http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล (เดือนพฤศจิกายน 2564]

ธปท.เผย 3ปัจจัยหนุนเศรษฐกิจไทยเดือนต.ค.ปรับตัวดีขึ้น

ธปท.เผยเศรษฐกิจไทยเดือนต.ค.ปรับตัวดีขึ้น รับอานิสงส์ “ บริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด แรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ และภาคส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้น”

ธปท.ระบุการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นตามภาวะอุปสงค์ที่ฟื้นตัว  ปัญหา supply distruption ที่ทยอยคลี่คลาย  -อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นตามราคาผักที่ผลผลิตได้รับผลกระทบชั่วคราวจากสถานการณ์น้ำท่วม –ตลาดแรงงานยังเปราะบาง

นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนตุลาคม ปี 2564 โดยระบุว่า  เศรษฐกิจไทยในเดือนตุลาคม 2564 ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดและแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ ขณะเดียวกันการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นในหลายหมวดสินค้า

สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มทยอยปรับเพิ่มขึ้น แต่โดยรวมยังอยู่ในระดับต่ำ ด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นตามภาวะอุปสงค์ที่ฟื้นตัว และปัญหา supply distruption ที่ทยอยคลี่คลาย ทั้งนี้ การใช้จ่ายภาครัฐยังมีบทบาทสำคัญในการพยุงเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนลดลงบ้างหลังจากเร่งไปในเดือนก่อน

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นตามราคาผักที่ผลผลิตได้รับผลกระทบชั่วคราวจากสถานการณ์น้ำท่วม โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไป อยู่ที่ 2.38% เพิ่มขึ้นจาก 1.68% ในเดือนก่อน จาก 1) หมวดอาหารสดที่ราคาผักปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมส่งผลให้ปริมาณผลผลิตลดลง และ 2) หมวดพลังงานที่ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับเพิ่มขึ้นตาม ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ด้านตลาดแรงงานยังคงเปราะบาง แม้ปรับดีขึ้นบ้างตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลน้อยกว่าเดือนก่อน ตามดุลรายได้ บริการ และเงินโอนที่ขาดดุลน้อยลง โดยดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 1.1พันล้นดอลลาร์สหรัฐและดุลการชำระเงินเกินดุลที่ 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยมีดังนี้

เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน หลังการทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด และการฉีดวัคซีนที่มีความคืบหน้าต่อเนื่องทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวม รายได้ครัวเรือน และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทยอยฟื้นตัว ประกอบกับมาตรการภาครัฐยังช่วยพยุงกำลังซื้อของครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง

มูลค่าการส่งออกสินค้าที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ประเทศคู่ค้า ส่งผลให้การส่งออกปรับเพิ่มขึ้นในหลายหมวด โดยเฉพาะยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าที่มูลค่าเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมัน อย่างไรก็ดี การส่งออกบางหมวดปรับลดลงหลังจากที่เร่งขึ้นในเดือนก่อน อาทิ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องจักรและอุปกรณ์

การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในหลายหมวด ตาม

1) อุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่ฟื้นตัว

2) สถานการณ์การแพร่ระบาดในโรงงานในไทยที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง และ

3) ปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ที่คลี่คลายลงบ้าง

มูลค่าการนำเข้าสินค้าที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยเฉพาะการนำเข้าเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นทั้งด้านปริมาณและด้านราคา รวมทั้งการนำเข้าสินค้าทุนจากการนำเข้าโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ ขณะที่การนำเข้าหมวดอื่นๆ โดยรวมทรงตัวจากเดือนก่อน

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในหลายสัญชาติ แต่โดยรวมยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากหลายประเทศยังมีมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศอยู่

 การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ทั้งรายจ่ายประจำ 13.1%และรายจ่ายลงทุน 109.8%โดยเป็นผลจากฐานต่ำในปีก่อนที่ พ.ร.บ. งบประมาณปี 2564 ประกาศใช้ล่าช้า และการเบิกจ่ายในปีนี้ของหน่วยงานภาครัฐที่ทำได้ค่อนข้างดี

เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อนตามหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์เป็นสำคัญ โดยเฉพาะยอดจดทะเบียนรถยนต์ที่ลดลงหลังจากเร่งขึ้นในเดือนก่อน สำหรับการลงทุนหมวดก่อสร้างลดลงเล็กน้อยตามยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างเป็นสำคัญ

ด้านตลาดแรงงานยังเปราะบาง แม้ปรับดีขึ้นบ้างตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ สะท้อนจากจำนวนผู้ขอรับสิทธิว่างงานใหม่ในระบบประกันสังคมที่ปรับลดลง และความเชื่อมั่นของผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ปรับดีขึ้น

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 30 พฤศจิกายน. 2564

เตือนวิกฤติพลังงาน ไทยต้องเร่งพลังงานทางเลือก

วิกฤติพลังงานสัญญาณเตือนความท้าทายที่จะเกิดขึ้นในช่วง ENERGY TRANSITION

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินว่า เดือนตุลาคมที่ผ่านมาถือเป็น perfect storm ของตลาดพลังงานโลก เห็นได้จากราคาพลังงานที่พุ่งขึ้นสูงสุดในรอบหลายปี (multi-year high) และการขาดแคลนพลังงานในบางตลาด โดยเฉพาะยุโรปและจีน โดยวิกฤติพลังงานในครั้งนี้เกิดจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น ทั้งจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก และความต้องการใช้ LNG ที่เพิ่มขึ้น เพื่อทดแทนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ผลิตได้ต่ำกว่าคาดการณ์ ในด้านอุปทานการหยุดชะงักที่เกิดจากการระบาดของ COVID-19 สภาพอากาศ และความขัดแย้งระหว่างประเทศล้วนมีส่วนทำให้สต็อกของเชื้อเพลิง (inventory) ลดลง และราคาปรับขึ้นมาก

วิกฤติพลังงานครั้งนี้ ชี้ให้เห็นถึงความท้าทายในการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมพลังงานไปสู่การใช้พลังงานสะอาด (energy transition) ถึงแม้ว่าการลงทุนในพลังงานสะอาดจะเร่งตัวขึ้นในช่วงที่ผ่านมา แต่กำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ที่เติบโตขึ้น นอกจากนี้ การชะลอการลงทุนในการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลในขณะที่การใช้ก๊าซธรรมชาติที่เป็นพลังงานทางผ่านไปสู่พลังงานสะอาด หรือ transition fuel (เนื่องจากเป็นเชื้อเพลิงที่สะอาดกว่าถ่านหิน) เพิ่มขึ้น จะส่งผลให้ตลาดพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลมีแนวโน้มที่จะผันผวนมากขึ้นในอนาคต

ไทยควรเร่งลงทุนเพื่อเพิ่มสัดส่วนไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน เพื่อลดความเสี่ยงทั้งด้านอุปทานและด้านราคา ทั้งนี้ควรให้ความสำคัญกับการลงทุนในกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานที่ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อลด grid emission (ค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตพลังงานไฟฟ้า) ควบคู่ไปกับการลงทุนในระบบส่งจำหน่ายและจัดการไฟฟ้า และสนับสนุนมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในทุกภาคส่วน

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 30 พฤศจิกายน. 2564

ธ.ก.ส. จับมือ 6 ภาคีเครือข่ายร่วมลดการเผาอ้อยเพื่อลดฝุ่นละออง PM 2.5

ธ.ก.ส. จับมือสมาคมชาวไร่อ้อย – โรงงานน้ำตาล ส่งเสริมเกษตรกรลดการเผาอ้อย เพื่อลดปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 และสนับสนุนการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการลดต้นทุนและเพิ่มมูลค่าผลผลิต   พร้อมเสริมสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษ เพื่อจูงใจให้เกษตรกรหันมาร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน นำร่องในพื้นที่กาญจนบุรี ราชบุรี และสุพรรณบุรี จำนวนพื้นที่กว่า 1.5 ล้านไร่ ตั้งเป้าลดการเผาอ้อยให้ได้ 100% ภายในปี 2566

นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ด้านมลพิษที่ทวีความรุนแรง จนส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการดำเนินชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ซึ่งปัญหาดังกล่าวส่วนหนึ่งเกิดจากการเผาอ้อยหลังการเก็บเกี่ยวของเกษตรกร เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน โดยเกษตรกรสามารถประกอบอาชีพควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อม ธ.ก.ส. ได้จับมือกับ 6 ภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย สมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อย เขต 7  ศูนย์ประสานงานโรงงานน้ำตาลลุ่มแม่น้ำแม่กลอง (กลุ่มโรงงานน้ำตาลลุ่มแม่น้ำแม่กลอง 9 โรงงาน และโรงงานน้ำตาลนิวกรุงไทย ที่เป็นพันธมิตร) สมาคมส่งเสริมอาชีพการเกษตรสุพรรณบุรี โรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาลสุพรรณบุรี โรงงานน้ำตาลมิตรผล และโรงงานน้ำตาลรีไฟน์ชัยมงคล (อู่ทอง) ในการสนับสนุนและดูแลชาวไร่อ้อยที่เข้าร่วมโครงการลดการเผาอ้อยเพื่อลดฝุ่นละออง PM 2.5  ในพื้นที่ 3 จังหวัดที่มีการผลิตอ้อยมากที่สุดในประเทศไทย ได้แก่ กาญจนบุรี ราชบุรี และสุพรรณบุรี

 โดยการดำเนินงานนอกจากการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในปัญหาที่เกิดขึ้น ยังมุ่งเน้นนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในการลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตให้เหมาะสมในแต่ละสภาพพื้นที่เพาะปลูกอ้อย เช่น การสนับสนุนให้ชาวไร่อ้อยปรับพื้นที่รองรับรถตัดอ้อยเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการขาดแคลนแรงงานเก็บเกี่ยวอ้อยและการเผาอ้อย การส่งเสริมให้ชาวไร่อ้อยที่มีความพร้อมได้จัดซื้อเครื่องอัดใบอ้อย (Square Balers) เพื่อส่งขายให้กับโรงงานน้ำตาลในพื้นที่นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงเสริมในกระบวนการผลิตน้ำตาลและผลิตกระแสไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งเป็นการช่วยเพิ่มรายได้และรักษาสภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ รวมถึง ธ.ก.ส. ให้การสนับสนุนชาวไร่อ้อยด้วยสินเชื่อพิเศษในแต่ละขนาดพื้นที่ (Farm Size) เพื่อให้สามารถประกอบอาชีพ การทำไร่อ้อยได้อย่างยั่งยืน โดยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีการบริหารจัดการไร่อ้อยที่ทันสมัย (Smart Farming) มาปรับใช้เพื่อให้เกิดผลตอบแทนคุ้มค่ามากขึ้น

นายธนารัตน์ กล่าวอีกว่า ความร่วมมือดังกล่าว ตั้งเป้าหมายลดการเผาอ้อยลงร้อยละ 20 ในปี 2564 จำนวนพื้นที่ 319,627 ไร่ ปี 2565 ลดลงร้อยละ 50 จำนวนพื้นที่ 799,067 ไร่ และภายในปี 2566 ลดลง ร้อยละ 100 จำนวนพื้นที่ 1,598,133 ไร่ หรือครอบคลุมพื้นที่ปลูกอ้อยทั้งหมดใน 3 จังหวัดดังกล่าว ซึ่งหากประสบความสำเร็จ จะขยายไปยังพื้นที่อื่น ๆ เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างยั่งยืน ตามนโยบายส่งเสริมการควบคุมดูแลภูมิอากาศจากภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญของทุกประเทศในขณะนี้

จาก https://www.banmuang.co.th วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

“สุริยะ” ดันนโยบาย BCG ตั้งเป้าปี‘68 โรงงานทั่วประเทศเข้าสู่อุตฯสีเขียว

กระทรวงอุตฯ เร่งผลักดันนโยบาย BCG มุ่งสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ มุ่งเป้ายกระดับผู้ประกอบกิจการโรงงานเข้าสู่อุตสาหกรรมสีเขียวทั่วประเทศภายในปี 2568

วันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้นำนโยบายการพัฒนา BCG Model ของรัฐบาลมาใช้ในภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ของรัฐบาล เพื่อเพิ่มมูลค่าและขีดความสามารถในการแข่งขัน ลดการเกิดของเสียโดยจัดการใช้ทรัพยากรภายในสถานประกอบการให้เกิดประโยชน์สูงสุด

และได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) เพื่อกำหนดแนวทางและบูรณาการการจัดทำแผนงานโครงการให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มุ่งเน้นไปที่ 4 เป้าหมายสำคัญ

ได้แก่ 1.การสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ เพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ สร้างงาน และยกระดับรายได้ของประชากร 2.การสร้างความมั่นคงทางสังคม สร้างความมั่นคงทางอาหาร สุขภาพ และพลังงานในทุกระดับ เพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิต 3.การสร้างความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ลดของเสีย ลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม 4.การตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs เพื่อให้โรงงานอุตสาหกรรมอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบหมายให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจสีเขียวผ่านการดำเนินโครงการส่งเสริมและพัฒนาสถานประกอบการสู่อุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) เพื่อขับเคลื่อนสถานประกอบการในประเทศไทยยกระดับเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวมากขึ้น

โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม การใช้การหมุนเวียนทรัพยากร และการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย BCG ของกระทรวงอุตสาหกรรมในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยตั้งเป้าหมายให้ในปี พ.ศ. 2565 มีสถานประกอบการอุตสาหกรรม 60% ได้รับ การรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) และสามารถสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 1.22 ล้านตัน คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2 เทียบเท่า)

นายวันชัย พนมชัย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เสริมว่า กรอ. มีพันธกิจในการกำกับดูแลธุรกิจอุตสาหกรรมให้มีความปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงได้เริ่มโครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมสีเขียวตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบันมีสถานประกอบการที่ผ่านการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวทั้งสิ้น ประมาณ 45,433 ใบรับรอง และในปี 2564 มีสถานประกอบการ ได้รับการถ่ายทอดความรู้และขอการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวเพิ่มขึ้นจำนวน 3,422 ราย

โดยมีเป้าหมายในปี 2568 โรงงานทั่วประเทศเข้าสู่อุตสาหกรรมสีเขียวทั้งหมดและในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 กรอ. ได้จัดพิธีมอบรางวัลยกย่องผู้ประกอบกิจการโรงงานที่ได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวระดับ 4 – 5 ประจำปี พ.ศ. 2563 และ 2564 จำนวนทั้งสิ้น 268 ราย ประกอบด้วยรางวัลอุตสาหกรรมสีเขียวระดับ 4 วัฒนธรรมสีเขียว (Green Culture) จำนวน 236 ราย และรางวัลอุตสาหกรรมสีเขียวระดับ 5 เครือข่ายสีเขียว (Green Network) จำนวน 32 ราย

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

“พาณิชย์” จับมือ 3 สมาคม ลดราคาเคมีเกษตรสูงสุด 35% นาน 3 เดือน

กรมการค้าภายในจับมือ 3 สมาคมผู้ค้า ผู้นำเข้าเคมีเกษตร ลดราคายากำจัดวัชพืช-ยาปราบศัตรูพืชและแมลง-ยากำจัดโรคพืช รวม 74 รายการ จำนวน 2.35 แสนลิตรหรือกิโลกรัม สูงสุด 35% นาน 3 เดือน ตั้งแต่ 30 พ.ย. 64-28 ก.พ. 65 เพื่อช่วยลดต้นทุนให้เกษตรกร เผยหลังจบโครงการเตรียมนำตัวอื่นมาลดราคาต่อ หลังพบแนวโน้มราคาจะสูงต่อเนื่อง เหตุจีนลดผลิตและจำกัดส่งออก

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยภายหลังการหารือกับผู้ประกอบการเคมีการเกษตรเพื่อหาทางลดต้นทุนให้แก่เกษตรกร ว่า กรมฯ ได้ขอความร่วมมือผู้ผลิต ผู้นำเข้า 22 บริษัท จาก 3 สมาคม ได้แก่ สมาคมไทยธุรกิจเกษตร สมาคมอารักขาพืชไทย และสมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย รวมถึงหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ในการจัดทำโครงการพาณิชย์ลดราคาเคมีเกษตรช่วยเกษตรกร โดยจะลดราคาขายเคมีเกษตร 3 กลุ่ม คือ ยากำจัดวัชพืช ลดสูงสุด 22% หรือลดราคา 10-150 บาท ยาปราบศัตรูพืชและแมลง ลดสูงสุด 26% หรือ 3-135 บาท และยากำจัดโรคพืช ลดสูงสุด 35% หรือ 5-150 บาท รวมปริมาณ 235,268 ลิตรหรือกิโลกรัม หรือ 74 รายการ เริ่มตั้งแต่วันที่ 30 พ.ย. 2564-28 ก.พ. 2565 เป็นเวลา 3 เดือน คาดจะช่วยลดต้นทุนให้เกษตรกรไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาท

โดยเคมีเกษตรที่จะนำมาลดราคาในครั้งนี้ ครอบคลุมพืชทุกชนิด ทั้งข้าว ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา ไม้ผล ทั้งทุเรียน มังคุด และราคาที่จะขายตามโครงการ เช่น ไกลฟอร์เซต ขนาด 4 ลิตร เหลือเพียง 600-650 บาท จากปกติ 800 บาท สารกลูโฟซิเนต ราคาทั่วไป 990 บาท ราคาโครงการ 970 บาท และสารทูโฟ-ดี ราคาทั่วไป 190 บาท ราคาโครงการ 165 บาท เป็นต้น โดยเกษตรกรที่สนใจสามารถสั่งซื้อผ่านเกษตรจังหวัด เกษตรอำเภอ และสหกรณ์จังหวัด แต่ต้องแจ้งว่าจะไปรับสินค้าที่ร้านค้าใด

“ปริมาณเคมีเกษตรที่ขายตามโครงการนี้ แม้จะไม่มากนัก ประมาณ 1-2% ของปริมาณการใช้โดยรวมในเวลา 1 ปี แต่จะเป็นเครื่องชี้ว่าจากนี้ไปราคาเคมีเกษตรในตลาดจะไม่สูงเกินกว่านี้ อีกทั้งยังได้ขอให้ทั้ง 3 สมาคมกำชับตัวแทนจำหน่ายของตนเอง อย่าฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาขาย เอาเปรียบเกษตรกร หากรายใดฝ่าฝืนจะไม่ส่งสินค้ามาให้ขายอีกต่อไป และหากกรมฯ ตรวจพบผู้ค้ารายใดฉวยโอกาสปรับขึ้นราคา จะดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายเด็ดขาด” นายวัฒนศักย์กล่าว

อย่างไรก็ตาม หลังจากสิ้นสุดโครงการวันที่ 28 ก.พ. 2565 แล้ว กรมฯ จะขอความร่วมมือผู้ประกอบการทั้ง 3 สมาคมให้ช่วยลดต้นทุนให้เกษตรกรต่อเนื่อง ซึ่งผู้ประกอบการจะนำเคมีเกษตรรายการอื่น มาลดราคาอีก เพราะมีแนวโน้มว่าราคาเคมีเกษตรจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง เนื่องจากจีน ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก ปรับลดปริมาณการผลิต เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และยังจำกัดปริมาณการส่งออก ขณะที่ความต้องการใช้ทั่วโลกสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาในตลาดโลกสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และไทยเป็นประเทศนำเข้าเคมีเกษตร 100% จึงได้รับผลกระทบจากราคาที่สูงขึ้นมา 35-40% ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีมาตรการช่วยลดต้นทุนให้เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะมีโครงการช่วยเหลือเกษตรกรด้วย เช่น โครงการเกษตรสุขใจ ที่จะปล่อยสินเชื่อให้แก่เกษตรกรรายละไม่เกิน 50,000 บาท เพื่อไปซื้อปัจจัยการผลิต และไม่คิดดอกเบี้ยในเดือนแรก ส่วนสหกรณ์การเกษตรจะปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อเสริมสภาพคล่อง เป็นต้น

นายจารึก ศรีพุทธชาติ นายกสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้เป็นเพราะภาคเอกชนต้องการช่วยเหลือเกษตรกรให้อยู่รอด เพราะเคมีเกษตรราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และทำให้ต้นทุนการผลิตของเกษตรสูงขึ้น แต่หลังจากสิ้นสุดโครงการแล้ว ผู้ประกอบการคงต้องมาพิจารณาอีกครั้งว่ารายได้ที่หายไปรับได้หรือไม่ หรือรับได้แค่ไหน แต่ในเบื้องต้น แม้ผู้ประกอบการจะสูญเสียรายได้ แต่ก็ยอมเสียสละ ยอมขาดทุนกำไร เพราะถ้าเกษตรกรอยู่ได้ ผู้ประกอบการก็อยู่ได้

จาก https://mgronline.com   วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

มารู้จัก BCG คืออะไร มีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจอย่างไร พร้อมเปิดแผนทำงาน“พาณิชย์”ปี 65

รัฐบาลได้กำหนดนโยบายการขับเคลื่อน BCG (Bio-Circular-Green Economy) เป็นวาระแห่งชาติ ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนมูลค่า GDP ของ BCG จาก 21% เป็น 24% ภายใน 5 ปี หรือเพิ่มจาก 3.4 ล้านล้านบาท ในปี 2563 เป็น 4.4 ล้านล้านบาท ในปี 2568 โดยมีสินค้าและบริการในกลุ่ม BCG ที่อยู่ในเป้าหมายผลักดัน ได้แก่ เกษตรและอาหาร สุขภาพและการแพทย์ พลังงาน วัสดุ และเคมีชีวภาพ การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์

ผลจากการผลักดัน BCG เป็นวาระแห่งชาติ ทำให้หน่วยงานต่าง ๆ ได้ดำเนินนโยบายขับเคลื่อน BCG ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรม BCG การส่งเสริมและผลักดันการส่งออกสินค้า BCG และยังมีมาตรการในการขับเคลื่อน BCG โดยการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ แม้กระทั่งภาคเอกชน ต่างก็หันมาให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อน BCG กันเพิ่มมากขึ้น

BCG คืออะไร

ก่อนที่จะไปเรื่องอื่น เรามาทำความรู้จัก BCG กันก่อน โดย BCG เป็นตัวย่อของ Bio , Circular และ Green ถือเป็นเศรษฐกิจแนวใหม่ ที่กำลังเป็นเทรนด์สำคัญ หรือเป็นเมกะเทรนด์สำคัญของโลก ที่ไม่ว่าภาครัฐและเอกชนในโลกนี้ ต่างให้ความสำคัญ เพราะมีเป้าหมายเดียวกัน คือ การปกป้องสิ่งแวดล้อม การลดปัญหาโลกร้อน ที่กำลังเป็นตัวบั่นทอนทรัพยากรโลก

สำหรับ B คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio-economy) เป็นเศรษฐกิจที่เน้นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่า ควบคู่กับการรักษาสมดุลสิ่งแวดล้อม โดยใช้เทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าและบริการให้มีนวัตกรรมและมีมูลค่าสูง

C คือ เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เป็นเศรษฐกิจที่เน้นการใช้ทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด ใน 3 เรื่องหลัก คือ การใช้งานผลิตภัณฑ์เต็มวงจร (Reuse, Refurbish, Sharing) การแปรสภาพเพื่อกลับมาใช้ใหม่ (Recycle, Upcycle) และการออกแบบผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตเพื่อให้เกิดของเสียน้อยที่สุด (Zero-Waste)

G คือ เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เป็นเศรษฐกิจมุ่งเน้นการลดผลกระทบต่อโลกอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม

ประโยชน์ของ BCG

ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ สรุปไว้ว่า BCG Economy Model จะช่วยก่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในหลายมิติ และหลายด้าน โดยมีรายละเอียด ดังนี้

ด้านเศรษฐกิจ ที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ถ้านำแนวคิดเรื่อง BCG มาใช้ จะทำให้คนตกงาน เริ่มหันกลับมาสนใจการทำงานในภาคการเกษตร ช่วยลดภาวะการว่างงาน และทำให้เกิดความก้าวหน้าด้านเกษตรอาหาร

ด้านความมั่นคงทางด้านอาหาร ประเทศไทยมีความมั่นคงทางอาหารในระดับที่ดี ในแง่ของการผลิต ไทยผลิตอาหารได้เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก แต่ผลิตอาหารประเภทส่วนเกิน คือ กลุ่มอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรต เช่น แป้ง น้ำตาล ในจำนวนมาก ขณะที่อาหารประเภทโปรตีน กลับผลิตได้ไม่เพียงพอ จึงต้องพยายามปรับให้การผลิตอาหารประเภทส่วนเกินมาเป็นโปรตีน เพื่อสร้างโอกาสให้กับประเทศ ด้วยการนำแนวทาง BCG เข้าไปช่วย และทำให้กลุ่มคนทุกระดับ ได้รับสารอาหาร และสามารถเข้าถึงอาหารได้ เกิดความมั่นคงด้านอาหาร

ด้านพลังงาน ปัจจุบันประเทศไทยพึ่งพาแก๊สธรรมชาติมาก ใช้ในการผลิตไฟฟ้า 60% และมีแนวโน้มว่าจะต้องนำเข้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นมากในอนาคต BCG จะเข้ามาช่วยให้ไทยเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน จากเดิม 16.5% ในปี 2562 เพิ่มเป็น 20%

ด้านสุขภาพ ในแต่ละปีประเทศไทยนำเข้าผลิตภัณฑ์ทางด้านสุขภาพจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มยา และเวชภัณฑ์ ในปัจจุบันทางด้านการวิจัยและนวัตกรรมกำลังศึกษาเรื่องการผลิตยา เช่น ยารักษาโรคสะเก็ดเงิน ยาเพิ่มเม็ดเลือดแดง ยารักษาโรคมะเร็ง เพื่อลดการนำเข้ายาในอนาคต เช่นเดียวกับวัคซีนที่อยู่ในขั้นการทดลอง เพื่อนำมาใช้จริง

ด้านความยั่งยืน เรื่องของทรัพยากรธรรมชาติ คาดหวังว่าเมื่อทำ BCG ได้แล้ว จะสามารถลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติลงไป อีกทั้งยังสามารถลดมลพิษ เช่น PM 2.5 ขยะ น้ำเสีย การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ดูแลสัตว์สูญพันธุ์

ด้านการท่องเที่ยว ในรูปแบบเดิมอาจทำให้ธรรมชาติสึกหรอ แต่เมื่อมีการวางแผนการท่องเที่ยวควบคู่ไปกับการดูแลธรรมชาติ จะทำให้รูปแบบการท่องเที่ยวเกิดความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

หนุนปรับตัวรับเมกะเทรนด์โลก

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า BCG ทวีความสำคัญเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของไทยรัฐบาลกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปส่งเสริมและผลักดัน เพื่อร่วมกันปกป้องสิ่งแวดล้อม ปกป้องโลกจากปัญหาโลกร้อน และในต่างประเทศ ก็พบว่าทุกประเทศต่างให้ความสำคัญกับ BCG และสนับสนุน BCG ด้วยเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ ในส่วนของกรมฯ ได้ดำเนินการตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้สั่งการให้เพิ่มความสำคัญ และให้สนับสนุนเศรษฐกิจ BCG อย่างเข้มข้น ซึ่งกรมฯ ได้รับนโยบายและกำหนดให้เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การทำงานสำหรับปี 2565 เพราะเห็นว่าเรื่องนี้ เป็นเมกะเทรนด์ของโลก ที่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศ การปกป้องสิ่งแวดล้อม ถ้าไทยช้า หรือไม่ทันการ ก็จะตกขบวนได้

เปิด 5 สินค้า BCG ที่ต้องการผลักดัน

นายภูสิตกล่าวว่า ในการขับเคลื่อนสินค้า BCG กรมฯ มีเป้าหมายเบื้องต้นที่จะเข้าไปส่งเสริมและผลักดันจำนวน 5 กลุ่ม ได้แก่ อาหารแห่งอนาคต อาหารสัตว์เลี้ยง บรรจุภัณฑ์ ไลฟ์สไตล์ และเครื่องสำอางและสมุนไพร เพราะเป็นกลุ่มที่ไทยมีศักยภาพในการผลิตและการส่งออก และที่ผ่านมา ได้มีการนำ BCG มาใช้ในกระบวนการผลิตอยู่แล้ว สามารถที่จะต่อยอดผลักดันให้มีจำนวนเพิ่มขึ้น และผลักดันส่งออกไปขายต่างประเทศ เพื่อนำรายได้เข้าประเทศได้เร็วขึ้น

นำร่องเปิดตัวฮีโร่ BCG

นายภูสิตกล่าวว่า เพื่อให้เห็นว่า กรมฯ จริงจัง และพร้อมที่จะสนับสนุนผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าและบริการโดยใช้หลักการ BCG กรมฯ ได้ทำงานเรื่องนี้มาระยะหนึ่งแล้ว ขณะนี้ได้มีการคัดเลือกผู้ประกอบการเป็นฮีโร่ BCG (BCG Heroes) นำร่องจำนวน 50 ราย คัดเลือกจากกลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์ และตั้งเป้าปี 2565 จะผลักดันเพิ่มเป็น 500 ราย ซึ่งจะมีผู้ประกอบการกลุ่มสินค้าใหม่ ๆ จากกลุ่มเป้าหมายเข้ามาเพิ่ม

เมื่อนำร่องเปิดตัวฮีโร่ BCG แล้ว กรมฯ ได้เดินหน้าสนับสนุนผู้ประกอบการอย่างเต็มที่ โดยได้จัดทำ e-Catalogue เพื่อเล่าเรื่องราวของผู้ประกอบการ ตัวสินค้า เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ประกอบการรายอื่นได้นำไปใช้ และใช้เป็นแคตาลอกให้ทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในประเทศต่าง ๆ 58 แห่ง ได้นำไปเสนอให้กับลูกค้า โดยเฉพาะลูกค้าในยุโรป สหรัฐฯ ที่ให้ความสำคัญกับการปกป้องสิ่งแวดล้อม (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.thaigroove.com/bcgheroes)

นอกจากนี้ ยังได้ช่วยทำตลาด โดยจัดกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจออนไลน์ ให้ทูตพาณิชย์เชิญผู้ซื้อ ผู้นำเข้ามาเจรจาธุรกิจกับผู้ประกอบการของไทย นำเข้าร่วมงานแสดงสินค้าทั้งในและต่างประเทศ และในปี 2565 มีแผนที่จะบุกเจาะตลาดอย่างหนัก โดยเฉพาะประเทศที่ให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม หรือเป็นเวทีที่มีการหยิบยกประเด็นสิ่งแวดล้อมขึ้นมาหารือ เช่น ตลาดยุโรป เน้นสหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ ตลาดออสเตรเลีย และตลาดเกาหลี เป็นต้น

กิจกรรมช่วยขับเคลื่อน BCG

สำหรับรายละเอียดกิจกรรมที่จะดำเนินการ ได้แก่ เดือน ก.พ.2565 BCG เจาะตลาดเกาหลี ตอกย้ำความเชื่อมั่นสินค้า Eco Thai ที่ได้เริ่มเข้าไปบุกตั้งแต่ปี 2563 อย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมา ได้รับการตอบรับจากตลาดดี และผู้บริโภคเกาหลีเองต้องปรับตัวจากกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่รัฐบาลกำหนดเพิ่มขึ้น , เม.ย.2565 BCG เจาะตลาดอิตาลี ในงาน Milan Design Week , พ.ค.2565 BCG ในเวที APEC นำเสนอตัวอย่างความสำเร็จของผู้ประกอบการและนโยบายการส่งเสริมของกระทรวงพาณิชย์ในโอกาสที่ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุม APEC , ก.ค.2565 BCG เจาะตลาดออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ สร้างภาพลักษณ์ทางการค้าที่ดีของไทยและประชาสัมพันธ์เผยแพร่สินค้าช่วยลดโลกร้อนของไทยให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น และส.ค.-ก.ย.2565 BCG เจาะตลาดยุโรป (อังกฤษ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์) เปิดตัวสินค้า BCG ของไทยในเวทีงานแสดงสินค้าที่เน้นแนวคิดด้าน “รักษ์โลก”

ขณะเดียวกัน ได้เตรียมจัดทำแพลตฟอร์มสำหรับขายสินค้า BCG ใน Thaitrade.com เพื่อแนะนำสินค้าและเปิดโอกาสจำหน่ายออกสู่ต่างประเทศทางออนไลน์ และยังจะนำแคตาลอกไปไว้ในหน้าร้าน TOPTHAI Store ที่ปัจจุบันมีเปิดใน Tmall.com และ Tmall Global ของจีน , Bigbasket.com ของอินเดีย, Amazon.com ของสิงคโปร์และสหรัฐฯ , Klangthai.com ของกัมพูชา และ Blibli.com ของอินโดนีเซีย เพื่อเพิ่มโอกาสในการขายอีกทางหนึ่ง

ทางด้านการประชาสัมพันธ์สินค้า BCG จะจัดทำแคมเปญ BCG : Be the ChanGe เป็นการเล่นคำว่า BCG เชิญชวนให้ทุกคนหันมาเปลี่ยนแปลงเพื่อโลกที่ดีกว่า ไม่ฝากความหวังไว้กับใคร แต่เริ่มได้ที่ตัวคุณ โดยมีเป้าหมายที่จะสื่อสารกระตุ้นการมีส่วนร่วมทั้งในประเทศ และเผยแพร่ไปในต่างประเทศผ่านทูตพาณิชย์ ตลอดจนองค์กรพันธมิตรต่าง ๆ ของกรมฯ

เปิดแผนทำงานปี 65 ดัน BCG

นายภูสิตกล่าวว่า สำหรับแผนการสนันสนุน BCG ในปี 2565 จะเน้นการร่วมมือกับหน่วยงานในกระทรวงพาณิชย์ ผลักดันให้ผู้ประกอบการเป็นผู้ประกอบการ BCG เพิ่มขึ้น โดยจะมีกิจกรรมที่จะนำมาช่วยสนับสนุนเป็นจำนวนมาก ทั้งการพัฒนาคน พัฒนาสินค้า การช่วยประชาสัมพันธ์สินค้า BCG และการส่งเสริมการขายสินค้า BCG ผ่านทางออนไลน์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งพาผู้ประกอบการ BCG เข้าร่วมงานแสดงสินค้า เพื่อแนะนำสินค้าและเปิดตัวสู่ตลาดโลกด้วย

“กรมฯ จะเป็นฟันเฟืองหนึ่งของรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG ไปสู่เป้าหมาย เพราะเรื่องนี้เป็นเมกะเทรนด์ของโลก ถ้าพลาด ไทยจะเสียโอกาส แต่ถ้าไทยเกาะกระแสได้ เกาะติดใกล้ชิด ก็จะทำให้สินค้าและบริการ BCG ของไทย เป็นที่รู้จัก เป็นที่ยอมรับ และทำรายได้เข้าประเทศได้มากขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตเพิ่มขึ้นตามเป้าที่วาดฝันเอาไว้”นายภูสิตกล่าว

จาก https://mgronline.com   วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

จีน-อินเดียออกกฎใหม่ ขึ้นทะเบียนสินค้าก่อนส่งออก

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ แจ้งข่าว จีนและอินเดียกำหนดระเบียบใหม่ ให้ผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร ต้องขึ้นทะเบียนก่อนส่งออก โดยจีนจะเริ่มบังคับใช้ 1 มกราคม 2565 กำหนด 18 กลุ่มสินค้า ส่วนอินเดียต้องผ่านการเกณฑ์หน่วยงานตรวจสอบภายในก่อน เริ่ม 1 มิถุนายน 2565 ยันไทยจะหารือทั้ง 2 ประเทศ ในเวที WTO ให้เร่งแจ้งขั้นตอนการปฏิบัติที่ชัดเจน และไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการค้า

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า รัฐบาลจีนและอินเดียได้ออกประกาศระเบียบฉบับใหม่ กำหนดให้ผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร จะต้องขึ้นทะเบียนก่อนส่งออก เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจในคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้า โดยผู้ผลิตอาหารที่มีการส่งออกหรือมีแผนที่จะส่งออกสินค้าในกลุ่มดังกล่าวไปยังประเทศจีนและประเทศอินเดีย ควรเตรียมความพร้อมและปฏิบัติตามมาตรการขึ้นทะเบียนผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร เพื่อให้การส่งออกราบรื่นและไม่ติดขัด

ทั้งนี้ในส่วนของประเทศจีนจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 โดยกำหนดให้ผู้ผลิตอาหารจากต่างประเทศใน 18 กลุ่มสินค้า เช่น เนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์นม รังนกและผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ไส้บรรจุไส้กรอก ผลิตภัณฑ์จากผึ้ง ไข่และผลิตภัณฑ์ น้ำมันและไขมันเพื่อการบริโภค เมล็ดธัญพืชสำหรับการบริโภค อาหารสำหรับวัตถุประสงค์พิเศษ ผักสดและผักอบแห้ง ผลไม้แห้ง และอาหารเพื่อสุขภาพ เป็นต้น จะต้องขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานที่รับผิดชอบก่อนส่งออกของประเทศไทย ได้แก่ กรมวิชาการเกษตร กรมปศุสัตว์ กรมประมง และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำหรับผู้ผลิตอาหารและส่งออกที่ไม่อยู่ใน 18 กลุ่มสินค้าดังกล่าว สามารถที่จะดำเนินการขึ้นทะเบียนได้ด้วยตนเองโดยตรงกับทางสำนักงานศุลกากรกลางของจีน (GACC) ผ่านทางเว็บไซต์ www.singlewindow.cn

สำหรับประเทศอินเดียนั้น ได้มีการกำหนดให้โรงงานผู้ผลิตอาหารในประเทศต้นทาง จะต้องขึ้นทะเบียนและผ่านการตรวจประเมินก่อนส่งออกกับหน่วยงานด้านมาตรฐานและความปลอดภัยทางอาหารของอินเดีย (Food Safety and Standards Authority of India: FSSAI) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565

อย่างไรก็ตามทางประเทศไทย โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กับสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) จะหารือกับทางประเทศจีนและประเทศอินเดีย ในเวทีองค์การการค้าโลก (WTO) ทั้งนี้เพื่อขอให้มีการเร่งประชาสัมพันธ์ แจ้งขั้นตอนการปฏิบัติที่ชัดเจนให้กับผู้ผลิตอาหารที่ต้องขึ้นทะเบียน เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการค้าระหว่างประเทศไทยกับทั้ง 2 ประเทศดังกล่าว

นางอรมน กล่าวว่า ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาของปี 2564 (มกราคม-ตุลาคม) ประเทศไทยมีการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไปยังประเทศจีนเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 8,546.78 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าสำคัญที่มีการส่งออก ได้แก่ ผลไม้สด มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ข้าว ผลไม้แห้ง สินค้าประมง ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ผลไม้กระป๋องและแปรรูป และประเทศไทยมีการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไปยังประเทศอินเดีย เป็นมูลค่าทั้งสิ้น 637.08 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับสินค้าสำคัญที่มีการส่งออก ได้แก่ ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ อาหารสำเร็จรูป ผลไม้กระป๋องและแปรรูป อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผักและผลไม้กระป๋อง

จาก https://www.naewna.com วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

พาณิชย์ เผยอาเซียนเตรียมหารือกำหนดกรอบเจรจาเอฟทีเออาเซียน-แคนาดา

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผย อาเซียน เปิดเจรจาเอฟทีเอกับแคนาดา อย่างเป็นทางการแล้ว ลั่น ไม่น่าห่วงสำหรับไทย เหตุระดับการพัฒนาของอาเซียนต่างกัน ยันมีอาเซียนอื่นช่วยเจรจาต่อรอง ลดแรงกดดันให้ไทยได้

 นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้ อาเซียนและแคนาดา ได้ประกาศเปิดการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ระหว่างกันอย่างเป็นทางการแล้ว โดยไทยจะใช้กรอบการเจรจา ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบไปแล้ว เป็นแนวทางในการเจรจา เพื่อขยายโอกาสการค้า การลงทุน เพื่อประโยชน์ของทุกภาคส่วน เพื่อให้ได้ประโยชน์ในภาพรวมสูงสุดกับประเทศ โดยคำนึงถึงความพร้อมของระดับการพัฒนา และภูมิคุ้มกันของประเทศ รวมถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ถือว่า กรอบการเจรจาของไทยสามารถดูแลผลประโยชน์ และสร้างสมดุลให้กับทุกภาคส่วนได้

ทั้งนี้ ในเร็วๆ นี้ ทั้ง 2 ฝ่ายจะเริ่มเปิดการเจรจากันแล้ว ซึ่งจะเริ่มต้นหารือกันเพื่อวางกรอบการเจรจาก่อน โดยนอกจากจะเป็นการเปิดการตลาดการค้าสินค้า บริการ และการลงทุนแล้ว ยังจะต้องมีความร่วมมือด้านอื่นๆ ด้วย แต่ก่อนที่ทั้ง 2 ฝ่ายจะพบกัน อาเซียนจะหารือกันก่อนเพื่อกำหนดกรอบการเจรจาเป็นภาพรวมของอาเซียน

“การทำเอฟทีเอฉบับนี้ ไม่น่ากังวลสำหรับไทยมากนัก เพราะระดับการพัฒนาของอาเซียนแตกต่างกัน ดังนั้น การจะยอมเปิดเสรีในระดับสูง หรือยอมรับมาตรฐานด้านต่างๆ ในระดับสูงทัดเทียมเอฟทีเอฉบับอื่น เช่น ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าภาคพื้นแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี) คงเป็นเรื่องยาก และยังมีอาเซียนอื่นที่จะช่วยลดแรงกดดันให้ไทย เพราะจะมาช่วยไทยเจรจาต่อรอง อีกทั้ง ประเด็นอะไรที่อาเซียนทำตามไม่ได้ ก็อาจทำเป็นความร่วมมือ ที่ไม่ได้บังคับให้ต้องปฏิบัติตาม ไปก่อน ขณะเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์ อยู่ระหว่างการจัดตั้งกองทุนเอฟทีเอ เพื่อช่วยเหลือ เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเอฟทีเอด้วย”

สำหรับประเด็น หรือขอบเขตการเจรจาในเอฟทีเออาเซียน-แคนาดา จะคล้ายกับเอฟทีเอที่แคนาดาได้ทำกับประเทศอื่นแล้ว เช่น เกาหลีใต้ สหภาพยุโรป เปรู ปานามา คอสตาริกา โคลัมเบีย ฯลฯ ซึ่งจะครอบคลุมการเปิดเสรีการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน มาตรการปกป้องและเยียวยาทางการค้า กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า พิธีการศุลกากรและการอานวยความสะดวกทางการค้า มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า การเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา ทรัพย์สินทางปัญญา แรงงาน สิ่งแวดล้อม พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ นโยบายแข่งขันทางการค้า การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐ เป็นต้น

ส่วนประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการทำเอฟทีเอฉบับนี้ จากผลการศึกษาที่กรมได้ว่าจ้างศึกษา พบว่า จะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของไทยเพิ่มขึ้น 7,968-254,953 ล้านบาท เชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานของไทยไปยังภูมิภาคอเมริกาเหนือ ที่ไทยยังไม่เคยมีเอฟทีเอด้วยเลย ขณะที่สินค้าไทยที่คาดจะได้ประโยชน์ จากการส่งออกไปแคนาดาเพิ่มขึ้น มีทั้งสินค้าเกษตรและอาหาร เช่น ผักและผลไม้แปรรูป ผลิตภัณฑ์ปรุงรส, สินค้าอุตสาหกรรม เช่น ยางรถยนต์ ถุงมือยาง เครื่องมือและเครื่องจักร เครื่องปรับอากาศ ส่วนกลุ่มสินค้าที่ไทยจะนำเข้าเพิ่มขึ้น เช่น เนื้อหมูและเครื่องใน เนื้อปลาแช่แข็ง ข้าวสาลี ไม้แปรรูป เฟอร์นิเจอร์ไม้ ฯลฯ

นางอรมน กล่าวว่า  สำหรับการทำเอฟทีเอฉบับใหม่กับกลุ่มประเทศอื่นว่า ล่าสุด ไทยกำลังเร่งหารือกับคู่เจรจา เพื่อจัดทำความคาดหวังของการเจรจาให้ตรงกัน และเร่งจัดทำกรอบการเจรจา เสนอระดับนโยบาย ได้แก่ เอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป (อียู), เอฟทีเอไทย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (เอฟตา) ประกอบด้วยสวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ และเอฟทีเอไทย-สหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย (อีเออียู) ประกอบด้วยรัสเซีย เบลารุส อาร์เมเนีย และคีร์กีซสถาน โดยในส่วนของอียู และเอฟตา คาดจะเสนอให้ครม.เห็นชอบกรอบการเจรจาได้อย่างช้าไม่เกินไตรมาสแรกปี 65 หลังจากนั้นจะเริ่มเปิดการเจรจากันได้ทันที

“สาเหตุที่ไทยต้องทำเอฟทีเอฉบับใหม่ๆ เพราะปัจจุบัน ไทยทำการค้ากับประเทศคู่เอฟทีเอ สัดส่วนประมาณ 63% ของการค้าไทยกับโลก ถ้าให้เข้าใจง่ายๆ สัดส่วน 63% เป็นการค้าที่สินค้าไทยไม่ต้องถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าเลย แต่อีก 37% ที่เหลือ สินค้าไทยยังต้องเสียภาษีนำเข้าอยู่ จึงทำให้ไทยเสียเปรียบคู่แข่ง อย่างเวียดนาม ที่ค้าขายกับประเทศคู่เอฟทีเอมากถึง 80% ของการค้ารวม ส่วนสิงคโปร์ สูงถึง 90% แล้ว ถ้าไทยทำเอฟทีเอกับอียู, เอฟตา, ยูเรเซีย และแคนาดา สำเร็จ สัดส่วนการค้าของไทยกับคู่เอฟทีเอจะเพิ่มขึ้นมาได้อีกกว่า 10% และทำให้ศักยภาพการแข่งขันของไทยดีขึ้น”

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

แปรสภาพชีวมวลและพืชน้ำมันเป็นผลิตภัณฑ์-สารเคมีมูลค่าสูงแบบไร้ของเสีย

ศ. ดร.นวดล เหล่าศิริพจน์ อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)และผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีพลังงานชีวภาพ

ศ. ดร.นวดล เหล่าศิริพจน์ อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)และผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีพลังงานชีวภาพ

เมื่อการใช้พลังงานกำลังเปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับข้อตกลงร่วมกันของประชาคมโลกในการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) จึงประกาศให้ทุกประเทศจะต้องมีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)

ล่าสุด ประเทศไทยได้แสดงจุดยืนสนับสนุนนโยบายการใช้พลังงานสะอาด และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065-2070 ซึ่งถือเป็นวาระสำคัญของโลกและเป็นก้าวสำคัญด้านพลังงานของประเทศ ทำให้ภาคธุรกิจต่างเร่งปรับแผนการใช้พลังงานทั้งในภาคการผลิต อาทิ การผลิตไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินทยอยเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานทดแทนในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น

ในภาคการขนส่งปัจจุบันส่วนใหญ่ยังคงใช้น้ำมัน แต่แน่นอนว่าเมื่อรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาแทนที่เครื่องยนต์สันดาป ทำให้อนาคตความต้องการใช้พลังงานน้ำมันจะค่อยๆลดลง ซึ่งน้ำมันดีเซลและแก๊สโซลีน(น้ำมันเบนซิน) จะมี Biofuel คือ เชื้อเพลิงที่ได้จากชีวมวล (Biomass) เข้าไปผสมในสัดส่วนที่ภาครัฐกำหนด แต่หลังจากนี้อีก 10-20 ปี เมื่อเครื่องยนต์สันดาปภายในหมดไปและจะถูกแทนที่ด้วยรถยนต์ไฟฟ้า (EV) นั่นหมายความว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องตามมา

ศ. ดร.นวดล เหล่าศิริพจน์ อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)และผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีพลังงานชีวภาพ กล่าวว่า ในอดีตกว่าสิบปีที่ผ่านมารัฐบาลมีนโยบายเพิ่มการปลูกอ้อยและปาล์ม ทำให้มีอุตสาหกรรมผลิต เชื้อเพลิงชีวภาพค่อนข้างมาก แต่เมื่อสถานการณ์พลังงานโลกจากนี้จะถูกกระตุ้นด้วยความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการมาของรถยนต์ไฟฟ้า (EV) สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ ความต้องการเอทานอลและไบโอดีเซลในตลาดพลังงานจะถูกปรับลดลง ซึ่งก็จะส่งผลกระทบต่อผลผลิตและเกษตรกรได้หากไม่มีการเตรียมความพร้อม ดังนั้น หากจะไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศ (Net Zero Greenhouse Gas Emissions ) รัฐบาลจำเป็นต้องมีนโยบายและแผนออกมารองรับระหว่างทางว่าจะทำอะไรหรือมีมาตรการอะไรมาช่วยลดผลกระทบให้กับภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ

“ชุดโครงการวิจัยที่เราทำมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 10 ปีนี้ เป็นความพยายามที่จะนำปาล์มน้ำมันและชีวมวลจากอ้อยมาเพิ่มมูลค่า จากจุดเริ่มต้นงานวิจัยเพื่อแก้ปัญหาเรื่องของราคาเอทานอลและไบโอดีเซลที่ผันผวน จนถึงงานวิจัยเพื่อรองรับและหาแนวทางการใช้เอทานอลและไบโอดีเซลในกรณีที่ความต้องการเอทานอลและไบโอดีเซลลดลง ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบกับเกษตรกรรวมถึงอุตสาหกรรมผู้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ จึงมีแนวคิดการนำเอาชีวมวล รวมถึงเชื้อเพลิงชีวภาพ (เอทานอลและน้ำมันปาล์ม) ไปแปรสภาพเป็นผลิตภัณฑ์หรือสารเคมีที่มีมูลค่าสูงแทน โดยชุดโรงการที่มีการดำเนินการในอดีตที่ผ่านมา ได้แก่ งานวิจัยและพัฒนากระบวนการแปรสภาพชีวมวลจากซังข้าวโพด ชานอ้อย ฟางข้าว กะลาปาล์ม และเศษวัสดุเหลือจากการเกษตร หรือกากจากกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมการเกษตรมาเป็นเชื้อเพลิงและผลิตสารเคมีมูลค่าสูง การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีพื้นฐานและต้นแบบสำหรับอุตสาหกรรมพืชน้ำมันเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรม Bio-complex เป็นต้น โดยบูรณาการความเชี่ยวชาญทางด้านเคมีวิศวกรรม เทคโนโลยีชีวภาพ ร่วมกันระหว่าง มจธ.และ สวทช.”

ศ. ดร.นวดล กล่าวอีกว่า “ ในรายละเอียดคณะวิจัยพยายามหาแนวทางที่เหมาะสมในการเพิ่มมูลค่าของวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์จากอุตสาหกรรมพืชน้ำมัน อันได้แก่ น้ำมันปาล์มและน้ำมันมะพร้าว เพื่อแปรสภาพเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงตามโจทย์ของแต่ละอุตสาหกรรม เช่น สารหล่อลื่นชีวภาพ สารทำความสะอาดในระดับอุตสาหกรรม สารเปลี่ยนสถานะ เป็นต้น โดย มจธ. และหน่วยงานเครือข่ายเข้าไปเป็นที่ปรึกษาและดำเนินงานวิจัยร่วมกับพันธมิตรในภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องในระยะที่ผ่านมา”

นอกจากนี้ยังมีชุดโครงงานวิจัยเพื่อแปรสภาพเอทานอล และชีวมวลจำพวกอ้อยไปเป็นผลิตภัณฑ์หรือสารเคมีที่มีมูลค่าสูงเช่นกัน ศ. ดร.นวดล กล่าวว่า “นอกเหนือจากการนำอ้อยไปผลิตเป็นน้ำตาล สารให้ความหวานอื่นๆ รวมถึงเอทานอลแล้ว ชีวมวลจากอ้อยยังสามารถนำไปแยกส่วนเพื่อสกัดเซลลูโลส เฮมิเซลลูโลส และลิกนิน ซึ่งสารทั้งสามกลุ่มนี้สามารถนำไปต่อยอดแปรสภาพใช้ผลิตเป็นวัสดุชีวภาพต่างๆ ได้อย่างหลากหลาย เช่น บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ สารทนไฟ และสาร anti-oxidant ที่สามารถนำไปใช้ร่วมกับผลิตภัณฑ์พลาสติกและโฟม เป็นต้น”

งานวิจัยดังกล่าวเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2554 วัตถุประสงค์หลัก คือต้องการเพิ่มมูลค่าของเศษวัสดุทางการเกษตรในประเทศ โดยทำการศึกษาวิจัยเชิงลึกเพื่อหากระบวนการในการแยกส่วนและแปรสภาพชีวมวลที่มีประสิทธิภาพและต้นทุนต่ำ รวมถึงความเหมาะสมกับชีวมวลที่มีอยู่ในประเทศไทยภายใต้แนวคิดการสร้างกระบวนการใช้ประโยชน์จากชีวมวลของประเทศแบบไร้ของเสียในอนาคต ผลงานวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติแล้วกว่า 200 ฉบับ อีกทั้งเป็นงานวิจัยที่เชื่อมกับภาคอุตสาหกรรม และพร้อมรับโจทย์จากอุตสาหกรรมมาต่อยอด โดยมีการนำผลงานวิจัยไปจดสิทธิบัตรในต่างประเทศร่วมกับอุตสาหกรรมเครือข่าย 3 เรื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

จากผลงานวิจัยชุดนี้ ศ.ดร.นวดล ยังได้รับ “รางวัลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” ประเภทบุคคลประจำปี 2563 จากมูลนิธิโทเรเพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ ประเทศไทย ในฐานะนักวิจัยผู้ที่มีความมุ่งมั่นในการทำวิจัยในด้านการบูรณาการการแปรสภาพวัตถุดิบทางการเกษตรเป็นเชื้อเพลิงควบคู่กับการผลิตสารเคมีมูลค่าสูง ที่นอกจากช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับเศษเหลือทิ้งทางการเกษตรแล้ว ยังสามารถสร้างความเข้มแข็งและเสริมศักยภาพในการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรมในประเทศได้ สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ด้านที่ 7 พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ (Affordable and clean energy), ด้านที่ 9 อุตสาหกรรม นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน (Industry, innovation, and infrastructure), ด้านที่ 12 แผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน (Responsible consumption and production) และด้านที่ 13 การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate action)

จาก https://mgronline.com   วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

กลุ่มมิตรผล รั้งอันดับ 3 Sustainable Development กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร

กลุ่มมิตรผล คว้าอันดับ 3 ของโลก ด้านการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน Sustainable Development ในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร จาก S&P Global

นายบรรเทิง ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหารกลุ่มมิตรผล เปิดเผยว่า ผลการประเมินด้านการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนขององค์กรในปี 2563 กลุ่มมิตรผล ก้าวขึ้นสู่อันดับ 3 ด้านการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Development) ระดับโลกในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร จากการประเมินด้านความยั่งยืนขององค์กร หรือ Corporate Sustainability Assessment (CSA) โดย S&P Global

โดยขยับขึ้นจากอันดับ 4 ในปี 2563 ที่ผ่านมา สะท้อนถึงความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจที่มุ่งมั่นพัฒนาเพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้กับสังคมมากว่า 65 ปี ตั้งแต่ต้นน้ำสู่ปลายน้ำและยกระดับองค์กรสู่มาตรฐานระดับโลก โดยในปีนี้ นับเป็นปีที่ 4 ที่กลุ่มมิตรผลได้เข้าร่วมการประเมินความยั่งยืนระดับสากล

ผลการให้ประเมินกลุ่มมิตรผลมีผลงานที่ยอดเยี่ยมในหัวข้อหลักเรื่องเศรษฐกิจ-ธรรมาภิบาล สิ่งแวดล้อมและสังคม ตลอดจนหัวข้ออื่นๆ ที่ได้คะแนนเต็ม 100 คะแนน อาทิ การบริหารจัดการนวัตกรรม การบริหารจัดการความเสี่ยงทรัพยากรน้ำ การดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชน และการพัฒนาชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืน เป็นต้น

“การดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน ต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนให้กับสังคม สิ่งแวดล้อม และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลให้ทุกคนต้องปรับตัวอย่างมาก

ดังนั้นการสร้างความยั่งยืนขององค์กร จึงไม่ได้เป็นแต่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจเท่านั้น แต่ต้องให้ความสำคัญกับการดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้แก่ ชาวไร่อ้อย คู่ค้า ลูกค้า ชุมชน สังคม และพนักงาน เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจโดยต้องลงมือทำให้เกิดขึ้นจริง ตามหลักปรัชญาของกลุ่มมิตรผล “ร่วมอยู่ ร่วมเจริญ”

ความสำเร็จที่กลุ่มมิตรผลได้รับในปีนี้ สะท้อนถึงความตั้งใจของกลุ่มมิตรผลที่จะยกระดับองค์กรให้มีมาตรฐานความยั่งยืนในระดับสากล โดยถึงแม้ว่ากลุ่มมิตรผลจะไม่ได้เป็นองค์กรที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แต่มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาการดำเนินงานด้านความยั่งยืนให้มีความโปร่งใสและมีมาตรฐานเดียวกับบริษัทจดทะเบียนชั้นนำในตลาดหลักทรัพย์ เราจึงได้เข้าร่วมประเมินความยั่งยืนขององค์กรร่วมกับ S&P Global

การดำเนินงานเพื่อสร้างการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนของกลุ่มมิตรผล แบ่งออกเป็น 3 มิติ ครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สอดคล้องและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Sustainable Development Goals: SDGs)

โดยมุ่งเน้นการสร้างการเติบโตให้กับทุกภาคส่วนตลอดห่วงโซ่ทางธุรกิจ (Value Chain) ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ที่เริ่มตั้งแต่การพัฒนาศักยภาพเกษตรกรสู่การเป็น Smart Farmer ที่สามารถคิดวิเคราะห์และปรับตัวโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการทำเกษตรกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างผลผลิตคุณภาพสูง การพัฒนาศักยภาพของพนักงาน

การบริหารจัดการโรงงานให้มีระบบการผลิตมาตรฐานระดับสากล ลดการใช้พลังงานและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การดูแลและพัฒนาชุมชนรอบข้างในโครงการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน การจัดตั้งกองทุนมิตรผล-บ้านปู รวมใจช่วยไทยสู้ภัย COVID-19 เพื่อช่วยเหลือสังคมไทยในด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจ

ตั้งแต่บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วยและผู้ที่ต้องกักตัว กลุ่มคนเปราะบาง คนไร้บ้าน เด็กและเยาวชน รวมถึงการนำองค์ความรู้ การวิจัย และนวัตกรรม มาปรับใช้เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้อ้อยสู่ธุรกิจต่างๆ ในอุตสาหกรรม Bio-base ตลอดจนการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง และมีกระบวนการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence)

จากความสำเร็จในการเป็นองค์กรไทยที่อยู่ในอันดับ Top 3 ด้านความยั่งยืนของโลกในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มมิตรผล ยังคงมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนองค์กรและทุกภาคส่วนเพื่อสร้างการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนอย่างต่อเนื่องต่อไป

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 27 พฤศจิกายน 2564

3 สมาคมขนส่งทางเรือตั้งรับ ปี’65 กระอักระวางขาด-ค่าเฟรตพุ่ง

โอกาสที่การส่งออกไทยในปี 2565 จะขยายตัว 5% จากการฟื้นตัวของตลาด ทำให้เกิดความต้องการสินค้าสูงขึ้น แต่ทว่า “ผู้ส่งออก” ยังต้องเผชิญความท้าทายจากต้นทุนค่าระวางเรือที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นเช่นเดียวกัน เพราะจากภาวะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับขึ้น การขาดแคลนพื้นที่ (สเปซ) เรือ

ประเด็นนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาหารือในเวทีการเสวนาออนไลน์ “สถานการณ์ขนส่งสินค้าทางทะเลและแนวโน้มอัตราค่าระวางเรือ ปี 2022”

ซึ่งทางสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) สมาคมเจ้าของเรือและตัวแทนเรือกรุงเทพฯ หรือ BSAA และสมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ หรือ TIFFA เมื่อเร็ว ๆ นี้

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธาน สรท. ระบุว่า ภาพรวมการส่งออกปี 2564 จะขยายตัวมากกว่า 12% สูงสุดในรอบ 33 ปีเป็นผลมาจากตลาดจีนและสหรัฐฟื้นตัวมีความต้องการสินค้ามากขึ้น

ขณะที่ทิศทางการส่งออกปี 2565 สรท.มองว่าทั้งปีส่งออกไทยจะขยายตัว 5% เป็นผลมาจากตลาดต่าง ๆ เริ่มฟื้นตัวมากขึ้น มีความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้น

แต่ผู้ส่งออกยังต้องเจอปัจจัยปัญหาเรื่องต้นทุนค่าขนส่งระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ยังไม่นับรวมปัญหาอื่นที่อาจจะส่งผลต่อการผลิต และต้นทุนผู้ผลิต ทั้งการขาดแคลนแรงงาน ต้นทุนแรงงาน ค่าเงินบาท เงินเฟ้อ การขาดแคลนวัตถุดิบ และปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วย ซึ่งเป็นปัจจัยที่ผู้ส่งออกต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และต้องปรับตัว

“ค่าเฟรตเป็นปัญหาที่ผู้ส่งออกและผู้นำเข้าทุกประเทศเจอเหมือนกันหมด โดยยังมองว่าในระยะ 6 เดือนจากนี้ค่าเฟรตจะยังไม่ปรับลดลง และสิ่งที่น่าห่วงตามมาคือ การขยายวงไปทั้งฝั่งเอเชียใต้ อินเดีย ปากีสถาน ศรีลังกา ที่จะเจอปัญหาดังกล่าวนี้เช่นกัน แนวทางแก้ไข ทาง สรท.หยิบยกประเด็นหารือในหลายเวที โดยเฉพาะในเวทีองค์การการค้าโลก (WTO) พร้อมเสนอให้ตั้งคณะกรรมการคอยกำกับ ติดตามกับปัญหานี้เพื่อหาความชอบธรรมร่วมกันด้วย”

ปรับตัวรับเอฟเฟ็กต์ “ค่าระวาง”

ในส่วนของเอกชนต้องปรับตัว เพื่อแก้ปัญหาค่าระวางเรือ พื้นที่บนเรือและตู้คอนเทนเนอร์ขาด โดยจะต้องตกลงกับลูกค้าให้ชัดเจน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศสะดุด

สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามอีกประเด็นคือ การอำนวยความสะดวกด้านขนส่ง เพิ่มความคล่องตัวและหมุนเวียนการขนส่งสินค้าเข้าออกท่าเรือให้รวดเร็ว จะช่วยหมุนเวียนตู้คอนเทนเนอร์เข้าออกได้มากขึ้น ส่งผลดีต่อภาพการส่งออกของไทยในอนาคต

และในระยะยาว ไทยต้องปรับ เพราะในส่วนของระบบโครงสร้างพื้นฐานและบุคลากรของไทยยังไม่เพียงพอรองรับความต้องการ หากไทยยังพึ่งการขนส่งทางเรืออย่างเดียวจะเป็นเรื่องยาก ดังนั้น การหาช่องทางการขนส่งอื่นเป็นสิ่งสำคัญ

นายชัยชาญยอมรับว่า ปัญหาเรื่องของต้นทุนสินค้าในปีหน้าเป็นความท้าทายของผู้ผลิต ผู้ส่งออกที่ต้องบริหารต้นทุนของสินค้าให้ได้ เพราะหากไม่ดำเนินการใดอาจจะมีผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อได้ ซึ่งรัฐบาลเองจำเป็นต้องเข้ามาดูแลหาแนวทางแก้ไขปัญหา

เรือใหม่เข้าระบบพุ่ง 30%

นายพิเศษ ฤทธาภิรมย์ ประธานสมาคม BSAA กล่าวว่า ผลจากการที่ประเทศต้นทางมีปัญหาความแออัดในการนำเรือเข้าท่า ส่งผลให้การหมุนเวียนตู้เรือทำได้ล่าช้า นำมาสู่ปัญหาการขาดแคลนพื้นที่ (สเปซ) ตู้เปล่าในเรือลดลง ทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้ประกอบการส่งออก

โดยเฉพาะในเส้นทางหลักอย่างสหรัฐและสหภาพยุโรป อาจจะเจอปัญหาความล่าช้า ทำให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้นทั้งการประกันความเสี่ยงสินค้า จากปกติใช้เวลา 6 เดือนจะขยายเป็น 1-2 ปี ซึ่งเป็นไปได้ว่าจะต้องเผชิญปัญหานี้ต่อเนื่องระยะ 6 เดือนนี้ หรือไปจนถึงกลางปี 2565

อย่างไรก็ตาม สมาคมพบว่า จากสถานการณ์ความต้องการเรือ ตู้คอนเทนเนอร์ รวมถึงอัตราค่าระวางเรือที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว ทำให้มีลูกค้าโดยเฉพาะจากจีนติดต่อให้มีการต่อเรือเพิ่มขึ้น

และมีบริษัทสายเดินเรือขนาดใหญ่หลายสายเปิดให้บริการเช่าเรือและต่อเรือเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเรือขนาดใหญ่ที่บรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ 1-2 หมื่นตู้

นั่นจึงทำให้จำนวนเรือเปล่าเพิ่มขึ้น 20-30% จากปกติ 24 ล้านทีอียู แต่ละปีจะเพิ่มเฉลี่ยเพียง 4-5 แสนทีอียูเท่านั้น แต่ปัจจุบันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาเป็น 2 ล้านทีอียู และเป็น 4-5 ล้านทีอียู ล้อไปตามปัญหาค่าระวางเรือ ซึ่งการเพิ่มจำนวนเรือดังกล่าว มาพร้อมกับการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัย ลดการใช้แรงงานบนเรือลงใช้ไม่เกิน 10 คนต่อลำ

“เมื่อจำนวนเรือเพิ่มขึ้นจะทำให้มีเรือว่างเพิ่มขึ้น พื้นที่บนเรือเพิ่มขึ้น คาดว่าใน 2-3 ปีข้างหน้าจะมีเรือส่วนเกินเพิ่มขึ้นถึงประมาณ 30% ซึ่งเป็นปัญหาที่สายเรือจะต้องบริหารจัดการ และเชื่อว่าอนาคตค่าระวางเรือจะปรับตัวลดลงตามการส่งออกที่ย่อตัวลง”

TIFFA ผนึกพาณิชย์ช่วย SMEs

นายวิฑูรย์ สันติบุญญรัตน์ นายกสมาคม TIFFA กล่าวว่า ทางสมาคมร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จัดทำโครงการรวมกลุ่มเพื่อจองตู้สินค้า และร่วมกับ Thai Trade Center ของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ประจำสหรัฐ จัดหาระวางเรือ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ในการหาพื้นที่ระวางเรือในการส่งออก ตาม trade lane ที่ผู้นำเข้า-ส่งออกแจ้งมา

พร้อมกันนี้ ยังได้นำเสนอให้มีการพัฒนา NDPT : national digital trade platform และ eLMP : e-Logistics market place ซึ่ง TIFFA EDI กำลังพัฒนาอยู่ เพื่อให้บริการทางด้าน digital connectivity ทุกภาคส่วนที่อยู่บนระบบ ecosystem

นอกจากนี้ ได้ฝากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยผลักดันและแก้ไขปัญหา เช่น การ turnaround time ของตู้สินค้า จาก 15 วัน ปรับลดเหลือ 7 วัน เพื่อให้การขนส่งเกิดความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น รวมถึงปัญหาจัดเก็บ VAT 7% เหลือ 0% ของผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ เพื่อเพิ่มเงินหมุนเวียนให้แก่ผู้ส่งออกด้วย

ชี้โอกาสเชื่อมไทย-จีน

อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่งเห็นว่า การที่รถไฟความเร็วสูงเส้นทางคุนหมิง-เวียงจันทน์ ซึ่งจะเริ่มให้บริการวันที่ 2 ธ.ค. 2564 นี้ จะมีส่วนช่วยเชื่อมโยงการส่งผ่านสินค้าจากประเทศไทยไปเวียงจันทน์ ประเทศลาว และต่อเนื่องไปจีน

น่าจะเป็นโอกาสดีสำหรับสินค้าผลไม้ เช่น ทุเรียน มังคุด และลำไย สามารถช่วยลดความแออัดในการขนส่งทางทะเล และอาจจะส่งผลให้ต้นทุนค่าขนส่งถูกลงด้วย

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 27 พฤศจิกายน 2564

ธ.ก.ส. จับมือ 6 ภาคีลดการเผาอ้อย พร้อมหนุนสินเชื่อดอกพิเศษ

ธ.ก.ส. จับมือสมาคมชาวไร่อ้อย โรงงานน้ำตาล ส่งเสริมเกษตรกรลดการเผาอ้อย เพื่อลดปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 พร้อมเสริมสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษ จูงใจให้เกษตรกร นำร่อง กาญจนบุรี ราชบุรี และสุพรรณบุรี ตั้งเป้าลดการเผาอ้อยให้ได้ 100% ภายในปี 66

นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. ได้จับมือกับ 6 ภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย สมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อย เขต 7  ศูนย์ประสานงานโรงงานน้ำตาลลุ่มแม่น้ำแม่กลอง (กลุ่มโรงงานน้ำตาลลุ่มแม่น้ำแม่กลอง 9 โรงงาน และโรงงานน้ำตาลนิวกรุงไทย ที่เป็นพันธมิตร) สมาคมส่งเสริมอาชีพการเกษตรสุพรรณบุรี โรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาลสุพรรณบุรี โรงงานน้ำตาลมิตรผล และโรงงานน้ำตาลรีไฟน์ชัยมงคล (อู่ทอง) ในการสนับสนุนและดูแลชาวไร่อ้อยที่เข้าร่วมโครงการลดการเผาอ้อยเพื่อลดฝุ่นละออง PM 2.5  ในพื้นที่ 3 จังหวัดที่มีการผลิตอ้อยมากที่สุดในประเทศไทย ได้แก่ กาญจนบุรี ราชบุรี และสุพรรณบุรี

โดย ธ.ก.ส. ให้การสนับสนุนชาวไร่อ้อยด้วยสินเชื่อพิเศษในแต่ละขนาดพื้นที่ (Farm Size) เพื่อให้สามารถประกอบอาชีพ การทำไร่อ้อยได้อย่างยั่งยืน โดยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีการบริหารจัดการไร่อ้อยที่ทันสมัย (Smart Farming) มาปรับใช้เพื่อให้เกิดผลตอบแทนคุ้มค่ามากขึ้น

โดยการดำเนินงานนอกจากการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในปัญหาที่เกิดขึ้น ยังมุ่งเน้นนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในการลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตให้เหมาะสมในแต่ละสภาพพื้นที่เพาะปลูกอ้อย เช่น การสนับสนุนให้ชาวไร่อ้อยปรับพื้นที่รองรับรถตัดอ้อยเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการขาดแคลนแรงงานเก็บเกี่ยวอ้อยและการเผาอ้อย การส่งเสริมให้ชาวไร่อ้อยที่มีความพร้อมได้จัดซื้อเครื่องอัดใบอ้อย (Square Balers) เพื่อส่งขายให้กับโรงงานน้ำตาลในพื้นที่นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงเสริมในกระบวนการผลิตน้ำตาลและผลิตกระแสไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งเป็นการช่วยเพิ่มรายได้และรักษาสภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่

นายธนารัตน์ กล่าวอีกว่า ความร่วมมือดังกล่าว ตั้งเป้าหมายลดการเผาอ้อยลงร้อยละ 20 ในปี 2564 จำนวนพื้นที่ 319,627 ไร่ ปี 2565 ลดลงร้อยละ 50 จำนวนพื้นที่ 799,067 ไร่ และภายในปี 2566 ลดลง ร้อยละ 100 จำนวนพื้นที่ 1,598,133 ไร่ หรือครอบคลุมพื้นที่ปลูกอ้อยทั้งหมดใน 3 จังหวัดดังกล่าว ซึ่งหากประสบความสำเร็จ จะขยายไปยังพื้นที่อื่น ๆ เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างยั่งยืน ตามนโยบายส่งเสริมการควบคุมดูแลภูมิอากาศจากภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญของทุกประเทศในขณะนี้

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 26 พฤศจิกายน 2564

500องค์กรลดคาร์บอน ขับเคลื่อนพลังงานหมุนเวียน

RE 100 Thailand Club ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นแกนนำในการผลักดันการลดคาร์บอนของภาคเอกชน ซึ่งมีเป้าหมายร่วมขับเคลื่อนแผนพลังงานชาติไปสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality โดยมีสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ประเทศไทยต้องเดินตามข้อตกลงของการประชุม COP26 เพื่อไม่ให้เกิดการถูกกีดกันทางการค้าในรูปแบบที่ไม่ใช่ภาษี โดยประเทศไทยได้กำหนดเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเหลือศูนย์ภายในปี 2065

ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมเนื่องจากเป็นผู้ปล่อย ซึ่งเป็นผู้ใช้พลังงานและปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึง 70% ในวันนี้จุดยืนของภาคอุตสาหกรรมจะต้องเร่งลดการผลิตที่สร้าง Carbon footprint ให้เร็ว เมื่อประเทศพัฒนาแล้วกว่า 75% ต่างเรียกร้องให้ด้านผู้ผลิตสินค้าเริ่มปฏิบัติจริงเพื่อลดการทำลายสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้รัฐได้กำหนดมาตรการเพื่อมุ่งสู่ทิศทางการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง ดังนี้ ตั้งเป้าให้ผลิตพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาดมากกว่า 50% และผลักดันให้เกิดการผลิตพลังงานใหม่ก้าวสู่การเป็น RE100 (Renewable energy 100%)

รวมทั้งผลักดันยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ใช้ไฟฟ้าพลังงานสะอาดได้แท้จริงตั้งแต่ต้นทาง การลดปริมาณการใช้พลังงาน ซึ่งทำได้ด้วยการพัฒนาด้านเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ให้เกิดการผลิตที่ประหยัดพลังงานมากกว่าเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ที่ 30%

สำหรับการผลักดันพลังงานสะอาด RE100 จะสร้างจุดขายให้ไทยนอกเหนือจากมาตรการส่งเสริมการลงทุนในด้านอื่นๆ เมื่อนักลงทุนจากต่างชาติที่จะเข้ามาเองมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่จะเกิดขึ้นเร็วกว่าเป้าหมายระดับชาติ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเกี่ยวกับเทคโนโลยี อาทิ ระบบคลาวด์ , เอไอ , ดาต้า เซ็นเตอร์ , ดิจิทัล , สมาร์ตอิเล็กทรอนิกส์ ที่จำเป็นต้องใช้พลังงานมหาศาล

ทั้งนี้ หากไทยจ่ายพลังงานงานสะอาดและสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนว่าในอนาคตไทยจะมีการเพิ่มสัดส่วนของพลังงานสะอาดมากขึ้นเพื่อให้โรงงานใช้ในการผลิตและบริการได้ ก็จะเพิ่มโอกาสในการดึงนักลงทุนเข้ามา และมุ่งหวังว่าหลังจากมีอุตสาหกรรมใหม่เข้ามาลงทุนจะทำให้เกิดการต่อยอดโดยเยาวชนไทยและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ส.อ.ท.รู้ถึงความสำคัญของความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปี 2564 และที่ผ่านมาได้มีการดำเนินการหลายอย่างเพื่อรองรับสถานการณ์ดังกล่าวและเพื่อส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม และสมาชิก ส.อ.ท.ให้ช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ ล่าสุดได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับการซื้อขายคาร์บอนเครดิตของประเทศไทย (Thailand Carbon Credit Exchange Platform) ร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะเริ่มซื้อขายได้จริงครั้งแรก 2 ก.พ.2565

