http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล(เดือนพฤศจิกายน 2561)

ดันอุตชีวภาพขึ้นไบโอฮับ ยักษ์ใหญ่พร้อมลงทุน ‘บางจาก’เท5พันล้านตั้งรง.ใน EEC

ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

“อุตตม” ดันไทยขึ้น “ไบโอฮับ” เร่งภาคเอกชนส่งแผนลงทุน-ที่ตั้ง-ร่วมมือกับสถาบันการศึกษา ลั่นทบทวนการให้สิทธิประโยชน์ BOI ใหม่ นำร่อง 3 พื้นที่ “EEC-เหนือตอนล่าง-อีสานตอนกลาง” ยักษ์ใหญ่ “มิตรผล-ไทยเบฟ-ปตท.-บางจาก” พร้อมลงทุน

ครม.ได้มีมติให้ความเห็นชอบ มาตรการในการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ (2561-2570) หรือ Bio Economy ด้วยความมุ่งมั่นที่จะให้ประเทศไทยเป็น Bio Hub of ASEAN ไปเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยมาตรการนี้จะเน้นให้ภาคเอกชนเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการลงทุนในผลิตภัณฑ์เป้าหมายไม่ว่าจะเป็นพลาสติกชีวภาพ (bioplastic)-เคมีชีวภาพ (biochemicals)-ชีวเภสัชภัณฑ์ (biopharmaceuticals) ซึ่งจัดเป็น 1 ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย New S-curve ของประเทศโดยมีพื้นที่นำร่อง 3 เขตด้วยกันคือ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) คาดว่าจะมีมูลค่าการลงทุน 9,740 ล้านบาท, เขตพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง (นครสวรรค์-กำแพงเพชร) มูลค่าการลงทุน 51,000 ล้านบาท และเขตภาคอีสานตอนกลาง (ขอนแก่น) มูลค่าลงทุน 35,030 ล้านบาท

อุตฯเร่งเสนอแผนเข้า ครม.

ล่าสุด นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การผลักดันเพื่อให้เกิดอุตสาหกรรมเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) ให้ก้าวไปสู่ Bio Hub ไม่ใช่เพียงการตั้งโรงงานอุตสาหกรรม Bio อย่างเดียว แต่ผู้ประกอบการจะต้อง “เชื่อมโยง” การพัฒนาอุตสากรรมเข้ากับชุมชนโดยรอบด้วยการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในพื้นที่ให้สามารถนำวัสดุเหลือใช้จากโรงงานไป “ต่อยอด” ทำเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ขึ้นมา โดยให้เอกชนที่จะต้องการจะลงทุนตั้งโรงงานไบโอชีวภาพ (Bio Economy) เสนอแผน-พื้นที่ตั้งโรงงานเข้ามา และกระทรวงอุตสาหกรรมจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.อีกครั้งเพื่อปรับแพ็กเกจการให้สิทธิประโยชน์ในการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ใหม่

“หลังจาก ครม.เห็นชอบมาตรการพัฒนา Bio Economy เมื่อกลางปีที่ผ่านมาเดิมจะมีการพูดถึงเพียงการตั้งโรงงาน Bio เท่านั้น ซึ่งผู้ประกอบการที่จะเข้ามาลงทุนก็จะได้แค่สิทธิประโยชน์จาก BOI แต่การจะเป็น Bio Hub จะทำแค่ตั้งโรงงานไม่ได้ ดังนั้นกระทรวงอุตสาหกรรมจึงให้เอกชนเสนอแผน-พื้นที่เข้ามาใหม่ ซึ่งจะต้องมีแผนการพัฒนาพื้นที่โดยรอบจะทำยังไงให้ชุมชนมีส่วนร่วม การดึงมหาวิทยาลัย-สถาบันการศึกษาเข้ามาช่วยกันคิดสินค้าจาก Bio ขึ้นมาด้วย ต่อจากนั้นกระทรวงอุตสาหกรรมจะกลับมาพิจารณาว่า แพ็กเกจให้การส่งเสริมอุตสาหกรรมชีวภาพจะต้องปรับสิทธิประโยชน์เพิ่มด้วยหรือไม่” นายอุตตมกล่าว

แก้ระเบียบเปิดทางตั้ง รง.

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทำการแก้ไขระเบียบเพื่อรองรับมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพประกอบด้วยสำนักงานอ้อยและน้ำตาลทรายทำการปรับปรุง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย 2527 ให้สามารถนำ “น้ำอ้อย” ไปผลิตเป็นสินค้าอื่นที่ไม่ใช่น้ำตาลทรายได้กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้เพิ่มบัญชีประเภทกิจการอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพให้เป็นอุตสาหกรรม S-curve และกรมโยธาธิการและผังเมืองได้แก้ไขกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมือง

เปิดตัว 6 กลุ่ม Bio Hub

สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการที่สนใจจะลงทุนในอุตสาหกรรมชีวภาพ ได้แก่ 1) บริษัทโกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC ร่วมทุนกับบริษัทเกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ Ktis ในโครงการไบโอคอมเพล็กซ์ครบวงจรมูลค่า 7,650 ล้านบาท พื้นที่กว่า 2,000 ไร่ในอำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ใช้วัตถุดิบมันสำปะหลังและอ้อย ในระยะที่ 1จะสร้างโรงงานผลิตเอทานอล ไฟฟ้าชีวมวลระบบสาธารณูปโภค และระบบส่งเสริมกระบวนการผลิตกลางของโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนโครงการระยะที่ 2 ประกอบด้วยโรงงานเคมีและพลาสติกชีวภาพ โรงงานอาหารเสริม มูลค่า 10,000-30,000 ล้านบาท

2) บริษัท Corbion ประเทศเนเธอร์แลนด์สนใจผลิต poly lactic acid (PLA) 3) บริษัทNature Work (สหรัฐ) ร่วมกับกลุ่ม ปตท.สนใจผลิตไบโอพลาสติกและเคมีภัณฑ์ โดยบริษัท Nature Works อยู่ระหว่างพิจารณาที่จะหาพื้นที่ตั้งโรงงาน PLA แห่งที่ 2 เฟสแรกจะลงทุนในโครงการผลิตเอทานอลจากน้ำอ้อย ส่วนเฟส 2 จะนำน้ำอ้อยมาผลิตวัตถุดิบทั้ง succinic acid และ lactic acid 3) บริษัท พูแรค ได้เข้ามาลงทุนโครงการแรกแล้วและมีแผนขยายโครงการใหม่เพิ่มโดยการตั้งโรงงานผลิต PLA และผลิตกรดแล็กติกที่จะซื้อวัตถุดิบน้ำตาลและแป้งมันสำปะหลังผลิตขึ้นจากการหมักน้ำตาลจากอ้อยหรือน้ำตาลจากแป้งมันสำปะหลัง

4) บริษัท น้ำตาลมิตรผล เตรียมที่จะลงทุนไบโอคอมเพล็กซ์ในพื้นที่ จ.ขอนแก่น 5) บริษัท บางจาก เตรียมลงทุนตั้งโรงงานไบโอในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมใน EEC ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา และ 6) กลุ่มไทยเบฟ (เบียร์ช้าง) ร่วมกับบริษัทในเครือ บริษัท คริสตอลลา จำกัด (บริษัทแม่ของบริษัทน้ำตาลทิพย์สุโขทัย-น้ำตาลทิพกำแพงเพชร-น้ำตาลสุพรรณบุรี) สนใจลงทุนตั้งไบโอคอมเพล็กซ์

บางจากตั้ง รง. Bio ใน EEC

ด้านนายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บางจากอยู่ระหว่างเริ่มแผนสร้างโรงงาน Bio Hub พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง ทั้งด้านไบโอพลาสติก วัสดุชีวภาพ น้ำตาล และโปรตีนชีวภาพ มูลค่าลงทุนประมาณ 5,000 ล้านบาท เบื้องต้นรูปแบบของโรงงานจะคล้ายกับโมเดลธุรกิจโซลาร์สหกรณ์ ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยในส่วนของต้นน้ำบางจากจะร่วมมือกับกลุ่มสหกรณ์ ชุมชน วิสาหกิจชุมชน นำเอาวัสดุทางการเกษตร อาทิอ้อย ปาล์ม มัน น้ำตาล มาผลิตแปรรูปเพิ่มมูลค่าสินค้า โดยเฉพาะล่าสุดมีผลิตภัณฑ์จากโครงการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพจากสาหร่าย (algag biofuel plant plant) ที่จะนำมาต่อยอดเป็นเชิงพาณิชย์ ทั้งนี้ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการอย่างชัดเจนในต้นปี 2562

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 30 พฤศจิกายน 2561

"ไทย" ขึ้นแท่นประเทศแรกในเอเชีย รับ "อนุสัญญาฯ 188"

ก.แรงงาน แถลงหลักการสำคัญของอนุสัญญาฯ 188 ว่าด้วยการทำงานในภาคการประมง ยืนยันเป็นประโยชน์กับแรงงาน ผลดีต่อภาคประมงในระยะยาว นานาชาติยอมรับสินค้าไทย ผลิตอย่างมีจริยธรรมและธรรมาภิบาล คาดลดแรงงานขาดแคลนได้ในอนาคต

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการแถลงข่าวประเด็นการให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานในภาคการประมง พ.ศ. 2550 (ค.ศ. 2007) โดยมี นายเกรม บักเลย์ (Mr.Graeme Buckley) ผู้อำนวยการ สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ประจำประเทศไทย กัมพูชา และลาว, นายหลุยส์  แพรทส์ หัวหน้าหน่วยการต่างประเทศ กองอำนวยการ กระทรวงการจ้างงานกิจการสังคมและการหลอมรวมทางสังคม สหภาพยุโรป, นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน, นางเพชรรัตน์ สินอวย อธิบดีกรมการจัดหางาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงแรงงาน ร่วมแถลงข่าวในครั้งนี้ด้วย ณ ห้องประชุม ศ.นิคม จันทรวิทุร ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน ... รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ลงมติเห็นชอบให้กระทรวงแรงงานดำเนินการให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การ แรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานในภาคการประมง พ.ศ. 2550 (ค.ศ. 2007)

โดยไทยจะเป็นประเทศแรกในอาเซียนและในภูมิภาคเอเชียที่ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาฉบับดังกล่าว เพื่อเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนไปทั่วโลกได้ว่า ณ วันนี้ ไทยมีความมุ่งมั่นที่จะยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองดูแลแรงงาน ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ในภาคประมงของไทยให้ดียิ่งขึ้นเทียบเท่ามาตรฐานสากล ซึ่งจะทำให้ภาคประมงของไทยได้รับการยอมรับ มีภาพลักษณ์ที่ดี และจะเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการสำคัญในการช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานประมงไทยในขณะนี้ รวมถึงจะส่งผลต่อภาพรวมด้านเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศในสินค้าอาหารทะเลของไทย ที่ปัจจุบันมีมูลค่าส่งออกเฉลี่ยปีละ 2 แสนล้านบาทด้วย เพราะจะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้บริโภคสินค้าประมงไทยได้ว่า สินค้าของเราจะเป็นสินค้าที่ผลิตอย่างมีจริยธรรมและมีธรรมาภิบาล

พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวต่อว่า ก่อนที่จะมาถึงวันนี้กระทรวงแรงงานได้รับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ทั้งนายจ้าง ลูกจ้าง ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมด แล้วมาหลายรอบ และได้ยกร่าง พ.ร.บ.แรงงานประมง ขึ้นมา โดยมีเนื้อหาที่สะท้อนข้อเสนอของทุกภาคส่วน และกระทรวงแรงงานได้มีการลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแล้วจำนวน 6 ครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่เห็นด้วยว่า เป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ทั้งกับแรงงาน นายจ้าง และภาพลักษณ์ของภาคประมงไทยและสินค้าประมงไทยโดยรวม

สำหรับการบังคับใช้กฎหมายในเรื่องนี้ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มได้ประมาณกลางปีหน้านั้น ขอย้ำว่า จะไม่กระทบต่อกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านแต่อย่างใด และจะใช้บังคับเฉพาะกับกลุ่มเรือประมงพาณิชย์ของไทยที่มีขนาด 30 ตันกรอสส์ขึ้นไป ที่มีประมาณ 5,000 กว่าลำ สำหรับเรื่องโครงสร้างเรือจะใช้บังคับเฉพาะกับเรือประมงพาณิชย์ที่เป็นเรือต่อใหม่ที่มีขนาด 300 ตันกรอสส์ขึ้นไป และขนาดความยาวตลอดลำเรือ 26.5 เมตรขึ้นไปเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเรือที่ทำประมงนอกน่านน้ำไทย และหลายเรื่องไม่ได้เร่งให้เจ้าของเรือต้องดำเนินการในทันทีทันใด แต่จะค่อยเป็นค่อยไปในทางปฏิบัติ โดยเนื้อหาส่วนใหญ่ที่เพิ่มขึ้นจะเกี่ยวข้องกับการดูแลลูกจ้าง สภาพการจ้าง รวมทั้งคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของลูกจ้างทั้งหมดเป็นสำคัญ ซึ่งขอเน้นย้ำว่า เราจะดูแลทั้งคนงานไทยและคนงานต่างด้าวในภาคประมงไทย

โดยรวมแล้วการให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ 188 ไม่ได้สร้างภาระเพิ่มเติมต่อชาวประมงอย่างที่ในอดีตเคยมีบางท่านได้เคยแสดงความห่วงกังวลแต่อย่างใด เนื่องด้วยปัจจุบัน ประเทศไทยมีการบังคับใช้กฎหมายสอดคล้องกับข้อกำหนดของอนุสัญญาเป็นส่วนใหญ่อยู่แล้ว (คิดเป็นร้อยละ 80) ได้แก่ กฎหมายที่มีอยู่ของกระทรวงแรงงาน กรมประมง กรมเจ้าท่า กรมการแพทย์ อาทิเช่น อายุขั้นต่ำ การตรวจสุขภาพ อัตรากำลัง ชั่วโมงพัก รายชื่อลูกเรือ สัญญาจ้างงาน การส่งแรงงานกลับจากท่าเรือในต่างประเทศ ไม่เก็บค่าบริการจัดหางานจากแรงงาน การจ่ายเงิน ที่พักอาศัยเหมาะสม อาหารน้ำดื่ม การดูแลรักษาการเจ็บป่วย ความปลอดภัยสุขภาพอนามัย การประกันสังคม เงินทดแทนการเจ็บป่วย-เสียชีวิตจากการทำงาน เป็นต้น หลายเรื่องที่ระบุในอนุสัญญา C188 จึงเป็นมาตรการที่ประเทศไทย ดำเนินการภายใต้หน่วยงานดังกล่าวอยู่แล้ว

รมว.แรงงาน กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานในกิจการประมงทะเลจำนวนกว่า 53,000 คน เรื่องนี้รัฐบาลไม่เคยนิ่งนอนใจ และกระทรวงแรงงานเร่งดำเนินการ 3 มาตรการ ได้แก่ 1) ต่ออายุแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานในภาคประมงตามมาตรา 83 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้ว ออกไปอีก 2 ปี จนถึงวันที่ 30 ก.ย. 2563 ณ สำนักงานจัดหางาน 22 จังหวัดชายทะเล ซึ่งขณะนี้ มีนายจ้างมาทะเบียน 757 ราย แจ้งความต้องการแรงงาน 19,334 คน, 2) นำเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน และ 3) เปิดโอกาสให้แรงงานอื่นที่ยังอยู่ในประเทศสามารถมาขอขึ้นทะเบียนทำงานในกิจการประมงได้ เนื่องจากอาชีพประมงมักจะเป็นอาชีพสุดท้ายที่แรงงานจะเลือกทำ

"การรับรองอนุสัญญาฯ 188 จะเป็นแรงดึงดูดใจให้แรงงานประมงไทยมั่นใจยิ่งขึ้นว่าจะได้รับการดูแล มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และขณะเดียวกัน ก็เป็นการสร้างมาตรฐานที่ชัดเจน อันจะทำให้ทั้งนายจ้างและลูกจ้างในภาคประมงมีความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพการทำงานและการจ้างงานในภาคประมงที่ตรงกัน ทั้งหมดนี้จะส่งผลให้สินค้าไทยได้รับการยอมรับจากประชาคมโลก ว่า มีธรรมาภิบาล และเราผลิตสินค้าที่ไม่มีการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ และการค้ามนุษย์ อันจะทำให้ในระยะยาว ผู้ประกอบการเองก็จะสามารถส่งออกสินค้าได้มากขึ้น โดยผมจะเดินทางไปให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาฉบับนี้ด้วยตัวเอง คาดว่าจะสามารถยื่นอนุสัญญาฯ ได้ภายในปลายเดือน ม.ค. นี้" พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าว

จาก www.thansettakij.com วันที่ 30 พฤศจิกายน 2561

“พาณิชย์”ฟุ้งดันส่งออกปีหน้าขยายตัวตามคาด 8%

ปีหน้าพาณิชย์รุกตลาดจีน –อาเซียน!ฝ่าวิกฤติสงครามการค้า ฟุ้งทุกประเทศโปรยยาหอมพร้อมร่วมมือไทยขยายการค้าการลงทุนกับไทย ดันส่งออกปีหน้าขยายตัวตามคาด 8%

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์  รมว.พาณิชย์  กล่าวว่า ในปีหน้ากระทรวงมีนโยบายในการเดินหน้าขยายการค้าการลงทุนกับต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยในปีหน้าแม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะยังผันผวนและสงครามการค้าก็ยังจะมีอย่างต่อเนื่องแต่ไทยจะยังคงต้องหาทางเพื่อใช้ประโยชน์จากวิกฤติดังกล่าว โดยประเทศที่จะเน้นเข้าไปทำการค้ามากที่สุดก็คือจีน เนื่องจากเป็นประเทศที่เป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทยนอกเหนือจากสหรัฐและญี่ปุ่น รวมทั้งจะเน้นการเข้าไปทำตลาดในกลุ่มประเทศอาเซียนเพราะเป็นประเทศที่อยู่ใกล้ไทยมากที่สุดแผ่นดินมีการเชื่อมโยงกัน ซึ่งจากแนวคิดดังกล่าวก็มั่นใจว่าการขยายตัวการส่งออกของไทยในปีนี้และปี 2562  จะทำได้ถึง 8%

นายสนธิรัตน์ กล่าวอีกว่า ตนมั่นใจว่าการค้าการลงทุนระหว่างไทยกับภูมิภาคนี้จะยังคงสดใสเพราะทุกประเทศที่ตนเดินทางไปหารือต่างก็เห็นด้วยและพร้อมจะให้ความร่วมมือกับไทย ล่าสุด จากการเดินทางไปเยือนฮ่องกงเมื่อเร็วๆนี้โดยเข้าพบกับนายเอ็ดเวิร์ด เยา (Edward Yau) เลขาธิการด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและการค้าฮ่องกง เทียบเท่ากับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของฮ่องกงนั้นระบุว่าในระยะนี้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและฮ่องกงดีที่สุดในรอบ 20 ปี ซึ่งทางฮ่องกงก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับไทยในทุกด้าน ซึ่งถือเป็นข่าวดีเพราะจะได้ใช้ศักยภาพของฮ่องกงในการขยายสินค้าของไทยไปยังตลาดจีนด้วย โดยเฉพาะสินค้าข้าวที่นับวันคู่แข่งอย่างเวียดนาม และกัมพูชาจะมีความเข้มแข็งมากขึ้น

อย่างไรก็ตามแม้ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่การเลือกตั้ง แต่ทางการฮ่องกงยังคงมั่นใจเสถียรภาพทางเศรษฐกิจไทย โดย ล่าสุดได้ตัดสินใจเลือกไทยเป็นประตูสู่ CLMV , ACMECS และ ASEAN โดยในเดือนก.พ.ปี 2562 ทางการฮ่องกงจะเปิดสำนักงานเศรษฐกิจการค้าของฮ่องกงประจำประเทศไทย หรือ ETO(Economic and Trade Office) ทั้งนี้ ฮ่องกงเป็นเขตเศรษฐกิจที่สำคัญของจีน ตำแหน่งที่ตั้งของฮ่องกงที่อยู่บริเวณปากแม่น้ำจูเจียง มณฑลกวางตุ้ง เปรียบเสมือนปากมังกรของจีน ทำให้ฮ่องกงกลายเป็นซูเปอร์คอนเนคเตอร์ หรือสะพานที่เชื่อมโยงนโยบายเส้นทางสายไหมยุคใหม่ (Belt and Road Initiatives) ของจีนแผ่นดินใหญ่กับโลก

อีกทั้ง ASEAN-Hong Kong Free Trade Agreement ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค.  2562 ก็จะมีส่วนสนับสนุนให้ภาคการค้า การลงทุนระหว่างฮ่องกงและไทยเพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2560  การค้าระหว่างไทยและฮ่องกง คิดเป็นมูลค่ากว่า 15,000 ล้านดอลล่าร์ และเป็นคู่ค้าและนักลงทุนลำดับที่ 8 ของไทย

นอกจากนี้ยังมีแผนจะร่วมมือกับร่วมมือกับประเทศคู่ค้าให้มากขึ้นในด้านต่างๆ  เช่น อีคอมเมริ์ส ระบบโลจิสติกส์  โดยเฉพาะการใช้รูปแบบการบริหารจัดการที่ดีเพื่อเชื่อมโยงสินค้าชุมชนซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้ยกระดับสินค้าของไทยสู่ตลาดโลก นอกจากนี้ยังมอบหมายให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศหารือเพื่อทำข้อตกลงกับประเทศต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้าให้กับผู้ประกอบการไทย รวมทั้งหน่วยงานอื่นๆ เช่น กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศก็ให้ไปจัดทำแผนเพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนต่อไป

จาก www.thansettakij.com วันที่ 30 พฤศจิกายน 2561

ผ่านฉลุยแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ

บิ๊กตู่” เห็นชอบร่างแผนแม่บทยุทธศาสตร์ สั่งสศช.รวมรวมข้อเสนอก่อนทำเป็นร่างสมบูรณ์ เสนอบอร์ดใหญ่อีกครั้ง ก่อนชงเข้าครม.               นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เห็นชอบร่างแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี ทั้งหมด 23 ฉบับ พร้อมทั้งรับข้อเสนอแนะจากที่ประชุมในหลายประเด็น เช่น การเกษตร การบริหารจัดการน้ำ การปราบปรามทุจริต โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ซึ่งสศช.จะรวบรวมรายละเอียดทั้งหมด เพื่อไปปรับปรุงร่างแผนแม่บทก่อนสรุปเป็นฉบับสมบูรณ์มาเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาอีกครั้งกลางเดือนม.ค.62 จากนั้นจึงเสนอให้ที่ประชุมครม.เห็นชอบต่อไป

พร้อมกันนี้ที่ประชุมยังได้เห็นชอบประเด็นการพัฒนาเร่งด่วนในช่วงระยะ 5 ปีแรกของยุทธศาสตร์ชาติ จำนวน 15 ประเด็น โดยขอให้ทุกหน่วยงานกลับไปตรวจสอบโครงการของหน่วยงานตัวเองอีกครั้งว่า มีโครงการใดบ้างที่สอดคล้องกับประเด็นการพัฒนาในระยะแรกหรือไม่ หากมีโครงการที่สอดคล้องกันก็ให้จัดทำมาเป็นคำของบประมาณประจำปีงบประมาณ 63 ส่วนในปีงบประมาณ 62 แม้ขณะนี้งบประมาณจะออกมามีผลบังคับใช้แล้ว แต่ถ้าหน่วยงานใดที่มีโครงการสำคัญสอดคล้องกับแผนระยะแรก ก็ให้เสนอเรื่องไปยังสำนักงบประมาณเพื่อพิจารณา

จาก https://www.dailynews.co.th  วันที่ 30 พฤศจิกายน 2561

‘บาท’ เปิดตลาดเช้านี้ ‘ทรงตัว’ที่ 32.89 บาทต่อดอลลาร์

ตลาดการเงินยังแกว่งกรอบแคบ และยังมีความกังวลสงครามการค้า มองเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าช่วงปลายปีนี้

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ที่ระดับ 32.89 บาทต่อดอลลาร์ ไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อน

ในคืนที่ผ่านมา ทั้งตลาดการเงินและดอลลาร์ยังคงเคลื่อนไหวในกรอบแคบ แม้นักลงทุนจะคลายความกังวลเรื่องนโยบายการเงินของสหรัฐ แต่ก็กลับมามีคำถามเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนอีกครั้ง

เนื่องจาก โดนัลด์ ทรัมป์ให้ความเห็นว่า สหรัฐมีโอกาสที่จะ “ทำอะไรซักอย่าง” กับข้อตกลงการค้า ในช่วงการประชุม G20 ท้ายสัปดาห์นี้ แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนใดๆ

ด้านตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ก็เคลื่อนไหวในกรอบแคบเช่นกัน โดยเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core PCE) ปรับตัวลงมาที่ระดับ 1.8% ขณะที่ตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานใหม่ ปรับตัวขึ้นไปที่ 2.34 แสนตำแหน่ง

ในระยะสั้น เรามองว่าสหรัฐน่าจะสรุปข้อตกลงเรื่องเขตเสรีการค้าในทวีปอเมริกาเหนือ (USMCA) ในการประชุม G20 ครั้งนี้ แต่มีโอกาสไม่มากนัก ที่จะมีข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐจีน ความเสี่ยงของค่าเงินเอเชียจึงยังอยู่ในระดับสูง เนื่องจากเศรษฐกิจในปีหน้าคงต้องชะลอตัวลง ถ้าไม่มีข้อตกลงทางการค้ามาช่วยในสัปดาห์นี้

สำหรับในส่วนของค่าเงินบาท ช่วงสั้นเรายังพบว่ามีแรงขายจากผู้ส่งออกและนักค้าเงิน ใกล้เคียงกับแรงซื้อจากกลุ่มผู้นำเข้าในธุรกิจน้ำมันจึงทำให้ค่าเงินบาทไม่เคลื่อนไหว

อย่างไรก็ตาม เรายังคงมุมมองเดิมว่าเงินบาทอาจแข็งค่าในท้ายปีนี้ไปที่ระดับ 32.30 บาทต่อดอลลาร์ จากตัวแปรหลัก2เรื่อง คือการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย 0.25% ในวันที่ 19 ธันวาคม และทิศทางการขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐที่มีโอกาสชะลอตัวลงภายหลังดอกเบี้ยสหรัฐแตะระดับ 2.50% ในวันที่ 20 ธันวาคม

มองกรอบค่าเงินบาทวันนี้ 32.85-32.95 บาทต่อดอลลาร์

จาก www.bangkokbiznews.com   วันที่ 30 พฤศจิกายน 2561

น้ำตาลบุรีรัมย์เปิดหีบอ้อย ผนึกสนช.เพิ่มนวัตกรรมเกษตรกรจัดการไร่อ้อยอย่างมีประสิทธิภาพ

นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR เปิดเผยว่า บริษัทได้ทำพิธีเปิดหีบอ้อย ฤดูการผลิต 2561/62 เพื่อเป็นสิริมงคล และสร้างขวัญกำลังใจให้กับชาวไร่อ้อย พนักงานให้ดำเนินการเก็บเกี่ยวได้อย่างราบรื่นและบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้

นายอนันต์ กล่าวว่า นอกจากนี้บริษัทยังได้ร่วมมือกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ(สนช.) ในการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยดำเนินการเพาะปลูกผลผลิตอ้อยด้วยเทคโนโลยีเพื่อให้การเพาะปลูกและผลผลิตที่ได้มีประสิทธิภาพและมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ได้มีการสาธิตพร้อมให้ความรู้เกษตรกรชาวไร่อ้อย เกี่ยวกับการบริหารจัดการไร่อ้อยแบบแม่นยำและยั่งยืน โดยเริ่มจากขั้นตอนการเตรียมดิน การปลูก รวมถึงการเก็บเกี่ยว โดยมีการสาธิตการให้ธาตุอาหาร ระบบน้ำหยดแบบอัจฉริยะด้วยการใช้เซ็นเซอร์ตรวจจับค่าต่างๆ ภายในแปลง เพื่อให้น้ำและธาตุอาหารแบบระบบอัตโนมัติตามความต้องการของอ้อย

น้ำตาลบุรีรัมย์ ได้ฤกษ์เปิดหีบอ้อย ฤดูการผลิต 2561/62″

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 29 พฤศจิกายน 2561

นายกสมาคมอ้อยชลบุรี โอดชาวไร่อ้อยตายหลังรัฐบาลหนุนให้ปลูก แต่ไม่มีตลาดรองรับ

เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน นายจิรวุฒิ สิงห์โตทอง นายกสมาคมกลุ่มอาชีพการเกษตรชลบุรี เปิดเผยว่า ช่วงนี้เข้าสู่ฤดูการหีบอ้อยในฤดูผลผลิตปี 2561/2562 สำหรับในพื้นที่ จ.ชลบุรี เริ่้มเปิดหีบวันที่ 3 ธันวาคม ยอมรับว่าเกษตรกรชาวไร่อ้อยตอนนี้หมดเรี่ยวหมดแรง เพราะราคาอ้อยเบื้องต้นกำหนดมาแล้วตันละ 700 บาท ทั้งที่ต้นทุนการผลิตอย่างน้อยตันละ 1,000 บาท แทบจะไม่อยากจ้างใครมาตัดอ้อย คาดว่าจะใช้วิธีเผาอ้อยสถานเดียว ซึ่งจะเกิดผลดีกับผู้ตัดอ้อย เพราะหากตัดอ้อยสดจะได้วันละ 200 บาท แต่หากตัดอ้อยเผาจะได้วันละ 400-500 บาท เพราะตัดง่ายกว่า แต่ข้อเสียของเกษตรกรเมื่อเข้าโรงหีบจะถูกตัดราคาตันละ 30 บาท จะเหลือราคาอ้อยตันละ 670 บาทเท่านั้น

นายจิรวุฒิกล่าวอีกว่า เกษตรกรชาวไร่อ้อยที่สายป่านสั้น หรือมีต้นทุนน้อยจะอยู่ลำบาก เพราะจะขาดทุน และไม่มีเงินลงทุนต่อ ส่วนพวกสายป่านยาว จะรอลุ้นหากอ้อยมีราคาดีขึ้น อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลไม่ส่งเสริมการปลูก และสามารถควบคุมอ้อยอยู่ที่ 100 ล้านตันได้ จะทำให้ราคาอ้อยดีขึ้น หากมีผลผลิตสูงถึง 137 ล้านตัน เชื่อว่าชาวไร่อ้อยคงอยู่ยากเพราะต้องหารเฉลี่ยราคากันไป

“รัฐบาล คสช.หนุนให้มีการปลูกอ้อยนาดอน แต่ไม่รับผิดชอบในเรื่องการหาตลาดรองรับ เสมือนกับถูกข่มขืนใจ ไปแจ้งตำรวจแล้วแต่ไม่รับผิดชอบ ทั้งที่ส่งกระแสออกไปแล้วการสนับสนุนให้มีการปลูกอ้อย จะเกิดปัญหาขึ้นในอนาคต ประกอบกับรัฐบาลไม่ช่วยเหลืออะไรเลย แถมยังบอกว่าเป็นกลไกของตลาดก็ไม่รู้เหมือนกันว่ารัฐบาลคิดอะไร หรือจะให้เกษตรกรตายหมดทั้งประเทศ” นายจิรวุฒิ กล่าว

จาก https://www.matichon.co.th    วันที่ 29 พฤศจิกายน 2561

ไบโอไทย จี้กรมวิชาการเกษตรทำตามมติผู้ตรวจการแผ่นดินยกเลิกสารเคมี 3 ชนิด

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถีหรือไบโอไทย  กล่าวถึงกรณีที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งมีอำนาจตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ มีมติอย่างเป็นทางการให้มีการยกเลิกสารเคมี ทั้ง 3 ชนิด คือ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกรโฟเซต ภายใน 1 ปี โดยระหว่างนี้ ต้องมีมาตรการควบคุมและจำกัดการใช้ ตลอดจนหาวิธีอื่นในการกำจัดศัตรูพืชทดแทน ทั้งนี้ได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำแผนดำเนินการเสนอกลับใน 30 วัน ก่อนมีการประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้าอีกครั้งหลังช่วงปีใหม่ ว่า ต้องถามว่า ทางกรมวิชาการเกษตร  ได้ดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมายหรือไม่ แต่จากที่ฟังกรมวิชาการเกษตร ยังพบว่า อาจจะไม่ทำตาม โดยการยกมติให้มีการจำกัดการใช้ของคณะกรรมการวัตถุอันตรายขึ้นมา ซึ่งหากไม่ดำเนินการตาม ตนมองว่า ที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดิน มีทางเลือกในการดำเนินการ 2 ทางเลือก คือ 1. ทำรายงานต่อรัฐบาล ซึ่งก็ต้องมาดูว่าจะทันรัฐบาลนี้หรือไม่ หรือจะเป็นรัฐบาลชุดใหม่ และ 2. ที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดิน สามารถฟ้องต่อศาลปกครองได้ด้วย

“หากดูจากมติของที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินที่มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรดำเนินการ กรมวิชาการเกษตรจะมีหน้าที่ในการควบคุมการใช้ในระหว่างนี้ไปจนถึงมีการแบน ภายใน 1 ปี แต่อย่างไรก็ตามอำนาจของกรมวิชาการเกษตรยังมีมากกว่านั้น คือ ทางกรมวิชาการเกษตรยังมีอำนาจที่จะไม่ต่อทะเบียน และสามารถเสนอชี้ให้มีการแบนไปยังคณะกรรมการวัตถุอันตรายได้ด้วย ซึ่งในการติดตามหลังช่วงปีใหม่ที่ประชุมฯ คงจะมีการติดตามความคืบหน้าเหล่านี้จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ด้วย ” นายวิฑูรย์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าเมื่อมีมติออกมาอย่างเป็นทางการเช่นนี้ การที่ภาคประชาชนจะมีการฟ้องคณะกรรมการวัตถุอันตรายจะต้องมีการดำเนินต่อไปหรือไม่อย่างไร นายวิฑูรย์ กล่าวว่า แน่นอนว่ายังคงต้องมีการเดินหน้าต่อไป ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการร่วมประชุมกับกับผู้ร่วมฟ้องร้อง ทั้งนิติบุคคล และตัวแทนภาคเกษตรกร ไปแล้ว 5 ครั้ง

จาก https://www.matichon.co.th    วันที่ 29 พฤศจิกายน 2561

เดินหน้า Contract Farming ประกันภัยเกษตรกร คุ้มครองพุ่ง10,000ล้าน

 ดันโครงการ Contract Farming ครั้งแรกของประเทศไทย ทำประกันภัยให้เกษตรกร จับมือบริษัทประกันภัยทำกรมธรรม์คุ้มครองเกือบ 10,000 ล้านบาท แก่เกษตรกรกว่า 5,000 ราย

ดร.อธิป อัศวานันท์ ผู้บริหาร สำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาล และสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ พร้อมนางสาวสุภาพร ฉัตรฉายแสง รองกรรมการผู้จัดการบริหาร สำนักประกันภัย เครือฯ ร่วมกับ นายจีรวัฒน์ พยาฆระสมิต รองกรรมการผู้จัดการ  บมจ.กรุงเทพประกันภัย ได้เดินทางไปมอบค่าสินไหมทดแทนแก่เกษตรกร Contract Farming ตามกรมธรรม์2561/2562 ให้แก่นางไสว ฝอยทอง เกษตรกร Contract Farming  ในโครงการส่งเสริมไก่กระทงแม่สอด จ.ตาก ของบมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (ซีพีเอฟ) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ ตามนโยบายด้านความยั่งยืนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่ให้มีการทำประกันภัยแก่เกษตรกรในโครงการ Contract Farming เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาชีพแก่เกษตรกร

 ดร.อธิป อัศวานันท์ ผู้บริหารสำนักความยั่งยืน ธรรมาภิบาล เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์มีความมุ่งมั่นและให้ความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยตามแนวคิดของเครือฯที่ว่า “เกษตรกรคือคู่ชีวิต” สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจภายใต้หลักการพัฒนาที่ยั่งยืน  ซึ่งได้กําหนดเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ ปี 2020 ด้านคุณค่าทางสังคม ด้วยการส่งเสริมอาชีพและคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อย จึงมีนโยบายสนับสนุนให้บริษัทในเครือฯทำประกันภัยให้กับเกษตรกร ในโครงการเกษตรพันธสัญญา หรือ Contract Farming  เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาชีพแก่เกษตรกร ซึ่งกล่าวได้ว่าเครือเจริญโภคภัณฑ์เป็นผู้ประกอบการรายแรกในระบบ Contract Farming ของประเทศไทยที่ให้ความสำคัญเรื่องการบริหารความเสี่ยงแทนเกษตรกรรายย่อยทั้งในประเภทประกันรายได้ หรือแบบฝากเลี้ยง และประเภทประกันราคา โดยบริษัทมีการทำประกันภัยให้กับเกษตรกรคู่สัญญาทั้งที่กฎหมายไม่ได้บังคับและเกษตรกรไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด โดยปัจจุบัน บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ ซีพีเอฟ ได้เดินหน้าตามนโยบายประกันภัยให้แก่เกษตรกรContract Farming ได้ทำประกันภัยแก่เกษตรกรรายย่อยทั้งหมดที่อยู่ในโครงการ Contract Farming ของซีพีเอฟ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่จำนวนเกือบ 6,000 ราย นอกจากนี้ เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้ดำเนินการยกระดับมาตรฐานของสัญญา Contract Farming ซึ่งที่ผ่านมาได้รับการประเมินจากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ว่าสัญญา Contract Farming ของเครือฯมีความเป็นธรรมและเป็นสากล  โดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้นำไปเป็นตัวอย่างให้หลาย ๆ ประเทศได้ศึกษารูปแบบสัญญาที่เป็นธรรมอีกด้วย

ด้าน นางสาวสุภาพร ฉัตรฉายแสง รองกรรมการผู้จัดการบริหาร สำนักประกันภัย เครือเจริญโภคภัณฑ์  กล่าวว่า บมจ. เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ  ซีพีเอฟ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือฯได้สนองตอบนโยบายดำเนินการทำประกันภัยให้เกษตรกร Contract Farming ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่  1 ก.ย. 2560  ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน มีจำนวนเกษตรกร Contract Farming รายย่อยที่ได้รับคุ้มครอง 5,387 ราย  แยกเป็นเกษตรกร แบบฝากเลี้ยงหรือประกันรายได้  5,081 ราย ประกอบด้วยเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่กระทง ไก่พื้นเมือง ไก่รุ่นไข่ เป็ดเนื้อ เป็ดไข่ สุกรขุน สุกรพันธ์ และ แบบประกันราคาอีก 306 ราย ได้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่  รวมวงเงินคุ้มครองรวมทั้งสิ้นเกือบ 10,000 ล้านบาท

สำหรับการทำประกันภัยให้แก่เกษตรกร Contract Farming ของซีพีเอฟ เป็นการประกันภัยที่มีความคุ้มครอง แยกเป็น 2 ส่วน  คือ 1.การประกันภัยทรัพย์สิน ได้แก่ อาคารโรงเรือน อุปกรณ์การเลี้ยง ระบบสาธารณูปโภค โดยบริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด(มหาชน) เป็นผู้รับประกัน และ2.การประกันภัยสต๊อกสิ่งมีชีวิต ครอบคลุมความเสี่ยงภัยทุกชนิดจากสาเหตุภายนอก รวมกรณีที่ส่งผลให้สัตว์ขาดอากาศหายใจ ยกเว้นสัตว์ตายจากโรค โดยบริษัท อลิอันซ์ ประกันภัย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับประกัน

ในส่วนของเกษตรกร นางสุวรินทร์ ฉิมสุด บุตรสาว ของ นางไสว ฝอยทอง เกษตรกร Contract Farming เจ้าของไสวฟาร์ม ซึ่งเป็นเกษตรกรในโครงการส่งเสริมการเลี้ยงไก่กระทง แม่สอด จ.ตาก ของ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ ซีพีเอฟ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า  ไสวฟาร์มเข้าร่วมเป็นเกษตร Contract Farming ในโครงการส่งเสริมการเลี้ยงไก่กระทง แม่สอด จ.ตาก มาตั้งแต่ปี 2550 โดยเลี้ยงไก่กระทง แบบฝากเลี้ยง จำนวน 12,000 ตัว จำนวน 1 โรงเรือน ซึ่งซีพีเอฟได้ทำประกันภัยให้ฟาร์มของตนเองตั้งแต่ปี 2560 ที่ผ่านมา ทั้งนี้เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาได้เกิดภัยธรรมชาติทำให้ฟาร์มไก่กระทงของตนเองเกิดความเสียหายแก่โรงเรือนและอุปกรณ์เลี้ยงไก่ ซึ่งปรากฏว่าได้รับความคุ้มครองจากบมจ.กรุงเทพประกันภัย โดยได้รับสินไหมทดแทนเต็มจำนวน นำมาซ่อมแซมโครงสร้างของโรงเรือน  รู้สึกดีใจมาก เป็นเพราะซีพีเอฟได้ทำประกันภัยให้ทำให้ตนไม่ต้องเดือดร้อนกับภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ทั้งนี้โครงการ Contract Farming ทำให้มีรายได้มั่นคง สามารถยึดเป็นอาชีพหลักเลี้ยงครอบครัวได้

จาก www.bangkokbiznews.com   วันที่ 29 พฤศจิกายน 2561

ชาวไร่อ้อยโอดราคาตกต่ำ ขายได้ไม่คุ้มทุน วอนรัฐหามาตรการช่วยเหลือเร่งด่วน

วันนี้ (29 พฤศจิกายน 2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากมีการเปิดรับซื้ออ้อยประจำฤดูการผลิตปี 2561/2562 โดยมีการประกาศราคาขั้นต้นที่ 700 บาทต่อตัน สืบเนื่องมาจากน้ำตาลในระบบของตลาดทั่วโลกมีมากเกินความต้องการ หลังจากผลผลิตน้ำตาลในหลายประเทศซึ่งเป็นคู่แข่งในการส่งออกน้ำตาลมีผลผลิตเพิ่มมากขึ้น เพราะสภาพอากาศเอื้ออำนวย ทำให้เกษตรกรหลายรายเริ่มบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่าราคาที่ได้ต่ำกว่าราคาที่ควรจะเป็น

จากการลงพื้นที่สอบถามนางสมควร แก้วประกาย เกษตรกรผู้ปลูกอ้อย ในตำบลโคกกระเบื้อง อำเภอบ้านเหลื่อม จังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า ทันทีที่โรงงานเปิดรับซื้ออ้อยก็ได้ว่าจ้างให้คนมาทำการตัดอ้อยเพื่อส่งโรงงานทันที เพราะกลัวจะตัดส่งโรงงานก่อนปิดหีบอ้อยไม่ทันจนต้องมีผลผลิตตกค้างเป็นจำนวนมาก ส่วนในด้านราคาอ้อยที่มีการประกาศล่าสุดนั้น ถือว่าลดลงกว่าปีที่แล้วค่อนข้างมาก เมื่อรวมค่าความหวานและค่าเงินช่วยเหลือต่างๆแล้วจะได้ราคาตันละไม่ถึงหนึ่งพันบาท ซึ่งไม่คุ้มค่ากับการลงทุน เนื่องจากในการลงทุนปลูกอ้อยจะมีทั้งค่าพันธุ์ ค่าปุ๋ย ค่าแรงงานในการตัด ค่าขนย้ายส่งโรงงาน

อยากวอนไปยังหน่วยงานภาครัฐให้หามาตรการในการช่วยแก้ปัญหาราคาอ้อยตกต่ำอย่างเร่งด่วนด้วย หลังจากนี้อาจจะมีการปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นๆหมุนเวียนเพิ่มเติม เพราะไม่มั่นใจราคาการรับซื้ออ้อยในปีหน้าว่าจะลดลงมากกว่านี้อีกหรือไม่

จาก https://www.matichon.co.th   วันที่ 29 พฤศจิกายน 2561

เปิดประชาพิจารณ์ค่าอ้อยอีกระรอก4ธ.ค.เด้งรับชาวไร่ดันเป็น700บ./ตัน

เปิดประชาพิจารณ์ราคาอ้อยขั้นต้นฤดูผลิตปี 61/62 วันที่ 4 ธ.ค.นี้ดันราคาอ้อยขยับเป็น 700 บาทต่อตันหลังชาวไร่ไม่รับตัวเลข 680 บาทต่อตัน พร้อมชง"กอน."เคาะวันเดียวกัน หลังราคาตลาดโลกขยับ ขณะที่"สอน."ยันจ่อเสนอ"อุตตม"เสนอครม.ประกาศได้ภายในธ.ค.นี้

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทยและหัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 7 เปิดเผยว่า วันที่ 4 ธ.ค.นี้จะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2561/62 ที่ 700 บาทต่อตันจากนั้นจะนำเสนอให้คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.)ที่มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานเห็นชอบในวันเดียวกันซึ่งราคาดังกล่าวเป็นไปตามที่ชาวไร่อ้อยได้เสนอให้มีการทบทวนจากเดิมที่ก่อนหน้าคณะกรรมการบริหาร(กบ.)เสนอตัวเลขไว้ที่ 680 บาทต่อตัน

" ก่อนหน้านี้ทางกบ.ได้มีการเสนอตัวเลขไว้ที่ 860 บาทต่อตันและเปิดประชาพิจารณ์เมื่อ 22 พ.ย.แต่ชาวไร่ไม่เห็นด้วยจึงทำให้กบ.ไปทบทวนใหม่เนื่องจากชาวไร่เห็นว่าราคาตลาดโลกที่นำมาคำนวณมีการปรับเพิ่มขึ้นประกอบกับการขายน้ำตาลล่วงหน้าของบ.อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัดก็ได้ราคาที่สูง จึงให้ปรับตัวเลขราคาน้ำตาลทรายดิบเพื่อการคำนวณจากเดิมกำหนดไว้ 12.84 เซนต์ต่อปอนด์เป็น 13.50 เซนต์ต่อปอนด์แทนทำให้ราคาขยับขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือให้ชาวไร่ได้มีราคาที่ดีขึ้น"นายนราธิปกล่าว

สำหรับก่อนหน้านี้ที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้อนุมัติช่วยปัจจัยการผลิตอ้อยเพื่อบรรเทาผลกระทบราคาอ้อยตกต่ำไม่เกิน 50 บาทต่อตันแก่ชาวไร่ 11 ล้านรายทั่วประเทศ วงเงิน 6,500 ล้านบาทนั้นทางสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.)แจ้งเบื้องต้นว่าจะจ่ายให้ชาวไร่อ้อย 2 งวดคือเดือนก.พ.62และหลังปิดหีบโดยจ่ายผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ส่วนกรณีการนำเงินล่วงหน้าจากส่วนต่างราคาน้ำตาลในฤดูหีบ 61/62 ให้โรงงานทดลองจ่ายก่อน 70 บาทต่อตันนคิดเป็นวงเงิน 9,000 ล้านบาทกำลังหารือร่วมกับโรงงานว่าจะทยอยจ่ายหรือไม่อย่างไร

นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการสอน. กล่าวว่า คาดว่าภายในเดือนธันวาคมนี้จะเร่งสรุปการประกาศราคาอ้อยขั้นปลายฤดูการผลิตปี 2560-61 เฉลี่ยอยู่ที่ 792 บาทต่อต้นอ้อยต่ำกว่าขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2560/61ที่ราคา 880 บาทต่อตันอ้อยที่กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย(กท.)จะต้องจ่ายชดเชยคืนให้โรงงาน และการประกาศราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 61/62 ที่จะขยับเป็น 700 บาทต่อตันเสนอต่อนายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรมเพื่อนำเสนอต่อครม.เห็นชอบได้ภายในกลางธ.ค.นี้

นายวีระศักดิ์ ขวัญเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวว่า ราคาอ้อยขั้นสุดท้าย60/61ที่ต่ำกว่าขั้นต้นซึ่งล่าสุดกอน.ได้เห็นชอบแล้วนั้นตามระเบียบที่กองทุนฯต้องจ่ายคืนโรงงานนั้นคิดเป็นเงินประมาณ 5,500 ล้านบาทก็จะใช้วิธีบริหารจัดการกับเงินสดของกองทุนฯที่อยู่ 9,000 กว่าล้านบาทซึ่งยอมรับว่าไม่เพียงพอเบื้องต้นจึงคาดว่าจะค้างจ่ายแล้วใช้วิธีผ่อนชำระซึ่งแผนการชำระเงินทั้งหมดจะมีการเสนอบอร์ดกองทุนฯเห็นชอบต่อไป

"ขณะนี้โรงงานน้ำตาลทยอยเปิดหีบแล้วตั้งแต่ 20 พ.ย.ซึ่งชาวไร่อ้อยมองว่าผลผลิตอ้อยปี 61/62 น่าจะไม่เกิน 120 ล้านตัน ขณะที่ทางสอน.คาดไว้ว่าจะอยู่ระดับ 126 ล้านตัน เนื่องจากอ้อยส่วนหนึ่งเจอฝนแล้ง ความยาวอ้อยสั้นลง "นายวีระศักดิ์กล่าว

จาก https://mgronline.com  วันที่ 29 พฤศจิกายน 2561

เปิดประชาพิจารณ์ราคาอ้อย

นายนราธิป  อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในวันที่ 4 ธ.ค.นี้จะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2561/62 ที่ 700 บาทต่อตัน ของชาวไร่อ้อยทั่วประเทศ จากนั้นจะนำเสนอให้คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) พิจารณาอนุมัติในวันเดียวกัน ซึ่งราคาดังกล่าวเป็นไปตามที่ชาวไร่อ้อยได้เสนอให้มีการทบทวนจากเดิมที่ก่อนหน้าคณะกรรมการบริหาร (กบ.) เสนอตัวเลขไว้ที่ 680 บาทต่อตัน

“ก่อนหน้านี้ กบ.ได้มีการเสนอตัวเลขไว้ที่ 860  บาทต่อตันและเปิดประชาพิจารณ์เมื่อ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา แต่ชาวไร่ไม่เห็นด้วยจึงทำให้ กบ.ไปทบทวนใหม่เนื่องจากขาวไร่เห็นว่าราคาตลาดโลกที่นำมาคำนวณมีการปรับเพิ่มขึ้นประกอบกับการขายน้ำตาลล่วงหน้าของบริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด ก็ได้ราคาที่สูง จึงได้ปรับตัวเลขราคาน้ำตาลทรายดิบเพื่อการคำนวณจากเดิมกำหนดไว้ 12.84 เซนต์ต่อปอนด์เป็น 13.50 เซนต์ต่อปอนด์แทนทำให้ราคาขยับขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือให้ชาวไร่ได้มีราคาที่ดีขึ้น”

สำหรับก่อนหน้านี้ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติช่วยปัจจัยการผลิตอ้อยเพื่อบรรเทาผลกระทบราคาอ้อยตกต่ำไม่เกิน 50 บาทต่อตัน แก่ชาวไร่ 11 ล้านรายทั่วประเทศ วงเงิน 6,500 ล้านบาท ล่าสุดสำนักคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้แจ้งว่าจะช่วยให้ชาวไร่อ้อยในเดือน ก.พ.2562 และหลังปิดหีบอ้อย อีกรอบหนึ่ง โดยจ่ายผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ส่วนกรณีการนำเงินล่วงหน้าจากส่วนต่างราคาน้ำตาลในฤดูหีบ 2561/62 ให้โรงงานทดรองจ่ายก่อน 70 บาทต่อตัน คิดเป็นวงเงิน 9,000 ล้านบาทกำลังหารือร่วมกับโรงงานน้ำตาลว่าจะทยอยจ่ายหรือไม่อย่างไร

นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่าในเดือน ธ.ค.นี้จะเร่งสรุปการประกาศราคาอ้อยขั้นปลายฤดูกี่ผลิตปี 2560/61 เฉลี่ยอยู่ที่ 792 บาทต่อตันอ้อย ต่ำกว่าขั้นต้นฤดูการผลิตปี  2560/61ที่ราคา 880 บาทต่อตันอ้อย ที่กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย((กท.) จะต้องจ่ายชดเชยคืนให้โรงงาน และการประกาศราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2561/62  ที่จะขยับเป็น 700 บาทต่อตันเสนอต่อนายอุตตม  สาวนายน รมว.อุตสาหกรร เพื่อนำเสนอต่อ ครม.เพื่อให้เห็นชอบได้ภายในเดือน ธ.ค.นี้

จาก www.thairath.co.th  วันที่ 29 พฤศจิกายน 2561

วางแผน4ขั้นตอนเผชิญเหตุภัยแล้ง เกษตรฯเดินหน้าปรับแผนปลูกพืชลดพื้นที่เสี่ยงวิกฤติ

นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ร่วมวางแผนป้องกันและเผชิญเหตุภัยแล้งด้านการเกษตร กับหน่วยงานต่าง ๆ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ใน 4 ขั้นตอน ประกอบด้วย 1.การป้องกัน โดยทำบัญชีน้ำและสรรพกำลัง (คน เครื่องจักร อาหาร ยาสัตว์ พันธุ์พืช/สัตว์) ประเมินพื้นที่เสี่ยง สร้างการรับรู้ จัดทำบ่อ/ฝาย เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและบำรุงรักษาแหล่งน้ำเพื่อเพิ่มปริมาณกักเก็บ 2.เตรียมการ โดยสำรองเวชภัณฑ์ เสบียงสัตว์ ภาชนะระบบน้ำหยด ประเมินแนวโน้มข้อพิพาทปัญหาการแย่งน้ำ และรายงานสถานการณ์ 3.กรณีเผชิญเหตุ เตรียมร้องขอเพื่อสนับสนุนน้ำ เวชภัณฑ์ เสบียงสัตว์ การขนส่ง จุดรับน้ำ วางแผนจัดสรร เจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาท บริหารจุดอพยพ พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารอย่างทันต่อสถานการณ์ 4.หากต้องฟื้นฟู เตรียมการประเมินขนาดความรุนแรง การช่วยเหลือเฉพาะหน้า สนับสนุนเงินทุนพัฒนาการผลิต/ปรับเปลี่ยนอาชีพให้เหมาะสมกับภูมิประเทศหรือจัดสร้างแหล่งน้ำ รวมถึงการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังต่อไป

สำหรับกรมส่งเสริมการเกษตร วางแผนส่งเสริมการปลูกพืชให้แก่เกษตรกร โดยเฉลี่ยพื้นที่ปลูกข้าวรอบ 2 ปลูกพืชไร่ และปลูกพืชผัก ตามสัดส่วนความเหมาะสม เพื่อป้องกันความเสี่ยงและลดผลกระทบต่อเกษตรกร มีการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำเพื่อการเกษตรด้วยการส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อย ใน 2 โครงการคือ โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลายฤดูนาปรัง และโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทํานา ซึ่งมีการวางแผนการตลาด ประสานเอกชนรับซื้อผลผลิตการเกษตรให้แก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมงานหัตถกรรม หรือปรับเปลี่ยนเป็นการเลี้ยงปศุสัตว์ทดแทนการปลูกพืชในกรณีเข้าสู่สถานการณ์ฝนทิ้งช่วง

อย่างไรก็ตาม อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เร่งกำชับเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรทุกภูมิภาคเดินหน้าสร้างการรับรู้ และความเข้าใจให้แก่เกษตรกร ถึงผลประโยชน์ที่เกษตรกรจะได้รับจากการเข้าร่วมโครงการดังกล่าว เพื่อลดความเสี่ยงที่ผลผลิตจะได้รับความเสียหาย ประกอบกับเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของเกษตรกรในการป้องกันบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้นด้วย

จาก https://www.naewna.com  วันที่ 29 พฤศจิกายน 2561

จับตาชาวไร่อ้อยเลิกปลูก 2 ล้านไร่หลังราคาดิ่ง

นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า จากการที่ราคาน้ำตาลโลกตกต่ำมาต่อเนื่อง 2 ปี คาดว่าจะทำให้ปริมาณการปลูกอ้อยของทั้งโลกและประเทศไทยลดลง โดยในส่วนของไทยคาดว่าฤดูการผลิตในปี 2563/64 ปริมาณอ้อยจะลดลงจากปัจจุบันที่ 120 ล้านตัน ลดลงเหลือ 100 ล้านตัน และพื้นที่ปลูกอ้อยจะลดลงจาก 11 ล้านตัน ลงเหลือประมาณ 9 ล้านไร่ เนื่องจากเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่เคยปลูกพืชจะกลับไปปลูกพืชเดิมเพราะราคาไม่จูงใจเมื่อเทียบกับพืชชนิดอื่น อาทิ มันสำปะหลัง ข้าว และบางส่วนอยู่พื้นที่ไกลน้ำ ใกล้เคียงกับภาวะปกติที่มีพื้นที่ประมาณ 9-10 ล้านไร่ โดยที่ผ่านมาพื้นที่ปลูกอ้อยที่เพิ่มขึ้นมาจากนโยบายส่งเสริมให้ชาวนาที่มีพื้นที่เพาะปลูกไม่เหมาะสมเปลี่ยนไปปลูกอ้อย ทำให้มีพื้นที่และปริมาณอ้อยเพิ่มขึ้น ขณะที่ตลาดรองรับสินค้าภายในประเทศมีเท่าเดิม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งทำให้ราคาอ้อยตกต่ำ

นางวรวรรณกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม มองว่าการที่จะเพิ่มการใช้อ้อยให้เพิ่มขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และเห็นชัดที่สุด ก็คือการนำไปผลิตเป็นพลังงาน โดยการเพิ่มสัดส่วนของเอทานอลในน้ำมันแก๊สโซฮอล์ให้มากขึ้น จากปัจจุบันที่ไทยใช้แก๊สโซฮอล์ อี 10, อี 20 และอี 85 รวมทั้งหมดนี้จะใช้เอทานอลผสมเฉลี่ยจากทุกประเภทประมาณ 13% ซึ่งควรขยับไปที่ 15% จะทำให้มีความต้องการเอทานอลเพิ่มขึ้นประมาณ 5.2 แสนลิตรต่อวัน ทำให้ยอดการใช้เอทานอลรวมทั้งหมดอยู่ที่ 4.64 ล้านลิตรต่อวัน มีปริมาณอ้อยที่ต้องการเพิ่มขึ้น 2.7 ล้านตัน และมีรายได้จากการผลิตเอทานอลเพิ่มขึ้น 4,443 ล้านบาท

“จากการหารือกับสมาคมผู้ผลิตรถยนต์ต่างรับรองว่าสามารถใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ ที่ผสมเอทานอล 15% หรือ อี15 ได้อย่างไม่มีปัญหา เพราะรถยนต์ตั้งแต่หลังปี 2543 สามารถเติมแก๊สโซฮอล์อี 20 ได้อยู่แล้ว ซึ่งหากเพิ่มสัดส่วนการใช้เอทานอลมากขึ้น ก็จะช่วยดูดซับปริมาณอ้อยในตลาดได้มากขึ้นด้วย” นางวรวรรณกล่าว

จาก https://www.matichon.co.th   วันที่ 28 พฤศจิกายน 2561

สศอ. เผย รถยนต์ บุหรี่ น้ำตาลทราย น้ำมันปิโตรเลียม เครื่องปรับอากาศเป็นอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวก

สศอ. เผย ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนตุลาคม 2561ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.08  จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งรถยนต์และเครื่องยนต์ บุหรี่ น้ำตาลทราย น้ำมันปิโตรเลียม เครื่องปรับอากาศ และชิ้นส่วน เป็นอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวก

นายอดิทัต วะสีนนท์  รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index - MPI)  ประจำเดือนตุลาคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 4.08              จากช่วงเดียวกันของปีก่อน   โดย 10  เดือนแรกของปี 2561  MPI ขยายตัวร้อยละ 3.04    อัตราการใช้กำลังการผลิต   เดือนตุลาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ  67.75  โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลบวกในเดือนตุลาคม 2561 ได้แก่  รถยนต์และเครื่องยนต์ บุหรี่ น้ำตาลทราย น้ำมันปิโตรเลียม และเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน

อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ประจำเดือนตุลาคม ได้แก่รถยนต์และเครี่องยนต์  ขยายตัวร้อยละ 16.73   เกือบทุกรายการสินค้าโดยเฉพาะเครื่องยนต์ดีเซล รถบรรทุกปิคอัพ และรถยนต์นั่งขนาดกลาง ตามการขยายตัวของตลาดในประเทศ เป็นหลักจากการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ บุหรี่  ขยายตัวร้อยละ 434.61    จากฐานต่ำในปีก่อนที่เริ่มต้นบังคับใช้ พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 ส่งผลให้ราคาบุหรี่ในตลาดมีความผันผวนกระทบต่อคำสั่งซื้อโรงงานยาสูบจึงหยุดผลิตเป็นเวลา 2 สัปดาห์  น้ำตาลทราย  ขยายตัวร้อยละ 145.09   จากผลผลิตอ้อยที่มีมากกว่าปกติทำให้โรงงานปิดหีบช้ากว่าปีก่อน จึงยังมีการแปรสภาพน้ำตาลทรายดิบเป็นน้ำตาลทรายขาว

น้ำมันปิโตรเลียม  ขยายตัวร้อยละ 9.84 จากน้ำมันแก๊สโซฮอล 95 น้ำมันดีเซล และน้ำมันเบนซินออกเทน 91   เป็นหลักตามความต้องการใช้น้ำมันเพื่อการคมนาคมและการขนส่งในประเทศที่เพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตต่อเนื่อง เครื่องปรับอากาศ และชิ้นส่วน  ขยายตัวร้อยละ 18.54  ตามการขยายตัวของตลาดในประเทศ จากการทำกิจกรรมทางการตลาดเพื่อกระตุ้นการตัดสินใจและเพิ่มยอดขายของผู้ผลิต และการส่งออกยังคงเป็นคำสั่งซื้อจากตลาดญี่ปุ่น เป็นหลัก รวมถึงคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากลูกค้าแอฟริกา และอินโดนีเซีย

