|
|
ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล(เดือนตุลาคม 2553) |
รายงานพิเศษ : กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งให้การช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบอุทกภัย
ปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นใน 31 จังหวัดของประเทศไทยตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคมจนถึงปัจจุบัน ครั้งนี้นับว่าหนักที่สุดในรอบ 50 ปี เพราะได้สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน สัตว์ สิ่งของ พื้นที่ทางการเกษตร รวมทั้งคร่าชีวิตประชาชนไปจำนวนหลายราย ถึงแม้ว่าขณะนี้กรมชลประทานได้ออกมาย้ำความมั่นใจด้วยการแถลงข่าวรายวัน ยืนยันสถานการณ์น้ำจะเริ่มคลี่คลายจนกลับเข้าสู่ภาวะปกติก็ตาม แต่หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้แสดงความห่วงใยว่าหลังจากที่ปริมาณน้ำเริ่มลดลงนั้น ในวันที่ 8-9 พฤศจิกายน น้ำทะเลจะกลับมาหนุนอีกครั้ง การบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทานคงเป็นเรื่องที่ท้าทายความสามารถว่าจะช่วยคลี่คลายปัญหาได้อย่างไร ขณะที่รัฐบาลได้ใช้มาตรการเร่งด่วน 5 ข้อมาช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยในส่วนของพืชผลทางการเกษตรที่เสียหายกระทรวงเกษตรได้มอบหมายกรมส่งเสริมการเกษตร เร่งสำรวจความเสียหายหลังน้ำลดทันที
นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในวันที่ 1 พ.ย 2553 กระทรวงเกษตรฯเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจพิจารณามาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติด้านการเกษตรปี 2553 เป็นกรณีพิเศษเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพปัจจุบันและชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นให้กับเกษตรกรได้อย่างเหมาะสม ซึ่งตามหลักเกณฑ์การช่วยเหลือเดิมของกระทรวงการคลังในปี 2552 จะนำเอาเฉพาะค่าปัจจัยการผลิต คือ ค่าพันธุ์และค่าปุ๋ยมาคำนวณและกำหนดหลักเกณฑ์ให้ความช่วยเหลือนาข้าวอัตรา 606 บาทต่อไร่ พืชไร่ 837 บาทต่อไร่ และพืชสวน 912 บาทต่อไร่ จากนั้นจะเสนอปรับเปลี่ยนให้นำเอาต้นทุนการผลิตมาคิดเป็นฐานเพื่อให้การชดเชยสูงขึ้นจากเดิมร้อยละ 55 ส่วนเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยที่เป็นหนี้สหกรณ์ ซึ่งจากการสำรวจ พบว่ามีสมาชิกจำนวน 49,300 ราย เงินต้น 3,246 ล้านบาท จ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 3 นั้น จะเสนอให้รัฐบาลยกหนี้ให้สมาชิกที่เสียชีวิต และพักหนี้ให้เกษตรกร 3 ปีกรณีที่เกษตรกรเป็นหนี้ก่อนประสบอุทกภัย รวมทั้งให้รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3 ไม่เกิน 3 ปี ในวงเงินกู้ไม่เกิน 100,000 บาท ให้กับสมาชิกสหกรณ์ที่กู้ใหม่ นอกจากนี้ตนเองยังมีแนวคิดที่จะเสนอให้รัฐบาลสำรวจความเสียหายจากข้อมูลทะเบียนเกษตรกร โดยไม่ต้องรอให้น้ำลด เพื่อความรวดเร็วในการจ่ายเงินชดเชยให้กับเกษตรกรด้วย สำหรับความเสียหายจากการคาดการณ์ตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคมจนถึงปัจจุบัน มีทั้งหมดประมาณ 8.78 ล้านไร่ แยกเป็นข้าว 6.97 ล้านไร่ พืชไร่ 1.6 ล้านไร่ และพืชสวน 1.9 แสนไร่
ด้าน นายอรรถ อินทลักษณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมถึงหลักการจ่ายเงินชดเชยความเสียหายให้กับเกษตกรผู้ประสบอุทกภัย ว่า ในส่วนของนาข้าวจะต้องเสียหายทั้งหมดคือน้ำท่วมเกิน 15 วัน หรือน้ำขุ่นข้าวจะตายในระยะ 7 วัน ผลผลิตไม่สามารถจำหน่ายได้ ส่วนพืชสวนหากเป็นต้นไม้ใหญ่น้ำท่วมไม่ตาย จะอยู่ในเกณฑ์กรณีฟื้นฟู ขณะที่พืชผักขนาดเล็กที่เน่าเสีย รัฐบาลจะจ่ายชดเชยให้หมด ทั้งนี้การสำรวจความเสียหายจะให้เกษตรกรแจ้งคำร้องโดยมีคำรับรองว่าข้อมูลถูกต้องเป็นจริงจากกำนันหรือผู้ใหญ่บ้าน หลังจากนั้นจะนำมา เปรียบเทียบกับทะเบียนเกษตรกรว่าข้อมูลตรงกันหรือไม่แล้วจึงสำรวจอีกครั้ง เมื่อแบบสำรวจเสร็จสิ้นจะนำมาติดประกาศไว้ในหมู่บ้านเพื่อประชาคม ซึ่งขณะนี้กรมส่งเสริมการเกษตรได้เริ่มสำรวจในพื้นที่น้ำลดแล้ว โดยให้แต่ละจังหวัดประกาศว่าเกษตรกรต้องแจ้งคำร้องขอเงินชดเชยในวันใดบ้างเพื่อความรวดเร็วยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม นอกจากการเยียวยาด้านรายได้ ทรัพย์สิน และสิ่งก่อสร้างแล้ว สิ่งสำคัญที่จะละเลยไม่ได้ ก็คือการเยียวยาจิตใจของผู้สูญเสียด้วย
จาก http://thainews.prd.go.th วันที่ 31 ตุลาคม 2553
น้ำท่วมไทยครั้งใหญ่ดันราคาน้ำตาลทะยานสูงสุดรอบ 8 เดือน พร้อมจ่อใกล้แตะระดับแพงสุดรอบ 30 ปี หากอินเดียควบคุมปริมาณส่งออกล็อตใหม่
บลูมเบิร์กรายงานว่า ราคาน้ำตาลในตลาดสหรัฐได้ทะยานขึ้นไปไต่ระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือน เมื่อวันที่ 29 ต.ค. เนื่องจากภาวะน้ำท่วมครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 5 ปีของไทย ส่งผลเสียหายอย่างหนักต่อการปลูกอ้อยและอุตสาหกรรมน้ำตาลซึ่งไทยนับเป็นผู้ส่งออกน้ำตาล รายใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของโลก
รายงานอ้างการเปิดเผยของสมาคมน้ำตาลและอ้อยว่า พื้นที่ปลูกอ้อยในไทยได้รับความเสียหายจากอุทกภัยครั้งใหญ่ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 2.5% ส่งผลให้ราคาซื้อขายน้ำตาลล่วงหน้าเดือน ต.ค. ในตลาดนิวยอร์ก สหรัฐ ปรับตัวสูงขึ้นถึง 22% โดยปรับตัวสูงขึ้นเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน
ราคาน้ำตาลดิบงวดส่งมอบล่วงหน้าเดือน มี.ค. ปรับขึ้น 0.12 เซนต์ หรือ 0.4% ไปอยู่ที่ 28.71 เซนต์ต่อปอนด์ ในตลาดซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ล่วงหน้าไอซีอีฟิวเจอร์ส นิวยอร์ก โดยเพิ่งทะยานทุบสถิติรอบ 8 เดือน ระหว่างการซื้อขายที่ 29.59 เซนต์ และใกล้แตะระดับสูงสุดในรอบ 30 ปี ทุกขณะ
"ปัจจัยพื้นฐานของราคาน้ำตาลยังแข็งแกร่งอยู่ ทำให้กองทุนต่างๆยังเดินหน้าซื้ออย่างต่อเนื่อง" จิมมีทินเทิล นักวิเคราะห์จากบริษัทซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ล่วงหน้า ทรานส์เวิลด์ ฟิวเจอร์ส ในฟลอริดา กล่าว
บลูมเบิร์กรายงานโดยอ้างข้อมูลของทางการด้วยว่า กองทุนเก็งกำไรความเสี่ยง (เฮดจ์ฟันด์) และนักเก็งกำไรรายใหญ่ๆ ต่างเพิ่มสัดส่วนการลงทุนระยะยาวในราคาน้ำตาลโดยเก็งว่าราคาในอนาคตจะปรับตัวสูงขึ้นอีกต่อเนื่อง ทำให้ราคาน้ำตาลล่วงหน้ารอบสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 19 ต.ค.ที่ผ่านมา ขยับขึ้นอีก 5% จากสัปดาห์ก่อนหน้า และสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค.
อย่างไรก็ตาม ไฟแนนเชียล ไทมส์ และรอยเตอร์ส รายงานว่าปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อราคาน้ำตาลในตลาดโลกมากที่สุดคือ การตัดสินใจของรัฐบาลอินเดียในสัปดาห์หน้าว่าจะอนุมัติการส่งออกน้ำตาลล็อตใหญ่ระหว่าง 23-28 ล้านตันหรือไม่ หลังจากที่การปลูกและเก็บเกี่ยวอ้อยในอินเดียปีนี้ได้ผลดีและมากกว่าปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ 19 ล้านตัน
อย่างไรก็ดี รัฐบาลอินเดียกังวลต่อดัชนีเงินเฟ้อที่พุ่งสูงโดยเฉพาะสินค้าประเภทอาหาร และอาจพิจารณาการส่งออกน้ำตาลอย่างระมัดระวัง นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ในอินเดียเริ่มมุ่งไปที่การผลิตเพื่อป้อนโรงงานเอทานอลมากขึ้น เนื่องจากให้ราคาและแรงจูงใจที่ดีกว่า
จาก http://www.posttoday.com วันที่ 30 ตุลาคม 2553
ส.โรงงานน้ำตาลเตรียมประเมินผลกระทบจากน้ำท่วม-ค่าเงินบาท
นายประกิต ประทีปะเสน ประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย ในฐานะตัวแทนของโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศ กล่าวว่า ทางสมาคมฯ จะมีการประชุมเพื่อประเมินสถานการณ์ผลกระทบปัญหาน้ำท่วม และค่าเงินบาทที่แข็งค่า แต่คาดว่าไม่มีผลมากนัก และไม่ทำให้ต้องเลื่อนฤดูการเปิดหีบที่กำหนดไว้ในเดือนธันวาคมนี้
นายประกิต ยอมรับว่า ปัญหาน้ำท่วมในเมืองไทยเป็นปัจจัยหนึ่งของกระแสข่าวในตลาดน้ำตาลโลกที่ทำให้ราคาขยับขึ้น แต่ปัจจัยหลักคือ ผู้ผลิตและผู้บริโภครายใหญ่ของโลกคือ บราซิล และอินเดีย ประสบปัญหาการผลิตจากสภาพภูมิอากาศ จนส่งผลให้ราคาน้ำตาลขยับขึ้นไปสูงสุดในรอบ 8 เดือน ที่ราคา 28.71 เซนต์ต่อปอนด์ ซึ่งก่อนที่จะเกิดปัญหาน้ำท่วมได้มีการประเมินว่า ปริมาณอ้อยฤดูกาลนี้จะอยู่ที่ 70 ล้านตัน
จาก http://www.manager.co.th วันที่ 30 ตุลาคม 2553
อุตฯ เตรียมเจรจา"โค้ก-เป๊ปซี่" คืนสัญญาน้ำตาล-แฉส่วนเกิน 4 แสนกระสอบ
ก.อุตฯ เตรียมเจรจาผู้ผลิตเครื่องดื่มรายใหญ่ "โค้ก-เป๊ปซี่" คืนน้ำตาลส่วนเกินเกือบ 4 แสนกระสอบ ต้นเหตุน้ำตาลแพง-ขาดแคลน เล็งนำไปกระจายให้ผู้บริโภคแทน มั่นใจทำให้ราคาในตลาดลดลงได้
มีรายงานข่าวว่า นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมเรียกผู้ประกอบการเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่ อาทิ โค้ก เป๊ปซี่ และบริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) ผู้ผลิตกาแฟกระป๋องเบอร์ดี้ คาลพิส แลคโตะ เพื่อเข้ามาหารือในสัปดาห์หน้า เพื่อทบทวนสัญญาซื้อน้ำตาลกับโรงานน้ำตาลทราย และความเป็นไปได้ในการคืนสัญญาและนำน้ำตาลไปกระจายให้ผู้บริโภครายย่อยแทน หากผู้ผลิตเครื่องดื่มไม่นำน้ำตาลจำนวนดังกล่าวไปใช้ผลิต โดยเชื่อว่า หากสามารถนำน้ำตาลล็อตดังกล่าวไปกระจายให้กับผู้บริโภคได้ จะช่วยทำให้ราคาน้ำตาลทรายในตลาดปรับลดลงอีก 0.50-1 บาทต่อกิโลกรัม หรืออยู่ในระดับเดียวกับราคาควบคุมของ กระทรวงพาณิชย์
สำหรับสาเหตุที่เรียกผู้ผลิตเครื่องดื่มมาเจรจาในครั้งนี้ เนื่อจากก่อนหน้านี้ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เรียกผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาล 4 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มมิตรผล กลุ่มไทยรุ่งเรือง กลุ่มไทยเอกลักษณ์แ ละกลุ่มเคเอสแอล มาขอความร่วมมือให้ระบายน้ำตาลออกสู่ระบบมากขึ้น หลังพบว่ามีน้ำตาลค้างกระดานอยู่จำนวนมาก แต่ผู้ประกอบการโรงงานแจ้งว่า ได้ทำสัญญาซื้อขายน้ำตาลกับผู้ผลิตเครื่องดื่มไปหมดแล้ว โดยทำสัญญากับโค้ก ทั้งสิ้น 3.47 แสนกระสอบ เป๊ปซี่ 1 แสนกระสอบ รวม 4.47 แสนกระสอบ มีสัญญาส่งมอบภายในเดือนมกราคม 2554
รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า กระทรวงอุตสาหกรรม จะเรียกผู้ประกอบการโรงงานรายเล็กอีกกว่า 10 แห่ง เพื่อขอความร่วมมือในการระบายน้ำตาล หากยังไม่ได้รับความร่วมมือคงต้องหารือกันว่าจะใช้กฎหมายตัวไหนมาบังคับให้ทั้งโรงงานน้ำตาลให้ระบายน้ำตาลออกมา โดยเรื่องดังกล่าวจะมีการนำเข้าหารือในที่ประชุม คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนพฤศจิกายน 2553 นี้
นอกจากนี้ในการประชุม กอน.จะพิจารณาเรื่องโควตาน้ำตาล ในเบื้องต้น คณะกรรมการน้ำตาลทราย (กน.) จะมีมติให้จัดสรรโควตา ก. (เพื่อการบริโภคในประเทศ) เอาไว้ถึง 25 ล้านกระสอบ รวมถึงการประเมินความเสียหายของไร่อ้อยกว่า 1 แสนไร่ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมด้วย ว่า จะมีผลต่อการผลิตอ้อยและน้ำตาลทรายอย่างไร ทั้งหาแนวทางช่วยเหลือชาวไร่อ้อยด้วย
จาก http://www.manager.co.th วันที่ 30 ตุลาคม 2553
สั่งสอบสัญญากลุ่มเครื่องดื่ม ปล่อยน้ำตาล
นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้หารือกับโรงงานน้ำตาลรายใหญ่ 4 กลุ่ม คือ กลุ่มมิตรผล กลุ่มไทยรุ่งเรือง กลุ่มไทยเอกลักษณ์ และกลุ่มเคเอสแอล เกี่ยวกับปัญหาน้ำตาลค้างกระดานจำนวนมาก โดยขอความร่วมมือให้โรงงานน้ำตาลตรวจสอบสัญญาซื้อขายน้ำตาลกับผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่ม ขอคืนสัญญาน้ำตาลในปีนี้ที่ใช้ไม่หมดเพื่อระบายน้ำตาลออกมามากขึ้น ทำให้ราคาน้ำตาลในตลาดลดลงเพราะบางพื้นที่ยังมีราคาน้ำตาลสูงกว่าราคาควบคุมของกระทรวงพาณิชย์
เบื้องต้น โรงงานน้ำตาลทั้ง 4 กลุ่ม พร้อมให้ความร่วมมือและในสัปดาห์หน้ากระทรวงอุตสาหกรรมจะหารือกับโรงงานน้ำตาลที่เหลือ
ทั้งนี้ ปริมาณน้ำตาลค้างกระดาน (26 ต.ค.53) 1.9 ล้านกระสอบ เป็นน้ำตาลในส่วนโรงงานน้ำตาล 1.58 ล้านกระสอบ เป็นของกระทรวงพาณิชย์ 315,798 กระสอบ ส่วนน้ำตาลโควตาพิเศษที่กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ซื้อคืนมา 743,500 กระสอบ จำหน่ายไปแล้ว 291,793 กระสอบ เหลืออีก 451,707 กระสอบ
นายชลัช ชินธรรมมิตร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพัฒนาธุรกิจและสายงานผลิตและเทคนิค บมจ.น้ำตาลขอนแก่น กล่าวว่า ผู้ผลิตน้ำตาลเชื่อว่าน้ำตาลไม่ขาดแคลนเพราะค้างกระดานเหลือมาก ซึ่งที่ผ่านมามีข่าวน้ำตาลจะขาดแคลนในปลายปีนี้ทำให้ผู้ประกอบการเครื่องดื่มส่งหนังสือขอน้ำตาลกับกระทรวงอุตสาหกรรม 380,000 กระสอบ.
จาก http://www.thaipost.net วันที่ 29 ตุลาคม 2553
หนุนกองทุนอ้อยฯ สำรองเงินช่วยชาวไร่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม-เงินบาท
นายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล ประธานคณะทำงานด้านนโยบายและการบริหารอุตสาหกรรม 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กล่าวถึงการเสนอแนวคิดเร่งรัดกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ชำระหนี้คืนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เร็วขึ้น จากเดิมที่จะชำระหนี้สิ้นสุดภายในเดือนธันวาคม 2554 ว่า การบริหารจัดการเงินกองทุนฯ ในช่วงนี้จะต้องพิจารณาให้รอบคอบ เพราะขณะนี้มีปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย รวมถึงกระทบต่อผลประโยชน์ของชาวไร่อ้อยหลายเรื่อง
ตอนนี้น้ำท่วมไร่อ้อย ทำให้ผลผลิตของชาวไร่อ้อยเสียหาย ค่าเงินบาทแข็ง ทำให้รายได้จากการส่งออกน้ำตาลลดลง ซึ่งกองทุนฯ อาจจำเป็นต้องใช้เงินเข้ามาช่วยเหลือชาวไร่อ้อยในเรื่องเหล่านี้ หากเงินกองทุนไม่เพียงพอ ก็ต้องกู้จาก ธ.ก.ส. นายณัฎฐปัญญ์ กล่าว
นายณัฎฐปัญญ์ กล่าวว่า ปี 2553 กองทุนฯ มีแผนงานและโครงการต่างๆ เพื่อพัฒนาและรักษาเสถียรภาพของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล เช่น สินเชื่อสำหรับจัดซื้อรถตัดอ้อย แก้ปัญหาแหล่งน้ำ หรือโครงการตามภารกิจ เช่น โครงการช่วยเหลือชำระค่าอ้อยที่ชาวไร่นำส่งโรงงาน โดยมีน้ำตาลทรายเป็นหลักประกัน นอกจากนี้ ยังต้องสำรองเพื่อจ่ายชดเชยราคาอ้อยและผลตอบแทนการผลิตปี 2552/2553 เงินเพิ่มราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2553/2554 ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น เป็นต้น.-สำนักข่าวไทย
จาก http://www.mcot.net วันที่ 28 ตุลาคม 2553
อุตฯเล็งขอคืนน้ำตาลจากโรงงานมาขายให้ประชาชน
กระทรวงอุตฯ จี้โรงงานน้ำตาลสำรวจสัญญาซื้อขายน้ำตาลกับภาคอุตสาหกรรม หากเหลือให้ขอคืนน้ำตาลมาจำหน่ายให้ประชาชน
นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับโรงงานน้ำตาลทรายรายใหญ่ 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มมิตรผล กลุ่มไทยรุ่งเรือง กลุ่มไทยเอกลักษณ์ และกลุ่มเคเอสแอล เกี่ยวกับปัญหาน้ำตาลเหลือจากการจำหน่าย (น้ำตาลค้างกระดาน) จำนวนมาก ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ขอความร่วมมือโรงงานน้ำตาลให้ไปตรวจสอบสัญญาซื้อขายน้ำตาลกับผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่ม หากพบว่ามีน้ำตาลที่ทำสัญญาแล้วใช้ไม่หมด ให้โรงงานขอคืนน้ำตาลจำนวนดังกล่าว เพื่อนำมาจำหน่ายให้กับประชาชนทั่วไป
ทั้งนี้ เนื่องจากน้ำตาลค้างกระดานส่วนใหญ่กว่า 70% เป็นน้ำตาลที่ภาคอุตสาหกรรมทำสัญญาไว้กับโรงงานน้ำตาล ทำให้โรงงานน้ำตาลไม่สามารถนำน้ำตาลที่เหลือจำนวนนี้มาจำหน่ายเข้าสู่ตลาดได้ โดยในช่วงต้นปีโรงงานอุตสาหกรรมประเมินตัวเลขการใช้น้ำตาลไว้ค่อนข้างสูง เพราะปีนี้อากาศร้อนอบอ้าว และมีการแข่งขันฟุตบอลโลก อาหารและเครื่องดื่มจึงมีความต้องการสูงและขยายตัวอย่างมาก
กระทรวงอุตสาหกรรมต้องการให้มีการระบายน้ำตาลออกสู่ตลาดในจำนวนที่มากขึ้น เพื่อให้ราคาน้ำตาลในตลาดที่อยู่ในระดับสูงกว่าราคาควบคุมลดลง เพราะพบว่าในบ้างพื้นที่น้ำตาลยังมีราคาสูงอยู่ โดยโรงงานน้ำตาลก็พร้อมให้ความร่วมมือ และสัปดาห์หน้ากระทรวงอุตสาหกรรมจะเชิญโรงงานน้ำตาลที่เหลือมาหารือด้วย นายวิฑูรย์ กล่าว
นอกจากนี้ คณะกรรมการขายน้ำตาลโควตา ค ที่ซื้อคืนมาของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายจะเพิ่มน้ำตาลของกอลทุนฯ เข้าสู่ตลาดมากขึ้น จากเดิมที่กระจายออกสัปดาห์ละ 5 หมื่นกระสอบ เป็น 7-8 หมื่นกระสอบ เพื่อให้มีน้ำตาลเข้าสู่ตลาดมากขึ้น
สำหรับข้อมูล ณ วันที่ 26 ต.ค.2553 มีน้ำตาลค้างกระดาน 1.9 ล้านกระสอบ เป็นน้ำตาลค้างกระดานของโรงงานน้ำตาล 1.58ล้านกระสอบ น้ำตาลค้างกระดานของกระทรวงพาณิชย์ 3.15 แสนกระสอบ ส่วนน้ำตาลโควตา ค.ที่กองทุนฯ ซื้อคืนมา 7.43 แสนกระสอบ จำหน่ายไปได้ 2.91 แสนกระสอบ คงเหลือรอจำหน่ายอีก 4.51 แสนกระสอบ
นายชลัช ชินธรรมมิตร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพัฒนาธุรกิจและสายงานผลิตและเทคนิค บริษัท น้ำตาลขอนแก่น กล่าวว่า ผู้ผลิตน้ำตาลเชื่อว่าน้ำตาลจะไม่ขาดแคลนในช่วงปลายปี เพราะมีน้ำตาลค้างกระดานมาก ส่วนการที่ผู้ประกอบการเครื่องดื่มส่งหนังสือมาขอน้ำตาลเพิ่มกับกระทรวงอุตสาหกรรมจำนวน 3.8 หมื่นกระสอบ โรงงานน้ำตาลเห็นว่าภาคอุตสาหกรรมยังใช้น้ำตาลไม่หมดตามที่ทำสัญญาไว้ จึงไม่น่าจะต้องเพิ่ม และถ้าส่วนที่เหลือยังใช้ไม่หมดก็สามารถบอกเลิกสัญญาได้ เพื่อให้โรงงานน้ำตาลนำน้ำตาลส่วนนี้ไปจำหน่ายในตลาด
จาก http://www.posttoday.com วันที่ 28 ตุลาคม 2553
เดินหน้าสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ กรมหมอดินเทงบฯ28ล้านวางเป้าดำเนินการ7,380ราย
นายธวัชชัย สำโรงวัฒนา อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า จากภาวะประชากรในภาคเกษตรลดจำนวนลงเหลือเพียงร้อยละ 40 ของประชากรทั้งประเทศ ขณะเดียวกันอายุเฉลี่ยของเกษตรกรก็เพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องสร้างและพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ขึ้นมาทดแทน ซึ่งกรมพัฒนาที่ดินเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการตั้งแต่ปี 2552 สร้างโอกาสเข้าถึงองค์ความรู้ โดยการจัดกิจกรรมปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่สถาบันอาชีวศึกษาที่เข้าร่วมโครงการและในพื้นที่แปลงเกษตรกร เพื่อใช้เป็นศูนย์เรียนรู้
นอกจากนี้ ยังดำเนินการจัดรูปและพัฒนาที่ดินทำกินรายแปลงของเกษตรกร ควบคู่กับการสร้างองค์ความรู้ด้านทรัพยากรดินเพื่อเพิ่มผลผลิตพืช แบ่งตามกลุ่มเป้าหมาย 3 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรการพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ หลักสูตรการพัฒนาเกษตรอย่างยั่งยืน และหลักสูตรเฉพาะ ปวส. อย่างไรก็ดี กรมพัฒนาที่ดินยังมีหน้าที่ในการสำรวจความเหมาะสมของดินในพื้นที่เป้าหมาย ตลอดจนให้คำแนะนำการใช้ปุ๋ยเคมีตามค่าวิเคราะห์ดินและปัจจัยการผลิตต่างๆ เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งที่ดินทำกินที่เหมาะสม นำไปสู่ความสำเร็จในการประกอบอาชีพต่อไป
"ตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงปัจจุบัน สามารถสร้างและพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ได้แล้วกว่า 13,000 ราย ซึ่งถือว่ายังไม่เพียงพอ อีกทั้งยังมีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ในปีงบประมาณ 2554 กรมพัฒนาที่ดินเตรียงงบจำนวน 28.11 ล้านบาท เพื่อสานต่อโครงการดังกล่าว โดยมีเป้าหมายเกษตรกรจำนวน 7,380 ราย ในพื้นที่ 76 จังหวัด ทั้งนี้ มีความเชื่อมั่นว่าการสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ในครั้งนี้ จะสามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคเกษตรไทย และเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารในอนาคตได้เป็นอย่างดี" อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าว
จาก http://www.naewna.com วันที่ 28 ตุลาคม 2553
เงินบาทแข็งค่ากระทบราคาอ้อย 1,500-1,600 ล้านบาท
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ระบุว่า อ้อยและน้ำตาลทรายเป็นอีกหนึ่งพืชเกษตรที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท เพราะปริมาณน้ำตาลที่ผลิตได้ทั้งหมดจะใช้ภายในประเทศประมาณร้อยละ 30 ที่เหลืออีกร้อยละ 70 ส่งออกไปต่างประเทศ ดังนั้น รายได้จากการส่งออกน้ำตาล จึงบ่งชี้ถึงทิศทางรายได้ของเกษตรกรชาวไร่อ้อยทั้งประเทศ โดยเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นทุก ๆ 1 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จะทำให้รายได้จากการส่งออกน้ำตาลหายไปประมาณ 2,000-2,100 ล้านบาท และทำให้ราคาอ้อยลดลงประมาณ 23 บาทต่อตัน หรือคิดเป็นเม็ดเงินที่หายไปของชาวไร่อ้อยทั้งประเทศประมาณ 1,500-1,600 ล้านบาท
ทั้งนี้ คาดว่าการแข็งค่าของเงินบาทในปัจจุบันและมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นไปอีกในอนาคตจะกระทบต่อราคาอ้อยขั้นต้นในฤดูการผลิตปี 2553/2554 ซึ่งคาดว่าอาจจะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้นปีการผลิตปัจจุบันที่ระดับ 965 บาทต่อตัน ดังนั้น ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเกษตรกรชาวไร่อ้อยควรที่จะเตรียมพร้อมรับมือกับแรงกดดันทางด้านเงินบาทที่แข็งค่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีการผลิต 2553/2554 พื้นที่เพาะปลูกอ้อยมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากเดิมอีกประมาณ 300,000 ไร่ ตามปัจจัยราคาอ้อยที่อยู่ในระดับสูง ดังนั้น ราคาอ้อยที่ปรับลดลงเมื่อเทียบกับปีการผลิตก่อน จึงยิ่งส่งผลกระทบต่อเกษตรกรชาวไร่อ้อยทั้งระบบเป็นอย่างมาก
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า ระยะเวลาการเปิดหีบอ้อยจะเริ่มต้นในเดือนธันวาคมนี้ ภาครัฐจึงจำเป็นต้องเร่งตัดสินใจเพื่อสร้างความชัดเจนเกี่ยวกับการช่วยเหลือชาวไร่อ้อยที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเงินบาทที่แข็งค่า โดยราคาอ้อยที่เกษตรกรได้รับควรเป็นระดับที่เหมาะสมสอดคล้องกับต้นทุนการผลิต อย่างไรก็ตาม มาตรการช่วยเหลือดังกล่าวควรอยู่ในระดับที่ไม่เป็นการฝืนต่อกลไกตลาดมากเกินไป รวมทั้งวงเงินที่จะนำมาใช้พยุงราคาอ้อยต้องไม่สร้างภาระต่อภาครัฐ โดยเฉพาะฐานะของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายที่ยังคงมีภาระในการช่วยเหลือชาวไร่อ้อยและสร้างเสถียรภาพอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายให้เข้มแข็งต่อไปในอนาคต ประการสำคัญภาครัฐควรเข้ามาดูแลราคาจำหน่ายปุ๋ยและยาปราบศัตรูพืชให้สอดคล้องกับต้นทุนการนำเข้าปัจจัยการผลิตจากต่างประเทศที่ลดลงตามการแข็งค่าของเงินบาท ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือทางด้านต้นทุนรายจ่ายของเกษตรกรชาวไร่อ้อยได้พอสมควร. - สำนักข่าวไทย
จาก http://www.mcot.net วันที่ 27 ตุลาคม 2553
อ้อยจมน้ำกว่าแสนไร่ ปีหน้าน้ำตาลผลิตลด
อ้อยจมน้ำกว่าแสนไร่ ปีหน้าน้ำตาลหายจากระบบล้านกระสอบ
ด้านนายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีพื้นที่ปลูกอ้อยที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมกว่า 1.6 แสนไร่ แต่ที่ได้รับความเสียหายหนักจนอ้อยล้มแล้วมี 1.09 หมื่นไร่
ความเสียหายที่เกิดขึ้น คาดว่าจะส่งผลต่อปริมาณอ้อยหายจากระบบในฤดูกาลผลิตปี 2553/2554 จำนวน 1.09 แสนตัน หรือคิดเป็นการผลิตน้ำตาลทรายจำนวน 1.09 ล้านกระสอบ
อย่างไรก็ดี ยังมั่นใจว่าจะไม่มีผลกระทบต่อปริมาณน้ำตาลทรายที่จะจัดสรรรองรับความต้องการในประเทศของปีหน้า เพราะยังมีสต๊อกน้ำตาลเหลือค้างอยู่กว่าล้านกระสอบและไม่กระทบต่อราคาขายปลีกในตลาด
สำหรับพื้นที่อ้อยที่ได้รับความเสียหายหนักส่วนใหญ่อยู่ในภาคอีสาน 5,000 ไร่ ภาคกลาง 2,400 ไร่ ภาคตะวันออก 2,200 ไร่ ภาคเหนือ 1,300 ไร่
จำนวนที่เหลืออีก 1.5 แสนไร่ อ้อยยังไม่ได้รับความเสียหายมาก เจ้าหน้าที่และเกษตรกรอยู่ระหว่างการหาแนวทางป้องกันไม่ให้ได้รับความเสียหายมากกว่า เพราะหากต้นอ้อยล้มจนจมน้ำก็จะเสี่ยงต้นอ้อยตายได้ง่าย
ด้านนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ผลสำรวจความเสียหายพื้นที่เพาะปลูกอ้อยจากปัญหาน้ำท่วม พบเสียหาย 1.6 หมื่นไร่ จากพื้นที่ปลูกอ้อยทั้งสิ้น 6 ล้านไร่ ซึ่งถือว่ามีความเสียหายน้อยมาก ไม่ถึง 10% ของพื้นที่ปลูกอ้อยทั้งหมด จึงไม่กระทบต่อการเปิดหีบอ้อย และปริมาณอ้อยในฤดูกาลผลิตปี 2553/2554
จาก http://www.posttoday.com วันที่ 27 ตุลาคม 2553
เงินบาทแข็งทำปุ๋ย-ยาฆ่าแมลงลดราคา
"เจ๊วา"แจงครม.ผลกระทบค่าบาท ยันปุ๋ย-ยาฆ่าแมลงลดราคาแล้วกว่า10% น้ำมันหล่อลื่น กระดาษลูกฟูก กระดาษพิมพ์พุ่งปรู๊ด
วันนี้ (26 ต.ค.) นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมครม.ว่า ครม.รับทราบผลกระทบต่อราคาสินค้าอุปโภคบริโภคจากการแข็งค่าของเงินบาท หลังจากที่นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ไปจัดทำรายละเอียดให้ชัดเจนว่าการแข็งค่าของเงินบาทมีผลกระทบต่อราคาสินค้ามากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ได้รับผลในเชิงบวกที่สามารถปรับลดราคาสินค้าลงได้ ซึ่งยืนยันว่าตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. ที่ผ่านมา มีสินค้าหลายรายการได้ลดราคาลงแล้วอย่างน้อย 10% ทั้งปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง เป็นต้น
นายฉัตรชัย ชูแก้ว โฆษกกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า จากการศึกษาผลกระทบของต้นทุนสินค้าและการแข็งค่าของเงินบาท พบว่ากลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบในเชิงบวกได้แก่สินค้าหมวดปัจจัยการเกษตร ทั้งปุ๋ยเคมี ที่พบว่าราคาวัตถุดิบนำเข้าแม่ปุ๋ยยูเรีย สูงขึ้น 2.21% แต่การแข็งค่าของเงินบาททำให้ต้นทุนสินค้าลดลง 8-21% ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้ให้ผู้ประกอบการลดราคาลงแล้ว 8-23% จากการติดตามภาวะแม่ปุ๋ยยูเรียในตลาดโลก ปรากฎว่าขณะนี้ราคานำเข้ามีแนวโน้มสูงขึ้นด้วย
นอกจากนี้ยังมียากำจัดศัตรูพืช ที่พบว่าราคาวัตถุดิบนำเข้าไกลโฟเสท ลดลง 28.81% ทำให้มีต้นทุนลดลง 38% ซึ่งจากการติดตามราคาจำหน่าย ที่โรงงานลดลง 37% ส่วนราคาขายปลีกลดลงแล้ว 20% เพราะยังมีสต๊อกเก่าเหลืออยู่ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะติดตามสถานการณ์เพื่อให้ลดราคาจำหน่ายลงให้สอดคล้องกับต้นทุนและราคาโรงงานที่ลดลงต่อไป ส่วนสินค้าหมวดวัสดุก่อสร้าง ทั้งเหล็กและสายไฟฟ้า พบว่าวัตถุดิบนำเข้ามีราคาสูงขึ้นมากทำให้ต้นทุนสินค้าสูงขึ้น 13-53% แต่การจำหน่ายยังชะลอตัวจึงทำให้ผู้ประกอบการได้ชะลอการขึ้นราคาไปจนถึงเดือนธ.ค.53
สำหรับสินค้าที่ได้รับผลกระทบน้อย ซึ่งมีภาระต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น 3.50-5.50% ทำให้ต้นทุนราคาสินค้าสูงขึ้นเล็กน้อยได้แก่นมผง ผงซักฟอก สบู่ ยาสีฟัน โดยผู้ประกอบการสามารถบริหารจัดการและได้ตรึงราคาสินค้าไว้จนถึงเดือนธ.ค.53 ส่วนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบปานกลาง ที่มีภาระต้นทุนนำเข้าวัตถุดิบสูงขึ้น 32.88 % ได้แก่ น้ำมันหล่อลื่น กระดาษลูกฟูก กระดาษพิมพ์เขียน ซึ่งผู้ประกอบการได้ร่วมมือตรึงราคาสินค้าไว้จนถึงสิ้นปีนี้ เนื่องจากภาวะการจำหน่ายยังชะลอตัว
นายฉัตรชัย กล่าวว่า อย่างไรก็ตามจากการหารือกับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทั้งกลุ่มผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรแปรรูป ที่มีรายได้เป็นเงินบาทลดลงนั้นยืนยันว่าจากปริมาณการส่งออกที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้สามารถชดเชยกับรายได้เป็นเงินบาทที่ลดลงได้ แต่หากในปี 54 ค่าเงินบาทยังแข็งค่าต่อเนื่องจะทำให้ผู้ประกอบการมีปัญหาด้านราคาที่ยังสูงขึ้นจนต้องชะลอการรับออร์เดอร์หรือขยายเวลาส่งมอบสินค้า รวมทั้งต้องลดต้นทุนการผลิตซึ่งมีผลต่อการรับซื้อสินค้าเกษตรในราคาลดลงและอาจส่งผลกระทบต่อเกษตรกร
ทั้งนี้ผู้ประกอบการได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาโดยขอให้ช่วยลดต้นทุนวัตถุดิบ รวมทั้งให้รับฝากหรือจำนำเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐจากผู้ส่งออก โดยนำส่วนต่างของอัตราแลกเปลี่ยนในรูปของสินเชื่อโอดีและให้การสนับสนุนเรื่องอัตราดอกเบี้ยต่ำ ชดเชยค่าดอกเบี้ย ยกเว้นค่าธรรมเนียม เร่งรักษาเถียรภาพของค่าเงินบาท โดยการคงอัตราการซื้อขายล่วงหน้า เร่งให้ความช่วยเหลือกับผู้ส่งออกทั้งระบบไม่ได้จำกัดเฉพาะเอสเอ็มอี ให้กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเป็นพิเศษสำหรับผู้ส่งออก เป็นต้น.