นายวีระเดช เตชะไพบูลย์ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน ส.อ.ท. และ ประธาน RE100 Thailand Club กล่าวว่า RE100 Thailand Club มีการกำหนดวิสัยทัศน์เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของภาคอุปสงค์และอุปทานของพลังงานหมุนเวียนและคาร์บอนเครดิต ในช่วงการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียน 100% ในระดับองค์กร

อีกทั้งส่งเสริมให้พลังงานหมุนเวียน (RE) และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ (EE) เป็นเครื่องมือหลักในการ Decarbonization ผ่านการดำเนินงานของภาครัฐในด้าน Deregulation, Decentralization และ Digitalization มุ่งไปสู่การแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนและรักษาระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย

โดยมีเป้าหมายการใช้พลังงานหมุนเวียนและความเป็นกลางทางคาร์บอน ดังนี้ ใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างน้อย 25% ภายในปี 2025 อย่างน้อย 50% ภายในปี 2030 อย่างน้อย 80% ภายในปี 2035 อย่างน้อย 90% ภายในปี 2040 และถึง 100% ภายในปี 2045

ทั้งนี้ การกำหนดเป้าหมายดังกล่าวของ RE 100 Thailand Club ได้สอดคล้องกับนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ของประเทศไทยให้มีการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 ตามที่นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แถลงไว้ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 (COP26) ณ เมืองกลาสโกลว์ ประเทศสก๊อตแลนด์

500องค์กรลดคาร์บอน ขับเคลื่อนพลังงานหมุนเวียนRE 100 Thailand Club มีสมาชิกร่วมก่อตั้ง 21 องค์กร และปัจจุบันมีสมาชิก 500 บริษัทรวมบริษัทในเครือของสมาชิก ซึ่งบริษัทสมาชิกร่วมก่อตั้งได้กำหนดเป้าหมายชัดเจน เช่น ส.อ.ท. มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ บมจ.ซุปเปอร์เอนเนอร์ยี่ คอร์เปอเรชั่น บมจ.ปตท บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย กลุ่มเซ็นทรัล สภาสถาปนิก บมจ.สหวิริยาสตีลอินตัสตรี

บริษัท โตโยต้ามอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้มีการกำหนดเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนหรือการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutrality) ในปี 2035

บริษัท เด็นโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด ได้กำหนดเป้าหมายการใช้พลังงานหมุนเวียน (RE 100) ในสัดส่วน 100% ภายในปี 2025 และกำหนดเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนหรือการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2035

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีนโยบายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (EGAT Carbon Neutrality) ภายในปี 2050

จาก https://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 26 พฤศจิกายน 2564

สอน.เตรียมความพร้อมเปิดหีบอ้อยฤดูการผลิต 64/65 ป้อน 57 โรงงานน้ำตาลทรายทั่วประเทศ

นายเอกภัทร วังสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้แพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตรายวันเป็นจำนวนมาก ส่งผลต่อเศรษฐกิจและสุขภาพของประชาชนในภาพรวม ประกอบกับภาคอุตสาหกรรมการผลิตอ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจทั้งในส่วนภาคการผลิตและส่งออกของประเทศ ที่จะเริ่มต้นการผลิตอ้อยและน้ำตาลทรายฤดูการผลิตปี 2564/2565 เพื่อเป็นการดำเนินการป้องกันและแพร่ระบาดของโรค ตลอดจนการบริหารจัดการเพื่อเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายได้เสนอแนวทางการป้องกันและควบคุมโควิด-19 ในระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย โดยคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายในการประชุม ครั้งที่ 10/2564 เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2564 ที่มีนายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน มีมติเห็นชอบแนวทางทางการป้องกันและควบคุมโควิด-19 ในระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ตลอดช่วงฤดูการเปิดหีบอ้อย รวมทั้งจัดทำคลิปวิดีโอเพื่อประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการป้องกันและควบคุมโควิด-19 ในระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ตลอดช่วงฤดูการเปิดหีบอ้อย ให้กับชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลทั้ง 57 โรงงาน พร้อมทั้งได้จัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจลงพื้นที่ให้คำแนะนำและติดตามการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

ทั้งนี้ นอกจากในส่วนของมาตรการที่เข้มข้นแล้ว สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ร่วมกับอุตสาหกรรมจังหวัดระหว่างวันที่ 22 พฤศจิกายน ถึงวันที่ 17 ธันวาคม 2564 โดยแบ่งคณะทำงานออกเป็น 4 ชุดตรวจ เพื่อตรวจสอบความพร้อมของโรงงานน้ำตาลตามแนวทางการป้องกันและควบคุมโควิด-19 ในระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายตลอดช่วงฤดูการเปิดหีบอ้อย ฤดูการผลิตปี 2564/2565

จาก https://www.matichon.co.th วันที่ 26 พฤศจิกายน 2564

พาณิชย์ดันใช้ประโยชน์FTA ส่งอาหาร-เกษตรแปรรูปบุกจีน

นายสินิตย์ เลิศไกร รมช.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดโครงการ DTN Business Plan Award 2021“ชี้ช่องโอกาส บุกตลาดด้วย FTA” ว่า การดำเนินโครงการครั้งนี้ เป็นโอกาสดีที่เกษตรกรและผู้ประกอบการสินค้าอาหารและเกษตรแปรรูปของไทย จะใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) เพื่อเพิ่มแต้มต่อทางการค้าบุกตลาดต่างประเทศ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการไทยให้สามารถขยายส่งออกสินค้าไปตลาดโลก โดยเฉพาะตลาดคู่ FTA ของไทย

ทั้งนี้โครงการดังกล่าวได้ดำเนินการต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดยในปี 2564 นี้ ได้ย้ำให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ มุ่งเน้นให้ความรู้และส่งเสริมผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จาก FTA เพื่อเพิ่มแต้มต่อทางการค้าและโอกาสขยายส่งออกไปตลาดคู่ FTA ของไทย โดยเฉพาะตลาดจีน ซึ่งสามารถใช้ประโยชน์จาก FTA อาเซียน-จีนที่จีนได้ลดเลิกการเก็บภาษีนำเข้าส่วนใหญ่ให้กับสินค้าส่งออกจากไทยแล้ว เช่น อาหาร เกษตร และเกษตรแปรรูป เป็นต้น รวมถึงใช้ประโยชน์จากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2565 ขยายส่งออกสินค้าของไทยไปกลุ่มประเทศสมาชิก RCEP ด้วย

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า การคัดเลือกเกษตรกรและผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการในปี 2564 กรมได้ร่วมกับคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คัดเลือกผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ 20 ราย ที่ส่งออกสินค้าอาหารและเกษตรแปรรูปเช่น ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเม็ดมะม่วงหิมพานต์อบกรอบกล้วยทอด กล้วยเส้น มะพร้าวแปรรูป มะม่วงเบาแช่อิ่มอบแห้งว่านหางจระเข้อบแห้ง งาคั่วบด ขนมคุกกี้ แยมผลไม้ ข้าวไรซ์เบอร์รี่อบกรอบ โปรตีนจากจิ้งหรีด ข้าวเกรียบปลาทอด น้ำตาลสกัดจากหญ้าหวาน ซอสปรุงรส เครื่องแกงชนิดผง เป็นต้น

โดยหลังจากนี้ผู้ประกอบการทั้ง 20 ราย จะได้เข้าร่วมกิจกรรม Boot Camp ติวเข้มเรื่องการใช้ประโยชน์จาก FTA ในการส่งออก การจัดทำแผนธุรกิจ กลยุทธ์เจาะตลาดออนไลน์และออฟไลน์ของจีน และพฤติกรรมผู้บริโภคในตลาดจีน รวมทั้งจะมีการจัดประกวดแผนธุรกิจคัดเลือกผู้ประกอบการ 5 รายสุดท้าย เข้าร่วมกิจกรรมจับคู่ธุรกิจกับผู้นำเข้าจีนในรูปแบบออนไลน์ รวมถึงจะได้นำสินค้าขึ้นจำหน่าย และทำ Live Sale บนแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซที่ได้รับความนิยมในตลาดจีนด้วย

ทั้งนี้ 10 เดือนแรกปี 2564 ไทยส่งออกสินค้าอาหารเกษตร และเกษตรแปรรูป ไปจีนมูลค่า 10,207 ล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้น 56.3% สินค้าอาหารส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง เครื่องดื่ม ข้าว เป็นต้น

จาก https://www.naewna.com  วันที่ 26 พฤศจิกายน 2564

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.43 บาท/ดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทยังคงมีแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าอยู่ เหตุ ผู้เล่นต่างชาติเริ่มcut lossสถานะเก็งกำไรขายบอนด์ระยะสั้นสุทธิติดต่อกันสองวัน

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.43 บาทต่อดอลลาร์ "อ่อนค่า"ลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.36 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุนธนาคารกรุงไทยระบุว่าแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทยังคงมีแรงกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่าอยู่ โดยเฉพาะการทยอยปรับสถานะเก็งกำไรเงินบาทแข็งค่าของผู้เล่นต่างชาติ ซึ่งล่าสุด เราเห็นการขายบอนด์ระยะสั้นสุทธิติดต่อกันสองวัน รวมแล้วราว 4 พันล้านบาท ซึ่งสะท้อนว่า ผู้เล่นต่างชาติบางส่วนเริ่ม cut loss สถานะการเก็งกำไรเงินบาทออกมาบ้าง สอดคล้องกับ สัญญาณเชิงเทคนิคัลในระยะสั้นที่ชี้ว่าเงินบาทยังมีโอกาสอ่อนค่าแตะระดับ 33.50 บาทต่อดอลลาร์ได้อยู่

ทั้งนี้ ควรจับตาทิศทางเงินดอลลาร์ด้วยเช่นกัน เพราะเรามองว่า เงินดอลลาร์ก็มีโอกาสเผชิญแรงขายทำกำไรด้วยเช่นกัน หลังเงินดอลลาร์แข็งค่าหนักอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมาและเงินดอลลาร์ก็เริ่มแตะแนวต้านเชิงเทคนิคัล (RSI เข้าสู่โซน Overbought) ซึ่งหากไม่มีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาหนุนเงินดอลลาร์ ก็อาจทำให้เงินดอลลาร์ย่อตัวลงได้บ้างในระยะสั้น

อย่างไรก็ดี ความกังวลปัญหาการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 รวมถึงความกังวลล่าสุดต่อเชื้อ COVID สายพันธุ์ใหม่ที่รุนแรง ก็อาจยังพอช่วยหนุนโมเมนตัมเงินดอลลาร์อยู่ในระยะนี้เช่นกัน

ในระยะสั้นนี้ เราเชื่อว่า เงินบาทจะกลับไปเจอแนวต้านสำคัญในโซน 33.45-33.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นจุดที่ผู้ส่งออกบางรายยังรอขายเงินดอลลาร์ รวมถึงผู้เล่นต่างชาติอาจรอจังหวะกลับเข้ามาเก็งกำไรเงินบาทอีกรอบได้ หากสัญญาณเชิงเทคนิคัลเงินบาทเริ่มเปลี่ยนทิศหรือเกิด Divergence นอกจากนี้ ต้องติดตามทิศทางราคาทองคำอย่างใกล้ชิด เพราะหากราคาทองคำสามารถรีบาวด์กลับขึ้นมาได้ ก็จะช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้บ้าง ส่วนแนวรับเงินบาทได้ขยับขึ้นมาแถว 33.10-33.20 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งอาจเห็นผู้นำเข้าบางส่วนเข้ามาซื้อเงืนดอลลาร์บ้าง เท่าที่จำเป็น โดยเฉพาะในช่วงปลายเดือน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.35-33.50 บาท/ดอลลาร์

แม้ว่าในฝั่งสหรัฐฯ จะเป็นวันหยุดเทศกาล Thanksgiving ทำให้ธุรกรรมในตลาดเบาบางลง ทว่าบรรยากาศในตลาดการเงินยังคงถูกปกคลุมด้วยความกังวลแนวโน้มเฟดพร้อมที่จะเร่งการลดคิวอี รวมถึงขึ้นดอกเบี้ยได้หลายครั้งในปีหน้า ซึ่งเราคาดว่ามุมมองดังกล่าวของผู้เล่นในตลาดจะทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวและไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก

นอกเหนือจากประเด็นดังกล่าว ตลาดยังเริ่มกังวลโอกาสการแพร่ระบาด COVID-19 สายพันธุ์ใหม่ที่พบในแอฟฟริกาใต้ ซึ่งความกังวลดังกล่าวได้ส่งผลให้หลายประเทศแบนการเดินทางจากประเทศในแถบแอฟฟริกา และกดดันให้ ค่าเงิน Rand ของแอฟฟริกาใต้ (ZAR) อ่อนค่าลงหนักเกือบ 2%

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX50 กลับมารีบาวด์ขึ้นราว +0.40% โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเทคฯ ที่รีบาวด์ขึ้นมาบ้าง หลังจากที่ย่อตัวลงหนักตลอดสัปดาห์ อย่างไรก็ดี เรามองว่า ในระยะสั้นตลาดหุ้นยุโรปอาจยังถูกกดดันจากประเด็นปัญหาการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ ที่ยังคงกดดันให้ตลาดหุ้นยุโรปยังอยู่ในโหมดปรับฐานจากจุดสูงสุดก่อนหน้าต่อ

ในฝั่งตลาดบอนด์ โดยรวมตลาดยังไม่มีการเคลื่อนไหวที่ชัดเจน เนื่องจากวันหยุดในฝั่งสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี สัญญาณฟิวเจอร์ของบอนด์ยีลด์ในฝั่งสหรัฐฯ ก็สะท้อนภาพบอนด์ยีลด์ปรับตัวขึ้นต่อ ซึ่งเป็นไปตามมุมมองของผู้เล่นในตลาดเชื่อว่า เฟดจะใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดได้เร็ว 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ยังมีโมมนตัมการแข็งค่าหนุนอยู่ โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 96.80 จุด โดยการแข็งค่าของเงินดอลลาร์นั้นถูกหนุนโดยภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงแข็งแกร่งและดูโดดเด่นกว่าภูมิภาคอื่นๆ รวมถึงแนวโน้มเฟดอาจเร่งใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นในปีหน้า

 การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์และมุมมองตลาดที่เชื่อว่าเฟดจะใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดได้เร็ว ยังคงกดดันให้ ราคาทองคำแกว่งตัว sideways ในช่วง 1,790 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเราคงมองว่า ระดับดังกล่าวจะเป็นแนวรับสำคัญที่ผู้เล่นบางส่วนยังคงรอกลับเข้ามาเก็งกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำ ซึ่งโฟลว์เก็งกำไรทองคำในจังหวะรีบาวด์ดังกล่าวอาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะกดดันให้เงินผันผวนในฝั่งอ่อนค่าได้ในช่วงนี้

สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอลุ้นว่า ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) Christine Lagarde จะมีมุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ รวมถึงนโยบายการเงินของ ECB อย่างไร ซึ่งหากประธาน ECB แสดงความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากปัญหาการระบาดระลอกใหม่และย้ำจุดยืนไม่เร่งรีบปรับใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น มุมมองดังกล่าวอาจกดดันให้ เงินยูโร (EUR) ผันผวนและอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ได้

ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุเงินบาทอ่อนค่าลงต่อเนื่องหลังเปิดตลาดในช่วงเช้าวันนี้ โดยอ่อนค่าผ่านแนว 33.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ไปแตะระดับ 33.57 บาทต่อดอลลาร์ฯ ซึ่งนับเป็นระดับอ่อนค่าที่สุดของเงินบาทในรอบ 6 สัปดาห์ (จากระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 33.37 บาทต่อดอลลาร์ฯ) โดยเงินบาทยังน่าจะเผชิญแรงกดดันต่อเนื่องจากสัญญาณขายสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 33.35-33.65 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยที่ต้องติดตามจะอยู่ที่ ทิศทางเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติ สถานการณ์โควิด-19 และการคาดการณ์เกี่ยวกับทิศทางนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้า

จาก https://www.thansettakij.com   วันที่ 26 พฤศจิกายน 2564

สอน. เสริมมาตรการโควิดระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายช่วงฤดูผลิต 64/65

สอน. จับมืออุตสาหกรรมจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เสริมมาตรการป้องกันโควิด-19 ในระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ช่วงหีบอ้อยฤดูการผลิตปี 2564/2565

นายเอกภัทร วังสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้เสนอแนวทางการป้องกันและควบคุมโควิด-19 (covid-19) ในระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย โดยคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายมีมติเห็นชอบแนวทางทางการป้องกันและควบคุมโควิด-19 ในระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ตลอดช่วงฤดูการเปิดหีบอ้อย

รวมทั้งจัดทำคลิปวีดีโอเพื่อประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการป้องกันและควบคุมโควิด-19 ในระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ตลอดช่วงฤดูการเปิดหีบอ้อย ให้กับชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลทั้ง 57 โรงงาน พร้อมทั้งได้จัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจลงพื้นที่ให้คำแนะนำและติดตามการป้องกันและควบคุมโรค COVID-19

นอกจากนี้ สอน.ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ร่วมกับอุตสาหกรรมจังหวัดระหว่างวันที่ 22 พฤศจิกายน ถึงวันที่ 17 ธันวาคม 2564 โดยแบ่งคณะทำงานออกเป็น 4 ชุดตรวจ เพื่อตรวจสอบความพร้อมของโรงงานน้ำตาลตามแนวทางการป้องกันและควบคุมโควิด-19 ในระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายตลอดช่วงฤดูการเปิดหีบอ้อย ฤดูการผลิตปี 2564/2565

"อุตสาหกรรมการผลิตอ้อยและน้ำตาลทราย มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจทั้งในส่วนภาคการผลิตและส่งออกของประเทศ  ดังนั้น เพื่อเป็นการดำเนินการป้องกันและแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตลอดจนการบริหารจัดการเพื่อเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพที่จะเริ่มต้นการผลิตอ้อยและน้ำตาลทรายฤดูการผลิตปี 2564/2565 จึงได้มีการออกมาตรการดังกล่าว"

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 25 พฤศจิกายน 2564

สภาอุตฯ สัมมนาร่วมขับเคลื่อนแผนพลังงานชาติ

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดสัมมนาร่วมขับเคลื่อนแผนพลังงานชาติไปสู่เป้าหมาย โดยจะไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศสุทธิเพิ่มขึ้นในอนาคต

กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในฐานะ   ผู้ก่อตั้ง RE100 Thailand Club มูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน และ สมาชิกร่วมก่อตั้งจำนวน 19 องค์กร ได้จัดงานประชุมและสัมมนา “RE100 Thailand Club ร่วมขับเคลื่อนแผนพลังงานชาติไปสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality” โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานกล่าวเปิดงานสัมมนาและปาฐกถาพิเศษ 

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า ภายในปี ค.ศ.2030 หรือ อีก 9 ปีข้างหน้า ไทยเรามีเป้าหมายจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือ 0% ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ไปประกาศในการประชุม COP 26 ที่เมืองกลาสโกลว์ ประเทศสก๊อตแลนด์ ซึ่งปัจจุบันไทยเราปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 300 ล้านตันต่อปี และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะมาจากภาคอุตสาหกรรมเป็นส่วนใหญ่ซึ่งการรวมตัวในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยในอนาคตเพราะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ทั้งนี้ตนเองอยากให้ทุกคนคิดถึงเรื่องของพลังงานสะอาด พลังงานทดแทนเพื่อเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในอนาคต

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้กล่าวว่า สภาอุตสาหกรรมตระหนักรู้ถึงความสำคัญของความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในปี 2564 และที่ผ่านมาได้มีการดำเนินการหลายอย่างเพื่อรองรับสถานการณ์ดังล่าวและเพื่อส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม และสมาชิกของ ส.อ.ท. ให้ช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรม อาทิเช่น การแต่งตั้ง“คณะทำงานส่งเสริมและสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคอุตสาหกรรม”การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการเชื่อมโยงข้อมูลสารสนเทศโดยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์กับสำนักงานโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) การจัดตั้งคณะทำงานย่อยการจัดทำข้อมูลการใช้พลังงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคอุตสาหกรรม (Big Data Climate Change) การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับการซื้อขายคาร์บอนเครดิตของประเทศไทย (Thailand Carbon Credit Exchange Platform) ร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) เป็นต้น 

นายวีระเดช เตชะไพบูลย์ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน ส.อ.ท. และประธาน RE100 Thailand Club ได้แจ้งว่า RE100 Thailand Club มีการกำหนดวิสัยทัศน์ เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของภาคอุปสงค์และอุปทานของพลังงานหมุนเวียนและคาร์บอนเครดิต ในช่วงการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียน 100% ในระดับองค์กร อีกทั้งส่งเสริมให้พลังงานหมุนเวียน (RE) และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ (EE) เป็นเครื่องมือหลักในการ Decarbonization ผ่านการดำเนินงานของภาครัฐในด้านDeregulation, Decentralization และ Digitalization มุ่งไปสู่การแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนและรักษาระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย และมีพันธกิจ : เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศไทยและการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2050 ในรูปแบบสมัครใจในระดับองค์กร

การกำหนดเป้าหมายดังกล่าวของ RE100 Thailand Club ได้สอดคล้องกับนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ของประเทศไทยตามที่ท่านนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แถลงไว้ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ณ เมืองกลาสโกลว์ ประเทศสก๊อตแลนด์

ปัจจุบัน RE100 Thailand Club มีสมาชิกประมาณ 500 บริษัทรวมบริษัทในเครือของสมาชิก ซึ่งบริษัทสมาชิกร่วมก่อตั้ง อย่างเช่น บริษัท โตโยต้ามอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้มีการกำหนดเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนหรือการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ.2035 บริษัทเด็นโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด ได้กำหนดเป้าหมายการใช้พลังงานหมุนเวียน(RE100) ในสัดส่วน 100% ภายในปีค.ศ.2025 และกำหนดเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนหรือการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในปี ค.ศ.2035 และ กฟผ. มีนโยบายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (EGAT Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050

จาก https://tna.mcot.net  วันที่ 25 พฤศจิกายน 2564

KTIS เปิดตัวหลอดชานอ้อย cherr BY KTIS รับเทรนด์เลิกใช้หลอดพลาสติกปี 65

กลุ่ม KTIS บุกตลาดหลอดชานอ้อย 100% เปิดตัวแบรนด์ cherr BY KTIS มั่นใจศักยภาพในการเติบโตสูง คาดดีมานด์พุ่งหลังเลิกใช้หลอดพลาสติกปี 65 สอดรับกับเทรนด์ของโลก

นายสมชาย สุวจิตตานนท์ ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่ม KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่องครบวงจร เปิดเผยว่า จากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 ที่เห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอแผนลด-เลิกผลิตขยะพลาสติก

โดยประกาศห้ามใช้พลาสติกประเภทใช้แล้วทิ้ง 4 ชนิด คือ ถุงหิ้ว กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้ว และหลอดพลาสติก แบบ 100% ภายในปี 2565 นั้น จะส่งผลดีต่อผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ผลิตจากเยื่อชานอ้อยของกลุ่ม KTIS เช่น ภาชนะบรรจุอาหาร จาน ชาม กล่องข้าว ถาดอาหาร รวมไปถึงหลอดชานอ้อย ซึ่งผลิตจากเยื่อชานอ้อย 100% ปลอดภัยกับผู้บริโภคและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ภายใน 30-45 วัน

ด้านนายภูมิรัฐ หวังปรีดาเลิศกุล ผู้อำนวยการฝ่ายไร่ ในฐานะผู้อำนวยการโครงการผลิตหลอดชานอ้อย กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นเทรนด์ของโลก และเป็นแนวทางการดำเนินธุรกิจของกลุ่ม KTIS มาตั้งแต่รุ่นก่อตั้ง ตามนโยบาย Zero Waste ที่จะนำสิ่งเหลือใช้ในกระบวนการผลิตกลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้ทั้งหมด

รวมถึงการนำเยื่อชานอ้อยมาผลิตเป็นหลอดชานอ้อยด้วย โดยในช่วงแรกๆ ของการผลิตและจำหน่ายหลอดชานอ้อยออกสู่ตลาดนั้นเป็นการขายไปยังผู้ประกอบการโดยตรงจึงยังไม่จำเป็นต้องมีแบรนด์ แต่ขณะนี้ได้ขยายตลาดไปสู่ผู้บริโภคทั่วไปด้วย จึงได้สร้างแบรนด์ cherr BY KTIS (เฌอ บาย เคทิส) ขึ้นมาเพื่อให้ง่ายต่อการสื่อสารกับผู้บริโภค

ทั้งนี้ หลอดชานอ้อย cherr นี้ เป็นหลอดชานอ้อย 100% รายแรกและรายเดียวในประเทศไทย อยู่ภายใต้การดำเนินงานของบริษัทย่อยของกลุ่ม KTIS คือ บริษัท เอ็นไวรอนเม็นท์พัลพ์ แอนด์ สตรอว์ จำกัด (EPAS) มีกำลังการผลิตในช่วงเริ่มต้น 500,000 หลอดต่อวัน และสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้อีกหากมีปริมาณความต้องการสูง

ด้านนายปัญญ์ ศิริวิริยะกุล วิศวกรบริหาร ในฐานะผู้อำนวยการร่วม โครงการผลิตหลอดชานอ้อย กล่าวว่า วัตถุดิบในการผลิตหลอดชานอ้อย มาจากโรงงานเยื่อกระดาษชานอ้อยของกลุ่ม KTIS ซึ่งมีมาตรฐานการผลิตในระดับสากล โดยได้รับการรับรองตามมาตรฐาน ISO9001, ISO14001, ISO22000 และ GMP/HACCP จึงเชื่อมั่นได้ในมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง ถูกสุขลักษณะอนามัยตามมาตรฐาน GMP และไม่มีสารปนเปื้อนที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ตามมาตรฐาน HACCP

นอกจากนี้ ยังได้รับการรับรอง “IPHA” (Industrial and Production Hygiene Administration) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ออกโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ภายใต้ความร่วมมือของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม และสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ ซึ่งสะท้อนถึงมาตรฐานในการควบคุม ติดตาม และป้องกันการปนเปื้อนของโควิด – 19 ในสถานที่ประกอบการ กระบวนการผลิต และบุคลากร อีกด้วย

“หลอดชานอ้อยต่างจากหลอดกระดาษทั่วไป ตรงที่ไม่เปื่อยยุ่ยง่ายแม้จะแช่ในน้ำเป็นชั่วโมง ไม่มีสารเคมีปนเปื้อน จึงปลอดภัย 100% สำหรับการบริโภค และการใช้ชานอ้อยจากกระบวนการหีบอ้อยของกลุ่ม KTIS ทำให้ช่วยลดการตัดไม้มาทำเยื่อกระดาษหรือหลอดกระดาษอีกด้วย หลอดชานอ้อยจึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อผู้บริโภคและต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง”

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 25 พฤศจิกายน 2564

สอน. ยกเครื่องอุตฯ อ้อยและน้ำตาล ผุดตลาดกลางเครื่องจักรบนแพลตฟอร์มออนไลน์

สอน. ผุดตลาดกลางเครื่องจักรบนแพลตฟอร์มออนไลน์ เดินหน้าหนุนชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสด ลดการเผาอ้อย เล็งหาพันธมิตรปลุกปั้นโมเดลปลูกอ้อยรวมแปลงไม่ต่ำกว่า 2,000 ไร่ ชูต้นแบบการบริหารจัดการต้นทุนต่ำกว่า 1,000 บาทต่อไร่ ให้ผลผลิตสูง เกิดแน่ภายใน 3 ปี

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบนโยบายให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ส่งเสริมชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดส่งโรงงานน้ำตาลทรายมากขึ้น ผ่านการนำนวัตกรรมมาใช้ในการพัฒนาภาคการผลิต

ทั้งนี้ นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ขานรับนโยบายจึงได้ มุ่งเน้นดำเนินมาตรการลดต้นทุนแก่ชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดในอัตราเงินอุดหนุน 120 บาทต่อตันอ้อยอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ทั้งยังนำเทคโนโลยีเครื่องจักรมาใช้ในการบริหารจัดการไร่อ้อยให้มากขึ้น ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกและการเก็บเกี่ยวแบบครบวงจร

นายเอกภัทร วังสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า การดำเนินงานของ สอน. ในปี 2564 ได้ยกระดับการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการทำงานรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากผลพวงของสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่เป็นปัจจัยเร่งให้เกิดการใช้เทคโนโลยีและสื่อออนไลน์ที่เข้ามามีบทบาทในการปฏิบัติงานอย่างรวดเร็ว

สำหรับในปี 2565 สอน. ยังเดินหน้าพัฒนาแพลตฟอร์มตลาดกลางเครื่องจักรที่ใช้ในไร่อ้อยบนเว็บไซต์ www.Raiaoi.com เพื่อเป็นตลาดกลางเชื่อมโยงชาวไร่อ้อยกับผู้ประกอบการเครื่องจักรกลทั้งที่ขายและให้เช่าได้เข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มเดียวกัน ช่วยให้ชาวไร่อ้อยเข้าถึงข้อมูลและเครื่องจักรที่ต้องการได้สะดวกรวดเร็วขึ้น เช่น รถแทรกเตอร์ รถตัดอ้อย รถไถ รถสาง รถพรวนดิน แล็บเตอร์ เป็นต้น ภายใต้งบประมาณสนับสนุนจากกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย

“สอน. ขอเชิญชวนผู้ประกอบการเครื่องจักรกลทางการเกษตรทั้งรายเล็กรายใหญ่ ทั้งขายและให้เช่า เช่น คูโบต้า ฟอร์ด แคต ช้างแทรคเตอร์ สยามอิมพลีเม้น และอื่นๆ ฯลฯ รวมถึงเกษตรกรรายย่อยที่เป็นลูกค้าสินเชื่อซื้อเครื่องจักรทางการเกษตรกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ก็สามารถเข้าร่วมโครงการขาย/ให้เช่าเครื่องจักรบนเว็บไซต์ไร่อ้อยได้ ช่วยเพิ่มศักยภาพการตัดอ้อยให้ได้อย่างน้อย 20,000 ตันต่อเครื่องตัดต่อปี คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 2,000 ไร่ เพิ่มรายได้ให้เจ้าของเครื่องจักรคืนทุน”

นอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้ชาวไร่อ้อยหันมาตัดอ้อยสด ลดปริมาณการตัดอ้อยไฟไหม้ เพื่อลดปัญหามลภาวะฝุ่นพิษอย่างต่อเนื่อง โดยฤดูการผลิตปี 2564/2565 สอน. ตั้งเป้าหมายลดปริมาณการตัดอ้อยไฟไหม้เหลือ 10% ของปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด

โดยปีนี้คาดการณ์ปริมาณอ้อยเข้าหีบอยู่ที่ 85 ล้านตัน ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2563/2564 ที่มีอ้อยไฟไหม้เกือบ 27% ของปริมาณอ้อยทั้งหมด 66.65 ล้านตัน และลดลงจากปี 2562/2563 ที่มีอ้อยไฟไหม้ประมาณ 49% และฤดูการผลิตปี 2565/2566 ตั้งเป้าหมายตัดอ้อยไฟไหม้ลดลงเหลือ 5% และปี 2566/2567 เป็น 0% เพื่อแก้ไขปัญหาการเผาไร่อ้อยเป็นการลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างถาวร

นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างเสาะหาพันธมิตรทำแปลงปลูกอ้อยแบบรวมแปลงใหญ่เป็นพื้นที่นำร่องขนาดไม่ต่ำกว่า 2,000 ไร่ภายในปีนี้ เพื่อเป็นแปลงตัวอย่างในการเพาะปลูกและการบริหารจัดการต้นทุนที่เป็นมาตรฐาน ตั้งเป้าหมายให้ชาวไร่อ้อยมีต้นทุนปลูกอ้อยต่ำกว่า 1,000 บาทต่อไร่ จากปัจจุบันอยู่ที่ 1,200-1,400 บาทต่อตันต่อไร่ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกให้มีผลผลิตสูงขึ้นไม่ต่ำกว่า 12 ตันต่อไร่ จากปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 9 ตันต่อไร่ ภายใน 3 ปี

ทั้งนี้ ชาวไร่อ้อยยังสามารถตรวจสิทธิ์เงินช่วยเหลือของตนเองได้ในโครงการตรวจสิทธิ์อ้อย บนแพลตฟอร์มออนไลน์เพียงสแกนคิวอาร์ โค้ด (QR Code) ไลน์ “ตรวจสิทธิ์อ้อย” และ สอน.  จะมุ่งพัฒนาระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ที่ไร้เอกสารอย่างต่อเนื่อง เป็นฐานข้อมูลเชื่อมโยงการทำงานระหว่างภาครัฐ โรงงาน และชาวไร่อ้อยในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย

ดำเนินโครงการบริหารจัดการข้อมูลจากไร่อ้อยสู่โรงงาน ที่รวบรวมข้อมูลชาวไร่อ้อยกับโรงงานน้ำตาลแต่ละคู่สัญญาเกี่ยวกับพื้นที่ พันธุ์ ลักษณะทางภูมิศาสตร์ วิธีการปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิต เพื่อนำมาวิเคราะห์วางแผนและจัดโซนพื้นที่ปลูกอ้อยให้เหมาะสม ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ นำไปสู่การพัฒนาระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบให้มีประสิทธิภาพ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 24 พฤศจิกายน 2564

มิตรผล-GC มอง BCG Model เครื่องยนต์ตัวใหม่ขับเคลื่อนอนาคตประเทศไทย

มิตรผล-GC ฉายภาพอนาคตเศรษฐกิจประเทศไทย ผ่านเ 'BCG โมเดล' เร่งสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าตลอดซัพพลายเชนเพิ่มขีดแข่งขันส่งออกใหม่ ตอบโจทย์เทรนด์โลก 'ยั่งยืน-เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม'

จากงานสัมมนาออนไลน์ 'BCG : The New Growth Engine พลังขับ เคลื่อนเศรษฐกิจไทย' จัดโดยโพสต์ทูเดย์ ร่วมกับองค์กรรัฐและเอกชนระดับประเทศ พร้อมด้วยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิร่วมถ่ายทอดทิศทาง แนวโน้ม โมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Economy) ที่จะเข้ามาขับเคลื่อนอนาคตประเทศไทย ให้เติบโตอย่างยั่งยืน

มิตรผล ร่วมสร้าง ระบบนิเวศ BCG โมเดล

นายประวิทย์ ประกฤตศรี ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจใหม่ บริษัท มิตรผล จำกัด กล่าวเสวนาในหัวข้อ "เปิดมุมมองธุรกิจ BCG เทรนด์โลกที่ธุรกิจต้องปรับตัว" ว่า บริษัทให้ความสำคัญพร้อมดำเนินการในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 5-6 ปีที่ผ่านมา ด้วยมองว่า บีซีจี อีโคโนมี จะตอบโจทย์ภาพใหญ่เศรษฐกิจประเทศด้านต่างๆในอนาคต ด้วยสอดคล้องกับแนวโน้ม(เทรนด์)ของโลก

โดยกลุ่มมิตรผล ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในคณะทำงาน บีซีจี อีโคโนมี โมเดล ในฐานะผู้ผลิตวัตถุดิบพืชพลังงานรายใหญ่ จากการนำศาสตร์ด้านการวิจัยและพัฒนาเข้ามาปรับใช้ร่วมกับกระบวนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกพร้อมต่อยอดไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างคุณค่าห่วงโซ่ในทุกภาคส่วนตั้งแต้ต้นน้ำ-ปลายน้ำในภาคการเกษตร

"CG จะเป็นหัวหอกสำคัญที่จะเชื่อมโยงธุรกิจในทุกภาส่วนตั้งแต่ต้นทางการเกษตรต่อยอดไปจนถึงคุณภาพ สตรีท ฟู้ด ให้มีการเชื่อมโยง ไปต่อยังการท่องเที่ยว และ ชีวพลังงาน ยา เวชภัณฑ์ ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไปจนถึงเศรษฐกิจหมุนเวียน เซอร์คูลาร์ อีโคโนมี การนำของเหลือที่เกิดขึ้นในภาคอุตสาหกรรมมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์นำกลับมาใช้ได้ต่อ ที่จะสอดคล้องไปยังเรื่อง กรีน เพื่อมีส่วนร่วมในการลดโลกร้อน และนำไปสูเน็ต ซีโร่ ในอนาคต" นายประวิทย์ กล่าว

นายประวิทย์ กล่าวว่ากลุ่มมิตรผลได้ปรับตัวธุรกิจเพื่อรองรับแนวโน้มโมเดลเศรษฐกิจใหม่อย่างต่อเนื่องถึงในปัจจุบัน โดยให้ความสำคัญในด้านการเพิ่มมูลค่าจากของเสียเพื่อลดการเกิดของสียให้เป็นศูนย์ ไปพร้อมกับดูแลพันธมิตรเกษตรกรชาวไร่ บนพื้นที่กว่า 2พันไร่ให้สามารถเพิ่มคุณภาพผลผลิตไปได้สู่ 18-20ตันต่อไร่ในอนาคต ด้วยการนำนวัตกรรมด้านต่างๆมาปรับใช้ เริ่มตั้งแต่ การบริหารจัดการระบบ การนำพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน ระบบการส่งน้ำ ฯลฯ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม กลุ่มมิตรผลไม่ได้เป็นผู้ผลิตน้ำตาลเพียงอย่างเดียว แต่ยังได้ต่อยอด By Products ไปสู่ภาคพลังาน พร้อมมุ่งไปสู่ Bioactive Compound รวมถึงการเป็นผู้ผลิตอาหารแห่งอนาคต ซึ่งในกลุมผู้ผลิตสินค้าเหล่านี้จะต้องมุ่งให้ความสำคัญในเรื่องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอนาคตไปพร้อมกับการวิจัยทั้งข้างในและข้างนอก

นอกจากนี้ บริษัทยังให้ความสำคัญในกรรมวิธีการผลิตอาหารเพื่อความยั่งยืน รวมถึงมองหาตัวกลางที่จะเข้ามเชื่อมต่อด้าน Green Chemical เคมีสีเขียว ที่เปลี่ยนผ่านจากเอทานอลมาเป็นเอทิลีน โดยร่วมกับพันธมิตรด้านต่างๆ เพื่อพัฒนาผลผลิตให้มีต้นทุนเหมาะสมให้ ลูกค้าหาซื้อได้ โดยสืบค้นที่มาผลผลิตจากต้นทางได้ว่าเป็นวัตถุดิบทื่เป็นมิตรกับสิ่งเวดล้อม อยู่ในพื้นที่เพาะปลูกที่ลดคาร์บอน ฟุตปรินต์ เป็นต้น

นายประวิทย์ กล่าวว่าการจะขับเคลื่อนประเทศไทยภายใต้โมเดลเศรษฐกิจใหม่ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีส่วนร่วมในทุกภาส่วน โดยปัจจุบันมีหน่วยงานองค์กรต่างๆหันมาให้ความสำคัญในเรื่องนี้ พร้อมเสริมความแข็งแกร่งจากภายในไปสู่ภายนอก มีการทำวิจัยและพัฒนาเพื่อต่อยอดให้เป็นที่ยอมรับ ด้วยผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ค่อนข้างมีมูลค่าสูงกว่าเมื่อเทียบกับสินค้าปกติอื่นๆทั่วไป

"การดำเนินการจะต้องผ่านาง/กลยุทธ์ด้านต่างๆ ทั้งลดต้นทุนพลังงานทดแทนให้มีราคาต่ำลง การลดความเหลื่อมล้ำระหว่างกลุ่มที่รับประโยชน์ เช่น ชาวไร่ มีการเพิ่มผลผลิตราคาสินค้าให้กับมัน อ้อย ซึ่งเป็นพืชพลังงานหลักมีราคาค่อนข้างดี แต่ที่ยังต้องพัฒนาไปอีกมากคือ ข้าว ไปพร้อมยกระดับภาคเกษตรกรรมด้านต่างๆ โดยไม่กระทบด้านสิ่งแวดล้อม จากการแปรรูป เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้สามารถส่งออกทดแทนได้ ซึ่งจะเป็นอนาคตของบีซีจีโมเดล" นายประวิทย์ กล่าว

นอกจากนี้ กลุ่มมิตรผล ยังให้ความสำคัญต่อระบบนิเวศ (Eco System) ผ่านการทำงานร่วมกับสตาร์ทอัพ รุ่นใหม่ เพื่อต่อยอดพร้อมพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆออกมารองรับตลาดในอนาคต ด้วยมองว่าการผลักดันเรื่องดังกล่าวจะต้องขับเคลื่อนไปพร้อมกันในทุกภาคส่วนทั้งบริษัทเล็ก กลาง ใหญ่ ด้วยไม่สามาถทำคนเดียวได้ผ่านโครงการต่างๆที่เกิดขึ้น ตั้งแต่ต้นทางการผลิตไปสู่ปลายทางการบริโภคได้ในรูปแบบกรีน โปรดักส์ เพื่อรองรับตลาดในอนาคตอย่างยั่งยืน

GC มอง BCG Model เครื่องยนต์เศรษฐกิจใหม่ไทย

ดร.ชญาน์ จันทวสุ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารความยั่งยืนและภาพลักษณ์องค์กร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กล่าวเสวนาหัวข้อ "เปิดมุมมองธุรกิจ BCG เทรนด์โลกที่ธุรกิจต้องปรับตัว" ว่าจากการศึกษาบีซีจี โมเดล พบว่าเทรนด์โลกเปลี่ยนไปตามพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตลอดช่วง2ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้บริโภคให้ความสำคัญต่อ BCG Economy เป็นอย่างมาก

GC บริษัทปิโตรเคมีแรกของไทย ติดอันดับ1ของโลก3ปีซ้อน

"ผู้บริโภค มีความต้องการประโยชน์จากสินค้าในกลุ่มอีโคมากขึ้น ส่งผลให้ภาพรวมตลาด กรีน อีโค มีความสำคัญตามมา ที่จะขยายต่อไปยังทิศทางในภาคอุตสาหกรรมบีซีจี ที่ภาครัฐมีนโยบายเข้ามาสนับสนุน ทำให้เกิดการลงทุนในประเทศ ด้วยมองว่าประเทศไทยมีความพร้อมต่อเรื่องนี้จากจุดแข็งวัตถุดิบ ผลผลิตทางการเกษตรต่างๆ ผ่านการเพิ่มมูลค่าเพื่อนำมาเป็นเชื้อเพลิงเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งไทยจะต้องต่อห่วงโซ่ซัพพลานเชนให้สมบูรณ์แบบ" ดร.ชญาน์ กล่าว

ขณะที ในด้านตัวซี (C-Circular) มองว่าทุกภาคอุตสาหกรรม ต่างมองเห็นโอกาสในกลุ่มนี้เช่นกัน จากการนำทรัพยากรต่างๆ นำกลับมาใช้ซ้ำเพื่อเพิ่มมูลค่าตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในภาคอุตสากรรม ที่จะได้รับประโยชน์สูงสุด จากการลดต้นทุนและนำกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างคุ้มค่า รวมถึงการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green) ถือเป็นอีกหนึ่งกระแสโลกที่มาแรง และสอดคล้องกับแผนใหญ่ของประเทศไทยสู่การเป็น Net Zero ในปี 2050 หรือ คาร์บอน นิวทรัล ในทุกภาคส่วนอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ ยังมองว่า บีซีจี จะยังเป็นอีกหนึ่งโมเดลเศรษฐกิจสำคัญที่ผลักดันไปสู่การต่อยอดเพื่อการแข่งขันในการส่งออกสินค้าเหล่านี้ไปยังระดับภูมิภาค และ ระดับโลกได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการสร้างความต้องการในตลาด ไบโอ พล่าสติก ให้เกิดขึ้นในระดับประเทศ ผ่านการสร้างตลาดใหม่ๆ ที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะด้านบรรจุภัณฑ์ ผ่านภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศที่จะต้องมีกระบวนการทำงานที่สอดคล้องกับแผนคาร์บอน นิวทรัล เพื่อตอบโจทย์เทรนด์ใหญ่ดังกล่าว

"ตลอดช่วงที่ผ่านมา จีซี ได้มีการปรับตัวตามเทรนด์ของโลก ด้วยการมองหาวัตถุดิบในประเทศเพื่อสร้างซัพพลายเชน พร้อมตอบโจทย์ดีมานด์ในเอเชีย พร้อมปรับวิธีคิดเพื่อการรีไซเคิลวัสดุบรรจุภัณฑ์ระดับ ฟู้ด เกรด หรือกลุ่มอื่นๆให้นำกลับมาสู่โรงงานรีไซเคิล เพื่อลดปัญหาพลาสติกลงได้ เช่นกัน" ดร.ชญาน์ กล่าว

โดย จีซี ยังมุ่งให้ความสำคัญต่อเรื่องดังกล่าวมาโดยตลอดช่ววที่ผ่านมา ผ่านแผนงานโครงการต่างๆภายใต้งบประมาณตามแต่ระยะเวลาที่วางไว้ พร้อมวางแผนระยะยาวรองรับโดยภายใน 30ปีคาดใช้งบในเรื่อง Net Zero ไม่ต่ำกว่า 7แสนล้านบาท ผ่านการลงทุนในโครงการ ธุรกิจใหม่ๆ เป็นต้น รวมถึงมีการลงทุนในบริษัทระดับโลก ราวหนึ่งแสนห้าหมื่นล้าน ตลอดจนการปรับพอร์ทธุรกิจใหม่ เพื่อสร้างสมดุลธุรกิจและการดูแลสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน

"ในส่วนที่จีซี ดำเนินการมีทั้งเงินที่ลงทุนไปกลับมาที่จะเป็นมูลค่าเพิ่ม แบ่งออกเป็นสองกลุ่ม คือ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้ดีขึ้น การลงทุนเพื่อประหยัดพลังงาน ที่จะส่งผลดีให้กับบริษัท โดยมีไม่ต่ำกว่า 100-200 โครงงการ คิดเป็นมูลค่ารวมกว่าหลายพันล้านบาทในด้านผลิตภัณฑ์ เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภค ไปพร้อมกับการลด คาร์บอน ฟุตปรินท์" ดร.ชญาน์ กล่าว

สำหรับในภาพรวมมองว่า BCG จะเป็นเครื่องยนต์ตัวใหม่ถัดไปของประเทศ ที่เปิดโอกาสไปสู่การลงทุนใหม่ๆ ในทุกภาคอุตสาหกรรมได้ตลอดทั้งซัพพลายเชน ที่จะต้องเร่งพัฒนาร่วมกันเพื่อขยายขีดความสามารถของประเทศเพื่อการส่งออกได้ในอนาคตได้มากขึ้น โดยบูรณาการทุกด้านซึ่งรวมไปถึงการดูแลกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ทางด้านเทคโนโลยีไปพร้อมกัน

รับชมเนื้อหาเพิ่มเติม

หัวข้อ BCG : The New Growth Engine พลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดย คุณสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวปาฐกถา

หัวข้อ "BCG Model จุดเปลี่ยนอนาคตอุตสาหกรรมไทย" โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ คุณวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ คุณเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 24 พฤศจิกายน 2564

‘สุริยะ’ประกาศเดินหน้า BCG Model ดันไทย Bio Hub อาเซียน ปี’70

“สุริยะ” ย้ำ BCG Model เป็นวาระแห่งชาติ พร้อมขับเคลื่อนศก.ไทย ยกระดับโครงสร้างธุรกิจ กระตุ้นการลงทุน เกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพ ในอนาคต

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ  รมว.อุตสาหกรรม  กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนาออนไลน์  “BCG The New Growth Engine พลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย” ซึ่งจัดโดยโพสต์ทูเดย์ ว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นที่ทั่วโลกและสังคมไทย ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องมาจากปัญหาอุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง จนทำให้เกิดของเสียจำนวนมาก ทำให้ทั่วโลกตื่นตัวและหันมาให้ความสนใจ ต่อการแก้ปัญหาดังกล่าว เพื่อให้เกิดสังคมที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ในช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ทั่วโลกยังต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน นั่นคือ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งในมิติสิ่งแวดล้อม แม้การหยุดชะงักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโรคจะส่งผลให้ทรัพยากรธรรมชาติได้รับการฟื้นฟู รวมทั้งเกิดมลพิษทางอากาศและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ลดลง แต่ก็เป็นผลเพียงชั่วคราวเท่านั้น

ขณะเดียวกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังส่งผลให้ขยะทางการแพทย์ รวมทั้งบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง จากบริการ Delivery ต่าง ๆ เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก เมื่อมีการคลายล็อคดาวน์ กิจกรรมทางเศรษฐกิจ เริ่มกลับมาดำเนินได้เป็นปกติ เศรษฐกิจของประเทศทั้งการผลิตและการบริโภคกลับมาคึกคัก ก็อาจส่งผลให้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ทวีความรุนแรงขึ้นได้ หากไม่มีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ

ดังนั้นเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้ภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทย สามารถปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังสถานการณ์ โควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภาครัฐจึงจำเป็นต้องเร่งหาวิธีบริหารจัดการ เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นไปพร้อมๆกับการหาหนทางที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวและกลับมาเติบโตได้ตามปกติโดยเร็วภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG Model ซึ่งเป็นการบูรณาการ การพัฒนาเศรษฐกิจ 3 มิติ คือ  เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy)  เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ไปพร้อมกัน

ทั้งนี้ได้นำองค์ความรู้มาต่อยอดฐานความเข้มแข็งภายในประเทศ คือ ความหลากหลายทางชีวภาพและผลผลิตทางการเกษตรที่อุดมสมบูรณ์ ปรับเปลี่ยนระบบการผลิตไปสู่การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เพื่อรักษาสมดุลของสิ่งแวดล้อม ซึ่งตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ของสหประชาชาติ ทั้งในเรื่องการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอีกทั้งยังสอดรับกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นหลักสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย โดยรัฐบาลได้กำหนดให้การขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model เป็นวาระแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไปด้วย เพื่อให้สอดรับกับวาระแห่งชาติดังกล่าว

กระทรวงอุตสาหกรรมจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้าง  ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ สร้างความมั่นคงทางสังคมและสร้างความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม ผ่านกลไกขับเคลื่อน 6 ด้าน ได้แก่ 1) การวิจัยพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรม

2)เงินทุน สิทธิประโยชน์และรางวัล 3) การพัฒนากำลังคน และ ความสามารถ 4)การบ่มเพาะ สร้าง และยกระดับผู้ประกอบการและรูปแบบธุรกิจใหม่ 5) มาตรฐาน กฎหมาย กฎระเบียบที่เอื้อต่อการพัฒนา BCG 6) การสร้างและพัฒนาตลาดด้วยการพัฒนาแพลตฟอร์มตลาดอุตสาหกรรมออนไลน์ โดยขับเคลื่อนการพัฒนาทั้ง 3 เศรษฐกิจ B C และ G ไปพร้อม ๆ กัน

สำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ หรือ BioEconomy ของภาคอุตสาหกรรม นั้น ตั้งเป้าหมายผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Bio Hub of ASEAN ภายในปี พ.ศ. 2570 ซึ่งจะเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์เป้าหมาย 3 กลุ่ม คือ พลาสติกชีวภาพ เคมีชีวภาพและชีวเภสัชภัณฑ์ ทั้งนี้ ที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรมได้บูรณาการการดำเนินงานตามมาตรการดังกล่าวร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีความคืบหน้า เป็นลำดับ ทั้งในด้านการขจัดอุปสรรคการลงทุนและสร้างปัจจัยสนับสนุน โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมประเภทกิจการอุตสาหกรรมชีวภาพในบัญชีท้ายกฎกระทรวงกำหนดประเภท ชนิด และขนาดของโรงงาน พ.ศ. 2563 รวมทั้งการปรับแก้ไขสีผังเมือง เพื่อสนับสนุนการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพในพื้นที่ศักยภาพ

ด้านการเร่งรัดการลงทุนภายในประเทศ โดยมีโครงการที่ดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์แล้ว คิดเป็นมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 10,000 ล้านบาท  อาทิ โครงการผลิตน้ำยาล้างไต และโครงการผลิต Poly Lactic Acid (PLA) จังหวัดระยอง โครงการ Palm Biocomplex จังหวัดชลบุรี  โครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จ ได้แก่ โครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ จังหวัดนครสวรรค์ นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่เสนอภายใต้มาตรการฯ และโครงการที่ขยายผลเพิ่มเติมในพื้นที่ศักยภาพ ซึ่งอยู่ระหว่างการขับเคลื่อน ให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชนโดยคาดว่าจะทำให้เกิดมูลค่าการลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 130,000 ล้านบาท

ด้านการกระตุ้นอุปสงค์ ได้มีการออกใบรับรองผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้เองทางชีวภาพให้แก่ผู้ผลิต เพื่อนำไปใช้ในการขอยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรการภาษีส่งเสริมบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้เองทางชีวภาพ จำนวน 5 ราย รวมจำนวนทั้งสิ้น 50 ใบรับรอง

รวมถึงการออกมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชีวภาพ และการสร้างเครือข่ายในรูปแบบของศูนย์กลางความเป็นเลิศด้านชีวภาพ โดยการให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการเพื่อยกระดับกระบวนการผลิตเข้าสู่อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชีวภาพต้นแบบ รวมทั้งอยู่ระหว่างการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมชีวภาพ ณ จังหวัดชลบุรี ด้วย

สำหรับการดำเนินการในระยะต่อไป กระทรวงฯจะเดินหน้าขยายผลมาตรการสู่ภูมิภาค พร้อมประชาสัมพันธ์มาตรการ เพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเกิดการลงทุน ขยายผลการจัดตั้ง Bio Hub ให้ทั่วถึงทุกพื้นที่ ซึ่งจะส่งผลดีทั้งในแง่ของการสร้างการจ้างงาน การกระจายรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับเกษตรกรในพื้นที่

โพสต์ทูเดย์ ร่วมรัฐ-เอกชน จัดสัมมนาออนไลน์ 'BCG' โมเดลเศรษฐกิจใหม่ ขับเคลื่อนอนาคตไทยยั่งยืน

กนอ.กำชับทุกนิคมฯเข้มงวดในรง.หลังพบข้อร้องเรียนด้านสิ่งแวดล้อมมากอันดับ 1

ส่วนการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy กระทรวงฯ ได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อ การพัฒนาอุตสาหกรรมตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อให้อุตสาหกรรมในยุค 4.0  เป็นกลไกในการสร้างการเติบโตอย่างสมดุลในทุกด้าน ไม่เพียงแต่เฉพาะด้านเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังต้องคำนึงถึงมิติของสังคมและสิ่งแวดล้อม ตามเป้าหมาย

การพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก กระทรวงฯ จึงได้จัดทำแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เสนอต่อท่านนายกรัฐมนตรี โดยแนวทางดังกล่าวมุ่งเน้นการปรับโครงสร้างการผลิตจากรูปแบบเดิมไปสู่รูปแบบใหม่ ที่คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและครบวงจร

ตั้งแต่การผลิต การบริโภค การจัดการของเสีย และการนำวัตถุดิบกลับมาใช้ใหม่ ภายใต้วิสัยทัศน์ “Maximize Economic Value and Minimize Environmental Impact” ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้มีศักยภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco-efficiency) การเพิ่มมูลค่าอุตสาหกรรมจากของเสีย/วัสดุเหลือใช้ (Upcycling)และการส่งเสริมการปรับรูปแบบธุรกิจ สร้าง Circular Enterprises/Start ups

รวมถึงการพัฒนาระบบนิเวศ (Eco-system)  ให้เอื้ออำนวยต่อการดำเนินงาน ซึ่งแนวทางที่กระทรวงฯ เสนอได้ถูกนำไปผนวกรวมไว้ในแผนขับเคลื่อนการพัฒนา BCG Model ของประเทศ ที่มีกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นเจ้าภาพหลัก เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

นอกจากนี้แนวทางดังกล่าวยังได้รับการขับเคลื่อนผ่านการดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ ภายในกระทรวงฯ จนเกิดผลเป็นรูปธรรมในหลายเรื่อง อาทิ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ผ่านศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลแห่งแรกของประเทศไทย โดยมีเทคโนโลยีเด่น คือ เทคโนโลยีรีไซเคิลซาก Solar Cells ครบวงจร และอยู่ระหว่างการพัฒนาเทคโนโลยี รีไซเคิลแบตเตอร์รีรถยนต์ การสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการผ่านการมอบรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น ประเภทเศรษฐกิจหมุนเวียน การจัดทำ Zero Waste to Landfill Certificate การบ่มเพาะ/ ยกระดับผู้ประกอบการ ผ่านการส่งเสริมการจัดตั้งสถานประกอบการคัดแยก ขยะให้สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ในเชิงพาณิชย์

การพัฒนามาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียนระดับองค์กร และมาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียน รายผลิตภัณฑ์ รวมทั้งการพัฒนาและเชื่อมโยงฐานข้อมูลและระบบติดตามผลิตภัณฑ์ ของเสีย/ วัสดุเหลือใช้ภาคอุตสาหกรรม เป็นต้น

ส่วนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพและเศรษฐกิจหมุนเวียนตามประเด็นพัฒนาข้างต้น จะนำไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว หรือ Green Economy ซึ่งกระทรวงฯ ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาโดยตลอด โดยมุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมควบคู่ไปกับการดูแลรักษาและลดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมให้สถานประกอบการพัฒนาสู่การเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว หรือ Green Industry ซึ่งเป็นการแสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมทั้งภายในและภายนอกองค์กรตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อให้เกิดความสมดุลและก้าวสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

ขณะเดียวกันโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับรองอุตสาหกรรมสีเขียว จะมีโอกาสในการได้รับสิทธิประโยชน์ตอบแทน เช่น การได้รับใบรับรอง ตราสัญลักษณ์ หรือ โล่รางวัลจากกระทรวงฯ ซึ่งปัจจุบันมีสถานประกอบการได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว รวมจำนวนกว่า 43,000 โรงงาน

นอกจากนี้กระทรวงฯยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) ตามประเด็นที่ระบุไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) โดยมีเป้าหมายให้ประเทศไทยมีต้นแบบ “เมืองน่าอยู่ คู่อุตสาหกรรม” ไม่น้อยกว่า 40 พื้นที่ใน 37 จังหวัด โดยปัจจุบันมีแผนการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ รวม 53 พื้นที่ 39 จังหวัด และอยู่ระหว่างการจัดทำแผนปฏิบัติการการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ระยะ 5 ปี พ.ศ. 2566-2570

เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในภาพรวมของประเทศและถ่ายทอดสู่การพัฒนาในระดับพื้นที่ต่อไป โดยกระทรวงฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความร่วมมือจากท่านทั้งหลาย ที่จะร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินการในเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมอยู่ร่วมกับสังคมและชุมชนได้

การเปลี่ยนผ่านไปสู่ BCG Economy  Model นั้นจำเป็นต้องอาศัยการ บูรณาการจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมไปถึงภาคประชาชน ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่า ในวันนี้ เราได้เห็นความพยายามและความร่วมมือของภาคส่วนต่าง ๆ ในการนำ BCG Model มาเป็นคำตอบของปัญหา ทั้งการสนับสนุนเชิงนโยบายของภาครัฐ การดำเนินโครงการนำร่องโดยภาคเอกชน

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค และการสร้างความรู้ความเข้าใจถึงเศรษฐกิจ BCG เพื่อให้การดำเนินการเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด ซึ่งผลสำเร็จจากการดำเนินการเหล่านี้จะก่อให้เกิดประโยชน์ในภาพรวมของประเทศ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ จากการลดต้นทุนและการมีประสิทธิภาพการผลิตที่เพิ่มขึ้น ในด้านสังคม ที่จะมีส่วนช่วยให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ และเป็นการกระจายผลประโยชน์จากการพัฒนาไปสู่ระดับฐานรากในพื้นที่ต่าง ๆ ได้อย่างครอบคลุม

รวมทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม ที่จะช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ทำให้มีสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้นตามไปด้วย ซึ่งผลประโยชน์เหล่านี้ย่อมเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้กลับมาเติบโตได้อีกครั้งภายหลังสถานการณ์ โควิด-19 และมีภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็งในการเผชิญกับสถานการณ์โลกที่ผันผวน บนพื้นฐานการพึ่งพาตนเองและการพัฒนาที่ยั่งยืน ถึงเวลาแล้วครับ ที่เราจะต้องร่วมกัน “ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยในยุค New Normal ผ่านกลไก BCG Economy เพื่อเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ” อันจะนำพาประเทศไปสู่การเติบโต อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติต่อไป

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 24 พฤศจิกายน 2564

RCEP บังคับใช้ปีหน้า   พาณิชย์ อัพเดตสิทธิประโยชน์ทางการค้าใหม่ปี65

RCEP บังคับใช้ปีหน้า    พาณิชย์ อัพเดตสิทธิประโยชน์ทางการค้าใหม่ปี65   เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ประกอบการไทย สร้างแต้มต่อในเวทีการค้าโลกด้วยสิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ FTA

นายชุตินันท์ สิริยานนท์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ความตกลง RCEP ว่าประเทศอาเซียน 6 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ บรูไนฯ สปป.ลาว กัมพูชา เวียดนาม และไทย พร้อมทั้งประเทศคู่เจรจา 4 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ได้ยื่นสัตยาบันสารต่อสำนักเลขาธิการอาเซียนเรียบร้อยแล้ว ส่งผลให้ความตกลง RCEP จะมีผลบังคับใช้กับประเทศดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565

โดยกรมการค้าต่างประเทศซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form RCEP) และกำกับดูแลการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองโดยผู้ส่งออกที่ได้รับอนุญาต (Self-Certification by approved exporter) ได้เตรียมการสำหรับการบังคับใช้ความตกลง RCEP เพื่อให้ผู้ส่งออกสามารถใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงดังกล่าวได้ทันทีเมื่อความตกลงมีผลบังคับใช้

“กรมได้จัดทำระบบต่าง ๆ เพื่อเตรียมพร้อมรองรับการบังคับใช้ความตกลง RCEP ได้แก่ ระบบการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form RCEP) ระบบการตรวจสอบคุณสมบัติด้านถิ่นกำเนิดของสินค้า หรือ ROVERs และระบบการขึ้นทะเบียนผู้ส่งออกที่ได้รับอนุญาต และจะออกประกาศกรมการค้าต่างประเทศกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข รวมถึงวิธีการในการยื่นขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form RCEP) และการขึ้นทะเบียนผู้ส่งออกที่ได้รับอนุญาต ประกาศให้ผู้ประกอบการทราบรายละเอียดเพื่อใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ RCEP ต่อไป และนอกจากการจัดเตรียมระบบดังกล่าว กรมการค้าต่างประเทศยังได้เตรียมความพร้อมด้านบุคลากรภายในของกรมฯ เพื่อรองรับภาระงานในการอำนวยความสะดวกทางการค้า และมีกำหนดจัดงานสัมมนาออนไลน์เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในเรื่องกฎถิ่นกำเนิดสินค้าและส่งเสริมการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ความตกลง RCEP ให้แก่ผู้ประกอบการในวันที่ 16 ธันวาคม 2564 อีกด้วย”

นอกจากนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงไทย-ญี่ปุ่น หรือ JTEPA จะมีการปรับปรุงพิกัดระบบฮาร์โมไนซ์ โดยเปลี่ยนจากฉบับปี 2002 เป็น 2017 ส่งผลให้มีการปรับแก้ไขแบบฟอร์มหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form JTEPA) และแบบขอรับการตรวจคุณสมบัติของสินค้าทางด้านถิ่นกำเนิด ซึ่งกรมการค้าต่างประเทศได้มีการแก้ไขประกาศกรมการค้าต่างประเทศที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถใช้ประโยชน์ในการขอหนังสือรับรองฯ และตรวจสอบพิกัดอัตราภาษีศุลกากรและกฎถิ่นกำเนิดได้สะดวกมากขึ้น ที่ผ่านมาญี่ปุ่นถือเป็นคู่ค้าสำคัญของไทย

จากข้อมูลการใช้สิทธิพิเศษในช่วง 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.) ของปี 2564 พบว่าไทยใช้สิทธิ JTEPA ในการส่งออกไปญี่ปุ่นมากถึง 4,961.24 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญที่มีการใช้สิทธิดังกล่าว ได้แก่ เนื้อสัตว์แช่แข็ง และสินค้าอุตสาหกรรมจำพวกสารเคมี อาทิ เดกซ์ทริน โพลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต เป็นต้น

“ขอย้ำว่าสิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ FTAs ถือเป็นอาวุธสำคัญสำหรับการส่งออกของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความตกลง RCEP ที่ครอบคลุมพื้นที่ประเทศสมาชิกรวมทั้งสิ้น 15 ประเทศ สามารถสร้างแต้มต่อให้กับผู้ประกอบการไทยในการเข้าสู่ตลาดขนาดใหญ่ ซึ่งมีการปรับกฎระเบียบ มาตรการทางการค้าและพิธีการทางศุลกากรให้สอดคล้องกันในการใช้สิทธิประโยชน์ ลดความยุ่งยากและซับซ้อนในการดำเนินพิธีการต่าง ๆ ช่วยลดต้นทุนด้านภาษี

และที่สำคัญยังช่วยให้ผู้ประกอบการได้ประโยชน์จากการใช้วัตถุดิบในแหล่งที่กว้างขึ้น โดยสามารถนำมาผลิตเพื่อให้ได้ถิ่นกำเนิดไทย ยิ่งไปกว่านั้น ความตกลง RCEP ได้เพิ่มทางเลือกให้กับผู้ส่งออกของไทยในการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิด เนื่องจากปัจจุบันความตกลง ASEAN+1 เช่น อาเซียน-จีน อาเซียน-ญี่ปุ่น อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ยังไม่มีการใช้ระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองโดยผู้ส่งออกที่ได้รับอนุญาต (Self-Certification by approved exporter) ซึ่งเป็นทางเลือกที่จะสามารถช่วยลดต้นทุนเอกสารการส่งออกสำหรับผู้ประกอบการได้”

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 24 พฤศจิกายน 2564

เช็คเลย 5 กลุ่มสินค้าขยายตัวดีปี2565 ผู้ส่งออกไทยเตรียมตัวให้พร้อม

เช็คเลย 5 กลุ่มสินค้าขยายตัวดีปี2565   ทั้งสินค้าเกษตรและอาหาร สินค้าWFH สินค้ากลุ่มสุขภาพ สินค้าอุตสาหกรรม และสินค้าฟุ่มเฟื่อยยังขยายตัวดีต่อเนื่องจากปี64

การส่งออกของไทยในเดือนตุลาคม 2564  ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีมูลค่า 22,738.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือขยายตัว 17.4%  ถือว่าเป็นการส่งสัญญาณว่าการส่งออกของไทยยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ท่ามกลางสภาวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ประเทศคู่ค้าของไทยมีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากการเติบโตทั้งในสินค้าเกษตร และสินค้าอุตสาหกรรม ส่งผลให้การส่งออก 10 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัว15.7% สะท้อนการเติบโตของภาคเศรษฐกิจจริง

ดังนั้นในปีหน้านั้น กระทรวงพาณิชย์ได้มีการประเมิณว่ากลุ่มสินค้าที่จะยังคงมีการขยายตัวได้ดี ใน 5 กลุ่มสินค้าที่ยังมีช่องว่างให้ผู้ส่งออกไทยรุกเข้าไปหาโอกาสในการทำตลาด

กลุ่มสินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ 1) สินค้าเกษตรและอาหาร โดยเฉพาะข้าวที่ขยายตัวในตลาดเบนิน โกตดิวัวร์ จีน อังโกลา และอิรัก    ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง  ขยายตัวในตลาดจีนจีน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ มาเลเซีย และฟิลิปปินสืยางพารา ขยายตัวในตลาดจีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น อินเดีย และเกาหลีใต้ 

น้ำตาลทราย น้ำตาลทราย ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย กัมพูชา เกาหลีใต้ ไต้หวัน และลาว และกลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยง และสิ่งปรุงรสอาหาร  นอกจากนี้ยังมีผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง แห้ง กระป๋องและแปรรูป ที่ขยายตัวในตลาดจีน สหรัฐฯ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และญี่ปุ่น

2) สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์และส่วนประกอบ เตาอบไมโครเวฟ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และเครื่องโทรศัพท์และอุปกรณ์

3) สินค้าเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ และผลิตภัณฑ์เภสัชภัณฑ์

4) สินค้าขั้นกลางหรือสินค้าวัตถุดิบ เช่น เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ยางยานพาหนะ แผงวงจรไฟฟ้า และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ  ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น อินเดีย อินโดนีเซีย จีน และมาเลเซีย

5) สินค้าคงทนหรือสินค้าฟุ่มเฟือยที่มีราคาสูง เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบที่ขยายตัวในตลาดฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สหรัฐฯ เม็กซิโก อินโดนีเซีย และแอฟริกาใต้  และอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ยังขยายตัวได้ดี   อย่างอัญมณีและเครื่องประดับขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ อินเดีย เยอรมนี สหราชอาณาจักร และเบลเยียม

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 24 พฤศจิกายน 2564

RCEP  มีผล 1ม.ค.65 เช็คเลย  สินค้าไทยรายการไหนส่งออก ภาษีเป็น0%

RCEP  มีผล 1ม.ค.65  เปิด 5 ประเทศนอกอาเซียน(non ASEAN) ยกเลิกเก็บภาษีสินค้าไทย  สินค้าไทยรายการไหนส่งออก ภาษีเป็น0%   เช็คเลย

หลังจากความพยายามทุ่มเทเกือบ 8 ปี โดยผู้นำRCEPได้ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามความตกลงอาร์เซ็ป ซึ่งแสดงถึงความมุ่งมั่นของสมาชิกที่จะสนับสนุนการค้าและการลงทุนที่เปิดกว้าง ครอบคลุม เป็นไปตามกฎกติกาของโลก เกิดการจ้างงานและสร้างรายได้ให้กับประชาชน และสร้างความแข็งแรงให้กับห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาค โดยความตกลงอาร์เซ็ปจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ผ่านกระบวนการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดที่เข้มข้น และทำให้ทุกประเทศในภูมิภาคเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน

และล่าสุดประเทศสมาชิก RCEP ได้ให้สัตยาบันครบแล้วตามที่ความตกลงกำหนดไว้ ประกอบด้วย อาเซียน 6 ประเทศ ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา สปป.ลาว สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม และนอกอาเซียน 4 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น และนิวซีแลนด์ ทำให้ความตกลง RCEP จะมีผลใช้บังคับในวันที่ 1 มกราคม 2565

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า โดยหลังจาก RCEP มีผลบังคับใช้ 1 ม.ค. 65 ส่งผลให้สินค้าไทยได้ลดภาษีเหลือ 0% ทันทีกว่า 2.9 หมื่นรายการ  ซึ่งสินค้าที่ประเทศสมาชิก RCEP  (non ASEAN)ไม่ว่าจะเป็น จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์   ออสเตรเลีย  ที่ยกเลิกภาษีนำเข้าให้ไทย และอาเซียน   ในทันทีที่ความตกลงมีผลบังคับใช้ (ณ วันที่ 1 มกราคม 2565)    โดยสินค้าไทยที่ได้อานิสงส์จากการที่จีน ยกเลิกเก็บภาษีนำเข้า มี67.3% ของรายการสินค้าทั้งหมดที่ยกเลิกภาษีทันที ประกอบด้วย สินค้าอุตสาหกรรม เช่น วงจรรวมที่ใช้ในทางอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนประกอบอุปกรณ์เชิงทัศนศาสตร์ ไม้ ส่วนประกอบเครื่องโทรศัพท์ ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ ส่วนประกอบอุปกรณ์ไฟฟ้า น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เม็ดพลาสติก (โพลิโพรพิลีน)

เกาหลีใต้ กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมเกษตร  ซึ่ง 61.5% ของรายการสินค้าทั้งหมดที่ยกเลิกภาษีทันที เช่น น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เครื่องซักผ้า ตู้เย็นและส่วนประกอบรถจักรยานยนต์ อุปกรณ์สำหรับถ่ายรูป เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับให้และรับสัญญาณ ชิ้นส่วนอุปกรณ์บันทึกภาพและเสียง ฟิวส์ หม้อแปลงไฟฟ้า ผ้าทอทำด้วยฝ้ายและใยประดิษฐ์ น้ำตาล

ญี่ปุ่น 73% ของรายการสินค้าทั้งหมดที่ยกเลิกภาษีทันที  เป็นกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมเกษตร   ประกอบด้วย เครื่องโทรศัพท์ ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ วงจรรวมที่ใช้ในทางอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องพิมพ์ เครื่องปรับอากาศ กล้องถ่ายภาพและวิดีโอ ชิ้นส่วนอุปกรณ์สำหรับเครื่องรับสัญญาณและโทรทัศน์ ประตูหน้าต่างอะลูมิเนียม ชุดสายไฟ ยางแผ่นรมควัน อาหารสุนัขหรือแมว

นิวซีแลนด์ 64.6% ของรายการสินค้าทั้งหมด ที่ยกเลิกภาษีทันที เป็นสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมและกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมอาหาร  ไม่ว่าจะเป็น ยางล้อรถยนต์ ปลาทูนากระป๋อง อาหารเลี้ยงสัตว์ น้ำมันปิโตรเลียมอื่นๆ แชมพู เครื่องแต่งกายและของประกอบกับเครื่องแต่งกายอื่นๆ (รวมถึงถุงมือ) ซึ่งทำจากยางวัลแคไนซ์ ชิ้นส่วนเครื่องยนต์สันดาปภายใน หม้อสะสมไฟฟ้า ลวดและเคเบิล เก้าอี้นั่งทำด้วยไม้

ออสเตรเลีย 75.3% ของรายการสินค้าทั้งหมด ที่ยกเลิกภาษีทันที่  เป็นสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมและกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมอาหาร  ส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ ปลาทูนากระป๋อง ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า เครื่องประดับเงินและโลหะมีค่าอื่นๆ ยางล้อรถยนต์/รถบัส/รถบรรทุก กระสอบถุงพลาสติก อาหารปรุงแต่ง อุปกรณ์เชิงทัศนศาสตร์ เครื่องสำอางค์ สบู่ แชมพู น้ำผลไม้

ทั้งนี้ ความตกลง RCEP จะเป็นความตกลงการค้าเสรี (FTA) ฉบับที่ใหญ่ที่สุดในโลก และถือเป็น FTA ฉบับที่ 14 ของไทย โดยมีสมาชิก 15 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน 10 ประเทศ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ มีประชากรรวมกัน 2,300 ล้านคน (30.2% ของประชากรโลก) GDP รวมมูลค่า 28.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (33.6% ของ GDP โลก) และมูลค่าการค้ารวม 10.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (30.3% ของมูลค่าการค้าของโลก)

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 23 พฤศจิกายน 2564

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ "อ่อนค่า"ที่ระดับ  33.05 บาท/ดอลลาร์

 อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทโอกาสแข็งค่าขึ้นได้บ้าง จากโฟลว์เก็งกำไรแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ผ่านทั้งการลงทุนในหุ้นไทยและบอนด์ระยะสั้น

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.05 บาทต่อดอลลาร์"อ่อนค่า"ลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  32.88 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน  พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธตลากเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทยระบุว่าแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้นได้บ้าง จากโฟลว์เก็งกำไรแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ผ่านทั้งการลงทุนในหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติ รวมถึง การซื้อบอนด์ระยะสั้นเพื่อเก็งกำไรเงินบาทแข็งค่า ซึ่งเราเชื่อว่า การอ่อนค่าของเงินบาทใกล้ระดับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์จะเปิดโอกาสให้ผู้เล่นต่างชาติกลับเข้ามาเก็งกำไรการแข็งค่าของเงินบาทอีกครั้ง นอกจากนี้ ผู้ส่งออกต่างก็รอทยอยขายเงินดอลลาร์อยู่ ทำให้ เรามองว่า เงินบาทจะไม่อ่อนค่าไปมาก

