http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล(เดือนตุลาคม 2556)

วิธีบริหารความเสี่ยงเมื่อค่าเงินผันผวน

ปี พ.ศ. 2556 นี้ถือได้ว่าเป็นปีที่ค่าเงินบาทของไทยมีความผันผวนอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อกลางปีที่เกิดภาวะเงินบาทแข็งค่า และแม้ว่าไตรมาสสาม และสี่ ค่าเงินบาทจะอ่อนตัวลงมาบ้าง แต่ก็ยังขาดเสถียรภาพจากผลกระทบในหลายปัจจัย ซึ่งการแกว่งตัวของค่าเงินแต่ละครั้งมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการ SMEs ไทยอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าและส่งออก ซึ่งอัตราแลกเปลี่ยนส่งผลกระทบโดยตรงต่อผลกำไรและภาวะขาดทุนของธุรกิจ

ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเกิดจากหลายปัจจัยทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งปัจจัยในระดับมหภาค ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโลก นโยบายทางการเงินและการคลังของประเทศ เสถียรภาพทางการเมืองทั้งในและต่างประเทศ ปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจภายในประเทศ และอีกหลายปัจจัยทางเทคนิค เช่น จิตวิทยาตลาดและข่าวลือทางเศรษฐกิจ รวมถึงการคาดการณ์และการเก็งกำไร แม้ว่าธุรกิจจะควบคุมปัจจัยที่มีผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนไม่ได้ แต่ผู้ประกอบการสามารถประเมินความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

เข้าใจธุรกิจ สร้างวินัยทางการเงิน

หากความผันผวนของค่าเงินบาทไม่รุนแรงมากนัก ผลกระทบที่มีต่อการทำกำไร หรือขาดทุนจะอยู่ในระดับที่ผู้ประกอบการสามารถรับมือได้ในระยะสั้น แต่สิ่งที่ต้องระวังคือปัญหาเรื่องการขาดสภาพคล่องและอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่ม ขึ้น สิ่งสำคัญคือผู้ประกอบการต้องรักษาวินัยทางการเงินและการดำเนินธุรกิจให้ดี เช่น ดูแลความสมดุลของกระแสเงินสด การประหยัดเพื่อลดต้นทุน การบริหารระยะเวลาในการรับและจ่ายเงิน

ขอยกตัวอย่างวิธีการคำนวณ ต้นทุนสินค้าเพื่อรองรับความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมและการปฏิบัติไม่ซับซ้อน โดยผู้ประกอบการสามารถคิดคำนวณต้นทุนสินค้าให้รองรับภาวะค่าเงินผันผวน เฉลี่ย 2 ดอลลาร์ฯ เพราะหากไม่นับช่วงที่ค่าเงินมีความผันผวนหนักอย่างปี พ.ศ. 2540 แล้ว ค่าเงินบาทและเงินดอลลาร์ฯ มีการปรับตัวไม่สูงมาก ต้นทุนรองรับภาวะค่าเงินผันผวนนี้จะเป็นกันชนให้อัตราการขาดทุนอยู่ในระดับ ที่ธุรกิจยังรับได้ ผู้ประกอบการจะต้องมีความเข้าใจในธุรกิจอย่างถ่องแท้ โดยเฉพาะสถานะทางการเงินและความเคลื่อนไหวของกระแสเงินสด เพื่อสามารถวางแผนได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม

การทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (Forward Contract)

การทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า หรือที่หลายคนเรียกว่าการจองฟอร์เวิร์ด คือการตกลงที่จะซื้อขายเงินตราต่างประเทศกับสถาบันทางการเงิน โดยระบุวันที่ไว้ในอนาคตด้วยอัตราแลกเปลี่ยนและจำนวนเงินที่ได้ตกลงไว้ ซึ่งเป็นวิธีกระจายความเสี่ยงที่ได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะนอกจากจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถวางแผนการเงินล่วงหน้าได้แล้ว ยังทำให้รู้ต้นทุนที่แน่นอน และง่ายต่อการควบคุมกิจการ

การบริหารความเสี่ยงแบบธรรมชาติ (Natural Hedge)

Natural Hedge เป็นการบริหารรายรับกับรายจ่ายที่เป็นเงินตราต่างประเทศให้สอดคล้องกัน เช่น กำหนดรายรับกับรายจ่ายให้เป็นเงินสกุลเดียวกัน และมีการส่งมอบในเวลาที่ตรงกันหรือใกล้เคียงกัน ซึ่งหัวใจของวิธีนี้คือการ Matching หรือจับคู่กันระหว่างกระแสเงินสดที่เป็นรายรับจากลูกค้ารายหนึ่งมา matching กับรายจ่ายให้คู่ค้ารายใดก็ได้ซึ่งเป็นเงินสกุลเดียวกัน ถ้าการจับคู่นี้สามารถหักลบกลบหนี้กันได้ลงตัว เราจะสามารถลดผลกระทบที่เกิดจากความผันผวนของค่าเงินลงไปได้ ผู้ประกอบการควรขอคำปรึกษาจากธนาคารหรือสถาบันการเงิน หากต้องการ matching ระหว่างคู่ค้าหลายราย

ใช้เงินตราต่างประเทศหลายสกุลในการทำธุรกิจ (Currency Diversification)

ผู้ประกอบการสามารถตกลงกับคู่ค้าเพื่อรับจ่ายเงินตามสกุลของประเทศคู่ค้าแทนที่ จะใช้เงินเพียงสกุลเดียว เพราะในเวลาเงินบางสกุลอาจผันผวนมาก แต่เงินสกุลอื่นก็อาจมีความผันผวนน้อยกว่า อย่างในเวลานี้ที่เงินดอลลาร์ฯ มีความผันผวนมาก ผู้ประกอบการอาจเลือกใช้เงินสกุลอื่นแทน เช่น ใช้เงินยูโรสำหรับคู่ค้ายุโรป หรือใช้เงินหยวนสำหรับคู่ค้าจีน เพราะขณะที่ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจากเงินสกุลหนึ่งก็อาจได้รับผล ประโยชน์จากเงินสกุลอื่นมาหักลบกันได้ อย่างไรก็ตามการทำธุรกิจด้วยเงินหลายสกุลหมายความว่าธุรกิจจะต้องมีเงิน สำรองแต่ละสกุลอยู่จำนวนหนึ่งด้วย ดังนั้นผู้ประกอบการที่เลือกใช้วิธีนี้ต้องมีความเชี่ยวชาญทางการเงินสูง และมีประสบการณ์ในการคาดการณ์สกุลเงินต่างประเทศที่แม่นยำมาก

วิธีการต่างๆ ที่กล่าวมานี้ล้วนมีข้อดีและข้อเสีย เช่น ผู้ประกอบการนำเข้าอาจเห็นว่าการทำ Forward Contract เป็นการเสียโอกาสในการทำกำไรเพิ่มหากเงินบาทแข็งค่าในช่วงที่ทำสัญญาไว้ แต่นั่นเป็นส่วนของการเก็งกำไรค่าเงิน ซึ่งไม่เกี่ยวกับการบริหารความเสี่ยงทางธุรกิจ หรือการทำ Natural Hedge ที่ต้องอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญด้านกลไกทางการเงินขั้นสูง และต้องอาศัยความร่วมมือจากธนาคาร เพราะฉะนั้นผู้ประกอบการจึงควรมีความรู้ความเข้าใจในธุรกิจของตนอย่าง ถ่องแท้ และต้องไตร่ตรองให้ดี เพื่อเลือกวิธีเหมาะสมที่สุด พึงระลึกไว้เสมอว่าเราไม่ได้อยู่ในธุรกิจทางการเงิน ไม่มีอาชีพที่จะทำกำไรจากเรื่องของการเงิน และไม่เน้นเก็งกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน

การบริหารความเสี่ยงเมื่อค่า เงินผันผวนยังมีอีกหลายวิธีนอกจากที่กล่าวมา แต่วิธีการเหล่านั้นมีการเก็งกำไรในตลาดเงินเป็นหลัก ซึ่งอยู่นอกเหนือจากหลักการบริหารธุรกิจ จึงไม่ขอกล่าวถึงในบทความนี้

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 31 ตุลาคม 2556

ส่งออกปีหน้ายังต้องลุ้นเหนื่อย

นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากภาวะความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจสหรัฐที่แม้จะมีแนวโน้มจะฟื้นตัว แต่นโยบายทางการเงินของสหรัฐยังไม่มีความชัดเจน โดยเฉพาะการปรับลดมาตรการอัดฉีดสภาพคล่อง (QE) และนโยบายการคลังที่มีผลกระทบต่อหนี้สาธารณะ รวมทั้งปัญหาค่าเงินและปัญหาเศรษฐกิจในระยะยาว ประกอบกับประเทศผู้ซื้อหลายประเทศมีกำลังซื้อลดลง ส่งผลให้การส่งออกไทยปีนี้จะเติบโตได้เพียงประมาณ 1% หรือประมาณ 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 3 เดือนที่เหลือของปี ซึ่งต่ำกว่าคาดการณ์ล่าสุดเมื่อเดือนสิงหาคมที่ประมาณ 2.5% โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้มีมูลค่าการส่งออกประมาณ 172,139.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือขยายตัวเพียง 0.05% สัดส่วนมูลค่าการส่งออกของไทย ทั้งสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ หากดูการเติบโต 9 เดือนแรกของปีเมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียน ไทยยังขยายตัวได้ดีกว่ามาเลเซียที่ส่งออกติดลบประมาณ 5.36% อินโดนีเซียติดลบประมาณ 4.96 % และสิงคโปร์ติดลบประมาณ 1.35% ดังนั้นจึงมองว่าการส่งออกของไทยปีหน้า อาจจะขยายตัวได้ประมาณ 5-7% เนื่องจากเศรษฐกิจของตลาดการค้าหลักทั้งสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น มีแนวโน้มดีขึ้น แต่ยอมรับเป็นห่วงสถานการณ์การเมืองจะกระทบต่อขีดความสามารถในการส่งออกของไทยในอนาคตได้ เพราะรัฐบาลให้ความสำคัญแก้ไขปัญหาด้านการเมืองมากกว่าให้ความสำคัญกับนโยบายเศรษฐกิจในระยะยาว

ด้านนายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การส่งออกปีนี้จะไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การเมืองที่มีการชุมนุมในขณะนี้ แต่ยอมรับจะมีผลกระทบปี 57 ซึ่งอาจทำให้การส่งออกขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ เพราะการชุมนุมมีผลต่อบรรยากาศการลงทุน และต้นทุนด้านโลจิสติกส์ที่ต้องเปลี่ยนเส้นทางการขนส่ง ดังนั้น หากจะมีการชุมนุมขึ้นผู้ชุมนุมไม่ควรปิดเส้นทางโลจิสติกส์ที่สำคัญ และรัฐบาลควรแก้ไขปัญหาเหล่านี้โดยเร็ว

สำหรับการจะทำให้การส่งออกของไทยยังเข้มแข็งและยั่งยืน และในระยะเร่งด่วนไทยจะต้องติดตามกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าและการขนส่งระหว่างประเทศ รวมถึงแก้ไขปัญหาความล่าช้า และการจราจรในพื้นที่ชั่งน้ำหนักบริเวณท่าเรือขนส่งสินค้า ขณะที่ระยะยาวภาครัฐจะต้องเข้ามาปรับโครงสร้างภาคการส่งออกเพื่อรับมือในตลาดโลกที่มีความผันผวน รัฐบาลควรกำหนดยุทธศาสตร์การส่งออกไทย โดยการผลักดันการส่งออกเป็นวาระแห่งชาติที่บูรนาการทำงานร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อยกระดับการค้าระหว่างประเทศให้มีศักยภาพมากขึ้น

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 31 ตุลาคม 2556

กรมชลเปิดแผนจัดการน้ำลุ่มเจ้าพระยา รองรับพื้นที่การเกษตรช่วงฤดูแล้ง2.9ล้านไร่

กรมชลประทานคาดการณ์สถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยาหลัง 1 พ.ย. มีแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อใช้ฤดูแล้งประมาณ 8,900 ล้าน ลบ.ม. วางแผนจัดสรรสำหรับการอุปโภค-บริโภค 3,000 ล้าน ลบ.ม. และใช้เพื่อการเกษตร 2,900 ล้าน ลบ.ม. คาดรองรับพื้นที่ทั้งในและนอกเขตชลประทานได้ 2.9 ล้านไร่

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน เปิดเผยว่า สำหรับในลุ่มเจ้าพระยามีเขื่อนสำคัญที่จะพิจารณาเพื่อจะจัดสรรน้ำให้ในฤดูแล้งปี 56 / 57 ทั้งสิ้น 4 แห่ง แต่ละแห่งมีปริมาณน้ำ ณ วันที่ 28 ตุลาคม ดังนี้ เขื่อนภูมิพลมีปริมาณน้ำร้อยละ 52 มีน้ำใช้การได้ 3,145 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เขื่อนสิริกิติ์ร้อยละ 62 มีน้ำใช้การได้ 3,057 ล้านลบ.ม. เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนร้อยละ 96 มีน้ำใช้การได้ 856 ล้านลบ.ม. และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ร้อยละ 100 มีน้ำใช้การได้ 960 ล้านลบ.ม.

“เราได้พยากรณ์ไว้ว่า ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน จะมีแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อใช้ในหน้าแล้งราว 8,900 ล้านลบ.ม. โดยมาจากเขื่อนภูมิพล 3,200 ล้านลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ 3,000 ล้านลบ.ม. เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน 850 ล้านลบ.ม. เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 850 ล้านลบ.ม. และผันน้ำจากแม่น้ำแม่กลองมาอีก 1,000 ล้านลบ.ม. ซึ่งน้ำจำนวนนี้จะนำมาใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2557 โดยแบ่งเป็นใช้เพื่อการอุปโภค บริโภค รักษาระบบนิเวศน์ 3,000 ล้านลบ.ม. ใช้เพื่อการสำรองไว้ใช้ต้นฤดูฝนปีหน้า 3,000 ล้านลบ.ม. ใช้เพื่อการเกษตร 2,900 ล้านลบ.ม. ซึ่งจะใช้เพาะปลูกพืชในลุ่มเจ้าพระยาได้ 2.9 ล้านไร่ แบ่งเป็นในเขตชลประทาน 2.4 ล้านไร่ และนอกเขตชลประทาน 5 แสนไร่” ดร.ทองเปลว กล่าว

ดร.ทองเปลว กล่าวต่ออีกว่า จะเริ่มทำการส่งน้ำตามแผนดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนเป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามการปลูกพืชของเกษตรกรให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ โดยคณะทำงานวางแผนการปลูกพืชฤดูแล้งซึ่งมีอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรเป็น ประธาน ร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ภายในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการจัดทำแผนการปลูกพืชฤดูแล้งให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ติดตามป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตรจนกว่าจะสิ้นสุดฤดูเก็บ เกี่ยวพืชฤดูแล้ง

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 31 ตุลาคม 2556

รายงานพิเศษ : สร้างความมั่นคงอาชีพเกษตรกรไทย ด้วยการจัดสรรที่ดินอย่างเหมาะสม

แม้ในปัจจุบันรัฐบาลจะพยายามสร้างความมั่นคงให้อาชีพเกษตรกรของไทย โดยการแก้ปัญหาด้วยวิธีต่างๆ ทั้งการประกันราคาพืชผลทางการเกษตร การให้ความช่วยเหลือด้านปัจจัยการผลิต การให้ความรู้เพื่อพัฒนาเกษตรกร รวมถึงการส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าสู่ระบบการผลิตที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน แต่ยังมีปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ซึ่งเกษตรกรไทยยังคงต้องเผชิญและรอการแก้ไขอย่างเร่งด่วน นั่นคือ ปัญหาการไร้ที่ดินทำกินเป็นของตนเอง เพราะการไร้ที่ทำกินก็เหมือนซึ่งไร้หนทางในการประกอบอาชีพ

สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.)เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่เข้ามาทำหน้าที่ในการจัดสรรที่ดินของรัฐและเอกชน เพื่อกระจายสิทธิ์การเข้าทำประโยชน์ในที่ดินเพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรมให้แก่เกษตรกรและผู้ไร้ที่ดินทำกิน ที่ผ่านมามีการจัดสรรที่ดินของรัฐไปแล้วกว่า 34 ล้านไร่ และมีเกษตรกรที่ได้รับการจัดสรรที่ดินไปแล้วกว่า 2.6 ล้านราย

นายสมปอง อินทร์ทอง รองเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.) กล่าวว่า ปัจจุบัน ส.ป.ก.มีที่ดินอยู่ 2 ประเภทที่ดำเนินการอยู่ คือ ที่ดินของรัฐ และที่ดินของเอกชน ในส่วนที่ดินของรัฐ ส.ป.ก.ได้ให้สิทธิ์แก่เกษตรและผู้ยากไร้ที่ดินทำกินในการเข้ามาใช้ประโยชน์ตามกฎหมาย ส่วนที่ดินของเอกชน ส.ป.ก. ได้มุ่งเน้นที่การจัดหาที่ดินด้วยการจัดซื้อที่ดินจากเอกชน โดยใช้เงินกองทุนเป็นส่วนสนับสนุน ปัจจุบันนี้ยังมีเกษตรกรที่รอความหวัง และต้องการมีที่ดินทำกินเป็นของตนเองอีก 3.7 แสนราย คาดว่าภายในระยะเวลาไม่กี่ปี ส.ป.ก. น่าจะดำเนินการจัดสรรที่ดินให้ได้เรียบร้อย

หลังจากที่ได้จัดสรรที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกรแล้ว ส.ป.ก.ยังได้เข้ามาดูแลพื้นที่ ทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาที่ดิน แหล่งน้ำ และปัจจัยการผลิต รวมทั้งการพัฒนาตัวเกษตรกร ในเรื่องของความรู้ความสามารถ ทักษะ และประสบการณ์ของการทำอาชีพเกษตรกร เพื่อให้การประกอบอาชีพเกษตรกรรมมีความมั่นคง และมีรายได้เพียงพอกับการดำเนินชีวิต โดยทำควบคู่กับหน่วยงานอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมการเกษตร เป็นต้น

สำหรับปัญหาที่ดินทำกินที่ยังพบอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ ปัญหาผู้ไร้ที่ดินทำกิน ซึ่งมีอยู่ประมาณ 3.7 แสนราย ส.ป.ก.ยังคงทำหน้าที่จัดหาที่ดินให้ ปัญหาของผู้ที่มีที่ดินทำกินแล้ว แต่ยังมีการใช้ประโยชน์ที่ดินไม่มีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาทักษะและองค์ความรู้ด้านการจัดการอย่างต่อเนื่อง ปัญหาการบุกรุกที่ดินทำกินของรัฐ และการกระจายสิทธิ์ที่ดินที่ไม่เป็นธรรม บางรายถือครองที่ดินเป็นจำนวนมาก ส.ป.ก. ต้องเข้าไปเจรจาเพื่อจัดซื้อที่ดินมากระจายสิทธิ์ให้ผู้ไร้ที่ดินทำกิน ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ล้วนเป็นปัญหาหลักๆ ในเรื่องที่ดินทำกินของคนไทยที่ยังดำรงอยู่ ซึ่งหน่วยงานภาครัฐหลายส่วนได้พยายามดำเนินการแก้ปัญหาอยู่อย่างต่อเนื่อง

นายสมปอง กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับปัญหาเร่งด่วนที่ ส.ป.ก.ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน เรื่อง แรกคือ การจัดซื้อจากภาคเอกชน โดยมีการแก้ไขกฎหมายบางมาตรา เพื่อให้ ส.ป.ก.ได้เข้าไปจัดซื้อที่ดินได้ และการจัดสรรที่ดินของรัฐใหม่ ด้วยการตรวจสอบที่ดินที่จัดสรรไปก่อนหน้านี้ที่นำไปใช้ประโยชน์ผิดวัตถุประสงค์ ผิดประเภท เพื่อนำมาจัดสรรให้ผู้ไร้ที่ดินทำกินรายใหม่ รวมทั้งการพัฒนาเกษตรกร และการพัฒนาพื้นที่ ตามนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งการโซนนิ่งพื้นที่การเกษตรทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น พื้นที่เพาะปลูกพืช พื้นที่สำหรับการเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น

นอกจากนั้น ส.ป.ก.ยังมีโครงการใหม่ที่รับมาดำเนินการ คือ ศูนย์รับรองตรวจสอบสินค้าเกษตร ขณะนี้ ส.ป.ก.ได้รับการรับรอง จากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)ให้ศูนย์ดังกล่าวของส.ป.ก.สามารถตรวจสอบและรับรองมาตรฐาน GAP ให้แก่เกษตรกรได้ ในกลุ่มพืชประเภท อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และสับปะรด และเตรียมที่จะพัฒนาไปยังพืชเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น ข้าว และผัก ด้วย ทั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมและขยายศักยภาพทางด้านการผลิตสินค้าเกษตรในพื้นที่ต่างๆ ให้มีมาตรฐานมากขึ้นรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558ที่จะมีการเปิดเสรีในกลุ่มสินค้าเกษตร ซึ่งเกษตรกรไทยจำเป็นต้องปรับมาตรฐานการผลิตของตนเองให้มีคุณภาพและมีความปลอดภัย ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในตลาดสากล

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้บทบาทของ ส.ป.ก.จะมิใช่เป็นเพียงหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการดูแลจัดสรรที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกรเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่ ส.ป.ก.ยังคงเป็นหน่วยงานที่ยึดมั่นและพร้อมที่จะเคียงข้างเกษตรกรไทย เพื่อสร้างความมั่นคงในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมของคนไทยให้ยั่งยืนต่อไป

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 31 ตุลาคม 2556

ยกระดับเทคโนฯการใช้เครื่องจักรกล

ทำมาหากิน : ยกระดับเทคโนฯการใช้เครื่องจักรกล สู่ทาง 'ลดต้นทุน-เพิ่มผลิต' ภาคเกษตร : โดย...สุรัตน์ อัตตะ

ในอนาคตภาคเกษตรไทยไม่ใช่แค่ปัญหาขาดแคลนแรงงาน หากแต่ต้องการตอบสนองระบบตลาดและการผลิตเชิงอุตสาหกรรม ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เครื่องจักรกลการเกษตรเป็นสิ่งจำเป็นที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แม้ที่ผ่านมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์พยายามเดินหน้านโยบายการใช้เครื่องจักรในภาคการเกษตร แต่ก็ด้วยถูกจำกัดเรื่องงบประมาณ เนื่องจากยังไม่มีแผนยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน ทำให้การดำเนินงานไม่มีความคืบหน้ามากนัก

ด้วยเหตุนี้สมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทย (สกท.) จึงร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ธ.ก.ส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดสัมมนาเชิงวิชาการ "ลดต้นทุน-เพิ่มผลผลิต ด้วยเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตร" ขึ้น เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2556 ที่ผ่านมา ณ อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ทั้งนี้เพื่อระดมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้ข้อมูลเพื่อหาทางออกร่วมกัน

"ขณะนี้แผนยุทธศาสตร์การใช้เครื่องจักรกลการเกษตรทาง สวก.ได้จัดทำเสร็จแล้ว รอการพิจารณาจากคณะกรรมการนโยบายจากนั้นก็จะเสนอ ครม.เพื่อพิจารณา คาดว่าไม่น่าเกินสิ้นปีนี้ เมื่อผ่านมติ ครม.การเสนอของบประมาณก็จะง่าย อย่างปีนี้เราเสนอขอไป 3,000 ล้าน ก็ได้มาแค่ 14 ล้านเท่านั้นเอง"

ชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวระหว่างเป็นประธานในพิธีเปิดสัมมนา โดยย้ำว่า การยกระดับการใช้เครื่องจักรกลในภาคการเกษตรของประเทศให้มีทิศทางและเป้าหมายที่ชัดเจน สอดคล้องกับแผนพัฒนาการผลิตและการตลาดสินค้าเกษตรเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์การแข่งขันในเวทีโลก จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งยังสอดรับกับนโยบายการพัฒนาการเกษตรทั้งโครงการโซนนิ่งภาคเกษตร (Zoning) โครงการเมืองเกษตรสีเขียว (Green Agriculture City) โครงการเกษตรปราชญ์เปรื่อง(Smart Farmer) เพื่อการปรับเปลี่ยนการเกษตรไทยก้าวไปสู่อนาคต

ปลัดกระทรวงเกษตรฯ กล่าวต่อว่า การส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกล นอกจากรองรับการลดจำนวนลงของแรงงานภาคเกษตรแล้ว ยังเป็นการเตรียมพร้อมการเพิ่มขึ้นของการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรเพื่อการก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางเครื่องจักรกลการเกษตรในภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย เนื่องจากประเทศไทยมีความได้เปรียบในด้านความพร้อมของเทคโนโลยีการผลิต เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน

สำหรับการพัฒนาโครงสร้างในการรองรับการเติบโตทางด้านการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรนั้น กระทรวงเกษตรฯ ได้วางแนวทางให้มีการพัฒนาใน 2 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านการวิจัยและพัฒนา โดยร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หน่วยงานวิจัยและมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน สภาหอการค้าไทย และสมาคมวิศวกรรมเกษตรแห่งประเทศไทย และด้านส่งเสริมและบริการ โดยสนับสนุนให้มีศูนย์บริการเครื่องจักรกลการเกษตรชุมชนร่วมกับสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน ตลอดจนการสร้างช่างเกษตรท้องถิ่น โดยใช้หน่วยงานส่งเสริมวิศวกรรมเกษตรของกระทรวงเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาและช่วยเหลือทางเทคนิค

"ในแผนยุทธศาสตร์จะมีสร้างช่างเกษตรท้องถิ่นเพื่อรองรับการเติบโตของการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร โดยการฝึกอบรมช่างในท้องถิ่นหรือผู้จบอาชีวศึกษาให้เป็นช่างเกษตรท้องถิ่น เพื่อมุ่งเน้นให้บริการแก่เกษตรกร รวมทั้งเพื่อใช้วางแผนการพัฒนาการใช้เครื่องจักรกลของประเทศในอนาคต" ปลัดกระทรวงเกษตรฯ กล่าวย้ำ

การจัดทำแผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรอย่างเป็นระบบนั้น นับเป็นอีกก้าวของภาคการเกษตรไทย เพราะนอกจากเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคการเกษตรแล้ว ยังเป็นการตอบสนองระบบตลาดที่มุ่งเน้นการผลิตเชิงอุตสาหกรมและการค้าเป็นสำคัญเพื่อรองรับการแข่งขันในเวทีโลกนั่นเอง

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 31 ตุลาคม 2556

กรมชลฯลุยแผนพัฒนาระบบน้ำ

กทม.-กรมชลประทานเร่งเดินหน้าจัดทำแผนแม่บทปรับปรุงงานจัดรูปที่ดินเพื่อให้เป็นระบบชลประทานในแปลงนาที่สมบูรณ์แบบ โดยกำหนดเกณฑ์มาตรฐานกลางสำหรับใช้ปรับปรุงทั่วประเทศ

นายเอกจิต ไตรภาควาสิน ผู้อำนวยการสำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง กรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้แต่งตั้งคณะทำงานจัดทำแผนแม่บทการปรับปรุงจัดรูปที่ดินโดยมีนายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีฝ่ายบำรุงรักษาเป็นประธาน เพื่อวางกรอบการจัดทำแผนแม่บทการปรับปรุงงาจัดรูปที่ดินเพื่อนำไปสู่การจัดทำแผนแม่บท

ทั้งนี้ การพัฒนาระบบชลประทานนำไร่นาด้วยงานจัดรูปที่ดินได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2512 จนถึงปัจจุบัน มีพื้นที่ดำเนินการแล้วกว่า 1.92 ล้านไร่ ซึ่งมีหลายพื้นที่ที่มีสภาพเสื่อมโทรม เนื่องจากใช้งานมาเป็นเวลานาน ระบบส่งน้ำ ระบบระบายน้ำ และทางลำเลียงได้เกิดความเสียหาย หากไม่ได้รับการปรับปรุงซ่อมแซมจะทำให้เกิดการสูญเสียน้ำ และการใช้งานได้ไม่เต็มศักยภาพ

“เป้าหมายหลัก คือให้การจัดการน้ำชลประทานในไร่นาใช้ได้สะดวก มีประสิทธิภาพเพิ่มสูงขึ้นเกิดประโยชน์เต็มที่แก่เกษตรกร อีกทั้งเพื่อให้การพัฒนาพื้นที่ชลประทานที่มีระบบชลประทานในแปลงนาที่สมบูรณ์อย่างแท้จริง รวมทั้งตอบสนองยุทธศาสตร์การพัฒนาแหล่งน้ำในการกระตุ้นเศรษฐกิจของชาติ ”

นายเอกจิตกล่าวว่า สำหรับงบประมาณในการปรับปรุงงานจัดรูปที่ดิน จะใช้เงินบางส่วนจากกองทุนจัดรูปที่ดินที่ได้รับการาชำระคืนจากเกษตรกรในโครงการ และจัดลำดับพื้นที่ปรับปรุง โดยพิจารณาจากความต้องการ และการมีส่วนร่วมของเกษตรกรเป็นสำคัญ

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 30 ตุลาคม 2556

กลุ่มมิตรผล ริเริ่มหลักสูตรพัฒนาอาชีพท้องถิ่น “ปลูกอ้อยในโรงเรียน” ส่งต่อองค์ความรู้ สู่เยาวชนเกษตรกรอ้อยยุคใหม่ สร้างรากฐานชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน

การดำเนินชีวิตในภาคเกษตรกรรมกำลังเปลี่ยนโฉมหน้าไป พร้อมๆ กับค่านิยมในการใช้ชีวิตของผู้คนทั้งในเมืองและชนบทที่มุ่งแสวงหาประสบการณ์และความแปลกใหม่ให้กับชีวิต ภายใต้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วของการไหลของเทคโนโลยีและวัฒนธรรมข้ามพรมแดน มากกว่าจะมุ่งมั่นพัฒนาภาคเกษตรกรรม ซึ่งเป็นรากฐานทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศให้แข็งแกร่ง โดยเฉพาะเยาวชนรุ่นใหม่ที่ไหวเอนไปกับกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงและสิ่งเร้าได้ง่าย

“ค่านิยมของการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ที่กำลังเปลี่ยนไป จะทำให้อาชีพเกษตรกรรมถูกจำกัดวงอยู่เฉพาะรุ่นพ่อแม่ ซึ่งหากไม่เร่งรณรงค์และสะท้อนให้เยาวชนรุ่นใหม่เห็นถึงรากฐานของประเทศ ซึ่งมีภาคการเกษตรเป็นเสาหลักค้ำจุนแล้ว ในอนาคตอันใกล้ พืชผลทางการเกษตรเหล่านี้ก็จะลดปริมาณลงจนเข้าสู่ภาวะขาดแคลน ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและภาคครัวเรือนตามลำดับ” นายศุภนิตย์ มานะจิตต์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานองค์กรสัมพันธ์ กลุ่มมิตรผล ให้มุมมองความเปลี่ยนแปลงของสังคมภาคเกษตรกรรม
ที่กำลังจะเกิดขึ้น

กลุ่มมิตรผล มองเห็นความสำคัญในเรื่องดังกล่าว จึงได้ริเริ่มหลักสูตรพัฒนาอาชีพท้องถิ่น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรในระบบการศึกษาเพิ่มเติมจากหลักสูตรแกนกลาง โดยร่วมกับโรงเรียนซึ่งตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ชุมชนใกล้เคียงที่ตั้งของโรงงานน้ำตาลในกลุ่มมิตรผลในการพัฒนาหลักสูตร โดยมีแปลงสาธิตเป็นองค์ประกอบหลักให้เด็กๆ ได้ลงมือปฏิบัติจริงหลังจากได้เรียนรู้ภาคทฤษฏีจากในชั้นเรียน
“เราได้นำร่องโครงการปลูกอ้อยในโรงเรียน ด้วยการจัดทำแปลงปลูกอ้อยเพื่อการเรียนรู้ภายในโรงเรียนระดับ ชั้นประถมศึกษาถึงมัธยมต้นเป็นครั้งแรก ให้กับชุมชนท้องถิ่นใน 6 จังหวัดที่กลุ่มมิตรผลมีโรงงานตั้งอยู่ ได้แก่ จังหวัดสุพรรณบุรี สิงห์บุรี ขอนแก่น ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ และเลย เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา เพื่อให้เยาวชนได้มีโอกาสเรียนรู้วิถีของเกษตรกรรมไร่อ้อยที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งแม้จะเป็นปีแรกของการทดลองใช้หลักสูตร แต่การตอบรับและผลสัมฤทธิ์ของการเรียนรู้ก็ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ”

โรงเรียนบ้านหนองไผ่ดุสิตประชาสรรค์ อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น เป็นหนึ่งในหลายโรงเรียนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ร่วมโครงการพัฒนาหลักสูตรปลูกอ้อยในโรงเรียนกับกลุ่มมิตรผล โดยนายวัฒนา สมหวังผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองไผ่ดุสิตประชาสรรค์ เล่าว่า คนในชุมชนบ้านหนองไผ่ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 80 ดำเนินชีวิตด้วยการยึดอาชีพเกษตรกรรมปลูกอ้อยเป็นหลัก นอกจากอ้อยจะเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตน้ำตาล ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศแล้ว วัตถุดิบเหลือใช้ที่ได้จากอ้อยเช่น ชานอ้อย ใบอ้อย และโมลาส ยังสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีก จากการนำมาผลิตเป็นวัสดุทดแทนไม้ ไฟฟ้าชีวมวล รวมถึงเอทานอลพลังงานสะอาดที่ช่วยลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศคิดเป็นมูลค่าปีละหลายพันล้านบาท

ด้วยเหตุนี้ โรงเรียนจึงได้ริเริ่มจัดทำหลักสูตรสาระท้องถิ่นเรื่อง “อ้อย” เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อปลูกฝังให้เยาวชนมีความเข้าใจ เห็นคุณค่าของวิถีการดำเนินชีวิตของคน ในชุมชนซึ่งยึดอาชีพเกษตรกรรม รวมถึงจิตสำนึกในการใช้พลังงาน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมอย่างรู้คุณค่าผ่านการเรียนรู้เรื่อง “การปลูกอ้อย” ให้กับนักเรียน โดยได้รับการสนับสนุนด้านองค์ความรู้จากปราชญ์ชุมชนและผสานองค์ความรู้ด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น ร่วมกับกลุ่มมิตรผลที่มีความเชี่ยวชาญในการผลิตน้ำตาลและชีวพลังงาน ในการพัฒนามาเป็นหลักสูตรการปลูกอ้อย ครอบคลุมเนื้อหาการเรียนรู้ในเรื่องวิถีชีวิตชุมชนเกษตรกรรม พันธุ์อ้อย การปลูกและการบำรุงรักษาอ้อย โรคและศัตรูของอ้อย การป้องกันโรคและศัตรูของอ้อย การเก็บเกี่ยวอ้อยอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงมารู้จักกับพลังงานสะอาดจากอ้อย

“หลักสูตรการปลูกอ้อยนี้ไม่เพียงแต่จะทำให้เด็กๆ มีความเข้าใจถึงวงจรชีวิตและการดูแลอ้อยอย่างครบวงจร เพื่อให้ได้ผลผลิตสูงเท่านั้น แต่พวกเขาจะเข้าใจและภาคภูมิใจในวิถีของเกษตรกรรมไร่อ้อย ซึ่งเป็นอาชีพหลักของครอบครัว สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับพ่อแม่ที่คาดหวังให้พวกเขาสานต่ออาชีพเกษตรกรที่ทรงคุณค่า ด้วยการนำความรู้ความสามารถมาพัฒนาท้องถิ่นให้มีความเจิญก้าวหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืน” นายวัฒนากล่าว

ด้านนายชวลิต นาตรีชน ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านลาด อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ อีกหนึ่งโรงเรียนที่ร่วมกับกลุ่มมิตรผลในการพัฒนาหลักสูตรปลูกอ้อยในโรงเรียน กล่าวว่า เมื่อเริ่มหลักสูตรปลูกอ้อยในโรงเรียน เราพบว่าเด็กๆ ให้ความสนใจและกระตือรือร้นที่จะลงแปลงในแต่ละสัปดาห์ พวกเขาให้ความสำคัญและใส่ใจกับหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายในการดูแลอ้อยในแปลงให้เจริญเติบโตตามระยะเวลา โดยมีเจ้าหน้าที่จากกลุ่มมิตรผลและปราชญ์ชาวบ้านผู้มีความเชี่ยวชาญในการปลูกอ้อยคอยให้คำปรึกษา

 เด็กๆ ค่อยๆ ซึมซับคุณประโยชน์ของอ้อยและเกิดความเข้าใจในวิถีการดำเนินชีวิตของพ่อแม่ และอีกหลายครอบครัวในชุมชนที่ดำเนินชีวิตด้วยการยึดอาชีพเกษตรกรอ้อย จากการได้เป็นส่วนหนึ่งของการปลูกและดูแลอ้อยในแปลงสาธิตของตนเอง หลายคนเกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ จากเดิมที่ไม่เคยให้ความสนใจต่อการทำงานของพ่อแม่ ก็ค่อยๆ เริ่มลงไร่ช่วยพ่อแม่ปลูกและดูแลอ้อย จนกลายเป็นความผูกพันกับไร่อ้อย และเป็นเป้าหมายของตนเองในอนาคต ในการพัฒนาไร่อ้อยให้ได้ผลผลิตสูงกว่าที่พ่อแม่เคยทำได้

“คนในชุมชนเคยตั้งคำถามว่า ถ้าหมดรุ่นพวกเขาแล้ว ชุมชนอาจเปลี่ยนโฉมหน้าจากที่เป็นอยู่ เพราะเด็กรุ่นใหม่ต่างมีเป้าหมายที่จะไปแสวงหาความแปลกใหม่ของชีวิตในสังคมเมือง ชุมชนที่ควรจะได้รับการขับเคลื่อนต่อยอดไปข้างหน้า อาจหยุดอยู่กับที่หรือถอยหลัง หากไม่มีคนสานต่อแนวทางการพัฒนาท้องถิ่นให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืน ดังนั้น เมื่อกลุ่มมิตรผลมีโครงการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน โดยเริ่มต้นปลูกฝังเยาวชนให้เกิดจิตสำนึกรักบ้านเกิด ผ่านโครงการพัฒนาหลักสูตรปลูกอ้อยในโรงเรียน คนในชุมชนจึงไม่รีรอที่จะร่วมเป็นพลังสำคัญช่วยกันหล่อหลอมเยาวชนรุ่นใหม่ๆ ให้เกิดความตระหนักและมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสืบต่ออาชีพเกษตรกรไร่อ้อยที่ทรงคุณค่าต่อการพัฒนาประเทศต่อไป” นายชวลิต กล่าว

ความหวังที่จะเห็น “อ้อย” พืชเศรษฐกิจที่สามารถสร้างได้ด้วยสองมือจากรุ่นพ่อแม่สู่เกษตรกรไร่อ้อยรุ่นใหม่ เริ่มส่องประกายแจ่มชัดขึ้น หลักสูตรปลูก “อ้อย” ในโรงเรียนเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการสร้างและหล่อหลอมเกษตรกรยุคใหม่ ซึ่งยังต้องได้รับการพัฒนาหลักสูตรเพิ่มเติมจากการเรียนรู้ร่วมกันของโรงเรียน ชุมชน และภาคเอกชน เช่นเดียวกับกลุ่มมิตรผล จนกว่าชุมชนจะเข้มแข็งและขับเคลื่อนไปได้ด้วยตนเอง จึงจะสามารถเติบโตอย่างมั่นคง และยั่งยืนได้ในที่สุด

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 30 ตุลาคม 2556

เปิดอุทยานมิตรผลด่านช้างต้อนรับรัฐมนตรีเกษตรออสเตรเลีย เยี่ยมชมกระบวนการผลิตน้ำตาล-เอทานอล-ไฟฟ้าชีวมวลจากอ้อย

กลุ่มมิตรผล ผู้นำในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เปิดอุทยานมิตรผลด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี ต้อนรับดร.จอห์น แม็คเว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร การประมง และป่าไม้มลรัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย เข้าเยี่ยมชมกระบวนการผลิตและการจัดการธุรกิจน้ำตาล เอทานอลและไฟฟ้าชีวมวล กลุ่มธุรกิจพลังงานหมุนเวียนของกลุ่มมิตรผล โดยดร.แม็คเว ได้ให้ความสนใจต่อศักยภาพของประเทศไทย ในฐานะประเทศเกษตรกรรมที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาแหล่งพลังงานหมุนเวียนจากพืชเกษตร เพื่อใช้ทดแทนการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนจากชีวมวลการเกษตรในออสเตรเลียซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ในโอกาสนี้ กลุ่มมิตรผลยังได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในด้านการจัดการไร่อ้อยโดยการนำเครื่องจักรกลทางการเกษตรเข้าไปบริหารจัดการไร่อ้อยอันเป็นความเชี่ยวชาญของภาคธุรกิจการเกษตรของออสเตรเลีย ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนด้านแรงงานและเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการไร่อ้อยให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยของไทยได้มากยิ่งขึ้น

กลุ่มมิตรผล นำโดยนายบรรเทิง ว่องกุศลกิจ (กลาง) กรรมการและรองกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานพัฒนาและจัดการด้านอ้อย พร้อมด้วยนายประวิทย์ประกฤตศรี (ที่ 4 จากซ้าย) กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจพลังงานหมุนเวียนให้การต้อนรับดร.จอห์น แม็คเว (ที่ 5 จากซ้าย) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร การประมง และป่าไม้ มลรัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย เข้าเยี่ยมชมกระบวนการผลิตและการจัดการธุรกิจน้ำตาล เอทานอลและไฟฟ้าชีวมวลจากชานอ้อย พร้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดการไร่อ้อยด้วยเทคโนโลยีเครื่องจักรกลที่ทันสมัย เพื่อช่วยลดต้นทุนด้านแรงงานและเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการไร่อ้อยในโอกาสเยือนประเทศไทย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร การประมงและป่าไม้ มลรัฐควีนส์แลนด์พร้อมคณะ ลงพื้นที่เยี่ยมชมแปลงปลูกอ้อยสาธิต
ที่กลุ่มมิตรผลได้เริ่มนำแนวทางการพัฒนาจากออสเตรเลียเข้ามาประยุกต์ใช้ พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในแนวทาง การบริหารจัดการไร่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และร่วมถ่ายรูปเป็นที่ระลึกกับคณะผู้บริหารระดับสูงกลุ่มมิตรผลในโอกาสนี้ด้วย

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 30 ตุลาคม 2556

'บุญญฤทธิ์ ณ วังขนาย'ภารกิจล้างหนี้-ความต่างคือจุดขาย

โดย : ประกายดาว แบ่งสัยเทียะ

"บุญญฤทธิ์ ณ วังขนาย" นายน้อยแห่งธุรกิจน้ำตาลวังขนาย น้องสุดท้องที่รับช่วงต่อจากผู้พี่ "ธีระ ณ วังขนาย" นำทัพองค์กรโบกมือลาแผนฟื้นฟู

วังขนาย' class='anchor-link' target='_blank'>บุญญฤทธิ์ ณ วังขนาย ผู้จัดการทั่วไป กลุ่มวังขนาย เจ้าของกิจการที่ปัจจุบันมีสถานะเป็นเพียงพนักงานคนหนึ่ง ที่มีหน้าที่นำพาธุรกิจน้ำตาลวังขนายทยอยใช้หนี้ 15,000 ล้านบาท หลังบริษัทเดินเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการมาตั้งแต่ 2550 นับจากวันนี้ก็ 6 ปีกว่าแล้ว

เขาเลื่อนขั้นจากผู้บริหารฝ่ายงานด้านฝ่ายบุคคลและฝ่ายประชาสัมพันธ์ ขึ้นมานั่งเก้าอี้กรรมการผู้จัดการแทนพี่ชาย ธีระ ณ วังขนาย ในช่วงรอยต่อที่ธุรกิจกำลังเผชิญมรสุมวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 การลอยตัวค่าเงินบาท ยังทำให้หนี้เงินกู้พุ่งสูงขึ้นทวีคูณ จากมูลหนี้เดิม 7,000-8,000 ล้านบาท

“ช่วงนั้นธุรกิจกู้เงินมาลงทุนหลายกิจการ มาเจออีกเด้งตรงที่ลอยตัวค่าเงินบาท ก็แค่นั้น" เจ้าตัวพูดด้วยน้ำเสียงราบเรียบ

เขานิยามภารกิจของเขาคือ กัปตันคุมทิศทางธุรกิจฝ่าวิกฤติรอบนี้ไปให้ได้ โดยเฉพาะการปลดภาระหนี้ที่แบกไว้เต็มบ่า

โดยเขายอมรับว่า ปีแรกกลัวลนลานกับกองหนี้มหาศาล แต่พอปีต่อมาเริ่มตั้งหลักได้ พร้อมเผชิญหน้ากับอุปสรรคทั้งปวง โดยเริ่มปรับกระบวนทัพองค์กรน้ำตาลนามวังขนาย ในหลายภาคส่วน เริ่มตั้งแต่การปรับวินัยการทำงาน วินัยทางการเงิน การวางแผนธุรกิจที่เข้มข้น รวมถึงการบริหารทรัพยากรมนุษย์

ทว่าสิ่งที่วังขนาย "ไม่ปรับ" แม้ในยามวิกฤติ คือ จะต้อง "บอกความจริง" ให้กับพนักงานทั้ง 1,300 ชีวิต ให้รู้สถานะทางธุรกิจ และอนาคตทางธุรกิจร่วมกัน

“บางคนคิดว่าอย่าเอาข่าวร้ายไปบอกลูกน้อง แต่คาแร็กเตอร์ของเรา มีอะไรต้องบอกกัน จะได้ตั้งตัวได้ทัน เราจะบอกหมดว่า หนี้มีอยู่เท่าไหร่ จะชำระเงินกู้ยังไงกับสถานะของบริษัทที่อยู่ในแผนฟื้นฟูกิจการ แต่ภาษาที่เข้าใจง่ายๆ คือล้มละลาย นั่นละครับ"

อย่างไรก็ตาม แม้องค์กรจะอยู่ในแผนฟื้นฟูกิจการ แต่บุญญฤทธิ์ บอกว่า ธุรกิจพยายามบริหารจัดการเพื่อให้ส่งผลกระทบต่อพนักงานน้อยที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือนหรือโบนัสยังอยู่ครบ เพียงแต่ปรับมีวิธีการประเมินผลการทำงานให้เข้มขึ้นเท่านั้น

“ธุรกิจไม่ได้ย่ำแย่ขนาดกู้เรือกลับไม่ได้ เรือมันไม่ล่ม แค่มีรูรั่ว หากเริ่มปะใบ ซ่อม ปรับหางเสือก็แล่นฉิวแล้ว ที่ผ่านมาผมพยายามหาศัพท์มาอธิบายง่ายๆ ไม่ให้พนักงานตื่นเต้น ว่าไม่มีอะไรกระทบองค์กร หนี้เยอะไม่ได้หมายความว่าผลประกอบการไม่ดี และไม่มีโบนัส พนักงานไม่ผิด จึงเอาหนี้มารวมกับผลประกอบการประจำปีไม่ได้” เขาระบุและว่า พนักงานทุกคนไม่ต่างจาก "ลูกเรือ" มีหน้าที่ช่วยอุดรูเรือและออกแรงพายให้องค์กรสร้างผลประกอบการและกำไรสูงขึ้น

ขณะที่การจัดทัพองค์กร เพื่อผลักดันรายได้ บุญญฤทิธิ์ เล่าแผนการว่า สิ่งที่วังขนายให้ความสำคัญคือการสร้าง "มูลค่าเพิ่มจากความต่าง" ของสินค้า กลายเป็นกลยุทธ์ในการผลักดันแบรนด์วังขนายขึ้นเป็นเบอร์ 1 ในตลาดกลุ่มน้ำตาลสีธรรมชาติ ซึ่งมีส่วนแบ่งทางการตลาด 80% จากมูลค่าตลาดรวม 2,300 ล้านบาทในขณะนี้ ตลาดนี้ยังมีอัตราเติบโตปีละ 5-6 % สอดคล้องกับแนวโน้มผู้บริโภค ที่ใส่ใจสุขภาพมากขึ้น
โดยปัจจุบันวังขนายมีกำลังการผลิตน้ำตาลธรรมชาติสัดส่วน 50% น้ำตาลทรายขาวสัดส่วน 45% และเหลืออีก 5% เป็นน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์

“ตัวเลขมันโตขึ้นแสดงว่า คนเริ่มยอมรับการบริโภคว่าไม่เป็นมะเร็ง เพราะไม่มีเคมีราคาก็ไม่ต่างกัน” เขาเล่าจุดขายที่แตกต่าง