สำหรับแนวโน้มภาวะอุตสาหกรรมสำคัญในปี 2562   เช่นอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์  คาดว่าจะมีการผลิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.5  เมื่อเทียบกับปีเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เพิ่มขึ้น และตามความต้องการของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อุตสาหกรรมรถยนต์ คาดว่าจะมีการผลิตรถยนต์ประมาณ 2,200,000 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 4.76 เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศจะขยายตัว จากการใช้จ่ายของภาคเอกชนทั้งการบริโภคและการลงทุนที่จะขยายตัวดีขึ้น อันเนื่องจากเกิดความเชื่อมั่นของนักลงทุนจากเสถียรภาพทางการเมือง ประกอบกับการลงทุนของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง และการส่งออก  มีแนวโน้มขยายตัวตามอุปสงค์โลก อย่างไรก็ตามยังต้องคำนึงถึงผลของสงครามการค้า สหรัฐ-จีน ด้วย

อุตสาหกรรมอาหาร  คาดว่าขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.5  จากปัจจัยบวก    อย่างเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวระดับใกล้เคียงปีก่อน ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าด้วยทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นของสหรัฐอเมริกา ปี 2562  ประกอบกับแนวโน้มราคาส่งออกสินค้าเกษตรปรับตัวเพิ่มขึ้น อาทิ ข้าว น้ำตาลทราย      แป้งมันสำปะหลัง และสับปะรดกระป๋อง รวมทั้งการขยายตัวต่อเนื่องของสินค้าสำคัญ เช่น ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ไก่แปรรูป และทูน่ากระป๋อง นอกจากนี้ คาดว่าสินค้าสำคัญอีกรายการที่จะกลับมาขยายตัว คือ กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง

อุตสาหกรรมสิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่ม คาดว่าการผลิตเส้นใยสิ่งทอจะขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2561 โดยเฉพาะเส้นใยสังเคราะห์ และเส้นใยสมบัติพิเศษ  ส่วนอุตสาหกรรมเหล็ก คาดว่าการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปรับเพิ่มขึ้นทั้งผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาวและกลุ่มเหล็กทรงแบน จากคำสั่งซื้อที่ปรับเพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ผลจาก        การก่อสร้างที่ขยายตัวตามแรงสนับสนุนของภาครัฐ และการขยายตัวของการก่อสร้างที่อยู่อาศัยของภาคเอกชน  โดยเฉพาะการก่อสร้างที่อยู่อาศัยตามแนวรถไฟฟ้า

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 27 พฤศจิกายน 2561

กรมชลประทาน...น้อมนำเกษตรทฤษฎีใหม่ พัฒนาแหล่งน้ำสู่ความยั่งยืน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริ "เกษตรทฤษฎีใหม่" เพื่อใช้เป็นแนวทางหรือหลักการในการจัดการทรัพยากรระดับไร่นา คือที่ดินและน้ำ เพื่อการเกษตรในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้น้อมนำแนวพระราชดําริ “เกษตรทฤษฎีใหม่” มาขับเคลื่อนขยายผลให้เกิดความสำเร็จเป็นรูปธรรม ผ่าน “โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่” โดยประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับแต่ละภูมิสังคม ตามแผนขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศตามศาสตร์พระราชาของรัฐบาล

ที่ผ่านมา มีเกษตรกรจำนวนมากประสบผลสำเร็จจากการนำแนวความคิดเกษตรทฤษฎีใหม่ไปปรับใช้ สามารถปลดหนี้สิน ครอบครัวมีความสุขบนพื้นฐานของความพอเพียง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงมีเป้าหมายในการขยายผลทฤษฎีใหม่ให้ครอบคลุมทั้งประเทศปีละ 70,000 ราย ใน 882 อำเภอ เฉลี่ยอำเภอละ 80 ราย เพื่อเป็นต้นแบบของการยกระดับคุณภาพชีวิต

กรมชลประทาน เป็นหนึ่งหน่วยงานหลักที่เป็นแหล่งข้อมูลความรู้เรื่องน้ำ ปัจจัยสำคัญหลักในการทำการเกษตร ได้ร่วมสืบสานแนวพระราชดำริ “เกษตรทฤษฎีใหม่” และขับเคลื่อนการขยายผล “โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่”

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทาน ได้น้อมนำศาสตร์พระราชาในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร คือ “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” และ “เกษตรทฤษฎีใหม่” มาใช้ในพื้นที่การเกษตรทั้งในและนอกเขตชลประทาน และได้วางเป้าหมายที่จะขยายผลเกษตรทฤษฎีใหม่ให้กว้างขวางออกไปมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเป็นแนวทางที่จะพัฒนาการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน เนื่องจากเป็นวิธีที่เน้นการอนุรักษ์ทรัพยากรดิน ทรัพยากรน้ำ การเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำเป็นหลัก และเป้าหมายสุดท้าย คือ เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถลดหนี้สิน

รวมทั้ง กรมชลประทาน ยังได้ดำเนินการขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2505 จวบจนปัจจุบัน มีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ จำนวน 3,089 โครงการ โดยดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ จำนวน 2,809 โครงการ อยู่ระหว่างดำเนินการ 180 โครงการ และมีโครงการที่ยังไม่ได้ดำเนินการก่อสร้าง 100 โครงการ พร้อมดูแล บำรุงรักษา พัฒนาแหล่งน้ำ ตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน โดยประยุกต์ใช้น้ำในพื้นที่ ควบคู่การส่งเสริมเกษตรกรใช้แนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ จนประสบผลสำเร็จ

ดังเช่น โครงการพัฒนาลุ่มน้ำป่าสักอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงให้กรมชลประทาน ศึกษาความเหมาะสมของโครงการเขื่อนเก็บกักน้ำแม่น้ำป่าสักอย่างจริงจัง เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำและบรรเทาอุทกภัยในเขตลุ่มน้ำป่าสัก ต่อมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2537 อนุมัติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการก่อสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำแม่น้ำป่าสัก ประกอบด้วยแผนงานหลัก 2 แผนงาน คือ แผนงานก่อสร้างโครงการและงานแก้ไขพัฒนาสิ่งแวดล้อม และแผนงานพัฒนาอาชีพให้แก่ราษฎรในพื้นที่โครงการพัฒนาลุ่มน้ำป่าสัก โดยระยะแรกของการดำเนินงาน คณะอนุกรรมการพัฒนาอาชีพให้แก่ราษฎรได้มีนโยบายให้เร่งรัดพัฒนาอาชีพที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนก่อน ทั้งระยะสั้น และระยะยาว เพื่อให้เกษตรกรมีอาชีพและรายได้ที่ยั่งยืน ทำให้เกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าวมีรายได้เพิ่มขึ้น

โครงการพัฒนาลุ่มน้ำป่าสักอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ช่วยสร้างประโยชน์มากมาย ได้แก่ เป็นแหล่งสำหรับอุปโภค-บริโภคของชุมชนต่างๆ ในเขตจังหวัดลพบุรี (อำเภอลำนารายณ์ และอำเภอพัฒนานิคม) และจังหวัดสระบุรี (อำเภอวังม่วง และอำเภอแก่งคอย ) และชุมชนขนาดย่อมใกล้เคียง รวมทั้งเป็นแหล่งน้ำสำหรับการเกษตร สำหรับพื้นที่ชลประทานที่จะเกิดขึ้นใหม่ในเขตจังหวัดลพบุรี และสระบุรี 174,500 ไร่ ได้แก่ แก่งคอย-บ้านหมอ 86,700 ไร่ พัฒนานิคม 29,300 ไร่ พัฒนานิคม-แก่งคอย 28,500 ไร่ จัดหาน้ำเพื่อการเกษตร จังหวัดลพบุรี 30,000 ไร่เป็นแหล่งน้ำเสริมสำหรับพื้นที่ชลประทานเดิมในทุ่งเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง เนื้อที่ประมาณ 2,200,000 ไร่ ซึ่งช่วยลดการใช้น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา โดยนำน้ำจากแม่น้ำป่าสักไปใช้ในแถบจังหวัดลพบุรีและสระบุรีโดยตรง อีกทั้งเป็นแหล่งน้ำเพื่อการอุตสาหกรรมในเขตจังหวัดลพบุรีและสระบุรี

ที่สำคัญช่วยป้องกันอุทกภัยพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำป่าสัก ในเขตจังหวัดลพบุรีและสระบุรี และยังมีผลช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ตอนล่างของแม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงกรุงเทพฯ และปริมณฑล และเป็นแหล่งน้ำเสริมเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ช่วยแก้ปัญหาน้ำเสียในลุ่มแม่น้ำป่าสักตอนล่างพัฒนาการคมนาคมทางน้ำในแม่น้ำป่าสักตอนล่าง นอกจากนี้ อ่างเก็บน้ำที่เกิดขึ้นจะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาและเป็นแหล่งประมงน้ำจืดขนาดใหญ่ และเป็นแหล่งท่องเที่ยว พักผ่อนหย่อนใจอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย

สำหรับผลการดำเนินงานในช่วง ปี 2557-2561 สามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 2.83 ล้านไร่ ปริมาตรน้ำเก็บกัก 1,652.54 ล้าน ลบ.ม. นอกจากนี้ กรมชลประทาน ยังได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) ในด้านการพัฒนาแหล่งน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทาน ตามนโยบายรัฐบาล ที่ให้ความสำคัญในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ โดยกำหนดเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ชลประทาน จำนวน 17.95 ล้านไร่ ส่งผลให้มีการพัฒนาพื้นที่ชลประทานทั้งหมด 49.84 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 82.67 ของพื้นที่ศักยภาพ และกำหนดเป้าหมายปริมาตรน้ำเก็บกักเพิ่มขึ้น 13,243 ล้าน ลบ.ม.

อย่างไรก็ตาม ดร.ทองเปลว กองจันทร์ กล่าวย้ำว่า การขับเคลื่อนขยายผลโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่สู่ความสำเร็จได้ กรมชลประทาน ได้ร่วมบูรณาการความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ เช่น ภาครัฐ ภาคประชาชน ภาคเอกชน เพื่อสานต่อเกษตรทฤษฎีใหม่ ยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกร และประชาชนทั่วไป สู่ความมั่นคง และยั่งยืน

จาก https://siamrath.co.th  วันที่ 27 พฤศจิกายน 2561

บาทเปิด 33.02/04 ทรงตัว ไร้ปัจจัยใหม่

เงินบาทเปิดตลาด 33.02/04 ทรงตัวจากวานนี้ ไร้ปัจจัยใหม่ มองกรอบวันนี้ 33.00-33.10นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ระดับ 33.02/04 บาท/ดอลลาร์ ทรงตัวในระดับเดียวกับปิดตลาดเย็นวานนี้ เนื่องจากตลาดยังไม่มีปัจจัยใหม่เข้ามา

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ระดับ 33.02/04 บาท/ดอลลาร์ ทรงตัวในระดับเดียวกับปิดตลาดเย็นวานนี้ เนื่องจากตลาดยังไม่มีปัจจัยใหม่เข้ามา"บาททรงตัวในระดับเดียวกับเย็นวานนี้

เนื่องจากยังไม่มีปัจจัยใหม่เข้ามา" นักบริหารเงิน กล่าวนักบริหารเงินคาดกรอบการเคลื่อนไหวจของเงินบาทวันนี้ไว้ที่ 33.00-33.10 บาท/ดอลลาร์

จาก https://www.posttoday.com วันที่ 27 พฤศจิกายน 2561

ร้องถูกมือดีเผาไร่อ้อยเสียหายกว่า2700ไร่

ชาวไร่อ้อย หมู่ 4 หมู่ 6 หมู่ 11 หมู่ 13 และ หมู่ 17 ต.หนองมะค่าโมง ต.หนองมะค่าโมง อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี กว่า 60 ราย  เดินทางเข้ายืนหนังสือร้องเรียน เพื่อขอความช่วยเหลือ หลังจากถูกมือดีเผาไร่อ้อย เสียหายกว่า 2,700 ไร่ ขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ด่านช้าง และ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง อ.ด่านช้าง ช่วยเหลือสืบสวนติดตามคนร้ายมือดีเผาไร่อ้อยมาลงโทษด้วย โดยชาวไร่ได้รวมตัวกันมายืนหนังสือกับ พ.ต.ท พีรพงษ์ ตนะทิพย์ สว.สืบสวน สภ.ด่านช้าง  ผ่านไปให้กับ พ.ต.อ.กรกฏ โปชยะวณิช ผกก สภ.ด่านช้าง ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ร่วมกับนายชาติชาย กัณฑเกตุ ปลัดอำเภอหัวหน้าฝ่ายความมั่นคง รับหนังสือร้องเรียน จากนั้นได้นำกำลังลงพื้นที่ตรวจสอบเบื้องต้นทราบว่าไม่น่าจะไฟไหม้ขึ้นมาเองหรือไม่ได้เจตนาให้ไฟไหม้อ้อย เหตุไฟไหม้ครั้งนี้น่าจะเป็นการจงใจมีคนจุดไฟเผาอ้อยให้เสียหายมากกว่า อย่างไรก็ตามทางเจ้าหน้าที่จะเร่งสืบสวนติดตามคนร้ายและช่วยกันป้องกันเหตุไม่ให้ถูกมือดีเผาอ้อยเสียหายเพิ่มขึ้นอีก  ชาวบ้านวอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตั้งกล้องวงจรปิดตามจุดเสี่ยง ที่ถูกมือดีจุดไฟเผาเป็นประจำทุกปี เพื่อจะได้จับภาพไว้เป็นหลักฐาน

ซึ่งที่ผ่านมาไร่อ้อยถูกมีดีจุดไฟเผาก่อนที่จะเก็บเกี่ยวผลผลิตเสียหาย กว่า 2,700ไร่ ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนหนัก ในปีนี้ต้นทุนการปลูกอ้อยสูงทั้งราคาปุ๋ยราคายาก็แพงขึ้น ชาวไร่ต้องลงทุนทำไร่อ้อยไร่ละ 7-8 พันบาท  จากปกติปีที่ผ่านมาราคาอ้อยตันละกว่า 900 บาท แต่มาในปีนี้ราคาเพียงแค่ตันละ 680-700 บาทเท่านั้น ชาวไร่อ้อยก็ได้รับความเดือนร้อนจากราคาอ้อยตกต่ำแล้ว ยังมาถูกมือดีเผาไร่อ้อย เสียหายเป็นวงกว้างทำให้ชาวไร่ได้รับความเดือนร้อนหนัก 

 เนื่องจากอ้อยที่โดนไฟไหม้อ้อยแบบนี้ แล้วโรงงานก็ยังไม่เปิดอ้อยก็จะเหี่ยวแห้งลงทุกวัน ทั้งน้ำหนักอ้อยและความหวานของอ้อยก็จะลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะว่าโรงงานน้ำตาลยังไม่ได้เปิดรับหีบอ้อย กว่าโรงงานจะเปิดรับอ้อย ก็ราววันที่ 5 ธ.ค.ทำให้อ้อยที่ถูกไฟไหม้ได้รับความเสียหาย ชาวไร่จึงรวมตัวกันมายื่นหนังสือขอให้เจ้าหน้าตำรวจและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง อ.ด่านช้าง เร่งสืบสวนติดตามหาคนร้ายที่จุดไฟเผาอ้อยในครั้งนี้มาดำเนินคดี

 ด้านนายสิทธิศักดิ์  แย้มพรายภิรมย์ นายอำเภอด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี เปิดเผยว่ามอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมเพื่อหารือวางมาตรการและแนวทางป้องกันการลักลอบจุดไฟเผาไร่อ้อยของเกษตรกรในพื้นที่ ก่อนฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิต ล่าสุดได้มอบหมายให้นายชาติชาย กัณฑเกตุ ปลัดอำเภอหัวหน้าฝ่ายความมั่นคง ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ด่านช้าง ร่วมกับ กำนัน – ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน และกลุ่มชาวบ้านผู้ปลูกอ้อย ร่วมประชุมหาแนวทางแก้ไขปัญหาไร่อ้อยถูกมือดีจุดไฟเผาเสียหาย ณ ศาลาวัดหนองแจ้ง หมู่ 4 ต.หนองมะค่าโมง อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี 

 โดยทางเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ขอให้ชาวไร่ในพื้นที่ช่วยกันคอยเฝ้าระวัง คอยเป็นหูเป็นตาให้ทางเจ้าหน้าที่ภาครัฐด้วย หากพบบุคคลต้องสงสัยในพื้นที่ และให้กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน จัดชุดรักษาความสงบหมู่บ้านทั้ง หมู่ 4 หมู่ 6 หมู่ 11 หมู่ 13 และ หมู่ 17 ต.หนองมะค่าโมง ร่วมกันจัดเวนยามตระเวนในพื้นที่ทั้งกลางวันและกลางคืน เพื่อช่วยกันป้องกันการก่อเหตุ ตลอด 24 ชั่วโมง และทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ด่านช้าง จัดชุดเจ้าหน้าที่ออกตรวจภายในพื้นที่เป้าหมาย  ส่วนฝ่ายความมั่นคงก็จะจัดชุดเฉพาะกิจออกลาดตระเวนเป็นชุดเคลื่อนที่เร็ว ณ จุดเกิดเหตุฯ/เป้าหมาย หากพบผู้กระทำความผิด (ลักลอบจุดไฟเผาไร่อ้อย) จะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเฉียบขาด

จาก www.banmuang.co.th  วันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ไทยจัดประชุมเศรษฐกิจอาเซียน

กระทรวงพาณิชย์ เปิดฉากจัดประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ 29-30 พฤศจิกายนนี้ หลังจากไทยรับตำแหน่งประธานอาเซียนต่อจากสิงคโปร์

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ จะเป็นเจ้าภาพ จัดการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ระหว่างวันที่ 29-30 พฤศจิกายนนี้ ที่กรุงเทพฯ โดยการประชุมในครั้งนี้ ถือเป็นการประชุมด้านเศรษฐกิจครั้งแรกของไทยในฐานะประธานอาเซียน ปี 2562  ซึ่งจะเน้นการหารือแผนการทำงานของอาเซียน โดยไทยจะนำเสนอประเด็นด้านเศรษฐกิจที่ต้องการให้อาเซียนร่วมกันผลักดันและดำเนินการให้สำเร็จในปี 2562 ซึ่งมี 12 ประเด็นที่ต้องเร่งผลักดัน อาทิ การเตรียมความพร้อมของอาเซียนในการรับมือกับการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 การเชื่อมโยงระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว ให้ครบทั้งอาเซียน 10 ประเทศ การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหาร และการเร่งสรุปผลการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ อาร์เซป ให้ได้ในปี 2562

ทั้งนี้ การค้าระหว่างไทยกับอาเซียนในช่วง 9 เดือนแรก ของปี 2561 มีมูลค่าการค้ารวมระหว่างกันกว่า 85,127 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 14.7 โดยอาเซียนยังครองตำแหน่งเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย ด้วยสัดส่วนการค้ามากถึงร้อยละ 22.6

จาก https://www.innnews.co.th   วันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

แบงค์ชาติห่วงปี62 สงครามการค้าแรงขึ้น แนะเกษตรกรใช้เทคโนโลยีใหม่ช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต

เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จ.สงขลา นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นประธานเปิดงานสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ ประจำปี 2561 เรื่อง “พลิกโฉมเศรษฐกิจใต้ สู่ยุคดิจิทัล” และกล่าวปาฐกถาเรื่อง “เศรษฐกิจไทยกับโอกาสและความท้าทายของธุรกิจ SMEs ในโลกดิจิตัล”

โดยนายวิรไท กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกโดยรวมยังขยายตัวใช้ได้ เห็นได้จากเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ยุโรป และจีน แต่มีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ซึ่งอาจมีแนวโน้มมากขึ้น หรือปัญหาภูมิศาสตร์โลก เช่น ปัญหาในอิหร่าน รัสเซีย ตุรกี ซาอุดิอาราเบีย หรือการเมืองในยุโรป และ ยังมีความผันผวนในตลาดเงินและตลาดทุนโลกที่ค่อนข้างสูง จากการสะสมความเปราะบาง และอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมากเป็นระยะเวลานาน จึงเกิดปัญหาการประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร นอกจากนี้ยังมีเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ภัยธรรมชาติ โลกร้อน โรคพืช

นายวิรไท กล่าวอีกว่า สำหรับเศรษฐกิจไทย ที่ผ่านมาการส่งออกลดลงจากการที่ผู้ซื้อของไทยได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ แต่ขณะนี้คาดว่าการส่งออกจะกลับมาเป็นบวก แต่ต้องติดตามผลกระทบจากสงครามทางการค้า ที่สินค้าบางรายการของไทยอยู่ในบัญชีห้ามนำเข้า หรือ ขึ้นกำแพงภาษี ที่ชัดมาก คือ โซล่าเซลล์ และ เครื่องซักผ้า และวัตถุดิบบางรายการที่ไทยส่งไปให้จีนก็ได้รับผลกระทบแต่ไม่มาก ในปี 2562 จะเห็นผลแรงขึ้น เพราะขณะนี้มีการซื้อขายล่วงหน้าไปแล้วจำนวนมาก แต่ก็มีด้านบวกที่สินค้าบางตัวของไทยที่ไม่เคยแข่งกับจีนได้เลยในตลาดสหรัฐอเมริกา ตอนนี้มียอดขายสูงขึ้น อีกทั้ง ผู้ประกอบการจีนเริ่มกระจายความเสี่ยงในการตั้งโรงงานเพิ่มในภูมิภาคอาเซียน

“สำหรับสินค้าเกษตรของภาคใต้ ที่ราคายังอยู่ในระดับต่ำอยู่ ปัญหาเกิดจากเรากำหนดราคาเองไม่ได้ ผลผลิตต่อไร่ต่ำ ต้นทุนสูง ต้องแก้ที่โครงสร้าง ต้องใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เกษตรสมัยใหม่เป็นภาคการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีสูง เราติดภาพว่าเกษตรใช้เทคโนโลยีต่ำ หลายประเทศไม่ว่าจะเป็นเวียดนามและลาวได้พัฒนาเทคโนโลยีการผลิต ทำให้ผลผลิตต่อไร่สูง ต้นทุนต่ำ เกษตรกรอินเดียใช้มือถือดูข้อมูล วางแผนการผลิต การขาย บริหารสต๊อก ลดช่องโหว่ต้นทุนแฝง ข้ามตัวกลางในพื้นที่เหมือนอีคอมเมิร์ชอื่นๆ” นายวิรไทกล่าวและว่า

การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีทำให้โครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมจะไม่เหมือนเดิม ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเปลี่ยนไป ผู้ประกอบการทุกระดับต้องให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี โดยเฉพาะใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เช่น การใช้เทคโนโลยีคลาวด์ที่ลดต้นทุนให้เอสเอ็มอี ที่ไม่ต้องลงทุนซื้อเซิร์ฟเวอร์ และยังใช้ประโยชน์ในการประมวลผลข้อมูลได้อีกด้วย นอกจากนี้ ขณะนี้เกิดเศรษฐกิจเชิงแบ่งปัน ทั้งแกรบและอูเบอร์ หรือ อีคอมเมิร์ชอย่างอาลีบาบา “วันก่อนคุยกับโลจิสติกส์ขนาดใหญ่เจ้าหนึ่ง วันนี้เขาขยายไป 5,000 กว่าแห่ง ส่งของ 1.1 ล้านกล่องต่อวัน เศรษฐกิจดีหรือไม่ดี ต้องดูในเชิงลึก ไม่ดีจริงหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงการทำธุรกิจใหม่ นอกจากนี้ ข้อมูลเป็นปัจจัยสำคัญ ข้อมูลเกิดขึ้นมากมาย เข้าไปในทุกกระบวนการผลิต และรูปแบบการทำงานจะเปลี่ยนไป งานที่ทำซ้ำๆจะถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติ ”

สิ่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทยพยายามทำ คือ ยกระดับการชำระเงินของประเทศ ที่ต้องมีประสิทธิภาพ อีคอมเมิร์ชจะเกิดไม่ได้หากการชำระเงินไม่มีประสิทธิภาพและแพง เราทำร่วมกับกระทรวงคลัง คือ ระบบพร้อมเพย์ ปัจจุบันมี 46 ล้านบัญชี มีปริมาณธุรกรรม 6.5 ล้านรายการต่อวัน คนไทยเริ่มเท่าทันต่อเทคโนโลยี การเข้าไปใช้บริการที่ธนาคารมีต้นทุน 100 บาทต่อรายการ

วันนี้เราไปสู่อีกขั้น คือ การต่อยอดการใช้ข้อมูลการชำระเงินไปสู่ระบบการปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอี แต่เดิมอิงหลักประกัน แต่ตอนนี้จะสร้างเป็นการใช้ข้อมูลเป็นฐานสำคัญ เช่น การขายมีลูกค้าประจำหรือไม่ หากมีแสดงว่าเอสเอ็มอีนี้มีความเสี่ยงต่ำ หรือส่งของไปที่รหัสไปรษณีย์อะไรบ้าง เป็นพื้นที่ที่มีชนชั้นกลางหรือคนรวยมากไหม มีการขายมากขึ้นหรือไม่ ถ้าข้อมูลเหล่านี้ดี ไม่ต้องรอเอสเอ็มอีมาขอด้วยซ้ำ อีกเรื่องที่ธนาคารแห่งประเทศไทยทำอยู่ คือ พัฒนาระบบคิวอาร์โค้ด เป็นครั้งแรกในโลกที่จับมือกับ 5 บริษัทเครดิตการ์ดทั้งจากจีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ทำมาตรฐานคิวอาร์โค้ด” นายวิรไท กล่าว

จาก https://www.matichon.co.th    วันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

หนุนเพิ่มสัดส่วน”เอทานอล” “สอน.”หวังแก้อ้อยราคาตก

สอน.หนุนรัฐเพิ่มสัดส่วนใช้เอทานอลในน้ำมันแก๊สโซฮอล์เพิ่มจากเฉลี่ย 13 % ไปเปฌร 15% จะช่วยดูดซับอ้อยในประเทศเพิ่มกว่า 2.7 ล้านตัน เผยผู้ผลิตรถรับรองใช้ได้ ห่วง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายออกไม่ทัน กระทบลอยตัวน้ำตาลทราย

นางวรวรรณ  ชิตอรุณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) เปิดเผยว่า จากการที่ราคาน้ำตาลโลกตกต่ำมาต่อเนื่อง 2 ปี ทำให้คาดว่าจะทำให้ปริมาณการปลูกอ้อยของทั้งโลกและประเทศไทยลดลง โดยในส่วนของไทยคาดว่าในปี 2563 ปริมาณอ้อยจะลดลงจากปัจจุบันที่ 120 ล้านตัน ลดลงเหลือ 100 ล้านตัน และพื้นที่ปลูกอ้อยจะลดลงจาก 11 ล้านตัน ลงเหลือประมาณ 9 ล้านไร่ ใกล้เคียงกับภาวะปกติที่มีพื้นที่ประมาณ 9-10 ล้านไร่

โดยพื้นที่ปลูกอ้อยที่เพิ่มขึ้น มาจากนโยบายส่งเสริมให้ชาวนาที่มีพื้นที่เพาะปลูกไม่เหมาะสมเปลี่ยนไปปลูกอ้อย ทำให้มีพื้นที่และปริมาณอ้อยเพิ่มขึ้น ขณะที่ตลาดรองรับสินค้าภายในประเทศมีเท่าเดิม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งทำให้ราคาอ้อยตกต่ำ

อย่างไรก็ตามมองว่า การท่าจะเพิ่มกำลังการใช้อ้อยให้เพิ่มขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และเห็นชัดที่สุด ก็คือการนำไปผลิตเป็นพลังงาน โดยการเพิ่มสัดส่วนของเอทานอลในน้ำมันแก๊สโซฮอล์ให้มากขึ้น จากปัจจุบันที่ไทยใช้แก๊สโซฮอล์อี 10, อี 20 และอี 85 รวมทั้งหมดนี้จะใช้เอทานอลผสมเฉลี่ยประมาณ 13% ซึ่งควรขยับไปที่ 15% จะทำมีความต้องการเอทานอลเพิ่มขึ้นประมาณ 5.2 แสนลิตรต่อวัน ทำให้ยอดการใช้เอทานอลรวมทั้งหมดอยู่ที่ 4.64 ล้านลิตรต่อวัน มีปริมาณอ้อยที่ต้องการเพิ่มขึ้น 2.7 ล้านตัน และมีรายได้จากการผลิตเอทานอลเพิ่มขึ้น 4,443 ล้านบาท

ทั้งนี้ที่ผ่านมาประเทศบราซิลผู้ผลิตน้ำตาลอันดับ 1 ของโลก ก็ใช้การผลิตเอทานอลมาใช้ในรถยนต์ เป็นเครื่องมือบริหารจัดการราค้าอ้อยได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้มาตรฐานผสมเอทานอลในน้ำมันเบนซินไม่ต่ำกว่า 30% มานานแล้ว อย่างไรก็ตามต้นทุนการผลิตเอทานอลของบราซิลจะต่ำกว่าไทย แต่ประเทศไทยกำลังอยู่ระหว่างการออกกฎหมายอ้อยและน้ำตาลทรายฉบับใหม่ที่เปิดให้นำน้ำอ้อยมาผลิตเป็นเอทานอลได้ก็จะช่วยให้ต้นทุนการผลิตเอทานอลลดลง

“จากการหารือกับสมาคมผู้ผลิตรถยนต์ต่างรับรองว่าสามารถใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ที่ผสมเอทานอล 15% หรือ อี 15 ได้อย่างไม่มีปัญหา เพราะรถยนต์ตั้งแต่หลังปี 2543 สามารถเติมแก๊สโซฮอล์อี 20 ได้อยู่แล้ว”

ในส่วนของการนำวัตถุดิบอ้อยมาใช้ในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ ซึ่งแม้ในอนาคตการใช้พลาสติกชีวภาพเพิ่มขึ้นมาก แต่มีสัดส่วนการใช้วัตถุดิบไม่มากนักเมื่อเทียบกับการนำมาผลิตเป็นเอทานอลใช้ในรถยนต์

สำหรับความคืบหน้า พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายฉบับใหม่ ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมการกฤษฎีกาโดยขั้นตอนต่อไปจะส่งไปยังประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ซึ่งกฏหมายที่ออกมาจะรองรับหลักการลอยตัวราคาอ้อยและน้ำตาลทรายเนื่องจากก่อนหน้านี้อาศัยอำนาจ ม.44 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

จาก www.bangkokbiznews.com วันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

จี้เพิ่มเอทานอลใน‘แก๊สโซฮอล์’

นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) เปิดเผยว่า สอน.สนับสนุนเพิ่มการใช้อ้อยด้วยการนำไปผลิตเป็นพลังงาน โดยการเพิ่มสัดส่วนของเอทานอลในน้ำมันแก๊สโซฮอล์ให้มากขึ้น จากปัจจุบันที่ไทยใช้แก๊สโซฮอล์ อี10, อี20 และอี85 รวมทั้งหมดนี้จะใช้เอทานอลผสมเฉลี่ยจากทุกประเภทประมาณ 13% ซึ่งควรขยับไปที่ 15% จะทำให้มีความต้องการเอทานอลเพิ่มขึ้นประมาณ 5.2 แสนลิตรต่อวัน ทำให้ยอดการใช้เอทานอลรวมทั้งหมดอยู่ที่ 4.64 ล้านลิตรต่อวัน มีปริมาณอ้อยที่ต้องการเพิ่มขึ้น 2.7 ล้านตัน และมีรายได้จากการผลิตเอทานอลเพิ่มขึ้น 4,443 ล้านบาท

โดยที่ผ่านมาประเทศบราซิล ผู้ผลิตน้ำตาลอันดับ 1 ของโลก ใช้การผลิตเอทานอลมาใช้ในรถยนต์เป็นเครื่องมือบริหารจัดการราคาอ้อยได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้มาตรฐานผสมเอทานอลในน้ำมันเบนซินไม่ต่ำกว่า 30% มานานและจากการหารือกับสมาคมผู้ผลิตรถยนต์ต่างรับรองว่าสามารถใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ ที่ผสมเอทานอล 15% หรือ อี15 ได้อย่างไม่มีปัญหา เพราะรถยนต์ตั้งแต่หลังปี 2543 สามารถเติมแก๊สโซฮอล์อี20 ได้อยู่แล้ว ซึ่งหากเพิ่มสัดส่วนการใช้เอทานอลมากขึ้น ก็จะช่วยดูดซับปริมาณอ้อยในตลาดได้มากขึ้น และป้องกันราคาอ้อยตกต่ำ

จาก https://www.naewna.com วันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

เศรษฐกิจโลกชะลอกดค่าเงินบาทผันผวน

 "รุ่ง"ชี้ทิศทางเงินบาทสัปดาห์หน้าผันผวนต่อเนื่อง ตามภาวะเงินทุนเคลื่อนย้าย หลังปัจจัยเศรษฐกิจโลกชะลอตัว จับตา "ทรัมป์-สี จิ้นผิง" ถกหาข้อยุติข้อพิพาทการค้าปลายเดือนพ.ย.นี้                    

น.ส.รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการ ผู้บริหารกลุ่มวิจัยและวิเคราะห์ตลาดการเงิน ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแลโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยถึงแนวโน้มค่าเงินบาทในสัปดาห์หน้าว่า  เคลื่อนไหวในกรอบ  32.80-33.20  บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ  เนื่องจากตลาดผันผวนตามภาวะเงินทุนเคลื่อนย้าย เพราะกังวลเศรษฐกิจโลกชะลอตัว  ขณะที่จีดีพีไตรมาส 3 ของไทยที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) โตเพียง 3.3% ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ 4.2% สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจโลกแผ่วลง แม้ว่าส่งออกในเดือนต.ค.จะกลับมาเป็นบวก  ขณะที่เงินไหลเข้าพันธบัตรไทยขาดความต่อเนื่อง

ทั้งนี้ตลาดติดตามผลการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มผู้นำจี 20 ปลายเดือนพ.ย.นี้  โดยเฉพาะการหารือระหว่างนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ และนายสี จิ้นผิง  ประธานาธิบดีจีนเกี่ยวกับข้อพิพาททางการค้าของทั้ง 2 ประเทศว่าตกลงกันได้หรือไม่  และในกลางสัปดาห์จะมีการเปิดเผยตัวเลขการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด  ซึ่งขอให้ผู้ประกอบการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนรับมือความผันผวนของค่าเงิน

อย่างไรก็ตาม การแข็งค่าสกุลเงินในภูมิภาคตั้งแต่สิ้นต.ค.จนถึง 23 พ.ย.พบว่า รูปี-อินเดีย 4.6% รูเปียห์-อินโดนีเซีย 4.5% เปโซ-ฟิลิปปินส์ 2.1% วอน-เกาหลีใต้ 0.8% ดอลลาร์-สิงคโปร์ 0.8% หยวน-จีน 0.4%  บาท-ไทย 0.3%  ดอลลาร์-ไต้หวัน 0.2% ขณะที่ริงกิต-มาเลเซียอ่อนค่า 0.3%

"การเคลื่อนไหวค่าเงินบาทไทยยังสอดคล้องภูมิภาคไม่ได้ทำให้ผู้ประกอบการไทยเสียเปรียบการแข่งขันทางการค้า  ส่วนในเดือนธ.ค.คาดว่ามีประชุมเฟดครั้งสุดท้าย และการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ของไทยเช่นกัน ประเมินว่าน่าจะขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ทั้งนี้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานักลงทุนซื้อพันธบัตรไทย 15,000 ล้านบาท ตลาดหุ้นไทยต่างชาติยังขายสุทธิ 5,000 กว่าล้านบาท"                 

จาก https://www.dailynews.co.th วันที่ 25 พฤศจิกายน 2561

เร่งเคาะราคาน้ำตาล-ช่วยค่าผลิต6,500ล้าน’ของขวัญปีใหม่’ชาวไร่11ล้านคน

นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการบริหารจัดการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ว่า สอน.อยู่ระหว่างเสนอคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.)ที่มีนายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน พิจารณา 2 เรื่องด่วน คือ การประกาศราคาอ้อยขั้นปลายฤดูการผลิตปี 2560/61 เบื้องต้นราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 792 บาทต่อต้นอ้อย น้อยกว่าราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2560/61 ซึ่งอยู่ที่ราคา 880 บาทต่อตันอ้อย หรือเป็นส่วนต่าง 88 บาทต่อตันอ้อย รวมเป็นเงินที่โรงงานต้องได้คืนจากระบบเนื่องจากจ่ายส่วนเกินดังกล่าวให้ชาวไร่ประมาณ 6,000-7,000 ล้านบาท โดยส่วนนี้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายจะเข้าไปดำเนินการ นอกนี้จะเสนอกอน.พิจารณาราคาน้ำตาลขั้นต้นของฤดูการผลิตปี 2561/62 ซึ่งล่าสุดขยับขึ้นมาเป็น 700 บาทต่อตันอ้อย จากเดิมคำนวณที่ 680 บาทต่อตันอ้อย เนื่องจากได้อานิสงค์จากการเทขายในตลาดโลกเพื่อทำกำไรซึ่งเวลานั้นเงินบาทอ่อนค่าในระยะสั้น

“จะเร่งเสนอมติกำหนดราคาทั้งขั้นปลาย2560/61และขั้นต้น2561/62 ต่อนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณา คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์จึงจะเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ภายในเดือนธันวาคม และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ ถึงเวลาทั้งชาวไร่และโรงงานจะได้รับเงินอ้อยภายในเดือนมกราคมแน่นอน”นายวรวรรณกล่าว

นางวรวรรณกล่าวว่า สำหรับความคืบหน้ามติครม.ในการอนุมัติช่วยค่าผลิตอ้อยตันละ 50 บาทต่ออ้อยแก่ชาวไร่ 11 ล้านรายทั่วประเทศ วงเงิน 6,500 ล้านบาทนั้น สอน.จะเร่งพิจารณาเพื่อให้เงินดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของของขวัญปีใหม่จากรัฐบาลที่กำหนดให้จ่ายเงินดังกล่าวให้หมดภายในสิ้นเดือนมกราคม2562 มั่นใจว่าชาวไร่จะได้รับเงินดังกล่าวภายในเวลาที่กำหนดแน่นอน

นางวรวรรณกล่าวว่า ส่วนมติครม.ที่กำหนดให้โรงงานกู้เงินจากกองทุนอ้อยฯ จ่ายให้ชาวไร่อ้อย 9,000 ล้านบาท คิดเป็นตันละ 70 บาท โดยโรงงานน้ำตาลทรายจะออกให้ก่อนมาจากการคำนวณล่วงหน้าจากเงินส่วนต่างๆ ที่จะได้ในฤดูการผลิต 2561/2562 แต่ขณะนี้ติดปัญหาที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้คณะกรรมการบริหารกองทุนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. ทำให้ขณะนี้มีกรรมการลาออกแล้ว 2 คน เนื่องจากมองว่ามีความยุ่งยาก ซึ่งตามหลักการคณะกรรมการฯ จะไม่สามารถประชุมได้หากไม่ครบองค์ประชุม ดังนั้นจะส่งผลต่อการอนุมัติวงเงินดังกล่าวด้วย

“ป.ป.ช.กำหนดให้คณะกรรมการฯ ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินภายในวันที่ 2 ธันวาคมนี้ ดังนั้นระหว่างนี้ก็ได้แจ้งกรรมการบริหารไปว่าหากใครจะลาออกก็ให้รีบแจ้ง และแต่งตั้งคนให้เข้ามาทำงาน เพื่อไม่ให้กระทบต่อการจ่ายเงินชดเชยในส่วนนี้ นอกจากนี้ในวันที่ 26 พฤศจิกายนนี้จะมีการหารือกับสมาคมธนาคารไทย เกี่ยวกับการกู้เงินจ่ายชดเชยดังกล่าวเพื่อให้ธนาคารสำรองเงินไว้” นางวรวรรณกล่าว

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 24 พฤศจิกายน 2561

โรงงานน้ำตาลทำบุญเปิดปฐมฤกษ์หีบอ้อย คาดผลผลิตปีนี้เกือบ 5 ล้านตัน

เมื่อวันนี้ 23 พ.ย.61 นายอุดมเขต  ราษฎร์นุ้ย. รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ โดยมี คุณหญิงณัฐิกา วัธนเวคิน อังอุบลกุล. ประธานกรรมการบริหาร  นายกิตติศักดิ์  วัธนเวคิน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ประธานกรรมการเจ้าหน้าที่ปฎิบัติการ ในนามผู้แทนกลุ่มบริษัทฯน้ำตาลและอ้อยตะวันออก. ดร.จรรย์สมร วัธนเวคิน ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ. กล่าววัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมครั้งนี้ ทุก ๆ ปี ก่อนเปิดทำการผลิต บริษัทฯ จะมีการรวมพลัง รวมใจ จัดพิธีสำคัญ คือ “การนำอ้อยมงคลเข้าสู่สายพานการผลิตหีบอ้อยเป็นปฐมฤกษ์” โดยมีพิธีทางศาสนา พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ และเจิมอ้อยมงคล เพื่อลำเลียงเข้าสู่สายพานการผลิตเพื่อความเป็นสิริมงคล สร้างขวัญกำลังใจแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ของบริษัท และชาวไร่ ตลอดฤดูกาลผลิต

นายกิตติศักดิ์  วัธนเวคิน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ประธานกรรมการเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ  กล่าวว่า บริษัทฯ ได้เปิดดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาลทราย ที่จังหวัดระยอง ตั้งแต่ปี 2502  เริ่มต้นที่กำลังการผลิต 500 ตันอ้อยต่อวัน  ได้ย้ายฐานการผลิตมาที่สระแก้ว ตั้งแต่ปีการผลิต 2536/37  ปัจจุบันมีอายุการก่อตั้งย่างเข้าปีที่ 60 มีกำลังการผลิตสูงที่สุดของโรงงานน้ำตาลในภาคตะวันออก และมีบริษัทในเครือที่เป็นธุรกิจต่อเนื่องอีกหลายบริษัท ซึ่งได้สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และความเจริญต่อชุมชน อำเภอ จังหวัด และประเทศชาติอย่างมุ่งมั่นตั้งใจ  โดยดำเนินการตามปณิธานของท่านประธานเกียรติ วัธนเวคิน  ผู้ก่อตั้งบริษัทฯ คือ “อยู่ที่ไหนที่นั่นต้องเจริญและก้าวไปด้วยกัน”  จึงได้พัฒนาอย่างรอบด้านตลอดมา ทั้งด้านบุคลากร  กำลังการผลิต  และการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ทั้งภาคเกษตรและภาคการผลิต   อันเป็นผลให้บริษัทฯ ได้รับรางวัลโรงงานน้ำตาลดีเด่นหลายปีติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง  สามารถนำองค์กรเข้าสู่ระบบบริหารคุณภาพมาตรฐานสากล  นำเกษตรกรชาวไร่อ้อยเข้าสู่ระบบมาตรฐานสากลเป็นเกษตรกรกลุ่มแรกของโลก  สร้างอุตสาหกรรมพลังงานและอื่นๆต่อเนื่องจากการผลิตน้ำตาลอย่างครบวงจร  และขยายกำลังการผลิตโดยสร้างโรงงานเพิ่มเติมที่อำเภอวังสมบูรณ์ เพื่อเป็นแหล่งสร้างงานสร้างอาชีพ ทั้งภาคการเกษตร อุตสาหกรรม การพาณิชย์และการจ้างงาน  ซึ่งจะเปิดรับอ้อยจากเกษตรกรและหีบอ้อยในฤดูหีบนี้

 เพื่อเป็นการแสดงความพร้อมในการเปิดฤดูกาลผลิตปี 2561/62 ที่จะถึงนี้ บริษัทได้จัดประชุมชี้แจงทำความเข้าใจกับชาวไร่อ้อยทุกรายถึงกำหนดการเปิดฤดูกาลผลิต และแจ้งนโยบายส่งเสริมการปลูกอ้อยในปีถัดไป  โดยเฉพาะในวันที่ 24 พฤศจิกายน  จะจัดให้มีการสัมมนาประจำปีครั้งใหญ่ เพื่อทบทวนความพร้อมของทุกส่วนงาน  อันเป็นภารกิจที่บริษัทฯให้ความสำคัญและดำเนินการมาตลอดสำหรับกิจกรรมสำคัญอีกกิจกรรมในวันนี้ คือ กิจกรรมมอบพันธุ์ปลา จำนวน 6,000 ตัว กิจกรรมมอบพันธุ์ไม้  จำนวน  30  ต้น  เพื่อมอบให้แก่ชุมชน เกษตรกรชาวไร่อ้อยและพนักงาน เพื่อปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ เป็นการขยายพันธุ์และเป็นแหล่งอาหารตามธรรมชาติ บริษัทฯ  พิธีทำบุญประจำปีและหีบอ้อยเป็นปฐมฤกษ์ในการหีบอ้อยในฤดูการผลิต 2561/2562 นี้

จาก www.banmuang.co.th   วันที่ 24 พฤศจิกายน 2561

จี้เคาะราคาอ้อยลุ้นจ่ายค่าผลิตรอรับช่วงปีใหม่

ชง กอน.ถก 2 เรื่องด่วน เร่งประกาศราคาอ้อยขั้นต้น-ขั้นปลาย ยันเงินช่วยค่าอ้อย 6,500 ล้าน พร้อมจ่ายเป็นของขวัญปีใหม่

นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า สอน.อยู่ระหว่างเสนอคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ที่มีนายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน พิจารณา 2 เรื่องด่วน คือ การประกาศราคาอ้อยขั้นปลายฤดูการผลิตปี 2560/2561 เบื้องต้นราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 792 บาท/ต้นอ้อย น้อยกว่าราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2560/2561 อยู่ที่ราคา 880 บาท/ตันอ้อย หรือเป็นส่วนต่าง 88 บาท/ตันอ้อย รวมเป็นเงินที่โรงงานต้องได้คืนจากระบบเนื่องจากจ่ายส่วนเกินให้ชาวไร่ประมาณ 6,000-7,000 ล้านบาท โดยส่วนนี้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายจะเข้าไปดำเนินการ

นอกจากนี้ จะเสนอให้ กอน.พิจารณาราคาน้ำตาลขั้นต้นของฤดูการผลิตปี 2561/2562 ซึ่งล่าสุดขยับขึ้นมาเป็น 700 บาท/ตันอ้อย จากเดิมคำนวณที่ 680 บาท/ตันอ้อย เนื่องจากได้อานิสงส์จากการเทขายในตลาดโลกเพื่อทำกำไร ซึ่งเวลานั้นเงินบาทอ่อนค่าในระยะสั้น

"สอน.จะเร่งเสนอมติกำหนดราคา ทั้งขั้นปลายฤดูการผลิตที่แล้วและขั้นต้นฤดูการผลิตนี้ต่อนายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม พิจารณา คาดจะใช้เวลา 2 สัปดาห์ก่อนเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เดือน ธ.ค.นี้ และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ ซึ่งทั้งชาวไร่และโรงงานจะได้รับเงินภายในเดือน ม.ค. 2562 แน่นอน" นางวรวรรณ กล่าว

ด้านความคืบหน้ามติ ครม.ในการอนุมัติช่วยค่าผลิตอ้อยตันละ 50 บาท/ตันอ้อย แก่ชาวไร่ 11 ล้านรายทั่วประเทศ วงเงิน 6,500 ล้านบาทนั้น สอน.จะเร่งพิจารณาเพื่อจัดสรรเงินดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งสำหรับของขวัญปีใหม่จากรัฐบาลที่กำหนดให้จ่ายเงินให้หมดภายในสิ้นเดือนม.ค. 2562

สำหรับมาตรการที่กำหนดให้โรงงานกู้เงินจากกองทุนอ้อยฯ เพื่อจ่ายให้ชาวไร่ 9,000 ล้านบาท ขณะนี้ติดปัญหาที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กำหนดให้คณะกรรมการบริหารกองทุนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินส่งผลให้มีกรรมการลาออก 2 คน และไม่สามารถเรียกประชุมได้

จาก https://www.posttoday.com   วันที่ 24 พฤศจิกายน 2561

สอน. เร่งพิจารณาเงินช่วยค่าผลิตอ้อยตันละ 50 บาท แก่ชาวไร่ 11 ล้านราย เป็นของขวัญปีใหม่

สอน. เร่งพิจารณาเงินช่วยค่าผลิตอ้อยตันละ 50 บาท แก่ชาวไร่ 11 ล้านราย วงเงิน 6,500 ล้าน เป็นของขวัญปีใหม่ พร้อมเร่งเคาะราคาน้ำตาลขั้นต้น 61/62 ราคาอ้อยขั้นปลาย 60/61 มั่นใจ เงินถึงมือชาวไร่-โรงงาน ม.ค.นี้

ให้ของขวัญปีใหม่ – นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการบริหารจัดการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ว่า สอน. เตรียมเสนอคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ที่มีนายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน พิจารณาเรื่องเร่งด่วน 2 เรื่องก่อนเสนอให้นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม พิจารณาแล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบภายในเดือนธ.ค. และประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ มั่นใจชาวไร่และโรงงานจะได้รับเงินอ้อยภายในเดือนม.ค. แน่นอน

โดยสอน. จะเสนอเรื่องประกาศราคาอ้อยขั้นปลายฤดูการผลิตปี 2560/61 เบื้องต้นเฉลี่ยอยู่ที่ 792 บาทต่อต้นอ้อย ต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2560/61 เป็นเงิน 88 บาทต่อตันอ้อย อยู่ที่ราคา 880 บาทต่อตันอ้อย รวมเป็นเงินที่โรงงานต้องได้คืนจากระบบเนื่องจากจ่ายส่วนเกินดังกล่าวให้ชาวไร่ประมาณ 6,000-7,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนนี้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายจะเข้าไปดำเนินการ

นอกจากนี้ จะเสนอ กอน.พิจารณาราคาน้ำตาลขั้นต้นของฤดูการผลิตปี 2561/62 ซึ่งปัจจุบันขยับขึ้นมาอยู่ที่ 700 บาทต่อตันอ้อย จากเดิมคำนวณที่ 680 บาทต่อตันอ้อย เนื่องจากได้อานิสงส์จากการเทขายในตลาดโลกเพื่อทำกำไรในช่วงที่เงินบาทอ่อนค่าระยะสั้น

“สอน. ยังอยู่ระหว่างเร่งพิจารณาเงินช่วยค่าผลิตอ้อยตันละ 50 บาท แก่ชาวไร่ 11 ล้านรายทั่วประเทศ วงเงิน 6,500 ล้านบาท เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่จากรัฐบาลภายในสิ้นเดือนม.ค. 2562 ตามกำหนดรัฐบาลกำหนด”

สำหรับมติครม. ที่ให้โรงงานกู้เงินกองทุนฯ 9,000 ล้านบาท จ่ายเงินเพิ่มค่าอ้อยขั้นต้นให้ชาวไร่อ้อยตันละ 70 บาทก่อนนั้น ติดปัญหาที่คณะกรรมการบริการกองทุนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย 2 คนลาออก เนื่องจากกังวลเรื่องความยุ่งยากหลังจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้คณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. ทำให้ไม่ครบองค์ประชุม ไม่สามารถประชุมพิจารณาอนุมัติวงเงินได้

รายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ภายในสัปดาห์หน้าทุกกรมในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมประกาศของขวัญปีใหม่ขั้นต่ำหมด 5-6 เรื่อง อาทิ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เตรียมงบประมาณ 100 ล้านบาท ทำแพ็กเกจช่วยเอสเอ็มอีและสตาร์ตอัพ ที่จะผ่อนเกณฑ์และเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการที่ไม่ใช่นิติบุคคล เช่น ดีไซเนอร์ สามารถยื่นขอเงินกองทุนฯ ที่กระทรวงอุตสาหกรรม มีอยู่ได้ คิดอัตราดอกเบี้ย 4% วงเงินตั้งแต่ 50,000-1,000,000 ล้านบาท กำหนดพิจารณาอนุมัติภายใน 6 วัน เป็นต้น

จาก https://www.khaosod.co.th วันที่ 23 พฤศจิกายน 2561

'มิตรผล' ขับเคลื่อนศักยภาพท้องถิ่น 21 ตำบล พึ่งพาตัวเอง

'มิตรผล' ร่วมขับเคลื่อน 21 ตำบล ดึงศักยภาพท้องถิ่น ต่อยอดสู่ชุมชนพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ผ่านงาน "ฮวมแฮง แบ่งปัน สร้างสรรค์ ตำบลมิตรผลร่วมพัฒนา"

กลุ่มมิตรผลจึงได้ริเริ่ม "โครงการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน" ในปี 2555 โดยมุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยและคนในชุมชนให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน เริ่มจากการทำงานในพื้นที่ตำบลรอบ ๆ โรงงาน 9 ตำบล ก่อนลงนามความร่วมมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในปี 2558 เพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่นและสร้างสุขภาวะที่เข็มแข็งใน และปี 2560 ได้ขยายพื้นที่ดำเนินการเป็น 21 ตำบล โดยทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)

และเริ่มทำ "การวิจัยชุมชน" ผลักดันให้คนในชุมชนเป็นแกนหลักสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่น ให้เข้ามามีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน เพื่อสร้างความภาคภูมิใจและความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกันของคนในชุมชน ตั้งแต่การเก็บรวบรวมข้อมูล เป็นผู้ให้ข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล และเป็นผู้นำใช้ข้อมูล เพื่อค้นหาทุนและศักยภาพชุมชนในแต่ละพื้นที่ ก่อนจะนำข้อมูลที่ได้จากการศึกษาวิจัยมากำหนดยุทธศาสตร์ เพื่อต่อยอดการพัฒนาชุมชนได้อย่างถูกต้อง

นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้ชุมชนมีกระบวนการพัฒนาและจัดการตนเอง สร้างกระบวนการเรียนรู้โดยคนท้องถิ่น เพื่อพัฒนาศักยภาพคนท้องถิ่นให้ "เก่งขึ้น" เกิดเป็นองค์ความรู้ที่สามารถถ่ายทอดและแลกเปลี่ยน เพื่อต่อยอดความสำเร็จและเติบโตร่วมกันอย่างแข็งแกร่ง

นายคมกริช นาคะลักษณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานองค์กรสัมพันธ์และบริหารองค์กรเพื่อความยั่งยืน กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า 'การวิจัยชุมชน' เป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน โดยให้คนในท้องถิ่นเป็นแกนหลักสำคัญในการพัฒนา ผสานความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน เพื่อค้นหาจุดแข็งและศักยภาพที่แท้จริงของชุมชนแต่ละพื้นที่ ก่อนจะนำไปสู่การวางแผนเพื่อพัฒนาต่อยอดศักยภาพได้อย่างตรงจุด ไม่เสียเวลาและเงินทุนแบบเปล่าประโยชน์ และพัฒนาไปสู่ชุมชนต้นแบบเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่พื้นที่อื่น ๆ ต่อไป

งาน "ฮวมแฮง แบ่งปัน สร้างสรรค์ตำบล มิตรผลร่วมพัฒนา" ปีนี้จัดขึ้นที่โรงเรียนบ้านกุดลันน้อยคีรี ต.โคกขมิ้น จ.เลย คือ หนึ่งความสำเร็จของแนวทางการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนของกลุ่มมิตรผล

ศูนย์เรียนรู้ตำบลโคกขมิ้นเกิดจากการร่วมมือกันระหว่างคนในชุมชน มิตรผล ภาครัฐ และภาคีเครือข่ายในการปรับปรุงพื้นที่รกร้างให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการเกษตรและการเสริมสร้างอาชีพของคนในตำบล ทั้งการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ การปลูกผักปลอดสารพิษ เลี้ยงกบเลี้ยงปลา การแปรรูปอาหาร เป็นต้น ซึ่งสามารถสร้างรายได้หมุนเวียนอย่างน้อย 5,000 บาทต่อเดือน เป็นเงินปันผลให้กับสมาชิก 50 คน

ขณะที่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกข้าวเพื่อสุขภาพบ้านนาหว้า-นาคำ ต.บ้านเม็ง อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น ที่เริ่มต้นจากการรวมกลุ่มของคนรักสุขภาพสู่วิสาหกิจชุมชน สมาชิกในกลุ่มเป็นเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่เดิมทีแค่แบ่งพื้นที่ 2-3 ไร่ ไว้ปลูกข้าวเพื่อกินเองในครอบครัว แต่หลังจากที่หน่วยงานภาครัฐและกลุ่มมิตรผลเข้ามาสนับสนุน ทำให้ได้ศึกษาแนวทางการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ จึงได้ชักชวนเพื่อน ๆ ให้มาร่วมกันทำ เช่น ปลูกผักปลอดสาร เลี้ยงไก่ไข่ ทำฟาร์มหมูหลุม และปลูกข้าวเพื่อสุขภาพ ต่อมาจึงรวมกลุ่มกันใช้เวลาว่างจากการทำไร่อ้อยมาทำข้าวเพื่อสุขภาพและจำหน่ายเป็นอาชีพเสริม โดยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและมิตรผลในการหาช่องทางการขาย เช่น ตลาดนัดสีเขียวชุมชน ขายให้โรงงานมิตรผล และหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ

ปัจจุบัน กลุ่มผู้ปลูกข้าวเพื่อสุขภาพบ้านนาหว้า-นาคำสามารถสร้างรายได้ประมาณ 150,000 บาท/ปี

ที่ชุมชนแห่งนี้กำลังเริ่มทำโรงเรียนชาวนาเพื่อให้เยาวชนรุ่นใหม่ได้มาเรียนรู้ สอนตั้งแต่การปลูก การไถ เก็บเกี่ยว จนออกมาเป็นบรรจุภัณฑ์สูญญากาศ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และสร้างความมั่นคงในกับชุมชนต่อไป

6 ปีที่ผ่านมา กลุ่มมิตรผลดำเนินโครงการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน โดยมีทีมพัฒนาชุมชนของแต่ละโรงงานเป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินงานร่วมกับองค์กรและภาคีเครือข่ายการพัฒนาในพื้นที่ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดไว้ 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการจัดการชุมชนอย่างยั่งยืน ด้านการพัฒนาระบบเกษตรชุมชนและอาหารปลอดภัย และด้านการพัฒนาระบบเศรษฐกิจชุมชน โดยตั้งเป้าหมายว่า ภายในปี 2564 ทั้ง 21 ตำบลเครือข่าย (ประชากรรวมกว่า 51,000 ครัวเรือน) จะต้องมีศูนย์เรียนรู้ตำบลอย่างน้อยตำบลละ 1 แห่ง และอย่างน้อย 30% ของครัวเรือนเกษตรกรทั้ง 21 ตำบล (ประมาณ 9,100 ครัวเรือน) ต้องสามารถพึ่งตนเองได้ โดยมีอย่างน้อย 10% ของครัวเรือน (5,100 ครัวเรือน) เป็นต้นแบบการทำเกษตรผสมผสานเพื่อเป็นแบบอย่างให้เกษตรกรรายอื่น ๆ ในชุมชนได้มาเรียนรู้และนำไปสู่การขยายผลต่อไป

จาก www.thansettakij.com วันที่ 22 พฤศจิกายน 2561

ส.อ.ท. จับมือสภาเกษตรกรแห่งชาติ ผลักดันเกษตรไทยสู่อุตสาหกรรมเกษตรสมัยใหม่

ส.อ.ท. ผนึกสภาเกษตรกรแห่งชาติ ลงนามความร่วมมือ เสริมเขี้ยวเล็บคุณภาพการผลิต หนุนแปรรูปเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร ผลักดันสู่อุตสาหกรรมการเกษตรสมัยใหม่ พร้อมเชื่อมโยงธุรกิจการค้าผ่านเครือข่ายสมาชิกสภาอุตสาหกรรมฯ แจ้งเกิดผู้ประกอบการด้านการเกษตรสมัยใหม่เพิ่มขึ้น หวังขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากภาคเกษตร-ภาคอุตสาหกรรมเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการส่งเสริมและสร้างมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรก้าวสู่การยกระดับผลผลิตทางการเกษตรให้มีคุณภาพ มีปริมาณเพียงพอ และตรงความต้องการของตลาดในภาคอุตสาหกรรม จึงได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างสถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กับสภาเกษตรกรแห่งชาติขึ้น เพื่อร่วมมือกันกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมกับการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากภาคเกษตรกรรม รวมทั้งมีแผนที่จะร่วมมือส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการด้านการเกษตรสมัยใหม่ (Smart Agri Entrepreneur) ให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากภาคเกษตรควบคู่ภาคอุตสาหกรรมเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต

ทั้งนี้ ปัจจุบันสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้ให้ความสำคัญในการส่งเสริมเพิ่มมูลค่าให้กับภาคการเกษตรแบบครบวงจร ทั้งด้านเทคโนโลยี เครื่องจักร คุณภาพมาตรฐาน และการตลาด โดยมอบหมายให้สถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตรจัดทำโครงการยกระดับการพัฒนาคุณภาพสินค้าและการผลิตทางด้านการเกษตรต่าง ๆ ให้เข้าถึงอุตสาหกรรมการเกษตรสมัยใหม่ได้สะดวกยิ่งขึ้น เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีทางการเกษตรใหม่ ๆ เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรมากขึ้น

นายศักดิ์ชัย อุ่นจิตติกุล ประธานสถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร (ส.อ.ท.) กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันสถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตรมีเป้าหมายในการยกระดับการพัฒนากระบวนการผลิตและคุณภาพสินค้าทางการเกษตร ส่งเสริมเชื่อมโยง Supply ผลผลิตการเกษตรเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมการผลิต การแปรรูป ตลอดจนการเชื่อมโยงธุรกิจการค้าผ่านเครือข่ายสมาชิกสภาอุตสาหกรรมฯ และหน่วยร่วมพันธมิตร ครอบคลุมทั้งกลุ่มผู้ค้าในประเทศและผู้ส่งออก ส่งผลให้เกิดการพัฒนาตลอดห่วงโซ่อุปทาน เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ที่มีการหมุนเวียนจากการรับซื้อผลผลิต เกิดการผลิต การลงทุน การจ้างงาน การขนส่ง และบริการ ช่วยให้เศรษฐกิจเกิดการขยายตัว โดยปัจจุบันสถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตรมีงานให้บริการ ประกอบด้วย การรับรองไม้เศรษฐกิจไทย (Thailand Forest Certification Council : TFCC), การบริการสนับสนุนเชื่อมโยงภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร และการให้คำปรึกษาแนะนำการพัฒนาภาคการเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ (Smart Farming)

"การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นมิติครั้งสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมและพัฒนาความร่วมมือระหว่างเกษตรกรและผู้ประกอบการแปรรูปทางการเกษตร ครอบคลุมห่วงโซ่อุปทาน ตลอดจนแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้ผู้ประกอบการและเกษตรกรได้รับประโยชน์สูงสุด และเป็นการร่วมกันจัดทำแนวทางการดำเนินงาน เพื่อบริหารจัดการให้ผลิตผลทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เพียงพอต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรม สร้างความสมดุล และเสถียรภาพให้กับราคาสินค้าเกษตร ช่วยยกระดับพัฒนาความรู้เกษตรกร รวมถึงการสร้างเครือข่าย ด้วยการผลิตเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีความรู้ ความสามารถ สู่การเป็นเกษตรกรมืออาชีพ" นายศักดิ์ชัย กล่าว

ด้าน นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันเกษตรกรไทยมักประสบปัญหาหลักด้านการตลาด ไม่สามารถจำหน่ายในราคาที่เป็นธรรม ถูกเอารัดเอาเปรียบ ไม่สามารถต่อรองราคาได้ ทำให้เกิดปัญหาด้านหนี้สินตามมา ดั้งนั้น การลงนามบันทึกข้อตกลงกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยในครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางด้านการตลาด เป็นการพัฒนาภาคเกษตรให้ผลิตสินค้าคุณภาพเพื่อการส่งออก และพัฒนาผลผลิตไปสู่การแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร โดยใช้องค์ความรู้และเทคโนโลยีมาบริหารจัดการผลผลิตและผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม ให้เป็นไปตามความต้องการของตลาด นับเป็นความร่วมมือที่จะก่อให้เกิดความเข้มแข็งทั้งภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมการเกษตรในอนาคต

จาก www.thansettakij.com วันที่ 22 พฤศจิกายน 2561

"อดุลย์" เร่งขจัดการใช้ "แรงงานเด็ก" หวังสินค้าไทยหลุดบัญชีดำสหรัฐฯ

"รมว.แรงงาน" ตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาแก้ไขปัญหา การใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย พร้อมหวังให้สินค้าไทยหลุดพ้นบัญชีดำสหรัฐฯ...

เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 61 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน กล่าวหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการระดับชาติ เพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ว่า จากรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับการขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุดประจำปี 2560 กระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกาได้ประเมินระดับผลการดำเนินงานของประเทศไทยมีความก้าวหน้ามาก (Significant Advancement) เป็น 1 ใน 17 ประเทศ จาก 132 ประเทศ และยังเป็น 1 ใน 5 ของประเทศอาเซียน

นอกจากนี้ กระทรวงแรงงาน ยังคงมีนโยบายและเป้าหมายที่จะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดเป็นนโยบายเน้นหนัก ไม่ให้มีการใช้แรงงานเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด โดยมีเป้าหมายให้ประเทศไทยคงรักษาอันดับ Significant Advancement

สำหรับที่ประชุมยังได้รับทราบรายงานผลการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ เพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายประจำปี 2561 และการจัดงานวันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กโลกในวันที่ 12 มิ.ย. 62 การประชุมในวันนี้มีวาระสำคัญในการพิจารณาการปรับปรุงคำสั่งกระทรวงแรงงานที่ 313/2557 ซึ่งจากเดิมที่มีโครงสร้างคณะทำงานเพื่อติดตามและรวบรวมข้อมูล

รวมทั้งการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ 3 คำสั่ง ได้ปรับปรุงโดยให้รวมกันเป็นคำสั่งเดียวกัน ภายใต้ชื่อคณะอนุกรรมการพิจารณาแก้ไขปัญหาแรงงานเด็ก แรงงานบังคับ แรงงานเด็กบังคับหรือแรงงานเด็กขัดหนี้ เพื่อการถอดสินค้าอ้อย, เครื่องนุ่งห่ม, กุ้งและปลา ออกจากบัญชีรายชื่อที่ถูกกล่าวหา เพื่อให้การดำเนินงานเกิดความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมยังรายงานความคืบหน้าการจัดทำข้อมูล เพื่อตอบข้อคำถามเกี่ยวกับรายงานสถานการณ์และการขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย (TDA Report) ประจำปี 2561 ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการส่งหนังสือแจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำข้อมูลรายงานมายังกระทรวงแรงงาน เพื่อจะได้รวบรวมข้อมูลจัดทำแปลเสนอกระทรวงการต่างประเทศและรายงานกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ต่อไป.

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 22 พฤศจิกายน 2561

กาฬสินธุ์เปิดฤดูกาลหีบอ้อย คาดเงินสะพัดสู่มือเกษตรกร5พันล้านบาท

อุทยานมิตรผลกาฬสินธุ์นำส่วนราชการและเกษตรกรชาวไร่อ้อยจัดกิจกรรมประเพณีโยนอ้อยฤดูกาลเปิดหีบ 2561/62 เข้มแนวทางปฏิบัติการขนส่งอ้อยเข้าสู่โรงงาน พร้อมรณรงค์ตัดอ้อยสด สะอาด ยอดสั้น คีบอ้อยสะอาด ปราศจากดินทรายและสิ่งเจือปน คาดผลผลิตเข้าสู่โรงงานมากถึง 5 ล้านตัน เงินสะพัดถึงมือเกษตรกรกว่า 5 พันล้านบาท

ที่โรงงานน้ำตาลมิตรผลกาฬสินธุ์ อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ นายวิชรัตน์ บุปผาพันธุ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานอ้อย นายอภิวัฒน์ บุญทวี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานอ้อย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1 นายเทวกุล ปัทมะสุวรรณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานโรงงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นายคมสันต์ เหล่าจูม ผู้อำนวยการโรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ นายคำสี แสนศรี ผู้อำนวยการด้านอ้อย ร่วมกันจัดกิจกรรมประเพณีโยนอ้อย ถือเป็นการเอาฤกษ์เอาชัยในวันเปิดฤดูกาลหีบอ้อยประจำปีการผลิต 2561/62 โดยมี พ.ต.อ.รัตนทัต ศรีพล ผกก.สภ.กุฉินารายณ์ พร้อมด้วยส่วนราชการ สมาคมชาวไร่กาฬสินธุ์ ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน สถานศึกษา พนักงาน และเกษตรกรชาวไรอ้อยเข้าร่วมจำนวนมาก

โดยกิจกรรมในงานมีการมอบรางวัลให้แก่เกษตรกรและคนขับรถบรรทุกอ้อยที่มีผลผลิตสูงและปฏิบัติตามกฎระเบียบในการขนส่งอ้อยในปีที่ผ่านมา พร้อมทั้งรณรงค์ใช้สายรัดอ้อยป้องกันการตกหล่นระหว่างการขนส่ง และรณรงค์ให้เกษตรกรชาวไร่ตัดอ้อยสด สะอาด ยอดสั้น คีบอ้อยสะอาด ปราศจากดินทรายและสิ่งเจือปน เพื่อที่จะได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ

นายอภิวัฒน์ บุญทวี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานอ้อย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1 กล่าวว่า สำหรับวันนี้เป็นการโยนอ้อย ซึ่งถือเป็นประเพณีที่โรงงานร่วมกับส่วนราชการและเกษตรกรจัดขึ้นทุกปี เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่ามีความพร้อมในการเปิดหีบอ้อยและถือเป็นการเอาฤกษ์เอาชัยในวันเปิดฤดูกาลหีบอ้อยประจำปี โดยในปีนี้โรงงานน้ำตาลมิตรผลกาฬสินธุ์มีเป้าหมายในการหีบอ้อยและคาดว่าอ้อยจะเข้ามาในโรงงานไม่ต่ำกว่า 5 ล้านตัน โดยเป็นอ้อยของเกษตรกาฬสินธุ์ 3.6 ล้านตัน ส่วนอีก 1.4 ล้านตัน มาจาก จ.อำนาจเจริญ และ จ.ร้อยเอ็ด ค่าความหวานไม่ต่ำกว่า 11.10 ccs ซึ่งทางโรงงานพยายามทำให้ผลผลิตอ้อยมีประสิทธิภาพมากที่สุด

นายอภิวัฒน์ กล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์อ้อยในปีนี้ถึงแม้ราคาจะไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แต่ได้รับความอนุเคราะห์จากรัฐบาลและทางภาครัฐที่เข้ามาดูแลในเรื่องของเงินค่าปัจจัยการผลิตตันละ 50 บาท และส่วนต่างของราคาอีกตันละ 70 บาท รวมแล้วไม่ต่ำกว่าตันละ 120 บาท ซึ่งหากรวมค่าความหวานแล้วราคารับซื้ออ้อยของโรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์นั้นไม่ต่ำกว่าตันละ 1,000 บาท จากเดิมราคาตันละประมาณ 900-950 บาท ซึ่งถือว่าอยู่ในราคาที่รับได้ของเกษตรกรชาวไร่อ้อย คาดว่าจะมีเงินสะพัดสู่มือพี่น้องเกษตรกรไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านบาท

นายอภิวัฒน์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามในปีนี้ทางโรงงานยังคงเน้นในเรื่องของการณรงค์การทำให้อ้อยราคาดีที่สุดคือการตัดอ้อยสด สะอาด เข้าโรงงาน ลดอ้อยไฟไหม้ อย่าเผาอ้อยโดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้คุณภาพของอ้อยลดน้อยลง ซึ่งในปีนี้จะมีรถตัดอ้อยที่จะเข้ามาตัดอ้อยเพิ่มขึ้นประมาณ 9 แสนตัน ซึ่งจะทำให้ปริมาณอ้อยลดเพิ่มขึ้น ลดมลภาวะทางด้านสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังมีการรณรงค์โดยการกำชับและเน้นให้รถบรรทุกอ้อยส่งเข้าโรงงานทุกคันปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยจะต้องมีสายรัดอ้อย ไม่บรรทุกสูงเกิน 3.80 เมตร ไม่ให้อ้อยตกหล่นตามท้องถนน ส่วนการส่งเสริมในปีหน้า แม้ราคาอ้อยปัจจุบันจะเป็นอย่างนี้ทางโรงงานจะยังคงส่งเสริมให้เกษตรกรเพราะปลูกอ้อยให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ เพราะคาดว่าราคาอ้อยจะในปีหน้าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

จาก https://www.naewna.com วันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

“อุตตม” โวเศรษฐกิจไทยปี 62 ใช้ EEC เชื่อมอาเซียนพากันโตทั้งภูมิภาค เร่งศึกษาพื้นที่ SEC เพิ่มเขตศ.กิจใหม่ภาคใต้

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวปาฐกถาพิเศษ Thailand’ transformation under the 20 year national agenda ในงานสัมมนา บางกอกโพสต์ อินเตอร์เนชั่นแนล ฟอรั่ม ประจำปี 2561 ว่า เศรษฐกิจไทยปี 2562 ยังมั่นใจว่าจะขยายตัวต่อเนื่องจากปัจจัยพื้นฐานทั้งการเงิน การคลัง ที่มั่นคงแล้วรวมถึงการท่องเที่ยว และไทยจะเข้าสู่การเลือกตั้งซึ่งเป็นที่รับรู้ทั้งคนไทยและต่างชาติที่รัฐบาลจะเดินไปตามโรดแมปที่วางไว้ ประกอบกับการพัฒนาเขตพิเศษภาคตะวันออก(EEC) ที่มีความคืบหน้าโครงสร้างพื้นฐานหลัก ทั้งหมดจะเป็นแรงส่งเสริมให้ไทยก้าวต่อไปได้ทั้งเรื่องเศรษฐกิจและภาพรวมการปฏิรูปประเทศ

“เรื่องความขัดแย้งการค้าขายระหว่างสหรัฐกับจีนจะมีผลอย่างไรยังคงต้องติดตาม แต่สำคัญคือเรามีภูมิคุ้มกันเข้มแข็งโดยเฉพาะอีอีซีจะมีส่วนในการขับเคลื่อนการลงทุนที่จะลดความผันผวนการค้าโลกได้เพราะเป็นการลงทุนระยะยาวไม่ได้ระยะสั้น ดังนั้นจึงยังมั่นใจว่าตัวเลขขอรับส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จะเป็นไปตามเป้าหมายเช่นเดียวกับตัวเลขลงทุนในพื้นที่อีอีซี”

สำหรับความชัดเจนในการเดินหน้าโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซีโดยเฉพาะ 5 โปรเจกต์สำคัญที่จะเห็นการพัฒนาในปี 2562 หลังได้ผู้ชนะประมูล ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน, โครงการเมืองการบินภาคตะวันออก:สนามบินอู่ตะเภา , โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานสนามบินอู่ตะเภา , โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 และ โครงการท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 จะเป็นการพลิกโฉมเศรษฐกิจไทยในระยะยาวเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม รัฐกำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายพื้นที่อีอีซี รองรับการลงทุนเพิ่มเติมจากปัจจุบันที่นำร่อง 3 จังหวัด(ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา) ไปยังพื้นที่อื่นเพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อกับภาคอื่น อาทิ เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้(SEC) เศรษฐกิจชีวภาพที่ภาคเหนือ และอื่นๆ ซึ่งทั้งหมดจะทำประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับคนทั้งประเทศไม่ได้เฉพาะ 3 จังหวัดเท่านั้น ซึ่งขณะนี้อีอีซีถือว่าเครื่องติดแล้วแต่ยังต้องดำเนินงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้น

ทั้งนี้อีอีซีจะเป็นตัวพลิกโฉมการเติบโตของเศรษฐกิจเอเชีย และเศรษฐกิจโลกด้วยเพราะอีอีซีเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญที่จะเชื่อมโยงกิจกรรมต่างๆ ของไทยผนวกกับกลุ่มประเทศ CLMVT สู่อาเซียน เอเชียและระดับโลกโดยไทยออกแบบที่ไม่ได้เพียงตอบโจทย์สำหรับไทยเท่านั้น

ซึ่งจะสิ่งที่จะต้องเดินต่อคือ อีอีซียังต้องเพิ่มความเชื่อมโยงระหว่างกันกับภูมิภาค ทั้งด้านทรัพยากรบุคคล ห่วงโซ่อุตสาหกรรม การแบ่งปันข้อมูลสำคัญ พัฒนานวัตกรรม ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สิ่งสำคัญคือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาค ซึ่งคาดการณ์ว่าอีก20ปี อาเซียนจะมีประชากรอาศัยในเขตเมืองถึง 90ล้านคน ทั้งนี้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญ เพื่อเพิ่มทักษะพลเมืองของอาเซียนให้สามารถแข่งขันได้

“ปี2562 ไทยจะดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน โดยมีพิธีส่งมอบจากประเทศสิงคโปร์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศวิสัยทัศน์ ส่งเสริมความร่วมมืออย่างยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน การใช้เทคโนโลยีปฏิวัติอุตสาหกรรม4.0 และการก้าวสู่ดิจิทัลอาเซียน ซึ่งไทยเองมีไทยแลนด์ 4.0 ที่จะพลิกโฉมให้ไทยเข้มแข็งในทุกมิติ”

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ส่งออกต.ค.บวก 8.7% พณ.ตั้งฉก.รับมือศึกการค้าโลกป่วน

พาณิชย์ระบุ ส่งออกเดือน ต.ค.61 กลับมาเป็นบวกร้อยละ 8.7หลังผู้ส่งออกคลายกังวลสงครามการค้ามะกัน-จีน มั่นใจทั้งปีร้อยละ 8 ส่วนปีหน้าเป้าอยู่ร้อยละ 8 เหมือนกัน พร้อมตั้งทีมเฉพาะกิจรับมือศึกการค้าระหว่างประเทศที่มีการผันผวนได้ทันที

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า สถานการณ์การค้าระหว่างประเทศของไทย หรือการส่งออกเดือนต.ค.61 พบว่า มีมูลค่า 21,757 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นการกลับมาขยายตัวเป็นบวกที่ร้อยละ 8.7 จากเดือนก.ย.61 ติดลบร้อยละ 5.2 ตามการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันที่ปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งมีการส่งออกทองคำ และอัญมณีและเครื่องประดับเพิ่มขึ้น แสดงว่าหลายประเทศยังมีความมั่นใจต่อภาวะตลาดโลก จึงมีความต้องการนำเข้าสูงขึ้น

ขณะที่การส่งออกสินค้าเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้นร้อยละ 12.2 ยกเว้นยางพาราที่ยังลดลงต่อเนื่องทั้งปริมาณและราคา เช่นเดียวกับตลาดส่งออกหลักทั้งสหรัฐฯขยายตัวร้อยละ 7.2 สูงสุดในรอบ 6 เดือน และญี่ปุ่นขยายตัวถึงร้อยละ 18.7 สูงสุดในรอบ 8 เดือน รวมถึงจีนที่กลับมาขยายตัวได้ร้อยละ 3 หลังจากหดตัวเดือนก่อนหน้า

ทั้งนี้แม้ว่าการส่งออกไปตลาดสหรัฐฯและจีนจะยังขยายตัว แต่ต้องยอมรับว่าไทยได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่เดือนต.ค.ที่ผ่านมาผลจากมาตรการทางตรงของสหรัฐฯที่กระทบต่อการส่งออกโซล่าเซลล์และเครื่องซักผ้า เมื่อมาหักลบกับสินค้าที่ไทยได้ประโยชน์จากที่ส่งออกไปสหรัฐฯทดแทนประเทศจีนเช่น ยานพาหนะและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เหล็ก และเครื่องจักรนั้น ไทยยังได้ประโยชน์ประมาณ 146 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่การนำเข้าเดือนต.ค.61 ขยายตัวร้อยละ 11.2 คิดเป็นมูลค่า 22,758 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการนำเข้า 10 เดือนแรกของปี ขยายตัวร้อยละ 14.8 คิดเป็นมูลค่า 208,929 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ไทย 10 เดือนแรก ยังเกินดุลการค้า 2,559 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

โดยการส่งออก 10 เดือนแรกของปียังขยายตัวร้อยละ 8.2 คิดเป็นมูลค่าการส่งออกที่ 211,488 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ยังมั่นใจว่าการส่งออกปีนี้จะขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ร้อยละ 8 โดยในช่วง 2 เดือนที่เหลือจะต้องผลักดันการส่งออกให้ได้เฉลี่ยเดือนละ 22,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนปี 2562 กระทรวงพาณิชย์ยังตั้งเป้าหมายการส่งออกไว้ที่ร้อยละ 8 รวมมูลค่ากว่า 276,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

สำหรับทิศทางการส่งออกในปี 2562 ยังมีหลายเรื่องต้องกังวลที่จะกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ที่สำคัญคือ สงครามการค้า การเมืองระหว่างประเทศ ความผันผวนค่าเงิน ราคาน้ำมัน ราคาพืชเกษตร และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เป็นต้น จึงมีแผนนำเสนอจัดตั้งทีมงานเฉพาะเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์รับมือการเปลี่ยนแปลงของโลกให้ทันท่วงที โดยขณะนี้กำลังหารือกับหน่วยงานภายในกระทรวงพาณิชย์และภายนอก รวมถึงกำลังจับตาการนำเข้าสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซว่า มีผลกระทบต่อการผลิตและการค้าภายในประเทศอย่างไร

จาก https://siamrath.co.th   วันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

มิตรผลโหมผลิตเอทานอลไม่หวั่นล้นเร่งออกตปท.

“มิตรผล” หนุนเอทานอลต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มมากขึ้น เร่งยกเลิกแก๊สโซฮอล์ 91 พร้อมขยายกำลังการผลิตทะลุ 410 ล้านลิตร  ปี “62 สวนกระแสโอเวอร์ซัพพลาย ดันส่งออกจีน-เกาหลีใต้-ญี่ปุ่น

นายสกล  แสงอรุณ  ผู้อำนวยการศูนย์เอทานอล บริษัท มิตรผล จำกัด กล่าวว่า แม้ว่าภาพรวมราคาเอทานอลในประเทศมีแนวโน้มทรงตัว แต่ทิศทางการเติบโตของการใช้เอทานอลของตลาดในประเทศมแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลส่งเสริมสามารถนำมาผลิตเป็นสารตั้งต้นให้เกิดมูลค่าเพิ่มได้อีกมาก ดังนั้น รัฐบาลไม่ควรลดสัดส่วนเอทานอล

“ทิศทางการการใช้เอทานอลในตลาดเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รรัฐบาลส่งเสริมในเกิดการลงทุนรอบใหม่ บริษัทจึงมีแผนจะศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายกำลังการผลิต ผลิตภัณฑ์เอทานอลเกรดพิเศศเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมยา ผลิตภัณฑ์ทางเคมี  เพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และบริษัทเสนอภาครัฐให้ยกเลิกการใช้แก๊สโซฮอล์ 91 เพื่อไปส่งเสริมเอทานอลมากขึ้น อาจปรับให้เป็น E20  และ E85 โดยไม่ควรลดสัดส่วนการใช้เอทานอล”

โดยในส่วนของบริษัทมิตรผล คาดการณ์ปี 2562 จะขยายกำลังผลิตเอทานอลเพิ่มขึ้นอีกเป็น 410 ล้านลิตรต่อปี  จากปีนี้ที่ 391 ล้านลิตรต่อปี โดยจะเป็นการขยายกำลังการผลิตเพื่อการส่งออกในสัดส่วนที่มากขึ้น เนื่องจากวัตถุดิบราคากากน้ำตาล มันสำปะหลังที่ค่อนข้างลดลงส่งผลให้เกิดโอเวอร์ซัพพลายซึ่งยังใกล้เคียงกับปีที่แล้ว

“กลุ่มมิตรผลมีวัตถุดิบผลิตพลังงานของตัวเองทำให้ต้นทุนต่ำ จึงเตรียมขยายกำลังผลิตเพื่อการส่งออกมากขึ้นในตลาดจีน เกาหลีใต้  ญี่ปุ่น รวมถึงเพื่อนบ้านอาเซียน  โดยต้องดูช่วงราคาที่เหมาะสม”

ทั้งนี้  ปัจจุบันโรงงานผลิตเอทานอลของบริษัท มิตรผล ไบโอฟูเอล จำกัด ในกลุ่มมิตรผลมี 4 แห่ง ประกอบด้วยโรงงานเอทานอลภูเขียว  กำลังการผลิต 500,000 ลิตรต่อวัน โรงงานเอทานอลกาฬสินธุ์  กำลังการผลิต 230,000 ลิตรต่อวัน  โรงงานเอทานอลด่านช้าง กำลังการผลิต 200,000 ลิตรต่อวัน และแม่สอดพลังงานสะอาด จำกัด กำลังการผลิตวันละ 230,000 ลิตรต่อวัน รวมกำลังการผลิตทั้งหมดมี 1.1 ล้านลิตรต่อวัน หรือ 380 ล้านลิตรต่อวัน ถือเป็นผู้ผลิตอันดับ 1 ของในอาเซียน

ในปีนี้บริษัทได้รับรางวัลชนะเลิศ ในเวที ASEAN Energy Award  2018 ครั้งที่ 18 ที่ประเทศสิงค์โปร์ในโครงการเชื้อเพลิงชีวภาพ ประเภทพลังงานทดแทนจากการนำเทคโนโลยีจากประเทศฝรั่งเศสที่มีประสิทธิภาพ และประหยัดพลังงานเข้ามาใช้ในโรงงาน สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 127,000 ตันต่อปี ซึ่งถือเป็นนโยบายหลักในการดูแลสิ่งแวดล้อมเพื่อให้สามารถอยู่รวมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

เกษตรฯพัฒนา‘หมอพืช’4ภาค เปิดหลักสูตรติวเข้มจนท.ทั่วปท. ปูพรมเปิดคลินิกดูแล‘เกษตรกร’เข้มป้องกันศัตรู-ปกป้องผลผลิต

นายสำราญ สาราบรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า การวินิจฉัยศัตรูพืช และการจัดการศัตรูพืชนั้น มีความสำคัญต่อการส่งเสริมการเกษตรอย่างมาก ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรมีบทบาทหน้าที่ส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรให้มีขีดความสามารถในการผลิตและจัดการสินค้าเกษตรตามความต้องการของตลาด ตลอดจนให้บริการทางการเกษตร ตามสภาพปัญหาและความต้องการของเกษตรกร เช่น บริการตรวจวินิจฉัยและให้คำแนะนำในการจัดการศัตรูพืช โดยในปีงบประมาณ 2562 กรมส่งเสริมการเกษตรวางแผนเพิ่มพูนความรู้ ความเข้าใจและพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่อารักขาพืชอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานอารักขาพืชได้สอดคล้องกับสภาพปัญหาในแต่ละพื้นที่ภูมิภาคต่างๆ และให้คำแนะนำในฐานะหมอพืชแก่เกษตรกรได้ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ

กรมส่งเสริมการเกษตรมีหน่วยงานที่รับผิดชอบงานด้านอารักขาพืชที่ชัดเจน โดยมีกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย เป็นศูนย์กลาง มีศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช 9 ศูนย์ กระจายอยู่ในภูมิภาคต่างๆ ตลอดจน

เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านอารักขาพืชอยู่ในทุกอำเภอและจังหวัด ซึ่งในปีงบประมาณ 2562 นี้ กรมส่งเสริมการเกษตรจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเจ้าหน้าที่อารักขาพืช หลักสูตรการเป็นหมอพืชและการดำเนินงานคลินิกพืช โดยเริ่มจัดขึ้นที่ อ.เมือง จ.ขอนแก่น ในระหว่างวันที่ 19-23 พฤศจิกายน 2561 และจัดจนครบทั้ง 4 ภาค ในต้นปี 2562 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อชี้แจงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และกำหนดแนวทาง การพัฒนา วางแผนการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการอารักขาพืชให้มีประสิทธิภาพเป็นทิศทางเดียวกัน

สำหรับ อ.เมือง จ.ขอนแก่น มีการลงพื้นที่ฝึกปฏิบัติการให้บริการคลินิกพืช ใน 3 จุด คือ จุดที่ 1 กลุ่มเกษตรกรทำสวนบ้านโนนเขวา หมู่ที่ 3 ต.ดอนหัน จุดที่ 2 ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร หมู่ที่ 8 ต.หนองตูม จุดที่ 3 แปลงใหญ่ไม้ผล (ฝรั่ง) หมู่ที่ 4 ต.บึงเนียม มีหมอพืชเข้าร่วมอบรม รวมทั้งสิ้น 109 คน ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช สำนักงานเกษตรอำเภอและจังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ หนองคาย เลย ชัยภูมิ และสุรินทร์ สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 4 จ.ขอนแก่น (สสก.ที่ 4) และ สสก.ที่ 7 จ.นครราชสีมา และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมสังเกตเรียนรู้อาการผิดปกติของพืชจากสาเหตุต่างๆเทคนิคการวินิจฉัยศัตรูพืช ความแตกต่างของการวินิจฉัยศัตรูพืชในแปลงและห้องปฏิบัติการ การจัดการศัตรูพืช การให้คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดการศัตรูพืช ตลอดจนการลงพื้นที่ฝึกปฏิบัติการให้บริการคลินิกพืช

ปัจจุบันประเทศไทยมีเนื้อที่ถือครองทางการเกษตรประมาณ 150 ล้านไร่ ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่สำหรับการผลิตพืชมากกว่าร้อยละ 90 ของพื้นที่ถือครองทางการเกษตรทั้งหมด จำนวนเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตรมีมากกว่า 7.9 ล้านครัวเรือน ซึ่งปัจจุบันปัญหาเกี่ยวกับการเข้าทำลายของศัตรูพืชทวีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้พืชอ่อนแอ ผลผลิตการเกษตรเกิดความเสียหายและมีปริมาณลดลง จึงจำเป็นต้องพัฒนาศักยภาพในการจัดการศัตรูพืช เพื่อให้ได้ผลผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาด และยกระดับมาตรฐานการผลิตของเกษตรกร

จาก https://www.naewna.com วันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

‘บาท’ เปิดตลาดเช้านี้ ‘อ่อนค่า’ ที่ 32.99 บาทต่อดอลลาร์ 

ค่าเงินบาทจะถูกกดดันด้วยแรงแข็งค่าของดอลลาร์และตลาดการเงินโลกยังปิดรับความเสี่ยงกังวลเศรษฐกิจชะลอตัวในปีหน้าและการเมืองสหรัฐมีความไม่แน่นอนสูง

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ที่ระดับ 32.99 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงจาก 32.97 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อน

สำหรับคืนที่ผ่านมา ตลาดการเงินโลกอยู่ในโหมดปิดรับความเสี่ยง (Risk Off) ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ทั้งในสหรัฐและยุโรป ต่างปรับตัวลง 1-2% เนื่องจากความกังวลกับเศรษฐกิจที่จะชะลอตัวในปีหน้า จึงเทขายทำกำไรหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีและกลุ่มค้าปลีก พร้อมกับที่ราคาน้ำมันก็ปรับตัวลงต่อถึง 7% ภายในวันเดียว ล่าสุดน้ำมันดิบเบรนท์ร่วงลงแตะระดับ 62 ดอลลาร์ต่อบาเรลล์ล้างกำไรในปีนี้ทั้งหมด โดยรวมจึงส่งผลให้อารมณ์ของนักลงทุนในตลาด เอนเอียงไปในทิศทางระมัดระวังตัวมาก

นอกจากนี้การเมืองของสหรัฐก็ยังมีความไม่แน่นอนสูง ล่าสุดแม้โดนัลด์ ทรัมป์จะส่งสัญญาณในเชิงบวก ว่าอาจหาข้อสรุปเรื่องการค้ากับจีนได้ พร้อมกับกดดันธนาคารกลางสหรัฐให้หยุดขึ้นดอกเบี้ย แต่ตลาดก็ไม่ให้น้ำหนักมากนัก สวนทางกับจังหวะที่ทรัมป์ส่งสัญญาณว่าจะไม่มีการลงโทษซาอุดิอาระเบียเพิ่มเติมจากปัญหาการฆาตกรรมนักข่าวที่ตลาดรับข่าวและเทขายน้ำมันทันที

วันนี้ค่าเงินบาทจะถูกกดดันด้วยแรงแข็งค่าของดอลลาร์และตลาดการเงินที่ปิดรับความเสี่ยง ในระยะสั้นแม้การปรับตัวลงของราคาน้ำมันจะเป็นบวกต่อเศรษฐกิจไทย แต่ตลาดการเงินในประเทศก็จะถูกกดดันจากหุ้นกลุ่มพลังงานซึ่งเป็นหุ้นกลุ่มใหญ่ โดยรวมมุมมองการลงทุนจึงยังไม่เป็นบวก

นักบริหารเงินธนาคารทหารไทย เปิดเผยว่า  ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักอื่นๆ โดยดัชนีดอลลาร์(DXY) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 96.82จุด  หลังตลาดปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ส่งผลให้ตลาดเข้าหาสินทรัพย์ที่ดูน่าจะปลอดภัยในช่วงตลาดผันผวนหนักอย่างดอลลาร์และค่าเงินเยน 

ที่น่าสนใจก็คือ แม้ว่าตลาดหุ้นทั่วโลกจะปรับตัวค่อนข้างหนัก หลุมหลบภัย(Safe haven asset)ปกติของตลาด อย่างค่าเงินเยนกลับไม่ได้รับความนิยมมากนัก ซึ่งเป็นไปได้ว่า ถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางญี่ปุ่นที่ยังคงเน้นย้ำถึงความจำเป็นของนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมาก เป็นปัจจัยหนึ่งที่กดดันไม่ให้ค่าเงินเยนแข็งค่าหนัก ท่ามกลางสภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาด 

นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้รับแรงหนุนจากแรงเทขายค่าเงินยูโร(EUR)และปอนด์(GBP) จากปัจจัยความกังวลร่างงบประมาณของรัฐบาลอิตาลี รวมทั้งความเสี่ยงการเจรจาBrexit 

ในช่วงนี้ ตลาดยังคงมีโอกาสผันผวนต่อ เนื่องจากความไม่แน่นอนของการเจรจาการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นไปได้ว่า สุดท้ายทั้งสองประเทศอาจจะไม่สามารถตกลงกันได้และอาจนำไปสู่มาตรการกำแพงภาษีที่มากขึ้น  ดังนั้นนักลงทุนและผู้ประกอบการจึงควรเตรียมรับมือกับสถานการณ์เลวร้ายสุด ถ้าหากจีนและสหรัฐฯยังคงเดินหน้าทำสงครามการค้าต่อ 

สำหรับวันนี้ ตลาดจะจับตาตัวเลขยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนพื้นฐาน(core durable goods orders)ของสหรัฐฯ โดยนักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนพื้นฐานอาจจะชะลอตัวลงเล็กน้อย ทว่ายังคงขยายตัวได้ราว 0.3% จากเดือนก่อนหน้า ท่ามกลางแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง  และที่สำคัญตลาดจะจับตารายงานตัวเลขยอดน้ำมันดิบคงคลัง(Crude Oil inventories) โดยEIA ซึ่งตัวเลขที่เพิ่มขึ้นกว่าคาด (เกิน 3ล้านบาร์เรล )จะยิ่งกดดันราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากความกังวลแนวโน้มอุปทานน้ำมันที่เพิ่มมากกว่าคาด และแนวโน้มอุปสงค์น้ำมันที่แย่ลง จากภาพเศรษฐกิจโลกชะลอตัว 

มองกรอบค่าเงินบาทอยู่ที่ 32.90-33.05 บาทต่อดอลลาร์

จาก www.bangkokbiznews.com  วันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

‘คูโบต้า’รุกตลาดอ้อยเต็มตัวส่ง‘เครื่องสางใบ-เก็บเกี่ยว’

‘คูโบต้า’รุกตลาดอ้อยเต็มตัวส่ง‘เครื่องสางใบ-เก็บเกี่ยว’ ลุยชี้ตอบโจทย์-เพิ่มประสิทธิภาพประหยัดเวลา-ต้นทุน-แรงงาน

“สยามคูโบต้า” ประกาศรุกตลาดอ้อยอย่างเต็มตัว ส่งเครื่องสางใบอ้อยและเครื่องตัดอ้อยออกสู่ตลาด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในทุกขั้นตอนการเก็บเกี่ยวนายสมศักดิ์ มาอุทธรณ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยว่า จากที่รัฐบาลผลักดันนโยบายบริหารพื้นที่เกษตรกรรมของพืช(Zoning) โดยเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวในพื้นที่ไม่เหมาะสมไปสู่การปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นๆอาทิ อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยพบว่าเกษตรจำนวนหนึ่งหันมาทำไร่อ้อย ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่เพาะปลูกอ้อยใน 47 จังหวัด มากกว่า 11 ล้านไร่ พื้นที่การเพาะปลูกอ้อยส่วนใหญ่จะอยู่ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากถึง 5 ล้านไร่ ซึ่งการตัดอ้อยส่วนใหญ่จะใช้แรงงานคนมากถึง 60% และปัญหาที่พบ คือ แรงงานจะใช้วิธีการเผาอ้อยก่อนตัดเพื่อให้เก็บเกี่ยวได้ง่ายซึ่งก่อให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งทำให้น้ำตาลในอ้อยลดลงซึ่งบางพื้นที่ยังขาดแคลนแรงงานในการตัดอ้อยอีกด้วย บริษัทจึงได้ทำการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับงานไร่อ้อยโดยเฉพาะขั้นตอนการเก็บเกี่ยวอ้อยสด เพื่อเพิ่มผลผลิตที่มีคุณภาพ อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนด้านแรงงานและประหยัดเวลา ซึ่งตอบโจทย์การทำไร่อ้อยในปัจจุบัน

โดยล่าสุด บริษัทได้เปิดตัว 2 ผลิตภัณฑ์ใหม่สำหรับงานไร่อ้อย ได้แก่ “เครื่องสางใบอ้อยตราช้าง รุ่น SLR110 สำหรับแทรกเตอร์คูโบต้าขนาด 24-27 แรงม้า สามารถสางใบอ้อยได้เต็มประสิทธิภาพด้วยชุดโรลเลอร์ จำนวน 4 ชุด ที่มีรอบหมุนที่รวดเร็วมากกว่า 900 รอบต่อนาที ทำให้สามารถตีใบอ้อยได้ละเอียด ได้ลำอ้อยที่สะอาด และดีไซน์ทิศทางการหมุนให้เป็นแบบหมุนขึ้น เพื่อช่วยลดความเสียหายต่อลำอ้อย พร้อมออกแบบให้มีรัศมีการทำงานกว้างถึง 2.1 เมตรและมีระยะสางใบสูงสุด 2.3 เมตร ทำให้เกษตรกรมีพื้นที่ในการทำงานกว้างขึ้นสามารถเข้าไปตัดอ้อยสดได้ง่าย อีกทั้งยังมีชุดป้องกัน เศษใบอ้อยที่จะเข้าไปสะสมในส่วนต่างๆ ของตัวเครื่อง ช่วยให้ทำงานได้ต่อเนื่องสูงสุด 15 ไร่ต่อวัน และ “เครื่องตัดอ้อย ตราช้าง รุ่น SCR100” สำหรับแทรกเตอร์คูโบต้าขนาด 95 แรงม้า โดยการทำงานของเครื่องตัดอ้อยนั้นรวมการทำงานทั้งหมดไว้ในเครื่องเดียวจากการทำงานพร้อมกัน 4 ระบบ ประกอบด้วย ระบบชุดตัด ยอดอ้อยที่สามารถตัดยอดอ้อยได้ตั้งแต่ 1.5 - 4 เมตร ระบบชุดสางใบอ้อย ถูกออกแบบให้ชุดโรลเลอร์ มีรอบการหมุนที่รวดเร็วมากกว่า 900 รอบต่อนาที ทำให้ตีใบได้ละเอียด ลำอ้อยสะอาด ระบบชุดตัดโคนอ้อย สามารถตัดโคนอ้อยได้สม่ำเสมอชิดกับดิน และระบบชุดถาดรวมกอง ที่สามารถบรรทุกน้ำหนักอ้อยได้สูงสุด 500 กิโลกรัมช่วยเก็บรวมกองอ้อยที่ตัดเสร็จแล้วเพื่อรอคีบขึ้นรถบรรทุกต่อไป นอกจากนี้ยังออกแบบให้เข้าทำงานในแปลงอ้อยที่มีระยะร่องปลูกตั้งแต่ 1 เมตรขึ้นไป ช่วยลดข้อจำกัดในเรื่องพื้นที่การทำงานตัดอ้อยได้ 40 - 80 ตันต่อวัน

“ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปี ที่ผ่านมา บริษัทไม่เคยหยุดวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยการสร้างสรรค์เครื่องจักรกลการเกษตรให้ตอบโจทย์การทำไร่อ้อยแบบมืออาชีพครบทุกขั้นตอนตั้งแต่เตรียมดิน เพาะปลูก บำรุงรักษา ไปจนถึงขนย้ายอ้อย เพื่อให้การทำการเกษตรมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แสดงให้เห็นถึงความพร้อมของสยามคูโบต้าสำหรับการเป็นผู้คิดค้นนวัตกรรมเกษตรเพื่ออนาคต” นายสมศักดิ์ กล่าว

ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมและพบเครื่องสางใบอ้อยตราช้าง รุ่น SLR110H ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป และพบกับเครื่องตัดอ้อยตราช้าง รุ่น SCR100 ได้ในเดือนธันวาคมนี้ ที่ร้านค้าผู้แทนจำหน่ายสยามคูโบต้าใกล้บ้านท่านหรือติดต่อศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์สยามคูโบต้า โทร. 0-2909-1234

จาก https://www.naewna.com วันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ปลื้ม!! เกษตรฯ เจรจา SPS สำเร็จ เตรียมประกาศยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรสู่ตลาดโลก

มกอช. ปลื้มสุด บรรลุเป้าเวทีโลก เจรจาด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) สำเร็จ เตรียมประกาศยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารไทยสู่ตลาดโลก

วันนี้ (20 พ.ย.61) นางสาวจูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า มกอช. เป็นหน่วยงานหลักของไทยในการเจรจาด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Sanitary and Phytosanitary Measures: SPS) ซึ่งได้พยายามผลักดันและได้เข้าร่วมการเจรจา เพื่อจัดทำข้อตกลงด้าน SPS ภายใต้การเจรจาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership) หรือ RCEP มาโดยตลอดระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2556 จนกระทั้งการประชุมจัดทำข้อตกลงด้าน SPS ภายใต้ RCEP ครั้งที่ 24 เมื่อเดือนตุลาคม 2561 ล่าสุด ได้บรรลุข้อตกลงสามารถหาข้อสรุปและบรรลุผลการเจรจาร่วมกันได้แล้ว

เลขาธิการ มกอช. กล่าวว่า ความตกลง RCEP ถือเป็นกรอบความตกลงทางเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ ประกอบด้วยประเทศสมาชิก 16 ประเทศ ได้แก่ ประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ และประเทศคู่เจรจา 6 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ รวมจำนวนประชากรมากกว่า 3,400 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 50 ของประชากรโลก มีมูลค่าการค้ารวมกันสูงถึง 10.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 340 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 29 ของการค้าโลก ซึ่งทุกประเทศคาดหวังว่ากรอบ RCEP จะทำให้ประเทศสมาชิกได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกันมากที่สุด ครอบคลุมทั้งการขยายตลาดการค้าสินค้า บริการ และส่งเสริมการลงทุน รวมทั้งลดอุปสรรคทางการค้าให้มากกว่าความตกลงอื่นที่มีอยู่เดิม

นางสาวจูอะดี กล่าวว่า ข้อตกลงด้าน SPS ฉบับนี้ จะช่วยอำนวยความสะดวก และลดอุปสรรคทางการค้าสินค้าเกษตรและอาหารให้ มีกลไกการแลกเปลี่ยนข้อมูลและการดำเนินการด้าน SPS ระหว่างประเทศสมาชิก กำหนดกรอบระยะเวลาการในดำเนินการที่เหมาะสม สำหรับการแก้ไขปัญหาและอำนวยความสะดวกด้านมาตรการด้าน SPS ส่งเสริมความร่วมมือด้าน SPS อันจะช่วยยกระดับคุณภาพมาตรฐานของสินค้าเกษตรและอาหารของไทยและประเทศสมาชิก RCEP เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก

“หากความตกลง RCEP มีผลบังคับใช้แล้ว จะทำให้อาเซียนเป็นศูนย์กลางของตลาดการค้าสินค้าเกษตร และเป็นโอกาสของไทยที่จะสามารถส่งออกสินค้าเกษตรไปยังประเทศสมาชิก RCEP ได้มากขึ้น รวมทั้งช่วยยกระดับคุณภาพมาตรฐานของสินค้าเกษตรและอาหารของไทยเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าน้ำตาล อาหารแปรรูป มันสำปะหลัง กุ้ง และข้าว ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหารส่งออกที่สำคัญของไทย อันจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร ตลอดจนผู้ผลิตและผู้ส่งออกไทยได้มากขึ้น”นางสาวจูอะดี กล่าว

จาก https://siamrath.co.th  วันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ไฟฟ้าเอเชียเปิดเวทีระดมสมอง เตรียมรับมือกระแสพลังงานทดแทน

นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่าเมื่อเร็วๆ นี้ กฟผ. เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้บริหารด้านการวางแผนยุทธศาสตร์ขององค์กรธุรกิจผลิตไฟฟ้าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ General Planning Managers of Southeast and Northeast Asia Electric Utilities (GPM) ครั้งที่ 34 ภายใต้แนวคิดปัจจัยขับเคลื่อนสู่อนาคตของอุตสาหกรรมไฟฟ้า

โดยที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนข้อมูล ทิศทางการดำเนินงาน ตลอดจนทรรศนะในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไฟฟ้าไปสู่อนาคต ใน 3 หัวข้อหลัก ได้แก่ 1) ยุทธศาสตร์การเติบโต 2) นวัตกรรมและการปรับเปลี่ยนองค์กรสู่ดิจิทัล และ 3) ความมั่นคงระบบไฟฟ้า โดยมีผู้บริหารรวมทั้งหมด 14 องค์กรที่เกี่ยวข้องจากประเทศกัมพูชา อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย เวียดนาม และไทย เข้าร่วมงานประชุมซึ่งจัดที่จังหวัดเชียงใหม่

นายพัฒนากล่าวว่า เมื่อหลายปีที่ผ่านมา กระแสการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีได้เข้ามามีผลกระทบกับหลายองค์กร ซึ่งในภาคของพลังงานไฟฟ้าก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน แม้ว่าความต้องการใช้ไฟฟ้ามีสูงขึ้น แต่การเข้ามาของพลังงานทดแทน โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์กับแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานทำให้ผู้บริโภคสามารถผลิตไฟฟ้าไว้ใช้ได้เอง และเมื่อพลังงานเหลือใช้ก็ยังสามารถนำไปจำหน่ายได้ในอนาคต (Prosumer) จึงทำให้เกิดเป็นแพลตฟอร์มการซื้อขายพลังงานโดยไม่ผ่านคนกลางขึ้นมา นำไปสู่การเปิดเสรีด้านพลังงานไฟฟ้า

การประชุมครั้งนี้แต่ละองค์กรจากประเทศสมาชิกได้นำเสนอการดำเนินงาน ภายใต้ ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีใหม่ที่เข้ามาแทนที่เทคโนโลยีเดิม (Disruptive Technology) ในอุตสาหกรรมไฟฟ้า แต่ละองค์กรมีแนวทางการดำเนินงานในอนาคตไปในทิศทางเดียวกัน คือ มุ่งสู่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนมากขึ้น ซึ่ง กฟผ. ได้ร่วมนำเสนอผลการดำเนินงานในหัวข้อ ความมั่นคงระบบไฟฟ้า เกี่ยวกับการรับมือสถานการณ์พลังงานทดแทนที่จะเข้ามาในระบบไฟฟ้าของประเทศไทยในอนาคต เช่น การจัดตั้งศูนย์ควบคุมและพยากรณ์พลังงานทดแทน เพื่อเป็นศูนย์กลางการควบคุมเครือข่ายพลังงานไฟฟ้าในอนาคต

นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอการส่งเสริมเทคโนโลยีพลังงานทดแทนและการศึกษาความเป็นไปได้อื่นๆ ในการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. อาทิ โครงการนำร่องพัฒนาสมาร์ทกริดแม่ฮ่องสอน การผลิตไฟฟ้าจากกังหันลมร่วมกับระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้า และการติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำเขื่อนสิรินธร รวมทั้งนำเสนอแนวคิดการนำเทคโนโลยีเข้ามาร่วมพัฒนาโรงไฟฟ้าให้สามารถใช้เชื้อเพลิงได้หลากหลายและเดินเครื่องได้รวดเร็วมากขึ้น

จาก https://www.naewna.com วันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

“ฉัตรชัย“ลั่นปี62 ขจัดภัยแล้งสำเร็จ

รองนายกรัฐมนตรี นั่งหัวโต๊ะการประชุมวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์น้ำ มั่นใจฤดูแล้งปีนี้ น้ำมีเพียงพอกับความต้องการในทุกภาคส่วน   สั่งวางแผนรับมือ เฝ้าระวังภัยแล้งทั่วประเทศ   ตั้งเป้าปีนี้ไม่มีการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง

วันนี้ (19 พ.ย.61) พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ  รองนายกรัฐมนตรี  เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ  ครั้งที่ 5/ 2561 ณ ทำเนียบรัฐบาลว่า  ที่ประชุมได้เห็นชอบแผนการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งปี 2561/2562 ซึ่งได้วางแผนการจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนตามลำดับความสำคัญของกิจกรรมการใช้น้ำ คือ 1.เพื่อการอุปโภค-บริโภค  2.เพื่อรักษาระบบนิเวศ    3.เพื่อสำรองน้ำสำหรับการใช้น้ำต้นฤดูฝนปีต่อไป 4.เพื่อเกษตรกรรม และ5.เพื่ออุตสาหกรรม

ทั้งนี้ ณ วันที่ 1 พ.ย. 61  ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นแผนการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง มีปริมาณน้ำใช้การได้ทั้งในเขตและนอกกเขตชลประทานทั่วประเทศ 43,905 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)  ซึ่งจะจัดสรรน้ำไว้ใช้ช่วงฤดูแล้ง ปี 2561/62 จำนวน 30,145 ล้าน ลบ.ม. โดยจัดสรรให้เกษตรกรรมเพื่อใช้ปลูกข้าวนาปรัง ข้าวโพด พืชไร่ พืชผัก จำนวน 18,709 ล้าน ลบ.ม. ส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตรได้ 16.13 ล้านไร่ แบ่งเป็นเขตชลประทาน 13,953 ล้าน ลบ.ม.  สามารถส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตรได้ 10.46 ล้านไร่  และนอกเขตชลประทานจำนวน 4,756 ล้าน ลบ.ม. ส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตรได้  5.67 ล้านไร่ที่เหลือจะสำรองน้ำต้นฤดูฝน ปี 2562 จำนวน 13,760 ล้าน ลบ.ม.

นอกจากนั้น ที่ประชุมยังเห็นชอบมาตรการแก้ไขปัญหาพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ  โดยน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคนั้น ในพื้นที่การให้บริการของการประปานครหลวง (กปน.)  จะมีน้ำเพียงพอกับความต้องการตลอดปี 2562  ส่วนในพื้นที่การให้บริการของการประปาส่วนภูมิภาคได้ประเมินพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคจากจำนวนทั้งหมด 234 สาขา พบว่า มีพื้นที่สาขาของการประปาส่วนภูมิภาค จำนวน 9 แห่ง  มีผู้ใช้น้ำ 51,120 ราย ที่ต้องเฝ้าระวังขาดแคลนน้ำ ได้แก่ อ.พิมาย  จ.นครราชสีมา  อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด อ.พยัคภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม  อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู อ.เมือง จ.บุรีรัมย์  อ.แม่ขะจาน  จ.เชียงราย  อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ และอ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์  ซึ่งได้สั่งการให้ กปภ. จัดการแหล่งน้ำสำรอง เพื่อนำน้ำมาผลิตประปาให้เพียงพอกับความต้องการแล้ว

ส่วนพื้นที่นอกเขตพื้นที่ให้บริการของ กปภ.นั้น  มีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ทั้งหมด 20 จังหวัด คือ เชียงใหม่ สุโขทัย เพชรบูรณ์ ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ มหาสารคาม ขอนแก่น เลย ร้อยเอ็ด และ สุรินทร์ สุพรรณบุรี ชัยนาท อุทัยธานี อ่างทอง สิงห์บุรี นครสวรรค์ และ สมุทรสงครามกาญจนบุรี และ ราชบุรี  ซึ่งได้สั่งการให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลดำเนินการเร่งขุดเจาะน้ำบาดาลให้ได้ตามแผนงานที่วางไว้  โดยภายในปี 2562 ต้องได้ 338 แห่งกรมทรัพยากรน้ำบาดาลดำเนินการขุดเจาะตามแผนโครงการพัฒนาน้ำบาดาล ปี 62 รวม 338 แห่ง พื้นที่ 20 จังหวัด แต่ในส่วนพื้นที่ 73 ตำบล 31 อำเภอ ใน 9 จังหวัดซึ่งอยู่นอกเขตชลประทาน และเป็นพื้นที่ที่ยังไม่มีบ่อบาดาล ที่ประชุมมอบหมายให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลเสนอแผนการขุดเจาะเพิ่มเติมเร่งด่วนต่อไป

สำหรับน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศได้สั่งการให้กรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนในการระบายน้ำเพื่อผลักดันน้ำเค็มและรักษาคุณภาพน้ำทั้งในแม่น้ำเจ้าพระยา  แม่น้ำท่าจีน  แม่น้ำแม่กลอง  และแม่น้ำปราจีนบุรี-บางปะกง  พร้อมทั้งให้เฝ้าระวังคุณภาพน้ำในแม่น้ำปิง  แม่น้ำชี  แม่น้ำตาปี  ทะเลสาบสงขลา สำหรับมาตรการในการควบคุมคุณภาพน้ำในพื้นที่ชุมชนมอบหมายให้กรมควบคุมมลพิษเป็นผู้ดำเนินการ  ในส่วนของน้ำเพื่อเกษตรกรรม มีพื้นที่นอกเขตชลประทานที่เสี่ยงต่อภัยแล้ง  จำนวน  11  จังหวัด  27 อำเภอ 71 ตำบล พื้นที่รวม 151,552 ไร่  ได้แก่ สุโขทัย นครสวรรค์ อุตรดิตถ์  กำแพงเพชร  ขอนแก่น ชัยภูมิ มหาสารคาม ศรีสะเกษ  หนองบัวลำภู  อุทัยธานี และสุพรรณบุรี  ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบมาตรการแก้ไขปัญหาเพื่อลดผลกระทบในพื้นที่ โดยมอบหมายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เร่งทำความเข้าใจกับเกษตรกรในการปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวซึ่งใช้น้ำมากเป็นพืชอื่นๆ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หญ้าเลี้ยงสัตว์  แตงโม พืชผัก  ถั่ว  ข้าวโพดฝักสด ที่ใช้น้ำน้อยกว่าแทน คิดเป็นพื้นที่ 103,787 ไร่ รวมถึงให้เกษตรกรหันไปประกอบอาชีพอื่นๆ เช่น หัตถกรรม ค้าขาย แปรรูปอาหาร เป็นต้น เกษตรกร 2,773 ราย พื้นที่ 33,800 ไร่ รวมทั้งสนับสนุนให้เกษตรกรเลี้ยงปศุสัตว์   เช่น ไก่  สุกร โคเนื้อ เกษตรกร 1,408 ราย พื้นที่ 13,965 ไร่ อีกด้วย

นอกจากนี้ในส่วนของน้ำเพื่ออุตสาหกรรม  จากการประเมินพบว่า มีความต้องการใช้น้ำตั้งแต่เดือน พ.ย.61       - เม.ย.62 ทั้งในและนอกเขตนิคมอุตสาหกรรมรวมทั้งสิ้น 1,077 ล้าน ลบ.ม. ที่จะประชุมได้เห็นชอบให้จัดสรรจากแหล่งน้ำที่มีอยู่บนดินจำนวน 911 ล้านลบ.ม. และจัดสรรจากน้ำบาดาลอีก 166 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งจะทำให้ภาคอุตสาหกรรมไม่มีความเสี่ยงขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง

“ฤดูแล้งปี 2561/62 คาดการณ์ว่า จะเป็นปีที่ 2 ที่จะไม่มีการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง เช่นเดียวกับปี 2560/61 ที่ผ่านมา  ซึ่งตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมาประเทศไทยมีหมู่บ้านประกาศภัยแล้งลดลงอย่างต่อเนื่อง สามารถลดงบประมาณในการช่วยเหลือเยียวยาได้มาก  อย่างไรก็ตามได้มอบหมายให้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงกลาโหม และกระทรวงมหาดไทย เตรียมความพร้อมของเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ และรถยนต์บรรทุกน้ำให้สามารถนำไปช่วยเหลือได้ทันทีหากมีการร้องขอ  พร้อมทั้งให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยง ตลอดจนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้สถานการณ์น้ำและการเพาะปลูกพืชอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญคือให้ สทนช.ประสานผ่านกระทรวงมหาดไทย เพื่อมอบหมายให้หน่วยงานระดับท้องถิ่นร่วมดำเนินการตามแผนป้องกันแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และประสานหน่วยงานที่เกี่ยงข้องในพื้นที่อย่างใกล้ชิดเป็นระยะๆ ด้วย" รองนายกรัฐมนตรีกล่าวในตอนท้าย

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

คุมเข้มสินค้าสวมสิทธิไทยส่งออกไปสหรัฐ

พาณิชย์จับมือศุลกากรสหรัฐบุกโรงงานผลิตสินค้า พบไม้แขวนเสื้อเหล็กและตะปูสวมสิทธิไทยส่งออก

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมได้ร่วมมือกับผู้แทนศุลกากรของสหรัฐประจำสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย ดำเนินการตรวจสอบสถานที่ผลิตสินค้าในไทย ซึ่งผลิตสินค้าที่สหรัฐใช้มาตรการทางการค้ากับประเทศอื่นๆ เช่น มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (เอดี/ซีวีดี) มาตรการปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น (เซฟการ์ด)เพราะสหรัฐเกรงว่าจะมีการแอบอ้างแหล่งกำเนิดสินค้าจากไทย (สวมสิทธิ์) ส่งออกไปสหรัฐ เนื่องจากไทยไม่ถูกใช้มาตรการภาษี

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบ 2 รายการ คือ ไม้แขวนเสื้อเหล็ก และตะปู ซึ่งเป็นสินค้าที่สหรัฐใช้มาตรการเอดีกับสินค้าจีน มีการแอบอ้างว่าผลิตในไทยแล้วส่งออกไปสหรัฐจริง เพราะโรงงานที่ไปตรวจสอบไม่มีการผลิต ไม่มีเครื่องจักรแต่มีสินค้าวางกองไว้ ดังนั้นจึงได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการออกใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (ซี/โอ) ที่ปัจจุบันมีหลายหน่วยงาน เช่น สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ยกเลิกการออกใบซี/โอ

“โรงงานที่ได้ไปตรวจสอบในกลุ่มไม้แขวนเสื้อเหล็ก ตะปู และใบเลื่อยกากเพชร พบ 2 รายการที่มีปัญหาหลบเลี่ยงแหล่งกำเนิดสินค้า (Circumvention) ส่งออกไปสหรัฐเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีเอดี ซึ่งได้สั่งถอนใบซี/โอแล้ว เพราะการตรวจสอบพบแต่สินค้าวางกองอยู่ไม่มีเครื่องจักรที่นำมาผลิต” นายอดุลย์ กล่าว

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

‘บาท’ เปิดตลาดเช้านี้ ‘แข็งค่า’ ที่ 32.85 บาทต่อดอลลาร์

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ที่ระดับ 32.85 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจาก 33.02 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อน

ภาพรวมเงินบาทในสัปดาห์นี้ แม้จะมีตัวช่วยจากตัวเลขเศรษฐกิจที่เป็นบวก แต่ความคาดหวังของตลาดก็อยู่ในระดับสูง

นอกจากนี้ยังเห็นได้ชัดว่า เมื่อตลาดการเงินไม่เปิดรับความเสี่ยงเต็มที่ ก็จะมีกระแสการแข็งค่าของดอลลาร์เข้ามากดดันตลาดทำให้เงินบาทแกว่งตัวในกรอบ 32.80-33.10 บาทต่อดอลลาร์

ช่วงนี้จึงต้องจับตาไปที่การเมืองในยุโรป โดยเฉพาะเรื่อง Brexit และโอกาสการหารือระหว่างสหรัฐและจีน ซึ่งถ้าหาข้อสรุปได้ ตลาดการเงินจะพลิกกลับมาเปิดรับความเสี่ยงทันที

มองกรอบเงินบาทระหว่างวัน 32.80-32.90 บาทต่อดอลลาร์ และกรอบเงินบาทในสัปดาห์ 32.75-33.25 บาทต่อดอลลาร์

สำหรับในสัปดาห์นี้ต้องจับตาจีดีพีไทยและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในสหรัฐเป็นหลัก เริ่มจากวันจันทร์ การประกาศตัวเลขจีดีพีไตรมาสที่สามของไทย คาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ระดับ 0.70% จากไตรมาสก่อน หรือคิดเป็น 4.30% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าด้วยแรงหนุนหลักจากการบริโภคในประเทศ

วันพุธ การรายงานยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน (US Durable Goods Order) เดือนตุลาคมในสหรัฐคาดว่าจะหดตัว 3.50% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากการชะลอการสั่งซื้อในธุรกิจอากาศยานจากปัญหาความไม่ชัดเจนของนโยบายการค้า

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของมหาลัยมิชิแกน (Consumer Sentiment) คาดว่าจะปรับตัวลงมาที่ระดับ 97.9จุด หลังจากตลาดหุ้นปรับตัวลง ขณะที่ความคาดหวังเงินเฟ้อ (Expected Change in Prices) ในช่วง 5 ถึง 10 ปีอยู่ที่ระดับ 2.60%ต่อปี