จาก http://dailynews.co.th วันที่ 27 ตุลาคม 2553
จี้รัฐกระทุ้งยอดใช้"เอทานอล" แนะเพิ่มปั๊มE20-E85
นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี นายกสมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลไทย กล่าวว่า ขณะนี้ยังประเมินไม่ได้ว่าปัญหาน้ำท่วมจะส่งผลกระทบต่อวัตถุดิบที่ใช้ผลิตเอทานอล เช่น อ้อย และมันสำปะหลัง หรือไม่ อย่างไรก็ตามขณะนี้สต็อกเอทานอลมีประมาณ 100 ล้านลิตร หรือมีใช้ได้อีก 2 เดือน จึงไม่น่าจะมีปัญหา ส่วนราคาอ้างอิงเอทานอลที่จะประกาศในเดือนพฤศจิกายนนี้ คาดว่าจะเป็นราคาสูงที่สุด และสูงกว่าราคาเดือนตุลาคม ที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ลิตรละ 26.58 บาท แต่ราคาซื้อขายจริงอยู่ที่ลิตรละ 22-23 บาทเท่านั้น เพราะเป็นราคาที่ผู้ขายน้ำมันและผู้ผลิตเอทานอลตกลงกันล่วงหน้า
ทั้งนี้ การที่ราคาซื้อขายจริงต่ำเช่นนี้ เพราะภาครัฐไม่ได้ส่งเสริมการใช้อย่างจริงจัง โดยการใช้เอทานอลช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แทบไม่เติบโตเลยอยู่ที่วันละ 1 ล้านลิตรเท่านั้น ภาครัฐจึงน่าจะขยายสถานีบริการน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 และ E85 มากขึ้น โดยส่งเสริมให้รถเก่าใช้ E85 ได้ โดยติดตั้ง Conversion Kit หรืออุปกรณ์ที่ควบคุมระบบการจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงของเครื่องยนต์เบนซิน ระบบหัวฉีด ให้ใช้น้ำมันเบนซินผสมกับ E10 E20 หรือ E85 ได้ ซึ่งจะเร็วกว่าการรอขายรถใหม่เท่านั้น
ด้านนายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) กล่าวว่า การใช้เอทานอลจะขยับขึ้นได้ในปี 2554 หลังรัฐบาลจะประกาศให้ไบโอดีเซลมีเกรดเดียว คือ B4 ซึ่งจะทำให้สถานีบริการน้ำมันมีหัวจ่ายเหลือในการเลือกขาย E20 หรือ E85 นอกจากนี้กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการศึกษาเรื่อง conversion kit ถ้ามีผลพิสูจน์เรื่องมลพิษชัดเจนคาดว่าจะทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในการใช้ E85 เพิ่มขึ้น
จาก http://www.naewna.com วันที่ 27 ตุลาคม 2553
อุตฯเล็งเยียวยา326โรงงานจมน้ำ ผลสำรวจอ้อยพบน้ำท่วมเล็กน้อย
"อุตสาหกรรม"เผยโรงงานจมน้ำทั่วประเทศ 326 แห่ง มีทั้งใหญ่และเล็ก มูลค่าเสียหายเบื้องต้น 106 ล้านบาท เตรียมเสนอครม. เยียวยา ลดค่าธรรมเนียมรายปีให้โรงงานอุตสาหกรรม 1 ปีในพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วม ส่วนผลสำรวจอ้อยพบน้ำท่วมเล็กน้อย ด้านผู้ผลิตผวาหากท่วมนาน กระทบผลผลิตทำเอทานอล
นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยหลังการประชุมร่วมกับอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศผ่านระบบสื่อสารทางไกล วานนี้ (26ต.ค.) ว่า ที่ประชุมได้สรุปความเสียหายของผู้ประกอบการจากอุทกภัยจนส่งผลให้ปิดกิจการรวมทั้งสิ้น 326 ราย มูลค่าความเสียหายรวม 106 ล้านบาท แบ่งเป็นผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรม 259 โรงงาน ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) 51 ราย ผู้ผลิตสินค้าโอทอปที่จดทะเบียนกับกระทรวงอุตสาหกรรม 16 ราย
โดยมีจังหวัดที่ได้รับความเสียหายรวม 32 จังหวัดภาคกลาง 17 จังหวัด มูลค่าความเสียหาย 50 ล้านบาท ภาคเหนือ 8 จังหวัด มูลค่าความเสียหาย 52 ล้านบาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 จังหวัด เสียหาย 4.3 ล้านบาท ภาคใต้ ไม่ได้รับความเสียหาย โดยจังหวัดที่มีความเสียหายมากที่สุด ได้แก่ นครราชสีมา มีโรงงานที่ได้รับผลกระทบทั้งหมดประมาณ 100 โรงงาน ลพบุรี 100 โรงงาน สิงห์บุรี 34 โรงงาน
อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) จะมีมาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีให้แก่โรงงานอุตสาหกรรม 1 ปี สำหรับโรงงานที่อยู่ในจังหวัดที่น้ำท่วม รวมทั้งยกเว้นค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาต ส่วนกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) อาจจะช่วยยกเว้นการเก็บค่าภาคหลวงแร่ให้ ขณะที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กำลังประสานงานร่วมกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ร่วมกันประเมินความเสียหายและหาแนวทางช่วยเหลือ SMEs โดยมาตรการเหล่านี้อยู่ระหว่างการพิจารณา และจะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป
สำหรับการสำรวจความเสียหายพื้นที่เพาะปลูกอ้อย มีพื้นที่ปลูกอ้อยที่ถูกน้ำท่วมทั้งหมดจำนวน 1.6 หมื่นไร่ จากพื้นที่ปลูกอ้อยทั้งสิ้น 6 ล้านไร่ ซึ่งถือว่ามีความเสียหายน้อยมาก ไม่ถึง 10% ของพื้นที่ปลูกอ้อยทั้งหมด และจะไม่กระทบต่อการเปิดหีบอ้อย และปริมาณอ้อยในฤดูกาลผลิตปี 2553/2554 อย่างแน่นอน
นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอกรัฐพัฒนา จำกัด ในฐานะนายกสมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลไทย กล่าวว่า จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดกรณีน้ำท่วมขังพื้นที่มันสำปะหลังและอ้อยทั่วประเทศว่าจะนานกว่าสัปดาห์หรือไม่ เพราะหากไม่ขังนานจะไม่มีผลต่อพืชดังกล่าว แต่หากขังนานจะกระทบทันทีและจะมีผลต่อวัตถุดิบในการผลิตเอทานอลได้ โดยขณะนี้ผลจากน้ำท่วมทำให้เกษตรกรเร่งขุดมันออกมาจำหน่ายก่อนครบอายุ ทำให้ราคาตกเหลือ 2.50-2.60 บาท จากเดิม 3.7-4 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนอ้อยยังไม่มีปัญหา แต่หากฝนตกและน้ำท่วม อาจทำให้การเปิดหีบล่าช้า และคงยังไม่กระทบถึงผลผลิตเอทานอล เพราะสต๊อกมีประมาณ 100 ล้านลิตร อยู่ได้ประมาณ 2 เดือน
นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า การใช้เอทานอลจะขยับขึ้นได้ในปีหน้า หลังจากที่รัฐบาลจะประกาศให้ไบโอดีเซลมีเกรดเดียว คือ บี 4 ขึ้นไป จะทำให้สถานีบริการมีหัวจ่ายเหลือในการเลือกขายอี 20 หรือ อี 85 นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการศึกษาเรื่อง conversion kit หากมีผลพิสูจน์เรื่องมลพิษชัดเจน ก็คาดว่าจะทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในการใช้ อี 85 เพิ่มขึ้น
จาก http://www.manager.co.th วันที่ 26 ตุลาคม 2553
ธปท.ระบุสถานการณ์ค่าเงินบาทมีทิศทางค่อนข้างนิ่งบ้างแล้ว
นางวงศ์วธู โพธิ์รัชต์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายตลาดการเงินและบริหารทุนสำรอง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่าขณะนี้ค่าเงินบาทมีทิศทางค่อนข้างนิ่ง โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเงินบาทเคลื่อนไหวไม่มากอยู่ที่ประมาณบวกลบ 10 สตางค์ และเคลื่อนไหวเป็น 2 ทางมากขึ้น คือ เริ่มมีทั้งแรงซื้อ และแรงขายเงินดอลลาร์มากขึ้น ทำให้ ธปท. คลายกังวลถึงสถานการณ์ค่าเงินบาทได้บ้าง อย่างไรก็ตาม ยังติดตามตรวจสอบอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา
นางวงศ์วธู กล่าวถึงกรณีหากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ออกมาตรการเชิงปริมาณรอบ 2 หรืออัดฉีดสภาพคล่องเพิ่มเติมเข้าสู่ระบบจำนวน 500,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่จะมีการประชุมวันที่ 2-3 พฤศจิกายนนี้ ว่า การส่งสัญญาณเพิ่มเติมมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณของเฟด ได้มีการบอกล่วงหน้ามาระยะหนึ่งแล้ว ทำให้ตลาดมีการตอบสนองไปบ้างแล้ว ดังนั้นผลกระทบจึงไม่แรงมากนัก และคาดว่าการดำเนินมาตรการดังกล่าวจะเป็นลักษณะทยอยทำไม่ได้ทำในครั้งเดียว ทำให้ไม่น่าจะมีอะไรเซอร์ไพร์สตลาด ซึ่งธนาคารกลางทั่วโลก รวมทั้ง ธปท. ได้ติดตามเรื่องนี้อยู่แล้ว
จำเป็นต้องมีมาตรการสกัดเงินทุนไหลเข้าเพิ่มเติมหรือไม่ยังต้องพิจารณาสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นผลของมาตรการที่ออกไปแล้ว ผลข้างเคียงจากมาตรการ และผลสัมฤทธิ์ที่จะเกิดขึ้นให้ชัดเจน เพราะถ้าออกมาตรการ มีทั้งผลบวกและลบ และถ้าออกมาตรการแรงเกินไปก็อาจจะสร้างผลกระทบข้างเคียงได้ ซึ่ง ธปท.ได้ศึกษาต่อเนื่องไว้หลายมาตรการเพื่อเตรียมพร้อมไว้อยู่แล้ว ซึ่งเป็นอย่างที่ธนาคารกลางในหลายประเทศ กำลังเตรียมกัน นางวงศ์วธู กล่าว
ส่วนข้อคำถามที่ว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ที่ ธปท.จะนำมาตรการกันสำรองร้อยละ 30 หรืออาจจะลดสัดส่วนกันสำรองลง เพื่อควบคุมเงินทุนไหลเข้า นางวงศ์วธู กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการที่มีความเสี่ยงมาก จึงมองว่าควรจะเป็นมาตรการสุดท้ายที่ ธปท.จะนำออกมาใช้ แม้ว่าจะเป็นยาแรงที่ได้ผลชะงัก แต่ ธปท.เคยทำมาแล้ว ซึ่งตลาดก็มองว่าเป็นมาตรการที่แรงเกินไปสำหรับบางคน.-สำนักข่าวไทย
จาก http://www.mcot.net วันที่ 26 ตุลาคม 2553
รอลุ้นหากน้ำไม่ท่วมขังจะไม่กระทบต่อการผลิตเอทานอล
ผู้ผลิตเอทานอลรอดูผลกระทบต่อการผลิตว่าน้ำจะท่วมขังส่งผลต่อมันสำปะหลังและอ้อยหรือไม่ พร้อมคาดราคาอ้างอิงเดือน พ.ย.ทำราคาสูงสุดเป็นประวัติการณ์ วอนรัฐเร่งกระทุ้งการใช้อย่างจริงจัง ในขณะที่ พพ.คาดปีหน้ายอดขยับหลังปั๊มมีหัวจ่ายเหลือ เพราะประกาศใช้ดีเซลเกรดเดียว
นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอกรัฐพัฒนา จำกัด ในฐานะนายกสมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลไทย เปิดเผยว่า ในขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินว่าสถานการณ์น้ำท่วมจะส่งผลกระทบต่อวัตถุดิบของเอทานอลหรือไม่ เพราะต้องรอดูว่าน้ำท่วมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางจะท่วมขังนานนับสัปดาห์หรือไม่ เพราะปกติแล้วหากไม่ท่วมขังจะไม่มีผลต่ออ้อย-มันสำปะหลัง อย่างไรก็ตาม ช่วงที่ก่อนเกิดน้ำท่วมได้มีชาวบ้านถอนมันสำปะหลังออกมาจำหน่ายก่อนอายุส่งผลให้ราคาหัวมันสำปะหลังสดช่วงนั้นลดลง เหลือ 2.50-2.60 บาท/กิโลกรัม จากก่อนหน้านี้ราคาสูงถึง 3.7-4 บาท/กิโลกรัม ส่วนอ้อยนั้น หากฝนยังตกต่อเนื่องเช่นนี้อาจมีผลทำให้การเปิดหีบล่าช้า เพราะรถตัดอ้อยไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้ แต่เนื่องจากสตอกของเอทานอลมีประมาณ 100 ล้านลิตร หรืออยู่ได้ประมาณ 2 เดือนจึงไม่น่ามีผลกระทบต่อการผลิตเอทานอล
นายสิริวุทธิ์ ยังประเมินด้วยว่า ราคาอ้างอิงเอทานอลที่จะประกาศในเดือนพฤศจิกายนนี้ จะเป็นราคาสูงสุดสูงกว่าราคาเดือนตุลาคมที่ 26.58 บาท/ลิตร เนื่องจากเป็นราคาอ้างอิงมันฯ 1 เดือนย้อนหลังและโมลาส เฉลี่ย 3 เดือนย้อนหลัง แต่ราคาซื้อขายจริงอยู่ที่ประมาณ 22-23 บาท/ลิตรเท่านั้นเพราะเป็นราคาที่ผู้ขายน้ำมันและผู้ผลิตเอทานอล ตกลงกันล่วงหน้า การที่ราคาต่ำเช่นนี้ เป็นเพราะภาครัฐไม่ได้ส่งเสริมการใช้อย่างจริงจัง น่าจะมีการขยายสถานีบริการอี 20 อี 85 มากขึ้น โดยควรจะส่งเสริมให้รถเก่า ใช้อี 85 ได้ โดยเฉพาะการติดตั้ง conversion kit เพราะจะรวดเร็วกว่าการรอขายรถใหม่เท่านั้น ซึ่งการใช้เอทานอล 2 ปีนี้ แทบจะไม่มีอัตราการเติบโตเลยอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านลิตร/วันเท่านั้น
นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน หรือ พพ. คาดว่าการใช้เอทานอลจะขยับขึ้นได้ในปีหน้า หลังจากที่รัฐบาลจะประกาศให้ไบโอดีเซลมีเกรดเดียว คือ บี 4 ขึ้นไป จะทำให้สถานีบริการมีหัวจ่ายเหลือในการเลือกขายอี 20 หรือ อี 85 นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการศึกษาเรื่อง conversion kit หากมีผลพิสูจน์เรื่องมลพิษชัดเจน ก็คาดว่าจะทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในการใช้ อี 85 เพิ่มขึ้น
ด้านบางจากฯ กระตุ้นยอดขายรถยนต์ E20 สำหรับสมาชิกแก๊สโซฮอล์คลับเติมน้ำมันได้ราคาเดิมในวันที่น้ำมันประกาศขึ้นราคาและรับส่วนลดเพิ่มเป็นลิตรละ 40 สตางค์ เมื่อเติม E20 รวมทั้งมอบส่วนลดร้อยละ 50 สำหรับลูกค้า 400 ท่านแรกที่เติม E20 ในวันที่ 26-29 ตุลาคม.-สำนักข่าวไทย
จาก http://www.mcot.net วันที่ 26 ตุลาคม 2553
SME Bank ลดหย่อนค่าธรรมเนียมรายปีโรงงานอุตสาหกรรม
นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้ประชุมร่วมกับอุตสาหกรรมจังหวัดทั้ง 75 จังหวัด ผ่านระบบสื่อสารทางไกล (เทเลคอนเฟอเรนซ์) เพื่อรายงานความเสียหายของประชาชนและผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมที่ประสบกับอุทกภัยในหลายจังหวัด ซึ่งในเบื้องต้นได้รับรายงานว่า มีโรงงานที่ต้องหยุดประกอบกิจการ และไม่สามารถที่จะนำพนักงานเข้ามาทำงานได้ อย่างไรก็ตาม หลังจากได้ข้อสรุปจากการประชุมครั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจะเตรียมหารือกับหน่วยงานและสถาบันเครือข่ายที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) เพื่อกำหนดแนวทางการช่วยเหลือให้แก่ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนและผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ที่ได้รับความเสียหายอย่างหนัก โดยความช่วยเหลือที่กระทรวงอุตสาหกรรมสามารถดำเนินการได้ทันทีคือ การผ่อนปรนในด้านต่างๆ อาทิ การลดหย่อนค่าธรรมเนียมรายปีให้กับโรงงานอุตสาหกรรม โดยจากการประเมินความเสียหายจากอุทกภัยมีทั้งหมด 4 ด้าน ได้แก่ สภาพน้ำท่วมในแต่ละพื้นที่ ความเสียหายต่อประชาชนในพื้นที่ จำนวนโรงงานอุตสาหกรรมที่หยุดดำเนินกิจการและจำนวนแรงงานและเจ้าหน้าที่ที่ได้รับผลกระทบ มูลค่าความเสียหายในเบื้องต้น 106 ล้านบาท ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมกว่า 300 ราย รวมทั้งพื้นที่การปลูกอ้อยที่เสียหายในเบื้องต้น 16,000 ไร่
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้การดำเนินการของศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัย มีผู้ให้ความสนใจเข้ามาร่วมมือจากหลายหน่วยงาน รวมทั้งภาคเอกชนที่ยินดีให้ความร่วมมือในการบริจาคเงิน เครื่องอุปโภคบริโภค และสิ่งของที่จำเป็นต่างๆ แล้วด้วย
จาก http://www.manager.co.th วันที่ 26 ตุลาคม 2553
พิษน้ำท่วมทำน้ำตาลหาย 10 ล้านกิโล
สอน.ชี้ ปี 53-54 น้ำตาลหาย 10 ล้านกิโล เหตุพื้นที่ปลูกอ้อยจมน้ำกว่าหมื่นไร่ หวั่นอีก 1.5 แสนไร่ จ่อเสียหาย สั่งกู้ด่วน
วันนี้ (26 ต.ค.) นายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและ น้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า ผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมอาจทำให้ผลผลิตน้ำตาลทรายในปีหน้า หรือฤดูกาลผลิต ปี 53/54 จะหายจากระบบไป 10 ล้าน กก. หรือผลผลิตอ้อยหายจากระบบ 1.09 แสนตัน เนื่องจากมีพื้นที่ปลูกอ้อยได้รับความเสียหายอย่างหนักประมาณกว่า 1 หมื่นไร่ แต่มั่นใจว่าจะไม่มีผลกระทบต่อปริมาณน้ำตาลทรายที่จัดสรรในปีหน้า ตามมติของคณะกรรมการน้ำตาลทราย (กน.) กำหนดน้ำตาลโควตา ก (บริโภคในประเทศ) ไว้ 25 ล้านกระสอบ เพราะพื้นที่ปลูกอ้อยทั่วประเทศมีมากถึง 6 ล้านไร่ มีผลผลิตอ้อย 65-70 ล้านตัน
สำหรับพื้นที่อ้อยที่ได้รับความเสียหายหนักส่วนใหญ่อยู่ในภาคอีสาน 5,000 ไร่ ภาคกลาง 2,400 ไร่ ภาคตะวันออก 2,200 ไร่ ภาคเหนือ 1,300 ไร่ ส่วนที่เหลืออีก 1.5 แสนไร่ อ้อยยังไม่ล้ม ผู้ที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างหาแนวทางป้องกันไม่ให้ได้รับความเสียหาย เพราะหากต้นอ้อยล้มจนจมน้ำ ก็จะเสี่ยงที่ต้นอ้อยตายได้ง่าย
หากน้ำท่วม และขังในไร่อ้อยเป็นเวลา 1 เดือน ต้นอ้อยก็คงต้องตายแน่นอน ดังนั้น หวังว่าฝนคงไม่ตกมาซ้ำเติม เพราะหากไม่สามารถช่วยเหลือได้หมด ก็จะยิ่งได้รับความเสียหายมากขึ้น เพราะค่าเฉลี่ยอ้อย 1 ไร่ จะให้ผลผลิต 10 ตัน ส่วนผู้ที่ได้รับความเสียนั้น สอน.จะเสนอให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย พิจารณาในการซื้อพันธุ์อ้อยมาแจกให้เกษตรกรฟรีในการเพาะปลูก ส่วนเรื่องความเสียหายจากน้ำท่วมจะมีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้รับผิดชอบ.
จาก http://dailynews.co.th วันที่ 26 ตุลาคม 2553
หนองสามหมื่น"แหล่งน้ำต้นทุนชาวไร่อ้อย
ถึงแม้ชุมชนบ้านลาด ต.บ้านแก้ง จะมีปัญหาเรื่องน้ำ แต่ก็ยังโชคดีที่มีแหล่งน้ำต้นทุนขนาดใหญ่อยู่ในพื้นที่มีชื่อว่า "บึงหนองสามหมื่น"
ครอบคลุมพื้นที่นับพันไร่ แต่ที่ผ่านมาคนในชุมชนซึ่งมีอาชีพหลักคือการทำไร่อ้อยกลับไม่สามารถนำน้ำจากบึงดังกล่าวมาใช้ประโยชน์ได้มากนัก เนื่องจากมีปัญหาในเรื่องระบบชลประทานการส่งน้ำ
แต่หลังจากมีการจัดตั้งกลุ่มชาวไร่อ้อยมิตรบ้านลาด ภายใต้การสนับสนุนจากโรงงานน้ำตาลภูเขียว ได้มีโครงการนำร่องพื้นที่ปลูกอ้อยต้นแบบในรูปของ "มิตรผลโมเดล" มีการติดตั้งสถานีสูบน้ำจากบึงหนองสามหมื่นแล้วส่งต่อไปตามท่อส่งน้ำ ก่อนกระจายไปสู่ไร่อ้อยของเกษตรกร ทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องน้ำในการปลูกอ้อยอีกต่อไป
โดยมีผู้ใหญ่นิคม ฝาดสุนทร ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 17 ต.บ้านแก้ง อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ หัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการผลักดันในฐานะประธานกลุ่มได้ร่วมกับสมาชิกสร้างท่อส่งน้ำเพิ่มเติมเป็นระยะทางกว่า 1.85 กิโลเมตร โดยมีหัววาล์วส่งน้ำ 18 หัว เพื่อต่อไปยังพื้นที่ปลูกอ้อยของสมาชิก ส่วนการบริหารจัดการสมาชิกในกลุ่มจะดูแลกันเอง
"สำหรับการสร้างท่อส่งน้ำเพื่มเติมต่อยอดจากเดิมที่มีอยู่แล้วเพื่อสูบน้ำจากหนองสามหมื่นไปยังพื้นที่ปลูกอ้อยของสมาชิกเป็นระยะทาง 1.85 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ปลูกอ้อยทั้งสิ้นกว่า 1,360 ไร่ จากจำนวนสมาชิกทั้งสิ้น 83 ราย ทำให้ทุกวันนี้กลุ่มชาวไร่อ้อยบ้านลาดไม่มีปัญหาเรื่องน้ำเหมือนในอดีตอีกแล้ว ที่สำคัญผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นทุกปี แค่มีน้ำอย่างเดียวอย่างอื่นก็แก้ไขได้หมด" ผู้ใหญ่นิคมกล่าวอย่างภูมิใจ
จาก http://www.komchadluek.net วันที่ 26 ตุลาคม 2553
ปรับโปรแกรมดินไทย พด.ขยายผลให้ครอบคลุมพืชเศรษฐกิจเพิ่ม/หลังนำร่อง13ชนิดได้ผลดี
นายธวัชชัย สำโรงวัฒนา อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า ตามที่กรมพัฒนาที่ดินได้ร่วมกับกรมวิชาการเกษตร กรมการข้าว และกรมส่งเสริมการเกษตร จัดทำโปรแกรมดินไทยและธาตุอาหารพืช เพื่อเป็นเครื่องมือใช้ในการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการให้คำแนะนำการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับการใช้ปุ๋ยเคมีอย่างมีประสิทธิภาพตามค่าวิเคราะห์ดิน เพื่อช่วยให้เกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์ที่ดินในการปลูกพืชได้อย่างเหมาะสม เป็นการลดรายจ่ายค่าปุ๋ยเคมีที่เกินความจำเป็น ที่ผ่านมากรมฯ ได้จัดทำโปรแกรมคำแนะนำการใช้ปุ๋ยสำหรับพืชเศรษฐกิจที่สำคัญรวม 13 ชนิด ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ถั่ว สับปะรด ลิ้นจี ลำไย ทุเรียน เงาะ และผัก
แต่ด้วยสภาพของทรัพยากรดิน และการใช้ประโยชน์ที่ดินมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา กรมพัฒนาที่ดินจึงมีแผนปรับปรุงโปรแกรมดินไทยและธาตุอาหารพืช โดยให้สอดคล้องกับแผนที่ดิน มาตราส่วน 1:25,000 และแผนที่ภาพถ่ายออร์โธสีของแต่ละจังหวัดที่จัดทำแผนที่เสร็จเรียบร้อยแล้ว พร้อมกันนี้จะพัฒนาปรับปรุงข้อมูลค่าวิเคราะห์ดินตามโครงการ 1 จุด 1 ตำบลทั่วประเทศ และทำการปรับปรุงคำแนะนำการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมีตามค่าวิเคราะห์ดินสำหรับพืชเพิ่มเติมจาก 13 ชนิดข้างต้น ทั้งนี้ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของเกษตรกรให้ครอบคลุมมากขึ้น
สำหรับโปรแกรมดินไทยฯ ได้ติดตั้งไว้ที่องค์การบริหารส่วนตำบลทั่วประเทศ และติดตั้งข้อมูลจากโปรแกรมดินไทยฯ ในรูปแผนที่และรายงานไว้ที่ศูนย์การเรียนรู้การพัฒนาที่ดินตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ประจำอำเภอ 800 ศูนย์ โรงปุ๋ยอินทรีย์-ชีวภาพชุมชน 500 แห่ง รวมทั้งบ้านหมอดินอาสาประจำตำบลของกรมพัฒนาที่ดินในพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งเกษตรกรที่สนใจสามารถติดต่อขอรับบริการได้อย่างทั่วถึง
จาก วันที่ 25 ตุลาคม 2553
ชัยวุฒิ สั่งอุตฯ จังหวัดถกรับมือน้ำท่วมกระทบรง.-ผลผลิตอ้อย
นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเชิญอุตสาหกรรมจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วมมาหารือประเมินความเสียหายทั้งในแง่ของโรงงานอุตสาหกรรมและประชาชนแต่ละพื้นที่วันที่ 26 ตุลาคมนี้ ทั้งนี้ เพื่อสรุปมาตรการที่จะต้องช่วยเหลือและเยียวยาโดยเฉพาะขณะนี้วิสาหกิจขนาดกลางและย่อม(เอสเอ็มอี) จำนวนหนึ่งต้องปิดกิจการชั่วคราว รวมถึงพื้นที่เพาะปลูกอ้อยที่อาจได้รับความเสียหายที่จำเป็นต้องประเมินตัวเลข เพราะอาจกระทบต่อกำลังการผลิตน้ำตาลทรายของประเทศที่จะมีการเปิดหีบอ้อยในกลางเดือน ธ.ค.นี้
อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นได้ลงพื้นที่ที่ประสบน้ำท่วมที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เนื่องจากเป็นที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก ซึ่งได้สั่งการให้ทุกฝ่ายเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อโรงงานและประชาชนทั้งในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียง หากมีพื้นที่ใดได้รับผลกระทบให้แจ้งมาได้ทันที ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัย สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม หรือ โทร.02 202 3036, 02 202 3005 และ สายด่วน 1563 เพื่อหาแนวทางช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน
จากการลงพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และนครสวรรค์ ยังไม่พบความเสียหายที่รุนแรงมากนัก แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีความกังวลในพื้นที่ปลูกอ้อยหลายแห่ง ในจังหวัดภาคอีสานและภาคเหนือ ซึ่งเป็นแหล่งปลูกอ้อยที่สำคัญของประเทศ อาจได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วมในครั้งนี้ อีกทั้งต้องติดตามสถานการณ์ปริมาณน้ำท่วมขังว่าจะยาวนานเพียงใด เพราะหากน้ำไม่ลดลงในเวลาที่รวดเร็ว อาจส่งผลให้อ้อยเกิดการเน่าเสีย และมีผลกระทบต่อปริมาณอ้อยที่เข้าสู่ระบบผลิตอุตสาหกรรมน้ำตาล ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศ ที่ป้อนเป็นวัตถุดิบในหลายอุตสาหกรรม นายชัยวุฒิ กล่าว.-สำนักข่าวไทย
จาก http://www.mcot.net วันที่ 24 ตุลาคม 2553
เล็งเลื่อนเปิดหีบอ้อยห่วงหวานน้อย
ชาวไร่ห่วงฝนตกนานถึงเดือนพ.ย. ส่งผลต่อความหวานของอ้อย อาจต้องเลื่อนเปิดหีบจากต้นธ.ค.ไปเป็นกลางเดือน มองปัญหาน้ำท่วมกระทบผลผลิตไม่มาก
นายอภิวัฒน์ บุญทวี ผู้อำนวยการด้านอ้อย บริษัท รวมเกษตรกรอุตสาหกรรม จำกัด กลุ่มมิตรผล เปิดเผยว่า หากเขื่อนในภาคอีสานไม่ปล่อยน้ำออกมามาก เชื่อว่าปัญหาน้ำท่วมจะไม่กระทบผลผลิตอ้อยปีนี้ เพราะอ้อยอยู่ในน้ำได้นาน 10-15 วัน แต่หากน้ำลดลงช้า หรือมีความชื้นมาก จะทำให้ความหวานอ้อยลดลง ซึ่งบริษัทคาดว่าจะเปิดหีบอ้อยปี 2553/2554 วันที่ 5-10 ธันวาคมนี้ จึงหวังว่าเมื่อน้ำลดลงแล้ว อากาศเย็นเข้ามาจะไม่กระทบค่าความหวาน
"แต่ถ้าเดือนพฤศจิกายนยังมีฝนหรือความชื้นในดินสูง จะมีผลต่อค่าความหวานอ้อย ซึ่งหากความหวานอ้อยไม่เต็มที่ ก็อาจเลื่อนเปิดหีบออกไป แต่ต้องพิจารณาร่วมกับความต้องการน้ำตาลตลาดในประเทศ และประเมินร่วมกับสถานการณ์น้ำตาลในตลาดโลกด้วย" นายอภิวัฒน์กล่าว
นายชัยวัฒน์ คำแก่นคูน นายกสมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า หากฝนยังตกไปถึงเดือนพฤศจิกายนก็อาจมีผลต่อการเปิดหีบอ้อยของโรงงานน้ำตาล ในช่วงต้นเดือนธันวาคมก็อาจต้องเสนอเลื่อนเปิดหีบออกไปเป็นกลางเดือนธันวาคมเพื่อให้อ้อยมีเวลาสะสมความหวาน
นายพงษ์เทพ จารุอำพรพรรณ รองเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) กล่าวว่า ปกติอ้อยในภาคอีสานมีค่าความหวานสูง โดยฤดูผลิตที่ผ่านมา มีค่าความหวาน 12 ซี.ซี.เอส. ซึ่งปริมาณฝนที่มีมากช่วงนี้อาจกระทบต่อความความหวาน เพราะอ้อยไม่มีเวลาสะสมน้ำตาล ซึ่ง กอน.ยังไม่กำหนดวันเปิดหีบอ้อย แต่คาดว่ากลางเดือนธันวาคมนี้ น่าจะเหมาะสมกับสถานการณ์
จาก http://www.komchadluek.net วันที่ 23 ตุลาคม 2553
พบพิรุธน้ำตาลค้างโกดังสูงผิดปกติ ปลัดกระทรวงอุตฯหวั่นตัวการดันราคาตลาดพุ่ง เรียก46รง.แจง
′วิฑูรย์′เรียก 46 โรงเคลียร์เหตุน้ำตาลค้างกระดานสูงผิดปกติ จาก 8 หมื่นกระสอบ เพิ่มพรวด 1.38 ล้านกระสอบ จ้องใช้กฎหมายเล่นงาน บ.น้ำตาลขอนแก่นแจงไม่ได้กักตุนดันราคาพุ่ง
นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการขายน้ำตาลทรายที่กองทุนอ้อยและน้ำตาล (กท.) ซื้อคืนจากโควต้า ค.ผลิตเพื่อส่งออก จำนวน 743,000 กระสอบ เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำตาลที่ค้างกระดานมีปริมาณมากผิดปกติ โดย ณ วันที่ 21 ตุลาคม 2553 มีถึงจำนวน 1.71 ล้านกระสอบ แบ่งเป็นยอดค้างกระดานของโรงงาน 1.38 ล้านกระสอบ ยอดค้างกระดานโควต้ากระทรวงพาณิชย์ 326,000 กระสอบ ซึ่งโดยปกติน้ำตาลที่ค้างกระดานของโรงงานควรอยู่ที่ประมาณ 80,000 กว่ากระสอบเท่านั้น จึงถือเป็นความผิดปกติที่กระทรวงจะต้องเร่งแก้ปัญหาโดยด่วน ดังนั้น สัปดาห์หน้าจะเชิญ 46 โรงงานน้ำตาลมาชี้แจงรายละเอียดปริมาณที่ค้างกระดาน และทำความเข้าใจในปริมาณค้างกระดานที่เหมาะสม หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้นก็จะดำเนินตามกรอบของกฎหมายต่อไป
นายวิฑูรย์กล่าวว่า ที่ประชุมยังได้พิจารณาการขายน้ำตาลงวดที่ 6 ที่จะกระจายภายในสัปดาห์หน้าประมาณ 50,000 กระสอบ โดย 5 สัปดาห์ที่ผ่านมากระจายน้ำตาลทรายไปแล้วจำนวน 282,000 กระสอบ เหลือน้ำตาลที่รอกระจายอีกราว 460,000 กระสอบ
"ผลจากการกระจายน้ำตาลที่ซื้อคืนของกองทุนฯออกสู่ตลาด ทำให้ราคาเฉลี่ยลดลง 1-2 บาทต่อกิโลกรัม แต่กระทรวงเชื่อว่าหากน้ำตาลค้างกระดานลดลงและออกสู่ตลาดมากขึ้นจะทำให้ราคาลดลงจนอยู่ในระดับราคาควบคุมของกระทรวงพาณิชย์" นายวิฑูรย์กล่าว และว่า สำหรับน้ำตาลปริมาณ 38,000 ตัน ที่สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทยส่งหนังสือแจ้งความต้องการนั้น ภายในสัปดาห์หน้ากระทรวงอุตสาหกรรมจะเชิญสมาคมหารือ เพื่อพิจารณาแนวทางร่วมกันในการจัดสรรน้ำตาล
นายชลัช ชินธรรมนิตร์ ผู้อำนวยการผู้จัดการใหญ่ สายงานพัฒนาธุรกิจและสายงานผลิตและเทคนิค บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) กล่าวยืนยันว่า ปริมาณน้ำตาลที่ค้างกระดานในปัจจุบันไม่มีความผิดปกติ ซึ่งได้ชี้แจงรายละเอียดกับกระทรวงอุตสาหกรรมไปหมดแล้ว โดยส่วนหนึ่งมาจากการดึงน้ำตาลของฤดูกาลผลิตปี 2552/2553 มาขึ้นงวดก่อน จำนวน 80,600 กระสอบ เพื่อกระจายสู่ตลาดแก้ปัญหาน้ำตาลตึงตัวในช่วงที่ผ่านมา "การเก็บน้ำตาลเพื่อฉวยจังหวะที่ราคาน้ำตาลสูงนั้น โรงงานคงไม่ทำ เนื่องจากฤดูกาลผลิตปี 2553/2554 มติของ กท.จัดสรรน้ำตาลทรายโควต้า ก.ไว้ถึง 25 ล้านกระสอบ คาดว่าจะเพียงพอกับความต้องการ ดังนั้นคงไม่มีโรงงานใดเก็บน้ำตาลไว้ขายในช่วงราคาถูก"
แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปริมาณน้ำตาลค้างกระดานที่สูงผิดปกติน่าจะมาจากการที่โรงงานขายน้ำตาลได้น้อยลง เพราะ กท.ได้นำน้ำตาลกว่า 700,000 กระสอบระบายสู่ตลาด ทำให้ผู้ค้าส่ง (ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว) ซื้อน้ำตาลจาก กท.แทน ซึ่งการเชิญโรงงานน้ำตาลมาหารือสัปดาห์หน้าเพื่อขอความร่วมมือโรงงานให้จำหน่ายในราคาควบคุมของกระทรวงพาณิชย์เช่นเดียวกับ กท. หากไม่สามารถตกลงกันได้ คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) อาจซื้อน้ำตาลของโรงงานเพื่อขายในราคาเดียวกับ กท. หรืออาจให้ฝ่ายกฎหมายของศูนย์บริหารการผลิตอ้อยและน้ำตาลทรายตรวจสอบอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายว่ามีอำนาจการลงโทษอย่างไรบ้าง
จาก http://www.matichon.co.th วันที่ 23 ตุลาคม 2553
รัฐไม่พอใจราคายังแพงอยู่ บี้โรงงานเทน้ำตาลสู่ตลาด
นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวหลังประชุมคณะกรรมการขายน้ำตาล เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ว่า ในสัปดาห์หน้าจะเรียกผู้ประกอบการโรงงาน 4 กลุ่ม ซึ่งจำหน่ายน้ำตาลครอบคลุมตลาดประมาณ 90% เข้าหารือ พร้อมเรียกร้องให้มีการปล่อยน้ำตาลที่ค้างกระดานออกสู่ตลาดมากขึ้น หลังจากที่กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย(กท.) ซื้อคืนน้ำตาลโควตา ค.(ผลิตเพื่อส่งออก) จำนวน 743,000 กระสอบ เพื่อแก้ปัญหาน้ำตาลตึงตัวแล้ว แต่โรงงานกลับไม่มีการปล่อยน้ำตาลออกมาสู่ระบบเลย
"ถ้าโรงงานน้ำตาลไม่ให้ความร่วมมือในเรื่องดังกล่าว ก็อาจมีการใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อดำเนินการต่อไป เพราะน้ำตาลที่ค้างกระดานบางส่วนเกิดจากการที่โรงงานยังไม่ส่งมอบตามสัญญาให้กับภาคอุตสาหกรรม และบางส่วนก็ไม่ได้มีสัญญาแต่อย่างใด" นายวิฑูรย์ กล่าว
ส่วนการกระจายน้ำตาลออกสู่ระบบปกติมีราว 80,000 กระสอบต่อสัปดาห์ ปัจจุบันมีน้ำตาลจากกองทุนฯเข้ามาเพิ่มอีก 50,000 กระสอบ รวมเป็น 130,000 กระสอบต่อสัปดาห์ จากปกติควรอยู่ที่ระดับ 100,000 กระสอบต่อสัปดาห์ ขณะที่ล่าสุด ณ วันที่ 21 ตุลาคม ที่ผ่านมา มีน้ำตาลค้างกระดาน 1,712,910 กระสอบ แบ่งเป็นของโรงงาน 1,386,351 กระสอบ กระทรวงพาณิชย์ 326,559 กระสอบ และเป็นของกองทุนฯ 460,967 กระสอบ ซึ่งในส่วนของกองทุนฯคาดว่าจะกระจายหมดภายในสิ้นปีนี้อย่างแน่นอน
"เมื่อมีน้ำตาลจากกองทุนฯเข้ามาช่วยแก้ปัญหาตึงตัว ทำให้ตอนนี้โรงงานไม่ปล่อยน้ำตาลตามปกติ ราคาขายปลีกน้ำตาลจึงไม่ลดลงเท่าที่ควร โดยเฉลี่ยตอนนี้ราคาลดลงมาราวกิโลกรัมละ 2 บาทเท่านั้น ทั้งที่ราคาขายควรจะเท่ากับราคาควบคุมของกระทรวงพาณิชย์ ทำให้ต้องเรียกโรงงานน้ำตาลมาหารือเป็นครั้งแรก จากที่ผ่านมาเราขอความร่วมมือผ่านสื่อเท่านั้น" นายวิฑูรย์ กล่าว
นอกจากนี้ จะหารือโรงงานเรื่องการปรับสัดส่วนการจัดสรรน้ำตาลให้ภาคอุตสาหกรรมด้วย หลังจากอุตสาหกรรมเครื่องดื่มยื่นขอน้ำตาลทรายเพิ่ม 38,000 ตัน เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลน แต่เบื้องต้นกระทรวงอุตสาหกรรมยังไม่อนุมัติจัดสรรให้
จาก http://www.naewna.com วันที่ 23 ตุลาคม 2553
ชาวไร่ขอเงินสมทบราคาขั้นต้นเพิ่ม/รับมือพิษค่าบาทแข็ง ค่าเงินบาทพ่นพิษกระทบอุตสาหกรรมอ้อย คาดราคาขั้นต้นหล่นวูบเหลือ 800-850 บาทต่อตัน เชื่อชาวไร่ขอเงินสมทบเพิ่ม เพราะต้นทุนการผลิตพุ่ง 900-950 บาทต่อตัน เวรซ้ำกรรมซัด พ่อค้าปุ๋ยอาศัยช่วงชุลมุนกั๊ก สินค้าทำตลาดป่วน
นายบัญชา คันธชมภู รองผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) เปิดเผย สยามธุรกิจ ว่าแม้ปัจจุบันความต้องการน้ำตาลทรายในตลาดโลกจะมีสูงและราคาจำหน่ายในปีที่ผ่านมาค่อนข้างดี แต่ปัญหาการแข็งค่าของค่าเงินบาทก็ทำให้ราคาอ้อยขั้นต้นปีการผลิต 2553/2554 ที่น่าจะประกาศประมาณปลายเดือนพฤศจิกายนหรือต้นเดือนธันวาคมต่ำกว่าที่คาดหมายไว้มาก โดยคาดว่าอาจจะได้เห็นราคาอ้อยขั้นต้นกลับลงไปอยู่ที่ 800-850 บาทต่อตันอีกครั้ง
ที่ผ่านมาราคาอ้อยขั้นต้นปีการผลิต 2552/2553 อยู่ที่ 960 บาทต่อตัน ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่เกษตรกรพอใจและรับได้ แต่ถ้าค่าเงินบาททำให้ราคาตกลงไปอยู่ที่ 800-850 บาทต่อตัน เชื่อว่าเกษตรกรคงรับไม่ได้แน่นอน เพราะที่ผ่านมาเกษตรกรบอกว่าต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 900-950 บาทต่อตัน เพราะฉะนั้น กองทุนอ้อยอาจต้องหาเงินมาสมทบส่วนที่ขาด โดยขอกู้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ หรือธ.ก.ส.