จากรายได้ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ใช้หนี้ได้รวดเร็วมากกว่าเป้าหมาย "บุญญฤทธิ์" ระบุ เขายังบอกด้วยว่า การปรับทัพองค์กร ยังนำไปสู่การพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับ เป็นเหมือนการมอนิเตอร์การทำงานจากทุกฝ่าย ทุกสายการทำงานที่สัมพันธ์กัน ตั้งแต่ ฝ่ายชาวไร่ การเงิน จนถึงการตลาด โดยในแต่ละตำแหน่งงานจะมีตัวชี้วัดศักยภาพ และการทำงานของตัวเอง บนผลลัพธ์ "กำไรสูงสุด" โดยระบบเหล่านี้ถูกจัดวางเป็นโปรแกรมซอฟต์แวร์ที่เรียกว่า ERP (Enterprise resource planning)

กรรมการผู้จัดการวังขยาย ยังบอกว่า ตั้งแต่เริ่มเข้ามาบริหารงานในกิจการของตระกูล ไม่มีครั้งไหนที่คิดถึงความเป็นเจ้าของในแบบ “แฟมมิลี่ บิซิเนส” แต่เป้าหมายแรก (goal) ที่ท่องไว้ขึ้นใจ คือ "ต้องล้างหนี้" เพื่อออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ โดยมุ่งมั่นที่จะออกจากแผนฟื้นฟูฯ ให้ได้ ไม่เกิน 1-2 ปีจากนี้ เร็วกว่ากำหนดเวลาในแผนที่กำหนดไว้ 12 ปี นับจากปี 2550

นอกจากนี้ ยังวางเป้าหมาย "หนี้เป็นศูนย์" ให้ได้ภายในระยะ 7-8 ปีจากนี้ นั่นเพราะอยากสัมผัสความ "เป็นไท" รวมถึง รสชาติของความเป็น "อิสระ" “คนมีหนี้มักพูดว่ามีหนี้เหมือนมีเครดิต อย่าไปเชื่อ โอ๊ย! มันทรมาน” บุญฤทธิ์ ลากเสียงยาว

กระนั้นก็ตาม การเดินตามกรอบแผนฟื้นฟูฯมานานจนชิน เขายังจินตนาการไม่ออกว่า "เมื่อปลอดหนี้แล้วจะเป็นยังไง"  “มันชินกับการถูกควบคุม จึงกังวลว่าหากอิสระแล้วเราจะกลับไปทำอะไรเหลวไหลเหมือนก่อนหรือเปล่า การมีคนมาควบคุมก็ดีตรงที่เหมือนมีครูบาอาจารย์ ควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิดตรวจสอบบัญชี มานั่งคุยกับเรา มีความสุขจะตายเหนื่อยหน่อย ฝึกเราก่อนที่เราจะออกไปเผชิญกับโลกภายนอก"   พร้อมกล่าวทิ้งท้ายบทเรียนจากวิกฤติ ว่า “อย่าไปลงทุนกับอะไรที่ไม่ใช่ทางของตัวเอง"

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 30 ตุลาคม 2556

ขยายพื้นที่ปลูก ‘อ้อยโรงงาน’แทนพื้นที่ปลูกข้าว...ที่ไม่เหมาะสม - ดินดีสมเป็นนาสวน

การปลูกอ้อยโรงงานบริเวณพื้นที่ปลูกข้าวที่ไม่เหมาะสมหรือเหมาะสมน้อยภายในระยะรัศมีจากโรงงาน 50 กิโลเมตร

จากการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้ กรมพัฒนาที่ดิน จัดทำเขตส่งเสริมการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวที่ไม่เหมาะสมหรือเหมาะสมน้อยมาเป็นอ้อยโรงงาน ระยะแรกจำนวน 800,000 ไร่ นั้น ขณะนี้การดำเนินการจำแนกพื้นที่เป็นรายโรงงาน/รายจังหวัดแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ในเรื่องนี้ นายอภิชาต จงสกุล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า กรมฯ ได้จัดทำเขตส่งเสริมการปลูกอ้อยโรงงานบริเวณพื้นที่ปลูกข้าวที่ไม่เหมาะสมหรือเหมาะสมน้อยภายในระยะรัศมีจากโรงงาน 50 กิโลเมตร จากจำนวนโรงงานทั้งหมด 50 โรงงาน คิดเป็นพื้นที่ทั้งหมด 4,192,391 ไร่ เมื่อนำมาพิจารณาร่วมกับสถานการณ์การผลิตปี 2555/56 พบว่ามีโรงงานจำนวน 20 โรงงาน ที่มีปริมาณผลผลิตอ้อยโรงงานต่ำกว่ากำลังการผลิต โดยมีกำลังการผลิตอ้อยโรงงานที่ยังรับได้ รวม 8,025,612 ตันต่อปี คิดเป็นพื้นที่ที่ต้องการขยายการปลูกอ้อยโรงงานทั้งหมด 802,561 ไร่

จากข้อมูลดังกล่าว กองนโยบายและแผนการใช้ที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน พบว่า ในรัศมีดังกล่าวมีพื้นที่ที่สามารถขยายการปลูกอ้อยโรงงานได้ ทั้งหมด 2,328,370 ไร่ ครอบ คลุม 1,273 ตำบล 241 อำเภอ 33 จังหวัด ทั้งนี้สามารถแยกพื้นที่ตามกลุ่มโรงงานที่ตั้งใกล้กันได้ 8 กลุ่มโรงงาน ผลการวิเคราะห์พบว่าพื้นที่ 7 กลุ่มโรงงาน ได้แก่ กลุ่มโรงงานที่ 1, 2, 3, 4, 5, 7 และ 8 มีเป้าหมายการขยายการปลูกอ้อยโรงงานได้ตามจำนวนความต้องการของโรงงาน ขณะที่กลุ่มโรงงานน้ำตาลที่ 6 มีเนื้อที่ 222,622 ไร่ ครอบคลุม 90 ตำบล 25 อำเภอ 5 จังหวัด ซึ่งประกอบด้วย โรงงานสุพรรณบุรี รีไฟน์ชัยมงคล ไทยเพิ่มพูนอุตสาหกรรม ประจวบอุตสาหกรรม ท่ามะกา ไทยกาญจนบุรี มิตรเกษตร และบ้านโป่ง มีความต้องการพื้นที่รวม 250,205 ไร่ แต่ผลการวิเคราะห์พบว่ามีพื้นที่เหมาะสมสำหรับการปลูกอ้อยโรงงานบริเวณพื้นที่ปลูกข้าวไม่เหมาะสมหรือเหมาะสมน้อย มีพื้นที่ 198,682 ไร่ ซึ่งต่ำกว่าความต้องการขยายพื้นที่ปลูกอ้อยโรงงาน ไม่สามารถส่งเสริมได้เต็มกำลังการผลิตขาดไปประมาณ 50,000 ไร่

ทั้งนี้ การโซนนิ่งอ้อยโรงงานจะดำเนินการในพื้นที่รวม 8 ล้านไร่ ในระยะเวลา 8 ปี โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ขยายพื้นที่ปลูกสำหรับโรงงาน 20 โรงงาน ที่ยังผลิตจริงต่ำกว่าศักยภาพของโรงงาน พื้นที่ 800,000 ไร่ ซึ่งขณะนี้กรมพัฒนาที่ดินได้จำแนกพื้นที่เป็นรายโรงงานและจังหวัดแล้ว ระยะที่ 2 ขยายพื้นที่ปลูกสำหรับโรงงาน 11 โรงงาน ที่ได้รับใบอนุญาตแล้ว และ ระยะที่ 3 ขยายพื้นที่ปลูกสำหรับโรงงานเดิม/โรงงานที่จะสร้างใหม่ ซึ่งการดำเนินงานระยะที่ 2 และ 3 ครอบคลุมพื้นที่ 7.2 ล้านไร่ ใช้การกำหนดพื้นที่เหมาะสมสำหรับการผลิตอ้อยโรงงานที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการ และพื้นที่ 1.5 ล้านไร่ที่จังหวัดต่าง ๆ ได้ให้เกษตรกรแจ้งความต้องการปรับเปลี่ยนเป็นกรอบการดำเนินงาน

...ในขณะเดียวกันกระทรวงอุตสาหกรรมโดย สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย จะเป็นหน่วยงานรับผิดชอบในเรื่องยุทธศาสตร์อ้อยและน้ำตาลทราย...และจะมีการนำสาระสำคัญของยุทธศาสตร์ฯ มาประชุมหารือร่วมกัน เพื่อนำเสนอคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 30 ตุลาคม 2556

ต้องเพิ่มอินทรียวัตถุให้ทรัพยากรดิน

การเพิ่มอินทรียวัตถุลงในดินเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่เกษตรกรทุกคนต้องปฏิบัติและสามารถทำได้เอง

นายอภิชาต จงสกุล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า จากผลการตรวจวิเคราะห์ทั่วประเทศ พบว่าค่าเฉลี่ยของอินทรียวัตถุที่มีอยู่ในดินต่ำกว่า 1% ซึ่งที่จริงสัดส่วนของดินที่ดีควรจะมีอินทรียวัตถุประมาณ 5% จึงจะถือว่าเป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะสำหรับการเพาะปลูกพืชต่าง ๆ ซึ่งดินที่ขาด แคลนอินทรียวัตถุ ดินปัญหาต่าง ๆ หรือดินที่เสื่อมโทรม รวมทั้งการใช้ประโยชน์ที่ดินในการเพาะปลูกพืชต่าง ๆ อย่างผิดหลักวิชาการ หรือไม่ถูกวิธีการ จะทำให้สิ่งที่มีชีวิตในดินและจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ในดินตายหมด ขอแนะนำเกษตรกรว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเพิ่มเติมอินทรียวัตถุลงในดิน ด้วยการใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ หรือการใช้พืชปุ๋ยสดปรับปรุงบำรุงดิน โดยปลูกพืชตระกูลถั่วต่าง ๆ

การเพิ่มอินทรียวัตถุลงในดินเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่เกษตรกรทุกคนต้องปฏิบัติและสามารถทำได้เอง โดยกรมพัฒนาที่ดินมีข้าราชการเจ้าหน้าที่ นักวิชาการต่าง ๆ ตลอดจนหมอดินอาสาที่ประสบผลสำเร็จในอาชีพเกษตรกรรม คอยบริการให้คำแนะนำปรึกษาตลอดเวลา และให้การสนับสนุนปัจจัยการผลิตทางการเกษตรตามความเหมาะสมฟรี ได้แก่ เมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสด ปลูกเพื่อบำรุงดิน พันธุ์กล้าหญ้าแฝก ปลูกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ ป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน ผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีชีวภาพ สารเร่งซุปเปอร์ พด. ชนิดต่าง ๆ พร้อมคำแนะทางวิชาการในการปรับปรุงบำรุงดิน เพื่อทำให้พื้นที่ทำการเกษตรมีความอุดมสมบูรณ์ สามารถปลูกพืชได้ปริมาณผล ผลิตที่ดี มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำ เหลือจากการบริโภคในครัวเรือนก็นำไปขายทำให้มีเศรษฐกิจครัวเรือนที่ดีขึ้น เศรษฐกิจชุมชนก็ดีขึ้น เศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศก็ดีขึ้น และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 30 ตุลาคม 2556

เดินหน้าสร้าง‘สมาร์ท’ฟาร์มเมอร์ พัฒนาคนรุ่นใหม่สู้เถ้าแก่‘เกษตร’

นายสุรศักดิ์ พันธ์นพ รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จัดทำโครงการบ่มเพาะผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรรุ่นใหม่ ภายใต้ความร่วมมือโครงการสนับสนุนการสร้าง Smart Farmer ในรูปแบบการให้คำปรึกษา แนะนำเทคนิค กระบวนการ และอบรมแผนธุรกิจ เพื่อพัฒนานิสิต นักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับอุดมศึกษา และผู้สำเร็จการศึกษาแล้วไม่เกิน 5 ปี ให้ได้รับทักษะทั้งด้านการผลิตการตลาดการจัดการ และการบริหารการเงินซึ่งเป็นทักษะในการดำเนินธุรกิจและได้แผนธุรกิจที่จะสามารถให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ในการขอรับการสนับสนุนเงินทุนประกอบการได้

นายสุรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในการดำเนินงานดังกล่าว สศก. ได้ติดตามผลการดำเนินงาน ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา นครปฐม กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และลพบุรี ระหว่างวันที่ 26–30 สิงหาคม ที่ผ่านมา โดยสุ่มติดตามผู้ผ่านการอบรมจำนวน 6 ราย พบว่า ขณะนี้ผู้ผ่านการอบรมวางแผนประกอบอาชีพการเกษตรแล้ว 4 ราย ประกอบด้วยด้านปศุสัตว์ 1 ราย ด้านประมง 1 ราย และด้านการผลิตพืช 2 ราย ซึ่งอยู่ระหว่างรอสินเชื่อจาก ธ.ก.ส. และคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ปลายปี 2556 ทั้งนี้คาดว่า โครงการดังกล่าวจะช่วยให้ นิสิต นักศึกษา ที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับอุดมศึกษา และผู้สำเร็จการศึกษาแล้วไม่เกิน 5 ปี ได้รับการพัฒนาสู่ความเป็นผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรรุ่นใหม่ ได้แผนธุรกิจที่พร้อมดำเนินการได้จริง และช่วยสร้างความเข้มแข็งแก่ระบบเศรษฐกิจในภาพรวมอีกด้วย

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2556

หอการค้าไทยคาดส่งออกปีนี้โตแค่ 1.3 % ลุ้นปีหน้าโตกว่า 5%

ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การส่งออกของไทยปีนี้น่าจะขยายตัวได้เพียง 1.3%หรือคิดเป็นมูลค่า 2.3แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯเท่านั้น เนื่องจากช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา การส่งออกขยายตัวได้น้อย แม้ในไตรมาส4 คาดว่าจะขยายตัวได้ 5.12% เพราะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าทั้ง สหรัฐอเมริกา กลุ่มสหภาพยุโรป และ อาเซียน จะดีขึ้น แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะช่วยผลักดันให้การส่งออกปีนี้ขยายตัวได้สูงถึงเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้ 4 % ไม่เช่นนั้นต้องผลักดันให้ 3 เดือนที่เหลือ การส่งออกต้องขยายตัวถึงเดือนละ15%หรือมีมูลค่า2.2หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือนซึ่งเป็นไปได้ยาก

อย่างไรก็ตามความเสี่ยงต่อการส่งออกในปีหน้านั้นคาดว่าการส่งออกจะฟื้นตัวขึ้นอย่างช้าๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นหลัก แต่ทั้งนี้ต้องระวังตลาดญี่ปุ่นที่คาดว่าในปีหน้าการส่งออกจะหยุดนิ่งหรือหดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่3 เนื่องจากนโยบายทางด้านเศรษฐกิจที่เข้มงวดขึ้นของญี่ปุ่น จะส่งผลกระทบต่อการบริโภคภายในประเทศญี่ปุ่นให้ชะลอลง นอกจากนี้ความเสี่ยงในประเทศยังคงต้องติดจามเรื่องการเมือง เพราะมีความเสี่ยงที่จะเกิดความไม่สงบได้ แต่หากไม่มีการปิดสนามบินหรือท่าเรือก็ไม่กระทบภาคการส่งออกมากนัก

ขณะที่โอกาสของการส่งออกยังคงพึ่งตลาดสหรัฐฯและยุโรป เนื่องจากมีสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งคาดว่าใน2 ตลาดนี้ไทยยังสามารถส่งออกได้มากขึ้น รวมไปถึงตลาดอาเซียนเก่า ซึ่งเป็นตลาดที่มีแนวโน้มของความสำคัญเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี2557 และคาดว่าไทยจะมีสัดส่วนการพึ่งพาการส่งออกไปตลาดนี้เพิ่มขึ้นจาก18.14%เป็น18.20% (ไทยจะมีสัดส่วนการพึ่งพิงการส่งออกอาเซียนรวม 26.03%) ขณะที่ตลาดรองซึ่งภาพรวมในปีหน้าไทยยังสามารถส่งออกได้ดีต่อเนื่องในทุกตลาดและยังเป็นตลาดที่มีอนาคตสดใส ส่วนตลาดซึ่งเป็นทิศทางที่สำคัญของไทย อย่างจีน ที่มีแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชะลอลงจะกระทบต่อการส่งออกของไทยทำให้การขยายตัวยังคงอยู่ในระดับปานกลาง

“ปัจจัยที่มีผลต่อการส่งออกในไตรมาส4 และปีหน้านั้น ยังคงมีทิศทางเศรษฐกิจโลกส่งสัญญาณบวก แต่ก็ยังต้องจับตามองนโยบายเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด รวมไปถึงอัตราการแลกเปลี่ยนที่ผันผวนด้วยและราคาสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมที่ยังมีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่ยังมีราคาทรงๆซึ่งอาจจะปรับขึ้นหรือลงก็ได้ ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมโดยเฉพาะชิ้นส่วนยานยนต์จะเป็นตัวขับเคลื่อนการส่งออก เพราะสินค้าเกษตรยังมีความเสี่ยงในเรื่องของราคาขณะที่สินค้าเกษตรแปรรูปยางพาราและผลิตภัณฑ์ก็ยังส่งออกไม่สูง”

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจในปี2557 คาดว่าการส่งออกจะฟื้นตัว และกลับมาขยายตัวดีขึ้น โดยจะส่งออกได้เป็นมูลค่า 2.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ขยายตัว 5.48 % ซึ่งดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะตลาดสหรัฐ ทำให้มีความต้องการนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นแต่ก็ยังเป็นความเสี่ยงหากว่ารัฐบาลสหรัฐไม่สามารถจัดการปัญหาหนี้สาธารณะได้ซึ่งจะมีผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนให้มีความผันผวนไปจนถึงครึ่งแรกในปี 2557 ด้วย แต่คาดว่าค่าเงินบาทไทยน่าจะเคลื่อนไหวเฉลี่ยอยู่ที่ 30-31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จากการที่ธนาคารกลางแห่งสหรัฐฯ(เฟด)อาจปรับลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ(คิวอี) ในช่วงไตรมาสแรกของปี2557 ซึ่งจะส่งผลให้เงินทุนไหลออกและเงินบาทอ่อนค่า
รวมไปถึงการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของญี่ปุ่นจะชะลอลงโดยขยายตัวเพียง1.2% เนื่องจากนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจการคลังที่ลดลง และภาษีการบริโภคที่เพิ่มขึ้น และเศรษฐกิจจีนที่คาดว่าจะขยายตัวชะลอลงเหลือ7.3% จากเดิมในปีนี้จีนขยายตัวที่7.6% สาเหตุมาจากการที่จีนลดกำลังการผลิตส่วนเกินในภาคอุตสาหกรรมเร็วขึ้น 1 ปี เป็นปี2557 จากที่ได้มีการวางแผนไว้ให้เสร็จในปี2558 ซึ่งการขยายตัวที่ชะลอลงของเศรษฐกิจจะส่งผลกระทบต่อประเทศเกิดใหม่ในเอเชีย ส่วนเศรษฐกิจในอินเดียคาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น5.1%จากภาคการส่งออกเป็นสำคัญ และในอาเซียน คาดว่าจะมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ5.4%จาก5% ในปี2556

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2556

เปิดอุทยานมิตรผลด่านช้างต้อนรับรัฐมนตรีเกษตรออสเตรเลีย เยี่ยมชมกระบวนการผลิตน้ำตาล-เอทานอล-ไฟฟ้าชีวมวลจากอ้อย

กลุ่มมิตรผล ผู้นำในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เปิดอุทยานมิตรผลด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี ต้อนรับดร.จอห์น แม็คเว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร การประมง และป่าไม้มลรัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย เข้าเยี่ยมชมกระบวนการผลิตและการจัดการธุรกิจน้ำตาล เอทานอลและไฟฟ้าชีวมวล กลุ่มธุรกิจพลังงานหมุนเวียนของกลุ่มมิตรผล โดยดร.แม็คเว ได้ให้ความสนใจต่อศักยภาพของประเทศไทย ในฐานะประเทศเกษตรกรรมที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาแหล่งพลังงานหมุนเวียนจากพืชเกษตร เพื่อใช้ทดแทนการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนจากชีวมวลการเกษตรในออสเตรเลียซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ในโอกาสนี้ กลุ่มมิตรผลยังได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในด้านการจัดการไร่อ้อยโดยการนำเครื่องจักรกลทางการเกษตรเข้าไปบริหารจัดการไร่อ้อยอันเป็นความเชี่ยวชาญของภาคธุรกิจการเกษตรของออสเตรเลีย ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนด้านแรงงานและเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการไร่อ้อยให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยของไทยได้มากยิ่งขึ้น

กลุ่มมิตรผล นำโดยนายบรรเทิง ว่องกุศลกิจ (กลาง) กรรมการและรองกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานพัฒนาและจัดการด้านอ้อย พร้อมด้วยนายประวิทย์ประกฤตศรี (ที่ 4 จากซ้าย) กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจพลังงานหมุนเวียนให้การต้อนรับดร.จอห์น แม็คเว (ที่ 5 จากซ้าย) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร การประมง และป่าไม้ มลรัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย เข้าเยี่ยมชมกระบวนการผลิตและการจัดการธุรกิจน้ำตาล เอทานอลและไฟฟ้าชีวมวลจากชานอ้อย พร้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดการไร่อ้อยด้วยเทคโนโลยีเครื่องจักรกลที่ทันสมัย เพื่อช่วยลดต้นทุนด้านแรงงานและเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการไร่อ้อยในโอกาสเยือนประเทศไทย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร การประมงและป่าไม้ มลรัฐควีนส์แลนด์พร้อมคณะ ลงพื้นที่เยี่ยมชมแปลงปลูกอ้อยสาธิต
ที่กลุ่มมิตรผลได้เริ่มนำแนวทางการพัฒนาจากออสเตรเลียเข้ามาประยุกต์ใช้ พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในแนวทาง การบริหารจัดการไร่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และร่วมถ่ายรูปเป็นที่ระลึกกับคณะผู้บริหารระดับสูงกลุ่มมิตรผลในโอกาสนี้ด้วย

จาก http://news.thaiquest.com  วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ก.เกษตรร่วมมือทางวิชาการด้านไม้ผลและเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวกับฟิจิ

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่าภายหลังการหารือร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ประมง ป่าไม้ การพัฒนาจังหวัดทางทะเลและการจัดการภัยพิบัติแห่งชาติประเทศฟิจิ นั้นได้มีการหารือด้านการเกษตรเกี่ยวกับความร่วมมือทางด้านวิชาการ ทั้งด้านไม้ผล การแปรรูปน้ำมันมะพร้าว และด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว

ซึ่งประเทศฟิจิมีความต้องการจะเรียนรู้เทคโนโลยีด้านการเกษตรจากไทย เพื่อพัฒนาสินค้าอุตสาหกรรมด้านอาหารเพื่อการส่งออก ขณะที่ประเทศฟิจิได้ส่งเสริมการปลูกไม้ผลภายในประเทศ อาทิ มะม่วง กล้วย มะละกอ อีกทั้งมีผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ อาทิ มะพร้าว อ้อย มันสำปะหลัง ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความต้องการจะแลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคโนโลยีการเพาะปลูกร่วมกับประเทศฟิจิด้วย โดยประเทศฟิจิจะนำเรื่องดังกล่าวไปหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในฟิจิและจะประสานงานมายังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อพัฒนาความร่วมมือทางด้านวิชาการต่อไป

สำหรับอุตสาหกรรมส่งออกด้านการเกษตร มูลค่าการค้าสินค้าเกษตรระหว่างไทยกับประเทศฟิจิยังค่อนข้างน้อย และมีโอกาสที่จะเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกัน โดยเฉพาะสินค้าประเภทผักและผลไม้ ซึ่งสินค้าเกษตรหลักของฟิจิที่ส่งออกไปยังต่างประเทศ ได้แก่ น้ำตาลและขิง ขณะที่สินค้าเกษตรส่งออกสำคัญของไทยไปยังฟิจิ ได้แก่ ข้าว อาหารทะเลกระป๋อง ซึ่งได้ยืนยันว่าสินค้าเกษตรของไทยมีคุณภาพและความปลอดภัยได้รับการยอมรับจากทั่วโลก พร้อมทั้งขอให้ทางฟิจิช่วยสนับสนุนให้ชาวฟิจิได้บริโภคอาหารไทยและใช้สินค้าเกษตรของไทยด้วย

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2556

“รถตัดอ้อยแบรนด์ไทย-เทคโนโลยีฐานจีโนมิกส์” คว้ารางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นประจำปี 2556