อย่างไรก็ดี เงินบาทอาจผันผวนจากแนวโน้มเงินดอลลาร์ รวมถึงโฟลว์เก็งกำไรทองคำ ซึ่งเราเชื่อว่า การปรับตัวลงหนักของราคาทองคำสู่แนวรับสำคัญแถว 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อาจหนุนให้ผู้เล่นบางส่วนทยอยเข้ามาซื้อ Buy on Dip เพื่อเล่นรอบเก็งกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำได้ ซึ่งโฟลว์ดังกล่าวจะเป็นแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาท

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.85-33.05 บาท/ดอลลาร์

ผู้เล่นในตลาดการเงินมีความมั่นใจมากขึ้นว่าเฟดจะเร่งใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวด สะท้อนผ่านมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เริ่มเชื่อว่า เฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยได้ราว 3 ครั้งในปีหน้า เริ่มตั้งแต่ช่วงกลางปี หลังจากที่ ประธานาธิบดี Biden ตัดสินใจเลือกให้ประธานเฟด Powell ดำรงตำแหน่งประธานเฟดสมัยที่ 2 นอกจากนี้ มุมมองของตลาดที่เชื่อว่าเฟดอาจใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดเร็วขึ้น ได้ส่งผลกระทบให้ผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะเทขายสินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะหุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth กดดันให้ ในฝั่งสหรัฐฯ ดัชนี S&P500 ย่อตัวลง -0.32% ส่วนดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ดิ่งลงกว่า -1.26%

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป นอกเหนือประเด็นความกังวลสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ ที่ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดเลือกจะเทขายหุ้นในธีม Reopening หรือ หุ้นกลุ่ม Cyclical ตลาดหุ้นยุโรปยังถูกกดดันจากแรงเทขายหุ้นกลุ่มเทคฯ เช่นกัน อาทิ Adyen -6.0%, SAP -3.3%, ASML -1.7% ส่งผลให้ ดัชนี STOXX50 ย่อตัวลงต่อเนื่อง -0.41%

ในฝั่งตลาดบอนด์ ความกังวลปัญหาเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น รวมถึงมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เชื่อว่า เฟดภายใต้การนำของประธานเฟด Powell สมัยที่ 2 อาจใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดเร็วขึ้น ได้หนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นกว่า 6bps สู่ระดับ 1.62% นอกจากนี้ เรายังคงเชื่อว่า บอนด์ยีลด์ยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นต่อได้ จากแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจและการทยอยลดการอัดฉีดสภาพคล่องหรือคิวอีของบรรดาธนาคารกลางหลัก

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ จากมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เชื่อว่าเฟดอาจเร่งใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นในปีหน้า โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวลงสู่ระดับ 96.55 จุด ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2020

นอกจากนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ รวมถึงการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ราคาทองคำปรับตัวลดลงหลุดแนวรับสำคัญในโซน 1,850 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ลงมาใกล้ระดับ 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเป็นแนวรับหลักสำคัญ ที่เรามองว่า มีโอกาสที่จะเห็นผู้เล่นบางส่วนอาจเข้ามาซื้อทองคำในโซนแนวรับดังกล่าวเพื่อเก็งกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำ

อย่างไรก็ดี ในระยะสั้นที่ผู้เล่นในตลาดยังมองโอกาสเฟดใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นได้เร็วนั้น อาจจะกดดันให้ราคาทองคำยังแกว่งตัวใกล้แนวรับหลักไปก่อน จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่เข้ามาหนุนราคาทองคำ อาทิ ความกังวลปัญหาเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น หรือ ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่ทำให้ตลาดพลิกกลับมาปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น

สำหรับวันนี้ ตลาดรอลุ้นแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกผ่านรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ (Manufacturing and Services PMIs) ในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งตลาดมองว่า โมเมนตัมการฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่ง หนุนโดยการขยายตัวต่อเนื่องในอัตราเร่งของภาคการผลิตและการบริการในเดือนพฤศจิกายน ชี้จากดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ ที่จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 59.1 จุด และ 59 จุด ตามลำดับ (ดัชนี >50 จุด หมายถึง ภาวะขยายตัว)  ส่วนในฝั่งยุโรป ภาพอาจจะแตกต่างจากในฝั่งสหรัฐฯ

เนื่องจากสถานการณ์การระบาดระลอกใหม่ของ COVID ซึ่งเริ่มส่งผลให้บางประเทศกลับมาใช้มาตรการ Lockdown อาจส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจยุโรปส่งสัญญาณชะลอตัวลงมากขึ้น โดยตลาดประเมินว่า ภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการของยูโรโซนมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราชะลอลงจากผลกระทบของการระบาดระลอกใหม่ ชี้จาก ดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการที่จะปรับตัวลดลงสู่ระดับ 57.3 จุด และ 53.5 จุด ตามลำดับ

ส่วนในฝั่งเอเชีย ผู้เล่นในตลาดเชื่อว่าการฟื้นตัวเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะได้แรงหนุนจากการทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown โดยตลาดมองว่าทั้งภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการของญี่ปุ่นจะขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นในเดือนพฤศจิกายน สะท้อนผ่านดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการที่จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 54 จุด และ 51.2 จุด ตามลำดับ

ทางด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่าเงินบาทอ่อนค่ามาอยู่ที่กรอบประมาณ 32.99-33.07 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ เทียบกับระดับปิดตลาดวันทำการก่อนหน้าที่ 32.88 บาทต่อดอลลาร์ฯ  โดยเงินบาทอ่อนค่าลงท่ามกลางแรงหนุนที่แข็งแกร่งของค่าเงินดอลลาร์ฯ ตามทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ หลังจากที่ปธน. โจ ไบเดนของสหรัฐฯ เสนอชื่อนายเจอโรม พาวเวลขึ้นดำรงตำแหน่งประธานเฟดเป็นสมัยที่สอง ซึ่งตลาดมองว่าน่าจะทำให้การดำเนินนโยบายการเงินของสหรัฐฯ เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องของกระบวนการลดวงเงินการซื้อสินทรัพย์ผ่านมาตรการ QE และเรื่องการส่งสัญญาณคุมเข้มด้วยการขึ้นดอกเบี้ยในปีหน้า

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 32.90-33.15 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยที่ต้องติดตามจะอยู่ที่ ทิศทางเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติ สถานการณ์โควิด-19 และการรายงานตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตและภาคบริการขั้นต้นเดือนพ.ย. ของสหรัฐฯ อังกฤษ และสมาชิกยูโรโซนหลายประเทศ

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 23 พฤศจิกายน 2564

โรงงานกำจัดกากเถื่อนระวังไว้ กรอ. ร่อนหนังสือเตรียมไล่เช็คบิล

กรมโรงงานอุตสาหกรรมร่อนหนังสือเตือนโรงงานรับกำจัดกากนอกแถว ลั่นถ้าไม่ปฏิบัติตามกฎหมายโดนแน่ ระบุพัฒนาระบบติดตามรถขนกากของเสียอุตสาหกรรมเสร็จเรียบร้อยแล้ว

นายวันชัย พนมชัย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่า กรอ. ได้มีหนังสือสั่งการให้ผู้ก่อกำเนิดสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วทั้งที่เป็นอันตรายและไม่เป็นอันตรายที่มีของเสียปริมาณมาก แต่การแจ้งขนออกไม่สอดคล้องกับการแจ้งรับ อย่างมีนัยยะสำคัญ จำนวน 37 โรงงาน

และโรงงานผู้รับบำบัดหรือกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่รับ ของเสียปริมาณมาก แต่ไม่ได้จัดทำรายงานตามหลักเกณฑ์ที่ กรอ. กำหนดไว้ จำนวน 98 โรงงาน ให้ส่งรายงานตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ กรอ. กำหนดไว้ ภายใน 15 วัน หากไม่ส่งจะมีความผิด จำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถ้ายังไม่ดำเนินการอีก จะมีการสั่งให้ปรับปรุงแก้ไข หรือหยุดประกอบกิจการไว้ก่อน จนกว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จ

ทั้งนี้ กรอ. มีหน้าที่กำกับดูแลตรวจสอบโรงงานที่ประกอบกิจการรับกำจัดหรือบำบัดสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุไม่ใช้แล้วหรือที่เราเรียกว่ากากอุตสาหกรรมทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 2,451 โรงงาน โดยแบ่งเป็นลำดับที่ 101 โรงงานปรับสภาพของเสียรวม จำนวน 138 โรงงาน ลำดับที่ 105 โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการคัดแยกหรือฝังกลบสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว จำนวน 1,433 โรงงาน

และลำดับที่ 106 โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการนำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ไม่ใช้แล้วหรือของเสียจากโรงงานมาผลิตเป็นวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยผ่านกรรมวิธีการผลิตทางอุตสาหกรรม จำนวน 880 โรงงาน ซึ่งที่ผ่านมา มีผู้ประกอบกิจการโรงงานรับบำบัดหรือกำจัดหลายรายจงใจหลบเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ดังจะเห็นตามที่เป็นข่าวเรื่อยมา

และล่าสุดก็กรณีการลักลอบแอบนำไปทิ้งที่จังหวัดลพบุรี ซึ่ง กรอ. ได้แจ้งร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดไว้แล้ว

อย่างไรก็ดี จากข้อมูลการรับกำจัดกากในปี 2564 ที่ผ่านมาพบว่า มีการขออนุญาตนำกากอุตสาหกรรมชนิดอันตรายไปบำบัดจำนวน 1,189,102 ตัน และชนิดไม่อันตรายจำนวน 14,039,913 ตัน แต่กลับพบจากรายงานว่า มีการบำบัดจริงไม่เป็นไปตามที่ขออนุญาตไว้ จึงได้สั่งการให้โรงงานที่มีพฤติกรรมน่าสงสัยดังกล่าว รายงานข้อเท็จจริง ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดภายใน 15 วัน และจะขยายผลการตรวจสอบโรงงานอื่น ๆ ที่เหลือ อีกกว่าพันราย ที่มีพฤติกรรมน่าสงสัยต่อไป

ขณะนี้ กรอ. ได้พัฒนาระบบติดตามรถขนกากของเสียอุตสาหกรรม (E-fully Manifest) เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยระบบจะเชื่อมต่อสัญญาณ GPS ที่ติดอยู่กับรถเข้ากับระบบของ กรอ. เพื่อตรวจสอบเส้นทางการเดินรถได้แบบเรียลไทม์ และจะใช้เป็นหลักฐาน กรณีมีเรื่องลักลอบทิ้งกาก หรือหากพบว่ารถที่ขนกาก มีพฤติกรรมที่น่าสงสัย เช่น วิ่งออกนอกเส้นทาง จอดพักรถในบริเวณพื้นที่เฝ้าระวังที่เคยมีประวัติการลักลอบทิ้งกากเป็นเวลานาน เป็นต้น ซึ่ง กรอ. จะสั่งการให้รถที่จะรับขนกากของเสียอุตสาหกรรม ต้องมาลงทะเบียนเพื่อใช้งานระบบดังกล่าว ภายใน 30 พฤศจิกายน 64 นี้

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

ส่งออกไทย 10 เดือน ยังโต15.7%  มั่นใจทั้งปีขยายตัว15-16%

ส่งออกไทย 10เดือน ยังขยายตัวต่อเนื่อง โต15.7% ส่งผลเดือนตุลาคมขยายตัว15.4% คาดทั้งปีโต15-16% เพิ่มขึ้น4เท่าจากเป้าเดิมที่ตั้งไว้เมื่อตอนต้นปีที่4%

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ว่า การกระทรวงพาณิชย์เปิดผยถึงสถานการณ์ส่งออกเดือนตุลาคม ว่า การส่งออกของไทยในเดือนตุลาคม ว่าเติบโตต่อเนื่อง ด้วยมูลค่า 22,738  ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวที่ 17.4 %

ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 23,108  ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 34.6 %  ดุลการค้าติดลบ  370  ล้านดอลลาร์สหรัฐ  ภาพรวมการส่งออก 10  เดือนแรกของปี 2564 การส่งออก มีมูลค่า 222,736 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 15.7% การนำเข้า มีมูลค่า 221,089 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว31.3 % ดุลการค้า 10 เดือนแรก เกินดุล 1,646 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ซึ่งกระทรวงพาณิชย์มั่นใจว่าเป้าส่งออกปีนี้จะขยายตัวที่15-16%มากกว่าเป้าที่ตั้งไว้ตอนต้นปีที่4%ถึง4เท่าตัว โดย 2 เดือนที่เหลือคาดว่าจะส่งออกได้เฉลี่ยเดือนละ 20,000กว่าล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหากจะให้ได้15% จะต้องส้งออกได้เฉลี่ยต่อเดือนที่20,278ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งปี มีมูลค่า 266,379ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ถ้าจะให้ขยายตัว16% ต้องส่งออกต่อเดือนที่22,000ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมีมูลค่าส่งออกที่268,696 ล้านดอลลาร์สหรัฐ   ส่วนการคาดการณ์ตัวเลขส่งออกในปีหน้านั้น ต้องรอการประชุมกับกรอ.พาณิชย์ก่อนถึงจะประเมินได้

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

เกษตร เคาะแผนบรรเทาแล้ง ปี 65 กำชับขึ้นทะเบียนเกษตรกรก่อนมีภัย

เกษตรฯ เตรียม (ร่าง) แผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยด้านการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง ปี 2564/65 พร้อมให้ความช่วยเหลือเกษตรกรครอบคลุมทุกมิติ ย้ำเกษตรกรต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกร และปรับปรุงทะเบียนให้เรียบร้อยก่อนเกิดภัย

นายสำราญ สาราบรรณ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านเกษตร ว่า จากการคาดการณ์สถานการณ์ภัยแล้งในปี 2564/65 คาดว่าจะมีแนวโน้มเกิดการขาดแคลนน้ำ หากมีการใช้น้ำในแต่ละส่วนไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ หรือมีการเพาะปลูกนอกแผนเพิ่มขึ้น

ดังนั้นเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการป้องกันและลดผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นต่อภาคการเกษตร กระทรวงเกษตรฯ จึงได้จัดทำ (ร่าง) แผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยด้านการเกษตร ในช่วงฤดูแล้ง ปี 2564/65 สำหรับใช้เป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานของหน่วยงานราชการ ในการเตรียมความพร้อม ป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านเกษตร และเตรียมการให้ความช่วยเหลือ

โดยจะดำเนินงานให้สอดคล้องกับ 9 มาตรการ ของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรที่อาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งให้เป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ใช้กรอบแนวคิด "Smart DRM for 3s : SEP - SDGs - SEDRR" มาเป็นแนวทางในการดำเนินงาน เพื่อจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัยแบบครอบคลุมทุกมิติ ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบ (ร่าง) แผนดังกล่าว และจะเสนอเข้าคณะอนุกรรมการวางแผน และติดตามการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร พิจารณาให้ความเห็นชอบ ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564

นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้กรมชลประทาน กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมวิชาการเกษตร และกรมส่งเสริมการเกษตร จัดส่งแผนปฏิบัติการในส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสำนักแผนและโครงการพิเศษ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรฯ  ภายในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 และรายงานผลการดำเนินงานทุกวันที่ 5 ของเดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม 2564

จากรายงานสรุปพื้นที่ประสบสถานการณ์อุทกภัยปี 2564 มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ รวม 53 จังหวัด สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติแล้ว 42 จังหวัด และยังมีพื้นที่ประสบอุทกภัยอยู่อีก 11 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดยโสธร จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดนครปฐม จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดสตูล

โดยสถานการณ์ในทุกพื้นที่สามารถควบคุมได้แล้ว สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ จำนวน 447 แห่ง มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 59,361 ล้าน ลบ.ม. (หรือ 76% ของความจุอ่างฯ) ปริมาณน้ำใช้การได้ 35,430 ล้าน ลบ.ม. (หรือ 68% ของความจุน้ำใช้การ) และสามารถรับน้ำได้อีก 16,983 ล้าน ลบ.ม.

อย่างไรก็ตาม ด้านการจัดสรรน้ำในฤดูแล้งนั้น มีการวางแผนบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน โดยจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำ เพื่อสนับสนุนการอุปโภค - บริโภค การรักษาระบบนิเวศ์ การสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝน ด้านเกษตร และอุตสาหกรรม ตามลำดับของความสำคัญ และยังได้มีการเตรียมการเพื่อรองรับสถานกาณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาตใต้ กรมชลประทานจะติดตามสถานการณ์ วิเคราะห์พื้นที่เสี่ยง เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น

โดยทุกหน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ ได้เตรียมความพร้อมในส่วนรับผิดชอบของหน่วยงาน เครื่องมือ เครื่องจักรกลพร้อมสำหรับนำออกมาใช้งานได้ทันที รวมถึงได้ประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลข่าวสารสถานการณ์น้ำในพื้นที่ และแจ้งเตือนประชาชนให้ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นตลอด 24 ชั่วโมง

“จากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นทั่วประเทศนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเร่งรัดการสำรวจและให้ความช่วยเหลือ เยียวยา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกร ทั้งด้านพืช ประมง ปศุสัตว์ ทุกพื้นที่ที่ประสบภัยอย่างเร่งด่วน ทั่วถึง และเป็นธรรม และต้องขอเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดการดำเนินการ ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ ให้เกษตรกรดำเนินการขึ้นทะเบียนเกษตรกร และปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนด เนื่องจากหากไม่ได้ขึ้นทะเบียนตามที่กำหนดนั้น หากเกิดสถานการณ์อุทกภัยหรือภัยพิบัติต่างๆ ต่อภาคการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นข้าว พืชไร่ ประมง ปศุสัตว์ หม่อนไหม และสวนยาง เกษตรกรจะไม่สามารถรับการเยียวยาตามหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ “

ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการลงทะเบียนเกษตรกรด้านพืช ได้ที่กรมส่งเสริมการเกษตร    หรือ 02-579-0121-27 ด้าน ปศุสัตว์   หรือ 02-653-4444 ต่อ 2341 ด้าน ประมง  หรือ 02-562-0600–15 กรมหม่อนไหม หรือ 02-558-7924 -6 ต่อ7410หรือ7419 การยางแห่งประเทศไทย หรือ 02 433-2222 ต่อ 222,296 หรือติดต่อที่หน่วยงานใกล้บ้านท่าน

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

กรมเจรจาฯกางแผนงานปี’65 เปิดFTAเคลียร์ปัญหาอุปสรรคการค้า

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจา การค้าระหว่างประเทศ เปิดแผนถึงแผนการทำงานด้านการเจรจาการค้าระหว่างประเทศในปี 2565 ว่า กรมมีเป้าหมายที่จะเปิดการเจรจาทำเขตการค้าเสรี (FTA) ฉบับใหม่ ตามนโยบายนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ที่ให้ใช้ FTA เร่งขยายการค้าให้กับไทย โดยกำลังเร่งดำเนินการหารือเพื่อสร้างความเข้าใจตรงกันในเรื่องความคาดหวังของการเจรจากับคู่เจรจา และเร่งดำเนินกระบวนการภายในประเทศ เพื่อจัดทำกรอบเจรจาเสนอระดับนโยบาย ได้แก่ การเปิดเจรจา FTA กับสหภาพยุโรป สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) ซึ่งประกอบด้วยสวิตเซอร์แลนด์นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์และสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย (EAEU) ซึ่งประกอบด้วย รัสเซีย เบลารุส อาร์เมเนีย และคีร์กีซสถาน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการจัดทำ FTA กับกลุ่มประเทศ

สำหรับ FTA ที่เจรจาคงค้าง เช่น FTA ไทย-ตุรกี ไทย-ปากีสถาน ไทย-ศรีลังกา มีเป้าหมายที่จะหารือกับคู่เจรจาและเร่งรัดสรุปผลการเจรจาให้แล้วเสร็จโดยเร็ว รวมถึงการเร่งเจรจา FTA อาเซียน-แคนาดา ที่เพิ่งตกลงเปิดการเจรจาไปเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน 2564 จะต้องเร่งจัดทำแผนการเจรจาและประเด็นที่จะอยู่ในการเจรจา เพื่อให้การเจรจาเดินหน้า

ทั้งนี้ กรมยังจะให้ความสำคัญกับการประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้า (Joint Trade Committee : JTC) กับประเทศคู่ค้าสำคัญ เพื่อแก้ปัญหาอุปสรรคทางการค้า และกระชับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้า โดยไทยจะเป็นเจ้าภาพ

จัดการประชุม JTC กับประเทศคู่ค้าอย่างน้อย 10 ประเทศในปี 2565 เช่น อินโดนีเซีย กัมพูชา เวียดนาม สิงคโปร์ เกาหลีใต้ รัสเซีย ยูเครน สหราชอาณาจักร ภูฏาน และมัลดีฟส์ และเข้าร่วมการประชุม JTC ที่ประเทศคู่ค้าเป็นเจ้าภาพ เช่น จีน บังกลาเทศ เป็นต้น

“การประชุม JTC จะเป็นโอกาสดีที่ระดับนโยบายของไทยกับคู่ค้าจะได้หารือกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน เพิ่มการอำนวยความสะดวกทางการค้า และแก้ปัญหาอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน”

ปัจจุบันไทยมี FTA 14 ฉบับกับ 18 ประเทศ โดย RCEP ถือเป็น FTA ฉบับล่าสุดของไทย ซึ่งในช่วง 9 เดือนของปี 2564 (มกราคม-กันยายน) ไทยมีมูลค่าการค้ากับประเทศคู่ FTA 18 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ชิลี เปรู อินเดีย และฮ่องกง รวมมูลค่า 253,212.2 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 25.2% คิดเป็นสัดส่วน 63.6% ของการค้ารวมของไทย โดยไทยส่งออกไป 18 ประเทศคู่ FTA มูลค่า 123,693.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 18.2% และไทยนำเข้าจากประเทศคู่ FTA มูลค่า 129,518.3 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 32.8%

จาก https://www.naewna.com วันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

อธิบดีกรมชลฯติดตามระบายน้ำลุ่มน้ำท่าจีน สั่งเพิ่มศักยภาพผลักดันลงอ่าวไทย

เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2564 นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย นายพงศธร ศิริอ่อน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมโยธา (ด้านสำรวจและหรือออกแบบ) กรมชลประทาน ในฐานะประธานคณะทำงานศูนย์บริหารจัดการอุทกภัยลุ่มน้ำท่าจีน นายธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา นายยงยส เนียมทรัพย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 11 รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 11 นายประยูร เย็นใจ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมชลประทาน (ด้านจัดสรรน้ำและบำรุงรักษา) พร้อมด้วยผู้อำนวยการโครงการชลประทานในเขตทุ่งเจ้าพระยาตอนล่างฝั่งตะวันตก ประกอบด้วย ทุ่งผักไห่ เจ้าเจ็ด ทุ่งพระยาบรรลือ พระพิมล และทุ่งฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน ประกอบด้วย ทุ่งสองพี่น้อง และทุ่งโพธิ์พระยา รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมหารือพร้อมรายงานสถานการณ์ลุ่มน้ำท่าจีน การบริหารจัดการน้ำทุ่งเจ้าพระยาตอนล่างฝั่งตะวันตก ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโพธิ์พระยา ต.โพธิ์พระยา อ.เมืองสุพรรณบุรี จ.สุพรรณบุรี

จากนั้น อธิบดีกรมชลประทาน และคณะ ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำบริเวณประตูระบายน้ำโพธิ์พระยา ประตูระบายน้ำแม่หม้าย และประตูระบายน้ำบางเลน พร้อมร่วมหารือกับผู้นำชุมชนในพื้นที่ โดยได้สั่งการให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเร่งระบายน้ำส่วนเกินในพื้นที่ออกให้เร็วที่สุด เพื่อให้สถานการณ์คลี่คลายและกลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการน้ำที่คงเหลืออยู่อย่างปราณีต เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ทำการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง

ทั้งนี้ นายประพิศ กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำท่าจีน ที่ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำบางแห่ง กรมชลประทานได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำ เพื่อเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติในเร็ววัน ด้านสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ประกอบด้วย เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำรวมทั้งหมด 14,837 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 60 ของความจุอ่างฯ มีน้ำใช้การได้ประมาณ 8,141 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 45 ปัจจุบันได้ระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำทั้ง 11 ทุ่งไปแล้วรวมประมาณ 1,335.58 ล้าน โดยทุ่งเจ้าพระยาตอนล่างฝั่งตะวันตก กรมชลประทานได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 413 เครื่อง และเครื่องผลักดันน้ำจำนวน 143 เครื่อง เร่งระบายน้ำออกสู่แม่น้ำสายหลักและทะเลอ่าวไทยตามลำดับ ทั้งนี้ จะคงเหลือปริมาณน้ำไว้ในทุ่งเพื่อให้เกษตรกรได้ทำการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งต่อไป คาดว่าจะสามารถระบายน้ำออกจากทุ่งได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในช่วงกลางเดือนธันวาคมนี้

อย่างไรก็ตาม เพื่อเร่งรัดในการแก้ปัญหาให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบได้สั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่ ดำเนินการบริหารจัดการน้ำให้กลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว โดยเน้นย้ำให้เร่งทำการระบายน้ำส่วนเกินออกจากพื้นที่ ด้วยการระดมทรัพยากร เครื่องจักร เครื่องมือที่มีอยู่ในพื้นที่อย่างเต็มศักยภาพ เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน พร้อมกับเน้นย้ำให้เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในทุกๆ ด้าน เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์สูงสุด ควบคู่ไปกับแนวทางตามวิถีชีวิตของชุมชนและประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง รวมทั้งการสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชนทุกภาคส่วนด้วย

จาก https://www.naewna.com วันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

โรงงานน้ำตาลเปิดหีบอ้อยปี’64/65 มั่นใจสภาพอากาศเอื้อผลผลิตแตะ90ล้านตัน

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ (TSMC) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.)ครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 มีวาระพิจารณาที่สำคัญ 4 เรื่อง ได้แก่ (1) การกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้ายของปี 2563/64 (2) การกำหนดค่าอ้อยเบื้องต้นปี 2564/65 (3) กำหนดวันเปิดหีบอ้อยฤดูกาลผลิตปี 2564/65 และ (4) กำหนดอัตราการเก็บเงินค่าบำรุงให้แก่สถาบันชาวไร่อ้อย ซึ่งถือเป็นวาระที่เกี่ยวข้องกับชาวไร่อ้อยโดยตรง แต่เนื่องจากกรรมการจากฝ่ายชาวไร่อ้อยไม่เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ ประธาน กอน. ขอถอนวาระดังกล่าวออกไปก่อน ส่งผลให้ กอน. ยังไม่มีมติในเรื่องดังกล่าว โดยเฉพาะกำหนดวันเปิดหีบอ้อยประจำฤดูกาลผลิตปี 2564/65 ตามที่ กบ. เสนอ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า กอน. ยังไม่ได้กำหนดวันเปิดหีบอ้อย ประจำปี 2564/65 ตามที่ กบ. เสนอผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทั้ง 57 โรง ก็พร้อมจะเปิดรับผลผลิตอ้อยเข้าหีบตามกำหนดเวลาที่ กบ. เห็นชอบให้เริ่มเปิดหีบอ้อยเริ่มตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม 2564เป็นต้นไป เนื่องจากโรงงานได้เตรียมเครื่องมือเครื่องจักรหีบอ้อยไว้พร้อมแล้ว ขณะเดียวกัน ชาวไร่ก็พร้อม และสภาพกับอายุของอ้อยก็เหมาะสมที่จะตัดส่งเข้าหีบ โดยโรงงานจะทดรองจ่ายเงินค่าอ้อยขั้นต้นให้ชาวไร่อ้อยไปก่อนที่ 1,070 บาทต่อตันอ้อย ณ ค่าความหวาน10 ซี.ซี.เอส. โดยมีค่าความหวานอ้อยเพิ่มเติมอีก 64.20 บาท ต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส.เพื่อช่วยเหลือชาวไร่อ้อยให้มีรายได้นำไปใช้จ่ายในการดำรงชีพและประกอบอาชีพปลูกอ้อยต่อไป ทั้งนี้ สำหรับฤดูกาลผลิตปี 2564/65 ฝ่ายโรงงานจะไม่ดำเนินการหักเงินค่าบำรุงสถาบันชาวไร่อ้อย เนื่องจากมีความสุ่มเสี่ยงต่อการกระทำผิดกฎหมายและอาจถูกชาวไร่ฟ้องร้องได้

ส่วนปริมาณอ้อยเข้าหีบในฤดูกาลผลิตปี 2564/65 ฝ่ายโรงงานน้ำตาลคาดว่า จะมีผลผลิตประมาณ 90 ล้านตันอ้อย สูงขึ้นกว่าปีก่อนที่มีผลผลิตอยู่ที่ 66 ล้านตัน จากปัจจัยสภาพอากาศที่เอื้อต่อการเติบโตของอ้อย นอกจากนี้ ผู้ประกอบการจะไปช่วยวางแผนบริหารจัดการด้านการจัดเก็บผลผลิตอ้อยให้มีคุณภาพที่ดีที่สุดสำหรับนำมาสกัดเป็นน้ำตาลให้ได้ปริมาณน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) สูงสุด เพื่อช่วยบริหารจัดการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาลของฝ่ายโรงงานอีกทางหนึ่ง และจะร่วมมือกันลดปัญหาอ้อยไฟไหม้เพื่อตอบสนองนโยบายของภาครัฐอย่างเต็มที่

“ฝ่ายโรงงานเห็นพ้องที่จะเดินหน้าเปิดรับผลผลิตอ้อยเข้าหีบประจำฤดูกาลผลิตปีนี้โดยกำหนดวันเปิดหีบอ้อยประจำฤดูกาลผลิตและกำหนดจ่ายเงินค่าอ้อยขั้นต้น ตามมติของ กบ. ที่ให้ความเห็นชอบแล้ว เพื่อไม่ให้กระทบต่อชาวไร่อ้อยที่ต้องการนำอ้อยส่งมอบให้แก่โรงงาน ซึ่งจะทำให้ชาวไร่มีรายได้เพิ่มจากการเพาะปลูกและส่งมอบอ้อยสดที่มีคุณภาพที่จะช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเติบโตอย่างยั่งยืน” นายสิริวุทธิ์ กล่าว

จาก https://www.naewna.com วันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

ย้ำ เข้าร่วม CPTPP ภาคเกษตรไทยต้องไม่เสียเปรียบ

รัฐมนตรี เกษตรฯ ย้ำ จุดยืนชัดเจน ภาคเกษตรต้องไม่เสียเปรียบ ยึดผลประโยชน์เกษตรกรต้องมาก่อน หากไทยเข้าร่วม CPTPP

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงประเด็นการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP ของประเทศไทย ว่า ในส่วนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความพร้อมในการร่วมเจรจาความตกลง CPTPP ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาล และทุกฝ่ายทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคประชาสังคม ได้ศึกษาในรายละเอียด ประเด็นผลดี ผลเสีย และความพร้อมของไทยมาโดยตลอด

 โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอยืนยันว่า ภาคเกษตรไทยต้องไม่เสียเปรียบ โดยกรอบการเจรจาจะยึดผลประโยชน์เกษตรกรเป็นหลักถ้าหากประเทศไทยตัดสินใจเข้าร่วม CPTPP ในครั้งนี้

สำหรับการจัดทำกรอบการเจรจาเพื่อรับพันธกรณีความตกลง CPTPP ในส่วนของผลต่อภาคการเกษตร มี 2 ประเด็นหลักสำคัญที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะต้องคำนึงถึง คือ ด้านพันธุ์พืช และด้านการค้าสินค้าให้กับประเทศไทย ซึ่ง ด้านพันธุ์พืช เงื่อนไขการเข้าร่วมความตกลง CPTPP กำหนดให้ประเทศที่เข้าร่วมจะต้องปฏิบัติตามอนุสัญญา UPOV1991

อนุสัญญา UPOV1991 เป็นกฎหมายที่ให้การคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ทำให้หลายฝ่ายกังวลในประเด็นต่างๆ อาทิ เกษตรกรไม่สามารถเก็บส่วนขยายพันธุ์พืชไว้ปลูกต่อได้ และเมล็ดพันธุ์พืชของไทยถูกผูกขาดทางการค้า

ประเด็นดังกล่าว ไทยจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการปรับตัวหลายปี ทั้งการทำความเข้าใจสร้างการรับรู้ให้กับประชาชน เกษตรกร และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง การเตรียมความพร้อมภาคการเกษตร ทั้งด้านความต้องการใช้พันธุ์พืชของเกษตรกร การถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านการผลิตพันธุ์และการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์พืชให้เกษตรกร การจัดทำฐานข้อมูลทรัพยากรพันธุกรรมพืชของประเทศ เพื่อรวบรวมลักษณะประจำพันธุ์ของพันธุ์พื้นเมือง สำหรับใช้อ้างอิงป้องกันไม่ให้มีการนำพันธุ์พื้นเมืองหรือพันธุ์ท้องถิ่นไปจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ ตลอดจนการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 โดยจะต้องหารือกับทุกภาคส่วนพิจารณากำหนดเงื่อนไขให้เกษตรกรรายย่อยสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์พืชไว้ปลูกต่อได้ตามวิถีดั้งเดิมของเกษตรกร และอยู่ภายใต้ความเหมาะสมของบริบทประเทศไทย ซึ่งทั้งหมดนี้ จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการเตรียมการ ดังนั้น การเจรจาในประเด็นด้านพันธุ์พืช กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำหนดประเด็นที่จะเจรจาขอสงวนสิทธิ์ไว้หรือขอเว้นการปฏิบัติเพื่อรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกรเป็นสำคัญ หรือเจรจาขอระยะเวลาในการปรับตัว  เพื่อเตรียมความพร้อม เป็นระยะเวลาประมาณ 10 ปี ถึงจะพร้อมปฏิบัติตามสัตยาบันอนุสัญญา UPOV1991    

ด้านการค้าสินค้า เนื่องด้วยสมาชิก CPTPP มีการยกเลิกหรือลดภาษีนำเข้าสินค้าระหว่างกันในระดับที่สูงมากถึง 95 – 100% ซึ่งแน่นอนว่า จะส่งผลกระทบต่อสินค้าเกษตรของไทยที่มีศักยภาพแข่งขันน้อย เช่น กลุ่มสินค้าปศุสัตว์ และสินค้าประมงบางรายการ จึงจำเป็นต้องมีระยะเวลา เพื่อเตรียมความพร้อมและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อย

โดยจะเห็นได้ว่าประเทศสมาชิกเดิมอย่างญี่ปุ่นและเวียดนาม ขอใช้ระยะเวลาในการลดภาษีนานถึง 21 ปี

นอกจากนี้ ยังมีข้อกังวลเรื่องการยกเว้นการใช้มาตรการปกป้องพิเศษ หรือ Special Safeguard (SSG) กับประเทศสมาชิก CPTPP แต่ประเทศไทย เราได้ใช้มาตรการ SSG ซึ่งผูกพันไว้กับองค์การการค้าโลก (WTO) สำหรับสินค้าเกษตร 23 รายการ เพื่อรองรับผลกระทบในกรณีที่มีปริมาณการนำเข้าสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้นผิดปกติหรือราคานำเข้าที่ลดต่ำลงอย่างผิดปกติ จะเห็นได้จากปี 2563 และ 2564 ไทยได้ใช้ประโยชน์จากมาตรการ SSG กับสินค้ามะพร้าวเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งเมื่อมีการนำเข้าเกินกว่าระดับปริมาณนำเข้าที่กำหนด ก็จะมีการจัดเก็บภาษีนำเข้าในอัตราที่เพิ่มขึ้น

ดังนั้น การเจรจาในประเด็นด้านการค้า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องขอสงวนการบังคับใช้มาตรการ SSG ของไทยสำหรับสินค้าเกษตรทั้ง 23 รายการไว้ตามเดิม

“การเจรจาความตกลง CPTPP ของไทย ในส่วนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะยึดผลประโยชน์ของเกษตรกรเป็นสำคัญที่สุด และขอให้มั่นใจได้ว่า กระทรวงเกษตรฯ จะพิจารณาในรายละเอียดประเด็นต่าง ๆ อย่างครอบคลุมทุกมิติด้วยความรอบคอบ" รัฐมนตรีเกษตรฯ กล่าวและว่า

หากไทยตัดสินใจเข้าร่วม CPTPP กระทรวงเกษตรฯ จะมีการเตรียมความพร้อมทั้งด้านระยะเวลา ด้านวิชาการ เทคโนโลยี งบประมาณ บุคลากร และการสื่อสารทำความเข้าใจต่อเกษตรกรในพื้นที่ โดยข้อปฏิบัติใดที่จะส่งผลเสียต่อภาคเกษตรและเกษตรกรไทย กระทรวงเกษตรฯ พร้อมที่จะเจรจาขอสงวนสิทธิ์ไว้ หรือขอเว้นการปฏิบัติเพื่อรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกรเป็นสำคัญ ทั้งนี้ เพื่อให้ประเทศไทย ภาคเกษตรไทย และเกษตรกรไทยได้รับประโยชน์สูงสุดภายหลังเข้าร่วม CPTPP

ทั้งนี้ ความตกลง CPTPP มีชื่อเต็มว่า Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership หรือ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ปัจจุบันมีสมาชิก 11 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม ซึ่งเมื่อกลางปี 2564 สหราชอาณาจักร ได้แสดงเจตนารมณ์ที่จะเข้าร่วม และล่าสุด คือ สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้แสดงเจตนารมณ์เข้าร่วม CPTPP เมื่อเดือนกันยายน 2564

 จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

ตรึงราคาปุ๋ย ทุ่ม 5.5 หมื่นล้าน ดัน “เหมืองแร่โปแตชอาเซียน” เป็นวาระแห่งชาติ

รัฐบาลไทย เอาจริง ตั้งไข่ “เหมืองแร่โปแตชอาเซียน” ทุ่ม 5.5 หมื่นล้าน ดันเป็นวาระแห่งชาติ หวังแลก “ยูเรีย” มาเลเซีย ช่วยเกษตรกร ลดต้นทุน ก.เกษตร เผย กลาง ธ.ค.นี้ ชงงบกลาง 500 ล้าน ชดเชยปุ๋ยเคมี 5 แสนตัน ในปีหน้า

ปัจจุบันราคาวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตปุ๋ยเคมีสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังเศรษฐกิจโลกกลับมาฟื้นตัว ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น และความต้องการปุ๋ยของประเทศต่าง ๆ เพื่อใช้ในการเพาะปลูกพืชสร้างความมั่นคงด้านอาหารมีเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบผู้นำเข้าและผู้ค้ามีต้นทุนที่สูงขึ้น และเรียกร้องขอปรับราคา

ขณะที่กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ยังใช้มาตรการเดิมคือขอความร่วมมือผู้ค้าช่วยตรึงราคา ซึ่งราคาปุ๋ยที่แพงนี้หากยังสูงต่อเนื่องและที่สุดแล้วไม่สามารถตรึงไว้ได้จะกระทบต่อเกษตรกร และราคาสินค้าเกษตรที่เกี่ยวเนื่องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นการปลดล็อกปุ๋ยแพงถือเป็นวาระสำคัญที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการ

นายอำพันธุ์ เวฬุตันติ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการส่งเสริมการใช้ปัจจัยการผลิตที่เหมาะสมเพื่อลดต้นทุนการผลิต เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า คณะกรรมการชุดนี้มี นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน โดยการแต่งตั้งของดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีเป้าหมายเพื่อลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยและลดการนำเข้าปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศ ล่าสุดมีมติเห็นชอบกรอบและแนวคิดในการจัดทำแผนบริหารจัดการปุ๋ย ปี 2565-2569

แผนบริหารปุ๋ย 5 ปี

โดยในปี  2565 มีเป้าหมายให้ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน สามารถช่วยเหลือเกษตรกรในการผลิตปุ๋ยสั่งตัด 1.88 แสนตัน ปุ๋ยอินทรีย์ 2.25 ล้านตัน ปุ๋ยชีวภาพ 1.02 ล้านตัน และยอดรวมของแผน 5 ปี (2565-2569) จะผลิตปุ๋ยสั่งตัด 2.42 ล้านตัน ปุ๋ยอินทรีย์ 16.32 ล้านตัน ปุ๋ยชีวภาพ 14.19 ล้านตัน จำนวนเกษตรกร 3.6 ล้านราย ครอบคลุมพื้นที่ 44.01 ล้านไร่

ผลลัพธ์คือการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรได้มาก อีกทั้งลดการนำเข้าปุ๋ยเคมี ส่วนระยะยาวช่วยเพิ่มจำนวนเกษตรกรที่ทำการเพาะปลูกในรูปแบบ “เกษตรปลอดภัย” ตามมาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practice) ซึ่งเป็นที่ต้องการทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

ไทย มีการนำเข้า และส่งออกปุ๋ยเคมี 8 ปี ย้อนหลัง

นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ในโครงการลดราคาปุ๋ย ที่กรมการค้าภายใน ดำเนินงานร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมส่งเสริมการเกษตร ตรึงราคาปุ๋ยเคมี ไปจนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2564 และในปี 2565 จะดำเนินการต่อเนื่องในเรื่องของการลดราคาปุ๋ยเคมี โดยจะชดเชยราคาปุ๋ยเกษตรกรกระสอบละ 50 บาท 

ทั้งนี้อยู่ระหว่างเร่งจัดทำโครงการเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อของบกลาง ตั้งเป้าปริมาณปุ๋ยเคมีที่จะชดเชย ปริมาณ 5 แสนตัน วงเงินประมาณ 500 ล้านบาท โดยปุ๋ย 1 ตัน จำนวน 20 กระสอบ (กระสอบละ 50 กก.) ชดเชย 1,000 บาท อีกส่วนหนึ่งจะชดเชยในเรื่องค่าขนส่ง จะช่วยให้เกษตรกรได้ซื้อปุ๋ยได้ในราคาที่ถูกลง

รวมทั้งยังมีเรื่องสินเชื่อโครงการธุรกิจชุมชนสร้างไทยของ ธ.ก.ส. (วงเงินสินเชื่อ 5 หมื่นล้านบาท) คิดอัตราดอกเบี้ยพิเศษ ล้านละ 100 บาท เพื่อให้สถาบันเกษตรกรที่เป็นนิติบุคคล (สถาบันเกษตรกรมีแผนธุรกิจมีตลาดรองรับชัดเจน) เป็นค่าลงทุนและค่าใช้จ่ายหมุนเวียน

แผนยุทธศาสตร์ ปุ๋ย 5 ปี

ส่วนแผนระยะยาว จะเน้นในเรื่องของการใช้ทรัพยากรในประเทศให้เกิดประโยชน์ โดยเตรียมนำเสนอเรื่องเข้าครม.เรื่องการตั้งคณะทำงานเพื่อส่งเสริมการผลิตปุ๋ยในประเทศ ที่ปัจจุบันไทยมีแหล่งแร่โปแตชใหญ่อยู่ 2 แห่ง คือ ที่จังหวัดชัยภูมิ และนครราชสีมา ที่สามารถนำมาผลิตเป็นปุ๋ยและสามารถลดการนำเข้าได้เลย เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ และสำคัญมาก

“เป็นเรื่องเดิม แหล่งแร่โปแตชเพื่อใช้ผลิตปุ๋ยเรามีอยู่แล้ว ดำเนินการโดย บริษัท อาเซียน โปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) คาดจะผลิตปุ๋ยเคมีในปี 2568 เพื่อการขับเคลื่อนให้เกิดประโยชน์แท้จริง โดยจะทำงานร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน อย่างมาเลเซีย ที่มีข้อตกลงพื้นฐานที่ทำกันมาตั้งแต่ปี 2533 เป็นการร่วมทุนผลิตปุ๋ยเพื่อช่วยเหลือกัน"

แต่ประเทศไทยไม่เคยเอาตรงนี้มาใช้ประโยชน์ ก็จะดึงตัวนี้ขึ้นมาปัดฝุ่นเจรจากัน เพราะมาเลเซียเองก็มีการผลิตปุ๋ยเคมี มีแม่ปุ๋ยยูเรีย โดยจะมีการแลกเปลี่ยน เช่น เอาโปแตชไปแลกปุ๋ย เป็นต้น

แหล่งข่าวจากบริษัท อาเซียน โปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า  บริษัทได้รับประทานบัตรการทำเหมืองแร่ จากกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อปี 2558 ที่ผ่านมาโครงการนี้ล่าช้ามาตั้งแต่ก่อนและหลังได้รับประทานบัตร อย่างไรก็ดีคาดในปี 2568 บริษัทจะสามารถผลิตแร่โปแตชได้ หลังจากหารือกระทรวงการคลังแล้ว

มีรัฐวิสาหกิจหนึ่งแสดงความสนใจและมีศักยภาพสูงที่จะเป็นผู้ร่วมลงทุน ซึ่งในสัดส่วนของกระทรวงการคลัง และสัดส่วนส่วนตัวที่จะลงเพิ่มได้ มั่นใจว่าจะเข้ามาผลักดันโครงการได้ โดยบริษัทมีแผนเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 2,200 ล้านบาท เป็นประมาณ 2 หมื่นล้านบาท คาดจะแล้วเสร็จภายในกลางปี 2565 และเมื่อคำนวณเวลาแล้วคาดว่าประมาณกลางปี 2568 จะเริ่มผลิตแม่ปุ๋ยโปแตชได้

“โครงการนี้คาดจะต้องลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 55,000 ล้านบาท รวมโรงงานที่ผลิตแม่ปุ๋ยโปแตช และโครงการที่ขุดเหมืองใต้ดินด้วย ชุมชนโดยรอบต้องการให้โครงการเกิดเพราะจะก่อให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 1,000 ตำแหน่ง”

จาก "ปุ๋ยราคาแพง" และเป็น "วาระแห่งชาติ" ที่ต้องเร่งปลดล็อก และโครงการเหมืองแร่โปแตชที่มีความคืบหน้าตามลำดับ ถือเป็นอีกความหวังของเกษตรกรที่จะได้ใช้ปุ๋ยคุณภาพดี ราคาถูก และทำให้ประเทศไทยมีอำนาจต่อรองในเวทีโลกในด้านอุตสาหกรรมปุ๋ยเพิ่มขึ้น ต้องรอลุ้นแผนงานเหล่านี้จะเป็นไปได้ตามที่มุ่งหวังหรือไม่

 จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

“เกษตรกร”แห่ใช้ปุ๋ยสั่งตัด โชว์ลดต้นทุนเพาะปลูก20%

"เกษตร" โชว์ปุ๋ยสั่งตัด ลดต้นทุนการผลิตได้จริง 20 % เกษตรกรแห่ใช้บริการ 106.27 % กว่า 4 พันตัน เกินเป้า ด้าน ส.อ.ท.เล็งต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรคุณภาพ

นางดาเรศร์ กิตติโยภาส ที่ปรึกษาสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.มีสถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร โดยมองว่าภาคการเกษตรคืออุตสาหกรรมอย่างหนึ่ง ที่สามารถดีไซน์การผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการและต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มได้ ดังนั้นการที่ ส.อ.ท.ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้คณะกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กรกอ.) จะช่วยผลักดันให้สามารถวางแผนการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพตรงกับความต้องการของตลาดได้

“ภาคการเกษตรมีสัดส่วนในผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพี เพียง 8% เท่านั้น แต่หากมองในภาพของอุตสาหกรรมการเกษตร แล้วจะสามารถขยายจีดีพีได้อย่างมหาศาล ดังนั้นการนำเอาข้อมูลของกระทรวงเกษตรฯต่างๆมาผนวกกับข้อมูลภาคอุตสาหกรรมและส่งเสริมให้เกิดในภาคปฏิบัติ จะทำให้ภาคการเกษตรของไทยเดินหน้าไปได้เร็ว" นางดาเรศร์ กล่าว

สำหรับโครงการปุ๋ยสั่งตัดหรือปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ นั้น ถือว่ามีประโยชน์กับภาคการเกษตรมาก ซึ่งได้ผลักดันเรื่องนี้มาตลอดในช่วงที่รับราชการ เนื่องจากจะช่วยลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกรได้ถึง 20 % ในขณะที่รัฐบาลให้ความสำคัญถึงขั้นกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ ในปี 2558 ด้วยการจัดตั้ง ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) ขึ้น 882 แห่ง หรืออำเภอละ 1 แห่ง

ทั้งนี้ เกษตรกรที่ต้องการทำปุ๋ยใช้เองสามารถนำตัวอย่างดิน พืชที่ต้องการจะปลูกมาวิเคราะห์ ด้วยชุดตรวจสอบอย่างง่ายหรือ Test Kit เมื่อทราบค่าที่เหมาะสม เกษตรกรก็สามารถซื้อแม่ปุ๋ย คือ N (ไนโตรเจน), P (ฟอสฟอรัส) และ K (โพแทสเซียม) มาผสมและใช้ในพื้นที่ได้ทันที

ปูพรมเครื่องผสมปุ๋ยทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกๆความนิยมการทำปุ๋ยสั่งตัดของเกษตรกรมีไม่มากนัก เนื่องจากขั้นตอนที่ยุ่งยาก ต่อมาในปี 2563 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีโครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน (One Stop Service) ด้วยการซื้อเครื่องผสมปุ๋ยให้กับ ศดปช. 394 แห่ง เพื่อผลิตปุ๋ยจำหน่ายให้กับชุมชนเกิดเป็นธุรกิจชุมชนขึ้น วิธีการนี้สามารถลดขั้นตอนความยุ่งยากและเกษตรกรนิยมเข้ามาใช้บริการมากขึ้น

“ในช่วง 2 ปีที่เกิดปัญหาโรคโควิดระบาด ทำให้รายได้ของเกษตรกรลดลง ในขณะที่ปุ๋ยเคมีราคาเพิ่มขึ้น ปุ๋ยสั่งตัดจึงเป็นทางเลือก และเกษตรกรเริ่มมั่นใจว่าการวิเคราะห์ดิน ก่อนนั้นมีส่วนช่วยให้พืชเติบโตได้อย่างมีคุณภาพ อีกทั้งลดต้นทุนการผลิตได้จริง 20 % “

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า โครงการ One Stop Service ปันสุขให้เกษตรกร ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2563 วงเงิน 169 ล้านบาท ซึ่งเป็นการดำเนินงานภายใต้แผนงานหรือโครงการลงทุนและกิจกรรมการพัฒนาที่สามารถพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพิ่มศักยภาพ และยกระดับการค้า การผลิต และการบริการ ในสาขาเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ โดยครอบคลุมภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม การค้าและการลงทุน ท่องเที่ยวและบริการ ภายใต้โครงการกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด 19 ระบาด

วิเคราะห์สูตรปุ๋ยตามค่าดิน

สำหรับวัตถุประสงค์ของโครงการเพื่อให้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ สามารถเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการวิเคราะห์ดินและใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน และเพื่อพัฒนาศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) ที่มีศักยภาพให้สามารถดำเนินธุรกิจในการจัดหาปุ๋ยที่มีคุณภาพใช้ในชุมชน สร้างความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองให้แก่เกษตรกร

ทั้งนี้ ในการสนับสนุนให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยได้ถูกต้องเหมาะสมกับดินและชนิดพืช ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีและให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ดำเนินการใน ศดปช.ที่สมัครเข้าร่วมโครงการ 394 ศูนย์ ใน 63 จังหวัด จาก 882 ศูนย์ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2558 ในพื้นที่ 77 จังหวัด โดยแต่ละศูนย์จะได้รับการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ ได้แก่ ชุดตรวจวิเคราะห์ดิน และแม่ปุ๋ย รวมทั้งให้ยืมเครื่องผสมปุ๋ย เพื่ออำนวยสะดวกสำหรับเกษตรกรที่ไม่สะดวกในการผสมปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินเอง

เกษตรกรเป้าหมายหลัก คือ สมาชิกศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) แปลงใหญ่ และรวมถึงเกษตรกรทั่วไป ที่ปลูกพืชเศรษฐกิจสำคัญ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อย มันสำปะหลัง ไม้ผล พืชผัก ยางพารา ปาล์มน้ำมัน จำนวนประมาณ 107,000 ราย

“กรมส่งเสริมการเกษตรให้ความสำคัญกับการให้ความรู้เรื่องดินและปุ๋ยที่ถูกต้อง แก่เกษตรกรผ่านกลไกของศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน โดยส่งเสริมการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ซึ่งเป็นการใช้ปุ๋ยอย่างถูกต้อง แม่นยำเฉพาะพื้นที่ ทำให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมี ต้นพืชแข็งแรง สามารถต้านทานต่อการเข้าทำลายของศัตรูพืชได้ในระดับหนึ่ง ทำให้ลดการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ลดต้นทุน “

เกษตรกรร่วมเกินเป้าหมาย

สำหรับผลการดำเนินงาน (2 พ.ย.2564) มีการเบิกจ่าย 88.18% วงเงิน 149.79 ล้านบาท ทั้งนี้ ได้คืนเงินงบประมาณเหลือจ่าย 20.09 ล้านบาท โดยได้การจัดอบรม จำนวน 2 หลักสูตร ต่อ ศูนย์ ซึ่งมีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาเทคนิคและการบริหารธุรกิจ และการจัดเวทีเชื่อมโยงเครือข่าย ศดปช.ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) และแปลงใหญ่ดำเนินการครบแล้ว 100%

การจัดซื้อจัดหาวัสดุการเกษตรและครุภัณฑ์ โดยแต่ละ ศดปช.จะได้รับวัสดุการเกษตรและครุภัณฑ์ ประกอบด้วย ชุดตรวจวิเคราะห์ดิน ดำเนินการครบแล้ว คิดเป็น 100% แม่ปุ๋ย ดำเนินการครบแล้ว 100% และเครื่องผสมปุ๋ย ดำเนินการแล้ว คิดเป็น 98.41%

สำหรับการให้บริการในเชิงธุรกิจ การจดทะเบียนขายปุ๋ย ดำเนินการครบแล้ว คิดเป็น 100% การให้บริการตรวจวิเคราะห์ดิน ดำเนินการครบแล้ว คิดเป็น 100% มีเกษตรกรใช้บริการ 113,889 ราย จากเป้าหมาย 107,168 ราย คิดเป็น 106.27% จากเป้าหมาย การให้บริการจำหน่ายปุ๋ย ดำเนินการครบแล้ว คิดเป็น 100% แยกเป็น 81,494 กระสอบ จากเป้าหมาย 47,280 กระสอบ คิดเป็น 172.36%

เมื่อเทียบกับปริมาณปุ๋ยที่สนับสนุน กับ การให้บริการผสมปุ๋ย ดำเนินการครบแล้วคิดเป็น 100% ให้บริการแล้วจำนวน 4,006 ตัน จากเป้าหมาย 2,364 ตัน คิดเป็น 169.49% เมื่อเทียบกับปริมาณปุ๋ยที่ใช้

 จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

สมาคมโรงงานน้ำตาล ชี้รถทหารไม่เหมาะขนอ้อย เหตุต้องใช้รถจำนวนมาก วิ่งนับหมื่นเที่ยว

สมาคมโรงงานน้ำตาล ชี้รถทหารไม่เหมาะขนอ้อย เหตุต้องใช้รถจำนวนมาก วิ่งนับหมื่นเที่ยว ชี้ยังมีเวลาให้ทั้งสองฝ่ายร่วมกันหารือให้ได้ข้อยุติ

เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2564 นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานกรรมการบริหารบริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด(TSMC) และประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ สมาคมโรงงานน้ำตาล เปิดเผยว่า ส่วนตัวเข้าใจดีว่ารัฐบาลพยายามแก้ปัญหารถบรรทุกอาจจะหยุดวิ่ง จากผลพวงของปัญหาราคาน้ำมันแพง หลังผู้ประกอบการรถบรรทุกเรียกร้องให้รัฐบาลลดราคาน้ำมันดีเซลลงเหลือลิตรละ 25 บาทไม่เป็นผล ซึ่งการเตรียมนำรถทหารออกวิ่งให้บริการแทนรถบรรทุกนั้นอาจทำได้ในบางกรณี เช่น การขนส่งสินค้าจากโรงงานไปยังจุดกระจายสินค้า แต่ไม่เหมาะที่จะนำมาบรรทุกอ้อยส่งโรงงานในฤดูการผลิต 2564/65 ที่กำลังจะเปิดหีบช่วงต้นเดือน ธ.ค.นี้

“แนวทางการแก้ปัญหารถบรรทุกหยุดวิ่งของรัฐบาลเป็นความพยายามหนึ่งที่รัฐบาลต้องเตรียมรถเสริมไว้รองรับ ขณะที่รถบรรทุกก็มีเป้าประสงค์ แต่คงไม่สามารถนำรถทหารมาวิ่งรับอ้อยที่ตัดจากไร่เข้าไปส่งที่โรงงานได้ เพราะต้องใช้รถบรรทุกหมุนเวียนจำนวนมาก เนื่องจากแต่ละคันต้องจอดเข้าคิวขึ้นชั่ง บางคันวิ่งระยะใกล้อาจต่อคิวได้วันละหลายรอบ แต่หากไร่อ้อยอยู่ห่างจากโรงงาน 30-40 กิโลเมตร กว่าจะวิ่งไปวิ่งกลับ กว่าจะขึ้นอ้อยเสร็จ และต้องเสียเวลาเข้าคิวขึ้นชั่งส่งเข้าหีบในโรงงานต้องรอข้ามวันข้ามคืน คิดเป็นเที่ยวรถวิ่งเป็นหมื่นเที่ยว”

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อาจยังเร็วเกินไปที่จะประเมินสถานการณ์ เพราะยังมีเวลาให้ทั้งสองฝ่ายร่วมกันหารือให้ได้ข้อยุติ อีกทั้งรูปแบบการนำรถทหารออกวิ่งแทนรถบรรทุกนั้นก็ยังไม่มีความชัดเจน และเบื้องต้นยังไม่เกิดปัญหารถบรรทุกขาดแคลน ทั้งนี้ ต้องติดตามผลการหารือและแนวทางแก้ปัญหาในระยะต่อไป

จาก https://www.khaosod.co.th  วันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

7 ประเด็นปัญหาแผนบูรณาการงบประมาณ-อีอีซีเร่งดึงเอกชนร่วมลงทุน

ผู้ช่วยเลขาธิการ ด้านนโยบายและแผนเผย 7 ประเด็นปัญหาแผนบูรณาการงบประมาณ ชี้อีอีซีเร่งดึงเอกชนร่วมลงทุนหนุนงบประมาณมีจำกัด

นางสาวธัญรัตน์ อินทร ผู้ช่วยเลขาธิการ ด้านนโยบายและแผน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวในช่วง เสวนา "การจัดทำงบบูรณาการจากประสบการณ์ อีอีซี" ในงานสัมนา EEC "เปิดความสำเร็จการเป็นต้นแบบบูรณาการ สู่การพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน" ว่า แผนบูรณาการงบประมาณยังมีข้อจำกัดอยู่หลายประเด็น ประกอบด้วย

1.งบประมาณยังมีข้อจำกัดระบบการปิดผนึก (Sealing) ของงานพื้นฐานงานยุทธศาสตร์ โดยที่สำนักงบประมาณยังไม่ให้ Sealing เพิ่มเติมของการทำแผนบูรณาการ ซึ่งสำนักงบฯ ก็จะดูโครงการที่มีศักยภาพเป็นอันดับแรก

"หลายหน่วยงานไม่ต้องการที่จะผลักดันโครงการมาทำงานร่วมกันที่มากกว่างานปกติที่ทำอยู่แล้ว โดย ณ ปัจจุบันยังไม่มีอะไรเพิ่มเติมทางด้าน Sealing เกี่ยวกับการทำแผนบูรณาการ"

2.กรรมาธิการและอีอีซี มีความกังวลพอสมควรถึงความยั่งยืน โดยจะกล่าวก็คือแผนบูาณาการไม่ได้เป็นแผนที่สามารถเป็นแผนแม่บท หรือแผนระยะยาว หรือแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แต่เป็นแผนปีต่อปี เพราะฉะนั้นก็ต้องรอมติจากคณรัฐมนตรี (ครม.) ว่าในปีงบประมาณแต่ละปีจะมีแผนบูรณาการใดบ้างหรือจะถอนแผนบูรณาการใดบ้าง

"การที่ยังเป็นไปในรูปแบบดังกล่าวส่งผลทำให้เแต่ละเจ้าภาพเกิดความกังวลว่าแผนนของหน่วยงานตนจะยังอยู่หรือไม่ เพราะฉะนั้นทุกหน่วยงานก็จะรอ เมื่อมีการประกาศแผนบูรณาการก็จะทำงานกันไม่ทัน  โครงการที่มาก็จะเป็นโครงการที่มีลักษณะการทำงานคล้ายกันนำมารวมกันก็จะไม่ใช่การบูรณาการ  เพราะไม่ได้เน้นการทำงานเพื่อตอบโจทย์เป้าหมายของการบูรณาการ โดยปีนี้กว่าจะทราบว่ามีแผนบูรณาการอะไรบ้างก็ประมาณวันที่ 7 ธันวาคมซึ่งก็คงรอไม่ได้ เพราะตอนนี้เราต้องกำหนดเป้าหมายการทำงานออกมาแล้ว เเพื่อจะไปขับเคลื่อนให้หน่วยงานจัดทำโครงการขึ้นมา"

3.อาจมีหลายโครงการที่ต้องการผลักดัน แต่โครงการดังกล่าวอาจมีความซ้ำซ้อนกับแผนบูรณาการอื่น เนื่องงจากแผนบูรณาการของอีอีซี ต้องระดมสรรพกำลังของหน่วยงานต่างๆมาพัฒนาในเชิงพื้นที่มีเป้าหมาย เพื่อทำให้เกิดการลงทุนในพื้นที่ แต่บางประเด็นหรือบางแนวทางที่ต้องการดำเนินการ เช่น เรื่องการท่องเที่ยวหรือสิ่งแวดล้อมก็อาจจะไปซ้ำซ้อนในเรื่องบูรณาการอื่นๆเช่นบูรณาการการท่องเที่ยว หรือต้องการผลักดันเกี่ยวกับการลงทุนก็อาจจะไปเกี่ยวข้องกับบูรณาการอุตสาหกรรมเป้าหมาย จะมีความซ้ำซ้อนกันหน่วยงานก็จะสับสนว่าควรที่จะไปอยู่ในแผนบูรณาการไหนดี

"สิ่งที่ต้องการแนะนก็คือให้ไปทุกที่ทาง สำนักงบประมาณจะพิจารณาเองว่าเหมาะสม กับโจทย์เป้าหมายของแผนบูรณาการใด"

4.งบประมาณท้องถิ่น ซึ่งทางหน่วยงานท้องถิ่นไม่สามารถเสนอคำขอเข้ามาภายใต้แผนบูรณาการได้ซึ่งเป็นข้อจำกัดมากทำให้เราไม่เห็นแผนภาพรวมหรือโครงการภาพรวมในการพัฒนาพื้นที่โดยความต้องการให้ท้องถิ่นขับเคลื่อนการห้ทำงานให้เป็นไปตามเป้าหมายของแผนภาพรวม ก็ไม่สามารถที่จะทำงานได้

"เราก็พยายามเข้าไปช่วยท้องถิ่นในการดูแผนดูโครงการและร่วมกันขับเคลื่อนโครงการของท้องถิ่นอยู่เพียงแต่ผลักดันให้อยู่ในแผนของอีอีซีไม่ได้เท่านั้น"

5.ขาดการเชื่อมโยงส่งต่อการดำเนินงานร่วมกันในลักษณะต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ซึ่งเป็นกรณีของแผนบูรณาการอื่นทั่วไป ไม่เฉพาะของอีอีซี ซึ่งอีอีซีจะไม่ให้ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวนี้อย่างแน่นอน โดยกรรมาธิการมีข้อสังเกตในทุกปี และมักจะได้ยินคำครหาทุกปีถึงเจ้าภาพบูรณาการ คือ แผนบูรณาการมีการรวมโครงการมาจากหลายหน่วยงานที่มีลักษณะคล้ายกันเอาไว้ในแผ่นเดียวกัน เหมือนบูรณาการตัดแปะ บางแผนก็มีการบูรณาการซ้ำซ้อนกันกับงานปกติของหน่วยงาน  ทำให้หลายบูรณาการต้องยกเลิกไป

"เดิมทีปี 60 เรามี 25 แผนงานตอนนี้เหลือแค่ 11 แผนงาน เพราะฉะนั้นวางแผนงานมีความจำเป็นเพียงแต่ว่าอาจจะขับเคลื่อนการทำงานไม่สอดคล้องกับแนวทางในการทำแผนบูรณาการก็เลยทำให้หายไป"

6.หลายหน่วงานมีความเกรงกลัวว่าจะโดนเบียดบังงบประมาณ และเกรงว่าจะโดนกำกับติดตามงานให้เป็นไปตามเป้าหมาย เพราะถ้าอยู่ในบูรณาการจะไม่มีอิสระในการทำงาน เพราะต้องทำงานให้เป็นรูปแบบเดียวกันในแต่ละแนวทาง  ทำให้หลายหน่วยงานไม่ต้องการเข้าร่วมแผนบูรณาการ

7.การติดตามประมวลผล  ซึ่งเป็นปัญหามากหลายหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพบูรณาการไม่ได้จริงจังในการติดตามว่าเป็นไปตามเป้าหมายหรือแนวทางที่คุยกันไว้ตั้งแต่แรกหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากเพราะเป็นการประเมินว่าหน่วยงานขับเคลื่อนการดำเนินงานตามเป้าหมายหรือไม่ ปีต่อไปควรที่จะอยู่ด้วยกันหรือไม่ 

"แผนบูรณาการอีอีซีเป็นกลไกลสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่เชิงยุทธศาสตร์อย่างเป็นบูรณาการและสามารถที่จะนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างสมดุลและยั่งยืนต่อไปได้" 

นางสาวธัญรัตน์ กล่าวอีกว่า ความท้าทายอีกเรื่องที่อีอีซีพยายามผลักดันคือการชักจูงให้เอกชนเข้ามาร่วมสนับสนุนการดำเนินงานรวมถึงการสนับสนุนงบประมาณกับหน่วยงานภาครัฐ เพราะรู้ว่างบประมาณแผ่นดินมีจำกัดจึงต้องผลักดันเอกชนเข้ามาร่วมซึ่งเอกชนก็พร้อม  เพราะก็ได้ประโยชน์จากการพัฒนาดังกล่าว

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

เอกชนรับลูกบิ๊กตู่-COP26 สภาอุตฯ-สภาหอฯ สั่งลุย “ลดโลกร้อน”

เอกชนตื่นลดโลกร้อน ส.อ.ท.ดัน 45 กลุ่มอุตฯลุยปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตลดปล่อยก๊าซคาร์บอน สภาหอฯ ชู BCG โมเดล พร้อมถอดบทเรียนทำเป็นคู่มือแจกสมาชิกนำไปปรับใช้ ม.หอการค้าฯชี้เป้าหมายไทยปล่อยก๊าซฯเป็นศูนย์ ต้องออกกฎหมายบังคับ

การประชุมสุดยอดว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขององค์การสหประชาติ (UN) หรือ COP26 ณ เมือง กลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ ปิดฉากลงไปแล้วเมื่อวันที่ 13 พ.ย.ที่ผ่านมา มีประเด็นสำคัญเกิดขึ้น เช่น สหรัฐฯและจีน สองมหาอำนาจที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากสุดของโลกได้ให้คำมั่นว่าจะทำงานร่วมกันเพื่อบรรลุเป้าหมายการควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส และผู้นำจากกว่า 100 ประเทศที่มีพื้นที่ป่ารวมกันคิดเป็น 85% ของป่าไม้โลก รับปากจะยุติการตัดไม้ทำลายป่าภายในปี 2030 และเห็นชอบโครงการลดการปล่อยมีเทนลง 30% ภายในปี 2030 และมากกว่า 40 ประเทศ รวมถึงประเทศที่ใช้ถ่านหินรายใหญ่ เช่น โปแลนด์ เวียดนาม ชิลี เห็นชอบที่จะยกเลิกการใช้ถ่านหิน

ในส่วนของไทย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมระดับผู้นำ COP26 โดยได้ประกาศเจตนารมณ์ไทยพร้อมยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่ในทุกวิถีทาง เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2065 ถือเป็นการคิกออฟส่งสัญญาณให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องของไทยต้องเร่งลงมือปฏิบัติตามพันธสัญญาที่ให้ไว้กับชาวโลก

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” หลังการประชุม COP26 สิ้นสุดลง ส.อ.ท. ได้ส่งสัญญาณให้สมาชิกทั้ง 45 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้มีความตื่นตัวในการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต และการบริหารจัดการเพื่อลดภาวะโลกร้อนที่เป็นวาระของโลก และวาระของไทย และจากนี้ไปกลุ่มอุตสาหกรมต่าง ๆ จะทำงานอย่างใกล้ชิดกับสถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน และสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อมของ ส.อ.ท.เพื่อช่วยวางแผนให้สมาชิกในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน เฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อส่งออกจะต้องวางแผนรับมือกฎกติกาของประเทศคู่ค้าที่จะนำประเด็นโลกร้อนและสิ่งแวดล้อมมาใช้เป็นมาตรการทางการค้าเพิ่มมากขึ้น

“ล่าสุดสหภาพยุโรปหรืออียู เตรียมนำ CBAM (มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของอียู โดยผู้นำเข้าสินค้าจะต้องซื้อใบแสดงสิทธิในการปล่อยก๊าซคาร์บอน เพื่อจ่ายค่าธรรมเนียมหรือ “ค่าปรับ” ในการปล่อยก๊าซ ซึ่งอาจผลักภาระมายังผู้ส่งออก) มาบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบในปี 2569 รวมถึงการบังคับติฉลากคาร์บอน ซึ่งจะเพิ่มต้นทุนให้กับผู้ส่งออกของไทย แต่เราต้องเร่งปรับตัวเพราะกฎกติกาโลกไปในทิศทางนี้และมาตรการต่างๆ เริ่มออกมาชัดเจนมากขึ้น”

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เรื่องลดโลกร้อนเป็นประเด็นที่ประเทศคู่ค้าจะนำมาออกเป็นกฎกติกาเพื่อใช้เป็นมาตรการทางการค้าที่อาจนำไปสู่การกีดกันทางการค้าได้ จากหลายประเทศในยุโรปได้เตรียมบังคับคู่ค้าติดฉลาก-เก็บภาษีคาร์บอน ทำให้ผู้ประกอบการมีภาระต้นทุนเพิ่มขึ้นในภาพรวมไม่ต่ำกว่า 20% (ขึ้นกับธุรกิจ/ อุตสาหกรรม) แต่อีกมุมหนึ่งหากผู้ประกอบการของไทยสามารถทำได้ตามกฎกติกาจะส่งผลบวกต่อสินค้าไทย เพราะจะเป็นทางเลือกสำหรับผู้บริโภคในต่างประเทศมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ทางหอการค้าไทยและสภาหอการค้าฯได้มีแนวทางให้สมาชิกทั่วประเทศ (มีกว่า 1 แสนราย)ดำเนินธุรกิจที่มุ่งสู่ BIO-CIRCULAR-GREEN หรือ BCG (ชีวภาพ หมุนเวียน สีเขียว) เพื่อลดโลกร้อนแก่สมาชิก โดยมีการส่งเสริมผู้ประกอบการทั้งให้ความรู้ แนะนำแนวทางผ่านกิจกรรมต่าง ๆ นำร่องด้วยการจัดทำโมเดล BCG คือนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้ในธุรกิจบริการ ลดการทิ้งของเสียและนำวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ มาใช้ซ้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด เน้นการจัดการด้าน Food waste และ Plastic waste ในซัพพลายเชนธุรกิจท่องเที่ยว และจะถอดบทเรียนทำเป็นคู่มือเพื่อให้ผู้ประกอบการนำไปปรับใช้ได้

“การนำแนวคิด BCG มาใช้ดำเนินธุรกิจ ผลลัพธ์ที่ได้จะเป็นส่วนหนึ่งในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและช่วยลดโลกร้อน ขณะเดียวกัน ณ ปัจจุบันมีผู้ส่งออกสินค้าไทยหลายร้อยรายได้เริ่มดำเนินการให้หน่วยงานรับรองคือ อบก.(องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก) ตรวจวัดการปล่อยก๊าซและให้การรับรองฉลากคาร์บอนเพื่อสร้างทางเลือกผู้บริโภค ซึ่งเวลานี้มีหลายสินค้ามีการติดฉลากคาร์บอนในกลุ่มที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาก ๆ เช่น สินค้าเกษตร อาทิ น้ำตาล รวมถึงสินค้าด้านปศุสัตว์ เป็นต้น โดยที่รับรองแล้วมีมากกว่าพันรายการ”

ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยเป็นศูนย์ในปี 2065 จะประสบความสำเร็จได้มีหลายเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการ เช่น ระดับประเทศต้องมีกฎหมายและบังคับให้แต่ละภาคการผลิตจัดทำและรายงานก๊าซแต่ละประเภทที่ปล่อยก๊าซออกมา โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปช่วยเหลือ, มาตรการจูงใจด้านภาษีเพื่อให้ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG), ภาคการผลิตต้องติดฉลากปริมาณของการปล่อยก๊าซ ที่ก่อให้เกิด GHG, ภาคการผลิตต้องเปลี่ยนแปลงการผลิตตามมาตรฐานสากล เช่น อุตสาหกรรมยางพาราปรับตามมาตรฐาน FSC (มาตรฐานการดูแลป่าไม้อย่างมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม) และอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มปรับตาม RSPO (มาตรฐานการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน) เป็นต้น

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

โรงงานน้ำตาลเปิดหีบอ้อยดีเดย์ 7 ธ.ค.นี้ ยึดราคา 1,070 บาท/ตัน แม้ชาวไร่ไม่ร่วม กอน.