วันพฤหัส รายงานตัวเลขเงินเฟ้อพื้นฐานในญี่ปุ่น (CPI ex.Fresh Foods and Energy) คาดว่าจะขยายตัว 1.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่รายงานการขยายตัวเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของสิงคโปร์คาดว่าจะชะลอตัวลงมาที่ระดับที่ 2.60% เมื่อเทียบกับปีก่อนจากแนวโน้มการส่งออกที่ชะลอตัว

จาก www.bangkokbiznews.com  วันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

มิตรผลไบโอฟูเอลเล็งขยายไลน์ผลิต ป้อนอุตสาหกรรมยา-ผลิตภัณฑ์ทางเคมี

นายสกล แสงอรุณ รองผู้อำนวยการด้านโรงงานเอทานอลมิตรผล บริษัทมิตรผล ไบโอฟูเอล จำกัด (สุพรรณบุรี)ในฐานะผู้ผลิตพลังงานชีวภาพเปิดเผยว่าโรงงานผลิตเอทานอล อำเภอ ด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรีเป็นหนึ่งใน 3 โรงงานผลิตเอทานอล ของกลุ่มมิตรผล ซึ่งมีกำลังการผลิตรวม 1.1 ล้านลิตรต่อวัน หรือ 380 ล้านลิตรต่อปี ปัจจุบันนับเป็นผู้ผลิตรายใหญ่อันดับ 1 ในอาเซียน ที่สามารถป้อนเป็นเชื้อเพลิงให้กับระบบขนส่ง และบริษัทพลังงานต่างๆ ในประเทศไทย และคาดว่าจะมีแนวโน้มสัดส่วนการใช้ที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เนื่องจากนโยบายการใช้พลังงานทดแทนของแต่ละประเทศ ที่มีเป้าหมายดูแลด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มข้น

จากทิศทางการเติบโตการใช้เอทานอลในตลาดที่สูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาลที่ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนรอบใหม่ บริษัทจึงมีแผนการศึกษาความเป็นไปได้ การขยายกำลังการผลิต ผลิตภัณฑ์เอทานอลเกรดพิเศษ เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมยา ผลิตภัณฑ์ทางเคมี เพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่ ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0

“ที่ผ่านมา บริษัทได้ลงทุนการพัฒนาทั้งทางด้านเทคโนโลยี และเพิ่มประสิทธิภาพทั้งทางด้านการผลิตให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งในด้านการใช้พลังงานและการดูแลสิ่งแวดล้อม และในปีหน้าบริษัทเตรียมส่งผลงานเข้าร่วมประกวดโครงการ Thailand Energy Awards ในปี 2562 ในประเภทด้านบุคลากรด้านพลังงานทดแทน สำหรับปีนี้บริษัทได้รับรางวัลชนะเลิศ ในเวที ASEAN Energy Award 2018 ครั้งที่ 18 ที่ประเทศสิงคโปร์ พลังงาน ในโครงการเชื้อเพลิงชีวภาพ (Biofuel) ประเภทพลังงานทดแทน”นายสกลกล่าว โรงงานผลิตเอทานอล ที่สุพรรณบุรี เป็นการนำแบบของโรงงานเอทานอลภูเขียว จ.ชัยภูมิ มาพัฒนาต่อยอด ในด้านเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการใช้พลังงาน ด้วยกำลังการผลิตประมาณ 500,000 ลิตรต่อวัน และยังได้ไปใช้ในโรงงานแห่งอื่นๆ ทั้งโรงงานในกลุ่มมิตรผลและโรงงานที่มีการร่วมทุนกับพันธมิตร อาทิ โรงงานผลิตเอทานอล กาฬสินธุ์ กำลังการผลิตประมาณ 230,000 ลิตรต่อวัน โรงงานเอทานอล ด่านช้างจ.สุพรรณบุรี มีกำลังการผลิตประมาณ 200,000 ลิตรต่อวัน โรงงานเอทานอลแม่สอด ซึ่งเป็นโรงงานร่วมทุนกับบริษัท ผาแดงอินดัสทรี และบริษัท ไทยออยล์ ที่มีกำลังการผลิตประมาณ 230,000 ลิตรต่อวัน

จาก https://www.naewna.com วันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

สทนช.เตรียมคลอดแผนจัดการน้ำในอีอีซี มิ.ย.62

สทนช.เร่งศึกษาจัดทำแผนการพัฒนาและจัดการทรัพยากรน้ำภาคตะวันออกรองรับอีอีซี แจงแผนการบริหารจัดการน้ำจะให้ความสำคัญกับภาคเกษตรกรรม มั่นใจไม่เกิดปัญหาแย่งน้ำ ยืนยันปริมาณน้ำมีเพียงพอกับความต้องการในทุก ภาคส่วนแน่นอน

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สทนช.กำลังดำเนินโครงการศึกษาเพื่อจัดทำแผนหลักการพัฒนาและจัดการทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก เพื่อให้ได้แนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในลุ่มภาคตะวันออกทั้ง 4 ลุ่มน้ำหลัก ได้แก่ ลุ่มน้ำปราจีนบุรี ลุ่มน้ำบางปะกง ลุ่มน้ำโตนเลสาป และลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก ที่สามารถเชื่อมโยงระหว่างลุ่มน้ำ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและมีความสมดุลระหว่างการใช้น้ำ การป้องกันอุทกภัย และการจัดการคุณภาพน้ำ รวมทั้งเพื่อหาแนวทางอันนำไปสู่การพัฒนาแหล่งน้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน และการปรับปรุงหรือเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งกักเก็บน้ำ ระบบกระจายน้ำที่มีอยู่เดิม เพื่อรองรับความต้องการน้ำในอนาคต รวมถึงการแก้ไขและบรรเทาปัญหาอุทกภัยและการจัดการคุณภาพน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำภาคตะวันออก

นอกจากนี้ยังเป็นการเตรียมความพร้อมด้านแหล่งน้ำ เพื่อรองรับโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economics Corridor: EEC) และพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ที่มีความสมดุลกับภาคการเกษตรและระบบนิเวศ โดยมีพื้นที่การศึกษา ครอบคลุมพื้นที่ภาคตะวันออกทั้งหมด ประกอบด้วย 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครนายก ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด สระแก้ว และปราจีนบุรี ทั้งนี้ ผลการศึกษาทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 17 มิถุนายน 2562

สำหรับขอบเขตการศึกษาเพื่อจัดทำแผนหลักการพัฒนาและจัดการทรัพยากรน้ำภาคตะวันออกดังกล่าว จะทำการศึกษาทบทวนผลการศึกษาเดิมที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นของกรมชลประทานและหน่วยงานอื่นๆ ทั้งหมด พร้อมทั้งศึกษาความต้องการใช้น้ำทุกด้าน ปริมาณแหล่งน้ำผิวดินและแหล่งน้ำใต้ดินในปัจจุบัน และคาดการณ์ในอนาคต 5 ปี 10 ปี และ 20 ปี อันเนื่องมาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจ สังคม อุตสาหกรรม การท่องเที่ยวอันเกิดจาก EEC และพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน รวมถึงสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) เพื่อนำไปสู่การวางแผนการรับมือด้วยมาตรการต่างๆ ที่เหมาะสม

"การศึกษาครั้งนี้ ยังจะมีการจัดทำแบบจำลองการบริหารจัดการน้ำทั้งแบบจำลองสมดุลน้ำและแบบจำลองชลศาสตร์ พร้อมทั้งวิเคราะห์สภาพแหล่งน้ำผิวดินและน้ำใต้ดินที่เสี่ยงต่อคุณภาพน้ำต่ำ และสภาพการรุกล้ำของน้ำเค็มในจุดที่สำคัญของพื้นที่ศึกษา โดยใช้ข้อมูลทุติยภูมิหรือข้อมูลจากการศึกษาเดิมที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งวิเคราะห์ขีดความสามารถในการรับมือปัญหาน้ำเสียในปัจจุบัน และแนวทางการแก้ไขปัญหาในอนาคตโดยมาตรการใช้สิ่งก่อสร้างและมาตรการไม่ใช้สิ่งก่อสร้าง นอกจากนี้ยังจะศึกษาวิเคราะห์ความเสี่ยงการเกิดอุทกภัยและภัยแล้ง และแนวโน้มความรุนแรงในอนาคต ขีดความสามารถในการรับมือในปัจจุบันและแนวทางการแก้ไขปัญหาในอนาคตทั้งมาตรการใช้สิ่งก่อสร้างและมาตรการไม่ใช้สิ่งก่อสร้าง ตลอดจนการศึกษาด้านการบริหารจัดการน้ำ ศึกษาด้านเศรษฐกิจสังคมและเศรษฐศาสตร์โครงการ รวมทั้งยังจะจัดทำระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) และฐานข้อมูลโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอีกด้วย" ดร.สมเกียรติกล่าว

เลขาธิการ สทนช.กล่าวต่อว่า ขณะนี้ความต้องการใช้น้ำในพื้นที่กลุ่มจังหวัด EEC คือ จังหวัดระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา มีความต้องการประมาณปีละ 2,000 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ในขณะที่การพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ปัจจุบันประกอบด้วย โครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 4 แห่ง โครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง 19 แห่ง รวมมีปริมาณน้ำต้นทุนเก็บกัก 1,353 ล้าน ลบ.ม. และมีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กและโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้ากระจายในพื้นที่ พื้นที่กลุ่มจังหวัดมีน้ำท่าที่เกิดขึ้นในพื้นที่ลุ่มน้ำบางปะกง-ปราจีนบุรีและลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก และมีปริมาณน้ำจากพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเข้ามาเสริมน้ำต้นทุนอีกไม่ต่ำกว่า 300 ล้าน ลบ.ม. อีกทั้งมีการพัฒนาน้ำบาดาลขึ้นมาใช้เพื่ออุปโภค บริโภค และการเกษตร รวมถึงยังการพัฒนาโครงข่ายระบบผันน้ำเชื่อมโยงแหล่งน้ำอื่นในพื้นที่ภาคตะวันออกอีกด้วย ดังนั้นจะไม่เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างแน่นอน

ส่วนความต้องการใช้น้ำในอนาคตของ EEC ที่ได้มีการคาดการณ์ในอีก 20 ปีข้างหน้าว่าจะมีความต้องการใช้น้ำ 1,000 ล้าน ลบ.ม. นั้น เป็นการประมาณความต้องการใช้น้ำจากหน่วยงานด้านแหล่งน้ำ เมื่อปี พ.ศ.2560 โดยที่ยังไม่มีแผนหลักการพัฒนา ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกในด้านการพัฒนาอุตสาห กรรม ที่ตั้งชุมชนใหม่ อัตราการขยายตัวของชุมชนเดิม ปริมาณนักท่องเที่ยว จำนวนประชากรแฝงหลังจากเกิดโครงการ EEC เป็นต้น

โดยจะต้องรอผลการศึกษาโครงการศึกษาเพื่อจัดทำแผนหลักการพัฒนาและจัดการทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก ที่ สนทช.กำลังดำเนินการศึกษาก่อน อย่างไรก็ตามในเบื้องต้น สทนช.ได้วิเคราะห์ ประมวลแผนงานสำคัญในการพัฒนาแหล่งน้ำใหม่ ในช่วงระยะเวลา 5ปี (ปี 2562-2566) ประกอบด้วย 6 แผนงาน จะได้ปริมาณน้ำต้นทุนรองรับพื้นที่ EEC ประมาณ 366 ล้าน ลบ.ม. รวมทั้งยังจะมีการวางแนวทางการศึกษาการพัฒนาแหล่งน้ำจากเทคโนโลยีการกรองน้ำทะเลเป็นน้ำจืด การนำน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วมาใช้ใหม่ การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในภาคส่วนต่างๆ และมาตรการประหยัดน้ำแล้ว จะทำให้มีปริมาณน้ำเพียงพอกับความต้องการอย่างแน่นอน

สำหรับแผนงานสำคัญทั้ง 6 แผนงานดังกล่าว ประกอบด้วย 1.แผนการปรับปรุงแหล่งน้ำเดิม 2.แผนการพัฒนาอ่างเก็บน้ำในลุ่มน้ำคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรี 4 แห่ง ซึ่งขณะนี้ก่อสร้างแล้วเสร็จ 1 แห่ง ได้แก่ อ่างฯคลองประแกด อยู่ในระหว่างก่อสร้าง 2 แห่ง ได้แก่ อ่างฯคลองพะวาใหญ่ และอ่างฯ คลองหางแมว คาดว่าก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2565 เหลืออีก 1 แห่งคืออ่างฯ คลองวังโตนด 3.แผนการเชื่อมโยงแหล่งน้ำและระบบผันน้ำ ในระยะ 5 ปี จะทำการเชื่อมโยงแหล่งน้ำและผันน้ำภายในประเทศให้เต็มศักยภาพ 5.แผนพัฒนาแหล่งน้ำสำรองภาคเอกชน บริษัท East Water มีแผนดำเนินการจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มเติมโดยการพัฒนาบ่อดินในพื้นที่เอกชน และการขุดสระทับมา และ 6.แผนการสำรวจพัฒนากลุ่มบ่อน้ำบาดาลสำหรับภาคอุตสาหกรรม

"แม้จะมีการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อรองรับ EEC หลากหลายแผนงานก็ตาม แต่การบริหารจัดการน้ำ ในภาคตะวันออก ภาครัฐให้ความสำคัญกับการจัดสรรน้ำให้กับภาคเกษตรกรรมเป็นอันดับแรก โดยจะจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนในแผนพัฒนาและบริหารจัดการน้ำภาคตะวันออกอย่างยั่งยืน ดังนั้นจะไม่เกิดการแย่งชิงน้ำระหว่างภาคเกษตรกรรมกับภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนระหว่างกลุ่มเกษตรกรด้วยกันเองอย่างแน่นอน แม้จะมีการขยายพื้นที่ปลูกทุเรียนในจังหวัดจันทบุรี และระยอง ก็ตาม" เลขาธิการ สนทช.กล่าวย้ำในตอนท้าย

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

โรงงานเอทานอลกลุ่มมิตรผลเล็งขยายไลน์ผลิตรับอุตฯ เป้าหมาย

โรงงานผลิตเอทานอล ด่านช้าง กลุ่มมิตรผลพร้อมศึกษาขยายไลน์ผลิตเอทานอล รับอุตสาหกรรมเป้าหมายในกลุ่มอุตสาหกรรมยา โชว์ผลงานรับรางวัลชนะเลิศจากเวทีอาเซียน ASEAN Energy Award 2018 ที่สิงคโปร์ ในโครงการเชื้อเพลิงชีวภาพประเภทพลังงานทดแทน

นายสกล แสงอรุณ รองผู้อำนวยการด้านโรงงานเอทานอลมิตรผล บริษัท มิตรผล ไบโอฟูเอล จำกัด (สุพรรณบุรี) ในฐานะผู้ผลิตพลังงานชีวภาพ เปิดเผยว่า โรงงานผลิตเอทานอล อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็น 1 ใน 3 โรงงานผลิตเอทานอลของกลุ่มมิตรผล ที่มีกำลังการผลิตรวม 1.1 ล้านลิตรต่อวัน หรือ 380 ล้านลิตรต่อปี ปัจจุบันนับเป็นผู้ผลิตรายใหญ่อันดับ 1 ในอาเซียนที่สามารถป้อนเป็นเชื้อเพลิงให้แก่ระบบขนส่ง และบริษัทพลังงานต่างๆ ในประเทศไทย และคาดว่าจะมีแนวโน้มสัดส่วนการใช้ที่เพิ่มสูงขึ้นอีกในแต่ละปี ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เนื่องจากนโยบายการใช้พลังงานทดแทนของแต่ละประเทศที่มีเป้าหมายดูแลด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มข้น

ขณะเดียวกัน ในปีนี้บริษัทฯ ยังได้รับรางวัลชนะเลิศในเวที ASEAN Energy Award 2018 ครั้งที่ 18 ที่ประเทศสิงคโปร์ พลังงาน ในโครงการเชื้อเพลิงชีวภาพ (Biofuel) ประเภทพลังงานทดแทน เป็นผลมาจากกระบวนการผลิตของโรงงานผลิตเอทานอลมีการนำเทคโนโลยีจากประเทศฝรั่งเศสที่มีประสิทธิภาพสูงในด้านการผลิต และประหยัดพลังงานเข้ามาใช้ในโรงงาน สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศได้เป็นจำนวนมาก ประมาณ 127,000 ตันต่อปี ถือเป็นโยบายหลักในการดำเนินธุรกิจของบริษัทและต้องมีการดูแลสิ่งแวดล้อมเพื่อให้สามารถอยู่รวมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม จากทิศทางการเติบโตการใช้เอทานอลในตลาดที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาลที่ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนรอบใหม่ บริษัทฯ จึงได้มีแผนการศึกษาความเป็นไปได้การขยายกำลังการผลิตเอทานอลเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมยา ผลิตภัณฑ์ทางเคมี เพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0

“ที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้มีการลงทุนการพัฒนาทั้งทางด้านเทคโนโลยี และเพิ่มประสิทธิภาพทั้งทางด้านการผลิตให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งในด้านการใช้พลังงานและการดูแลสิ่งแวดล้อม และในปี 2562 บริษัทเตรียมพร้อมในการส่งผลงานเข้าร่วมประกวดโครงการ Thailand Energy Awards ในปี 2562 ในประเภทด้านบุคลากรด้านพลังงานทดแทน”

ทั้งนี้ โรงงานผลิตเอทานอลที่สุพรรณบุรี เป็นการนำแบบของโรงงานเอทานอลภูเขียว จ.ชัยภูมิ มาพัฒนาต่อยอดในด้านเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการใช้พลังงาน ด้วยกำลังการผลิตประมาณ 500,000 ลิตรต่อวัน และยังได้ไปใช้ในโรงงานแห่งอื่นๆ ทั้งโรงงานในกลุ่มมิตรผลและโรงงานที่มีการร่วมทุนกับพันธมิตร อาทิ โรงงานผลิตเอทานอล กาฬสินธุ์ กำลังการผลิตประมาณ 230,000 ลิตรต่อวัน โรงงานเอทานอล ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี มีกำลังการผลิตประมาณ 200,000 ลิตรต่อวัน โรงงานเอทานอลแม่สอด เป็นโรงงานร่วมทุนกับบริษัท ผาแดงอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ที่มีกำลังการผลิตประมาณ 230,000 ลิตรต่อวัน

จาก https://mgronline.com วันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

กรมชลเร่งแก้ปัญหา4เขื่อนภาคอีสาน ‘โขง-เลย-ชี-มูล’เพิ่มพื้นที่ชลประทาน

นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้เร่งศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมในการพัฒนาแหล่งน้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ เพิ่มพื้นที่ชลประทาน ซึ่งจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้น โดยเฉพาะโครงการที่ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้วแต่ยังไม่สามารถเปิดใช้งานได้เต็มศักยภาพ เช่น เขื่อนหัวนา อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ เขื่อนราษีไศล อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ เขื่อนร้อยเอ็ด อ.เชียงขวัญ จ.ร้อยเอ็ด และ เขื่อนยโสธร-พนมไพร อ.เมือง จ.ยโสธร ซึ่งปัจจุบันเป็นโครงการโขง-เลย-ชี-มูล

“ขณะนี้กรมชลประทานการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคมภายหลังการก่อสร้าง (Post-EIA) ของเขื่อนทั้ง 4 แห่งดังกล่าว โดยมุ่งมั่นศึกษาในทุกๆ ด้าน เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรในพื้นที่โครงการและบริเวณใกล้เคียง ตลอดจนผลกระทบในด้านสิ่งแวดล้อม และมีแผนพัฒนาโครงการเพื่อให้ใช้ประโยชน์โครงการได้อย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งคาดว่าผลการศึกษาจะแล้วเสร็จในปี 2562 อย่างแน่นอน” รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าว

สำหรับความคืบหน้าในการดำเนินโครงการโขง-เลย-ชี-มูลนั้น ขณะนี้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ซึ่งได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อน กำลังดำเนินการการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการระยะที่ 1 หลังจากก่อนหน้านี้ได้ศึกษาความเหมาะสมโครงการในระยะที่ 1 เสร็จเรียบร้อยแล้วเมื่อปี 2560

จาก https://www.naewna.com วันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

สั่งทบทวนแอลทีเอฟ

"สมคิด" สั่งคลังทบทวนต่ออายุมาตรการหักลดหย่อนภาษีกองทุน แอลทีเอฟ หรือตั้งกองทุนใหม่ตาม ข้อเสนอเอกชน ยันเพิ่มเงินออมนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ หรือตั้งกองทุนใหม่ตาม ข้อเสนอเอกชน ยันเพิ่มเงินออม

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ได้หารือกับนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ให้ไปพิจารณาว่าจะต่ออายุมาตรการหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (แอลทีเอฟ) ซึ่งกองทุนจะหมดอายุในปี 2562 และได้แนะนำให้พัฒนาต่อยอดกองทุนเดิม หรือตั้งกองทุนใหม่ตามที่สภาธุรกิจตลาดทุนไทยเสนอมา

"ผมคุยกับ รมว.คลัง แล้ว ส่วนตัว ไม่อยากให้เลิกกองทุนรวมแอลทีเอฟ เพราะเป็นตัวที่ทำให้คนมาสู่การลงทุนระยะยาว และคนชราก็มีโอกาส มีทางเลือกลงทุน ซึ่งทางคลังรับปากจะไปดู ที่ทางสภาธุรกิจตลาดทุนไทยบอกว่าจะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในกองทุนโครงสร้างพื้นฐานและนำไปหักภาษี ซึ่งผมบอกเขาแล้วว่าให้พิจารณาเป็นพิเศษ ใจจริงผมไม่อยากเลิก เพราะกองทุนใหญ่ๆ ในไทยมีไม่กี่กองทุน ซึ่งกองทุนแอลทีเอฟและกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเป็นตัวที่จะทำให้ตลาดทุนไทยเติบโตอย่างยั่งยืน ทำให้คนไทยมีเงินออมมากขึ้น

สำหรับข้อเสนอของสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ได้เสนอให้ต่ออายุมาตรการกองทุน แอลทีเอฟ แต่หากไม่ต่ออายุก็ขอให้พิจารณาจัดตั้งกองทุนประเภทใหม่ขึ้นมาแทน แต่ให้หักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงสุด 20% ของเงินลงทุนแต่ไม่เกิน 1 แสนบาท และไม่เกินภาระภาษีที่ต้องจ่าย และต้องลงทุนขั้นต่ำเป็นเวลา 10 ปี

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

พาณิชย์เผย FTA อาเซียน-จีน เป็นการขยายโอกาสในการค้าขายให้กับไทย ทำให้มูลค่าการค้าเพิ่มขึ้นกว่า 5.3 เท่า

พาณิชย์เผย FTA อาเซียน-จีน เป็นการขยายโอกาสในการค้าขายให้กับไทย ทำให้มูลค่าการค้าเพิ่มขึ้นกว่า 5.3 เท่า และส่วนการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น นั้นเป็นการนำเข้าสินค้าทุน วัตถุดิบ มาผลิตและส่งออกที่จะสร้างมูลค่าให้กับประเทศ

นายดวงอาทิตย์ นิธิอุทัย รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงกรณีที่มีข้อกังวลเกี่ยวกับความตกลงการค้าเสรีอาเซียน–จีน (ACFTA) ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้ากับจีน และมีสินค้าราคาถูกของจีนทะลักเข้ามาขายในไทยว่า กรมฯ ได้มีการตรวจสอบสถิติการค้าระหว่างไทย-จีน หลังจากที่ได้มีการจัดทำ FTA อาเซียน-จีน ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือน ต.ค.2546 พบว่ามูลค่าการค้าได้เติบโตอย่างก้าวกระโดด จากมูลค่า 11,691 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2546 เพิ่มขึ้นเป็น 73,745 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2560 หรือเพิ่มขึ้นกว่า 5.3 เท่า โดยเป็นการส่งออกของไทยไปจีนมูลค่า 29,506 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 24% และการนำเข้าจากจีน มูลค่า 44,239 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 5.3%ส่วนในช่วง 9 เดือนของปี 2561 (ม.ค.-ก.ย.) มีมูลค่าการค้าอยู่ที่ 59,154 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 9.9% โดยไทยส่งออกไปจีน 22,247 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากจีน 36,907 ล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้ การนำเข้าที่เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่ 70-80% เป็นสินค้าทุน เช่น เครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องจักรกล และสินค้าวัตถุดิบ เช่น เคมีภัณฑ์ ผ้าผืน ซึ่งไทยนำเข้ามาเพื่อใช้ในการผลิตต่อเป็นสินค้าสำเร็จรูปทั้งใช้ภายในประเทศและส่งออกต่อ และมีส่วนช่วยเพิ่มมูลค่าส่งออกของไทยในภาพรวม และส่งเสริมศักยภาพการเป็นห่วงโซ่คุณค่าของไทยในระดับภูมิภาคและระดับโลก ตามนโยบายของรัฐบาลที่ผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนในภูมิภาค

“แม้ว่าการนำเข้าของไทยจากจีนในช่วง 15 ปี ที่มี FTA อาเซียน–จีน จะมีการเติบโตเพิ่มขึ้น แต่จะดูสถิติอย่างเดียวไม่ได้ ถ้าเป็นการนำเข้าแบรนด์เนม สินค้าฟุ่มเฟือย อย่างนี้ไม่ดี แต่ส่วนใหญ่ที่นำเข้าเป็นสินค้าทุน เป็นวัตถุดิบ แบบนี้ดีต่อการผลิต ดีต่ออุตสาหกรรม และดีต่อการส่งออกของไทย และเมื่อดูย้อนไปก่อนทำ FTA ไทยก็ขาดดุลจีนมาตลอด ก็ไปดูต่อเพราะอะไร เป็นเพราะจีนเป็นแหล่งนำเข้าทั้งทุน ทั้งวัตถุดิบ ไม่ใช่เฉพาะแค่ไทย แต่เป็นกับทุกประเทศทั่วโลก”นายดวงอาทิตย์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ผู้ประกอบการไทยมีความกังวลว่าสินค้านำเข้าจากจีน จะก่อให้เกิดความเสียหายกับอุตสาหกรรมภายในประเทศ ก็สามารถขอให้กรมการค้าต่างประเทศพิจารณาใช้มาตรการปกป้อง (Safeguard) มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) และมาตรการต่อต้านการอุดหนุน (CVD) กับสินค้าที่ทะลักเข้ามา เพื่อเก็บภาษีเพิ่มเติมกับสินค้าจากจีนได้ แต่ต้องมีข้อมูลหลักฐานยืนยันชัดเจนว่าก่อให้เกิดผลกระทบเกิดขึ้นจริง

นายดวงอาทิตย์กล่าวว่า สำหรับการผลักดันการส่งออกสินค้าไทยไปจีน เพื่อลดปัญหาการขาดดุลการค้ากับจีนนั้น ในปี 2562 กระทรวงพาณิชย์ได้ตั้งเป้าการส่งออกไปจีนไว้ที่ 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 12 โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศมีแผนที่จะบุกเจาะตลาดรายมณฑล เพื่อขยายการค้าไปยังพื้นที่ศักยภาพใหม่ของจีน นอกเหนือจากพื้นที่ตลาดหลักเดิมอย่างปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และกว่างโจว โดยจะเจาะหัวเมืองด้านในที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง มีชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อสูงขึ้น อาทิ เฉิงตู ฉงชิ่ง และซีอาน รวมทั้งเมืองท่าสำคัญอย่าง ชิงต่าว และเซี่ยะเหมิน และมณฑลด้านตะวันตกของจีน ที่มีการพัฒนาเส้นทางรถไฟเชื่อมต่อกับตลาดยุโรป ตามเส้นทาง Belt and Road ของจีน และยังมีกลยุทธ์ในการเร่งขยายการส่งออกสินค้าและบริการของไทย และเพิ่มโอกาสผ่านช่องทางการค้าสมัยใหม่ อาทิ E-Commerce เพื่อเพิ่มโอกาสและช่องทางการค้าให้กับผู้ประกอบการไทย

ส่วนผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ที่อาจส่งผลให้การส่งออกของไทยไปจีนชะลอตัวลงบ้าง โดยเฉพาะสินค้าส่งออกที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานการผลิตของจีน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์มีแผนที่จะผลักดันการส่งออกไปยังตลาดอื่นเพื่อทดแทนแล้ว แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นโอกาสของไทยที่จะขยายการส่งออก โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปของไทยไปจีน เพื่อทดแทนการนำเข้าจากสหรัฐฯ รวมทั้งยังมีโอกาสในการส่งออกไปจีนเพิ่มขึ้น จากการที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้ประกาศร่วมมือกับนานาชาติด้านการค้า และตั้งเป้าจะนำเข้าสินค้าและบริการจากต่างประเทศ ในอีก 15 ปีข้างหน้า เป็นมูลค่าถึง 40 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในงาน China International Import Expo ที่นครเซี่ยงไฮ้ เมื่อต้นเดือนพ.ย.2561 ที่ผ่านมา

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 15 พฤศจิกายน 2561

อีอีซีเกทเวย์ขนสินค้าเชื่อมไทยเชื่อมโลก

“อาคม” ยกอีอีซีเกทเวย์ประเทศ ขนสินค้าเชื่อมไทยเชื่อมโลกสินค้า เร่งพัฒนาโครงข่ายคมนาคมเชื่อมการขนส่งประเทศเพื่อนบ้าน                

เมื่อวันที่15 พ.ย.ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ โครงสร้างคมนาคมอีอีซีเชื่อมโลก ในงาน Next Step Thailand : EEC ยุทธศาสตร์ไทยเชื่อมโลกว่า พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ถือเป็นเกทเวย์ของประเทศอย่างแท้จริง เนื่องจากรัฐบาลได้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานครบถ้วนแล้ว ทั้งทางบก น้ำ รางและอากาศ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ซึ่งในอนาคตจะมีสินค้าจากประเทศเวียดนาม กัมพูชา และจีน ถูกขนถ่ายมายังท่าเรือแหลมฉบังจำนวนมาก  ดังนั้นรัฐบาลจะเร่งลงทุนพัฒนาจุดส่งเสริมโลจิสติกส์ ทั้งท่าเรือบกตามพื้นที่ภาคอีสาน ศูนย์เทกองสินค้าและตู้คอนเทนเนอร์ตามแนวรถไฟ เพื่อรองรับการส่งออกไปประเทศที่สาม

นายอาคม กล่าวต่อว่า สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการในประเทศคือการเชื่อมพื้นที่อีอีซีเข้ากับพื้นที่ตอนใน ทั้งพื้นที่ในจ.นครราชสีมา อยุธยา สระบุรี และปราจันบุรี ที่ล้วนเป็นแหล่งผลิตสินค้าส่งออกที่สำคัญ ดังนั้นต้องพัฒนาและปรับปรุงโครงข่ายถนน ซึ่งหลายเส้นทางอยู่ระหว่างการก่อสร้าง และในอนาคตยังได้วางแผนทำถนนเลียบชายแดน เพื่อให้สามารถขนส่งสินค้าที่มาจาก จ.มุกดาหาร  จ.นครพนม หรือจากประเทศลาว ผ่านมาทาง จ.ร้อยเอ็ด จ.บุรีรัมย์ จ.ปราจีนบุรี และเข้าสู่ท่าเรือแหลมฉบัง รวมถึงการต่อขยายเส้นทางมอเตอร์เวย์สาย 7 ไปถึง จ.ระยอง และโครงการรถไฟทางคู่จากอีอีซีไปยังกัมพูชาด้วย

นายอาคม กล่าวอีกว่า สำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซีจะเห็นชัดเจนในปี 64 ที่จะเปิดให้บริการศูนย์ซ่อมอากาศยานและศูนย์ฝึกทางการบิน (เอ็มอาร์โอ) ในพื้นที่สนามบินอู่ตะเภา ปี 65  เปิดใช้ดิจิทัลพาร์ค รองรับอุตสาหกรรมไฮเทคและนิวเอสเคิร์ฟ ปี 66 เปิดให้บริการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน พร้อมการขยายสนามบินอู่ตะเภาที่จะแล้วเสร็จ ส่วนปี 67 จะเปิดใช้โครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 และการขยายท่าเรือมาบตาพุด

จาก https://www.dailynews.co.th  วันที่ 15 พฤศจิกายน 2561

อุตฯขับเคลื่อนไทยสู่ Circular Economy

กระทรวงอุตสาหกรรม ดึงเครือข่ายผู้ประกอบการ 80 ราย ร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ Circular Economy ตั้งเป้ามูลค่า 250 ลบ./ปี

นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทาวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้ร่วมหารือกับเครือข่ายผู้ประกอบการ 80 ราย เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน Circular Economy โดยการเปลี่ยนขยะหรือของเสียที่ถูกมองว่าเป็นปัญหากลับมาใช้ประโยชน์เป็นวัตถุดิบทดแทน เพื่อลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติใหม่ ตามแนวคิด Circular Economy ซึ่งปัจจุบันกระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีรีไซเคิลที่เป็นเทคโนโลยีต้นแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และได้รับการพิสูจน์ความเป็นไปได้ทางเทคโนโลยีรวม 49 ชนิด โดยตั้งเป้าให้เกิดมูลค่าจากการรีไซเคิล 250 ล้านบาทต่อปี

นอกจากนี้ ในส่วนของภาคเอกชน มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีรีไซเคิลขยะหรือของเสียอีกหลายชนิด ซึ่งหากกระทรวงอุตสาหกรรมและเครือข่ายผู้ประกอบการบูรณาการการดำเนินงานร่วมกัน และปลดล็อกข้อจำกัดทางกฎระเบียบที่เป็นปัญหาและอุปสรรค จะสามารถสร้างผู้ประกอบการใหม่ และยกระดับผู้ประกอบการเดิม เพื่อขยายผลสู่เชิงพาณิชย์ในวงกว้าง ลดการเกิดขยะและปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน

จาก https://www.innnews.co.th   วันที่ 15 พฤศจิกายน 2561

ค่าเงินบาทแข็งค่า เหตุกนง.มีมติคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่1.5%ชี้มีเสียงสนับสนุนให้ขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น เผยติดตามยอดค้าปลีกของสหรัฐเดือนต.ค.

ค่าเงินบาทแข็งค่าในรอบการเคลื่อนไหวที่ 32.70-33.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เหตุ กนง.มีมติคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% ชี้มีเสียงสนับสนุนให้ขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น เผยติดตามยอดค้าปลีกของสหรัฐ เดือน ต.ค.

ผู้สื่อข่าวรายงานค่าเงินบาท วันที่ 15 พ.ย. 2561 ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ 32.86 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากระดับปิดเมื่อวานที่ 32.99 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ล่าสุดค่าเงินบาทซื้อขายอยู่ที่ระดับ 32.72-33.02 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ด้านนักวิเคราะห์ค่าเงินบาทธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ค่าเงินบาทวันนี้ มีทิศทางแข็งค่าขึ้น สวนทางกับค่าเงินในภูมิภาคส่วนใหญ่ โดยมาจากปัจจัยหลักคือคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 4 ต่อ 3 ในการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% โดยมีเสียงสนับสนุนให้ขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ซึ่งเหตุผลที่คณะกรรมการฯ สนับสนุนการคงดอกเบี้ยไว้ เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวได้ดี แม้ว่าการส่งออกและการท่องเที่ยวจะชะลอลง ในขณะที่ฝ่ายสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยยังคงให้น้ำหนักการลดพฤติกรรมแสวงหาผลกำไรโดยไม่ได้คำนึงถึงความเสี่ยง (search-for-yield) ในช่วงที่ดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำยาวนานเป็นสำคัญ และต้องการเพิ่มขึ้นขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) ในอนาคต โดยวันนี้ให้กรอบการเคลื่อนไหวที่แนวรับ 32.70 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่แนวต้านให้ไว้ที่ 33.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ปัจจัยที่ต้องติดตามต่อคือยอดค้าปลีกของสหรัฐ และสหราชอาณาจักรเดือนตุลาคม ดุลการค้ายูโรโซนเดือนกันยายน

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 15 พฤศจิกายน 2561

"น้ำตาลบุรีรัมย์" ย้ำ! เดินหน้าลงทุน 2 โครงการใหญ่

"น้ำตาลบุรีรัมย์" เผยผลการดำเนินงาน 9 เดือน ปี 2561 มีกำไรสุทธิ 197 ล้านบาท คาดปีการผลิต 2561/62 ผลผลิตน้ำตาลทรายของโลกสู่ความสมดุล และราคาน้ำตาลในตลาดโลกน่าจะดีขึ้น หลังเกิดภัยแล้งในหลายประเทศ ย้ำ! เดินหน้าลงทุน 2 โครงการใหญ่ ตั้งบริษัท "ชูการ์เคนอีโคแวร์" ผลิตภาชนะบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อย และขยายโรงงานแปรรูปน้ำตาลทราย คาดมีผลผลิตสู่ตลาดในไตรมาส 2 และ 3 ตามลำดับในปีหน้า

นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR เปิดเผยถึงผลการดำเนินงาน 9 เดือนแรกของปี 2561 ว่า บริษัทมีรายได้รวม 4,295 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 197 ล้านบาท ซึ่งได้ส่งออกน้ำตาลทรายจำหน่ายแล้วกว่า 200,000 ตัน ยังเหลืออีกประมาณ 70,000 ตัน คาดว่าจะส่งออกได้ทั้งหมดภายในเดือน ม.ค. 2562

"สำหรับสถานการณ์น้ำตาลทรายในตลาดโลกขณะนี้ มีสำนักวิจัยหลาย ๆ แห่ง เริ่มปรับประมาณการผลผลิตน้ำตาลทรายของประเทศผู้ผลิตสำคัญ ๆ หลายประเทศ ว่า จะมีผลผลิตลดลง เนื่องจากประสบกับปัญหาสภาพอากาศแล้ง ทำให้มีปริมาณอ้อยลดลง จึงคาดว่าในปีการผลิต 2561/62 สถานการณ์น้ำตาลทรายโลกจะสู่ความสมดุลหรืออาจจะขาดแคลนเล็กน้อย ซึ่งจะส่งผลดีต่อราคาน้ำตาลทราย" นายอนันต์ กล่าว

อนี่ง ราคาน้ำตาลทรายดิบ New York No.11 ของเดือน มี.ค. 2562 ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มาอยู่ในระดับ 12–14 เซนต์/ปอนด์ หลังราคาตกไปอยู่ในระดับ 10 เซนต์/ปอนด์ ในช่วงเดือน ก.ย. 2561

ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกผันผวน ซึ่งบริษัทน้ำตาลบุรีรัมย์ติดตามอย่างใกล้ชิด คือ การอุดหนุนการส่งออกน้ำตาลทรายของอินเดีย ที่มองว่าขัดกับกติกาขององค์การการค้าโลก (WTO) และสถานการณ์ราคาเอทานอลและค่าเงินเรียลของบราซิล

นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้เตรียมความพร้อมสำหรับการหีบอ้อยในฤดูการผลิตปี 2561/62 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเริ่มในช่วงปลายเดือน พ.ย. 2561 นี้

นายอนันต์ กล่าวอีกว่า สำหรับโครงการลงทุนในปี 2561 ได้จัดตั้ง บริษัท ชูการ์เคน อีโคแวร์ จำกัด (Sugarcane Ecoware Co., Ltd.) ผลิตภาชนะบรรจุอาหารและภาชนะจากชานอ้อย ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะเริ่มจำหน่ายผลิตภัณฑ์ได้ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2562 และลงทุนตั้งโรงงานแปรรูปน้ำตาลทราย (Refinery) อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง คาดจะมีผลผลิตออกสู่ท้องตลาดในช่วงครึ่งหลังของปีหน้าเช่นเดียวกัน

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 14 พฤศจิกายน 2561

น้ำตาลบุรีรัมย์โชว์กำไร 9 เดือน 197 ล้านบาท ปีหน้ารับข่าวดีผลผลิตน้อยดันราคาพุ่งอีก

นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR เปิดเผยผลการดำเนินงาน 9 เดือนแรกของปี 2561ว่า บริษัทมีรายได้รวม 4,295 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 197ล้านบาท ซึ่งได้ส่งออกน้ำตาลทรายแล้วกว่า 200,000 ตัน ยังเหลืออีกประมาณ 70,000 ตัน คาดว่าจะส่งออกได้ทั้งหมดภายในเดือนมกราคม 2562

“สำหรับสถานการณ์น้ำตาลทรายในตลาดโลกขณะนี้ มีสำนักวิจัยหลายๆแห่งเริ่มปรับประมาณการผลผลิตน้ำตาลทรายของประเทศผู้ผลิตสำคัญๆ หลายประเทศว่าจะมีผลผลิตลดลงเนื่องจากประสบกับปัญหาสภาพอากาศแล้งทำให้มีปริมาณอ้อยลดลง คาดว่าในปีการผลิต 2561/62 สถานการณ์น้ำตาลทรายโลกจะเข้าสู่ภาวะสมดุลหรืออาจจะขาดแคลนเล็กน้อย ส่งผลดีต่อราคาน้ำตาลทราย” นายอนันต์กล่าวและว่า ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้เตรียมความพร้อมสำหรับการหีบอ้อยในฤดูการผลิตปี 2561/62 เป็นที่เรียบร้อยแล้วโดยเริ่มในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2561 นี้

อนึ่ง ราคาซื้อขายล่วงหน้าของน้ำตาลทรายดิบ New York No. 11 ของเดือนมีนาคม 2562 ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มาอยู่ในระดับ 12 – 14 เซนต์/ปอนด์ หลังราคาตกไปอยู่ในระดับ 9 เซนต์/ปอนด์ในช่วงเดือนกันยายน 2561 ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกผันผวนซึ่งบริษัทน้ำตาลบุรีรัมย์ติดตามอย่างใกล้ชิดคือ การอุดหนุนการส่งออกน้ำตาลทรายของอินเดียที่มองว่าขัดกับกติกาขององค์การการค้าโลก (WTO) และสถานการณ์ราคาเอทานอล รวมถึงค่าเงินเรียลของบราซิล

นายอนันต์ กล่าวอีกว่า สำหรับโครงการลงทุนในปี 2561 ได้จัดตั้งบริษัท ชูการ์เคน อีโคแวร์ จำกัด (Sugarcane Ecoware Co., Ltd.) ผลิตภาชนะบรรจุอาหารและภาชนะจากชานอ้อยซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างคาดว่าจะเริ่มจำหน่ายผลิตภัณฑ์ได้ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2562 และลงทุนตั้งโรงงานแปรรูปน้ำตาลทราย (Refinery) อยู่ในระหว่างการก่อสร้างคาดจะมีผลผลิตออกสู่ท้องตลาดในช่วงครึ่งหลังของปีหน้าเช่นเดียวกัน

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 14 พฤศจิกายน 2561

สยามคูโบต้า ส่งเครื่องสางใบอ้อย-ตัดอ้อยครบวงจร ออกสู่ตลาด!!

บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด ตอกย้ำการเป็นผู้นำตลาดเครื่องจักรกลการเกษตรในภูมิภาคอาเซียน เปิดตัวอุปกรณ์ต่อพ่วงแทรกเตอร์คูโบต้าใหม่ล่าสุดสำหรับงานไร่อ้อย ด้วยเครื่องสางใบอ้อย เพิ่มความสะดวกในการตัดอ้อยสด ลดปัญหาการเผาใบอ้อย และเครื่องตัดอ้อย ครบวงจรเสร็จงานตัดในขั้นตอนเดียว เพื่อชาวไร่อ้อยมืออาชีพ ได้อ้อยสด ส่งตรงสู่โรงงานน้ำตาลในราคาที่สูงขึ้น

นายสมศักดิ์ มาอุทธรณ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยว่า จากที่รัฐบาลผลักดันนโยบายบริหารพื้นที่เกษตรกรรมของพืช (Zoning) โดยเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวในพื้นที่ไม่เหมาะสมไปสู่การปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นๆ อาทิ อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยพบว่าเกษตรจำนวนหนึ่งหันมาทำไร่อ้อย ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่เพาะปลูกอ้อยใน 47 จังหวัด มากกว่า 11 ล้านไร่ พื้นที่การเพาะปลูกอ้อยส่วนใหญ่จะอยู่ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากถึง 5 ล้านไร่ ซึ่งการ ตัดอ้อยส่วนใหญ่จะใช้แรงงานคนมากถึง 60% และปัญหาที่พบ คือ แรงงานจะใช้วิธีการเผาอ้อยก่อนตัดเพื่อให้เก็บเกี่ยวได้ง่ายซึ่งก่อให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งทำให้น้ำตาลในอ้อยลดลง ซึ่งบางพื้นที่ยังขาดแคลนแรงงานในการตัดอ้อยอีกด้วย บริษัทฯ จึงได้ทำการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับงานไร่อ้อยโดยเฉพาะขั้นตอนการเก็บเกี่ยวอ้อยสด เพื่อเพิ่มผลผลิตที่มีคุณภาพ อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนด้านแรงงานและประหยัดเวลา ซึ่งตอบโจทย์การทำไร่อ้อยในปัจจุบัน

โดยล่าสุด บริษัทฯได้เปิดตัว 2 ผลิตภัณฑ์ใหม่สำหรับงานไร่อ้อย ได้แก่ “เครื่องสางใบอ้อยตราช้าง รุ่น SLR110 สำหรับแทรกเตอร์คูโบต้าขนาด 24-27 แรงม้า สามารถสางใบอ้อยได้เต็มประสิทธิภาพด้วยชุดโรลเลอร์ จำนวน 4 ชุด ที่มีรอบหมุนที่รวดเร็วมากกว่า 900 รอบต่อนาที ทำให้สามารถตีใบอ้อยได้ละเอียด ได้ลำอ้อยที่สะอาด และดีไซน์ทิศทางการหมุนให้เป็นแบบหมุนขึ้น เพื่อช่วยลดความเสียหายต่อลำอ้อย พร้อมออกแบบให้มีรัศมีการทำงานกว้างถึง 2.1 เมตร และมีระยะสางใบสูงสุด 2.3 เมตร ทำให้เกษตรกรมีพื้นที่ในการทำงานกว้างขึ้นสามารถเข้าไปตัดอ้อยสดได้ง่าย อีกทั้งยังมีชุดป้องกัน เศษใบอ้อยที่จะเข้าไปสะสมในส่วนต่างๆของตัวเครื่อง ช่วยให้ทำงานได้ต่อเนื่องสูงสุด 15 ไร่ต่อวัน และ “เครื่องตัดอ้อย ตราช้าง รุ่น SCR100” สำหรับแทรกเตอร์คูโบต้าขนาด 95 แรงม้า โดยการทำงานของเครื่องตัดอ้อยนั้นรวมการทำงานทั้งหมดไว้ในเครื่องเดียวจากการทำงานพร้อมกัน 4 ระบบ ประกอบด้วย ระบบชุดตัด ยอดอ้อยที่สามารถตัดยอดอ้อยได้ตั้งแต่ 1.5 – 4 เมตร ระบบชุดสางใบอ้อย ถูกออกแบบให้ชุดโรลเลอร์ มีรอบการหมุนที่รวดเร็วมากกว่า 900 รอบต่อนาที ทำให้ตีใบได้ละเอียด ลำอ้อยสะอาด ระบบชุดตัดโคนอ้อย สามารถตัดโคนอ้อยได้สม่ำเสมอชิดกับดิน และระบบชุดถาดรวมกอง ที่สามารถบรรทุกน้ำหนักอ้อยได้สูงสุด 500 กิโลกรัมช่วยเก็บรวมกองอ้อยที่ตัดเสร็จแล้วเพื่อรอคีบขึ้นรถบรรทุกต่อไป นอกจากนี้ยังออกแบบให้เข้าทำงานในแปลงอ้อยที่มีระยะร่องปลูกตั้งแต่ 1 เมตรขึ้นไป ช่วยลดข้อจำกัดในเรื่องพื้นที่การทำงานตัดอ้อยได้ 40-80 ตันต่อวัน

“ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปี ที่ผ่านมา บริษัทฯไม่เคยหยุดวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยการสร้างสรรค์เครื่องจักรกลการเกษตรให้ตอบโจทย์การทำไร่อ้อยแบบมืออาชีพครบทุกขั้นตอนตั้งแต่เตรียมดิน เพาะปลูก บำรุงรักษา ไปจนถึงขนย้ายอ้อย เพื่อให้การทำการเกษตรมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แสดงให้เห็นถึง ความพร้อมของสยามคูโบต้าสำหรับการเป็นผู้คิดค้นนวัตกรรมเกษตรเพื่ออนาคต” นายสมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติม

ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมและพบเครื่องสางใบอ้อยตราช้าง รุ่น SLR110H ตั้งแต่วันนี้ เป็นต้นไป และพบกับเครื่องตัดอ้อยตราช้าง รุ่น SCR100 ได้ในเดือนธันวาคมนี้ ที่ร้านค้าผู้แทนจำหน่ายสยามคูโบต้าใกล้บ้านท่านหรือติดต่อศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์สยามคูโบต้า โทร. 0 2909 1234

จาก https://siamrath.co.th  วันที่ 14 พฤศจิกายน 2561

กรมการค้าต่างประเทศมั่นใจตลอดปียอดใช้สิทธิ FTA และ GSPทะลุเป้า

กรมการค้าต่างประเทศเผย 3 ไตรมาสแรกปี 61 ยอดใช้สิทธิ FTA และ GSP แตะ 55,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯมั่นใจตลอดทั้งปีสูงกว่าเป้าทะลุ 70,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยถึงการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) โดยในช่วง 9 เดือนแรก (มกราคม-กันยายน 2561) มูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ รวมอยู่ที่ 55,668 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ฯ อยู่ที่74.44 % ขยายตัวจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา 17.70 % โดยแบ่งเป็นมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) 52,090 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมูลค่าการส่งออกภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) 3,578 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ปัจจุบัน ประเทศไทยได้จัดทำความตกลง FTA ทั้งสิ้น 12 ฉบับ และมีการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลง FTA คิดเป็นมูลค่าเท่ากับ 52,090ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็น 75.64% ของมูลค่าการส่งออกรวมภายใต้ความตกลงการค้าเสรีไปยังประเทศคู่ภาคีความตกลง เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา 18.19 % โดยตลาดส่งออกที่ไทยมีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่  อาเซียน มีมูลค่า 19,949 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จีน มีมูลค่า 13,189ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  ออสเตรเลีย มีมูลค่า 7,004ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  ญี่ปุ่น มีมูลค่า 5,591.97 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  และ  อินเดีย มีมูลค่า 3,329.27 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

และเมื่อพิจารณาอัตราการขยายตัวของมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ พบว่าตลาดที่มีอัตราการขยายตัวสูงสุด คือ เปรู ซึ่งมีอัตราการขยายตัว64.54%  รองลงมาคือ จีน ขยายตัว 29.55% และอินเดียขยายตัว22.57%  ซึ่งทั้ง 3 ตลาดนอกจากจะมีอัตราการขยายตัวสูงแล้วยังพบว่ามีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์สูงเช่นเดียวกัน สำหรับกรอบความตกลงการค้าเสรีที่มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ไทย-ชิลี 94.97% , ไทย-ออสเตรเลีย 90.94%, อาเซียน-จีน 90.71%  ไทย-ญี่ปุ่น  87.38%  และ อาเซียน-เกาหลี87.07%  และรายการสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ รถยนต์บรรทุก ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ ทุเรียน น้ำตาลจากอ้อย และน้ำมันปิโตรเลียม

อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องจับตามองการส่งออกไปจีนที่มีอัตราการขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปี 2560 อย่างต่อเนื่อง โดยจีนมีการนำเข้าสินค้าสำคัญของไทยเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าเหล่านี้มีการขยายตัวขึ้นหลายเท่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าเช่น โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2561 เมื่อเทียบกับปี 2560 มูลค่าการใช้สิทธิฯ Form E เติบโตถึง 29.55%  รวมถึงสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ที่เพิ่มสูงขึ้นเป็น 90.71%  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ดังนั้น เพื่อเป็นการตอบสนองความต้องการและอำนวยความสะดวกต่อผู้ประกอบการที่มาขอยื่นเอกสารรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ความตกลงอาเซียน-จีน (Form E) กรมฯ จึงมีแนวทางที่จะพัฒนาการให้บริการการออก Form E ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ในอนาคต โดยใช้แนวทางเดียวกับการออกหนังสือรับรองอิเล็กทรอนิกส์ภายใต้ความตกลงอาเซียน (E-Form D) ซึ่งกรมฯ และหน่วยงานศุลกากรของจีนได้เริ่มมีการหารือและร่วมมือกันศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้ระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลถิ่นกำเนิดสินค้า (Electronic Origin Data Exchange System: EODES) และใช้ระบบ E-Form E ร่วมกันตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา และล่าสุดฝ่ายจีนมีแผนที่จะจัดคณะเจ้าหน้าที่มาประชุมร่วมกับฝ่ายไทยในช่วงต้นปี 2562 เพื่อต้องการเร่งผลักดันการเริ่มดำเนินการเพื่อจัดทำความร่วมมือระหว่างไทย-จีน ในการใช้ระบบ EODES และระบบ E-Form E แบบทวิภาคีระหว่างไทย-จีนให้เป็นรูปธรรมต่อไป

สำหรับการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป หรือ GSP โดยในปัจจุบันไทยยังคงได้รับสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ GSP 5 ระบบ ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซียและเครือรัฐเอกราชนอร์เวย์ และญี่ปุ่น โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2561 (มกราคม-กันยายน) มูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ GSP เท่ากับ 3,578 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  อัตราการใช้สิทธิ 60.47% ของมูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิ GSP ขยายตัว10.98%  โดยการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ GSP สหรัฐอเมริกายังคงมีสัดส่วนการใช้สิทธิมากที่สุด คือประมาณ90%  ของมูลค่าการใช้สิทธิ GSP ทั้งหมด ซึ่งในช่วง 9 เดือนแรกของปี มูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ GSP สหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 3,211 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  มีอัตราการใช้สิทธิ 68.82 % ของมูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิ GSP ซึ่งมีมูลค่า 4,667 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา 3.66%   สินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ภายใต้ระบบ GSP สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ เครื่องดื่มอื่นๆ ถุงมือยาง อาหารปรุงแต่ง และรถจักรยานยนต์

โดยในส่วนของประเด็นการตัดสิทธิ GSP สหรัฐฯ ที่ได้มีการประกาศตัดสิทธิ GSP สินค้าไทยจำนวน 11 รายการ เช่น ดอกกล้วยไม้สด ทุเรียนสด มะละกอตากแห้ง และมะขามตากแห้ง เป็นต้น เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกรวมไปสหรัฐฯ น้อยมาก เนื่องจากสินค้าทั้ง 11 รายการมีสัดส่วนคิดเป็น 1.89%  ของมูลค่าการส่งออกรวมไปสหรัฐฯ ในปี 2560 และ 1.17 %ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2561 ประกอบกับที่ผ่านมา สินค้าไทย เช่น เครื่องประดับทอง เครื่องประดับเงิน และปลาแมคเคอเรลปรุงแต่ง เป็นต้น เคยถูกสหรัฐฯ ตัดสิทธิ GSP มาแล้วแต่ยังสามารถส่งออกไปสหรัฐฯ ได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ส่งออกมีการปรับตัวโดยการพัฒนาสินค้าให้ได้มาตรฐานสากล ทำให้ยังคงรักษาตลาดต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าการส่งออกในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2561 จะมีแนวโน้มต้องเผชิญกับความท้าทายจากความผันผวนและปัจจัยเสี่ยงในด้านต่างๆ อาทิ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ความไม่แน่นอนของนโยบายการค้า และประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนที่ยังไม่มีความชัดเจนและอาจส่งผลกระทบในวงกว้างต่อความเชื่อมั่นทางการค้าและการลงทุน แต่กรมฯ คาดว่ามูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ จะขยายตัวอย่างต่อเนื่องตามเป้าหมาย โดยตลอดปี 2561 ได้ตั้งเป้าหมายอัตราการขยายตัวมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ไว้ที่ 9 % คิดเป็นมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ประมาณ 70,794 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  ทั้งนี้ มูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา คิดเป็น 78.6 % ของเป้าหมายมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ โดยเมื่อพิจารณาถึงมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอันเป็นผลมาจากการส่งออกของไทยที่มีการกระจายตัวในตลาดใหม่ๆ และศักยภาพในการขยายตลาดที่เพิ่มขึ้นในอนาคต รวมทั้งการปรับปรุงระบบการให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ กรมฯ จึงมั่นใจว่ามูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ จะขยายตัวอย่างต่อเนื่องตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

น้ำตาลลิน สานฝันคนไทย The Devine Mother คว้ารางวัลชนะเลิศ งานประกวดเค้กโลก

น้ำตาลลิน สานฝันคนไทย ส่งตัวแทนชื่อผลงาน The Devine Mother คว้ารางวัลชนะเลิศ งานประกวดเค้กโลก 2018 จากจำนวนผู้เข้าแข่งขันที่ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดกว่า 2,000 ชิ้น

กลุ่มน้ำตาลไทยรุ่งเรือง ผู้ผลิตน้ำตาลลินและน้ำตาลปั้นตกแต่งเค้กเจ้าแรกของประเทศไทย ส่งตัวแทนเค้กดีไซเนอร์ "โอปอ ลิปปกร ปรียาภาบุลกิต" คว้าแชมป์ Best of Gold รางวัลอันทรงเกียรติในงาน Cake International 2018 งานประกวดเค้กระดับโลก ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 2-4 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เอาชนะผู้เข้าแข่งขันจากหลากหลายประเทศ ที่ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดกว่า 2,000 ชิ้น โดยปีที่แล้ว ตัวแทนคนไทยคว้าแชมป์ภายใต้คอนเซ็ปต์งานวัด มาแล้ว

รางวัลชนะเลิศเหรียญทอง 1st Place (Best of gold)

ประเภท Decorative Exhibit (L Class)

ชื่อผลงาน The Devine Mother

คอนเซ็ปท์ พระแม่อุมาเทวี ที่เน้นโชว์เทคนิคการปั้นครบทุกด้าน รวมถึงองค์ประกอบสี เทคนิคการเลือกใช้สีที่เสริมให้องค์พระแม่อุมาเทวีดูโดดเด่น การเพ้นท์สีสิงโตให้สื่ออารณ์ถึงความดุดัน ตัดอารมณ์ด้วยความอ่อนช้อยพลิ้วไหวของอาภรณ์ที่พระแม่อุมาสวมใส่ ทำให้งานชิ้นนี้แตกต่างและโดดเด่นด้วยเทคนิคต่างๆบวกกับความละเอียดประณีต

รางวัลชนะเลิศเหรียญทอง

ประเภท Decorative Exhibit (L Class)

ชื่อผลงาน The Spirit of Thailand

ผลงานที่แสดงเอกลักษณ์ความเป็นไทย ภายใต้คอนเซ็ปท์ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ นำเสนอเชิงสัญลักษณ์ โดย เมล็ดข้าวและการแสดงโขน สื่อถึงชาติ พระพุทธรูป สื่อถึงศาสนา พันธุ์ไม้ในพระนามาภิไธยของราชินี และช้างเผือก สัญลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ที่เป็นที่รักของชาวไทยทุกคน

นอกจากนี้น้ำตาลลินยังได้ส่งผู้ชนะเลิศการแข่งขันในงาน Lin Thailand Sweet Creation 2017 เข้าร่วมส่งผลงานประกวดในงานนี้ด้วยเช่นกัน รวมถึงยังมีศิลปินเค้กดีไซเนอร์ชาวไทยอีกหลายคน ที่เดินทางไปโชว์ศักยภาพและคว้ารางวัลมาได้เช่นกัน ได้แก่

รางวัลชนะเลิศเหรียญทอง (2nd Place)

ประเภท Decorative Exhibit (L Class)

วริษฐ์ จันทวิชานุวงษ์

ชื่อผลงาน : The Truth behind Todsakan's Love

ผลงานที่นำเสนออีกมุมมองความรักของทศกัณฐ์ที่มีต่อนางสีดาโดยที่ไม่รู้เลยว่านางสีดาเป็นลูกแท้ๆของตน และแม้ทศกัณฐ์จะเป็นฝ่ายร้ายในเรื่อง แต่ก็มีส่วนที่ดีมีคุณธรรมด้วยเช่นกัน ในชิ้นงานจะแสดงออกถึงความจริงของนางสีดาอย่างชัดเจนว่าเป็นลูกครึ่งยักษ์และมนุษย์ และนางยังเป็นสาเหตุสำคัญของสงครามระหว่างยักษ์และมนุษย์ รวมถึงภูมิหลังที่ถูกทศกัณฐ์ลอยน้ำไปตอนเกิด และความลับความเป็นอมตะของทศกัณฐ์ที่อยู่หลังชิ้นงาน สื่อผ่านการตกแต่งเค้กให้ต่างชาติได้รับทราบเรื่องราว

รางวัลเหรียญเงิน

ประเภท Celebration Cake 25th Anniversary Show (A Class)

ภูมิ พิพัฒน์พงศ์กุล

รางวัลเหรียญทองแดง

ประเภท Cupcake (J Class)

ภูมิ พิพัฒน์พงศ์กุล

รางวัลเหรียญทองแดง

ประเภท Decorated Cookies For Santa (H Class)

วรรษชล วิเศษนอก

รางวัลเหรียญทองแดง

ประเภท Small Decorative Exhibit (M Class)

วันทนีย์ เอกอุดม

รางวัลเหรียญทองแดง

ประเภท Absolutely Beginner (O Class)

จินตนา ทวีหันต์

สำหรับใครที่ชื่นชอบงานศิลปะ โดยเฉพาะศิลปะการปั้นน้ำตาล ทางน้ำตาลลินก็ได้นำชิ้นงานจริงกลับมาให้คนไทยชื่นชมกัน ในงาน Lin Thailand Sweet Creation ปี 2019 ซึ่งจัดขึ้นปีหน้า ติดตามข่าวสารรายละเอียดงานได้ที่ www.linthailandsweetcreation.com และwww.facebook.com/linsugarsweetcreation