“รถตัดอ้อยแบรนด์ไทย-เทคโนโลยีฐานจีโนมิกส์” คว้ารางวัล “นักเทคโนโลยีดีเด่นประจำปี 2556” ด้านประธานคณะกรรมการรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น ระบุ เป็นงานวิจัยที่มีประโยชน์ต่อภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมของประเทศ ชี้รางวัลนี้ตั้งขึ้นเพื่อให้คนในสังคมไทยเห็นความสำคัญของ “เทคโนโลยี” ควบคู่กับ “วิทยาศาสตร์” สู่การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันด้านเทคโนโลยีในอนาคต

รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ประธานคณะกรรมการรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันการพัฒนาเทคโนโลยีในโลกเป็นไปด้วยความรวดเร็ว มีการแข่งขันในอัตราที่สูงมาก ทำให้ประเทศไทยอยู่ในสภาพที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศและขาดอำนาจการต่อรอง มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ เห็นความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นอัตราการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อแก้ปัญหาของประเทศอย่างเร่งด่วน จึงจัดให้มีการมอบรางวัล “นักเทคโนโลยีดีเด่น” และรางวัล “นักเทคโนโลยีรุ่นใหม่” ขึ้นในปี 2545 คู่ขนานไปกับรางวัลทางด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อให้คนในสังคมไทยเห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยี ควบคู่ไปกับวิทยาศาสตร์ และหวังว่า รางวัลอันทรงเกียรตินี้ จะเป็น “แรงกระตุ้น” ให้นักวิทยาศาสตร์ไทยมีกำลังใจในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ รวมถึงเป็นเป้าหมายให้เยาวชนไทยมุ่งพัฒนาตนให้เป็นกำลังสำคัญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศต่อไปในอนาคต

โดยในปีนี้รางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นและนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ได้รับความสนใจจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเป็นจำนวนมาก ซึ่งงานวิจัยที่เสนอชื่อเข้ามามีคุณภาพสูง ทั้งเนื้อหาสาระและระดับความน่าสนใจ อันก่อให้เกิดประโยชน์กับสังคมไทยทั้งในภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรม ซึ่งในอนาคต เทคโนโลยีดังกล่าวต้องมีการพัฒนาต่อยอดให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

สำหรับรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น ประจำปี 2556 ประเภททีม ซึ่งมีด้วยกัน 2 ทีม ได้แก่ 1.นายสามารถ ลี้ธีระนานนท์ หุ้นส่วนผู้จัดการ และนายวิฑูร ลี้ธีระนานนท์ วิศวกรออกแบบและควบคุมการผลิต ห้างหุ้นส่วนจำกัด สามารถเกษตรยนต์ คณะผู้ประดิษฐ์คิดค้นเทคโนโลยีรถตัดอ้อยที่มีกระบะบรรจุท่อนอ้อยทำงานแบบอัตโนมัติ (Sugarcane Harvester With Automatic Bin) ยี่ห้อ “สามารถเกษตรยนต์” ที่ผลิตขึ้นจากโจทย์ของเกษตรกรชาวไร่อ้อย ที่ประสบปัญหาราคารถตัดอ้อยที่นำเข้าจากต่างประเทศสูงเกินกำลังทรัพย์ของเกษตรกรรายย่อย รวมถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่ทำให้เกิดการเผาไร่อ้อย เพื่อให้สะดวกและรวดเร็วต่อการเก็บเกี่ยว ซึ่งควันที่ได้จากการเผา ก่อให้เกิดมลภาวะและส่งผลกระทบต่อทางเดินหายใจ เทคโนโลยีดังกล่าวจึงสามารถตอบโจทย์ของเกษตรกรได้เป็นอย่างดี

2.ดร.สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง ผู้อำนวยการสถาบันจีโนมแห่งชาติ และคณะ จากห้องปฏิบัติการดีเอ็นเอเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสถาบันจีโนม ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ซึ่งประสบความสำเร็จในการวิจัยพัฒนาและการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีจีโนม : เทคโนโลยีฐานจีโนมิกส์ กับการตรวจสอบจีโนมอย่างรวดเร็ว เพื่อช่วยควบคุมคุณภาพสินค้าในการส่งออกอาหารและการปรับปรุงพันธุ์พืชอายุยืนแบบก้าวกระโดด ภายใต้คอนเซปต์ “ต้นทุนต่ำ-ความแม่นยำสูง” โดยใช้ห้องปฏิบัติการดีเอ็นเอเทคในการตรวจสอบ สามารถตรวจปริมาณการปนเปื้อนได้ต่ำถึง 0.1% ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวถูกนำมาสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์

ขณะที่รางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ประจำปี 2556 ได้แก่ ดร.บุญรัตน์ โล่ห์วงศ์วัฒน หน่วยปฏิบัติการวิจัยนวัตกรรมโลหะ ภาควิชาวิศวกรรมโลหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากผลงานวิจัย การออกแบบวัสดุโดยใช้หลักการทางอุณหพลศาสตร์และการปรับปรุงโครงสร้างเชิงโลหะวิทยาเพื่อพัฒนาระบบโลหะผสมและคิดค้นเทคนิคการผลิตใหม่สำหรับอุตสาหกรรมผลิตเครื่องประดับไทย ซึ่งเป็นการนำเทคนิคการผลิตแบบใหม่เข้ามาปรับใช้ในกระบวนการผลิต เพื่อปฏิวัติอุตสาหกรรมเครื่องประดับไทย ลดต้นทุนการผลิต และลดปริมาณการใช้วัสดุสิ้นเปลือง ภายใต้กระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.ศักรินทร์ กล่าวว่า การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงแบบค่อยเป็นค่อยไป (Incremental Improvement) หรือการนำความรู้ใหม่ๆ ทางวิทยาศาสตร์มาปรับให้ผลิตภัณฑ์เป็นไปอย่างก้าวกระโดด สิ่งเหล่านี้จะทำให้ประเทศไทยหลุดจากวังวนที่เรียกว่า “กับดักรายได้ปานกลาง” (Middle Income Trap) และหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่ประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งทำ คือ การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้ตอบสนองต่อการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต (Productivity) ซึ่งจะทำให้ไทยเกิดการได้เปรียบทางการแข่งขัน รวมถึงแรงงานในภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมเองก็ต้องเป็นแรงงานที่มีทักษะมากยิ่งขึ้น เพื่อที่จะนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ เหล่านี้ไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะในภาพรวม การพัฒนาเทคโนโลยีของไทยนั้น อยู่ในเกณฑ์ที่สามารถพัฒนาต่อไปได้อย่างก้าวกระโดด หากได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังจากภาครัฐ ควบคู่กับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2556

เร่งผลักดัน'โรงงานสีเขียว'7หมื่นแห่งปี61

"บวร"แนะเอกชนลงทุนพัฒนากระบวนการผลิตสีเขียว เชื่อสร้างผลกำไรระยะยาว

อุตสาหกรรมเร่งเครื่องตั้งเมืองอุตสาหกรรม เชิงนิเวศ ตั้งเป้า 11 แห่ง 7 หมื่นโรงงานในปี 2561 ดีเดย์ปีหน้า 2 แห่งพื้นที่อุตสาหกรรมใหม่ปราจีนบุรี -ฉะเชิงเทรา ป้องกันผลสิ่งแวดล้อม "อาคม"แนะรัฐส่งเสริม อุตสาหกรรมผลิตสินค้ารีไซเคิล หลังพบอุตสาหกรรมไทยรีไซเคิลสินค้าได้แค่ 30%

นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเชิงนิเวศตามกรอบยุทธศาสตร์ประเทศ (Country Strategy : Eco Industrial Town)" จัดโดยสถาบันสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม ว่าปัจจุบันการประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมเผชิญกับแรงกดดันทั้งการตลาด การยอมรับของสังคม ดังนั้นการเตรียมความพร้อมให้การเติบโตของอุตสาหกรรม สังคมและชุมชนอย่างสมดุล จึงเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรม

รัฐบาลได้กำหนดการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.พื้นที่อุตสาหกรรมเดิมที่มีการพัฒนาอุตสาหกรรมมานาน ให้นำบทเรียน จากในอดีตมาปรับกับการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิง นิเวศ 2.การพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นใหม่ เน้นการลงทุนอุตสาหกรรมที่ไม่ก่อมลพิษ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีแผนจะผลักดันให้เกิดเมืองอุตสาหกรรมเชิงงนิเวศ 11 แห่งภายในปี 2561 หวัง7หมื่นโรงงานสีเขียวปี61

นายชุมพล ชีวะประภานันท์ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า การสร้างกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมถือเป็นกติการการผลิตของอุตสาหกรรมในปัจจุบัน ตามที่องค์การสหประชาชาติกำหนดมาตรฐานเพื่อควบคุมการปล่อยมลพิษของการผลิตในภาคอุตสาหกรรม

ทั้งนี้อีกไม่เกิน 3-5 ปี ไทยในฐานะสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ จะถูกควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สินค้าที่จะส่งไปขายยังยุโรปหรือประเทศอื่นๆจะถูกกำหนดให้ติดฉลากคาร์บอน หรือการทำ "carbon footprint" มีข้อกำหนดเพิ่มในการรับรองการใช้ทรัพยากรน้ำและพลังงาน ผู้ประกอบการต้องปรับปรุงการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

นายชุมพล กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างทำ แผนแม่บทพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 5 ปี โดยปี 2557 จะเริ่มทำแผน 5 พื้นที่ คือในเขตอุตสาหกรรมเดิม 3 พื้นที่ได้แก่นิคมฯสมุทรปราการ นิคมฯสมุทรสาคร และนิคมฯมาบตาพุด ในเขตพื้นที่นิคม อุตสาหกรรมใหม่ 2 พื้นที่ได้แก่ จ.ฉะเชิงเทรา และ จ.ปราจีนบุรี ทั้งนี้จะผลักดันให้ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศ พัฒนาสู่การเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว ในปี 2561 ไม่น้อยกว่า 70,000 แห่ง ปัจจุบันมีโรงงานเพียง10,000 แห่ง ที่เข้าข่ายได้รับการประเมินตามระดับอุตสาหกรรมสีเขียว ส่วนใหญ่อยู่ในการดูแลของการนิคมอุตสาหกรรม ขณะที่โรงงานที่อยู่นอกพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมยังไม่ให้ความร่วมมือ จี้รัฐเพิ่มแรงจูงใจผลิตสินค้ารีไซเคิล

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่าหลักการที่จะนำไปสู่การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ต้องส่งเสริมการนำเอาหลักการ"3R" คือลดการใช้ (Reduce) การใช้ซ้ำ (Reuse) และการแปรสิ่งของที่ใช้แล้วไปสู่การเป็นวัตถุดิบอีกครั้ง (Recycle)ไปสู่การปฏิบัติ

ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมสามารถรีไซเคิลสิ่งของกลับมาเป็นวัตถุดิบได้เพียง 30% ขณะที่ประเทศที่อุตสาหกรรมพัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่น มีกระบวนการใช้ประโยชน์จากรีไซเคิลมาก ทำให้เหลือขยะและของสิ้นเปลืองในอุตสาหกรรมน้อยมาก ดังนั้นอุตสาหกรรมต่างๆจึงสามารถผลักดันการเป็นอุตสาหกรรมที่ปล่อยของเสียเป็นศูนย์ (Zero waste) ได้ง่ายขึ้น
"การผลิตสินค้าตามกระบวนการรีไซเคิลมีต้นทุนที่สูงกว่าการผลิตสินค้าทั่วไป ต้องลงทุนเทคโนโลยีและเครื่องจักร ดังนั้นรัฐบาลต้องหามาตรการสนับสนุนเช่นการกำหนดมาตรการทางภาษี" มั่นใจช่วยสร้างกำไรระยะยาว

นายบวร วงศ์สินอุดม ประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม และรองประธานสอท. กล่าวว่าการสร้างเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศถือว่าเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการ ต้องสร้างความเข้าใจและการยอมรับจากชุมชนในพื้นที่ ขั้นตอนสำคัญของเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ผู้ประกอบการต้องมีความตั้งใจและมีทัศนคติที่ถูกต้อง เข้าใจว่าการลงทุนเพิ่มเติมในกระบวนการผลิตเพื่อลดการปล่อยมลพิษและป้องกันไม่ให้กระบวนการผลิตกระทบต่อสิ่งแวดล้อมถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ไม่ถือว่าเป็นต้นทุนภาระต่อการพัฒนาธุรกิจ

"การลงทุนเพื่อปรับการผลิตให้เป็นอุตสาหกรรมสีเขียว อย่ามองว่าเป็นภาระ แต่ต้องมองว่าเป็นการลงทุนที่มีความจำเป็น เพราะสามารถสร้างกำไรระยะยาว สามารถลดการ สิ้นเปลืองในขั้นตอนการผลิตได้"

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2556

รายงานพิเศษ : ขยายพื้นที่ปลูกอ้อยโรงงานแทนพื้นที่ปลูกข้าวที่ไม่เหมาะสม

จากการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้ กรมพัฒนาที่ดิน จัดทำเขตส่งเสริมการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวที่ไม่เหมาะสมหรือเหมาะสมน้อยมาเป็นอ้อยโรงงาน ระยะแรกจำนวน 800,000 ไร่ นั้น ขณะนี้การดำเนินการจำแนกพื้นที่เป็นรายโรงงาน/รายจังหวัดแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

โดยในเรื่องนี้ นายอภิชาต จงสกุล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า กรมฯ ได้จัดทำเขตส่งเสริมการปลูกอ้อยโรงงานบริเวณพื้นที่ปลูกข้าวที่ไม่เหมาะสมหรือเหมาะสมน้อยภายในระยะรัศมีจากโรงงาน 50 กิโลเมตร จากจำนวนโรงงานทั้งหมด 50 โรงงาน คิดเป็นพื้นที่ทั้งหมด 4,192,391 ไร่ เมื่อนำมาพิจารณาร่วมกับสถานการณ์การผลิตปี 2555/56 พบว่ามีโรงงานจำนวน 20 โรงงาน ที่มีปริมาณผลผลิตอ้อยโรงงานต่ำกว่ากำลังการผลิต โดยมีกำลังการผลิตอ้อยโรงงานที่ยังรับได้ รวม 8,025,612 ตันต่อปี คิดเป็นพื้นที่ที่ต้องการขยายการปลูกอ้อยโรงงานทั้งหมด 802,561 ไร่

จากข้อมูลดังกล่าว กองนโยบายและแผนการใช้ที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน พบว่า ในรัศมีดังกล่าวมีพื้นที่ที่สามารถขยายการปลูกอ้อยโรงงานได้ทั้งหมด 2,328,370 ไร่ ครอบคลุม 1,273 ตำบล 241 อำเภอ 33 จังหวัด ทั้งนี้สามารถแยกพื้นที่ตามกลุ่มโรงงานที่ตั้งใกล้กันได้ 8 กลุ่มโรงงาน ผลการวิเคราะห์พบว่าพื้นที่ 7 กลุ่มโรงงาน ได้แก่ กลุ่มโรงงานที่ 1, 2, 3, 4, 5, 7 และ 8 มีเป้าหมายการขยายการปลูกอ้อยโรงงานได้ตามจำนวนความต้องการของโรงงาน ขณะที่กลุ่มโรงงานน้ำตาลที่ 6 มีเนื้อที่ 222,622 ไร่ ครอบคลุม 90 ตำบล 25 อำเภอ 5 จังหวัด ซึ่งประกอบด้วย โรงงานสุพรรณบุรี รีไฟน์ชัยมงคล ไทยเพิ่มพูนอุตสาหกรรม ประจวบอุตสาหกรรม ท่ามะกา ไทยกาญจนบุรี มิตรเกษตร และบ้านโป่ง มีความต้องการพื้นที่รวม 250,205 ไร่ แต่ผลการวิเคราะห์พบว่ามีพื้นที่เหมาะสมสำหรับการปลูกอ้อยโรงงานบริเวณพื้นที่ปลูกข้าวไม่เหมาะสมหรือเหมาะสมน้อย มีพื้นที่ 198,682 ไร่ ซึ่งต่ำกว่าความต้องการขยายพื้นที่ปลูกอ้อยโรงงาน ไม่สามารถส่งเสริมได้เต็มกำลังการผลิตขาดไปประมาณ 50,000 ไร่

ทั้งนี้ การ Zoning อ้อยโรงงานจะดำเนินการในพื้นที่รวม 8 ล้านไร่ ในระยะเวลา 8 ปี โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ขยายพื้นที่ปลูกสำหรับโรงงาน 20 โรงงาน ที่ยังผลิตจริงต่ำกว่าศักยภาพของโรงงาน พื้นที่ 800,000 ไร่ ซึ่งขณะนี้ กรมพัฒนาที่ดิน ได้จำแนกพื้นที่เป็นรายโรงงานและจังหวัดแล้ว ระยะที่ 2 ขยายพื้นที่ปลูกสำหรับโรงงาน 11 โรงงาน ที่ได้รับใบอนุญาตแล้ว และระยะที่ 3 ขยายพื้นที่ปลูกสำหรับโรงงานเดิม/โรงงานที่จะสร้างใหม่ ซึ่งการดำเนินงานระยะที่ 2 และ 3 ครอบคลุมพื้นที่ 7.2 ล้านไร่ ใช้การกำหนดพื้นที่เหมาะสมสำหรับการผลิตอ้อยโรงงานที่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการ และพื้นที่ 1.5 ล้านไร่ ที่จังหวัดต่างๆ ได้ให้เกษตรกรแจ้งความต้องการปรับเปลี่ยนเป็นกรอบการดำเนินงาน ในขณะเดียวกัน กระทรวงอุตสาหกรรม โดย สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย จะเป็นหน่วยงานรับผิดชอบในเรื่องยุทธศาสตร์อ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีภายในเดือนตุลาคม 2556 นี้ และจะมีการนำสาระสำคัญของยุทธศาสตร์ฯ มาประชุมหารือร่วมกัน เพื่อนำเสนอคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2556

รื้อบอร์ดสาง‘คอนแทร็กฟาร์มมิ่ง’ ลดทำงานซ้ำซ้อนมุ่งแก้ปัญหารวดเร็ว-มีประสิทธิภาพ

เกษตรฯ เห็นชอบปรับคณะทำงานแก้ไขปัญหาเกษตรพันธสัญญาลดการทำงานซ้ำซ้อน มุ่งแก้ปัญหาอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการศึกษาและแก้ไขปัญหาเกษตรพันธสัญญาว่า ที่ประชุมได้พิจารณาปรับปรุงคณะทำงานเพื่อการแก้ไขปัญหาเกษตรพันธสัญญาทั้ง 3 คณะ ได้แก่ คณะทำงานศึกษาสัญญาและประเมินความเสี่ยงของระบบเกษตรพันธสัญญา คณะทำงานสำรวจและศึกษาภาวะหนี้สินเกษตรกรตามระบบเกษตรพันธสัญญา และคณะทำงานศึกษาและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาที่เป็นธรรมและยั่งยืน โดยมีมติเห็นชอบในหลักการให้รวมคณะทำงานทั้ง 3 คณะให้เหลือเพียงคณะเดียว ตามที่ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม โดยเครือข่ายเกษตรพันธสัญญาได้เสนอให้พิจารณา เพื่อให้การดำเนินงานในการแก้ไขปัญหาเกษตรพันธสัญญาไม่เกิดความซ้ำซ้อน เป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งเห็นชอบให้เพิ่มหน่วยงานในคณะทำงานที่ได้ปรับปรุง ได้แก่ กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ตามมติและข้อสั่งการของคณะกรรมการบริหารจัดการแรงงานนอกระบบแห่งชาติ เพื่อร่วมศึกษาและพิจารณาแนวทางและวิธีการเพื่อแก้ไขปัญหาความเสียหาย และผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรอันเนื่องมาจากความไม่เป็นธรรมของระบบเกษตรพันธสัญญา รวมทั้งจัดทำข้อเสนอแนวทางและวิธีการในการป้องกันปัญหาเกี่ยวกับความไม่เป็นธรรมที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณาโครงการศึกษาและสำรวจภาวะหนี้สินเกษตรกรตามระบบเกษตรพันธสัญญา ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา วิเคราะห์ และสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับหนี้สินและเหตุปัจจัยที่ก่อให้เกิดหนี้สินทั้งระบบ โดยเป็นการดำเนินงานร่วมกันระหว่างสถาบันวิชาการกับเครือข่ายเกษตรกรในระบบพันธสัญญาและภาคีเครือข่าย รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ทั้งในระดับนโยบายและระดับพื้นที่ โดยจะมีการรายงานผลการศึกษา และข้อเสนอเชิงนโยบายและมาตรการเพื่อกำหนดแนวทางการฟื้นฟูอาชีพเกษตรกร และช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากระบบเกษตรพันธสัญญา โดยจะดำเนินการในระยะแรก 6 เดือน ระหว่างเดือนธันวาคม 2556-พฤษภาคม 2557 และจะมีการดำเนินการศึกษาวิจัยให้ได้ผลที่สมบูรณ์ในระยะต่อไป ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้มีการปรับเพิ่มรายละเอียดของโครงการในบางส่วนเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ และนำเข้าสู่การพิจารณาที่ประชุมครั้งต่อไป

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2556

รัฐเร่งแนะเกษตรกรปรับตัวรับเออีซี ลดแนวทางจำนำ-แทรกแซงราคาสินค้าเกษตร

วันที่ 28 ตุลาคม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวในโอกาสเป็นประธานในพิธีเปิดงาน “อนาคตเศรษฐกิจไทยภายใต้ประชาคมอาเซียน” ของกระทรวงพาณิชย์ ว่า รัฐบาล และภาคเอกชน ได้ผนึกกำลังร่วมกันเตรียมพร้อม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ ในการแข่งขัน ทำให้คนไทยกินดีอยู่ดีมีความเสมอภาค และเป็นธรรม รองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยจะเร่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ในการพัฒนาโครงข่ายคมนาคม เชื่อมโยงการค้าการลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน ซึ่งล่าสุดรัฐบาลได้เตรียมจัดตั้ง Asean Unit ในทุกหน่วยงานราชการ พร้อมกับสนับสนุนธุรกิจไทยรวมทั้งขนาดกลางและขนาดเล็ก ในแต่ละท้องถิ่น พัฒนาสินค้าและบริการให้มีมูลค่าเพิ่ม เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ

ด้านนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยังระบุว่า ประเทศไทยจะหยุดนิ่งการก้าวสู่ประชาคมอาเซียนไม่ได้แล้ว เพราะหากเปรียบเทียบกับประเทศในกลุ่ม เราเสียเปรียบบรูไน, พม่า และมาเลเซีย ในการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจาก 3 ประเทศ แต่หากมองศักยภาพของไทย ถือว่าจะเป็นประตูการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว เพราะไทยค่อนข้างได้เปรียบกว่าประเทศอื่น ประกอบกับไทยมีแผนการลงทุนปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ 2 ล้านล้านบาท จึงเชื่อว่า เมื่อการเป็นประชาคมอาเซียน ที่จะเริ่มวันที่ 1 มกราคม 2558 เป็นต้นไป ไทยจะต้องเตรียมความพร้อม รองรับประชากร 650 ล้านคน ที่หากเปรียบเทียบกับจีดีพีประเทศไทย ที่มีเพียง 12 ล้านล้านบาท แต่จีดีพีอาเซียนรวมกันจะมีมากถึง 72-73 ล้านล้านบาท จึงเป็นโอกาสในการขยายการค้าและการลงทุนของไทยได้อีกมากในอนาคต ซึ่งขณะนี้การเตรียมความพร้อมของกลุ่มอุตสาหกรรมเอสเอ็มอี ก็อยู่ระหว่างการปรับปรุงประสิทธิภาพ และยังเชื่อว่า เมื่อเออีซีเกิดขึ้น เศรษฐกิจไทยจะมีอัตราการเติบโตอย่างมาก

เมื่อเปิดเสรีการใช้แนวทางการจำนำ หรือแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรต่างๆ จะต้องลดลง และต้องใช้มาตรการอย่างระมัดระวังมากยิ่งขึ้น ซึ่งขณะนี้ไทยเองก็พยายามทำความเข้าใจต่อเกษตรกรทั่วประเทศ ที่จะชี้ให้เห็นว่าจะทำอย่างไรที่จะส่งเสริมให้สินค้าเกษตรบางรายการมีราคาสูงขึ้น โดยขณะนี้รัฐบาลเดินหน้าลดพื้นที่เพาะปลูก เช่น พื้นที่ปลูกข้าว และให้เกษตรกรหันมาปลูกอ้อย โดยสามารถลดพื้นที่ไปได้บางส่วนถึง 1 ล้านไร่แล้ว ซึ่งเชื่อว่าสินค้าเกษตรของไทยในหลายกลุ่มจะสามารถที่จะทำตลาดและมีราคาดี ได้ในอนาคต