โรงงานน้ำตาล เดินหน้าเปิดรับอ้อยเข้าหีบประจำฤดูการผลิตปี 2564/65 ในวันที่ 7 ธ.ค.นี้ คาดมีปริมาณผลผลิตประมาณ 90 ล้านตัน กำหนดราคาอ้อยขั้นต้นที่ 1,070 บาทต่อตันอ้อย ณ ค่าความหวาน 10 ซี.ซี.เอส. ยึดตามมติ กบ. แม้ กอน.ยังไม่มีมติ หลังชาวไร่ไม่ร่วมประชุม

วันที่ 19 พฤศจิกายน 2564 นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 มีวาระพิจารณาที่สำคัญ 4 เรื่อง

ได้แก่ (1) การกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้ายของปี 2563/64 (2) การกำหนดค่าอ้อยเบื้องต้นปี 2564/65 (3) กำหนดวันเปิดหีบอ้อยฤดูการผลิตปี 2564/65 และ (4) กำหนดอัตราการเก็บเงินค่าบำรุงให้แก่สถาบันชาวไร่อ้อย ซึ่งถือเป็นวาระที่เกี่ยวข้องกับชาวไร่อ้อยโดยตรง แต่เนื่องจากกรรมการจากฝ่ายชาวไร่อ้อยไม่เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ ประธาน กอน. ขอถอนวาระดังกล่าวออกไปก่อน ส่งผลให้ กอน. ยังไม่มีมติในเรื่องดังกล่าว โดยเฉพาะกำหนดวันเปิดหีบอ้อยประจำฤดูการผลิตปี 2564/65 ตามที่ กบ. เสนอ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า กอน. ยังไม่ได้กำหนดวันเปิดหีบอ้อย ประจำปี2564/65 ตามที่ กบ. เสนอผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทั้ง 57 โรง ก็พร้อมจะเปิดรับผลผลิตอ้อยเข้าหีบตามกำหนดเวลาที่ กบ. เห็นชอบให้เริ่มเปิดหีบอ้อยเริ่มตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม 2564 เป็นต้นไป เนื่องจากโรงงานได้เตรียมเครื่องมือเครื่องจักรหีบอ้อยไว้พร้อมแล้ว ขณะเดียวกันชาวไร่ก็พร้อม และสภาพกับอายุของอ้อยก็เหมาะสมที่จะตัดส่งเข้าหีบ

โดยโรงงานจะทดรองจ่ายเงินค่าอ้อยขั้นต้นให้ชาวไร่อ้อยไปก่อนที่ 1,070 บาทต่อตันอ้อย ณ ค่าความหวาน 10 ซี.ซี.เอส. โดยมีค่าความหวานอ้อยเพิ่มเติมอีก 64.20 บาท ต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส. เพื่อช่วยเหลือชาวไร่อ้อยให้มีรายได้นำไปใช้จ่ายในการดำรงชีพและประกอบอาชีพปลูกอ้อยต่อไป ทั้งนี้ สำหรับฤดูการผลิตปี 2564/65 ฝ่ายโรงงานจะไม่ดำเนินการหักเงินค่าบำรุงสถาบันชาวไร่อ้อย เนื่องจากมีความสุ่มเสี่ยงต่อการกระทำผิดกฎหมายและอาจถูกชาวไร่ฟ้องร้องได้

ส่วนปริมาณอ้อยเข้าหีบในฤดูการผลิตปี 2564/65 ฝ่ายโรงงานน้ำตาลคาดว่า จะมีผลผลิตประมาณ 90 ล้านตันอ้อย สูงขึ้นกว่าปีก่อนที่มีผลผลิตอยู่ที่ 66 ล้านตัน จากปัจจัยสภาพอากาศที่เอื้อต่อการเติบโตของอ้อย

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการจะไปช่วยวางแผนบริหารจัดการด้านการจัดเก็บผลผลิตอ้อยให้มีคุณภาพที่ดีที่สุดสำหรับนำมาสกัดเป็นน้ำตาลให้ได้ปริมาณน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) สูงสุด เพื่อช่วยบริหารจัดการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาลของฝ่ายโรงงานอีกทางหนึ่ง และจะร่วมมือกันลดปัญหาอ้อยไฟไหม้เพื่อตอบสนองนโยบายของภาครัฐอย่างเต็มที่

“ฝ่ายโรงงานเห็นพ้องที่จะเดินหน้าเปิดรับผลผลิตอ้อยเข้าหีบประจำฤดูการผลิตปีนี้ โดยกำหนดวันเปิดหีบอ้อยประจำฤดูการผลิต และกำหนดจ่ายเงินค่าอ้อยขั้นต้น ตามมติของ กบ. ที่ให้ความเห็นชอบแล้ว เพื่อไม่ให้กระทบต่อชาวไร่อ้อยที่ต้องการนำอ้อยส่งมอบให้แก่โรงงาน ซึ่งจะทำให้ชาวไร่มีรายได้เพิ่มจากการเพาะปลูกและส่งมอบอ้อยสดที่มีคุณภาพ ที่จะช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเติบโตอย่างยั่งยืน” นายสิริวุทธิ์ กล่าว

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

เศรษฐกิจไทยโตต่ำ! ผู้ว่าฯ ธปท. จี้ผนึกกำลังสร้าง “growth story”

ผู้ว่าการ ธปท.หวั่นศักยภาพเศรษฐกิจไทยตกต่ำ ชี้แนวโน้มหลังพ้นวิกฤตโควิดไปแล้วอาจโตได้แค่ 3% ต่อปี ถูกเวียดนามแซงทั้งด้าน “ส่งออก-FDI” จี้ทุกฝ่ายร่วมมือกันสร้าง “growth story” ใหม่ หลังพึ่งพาโครงสร้างเศรษฐกิจแบบเดิม ๆ มากว่า 40 ปีไม่เปลี่ยน

วันที่ 18 พฤศจิกายน 2564 ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ “Looking Beyond Covid-19 โจทย์ที่ท้าทายของเศรษฐกิจไทยหลังยุคโควิด-19” ว่า เมื่อวิกฤตโควิดผ่านพ้นไป ประเทศไทยมีโจทย์ท้าทายอย่างมาก ที่ต้องหา growth story เพื่อสร้างการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ ท่ามกลางบริบทที่เปลี่ยนไปมาก

โดยย้อนกลับไปเมื่อ 40 ปีที่แล้ว เป็นยุคทองของเศรษฐกิจไทย สามารถขยายตัวได้ปีละมากกว่า 10% ขณะนั้น growth story ค่อนข้างชัด มีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่เข้ามาผลิตเพื่อส่งออก มีการลงทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม ปิโตรเคมี ที่ส่งผลให้ FDI โตมากกว่า 100% ต่อปี มีมูลค่ากว่า 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ มากกว่าเวียดนามถึง 500 เท่า ด้านส่งออกก็มีมูลค่ามากกว่า 1 หมื่นล้านเหรียญต่อปี มากกว่าเวียดนาม 10 เท่า

นอกจากนี้ ตอนนั้นญี่ปุ่นยังย้ายฐานการผลิตมาไทย เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน จากค่าเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นมาก ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์กลายเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญของไทย และตอนวิกฤตปี 2540 ที่เงินบาทอ่อนค่ามากก็ทำให้อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และการท่องเที่ยวกลายมาเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของไทย

“40 ปีผ่านมาไป โครงสร้างเศรษฐกิจไทยก็ยังคล้าย ๆ เดิม ยังพึ่งพาการส่งออกในภาคเศรษฐกิจเดิม ๆ คือ ยานยนต์ ปิโตรเลียมและปิโตรเคมี อิเล็กทรอนิกส์ และการท่องเที่ยว ขณะที่บริบทของโลกกลับเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ทำให้เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจของไทยอาจจะไม่แข็งแรงเหมือนเดิม” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว

ไทยถูกเวียดนามแซงทั้ง “ส่งออก-FDI”

ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวว่า จะเห็นได้ว่า ด้านการส่งออก เวียดนามแซงไทยไปแล้ว โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อัตราการขยายตัวสูงกว่าไทย 6 เท่า ขณะที่การส่งออกของไทย 60% ยังอยู่ในอุตสาหกรรมโลกเก่า นอกจากนี้ สินค้าไทยยังไม่ “eco-friendly” จึงอาจไม่เป็นที่ต้องการของตลาดที่เริ่มให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

“ตัวอย่างเช่น รถยนต์สันดาปที่ไทยเป็นศูนย์กลางผลิตจะถูกแทนที่ด้วยรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและปิโตรเคมี ที่จะถูกกระทบจากกระแสการลด carbon ซึ่งสินค้าเหล่านี้มีสัดส่วนสูงถึง 1 ใน 4 ของการส่งออกรวมของไทย” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว

ขณะที่ในเรื่อง FDI เวียดนาม ก็แซงหน้าไทยไปแล้วเช่นกันตั้งแต่ปี 2557 และในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา FDI ของเวียดนามสูงกว่าไทยเกือบ 2 เท่า โดย FDI ของไทยที่ลดลงนี้เป็นผลจากความน่าสนใจของไทยที่น้อยกว่าคู่แข่งในภูมิภาค

ทั้งด้านต้นทุนและคุณภาพแรงงาน โครงสร้างประชากรที่เข้าสู่สังคมสูงวัย รวมถึงสิทธิประโยชน์ทางการค้า

ท่องเที่ยวแบบเดิมเริ่มไม่ตอบโจทย์

ส่วนภาคการท่องเที่ยว ก็มีโอกาสต้องใช้เวลานาน ที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับไปเท่ากับช่วงก่อนโควิดที่ 40 ล้านคน เพราะพฤติกรรมนักท่องเที่ยวหลังโควิดจะเน้นเรื่องสุขภาพและสุขอนามัย ทำให้นิยมเที่ยวกลุ่มเล็ก รวมทั้งจะใช้เทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มความสะดวกสบายมากขึ้น

ดังนั้น การจะหวังพึ่งรายได้การท่องเที่ยวที่มาจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่สูงย่อมเป็นไปได้ยาก อีกทั้งยังจะก่อให้เกิดปัญหาเรื่อง over-tourism ซึ่งล่าสุด จากการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันในภาคการท่องเที่ยวของ World Economic Forum ด้านสิ่งแวดล้อม ไทยอยู่ในอันดับที่ 130 จาก 140 ซึ่งสะท้อนผลกระทบที่ชัดเจนจากรูปแบบการท่องเที่ยวเดิม ๆ ในช่วงที่ผ่านมา

ศักยภาพเศรษฐกิจไทยส่อตกต่ำเหลือโตได้ 3% ต่อปี

“ดังนั้น หากไม่เร่งยกระดับเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจเหล่านี้ เราอาจเห็นเศรษฐกิจไทยโตในอัตราที่ชะลอลง โดยถ้าเราดูอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจะมาจากอัตราการเติบโตของแรงงานที่เรามีบวกกับอัตราการเติบโตของผลผลิตของแรงงานนั้น หรือที่เรียกกันว่า labor productivity ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา Labor productivity โตปีละประมาณ 4% แต่ถ้ามองไปใน 10-20 ปีข้างหน้า จำนวนแรงงานของไทยจะลดลงมาเป็นปีละ -1% หากเราไม่ปรับในเรื่องของประสิทธิภาพแรงงานให้เพิ่มขึ้น ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะเหลือเพียงปีละ 3%” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว

ชู “Growth story” แบบไทย-ต่อยอดจุดแข็งที่มี

ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวว่า Growth story ของไทย คงต้องเน้นโตแบบไทย คงไปโตแบบเวียดนาม หรือเกาหลีใต้คงไม่ได้ เพราะเวียดนามค่าแรงขั้นต่ำยังอยู่ที่ราว 200 บาทต่อวัน ของไทย 300 บาท และประชากรอายุเฉลี่ยแค่ 30 ปี ส่วนไทยเกือบ 40 ปี รวมถึงเวียดนามยังมีความเชื่อมโยงทางการค้า ผ่านการมี FTAs กับเกือบทุกคู่ค้าสำคัญ ส่วนเกาหลีใต้ที่เน้นเติบโตด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยี และ creative economy ไทยก็ยังขับเคลื่อนเรื่องเหล่านี้ได้ไม่เร็ว

ดังนั้น ต้องเน้นโตในด้านที่ไทยมีศักยภาพในการต่อยอด นำสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์มาเป็นจุดแข็ง อย่างความพร้อมทางด้านทุนวัฒนธรรมที่สะสมอยู่มากและมีความหลากหลายสูง ทั้งอาหาร แหล่งท่องเที่ยว และศิลปหัตถกรรม ซึ่งสามารถนำมาต่อยอด เพื่อเพิ่มคุณค่าและมูลค่าทางเศรษฐกิจได้

“ในระยะข้างหน้า จะมีอย่างน้อย 2 กระแสที่เข้ามากระทบการวาง Growth story ของเรา อย่างแรก คือ กระแสดิจิทัลที่จะเข้ามาเปลี่ยนการใช้ชีวิตของประชาชน และการดำเนินธุรกิจอย่างสิ้นเชิง ส่วนอีกกระแสหนึ่ง คือ sustainability โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม ที่ส่งผลเร็วและแรงกว่าคาด ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ทำให้ภัยธรรมชาติเกิดบ่อยและรุนแรงขึ้น รวมถึงผลกระทบจากนโยบายต่าง ๆ ของประเทศพัฒนาแล้วในการบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อน” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว

ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ขอยกตัวอย่างการต่อยอดเพื่อสร้าง Growth story อาทิ ภาคเกษตรและอาหาร ที่ไทยเป็นฐานการผลิตสำคัญและถูกยกให้เป็นครัวของโลก ซึ่งถือเป็น “ทุน” ที่ดีในการต่อยอด แต่การส่งออกในหมวดนี้ เป็นสินค้าเกษตรพื้นฐาน หรือสินค้าเกษตรแปรรูปขั้นต้นที่สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจไม่สูงนัก ทำให้ครัวเรือนภาคเกษตรมีรายได้ตํ่ามาโดยตลอด รวมถึงภาคเกษตรยังใช้ทรัพยากรสูงและมีการใช้สารเคมี ทำให้ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม “Growth story ของไทยด้านนี้

จึงต้องเน้นยกระดับการผลิตและเพิ่มมูลค่าให้เป็นสินค้า premium ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อช่วยเพิ่ม productivity และความสามารถในการแข่งขัน ตั้งแต่การทำเกษตรแม่นยำ (precision agriculture) เพื่อช่วยลดต้นทุน การสนับสนุนเกษตรอินทรีย์และการใช้ Biopesticides จนถึงการมีแพลตฟอร์ม e-commerce เชื่อมเกษตรกรกับผู้ขายและผู้บริโภคโดยตรง และใช้ digital marketing ให้เข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น ตลอดจนการผลิต future food ที่ใช้นวัตกรรมมาสร้างมูลค่าเพิ่ม”

อีกตัวอย่าง คือ ภาคท่องเที่ยว ที่รายได้เติบโตจากปริมาณนักท่องเที่ยวเป็นหลัก รวมทั้งมีการกระจุกตัวของนักท่องเที่ยวจากบางประเทศ บางช่วงเวลา และบางจุดหมาย โดยเกือบ 80% ของนักท่องเที่ยวเดินทางไปเพียง 5 จังหวัดท่องเที่ยวหลัก จนกลายเป็นปัญหา over-tourism ไทยจึงต้องปรับโมเดลให้มีภูมิคุ้มกันในระยะยาว

โดยเพิ่มรายได้ต่อหัวเพื่อชดเชยจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะลดลง ในการเพิ่มรายได้นี้ ไทยควรต่อยอดจากจุดแข็งด้านธรรมชาติ culture และ hospitality ให้รวมไปถึงการสร้าง high value man-made attraction และ experience ต่าง ๆ ด้วยการลงทุนในเทคโนโลยี นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง เช่น กลุ่ม health and wellness ที่มีค่าใช้จ่ายต่อทริปสูงถึง 80,000-120,000 บาท

“นอกจากนี้ การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน เช่น กลุ่ม green หรือ community-based tourism ที่เน้นดึงดูดนักท่องเที่ยวด้วยอัตลักษณ์และวัฒนธรรมท้องถิ่น จะช่วย “สร้างและกระจาย” รายได้ สูงกว่าการท่องเที่ยวแบบเดิม จึงต้องเร่งปรับโครงสร้างและเพิ่มการลงทุนเพื่อรองรับโมเดลใหม่นี้ อาทิ การปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยว การลงทุนในระบบคมนาคมเพื่อเชื่อมเมืองรอง การลงทุนด้านดิจิทัลเพื่อตอบโจทย์กระแส contactless รวมถึงการยกระดับแพลตฟอร์มด้านการท่องเที่ยวเพื่ออำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยว และนำข้อมูลมาใช้วิเคราะห์และต่อยอดให้ภาคท่องเที่ยวทั้ง value chain อย่างเช่น แพลตฟอร์ม TagThai ที่กำลังดำเนินการอยู่” ผู้ว่าการ ธปท.กล่าว

จี้ทุกฝ่ายร่วมมือกัน

ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวด้วยว่า ทั้งหมดนี้ ต้องอาศัยความร่วมมือทุกฝ่าย โดยภาครัฐ จะต้องปรับสู่โหมด facilitator ปล่อยให้กลไกตลาดทำงานเองมากขึ้น เพื่อสร้างระบบนิเวศหรือ ecosystem ที่สนับสนุนและผลักดันให้ภาคธุรกิจปรับตัว และเศรษฐกิจโตอย่างเข้มแข็ง โดยตั้งธง หรือวางทิศทางนโยบายให้ชัดเจน เพื่อให้ภาคธุรกิจเห็นภาพเดียวกันและวางแผนปรับตัวได้ และมีกลไกสนับสนุน โดยเฉพาะการปรับตัวเข้าสู่กระแสดิจิทัลและความยั่งยืนที่อาจต้องเพิ่มแรงจูงใจให้เร่งทำ

นอกจากนี้ ต้องเร่งวางรากฐานเพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจและประชาชน เช่น การปรับกฎระเบียบต่าง ๆ (Regulatory guillotine) การเร่งยกระดับโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ อาทิ ระบบคมนาคม digital infrastructure และระบบการศึกษา ให้สอดรับกับการปรับตัวของภาคธุรกิจ รวมถึงเร่งขยายนโยบายการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ เช่น FTA เพื่อเพิ่มความน่าสนใจของไทยให้กับบริษัทข้ามชาติ (MNCs) และ สามารถขยายตลาดส่งออกได้

สำหรับภาคธุรกิจ ที่จะตัดสินใจยกระดับธุรกิจ ปรับรูปแบบกิจการ หรือวางแผนลงทุนใหม่ โดยต้องให้น้ำหนักกับทั้งกระแสดิจิทัลที่ทำให้ธุรกิจต้องแข่งกันมากขึ้น และการปรับตัวเข้าสู่มาตรฐานต่าง ๆ อย่างจริงจังและทันท่วงที เช่น ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสุขภาพและความปลอดภัย

ขณะที่ธนาคารพาณิชย์และตลาดทุน ก็มีบทบาทสำคัญในการจัดสรรทรัพยากรทางการเงิน ให้สนับสนุนการปรับธุรกิจให้สอดคล้องกับกระแสในอนาคต ด้วยการสนับสนุนสินเชื่อหรือเงินทุนแก่ผู้ประกอบการ เพื่อนำเทคโนโลโลยีดิจิทัลมาใช้ปรับธุรกิจ หรือมุ่งสู่การผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผ่านการผนวกเรื่อง ESG ในกระบวนการให้สินเชื่อ และมีการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนอย่างเคร่งครัด

“ส่วน ธปท. เองในฐานะผู้กำกับดูแลระบบการเงินก็ต้องปรับตัวเช่นกัน โดยเฉพาะการเพิ่มบทบาทในการเป็น facilitator และลดความเข้มงวดของกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการปรับตัวของภาคธุรกิจ รวมถึงช่วยเอื้อให้ทุกภาคส่วน ได้ประโยชน์มากที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงภายใต้กระแสดิจิทัลและความยั่งยืนที่กำลังจะมาถึง” ผู้ว่าการ ธปท.กล่าว

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 18 พฤศจิกายน 2564

กรมพัฒนาที่ดินทำMOUหนุนการพัฒนา

น.ส.เบญจพร ชาครานนท์ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยการพัฒนาแพลตฟอร์ม สนับสนุนการวิเคราะห์และการใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ในภาคการเกษตร ร่วมกับนายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร นายชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผอ.ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ปฏิบัติการแทน ผอ.สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และ น.ส.ธีรณี อจลากุล ผอ.สถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ รับมอบอำนาจจากนายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผอ.สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล

ทั้งนี้ บันทึกข้อตกลงดังกล่าว มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการเชื่อมโยงและต่อยอดการใช้ประโยชน์ข้อมูลภาคการเกษตร เช่น เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และการรวบรวม Big Data เป็นการบูรณาการข้อมูลภาคการเกษตรอย่างเป็นระบบ เพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และการบริหารจัดการเชิงพื้นที่

น.ส.เบญจพร เปิดเผยว่า การประสานความร่วมมือครั้งนี้เน้นการใช้ประโยชน์การวางแผนบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม บูรณาการข้อมูลจากฐานข้อมูลของระบบ Agri-Map ตั้งแต่ปี 2558 อย่างไรก็ดี ข้อมูลใน Agri-Map มีหลายชั้น เป็นข้อมูลในระดับเชิงภูมิสารสนเทศ มีความจำเป็นต้องพัฒนาเป็นข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ทั้งนี้ เมื่อช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา กรมพัฒนาที่ดิน มีโอกาสทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ เพื่อพัฒนาบุคลากรในการจัดทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ครั้งนี้จึงเป็นโอกาสที่ดีในการนำข้อมูลด้านการเกษตรมาพัฒนาเป็นข้อมูลขนาดใหญ่ ทำให้เกิดผลงานเชิงประจักษ์ของการบูรณาการข้อมูล เกิดการพัฒนาแพลตฟอร์มสนับสนุนการวิเคราห์และใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ในภาคการเกษตร ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้

จาก https://www.naewna.com วันที่ 18 พฤศจิกายน 2564

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ "แข็งค่า" ที่ระดับ 32.63 บาท/ดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทจะไม่แข็งค่าไปมาก  ขณะบรรดาผู้นำเข้าต่างก็รอทยอยซื้อเงินดอลลาร์ หากเงินบาทแข็งค่าใกล้โซน 32.50-32.60 บาทต่อดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  32.63 บาทต่อดอลลาร์ "แข็งค่า"ขึ้น จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  32.73 บาทต่อดอลลาร์

 นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทยระบุว่า แนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้นได้บ้าง ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ รวมถึงโฟลว์ทยอยขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำปรับตัวขึ้นใกล้แนวต้านสำคัญอีกครั้ง อย่างไรก็ดี เรามองว่า เงินบาทจะไม่แข็งค่าไปมาก เพราะบรรดาผู้นำเข้าต่างก็รอทยอยซื้อเงินดอลลาร์ หากเงินบาทแข็งค่าใกล้โซน 32.50-32.60 บาทต่อดอลลาร์

 อีกทั้งในระยะสั้นนี้ ตลาดอาจยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงเพิ่มเติมมากนัก ทำให้ฟันด์โฟลว์จากนักลงทุนต่างชาติยังไม่รีบกลับเข้าตลาดหุ้นไทย ส่วนโฟลว์เก็งกำไรการแข็งค่าของเงินบาทอาจจะเริ่มชะลอลงในระยะสั้น เพราะผู้เล่นต่างชาติอาจรอให้เงินบาทอ่อนค่ากลับไปใกล้ระดับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์ ถึงจะเพิ่มสถานะเก็งกำไรฝั่งเงินบาทแข็งค่า ขณะที่ก็อาจมีบางส่วนที่อยากเริ่มขายทำกำไรบ้าง หากเงินบาทแข็งค่าใกล้ระดับ 32.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นเป้าราคาของบรรดาผู้เล่นต่างชาติ

 มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.55-32.70 บาท/ดอลลาร์

ผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลปัญหาเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น ซึ่งอาจทำให้บรรดาธนาคากลางหลักตัดสินใจใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดได้เร็วขึ้น อาทิ เฟดอาจลดคิวอีในอัตราที่เร็วขึ้นและอาจสามารถยุติการทำคิวอีได้ภายในต้นปี 2022 ทั้งนี้ ความกังวลของผู้เล่นในตลาดเกี่ยวกับแนวโน้มเงินเฟ้อยังคงกดดันตลาดการเงิน หลังจากที่ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) ของอังกฤษ ในเดือนตุลาคมพุ่งขึ้นแตะระดับ 4.1% สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้และสูงที่สุดในรอบเกือบ 10 ปี

 ความกังวลปัญหาเงินเฟ้อยังส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะลดความเสี่ยงลงบ้าง กดดันให้ในฝั่งสหรัฐฯ ทั้งดัชนี S&P500 ย่อตัวลงราว -0.26% ส่วนดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปิดตลาด -0.33% ทั้งนี้ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาการเลือกประธานเฟดคนถัดไป ซึ่งประธานาธิบดี โจ ไบเดน ได้ระบุว่า อาจจะมีการประกาศภายในต้นสัปดาห์หน้า ซึ่งหากประธานเฟดคนถัดไป เป็น คุณ Lael Brainard ตลาดอาจตอบรับในเชิงบวก โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มเทคฯ หรือ หุ้นสไตล์ Growth เนื่องจาก Brainard มีมุมมองที่จะใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากกว่า ประธานเฟด Powell เล็กน้อย

 ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX50 ย่อตัวลงเล็กน้อย -0.02% จากแรงขายทำกำไรตามสภาวะตลาดที่ผู้เล่นทยอยลดความเสี่ยงลงบ้าง ทั้งนี้ หุ้นนำตลาดยังคงป็นกลุ่มเดิมที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง (โมเมนตัมยังแข็งแกร่ง) อาทิ ASML +1.5%, Kering +1.4% เป็นต้น 

ในฝั่งตลาดบอนด์ แม้ว่าผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลปัญหาเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น แต่ทว่า บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ก็ปรับตัวลดลง 3bps สู่ระดับ 1.60% จากภาวะตลาดระมัดระวังตัว ส่งผลให้ผู้เล่นบางส่วนเลือกที่จะถือบอนด์เพื่อหลบความผันผวนในระยะสั้น ทั้งนี้ เราเชื่อว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอคอยการประกาศ ว่าที่ประธานเฟดคนถัดไป ก่อนที่จะมีการปรับสถานะถือครองที่ชัดเจนอีกครั้ง อย่างไรก็ดี เรามองว่า บอนด์ยีลด์ยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นต่อได้ จากแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจและการทยอยลดการอัดฉีดสภาพคล่องหรือคิวอีของบรรดาธนาคารกลางหลัก

 ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังจากที่บอนด์ยีลด์ในฝั่งสหรัฐฯ ย่อตัวลง กอปรกับผู้เล่นในตลาดบางส่วนมีการทยอยขายทำกำไรจากการที่เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวลงสู่ระดับ 95.83 จุด นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังเผชิญแรงกดดันจากการแข็งค่าของเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ที่พลิกกลับมาแข็งค่าสู่ระดับ 1.349 ดอลลาร์ต่อปอนด์ หลังจากที่อัตราเงินเฟ้ออังกฤษพุ่งขึ้นกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นตลาดกลับมามองว่า ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) อาจใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดได้เร็วขึ้น ทั้งนี้ การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์และการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์ ได้ช่วยหนุนให้ ราคาทองคำรีบาวด์กลับขึ้นมาใกล้ระดับ 1,870 ดอลลาร์ต่อออนซ์อีกครั้ง

สำหรับวันนี้ ตลาดประเมินว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโซนอาเซียนที่จะทยอยฟื้นตัว จะส่งผลให้ ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) รวมถึง ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) มีแนวโน้มที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.0% และ 3.5% ตามลำดับ เพื่อช่วยหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะถัดไป

และนอกเหนือจากประเด็นดังกล่าว ตลาดจะรอจับตาการประกาศว่าที่ประธานเฟดคนถัดไปอย่างใกล้ชิด ซึ่งอาจส่งผลให้ ตลาดกล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นได้บ้าง หากประธานาธิบดี โจ ไบเดน เลือก Brainard ขึ้นเป็นประธานเฟดคนถัดไป ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่คงมองว่า ประธานเฟด Powell จะได้รับการต่อวาระสมัยที่ 2 เนื่องจาก Powell ได้รับการสนับสนุนจาก รัฐมนตรีคลังและอดีตประธานเฟด Yellen

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 18 พฤศจิกายน 2564

ถก "กอน." ล่ม! ชาวไร่ไม่ร่วมค้านค่าอ้อยรัฐ ลั่นต้องได้ 1,100 บาท/ตัน

เวทีประชุม "กอน." 17 พ.ย.ล่ม ตัวแทนชาวไร่อ้อยไม่ขอเข้าร่วมย้ำจุดยืนคัดค้านราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 64/65 ที่ล่าสุดแม้ กบ.เคาะเพิ่มเป็น 1,070 บาทต่อตันแต่ยังต่ำ ย้ำต้องได้ 1,100 บาทต่อตันเท่านั้น วงในเผยหลายประเด็นขัดแย้งโรงงาน ผู้บริหาร "สอน." เตรียมประสานกาวใจหวังนัดถก "กอน." ใหม่ช่วงต้น ธ.ค.

แหล่งข่าวจากที่ประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ที่มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานนัดหารือวันที่ 17 พ.ย. เวลาประมาณ 14.00 น. ต้องยกเลิกออกไปเมื่อฝ่ายตัวแทนจากชาวไร่อ้อยไม่ขอเข้าร่วมประชุมดังกล่าว ซึ่งส่งผลให้กรรมการไม่ครบองค์ประชุม 3 ฝ่าย (รัฐ โรงงาน และชาวไร่) ทำให้วาระการประชุมสำคัญที่ กอน.จะต้องพิจารณาเห็นชอบราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2564/65 ตามที่มติคณะกรรมการบริหาร (กบ.) เห็นชอบแล้วจำเป็นต้องเลื่อนออกไปก่อน

“ก่อนหน้านี้ได้มีการทำประชาพิจารณ์ราคาอ้อยขั้นต้นปี 2564/65 ไปแล้วเมื่อวันที่ 15 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยก่อนหน้ากบ.กำหนดราคาไว้ที่ 1,040 บาทต่อตัน (ความหวาน 10 ซีซีเอส) แต่ชาวไร่อ้อยได้ยื่นหนังสือคัดค้านขอเป็นระดับราคาที่ 1,100 บาทต่อตัน โดยในวันเดียวกันกับการประชาพิจารณ์ทาง กบ.ได้หารือและเห็นชอบระดับราคาที่ 1,070 บาทต่อตัน และราคาดังกล่าวจะนำมาสู่ความเห็นชอบในการประชุม กอน.ครั้งนี้ แต่เมื่อการประชุมไม่เกิดขึ้นก็จะต้องรอการหารือใหม่” แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้ เบื้องต้นปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบหมายให้ทางผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ไปเร่งประสานหารือทั้งชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลเพื่อเคลียร์ปัญหาให้ลงตัว ซึ่งรวมถึงการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายที่โรงงานและชาวไร่อ้อยยังเห็นไม่ตรงกันในประเด็นการนำกากอ้อยและกากตะกอนกรองเข้าสู่ระบบแบ่งปันผลประโยชน์ รวมถึงกรณีที่โรงงานจะไม่หักเงินค่าบำรุงส่งให้กับสมาคมชาวไร่อ้อย 37 สถาบัน โดยต้องการให้ได้ข้อยุติเพื่อกำหนดประชุม กอน.อีกครั้งช้าสุดช่วงต้นเดือน ธ.ค.นี้

นายปารเมศ โพธารากุล ประธานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ผู้แทนชาวไร่อ้อย กล่าวว่า กอน.ครั้งนี้ไม่สามารถประชุมได้โดยยอมรับว่าตัวแทนชาวไร่อ้อยไม่ได้เข้าร่วมประชุมจริง โดยมีประเด็นหลายอย่างที่ยังจำเป็นต้องหารือให้ได้ข้อยุติก่อนโดยเฉพาะกรณีที่กบ.เห็นชอบค่าอ้อยที่ 1,070 บาทต่อตัน (10 ซีซีเอส) นั้นแม้ว่าจะปรับเพิ่มขึ้นให้แล้วแต่ก็ยังไม่ถึงระดับ 1,100 บาทต่อตันตามที่ 4 องค์กรสถาบันชาวไร่อ้อยได้เคยเสนอไปแล้วเนื่องจากต้นทุนปีนี้ค่อนข้างสูงจากทั้งปุ๋ย ราคาน้ำมัน ค่าแรงที่ต้องมุ่งตัดอ้อยสด โดยคำนวณแล้วต้นทุนชาวไร่อ้อยเฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ถึง 1,400 กว่าบาท

“กอน.ครั้งนี้จะต้องสรุปค่าอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 64/65 ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายปี 2563/64 และกำหนดวันเปิดหีบโรงงานซึ่งในเบื้องต้น กบ.ได้เสนอไว้ที่จะเปิดตั้งแต่ 7 ธ.ค. เป็นต้นไปแต่ กอน.ที่ต้องเลื่อนออกไป ก็อาจจะไปเปิดช่วงกลางเดือน ธ.ค.ซึ่งก็ไม่ได้เป็นปัญหาอะไรเพราะหลายพื้นที่ดินก็ยังไม่แห้งจากน้ำท่วม” นายปารเมศกล่าว

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และหัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อย เขต 7 กล่าวว่า ปัญหาร่างแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ในมาตรา 4 ที่กำหนดให้กากอ้อย และกากตะกอนกรองเป็นผลพลอยได้จากการผลิตน้ำตาลเพื่อนำไปคำนวณในระบบแบ่งปันผลประโยชน์ ซึ่งโรงงานได้คัดค้านประเด็นดังกล่าว ชาวไร่อ้อยก็เห็นว่าควรจะมีการตั้งคณะทำงานร่วมกันมาหารือเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่เป็นการสร้างความร่วมมือในการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเข้มแข็งทั้งระบบ

จาก https://mgronline.com  วันที่ 17 พฤศจิกายน 2564

FTA อาเซียน-แคนาดา  “พาณิชย์” เดินหน้าเจรจาอย่างเป็นทางการ

FTA อาเซียน-แคนาดา ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจประกาศเดินหน้าเจรจา อย่างเป็นทางการ พร้อมจับมือเร่งฟื้นเศรษฐกิจจากโควิด-19 ย้ำใช้ระบบการค้าภายใต้ WTO เปิดกว้าง-เป็นธรรม-ไม่เลือกปฏิบัติ ด้านเอกชนขานรับและสนับสนุนการเจรจาเต็มที่

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-แคนาดา ครั้งที่ 10 โดยที่ประชุมได้ประกาศเดินหน้าเจรจาจัดทำ FTA อาเซียน-แคนาดา พร้อมทั้งติดตามความคืบหน้าความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนระหว่างอาเซียน-แคนาดา รวมทั้งหารือแนวทางฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของโควิด-19 และพบภาคเอกชนสภาธุรกิจแคนาดา-อาเซียน

การประชุมครั้งนี้ ไทยได้ร่วมกับสมาชิกอาเซียนและแคนาดาประกาศเริ่มเจรจา FTA อาเซียน-แคนาดา อย่างเป็นทางการ ซึ่งถือเป็นการฉลองความสัมพันธ์อาเซียน-แคนาดา ครบ 45 ปี ในปี 2565 โดยที่ประชุมได้มอบระดับเจ้าหน้าที่อาเซียนและแคนาดาเร่งจัดทำแผนการเจรจา และเริ่มการประชุมรอบแรกโดยเร็ว ซึ่งการเปิดเจรจา FTA ถือเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงพาณิชย์ที่มุ่งเปิดตลาดการค้าใหม่ๆ โดยการจัดทำ FTA อาเซียน-แคนาดา จะช่วยขยายโอกาสการค้า การลงทุน และสร้างความเชื่อมโยงของห่วงโซ่การผลิตไปยังภูมิภาคอเมริกาเหนือ ซึ่งไทยยังไม่เคยมี FTA มาก่อน รวมทั้งเป็นโอกาสดีที่ผู้ประกอบการไทยจะส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมได้เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือกับภาคเอกชนจากสภาธุรกิจแคนาดา-อาเซียน โดยภาคเอกชนขานรับและพร้อมสนับสนุนการเจรจาดังกล่าว และมั่นใจว่าจะช่วยขยายการค้าและการลงทุนระหว่างอาเซียน-แคนาดา รวมทั้งเกิดความเชื่อมโยงของห่วงโซ่การผลิตระหว่างภูมิภาค และสนับสนุนการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจด้วย

 “ที่ประชุมยังได้ย้ำถึงความสำคัญของระบบการค้าที่เปิดกว้าง เป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ ภายใต้หลักการของ WTO การส่งเสริมการค้าการลงทุนและความเชื่อมโยงของห่วงโซ่การผลิต การค้าดิจิทัล และการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งจะช่วยเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของโควิด-19 ได้โดยเร็ว นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานภายใต้แผนงานด้านการค้าการลงทุนระหว่างอาเซียน-แคนาดา ปี 2564-2568 ที่เน้นการพัฒนาและส่งเสริม SMEs ของอาเซียน ทั้งด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม การเข้าถึงตลาดและแหล่งเงินทุน และการพัฒนาระบบนิเวศให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจอีกด้วย”

ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย. 2564) อาเซียนกับแคนาดามีมูลค่าการค้ารวม 18,450 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 29.8% โดยอาเซียนส่งออกไปแคนาดา มูลค่า 14,093 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 31.3% และอาเซียนนำเข้าจากแคนาดา มูลค่า 4,357 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 25.3%

ส่วนไทยกับแคนาดามีมูลค่าการค้ารวม 2,002 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 18.3% โดยไทยส่งออกไปแคนาดา มูลค่า 1,349 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพิ่มขึ้น 21.7%และไทยนำเข้าจากแคนาดา มูลค่า 653 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพิ่มขึ้น 11.8% สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เตาอบไมโครเวฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล เป็นต้น และสินค้านำเข้าสำคัญ เช่น เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ ธัญพืช ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เป็นต้น

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 17 พฤศจิกายน 2564

โขกค่าฟีน้ำมันฉุดส่งออก สรท.ขอ WTO เร่งแก้ปัญหา

สรท.เตรียมหารือ 2 สมาคมขนส่งทางเรือ เกาะติดผลกระทบสายเรือโขกค่าฟี ดันต้นทุนการขนส่งสินค้าพุ่ง พร้อมเสนอไทยร้อง WTO ตั้งคณะกรรมการ “Fair Trade Committee” ทะลวงปัญหา

นายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหารสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า สรท.เตรียมหารือกับสมาคมเจ้าของและตัวแทนเรือกรุงเทพ (BSAA) และนายกสมาคมผู้รับจัดการขนสินค้าระหว่างประเทศ (TIFFA-Thai International Freight Forwarders Association) ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2564 นี้ เพื่อติดตามความเคลื่อนไหวของการขนส่งสินค้าทางเรือจากผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับขึ้น

“ค่าธรรมเนียมน้ำมันที่บริษัทสายการเดินเรือปรับขึ้นก็เป็นสิ่งที่ สรท. จะหารือว่าปรับสูงขึ้นเกินจริงไปหรือไม่ พิจารณาจากอะไร แต่ก็คาดว่าค่าธรรมเนียมที่ระบุนั้น น่าจะเป็นการรวมกันของค่าธรรมเนียมทุกรายการ แต่อย่างไรก็ดี ก็ต้องรอผลสรุปภายหลังการหารือ”

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา สรท.ได้เข้าร่วมประชุมออนไลน์ในหัวข้อ COVID-19 and Rising Shipping Rates : What Are the Factors in Play and What Can Be Done ? ร่วมกับนางเอ็นโกซี โอคอนโจ-อิเวียลา ผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) และนางแอนนาเบล กอนซาเลซ รองผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก ซึ่งได้แลกเปลี่ยนความเห็นร่วมกับตัวแทนจากชาติสมาชิก อาทิ สหรัฐ จีน สิงคโปร์ มอริเชียส ฮอนดูรัส และมองโกเลีย

โดย สรท.ได้นำเสนอขอให้ทาง WTO ตั้งคณะกรรมการด้านความเป็นธรรมทางการค้า หรือ Fair Trade Committee ติดตามสถานการณ์ปัญหาและกำหนดกรอบการกำกับดูแล (guideline) ร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลด้านการแข่งขันทางการค้าของประเทศสมาชิก เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมระหว่างสายการเดินเรือและผู้ส่งสินค้าโดยเฉพาะ SMEs

โดย สรท.รายงานต่อ WTO ถึงสถานการณ์ปัญหาและผลกระทบจากวิกฤตการขนส่งสินค้าทางทะเล ต่อการส่งออกไทยและระบบเศรษฐกิจทั่วโลก จากการปรับขึ้นของค่าระวางเรือประมาณ 7-10 เท่า ในเส้นทางเดินเรือหลัก

ซึ่งส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมเป็นวิกฤตระดับโลก ส่งผลต่อการปรับขึ้นของมูลค่าของสินค้า ซัพพลายเชนภาคการผลิตเริ่มไม่เพียงพอต่ออุปสงค์ที่เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลกต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี 2021 ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อผู้ส่งออกไทยโดยเฉพาะ SMEs การแข่งขันด้านราคาโดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ส่งออกสินค้าเกษตรจะได้รับผลกระทบค่อนข้างมากและเป็นสินค้าส่งออกพื้นฐานที่สำคัญของไทย

ผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงิน (cash flow) รวมถึงปัญหาการพัฒนาประสิทธิภาพท่าเรือของไทย (port efficiency) ทั้งในประเด็นแรงงานและเครื่องมืออำนวยความสะดวกที่ใช้ในการบริหารจัดการยังไม่เพียงพอ ส่งผลให้เกิดปัญหาความแออัดบริเวณท่าเรือ นอกจากนี้ยังมีปัญหาสายเรือไม่สามารถจัดสรรตู้คอนเทนเนอร์และระวางเรือให้ตามสัญญาที่ได้ลงนามไว้ เป็นต้น

“โดยทั่วไปสายเรือจะมีอำนาจต่อรองที่เหนือกว่าในการกำหนดปริมาณเรือ ระวางสินค้า ค่าระวาง และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการขนส่งสินค้าทางทะเล การควบคุมการปฏิบัติตาม service contract อย่างเป็นรูปธรรม จะช่วยผู้ส่งออกรวมทั้ง SMEs ทำให้สายเรือสามารถรักษาระดับคุณภาพบริการการขนส่งสินค้าทางทะเลที่สามารถตอบสนองการพัฒนาด้านการค้าระหว่างประเทศได้อย่างยั่งยืน เป็นรูปธรรม และสามารถดำเนินการกำกับดูแลได้ทั่วโลก”

ทั้งนี้ ที่ประชุมมีความเห็นต่อแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าว อาทิ 1) การนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศมาปรับใช้เพื่อยกระดับประสิทธิภาพในการบริหารจัดการท่าเรือ และเชื่อมต่อกับการปฏิบัติงานของโครงสร้างพื้นฐานและอุปกรณ์ขนถ่ายสินค้าในท่าเรือ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างเจ้าของสินค้า ผู้ขนส่ง สายเรือ ท่าเรือ หรือหน่วยงานภาครัฐที่ออกใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า-ส่งออก

เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าให้สอดคล้องกับความตกลงด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า ภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO’s Trade Facilitation Agreement : WTO’s TFA) และลดปัญหาความล่าช้าของเรือและความแออัดในท่าเรือ

2) ในระยะยาวต้องเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มศักยภาพท่าเรือให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าที่เพิ่มมากขึ้น ลดการติดขัดในการปฏิบัติงานและความแออัดของท่าเรือ ซึ่งนำไปสู่ความล่าช้าในการหมุนเวียนตู้สินค้าทั่วโลก ซึ่งนำไปสู่ปัญหาตู้สินค้าขาดแคลน

3) การส่งเสริมของภาครัฐ โดยเฉพาะการช่วยเหลือ SMEs ด้านเงินทุน และการอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการขนส่ง อาทิ การส่งเสริมและเร่งรัดให้เกิดเชื่อมโยงของท่าเรือภายในภูมิภาค การอำนวยความสะดวกในการรวบรวมสินค้าของผู้ประกอบการรายย่อยเพื่อเพิ่มอำนาจในการต่อรองกับสายเรือ

4) ขอให้มีมาตรการและกลไกช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรมและมีผลผูกพันทางกฎหมาย เพื่อให้แต่ละประเทศตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าวที่ส่งผลกระทบทั่วโลก

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 17 พฤศจิกายน 2564

ไทยถกฝรั่งเศสเพิ่มร่วมมือเศรษฐกิจ พร้อมชวนลงทุนใน EEC

ไทยถกฝรั่งเศส เสนอเพิ่มความร่วมมือด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี หวังช่วยขับเคลื่อนนโยบาย BCG ทั้งเกษตร อาหาร เครื่องสำอาง สุขภาพ การท่องเที่ยว สิ่งทอ แฟชั่น ยาง และยานยนต์ พร้อมชวนฝรั่งเศสเพิ่มการลงทุนใน EEC ด้านฝรั่งเศสสนใจร่วมมือสาขาคมนาคมขนส่ง หวังเชื่อมอาเซียนและจีน

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยภายหลังการประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านเศรษฐกิจ (High Level Economic Dialogue หรือ HLED) ระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ครั้งที่ 4 ผ่านระบบการประชุมทางไกล กับนางมากาลี เซซานา อธิบดีกรมการค้าทวิภาคีและพัฒนาธุรกิจระหว่างประเทศ กระทรวงเศรษฐกิจและการคลังของฝรั่งเศส เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ได้มีการหารือเรื่องการกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศ โดยไทยเสนอสาขาที่ต้องการร่วมมือกับฝรั่งเศส โดยเฉพาะในด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนนโยบาย BCG ของไทยได้ เช่น เกษตรและอาหาร เครื่องสำอางและน้ำหอม การแพทย์และสุขภาพ การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ สิ่งทอและแฟชั่น ยาง และยานยนต์อัจฉริยะ โดยในส่วนของฝรั่งเศสสนใจที่จะขยายความร่วมมือกับไทยในสาขาคมนาคมขนส่ง โดยเฉพาะการเชื่อมต่อเส้นทางกับประเทศในกลุ่มอาเซียนและจีนทั้งทางบก ทางราง และทางน้ำ

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาไทยและฝรั่งเศสมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดในหลายด้าน ทั้งพลังงาน ทรัพย์สินทางปัญญา อวกาศ การบิน และแฟชั่นและออกแบบ ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าควรกระชับความร่วมมือเหล่านี้ให้แน่นแฟ้นมากขึ้น ซึ่งไทยได้ใช้โอกาสนี้นำเสนอนโยบายและมาตรการส่งเสริมการลงทุนของ BOI และ EEC ที่มีการทบทวนให้รองรับวิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้น เพื่อเชิญชวนนักลงทุนฝรั่งเศสเข้ามาลงทุนในไทย

สำหรับฝรั่งเศสเป็นคู่ค้าอันดับที่ 23 ของไทยในโลก และเป็นคู่ค้าอันดับที่ 3 ในกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป รองจากเยอรมนี และเนเธอร์แลนด์ และในช่วง 9 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-ก.ย.) การค้าระหว่างไทยกับฝรั่งเศสมีมูลค่า 3,023.72 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกไปฝรั่งเศสมูลค่า 1,373.72 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เลนส์ และยางพารา และไทยนำเข้าจากฝรั่งเศสมูลค่า 1,650.00 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ เช่น เครื่องบิน เครื่องร่อน อุปกรณ์การบินและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ และเครื่องใช้เบ็ดเตล็ด

จาก https://mgronline.com   วันที่ 16 พฤศจิกายน 2564

เช็กเลย 9เดือน ไทยใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ FTA และ GSP ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 เพิ่มขึ้น 35.10%

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยการใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) เดือนมกราคม – กันยายน 2564 มีมูลค่า 60,090.63 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 78.09 % แบ่งเป็นมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) 57,221.58 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) 2,869.06 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ โดยภาพรวม การใช้สิทธิประโยชน์ฯ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 เพิ่มขึ้น 35.10%

ทั้งนี้การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงทางการค้าเสรี (FTA) ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 มีมูลค่า 57,221.58 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 35.13%  และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 78.91%  โดยตลาดที่ไทยส่งออกโดยมีมูลค่าการใช้สิทธิฯ ภายใต้ FTA สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่  จีน มูลค่า 19,691.48 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ,อาเซียน มูลค่า 19,344.85 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ,ออสเตรเลีย มูลค่า 6,255.64 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, ญี่ปุ่น มูลค่า 5,229.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ  อินเดีย มูลค่า 3,528.24 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ   สำหรับกรอบความตกลงการค้าเสรีที่มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่  ไทย-เปรู ,อาเซียน-จีน , ไทย-ชิลี , ไทย-ญี่ปุ่น ,และ  อาเซียน-เกาหลี

สำหรับสินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง ประกอบไปด้วยสินค้าหลากหลาย ทั้งสินค้าอุตสาหกรรม อาหารปรุงแต่งและเกษตรแปรรูป อาทิ รถยนต์เพื่อขนส่งของ/บุคคล ,รถจักรยานยนต์ , เครื่องซักผ้า  เครื่อง,ปรับอากาศ ,ตู้เย็น , อาหารปรุงแต่ง , สุกรมีชีวิต ,เนื้อไก่และเครื่องในไก่ปรุงแต่ง , กุ้งปรุงแต่ง , ปลาซาร์ดีนปรุงแต่ง , ทุเรียนสด , ผลไม้ อาทิ ฝรั่ง มะม่วง มังคุด ,ปลาทูน่า ปลาสคิปแจ็ก และปลาโบนิโตชนิดซาร์ดา (กระป๋อง) เป็นต้น

“การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป หรือ GSP ทั้ง 4 ระบบ สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช และนอร์เวย์ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 2,869.06 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น34.57% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ  64.65% ตลาดส่งออกที่ไทยมีมูลค่าการใช้สิทธิฯ มากที่สุดคือ สหรัฐอเมริกา มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ  2,560.29 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น41.88% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ  68.27 %  อันดับสองคือ สวิตเซอร์แลนด์ มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 195.28 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง7.35% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 37.72% อันดับสามคือ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 101.07 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง1.20 % และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ  67.37 % และนอร์เวย์ มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 12.41 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง14.38% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ  64.11%

สำหรับสินค้าส่งออกที่มีการใช้สิทธิฯ สูง คือ ถุงมือยาง และสินค้าประเภทอาหารปรุงแต่ง ผลไม้ เครื่องดื่ม อาทิ อาหารปรุงแต่ง ซอสและของปรุงแต่งสำหรับทำซอส สับปะรดกระป๋อง พืช/ผลไม้ปรุงแต่ง พืชผัก ผลไม้ที่ทำไว้ไม่ให้เสียโดยใช้น้ำตาล ปลาทูน่า ปลาสคิปแจ็ก และปลาโบนิโต (ชนิดซาร์ดา) เนื้อปลาแบบฟิลเล สด แช่เย็น แช่แข็ง ข้าวที่สีบ้างแล้วหรือสีทั้งหมด เป็นต้น

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 16 พฤศจิกายน 2564

รัฐดึง 16 บริษัทรับซื้อผลผลิต-เสริมเทคโนโลยี เกษตรแปลงใหญ่ 2 ล้านไร่

เกษตรฯ ดันเกษตรแม่นยำ-แปลงใหญ่ 2 ล้านไร่ ระยะที่ 2 สร้างทางรอดเกษตรกรไทย ดึง ส.อ.ท.ยกระดับการผลิตพืช 10 ชนิด "ยาง-อ้อย-มัน-ข้าว" ประสาน 16 บริษัท รับซื้อผลผลิตรอบรัศมี 100 กิโลเมตร เร่งสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ต่อยอดสมาร์ทฟาร์ม

เกษตรแม่นยำหรือเกษตรอัจฉริยะคือ ทางรอดของภาคการเกษตรไทย ซึ่งทำให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อผลักดันให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการเป้าหมาย 2 ล้านไร่ ภายในปี 2564-2566 เพื่อให้เป็นทางรอดให้กับเกษตรกรในระยะยาว

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า นโยบายด้านเกษตรแม่นยำ หรือเกษตรอัจฉริยะ อยู่ภายใต้นโยบายความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับ ส.อ.ท.(กรกอ.) ซึ่งจะสอดคล้องกับการทำเกษตรปลอดภัย และเชื่อมกับโครงการแปลงใหญ่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีอยู่เดิม แต่เพื่อให้เกิดความร่วมมือกับภาคเอกชนอย่างเป็นรูปธรรม การดำเนินโครงการเกษตรแม่นยำนี้กำหนดพื้นที่ไว้ 2 ล้านไร่ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ระยะ

ระยะที่ 1 ดำเนินการสิ้นสุดไปแล้วเมื่อเดือนพ.ค.2564 ครอบคลุมสินค้าเกษตร 5 ชนิด ได้แก่ ยางพารา มะเขือเทศ อ้อยโรงงาน ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพดหวาน รวมพื้นที่ 298,083 ไร่ มีเกษตรกรเข้าร่วม 25,286 ราย รวมทั้งมีบริษัทเข้าร่วม 7 แห่งคือ บริษัท ไทยอิสเทิร์น รับเบอร์ จำกัด บริษัท ทักษิณปาล์ม จำกัด โรงงานน้ำตาลเกษตรไทย โรงงานน้ำตาลรวมผล และโรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) และบริษัท ศรีเชียงใหม่ อุตสาหกรรม จำกัด

ทั้งนี้ การดำเนินการครอบคลุมพื้นที่ 32 จังหวัด ได้แก่ ยางพารา โดยบริษัท ไทยอิสเทิร์น รับเบอร์ จำกัด ปาล์มน้ำมัน โดยบริษัท ทักษิณปาล์ม จำกัด อ้อยโรงงาน โดยโรงงานน้ำตาลเกษตรไทย โรงงานน้ำตาลรวมผล และโรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ ข้าวโพดหวาน โดยบริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) และมะเขือเทศ โดยบริษัท ศรีเชียงใหม่อุตสาหกรรม จำกัด

“การดำเนินโครงการในระยะแรกถือเป็นการดำเนินงานที่เน้นพัฒนาให้เกษตรกร รวมกลุ่มกันเป็นแปลงใหญ่ ทั้งเกษตรกรที่เป็น แปลงใหญ่เดิม แต่ยังไม่มีตลาดรับซื้อที่แน่นอน และเกษตรกรที่เป็นเครือข่ายของบริษัทรับซื้อผลผลิต แต่ยังไม่ได้รวมกลุ่มเป็นแปลงใหญ่ ดำเนินการร่วมกันพัฒนา และสนับสนุนให้เกิดความเข้มแข็งในระบบแปลงใหญ่ให้รวดเร็ว“ นายอลงกรณ์ กล่าว

ดึงเอกชน 16 รายเข้าร่วม

ระยะที่ 2 อยู่ระหว่างการดำเนินงาน โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับ (Scale up) ขึ้นไปสู่การรวมเป็นกลุ่มจังหวัดหรือภูมิภาค (Area base) โดยได้คัดเลือกกลุ่มสินค้าเกษตร (Product base) ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ เพื่อป้อนเข้าสู่กลุ่มอุตสาหกรรมให้หลากหลายมากขึ้น รวมทั้งกำหนดระยะเวลาดำเนินการปี 2564-2566

ทั้งนี้ ในเบื้องต้นมีสินค้าเกษตรเป้าหมาย 10 ชนิด ประกอบด้วย ถั่วเหลือง น้ำยางสด เมล่อน ข้าว ถั่วเขียว พืชผัก ยางพารา อ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง และประมงพื้นบ้าน พื้นที่รวม 1.76 ล้านไร่ มีเกษตรกรเข้าร่วม 134,310 ราย และครอบคลุมพื้นที่เป้าหมาย 42 จังหวัด

นอกจากนี้ มีโรงงานอุตสาหกรรมรับซื้อผลผลิตรวม 16 บริษัท คือ บริษัทสวิฟท์ จำกัด จังหวัดนครปฐม , บริษัท ฟาร์ม สเตชั่น จำกัด จังหวัดอุดรธานี , บริษัท วู้ดเวอร์คฟาร์ม จำกัด จังหวัดตรัง , บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) จังหวัดบุรีรัมย์

บริษัท พรีเมียร์ ควอลิตี้สตาร์ช จำกัด จังหวัดมุกดาหาร และจังหวัดสกลนคร , บริษัท เอส.เค.กรีน อโกร โปรดักส์ จำกัด , บริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน) , บริษัท อุบลไบโอเพาเวอร์ จำกัด , บริษัท น้ำตาลพิษณุโลก จำกัด , บริษัท น้ำตาล อุบล จำกัด

บริษัท Yamamori จำกัด , บริษัท ศรีแก้ว รับเบอร์เทค จำกัด , บริษัท ชัยชนะฟาร์ม จำกัด , บริษัท ขวัญข้าว อินเตอร์เทรด จำกัด , บริษัท อุดรสินไพบูลย์ จำกัด , บริษัท อุดรไรซ์ จำกัด และสหกรณ์จิตรักษ์วิถีพอเพียง

“เป้าหมายที่มีการเชื่อมโยงกับบริษัทรับซื้อในรัศมีรอบโรงงานในระยะ 100 กิโลเมตร ยกเว้นกรณีมีข้อจำกัดของแหล่งผลิต แต่สามารถจำหน่ายในราคาอันเป็นที่ยอมรับของทั้ง 2 ฝ่าย โดย ส.อ.ท.และกรมส่งเสริมการเกษตร กำหนดพื้นที่เป้าหมายรายแปลงร่วมกัน เพื่อนำมาเป็นพื้นที่ดำเนินการ” นายอลงกรณ์ กล่าว

ทำแผนรับซื้อสินค้าเกษตร

นอกจากนี้ทั้ง ส.อ.ท.และคณะอนุกรรมการระดับจังหวัด ต้องจัดทำแผนการผลิตและรับซื้อผลผลิตที่ชัดเจน โดย ส.อ.ท.จัดข้อมูลด้านการตลาด เช่น รายชื่อบริษัทรับซื้อผลผลิต คุณลักษณะผลผลิตที่ต้องการ ราคารับซื้อ ปริมาณความต้องการ และช่วงเวลาความต้องการของบริษัทที่รับซื้อผลผลิตที่สมบูรณ์ชัดเจน

รวมทั้งการทำบันทึกข้อตกลง (MOU) การผลิตและจำหน่ายผลผลิตในทุกสินค้า ระหว่างกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่และผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ส.อ.ท.หรือการทำเกษตรพันธสัญญา (Contract Farming) หรือเอกสารการเชื่อมโยงการตลาดร่วมกัน และอาจจะดำเนินการผ่านระบบ CSR (Corporate Social Responsibility) ของโรงงานเชื่อมโยงเครือข่ายสมาชิกของ สอ.ท.ทั้งกลุ่มผู้ค้าในประเทศและต่างประเทศ

เสริมเทคโนโลยี-จัดการปุ๋ย

ทั้งนี้ จะเริ่มพัฒนาเข้าสู่ระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นการนำเกษตรกรตามบัญชีแปลงใหญ่และบัญชีการขึ้นทะเบียนบัญชีเกษตรกร (ทบก.) ในสินค้าเป้าหมายที่มีอยู่แล้ว และแปลงที่ยังไม่ได้จดทะเบียนเข้าสู่ระบบแปลงใหญ่เพื่อให้เกิดการรวมกลุ่มเป็นเครือข่าย (Cluster) วางแผนผลิตและจำหน่ายที่เป็นระบบ เพื่อการกำกับดูแลความสม่ำเสมอของปริมาณ และคุณภาพผลผลิตตามมาตรฐาน และความต้องการของผู้ประกอบการโรงงานแปรรูป รวมทั้งการสนับสนุนสินเชื่อแก่กลุ่มเกษตรกรจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ภายใต้โครงการแปลงใหญ่

นอกจากนี้ จะมีการวิเคราะห์ศักยภาพของพื้นที่ โดยกรมพัฒนาที่ดิน พัฒนาศักยภาพพื้นที่ตามผลการวิเคราะห์ความเหมาะสมในการผลิต (ดิน น้ำ พืช) ของระบบแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) ของกรมพัฒนาที่ดิน เพื่อนำไปสู่การแนะนำและส่งเสริมใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม

รวมทั้งสนับสนุนและให้บริการปัจจัยการผลิต โดยศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) และเครือข่ายภายใต้โครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน ในรูปแบบ One Stop Service เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินในการลดต้นทุนการผลิต

พัฒนาคน“เกษตรสมัยใหม่”

ส่วนการพัฒนาคน (เกษตรกร เจ้าหน้าที่ และเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง) โดยถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยี การเกษตรที่ทันสมัย แก่เกษตรกรและเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ของกรมส่งเสริมการเกษตร และเชื่อมโยงกับศูนย์ AIC ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวม และกำหนดแนวทางพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีการเกษตร ทั้ง AIC ระดับส่วนกลางและระดับจังหวัด เพื่อสนับสนุนและสร้างระบบการบริหารจัดการสินค้าโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรแบบก้าวหน้า

รับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร โดยกรมวิชาการเกษตร กรมการข้าว และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ อบรมให้ความรู้และคำแนะนำการดำเนินการตรวจรับรองมาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practice) ในการผลิตสินค้าเกษตร และตรวจรับรองมาตรฐาน GMP (Good Manufacturing Practice) ให้แก่สถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรพื้นที่เป้าหมาย

สนับสนุนการให้บริการทางการเกษตร (Agricultural Service Provider: ASP) โดย ส.อ.ท. ให้แก่เกษตรกรและกลุ่มแปลงใหญ่ เพื่อให้เข้าถึงเทคโนโลยี นวัตกรรม และเครื่องจักรกลเกษตรที่ทันสมัย เพื่อยกระดับไปสู่เกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture) เกษตรอัจฉริยะหรือระบบโลจิสติกส์การเกษตรที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ขั้นเตรียมการผลิต การเก็บเกี่ยว การแปรรูป และการขนส่งออกสู่ลูกค้า/ตลาด เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด รวมทั้งสนับสนุนการใช้บริการของวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ ผู้ให้บริการทางการเกษตร หรือ Start Up/Social Enterprise ที่มีความพร้อมในการให้บริการด้านการเกษตร

สร้างระบบติดตามวัดผล

การบริหารจัดการโครงการและการวางแผนการขับเคลื่อน จะติดตามผลการดำเนินงาน ในช่วงปฏิบัติการโดยใช้กลไกการบูรณาการ การทำงานของหน่วยงานในจังหวัดในการขับเคลื่อนงานคือ คณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนงานนโยบายสำคัญและการแก้ไขปัญหาภาคเกษตรระดับจังหวัด ที่มีเกษตรจังหวัดเป็นประธาน

ส่วนระดับนโยบายใช้กลไกการกำกับดูแล โดยคณะกรรมการส่งเสริมการใช้ปัจจัยการผลิตที่เหมาะสมเพื่อลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร และคณะทำงานจัดทำแนวทางการส่งเสริมการใช้ปัจจัยการผลิต และการปลูกพืชที่เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ รวมทั้งคณะกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยหน่วยงานระดับจังหวัดรายงานผลการดำเนินงานต่อคณะกรรมการ และส่งข้อมูลรายงานผลการดำเนินงานรายไตรมาส ให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ส่วนกลาง

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 16 พฤศจิกายน 2564

พ.ร.บ.อ้อยฯ ระอุ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาล ลาออกกรรมาธิการวิสามัญ

3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย ยื่นหนังสือลาออก กมธ. วิสามัญและอนุ กมธ.วิสามัญพิจารณาแก้ไขร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ประกาศจุดยืนไม่ยอมรับการนำกากอ้อยและกากตะกอนกรอง เข้าสู่ระบบแบ่งปันผลประโยชน์ ย้ำต้องปรับปรุงร่างกฎหมาย ต้องสร้างความเป็นธรรมทุกฝ่าย พร้อมยกเลิกเก็บเงินค่าบำรุงสถาบันชาวไร่อ้อยโดยโรงงาน เริ่มฤดูการผลิตปี 2564/2565 ชี้กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจไว้ เป็นการกระทำโดยมิชอบ

วันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) และประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ เปิดเผยว่า 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย ซึ่งเป็นตัวแทนจากผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทรายทั้ง 57 โรงงาน ได้ส่งหนังสือ “แจ้งการลาออก” จากการเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญและการร่วมเป็นคณะอนุกรรมาธิการวิสามัญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ในมาตรา 4

โดยร่างแก้ไขดังกล่าวเสนอให้ กากอ้อย และกากตะกอนกรองเป็นผลพลอยจากการผลิตน้ำตาล เพื่อนำไปคำนวณในระบบแบ่งปันผลประโยชน์ หลังจากคณะกรรมาธิการวิสามัญในชุดดังกล่าว ได้ผ่านความเห็นชอบเพิ่มเติมคำนิยามกากอ้อยและกากตะกอนกรอง

แม้ว่าที่ผ่านมาได้ร้องขอให้มีตัวแทนภาคโรงงาน ซึ่งถือเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงกับร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว ร่วมเป็นคณะกรรมาธิการด้วย แต่ได้เป็นเพียงที่ปรึกษาไม่มีสิทธิออกเสียงในคณะกรรมาธิการได้

ทั้งนี้ กากอ้อย กากตะกอนกรอง และผลพลอยได้ต่าง ๆ จากการผลิตน้ำตาล ถือเป็นกรรมสิทธิ์ของโรงงานน้ำตาลตามข้อตกลงระหว่างชาวไร่อ้อย และโรงงานที่ยึดเป็นหลักการของการแบ่งปันรายได้ตาม พ.ร.บ.อ้อยฯ มาตั้งแต่ต้น

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานกรรมการบริหารบริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) และประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ ตัวแทนผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทราย

นอกจากนี้ “กากอ้อย” เป็นขยะอุตสาหกรรม ที่ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลต้องรับภาระกำจัดตามกฎหมายโรงงาน เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงได้ลงทุนนำขยะดังกล่าวไปใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้า

ดังนั้น การเพิ่มเติมมาตรา 4 ในส่วนคำนิยาม “ผลพลอยได้” นอกเหนือจากที่ตกลงไว้ จะสร้างความไม่เป็นธรรมให้แก่ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาล และนำมาสู่ความขัดแย้งในที่สุด อันจะทำให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยอ่อนแอลง

มหากาพย์แก้ร่าง พ.ร.บ.อ้อย โรงงานค้านนิยามใหม่ “กากอ้อย”

โรงงานน้ำตาลค้าน “กากอ้อย” เข้าระบบแบ่งปันผลประโยชน์ ชี้เป็นขยะไม่ใช่ผลพลอยได้

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลยังคงยืนยันในเจตนารมย์แก้ปรับปรุงกฎหมาย พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อใช้กำกับดูแลอุตสาหกรรม โดยสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.อ้อยฯ ฉบับกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งถือเป็นร่างที่ได้ผ่านการทำประชาพิจารณ์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย พร้อมได้รับความเห็นชอบของทุกฝ่ายแล้ว เพื่อมาใช้เป็นแม่บทการปรับปรุงกฎหมายให้มีความทันสมัยมากขึ้น

“การแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย สำหรับใช้บริหารจัดการอุตสาหกรรมนี้ จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากชาวไร่อ้อย และโรงงานน้ำตาล ซึ่งเป็นมีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง แต่ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ฝ่ายโรงงานไม่มีโอกาสเข้าร่วมในการตัดสินใจในชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญ เนื่องจากได้รับแต่งตั้งเป็นเพียงที่ปรึกษาเท่านั้น และเมื่อมีมติผ่านความเห็นชอบในมาตรา 4 โดยไม่ได้รับฟังความเห็นของฝ่ายโรงงาน จึงทำให้เราไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงตัดสินใจลาออกเพื่อแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยดังกล่าว”

ส่วนกรณีที่ชาวไร่อ้อยคู่สัญญาของโรงงานน้ำตาล ได้ร้องขอไม่ให้โรงงานหักเงินค่าบำรุงสถาบันชาวไร่อ้อยนั้น ถือเป็นสิทธิของชาวไร่อ้อยที่จะยินยอมให้หักหรือไม่ หรือจะให้หักเงินส่งให้สถาบันใด

นอกจากนี้ พ.ร.บ.อ้อยฯ ก็ไม่ได้ให้อำนาจไว้ จึงเป็นการดำเนินการที่มิชอบด้วยกฎหมาย ตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลางที่ได้วินิจฉัยแล้วว่า คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) มีหน้าที่กำหนดอัตราค่าบำรุงสถาบันชาวไร่อ้อยเท่านั้น แต่มิได้บัญญัติให้มีอำนาจที่จะกำหนดวิธีการชำระค่าบำรุงไว้ด้วย เพราะเป็นรายละเอียดที่กฎหมายต้องการให้สมาชิกชาวไร่อ้อยและสถาบันชาวไร่อ้อยไปกำหนดกันเองให้เหมาะสมและสอดคล้องกับการดำเนินงานของแต่ละสถาบันชาวไร่อ้อย

ดังนั้น โรงงานน้ำตาลทั่วประเทศจึงเห็นพ้องต้องกันที่จะยกเลิกการจัดเก็บเงินค่าบำรุงสถาบันชาวไร่อ้อย ตั้งแต่ฤดูการผลิตปี 2564/2565 เป็นต้นไป เนื่องจากขัดต่อกฎหมาย และสุ่มเสี่ยงต่อการที่ชาวไร่อ้อยอาจฟ้องร้องโรงงานได้

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 15 พฤศจิกายน 2564

ส่งออกไทยปี 65 ความท้าทายใหญ่ท่ามกลางปัจจัยลบ

ส่งออกไทยปี65 กับความท้าทายที่ยังมีรอบด้าน ทั้งการแพร่ระบาดของโควิด สงครามการค้า ค่าระวางเรือที่สูงลิ่ว  IMF คาดการณ์เศรษฐกิจโลกขยายตัว4.9ในปี65 ขณะ คาดแนวโน้มการส่งออกในปี 2565 มีทิศทางขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลง ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงในภาพรวม

ส่งออกไทยปี 2564 เป็นที่แน่นอนแล้วว่า ถึงสิ้นปีนี้จะขยายตัวเป็นตัวเลขสองหลัก  โดยเอกชนส่วนใหญ่ฟันธงว่าจะขยายตัวได้ที่ 12-13% เป็นไปได้มากสุด ขณะที่ความท้าทายของการส่งออกไทยปี 2565 ที่ภาคเอกชนและนักวิชาการคาดการณ์ในเบื้องต้นจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัว โดยจะขยายตัวได้ระหว่าง 4-5% ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงที่มีอยู่มาก  ถือเป็นความท้าทายของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ แม่งานหลักในการผลักดันการส่งออกของประเทศที่ต้องฝ่าฟัน

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยในการให้สัมภาษณ์กับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ในปี 2565 กรมมองว่า การระบาดของโควิด-19 ในหลายประเทศที่เริ่มกลับมารุนแรงอีกครั้ง และความไม่แน่นอนว่าจะยืดเยื้อหรือไม่ ซึ่งมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวดขึ้นของประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ จีน รัสเซีย จะเป็นอุปสรรคต่อการขนส่งและส่งมอบสินค้า และต่อการส่งออกของไทย

นอกจากนี้ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยภายหลังเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย. 64 ซึ่งหากเกิดการระบาดระลอกใหม่ที่รุนแรงอาจทำให้ต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกครั้งจะกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตจากการปิดโรงงานในประเทศ  ปัญหาด้าน supply chain disruption ที่อาจเกิดขึ้นจากการปิดโรงงาน/หยุดการผลิตในประเทศคู่ค้าที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตเดียวกัน ซึ่งในส่วนของประเทศจีน

นอกจากปัญหาการระบาดระลอกใหม่ในหลายพื้นที่ที่ทำให้รัฐบาลจีนเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมการเดินทางข้ามจังหวัด ยังมีปัญหาวิกฤตพลังงานในจีนที่ทำให้เกิดการขาดแคลนกระแสไฟฟ้า ซึ่งกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมการผลิตของจีนที่ต้องลดกำลังการผลิตลง และส่งผลกระทบต่อซัพพลายเชนทั่วโลก

ปัจจัยที่มีผลต่อการส่งออกปี2565

 ปัญาค่าระวางเรือสูง สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ได้แถลงข่าวเมื่อวันที่ 5 ต.ค. 64 ระบุปัญาค่าระวางเรือมีทิศทางทรงตัวในระดับสูง และมีโอกาสปรับตัวขึ้นอีกจนถึงช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2565 นอกจากนี้ ยังมีปัญหาวัตถุดิบขาดแคลนและราคาสูง โดยเฉพาะชิป และเหล็ก ซึ่งส่งผลต่อต้นทุนของภาคการผลิตเพื่อส่งออก โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อาหารกระป๋องและแปรรูป ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทย

ดังนั้น จึงจำเป็นที่ทุกภาคส่วนจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหาการส่งออก โดยในส่วนกระทรวงพาณิชย์จะเดินหน้าความร่วมมือกับภาคเอกชนภายใต้กลไก กรอ. พาณิชย์ เพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมและรวดเร็ว

“การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะยังดำเนินต่อไป แต่อ่อนแรงลงและมีความไม่แน่นอนมากขึ้น โดย IMF คาดการณ์เศรษฐกิจโลกขยายตัวที่ 5.9% ในปี 2564 และ 4.9% ในปี 2565 โดยปรับลดจากคาดการณ์เดิม เมื่อเดือนกรกฏาคม 2564 ลง เนื่องจากปัญหาข้อจำกัดด้านอุปทาน (supply disruption) ที่ยืดเยื้อ และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในหลายประเทศที่แย่ลงซึ่งทำให้มาตรการควบคุมการระบาดกลับมาเข้มงวดขึ้นอีกครั้ง

ทั้งนี้ การแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของสายพันธุ์เดลต้า และความเสี่ยงของการกลายพันธุ์ใหม่ เพิ่มความไม่แน่นอนว่าการระบาดทั่วโลกจะสิ้นสุดลงเมื่อใด”

ดังนั้นแนวโน้มการส่งออกในปี2565 IMF คาดว่าจะมีทิศทางขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลง ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงในภาพรวม อย่างไรก็ดี หากพิจารณาเป็นรายประเทศคู่ค้า ยังมีตลาดที่มีศักยภาพ

โดยประเทศที่ IMF คาดการณ์ว่าจะยังคงมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งในปี 2565 คือ อินเดีย (+8.5%) และประเทศที่เศรษฐกิจคาดว่าจะมีอัตราการขยายตัวดีขึ้นในปี 2565 เทียบกับปี 2564 ได้แก่ ประเทศในกลุ่มอาเซียน-5 (เวียดนาม 6.6% / ฟิลิปปินส์ 6.3% / มาเลเซีย 6.0%/ อินโดนีเซีย 5.9%) ซาอุดิอาระเบีย (4.8%) และญี่ปุ่น (+3.2%) เป็นต้น

ส่วนปัจจัยบวกต่อการส่งออกไทย ได้แก่ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ามีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง  แต่ทั้งนี้คาดว่าในปีหน้าค่าเงินบาท มีแนวโน้มที่อ่อนค่าลงยังส่งผลดีต่อความสามารถในการส่งออกของไทย ขณะที่ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์คาดจะเริ่มคลี่คลายประมาณกลางปีหน้า

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 15 พฤศจิกายน 2564

3 สมาคมโรงงานน้ำตาล ยื่นหนังสือลาออกจากกรรมาธิการวิสามัญ แก้ไข พรบ.อ้อยฯ

3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย ยื่นหนังสือลาออกจากคณะกรรมาธิการวิสามัญและคณะอนุกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแก้ไขร่าง พรบ.อ้อยและน้ำตาลทราย ประกาศจุดยืนไม่ยอมรับการนำ "กากอ้อย" เข้าสู่ระบบแบ่งปันผลประโยชน์ ย้ำการปรับปรุงร่างกฎหมายต้องสร้างความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานกรรมการบริหารบริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) และประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ เปิดเผยว่า 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย ซึ่งเป็นตัวแทนจากผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทรายทั้ง 57 โรงงาน ได้ส่งหนังสือแจ้งการลาออกจากการเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญและการร่วมเป็นคณะอนุกรรมาธิการวิสามัญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์ เพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ในมาตรา 4 ที่เสนอให้ กากอ้อย และกากตะกอนกรองเป็นผลพลอยจากการผลิตน้ำตาล เพื่อนำไปคำนวณในระบบแบ่งปันผลประโยชน์

หลังจากคณะกรรมาธิการวิสามัญในชุดดังกล่าว ได้ผ่านความเห็นชอบเพิ่มเติมคำนิยามกากอ้อยและกากตะกอนกรอง แม้ว่าที่ผ่านมาได้ร้องขอให้มีตัวแทนภาคโรงงานซึ่งถือเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงกับร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว ร่วมเป็นคณะกรรมาธิการด้วย แต่ได้เป็นเพียงที่ปรึกษาไม่มีสิทธิออกเสียงในคณะกรรมาธิการได้

ทั้งนี้ กากอ้อย กากตะกอนกรองและผลพลอยได้ต่างๆ จากการผลิตน้ำตาล ถือเป็นกรรมสิทธิ์ของโรงงานน้ำตาลตามข้อตกลงระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงานที่ยึดเป็นหลักการของการแบ่งปันรายได้ตาม พรบ.อ้อยฯ มาตั้งแต่ต้น