การหาเงินกู้ไม่ใช่ปัญหา ถ้ารัฐบาลสั่งการมาก็ดำเนินการได้ทันที ซึ่งก็ต้องดูว่าเมื่อถึงวันประกาศราคาอ้อยขั้นต้นค่าเงินบาทจะอยู่ที่เท่าไหร่
นายบัญชายังกล่าวอีกว่า ปัจจุบันประเทศไทยผลิตอ้อยปีละ 65-70 ล้านตัน ถ้าราคาอ้อยขั้นต้นอยู่ที่ 800-850 บาทก็จะต้องจ่ายเพิ่มเติมให้ชาวไร่อ้อยตามราคาต้นทุนอีกตันละ 100-150 บาท คาดว่าจะใช้เงิน 7-8 พันล้านบาท
ด้านนายประกิต ประทีปะเสน ประธาน คณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงาน น้ำตาลทราย เปิดเผยว่า จากกรณีที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนลง จนทำให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐลดลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 30 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐในขณะนี้ ทำให้ 3 สมาคมน้ำตาลมีความเป็นห่วงว่าจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของชาวไร่อ้อย เนื่องจากสัดส่วนรายได้จากการจำหน่ายน้ำตาล 70% เป็นของชาวไร่อ้อย และน้ำตาลที่ผลิตได้ในประเทศจะส่งออกไปขายต่างประเทศประมาณ 2 ใน 3 ของทั้งหมด โดยจะตีราคาเป็นสกุลดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้น ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ จะทำให้รายได้จากการส่งออกลดลง ซึ่งค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นทุกๆ 1 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จะส่งผลให้ราคารับซื้ออ้อยลดลงประมาณ 23 บาทต่อตัน
ในเบื้องต้นคาดว่าราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2553/2554 จะอยู่ที่ 977.56 บาทต่อตัน แต่หากเงินบาทแข็งค่ามาอยู่ที่ 29.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ราคาอ้อยขั้นต้นจะลดลงเหลือ 954.01 บาทต่อตัน และหากเงินบาทแข็งค่ามาที่ระดับ 29 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ราคาอ้อยขั้นต้นจะลดลงเหลือ 942.24 บาทต่อตัน ซึ่งเมื่อเทียบกับราคาอ้อยขั้นต้นของฤดูการผลิตปี 2552/2553 ที่ 965 บาทต่อตัน จะทำให้ชาวไร่อ้อยมีรายได้ลดลงเกือบ 23 บาทต่อตัน และยิ่งหากนำไปเปรียบเทียบกับราคาอ้อยขั้นสุดท้ายของฤดูการผลิตปี 2552/2553 ซึ่งเฉลี่ยทั่วประเทศจะสูงถึง 1,102 บาทต่อตัน ก็จะเห็นว่าต่ำกว่ากันถึงประมาณ 160 บาทต่อตัน
ขณะที่นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้เกษตรกรกำลังประสบปัญหาปุ๋ยเคมีขาดตลาดและมีการจำหน่ายราคาสูงกว่าราคาแนะนำที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด จึงได้สั่งการให้กรมการค้าภายในดำเนินการตรวจสอบ และเรียกผู้ประกอบการปุ๋ยเคมีมาหารือเพื่อรับทราบข้อเท็จจริง
ในกรณีที่เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนจากการหาซื้อปุ๋ยเคมีไม่ได้หรือซื้อแพงกว่าราคาแนะนำสามารถแจ้งความเดือดร้อน ได้ที่ สายด่วน กรมการค้าภายใน 1569 หรือ สำนักงานการค้าภายในจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อให้เจ้าหน้าที่กรมการค้าภายในออกไปตรวจสอบหาทางแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ดังกล่าว กรณีผู้ประกอบการจำหน่ายปุ๋ยเคมีเกินราคาแนะนำ หรือกักตุนปฏิเสธการจำหน่ายจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รมว.กระทรวงพาณิชย์ กล่าว
จาก http://www.siamturakij.com วันที่ 23 ตุลาคม 2553
อุตฯ เตรียมเรียกโรงงานขอความร่วมมือปล่อยน้ำตาล หลังปริมาณค้างกระดานสูง คาดจะทำให้ราคาน้ำตาลในตลาดบางพื้นที่ลดลงมาอยู่ในภาวะปกติได้
นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ภายในสัปดาห์หน้ากระทรวงอุตสาหกรรมจะเชิญผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลเข้ามาหารือ เพื่อขอความร่วมมือให้โรงงานปล่อยน้ำตาลส่วนเกินที่ยังไม่มีการทำสัญญาออกมาจำหน่าย เนื่องจากขณะนี้มีปริมาณน้ำตาลทรายเหลือค้างกระดานอยู่กว่า 1.71 ล้านกระสอบ หากปล่อยน้ำตาลออกมาในปริมาณที่มากกว่าปัจจุบันจะช่วยให้ราคาน้ำตาลที่จำหน่ายภายในประเทศลดลงมาอยู่ในระดับราคาควบคุมของกระทรวงพาณิชย์ได้ โดยในตอนนี้ราคาเฉลี่ยลดลงมาประมาณ 2 บาทต่อกิโลกรัมแล้ว บางพื้นที่ราคาเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ แต่บางพื้นที่ราคายังอยู่ในระดับสูง
ทั้งนี้ หากโรงงานน้ำตาลปล่อยน้ำตาลออกมาเหมือนภาวะปกติ เมื่อรวมกับน้ำตาลโควตาของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ที่ซื้อคืนกลับมาและกระจายเพิ่มอยู่ 5 หมื่นกระสอบต่อสัปดาห์แล้ว น่าจะทำให้ราคาน้ำตาลทรายลดลงได้มากกว่านี้
นอกจากนี้ จะมีการพิจารณาว่าจะจัดสรรน้ำตาลให้แก่โรงงานอุตสาหกรรมเครื่องดื่มตามที่ขอใช้น้ำตาลเพิ่มจำนวน 3.8 หมื่นกระสอบ เพราะตอนนี้มีน้ำตาลเหลือค้างกระดานเยอะ
โรงงานน้ำตาลอ้างว่าการที่ไม่กระจายน้ำตาลออกมา เนื่องจากกระจายออกมาแล้วไม่มีคนซื้อ โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่ปริมาณการจำหน่ายน้ำตาลน้อยลง จึงจะเรียกมาขอความร่วมมือให้ปล่อยน้ำตาลออกมา เพื่อจะช่วยดึงราคาน้ำตาลในบางพื้นที่ที่ยังสูงอยู่ให้ลดลงมา นายวิฑูรย์ กล่าว
สำหรับปริมาณน้ำตาลค้างกระดาน ณ วันที่ 21 ต.ค. 2553 มีน้ำตาลค้างกระดานทั้งสิ้น 1.71 ล้านกระสอบ แบ่งเป็นส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรม 1.38 ล้านกระสอบ และของกระทรวงพาณิชย์ 3.26 แสนกระสอบ โดยในส่วนของกระทรวงพาณิชย์หากขายไม่หมดจะเอาคืนกลับมา แต่คาดว่าเหลือเวลาอีกประมาณ 2 เดือน น่าจะกระจายออกได้หมด
ส่วนน้ำตาลของกองทุนฯ ที่ซื้อคืนมาจำนวน 7.43 แสนกระสอบ ในสัปดาห์หน้าจะเป็นการกระจายในงวดที่ 6 จำนวน 5 หมื่นกระสอบ รวมกระจายออกไปได้แล้วประมาณ 4 แสนกระสอบ และคาดว่าจะกระจายออกหมดได้ภายในสิ้นปีนี้
นายพงษ์เทพ จารุอำพรพรรณ รองเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวว่า ปัญหาน้ำท่วมไม่น่าจะมีผลกระทบต่อไร่อ้อย และปริมาณอ้อย โดยในฤดูกาลผลิตปี 2553/2554 มีการประเมินปริมาณอ้อยไว้ที่65 ล้านตัน แต่เมื่อมีฝนมาดีปริมาณอ้อยน่าจะอยู่ที่ 67-68 ล้านตันได้ แต่อาจกระทบต่อคุณภาพอ้อยบ้าง ทำให้ค่าความหวานอ้อยลดลง เพราะอ้อยจะอุ้มน้ำมากขึ้น ส่วนการเปิดหีบอ้อยในปีหน้าน่าจะอยู่ในช่วงกลางเดือนธ.ค.นี้ โดยได้จัดสรรน้ำตาลโควตา ก (น้ำตาลเพื่อการบริโภคในประเทศ) ไว้ที่ 25 ล้านกระสอบ
จาก http://www.posttoday.com วันที่ 22 ตุลาคม 2553
ประสาร"ลั่นยืดหยุ่นบาทไม่ฝืนตลาด
แบงก์ชาติไม่กลับไปใช้อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ ประสาร ลั่นจำเป็นต้องใช้นโยบายค่าเงินยืดหยุ่น เพื่อไม่ให้ฝืนกระแสหลักตลาดโลก เผยค่าเงินบาทเริ่มเคลื่อนไหว 2 ทิศทางแล้ว พร้อมให้ความสำคัญอัตราเงินเฟ้อ ดูแลไม่ให้มากเกิน
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีทั้งแข็งค่าขึ้นและอ่อนค่าลงในลักษณะ 2 ทิศมากขึ้น จากก่อนหน้านี้ที่ไปในทิศทางแข็งค่าขึ้นอย่างเดียว โดยขณะนี้ธปท.ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและพยายามลดความผันผวนในระยะสั้น เพื่อให้ภาคธุรกิจปรับตัวได้ ขณะที่ระยะยาวก็มีการศึกษามาตรการดูแลค่าเงินและเงินทุนไหลเข้าเพิ่มเติมไว้บ้าง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบทั้งเงื่อนไขในการนำมาใช้ ประสิทธิผล รวมถึงผลข้างเคียงของแต่ละมาตรการที่ประเทศต่างๆ ได้นำมาทดลองใช้
ในแง่ของผู้วางแผนเป็นหน้าที่ต้องเตรียมการไว้ เพื่อนำมาใช้ได้ทันเวลา ส่วนประเด็นการชี้แจงและการส่งสัญญาณมองว่าต้องดูเวลาที่เหมาะสมและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงประกอบด้วย
ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายการเงินในขณะนี้ ธปท.ยังต้องวางน้ำหนักสำคัญไปที่อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งเครื่องมือหนึ่งในการดูแลเงินเฟ้อได้ดี ขณะเดียวกันการเคลื่อนย้ายเงินทุนมีผลสำคัญต่อการลงทุนของประเทศเช่นกัน จึงต้องมีการใช้อัตราแลกเปลี่ยนยืดหยุ่นที่มีการจัดการ แต่หากหันไปใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่ยึดติดเกินไปหรือแบบคงที่ ทำให้นโยบายการเงินอาจขาดความยืดหยุ่นได้ จึงต้องดูแลให้ทุกอย่างเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจไทย
ยุคโลกาภิวัฒน์ การเชื่อมโยงระบบเศรษฐกิจของต่างประเทศต่างๆ มีมากกว่าในอดีต ส่วนหนึ่งเกิดความผันผวนต่อภาวะตลาด โดยบางส่วนเราสามารถฝืนกระแสเหล่านี้ได้ แต่หากฝืนกระแสหลักมากเกินไปก็อาจสร้างความเสียหายต่อประเทศมากกว่า ฉะนั้นธปท.พยายามบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น และต้องคอยดูแลไม่ให้อัตราเงินเฟ้อมีมากจนเกินไป
ซึ่งอาจกระทบต่อความยั่งยืนของเศรษฐกิจไทยได้ นอกจากนี้จากการสำรวจของธปท. พบว่า ผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่ปรับตัวได้ดี แต่เป็นที่น่าสังเกต คือ ผู้ประกอบการที่มียอดขายแต่ละปีต่ำกว่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐจะไม่นิยมใช้เครื่องมือบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน ทำให้ได้รับผลกระทบ จึงมองว่าช่องทางนี้มีโอกาสที่จะแก้ไขปรับปรุงได้อีก ซึ่งที่ผ่านมาสายตลาดการเงินก็ให้ความรู้ผู้ประกอบการเสมอมา
ต่อข้อซักถามที่ว่าแม้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ได้ประกาศชะลอขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งล่าสุด จึงมีโอกาสที่การประชุมครั้งถัดไปวันที่ 1 ธ.ค.นี้ ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายของปีนี้จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยสูงกว่า 0.25% หรือไม่ ผู้ว่าการธปท.กล่าวว่า เหตุผลสำคัญที่คงอัตราดอกเบี้ยไว้เมื่อวันที่ 20 ต.ค.ที่ผ่านมา คือ เกิดความไม่แน่นอนในภาวะเศรษฐกิจโลกค่อนข้างสูง
การดำเนินนโยบายต้องพิจารณาให้รอบคอบ และยอมรับว่าขณะนี้เศรษฐกิจระหว่างประเทศค่อนข้างผันผวนสูง จึงต้องใช้เวลาในการติดตามสถานการณ์ให้มากขึ้นก่อนตัดสินใจ ซึ่งกว่าจะประชุม กนง.ต่อไปยังมีเวลาอีก 45 วัน
สำหรับกรณีที่ธนาคารกลางจีนประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้นมองว่าทั้งจีนและไทยมีการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยที่อิสระและต้องดูแลให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจประเทศนั้นๆ โดยจีนมีเศรษฐกิจที่ร้อนแรงมาก จึงเสี่ยงต่ออัตราเงินเฟ้อเร่งตัวสูง และเกิดฟองสบู่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ค่อนข้างมาก ถือว่ามีแรงกดดันมากกว่าไทย ขณะที่ไทยมีแรงกดดันอัตราเงินเฟ้อไม่สูง จึงดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยอีกระดับหนึ่ง และนักวิเคราะห์ต่างๆ มองว่าการขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้อาจมีผลให้เงินทุนไหลเข้าจีนค่อนข้างมาก แต่ทางการจีนก็มีมาตรการควบคุมเงินทุนเข้มงวดกว่าไทย
อย่างไรก็ตาม การพิจารณากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อประจำปี 54 ขณะนี้เจ้าหน้าที่ของ ธปท.อยู่ระหว่างหารือกันอยู่ ซึ่งคาดว่าในปลายเดือน ต.ค.นี้หรือต้นเดือน พ.ย. จะนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังต่อไป
"ธปท.กำลังติดตามผลเสียหายจากปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ซึ่งก็เร็วเกินไปที่จะประเมินผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจไทย แต่คาดว่าจะกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้ชะงักบ้าง ส่วนจะมากหรือน้อยแค่ไหนต้องติดตามว่าผลเหล่านี้จะกระทบการอุปโภคบริโภค การลงทุน การส่งออก ซึ่งขณะนี้ยังไปได้ดีและอย่างต่อเนื่องแค่ไหน" นายประสาร กล่าวเพิ่มเติม
ด้านค่าเงินบาทวานนี้ (21 ต.ค.) ปิดตลาดที่ระดับ 29.84/86 บาท/ดอลลาร์ ใกล้เคียงกับช่วงเช้าที่เปิดตลาดที่ระดับ 29.84/88 บาท/ดอลลาร์ โดยการเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบๆ.
จาก http://www.manager.co.th วันที่ 22 ตุลาคม 2553
โควตาพิเศษน้ำตาลล้านกระสอบ ยังเหลือบานเบอะ ผ่านมาแล้ว6เดือน "พาณิชย์"ยังระบายไม่หมด วงในไล่บี้ใต้โต๊ะ ตั้งข้อสังเกตซื้อน้ำตาลทำไมต้องมี2บัญชีโอนเข้าโรงานน้ำตาลและโอนเข้าบัญชีบุคคลภายนอก อ้างมีขาใหญ่จังหวัดอุดรธานี รับหน้าเป็นร่างทรงให้นักการเมือง "พาณิชย์"ยันจะรีบระบายน้ำตาลโควตาพาณิชย์ให้หมดในฤดูการผลิตปีนี้ ด้านก.อุตฯ แจงมีน้ำตาลส่งออกไปเพื่อนมากขึ้น โดยเฉพาะกัมพูชา เล่นบทพ่อค้าคนกลาง ส่งต่อไปเวียดนาม กินส่วนต่างอีกทอด
สืบเนื่องจาก"ฐานเศรษฐกิจ"นำเสนอข่าว"น้ำตาลพาณิชย์โฉ่จ้องงาบ 3บาท/กก."ตีพิมพ์ลงในฉบับ 2,526 ระหว่างวันที่ 29 เม.ย.-1พ.ค. 2553 เพื่อรายงานสถานการณ์น้ำตาลโควตา ก.พิเศษที่กระทรวงพาณิชย์รับไปบริหารจัดการเองจำนวน 806,000 กระสอบจนถึงขณะนี้ยังป่วนไม่เลิก เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์รับไปบริหารจัดการผ่านไปแล้วกว่า 6 เดือน แต่การกระจายน้ำตาลออกสู่ผู้บริโภคยังไปไม่ถึงไหน อีกทั้งยังตั้งข้อสังเกตถึงสาเหตุที่น้ำตาลโควตาพิเศษของพาณิชย์ล็อตนี้ ที่ยังระบายออกสู่ตลาดไม่หมด เหลือบานเบอะอยู่อีกประมาณ 300,000 กระสอบ
ล่าสุดแหล่งข่าวจากวงการน้ำตาลกล่าวว่ากับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ขณะนี้เวลาที่มีการซื้อน้ำตาลจากกระทรวงพาณิชย์ต้องมีการโอน 2 บัญชีโดยบัญชีหนึ่งจะโอนเข้าโรงงานน้ำตาลตามราคาควบคุม ที่ราคาน้ำตาลทรายขาว 20.33 บาท/กิโลกรัม และอีกบัญชีเป็นราคาส่วนเกินที่เหลือที่โอนเข้าบัญชีบุคคลภายนอก เนื่องจากราคาขายน้ำตาลทรายขาวบวกราคาส่วนเกินแล้วจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 23.33 บาท เท่ากับว่าจะมีส่วนต่างอยู่กิโลกรัมละ 3 บาท ที่จนถึงขณะนี้ก็ยังขบวนการกินใต้โต๊ะกันอยู่
ทั้งนี้ขบวนการโอนเงินค่าน้ำตาลเข้าบัญชีบุคคลภายนอกนี้ โดยมีการกล่าวหาว่า มีขาใหญ่รายหนึ่งในจังหวัดอุดรธานี เป็นร่างทรงให้นักการเมืองที่แอบกินส่วนต่างราคาน้ำตาลโควตา ก.พิเศษที่กระทรวงพาณิชย์รับไปบริหารเองอยู่ในขณะนี้
"เวลานี้การค้าขายน้ำตาล หากมีส่วนต่างจากราคาน้ำตาลสูง ถือว่าได้ประโยชน์ไปเต็มๆยกตัวอย่างเช่น รถพ่วง 1 คัน ขนน้ำตาลได้จำนวน 600 กระสอบ (กระสอบละ50 กิโลกรัม) เมื่อกินส่วนต่างกิโลกรัมละ3 บาท เท่ากับว่าจะมีเงินเข้าบัญชีบุคคลภายนอกซึ่งเป็นนักการเมืองสูงถึง90,000 บาท/คัน"
นอกจากนี้แหล่งข่าวยังระบุว่า ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ยังคงจำหน่ายน้ำตาลโควตา ก.พิเศษที่รับไปบริหารเองระบายออกสู่ตลาดไม่หมด ขณะที่น้ำตาลโควตา ก.ที่กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย(กท.)ซื้อโควตา ค. กลับมารองรับการบริโภคน้ำตาลในประเทศที่ประมูลมาจากเทรดเดอร์ 3 รายจำนวน 749,000 กระสอบ ที่ในสัปดาห์แรกที่ขายโดยออกตั๋วไปแล้วสัปดาห์ละ50,000 กระสอบ และขณะนี้มีผู้แสดงความจำนงเข้ามาขอซื้อน้ำตาลแล้วเป็นร้อยรายทั่วประเทศ จนล่าสุดอยู่ระหว่างการพิจารณาจำหน่ายน้ำตาลโควตาดังกล่าวเป็นสัปดาห์ที่ 5 แล้วอีกจำนวนไม่เกิน60,000 กระสอบ เท่ากับว่าขณะนี้น้ำตาลดังกล่าวได้มีการปล่อยออกสู่ตลาดไปแล้วเป็นเวลา 4 สัปดาห์ จำนวนประมาณ 200,000 กว่ากระสอบแล้ว
"เวลานี้การบริโภคน้ำตาลในประเทศกลับมาสู่ภาวะปกติแล้ว หลังจากที่กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายค่อยๆระบายน้ำตาลดังกล่าวออกมาโดยบริหารสัดส่วนให้พอดีกับตลาดในปริมาณ 50,000-60,000 กระสอบ/สัปดาห์ ซึ่งการระบายน้ำตาลของกท. อาจจะมีอุปสรรคอยู่บ้าง หลังจากที่มีการรายงานจากบางพื้นที่ว่ากระทรวงพาณิชย์ไปขู่ยี่ปั๊วว่าถ้าใครให้การสนับสนุนจำหน่ายน้ำตาลโควตากองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายจะตรวจสอบอย่างเข้มงวดทำให้บรรดาพ่อค้ากลัวระบบการตรวจสอบ"
จากกรณีดังกล่าวทำให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายต้องปรับแผนบริหารน้ำตาลโควตากองทุนใหม่จากเดิมที่ให้มียี่ปั๊ว 16 ราย มาซื้อน้ำตาลโควตาดังกล่าวได้ก็มาเปิดขายให้ยี่ปั๊วทั่วไปอย่างเสรี โดยให้มีการแจ้งปริมาณการซื้อพร้อมหลักฐานการขายว่าเป็นผู้ค้าน้ำตาลมาแล้วไม่ต่ำกว่า3 ปีโดยให้ทางเทศบาล ,พาณิชย์จังหวัด,อุตสาหกรรมจังหวัดเป็นผู้รับรองเข้ามาซื้อโควตาก.ของกองทุนได้ ทำให้น้ำตาลกระจายไปสู่กลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ค้ารายย่อยได้อย่างทั่วถึง
นายมนัส สร้อยพลอย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงสาเหตุที่ยังระบายน้ำตาลโควตาพาณิชย์ออกมาไม่หมดว่ามีอยู่ 4 สาเหตุหลักคือ 1.ตลาดน้ำตาลทรายเริ่มกลับมาสู่ภาวะปกติแล้ว 2.ผู้ที่ได้รับการจัดสรรน้ำตาลโควตาพาณิชย์ยังไม่มาเอาน้ำตาลและขอชะลอไว้ก่อน 3.ความต้องการน้ำตาลทรายขาวธรรมดามีมากแต่โรงงานน้ำตาลมีน้ำตาลรีไฟน์ที่ขณะนี้คุมโดยโมเดิร์นเทรดอยู่ที่ราคา 23.50 บาท/กิโลกรัม 4.น้ำตาลโควตา ก. ที่กองทุนอ้อยและน้ำตาลจัดสรรเข้ามาเริ่มออกมาสมทบแล้ว ทำให้ต้องเก็บน้ำตาลโควตาพาณิชย์ไว้ดัมพ์ตลาดประมาณ 500,000 กระสอบภายในปีนี้ และยืนยันว่าจะระบายออกมาให้หมดภายในฤดูผลิตอ้อยและน้ำตาลปีนี้ (ปี 2552/2553) ซึ่งเวลานี้มีน้ำตาลโควตาพาณิชย์ที่ขึ้นกระดานแล้ว 806,000 กระสอบ และยังไม่ได้ขึ้นกระดานอีก 190,000 กระสอบ
ส่วนกรณีที่มีข่าวออกมาว่ามีใต้โต๊ะเกิดขึ้นนั้น เรื่องนี้ไม่รู้ ถ้ามีเกิดขึ้นกับตัวผม ผมก็ต้องโดนสอบสวน เพราะต้องมีหลักฐานการโอนเงิน และอย่าลืมว่าน้ำตาลโควตาพาณิชย์เป็นโควตาของกระทรวงพาณิชย์ก็จริงแต่ตัวน้ำตาลเป็นของโรงงานน้ำตาล และถ้าถามว่าในระบบน้ำตาลโควตาทั่วไปมีการกินใต้โต๊ะกันหรือไม่ มีแน่นอน เพียงแต่ที่ผ่านมาดำเนินคดีไม่ได้เพราะมีการแยกส่วนขาย
ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวถึงสถานการณ์น้ำตาลทรายที่ส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่ถูกต้องตามระบบว่า ขณะนี้มีปริมาณน้ำตาลที่ส่งออกไปตั้งแต่เดือนมกราคมถึงปัจจุบันมีการส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้านแล้วประมาณ 2.6 ล้านกระสอบซึ่งสูงกว่าปีก่อน ในจำนวนนี้มีการส่งออกไปยังประเทศกัมพูชามากที่สุดโดยมีสัดส่วนสูงถึง 2.3 ล้านกระสอบ ไปยังสปป.ลาวจำนวน 260,000 กระสอบ และส่งออกไปพม่าจำนวน 75,000 กระสอบ
สำหรับการส่งออกไปยังประเทศกัมพูชานั้นจะทำให้ราคาน้ำตาลทรายขาว ขายได้ในราคาดีขึ้นกว่าเดิม โดยซื้อในราคาใกล้เคียงกับราคาตลาดโลกที่ประมาณ 800 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน(รวมพรีเมียมแล้ว) เนื่องจากกัมพูชาต้องการน้ำตาลทรายขาวจำนวนมาก เพราะซื้อน้ำตาลเพื่อขายต่อไปยังประเทศเวียดนามที่ขณะนี้มีความต้องการบริโภคน้ำตาลที่สูงขึ้นเพราะมีประชากรมากถึง 80 ล้านคน ขณะที่ในประเทศเวียดนามมีน้ำตาลในประเทศรองรับไม่เพียงพอจึงต้องนำเข้า โดยกัมพูชาซื้อไปขายในราคาที่สูงกว่าที่ซื้อจากประเทศไทยเสมือนเป็นพ่อค้าคนกลาง
จาก http://www.thannews.th.com วันที่ 20 ตุลาคม 2553
กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายยังไม่เร่งชำระหนี้ให้กับ ธ.ก.ส. รอทบทวนปีหน้า
แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม ระบุว่า ในการประชุมเพื่อพิจารณาสถานะกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายล่าสุด ที่มีนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานได้พิจารณาเรื่องการเร่งชำระหนี้ให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ให้เร็วขึ้น จากเดิมจะชำระสิ้นสุดในเดือนธันวาคมปีหน้าก็จะเร่งให้เร็วยิ่งขึ้น เพราะมีเงินที่เก็บเข้ากองทุนฯ เพิ่มขึ้นมากนับตั้งแต่ขึ้นราคาน้ำตาลทราย 5 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งหากจะเร่งชำระหนี้ให้หมดก็สามารถดำเนินการได้ แต่ทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า จากการศึกษาพบว่า การเร่งชำระหนี้ทั้งหมดแก่ ธ.ก.ส. จะทำได้อย่างเร็วที่สุดคือ เดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมยังไม่ต้องการให้กองทุนฯ เร่งชำระหนี้ให้เร็วขึ้น จึงขอให้ทบทวนเรื่องนี้อีกครั้งในปีหน้า เนื่องจากกองทุนฯ ยังมีสถานะติดลบ แม้จะมีสภาพคล่องในมืออยู่บ้างแต่ก็ไม่มากนักมีเพียงหลักพันล้านบาทเท่านั้น ในขณะที่กองทุนฯ ยังจำเป็นต้องมีเงินในปริมาณที่มากเพียงพอที่จะให้ทำหน้าที่ดูแลระบบอ้อยและน้ำตาลของประเทศในภาพรวมได้ด้วย โดยเฉพาะกรณีที่ราคาอ้อยตกต่ำย่อมจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือ ซึ่งสถานะเงินที่กองทุนฯ จำเป็นต้องมีเงินอยู่ในมือควรจะอยู่ที่ประมาณ 30,000 ล้านบาท
สำหรับสถานะหนี้สินของกองทุนฯ แบ่งเป็นหนี้ที่กู้จาก ธ.ก.ส. วงเงิน 24,000 ล้านบาท เหลือประมาณกว่า 5,000 ล้านบาท และยังมีหนี้จากการกู้มาจ่ายชดเชยส่วนต่างราคาอ้อยอีก 5,000 ล้านบาท ตามแผนจะชำระหนี้ดังกล่าวหมดในปี 2563 ซึ่ง ครม. กำหนดให้เบิกจ่ายจากงบประมาณปีละ 450 ล้านบาท แต่รัฐจ่ายให้แค่เพียง 200 ล้านบาท ที่เหลือทำให้กองทุนฯ เป็นผู้จ่าย. สำนักข่าวไทย
จาก http://www.mcot.net วันที่ 20 ตุลาคม 2553
พาณิชย์ชงโควตาน้ำตาลปี 54 ท่วมท้น
กำหนดปริมาณน้ำตาลเพื่อการบริโภคภายในประเทศ ปี54 สูงสุดเป็นประวัติการณ์
ผู้สื่อข่าวรายงานจากคณะกรรมการน้ำตาลทราย (กน.) ที่มีนายมนัส สร้อยพลอย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เป็นประธาน ว่า ที่ประชุม กน. ได้กำหนดปริมาณน้ำตาลเพื่อการบริโภคภายในประเทศ (โควตา ก.) ฤดูการผลิตปี 2553/54 ที่ระดับ 25 ล้านกระสอบ ถือเป็นปริมาณน้ำตาลบริโภคในประเทศสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยประเมินว่าจะมีอ้อยเข้าหีบฤดูการผลิตนี้เฉลี่ย 68 ล้านตัน เนื่องจากปริมาณฝนที่ตกลงมามาก ประกอบกับมีพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มจากปีที่ผ่านมาอีก 700,000 ไร่ ทั้งนี้ สาเหตุที่มีการกำหนดโควตา ก.สูงสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจาก กน.ไม่ต้องการให้เกิดปัญหาน้ำตาลตึงตัว เช่น ฤดูการผลิตปี 2552/53 ที่กำหนดไว้ 21 ล้านกระสอบแต่ในที่สุดเกิดปัญหาตึงตัวจนนำไปสู่การเพิ่มโควตา ก. พิเศษอีก 1 ล้านกระสอบ และยังให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) ซื้อคืนจากเทรดเดอร์อีกกว่า 700,000 กระสอบ
สำหรับสถานการณ์น้ำตาล ล่าสุดหลังจากที่ กท.ซื้อคืนจากเทรดเดอร์ 3 ราย จำนวน 743,000 กระสอบ มาจำหน่ายเพื่อแก้ภาวะตึงตัว ล่าสุดได้มีการทยอยขายไปแล้ว 4 งวด รวม 232,000 กระสอบ ขณะที่น้ำตาลโควตาพิเศษที่กระทรวงพาณิชย์รับไปดำเนินการจำหน่ายล่าสุดมีน้ำตาลในส่วนนี้ที่ยังไม่สามารถจำหน่ายได้อีก 330,000 กระสอบ
นายชลัส ชินธรรมมิตร์ คณะทำงานแก้ไขน้ำตาลขาดแคลน ในคณะกรรมการ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาล กล่าวว่า โควตา ก. ที่กำหนดสูงถึง 25 ล้านกระสอบ ถือว่าเป็นปริมาณสูงผิดปกติ และคนไทยคงไม่สามารถบริโภคได้หมดอย่างแน่นอน.
จาก http://www.thairath.co.th วันที่ 20 ตุลาคม 2553
ส่งออกขอลดประกันสังคม พาณิชย์ยันราคาปุ๋ยลงแล้ว
3 กลุ่มส่งออกใช้วัตถุดิบในประเทศอ้อนรัฐขอลดส่งเงินประกันสังคม ซับพิษบาทแข็งให้ถือดอลลาร์ได้นานขึ้น "วัชรี" แจง "ปุ๋ย-ยาฆ่าแมลง" ปรับลดราคาแล้วตั้งแต่ 1 ต.ค.
นางวัชรี วิมุกตายน อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยหลังประชุมกับผู้ประกอบการส่งออกสินค้าอาหารสำเร็จรูป เพื่อสรุปปัญหาและแนวทางแก้ไขที่ได้รับผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่า ว่า กลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากสุดคือผู้ที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเพื่อการผลิต ได้แก่ กลุ่มผักผลไม้ ที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ 60-95% กลุ่มผู้ผลิตกาแฟสำเร็จรูปที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ 100% และกลุ่มผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ไม้ในประเทศในการผลิตเกือบ 100%
โดย 3 กลุ่มดังกล่าวได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าที่แพงขึ้นตามค่าเงินบาทที่แข็งขึ้น ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันกับคู่แข่งอย่างจีนและเวียดนาม ที่มีค่าเงินอ่อนกว่าไทย ทำให้ขณะนี้ลูกค้าจากต่างประเทศได้ชะลอการสั่งซื้อสินค้าในออเดอร์ใหม่แล้ว
สำหรับข้อเสนอเพื่อให้ปรับตัวแข่งขันกับคู่แข่งได้เช่น ให้ภาครัฐปรับลดการจ่ายเงินประกันสังคมลง เพื่อเป็นการช่วยเหลือต้นทุนการบริหารจัดการภายในของผู้ประกอบการ เสนอให้ภาครัฐลดการจัดเก็บภาษีอากรเพื่อการส่งออก (ภาษีมุมน้ำเงิน) ลง และให้ภาครัฐปรับกฎระเบียบการถือครองเงินดอลลาร์ได้นานขึ้น
นางวัชรีกล่าวว่า ได้ขอความร่วมมือกลุ่มผู้ประกอบการนำเข้าปุ๋ยเคมี และยากำจัดศัตรูพืชปรับลดราคาลงตามการแข็งค่าของเงินบาท มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า ขณะนี้ราคาลดลงแล้ว โดยปุ๋ยเคมี 4 สูตรหลัก ได้แก่ สูตร 40-0-0 สูตร 16-20-0 สูตร 15-15-15 และสูตร 21-0-0 ราคาลดลงเฉลี่ย 8.30-23.30% หรือกระสอบละ 50-175 บาท ยากำจัดศูตรูพืชลดลง 5-10%
ด้านนายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง กล่าวว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กำชับในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ให้กระทรวงพาณิชย์เร่งไปตรวจสอบราคาสินค้าที่ควรจะลดลงจากการที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น โดยให้กลับมารายงานต่อ ครม.ในสัปดาห์หน้า เบื้องต้นนายอลงกรณ์ พลบุตร รมช.พาณิชย์ ชี้แจงว่า สินค้าบางประเภทปรับลดราคาลงแล้ว เช่น ยาฆ่าแมลงและปุ๋ยเคมี.
จาก http://www.thaipost.net วันที่ 20 ตุลาคม 2553
นายวัชระ กรรณิการ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 ต.ค. เห็นชอบให้ชดเชยการขาดทุนจากการจำหน่ายปุ๋ยเคมีวงเงินขาดทุนประมาณ 50 ล้านบาท ในโครงการจัดหาปุ๋ยเคมีนำเข้าจากต่างประเทศตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ โดยโครงการดังกล่าวดำเนินการตามมติครม. เมื่อวันที่ 6 พ.ค.51 ที่กำหนดให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ให้ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด (ชสท.) กู้เงินปลอดดอกเบี้ยไปจัดซื้อปุ๋ยจากต่างประเทศมาจำหน่ายให้กับสถาบันเกษตรกรในราคาถูกกว่าตลาดวงเงิน 300 ล้านบาท โดยปัจจุบันยังคงมีปุ๋ยในโครงการเหลืออยู่อีก 11,185.75 ตัน ซึ่งพบว่าบางกระสอบมีฝุ่นจับและปุ๋ยอาจจับตัวแน่น เนื่องจากการกดทับจึงไม่ควรเก็บไว้นานกว่านี้
จาก http://www.khaosod.co.th วันที่ 20 ตุลาคม 2553
มาช้าแต่ดีกว่าไม่มี ภาษีสิ่งแวดล้อมในเมืองไทย
แม้จะเป็นประเด็นเงียบๆ ที่ถูกพูดถึงในวงแคบๆ มาตลอด แต่ทันทีร่างพระราชบัญญัติมาตรการการคลังเพื่อสิ่งแวดล้อม พ.ศ.... หรือกฎหมายภาษีสิ่งแวดล้อมผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในขั้นรับหลักการ เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2553 ส่งผลให้เรื่องนี้ถูกจับตามองจากสาธารณชนรอบข้างโดยทันทีว่า ตกลงแล้วภาษีที่ว่านั้นคืออะไรกันแน่ จะเก็บจากอะไร และจะนำเงินที่ได้ไปใช้ทำอะไร
จากคำชี้แจงสั้นๆ ของนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทำให้ทราบว่าภาษีตัวนี้จะเป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญในการดูแลและเยียวยาผลที่เกิดจากอุตสาหกรรมต่างๆ เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยมีต้นทุนทางสังคมที่เกิดจากมลภาวะตรงนี้ โดยเฉพาะการดูแลรักษาผู้ได้รับผลกระทบมากถึง 18,000 ล้านบาท
โดยมีการแบ่งค่าธรรมเนียมออก 5 ประเภทด้วยกัน ได้แก่ ภาษีมลพิษทางน้ำ ภาษีมลพิษทางอากาศ ภาษีนักท่องเที่ยว ภาษีผลิตภัณฑ์หรือค่าธรรมเนียมผลิตภัณฑ์ และภาษีหรือค่าธรรมเนียมอื่นๆ ซึ่งเงินที่จัดเก็บมานั้นจะถูกส่งเข้ากองทุนภาษีและค่าธรรมเนียมต่อไป
แน่นอนว่า แม้คำชี้แจงนี้จะชัดเจนพอสมควร แต่ก็ไม่วายมีคนออกมาตั้งคำถามอยู่ดีว่า เพราะเหตุใดรัฐถึงเพิ่งมาทำ เพราะปัญหาเหล่านี้ถูกหมักหมมมานานกว่า 30 ปีแล้ว และที่สำคัญจะนำมาปฏิบัติได้แค่ไหน โดยเฉพาะดินแดนที่มีความพยายามจะผลักดันระบบอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกอย่างหนัก ดังเช่นเมืองไทย
ย้อนรอยมาตรการสิ่งแวดล้อม
หากจะว่าไปแล้ว จริงๆ มาตรการทางสิ่งแวดล้อมนั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่ทางสังคม เพราะมีพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่ประกาศใช้ตั้งแต่ปี 2535 เป็นแม่บทสำคัญในการจัดการบริหารคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้เกิดขึ้น แต่ทว่าด้วยระบบโครงสร้างขาดความจริงใจในการควบคุมและบังคับใช้กฎหมาย ทำให้ผลทางการปฏิบัติไม่เกิดขึ้นเลย
ซึ่งเรื่องนี้ เกื้อเมธา ฤกษ์พรพิพัฒน์ บรรณาธิการเว็บไซต์มูลนิธิโลกสีเขียว ได้ยกตัวอย่างมาตรการที่ระบุอยู่พรบ. อย่างเช่น หลักการที่ว่าผู้ก่อมลพิษต้องเป็นผู้รับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่ในความจริงแล้วไม่เคยมีใครหยิบขึ้นมาใช้เลย หรือแม้แต่เงินในกองทุนสิ่งแวดล้อมซึ่งมีจำนวนมหาศาล และควรมีส่วนสำคัญในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ แต่ทว่าเงินทั้งหมดกลับไปกระจุกอยู่ที่ระบบการสร้างบ่อบำบัดแต่เพียงอย่างเดียว ขนาดที่เวลาผู้ป่วยขอเงินชดเชยกลับถูกปฏิเสธต่างๆ นานา เช่น ไม่เข้าหลักเกณฑ์บ้าง คดียังไม่ถึงที่สิ้นสุดบ้าง
การบริโภคจริงๆ ถือเป็นต้นทุนอย่างหนึ่งของการก่อมลพิษ แต่ในอดีตยังไม่เคยรวมอยู่ในต้นทุนการผลิตด้วย ซึ่งพอมีปัญหาเยอะขึ้นก็ทำให้หลายๆ คนมองถึงเรื่องการควบคุม ก็เลยมีออกกฎหมาย มีการบังคับต่างๆ เช่น การทำบ่อบำบัดน้ำเสีย แต่ทั้งหมดนี้ก็เพียงพอหรือควบคุมกับปัญหาที่เกิดขึ้น เช่นการปล่อยมลพิษ โรงงานหนึ่งอาจอาจปล่อยไม่เกินค่ามาตรฐาน แต่ถ้าในพื้นที่นั่นมีสัก 10 โรงงานที่ทำแบบเดียวกัน สุดท้ายมลพิษมันก็เยอะอยู่ดี
ไม่เพียงแค่นั้น ปัญหาที่ตามมาอีก คือกฎหมายหลายฉบับขาดความศักดิ์สิทธิ์ บางฉบับถูกเตะถ่วงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กฎหมายเกี่ยวกับการเก็บค่าบำบัดน้ำเสียซึ่งแทบไม่ถูกนำมาใช้จริงแม้แต่ครั้งเดียว หรือกฎหมายเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์หีบห่อ ซึ่งก็เป็นการวางแผนมาแล้วหลายปี จัดประชุม ทำประชาพิจารณ์มาแล้วหลายรอบ แต่สุดท้ายก็ยังไปไม่ถึงไหนอยู่ดี
ภาษีสิ่งแวดล้อมจำเป็นหรือไม่?
