื้นที่ยังไม่กว้างขวางนัก เนื่องจากขาดบุคลากรผู้เชี่ยวชาญในการถ่ายทอดองค์ความรู้ ซึ่งส่งผลให้กระบวนการเพาะปลูกและการผลิตยังคงมีต้นทุนสูงทำให้เกษตรกรผู้ผลิตมีรายได้ลดลง ขาดประสิทธิภาพในการวางแผนและดำเนินงาน รวมถึงความตระหนักในการใช้ทรัพยากรให้เกิดคุณค่าสูงสุด ดังนั้น หากกระบวนการด้านการเกษตรถูกพัฒนาให้เกิดศักยภาพและเหมาะสมกับบริบทของประเทศและท้องถิ่นแล้ว จะส่งผลให้เกิดการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ รวมถึงเกิดความยั่งยืนทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนคุณภาพชีวิตของเกษตรกรจะถูกพัฒนาอย่างเหมาะสมตามกลไกของการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น

ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทยุคดิจิตอลในปัจจุบัน เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศซึ่งเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการบริหารจัดการด้านการเกษตร โดยการประยุกต์ใช้เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจ วางแผน วิเคราะห์ ตลอดจนแก้ไขปัญหาการดำเนินงาน อีกทั้งช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคม ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร นอกจากนี้ ยังเป็นการดำเนินการตามนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยี“ไทยแลนด์ 4.0” ซึ่งต้องการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจไปสู่ Value Based Economy หรือ เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม โดยมีหลักการสำคัญ คือ เปลี่ยนจากการเกษตรแบบดั้งเดิมในปัจจุบันไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ หรือ Smart Farming นั่นเอง

 “ในปี 2559 กระทรวงเกษตรฯได้จัดทำ MOU ร่วมกับ GISTDA เพื่อพัฒนาข้อมูลพื้นที่เพาะปลูกข้าวของประเทศ ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวทำให้ทราบถึงพื้นที่เพาะปลูก ผลผลิตการเก็บเกี่ยวข้าว ทำให้มีข้อมูลใช้ประกอบในการตัดสินใจวางแผนการผลิตให้เกษตรกรในรอบต่อไป สำหรับการทำ MOU ในครั้งนี้ มีกรมพัฒนาที่ดิน ร่วมด้วย ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการบริหารจัดการเกษตรเชิงพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การวางแผนการเพาะปลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งสามารถนำไปใช้ในการวางแผนรองรับสถานการณ์ภัยพิบัติ โดยทำให้ทราบถึงข้อมูลพื้นที่น้ำท่วม หรือพื้นที่ภัยแล้ง ทำให้ทราบถึงสถานการณ์ และนำไปสู่การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ต่างๆได้อย่างรวดเร็ว” นายเลิศวิโรจน์ กล่าว

ด้าน รศ.นพ. สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า การลงนามในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การพัฒนาการเกษตรของไทยให้มีประสิทธิภาพ โดยนำเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ อาทิ การติดตามพื้นที่เพาะปลูกพืช การวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ภัยแล้ง หรือภัยพิบัติน้ำท่วม เป็นต้น ซึ่งนอกจากจะนำข้อมูลจากเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศมาใช้แล้ว ยังร่วมมือกันพัฒนาศักยภาพบุคลากรของหน่วยงานและจัดทำ Applicationด้านการบริหารจัดการเกษตรเชิงพื้นที่และด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกด้วย โดยการลงนามครั้งนี้ ถือเป็นการลงนามครั้งที่ 2 ซึ่งเดิมได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการว่าด้วยการร่วมกันพัฒนาข้อมูลพื้นที่เพาะปลูกข้าวของประเทศไทยจากภาพถ่ายดาวเทียมของ 5 หน่วยงาน ได้แก่ ชป. กสก.สศก. กข. และ สทอภ. เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ.2559 ที่ผ่านมา และมีผลบังคับใช้เป็นเวลา 1 ปี แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2560 ในการประชุมหารือร่วมกันระหว่าง สทอภ. และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เห็นชอบให้มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงฯ ฉบับใหม่โดยให้มีเนื้อหาการดำเนินงานและความร่วมมือที่กว้างขึ้นจากฉบับเดิม และให้เพิ่มหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ เข้าร่วมอีก 2 หน่วยงาน ได้แก่ พด. และ วก. ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการบูรณาการและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างหน่วยงาน รวมถึงการร่วมกันนำเสนอข้อมูลพื้นที่เพาะปลูกที่เป็นข้อมูลเดียวกัน

โดยความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการขยายผลการดำเนินงานตามกรอบบันทึกความร่วมมือด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศเพื่อบริหารจัดการเกษตรเชิงพื้นที่เพื่อนำไปสู่เกษตรอัจฉริยะ โดยมุ่งเน้นการสนับสนุนการใช้ทรัพยากรด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างหน่วยงาน อีกทั้งเป็นการเพิ่มโอกาสในการขยายความร่วมมือเป็นพันธมิตรของ 7 หน่วยงานตลอดจนเชื่อมโยงเครือข่ายในการดำเนินการอย่างบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ อีกด้วย

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

“อีอีซี” ความหวังใหม่ยกระดับไทยสู่ศูนย์กลางเศรษฐกิจโลก

โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) หรือ EEC กำลังเป็นอีกหมุดหมายสำคัญที่จะชี้ชะตาอนาคตเศรษฐกิจประเทศไทยในอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้า ด้วยถูกตั้งเป้าให้เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญของการพัฒนาด้านเศรษฐกิจที่ช่วยปรับเปลี่ยนโครงสร้างและยกระดับประเทศไทยให้พ้นจากกับดักอัตรารายได้ปานกลาง ด้วยการลงทุนอย่างเต็มประสิทธิภาพ

โอกาสใหม่ประเทศไทย

ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวถึงโครงการอีอีซีว่า เป็นจุดเริ่มต้นการผลักดันไทยแลนด์ 4.0 แบบก้าวกระโดด ซึ่งจากการที่ประเทศไทยไม่ได้มีโครงการขนาดใหญ่ปรากฏมาเป็นเวลานานแล้วกว่าสามสิบปี ดังนั้นบทบาทสำคัญของอีอีซีคือการเป็นแม่เหล็กสำคัญที่ดึงดูดนักลงทุนทุกมุมโลกให้กลับมาประเทศไทยอีกครั้ง เฉกเช่นเดียวกับความสำเร็จในการผลักดันแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดเคยทำให้เศรษฐกิจประเทศไทยขยายตัวถึงร้อยละ 8 มาแล้วในอดีต

 “อย่างไรก็ดี อีอีซี ไม่ใช่มิติใดมิติหนึ่ง แต่ยังเป็นจุดเริ่มการลงทุนของการสร้างสิ่งใหม่ และปรับเปลี่ยนประเทศ ที่ไม่ใช่แค่อุตสาหกรรมหรือผู้ประกอบการเท่านั้น แต่เป็นเรื่องการสร้างเมือง ชุมชนเมือง เมืองใหม่ ยกระดับคุณภาพเมืองที่มีสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นที่เป็นสากล สร้างรากฐานความเจริญใหม่ให้กับพื้นที่และกับประเทศ”

เพื่อการพัฒนาโครงการอีอีซี ให้เป็นสปริงบอร์ดการลงทุนครั้งใหญ่นำมาสู่แผนด้านการลงทุนระดับ “เมกะโปรเจคท์” ที่เป็นความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชนถึงกว่า 1.5 ล้านล้านบาท ในระยะเวลา 5 ปี เพื่อพัฒนาพื้นที่ใน 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทราให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ เพื่อรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ รวมถึงการยกระดับให้เป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียนที่จะเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันอีอีซี ให้เป็นที่จูงใจนักลงทุนทั่วโลกในระยะยาว

แอคชั่นแพลนที่เป็นรูปธรรม

ดร.อุตตม ยังเปิดเผยถึงโรดแมปแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี กับเส้นทางยกระดับประเทศไทยสู่การเป็น “World-Class Economic Zone” ด้วยอีอีซีว่า ในการเตรียมพื้นที่เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย รัฐบาลจะขับเคลื่อนให้มีการลงทุนในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ซึ่งเชื่อว่า หากมีอุตสาหกรรมเต็มศักยภาพจะก่อให้เกิดการลงทุนที่จะกระตุ้นให้เศรษฐกิจขยายตัวเฉลี่ยราวร้อยละ 5 ต่อปี เกิดการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมและบริการนับ 100,000 อัตราต่อปี และสร้างฐานรายได้เพิ่มไม่น้อยกว่า 4.5 แสนล้านบาทต่อปี ให้กับประเทศ

ในระยะแรก ซึ่งเป็นการดำเนินงานระหว่างปี 2560-2564ถือเป็นช่วงเตรียมการ 4 โครงการหลัก คือ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง การก่อตั้งศูนย์ซ่อมสร้างอากาศยาน และการพัฒนาศักยภาพท่าเรือสองแห่งมาบตาพุดและแหลมฉบัง รวมถึงการจัดตั้งศูนย์กลางนวัตกรรม 2 แห่ง คือ อีอีซีไอ พัฒนาด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี และศูนย์อีอีซีดี จะเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมดิจิตอลเทคโนโลยี ซึ่งแต่ละโครงการล้วนมีความสำคัญเชื่อมโยงกัน โดยจะขาดโครงการใดโครงการหนึ่งไม่ได้

อีกหนึ่งสัญญาณที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลกับแผนปั้นอีอีซี นอกจากการสนับสนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอย่างเต็มรูปแบบ คือการตั้งเป้าส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายให้เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth)  รวมถึงการตั้งเป้าหมายในการพัฒนาเอสเอ็มอีและเป้าหมายในการพัฒนาสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับชุมชนและพื้นที่ที่ได้รับการพัฒนา ขณะเดียวกันรัฐบาลยังมีนโยบายปรับปรุงการมอบสิทธิประโยชน์สำหรับนักลงทุนต่างๆ เพื่อจูงใจให้เข้ามาลงทุน ไม่ว่าจะเป็นด้านภาษีนิติบุคคล และภาษีบุคคล