นอกจากนี้ ‘กากอ้อย’ เป็นขยะอุตสาหกรรม ที่ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลต้องรับภาระในการกำจัดตามกฎหมายโรงงาน เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงได้ลงทุนนำขยะดังกล่าวไปใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้า ดังนั้น การเพิ่มเติมมาตรา 4 ในส่วนคำนิยาม ‘ผลพลอยได้’ นอกเหนือจากที่ตกลงไว้ จะสร้างความไม่เป็นธรรมให้แก่ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาล และนำมาสู่ความขัดแย้งในที่สุด อันจะทำให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยอ่อนแอลง

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลยังคงยืนยันในเจตนารมย์แก้ปรับปรุงกฎหมาย พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อใช้กำกับดูแลอุตสาหกรรมฯ โดยสนับสนุนร่าง พรบ. อ้อยฯ ฉบับกระทรวงอุตสหากรรม ซึ่งถือเป็นร่างที่ได้ผ่านการทำประชาพิจารณ์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย พร้อมได้รับความเห็นชอบของทุกฝ่ายแล้ว เพื่อมาใช้เป็นแม่บทการปรับปรุงกฎหมายให้มีความทันสมัยมากขึ้น

“การแก้ไข พรบ. อ้อยและน้ำตาลทราย สำหรับใช้บริหารจัดการอุตสาหกรรมนี้ จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากชาวไร่อ้อย และโรงงานน้ำตาล ซึ่งเป็นมีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง แต่ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ฯ ฝ่ายโรงงานไม่มีโอกาสเข้าร่วมในการตัดสินใจในชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญ เนื่องจากได้รับแต่งตั้งเป็นเพียงที่ปรึกษาเท่านั้น และเมื่อมีมติผ่านความเห็นชอบในมาตรา 4 โดยไม่ได้รับฟังความเห็นของฝ่ายโรงงาน จึงทำให้เราไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงตัดสินใจลาออกเพื่อแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยดังกล่าว” นายสิริวุทธิ์ กล่าว

ส่วนกรณีที่ชาวไร่อ้อยคู่สัญญาของโรงงานน้ำตาลได้ร้องขอไม่ให้โรงงานหักเงินค่าบำรุงสถาบันชาวไร่อ้อยนั้น ถือเป็นสิทธิของชาวไร่อ้อยที่จะยินยอมให้หักหรือไม่ หรือจะให้หักเงินส่งให้สถาบันฯ ใด

นอกจากนี้ พรบ. อ้อยฯ ก็ไม่ได้ให้อำนาจไว้ จึงเป็นการดำเนินการที่มิชอบด้วยกฎหมาย ตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลางที่ได้วินิจฉัยแล้วว่า กอน. มีหน้าที่กำหนดอัตราค่าบำรุงสถาบันชาวไร่อ้อยเท่านั้น แต่มิได้บัญญัติให้มีอำนาจที่จะกำหนดวิธีการชำระค่าบำรุงไว้ด้วย เพราะเป็นรายละเอียดที่กฎหมายต้องการให้สมาชิกชาวไร่อ้อยและสถาบันชาวไร่อ้อยไปกำหนดกันเองให้เหมาะสมและสอดคล้องกับการดำเนินงานของแต่ละสถาบันชาวไร่อ้อย

ดังนั้น โรงงานน้ำตาลทั่วประเทศจึงเห็นพ้องต้องกันที่จะยกเลิกการจัดเก็บเงินค่าบำรุงสถาบันชาวไร่อ้อย ตั้งแต่ฤดูการผลิตปี 2564/65 เป็นต้นไป เนื่องจากขัดต่อกฎหมาย และสุ่มเสี่ยงต่อการที่ชาวไร่อ้อยอาจฟ้องร้องโรงงานได้

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 15 พฤศจิกายน 2564

กรมโรงงานฯ เตรียมดันมาตรการติดคิวอาร์โค้ดหน้าโรงงาน แสดงข้อมูลในร.ง.4

นายวันชัย พนมชัย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาระบบการตรวจสอบโรงงานด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ (QR Code) พร้อมให้ประชาชนและชุมชนสามารถตรวจสอบ และรับรู้ข้อมูลโรงงานด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยได้ โดยเฉพาะโรงงาน ที่อยู่ใกล้ชิดกับชุมชน เพื่อมิให้เกิดปัญหาแบบโรงงานที่เพิ่งเกิดเรื่องมีการระเบิดจากสารเคมีหรือวัตถุอันตรายเหมือนที่ผ่านมา และเตรียมส่ง QR Code ให้โรงงานทั่วประเทศภายใต้การกำกับของกระทรวงอุตสาหกรรมนำไปติดตั้งที่หน้าโรงงานในบริเวณที่เห็นเด่นชัด โดยขนาดของ QR Code ต้องไม่น้อยกว่า 15×15 ซม. และต้องเคลือบหรือทำด้วยวัสดุที่สามารถกันฝนกันแดดได้

เบื้องต้น ข้อมูลใน QR Code จะประกอบไปด้วยข้อมูลในใบอนุญาตโรงงาน 4 (ร.ง.4) และจะมีพื้นที่ว่าง เพื่อให้ประชาชนสามารถส่งข้อความแสดงความคิดเห็น หรือข้อร้องเรียน กรณีพบเห็นการดำเนินการที่ไม่ถูกต้อง หรือไม่ชอบมาพากล เช่น การแอบลักลอบปล่อยน้ำเสียโดยไม่ผ่านการบำบัด การแอบลักลอบขนกากของเสียอันตรายออกจากโรงงานโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นต้น ทั้งนี้ คาดว่ากรมโรงงาน จะดำเนินการพัฒนาระบบดังกล่าว พร้อมประชาสัมพันธ์และเตรียมความพร้อมให้โรงงานทั่วประเทศทราบและเข้าใจได้ภายในสิ้นปีนี้ และจะเริ่มดีเดย์ พร้อมกันทั่วประเทศ ในวันที่ 1 มกราคม 2565 เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน โดยในระยะเริ่มต้น จะเป็นมาตรการเชิงขอความร่วมมือ และหลังจากนั้นจะประกาศเป็นมาตรการบังคับต่อไป

กรมโรงงาน ยืนยันให้ความสำคัญในเรื่อง ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ พร้อมกำกับดูแลโรงงานให้ปรับตัว เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้

จาก https://www.matichon.co.th   วันที่ 15 พฤศจิกายน 2564

โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อน

สิรินธร จ.อุบลราชธานี (Hydro-floating Solar Hybrid) หรือ “โรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด” ในเขื่อนสิรินธร ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ขนาดกำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ ได้ฤกษ์เมื่อ 31 ตุลาคม 2564 จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์แล้ว ถือเป็นนวัตกรรมการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่มีจุดเด่น คือ ต้นทุนราคาถูก ซึ่งจะมีส่วนช่วยดูแลค่าไฟให้คนไทยได้ทางหนึ่ง ต่างไปจากเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้าประเภทอื่น โดยเฉพาะกลุ่มฟอสซิล ทั้งน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ที่ราคาค่อนข้างสูง และล่าสุดเริ่มแพงขึ้นเรื่อยๆ จากภาพรวมราคาพลังงานโลกที่อยู่ในช่วงขาขึ้น ขณะเดียวกัน โรงไฟฟ้าแห่งนี้ยังถูกปักหมุดเป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของ จ.อุบลราชธานี ทำหน้าที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติให้ไปสัมผัสกับธรรมชาติ หลังจากภาคท่องเที่ยวไทยเจ็บช้ำอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 มา 2 ปี

“บุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร” ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ให้ข้อมูลว่า โรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธรจะช่วยเสริมความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ และยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 47,000 ตัน/ปี หรือเทียบเท่ากับการปลูกป่าประมาณ 37,600 ไร่ โดยติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ปกคลุมผิวน้ำยังช่วยลดการระเหยของน้ำได้ประมาณ 460,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี และช่วยลดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศได้ถึง 730.62 พันล้านบีทียูต่อปี ตอบโจทย์พลังงานสะอาดช่วยลดภาวะโลกร้อน ที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ

ผู้ว่าการบุญญนิตย์ ยังอธิบายว่า โรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธร ถือเป็นโรงไฟฟ้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ใช้แผงโซลาร์เซลล์มากถึง 144,420 แผ่น ติดตั้งอยู่บนพื้นที่ผิวน้ำประมาณ 450 ไร่ หรือเทียบเท่า สนามฟุตบอลประมาณ 70 สนาม มีจุดเด่นคือ สามารถผลิตไฟฟ้าจากทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ในเวลากลางวัน และพลังน้ำจากเขื่อนที่มีอยู่เดิมมาผลิตไฟฟ้าในช่วงที่ไม่มีแสง หรือเสริมความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในช่วงค่ำ โดยนำระบบ EMS (Energy Management System) ร่วมกับระบบพยากรณ์อากาศ (Weather Forecast System) มาควบคุมและบริหารจัดการ เพื่อช่วยเพิ่มเสถียรภาพให้กับระบบผลิตไฟฟ้า ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้ยาวนานขึ้น ลดข้อจำกัดของพลังงานหมุนเวียน

ในอนาคต กฟผ.ยังเตรียมสร้างศูนย์ควบคุมพลังงานหมุนเวียน (RE Control Center) โดยนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าให้มากขึ้น โรงไฟฟ้าฯ ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์แบ่งออกเป็น 7 ชุด บนพื้นที่ผิวน้ำในเขื่อนไม่ถึง 1% ของพื้นที่อ่างเก็บน้ำทั้งหมด โดยเลือกใช้แผงโซลาร์เซลล์และทุ่นลอยน้ำที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทั้งหมด ไม่ส่งผลกระทบกับระบบนิเวศใต้น้ำ นอกจากนี้ ยังใช้ระบบส่งไฟฟ้า อุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ รวมถึงพื้นที่ผิวน้ำในเขื่อนสิรินธรที่มีอยู่เดิมให้เกิดประโยชน์สูงสุดเต็มประสิทธิภาพ ช่วยลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายลงได้ ทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้ามีราคาต่ำ มีการวางแผงโซลาร์เซลล์ให้มีมุมเอียง มีช่องว่างระหว่างแผงและทุ่นลอยน้ำ แสงแดดสามารถลอดผ่านลงในน้ำได้ จึงไม่กระทบกับระบบนิเวศใต้น้ำ และการนำแผงโซลาร์เซลล์วางบนผิวน้ำ จะช่วยลดความร้อนของแผงโซลาร์เซลล์ ทำให้มีประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าดีกว่าการติดตั้งบนบกถึง 10-15% ทั้งนี้ ใช้ทุ่นลอยน้ำเป็นทุ่นพลาสติก ชนิด High Density Poly Ethylene (HDPE) ผสม UV Protection ซึ่งเป็นวัสดุประเภทเดียวกับท่อส่งน้ำประปา จึงเป็นมิตรต่อ

สิ่งแวดล้อมและมีอายุการใช้งานนานกว่า 25 ปี และยังช่วยลดการระเหยของน้ำในเขื่อนได้ประมาณ 460,000 ลูกบาศก์เมตร/ปี

ผู้ว่าฯบุญญนิตย์ยังระบุว่า ไม่เพียงมุมการผลิตไฟฟ้าเสริมความมั่นคงประเทศ อีกมุมหนึ่งที่ กฟผ.ให้ความสำคัญคือ การยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนผ่านการท่องเที่ยว โดย กฟผ. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับชุมชน โดยเตรียมเปิดตัวโรงไฟฟ้าแห่งนี้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของ จ.อุบลราชธานี และภาคอีสาน โดยพัฒนาเส้นทางเดินชมธรรมชาติ (Nature Walkway) ที่สามารถชมโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดที่ใหญ่ที่สุดในโลกจากมุมสูงบนทางเดินชมธรรมชาติได้อย่างชัดเจน กำหนดเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมได้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 เป็นต้นไป เชื่อว่าจะช่วยสร้างอาชีพ เสริมรายได้ ให้กับชุมชน ทำให้ชุมชนพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน และยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ด้วย

จากความสำเร็จครั้งนี้ ผู้ว่าการบุญญนิตย์ ยังให้ข้อมูลทิ้งท้ายว่า “กฟผ. เตรียมเดินหน้าโครงการต่อไปที่เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ขนาดกำลังผลิต 24 เมกะวัตต์ และพื้นที่เขื่อนอื่นๆ ของ กฟผ.อีก 15 โครงการทั่วประเทศ รวม 2,725 เมกะวัตต์ เพื่อเร่งผลักดันให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ ก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำได้อย่างยั่งยืน”

ความสำเร็จของโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธรครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญของการเดินหน้าผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดของไทย ภายใต้การนำของ กฟผ. ขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับชุมชนโดยรอบไปพร้อมกันๆ ด้วย ซึ่งเวลานี้การฟื้นฟูชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นอย่างมาก น่าติดตามแผนการพัฒนาโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด ของ กฟผ.นับจากนี้ ซึ่งตามแผนจะพัฒนาโครงการรูปแบบเดียวกันทั้ง 9 เขื่อนทั่วประเทศ รวม 16 โครงการ กำลังผลิตทั้งหมด 2,725 เมกะวัตต์ ภายใน 10 ปีข้างหน้า ทั้งหมดนี้เพื่อตอบโจทย์การผลิตและใช้พลังงานสะอาด ที่ถือเป็นอีกเมกะเทรนด์หนึ่งของโลก

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

เงินบาทขยับแข็งค่าตลอดสัปดาห์ จับตา 3 ปัจจัยสำคัญสัปดาห์หน้า

เงินบาทขยับแข็งค่าขึ้นเกือบตลอดสัปดาห์สอดคล้องกับสัญญาณเงินทุนไหลเข้า ขณะที่หุ้นไทยเคลื่อนไหวในกรอบแคบแต่ปรับขึ้นจากสัปดาห์ก่อน จับตาปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามสัปดาห์หน้า ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/64 ของไทย สถานการณ์โควิด-19 ตลอดจนทิศทางเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 2 เดือนที่ 32.73 บาทต่อดอลลาร์ฯ เงินบาทขยับแข็งค่าขึ้นเกือบตลอดสัปดาห์สอดคล้องกับสัญญาณเงินทุนไหลเข้า โดยเฉพาะตลาดพันธบัตรไทย (นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิพันธบัตรไทยประมาณ 4.76 หมื่นล้านบาทระหว่างวันที่ 8-12 พ.ย.) ประกอบกับน่าจะมีอานิสงส์จากแรงขายเงินดอลลาร์ฯ ของกลุ่มผู้ส่งออกตามจังหวะการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก

อย่างไรก็ดีเงินบาทลดช่วงแข็งค่าลงบางส่วนระหว่างสัปดาห์ เนื่องจากเงินดอลลาร์ฯ ฟื้นตัวขึ้นหลังจากอัตราเงินเฟ้อ (CPI) ของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 30 ปี ซึ่งทำให้นักลงทุนเริ่มให้น้ำหนักต่อความเป็นไปที่เฟดอาจจะจำเป็นต้องส่งสัญญาณคุมเข้มทางการเงินเร็วขึ้น

ในวันศุกร์ (12 พ.ย.) เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ระดับ 32.80 เทียบกับระดับ 33.32 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (5 พ.ย.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (15-19 พ.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 32.50-33.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/64 ของไทย ทิศทางเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติ และสถานการณ์โควิด-19

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์กและเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือนพ.ย. ยอดค้าปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีราคานำเข้าและส่งออก ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้านเดือนต.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์

นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3 ของญี่ปุ่นและยูโรโซน ตลอดจนข้อมูลเศรษฐกิจเดือนต.ค. ของจีน อาทิ ยอดค้าปลีก ดัชนีราคาบ้าน การผลิตภาคอุตสาหกรรม และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร

ส่วนความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย หุ้นไทยปรับตัวขึ้นจากสัปดาห์ก่อน โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,633.94 จุด เพิ่มขึ้น 0.47% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 72,080.92 ล้านบาท ลดลง 6.28% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 1.99% มาปิดที่ 558.09 จุด

หุ้นไทยขยับขึ้นตามตลาดหุ้นภูมิภาค โดยมีแรงหนุนช่วงต้นสัปดาห์จากแรงซื้อของต่างชาติ อย่างไรก็ดีหุ้นไทยเคลื่อนไหวในกรอบแคบในช่วงกลางสัปดาห์เนื่องจากขาดปัจจัยหนุนใหม่ๆ

ประกอบกับทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศในภาพรวมถูกกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อของสหรัฐฯ และการคาดการณ์เกี่ยวกับจังหวะการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ในสัปดาห์นี้ หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีร่วงลงจากเรื่องการปรับเกณฑ์คัดหุ้นเข้าดัชนี SET50 และ SET100 ขณะที่หุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวลงตามทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลก

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (15-19 พ.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,615 และ 1,600 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,650 และ 1,675 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/64 ของไทย สถานการณ์โควิด-19 ตลอดจนทิศทางเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และข้อมูลการเริ่มสร้างบ้านเดือนต.ค. ตลอดจนจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์

ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/64 ของญี่ปุ่นและยูโรโซน ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนต.ค.ของญี่ปุ่นและยูโรโซน ตลอดจนข้อมูลเศรษฐกิจเดือนต.ค. ของจีน อาทิ ยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

FTA 9 เดือน โต 25%  “พาณิชย์” มั่นใจ! โตได้กว่านี้  หลัง RCEP มีผลบังคับใช้

เปิดสถิติการค้าไทยกับประเทศคู่เจรจา FTA ช่วง 9 เดือนปี 64 เงินสะพัดกว่า 2.5 แสนล้านดอลลาร์หรัฐ โต 25% ส่งออกสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมขยายตัวถ้วนหน้า มั่นใจ การค้าการส่งออกของไทยเพิ่มขึ้นได้อีกมากหลัง RCEP มีผลบังคับใช้ 1 ม.ค. ปีหน้า

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยข่าวดี มูลค่าการค้าและการส่งออกของไทยกับประเทศคู่ค้าที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรี (FTA) จำนวน 13 ฉบับ กับ 18 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย ชิลี และเปรู มีการขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาของปี 2564 (ม.ค. - ก.ย.) มีมูลค่าการค้ารวมถึง 253,212.24 ล้านดอลาลร์สหรัฐ (7,908,717.25 ล้านบาท) (+25%) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 ซึ่งเป็นการส่งออก มูลค่า 123,693.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (3,836,115.64 ล้านบาท) (+18%)

สำหรับการส่งออกในทุกตลาดมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น อาทิ ชิลี (+67%) นิวซีแลนด์ (+61%) อินเดีย (+58%) เกาหลีใต้ (+41%) เปรู (+40%) จีน (+27%) ญี่ปุ่น (+14%) ออสเตรเลีย (+10%) และฮ่องกง (+1%) นอกจากนี้ การส่งออกรวมไปกลุ่มประเทศอาเซียน มีการขยายตัวเช่นเดียวกัน (+13%) อาทิ ฟิลิปปินส์ (+39%) มาเลเซีย (+37%) ลาว (+20%) เวียดนาม (+15%) กัมพูชา (+14%) เมียนมา (+10%) และอินโดนีเซีย (+6%)

ในส่วนของการส่งออกรายกลุ่มสินค้ามีการขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกกลุ่ม เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563  โดยสินค้าเกษตรพื้นฐาน ปศุสัตว์ และประมง ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการผลิตและการส่งออกสูง รวมทั้งยังครองแชมป์เป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ในอาเซียนอีกด้วย โดยการส่งออกมีมูลค่า 14,849.53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (460,732.90 ล้านบาท) (+33%) มีสัดส่วนการส่งออกไปตลาด FTA ถึง 75.30% ของการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมดของไทย

โดยสินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ ยางพารา ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง ผลิตภัณฑ์ มันสำปะหลัง เครื่องเทศและสมุนไพร และผักสดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง สำหรับกลุ่มสินค้าเกษตรแปรรูป ไทยส่งออก มูลค่า 8,877.80 ล้านเหรียญสหรัฐ (275,599.47 ล้านบาท) (+4%) มีสัดส่วนการส่งออกไปตลาด FTA ถึง 62.58% ของการส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูปทั้งหมดของไทย โดยสินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง สิ่งปรุงรสอาหาร และไอศกรีม

ด้านสินค้าอุตสาหกรรม ไทยส่งออก มูลค่า 80,403.05 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2,891,870.75 ล้านบาท) (+16%) มีสัดส่วนการส่งออกไปตลาด FTA ถึง 58.72% ของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมทั้งหมด โดยสินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ รถยนต์และส่วนประกอบ คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน

“FTA เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน สร้างความได้เปรียบให้กับสินค้าของไทยและเพิ่มโอกาสในการขยายตลาดส่งออก โดยมีปัจจัยสนับสนุนทั้งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของประเทศคู่ค้าสำคัญ และการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ

ทั้งนี้ กรมฯ ได้ดำเนินแนวทางตามนโยบายของกระทรวงพาณิชย์  โดยได้ผลักดันการเจรจาทั้ง FTA ฉบับใหม่ และการเจรจายกระดับและทบทวนความตกลงการค้าเสรีที่มีอยู่ เพื่อเพิ่มโอกาสส่งออกให้สินค้าและการลงทุนของไทย โดยล่าสุดความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งเป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็น FTA ฉบับล่าสุดของไทยที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2565 จะช่วยให้การค้าและการส่งออกของไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นได้อีกมาก

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

จับตาตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3ของไทย 15พ.ย.64 ประเมินค่าเงินบาทและหุ้นไทย

กสิกรไทยมองสัปดาห์หน้าระหว่างวันที่ 15-19พ.ย. 2564 กรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 32.80-33.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ บล.กสิกรไทยคาดดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,615 และ 1,600 จุด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย แนะติดตาม 5ปัจจัยสำคัญ “ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/64 ของไทย ทิศทางเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติ  สถานการณ์โควิด-19  ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐและปัจจัยต่างประเทศอื่น  เช่น ญี่ปุ่น  ยูโรโซนและจีน”

ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 32.50-33.30 บาทต่อดอลลาร์ฯสัปดาห์หน้าระหว่างวันที่ 15-19 พ.ย.64  ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/64 ของไทย ทิศทางเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติ และสถานการณ์โควิด-19

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์กและเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือนพ.ย. ยอดค้าปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีราคานำเข้าและส่งออก ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้านเดือนต.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์

นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3 ของญี่ปุ่นและยูโรโซน ตลอดจนข้อมูลเศรษฐกิจเดือนต.ค. ของจีน อาทิ ยอดค้าปลีก ดัชนีราคาบ้าน การผลิตภาคอุตสาหกรรม และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร

โดยเมื่อวันศุกร์ (12 พ.ย.) เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ระดับ 32.80 เทียบกับระดับ 33.32 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (5 พ.ย.)

สำหรับดัชนีหุ้นไทย  บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด(บล.) มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,615 และ 1,600 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,650 และ 1,675 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/64 ของไทย สถานการณ์โควิด-19 ตลอดจนทิศทางเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และข้อมูลการเริ่มสร้างบ้านเดือนต.ค. ตลอดจนจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/64 ของญี่ปุ่นและยูโรโซน ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนต.ค.ของญี่ปุ่นและยูโรโซน ตลอดจนข้อมูลเศรษฐกิจเดือนต.ค. ของจีน

อาทิ ยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร  โดยดัชนี SET (12พ.ย.64) ปิดที่ระดับ 1,633.94 จุด เพิ่มขึ้น 0.47% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 72,080.92 ล้านบาท ลดลง 6.28% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 1.99% มาปิดที่ 558.09 จุด

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

ไทยรับไม้ต่อนิวซีแลนด์เจ้าภาพเอเปคปี 2565 จากไม้พายวากะสู่ชะลอม

ไทยรับไม้ต่อนิวซีแลนด์เจ้าภาพเอเปคปี 2565 พร้อมเปิดตัวตราสัญลักษณ์ "ชะลอม"ขับเคลื่อนเอเปคภายใต้แนวคิด Open. Connect. Balance “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล”

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC Economic Leaders Meeting) ซึ่งนิวซีแลนด์เป็นเจ้าภาพจัดขึ้น โดยในช่วงพิธีส่งมอบตำแหน่งเจ้าภาพเอเปคจากนิวซีแลนด์ให้ไทย นายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณทีมเอเปคนิวซีแลนด์ที่ได้ขับเคลื่อนเอเปค ท่ามกลางความท้าทายต่าง ๆ ของโลก โดยไทยพร้อมทำหน้าที่เจ้าภาพเอเปคปี 2565 ต่อจากนิวซีแลนด์

การรับมอบไม้พายวากะ (Waka Paddle) เปรียบเสมือนการขับเคลื่อนเรือเอเปคไปข้างหน้า โดยไทยในฐานะเจ้าภาพเอเปค  ปี 2565 จะผลักดันการพัฒนาภูมิภาคไปสู่การเจริญเติบโตอย่างครอบคลุม พร้อมทั้งขับเคลื่อนเอเปคเข้าสู่โลกยุคหลังโควิด-19 ที่ยั่งยืนและสมดุลผ่านแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG Economy Model

เชิญชวนประชาชนทุกภาคส่วนร่วมกันสานความเข้มแข็งและความมุ่งมั่นในการสร้างประชาคมเอเชีย-แปซิฟิก ภายใต้แนวคิด “Open. Connect. Balance.” หรือ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล”

พร้อมเปิดตัวตราสัญลักษณ์การเป็นเจ้าภาพเอเปคปี 2565 ของไทยซึ่งเป็นผลงานของนายชวนนท์ วงศ์ตระกูลจง นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากชะลอมซึ่งเป็นเครื่องจักสานไทยที่ใช้ใส่สิ่งของในการเดินทางหรือนำไปมอบกับบุคคลที่เคารพของไทยจากรุ่นสู่รุ่น ใช้เส้นตอกไม้ไผ่สอดประสานกันอย่างเหนียวแน่น คงทน เช่นเดียวกับความร่วมมือของสมาชิกเอเปค

"ชะลอม" เป็นตราสัญลักษณ์สื่อถึงประเพณีและวิถีชีวิตชุมชนไทย การออกแบบและหัตถศิลป์สะท้อนภูมิปัญญาชาวบ้านในการนำวัตถุดิบมาแปลงสภาพเป็นอุปกรณ์ที่ใช้งานได้สะดวก มีนวัตกรรม ทนทาน และร่วมสมัยจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังสื่อถึงการร่วมสานพลังและจุดแข็งที่หลากหลาย ร่วมมือเพื่อสร้างภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่เข้มแข็ง ยืดหยุ่น ครอบคลุม และยั่งยืน สำหรับประชาชนรุ่นหลัง นอกจากนี้ ชะลอมยังเป็นสัญลักษณ์ของการค้า การเดินทาง ความเชื่อมโยงในภูมิภาค ซึ่งเป็นหัวใจของเอเปค

สัญลักษณ์การเป็นเจ้าภาพเอเปคปี 2565

ทั้งนี้เครื่องแต่งกายนายกรัฐมนตรีในการรับมอบตำแหน่งเจ้าภาพ APEC

จากนิวซีแลนด์ ปี 2564 สู่ ประเทศไทย ปี 2565

1. ไม้พาย “วากา” (Waka / Paddle)

 ทำจากไม้สนแดงโททาร่า (Totara)ของนิวซีแลนด์

ชาวเมารีใช้สำหรับพายเรือแคนูและใช้เป็นอาวุธในยามสงคราม

ไม้พายที่แกะสลักลวดลายสวยงามจะเป็นของผู้นำเท่านั้น

 2. สร้อยจี้หยก (Koru Pounamu)

ทำจากหยกนิวซีแลนด์ ภาษาเมารีเรียกว่า “พูนามู” (Pounamu)เปรียบเสมือนผู้พิทักษ์รักษาความสงบทางจิตวิญญาณ ให้พลังและอำนาจแก่ผู้นำ

สีเขียวของหยก คือ สีต้นกำเนิดของสิ่งมีชีวิต ความอุดมสมบูรณ์

ลักษณะขดม้วนของหยก เรียกว่า “โครู” (Koru) มาจากยอดอ่อนใบเฟิร์น แสดงถึงความเจริญงอกงาม

จี้หยกนี้เป็นสัญลักษณ์ของการเจริญเติบโตและฟื้นฟูของเอเปค

 3. ผ้าคลุมไหล่ (Garment)

ได้รับแรงบันดาลใจจากเสื้อคลุมของชนเผ่าเมารีที่เรียกว่า kakahu / korowai เป็นสัญลักษณ์ของผู้นำ

ลวดลายบนผืนผ้า หมายถึง การถักทอร่วมกันของผู้คนหลากหลายเชื้อชาติทั่วมหาสมุทรแปซิฟิกอันทรงพลัง

 ส่วนชะลอม ตราสัญลักษณ์การเป็นเจ้าภาพเอเปค ปี 2565 ของไทย

ชะลอมเป็นเครื่องจักสานของไทย ใช้เป็นภาชนะใส่สิ่งของต่างๆ และเป็นสิ่งของสัญลักษณ์การค้าขายของไทยมาแต่โบราณ เส้นตอกไม้ไผ่ที่สอดประสานกันทั้งแข็งแรงและยืดหยุ่น เหนียวแน่นและคงทน โอบอุ้มเศรษฐกิจภูมิภาคให้ “มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน” เส้นตอกไม้ไผ่สานกันเป็นชะลอม 21 ช่อง สื่อถึง 21 เขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปค ชะลอมสื่อหัวข้อหลัก “OPEN, CONNECT, BALANCE” ของการเป็นเจ้าภาพเอเปคปี 2564ของไทย ได้แก่

OPEN - ชะลอมสื่อถึงการค้าที่เปิดกว้าง

CONNECT - ชะลอมเป็นสิ่งบรรจุสินค้าหรือส่งของสำหรับใช้ในการเดินทาง และสื่อถึงความเชื่อมโยง

 BALANCE – ชะลอมทำจากวัสดุธรรมชาติเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับรูปแบบเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy- BCG) สีเส้นตอก 3 สี ได้แก่ สีน้ำเงิน สื่อถึง OPEN การเปิดกว้าง สีชมพู สื่อถึง CONNECT การสร้างความสัมพันธ์เชื่อมโยง และสีเขียว สื่อถึง BALANCE ความสมดุล

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

BRR โชว์ฟอร์มร้อนแรงต่อเนื่อง ทำกำไรสุทธิ 9 เดือนแรก 112.62 ล้านบาท เติบโต 93% 

 บมจ.น้ำตาลบุรีรัมย์’ หรือ BRR โชว์ผลการดำเนินงาน 9 เดือนแรกปีนี้ ทำฟอร์มร้อนแรงต่อเนื่อง มีกำไรสุทธิ 112.62 ล้านบาท หลังบริหารจัดการต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ และส่งมอบน้ำตาลในช่วงราคาน้ำตาลตลาดโลกยังอยู่ในเกณฑ์สูง ด้านผู้บริหารประเมินไตรมาสสุดท้ายโดดเด่น เริ่มบันทึกรายได้กลุ่ม New S Curve จากกลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อย พร้อมเตรียมเปิดรับผลผลิตอ้อยฤดูการผลิต 2564/65 เข้าหีบ คาดมีปริมาณอ้อย 2.4 ล้านตัน หวังดันผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) สูงกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม 

 นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-กันยายน 2564) บริษัทฯ สามารถผลักดันการเติบโตอย่างก้าวกระโดดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีกำไรสุทธิ 112.62 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 93% ขณะที่รายได้รวมอยู่ที่ 2,970.56 ล้านบาท ปรับตัวลง 15% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จากปริมาณการจำหน่ายน้ำตาลที่ลดลง รวมทั้งจากปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และค่าขนส่งที่สูงขึ้น จึงทำให้คู่ค้าชะลอการรับมอบ ทำให้การส่งมอบน้ำตาลให้แก่คู่ค้าลดลง อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์ราคาน้ำตาลในตลาดโลกโดยเฉลี่ยยังอยู่ในเกณฑ์สูงหรืออยู่ที่ 18-19 เซนต์ต่อปอนด์ ทำให้ความสามารถทำกำไรที่ดี รวมถึงการบริหารจัดการด้านค่าใช้จ่ายการด้านการขายและการบริหารที่มีประสิทธิภาพเป็นปัจจัยผลักดันการเติบโตดังกล่าว

 ขณะที่แนวโน้มผลการดำเนินงานไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ มั่นใจว่าจะรักษาอัตราการเติบโตที่ดีได้อย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทฯ จะเริ่มรับรู้รายได้จากกลุ่มธุรกิจ News S-Curve จากกลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อยที่ได้เริ่มผลิตสินค้าเพื่อส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกาตามคำสั่งซื้อ (OEM) ให้กับบริษัท Amercare Royal ในเฟสแรกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยคาดว่าในไตรมาส 4 นี้ จะส่งมอบผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์จากชานอ้อยได้มากกว่า 10 ล้านชิ้น ก่อนจะทยอยเพิ่มขึ้นในปีถัดไป ส่งผลกลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์จะมีสัดส่วนรายได้ที่เพิ่มขึ้นในอนาคต               

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังเตรียมเปิดรับผลผลิตอ้อยประจำฤดูการผลิตปี 2564/65 ในช่วงปลายปีนี้ โดยคาดว่าจะมีปริมาณผลผลิตอ้อยเข้าหีบ 2.4 ล้านตันอ้อย ทั้งนี้ BRR มีเป้าหมายตอกย้ำความแข็งแกร่งด้านประสิทธิภาพการหีบสกัดน้ำตาลให้มีผลผลิตต่อตันอ้อยอยู่ที่123 กิโลกรัมต่อตันอ้อย สูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม ส่งผลดีต่อการบริหารจัดการต้นทุนการผลิตต่อหน่วยต่ำและช่วยส่งเสริมความสามารถการทำกำไรจากธุรกิจหลักที่ดี รวมถึงยังช่วยสร้างความมั่นคงด้านผลผลิตชานอ้อยเพื่อนำไปผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อยในปีถัดไปอีกด้วย                    

“เราเชื่อว่าภาพรวมทั้งปีหลังจากกำไรสุทธิในช่วง 9 เดือนแรกและไตรมาส 3/64 ขยายตัวได้อย่างก้าวกระโดด สะท้อนศักยภาพการดำเนินธุรกิจน้ำตาลทรายของ BRR ยังคงแข็งแกร่งต่อเนื่องและการรับรู้รายได้จากบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อยที่รับรู้รายได้ในไตรมาสสุดท้ายปีนี้ จึงมั่นใจว่าปีนี้ BRR จะมีอัตราการเติบโตที่โดดเด่นมาก” นายอนันต์ กล่าว 

จาก https://www.banmuang.co.th  วันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

เกษตรฯจัดทำแผนแม่บท35ปี รับมือสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดสัมมนาออนไลน์ภายใต้หัวข้อ (COP26 Adaptation and Resilience Online Events) “Sustainable andInclusive Climate Adaptation andResilience : local leadership for a global goal” ผ่านระบบ Zoom meetingว่า ในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ ซึ่งรัฐบาลไทยได้กำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2007จัดทำแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 2015-2050 เป็นแผน 35 ปี และในปีนี้ รัฐบาลไทยกำหนดโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Bio-Circular -Green Economy Model (BCG EconomyModel) เป็นวาระแห่งชาติ

“ผมรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมเป็นเจ้าภาพการสัมมนาออนไลน์ในครั้งนี้ ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศภาคเกษตร มากว่า 12 ปี ตั้งแต่ปี 2009 มีการดำเนินโครงการความร่วมมือพหุภาคีกับ UNDP, UNEP, FAO และ ADB และ ได้ร่วมมือทวิภาคีกับสหราชอาณาจักร โดยมุ่งเน้นที่การปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ หรือ SDGs” ดร.ทองเปลว กล่าว

ทั้งนี้ ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ทางสหราชอาณาจักร จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติครั้งที่ 26 หรือการประชุม COP26 โดยมีผู้นำกว่า 196 ประเทศทั่วโลกรวมถึงไทยเข้าร่วม เพื่อหารือแนวทางที่แต่ละประเทศจะใช้ดำเนินการจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสัมมนาในวันนี้ จึงเป็นโอกาสที่จะได้รับฟังการดำเนินการของประเทศไทยในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคการเกษตร การนำเสนอ (Showcase) งานวิจัยด้านการจัดการทรัพยากรดิน ด้านปศุสัตว์และข้าว รวมทั้งการผลิตที่ชาญฉลาดที่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ(Climate Smart Agriculture) และเป็นเวทีที่สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูล ประสบการณ์ข้อเสนอแนะในการปรับตัว และเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับภาคการเกษตรต่อไป

จาก https://www.naewna.com วันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

สรท.ชง WTO แก้ปัญหาค่าระวางเรือ และค่าใช้จ่ายต่างๆ

สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ระบุ ได้เสนอองค์การการค้าโลกให้ตั้งคณะกรรมการติดตามปัญหาการขนส่งสินค้าทางทะเล และกำหนดกรอบการกำกับดูแลร่วมกับหน่วยงานประเทศสมาชิก

ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ชัยชาญ เจริญสุข ระบุ ได้เสนอองค์การการค้าโลกให้ตั้งคณะกรรมการติดตามปัญหาการขนส่งสินค้าทางทะเล และกำหนดกรอบการกำกับดูแลร่วมกับหน่วยงานประเทศสมาชิก เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมระหว่างสายการเดินเรือและผู้ส่งสินค้า โดยเฉพาะ SME เพราะโดยทั่วไปสายการเดินเรือจะมีอำนาจต่อรองเหนือกว่าในการกำหนดค่าระวาง และค่าใช้จ่ายต่างๆ

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

เกษตรฯจัดทำแผนแม่บท35ปี รับมือสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดสัมมนาออนไลน์ภายใต้หัวข้อ (COP26 Adaptation and Resilience Online Events) “Sustainable andInclusive Climate Adaptation andResilience : local leadership for a global goal” ผ่านระบบ Zoom meetingว่า ในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ ซึ่งรัฐบาลไทยได้กำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2007จัดทำแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 2015-2050 เป็นแผน 35 ปี และในปีนี้ รัฐบาลไทยกำหนดโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Bio-Circular -Green Economy Model (BCG EconomyModel) เป็นวาระแห่งชาติ

“ผมรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมเป็นเจ้าภาพการสัมมนาออนไลน์ในครั้งนี้ ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศภาคเกษตร มากว่า 12 ปี ตั้งแต่ปี 2009 มีการดำเนินโครงการความร่วมมือพหุภาคีกับ UNDP, UNEP, FAO และ ADB และ ได้ร่วมมือทวิภาคีกับสหราชอาณาจักร โดยมุ่งเน้นที่การปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ หรือ SDGs” ดร.ทองเปลว กล่าว

ทั้งนี้ ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ทางสหราชอาณาจักร จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติครั้งที่ 26 หรือการประชุม COP26 โดยมีผู้นำกว่า 196 ประเทศทั่วโลกรวมถึงไทยเข้าร่วม เพื่อหารือแนวทางที่แต่ละประเทศจะใช้ดำเนินการจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสัมมนาในวันนี้ จึงเป็นโอกาสที่จะได้รับฟังการดำเนินการของประเทศไทยในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคการเกษตร การนำเสนอ (Showcase) งานวิจัยด้านการจัดการทรัพยากรดิน ด้านปศุสัตว์และข้าว รวมทั้งการผลิตที่ชาญฉลาดที่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ(Climate Smart Agriculture) และเป็นเวทีที่สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูล ประสบการณ์ข้อเสนอแนะในการปรับตัว และเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับภาคการเกษตรต่อไป

จาก https://www.naewna.com วันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

สรท.ร่วมถกWTO แก้วิกฤติขนส่งสินค้าทางทะเล

สรท.ร่วมถก WTO   ยกระดับปัญหาวิกฤตการขนส่งสินค้าทางทะเล กระทบจากวิกฤตการขนส่งสินค้าทางทะเล ต่อการส่งออกไทยและระบบเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเฉพาะค่าระวางเรือ7-10เท่า

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)เข้าร่วมประชุมออนไลน์ในหัวข้อ COVID-19 and Rising Shipping Rates: What Are the Factors in Play and What Can Be Done? ร่วมกับนางเอ็นโกซี โอคอนโจ-อิเวียลา ผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก(WTO) และนางแอนนาเบล กอนซาเลซ รองผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก และแลกเปลี่ยนความเห็นร่วมกับตัวแทนจากชาติสมาชิก อาทิ สหรัฐอเมริกา จีน สิงคโปร์ มอริเชียส ฮอนดูรัส และมองโกเลีย

ทั้งนี้ ประธาน สรท. ได้ชี้แจงต่อองค์การการค้าโลกถึงสถานการณ์ปัญหาและผลกระทบจากวิกฤตการขนส่งสินค้าทางทะเล ต่อการส่งออกไทยและระบบเศรษฐกิจทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น การปรับขึ้นของค่าระวางเรือประมาณ 7-10 เท่า ในเส้นทางเดินเรือหลัก ซึ่งส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมเป็นวิกฤติระดับโลก ส่งผลต่อการปรับขึ้นของมูลค่าของสินค้า ซัพพลายเชนภาคการผลิตเริ่มไม่เพียงพอต่ออุปสงค์ที่เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลกต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี 2021

ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อผู้ส่งออกไทยโดยเฉพาะ SME การแข่งขันด้านราคาโดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ส่งออกสินค้าเกษตรจะได้รับผลกระทบค่อนข้างมากและเป็นสินค้าส่งออกพื้นฐานที่สำคัญของไทย ผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงิน (Cash flow) รวมถึงปัญหาการพัฒนาประสิทธิภาพท่าเรือของไทย (Port efficiency) ทั้งในประเด็นแรงงานและเครื่องมืออำนวยความสะดวก ที่ใช้ในการบริหารจัดการยังไม่เพียงพอส่งผลให้เกิดปัญหาความแออัดบริเวณท่าเรือ นอกจากนี้ยังมีปัญหาสายเรือไม่สามารถจัดสรรตู้คอนเทนเนอร์และระวางเรือให้ตามสัญญาที่ได้ลงนามไว้ เป็นต้น

พร้อมกันนี้ ได้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาในเวที WTO โดยขอให้องค์การการค้าโลกมีการตั้งคณะกรรมการ “Fair Trade Committee” เพื่อติดตามสถานการณ์ปัญหาและกำหนดกรอบการกำกับดูแล (Guideline) ร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลด้านการแข่งขันทางการค้าของประเทศสมาชิก เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมระหว่างสายการเดินเรือและผู้ส่งสินค้าโดยเฉพาะ SME โดยทั่วไปสายเรือจะมีอำนาจต่อรองที่เหนือกว่าในการกำหนดปริมาณเรือ ระวางสินค้า ค่าระวาง และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการขนส่งสินค้าทางทะเล การควบคุมการปฏิบัติตาม Service Contract อย่างเป็นรูปธรรมจะช่วยผู้ส่งออกรวมทั้ง SME ทำให้สายเรือสามารถรักษาระดับคุณภาพบริการการขนส่งสินค้าทางทะเลที่สามารถตอบสนองการพัฒนาด้านการค้าระหว่างประเทศได้อย่างยั่งยืน เป็นรูปธรรมและสามารถดำเนินการกำกับดูแลได้ทั่วโลก

ทั้งนี้ ที่ประชุมมีความเห็นต่อแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็น การนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศมาปรับใช้ในเพื่อยกระดับประสิทธิภาพในการบริหารจัดการท่าเรือ และเชื่อมต่อกับการปฏิบัติงานของโครงสร้างพื้นฐานและอุปกรณ์ขนถ่ายสินค้าในท่าเรือ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างเจ้าของสินค้า ผู้ขนส่ง สายเรือ ท่าเรือ หรือหน่วยงานภาครัฐที่ออกใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าส่งออก เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าให้สอดคล้องกับความตกลงด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO’s Trade Facilitation Agreement: WTO’s TFA) และลดปัญหาความล่าช้าของเรือและความแออัดในท่าเรือ และ ในระยะยาวต้องเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มศักยภาพท่าเรือให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าที่เพิ่มมากขึ้น ลดการติดขัดในการปฏิบัติงานและความแออัดของท่าเรือซึ่งนำไปสู่ความล่าช้าในการหมุนเวียนตู้สินค้าทั่วโลกซึ่งนำไปสู่ปัญหาตู้สินค้าขาดแคลน รวมถึงการส่งเสริมของภาครัฐ โดยเฉพาะการช่วยเหลือ SMEs ด้านเงินทุน และการอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการขนส่ง อาทิ การส่งเสริมและเร่งรัดให้เกิดเชื่อมโยงของท่าเรือภายในภูมิภาค การอำนวยความสะดวกในการรวบรวมสินค้าของผู้ประกอบการรายย่อยเพื่อเพิ่มอำนาจในการต่อรองกับสายเรือ 4) ขอให้มีมาตรการและกลไกช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรมและมีผลผูกพันทางกฎหมายเพื่อให้แต่ละประเทศตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าวที่ส่งผลกระทบทั่วโลก

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

‘เงินบาท’ วันนี้เปิด‘แข็งค่า’ ที่32.85 บาทต่อดอลลาร์

“เงินบาท”เปิดตลาดวันนี้(12พ.ย.) แข็งค่าที่32.85 บาทต่อดอลลาร์ “กรุงไทย” ชี้ทิศทางเงินบาทยังผันผวนต่อในกรอบกว้าง เริ่มเห็นฟันด์โฟลว์ขายยทำกำไรทองคำไหลเข้ามาเก็งกำไรบอนด์ระยะสั้นแทน หวังการฟื้นตัวเศรษฐกิจ มองกรอบเงินบาทวันนี้ที่ 32.75-32.90 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาท เปิดเช้านี้(12พ.ย.)  ที่ระดับ  32.85 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้น จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  32.93 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.75-32.90 บาทต่อดอลลาร์

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทยังคงแกว่งตัวในกรอบกว้างต่อ เพราะแม้เงินบาทอาจมีแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ แต่เงินบาทยังพอได้แรงหนุนจากโฟลว์ขายทำกำไรทองคำ รวมถึง ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่อาจเข้ามาเก็งกำไรแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ผ่านการซื้อบอนด์ระยะสั้น

เราประเมินว่า จุดที่อาจจะเริ่มเห็นนักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาเก็งกำไรเงินบาทอีกครั้ง คือช่วงแนวต้านใกล้ระดับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งอาจเห็นสัญญาณดังกล่าวผ่านยอดซื้อสุทธิบอนด์ระยะสั้นที่อาจเพิ่มสูงขึ้นได้

อย่างไรก็ดี เราเริ่มเห็นปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเติมที่อาจยังคงหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อ หรือ ทรงตัวในระดับ 95 จุดสำหรับ Dollar Index (DXY) ได้ ก็คือ ปัญหาการระบาดหนักของ COVID ในช่วงฤดุหนาว ที่เริ่มเห็นยอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นทั้งในยุโรปและจีน  ซึ่งภาพดังกล่าวอาจหนุนให้เงินดอลลาร์โดยรวมแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ

นอกจากนี้ หากเงินบาทอ่อนค่าลง ก็อาจเผชิญแรงขายจากบรรดาผู้ส่งออกที่ขยับออเดอร์มาทยอยขายเงินดอลลาร์ในช่วง 33.00 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งอาจเริ่มเห็นนักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาเก็งกำไรเงินบาทแข็งค่าที่ระดับดังกล่าวอีกเช่นกัน ส่วนผู้นำเข้ายังรอทยอยซื้อเงินดอลลาร์ หากเงินบาทแข็งค่าแตะระดับ 32.60 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้เรามองว่า เงินบาทจะปรับโซนการแกว่งตัวมาอยู่ในกรอบ 32.60-33.00 บาทต่อดอลลาร์

ตลาดการเงินรีบาวด์กลับขึ้นมา หลังจากที่มีการปรับตัวลงหนักจากความกังวลแนวโน้มเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นและอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ดี นักลงทุนอาจจะยังไม่รีบกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น เนื่องจากประเด็นเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นอาจยังคงสร้างความผันผวนให้กับตลาดการเงินได้อยู่ หากรายงานข้อมูลเงินเฟ้อในระยะถัดไปยังออกมาสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้

อย่างไรก็ดี ในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดัชนี S&P500 รีบาวด์ขึ้นมาเล็กน้อย +0.06% ส่วนดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้นกว่า +0.52% ทั้งนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นจีนที่จดทะเบียนในสหรัฐฯ (ADRs) อาทิ Alibaba, JD, Pinduoduo ที่ได้แรงหนุนจากยอดขาย Singles Day 11-11 ซึ่งเราคาดว่าการปรับตัวขึ้นของหุ้นจีน ADRs ดังกล่าวอาจช่วยพยุงบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นฮ่องกง รวมถึงตลาดหุ้นจีนได้

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX50 เดินหน้าปรับตัวขึ้นเล็กน้อย +0.21% หลังเงินยูโร (EUR) ยังคงอ่อนค่าลงต่อเนื่องแตะระดับ 1.144 ดอลลาร์ต่อยูโร ซึ่งจะส่งผลดีต่อหุ้นของบริษัทที่มียอดขายทั่วโลกต่าง ทั้งนี้ ตลาดหุ้นยุโรป ได้แรงหนุนจากการรีบาวด์ขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคฯ อาทิ  Infineon Tech. +1.8%, ASML +1.5%

ในฝั่งตลาดบอนด์ แม้ว่าจะเป็นวันหยุดในฝั่งตลาดบอนด์สหรัฐฯ แต่ผู้เล่นในตลาดยังคงมีความกังวลปัญหาเงินเฟ้ออยู่ ดังจะเห็นได้จากการที่สัญญาณฟิวเจอร์ของบอนด์สหรัฐฯ สะท้อนว่า บอนด์ยีลด์ยังสามารถปรับตัวสูงขึ้นได้ต่อ ซึ่งเราคาดว่า หากตลาดกลับมาซื้อ ขาย ตามปกติ อาจเห็นแรงขายบอนด์สหรัฐฯ เพิ่มเติมกดดันให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นต่อได้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบให้ตลาดหุ้นผันผวนตามได้เช่นกัน โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มเทคฯ

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ยังคงเดินหน้าแข็งค่าขึ้นหนักเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องสู่ระดับ 95.17 จุด ซึ่งเป็นจุดสูงสุดใหม่นับตั้งแต่ช่วงกลางปี 2020 โดยเงินดอลลาร์ยังคงได้แรงหนุนจากความกังวลปัญหาเงินเฟ้อ รวมถึงแนวโน้มสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในฝั่งยุโรป ที่อาจกดดันให้เศรษฐกิจยุโรปฟื้นตัวในอัตราที่ชะลอและทำให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ไม่สามารถใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดได้เร็วกว่าเฟด

นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากความต้องการหลุมหลบภัย (Safe Haven) ท่ามกลาง บรรยากาศความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ ยุโรป และรัสเซีย บนภูมิภาคยุโรปตะวันออก หลังจากที่สหรัฐฯ ออกมาเตือนยุโรปว่า รัสเซียได้สะสมกำลังทหารและอาจบุกโจมตียูเครน แบบที่รัสเซียเคยยึดคาบสมุทรไครเมียในปี 2014  อนึ่ง แม้ว่า เงินดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง แต่กลับไม่ได้กดดันราคาทองคำมากนัก โดยราคาทองคำยังคงทรงตัวใกล้ระดับ 1,860 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หนุนโดยความกังวลปัญหาเงินเฟ้อเป็นหลัก

อย่างไรก็ดี เราคงมองว่า ผู้เล่นในตลาดอาจทยอยขายทำกำไรราคาทองคำมากขึ้น เนื่องจาก การปรับตัวขึ้นของเงินเฟ้อหลังจากนี้อาจมีไม่มากนัก แต่บอนด์ยีลด์ยังสามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ ซึ่งในกรณีดังกล่าวอาจทำให้ Real Yield หรือ Nominal Yield - เงินเฟ้อ ปรับตัวสูงขึ้นได้ ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อราคาทองคำ

สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอจับตาแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าจะส่งสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะในส่วนการบริโภค สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (U of Michigan Consumer Sentiment) เดือนพฤศจิกายนที่จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 72.5 จุด

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

วาง 5 ยุทธศาสตร์ดันส่งออกปีหน้า

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ปี 2565 การส่งออกของไทยจะยังคงขยายตัวแน่นอน แต่คงเป็นการขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงเมื่อเทียบกับปี 2564 ที่มูลค่าส่งออกในแต่ละเดือนขยายตัวสูงมาก บางเดือนขยายตัวเป็นตัวเลข 2 หลักเมื่อเทียบกับปี 2563 สาเหตุที่ปี 2565 อาจขยายตัวแบบชะลอลง เพราะกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดว่าเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย เช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป จีน จะมีอัตราการเติบโตแบบชะลอตัวเมื่อเทียบกับปี 2564 ที่ฟื้นตัวหลังการระบาดของโควิด-19 และการเปิดประเทศ นอกจากนี้ ฐานมูลค่าส่งออกไทยแต่ละเดือนของปี 2564 สูงมาก จึงอาจทำให้มูลค่าแต่ละเดือนของปี 2565 ได้น้อยกว่า ทั้งนี้ ปีหน้ายังคงต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงที่อาจกระทบต่อการส่งออกของไทยคือค่าเงินบาท ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ยังคงต้องระมัดระวัง

สำหรับยุทธศาสตร์การส่งออกไทยปีหน้านั้น กรมได้จัดทำไว้ 5 แนวทาง ได้แก่ 1.การพัฒนาและสร้างโอกาสทางการตลาดให้กับสินค้าและธุรกิจบริการไทยที่ตอบสนองความต้องการเมกะเทรนด์ และนิวนอร์มอล, 2.รักษาตลาดเดิม เปิดตลาดใหม่ ฟื้นฟูตลาดเก่าที่สูญเสียและเพิ่มส่วนแบ่งตลาดด้วยการเจาะตลาดเมืองรอง, 3.ส่งเสริมเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม โดยส่งเสริม ผู้ประกอบการไทยใช้ช่องทางค้าขายออนไลน์ในการเข้าถึงผู้บริโภคทั่วโลก, 4.พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ในทุกระดับความพร้อม และ 5.ยกระดับการให้บริการด้านการค้าระหว่างประเทศของกรมโดยการนำดิจิทัลมาประยุกต์ใช้งานอย่างต่อเนื่อง

โดยการขับเคลื่อนการค้าในระยะยาว สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) อยู่ระหว่างการจัดทำยุทธศาสตร์การค้าไทย 5 ปี ซึ่งจะเป็นยุทธศาสตร์การค้าของไทยฉบับแรก ที่จะใช้ส่งเสริม ผลักดัน และในการเพิ่มมูลค่าการค้า ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ.

จาก https://www.thairath.co.th   วันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

4 องค์กร ชาวไร่อ้อย แถลงจุดยืน ราคาอ้อยขั้นต้น ต้อง  1,100 บาทต่อตัน เท่านั้น

โรงงานน้ำตาลแห่งประเทศไทย โพสเฟซบุ๊ก จุดยืน 4 องค์กรชาวไร่อ้อย คัดค้านราคาอ้อยขั้นต่ำที่ 1,040 บาท ต้อง 1,100 บาท/ตัน เท่านั้น ชี้ราคาปุ๋ยแพง แรงงานขาดแคลน ไม่สะท้อนต้นทุน เตรียมทำประชาพิจารณ์ นัด วันที่ 15 พ.ย.นี้ ก.อุตสาหกรรม

โรงงานน้ำตาลแห่งประเทศไทย  โพสเฟซบุ๊ก ระบุ คณะกรรมการบริหาร (กบ.) ตาม พรบ.อ้อยและน้ำตาลทราย 2527 มีมติเห็นชอบให้กำหนดราคาอ้อยขั้นต้น ปี 2564/65 ที่อัตรา 1,040 บาทต่อตัน โดยให้ สอน. ทำหนังสือเชิญ ผู้แทนชาวไร่อ้อยและผู้แทนสมาคมโรงงาน เพื่อทำประชาพิจารณ์ รับฟังความคิดเห็นและข้อคัดค้าน (ถ้ามี) ตามมาตรา 50 แห่ง พรบ.อ้อยและน้ำตาลทราย 2527

1. การทำประชาพิจารณ์ราคาอ้อยขั้นต้น ปี 2564/65 เป็นสิทธิที่ผู้เกี่ยวข้องสามารถคัดค้านได้ กำหนดในวันจันทร์ที่ 15 พฤศจิกายน 2564 เวลา 10:00 น. ณ ห้องประชุม สอน. กระทรวงอุตสาหกรรม

2.ข้อมูลต้นทุนปลูกอ้อย ที่หลายโรงงานน้ำตาลมีการจัดทำ พบปัญหาราคาปุ๋ย แรงงานขาดแคลนและต้นทุนค่าจ้างแรงงาน มีอัตราสูงขึ้นมาก ซึ่งไม่สะท้อนราคาอ้อยที่ กบ. นำเสนอ

 3.สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล ในช่วงฤดูหีบ ปี 2564/65 ในพื้นที่แหล่งอ้อย มีราคาสูงขึ้นมากกว่า 30 บาทต่อลิตร ทำให้ต้นทุนการขนส่ง สูงกว่าโครงสร้างต้นทุนที่เคยใช้คำนวณราคาอ้อย

4.ในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา พื้นที่ปลูกอ้อยหลายแห่ง ถูกน้ำท่วมเสียหาย (หรือปีก่อนนี้เกิดภัยแล้ง) เมื่อผลผลิตเสียหาย พี่น้องชาวไร่อ้อยจะขาดทุนและเกิดหนี้สิน แต่ไม่มีการนำความเสี่ยงนี้มาคำนวณ

5. ข้อเสนอของ 4 องค์กรชาวไร่อ้อย มีมตืขอให้ประกาศราคาอ้อยขั้นต้นที่ 1,100 บาทต่อตัน เพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และทำให้ชาวไร่อ้อยสามารถฟื้นตัวจากภาวะราคาอ้อยตกต่ำมากกว่า 3 ปี

6. ราคาอ้อยขั้นต้น 2564/65 หลังจากได้มีการทำประชาพิจารณ์แล้ว จะต้องนำเสนอต่อคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เพื่อรับรอง ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564

หมายเหตุ : ตัวแทนพี่น้องชาวไร่อ้อย 4 องค์กร ประกอบด้วย สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย สหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน สมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

รัฐบาลเดินหน้าแก้ปัญหาราคาปุ๋ยครบวงจร

รัฐบาลเดินหน้าแก้ปัญหาราคาปุ๋ยครบวงจร ก.เกษตรดันปุ๋ยสั่งตัด-อินทรีย์-ชีวภาพ ช่วยเกษตรกรลดต้นทุนระยะยาวได้จริง

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลไม่นิ่งนอนใจในการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากราคาปุ๋ยเคมีที่สูงขึ้น และได้มีการดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาทั้งแบบเร่งและแผนระยะยาว โดยตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดทำโครงการ “พาณิชย์ลดราคา! ปุ๋ยช่วยเกษตรกร” มีปุ๋ยเคมีเข้าร่วมโครงการ 84 สูตร รวม4.5 ล้านกระสอบ มีการสั่งซื้อจากสถาบันเกษตรกรกว่า 2.2 ล้านกระสอบแล้ว สำหรับแผนระยะยาว คือการส่งเสริมเกษตรกรให้ใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน (ปุ๋ยสั่งตัด) เป็นการผสมแม่ปุ๋ยให้ตรงกับสภาพดินและความต้องการของพืช รวมถึงส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยแบบผสมผสาน ซึ่งจะช่วยลดค่าปุ๋ยเคมีได้มากและทำให้ต้นพืชแข็งแรง

ทั้งนี้ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้ขับเคลื่อน “โครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน (One Stop Service)” มาระยะหนึ่งแล้ว มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการวิเคราะห์ดินและใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน หรือที่เกษตรกรเรียกว่า “ปุ๋ยสั่งตัด” โดยรัฐสนับสนุนชุดตรวจวิเคราะห์ดิน แม่ปุ๋ย และเครื่องผสมปุ๋ย ผ่านกลไกการดำเนินงานของศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) ของกรมส่งเสริมการเกษตร ในพื้นที่ 394 ศูนย์ ใน 63 จังหวัด  ตอนนี้มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯแสนกว่าราย คิดเป็นพื้นที่รวม 1.3 ล้านไร่ ใช้ปุ๋ยสั่งตัดจำนวน 6 แสนไร่ ลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีลงร้อยละ 45 ลดต้นได้ร้อยละ 37 คิดเป็นมูลค่าเกือบ 600 ล้านบาท และกรมฯกำลังเสนอขอดำเนินงานโครงการฯ  ระยะที่ 2 มีศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน แจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการแล้ว  จำนวน 299 ศูนย์ ใน 58 จังหวัด  เกษตรกร 5.2 หมื่นราย ครอบคลุมพื้นที่ 2.5 แสนไร่ 

มากไปกว่านั้น กระทรวงเกษตรฯ ได้กำหนดแผนบริหารจัดการปุ๋ย ปี 2565 – 2569 การดำเนินงานจะครอบคลุมการส่งเสริมการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน การใช้ปุ๋ยให้ถูกชนิดและถูกวิธี การใช้ปุ๋ยแบบผสมผสาน การผสมปุ๋ยใช้เองให้ได้คุณภาพ เป็นต้น ตั้งเป้าปี 2565 ให้ศูนย์จัดการดินและปุ๋ยฯ สามารถช่วยเหลือเกษตรกรในการผลิตปุ๋ยสั่งตัด 1.88 แสนตัน ปุ๋ยอินทรีย์ 2.25 ล้านตัน ปุ๋ยชีวภาพ 1.02 ล้านตัน และยอดรวมของแผน 5 ปี (2565-2569) จะผลิตปุ๋ยสั่งตัด 2.42 ล้านตัน ปุ๋ยอินทรีย์ 16.32 ล้านตัน ปุ๋ยชีวภาพ 14.19 ล้านตัน จำนวนเกษตรกร 3.6 ล้านราย ครอบคลุมพื้นที่ 44.01 ล้านไร่  ซึ่งผลลัพธ์คือการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรได้มาก อีกทั้งลดการนำเข้าปุ๋ยเคมี ส่วนระยะยาวช่วยเพิ่มจำนวนเกษตรกรทีทำการเพาะปลูกในรูปแบบ “เกษตรปลอดภัย” ตามมาตฐานสากล GAP (Good Agricultural Practice) ซึ่งเป็นที่ต้องการทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

นางสาวรัชดา กล่าวเพิ่มว่า ยังมีแนวทางอื่นๆทีรัฐบาลอยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาปุ๋ยเคมีราคาแพง ซึ่งประกอบด้วย การส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตปุ๋ยโปแตชภายในประเทศ การแลกเปลี่ยนปุ๋ยไนโตรเจนและโปแตชกับประเทศมาเลเซีย การหาแหล่งแม่ปุ๋ยนำเข้าจากประเทศอื่นที่นอกเหนือจากที่เคยนำเข้าเดิม ทั้งนี้ได้จัดตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการต่างประเทศ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อดูแลการขับเคลื่อนงานดังกล่าว

จาก https://tna.mcot.net  วันที่ 11 พฤศจิกายน 2564

BCG คืออะไร?ใครได้ประโยชน์ ผู้ประกอบการไทยควรเตรียมตัวอย่างไร

BCG คืออะไร ทำความรู้จัก  BCG  โมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาช่วยใน การขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

BCG คืออะไร   อาจจะเป็นคำถามที่หลายคนสงสัยเพราะ กระแสการพูดถึง BCG โมเดล ในช่วง1-2 ปีนี้ค่อนข้างมาแรง   ทั้งนี้ BCG  โมเดล เป็นโมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ให้เกิดการพัฒนาต่อยอดอย่างก้าวกระโดดและนำไปสู่ การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม ที่จะพัฒนาเศรษฐกิจ 3 มิติไปพร้อมๆ กัน ได้แก่    B คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio-economy) เน้นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่า ควบคู่กับการรักษาสมดุลสิ่งแวดล้อม โดยใช้เทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าและบริการให้มีนวัตกรรมและมีมูลค่าสูง

C คือ เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เน้นการใช้ทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด ใน 3 เรื่องหลัก คือ การใช้งานผลิตภัณฑ์เต็มวงจร (Reuse, Refurbish, Sharing) การแปรสภาพเพื่อกลับมาใช้ใหม่ (Recycle, Upcycle) และการออกแบบผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตเพื่อให้เกิดของเสียน้อยที่สุด (Zero-Waste)

G คือ เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) มุ่งเน้นการลดผลกระทบต่อโลกอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะ ด้านสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ BCG Economy Model ก่อให้เกิดการพัฒนาในหลายด้าน     เช่น ด้านเศรษฐกิจ ที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ถ้านำแนวคิดเรื่อง BCG มาใช้ จะทำให้คนตกงาน เริ่มหันกลับมาสนใจการทำงานในภาคการเกษตร ช่วยลดภาวะการว่างงาน และทำให้เกิดความก้าวหน้าด้านเกษตรอาหาร ด้านความมั่นคงทางด้านอาหาร ประเทศไทยมีความมั่นคงทางอาหารในระดับที่ดี ในแง่ของการผลิต ไทยผลิตอาหารได้เป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่ผลิตอาหารประเภทส่วนเกิน คือ กลุ่มอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรต เช่น แป้ง น้ำตาล ในจำนวนมาก ขณะที่อาหารประเภทโปรตีน กลับผลิตได้ไม่เพียงพอ จึงต้องพยายามปรับให้การผลิตอาหารประเภทส่วนเกินมาเป็นโปรตีน เพื่อสร้างโอกาสให้กับประเทศ ด้วยการนำแนวทาง BCG เข้าไปช่วย และทำให้กลุ่มคนทุกระดับ ได้รับสารอาหาร และสามารถเข้าถึงอาหารได้ เกิดความมั่นคงด้านอาหาร

ด้านพลังงาน ปัจจุบันประเทศไทยพึ่งพาแก๊สธรรมชาติมาก ใช้ในการผลิตไฟฟ้า 60% และมีแนวโน้มว่าจะต้องนำเข้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นมากในอนาคต BCG จะเข้ามาช่วยให้ไทยเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน จากเดิม 16.5% ในปี 2562 เพิ่มเป็น 20%

ด้านสุขภาพ ในแต่ละปีประเทศไทยนำเข้าผลิตภัณฑ์ทางด้านสุขภาพจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มยา และเวชภัณฑ์ ในปัจจุบันทางด้านการวิจัยและนวัตกรรมกำลังศึกษาเรื่องการผลิตยา เช่น ยารักษาโรคสะเก็ดเงิน ยาเพิ่มเม็ดเลือดแดง ยารักษาโรคมะเร็ง เพื่อลดการนำเข้ายาในอนาคต เช่นเดียวกับวัคซีนที่อยู่ในขั้นการทดลอง เพื่อนำมาใช้จริง   ด้านความยั่งยืน เรื่องของทรัพยากรธรรมชาติ คาดหวังว่าเมื่อทำ BCG ได้แล้ว จะสามารถลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติลงไป อีกทั้งยังสามารถลดมลพิษ เช่น PM 2.5 ขยะ น้ำเสีย การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ดูแลสัตว์สูญพันธุ์   ด้านการท่องเที่ยว ในรูปแบบเดิมอาจทำให้ธรรมชาติสึกหรอ แต่เมื่อมีการวางแผนการท่องเที่ยวควบคู่ไปกับการดูแลธรรมชาติ จะทำให้รูปแบบการท่องเที่ยวเกิดความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์  อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ  เป้าหมายระยะ 5 ปี  คือพัฒนาผู้ประกอบการในทุกจังหวัดเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของแนวทาง BCG โดยความร่วมมือจากพาณิชย์จังหวัดและองค์กรที่เกี่ยวข้อง  เพิ่มมูลค่าธุรกิจด้วย BCG จำนวน 500 ราย  และเพิ่มมูลค่าส่งออกของสินค้าและบริการ BCG ในส่วนของเศรษฐกิจสร้างสรรค์และการต่อยอดนวัตกรรม 1,000 ล้านบาท (ในระยะเวลา 5 ปี)   นอกจากนี้จะผลักดันผู้ประกอบการ BCG ของไทยเป็นที่รู้จักทั่วโลก และประเทศไทยมีภาพลักษณ์ทางการค้าที่ดี โดยความร่วมมือจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศและองค์กรที่เกี่ยวข้อง

สำหรับในปี 65 โอกาส ขยายทางการค้า กรมเดินหน้า ผลักดัน BCG Heroes ในตลาดที่มีกำลังซื้อและผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญสิ่งแวดล้อม ได้แก่ในช่วงเดือน กุมภาพันธ์ 2565   เจาะตลาดเกาหลี ตอกย้ำความเชื่อมั่นสินค้า Eco Thai ที่ได้เริ่มเข้าไปบุกตั้งแต่ปี 2563 อย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมาได้รับการตอบรับจากตลาดดี และผู้บริโภคเกาหลีเองต้องปรับตัวจากกฏระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่รัฐบาลกำหนดเพิ่มขึ้น  เดือนเมษายน 2565   เจาะตลาดอิตาลี ในงาน Milan Design Week    เดือนพฤษภาคม 2565  ในเวที APEC นำเสนอตัวอย่างความสำเร็จของผู้ประกอบการและนโยบายการส่งเสริมของกระทรวงพาณิชย์ในโอกาสที่ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุม APEC   เดือนกรกฏาคม 2565  BCG เจาะตลาดออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ สร้างภาพลักษณ์ทางการค้าที่ดีของไทยและประชาสัมพันธ์เผยแพร่สินค้าช่วยลดโลกร้อนของไทยให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มผู้บริโภคมากยิ่ง    เดือนสิงหาคม-กันยายน 2565  BCG เจาะตลาดยุโรป (อังกฤษ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์) เปิดตัวสินค้า BCG ของไทยในเวทีงานแสดงสินค้าที่เน้นแนวคิดด้าน “รักษ์โลก”

เห็นอย่างนี้แล้ว  ผู้ประกอบการไทยคงต้องเตรียมตัวและพัฒนาศักยภาพสินค้าเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาดโลกกับโมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาช่วยใน การขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

จาก https://www.thansettakij.com   วันที่ 10 พฤศจิกายน 2564

เกษตรเคาะแผนปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2564/65 เฉียด 12 ล้านไร่

กระทรวงเกษตรฯเคาะแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2564/65 รวมแตะ 12 ล้านไร่ ข้าวสูงสุด 9 ล้านไร่ เผยบางพื้นที่มีปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำค่อนข้างน้อย จำเป็นต้องงดการจัดสรรน้ำในการเพาะปลูกข้าวรอบที่ 2 พร้อมลุยต่อโครงการปลูกข้าวโพดหลังนา ทดแทนข้าวช่วงแล้ง

วันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเข้าสู่ฤดูกาลเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง (1 พฤศจิกายน-30 เมษายน) ประกอบกับแผนการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง และการเตรียมพร้อมรับมือปี 2564/65 ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการบริหารการขับเคลื่อนงานนโยบายสำคัญและการแก้ไขปัญหาภาคเกษตร โดยมี นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมได้มีมติเห็นชอบแผนดังกล่าว ซึ่งกำหนดให้การบริหารจัดการน้ำมีความสอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน ตามลำดับความสำคัญของกิจกรรมการใช้น้ำ

ได้แก่ 1) จัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคในช่วงฤดูแล้ง 2) จัดสรรน้ำเพื่อการรักษาระบบนิเวศในช่วงฤดูแล้ง 3) สำรองน้ำไว้สำหรับการใช้น้ำในช่วงต้นฤดูฝน เพื่ออุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ เดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 4) จัดสรรน้ำเพื่อการเกษตรกรรม และ 5) จัดสรรน้ำเพื่อการอุตสาหกรรมกรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้กำหนดแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2564/65 ตามปริมาณน้ำต้นทุนและความเหมาะสมของพื้นที่ เพื่อให้เกษตรกรสามารถเพาะปลูกพืชได้เหมาะสมกับศักยภาพพื้นที่ ดังนี้

กำหนดแผนพื้นที่การเพาะปลูกทั้งประเทศ จำนวน 11.65 ล้านไร่ แบ่งเป็นข้าวรอบที่ 2 จำนวน 9.02 ล้านไร่ โดยเป็นพื้นที่ในเขตชลประทาน 6.41 ล้านไร่ และนอกเขตชลประทาน 2.61 ล้านไร่ และพืชไร่พืชผัก จำนวน 2.63 ล้านไร่ โดยเป็นพื้นที่ในเขตชลประทาน 0.54 ล้านไร่ และนอกเขตชลประทาน 2.09 ล้านไร่ สำหรับลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด พื้นที่รวม 4.98 ล้านไร่

แบ่งเป็นข้าวรอบที่ 2 จำนวน 4.26 ล้านไร่ โดยเป็นพื้นที่ในเขตชลประทาน 2.81 ล้านไร่ และนอกเขตชลประทาน 1.45 ล้านไร่ และพืชไร่พืชผัก จำนวน 0.72 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ในเขตชลประทาน 0.06 ล้านไร่ และนอกเขตชลประทาน 0.66 ล้านไร่ และลุ่มน้ำแม่กลอง 7 จังหวัด พื้นที่รวม 1.10 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าวรอบที่ 2 จำนวน 0.86 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ในเขตชลประทาน 0.84 ล้านไร่ และนอกเขตชลประทาน 0.02 ล้านไร่ และพืชไร่พืชผัก จำนวน 0.24 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ในเขตชลประทาน 0.17 ล้านไร่ และนอกเขตชลประทาน 0.07 ล้านไร่

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า การจัดสรรน้ำเพื่อการเกษตรได้มีการวางแผนการบริหารจัดการน้ำแบบยั่งยืน ซึ่งเป็นการจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำที่มีอยู่ และกำกับติดตามสถานการณ์การเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2564/65 ของเกษตรกร ให้เป็นไปตามแผนควบคุมการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งที่กำหนดไว้ เนื่องจากในบางพื้นที่มีปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำค่อนข้างน้อย จึงมีความจำเป็นต้องงดการจัดสรรน้ำในการเพาะปลูกข้าวรอบที่ 2 ในช่วงฤดูแล้ง ปี 2564/65 ในบางพื้นที่ และสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกพืชใช้น้ำน้อย หรือเข้าร่วมโครงการต่าง ๆ ของรัฐ

เช่น โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย (หลังนา) ปี 2565 โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา ปี 2565 เป็นต้น เพื่อเป็นทางเลือกให้กับเกษตรกรในการปลูกพืชอื่นทดแทนการปลูกข้าวรอบที่ 2 โดยจะเร่งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ และด้านการตลาด ให้เกษตรกรรับทราบข้อมูลข่าวสารด้านสถานการณ์น้ำในแต่ละพื้นที่อย่างชัดเจน แนวโน้มความต้องการของตลาด ราคา แหล่งรับซื้อพืชฤดูแล้ง และคำแนะนำให้เกษตรกรปฏิบัติดูแลรักษาพืชในช่วงฤดูแล้ง รวมทั้งการรักษาความชื้นและลดการเผาตอซังอีกด้วย

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 10 พฤศจิกายน 2564

สนค.เปิดโผกลุ่มสินค้ามาแรง เร่งยกระดับการแข่งขันส่งออกทำเงิน

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค.ได้ทำการวิเคราะห์ความสามารถในการส่งออกของไทยรายกลุ่มสินค้าจำนวน 4 กลุ่ม เพื่อสนับสนุนนโยบายเร่งรัดผลักดันการส่งออกสินค้าที่มีโอกาสสูงจากความต้องการในตลาดโลกของนายจุรินทร์ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ โดยพบว่ามีสินค้าหลายรายการที่มีโอกาสเติบโต เมื่อเทียบกับตลาดโลก และยังได้มีการจัดทำข้อเสนอแนะกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนการส่งออกในแต่ละกลุ่มด้วย