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

“น้ำอ้อยไร่ไม่จน” กับ จุดเปลี่ยนและบทพิสูจน์ เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด

โอกาสที่ธุรกิจจะอยู่รอดได้ คือต้องปรับตัวตามโลกให้ทันอยู่เสมอ เช่นเดียวกับ ปภัสราภรณ์ เจ้าของ“น้ำอ้อยไร่ไม่จน” ที่เปิดใจพร้อมปรับตัวให้ตอบโจทย์ธุรกิจในปัจจุบันที่เดิมแล้วยังมีความเชื่อมั่นว่า ธุรกิจจะเติบโตได้หากค่อยเป็นค่อยไป แต่ด้วยสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ถ้าอยากจะให้ธุรกิจก้าวให้ทัน ก็ต้องเปลี่ยนความคิดเดิมๆ

“ปภัสราภรณ์ เหรียญทอง หรือ คุณปุ๋ม” เล่าว่า ที่บ้านเป็นเกษตรกรกว่า 50 ปีแล้ว ตั้งแต่รุ่นพ่อ สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ก่อนหน้านั้นปลูกอ้อยป้อนโรงงานน้ำตาล แต่สภาพเศรษฐกิจช่วงนั้นไม่ค่อยดี ก็คิดว่าจะทำอย่างไรเมื่ออาชีพเกษตรกรรายได้มันไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย เราก็เริ่มที่จะหันมาแปรรูปผลิตภัณฑ์เป็นของตัวเอง รวมกลุ่มเกษตรกรไปหาพันธุ์อ้อยคั้นน้ำหลาย ๆ พันธุ์มาทดลองปลูกในราชบุรี สรุปเป็นอ้อยพันธุ์สุพรรณบุรี 50 เพราะมีความหอมและหวานกำลังดี ให้สีสวยนานที่สุด แล้วก็ทดลองขายท้ายรถ ตอนนั้นก็ใสขวดพลาสติกธรรมดา เมื่อทำขายทุกวันก็เริ่มมีลูกค้าติดใจรสชาติและคุณภาพ จนกลายมาเป็น น้ำอ้อย ไร่ไม่จน อย่างทุกวันนี้

จากกลุ่มเกษตรไร่อ้อยที่ไม่คุ้นเคยกับการกู้เงินและไม่อยากเป็นหนี้ มาถึงวันที่ธุรกิจจำเป็นต้องเติบโตตามความต้องการของตลาดและเทรนด์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ทำให้น้ำอ้อยไร่ไม่จนต้องปรับกระบวนทัพครั้งใหญ่ ตั้งแต่โรงงานการผลิตที่ต้องได้มาตรฐาน ทั้งคุณภาพวัตถุดิบและรูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์

ทั้งนี้จึงตัดสินใจจะเปลี่ยน เพราะเมื่อตั้งใจจะเปลี่ยนเพื่อความอยู่รอดแล้วก็ต้องลงมือ เริ่มจากดึง cash flow (กระแสเงินสด) มาเพื่อพัฒนาไปเรื่อยๆ พอถึงจุดหนึ่งมันไม่พอ ต้องการให้ธุรกิจเติบโตมากกว่านี้ จึงเข้าไปปรึกษา และยื่นขอสินเชื่อ จากโครงการของรัฐบาลที่ร่วมกับทาง SME Development Bank เป็นโครงการที่จะพัฒนาตัวกระบวนการผลิตให้สอดคล้องกับตัวบรรจุภัณฑ์

“คือมันถึงจุดที่เราต้องเปลี่ยนเพื่อความอยู่รอดของตัวเราเอง ตอนนั้นเราก็ตัดสินใจกันว่าเราจะเปลี่ยน เราดึง cash flow (กระแสเงินสด) มาเพื่อพัฒนาไปเรื่อยๆ พอถึงจุดหนึ่งมันไม่พอแล้ว ถ้าเราอยากจะก้าวกระโดด ปุ๋มคิดว่าสุดท้ายเราก็ต้องกู้ เลยตัดสินใจวิ่งเข้าหาโครงการของรัฐบาลที่ร่วมกับทาง SME Development Bank เป็นโครงการที่จะพัฒนาตัวกระบวนการผลิตให้สอดคล้องกับตัวบรรจุภัณฑ์ของเรา ตอนนั้นได้วงเงินกู้มาประมาณหนึ่งทำให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้ จากที่เดินแบบอึดอัดมันก็โล่งขึ้นหลังจากที่แบงก์เข้ามา ก็ช่วยดูจุดบอด จุดด้อยของเราที่จะต้องพัฒนา สมควรพัฒนาไหม พัฒนาไปแล้วมีโอกาสคืนทุนหรือมีความเป็นไปได้ของโครงการมากน้อยแค่ไหน ซึ่งประเมินแล้วมันมีความเป็นไปได้ เราก็เลยได้ทำธุรกิจมาจนถึงทุกวันนี้”

ความสำเร็จของไร่ไม่จน อาจเรียกได้ว่าเป็น น้ำอ้อยพาสเจอไรซ์ เจ้าแรกและเจ้าเดียวในไทยเลยก็ว่าได้ เพราะหลังจากเดินหน้าเข้าหาหน่วยงานภาครัฐต่อยอดธุรกิจไปได้ไกลกว่าเดิม ด้วยการนำเทคโนโลยีพาสเจอไรซ์มาช่วยยืดอายุน้ำอ้อย จากปกติอยู่ได้แค่ 3 วัน ทำให้สามารถเก็บได้นานขึ้นถึง 20 วัน

“เราเน้นกระบวรการผลิตที่ได้มาตรฐานระดับสากล แล้วก็เน้นความเป็นธรรมชาติ 100% เพราะนี่คือสิ่งที่เราต้องการจะเสิร์ฟให้กับลูกค้า เราจะไม่มีการแต่งสี ไม่แต่งกลิ่น ไม่ใส่วัตถุกันเสียใด ๆ เลย จากนั้นก็เริ่มกระจายตลาดได้ไกลขึ้น แต่ถามว่าทำไมถึงเลือกแค่เลเวลพาสเชอไรท์ เพราะว่าปุ๋มต้องการที่จะเสิร์ฟลูกค้ากับความที่เป็นธรรมชาติ 100% คือทำยังไงให้ผูบริโภคได้ทานน้ำอ้อยที่ใกล้เคียงธรรมชาติมากที่สุด มีโภชนาการใกล้เคียงกับของสดมากที่สุด ซึ่งเลเวลของการพาสเชอไรท์เป็นเลเวลที่ตอบโจทย์ตรงนี้”

ปฏิเสธไม่ได้ว่า รูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์ เป็นสิ่งแรกที่จะทำให้ลูกค้าเลือกซื้อ ดังนั้นการออกแบบแพ็กเกจที่โดนใจลูกค้าถือเป็นเรื่องสำคัญซึ่งผู้ประกอบการไม่อาจมองข้าม ตัวอย่างของไร่ไม่จน “กล้าเปลี่ยน” จากน้ำอ้อยสดธรรมดาใส่ถุงพาสเจอไรซ์เหมือนนมโรงเรียน กลายเป็นแพ็กเกจจิ้งระดับอินเตอร์ รูปลักษณ์ รูปทรง สีสันทันสมัย สะท้อนตัวตนชัดเจนของแบรนด์ “น้ำอ้อย ไร่ไม่จน” เรียกว่าให้ความรู้สึกสดชื่นเหมือนได้ดื่มน้ำอ้อยสด ใหม่ 100% จากข้ออ้อยที่เพิ่งตัดจริง ๆ แถมยังได้รางวัลนวัตกรรมด้านการออกแบบจากหลายเวทีชั้นนำระดับโลก อาทิ เยอรมนี สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น

“นอกจากคุณภาพ เรายังมองในเรื่องของบรรจุภัณฑ์ที่ต้องแตกต่างแล้วก็น่าหยิบ สะดุดตากลุ่มผู้บริโภค เราจึงพัฒนาแพ็กเกจจิ้งตัวใหม่ขึ้นเพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้า และสร้างภาพจำของไร่ไม่จน ก็ได้รับการสนับสนุนจากผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ช่วยดึงความเป็น DNA ของกลุ่มไร่ไม่จนขึ้นมา”

สำหรับ “ไร่ไม่จน” คือ “ไร่ที่เกษตรกรไม่มีความยากจนเลย” เป็นความหมายที่ดีต่อใจเกษตรกร เพราะไม่อยากให้มีความยากจนเกิดขึ้น เกษตรกรเมื่อลุกขึ้นมาทำสิ่งนี้แล้วต้องไม่มีความยากจน กับอีกแง่หนึ่งในสิ่งที่อยากจะส่งมอบให้กับผู้บริโภคว่า ลูกค้า และผู้ที่บริโภค ควรจะรวยไปกับเราด้วย รวยในที่นี้คือรวยสุขภาพ ทั้งนี้ต้องการเสิร์ฟความเป็น 100% จากเกษตรกรถึงมือผู้บริโภค ไม่ใส่สารเคมีใดๆ เจือปน จึงเกิดเป็นพันธกิจว่าเป็นไร่ที่เกษตรกรไม่มีความยากจนกับคนดื่มต้องรวยสุขภาพไปด้วย

“เมื่อก่อนเราสามารถเพิ่มมูลค่าจากน้ำอ้อยธรรมดา โดยเอาเทคโนโลยีพาสเจอไรซ์เข้ามาใส่ได้ถึง 4 เท่า แต่พอปัจจุบันเราต้องการที่จะตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น เลยนำเรื่องของการดีไซน์ การออกแบบแพ็กแกจจิ้งเข้ามาช่วย ทำให้เราสามารถเพิ่มมูลค่าจากเดิมขึ้นมาได้อีกถึง 8 เท่า”

นอกจากนี้ ยังส่งเสริมเครือข่ายเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดราชบุรีปลูกอ้อยพันธุ์สุพรรณบุรี 50 แล้วรับซื้อด้วยการประกันราคาเพื่อให้เกษตรกรมั่นใจ และยังช่วยให้วางแผนการปลูกได้ชัดเจน มีวัตถุดิบเข้าโรงงานตลอดทั้งปี ส่วนเงินทุนที่ได้จาก SME Bank นอกจากนำมาปรับปรุงเครื่องจักรการผลิตที่ใช้บรรจุชวดพาสเจอไรซ์ ยังทำให้ขยายช่องทางตลาดได้มากขึ้น จากเดิมที่ขายแต่กลุ่มลูกค้าแฟรนไชส์ ปัจจุบันทยอยนำสินค้าวางขายในโมเดิร์นเทรดต่าง ๆ อาทิ ท็อปส์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต, บิ๊กซี ซูปเปอร์เซ็นเตอร์, จิฟฟี่, โกลเด้นเพลส และฟู้ดแลนด์ ซึ่งได้ผลตอบรับค่อนข้างจะดีมาก และยังมีการส่งออกไปออสเตรเลียด้วย

สำหรับอนาคตกำลังขยายช่องทางไปร้านสะดวกซื้อและห้างชั้นนำอื่น ๆ หากไปได้สวยก็ตั้งเป้าเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในอีก 3ปี ข้างหน้า อะไรที่ทำให้ขายได้มันต้องไปคู่กันทั้ง 2 อย่างคือ “แพ็กเกจ เป็นตัวทำให้ลูกค้ามาซื้อผลิตภัณฑ์ของเรา แต่ตัวผลิตภัณฑ์ที่ดีมีคุณภาพ มันช่วยทำให้ลูกค้ามาซื้อซ้ำ”

จาก https://mgronline.com   วันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

‘อุตตม’ย้ำรัฐ-เอกชนต้องรวมพลัง ผลักดันศก.ไทยให้ยืนหยัดบนเวทีโลก

นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม กล่าวปาฐกถาพิเศษในโอกาสเป็นประธานเปิดงานสัมมนา “Transform เศรษฐกิจไทย ก้าวไกลสู่อนาคต” จัดโดยบริษัทมติชน ว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังก้าวสู่จุดเปลี่ยน โดยมียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แสดงถึงความพร้อมและโอกาสที่ต่างชาติมองเห็นช่องทางการค้าการลงทุนกับไทย ขณะที่การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น ทุกคนต่างมองไปข้างหน้าว่าประเทศไทยจะเดินต่อไปอย่างไรให้ก้าวให้ทันการเปลี่ยนแปลงโลก

ทั้งนี้ เห็นได้ว่าไทยมีจุดเด่นเรื่องที่ตั้งทรัพยากร และกำลังคนเป็นข้อได้เปรียบเราจึงต้องใช้โอกาสที่มียึดโยงการค้า การลงทุน สร้างหุ้นส่วนกับประเทศต่างๆในภูมิภาค ทำให้เกิดการสร้างธุรกิจใหม่ด้วยคนรุ่นใหม่ได้ ถือเป็นโอกาสที่ไทยจะก้าวไปข้างหน้า อย่าหยุดนิ่ง เพราะหากเราเปลี่ยนได้เราก็ไปต่อได้ ถ้าเราย่ำอยู่ที่เดิม คนอื่นก็จะแซง

“การ Transfrom ต้องอาศัยความมุ่งมั่นและการรวมพลังกันระหว่างภาครัฐ เอกชน การศึกษา และประชาสังคมทุกภาคส่วน เชื่อว่าเราจะนำพาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้ดีขึ้นได้ โดยต้องอาศัยการเงินและการเมืองเป็นตัวช่วยร่วมกันคิดและทำอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยความหวังจะมีระบบเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง มั่งคั่ง กระจายรายได้ทั่วถึงครอบคลุมทั้งประเทศ ช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำให้ประชาชนเข้าถึงโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจไทยและยืนหยัดอยู่ในเวทีโลกได้”นายอุตตมกล่าว

นอกจากนี้ ไทยแลนด์ 4.0 ที่ต้องก้าวไปข้างหน้า สังคมไทยต้องตื่นรู้ เปลี่ยนจากโครงสร้างเดิมที่พึ่งพาการส่งออกเป็นสร้างความเข้มแข็งในประเทศ โดยดูว่าเราจะผลิตสินค้าอะไร ไทยต้องไม่รับจ้างผลิตสินค้าเท่านั้น แต่ต้องสามารถผลิตสินค้าของไทยเองเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาดได้ โดยใช้จุดเด่นภาคเกษตรของไทยต่อยอดใช้เทคโนโลยีผสมผสานอย่างลงตัว ยกระดับตลาด การผลิต และการเพิ่มมูลค่า

นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย หรือเอสซีจี กล่าวว่า การ Transform ประเทศไทยนั้นผู้ประกอบการต้องปรับตัว ต้องลงทุนด้านเทคโนโลยีขั้นสูงต้องลงทุนวิจัยและพัฒนา(อาร์แอนด์ดี) โดยเอกชนไม่ต้องทำเอง โดยร่วมกับสถาบันภายนอก ซึ่งเอสซีจีเองเข้าไปทำส่วนนี้ร่วมมือกับหลายสถาบันพบว่าสำเร็จด้วยดี ขณะที่องค์กรระดับเอสเอ็มอีควรร่วมมือกับมหาวิทยาลัย อีกส่วนที่เอกชนควรรีบดำเนินการคือการลงทุนด้านดิจิทัลทรานฟอร์เมชั่น ต้องนำมาปรับใช้ เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วต้องปรับตัวให้ทัน

“ช่วงที่สถานการณ์การเมืองของไทยกำลังเปลี่ยนผ่าน อยากให้ช่วยกันประคองสถานการณ์ เชื่อว่าเราจะผ่านไปได้ด้วยการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ที่นักลงทุนสนใจ แต่การจะสร้างความเชื่อมั่นได้จริงอยู่ที่การเมืองสงบ เพราะไม่มีนักลงทุนคนไหนอยากอยู่ในดินแดนไม่สงบสุข” นายกานต์กล่าว

จาก https://www.naewna.com วันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

"อุตตม" รับบทมือประสานสิบทิศเร่งช่วยเกษตรกรชาวไร่อ้อย

"รมว.อุตสาหกรรม" หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ บุกเมืองปากน้ำโพ จับเข่าคุยชาวไร่อ้อยภาคกลาง พร้อมรับบทมือประสานสิบทิศแก้ปมเดือดร้อน ทั้งความสูงรถทุกอ้อย-รถลากอ้อย

ดร.อุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะ รมว.อุตสาหกรรม เป็นประธานงานประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2561 สมาคมชาวไร่อ้อย เขต 11 นครสวรรค์ เมื่อวันที่ 11 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยมี นายทองคำ เชิงกลัด นายกสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 11 พร้อมด้วย สมาชิกชาวไร่อ้อยเขต 11 นับพันคนให้การต้อนรับ ณ หอประชุมสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 11 จังหวัดนครสวรรค์ ทั้งนี้สมาคมชาวไร่อ้อย เขต 11 มีสมาชิก 23,000 รายทั้งใน จ.นครสวรรค์ และพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง โดยจะมีการจัดประชุมสมาคมปีละครั้ง เพื่อเปิดให้เหล่าสมาชิกได้มาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาความเดือดร้อน เพื่อสะท้อนปัญหาให้รัฐบาลรับทราบและหาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยต่อไป

นายอุตตม เปิดเผยว่า ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปีที่มีสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 11 เป็นเจ้าภาพและมีสมาคมอื่นมาร่วมอีกหลายสมาคม ได้มีโอกาสพบปะหารือกับส่วนที่พวกเราเรียกว่า “หุ้นส่วน” ของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล คือ 1.ชาวไร่อ้อยที่ถือเป็นหุ้นส่วนแรกที่สำคัญที่สุดเพราะเป็นผู้ผลิตปลูกอ้อย 2.กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม ผู้นำอ้อยไปผลิตเป็นน้ำตาลซึ่งยังมีศักยภาพที่จะทำอย่างอื่นได้อีกมาก และ 3. ภาครัฐ โดยที่ผ่านมารัฐบาล , คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็มาร่วมกันดูแลอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ทั้งหมดคือกลไกแบบประชารัฐ

รมว.อุตสาหกรรม ได้ให้สัญญาประชาคมต่อหน้าสมาชิกชาวไร่อ้อยว่า จะรับข้อร้องเรียนและเสียงสะท้อนจากพี่น้องเกษตรกรชาวไร่อ้อยไปหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ไม่ใช่ตนเพียงเดียวที่จะใช้อำนาจ แต่รับรองว่าจะทำให้ทุกคนได้รับประโยชน์อย่างเป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องรถบรรทุกอ้อยที่ชาวไร่เรียกร้องให้ขนได้สูง 4 เมตร และขอให้ชาวไร่สามารถใช้รถลากอ้อยในพื้นที่ได้ เป็นต้น

นอกจากการเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการผลิตในไร่อ้อยของเกษตรกรแล้ว รมว.อุตสาหกรรม ระบุว่า สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการ คือการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมอ้อย น้ำตาลทราย และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เพื่อก้าวไปสู่โมเดลประเทศไทย 4.0 โดยมีเทคโนโลยีชีวภาพเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน ขณะที่ผลผลิตการปลูกอ้อยในช่วงปี 2561-2570 คาดว่าจะมีประมาณ 180 ล้านตัน โดยเป็นอุตสาหกรรมน้ำตาล ประมาณ 120 ล้านตัน และ 60 ล้านตันเป็นอุตสาหกรรมชีวภาพ หรือ Bio

จากนั้น ดร.อุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะ รมว.อุตสาหกรรม พร้อมคณะ ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (กลุ่ม KTIS) โดยมี นางดารัตน์ ศิริวิริยะกุล วิภาตะกลัศ กรรมการและรองประธานกลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และคณะผู้บริหารให้การต้อนรับ โดยบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นบริษัทผลิตและจัดจำหน่าย เยื่อกระดาษฟอกขาวจากชานอ้อย และบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากเยื่อชานอ้อยทั้งในและต่างประเทศ ภายใต้กลุ่มบริษัท KTIS ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายรายใหญ่ของประเทศไทย โดยผลิตภัณฑ์ฯดังกล่าว เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการนำชานอ้อย ที่เหลือจากการผลิตน้ำตาลทรายจากบริษัทในเครือ KTIS ซึ่งถือเป็นโครงการ Bio Complex เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพที่สำคัญ เพราะเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อม และเป็นประโยชน์ทั้งในระดับชุมชนและระดับประเทศ นอกจากนี้ยังมีโครงการผลิตเอทานอล จากการหีบอ้อยจำนวน 2.4 ล้านตันต่อปี ด้วยการนำน้ำอ้อยที่เหลือมาทำให้เข้มข้น โดยจะมีโรงงานเอทานอลกำลังผลิต 6 แสนลิตรต่อวัน เพื่อสามารถนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ชีวภาพอื่นๆได้ ในส่วนของชานอ้อยที่เหลือจากการหีบอ้อยนั้น ยังสามารถนำมาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไอน้ำและไฟฟ้าสำหรับใช้ในโครงการและขายในพื้นที่บริเวณใกล้เคียงได้อีกด้วย

จาก www.banmuang.co.th    วันที่ 12 พฤศจิกายน 2561

อีสานแล้งรุนแรงในรอบหลายสิบปี

ขอนแก่น 12 พ.ย. - ปีนี้ อ.บ้านแฮด จ.ขอนแก่น ประสบปัญหาภัยแล้งรุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปี พืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะนาข้าวราวร้อยละ 80 ของพื้นที่ ชาวนาจำใจต้องปล่อยให้วัวควายเข้าไปกิน และไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสดเพื่อปลูกพืชชนิดอื่นแทน

ด้วยสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ดอน ทำให้ชาวบ้านวังหว้า อ.บ้านแฮด จ.ขอนแก่น ปลูกข้าวไร่เสริมนาข้าวในที่ลุ่มมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ ชาวบ้านที่นี่เคยอุ่นใจว่าปีใดฝนแล้ง นาที่ลุ่มไม่ได้ผล ยังมีข้าวไร่ที่ทนแล้งพอฝากความหวังได้ แต่ปีนี้ข้าวไร่เกือบ 1,000 ไร่ ของพวกเขา ยืนต้นตายทั้งหมด

ลุงทองม้วน ไร่เขือ วัย 54 ปี เจ้าของข้าวไร่ราว 20 ไร่แปลงนี้ บอกว่า ปลูกข้าวไร่มาหลายสิบปี ตลอดเดือนสิงหาคมและกันยายนที่ผ่านมาไม่มีฝนตกลงมาเลย ทำให้ข้าวไร่ของตนเสียหายแบบ 100% เป็นครั้งแรก เงินลงทุน 20,000 บาท จึงหายวับไปกับตา

เจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอบ้านแฮดลงพื้นที่สำรวจความเสียหาย เพื่อพิจารณาจ่ายเงินชดเชยไร่ละ 1,113 บาท ไม่เกิน 30 ไร่ รายใดที่ทำประกันภัยแล้งไว้กับ ธ.ก.ส.จะได้เพิ่มอีกไร่ละ 1,200 บาท นอกจากนี้ยังแนะนำเกษตรกรให้รีบไถกลบเพื่อปลูกพืชชนิดใหม่บรรเทาผลกระทบ ในขณะที่ผืนนายังพอมีความชื้นหลงเหลืออยู่

เมื่อข้าวไร่ พืชทนแล้งยังแห้งตายไม่เหลือ นาในที่ลุ่มจึงอยู่ในสภาพเดียวกัน เกษตรกรจึงต่างปล่อยฝูงวัวควายเข้าไปกินเป็นอาหาร บางส่วนเร่งไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสดเพื่อปลูกพืชชนิดอื่น ส่วนเกษตรกรที่พอมีข้าวให้เก็บเกี่ยวบ้าง ก็อาศัยการสูบน้ำจากบ่อที่พอมีหลงเหลืออยู่

นอกจากข้าวแล้ว พืชเศรษฐกิจอื่นทั้งอ้อย และมันสำปะหลัง ก็ต่างได้รับผลกระทบจากวิกฤติภัยแล้งในครั้งนี้ ทำให้ไม่โตเต็มที่ ได้ผลผลิตน้อยลงอย่างชัดเจน

อ.บ้านแฮด มีนาข้าวเสียหายกว่า 9,000 ไร่ เป็น 1 ใน 5 อำเภอกลุ่มแรกใน จ.ขอนแก่น ที่ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยแล้ง ร่วมกับ อ.พล หนองสองห้อง แวงน้อย และเปือยน้อย โดยในเร็วๆ นี้จะมีการประกาศพื้นที่ประสบภัยแล้งเพิ่มเป็น 12 อำเภอ

จาก https://tna.mcot.net   วันที่ 12 พฤศจิกายน 2561

“อุตตม” ย้ำหากไม่อยากให้ประเทศถอยหลังต้องปรับตัว พึ่งเทคโนโลยี พัฒนากำลังคน และขับเคลื่อนอีอีซีเชื่อมโยงภูมิภาค

เมื่อเวลา 09.25 น. วันที่ 12 พฤศจิกายน นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนาเรื่อง Transform เศรษฐกิจไทย ก้าวไกลสู่อนาคต ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์มติชนว่า การเลือกตั้งที่มีขึ้นทุกคนคงต่างมองไปข้างหน้าว่าประเทศไทยจะเดินไปอย่างไร ซึ่งการที่ประเทศไทยจะ Transform ได้ต้องอาศัยพลังจากทุกภาคส่วน ทุกช่วงอายุ เพื่ออนาคตของประเทศ เชื่อว่าทุกคนอยากเห็นประเทศปรับเปลี่ยน ตอนนี้กระบวนการปรับเปลี่ยนเริ่มแล้ว อย่างการเดินหน้า 5G ก็เริ่มแล้ว อย่างสถานการณ์เศรษฐกิจมีความสำคัญ เพื่อให้สามารถแข่งขัน ค้าขายกับประเทศอื่นได้ เพราะฉะนั้น Transform เพื่อยกระดับ ถ้าเราเปลี่ยนได้เราก็ต่อไปได้ ถ้าเราย่ำที่เดิมคนอื่นจะแซง และจะถอยหลัง ซึ่งตอนนี้ไทยมีความพร้อมพร้อมทั้งเศรษฐกิจเพื่อเดินหน้าไปข้างหน้า มีการกระจายความมั่งคั่งเศรษฐกิจ และมีการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุด

นายอุตตมกล่าวว่า ตอนนี้ไทยมีความโดดเด่นในเวทีโลก เพราะเมื่อเร็วๆ นี้ผมมีโอกาสขึ้นเวทีประชุมอาเซียนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ประเทศสิงคโปร์ ได้ฉายภาพการ Transform ของไทย และได้คุยกับทูตหลายประเทศได้ หารือถึงแนวทางการเดินหน้าของไทย อย่างสหภาพยุโรป (อียู)ก็จับตาไทยอยู่ ซึ่งการTransform จะเป็นโอกาสของไทย ซึ่งไทยต้องดูว่าจะสร้างหุ้นส่วนกับประเทศภูมิภาคต่างๆ อย่างไร ซึ่งในการทำธุรกิจนั้น คนรุ่นใหม่สามารถเข้ามาคุยกันและสร้างสิ่งใหม่ๆ ได้ ซึ่งไทยมีโอกาสแล้ว ต้องก้าวไปไม่ควรนิ่งหรือถอยหลัง

ทั้งนี้ไทยแลนด์ 4.0 ที่ต้องก้าวไปข้างหน้า มีสังคมไทยที่ตื่นรู้ คนไทยต้องชัดเจน จะเตรียมคน การศึกษาอย่างไรให้พร้อมกับศตวรรรษที่ 21 ขณะที่เศรษฐกิจต้องมีโครงสร้างในการขับเคลื่อน อย่างภาพใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้นคือเทคโนโลยี การเปลี่ยนขั้วของการเมืองโลก ซึ่งไทยควรมีการเศรษฐกิจที่เสริมแกร่ง จากโครงสร้างเดิมที่ใช้การส่งออกเป็นหัวใจหลัก จากนี้เราต้องสร้างความเข้มแข็งในประเทศ ควรดูว่าเราจะผลิตสินค้าอะไร และเมื่อเศรษฐกิจเราดีเราจะเดินหน้าแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ให้คนไทยเข้าถึงโอกาสได้จริงๆ ซึ่งเศรษฐกิจไทยจะต้องไม่รับจ้างผลิตของ แต่เป็นเศรษฐกิจที่สามารถผลิตสินค้าของเราเอง ตอบโจทย์ได้ อย่างไรก็ตามอย่าคิดว่าจะออกไปจากเกษตรเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมและบริการ กลับกันควรใช้จุดเด่นภาคเกษตรของไทยเข้าไปต่อยอด ใช้เทคโนโลยีผสมผสานอย่างลงตัว จะทำให้ภาคเกษตรไทยยกระดับ แก้ปัญหาความยากจน ยกระดับขีดความสามารถและไม่ยอมแพ้ธรรมชาติ โดยวันนี้มีแนวทาง มีเทคโนโลยี ลดทอนผลกระทบจากธรรมชาตินั้น นอกจากนี้ต้องยกระดับตลาด การผลิต การเพิ่มมูลค่า และถอยมาต้นทางว่าจะปลูกจะเพาะอย่างไร

อีกตัวอย่างที่รัฐบาลกำลังสนับสนุนให้เห็นภาพชัดเจนคือ การสนับสนุนอุตสาหกรรมไบโอชีวภาพ โดยนำเกษตรต้นทางไปสู่สินค้าคุณภาพสูง เพราะไทยมีวัตถุดิบพร้อม หลายประเทศแสดงความสนใจเข้ามาลงทุน เพราะไทยมีความพร้อมเรื่องพื้นที่ คน วัตถุดิบทางการเกษตร ดังนั้นไทยต้องเตรียมพร้อม อีกภาคที่สำคัญคือการผลิต เราจะใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยอย่างไร เรามีวิทยากรที่พร้อมจะช่วยเหลือหากไทยมีเป้าหมาย แผนชัดเจน อย่างไรก็ตามหากไทยไม่เน้นเทคโนโลยีทั้งยกระดับของเก่า และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ไทยจะสู้ประเทศอื่นไม่ได้ จะทำให้เศรษฐกิจไทยอ่อนกำลังลง

นอกจากนี้ในด้านกำลังคน มี 2 เรื่องสำคัญคือ เราต้องเติมเต็มศักยภาพของคนไทย และเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่เศรษฐกิจ 4.0 โดยกลุ่มที่ไทยต้องสนับสนันคือ ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ หรือ Startup ซึ่งกลุ่มนี้อาจไม่ใช่เด็กรุ่นใหม่ แต่อาจหมายถึงกลุ่มคนที่มีประสบการณ์แล้วออกจากงานมาทำอะไรใหม่ สำหรับผม Startup ไม่ใช่แค่ผู้ประกอบการที่ใช้เทคโนโลยีหรือเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่ผมหมายถึงการเริ่มสิ่งใหม่ๆ ในทุกด้านและทุกกลุ่มอายุ อาจมีการนำ 5G มาใช้ประโยชน์สูงสุด อีกกลุ่มคือผู้ประกอบการรายย่อยทุกคน (เอสเอสเอ็มอี และเอสเอ็มอี) ทั่วประเทศ 5 ล้านราย แต่มีตัวตนลงทะเบียนเพียง 6 แสนราย คำถามคือเอสเอ็มอีไทยพร้อมหรือไม่ เรื่องนี้รัฐบาลต้องสนับสนุน อย่างปัจจุบันกระทรวงการคลังมีการสนับสนุนเอสเอ็มอีให้ทำบัญชีเดียว เพื่อให้เข้าถึงสินเชื่อ

ทางกระทรวงอุตสาหกรรม มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม (ไอทีซี) มีเทคโนโลยีให้เอสเอ็มอีได้ทดลองใช้งานฟรี เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ต้องการต่อยอดการผลิต อีกกลุ่มคือผู้ประกอบการที่ล้มและต้องการก้าวต่อไป ดังนั้นเทคโนโลยีและคนจึงเป็นปัจจัยสำคัญ ขณะเดียวกันการลงทุนก็มีส่วนในการช่วยผลักดันไทยแลนด์ 4.0 โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ รถไฟขนทั้งคนและสินค้าต่างๆ ถนนเส้นต่างๆ ซึ่งไทยมีการลงทุนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ถือเป็นแรงกระตุ้นสำคัญ ที่ไม่เจาะจงแค่ 3 จังหวัดในภาคตะวันออก และมุ่งลงทุนในทุกภาค ทั้งการศึกษา สาธารณสุข ไม่ได้มุ่งแต่อุตสาหกรรม ซึ่งผมเพิ่งเดินทางไปจังหวัดนครสวรรค์ มีวัตถุดิบสำคัญทั้งอ้อยและน้ำตาล อีสานขอนแก่นก็มีวัตถุดิบ

“เพราะฉะนั้นตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่ไทยควรเดินหน้า เพราะปีหน้าไทยจะเป็นประธานการประชุมอาเซียน นโยบายต้องยึดโยงกับประเทศต่างๆในภูมิภาค สุดท้ายประเทศไทยต้องเชื่อมโยงกันทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา เพื่อผลักดันประเทศไทยไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 เป็นการ Transform ครั้งสำคัญ” นายอุตตมกล่าว

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 12 พฤศจิกายน 2561

“อุตตม” ตั้งเป้า2ปีดันไบโอฮับ

รมว.อุตสาหกรรมหารือชาวไร่อ้อยนครสวรรค์ ตั้งเป้า 2 ปีดันไบโอชีวภาพให้เกิด สร้างนครสวรรค์เป็นไบโอฮับ

นายอุตตม  สาวนายน  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2561 ของสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 11 นครสวรรค์ ว่ากระทรวงอุตสาหกรรมมีแผนที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ซึ่งจะเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมนี้ให้มีมูลค่าสูงขึ้น โดยมีแผนพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ หรือไบโอเทคโนโลยีซึ่งใช้เทคโนโลยีนี้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ เช่น ไบโอพลาสติก  ไบโอเคมี เครื่องสำอางเคมีภัณฑ์ เวชภัณฑ์  โดยมีหุ้นส่วนที่เกี่ยวข้อง 3 ส่วน คือ 1. ชาวไร่อ้อย 2.โรงงาน 3. กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งตั้งเป้าหมายภายใน 2 ปี จะนำเทคโนโลยีชีวภาพให้เป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องเต็มรูปแบบ

ทั้งนี้ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวไร่อ้อยและให้สัญญาประชาคมว่าจะนำเรื่องข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการบรรทุกอ้อยและการรถไถลากอ้อยในพื้นที่ไปหาทางแก้ปัญหา และยืนยันว่าทุกคนจะได้รับประโยชน์อย่างเป็นธรรม

นายอุตตม กล่าวว่า ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนลชูการ์คอร์ปอเรชั่น จำกัด (กลุ่ม KTIS) ซึ่งกำลังดำเนินการโครงการไบโอคอมเพล็กซ์เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพที่สำคัญเพราะเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมและเป็นประโยชน์ทั้งในระดับชุมชนและระดับประเทศรวมทั้งมีโครงการผลิตเอทานอลกำลังผลิต 6 แสนลิตรต่อวัน เพื่อต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ชีวภาพอื่น

สำหรับโครงการไบโอ คอมพเล็กซ์ได้เริ่มขึ้นแล้วหลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ และการพัฒนาจะไม่จำกัดเฉพาะที่ จ.นครสวรรค์ แต่จะขยายไปพื้นที่ จ.ขอนแก่น โดยทั้งนครสวรรค์และขอนแก่นเป็นฐานสำคัญของการผลิตอ้อยและน้ำตาลของไทย ซึ่งการพัฒนาดังกล่าวจะสร้างฐานความเจริญใหม่ในพื้นที่

จาก www.bangkokbiznews.com  วันที่ 12 พฤศจิกายน 2561

พลังงานทดแทนดันค่าเอฟทีปี 62 พุ่ง

กกพ.ประเมินรับซื้อไฟพลังงานทดแทนกระทบต้นทุยนค่าเอฟทีปี62 พุ่งแตะ 27.34 สตางค์ต่อหน่วยมูลค่ารวม 47.996 ล้าน โครงการขยะนำร่อง 77.9 เมกะวัตต์ เดินหน้าตามแผน

นางสาวนฤภัทร  อมรโฆษิต เลขาธการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า กกพ.ได้ประเมินนโยบายรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในอดีต  ทั้งในรูปแบบการให้เงินสนับสนุนส่วนเพิ่มรับซื้อไฟฟ้า(แอดเดอร์) และการให้สนับสนุนตามต้นทุนที่แท้จริง (ฟิดอินทารีฟ)หรือ Fit จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(ค่าเอฟที) ในปี 2562 อยู่ที่ 27.34 สตางค์ต่อหน่วย หรือคิดเป็นมูลค่ารวม 47.996 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่มีผลกระทบต่อค่าเอฟทีอยู่ที่ 25.17 สตางค์ต่อหน่วย หรือคิดเป็นมูลค่ารวม 43.279 ล้านบาท

“ผลกระทบต่อค่าเอฟทีเพิ่มขึ้นเนื่องจากในปี 2562 จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าจากโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทน ตามนโยบายของภาครัฐในอดีตที่มีกำหนดต้องเริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) หลายโครงการ เช่น โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม โครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะการรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์ราชการ/สหกรณ์ระยะที่ 2”

ทั้งนี้ ต้นทุนการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนแยกตามประเภทเชื้อเพลิงที่ส่งผลกระทบต่อค่าเอฟทีในงวดสุดท้ายของปี 2562 (ก.ย.-ธ.ค.) พบว่าพลังงานแสงอาทิตย์มีมูลค่าสูงสุด อยู่ที่ 7,759 ล้านบาท,ชีวมวล 3,173 ล้านบาท,ขยะ 1,986 ล้านบาท และลม 2,803 ล้านบาท

สำหรับความคืบหน้าโครงการกำจัดขยะมวลฝอยเพื่อผลิตไฟฟ้าขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 8 พื้นที่ 12 โครงการ กำลังผลิต 77.9 เมกะวัตต์ ที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดพื้นที่ไว้ และ กกพ.กำหนด COD  ในปี 2564 ขณะนี้มีผู้ประกอบการบางรายได้ยื่นข้อเสนอโครงการเข้ามาที่ กกพ.แล้ว คาดว่าการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการดังกล่าวจะทำได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ หลังจากรัฐได้พิจารณาขยากกำหนด COD ออกไปจากเดิมที่กำหนดไว้ในปี 2562

แหล่งข่าวจาก กกพ.กล่าวว่า หลังปี 2564 เป็นต้นไป ผลกระทบการรับซื้อพลังงานทดแทนต่อต้นทุนค่าเอฟทีจะเริ่มนิ่ง เนื่องจากโครงการที่เปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนต่างๆ ในอดีตได้กำหนดให้ COD สิ้นสุดไว้ที่ปี 2564 รวมถึงหากรัฐไม่มีนโยบายรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพิ่มเติม ขณะเดียวกันหากเปิดรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบการแข่งขันด้านราคา(บิดดิ้ง) ก็อาจช่วยให้ต้นทุนผลิตไฟฟ้าเฉลี่ยในอนาคตถูกลง

จาก  www.bangkokbiznews.com วันที่ 12 พฤศจิกายน 2561

ค่าเงินบาทวันนี้อ่อนค่า เหตุดัชนีค.เชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐสูงกว่าตลาดคาด-กังวลศก.จีนชะลอตัว หนุนค่าเงินบาทอ่อนค่าตามค่าเงินหยวน

ค่าเงินบาทวันนี้อ่อนค่าในกรอบการเคลื่อนไหวที่ 33.00-33.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เหตุดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐออกมาสูงกว่าที่ตลาดคาด ชี้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าหลังตลาดกังวลเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัว หนุนค่าเงินภูมิภาคอ่อนค่าตาม เผยติดตามตัวเลขการปล่อยสินเชื่อของจีนเดือนต.ค.

ผู้สื่อข่าวรายงานค่าเงินบาท วันที่ 12 พ.ย. 2561 ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ 33.07 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากระดับปิดเมื่อวันศุกร์ (9 พ.ย.) ที่ 33.01 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ล่าสุดค่าเงินบาทซื้อขายอยู่ที่ระดับ 32.91-33.21 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ด้านนักวิเคราะห์ค่าเงินบาทธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ค่าเงินบาทวันนี้ มีทิศทางอ่อนค่าตามค่าเงินในภูมิภาค โดยมาจากปัจจัยหลักคือค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับแข็งค่าขึ้น หลังดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ ออกมาสูงกว่าที่ตลาดคาด และตอนนี้เริ่มมีเงินทุนไหลออกจากตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ของไทยอีกด้วย

นอกจากนี้ยังเป็นการอ่อนค่าตามค่าเงินหยวน เนื่องจากตลาดเริ่มความกังวลว่าเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัว โดยวันนี้ให้กรอบการเคลื่อนไหวที่แนวรับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่แนวต้านให้ไว้ที่ 33.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ปัจจัยที่ต้องติดตามต่อคือตัวเลขการปล่อยสินเชื่อของจีนเดือนตุลาคม และคำแถลงการณ์ของเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 12 พฤศจิกายน 2561

'อุตตม' ลงพื้นที่ไร่อ้อยนครสวรรค์ ยัน! เร่งพัฒนาเศรษฐกิจ Bio ให้ยั่งยืน

'อุตตม' ลงพื้นที่เยี่ยมชาวไร่อ้อยนครสวรรค์ เร่งแก้ปัญหาด่วน 2 ข้อ รถบรรทุกอ้อย-รถลาก พร้อมยันค้านร่าง พ.ร.บ.อ้อย-น้ำตาล ยันเร่งพัฒนาเศรษฐกิจเทคโนโลยีชีวภาพให้ยั่งยืน

เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2561 ที่หอประชุมสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 11 จ.นครสวรรค์ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ เวลา 09.30 น. นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เดินทางมาเป็นประธาน เปิดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2561 ของสมาชิกชาวไร่อ้อย เขต 11 นครสวรรค์ โดยมี นายทองคำ เชิงกลัด นายกสมาคมชาวไร่อ้อย เขต 11 นครสวรรค์ และคณะ ให้การต้อนรับ

ทั้งนี้ นายอุตตม ในฐานะประธานเปิดการประชุมใหญ่สามัญประจำปีของสมาคมชาวไร่อ้อย ได้กล่าวเปิดใจกับเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่มาร่วมการประชุม ว่า เป็นโอกาสของกลุ่มพี่น้องเกษตรกรที่จะร่วมกันเป็นหุ้นส่วนขับเคลื่อนการปลูกอ้อย ที่นอกจากจะนำมาแปรรูปเป็นน้ำตาลแล้ว ยังสร้างผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ได้ด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ (Bio) ทั้งการนำส่วนของอ้อยมาสร้างเป็นบรรจุภัณฑ์รูปแบบไบโอพลาสติกและไบโอเคมี อย่าง เครื่องสำอาง, เคมีภัณฑ์, เวชภัณฑ์ ซึ่งหุ้นส่วนขณะนี้ คือ 1.กลุ่มเกษตรกร 2.กลุ่มโรงงาน 3.รัฐบาล โดยกระทรวงอุตสาหกรรม ดังนั้น ภายใน 2 ปี จึงมีความเป็นได้ที่จะปรับผลผลิตพืชผลทางการเกษตรด้วยเทคโนโลยีชีวภาพให้เป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องเต็มรูปแบบ และเป็นอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน

"จะดูแลกันอย่างต่อเนื่อง ให้เป็นเศรษฐกิจเพื่อชุมชน พัฒนาเศรษฐกิจของไทยให้มั่งคั่ง สร้างสรรค์ และยั่งยืนในเวทีโลก ก็ขอให้ทุกคนมั่นใจได้ว่าจะทำให้เป็นจุดแข็งของประเทศ เราเป็นหุ้นส่วน จะแบ่งสันปันส่วนผลประโยชน์ให้อย่างเท่าเทียม ซึ่งวันนี้จะช่วยกันคิดว่าจะปรับโครงสร้างอย่างไรที่จะแชร์ผลประโยชน์อย่างแฟร์ ๆ อย่าไปคิดว่าของเดิมดีอยู่แล้ว เอาของใหม่มาทำไม ขอยืนยันว่า เราจะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจชีวภาพ-อุตสาหกรรมการเกษตร สร้างความมั่งคั่งให้เกษตรกร โดยไม่ได้รับผลกระทบแน่นอน ซึ่งผลผลิตทางเกษตรที่ส่งออกอันดับ 1 ก็คือ มันสำปะหลัง, อันดับ 2 อ้อย น้ำตาล ดังนั้น อย่าไปกังวลกลัวว่าจะทำไม่ได้ ต้องเชื่อว่าทำได้ แต่เราต้องร่วมกันเสนอ"

นายอุตตม กล่าวอีกว่า ขณะที่โจทย์ใหญ่วันนี้ที่ได้มาหารือ คือ การยกระดับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลให้เป็นอุตสาหกรรมที่สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์สินค้าที่สร้างมูลค่าสูง ๆ ขณะเดียวกันก็ยกระดับระบบบริหารจัดการให้ก้าวไปอีกขั้นหนึ่งด้วยหลักการแรก คือ มีความยั่งยืน เราจะก้าวสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมไปสู่อุตสาหกรรมชีวภาพ (Bio Economy) ที่เราจะทำอย่างครบวงจร มองตลาด มองสินค้า และมองกระบวน การผลิตที่ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกลับมาถึงต้นทาง คือ การพัฒนาเรื่องการเกษตร การปลูกอ้อย การดูแลพันธุ์อ้อย ให้มั่นใจว่า ผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นนั้นสามารถแบ่งกันได้ลงตัว เป็นธรรมกับทุกส่วน และส่วนของรายได้ ผลประโยชน์ที่จะเพิ่มขึ้นนั้น มีความยั่งยืน ไม่ใช่เกิดแล้วล้นตลาด ซึ่งวันนี้โครงการ Bio Economy ก็เริ่มขึ้นแล้ว

โดยช่วงก่อนหน้านี้ ได้นำเสนอสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้วว่า มีแผนที่จะดำเนินการเรื่องนี้ และจะไม่จำกัดอยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเท่านั้น อย่างในพื้นที่ภาคตะวันออกก็มีอยู่แล้ว เพราะมีฐานจาก ปตท. แต่มีข้อเสนอของภาคเอกชนร่วมกันว่า ยังมีพื้นที่อื่น ระยะแรกที่ จ.ขอนแก่น และ จ.นครสวรรค์ เป็นฐานสำคัญของการผลิตอ้อยและน้ำตาลของประเทศไทย วันนี้จึงหารือกัน พร้อมตั้งโจทย์ว่า การเอาเรื่องเข้าสู่ ครม. นั้น เป็นเฟสแรก ส่วนเฟสต่อไป คือ จะทำอย่างไรให้ จ.นครสวรรค์ และพื้นที่อื่น ๆ เข้าสู่เป้าหมายที่เราร่วมกันวางว่าจะเป็น Bio Hub Bio Economy ซึ่งคำว่า "Hub" เกิดจากอุตสาหกรรม ไม่ใช่ว่าแค่เอาเทคโนโลยีมาผลิต แต่หมายถึงศูนย์กลางของการผลิตอ้อยและน้ำตาลที่จะก้าวพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมชีวภาพ

นอกจากนั้น ภายหลังที่ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวเปิดใจถึงแผนพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรแล้ว กลุ่มเกษตรกรชาวไร่อ้อยทั้งใน จ.นครสวรรค์ และตัวแทน จ.กาญจนบุรี ก็ได้กล่าวถึงปัญหาที่ยังรอให้รัฐบาลและ รมว.อุตสาหกรรม พิจารณาแก้ไข ด้วยว่า มีปัญหา 2 ข้อ คือ 1.เรื่องบรรทุกขนอ้อย ที่จำกัดความสูง ก็ขอให้ขนได้สูง 4 เมตร โดยจะพิจารณาลดความสูงครั้งละ 10 เซนติเมตร ก็ขอให้ชะลอไปก่อน 2.เรื่องรถเทรลเลอร์ หรือ รถลาก ที่ชาวบ้านกษตรกรต้องใช้ลากอ้อยจากพื้นที่ ขอให้ยังใช้ได้ต่อไป เพราะชาวบ้านมีฐานะยากจน การขนส่งรูปแบบอื่นจะลำบาก และที่สำคัญอีกเรื่อง คือ การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่..) พ.ศ. …. ที่เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา

โดยนายอุตตม กล่าวยืนยันว่า ความเป็นไปได้ในการดูแลเกษตรกรนั้น ดูแลอยู่แล้ว ไม่ต้องห่วง ไม่ต้องพูดถึงความเป็นไปได้ ดูแลทุกนาที เมื่อถามว่า ร่างกฎหมายจะขับเคลื่อนไปพร้อมกับการสร้างอุตสาหกรรมชีวภาพหรือไม่ และจะให้คำมั่นได้หรือไม่ ว่า จะไม่ออกกฎหมายที่เอาเปรียบเกษตรกร นายอุตตมย้ำว่า เรื่องนี้เราดูแลในทิศทางที่มีอยู่แล้ว ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องทั้งกฤษฎีกา รัฐมนตรีเราดูแลตามระบบ เพราะฉะนั้นไม่ต้องห่วงเรื่องนี้ แต่จะให้ตอบวันนี้ยังไม่ได้ เพราะยังมีกระบวนการ

ด้าน นายอำนวย กลิ่นสอน เลขานุการสมาคมชาวไร่อ้อย กล่าวว่า การประชุมสามัญของสมาคมดังกล่าวเป็นการประชุมประจำปีละ 1 ครั้ง ซึ่งสมาชิก 23,000 รายที่สังกัดสมาคม มีทั้งใน จ.นครสวรรค์ และพื้นที่นอกจังหวัดใกล้เคียง ขณะที่ การประชุมเปิดให้เหล่าสมาชิกได้มาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาความเดือดร้อน เพื่อสะท้อนปัญหาให้รัฐบาลรับทราบและหาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อย โดยเฉพาะการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่..) พ.ศ. …. ที่เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา

"เกษตรกรทุกคนยังคงคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นี้ เพราะเนื้อหาที่กำหนดไว้จะทำให้เกษตรกรอ่อนแอ จากเดิมที่เราเคยเข้มแข็งมาได้ถึง 40 ปี ร่างนี้จะทำให้กลุ่มโรงงานได้ประโยชน์มากกว่า ก็ขอให้ได้พูดคุยกันก่อน และที่มาของคณะกรรมการบริหารในร่างกฎหมาย ก็ให้มาจากตัวแทนอย่างแท้จริง ซึ่งพวกเราเกษตรกรชาวไร่อ้อยขอขอบคุณ รมว.อุตสาหกรรม ที่ก่อนหน้านี้ได้แก้ปัญหาราคาผลผลิตให้อีก 50 บาทต่อตัน แต่ปัญหาเรื่องรถบรรทุกทั้ง 2 ข้อ ยังคงเป็นปัญหา รวมทั้งร่าง พ.ร.บ. ที่จะทำให้เราอ่อนแอลง ดังนั้น ขอรัฐมนตรีขอให้สัญญาประชาคมกับเกษตรกรวันนี้ด้วยว่าจะแก้ไขปัญหา หากยังไม่มีคำตอบเรา 2,000  คน จะเป็นตัวแทนจากสมาชิกกว่า  20,000 คน ไปถามหาคำตอบที่กระทรวงในวันที่ 15 พ.ย. นี้"

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 11 พฤศจิกายน 2561

โรงงาน-ชาวไร่จ่อชิงลาออกบอร์ดอ้อย-น้ำตาลผวารายงานทรัพย์สิน

โรงงานน้ำตาลทรายเตรียมทำหนังสือถึงป.ป.ช.ขอความชัดเจนกรณีบอร์ดที่เกี่ยวข้องกับการบริหารอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายใดเข้าข่ายที่คณะกรรมการต้องรายงานทรัพย์สินต่อป.ป.ช.ตามกฏหมายใหม่หวั่นทำระบบสะดุด เผยล่าสุดตัวแทนชาวไร่1คนยื่นลาออกจากบอร์ดกองทุนฯแล้ว ด้านโรงงานจ่อคิวตาม ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายปี60/61ส่อล่าช้า

แหล่งข่าวจากบริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด(TSMC) เปิดเผยว่า ขณะนี้TSMC อยู่ระหว่างการหารือเพื่อเตรียมทำหนังสือถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เพื่อขอความชัดเจนเกี่ยวกับการกำหนดตำแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 พ.ศ.2561 ว่าครอบคลุมเกี่ยวกับคณะกรรมการบริหารอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายมากน้อยเพียงใดเนื่องจากเบื้องต้นเห็นว่าการแจ้งทรัพย์สินและหนี้สินอาจเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านจากการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายในปัจจุบัน

" การบริหารอ้อยและน้ำตาลจะมีคณะกรรมการ 3 ชุดหลักที่ดูแลซึ่งมีตัวแทนจากทั้งราชการ โรงงาน้ำตาล ชาวไร่อ้อยเป็นคณะกรรมการได้แก่ คณะกรรมกาอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.) คณะกรรมการบริหาร(กบ.) คณะกรรมการน้ำตาลทราย(กน.) โดยกอน.ถือว่าเป็นชุดใหญ่คณะกรรมการทั้งหมดต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน รวมถึงคณะกรรมการบริหารกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ส่วนของกบ.และกน.จะต้องรายงานหรือไม่ยังไม่แน่ใจจึงต้องขอความชัดเจน " แหล่งข่าวกล่าว

อย่างไรก็ตามเบื้องต้นฝ่ายโรงงานที่ส่งตัวแทนไปเป็นกรรมการในกอน.และบอร์ดกองทุนอ้อยฯอาจจะมีการยื่นใบลาออกเพราะเห็นว่าเป็นระเบียบที่เข้มงวดไม่คุ้มค่ากับเบี้ยประชุมแล้วหากรายงานผิดเพียงเล็กน้อยยังเสี่ยงผิดกฏหมาย ซึ่งหากกรรมการไม่ครบการบริหารงานก็จะชะงักงันได้ทำให้ฝ่ายโรงงานเองวิตกกังวลในขณะนี้โดยเฉพาะการประกาศราคาอ้อยขั้นสุดท้ายปี 60/61 ที่รัฐต้องเร่งดำเนินการอาจต้องล่าช้าออกไปอีกโดยก่อนหน้านี้ทาง TSMC ได้ทำหนังสือเพื่อให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.)เร่งรัดการประกาศเพื่อนำเงินส่วนต่างมาเสริมสภาพคล่องโรงงาน

นายธีระชัย แสนแก้ว นายกสมาคมชาวไร่อ้อยอีสานเหนือ กล่าวว่า ตนเตรียมยื่นลาออกจากบอร์ดกองทุนอ้อยฯเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องน่ารำคาญใจที่จะต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สิน ซึ่งยังไม่ทราบจะเอาอะไรไปรายงานและเชื่อว่าคนอื่นๆก็คิดเช่นกัน

นายวีระศักดิ์ ขวัญเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย(กท.) กล่าวว่า ยอมรับว่าบอร์ดกองทุนอ้อยฯมีตัวแทนกรรมการฝ่ายชาวไร่อ้อยยื่นลาออกแล้ว 1 คนและทราบว่าฝ่ายโรงงานเองก็อาจจะยื่นลาออกเช่นกันจึงเป็นเรื่องที่ยังกังวลอยู่เพราะอาจทำให้การบริหารงานล่าช้าได้

จาก https://mgronline.com   วันที่ 11 พฤศจิกายน 2561

“อุตตม” ลั่นเดินหน้าดันอ้อย-น้ำตาลไทย ขึ้นชั้นอุตฯชีวภาพ-เชื่อม EEC

นครสวรรค์ - “อุตตม-รมว.อุตฯ” เดินหน้ายกระดับอุตฯอ้อย-น้ำตาล ก้าวสู่อุตสาหกรรมชีวภาพ-เชื่อมยุทธศาสตร์ EEC รับปากเคลียร์ปัญหาความสูงรถอ้อยก่อนเปิดหีบ ขณะที่ชาวไร่รับหากเช่าที่-กู้ซื้อปุ๋ย ต่อให้ราคาอ้อยสูงก็อยู่ไม่ได้

วันนี้ (11 พ.ย.) นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เดินทางไปเป็นประธานเปิดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 61 สมาคมชาวไร่อ้อย เขต 11 นครสวรรค์ ต.หัวหวาย อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ ท่ามกลางสมาชิกชาวไร่อ้อยเข้าร่วมการประชุมกันอย่างเนืองแน่นกว่า 21,500 ราย

ซึ่งในโอกาสนี้ กลุ่มเกษตรกรชาวไร่อ้อย ได้เรียกร้องให้แก้ไข พ.ร.บ.อ้อย ปี 27 ก่อนที่จะพัฒนาเป็นสถาบัน รวมถึงกรณีปัญหารถบรรทุกอ้อย ที่บางหน่วยงานบังคับให้ลดความสูงขณะบรรทุกจาก 4.5 เมตร เหลือ 3.6 เมตร แต่เกษตรกรชาวไร่อ้อยรับไม่ได้ เนื่องจากปีที่ผ่านมา นำผลผลิตอ้อยส่งโรงงานไม่ทัน ทำให้ผลผลิตเสียหาย โดยขอคำตอบก่อนเปิดหีบ 7 ธ.ค. ที่จะถึงนี้

กรณีราคาอ้อยปีนี้ ประมาณการว่า ควรอยู่ในระดับ 680 บาทต่อตัน ลดลงจาก 880 บาทต่อตัน ถือว่าต่ำจากอดีตมาก เพราะราคาอ้อยปี 58-59 เคยสูงเกือบ 1,000 บาทต่อตัน ทีเดียว ซึ่งเคยยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีไปก่อนหน้านี้แล้ว อย่างไรก็ตาม ต้องขอบคุณที่ รมว.อุตสาหกรรม รับปากที่จะช่วยเพิ่มราคาอ้อยในปีนี้ขึ้นอีก 50 บาทต่อตัน

นายศรีไทย หันพราม อายุ 37 ปี ชาวไร่อ้อย ต.อุดมธัญญา อ.ตากฟ้า จ.นครสวรรค์ บอกว่า มีที่ดินอยู่ 30 ไร่ และทำไร่อ้อยมาต่อเนื่องตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ ปีนี้ราคาอ้อยน่าจะอยู่ 680 บาทต่อตัน ก็ยอมรับว่า ราคาไม่ดีเหมือนก่อนที่เคยขึ้นไปสูงตันละพันบาท แต่ราคานี้ก็พออยู่ได้ และคงเดินหน้าปลูกต่อไป

นายยอง ภัคดี ชาวไร่อ้อยบ้านหัวหวาย อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ กล่าวว่า การทำไร่อ้อยต้องอดทน ต้องอยู่ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง เพราะโอกาสที่จะร่ำรวยนั้นยาก เพียงแต่การทำไร่อ้อยเลี้ยงครอบครัวได้แน่นอน ส่วนคนที่อยู่ไม่ได้ ปัญหาใหญ่มาจากต้องเช่าที่ดินคนอื่น-ต้องว่าจ้างแรงงาน และต้องกู้เงินมาซื้อปุ๋ย ซึ่งแม้ว่าราคาอ้อยจะสูงกว่า 680 บาทต่อตัน ก็อยู่ลำบากแน่

ด้าน นางไสว แก้วศรี อายุ 70 ปี เกษตรกร ต.หนองโพ อ.ตาคลี กล่าวว่า ราคาอ้อยปีนี้ลดลงมามากแทบทนไม่ไหว เพราะเคยตัดอ้อยขายได้ถึง 800 บาทต่อตัน แต่ปีนี้ คาดว่า จะลดลงไม่ต่ำกว่า 200 บาทต่อตัน แต่ค่าใช้จ่ายกลับสูงขึ้น ทั้งปุ๋ยและค่าแรงตัดอ้อย ดูแล้วแทบไม่มีเงินใช้หนี้ เช่นเดียวกับ นางสุข โพธิ์ศรี อายุ 53 ปี เกษตรกรชาวไร่อ้อย ต.หนองโพ อ.ตาคลี ซึ่งทำไร่อ้อยอยู่ 50 ไร่ ก็ยอมรับว่า ราคาอ้อยปีนี้ตกต่ำเกินไปจนแทบแบกรับไม่ไหวกันแล้ว

อย่างไรก็ตาม นายอุตตม กล่าวกับชาวไร่อ้อย ว่า จะยกระดับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ก้าวสู่อุตสาหกรรมชีวภาพ ไบโอซี ซึ่งจะต้องมองด้านตลาด แล้วหันกลับมาดูการผลิต การปลูกอ้อย และสรรหาพันธุ์อ้อย เพื่อให้ผลประโยชน์ตกอยู่กับเกษตรกรให้มากที่สุด และต้องดำเนินการอย่างมั่นคงยั่งยืน พร้อมจะให้พื้นที่จังหวัดนครสวรรค์เป็นฮับ หรือศูนย์กลางอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล เชื่อมโยงกับการพัฒนาคน หรือระบบการศึกษา

“ยืนยันจะดูแลเกษตรกรชาวไร่อ้อยแน่นอน กรณีร่าง พ.ร.บ.อ้อย ก็จะดูแลอย่างดี กฎหมายที่จะออกใหม่จะไม่เอาเปรียบเกษตรกร จะเป็นธรรมทุกฝ่าย ทั้งเกษตรกร รัฐบาล และโรงงาน เพียงแต่ขอเวลาพูดคุยเจรจาหลายๆ ฝ่าย เพื่อให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ก้าวไปได้อย่างยั่งยืน”