“แน่นอนว่า เรากำลังจะสร้างอุตสาหกรรมเป้าหมาย ประโยชน์คือ การสร้างโอกาสเรื่องงานใหม่ ซึ่งอาจยังไม่ใช่กับรุ่นเราโดยตรง แต่เป็นลูกหลานในยุคต่อไปของคนในพื้นที่ ถ้ามีอุตสาหกรรมใหม่เกิดขึ้น อย่างไรก็ดี ในการทำงานรัฐบาลต้องมีความแน่ใจว่าผู้คนนอกอีอีซีก็ได้รับประโยชน์อย่างไรด้วยเช่นกัน”

คำนึงถึงชุมชน-ตอบโจทย์ประเทศ

อย่างไรก็ดี รมว.อุตสาหกรรมยังคงย้ำถึงโจทย์สำคัญของการดำเนินโครงการที่เป็นหัวใจหลัก คือทุกกระบวนการต้องตอบทุกคำถามของประชาชนในพื้นที่ได้

“ท่านนายกรัฐมนตรีจะพูดเสมอว่า อีอีซี สิ่งสำคัญที่สุดคือคนในพื้นที่เราต้องตอบโจทย์ก่อนว่าเขาได้อะไร และไม่เพียงเท่านั้น ทำอีอีซีแล้วคนไทยอื่นได้อะไร ซึ่งอีอีซีไม่ใช่แค่เรื่องอุตสาหกรรม เราเน้นเรื่องการสร้างสภาพแวดล้อมเมืองเพื่อให้คุณภาพชีวิตคนในชุมชนดียิ่งขึ้น ได้มาตรฐานสากล ซึ่งเป็นประโยชน์ในตัวเอง ขณะเดียวกันนอกจากได้ประโยชน์แล้ว ในด้านผลกระทบเป็นสิ่งที่รัฐบาลและคณะทำงานคำนึงสูงสุดด้วย”

ดังนั้นเป้าหมายสำคัญในการพัฒนา รัฐบาลจึงมุ่งไปสู่การพัฒนาระยะยาวที่ยั่งยืนของทุกภาคส่วน ผลก็คือการวางทิศทางการดำเนินงานอีอีซีจึงเป็นการออกแบบพัฒนาที่คำนึงในทุกมิติ ทั้งด้านการศึกษา การสาธารณสุข ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ

รวมถึงในระหว่างการวิเคราะห์ศึกษาโครงการอีอีซี จึงมีคณะทำงานลงพื้นที่เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากคนในพื้นที่ต่อเนื่อง โดย รมว.อุตสาหกรรมย้ำว่า หากมีผลกระทบเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือมีเรื่องที่อาจจะสร้างผลกระทบให้เกิดขึ้น ก็จำเป็นต้องรีบหารือเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบดังกล่าว หรือหากต้องเกิดผลกระทบ จะต้องหามาตรการที่จะเข้าไปช่วยเยียวยาว่าควรเป็นอย่างไร

ซึ่งอีกหนึ่งมาตรการของการผลักดันดังกล่าว การเสนอร่างพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่วันนี้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดร.อุตมยืนยันว่าร่างพ.ร.บ. อีอีซีคือกลไกที่จำเป็นต้องมี เพราะการดำเนินงานอีอีซีเป็นการทำงานแบบมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วน ทั้งยังเป็นโครงการต่อเนื่อง

“การมี พ.ร.บ. อีอีซี นอกจากการสร้างความมั่นใจให้ผู้ประกอบการว่ารัฐมีการดำเนินการต่อเนื่องแล้ว ในการรับฟังความคิดเห็นต้องมีกฏหมายรองรับ และการดำเนินโครงการจำเป็นต้องมีมาตรการดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน ทั้งประชาชนในพื้นที่ ชุมชน สภาพแวดล้อม จึงต้องมีกฏหมายรองรับเช่นกัน นอกจากนี้ ใน พ.ร.บ. ยังมีข้อกำหนดไว้เลยว่ารัฐต้องมีการตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาชุมชน สนับสนุนทั้งด้านการศึกษา สุขอนามัย และสภาพแวดล้อมในอีอีซี ถือเป็นกลไกอย่างหนึ่งตาม พ.ร.บ.เพื่อให้มีการดูแลชุมชนในพื้นที่”

ท้ายสุด รมว. อุตสาหกรรมยังให้ข้อสรุปว่าการพัฒนาพื้นที่อีอีซีอย่างเต็มรูปแบบในวันนี้จะเป็นต้นแบบที่ประเทศไทยสามารถเรียนรู้ และนำไปเป็นตัวอย่างในการพัฒนาพื้นที่อื่นๆ ได้ในอนาคต

จาก http://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

'น้ำตาลครบุรี' ขาดทุน 221 ล้าน เพิ่มขึ้น 5.57%

KBS แจ้งผลงานไตรมาส 3 ปี 60 ขาดทุนสุทธิเพิ่มขึ้น 5.57% จากงวดปีก่อน เหตุปริมาณอ้อยเข้าสู่กระบวนการผลิตลดลง แบกภาระต้นทุนผลิตต่อหน่วยสูงขึ้น แม้ราคาน้ำตาลและกากน้ำตาลเพิ่ม

บริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) หรือ KBS แจ้งผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ปี 2560 ว่า บริษัทขาดทุนสุทธิ 221.68 ล้านบาท ขาดทุนต่อหุ้น 0.37 บาท ขาดทุนเพิ่มขึ้น 5.57% จากงวดเดียวกันของปีก่อนขาดทุนสุทธิ 209.99 ล้านบาท ขาดทุนต่อหุ้น 0.35 บาท ส่วนงวด 9 เดือน ปี 2560 กำไรสุทธิ 14.53 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.02 บาท จากงวดเดียวกันของปีก่อนขาดทุนสุทธิ 95.65 ล้านบาท ขาดทุนต่อหุ้น 0.16 บาท

บริษัทฯ ชี้แจงไตรมาส 3 ปี 2560 ขาดทุนเพิ่มขึ้น 11.7 ล้านบาท หรือ 5.57% จากงวดเดียวกันของปีก่อนและมีขาดทุนก่อนค่าใช้จ่ายทางการเงิน ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจำนวน 30.1 ล้านบาท มากกว่างวดเดียวกันของปีก่อน 45.1 ล้านบาท เป็นผลจากบริษัทขาดทุนขั้นต้นจากการขายและบริการเพิ่มขึ้น 25.9 ล้านบาท หรือ 40.4% จากงวดปีก่อน เนื่องจากปริมาณการขายน้ำตาลลดลง 6.1% แต่ราคาขายเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 15% และมีส่วนต่างระหว่างราคาน้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายดิบเพิ่มขึ้น ขณะที่ปริมาณการขายกากน้ำตาลลดลง 50.2% แต่มีราคาขายเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 50.9%

อย่างไรก็ตามแม้ราคาขายน้ำตาลและกากน้ำตาลจะสูงขึ้น แต่ปริมาณอ้อยที่เข้าสู่กระบวนการผลิตลดลงจากปีก่อน ส่งผลให้ปริมาณการขายน้ำตาลและกากน้ำตาลลดลง อีกทั้งบริษัทยังมีต้นทุนอ้อยและค่าใช้จ่ายจัดหาอ้อยสูงขึ้นกว่าปีก่อน จึงต้องแบกภาระต้นทุนการผลิตต่อหน่วยสูงขึ้น ทำให้มีอัตราขาดทุนจากการขายน้ำตาลและกากน้ำตาลเพิ่มขึ้นกว่างวดปีก่อน

นอกจากนี้บริษัทย่อยมีรายได้จากการขายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพิ่มขึ้น 585.9% เนื่องจากช่วงไตรมาสเดียวกันของปีก่อนอยู่ระหว่งซ่อมแซมท่อเมนไอน้ำแตกเสียหายที่เกิดอุบัติเหตุในไตรมาส 2 ปี 2559

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

รื้อใหญ่แผนพลังงาน! พลังงานทดแทนพุ่งเท่าตัว - กฟผ. รับส้ม! ลดลงทุน 6 แสนล้าน

รื้อ! แผนแม่บทพลังงานใหม่ ให้ทันสมัยสอดรับสถานการณ์ ... “อนันตพร” สั่งปรับแผนพีดีพี มุ่งพลังงานทดแทนมากขึ้น จาก 20 เป็น 40% เพิ่มการจัดการแอลเอ็นจี ... กฟผ. ได้อานิสงส์ลดลงทุนสร้างสายส่ง 6 แสนล้าน ดัน! ไมโครกริดเสียบ

ภายหลังจากที่โรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งกระบี่และเทพาเจอโรคเลื่อน ภาครัฐต้องหันมาปรับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าระยะยาวใหม่ เน้นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ เพื่อให้การจ่ายไฟมีความเสถียรมากขึ้น ทั้งการพัฒนาเครือข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (สมาร์ท กริด) และการพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้า (เอ็นเนอร์ยี สตอเรจ)

ล่าสุด พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงพลังงาน ไปปรับแผนแม่บทพลังงาน 5 ด้าน (แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (พีดีพี), แผนอนุรักษ์พลังงาน (อีอีพี), แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (เออีดีพี), แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ และแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง) ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป มุ่งการพัฒนาเทคโนโลยี โดยเฉพาะการปรับปรุงแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า หรือ พีดีพี ที่ถือเป็นหัวใจสำคัญของแผนแม่บทที่จะต้องมีการปรับสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการปรับแผนอนุรักษ์พลังงานให้เข้มข้น

นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า สนพ. ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดึงทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ (ไออีเอ) เข้ามาช่วยประเมินศักยภาพของระบบไฟฟ้าของไทย ว่า จะสามารถรองรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนได้ในระดับใด เพื่อวางแผนกระจายเชื้อเพลิงในแต่ละภูมิภาคให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าและกำลังผลิต รวมถึงกำหนดรูปแบบเชื้อเพลิงให้เหมาะสม คาดว่าการจัดทำแผนพีดีพีเสร็จในช่วงต้นปี 2561 จากนั้นจะนำไปสู่การปรับแผนพลังงานต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับแผนพีดีพี

สำหรับการจัดทำแผนพีดีพีดังกล่าว พบว่า ตัวเลขคาดการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าจะยังเติบโตตามเศรษฐกิจของประเทศ แต่เป็นอัตราที่ชะลอลง เห็นได้จากความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก) ของประเทศ ปี 2560 อยู่ที่ 3 หมื่นเมกะวัตต์ ต่ำกว่าที่คาดการณ์ว่าจะสูงสุดที่ 3.2 หมื่นเมกะวัตต์ โดยมองว่า แผนพีดีพีใหม่ เมื่อสิ้นสุดแผนปี 2579 น่าจะกำลังการผลิตไฟฟ้าต่ำกว่าแผนเดิมที่วางไว้ 7 หมื่นเมกะวัตต์ เนื่องจากจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากภาคเอกชนที่ผลิตไฟฟ้าใช้เองเข้ามาทดแทน อีกทั้ง การเร่งรัดมาตรการอนุรักษ์พลังงานให้เกิดประสิทธิผลเพิ่มมากขึ้น เมื่อเทียบกับแผนเดิมที่ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายมากนัก

ใช้พีดีพีใหม่ ต้น 61

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากกระทรวงพลังงานเปิดรับฟังความคิดเห็นแผนพีดีพีฉบับใหม่ ก็จะนำมาปรับแก้ ซึ่งคาดว่าน่าจะประกาศใช้ได้ในต้นปีหน้า จากนั้นจะต้องนำมาปรับแผนแม่บทพลังงานให้สอดรับกัน ทั้งแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (เออีดีพี) แผนอนุรักษ์พลังงาน (อีอีพี) แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (ก๊าซแพลน) และแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (ออยล์แพลน) ต่อไป

 การจัดทำแผนพลังงานทางเลือกนั้น คาดว่าจะมีการปรับตัวเลขกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น เป็น 30-40% ของปริมาณความต้องการไฟฟ้ารวมของประเทศ เมื่อเทียบกับแผนเดิมอยู่ที่ 20% ของปริมาณความต้องการไฟฟ้ารวมของประเทศในปี 2579 ที่กำหนดไว้ราว 1.96 หมื่นเมกะวัตต์ จะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 3 หมื่นเมกะวัตต์

ส่วนแผนอนุรักษ์พลังงานนั้น คงต้องมีมาตรการที่ส่งเสริมการประหยัดพลังงานให้เกิดประสิทธิผลมากขึ้น จากที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน จากเดิมตั้งเป้าจะลดการใช้ไฟฟ้ารวม 8.9 หมื่นล้านหน่วย ภายในปี 2579

ขณะที่ แผนก๊าซธรรมชาติจะต้องปรับตัวเลขการนำเข้าแอลเอ็นจีเพิ่มขึ้น หลังจากได้ทบทวนและปรับประมาณการความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความต้องการใช้ในประเทศ โดยคาดว่า ในปี 2579 ความต้องการใช้ก๊าซจะอยู่ที่ระดับ 5 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ประมาณการไว้ตามแผนพีดีพี 2015 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 4.3 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ส่วนการจัดหาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยจะมีปริมาณลดลงในอนาคต ส่งผลทำให้ประเทศไทยจำเป็นต้องนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีเพิ่มขึ้น คาดว่า ในปี 2565 ความต้องการการนำเข้าจะอยู่ที่ประมาณ 17.4 ล้านตันต่อปี และในช่วงปลายแผน ในปี 2579 จะเพิ่มสูงขึ้นเกือบ 40 ล้านตันต่อปี จากประมาณการเดิมอยู่ที่ 34 ล้านตันต่อปี

 ด้าน แผนน้ำมัน นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวว่า จะต้องรื้อใหม่ทั้งชุด โดยเฉพาะการใช้พลังงานทดแทน ทั้งเอทานอล ไบโอดีเซล ต้องปรับลดลง ก๊าซธรรมชาติสำหรับรถยนต์ (เอ็นจีวี) และก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) ต้องปรับใหม่ เพราะราคาน้ำมันถูกลง ซึ่งตามแผนอนุรักษ์พลังงานได้มีการประเมินความต้องการใช้เอทานอล ในปี 2579 อยู่ที่ 11.3 ล้านลิตรต่อวัน และไบโอดีเซล อยู่ที่ 14 ล้านลิตรต่อวัน และต้องยกเลิกผลิตภัณฑ์น้ำมัน อย่าง แก๊สโซฮอล์ 91 เพื่อลดต้นทุนค่าบริหารจัดการของผู้ค้าน้ำมัน ที่ส่งผ่านไปยังผู้ใช้น้ำมัน

กฟผ. ลดลงทุนสายส่ง

นายกรดิษฎ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ. จำเป็นต้องมีแผนรองรับพลังงานทดแทนที่จะเพิ่มเข้ามาในระบบไฟฟ้า อาทิ โรงไฟฟ้าเก่าอาจเดินเครื่องน้อยลง และการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) จำเป็นต้องมีแบ็กอัพในช่วงกลางคืน

“กฟผ. จะต้องปรับลดการลงทุนสายส่งไฟฟ้าลง จากเดิมตามแผน 10 ปี จะใช้เงินลงทุน 6 แสนล้านบาท ในการขยายสายส่ง แต่เมื่อพลังงานทดแทนเข้ามาในระบบเพิ่มขึ้น จำเป็นต้องมีโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (ระบบไมโครกริด) ระบบสมาร์ทกริดมากขึ้น เพื่อเข้ามารองรับพลังงานทดแทนในพื้นที่ต่าง ๆ จากที่แผนเดิมยังไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้มากนัก”

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

สุดห่วง! อุตุฯโลกเผยระดับก๊าซเรือนกระจกโลกทุบสถิติสูงสุด-อีก 80 ปี เข้าสู่ภาวะอันตราย

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก หรือ WMO เปิดเผยรายงานระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศโลกเมื่อวันที่ 30 ตุลาคมที่ผ่านมาว่า จากการติดตามความเปลี่ยนแปลงของระดับความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ย้อนหลังเพื่อตรวจสอบจาก 8 แสนปีที่ผ่านมา พบว่า เมื่อปีที่แล้วมีระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศทำสถิติสูงสุด มากกว่าช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรมราว 145%

โดยเลขาธิการ WMO บอกว่า เรามาไกลเกินกว่าระดับความผันผวนแปรปรวนตามธรรมชาติไปแล้ว และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยิ่งเร่งกระบวนการที่หลายคนหวาดกลัวให้รวดเร็วขึ้น เราได้เห็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจกว่า 3 เท่าตัว นับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1980

​ในรายงานฉบับนี้ ยังได้ย้ำว่า ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เพิ่มอุณหภูมิให้กับโลกมากถึง 60% และต้นตอสำคัญของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาจากฝีมือมนุษย์ และมีผลต่อการเจ็บป่วยทางสุขภาพของมนุษย์

เลขาธิการ WMO ออกมาเตือนด้วยว่า อุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้นถึงระดับอันตรายในอีกราว 80 ปีข้างหน้า หากไม่มีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเร่งด่วน โดยเสนอให้ผลักดันการพัฒนาพลังงานทดแทนในระบบขนส่งมวลชน และการสนับสนุนเทคโนโลยีที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์และก๊าซเรือนกระจกในระดับต่ำ

ทั้งนี้ รายงานฉบับนี้เผยแพร่มาก่อนการประชุมองค์การสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่เมืองบอนน์ของเยอรมนีในสัปดาห์หน้า

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

เร่งระบายน้ำออกจากทุ่ง 7 จว.ภาคกลางยังอ่วมหนัก

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้รายงานสถานการณ์อุทกภัยน้ำไหลหลาก และน้ำเอ่อล้นตลิ่งจากอิทธิพลของพายุดีเปรสชั่นและการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาตั้งแต่วันที่ 10-29 ตุลาคม 2560 ทำให้เกิดน้ำไหลหลากและน้ำเอ่อล้นตลิ่งในพื้นที่ 23 จังหวัด รวม 78 อำเภอ 473 ตำบล 2,785 หมู่บ้าน 42 ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 125,372 ครัวเรือน 325,212 คน มีผู้เสียชีวิต 10 ราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในลุ่มน้ำเจ้าพระยา 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์ น้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง-พยุหะคีรี-โกรกพระ-ชุมแสง รวม 39 ตำบล 349 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 15,763 ครัวเรือน 33,097 คน, จังหวัดอุทัยธานี น้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง-ทัพทัน รวม 7 ตำบล 35 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,788 ครัวเรือน 2,923 คน, จังหวัดสิงห์บุรี น้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง-อินทร์บุรี-พรหมบุรี และอำเภอท่าช้าง รวม 19 ตำบล 84 หมู่บ้าน 6 ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 6,295 ครัวเรือน 16,367 คน, จังหวัดลพบุรี น้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่อำเภอบ้านหมี่ รวม 9 ตำบล 60 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 7,643 ครัวเรือน 22,231 คน, จังหวัดอ่างทอง น้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง-ป่าโมก-วิเศษชัยชาญ-โพธิ์ทอง-ไชโย รวม 30 ตำบล 92 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 2,595 ครัวเรือน 6,747 คน พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย 6,017 ไร่