สินค้ากลุ่มแรกที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดี คือ กลุ่มเติบโต (โลกขยายตัว และไทยขยายตัว) ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลไฟฟ้าและส่วนประกอบ ยางและผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีเครื่องประดับและทองคำ พลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก เนื้อสัตว์ปรุงแต่ง ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ อาหารปรุงแต่ง ผักและผลไม้ปรุงแต่ง เครื่องสำอางและเอสเซนเชียลออยล์ เป็นต้น ถือเป็นกลุ่มที่ไทยควรยกระดับความสามารถในการแข่งขัน ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูง ไทยได้เปรียบด้านแหล่งวัตถุดิบ ทักษะแรงงาน และตลาดขยายตัวดี

กลุ่มสวนกระแส (โลกหดตัว แต่ไทยขยายตัว)ได้แก่ อากาศยาน ยานอวกาศและส่วนประกอบ นาฬิกา ผ้าถักแบบนิตหรือแบบโครเชต์ ปุ๋ย ดีบุกและของที่ทำด้วยดีบุก รถไฟหรือรถรางและส่วนประกอบ เยื่อไม้ ยาสูบ เป็นต้น เป็นสินค้าที่เติบโตท่ามกลางความเสี่ยง การขยายตัวของไทยในสินค้ากลุ่มนี้อาจจะไม่ยั่งยืน เนื่องจากทิศทางความต้องการในตลาดโลกชะลอลง

กลุ่มเสียโอกาส (โลกขยายตัว แต่ไทยหดตัว)ได้แก่ ธัญพืช เคมีภัณฑ์อินทรีย์ ผลิตภัณฑ์จากเหล็ก น้ำตาล ผักและผลไม้ปรุงแต่ง ปลาและสัตว์น้ำ พืชผักที่บริโภคได้ เป็นต้น เป็นสินค้ากลุ่มที่ท้าทาย ที่ไทยควรจะปรับกลยุทธ์เพื่อพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ฟื้นฟูความสามารถในการแข่งขัน ผลักดันเข้าสู่ตลาดที่มีโอกาสเติบโต

กลุ่มเฝ้าระวัง (โลกหดตัว และไทยหดตัว)ได้แก่ ยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องแต่งกายถักแบบนิตหรือแบบโครเชต์ เรือและสิ่งก่อสร้างลอยน้ำ เส้นใยสั้นประดิษฐ์ เกลือ รองเท้า หนังดิบ (นอกจากหนังเฟอร์) และหนังฟอก เป็นต้น เป็นกลุ่มที่การค้าในตลาดโลกชะลอลงกว่าในอดีต จากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการค้าโลกที่สำคัญ เช่นการดิสรัปชันของเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่อุปทานโลก พฤติกรรมการใช้ทรัพยากรหมุนเวียน กระแสเศรษฐกิจสีเขียว เป็นต้น จึงควรติดตามสถานการณ์และวางแนวทางปรับตัว โดยเฉพาะสินค้าที่มีมูลค่าสูง เพื่อลดผลกระทบจากการลดลงของรายได้ภาคการส่งออก

หากจะสรุปให้ชัด พบว่า สินค้าที่ไทยมีความสามารถในการส่งออกและเติบโตตามความต้องการของโลก และคาดว่าจะเติบโตได้อีกหลังยุคโควิด-19 เช่น เครื่องจักรและส่วนประกอบ ยางและผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ พลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก เนื้อสัตว์ปรุงแต่ง ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ อาหารปรุงแต่ง เครื่องสำอางและเอสเซนเชียลออยล์ อาหารสัตว์ของปรุงแต่งจากธัญพืช และผลิตภัณฑ์จากธัญพืช เป็นต้น

“การส่งออกสินค้าในกลุ่มนี้ มีตัวเลขการส่งออกในช่วง 8 เดือนของปี 2564 (มกราคม-สิงหาคม) ยืนยันว่าเป็นสินค้าที่ไทยมีความสามารถในการแข่งขันและมีทิศทางเติบโตสอดคล้องกับความต้องการของโลก โดยเครื่องจักรและส่วนประกอบ เพิ่ม18.8% ยางและผลิตภัณฑ์ยาง เพิ่ม 39.3% พลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก เพิ่ม 33.4% ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง เพิ่ม 61.7% ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เพิ่ม 30.6%อาหารปรุงแต่ง เพิ่ม 4.9% เครื่องสำอางและเอสเซนเชียลออยล์ เพิ่ม 2.1% อาหารสัตว์ เพิ่ม 19.4%ของปรุงแต่งจากธัญพืช เพิ่ม 3.7% และผลิตภัณฑ์จากธัญพืช เพิ่ม 38.0%”นายรณรงค์กล่าว

จาก https://www.naewna.com  วันที่ 10พฤศจิกายน 2564

4องค์กรชาวไร่อ้อยยื่นเวทีประชาพิจารณ์ราคาอ้อยขั้นต้นปี’64/65วันที่15พ.ย.นี้ขอ1,100บ./ตัน

เวทีเปิดประชาพิจารณ์ราคาอ้อยขั้นต้นฤดูหีบปี 2564/65 ที่กำหนดเบื้องต้นเฉลี่ย 1,040 บาทต่อตัน 4 องค์กรชาวไร่อ้อยเตรียมยื่นข้อเสนอขอเป็น 1,100 บาทต่อตันเหตุราคาดังกล่าวไม่จูงใจท่ามกลางต้นทุนที่สูงขึ้นทั้งค่าปุ๋ย ราคาน้ำมันที่กระทบต่อการขนส่ง และการตัดอ้อยสดที่ต้องพึ่งพาการใช้รถตัดมากขึ้น จับตา”กอน.”เคาะ 17 พ.ย.ชี้ขาด

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และหัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อย เขต 7 เปิดเผยว่า การเปิดรับฟังความคิดเห็น(ประชาพิจารณ์)ราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2564/65 วันที่ 15 พ.ย.นี้ผ่านระบบ Zoom ซึ่งการคำนวณเบื้องต้นกำหนดราคาไว้เฉลี่ยทั่วประเทศ 10,40 บาทต่อตัน(10ซี.ซี.เอส) ตัวแทน 4 องค์กรชาวไร่อ้อยที่ประกอบด้วย สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน สหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และสมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย จะยื่นหนังสือพร้อมแถลงการณ์จุดยืนชาวไร่อ้อยทั่วประเทศที่ต้องการเสนอราคาอ้อยขั้นต้นเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 1,100 บาทต่อตัน(10ซี.ซี.เอส)

“ ราคาดังกล่าวเป็นราคาเฉลี่ยทั่วประเทศซึ่งหากประกาศแต่ละเขตจะไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับค่าความหวาน ซึ่งจากการหารือ 4 องค์กรชาวไร่อ้อยสรุปเห็นว่าในฤดูผลิตปีนี้ชาวไร่อ้อยได้เผชิญกับภาวะต้นทุนที่สูงขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะระดับราคาปุ๋ยที่สูงขึ้น รวมถึงราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนเกือบเท่าตัวซึ่งจะมีผลกระทบต่อการตัดอ้อยสดที่ส่วนหนึ่งต้องพึ่งพารถตัด และรวมไปถึงค่าขนส่งอ้อยที่จะสูงขึ้นอีกจึงเห็นว่าระดับ 10,40 บาทต่อตันต่ำเกินไป ซึ่งท้ายสุดราคาจะออกมาอย่างไรจะอยู่ที่การประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.) ที่นัดหารือวันที่ 17 พ.ย.นี้จะเห็นชอบต่อไป”นายนราธิปกล่าว

นอกจากนี้กอน.จะต้องกำหนดวันเปิดหีบในฤดูหีบปี 2564/65 โดยเบื้องต้นชาวไร่คาดว่าจะเป็นช่วงหลังวันที่ 15 ธันวาคม2564เนื่องจากพบว่าปริมาณฝนที่มากทำให้หลายพื้นที่ยังไม่แห้งพอที่จะนำรถตัดอ้อยได้ แต่ทั้งนี้ก็คงต้องอยู่ที่การหารือ อย่างไรก็ตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อ 14 พ.ค.2564 ได้เห็นชอบตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดเพื่อลดฝุ่น PM2.5 ที่กำหนดให้ฤดูการผลิตปี 2564/65 จะต้องมีอ้อยไฟไหม้เข้าหีบไม่เกิน 10% ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะมีการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยทุกรายที่ตัดอ้อยสดคุณภาพดีส่งโรงงานในอัตรา 120 บาทต่อตันอีกส่วนหนึ่งโดยกรอบดังกล่าวจะต้องให้กอน.เห็นชอบเช่นกัน

สำหรับการตัดอ้อยสดส่วนหนึ่งจะต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าวโดยส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ในภาคตะวันออกซึ่งจากการที่รัฐบาลได้ทำการลงนาม(MOU)กับประเทศเพื่อนบ้านในการนำเข้าแรงงานมานั้นเบื้องต้นทำให้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานยังไม่มีมากนัก เนื่องจากการตัดอ้อยสดที่เป็นนโยบายของภาครัฐทำให้มีการพึ่งพาระบบเครื่องจักรมากขึ้นต่อเนื่องทำให้ลดการใช้แรงงานต่างด้าวมากขึ้นตามลำดับ แต่ทั้งนี้การใช้แรงงานต่างด้าวจะมากหรือน้อยก็อยู่ที่ปริมาณฝนด้วยหากระหว่างหีบมีฝนตกรถตัดอ้อยก็จะไม่สามารถลงพื้นที่ได้เท่ากับแรงงานคน

แหล่งข่าวจากโรงงานน้ำตาลทรายกล่าวว่า ระดับราคาที่เหมาะสมก็คงขึ้นอยู่กับกอน.จะพิจารณาเห็นชอบโดยในฤดูหีบปี 2564/65 โรงงานน้ำตาลทรายได้ทำการประกันรับซื้อราคาอ้อยสดขั้นต่ำระดับ 1,000 บาทต่อตันและได้ประกาศต่อเนื่องถึงปีการผลิต 2565/66 เนื่องจากระดับราคาน้ำตาลทรายดิบที่จะเป็นปัจจัยสำคัญในการคำนวณราคาอ้อยมีแนวโน้มที่สูงเฉลี่ย 19 เซนต์ต่อปอนด์ในฤดูผลิตปี 2564/65 ส่งผลให้ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายฤดูหีบปี 2563/64 สูงกว่าขั้นต้นที่กำหนดไว้ 920 บาทต่อตัน(10ซี.ซี.เอส) โดยกอน.จะมีการเห็นชอบประกาศราคาต่อไป แต่โรงงานบางแห่งได้มีการสำรองจ่ายให้ชาวไร่อ้อยเพื่อนำไปเสริมสภาพคล่องช่วงเปิดหีบบ้างแล้ว

จาก https://mgronline.com  วันที่ 9 พฤศจิกายน 2564

ส่งออกสินค้า 4 กลุ่ม  “พาณิชย์”ชี้เป้าเพิ่มขีดการแข่งขัน

ส่งออกสินค้าไทย พบมีโอกาสขยายการส่งออกได้เพิ่มขึ้น เร่งยกระดับความสามารถในการแข่งขัน พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสฟื้นฟูความสามารถ หวังให้ไทยยังแข่งขันได้ต่อไป 

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค.ได้ทำการวิเคราะห์ความสามารถในการส่งออกของไทยรายกลุ่มสินค้าจำนวน 4 กลุ่ม โดยพบว่ามีสินค้าหลายรายการที่มีโอกาสเติบโต เมื่อเทียบกับตลาดโลก และยังได้มีการจัดทำข้อเสนอแนะกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนการส่งออกในแต่ละกลุ่มด้วย   

โดยสินค้ากลุ่มแรกที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดี คือ กลุ่มเติบโต (โลกขยายตัว และไทยขยายตัว) ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลไฟฟ้าและส่วนประกอบ ยางและผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีเครื่องประดับและทองคำ พลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก เนื้อสัตว์ปรุงแต่ง ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ อาหารปรุงแต่ง ผักและผลไม้ปรุงแต่ง เครื่องสำอางและเอสเซนเชียลออยล์ เป็นต้น ถือเป็นกลุ่มที่ไทยควรยกระดับความสามารถในการแข่งขัน ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูง ไทยได้เปรียบด้านแหล่งวัตถุดิบ ทักษะแรงงาน และตลาดขยายตัวดี

กลุ่มสวนกระแส (โลกหดตัว แต่ไทยขยายตัว) ได้แก่ อากาศยาน ยานอวกาศและส่วนประกอบ นาฬิกา ผ้าถักแบบนิตหรือแบบโครเชต์ ปุ๋ย ดีบุกและของที่ทำด้วยดีบุก รถไฟหรือรถรางและส่วนประกอบ เยื่อไม้ ยาสูบ เป็นต้น เป็นสินค้าที่เติบโตท่ามกลางความเสี่ยง การขยายตัวของไทยในสินค้ากลุ่มนี้อาจจะไม่ยั่งยืน เนื่องจากทิศทางความต้องการในตลาดโลกชะลอลง

กลุ่มเสียโอกาส (โลกขยายตัว แต่ไทยหดตัว) ได้แก่ ธัญพืช เคมีภัณฑ์อินทรีย์ ผลิตภัณฑ์จากเหล็ก น้ำตาล ผักและผลไม้ปรุงแต่ง ปลาและสัตว์น้ำ พืชผักที่บริโภคได้ เป็นต้น เป็นสินค้ากลุ่มที่ท้าทาย ที่ไทยควรจะปรับกลยุทธ์เพื่อพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ฟื้นฟูความสามารถในการแข่งขัน ผลักดันเข้าสู่ตลาดที่มีโอกาสเติบโต

กลุ่มเฝ้าระวัง (โลกหดตัว และไทยหดตัว) ได้แก่ ยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องแต่งกายถักแบบนิตหรือแบบโครเชต์ เรือและสิ่งก่อสร้างลอยน้ำ เส้นใยสั้นประดิษฐ์ เกลือ รองเท้า หนังดิบ (นอกจากหนังเฟอร์) และหนังฟอก เป็นต้น เป็นกลุ่มที่การค้าในตลาดโลกชะลอลงกว่าในอดีต จากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการค้าโลกที่สำคัญ เช่น การดิสรัปชันของเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่อุปทานโลก พฤติกรรมการใช้ทรัพยากรหมุนเวียน กระแสเศรษฐกิจสีเขียว เป็นต้น จึงควรติดตามสถานการณ์และวางแนวทางปรับตัว โดยเฉพาะสินค้าที่มีมูลค่าสูง เพื่อลดผลกระทบจากการลดลงของรายได้ภาคการส่งออก

“สินค้าที่ไทยมีความสามารถในการส่งออกและเติบโตตามความต้องการของโลก และคาดว่าจะเติบโตได้อีกหลังยุคโควิด-19 เช่น เครื่องจักรและส่วนประกอบ ยางและผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ พลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก เนื้อสัตว์ปรุงแต่ง ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ อาหารปรุงแต่ง เครื่องสำอางและเอสเซนเชียลออยล์ อาหารสัตว์ ของปรุงแต่งจากธัญพืช และผลิตภัณฑ์จากธัญพืช “

 ส่วนการส่งออกสินค้าในกลุ่มนี้ มีตัวเลขการส่งออกในช่วง 8 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-ส.ค.) ยืนยันว่าเป็นสินค้าที่ไทยมีความสามารถในการแข่งขันและมีทิศทางเติบโตสอดคล้องกับความต้องการของโลก โดยเครื่องจักรและส่วนประกอบ เพิ่ม 18.8% ยางและผลิตภัณฑ์ยาง เพิ่ม 39.3% พลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก เพิ่ม 33.4% ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง เพิ่ม 61.7% ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เพิ่ม 30.6% อาหารปรุงแต่ง เพิ่ม 4.9% เครื่องสำอางและเอสเซนเชียลออยล์ เพิ่ม 2.1% อาหารสัตว์ เพิ่ม 19.4% ของปรุงแต่งจากธัญพืช เพิ่ม 3.7% และผลิตภัณฑ์จากธัญพืช เพิ่ม 38.0%

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 9 พฤศจิกายน 2564

WTO เตรียมถกเข้มครั้งแรกในรอบ 4 ปี สิ้นเดือน พ.ย. นี้

WTO 164 ประเทศ เตรียมเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก ครั้งแรกในรอบ 4 ปี ตั้งเป้าสรุปการเจรจาความตกลงการอุดหนุนประมง ลดการอุดหนุนภายในสินค้าเกษตร พร้อมถกเรื่องการปฏิรูปและเพิ่มบทบาทของ WTO ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ในช่วงปลายปีนี้

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า องค์การการค้าโลก (WTO) กำหนดจัดการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกครั้งที่ 12 (MC12) ขึ้นระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน - 3 ธันวาคม 2564 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส โดยจะเป็นการประชุมระดับสูงสุดของ WTO ที่จัดขึ้นในรอบ 4 ปี นับจากการประชุม ครั้งที่ 11 เมื่อปี 2560 ซึ่งเดิมทีมีแผนจะจัดการประชุม MC12 ขึ้นในปี 2563 ณ สาธารณรัฐคาซัคสถาน แต่ต้องเลื่อนออกไปเนื่องจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19

โดยล่าสุด นางเอ็นโกซี โอคอนโจ อิเวลา ผู้อำนวยการใหญ่ WTO ร่วมกับรัฐมนตรีการค้าคาซัคสถาน และประธานคณะมนตรีใหญ่ WTO ได้ออกหนังสือเชิญไปยังรัฐมนตรีการค้าประเทศสมาชิก WTO ทั้ง 164 ประเทศแล้ว เพื่อเชิญเข้าร่วมประชุมที่นครเจนีวา ภายใต้มาตรการและแนวทางปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยทางสาธารณสุข โดยมีการจำกัดจำนวนผู้แทนที่เข้าร่วมในห้องประชุมใหญ่ การรักษาระยะห่าง และการสวมหน้ากากอนามัย เป็นต้น

สำหรับการประชุมรัฐมนตรี MC12 ที่กำลังจะจัดขึ้นนั้น สมาชิก WTO ได้ตั้งเป้าที่จะสรุปผลการเจรจาในประเด็นสำคัญ เช่น (1) จัดทำความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนประมง ซึ่งสมาชิกอยู่ระหว่างเจรจาอย่างเข้มข้นเพื่อให้สามารถสรุปผลการเจรจาได้ตามกำหนด (2) หาข้อสรุปการเจรจาเรื่องเกษตรในส่วนการลดการอุดหนุนภายในสินค้าเกษตรที่บิดเบือนการค้า การเสริมสร้างความโปร่งใส และการยกเว้นมาตรการห้ามหรือจำกัดการส่งออกสินค้าเกษตรที่เกี่ยวข้องกับโครงการอาหารโลก (3) สรุปประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูป WTO เพื่อให้เป็นองค์กรที่สามารถทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ทันสมัยและสอดคล้องกับบริบทการค้าระหว่างประเทศในปัจจุบันมากขึ้น และ (4) สรุปประเด็นที่จะเพิ่มบทบาทของ WTO ในการรับมือกับโควิด-19 เป็นต้น

“ด้านการเตรียมการของไทย กรมฯ ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ไทยร่วมมีบทบาทในการขับเคลื่อนการเจรจาร่วมกับสมาชิก WTO ในประเด็นสำคัญข้างต้น ซึ่งการหาข้อสรุปของ WTO ในการประชุม MC12 มีความสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะช่วยฟื้นความเชื่อมั่นของประชาคมโลกต่อ WTO โดยเฉพาะในเรื่องการเป็นเวทีจัดทำกฎเกณฑ์ทางการค้าโลก และกำกับดูแลการค้าระหว่างประเทศให้เสรี และเป็นธรรม ท่ามกลางการปรับตัวทางเศรษฐกิจการค้าโลกที่เกิดขึ้นจากวิกฤติโควิด-19”

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 9 พฤศจิกายน 2564

เปิด13หมุดหมาย "พลิกโฉมประเทศไทย" ในร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯฉบับ13

ครม.รับทราบร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ.2566 - 2570) มี 13 เรื่อง หรือ 13 หมุดหมาย มุ่งพลิกโฉมประเทศไทยสู่ “สังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน”

วันที่ 9 พ.ย. นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 ว่า ครม.รับทราบสาระสำคัญร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 - 2570) ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ โดยร่างแผนพัฒนาฯ

ฉบับนี้ เป็นแผนระดับที่ 2 ซึ่งเป็นกลไกในการถ่ายทอดยุทธศาสตร์ชาติไปสู่การปฏิบัติ โดยระบุทิศทางและเป้าหมายการพัฒนาประเทศที่ควรให้ความสำคัญในระยะ 5 ปี ภายใต้หลักการและแนวคิดสำคัญ 4 ประการ คือ

หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

แนวคิด “ล้มแล้วลุกไว” (Resilience) มุ่งเน้นการลดความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลง และการพลิกวิกฤตเป็นโอกาสเพื่อสร้างการเติบโตที่มีคุณภาพและยั่งยืน

เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ

โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) รวมทั้งคำนึงถึงเงื่อนไขและข้อจำกัดที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ด้วย

สำหรับวัตถุประสงค์ของร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 คือ เพื่อพลิกโฉมประเทศไทยสู่ “สังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน” โดยมีเป้าหมายหลักที่ต้องการบรรลุผล 5 ประการ คือ

    1.การปรับโครงการสร้างผลิตสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม

    2.การพัฒนาคนสำหรับโลกยุคใหม่

   3.การมุ่งสู่สังคมโอกาสและความเป็นธรรม

   4.การเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืน

   5.การเสริมสร้างความสามารถของประเทศในการรับมือกับความเสี่ยงและการเปลี่ยนแปลงภายใต้บริบทโลกใหม่ พร้อมกำหนด 13 หมุดหมายของการพัฒนา เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ ที่ชัดเจนใน 4 มิติ ดังนี้

1.มิติภาคการผลิตและบริการเป้าหมาย

ประกอบด้วย 6 หมุดหมาย คือ

     1.ไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง

     2.ไทยเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและความยั่งยืน

     3.ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของอาเซียน

     4.ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง

     5.ไทยเป็นประตูการค้าการลงทุนและยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์ที่สำคัญของภูมิภาค

     6.ไทยเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลและอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะของอาเซียน

2.มิติโอกาสและความเสมอภาค ทางเศรษฐกิจและสังคม

ประกอบด้วย 3 หมุดหมาย คือ

  7)ไทยมีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เข้มแข็ง มีศักยภาพสูง และสามารถแข่งขันได้

  8)ไทยมีพื้นที่และเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ ปลอดภัย เติบโตได้อย่างยั่งยืน

  9)ไทยมีความยากจนข้ามรุ่นลดลงและคนไทยทุกคน มีความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอ เหมาะสม

3.มิติความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ประกอบด้วย 2 หมุดหมายคือ

10) ไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ

11)ไทยสามารถลดความเสี่ยงและผลกระทบ จากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

4.มิติปัจจัยผลักดันการพลิกโฉมประเทศ

ประกอบด้วย 2 หมุดหมายคือ

12)ไทยมีกำลังคนสมรรถนะสูง มุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต

13)ไทยมีภาครัฐที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ประชาชน

รองโฆษกฯ รัชดากล่าวด้วยว่า ที่ประชุมมอบหมายให้ สศช. ประสานงานกับ สำนักงานประมาณ เพื่อกำหนดกลไกที่เหมาะสมในการจัดสรรงบประมาณ และให้ สศช. นำความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ มาพิจารณาปรับปรุงร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ ก่อนนำเสนอคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และ ครม. พิจารณาความเหมาะสมตามลำดับต่อไป

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 9 พฤศจิกายน 2564

กระทรวงเกษตรฯ เล็งของบประมาณ ชดเชยราคาปุ๋ย

เกษตรฯ ถกแนวทางการบริหารจัดการปุ๋ย ลดต้นทุนเกษตรกร เดินหน้าโครงการลดราคาปุ๋ยของกรมการค้าภายใน เล็งของบกลาง ครม. ชดเชยราคาปุ๋ยเคมี และค่าขนส่ง ผุดแผนระยะยาวแลกเปลี่ยนปุ๋ยไนโตรเจน-โพแทส กับมาเลเซีย หาแหล่งแม่ปุ๋ยนำเข้าจากประเทศใหม่ ส่งเสริมอุตสาหกรรมปุ๋ยในประเทศ พร้อมตั้งคณะทำงานร่วมระหว่าง 4 กระทรวง แก้ปัญหา

วันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 นายอำพันธุ์ เวฬุตันติ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีการหารือแนวทางการบริหารจัดการปุ๋ย ปี 2565-2569 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบแนวทางดังกล่าว และมอบหมายให้ปรับข้อมูลตามที่ที่ประชุมเสนอแนะ อีกทั้งได้เห็นชอบแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรจากปัญหาราคาปุ๋ยเคมีที่ปรับตัวสูงขึ้นโดยมีแผนการช่วยเหลือ ดังนี้

1.แผนระยะสั้น ประกอบด้วยโครงการลดราคาปุ๋ยของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ โดยมอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมส่งเสริมสหกรณ์ สำรวจความต้องการใช้ปุ๋ยของสถาบันเกษตรกร ทั้งสูตร ปริมาณ ช่วงเวลาที่ต้องการใช้ สำหรับฤดูกาลผลิตที่จะมาถึง เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ปุ๋ยของเกษตรกร เพื่อส่งข้อมูลให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป พร้อมทั้งโครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน (One Stop Service) ระยะที่ 2 ที่กรมส่งเสริการเกษตรเป็นผู้รับผิดชอบหลัก จำนวน 297 ศูนย์ เกษตรกร 51,252 ราย พื้นที่ 265,430.25 ไร่

โดยจะเสนอของบประมาณตามกรอบแผนงานหรือโครงการภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 และเสนอโครงการขอรับการสนับสนุนงบกลาง จาก ครม. เพื่อชดเชยราคาปุ๋ยเคมี และค่าขนส่ง รวมทั้งการสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจากสินเชื่อชุมชนสร้างไทยของ ธ.ก.ส.

2.แผนระยะยาว ประกอบด้วย แผนบริหารจัดการปุ๋ย แผนส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตปุ๋ยภายในประเทศ และการแลกเปลี่ยนปุ๋ยไนโตรเจน และโพแทส กับประเทศมาเลเซีย แผนการหาแหล่งแม่ปุ๋ยนำเข้าจากประเทศอื่นที่นอกเหนือจากที่เคยนำเข้าเดิม

นอกจากนี้ ยังมีการแต่งตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาการปรับตัวสูงขึ้นของปุ๋ยเคมีเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร

ทั้งนี้ ที่ประชุมมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการจัดทำรายละเอียดเพื่อนำเสนอให้คณะกรรมการส่งเสริมการใช้ปัจจัยการผลิตที่เหมาะสมและลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 9 พฤศจิกายน 2564

เปิดโต๊ะเจรจา FTA อาเซียน-แคนาดา 17พ.ย.นี้  เชื่อมการค้าการลงทุนตลาดอเมริกาเหนือ

ครม.อนุมัติไทยร่วมเจรจา FTA อาเซียน-แคนาดาหวังขยายฐานส่งออก สินค้าผักผลไม้-เครื่องจักรเครื่องกล-ยาง คาดดันจีดีพีในอนาคตเพิ่ม กว่า 2แสนล้าน

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 ว่า ครม.เห็นชอบให้ประเทศไทยเข้าร่วมเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) อาเซียน-แคนาดา พร้อมทั้งเห็นชอบกรอบการเจรจา FTA อาเซียน-แคนาดา ของไทย และร่างเอกสารขอบเขตสาระที่จะเจรจาในการจัดทำ FTA อาเซียน-แคนาดา ซึ่งจะมีการเจรจาจัดทำ FTA อาเซียน - แคนาดา ในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน - แคนาดา ครั้งที่ 10 ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ

การเจรจาในครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่ออำนวยความสะดวกการขยายการค้าและการลงทุนระหว่างกัน โดยเปิดเสรีทางการค้าผ่านการลดอุปสรรคทางการค้าทางภาษีและที่มิใช่ภาษีในสินค้าทั้งหมดอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่งเสริมการค้าบริการในสาขาที่สำคัญ และขยายโอกาสด้านการลงทุน ซึ่งการเจรจาในชั้นนี้ยังไม่มีผลผูกผันทางกฎหมาย สำหรับสาระสำคัญของเอกสารทั้ง 2 ฉบับ มีดังนี้

1.ร่างกรอบการเจรจา FTA อาเซียน-แคนาดา ของไทย มีสาระสำคัญเป็นการ วางกรอบแนวทางการเจรจาของไทย เพื่อขยายโอกาสการค้าการลงทุน เพื่อประโยชน์ของทุกภาคส่วนในประเทศ เพื่อเจรจาให้ได้ประโยชน์ในภาพรวมสูงสุดกับประเทศ โดยคำนึงถึงความพร้อมระดับการพัฒนาและภูมิคุ้มกันของประเทศ ตลอดจนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

2.ร่างเอกสารขอบเขตสาระที่จะเจรจาในการจัดทำ FTA อาเซียน-แคนาดา เป็นการสร้างพื้นฐานความเข้าใจร่วมกันระหว่างอาเซียนและแคนาดา ถึงขอบเขตประเด็นที่จะเจรจาประกอบด้วย หลักการทั่วไป วัตถุประสงค์ของการเจรจา ตลอดจนหัวข้อสำคัญในการเจรจา ครอบคลุมเรื่องต่าง ๆ ได้แก่ การค้าสินค้า มาตรการปกป้องและเยียวยาทางการค้า กฎว่าด้วยถิ่นกาเนิดสินค้า พิธีการศุลกากรและการอานวยความสะดวกทางการค้า มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า แนวทางปฏิบัติที่ดีด้านกฎระเบียบการค้าและบริการ

รวมถึงการลงทุน การเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา ทรัพย์สินทางปัญญา แรงงาน สิ่งแวดล้อม พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ นโยบายแข่งขันทางการค้า วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย ความร่วมมือด้านเทคนิคและเศรษฐกิจ การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ความโปร่งใส การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐ กลไกการจัดการเชิงสถาบัน วัฒนธรรม และเรื่องอื่นๆ ทั้งนี้ ไม่ได้เป็นการผูกมัดผลการเจรจาที่จะเกิดขึ้น

สำหรับประโยชน์ที่ไทยจะได้รับการเจรจาจัดทำ FTA อาเซียน-แคนนาดา อาทิ 1.จีดีพี ของไทยจะเพิ่มขึ้น ประมาณการได้ตั้งแต่ 7,968 – 254,953 ล้านบาท ตามสมมติฐานที่แตกต่างกัน  2.FTA ช่วยเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานของไทยไปยังภูมิภาคอเมริกาเหนือ ซึ่งไทยยังไม่เคยมี  FTA ด้วยมาก่อน 3.กลุ่มสินค้าที่คาดว่าไทยจะส่งออกไปแคนาดาเพิ่มขึ้น ได้แก่1.สินค้าเกษตรและอาหาร เช่น ผักและผลไม้แปรรูป ผลิตภัณฑ์ปรุงรส 2.ผลิตภัณฑ์ยาง เช่น ยางรถยนต์ ถุงมือยาง3.เครื่องมือและเครื่องจักร เช่น เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า

ส่วนกลุ่มสินค้าที่คาดว่าไทยจะนำเข้าจากแคนาดามากขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เช่น เนื้อหมูและเครื่องใน เนื้อปลาแช่แข็ง ธัญพืช เช่นข้าวสาลี ไม้แปรรูป เช่น แผ่นชิ้นไม้อัดเรียงแถว เฟอร์นิเจอร์ไม้

อย่างไรก็ตาม การเจรจา FTA กับแคนาดา ซึ่งเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว อาจส่งผลให้ภาคเกษตร อุตสาหกรรม บริการ และผู้ประกอบการของไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้น และต้องมีการยกระดับมาตรการกฎระเบียบในเรื่องต่างๆ ให้เป็นสากลมากขึ้น เช่น การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การค้าดิจิทัล สิทธิแรงงาน สิ่งแวดล้อม การแข่งขันทางการค้า และการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ซึ่งข้อกังวลในเรื่องต่างๆ นี้ ขอย้ำว่ารัฐบาลจะเจรจาเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศไทย

ปัจุบันไทยการจัดทำความตกลงการค้าเสรี FTA  จำนวน 13 ฉบับกับ 18 ประเทศ โดยเป็นประเทศสมาชิกอาเซียน 9 ประเทศ คือ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ ฮ่องกง อินเดีย เปรู และชิลี และไทย ซึ่งครอบคลุมร้อยละ 63 ของการค้าทั้งหมดของไทย มากไปกว่านั้น ยังได้จัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) ที่มีสมาชิกประกอบด้วยอาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งความตกลง RCEP จะมีผลบังใช้ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป ส่งผลให้สินค้าไทยกว่า 2.9 หมื่นรายการ ได้ลดภาษีเหลือ 0% ทันที

จาก https://www.posttoday.com   วันที่ 9 พฤศจิกายน 2564

ประชุมเอเปกครั้งที่32เริ่มแล้ว ไทยประกาศพร้อมลุย BCG Model

เปิดประชุมเอเปก ครั้งที่32    ไทย ประกาศบนเวที พร้อมลุยลุย BCG Model-FTA  เสนอ 4 ประเด็น เน้นกฏกติกา อี-คอมเมิร์ซ ต้องโปร่งใส ยุติธรรมและมีบทคุ้มครองผู้บริโภค  เร่งฟื้นเศรษฐกิจฝ่าCovid-19

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร่วมการประชุมรัฐมนตรีเอเปค APEC Minister Meeting 2021 (AMM) ครังที่ 32 โดยกล่าวว่า ไทยใช้การค้าเป็นเครื่องมือในการฟื้นฟูเศรษฐกิจใน 4 ประเด็นสำคัญ ดังนี้  1. เนื่องจากรูปแบบการค้าในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมาก ดังนั้นรูปแบบการค้าดิจิทัลจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเกิดวิกฤติโควิด-19  ไทยสนับสนุนวิสัยทัศน์ปุตราจายาปี 2040 ที่เน้นการเตรียมประชาชนและธุรกิจเข้าสู่ยุค Digital Economy

และจะร่วมกับสมาชิก APEC ขับเคลื่อนแผนการทำงานด้านอินเทอร์เน็ตและ Digital Economy ที่ผ่านมา โดยไทยได้ใช้ E-Commerce สร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะกับ SME ซึ่งส่งผลให้มูลค่าการค้าปลีก-ค้าส่งของไทยผ่านแพลตฟอร์ม E-Commerce ในปี 2020 สูงถึง 43,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 8.7%  เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และผู้ประกอบการ SMEs สามารถเพิ่มมูลค่าการค้าได้ถึง 47,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 13% ซึ่งที่ผ่านมาไทยได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าแบบ E-Commerce โดยมีกิจกรรมสำคัญ เช่น   การจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าแบบไฮบริด ทั้งออนไลน์ และออนไซด์ผสมกัน ซึ่งสามารถสร้างมูลค่ากว่า 4,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  ,กิจกรรมจับคู่ธุรกิจ,การจัดฝึกอบรมเกษตรกร   SMEs และ   MSMEs และการเดินหน้าสร้างนักธุรกิจยุคใหม่ภายใต้โครงการ From GEN Z to be CEO เพื่อเตรียมพร้อมเติบโตไปเป็นแม่ทัพทางเศรษฐกิจให้ไทยต่อไป

2.ไทยสนับสนุนการใช้ BCG Model ขับเคลื่อน MSMEs ของประเทศ โดยในปี 2022 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ APEC จะจัดให้มีการสัมมนาใหญ่ (Symposium) ในเรื่องนี้ เนื่องจากตระหนักดีว่าการค้ายุคใหม่ต้องคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน

 3. ไทยพร้อมสนับสนุนการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคโดยการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน ทั้งการจัดทำ FTA-AP และ RCEP ซึ่งไทยได้ให้สัตยาบัน RCEP แล้ว เมื่อ 28 ตุลาคมที่ผ่านมา เนื่องจากเชื่อมั่นว่า FTA จะช่วยลดเลิกอุปสรรคทางการค้า ทำให้เศรษฐกิจของภูมิภาคเชื่อมโยงและเติบโตได้ดีในระยะยาวและ4.ไทยต้องการเห็นความสำเร็จของการประชุม MC12 ในเดือนธันวาคมนี้ โดย APEC ควรมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้การประชุมมีผลลัพธ์ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยเฉพาะในเรื่องการให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนอย่างทั่วถึง การจัดทำกฎเกณฑ์การอุดหนุนประมง การลดการอุดหนุนเกษตรที่บิดเบือน และการจัดทำกฎเกณฑ์ด้าน E-Commerce ซึ่งมีหัวใจสำคัญ คือ การสร้างความโปร่งใส กติกาที่เป็นธรรมสำหรับทุกกลุ่มประเทศไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ และต้องให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภคด้วย

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 9 พฤศจิกายน 2564

RCEP มีผลบังคับใช้ 1 ม.ค. 65  สินค้าไทยได้ภาษี 0% ทันทีกว่า 2.9 หมื่นรายการ

ข่าวดี RCEP มีผลบังคับใช้ 1 ม.ค. 65 แน่นอน หลังมีจำนวนประเทศสมาชิกให้สัตยาบันครบตามกติกา ส่งผลให้สินค้าไทยได้ลดภาษีเหลือ 0% ทันทีกว่า 2.9 หมื่นรายการ ด้าน “พาณิชย์ ดัย”ศูนย์ RCEP Center

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า หลังจากที่ไทยได้ให้สัตยาบันความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เมื่อวันที่ 28 ตุลาคมที่ผ่านมา และล่าสุดประเทศสมาชิก RCEP ได้ให้สัตยาบันครบแล้วตามที่ความตกลงกำหนดไว้ ประกอบด้วย อาเซียน 6 ประเทศ ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา สปป.ลาว สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม และนอกอาเซียน 4 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น และนิวซีแลนด์ ทำให้ความตกลง RCEP จะมีผลใช้บังคับในวันที่ 1 มกราคม 2565

ความตกลง RCEP เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด คือ สมาชิกอาเซียนจำนวนอย่างน้อย 6 ประเทศ และนอกอาเซียนอย่างน้อย 3 ประเทศ ให้สัตยาบันแล้วความตกลงจะมีผลใช้บังคับ นอกจากนี้ ประเทศที่ยังไม่ได้ให้สัตยาบันคาดว่าอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการและจะให้สัตยาบันได้ในเร็วๆ นี้

ทั้งนี้กรมฯ เตรียมการรองรับการบังคับใช้ความตกลง RCEP อย่างเต็มที่ เพื่อให้ไทยได้รับประโยชน์สูงสุดจากความตกลงฯ โดยได้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยงข้อง ดังนี้

การประสานงานกับกรมศุลกากร เรื่องการออกประกาศอัตราภาษีศุลกากรที่ไทยจะเก็บกับสินค้านำเข้าจากสมาชิก RCEP เพื่อพร้อมใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2565

การประสานงานกับกรมการค้าต่างประเทศ เรื่องการออกใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าให้กับผู้ส่งออกไทยใช้ประกอบการส่งสินค้าไปประเทศสมาชิก RCEP เพื่อใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีภายใต้ความตกลงตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565

การจัดตั้งศูนย์ RCEP Center เพื่อให้ข้อมูลความตกลง RCEP อาทิ อัตราภาษีศุลกากรระหว่างไทยและสมาชิก RCEP

ผู้สนใจสามารถค้นหาข้อมูลได้ที่เว็บไซต์กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ www.dtn.go.th

นอกจากนี้ มีการเตรียมระบบติดตามการค้าระหว่างประเทศ หรือ Trade Monitoring System (TMS) เพื่อติดตามความเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ ซึ่งจะช่วยให้สามารถเตรียมแผนรับมือหรือใช้มาตรการปกป้องทางการค้าได้ทันท่วงที การจัดสัมมนาทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จาก RCEP และจัดทำ E-Book ความตกลง RCEP ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ซึ่งผู้สนใจสามารถค้นหาข้อมูลได้ที่เว็บไซต์กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ www.dtn.go.th

ทั้งนี้ ความตกลง RCEP จะเป็นความตกลงการค้าเสรี (FTA) ฉบับที่ใหญ่ที่สุดในโลก และถือเป็น FTA ฉบับที่ 14 ของไทย โดยมีสมาชิก 15 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน 10 ประเทศ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ มีประชากรรวมกัน 2,300 ล้านคน (30.2% ของประชากรโลก) GDP รวมมูลค่า 28.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (33.6% ของ GDP โลก) และมูลค่าการค้ารวม 10.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (30.3% ของมูลค่าการค้าของโลก)

สำหรับประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากความตกลง RCEP อาทิ สมาชิก RCEP ยกเลิกภาษีนำเข้าที่เก็บกับสินค้าไทย จำนวน 39,366 รายการ โดยลดภาษีเหลือ 0% ทันที จำนวน 29,891 รายการ

ในส่วนของจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ จะลดและยกเลิกภาษีศุลกากรกับสินค้าที่ส่งออกจากไทย เพิ่มเติมจาก FTA ที่มีอยู่ในสินค้า เช่น ผลไม้สดและแปรรูป สินค้าประมง น้ำผลไม้ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์และส่วนประกอบ พลาสติก เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า และคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เป็นต้น

นอกจากนี้ ความตกลง RCEP จะช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าแก่สมาชิก อาทิ สินค้าที่เน่าเสียง่ายจะได้รับการตรวจปล่อยพิธีการศุลกากรภายใน 6 ชั่วโมง และสินค้าปกติภายใน 48 ชั่วโมง และการขยายโอกาสในธุรกิจบริการของไทยสู่ประเทศสมาชิก RCEP เช่น ก่อสร้าง ค้าปลีก สุขภาพ ภาพยนตร์และบันเทิง เป็นต้น

“ความตกลงฉบับนี้จะเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยและสมาชิก RCEP จากวิกฤติโควิด-19  ซึ่งก่อนที่ความตกลง RCEP จะมีผลบังคับใช้ในปีหน้านี้ ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs ควรเร่งเตรียมความพร้อมทำความเข้าใจกฎเกณฑ์ทางการค้าต่างๆ  ศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคในตลาดประเทศสมาชิก RCEP เพื่อเตรียมวางแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจ และพัฒนาสินค้าให้สามารถตอบสนองความต้องการของตลาด RCEP อย่างเต็มที่”

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 8 พฤศจิกายน 2564

ราคาน้ำมันพุ่ง ส.อ.ท.แนะรัฐแก้ปัญหาพลังงาน-เร่งฉีดวัคซีนฟื้นเศรษฐกิจ

น้ำมันพุ่งสูงขึ้น ส่งราคาวัตถุดิบ และค่าขนส่งปรับตัวสูงขึ้นกระทบต้นทุนภาคอุตสาหกรรม พร้อมเร่งฉีดวัคซีนโควิดสร้างความเชื่อมั่นนักท่องเที่ยวรับเปิดประเทศ

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า สิ่งที่รัฐบาลควรเร่งดำเนินการในปัจจุบัน ประกอบด้วย

1.เร่งรัดการฉีดวัคซีนที่มีคุณภาพให้แก่ประชาชนตามเกณฑ์ขั้นต่ำเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ โดยเฉพาะจังหวัดที่เปิดรับนักท่องเที่ยว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ

2.ภาครัฐควรมีแผนรองรับการเปิดประเทศ และมาตรการด้านสาธารณสุขที่ชัดเจน เพื่อให้การเปิดประเทศเป็นไปด้วยความเรียบร้อย รวมทั้งควรมีการประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวและประชาชนรับทราบเพื่อสร้างความเข้าใจ

3.เร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม และส่งเสริมการท่องเที่ยว รวมทั้งผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายใต้มาตรการควบคุมโรค เพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ

4.ขอให้ภาครัฐเร่งแก้ไขปัญหาราคาพลังงาน ราคาวัตถุดิบ และค่าขนส่งที่ปรับตัวสูงขึ้นจนส่งผลกระทบต่อต้นทุนประกอบการภาคอุตสาหกรรม

ทั้งนี้  สำหรับผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนตุลาคม 2564 อยู่ที่ระดับ 82.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 79.0 ในเดือนกันยายน 2564 โดยค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ในทุกขนาดอุตสาหกรรมและทุกภูมิภาค

ขณะที่องค์ประกอบของดัชนีฯ เพิ่มขึ้นเกือบทุกรายการ ทั้งยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ยกเว้นต้นทุนประกอบการ สำหรับปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ที่มีทิศทางดีขึ้นจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันลดลง

ด้านจำนวนผู้ได้รับวัคซีนมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ภาครัฐผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ต่อเนื่องทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัว ขณะที่อุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศขยายตัวต่อเนื่องทั้งสินค้าคงทน อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ฯ เครื่องจักรกลและโลหะการ เป็นต้น รวมถึงสินค้าไม่คงทนประเภทอาหารและยา

นอกจากนี้เริ่มมีคำสั่งซื้อสินค้าล่วงหน้าเพื่อใช้ในช่วงเทศกาลปีใหม่ในกลุ่มสินค้าอาหารและสินค้าแฟชั่น ส่งผลให้ดัชนีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น ขณะที่มาตรการภาครัฐยังช่วยพยุงกำลังซื้อในประเทศ

อย่างไรก็ตาม ค่าดัชนีฯ อยู่ในระดับต่ำกว่า 100 สะท้อนว่าความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมยังอยู่ในระดับที่ไม่ดี โดยผู้ประกอบการยังมีความกังวลเกี่ยวกับราคาวัตถุดิบและราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นทำให้กระทบต้นทุนการผลิตและค่าขนส่ง ขณะที่ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนส่งผลกระทบต่อต้นทุนของผู้นำเข้า รวมทั้งปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และอัตราค่าระวางเรือสูงยังเป็นปัจจัยกดดันผู้ส่งออก

อย่างไรก็ดี จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,423 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วประเทศในเดือนตุลาคม 2564 พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ ราคาน้ำมัน 70.3% ,สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ 54.8% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 47.5%

ส่วนปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 (covid-19) 60.2% ,เศรษฐกิจในประเทศ 62.1% ,สภาวะเศรษฐกิจโลก 48.5% ,และอัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ 32.8%

ด้านดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 95.0 จากระดับ 93.0 ในเดือนกันยายน 2564 โดยผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นว่าการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 แบบค่อยเป็นค่อยไป รวมทั้งนโยบายเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564, การอนุญาตให้นักท่องเที่ยวต่างชาติในกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ สามารถเดินทางเข้ามาได้โดยไม่ต้องกักตัว (ตามเงี่อนไข) รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 2564 ขณะที่ภาคการส่งออกยังคงขยายตัวตามทิศทางเศรษฐกิจและการค้าโลก

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 8 พฤศจิกายน 2564

ไทยพร้อมเป็นเจ้าภาพ ประชุมเอเปค ปี 2565

จุรินทร์ เผยในการประชุม เอเปค ระดับรัฐมนตรี ไทยเปิด 4 ประเด็นสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ พร้อมรับส่งมอบการเป็นเจ้าภาพในปี 2565

วันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมรัฐมนตรีเอเปค APEC Minister Meeting 2021 (AMM) ครั้งที่ 32 ว่า นอกจากการประชุมครั้งนี้ ยังจะมีการประชุมสำคัญระดับผู้นำประเทศ พร้อมกับส่งมอบการเป็นเจ้าภาพในการประชุมครั้งต่อไปให้กับประเทศไทย ต่อจากประเทศนิวซีแลนด์

นอกจากนี้ ตนยังได้กล่าวแถลงการว่า ประเทศไทยยังดำเนินการฟื้นฟูเศรษฐกิจใน 4 ประเด็นสำคัญ ดังนี้ 1.  เนื่องจากรูปแบบการค้าในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมาก ดังนั้นรูปแบบการค้าดิจิทัลจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเกิดวิกฤติโควิด-19 ไทยสนับสนุนวิสัยทัศน์ปุตราจายาปี 2040 ที่เน้นการเตรียมประชาชนและธุรกิจเข้าสู่ยุค Digital Economy และจะร่วมกับสมาชิก APEC ขับเคลื่อนแผนการทำงานด้านอินเทอร์เน็ตและ Digital Economy ที่ผ่านมา

โดยไทยได้ใช้ E-Commerce สร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะกับ SME ซึ่งส่งผลให้มูลค่าการค้าปลีก-ค้าส่งของไทยผ่านแพลตฟอร์ม E-Commerce ในปี 2020 สูงถึง 43,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 8.7% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และผู้ประกอบการ SMEs สามารถเพิ่มมูลค่าการค้าได้ถึง 47,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 13%

ซึ่งที่ผ่านมาไทยได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าแบบ E-Commerce โดยมีกิจกรรมสำคัญ เช่น การจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าแบบไฮบริด ทั้งออนไลน์ และออนไซด์ผสมกัน ซึ่งสามารถสร้างมูลค่ากว่า 4,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ,กิจกรรมจับคู่ธุรกิจ,การจัดฝึกอบรมเกษตรกร SMEs และ MSMEs และการเดินหน้าสร้างนักธุรกิจยุคใหม่ภายใต้โครงการ From GEN Z to be CEO เพื่อเตรียมพร้อมเติบโตไปเป็นแม่ทัพทางเศรษฐกิจให้ไทยต่อไป

2. ไทยสนับสนุนการใช้ BCG Model ขับเคลื่อน MSMEs ของประเทศ โดยในปี 2022 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ APEC จะจัดให้มีการสัมมนาใหญ่ (Symposium) ในเรื่องนี้ เนื่องจากตระหนักดีว่าการค้ายุคใหม่ต้องคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน

3. ไทยพร้อมสนับสนุนการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคโดยการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน ทั้งการจัดทำ FTA-AP และ RCEP ซึ่งไทยได้ให้สัตยาบัน RCEP แล้ว เมื่อ 28 ตุลาคมที่ผ่านมา เนื่องจากเชื่อมั่นว่า FTA จะช่วยลดเลิกอุปสรรคทางการค้า ทำให้เศรษฐกิจของภูมิภาคเชื่อมโยงและเติบโตได้ดีในระยะยาว

และ 4. ไทยต้องการเห็นความสำเร็จของการประชุม MC12 ในเดือนธันวาคมนี้ โดย APEC ควรมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้การประชุมมีผลลัพธ์ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยเฉพาะในเรื่องการให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนอย่างทั่วถึง การจัดทำกฎเกณฑ์การอุดหนุนประมง การลดการอุดหนุนเกษตรที่บิดเบือน และการจัดทำกฎเกณฑ์ด้าน E-Commerce ซึ่งมีหัวใจสำคัญ คือ การสร้างความโปร่งใส กติกาที่เป็นธรรมสำหรับทุกกลุ่มประเทศไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ และต้องให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภคด้วย

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 8 พฤศจิกายน 2564

‘เงินบาท’ วันนี้เปิด’แข็งค่า’ ที่33.17บาทต่อดอลลาร์

“กรุงไทย” ชี้เงินบาทยัวมีแนวโน้มผันผวนในกรอบเดิมต่อ “ราคาทองคำ” เป็นแรงกดดันมากที่สุด จับตาประชุมกนง.สัปดาห์นี้คาดคงดอกเบี้ย0.5% มองกรอบเงินบาทวันนี้33-33.50 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุนธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันนี้(8พ.ย.) ที่ระดับ  33.17 บาทต่อดอลลาร์แข็งค่าขึ้น

จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.33 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.10-33.20 บาทต่อดอลลาร์ และกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 33.00-33.50 บาทต่อดอลลาร์

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทยังมีแนวโน้มผันผวนในกรอบเดิมต่อ โดยมีราคาทองคำเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางเงินบาทมากที่สุด (Correlation สูงกว่า 0.64 หรือ ราคาทองคำขึ้น เงินบาทก็แข็งค่าขึ้นเช่นกัน)

ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดอาจทยอยขายทำกำไรทองคำ หากราคาทองคำปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 1,820- 1,830 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งโฟลว์ขายทำกำไรราคาทองคำอาจช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้ อย่างไรก็ดี เงินบาทอาจไม่แข็งค่าไปมากจนหลุดระดับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากแนวรับเงินบาทยังอยู่ในโซน 33.00-33.10 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งผู้นำเข้ายังรอซื้อเงินดอลลาร์ แต่หากเงินบาทแข็งค่าหลุดระดับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์ เราอาจเห็นเงินบาทแข็งค่าหนักแตะระดับ 32.80 บาทต่อดอลลาร์ได้ เนื่องจาก ผู้เล่นในตลาด โดยเฉพาะผู้เล่นต่างชาติอาจมีจุด Stop Loss แถว 33.00 บาทต่อดอลลาร์

ฟเจ้าหน้าเฟด (วันจันทร์: Clarida และ Powell, วันอังคาร: Bowman, Evans, Daly เป็นต้น) โดยเฉพาะมุมมองของประธานเฟด Powell ต่อแนวโน้มการทยอยขึ้นดอกเบี้ย หลังล่าสุด ตลาดแรงงานสหรัฐฯ ฟื้นตัวได้ดีกว่าคาด ขณะเดียวกัน อัตราเงินเฟ้อก็อาจอยู่ในระดับสูง นานกว่าที่เฟดเคยประเมินไว้ ทั้งนี้ หากบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ยังย้ำจุดยืนไม่รีบขึ้นดอกเบี้ย พร้อมกับไม่ได้กังวลปัญหาเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นมากนัก เราเชื่อว่า มุมมองดังกล่าวอาจหนุนให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นต่อได้บ้าง

ฝั่งยุโรป – ความกังวลปัญหาเงินเฟ้ออาจทำให้ บรรดานักลงทุนสถาบันและนักวิเคราะห์ยังไม่แน่ใจแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรป ซึ่งจะสะท้อนผ่าน ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (Sentix Investor Confidence) ในเดือนพฤศจิกายนที่อาจปรับตัวลดลงจาก 16.9 จุด สู่ระดับ 15 จุด (ดัชนี > 0 หมายถึง มุมมองที่เป็นบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในอีก 6 เดือนข้างหน้า) นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนี (ZEW Economic Sentiment) ในเดือนพฤศจิกายนก็มีแนวโน้มชะลอลงสู่ระดับ 20 จุด เช่นกัน (ดัชนี > 0 หมายถึง มุมมองที่เป็นบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในอีก 6 เดือนข้างหน้า) จากปัญหาด้าน Supply Chain ที่ส่งผลให้เกิดปัญหา อาทิ การขาดแคลนวัตถุดิบ รวมถึงราคาสินค้าต้นทุนที่แพงขึ้น เป็นต้น ขณะเดียวกัน ปัญหาเงินเฟ้อก็อาจกดดันให้ฝั่งผู้บริโภคลดการใช้จ่ายลงได้เช่นกัน นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นมุมมองนโยบายการเงินจากผู้ว่าธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) รวมถึงประธานธนาคารกลางยุโรป(ECB) หลังล่าสุด ทั้งสองธนาคารกลาง ต่างส่งสัญญาณไม่เร่งรีบปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งสวนทางกับสิ่งที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ทำให้บอนด์ยีลด์ยุโรปปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง

ฝั่งยุโรป – ความกังวลปัญหาเงินเฟ้ออาจทำให้ บรรดานักลงทุนสถาบันและนักวิเคราะห์ยังไม่แน่ใจแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรป ซึ่งจะสะท้อนผ่าน ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (Sentix Investor Confidence) ในเดือนพฤศจิกายนที่อาจปรับตัวลดลงจาก 16.9 จุด สู่ระดับ 15 จุด (ดัชนี > 0 หมายถึง มุมมองที่เป็นบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในอีก 6 เดือนข้างหน้า) นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนี (ZEW Economic Sentiment) ในเดือนพฤศจิกายนก็มีแนวโน้มชะลอลงสู่ระดับ 20 จุด เช่นกัน (ดัชนี > 0 หมายถึง มุมมองที่เป็นบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในอีก 6 เดือนข้างหน้า) จากปัญหาด้าน Supply Chain ที่ส่งผลให้เกิดปัญหา อาทิ การขาดแคลนวัตถุดิบ รวมถึงราคาสินค้าต้นทุนที่แพงขึ้น เป็นต้น ขณะเดียวกัน ปัญหาเงินเฟ้อก็อาจกดดันให้ฝั่งผู้บริโภคลดการใช้จ่ายลงได้เช่นกัน นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นมุมมองนโยบายการเงินจากผู้ว่าธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) รวมถึงประธานธนาคารกลางยุโรป(ECB) หลังล่าสุด ทั้งสองธนาคารกลาง ต่างส่งสัญญาณไม่เร่งรีบปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งสวนทางกับสิ่งที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ทำให้บอนด์ยีลด์ยุโรปปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง

ฝั่งเอเชีย – ผู้เล่นในตลาดจะจับตาปัญหาหนี้ของภาคอสังหาฯของจีน หลังเริ่มมีบางบริษัทเผชิญความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้และถูกหั่นเครดิตเรทติ้งมากขึ้น ซึ่งภาพดังกล่าวได้ส่งผลให้นักลงทุนต่างลดการถือครองหุ้นกู้เอกชนจีนทั้ง หุ้นกู้ IG (Investment Grade) และ หุ้นกู้ HY (High Yield, Junk Bond) ดังจะเห็นได้จากการที่ยีลด์ของหุ้นกู้จีนต่างปรับตัวสูงขึ้นมาก ทั้งนี้ เรามองว่าทางการจีนอาจเข้ามาช่วยประคองไม่ให้ปัญหาดังกล่าวลุกลามไปยังภาคธุรกิจอื่นๆ รวมถึงกดดันให้เศรษฐกิจซบเซาหนัก ซึ่งหากนักลงทุนมองว่าปัญหาหนี้ในภาคอสังหาฯ จีน จะสามารถคลี่คลายลงได้ การลงทุนในหุ้นกู้จีน ณ ปัจจุบัน ก็ให้ยีลด์ที่น่าสนใจ สำหรับนักลงทุนที่สามารถรับความผันผวนของราคาหุ้นกู้จีนได้

ฝั่งไทย – เรามองว่า แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างค่อยเป็นค่อยไป จะหนุนให้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เลือกที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.50% แม้ว่าอัตราเงินเฟ้ออาจมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นก็ตามทั้งนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ดีขึ้น หลังการทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown จะช่วยให้ กนง. มีมุมมองที่เป็นบวกต่อแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจมากขึ้น และเชื่อว่า กนง. จะเริ่มส่งสัญญาณพร้อมขึ้นดอกเบี้ยได้ หากตลาดแรงงานฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนวิกฤติ COVID โดยเฉพาะการจ้างงานในภาคการบริการ ซึ่งต้องอาศัยการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว ซึ่งอาจใช้เวลานานอย่างน้อยกว่า 2 ปี ถึงจะกลับมาสู่ระดับก่อนวิกฤติได้ ทำให้เราคงมองว่า กนง. จะคงดอกเบี้ยจนถึงปี 2023 หากไม่มีแรงกดดันการขึ้นดอกเบี้ยเร็วของบรรดาธนาคารกลางอื่นๆ อาทิ เฟด

จาก https://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 8 พฤศจิกายน 2564

ปตท.ผนึก UBE ใช้เทคโนโลยียีสต์ในอุตฯ เอทานอล

ปตท.จับมือ UBE เพื่อใช้เทคโนโลยียีสต์คุณภาพสูงในอุตสาหกรรมเอทานอล ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต ลดต้นทุน และส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพของประเทศ

นางสาวอรุณรัตน์ วุฒิมงคลชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สถาบันนวัตกรรม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นางสาววิวรรณ ธรรมมงคล ผู้จัดการฝ่ายวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพและวัสดุ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นายเดชพนต์ เลิศสุวรรณโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และนายวุฒิพงศ์ นิลผาย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเอทานอล บริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด (มหาชน) ร่วมพิธีลงนามสัญญาอนุญาตให้ใช้เทคโนโลยียีสต์สำหรับกระบวนการผลิตเอทานอลในการทดสอบเชิงพาณิชย์ ระหว่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) กับบริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด (มหาชน) (UBE)

โดยความร่วมมือนี้เป็นการทดสอบประสิทธิภาพเทคโนโลยียีสต์ที่มีความสามารถในการผลิตเอนไซม์ย่อยแป้งด้วยตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในการหมักเอทานอลจากมันสำปะหลังซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่วิจัยและพัฒนาโดยสถาบันนวัตกรรม ปตท. จากการพัฒนาต่อยอดยีสต์สายพันธุ์ทนร้อนสำหรับใช้ในกระบวนการหมักที่อุณหภูมิสูงและสามารถลดต้นทุนค่าเอนไซม์ที่ใช้ในกระบวนการผลิตเอทานอลเพื่อใช้ผสมกับน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับการผลิตเอทานอลในอุตสาหกรรมพลังงาน และอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องลงได้มากกว่า 50%

นอกจากนี้ยังช่วยส่งเสริมและเพิ่มศักยภาพการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพของอุตสาหกรรมการผลิตเอทานอลในประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมสอดรับโมเดลเศรษฐกิจใหม่ของภาครัฐสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (BCG Economy) ด้วยเศรษฐกิจหลัก 3 ด้านที่จะต้องขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว

จาก https://mgronline.com  วันที่ 5 พฤศจิกายน 2564

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ "แข็งค่า" ที่ระดับ  33.34 บาท/ดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท "แข็งค่า" ขึ้นตาใมราคาทองคำแนวต้านสำคัญยังอยู่ในโซน 33.40-33.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่ผู้ส่งออกบางส่วนต่างรอขายเงินดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.34 บาทต่อดอลลาร์แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.45 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุนธนาคารกรุงไทยระบุว่าแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นไม่มาก โดยเงินบาทอาจได้แรงหนุนจากโฟลว์ขายทำกำไรทองคำ

อย่างไรก็ดี ต้องระวังความผันผวนในฝั่งอ่อนค่า โดยเฉพาะในช่วงการประกาศรายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ เพราะหาก ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ออกมาดีกว่าคาด อาจส่งผลให้ บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้ง

หนุนให้ เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อและกดดันให้ราคาทองคำย่อตัวลง (จะเห็นได้ว่า ในช่วงที่ผ่านมา ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวสอดคล้องกับราคาทองคำพอสมควร โดยมี Correlation อยู่ที่ 0.60 แปลว่า ราคาทองคำขึ้น ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นตามด้วย )

อย่างไรก็ดี เรามองว่า เงินบาทจะยังไม่รีบแข็งค่าขึ้นไปมาก จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่ โดยเฉพาะปัจจัยการฟื้นตัวเศรษฐกิจในประเทศที่ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยหนุนให้ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติกลับเข้าตลาดทุนไทยเพิ่มเติม

ทั้งนี้ แนวต้านสำคัญของเงินบาทยังอยู่ในโซน 33.40-33.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่ผู้ส่งออกบางส่วนต่างรอขายเงินดอลลาร์อยู่ ส่วนผู้นำเข้าบางส่วนก็รอทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์ หากเงินบาทแข็งค่าขึ้น

ทำให้ เงินบาทยังมีแนวรับสำคัญที่โซน 33.00-33.10 บาทต่อดอลลาร์ นอกจากนี้ ต้องระวังการแข็งค่าหลุดระดับ 33 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากระดับดังกล่าวเป็นจุด Stop Loss ของบรรดาผู้เล่นต่างชาติ ทำให้อาจมีการ Cover Position เก็งกำไรเงินบาทอ่อน และหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้เร็ว

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.25-33.40 บาท/ดอลลาร์

ตลาดการเงินเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงต่อ ท่ามกลางมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เริ่มปรับลดความคาดหวังการขึ้นดอกเบี้ยของบรรดาธนาคากลางหลัก หลังจากที่ ทั้งเฟดและธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ต่างมีมติคงอัตราดอกเบี้ย พร้อมกับส่งสัญญาณไม่เร่งรีบปรับขึ้นดอกเบี้ย สวนทางกับที่ตลาดประเมินไว้

ซึ่งภาพดังกล่าวยังได้ช่วยหนุนให้หุ้นในกลุ่มเทคฯ ปรับตัวขึ้นได้ดี ตามบอนด์ยีลด์ทั้งระยะสั้นและระยะยาวที่ปรับตัวลดลง (บอนด์ยีลด์ลดลง ทำให้ Valuation หุ้นเทคฯ น่าสนใจมากขึ้น) โดยในฝั่งสหรัฐฯ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้นกว่า +0.81%

ขณะที่ ดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.42% ทั้งนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงได้แรงหนุนจากผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ดีกว่า อาทิ บริษัทที่เกี่ยวข้องกับธีม Reopening เช่น Expedia +12% หลังประกาศงบการเงินออกมาดีกว่าคาด พร้อมปรับมุมมองเชื่อมั่นแนวโน้มการฟื้นตัวของการเดินทางท่องเที่ยว, Airbnb +4.7% หลังรายได้ปรับตัวขึ้นดีกว่าคาด

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX50 เดินหน้าปรับตัวขึ้น +0.55% หนุนโดยรายงานผลประกอบการของบริษัทโดยรวมที่ยังออกมาดีต่อเนื่อง รวมถึงแรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคฯ ที่ได้รับอานิสงส์จากการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์

ทำให้ Adyen +3.7%, ASML +2.5% อย่างไรก็ดี หุ้นกลุ่มการเงินเผชิญแรงขายทำกำไรออกมาบ้าง Santander -2.2%, Intesa Sanpaolo -1.8% หลังผู้เล่นตลาดบางส่วนเริ่มปรับลดความคาดหวังการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลัก

นอกจากนี้ ในฝั่งตลาดเอเชีย เรามองว่า ตลาดหุ้นจีนและฮ่องกงอาจเผชิญแรงกดดันจากความกังวลปัญหาหนี้ในภาคอสังหาฯ หลังบริษัท Kaisa Holding ได้ผิดนัดจ่ายเงินให้กับผู้ลงทุนในสินทรัพย์ Wealth Management Product (WMP) แต่เชื่อว่าหุ้นกลุ่มเทคฯ ในตลาดจีนหรือฮ่องกงอาจสามารถปรับตัวขึ้นได้บ้าง ตามโมเมนตัมการปรับตัวขึ้นของหุ้นเทคฯ ทั่วโลก

ในฝั่งตลาดบอนด์ ผู้เล่นในตลาดเริ่มปรับลดมุมมองที่เชื่อว่าธนาคารกลางจะขึ้นดอกเบี้ยได้เร็วกว่าคาด ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ทั่วโลก ทั้งระยะสั้นและระยะยาวต่างปรับตัวลดลง นำโดยบอนด์ยีลด์ 2 ปี อังกฤษ ที่ปรับตัวลดลงกว่า 20bps สู่ระดับ 0.50% หลัง BOE คงดอกเบี้ยพร้อมกับส่งสัญญาณไม่รีบขึ้นดอกเบี้ย

ซึ่งสวนทางกับมุมมองของตลาดที่เชื่อว่า BOE จะขึ้นดอกเบี้ย 1-2 ครั้งในปีนี้ และ 4-5 ครั้งในปีหน้า นอกจากนี้ บอนด์ยีลด์ 10ปี ทั่วโลก ก็ปรับตัวลดลงเช่นกัน นำโดยบอนด์ยีลด์ 10ปี อังกฤษ ที่ปรับตัวลดลงกว่า 14bps แตะระดับ 0.93% ส่วนบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลงราว 7bps สู่ระดับ 1.54%

อย่างไรก็ดี เรามองว่า การย่อตัวลงของบอนด์ยีลด์ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ไม่ได้สะท้อนว่า ขาขึ้นของบอนด์ยีลด์ได้จบลงแล้ว เรามองว่า บอนด์ยีลด์ยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นต่อได้ ตามภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การเปิดรับความเสี่ยงของตลาด รวมถึงการทยอยถอนสภาพคล่องจากตลาดผ่านการลดคิวอีของบรรดาธนาคารกลาง

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นมากเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ส่งผลให้ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 94.33 จุด หลังจากที่ ค่าเงินปอนด์ (GBP) อ่อนค่าลงกว่า -1.4% สู่ระดับ 1.35 ดอลลาร์ต่อปอนด์ จากการที่ BOE คงดอกเบี้ยและส่งสัญญาณไม่รีบขึ้นดอกเบี้ยตามที่ตลาดคาดหวังไว้

ทั้งนี้ การแข็งค่าของเงินดอลลาร์กลับไม่ได้กดดันราคาทองคำมากนัก เนื่องจากราคาทองคำยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์ หนุนให้ราคาทองคำรีบาวด์ขึ้นมาแตะระดับ 1,792 ดอลลาร์ต่อออนซ์ จากที่ดิ่งลงไปแตะระดับ 1,760 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ในช่วงก่อนการประชุมเฟด ซึ่งเราเชื่อว่า จะเห็นผู้เล่นทยอยขายทำกำไรราคาทองคำมากขึ้นในช่วงระดับราคาดังกล่าว

สำหรับวันนี้ ในด้านข้อมูลเศรษฐกิจ ตลาดจะรอจับตาการรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ซึ่งตลาดมองว่ามีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดี โดยยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) อาจเพิ่มขึ้นกว่า 4 แสนรายในเดือนตุลาคม ช่วยให้อัตราว่างงาน (Unemployment) ลดลงเหลือ 4.7%

ขณะเดียวกัน ผลกระทบจากการหาแรงงานที่ยากขึ้นจะช่วยให้รายได้ของแรงงาน (Average Hourly Earning) ปรับตัวขึ้นกว่า +4.9%y/y ซึ่งรายได้ที่เพิ่มขึ้นจะช่วยให้เฟดคลายกังวลเกี่ยวกับการฟื้นตัวของตลาดแรงงานสหรัฐฯ และการใช้จ่ายครัวเรือน

ส่วนในฝั่งไทย ตลาดจะรอลุ้นแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนตุลาคม โดยตลาดมองว่า การใช้จ่ายที่ฟื้นตัว รวมถึงราคาสินค้าพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นมากจากปีก่อนหน้า จะหนุนให้อัตราเงินเฟ้อ (CPI) เร่งตัวขึ้นสู่ระดับ 1.80% ทั้งนี้ การเร่งตัวขึ้นของเงินเฟ้อจะไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งรีบปรับขึ้นดอกเบี้ย

ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 33.35-33.37 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ ใกล้ระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 33.41 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยแม้เงินบาทจะยังคงเคลื่อนไหวในกรอบเดิม แต่กรอบแข็งค่าในระหว่างวันอาจจำกัด เนื่องจากเงินดอลลาร์ฯ มีปัจจัยบวกจากตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลงมากกว่าคาด

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 33.25-33.45 บาทต่อดอลลาร์ฯ  ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางฟันด์โฟลว์ สถานการณ์โควิด-19 การรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงานและเครื่องชี้ตลาดแรงงานอื่นๆ ของสหรัฐฯ

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

จุรินทร์ หารือประธานวุฒิสภาสวิส ดัน FTA ไทย-เอฟตา เป็นฉบับที่ 15 ของไทย

“จุรินทร์” หารือประธานวุฒิสภาสวิส ดัน FTA ไทย-เอฟตา เป็นฉบับที่ 15 ต่อจาก RCEP เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้า ทำตลาดข้าวไทย

วันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังประธานวุฒิสภาสมาพันธรัฐสวิส (นาย Alex Kuprecht) ขอเข้าเยี่ยมคารวะและหารือ ในความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศและความสัมพันธ์ทางการค้า ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติของสวิตเซอร์แลนด์ กับฝ่ายบริหารของกระทรวงพาณิชย์ประเทศไทย ว่า

ในการหารือมีความเห็นตรงกัน ที่ต้องการผลักดันความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทยกับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free Trade Association : EFTA) หรือเอฟตา ประกอบด้วย 4 ประเทศ คือ สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์

โดยตั้งเป้าหมายว่าภายในสิ้นปี 2564 นี้จะเจรจาในระดับเจ้าหน้าที่ให้จบสิ้น และไตรมาสแรกของปี 2565 จะเดินหน้าเจรจาในแต่ละหัวข้อพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ตั้งเป้าจะเจรจาให้จบเร็วที่สุด เพราะถ้าความตกลง FTA ไทย-เอฟตา เกิดขึ้นได้ จะมีประโยชน์ในเรื่องมูลค่าการค้าการลงทุนระหว่างกันของทั้ง 2 ฝ่าย

ขณะนี้ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เป็นคู่ค้าที่มีความสำคัญลำดับที่ 13 ของประเทศไทย มีมูลค่าการค้ารวม ปี 2563 ประมาณ 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หลังจากสถานการณ์โควิดในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 มูลค่าการค้าลดลงเกือบครึ่งหนึ่งเหลือประมาณ 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลบประมาณ 42% เชื่อว่าถ้าความตกลงเกิดขึ้นได้ มูลค่าการค้าระหว่างกันจะเป็นบวก และจะเป็นประโยชน์ต่อทั้ง 2 ฝ่าย โดยเฉพาะในเรื่องการส่งออกประเทศไทย

สินค้าสำคัญ เช่น ข้าวพรีเมี่ยม ข้าวคุณภาพสูง รวมทั้งอาหารสำเร็จรูปอาหารกระป๋อง อาหารแปรรูป และสินค้าที่เกี่ยวกับการบริการทางการแพทย์ เช่น เครื่องมือแพทย์ สินค้าเพื่อสุขภาพ ที่ไทยสามารถส่งออกไปยังกลุ่มประเทศเอฟตาได้

“หากความตกลงสำเร็จ จะกลายเป็น FTA ฉบับที่ 15 ซึ่งปัจจุบันไทยมี FTA แล้ว 13 ฉบับ และกำลังจะมีฉบับที่ 14 เกิดขึ้นคือ RCEP ซึ่งประเทศไทยได้ยื่นให้สัตยาบันต่อสำนักงานเลขาธิการอาเซียนที่จาการ์ตาแล้ว และกลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศ ต้องให้สัตยาบันไม่ต่ำกว่า 6 ประเทศ ซึ่งครบแล้ว และนอกกลุ่มอาเซียนมี 5 ประเทศให้สัตยาบันแล้ว 4 ประเทศ เป้าหมาย RCEP คือ ต้นปีหน้าน่าจะสามารถบังคับใช้ได้ ซึ่งจะกลายเป็น FTA ฉบับที่ 14 ของไทย และหากข้อตกลงนี้สำเร็จจะเป็นฉบับที่ 15 ต่อไป”

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

ไทยกับเส้นทางสู่เศรษฐกิจดิจิทัล“ยูนิคอร์น”หนึ่งหมุดหมายของโอกาส

ประเทศไทยในสายตาของนักลงทุนทั่วโลกในขณะนี้มีความโดดเด่นและน่าสนใจมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากมียูนิคอร์นเกิดใหม่ถึงสามราย ได้แก่ Flash Express และ Ascend Money และตามมาด้วยน้องใหม่สุด ๆ อย่าง Bitkub ซึ่งเป็นหนึ่งในจำนวนยูนิคอร์นกว่า 800 ตัวทั่วโลก

จากรายงานล่าสุดของ CB Insights การลงทุนในระดับ Global Venture Funding ทำให้เกิดจำนวนยูนิคอร์นใหม่เพิ่มขึ้น 127 บริษัท จากทั้งหมด 848 บริษัท ซึ่งเป็นยูนิคอร์นจากเอเชีย 30 บริษัท ทำให้เห็นเงินทุนในเอเชียเพิ่มขึ้น 95% YoY สู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 50,200 ล้านดอลลาร์ และมีส่วนแบ่งจากตลาดเงินทุนโลกเติบโตจาก 26% ในไตรมาส 2 เป็น 32% ในไตรมาส 3 ของปีนี้