นายอุตตม ให้คำมั่นว่า จะดูแลเกษตรกรอย่างแน่นอน และที่เดินทางมาวันนี้ ก็มาเพื่อหารือกันว่าจะทำอย่างไรให้อุตสาหกรรมอ้อยและเกษตรกรชาวไร่อ้อย เดินหน้าไปได้บนฐานความเจริญและยุทธศาสตร์ของ EEC

วันเดียวกันนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ยังได้เดินทางไปเยี่ยมชมโครงการโบโอคอมเพล็กซ์ โรงงานน้ำตาลเกษตรไทย อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ พร้อมชื่นชมผู้บริหารที่สามารถวางแนวทางการเพิ่มมูลค่าในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล อีกทั้งเป็นเป็นอุตสาหกรรมชีวภาพจากอ้อยอีกด้วย

จาก https://mgronline.com   วันที่ 11 พฤศจิกายน 2561

“อุตตม” ประชุมชาวไร่อ้อยนครสวรรค์ ประกาศตั้งศูนย์พัฒนาอ้อยทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ จ.นครสวรรค์ เพื่อร่วมประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2561 ณ สมาคมชาวไร่อ้อยเขต 11 นครสวรรค์ โดยมีชาวไร่เข้าร่วมหลายร้อยราย ซึ่งพื้นที่นี้มีปริมาณอ้อยส่งเข้าโรงงานจำนวน 7,265,671.03 ตัน มีชาวไร่อ้อยที่เป็นคู่สัญญาจำนวน 8,177 ราย มีสมาชิกที่ส่งอ้อยเข้าโรงงานจำนวน 23,000 ราย

นายอุตตมกล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลมีนโยบายให้ความช่วยเหลือชาวไร่อ้อย ผ่านโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต เบื้องต้นกำหนดความช่วยเหลืออยู่ที่ไม่เกิน 50 บาท/ตันอ้อย แต่จะมีการกำหนดปริมาณตันอ้อยสูงสุดที่จะได้รับเงินช่วยเหลือไม่เกินรายละ 5,000 ตันอ้อย รวมจำนวน 6,500 ล้านบาท โดยจะเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นชาวไร่อ้อยกับสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย และเป็นคู่สัญญากับโรงงานหรือมีการส่งอ้อยผ่านหัวหน้ากลุ่มชาวไร่อ้อย ที่ได้จดทะเบียนถูกต้องตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ตามจำนวนตันอ้อยที่เกษตรกรได้ส่งให้กับโรงงานคู่สัญญาหรือหัวหน้ากลุ่ม

“เป็นครั้งแรกในระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายกับการให้ความช่วยเหลือด้านปัจจัยการผลิตที่รัฐให้กับเกษตรกรโดยตรง โดยเฉพาะชาวไร่อ้อยรายเล็ก ช่วยบรรเทาผลกระทบจากทั้งด้านราคาที่ตกต่ำ ภายใต้การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมระบบใหม่ การให้ความช่วยเหลือดังกล่าว ไม่ขัดต่อพันธกรณีภายใต้องค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) เนื่องจากเป็นการอุดหนุนด้านปัจจัยการผลิต ถือเป็นการอุดหนุนภายในที่ยกเว้นสำหรับประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งรัฐสามารถดำเนินการได้”นายอุตตมกล่าว

นายอุตตมกล่าวว่า นอกจากนี้กระทรวงอุตสาหกรรมยังอยู่ระหว่างปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ รวมทั้งการจัดตั้ง 1.ศูนย์ปรับปรุงพันธุ์อ้อยแห่งประเทศไทย ภายในศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ภาคที่ 1 จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งศูนย์ดังกล่าวได้รับการยอมรับว่าเป็นศูนย์กลางปรับปรุงพันธุ์อ้อยของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีเทคโนโลยีชีวภาพที่ดีและทันสมัยที่สุดในเอเชียโดยที่ผ่านมามีนักวิชาการจากในประเทศและต่างประเทศได้เข้ามาศึกษาดูงานแล้วกว่า 20,000 คน 2.พัฒนาศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้ง 4 ศูนย์ภาค และ3.มีแผนในการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมชีวภาพ จังหวัดชลบุรี มีรูปแบบการทำงานลักษณะเดียวกับศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม (ไอทีซี) โดยจะเป็นศูนย์ด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ เพื่อร่วมวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ชีวภาพกับเอสเอ็มอี และสตาร์ตอัพ โดยการใช้เครื่องมือ อุปกรณ์และห้องทดสอบของศูนย์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบก่อสร้างซึ่งคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2563 นี้

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 11 พฤศจิกายน 2561

ไทยได้อันดับ 3 ของอาเซียนเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันด้านดิจิทัล

IMD เผยไทยได้อันดับ 3 ของอาเซียนการแข่งขันขีดความสามารถด้านดิจิทัล รองสิงโปร์ และ มาเลเซีย

สถาบันการจัดการนานาชาติ หรือ IMD World Competitiveness Center ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ รายงานการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่าง ๆ 63 ประเทศทั่วโลก โดยระบุผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล หรือ World Digital Competitiveness Ranking ในปีล่าสุดว่า ประเทศไทยขยับอันดับขึ้นมาอยู่ที่ 39 จากอันดับ 41 ในปี พ.ศ. 2560 ได้คะแนนไป 65.272 คะแนน และอยู่ในอันดับ 3 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ และ มาเลเซีย ซึ่งการจัดอันดับนี้ ใช้เกณฑ์ชี้วัดแบ่งออกเป็น ความรู้ เทคโนโลยี และความพร้อมในอนาคต

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 11 พฤศจิกายน 2561

'อินเดีย' ส่งออก 'น้ำตาล' มีรัฐอุดหนุน! เขย่าราคา ขาใหญ่นั่งไม่ติด

โลกจับตา "อินเดีย" ตัวแปร ทุบราคาน้ำตาลผันผวน

... กำลังเป็นที่จับตากันอีกครั้ง สำหรับความเคลื่อนไหวของราคาน้ำตาลในตลาดโลก ที่โยงมาถึงประเทศไทยด้วย ในฐานะที่เป็นผู้ส่งออกรายสำคัญเบอร์ 2 ของโลก รองจากประเทศบราซิล

ที่โลกต้องจับตา! เพราะรัฐบาลอินเดียออกมาประกาศชัดเจนว่า จะอุดหนุนการส่งออกน้ำตาลในประเทศของตัวเอง แค่อินเดียเขย่าด้วยคำประกาศ ยังไม่ถึงขั้นส่งออกน้ำตาลมาตีตลาดโลกแบบเต็มหมัด ก็ทำให้ราคาน้ำตาลทรายดิบผันผวน ปีนี้ยืนอยู่ในเพดาน 11-13 เซ็นต์ต่อปอนด์

อุตสาหกรรมน้ำตาลเกี่ยวข้องกับทุกคน ทั้งในแง่ภาคครัวเรือน ผู้ค้าขายน้ำตาล โรงงานผลิตน้ำตาล ชาวไร่อ้อย อุตสาหกรรมเครื่องดื่มและอาหาร เมื่อราคาน้ำตาลผันผวน ก็ต้องเจ็บตัวรับความเสี่ยง โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ตกอยู่ในภาวะราคาน้ำตาลไม่นิ่ง

หากจำกันได้ ไม่นานมานี้มีการนำเสนอข่าวไปแล้วว่า "อุตสาหกรรมน้ำตาลไทยผนึกพันธมิตรร้อง WTO อินเดียผิดกฏ" เป็นการรวมกลุ่มกันออกมาเรียกร้อง WTO โดยออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลอินเดียยกเลิกมาตรการอุดหนุนการ ส่งออกนํ้าตาลทราย จํานวน 5 ล้านตัน หลังจากรัฐบาลอินเดียอนุมัติงบกว่า 760 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 22,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเพิ่มค่าอ้อยและชดเชยค่าขนส่งนํ้าตาลจากโรงงานไปยังท่าเรือส่งออก ซึ่งขัดกับข้อตกลง WTO และเป็นการบิดเบือนตลาดนํ้าตาลโลก

การอุดหนุนส่งออกของอินเดียในครั้งนี้ ส่งผลให้ราคานํ้าตาลในตลาดโลกลดลงถึง 36% ตํ่าสุดในรอบ 10 ปี และอยู่ในระดับตํ่ากว่าต้นทุนการผลิตของประเทศที่มีประสิทธิภาพการผลิตสูง อย่าง 3 ผู้เล่นรายใหญ่ บราซิล ออสเตรเลีย และไทย

อินเดียมาแรงรัฐบาลอุดหนุนส่งออก

ปัจจัยเสี่ยงที่อุตสาหกรรมน้ำตาลมองว่าจะเป็นต้นเหตุหลักที่ทำให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกผันผวนในเวลานี้ กลับกลายเป็นว่า เกิดจากกรณีที่รัฐบาลอินเดียออกมาอุดหนุน และพร้อมที่จะกระจายน้ำตาล จำนวน 5 ล้านตัน ออกมาทุ่มในตลาดโลกได้ทันทีที่ราคาน้ำตาลทรายดิบขยับจาก 13 เซ็นต์ต่อปอนด์ ไต่ไปที่ 14-15 เซ็นต์ต่อปอนด์

ปัจจุบัน ราคาน้ำตาลทรายดิบยืนอยู่ที่ระดับ 12-13 เซ็นต์ต่อปอนด์ โดยราคาลดลงมาต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2561 ถึงปัจจุบัน จากที่ก่อนหน้านั้น ราคาน้ำตาลทรายดิบแต่ละปีเฉลี่ยเกิน 15 เซ็นต์ต่อปอนด์

อีกทั้งเป็นเรื่องความต้องการของดีมานด์ซัพพาย สำหรับในประเทศไทยมีการบริโภคน้ำตาลอยู่ที่ 2.5 ล้านตันน้ำตาล ซึ่งบริโภคอยู่ในระดับนี้ต่อเนื่องมา 2 ปี ทั้งที่เศรษฐกิจรวมเติบโต ระดับการบริโภคน้ำตาลก็น่าจะเติบโตด้วย ขณะที่ อัตราการบริโภคน้ำตาลโลกก็เติบโตลดลง จากที่ปกติเติบโต 2% ต่อปี

นอกจากนี้ ยังมีการตั้งข้อสังเกตอีกว่า เมื่อบราซิลมีผลผลิตลดลง ตามหลักจะต้องทำให้ราคาน้ำตาลสูงขึ้น แต่มาเจอแรงกดดันจากอินเดีย ทำให้ราคาน้ำตาลยังไม่ขยับ!

13 พ.ย. นี้ ออสเตรเลียจ่อตอบโต้อินเดีย

จากกรณีดังกล่าวดูเหมือนว่า ออสเตรเลีย 1ใน 3 ผู้เล่นรายใหญ่ในอุตสาหกรรมน้ำตาล ร้อนรนที่สุดกับปัญหานี้ เพราะออสเตรเลียเป็นผู้ผลิตน้ำตาลที่มีต้นทุนสูงที่สุดเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ถ้ามีผู้เล่นรายใดออกมาตีตลาดในราคาขายต่ำกว่า 17-18 เซ็นต์ต่อปอนด์ ออสเตรเลียเสียเปรียบทันที ทำให้ล่าสุด เตรียมยื่นเอกสารตอบโต้ (Counter Notification Notice) เกี่ยวกับมาตรการอุดหนุนสินค้าน้ำตาลทรายของอินเดีย ในวันอังคารที่ 13 พ.ย. 2561 ต่อ WTO เพื่อขอให้นำเสนอต่อคณะกรรมาธิการการเกษตร WTO ในการประชุมวันที่ 25-26 พ.ย. 2561 โดยให้ข้อคิดเห็นประกอบในเอกสาร 3 ประการ คือ

1.ตามข้อตกลงว่าด้วยการเกษตร (AoA) อนุญาตให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถดำเนินมาตรการสนับสนุนด้านราคาตลาดได้ไม่เกิน 10% ของมูลค่าผลผลิต

2.นับตั้งแต่ปีการผลิต 2013 ถึงปี 2014 อินเดียใช้มาตรการอุดหนุนเกินกว่า 90% ของมูลค่าผลผลิต ซึ่งขัดกับพันธกรณีที่ผูกพันไว้

3.อินเดียไม่ได้ปฏิบัติตามข้อตกลง เนื่องจากไม่ได้ระบุอ้อยอยู่ในรายการสินค้าที่ขอผูกพันการอุดหนุนภายใน (Domestic support) ตั้งแต่ปีการผลิต 1995

3 สมาคมฯ เตรียมยื่นหนังสือถึงรัฐ ให้หนุนออสเตรเลียอีกแรง

ด้านปฎิกิริยาจาก 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย ซึ่งประกอบด้วย สมาคมโรงงานน้ำตาลไทย สมาคมผู้ผลิตน้ำตาลและชีวพลังงานไทย และสมาคมการค้าอุตสาหกรรมน้ำตาล แจ้งว่า เตรียมทำหนังสือถึงเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และประธานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อขอให้รัฐบาลไทยพิจารณาให้การสนับสนุนออสเตรเลียในการยื่น Counter Notification Notice เกี่ยวกับมาตรการอุดหนุนสินค้าน้ำตาลทรายของอินเดีย เนื่องจากเห็นว่า มาตรการอุดหนุนสินค้าน้ำตาลทรายของอินเดียเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำตาลในตลาดโลกเป็นอย่างมาก โดยส่งผลให้ราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์กปรับตัวลดลงต่ำกว่า 10 เซนต์/ปอนด์ ในช่วงเดือน ส.ค. 2561 ซึ่งต่ำสุดในรอบ 10 ปี ขณะที่ ระดับราคาในปัจจุบันอยู่ที่ 12-13 เซนต์/ปอนด์ เมื่อเปรียบเทียบกับในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 15-20 เซนต์/ปอนด์

ทั้งนี้ ล่าสุด ภาคอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายออสเตรเลีย ในฐานะฝ่ายเลขานุการของกลุ่มพันธมิตรเพื่อการปฏิรูปการค้าน้ำตาลโลก (Global Sugar Alliance : GSA) ออกมายืนยันว่า ได้แจ้งมายัง 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย ว่า คณะผู้แทนถาวรออสเตรเลีย ประจำองค์การการค้าโลก จะยื่น Counter Notification Notice เกี่ยวกับมาตรการอุดหนุนสินค้าน้ำตาลทรายของอินเดีย ในวันอังคารที่ 13 พ.ย. 2561 ต่อ WTO

อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ราคาน้ำตาลทรายดิบผันผวนครั้งนี้ยังไม่ได้นับรวมถึงปัญหาเดิม ๆ เช่น กรณีที่มีปริมาณน้ำตาลโลกสูงกว่าปริมาณความต้องการใช้ของโลก หากย้อนไปดูผลผลิตนํ้าตาลในตลาดโลกปี 2560/2561 มีจำนวน 193.08 ล้านตันนํ้าตาล แต่มีความต้องการใช้ในตลาดโลกอยู่ที่ 183.67 ล้านตันนํ้าตาล ขณะที่ ปี 2561/2562 ปริมาณนํ้าตาลของโลกจะไต่ระดับสูงขึ้นไปถึง 192.24 ล้านตันนํ้าตาล เทียบกับความต้องการใช้นํ้าตาลในโลกอยู่ที่ 186.37 ล้านตันนํ้าตาล และจากที่ปริมาณนํ้าตาลในตลาดโลกขยับตัวสูงขึ้นนี้ ทำให้เกิดสต๊อกนํ้าตาลโลกส่วนเกินเกิดขึ้น ซึ่งอินเดียก็เป็นหนึ่งในตัวแปรที่ทำให้น้ำตาลในสต๊อกพุ่ง

ข้อมูลจาก F.O.licht บริษัทวิจัยในเยอรมนี ระบุว่า ฤดูการผลิตปี 2560/2561 (ช่วง 1 ต.ค. 60 - 30 ก.ย. 61) มีปริมาณนํ้าตาลในสต๊อกโลกที่เป็นส่วนเกินอยู่จำนวน 7.2 ล้านตันนํ้าตาล นับว่ามากที่สุดในรอบ 3 ปี และมีแนวโน้มว่า ในฤดูการผลิตปี 2561/2562 จะมีปริมาณนํ้าตาลโลกเกินต่อเนื่อง

สถานะผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ 3 ราย

สำหรับสถานะของ 3 ผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ของโลก ไล่เรียงตามลำดับตั้งแต่ บราซิล ปี 2560/2561 มีปริมาณอ้อยราว 650 ล้านตันอ้อย ในจำนวนนี้นำอ้อยไปผลิตน้ำตาลเพียง 48% และนำไปผลิตเอทานอล 52% ปี 2561/2562 คาดการณ์ว่าจะนำอ้อยไปผลิตน้ำตาลน้อยลงกว่าเดิม หรือราวสัดส่วน 32% และ 68% นำไปผลิตเอทานอล โดยสัดส่วนจะปรับเปลี่ยนไปตามราคาขายที่ดีกว่า ส่วนประเทศไทย ปี 2560/2561 มีปริมาณอ้อยจำนวน 134.9 ล้านตันอ้อย และมีปริมาณน้ำตาลอยู่ที่ 14.6-14.7 ล้านตันน้ำตาล ปี2561/2562 มีปริมาณอ้อยจำนวน 126 ล้านตันอ้อย และมีปริมาณน้ำตาล 13.5-13.6 ล้านตันน้ำตาล ในจำนวนนี้จะส่งออกได้ราว 10-11 ล้านตันน้ำตาล ส่วนออสเตรเลียมีผลผลิตน้ำตาลราว 4 ล้านตันต่อปี ในจำนวนนี้ส่งออก 3 ล้านตันต่อปี ที่เหลือใช้ภายในประเทศ

ยังต้องจับตาการเคลื่อนไหวของ "อินเดีย" ในการระบายน้ำตาลออกนอกประเทศ เพราะถือเป็นน้องใหม่ที่เพิ่งมีการผลิตเพื่อส่งออกได้ไม่นาน จากที่ผ่านมาอินเดียผลิตเพื่อใช้ภายในประเทศเกือบทั้งหมด และในช่วง 2 ปีหลังมานี้ อินเดียมีปริมาณน้ำตาลล้นตลาดภายในประเทศ และกำลังเข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญทุบราคาน้ำตาลโลกให้ผันผวนต่อเนื่องอย่างน่าจับตามองอินเดียอาจจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลของโลกรายใหญ่ลำดับที่ 3 แทนที่ออสเตรเลียก็อาจเกิดขึ้นได้!

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 10 พฤศจิกายน 2561

คาดค่าเงินบาทสัปดาห์หน้า 32.80-33.20 บาทต่อดอลล์

ธนาคารกสิกรไทย คาดค่าเงินบาทสัปดาห์หน้าอยู่ในกรอบ 32.80-33.20 บาทต่อดอลลาร์ นักลงทุนจับตาผลประชุม กนง. และถ้อยแถลงประธานเฟดในวันที่ 14 พ.ย.นี้                    

รายงานข่าวจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทในสัปดาห์หน้าคาดว่าจะอยู่ในกรอบ 32.80-33.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยจุดสนใจของตลาดในประเทศน่าจะอยู่ที่สัญญาณนโยบายการเงินของกนง. วันที่14 พ.ย.นี้ ขณะที่ ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ประกอบด้วย ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคานำเข้า-ส่งออก ยอดค้าปลีก และการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนต.ค. ผลการสำรวจกิจกรรมการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์กและสาขาฟิลาเดลเฟียเดือนพ.ย. และตัวเลขเงินทุนไหลเข้าสุทธิเดือนก.ย.

นอกจากนี้ ตลาดอาจรอติดตามถ้อยแถลงของประธานเฟดวันที่ 14 พ.ย.นี้ และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟดรวมถึงความคืบหน้าของประเด็นทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/2561 ของญี่ปุ่นและประเทศสมาชิกยูโรโซน อัตราเงินเฟ้อของยูโรโซน และข้อมูลการผลิตภาคอุตสาหกรรม และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรเดือนต.ค. ของจีน

อย่างไรก็ตามในสัปดาห์ที่ผ่านมาค่าเงินบาทกลับมาอ่อนค่ากว่าระดับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ อีกครั้ง จากการรอผลการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯในต้นสัปดาห์ ก่อนจะขยับแข็งค่าขึ้นท่ามกลางแรงกดดันของเงินดอลลาร์ฯ หลังผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ สิ้นสุดลงด้วยการครองเสียงข้างมากในแต่ละสภาของทั้ง 2 พรรค โดยเดโมแครตกลับมาครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง ขณะที่ รีพับลิกันครองเสียงส่วนใหญ่ในวุฒิสภา                   

จาก https://www.dailynews.co.th   วันที่ 10 พฤศจิกายน 2561

มิตรผลจี้เปิดรับซื้อไฟยันชีวมวลมีต้นทุนตํ่า

 “มิตรผล” กระทุ้งรัฐ เปิดรับซื้อไฟฟ้าจากชีวมวลเพิ่ม ยัน SPP Hybrid Firm มีศักยภาพ-ต้นทุนแข่งขันได้ ยังห่วงนโยบายรับซื้อไฟฟ้าแบบเหมารวม กระทบโรงไฟฟ้าใหม่ที่ต้องจัดซื้อวัตถุดิบมาเป็นเชื้อเพลิง

นายประวิทย์ ประกฤตศรี ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มธุรกิจพลังงาน กลุ่มมิตรผล เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้กลุ่มมิตรผลมีความพร้อมลงทุนโรงไฟฟ้าชีวมวลเพิ่มขึ้น ตามแผนการก่อสร้างโรงงานนํ้าตาล 5 แห่ง ที่ต้องลงทุนโรงไฟฟ้าชีวมวล ป้อนความต้องการใช้ไฟฟ้าให้กับโรงงานนํ้าตาล และส่วนที่เหลือขายเข้าระบบ แต่ยังรอความชัดเจนจากทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ว่าจะมีการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชีวมวลเพิ่มหรือไม่ หลังจากก่อนหน้านี้กลุ่ม มิตรผลเป็น 1 ใน 17 รายที่ชนะการประมูลโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรูปแบบ SPP Hybrid Firm จำนวน 1 โครงการ กำลังการผลิต 26 เมกะวัตต์ ที่ภูเวียง จ.ขอนแก่น คาดว่าจะแล้วเสร็จและจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 2563

โดยปัจจุบันกลุ่มมิตรผลมีโรงไฟฟ้าชีวมวลใน 9 พื้นที่ กำลังการผลิตรวมกว่า 700 เมกะวัตต์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงไฟฟ้าที่ผลิตเองใช้เองในโรงงาน ส่วนที่เหลือจากการใช้ก็ขายเข้าระบบ

นายประวิทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นโยบายรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชีวมวลในอัตรา 2.40 บาทต่อหน่วยนั้น เกิดจากการประมูล SPP Hybrid Firm ซึ่งราคาระดับดังกล่าว เป็นการสนับสนุนให้เป็นผู้ประกอบการที่มีเชื้อเพลิงอยู่แล้ว โดยเฉพาะกลุ่มโรงงานนํ้าตาล สามารถผลิตไฟฟ้าป้อนเข้าระบบได้ แต่หากเป็นโรงไฟฟ้าใหม่ ที่ต้องซื้อเชื้อเพลิงมาผลิตไฟฟ้า คงทำราคาระดับนี้ได้ยาก เนื่องจากราคาเชื้อเพลิงแต่ละชนิดต่างกัน เชื้อเพลิงชีวมวลบางชนิดก็มีราคาสูง ซึ่งเข้าใจว่าภาครัฐต้องการดูแลค่าไฟไม่ให้สูง ดังนั้นผู้ประกอบการที่ต้องการผลิตไฟฟ้าเพื่อขายเข้าระบบต้องคำนึงถึงการลงทุน และผลตอบแทนการลงทุน

ส่วนแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ(พีดีพี) ฉบับใหม่ ที่กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการดำเนินงานนั้น กรณีที่จะกำหนดตั้งโรงไฟฟ้าเป็นรายภูมิภาคนั้น ก็เห็นด้วย เพราะขึ้นอยู่กับความต้อง การในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งจุดเชื่อมโยงสายส่ง หากเศรษฐกิจเติบโตขึ้นมากจะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นตาม ซึ่งเข้าใจว่าหากเศรษฐกิจฟื้นตัวที่ชัดเจน การเปิดรับซื้อไฟฟ้าคงจะมีนโยบายตามมา

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 9 พฤศจิกายน 2561

ผวา CPTPP มีผลบังคับใช้! กระทบการค้าไทย 3.5 ล้านล้าน

สภาหอฯ จี้รัฐบาลเร่งสปีดเข้าร่วมวง CPTPP หลังความตกลงจะเริ่มมีผลบังคับใช้สิ้นปีนี้ ชี้! ผลพวงหากไทยตกขบวน เสียเปรียบหนัก 11 ประเทศสมาชิกเดิม หันค้า-ขยายลงทุนระหว่างกันเพิ่ม หวั่นตลาด 3.5 ล้านล้าน ไทยเสียเปรียบ

จากที่ประเทศสมาชิกมีความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) 6 ประเทศ จาก 11 ประเทศ ได้ให้สัตยาบันของความตกลงและยื่นต่อนิวซีแลนด์ ในฐานะประเทศผู้เก็บรักษาสนธิสัญญาอย่างเป็นทางการ ซึ่งตามเงื่อนไขความตกลง หากมีสมาชิกอย่างน้อย 6 ประเทศ ให้สัตยาบันแล้ว จะทำให้ความตกลงมีผลบังคับใช้ใน 60 วัน โดยจะเริ่มมีผลตรงกับวันที่ 30 ธ.ค. 2561 เป็นต้นไปนั้น

นายบัณฑูร วงศ์สีลโชติ รองประธานคณะกรรมการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ภาครัฐบาลของไทยจะต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้ไทยเข้าเป็นสมาชิกของ CPTPP เพราะไม่เช่นนั้นจะเสียประโยชน์และเสียโอกาสทางด้านการค้า-การลงทุนอย่างมาก เพราะ 1.ความตกลง CPTPP จะมีผลทำให้ประเทศสมาชิกมีความมั่นใจในทำการค้าขายและลงทุนภายในกลุ่ม ตามที่มีข้อตกลงแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระหว่างกันมากขึ้น

2.ในข้อบทการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ข้อตกลง CPTPP เปิดให้ประเทศสมาชิกเข้าไปประมูลงานจัดซื้อจัดจ้างของประเทศสมาชิกได้ หากไทยเข้าร่วม ภาคเอกชนของไทยก็สามารถเข้าไปร่วมประมูลแข่งขันขายสินค้าให้กับประเทศสมาชิกได้ เช่น อาหารสำเร็จรูป เครื่องแบบทหาร และอื่น ๆ ถือเป็นอีกหนึ่งตลาดส่งออกที่ใหญ่มาก ขณะเดียวกันหากไทยยังไม่พร้อมเปิดเสรีจัดซื้อจัดจ้าง ก็สามารถขอเวลาผ่อนปรนในการเปิดเสรีได้ เช่น เวียดนามได้ขอเวลาผ่อนปรนถึง 25 ปี ขณะที่ ช่วงเวลาที่ขอผ่อนปรน เวียดนามก็สามารถเข้าไปประมูลจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐในประเทศมาชิกได้

3.จากที่ไทยยังมีปัญหาในการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา การเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP จะทำให้ประเทศสมาชิกมีความมั่นใจในประเทศไทย ที่จะดูแลและมีความเข้มงวดในการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้จะทำให้ภาคเอกชนของประเทศสมาชิกมีความมั่นใจเข้ามาเปิดสำนักงานในไทยเพื่อวิจัยและพัฒนา (อาร์ แอนด์ ดี) เทคโนโลยี หรือนวัตกรรมด้านต่าง ๆ เพิ่มขึ้น จะช่วยให้นักวิจัยและพัฒนาของไทยมีงานทำเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันเขาไม่มั่นใจและไปตั้งสำนักงานในมาเลเซียและสิงคโปร์เป็นส่วนใหญ่

"ไทยต้องเร่งเข้าร่วม CPTPP ไม่งั้นเราจะเสียโอกาส เพราะ CPTPP เป็นหนึ่งในความตกลงที่เป็นสัญลักษณ์ของการค้าเสรี ขณะที่ " โดนัลด์ ทรัมป์" ผู้นำสหรัฐฯ มีการทำสงครามการกีดกันการค้า อนาคตเราคงพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ ยากขึ้น ขณะที่ ความตกลง RCEP หรือ อาเซียนบวก 6 ก็ยังอยู่ระหว่างเจรจา และยังไม่สามารถมั่นใจได้ว่าจะคุยกันจบได้ข้อสรุปสิ้นปีนี้หรือไม่"

สำหรับการค้าของไทยกับกลุ่มความตกลง CPTPP ช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ มีมูลค่ารวม 3.56 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 29.5% ของไทยค้ากับโลก โดยไทยส่งออก 1.83 ล้านล้านบาท นำเข้า 1.73 ล้านล้านบาท ไทยเกินดุลการค้า 9.73 หมื่นล้านบาท

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 9 พฤศจิกายน 2561

ไทยร่วมลงนามพิธีสาร4สมาชิกอาเซียน        

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน(ATM) ครั้งที่ 24 ทั้งนี้ ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการขนส่งโดยเฉพาะด้าน การขนส่งทางบกทางอากาศทางน้ำ การอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งและการขนส่งและได้หารือเกี่ยวกับความร่วมมือการขนส่งกลับประเทศคู่เจรจา ทั้งนี้ ในการเจรจา และการลงนามในครั้งนี้นั้น ประกอบด้วย1. ด้านการอากาศ ได้ลงนามพิธีสาร4 ว่าด้วยสิทธิการทำการบินเชื่อมจุดในประเทศสมาชิกอาเซียนภายใต้ความตกลงพหุภาคีอาเซียนว่าด้วยการอย่างเต็มที่ของบริการขนส่งผู้โดยสารทางอากาศ ซึ่งการบินภายในกลุ่มอาเซียน โดยลดอุปสรรคของการให้บริการเพื่อส่งเสริมการอำนวยความสะดวกในการเดินทางของนักท่องเที่ยวและรองรับการเดินทางที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในอนาคต และมุ่งเน้นการเป็นตลาดการบินเดียวของอาเซียน    

2.ด้านการขนส่งทางน้ำได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความปลอดภัยและการตรวจควบคุมเรือที่ไม่อยู่ใต้การบังคับของอนุสัญญาระหว่างประเทศประเทศสมาชิกอาเซียนและการรับรองแนวทางการกำหนดมาตรฐานความปลอดภัย ของเรือที่ไม่อยู่ภายใต้การบังคับของอนุสัญญาเพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัย การตรวจสอบเรือที่ไม่ดูภายใต้การบังคับของอนุสัญญา เพิ่มความพยายามในการรวมตัวเป็นตลาดการแข่งขันทางทะเลร่วมอาเชียน บังคับใช้ในประเภทเรือขนาดบรรทุก 500ตันกรอสโดยจะต้องเป็นมาตรฐานปฏิบัติต้องเป็นของอาเซียน

นอกจากนี้รัฐมนตรีขนส่งอาเซียนได้ให้การรับรองแผนป้องกันขจัดมลพิษทางน้ำ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยกลไกความร่วมมือในภูมิภาคอาเซียนสำหรับการ

เตรียมความพร้อมและตอบสนองต่อเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลและการรับรองมาตรฐานและวิธีปฏิบัติการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยของอาเซียน      

3.ด้านการขนส่งทางบก ได้ให้สัตยาบันพิธีสาร 1ตามกรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าแดงครบทุกประเทศ เมื่อกุมภาพันธ์ 2561 และลงนามสารพิธีที่2การกำหนดด่านพรมแดน โดยเป็นการนำไปสู่การให้สัตยาบันของกรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งข้ามแดนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งสินค้าภายในภูมิภาคอาเซียน        

4.ส่วนด้านการขนส่งอย่างยั่งยืนได้ให้การรับรองเอกสาร3ฉบับ 1.แผนที่นำทางในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานขนาดเล็กในอาเซียน/ 2.แนวทางและวิธีการจัดทำตัวชี้วัดเพื่อติดตามรายงานและทบทวนด้านการขนส่งที่ยั่งยืนในอาเซียน /และ3.ยุทธศาสตร์อย่างยั่งในอาเซี่ยน สำหรับความร่วมมือด้านขนส่งระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาได้การรองรับแผนความร่วมมือด้านการขนส่งอาเซียน-จีน ปี 2561-2563 โดยประเทศสมาชิกอาเซียนจีนให้สัตยาบันความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศระหว่างอาเซียนจีนตลอดจนพิธีสาร 1และพิธีสาร 2 สำหรับความร่วมมืออาเซียน -ญี่ปุ่น ตามแผนงานหุ้นส่วนด้านการขนส่งอาเซียน-ญี่ปุ่น ตลอดจนข้อริเริ่มใหม่ภายใต้แผนงานหุ้นส่วนด้านการขนส่ง และในความร่วมมือระหว่างอาเซียนสาธารณรัฐเกาหลีเพื่อให้เจราจาจัดทำความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศระหว่างอาเซียนสาธารณรัฐเกาหลีครั้งที่2 ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงและการขนส่งระหว่างภูมิภาคอาเซียนและสาธารณรัฐเกาหลี

จาก www.banmuang.co.th   วันที่ 9 พฤศจิกายน 2561

ชาวไร่เฮ! แถลงสนับสนุนร่างประกาศกระทรวงอุตฯให้ตั้งโรงงานที่ใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบในผลิตภัณฑ์อื่นได้

ผู้นำชาวไร่แถลงสนับสนุนร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมกรณีให้ตั้งโรงงานที่ใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร  โดยสามารถนำอ้อยไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้นอกจากน้ำตาลทราย และสามารถตั้งโรงงานในระยะ 50กิโลเมตรได้ หากได้รับความยินยอมจากโรงงานน้ำตาลในพื้นที่นั้น

นายทองคำ เชิงกลัด นายกสมาคมชาวไร่อ้อย เขต 11 นครสวรรค์ และประธานสหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทยในฐานะตัวแทนชาวไร่อ้อยแถลงว่าตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้เสนอร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่องการให้ตั้งโรงงานที่ใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ฉบับที่..... พ.ศ. ........ และนำมาเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องและบุคคลทั่วไป ก่อนที่จะนำไปบังคับใช้นั้น ในกลุ่มชาวไร่อ้อยซึ่งเป็นผู้เกี่ยวข้องโดยตรงขอสนับสนุนเนื่องจากจะเกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อชาวไร่อ้อยตลอดจนเศรษฐกิจของประเทศชาติในภาพรวมอีกด้วย ดังนี้

1.    หากมีการตั้งโรงงานเพิ่มขึ้นตามประกาศฉบับนี้ จะช่วยให้มีความต้องการใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบเพิ่มขึ้น ชาวไร่อ้อยก็มีทางเลือกที่จะจำหน่ายผลผลิตได้มากขึ้น อีกทั้งช่วยลดความเสี่ยงที่จะทำให้อ้อยล้นตลาดในปีที่ผลผลิตออกมาจำนวนมาก

2.    รัฐจะสามารถจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมได้มากขึ้น จากผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลายและมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น

3.    การเปิดโอกาสให้นำอ้อยไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อื่นได้นอกเหนือจากน้ำตาล จะช่วยลดผลกระทบจากราคาน้ำตาลในตลาดโลกตกต่ำซึ่งจะส่งผลกระทบมาถึงชาวไร่อ้อยโดยราคาอ้อยก็จะตกต่ำลงด้วย อันจะเป็นภาระของรัฐบาลในการเข้ามาแก้ไขปัญหา แต่หากชาวไร่อ้อยสามารถจำหน่ายอ้อยให้กับผู้ประกอบการที่จะนำอ้อยไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้ ก็จะช่วยลดการผูกติดผลกระทบกับราคาน้ำตาลทรายตลาดโลก

4.    ประกาศฉบับนี้ทำให้ชาวไร่อ้อยสามารถเป็นผู้ตัดสินใจได้ว่าจะส่งวัตถุดิบให้กับโรงงานใด จะไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่ง อีกทั้งจะช่วยให้โรงงานน้ำตาลที่ทำธุรกิจอยู่เดิมสามารถประกอบกิจการอยู่ได้อย่างยั่งยืน เพราะสามารถที่จะเพิ่มช่องทางในการผลิตสินค้าใหม่ๆ ที่ทำจากอ้อยได้ และสามารถที่จะสร้างสมดุลกับผู้ประกอบการรายใหม่ที่จะเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบ

5.    เป็นการส่งเสริมนโยบาย Thailand 4.0 โดยใช้เกษตรกรรมเป็นฐานรากในการต่อยอดไปสู่การเพิ่มมูลค่าและพัฒนาเศรษฐกิจต่อไป จนในที่สุดจะส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ

6.    ช่วยกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในท้องถิ่นต่างๆ ที่มีการทำไร่อ้อย เพราะจะต้องมีการจ้างงานเพิ่มเติมในอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นใหม่ตามประกาศฉบับนี้  และยังมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ให้กับผู้ที่รับการจ้างงานอีกด้วย ซึ่งจะส่งผลดีต่อแรงงานในท้องถิ่นให้ไม่ต้องทิ้งถิ่นที่อยู่ไปทำงานไกลบ้าน

 “ผมในฐานะตัวแทนชาวไร่อ้อย ต้องขอกราบขอบคุณรัฐบาลและ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมที่มีนโยบาย Thailand 4.0 นำประเทศชาติไปสู่ความเจริญอย่างยั่งยืน รวมทั้งการก่อเกิดโครงการให้ตั้งโรงงานใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบเพื่อเพิ่มมูลค่าโดยผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ นอกจากน้ำตาลดังกล่าวข้างต้น จนกระทั่งมีการออกประกาศฉบับนี้  พวกเราจะขอยืนเคียงข้างแนวคิดที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติเช่นนี้ และร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทย ให้ก้าวหน้าต่อไปอย่างยั่งยืน” นายทองคำกล่าว

จาก www.thansettakij.com วันที่ 8 พฤศจิกายน 2561

เดิมพัน 7 เขื่อนใหญ่ฝ่าวิกฤติแล้ง

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึง สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศว่า ปัจจุบัน(8 พ.ย. 61) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 57,569 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 81 ของความจุเก็บกักรวมกัน โดยมีปริมาณน้ำใช้การได้ 34,027 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 72 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันเฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 19,557 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 79 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 12,861 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 71 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน

อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่าร้อยละ 50 ของความจุอ่างฯ ปัจจุบัน (8 พ.ย.61) มีจำนวน 7 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่ อ่างเก็บน้ำแม่มอก จ.ลำปาง อ่างเก็บน้ำทับเสลา จ.อุทัยธานี  อ่างเก็บน้ำกระเสียว จ.สุพรรณบุรี อ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น อ่างเก็บน้ำห้วยหลวง จ.อุดรธานี และอ่างเก็บน้ำลำนางรอง จ.บุรีรัมย์ ซึ่งสามารถจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศได้อย่างพอเพียง แต่ไม่สามารถสนับสนุนน้ำทำนาปรังได้ อย่างไรก็ตาม กรมชลประทาน ได้รับจัดสรรงบประมาณเพื่อชดเชยรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าวที่ไม่ได้ทำนาปรังให้มีรายได้ ซึ่งจะให้เฉพาะเกษตรกรที่เข้าร่วมการจ้างเเรงในหมวดงานปรับปรุงเเละซ่อมแซมบำรุงรักษาโครงการชลประทานเท่านั้น

ทั้งนี้ ในการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนที่มีปริมาณน้ำน้อย นั้น กรมชลประทานจะใช้แนวทางการจัดการน้ำเขื่อนกระเสียวโมเดล ที่เคยประสบผลสำเร็จมาแล้วในการบริหารจัดการน้ำฤดูกาลปี 2558/59 ที่น้ำในเขื่อนมีปริมาณน้อยเช่นเดียวกับปีนี้ ซึ่งกรมชลประทานจะขยายผลการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนกระเสียว ไปใช้ในการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนอื่นๆที่มีปริมาณน้ำน้อย ให้สามารถผ่านพ้นปัญหาการขาดแคลนน้ำ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในช่วงฤดูแล้งนี้ โดยจะใช้ แนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชนมาร่วมกันวางแผนแก้ปัญหา พิจารณาตามความเหมาะสมและสถานการณ์จริง ควบคุมการใช้น้ำอย่างรัดกุมเคร่งครัดตามแผนที่วางไว้ ซึ่งปริมาณน้ำที่มีอยู่จะเพียงพอสำหรับใช้ในการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศน์ของลุ่มน้ำ ตลอดจนเหลือสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนปี 2562 ด้วย

นอกจากนี้ กรมชลประทาน ได้เตรียมพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง โดยระดมเครื่องสูบน้ำ จำนวน 1,851 กระจายไปตามพื้นที่ตามสำนักงานชลประทานต่างๆ จำนวน 1,151 เครื่อง สำรองไว้ที่ส่วนกลาง จำนวน 700 เครื่อง พร้อมระดมรถยนต์บรรทุกน้ำอีก 200 คัน ให้กระจายไปตามพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งตามภูมิภาค จำนวน 150 คัน และสำรองไว้ที่ส่วนกลาง จำนวน 50 คัน เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนให้มีน้ำสำหรับอุปโภค-บริโภคในช่วงฤดูแล้งอย่างเพียงพอ

จาก www.thansettakij.com วันที่ 8 พฤศจิกายน 2561

“พาณิชย์” เตรียมลงนามความตกลงอี-คอมเมิร์ซในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน

 “พาณิชย์” ร่วมคณะนายกรัฐมนตรีประชุมสุดยอดอาเซียนที่สิงคโปร์ เตรียมลงนามความตกลงอี-คอมเมิร์ซ เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจทางอิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนในอาเซียน พร้อมเดินหน้าความร่วมมือด้านดิจิทัล ทำกฎระเบียบของอาเซียน ติดตามแผนประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2025 และเร่งสรุปการเจรจา RCEP เสนอผู้นำ 16 ชาติ

น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 10-15 พ.ย. 2561 ตนจะร่วมคณะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 33 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องที่สิงคโปร์ โดยในการประชุมครั้งนี้รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนจะมีการลงนามความตกลงว่าด้วยพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน ที่จะอำนวยความสะดวกการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนในอาเซียน พัฒนาความเชื่อมั่นของการใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และส่งเสริมการใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อลดช่องว่างของระดับการพัฒนาและขับเคลื่อนอาเซียนให้เติบโตอย่างทั่วถึง

ทั้งนี้ ยังได้รับมอบหมายจากนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ให้เข้าประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Council) โดยจะพิจารณาให้ความเห็นชอบเอกสารหลายฉบับ เช่น 1. กรอบการบูรณาการด้านดิจิทัลของอาเซียน ที่จะเป็นแนวทางให้ประเทศสมาชิกอาเซียนดำเนินการเพื่อเชื่อมโยงถึงกันได้มากขึ้นผ่านระบบดิจิทัล ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้า รักษาความปลอดภัยของข้อมูล พัฒนาบุคลากรให้มีทักษะด้านดิจิทัล 2. เอกสารหลักการสำคัญเรื่องแนวปฏิบัติที่ดีด้านกฎระเบียบของอาเซียน ที่จะช่วยพัฒนาแนวปฏิบัติด้านกฎระเบียบของประเทศสมาชิกอาเซียน และส่งเสริมความร่วมมือด้านกฎระเบียบภายในภูมิภาค ซึ่งประเทศสมาชิกอาเซียนสามารถนำไปปรับใช้ได้ตามความเหมาะสม รวมทั้งจะหารือประเด็นสำคัญ อาทิ การติดตามและการประเมินผลการดำเนินการตามแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนปี 2025 (AEC Blueprint 2025)

ขณะเดียวกันจะเข้าร่วมประชุมรัฐมนตรี RCEP เพื่อเร่งผลักดันประเด็นคงค้างให้ได้ข้อสรุปตามเป้าหมายความสำเร็จของปีนี้ ก่อนที่จะรายงานความคืบหน้าการเจรจาเสนอต่อผู้นำ RCEP ทั้ง 16 ประเทศต่อไป

ส่วนการประชุมระดับผู้นำในครั้งนี้ ผู้นำอาเซียนจะพบหารือกับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจอาเซียน (ASEAN-BAC) ซึ่งในปีนี้ให้ความสำคัญต่อการเชื่อมโยงแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนกับข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative) การจัดตั้งเวทีหารือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนในเรื่องการปรับประสานยุทธศาสตร์ด้านดิจิทัลในระดับภูมิภาคอาเซียน การหารือเพื่อพัฒนางานด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ และการจัดตั้งคณะทำงานด้านการปฏิรูปการอำนวยความสะดวกทางการค้า เป็นต้น

จาก https://mgronline.com  วันที่ 8 พฤศจิกายน 2561

จัดยิ่งใหญ่‘วันพระบิดาฝนหลวง’12-14พ.ย.น้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณรัชกาลที่9

นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รมช.เกษตรและสหกรณ์เปิดเผยว่า วันที่ 14 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็น“วันพระบิดาแห่งฝนหลวง” ซึ่งในปีนี้ครบรอบปีที่ 63 นับจากวันที่ 14 พฤศจิกายน 2498 ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงมี

ด้าน นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กำหนดจัดงานวันพระบิดาแห่งฝนหลวงในระหว่างวันที่ 12-16 พฤศจิกายน 2561 ณ ลานอเนกประสงค์ อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการเฉลิมพรเกียรติฯ ถ.แจ้งวัฒนะ โดยในวันจันทร์ที่ 12 พฤศจิกายน เวลา 13.00 น.เป็นต้นไป จะมีพิธีเปิดนิทรรศการ “ฝนหลวงในต่างแดน” โดยมี นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รมช.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน

นอกจากนี้ ยังมีการมอบรางวัลอาสาสมัครฝนหลวงดีเด่นระดับประเทศและระดับภูมิภาค การมอบรางวัลโครงการประกวดภาพถ่ายและภาพวาด “ฝนหลวง ศาสตร์พระราชา” รวมถึงมีการแสดงนิทรรศการเรื่องเล่าความเป็นมาของโครงการพระราชดำริฝนหลวง พันธกิจและภารกิจการปฏิบัติการฝนหลวง และเทคนิคการดัดแปรสภาพอากาศตามศาสตร์ของพระราชาที่เผยแพร่ไปยัง 8 ประเทศ นิทรรศการโครงการพระราชดำริต่างๆ จากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานร่วมบูรณาการที่มีการวิจัย ร่วมกันกับกรมฝนหลวงและการบินเกษตร อาทิ กองทัพอากาศ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันวิจัยและพัฒนาการเกษตร ที่แสดงจะแสดงนิทรรศการโครงการพัฒนาอากาศยานไร้นักบิน (UAV) เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการฝนหลวง โมเดลสาธิตการติดตั้งอุปกรณ์ยิงพลุสารเคมีซิลเวอร์ไอโอไดด์ (AgI) ที่ใช้ในการทำฝน เมฆเย็น เป็นต้น

ส่วนไฮไลท์ของงาน จะมีการจัดแลนด์มาร์คเปิดตัวภาพวาดสีน้ำมันของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ขณะทรงงาน โดยศิลปินชื่อดัง อ.เกริกบุระ ยมนาค เพื่อให้ประชาชนได้ถ่ายรูปเป็นที่ระลึก ขณะที่ในวันที่ 14 พฤศจิกายน เวลา 09.00 น. จะมีพิธีถวายราชสักการะวางพานพุ่มดอกไม้สด เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นหาที่สุดมิได้

จาก https://www.naewna.com วันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

กรมชลฯ สานต่อเกษตรทฤษฎีใหม่

 "เกษตรฯ"รุกแผนปฏิรูป กรมชลประทานขานสานต่อเกษตรทฤษฎีใหม่ รวบทุกเครือขับเคลื่อนขยายผลเสริมสร้างเครือข่าย ให้เข้มแข็ง ยั่งยืน

เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2561 ในการจัดงาน"โครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เพื่อขับเคลื่อนการขยายผลโครงการเกษตรทฤษฏีใหม่" ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ได้กล่าวว่า ที่ผ่านมามีเกษตรกรจำนวนมากประสบผลสำเร็จจากการใช้แนวความคิดเกษตรทฤษฎีใหม่ไปปรับใช้ สามารถปลดหนี้สิน ครอบครัวมีความสุขบนพื้นฐานของความพอเพียง กระทรวงเกษตรฯ จึงมีเป้าหมายในการขยายผลทฤษฎีใหม่ให้ครอบคลุมทั้งประเทศปีละ 70,000 ราย ใน 882 อำเภอ เฉลี่ยเกษตรกรอำเภอละ 80 ราย เพื่อเป็นต้นแบบของการยกระดับคุณภาพชีวิต โดยให้หน่วยงานราชการ ทุกหน่วยงานมาร่วมกันขับเคลื่อนนโยบาย ซึ่งเป็นหนึ่งโครงการสำคัญในแผนขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทย

“กรมชลประทานเป็นหนึ่งหน่วยงานหลักที่ได้ร่วมขับเคลื่อนการขยายผลโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ อีกทั้งเป็นแหล่งข้อมูลความรู้เรื่องน้ำที่ปัจจัยสำคัญหลักในการทำการเกษตร ครั้งนี้จึงได้จัดงานเสวนา “สู่ฝันของพ่อ...สานต่อทฤษฎีใหม่” เพื่อเปิดพื้นที่ตลาดนัดความรู้ให้คนทำการเกษตรทฤษฎีใหม่ เครือข่ายต่าง ๆ ที่มีประสบการณ์การทำงานมาแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน ร่วมมือกันวางแผนขับเคลื่อนเกษตรทฤษฎีใหม่ในระดับลุ่มน้ำ เพื่อจะออกแบบต้นแบบที่จะนำไปสู่การปฏิบัติได้จริงต่อไป” รัฐมนตรีช่วยว่าการก.เกษตร ฯ กล่าว

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า นอกจากรวบรวมเครือข่ายผู้มีประสบการณ์จริงในการทำเกษตรทฤษฎีใหม่มาไว้ด้วยกันแล้ว ภายในงานยังมีหัวข้อเสวนาที่น่าสนใจ เช่น ความเป็นมา กลับสู่รากเหง้าเกษตรทฤษฎีใหม่แห่งแรก Tentative Formula สู่โคก หนอง นา โมเดล , เส้นทางคนรุ่นใหม่ Start Up เกษตรทฤษฎีใหม่ , การขับเคลื่อนโครงการพัฒนาระบบกสิกรรมด้วยศาสตร์พระราชาของลุ่มน้ำปราจีน (ลุ่มน้ำย่อยห้วยโสมง) และลุ่มน้ำป่าสัก เป็นต้น

รวมไปถึงการจัดนิทรรศการที่แบ่งเป็น 5 โซน ได้แก่ โซนที่ 1 เรื่องราวของรากเหง้าเกษตรทฤษฎีใหม่ โซนที่ 2 ตามรอยเท้าพ่อ..สู่ฐานเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่แห่งแรก โซนที่ 3 สานฝันของพ่อ..พัฒนาลุ่มน้ำป่าสักตามแนวพระราชดำริ โซนที่ 4 แปลงตัวอย่างเกษตรทฤษฎีใหม่ประยุกต์ (โคก หนอง นา โมเดล) และสุดท้ายตลาดนัดเกษตรทฤษฎีใหม่และเครือข่าย

“กรมชลประทานหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการเกษตรทฤษฎีใหม่จะขยายวงกว้างออกไปมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเป็นแนวทางที่จะพัฒนาการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ซึ่งในการพูดคุยเสวนาครั้งนี้จะใช้กลไกหลัก 3 อย่าง คือ S-Support (หนุน/ปลดล็อค) D-Driver (คน/พื้นที่) และ F-Function (กลไกราชการ) เพื่อให้ได้ตัวชี้วัด กลไกการขับเคลื่อนระยะยาว รวมถึงข้อสรุปที่จะสนับสนุนการทำงานให้สำเร็จเป็นไปตามแผนขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศไทยได้จริงต่อไป” ดร.ทองเปลวฯ กล่าว

นายบุญลือ เต้าแก้ว เกษตรทฤษฏ๊ใหม่ บ้านหนองโน อ.เมือง จังหวัดสระบุร กล่าวว่า ก่อนทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ได้ทำนาข้าวพียงอย่างเดียวและมีปัญหาหนี้สิน จนกระทั่งไปเรียนรู้การทำทฤษฏีใหม่ที่วัดมงคลชัยพัฒนา อ.เฉลิมพระเกียรติ จว.สระบุรี และได้นำแบบอย่างมาปรับเข้ากับพื้นที่ฃองตนที่มีอยู่ 20 ไร่ แบ่งพื้นที่ทำการเกษตร 12 ไร่ นา 4 ไร่ บ่อน้ำ 2 ไร่ ที่อยู่อาศัย 2 ไร่

โดยได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2536 ยึดหลัก มุ่งมั่น ขยัน อดทน แต่ในช่วงแรก ๆ เพื่อนบ้านไม่เห็นด้วยแต่ตนก็ตั้งใจจนกระทั่งได้ผลและเป็นที่ยอมรับเมื่อปี 2539 - 2540 และแจกจ่ายผลผลิตให้กับเพื่อนบ้านจนกระทั่งมีการวางจำหน่าย และมีหลายหน่วยงานเข้ามาเรียนรู้เกษตรทฤษฏีใหม่ในพื้นที่ของตนเอง

"หนี้ที่เป็นอยู่ 5 แสน เริ่มใช้หมดไป จนกระทั่งสามารถพึ่งพาตนเองได้ เพราะมีรายได้ทุกวันจากการทำการเกษตร เช่นเพาะเห็ดนางฟ้าและที่มีคนมารับซื้อถึงที่"

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

"ศิริ" ถกแผนพีดีพีใหม่ เน้นโรงไฟฟ้าก๊าซฯ ผสมพลังงานทดแทน

"ศิริ" เร่งเครื่องถกแผนพีดีพีฉบับใหม่ หวังชง กพช. เคาะ ธ.ค.นี้ เพื่อเปิดประชาพิจารณ์และประกาศใช้ได้ภายในต้นปี 2562  แย้มโรงไฟฟ้าก๊าซฯจะมาเป็นลำดับแรก ผสมกับพลังงานทดแทน ขณะที่โรงไฟฟ้าถ่านหินกำหนดเกิดหลังปี 2570 เพื่อรอผลศึกษา SEA

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้เร่งหารือกับสำนักนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เพื่อเร่งจัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศฉบับใหม่(พีดีพี 2561-80) เพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานภายในเดือนธ.ค. จากนั้นจะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนในต้นปี 2562 ก่อนจะประกาศใช้อย่างเป็นทางการต่อไป

ปัจจุบันการจัดทำแผนอยู่ระหว่างการลงรายละเอียดถึงความต้องการใช้ไฟฟ้าหลังปริมาณสำรองที่ขณะนี้อยู่ระดับเฉลี่ยสูงถึง 25- 30% ของกำลังการผลิตติดตั้งจะเพียงพอการใช้ไปถึงปี 2567-68 จากนั้นจะต้องมีโรงไฟฟ้าใหม่เข้ามาเพิ่มเพื่อไม่ให้กระทบต่อความมั่นคง ดังนั้นเบื้องต้นการจัดลำดับโรงไฟฟ้าภายใต้แผนพีดีพีใหม่ที่กำหนดให้มีโรงไฟฟ้า เพื่อความมั่นคงจึงมองทางเลือกไปยังโรงไฟฟ้าหลักที่เป็นเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติและก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) เป็นลำดับแรกก่อน ส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้นจะถูกจัดไว้ในแผนหลังปี 2570 เนื่องจากยังมีความเห็นต่างจึงต้องรอผลการศึกษาจากคณะกรรมการกำกับการศึกษาประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์(SEA) สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้สรุปชัดเจนก่อนว่าจะสามารถมีโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่อย่างไร

"โรงไฟฟ้าหลักที่เป็นเชื้อเพลิงก๊าซฯคงจะมาก่อนลำดับแรกก็คงต้องมาดูสัดส่วนว่าจะมาจากไฟฟ้าของผู้ผลิตไฟเอกชนรายใหญ่(ไอพีพี) และกฟผ.ในสัดส่วนเท่าใด ที่เหลือจะเป็นในส่วนของโรงไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ซึ่งขณะนี้ยอมรับว่าสัดส่วนระหว่างโรงไฟฟ้าหลักกับพลังงานทดแทนนั้นยังต้องหาจุดสมดุลอยู่เพราะโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนเช่น แสงอาทิตย์ ลม ยังไม่เสถียรหากดำเนินการจะต้องมองในเรื่องของการปรับระบบให้เป็น Power System Flexibility "แหล่งข่าว กล่าว

จาก https://www.thaipost.net   วันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

บาทเปิด 32.84 บาทต่อดอลลาร์

เงินบาทเปิดตลาด 32.84 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบวันนี้ 32.80-32.90 นักลงทุนรอติดตามผลประชุมเฟดคืนนี้

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ที่อยู่ที่ระดับ 32.84 บาท/ดอลลาร์ จากเย็นวานนี้ที่ปิดตลาดที่ระดับ 32.78/79 บาท/ดอลลาร์"

เช้านี้บาทอ่อนค่า...ตลาดย่อยข่าวผลเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ..ส่วนคืนนี้ FOMC จะประกาศผลการประชุม ซึ่งคาดว่าจะคงดอกเบี้ยและน่าจะไปตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมรอบหน้าในเดือนธ.ค."นักบริหารเงิน ระบุ

นักบริหารเงิน คาดว่า วันนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 32.80 - 32.90 บาท/ดอลลาร์

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

เครือข่ายภาคการเกษตรดันศพก. ร่วมสานพลังประชารัฐ-แปลงใหญ่

นายสำราญ สาราบรรณ์ รักษาราชการอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยในการประชุมเชื่อมโยงการดำเนินงานของคณะกรรมการเครือข่ายศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) และแปลงใหญ่ ระดับประเทศ ครั้งที่ 1/2562 ณ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดกระบี่ (พืชสวน) อ.เมือง จ.กระบี่ ว่า การขับเคลื่อนฯ งานในปี 2562 ที่มุ่งเน้นให้แปลงใหญ่ มีการเชื่อมโยงการทำงานเครือข่าย และให้ ศพก. เป็นศูนย์กลางการทำงานแบบบูรณาการของหน่วยงานต่างๆในพื้นที่ สามารถแก้ปัญหาได้ตรงตามความต้องการของชุมชน โดยเฉพาะนโยบายสำคัญ เช่น โครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา และใช้ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.) ซึ่งเป็นศูนย์เครือข่ายของ ศพก. เป็นศูนย์ในการทำความเข้าใจและให้ความรู้เรื่องศัตรูพืชต่างๆ ทั้งนี้ ศพก. มีบทบาทในการช่วยเชื่อมโยงตลาดสินค้าแปลงใหญ่ได้ด้วย โดยเบื้องต้น สั่งการให้ทุกพื้นที่คัดกรองสินค้าเกษตร ที่พร้อมแลกเปลี่ยน พร้อมระบุช่วงเวลา และปริมาณของผลผลิต เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่เน้นตลาดนำการผลิต นอกจากนี้ ยังต้องการให้เกิดการแลกเปลี่ยนสินค้ากันในเครือข่ายมากขึ้น

นายสำราญกล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมครั้งนี้ ยังถือเป็นการประชุมครั้งแรก ของคณะกรรมการเครือข่าย ศพก. และแปลงใหญ่ ชุดใหม่ โดยคณะกรรมการเครือข่าย ศพก. ระดับประเทศ ได้แก่ นายเชิดชัย จิณะแสน ประธานเครือข่าย ศพก. ระดับประเทศ รองประธานเครือข่าย 4 ภาค ประกอบด้วย นายอุดม วรัญญูรัฐ (ภาคกลาง) นายรณวริทธิ์ ปริยฉัตรตระกูล (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) นายยรรยงค์ ยาดี (ภาคเหนือ) นายสุมาตร อินทรมณี (ภาคใต้) และประธานเครือข่ายแปลงใหญ่ ระดับประเทศ ได้แก่ นายบุญมี สุระโคตร ส่วนรองประธานเครือข่ายแปลงใหญ่ ได้แก่ นายสำราญ ครรชิต ฝ่ายบริหาร นายนัยฤทธิ์ จำเล (วิชาการ) ทั้งนี้ ยังได้ย้ำในการประชุมถึงการขับเคลื่อนและผลสัมฤทธิ์ ที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น

จาก https://www.naewna.com วันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ไทยจับมือจีนยกระดับความร่วมมือ พุ่งเป้าการค้า 140,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2564

ไทยเดินหน้ายกระดับความสัมพันธ์เศรษฐกิจกับจีน โดยได้เห็นชอบเอกสารยกระดับกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-จีน ขับเคลื่อนความร่วมมือ 7 ด้าน ได้แก่ การค้า การลงทุน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดิจิทัล การท่องเที่ยว การเงิน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค ดันเป้าการค้าทะลุ 140,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2564

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากการประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-จีน (JC เศรษฐกิจไทย-จีน) ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2561 ณ ทำเนียบรัฐบาล ได้มอบให้ทั้งสองฝ่ายไปดำเนินการเพื่อยกระดับความสัมพันธ์การเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจของสองประเทศ รองรับการขับเคลื่อนนโยบาย Thailand 4.0 กับนโยบาย “ข้อริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ให้สามารถเกื้อกูลและสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกันได้นั้น ในการพบหารือระหว่างรองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) กับมนตรีแห่งรัฐของจีน (นายหวัง หย่ง) เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2561 ณ กรุงปักกิ่ง ทั้งสองฝ่ายได้เห็นชอบเอกสารยกระดับกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-จีน (Comprehensive Framework on Enhancing Trade and Economic Partnership between the Thailand and China) โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของสองประเทศเป็นผู้ลงนาม