จังหวัดพระนครศรีอยุธยา น้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอพระนครศรีอยุธยา-บางบาล-เสนา-บางปะอิน-ผักไห่-บางไทร-บางปะหัน รวม 99 ตำบล 589 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 37,463 ครัวเรือน 97,403 คน, จังหวัดปทุมธานี น้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง-สามโคก รวม 21 ตำบล 67 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 4,352 ครัวเรือน 11,315 คน, จังหวัดชัยนาท น้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง-มโนรมย์-สรรพยา-วัดสิงห์-หันคา รวม 23 ตำบล 114 หมู่บ้าน 4 ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 4,151 ครัวเรือน 10,377 คน และจังหวัดสุพรรณบุรี น้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง-บางปลาม้า-สองพี่น้อง-เดิมบางนางบวช รวม 37 ตำบล ประชาชนได้รับผลกระทบ 12,523 ครัวเรือน 43,035 คน

เจ้าพระยาระบายน้ำต่อเนื่อง

น้ำที่ท่วมในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา 7 จังหวัดในขณะนี้ (31 ตุลาคม 2560) เป็นผลมาจากการเร่งระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา โดยน้ำเหนือเขื่อนจากแม่น้ำปิงและแม่น้ำน่าน แม้จะเริ่มลดลง แต่ยังมีปริมาณน้ำไหลผ่านอยู่ในระดับสูงที่สถานี P17 อ.บรรพตพิสัย 1,815 ลบ.ม./วินาที ส่วนที่สถานี N.67 อ.ชุมแสงน้ำไหลผ่าน 1,494 ลบ.ม./วินาที ปริมาณน้ำในเขื่อนหลักอย่างเขื่อนภูมิพล มีปริมาตร 10,528 ล้าน ลบ.ม.หรือ 78% ของความจุอ่าง มีปริมาณน้ำไหลลงอ่าง 38.58 ล้าน ลบ.ม. ยังรับน้ำได้อีก 2,934 ล้าน ลบ.ม. ส่วนเขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาตรน้ำ 8,377 ล้าน ลบ.ม.หรือ 88% น้ำไหลลงอ่าง 14.76 ล้าน ลบ.ม. ยังรับน้ำได้อีก 1,133 ล้าน ลบ.ม. ทั้ง 2 เขื่อนนี้ไม่มีปริมาณน้ำระบาย

ในขณะที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 958 ล้าน ลบ.ม.หรือ 100% มีน้ำไหลลงอ่าง 23.86 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำระบาย 25.11 ล้าน ลบ.ม.

ปริมาณน้ำไหลผ่านเหนือเขื่อนเจ้าพระยายังอยู่ในระดับสูง 2,804 ลบ.ม./วินาทีที่จังหวัดนครสวรรค์ มีการระบายน้ำเข้าคลองฝั่งตะวันตก 464 ลบ.ม./วินาที คลองฝั่งตะวันออก 235 ลบ.ม./วินาที เพื่อเป็นการตัดยอดน้ำลง ทำให้คงระดับการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยาไม่ให้เกิน 2,700 ลบ.ม./วินาที โดยวันนี้ (31 ตุลาคม) เขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำอยู่ที่ 2,647 ลบ.ม./วินาที ส่วนเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ยังระบายน้ำอยู่ในระดับ 269 ลบ.ม./วินาที ผ่านประตูระบายน้ำเขื่อนพระราม 6 ที่ 378 ลบ.ม./วินาที เมื่อไหลมารวมกับแม่น้ำเจ้าพระยาที่ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา (สถานี C29A) วันนี้มีปริมาณน้ำไหลผ่านยังคงอยู่ในระดับค่อนข้างสูง 2,712 ลบ.ม./วินาที

เร่งระบายน้ำออกจากทุ่ง

สถานการณ์การระบายน้ำข้างต้นมีผลทำให้พื้นที่ลุ่มริมแม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่ลุ่มต่ำและพื้นที่นอกคันกันน้ำ เกิดน้ำไหลหลากและน้ำล้นตลิ่งต่อเนื่องมาเป็นสัปดาห์ที่ 4 นับจากเขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำในระดับเกินกว่า 2,600 ลบ.ม./วินาที ประกอบกับน้ำที่ระบายออกมาไม่สามารถระบายเข้าทุ่งรับน้ำในพื้นที่เหนือเขื่อนเจ้าพระยา (แก้มลิงบางระกำ) กับพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้ง 12 ทุ่งได้ เนื่องจากทุ่งรับน้ำแล้วนี้ได้รับน้ำจนเต็มพื้นที่ไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ฝนในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง-ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ได้ลดลงและกำลังเข้าสู่ฤดูหนาว และเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ถูกน้ำท่วมริมฝั่งเจ้าพระยา และประชาชนที่อยู่อาศัยในทุ่งรับน้ำที่รับน้ำเข้ามามากกว่า 1 เดือนแล้ว ทางกรมชลประทานจึงทำแผนเร่งระบายน้ำออกจากทุ่งรับน้ำ โดยเริ่มจากทุ่งบางระกำ (500 ล้าน ลบ.ม.) จะระบายน้ำออกจากทุ่งลงแม่น้ำยม-แม่น้ำน่านบางส่วน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.จนถึง 30 พ.ย. 2560

ทุ่งฝั่งตะวันออก ประกอบด้วย ทุ่งเชียงราก ระบายลงแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่วันที่ 25 พ.ย.-10 ธ.ค. , ทุ่งท่าวุ้ง ระบายลงแม่น้ำลพบุรี-ป่าสัก-เจ้าพระยา ตั้งแต่วันที่ 25 พ.ย.-10 ธ.ค. , ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก ระบายลงคลองชัยนาท-ป่าสัก ตั้งแต่วันที่ 21 พ.ย.-5 ธ.ค. , ทุ่งบางกุ่ม ระบายลงแม่น้ำลพบุรี-ป่าสัก ตั้งแต่วันที่ 25 พ.ย.-10 ธ.ค. , ทุ่งบางกุ้ง ระบายลงแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่วันที่ 25 พ.ย.-10 ธ.ค.

ทุ่งฝั่งตะวันตก ประกอบด้วย ทุ่งบางบาล-บ้านแพน ระบายลงแม่น้ำน้อย ตั้งแต่วันที่ 20 พ.ย.-5 ธ.ค. , ทุ่งป่าโมก ระบายลงแม่น้ำน้อย-คลองบางหลวง ตั้งแต่วันที่ 21 พ.ย.-20 ธ.ค. , ไทุ่งผักไห่ ระบายลงทุ่งเจ้าเจ็ด ตั้งแต่วันที่ 18 พ.ย.-17 ธ.ค. , ทุ่งเจ้าเจ็ด ระบายลงแม่น้ำท่าจีน-เจ้าพระยา เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย.-14 ธ.ค. และโครงการโพธิ์พระยา ระบายน้ำลงแม้น้ำท่าจีน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.-4 ม.ค. รวมระยะเวลาการระบายออกจากทุ่งทั้ง 12 ทุ่งกินเวลา 2 เดือนจึงจะเข้าสู่ภาวะปกติ

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

อุตฯเร่ง6ด้านนโยบายรัฐยุค 4.0

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การขับเคลื่อนนโยบาย Thailand 4.0 และ Industry 4.0 ไปสู่การปฏิบัติในส่วนภูมิภาค จัดโดย สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ว่า เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคอุตสาหกรรมอย่างครอบคลุมและสมดุล และผลักดันให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนของประเทศ โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนตามแนวทางประชารัฐ ด้วยนโยบาย Thailand 4.0 และ Industry 4.0 ภายใต้วิสัยทัศน์ มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ของรัฐบาล และวิสัยทัศน์ของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่มีเป้าหมายให้การเติบโตของภาคอุตสาหกรรมไม่น้อยกว่าร้อยละ 4.5 ภายในปี 2564

การดำเนินงานเพื่อให้สอดรับกับวิสัยทัศน์และนโยบายดังกล่าว สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด (สอจ.) และศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแนวทาง วิธีการทำงาน ที่มีการบูรณาการการขับเคลื่อนงานร่วมอย่างใกล้ชิด สามารถชี้นำ SMEs ในพื้นที่ได้ว่าควรเดินไปในทิศทางใด และเติมเต็มความต้องการของ SMEs ได้ ขณะเดียวกันต้องสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ผู้ประกอบการถึงความจำเป็นในการปรับเปลี่ยนกระบวนการทางธุรกิจตลอดจนห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) เพื่อมุ่งสู่การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น และสามารถเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกอันจะนำไปสู่การวางรากฐาน การพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมที่เข้มแข็งของประเทศได้

 “กระทรวงฯ วางยุทธศาสตร์แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ใน 6 ประเด็น คือ 1)การส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve / New S-Curve) 2) การส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการไปสู่ 4.0 3) การส่งเสริมภาคการผลิตไปสู่ 4.0 4) การส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่  5) การเชื่อมโยงและพัฒนาระบบฐานข้อมูลแบบบูรณาการ (Big Data) และ 6) การพัฒนาบุคลากรและปรับปรุงการให้บริการ โดยเริ่มจากการจัดทำแผนงานการส่งเสริม พัฒนาอุตสาหกรรม เฉพาะด้านที่สำคัญๆ ก่อน เช่น ด้านการเงิน การตลาด ฯลฯ มุ่งเน้นเชิงคุณภาพ ไม่เน้นเชิงปริมาณ สามารถเห็นผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน โดยจัดทำเป็นแผนงาน หรือโครงการขนาดใหญ่ (Flagship) ที่มีผลกระทบสูง และต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้การดำเนินการของหน่วยงานอย่างต่อเนื่อง มีการบูรณาการการทำงานร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกำหนดขอบเขตความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงานอย่างชัดเจน ให้การทำงานในพื้นที่สอดรับและต่อเนื่อง ไม่ซ้ำซ้อน