เส้นทางยูนิคอร์นของธุรกิจไทย

การลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพในประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาจากหลากหลายปัจจัย ทั้งจาก นโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ และการลงทุนด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อนำมาเสริมศักยภาพในการทำธุรกิจรอบด้านของภาคเอกชน โดยปัจจุบันมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยมีสัดส่วนน้อยกว่า 20% ของ GDP และคาดว่าจะสามารถเติบโตเป็นมากกว่า 25% ในอีก 5 - 6 ปีข้างหน้า (อ้างอิง BOI) สอดคล้องกับแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาค ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าทะยานถึง 300,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเติบโตเกือบ 3 เท่าภายในปี 2025 (อ้างอิงจากรายงาน e-Conomy 2020 ที่จัดทำโดย Google, Temasek และ Bain & Company) สถานภาพของประเทศไทยจึงมีความโดดเด่นในฐานะประเทศหลักของกลุ่มอาเซียน อีกทั้งแนวโน้มดังกล่าวได้กระตุ้นบริษัทผู้ให้บริการในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เร่งพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างบริการรองรับความต้องการ และจัดการเส้นทางประสบการณ์ (Digital Journey) ของผู้บริโภคให้ดียิ่งขึ้น และในอีกมุมหนึ่งก็หมายถึงโอกาสของสตาร์ทอัพและบริษัทด้านเทคโนโลยี ที่มีความพร้อมและตอบโจทย์ธุรกิจที่จะได้รับความสนใจจากบริษัทขนาดใหญ่ทั้งในแง่การร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ และดึงดูดการลงทุนเพื่อก้าวกระโดดเป็นยูนิคอร์น เพื่อตอบรับการเติบโตดังกล่าว

เมื่อภูมิทัศน์ของตลาด การแข่งขัน และพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป โดยมีเทคโนโลยีเป็นปัจจัยเร่ง จะเห็นได้ว่าผู้เล่นจากหลากหลายอุตสาหกรรมได้ก้าวข้ามเซ็กเม้นต์ตลาดมาลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อเสริมศักยภาพธุรกิจเดิม อาทิ การลงทุนของสถาบันการเงินขนาดใหญ่ในธุรกิจเทคโนโลยีสตาร์ทอัพ การจับมือเป็นพันธมิตรระหว่างธนาคารหรือบริษัทประกันภัยหรือบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกับผู้ให้บริการดิจิทัลวอลเล็ทเพื่อนำนวัตกรรมฟินเทค หรือภาคอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจโรงภาพยนตร์ที่เปิดรับสกุลเงินคริปโตเพื่อสร้างสีสันในตลาด ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้เห็นแนวโน้มการปฏิวัติวงการเทคโนโลยีและบริการทางการเงินไปสู่ยุคใหม่

การศึกษา Fintech Adoption 2021 จัดทำโดย App Annie และ EY วิเคราะห์ผู้เล่นอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่ที่สุดและเติบโตเร็วที่สุดในอาเซียนเปิดเผยว่าผู้ประกอบการที่เติบโตเร็วที่สุดหลายรายใช้กลยุทธ์การเป็นพันธมิตรกับผู้ให้บริการทางการเงินที่สร้างโอกาสสมประโยชน์ (Win-Win) กับทั้งสองฝ่าย  การเป็นพันธมิตรธุรกิจระหว่าง Financial และ Non-Financial ทำให้ต้องร่วมกันพิจารณาโอกาส ความเสี่ยงและผลตอบแทนของการทำงานร่วมกันอย่างถี่ถ้วน และช่วยให้การกำหนดกลยุทธ์ทางธุรกิจได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น อาทิ ป้องกันตำแหน่งทางธุรกิจอย่างไร จะแข่งขันอย่างไร หรือแม้แต่การพิจารณาขยายขอบเขตการเป็นพันธมิตรกับผู้ให้บริการกลุ่มอื่น ๆ

สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล (เส้นทางสู่ความสำเร็จ)

1.ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ ๆ ในอาเซียนกำลังขยายบริการ TechFin ไปพร้อมกับมองหาพันธมิตรในกลุ่มฟินเทคเพื่อผสานความแข็งแกร่งระหว่างแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซและอีวอลเล็ท เพื่อขยายฐานผู้ใช้ร่วมกัน และผสานความสามารถในการนำดาต้ามาปรับใช้เป็นกลยุทธ์ในการพัฒนานวัตกรรมและเพิ่มโอกาสทางการตลาดใหม่ ๆ  ในแบบ Win-Win ตลอดทั่วทั้งระบบนิเวศ

2.ผู้ให้บริการฟินเทค เริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญกับในการเพิ่มมูลค่าบริการของสถาบันการเงิน รวมถึงเพิ่มการเข้าถึงบริการ และตอบรับความต้องการของผู้คนที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงินรูปแบบเดิม ๆ (Underserved) ให้สามารถได้ประโยชน์จากบริการทางการเงินหลากหลายรูปแบบในแอปเดียวนอกเหนือไปจากการจ่ายและโอน เช่น การฝากเงิน หรือการซื้อประกัน หรือการลงทุนในกองทุนต่าง ๆ หรือการซื้อหุ้น เป็นต้น

3.ฟินเทค สามารถเข้ามาช่วยมอบบริการที่มีความยืดหยุ่นกว่า ด้วยความได้เปรียบจากการมีเทคโนโลยีที่ปลดล็อคข้อจำกัดต่าง ๆ ในอดีต  ซึ่งสามารถทำให้เกิดการรีโมเดลธุรกิจ เพื่อลดกระบวนการดำเนินงาน การให้บริการ และอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้มากขึ้น เช่น สินเชื่อรถยนต์ที่ปรับรูปแบบให้สามารถทำได้ผ่านแอปพลิเคชั่นแทนการไปยื่นเอกสารที่ออฟฟิศ หรือสินเชื่อที่แค่วิเคราะห์ข้อมูลจากพฤติกรรมการใช้จ่ายสินค้าและบริการ

4.วันนี้ หลายผู้ให้บริการกำลังมองหาและขยายการลงทุนในเรื่องเทคโนโลยีขั้นสูง (deep tech) อาทิ Artificial Intelligence, Blockchain, Big Data, Quantum Computing ฯลฯ เพื่อสร้างนวัตกรรมบริการที่ตอบสนองดิจิทัลไลฟสไตล์ และต้องตอบโจทย์ประสบการณ์ของลูกค้าให้ได้มากที่สุด ซึ่งรวมถึงการสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่เพื่อเพิ่มศักยภาพทางการเงินให้กับผู้บริโภคที่มาเลือกใช้สินค้าและบริการ หรือเป็นเครื่องมือสนับสนุนการทำงานและสร้างความปลอดภัยทางการเงินในระบบนิเวศขององค์กรเอง

สถานะยูนิคอร์นของสตาร์ทอัพในไทย ไม่ใช่เป็นเพียงแค่เม็ดเงินที่ได้รับจากผู้ลงทุนเท่านั้น แต่เป็นสัญญาณตัวชี้วัดที่แสดงถึงศักยภาพของธุรกิจที่มีการเติบโตรวดเร็ว กล้าคิด กล้าสร้างโอกาสและความเปลี่ยนแปลง อีกทั้งเปิดรับความร่วมมือต่าง ๆ ซึ่งอาจรวมถึงศักยภาพในการเติบโตในต่างประเทศด้วย และในอีกมุมหนึ่ง ก็ยังช่วยสร้างความเชื่อมั่นและดึงดูดความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลกมาสู่ประเทศ เพื่อจะก้าวไปสู่มิติของเศรษฐกิจดิจิทัลที่สามารถสร้างงาน สร้างรายได้ และทุกคนในสังคม ทั้งลูกค้า คนทำงาน ผู้ประกอบการ และผู้กำหนดและใช้นโยบายจะได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากการลงทุนเพื่อยกระดับขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

2565 เปิดเขื่อนสิรินธร "อุบลราชธานี"ชมโซลาร์ลอยน้ำไฮบริดใหญ่สุดในโลก

โซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธร ใหญ่ที่สุดในโลก! จ่ายไฟเชิงพาณิชย์แล้ว กฟผ. จ่อลุยต่อ 15 โครงการทั่วประเทศ โชว์ศักยภาพผู้นำพลังงานสะอาดรับเทรนด์โลก

โซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดใหญ่ที่สุดในโลกเขื่อนสิรินธร กฟผ. เริ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์แล้ว เตรียมดันเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ของ จ.อุบลราชธานี รับนักท่องเที่ยวต้นปี 2565

พร้อมลุยต่อโครงการใหม่อีก 15 แห่งทั่วประเทศ รวม 2,725 เมกะวัตต์ ตอกย้ำผู้นำพลังงานสะอาด ร่วมผลักดันประเทศมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี (Hydro-floating Solar Hybrid) หรือ โรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธร ขนาดกำลังผลิต 45 เมกะวัตต์

เริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์แล้ว เมื่อ 31 ตุลาคม 2564 ซึ่งจะช่วยเสริมความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ได้ประมาณ 47,000 ตัน/ปี ตอบโจทย์พลังงานสะอาดช่วยลดภาวะโลกร้อน

โดยพิธีเปิดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD)ครั้งนี้  มีนายสรา สุวรรณรัตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ประจำเขต 5 (อุบลราชธานี) นายธนกร สอนอาจ พลังงานจังหวัดอุบลราชธานี นายวันชัย โภชธิหรรษา ผู้จัดการโครงการฯ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัทคู่สัญญา และผู้บริหาร กฟผ. ร่วมพิธี ณ ห้องประชุมอาคารช้างน้อย เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี

พร้อมกันนี้ กฟผ. ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับชุมชน โดยเตรียมเปิดตัวโรงไฟฟ้าแห่งนี้ ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของ จ.อุบลราชธานี เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมได้ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 เป็นต้นไป ซึ่งจะสามารถช่วยสร้างอาชีพ เสริมรายได้ ให้กับชุมชน ทำให้ชุมชนพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน และยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัดในภาพรวมอีกด้วย

จากผลสำเร็จครั้งนี้ กฟผ. เตรียมเดินหน้าโครงการต่อไปที่เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ขนาดกำลังผลิต 24 เมกะวัตต์ และพื้นที่เขื่อนอื่น ๆ ของ กฟผ. อีก 15 โครงการทั่วประเทศ รวม 2,725 เมกะวัตต์ เพื่อเร่งผลักดันให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมาย การปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ ก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำได้อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธรขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีจุดเด่นที่สามารถผลิตไฟฟ้า จากทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ในเวลากลางวัน และพลังน้ำจากเขื่อนที่มีอยู่เดิม มาผลิตไฟฟ้าในช่วงที่ไม่มีแสง หรือเสริมความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในช่วงค่ำ โดยนำระบบ EMS (Energy Management System) ร่วมกับระบบพยากรณ์อากาศ (Weather Forecast System) มาควบคุมและบริหารจัดการ เพื่อช่วยเพิ่มเสถียรภาพให้กับระบบผลิตไฟฟ้า ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้ยาวนานขึ้น ลดข้อจำกัดของพลังงานหมุนเวียน

ในอนาคต กฟผ. เตรียมสร้างศูนย์ควบคุมพลังงานหมุนเวียน (RE Control Center) โดยนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าให้มากขึ้น

โรงไฟฟ้าฯ ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์แบ่งออกเป็น 7 ชุด บนพื้นที่ผิวน้ำในเขื่อนไม่ถึงร้อยละ 1 ของพื้นที่อ่างเก็บน้ำทั้งหมด โดยเลือกใช้แผงโซลาร์เซลล์ และทุ่นลอยน้ำที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทั้งหมด ไม่ส่งผลกระทบกับระบบนิเวศใต้น้ำ

นอกจากนี้ ยังใช้ระบบส่งไฟฟ้า อุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ รวมถึงพื้นที่ผิวน้ำในเขื่อนเขื่อนสิรินธรที่มีอยู่เดิม ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเต็มประสิทธิภาพ ช่วยลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายลงได้ ทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้ามีราคาต่ำ     โดยวางแผงโซลาร์เซลล์ให้มีมุมเอียง มีช่องว่างระหว่างแผงและทุ่นลอยน้ำ แสงแดดสามารถลอดผ่านลงในน้ำได้ จึงไม่กระทบกับระบบนิเวศใต้น้ำ

และการนำแผงโซลาร์เซลล์วางบนผิวน้ำ จะช่วยลดความร้อนของแผงโซลาร์เซลล์ ทำให้มีประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าดีกว่าการติดตั้งบนบกถึงร้อยละ 10 - 15 ทั้งยังช่วยลดการระเหยของน้ำในเขื่อนได้ประมาณ 460,000 ลูกบาศก์เมตร/ปี

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

เกษตรฯผนึกสภาอุตสาหกรรม ขับเคลื่อนโครงการมุ่งสู่ตลาดโลก

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษา รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรฯ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กรกอ.) ประชุมทางไกลคณะอนุกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรฯ กับ กรกอ.ภาคเหนือ ซึ่งมีนายทวีกิจ จตุรเจริญคุณ ประธานสภาอุตสาหกรรมฯ ภาคเหนือ และคณะกรรมการภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม

นายอลงกรณ์ เปิดเผยว่า ได้พิจารณาขับเคลื่อนหลายโครงการโดยเฉพาะโครงการพัฒนาเกษตรแม่นยำสู่ธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม 2 ล้านไร่ ทั้งเฟส 1-2

ปี 2564-2565 มีสินค้าเป้าหมาย 15 ชนิด นอกจากนี้ยังพิจารณาขับเคลื่อนโครงการ1 กลุ่มจังหวัด 1 นิคมอุตสาหกรรมเกษตรอาหาร โครงการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกของกลุ่มภาคเหนือตอนล่าง 1(พิษณุโลก สุโขทัย อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ ตาก) เช่น โครงการศูนย์พัฒนาผลไม้สดเพื่อการส่งออก โครงการพื้นที่เศรษฐกิจนวัตกรรมอาหารภาคเหนือ

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ภาคเหนือ ตามแนวคิดใหม่ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 13 ว่าด้วยทิศทางการพัฒนาภาคเหนือ

ปี 2566–2570 เน้นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สานสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ สุขภาวะดี วิถีชีวิตยั่งยืน

นอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นชอบแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารภาคเหนือ เพื่อเป็นกรอบการดำเนินงานของ กรกอ.ภาคเหนือ ภายใต้

5 ยุทธศาสตร์ปฏิรูปภาคเกษตรโดยได้มอบนโยบายต่อ กรกอ.ภาคเหนือ เพิ่มเติม 6 เรื่อง ได้แก่ 1.Product based เพิ่มลำไยในโครงการเกษตรแม่นยำ 2 ล้านไร่ 2.LogisticsAdvantage เพิ่มแผนงานโลจิสติกส์เชื่อมเหนือเชื่อมโลก เปลี่ยน Land Lock เป็นLand Link ด้วยการระบบการขนส่งต่างๆ ด้วยการขนส่งทางรางเชื่อมด่านเชียงของกับด่านรถไฟโมฮ่านสู่จีน เอเชียตะวันออก เอเชียกลาง ตะวันออกกลาง รัสเซีย และยุโรป โดยใช้ท่าเรือบกคอร์คอสของคาซัคสถานเป็นศูนย์พักและกระจายสินค้าเกษตรของไทยและการขนส่งทางอากาศ ด้วยสนามบินนานาชาติในภาคเหนือ เช่น สนามบินเชียงใหม่ และเชียงราย 3.Sustainable Agroindustryโครงการอุตสาหกรรมสีเขียว (GreenIndustry) ในกรอบเกษตรกรรมยั่งยืน

4.งบประมาณการวิจัยและพัฒนาสินค้าเกษตรโดยการสนับสนุนของสวก.องค์การมหาชนในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ 5.ระบบสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อการลงทุนเกษตรอุตสาหกรรมโดยความร่วมมือของ ธ.ก.ส.และกระทรวงเกษตรฯ และ 6.โครงการ Laboratory ภาคเหนือ ระดับจังหวัดและกลุ่มจังหวัด อย่างไรก็ดี นอกจากการประชุม กรกอ.ภาคเหนือ แล้ว ก็ยังมีการประชุมร่วมกับกรกอ.ภาคตะวันออก อีกด้วย

จาก https://www.naewna.com วันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

ศูนย์วิจัยธ.ก.สชี้นโยบายเปิดประเทศทำให้แนวโน้มราคาสินค้าเกษตรปรับเพิ่ม

ศูนย์วิจัยธ.ก.สชี้นโยบายเปิดประเทศทำให้แนวโน้มราคาสินค้าเกษตรปรับเพิ่ม

ศูนย์วิจัยธ.ก.ส.ชี้แนวโน้มราคาสินค้าเกษตรปรับเพิ่ม ผลพวงนโยบายเปิดประเทศ และ ปัญหาภัยธรรมชาติ อาทิ ข้าวเปลือกหอมมะลิ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และโคเนื้อ ด้านข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกเหนียว ยางพาราแผ่นดิบ และน้ำตาลทรายดิบ มีแนวโน้มราคาปรับลดลง

นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรในเดือนพ.ย.2564 โดยสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาอยู่ที่ 10,237 - 10,462 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 5.02 - 7.32 เนื่องจาก ปัญหาอุทกภัยในแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิที่สำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง

อย่างไรก็ตาม ยังมีแรงกดดันจากปัญหาการขนส่งข้าวหอมมะลิและค่าระวางที่สูงขึ้นอย่างมากในการส่งออกไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา มันสำปะหลัง ราคาอยู่ที่ 2.17 - 2.22 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 4.85 - 7.25 เนื่องจากเป็นช่วงต้นฤดูกาลผลิตมันสำปะหลังปีการผลิต 2564/65 ทำให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดไม่มาก

ขณะที่ ความต้องการใช้มันสำปะหลังเพื่อผลิตมันเส้นส่งออกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะประเทศจีนที่มีความต้องการนำเข้าเพื่อไปใช้ในหลายอุตสาหกรรม อาทิ แอลกอฮอล์ เอทานอล และปศุสัตว์   ปาล์มน้ำมัน ราคาอยู่ที่ 7.62 - 7.72 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.24 - 2.30 เนื่องจาก เศรษฐกิจทั่วโลกเริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันดิบเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ภาวะการค้าน้ำมันปาล์มภายในประเทศอาจชะลอตัวลงบางส่วนโดยเฉพาะการใช้พลังงานทดแทน เนื่องจากนโยบายรัฐที่ปรับลดการใช้น้ำมันดีเซลจาก B7 และ B10 เป็น B6 ในช่วงกลางเดือนตุลาคม 2564 ส่งผลให้ราคาปาล์มน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นไม่มากนัก สุกร ราคาอยู่ที่ 67.67 - 68.14 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 1.09 - 2.53

เนื่องจาก ความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้นจากการผ่อนคลาย  มาตรการล็อกดาวน์ของภาครัฐในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2564 ทำให้ร้านอาหาร โรงเรียน และสถานประกอบการอื่นๆ กลับมาเปิดให้บริการตามปกติ ประกอบกับนโยบายภาครัฐที่กระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ โครงการคนละครึ่งและโครงการไทยเที่ยวไทย เป็นปัจจัยสนับสนุนให้ความต้องการบริโภคเนื้อสุกรเพิ่มขึ้น

ด้านกุ้งขาวแวนนาไม ราคาอยู่ที่ 128.27 – 129.78 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 1.80 - 3.00 เนื่องจากการทยอยผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์มากขึ้น ประกอบกับการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะเป็นปัจจัยหนุนให้ความต้องการบริโภคกุ้งในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามแรงกระตุ้นการท่องเที่ยวในช่วงปลายปี

ขณะที่ ปริมาณผลผลิตบางส่วนได้รับความเสียหายจากปัญหาอุทกภัยในช่วงกำลังจะจับกุ้งออกจำหน่าย ส่งผลให้ปริมาณกุ้งขาวแวนนาไมลดลง โคเนื้อ ราคาอยู่ที่ 95.40 – 95.62 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.11 - 0.34 จากการทยอยผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์มากขึ้นและการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เฟส 1 รวมถึงการท่องเที่ยวในประเทศในช่วงปลายปีที่เป็นฤดูกาลท่องเที่ยว จะเป็นปัจจัยบวกที่ทำให้ความต้องการบริโภคเนื้อโคปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่ปริมาณเนื้อโคที่ออกสู่ตลาดลดลงจากการที่มีโคเนื้อบางส่วนยังติดเชื้อโรคลัมปี-สกิน

ด้านสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ราคาอยู่ที่ 7,485 - 7,503 บาท/ตัน ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.82-1.06 เนื่องจากเป็นช่วงที่ผลผลิตข้าวเจ้านาปีออกสู่ตลาดจำนวนมาก ประมาณร้อยละ 60 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งปี 2564

ประกอบกับประเทศเวียดนาม เริ่มกลับมาส่งออกอีกครั้งหลังจากก่อนหน้านี้มีการบังคับใช้มาตรการป้องกันโควิดอย่างเข้มงวด ส่งผลให้ส่วนแบ่งตลาดข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ของไทยลดลง กระทบต่อความต้องการข้าวไทยในตลาดโลกลดลงตามไปด้วย ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ราคาอยู่ที่ 7,564 - 7,695 บาท/ตัน ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 1.09 - 2.81

เนื่องจากเป็นช่วงที่ผลผลิตข้าวเปลือกเหนียวนาปีออกสู่ตลาดจำนวนมากประกอบกับสต็อกข้าวเหนียวของโรงสียังคงมีอยู่จำนวนมาก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ความชื้นไม่เกิน 14.5% ราคาอยู่ที่ 8.29 - 8.38 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.50 - 1.50 เนื่องจากเป็นช่วงเดือนที่มีผลผลิตออกสู่ตลาดสูงที่สุดในปีการผลิต 2564/65 คาดว่าจะมีผลผลิตประมาณ 1.31 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 27.34 ของปริมาณผลผลิตทั้งหมด

ขณะที่ความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในเดือนนี้คาดว่าจะลดลงเล็กน้อยจากสัญญานำเข้าข้าวโพดและข้าวสาลีที่ส่งมอบในเดือนธันวาคม 2564 ที่ปรับตัวลดลง ร้อยละ 0.47 และร้อยละ 0.03 อาจกระตุ้นให้ผู้ประกอบการวางแผนนำเข้าวัตถุดิบข้าวโพดและข้าวสาลีจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อบริหารจัดการสต็อกวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์

ยางพาราแผ่นดิบชั้น 3 ราคาอยู่ที่ 46.57 - 49.22 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.10 - 4.80 เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลที่ปริมาณผลผลิตยางพาราของประเทศไทยออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 10.51 ของปริมาณผลผลิตทั้งปี 2564 รวมทั้งยังคงมีปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ในการขนส่งยางพารา และปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยางรถยนต์ และทำให้ความต้องการใช้ยางเพื่อผลิตล้อยางรถยนต์ลดลง

น้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์ก ราคาอยู่ที่ 18.61 - 18.76 เซนต์/ปอนด์ (13.69 - 13.80 บาท/กก.) ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.60 - 1.40 จากสัญญาณการผลิตน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นในบราซิล ประกอบกับประเทศจีนชะลอการนำเข้าน้ำตาลทราย โดยคาดว่าจะนำเข้าลดลงในช่วง 3 เดือนต่อจากนี้ เป็นผลจากราคาน้ำตาลตลาดโลกที่สูงขึ้น และต้นทุนการขนส่งทางเรือที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ต้นทุนการนำเข้าของประเทศผู้ซื้อเพิ่มขึ้นมาก

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

เขตการค้าใหญ่ที่สุดในโลก RCEP เริ่มต้น ม.ค. ปีหน้า

ออสเตรเลียเผยข้อตกลงการค้า RCEP จะมีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคม หลัง 15 ชาติให้สัตยาบันข้อตกลง จากการรายงานของสำนักข่าว Kyodo

ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม ตามการเปิดเผยของรัฐบาลออสเตรเลีย โดยข้อตกลงดังกล่าวจะอำนวยความสะดวกในการเปิดเสรีการค้าและการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในเอเชียและแปซิฟิก

RCEP ที่มีสมาชิก 15 ประเทศ ซึ่งเป็นข้อตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ไม่มีสหรัฐรวมอยู่ด้วย ประเทศสมาชิก 15 ประเทศมีสัดส่วนประมาณ 30% ของประชากรโลก (2,200 ล้านคน) และ 30% ของ GDP โลก (26.2 ล้านล้านดอลลาร์) ณ ปี 2020 ทำให้เป็นกลุ่มการค้าที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์

แดน ทีแฮน (Dan Tehan) รัฐมนตรีกระทรวงการค้า การท่องเที่ยว และการลงทุนของออสเตรเลีย ระบุในถ้อยแถลงที่เผยแพร่เมื่อวันอังคารว่า สนธิสัญญามีผลบังคับใช้ทันทีที่ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ให้สัตยาบัน

“RCEP จะมีผลบังคับใช้ 60 วันหลังจากการให้สัตยาบันโดยอย่างน้อย 6 รัฐในอาเซียนและอย่างน้อย 3 รัฐนอกอาเซียน หมายหลักที่ว่านั้นบรรลุถึงในวันที่ 2 พฤศจิกายน2021 โดยมีการให้สัตยาบันโดยออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ซึ่งจะเป็นการปูทางให้ RCEP เข้าสู่ มีผลใช้บังคับในวันที่ 1 มกราคม 2022” คำแถลงระบุ

Kyodo รายงานว่า RCEP ได้รับการออกแบบมาเพื่อยกเลิกภาษีศุลกากรสำหรับสินค้าร้อยละ 91 และสร้างมาตรฐานกฎระเบียบด้านการลงทุน ทรัพย์สินทางปัญญา และอีคอมเมิร์ซ ท่ามกลางแนวปฏิบัติทางการค้าอื่นๆ

ญี่ปุ่นไฟเขียวร่วม RCEP ข้อตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่สุดในโลก

กระตุ้นเอกชนเตรียมใช้สิทธิ์ RCEP ลดภาษีสินค้ากว่า 2.9 หมื่นรายการ ขยายส่งออก

นอกจากนี้ยังมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพของห่วงโซ่อุปทานภายในเขตการค้าเสรี ซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 30 ของผลผลิต การค้า และประชากรของโลก

RCEP จัดกลุ่มประเทศสมาชิก 10 ประเทศของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม รวมทั้งออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และเกาหลีใต้

RCEP ยังเป็นข้อตกลงการค้าเสรีฉบับแรกระหว่างจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นสามในสี่ประเทศเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย

นักวิเคราะห์หลายคนคาดการณ์ว่า RCEP จะให้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญแก่ประเทศที่ลงนาม และยังดึงสถานะศูนย์กลางทางเศรษฐกิจกลับมาสู่เอเชีย โดยที่จีนพร้อมที่จะเป็นผู้นำในการเขียนกฎการค้าสำหรับภูมิภาคนี้ โดยปล่อยให้สหรัฐล้าหลังในด้านเศรษฐกิจ และการเมือง

จาก https://www.posttoday.com   วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

“สุพัฒนพงษ์” ชูนโยบาย 4D เปิด 4 โอกาสหนุน ศก.ไทยพลิกโต 5-6% ปีหน้า

“สุพัฒนพงษ์” ปักธงโมเดลเศรษฐกิจ 4D เปิด 4 โอกาสขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยรับกระแสโลก สร้างเชื่อมั่นลงทุนไทยและต่างชาติ มั่นใจพลิกเศรษฐกิจไทยปี 2565 กลับมาโตระดับ 5-6%

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แสดงปาฐกถาพิเศษ Boost Up ทุบโจทย์ใหม่ เศรษฐกิจไทย ว่า ไทยกำลังมุ่งสู่โมเดลเศรษฐกิจแบบ 4D ซึ่งเป็น 4 โอกาสที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เปลี่ยนผ่านตามทิศทางของโลกได้อย่างทันท่วงที และสร้างเชื่อมั่นให้ผู้ประกอบการไทยและนักลงทุนจากต่างประเทศเพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจไทยในปี 2565 เติบโตได้ในระดับ 5-6%

“ที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินการอย่างเต็มที่ในทุกด้าน แม้ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก ดังนั้น ขอให้ทุกคนเชื่อมั่นในเศรษฐกิจไทย ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินการมาตรการต่างๆ ที่จะเข้ามาเสริม เหล่านี้จะทำให้เศรษฐกิจไทยปีหน้าสามารถกลับมาเติบโตได้ระดับ 5-6%” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว

สำหรับ 4D ประกอบด้วย 1. Digitalization การส่งเสริมเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล การลดกฎระเบียบ การพัฒนาศูนย์กลางข้อมูล (Data center) ให้มีความพร้อมรับเศรษฐกิจดิจิทัลที่จะเป็นหัวใจในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อยๆ 2. Decarbonization ซึ่งเป็นโอกาส และเป็นความท้าทาย ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศวันนี้เป็นกติกาของสังคมโลก ซึ่งล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ได้เข้าร่วมการประชุม COP26 และได้แสดงจุดยืนของประเทศไทย ที่ไทยจะก้าวไปสู่การเป็น net zero ในปี ค.ศ. 2065 โดยไทยวางแผนต่างๆ ไว้รองรับ อาทิ ส่งเสริมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยให้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศได้ 100% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดของประเทศในปี 2035 หรือปี 2578

3. Decentralization เป็นโอกาสของประเทศไทยเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นโมเดลเศรษฐกิจที่ใช้ประโยชน์จากการกระจายฐานการผลิตของบริษัท และอุตสาหกรรมชั้นนำที่ต้องการลดความเสี่ยงจากการมีฐานการผลิตอยู่ในประเทศใดประเทศหนึ่งซึ่งจะทำให้เกิดคลื่นของการย้ายฐานการผลิต หรือกระจายฐานการลงทุนเข้ามายังประเทศไทยมากขึ้น ดังนั้นการกระจายฐานการผลิตเป็นสิ่งจำเป็น

4. D-risk โดยไทยต้องปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงไปสู่ดิจิทัลมากขึ้น โดยคนจะแสวงหาที่พำนัก และอยู่อาศัย หรือประกอบกิจการเป็นแหล่งที่ 2 ของกิจการหลัก ในประเทศที่มีความปลอดภัยทางด้านสาธารณสุข และประเทศที่มีศักยภาพในการให้ความมั่นใจในเรื่องความมั่นคงด้านอาหารสูง โดยที่ผ่านมาประเทศไทยพึ่งพิงนักท่องเที่ยวระยะสั้น โดยต้องใช้นักท่องเที่ยวถึง 40 ล้านคน เพื่อแสวงหารายได้ 2 ล้านล้านบาทจากต่างประเทศ และการท่องเที่ยวแบบ 40 ล้านคน มันมีต้นทุนแฝงในเรื่องสังคม ปัญหา และการทำลายทรัพยากร ดังนั้น จึงอยากทำการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ ยกระดับการท่องเที่ยวที่มีจำนวนน้อย แต่สร้างรายได้ และมูลค่าให้แก่ประเทศได้

จาก https://mgronline.com   วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

“โซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด” ต้นแบบโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดของคนไทย

การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศส่งผลให้ทั่วโลกต้องเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติทั้งพายุ น้ำท่วม น้ำแล้ง การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล รวมถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เป้าหมายของการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutrality) เข้มข้นมากขึ้นกว่าเดิม และจะเป็นวาระสำคัญของการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP26 ที่จะจัดขึ้นในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ด้วย

การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของภาคพลังงานจึงเป็นหนึ่งในแนวทางหลักที่หลายประเทศให้ความสำคัญและเร่งเดินหน้าเพื่อสนับสนุนเป้าหมายดังกล่าว เช่นเดียวกับประเทศไทยที่สนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดโดยเฉพาะในภาคการผลิตไฟฟ้าและขนส่ง ซึ่งตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 50

การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ หรือ โซลาร์เซลล์ลอยน้ำ ถือเป็นนวัตกรรมที่หลายประเทศทั้งในยุโรปและภูมิภาคเอเชียนำมาใช้เพื่อตอบโจทย์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด แต่สำหรับโซลาร์เซลล์ลอยน้ำของประเทศไทยยังมีความพิเศษมากขึ้น เพราะการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ได้พัฒนาต่อยอดสู่ระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดแบบผสมผสานระหว่างพลังงานแสงอาทิตย์ กับพลังนํ้าจากเขื่อนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ (Hydro-floating Solar Hybrid) หรือ โรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด จำนวน 16 โครงการทั่วประเทศ กำลังการผลิตรวม 2,725 เมกะวัตต์ ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 - 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Revision 1) เพื่อให้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน โดยนำร่องที่เขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี เป็นแห่งแรก มีกำลังผลิตติดตั้ง 45 เมกะวัตต์ และยังนับเป็นโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดพลังน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งใช้แผงโซลาร์เซลล์มากถึง 144,420 แผ่น ติดตั้งอยู่บนพื้นที่ผิวน้ำประมาณ 450 ไร่ หรือเทียบเท่า สนามฟุตบอลประมาณ 70 สนาม โดยมีกำหนดจ่ายไฟเชิงพาณิชย์เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2564

ตอบโจทย์พลังงานสะอาดเพื่อคนไทยทุกคน

โรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเป็นต้นแบบโรงไฟฟ้าแห่งอนาคต ที่จะเข้ามาแทนโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างเป็นรูปธรรม เป็นการผลิตไฟฟ้าแบบไฮบริดระหว่างพลังงานแสงอาทิตย์และพลังน้ำที่มีอยู่เดิม ควบคุมด้วยระบบบริหารจัดการพลังงาน (Energy Management System : EMS) ร่วมกับการพยากรณ์อากาศ (Weather Forecast System) เพื่อลดข้อจำกัดการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ปกติแล้วจะขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ โดยนำพลังงานแสงอาทิตย์มาช่วยเสริมความต้องการไฟฟ้าสูงสุดในช่วงเช้าหรือช่วงบ่ายแทนพลังน้ำ และนำมวลน้ำมาเสริมความต้องการสูงสุดในช่วงค่ำ เพื่อตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าได้มากขึ้นและยาวนานขึ้น

กระบวนการผลิตไฟฟ้าของโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด

โรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดในเขื่อนของ กฟผ. ไม่เพียงเป็นพลังงานสะอาดเท่านั้น แต่ยังตอบโจทย์พลังงานเพื่อทุกคน เพราะการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนผิวน้ำในเขื่อนของ กฟผ. โดยเฉพาะในพื้นที่เขื่อนสิรินธร คิดเป็นพื้นที่ไม่ถึงร้อยละ 1 ของพื้นที่อ่างเก็บน้ำ จึงไม่กระทบต่อพื้นที่ทางการเกษตร อีกทั้งยังมีค่าไฟฟ้าในอัตราที่ต่ำ เนื่องจากเป็นการพัฒนาโครงการที่มีขนาดใหญ่ (Economy of Scale) บนพื้นที่ผิวน้ำของเขื่อน กฟผ. ที่สามารถลดต้นทุนค่าที่ดินได้ และใช้อุปกรณ์ที่มีอยู่ให้เต็มประสิทธิภาพ เช่น หม้อแปลง สายส่ง เป็นต้น ซึ่งสามารถช่วยลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายการดำเนินการที่เกี่ยวข้องลงได้ส่งผลให้ได้ราคาที่ถูกและสามารถแข่งขันได้

โรงไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในทุกมิติ

โซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเป็นกระบวนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดจึงไม่ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ใช้แผงโซลาร์เซลล์ชนิด Double Glass ที่มีความแข็งแรงทนทานสูง และทนความชื้นได้ดี สามารถออกแบบวางชิดผิวน้ำซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ถึงร้อยละ 10 - 15 ใช้ทุ่นลอยน้ำเป็นทุ่นพลาสติก ชนิด High Density Poly Ethylene (HDPE) ผสม UV Protection ซึ่งเป็นวัสดุประเภทเดียวกับท่อส่งน้ำประปาจึงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีอายุการใช้งานนานกว่า 25 ปี ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน ประมาณ 47,000 ตันต่อปี หรือเทียบเท่ากับการปลูกป่าประมาณ 37,600 ไร่ อีกทั้งการ ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ปกคลุมผิวน้ำยังช่วยลดการระเหยของน้ำได้ประมาณ 460,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี และช่วยลดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศได้ถึง 730.62 พันล้านบีทียูต่อปี

กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก

หนึ่งในความท้าทายของการพัฒนาโครงการนี้ คือการสร้างความเข้าใจและการมีส่วนร่วมของชุมชน ตั้งแต่การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น การจ้างงานในพื้นที่ระหว่างก่อสร้างมีคนในอำเภอสิรินธรและอำเภอใกล้เคียงเข้ามาทำงานถึงร้อยละ 80 การจ้างเจ็ตสกีของชุมชนที่ปกติจะใช้รับส่งนักท่องเที่ยวมาช่วยลากแผงโซลาร์เซลล์ไปติดตั้งในอ่างเก็บน้ำ การจ้างเรือหางยาวไว้รับ-ส่งคนงาน และการจ้างแพท่องเที่ยวแบบมีหลังคาใช้เป็นที่พักคนงานกลางน้ำ ช่วยให้ชุมชนมีรายได้ในช่วงการระบาดของโควิด-19 กว่า 30 ล้านบาท รวมถึงสร้างความภาคภูมิใจให้แก่ชุมที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จของโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดที่ใหญ่ที่สุดในโลก

จุดพลุท่องเที่ยวอีสานอีกหนึ่งภารกิจสำคัญคือการส่งเสริมให้ชุมชนมีรายได้อย่างยั่งยืน กฟผ. จึงพัฒนาเส้นทางเดินชม ธรรมชาติ (Nature Walkway) ที่สามารถชมโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดที่ใหญ่ที่สุดในโลกจากมุมสูงบนทางเดินชมธรรมชาติได้อย่างชัดเจน และร่วมกับจังหวัดอุบลราชธานีปลุกปั้นที่นี่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญแห่งใหม่ของภาคอีสาน ควบคู่กับการส่งเสริมให้ชุมชนมาร่วมเป็นมัคคุเทศก์นำเที่ยว นำผลิตภัณฑ์ชุมชนมาวางขาย รวมถึงให้บริการด้านอื่น ๆ กับนักท่องเที่ยว

เส้นทางเดินชมธรรมชาติได้รับการออกแบบให้มีลักษณะคล้ายกับรูปทรงของพระอาทิตย์ พลังงานหมุนเวียนที่สามารถนำกลับมาใช้อย่างไม่มีวันหมด ส่วนลายเส้นที่มาบรรจบกันในลักษณะเป็นเกลียวนั้นหมายถึงการเดินทางจากหลากหลายทิศทางที่มาบรรจบกัน โดยมีไฮไลท์อยู่ที่บริเวณทางเดินริมน้ำซึ่งเหมาะแก่การชมวิวยามอาทิตย์อัสดง และยังสร้างความตื่นเต้นหวาดเสียวด้วยทางเดินกระจกที่สูงถึง 10 เมตร ส่วนบริเวณโดยรอบอยู่ระหว่างการปรับภูมิทัศน์เป็นสวนหย่อมเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกสารทิศในช่วงต้นปี 2565 เป็นต้นไป ด้วยความมุ่งหวังสร้างบรรยากาศการท่องเที่ยวของภาคอีสานให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับฐานรากให้กลับมาเฟื่องฟูอย่างยั่งยืน

ความสำเร็จของโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธรจึงถือเป็นก้าวสำคัญของการเดินหน้าผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดที่เชื่อถือได้ และแสดงถึงความมุ่งมั่นเอาจริงเอาจังในการส่งเสริมพลังงานสะอาดของไทย โดยให้ความสำคัญกับชุมชนโดยรอบ เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน โดย กฟผ. ได้เตรียมพัฒนาโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดในพื้นที่เขื่อนของ กฟผ. ทั้ง 9 เขื่อนทั่วประเทศ รวม 16 โครงการอย่างต่อเนื่อง รวมกำลังผลิตทั้งหมด 2,725 เมกะวัตต์ เพื่อเดินหน้าสู่สังคมไร้คาร์บอนอย่างแท้จริงในอนาคต เพื่อคนไทยทุกคน

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 3 พฤศจิกายน 2564

สรท.ชี้ปีหน้าส่งออกไทย โต 5% ส่วนปีนี้มั่นใจโต12%

สรท. มั่นใจโค้งสุดท้ายส่งออกปีนี้โต 12% จากปัจจัยเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว แต่ยังต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงไม่ว่าจะเป็นปัญหาค่าระวางเรือ ค่าเงินบาทที่ผันผวน  โควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลายมาก  แต่ยังมั่นใจส่งออกไทยปีหน้าขยายตัว 5%

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)เปิดเผยว่า สรท. ยังคงคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2564 จะขยายตัวได้ที่ 12% และคาดการณ์ปี 2565 เติบโต 5% (ณ เดือนพฤศจิกายน 2564) ทั้งนี้ปัจจัยที่ยังน่าเป็นห่วงในช่วง3เดือนที่เหลือคือปัญหาค่าระวางเรือยังคงทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง โดยเฉพาะสหภาพยุโรป และสหรัฐฯ รวมถึงค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็น Peak Season Surcharge (PSS) ส่งผลต่อภาระต้นทุนการขนส่งสินค้าที่ผู้ส่งออกต้องจ่ายเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว และปัญหา Space and Container allocation

ไม่เพียงพอส่งผลให้เกิดตู้สินค้าตกค้างไม่สามารถส่งสินค้าได้ทันตามกำหนด , ปัญหาวัตถุดิบขาดแคลนและราคาผันผวน โดยเฉพาะชิป, เหล็ก, น้ำมัน ส่งผลให้ภาคการผลิตเพื่อส่งออก ยังคงประสบปัญหาอย่างต่อเนื่อง และอาจส่งผลรุนแรงขึ้นในไตรมาสที่ 4 โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้การส่งออกไม่สามารถเติบโตได้ตามที่คาดการณ์

นอกจากนี้ สถานการณ์การระบาดโควิด-19 ในประเทศยังคงมีตัวเลขผู้ติดเชื้อในระดับสูง ขณะที่หลายประเทศเริ่มกลับมาล็อคดาวน์จากการกลับมาระบาดของกลุ่มคลัสเตอร์ เช่น จีน สิงคโปร์ อังกฤษ รัสเชีย เป็นต้น ซึ่งแม้จำนวนผู้ติดเชื้อโดยรวมภายในประเทศไทยจะลดลงแต่ยังคงทรงตัวในระดับสูง ภาคโรงงานอุตสาหกรรมต้องปรับเปลี่ยนเวลาในการทำงานเพื่อลดจำนวนพนักงานเข้าทำงานส่งผลกระทบต่อไลน์การผลิตเนื่องคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น

สวนทางกับจำนวนพนักงานที่เข้าไลน์ผลิตได้บางส่วนภาครัฐต้องเร่งกระจายวัคซีนให้ได้ตามเป้าหมายวัคซีนสองเข็ม 50 ล้านคน ภายในสิ้นปี รวมถึงแรงงานในภาคการผลิตขาดแคลนต่อเนื่อง ประกอบกับต้นทุนการจ้างงานปรับตัวสูงขึ้น กระทบการผลิตเพื่อส่งออกที่กำลังฟื้นตัวจากโควิด อีกทั้งกระบวนการทำงานภาครัฐยังไม่สอดคล้องกับ New Normal อาทิ ความล่าช้าในการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มแก่ผู้ส่งออก (Vat Refund) ซึ่งส่งผลกระทบต่อเงินทุนหมุนเวียนของผู้ประกอบการ

ทั้งนี้ สรท. มีข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานรัฐ ไม่ว่าจะเป็น ด้านการตลาด อย่างจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมให้แก่โครงการ SMEs Pro-active เพื่อเพิ่มจำนวนครั้งการจัดงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ (Virtual / Onsite exhibition 2022) ให้มากขึ้น  ด้านต้นทุนการประกอบธุรกิจ เช่นขยายระยะเวลาเงินช่วยเหลือลูกจ้างให้กับสถานประกอบการระดับ SMEs การสนับสนุนเงินช่วยเหลือ 3,000 บาทต่อคน เพื่อคงสถานะการจ้างงาน การลดต้นทุนพลังงานในประเทศ และการลดต้นทุนโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ และเร่งปรับปรุงขั้นตอนการทำงานภาครัฐให้เป็นอิเล็กทรอนิกส์และใช้ได้จริง

ด้านแรงงาน ยกเร่งระดับประสิทธิภาพแรงงานโดยเฉพาะสนับสนุนด้านภาษีและงบประมาณฝึกอบรมให้กับแรงงานและสถานประกอบการเพื่อ Re-skill และ Up-skill ให้เหมาะสมกับอุตสาหกรรมภายใต้ New Normal   เร่งฉีดวัคซีนให้พนักงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิตให้ครอบคลุมโดยเร็วและ ด้านสิ่งแวดล้อมที่กำลังเป็นกระแสในขณะนี้สร้างความตระหนักรู้แก่ภาคธุรกิจ (Carbon Emission Awareness) รวมถึงการ เตรียมความพร้อมผู้ประกอบการและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่นเพิ่มมาตรการส่งเสริมการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อม

สำหรับการส่งออกในเดือนกันยายน เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนพบว่า การส่งออกมีมูลค่า 23,036 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 17.1% ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 22,426.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 30.3% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนกันยายน 2564 เกินดุลเท่ากับ 609.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ9เดือน(มกราคม – กันยายน) เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) พบว่า ไทยส่งออกรวมมูลค่า 199,997.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 15.5% ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 197,980.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 30.9ส่งผลให้ดุลการค้าของไทย เกินดุล 2,016.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

3 กระทรวงผนึกพัฒนาแพลตฟอร์ม THAGRI หนุน Big Data ภาคการเกษตร

กระทรวงเกษตร ผนึกกำลัง อว. และ ดีอีเอส พัฒนาแพลตฟอร์ม THAGRI สนับสนุน Big Data ภาคการเกษตร มุ่งสร้างเครือข่ายเกษตรอัจฉริยะ เพิ่มประสิทธิภาพในการวิเคราะห์ และสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบาย

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และกรมพัฒนาที่ดิน ร่วมกับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค สวทช.) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดย สถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ ผนึกกำลังร่วมพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อสนับสนุนการวิเคราะห์และการใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ในภาคการเกษตร ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ อันได้แก่ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยี Machine Learning และการรวบรวม Big Data ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการบูรณาการข้อมูลภาคการเกษตรอย่างเป็นระบบ

โดยมุ่งหวังให้เกิดเครือข่ายเกษตรอัจฉริยะ เพิ่มประสิทธิภาพในการวิเคราะห์ และสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบาย โดยการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ในการเชื่อมโยงและต่อยอดการใช้ประโยชน์ข้อมูล Big Data ภาคการเกษตร รวมทั้ง สร้างเครือข่ายพัฒนาบุคลากรในการสร้างนวัตกรรมใหม่ นำไปสู่เป้าหมายเพื่อการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต รวมถึงการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ ส่งผลกระทบในทางบวกโดยตรงต่อเกษตรกร ทำให้มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

แพลตฟอร์มความร่วมมือข้อมูลเกษตรประเทศไทย (Thailand Agricultural Data Collaboration Platform : THAGRI) เป็นแพลตฟอร์มที่รวบรวบข้อมูลที่เกี่ยวกับภาคการเกษตร ที่มุ่งเน้นการใช้ประโยชน์ในการวางแผนบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม บูรณาการข้อมูลจากฐานข้อมูลของระบบ Agri-Map โดย เนคเทค สวทช. และ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมกันพัฒนาในรูปแบบแอปพลิเคชัน Agri-Map (http://agri-map-online.moac.go.th/) ซึ่งมีกรมพัฒนาที่ดินเป็นผู้ประสานรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง Agri-Map เป็นระบบที่มีประสิทธิภาพในการนำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศเข้ามาประยุกต์ใช้กับข้อมูลด้านการเกษตรในการวางแผนและบริหารพื้นที่เกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพและเชื่อมโยงข้อมูลเข้าสู่ฐานข้อมูลศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ (NABC) ในรูปแบบอัตโนมัติ โดยศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ (NABC) เป็นหน่วยงานหลักที่ให้บริการและเชื่อมโยงฐานข้อมูลด้านการเกษตรของประเทศไทย

ซึ่งในการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลนั้น จำเป็นต้องมีการกำกับดูแลข้อมูล (Data Governance) และจัดทำบัญชีข้อมูล (Data Catalog) ที่เป็นระบบและได้มาตรฐาน โดยสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (GBDi) เพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานรัฐและเอกชน และบริการข้อมูลที่ถูกต้อง สามารถนำข้อมูลมาพัฒนาต่อยอดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถูกต้องและมีความปลอดภัย

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กล่าวถึง ที่มาและความสำคัญของความร่วมมือในครั้งนี้ว่า ทั้ง 4 หน่วยงาน ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาฐานข้อมูลขนาดใหญ่ภาคการเกษตร ที่มีความจำเป็นจะต้องร่วมมือกันบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูล จากหน่วยงานที่สนับสนุนข้อมูล Agri-Map Online มาสู่ศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ (NABC) ในรูปแบบอัตโนมัติ รวมทั้ง ต้องมีการพัฒนาแพลตฟอร์มความร่วมมือด้านข้อมูลเกษตรกรรมของประเทศไทย เพื่อเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนเชื่อมโยงข้อมูลภาคเกษตร ให้มีข้อมูลที่ครอบคลุมในทุกมิติ สามารถนำไปวิเคราะห์ และใช้ประโยชน์ข้อมูล สำหรับบริการแก่เกษตรกร หน่วยงานรัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ จากความสำคัญดังกล่าว จึงได้มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อสนับสนุนการวิเคราะห์และการใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ในภาคการเกษตรขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาแพลตฟอร์มสนับสนุนการวิเคราะห์และการใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ภาคการเกษตรด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ พัฒนาภาครัฐให้เป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญา และบริหารจัดการข้อมูลการเกษตรให้เป็นระบบและครบวงจร รวมถึงสร้างเครือข่ายบุคลากรด้านการวิเคราะห์ข้อมูลและพัฒนานวัตกรรมจากข้อมูลการเกษตร โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร จะให้การสนับสนุนการเชื่อมโยงข้อมูลด้านการเกษตร และให้ความร่วมมือทางด้านวิชาการ การบริหารจัดการแพลตฟอร์มที่จะเกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือนี้ รวมถึงการจัดทำต้นแบบหรือโปรโตไทป์การวิเคราะห์และการใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ในภาคการเกษตร เพื่อเป็นประโยชน์แก่เกษตรกร หน่วยงานรัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษาในการพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศไทยต่อไป

นางสาวเบญจพร  ชาครานนท์ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2558 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย กรมพัฒนาที่ดิน ได้มีความร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยีอีเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ พัฒนาระบบแผนเกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) ปัจจุบันข้อมูลจาก Agri-Map ได้รับการยอมรับเป็นอย่างดีจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึง Agri-Map ในแง่ของการพัฒนาภาคการเกษตร อย่างไรก็ตามข้อมูลใน Agri-Map มีหลายชั้นข้อมูล มีความจำเป็นต้องพัฒนาเป็นข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เมื่อช่วงเดือนตุลาคม 2564 กรมพัฒนาที่ดินมีโอกาสได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ เพื่อพัฒนาบุคลากรในการจัดทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่วันนี้เป็นโอกาสอันดีที่หน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเป็นเจ้าภาพหลักในการนำข้อมูลทางด้านการเกษตรมาพัฒนาเป็นข้อมูลขนาดใหญ่ เช่น ข้อมูลการใช้ที่ดิน ซึ่งเป็นฐานข้อมูลหลักที่จะใช้ในการพัฒนาภาคการเกษตรในการลงนามครั้งนี้ จะทำให้เกิดเป็นผลงานเชิงประจักษ์ของการบูรณาการข้อมูลซึ่งก่อให้เกิดการพัฒนาแพลตฟอร์มสนับสนุนการวิเคราะห์และการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ในภาคการเกษตรไปสู่ภาคเศรษฐกิจ โดยเกษตรกรและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงข้อมูลและใช้ประโยชน์จากข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการผลิตให้เหมาะสมกับศักยภาพของดิน และเกิดความร่วมมือในการทำวิจัยร่วมกันในการพัฒนาข้อมูลขนาดใหญ่ และวิทยากรข้อมูล (data science) ต่อไปในอนาคต

ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวว่า ปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐมีการจัดเก็บข้อมูลภาคการเกษตรอย่างเป็นระบบและสมบูรณ์มากขึ้น แต่พบว่ายังขาดการบูรณาการในการเชื่อมโยงข้อมูล ทำให้การเข้าถึงและใช้ประโยชน์ข้อมูลยังอยู่ในวงจำกัด ซึ่งจำเป็นต้องมีการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อรองรับการเชื่อมโยงและความร่วมมือในการใช้ประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งจากองค์ความรู้ เทคโนโลยี และความเชี่ยวชาญของ เนคเทค สวทช. ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน Agri-Map Online เนคเทค จะเป็นหน่วยงานหลักในการวิจัยและพัฒนาให้คำปรึกษาและสนับสนุนเทคโนโลยีดิจิทัลในการพัฒนาฐานข้อมูล แพลตฟอร์ม รวมทั้งการเชื่อมโยงฐานข้อมูล เพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางด้านการเกษตร   ซึ่งแพลตฟอร์มนี้จะเกิดขึ้นได้อย่างเต็มรูปแบบต้องอาศัยความร่วมมือจากพันธมิตร

รองศาสตราจารย์ ดร.ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ กล่าวว่า เรื่องของการเกษตรเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลในหลากหลายมิติ ในการจัดระเบียบข้อมูลเหล่านั้น เพื่อให้สามารถบริหารจัดการข้อมูลที่มีความเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงาน และแหล่งข้อมูลต่าง ๆ อันจะนำไปสู่การวิเคราะห์การจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายและต้องอาศัยความร่วมมือกันของทุก ๆ ฝ่าย สถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ ในสังกัดของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล จะสนับสนุนการพัฒนาแพลตฟอร์มฯ นี้โดยเป็นหน่วยงานหลักในการให้คำปรึกษาในการจัดเตรียมโครงสร้างสารสนเทศพื้นฐานเพื่อรองรับการใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ การกำกับดูแลข้อมูล (Data Governance) และจัดทำบัญชีข้อมูล (Data Catalog) ที่เป็นระบบและได้มาตรฐาน และที่สำคัญที่สุดคือการพัฒนาเครือข่ายบุคลากรด้านการวิเคราะห์ข้อมูลในภาคการเกษตร เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านเกษตรให้พร้อมรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง และสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของประเทศ

ผลจากความร่วมมือดังกล่าว จะทำให้ประเทศไทยมีแพลตฟอร์มที่สนับสนุนการวิเคราะห์และใช้ประโยชน์ข้อมูล Big Data ภาคการเกษตรที่มีประสิทธิภาพในการวิเคราะห์และตัดสินใจบนหลักฐานเชิงประจักษ์ รวมทั้งสร้างเครือข่ายเกษตรอัจฉริยะ ส่งเสริมให้เกิดการสร้างนวัตกรรมใหม่จากการเชื่อมโยงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ในภาคการเกษตร นวัตกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการต่อยอดแพลตฟอร์มนี้ เพื่อบรรลุเป้าหมายในการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และบริหารจัดการเชิงพื้นที่ของเกษตรกร ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ให้มีฐานะและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ส่งผลถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

“พาณิชย์” แก้กฎหมายลิขสิทธิ์ พุ่งเป้าจัดการละเมิดออนไลน์

 “พาณิชย์” เดินหน้าแก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์ เปิดทางเจ้าของลิขสิทธิ์แจ้งผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต นำงานละเมิดลิขสิทธิ์ออกจากระบบได้ทันที ไม่ต้องพึ่งกระบวนการทางศาล เพื่อแก้ปัญหาละเมิดออนไลน์ พร้อมเพิ่มบทลงโทษ ผู้ผลิต ผู้ขายอุปกรณ์ที่ทำขึ้นเพื่อละเมิดด้วย ระบุเป็นการรองรับการเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญา WCT และหวังผลเชิงบวก ไทยหลุดจากบัญชี WL สหรัฐฯ

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้เดินหน้าปรับปรุงกฎหมายลิขสิทธิ์เพื่อแก้ไขปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์บนอินเทอร์เน็ตได้อย่างรวดเร็ว โดยได้ปรับให้เจ้าของลิขสิทธิ์ใช้ช่องทางความร่วมมือกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต เช่น Facebook YouTube นำงานละเมิดลิขสิทธิ์ออกจากระบบทันทีเมื่อได้รับการแจ้งเตือน โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการทางศาล ซึ่งมาตรการที่แก้ไขดังกล่าวจะช่วยให้สามารถระงับการละเมิดลิขสิทธิ์บนสื่อออนไลน์ได้อย่างทันท่วงที

“กฎหมายลิขสิทธิ์ในปัจจุบันยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์บนอินเทอร์เน็ตได้อย่างรวดเร็วเพียงพอ เพราะหากพบการละเมิดลิขสิทธิ์บนสื่อออนไลน์ ต้องใช้กระบวนการทางศาลเพื่อระงับการเผยแพร่ และยังไม่มีบทกำหนดโทษแก่ผู้ผลิต ผู้ขายอุปกรณ์ที่ทำขึ้นเพื่อการละเมิดลิขสิทธิ์ แต่กฎหมายใหม่ ได้ปิดช่องว่างตรงนี้ และมั่นใจว่าจะดูแลปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ได้ดีขึ้น โดยล่าสุดร่างกฎหมายดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาในชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญแล้ว และกำลังนำเข้าสู่ชั้นการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 2 และ 3 ต่อไป” นายสินิตย์กล่าว

ทั้งนี้ การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์ดังกล่าว ยังเป็นการรองรับการเข้าเป็นภาคีความตกลงสนธิสัญญาว่าด้วยลิขสิทธิ์ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WCT) ที่เกี่ยวกับการคุ้มครองงานลิขสิทธิ์บนอินเทอร์เน็ต ส่งเสริมให้เกิดการสร้างสรรค์ผลงานลิขสิทธิ์ใหม่ๆ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ที่ไทยมีศักยภาพ และช่วยดึงดูดให้นักลงทุนต่างประเทศมาลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับลิขสิทธิ์ในประเทศไทยมากขึ้น อีกทั้งคาดหวังว่าจะส่งผลเชิงบวกที่จะทำให้ไทยหลุดจากบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (WL) ภายใต้กฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ (Special 301) ในการทบทวนรายงานประจำปี 2565

นายเกียรติ สิทธีอมร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ (ฉบับที่. ...) พ.ศ. ... สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า การแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ในครั้งนี้ได้ทบทวนปัญหาที่เกิดขึ้นในการบังคับใช้ทั้งหมด มีการปรับปรุงบทบัญญัติของกฎหมายให้ทันสมัย สอดคล้องกับกติกาสากล การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี รวมทั้งพฤติกรรมของผู้ประกอบการและผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยเนื้อหาที่เป็นหลักเกณฑ์สำคัญได้มีการระบุให้ชัดเจนในตัวกฎหมาย แทนที่จะกำหนดอยู่ในกฎกระทรวงหรือประกาศกระทรวง

สำหรับการปรับปรุงที่เป็นสาระสำคัญ เช่น การแจ้งเตือนและเอาออก (Notice and Takedown) การกำหนดนิยามมาตรการทางเทคโนโลยีให้ชัดเจน เพิ่มบทลงโทษให้รวมถึงผู้ผลิตอุปกรณ์ที่ละเมิดมาตรการทางเทคโนโลยี เป็นต้น

จาก https://mgronline.com  วันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

ถึงเวลาพลิกโฉมเกษตรไทย (1) หลากปัจจัยผลักดันให้ต้องเปลี่ยน

สมาคมเศรษฐศาสตร์เกษตรแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดงานสัมมนาวิชาการ “Disruptive Change : เกษตรไทย ต้องเปลี่ยนโฉม” ที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (บางเขน) เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2564 ที่ผ่านมา

ปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา นายกสมาคมเศรษฐศาสตร์เกษตรแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และอดีตปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า ในประเทศไทยมีคนร้อยละ 20 อยู่ในภาคเกษตรกรรม ขณะเดียวกันเมื่อมีวิกฤตเกิดขึ้นสังคมไทยก็มักพึ่งพิงภาคเกษตร แต่ในการคำนวณผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของภาคเกษตรนั้นกลับไม่ได้นับรวมอุตสาหกรรมเกษตรเข้ามาด้วย ทำให้งานในภาคเกษตรอาจดูด้อยค่าลง แม้กระทั่งงบประมาณลงทุนภาคเกษตรก็ไม่ค่อยขยายตัวเมื่อเทียบกับภาคอื่นๆ

“จริงๆ สิ่งที่เราต้องพยายามแก้ไขก็คือ Mindset (วิธีคิด) ของพวกเราเอง เวลาเริ่มพูดเราก็ไปมองว่าเกษตรกรเป็นคนยากไร้ การที่จะพยายามทำให้งานเกษตรกรรมเป็นงานที่เป็นอาชีพอย่างนักบัญชี วิศวกร นักเศรษฐศาสตร์หรืออื่นๆ ให้มันเป็นอาชีพ แต่เบื้องต้นความคิดของเราบอกว่าเกษตรกรเป็นผู้ยากจน อย่างนี้ก็เสร็จตั้งแต่แรกแล้ว มันกลายเป็นว่าแทนที่เราจะไปส่งเสริมให้เกษตรกรรมดีขึ้น เราไปมองภาพของความช่วยเหลือ ฉะนั้นงบประมาณที่เทไปก็จะมุ่งการช่วยเหลือเป็นหลัก ส่วนเรื่องของการสร้างหรือปรับโครงสร้างเป็นเรื่องรอง” ปีติพงศ์ กล่าว

นายกสมาคมเศรษฐศาสตร์เกษตรฯ กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาภาคเกษตรของไทยจึงเน้นแต่การผลิตสินค้าเกษตรขั้นพื้นฐานซึ่งราคานั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง นอกจากนี้ยังไม่ค่อยสนใจบริบทใหม่ เช่น ในช่วงที่ประเทศไทยเผชิญปัญหาถูกคว่ำบาตรสินค้าประมง เนื่องจากประเทศปลายทางมองว่าการทำประมงของไทยมีปัญหาทั้งแรงงานถูกเอารัดเอาเปรียบและมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (IUU) ในความเป็นจริงคือมีสัญญาณเตือนมา 9 ปีแล้ว และเชื่อได้ว่าในอนาคตประเทศที่ซื้อสินค้าเกษตรจากไทย จะยังคงยกประเด็นสิ่งแวดล้อมมาเป็นเครื่องมือกีดกันทางการค้าต่อไป

อนึ่ง ที่ผ่านมาการแบ่งประเภทเกษตรกรของไทยจะแบ่งตามผลผลิตที่ทำได้ เช่น ปลูกพืช เลี้ยงปศุสัตว์ทำประมง ซึ่งควรแบ่งตามรูปแบบหรือวิถีการประกอบอาชีพ ประกอบด้วย 1.เกษตรอุตสาหกรรม ผลิตเพื่อป้อนโรงงานแปรรูปโดยเฉพาะ เช่น สับปะรด มันสำปะหลัง อ้อย กลุ่มนี้การดึงภาคเอกชนเข้ามาช่วยสนับสนุนเป็นเรื่องสำคัญ จะทำอย่างไรให้การผลิตมีประสิทธิภาพและมีความเป็นธรรม

2.เกษตรทางเลือก ซึ่งมีหลายรูปแบบ ทั้งเกษตรพอเพียง เกษตรทฤษฎีใหม่ วนเกษตร กระบวนการส่งเสริมควรเน้นการสร้างเครือข่าย (Networking)และการวางแนวปฏิบัติที่ดี (GoodPractice) และ 3.เกษตรสมัยใหม่ ซึ่งจะมาทดแทนเกษตรกรรุ่นเก่าที่อายุส่วนใหญ่อายุเฉลี่ย 50 ปีขึ้นไป คำถามคือจะมีแพลตฟอร์มแบบใดมาส่งเสริมเกษตรกรรุ่นใหม่ ทั้งการใช้เทคโนโลยี การจัดการที่ดิน การซื้อ-ขายผลผลิต ไปจนถึงแนวคิดใหม่ๆ เช่น การทำฟาร์มในเมือง หรือการระดมทุนรูปแบบใหม่ๆ อาทิ ฟินเทค (Fintech) คราวด์ฟันดิง (Crowdfunding) เป็นต้น

ปีติพงศ์ ยังกล่าวถึงปัญหาและความท้าทายในด้านเกษตรกรรมไว้อีกหลายประการ 1.ที่ดิน เช่น มีที่ดินราคาสูงจำนวนไม่น้อยที่เจ้าของนำพืชต่างๆ มาปลูกไว้เพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีที่ดิน แทนที่จะปล่อยให้เป็นแบบนี้ ควรเปิดช่องให้รัฐสามารถเข้าไปเช่าที่ดินได้ และรัฐก็นำที่ดินมาให้เกษตรกรที่ตั้งให้เป็นกลุ่มเป้าหมายการพัฒนาเข้ามาใช้ประโยชน์ เหตุที่ต้องให้รัฐเช่าก่อน เพราะเจ้าของที่ดินอาจกลัวกฎหมายเช่านา จึงไม่กล้าให้ประชาชนเช่าเองโดยตรง

2.แหล่งทุน เกษตรกรมักเข้าไม่ถึง จึงเป็นข้อจำกัดในการปรับปรุงหรือพัฒนา 3.ทะเล อุตสาหกรรมประมงจำนวนมากล้มหายตายจากไปด้วยผลกระทบจาก IUU ขณะที่ผู้เลี้ยงสัตว์น้ำในลักษณะทำฟาร์มในทะเล แม้แบ่งพื้นที่แล้วแต่ก็ยังพบเหตุกระทบกระทั่งกัน 4.แหล่งน้ำ ที่ผ่านมามุ่งแต่การจัดหา (Supply) ซึ่งหากทำแต่ด้านนี้ด้านเดียวอย่างไรก็ไปไม่รอด จะทำอย่างไรจึงลดความต้องการใช้น้ำ (Demand) ลงได้บ้าง นอกจากนี้ ชุมชนที่ขึ้นทะเบียนตามกฎหมาย ควรมีสิทธิเข้าถึงงบประมาณในการพัฒนาแหล่งน้ำของตนเอง

5.หนี้สิน ซึ่งต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งมาจากการลงทุนตามโครงการส่งเสริมของรัฐ ดังนั้นรัฐจะช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างไร เหมือนกับที่เคยช่วยเหลือกิจการธนาคารในวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อกว่า 20 ปีก่อน 6.เทคโนโลยีและนวัตกรรม ปัญหาที่พบคือเมื่อพูดถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมแล้วไม่ได้คำนวณความคุ้มทุน โอกาสในการขยายผล การจัดหาวัตถุดิบ ทำให้เทคโนโลยีและนวัตกรรมไม่สามารถนำมาใช้ได้จริง

7.การสร้างคน เช่น คณะในมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรมีผู้เรียนลดลง อีกทั้งมีคำถามถึงหลักสูตรการเรียนการสอนเกี่ยวข้อง (Relevance) กับบริบทของเทคโนโลยีสมัยใหม่หรือไม่ เพราะปัจจุบันไทยต้องแข่งขันกับชาติมหาอำนาจ เช่น จีน ที่มาตั้งฐานการผลิตในประเทศเพื่อนบ้านของไทยอย่าง สปป.ลาว และ 8.กฎระเบียบ เช่น กฎหมายสหกรณ์ที่กำหนดว่าจะเปลี่ยนแปลงอะไรต้องจัดประชุมใหญ่ อาจไม่ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี หรือการปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อการประชุมออนไลน์มากขึ้น เป็นต้น

ด้าน รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ภาควิชาเศรษฐศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงความท้าทายของภาคเกษตรไทย 1.เกษตรกรกับข้อจำกัดในการพัฒนา ประเทศไทยเข้าสู่ภาวะ “สังคมสูงวัย” โดยเฉพาะแรงงานภาคเกษตรนั้นชัดเจนแบบเร่งตัวเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยรวมของทั้งประเทศ นอกจากเรื่อง “อายุ” แล้ว “การศึกษา” ก็เป็นอีกข้อจำกัด โดยมีข้อค้นพบว่า “ครัวเรือนในภาคเกษตรมีระดับการศึกษาต่ำกว่าครัวเรือนที่อยู่นอกภาคเกษตร” และคนในภาคเกษตรมีระดับการศึกษาเฉลี่ยเพียงประถมศึกษาเท่านั้น

“ปัจจุบันนี้ภาคเกษตรไทย 20% ของเกษตรกรมีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป เมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา ปี 2544 เรามีประมาณ 7% ตอนนี้คนสูงวัยเรามี 20% แล้วคนหนุ่ม-สาว แต่ก่อนอยู่ภาคเกษตร 50% 20 ปีผ่านไปเราหดเหลือ 29% มันหมายถึงอะไร?สังคมสูงวัยไม่ใช่แค่คนสูงวัยอย่างเดียว คนที่เป็นหนุ่ม-สาวก็ออกจากภาคเกษตร โลกแห่งการเปลี่ยนแปลงในอนาคต เทคโนโลยีก็เปลี่ยน ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงหมด คนสูงวัยจะปรับตัวได้มาก-น้อยแค่ไหน” อาจารย์วิษณุ ระบุ

2.กำลังคนภาครัฐที่ไม่สอดคล้องกับภารกิจจริง กำลังคนทั้งที่เป็นข้าราชการและอาสาสมัคร กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ที่มีเกษตรกรน้อยหรือในสินค้าเกษตรที่มีน้อย แต่ในพื้นที่ที่มีเกษตรกรมากหรือสินค้าเกษตรที่มีจำนวนมากกลับมีกำลังคนภาครัฐไม่เพียงพอ นอกจากนี้ยังมีหลายสาขาวิชาที่ยังขาดแคลน 3.ความเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ซึ่งเกษตรกรนอกเขตพื้นที่ชลประทานนับเป็นกลุ่มเปราะบาง ขณะที่พืชเศรษฐกิจของไทยสุ่มเสี่ยงได้รับความเสียหาย

และ 4.เกษตรกรไทยยังใช้เทคโนโลยีกันน้อย จากการสำรวจพบเกษตรกรไทยใช้เทคโนโลยีเพียงร้อยละ 26.7 และในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ใช้อย่างครบวงจร ตั้งแต่การพยากรณ์อากาศไปจนถึงการทำตลาดทางออนไลน์ แต่จะใช้เป็นบางอย่างเท่านั้น เช่น ผู้ที่ใช้แอปพลิเคชั่นดูสภาพอากาศก็จะใช้เฉพาะด้านนี้ เป็นต้น ทั้งที่หากใช้อย่างครบวงจร ประสิทธิภาพการผลิตจะสูงขึ้นมาก

อาจารย์วิษณุ ให้ข้อเสนอแนะ 1.การใช้จ่ายงบประมาณควรเป็นไปเพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรปรับตัว เช่น ปลูกพืชให้เหมาะสมกับพื้นที่ จากเดิมที่เน้นการให้เปล่าไม่มีเงื่อนไข ที่เป็นการฉุดรั้งการปรับตัวเพราะรู้ว่าปลูกอะไรไปเดี๋ยวมีปัญหารัฐก็จ่ายเยียวยาให้ 2.ส่งเสริมให้เครื่องจักรกลการเกษตรเป็นสิ่งที่เข้าถึงง่าย ซึ่งปัจจุบันก็มีระบบการเช่าอยู่แล้ว เช่น รถแทรกเตอร์ รัฐจะส่งเสริมอย่างไรให้ทั่วถึงมากขึ้นในราคาค่าบริการที่ไม่แพงเกินไป เพราะนอกจากเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิตแล้ว ยังลดปัญหาการเผาในภาคเกษตรซึ่งกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

3.ต้องมีฐานข้อมูลเกษตรกร เพื่อให้สามารถจัดโปรแกรมเพิ่มทักษะได้ตรงกับเป้าหมาย 4.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องทำงานแบบบูรณาการ ซึ่งไม่ใช่แต่เพียงกับหน่วยงานภาครัฐด้วยกัน แต่รวมถึงภาคเอกชนและสถาบันการศึกษาด้วย 5.สถาบันการศึกษาต้องปรับหลักสูตรโดยให้ความสำคัญกับภาคปฏิบัติมากขึ้น ซึ่งสามารถดึงการมีส่วนร่วมจากผู้ใช้บัณฑิต (เช่น ภาคเอกชน) 6.โครงสร้างกำลังคนภาครัฐต้องกระจายตัว ให้สอดคล้องกับจำนวนเกษตรกรในพื้นที่ และ 7.รัฐต้องให้ความเชื่อมั่น-มีหลักประกันว่าเปลี่ยนแล้วจะดีขึ้น เพื่อให้เกษตรกรกล้าเปลี่ยน

“งานวิจัยพบว่าคนที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมีรายได้ช่วงก่อนโควิดเทียบกับคนที่ไม่ใช้ ประมาณ 165,000-190,000 บาทต่อปี นี่คือประโยชน์ของการใช้ดิจิทัลเทคโนโลยี นี่ช่วงก่อนโควิด ช่วงหลังโควิดก็ยังได้ผลตอบแทนที่ดีอยู่ 60,000-80,000 บาทต่อปี และช่วงที่เกิดโควิดขึ้น เชื่อไหม? ผลการทดลองบอกว่าคนกลุ่มนี้มีภูมิคุ้มกัน รายได้เขาลดลงน้อยมาก นี่คือผลประโยชน์ของเทคโนโลยีที่เราต้องร่วมส่งเสริม” อาจารย์วิษณุ กล่าว

ในตอนแรกนี้กล่าวถึงปัญหาของเกษตรกร รวมถึงแนวทางในการปรับเปลี่ยนโดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีไปแล้ว ส่วนในตอนหน้า จะเป็นตัวอย่างของ 2 ผู้ประกอบการ ที่ใช้เทคโนโลยีเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร ถึงขั้นสร้างแบรนด์พร้อมขยายตลาดสู่ต่างประเทศ..โปรดติดตาม!!!