นอกจากนี้ ในการเดินทางเยือนประเทศจีน เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะที่ปักกิ่ง ที่เป็นการเดินทางโรดโชว์ภายในกลุ่มอาเซียน เพื่อชี้แจงสร้างความเข้าใจให้กับนักลงทุนจีน เพื่อเชิญชวนนักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนในอาเซียน ซึ่งไทยได้ชี้แจงโครงการลงทุน 2 ล้านล้านบาท อีกทั้งยังได้หารือกับภาครัฐและเอกชนของจีน ภายใต้ข้อตกลงของ 2 รัฐบาลที่จะมีการแลกเปลี่ยนสินค้า ภายใต้โครงการบาร์เตอร์เทรด หลังจากนายกรัฐมนตรีทั้งสองประเทศได้มีข้อตกลงที่จะซื้อขายสินค้าเกษตรแบบ รัฐต่อรัฐ (จีทูจี) โดยทางการจีนมีความสนใจที่ซื้อข้าวแลกกับรถไฟความเร็วสูงของจีน โดยคาดว่ากลางเดือนพฤษจิกายนนี้ น่าจะมีความชัดเจนเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกัน ซึ่งไม่เพียงเฉพาะข้าวเท่านั้น แต่จีนยังมีความสนใจซื้อยางพารา และมันสำปะหลังอีกด้วย

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 28 ตุลาคม 2556

ค่าบาทสุดผันผวนทุบสถิติรอบ5ปี ต.ค.เหวี่ยงหนักกว่า8% ธปท.ส่งซิกแกว่งถึงปีหน้า

กสิกรฯ ชี้ค่าเงินบาทไทยเดือนตุลาคมผันผวนแรงสุดในรอบ 5 ปี พุ่งขึ้น 8.73% เหตุปมร้อนสหรัฐถกขยายเพดานหนี้สาธารณะ ป่วนค่าเงินอ่อนค่าและแข็งค่ารวดเร็ว ทำให้ดูแลให้สมดุลยาก ระบุ ไทยติดอันดับ 4 ค่าเงินบาทผันผวนสูงรองจากอินโดนีเซีย อินเดีย และมาเลเซีย ฟากแบงก์ชาติชี้นักลงทุนระยะสั้นเข้าเร็วออกเร็ว เตือนระวังค่าเงินบาทยังหวือหวายาวจนกว่าข่าวสหรัฐจะชัดเจน

นางสาวปารีณา พ่วงศิริ ผู้ชำนาญการงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา พบว่าการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทมีความผันผวนค่อนข้างมาก โดยต้นเดือนจนถึงปัจจุบัน ค่าความผันผวนอยู่ที่ 8.73% ภายใต้ค่าเงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ 31.26 บาท/ดอลลาร์ สูงที่สุดในรอบปีนี้ (ดูตาราง) และมีความผันผวนสูงขึ้นต่อเนื่องจากเดือนกันยายนและสิงหาคมที่ผ่านมา ขณะที่ปีนี้ทั้งปีค่าความผันผวนเฉลี่ยอยู่ที่ 4%โดยความผันผวนของค่าเงินบาทที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นผลจากปัจจัยหลักของสหรัฐ ก่อนที่จะมีการพิจารณาขยายเพดานหนี้สาธารณะออกไป นักลงทุนต่างชาติมีการถอนเงินออกจากประเทศในแถบภูมิภาคเอเชีย ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง ขณะที่หลังจากสหรัฐเริ่มมีทางออกในการแก้ปัญหาขยายเพดานหนี้สาธารณะ ก็มีเงินไหลเข้ามาจนทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นในระยะเวลาอันรวดเร็ว

ทั้งนี้ ความผันผวนของค่าเงินบาทที่อ่อนค่าและกลับมาแข็งค่ารวดเร็วดังกล่าว ทำให้การรักษาความสมดุลของค่าเงินบาทได้ยาก

"หากดูความผันผวนของค่าเงินบาทในช่วงเดือน ต.ค. ที่ระดับ 8.73% พบว่า เป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 5 ปีอีกด้วย โดยนักวิเคราะห์คาดว่า ค่าบาทในระยะข้างหน้านี้มีโอกาสผันผวนได้ต่อเนื่องตามกระแสเงินไหลเข้าไหลออก จึงมีการประมาณการค่าความผันผวนเฉลี่ยปีนี้ที่ระดับ 5.70% ถือว่ายังเป็นระดับที่สูงที่สุดรอบ 5 ปีอีกด้วย โดยปี཯ ค่าความผันผวนของค่าเงินบาทอยู่ที่ระดับ 7.14% และปี཮ ค่าความผันผวนอยู่ที่ระดับ 13% ซึ่งช่วงนั้นสหรัฐอยู่ในภาวะวิกฤตสินเชื่ออสังหาฯ" นางสาวปารีณากล่าว

อย่างไรก็ตาม ในเดือน ต.ค. เมื่อเทียบความผันผวนของค่าเงินบาทกับค่าเงินสกุลอื่นของประเทศในภูมิภาคอาเซียนพบว่า ค่าเงินบาทมีความผันผวนติดอันดับ 4 โดยค่าความผันผวนอยู่ที่ 8-9% ขณะที่ประเทศที่มีค่าความผันผวนสูงสุดคือ ค่าเงินรูเปียห์ของประเทศอินโดนีเซีย ที่มีความผันผวนสูงสุดแตะ 30% รองลงมาคือ ค่าเงินรูปีของอินเดีย ความผันผวนของค่าเงินอยู่ที่ 20% และค่าเงินริงกิตของประเทศมาเลเซียที่มีความผันผวนอยู่ที่ 13-14%

ด้านนางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในระยะข้างหน้า ตลาดเงินมีทิศทางผันผวนได้ต่อเนื่อง จากประเด็นในการขยายเพดานหนี้สหรัฐ จึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดเงินไหลออกเพิ่มขึ้นในระยะต่อจากนี้ ธปท.จึงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมของเครื่องมือต่าง ๆ ในการดูแลเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ

ทั้งนี้ ความผันผวนของตลาดเงินในช่วงที่ผ่านมา ได้ส่งผลให้อัตราแลกเปลี่ยนของสกุลต่าง ๆ ทั่วโลกเคลื่อนไหวหวือหวามากขึ้น โดยที่ผ่านมา บางช่วงเงินบาทมีค่าความผันผวนมากกว่า 10% และถึงแม้ค่าความผันผวนได้ลดลงมาอยู่ที่ 7-8% แล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีแนวโน้มที่ค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวผันผวนได้อีกต่อเนื่อง ขณะที่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ยังสามารถดูแลสถานการณ์ความผันผวนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อให้ภาคธุรกิจไทยยอมรับได้

"ส่วนหนึ่งอาจมาจากนักลงทุนระยะสั้นเข้าเร็วออกเร็วทำให้มีความผันผวนเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับที่มีการทำนิวไฮทุกประเทศ การเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนจึงหวือหวา นักลงทุนต้องระมัดระวัง และมองว่าจะหวือหวาต่อไปจนกว่านโยบายสหรัฐจะชัดเจน" นางผ่องเพ็ญกล่าว

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 28 ตุลาคม 2556

ทนุศักดิ์ ดันเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อย10ล.ไร่

"ทนุศักดิ์" เดินหน้าลดพื้นที่นาข้าว เตรียมผลักดันปลูกอ้อยเพิ่มอีก 10 ล้านไร่ วาดแผน 7-8 ปี ขยายโรงงานผลิตน้ำตาลเพิ่ม เผยมีผู้ยื่นขอรับอนุญาตเข้ามาแล้ว 11 แห่งหวังเพิ่มผลผลิตในอนาคต- เพิ่มส่วนแบ่งในตลาดเอเชียแทนบราซิล ดีดราคาอ้อย

alt หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติให้ 5 รัฐมนตรีดูแลเกี่ยวกับพืชผลทางการเกษตร 5 ประเภท ประกอบด้วย ข้าว, ข้าวโพด, มันสำปะหลัง, อ้อยและยางพารา โดยมอบหมายให้นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังดูแลเกี่ยวกับ "อ้อย" ในฐานะประธานธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)นั้น

นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง เปิดเผยว่า หลังจากได้รับมอบหมายให้ดูแลสินค้าเกษตรประเภทอ้อย จากนายกรัฐมนตรีแล้ว ได้เรียกประชุมนัดแรก ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาหลักเกณฑ์การดูแลอ้อยทั้งระบบ โดยระยะสั้น เบื้องต้นจะดูแลราคาอ้อย ไม่ให้ปรับตัวลดลงจากปัจจุบันอยู่ที่ราคาตันละกว่า 600 บาท ซึ่งตั้งเป้าให้เกษตรกรมีรายได้จากการผลิตอ้อย อยู่ที่ตันละ 850 บาท และให้เกิดความคุ้มค่ากับการลงทุนของเกษตรกร จากปีที่ผ่านมา ราคาอ้อยอยู่ที่ตันละ 950 บาท และมีเงินช่วยเหลือจาก กองทุน 160 บาท รวมเป็น 1,100 บาทต่อตัน ราคาเป็นไปตามกลไกตลาดโลก ซึ่งราคาปีนี้จะต่ำกว่าปีก่อน

"แนวทางแรก จะเริ่มในปีนี้ โดยเพิ่มพื้นที่การปลูกอ้อย จากปัจจุบันที่มีอยู่กว่า 10 ล้านไร่ ให้เพิ่มอีก 10 ล้านไร่เป็น 20 ล้านไร่ โดยจะใช้พื้นที่ที่ใช้ปลูกข้าวที่ไม่เหมาะสมมีอยู่จำนวนกว่า 27 ล้านไร่ จากพื้นที่ปลูกข้าวทั้งหมด 71 ล้านไร่ ซึ่งในฤดูการผลิต 2555/2556 นั้น จะเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกอ้อยให้ได้ 7.5 แสนไร่เป็นพื้นที่ใกล้เคียงโรงงานผลิตน้ำตาล ระยะ 50 เมตร จำนวน 20 แห่ง ในภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขณะเดียวกันแผนในระยะ 7- 8 ปีจะมีการก่อสร้างโรงงานผลิตน้ำตาลเพิ่ม โดยจะใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างโรงงานแห่งหนึ่งประมาณ 3 ปี ขณะที่ปัจจุบันมีผู้ยื่นขออนุญาตเข้ามา 11 แห่งจะมีการขยายกำลังการผลิตเพิ่มและหลังจากนั้นจะส่งเสริมการปลูกอ้อยเพื่อ สนับสนุนตลาดส่งออก

ดังนั้น แนวทางดังกล่าวจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพการปลูกอ้อยให้กับเกษตรกร อีก 8 ล้านไร่ อย่างเต็มศักยภาพ โดยอาศัยงบประมาณเอกชน ซึ่งเป็นระบบที่เดินได้ด้วยตัวเองอยู่แล้ว"

ปัจจุบันมีการบริโภคน้ำตาลป้อนภายในประเทศประมาณ 20% และที่เหลือ 80% ส่งออกทั้งหมด ซึ่งตลาดในเอเชียนั้น บราซิล มีส่วนแบ่งการตลาด 40% ขณะที่ไทยมีส่วนแบ่งการตลาด 26% แต่บราซิลมีต้นทุนการขนส่งถูกกว่าไทยถึง 3 เท่า ฉะนั้น เป้าหมายคือ ต้องเพิ่มสัดส่วนการทำตลาดในเอเชีย ด้วยการเพิ่มกำลังการผลิตและขยายการส่งออกอ้อย ให้ตอบสนองความต้องการบริโภคของตลาดเอเชียที่มีอยู่มาก และมีต้นทุนถูกกว่าจะทำราคาอ้อยปรับเพิ่มขึ้นได้ด้วย

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 28 ตุลาคม 2556

น้ำตาลครบุรีจัดทัพใหม่

นายถกล ถวิลเติมทรัพย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 3/2556 มีมติแต่งตั้งนายทัศน์ วนากรกุล ให้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัทคนใหม่ ส่วนตนเองขยับตำแหน่งขึ้นดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร เพื่อเป็นการปรับโครงสร้างองค์กร พร้อมกันนี้ได้อนุมัติเพิ่มจำนวนกรรมการบริษัทอีก 2 คน เป็น 11 คน เนื่องจากเห็นว่าบริษัทมีการขยายงานอย่างต่อเนื่องทั้งในธุรกิจน้ำตาลและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ภายหลังเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2554 โดยบริษัทได้ขยายกำลังการผลิตจาก 21,000 ตันต่อวัน เป็น 23,000 ตัน/วัน รวมทั้งได้ริเริ่มโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 35 เมกะวัตต์ และเข้าเป็นพันธมิตรกับกลุ่มบริษัทมิตซุย ประเทศญี่ปุ่น สำหรับการเสริมทัพครั้งนี้เนื่องจากเห็นว่านายทัศน์ เป็นผู้ที่มีความรู้ประสบการณ์ด้านบริหารงานธุรกิจน้ำตาลมามากกว่า 25 ปี จะช่วยนำพาให้บริษัทเติบโตที่แข็งแกร่งยิ่งๆ ขึ้น

จาก http://www.khaosod.co.th  วันที่ 28 ตุลาคม 2556

หวั่นราคาน้ำตาลต่ำสุด AEC

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด เปิดเผยว่า ทีมงานของ ไทยชูการ์ มิลเลอร์ ได้สำรวจข้อมูลราคาน้ำตาลทรายในประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยเน้นกลุ่มประเทศอาเซียน โดยใช้ข้อมูลจากสำนักงานการค้าในประเทศต่างๆ ประกอบกับข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย และเทรดเดอร์น้ำตาลทรายรายใหญ่ของโลก โดยเทียบเป็นสกุลเงินบาท พบว่า น้ำตาลทรายของไทยมีราคาขายปลีกต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน

โดยน้ำตาลทรายขาวมีราคาขายปลีกต่อกิโลกรัม อยู่ที่ 22.60 บาท น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ กิโลกรัมละ 23.60 บาท เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ประเทศลาวและกัมพูชา มีราคาขายปลีกน้ำตาลทรายขาว 30-33 บาทต่อกิโลกรัม พม่าขายปลีกที่กิโลกรัมละ 30.01 บาท เวียดนาม 25.50-28.50 บาท มาเลเซีย 25.87 บาท อินโดนีเซียขายปลีกน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์กิโลกรัมละ 33.95 บาท สิงคโปร์ 40.35 บาท ฟิลิปปินส์ 41.20 บาท ทั้งนี้ ประเทศที่ต้องบริโภคน้ำตาลทรายในราคาสูงกว่าไทย ได้แก่ ประเทศจีน ราคาขายปลีกน้ำตาลทรายในเกรดต่างๆ มีตั้งแต่กิโลกรัมละ 57.09 บาท ไปจนถึง 77.85 บาท ญี่ปุ่น กก.ละ 66.90 บาท เกาหลีใต้ 49.50 บาท ออสเตรเลีย 59.75 บาท

จากราคาขายปลีกน้ำตาลทรายของไทยที่ต่ำที่สุดดังกล่าว ทำให้มีความกังวลว่า ต่อไปหากเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (AEC) ซึ่งมีความเสรีในการติดต่อค้าขายกันมากขึ้น หากไทยยังไม่ปรับเปลี่ยนนโยบายในเรื่องนี้ ปัญหาการลักลอบนำน้ำตาลทรายในประเทศไปขายต่างประเทศจะยิ่งรุนแรงมากขึ้น อันจะส่งผลต่อปริมาณน้ำตาลทรายที่กันโควตา ก.ไว้สำหรับบริโภคภายในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการ

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 28 ตุลาคม 2556

ออกใบอนุญาต'รง.4'อืดอุตฯร่นขั้นตอนอนุมัติเร็วขึ้นภายใน60วัน

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการกลั่นกรองการพิจารณาการอนุญาตโรงงานบางประเภทที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า กำลังเร่งรัดปรับปรุงขั้นตอนการอนุญาตให้รวดเร็วและมีคุณภาพยิ่งขึ้น เชื่อว่าปัญหาในเรื่องการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานและขยายโรงงาน หรือการออกใบอนุญาต รง.4 ล่าช้า เนื่องจากเอกสารไม่ครบถ้วน และถูกต้องจะลดน้อยลง โดยกระทรวงอุตสาหกรรม ได้จัดทำแนวทางปฏิบัติในการพิจารณาคำขอ พร้อมกระทรวงอุตฯจะเดินสายชี้แจงทำความเข้าใจกับภาคเอกชนและอุตสาหกรรมจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ถึงขั้นตอนเกี่ยวกับการออกใบ รง.4

ในการนี้จะเชิญสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(สอท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ตลอดจนศูนย์ต่อต้านคอร์รัปชั่น ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งถ้าหากมีความเข้าใจตรงกันแล้วจะสามารถลดระยะเวลาในการออกใบ รง 4.ลงได้ 30 วัน หรือจากเดิมไม่เกิน 90 วัน จะเหลือเพียง 60 วันเท่านั้น โดยจะเริ่มที่ จ.นครสวรรค์ก่อน ตามด้วย จ.เชียงใหม่ สงขลา และชลบุรี

"กรณีเร่งด่วนที่จำเป็นจะต้องได้ใบอนุญาตเร็ว กระทรวงอุตสาหกรรมก็พร้อมจัดทีมเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาอำนวยความสะดวกเป็นรายกรณี เช่นเดียวกับที่ให้บริการรายของ ฮอนด้าและโตชิบา เป็นต้น และขอให้ภาคเอกชนร้องเรียนได้เลย หากมีกรณีที่มีความล่าช้า หรือความไม่โปร่งใสในการพิจารณาออกใบ รง.4 เกิดขึ้น" นายวิฑูรย์ กล่าว

สำหรับผลการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองฯ เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2556 มีเรื่องเสนอเข้ามาจำนวน 6 ราย ซึ่งได้พิจารณาอนุญาตทั้งสิ้น 3 ราย คืนเรื่องกลับให้ กรอ.พิจารณาชี้แจงทบทวน จำนวน 3 ราย โดยโรงงานที่ได้รับการอนุญาตในการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองฯ มี 3 ราย ดังนี้ 1. บริษัท เพ็ท โฟกัส จำกัด 2. บริษัท ไฟฟ้าธรรมชาติ จำกัด 3. บริษัท ไทยศรีทอง

ส่วนโรงงานที่คณะกรรมการกลั่นกรองฯมีมติคืนเรื่องให้ กรอ.พิจารณาทบทวน 3 ราย คือ 1.บริษัท มอนซานโต้ ไทยแลนด์ จำกัด อ.วังทอง จ.พิษณุโลก เอกสารประกอบคำขออนุญาตไม่ครบถ้วน 2.บริษัท เอเชียแปซิฟิกกลาส จำกัด อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา โดยให้ทบทวนเรื่องโฉนดที่ดิน เอกสารการขออนุญาตให้ใช้ลำรางสาธารณะ ระบบบำบัดน้ำเสียและอากาศ 3.บริษัท เมโทร ไฟเบอร์ จำกัด อ.เมืองปราจีนบุรี จ.ปราจีนบุรี ทบทวนเรื่องที่ตั้งโรงงานตามกฎหมายผังเมือง

จาก http://www.naewna.com   วันที่ 28 ตุลาคม 2556

แนวทางฟื้นฟูที่ดินหลังน้ำท่วม ชุบชีวิตเกษตรกรผู้ประสบภัย

: ดลมนัส กาเจ ... รายงาน

สถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดจากพายุดีเปรสชันนารี ที่เกิดขึ้นบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำเคลื่อนตัวเข้ามาปกคลุมในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลางของประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน 2556 ที่ผ่านมา สร้างความเสียหายให้แก่พื้นที่การเกษตรกว่า 2 ล้านไร่นั้น ไม่เพียงแต่จะเสียหายเฉพาะพืชผลทางการเกษตรอย่างเดียว หากแต่จะสร้างความเสียหายให้หน้าดินอีกด้วย โดยเฉพาะพื้นที่น้ำท่วมและมีกระแสน้ำหลาก จะพัดพาจุลินทรีย์หน้าดินไปด้วย ยิ่งในบางพื้นที่ท่วมขังยาวนาน อาจจะกระทบต่อความเป็นกรดเป็นด่างของดินอีกด้วย

ดังนั้นเกษตรกรมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องฟื้นฟูสภาพดินให้อุดมสมบูรณ์ ก่อนที่จะมีการเพาะปลูกพืชในฤดูกาลต่อไป อย่างไรก็ตาม ปัญหาทั้งหลายที่อาจเกิดจากสภาพดินเสื่อมจากน้ำท่วมขังหรือกระแสน้ำพัดพาจุลินทรีย์วัตถุหน้าดิน ทางกรมพัฒนาที่มีการเตรียมพร้อมที่จะให้การช่วยเหลือและเสนอแนะแนวทางให้แก่เกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนในครั้งนี้ ล่าสุด นายอนุสรณ์ จันทนโรจน์ รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน แนะแนวทางการแก้ปัญหาดินที่เกิดจากน้ำท่วม ผ่านรายการ "เกษตรทำกินกับคมชัดลึก" ช่วง "ภัยเกษตรกร" ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่องดาวเทียม "คมชัดลึกทีวี" เมื่อวันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม 2556 เวลา 16.00-17.00 น. ว่า ทางกรมพัฒนาที่ดินได้เตรียมสาร พด.ของกรมพัฒนาที่ดิน เพื่อแจกจ่าย และแนะน้ำเกษตรกรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นายอนุสรณ์ ระบุว่า ปัญหาน้ำท่วมในปีนี้สร้างความเสียให้เกษตรกรเป็นอย่างมาก เพราะมีน้ำท่วมขังในพื้นที่เพาะปลูกทั้งที่เป็นนาข้าว พืชไร่ พืชผักสวนครัว และที่หนักกว่าทุกปีคือ พื้นที่ปลูกไม้ผลในพื้นที่ภาคตะวันออก รวมถึงสภาพดินที่เสี่ยมด้วย สร้างความเสียหายให้แก่เกษตรกรเป็นอย่างมาก ขณะนี้กรมพัฒนาที่ดินได้จัดสาร พด.6 สำหรับบำบัดน้ำเสีย พด.2 ใช้สำหรับย่อยสลายพืชเน่าที่เกิดจากน้ำท่วม และสารเร่งซุปเปอร์ พด.3 ซึ่งเป็นเชื้อจุลินทรีย์ควบคุมเชื้อสาเหตุโรคพืช นอกจากนี้ยังมีการเตรียมสาร พด.1 พด.4 และพด.5 สำหรับผลิตปุ๋ยหมักอีกด้วย

สำหรับแนวทางการดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกร รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ระบุว่า ได้จำแนกสภาพดินเสียที่เกิดจากน้ำท่วมเป็น 6 ระดับด้วยกัน คือ 1.บริเวณพื้นที่ที่น้ำท่วมขังนานจนเกิดเน่าเสีย ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่การเกษตร พื้นที่ในชุมชนและอุตสาหกรรม ให้ใช้สารบำบัดน้ำเสียและขจัดกลิ่นเหม็นจากสารเร่งซุปเปอร์ พด.6 จำนวน 15-25 ลิตรต่อไร่ ในน้ำท่วมขังลึก 10-15 ซม. หากความลึกเฉลี่ย 75 ซม. ให้ใช้น้ำหมักชีวภาพเฉลี่ย 120 ลิตร กรณีน้ำขังมีความลึกมากน้อยกว่าที่ระบุไว้ให้คำนวณตามสัดส่วน โดยเทลงบริเวณที่น้ำท่วมขังที่มีกลิ่นเน่าเหม็นทุกๆ 10 วัน และบริเวณน้ำท่วมขังที่มีกลิ่นเน่าเหม็นมากทุกๆ 3 วัน เพื่อช่วยบำบัดน้ำเสียและขจัดกลิ่นเหม็นก่อน

2.พื้นที่นาข้าวที่อยู่ในเขตชลประทาน กรณีที่นาข้าวถูกน้ำท่วมขังจนเสียหายหมด ให้ใช้ พด.2 ในอัตรา 5 ลิตรต่อพื้นที่ 1 ไร่ ราดเพื่อให้ตอซังย่อยสลายเร็วขึ้น หากกรณีพื้นที่นาข้าวเป็นดินเปรี้ยวจัดรุนแรงมากถึงรุนแรงปานกลาง ใช้วัสดุปูนเพื่อการเกษตร (ปูนมาร์ล โดโลไมท์) ในพื้นที่นาข้าวที่เป็นดินเปรี้ยวจัด ในอัตรา 100-300 กิโลกรัมต่อไร่ เพื่อช่วยปรับสภาพดินให้เป็นกลาง