ที่สำคัญคือการเปิดโอกาสให้ผู้แทน สอจ. และศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค ในฐานะผู้ปฏิบัติงานที่เข้าใจปัญหาได้นำเสนอแผนงานการแปลงนโยบายทั้ง 6 ด้านดังกล่าว เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่ตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของพื้นที่ให้ส่วนกลางได้รับทราบ   ทำให้การขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวเกิดผลสัมฤทธิ์ในการนำพาภาคอุตสาหกรรมไทยเข้าสู่ Thailand 4.0 และ Industry 4.0 อันเป็นทิศทางหลักในการขับเคลื่อนของรัฐบาล”

จาก http://www.banmuang.co.th   วันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

กรมชลฯเร่งติดตั้งเครื่องจักรเครื่องมือป้องกันพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยซ้ำซาก

กรมชลประทาน เผยความพร้อมในการเตรียมรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่จ.ประจวบคีรีขันธ์โดยเร่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำล่วงหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยซ้ำซากเทศบาลเมืองหัวหิน และบางสะพาน พร้อมติดตั้งป้ายเตือนภัยแจ้งสัญลักษณ์แถบสีสำหรับประชาชนเฝ้าระวังระดับน้ำในคลองสะพาน

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กรมชลประทานได้เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ฝนตกหนักที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 2-5 พฤศจิกายน 2560 โดยมอบหมายให้โครงการชลประทานประจวบคีรีขันธ์พร่องน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางในพื้นที่ทุกแห่งและอ่างฯที่เฝ้าระวังทั้ง 3 แห่งเพื่อรองรับปริมาณน้ำที่จะไหลเข้าอ่างฯ มากขึ้นจากฝนตกหนักคือ อ่างฯห้วยไทรงาม ความจุ 9.50ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ ร้อยละ 73.86 สามารถรับน้ำได้อีก 2.483 ล้าน ลบ.ม.อ่างฯห้วยวังเต็นความจุ 11.40 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันปริมาณน้ำ 77.10% และอ่างฯยางชุม ความจุ 41.10 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีปริมาณน้ำร้อยละ 76.39 สามารถรับน้ำได้อีก 9.702 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กในพื้นที่ได้พร่องน้ำไว้ทุกแห่งแล้วและอ่างฯที่มีความเสี่ยงที่น้ำจะล้นทางระบายน้ำฉุกเฉิน (Spillway) คืออ่างฯโป่งสามสิบ อำเภอบางสะพาน กรมชลประทานได้ติดตั้งการลักน้ำ จำนวน 8 ท่อ อัตราการระบาย 110,400 ลบ.ม.ต่อวัน เพื่อช่วยพร่องน้ำจากอ่างฯ และในส่วนของพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ คือที่เทศบาลหัวหินได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำล่วงหน้าไว้ในคลองระบายน้ำพระราชดำริข้างวัดเขาลั่นทม ในเขตเทศบาลหัวหิน จำนวน 3 เครื่อง และอำเภอบางสะพาน ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำที่โรงพยาบาลบางสะพานจำนวน 2 เครื่อง และติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำในคลองบางสะพานบริเวณโรงเรียนอนุบาลบางสะพาน ซึ่งเป็นจุดที่จะเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลอีกจำนวน 2 เครื่องอีกทั้งการขุดลอกคลองบางสะพานระยะทาง 4.50 กิโลเมตร จากปากอ่าวช่วงก่อนออกทะเล ปัจจุบันได้ดำเนินการแล้วเสร็จ 4 กิโลเมตร จะช่วยเสริมการระบายน้ำในคลองบางสะพานได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกช่องทางหนึ่งส่วนที่คลองกรูดได้วางแผนใช้เครื่องจักรเปิดทางน้ำช่วงก่อนระบายออกทะเล และยังได้สำรองเครื่องสูบน้ำอีกจำนวน 10 เครื่อง รถขุดแบคโฮจำนวน 2 คันมาเตรียมไว้ที่โครงการชลประทานประจวบคีรีขันธ์ด้วย

“เพื่อสร้างการรับรู้ให้ประชาชนชาวบางสะพานในการเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เราได้ติดตั้งป้ายเตือนภัยและทำสัญลักษณ์แถบสีเฝ้าระวังระดับน้ำในคลองบางสะพาน ที่สถานี Gt.7 สะพานวังยาว และที่สะพานคลองกรูด อำเภอบางสะพานไว้และได้กำชับให้โครงการชลประทานประจวบคีรีขันธ์แจ้งเตือนหน่วยงานต่างๆและประชาชน ล่วงหน้าให้ทันเวลาหากมีฝนตกหนักจนอาจจะเกิดน้ำท่วม” อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวในตอนท้าย

จาก https://www.siamrath.co.th วันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

จัดยิ่งใหญ่‘วันยุวเกษตรกรโลก’ l มุ่งเป้าขับเคลื่อนคนรุ่นใหม่ก้าวสู่ยุคไทยแลนด์4.0

นายประสงค์ ประไพตระกูล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า จากการที่กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ร่วมการประชุม The 1st Global 4-H Network Summit 2014 ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งได้มีการลงนามร่วมกับผู้แทนภูมิภาคต่างๆ รับรองกฎบัตรเครือข่ายยุวเกษตรกรโลก และประกาศปฏิญญา กรุงโซล เพื่อการขับเคลื่อนงาน 4-H ร่วมกันเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2557 มีผลทำให้วันที่ 1 พฤศจิกายนของ ทุกปีถือเป็น “วันยุวเกษตรกรโลก (Global 4-H Day)” ดังนั้น เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของยุวเกษตรกร และมีส่วนร่วมในการเฉลิมฉลอง “วันยุวเกษตรกรโลก” พร้อมกับประเทศสมาชิกที่มีการดำเนินงานยุวเกษตรกร (4-H) ทั่วโลก และเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การดำเนินงานยุวเกษตรกร (4-H) ของประเทศไทยในยุคก้าวสู่ Thailand 4.0 กรมส่งเสริมการเกษตร จึงได้ จัดงาน “วันยุวเกษตรกรโลก”ประจำปี 2560 ในวันพุธที่ 1 พฤศจิกายน 2560 ณ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดสุพรรณบุรี ภายใต้ Theme ความภูมิใจ ยุวเกษตรกรไทย ก้าวสู่ Thailand 4.0 โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ประกอบด้วย ยุวเกษตรกร ที่ปรึกษายุวเกษตรกร เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร และผู้เกี่ยวข้อง รวมจำนวนทั้งสิ้น 250 คน

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า กิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย การปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “4-H Growth Engine” โดย Dr. Charlene Yen, Committee of Global 4-H Network กิจกรรมประกวดเรียงความ กิจกรรมประกวดเพ้นท์สีลงบนภาพตราสัญลักษณ์ “วันยุวเกษตรกรโลก” การประกวดภาพถ่ายกิจกรรมยุวเกษตรกร และกิจกรรมสถานีเรียนรู้วิทยาศาสตร์เกษตร และนิทรรศการจากภาคีเครือข่ายต่างๆ ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรมุ่งหวังในการเสริมสร้างทัศนคติของยุวเกษตรกร ให้ภูมิใจในคุณค่าของการเกษตร ยอมรับอาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพที่มีเกียรติ มีความสำคัญต่อการดำรงชีพ และเศรษฐกิจของประเทศ ก้าวทันความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีทักษะอาชีพเกษตร ทักษะการดำเนินชีวิตในสังคม โดยเน้นวิธีการเรียนรู้จากประสบการณ์และการปฏิบัติจริง (Learning by doing) มีความพร้อมในการสืบทอดอาชีพการเกษตร และเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศต่อไป

จาก http://www.naewna.com วันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

เร่งสำรวจภาคเกษตร รองรับแผนพัฒนาจากผู้ขายวัตถุดิบไปสู่อุตสาหกรรม

นายเสน่ห์ วิชัยวงศ์ รองเลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติมีนโยบายที่จะพัฒนาภาคเกษตรจากเกษตรกรผู้ขายวัตถุดิบไปเป็นอุตสาหกรรม จึงเป็นแนวทางให้สภาฯได้จัดทำแผนพัฒนาตำบลในทุกตำบลโดยเริ่มต้นที่อำเภอละ 1 ตำบล เจตนาที่ลงไปทำแผนก็เพื่อต้องการที่จะค้นหาศักยภาพของตำบลนั้นๆ ของกลุ่มเกษตรกร, เกษตรกรรายบุคคลว่ามีศักยภาพด้านใดบ้าง การที่เราลงไปทำแผนตำบล จะได้ข้อมูลที่เป็นข้อมูลพื้นฐานและข้อมูลที่เป็นความต้องการของเกษตรกรจริงในความต้องการที่อยากจะได้รับการพัฒนาในเรื่องอะไร ความต้องการที่อยากจะต่อยอดเป็นเกษตรอุตสาหกรรมเรื่องใด โดยสภาเกษตรกรฯทำมาทุกปี ปีละ 888 อำเภอ 888 ตำบลในทุกปี ตอนนี้ขึ้นปีที่ 3 ซึ่งข้อมูลที่ได้มาเบื้องต้น 2 ปีนี้ ก็จะมีอยู่ประมาณ 2,000 ตำบล 2,000 กลุ่ม ในจำนวนนี้แต่ละจังหวัดต้องสำรวจและจัดเก็บข้อมูลว่าเกษตรกร/หมู่บ้าน/องค์กรนี้เหมาะที่จะทำอะไร มีความสนใจเรื่องอะไร มีองค์ความรู้เดิมเรื่องอะไร เหล่านี้เป็นพื้นฐานข้อมูลที่สำคัญ เมื่อได้ข้อมูลมาสิ่งที่เราต้องดำเนินการต่อคือคลังข้อมูล หรือดาต้าแบงก์ ที่เป็นความต้องการของเกษตรกรอย่างแท้จริง สภาเกษตรกรฯจึงต้องจัดทำเรื่องนี้ระดับจังหวัดและระดับชาติด้วย เพื่อเวลาที่จะไปบูรณาการโครงการเพื่อเกษตรกรกับหน่วยงานต่างๆ หากมีคลังข้อมูลก็สามารถดำเนินการได้ทันท่วงทีและตรงกับความต้องการของเกษตรกรอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเบื้องต้นที่ได้มาในขณะนี้ความต้องการรับการพัฒนา 4 ภาคทั่วประเทศ รวม 636 หมู่บ้าน 547 องค์กร 32,292 ราย ต้องการพัฒนาด้านพืช สัตว์ ประมง อาหาร บรรจุภัณฑ์ ท่องเที่ยวเชิงเกษตร แปรรูป เครื่องจักรกล เป็นต้น สำหรับข้อมูลที่สภาเกษตรกรจังหวัดจัดเก็บเพื่อเตรียมทำแผนตำบล ณ วันที่ 16 ต.ค.2560 ภาคเหนือ 186 ตำบล ภาคกลาง 220 ตำบล ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 317 ตำบล ภาคใต้ 157 ตำบล รวมทั้งสิ้น 880 ตำบล โดยข้อมูลนี้เป็นข้อมูลสำคัญที่สภาเกษตรกรฯจะนำไปเชื่อมโยงในการพัฒนาเกษตรกรร่วมกับการบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆด้วย เช่นที่ผ่านมาสภาเกษตรกรฯได้นำข้อมูลเข้าบูรณาการร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย สถาบันการอาชีวศึกษาเกษตร 4 ภาค และล่าสุดประสานข้อมูลกับกรมการพัฒนาชุมชนเพื่อดำเนินการในปีงบประมาณ 2561 ต่อไป

“โลกเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก เกษตรกรควรปรับตัว กระตือรือร้น พัฒนาตนเองไปสู่ผู้ประกอบการ สภาเกษตรกรฯจะเป็นกลไกในการเชื่อมโยง ประสานหน่วยงานต่างๆนำองค์ความรู้สู่เกษตรกรให้ตรงกับปัญหาและความต้องการพัฒนา” นายเสน่ห์ กล่าวปิดท้าย

จาก http://www.naewna.com วันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ยึด! “น้ำตาลเถื่อน” ฟาดกำไร 6 บาท

“น้ำตาลเถื่อน” โผล่เกือบ 100 ตัน ที่จันทบุรี วงในชี้! ลักลอบนำเข้า “น้ำตาลโควตา ค.” ที่ส่งออกไปแล้ว นำกลับมาขายใหม่ หลังราคาน้ำตาลในตลาดโลกร่วง เวียนกินส่วนต่าง 5-6 บาทต่อกิโลกรัม จับตา! จุดผ่อนปรนตามแนวตะเข็บชายแดน

หลังราคาน้ำตาลโลกดิ่งลงเป็นเวลาต่อเนื่องหลายเดือน ล่าสุด ราคาน้ำตาลดิบลงมาอยู่ที่ 14 เซ็นต์ต่อปอนด์ ราคาน้ำตาลทรายขาวไต่ระดับอยู่ที่ 370 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน เปรียบเทียบกับราคาน้ำตาลดิบเมื่อปี 2559 อยู่ที่ระดับราคาเฉลี่ย 24 เซ็นต์ต่อปอนด์ ขณะที่น้ำตาลทรายขาวมีราคาสูงกว่า 400 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน

ส่งผลให้ราคาน้ำตาลในประเทศสูงกว่า ทั้งในรูปน้ำตาลดิบ น้ำตาลทราบขาวชนิดต่าง ๆ จนเป็นเหตุจูงใจ ทำให้พื้นที่ตามแนวตะเข็บชายแดนบางจุด เริ่มมีการลักลอบขนส่งน้ำตาลเข้ามาแบบผิดกฎหมายเกิดขึ้น ทั้งในรูปกองทัพมดและลักลอบเป็นล็อตใหญ่ โดยนำเข้า ‘น้ำตาลโควตา ค.’ (ส่งออกโดยโรงงานน้ำตาล) ที่ประเทศไทยส่งออกไปเพื่อนบ้าน และมีการนำน้ำตาลดังกล่าวลักลอบกลับเข้ามาขายในไทย เพื่อกินส่วนต่างราคา ซึ่งถือว่า ‘ผิดกฎหมาย’ เนื่องจากน้ำตาลโควตา ค. เป็นน้ำตาลสำหรับส่งออกผ่านพิธีการทางศุลกากรไปแล้ว จึงไม่สามารถนำกลับมาขายในประเทศไทยได้อีก

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01-3-1

| พบในพื้นที่จันทบุรี |

ล่าสุด แหล่งข่าวจากวงการน้ำตาล เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ กรมศุลกากรได้จับกุมพ่อค้าชายแดนที่นำเข้าน้ำตาลทรายขาวเถื่อนมาจากกัมพูชาได้ล็อตใหญ่ ขนาดเกือบ 100 ตัน โดยลักลอบนำเข้ามาจากกัมพูชา มาทางช่องทางพิเศษในเขตพื้นที่ จ.จันทบุรี โดยกรมศุลกากรร่วมกับด่านศุลกากรจันทบุรีจับกุมได้ จากการตรวจสอบพบว่า เป็นน้ำตาลที่ส่งออกโดยโควตา ค. จากประเทศไทยไปยังกัมพูชา แล้วมีการนำน้ำตาลดังกล่าวส่งกลับมาขายในไทยในช่องทางพิเศษ แบบลักลอบ

“ล็อตนี้ถือว่ามีขนาดใหญ่ ใส่รถบรรทุก 10 ล้อ เข้ามา โดยกรมศุลกากรติดตามได้ พบว่า เป็นน้ำตาลที่แปลงสัญชาติไปแล้ว มีการซื้อขายถูกต้องตามกฎหมายไปยังปลายทางที่กัมพูชา แล้วกลุ่มพ่อค้าชายแดนลักลอบนำกลับมาขายในไทย เพื่อกินส่วนต่าง เนื่องจากราคาน้ำตาลในประเทศไทยในขณะนี้ หน้าโรงงานราคาอยู่ที่ 20-21 บาทต่อกิโลกรัม เปรียบเทียบกับราคาส่งออกอยู่ที่ 15-16 บาทต่อกิโลกรัม เท่ากับกินส่วนต่าง 5-6 บาทต่อกิโลกรัม ราคาขายในประเทศไทยสูงกว่า ในขณะที่ ราคาน้ำตาลในตลาดโลกร่วงลงต่อเนื่อง”

| ยึดของกลางทั้งหมด! |

ปัจจุบัน ด่านส่งออกน้ำตาลไปยังกัมพูชา มีทั้งหมด 3 จุด คือ 1.ด่านคลองใหญ่ จ.ตราด 2.ด่านจันทบุรี 3.ด่านอรัญประเทศ แต่เวลาลักลอบนำเข้ามาจะมาตามจุดผ่อนปรน ซึ่งไม่ใช่จุดที่ได้รับอนุญาตส่งออก ซึ่งตามแนวชายแดนจะมีช่องผ่อนปรนเยอะมาก มีทั้งนาวิกโยธินดูแล ตำรวจชายแดน (ตชด.) ดูแล เมื่อเร็ว ๆ นี้ ศุลกากรจับได้และยึดของกลางดังกล่าวไว้แล้ว โดยให้ของกลางตกเป็นของแผ่นดิน โดยคนลักลอบนำเข้าล็อตนี้เป็นกลุ่มพ่อค้าชายแดน

ด่านที่มีการส่งออกน้ำตาลทรายเป็นจำนวนมาก เช่น ด่านเชียงแสน จ.เชียงราย, ด่านคลองใหญ่ จ.ตราด และด่านคลองลึก จ.สระแก้ว จะมีการเฝ้าระวังและจับตาเป็นพิเศษ โดยปัจจุบันถ้านำเข้าน้ำตาลในอาเซียนด้วยกัน จะเสียภาษีอากรขาเข้า 0% แต่ถ้านำเข้าระหว่างกันนอกอาเซียนจะเสียภาษีอากรขาเข้าในอัตรา 65%

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01-3-1

สำหรับประเทศไทย ถ้าเป็นน้ำตาลโควตา ข., โควตา ค. ที่เป็นโควตาส่งออก เมื่อส่งออกไปแล้ว จะไม่สามารถนำกลับมาขายในประเทศได้อีก

บทลงโทษผู้กระทำผิด ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร มาตรา 27 มีโทษปรับ 4 เท่าของราคาสินค้า หรือ จำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ คาดว่าการลักลอบนำเข้าจะมีแนวโน้มพุ่งขึ้น ส่วนราคาจำหน่ายน้ำตาลภายในประเทศ ซึ่งเป็นราคาควบคุม อยู่ที่ 23.50 บาทต่อกิโลกรัม มีราคาสูงกว่าราคาน้ำตาลในตลาดโลก

| 3 สาเหตุ ทุบราคาน้ำตาลร่วง |

นายภิรมย์ศักดิ์ สาสุนีย์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ค้าผลผลิต น้ำตาล จำกัด กล่าวถึงสาเหตุที่ทำให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกร่วงลงต่อเนื่อง เกิดจาก 3 สาเหตุหลัก คือ 1.กองทุนและนักเก็งกำไรถือตั๋วขายน้ำตาล มีจำนวนมากถึง 5 ล้านตันน้ำตาล จึงฉุดให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกร่วง 2.ฤดูการผลิตปี 2560/2561 จะมีผลผลิตอ้อยและน้ำตาลโลกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผลผลิตจากอินเดียที่จะเพิ่มขึ้นจาก 20 ล้านตันน้ำตาล เป็น 25 ล้านตันน้ำตาล ในขณะที่ ผลผลิตอ้อยของไทยเคยสูงสุดถึง 105 ล้านตันอ้อย ก็จะเพิ่มเป็น 108 ล้านตันอ้อย โดยจะมีผลผลิตน้ำตาลมากกว่า 11 ล้านตันน้ำตาล 3.กลุ่มสหภาพยุโรปจะสามารถส่งออกน้ำตาลได้เป็นปีแรกจำนวน 2-3 ล้านตัน หลังจากที่มีผลผลิตอ้อยและน้ำตาลมากขึ้น โดยคาดว่าจะผลิตน้ำตาลได้รวมทั้งสิ้น 20 ล้านตันน้ำตาล