จากช่องโหว่ที่มีอยู่เต็มไปหมด ทำให้หลายฝ่ายเริ่มคิดถึงมาตรการที่สามารถบังคับและเป็นแผนแม่บทได้อย่างจริงจังสักที ซึ่งโมเดลอย่างหนึ่งที่ถูกเลือกนำมาใช้ ก็คือ 'ภาษีสิ่งแวดล้อม'
รศ.ดร.กอบกุล รายะนาคร รองผู้อำนวยการแผนงานสร้างเสริมการเรียนรู้กับสถาบันอุดมศึกษาไทย เพื่อการพัฒนานโยบายสาธารณะที่ดี (นสธ.) ในฐานะทีมงานผู้ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวมาเป็นระยะเวลาถึง 4 ปี ได้อธิบายว่า มาตรการนี้ถือเป็นตัวเสริมกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ด้วย ซึ่งมุ่งเน้นแต่เรื่องการกำกับและควบคุมเท่านั้น
เราเก็บภาษีตามมลพิษที่ปล่อยออกมา ถึงแม้เขาปล่อยตามค่ามาตรฐาน เพราะแม้ทุกคนจะปฏิบัติตามมาตรฐาน แต่คุณภาพสิ่งแวดล้อมก็แย่เหมือนเดิม เช่นที่มาบตาพุด เราก็เลยคิดว่ามาตรการที่ควรออกมาก็คือ ใครปล่อยก็ต้องจ่าย เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้ประกอบการก็จะมีแรงจูงใจที่จะทำให้คุณภาพของตัวเองดีขึ้น
ประกอบที่ผ่านมาปัญหาการบังคับใช้กฎหมายก็ค่อนข้างเป็นปัญหา เช่น บ่อบำบัดน้ำเสียง ซึ่งสร้างมาแล้วก็ใช้การไม่ได้ หากใช้ได้ก็ถูกถ่ายโอนให้แก่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งไม่เคยเกิดค่าธรรมเนียมตรงนี้ เพราะกลัวไปกระทบฐานเสียง ซึ่งกฎหมายฉบับนี้จะมีมาตรการบังคับและกลไกที่ชัดเจนกว่ามาก เช่น ภาษีมลพิษทางน้ำก็จะให้กรมสรรพสามิตเป็นผู้เก็บ ใครไม่เก็บก็จะมีเบี้ยปรับ เหมือนการเสียภาษีปกติทุกวันนี้
ที่สำคัญในต่างประเทศเองก็มีการเก็บภาษีลักษณะนี้กันหมดแล้ว ซึ่งหากไทยไม่เก็บก็อาจจะกลายเป็นข้ออ้างในการกำหนดมาตรการกีดกันสินค้าได้ ดังนั้นภาษีตัวนี้จึงมีจำเป็นต่อสังคมไทยอย่างมาก ทั้งในแง่ของระบบเศรษฐกิจ และระบบคุณภาพสิ่งแวดล้อมซึ่งกำลังย่ำแย่อยู่ที่วันนี้
จริงๆ เราควรมีกฎหมายแบบนี้ตั้งแต่นาน เพราะหลายประเทศเขาก็มีกันหมด ไม่ว่าประเทศแถบยุโรป หรือในประเทศเอเชีย อย่างไต้หวันก็มีแล้ว แต่เราช้าเอง ทั้งๆ ที่มีการวิจัยเรื่องนี้มาเป็นสิบๆ ปีแล้ว ศ.ดร.ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าว
โดยตัวอย่างที่เห็นๆ ก็เช่นประเทศญี่ปุ่น ที่ตัดสินใจยกเลิกภาษีน้ำมันสำหรับรถยนต์และหันไปเก็บภาษีสิ่งแวดล้อมแทน ซึ่งมีมูลมากกว่า 2 ล้านล้านเยน พร้อมกับเน้นการศึกษาด้านพลังงานสะอาด รวมไปถึงการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ย่อยสลายง่าย โดยมีการกำหนดออกมานโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐบาล ซึ่งตั้งเป้าว่าจะลดการปล่อยก๊าซที่ก่อให้เกิดสภาวะเรือนกระจกภายในปี 2563 ลงร้อยละ 25
ขณะที่หมู่เกะเล็กๆ อย่างประเทศมัลดีฟส์ แม้ตัวจะจิ๋วแต่แนวคิดทันสมัย โดยมีการเก็บภาษีนักท่องเที่ยว 3 ดอลลาร์ ต่อวันต่อคน เพื่อเป็นการฟื้นฟูแหล่งธรรมชาติ โดยว่ากันว่าปีหนึ่งๆ เก็บได้กว่า 214 ล้านบาทเลยทีเดียว
ส่วนประเทศอังกฤษก็มีการเก็บภาษีสิ่งแวดล้อมในการขึ้นเครื่องบิน 20 ดอลลาร์ ต่อคน ต่อเที่ยว และเพิ่มตามระยะทาง เพื่อนำมาบำบัดมลพิษทางอากาศ
ขณะที่เยอรมนีก็เตรียมที่จะมีภาษีการเดินทางทางอากาศ โดยภาษีนี้ออกแบบมาเพื่อบังคับให้สายการบินเยอรมันเพิ่มค่าใช้จ่ายของตั๋วเครื่องบิน ในขณะที่ภาษีจะยกเว้นสำหรับผู้โดยสารเที่ยวบินภายในประเทศ
รวมทั้งเดนมาร์กที่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีความสุขมากอีกแห่งในโลกก็ยังมีการเก็บภาษีสิ่งแวดล้อมในด้านต่างๆ เพื่อเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ว่าผู้ก่อมลพิษต้องเป็นผู้จ่าย เช่น ภาษีการปล่อยน้ำเสีย ภาษีการปล่อยก๊าซซคาร์บอนไดออกไซด์ ภาษีบรรจุภัณฑ์ ภาษีน้ำมันเชื้อเพลิง ภาษีไฟฟ้า หรือภาษีผลิตภัณฑ์จากพีวีซี โดยในปี 2549 รัฐบาลมีรายได้จากภาษีสิ่งแวดล้อมเป็นเงินมากถึง 5,500 ล้านยูโร
หันมาดูประเทศเอเชียกันบ้าง อย่างจีนแผ่นดินใหญ่นั้นมีการจัดเก็บภาษีมลพิษมาตั้งแต่ปี 2521 จนปัจจุบันมีการจัดเก็บภาษีมลพิษทางน้ำ ทางอากาศจากผู้ประกอบการและยังมีประกาศนโยบายมลพิษที่เข้มข้นขึ้น
และอีกประเทศที่มาแรงไม่แพ้กัน ก็คือ เวียดนามซึ่งเริ่มพัฒนาตัวเองสู่ระบบอุตสาหกรรม ก็เริ่มมีการจัดเก็บภาษีมลพิษทางน้ำในระดับที่แพงมาก เช่น ปรอท 19,000-29,000 บาทต่อกิโลกรัม
อุดช่องโหว่ของปัญหา
จากตัวอย่างของโมเดลภาษีสิ่งแวดล้อม คงพอเห็นภาพคร่าวๆ กันแล้วใช่ไหมว่าทำไมหลายๆ แห่งถึงเรื่องใช้วิธีนี้ แต่จุดเด่นของภาษีตัวนี้ยังไม่หมดแค่นี้ เพราะอีกวัตถุประสงค์หนึ่งของการร่างกฎหมาย ก็คือการไปอุดช่องว่างของปัญหาที่เกิดขึ้นมาตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปีที่ผ่านมาหลังมี พรบ.สิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 เพราะตามโครงสร้างหลักที่ผู้ร่างวางเอาไว้ก็คือ จะให้ พรบ.ตัวนี้เป็นแผนแม่บทของกฎระเบียบต่างๆ จากนั้นก็จะมีการตราพระราชกฤษฎีกาประเภทภาษีย่อยๆ ลงมาอีก ซึ่งที่ตอนนี้ทำเสร็จไปแล้วก็คือ พระราชกฤษฎีกาภาษีมลพิษทางน้ำ และพระราชกฤษฎีกาภาษีมลพิษทางอากาศ
ขณะเดียวกันก็ยังมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อเข้ามาดูแลงานด้านนี้โดยเฉพาะ ซึ่ง รศ.ดร.กอบกุล บอกว่ามีระบบทำงานที่ง่ายกว่า ครอบคลุมกว่าและหลากหลายกว่ากองทุนสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้อีก
ตามหลักการแล้ว ไม่ควรมีกองทุนหลายกองทุน ทุกวันนี้กองทุนสิ่งแวดล้อมเหมือนเป็นกองทุนส่วนตัวของกระทรวงทรัพยากรฯ จะให้ใครใช้ก็ไม่ได้ ใครขอใช้ก็ลำบาก แล้วสุดท้ายก็กลายเป็นเรื่องของการเมืองไปแล้ว ตัวผู้เสียภาษีหรือมีผู้มีส่วนได้เสียก็มีส่วนร่วมในการจัดการ มีแต่หน่วยงานรัฐอย่างเดียว
แต่เผอิญเราเห็นว่า เรื่องสิ่งแวดล้อมนั้นเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง เพราะฉะนั้นคนที่จะเข้าไปบริหารกองทุนนี้จะประกอบด้วยคนจากหลายภาคส่วน เช่น คนที่เสียภาษี อย่างผู้แทนจากภาคอุตสาหกรรม ผู้แทนจากหอการค้า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมไปถึงประชาชนที่มีส่วนรวม ที่สำคัญเราจะมีการประเมินผลทุกปีว่าใช้เงินตามวัตถุประสงค์ไหม รวมทั้งมีการแยกบัญชีตามประเภทที่จัดเก็บได้ เพื่อให้ง่ายต่อการจัดการภายหลัง แต่ปัญหาหนึ่งที่ติดขัดก็คือ กระทรวงทรัพยากรฯ ไม่ประสงค์ให้ตั้งกองทุนอีกกองทุนหนึ่ง ซึ่งตรงนี้ก็เป็นเรื่องของการเมืองแล้ว
สำหรับมาตรการที่หลายคนตั้งข้อสงสัยว่าจะทำได้จริงสักแค่ไหน อย่างมาตรการตัววัดอัตรามลพิษของโรงงานอุตสาหกรรมว่ามีมากน้อยแค่ไหน ซึ่งรอง ผอ.นสธ. ก็ยอมรับว่าเป็นเรื่องลำบาก เพราะโรงงานทุกวันนี้ซึ่งมีจำนวนมาก ขณะที่ประสิทธิภาพของหน่วยงานราชการเองก็มีไม่มากพอจะจัดการปัญหาได้หมด
ดังนั้นขั้นแรกที่จะถูกหยิบยกมาใช้ก็คือ การให้โรงงานประเมินตัวเองแล้วไปยื่นแบบฟอร์ม เหมือนการเสียภาษีทั่วไป โดยโรงงานต้องกรอกรายละเอียดว่าปีนี้ได้ปล่อยของเสียไปเท่าไหร่ แล้วไปยื่นต่อกรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อให้รับรองความถูกต้อง จากนั้นข้อมูลก็จะถูกส่งต่อไปยังกรมสรรพสามิตอีกทีเพื่อจัดเก็บภาษี แต่ทั้งนี้ก็จะมีการสุ่มตรวจว่าข้อมูลที่ยื่นเพื่อดูว่าถูกต้องหรือไม่
เรามีวิธีการเก็บโดยคิดอัตราแปรผัน โดยจะบังคับใช้กับโรงงานขนาดใหญ่ก่อน ส่วนโรงงานขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีหมื่นก็คงจะสุ่มตรวจไม่ได้ ดังนั้นในระยะต้นก็จะเก็บในรูปแบบเหมาจ่ายไปก่อน ซึ่งถามว่าดีไม่ก็คงไม่ดี เพราะไม่สร้างแรงจูงใจเท่าไหร่ เพราะปล่อยเท่าไหร่ก็จ่ายราคาเดียว แต่เมื่อเราใช้ไประยะหนึ่ง ประสิทธิภาพของหน่วยงานเพิ่มขึ้น โรงงานขนาดเล็กกับกลางก็จะถูกย้ายมาเก็บในอัตราแปรผัน วิธีการนี้ก็เป็นรูปแบบที่ประเทศอื่นๆ เช่นเวียดนามเข้าใช้กัน
เสียงจากฝ่ายค้าน
ด้วยมาตรการที่ค่อนข้างรอบคอบและรัดกุม ทำให้มีเสียงออกมาสนับสนุนกฎหมายในวงกว้าง แต่แน่นอนว่า เป็นเรื่องปกติที่มีผู้ชอบก็ต้องผู้คัดค้านเกิดขึ้นเสมอ โดยเฉพาะผู้ที่สูญเสียประโยชน์ อย่างบรรดาโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งจะต้องแบกรับภาระต้นทุนนี้เพิ่มขึ้น
คมกฤช ยิ้มเจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรีนเนอร์ คอนซัลแทน จำกัด ในฐานะผู้เป็นที่ปรึกษาให้แก่ผู้ประกอบการหลายแห่ง และทำหน้าที่ประสานกับรัฐบาลแทนโรงงาน ตลอดจนคอยดูแลสิทธิประโยชน์ต่างๆ มองว่าจริงๆ แล้วการเก็บภาษีสิ่งแวดล้อมอาจจะไม่ใช่ทางออกที่ดีนักสำหรับประเทศไทย เพราะเป็นกลไกที่จะก่อให้การเพิ่มต้นทุน ซึ่งในที่สุดภาระดังกล่าวอาจจะถูกผลักไปให้ผู้บริโภคเป็นผู้รับผิดชอบแทน ขณะที่ฝั่งผู้ประกอบการเองอาจไม่กระเทือนกระเทือนอะไรด้วยซ้ำ
ผมคาดว่าลูกค้าของผมคงไม่ถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ อาจจะต้องมีปรับตัวกันบ้างในช่วงแรก เรื่องยอดขาย แต่ในมุมมองของผมแล้ว ภาษีสิ่งแวดล้อมควรจะบังคับใช้ในบางพื้นที่ที่ปัญหาถึงขั้นวิกฤตจริงๆ เช่น มาบตาพุด เพื่อให้มลพิษมันไม่เพิ่มสูงไปกว่านี้ คือถ้าอย่างเป็นของอเมริกา เขาจะใช้ระบบซื้อขายใบอนุญาตให้ปล่อยสารพิษสู่สิ่งแวดล้อม แล้วเอารายได้ตรงนี้ไปทำการบำบัดธรรมชาติ ซึ่งจุดนี้จะช่วยให้แต่ละโรงงานมีแรงจูงใจที่จะเสาะหาเทคโนโลยีมาลดมลพิษเพื่อลดต้นทุนการผลิต เพราะถ้าใบอนุญาตที่เรามีเกินเราก็สามารถจะเอาไปขายให้โรงงานอื่นที่ไม่สามารถลดมลพิษลงได้
อย่างไรก็ตาม ในประเด็นนี้ รศ.ดร.กอบกุลก็บอกว่า คงปฏิเสธไม่ได้ที่จะเกิดขึ้น แต่ก็ถือเป็นเรื่องปกติของกลไกทางตลาด และก็ถูกต้องตามหลักของใครเป็นผู้ก่อมลพิษก็ต้องจ่ายด้วย เพราะผู้บริโภคก็ถือเป็นห่วงโซ่หนึ่งที่ทำให้เกิดมลพิษด้วยเช่นกัน
ภาระตรงนี้จะตกอยู่กับผู้ผลิตหรือผู้บริโภคมากนั้นเกี่ยวกับกลไกทางการตลาด เพราะฉะนั้นหากผู้บริโภคไม่อยากเสียภาษีมากก็บริโภคให้น้อยลง หรือวันข้างหน้าที่เราจะมีการเก็บค่าธรรมเนียมผลิตภัณฑ์ซึ่งเก็บจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ โทรศัพท์ ซึ่งมีคนมาแยก อันไหนใช้ไม่ได้ก็ทิ้ง ฝังกลบมีของเสียอันตรายเต็มไปหมด แล้วมันก็ซึมลงสู่ชั้นน้ำใต้ดิน ดังนั้นมีการเก็บผู้ผลิตก็ต้องบวกเข้าไป เช่น มือถืออาจจะแพงขึ้น 100 บาท ทางแก้ก็คือไม่ต้องซื้อ ไม่ต้องเปลี่ยนมือถือบ่อยนัก ทุกอย่างก็เป็นไปตามหลักการเศรษฐศาสตร์ที่ว่า ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ก่อมลพิษ ให้ทุกคนต้องช่วยปล่อยของเสียให้น้อยลงด้วย ........
กระแสโลกที่เน้นนำไปสู่การลงทุนเพื่อรับผิดชอบทางสังคม โดยเฉพาะในเรื่องของปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันเป็นปัญหาใหญ่ในระดับโลก การรณรงค์ลดโลกร้อนจากปัญหาหมักหมมมายาวนานเป็นร้อยปีของกระบวนการทางอุตสาหกรรม ทำให้ประเทศอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้วได้มีกฎหมายทางด้านสิ่งแวดล้อมหรือภาษีสิ่งแวดล้อมกันมายาวนานหลายสิบปีแล้ว
ความพยายามในการผลักดันเกี่ยวกับภาษีด้านนี้ของเมืองไทย ก็กำลังจะบรรลุสู่รูปธรรมที่เป็นจริง แต่จะส่งผลต่อภาพรวมใหญ่ในสังคมแค่ไหน อนาคตจะเป็นตัวพิสูจน์ต่อไป
จาก http://www.manager.co.th วันที่ 19 ตุลาคม 2553
เคาะน้ำตาลโควตาก.ทุบสถิติสูงสูด
กน.เคาะน้ำตาลทรายบริโภคในประเทศ (โควตา ก.) ฤดูการผลิตใหม่ปี 2553/54 ที่ระดับ 25 ล้านกระสอบทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เตรียมชงกบ.และกอน.เห็นชอบต่อไป โรงงาน-ชาวไร่เซ็งกดราคาอ้อยต่ำ
แหล่งข่าวจากคณะกรรมการน้ำตาลทราย (กน.) ที่มีนายมนัส สร้อยพลอย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เป็นประธาน เปิดเผยว่า การประชุมกน. เมื่อเร็วๆ นี้ ได้กำหนดปริมาณ น้ำตาลทรายบริโภคภายในประเทศ (โควตาก.) ของฤดูการผลิตปี 2553/54 ไว้ที่ระดับ 25 ล้านกระสอบ โดยถือเป็นปริมาณน้ำตาลทรายบริโภคในประเทศกำหนดไว้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยประเมินว่าจะมีอ้อยเข้าหีบฤดูการผลิตนี้เฉลี่ย 65-68 ล้านตัน เนื่องจากปริมาณฝนที่ตกลงมามากในระยะหลัง ทำให้อ้อยสะสมความหวานได้ดีขึ้น ประกอบกับมีพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มจากปีก่อนอีก 5-7 แสนไร่
มีการถกเถียงตัวเลขนี้พอสมควร โดยพาณิชย์ขอ 26 ล้านกระสอบ แต่โรงงานเห็นว่าควรจะกำหนดเพียง 24 ล้านกระสอบ จึงสรุปที่ 25 ล้านกระสอบ ซึ่งมติดังกล่าวจะต้องเสนอผ่านขั้นตอนการพิจารณาจากคณะกรรมการบริหารน้ำตาลทราย (กบ.) แล้ว เข้าสู่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ซึ่งส่วนใหญ่ที่ผ่านมามักจะเห็นชอบตามมติกน. แหล่งข่าวกล่าว
ทั้งนี้ การกำหนดปริมาณดังกล่าวได้อ้างถึงสาเหตุสำคัญ คือ ไม่ต้องการให้เกิดปัญหาตึงตัวเช่นฤดูการผลิตปี 2552/53 ที่กำหนดไว้ 21 ล้านกระสอบ โดยเพิ่มขึ้นจากฤดูการผลิตปี 2551/53 ที่กำหนดไว้ 19 ล้านกระสอบ แต่ในที่สุดเกิดปัญหาตึงตัวจนนำไปสู่การเพิ่มโควตาก. พิเศษ ให้กระทรวงพาณิชย์ และยังให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) ซื้อคืนจากเทรดเดอร์อีกกว่า 7
แสนกระสอบ รวมเป็นน้ำตาลโควตาก. เกือบ 23 ล้านกระสอบ ซึ่งถือเป็นสถิติที่สูงสุดในขณะนั้น สำหรับสถานการณ์น้ำตาลทรายล่าสุด หลังจากที่กท.ซื้อคืนจากเทรดเดอร์ 3 รายจำนวน 7.43 แสนกระสอบ มาจำหน่ายเพื่อแก้ภาวะตึงตัว ล่าสุดได้มีการทยอยขายไปแล้ว 4 งวดรวม 2.32 แสนกระสอบ และในสัปดาห์นี้ (งวดที่ 5 ) มีผู้เสนอซื้อมาอีก 87 ราย จำวน 5.9 หมื่นกระสอบ ส่งผลให้ราคาเฉลี่ยลดลง 1-1.50 บาทต่อกิโลกรัม และกรณีหาซื้อไม่ได้ไม่มีแล้ว แต่ราคาอาจจะลงไม่มากนัก เนื่องจากน้ำตาลทรายที่ขึ้นงวดปกติส่วนของโรงงานไม่มีการระบายออกไปเท่าที่ควร เช่นเดียวกับน้ำตาลของกระทรวงพาณิชย์ที่ยังคงค้างกระดานอยู่ 3.3 แสนกระสอบ
นายชลัส ชินธรรมมิตร์ คณะทำงานแก้ไขน้ำตาลขาดแคลน ในคณะกรรมการ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาล กล่าวว่า โควตาก.ที่กำหนดสูงถึง 25 ล้านกระสอบนั้น ส่วนตัวแล้วมองว่าสูงเกินไปและชี้ให้เห็นว่าราคาในประเทศไม่ได้สะท้อนความจริง เพราะคนไทยไม่น่าจะบริโภคเพิ่มขึ้นมากระดับนั้น แต่เป็นการใช้โดยอุตสาหกรรมผลิตอาหารและเครื่องดื่มในประเทศนำไปผลิตแล้วส่งออก
ซึ่งเท่ากับเป็นการเอาเปรียบชาวไร่อ้อย ราคาตลาดโลกปี 2554 ยังเฉลี่ยสูงอยู่โดยน้ำตาลทรายขาวน่าจะอยู่ที่ประมาณ 700 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพราะจีนและอินเดียมีการใช้มากขึ้น การกำหนดโควตาก. สูงเท่าใดก็เท่ากับไปกดราคาอ้อยของชาวไร่มากเท่านั้นนายชลัสกล่าว
นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 7 กล่าวว่า คงต้องยอมรับข้อเท็จจริงว่าราคาน้ำตาลทรายประเทศเพื่อนบ้านนั้นสูงต่อให้กำหนดไว้ที่ระดับใดก็ไม่อาจพอได้ เพราะการควบคุมการไหลออกน้ำตาลทรายไปยังเพื่อนบ้านนั้นก็เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก นอกจากนี้ ส่วนหนึ่งรัฐจะต้องหาวิธีจัดการควบคุมการใช้โควตาก. ของภาคอุตสาหกรรมด้วย เพราะหากราคาในประเทศต่ำกว่าก็ย่อมจะมีผลต่อราคาอ้อย
จาก http://www.manager.co.th วันที่ 19 ตุลาคม 2553
นายกสั่งเช็คราคาสินค้า บี้ปุ๋ย-ยาฆ่าแมลงปรับลด ชี้บาทแข็งช่วยต้นทุนถูก อย่าฉวยโอกาสโขกกำไร
นายกฯสั่งพาณิชย์-เกษตร เช็คราคาสินค้าใกล้ชิดโดยเฉพาะปุ๋ย-ยาฆ่าแมลง ป้องกันโก่งราคา ฟันกำไรพุงปลิ้นช่วงบาทแข็ง พร้อมสั่งสำนักงบฯปรับลดงบจัดซื้อสินค้าทุนจากต่างประเทศของราชการ-รัฐวิสาหกิจ ช่วยประหยัดเงินแผ่นดิน
นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง เปิดเผยว่า ในสถานการณ์ที่เงินบาทแข็งค่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ฝากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาทิกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นต้น ไปประเมินราคาสินค้าที่อาจมีผลกระทบต่อประชาชน โดยเฉพาะสินค้าที่นำเข้า ให้ปรับราคาลงสะท้อนต้นทุนตามความเป็นจริง เพราะการที่เงินบาทแข็งค่า ต้นทุนสินค้าอาจลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าที่เป็นต้นทุนการผลิตด้านการเกษตร ทั้งยาฆ่าแมลง และปุ๋ยเคมี เพื่อไม่ให้พ่อค้าขายกำไรเกินความเป็นจริง โดยไม่ยอมลดราคาลง
นอกจากนี้ยังให้กระทรวงการคลังประสานสำนักงบประมาณ ทบทวนตัวเลขงบประมาณจัดซื้อวัสดุจากต่างประเทศของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ เพื่อนำมาใช้ในโครงการลงทุนต่างๆว่าจะลดลงเท่าใด จากการที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น เพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณภาครัฐลง
"ได้ฝากผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ให้ไปทบทวนเม็ดเงินงบประมาณที่จัดสรรให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจในการจัดซื้อวัสดุในส่วนของงบฯลงทุนที่ต้องซื้อสินค้าจากต่างประเทศ เพราะเมื่อค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ก็น่าจะประหยัดงบประมาณลงได้ ด้วย ณ วันที่จัดสรรงบประมาณ เงินบาทไม่ได้แข็งค่าเท่าปัจจุบัน จึงให้ไปทบทวนดูว่า จะประหยัดลงได้เท่าไหร่"
ด้านนางวัชรี วิมุกตายน อธิบดีกรมการค้าภายในกล่าวว่าจากการที่กรมฯได้ขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการร้านค้าช่วยลดราคาปุ๋ยและยาฆ่าแมลงเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร จากการตรวจสอบล่าสุดพบว่า ผู้ประกอบการให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2553 ที่ผ่านมาได้ออกตรวจสอบราคาปุ๋ยที่จังหวัดเพชรบุรี พบว่า ร้านค้าได้ลดราคาขายตามราคาแนะนำของกรมฯเป็นที่เรียบร้อย และขณะนี้ก็ยังไม่มีประชาชนร้องเรียนเข้ามาแต่อย่างใดว่า ได้รับความเดือดร้อนเรื่องราคาปุ๋ยหรือโดนโก่งราคา
อย่างไรหากประชาชนหรือกลุ่มเกษตรกรต้องการตรวจสอบราคาปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ก็สามารถตรวจสอบไปที่เบอร์ 1569 หากพบว่า ราคาไม่เป็นไปตามที่แนะนำก็ร้องเรียนมาได้ที่เบอร์ดังกล่าวเช่นกัน ส่วนกรณีที่ให้มีการตรวจสอบผู้ที่ได้ประโยชน์จากการนำเข้า หลังค่าเงินแข็งค่า กรมฯก็จะดูแลและควบคุมให้เป็นไปตามราคาที่แนะนำที่ได้ขอความร่วมมือไป เพื่อไม่ให้เกษตรกรได้รับผลกระทบ
จาก http://www.naewna.com วันที่ 19 ตุลาคม 2553
การได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 2 จากการส่งเข้าผลงานนวัตกรรมด้านสังคมเข้าประกวดของกลุ่มชาวไร่อ้อยมิตรบ้านลาด ต.บ้านแก้ง อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ เนื่องในวันนวัตกรรมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2553 ที่ผ่านมา จัดโดย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ถือเป็นมิติใหม่ของชาวไร่อ้อย ที่มองเห็นถึงความสำเร็จในอาชีพปลูกอ้อย อันจะนำมาซึ่งรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืนในอนาคต
ความสำเร็จครั้งนี้เกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีภาคีเครือข่ายเข้ามาร่วมกันผลักดัน อันประกอบด้วยส่วนราชการคือ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายภาคอีสาน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์สาขาภูเขียว ปราชญ์ชาวบ้าน/ชาวไร่อ้อยต้นแบบและผู้เชี่ยวชาญของกลุ่มมิตรผล ผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ที่สนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ "มิตรผลโมเดล" โดยผ่านผู้ที่เข้มแข็งอย่าง "นิคม ฝาดสุนทร" ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 17 ต.บ้างแก้ง ในฐานะประธานกลุ่มชาวไร่อ้อยมิตรบ้านลาด
การทำแบบจำลองหรือพื้นที่ต้นแบบในการจัดการพื้นที่ปลูกอ้อยของชาวไร่อ้อยบ้านลาด เริ่มจากการรวมทุนของสมาชิกกลุ่มชาวไร่อ้อย โดยไม่รอคอยงบประมาณจากภาครัฐ แต่มีโรงงานน้ำตาลมิตรภูเขียวคอยช่วยเหลือเป็นผู้ประสานงานความร่วมมือให้เกิดการ "ร่วมคิด ร่วมทำ" อย่างสร้างสรรค์ ทั้งจากหน่วยงานภายในส่วนราชการและชุมชนสมาชิก ซึ่งการจัดการดังกล่าวได้พัฒนาต่อเนื่องจนกลายเป็นนวัตกรรมด้านการจัดการที่มีชื่อว่า "มิตรผลโมเดล : จิ๊กซอว์ต่อยอดการพัฒนาอย่างยั่งยืน"
จากการพูดคุยกับ อภิวัฒน์ บุญทวี ผู้อำนวยการด้านอ้อย บริษัท รวมเกษตรกรอุตสาหกรรม จำกัด บอกว่าที่จริงกลุ่มชาวไร่อ้อยที่บ้านลาดนั้น เป็นกลุ่มชาวไร่ที่โรงงานมิตรผลภูเขียวเลือกเป็นตัวแบบเพื่อการแก้ปัญหามากว่า 10 ปีแล้ว เหตุผลที่เลือกก็เพราะว่าที่นี่ชาวไร่มีพื้นที่ถือครองต่อรายน้อย ขาดอุปกรณ์เครื่องจักรในการทำไร่ที่ให้ประสิทธิภาพสูง ชาวไร่มักจ้างรถแทรกเตอร์จากภายนอกเข้าไปดำเนินการในลักษณะ "ต่างคนต่างจ้าง ต่างคนต่างทำ" ส่งผลให้เกิดปัญหาการจัดการอย่างต่อเนื่อง
ไม่ว่าจะเป็นการเพาะปลูก การใส่ปุ๋ย การเก็บเกี่ยว ฯลฯ ที่ไม่ทันเวลา ผลผลิตต่อปีอยู่ในเกณฑ์ต่ำเฉลี่ยประมาณ 8 ตันต่อไร่ ทำให้ชาวไร่มีรายได้น้อย แต่เนื่องจากการปลูกอ้อยเป็นอาชีพดั้งเดิมของชุมชนและมีโรงงานเป็นแหล่งรับซื้อที่แน่นอน ชาวไร่จึงยึดอาชีพปลูกอ้อยเรื่อยมา ถึงแม้ว่าจะมีกำไรไม่มากก็ตาม แต่สิ่งสำคัญที่ชาวไร่อ้อยบ้านลาดมีก็คือ ความสมัครสมานสามัคคีของสมาชิกในกลุ่ม ทำให้พวกเขาได้ช่วยกันวิเคราะห์ปัญหาและหาทางแก้ไขจนได้ข้อสรุปร่วมกันว่า การทำไร่อ้อยให้ได้ผลผลิตดี มีกำไรสูงและมีความยั่งยืนเป็นพื้นฐานนั้น ต้องมีเงื่อนไข 4 ประการ ได้แก่ 1.มีการจัดการที่ถูกต้องและเหมาะสม 2.การดำเนินงานต้องเกิดจากการร่วมคิด ร่วมทำ ระหว่างชาวไร่ โรงงานและหน่วยราชการอย่างสร้างสรรค์ 3.การจัดการต้องควบคุมให้เป็นไปตามแผนและมีต้นทุนต่ำและ 4.การจัดการต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและมีความรับผิดชอบต่อสังคม
หลังจากได้ดำเนินการตามแผน "มิตรผลโมเดล" ทำให้ปัจจุบันผลผลิตของสมาชิกกลุ่มชาวไร่อ้อยบ้านลาด จากเดิมที่ได้ผลผลิต 7-8 ตันต่อไร่ เพิ่มเป็น 17-22 ตันต่อไร่หรือเพิ่มขึ้นกว่า 123.44% และกลุ่มบริษัทมิตรผลจะใช้โมเดลกลุ่มชาวไร่อ้อยมิตรบ้านลาดเป็นต้นแบบในการส่งเสริมแก่สมาชิกกลุ่มชาวไร่อ้อยในเครือข่ายในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป
จาก http://www.komchadluek.net วันที่ 19 ตุลาคม 2553
ทุ่ม209ล.อนุรักษ์ดิน-น้ำ พด.เดินหน้าวางระบบ-ตั้งเป้าขยายครอบคลุม1.26แสนไร่
นายธวัชชัย สำโรงวัฒนา อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาที่ดินได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 209.58 ล้านบาท สำหรับทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำบนพื้นที่ลุ่ม พื้นที่ดอนและพื้นที่สูง เพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน ป้องกันการบุกรุกทำลายป่า และเพื่อให้เกษตรกรใช้ประโยชน์ที่ดินในการเพาะปลูกพืชผลอย่างยั่งยืนถาวร
โดยกรมฯ ได้แบ่งการดำเนินงานจัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำออกเป็น 2 ด้านหลักๆ ได้แก่ การจัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำบนพื้นที่ลุ่ม-ที่ดอนในพื้นที่เกษตรกรรม เป้าหมายดำเนินการ 126,000 ไร่ โดยจะดำเนินการทุกลุ่มน้ำในพื้นที่ที่ได้กำหนดให้เป็นพื้นที่เขตพัฒนาที่ดินและมีปัญหาการชะล้างพังทลายของดิน โดยจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำในพื้นที่ดอน ส่วนที่ลุ่มเน้นการปรับรูปแปลงนาเพื่อปรับพื้นที่นาให้เหมาะสม ควบคู่กับจัดทำพื้นที่รับน้ำรอบคันนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการกักเก็บน้ำรักษาความชุ่มชื้นในดิน พร้อมกันนี้จะส่งเสริมการปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้นเศรษฐกิจ ทำบ่อดักตะกอนดิน และก่อสร้างทางลำเลียงในไร่นาเพื่อความสะดวกในการขนส่งผลผลิต
ส่วนการจัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำบนพื้นที่สูง เป้าหมาย 14,000 ไร่ ซึ่งจะแบ่งเป็นการดำเนินงานออกเป็นโครงการย่อย ประกอบด้วย โครงการพัฒนาที่ดินชุมชนบนพื้นที่สูง 6,500 ไร่ โครงการพัฒนาที่ดินเกษตรที่สูง 4,000 ไร่ โครงการขยายผลโครงการหลวง 3,500 ไร่ โครงการถ่ายทอดองค์ความรู้โครงการและพัฒนาศักยภาพชุมชนบนพื้นที่สูง และโครงการขยายผลโครงการหลวงเพื่อแก้ไขปัญหาการปลูกฝิ่นอย่างยั่งยืน ซึ่งแต่ละโครงการจะใช้วิธีดำเนินการจัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำโดยใช้แรงงานคนและเครื่องจักรในพื้นที่ลาดชันเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน ควบคู่กับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ ป้องกันปัญหาการบุกรุกทำลายป่า นอกจากนี้ ยังมีการสาธิตและส่งเสริมการทำและใช้ปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ และส่งเสริมปลูกไม้ผล พืชอาหารและพืชเศรษฐกิจทดแทนการปลูกฝิ่น
จาก http://www.naewna.com วันที่ 18 ตุลาคม 2553
ภาคการผลิตภูธรระส่ำพิษบาทแข็ง ธุรกิจหนีตาย'กดต้นทุนภาคเกษตร-จ่อโละคนงาน'
สภาอุตฯเชียงใหม่ชี้ค่าเงินบาททุบอุตสาหกรรมอาหาร จำใจส่งมอบสินค้าทั้งที่ขาดทุน หากรัฐไม่เร่งช่วยเหลือ ตลาดแสนล้านวอดแน่ ๆ ระบุทางออกมีแค่ "ขอขึ้นราคา" หรือกลับมา "กดต้นทุนภาคเกษตร" โวยรัฐคุ้มกันคนลงทุนต่างประเทศมากกว่าคนในบ้าน ด้านสภาอุตฯภาคกลางเผยส่งออกเจ๊งแล้ว 2,000 ล้านบาท หวั่นโรงงานโละคนงานลอตใหญ่
นายองอาจ กิตติคุณชัย ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในภาคเหนือส่วนใหญ่เป็นการแปรรูปอาหารเพื่อการส่งออกกว่า 200 ราย ประสบปัญหาจากค่าเงินบาทแข็ง โดยปรับตัวแข็งค่าขึ้นแล้วกว่า 10% ขณะที่ผลกำไรที่ตั้งไว้สำหรับการขายในต่างประเทศอยู่ที่ 3-5% เพราะต้องแข่งขันกับคู่แข่งจำนวนมาก ปัจจุบันอยู่ในภาวะขาดทุน แต่ต้อง ส่งมอบสินค้าตามกำหนด เพราะได้ทำสัญญาไว้แล้ว
ในระยะต่อไป หากเงินบาทยังปรับตัวแข็งค่าขึ้นอีก ผู้ประกอบการจะเสียหายอย่างรุนแรง มูลค่ากว่าแสนล้านบาท และจะส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของภาคเหนือ เนื่องจากการส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นรายได้หลักของภาค มีสัดส่วนมากกว่า 60% ของรายได้ทั้งหมด
จ่อขึ้นราคาสินค้า-ลดต้นทุน
ทั้งนี้ ทางออกที่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องทำ เพราะไม่มีทางเลือกอื่น คือขอขึ้นราคาสินค้า ซึ่งดูจากภาวะตลาดโลกและการแข่งขันแล้ว เชื่อว่าจะไม่สร้างผลดี และไม่ได้รับการยอมรับ อีกทาง คือการลดต้นทุนภายในประเทศทั้งหมด ทั้งค่าแรงและค่าสินค้าที่รับซื้อจากเกษตรกร ซึ่งจะทำให้เกษตรกรจำนวนมากได้รับผลกระทบหนัก เฉพาะโรงงานของตนที่แปรรูปอาหารส่งออก มีเกษตรกรเกี่ยวข้องนับหมื่นคน
"ผมกำลังจะไปพบลูกค้าที่ยุโรป เพื่อขอความเห็นใจ และจะขอขึ้นราคาสินค้างวดต่อไป แต่คงยาก เพราะเศรษฐกิจของเขาก็ไม่ดี หากไม่ได้ ก็ต้องกลับมาลดต้นทุน ซึ่งที่สุด คนที่จะได้รับผลกระทบ คือเกษตรกรและครอบครัว รวมทั้งคนที่เกี่ยวข้องในภาคการผลิตที่แท้จริงทั้งหมด ปรากฏการณ์เดียวกันนี้ ก็จะเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรม ท่องเที่ยวที่มีคนเกี่ยวข้องอยู่หลายล้านคน"
นายองอาจกล่าวว่า การทำประกันค่าเงิน ที่ทุกฝ่ายมองว่าจะช่วยพยุงสถานะของผู้ส่งออกได้นั้น ข้อเท็จจริง คือการประกันแต่ละช่วงมีเวลาไม่ยาวนานนัก หากสถานการณ์ค่าเงินบาทยังปรับตัวผันผวนเช่นนี้ การประกันครั้งใหม่จะต้องมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น รัฐบาลควรคุ้มครองคนในประเทศมากกว่ารักษาประโยชน์ของคนภายนอกที่เข้ามาเก็งกำไรจากค่าเงินบาทโดยผ่านพันธบัตรของรัฐบาล
กรณีรัฐบาลประกาศสนับสนุนให้ผู้ประกอบการลงทุนในส่วนเครื่องจักร เพิ่มเติม หรือไปลงทุนในต่างประเทศโดยอาศัยช่วงที่ค่าเงินบาทแข็งว่า เป็นการพูดโดยไม่ดูข้อเท็จจริง ปัจจุบัน ผู้ประกอบการประสบปัญหาในการขายสินค้าและหารายได้ การลงทุนเพิ่ม จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้
ด้านหม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ผู้ประกอบการโรงแรมจำนวนมากแจ้งตนว่าได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็ง ซ้ำเติมจากภาวะการท่องเที่ยวที่ซบเซาอยู่แล้ว ทำให้นักท่องเที่ยวลดลงอีกมาก เจ้าของโรงแรมระดับ 5 ดาวรายหนึ่งบอกว่า ต้องหาทางออกโดยลดราคาห้องพักลง ซึ่งปัจจุบันก็ลดจากราคาปกติกว่า 40% และแถมรายการท่องเที่ยวเพิ่มเติม
8 พันรง.ส่งออกภาคกลางอ่วม
ดร.สิงห์ ตั้งเจริญชัยชนะ ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคกลาง เปิดเผยว่า โรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ 16 จังหวัดภาคกลาง มีโรงงานอุตสาหกรรมส่งออกกว่า 8,000 แห่ง ที่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ในส่วนของจังหวัดกาญจนบุรี มีโรงงาน 1,453 โรง ซึ่งมีประมาณ 50% ที่เป็นโรงงานเกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตรส่งออก โดย ส่งออกน้ำตาลทราย ปีละ 45 ล้านตัน ข้าวโพดหวาน 1,500 ล้านบาท สับปะรด 2,000 ล้านบาท ข้าวโพดฝักอ่อน 175 ล้านบาท หน่อไม้ฝรั่ง 300 ล้านบาท พืชเกษตรอินทรีย์ 520 ล้านบาท ซึ่งค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น คาดว่าการส่งออกได้รับความเสียหายแล้วไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท และตัวเลขจะสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ หากรัฐบาลยังไม่เร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว
ทั้งนี้ เมื่อเผชิญค่าเงินบาทแข็ง ทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้น ปริมาณการสั่งซื้อย่อมลดลง ทำให้ต้องลดจำนวนการผลิต และอาจจะต้องปรับลดพนักงานลง ทั้ง ๆ ที่ในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม เป็นเดือนที่จะมีการส่งออกมากที่สุด เพราะเป็นช่วงที่ตลาด ต่างประเทศสั่งสินค้าไปจำหน่ายในช่วงคริสต์มาสและปีใหม่ ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องใช้วิธีการคำนวณยอดขายและการผลิตในปลายปีนี้ใหม่ทั้งหมด เพื่อมิให้เกิดสต๊อกค้าง และเงินลงทุนไปจมอยู่
นอกจากนี้ อาจจะต้องหาตลาดชายแดน เพื่อส่งออกชดเชยตลาดยุโรปและอเมริกา รวมทั้งต้องลดค่าใช้จ่าย ด้านการผลิตและการบริหารกิจการ เช่น ใช้จำนวนพนักงานให้เกิดความพอเหมาะกับจำนวนการผลิตและรายได้ ตัวอย่างเช่น พนักงานตรวจสอบคุณภาพ ก็เปลี่ยนเป็นให้พนักงานตรวจสอบคุณภาพกันเองในแต่ละขั้นตอนการผลิต การขอลดราคาบรรจุภัณฑ์ หรือขอขยายเวลาการชำระเงินออกไป
อย่างไรก็ตาม หากมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในต้นปีนี้สูงกว่าที่ควรจะเป็น สถานประกอบการต่าง ๆ คงต้องใช้มาตรการปรับลดจำนวนพนักงานลง เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด หรือไม่รับพนักงานใหม่เพิ่มเติม ซึ่งจะเกิดปัญหาการว่างงาน และเกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมาในที่สุด
จาก http://www.prachachat.net วันที่ 18 ตุลาคม 2553
โรงงานบอกปัดอุตฯเครื่องดื่ม ไม่มีน้ำตาล3.8หมื่นตันขายให้
สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทยหมดหวังขอซื้อน้ำตาลหน้าโรงงานเพิ่มอีก 38,000 ตัน หลังทำหนังสือถึงกระทรวงอุตสาหกรรมถึง 3 ครั้ง ทาง สอน.ปฏิเสธเสียงแข็ง ไม่มีโควตาจัดสรรให้ แนะ 2 ทางสถานการณ์คลี่คลายลง หาซื้อน้ำตาลในท้องตลาดได้แล้ว แต่ต้องยอมรับราคาแพงกว่าราคาหน้าโรงงาน หรือขอนำเข้าน้ำตาลต่างประเทศ กอน.จะพิจารณาเป็นกรณีพิเศษ
นายพงษ์เทพ จารุอำพรพรรณ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" กรณีสมาคมอุตสาห กรรมเครื่องดื่มไทยได้ทำหนังสือมาขอซื้อน้ำตาลทรายเพิ่มอีก 380,100 กระสอบ (38,000 ตัน) เป็นครั้งที่ 3 โดยอ้างเหตุผลการขาดแคลนน้ำตาลทรายในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ประกอบกับอุตสาหกรรมเครื่องดื่มมีการขยายตัวสูงขึ้น
ล่าสุด ทาง สอน.ได้รับเรื่องและหารือร่วมกับโรงงานน้ำตาลแล้ว ปรากฏคำตอบยังคงเหมือนเดิม คือโรงงานน้ำตาล ไม่สามารถจัดสรรน้ำตาลจำนวนดังกล่าวให้กับสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทยได้ เพราะโรงงานน้ำตาลได้ทำสัญญาซื้อขายน้ำตาลทรายล่วงหน้าไว้แล้ว
อย่างไรก็ตาม สอน.ได้เสนอแนะการหาซื้อน้ำตาลให้กับสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย หลัก ๆ 2 แนวทาง คือ 1) การซื้อน้ำตาลภายในประเทศ (โควตา ก.) ซึ่งขณะนี้ภาวะน้ำตาลตึงตัวค่อนข้างคลี่คลายแล้ว ดังนั้น น้ำตาลในตลาดน่าจะมีปริมาณพอเพียงที่ผู้ผลิตเครื่องดื่ม จะหาซื้อได้จาก ยี่ปั๊ว/ซาปั๊ว หรือผู้ค้ารายย่อยที่ซื้อน้ำตาลจากโรงงานไปแล้ว และ 2) การซื้อน้ำตาลจากต่างประเทศ ซึ่งปกติการนำเข้าน้ำตาลจากต่างประเทศ จะต้องแจ้งให้คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล (กอน.) พิจารณาอนุมัติ หากสมาคมต้องการจะนำเข้าน้ำตาล ทาง กอน.ก็ยินดีพิจารณาให้เป็นกรณีพิเศษ หรืออาจจะใช้วิธีเดียวกับที่กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายใช้ คือการขอ "ซื้อคืน" น้ำตาลส่งออก (โควตา ค.) ก็ได้
"ขณะนี้สถานการณ์น้ำตาลในประเทศคลี่คลายไปแล้ว ดูได้จากตัวเลขปริมาณการขึ้นงวดน้ำตาลเพื่อจำหน่ายและค้างกระดานอยู่ประมาณ 1.35 ล้านกระสอบ ซึ่งเป็นน้ำตาลจากการขึ้นงวดของโรงงานปกติประมาณ 1.2 ล้านกระสอบ และน้ำตาลโควตาพิเศษของกระทรวงพาณิชย์ที่ยังจำหน่ายไม่ออกอีก 350,000 กระสอบ ผมจึงคิดว่าผู้ผลิตเครื่องดื่มน่าจะหาซื้อน้ำตาลในท้องตลาดได้ไม่ยาก แต่ก็ต้องยอมรับราคาที่ซื้อคงจะไม่เท่ากับซื้อจากโรงงานแน่นอน ขึ้นอยู่กับการเจรจาตกลงกัน ของผู้ซื้อและผู้ขาย ส่วนผู้ผลิตส่งออก หากนำเข้าน้ำตาลเข้ามาต้องเสียภาษีนำเข้า แต่หากสำแดงว่านำน้ำตาลเข้ามาเพื่อผลิตส่งออก ก็น่าจะขอคืนภาษีได้" นายพงษ์เทพกล่าว
ขณะที่นายประจวบ ตยาคีพิสุทธิ์ รองประธานคณะกรรมการบริหารสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทยกล่าวถึงแนวทางที่ สอน.เสนอให้ผู้ผลิตเครื่องดื่มไปซื้อน้ำตาลในท้องตลาด (โควตา ก.) ในทางปฏิบัติถือว่า "ทำได้ลำบาก" ยี่ปั๊ว/ซาปั๊ว คงจะไม่มีน้ำตาลเพียงพอจำหน่ายตามความต้องการของสมาชิก ซึ่งมาใช้อุตาหกรรม ไม่ใช่มาผลิตขนมแค่ 100-200 กิโลกรัมก็ซื้อได้ อย่างไรก็ตาม สมาคมยังไม่ได้รับหนังสือหรือข้อเสนอแนะอย่างเป็นทางการจาก สอน. ก็คงต้องรอความชัดเจนอีกครั้งภายใน 2-3 สัปดาห์
จาก http://www.prachachat.net วันที่ 18 ตุลาคม 2553
ชัยวุฒิสั่งรับมือราคาอ้อยตกต่ำ ผลผลิตใหม่ส่อทะลุ65ล้านตัน
ชัยวุฒิ สั่งสอน.เร่งประเมินราคาอ้อยขั้นต้นปี 2553/54 หวั่นบาทแข็งฉุดราคาต่ำกว่าปกติหวังหาแผนรับมือ แย้มพร้อมอุ้มแต่ยังไม่รับปากให้พันบาทต่อตันขอดูตัวเลขก่อน สอน.เผยกลางพ.ย.สรุปก่อนเปิดหีบธ.ค. แย้มผลผลิตอ้อยปี 53/54 หลังฝนตกอาจเห็นทะลุ 65 ล้านตัน
นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.)เร่งดำเนินการประเมินราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2553/54 เพื่อที่จะหามาตรการในการดูแลกรณีที่ราคาอ้อยอาจต่ำเกินไปจากผลกระทบอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ซึ่งยอมรับว่าบาทที่แข็งค่า 1 บาทต่อเหรียญสหรัฐส่งผลให้ราคาอ้อยหายไปถึง 23 บาทต่อตัน ทั้งนี้ราคาอ้อยขั้นต้นปีที่ 2552/53 ที่ระดับความหวาน 10 ซี.ซี.เอส.อยู่ที่ 965 บาทต่อตัน
ยอมรับว่าทีแรกคิดว่าราคาอ้อยปี 53/54 น่าจะเกินระดับพันบาทต่อตันแต่เมื่อเจอค่าเงินบาทแข็งค่าเลยมีความเป็นห่วง ซึ่งกรณีที่ชาวไร่อ้อยอยากเห็นระดับพันบาทต่อตันนั้นคงเป็นเรื่องของความต้องการไม่ได้จะต้องดูข้อเท็จจริงเพราะมีวิธีการคิดอยู่ แต่ถ้าต่ำเกินไปพร้อมที่จะหาวิธีช่วยเหลือที่จะให้ไปได้ทั้งระบบแต่ทั้งนี้ขอให้ตัวเลขออกมาก่อนนายชัยวุฒิกล่าว
นายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการสอน.กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อการคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นปี 2553/54 โดยเฉพาะราคาน้ำตาลทรายตลาดโลก,ปริมาณการผลิต,ต้นทุนการผลิตอ้อย และค่าเงินบาท ซึ่งราคาดังกล่าวจะประกาศก่อนเปิดหีบโดยคาดว่าจะประกาศได้ประมาณกลางเดือนพ.ย. และกำหนดเปิดหีบช่วงไม่เกินกลางธ.ค. นี้
เราคงจะต้องขอดูปัจจัยต่างๆ ให้นิ่งก่อนเพราะไม่ใช่มีเพียงแค่ค่าเงินบาทเท่านั้น จะต้องประเมินถึงราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกด้วยที่ขณะนี้เริ่มกลับมาเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ปริมาณการผลิตหลังจากที่ฝนตกต่อเนื่องทำให้เดิมที่หลายฝ่ายกังวลว่าจะไม่ถึง 60 ล้านตันอ้อยคงจะเกินระดับดังกล่าวแล้วนายประเสริฐกล่าว
แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินปัจจัยต่างๆ เพื่อนำมาคำนวณราคาอ้อย เช่น กรณีปริมาณอ้อยของฤดูการเปิดหีบใหม่ 2553/54 เบื้องต้นคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 65.9 ล้านตัน เนื่องจากฝนตกต่อเนื่องทำให้เดิมทีที่เจอภัยแล้งคาดว่าอ้อยอาจจะต่ำกว่าระดับ 60 ล้านตัน อย่างไรก็ตามบางฝ่ายมองว่าตัวเลขอาจสูงกว่า 65.9 ล้านตันเนื่องจากมีพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มมาจากปีก่อนถึง 6 แสนไร่ ขณะที่ปีที่แล้วมีปริมาณอ้อยทั้งสิ้น 68 ล้านตัน
จาก http://www.manager.co.th วันที่ 15 ตุลาคม 2553
มาร์คชี้บาทถูกทางไม่มีต้มยำกุ้ง เอกชนได้คืบเอาศอกจี้ลด ดบ.