3.พื้นที่นาข้าวที่อยู่นอกเขตชลประทาน หากนาข้าวถูกน้ำท่วมขังจนเสียหายหมด ให้ใช้ พด.2 ในอัตรา 5 ลิตรต่อพื้นที่ 1 ไร่ พร้อมกันนั้นกรมพัฒนาที่ดินยังแจกเมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสดให้เกษตรปลูกหลังน้ำลด เพื่อปรับปรุงบำรุงดิน และเพิ่มธาตุอาหาร จำพวกปอเทือง โสนแอฟริกัน ถั่วพร้า ถั่วมะแฮะ และพืชตระกูลถั่ว ให้เกษตรกรปลูก ช่วยเพิ่มการดูดซับธาตุอาหารพืชในดิน ลดการสูญเสียธาตุอาหารจากการถูกชะล้าง และเพิ่มธาตุอาหารไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ตามชนิดและปริมาณที่เหมาะสมกับพืชที่ปลูก ในอัตราประมาณ 5-8 กิโลกรัมต่อไร่

4.พื้นที่นาข้าวที่ถูกน้ำพัดพาหน้าดิน กรณีที่นาข้าวถูกน้ำพัดพาหน้าดิน ทำให้หน้าดินสูญเสียแร่ธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อพืช ให้ปรับปรุงดินโดยการใช้ปุ๋ยหมักในอัตรา 2 ตันต่อไร่ เพื่อปรับปรุงสภาพดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ 5.พื้นที่ไม้ผล หรือไม้ยืนต้น กรณีพื้นที่ไม้ผล หรือไม้ยืนต้นถูกน้ำท่วมขัง ควรปรับปรุงบำรุงดินในพื้นที่สวนผลไม้ หลังน้ำลด เพื่อช่วยเหลือรากต้นไม้ผลที่ขาดออกซิเจน ขณะที่เศษซากพืชซากสัตว์ที่ทับถมอยู่ในดินเกิดการย่อยสลายในสภาพไม่มีอากาศ เกิดเป็นก๊าซพิษที่เป็นอันตรายต่อรากต้นไม้ เช่น ก๊าซมีเทน ก๊าซไข่เน่า เป็นต้น

หลังจากน้ำเริ่มลดลงใกล้แห้งต้องรีบดำเนินการแก้ไขและป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับต้นไม้ผลคือ หากพบว่า ต้นไม้ที่ลำต้นเอนใกล้ล้ม ให้ใช้ไม้ยาวๆ ค้ำยันไว้ โดยไม่เข้าไปเหยียบย่ำโคนต้น จากนั้นต้องระบายน้ำที่แช่ขังบริเวณโคนต้นออกให้หมด เมื่อดินเริ่มแห้งให้ตัดแต่งกิ่งที่ใบแก่และใบที่ไม่ได้รับแสงแดดออก ใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกร่วมกับปุ๋ยเคมีบำรุงดิน โดยใส่บริเวณรอบๆ ทรงพุ่ม สำหรับปุ๋ยหมักที่ใช้ให้ขยายเชื้อสารเร่งซุปเปอร์ พด.3 ก่อน รดด้วยน้ำหมักชีวภาพที่เตรียมจากสารเร่งซุปเปอร์ พด.2 เจือจาง 1:500 เพื่อเร่งการเจริญของระบบรากพืช

กรณีพื้นที่ปลูกไม้ผลที่เป็นดินกรด ใช้วัสดุปูนเพื่อการเกษตร (ปูนมาร์ล โดโลไมท์) ในอัตราประมาณ 500-1,000 กิโลกรัมต่อไร่ เพื่อปรับสภาพดินที่มีปัญหา เช่น ดินกรด ดินเปรี้ยว แก้ไขความเป็นกรดแฝงในดิน และช่วยให้เนื้อดินไม่แน่นทึบ โดยการหว่านให้ทั่วพื้นที่หรือโดยรอบโคนต้นแล้วไถกลบ จะช่วยให้ดินมีสภาพเป็นกลาง และ 6.พื้นที่ปลูกพืชไร่ หากพืชตายเหลือแต่ตอซัง ให้ทำการไถกลบเศษซากพืช และส่งเสริมให้ปลูกถั่ว หรือพืชปุ๋ยสดโดยพิจารณาพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการดำเนินการ

ขณะที่ ผศ.ดร.สุเทพ ทองแพ นักวิชาการ อดีตอาจารย์ประจำสาขาปฐพี คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แนะนำว่า หากเกิดพื้นที่น้ำท่วม และมีน้ำไหลหลากด้วย หากกลัวว่าสภาพดินอาจเสื่อม เกษตรกรควรจะไปหาหมอดินเพื่อตรวจสอบสภาพดินก่อนว่า ขาดธาตุอาหารประเภทใดบ้าง อย่างไรก็ตาม หากพื้นที่น้ำท่วมถัง โดยไม่มีการชะล้างหน้าดิน เกษตรกรไม่ต้องห่วงมาก เมื่อน้ำลดจุลินทรีย์หน้าดินก็มีเหมือนเดิม ไม่จำเป็นต้องปรับสภาพดินอะไรมากนัก เพียงหาวัตถุอินทรีย์มาใส่ก็ได้แล้ว เพราะดินส่วนล่างยังปกติทุกอย่าง

ทั้งหมดนี้เป็นแนวทางการปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาสภาพดินภายหลังน้ำท่วม หากเกษตรกรต้องการสาร พด.ต่างๆ สามารถติดต่อหรือขอได้ที่สำนักพัฒนาที่ดินในพื้นที่ ซึ่งกรมพัฒนาที่ดินเตรียมไว้เรียบร้อยแล้ว

จาก http://www.komchadluek.net วันที่ 28 ตุลาคม 2556

ตะลุยตลาดน้ำตาลฮ่องกง เทรนด์ราคาโลกพุ่งสวนไทย

"อ้อย และน้ำตาล" ถือเป็นสินค้าเกษตรหลักของประเทศไทยที่มีการควบคุมดูแลเชิงนโยบายผ่าน "สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย" หรือ สอน. โดยครอบคลุมถึงโควตาการจำหน่ายน้ำตาล ทั้งโควตา ก. โควตา ข. ที่ได้กันส่วนไว้จำหน่ายภายในประเทศ ส่วนน้ำตาลทรายโควตา ค. ซึ่งเป็นสัดส่วนน้ำตาลเพื่อการส่งออกทั้งหมด โดยในฤดูการผลิตปี 2555/2556 ที่มีปริมาณน้ำตาลโควตา ค. รวมกัน 6.7 ล้านตัน ดังนั้น จึงถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่ สอน.จะต้องกำหนดตลาดส่งออกให้มีประสิทธิภาพที่สุด

เมื่อ วันที่ 11-13 ต.ค.2556 ที่ผ่านมา คณะผู้บริหาร สอน.ได้บินลัดฟ้าไปยังเขตบริหารพิเศษฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน ในฐานะที่เป็นตลาดส่งออกน้ำตาลจากไทยที่สำคัญแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชีย โดยนำคณะไปสำรวจตลาดการค้าน้ำตาล เพื่อดูทิศทางการค้า ทิศทางราคาน้ำตาลตลาดโลกในปี 2557

นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายได้ฉายภาพรวมตลาดส่งออก น้ำตาลทราย ฮ่องกง ว่า จากสถิติของ Census and Statistics Department ของฮ่องกง ในปี 2555 ฮ่องกงมีประชากรประมาณ 7.17 ล้านคน มีอัตราการเจริญเติบโตของประชากร 0.9% โดยประชากรส่วนใหญ่ 95% เป็นคนจีน ซึ่งเขตบริหารพิเศษฮ่องกงไม่มีทรัพยากรธรรมชาติใดๆ ลักษณะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเกาะ มีที่ราบเป็นส่วนน้อยและล้อมรอบด้วยทะเล ทำให้ฮ่องกงมีศักยภาพในการเป็นท่าเรือน้ำลึกสำหรับทำการค้ากับต่างประเทศ มากกว่าการเพาะปลูก หรือเกษตรกรรม

สินค้าอุปโภคบริโภคของ ฮ่องกงจึงต้องนำเข้าจากประเทศจีนเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะสินค้าประเภทน้ำตาลทราย แม้จะเคยมีโรงงานน้ำตาลตั้งอยู่แต่ได้ย้ายฐานการผลิตไปบนแผ่นดินใหญ่เมื่อ หลายปีก่อน ส่งผลให้น้ำตาลทรายที่วางขายมีราคาจำหน่ายสูงเนื่องจากเป็นการนำเข้ามาจัด จำหน่ายทั้งหมด จึงไม่แปลกใจเมื่อเทียบราคาจำหน่ายกับประเทศไทย จะพบว่าราคาน้ำตาลทรายของฮ่องกงสูงกว่าของเราเกือบ 7 เท่าตัว

นาง วรวรรณกล่าวอีกว่า ในส่วนของน้ำตาลทรายที่เข้ามาในฮ่องกงส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปบรรจุถุงพร้อม จำหน่าย ทั้งแบบครึ่งกิโลกรัมและ 1 กิโลกรัม โดยน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ราคาขายจะอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 40 เหรียญฮ่องกง (1 เหรียญฮ่องกงเท่ากับ 4.1 บาท) หรือประมาณ 165 บาท ซึ่งเป็นน้ำตาลทรายที่มีราคาจำหน่ายถูกกว่าน้ำตาลทรายจากบีท และน้ำตาลจากมะพร้าว (Palm Sugar) อยู่พอสมควร

นอกจากนี้ ฮ่องกงยังมีน้ำตาลทรายชนิดอื่นๆ เช่น น้ำตาลทรายออแกนิก น้ำตาลกรวดและน้ำตาลทรายแดง ซึ่งราคาจำหน่ายปลีกมีราคาสูงกว่าประเทศไทยมากทั้งที่ไม่มีภาษี มูลค่าเพิ่มส่วน น้ำตาลที่วางจำหน่ายในตลาดฮ่องกงนั้นมียอดนำเข้าทั้งจากจีนแผ่นดินใหญ่และ ประเทศอื่นๆ ข้อมูลในปี 2555 รวมแล้วประมาณ 2.05 แสนตันทั้งในส่วนของน้ำตาลทรายดิบ และน้ำตาลทรายขาว โดยประเทศไทยคือหนึ่งในผู้ส่งออกน้ำตาลทรายขาวไปยังฮ่องกง มีส่วนแบ่งน้ำตาลทรายขาวในตลาดฮ่องกงประมาณ 15% ซึ่งแม้ว่าจะน้อยแต่เป็นส่วนหนึ่งของการส่งออกน้ำตาลไปจีน ในปีที่ผ่านมาได้นำเข้าน้ำตาลจากไทย 9.6 แสนตัน

ด้าน นายสมศักดิ์ สุวัฒิกะ เลขาธิการ สอน.ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ตลาดส่งออกน้ำตาลเมื่อเทียบกับที่ไทยส่งออกไปทั้งหมดนั้นอยู่ในสัดส่วนที่ ไม่มาก เฉลี่ยที่ 15% ส่วนที่เหลือฮ่องกงจะนำเข้าจากจีน เกาหลีใต้ มาเลเซีย และบราซิล จึงมีโอกาสที่จะขยายตัวได้น้อย แต่จำเป็นต้องรักษาภาพรวมตลาดการส่งออกน้ำตาลไปยังฮ่องกงไว้ เนื่องจากฮ่องกงเป็นเขตปกครองที่มีการบริโภคสูง ส่วนหนึ่งมาจากยุทธศาสตร์การเปิดประเทศเป็นแหล่งท่องเที่ยว ทำให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าสู่ฮ่องกงตลอดทั้งปี

สำหรับ แนวโน้มราคาน้ำตาลในตลาดโลก ปี 2557 พบว่าจากปัจจัยหลายด้านที่ติดตาม อาทิ ภัยธรรมชาติ พายุเข้าอินเดีย จีนประสบปัญหาน้ำท่วม บราซิลที่เป็นประเทศ ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ของโลกก็ประสบปัญหาต้นทุนผลิตน้ำตาลสูงขึ้น มีการปิดโรงงานน้ำตาลในบราซิลไป 57 แห่ง ทำให้ภาพรวมกำลังการผลิตน้ำตาลในปี 2557 จึงมีแนวโน้มลดลง ก็จะส่งผลสะเทือนต่อปริมาณสำรองน้ำตาลในโลก ลดลงตามไปด้วย โดยปี 2555 อยู่ที่ 6.5 ล้านตัน แต่ปี 2556 มีแนวโน้มลดเหลือ 2 ล้านตัน จึงเกิดภาวะตึงตัวขึ้น และราคาน้ำตาลในตลาดโลกจะปรับเพิ่มขึ้น

ด้าน แนวโน้มราคาและการผลิตน้ำตาลภายในประเทศปีนี้ คาดว่าเดือนต.ค.นี้คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ที่มีนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานจะสามารถพิจารณาเคาะราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการ ผลิต 2556/2557 ได้

เบื้องต้น สอน.พิจารณาราคาไว้ระหว่าง 860-900 บาทต่อตันอ้อย โดยสอน.จะพยายามกำหนดราคาและประกาศภายในเดือนต.ค.นี้

ทั้ง นี้ ราคาอ้อยขั้นต้นดังกล่าวคำนวณจาก 2 ปัจจัยหลักคือ ราคาตลาดโลกที่ปัจจุบันอยู่ที่ 18.5 เซนต์ต่อปอนด์ และอัตราแลกเปลี่ยนที่ค่อนข้างอ่อนค่าอยู่ที่ 31.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ขณะที่ค่าความหวานคำนวณเฉลี่ยอยู่ที่ 10 ซีซีเอส และผลผลิตต่อไร่ (ยิว) 10.5-10.8 ตันต่อไร่ โดยปี 2556-2557 คาดว่าปริมาณอ้อยทั้งปีจะอยู่ที่ 110 ล้านตันอ้อย เพิ่มขึ้นจากฤดูการผลิต 2555-2556 ที่ผลผลิตรวมอยู่ที่ 100 ล้านตันอ้อย
"ราคาอ้อยขั้นต้นปีนี้น้อยกว่าปีที่ผ่านมาซึ่ง อยู่ 950 บาทต่อตันอ้อย เชื่อว่าชาวไร่อ้อยคงไม่เห็นด้วย เพราะคำนวณต้นทุนแล้วอยู่ที่ประมาณ 1,060-1,070 บาทต่อตันอ้อย แต่อยากให้เข้าใจเพราะการคำนวณราคาขั้นต้นจะต่ำกว่าต้นทุนอยู่แล้ว เชื่อว่าจากแนวโน้มหลังจากนี้ราคาขั้นปลายจะสูงกว่านี้จนชาวไร่คุ้มทุนแน่ นอน" นายสมศักดิ์กล่าว

นายสมศักดิ์กล่าวว่า สำหรับกรณีการขอเงินเพิ่มค่าอ้อยโดยวิธีการกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตร และสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เชื่อว่าชาวไร่อ้อยคงเรียกร้องตามปกติ เพราะที่ผ่านมาเคยได้รับเงินเพิ่ม อย่างในปีที่ผ่านมาได้เงินเพิ่มค่าอ้อยอยู่ที่ 160 บาทต่อตันอ้อย คิดเป็นวงเงินกู้รวม 16,000 ล้านบาท แต่ในส่วนของสอน.ไม่เห็นด้วย เพราะปัจจุบันกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) ยังมีหนี้เหลือค้างชำระอีก 8 เดือน (พ.ย.2556-มิ.ย.2557) ราว 9,600 ล้านบาท หากมีหนี้เพิ่มจะทำให้ภาระการชำระหนี้ยาวออกไปอีก

อีกเหตุผล ที่ชาวไร่ต้องการกู้เงินคือ สถานะการเป็นหนี้จะทำให้อุตสาหกรรมน้ำตาลยังสามารถเรียกเก็บเงินเพิ่มน้ำตาล 5 บาทต่อก.ก.ต่อไปได้ ซึ่งประเด็นนี้รัฐบาลค่อนข้างไม่เห็นด้วย เพราะเป็นการโยนภาระให้ผู้บริโภค ดังนั้น จึงอยู่ระหว่างศึกษาแนวทางใหม่เพื่อเกิดความเป็นธรรม อาทิ การเก็บเงินจากน้ำตาลที่นำเข้ามาบริโภคในประเทศ

แนวโน้มราคาน้ำตาลในตลาดโลกจะเป็นเช่นไร ราคาขั้นต้นในประเทศจะออกมาหน้าไหน อีกไม่นานคงได้รู้กัน!

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 28 ตุลาคม 2556

ยุทธนา กองอุดม นายกอบต.หลักเหลี่ยม จ.กาฬสินธุ์ "เฝ้าระวังโรคประจำถิ่น"

ท้องถิ่นพูด ยุทธนา เกียรติดำเนินงาม

นายยุทธนา กองอุดม นายกอบต.หลักเหลี่ยม กล่าวว่า จากการที่อดีตเคยรับราชการเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมาก่อน จึงนำทักษะ ประสบการณ์ มาทำการขับเคลื่อน ควบคู่กับการพัฒนาศักยภาพ อสม. ให้มีความรู้ ความสามารถ ในการที่จะนำหลักการไปแนะนำให้กับชาวบ้าน ทั้งในส่วนของการดูแลสุขภาพ การรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย ที่เหมาะสมกับวัย ให้มีการเฝ้าระวังและให้ความรู้กับชาวบ้านในการรักษาตัวเอง ให้ห่างไกลจากโรคภัยประจำฤดู

อบต.หลักเหลี่ยม มี 10 หมู่บ้าน เป็นชุมชนเกษตรกรรม มีทำนา ไร่อ้อย มันสำปะหลัง เป็นอีกพื้นที่หนึ่งซึ่งประสบภัยแล้งซ้ำซาก โดยเฉพาะต้นปีที่ผ่านมา ทำให้พืชผลได้รับความเสียหาย ขณะที่ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภค

จากการที่ได้มีการเตรียมการรับมือภัยแล้งและสาธารณภัยต่างๆ ก็ได้มีการช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.กาฬสินธุ์ นำน้ำแจกจ่ายบรรเทาความเดือดร้อน

ขณะที่การแก้ไขปัญหาระยะยาว ได้ประสานไปยังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าขุดเจาะบาดาล เพื่อนำน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้ในแปลงนา ซึ่งแก้ไขปัญหาข้าวตายแล้งได้เป็นอย่างดี

จาก http://www.khaosod.co.th  วันที่ 28 ตุลาคม 2556

สั่งรื้อนา 8 แสนไร่ 33 จังหวัดปรับปลูกอ้อย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงแนวทางการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรมเพื่อปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวที่ไม่เหมาะสมเป็นอ้อยโรงงาน ว่า กระทรวงเกษตรฯ จำเป็นต้องเร่งรัดดำเนินโครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวที่ไม่เหมาะสมมาปลูกอ้อยโรงงานในพื้นที่เป้าหมาย 33 จังหวัด จำนวน 8 แสนไร่ โดยเฉพาะพื้นที่ 50 กิโลเมตรรอบโรงงานน้ำตาล 20 แห่งที่มีความต้องการวัตถุดิบเพิ่ม เพื่อให้ทันฤดูกาลปลูกอ้อยที่เหมาะสมของปีนี้ ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน หรือเรียกว่าช่วงข้ามแล้ง ที่ในช่วงเวลาดังกล่าวจะทำให้อ้อยมีเปอร์เซนต์ความหวานสูง น้ำตาลมีคุณภาพดี

ดังนั้นจึงได้ขอความร่วมมือผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายโซนนิ่งระดับจังหวัด เร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ดำเนินงานให้แล้วเสร็จตามเป้าหมายภายในระยะเวลา 2-3 เดือนนี้ โดยเฉพาะการให้ความรู้และทำความเข้าใจกับเกษตรกรในพื้นที่ปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวมาเป็นอ้อยที่สร้างรายได้สูงกว่าหลายเท่า

ทั้งนี้ ในส่วนของมาตรการสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรหันมาปลูกอ้อยนั้น นอกจากการดำเนินการภายใต้พรบ.อ้อยน้ำตาล และโรงงานอ้อยน้ำตาลก็จะยังคงให้ช่วยเหลือเงินลงทุนบางส่วนหรือเรียกว่าเงินเกี๊ยว เช่น ค่าต้นพันธุ์ ค่าปรับเปลี่ยนพื้นที่ เฉลี่ยไร่ 8,000 บาท ซึ่งถือว่ายังเป็นไปตามกลไกเดิมที่โรงงานให้การสนับสนุนแก่เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยแล้ว กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมพัฒนาที่ดิน และกรมชลประทานจะเข้าไปสนับสนุนเรื่องแหล่งน้ำขนาดเล็กให้แก่เกษตรกรควบคู่กันไปด้วย และที่สำคัญคือการให้ความรู้ทางด้านวิชาการต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องการปรับปรุงพันธุ์อ้อยเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากผลผลิตอ้อยต่อไร่ที่สูง จากปัจจุบันที่เกษตรกรผลิตได้เฉลี่ย 11 กิโลกรัม/ไร่ ไปสู่เป้าหมาย 15 กิโลกรัมต่อไร่

อย่างไรก็ตาม ในส่วนพื้นที่ที่ได้เริ่มดำเนินการปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวที่ไม่เหมาะสมเป็นพื้นที่ปลูกอ้อยของเกษตรกรขณะนี้ พบว่า จังหวัดมหาสารคามได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนเป็นอ้อยแล้ว 2 หมื่นไร่ รวมทั้งจังหวัดบุรีรัมย์และกำแพงเพชรก็มีความคืบหน้าดำเนินการในเรื่องนี้แล้วเช่นกัน

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 27 ตุลาคม 2556

ชาวอุตรดิตถ์นับร้อยโวยกรมชลฯ กดราคาเวนคืนที่ทำคลองต่ำเตี้ยติดดิน

อุตรดิตถ์ - ชาวบ้านเกือบร้อยคนโวยกรมชลประทาน จ่ายค่าเวนคืนที่ดินต่ำกว่าราคาซื้อขายหลายเท่าตัว บางรายบอกปลูกอ้อยปีเดียวได้เกินกว่าเงินชดเชยแล้ว แถมบางคนได้แค่ 209.20 บาท แฉซ้ำก่อนทำไม่เคยถาม เดือดร้อนก็ไม่ช่วย ถามจะให้อยู่กันอย่างไร

วันนี้ (27 ต.ค.) ชาวบ้านหมู่ 2 ต.ข่อยสูง อ.ตรอน จ.อุตรดิตถ์ 93 รายรวมตัวหารือกันที่บ้านนายทักษะ อัปปมัญญา ผู้ใหญ่บ้าน กรณีนายเกษม สงวนวงษ์ หัวหน้าฝ่ายจัดหาที่ดิน 3 สำนักกฎหมายและที่ดิน กรมชลประทาน มีประกาศกำหนดราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืน และจำนวนเงินทดแทน โครงการเขื่อนทดน้ำผาจุก ต.ผาจุก อ.เมือง โดยทั้งหมดเห็นว่าเงินที่จะได้รับต่ำกว่าราคาซื้อขายจริง

นายทักษะกล่าวว่า ชาวบ้านทั้งหมดพอใจกับการจ่ายเงินทดแทนต้นไม้ พืชผลทางการเกษตร และสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ แต่ที่ไม่เห็นด้วยและเห็นว่าต่ำมากจนเกินไปคือ ที่ดิน ซึ่งปกติซื้อขายกันไร่ละ 110,000-200,000 บาท แต่กรมชลระทานจ่ายทดแทนให้ไร่ละ 32,000 บาทเท่านั้น ชาวบ้านบางรายเพิ่งซื้อที่ดินมาในราคาไร่ละ 110,000 บาท ทำกินไม่นานนักก็ต้องถูกเวนคืนเพื่อสร้างคลองส่งน้ำ ได้ทดแทนไร่ละ 32,000 บาท บางรายได้เงินทดแทนต่ำสุดเพียง 209.20 บาท นอกจากนี้ที่ดินของชาวบ้านบางรายที่เป็นแปลงเดียวกันได้รับเงินทดแทนต่างกันหลายเท่า

“เราตกลงกันว่าจะนำเรื่องหารือกับกำนันและผู้บริหารองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เพื่อหาทางคัดค้านและแก้ไขโดยเร็ว”