ทั้งนี้ เอกสารดังกล่าว มุ่งเน้นการยกระดับความร่วมมือ 7 ด้าน ได้แก่ ด้านการค้า ร่วมมือเพื่อขยายการค้าให้บรรลุเป้าหมาย 140,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2564 ซึ่งรวมถึงสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมงาน China International Import Expo เป็นประจำทุกปี ส่งเสริมความร่วมมือการค้าสินค้าเกษตร และให้จัดประชุม JC เศรษฐกิจไทย-จีน และคณะทำงานสนับสนุนการค้าอย่างไร้อุปสรรคเป็นประจำ

ด้านอุตสาหกรรมและการลงทุน ส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ ยานยนต์สมัยใหม่ หุ่นยนต์ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร อาหารเพื่ออนาคต และการบินและโลจิสติกส์

ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เสริมสร้างความร่วมมือผ่านการพัฒนาศักยภาพบุคลากร การถ่ายทอดเทคโนโลยี การพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร โดยใช้เมืองนวัตกรรมอาหารของไทย (Food Innopolis) เป็นพื้นที่ในการทำวิจัยและพัฒนา เข้าร่วมโครงการสำรวจความร่วมมือด้านอวกาศของจีน ร่วมมือด้านการพัฒนาอุทยานวิทยาศาสตร์

ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ส่งเสริมความร่วมมือด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-commerce) เทคโนโลยี 5G และการลงทุนในอุทยานดิจิทัลในไทย รวมถึงยกระดับความเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ทั้งเคเบิ้ลใต้น้ำ และโครงข่ายใยแก้วนำแสง

ด้านการเงิน ส่งเสริมการใช้เงินบาทและเงินหยวนในการทำธุรกรรมทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน ขยายความร่วมมือและส่งเสริมบริการทางการเงินสมัยใหม่ (Fintech)

ด้านการท่องเที่ยว ส่งเสริมการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพรวมถึงมาตรฐานความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว รวมทั้งอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เช่น การถ่ายทำภาพยนตร์ การบริการเรือข้ามฟาก และธุรกิจบริการน้ำพุร้อน

และ ด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค ส่งเสริมให้ภาคเอกชนใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี อาเซียน-จีน ส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาคผ่านความร่วมมือภายใต้เขตเศรษฐกิจปากแม่น้ำจูเจียง (PPRD) กรอบความร่วมมือระหว่างมณฑลกวางตุ้ง - ฮ่องกง - มาเก๊า (GBA) กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (MLC) โครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) และกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี - เจ้าพระยา - แม่โขง (ACMECS)

ทั้งนี้ จีนมีความสำคัญในฐานะเป็นคู่ค้าอันดับ 1 และนักลงทุนอันดับ 3 ของไทย และด้วยขนาดของประชากรเกือบ 1,400 ล้านคน ทำให้จีนเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกที่มีบทบาทนำในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียและโลกอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะการดำเนินการตามข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative: BRI) ซึ่งไทยได้พัฒนาความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจกับจีนมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในการพบหารือระหว่างรองนายกรัฐมนตรีของทั้งสองฝ่ายในการเดินทางเยือนจีนครั้งนี้ ได้เห็นชอบการลงนามเอกสารยกระดับกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-จีน ที่จะช่วยกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-จีน เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ชัดเจนและต่อเนื่องต่อไป

ปัจจุบัน จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย โดยจีนเป็นทั้งตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้าอันดับ 1 ในขณะที่ไทยเป็นตลาดส่งออกลำดับที่ 15 และเป็นตลาดนำเข้าลำดับที่ 10 ของจีน ในปี 2560 การค้าสองฝ่ายมีมูลค่ารวม 73,670 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2559  11.9% และในช่วง 9 เดือนแรก (มกราคม-กันยายน) ของปี 2561 การค้าระหว่างไทยกับจีนมีมูลค่า 45,710 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน  11.6 % โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก เครื่องคอมพิวเตอร์/อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น ในขณะที่ไทยนำเข้าสินค้าประเภทเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เคมีภัณฑ์ และส่วนประกอบ/อุปกรณ์ยานยนต์ เป็นต้น

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

แก้ปัญหาสินค้าเกษตร…อย่าท่าดีทีเหลว

จะมองว่าการแก้ปัญหาสินค้าเกษตรราคาตกต่ำของรัฐบาลเข้าทำนอง “ความวัวยังไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก” ก็ไม่น่าจะผิด เพราะปัญหาเก่ายังแก้ไม่ได้ก็มีปัญหาใหม่ซ้อน นอกจากยางพาราที่ฟุบไม่ฟื้นแล้วราคาปาล์มน้ำมัน อ้อย กุ้งขาวแวนนาไม ไข่ไก่ ยังดิ่งวูบเข้าขั้นวิกฤต

ทั้งที่พืชเศรษฐกิจเหล่านี้มีหลายหน่วยงานดูแล ตั้งแต่คณะกรรมการนโยบายระดับชาติ คณะทำงานของกระทรวง กรม รวมทั้งจังหวัด อำเภอ ที่่เป็นพี่เลี้ยงคอยให้คำแนะนำช่วยเหลือ

ขณะเดียวกันรัฐบาลได้นำแนวคิดบริหารจัดการสินค้าเกษตรแบบใหม่มาใช้ ชูนโยบายการตลาดนำการผลิต พร้อมนำแนวทางประชารัฐผนึกพลัง 3 ประสาน ดึงเอกชน ประชาชน มาร่วมงาน เพื่อยกระดับการพัฒนาและป้องกันแก้ไขปัญหาพืชผลการเกษตร โดยมีเป้าหมายให้เกษตรกรผลิตสินค้าให้สมดุลกับความต้องการของตลาด แต่ที่ผ่านมายังแก้โจทย์พืชผลราคาตกต่ำซ้ำซากไม่ได้

การปฏิรูปโครงสร้างการเกษตรเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจรากหญ้า และให้ภาคการเกษตรไทยขับเคลื่อนไปข้างหน้าสอดรับกับโมเดลเศรษฐกิจไทยแลนด์ 4.0 จึงเป็นเรื่องค่อนข้างยากและท้าทาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยกระดับรายได้ และผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในภาคการเกษตรให้สูงขึ้น เมื่อเทียบกับ GDP รวม

เพราะแม้ผลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจการเกษตรไตรมาส 3/2561 (ก.ค.-ก.ย. 2561) ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) จะชี้ว่า ดัชนีรายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับ 140.5 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 ซึ่งอยู่ที่ 138.7 โดยรายได้เกษตรกรในหมวดพืชผลเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0 จากกลุ่มพืชอาหารและไม้ผลเป็นหลัก ส่วนปศุสัตว์และประมงลดลงร้อยละ 5.0 และ 25.6 แต่สวนทางกับความเป็นจริงที่เกษตรกรส่วนใหญ่ยังมีรายได้ไม่พอยังชีพ

ล่าสุดแม้รัฐบาลจะเแก้ปัญหาราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำ ทั้งเร่งรัดการส่งออกน้ำมันปาล์มให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) รับซื้อน้ำมันปาล์มดิบไปใช้ในการผลิตไฟฟ้า เพิ่มส่วนผสมไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (บี 7) ส่งเสริมการใช้ดีเซลบี 20 ตามข้อเรียกร้องของชาวสวนปาล์มแล้ว ไข่ไก่ที่ราคาตกต่ำเป็นประวัติการณ์ในรอบ 30 ปี กำลังเป็นอีกปัญหาที่ต้องเร่งแก้

นโยบายปฏิรูปการเกษตรโดยใช้การตลาดนำการผลิตแม้เป็นเรื่องถูกต้อง แต่ในทางปฏิบัติอาจยังไม่ถูกทิศทาง เพราะเมื่อไล่เรียงรายชื่อพืชผลหลักทางการเกษตร ซึ่งน่าจะเป็นดัชนีชี้วัดอนาคตของเกษตรกรไทย ตั้งแต่ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง อ้อย ปาล์มน้ำมัน สับปะรด ฯลฯ จะพบว่า กว่าครึ่งมีปัญหาซ้ำซาก มาตรการ แผนงานสารพัดที่ีออกมายังแก้ไม่ได้ สุดท้ายจึงมักจบลงแบบท่าดีทีเหลว ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ตั้งอ้อยขั้นต้นฤดูผลิต61/62 เฉลี่ย680บาท

สอน.เปิดรับฟังความคิดเห็นชาวไร่อ้อยก่อนชง กอน.เคาะราคาอ้อยขั้นต้นปี 2561/2562 เฉลี่ย 680 บาท/ตันอ้อย

นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ขณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้คำนวณราคาอ้อยขั้นต้นฤดูกาลผลิต 2561/2562 เฉลี่ยทั่วประเทศอยู่ที่ 680 บาท/ตัน หลังจากนี้จะนำตัวเลขดังกล่าวเข้าสู่ขั้นตอนการจัดทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้แทนชาวไร่อ้อย และผู้แทนโรงงานน้ำตาลทราย ตามมาตรา 50 พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ก่อนนำเสนอคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) พิจารณาในวันที่ 15 พ.ย.นี้ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี เห็นชอบต่อไป

ทั้งนี้ ราคาอ้อยขั้นต้นฤดูกาลผลิต 2561/2562 ที่ 680 บาท/ตันอ้อยนี้ เป็นตัวเลขที่ สอน.ประเมินไว้ตั้งแต่แรก และเป็นตัวเลขเดียวกับที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้รายงาน ครม. เพื่อกำหนดมาตรการการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ได้รับผลกระทบจากทั้งด้านราคาที่ตกต่ำ เบื้องต้น ครม.ได้มีมติเห็นชอบโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อย เพื่อซื้อปัจจัยการผลิต เมื่อรวมราคาอ้อยขั้นต้นและเงินช่วยเหลือจากทั้งสองแนวทาง จะทำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยจะได้รับราคาอ้อยประมาณ 880-900 บาท/ตันอ้อย ที่ค่าความหวานเฉลี่ยประมาณ 12.30 ซี.ซี.เอส

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

เครือข่ายภาคการเกษตรดันศพก. ร่วมสานพลังประชารัฐ-แปลงใหญ่

นายสำราญ สาราบรรณ์ รักษาราชการอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยในการประชุมเชื่อมโยงการดำเนินงานของคณะกรรมการเครือข่ายศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) และแปลงใหญ่ ระดับประเทศ ครั้งที่ 1/2562 ณ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดกระบี่ (พืชสวน) อ.เมือง จ.กระบี่ ว่า การขับเคลื่อนฯ งานในปี 2562 ที่มุ่งเน้นให้แปลงใหญ่ มีการเชื่อมโยงการทำงานเครือข่าย และให้ ศพก. เป็นศูนย์กลางการทำงานแบบบูรณาการของหน่วยงานต่างๆในพื้นที่ สามารถแก้ปัญหาได้ตรงตามความต้องการของชุมชน โดยเฉพาะนโยบายสำคัญ เช่น โครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา และใช้ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.) ซึ่งเป็นศูนย์เครือข่ายของ ศพก. เป็นศูนย์ในการทำความเข้าใจและให้ความรู้เรื่องศัตรูพืชต่างๆ ทั้งนี้ ศพก. มีบทบาทในการช่วยเชื่อมโยงตลาดสินค้าแปลงใหญ่ได้ด้วย โดยเบื้องต้น สั่งการให้ทุกพื้นที่คัดกรองสินค้าเกษตร ที่พร้อมแลกเปลี่ยน พร้อมระบุช่วงเวลา และปริมาณของผลผลิต เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่เน้นตลาดนำการผลิต นอกจากนี้ ยังต้องการให้เกิดการแลกเปลี่ยนสินค้ากันในเครือข่ายมากขึ้น

นายสำราญกล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมครั้งนี้ ยังถือเป็นการประชุมครั้งแรก ของคณะกรรมการเครือข่าย ศพก. และแปลงใหญ่ ชุดใหม่ โดยคณะกรรมการเครือข่าย ศพก. ระดับประเทศ ได้แก่ นายเชิดชัย จิณะแสน ประธานเครือข่าย ศพก. ระดับประเทศ รองประธานเครือข่าย 4 ภาค ประกอบด้วย นายอุดม วรัญญูรัฐ (ภาคกลาง) นายรณวริทธิ์ ปริยฉัตรตระกูล (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) นายยรรยงค์ ยาดี (ภาคเหนือ) นายสุมาตร อินทรมณี (ภาคใต้) และประธานเครือข่ายแปลงใหญ่ ระดับประเทศ ได้แก่ นายบุญมี สุระโคตร ส่วนรองประธานเครือข่ายแปลงใหญ่ ได้แก่ นายสำราญ ครรชิต ฝ่ายบริหาร นายนัยฤทธิ์ จำเล (วิชาการ) ทั้งนี้ ยังได้ย้ำในการประชุมถึงการขับเคลื่อนและผลสัมฤทธิ์ ที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น

จาก https://www.naewna.com วันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

“สอน.” คำนวณราคาอ้อยขั้นต้น 61/62 ตามคาด680บาท เกษตรกรได้ค่าอ้อย880-900บาทต่อตัน

นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) อยู่ระหว่างการคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิต ปี 2561/2562 ซึ่งได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการบริหาร (กบ.) ไปแล้ว โดยในเบื้องต้นราคาอ้อยขั้นต้นเฉลี่ยทั่วประเทศอยู่ที่ 680 บาทต่อตัน ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส ตามที่ สอน. เสนอ

ซึ่งในขั้นตอนต่อไป จะนำตัวเลขดังกล่าวเข้าสู่ขั้นตอนการจัดทำประชาพิจารณ์ เพื่อรับฟังความคิดเห็นหรือข้อคัดค้านจากผู้แทนชาวไร่อ้อยและผู้แทนโรงงานน้ำตาลทราย ต่อราคาอ้อยขั้นต้นฯ ฤดูการผลิตปี 2561/2562 ตามมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติอ้อยและนำตาลทราย พ.ศ.2527 ก่อนนำเสนอคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) พิจารณาเห็นชอบในวันที่ 15 พฤศจิกายนนี้ แล้วเสนอความเห็นต่อไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ก่อนที่จะประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา ตามมาตรา 52 และ 53 แห่งพระราชบัญญัติอ้อยและนำตาลทราย พ.ศ.2527

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

คาดราคาอ้อยปี 61/62 อาจแตะ 880-900 บาท

สอน.เผยราคาอ้อยขั้นต้นปี 61/62 อาจสูงถึง 880-900 บาทต่อตันอ้อย ที่ค่าความหวานเฉลี่ยประมาณ 12.30 ซี.ซี.เอส ย้ำความช่วยเหลือไม่ขัด WTO

นางวรวรรณ ชิตอรุณ  เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สอน.อยู่ระหว่างคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิต ปี 2561/2662 เบื้องต้นราคาอ้อยขั้นต้นเฉลี่ยทั่วประเทศอยู่ที่ 680 บาทต่อตัน ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส  คาดว่าราคานี้จะเสนอให้คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) พิจารณาเห็นชอบวันที่ 15 พฤศจิกายนนี้ แล้วเสนอความเห็นต่อไปยังคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

เลขาธิการ สอน.ระบุว่าโดยรวมราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิต ปี 2561/2662 ชาวไร่อ้อยจะได้รับประมาณ 880-900 บาทต่อตันอ้อย แต่ที่ค่าความหวานเฉลี่ยประมาณ 12.30 ซี.ซี.เอส และเงินช่วยเหลืออีก 2 ส่วน คือ ส่วนแรกประมาณ 50 บาทต่อตันอ้อย จากโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิตช่วยเหลือเกษตรกรขึ้นทะเบียนเป็นชาวไร่อ้อยกับ สอน. และเป็นคู่สัญญากับโรงงานหรือมีการส่งอ้อยผ่านหัวหน้ากลุ่มชาวไร่อ้อยที่จดทะเบียนถูกต้อง โดยจ่ายตามจำนวนตันอ้อยที่เกษตรกรส่งให้โรงงานคู่สัญญาหรือหัวหน้ากลุ่มต่อตันอ้อย แต่จะมีการกำหนดปริมาณตันอ้อยสูงสุดที่จะได้รับเงินช่วยเหลือไม่เกินรายละ 5,000 ตันอ้อย ตามจำนวนที่จ่ายจริงไม่เกินวงเงิน 6,500 ล้านบาท

ส่วนที่ 2 เงินช่วยเหลือจากโรงงานน้ำตาลที่จะจ่ายเงินล่วงหน้าบางส่วนให้เกษตรกรไปก่อน เบื้องต้นคาดว่าน่าจะเพิ่มอีกประมาณ 60 บาทต่อตันอ้อย แต่เนื่องจากขณะนี้ราคาน้ำตาลตลาดโลกขยับขึ้นเล็กน้อย ทาง สอน.จะหารือร่วมกับโรงงานน้ำตาลและสมาคมธนาคารไทยสัปดาห์หน้า

เลขาธิการ สอน. กล่าวว่า ความช่วยเหลือนี้จะบรรเทาความเดือดร้อนชาวไร่อ้อยอยู่ในระดับที่น่าพอใจ และ ไม่ขัดต่อพันธกรณีภายใต้องค์การการค้าโลก  (WTO) เนื่องจากเป็นการอุดหนุนด้านปัจจัยการผลิต (Input Subsidies) ถือเป็นการอุดหนุนภายในที่ยกเว้นสำหรับประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งรัฐสามารถดำเนินการได้

จาก https://tna.mcot.net   วันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

สอน.คาดราคาอ้อยขั้นต้น680บาทต่อตัน

 สอน. ประเมินราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 61/62 เป็นไปตามคาด โดยเฉลี่ยทั่วประเทศอยู่ที่ 680 บาทต่อตันอ้อย

   นางวรวรรณ ชิตอรุณ  เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า  ขณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย อยู่ระหว่างการคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2561/2662 ซึ่งได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการบริหาร (กบ.) ไปแล้ว โดยในเบื้องต้นราคาอ้อยขั้นต้นเฉลี่ย ทั่วประเทศอยู่ที่ 680 บาทต่อตัน ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส  ตามที่สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายเสนอ  ซึ่งในขั้นตอนต่อไปจะนำตัวเลขดังกล่าวเข้าสู่ขั้นตอนการจัดทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นหรือข้อคัดค้านจากผู้แทนชาวไร่อ้อยและผู้แทนโรงงานน้ำตาลทราย ต่อราคาอ้อยขั้นต้นฯ ฤดูการผลิตปี 2561/2562 ตามมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติอ้อยและนำตาลทราย พ.ศ.2527 ก่อนนำเสนอคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) พิจารณาเห็นชอบในวันที่ 15 พฤศจิกายนนี้ แล้วเสนอความเห็นต่อไปยังคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ก่อนที่จะประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษาตามมาตรา 52 และ 53 แห่งพระราชบัญญัติอ้อยและนำตาลทราย พ.ศ.2527

 “ราคาอ้อยขั้นต้นฯ ฤดูการผลิต ปี 2561/2662 ที่ 680 บาทต่อตันอ้อยนี้ เป็นตัวเลขที่สำนักงานได้ประเมินไว้ตั้งแต่แรก  ซึ่งเป็นตัวเลขเดียวกับที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้รายงานต่อคณะรัฐมนตรี ในการกำหนดมาตรการการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อย ที่ได้รับผลกระทบจากทั้งด้านราคาที่ตกต่ำ ภายใต้การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมระบบใหม่  ซึ่งล่าสุด เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2561 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต เพื่อนำมาช่วยเหลือชาวไร่อ้อยด้านปัจจัยการผลิตที่จำเป็นสำหรับชาวไร่อ้อยรายเล็ก โดยจะเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นชาวไร่อ้อยกับสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย และเป็นคู่สัญญากับโรงงานหรือมีการส่งอ้อยผ่านหัวหน้ากลุ่มชาวไร่อ้อย ที่ได้จดทะเบียนถูกต้อง ตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ตามจำนวนตันอ้อยที่เกษตรกรได้ส่งให้กับโรงงานคู่สัญญาหรือหัวหน้ากลุ่ม โดยในเบื้องต้นกำหนดความช่วยเหลืออยู่ที่ไม่เกิน 50 บาทต่อตันอ้อย แต่จะมีการกำหนดปริมาณตันอ้อยสูงสุดที่จะได้รับเงินช่วยเหลือไม่เกินรายละ 5,000 ตันอ้อย ตามจำนวนที่จ่ายจริงไม่เกินวงเงิน 6,500 ล้านบาท” 

 ทั้งนี้ เมื่อรวมกับแนวทางการให้ความช่วยเหลือและความร่วมมือ จากโรงงานน้ำตาลที่จะจ่ายเงินล่วงหน้าบางส่วนให้เกษตรกรไปก่อน ในเบื้องต้นคาดว่าน่าจะเพิ่มเติมอีกประมาณ60 บาทต่อตันอ้อย จากเดิมที่เคยคำนวณไว้ที่ 70 บาท แต่เนื่องจากขณะนี้ราคาน้ำตาลตลาดโลกได้ขยับราคาขึ้นมาเล็กน้อย ทั้งนี้ สำนักงาน จะหารือร่วมกับโรงงานน้ำตาลและสมาคมธนาคารไทยในสัปดาห์หน้า ซึ่งจากการคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นที่ 680 บาท  รวมกับเงินช่วยเหลือจากทั้งสองแนวทางดังกล่าว และเมื่อรวมกับค่าส่วนเพิ่มจากคุณภาพอ้อยที่เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย เกษตรกรชาวไร่อ้อยจะได้รับราคาอ้อยประมาณ 880-900 บาทต่อตันอ้อย  ที่ค่าความหวานเฉลี่ยประมาณ 12.30 ซี.ซี.เอส  จะเป็นการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนแก่ชาวไร่อ้อยอยู่ในระดับที่น่าพอใจ

 ทั้งนี้ การให้ความช่วยเหลือดังกล่าว ไม่ขัดต่อพันธกรณีภายใต้องค์การการค้าโลก  (WTO) เนื่องจากเป็นการอุดหนุนด้านปัจจัยการผลิต (Input Subsidies) ถือเป็นการอุดหนุนภายในที่ยกเว้นสำหรับประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งรัฐสามารถดำเนินการได้

จาก www.banmuang.co.th  วันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

หวั่นเจอฝนโรงงานน้ำตาลเร่งเปิดฤดูอ้อยภายใน15พ.ย.

โรงงานน้ำตาลทราย ชง สอน.ขอเปิดหีบอ้อยฤดูกาลผลิต 2561/2562 ภายใน 15 พ.ย.นี้ หวั่นหากล่าช้าเจอฝนกระทบ

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธาน คณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ได้ทำหนังสือเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เพื่อให้กำหนดวันเริ่มต้นเปิดหีบอ้อยผลิตน้ำตาลทรายฤดูกาลผลิตปี 2561/2562 ในวันที่ 15 พ.ย. 2561 เร็วกว่าปีก่อนประมาณ 15 วัน เนื่องจากโรงงานเห็นว่าปริมาณผลผลิตอ้อยเข้าหีบในปีนี้ที่คาดการณ์จะอยู่ที่ 120-125 ล้านตัน โดยปริมาณผลผลิตอ้อยปีหน้าอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างสูง จึงมีความเป็นไปได้ที่จะใช้เวลาหีบอ้อยนานกว่าปกติอยู่ที่ประมาณ 140 วัน/ฤดูกาลผลิต ดังนั้นจึงต้องการเลื่อนวันเปิดหีบอ้อยให้เร็วขึ้น

"เหตุผลที่ต้องขอให้มีการเปิดหีบอ้อยเร็วขึ้น เนื่องจากการผลิตปีที่ผ่านมา แม้ว่าโรงงานน้ำตาลจะเร่งดำเนินการหีบอ้อยเต็มที่ แต่บางโรงงานไม่สามารถปิดหีบได้ทันก่อนช่วงสงกรานต์ตามฤดูการหีบปกติ และต้องกลับมาเปิดหีบอ้อยหลังสงกรานต์เพื่อป้องกันปัญหาอ้อยตกค้างในไร่ โดยบางพื้นที่พบปัญหาฝนตก ทำให้ผลผลิตอ้อยเข้าหีบในช่วงท้ายฤดูการหีบของปีก่อนมีปัญหาอ้อยปนเปื้อนสูง ส่งผลต่อความสามารถการผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) ลดลงในช่วงปลายฤดู และเครื่องจักรหีบอ้อยของโรงงานก็ได้รับความเสียหายจากกระบวนการหีบอีกด้วย"นายสิริวุทธิ์ กล่าว

นอกจากนี้ โรงงานน้ำตาลได้รณรงค์ให้ชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดเพื่อให้คุณภาพ อ้อยเข้าหีบมีค่าความหวานที่ดี รวมถึงช่วยวางแผนระบบโลจิสติกส์ในการขนส่งผลผลิตจากไร่อ้อยสู่โรงงานให้มีประสิทธิภาพ เนื่องจากการขนส่งมีข้อจำกัดด้านความสูงของรถทำให้ชาวไร่บรรทุกผลผลิต อ้อยต่อเที่ยวได้ลดลง ดังนั้นโรงงานได้เตรียมการรับผลผลิตให้สอดคล้องกับกำลังการผลิตในแต่ละวัน เพื่อบริหารจัดการด้านการขนส่งผลผลิตอ้อยให้มีความคล่องตัวและเอื้อประโยชน์ต่อการช่วยลดต้นทุนการขนส่งให้แก่ชาวไร่ให้ได้มากที่สุด"

ทางสมาคมฯได้ทำหนังสือเพื่อเสนอวันเริ่มต้นเปิดหีบอ้อยให้แก่ สอน.ได้พิจารณาแล้ว เพื่อประกาศอย่างเป็นทางการ ซึ่งทางฝ่ายโรงงานได้เตรียมพร้อมอย่างเต็มที่ในการรองรับผลผลิตอ้อยจากชาวไร่ แม้ว่าปีนี้ปริมาณอ้อยจะลดลงกว่าปีก่อนก็ตาม"นายสิริวุทธิ์ กล่าว

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

โรงงานน้ำตาลทราย เตรียมเปิดหีบอ้อยฤดูการผลิตปี 61/62 ดีเดย์ 15 พ.ย.นี้

3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย ทำหนังสือถึง สอน. ขอเปิดหีบอ้อย ฤดูการผลิตปี 2561/62 ในวันที่ 15 พ.ย. เร็วขึ้นกว่าปีก่อนประมาณ 15 วัน หลังคาดการณ์ผลผลิตอ้อยปีนี้ 120-125 ล้านตัน พร้อมจัดระเบียบด้านโลจิสติกส์ขนส่งอ้อยเข้าสู่โรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หวั่นหากปิดหีบล่าช้าเข้าสู่ฤดูฝนกระทบคุณภาพผลผลิตอ้อยหีบกดยิลด์น้ำตาลลดลง

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย (TSMC) เปิดเผยว่า สมาคมฯ ได้ทำหนังสือเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เพื่อให้กำหนดวันเริ่มต้นวันหีบอ้อยผลิตน้ำตาลทราย ฤดูการผลิตปี 2561/62 ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2561 เร็วกว่าปีก่อนประมาณ 15 วัน เนื่องจากโรงงานเห็นพ้องร่วมกันว่า ด้วยปริมาณผลผลิตอ้อยเข้าหีบในปีนี้ที่คาดการณ์จะอยู่ที่ 120-125 ล้านตันลดลงเล็กน้อยจาก 135 ล้านตันในปีก่อน โดยปริมาณผลผลิตอ้อยปีหน้าอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างสูง จึงมีความเป็นไปได้ที่จะใช้เวลาหีบอ้อยนานกว่าปกติ อยู่ที่ประมาณ 140 วันต่อฤดูการผลิต ดังนั้นจึงต้องการเลื่อนวันเปิดหีบอ้อยให้เร็วขึ้น

ทั้งนี้ เหตุผลที่ต้องขอให้มีการเปิดหีบอ้อยเร็วขึ้นเนื่องจากในฤดูการผลิตที่ผ่านมา แม้โรงงานน้ำตาลจะเร่งดำเนินการหีบอ้อยเต็มที่ แต่บางโรงงานไม่สามารถปิดหีบได้ทันก่อนช่วงสงกรานต์ตามฤดูการหีบปกติและต้องกลับมาเปิดหีบอ้อยหลังสงกรานต์ เพื่อป้องกันปัญหาอ้อยตกค้างในไร่โดยบางพื้นที่พบปัญหาฝนตกในพื้นที่จัดเก็บอ้อย ทำให้ผลผลิตอ้อยเข้าหีบในช่วงท้ายฤดูการหีบของปีก่อนมีปัญหาอ้อยปนเปื้อนสูง ส่งผลต่อความสามารถการผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) ลดลงในช่วงปลายฤดูการหีบปีก่อน และเครื่องจักรหีบอ้อยของโรงงานก็ได้รับความเสียหายจากกระบวนการหีบอีกด้วย

“เราได้ทำหนังสือเพื่อเสนอวันเริ่มต้นเปิดหีบอ้อยให้แก่ สอน. ได้พิจารณา เพื่อประกาศอย่างเป็นทางการ ซึ่งทางฝ่ายโรงงานได้เตรียมพร้อมอย่างเต็มที่ในการรองรับผลผลิตอ้อยจากชาวไร่ แม้ว่าปีนี้ปริมาณอ้อยจะลดลงกว่าปีก่อน แต่จากการคาดการณ์ก็ยังถือว่ายังมีอ้อยจำนวนมากที่จะเข้าสู่กระบวนการหีบและต้องวางแผนบริหารจัดการรองรับการผลิตที่ดี เพื่อให้ได้อ้อยที่มีคุณภาพที่ดีนำมาผลิตเป็นน้ำตาลให้ได้น้ำตาลต่อตันอ้อยที่มากที่สุด” นายสิริวุทธิ์ กล่าว

ทั้งนี้ โรงงานน้ำตาลได้รณรงค์ให้ชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสด เพื่อให้คุณภาพอ้อยเข้าหีบมีค่าความหวานที่ดีรวมถึงช่วยวางแผนระบบโลจิสติกส์ในการขนส่งผลผลิตจากไร่อ้อยสู่โรงงานให้มีประสิทธิภาพ เนื่องจากการขนส่งมีข้อจำกัดด้านความสูงของรถ ทำให้ชาวไร่บรรทุกผลผลิตอ้อยต่อเที่ยวได้ลดลง

ดังนั้น โรงงานได้เตรียมการรับผลผลิตให้สอดคล้องกับกำลังการผลิตในแต่ละวัน เพื่อบริหารจัดการด้านการขนส่งผลผลิตอ้อยให้มีความคล่องตัวและเอื้อประโยชน์ต่อการช่วยลดต้นทุนการขนส่งให้แก่ชาวไร่ให้ได้มากที่สุด

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ส.น้ำตาลเร่ง สอน. เปิดหีบอ้อย 61/62 เร็วขึ้น 15 วัน

3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายร่อนหนังสือถึง สอน. ขอเปิดหีบอ้อย 61/62 เร็วกว่ากำหนด 15 วันในวันที่ 15 พ.ย. หลังคาดการณ์ผลผลิตอ้อยปีหน้าสูง ใช้เวลาเก็บเกี่ยวนาน หวั่นหากปิดหีบล่าช้าเข้าสู่ฤดูฝนกระทบคุณภาพผลผลิต

5 พ.ย. 2561 ๐ นายสิริวุทธิ์  เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์  3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย (TSMC) เปิดเผยว่า สมาคมฯ ได้ทำหนังสือเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เพื่อให้กำหนดวันเริ่มต้นวันหีบอ้อยผลิตน้ำตาลทราย ฤดูการผลิตปี 2561/62 ในวันที่ 15 พ.ย. 2561 เร็วกว่าปีก่อนประมาณ 15 วัน เนื่องจากโรงงานเห็นพ้องร่วมกันว่า ถึงปริมาณผลผลิตอ้อยเข้าหีบในปีนี้ที่คาดการณ์จะอยู่ที่ 120-125 ล้านตันลดลงเล็กน้อยจาก 135 ล้านตันในปีก่อน แต่ปริมาณผลผลิตอ้อยปีหน้าอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างสูง จึงมีความเป็นไปได้ที่จะใช้เวลาหีบอ้อยนานกว่าปกติ อยู่ที่ประมาณ 140 วันต่อฤดูการผลิต 

“ที่ต้องขอให้มีการเปิดหีบอ้อยเร็วขึ้นเนื่องจากในฤดูการผลิตที่ผ่านมา แม้โรงงานน้ำตาลจะเร่งดำเนินการหีบอ้อยเต็มที่ แต่บางโรงงานไม่สามารถปิดหีบได้ทันก่อนช่วงสงกรานต์ตามฤดูการหีบปกติและต้องกลับมาเปิดหีบอ้อยหลังสงกรานต์ เพื่อป้องกันปัญหาอ้อยตกค้างในไร่โดยบางพื้นที่พบปัญหาฝนตกในพื้นที่จัดเก็บอ้อย ทำให้ผลผลิตอ้อยเข้าหีบในช่วงท้ายฤดูการหีบของปีก่อนมีปัญหาอ้อยปนเปื้อนสูง ส่งผลต่อความสามารถการผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) ลดลงในช่วงปลายฤดูการหีบปีก่อน”นายสิริวุทธิ์ กล่าว  

อย่างไรก็ตามได้ทำหนังสือเพื่อเสนอวันเริ่มต้นเปิดหีบอ้อยให้แก่ สอน. ได้พิจารณา เพื่อประกาศอย่างเป็นทางการแล้ว ซึ่งทางฝ่ายโรงงานได้เตรียมพร้อมอย่างเต็มที่ในการรองรับผลผลิตอ้อยจากชาวไร่ แม้ว่าปีนี้ปริมาณอ้อยจะลดลงกว่าปีก่อน แต่จากการคาดการณ์ก็ยังถือว่ายังมีอ้อยจำนวนมาก ที่จะเข้าสู่กระบวนการหีบและต้องวางแผนบริหารจัดการรองรับการผลิตที่ดี รวมถึงโรงงานยังได้เตรียมการรับผลผลิตให้สอดคล้องกับกำลังการผลิตในแต่ละวัน เพื่อบริหารจัดการด้านการขนส่งผลผลิตอ้อยให้มีความคล่องตัว

จาก https://www.thaipost.net   วันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

อุทยานมิตรกาฬสินธุ์ทำบุญใหญ่เอาฤกษ์เอาชัยก่อนฤดูกาลเปิดหีบอ้อย

อุทยานมิตรกาฬสินธุ์นำพนักงานร่วมกับเกษตรกรชาวไร่อ้อยจัดกิจกรรมทำบุญเพื่อความเป็นสิริมงคลก่อนทำการเปิดหีบโยนอ้อยรับซื้อผลผลิตประจำปี 2561/62  พร้อมรณรงค์ชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสด งดการเผา ไม่มีสิ่งปลอมปน เพื่อได้ราคาดี ขณะที่ราคาซื้อเริ่มต้นที่ตันละ 900-950 บาท ตั้งเป้าอ้อยเข้าโรงงาน 5 ล้านตัน คาดเงินสะพัดสู่มือเกษตรกรมากกว่า 4,700 ล้านบาท

5 พ.ย.61 เมื่อเวลา 11.00 น. ที่โรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ ต.สมสะอาด อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ นายคนอง ศักดิ์เพ็ชร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มโรงงาน นายศิริศักดิ์ เตียเจริญกิจ ผอ.ธุรกิจไฟฟ้า นายอภิวัฒน์ บุญทวี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานอ้อย (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1) นายคมสันต์ เหล่าจูม ผอ.โรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ นายพิชัย ส่งสุขเลิศสันติ นายอำเภอกุฉินารายณ์ นายธนเสฏฐ์ ชัยสงครามธนทัต นายกเทศมนตรีเมืองบัวขาว นายบรรจง กุลอาจศรี นายก อบต.สมสะอาด ร่วมกับคณะกรรมการไตรภาคี บุคลากร พนักงานโรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ โรงงานเอทานอล และโรงไฟฟ้า ผู้นำชุมชน ตัวแทนส่วนราชการและเกษตรกรชาวไร่อ้อยกว่า 500 คนร่วมกันประกอบพิธีทำบุญตักบาตร ถวายภัตราหาร เครื่องปัจจัยไทยธรรมรับศีลรับพร และปะพรมน้ำพระพุทธมนต์ เพื่อความเป็นสิริมงคลก่อนทำการเปิดหีบโยนอ้อยรับซื้อฤดูกาลผลิตประจำปี 2561/62  ซึ่งจะเริ่มเปิดดำเนินการในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2561 นี้

 นายอภิวัฒน์ บุญทวี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานอ้อย (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1) กล่าวว่า การทำบุญใหญ่ของอุทยานมิตรกาฬสินธุ์ ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของโรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ก่อนทำการเปิดหีบหรือประเพณีโยนอ้อย รับซื้อผลผลิตอ้อยจากชาวไร่ในแต่ละฤดูกาลผลิต ที่จะต้องมีการประกอบพิธีทำบุญ เพื่อเอาฤกษ์เอาชัยให้แก่โรงงาน พร้อมมีการมอบรางวัลแก่พนักงานและชาวไร่อ้อย ที่มีผลงานดีเด่นด้านต่างๆ ทั้งนี้ เพื่อความเป็นสิริมงคล ให้กิจกรรมดำเนินการของโรงงานเป็นไปด้วยความราบรื่น และเป็นการสร้างแรงจูงใจ สร้างขวัญกำลังใจให้กับบุคลากรและชาวไร่ สมาชิกโรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ ที่อยู่เคียงข้างชาวไร่อ้อยมายาวนาน มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน และยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน นักเรียน ทำนุบำรุงพุทธศาสนา ส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณีตลอดปี

นายคมสันต์ เหล่าจูม ผอ.โรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ กล่าวว่า สำหรับฤดูกาลผลิตปี 2561/62 จะเริ่มดำเนินการเปิดหีบในวันที่ 20 พ.ย.61 ทั้งนี้ ในฤดูกาลผลิตในปี 2560/3561 ที่ผ่านมามีปริมาณอ้อยเข้าโรงงาน 4.2 ล้านตัน ซึ่งเป็นอ้อยจากเกษตรกรในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ 3.6 ล้านตัน ที่เหลือ 6 แสนตันมาจากเกษตรกรใน อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด โดยมีเฉลี่ยค่าความหวานที่ผ่านมาอยู่ที่ 14.12 ccs ถือเป็นอันดับที่ 1 ของประเทศ

 สำหรับในฤดูกาลผิดปี 2561/62 นี้จะมีอ้อยเข้าโรงงานเพิ่มขึ้นเป็น 5 ล้านตัน โดยเป็นอ้อยของเกษตรกาฬสินธุ์ 3.6 ล้านตันเท่าเดิม ส่วนอีก 1.4 ล้านตัน มาจาก จ.อำนาจเจริญ และ จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งในราคารับซื้อปีนี้อยู่ที่ ตันละประมาณ 900-950 บาท รวมค่า ccs อย่างไรก็ตาม การที่ทำให้อ้อยราคาดีที่สุดคือการตัดอ้อยสด สะอาด เข้าโรงงาน อย่าเผาอ้อยโดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้คุณภาพของอ้อยลดน้อยลงและควรปลูกอ้อยให้ครบ 12 เดือน ถึงค่อยทำการตัดขาย

นายคนอง ศักดิ์เพ็ชร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มโรงงาน กล่าวว่า สำหรับโรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์นั้น ได้เปิดดำเนินการร่วมกับพี่น้องเกษตรกรมานานกว่า 21ปี ซึ่งที่ผ่านมาทางโรงงานได้ส่งเสริมสนับสนุนเกษตรกรอย่างเต็มที่ เพื่อที่จะทำให้เกษตรกรได้ผลิตที่มีคุณภาพและเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 18 ตันต่อไร่ ค่า ccs 15 ขณะที่ปัจจุบัน ได้ผลผลิตเฉลี่ย 15 ตันต่อไร่ ค่า ccs 11.12 ซึ่งสูงเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ โดยมีชาวไร่อ้อยลงทะเบียนเป็นสมาชิกกับโรงงานจำนวน 14,000 ราย โดยราคาซื้อผลผลิตประจำปี 61 เริ่มต้นที่ตันละ 900 – 950 บาท คาดอ้อยเข้าโรงงาน 5 ล้านตัน เงินสะพัดสู่มือเกษตรกรไม่น้อยกว่า 4,700 ล้านบาท

จาก https://www.naewna.com วันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

กบง. ประกาศใช้ "ไบโอดีเซล" สัดส่วน 6.8% ตั้งแต่ 8 พ.ย. นี้!!

กบง. ประกาศใช้ "ไบโอดีเซล" สัดส่วน 6.8% ตั้งแต่ 8 พ.ย. นี้ โดยผู้ผลิตไบโอดีเซลและผู้ค้าน้ำมันจะร่วมกันซื้อน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) เริ่มซื้อเพิ่มขึ้นประมาณ 15,000 ตัน

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้มีมติในการประชุมเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2561 แผนการปรับปรุงข้อกำหนดเพื่อเพิ่มสัดส่วนผสมไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว จากร้อยละ 6.6 ในปัจจุบัน เป็นร้อยละ 6.9 ซึ่งจะสามารถช่วยดูดซับน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) เพิ่มขึ้นอีก 80,000 ตัน/ปี โดยในขั้นต้นจะบังคับใช้มาตรการเพิ่มสัดส่วนเป็น ร้อยละ 6.8 ตั้งแต่วันที่ 8 พ.ย. 2561 เป็นต้นไป โดยผู้ผลิตไบโอดีเซลและผู้ค้าน้ำมันจะร่วมกันซื้อน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) เริ่มซื้อเพิ่มขึ้นประมาณ 15,000 ตัน

นอกจากนี้ กบง. ยังได้รับรายงานจากกรมธุรกิจพลังงาน ถึงความร่วมมือจาก ขสมก. และ บขส. ในการทดลองใช้น้ำมันดีเซล B20 ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 1 เดือน โดยมีแผนงานใช้น้ำมันดีเซล B20 ในปริมาณ 7 ล้านลิตร/เดือน ส่งผลให้ประมาณการใช้น้ำมันดีเซล B20 ในเดือน ธ.ค. จะมีปริมาณเพิ่มขึ้น เป็นประมาณ 20 ล้านลิตร/เดือน

ทั้งนี้ ตามแผนงานช่วยดูดซับการผลิตน้ำมันปาลม์ดิบ (CPO) ในประเทศ ด้วยการผสมไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลหมุนเร็วในสัดส่วนสูงที่สุดนี้ จะสามารถใช้น้ำมันปาลม์ดิบ (CPO) ในน้ำมันดีเซลหมุนเร็วได้ 1.3 ล้านตัน/ปี และในน้ำมันดีเซล B20 เพิ่มขึ้นอีก 0.6 ล้านตัน/ปี รวมเป็น 1.9 ล้านตัน/ปี จากปริมาณการผลิตน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ในประเทศประมาณ 2.5 ล้านตัน/ปี

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

พาณิชย์เผยสมาชิก CPTPP 6 ประเทศ ได้ให้สัตยาบันตกลง CPTPP แล้ว เริ่มนับถอยหลัง 60 วัน ก่อนมีผลบังคับใช้

พาณิชย์เผยสมาชิก CPTPP 6 ประเทศ ได้ให้สัตยาบันตกลง CPTPP แล้ว เริ่มนับถอยหลัง 60 วัน ก่อนมีผลบังคับใช้ ด้านพาณิชย์เร่งประเมินผลกระทบ ก่อนเสนอระดับนโยบายพิจารณาการเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP ของไทยต่อไป

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2561 ออสเตรเลีย เป็นประเทศลำดับที่ 6 ที่ได้ให้สัตยาบันความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) และยื่นต่อนิวซีแลนด์ ในฐานะประเทศผู้เก็บรักษาสนธิสัญญาอย่างเป็นทางการ ส่งผลให้ปัจจุบันมีประเทศสมาชิก CPTPP ที่ให้สัตยาบันความตกลงฯ แล้วทั้งสิ้น 6 ประเทศ ได้แก่ เม็กซิโก ญี่ปุ่น สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ แคนาดา และออสเตรเลีย ซึ่งตามเงื่อนไขความตกลง CPTPP จะมีผลใช้บังคับ 60 วัน หลังมีสมาชิกอย่างน้อย 6 ประเทศ จาก 11 ประเทศ ให้สัตยาบัน ดังนั้น จึงทำให้ความตกลง CPTPP จะเริ่มมีผลใช้บังคับตรงกับวันที่ 30 ธันวาคม 2561

สำหรับการเตรียมการของไทยที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานเตรียมการพิจารณาเข้าร่วมความตกลง CPTPP ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประเมินผลประโยชน์ และผลกระทบต่อการเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP ของไทย รวมถึงได้เดินสายจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนในทั่วทุกภูมิภาคเกี่ยวกับความตกลง CPTPP โดยได้จัดสัมมนารับฟังความเห็นไปแล้วทั้งสิ้น 5 ครั้ง ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค ในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน 2561 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมทั้งหมดกว่า 1,400 คน ครอบคลุมผู้เข้าร่วมสัมมนาจาก 40 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งในภาพรวมภาคเอกชนสนับสนุนการเข้าร่วม CPTPP โดยเสนอให้เตรียมความพร้อมและศักยภาพผู้ประกอบการ ขณะเดียวกัน บางภาคส่วน เช่น เกษตรกร ภาคประชาสังคม ยังมีความกังวลในบางประเด็น เช่น การเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญา UPOV1991 การเปิดตลาดการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ และความสามารถในการแข่งขันของไทย เป็นต้น ซึ่งจำเป็นจะต้องหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมผู้ได้รับผลกระทบ เพื่อให้มั่นใจว่าหากไทยตัดสินใจเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP ในอนาคต ก็จะต้องเกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศ และมีมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงการค้าเสรีดังกล่าว

นายสนธิรัตน์กล่าวอีกว่า กระทรวงพาณิชย์มีกำหนดจัดประชุมคณะทำงานเตรียมการพิจารณาเข้าร่วมความตกลง CPTPP ซึ่งตนเป็นประธานในเดือนพฤศจิกายนนี้ เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ได้นำเสนอความเห็นผลการวิเคราะห์ประโยชน์และผลกระทบการเข้าเป็นสมาชิกความตกลง CPTPP ของไทย เพื่อรวบรวมข้อมูลเสนอรองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) พิจารณาแนวทางดำเนินการของไทยในเรื่องนี้ต่อไป

ทั้งนี้ ความตกลง CPTPP เป็นความตกลงการค้าเสรีที่ครอบคลุมกว้าง ทั้งเรื่องการเปิดตลาดการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน การเคลื่อนย้ายธุรกิจชั่วคราว การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ และประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้า เช่น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ทรัพย์สินทางปัญญา นโยบายการแข่งขัน แรงงาน และสิ่งแวดล้อม โดยมีสมาชิกทั้งหมด 11 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู เม็กซิโก ญี่ปุ่น บูรไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ล่าสุดมีประเทศที่แสดงความสนใจเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP เพิ่ม เช่น อังกฤษ เกาหลี จีนไทเป (ไต้หวัน) โคลอมเบีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

“สมคิด” ยกจีนแกนนำฝ่าสงครามการค้าเสรี โชว์นักธุรกิจทั่วโลก เศรษฐกิจไทยแข็ง 3 เด้ง

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษภายในงาน Hongqiao International Economic and Trade Forum: Session on Trade and Investment ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงาน China International Import Expo (CIIE)2018 ที่ นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 5 พย. 61 ว่าการจัดงานของจีนในครั้งนี้มีความสําคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะเป็นโอกาสที่ผู้แทนภาคเอกชนรายใหญ่ นักลงทุนระหว่างประเทศและผู้กําหนดนโยบายทั้งของจีนและต่างประเทศได้มารวมตัวกันเพื่อหารือ และแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์เกี่ยวกับทิศทางการค้าและการพัฒนาทางเศรษฐกิจแล้วยังมีความสําคัญในอีก 2 นัย คือ ความสําคัญเชิงสัญลักษณ์ (Symbolic Importance) และความสําคัญทางยุทธศาสตร์(StrategicImportance)

นายสมคิด เชื่อว่า ภูมิเศรษฐศาสตร์ของโลกทุกวันนี้กำลังเปลี่ยนไปในทิศทางที่ทําให้เราต้องเผชิญกับสภาวะแห่งความไม่แน่นอน (uncertainties) อาจนําไปสู่วิกฤตศรัทธา (faith crisis) ซึ่งอาจกระทบการลงทุนได้

อย่างไรก็ตาม จีนมีบทบาทและมีความพยายามที่จะสร้างความสมดุลในสภาวะที่เศรษฐกิจโลกกําลังเผชิญความท้าทาย และความผันผวนทางเศรษฐกิจที่เกิดจากปัจจัยต่างๆ ในห้วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 5 ปีหลังนับตั้งแต่ท่านประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้ประกาศยุทธศาสตร์ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (one belt one road) ซึ่งปัจจุบันก้าวไปอย่างมากและน่าชื่นชม

“ขณะที่โลกกําลังเผชิญหน้ากับความท้าทายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ จีนเข้ามามีบทบาทในเชิงประจักษ์ในการส่งเสริมระบบการค้าที่เสรี (Free) และเสมอภาค (Fair) ภายใต้ระบบทุนนิยมและการเจรจาการค้าพหุภาคีที่ครอบคลุม(Inclusive) และเท่าเทียม (Equitable) เพื่อให้ประชาคมระหว่างประเทศเกิดความมั่นใจและฟื้นฟูศรัทธาของระบบการค้า จนสามารถกก้าวขึ้นมาเป็นเสาหลักทางเศรษฐกิจ และเป็นหัวจักรที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกในหลายด้าน ประเทศไทยขอยืนยันเจตนารมณ์ที่จะสนับสนุนบทบาทของจีน ในฐานะมิตรแท้และหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาในทุกมิติ” นายสมคิดกล่าว

นายสมคิดกล่าวต่อว่าในภาวะความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน ตนเสนอให้จีนใช้การพัฒนาความเชื่อมโยง (Connectivity) ซึ่งปัจจุบันได้กลายมาเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพที่สุด ในการดําเนินนโยบายต่างประเทศเป็นกลไกหลักในการพัฒนาภูมิภาค ไทยเองได้แสดงเจตนารมณ์ที่ชัดเจนที่จะส่งเสริมความเชื่อมโยงเพื่อการพัฒนาในอนุภูมิภาค และภูมิภาคมาโดยตลอด โดยไทยจะอาศัยจุดแข็ง ในด้านทําเลที่ ตั้งที่ อยู่ในจุดยุทธศาสตร์สําคัญ อยู่ใจกลางของภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นตัวเชื่อม(Connector) ระหว่างระเบียงเศรษฐกิจเหนือ – ใต้ และตะวันออก – ตะวันตก และเชื่อมเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ ตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้ ซึ่งเป็นสามภูมิภาคที่สร้างพลวัตให้กับเศรษฐกิจโลก

ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ไทยจะรับตําแหน่งประธานอาเซียนซึ่งแน่นอนว่าไทยจะผลักดันการพัฒนาความเชื่อมโยงในภูมิภาคต่อไป ทั้งภายใต้อาเซียน และผ่านกรอบความร่วมมือที่ไทยมีบทบาทร่วมนอกจากนี้ตนเชื่อว่า หากเราสามารถเชื่อมโยงความร่วมมือทางเศรษฐกิจจากเขตสามเหลี่ยมเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำแยงซี ต่อไปยังเขตสามเหลี่ยมลุ่มแม่น้ำจูเจียง (PPRD) ที่เปรียบเสมือนท้องมังกร และเขตอ่าวกวางตุ้ง -ฮ่องกง – มาเก๊ า (GBA) ที่เป็นดังหัวมังกร เชื่อมเข้ากับไทย โดยเฉพาะ EEC ต่อไปยัง ACMECS ได้ ก็จะทําให้จีนและอาเซียนสามารถประสานพลังกันได้ และจะก่อเกิดศูนย์กลางที่ผลักดันความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคต่อไปได้อย่างแน่นอน

“ไทยพร้อมจะสนับสนุนบทบาทของจีน เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ประชาคมเศรษฐกิจโลก ขณะนี้ไทยเองก็อยู่ระหว่างการสร้างความเข้มแข็งและยกระดับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของเรา ด้วยการดําเนินนโยบายภายใต้ Thailand 4.0 และการเดินหน้าไปสู่ยุคเศรษฐกิจรูปแบบใหม่หรือยุคเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อให้ประเทศไทยก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง และเข้าสู่การเป็นประเทศที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังตามนโยบายของท่านนายกรัฐมนตรี “

นายสมคิดระบุว่า เวลานี้สภาวะเศรษฐกิจไทยมีการพัฒนาไปในทิศทางบวก และมีแนวโน้มดีขึ้นตามลําดับ สะท้อนได้จากพัฒนาการ 3 ด้านได้แก่ 1.เศรษฐกิจไทยได้ก้าวข้ามจากสภาพถดถอยเข้าสู่สภาพที่ฟื้นตัวได้ เป็นอย่างดี การเติบโตทางเศรษฐกิจไต่ระดับตั้งแต่ 0.9% เมื่อปี 2014 ขึ้นสู่ 4.8 % ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้และคาดว่า การเติบโตของทั้งปี 2018 น่าจะสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ในขณะที่ดัชนีทางเศรษฐกิจด้านต่าง ๆ ล้วนแสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจไทยทั้งสิ้น”

ประเด็นที่ 2.รัฐบาลไทยกําลังดําเนินโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ทั่วประเทศ มีโครงการขนาดใหญ่ที่อยู่ระหว่างดําเนินการจํานวนมาก นอกจากนี้ ไทยยังเร่งขับเคลื่อนการลงทุนด้านดิจิทัลและสนับสนุนให้ประเทศต่าง ๆ มาร่วมลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ทั้ง Internet Broadband เคเบิ้ลใต้น้ำเชื่อมกับฮ่องกงและจีนBig Data AI และ e-Commerce ไปจนถึงการพัฒนา e-Government เหล่านี้ล้วนสอดคล้องกับกระแสโลกในเวลานี้ ซึ่งไทยตระหนักดีและไม่เพียงแต่ต้องการจะพัฒนาตัวเองเท่านั้น ยังต้องการร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ด้วย ที่ผ่านมา บริษัทต่างชาติรายใหญ่หลายราย รวมถึงของจีน ต่างตัดสินใจเลือกไปลงทุนในกิจการสมัยใหม่เหล่านี้ที่ไทย เพราะเห็นประโยชน์ที่จะเดินหน้าร่วมไปกับไทย และใช้ความเข้มแข็งของฐานธุรกิจในไทยขยายขอบเขตไปถึงระดับภูมิภาค

ประการที่ 3. การลงทุนและการส่งออก ต้องกล่าวเลยว่า ประเทศไทยได้รับความสนใจจากเอกชนทั่วโลกอย่างกว้างขวาง คําขอรับสิทธิประโยชน์จากการส่งเสริมการลงทุนได้เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัวในช่วง 2 ปีมานี้ และคาดว่าปีนี้ จะมีมูลค่าสูงถึง 21,000 ล้านดอลาร์ ด้านการส่งออก ก็เติบโตกว่าร้อยละ 9 เมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งเป้นผลมาจากนโยบาย “ประเทศไทย 4.0” ที่มุ่งเปลี่ยนโฉมเศรษฐกิจไทยด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม โครงการสําคัญที่กําลังนําพาประเทศไทยไปสู่ยุค 4.0 คือ โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือที่เป็นที่รู้จักกันดีในชื่อ Eastern Economic Corridor (EEC) ซึ่งเป็นโครงการสําคัญที่กําลังรุดหน้าไปอย่างน่าพอใจ

สำหรับใน EEC จะมี การลงทุนสูงถึง 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยได้เดินหน้าส่งเสริมการลงทุนใน EEC อย่างเต็มที่ทั้งในด้านกฎหมายรองรับและการอํานวยความสะดวกด้านการลงทุนอย่างครบวงจร รวมถึงมอบสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ทําให้การลงทุนจากต่างประเทศใน EEC เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้มีนักลงทุนต่างชาติยื่นคําขอรับสิทธิประโยชน์การลงทุนแล้ว 822 โครงการ มูลค่าเกือบ 20,000 ล้านดอลลาร์และไทยยินดีตอนรับนักลงทุนจากประเทศต่าง ๆ เข้ามาร่วมกันสร้างโอกาสและประโยชน์จากเขต EEC ต่อไป

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ห่วงมะกันตัด GSP กระทบส่งออกไทยปีหน้า

เอกชนห่วงไทยถูกสหรัฐฯ ตัดจีเอสพีสินค้า 11 รายการกระทบยอดส่งออกปีหน้าแนะหน่วยงานรัฐเร่งเปิดกรอบเจรจาการค้าช่วย พาณิชย์เผยเป็นการถูกตัดสิทธิมากสุดรอบ 10 ปี

นางสาวกัญญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากที่สหรัฐอเมริกาได้ออกประกาศผลการพิจารณาโครงการทบทวนสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร(GSP)ประจำปี 2560 โดยได้ตัดสิทธิจีเอสพีสินค้าจาก 15 ประเทศ ซึ่งรวมทั้งไทย เนื่องจากมีส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯเกิน 50% หรือมีมูลค่าการนำเข้าเกิน 180 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี ซึ่งในส่วนของไทยถูกตัดสิทธิ 11 รายการ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 เป็นต้นไปนั้น จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในกลุ่มสินค้าที่ถูกตัดสิทธิแน่นอน

การถูกตัดสิทธิครั้งนี้กลายเป็นว่าไทยโดน 2 ต่อ คือ ทั้งค่าเงินบาทที่ยังผันผวนแม้ว่าจะอ่อนค่าแต่ก็ยังไม่เพียงพอในการเพิ่มขีดแข่งขันเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่ค่าเงินอ่อนค่ามากกว่า ทำให้ยังเสียเปรียบในการแข่งขัน ซึ่งภาพรวมค่าเงินบาทไทยอ่อนค่าลงมาแค่ 2% นับจากต้นปี ในขณะที่อินโดนีเซียอ่อนค่าเพิ่มเป็น 12% ฟิลิปปินส์อ่อนค่าเพิ่มเป็น 7% ออสเตรเลียที่เป็นคู่ค้ากับไทยอ่อนค่าเพิ่มอีก10% จีนค่าเงินอ่อนลง 7% หรือแม้แต่อียูที่มีค่าเงินอ่อนลง 5-6% ดังนั้นแม้ว่าค่าเงินบาทไทยจะอ่อนตัวลงแต่ถ้าเทียบกับประเทศอื่นถือว่ายังอ่อนน้อยกว่า ยิ่งสหรัฐฯ มาตัดสิทธิ GSP อีกถือว่าไทยเจอ 2 ต่อ

 “ดังนั้นผู้ประกอบการต้องแข่งขันในเรื่องของคุณภาพ การพัฒนาสินค้า เพื่อให้แข่งขันได้ ส่วนภาครัฐเอกชนเองเคยเสนอให้เร่งมีการเจรจากรอบการค้าต่างๆ ซึ่งในระยะยาวจะช่วยให้ไทยสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้”

สำหรับสินค้าไทยที่ถูกตัดสิทธิ GSP 11 รายการครั้งนี้ มีมูลค่าเท่ากับ 46 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ประกอบด้วยดอกกล้วยไม้สดทุเรียนสด มะละกอตากแห้งมะขามตากแห้งข้าวโพดปรุงแต่ง ผลไม้/ถั่วแช่อิ่ม มะละกอแปรรูป แผ่นไม้ปูพื้น เครื่องพิมพ์ เครื่องซักผ้าขาตั้งกล้องถ่ายรูป

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นทั้งข่าวดีและข่าวร้าย โดยข่าวร้ายคือทำให้สินค้าที่ถูกตัดสิทธิต้องเสียภาษีนำเข้าที่ 1-8% ส่วนข่าวดีคือแสดงว่าสินค้าของไทยได้รับความนิยมในตลาดสหรัฐฯ อย่างมาก ซึ่งการถูกตัดสิทธิครั้งนี้ถือว่ามากสุดในรอบ 10 ปี

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ส่งออกไทยปี 61ส่อหลุดเป้า 8%

โค้งท้ายต้อง2.1หมื่นล.ดอลล์/เดือนลุ้นสหรัฐฯนำเข้าเพิ่ม

สรท.ชี้ส่งออกไทยปี 61 โต 8-9% หืดจับ ระบุ 3 เดือนสุดท้ายเฉลี่ยต้องทำให้ได้สูงถึง 21,958-22,747 ล้านดอลล์ต่อเดือน ลุ้นสหรัฐฯนำเข้าเพิ่มโค้งสุดท้าย ประสานเสียงสภาอุตฯ ปีหน้าส่งออกไทยโตไม่เกิน 5%

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุการส่งออกของไทยในปี 2561 อาจขยายตัวไม่ถึง 9% ตามที่ธปท.ประเมินไว้ (9 เดือนแรกปีนี้ส่งออกไทยมีมูลค่า 189,729.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯขยายตัว 8.1%)ว่า การขยายตัว 9% อาจจะยาก แต่การขยายตัวที่ 8% ยังมีโอกาสเป็นไปได้