"นายกฯ-รมว.คลัง" ประสานเสียงดูแลค่าบาทถูกทาง ไม่มีวิกฤตต้มยำกุ้งรอบ 2 เพราะไม่ฝืนตลาด ชี้บาทแข็งเพราะดอลลาร์อ่อนจากเศรษฐกิจสหรัฐที่อ่อนแอ ส่วนเรื่องดอกเบี้ยเป็นหน้าที่ กนง. ด้านเอกชน ได้คืบเอาศอก! ปธ.แอ๊ดวานซ์ อะโกรฯ นำทีมจี้แบงก์ชาติลดดอกเบี้ย ขู่บาทแข็งทำคนไทยจะตกงาน-เศรษฐกิจดิ่ง
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การแข็งค่าของเงินบาทจะไม่ทำให้เกิดวิกฤติต้มยำกุ้งรอบ 2 อย่างที่ภาคเอกชนกำลังกังวล เพราะสิ่งที่รัฐบาลดำเนินการในขณะนี้ไม่ได้เป็นการฝืนตลาด เนื่องจากเห็นว่าการแทรกแซงตลาดเพื่อให้ค่าเงินอ่อนค่าลงนั้นมีตัวอย่างจากต่างประเทศว่าไม่ประสบความสำเร็จ เพราะสาเหตุใหญ่มาจากนโยบายของรัฐบาลสหรัฐที่มีผลทำให้ดอลลาร์อ่อนค่าลง
"การแทรกแซงไม่ให้เงินตก พูดง่าย ๆ ว่าจะทำให้แบงก์ชาติขาดทุนมากขึ้น และอาจไม่สามาถหยุดยั้งการขาดทุนได้ อย่างญี่ปุ่นเขาทำได้อย่างมากก็ไม่ให้เคลื่อนไหวเร็วเกินไป" นายอภิสิทธิ์กล่าวและว่า วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยในปี 40 ที่ที่เรียกว่าวิกฤติต้มยำกุ้ง เกิดจากความพยายามฝืนตลาด แต่แนวทางของรัฐบาลที่ทำอยู่ขณะนี้เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนผลกระทบที่เกิดขึ้นมากกว่า ซึ่งขณะนี้มีมาตรการรอบแรกที่ออกไปแล้ว และจะมีอีกส่วนหนึ่งตามมา คือทำอย่างไรในการเร่งการลงทุนและการนำเข้าเครื่องจักร เพื่อสร้างความต้องการเงินตราต่างประเทศ ซึ่งในส่วนของรัฐวิสาหกิจเองในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ก็ต้องใช้เงินลงทุนราว 4-5 หมื่นล้านบาท
ส่วนข้อเรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทยลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรือชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ย เพื่อไม่ให้เกิดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ก่อนหน้านี้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ได้ตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปแล้ว ซึ่งในการพิจารณาในการประชุมครั้งใหม่ คงต้องมีการนำประเด็นอัตราแลกเปลี่ยนไปพิจารณาด้วยอยู่แล้ว นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง อธิบายอีกครั้งว่า หากเปรียบเทียบค่าเงินบาทของไทยในขณะนี้กับค่าเงินในสกุลอื่นๆ จะเห็นว่า ค่าเงินบาทอ่อนค่ากว่าหลายสกุลเงิน แต่เมื่อเปรียบเทียบค่าเงินบาทกับค่าเงินดอลลาสหรัฐ ค่าเงินบาทจะแข็งค่ามาก เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐอ่อนแอกว่าของไทย โดยอัตราการว่างงานของไทยมีเพียงร้อยละ 1 แต่สหรัฐสูงถึงร้อยละ 10 แถมมีหนี้สาธารณะเกือบเต็ม 100
"รัฐบาลได้หาวิธีช่วยเหลือผู้ส่งออก เพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบมากนัก ซึ่งเป็นเป้าหมายของรัฐบาลที่จะให้การช่วยเหลือ และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันรับผิดชอบในการออกมาตรการเยียวยาผู้ส่งออกขนาดเล็ก มาตรการไม่ได้มีไว้เพื่อลดค่าเงิน แต่เพื่อการเข้าถึงการประกันความเสี่ยงและเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ"
***ปธ.แอ๊ดวานซ์ อะโกรจี้ลดดอกเบี้ย
นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แอ๊ดวานซ์ อะโกร จำกัด (มหาชน) (AA) กล่าวว่า ธปท.จะต้องลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างรวดเร็ว โดยในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 20 ต.ค.นี้ ควรจะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.75% เพื่อให้ลงไปใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ มากที่สุด ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้ นอกจากนี้ต้องประกาศให้ชัดเจนว่าจะไม่ให้เงินบาทแข็งค่าไปเกินระดับใด
"หากเป็นไปได้ไทยก็น่าจะกลับไปใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ เพราะขณะนี้ปัจจัยรอบด้านเอื้อทั้งทุนสำรองอยู่ในระดับสูง และเกินดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดค่อนข้างมาก แต่หากทำไม่ได้ ก็ใช้นโยบายลอยตัวแบบมีการจัดการเหมือนในปัจจุบัน แต่ควรจะต้องระบุแนวทางการจัดการและเป้าหมายเงินบาทอย่างชัดเจน" ประธานกรรมการบริหาร AA กล่าว
นายวีรพงษ์คิดว่า มาตรการของธปท.ล่าสุดที่ออกมาเพื่อต้องการผ่อนคลายการถือครองเงินตราต่างประเทศโดยหวังจะแก้ปัญหาเงินบาทแข็งค่านั้น ถือเป็นมาตรการที่ไม่ได้ผล และไม่สามารถแก้ปัญหาเงินบาทแข็งค่าได้ เชื่อว่าคงไม่เกิดผลอะไรตามมาจากมาตรการดังกล่าวที่ออกมา พร้อมเห็นว่าหาก ธปท.ยังปล่อยให้ค่าเงินบาทเป็นไปตามยถากรรม โดยยืนยันแต่เพียงว่าเป็นการแข็งค่าไปตามสกุลเงินภูมิภาค โดยที่ ธปท.ยังไม่ออกยาแรงนั้น ก็คงไม่สามารถยับยั้งการไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติที่เข้ามาเก็งกำไรได้
นายวีรพงษ์ตำหนิ ธปท.ด้วยว่าเห็นแก่ตัวและใจดำที่ปล่อยให้เงินบาทแข็งค่าไปอยู่เรื่อยๆ ท่ามกลางกระแสโลกที่เงินทุนจากสหรัฐฯ พยายามบีบคั้นให้เงินสกุลอื่นๆ แข็งค่าขึ้น เพื่อต้องการให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง ซึ่งหากยังเป็นเช่นนี้ต่อไปและเงินบาทแข็งค่าไปใกล้เคียงกับ 25 บาท/ดอลลาร์ ก็เตรียมตัวรับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจรอบ 2 ได้เลย
***ขู่บาทแข็งทำคนไทยตกงาน นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า อยากเรียกร้องให้ธปท.ลดดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดเงินทุนไหลเข้า เพราะการใช้มาตรการเก็บภาษี 15% ไม่เพียงพอที่จะชะลอการแข็งค่าของเงินบาท อีกทั้งเห็นว่า นโยบายดูแลเป้าหมายเงินเฟ้อเป็นการใช้นโยบายไม่ถูกที่ถูกเวลา เพราะปัจจุบัน เศรษฐกิจไทยไม่มีปัญหาฟองสบู่ หรือเงินเฟ้อสูง แต่เงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงด้วยซ้ำ จึงไม่ใช่เรื่องน่าห่วง แต่ควรดูแลการเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่า
ถ้าไม่มีมาตรการเสริมดูแลค่าบาท ผลที่จะตามมาคือ ภาคอุตสาหกรรมที่แท้จริง (real sector) จะตายก่อน โดยเฉพาะ SMEs ที่จะขาดทุน และปิดตัว ทำให้คนตกงาน และเศรษฐกิจทรุดตัวต่อเนื่อง เพราะขณะนี้ยังฟื้นแบบเปราะบาง ในภาวะที่กำลังเกิดสงครามค่าเงิน (Currency War) อย่างในปัจจุบัน ที่รัฐบาลหลายประเทศเน้นแก้ปัญหาค่าเงิน รัฐบาลไทยก็จำเป็นต้องดูแลค่าเงินบาทด้วย อย่าปล่อยให้แข็งไปเรื่อยๆ แบบนี้ นางเสาวณีย์กล่าว
นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า รัฐบาลและ ธปท.ควรดำเนินการแก้ปัญหาเป็น 2 ระยะ คือ การแก้ไขปัญหาระยะสั้น และระยะยาว โดยในระยะสั้นนั้น ธปท.ควรปรับเปลี่ยนนโยบายทางการเงินโดยให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกกับการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนในระยะสั้น หรือใน 3-6 เดือน และให้ความสำคัญกับเป้าหมายเงินเฟ้อ เป็นอันดับรองลงไป พร้อมกันนั้น ธปท.ควรแทรกแซงตลาดอย่างเต็มที่ ด้วยวิธีการที่มีประสิทธิภาพ และได้ผลมากกว่าในปัจจุบัน
ขณะเดียวกัน ควรชะลอการไหลเข้าของเงินลงทุน ที่จะเข้ามาหาผลกำไรจากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย โดยรัฐบาลควรออกมาตรการเก็บภาษีจากส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยไทยกับอัตราดอกเบี้ยของต่างประเทศ และลดหรือชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเชิงนโยบาย เพื่อชะลอการแข็งค่าของเงิน ส่วนการแก้ไขปัญหาในระยะยาวนั้น รัฐบาลต้องสนับสนุนให้รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนไทยไปลงทุนในต่างประเทศ ส่งเสริมให้มีการนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศ ผ่านการลดภาษีการนำเข้าเครื่องจักรเพื่อการปรับปรุงคุณภาพสินค้า และศักยภาพของการผลิตของประเทศ
นายดุสิต นนทะนาคร ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า มาตรการแก้ปัญหาค่าเงินของรัฐบาลที่ให้เก็บภาษี 15% จากรายได้และดอกเบี้ยในตลาดตราสารหนี้ถือว่าถูกทาง แต่ช้าเกินไป และยังไม่เพียงพอที่จะหยุดยั้งการแข็งค่าของเงินบาทได้ ต้องฉีดยาเข็ม 2 คือ การตรึงหรือลดดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อลดผลประโยชน์ที่ฝรั่งจะได้รับ เพราะนโยบายธปท.ที่จะขึ้นดอกเบี้ย เป็นการให้ประโยชน์กับพวกฝรั่งนักลงทุนที่นอกจากจะได้กำไรจากดอกเบี้ยในตลาดบอนด์แล้ว เมื่อถอนเงินกลับยังจะได้กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนอีก แล้วคนไทยได้อะไร อะไรที่เป็นการลดประโยชน์ของพวกนี้ รัฐบาลต้องทำ ไม่ใช่ทำให้เขาได้ประโยชน์ นายดุสิตกล่าว
***ธปท.ปลื้มต่างชาติชมแผนเงินเฟ้อ
นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท. เปิดเผยว่า ธปท.ได้ให้ผู้เชี่ยวชาญอิสระจากต่างประเทศประเมินผลการดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงิน ซึ่งปัจจุบันใช้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานช่วง 0.5-3.0% พบว่า แนวทางดังกล่าวเหมาะสมกับประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมาและระยะต่อไป แต่ธปท.ควรจะมีการปรับปรุงในบางจุดโดยเฉพาะการกำหนดค่ากลางของเป้าหมายแทนขอบบนและขอบล่าง เพื่อลดโอกาสที่สาธารณชนอาจเข้าใจผิดว่าขอบบนเป็นเป้าหมายที่กนง.คาดหวังและขอบล่าง เพื่อลดโอกาสปัญหาเงินฝืด
การใช้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเป็นเป้าหมายในการดำเนินนโยบายกาเรงินตลอด 10ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่เดือนพ.ค.43 จนถึงปีนี้ ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องและเหมาะสมการใช้ในระยะต่อไป แต่ควรใช้อัตราเงินเฟ้อทั่วที่สะท้อนความเป็นจริงควบคู่ไปด้วย อีกทั้งควรขยับขอบล่างจากปัจจุบันอยู่ที่ 0.5% มาเป็น 1% เพื่อลดโอกาสการเกิดปัญหาเงินฝืดและเพิ่มโอกาสในการกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจ ทำให้นโยบายมีประสิทธิภาพขึ้นผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศกล่าว
จาก http://www.manager.co.th วันที่ 14 ตุลาคม 2553
พาณิชย์โชว์ผลวิเคราะห์ 15 อุตสาหกรรมไทยสำลักพิษบาทแข็ง คาดอีก 2-3 เดือนส่งออกมีปัญหาแน่ เผยส่วนใหญ่แข่งขันได้ยากขึ้น ขายสินค้าได้ไม่คุ้มทุน ผู้นำเข้าหนีไปซื้อสินค้าจากคู่แข่ง บางรายโคม่าถึงขั้นปิดกิจการ พรทิวาดิ้นหารือคลัง แบงก์ชาติอีกรอบ แก้ปัญหาให้ตรงจุด ส่วนส่งออกปีนี้ยังมั่นใจโตได้ 20% ตามเป้า
นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการส่งออกได้มีการประเมินปัญหาของผู้ส่งออกไทยเป็นรายสินค้าจากปัญหาการแข่งค่าของเงินบาท ในเบื้องต้นพบว่ามีสูงถึง 15 อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่า โดยทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยลดลง สินค้าส่งออกไทยมีราคาสูงกว่าประเทศคู่แข่ง และกำลังมีปัญหาผู้ซื้อในต่างประเทศหันไปนำเข้าสินค้าจากประเทศคู่แข่งมากขึ้น
เงินบาทที่แข็งค่าขึ้น เชื่อว่าจะกระทบต่อการส่งออกในอีก 2-3 เดือนข้างหน้านี้แน่ เพราะมาตรการดูแลค่าเงินบาทที่ออกมายังไม่ตรงกับที่ผู้ส่งออกต้องการ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะมีการผลักดันให้กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย มีมาตรการที่ตรงตามความต้องการของผู้ส่งออกต่อไป ส่วนภาพรวมการส่งออกในปีนี้ คาดว่าจะทำได้ 20% มูลค่า 182,912 ล้านเหรียญสหรัฐตามที่ตั้งเป้าเอาไว้ โดยช่วงไตรมาส 4 น่าจะส่งออกได้ประมาณ 14,000-15,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
ทั้งนี้ 15 อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่า ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมเครื่องหนัง เกิดปัญหาในการแข่งขันด้านราคา จากเดิมที่รับคำสั่งซื้อในราคา 33 บาท แต่ปัจจุบันกำหนดราคาไว้ที่ 28-29 บาทต่อเหรียญสหรัฐ เนื่องจากจะต้องแข่งขันกับอินเดียที่มีต้นทุนราคาสินค้าถูกกว่า 2.อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ได้รับผลกระทบ เนื่องจากตลาดการค้าหลักอยู่ในประเทศสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น มีการต่อรองราคามาก
3.อุตสาหกรรมยานยนต์ ได้รับผลกระทบ เพราะโค๊ดต้นทุนไว้ที่อัตรา 32 บาท/เหรียญสหรัฐ ปัจจุบันมียอดขายเฉลี่ยอยู่ที่ 15,000 ล้านบาทต่อเดือน ขณะนี้มีผลกระทบต่อยอดการส่งออกไปแล้ว 1,700 ล้านบาทต่อเดือน แต่จะไม่กระทบเชิงปริมาณการส่งออกทั้งปี 890,000 คัน 4.อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มียอดปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้น 15-20% แต่ค่าเงินบาทที่ลดลง ทำให้ไม่คุ้มทุน 5.อุตสาหกรรมอาหารสำเร็จรูป ได้รับผลกระทบมาก ไม่สามารถขึ้นราคาสินค้าได้ และการซื้อเงินต่างประเทศล่วงหน้า (Forward) ไม่สามารถทำได้ทุกราย โดยเฉพาะ SMEs อาจจะมีการทยอยปิดโรงงานในเร็วๆ นี้
6.กลุ่มสมุนไพร แจ้งว่าโค๊ดราคาได้ลำบาก เพราะส่วนใหญ่คำสั่งซื้อรับล่วงหน้า 6-10 เดือน มีการปรับราคาได้ยาก มีปัญหาการขาดทุน 7.กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม ได้รับผลกระทบเป็นวิกฤตแล้ว เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีการแข่งขันสูงและมีส่วนต่างราคาต่ำ และเริ่มประสบปัญหาขาดทุน 8.สินค้าเกษตรและสินค้าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น แป้งมัน เดิมมีการรับซื้ออยู่ที่ราคากิโลกรัมละ 4 บาท เหลือ 2.50 บาท ส่วนแห อวน การส่งออกได้รับผลกระทบ
9.อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ ได้รับผลกระทบรุนแรง เพราะมีการใช้วัตถุดิบในประเทศ (Local Content) สูง ส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อการส่งออก 10.อุตสาหกรรมไลฟ์สไตล์ มีมูลค่าการตลาดรวมประมาณ 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการเป็นคนรุ่นใหม่ ใช้ Local Content ประมาณ 90-95% ปัญหาที่ประสบอยู่ คือ การขาดสภาพคล่อง เนื่องจากขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน
ปัจจุบันแก้ไขปัญหาโดยการรับคำสั่งซื้อมาแล้วส่งต่อไปยัง Subcontract ต่างประเทศผลิตแทนเพื่อลดการขาดทุน แต่เริ่มจะส่งผลต่อ Subcontract ในประเทศที่มีการจ้างงานลดน้อยลง
11.อุตสาหกรรมไก่สดแช่แข็ง มีมูลค่าตลาดประมาณ 200,000 ล้านบาท เป็นการผลิตเพื่อส่งออก 80% ใช้วัตถุดิบในประเทศค่อนข้างสูง จึงได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนอย่างรุนแรง ประกอบกับการรับคำสั่งซื้อล่วงหน้าจะรับ 6 เดือน ซึ่งขณะนั้นคิดอัตราแลกเปลี่ยนที่ 32 บาท 12.อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ใช้ Local Content ประมาณ 50% ตลาดต่างประเทศมีสัดส่วนส่งออก 80% แต่สามารถนำวัตถุดิบนำเข้า (Import Content) มาหักลบได้
13.อุตสาหกรรมน้ำตาล ผลผลิต 75% ส่งออก อัตราส่วนแบ่งผลประโยชน์ระหว่างชาวไร่กับผู้ประกอบการในอัตราส่วน 70:30 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาอ้อยที่จะเริ่มเปิดหีบในเดือนพ.ย.2553 14.อุตสาหกรรมเซรามิก ใช้ Local Content สูง สินค้าส่วนใหญ่เป็นการผลิต และเริ่มมีปัญหาสภาพคล่อง และ 15.อุตสาหกรรมยาง ได้รับผลกระทบ เพราะผลผลิตส่วนใหญ่เพื่อการส่งออก
แต่ยังโชคดีที่ในช่วงที่ผ่านมาราคาค่อนข้างสูง ทำให้แม้เงินบาทแข็งค่า แต่ก็ยังมีกำไรอยู่ ขณะที่คู่แข่งอย่างมาเลเซียและอินโดนีเซีย ก็ประสบปัญหาค่าเงินแข็งค่าเหมือนกัน
+++นอกเหนือจาก 15 อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบโดยตรงแล้ว การค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว และพม่า ยังมีปัญหาการต่อรองราคาสินค้า เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแลกค่าเงินเหรียญสหรัฐเป็นเงินบาทเพื่อซื้อสินค้าไทย
จาก http://www.manager.co.th วันที่ 14 ตุลาคม 2553
สุโขทัย แจกอ้อยพันธุ์ดีแก่เกษตรกร
จังหวัดสุโขทัย จัดอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรผู้ปลูกอ้อย พร้อมทั้งมอบอ้อยพันธุ์ดี ส่งเสริมการปลูกอ้อยให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น รวมทั้งมีคุณภาพ เป็นการเพิ่มรายได้ให้เกษตร
วันนี้ (14 ต.ค.53) นายมนู พุกประเสริฐ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุโขทัย เป็นประธานเปิดการอบรมเกษตรกร และพิธีมอบพันธุ์อ้อย ตามโครงการส่งเสริมและกระจายอ้อยพันธุ์ดี ณ ห้องประชุมอำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ซึ่งสำนักงานเกษตรจังหวัดสุโขทัยจัดทำโครงการในครั้งนี้ขึ้น โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุโขทัย จำนวน 5,000,000 บาท เพื่อจัดอบรมและจัดซื้ออ้อยพันธุ์ดีให้แก่เกษตรกรจำนวน 1,700 ราย รายละ 1,500 กิโลกรัม รวม 2,550,000 บาท เพื่อให้เกษตรกรมีความเข้าใจถึงบทบาทการส่งเสริมการปลูกอ้อยของภาครัฐ และเอกชน และมีความเข้าใจถึงระบบการผลิตอ้อย รวมถึงได้มีอ้อยพันธุ์ดีปลูก เพิ่มผลผลิต คุณภาพ ตลอดจนรายได้ให้แก่เกษตรกร
การจัดอบรมเกษตรกร มอบพันธุ์อ้อย ตามโครงการส่งเสริมและกระจายอ้อยพันธุ์ดีให้แก่เกษตรกรนั้น จะกระจายไปในทุกพื้นที่ของจังหวัดสุโขทัย ที่มีเกษตรกรทำไร่อ้อยโดยวันนี้มอบให้กับเกษตรกรอำเภอศรีสัชนาลัย จำนวน 400 ราย, 15 ตุลาคม อำเภอทุ่งเสลี่ยม 100 ราย, 21 ตุลาคม อำเภอศรีนคร 300 ราย, 22 ตุลาคม อำเภอศรีสำโรง 100 ราย, 28 ตุลาคม อำเภอบ้านด่านลานหอย 80 ราย, 29 ตุลาคม อำเภอสวรรคโลก 410 ราย และ 5 พฤศจิกายน อำเภอคีรีมาศ 310 ราย
จาก http://thainews.prd.go.th วันที่ 14 ตุลาคม 2553
จ.กาฬสินธุ์ขอความร่วมมือชาวไร่อ้อย อย่าเผาอ้อยใกล้เขตขุดเจาะน้ำมัน
จังหวัดกาฬสินธุ์ของความร่วมมือ ชาวไร่อ้อยอำเภอสหัสขันธ์ ไม่เผาอ้อยใกล้เขตขุดเจาะน้ำมัน นายถาวร กุลโชติ ปลัดจังหวัดกาฬสินธุ์ นำคณะออกตรวจเยี่ยมการขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมของบริษัทเทเท็ก ไทยแลนด์ แอลแอลซี ซึ่งได้รับสัมปทานการขุดเจาะ ที่ตำบลนามะเขือ อำเภอสหัสขันธ์ โดยมีนางดวงจิรา ไกรศรี ผู้จัดการบริษัทเทเท็ก ไทยแลนด์ แอลแอลซี ให้การต้อนรับและนำชมการดำเนินงาน พร้อมเปิดเผยว่า บริษัทเป็นองค์กรอิสระได้รับสัมปทานดำเนินกิจกรรมด้านการสำรวจ ขุดเจาะ และผลิตแก๊ซธรรมชาติจากกระทรวงพลังงาน และได้เข้ามาดำเนินงานในพื้นที่ตำบลนามะเขือ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฏาคม 2553 เป็นต้นมา โดยมีขั้นตอนการดำเนินการ คือ เตรียมพื้นที่การขุดเจาะ 3 หลุม ในเขตพื้นที่ตำบลนามะเขือ จำนวน 2 หลุม ตำบลหนอสอ จำนวน 1 หลุม ขณะนี้กำลังดำเนินการขุดเจาะหลุมที่ 1 และคาดว่าประมาณปลายเดือนพฤศจิกายน 2553 จะทราบผลการขุดเจาะในหลุมที่ 1 สำหรับการลงทุนขุดเจาะในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ครั้งนี้ ใช้งบลงทุน 1,000 ล้านบาท
นายถาวร กุลโชติ ปลัดจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า พื้นที่ในการขุดเจาะนั้น รายล้อมไปด้วยไร่อ้อย ซึ่งจะมีการตัดในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม จึงฝากเตือนประชาชนอย่าได้เผาอ้อย เนื่องจากจะก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงได้ และหากมีความจำเป็นขอให้ติดต่อประสานงานไปยัง นางดวงจิรา ไกรศรี ผู้จัดการ บริษัทเทเท็ก ไทยแลนด์ แอลแอลซี โทร. 0818259135
ทั้งนี้ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีการพบแก๊สธรรมชาติและขุดเจาะมาใช้แล้ว ในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลกุดน้ำใส องค์การบริหารส่วนตำบลลำน้ำพอง องค์การบริหารส่วนตำบลม่วงหวาน อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น และที่ องค์การบริหารส่วนตำบลภูฮ่อม อำเภอหนองแสง จังหวัดอุดรธานี
จาก http://thainews.prd.go.th วันที่ 14 ตุลาคม 2553
สิ้นปีปุ๋ยเคมีขาดเอกชนขู่ไม่นำเข้า ตรึงราคาตามคน.สั่งไม่ได้เหตุแม่ปุ๋ย-ค่าขนส่งแพง
ควบคุมราคา - ปุ๋ยเคมีสูตร 46-0-0 หนึ่งใน 4 สูตร ที่กระทรวงพาณิชย์มีนโยบายให้ปรับลดราคา โดยวิเคาาะห์จากสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ทำให้ต้นทุนการนำเข้าของผู้ผลิตลดลง จึงสมเหตุสมผลให้มีการลดราคาจำหน่ายลงเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร
ผู้ค้าปุ๋ยโวยกรมการค้าภายใน (คน.) บี้ลดราคาปุ๋ยเคมี 4 สูตร แม้ค่าเงินบาทแข็ง แต่ราคานำเข้าแม่ปุ๋ยจากต่างประเทศ รวมค่าขนส่งเพิ่มขึ้นเช่นกัน เตรียมทำหนังสือถึง คน.แจงต้นทุน ขู่หากไม่ปรับราคาเพิ่ม ผู้ประกอบการถอดใจไม่นำเข้าปุ๋ย สุดท้ายปลายปีขาดแคลนไม่ทันใช้สำหรับเพาะปลูกปีหน้า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังเกิดภาวะค่าเงินบาทแข็ง กรมการค้าภายในได้ร้องขอความร่วมมือจากผู้ค้าปุ๋ยเคมีเพื่อปรับลดราคาหน้าโรงงานของปุ๋ยเคมีจำนวน 4 สูตร ได้แก่ สูตร 46-0-0 สูตร 15-15-15 สูตร 21-0-0 และสูตร 16-20-0 ในอัตราเฉลี่ยตันละ 500-2,500 บาท เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรทั่วประเทศ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2553 ไปจนถึงสิ้นปีนี้
แหล่งข่าวจากวงการค้าปุ๋ยเคมีรายหนึ่งเปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ปัจจุบันถึงแม้เงินบาทจะแข็งค่าขึ้น แต่ไม่ทำให้ราคาต้นทุนการนำเข้าปุ๋ยลดลง ประกอบกับแนวโน้มราคาปุ๋ยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้กลุ่มผู้ค้าปุ๋ยเคมีสามารถตรึงราคาจำหน่ายปุ๋ยได้ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น ไม่สามารถตรึงราคาจำหน่ายจนถึงช่วงปลายปีนี้ ตามคำร้องขอของกรมการค้าภายในก่อนหน้านี้ได้
ที่ผ่านมาผู้ค้าปุ๋ยเคมีของไทยมักนิยมสั่งซื้อปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศในช่วงปลายปี เพราะราคาปุ๋ยเคมีอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าช่วงอื่น แต่ปรากฏว่าสถานการณ์ปุ๋ยเคมีในตลาดโลกปีนี้กลับมีราคาสูงขึ้นอย่างผิดปกติ ยกตัวอย่าง เช่น แม่ปุ๋ยยูเรีย(46-0-0) ช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
มีการประมูลขายแม่ปุ๋ยที่ประเทศอินเดีย ในราคาตันละ 270 เหรียญสหรัฐ/ตัน ล่าสุดการประมูลราคาแม่ปุ๋ยปรับตัวสูงขึ้นเป็น 341 เหรียญสหรัฐ/ตันแล้ว
และเมื่อคำนวณต้นทุนการนำเข้าและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น ราคาสินค้า ค่าบรรจุภัณฑ์ ค่าขนส่ง ฯลฯ ปัจจุบันผู้ค้าปุ๋ยของไทยต้องแบกรับต้นทุนการผลิตแม่ปุ๋ยสูงขึ้นในราคาตันละ 380 เหรียญสหรัฐ หรือไม่ต่ำกว่า 2,030 บาท/ตัน ดังนั้นกลุ่มผู้ค้าปุ๋ยส่วนใหญ่จึงเตรียมยื่นเรื่องไปยังกรมการค้าภายใน เพื่อขอปรับขึ้นสินค้าให้สอดคล้องกับภาวะราคาวัตถุดิบที่แพงขึ้น
สำหรับสถานการณ์ตลาดปุ๋ยโดยรวมในปีนี้ได้รับอานิสงส์จากค่าเงินบาทแข็ง ทำให้เกษตรกรไทยสามารถซื้อปุ๋ยเคมีได้ในราคาถูกกว่าปี 2552 พอสมควร แต่เนื่องจากในปีนี้เจอปัญหาฝนแล้ง น้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสินค้าเกษตรมีราคาไม่สูงนัก ทำให้ตัวเลขการใช้ปุ๋ยเคมีภายในประเทศมีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมีปริมาณการใช้ปุ๋ยเพียง 3.5 ล้านตัน ขณะเดียวกันผู้ค้าปุ๋ยแต่ละรายต้องแบกรับ
สต๊อกปุ๋ยที่ซื้อในราคาแพงตั้งแต่ปีก่อน จึงเกิดการแข่งขันทางการตลาดรุนแรงมากขึ้นในปีนี้ ทั้งในแง่การขาย การโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้า
ปัญหาการชะลอตัวทางการตลาด ทำให้ผู้ค้าปุ๋ยส่วนใหญ่ต้องแบกรับสต๊อกปุ๋ยราคาแพงจำนวนมาก แต่ละรายพยายามประคองตัวเองเพื่อให้เกิดภาวะการขาดทุนน้อยที่สุด นอกจากนี้มีแนวโน้มว่าภาวะราคาปุ๋ยเคมีในช่วง 1-3 ปีข้างหน้า จะปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นแม่ปุ๋ยสำหรับธาตุไนโตรเจน ยูเรีย (46-0-0) แม่ปุ๋ยสำหรับธาตุฟอสฟอรัส (DAP) 18-46-0 แม่ปุ๋ยสำหรับธาตุโพแทสเซียม (MOP) 0-0-60 ดังนั้นผู้ค้าปุ๋ยจึงต้องรีบวางแผนการจัดซื้อปุ๋ยเคมีล่วงหน้าให้มีต้นทุนต่ำที่สุด
"จากปัจจัยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ผู้ค้าปุ๋ยเตรียมจะยื่นหนังสือถึงกรมการค้าภายในให้เข้าใจ เพื่อปรับราคาจำหน่ายให้สอดคล้องกับภาวะต้นทุนที่เกิดขึ้น หากภาครัฐพิจารณาเรื่องปรับราคาล่าช้าไป 1 เดือน อาจทำให้ผู้ค้าปุ๋ยสูญเสียโอกาสในการนำเข้าปุ๋ยราคาถูกจากต่างประเทศ และอาจถอดใจชะลอการนำเข้าปุ๋ย จนเกิดปัญหาขาดแคลนปุ๋ยเคมีสำหรับใช้ในการเพาะปลูกในปีหน้าได้" แหล่งข่าวกล่าวในที่สุด
นายเปล่งศักดิ์ ประกาศเภสัช นายกสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นยอมรับว่ามีส่วนช่วยลดต้นทุนการนำเข้าของผู้ผลิตปุ๋ยได้บางส่วน แต่ก็ไม่ทั้งหมดเพราะต้นทุนส่วนอื่น ๆ ยังสูงขึ้นอยู่ อย่างไรก็ตาม สมาคมก็ยินดีปฏิบัติตามนโยบาย โดยจะทำหนังสือเวียนให้กับสมาชิกได้รับทราบจำหน่ายปุ๋ยตามที่กระทรวงพาณิชย์สั่ง ซึ่งในส่วนนี้เราสามารถควบคุมราคาได้แต่เฉพาะหน้าโรงงานเท่านั้น แต่ในส่วนดีลเลอร์ หรือยี่ปั๊วซาปั๊วที่จะนำปุ๋ยไปขายต่อให้ถึงมือเกษตรนั้น สมาคมไม่สามารถเข้าไปควบคุมได้
"ผมคิดว่าภาครัฐต้องทำความเข้าใจกับการผลิตปุ๋ยอย่างแท้จริง ไม่ใช่จะคิดจะหาเสียง และหาทางกดดันผู้ประกอบการ เพื่อมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง สุดท้ายผู้ประกอบการในประเทศก็ต้องล้มหายตายจากกันไปหมด" นายเปล่งศักดิ์กล่าว
จาก http://www.prachachat.net วันที่ 14 ตุลาคม 2553
ก๊อกสองลดภาษี-หักค่าเสื่อม รัฐพยุงผู้ส่งออกแก้'บาทแข็ง'
คลังเตรียมมาตรการชุดสอง "ลดภาษีหักค่าเสื่อม 100% ในปีแรก" เข้า ครม.ภายในตุลาคมนี้ หวังพยุงผู้ส่งออกต่อเนื่อง แลกสูญเสียรายได้เข้ารัฐ 10,000 ล้านบาท พบแค่ครึ่งเดือนแรกที่ผ่านมา ทุนนอกทะลักตลาดหุ้น-ตราสารหนี้กว่า 120,000 ล้านบาท ถือเป็นปัจจัยหนุนบาทแข็งไม่เลิก ธุรกิจอ้อย-น้ำตาล ขึ้นแท่นเหยื่อรายล่าสุด
หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติมาตรการลดผลกระทบค่าบาท และมาตรการชะลอการไหลเข้าของเงินทุน ต่างประเทศ เมื่อวันที่ 12 ตุลาคมที่ผ่านมา กระทรวงการคลังกำลังพิจารณามาตรการพยุงผู้ส่งออกชุดที่สองออกมา โดยคาดหวังว่ามาตรการใหม่จะแล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคมนี้
หวัง withholding tax ชะลอทุนไหลเข้า
นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง แถลงว่า ครม.มีมติเห็นชอบมาตรการเพื่อลดผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วในเดือนที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งคือ มาตรการชะลอเงินทุนไหลเข้า ให้ยกเลิกสิทธิพิเศษให้ นักลงทุนต่างประเทศที่เข้ามาซื้อพันธบัตรรัฐบาล ได้รับการยกเว้นภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 13 ต.ค. 2553 เป็นต้นไป
นายกรณ์อธิบายว่า สิทธิพิเศษการยกเว้นภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% ให้นักลงทุนต่างชาติ เป็นไปตามนโยบายในอดีตที่ต้องการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ จึงต้องการให้นักลงทุนต่างประเทศเข้ามาซื้อพันธบัตรรัฐบาล แต่ขณะนี้มีเพียงพอแล้ว โดยช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา สัดส่วนการถือครองตราสารหนี้โดยนักลงทุนต่างชาติอยู่ที่ 10% หรือ คิดเป็นมูลค่ากว่า 120,000 ล้านบาท จากเดิมสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 3% เท่านั้น และ นักลงทุนต่างประเทศเองใช้ตลาดตราสารหนี้ และพันธบัตรรัฐบาลเป็นที่พักเงิน จึงเห็นว่าควรจะปรับสิทธิ์ลดลงให้เท่ากับนักลงทุนไทย ส่วนนักลงทุนต่างประเทศที่ซื้อพันธบัตรรัฐบาลก่อนหน้านี้จะได้รับสิทธิ์ยกเว้นภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% คงเดิม
รมว.คลังกล่าวยอมรับว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจะทำให้การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลลดลง เพราะค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น 1 บาท จะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ลดลง 0.4% ซึ่งการจัดเก็บรายได้ก็จะต้องลดลงตามสัดส่วนของจีดีพีเช่นกัน แต่รัฐบาลยังไม่มีความกังวลในเรื่องนี้ ส่วนราคาสินค้าเกษตรที่อ้างว่าลดลงตามค่าเงินนั้นไม่เป็นความจริง เพราะราคาข้าวในรูปเงินดอลลาร์ปรับตัวสูงขึ้น ดังนั้นการที่เห็นว่ามีการซื้อสินค้าราคาถูกจากเกษตรกรเป็นการกดราคาต่ำกว่าความเป็นจริง ซึ่งรับไม่ได้ เพราะเป็นการเอาเปรียบชาวนา
กระตุ้นปรับโครงสร้างการผลิต
นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กำลังพิจารณาการนำรายจ่ายจากการนำเข้าเครื่องมาหักค่าเสื่อมได้ 100% ในปีแรก จากปัจจุบันสามารถหักค่าเสื่อมได้ 20% ภายใน 5 ปี เพื่อกระตุ้นภาคส่งออกปรับโครงสร้างการผลิต ในส่วนนี้หากดำเนินการอาจทำให้รัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 10,000 ล้านบาท แต่เพื่อช่วยให้ผู้ส่งออกอยู่ได้ก็ยอมที่จะสูญเสีย