นางเจริญ แก้วคต อายุ 50 ปี ได้รับที่ดินเป็นมรดก 11 ไร่ ยึดอาชีพทำไร่อ้อยได้ปีละ 220 ตัน ขายอ้อยได้ตันละ 1,000 บาท เฉลี่ยรายได้หักค่าใช้จ่ายแล้วปีละ 180,000 บาท ซึ่งการปลูกอ้อย 1 ครั้งสามารถเก็บผลผลิตได้ถึง 3 ครั้ง หรือ 3 ปี แต่เมื่อมีโครงการก่อสร้างคลองชลประทานเข้ามาเวนคืนที่ไป 9.3 ไร่ ได้รับเงินทดแทนเพียง 386,000 บาทเศษ ที่ดินที่เหลือราว 1 ไร่เศษก็ไม่สามารถทำอะไรได้ หากประเมินตามราคาซื้อขายกัน 9.3 ไร่น่าจะได้มากกว่า 1 ล้านบาทก็จะสามารถนำเงินไปซื้อที่ดินทำมาหากินแห่งใหม่ได้

“ไม่ได้ดูถูกเงิน 3.8 แสนบาท แต่ปลูกอ้อยครั้งเดียวก็ได้แล้ว ที่ดินก็ยังคงอยู่ทำกินไปจนตาย ยังตกทอดไปยังรุ่นลูกรุ่นหลานได้อีกด้วย แต่เมื่อเกิดเรื่องเช่นนี้เงินที่ได้รับก็ไม่รู้ว่าจะใช้ได้นานขนาดไหนเพราะมีความรู้แต่เรื่องการเกษตรเท่านั้น จะให้ไปค้าขายหรือทำอย่างอื่นก็คงยาก จะนำเงินไปซื้อที่ดินใหม่เพื่อทำมาหากินก็คงไม่พอ กรมชลประทานให้เงินทดแทนน้อยเกินไป ทำไมไม่ยึดความถูกต้อง และความเหมาะสม ทำไมต้องรังแกประชาชนที่หาเช้ากินค่ำเช่นนี้ด้วย”

ด้านนายใจ ปิ่นทอง อายุ 56 ปี ชาวบ้านอีกราย กล่าวว่า ข้องใจว่าทำไมก่อนที่จะสร้างคลองชลประทานก็ไม่แจ้งให้ประชาชนทราบ ไม่เคยมาสอบถามความเห็นว่าต้องการหรือเหมาะสมหรือไม่ คลองส่งน้ำในพื้นที่การเกษตรเดิมก็มีอยู่ทั้ง 2 คลอง และฤดูแล้งก็ไม่มีน้ำ ทำไมไม่ลงทุนขุดลอกไม่เท่าไหร่ก็ไช้ประโยชน์ได้แล้ว แต่ทำไมต้องมาขุดคลองในที่ทำกิน และบ้านเรือนของประชาชนด้วย

“การจ่ายเงินทดแทนให้ประชาชนต้องเสียพื้นที่มันถูกเกินไป ทำไมไม่แก้ไขโดยการหาที่ดินทำกินแห่งใหม่ให้ เพราะบางรายถูกแนวคลองตัดผ่านจนไม่เหลือที่ทำกินอีกเลย อนาคตชาวบ้านเหล่านี้จะเป็นอย่างไร ใครจะรับผิดชอบ ไม่ใช่ว่าประชาชนไม่ต้องการคลองส่งน้ำ แต่เมื่อเข้ามาแล้วก็อย่าทำให้เดือดร้อน และเมื่อเดือดร้อนแล้วก็ไม่เคยเข้ามาดูแล เป็นการมัดมือชกโดยที่ประชาชนไม่รู้เรื่องมาก่อนเลย”

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 27 ตุลาคม 2556

ก.เกษตรฯ ปรับคณะทำงานแก้ปัญหาเกษตรพันธสัญญา ลดซ้ำซ้อน

กระทรวงเกษตรฯ เห็นชอบปรับปรุงคณะทำงานเพื่อการแก้ไขปัญหาเกษตรพันธสัญญา ลดภาวะการทำงานซ้ำซ้อน มุ่งแก้ไขปัญหาเกษตรกรอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการศึกษาและแก้ไขปัญหาเกษตรพันธสัญญา ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาปรับปรุงคณะทำงานเพื่อการแก้ไขปัญหาเกษตรพันธสัญญาทั้ง 3 คณะ ได้แก่ คณะทำงานศึกษาสัญญาและประเมินความเสี่ยงของระบบเกษตรพันธสัญญา คณะทำงานสำรวจและศึกษาภาวะหนี้สินเกษตรกรตามระบบเกษตรพันธสัญญา และคณะทำงานศึกษาและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาที่เป็นธรรมและยั่งยืน โดยมีมติเห็นชอบในหลักการให้รวมคณะทำงานทั้ง 3 คณะให้เหลือเพียงคณะเดียว เพื่อให้การดำเนินงานในการแก้ไขปัญหาเกษตรพันธสัญญาไม่เกิดความซ้ำซ้อน เป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

พร้อมทั้งเห็นชอบให้เพิ่มหน่วยงานในคณะทำงานที่ได้ปรับปรุง ได้แก่ กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ตามมติและข้อสั่งการของคณะกรรมการบริหารจัดการแรงงานนอกระบบแห่งชาติ เพื่อร่วมศึกษาและพิจารณาแนวทางและวิธีการเพื่อแก้ไขปัญหาความเสียหายและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรอันเนื่องมาจากความไม่เป็นธรรมของระบบเกษตรพันธสัญญา รวมทั้งจัดทำข้อเสนอแนวทางและวิธีการในการป้องกันปัญหาเกี่ยวกับความไม่เป็นธรรมที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณาโครงการศึกษาและสำรวจภาวะหนี้สินเกษตรกรตามระบบเกษตรพันธสัญญา ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา วิเคราะห์ และสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับหนี้สินและเหตุปัจจัยที่ก่อให้เกิดหนี้สินทั้งระบบ โดยเป็นการดำเนินงานร่วมกันระหว่างสถาบันวิชาการกับเครือข่ายเกษตรกรในระบบพันธสัญญาและภาคีเครือข่าย รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ทั้งในระดับนโยบายและระดับพื้นที่ โดยจะมีการรายงานผลการศึกษา และข้อเสนอเชิงนโยบายและมาตรการเพื่อกำหนดแนวทางการฟื้นฟูอาชีพเกษตรกร และช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากระบบเกษตรพันธสัญญา เบื้องต้นจะดำเนินการในระยะแรก 6 เดือน ระหว่างเดือนธันวาคม 2556-พฤษภาคม 2557 และจะมีการดำเนินการศึกษาวิจัยให้ได้ผลที่สมบูรณ์ในระยะต่อไป ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้มีการปรับเพิ่มรายละเอียดของโครงการในบางส่วนเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ และนำเข้าสู่การพิจารณาที่ประชุมครั้งต่อไป

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2556

น้ำตาลไทยถูก เอกชนจี้ภาครัฐ เตรียมรับเออีซี

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด เปิดเผยว่า น้ำตาลทรายของไทยมีราคาขายปลีกต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยน้ำตาลทรายขาวมีราคาขายปลีกต่อกิโลกรัมอยู่ที่ 22.60 บาท น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์กิโลกรัมละ 23.60 บาทเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ประเทศลาวและกัมพูชามีราคาขายปลีกน้ำตาลทรายขาว 30-33 บาทต่อกิโลกรัม เมียนมาร์ขายปลีกที่กิโลกรัมละ 30.01 บาท เวียดนาม 25.50-28.50 บาท มาเลเซีย 25.87 บาท อินโดนีเซียขายปลีกน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์กิโลกรัมละ 33.95 บาท สิงคโปร์ 40.35 บาท และฟิลิปปินส์ 41.20 บาท

ทั้งนี้ จากราคาขายที่ต่ำที่สุดดังกล่าว ทำให้มีความกังวลว่าหากเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (เออีซี) จะเกิดปัญหาการลักลอบนำน้ำตาลทรายในประเทศไปขายต่างประเทศจะยิ่งรุนแรงมากขึ้น อันจะส่งผลต่อปริมาณน้ำตาลทรายที่กันโควตา ก.ไว้สำหรับบริโภคภายในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการ ดังนั้นภาครัฐที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบควรได้เร่งหาทางป้องกันปัญหาล่วงหน้าก่อน โดยมีหลักคิดอยู่ว่าทำอย่างไรจะไม่ให้เกิดการขาดแคลนของน้ำตาลทรายที่ใช้บริโภคภายในประเทศ และผลตอบแทนที่ชาวไร่อ้อยจะได้รับในสัดส่วน 70% ของรายได้จากการขายน้ำตาลทราย จะต้องคุ้มค่ากับต้นทุนด้านการเพาะปลูกและมีกำไรส่วนต่างที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตและพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อให้อาชีพชาวไร่อ้อยเป็นอาชีพที่มีความมั่นคง.

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2556

"ยุคล"เร่ง 33 จังหวัดปรับพื้นที่ปลูกข้าวไม่เหมาะสมมาปลูกอ้อย

"ยุคล"เร่ง 33 จังหวัดปรับพื้นที่ปลูกข้าวไม่เหมาะสมมาปลูกอ้อย เป้าหมาย 8 แสนไร่ ให้แล้วเสร็จทันช่วงการปลูกเดือนพฤศจิกายนนี้ซึ่งเป็นช่วงที่ให้เปอร์เซนต์น้ำตาลสูง ด้านโรงงานน้ำตาลกว่า 20 แห่งสนองนโยบายร่วมโครงการ

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง แนวทางการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรมเพื่อปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวที่ไม่เหมาะสมเป็นอ้อยโรงงาน โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดจาก 33 จังหวัดที่มีโรงงานน้ำตาลเข้าร่วมโครงการ รวมทั้งเจ้าหน้าที่จากกรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร และหน่วยงานที่เกี่ยวเข้าร่วมประชุมว่า กระทรวงเกษตรฯ จำเป็นต้องเร่งรัดดำเนินโครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวที่ไม่เหมาะสมมาปลูกอ้อยโรงงานในพื้นที่เป้าหมาย 33 จังหวัด จำนวน 8 แสนไร่ โดยเฉพาะพื้นที่ 50 กิโลเมตรรอบโรงงานน้ำตาล 20 แห่งที่มีความต้องการวัตถุดิบเพิ่ม เพื่อให้ทันฤดูกาลปลูกอ้อยที่เหมาะสมของปีนี้ ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน หรือเรียกว่าช่วงข้ามแล้ง ที่ในช่วงเวลาดังกล่าวจะทำให้อ้อยมีเปอร์เซนต์ความหวานสูง น้ำตาลมีคุณภาพดี

ดังนั้น การประชุมร่วมกันในครั้งนี้ จึงได้ขอความร่วมมือผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายโซนนิ่งระดับจังหวัด เร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ดำเนินงานให้แล้วเสร็จตามเป้าหมายภายในระยะเวลา 2-3 เดือนนี้ โดยเฉพาะการให้ความรู้และทำความเข้าใจกับเกษตรกรในพื้นที่ปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวมาเป็นอ้อยที่สร้างรายได้สูงกว่าหลายเท่า

ทั้งนี้ ในส่วนของมาตรการสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรหันมาปลูกอ้อยนั้น นอกจากการดำเนินการภายใต้พรบ.อ้อยน้ำตาล และโรงงานอ้อยน้ำตาลก็จะยังคงให้ช่วยเหลือเงินลงทุนบางส่วนหรือเรียกว่าเงินเกี๊ยว เช่น ค่าต้นพันธุ์ ค่าปรับเปลี่ยนพื้นที่ เฉลี่ยไร่ 8,000 บาท ซึ่งถือว่ายังเป็นไปตามกลไกเดิมที่โรงงานให้การสนับสนุนแก่เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยแล้ว กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมพัฒนาที่ดิน และกรมชลประทานจะเข้าไปสนับสนุนเรื่องแหล่งน้ำขนาดเล็กให้แก่เกษตรกรควบคู่กันไปด้วย และที่สำคัญคือการให้ความรู้ทางด้านวิชาการต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องการปรับปรุงพันธุ์อ้อยเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากผลผลิตอ้อยต่อไร่ที่สูง จากปัจจุบันที่เกษตรกรผลิตได้เฉลี่ย 11 กิโลกรัม/ไร่ ไปสู่เป้าหมาย 15 กิโลกรัมต่อไร่

อย่างไรก็ตาม ในส่วนพื้นที่ที่ได้เริ่มดำเนินการปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวที่ไม่เหมาะสมเป็นพื้นที่ปลูกอ้อยของเกษตรกรขณะนี้ พบว่า จังหวัดมหาสารคามได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนเป็นอ้อยแล้ว 2 หมื่นไร่ รวมทั้งจังหวัดบุรีรัมย์และกำแพงเพชรก็มีความคืบหน้าดำเนินการในเรื่องนี้แล้วเช่นกัน

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2556

สมอ.ชงมาตรฐานพลังงาน

นายอุฤทธิ์ ศรีหนองโคตร เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวว่า สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า มาตรฐานระบบการจัดการพลังงาน ISO 50001 ช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานได้ประมาณ 10-20% ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง มาตรฐานระบบการจัดการดังกล่าวเป็นมาตรฐานแบบสมัครใจ สามารถนำไปใช้ได้กับองค์กรทุกขนาดและทุกประเภท เพื่อให้ปรับปรุงระบบการจัดการพลังงานได้อย่างต่อเนื่อง เกี่ยวกับลักษณะการใช้พลังงาน (energy use) สมรรถนะด้านพลังงาน และประสิทธิภาพพลังงาน โดยสามารถบูรณาการให้เข้ากับระบบการจัดการด้านอื่นๆ ได้อีกด้วย โดยมาตรฐานนี้มีหลักการประกอบด้วยการวางแผน การปฏิบัติ การตรวจ การแก้ไข และการปรับปรุง ซึ่งต้องร่วมมือกันตั้งแต่ผู้บริหารและพนักงานทุกระดับ

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีผู้ประกอบการ หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ได้รับการรับรองมาตรฐานระบบการจัดการพลังงาน ISO 50001 แล้วประมาณกว่า 70 ราย เช่น กลุ่มซีพี กลุ่ม ปตท. และคาดว่าจะมีผู้ประกอบการได้รับการรับรองเพิ่มมากขึ้นเป็น 100 รายในปลายปีนี้ โดยการได้มาตรฐานดังกล่าวจะลดอุปสรรคทางการค้าจากนโยบายด้านพลังงาน สร้างตลาดโลกสำหรับเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับประสิทธิภาพพลังงาน สร้างความสามารถด้านการแข่งขัน และเป็นการเตรียมพร้อมรองรับเข้าสู่การเปิดประตูการค้าเสรีอย่างเป็นทางการของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558

ทั้งนี้ สมอ.จึงเดินหน้าส่งเสริมผู้ประกอบการให้นำมาตรฐานระบบการจัดการพลังงาน ISO 50001 ไปใช้ในองค์กรเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยจัดการสัมมนาเรื่อง “ISO 50001 ทางเลือกใหม่ของการอนุรักษ์พลังงาน” เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับมาตรฐาน ISO 50001 เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการในการจัดทำระบบการจัดการดังกล่าว และเมื่อสิ้นสุดโครงการผู้ประกอบการสามารถที่จะขอการรับรองได้

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2556

สศก.ลุยศึกษาวางระบบ‘โลจิสติกส์’ หนุนยุทธศาสตร์แห่งชาติด้านเกษตรกรรม

นายอนันต์ ลิลา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สศก.ได้รับมอบหมายให้ดำเนินภารกิจหลักด้านการจัดทำนโยบาย มาตรการ หรือแนวทางการดำเนินงาน ด้านการพัฒนาโลจิสติกส์และระบบห่วงโซ่อุปทานภาคการเกษตร สศก.จึงร่วมกับสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินการศึกษาโครงการศึกษาจัดทำระบบข้อมูลและตัวชี้วัดประสิทธิภาพโลจิสติกส์ภาคเกษตรกรรม และพัฒนาระบบการจัดการเครือข่ายโซ่อุปทานและโลจิสติกส์สินค้าเกษตรกรรมขึ้น พร้อมกับจัดการสัมมนา“การประเมินประสิทธิภาพโลจิสติกส์เพื่อใช้ในการวางแผนพัฒนาการเกษตร”

นายอนันต์ กล่าวอีกว่า ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา การพัฒนาปรับปรุงระบบโลจิสติกส์ในภาคการเกษตรยังไม่สามารถแข่งขันหรือเชื่อมโยงกับภาคการผลิตอื่นๆ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะเห็นได้จากมีสัดส่วนความสูญเสียของผลผลิตทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณมากกว่าร้อยละ 30 ของมูลค่าผลผลิตทั้งหมด ขณะที่เกษตรกรยังจำกัดบทบาทของตนเองในขั้นตอนการผลิต ทำให้สามารถเก็บเกี่ยวมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้เฉลี่ยเพียงร้อยละ 25 ของมูลค่าเพิ่มทั้งหมดในโซ่คุณค่า นั่นเพราะเกษตรกรส่วนใหญ่ยังขาดองค์ความรู้ความเข้าใจ และทักษะที่เพียงพอในการบริหารจัดการกิจกรรมโลจิสติกส์ภายในฟาร์มให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงการจัดการเชิงธุรกิจ ซึ่งมีผลทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบในการแข่งขันกับประเทศอื่นๆ

ด้านนายสมโสถติ์ ดำเนินงาม ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร สศก. กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดสัมมนาการประเมินประสิทธิภาพโลจิสติกส์เพื่อใช้ในการวางแผนพัฒนาการเกษตร นอกจากจะเพื่อเผยแพร่ข้อมูลตัวชี้วัดประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์และระบบการจัดการเครือข่ายโซ่อุปทาน และโลจิสติกส์สินค้าเกษตรแล้ว ยังเป็นการระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่มีต่อการศึกษา สำหรับนำไปประกอบการพิจารณาจัดทำรายงานฉบับสมบูรณ์ ซึ่งมีการจัดทำระบบฐานข้อมูลประเมินประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ (Logistics Performance Index : LPI) ที่เหมาะสมสำหรับสินค้าเกษตร และจัดทำตัวชี้วัดประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ ตามกิจกรรมในแต่ละโซ่อุปทานการผลิตสินค้าเกษตรและธุรกิจการเกษตรที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย มิติด้านต้นทุน มิติด้านเวลา และมิติด้านความน่าเชื่อถือ เพื่อเป็นเกณฑ์เปรียบเทียบสมรรถนะ (Benchmark) ระดับประเทศ โดยมีสินค้าเกษตรเป้าหมาย จำนวน 6 ชนิด ได้แก่ กลุ่มพืชอาหารและสินค้าเกษตรอุตสาหกรรม ได้แก่ สับปะรด กลุ่มพืชพลังงาน ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน อ้อยโรงงาน และกลุ่มสินค้าเกษตรเน่าเสียง่าย ได้แก่ พริก มะม่วง และส้มโอ เริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่เดือนมีนาคม 2556 และจะสิ้นสุดในเดือนพฤศจิกายนนี้ รวมระยะเวลา 8 เดือน

โดยในส่วนของการจัดทำตัวชี้วัดประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ในช่วงที่ผ่านมา ได้ทำการสำรวจข้อมูลจากกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร ผู้รวบรวม โรงงาน ผู้ประกอบการ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ในกลุ่มสินค้าเป้าหมาย 6 ชนิด ใน 16 จังหวัดที่เป็นแหล่งผลิตที่สำคัญ รวมกว่า 400 ราย และพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ระบบฐานข้อมูลและระบบการประเมินประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ (Web Application) ในกลุ่มสินค้าเกษตรเป้าหมาย เพื่อเผยแพร่ให้หน่วยงานภาครัฐ เกษตรกร สถาบันเกษตรกร ผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้ที่สนใจสามารถเข้าร่วมทำการประเมินประสิทธิภาพโลจิสติกส์ในโซ่อุปทานของตนเอง

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2556

โจทย์พลังงานในมือ'นวัตกรไทย'

อีก 10-20 ปีข้างหน้าพลังงานหลักของโลกคือ ถ่านหินและนิวเคลียร์ ทำให้การพลังงานทดแทนใหม่ๆ เพื่อความอยู่รอดเป็นโจทย์สำคัญระดับโลก 10-20 ปีข้างหน้า พลังงานหลักที่จะถูกนำมาใช้ในการขับเคลื่อนโลกใบนี้คงหนีไม่พ้น พลังงานถ่านหิน และพลังงานนิวเคลียร์ ทำให้การคิดค้นหาพลังงานทดแทนใหม่ๆ เป็นโจทย์ที่สำคัญระดับโลกเพื่อความอยู่รอดของมนุษยชาติอย่างยั่งยืน

:นิวเคลียร์ฟิวชัน

พลังงานนิวเคลียร์ฟิวชัน เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะเกิดขึ้นแน่ๆ ในรูปของโรงงานต้นแบบอีก 5 ปีข้างหน้าที่ประเทศฝรั่งเศส โดยความร่วมมือจากพันธมิตร 7 มหาอำนาจของโลก ได้แก่ เกาหลี ญี่ปุ่น สาธารณรัฐประชาชนจีน สหรัฐอเมริกา สหพันธรัฐรัสเซีย สหภาพยุโรป และประเทศอินเดีย ด้วยงบประมาณกว่า 2 หมื่นล้านเหรียญหรือประมาณกว่า 640,000 ล้านบาท เพื่อตอบโจทย์ความต้องการด้านพลังงานของมนุษย์โลกได้ไม่รู้จบ

รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในโครงการนี้ตนได้มีส่วนร่วมในการวิจัยด้วย โดยทำงานร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ในการออกแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ เรื่องการศึกษาพลาสมาและปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชันประสิทธิภาพสูง เพื่อพัฒนาองค์ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับพฤติกรรมของพลาสมาและปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชันในเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชันแบบโทคาแมค โดยมุ่งไปที่การศึกษา เรื่องแนวต้านการสูญเสียอนุภาคและพลังงาน

จุดเด่นของพลังงานทางเลือกดังกล่าวที่ทำให้ประเทศมหาอำนาจของโลกมารวมตัวกันเพื่อวิจัยครั้งนี้ เพราะพลังงานนิวเคลียร์ฟิวชันไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ไม่มีปัญหาเรื่องการระเบิด เนื่องจากไม่ได้ใช้แร่ยูเรเนียมเป็นเชื้อเพลิง แต่ผลิตพลังงานด้วยปฏิกิริยาทางฟิสิกส์ของเชื้อเพลิงฟิวชันที่มีอยู่ในธรรมชาติ ลักษณะเดียวกับดวงอาทิตย์ซึ่งเป็นต้นแบบเตาปฏิกรณ์นิวเครียร์ฟิวชันขนาดยักษ์นั่นเอง

หากโครงการวิจัยดังกล่าวประสบความสำเร็จ โลกจะมีพลังงานสะอาดปริมาณมหาศาลไว้ใช้ในราคาที่ถูกลง โดยสิ่งที่ไทยจะได้ครั้งนี้คือ การพัฒนาทักษะบุคลากรด้านการวิจัยให้มีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเทคโนโลยีดังกล่าว และมีความพร้อมที่จะรับมือกับมันเมื่อถึงเวลาที่พลังงานดังกล่าวจะเกิดขึ้นจริงทั่วโลก

:ใยธรรมชาติพลังงานยั่งยืน

เอทานอล เป็นพลังงานทางเลือกหนึ่งที่ช่วยลดปัญหาการขาดแคลนน้ำมันปิโตรเลียมในปัจจุบัน โดยเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของเราในรูปของเชื้อเพลง ซึ่งแต่เดิมนั้นการผลิตจะใช้กากน้ำตาล น้ำอ้อย หัวมัน กากมันสำปะหลัง หรือเซลลูโลสจากวัสดุทางการเกษตร เป็นสารตั้งต้น แต่มีขั้นตอนที่ซับซ้อนและใช้เวลาในการหมักนาน

รศ.ดร.เหมือนเดือน พิศาลพงศ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้วิจัยและพัฒนาวัสดุยึดเกาะเซลล์เพื่อเพิ่มผลผลิตของกระบวนการหมักเอทานอลแบบต่อเนื่อง โดยนำวัสดุทางการเกษตรอย่าง บวบและรังไหมที่เหลือจากอุตสาหกรรมแปรรูปมาดัดแปลงเป็นวัสดุสำหรับการตรึงเซลล์ ซึ่งให้ผลต่อกระบวนการผลิตเอทานอลที่ดียิ่งขึ้น