จาก https://www.naewna.com วันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

สมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย เผยสถานการณ์ราคาและตลาดปุ๋ยเคมี 2564

1 พฤศจิกายน 2564 ณ Victor Club SamyanMitrtown ห้อง 944, ชั้น 7  ในช่วงกลางปี พ.ศ. 2563 ต่อเนื่องมายังปี พ.ศ. 2564 ประเทศไทย รวมทั้งประเทศต่างๆ ทั่วโลกประสบกับการแพร่ระบาดของโรคโคโรน่าไวรัส หรือ COVID-19 ในส่วนของภาคการผลิตสินค้าเกษตร ประเทศไทยต้องนำเข้าปัจจัยการผลิตทางการเกษตรจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเมล็ดพันธุ์บางชนิด สารอารักขาพืช และ“ปุ๋ยเคมี” ผลกระทบที่เห็นได้ชัดเจนในช่วงแรกๆ คือการนำเข้าปัจจัยการผลิตทางการเกษตรและการส่งออกสินค้าเกษตรไปยังต่างประเทศ รวมทั้งธุรกิจด้านโลจิสติกส์ได้รับผลกระทบโดยตรง จากการปิดเมืองสำคัญ รวมถึงการปิดประเทศ

ในภาพรวมของธุรกิจภาคการเกษตรได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจัยการผลิตทางการเกษตร คือ “ปุ๋ยเคมี” ประเทศไทยต้องนำเข้าปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศประมาณ 90-95 % มาเพื่อผลิตและจำหน่ายปุ๋ยให้เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ ในช่วงปลาย ปีพ.ศ.2563 จนถึงปัจจุบัน ราคาวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตปุ๋ยเคมี มีระดับราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องอันเนื่องมาจากหลายๆ ปัจจัย จากวิกฤตเศรษฐกิจที่ตกต่ำทั่วโลกจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้หลายๆ ประเทศเริ่มตระหนักถึงความมั่นคงทางอาหาร(Food Security) ซึ่งส่งผลต่อการผลิตพืชอาหาร ดังนั้นปุ๋ยเคมี จึงเป็นปัจจัยการผลิตที่มีความจำเป็นและมีความต้องการมากขึ้น โดยปัจจัยที่ทำให้ปุ๋ยเคมีมีระดับราคาที่สูงขึ้น ประกอบด้วย

1. สภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการทำการเกษตร

2. ราคาผลผลิตทางการเกษตรในตลาดโลกมีแนวโน้มสูงขึ้น

3. การกำหนดนโยบายความมั่นคงทางด้านอาหารของแต่ละประเทศ

4. นโยบายการชะลอการส่งออกปุ๋ยเคมีของประเทศจีน ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ ตั้งแต่กลางปี พ.ศ. 2564

5. วิกฤตราคาพลังงานน้ำมัน ส่งผลให้ราคาก๊าซธรรมชาติสูงขึ้น ซึ่งส่งผลต่อต้นทุนการผลิตปุ๋ยไนโตรเจน

6. วิกฤตการขนส่ง (Logistic) ระหว่างประเทศส่งผลให้ค่าขนส่งสินค้าทางเรืออยู่ในระดับราคาสูง

7. ความผันผวนของค่าเงินในตลาดโลก

จากปัจจัยดังกล่าวล้วนส่งผลต่อความต้องการใช้ปุ๋ยเคมีของประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทยต้องนำเข้าปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ เช่น ประเทศจีน ซาอุดีอาระเบีย รัสเซีย เป็นต้นการนำเข้าวัตถุดิบปุ๋ยเคมี แบ่งออกเป็นสามชนิด ประกอบด้วย ปุ๋ยไนโตรเจน (Nitrogen) การผลิตปุ๋ยไนโตรเจนจะมีสารตั้งต้นคือสารแอมโมเนียซึ่งมีไนโตรเจนเป็นส่วนประกอบทำปฏิกิริยากับไฮโดรเจนซึ่งส่วนใหญ่ได้จากก๊าซธรรมชาติในกระบวนการปิโตรเคมี หรือกระบวนการผลิตถ่านหิน สารแอมโมเนียนั้นใช้ในการผลิตปุ๋ยไนโตรเจนต่าง ๆ ได้แก่ ยูเรีย (46-0-0) และแอมโมเนียมซัลเฟต (21-0-0) ซึ่งราคาน้ำมัน ถ่านหินจะส่งผลกระทบต่อการผลิตปุ๋ยไนโตรเจน

วัตถุดิบตัวถัดไป ปุ๋ยฟอสฟอรัส (Phosphorus) ซึ่งทำมาจากหินชนิดหนึ่งเรียกว่า หินฟอสเฟต วิธีการผลิตปุ๋ยฟอสฟอรัสที่นิยมกัน ก็คือนำหินฟอสเฟตมาบดละเอียดและมาทำปฏิกิริยากับกรดกำมะถันก็จะได้กรดฟอสฟอริก กรดฟอสฟอริกนี้ถือเป็นตัวต้นน้ำของปุ๋ยฟอสฟอรัส กรดฟอสฟอริกเป็นของเหลวซึ่งยากต่อการใช้ การเก็บรักษาและการขนส่ง จึงได้นำกรดฟอสฟอริกไปทำปฏิกิริยากับแอมโมเนีย กลายเป็นแม่ปุ๋ย DAP (Diammonium Phosphate) สูตร 18-46-0  แม่ปุ๋ย MAP (Monoammonium Phosphate) สูตร 11-52-0 หรือใช้กระบวนการผลิตเดียวกันนี้ผลิตเป็นปุ๋ย N-P-K สูตรต่าง ๆ สำหรับปุ๋ยฟอสฟอรัสนั้น กรณีที่หินฟอสเฟตแพง ปุ๋ยฟอสฟอรัสก็จะแพงด้วย และถ้ากรดกำมะถัน (sulfuric acid) แพงปุ๋ยฟอสฟอรัสก็จะแพงด้วยเช่นกัน

วัตถุดิบอีกตัวหนึ่งคือ ปุ๋ยโพแทสเซียม (Potassium) เป็นแร่ที่ขุดจากดินได้โดยตรง ที่เรียกกันว่าแร่โพแทช ประเทศไทยมีแหล่งแร่โพแทชขนาดใหญ่ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น จังหวัดชัยภูมิและจังหวัดอุดรธานี หากโครงการพัฒนาเหมืองดังกล่าวสามารถดำเนินการได้ก็จะได้แม่ปุ๋ยโพแทสเซียมใช้ในประเทศ ทดแทนการนำเข้าปีละประมาณ 600,000-800,000 ตันต่อปี

ปัจจุบัน ปัญหาราคาปัจจัยการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นย่อมส่งผลกระทบต่อเกษตรกรทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ปัจจุบันมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรระยะสั้นที่ภาครัฐบาลและเอกชนร่วมกันช่วยเหลือเกษตรกรคือการขายปุ๋ยเคมีในราคาพิเศษ ผ่านสหกรณ์การเกษตร และกลุ่มสถาบันเกษตรกร โดยเริ่มตั้งแต่ครั้งแรก ในระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม และมีการขยายเป็นครั้งที่สองจนถึงเดือนตุลาคม 2564โดยทางสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย ช่วยเหลือปุ๋ยเคมีราคาพิเศษกับเกษตรกร 201,106 ตัน หรือ 4,022,120 กระสอบ

จากมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรระยะสั้นดังกล่าวเป็นมาตรการที่ดีที่ภาครัฐร่วมกับภาคเอกชนช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงที่ปุ๋ยมีราคาแพง เนื่องจากปุ๋ยเคมีเป็นตัวแปรสำคัญในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและสร้างรายได้ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับเกษตรกรแต่อย่างไรก็ตาม วิธีการที่ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือ ควรทำอย่างระมัดระวัง ผู้กำหนดนโยบายควรเข้าใจธุรกิจและอุตสาหกรรมปุ๋ยเคมีอย่างลึกซึ้ง ควรศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้านก่อนตัดสินใจออก

นโยบาย มิฉะนั้นอาจส่งผลกระทบต่อทั้งเกษตรกรเองและผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเกษตร และผู้เกี่ยวข้องอื่นๆทั้งทางตรงและทางอ้อมโดยเฉพาะอย่างยิ่งการแทรกแซงกลไกของตลาด โดยทั่วไปแล้วจะทำให้เกิดสิ่งที่ทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า “การสูญเปล่าทางเศรษฐกิจ (Deadweight loss)”  ดังนั้นภาครัฐควรประเมินผลกระทบอย่างรอบคอบก่อนที่จะทำการแทรกแซง มีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าต้องการทำไปเพื่ออะไร ตอบโจทย์การช่วยเหลือเกษตรกรจริงหรือไม่ และที่สำคัญ ได้ผลดีมากกว่าผลเสียหรือเปล่า

จากวิกฤตการแพร่ระบาดของ COVID -19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาคเกษตรกรของไทย รวมทั้งเศรษฐกิจโลกดังนั้นนโยบายภาคการเกษตรของประเทศไทยจะต้องมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น มีทิศทางและแนวทางที่ปฏิบัติได้จริงและสร้างรายได้ให้เกษตรกรได้ดีขึ้นหลายปีที่ผ่านมาภาครัฐบาลมีนโยบายที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นครัวของโลก และเป็นผู้ผลิตอาหารปลอดภัยเป็นที่ยอมรับต่อประเทศต่างๆ  แต่สิ่งที่จะรองรับนโยบายดังกล่าว คือ ผลผลิตทางการเกษตร ที่มีทั้งปริมาณและคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาด

ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่ต้องใช้ปัจจัยการผลิตทางการเกษตรเพื่อปรับแต่งพืชผลตามที่ต้องการ เช่น เร่งการเจริญเติบโตของใบและต้น เร่งการออกดอกออกผล เพิ่มขนาดและคุณภาพผลผลิต ซึ่งส่วนนี้ “ปุ๋ยเคมี” ถือว่าเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญรวมทั้งการใช้ปุ๋ยเคมีให้มีประสิทธิภาพก็ควรใส่ปุ๋ยให้ถูกชนิด ถูกสูตร ถูกอัตรา ถูกเวลาและถูกวิธี และต้องมีหน่วยงานที่เชี่ยวชาญให้คำแนะนำอย่างถูกต้องแก่เกษตรกร การวิเคราะห์ดิน-พืช  ซึ่งเป็นมาตราการที่จะต้องนำมาใช้อย่างจริงจัง รวมทั้งการกำหนดมาตรฐานการเพาะปลูกพืช เช่น GAP การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสมสำหรับพืช (Good Agricultural Practice) เป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมอยู่ในปัจจุบันและเป็นสิ่งที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล

จาก https://www.naewna.com วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

"พลังงาน" แจงปม "ราคาน้ำมันทำไมถึงแพง"

จากกรณีที่ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งกระแสข่าวการโจมตีรัฐบาลถึงมาตรการที่ออกมารองรับ ทั้งถูกใจและไม่ถูกใจผู้ใช้น้ำมัน ซึ่งส่วนใหญ่ดูเหมือนจะไม่ถูกใจ ทั้งนี้กระทรวงพลังงานได้ชี้แจงถึงกระแสข่าวดังกล่าว

ทำไม น้ำมันราคาแพง มากขึ้น กระทรวงพลังงาน จึงนิ่งเฉย ปล่อยให้ น้ำมันแพง มาก ประชาชนเดือดร้อน

เนื่องจาก ราคาน้ำมันตลาดโลก ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2564 น้ำมันดิบดูไบ ปรับขึ้นจาก 65.35 เป็นปัจจุบัน 84.34 ดอลลาร์/บาร์เรล รวมทั้งผลจากอัตราแลกเปลี่ยน ที่ส่งผลต่อต้นทุนนำเข้าในช่วงเดือนสิงหาคม 2564 ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศปรับขึ้นจำนวน 6 ครั้ง ครั้งละประมาณ 40 – 60 สต./ลิตร มาอยู่ที่ 31.29 บาท/ลิตร ดังนั้น กระทรวงพลังงาน จึงได้มีมาตรการช่วยเหลือประชาชน โดยใช้เงิน กองทุนน้ำมันฯ ชดเชย ราคาน้ำ มันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล อยู่ที่ 28.29 บาท/ลิตร และเพิ่ม

มาตรการช่วยเหลือในส่วนของโครงสร้างราคาน้ำมัน ดังนี้

1. น้ำมันไบโอดีเซล (B100) ได้ปรับตัวสูงขึ้นในเดือนสิงหาคม 2564 จาก 38.08 บาท/ลิตร เป็น 46.15 บาท/ลิตร ในเดือนตุลาคม 2564 ดังนั้นกระทรวงพลังงานจึงได้ปรับลดสัดส่วนผสมขั้นต่ำของไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซล บี7 และบี10 เป็นร้อยละ 6 โดยปริมาตร และคงสัดส่วนผสมในน้ำมันดีเซล บี20 เท่าเดิม

2. ขอความร่วมมือกับผู้ค้าน้ำมัน ปรับลดค่าการตลาดจากเดิม อยู่ที่ 1.80 บาท/ลิตร เป็นไม่เกิน 1.40 บาท/ลิตร

โดยกระทรวงพลังงานได้มีมาตรการช่วยเหลือประชาชนในช่วงราคาน้ำมันแพงโดยใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ชดเชยราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล ไม่เกิน 30 บาท/ลิตร ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 และปรับสัดส่วนผสมขั้นต่ำของไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซล บี7 และบี10 เป็นร้อยละ 6 โดยปริมาตร  และขอความร่วมมือกับผู้ค้าน้ำมัน ปรับลดค่าการตลาดไม่เกิน 1.40 บาท/ลิตร ทั้งนี้  กระทรวงพลังงานจะพยายามกำกับราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และก๊าซหุงต้มให้ไม่กระทบต่อประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศอย่างเต็มความสามารถ

ทำไมต้องมี biodiesel และ เอทานอล มันดีอย่างไร ต้นทุนผสม ราคาแพงมาก ทำให้ ราคาน้ำมันแพงไปเอื้อ ประโยชน์ให้กลุ่มปาล์ม เคยปรับลดสัดส่วน ผสมในอดีตไหม

การที่มีการผสมเชื้อเพลิงชีวภาพในน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นนโยบายของรัฐบาลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อ ส่งเสริมพลังงานทดแทน ช่วยรักษาเสถียรภาพระดับราคาพืชผลเกษตรของเกษตรกรไม่ให้ราคาตกต่ำ และทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง อีกทั้งยังสามารถลดการนำเข้าน้ำมันได้อีกด้วย ซึ่งเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลที่ปรากฎในคําแถลงนโยบายที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 25 กรกฎาคม 2562  ที่กำหนดให้ “..เปิดโอกาสให้ชุมชนและประชาชนมีส่วนร่วมในการผลิตและบริหารจัดการพลังงาน ส่งเสริมให้มีการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B20 และ B100 เพื่อเพิ่มการใช้น้ำมันปาล์มดิบ ...”

นอกจากนี้ คณะกรรมการปาล์มแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ผลักดันให้มีการผสมเชื้อเพลิงชีวภาพในน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกพืชพลังงานให้มีรายได้ที่มั่นคง ลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ

แต่เนื่องจากสถานการณ์ ราคาไบโอดีเซล และเอทานอลมีราคาสูงต่างจากกับจากในอดีต กระทรวงพลังงานจำเป็นดำเนินมาตรการปรับลดสัดส่วนการผสมเพื่อให้เกิดความเหมาะสมไม่กระทบประชาชน แต่ก็ยังคงต้องรักษาเสถียรภาพด้านราคาให้แก่ไบโอดีเซลและเอทานอลไม่ให้กระทบเกษตรกร

ราคา CPO ตอนนี้ ราคาก็ดี ทำไมไม่ลดสัดส่วน ผสมลง และ ส่งออกไปให้หมด ทำให้ราคาน้ำมันถูกลง และ ชดเชย ส่งออก ถูกกว่า ( ให้ดูว่าเป็นมติคณะกรรมการปาล์มแห่งชาติ ที่สนับสนุน เรื่องนี้ไว้เดิมหรือไม่ เช่น ลด PM2.5 และ ช่วยเกษตรกร ลดโลกร้อน หรือเป็นอำนาจ ของ พน)

ในระยะสั้นในเดือนตุลาคม 2564 กระทรวงพลังงาน ได้ปรับลดสัดส่วนผสมขั้นต่ำของไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซล บี7 และบี10 เป็นร้อยละ 6 โดยปริมาตร และคงสัดส่วนผสมในน้ำมันดีเซล บี20 เท่าเดิม และในเดือนพฤศจิกายน 2564 จะกลับไปใช้สัดส่วนเดิมตามนโยบายรัฐบาลและคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.)  ทั้งนี้ ในการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบ ขึ้นอยู่กับนโยบายของ กนป. และกระทรวงพาณิชย์

ราคาทะลายปาล์มน้ำมัน ราคาน้ำมันปาล์มดิบ และราคาบี 100  (ย้อนหลัง)

ราคาผลปาล์มทะลาย สัปดาห์นี้ (25 ตุลาคม 2564) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 8.85 บาท เพิ่มขึ้นจาก กิโลกรัมละ 8.58 บาท ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (18 – 20 ตุลาคม 2564) เพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 3.15 ราคาน้ำมันปาล์มดิบ สัปดาห์นี้ (25 ตุลาคม 2564) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 44.25 บาท เพิ่มขึ้นจาก กิโลกรัมละ 43.38 บาท ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (18 – 20 ตุลาคม 2564) เพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 2

ราคาผลปาล์มน้ำมัน และ ราคาน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ในปี 2564 สูงต่อเนื่องจากปลายปี 2563 เพราะสถานการณ์ผลผลิตปาล์มน้ำมันช่วงต้นปีมีผลผลิตออกน้อย และสต็อกน้ำมันปาล์มต่ำ ราคาผลปาล์ม ในเดือนตุลาคม 2564 สูงถึง 8.15 บาทต่อกิโลกรัม (ตาราง ราคาผลปาล์มดิบ) และน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) อยู่ที่ 41.34 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่สถานการณ์น้ำมันปาล์มมาเลเซียก็มีแนวโน้มสูงขี้นต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2563 เช่นกัน ช่วงกลางปีแม้ราคาชะลอตัวลงบ้าง เมื่อเข้าไตรมาส 3 ราคามีแนวโน้มสูงขึ้นเดือนตุลาคม 2564 ราคาน้ำมันปาล์มดิบมาเลเซีย อยู่ที่ 41.49 บาทต่อกิโลกรัม ดังนั้น คาดว่าราคาน้ำมันปาล์มดิบไทยมีแนวโน้มสูงขึ้น

ราคาน้ำมันไบโอดีเซล (B100) ในเดือนตุลาคม 2564 เฉลี่ยอยู่ที่ 43.55 บาทต่อลิตร เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 3.36 บาทต่อลิตร ราคาไบโอดีเซลปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากราคาวัตถุดิบในประเทศปรับตัวสูงขึ้น อีกทั้งราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากประเทศมาเลเซียซึ่งเป็น ผู้ส่งออกน้ำมันปาล์ม อันดับ 2 ของโลก เกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงานต่างชาติใน อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน ส่งผลให้ผลผลิตน้ำมันปาล์มของประเทศมาเลเซียสูง ทั้งนี้ผลผลิตปาล์มน้ำมันของประเทศไทยเริ่มน้อยลง แต่โรงสกัดในประเทศยังมีการส่ง CPO ออกไปจำหน่ายต่างประเทศ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ราคา CPO ที่เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตไบโอดีเซลในประเทศปรับตัวสูงขึ้น

มติ คณะกรรมการปาล์มแห่งชาติ เรื่อง การช่วยเหลือ เกษตรกร สนับสนุนการใช้ บี 10

จากการประชุมกนป. ในช่วง 3 - 4 ปี ที่ผ่านมา มีความพยายามที่จะผลักดันให้มีการใช้น้ำมันปาล์มในภาคพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ในโรงไฟฟ้า หรือในการผสมในน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อให้เกิด demand อย่างต่อเนื่อง ซึ่งโดยมีรายละเอียดตามมติการประชุมกนป.ดังนี้

1. มติการประชุม กนป. ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 มีมาตรการด้านพลังงาน ดังนี้ 1. การใช้น้ำมันปาล์มดิบเพื่อผลิตไฟฟ้า 2. การชดเชยส่วนต่างจากการรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบของ กฟผ. และการส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซล โดยเห็นชอบให้กระทรวงพลังงานเร่งดำเนินการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 10 ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด รวมทั้งเร่งรัดในการรณรงค์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 10 ให้กับผู้บริโภค ผู้ประกอบการค่ายรถยนต์ และสถานีบริการ เพื่อให้ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบสามารถรองรับปริมาณผลปาล์มน้ำมันที่เพิ่มขึ้นได้

2. มติการประชุม กนป. ครั้งที่ 4/2562 เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2562 เห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการปาล์มทั้งระบบ โดยมาตรการด้านพลังงาน ดังนี้ 1. การใช้น้ำมันปาล์มดิบเพื่อผลิตไฟฟ้า  2. การส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซล โดยเห็นชอบให้กระทรวงพลังงานเร่งดำเนินการผลักดันให้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 20 และดีเซลหมุนเร็วบี 7 เป็นทางเลือก เพื่อให้ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบสามารถรองรับปริมาณผลปาล์มน้ำมันที่เพิ่มขึ้นได้

3. มติการประชุม กนป. ครั้งที่ 4/2561 เมื่อวันที่  29 พฤศจิกายน 2561 มีมาตรการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 10 โดยมอบหมายกระทรวงพลังงาน โดย กรมธุรกิจพลังงาน เร่งรัดการออกประกาศมาตรฐานคุณภาพ บี100 ใหม่เพื่อให้สามารถรองรับการผสมบี 10 โดยเร็ว

4. มติการประชุม กนป. ครั้งที่ 3/2561 เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 มีมาตรการเพิ่มปริมาณการใช้น้ำมันปาล์มดิบเป็นเชื้อเพลิงในเครื่องยนต์ (ด้านพลังงาน) เพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคของการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 20 ในรถยนต์บรรทุกขนาดใหญ่ และมาตรการจูงใจให้มีการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 20 ในรถยนต์ขนาดเล็ก  โดยเห็นชอบให้มีการเพิ่มสัดส่วนการใช้ไบโอดีเซล (บี 7) จากอัตราส่วนผสมร้อยละ 6.5 – 7.0 เป็นร้อยละ 6.8 -7.0 ซึ่งส่งผลให้มีการใช้น้ำมันปาล์มดิบเพิ่มขึ้นปีละ 80,000 ตันและมอบหมายให้ กระทรวงพลังงานหาแนวทางส่งเสริมและมาตรการจูงใจให้มีการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 20 ในรถบรรทุกและรถยนต์ขนาดเล็ก

5. มติการประชุม กนป. ครั้งที่ 2/2561 เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2561 มีมาตรการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี20 โดยเห็นชอบและมอบหมายให้กระทรวงพลังงานเร่งรัดดำเนินการตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2561 ที่เห็นชอบหลักการแนวทางการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 20 ในรถบรรทุกใหญ่

6. มติการประชุม กนป. ครั้งที่ 2/2559 เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2559  ได้เห็นชอบ ยุทธศาสตร์การปฏิรูปปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มทั้งระบบ รวมทั้งคณะรัฐมนตรี มีมติรับทราบแล้ว เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2559 โดยมีวิสัยทัศน์ “พัฒนาปาล์มน้ำมัน น้ำมันปาล์ม ไปสู่อุตสาหกรรมโอเลโอเคมีคอล เพื่อการแข่งขันในการดำเนินธุรกิจในอาเซียน” ระยะเวลาการปฏิรูป 20 ปี (ปี 2560 – 2579) แบ่งเป็นช่วงละ 5 ปี ซึ่งประกอบด้วย 6 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านการผลิต 2) ด้านนวัตกรรม 3) ด้านมาตรฐานปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม 4) ด้านพลังงาน 5) ด้านการตลาด และ 6) ด้านการบริหารจัดการ โดยมีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ประสานรวบรวม จัดทำยุทธศาสตร์ และนำเสนอต่อ กนป.

"พลังงาน" แจงปม "ราคาน้ำมันทำไมถึงแพง"ทำไมไม่ลดภาษีสรรพสามิต ตั้ง 6 บาท ต่อลิตร เอาไปทำอะไร มาช่วยชั่วคราวก็ยังดี

ภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งรัฐบาลทุกรัฐบาลต้องจัดเก็บเพื่อนำภาษีไปใช้เป็นงบประมาณในการพัฒนาประเทศ และเป็น 40% ของรายได้ประเทศ โดยการจัดเก็บหรือการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงการคลังที่จะพิจารณาอัตราภาษีที่เหมาะสม

การตรึงราคา ที่ 30 บาท ใช่หรือไม่ เป็นเช่นนี้ทุกรัฐบาลใช่หรือไม่

มีการตรึงราคา ที่ 30 บาท/ลิตร ในทุกรัฐบาลตั้งแต่ปี 2551

ราคาน้ำมันขายปลีกประเทศต่างๆ ในแถบนี้ ถูก แพง อย่างไรแสดงเหตุผล

ราคาน้ำมันประเทศไทย แพงกว่ามาเลเซียและประเทศเพื่อนบ้าน

ราคาน้ำมันของประเทศไทยสูงกว่ามาเลเซียหรือบางประเทศ ในภูมิภาคอาเซียน ขึ้นอยู่กับแหล่งทรัพยากรพลังงานในประเทศ นโยบายของรัฐบาล โครงสร้างราคาน้ำมัน ต้นทุนการจัดหาน้ำมัน คุณภาพน้ำมัน และการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการใช้น้ำมัน ซึ่งโครงสร้างราคาน้ำมันจะแยกเป็น 2 ส่วน คือ

1. ต้นทุนเนื้อน้ำมัน และ 2. ภาษีและกองทุนน้ำมัน ดังนี้

1. ต้นทุนเนื้อน้ำมันของไทย มาเลเซีย และประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอ้างอิงตลาดสิงคโปร์เช่นเดียวกัน แต่ต้นทุนเนื้อน้ำมันดังกล่าวจะขึ้นอยู่กับค่าขนส่งซึ่งมีความแตกต่างกันตามที่ตั้งของแต่ละประเทศ อีกทั้งคุณภาพน้ำมันของไทย (ยูโร 4) สูงกว่าบางประเทศในภูมิภาคอาเซียน จึงมีราคาสูงกว่า ทั้งอีกไทยมีการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ (เอทานอล และไบโอดีเซล) ตามนโยบายสนับสนุนพลังงานทดแทน ทำให้ไทยมีราคาสูงกว่า

2. ภาษีและกองทุน โครงสร้างราคาน้ำมันของประเทศไทยมีการเก็บภาษีและเงินกองทุน  (กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และภาษีต่างๆ ได้แก่ ภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล และภาษีมูลค่าเพิ่ม) ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไทยสูงขึ้นจากต้นทุนเนื้อน้ำมัน

บางประเทศในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมัน อาทิ มาเลเซีย ไม่มีการจัดเก็บภาษีและกองทุน เนื่องจากมีรายได้จากการผลิตและส่งออกน้ำมันดังกล่าวในการบริหารประเทศโดยไม่ต้องพึ่งพางบประมาณจากการจัดเก็บภาษีน้ำมัน ในขณะที่ประเทศไทยเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิซึ่งจำเป็นต้องจัดเก็บภาษีน้ำมันเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของงบประมาณในการบริหารประเทศ

อย่างไรก็ดี เมื่อเปรียบเทียบราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน พบว่าราคาของประเทศไทยก็ไม่ได้มีราคาสูงหรือต่ำไปกว่ามากตามที่มักมีการกล่าวอ้าง ดังเช่นข้อมูลราคาขายปลีกราคาน้ำมันเชื้อเพลิงณ วันที่ 25 ตุลาคม 2564 ต่อไปนี้

แนวทางการกำหนดโครงสร้างราคาน้ำมันในปัจจุบัน

รัฐบาลมีนโยบายยกเลิกการกำหนดราคาน้ำมันเชื้อเพลิงมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศเคลื่อนไหวขึ้นลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก โดยมีกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นเครื่องมือในการบริหารราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศไม่ให้กระทบต่อภาระค่าครองชีพของประชาชน กระทรวงพลังงาน โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน มีหน้าที่ในการติดตาม กำกับ ดูแลความเหมาะสมของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยจัดทำโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อใช้เป็นข้อมูลสำหรับอ้างอิงความเหมาะสมของราคาขายปลีกน้ำมัน โดยมีองค์ประกอบ ดังนี้

ราคา ณ โรงกลั่น : คือ ราคาเนื้อน้ำมัน ซึ่งอ้างอิงตามราคาตลาดกลางของภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ ตลาดสิงคโปร์ เพื่อใช้เปรียบเทียบราคานำเข้าหรือส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศ

ภาษีสรรพสามิต : จัดเก็บโดยกระทรวงการคลัง ตาม พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต และตามกรอบงบประมาณ เพื่อนำมาใช้เพื่อพัฒนาประเทศ

ภาษีเทศบาล : จัดเก็บโดยกระทรวงการคลัง ในอัตราร้อยละ 10 ของภาษีสรรพสามิต และจัดส่งให้กระทรวงมหาดไทยเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาท้องถิ่น

ภาษีมูลค่าเพิ่ม : จัดเก็บร้อยละ 7 ของราคาขายส่งน้ำมันเชื้อเพลิง และจัดเก็บอีกร้อยละ 7 ของค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละชนิด           

กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง : จัดเก็บตามประกาศคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เรื่องการกำหนดอัตราส่งเข้ากองทุน อัตราเงินชดเชย อัตราเงินคืนจากกองทุน และอัตราเงินชดเชยคืนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศไม่ให้เกิดความผันผวน

กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน : จัดเก็บตามประกาศคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เรื่อง การกำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงที่ทำในราชอาณาจักร และน้ำมันเชื้อเพลิงที่นำเข้ามาเพื่อใช้ราชอาณาจักร เพื่อสนับสนุน ส่งเสริม เพิ่มประสิทธิภาพ  และลดการใช้พลังงานของประเทศ

ค่าการตลาด : คือส่วนที่เป็นต้นทุน ค่าใช้จ่าย และกำไรของธุรกิจค้าปลีกน้ำมันทั้งระบบ

ซึ่งรวมถึงคลังน้ำมัน ระบบขนส่ง และสถานีบริการ โดยค่าการตลาดที่เหมาะสมของน้ำมันแต่ละชนิดในปัจจุบันเป็นไปตามมติ กบง. เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2563

"พลังงาน" แจงปม "ราคาน้ำมันทำไมถึงแพง"ค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิง และการกำกับดูแลค่าการตลาดให้มีความเหมาะสมอย่างไร

ค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิง มีหลักเกณฑ์พิจารณาจากค่าใช้จ่ายดำเนินการต่างๆ ของผู้ประกอบการ โดยให้มีผลตอบแทนหรือกำไรขั้นต้นเพื่อให้ครอบคลุมการลงทุน  และสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการดำเนินกิจกรรมด้านการตลาด ดังนี้

1. ค่าใช้จ่ายดำเนินการของสถานีบริการน้ำมัน ประกอบด้วย ค่าขนส่ง ค่าจ้างและค่าใช้จ่ายสำนักงาน (อาทิ ค่าจ้างแรงงานและสวัสดิการ ค่าเช่าที่ดิน ค่าประกันภัย ค่าสอบบัญชี) ค่าสาธารณูปโภค และค่าซ่อมบำรุง)

2. ค่าใช้จ่ายดำเนินการของผู้ค้าตามมาตรา 7 ประกอบด้วย ค่าจ้างและค่าใช้จ่ายสำนักงาน ค่าประกันภัย ค่าใช้จ่ายคลังน้ำมัน ค่าสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงตามกฎหมาย

3. ค่าลงทุนสถานีบริการ และผลตอบแทนการลงทุน ที่ผ่านมากระทรวงพลังงานได้ศึกษาความเหมาะสมของค่าการตลาดตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้น โดยมีค่าการตลาดที่เหมาะสมในช่วงปี 2563 เฉลี่ยอยู่ที่ 1.85 บาทต่อลิตร  ต่อมาได้มีการทำงานร่วมกับภาคประชาชน (คณะทำงานเพื่อพลังงานที่เป็นธรรม) ได้มีการทบทวนค่าการตลาดที่เหมาะสมใหม่ โดยเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2563 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้เห็นชอบค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงที่เหมาะสมเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักทุกผลิตภัณฑ์ไว้ที่ 2.00 บาทต่อลิตร

สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกตอนนี้เป็นอย่างไร และในประเทศไทยมีการปรับขึ้นลงอย่างไรบ้าง

ราคาน้ำมันในตลาดโลก มีแนวโน้มสถานการณ์ทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง จากการที่ ราคาก๊าซธรรมชาติ และถ่านหินยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องหนุนให้โรงไฟฟ้าและโรงงานอุตสาหกรรมเปลี่ยนมาใช้น้ำมัน

เป็นเชื้อเพลิงมากขึ้น รวมถึงการฟื้นตัวของความต้องการใช้น้ำมันในหลายประเทศ ส่งผลให้ตลาดน้ำมันดิบอยู่ในภาวะตึงตัว สนับสนุนการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบ

ราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปของไทย ปรับตัวไปในทิศทางเดียวกับน้ำมันในตลาดโลก อย่างไรก็ตามในตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันที่กระทรวงพลังงานได้มีมาตรการเข้าไปตรึงราคาขายปลีก น้ำมันดีเซล ส่งผลให้ราคาน้ำมันในประเทศต่ำกว่าราคาตามต้นทุนที่ควรเป็นของตลาด โดยกองทุนฯ

ต้องจ่ายเงินชดเชยทั้งน้ำมันเชื้อเพลิงเดือนละ 3,152 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 25 ตุลาคม 2564)

"พลังงาน" แจงปม "ราคาน้ำมันทำไมถึงแพง"การทำงานร่วมกับภาคประชาชน (คณะทำงานเพื่อพลังงานที่เป็นธรรม)

กระทรวงพลังงาน (พน.) ได้เปิดโอกาสให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมดำเนินการด้วยกัน เพื่อความโปร่งใส่ในการกำกับดูแลราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศ ให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรม โดยเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2562 กระทรวงพลังงาน ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อพลังงานที่เป็นธรรม ซึ่งเป็นผู้แทนภาคประชาชน เพื่อเสนอแนะแนวทางการกำหนดโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซให้มีความเหมาะสม เป็นธรรม และสอดคล้องกับภาวะตลาดน้ำมันของประเทศในปัจจุบันและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

โดยได้มีการปรับปรุงโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่สำคัญ คือ การปรับหลักเกณฑ์การคำนวณราคา ณ โรงกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิง นำเสนอ กบง. เห็นชอบ เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2563 ซึ่งเป็นการปรับในส่วนของ

(1) หลักเกณฑ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงอ้างอิงราคากลางของตลาดภูมิภาคเอเชีย (FOB) และ (2) หลักเกณฑ์การคำนวณค่าพรีเมียม ซึ่งประกอบด้วย ค่าปรับคุณภาพน้ำมัน ค่าขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงจากสิงคโปร์มายังไทย (Freight) ค่าประกันภัย (Insurance) ค่าสูญเสียน้ำมันระหว่างการขนส่ง (Loss) และค่าขนส่งน้ำมันทางท่อจากศรีราชา – กรุงเทพฯ ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

(1) ราคา ณ โรงกลั่นน้ำมัน ลดลง 0.50 บาทต่อลิตร ณ วันที่ 17 มิถุนายน 2563 ที่มติ กบง. มีผลบังคับใช้

(2) การย้าย ค่าขนส่งน้ำมัน ทางท่อจากศรีราชา-กรุงเทพฯ 0.80 $/BBL หรือ~ 0.15 บาท/ลิตร จาก ราคา ณ โรงกลั่นให้เป็นค่าใช้จ่ายตามจริง ส่งผลให้ค่าการตลาดเฉลี่ยทุกผลิตภัณฑ์ อยู่ที่ 2.00 บาทต่อลิตร มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป

การช่วยเหลือของกระทรวงพลังงานที่ผ่านมา

ใช้มาตรการชดเชยราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล ไม่เกิน 30 บาท/ลิตร โดยใช้กองทุนน้ำมันและการปรับลดสัดส่วนการผสมน้ำมันไบโอดีเซล รายละเอียดังนี้

1. เดือนตุลาคม 2564 ปรับสัดส่วนผสมดีเซล เป็นร้อยละ 6 โดยปริมาตร และคงสัดส่วนผสมในน้ำมันดีเซล บี20 เท่าเดิม และขอความร่วมมือกับผู้ค้าน้ำมัน ปรับลดค่าการตลาดไม่เกิน  1.40 บาท/ลิตร

2. เดือนพฤศจิกายน 2564 มีแนวทางดำเนินการ ดังนี้

กำหนดให้คงน้ำมันกลุ่มดีเซล 3 ชนิด คือ น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 บี10 และ บี 20

กำหนดส่วนต่างราคาขายปลีกระหว่างน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 กับน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี10 อยู่ที่ 0.15 บาทต่อลิตร และส่วนต่างราคาขายปลีกระหว่างน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 กับน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี20 อยู่ที่ 0.25 บาทต่อลิตร

กำกับให้ค่าการตลาดกลุ่มน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ไม่เกิน 1.40 บาทต่อลิตร โดยให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

แนวทางดำเนินการตามมาตรการบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้น ดังนี้ ใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงกลุ่มดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร หรือที่ ราคาน้ำมันดิบดูไบ ไม่เกิน 87.5 ดอลลาร์/บาร์เรล

ใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีอยู่ในปัจจุบัน (ณ วันที่ 17 ตุลาคม 2564

ฐานะกองทุนอยู่ที่ 9,207 ล้านบาท) รวมถึงกู้ยืมเงินในวงเงินไม่เกิน 20,000 ล้านบาท ตามมาตรา26 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 เพื่อรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงกลุ่มดีเซล

ในกรณีราคาน้ำมันดิบดูไบเกิน 87.5 ดอลลาร์/บาร์เรล หรือสถานะภาพกองทุนน้ำมันฯ ไม่เพียงพอที่จะรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันเชื้อเพลิงกลุ่มดีเซลให้ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตรแล้ว ให้ประสานกระทรวงการคลังเพื่อปรับลด อัตราภาษีสรรพสามิต เป็นลำดับต่อไป

กองทุนมีเงินมากมายไปทำอะไรหมด ไม่ช่วยชดเชยความเดือดร้อนของประชาชนเลย ใช้เงินกองทุนไปทำอะไรบ้าง เงินหมดแล้วทำอย่างไร

พระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 กำหนดว่า มาตรา 5 ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่ง เรียกว่า “กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง” ในสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมในกรณีที่เกิด วิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง

การดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ตามวรรคหนึ่งให้อยู่ภายใต้กรอบนโยบายการบริหารกองทุน ตามที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติกำหนด

มาตรา 26 กองทุนต้องมีจำนวนเงินเพียงพอเพื่อใช้ในการบริหารจัดการกองทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเมื่อรวมกับเงินกู้ตามวรรคสองแล้วต้องไม่เกินจ้านวน 4 หมื่นล้านบาท

เมื่อกองทุนมีจำนวนเงินไม่เพียงพอเพื่อดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ของกองทุนตามมาตรา 5 ให้สำนักงานโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการและโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจกู้ยืมเงินเป็นจำนวนไม่เกินสองหมื่นล้านบาท ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

การเปลี่ยนแปลงกรอบวงเงินตามวรรคหนึ่งและกรอบวงเงินกู้ตามวรรคสองให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ให้กระทำได้โดยการตราพระราชกฤษฎีกา

ปัจจุบันกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ได้ช่วยหลือราคาก๊าซ LPG และน้ำมันดีเซล หากฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงขาดสภาพคล่อง สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จะทำการกู้ยืมเงิน ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว เป็นไปตามมาตรา 5 และมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562

ยอดหนี้ของกองทุนน้ำมันในอดีต แต่ละยุค

   จำนวนยอดหนี้ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นดังนี้

"พลังงาน" แจงปม "ราคาน้ำมันทำไมถึงแพง"ในอดีต รัฐบาลอภิสิทธิ์ ยิ่งลักษณ์ ทำอย่างไรในการตรึงราคาน้ำมัน และกองทุนเป็นหนี้เท่าไหร่

ทุกรัฐบาลพยามยามรักษา ระดับราคาน้ำมันดีเซล ให้ไม่เกิน 30 บาท/ลิตร ซึ่งหากราคาน้ำมันดีเซลเกิน 30 บาท/ลิตร จะส่งผลกระทบทำให้สินค้าและบริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าโดยสารรถยนต์ ซึ่งจะปรับสูงขึ้นจนกระทบกับ ภาระค่าครองชีพ ของประชาชน การ ตรึงราคาน้ำมัน ของทุกรัฐบาล จะใช้ 2 เครื่องมือ

คือ 1. กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และ 2. ภาษีสรรพสามิต โดยกระทรวงพลังงานจะเป็นผู้บริหารกลไกกองทุนน้ำมันฯ และส่วน นโยบายภาษีสรรพสามิต จะขึ้นอยู่กับกระทรวงการคลัง ซึ่งในแต่ละรัฐบาลจะมีการบริหารอัตราภาษีสรรพสามิต ดังนี้

กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีหนี้หมุนเวียน ดังนี้

น้ำมันไทยส่งออก ถูกกว่าในประเทศ ราคาหน้าโรงกลั่น ค่าการตลาด

1. ราคาน้ำมันส่งออก เป็นราคาที่ไม่รวมภาษี และกองทุน

2. โรงกลั่นน้ำมัน ในประเทศไทย สร้างขึ้นมาเพื่อความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ และรองรับความต้องการใช้ในประเทศ ทดแทนการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจากต่างประเทศ

3. บางครั้งในกระบวนการ ผลิตน้ำมัน ของโรงกลั่นจะมีปริมาณน้ำมันส่วนเกินจากความต้องการในประเทศ หรือมีคุณภาพไม่ได้มาตรฐานสำหรับขายภายในประเทศ เช่น น้ำมันเบนซินและดีเซลต้องได้มาตรฐาน

ยูโร 4 และมีเปอร์เซ็นต์ซัลเฟอร์ต่ำเป็นพิเศษ ดังนั้น จำเป็นต้องมีการส่งออกไปขายต่างประเทศและต้องแข่งขันราคากับคู่แข่ง ซึ่งราคาที่ส่งออกจะไม่มีภาษีและกองทุน จึงทำให้ราคาส่งออกถูกกว่าราคาที่ขายในประเทศ

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

"เกษตรกร -ผู้ค้า" จะทำอย่างไร เมื่อปุ๋ยแพง

“เปล่งศักดิ์” นายกสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย ตั้งโต๊ะแถลง "เกษตรกร -ผู้ค้า" จะทำอย่างไร เมื่อปุ๋ยแพง เตือนรัฐ ออกนโยบายแทรกแซงกลไกของตลาด ระวัง "การสูญเปล่าทางเศรษฐกิจ” แนะประเมินรอบด้านก่อนตัดสินใจ

ในช่วงกลางปี พ.ศ. 2563 ต่อเนื่องมายังปี พ.ศ. 2564 ประเทศไทย รวมทั้งประเทศต่างๆ ทั่วโลกประสบกับการแพร่ระบาตของ"โรคโคโรน่าไวรัส" หรือ "COVID-19" ในส่วนของภาคการผลิตสินค้าเกษตร ประเทศไทยต้องนำเข้าปัจจัยการผลิตทางการเกษตรจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเมล็ดพันธุ์บางชนิด สารอารักขาพืช และ "ปุ๋ยเคมี"

เปรียบเทียบราคาปุ๋ย ระหว่างปี 2551 กับ ราคา ปี 2564

ผลกระทบที่เห็นได้ชัดเจนในช่วงแรกๆ คือการนำเข้าปัจจัยการผลิตทางการเกษตรและการส่งออกสินค้าเกษตรไปยังต่างประเทศ รวมทั้งธุรกิจด้านโลจิสติกส์ได้รับผลกระทบโดยตรง จากการปิดเมืองสำคัญ รวมถึงการปิดประเทศ

นายเปล่งศักดิ์ ประกาศเภสัช นายกสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในภาพรวมของธุรกิจภาคการเกษตรได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากการแพร่ระบาตของ COVID-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจัยการผลิตทางการเกษตร คือ "ปุ๋ยเคมี" ประเทศไทยต้องนำเข้าปุ้ยเคมีจากต่างประเทศ ประมาณ 90-95 % มาเพื่อผลิตและจำหน่ายปุ้ยให้เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ ในช่วงปลาย ปี พ.ศ. 2563 จนถึงปัจจุบัน

ราคาวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตปุ๋ยเคมี มีระดับราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเนื่องมาจากหลายๆ ปัจจัย จากวิกฤติเศรษฐกิจที่ตกต่ำทั่วโลกจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของ "COVID-19" ทำให้หลายๆ ประเทศเริ่มตระหนักถึงความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) ซึ่งส่งผลต่อการผลิตพืซอาหาร ดังนั้น ปุยเคมื จึงเป็นปัจจัยการผลิตที่มีความจำเป็นและมีความต้องการมากขึ้น โดยปัจจัยที่ทำให้ปุ๋ยเคมี มีระดับราคาที่สูงขึ้นประกอบด้วย

1. สภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการทำการเกษตร

2. ราคาผลผลิตทางการเกษตรในตลาดโลกมีแนวโน้มสูงขึ้น

3. การกำหนดนโยบายความมั่นคงทางด้านอาหารของแต่ละประเทศ

4. นโยบายการชะลอการส่งออกปุ้ยเคมีของประเทศจีน ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ ตั้งแต่กลางปี พ.ศ. 2564

ราคาปุ๋ยเคมี และค่าเงินบาท ตั้งแต่มกราคม ถึงตุลาคม

5. วิกฤตราคาพลังงานน้ำมัน ส่งผลให้ราคาก๊าซธรรมชาติสูงขึ้น ซึ่งส่งผลต่อต้นทุนการผลิตปุ้ยไนโตรเจน

6. วิกฤติการขนส่ง (Logistic) ระหว่างประเทศส่งผลให้ค่าขนส่งสินค้าทางเรืออยู่ในระดับราคาสูง

7. ความผันผวนของค่าเงินในตลาดโลก

จากปัจจัยดังกล่าวล้วนส่งผลต่อความต้องการใช้ปุ๋ยเคมีของประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทยต้องนำเข้าปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ เช่น ประเทศจีน ซาอุดีอาระเบีย รัสเซีย เป็นต้น

อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในอาเซียน

สำหรับการนำเข้าวัตถุดิบปุ๋ยเคมี แบ่งออกเป็นสามชนิด ประกอบด้วย "ปุ๋ยไนโตรเจน" (Nitrogen) การผลิตปุ๋ยไนโตรเจนจะมีสารตั้งต้นคือ สารแอมโมเนีย ซึ่งมี "ไนโตรเจน" เป็นส่วนประกอบทำปฏิกิริยากับไฮโดรเจน ซึ่งส่วนใหญ่ได้จากก๊าซธรมชาติในกระบวนการปิโตรเคมี หรือกระบวนการผลิตถ่านหิน สารแอมโมเนียนั้นใช้ในการผลิตปุ๋ยไนโตรเจนต่างๆ ได้แก่ "ยูเรีย" (46-0-0) และ "แอมโมเนียมซัลเฟต" (21-0-0) ซึ่งราคาน้ำมัน ถ่านหินจะส่งผลกระทบต่อการผลิตปุ๋ยไนโตรเจน

กราฟแสดงการเปลี่ยนแปลงของราคา Granular Urea ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2018-2021 (ตุลาคม)

ราคา "ยูเรีย" ในตลาดโลก

 วัตถุดิบตัวถัดไป ปุ๋ย "ฟอสฟอรัส" (Phosphorus) ซึ่งทำมาจากหินชนิดหนึ่งเรียกว่า "หินฟอสเฟต" วิธีการผลิตปุยฟอสฟอรัสที่นิยมกัน ก็คือนำหินฟอสเฟตมาบดละเอียดและมาทำปฏิกิริยากับกรดกำมะถันก็จะได้กรดฟอสฟอริก

กรดฟอสฟอริกนี้ถือเป็นตัวตันน้ำของปุยฟอสฟอรัส กรดฟอสฟอริกเป็นของเหลวซึ่งยากต่อการใช้ การเก็บรักษาและการขนส่ง จึงได้นำกรดฟอสฟอริกไปทำปฏิกิริยากับแอมโมเนีย กลายเป็นแม่ปุ๋ย  ที่เรียกว่า “DAP”  (Diammonium Phosphate)

 ราคาตลาดโลก "Diammonium Phosphate"

สูตร "18-46-0"  แม่ปุ๋ย "MAP" (Monoammonium Phosphate) สูตร "11-52-0" หรือ ใช้กระบวนการผลิตเดียวกันนี้ผลิตเป็นปุ๋ย N-P- K สูตรต่างๆ  สำหรับปุ๋ยฟอสฟอรัสนั้น กรณีที่หินฟอสเฟตแพง ปุ๋ยฟอสฟอรัสก็จะแพงด้วย และถ้ากรดกำมะถัน (sulfuric acid) แพงปุ๋ยฟอสฟอรัสก็จะแพงด้วยเช่นกัน

วัตถุดิบอีกตัวหนึ่งคือ ปุ๋ยโพแทสเซียม (Potassium) เป็นแร่ที่ขุดจากดินได้โดยตรง ที่เรียกกันว่า "แร่โพแทช" ประเทศไทยมีแหล่งแร่โพแทชขนาดใหญ่ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น จังหวัดชัยภูมิและจังหวัดอุดรธานี หากโครงการพัฒนาเหมืองดังกล่าวสามารถดำเนินการได้ก็จะได้แม่ปุ๋ยโพแทสเซียมใช้ในประเทศ ทดแทนการนำเข้าปีละประมาณ 600,000-800,000 ตันต่อปี

ปัจจุบัน ปัญหาราคาปัจจัยการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นย่อมส่งผลกระทบต่อเกษตรกรทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ปัจจุบันมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรระยะสั้นที่ภาครัฐบาลและเอกชนร่วมกันช่วยเหลือเกษตรกรคือ การขายปุ๋ยเคมีในราคาพิเศษ ผ่านสหกรณ์การเกษตร และกลุ่มสถาบันเกษตรกร โดยเริ่มตั้งแต่ครั้งแรก ในระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม และมีการขยายเป็นครั้งที่สองจนถึงเดือนตุลาคม 2564

โดยทางสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทยช่วยเหลือปุ๋ยเคมีราคาพิเศษกับเกษตรกร 201,106 ตัน หรือ 4,022,120 กระสอบ จากมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรระยะสั้นดังกล่าวเป็นมาตรการที่ดีที่ภาครัฐร่วมกับภาคเอกชนช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงที่ปุ๋ยมีราคาแพง

เนื่องจาก "ปุ๋ยเคมี" เป็นตัวแปรสำคัญในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและสร้างรายได้สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับเกษตรกร แต่อย่างไรก็ตาม วิธีการที่ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือ ควรทำอย่างระมัดระวังผู้กำหนดนโยบายควรเข้าใจธุรกิจและอุตสาหกรรมปุ๋ยเคมีอย่างลึกซึ้ง ควรศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้านก่อนตัดสินใจออกนโยบาย

การนำเข้าปุ๋ยเคมี 9 เดือนแรก

ช่วยเหลือปุ๋ยเคมีราคาพิเศษกับเกษตรกร 201,106 ตัน หรือ 4,022,120 กระสอบจากมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรระยะสั้นดังกล่าวเป็นมาตรการที่ดีที่ภาครัฐร่วมกับภาคเอกชนช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงที่ปุ๋ยมีราคาแพง เนื่องจากปุยเคมีเป็นตัวแปรสำคัญในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและสร้างรายได้สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับเกษตรกร

แต่อย่างไรก็ตาม วิธีการที่ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือ ควรทำอย่างระมัดระวังผู้กำหนดนโยบายควรเข้าใจธุรกิจและอุตสาหกรรมปุยเคมีอย่างลึกซึ้ง ควรศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้านก่อนตัดสินใจออกนโยบาย มิฉะนั้นอาจส่งผลกระทบต่อทั้งเกษตรกรเองและผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเกษตร และผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม

ปัญหาปุ๋ยเคมี

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแทรกแซงกลไกของตลาด โดยทั่วไปแล้วจะทำให้เกิดสิ่งที่ทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า "การสูญเปล่าทางเศรษฐกิจ (Deadweight los5)" ดังนั้นภาครัฐควรประเมินผลกระทบอย่างรอบคอบก่อนที่จะทำการแทรกแซง มีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าต้องการทำไปเพื่ออะไร ตอบโจทย์การช่วยเหลือเกษตรกรจริงหรือไม่ และที่สำคัญ ได้ผลดีมากกว่าผลเสียหรือเปล่า

จากวิกฤติการแพร่ระบาดของ "COVID-19" ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาคเกษตรกรของไทย รวมทั้งเศรษฐกิจโลก ดังนั้นนโยบายภาคการเกษตรของประเทศไทยจะต้องมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น มีทิศทางและแนวทางที่ปฏิบัติได้จริงและสร้างรายได้ให้เกษตรกรได้ดีขึ้น

หลายปีที่ผ่านมาภาครัฐบาลมีนโยบายที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นครัวของโลก และเป็นผู้ผลิตอาหารปลอดภัยเป็นที่ยอมรับต่อประเทศต่างๆ แต่สิ่งที่จะรองรับนโยบายดังกล่าว คือ ผลผลิตทางการเกษตร ที่มีทั้งปริมาณและคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาด ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ต้องใช้ปัจจัยการผลิตทางการเกษตรเพื่อปรับแต่งพืชผลตามที่ต้องการ

เช่น เร่งการเจริญเติบโตของใบและต้น เร่งการออกดอกออกผล เพิ่มขนาดและคุณภาพผลผลิต ซึ่งส่วนนี้ "ปุ๋ยเคมี" ถือว่าเป็นปัจจัยการผสิตที่สำคัญ รวมทั้งการใช้ปุยเคมีให้มีประสิทธิภาพก็ควรใส่ปุ๋ยให้ถูกชนิด ถูกสูตร ถูกอัตรา ถูกเวลาและถูกวิธี และต้องมีหน่วยงานที่เชี่ยวชาญให้คำแนะนำอย่างถูกต้องแก่เกษตรกร การวิเคราะห์ดิน-พืช ซึ่งเป็นมาตราการที่จะต้องนำมาใช้อย่างจริงจัง

รวมทั้งการกำหนดมาตรฐานการเพาะปลูกพืช เช่น GAP การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสมสำหรับพืช (GoodAgricultural Practice) เป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมอยู่ในปัจจุบันและเป็นสิ่งที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล แก้ปัญหาจะดีกว่า

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

“จุรินทร์" ย้ำไทยยื่นสัตยาบัน RCEP แล้ว ตั้งเป้าต้นม.ค.65 มีผลบังคับใช้ ลุยการค้า-ส่งออกตลาดใหญ่ของโลก

เมื่อวันที่ 1 พ.ย.64 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ พร้อมด้วยนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และนายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ร่วมแถลงข่าว เรื่อง RCEP หลังจากที่สมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership) 15 ประเทศได้ร่วมลงนาม

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า สำหรับการให้สัตยาบัน RCEP โดยกติกาข้อตกลง RCEP ซึ่งมีสมาชิกปัจจุบัน 15 ประเทศ ประกอบด้วย อาเซียน 10 ประเทศ กับอีก 5 ประเทศคือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งได้มีการเจรจาและเป็นที่ยุติ เมื่อปี 2562 ขณะที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ และได้มีการออกแถลงการณ์ร่วมกันเสร็จสิ้นแล้วในเวลานั้น แต่ยังไม่มีผลบังคับใช้ เนื่องจากมีเงื่อนไขที่กำหนดไว้คือ สมาชิกอาเซียนจำนวนอย่างน้อย 6 ประเทศ และประเทศนอกสมาชิกอาเซียนอย่างน้อย 3 ประเทศจะต้องร่วมให้สัตยาบัน

โดยขณะนี้สมาชิกอาเซียน ประกอบด้วย สิงคโปร์ บรูไน สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ได้ยื่นสัตยาบันแล้ว รวมทั้งไทยก็ได้ยื่นให้สัตยาบันต่อสำนักเลขาธิการอาเซียนแล้ว เมื่อวันที่ 28 ตุลาคมที่ผ่านมา ส่วนประเทศนอกสมาชิกอาเซียน มีจีนกับญี่ปุ่นยื่นสัตยาบันแล้ว หากมีอีก 1 ประเทศก็ถือว่าครบตามเงื่อนไข คาดว่าต้นปีหรือเดือนมกราคม 2565 ความตกลง RCEP จะมีผลบังคับใช้ในประเทศสมาชิก 15 ประเทศต่อไป ซึ่งจะทำให้ RCEP กลายเป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีประชากรรวมกันถึง 2,300 ล้านคน คิดเป็น 30% ของประชากรโลก และทำให้กลุ่มประเทศ RCEP มีจีดีพี 33.6% ของจีดีพีโลก หรือ 1 ใน 3 ของจีดีพีโลก มูลค่าการค้าประมาณ 30% ของมูลค่าการค้าโลก ถ้ามีผลบังคับใช้ก็จะเป็นประโยชน์กับประเทศสมาชิกโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศไทย

ทั้งนี้ยกตัวอย่าง เช่น ประเด็นที่ 1 การส่งออกสินค้าอย่างน้อย 39,366 รายการ จะลดภาษีนำเข้าเหลือศูนย์ จำนวน 29,891 รายการ ทันทีที่บังคับใช้ ประเด็นที่ 2 ตลาด RCEP จะเพิ่มโอกาสส่งออกสินค้าไทยหลายรายการ เช่น ผลไม้สดและแปรรูป สินค้าประมง ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยางรถยนต์และส่วนประกอบ พลาสติก เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เป็นต้น ประเด็นที่ 3 ไทยจะได้รับการอำนวยความสะดวกทางการค้า โดยเฉพาะการส่งออกเมื่อสินค้าไปเข้าสู่ด่าน และหากเป็นสินค้าเน่าเสีย ผู้ค้าจะต้องปล่อยสินค้าภายในเวลา 6 ชั่วโมง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการส่งออกผลไม้ ผักและสินค้าเน่าเสียหลายรายการของไทย รวมทั้งการอำนวยความสะดวกทางการค้าผ่านระบบอีคอมเมิร์ซ หรือระบบออนไลน์ ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการการค้าออนไลน์มีตลาดกว้างขึ้น มีกฎเกณฑ์กติกาชัดเจน และผู้บริโภคของไทยก็จะได้รับความคุ้มครองมากขึ้น จากการนำเข้าสินค้าผ่านระบบออนไลน์ จากประเทศสมาชิก RCEP

ส่วนประเด็นที่ 4 ไทยจะได้รับประโยชน์จากการที่มีผู้เข้ามาลงทุน โดยไทยสามารถส่งออกสินค้าบริการไปยังสมาชิกได้มากขึ้น ภาคบริการที่ไทยมีศักยภาพ เช่น ธุรกิจการก่อสร้าง ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในประเทศอาเซียนที่มีศักยภาพแข่งขันได้ดีมาก การค้าปลีก โดยไปเปิดห้างสรรพสินค้าต่างๆ รวมทั้งการให้บริการด้านสุขภาพ ภาพยนตร์ และผลิตภัณฑ์ด้านบันเทิงแอนนิเมชั่น เป็นต้น และประเด็นที่ 5 ไทยจะมีทางเลือกในการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าทุนจากประเทศสมาชิกที่มีความหลากหลายขึ้น”

สำหรับการค้าระหว่างไทยกับ RCEP มีมูลค่าการค้ารวม 2.52 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 7.87 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 57.5 ของการค้ารวมของไทย โดยไทยส่งออกไป RCEP มูลค่า 1.23 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (3.83 ล้านล้านบาท) คิดเป็นร้อยละ 53.3 ของการส่งออกไทยไปโลก และไทยนำเข้าจาก RCEP มูลค่า 1.29 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (4.04 ล้านล้านบาท) คิดเป็นร้อยละ 62.1 ของการนำเข้าไทยจากโลก ทั้งนี้ RCEP เป็นความตกลงการค้าเสรี (FTA) ฉบับที่ใหญ่ที่สุดในโลก ประชากรรวมกัน 2,300 ล้านคน (30.2% ของประชากรโลก) มี GDP รวม 28.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (33.6% ของ GDP โลก) มีมูลค่าการค้ารวม 10.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (30.3% ของมูลค่าการค้าของโลก)

โดยประโยชน์ที่จะได้รับจากความตกลง RCEP ที่เป็นรูปธรรม คือ สมาชิก RCEP จะยกเลิกภาษีนำเข้าที่เก็บกับสินค้าไทย 39,366 รายการ โดยลดภาษีเหลือ 0% ทันที 29,891 รายการ ซึ่งจะเพิ่มโอกาสส่งออกสินค้าไทย ผลไม้สดและแปรรูป สินค้าประมง น้ำผลไม้ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์และส่วนประกอบ พลาสติก เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ รวมถึงการอำนวยความสะดวกทางการค้า ปรับพิธีการศุลกากรให้รวดเร็ว มีการคุ้มครองและอำนวยความสะดวกการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา และส่งเสริมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ส่งเสริมการลงทุนและธุรกิจบริการไทย - ก่อสร้าง ค้าปลีก สุขภาพ ภายนตร์และบันเทิง และการขยายห่วงโซ่การผลิต อีกทั้งยังเพิ่มทางเลือกในการใช้วัตถุดิบจาก 15 ประเทศ RCEP มาผลิตและส่งออกไปตลาด RCEP โดยได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี และการใช้กฎถิ่นกำเนิดสินค้าเดียวกัน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนและความยุ่งยากในการบริหารจัดการ

รายงานจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า สำหรับการให้บริการข้อมูลข่าวสารของความตกลง RCEP รวมถึง FTA อื่นๆ ที่ไทยเป็นภาคีและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ผู้สนใจสามารถสอบถามและสืบค้นข้อมูลได้ที่ ศูนย์บริการ “RCEP Center” ของกระทรวงพาณิชย์เว็บไซต์ www.dtn.go.th

จาก https://siamrath.co.th   วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “อ่อนค่า” ที่ระดับ 33.32 บาท/ดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “อ่อนค่า” ยังมีแนวโน้มผันผวนในกรอบเดิมต่อจากปัจจัยดอลลาร์สหรัฐ เหตุสัปดาห์นี้จะมีทั้งการประชุมเฟด รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐ และต้องระวังโฟลว์เก็งกำไรทองคำ ตลาดรอจังหวะในกรอบ 1,760-1,810 ดอลลาร์ต่อออนซ์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “อ่อนค่า” ที่ระดับ  33.32 บาท/ดอลลาร์ ลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.18 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน  พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทยระบุว่าสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดการเงินโดยรวมเริ่มผัวผวนและมีการย่อตัวลงมาบ้าง หลังแรงหนุนจากรายงานงบการเงินเริ่มลดลง และผู้เล่นในตลาดเริ่มกลับมาโฟกัสทิศทางนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางมากขึ้น

สำหรับสัปดาห์นี้ ตลาดจะจับตาผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ รวมถึง ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) โดยในส่วนของเฟด ตลาดจะรอจับตาแนวโน้มการปรับมาตรการคิวอี และมุมมองของเฟดต่อแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยปีหน้า

โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้

ฝั่งสหรัฐฯ – ตลาดจะรอจับตาผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด โดยตลาดมองว่า เฟดจะยังคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.00-0.25% ตามเดิม อย่างไรก็ดี เฟดอาจมีการประกาศแผนการลดคิวอีที่ชัดเจนขึ้น โดยเฟดอาจลดคิวอีในอัตราเดือนละ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ ตลาดจะจับตามุมมองของเฟดต่อแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ย รวมถึงความกังวลต่อปัญหาเงินเฟ้อ หลังตลาดเชื่อว่า เฟดอาจจะขึ้นดอกเบี้ยได้ในช่วงกลางปีหน้า จากแรงกดดันเงินเฟ้อ

ในส่วนข้อมูลเศรษฐกิจ ตลาดคาดว่า ทั้งภาคการผลิตและภาคการบริการจะมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะภาคการบริการที่จะกลับมาขยายตัวในอัตราเร่งขึ้น ชี้จาก ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (ISM Services PMI) เดือนตุลาคม ที่จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 62 จุด (ดัชนีเกิน 50 จุด หมายถึง การขยายตัว)

และที่สำคัญ ตลาดแรงงานก็มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดี โดยยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) อาจเพิ่มขึ้นกว่า 4 แสนรายในเดือนตุลาคม ช่วยให้อัตราว่างงาน (Unemployment) ลดลงเหลือ 4.7%

ขณะเดียวกัน ผลกระทบจากการหาแรงงานที่ยากขึ้นจะช่วยให้รายได้ของแรงงาน (Average Hourly Earning) ปรับตัวขึ้นกว่า +4.9%y/y ซึ่งรายได้ที่เพิ่มขึ้นจะช่วยให้เฟดคลายกังวลเกี่ยวกับการฟื้นตัวของตลาดแรงงานสหรัฐฯ และการใช้จ่ายครัวเรือน

ฝั่งยุโรป – ไฮไลท์ของตลาดยุโรป คือ การประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ซึ่งตลาดส่วนใหญ่มองว่า BOE อาจปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 0.25% จาก 0.10% หลังเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นเกินเป้าหมายและเศรษฐกิจก็ทยอยฟื้นตัวดีขึ้น แต่เราเชื่อว่า BOE จะคงดอกเบี้ยนโยบายไปก่อน เพื่อประเมินผลกระทบจากการระบาดของเดลต้าและติดตามการฟื้นตัวตลาดแรงงาน ทั้งนี้ควรติดตามแรงกดดันเงินเฟ้อ ซึ่งอาจหนุนให้ BOE ขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าคาดได้

นอกเหนือจากประเด็นดังกล่าว ตลาดประเมินว่า การบริโภคในยูโรโซนจะฟื้นตัวดีขึ้น หลังผู้คนเริ่มปรับวิถีชีวิตให้เข้ากับสถานการณ์ COVID โดย ยอดค้าปลีก (Retail Sales) จะโต +0.3% จากเดือนก่อนหน้าและช่วยหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยูโรโซน

ฝั่งเอเชีย – ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีน ท่ามกลางปัจจัยกดดันทั้งปัญหาในภาคอสังหาฯ การคุมเข้มภาคธุรกิจ และปัญหาการระบาดของ Delta ระลอกใหม่ ซึ่งตลาดประเมินว่า ภาคการผลิตและภาคการบริการอาจชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ชี้จากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและการบริการที่จะลดลงเล็กน้อยสู่ระดับ 49.6 จุด และ 53 จุด ตามลำดับ

นอกจากนี้ ตลาดจะจับตาผลการประชุมธนาคารกลางโดยเฉพาะธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) ว่าจะมีมุมมองต่อนโยบายการเงินอย่างไร หลังบอนด์ยีลด์ 3 ปี พุ่งขึ้นแตะระดับ 1.22% สูงกว่า เป้าหมายของ RBA ที่ 0.10% ไปมาก และสะท้อนมุมมองของตลาดที่เชื่อว่า RBA อาจขึ้นดอกเบี้ยได้หลายครั้ง อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังมองว่า RBA จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.10% แต่อาจยกเลิกการคุมระดับบอนด์ยีลด์ 3 ปี ส่วนธนาคารกลางมาเลเซีย (BNM) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.75% เพื่อหนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจ

ฝั่งไทย – ตลาดประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นหลังการทยอยผ่อนคลาย Lockdown ดังจะสะท้อนผ่านความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่จะปรับตัวขึ้นแตะระดับ 43 จุด และ 42 จุด ในเดือนตุลาคม นอกจากนี้ การใช้จ่ายที่ฟื้นตัว รวมถึงราคาสินค้าพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นมากจากปีก่อนหน้า จะหนุนให้อัตราเงินเฟ้อ (CPI) เร่งตัวขึ้นสู่ระดับ 1.80%

ส่วนกิจกรรมในภาคการผลิตแม้โดยรวมจะยังคงหดตัว แต่ก็เป็นการหดตัวในอัตราที่ชะลอลงและมีโอกาสที่ภาคการผลิตจะกลับมาขยายตัวได้ดีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน สะท้อนผ่านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตในเดือนตุลาคมที่จะปรับตัวขึ้นแตะระดับ 49 จุด

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทยังมีแนวโน้มผันผวนในกรอบเดิมต่อ โดยเงินดอลลาร์จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินบาทผันผวนได้ เนื่องจากสัปดาห์นี้จะมีทั้งการประชุมเฟด รวมถึงรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการ รวมถึงยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) และต้องระวังความผันผวนจากโฟลว์เก็งกำไรทองคำ

เนื่องจากเราคาดว่า ราคาทองคำยังมีแนวโน้มแกว่งตัวในกรอบ 1,760-1,810 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดทองคำต่างรอจังหวะเล่นรอบในกรอบดังกล่าว นอกจากนี้ โฟลว์ขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติ ก็อาจสร้างแรงกดดันและความผันผวนให้กับเงินบาทได้ หากผู้เล่นในตลาดกังวลแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นของบรรดาธนาคารกลาง จนลดการถือครองทั้งหุ้นและบอนด์ลงในระยะสั้น

อย่างไรก็ดี แม้ว่าเงินบาทจะผันผวนในสัปดาห์นี้ แต่เราคงมองว่า แนวรับเงินบาทอยู่ในโซน 33.00-33.10 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งผู้นำเข้ายังรอซื้อเงินดอลลาร์ ส่วนแนวต้านจะอยู่ในช่วง 33.40-33.50 บาทต่อดอลลาร์ จากโฟลว์ขายเงินดอลลาร์ของผู้ส่งออก

 ส่วนในมุมแนวโน้มเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่าเงินดอลลาร์จะผันผวนหนักและเสี่ยงที่จะอ่อนค่าลง หากเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณรีบใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวด หลังจากที่เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นในสัปดาห์ที่แล้วจนดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) แตะระดับ 94.16 จุด จากมุมมองของตลาดที่เชื่อว่าเฟดอาจใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดได้เร็วกว่าคาด นอกจากนี้ เงินดอลลาร์อาจเผชิญแรงกดดันจากการแข็งค่าขึ้นของเงินปอนด์ (GBP) หาก BOE ส่งสัญญาณจะขึ้นดอกเบี้ยในเดือนหน้าหรือขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 33.00-33.50 บาท/ดอลลาร์

ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.25-33.40 บาท/ดอลลาร์

ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่าเงินบาทปรับตัวอยู่ในกรอบประมาณ 33.29-33.34 บาทต่อดอลลาร์ฯ หลังเปิดตลาดช่วงเช้าที่ระดับ 33.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ ซึ่งเป็นกรอบการเคลื่อนไหวที่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ที่ 33.18 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทอ่อนค่าลงท่ามกลางแรงซื้อเงินดอลลาร์ฯ เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักและสกุลเงินในภูมิภาค หลังจากที่ตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่สะท้อนจาก PCE และ Core PCE Price Index ปรับตัวสูงขึ้น หนุนความเป็นไปได้ในการเริ่มปรับลดวงเงิน QE ของเฟดในเดือนนี้ และโอกาสการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ในปีหน้า

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ คาดไว้ที่ 33.20-33.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติ และสถานการณ์โควิด-19 ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI และดัชนี ISM ภาคการผลิตเดือนต.ค.

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564

ถึงเวลารัฐบาลเดินหน้า เข้าร่วมข้อตกลง ‘CPTPP’

ข้อตกลงทางการค้าความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกหรือ“ซีพีทีพีพี”ถือได้ว่าเป็นมหากาพย์เรื่องหนึ่งที่รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชายังไม่ตัดสินใจว่าตกลงแล้วไทยจะสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกหรือไม่

หลายปีที่ผ่านมาไทยให้ความสนใจเข้าร่วมและมีการตั้งกรรมการศึกษาเรื่องการเข้าร่วมซีพีทีพีพีขึ้นมามากมายหลายคณะรวมทั้งการตั้งคณะกรรมการวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎรขึ้นมาศึกษามีกรอบระยะเวลา 120 วันคณะกรรมการฯได้ส่งผลการศึกษาให้กับรัฐบาลตั้งแต่ปลายปีก่อนคณะรัฐมนตรี (ครม.)ในเดือน ก.พ.มีมติให้คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่งประเทศ (กนศ.)สรุปผลการศึกษาให้ ครม.รับทราบประกอบการตัดสินใจภายใน 3 เดือน เพื่อให้ทันระยะเวลาในการยื่นการสมัครเข้าเป็นสมาชิกในเดือน ส.ค.แต่จนแล้วจนรอดเรื่องนี้ก็ยังไม่ได้ถูกเสนอกลับมาที่ ครม.การยื่นใบสมัครเข้าเป็นสมาชิกของไทยยังดำเนินการไม่ทันในปีนี้

แน่นอนว่าเมื่อการยื่นใบสมัครเข้าเป็นสมาชิกยังไม่เกิดขึ้นกระบวนการในการเจรจากับประเทศสมาชิกทั้ง 11 ประเทศก็ยังไม่ได้เริ่มต้น เมื่อ จีน สหราชอาณาจักร และล่าสุดไต้หวันให้ความสนใจในการสมัครเข้าเป็นสมาชิก เงื่อนไขการเข้าร่วมซีพีทีพีพีของไทยก็จะซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เพราะจะต้องมีการเจรจากับชาติสมาชิกทุกประเทศ

ความจำเป็นที่ประเทศไทยควรจะเข้าร่วมซีพีทีพีพีไม่ได้มาจากเงื่อนไขการเจรจาที่จะเพิ่มขึ้น แต่มาจากโอกาสทางเศรษฐกิจ ที่ไทยจะได้รับ นอกจากการเปิดตลาดการค้า ยังแสดงถึงความพร้อมในการยกระดับการผลิตสินค้า และบริการ ในเรื่องนี้เป็นกรณีเดียวกับประเทศจีนที่เข้าร่วมข้อตกลงนี้เพื่อขยายซัพพายเชนให้กว้างขึ้น

ที่สำคัญเงื่อนไขทางเศรษฐกิจของไทยภายหลังการระบาดของโควิด-19 การลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทำให้เม็ดเงินลงทุนทางตรง (FDI) จากต่างประเทศมีความสำคัญเป็นอย่างมาก การประกาศความชัดเจนในเรื่องการเข้าร่วมซีพีทีพีพีจะทำให้นักลงทุนที่กำลังตัดสินใจว่าจะเข้าไปลงทุนในไทยหรือเวียดนามตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่ามาลงทุนในไทยดีกว่า เพราะเมื่อเราอยู่ในซีพีทีพีพีเหมือนกัน ความพร้อมหลายๆด้านที่ไทยมีอยู่แล้วก็จะยิ่งดึงดูดการลงทุนได้มากขึ้น

ในปีหน้าที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค)ถือว่าเป็นโอกาสที่เหมาะสมมากที่ไทยจะแสดงความจำนงค์ที่จะสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกของซีพีทีพีพีและขอแรงสนับสนุนจากชาติสมาชิกเอเปคที่บางส่วนเป็นสมาชิกของซีพีทีพีพีให้สนับสนุนให้ไทยสามารถเข้าเป็นสมาชิกข้อตกลงนี้ได้ในที่สุด

ส่วนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับภาคส่วนที่มีความเปราะบางกับการปรับตัว จำเป็นที่จะต้องมีการเยียวยา จะต้องมีการตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ รัฐบาลจำเป็นต้องเข้าร่วมแบบ“สงวนท่าที”คือขอเว้นการปฏิบัติตามข้อกำหนดของคู่เจรจา หรือสมาชิกซีพีทีพีพีในระยะแรก เพื่อให้กลุ่มอาชีพต่างๆที่จะได้รับผลกระทบสามารถปรับตัวได้ก่อนที่จะเปิดเสรีเต็มรูปแบบ

ปัจจุบันข้อตกลงซีพีทีพีพีมีสมาชิกแล้ว 11 ประเทศ มีขนาดตลาดใหญ่ด้วยประชากรรวมกันกว่า 500 ล้านคน มีมูลค่าของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) กว่า 13% ของจีดีพีโลก คิดเป็นมูลค่ากว่า 420 ล้านล้านบาท มีการประมาณการว่าหลังจากที่จีนเข้าร่วมข้อตกลงนี้จะทำให้ขนาดของตลาดเพิ่มเป็น 1,900 ล้านคน ครอบคลุมประชากรโลกกว่า 25% และขนาดจีดีพีเพิ่มขึ้นเป็น 810 ล้านล้านบาท

ถือเป็นเรื่องที่ต้องรีบตัดสินใจก่อนไทยจะตกขบวนเศรษฐกิจครั้งใหญ่...

ในช่วงเวลาที่ผ่านมาหากเรื่องนี้ล่าช้าเพราะ "ปัญหาทางการเมือง" พล.อ.ประยุทธ์ คงจะต้องทำให้เห็นอีกครั้งว่ามีคุณสมบัติผู้นำในเรื่องสำคัญๆ ต้องกล้าที่จะตัดสินใจโดยใช้ "เจตจำนงค์ทางการเมือง"มากกว่า "สมการทางการเมือง" โดยยึดเอาประโยชน์ในอนาคตของประเทศเป็นเรื่องสำคัญ

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564