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังกำลังพิจารณาจะยกเว้นภาษีการนำเข้าเครื่องจักรที่ไม่สามารถผลิตได้ในประเทศ จากปัจจุบันจัดเก็บในอัตรา 1-3% โดยนายประสิทธิ์ระบุว่า จะพิจารณาปรับลดได้ต่ำลงมากที่สุด รวมถึงภาษีอื่น ๆ ในภาพรวม เช่น ภาษีน้ำมัน ก็มีการดูอยู่
"มาตรการดังกล่าวคาดว่าจะพิจารณาศึกษาได้ข้อสรุปและเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ภายใน ต.ค.นี้ แต่มีข้อสังเกตจากการพูดคุยกับสภาอุตสาหกรรมฯและสภาหอการค้า พบว่า ความจำเป็นที่ผู้ส่งออกต้องการมากที่สุดคือมาตรการชุดแรกที่ผ่าน ครม.วานนี้ (12) โดยเฉพาะเอสเอ็มอีประมาณ 10,000 ราย เพราะส่วนใหญ่มีปัญหาสภาพคล่อง" นายประดิษฐ์กล่าว
ชี้มาตรการใหม่เป็นผลดีทางจิตวิทยา
ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของตลาดภายหลังคณะรัฐมนตรีอนุมัติมาตรการสกัดการแข็งค่าของเงินบาท พบว่า ค่าเงินบาทยังคงเดินหน้าแข็งค่าต่อเนื่อง โดยตลอดเวลาทำการของวันที่ 12 ต.ค. เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 29.95-30.08 บาท/ดอลลาร์
ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล ณ วันที่ 12 ต.ค. มีการปรับตัวลดลงทุกกลุ่มอายุ เมื่อเทียบกับวันก่อนหน้า เช่น พันธบัตรอายุ 3 ปี อัตราผลตอบแทนอยู่ที่ 2.51% ลดลงจาก 2.55% อายุ 5 ปี อยู่ที่ 2.60% ลดลงจาก 2.75% อายุ 10 ปี อยู่ที่ 3.10% ลดลงจาก 3.12% และอายุ 15 ปี อยู่ที่ 3.39% ลดลงจาก 3.43% โดยตลอดวันนักลงทุนทุกประเภทมีการซื้อสุทธิ รวมกันที่ 30,013.73 ล้านบาท
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า มาตรการที่ออกมาไม่สามารถสกัดการแข็งค่าของเงินบาทได้ เพราะกระทบต่ออัตราผลตอบแทนที่นักลุงทนต่างชาติค่อนข้างน้อย เนื่องจากเป็นการเก็บภาษีบนอัตราดอกเบี้ยและกำไรจากการขายพันธบัตร (capital gain) ซึ่งปกติในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น
นักลงทุนจะไม่มีกำไรจาก capital gain ดังนั้นภาษีที่เก็บก็จะอยู่บนดอกเบี้ยเท่านั้น
"ยกตัวอย่างเช่นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปัจจุบันอยู่ที่ 2% ถ้าเก็บ 15% บน 2% ก็เท่ากับหายไป 0.3% แต่เทียบกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น เฉพาะ 3 เดือน ที่ผ่านมาก็ 8% แล้ว ดังนั้นส่วนที่เขาเสียไปถือว่าน้อยมาก ดังนั้นมาตรการนี้จึงมีผลเชิงจิตวิทยาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น"
นางสาวอาภาภรณ์ แสวงพรรค รองผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ดีบีเอส วิคเคอร์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวทำให้มีความชัดเจนต่อตลาดลงทุน และเป็นผล ทางจิตวิทยาว่าตลาดหุ้นจะไม่มีมาตรการร้ายแรงภายในเข้ามากระทบในช่วงนี้ จึงเชื่อว่าจะเห็นเม็ดเงินต่างชาติยังทยอยเข้ามาลงทุนอีกจำนวนมาก ประกอบกับล่าสุดธนาคารกลางสหรัฐเตรียมจะอัดฉีดสภาพคล่องเข้ามาในระบบเป็นรอบที่ 2 จึงยิ่งกดดันให้เงินต่างชาติไหลออกไปลงทุนนอกประเทศ ซึ่งประเทศที่ต่างชาติจะเลือกลงทุนยังเป็นประเทศในเอเชียมากกว่า ซึ่งยิ่งทำให้ประเทศสหรัฐและยุโรปอ่อนค่าลงอีกเมื่อเทียบกับค่าเงินในสกุลเอเชีย
ในแง่สัดส่วนนักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นไทย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นไทยมีสัดส่วนลดลงต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2548 ที่อยู่ 28% ของมูลค่าการซื้อขายรวม แต่ปัจจุบันในปี 2553 มีสัดส่วนเฉลี่ยที่ 19% เทียบเท่ากับสิ้นปีก่อน ทั้งนี้ปัจจัยที่ส่งผลต่อการลดลงนอกจากภาวะตลาดหุ้นที่เปลี่ยนแปลงตามตัวแปรภาวะเศรษฐกิจโลกและการเมืองไทย ยังมีปัจจัยพอร์ตโบรกเกอร์เข้ามามีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมากในปีนี้จาก 5 ปีก่อนอยู่ที่ 4% มาอยู่ที่ 13% ในปีนี้ และปัจจัยมูลค่าการซื้อขายที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงในปีนี้ด้วย
ขณะที่ข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ยอดคงค้างพันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ และพันธบัตร ธปท. ณ สิ้น ก.ย. 2553 มีจำนวน 5,015,288 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้น ธ.ค. 2552 ที่มีจำนวน 4,316,956 ล้านบาท หรือ 16.17% โดยพันธบัตร ธปท.เพิ่มขึ้นมากที่สุด 24% หรือมียอดคงค้าง 2,219,731 ล้านบาท รองลงมาคือพันธบัตรรัฐบาล 13.32% หรือ มียอดคงค้าง 2,442,397 ล้านบาท ขณะที่พันธบัตรรัฐวิสาหกิจมีจำนวนลดลง 5.19% หรือมียอดคงค้าง 352,860 ล้านบาท
ราคาอ้อยขั้นต้นไม่ถึง 1,000 บาท/ตัน
ปัญหาบาทแข็งค่าได้ส่งผลกระทบต่อสินค้าเกษตรหลายรายการ โดยล่าสุด เป็นสินค้าเกษตร กลุ่มอ้อยและน้ำตาล นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 7 เปิดเผยว่า ผลกระทบอาจจะทำให้ราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิต 2553/2554 ไม่ถึง 1,000 บาท/ตันตามที่ได้มีการคาดหมายไว้ในตอนแรก ต้องหารือกันว่าจะแก้ไขกันอย่างไร
"เมื่อเทียบกับการคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2552/2553 ใช้ฐานอัตราแลกเปลี่ยนที่ 33 บาท/เหรียญสหรัฐ ซึ่ง เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นทุก ๆ 1 บาท/เหรียญสหรัฐ จะมีผลทำให้ราคาอ้อยลดลงประมาณ 27 บาท/ตัน ดังนั้นเมื่อเงินบาท อยู่ที่ 30 บาท/เหรียญสหรัฐ เท่ากับทำให้ราคาอ้อยหายไปกว่า 80 บาท/ตัน"
นายประกิต ประทีปะเสน ประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กล่าวว่า หากเงินบาทแข็งค่ามาอยู่ที่ระดับ 29 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ราคาอ้อยขั้นต้นจะลดลงเหลือ 942.24 บาทต่อตัน ซึ่งเมื่อเทียบกับราคาอ้อยขั้นต้นของฤดูการผลิตปี 2552/2553 ที่ 965 บาทต่อตัน จะทำให้ชาวไร่อ้อยมีรายได้ลดลงเกือบ 23 บาทต่อตันอ้อย และยิ่งหากนำไปเปรียบเทียบกับราคาอ้อยขั้นสุดท้ายของ ฤดูการผลิตปี 2552/2553 ซึ่งคาดว่าเฉลี่ยทั่วประเทศจะสูงถึง 1,102 บาทต่อตันอ้อย ก็จะเห็นว่าต่ำกว่ากันถึงประมาณ 160 บาทต่อตันอ้อย
จาก http://www.prachachat.net วันที่ 14 ตุลาคม 2553
น้ำมันขึ้น60สต. บางจากปรับทัพ ชะลอโรงกลั่น
ผู้ค้าน้ำมันแจ้งปรับขึ้นราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน 60 สตางค์ต่อลิตร ดีเซล 40 สตางค์ต่อลิตร บางจากตั้งเป้าแผนลงทุนอีก 5 ปี ลดสัดส่วนธุรกิจโรงกลั่นเหลือ 50% ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ค้าน้ำมัน ปตท.และบางจาก ได้ประกาศปรับขึ้นราคาขายปลีกน้ำมันกลุ่มเบนซิน 60 สตางค์ต่อลิตร กลุ่มดีเซล 40 สตางค์ต่อลิตร ยกเว้นแก๊สโซฮอล์ อี85 ที่แจ้งปรับขึ้นราคา 30 สตางค์ต่อลิตร โดยจะมีผลเช้าวันที่ 13 ต.ค.53 หลังจากที่ผู้ค้าน้ำมันต่างชาติปรับขึ้นไปก่อนหน้านี้ ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นดังนี้ เบนซิน 91 อยู่ที่ 35.64 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์ 95 อยู่ที่ 31.84 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 30.34 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์ อี20 อยู่ที่ 29.54 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์ อี85 อยู่ที่ 19.02 บาทต่อลิตร ดีเซลอยู่ที่ 28.79 บาทต่อลิตร และไบโอดีเซล บี5 อยู่ที่ 22.59 บาทต่อลิตร
ด้านนายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บางจากปิโตรเลียม กล่าวว่า ในช่วงอีก 5 ปี (53-57) ข้างหน้า บางจากมีแผนที่จะลงทุนเพิ่มอีก 2.3 หมื่นล้านบาท โดยจะเน้นการลงทุนด้านพลังงานทดแทนเพื่อลดความเสี่ยงของธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน โดยปีหน้าจะมีการปรับสัดส่วนธุรกิจโรงกลั่นลงจาก 70% เหลือ 50% และจะรุกธุรกิจใหม่เพิ่มเป็น 30% เช่น การลงทุนพลังงานสะอาด (พลังงานแสงอาทิตย์และลม) การลงทุนเหมืองแร่โปแตช การลงทุนโรงงานผลิตเอทานอล การศึกษาสาหร่ายน้ำมัน และการปลูกปาล์มน้ำมันเพื่อผลิตไบโอดีเซล ส่วนที่เหลืออีก 20% จะเป็นธุรกิจตลาดน้ำมัน
"ตามแผนลงทุนอีก 5 ปีข้างหน้า จะทำให้กำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษีและค่าเสื่อม (อีบิด้า) ของบางจากเพิ่มเป็น 1 หมื่นล้านบาทต่อปี จากปกติที่ 5.5-6 พันล้านบาทต่อปี" นายอนุสรณ์กล่าว
จาก http://www.thaipost.net วันที่ 13 ตุลาคม 2553
"รถตัดอ้อย" นำทีมนวัตกรรมคนไทยโชว์ในงาน TechnoMart 2010
ขบวนนวัตกรรมและเทคโนโลยีฝีมือคนไทย อาทิ หุ่นยนต์รักษาความปลอดภัย รถพลังงานไฮโดรเจน เตรียมโชว์ใน "TechnoMart InnoMart 2010" รถตัดอ้อยรับรางวัลสุดยอดเครื่องจักรกลแห่งปี พร้อมแจกขลุ่ยแนวใหม่ทำจากไม้ประกอบพลาสติก ฟรี 2,000 ชิ้น
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) แถลงข่าวการจัด "งานเทคโนโลยีและนวัตกรรมของไทย ประจำปี 2553" (TechnoMart InnoMart 2010) เมื่อวันที่ 11 ต.ค. ที่ผ่านมา พร้อมทั้งนำตัวอย่างผลงานเครื่องจักรกล เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่สร้างสรรค์โดยคนไทยมาจัดแสดงเพื่อเป็นการโหมโรง ก่อนเริ่มงานจริงวันที่ 16 ต.ค.นี้ ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี
ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รมว.วท. กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จัดงานเทคโนโลยีและนวัตกรรมของไทยเป็นประจำทุกปีเพื่อแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่คนไทยสร้างขึ้น โดยปีนี้นับเป็นปีที่ 10 ของการจัดงาน ที่จัดขึ้นภายใต้แนวคิด "สร้างสรรค์เศรษฐกิจ พิชิตความจน ประชาชนเข้มแข็ง ด้วยเทคโนโลยี และนวัตกรรมของไทย"
"วัตถุประสงค์หลักของการจัดงานนี้ก็เพื่อสร้างความตระหนักให้แก่เยาวชนไทยในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ และเผยแพร่เทคโนโลยีและนวัตกรรมจากฝีมือคนไทยให้ผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปได้ชม เพื่อให้เกิดการต่อยอดนำไปประยุกต์ใช้งานจริงในภาคอุตสาหกรรม และช่วยลดการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ" ดร.วีระชัย กล่าว
งานเทคโนโลยีและนวัตกรรมของไทยยังจัดให้มีการประกวด "รางวัลเทคโนโลยีเครื่องจักรกลยอดเยี่ยม" ด้วย โดยแบ่งเป็น 3 สาขา ได้แก่ เครื่องจักรกลการเกษตร เครื่องจักรกลการผลิต และเครื่องจักรกลเพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งผลงาน "รถตัดอ้อย" จากบริษัท พัฒนกิจบ้านโป่ง จำกัด ได้รับรางวัลชนะเลิศสาขาเครื่องจักรกลการเกษตร และรางวัลสุดยอดเทคโนโลยีเครื่องจักรกลยอดเยี่ยม ประจำปี 2553
นายบุญยง มานิตย์โชติพิสิฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พัฒนกิจบ้านโป่ง จำกัด เปิดเผยต่อทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ว่า ทางบริษัทดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องจักรกลทางการเกษตรมาเป็นเวลากว่า 50 ปี และจากปัญหาขาดแคลนแรงงานในการตัดอ้อย ในขณะที่ความต้องการปลูกอ้อยเพิ่มขึ้น จึงเริ่มพัฒนารถตัดอ้อยเรื่อยมา แต่ยังไม่ประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ จนถึงรถตัดอ้อยคันล่าสุดที่ได้รับรางวัลในปีนี้ ซึ่งเป็นคันที่ 11 ที่พัฒนาร่วมกับชาวไร่อ้อยในจังหวัดราชบุรี และผ่านการทดสอบการใช้งานจริงมานานกว่า 5 ปีแล้ว โดยพร้อมที่จะผลิตจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ในเร็วๆ นี้
"รถตัดอ้อยที่พัฒนาขึ้นมีจุดเด่นที่ควบคุมการทำงานด้วยระบบสมองกลฝังตัว จึงใช้งานง่าย ตัดอ้อยสดโดยสับเป็นท่อนๆ มีพัดลมดูดแยกใบอ้อยออก แล้วส่งขึ้นสายพานลำเลียงไปยังรถบรรทุก ทำให้ได้อ้อยสดที่สะอาด พร้อมเข้าสู่โรงงานแปรรูปทันที โดยสามารถตัดอ้อยได้ประมาณ 30 ตันต่อชั่วโมง ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานตัดอ้อยได และลดการนำเข้ารถตัดอ้อยที่มีราคาสูงถึงคันละ 10 ล้านบาท" นายบุญยง ระบุและบอกว่าในอีก 2 เดือนข้างหน้าจะเริ่มเปิดโรงงานผลิตรถตัดอ้อยสู่ตลาด
รถตัดอ้อยและผลงานอื่นๆ ที่ได้รับรางวัลเครื่องจักรกลยอดเยี่ยมจะถูกนำไปจัดแสดงภายในงานเทคโนโลยีและนวัตกรรมของไทย ร่วมกับเทคโนโลยีอื่นๆ ที่พัฒนาขึ้นโดยคนไทยอีกว่า 400 ผลงาน อาทิ ขลุ่ยไทยจากไม้ประกอบพลาสติก เครื่องชงกาแฟควบคุมแบบดิจิทัล หุ่นยนต์รักษาความปลอดภัย รถพลังงานไฮโดรเจน อากาศยานไร้คนขับเอนกประสงค์ เป็นต้น
ภายในงานยังมีการจัดนิทรรศการแสดงพระอัจฉริยภาพในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ในฐานะที่ทรงเป็น "พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย" และ "พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย" และเนื่องในโอกาสที่ปีนี้เป็นปีที่ 10 ของการจัดงาน กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จึงร่วมกับสมาคมนักแต่งเพลงแห่งประเทศไทย ประพันธ์บทเพลงเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 2 เพลง คือ "เพลงพระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย" และ "เพลง 19 ตุลา วันเทคโนโลยีของไทย"
ทั้งนี้ งานวันเทคโนโลยีและนวัตกรรมของไทย จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-20 ต.ค. 2553 เวลา 10.00-20.00 น. ณ อาคารชาเลนเจอร์ 2 อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยนอกจากแสดงนิทรรศการเทคโนโลยีและนวัตกรรมของไทยแล้วยังมีกิจกรรมปาฐกถาพิเศษเรื่อง "นวัตกรรม อมตะ" โดย นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อมตะคอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยการสัมมนา เสวนา นัดพบผู้ประกอบการ การแข่งขันโรบอทกู้ภัย และการฝึกอบรมอาชีพ เป็นต้น
ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมงานดังกล่าวได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 0-2333-3700 หรือ http://www.most.go.th/technomart2010/ และพิเศษ! ภายในงานจะมีการแจกขลุ่ยไทยจากไม้ประกอบพลาสติกฟรี สำหรับผู้ที่เป่าขลุ่ยเป็น จำนวน 2,000 ชิ้น
จาก http://www.manager.co.th วันที่ 13 ตุลาคม 2553
เพลิงไหม้รง.น้ำตาลวังขนายโคราช สูญกว่า20ล้าน-คาดไฟฟ้าลัดวงจร
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา-เกิดเหตุไฟไหม้อาคารโรงผลิตไฟฟ้าชีวมวล โรงงานน้ำตาลวังขนายโคราชคาดสูญกว่า 20 ล้านบาท เบื้องต้นสันนิษฐานเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร ด้าน ผอ.โรงงาน ระบุทำประกันภัยไว้กับบริษัทกรุงเทพฯ ไม่กระทบการผลิตเหตุอยู่ในช่วงปิดหีบ โชคดีไม่มีผู้บาดเจ็บเสียชีวิต
วานนี้(13 ต.ค.)เมื่อเวลา 11.30 น. พ.ต.ท.ชโลธร ใจอ่อน สารวัตรเวร สภ.แก้งสนามนาง อ.แก้งสนามนาง จ.นครราชสีมา ได้รับแจ้งเกิดเหตุไฟไหม้อาคารภายในโรงงานน้ำตาลบริษัท น้ำตาลราชสีมา จำกัด ในเครือบริษัท อุตสาหกรรมอ่างเวียน จำกัด หรือ กลุ่มวังขนาย ตั้งอยู่เลขที่ 223 หมู่ 1 ถนนนิเวศรัตน์ ต.แก้งสนามนาง อ.แก้งสนามนาง จึงนำกำลังรุดตรวจสอบที่เกิดเหตุพร้อมประสานรถดับเพลิงในพื้นที่ใกล้เคียงเข้าทำการสกัดเพลิง
ในที่จุดเกิดเหตุเป็นอาคารคอนกรีตขนาด 3 ชั้น ที่ตั้งโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าชีวมวล เพื่อใช้ภายในโรงงานน้ำตาลและจำหน่าย ซึ่งไฟได้ไหม้อาคารในส่วนที่ตั้งอุปกรณ์หล่อเย็นเครื่องกำเนิดไฟฟ้า โดยมีนายพีระพล ตันทะโอภาส นายอำเภอแก้งสนามนาง และ พ.ต.ท.ขวัญเมือง โกสุมา รอง ผกก.สส.สภ.แก้งสนามนาง เดินทางมาดูสถานที่เกิดเหตุพร้อมอำนวยการสั่งการดับเพลิงด้วยตัวเอง เจ้าหน้าที่ต้องใช้เวลานานกว่า 1 ชั่วโมงจึงสามารถควบคุมเพลิงไว้ได้ ตรวจสอบไม่พบมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุเพลิงไหม้ดังกล่าวแต่อย่างใด
นายนิเวศน์ ง่วนสำอางค์ ผู้อำนวยการอาวุโสบริหารกิจการโรงงานน้ำตาลราชสีมา เผยว่า ในช่วงเกิดเหตุไม่มีคนงานอยู่ในสถานที่ดังกล่าว เบื้องต้นคาดว่าเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจรเนื่องจากภายในโรงงานมีสายไฟอยู่จำนวนมาก ซึ่งทางโรงงานได้ทำประกันภัยไว้กับบริษัทกรุงเทพประกันภัย และภายในอาคารเป็นโรงงานผลิตไฟฟ้ามีอุปกรณ์และเครื่องหล่อเย็นราคาแพงอยู่
การเกิดเหตุเพลิงไหม้ดังกล่าว ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการผลิตของโรงงานแต่อย่างใด เนื่องจากขณะนี้โรงงานอยู่ในช่วงการปิดหีบอ้อย และจะเปิดหีบรับซื้ออ้อยเข้าโรงงานในช่วงเดือน ธ.ค.53-พ.ค.54 นี้ ซึ่งมีเกษตรกรนำอ้อยขายป้อนโรงงานปีละกว่า 1.5 ล้านตัน
ด้าน พ.ต.ท.ชโลธร ใจอ่อน สารวัตรเวร สภ.แก้งสนามนาง กล่าวว่า จากการสอบสวนเบื้องต้นทราบว่า จุดที่เป็นต้นเพลิงเป็นส่วนที่เก็บเครื่องหล่อเย็นซึ่งมีกระแสไฟฟ้าอยู่ จึงคาดว่ากระแสไฟฟ้าน่าจะลัดวงจรเกิดเปลวไฟ ขึ้นจึงทำให้เกิดเพลิงไหม้ดังกล่าว ประเมินความเสียหายเบื้องต้นประมาณ 20 ล้านบาท อย่างไรก็ตามต้องรอการพิสูจน์ของเจ้าหน้าที่ชุดวิทยาการอีกครั้งเพื่อสาเหตุที่แท้จริงต่อไป
จาก http://www.manager.co.t วันที่ 13 ตุลาคม 2553
นักวิชาการ มองมาตรการรับมือค่าบาทแข็ง ควรจูงใจเอกชน เร่งลงทุนนอก
"ดร.วรพล" ระบุมาตรการรับมือค่าเงินบาทที่ชะลอเงินทุนไหลเข้า และมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีส่งออกมีความเหมาะสม แต่มาตรการส่งเสริมการใช้เงิน ตราต่างประเทศทำเฉพาะงบลงทุนของภาครัฐ ชี้ควรจะออกมาตรการจูงใจเอกชนให้ใช้เงินปรับปรุงเครื่องจักร ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันใน ระยะยาว อยากให้รัฐบาล ตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนต่างประเทศ ลดภาษีนำเข้า ให้แรงจูงใจหักลดหย่อนภาษีได้เพิ่มขึ้น เป็นต้น
ดร.วรพล โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการ ศูนย์เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวในรายการ "คุยนอกทำเนียบ" NBT กล่าวว่าการ แก้ไขค่าเงินบาทแข็งไม่สามารถทำได้ง่ายๆ เพราะเกิดจากเงินทุนเคลื่อนย้ายเข้ามาในประเทศแถบเอเชียมาก เนื่องจากค่าเงินดอลลาร์อ่อน ซึ่งสหรัฐฯพยายามทำ ให้ดอกเบี้ยต่ำและรัฐบาลจะเพิ่มสภาพคล่องในระบบ ทำให้มีแนวโน้มว่าค่าเงินดอลลาร์จะอ่อนลงไปอีกนาน ทำให้มีเงินทุนไหลเข้ามาในเอเชีย ลงทุนในตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ ซึ่งไม่มีสามารถไปควบคุมค่าเงินได้เนื่องจากเงินทุนหมุนเวียนทั่วโลกมีปริมาณ 4 ล้านล้านดอลลาร์ จึงต้องมาดูว่าเราจะทำอย่างไรให้ค่าเงิน ผันผวนน้อยที่สุด และเราจะอยู่อย่างไรในภาวะที่ค่าเงินดอลลาร์อ่อน และคาดว่าจะอ่อนค่าลงไปอีกนาน
ดร.วรพล กล่าวว่ามาตรการต่างๆที่รัฐบาลออกมา ประกอบด้วย 1. มาตรการเพื่อชะลอเงินทุนไหลเข้า เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยของไทยสูงกว่าดอกเบี้ยสหรัฐฯ โดยมีส่วนต่างกว่า 1% ปัจจุบันเรามีภาษีหัก ณ ที่จ่ายจากกำไรและ ดอกเบี้ยการลงทุนในตราสารหนี้ 15% แต่ได้ยกเว้นให้นิติบุคคลต่างประเทศ ก็ใช้โอกาสนี้ยกเลิกการยกเว้นภาษี ถ้าได้ดอกเบี้ยหรือได้กำไรจากการขายพันธบัตรก็ ต้องเสียภาษี 15%ของดอกเบี้ยหรือกำไร ทำให้นักลงทุนต่างชาติก็อาจจะทบทวนการลงทุนที่จะได้ผลตอบแทนลดลงเล็กน้อย แต่นักลงทุนก็จะดูจากปัจจัยอื่นๆด้วย เช่น โครงสร้างการลงทุน เงื่อนไขการลงทุน ความมั่นคงของประเทศ ความเสี่ยงในการลงทุน ตนเห็นว่ามาตรการนี้มีความเหมาะสมเป็นการใช้วิธีที่นุ่มนวล ให้ กลไกตลาดคอยกำกับ ซึ่งมีผลทางจิตวิทยา โดยรัฐบาลก็ต้องคอยดูไม่ให้ดอกเบี้ยไทยกับดอกเบี้ยต่างประเทศต่างกันมากเกินไป
2. ส่งเสริมให้ใช้เงินตราต่างประเทศออก เช่น การใช้จ่ายงบลงทุนที่ใช้สกุลเงินต่างประเทศ ก็จะรีบชำระค่าสินค้า รีบจ่ายเงินออกขณะที่เงินบาทแข็งค่า ก็เป็นช่อง ทางที่ให้เงินต่างประเทศไหลออก แต่เป็นเฉพาะส่วนของรัฐบาล ตนเห็นว่าน่าจะมีการตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนเอกชนที่จะ ไปลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งรัฐบาลอาจจะมีขั้นตอนต่อไป อยากให้รัฐบาลส่งเสริมเอกชนให้ใช้ประโยชน์จากการที่ค่าเงินบาทแข็ง สนับสนุนให้เอกชนเปลี่ยนเครื่อง จักร เปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิต เพื่อลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขัน อยากให้รัฐบาลลดภาษีนำเข้าที่อยู่ที่ 4-5% หรืออาจจะให้เอกชนนำค่าใช้จ่ายลงทุน เครื่องจักรมาหักลดหย่อนภาษีได้เพิ่มขึ้น หรือให้หักค่าเสื่อมให้เร็วขึ้น ต้องชักจูงให้เอกชนเอาเงินตราต่างประเทศไปใช้ ส่งเสริมมีต้นทุนผลิตถูกลง รัฐบาลก็ควรลง ทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแข่งขัน
3. มาตรการช่วยเอกชนที่ได้รับผลกระทบ โดยช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ส่งออก ช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ โดยมีวงเงินสินเชื่อให้รายละ 3-5 หมื่น ดอลลาร์ ให้อัตราดอกเบี้ยพิเศษ การให้สินเชื่อแพ็คกิ้งเครดิต ผ่านธนาคารของรัฐ ซึ่งจากการที่เงินบาทแข็งค่าผู้ประกอบการมีรายได้ลดลง เงินหมุนเวียนลดลง ก็ ถือว่าแก้ปัญหาได้ถูกจุด ส่วนกรณีการป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน รัฐบาลจะเข้าไปช่วยเหลือค่าธรรมเนียมในการซื้อสัญญาฟอร์เวิร์ด หรือสัญญาประกันความเสี่ยง หากซื้อเองต้องจ่ายค่าธรรมเนียม ตอนนี้รัฐก็เข้ามาดูแลเรื่องค่าธรรมเนียมให้ ก็ช่วยได้เช่นกัน
ดร.วรพล กล่าวว่ามาตรการในแง่ดูแลเอสเอ็มอี น่าจะพอรับได้แล้ว เพราะตรงเป้า เข้าไปแก้ปัญหา แต่ถ้าจะส่งเสริมให้ซื้อเครื่องจักร ปรับปรุงการผลิต เพิ่ม ศักยภาพในการแข่งขัน ก็น่าจะเพิ่มมาตรการเข้าไป เพื่อช่วยให้เอสเอ็มอีมีต้นทุนผลิตที่ต่ำลงด้วย
จาก http://www.manager.co.th วันที่ 13 ตุลาคม 2553
ชาวไร่กระอักราคาขั้นต้นปี53/54 ร่วง
นายประกิต ประทีปะเสน ประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคม โรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า จากกรณีที่ค่าเงินเหรียญสหรัฐอ่อนลง จนทำให้เงินบาทแข็งค่าอยู่ในระดับต่ำกว่า 30 บาท/เหรียญสหรัฐ ในขณะนี้ ทำให้ 3 สมาคมน้ำตาล มีความเป็นห่วงว่าจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของชาวไร่อ้อย เนื่องจากสัดส่วนรายได้จากการจำหน่ายน้ำตาล 70% เป็นของชาวไร่อ้อย และน้ำตาลที่ผลิตได้ในประเทศจะส่งออกไปขายต่างประเทศประมาณ 2 ใน 3 ของทั้งหมด โดยตีราคาเป็นสกุลเงินเหรียญสหรัฐ ดังนั้น เงินบาทที่แข็งขึ้นจะทำให้รายได้จากการส่งออกลดลง
"3 สมาคม ได้ศึกษาผลกระทบของอัตราแลกเปลี่ยนและราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลก ที่ส่งผลต่อราคารับซื้ออ้อย พบว่าค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นทุกๆ 1 บาท/เหรียญสหรัฐ จะส่งผลให้ราคารับซื้ออ้อยลดลงประมาณ 23 บาท/ตัน จึงอยากฝากถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ตระหนักด้วยว่า อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย รวมไปถึงชาวไร่อ้อยก็ได้รับผลกระทบด้วย ซึ่งจากการศึกษาความผันแปรของอัตราแลกเปลี่ยนต่อราคาอ้อยที่ราคาน้ำตาลทรายดิบส่งออก 20.50 เซ็นต์/ปอนด์ อัตราแลกเปลี่ยนที่จะทำให้ได้ราคาอ้อยขั้นต้นของฤดูการผลิตปี53/54 ที่ 965.79 บาท/ตัน ใกล้เคียงกับราคาอ้อยขั้นต้นของปีที่แล้ว ค่าเงินบาทควรอยู่ที่ 30 บาท/เหรียญสหรัฐ" นายประกิตกล่าว
ทั้งนี้ ในการกำหนดราคารับซื้ออ้อยขั้นต้นของฤดูการผลิตปี53/54 หากใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่ 30.50 บาท/เหรียญสหรัฐ ค่าความหวานเฉลี่ย 10 ซี.ซี.เอส. และราคาน้ำตาลทรายดิบส่งออก (โควตา ข.) อยู่ที่ 20.50 เซ็นต์/ปอนด์ คาดว่าราคาอ้อยขั้นต้นจะอยู่ที่ 977.56 บาท/ตัน แต่หากเงินบาทแข็งค่ามาอยู่ที่ 29.50 บาท/เหรียญสหรัฐ ราคาอ้อยขั้นต้นจะลดลงเหลือ 954.01 บาท/ตัน และหากเงินบาทแข็งค่ามาที่ระดับ 29 บาท/เหรียญสหรัฐ ราคาอ้อยขั้นต้นจะลดลงเหลือ 942.24 บาท/ตัน เทียบกับราคาอ้อยขั้นต้นของฤดูการผลิตปี53/53 ที่ 965 บาท/ตัน ทำให้ชาวไร่อ้อยมีรายได้ลดลงเกือบ 23 บาท/ตันอ้อย และยิ่งหากเทียบกับราคาอ้อยขั้นสุดท้ายของฤดูการผลิตปี53/53 ซึ่งคาดว่าเฉลี่ยทั่วประเทศจะสูงถึง 1,102 บาท/ตันอ้อย ก็จะเห็นว่าต่ำกว่ากันถึงประมาณ 160 บาท/ตันอ้อย
จาก http://www.khaosod.co.th วันที่ 12 ตุลาคม 2553
รุมสกรัมแก้ค่าบาท แบงก์รัฐบักโกรก
ปัญหาเรื่องการแก้ไขการแข็งค่าของเงินบาทที่ส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออก กำลังจะกลายเป็นภาระที่หนักอึ้งของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 3 แห่งที่ถูกลากเข้ามาแก้ปัญหา
ปัญหาเรื่องการแก้ไขการแข็งค่าของเงินบาทที่ส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออก กำลังจะกลายเป็นภาระที่หนักอึ้งของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 3 แห่งที่ถูกลากเข้ามาแก้ปัญหา
ไม่ว่า ธนาคารออมสิน ที่อดีตเคยเป็นธนาคารขวัญใจเด็กๆ แต่ช่วงหลังถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือหากินให้กับผู้ประกอบการรายใหญ่
ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือเอ็กซิมแบงก์ ที่มีบทบาทสนับสนุนธุรกรรมระหว่างประเทศโดยตรง แต่ผลประกอบการก็ไม่ได้ดีมากมายนัก และทราบกันดีในวงการว่า ถ้าผู้ส่งออกขอสินเชื่อที่แบงก์พาณิชย์ไม่ผ่าน ก็ให้ลองมายื่นที่เอ็กซิมแบงก์
ขณะที่ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาด กลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือเอสเอ็มอีแบงก์ ซึ่งอดีต 4-5 ปีก่อนเคยมีปัญหาหนี้เน่าพุ่งไปถึง 50% เพราะถูกนักการเมืองใช้เป็นบ่อเงินบ่อทอง กว่าจะกู้สถานการณ์กลับมาได้ก็เกือบต้องปิดแบงก์
โดยแบงก์รัฐทั้ง 3 แห่ง เป็นกุญแจสำคัญในแพ็กเกจของมาตรการที่จะเสนอคณะรัฐ มนตรี (ครม.) วันที่ 12 ต.ค.นี้ ที่คลังจะให้แบงก์รัฐเข้าไปอัดสภาพคล่องให้ผู้ส่งออก
รวมทั้งเข้าไปสนับสนุนให้ผู้ส่งออกรายเล็กรายกลาง ทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า หรือฟอร์เวิร์ด ได้ง่ายและถูกขึ้น
สะท้อนว่าในมุมมองของรัฐบาล เชื่อว่าเงินบาทยังไม่หยุดแข็งค่าที่ 29 บาทต่อเหรียญสหรัฐแน่
แหล่งข่าวจากเอ็กซิมแบงก์ เปิดเผยว่า คำสั่งซื้อสินค้าส่วนใหญ่จะเป็นแบบล่วงหน้า 3 เดือน ทำให้ขณะนี้ยังไม่เห็นชัดเจนว่าลูกค้าได้รับผลกระทบจากพิษค่าเงินบาทแข็ง
สำหรับมาตรการที่กำลังจะเข้า ครม. ในวันที่ 12 ต.ค. ถือเป็นเรื่องดี แต่เห็นว่ายังเป็นมาตรการที่ออกมาช่วยพยุงปัญหาเพียงชั่วคราวเท่านั้น
ตอนนี้ถือว่าผู้ส่งออกอยู่ในภาวะช็อก แต่ยังไม่ถึงกับขาดทุนจนทำให้ต้องปิดกิจการ เพราะปริมาณการส่งออกหรือออร์เดอร์ยังมีเข้ามาต่อเนื่อง แหล่งข่าวเปิดเผย
ปัญหาที่จะเกิดขึ้นหลังจาก 3 เดือนนี้ไปคือ บัญชีงบการเงินของบริษัทส่งออกที่เคยกำไรจะกลายเป็นเสมอตัวหรือขาดทุน ส่งผลต่อการคืนเงินสินเชื่อให้กับสถาบันการเงิน
รวมถึงกระทบต่อการจ่ายภาษีให้แก่กรมสรรพากร ที่เคยตั้งเป้าไว้สูงมาก สุดท้ายก็กลายเป็นศูนย์
ขณะเดียวกันยังจะมีปัญหาในทางบัญชีเป็นเด้งที่สอง หากบริษัทส่งออกรายใดมีการกู้เงินจากต่างประเทศ และได้ประโยชน์จากอัตราแลกเปลี่ยน ทำให้กำไรจากหนี้ที่ลดลง จะต้องกลับมาเสียภาษีให้สรรพากรทันที เพราะถือเป็นลาภที่ไม่ควรได้
เท่ากับว่างานนี้ส่งออกโดนสองเด้ง...
แหล่งข่าวเปิดเผยด้วยว่า การแก้ไขปัญหาระยะยาวที่พูดกันมานาน แต่ผู้ส่งออกบอกว่าทำได้ยาก คือการหาทางเพิ่มมูลค่าสินค้าของตัวเอง
เพราะหากให้ผู้ส่งออกแก้ปัญหาด้วยการขึ้นราคา ก็จะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันไปในทันที เมื่อผู้ซื้อมีทางเลือกจะไปซื้อสินค้าจากประเทศที่ราคาถูกกว่า
ความจริงหน่วยงานภาคเอกชน เช่น สภาอุตสาหกรรมฯ สภาหอการค้าฯ น่าจะเรียกร้องให้ธนาคารพาณิชย์ ในฐานะที่เป็นผู้ปล่อยกู้หลักให้กับผู้ส่งออกไทยกว่า 80% ออกมาช่วยเหลือลูกค้าของตัวเองบ้าง แหล่งข่าวเปิดเผย
ไม่เช่นนั้นสุดท้ายจะกลายเป็นภาพที่ชินตาว่าธนาคารรัฐจะต้องออกมาแก้ปัญหาให้กับผู้ที่เดือดร้อน ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ในฐานะที่เป็นเสือนอนกินแต่ดอกเบี้ย ไม่เคยออกมาช่วยเหลือลูกค้าตัวเอง แต่มักจะปล่อยให้กลายเป็นภาระสังคมโดยเฉพาะธนาคารรัฐ
จึงเห็นว่าภาครัฐและเอกชนควรเปลี่ยนแนวคิดใหม่ พยายามให้เจ้าหนี้ช่วยลูกหนี้เอง เพราะจะแก้ปัญหาได้ตรงจุดมากกว่า
ถ้าธนาคารพาณิชย์แห่งไหนที่ช่วยเหลือสังคมมาก ก็น่าจะได้รับผลตอบแทนในรูปของการชดเชยภาษี ส่วนแห่งไหนไม่เคยยื่นมือมาช่วยสังคม ก็ควรจะจ่ายภาษีแพงกว่าคนที่ทำประโยชน์เพื่อประเทศชาติเสียบ้าง
ขณะที่มาตรการของรัฐบาลที่กำลังจะออกมา ยังถูกมองว่าแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ...