ทั้งนี้หากจะขยายตัวที่ 9% ในอีก 3 เดือนที่เหลือของปีนี้ การส่งออกของไทยจะต้องทำได้เฉลี่ยที่ 22,747 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อเดือน หากขยายตัวที่ 8% ต้องทำให้ได้ 21,958 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อเดือน และขยายตัว 7% ต้องทำให้ได้ 21,169 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อเดือน (สถิติส่งออกไทยช่วง 3 เดือนสุดท้ายปี 2560 มีมูลค่า 61,178.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเฉลี่ย 20,392.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อเดือน)

 “สถิติในปีที่ผ่านมาช่วงไตรมาสสุดท้าย การส่งออกในเดือนพฤศจิกายนจะขยายตัวมากที่สุด เพราะคู่ค้าเร่งนำเข้าเพื่อไปจำหน่ายในช่วงคริสต์มาส ปีใหม่ รวมถึงอาจยาวถึงตรุษจีน ส่วนเดือนตุลาคมและธันวาคมจะขยายไม่มาก โดยปัจจัยลบคือสงครามการค้าที่จีนมีแนวโน้มลดการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปจากไทยไปผลิตส่งออกต่อลดลง แต่มองว่ามีปัจจัยบวกจากเศรษฐกิจและกำลังซื้อของสหรัฐฯที่ดีขึ้น เห็นได้จากดัชนีความเชื่อมั่นสหรัฐฯพุ่งสูงสุดในรอบ 18 เดือนมีโอกาสที่สหรัฐฯจะนำเข้าเพิ่มขึ้น ทั้งปีนี้ สรท.ยังคงคาดการณ์ส่งออกไว้ที่ 8% จะปรับหรือไม่ต้องรอดูตัวเลขส่งออกเดือนที่เหลืออีกครั้ง”

ส่วนคาดการณ์ส่งออกของไทยในปี 2562 เบื้องต้น สรท.คาดจะขยายตัวได้ที่ 5% (จากเป้าหมายของกระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าไว้ที่ 8%) มีปัจจัยลบจากสงครามการค้าหากยังยืดเยื้อจะเริ่มส่งผลมากขึ้น และจะมีผลต่อซัพพลายเชนของโลก, ความผันผวนการเงินโลก เงินบาทยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (Emerging Market) ทำให้เสียเปรียบในการแข่งขัน และต้นทุนนํ้ามันยังผันผวนในทิศทางเพิ่มสูงขึ้นจากการควํ่าบาตรอิหร่านของสหรัฐฯ

ส่วนปัจจัยบวก ไทยมีโอกาสจากสงครามการค้า เช่น การส่งเสริมสินค้าใหม่ๆ ที่ไทยมีศักยภาพไปยังภูมิภาคแอฟริกา ตะวันออกกลาง และเอเชียใต้, ส่งเสริมการจัดโรดโชว์ไปเจาะตลาดสำคัญๆ ที่ยังมีโอกาสขยายตัวอีกมาก ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ และไต้หวัน ขณะที่ไทยอาจได้รับอานิสงส์จากการย้าย/ขยายฐานการผลิตของผู้ประกอบการจากจีนและสหรัฐฯเข้ามาในกลุ่มอาเซียนมากขึ้น โดยจะสามารถซัพพลายทั้งสินค้าวัตถุดิบ กึ่งวัตถุดิบ และสินค้าสำเร็จรูปเข้าไปรองรับการผลิตจากการย้ายฐานในครั้งนี้

อย่างไรก็ดียังมีปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการค้าของไทยที่ต้องจับตามอง 6 ปัจจัยได้แก่ 1.การเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ ซึ่งหากพรรครีพับลิกันชนะสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนก็จะยืดเยื้อ จะส่งผลกระทบต่อไทยทั้งด้านบวกและด้านลบ 2. การเลือกตั้งภายในของไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ที่จะมีผลต่อความเชื่อมั่นของคู่ค้า 3.สถานการณ์การเมืองในตะวันออกกลางต่อราคานํ้ามันและกำลังซื้อกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง 4.ความกังวลเรื่องอิตาลีถูกลดอันดับเครดิต ทางสหภาพยุโรป (อียู) ได้แสดงท่าทีที่จะไม่อนุมัติงบประมาณขาดดุลของอิตาลีที่อาจส่งผล กระทบต่อเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป (อียู) ในภาพรวม 5.ตลาดทุนทั่วโลกกำลังเผชิญกับแรงเทขาย เหตุจากเริ่มเห็นผลกระทบเป็นวงกว้างต่อการชะลอตัวทางเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน และ 6.การเมืองโลกเข้มข้นเรื่อยๆ ทั้ง เบรกซิท อิตาลี สหรัฐฯ-อิหร่าน สหรัฐฯ-รัสเซีย และสหรัฐฯ-จีน

ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในปีหน้าหากสงครามการค้ายังคงยืดเยื้อหรือทวีความรุนแรงจะส่งผลให้บรรยากาศการค้าโลกชะงักงัน ซึ่งหลายสำนักพยากรณ์รวมถึง ส.อ.ท.คาดการส่งออกไทยปี 2562 จะขยายตัวได้ไม่เกิน 5%

นายสมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กล่าวว่า ยังคาดการณ์ยากว่าการส่งออกไทยปีหน้าจะขยายตัวได้มากน้อยเพียงใด แต่จะขยายตัวลดลงจากปีนี้แน่นอน โดยปัจจัยลบที่สำคัญคือสงครามการค้าที่คาดว่านายโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯจะขยายวงทำสงครามและเจรจาการค้าที่เข้มข้น ไปยังคู่ค้าอื่นที่ได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐฯมาก เช่น อียู ญี่ปุ่นที่ได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐฯในปีที่ผ่านมา 1.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ 7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯตามลำดับ และจะกระทบบรรยากาศการค้าโลกหดตัวลง

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

'พาณิชย์' เผย CPTPP มีผลใช้บังคับสิ้นปีนี้! พร้อมเดินหน้าหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประเมินประโยชน์-ผลกระทบ

'พาณิชย์' เผย ความตกลง CPTPP มีผลใช้บังคับสิ้นปีนี้ พร้อมเดินหน้าหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประเมินประโยชน์-ผลกระทบอย่างรอบด้าน ก่อนเสนอระดับนโยบายพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมของไทย

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2561 ออสเตรเลียเป็นประเทศลำดับที่ 6 ที่ได้ให้สัตยาบันความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) และยื่นต่อนิวซีแลนด์ ในฐานะประเทศผู้เก็บรักษาสนธิสัญญาอย่างเป็นทางการ ส่งผลให้ปัจจุบันมีประเทศสมาชิก CPTPP ที่ให้สัตยาบันความตกลงฯ แล้วทั้งสิ้น 6 ประเทศ ได้แก่ เม็กซิโก ญี่ปุ่น สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ แคนาดา และออสเตรเลีย ซึ่งตามเงื่อนไขความตกลง CPTPP จะมีผลใช้บังคับ 60 วัน หลังมีสมาชิกอย่างน้อย 6 ประเทศ จาก 11 ประเทศให้สัตยาบัน ดังนั้น จึงทำให้ความตกลง CPTPP จะเริ่มมีผลใช้บังคับตรงกับวันที่ 30 ธ.ค. 2561

สำหรับการเตรียมการของไทยที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานเตรียมการพิจารณาเข้าร่วมความตกลง CPTPP ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประเมินผลประโยชน์ และผลกระทบต่อการเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP ของไทย รวมถึงได้เดินสายจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนในทั่วทุกภูมิภาคเกี่ยวกับความตกลง CPTPP โดยได้จัดสัมมนารับฟังความเห็นไปแล้วทั้งสิ้น 5 ครั้ง ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค ในช่วงเดือน ส.ค. - ก.ย. 2561 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมทั้งหมดกว่า 1,400 คน ครอบคลุมผู้เข้าร่วมสัมมนาจาก 40 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งในภาพรวมภาคเอกชนสนับสนุนการเข้าร่วม CPTPP โดยเสนอให้เตรียมความพร้อมและศักยภาพผู้ประกอบการ ขณะเดียวกันบางภาคส่วน เช่น เกษตรกร ภาคประชาสังคม ยังมีความกังวลในบางประเด็น เช่น การเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญา UPOV1991 การเปิดตลาดการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ และความสามารถในการแข่งขันของไทย เป็นต้น ซึ่งจำเป็นจะต้องหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมผู้ได้รับผลกระทบ เพื่อให้มั่นใจว่าหากไทยตัดสินใจเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP ในอนาคต ก็จะต้องเกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศ และมีมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงการค้าเสรีดังกล่าว

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์มีกำหนดจัดประชุมคณะทำงานเตรียมการพิจารณาเข้าร่วมความตกลง CPTPP ซึ่งตนเป็นประธานในเดือน พ.ย. นี้ เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ ได้นำเสนอความเห็นผลการวิเคราะห์ประโยชน์และผลกระทบการเข้าเป็นสมาชิกความตกลง CPTPP ของไทย เพื่อรวบรวมข้อมูลเสนอ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พิจารณาแนวทางดำเนินการของไทยในเรื่องนี้ต่อไป

สำหรับความตกลง CPTPP เป็นความตกลงการค้าเสรีที่ครอบคลุมกว้าง ทั้งเรื่องการเปิดตลาดการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน การเคลื่อนย้ายธุรกิจชั่วคราว การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ และประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้า เช่น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ทรัพย์สินทางปัญญา นโยบายการแข่งขัน แรงงาน และสิ่งแวดล้อม โดยมีสมาชิกทั้งหมด 11 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู เม็กซิโก ญี่ปุ่น บูรไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ล่าสุด มีประเทศที่แสดงความสนใจเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP เพิ่ม เช่น อังกฤษ เกาหลี จีนไทเป (ไต้หวัน) โคลอมเบีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ก.เกษตรฯ เร่งขยายผลเกษตรทฤษฎีใหม่

ก.เกษตรฯ เดินหน้าขับเคลื่อนศาสตร์พระราชา ขยายเครือข่ายเกษตรทฤษฎีใหม่ให้ครอบคลุมทั้งประเทศปีละ 70,000 ราย

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานแถลงจัดงาน “สู่ฝันของพ่อ..สานต่อเกษตรทฤษฎีใหม่” ระหว่างวันที่ 7-9 พฤศจิกายนนี้ วัดมงคลชัยพัฒนา อำเภอเฉลิมพระเกียรติจังหวัดสระบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่แรกที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร ทรงทำแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งแบ่งการใช้พื้นที่เป็น 4 ส่วน โดยเป็นแหล่งน้ำร้อยละ 30 ปลูกข้าวร้อยละ 30 ปลูกไม้ยืนต้น ไม้ผล พืชไร่ พืชผักร้อยละ 30 และปลูกที่อยู่อาศัยร้อยละ 10 จึงมอบหมายกรมชลประทานจัดนิทรรศการความเป็นมาของเกษตรทฤษฎีใหม่ศาสตร์พระราชากับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติมาจัดแสดงในงานครั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้รับชมนิทรรศการประมวลภาพการเสด็จเยือนเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ที่มาในรูปแบบ “หุ่นจำลองมีชีวิต” บ้านลุงสมจิต : ฐานเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่แห่งแรก การพัฒนาเกษตรทฤษฎีใหม่ประยุกต์

นอกจากนี้ มีการเสวนาเรื่องความเป็นมา กลับสู่รากเหง้า เกษตรทฤษฎีใหม่แห่งแรก Tentative Formula สู่โคก หนอง นา โมเดล โดยมีนายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน มาร่วมพูดคุย และกรมชลประทานได้จัดให้มีการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ (Workshop) เร่งรัดขยายผลโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อนำเสนอแนวทางการสนับสนุนที่จำเป็นต่อภาครัฐและได้พบกับเครือข่ายต่าง ๆ ที่น้อมนำเอาเกษตรทฤษฎีใหม่ไปประยุกต์ใช้กับพื้นที่การเกษตรของตนเองจนประสบความสำเร็จ สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้ด้านเกษตรทฤษฎีใหม่ กิจกรรมเดินชมแปลงตัวอย่างเกษตรทฤษฎีใหม่แบบประยุกต์ (โคก หนอง นา โมเดล)

นายกฤษฎา กล่าวว่า ที่ผ่านมามีเกษตรกรจำนวนมากประสบผลสำเร็จจากการนำแนวความคิดเกษตรทฤษฎีใหม่ไปปรับใช้สามารถปลดหนี้สิน ครอบครัวมีความสุขบนพื้นฐานของความพอเพียง กระทรวงเกษตรฯ จึงมีเป้าหมายขยายผลทฤษฎีใหม่ให้ครอบคลุมทั้งประเทศปีละ 70,000 ราย ใน 882 อำเภอ เฉลี่ยอำเภอละ 80 ราย เพื่อเป็นต้นแบบของการยกระดับคุณภาพชีวิต โดยจากนี้ไปกระทรวงเกษตรฯ มีแนวทางสนับสนุนเกษตรกรที่สนใจให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยจากการที่ได้ส่งเสริมให้ทดลองทำเกษตรทฤษฎีใหม่แล้วพบว่า พื้นที่เพียง 1 ไร่สามารถทำได้ ลงทุนปีแรก 70,000 บาทต่อไร่ รายได้กลับคืน 100,000 บาท ได้กำไรไร่ละ 30,000 บาท จากนั้นปีต่อมาค่าลงทุนต่อไร่จะลดลง เนื่องจากเมื่อมีแหล่งน้ำและปรับพื้นที่แล้ว ค่าต้นทุนจะลดลง ทั้งนี้ รัฐบาลสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสามารถกู้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) อัตราดอกเบี้ยต่ำและกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งรัฐบาลเพิ่มให้เป็นหมู่บ้านละ 2 ล้านบาท โดยมีหน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ พร้อมให้คำแนะนำทั้งด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ พัฒนาดิน รวมถึงความรู้ในการทำการเกษตรทุกด้าน

ด้านนายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทานเป็นหน่วยงานหลักที่เป็นแหล่งข้อมูลความรู้เรื่องน้ำ ซึ่งปัจจัยสำคัญหลักในการทำการเกษตร อีกทั้งได้น้อมนำศาสตร์พระราชามาใช้ตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจุบันขยายพื้นที่เกษตรทฤษฎีใหม่ทั้งในและนอกเขตชลประทานเพิ่มขึ้น และได้วางเป้าหมายที่จะขยายผลเกษตรทฤษฎีใหม่ให้กว้างขวางออกไปมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเป็นแนวทางที่จะพัฒนาการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นวิธีที่เน้นการอนุรักษ์ทรัพยากรดิน ทรัพยากรน้ำ การเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำ เป็นหลัก จากนั้นรายได้เกษตรกรจึงจะเพิ่มขึ้นและช่วยให้หนี้สินลดลงตามมา

สำหรับนิทรรศการเกษตรทฤษฎีใหม่ในงาน “สู่ฝันของพ่อ..สานต่อเกษตรทฤษฎีใหม่” จะมีจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งกรมประมง กรมหม่อมไหม กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กรมปศุสัตว์ เกษตรและสหกรณ์ จังหวัด และศูนย์วิจัยพันธุ์ข้าว ซึ่งจะเป็นแหล่งความรู้แก่เกษตรกรร่วมสืบสานศาสตร์ของพระราชาไปอย่างกว้างขวางต่อไป

จาก https://tna.mcot.net   วันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

เปิดผลสำรวจนาแปลงใหญ่ตะวันตก เกษตรกรเต้นทุนลด-ผลตอบแทนพุ่ง

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จากการศึกษาต้นทุนการผลิตข้าวแบบแปลงใหญ่ในพื้นที่ภาคตะวันตก ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 10 จังหวัดราชบุรี (สศท.10) ได้รวบรวมข้อมูลใน จ.กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี และเพชรบุรี พบว่าต้นทุนเฉลี่ยการผลิตข้าวของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ตั้งแต่ปี 2559/2560 ต่ำกว่าเกษตรกรที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ โดยต้นทุนเฉลี่ยของการผลิตข้าวของเกษตรกรในพื้นที่ส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่อยู่ที่ 3,676 บาท/ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 839.70 กิโลกรัม/ไร่ ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 2,327 บาท/ไร่ ในขณะที่ต้นทุนเฉลี่ยของเกษตรกรที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการอยู่ที่ 4,105 บาท/ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 808 กิโลกรัม/ไร่ ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 1,576 บาท/ไร่

ทั้งนี้ ต้นทุนส่วนใหญ่ลดลงจากค่าวัสดุอุปกรณ์ เช่น เมล็ดพันธุ์ ค่าปุ๋ย และสารเคมี โดยที่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการมีอัตราการใช้เมล็ดพันธุ์เฉลี่ย 23.11 กิโลกรัม/ไร่ มีการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ร้อยละ 74 รวมกลุ่มกันเพื่อจัดทำปุ๋ยชีวภาพเพื่อลดต้นทุน ร้อยละ 84 มีการรวมกลุ่มกันซื้อปัจจัยการผลิตเพื่อให้ได้ราคาที่ถูกลง ร้อยละ 80 และทุกคนได้รับการอบรมความรู้ด้านการเกษตรจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่เสมอ ในขณะที่เกษตรกรที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ มีอัตราการใช้เมล็ดพันธุ์เฉลี่ย 25.89 กิโลกรัม/ไร่ มีการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ร้อยละ 11 มีการรวมกลุ่มกันเพื่อจัดทำปุ๋ยชีวภาพ ร้อยละ 9 รวมกลุ่มกันซื้อปัจจัยการผลิต ร้อยละ 3 และได้รับการอบรมด้านการเกษตร ร้อยละ 40 ส่งผลให้การใช้ปัจจัยการผลิตของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการว่ามีความเหมาะสมมากกว่าเกษตรกรที่ไม่เข้าร่วมโครงการ

อย่างไรก็ตาม ควรส่งเสริมให้เกษตรกรที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ ให้ความสำคัญกับการลดต้นทุนการผลิต ไม่ว่าจะเป็นการลดอัตราการใช้เมล็ดพันธุ์ การลดการใช้สารเคมี ปรับลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมี โดยการใช้ปุ๋ยเคมีตามค่าวิเคราะห์ดิน ส่งเสริมการรวมตัวกันผลิตเป็นกลุ่ม ซึ่งสามารถลดต้นทุนค่าแรงงานลงได้ และควรส่งเสริมให้เกษตรกรจดบันทึกข้อมูลการผลิต รายรับ-รายจ่าย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการนำข้อมูลมาปรับปรุงเพื่อลดต้นทุนการผลิต และได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดี

จาก https://www.naewna.com วันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ส.อ.ท.ไม่วางใจ! ตั้งคณะทำงานศึกษาสงครามการค้ารับมือปี’62

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ส.อ.ท.ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาผลกระทบจากสงครามการค้าเพื่อสรุปเป็นรายอุตสาหกรรม เบื้องต้นพบว่ามีทั้งผลบวกและลบขึ้นอยู่กับประเภทอุตสาหกรรมเป็นหลัก อย่างไรก็ตามภาวะสงครามการค้ามีผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวในปี2562 ดังนั้นภาพรวมผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์เพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงอย่างใกล้ชิด มาตรการหนึ่งที่ส.อ.ท.มองไว้รองรับคือการโครงการ เมด อิน ไทยแลนด์ ที่จะเสนอรัฐบาลให้กำหนดเป็นวาระแห่งชาติเพื่อสนับสนุนภาครัฐและคนไทยใช้สินค้าไทย

“ไทยกำลังเข้าสู่โหมดเลือกตั้งในปี 2562 สิ่งที่เอกชนต้องการเห็น คือ ความสงบของบ้านเมือง ไม่ว่าใครจะเข้ามาบริหาร รวมถึงแผนงานที่ต้องปฏิบัติตามกฏหมายโดยเฉพาะ โครงการเขตพัฒนาพื้นที่พิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) จะมีส่วนสำคัญต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการดูแลระดับราคาสินค้าเกษตรเพื่อเพิ่มแรงซื้อในประเทศ”นายสุพันธุ์กล่าว

จาก https://www.matichon.co.th    วันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

นายกฯไร่อ้อย’ โอดชาวไร่เจ๊งระนาวหลังค่าอ้อยขั้นต้นปี 61/62 เหลือแค่ 650 บาท เรียกร้องเปลี่ยนรัฐบาล

เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน นายจิรวุฒิ สิงห์โตทอง นายกสมาคมกลุ่มอาชีพการเกษตรชลบุรีเปิดเผยถึงสถานการณ์อ้อยในฤดูการผลิตปี 2561/2562ว่า ได้มีการประกาศราคาอ้อยเบื้องต้นมาแล้วราคาตันละ 650 บาท ส่งผลให้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยเจ๊งกันระนาว เนื่องจากทางสํานักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายได้มีการประเมินผลการลงทุนแล้วพบว่าจะต้องใช้เงินในการปลูกอ้อยตันละ 1,041 บาท ซึ่งมีผลพวงมาจากรัฐบาล คสช.ทำงานไม่เป็น ประกอบกับการผลักดันให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปรังหันมาปลูกอ้อยส่งผลให้มีผลผลิตสูงขึ้น จากการประเมินหากมีอ้อยในประเทศประมาณ 100 ล้านตัน ราคาอ้อยจะตกประมาณตันละ 1,000 บาท จะทำให้เกษตรกรสามารถอยู่ได้ แต่ปรากฏว่าผลการผลิตอ้อยในปี 2560/2561 ที่ผ่านมาสูงถึง 137 ล้านตัน ทำให้ราคาอ้อยเบื้องต้นอยู่ที่ตันละ 880 บาท แต่ก็ยังสูงกว่าต้นทุนการผลิต

นายจิรวุฒิกล่าวว่า ในการแก้ปัญหานั้นจะต้องเปลี่ยนรัฐบาล เพราะที่ผ่านมาการทำงานของรัฐบาลทำให้ผลผลิตทางด้านการเกษตรตกต่ำทุกตัว อาทิ ยางพาราเหลือ 3 กิโลกรัม 100 บาท ซึ่งราคายางพาราที่เกษตรกรจะอยู่ได้ต้องกิโลกรัมละ 60 บาทขึ้นไป ส่วนปาล์มเหลือกิโลกรัมละ 2-3 บาท ทั้งที่ความเป็นจริงจะต้องได้ราคากิโลกรัมละกว่า 4.50 บาทขึ้นไป ส่วนอ้อยนั้นจะต้องได้ราคาตันละ 1,000 บาทขึ้นไป ปรากฏว่าปี 2561/2562 ราคาเหลือตันละ 650 บาท หากบวก ซีซีเอส. ไปอีก 2 จะได้เงินเพิ่มประมาณ 730 บาทเท่านั้น ซึ่งยังต่ำกว่าต้นทุนการผลิตแล้วเกษตรกรที่ปลูกอ้อยจะอยู่ได้อย่างไร

“ในการแก้ไขปัญหาของผมจะลดพื้นที่การปลูกลดลงเหลือครึ่งหนึ่ง หากปลูก 1,000 ไร่ เหลือ 500 ไร่ แล้วมาเน้นในเรื่องการดูแลทั้งเรื่องน้ำ ปุ๋ย การกำจัดวัชพืช ก็จะทำให้ผลผลิตเพิ่มมากจากขึ้นจากเดิม ปกติจะได้ผลผลิตประมาณ 6-7 ตันต่อไร่ อาจจะเพิ่มสูงขึ้น 11-12 ตันต่อไร่ ประกอบกับมีเครื่องจักร และรถขนครบวงจร จะทำให้อยู่ได้ แต่ต้องได้ราคาอ้อยอย่างต่ำตันละ 900 บาท” นายจิรวุฒิกล่าวและว่า ต้องยอมรับว่าการที่ คสช.เข้ามาบริหารประเทศนานเกินไป ทำให้ประเทศต่างๆ ในยุโรปและอเมริกา หันมาซื้อสินค้าทางด้านเกษตรกับประเทศที่เป็นประชาธิปไตย หรือประเทศเพื่อนบ้านของไทย หากไม่มีผลผลิตก็จะให้ประเทศเพื่อนบ้านมาซื้อจากไทย แล้วจะมาซื้อต่อไปอีกทีหนึ่ง ทำให้ราคาผลผลิตทางด้านเกษตรของประเทศไทยตกทุกตัว เพราะไม่มีใครมาซื้อ ปัญหาที่จะแก้ได้คือ จะต้องมีการเลือกตั้ง เพื่อให้ต่างชาติเห็นว่าประเทศไทยเป็นประชาธิปไตย ถึงจะหันมาซื้อผลผลิตทางการเกษตรของไทย หากประชาชนให้ความสนใจเลือกพรรคเพื่อไทยเข้าไปบริหารประเทศ ตนเชื่อมั่นว่าผลผลิตทางด้านการเกษตรทุกตัวราคาดีขึ้นแน่นอน

จาก https://www.matichon.co.th    วันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ผู้ส่งออกโล่ง!! อาเซียน-จีน คลายกฎเอกสารเพื่อกระจายสินค้า2ทาง

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ในฐานะหน่วยงานหลักในการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ความตกลงด้านการค้าต่างๆ รวมถึงมีภารกิจในการกำกับดูแลด้านการค้าต่างประเทศของไทย ได้มีการผลักดันให้มีการปรับปรุงระเบียบที่เป็นอุปสรรคทางการค้าและโลจิสติกส์ ล่าสุดกรมฯและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าร่วมเจรจาในการประชุมคณะทำงานด้านกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (ACJC-WGROO) ครั้งที่ 11 ณ นครเฉิงตู สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อผลักดันให้ที่ประชุมหาข้อสรุปประเด็นการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form E) แบบ Movement Certification (MC) กรณีนำเข้าสินค้าเป็นล็อตใหญ่เข้ามาทยอยส่งออกเพื่อขายต่อ (Partial Shipment) ซึ่งที่ผ่านมาขาดความชัดเจนว่าสามารถขอ Form E แบบ MC สำหรับการทยอยส่งออกหลายครั้งได้หรือไม่ โดยในการประชุมครั้งนี้ที่ประชุมมีมติว่า ความตกลงฯ ดังกล่าว อนุญาตให้ออกหนังสือรับรอง Form E แบบ Movement Certification (MC) กรณีทยอยส่งออกได้

นายอดุลย์ กล่าวว่า Form E แบบ Movement Certification (MC) เป็นข้อกำหนดที่เอื้อให้กับรูปแบบการค้าแบบ “ซื้อมา-ขายไป” กล่าวคือกรณีของประเทศไทย ผู้ค้าไทยสามารถนำเข้าสินค้าที่ได้ถิ่นกำเนิดจากประเทศภาคีหนึ่งมาขายต่อโดยการส่งออก (re-export) ไปยังประเทศภาคีอื่น ได้แก่ จีน และประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ อีก 9 ประเทศ โดยยังคงได้รับสิทธิพิเศษในการลด/ยกเว้นภาษีขาเข้าประเทศปลายทาง เป็นแต้มต่อในการขายสินค้า และนับเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการสร้างรายได้ให้กับประเทศ ซึ่งเป็นการพัฒนาธุรกิจจากภาคการผลิตก้าวสู่ภาคบริการที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้มากยิ่งขึ้น

” รูปแบบการค้าในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไป ความสามารถในการแข่งขันด้านการขายสินค้าไปยังตลาดต่างประเทศไม่ได้ขึ้นอยู่กับ คุณภาพของสินค้าเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องอาศัยการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อลดต้นทุนในการกระจายสินค้าไปถึงมือลูกค้าด้วย ส่งผลให้ผู้ประกอบการที่มีเครือข่ายทางการค้าและมีศักยภาพด้านโลจิสติกส์มีความได้เปรียบ และในบางกรณีสามารถสร้างรายได้โดยไม่ต้องผลิตสินค้าด้วยตนเองเพียงเปลี่ยนบทบาท จากการเป็นผู้ผลิตมาเป็นผู้กระจายสินค้า ดังเช่นโมเดลธุรกิจของประเทศสิงคโปร์ นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ในการเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ของอาเซียน กรมฯ จึงพยายามผลักดันและพัฒนาโลจิสติกส์ของไทย ให้เข้มแข็งเพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการไทยเสียเปรียบในการแข่งขันในเวทีการค้าระหว่างประเทศ ” นายอดุลย์ กล่าว

จาก https://www.matichon.co.th    วันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

รับไม้ต่อ AMEM ไทยเจ้าภาพพลังงานอาเซียนปี”62

ปิดฉากการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 36 (36th ASEAN Ministers on Energy Meeting and Associated Meetings : 36th AMEM) ภายใต้ธีม Transforming Energy : Invest, Innovate, Inte-grate ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ ไปแล้วเมื่อเร็ว ๆ นี้ ประเทศไทยสามารถคว้า 21 รางวัลอนุรักษ์พลังงาน โดยถือว่าสร้างผลงานโดดเด่นมาก เพราะไทยครองแชมป์ติดต่อกันถึง 9 ปีซ้อน !

ผนึกซื้อขายไฟอาเซียนเพิ่ม

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า สปป.ลาว-ไทย-มาเลเซีย ตกลงขยายกรอบความร่วมมือพหุภาคีโครงการซื้อขายไฟฟ้า LTM on Power Integration

Project โดยจะเพิ่มปริมาณการรับซื้อเพิ่มขึ้นจากเดิม 100 เมกะวัตต์ เป็น 300 เมกะวัตต์ เนื่องจาก สปป.ลาว และมาเลเซีย มีข้อตกลงขยายซื้อขาย แต่ไทยเองต้องปรับในช่วง 3 จังหวัด อาทิ สงขลา ชายแดนใต้ เพื่อรองรับกำลังผลิตตามความต้องการของมาเลเซียและลาวก่อน จึงได้ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เร่งศึกษา ขณะที่ LTM เริ่มนำร่องไปแล้วเมื่อต้นปีจากผลการเจรจาที่ฟิลิปปินส์ปีที่ผ่านมา ภายใต้กรอบ 100 เมกะวัตต์ แต่ในอนาคตปี 2563 จะเป็นการส่งเชื่อมโยงไฟฟ้า4 ประเทศ จากลาวไปสิงคโปร์ โดยผ่านระบบสายส่งของไทยและมาเลเซีย ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างอาเซียน ที่มีระบบสายส่งเชื่อมโยงถึงกัน (อาเซียนพาวเวอร์กริด) เพื่อความมั่นคงด้านพลังงานและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

ไทยรับไม้ต่อเจ้าภาพปี”62

ขณะเดียวกันได้ทำบันทึกความเข้าใจร่วมกับองค์การพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ (IRENA) ผลักดันให้มีการใช้พลังงานหมุนเวียนในอาเซียนให้ได้ตามเป้าหมาย 23% ในปี 2568 จากในปี 2559 มีสัดส่วนอยู่ที่ 12.4% แต่ปีนี้มีการใช้พลังงานทดแทนแล้วถึง 15% ขณะที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ร่วมมือการพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน 10 ชาติสมาชิกอาเซียน ให้มีการเสนอในเวทีประชุม AMEM ครั้งต่อไป ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพในปี 2562 โดยจะปรับเป้าหมายลดใช้พลังงานให้มากขึ้น หลังจากระยะแรกกำหนดเป้าหมาย

ลดใช้พลังงาน 20% ในปี 2563 บรรลุเป้าหมายลดลงแล้วถึง 21.3% ถือว่าไทยประสบความสำเร็จอย่างมาก กระทรวงพลังงานที่อยู่ระหว่างจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศฉบับใหม่ (PDP) โดยคาดว่าจะเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ธ.ค.นี้ เพื่อเห็นชอบและประกาศใช้ต้นปี 2562 โดยยืนยันว่าจะไม่กระทบราคาค่าไฟประชาชน และเพื่อเสถียรภาพด้านพลังงาน

อ้อนขยาย รง.เอทานอล-ชีวมวล

นายพิพัฒน์ สุทธิวิเศษศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บ.เคทีส ไบโอเอทานอล จำกัด กล่าวว่า บริษัทผลิตไฟฟ้าและไอน้ำด้วยก๊าซชีวภาพที่ได้จากระบบบำบัดน้ำเสียของโรงงานผลิตเอทานอล สามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้ปีละ 28 ล้านลูกบาศก์เมตร (100%) โดยผลิตไอน้ำแรงดันสูง 200,000 ตัน แบ่งส่วนหนึ่งไปผลิตไฟฟ้าได้ปีละ 7,360 MWh ทดแทนการใช้ถ่านหินได้ 14,200 ตันต่อปี ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปีละ 290,725 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ประหยัดได้มากกว่า 48 ล้านบาทต่อปี ไม่มีต้นทุนวัตถุดิบ จึงมี IRR สูงถึง 34% คืนทุนเพียง 3 ปี

“แม้รัฐไม่มีนโยบายซื้อก๊าซ แต่เราก็ไม่ทิ้ง เราเอาไปทำเชื้อเพลิง ลดการใช้ฟอสซิล จริง ๆ ไบโอก๊าซทำให้เป็นไฟฟ้า (firm) ยังได้ แต่รัฐต้องเปิดโอกาสการรับซื้อ แข่งขันกันและให้กลไกแข่งขันทำงาน”

สอดคล้องกับ นายบรรจง ตั้งจิตรวัฒนากุล บ.พิจิตรไบโอพาวเวอร์ จำกัด กล่าวว่า บริษัททำโรงไฟฟ้าผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล โดยใช้แกลบจากโรงสีร่วมเจริญ 2 ปริมาณ 30,000 ตันต่อเดือน มาเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) คืนให้เกษตรกรด้วย “รอเวลาให้รัฐส่งเสริมสนับสนุน สร้างความมั่นคง ทั้งรับซื้อ-สร้างโรงไฟฟ้าคำนึงทั้งความมั่นคงและราคา ถ้าจะมองถูกอย่างเดียวก็ไปไม่รอด และต้องกระจายรายได้ผู้ผลิตรายเล็ก (SPP) อยากให้รัฐส่งเสริมลักษณะนี้เพิ่มเพราะให้ประโยชน์มหาศาล ซึ่งตอนนี้ 97% เราทำได้ อยู่ได้”

จาก https://www.naewna.com วันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

“พาณิชย์”เร่งถกRCEPรับมือการค้าโลก

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เร่งเจรจา RCEP รอบพิเศษลุ้นถกจบปีนี้รับมือการค้าโลกผันผวน

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการประชุมรัฐมนตรีความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP สมัยพิเศษ ที่ ประเทศสิงคโปร์ เพื่อประเมินความคืบหน้าและให้แนวทางการเจรจาหารือต่อเนื่องนั้น ที่ประชุมเห็นร่วมกันที่จะเร่งผลักดันตามแผนการเจรจาจากนี้ไปจนถึงสิ้นปี เพื่อให้ได้ข้อสรุปอย่างมีนัยสำคัญภายในปี 2561

ซึ่งสมาชิก RCEP ทุกประเทศได้ร่วมมืออย่างเต็มที่ เพื่อให้สามารถสรุปการเจรจาได้ในปีนี้ ทั้งการเจรจาด้านการเปิดตลาดสินค้า บริการ และการลงทุน ซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญ โดยเฉพาะในสถานการณ์การค้าโลกที่มีความไม่แน่นอนมากขึ้น และไทยในฐานะประธานอาเซียนในปีหน้า จะร่วมมือกับสมาชิกผลักดันให้สามารถสรุปผลการเจรจาทั้งหมด และสามารถลงนามได้ภายในการประชุมสุดยอดอาเซียนในปีหน้าด้วย

จาก https://www.innnews.co.th  วันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

บาทกลับมาแข็งค่า หุ้นไทยดีดบวก

เงินบาทกลับแข็งค่ากลับมาช่วงปลายสัปดาห์ หลังดุลบัญชีเดินสะกัดเกินดุลและหุ้นไทยกลับมาเป็นบวก

 บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด รายงานว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 2 เดือนครึ่งที่ 33.32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงแรก ตามทิศทางเงินเอเชียและเงินหยวน หลังมีข่าวว่า สหรัฐฯ เตรียมวางแผนเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนรอบใหม่ นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ฯ มีแรงหนุนเพิ่มเติมจากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดี โดยเฉพาะตัวเลขเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนี Core PCE Price Index อย่างไรก็ดี เงินบาททยอยแข็งค่ากลับมาในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ท่ามกลางแรงซื้อสุทธิพันธบัตรไทยของต่างชาติ ประกอบกับมีปัจจัยบวกจากดุลบัญชีเดินสะพัดไทยที่เกินดุลเพิ่มขึ้นในเดือน ก.ย. ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ กลับมาเผชิญแรงกดดัน สวนทางภาพการฟื้นตัวของสินทรัพย์เสี่ยงท่ามกลางความหวังต่อผลการเจรจาการค้าของสหรัฐฯ-จีน

ในวันศุกร์ (2 พ.ย.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 32.77 เทียบกับระดับ 33.10 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (26 ต.ค. )

ด้านดัชนีหุ้นไทย   SET ปิดที่ระดับที่ 1,681.84 จุด เพิ่มขึ้น 3.25% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่ มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันลดลง 13.65% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 48,160.85 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai เพิ่มขึ้น 2.88% จากสัปดาห์ก่อน มาปิดที่ 425.62 จุด

ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบตลอดสัปดาห์ ตามทิศทางของตลาดหุ้นต่างประเทศ โดยมีแรงหนุนจากความคาดหวังในประเด็นการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน หลังมีรายงานข่าวว่าการหารือระหว่างประธานาธิบดีของ 2ประเทศเป็นไปด้วยดี และมีกำหนดพบปะกันนอกรอบการประชุมจี 20 ในเดือนนี้ นอกจากนี้ ดัชนี SET ยังมีปัจจัยหนุนจากแรงซื้อของนักลงทุนสถาบันตลอดสัปดาห์ แม้ว่ากลุ่มนักลงทุนต่างชาติจะยังคงขายสุทธิก็ตาม

สัปดาห์ถัดไป (5-9 พ.ย.)บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,665 และ 1,650 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,700 และ 1,710 จุด ตามลำดับ ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 32.60-33.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยจุดสนใจของตลาดน่าจะอยู่ที่การเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ (6 พ.ย.) ผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐหรือ FOMC (7-8 พ.ย.) รวมถึงถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ขณะที่ ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ประกอบด้วย ดัชนี PMI ภาคบริการ ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนต.ค. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ย. นอกจากนี้ ตลาดอาจรอติดตามประเด็นทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ตลอดจนข้อมูลการส่งออก-นำเข้า อัตราเงินเฟ้อเดือนต.ค. ของจีน

จาก https://tna.mcot.net  วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

เกษตรฯ จัดทำ Big Data การปลูกพืชทั่วประเทศ

กรมส่งเสริมการเกษตร จัดทำระบบสารสนเทศการผลิตทางด้านการเกษตร เชื่อมโยงข้อมูลการปลูกพืชทั่วประเทศ สู่ฐานข้อมูล Big Data ด้านการเกษตรที่มีเอกภาพ

นางดาเรศร์ กิตติโยภาส รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ได้จัดทำระบบสารสนเทศการผลิตทางด้านการเกษตร ปี 2561 เพื่อจัดเก็บและรายงานข้อมูลภาวะการผลิตพืชและแมลงเศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และสร้างฐานข้อมูลการผลิตพืชจากข้อมูลระดับตำบลที่มีวิธีการจัดเก็บเป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในการจัดทำแผนพัฒนาการเกษตร กำหนดนโยบายในการพัฒนาการเกษตรของประเทศ ติดตามงาน และแก้ไขปัญหาการผลิตพืชในงานส่งเสริมการเกษตร

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า สำหรับระบบสารสนเทศการผลิตทางด้านการเกษตร ปี 2561 เป็นมิติใหม่ของการบูรณาการฐานข้อมูลการเกษตร เพื่อแก้ไขปัญหาการรายงานข้อมูลซ้ำซ้อน มีการตรวจสอบความถูกต้องให้เป็นข้อมูลชุดเดียวกัน ส่งผลให้ข้อมูลมีความเป็นเอกภาพ และช่วยลดภาระการบันทึกข้อมูลของเจ้าหน้าที่ในระดับพื้นที่ ประกอบด้วย 1.ระบบการจัดเก็บและรายงานข้อมูลภาวะการผลิตพืชระดับตำบล (รต.) ซึ่งเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรประจำตำบลต้องจัดเก็บและรายงานการผลิตพืชเป็นประจำทุกเดือน แบ่งเป็น 3 กลุ่มพืช คือ กลุ่มพืชอายุสั้น ได้แก่ ข้าว พืชไร่ พืชผัก ไม้ดอก ไม้ประดับ สมุนไพรและเครื่องเทศที่มีอายุสั้น กลุ่มพืชอายุยาว ได้แก่ ไม้ผล ไม้ยืนต้น สมุนไพรและเครื่องเทศที่มีอายุยาว และกลุ่มแมลงเศรษฐกิจ ปัจจุบันมีการจัดเก็บข้อมูลทั่วประเทศรวม 468 ชนิดพืช 866 พันธุ์พืช 2.ระบบรายงานการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ซึ่งเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรมีการจัดเก็บและรายงานข้อมูลพืชฤดูแล้งรายสัปดาห์ เฉพาะในพื้นที่นอกเขตชลประทาน 3 กลุ่ม คือ กลุ่มข้าวรอบ 2 ได้แก่ ข้าวเจ้า ข้าวหอมปทุม ข้าวเหนียว กลุ่มพืชไร่ ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วลิสง พืชไร่อื่นๆ และกลุ่มพืชผัก ได้แก่ ข้าวโพดฝักอ่อน ข้าวโพดหวาน พืชผักอื่นๆ

นางดาเรศร์ กล่าวต่อว่า การจัดเก็บข้อมูลในระบบสารสนเทศการผลิตทางด้านการเกษตร ปี 2561 นี้จะช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถนำข้อมูลไปวิเคราะห์และประมวลผลเพื่อสนับสนุนการทำงานต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วและมีความแม่นยำมากขึ้น ผ่านฐานข้อมูล Big Data ด้านการเกษตรที่มีความเป็นเอกภาพ รวมถึงสร้างความเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลด้านการเกษตร และข้อมูลในมิติอื่นๆ ได้ง่ายขึ้น เช่น ระบบการขึ้นทะเบียนเกษตรกร และระบบการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติด้านพืช เป็นต้น

จาก https://siamrath.co.th   วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

อุบลไบโอเอทานอล ได้รับรองมาตรฐานสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยเป็นอันดับต้นของประเทศ

คุณเดชพนต์ เลิศสุวรรณโรจน์ (ที่ 4 จากซ้าย) กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด (มหาชน) โรงงานผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลัง รับมอบใบประกาศรับรองมาตรฐาน ISO 14001:2015 ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม และ ISO 45001:2018 ระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (มาตรฐานใหม่แทน OHSAS 18001) จากคุณวินธัส พูลพุทธพงษ์ (ที่ 6 จากซ้าย) ผู้จัดการสายงานธุรกิจ อาชีวอนามัย ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม บริษัท เอสจีเอส (ประเทศไทย) จำกัด ทั้งนี้ บริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด (มหาชน) นับเป็นบริษัทอันดับที่ 3 ของประเทศไทย และบริษัทอันดับต้นของโลกที่ได้รับการรับรอง ISO 45001:2018 มาตรฐานใหม่ดังกล่าว ยืนยันความมุ่งมั่นด้านสิ่งแวดล้อมคว้าตำแหน่งอันดับต้นของประเทศไทย เมื่อเร็วๆ นี้

จาก https://www.matichon.co.th วันที่ 2 พฤศจิกายน 2561

เงินบาทแข็งค่า 32.93 บาทต่อดอลลาร์ฯ จับตาตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับประมาณ 32.93 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ (9.00 น.) แข็งค่าขึ้น 0.22% จากระดับปิดตลาดวันทำการก่อนหน้าที่ 33.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ

เงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องในช่วงเช้าวันนี้ หลังแข็งค่าหลุดระดับ 33.00 บาทต่อดอลาร์ฯ เมื่อวานนี้ อย่างไรก็ดี กรอบการแข็งค่าในระหว่างวันอาจเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากตลาดน่าจะรอประเมิน ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ โดยเฉพาะตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ อัตราการว่างงาน และเครื่องชี้ตลาดแรงงานอื่นๆ อาทิ ข้อมูลค่าจ้าง

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ คาดไว้ที่ 32.80-33.10 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการผลิตของประเทศแถบยูโรโซน

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 2 พฤศจิกายน 2561

ปี’62ลงทุนอีอีซี3แสนล้าน เดินสายหอบข้อมูลดึงต่างชาติ

นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ที่อาคาร CAT Tower เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2561ว่าได้มีการหารือแผนการดำเนินงานในปี 2562 โดยตั้งเป้าหมายผลักดันให้เกิดการลงทุนใน 11 อุตสาหกรรมเป้าหมายของพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)ให้ได้ 1 แสนล้านบาท ประกอบกับเป้าหมายลงทุนของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่ตั้งไว้ 2 แสนล้านบาท รวมเป้าหมายลงทุนในอีอีซีปีหน้าทั้งสิ้น 3 แสนล้านบาท

“เป้าหมายลงทุน 1 แสนล้านบาท จะให้อีอีซีเดินเองเป็นผลงานของอีอีซี โดยแบ่งกับบีโอไอว่าอะไรที่เป็นเรื่องปกติบีโอไอจะเป็นผู้ดำเนินกาเช่นญี่ปุ่นจะขยายลงทุนในพื้นที่อีอีซี เป็นต้น แต่ถ้าดีลไหนยาก อีอีซีจะเข้าไปดำเนินการเอง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเกษตรและเกษตรแปรรูป ที่จะนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในส่วนของระบบขนส่ง ยึดโยงไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน ไบโออีโคโนมี ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ อากาศยานการแพทย์ ทั้งนี้นักลงทุนที่เข้ามาส่วนใหญ่ต้องการความสะดวกรวดเร็วในการประสานงานนอกเหนือจากสิทธิประโยชน์ที่ได้รับ”นายอุตตมกล่าว

สัปดาห์หน้าอีอีซีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีกำหนดการเดินทางชี้แจงข้อมูลการลงทุน (โรดโชว์) ที่เมือง เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ทั้งยังอยู่ระหว่างหารือแนวทางลงทุนในอีอีซีกับอาลีบาบา ที่เมืองห่างโจว และไทยยังมีเป้าหมายดึงนักลงทุนระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ของญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในอีอีซีของไทยด้วยจากก่อนหน้านี้ไทยได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมครั้งใหญ่ร่วมระหว่างจีน-ญี่ปุ่นด้วย

“ที่ผ่านมาไทยยังได้ไปโรดโชว์กับ 40 บริษัทที่เกี่ยวเนื่องกับแอร์บัสมาแล้ว 2 ครั้งที่ฝรั่งเศส ซึ่งเร็วๆนี้กลุ่มอุตสาหกรรมการบินของแอร์บัสเตรียมเดินทางมาศึกษาดูงานอีอีซีของไทยด้วย ขณะที่ไทยก็เตรียมเดินทางไปโรดโชว์ที่อังกฤษต่อไป”นายอุตต กล่าว

นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้สกพอ.จัดทำแผนการออกแบบการใช้พื้นที่ในอีอีซีให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน ซึ่งจะเร็วกว่าที่กฎหมายบังคับให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี เพื่อสร้างความชัดเจนให้นักลงทุนเชื่อมั่นและตัดสินใจลงทุน พร้อมให้ประสานงานกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยกร่างแผนดูแลสิ่งแวดล้อมพื้นที่โดยรอบอีอีซี ให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน ควบคู่กับการรับฟังความคิดเห็นและทำความเข้าใจกับประชาชนในชุมชนให้มากขึ้น

นายอุตตมกล่าวว่า ขณะเดียวกันได้ให้กำหนดแนวทางศึกษางานวิจัยและพัฒนาคน เพื่อยกระดับบุคลากร ซึ่งมีบริษัท ปตท. และบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย เข้าร่วมโครงการวิจัยอินโนสเปซ ไทยแลนด์ รองรับการส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย การสร้างเมืองใหม่ (สมาร์ทซิตี้) และเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซีไอ) โดยให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายนนี้

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการบริหารเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) จะหารือในรายละเอียดต่างๆ อีกครั้งในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ ก่อนนำเสนอให้ที่ประชุมบอร์ดอีอีซีชุดใหญ่ ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิจารณาในวันที่ 12 พฤศจิกายนนี้

จาก https://www.naewna.com วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ใบ รง.4 ถาวรต้องไม่สร้างปัญหา 

การแก้ไขบทบัญญัติ พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 เพื่อยกเลิกการต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ใบ รง.4) ถือเป็นข่าวดีส่งท้ายปีสำหรับธุรกิจและอุตสาหกรรมที่ประกอบกิจการโรงงานทั้งรายเล็ก-รายใหญ่ เพราะนอกจากจะสะดวกมากขึ้นแล้ว ยังประหยัดเวลาและลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ

ไม่แปลกที่ข่าวรัฐปลดล็อกใบ รง.4 โดยเปิดทางให้โรงงานสามารถใช้ใบอนุญาตที่ได้รับจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้แบบถาวร หรือไม่มีวันหมดอายุ จากเดิมที่กฎหมายกำหนดให้ผู้ยื่นต้องขอต่ออายุใบอนุญาตใหม่ทุก ๆ 5 ปี จะได้รับการขานรับจากผู้ประกอบการ นักลงทุนไม่ว่าจะเป็นรายเก่า-รายใหม่ ทั้งไทยและต่างชาติ

ลดความยุ่งยากในการทำธุรกิจหรือลงทุน สอดรับดัชนีชี้วัดความยากง่ายในการทำธุรกิจ หรือ The Ease of Doing Business ของธนาคารโลก ที่ไทยต้องการไต่อันดับขึ้นอยู่ในลำดับที่ดีขึ้นอีก จากที่ปีนี้ธนาคารโลกจัดประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 26 เทียบกับปีก่อนอยู่ในอันดับ 46 จาก 190 ประเทศทั่วโลก

ด้วยการผลักดันแก้ไขระเบียบ กฎหมาย และให้หน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจลดกระบวนการ ขั้นตอนในการออกใบอนุญาต อนุมัติ จดแจ้ง ขึ้นทะเบียน ฯลฯ ให้เป็นไปด้วยความสะดวกรวดเร็ว ลดความยุ่งยากซ้ำซ้อน เช่นเดียวกับการยกเลิกต่อใบอนุญาต รง.4 หรืออีกนัยหนึ่ง ให้ใบ รง.4 ใช้ได้ตลอดไปโดยไม่มีวันหมดอายุ

นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม ย้ำว่านำมาตรการนี้มาใช้ก็เพื่ออำนวยความสะดวกและลดปัญหาความยุ่งยากของผู้ประกอบการ ขณะเดียวกันก็เพิ่มความเชื่อมั่นให้นักลงทุน เบื้องต้นคาดว่าร่างแก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าวจะประกาศบังคับใช้ได้ต้นปี 2562

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่น่าเป็นห่วงและควรหยิบยกขึ้นพิจารณาควบคู่กัน คือ การยกเลิกต่อใบอนุญาต รง.4 หรือใบอนุญาตตั้งโรงงาน แม้จะตอบโจทย์ด้านเศรษฐกิจ ทำให้ผู้ประกอบการ นักลงทุนเชื่อมั่นมากขึ้น แต่จะให้สาธารณชนมั่นใจได้มากน้อยเพียงใดว่า โรงงานที่ได้รับใบอนุญาตแบบถาวรจะปฏิบัติตามกฎกติกาและไม่สร้างปัญหา

เพราะปัจจุบันแม้มีระเบียบกฎหมายควบคุมดูแลโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก ทั้ง พ.ร.บ.โรงงานกฎหมายผังเมือง ควบคุมอาคาร สิ่งแวดล้อม ฯลฯ แต่ปัญหาสิ่งแวดล้อม มลพิษ น้ำเน่าเสีย จากโรงงานอุตสาหกรรมยังเกิดขึ้นบ่อยครั้ง

ดังนั้นก่อนปลดล็อกใบ รง.4 ผ่องถ่ายงานให้บุคคลที่ 3 ตรวจสอบว่าโรงงานปฏิบัติตามกฎหรือไม่ และให้ผู้ประกอบการรับผิดชอบด้วยการตรวจสอบตนเอง ต้องมีหลักประกันให้มั่นใจได้เสียก่อนว่าจะไม่สร้างปัญหาซ้ำซากเหมือนที่ผ่านมาอีก

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ไตรมาส 3 จีดีพีเกษตรขยายตัวร้อยละ 3.7

สศก.เผยจีดีพีเกษตรไตรมาส 3 ขยายตัวร้อยละ 3.7 คาดทั้งปีโตร้อยละ 4 – 5 จากสภาพอากาศและน้ำเอื้อต่อการผลิต

นางสาวจริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงผลการวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรไตรมาส 3 ปี 2561 ว่า ขยายตัวร้อยละ 3.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 โดยเป็นการเติบโตทางด้านผลผลิตเป็นหลัก เนื่องจากสภาพดินฟ้าอากาศและการบริหารจัดการของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ส่งผลให้เกษตรกรผลิตสินค้าที่มีคุณภาพมากขึ้นในระบบส่งเสริมแปลงใหญ่ และการนำ Agri - Map มาปรับใช้เพิ่มขึ้น โดยดัชนีรายได้เกษตรกรไตรมาส 3 ปี 2561เพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 140.5 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 138.7  โดยรายได้เกษตรกรในหมวดพืชผลเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากกลุ่มพืชอาหารและกลุ่มไม้ผลเป็นหลัก ขณะที่หมวดปศุสัตว์และหมวดประมงลดลงร้อยละ 5.0 และ 25.6 ตามลำดับ

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 4.0 – 5.0 เมื่อเทียบกับปี 2560  โดยทุกสาขาการผลิต ได้แก่ สาขาพืช สาขาปศุสัตว์ สาขาประมง สาขาบริการทางการเกษตร และสาขาป่าไม้ ขยายตัวเพิ่มขึ้น สำหรับปัจจัยบวก คือ สภาพอากาศและปริมาณน้ำที่เอื้ออำนวย ประกอบกับการดำเนินนโยบายด้านการเกษตรต่าง ๆ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรให้มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพมาตรฐาน รวมถึงมีการวางแผนการผลิตที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดมากขึ้น

จาก https://tna.mcot.net  วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

เงินเฟ้อ ต.ค.สูงขึ้นร้อยละ 1.23 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 16

กระทรวงพาณิชย์เผยอาหารและน้ำมันแพง ดึงเงินเฟ้อเดือนตุลาคม 61 สูงขึ้นร้อยละ 1.23 และเป็นการสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 16

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค. ) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป หรืออัตราเงินเฟ้อเดือนตุลาคม 2561 โดยระบุว่า อัตราเงินเฟ้อขยายตัวสูงขึ้นร้อยละ 1.23 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 16 สาเหตุสำคัญมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารและราคาน้ำมัน และในช่วง 2 เดือนที่เหลือปีนี้อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในช่วงขาขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป

อย่างไรก็ตาม การที่เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่องส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 1.15 โดยได้รับอิทธิพลจากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน อาหาร และเครื่องดื่มเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ราคาอาหารและเครื่องดื่มที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่อยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยเฉพาะข้าวและผลิตภัณฑ์จากแป้งสูงขึ้นร้อยละ 4.87 และในกลุ่มข้าวราดแกง อาหารตามสั่ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.15 แต่ภาพรวมทั้งประเทศราคายังไม่ได้ปรับขึ้นมาก ส่วนน้ำมันเชื้อเพลิงราคาเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 11.98 ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรยังคงลดลง  ดังนั้น อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีคาดว่าจะอยู่ร้อยละ 1.17-1.21 หรือเคลื่อนไหวในกรอบที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 0.8-1.6 โดยสมมติฐานคาดการณ์จีดีพีของประเทศเฉลี่ยร้อยละ 4.2-4.7 ราคาน้ำมันเฉลี่ย 68-73 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยน 32-34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ตัวเลขการส่งออกขยายตัวร้อยละ 8 เป็นต้น.

จาก https://tna.mcot.net  วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ตัวแทนเกษตรกรห่วงระเบียบคุม3สารเคมีบังคับใช้ยาก แนะแก้ไขสอดคล้องความเป็นจริง

เมื่อช่วงปลายเดือน ต.ค. 2561ที่ผ่านมา มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นกรณีมาตรการควบคุมการใช้สารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิด ประกอบด้วยพาราควอด (Paraquat) ไกลโฟเซต (Glyphosate) และคลอร์ไพริฟอส (Chlorpyrifos) ณ รร.ทีเคพาเลซ ถ.แจ้งวัฒนะ ย่านหลักสี่ กรุงเทพฯ ซึ่งมีผู้คนจากหลายภาคส่วนให้ความสนใจเข้าร่วมประชุมราว 250 คน เพื่อระดมความคิดเห็น

โดย นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัยตั้งข้อสังเกตว่า ระเบียบที่กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์นำเสนอนั้นมีข้อจำกัดในการปฏิบัติของเกษตรกรหลายประเด็น อาทิ กรอบเวลาในการอบรมเกษตรกรทั่วประเทศ จำนวนกว่า 20 ล้านรายในระยะเวลา 90 วันหลังจากประกาศอนุมัติ เป็นสิ่งที่ดำเนินการจริงได้ยากด้วยระยะเวลาที่น้อยแต่ผู้ที่ต้องอบรมมีจำนวนมาก

ซึ่งหากกรมวิชาการเกษตรไม่สามารถปฏิบัติได้ ก็จะทำให้มีกลุ่มคนที่ต่อต้านสารเคมีเกษตรออกมาเรียกร้องให้แบนสารเคมีอีก นอกจากนี้ควรมีหลักการและแนวทางปฏิบัติที่เป็นในทิศทางเดียวกันในสารเคมีทุกชนิด โดยให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติและใช้สารเคมีของเกษตรกรเป็นหลัก คำนึงถึงความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติจริง เพื่อยกระดับเกษตรปลอดภัยของประเทศไทยให้เป็นระบบอย่างยั่งยืน

“การไม่สามารถปฏิบัติได้ตามระเบียบที่ออกมา บทลงโทษจะตกอยู่ที่เกษตรกรการแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เป็นผู้ใหญ่บ้านกำนัน ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลนั้นไม่มีความเหมาะสมเพราะขาดองค์ความรู้ด้านเกษตรกรรม ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการอบรมพนักงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าว ทั้งที่ในความเป็นจริงควรเป็นบุคลากรของกรมวิชาการเกษตรเอง”นายสุกรรณ์ กล่าว

นายสุกรรณ์ ยังกล่าวอีกว่า หลังจากนี้จะนำข้อมูลผลวิเคราะห์ และการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่รวบรวมได้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้สารเคมีเกษตร นำยื่นต่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายโดยเร็วที่สุด เพื่อนำไปสู่การพิจารณาตัดสินใหม่ให้สามารถใช้สารเคมีได้อย่างเหมาะสม เนื่องจากไม่เชื่อมั่นในกรมวิชาการเกษตรว่า จะนำส่งข้อมูลและความคิดเห็นจากกลุ่มเกษตรกรและผู้เกี่ยวข้องในครั้งนี้ให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย

จาก https://www.naewna.com วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

เปิดตัวเครือข่าย‘GAP Net’ ดันนโยบาย-กม.การเกษตร

นายอนันต์ ดาโลดม นายกสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้ประสานงานเครือข่าย GAP Net ซึ่งเป็นการรวมตัวกันขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรเพื่อดำเนินการนำเสนอข้อมูล และข้อคิดเห็นด้านการเกษตรต่างๆ เพื่อสนับสนุนภาครัฐในการกำหนดทิศทาง นโยบาย กฎหมายและมาตรการด้านการเกษตร รวมทั้งให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่สาธารณชน เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการผลิตสินค้าเกษตรไทยให้มีคุณภาพและความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล ทั้งนี้การนำเสนอข้อมูลหรือข้อคิดเห็นของ GAP Net อยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ผ่านการสังเคราะห์อย่างรอบคอบจากสมาชิกของเครือข่าย เพื่อเป้าหมายในการพัฒนาภาคเกษตรของไทย

ทั้งนี้กิจกรรมแรกของ GAP Net ได้มีการจัดเสวนาเรื่อง “ทิศทาง นโยบาย และกฎหมายการเกษตรไทย และการมีส่วนร่วมของภาคการเกษตร” โดยประเด็นที่หยิบยกขึ้นมาเสวนาเป็นเรื่องที่กำลังมีการจัดทำนโยบายและพิจารณากฎหมายหลายฉบับที่มีผลกระทบต่อภาคการเกษตรทั้งในระยะสั้นและระยะยาว GAP Net จึงควรมีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำและพิจารณากฎหมายด้วยการรวบรวม กลั่นกรอง วิเคราะห์ผลดี ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากนโยบายและกฎหมายเหล่านั้นอย่างรอบด้าน เพื่อนำเสนอข้อมูล ข้อเท็จจริงด้านวิชาการ และความเป็นจริงทางการเกษตรครอบคลุมทุกด้าน อย่างเป็นระบบ เพื่อประกอบการตัดสินใจของภาครัฐ

“นอกจากนี้ การเสวนาในครั้งนี้ ยังเป็นการเชิญชวนสมาคม ชมรม องค์กร ทางการเกษตรที่ยังไม่ได้เข้าร่วมเครือข่ายกับ GAP Net ได้พิจารณาเข้าร่วมเป็นสมาชิก GAP Net เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนพัฒนาภาคการเกษตรด้วยการนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องให้แก่สังคมได้รับทราบ” ผู้ประสานงานเครือข่าย GAP Net กล่าว

จาก https://www.naewna.com วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561