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

พาณิชย์ออกมาตรการช่วยเหลือธุรกิจประสบภัยพิบัติ 19 จังหวัดผ่อนผัน/ยืดเวลาทำธุรกรรม

พาณิชย์บรรเทาความเดือดร้อนธุรกิจประสบภัยพิบัติ 19 จังหวัดและเขตประสบพิบัติภัยเพิ่มเติม เร่งออกมาตรการช่วยเหลือผ่อนผัน/ยืดเวลาทำธุรกรรมทางนิติบุคคลระหว่าง 1 พ.ย.-31 ธ.ค.60

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานของกระทรวงพาณิชย์ เร่งดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยที่กำลังได้รับความเดือดร้อนอยู่ในขณะนี้ รวมถึงการเยียวยาภาคธุรกิจซึ่งอยู่ในความดูแลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยกรมฯ ได้ออกมาตรการบรรเทาความเดือนร้อนแก่ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยใน 19 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ตาก สุโขทัย พิจิตร นครสวรรค์ อุทัยธานี สิงห์บุรี ลพบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี ชัยนาท สุพรรณบุรี หนองบัวลำภู ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด และอุบลราชธานี รวมถึงเขตประสบพิบัติภัยน้ำท่วมอื่นๆ เพิ่มเติม มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน - 31 ธันวาคม 2560 โดยมีมาตรการช่วยเหลือธุรกิจใน 4 แนวทางหลัก ดังนี้

1) ผ่อนผันการแจ้งบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีสูญหายหรือเสียหาย ซึ่งตามพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543 กำหนดให้แจ้งภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ทราบหรือควรทราบถึงการสูญหายหรือเสียหายให้สามารถยื่นล่าช้าและสามารถใช้เป็นหลักฐานกรณีถูกเรียกตรวจบัญชีได้ ทั้งนี้ ธุรกิจสามารถแจ้งบัญชีและเอกสารที่ใช้ประกอบการลงบัญชีสูญหายหรือเสียหาย ผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Permit) ได้ทางเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า www.dbd.go.th

 2) ผ่อนผันการยื่นจดทะเบียนของนิติบุคคล ที่ต้องยื่นจดทะเบียนภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดให้สามารถยื่นล่าช้ากว่าที่กฎหมายกำหนดได้

3) ผ่อนผันการยื่นงบการเงินประจำปี สำหรับธุรกิจที่มีหน้าที่ต้องยื่นงบฯ ต่อสำนักงานกลางบัญชี หรือสำนักงานบัญชีประจำท้องที่ในช่วงที่เกิดอุทกภัย โดยสามารถยื่นล่าช้ากว่าที่กฎหมายกำหนดได้

4) จัดตั้งศูนย์บริการรับจดทะเบียน ณ ส่วนจดทะเบียนธุรกิจกลาง กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่ออำนวยความสะดวกในการยื่นขอจดทะเบียนให้กับนิติบุคคลที่มีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ใน 19 จังหวัด ที่ประสบอุทกภัยและจังหวัดที่ประกาศเป็นเขตภัยพิบัติเพิ่มเติม

 ทั้งนี้ สามารถสอบถามและศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ สายด่วน 1570 และ www.dbd.go.th

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

การใช้พลังงานและการจัดหา (ม.ค.-ส.ค. 60)

กรมธุรกิจพลังงาน รายงานความต้องการใช้และจัดหาน้ำมันเชื้อเพลิงในช่วง ม.ค.-ส.ค. 60 ระบุความต้องการใช้พลังงานในประเทศรวม 36,274 ล้านลิตร หรือที่เฉลี่ย 149.3 ล้านลิตร/วัน หรือ 939,088 บาร์เรล/วัน คิดเป็น 81.4% ของปริมาณน้ำมันสำเร็จรูปที่ผลิตได้ในประเทศ ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาการจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 3.8 ล้านลิตร หรือคิดเป็น 2.6% การใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้นจากการใช้น้ำมันดีเซลหมุนช้า คิดเป็น 151.5% รวมถึงในกลุ่มน้ำมันอากาศยาน (JET) เพิ่มขึ้น 3.7% กลุ่มน้ำมันเบนซิน 3.2% กลุ่มน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว 2.3% และก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) 2.2% ทั้งนี้ ในส่วนของประเภทที่ความต้องการใช้ลดลงคือน้ำมันก๊าดลดลง 32% และน้ำมันเตา 8.9%

 ในส่วนของการส่งออกพลังงานรวม 6,732 ล้านลิตร หรือเฉลี่ยที่ 24.7 ล้านลิตร หรือ 174,231 บาร์เรล/วัน ปริมาณเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 1.8 ล้านลิตร/วัน หรือคิดเป็น 6.8% โดยมีมูลค่าการส่งออกรวม 84,541 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 23,216 ล้านบาท คิดเป็น 37.9% โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของการส่งออกก๊าซ LPG ที่ 240.1% กลุ่มน้ำมันอากาศยานที่ 50.6% และกลุ่มน้ำมันเบนซิน 11.3% ในขณะที่กลุ่มน้ำมันดีเซลหมุนเร็วลดลง 0.9%

ทั้งนี้ ในส่วนของการจัดหามีปริมาณรวม 46,240 ล้านลิตร หรือเฉลี่ย 190.3 ล้านลิตร/วัน หรือ 1,196.976 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 12.8 ล้านลิตร หรือ 7.2% โดยแบ่งเป็นการผลิตในประเทศรวม 44,574 ล้านลิตร เฉลี่ยที่ 183.4 ล้านลิตร หรือ 1,153,575 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 14.1 ล้านลิตร หรือ 8.4% (ไม่รวมแอลพีจีที่ได้จากการผสมโพรเพน บิวเทนที่นำเข้ารวม 334.8 ล้านกิโลกรัม แต่รวมเบนซินพื้นฐานนำเข้ารวมอยู่ในปริมาณการผลิตน้ำมันแก๊สโซฮอล์แล้ว) เป็นการเพิ่มขึ้นของก๊าซ LPG 21.9% กลุ่มน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว 7.6% กลุ่มน้ำมันอากาศยาน 6.3% กลุ่มน้ำมันเบนซิน 4.2% และน้ำมันเตา 3.3% ในขณะที่น้ำมันก๊าดลดลง 17.2%

ส่วนการนำเข้าจากต่างประเทศรวม 1,666 ล้านลิตร เฉลี่ย 6.9 ล้านลิตร/วัน หรือ 43,401 บาร์เรล/วัน ลดลงเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 0.3 ล้านลิตร/วัน หรือ 4.3%

ทั้งนี้ ในการนำเข้ารวมโพรเพนและบิวเทนเพื่อการผสมเป็นก๊าซ LPG และรวมการนำเข้าก๊าซ LPG มาเก็บไว้ในคลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อรอการส่งออกแต่ไม่รวมปริมาณการนำเข้าน้ำมันเบนซินเพื่อการผลิตแก๊สโซฮอล์ รวม 1,157 ล้านลิตร หรือเฉลี่ย 4.8 ล้านลิตร/วัน แต่หากรวมปริมาณนำเข้าน้ำมันเบนซินพื้นฐานด้วยนั้นจะมีปริมาณนำเข้ารวม 2,823 ล้านลิตร เฉลี่ย 11.6 ล้านลิตร/วัน มูลค่าการนำเข้ารวม 40,484 ล้านบาท ปริมาณการนำเข้าน้ำมันทั้งหมดเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 0.9 ล้านลิตร/วัน และมูลค่านำเข้าเพิ่มขึ้น 11,523 ล้านบาทและในส่วนของน้ำมันดิบนั้น มีปริมาณนำเข้ารวม 34,436 ล้านลิตร หรือเฉลี่ย 141.7 ล้านลิตร/วัน หรือ 891,285 บาร์เรล/วัน ส่วนใหญ่มาจากแหล่งตะวันออกกลางที่ 21,187 ล้านลิตร คิดเป็น 61.5% ตะวันออกไกล 7,212 ล้านลิตร คิดเป็น 20.9% ส่วนแหล่งอื่น ๆ

นั้นอยู่ที่ 6,038 ล้านลิตร คิดเป็น 17.5% ส่วนมูลค่านำเข้า 400,004 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2,146 ล้านลิตร คิดเป็น 6.7% มูลค่านำเข้าน้ำมันเพิ่มขึ้น 102,270 ล้านบาทคิดเป็น 34.4%

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2560

ปรับดีขึ้น! ไทยขยับขึ้น 20 อันดับ ความยากง่ายแต่ละประเทศในการทำธุรกิจ

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ผลการจัดอันดับ ความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ Ease of doing Business ซึ่งจัดโดย World Bank ประจำปี 2018(2561) ไทยปรับอยู่ตัวดีขึ้น 20 อันดับ จากอันดับที่ 46 ในปี 2017 เป็นอันดับที่ 26 ในปี 2018 ด้วยคะแนน 72.53 คะแนน ดีขึ้น 77.44% ทั้งนี้ ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ได้ปรับปรุงแก้ไขลดขั้นตอนการจนทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ จากเดิม 5 ขั้นตอน ใช้เวลา 25.5 วัน เหลือเพียง 3 ขั้นตอน ใช้เวลา 2 วัน และลดค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการจากเดิม 6,600 บาท เหลือเพียง 5,800 บาท ทำให้การจัดอันดับดีขึ้นจากอันดับ 78 เป็น 36

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2560

เกษตรเผยน้ำท่วมคลี่คลายพท.เกษตรเสียหายกว่า4ล.ไร่

ปลัดกระทรวงเกษตร เผย สถานการณ์ภาพรวมน้ำท่วมเริ่มคลี่คลาย พบพื้นที่เกษตรเสียหายกว่า 4 ล้านไร่ เร่งจ่ายเงินให้ความช่วยเหลือ

นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยกับสำนักข่าว INN ว่า ปริมาณฝนล่าสุดในภาคเหนือและอีสานลดลงแล้ว ซึ่งสถานการณ์ภาพรวมน้ำท่วมเริ่มคลี่คลาย การระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยายังอยู่ในระดับสูง แต่ก็ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้านี้ โดยความเสียหายเบื้องต้นแบ่งออกเป็น 2 รอบ ได้แก่ช่วงเดือนกรกฎาคมที่เกิดผลกระทบจากพายุเซินกา มีพื้นที่เกษตรเสียหายประมาณ 3.22 ล้านไร่ รวม 43 จังหวัด ทั้งนี้บางส่วนดำเนินการจ่ายเงินแล้ว และผลกระทบจากร่องมรสุมในเดือนตุลาคมพื้นที่เกษตรเสียหาย 1.45 ล้านไร่ รวม 23 จังหวัด โดยจะเร่งรัดการให้ความช่วยเหลือต่อไปตามระเบียบกระทรวงการคลัง ไม่ต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) อีกทั้งล่าสุดนายกรัฐมนตรีฯได้ลงพื้นที่ จ.ขอนแก่น เพื่อรับฟังปัญหาความเดือดร้อนจากประชาชน พร้อมหามาตรการแก้ไขต่อไป

จาก http://www.innnews.co.th วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2560

ธอส.จัด6มาตรการช่วยเหยื่อน้ำท่วม พักหนี้-ลดดอกเบี้ย-ปล่อยกู้ซ่อม-สร้างใหม่

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ตามที่ปัจจุบันได้เกิดสถานการณ์ ฝนตกหนักส่งผลให้เกิดปัญหาอุทกภัยในหลายจังหวัดทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนทั้งที่อยู่อาศัย และการประกอบอาชีพ ธอส.ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ซึ่งมีพันธกิจ : ทำให้คนไทยมีบ้าน พร้อมที่จะเป็นกลไกหลักในการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยให้กับลูกค้าประชาชนที่ประสบอุทกภัย รวมถึงมาตรการฟื้นฟูภายหลังน้ำลดระดับลง โดยเตรียมวงเงิน 500 ล้านบาท จัดทำ “โครงการเงินกู้ที่อยู่อาศัยเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ปี 2560” โดยจะพิจารณาตามระดับความเสียหายผ่าน 6 มาตรการบรรเทาความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยให้กับลูกค้าประชาชนที่ประสบอุทกภัยซึ่งมีรายละเอียดประกอบด้วย

มาตรการที่ 1 สำหรับลูกค้าเดิมของ ธอส. กรณีหลักประกัน (ที่อยู่อาศัยที่จดจำนองกับธนาคาร) ได้รับผลกระทบ ธนาคารจะลดภาระดอกเบี้ยและเงินงวดผ่อนชำระ โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี นาน 3 เดือนแรก เดือนที่ 4-12 อัตราดอกเบี้ย MRR-2.50% ต่อปี ปีที่ 2 อัตราดอกเบี้ย MRR-2.00% ต่อปี ปีที่ 3 อัตราดอกเบี้ย MRR-1.00% ต่อปีและปีที่ 4 จนถึงตลอดอายุสัญญาเงินกู้กรณีลูกค้าสวัสดิการดอกเบี้ยเท่ากับ MRR-1.00% ต่อปี กรณีลูกค้ารายย่อยทั่วไป ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR-0.50% ต่อปีกรณีกู้เพื่อชำระหนี้หรือซื้ออุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกฯดอกเบี้ยเท่ากับ MRR (ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย MRR ธอส. อยู่ที่ 6.75% ต่อปี)

มาตรการที่ 2 สำหรับลูกค้าใหม่ หรือลูกค้าเดิมของ ธอส. ที่อาคารหรือบ้านได้รับความเสียหาย สามารถขอกู้เพิ่มหรือกู้ใหม่ เพื่อปลูกสร้างทดแทนหลังเดิมหรือกู้ซ่อมแซมอาคารที่ได้รับความเสียหาย คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้คงที่ 3.00% ต่อปี นาน 3 ปี หลังจากนั้นกรณีลูกค้าสวัสดิการ คิดอัตราดอกเบี้ย MRR-1.00% ต่อปี ส่วนลูกค้ารายย่อย คิดอัตราดอกเบี้ย MRR-0.50% ต่อปี

มาตรการที่ 3 ลูกหนี้ที่หลักประกันได้รับความเสียหาย และกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ ให้ลูกหนี้ประนอมหนี้ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี 4 เดือนคิดอัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี นาน 4 เดือนแรกโดยไม่ต้องชำระเงินงวด จากนั้นเดือนที่ 5-16 อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปีโดยให้ผ่อนชำระเงินงวดไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยรายเดือน และเมื่อครบระยะเวลาประนอมหนี้ ให้ลูกหนี้กลับมาใช้อัตราดอกเบี้ยตามสิทธิเดิมก่อนที่จะใช้มาตรการนี้

มาตรการที่ 4 ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้ ให้ลูกหนี้ประนอมหนี้เป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี โดยให้ผ่อนชำระเงินงวดไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยรายเดือน และเมื่อครบระยะเวลาประนอมหนี้ ให้ลูกหนี้กลับมาใช้อัตราดอกเบี้ยตามสิทธิเดิมก่อนที่จะใช้มาตรการนี้

มาตรการที่ 5 ลูกหนี้ที่เสียชีวิตหรือทุพพลภาพ ถาวร ให้ผ่อนชำระโดยใช้อัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี ตลอดระยะเวลาที่คงเหลือตามสัญญากู้

มาตรการที่ 6 กรณีที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายทั้งหลังและไม่สามารถซ่อมแซมได้ ให้ปลอดหนี้ในส่วนของราคาอาคาร และให้ผ่อนชำระต่อเฉพาะในส่วนของที่ดินที่คงเหลือเท่านั้น

สำหรับผู้ที่ต้องการกู้เพื่อปลูกสร้างซ่อมแซมอาคาร ธนาคารกำหนดวงเงินให้กู้ต่อรายไว้ไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อ 1 หลักประกัน โดยคุณสมบัติของผู้ที่สามารถเข้าร่วม “โครงการเงินกู้ที่อยู่อาศัยเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ปี 2560” จะต้องเป็นลูกหนี้เดิมของ ธอส. หรือลูกค้าใหม่ ซึ่งมีที่อยู่อาศัยเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเองหรือคู่สมรสและได้รับความเสียหายจากการประสบอุทกภัย สามารถติดต่อได้ที่สาขาของธอส.ตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2560 เป็นต้นไป สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ธอส.ทุกสาขาทั่วประเทศ

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2560

ดัชนีรายได้เกษตรกรยังขยายตัว สศก.แนะเร่งรัดเบิกจ่ายงบฯกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ภาพรวมรายได้เกษตรกร สะท้อนจากดัชนีรายได้เกษตรกร ในระยะ 9 เดือน ปี 2560 (มกราคม - กันยายน) อยู่ที่ระดับ 155.34 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (มกราคม - กันยายน 2559) ร้อยละ 8.88 เป็นผลมาจากดัชนีผลผลิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.50 ในขณะที่ดัชนีราคาปรับตัวลดลงร้อยละ 1.47 และหากพิจารณาแนวโน้มดัชนีรายได้เกษตรกรทั้งปี 2560 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2559 เป็นผลจากผลผลิตสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้น อาทิ ข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงาน สับปะรดโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ แม้ว่าดัชนีราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มลดลงก็ตาม

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรลดลงในปี 2560 เป็นผลมาจากการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตทำให้ปริมาณผลผลิตเพิ่มมากขึ้น แต่เนื่องจากปัญหาคุณภาพสินค้าที่มีความชื้นค่อนข้างสูงจากฝนตกชุกและต่อเนื่อง จึงส่งผลกระทบต่อราคา ซึ่งรัฐบาลได้พยายามแก้ไขปัญหาเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร โดยใช้ตลาดนำการผลิตหรือผลิตตามตลาดต้องการ รวมทั้งแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม และส่งเสริมระบบตลาดออนไลน์ ซึ่งในปี 2561 ภาครัฐ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำหนดเป้าหมายให้เป็น “ปีแห่งการยกระดับคน การบริหารจัดการมาตรฐานสินค้าเกษตรสู่เกษตร 4.0” ที่ได้รับจัดสรรงบประมาณรวม 103,586.6227 ล้านบาท ในจำนวนนี้ มีงานโครงการสนับสนุนนโยบาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ยกกระดาษ A4) และงานสำคัญอื่นๆ จำนวน 57,742.1386 ล้านบาท

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายขับเคลื่อนการเกษตรเพื่อแก้ปัญหาและกระตุ้นความเป็นอยู่ของเกษตรกรและเศรษฐกิจฐานราก และช่วยให้รายได้เกษตรกรขยายตัวต่อเนื่อง พร้อมทั้งเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภาคเกษตรในไตรมาสที่ 1 ปี 2561 วงเงิน 33,891.39 ล้านบาท (ร้อยละ 32.72) ไตรมาสที่ 2 จำนวน 23,478.51 ล้านบาท (ร้อยละ 22.67) ไตรมาสที่ 3 จำนวน 22,359.16 ล้านบาท (ร้อยละ 21.58) และไตรมาสที่ 4 จำนวน 23,857.56 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 23.03 ซึ่งเชื่อมั่นว่าผลสัมฤทธิ์จะได้รับจากการดำเนินงานตามงบประมาณปี 2561 ซึ่งหากเป็นไปตามแผน จะช่วยสนับสนุนให้ต้นทุนการผลิตลดลง ผลผลิตเพิ่มขึ้น มีคุณภาพมาตรฐาน สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ซึ่งส่งผลให้รายได้เกษตรกรเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2560