หลายฝ่ายไม่เชื่อว่าจะแก้ได้ทั้งทำให้เงินบาทอ่อนหรือช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้ภาคเอกชนด้านนายคณิศ แสงสุพรรณ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง มองว่า ตอนนี้ต้นตอปัญหา คือธนาคารแห่งประเทศไทย ควรส่งสัญญาณว่าจะไม่มีการขึ้นดอกเบี้ย ไม่ให้เงินไหลเข้า แต่ไม่ถึงกับลดดอกเบี้ย
เงินทุนต่างชาติที่เข้ามาถือว่าเป็นก้อนไม่ใหญ่ แต่เข้ามาเร็วกว่าที่คิด นายคณิศ กล่าว
อีกปัญหาของประเทศไทย คือในขณะที่ประเทศอื่นๆ มีกลไกในการผลักเงินออกไปลงทุน เช่น สิงคโปร์มีกองทุนเทมาเซก ที่หาโอกาสลงทุนใหม่ๆ ตลอดเวลา
ส่วนประเทศไทยยังไม่มีกองทุนลักษณะนี้ และนายคณิศ มองว่าเป็นเรื่องยากที่ไทยจะสร้างขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาสถานการณ์เฉพาะหน้า
มาตรการที่ทำได้ดีสุดตอนนื้คือสูบเงินออกไปลงทุนข้างนอก แต่เอกชนไทยยังไม่กล้าทำขนาดนั้น อย่าง ปตท.ไปซื้อบ่อน้ำมัน ก็เป็นกลไกปกติที่ทำอยู่แล้ว นายคณิศ กล่าว
โดยจากการสำรวจพบว่า ขณะนี้ผู้ส่งออกได้รับส่วนต่างกำไรหรือมาร์จินลดลง จากที่เคยได้ 10% ตอนนี้หายไป 6-7% แล้ว ดังนั้น รัฐบาลควรเร่งรัดในการออกมาตรการอย่างใดอย่างหนึ่ง
ขณะที่มาตรการของรัฐบาลที่กำลังจะออกมา ยังถูกหลายฝ่ายมองว่าแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ไม่เชื่อว่าจะแก้ได้ทั้งทำให้ค่าเงินบาทอ่อนหรือช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้ภาคเอกชน เช่นการใช้กลไกแบงก์รัฐอัดสภาพคล่องเข้าไปยังธุรกิจส่งออก ก็ไม่ใช่ปัญหาหลัก เพราะผู้ส่งออกยังมีออร์เดอร์ อัตราการขยายตัวของส่งออกแต่ละเดือนสูงถึง 20%
ปัญหาที่เจอหนักก็คือขาดทุนกำไรมากกว่า!! ดังนั้น รัฐบาลจะทำอย่างไรในการลดต้นทุนให้แก่ภาคธุรกิจ
ไม่ว่าจะเป็นการลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบ การลดค่าน้ำ ค่าไฟ ลดภาษีนำเข้าเครื่องจักร ลดภาษีรายได้ พร้อมทั้งปรับระบบนำเข้าและส่งออกให้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น ไม่ใช่กลไกของระบบราชการปกติ ถ้าทำอย่างนี้ก็จะแข่งขันกับเพื่อนบ้านได้ โดยไม่ต้องไปจับปืนออกศึกในสงครามอัตราแลกเปลี่ยน
ที่สำคัญคืออย่าผลักภาระของความช่วยเหลือไปให้แบงก์รัฐแต่อย่างเดียว เพราะแบงก์รัฐก็ต้องมีรายได้ ต้องมีกำไร และไม่ต้องการให้เกิดหนี้เน่าเหมือนที่ผ่านมา
จาก http://www.posttoday.com วันที่ 12 ตุลาคม 2553
นายกฯสั่งตรวจสอบต้นทุนก๊าซ-น้ำมัน
นายกฯ สั่งตรวจสอบต้นทุนราคาสินค้า-ก๊าซในโรงงานอุตสาหกรรม-น้ำมัน ด้าน ปตท.เผยโรงงานอุตสาหกรรมแห่ใช้ก๊าซแทนน้ำมันเตา-แอลพีจี
นายเกียรติ สิทธีอมร ประธานผู้แทนการค้าไทย (ทีทีอาร์) เปิดเผยว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ให้ตนพิจารณาโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมแพงกว่าต้นทุนที่แท้จริงหรือไม่ หลังได้รับการร้องเรียนจากนักลงทุนต่างชาติ ที่กำลังจะตัดสินใจเข้ามาลงทุนว่า ราคาก๊าซธรรมชาติในโรงงานของไทยอยู่ที่ 8-9 ดอลลาร์ต่อลบ.ฟุต สูงกว่าเพื่อนบ้านที่อยู่ประมาณ 4-5 ดอลลาร์ต่อลบ.ฟุต
ขณะนี้ได้ขอให้บริษัท ปทต.จำกัด (มหาชน) ชี้แจงโครงสร้างต้นทุนก๊าซธรรมชาติ ที่ขายให้กับโรงงาน ว่าสาเหตุใดที่ไทยแพงกว่าเพื่อนบ้าน เพราะในต่างประเทศมีการอุดหนุนโดยรัฐบาลหรือไม่ หรือเป็นเพราะไทยมีผู้ผลิตรายเดียวไม่มีการแข่งขัน
ราคาจำหน่ายก๊าซธรรมชาติที่แพงกว่าประเทศอื่น ทำให้ต้นทุนการผลิตในอุตสาหกรรมบางประเภทของไทย ที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตมีต้นทุนสูงกว่าประเทศคู่แข่ง จึงมีผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุนที่จะมาลงทุนในไทย นายเกียรติ กล่าว
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวว่า นายอภิสิทธิ์ ยังมอบหมายให้นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ไปพิจารณาโครงสร้างราคาสินค้าที่มีผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน รวมทั้งราคาขายปลีกน้ำมัน ที่จะมีผลต่อต้นทุนผลิตสินค้า โดยนายอภิสิทธิ์มองว่าตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันเงินบาทแข็งค่าขึ้นกว่า 10% แต่ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคหลายรายการยังไม่ปรับลด
นายนพดล ปิ่นสุภา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ระบบท่อจัดจำหน่ายก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการหันมาใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงแทนน้ำมันเตา และก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยขยายตัว 15-17% ต่อปี ยอดการใช้ก๊าซในภาคอุตสาหกรรมประมาณ 400 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน หรือประมาณ 10% ของยอดการใช้ก๊าซรวมและมีกลุ่มลูกค้าใหม่เข้ามาปีละ 30 ราย ขณะนี้ยอดลูกค้ามีประมาณ 400 ราย
การที่โรงงานอุตสาหกรรมหันมาใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงมากขึ้น มีปัจจัยสำคัญ คือ ก๊าซที่จำหน่ายให้กับโรงงานอุตสาหกรรม มีโครงสร้างสูตรราคาที่ต่ำกว่าน้ำมันเตา ประมาณ 15-20% และถูกกว่าแอลพีจี 5-10% ตามลำดับ บวกกับอานิสงส์ค่าเงินบาทแข็งค่า ส่งผลให้ราคาก๊าซที่จำหน่ายให้โรงงานปรับลดลงจาก 320 บาทต่อล้านบีทียู เหลือ 300-305 บาทต่อล้านบีทียูโดยเฉลี่ยในขณะนี้ เทียบกับราคาน้ำมันเตาอยู่ที่ 380 บาทต่อล้านบีทียู และแอลพีจีที่ 330 บาทต่อล้านบีทียู
ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้กลุ่มลูกค้าขยายตัว มาจากการขยายท่อส่งก๊าซย่อยไปในพื้นที่ต่างๆ ด้วย โดยปัจจุบันมีโครงข่ายท่อย่อยรวมประมาณ 800-900 กม.ครอบคลุม 10 จังหวัด ซึ่ง ปตท.มีแผนขยายท่อย่อยต่อขยายไปยังโรงงานอุตสาหกรรมตามแผนแม่บทท่อส่งก๊าซ ตามแผนนี้จะลงทุนท่อย่อยปีละ 2,000 ล้านบาท หรือประมาณ 10,000 ล้านบาทจนถึงปี 2555
อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับประเทศอื่นแล้ว ราคาก๊าซที่จำหน่ายให้กับโรงงานอุตสาหกรรม จะแตกต่างประเทศอื่นๆ บางประเทศสูงกว่า และบางประเทศก็ต่ำกว่า ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเทศต่างๆ มีนโยบายสนับสนุนราคาหรือไม่ และเป็นพื้นที่ที่เป็นแหล่งผลิตก๊าซหรือไม่ อาทิเช่น ในสหรัฐที่ราคาก๊าซในแต่ละรัฐจะต่างกันตั้งแต่ 4-16 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ส่วนจีนตั้งแต่ 5-12 ดอลลาร์ ขณะที่เกาหลีและญี่ปุ่น ประมาณ 10 ดอลลาร์เศษต่อล้านบีทียู
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ส่วนกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้ก๊าซในไทย พบว่าล้วนเป็นกลุ่มผู้ประกอบการ 1 ใน 5 โรงงานขนาดใหญ่ของประเทศ ทั้งเซรามิค อาหาร โลหะ ชิ้นส่วนรถยนต์ กระจก เป็นต้น ซึ่งต่างมีผลประกอบการที่ดี
จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 12 ตุลาคม 2553
บาทแข็งสูบรายได้ชาวไร่อ้อย "ไตรรงค์"นัดถกหาทางช่วย18ต.ค.
นายประกิต ประทีปะเสน ประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กล่าวว่า ขณะนี้เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องแตะระดับต่ำกว่า 30 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้รายได้ของชาวไร่อ้อยลดลง เนื่องจากน้ำตาลที่ผลิตได้ในประเทศจะส่งออกไปขายต่างประเทศประมาณ 2 ใน 3 ของทั้งหมด ซึ่งเมื่อส่งออกเป็นสกุลเหรียญสหรัฐ แล้วแปลงเป็นค่าเงินบาทจะทำให้รายได้จากการส่งออกลดลง โดยเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นทุกๆ 1 บาทต่อเหรียญสหรัฐ จะส่งผลให้ราคารับซื้ออ้อยลดลงประมาณตันละ 23 บาท
นอกจากนี้ ในการกำหนดราคารับซื้ออ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2553/2554 ภายใต้อัตราแลกเปลี่ยน 30.50 บาทต่อเหรียญสหรัฐ และราคาน้ำตาลทรายดิบส่งออก(โควตา ข.) อยู่ที่ปอนด์ละ 20.50 เซนต์ คาดว่าราคาอ้อยขั้นต้นจะอยู่ที่ตันละ 977.56 บาท แต่ถ้าเงินบาทแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 29 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ราคาอ้อยขั้นต้นจะลดลงเหลือตันละ 942.24 บาท เมื่อเทียบกับราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2552/2553 ที่ตันละ 965 บาท ทำให้ชาวไร่อ้อยมีรายได้ลดลงเกือบ 23 บาทต่อตันอ้อย
ด้านนายกำธร กิตติโชติทรัพย์ ประธานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กำลังพิจารณาแนวทางช่วยเหลือชาวไร่อ้อยจากปัญหาเงินบาทแข็งค่า แต่ถ้าเลือกได้คงไม่ต้องการใช้วิธีเดิมที่ให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย กู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธ.ก.ส.) มาจ่ายค่าอ้อยเพิ่ม ซึ่งจะเพิ่มภาระเงินกู้ให้กองทุนฯ
ขณะที่แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในวันที่ 18 ตุลาคม นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี ได้เรียกประชุมคณะทำงานร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อพิจารณาแนวทางยกเลิกอัตราการนำส่งเงินเข้ากองทุนฯ ที่เรียกเก็บจากการปรับขึ้นราคาขายปลีกน้ำตาลทรายหน้าโรงงานกิโลกรัมละ 5 บาท เพื่อประเมินสถานะกองทุนฯ และพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้กับชาวไรอ้อย
จาก http://www.naewna.com วันที่ 12 ตุลาคม 2553
3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายห่วงบาทแข็งหลุด 30 บาทต่อเหรียญ ฉุดรายได้ชาวไร่อ้อย
นายประกิต ประทีปะเสน ประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กล่าวถึงกรณีที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องว่า ขณะนี้ทางสมาคมฯ มีความเป็นห่วงว่าหากเงินบาทแข็งค่ามาอยู่ในระดับต่ำกว่า 30 บาทต่อเหรียญสหรัฐ จะส่งผลกระทบต่อรายได้ของชาวไร่อ้อย เพราะสัดส่วนรายได้จากการจำหน่ายน้ำตาล 70% เป็นของชาวไร่อ้อย และน้ำตาลที่ผลิตได้ในประเทศจะส่งออกไปขายต่างประเทศ 2 ใน 3 ของทั้งหมด ซึ่งเมื่อเงินบาทแข็งค่าขึ้นก็จะทำให้รายได้จากการส่งออกลดลง โดยพบว่าค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นทุกๆ 1 บาทต่อเหรียญสหรัฐ จะส่งผลให้ราคารับซื้ออ้อยลดลงประมาณ 23 บาทต่อตัน
"3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายคงทำอะไรไม่ได้ในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน แต่อยากจะฝากถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ช่วยดูแล ซึ่งเห็นว่าค่าเงินควรจะอยู่ที่ระดับ 30 บาทต่อเหรียญสหรัฐ" นายประกิตกล่าว
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาหากราคาอ้อยต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ รัฐบาลก็จะใช้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายเข้ามาช่วยเหลือชาวไร่อ้อยเพื่อรักษาเสถียรภาพของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย โดยไปกู้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) มาจ่ายค่าอ้อยเพิ่ม ซึ่งก็จะกลายเป็นภาระของกองทุนอ้อยฯ ต่อไป
แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวว่า ฐานะกองทุนอ้อยฯ ปัจจุบันมีเงินหมุนเวียน 5,500 ล้านบาท และมีหนี้ที่จะต้องชำระประมาณ 1 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่ต้องชำระหนี้ ธกส. ด้วยเงินที่เก็บเข้ากองทุนฯ 5 บาทต่อกก. 4,000 ล้านบาท ซึ่งหากจะเร่งชำระหนี้ให้หมดก็ดำเนินการได้ แต่ทั้งนี้ปัญหาค่าเงินบาทแข็ง หากชาวไร่ยังยืนยันที่ต้องได้รับค่าอ้อย 1,000 บาทต่อตัน ซึ่งตรงนี้จะกระทบต่อสถานะของกองทุนอ้อยฯ
จาก http://www.thaipost.net วันที่ 12 ตุลาคม 2553
สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เป็นห่วงภาวะเงินบาทแข็งค่าจะกระทบรายได้ชาวไร่อ้อย
สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เป็นห่วงภาวะเงินบาทแข็งค่าจะกระทบรายได้ชาวไร่อ้อย ชี้ หากแข็งค่ากว่า 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อาจส่งผลให้ราคาอ้อยขั้นต้นต่ำกว่าปีที่ผ่านมา
นายประกิต ประทีปะเสน ประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า 3 สมาคมโรงงานน้ำตาล ซึ่งประกอบด้วย สมาคมโรงงานน้ำตาลไทย สมาคมผู้ผลิตน้ำตาลและชีวพลังงานไทย และสมาคมการค้าอุตสาหกรรมน้ำตาล ได้ศึกษาผลกระทบของอัตราแลกเปลี่ยนและราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลก ที่ส่งผลต่อราคารับซื้ออ้อย พบว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นทุกๆ 1 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จะส่งผลให้ราคารับซื้ออ้อยลดลงประมาณ 23 บาทต่อตัน จึงมีความเป็นห่วงว่าจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของชาวไร่อ้อย เนื่องจากสัดส่วนรายได้จากการจำหน่ายน้ำตาลร้อยละ 70 เป็นของชาวไร่อ้อย และน้ำตาลที่ผลิตได้ในประเทศจะส่งออกไปขายต่างประเทศประมาณ 2 ใน 3 ของทั้งหมด
ประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กล่าวด้วยว่า ในการกำหนดราคารับซื้ออ้อยขั้นต้นของฤดูกาลผลิตปี 2553/2554 หากใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่ 30.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ค่าความหวานเฉลี่ย 10 ซี.ซี.เอส. และราคาน้ำตาลทรายดิบส่งออก (โควตา ข.) อยู่ที่ 20.50 เซนต์ต่อปอนด์ คาดว่าราคาอ้อยขั้นต้นจะอยู่ที่ 977.56 บาทต่อตัน แต่หากเงินบาทแข็งค่ามาอยู่ที่ 29.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ราคาอ้อยขั้นต้นจะลดลงเหลือ 954.01 บาทต่อตัน และหากเงินบาทแข็งค่าที่ระดับ 29 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ราคาอ้อยขั้นต้นจะลดลงเหลือ 942.24 บาทต่อตัน ซึ่งเมื่อเทียบกับราคาอ้อยขั้นต้นของฤดูกาลผลิตปี 2552/2553 ที่ 965 บาทต่อตัน จะทำให้ชาวไร่อ้อยมีรายได้ลดลงเกือบ 23 บาทต่อตันอ้อย และยิ่งหากนำไปเปรียบเทียบกับราคาอ้อยขั้นสุดท้ายของฤดูกาลผลิตปี 2552/2553 คาดว่าเฉลี่ยทั่วประเทศจะสูงถึง 1,102 บาทต่อตันอ้อย ซึ่งต่ำกว่ากันประมาณ 160 บาทต่อตันอ้อย
จาก http://thainews.prd.go.th วันที่ 11 ตุลาคม 2553
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้รับร้องเรียนจากกลุ่มเกษตรกร และร้านค้าปลีกปุ๋ยเคมีในหลายจังหวัดว่ากำลังประสบปัญหาปุ๋ยขาดตลาด และมีการจำหน่ายราคาสูงกว่าราคาแนะนำที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดไว้ โดย กลุ่มเกษตรกรแจ้งว่า ตอนนี้ปุ๋ยหาซื้อยากในหลายพื้นที่ เช่น ชลบุรี สมุทรสาคร อีกทั้งราคาปุ๋ยเคมีที่ขายในท้องตลาดปัจจุบัน ส่วนใหญ่มีราคาใกล้เคียงกับ 2 เดือนที่แล้วไม่ได้เป็นไปตามราคาใหม่ของภาครัฐ เช่น สูตร 46-0-0 ถุง 50 กก. ราคา 620-630 บาท สูตร 15-15-15 ถุงละ 810-820 บาท สูตร 16-20-0 ถุงละ 700 บาท สูตร 21-0-0 ถุงละ 350-370 บาท
ทั้งนี้เมื่อสอบถามตัวแทนร้านค้าปลีกก็ได้รับการชี้แจงว่า ช่วงนี้งดนำปุ๋ยเคมีใน 4 สูตรที่รัฐบาลควบคุมมาจำหน่าย เนื่องจากไม่สามารถขายในราคาที่รัฐต้องการได้ เช่น ตอนนี้ปุ๋ยสูตร 46-0-0 ต้นทุนเกินกว่าถุงละ 600 บาท หากขายที่ 584 บาทก็จะขาดทุน แต่ถ้าขายเกินกว่านั้นก็เสี่ยงจะถูกแจ้งจับ จึงต้องแก้ปัญหาด้วยการงดขายชั่วคราวไปก่อน ส่วนเมื่อสอบถามโรงงานผู้ผลิตปุ๋ยเคมี ได้รับยืนยันว่าตอนนี้ไม่สามารถขายในราคาที่รัฐกำหนดได้ เพราะยังมีแม่ปุ๋ยค้างสต๊อกอยู่มาก โดยส่วนใหญ่ได้นำเข้ามา 2-3 เดือนที่แล้ว เช่น สูตร 46-0-0 รับมาตันละ 12,000 บาท แต่หากขายที่ 11,000 บาท จะขาดทุน
ดังนั้นจึงอยากให้กระทรวงพาณิชย์ พิจารณาการตั้งราคาแนะนำขายปุ๋ยเคมีใหม่ โดยควรพิจารณาพื้นฐานของความเป็นจริง ไม่ใช่อยากจะลดราคา ก็สั่งลดทันที เพราะผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีสต๊อกเก่าไม่ต่ำกว่า 2 เดือน ซึ่งที่จริงก็พร้อมให้ความร่วมมือ แต่ขอให้ระบายสต๊อกเก่าออกหมดก่อน และถ้าต้นทุนสต๊อกใหม่มาก็พร้อมลดราคาให้ ไม่ใช่ให้เวลาเพียง 1-2 สัปดาห์ ไม่มีใครทำได้ทันแน่ และก็จะเกิดปัญหาตามมาทีหลัง
นายไพบูลย์ พลสุวรรณา อดีตประธานกลุ่มอุตสาห กรรมอาหาร สภาอุต สาหกรรมแห่งประ เทศไทยกล่าวว่า แม้เงินบาทจะแข็งค่าขึ้น แต่ตอนนี้ราคาปุ๋ยเคมียังไม่ได้ลดลง ตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดราคาแนะนำใหม่ เพราะนอกจากต้นทุนการเพาะปลูกไม่ลดแล้ว ราคาสินค้าเกษตรที่ขายได้ก็ลดลง
รายงานข่าวแจ้งว่า ราคาแนะนำปุ๋ยเคมีที่โรงงาน และราคาขายปลีกที่นางวัชรี วิมุกตายน อธิบดีกรมการค้าภายใน ประกาศใช้ใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 53 มีดังนี้สูตร 46-0-0 ราคาโรงงานตันละ 11,000 บาท ลดจากเดิม 12,000 บาท ขณะที่ราคาขายปลีกถุง 50 กก. เขต กทม. 584 บาท ภาคเหนือ 597-643 บาท ภาคกลาง 584-617 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 597-628 บาท และภาคใต้ 609-647 บาท สูตร 15-15-15 ราคา ณ โรงงานตันละ 14,000 บาท ลดจากเดิม 16,000 บาท ราคาขายปลีกถุง 50 กก. เขตกรุงเทพฯ 734 บาท ภาคเหนือ 747-793 บาท ภาคกลาง 734-767 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 747-778 บาท ภาคใต้ 759-797 บาท
ส่วนสูตร 16-20-0 ราคา ณ โรงงานตันละ 11,500 บาท ลดจากเดิม 15,000 บาท ราคาขายปลีกถุง 50 กก. กรุงเทพฯ 609 บาท ภาคเหนือ 622-668 บาท ภาคกลาง 609-642 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 622-653 บาท ภาคใต้ 634-672 บาท และสูตร 21-0-0 ราคา ณ โรงงานตันละ 6,000 บาท ลดจากเดิม 7,000 บาท ราคาขายปลีกถุง 50 กก. กรุงเทพฯ 334 บาท ภาคเหนือ 347-393 บาท ภาคกลาง 334-367 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 347-378 บาท ภาคใต้ 359-397 บาท.
จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 11 ตุลาคม 2553
เกษตรกรโวย"พาณิชย์"แหกตาปุ๋ยไม่ลดราคา
เกษตรกรโวย "พาณิชย์" ต้มเปื่อย ปุ๋ยยังไม่ลดราคา แถมร้านค้างดจำหน่าย หนีขาดทุน เสี่ยงถูกแจ้งจับ ภาคธุรกิจขย่มซ้ำ บาทแข็งแต่ปุ๋ยยังแพง
แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า ได้รับการร้องเรียนจากเกษตรกรและร้านค้าปลีกปุ๋ยเคมีในหลายจังหวัดกำลังประสบปัญหาปุ๋ยขาดตลาด และมีการจำหน่ายราคาสูงกว่าราคาแนะนำที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดไว้ โดยกลุ่มเกษตรกรแจ้งว่า ตอนนี้ปุ๋ยหาซื้อยากในหลายพื้นที่ เช่น ชลบุรี สมทุรสาคร อีกทั้งราคาปุ๋ยเคมีที่ขายในท้องตลาดปัจจุบัน ส่วนใหญ่มีราคาใกล้เคียงกับ 2 เดือนที่แล้ว ไม่ได้ลดลงตามที่รัฐกำหนด เช่น สูตร 46-0-0 ถุงละ (50 กก.) 620-630 บาท สูตร 15-15-15 ถุงละ 810-820 บาท สูตร 16-20-0 ถุงละ 700 บาท สูตร 21-0-0 ถุงละ 350-370
ทั้งนี้ เมื่อสอบถามตัวแทนร้านค้าปลีก ได้รับการชี้แจงว่า ช่วงนี้ร้านส่วนใหญ่งดนำปุ๋ยเคมีใน 4 สูตรที่รัฐบาลควบคุมราคามาจำหน่าย เนื่องจากไม่สามารถขายในราคาที่รัฐต้องการได้ เช่น ตอนนี้ปุ๋ยสูตร 46-0-0 ต้นทุนเกินกว่าถุงละ 600 บาท หากขายที่ 584 บาทก็จะขาดทุน แต่ถ้าขายเกินกว่านั้นเสี่ยงจะถูกแจ้งจับ จึงต้องแก้ปัญหาด้วยการงดขายชั่วคราวไปก่อน ขณะที่สอบถามไปโรงงานผู้ผลิตปุ๋ยเคมี ได้รับการยืนยันว่าตอนนี้ไม่สามารถขายในราคาที่รัฐกำหนดได้ เพราะยังมีปุ๋ยค้างสต็อกอยู่มาก โดยส่วนใหญ่ได้นำเข้ามา 2-3 เดือนที่แล้ว เช่น สูตร 46-0-0 รับมาตันละ 12,000 บาท แต่หากขายที่ 11,000 บาท จะขาดทุนทันที
ดังนั้นจึงอยากให้กระทรวงพาณิชย์พิจารณาการตั้งราคาแนะนำขายปุ๋ยเคมีใหม่ โดยพิจารณาจากพื้นฐานของความเป็นจริง ไม่ใช่อยากจะลดราคาก็สั่งลดทันที เพราะผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีสต็อกเก่าไม่ต่ำกว่า 2 เดือน
นายไพบูลย์ พลสุวรรณา อดีตประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แม้เงินบาทจะแข็งค่าขึ้น แต่ตอนนี้ราคาปุ๋ยเคมียังไม่ได้ลดลงตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดราคาแนะนำใหม่ ซึ่งได้สร้างความเดือดร้อนแก่เกษตรกรและชาวนาอย่างมาก เพราะนอกจากต้นทุนการเพาะปลูกไม่ลดแล้ว ราคาสินค้าเกษตรที่ขายได้ก็ลดลง เนื่องจากยังถูกกดราคารับซื้อจากผู้ส่งออก โรงสี และนายทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อไปชดเชยกับส่วนต่างของอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าขึ้น.
จาก http://www.thaipost.net วันที่ 11 ตุลาคม 2553
"กรณ์" เผย ใช้มาตรการเก็บภาษีดบ.ตราสารหนี้ สกัดเงินนอกไหลเข้า จ่อเสนอครม. 12 ต.ค.นี้
รมว.คลัง ระบุจะทบทวนการเก็บภาษีจากดอกเบี้ยที่ได้จากการลงทุนในตราสารหนี้ 15% เพื่อป้องกันเงินทุนต่างชาติไหลเข้าในตลาดตราสารหนี้ เพื่อทำกำไรจากดอกเบี้ยและค่าเงินบาท เตรียมเข้าครม. 12 ต.ค.นี้ เผยก.ย.เดือนเดียวเงินไหลเข้า 7 หมื่นล้านบาท ขณะนี้ยอดต่างชาติถือตราสารหนี้ปัจจุบันสูงถึง 1.4 แสนล้านบาท ซึ่งหากสรุปได้ทันจะ เสนอเข้า ครม.อังคารนี้
นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ใช้เวลาหลังการเข้าร่วมประชุมประจำปีของเวิร์ลดแบงค์ และไอเอ็มเอฟ. ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี. ประเทศ สหรัฐฯ หารือกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทบทวนการจัดเก็บภาษี 15% จากดอกเบี้ยที่ได้รับจากการลงทุนในตราสารหนี้ ที่ได้ยกเว้นมานานแล้ว ซึ่งเป็นมาตรการทางภาษีเพื่อป้องกันการเก็งกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะการลง ทุนในตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างชาติ
ซึ่งปัจจุบันการยกเว้นภาษีให้นักลงทุนต่างชาติ มีขึ้นตั้งแต่ไทยเกิดวิกฤติเศรษฐกิจเพื่อพัฒนาตลาดตราสารหนี้ โดยเป็นข้อตกลงร่วมกันของธนาคารกลางของอา เซียน เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มสมาชิกอาเซียนด้วยกัน แต่ขณะนี้สถานการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป เพราะจากการที่ดอกเบี้ยในประเทศไทยอยู่ในระดับสูงทำให้นักลง ทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้จำนวนมาก เพียงเดือนกันยายนเดือนเดียวมีเม็ดเงินไหลเข้ามามูลค่าสูงถึง 70,000 ล้านบาท ส่งผลให้ขณะนี้มูลค่า ตราสารหนี้ในมือต่างชาติสูงถึง 1.4 แสนล้านบาท หรือประมาณ 4% ของตราสารหนี้ภาครัฐ
หากสรุปมาตรการดังกล่าวได้ทันจะนำเข้าเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี 12 ตุลาคมนี้ เป็นแพ็กเกจเดียวกันกับมาตรการของกระทรวงการคลัง หากไม่ทันสามารถ ประกาศใช้ได้ในภายหลัง
สำหรับมาตรการของกระทรวงการคลัง นายกรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังเตรียมเสนอมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากค่า เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย 1. การเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการส่งออกที่เป็นเอสเอ็มอีในการทำประกันความเสี่ยงค่าเงินผ่านทางธนาคารออมสิน ธนาคารเอสเอ็มอี และธนาคารเพื่อ การส่งออกและนำเข้าหรือเอ็กซิมแบงก์ 2. มาตรการทางภาษีที่ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเกิดการลงทุนในระยะยาว โดยอาศัยจังหวะช่วงที่บาทแข็ง นำเข้าเครื่องจักรได้ในราคาถูก เพื่อปรับปรุงคุณภาพ การผลิต
ส่วนมาตรการต่างๆ จะมีการประกาศใช้เมื่อใด ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นการร่วมกับหลายกระทรวง แต่ยืนยันว่ามาตรการคลังที่ออก มาจะไม่ไปเกี่ยวข้องกับการควบคุมเงินทุนไหลเข้า จากต่างประเทศ
นายกรณ์กล่าวว่าเงินบาทที่แข็งค่าส่งผลกระทบต่ออัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทย ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)อยู่ระหว่างพิจารณาข้อมูล แต่มั่น ใจว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะยังโตได้ไม่ต่ำกว่า 7% การที่เงินบาทแข็งค่ากระทบต่อผู้ส่งออกในระยะสั้น แต่ในระยะยาวหากผู้ประกอบการรู้จักปรับตัว จะกลายเป็น ผลบวกในการทำให้โครงสร้างการผลิตแข็งแรง และกระตุ้นกำลังซื้อของประเทศได้ ซึ่งมองว่าเป้าหมายการส่งออกในระยะสั้นควรมีการปรับลด
สำหรับการประชุมเวิลด์แบงก์ในครั้งนี้น่าจะยังไม่มีข้อตกลงร่วมกันในเรื่องใดๆ จนกว่าจะถึงการประชุมจี-20 ในเดือนพฤศจิกายน และต่างชาติไม่ได้มีการถามถึง สถานการณ์เหตุระเบิดหรือการเมืองในไทย เห็นได้ชัดจากเงินทุนไหลเข้ามาลงทุนในไทย ณ ขณะนี้ ทำให้มีแรงกดดันเรื่องการดูแลอัตราแลกเปลี่ยน ตนเชื่อว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยจะนำปัจจัยการแข็งค่าของเงินบาทใช้พิจารณาในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินวันที่ 20 ตุลาคมนี้ เนื่องจากในช่วง 1 เดือนที่ ผ่านมา การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อลดลง
นายกรณ์ กล่าวว่าปัญหาค่าเงินเป็นประเด็นร้อนของทุกๆประเทศ ซึ่งปัญหาที่กำลังเผชิญในขณะนี้ คือ ค่าเงินแข็งค่าเร็วเกินไป โดยไทยจะใช้การประชุมครั้งนี้สื่อ ไปยังประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ให้หันหน้ามานั่งคุย และมีข้อตกลงในการบริหารอัตราเเลกเปลี่ยนร่วมกัน ซึ่งในอดีตเมื่อปี ค.ศ. 1985 เคยมีข้อตกลงในการ แก้ไขปัญหาค่าเงินเยนได้ผลมาแล้ว และนำไปสู่การปรับตัวของเศรษฐกิจโลกโดยรวม
นายกรณ์ เห็นว่า วิธีนี้ดีกว่าการปล่อยให้แต่ละประเทศแก้ปัญหากันเอง ซึ่งผลที่ออกมาคือการปกป้องค่าเงินของตน บางประเทศมีการแทรกแซงแบบบิดเบือนตลาด ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะประเทศขนาดเล็ก ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย
อย่างไรก็ตาม นายกรณ์ กล่าวว่า ปัจจุบันค่าเงินบาทแข็งยังสมเหตุสมผล เมื่อดูจากภาวะเศรษฐกิจ แต่ก็ไม่ปฏิเสธที่จะมีการสร้างกำแพงเพื่อปกป้องค่าเงินบาท หากเงินบาทยังแข็งค่าไม่หยุดจนกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม แต่ก็เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ที่จะต้องมองประโยชน์ของประเทศในระยะยาวเป็นหลัก
ทั้งนี้ นายกรณ์ ยังได้โพสต์รูปภาพการร่วมประชุมเวิร์ลดแบงก์ครั้งนี้ในเฟซบุ๊ค
จาก http://www.manager.co.th วันที่ 10 ตุลาคม 2553
หอการค้าฯ หวังรัฐเร่งออกมาตรการช่วยเหลือผู้ส่งออกจากผลกระทบบาทแข็ง
นายดุสิต นนทะนาคร ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ หรือผู้ส่งออกขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง เป็นเรื่องดี เพราะเป็นกลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อนที่สุด ในขณะที่ผู้ประกอบการรายใหญ่อาจได้รับผลกระทบบ้าง แต่ส่วนใหญ่มีการเตรียมตัวไว้อย่างดี และอาจมีการนำเข้าผสมผสานอยู่แล้ว จึงสามารถพยุงตัวได้ โดยมองว่ามาตรการช่วยเหลือที่ออกมาเป็นสิ่งจำเป็น เพราะการส่งออกเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และควรเร่งดำเนินการโดยเร็ว เนื่องจากขณะนี้ผู้ส่งออกไม่กล้าเสนอราคาสินค้าในไตรมาสถัดไป ส่งผลให้เสียโอกาสทางการค้า เนื่องจากลูกค้าอาจติดต่อกับผู้ผลิตรายอื่น หรือประเทศอื่น ซึ่งอาจทำให้เสียลูกค้าถาวร
จาก http://www.manager.co.th วันที่ 10 ตุลาคม 2553
กรณ์ ยอมรับศึกษามาตรการภาษีดูแลเงินบาท
นายกรณ์ จาติกวนิช รมว.คลัง ยอมรับว่าเงินบาทแข็งค่าเริ่มกระทบเศรษฐกิจแต่ยังมั่นใจปีนี้จีดีพีจะโตร้อยละ 7 ยอมรับศึกษาเรื่องมาตรการภาษีดูแลค่าเงินบาท พร้อมเน้นหมดโอกาสเห็นเงินบาทอ่อนค่า ผู้ส่งออกต้องร่วมปรับตัว
นายกรณ์ กล่าวผ่านระบบเทเลพรีเซ็นท์ จากกรุงวอชิงตันดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างเข้าร่วมประชุมธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ ว่าเรื่อง เงินบาทแข็งค่าเป็นสิ่งที่ภาคเอกชนและรัฐบาลต้องปรับตัวเพื่อรักษาระดับความสามารถการแข่งขัน ซึ่งมองว่าการที่อัตราแลกเปลี่ยนยังมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง ดังนั้นเรื่องที่จะมองว่าบาทจะอ่อนค่าคงสวนทางกับความเป็นจริง โดยนโยบายของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เข้ามาดูแลค่าเงินคือลดความผันผวน อย่างไรก็ตาม ยังมีเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคต่อผู้ประกอบการเช่นข้อจำกัดของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กในการทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน โดยขณะนี้ได้หารือกับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และธนาคารออมสินในการวางแนวทางช่วยเหลือแล้ว
นายกรณ์ กล่าวด้วยว่าจะพิจารณาเพิ่มเติมในส่วนของผู้ประกอบการที่ต้องการลงทุนเพื่อรักษาระดับความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงการคิดพัฒนาด้านอื่น ๆ เพื่อรักษาระดับคุณภาพสินค้า รวมทั้งการนำเทคโนโลยีที่สูงขึ้นมาใช้ ซึ่งกระทรวงการคลังจะมีนโยบายทางภาษีเพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการตัดสินใจลงทุนยกระดับการผลิต เช่น การลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักร เป็นต้น ส่วนมาตรการภาษีเพื่อดูแลค่าเงินบาทและเงินทุนนำเข้านั้น นายกรณ์ ตอบเพียงว่า ได้มีการศึกษาเรื่องนี้ไว้ แต่ไม่ได้ระบุว่าจะมีการนำมาใช้หรือไม่
สำหรับข้อเรียกร้องจากภาคเอกชนที่ขอให้ ธปท.คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ก่อนเพื่อลดแรงกดดันค่าเงินบาทนั้น นายกรณ์ กล่าวว่า การพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ไม่ใช่การตัดสินใจของผู้ว่าการ ธปท.เพียงคนเดียว ขณะที่ตนเองก็ไม่อยากวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการพิจารณาดังกล่าว แต่ขณะนี้ก็มีความชัดเจนว่าระยะหนึ่งเดือนที่ผ่านมาอัตราเงินเฟ้อชะลอลงเพราะเงินบาทแข็งค่า จึงมั่นใจว่า กนง.จะนำประเด็นดังกล่าวไปพิจารณากำหนดทิศทางอัตราดอกเบี้ย
ไม่ควรให้ความสำคัญกับความผันผวนวันต่อวันของค่าเงินบาท แต่ควรสนใจทิศทางในระยะต่อไป โดยที่ผ่านมาตนเองและผู้ว่าการ ธปท.ได้หารือกับประเทศอื่น ๆ ว่าอยากให้ประเทศมหาอำนาจมีการหารือกันและมีข้อตกลงให้ชัดเจนที่จะต้องบริหารค่าเงินตามข้อเท็จจริงและให้มีความผันผวนน้อยที่สุด เพื่อให้โอกาสทุกประเทศมีการปรับตัว เพราะถ้าไม่คุยกัน ระดับความผันผวนมีสูงและมีความเปลี่ยนแปลงเร็ว ก็จะกระทบกับการปรับตัว ทั้งนี้ยังมองว่าภาคเอกชนสามารถปรับตัวได้ นายกรณ์ กล่าว
ส่วนข้อเสนอของภาคเอกชนที่จะให้มีการจัดตั้งกองทุนให้กู้อัตราดอกเบี้ยต่ำกับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่านั้น นายกรณ์ กล่าวว่า พร้อมยอมรับข้อเสนอจากทุกฝ่าย แต่ต้องตอบโจทย์สังคมด้วยว่ามีเหตุผลสมควรหรือไม่ เพราะผู้ประกอบการได้รับผลกระทบแตกต่างกัน ขณะที่อัตรราแลกเปลี่ยนเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ดังนั้น หากจะมีมาตรการช่วยเหลือยืดหยุ่นให้ผู้ประกอบการกลุ่มใด อาจไม่เป็นธรรมต่อผู้ประกอบการอีกกลุ่มหนึ่ง
นายกรณ์ ยอมรับว่าขณะนี้การแข็งค่าของเงินบาทส่งผลกระทบระยะสั้นต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยแล้ว โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กำลังพิจารณาในเรื่องนี้อยู่ แต่ก็ยังเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโตได้ที่ 7% อย่างไรก็ตาม หากประเทศไทยมีการปรับตัวทุกด้าน ก็จะทำให้การแข็งค่าของเงินบาทส่งผลในเชิงบวกระยะยาวต่อประเทศ เพราะจะเป็นตัวแปรให้โครงสร้างเศรษฐกิจมีความสมดุลมากขึ้น ทำให้กำลังซื้อผู้บริโภคสูงขึ้น และช่วยลดการพึ่งพาการส่งออก
แม้ว่าในระยะสั้นการส่งออกอาจปรับลดลงจากเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาก แต่หลังจากที่เรามีการปรับปรุงคุณภาพสินค้า รักษาระดับความสามารถการแข่งขัน รักษาส่วนแบ่งในตลาดโลกไว้ได้ ก็จะกลายเป็นข้อดี ประกอบกับขณะนี้โครงสร้างการส่งออกมีการกระจายตัวในตลาดโลกมากขึ้น จากอดีตที่เราจะพึ่งการส่งออกในตลาดหลักอย่างยุโรป สหรัฐ และญี่ปุ่น แต่ขณะนี้ไทยมีการส่งออกในกลุ่มอาเซียน ประเทศเพื่อนบ้าน และภูมิภาคเอเชียมากขึ้น นายกรณ์ กล่าว. สำนักข่าวไทย
จาก http://www.mcot.net วันที่ 9 ตุลาคม 2553
"กรณ์"ขย่ม"ประสาร"แก้บาทแข็ง สภาหอฯสอนมวยธปท. เบรกปรับขึ้นดอกเบี้ย
บาทแข็งรายวัน ปิด 29.87 ต่อดอลลาร์ "ดุสิต" สอนมวย ธปท.ทำแบบจำลองผลกระทบค่าเงิน เบรกขึ้นดอกเบี้ยถึงส้นปี หวั่นเป็นแรงดูดทุนไหลเข้า ดันบาทแข็งค่าหนัก "พรทิวา" จี้ ขุนคลังเร่งคลอดกองทุนอุ้มเอสเอ็มอี ด้าน "กรณ์" ขย่ม "ประสาร" สกัดเงินแข็ง ยันสัปดาห์หน้าได้หนาวกันแน่
ค่าเงินบาทยังคงทำสถิติแข็งค่าต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 7 ต.ค. อัตราที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้ออยู่ที่ 29.47 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขายออก 30.13 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ค่ากลางปิดตลาดที่ระดับ 29.87-29.89 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยนักบริหารอัตราแลกเปลี่ยน วันที่ 8 ต.ค.นี้ จะแข็งค่าขึ้นอีก อยู่ในกรอบ 29.75-29.95 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
นายดุสิต นนทะนาคร ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนต้องการให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดูแลอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศด้วยการจัดทำแบบจำลองค่าเงินในระดับต่างๆ 3-4 ระดับ ว่าค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นทุก 1 บาท จะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจอย่างไรบ้าง
"ส่วนตัวมองว่า ธปท.ไม่ควรขึ้นดอกเบี้ยอีกในปีนี้ เพราะจะยิ่งทำให้เงินทุนไหลเข้า ส่งผลต่อเงินบาทแข็งค่าขึ้นอีก แต่หากจะมุ่งดูแลปัญหาอัตราเงินเฟ้อจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะขณะนี้เห็นว่าปัจจัยเงินเฟ้อไม่ใช่ปัญหาของประเทศ แต่ปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนจะกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศมากกว่า
นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นรวดเร็วมากจนเกินไป เห็นได้จากใน 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าถึง 1.5% ทำให้รายได้ของผู้ส่งออกหายไปกว่า 6,000 ล้านบาท หากคิดจากยอดส่งออกเฉลี่ยเดือนละ 450,000 ล้านบาท
ดังนั้น จึงขอให้ ธปท.ออกมาตรการดูแลค่าเงินบาทให้ตรงจุด และรวดเร็วมากกว่านี้ พร้อมทั้งให้กระทรวงการคลังดำเนินการเร่งช่วยเหลือเอสเอ็มอี โดยการตั้งกองทุนช่วยเหลือเร่งด่วนและปล่อยกู้เงื่อนไขผ่อนปรน เพื่อให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายขึ้น รวมทั้งเร่งออกมาตรการควบคุมเงินทุนไหลเข้า ซึ่งได้เสนอต่อ รมว.คลังไปแล้ว
นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ระบุในเฟซบุ๊ก ก่อนเดินทางไปต่างประเทศ ว่า จะหารือกับ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท.เกี่ยวกับการแข็งค่าของเงินบาทระหว่างเดินทางไปร่วมประชุมประจำปีของธนาคารโลก ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปหลังจากเดินทางกลับมาในสัปดาห์หน้า
"วันนี้ทะลุ 30 บาทแล้ว เงินบาทของทุกคนมีค่ามากขึ้น แต่ก็เป็นปัญหาสำหรับผู้ส่งออก แบงก์ชาติมีหน้าที่ดูแลค่าเงินก็จริง แต่กระทรวงการคลังก็ต้องช่วยผู้ส่งออกด้วย ก่อนมาสนามบิน ผมได้ซักซ้อมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว อาทิตย์หน้าผมกลับมาจะได้ข้อสรุปครับ" รมว.คลังระบุ
เมื่อวันที่ 7 ต.ค. สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้ออกบทวิเคราะห์ถึงกรณีสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เรียกร้องให้ ธปท.ชะลอการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อลดผลกระทบค่าเงินบาทแข็งค่า โดยระบุว่า หากอัตราดอกเบี้ยของไทยสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยต่างประเทศ จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่สามารถดึงดูดเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศได้ และทำให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นได้
สศค.วิเคราะห์ว่า นับจากต้นปี 2553 เงินบาทเทียบดอลลาร์แข็งค่าขึ้น 9.42% จาก 33.33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2553 เป็น 30.19 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เมื่อวันที่ 5 ต.ค.2553 และยังคงมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง.
จาก http://www.thaipost.net วันที่ 8 ตุลาคม 2553
ราคาน้ำตาลทรายลดลง1.50-2บาท/กิโลกรัม
มีรายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม (เมื่อ 6 ต.ค.) แจ้งว่า ขณะนี้ราคาน้ำตาลทรายตลาดค้าปลีกในประเทศ ปรับลดลง 1.50-2บาท/กิโลกรัม หรือ เฉลี่ยขายที่25บาท/กิโลกรัม หลังจากที่กองทุนอ้อย และน้ำตาลทราย (กท.) ได้กระจายน้ำตาลทรายที่ซื้อคืนจากผู้ส่งออกในงวดที่ 3 แก่ยี่ปั๊ว และซาปั๊ว 81 ราย จำนวน 7.5 หมื่นกระสอบ โดยเมื่อรวม 3งวดที่กระจายไปแล้ว 1.71 แสนกระสอบ ทำให้มีปริมาณน้ำตาลทรายมีเพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภครายย่อย อย่างไรก็ตาม หากปริมาณน้ำตาลภาพรวมในช่วงปลายปีตึงตัวอีกรอบ กองทันฯ อาจซื้อน้ำตาลจากเทรดเดอร์เพิ่มอีก 2.5 แสนกระสอบตามมติเดิมที่กำหนดให้ซื้อไว้ 1 ล้านกระสอบ
อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้มีการเสนอซื้อมายังกองทุนฯ เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้กองทุนฯ ต้องเฝ้าระวังปริมาณน้ำตาลภาพรวมในช่วงปลายปี ที่อาจตึงตัวอีกรอบหากมีการเปิดหีบอ้อยล่าช้า ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการอ้อย และน้ำตาลทราย (สอน.) ได้สั่งการให้ทางโรงงานน้ำตาลเช็คปริมาณน้ำตาลค้างกระดานที่อยู่ระดับประมาณ 1.1 ล้านกระสอบ (ไม่รวมโควตาพิเศษพาณิชย์) ว่า มีสัญญาส่งมอบหรือไม่อย่างไร เพื่อให้ได้ปริมาณที่ชัดเจน ซึ่งหากปริมาณมีแนวโน้มตึงตัวปลายปี กองทุนฯ อาจซื้อน้ำตาลจากเทรดเดอร์เพิ่มอีก 2.5 แสนกระสอบ ตามมติเดิมที่กำหนดให้ซื้อไว้ 1 ล้านกระสอบ
นายชลัส ชินธรรมมิตร์ คณะทำงานแก้ไขน้ำตาลขาดแคลน ในคณะกรรมการ3 สมาคมโรงงานน้ำตาลกล่าวว่า ปริมาณน้ำตาลทรายค้างกระดานขณะนี้ไม่ได้ถือว่าผิดปกติแต่อย่างใด เนื่องจากได้มีการดึงน้ำตาลงวดที่ 51 และ 52 เข้ามาเพิ่มล่วงหน้ารวมถึง 8 แสนกระสอบและโรงงานก็ได้ทยอยส่งมอบกับลูกค้าที่มีสัญญาส่งมอบเพื่อไม่ให้ขาดแคลนในช่วงสิ้นปี ดังนั้น กรณีที่ผู้ประกอบการเครื่องดื่มต้องการเพิ่ม เพื่อใช้ในการผลิตจึงควรจะแยกว่าเป็นรายใดและแผนผลิตเป็นอย่างไรแน่ เพราะหากปริมาณการใช้ปีนี้มากเท่าใดก็จะทำให้การกำหนดน้ำตาลบริโภคในประเทศ (โควตา ก.) ของปี 2553 ต้องเพิ่มขึ้น
จาก http://www.thannews.th.com วันที่ 7 ตุลาคม 2553
น้ำตาลทรายลดแล้ว 2 บาทต่อกก. หลังอุตสาหกรรมอัดน้ำตาลเข้าสู่ระบบเพิ่มอีก 1.7 แสนกระสอบ
เมื่อวันที่ 6 ต.ค. รายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้ ราคาน้ำตาลทรายตลาดค้าปลีกในประเทศเฉลี่ยที่ 25 บาทต่อกก. ซึ่งปรับลดลง 1.5-2 บาทต่อกก. หลังจากที่กองทุนอ้อย และน้ำตาลทราย (กท.) ได้กระจายน้ำตาลทรายที่ซื้อคืนจากผู้ส่งออกในงวดที่ 3 แก่ยี่ปั๊ว และซาปั๊ว 81 ราย จำนวน 7.5 หมื่นกระสอบ และเมื่อรวม 3 งวดกระจายไปแล้ว 1.71 แสนกระสอบ ส่งผลให้ปริมาณน้ำตาลทรายมีเพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภครายย่อย
ในช่วงที่น้ำตาลตึงตัว ราคาขายปลีกน้ำตาลทรายเฉลี่ยเคยขยับขึ้นไปสูงถึง 28-30 บาทต่อกก. โดยเฉพาะต่างจังหวัดไกล ๆ แต่เมื่อนำน้ำตาลที่ซื้อคืนจากผู้ส่งออกเพิ่มเข้าไปในตลาด หลังจากที่ขึ้นงวดปกติอยู่แล้วทุกสัปดาห์ละกว่า 4 แสนกระสอบ ล่าสุด สถานการณ์ตึงตัวของน้ำตาลเริ่มผ่อนคลายขึ้นมาก ที่สำคัญยี่ปั๊วรายเล็กเดิมที่เคยซื้อผ่านรายใหญ่ที่มีการบวกราคาหลายต่อ เมื่อหันมาซื้อตรงก็จะคิดราคาแก่ผู้บริโภคไม่แพง ล่าสุด ประมาณ 1.7 แสนกระสอบ ทำให้ราคาอ่อนตัวลงมากเฉลี่ยอยู่ที่ 25 บาทต่อกก. แหล่งข่าว กล่าว
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ มีการเสนอซื้อมายังกองทุนฯ เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้กองทุนฯ ต้องเฝ้าระวังปริมาณน้ำตาลภาพรวมในช่วงปลายปี ที่อาจตึงตัวอีกรอบหากมีการเปิดหีบอ้อยล่าช้า ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการอ้อย และน้ำตาลทราย (สอน.) ได้สั่งการให้ทางโรงงานน้ำตาลเช็คปริมาณน้ำตาลค้างกระดานที่อยู่ระดับประมาณ 1.1 ล้านกระสอบ (ไม่รวมโควตาพิเศษพาณิชย์) ว่า มีสัญญาส่งมอบหรือไม่ อย่างไร เพื่อให้ได้ปริมาณที่ชัดเจน ซึ่งหากปริมาณมีแนวโน้มตึงตัวปลายปี กองทุนฯ อาจซื้อน้ำตาลจากเทรดเดอร์เพิ่มอีก 2.5 แสนกระสอบ ตามมติเดิมที่กำหนดให้ซื้อไว้ 1 ล้านกระสอบ.
จาก http://dailynews.co.th/ วันที่ 6 ตุลาคม 2553
กลุ่มมิตรผลทุ่ม300ล.ลงทุนระบบน้ำเพิ่มผลผลิตอ้อย
กลุ่มมิตรผล เล็งลงทุนระบบน้ำ 300 ล้านบาท ภายใน 3 ปี ขยายพื้นที่ชลประทานจาก 40% เป็น 65% หวังเพิ่มผลผลิตต่อไร่
นายวิโรจน์ ภู่สว่าง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานอ้อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริษัท รวมเกษตรอุตสาหกรรม จำกัด กลุ่มมิตรผล เปิดเผยว่า กลุ่มมิตรผลมีแผนจะพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อย ของชาวไร่ โดยปี 2553 กลุ่มมิตรผล ลงทุนพัฒนาระบบน้ำ จำนวน 90 ล้านบาท เพื่อวางระบบชลประทานให้แก่โรงงานน้ำตาลของกลุ่มมิตรผลทั้ง 5 โรงงาน ครอบคลุมพื้นที่ 32,000 ไร่ โดยดำเนินการแล้วเสร็จในเดือน เม.ย.2554
นอกจากนั้น ในช่วงปี 2554-2556 กลุ่มมิตรผล ยังมีแผนจะลงทุนขยายระบบชลประทานในพื้นที่ปลูกอ้อยของกลุ่มมิตรผล จาก 40% เป็น 60-65% จากพื้นที่ปลูกอ้อยทั้งหมดจำนวน 1.2 ล้านไร่ โดยใช้เงินลงทุนประมาณ 300 ล้านบาท
นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า กลุ่มมิตรผลต้องการเพิ่มผลผลิตต่อไร่มากขึ้น เพื่อเพิ่มความมั่นคงแก่ธุรกิจ โดยมีเป้าหมายเพื่อจัดหาวัตถุดิบให้เพียงพอกับความต้องการของโรงงานน้ำตาล ซึ่งต่อไปมีแนวโน้มที่ความต้องการอ้อยจะเพิ่มมากขึ้น เพราะกระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างพิจารณาออกใบอนุญาตในการย้าย ขยายและตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ ซึ่งในช่วงกลางปี 2553 กระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกใบอนุญาต การย้าย ขยายและตั้งโรงงานใหม่ ไปแล้ว 10 แห่ง ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาอีก 20 แห่ง ซึ่งจะทำให้โรงงานน้ำตาลของประเทศเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มี 47 โรง
ทั้งนี้ กลุ่มมิตรผลได้ดำเนินโครงการมิตรผลโมเดล เพื่อต่อยอดการพัฒนาแบบยั่งยืน โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ จากปัจจุบัน 8 ตันต่อไร่ เป็น 17 ตันต่อไร่ หรือเพิ่มขึ้น 123% ซึ่งได้นำร่องโครงการที่จังหวัดขอนแก่น ในพื้นที่ 300 ไร่ และการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตจะเข้าไปพัฒนาแหล่งน้ำให้แก่ชาวไร่ ด้วยการร่วมลงทุนระหว่างโรงงานน้ำตาลกับชาวไร่ ในสัดส่วน 50:50 โดยโรงงานน้ำตาลจะลงทุนสร้างแหล่งน้ำ และชาวไร่ เป็นผู้ลงทุนเชื่อมต่อแหล่งน้ำ และกลุ่มมิตรผล มีแผนที่จะขยายพื้นที่นำร่องออกไปเป็น 8,000 ไร่ คาดว่าจะใช้เวลา 3-4 ปี ปรับปรุงการปลูกอ้อยให้ได้ตาม มิตรผลโมเดล
สำหรับ มิตรผลโมเดล จะกำหนดให้โรงงานน้ำตาลต้องวางแผนระบบแหล่งน้ำ และวางระบบบริหารจัดการภายในไร่อ้อย ครอบคลุมการจัดการดิน น้ำและพันธุ์อ้อยที่เหมาะสม พร้อมสร้างการรวมกลุ่มของชาวไร่อ้อย เพื่อร่วมกันปลูกอ้อยตามวิธีที่ได้มาตรฐาน เช่น รวมกลุ่มจ้างเครื่องจักรเพื่อให้ต้นทุนถูกลง โดยกลุ่มมิตรผลจะนำโมเดลดังกล่าวไปใช้กับโรงงานน้ำตาลที่ไปลงทุนในต่างประเทศ
"ปัจจุบันโรงงานน้ำตาลมิตรผลในจีน ได้เข้ามาศึกษาแนวทางเพื่อนำไปใช้กับชาวไร่ในจีน ส่วนโรงงานน้ำตาลที่ลาว เป็นพื้นที่ที่กลุ่มมิตรผลได้รับสัมปทานจากรัฐบาลลาว และกลุ่มมิตรผลดำเนินการปลูกอ้อยเอง"
จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 6 ตุลาคม 2553
รอผู้ว่ากลับจากประชุมIMF 14 ต.ค.นี้ ธปท.ยังไม่คุมเงินไหลเข้า
แบงก์ชาติออกมาตรการช่วยให้เอกชนทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศคล่องตัว ย้ำไม่มีมาตรการยาแรงสกัดเงินนอก จนกว่า "ประสาร" จะกลับจากประชุมไอเอ็มเอฟวันที่ 14 ต.ค.นี้ ยอมรับขณะนี้บาทแข็งไปแล้วกว่า 10% เป็นรองแค่มาเลเซียและญี่ปุ่น แต่ค่าความผันผวนไม่สูง 3-4% ด้านพรทิวา เตรียมนำ SMEs ขอพบ กรณ์ หารือแก้บาทแข็ง ก่อนตายหมู่อีก 3 เดือนข้างหน้า
เวลาประมาณ 17.00น. วานนี้ (5 ต.ค.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกประกาศผ่อนคลายระเบียบควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินเพื่อให้ภาคเอกชนมีความคล่องตัวในการบริหารจัดการเงินตราต่างประเทศมากขึ้น มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคมนี้
ประกอบด้วย 1. ผ่อนผันให้บริษัทในประเทศที่มีแหล่งเงินได้ค่าสินค้าหรือบริการจากต่างประเทศ โอนเงินตราต่างประเทศในบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศเพื่อชำระค่าสินค้าหรือบริการให้แก่ บริษัทอื่นในประเทศได้การผ่อนคลายดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ประกอบธุรกิจการค้าและบริการระหว่างประเทศสามารถบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น และช่วยลดต้นทุนการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ
2. ผ่อนผันการยื่นแบบการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศสำหรับธุรกรรมเงินตราต่างประเทศที่มีจำนวนต่ำกว่า 50,000 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา รวมทั้งผ่อนผันการยื่นเอกสารหลักฐานประกอบ การทำธุรกรรมดังกล่าว โดยให้ยื่นเฉพาะเอกสารแจ้งวัตถุประสงค์ในการทำธุรกรรม
ธปท.ระบุว่า การผ่อนคลายดังกล่าวจะช่วยลดภาระและต้นทุนในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการและธนาคารพาณิชย์ ส่งผลให้สามารถทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น
นอกจากนี้ ธปท. ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติตามมาตรการผ่อนคลาย 5 ข้อของกระทรวงการคลังที่ประกาศเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2553 เช่น ให้บริษัทที่ประสงค์จะลงทุนโดยตรงหรือให้กู้ยืมแก่กิจการในต่างประเทศจำนวนตั้งแต่ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกาหรือเทียบเท่าต่อปี แจ้งความประสงค์การลงทุนหรือให้กู้ยืมต่อเจ้าพนักงานควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตามวิธีที่กำหนด
ย้ำรอ "ประสาร" ยังไม่มียาแรง
น.ส.วงษ์วธู โพธิรัชต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงินและบริหารเงินสำรอง สายตลาดการเงิน ธปท. เปิดเผยก่อนหน้าว่า ขณะนี้ ธปท.กำลังศึกษามาตรการดูแลเงินทุนไหลเข้าของประเทศอื่นๆ รวมถึงมาตรการเก่าที่ ธปท.เคยนำมาใช้ พร้อมทั้งมาตรการใหม่ๆ ที่เพิ่งเริ่มทำ แต่มองว่าขณะนี้ไม่ใช่ช่วงจังหวะที่เหมาะสม เพราะช่วงนี้เป็นรอยต่อที่นายประสารไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท.คนใหม่เพิ่งมารับตำแหน่ง จึงต้องให้เวลาผู้ว่าการ ธปท.คนใหม่ และมองว่าการออกมาตรการใหม่เป็นเรื่องที่สำคัญต่อตลาดอย่างมาก
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท.คนใหม่ มีกำหนดประชุมกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่กรุงวอชิงตันดีซี สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 6-14 ต.ค.นี้ และคาดว่าจะกลับมาทำงานตามปกติในวันที่ 15 ต.ค.
ขณะนี้ ธปท.มีความกังวลเงินบาทเล็กน้อยจากลักษณะที่เราเห็น แต่ขณะนี้เราอยู่ช่วงวิเคราะห์เปรียบเทียบมาตรการของประเทศต่างๆ รวมถึงข้อดี-ข้อเสีย เพราะไม่ว่าเงินบาทแข็งหรืออ่อนต่างก็มีคนได้รับประโยชน์และเสียประโยชน์ จึงต้องศึกษาให้รอบคอบ น.ส.วงษ์วธูกล่าว
หากดูจากหน้าหนังสือพิมพ์ต่างมีบทความที่แสดงความคิดเห็นแตกต่างกันทั้งสนับสนุนให้ ธปท.รีบออกมาตรการและยังไม่ให้ออก จึงยังไม่สามารถบอกได้ว่าจังหวะไหนควรออก แต่ในขณะนี้ในหลายประเทศเป็นไปในลักษณะเดียวกัน โดยล่าสุดทางการประเทศบราซิลเพิ่มภาษีเงินทุนนำเข้าที่จะไปลงทุนในตราสารหนี้ของบราซิลจาก 2% เพิ่มเป็น 4%
อีกทั้งยังมีข่าวลือว่าประเทศไต้หวันดูฐานะสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องกับเงินตราต่างประเทศให้ใกล้ชิดมากขึ้น เช่นเดียวกับเกาหลีตรวจสอบฐานะของธนาคารที่เกี่ยวกับตราสารอนุพันธ์ นับตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย.เป็นต้นไป
ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทแข็งค่าไปแล้วกว่า 10% นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน เป็นรองค่าเงินริงกิตของมาเลเซียที่แข็งค่า 11% และเยนญี่ปุ่นที่แข็งกว่า 10% ซึ่งใกล้เคียงกับเงินบาทไทยต่างแค่จุดทศนิยมเท่านั้น แต่ค่าความผันผวนเพิ่มขึ้นไม่มาก 3-4% ถือว่าอยู่ในระดับกลางๆ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคนี้
สำหรับกรณีที่หลายฝ่ายกังวลมองว่าธปท.ควรชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อลดการจูงใจการไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติมายังประเทศไทยนั้น น.ส.วงษ์วธู กล่าวว่า ขณะนี้ในหลายประเทศต่างมีทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งหากไทยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็มองว่าจะไม่ได้ส่งผลกระทบมากนัก
ขณะเดียวกันนักลงทุนต่างชาตินำเงินมาลงทุนยังพิจารณาปัจจัยอื่นประกอบด้วย อาทิ สภาพคล่องตลาด ความน่าสนใจของตราสารหรือหุ้น ซึ่งจะนำมาเปรียบเทียบของตลาดอื่นที่มีทางเลือกใกล้เคียงกัน รวมถึงความเชื่อมั่นของตลาด เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การแข็งหรืออ่อนค่าของเงินบาทมีทั้งผู้ที่ได้รับประโยชน์และเสียประโยชน์ จึงมีหลากหลายกลุ่มที่เกี่ยวข้อง ทำให้ขณะนี้กระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์กำลังเข้าไปดูแลผู้ส่งออกรายเล็กในเรื่องการทำสัญญาป้องกันซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า ซึ่งจะดึงธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยและ SME BANK มาร่วมช่วยเหลือด้วย
นอกจากนี้ ธปท.เองก็เตรียมจัดงานสัมมนาให้ความรู้แก่ผู้ส่งออกรายกลางและรายย่อยในวันที่ 20 ต.ค.นี้ ซึ่งขณะนี้เตรียมงานไปแล้วประมาณ 90% และคาดว่าจะส่งหนังสือเชิญในช่วงปลายสัปดาห์นี้.
นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จะนำกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) ไปพบและหารือกับนายกรณ์ จาติกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อให้ SMEs ได้ชี้แจงปัญหาค่าเงินบาทแข็งโดยตรง เพราะหากไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็ว คาดว่าภายใน 3 เดือนข้างหน้า อาจจะมี SMEs เป็นจำนวนมากต้องปิดตัวลงไป เนื่องจากประสบปัญหาขาดทุนจากค่าเงินบาท และราคาไม่สามารถแข่งขันได้จากอัตราแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะสินค้าที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก
กำลังนัดรัฐมนตรีคลังอยู่ เพราะการแก้ไขปัญหาค่าเงินบาทที่ SMEs เสนอมา ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับกระทรวงการคลัง จึงอยากที่จะให้ SMEs ไปพูดปัญหาโดยตรงจะดีกว่า ส่วนอะไรที่กระทรวงพาณิชย์จะดำเนินการให้ได้ ก็ได้เร่งรัดสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดูแลแล้ว โดยเฉพาะการลดต้นทุนให้กับ SMEs และนำ SMEs ไปบุกเจาะตลาด เพื่อสร้างโอกาสในการขยายการส่งออกนางพรทิวากล่าว
ทั้งนี้ กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs จาก 8 สมาคม ได้ทำหนังสือถึงรมว.พาณิชย์ ขอให้ช่วยบรรเทาผลกระทบให้กับ SMEs โดยขอให้ช่วยเหลือในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนด้วยเงื่อนไขที่ง่ายขึ้นและอัตราดอกเบี้ยพิเศษ ผ่านการจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ส่งออกวงเงิน 5,000 ล้านบาท ให้ SME Bank เป็นผู้ทำหน้าที่ให้กู้ยืม มีบสย. ทำหน้าที่ค้ำประกันเงินกู้ และให้องค์กรเอกชนทำหน้าที่กลั่นกรองให้กับผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน ส่วนวงเงินต่อรายไม่เกิน 5 ล้านบาท ดอกเบี้ย MLR -3% ยกเว้นการใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน ระยะเวลาปลอดผ่อนชำระ 1 ปี
จาก http://www.manager.co.th วันที่ 6 ตุลาคม 2553
ชาวไร่เบรกเปิดหีบอ้อยเร็วสูญหมื่น ล.
นายกำธร กิตติโชติทรัพย์ ประธานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และเลขาธิการสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 7 เปิดเผยถึงการเปิดหีบน้ำตาลทรายของโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศ ฤดูการผลิตปี 2553/54 ว่า ตัวแทนชาวไร่อ้อยในคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) จะเสนอให้มีการเปิดหีบอย่างเร็วสุดวันที่ 15 ธ.ค.2553 เป็นต้นไป เนื่องจากในปีที่ผ่านมามีการทยอยเปิดหีบเร็วตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2552 ส่งผลให้ผลผลิตตกต่ำ โดย 1 ตันอ้อย ผลิตน้ำตาลทรายเหลือเพียง 102 กิโลกรัม จากปกติจะผลิตได้ 109 กิโลกรัม หายไป 7 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่าหมื่นล้านบาท
แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวว่า ขณะนี้คณะกรรมการขายน้ำตาลทรายที่มีนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน ได้พิจารณาที่จะจัดสรรน้ำตาลทรายที่ซื้อคืนจากเทรดเดอร์ 3 ราย จำนวน 743,500 กระสอบ ในงวดที่ 3 ที่จะมีการเพิ่มการขึ้นงวดเข้าไปในจันทร์ที่ 4 ต.ค.นี้ ซึ่งล่าสุดมีผู้เสนอขอซื้อทั้งสิ้น 81 ราย โดยคาดว่าจะจัดสรรน้ำตาลเพิ่มขึ้นเป็น 7.4 หมื่นกระสอบจากเฉลี่ยเดิมวางไว้ที่ประมาณ 5 หมื่นกระสอบ.
จาก http://www.thaipost.net 4 ตุลาคม 2553
จ่อเปิดหีบอ้อยกลาง ธ.ค. หนีผลผลิตต่ำ "อุตฯ" เล็งทุ่มน้ำตาล
ชาวไร่อ้อยเสนอเปิดหีบอ้อยออกไปเป็น 15 ธ.ค. ไม่อยากเห็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเปิดหีบเร็ว ทำให้ผลผลิตตกต่ำ รายได้หดหาย "อุตฯ" เล็งทุ่มน้ำตาลซื้อคืนจากเทรดเดอร์ล็อต 3 จันทร์นี้ จัดสรรเพิ่มเป็น 7.4 หมื่นตันหลังมีผู้ขอซื้อ 81 ราย เพื่อไม่ให้น้ำตาลขาดแคลน ด้านสมาคมผู้ผลิตเครื่องดื่มฮึ่มขอคำตอบส้ปดาห์นี้ขอจัดสรรน้ำตาลเพิ่ม
นายกำธร กิตติโชติทรัพย์ ประธานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทยและเลขาธิการสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 7 เปิดเผยว่า การเปิดหีบน้ำตาลทรายของโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศฤดูการผลิตปี 2553/54 ตัวแทนชาวไร่อ้อยในคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) จะเสนอให้มีการเปิดหีบอย่างเร็วสุด 15 ธ.ค.2553 เป็นต้นไป เนื่องจากในปีที่ผ่านมา มีการพิจารณาทยอยเปิดหีบเร็วตั้งแต่ 1 พ.ย.2552 เป็นต้นไป ส่งผลให้ผลผลิตตกต่ำ โดย 1 ตันอ้อยผลิตน้ำตาลทรายเหลือเพียง 102 กิโลกรัม (ก.ก.) เท่านั้น จากปกติเฉลี่ยที่ผ่านมาจะผลิตได้ 109 ก.ก.ต่อตันอ้อยหรือหายไป 7 ก.ก.คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่าหมื่นล้านบาท
เราไม่ต้องการเห็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอย เพราะการเปิดหีบที่เร็วเกินไป ทำให้ผลผลิตต่ำ เนื่องจากปกติแล้วอ้อยจะสะสมความหวานในช่วงฤดูหนาวเมื่อเปิดหีบเร็วทำให้ผลผลิตลดต่ำลง ซึ่งปีนี้ฤดูฝนมาช้าทำให้ฤดูหนาวจะเลื่อนออกไป ประกอบกับปีนี้ซ้ำร้ายที่ผลผลิตอ้อยเองก็มีแนวโน้มเฉลี่ยอยู่ที่ 60-65 ล้านตันเท่านั้น เพราะช่วงแรกเจอภัยแล้ง ขณะที่ปีก่อนมีผลผลิตที่ 68 ล้านตันนายกำธรกล่าว
แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ขณะนี้คณะกรรมการขายน้ำตาลทรายที่มีนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานได้พิจารณาที่จะจัดสรรน้ำตาลทรายที่ซื้อคืนจากเทรดเดอร์ 3 รายจำนวน 7.43 แสนกระสอบในงวดที่ 3 ที่จะมีการเพิ่มการขึ้นงวดเข้าไปในจันทร์ที่ 4 ต.ค.นี้ ซึ่งล่าสุดมีผู้เสนอขอซื้อทั้งสิ้น 81 รายโดยคาดว่าจะจัดสรรน้ำตาลเพิ่มขึ้นเป็น 7.4 หมื่นกระสอบจากเฉลี่ยเดิมวางไว้ที่งวดละประมาณ 5 หมื่นกระสอบ
ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมกำลังเกาะติดปริมาณน้ำตาลทรายที่จะทยอยขึ้นงวดในแต่ละสัปดาห์ รวมถึงน้ำตาลค้างกระดานอย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะบริหารให้มีน้ำตาลทรายกระจายครบทุกสัปดาห์จนถึงสิ้นธ.ค.2553ซึ่งคาดว่า 3 เดือนที่เหลือจะใช้น้ำตาลทรายเฉลี่ยเดือนประมาณ 1.75 ล้านกระสอบหรือรวมประมาณ 5.25 ล้านกระสอบ ขณะที่ปริมาณน้ำตาลทรายที่เหลือรวมของกระทรวงพาณิชย์มีทั้งสิ้น 5.3 ล้านกระสอบ แต่สิ่งที่กังวลคือหากโรงงานน้ำตาลเปิดหีบล่าช้าอาจมีปัญหาช่วงรอยต่อได้ รวมถึงหากน้ำตาลโควตาพิเศษของกระทรวงพาณิชย์ที่เหลือ 4 แสนกระสอบไม่ถูกระบายออกมาก็จะลำบากเช่นกัน
นายประจวบ ตยาคีพิสุทธ รองประธานคณะกรรมการบริหารและโฆษกมสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้สมาคมฯ ได้หารือกับเจ้าหน้าของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ถึงความคืบหน้าหลังจากที่ สมาคมฯ ได้ทำหนังสือแจ้งถึงความต้องการน้ำตาลทรายของผู้ประกอบการเครื่องดื่มในช่วงสิ้นปีนี้ที่จะเพิ่มขึ้นจากแผนที่ประเมินไว้ 3.8 แสนกระสอบ จากอัตราการเติบโตของการบริโภค หากในสัปดาห์นี้ยังไม่มีคำตอบ สมาคมฯ จะเดินทางเข้าร้องเรียนกับนายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รมว.อุตสาหกรรมเพื่อสอบถามถึงนโยบายที่เคยให้ไว้
จาก http://www.manager.co.th 3 ตุลาคม 2553
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 1 ต.ค.นี้สอท.รวบรวมข้อเสนอจากสมาชิก ทั้ง 34 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาค่าเงินบาท เพื่อเสนอมาตรการเพิ่มเติมในการรับมือวิกฤติเงินบาทแข็งค่าต่อธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หลังที่มีการเสนอมาตรการดูแลค่าเงินบาทไปก่อนหน้านี้แล้ว 6 มาตรการ แต่ไม่สามารถชะลอการแข็งค่าของเงินได้ โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นไปแล้วถึง 9.08% หรือแข็งค่าไม่ต่ำกว่า 2.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้นภาคเอกชนเกรงว่า หากดูแลไม่ดีในช่วงสิ้นปีนี้อาจเห็นเงินบาทแข็งค่าอยู่ที่ระดับ 29 บาทต่อดอลลาร์ได้
สำหรับมาตรการที่สอท.จะเสนอต่อ ธปท.เพิ่มเติม เช่น ขอร้องให้ ธปท.หยุดให้ข่าวรายวัน เพราะจะนำมาซึ่งไม่เป็นผลดีต่อภาคการส่งออก เพราะทำให้ต่างชาติเห็นช่องทางว่า ธปท.ไม่มีมาตรการดูแลการเก็งกำไรค่าเงินบาทเท่าที่ควร, ขอให้ ธปท.คงดอกเบี้ยนโยบาย (อาร์พี) ไว้ที่ระดับ 1.75% ขอให้รัฐพิจารณาชำระค่าสินค้าเป็นเงินสกุลต่างประเทศได้เป็นกรณีพิเศษกับผู้นำเข้าและส่งออก และให้มีการจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีวงเงิน 5,000 ล้านบาท ผ่านธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) เพื่อช่วยเหลือสภาพคล่องเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบ
ผู้ส่งออกรับไม่ได้ที่ ธปท. ระบุว่าค่าเงินบาทที่แข็งค่านั้นไม่กระทบส่งออก ซึ่งแม้ว่าปริมาณการส่งออกที่เพิ่มขึ้นแต่การที่บาทแข็งค่านั้นกระทบต่อมูลค่าลดลง ประกอบกับผู้ส่งออก ตั้งรับราคาสินค้าไว้ต้นปีที่ระดับ 33 บาทต่อดอลลาร์ เมื่อแข็งค่ามากต้องไปลดต้นทุนแทนซึ่งไม่ได้ทำง่าย ๆ และมาตรการ ธปท.ที่ออกมาก็ขัดแย้งความเป็นจริง เช่น การส่งเสริม ลงทุนต่างประเทศนั้นมันเป็นเรื่องระยะยาว.
จาก http://dailynews.co.th นที่ 1 ตุลาคม 2553
พรทิวายันปุ๋ยลดราคาแน่ 1 ต.ค.53
นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยนายสถาพร มณีรัตน์ ส.ส.ลำพูน พรรคเพื่อไทย ตั้งกระทู้ถามสดเรื่องปัจจัยการผลิตด้านการเกษตรมีราคาแพง ถามนายกฯว่า เมื่อค่าเงินบาทแข็งตัว อยู่ที่เงินดอลลาร์ละ 30 บาท แต่ทำไมราคาปุ๋ย ยาฆ่าแมลง และเมล็ดพันธุ์จึงไม่ลด หรือเป็นเพราะพ่อค้า นายทุนของรัฐบาลชุดนี้ไม่ยอม ถึงทำให้ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรม นอกจากนี้ยังมีปัญหาในเรื่องการปลอมปน ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ขายยังท้องตลาด รวมถึงการขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ข้าวด้วย รัฐบาลจะแก้ปัญหานี้อย่างไร
โดยนางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ ได้รับมอบหมายจากนายกฯให้ชี้แจงแทนว่าในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ เกี่ยวกับราคาปุ๋ยซึ่งถือว่าเป็นต้นทุนหลักในการผลิตสินค้าการเกษตร จากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ก็ได้ปรับลดราคาปุ๋ยลงมา ช่วงปี 51-53 เมื่อดูจากเดือน ส.ค. 51 อยู่ที่ 788 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ขณะที่เดือนส.ค. 53 อยู่ที่ 291 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน และเดือนก.ย. 53 อยู่ที่ 331 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ซึ่งในเรื่องราคาปุ๋ย ทางกรมการค้าภายในไม่ได้นิ่งนอนใจดูแลเรื่องของต้นทุนและเชิญผู้ประกอบการหารือว่าเมื่อค่าเงินบาทแข็งค่าก็ต้องมีการปรับลดราคาปุ๋ยลงมา ซึ่งวันที่ 1 ต.ค.นี้จะมีการลดราคาปุ๋ยลงมา อาทิ ปุ๋ยสูตร 46-0-0 จากเดิมตันละ 12,000 บาท เหลือตันละ 10,000 บาท ส่วนปุ๋ยสูตร 15-15-15 จาก ราคาเดิมตันละ 15,000 บาท เหลือตันละ 14,000 บาทต่อตัน ซึ่งกระทรวงฯจะติดตามความเคลื่อนไหวตลอดเวลา และพิจารณาปรับลดราคาตามค่าเงินบาท.
จาก http://dailynews.co.th วันที่ 1 ตุลาคม 2553
แมลงหวี่ขาว ระบาดไร่อ้อยลามแล้วกว่า 7,000 ไร่
มหาสารคาม - ชาวไร่อ้อยมหาสารคามเดือดร้อนหนัก โดยเฉพาะที่อำเภอโกสุมพิสัย พบแมลงหวี่ขาวระบาด แล้วกว่า 7,000 ไร่ ขณะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่เตรียมหาทางช่วยเหลือเกษตรกรแล้ว
จากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการระบาดของแมลงหวี่ขาวอ้อย ส่งผลให้พบการระบาดเป็นบริเวณกว้างในพื้นที่อำเภอโกสุมพิสัย รวมพื้นที่กว่า 7,000 ไร่ ใน 8 ตำบล โดยตัวอ่อนและตัวเต็มวัยจะดูดกินน้ำเลี้ยงอยู่ใต้ใบอ้อย มีผลทำให้ใบอ้อยสีซีดลง และกลายเป็นสีเหลือง ส่งผลให้ปริมาณน้ำตาลในอ้อยลดลง อ้อยชะงักการเจริญเติบโต และผลผลิตอ้อยลดลง
ล่าสุด สำนักงานเกษตรจังหวัดมหาสารคาม และเจ้าที่โรงงานน้ำตาลลงพื้นที่ออกสำรวจแปลงอ้อย เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรเป็นการด่วนแล้ว พร้อมแนะนำให้เกษตรกรทำความสะอาดแปลงอ้อยไม่ให้มีวัชพืชขึ้นรก เป็นการช่วยให้อ้อยมีความแข็งแรงและต้านทานต่อ การเข้าทำลายของแมลงหวี่ขาวได้ หากพบการระบาดรุนแรงแนะนำเกษตรกรให้ใช้สารเคมีฉีดพ่นทำลายเท่าที่จำเป็น
ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาว ในพื้นที่ลุ่ม หรือค่อนข้างลุ่ม ควรปลูกอ้อยพันธุ์พินด้า หรือ คิว 83แทนอ้อยพันธุ์ เอฟ 140 หรือชาวบ้านเรียกว่า เอฟ 147 เพราะพันธุ์ดังกล่าวมีความต้านทานต่อแมลงหวี่ขาว ส่วนบริเวณพื้นที่ดอน ควรปลูกอ้อยพันธุ์ แรกน่า แทนพันธุ์ เอฟ 140เพราะต้านทานแมลงหวี่ขาวได้ดีกว่า
ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรประจำตำบล สำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้าน
จาก http://www.manager.co.th วันที่ 1 ตุลาคม 2553
นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้มีน้ำตาลทรายค้างกระดานที่ไม่รวมของกระทรวงพาณิชย์ จำนวน 1.1 ล้านกระสอบ ซึ่งเป็นปริมาณที่มากกว่าปกติ กระทรวงจึงทำหนังสือให้โรงงานน้ำตาลทั้ง 47 แห่ง ทำรายละเอียดการขาย เช่น น้ำตาลที่อยู่ในโรงงานมีการทำสัญญาขายจริงเท่าไหร่ และมีส่วนที่ค้างกระดานจริงเท่าไหร่ ซึ่งการให้โรงงานน้ำตาลไปแยกข้อมูลครั้งนี้ เพื่อให้กระทรวงสามารถ วางแผนการกระจายน้ำตาลได้เหมาะสม เพราะจากปริมาณน้ำตาลที่ค้างกระดานและการขึ้นงวดของแต่สัปดาห์แล้ว กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) ยังอยู่ระหว่างขายน้ำตาลที่ซื้อคืนจากโควตา ค. (ผลิตเพื่อส่งออก) ราว 7 แสนกระสอบ ให้กับผู้ค้าส่ง (ยี่ปั๊ว) ทั่วประเทศสัปดาห์ละ 5 หมื่นกระสอบ เพื่อแก้ปัญหาน้ำตาลทรายตึงตัวทั่วประเทศด้วย
รายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผยว่า ปริมาณน้ำตาลทรายที่ค้างกระดาน เมื่อวันที่ 24 ก.ย. อยู่ที่ 1.1 ล้านกระสอบ และมีของกระทรวงพาณิชย์ประมาณ 3 แสนกระสอบ วันที่ 27 ก.ย. มีการขึ้นงวดน้ำตาลอีก 4.03 แสนกระสอบ ทำให้มีน้ำตาลค้างกระดานรวมกว่า 1.8 ล้านกระสอบ ดังนั้นวันที่ 1 ต.ค. ทางกท. จะหารือกับ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาล เพื่อให้เช็กว่ามีปริมาณที่ค้างกระดานจริงเท่าไหร่
จาก http://www.khaosod.co.th วันที่ 1 ตุลาคม 2553