จากการทดสอบกระบวนการหมักเอทานอลแบบต่อเนื่องในถังปฏิกรณ์เพคเบดขนาด 100 ลิตร โดยใช้เซลล์ยีสต์ผสมที่ถูกตรึงบนรังไหมบาง โดยใช้กากน้ำตาล น้ำตาลทรายแดง และน้ำเชื่อม โดยไม่ผ่านขั้นตอนทำให้ปลอดเชื้อ พบว่าเทคนิคดังกล่าวสามารถผลิตเอทานอลได้มีประสิทธิภาพ และร่นเวลาในการผลิตน้อยลงเหลือเพียง 10 กว่าชั่วโมงจากวิธีการแบบเดิมที่ต้องรอ 60-70 ชั่วโมงกว่าจะได้เอทานอลที่มีความเข้มข้นในระดับที่จะนำไปใช้งาน

แผนวิจัยหลังจากนี้ นักวิจัย กล่าวว่า จะนำไปองค์ความรู้ไปขยายผลด้วยการร่วมกับทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และผู้ประกอบการ เช่น โรงงานน้ำตาล ทดลองสร้างโรงงานต้นแบบระดับโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดการขยายผลวิจัยสู่เชิงพาณิชย์

:พลังไคตินจากเปลือกสัตว์น้ำ

ไคติน หรือโครงสร้างของสัตว์ทะเลอย่าง ปู กุ้ง ปลาหมึก เป็นวัสดุพอลิเมอร์ที่พบมากอันดับสองของโลก รองจากวัสดุเซลลูโลส จึงเป็นโจทย์ให้ รศ.ดร.วิภา สุจินต์ หน่วยวิจัยชีวเคมี-เคมีไฟฟ้า สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี พยายามไขความลับธรรมชาติด้วยงานวิจัยในแง่การนำมาแปรรูปเป็นพลังงานทางเลือกอย่างจริงจัง

ปรากฏการณ์เรืองแสงของแบคทีเรียที่ชื่อว่าวิบริโอ ฮาร์วีไอ (Vibrio harveyi) หรือทะเลสีเงิน เป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้งานวิจัยดังกล่าวเกิดขึ้น เพราะแบคทีเรียดังกล่าวเจริญเติบโตจากแหล่งพลังงานหลักอย่างไคติน จึงทำให้นักวิจัยเกิดไอเดียที่จะนำไคตินมาแปรรูปเป็นพลังงานสะอาดเพื่อโลกอนาคต

การศึกษาวิจัยดังกล่าวทำให้รู้กลไกการทำงานของแบคทีเรียและแนวโน้มของงานวิจัยดังกล่าวที่จะนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาไบโอเซนเซอร์ พลังงานทดแทนสะอาดด้วยการใช้ไคตินเป็นสารตั้งต้นอย่างเช่น การผลิตฟูเอลเซลล์ เป็นต้น

โครงการวิจัยทั้ง 3 เรื่องเป็นตัวอย่างผลงานวิจัยของนักวิจัยรุ่นใหม่ และนักวิจัยรุ่นกลาง จาก 10 ผลงานเด่นที่น่าจับตามอง โดยนำเสนอในงานประชุม “นักวิจัยรุ่นใหม่ พบ เมธีวิจัยอาวุโส สกว. ครั้งที่ 13” ซึ่งจัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จนเกิดเครือข่ายนักวิจัยของไทยที่เข้มแข็งและแข่งขันกับต่างประเทศได้อย่างยั่งยืน

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2556

กรมโรงงานร้องพลังงานดูแลเอทานอล กากน้ำตาลทุบตลาดมันสำปะหลังเดี้ยง

นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมเอทานอล ของไทยกำลังเผชิญปัญหาในส่วนของผู้ผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลัง เนื่องจาก กรอ.ได้ลงพื้นที่ตรวจ บริษัท ไทยเอทานอล พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) จ.ขอนแก่น พบว่า บริษัทมีกำลังผลิตเอทานอล 2.5-3 ล้านลิตรต่อเดือน แต่ปรากฏว่าในไตรมาส 4 ของปีนี้ บริษัทได้รับคำสั่งซื้อเอทานอลจากบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) รวม 2.5 ล้านลิตร ทำให้มีปัญหาเอทานอลอีก 500,000 ลิตรไม่สามารถจำหน่ายได้ ขณะที่บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) จากเดิมมีคำสั่งซื้อจากบริษัทเดือนละ 1 ล้านลิตร ก็ปรากฏว่าไม่มีคำสั่งซื้อเช่นกัน โดยสาเหตุที่ผู้ค้าน้ำมันชะลอการรับซื้อเอทานอลจากผู้ผลิตจากมันสำปะหลัง เพราะได้หันไปซื้อเอทานอลจากผู้ผลิตที่ใช้โมลาส (กากน้ำตาล) แทน เนื่องจากหากผลิตจากมันสำปะหลังจะมีต้นทุนเอทานอลลิตรละ 28 บาท แต่หากผลิตจากโมลาสมีต้นทุนลิตรละ 22 บาท

ดังนั้น จึงอยากให้นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน ในฐานะมิสเตอร์สำปะหลัง เข้ามาแก้ปัญหา โดยปรับแก้หลักเกณฑ์เรื่องการกำหนดสัดส่วนการรับซื้อเอทานอลจากมันสำปะหลังและโมลาสต่อบริษัทน้ำมันทุกแห่ง เพื่อความเท่าเทียมด้านต้นทุน.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ไทยขาดดุลเงินสดกว่า 2 แสนล้าน

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงฐานะการคลังปีงบประมาณ 2556 (ต.ค.55-ก.ย.56) ว่ามีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น 2,157,609 ล้านบาท สูงกว่าปีงบประมาณ 2555 จำนวน 179,939 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.1 ซึ่งมีปัจจัยหลักมาจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีสรรพสามิตรถยนต์สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีงบประมาณ 2555 สะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจที่แม้จะมีการชะลอตัวบ้าง แต่ไม่ส่งผลกระทบทางลบต่อการจัดเก็บภาษีของรัฐบาล

ขณะที่การเบิกจ่ายงบประมาณมีทั้งสิ้น 2,402,481 ล้านบาท สูงกว่าปีงบประมาณ 2555 จำนวน 107,154 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.7 ทำให้ดุลงบประมาณขาดดุล 244,872 ล้านบาท เมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่เกินดุล 6,510 ล้านบาท ส่งผลให้รัฐบาลขาดดุลเงินสดรวม 238,362 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล 281,949 ล้านบาท ต่ำกว่ากรอบการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลตามเอกสารงบประมาณ 300,000 ล้านบาท ทำให้ดุลเงินสดหลังกู้เกินดุลทั้งสิ้น 43,587 ล้านบาท และเงินคงคลัง ณ สิ้นปีงบประมาณ 2556 มีจำนวนทั้งสิ้น 603,924 ล้านบาท

“เงินคงคลังที่มากกว่า 600,000 ล้านบาท ประกอบกับ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 มีผลบังคับใช้ได้เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ จะส่งผลดีต่อการเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาล รวมถึงความเชื่อมั่นของภาคเอกชน ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญทำให้เศรษฐกิจไทยปี 2556 และ 2557 ขยายตัวได้ตามที่คาดการณ์ไว้ โดยกระทรวงการคลังจะเร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้กำกับดูแลการเบิกจ่ายงบประมาณในปีงบประมาณ 2557 ให้เป็นไปตามเป้าหมายต่อไป”

ด้าน นายวิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) วรรณ จำกัด กล่าวว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการชะลอการลดขนาดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ (คิวอี) ที่คาดว่าจะเริ่มถอนมาตรการคิวอีในปีหน้า ประกอบกับคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางหลายประเทศ เช่น ยุโรป ญี่ปุ่น ยังมีการอัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้ยังมีสภาพคล่องเข้ามาในระบบ ส่งผลดีต่อตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้โลกปีหน้า

สำหรับตลาดหุ้นไทย แม้ได้รับอานิสงส์จากการที่ตลาดทุนโลกดีขึ้น แต่ยังมีปัจจัยในประเทศกดดัน ทำให้ตลาดหุ้นไทยมีความน่าสนใจน้อยกว่าตลาดหุ้นประเทศอื่นๆ คือ ความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับแผนการลงทุนและนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะแม้รัฐบาลมีโครงการลงทุนบริหารจัดการน้ำ 350,000 ล้านบาท และ พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท แต่กำหนดเวลาที่จะเริ่มการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานยังไม่ชัดเจน มีการชะลอการลงทุนต่อเนื่อง เพราะอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ

ประกอบกับยังมีปัญหาการเมืองเข้ามากระทบเป็นระยะ ทำให้นักลงทุนต่างชาติยังไม่เชื่อมั่นต่อแผนการลงทุนและนโยบายขับเคลื่อน เศรษฐกิจของไทย ดังนั้น หากรัฐบาลมีความชัดเจนในเรื่องดังกล่าว เชื่อว่านักลงทุนต่างชาติจะกลับมาสนใจในหุ้นไทยอีกครั้ง หลังจากที่ต่างชาติเทขายหุ้นไทยออกไปแล้ว 100,000 ล้านบาท และกลับมาลงทุนเพียง 5,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม แม้ตลาดหุ้นไทยไม่โดดเด่น แต่บริษัทจดทะเบียนยังมีความสามารถในการทำกำไรประมาณร้อยละ 10-15 และคาดว่าดัชนีหุ้นไทยมีโอกาสถึงระดับ 1,700-1,750 จุด ในปี 2557 จากปลายปีนี้อยู่ที่ระดับ 1,550 จุด ซึ่งคาดว่าปลายปีนี้เม็ดเงินจากการลงทุนในกองทุน LTF และ RMF จะมีไม่มากประมาณ 5,000-10,000 ล้านบาท เพราะนักลงทุนทยอยลงทุนไปแล้วในระหว่างปี ช่วงที่ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลง และต้องจับตามองแรงขายจากกองทุนวายุภักษ์ 1 ที่จะปิดกองทุนในปลายปีนี้ด้วย

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2556

น้ำตาลไทยถูก เอกชนจี้ภาครัฐ เตรียมรับเออีซี

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด เปิดเผยว่า น้ำตาลทรายของไทยมีราคาขายปลีกต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยน้ำตาลทรายขาวมีราคาขายปลีกต่อกิโลกรัมอยู่ที่ 22.60 บาท น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์กิโลกรัมละ 23.60 บาทเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ประเทศลาวและกัมพูชามีราคาขายปลีกน้ำตาลทรายขาว 30-33 บาทต่อกิโลกรัม เมียนมาร์ขายปลีกที่กิโลกรัมละ 30.01 บาท เวียดนาม 25.50-28.50 บาท มาเลเซีย 25.87 บาท อินโดนีเซียขายปลีกน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์กิโลกรัมละ 33.95 บาท สิงคโปร์ 40.35 บาท และฟิลิปปินส์ 41.20 บาท

ทั้งนี้ จากราคาขายที่ต่ำที่สุดดังกล่าว ทำให้มีความกังวลว่าหากเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (เออีซี) จะเกิดปัญหาการลักลอบนำน้ำตาลทรายในประเทศไปขายต่างประเทศจะยิ่งรุนแรงมากขึ้น อันจะส่งผลต่อปริมาณน้ำตาลทรายที่กันโควตา ก.ไว้สำหรับบริโภคภายในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการ ดังนั้นภาครัฐที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบควรได้เร่งหาทางป้องกันปัญหาล่วงหน้าก่อน โดยมีหลักคิดอยู่ว่าทำอย่างไรจะไม่ให้เกิดการขาดแคลนของน้ำตาลทรายที่ใช้บริโภคภายในประเทศ และผลตอบแทนที่ชาวไร่อ้อยจะได้รับในสัดส่วน 70% ของรายได้จากการขายน้ำตาลทราย จะต้องคุ้มค่ากับต้นทุนด้านการเพาะปลูกและมีกำไรส่วนต่างที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตและพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อให้อาชีพชาวไร่อ้อยเป็นอาชีพที่มีความมั่นคง.

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2556

วางแผนรับมือฝนทิ้งช่วง-ฤดูแล้งหน้า

นายธนกิจ นิ่มวิญญา ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยหลวง เปิดเผยว่า ฝนที่ตกอย่างต่อเนื่องบริเวณโครงการ ฯ ห้วยหลวง จ.อุดรธานีขณะนี้เริ่มลดลงแล้ว มีตกบ้างประปราย ซึ่งระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยหลวงเก็บน้ำสูงสุดเมื่อวันที่ 15 ต.ค.2556 ระดับน้ำอยู่ที่ 91.64 ล้านลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 67.59

สำหรับการบริหารจัดการน้ำ ทางโครงการ ฯ จะดำเนินการตามแผนที่ได้วางไว้กรณีที่ฝนเริ่มทิ้งช่วงในเวลาเดียวกับที่ข้าวนาปีตั้งท้อง ออกรวง และบางแห่งอยู่ระหว่างการเก็บเกี่ยว โครงการ ฯ ห้วยหลวงจะส่งน้ำเพื่อช่วยข้าวนาปีจำนวน 10 ล้านลบ.ม. เพื่อช่วยให้ต้นข้าวที่กำลังตั้งท้อง ออกรวงได้น้ำอย่างทั่วถึง ได้เมล็ดดี มีน้ำหนัก คาดว่า จะช่วยพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีได้ประมาณ 88,000 ไร่ และจะเริ่มส่งน้ำให้ระหว่างวันที่ 15 -31 ตุลาคม 2556 นี้

“คาดการณ์ไว้ว่า ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 จะมีน้ำต้นทุนในอ่าง ฯประมาณ 80 ล้านลบ.ม. ซึ่งจะต้องนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมคณะกรรมการจัดการน้ำชลประทาน ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีเป็นประธาน ว่า จะมีแนวทางการใช้น้ำอย่างไร โดยกิจกรรมที่จำเป็นต้องใช้น้ำจำนวนดังกล่าวมี 3 กิจกรรมหลัก คือ 1.การปลูกพืชฤดูแล้ง จำนวน 25 ล้านลบ.ม. คาดว่าจะส่งได้ราว 15,000 ไร่ โดยจะเริ่มส่งให้ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2556 – 15 เมษายน 2557 กิจกรรมที่ 2 การใช้น้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และอุตสาหกรรม จำนวน 20 ล้านลบ.ม. ซึ่งเริ่มส่งให้แล้วและจะไปสิ้นสุดวันที่ 30 เมษายน 2557 และกิจกรรมสุดท้ายคือการรักษาระบบนิเวศน์บริเวณหนองประจักษ์ในเขตเทศบาลเมืองอุดรธานี จำนวน 2 ล้านลบ.ม.”นายธนกิจ นิ่มวิญญา กล่าว

และจากตัวเลขดังกล่าวจะเห็นได้ว่าจะยังมีน้ำเหลืออีกราว 33 ล้าน ลบ.ม. ซึ่ง ณ วันที่ 1 พฤษภาคม 2557 จะสามารถบริหารจัดการน้ำในอ่าง ฯ ได้อย่างน้อย 25 ล้านลบ.ม. เพื่อใช้สำหรับการปลูกพืชฤดูแล้ง แต่ทั้งนี้ต้องติดตามสภาพอากาศกันตลอดเวลา และทางโครงการฯ ห้วยหลวงจะรักษาระดับน้ำไว้ให้เหมาะสมกับสภาพอากาศเพื่อให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 24 ตุลาคม 2556

"ไทยชูการ์ฯ"หวั่นราคาน้ำตาลในปท.ต่ำกว่าเพื่อนบ้านทำวุ่นหากเปิด AEC

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด เปิดเผยว่า จากการสำรวจพบว่า ราคาขายปลีกน้ำตาลทรายของไทยต่ำที่สุด ทำให้มีความกังวลว่า หากเข้าสู่ประชาคมอาเซียน(AEC) ซึ่งมีความเสรีในการติดต่อค้าขายกันมากขึ้น หากไทยยังไม่ปรับเปลี่ยนนโยบายในเรื่องนี้ ปัญหาการลักลอบนำน้ำตาลทรายในประเทศไปขายต่างประเทศจะยิ่งรุนแรงมากขึ้น อันจะส่งผลต่อปริมาณน้ำตาลทรายที่กันโควตา ก. ไว้สำหรับบริโภคภายในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการ

“ถึงแม้ว่า น้ำตาลทรายที่เราผลิตได้จริงจะมีมากเพียงพอสำหรับการบริโภคในประเทศ เพราะเราเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลทรายรายใหญ่ของโลก แต่เราแบ่งโควตาไว้ชัดเจนระหว่างการบริโภคในประเทศกับส่งออกไปขายต่างประเทศ ซึ่งโควตาส่งออกนั้นเกือบทั้งหมดเป็นการขายล่วงหน้า ดังนั้น หากยังคงกำหนดโควตา ก. เพื่อกันไว้สำหรับบริโภคในประเทศ แต่กลับถูกนำส่วนนี้ออกไปขายต่างประเทศด้วย ก็จะส่งผลต่อผู้บริโภคในประเทศ" นายสิริวุทธิ์ กล่าว

ทั้งนี้ ทีมงานของ ไทยชูการ์ มิลเลอร์ ได้สำรวจข้อมูลราคาน้ำตาลทรายในประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยเน้นกลุ่มประเทศอาเซียน โดยใช้ข้อมูลจากสำนักงานการค้าในประเทศต่างๆ ประกอบกับข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย และเทรดเดอร์น้ำตาลทรายรายใหญ่ของโลก โดยเทียบเป็นสกุลเงินบาท พบว่า น้ำตาลทรายของไทยมีราคาขายปลีกต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน

โดยน้ำตาลทรายขาวมีราคาขายปลีกต่อกิโลกรัม อยู่ที่ 22.60 บาท น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ กิโลกรัมละ 23.60 บาท เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ประเทศลาวและกัมพูชา มีราคาขายปลีกน้ำตาลทรายขาว 30-33 บาทต่อกิโลกรัม พม่าขายปลีกที่กิโลกรัมละ 30.01 บาท เวียดนาม 25.50-28.50 บาท มาเลเซีย 25.87 บาท อินโดนีเซียขายปลีกน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์กิโลกรัมละ 33.95 บาท สิงคโปร์ 40.35 บาท ฟิลิปปินส์ 41.20 บาท

นอกจากนี้ ประเทศที่ต้องบริโภคน้ำตาลทรายในราคาสูงกว่าไทย ได้แก่ ประเทศจีน ราคาขายปลีกน้ำตาลทรายในเกรดต่างๆ มีตั้งแต่กิโลกรัมละ 57.09 บาท ไปจนถึง 77.85 บาท ญี่ปุ่น กก.ละ 66.90 บาท เกาหลีใต้ 49.50 บาท ออสเตรเลีย 59.75 บาท

นายสิริวุทธิ์ กล่าวว่า การนำเสนอข้อมูลเรื่องนี้ให้สังคมได้รับรู้ ก็เพื่อให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะภาครัฐที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ ได้เร่งหาทางป้องกันปัญหาแต่เนิ่นๆ โดยมีหลักคิดอยู่ว่า ทำอย่างไรจะไม่ให้เกิดการขาดแคลนของน้ำตาลทรายที่ใช้บริโภคภายในประเทศ และผลตอบแทนที่ชาวไร่อ้อยจะได้รับในสัดส่วน 70% ของรายได้จากการขายน้ำตาลทราย จะต้องคุ้มค่ากับต้นทุนด้านการเพาะปลูก และมีกำไรส่วนต่างที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตและพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อให้อาชีพชาวไร่อ้อยเป็นอาชีพที่มีความมั่นคง

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 24 ตุลาคม 2556

ธปท.จับตาความเสี่ยงหลังการขยายเพดานหนี้ของสหรัฐ เชื่อกระทบต่อภาคตลาดเงินให้เกิดความผันผวน

นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงินธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้เชื่อว่าประเด็นความเสี่ยงหลังการขยายเพดานหนี้ของสหรัฐ จะส่งผลต่อภาคตลาดเงินเกิดความผันผวนมากขึ้น
เนื่องจากนักลงทุนมองว่าสถานการณ์ดังกล่าวเริ่มกลายเป็นประเด็นการเมืองที่ยังไม่รู้ว่าจะยืดเยื้ออีกหรือไม่ ทำให้ธปท.จำเป็นต้องเตรียมเงินทุนสำรองไว้เพื่อดูแลเสถียรภาพทางการเงินของประเทศที่อาจได้รับผลกระทบจากกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายที่มีการประเมินว่าเงินทุนจะไหลออกเพิ่มขึ้น “เงินทุนเคลื่อนย้ายที่ผันผวน ส่วนหนึ่งอาจมาจากนักลงทุนระยะสั้นเข้าเร็วออกเร็วทำให้มีความผันผวน

เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคก็จะเป็นไปในทิศทางเดียวกันที่มีการทำสถิติระดับสูงในทุกประเทศ ทำให้การเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนผันผวนมากขึ้นโดยนักลงทุนต้องระมัดระวัง และต้องดูสถานการ์กว่านโยบายสหรัฐจะชัดเจน รวมทั้งภาวะการเงินโลกผันผวนเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว

การมีแนวคิดการนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศไปจัดตั้งกองทุนมั่งคั่งแห่งชาติในเวลานี้มองว่าคงไม่เหมาะสม  เพราะจะยิ่งสร้างความเสี่ยงให้กับประเทศ” ทั้งนี้ การที่ ธปท.เข้าไปดูแลความผันผวนของตลาดเงิน แต่ไม่ได้หมายความว่าอัตราแลกเปลี่ยนจะไม่เคลื่อนไหว

โดยยอมรับว่าขณะนี้อัตราแลกเปลี่ยนทั่วโลกเคลื่อนไหวอย่างหวือหวามากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาค่าเงินบาทบางช่วงผันผวนเกินกว่า 10% ก่อนจะกลับมาเคลื่อนไหวอยู่ที่ 7-8% โดยเป็นเงินที่ออกไปลงทุนต่างประเทศน้อยกว่าเงินที่เข้ามาลงทุนในไทยโดยตรงทุกประเภทรวมกัน
อย่างไรก็ตามธปท.พยายามผลักดันให้เงินออกไปลงทุนเพื่อลดส่วนต่างความต้องการซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนให้แคบลง  ช่วยให้ความผันผวนของค่าเงินลดลงด้วย โดย 8 เดือนแรกของปีนี้มีเงินออกไปลงทุนต่างประเทศแล้ว 5,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากช่วงเดียวกับปีก่อนมี 7,800 ล้านเหรียญสหรัฐ และเทียบกับทั้งปี 55 อยู่ที่ 12,700 ล้านเหรียญสหรัฐเพราะหากมีการส่งเสริมให้มีเงินออกไปลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้น ก็จะช่วยสร้างสมดุลของเงินทุนเคลื่อนย้ายในระยะต่อไป **

ขณะเดียวกัน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กำลังศึกษาแนวทางการใช้มาตรการภาษีช่วยลดต้นทุนที่เป็นอุปสรรคแก่ภาคธุรกิจที่ออกไปลงทุนในต่างประเทศ เช่น การนำเงินไปลงทุนโดยตรงและซื้อกิจการ เป็นต้น

คาดว่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนเร็วๆ นี้ เพื่อกระจายความเสี่ยงในการลงทุน ช่วยให้เงินทุนเคลื่อนย้ายได้สมดุลมากขึ้น โดยเฉพาะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจท่ามกลางการเปิดเสรีการค้าและการลงทุนโลก

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2556

น้ำตาลโลกเริ่มขยับสูงลุ้นกบ.24ต.ค.เคาะอ้อยขั้นต้น900 บ./ตัน

"สอน."ยิ้มออกหลังน้ำตาลตลาดโลกพุ่งรับข่าวท่าเรือซานโตส บราซิลไฟไหม้ฉุดสต็อกน้ำตาลโลกวูบดันราคาอ้อยขั้นต้นปี 56/57 ส่อแววขยับ จับตา"กบ."ถกเคาะราคาอ้อยขั้นต้น 24 ต.ค.นี้แนวโน้มขยับจากเฉลี่ย 850บ.ต่อตันเป็น 900 บาทต่อตันจากผลพวงน้ำตาลโลกสูง

นายสมศักดิ์ สุวัฒิกะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) เปิดเผยว่า จากกรณีไฟไหม้ท่าเรือซานโตสซึ่งเป็นท่าเรือที่ใหญ่สุดของบราซิลและยังเป็นท่าเรือสำคัญในการขนถ่ายน้ำตาลทรายกว่า 60%ของบราซิลทำให้ขณะนี้ระดับราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยขณะนี้ราคาเฉลี่ยน้ำตาลทรายดิบกว่า 19 เซนต์ต่อปอนด์ ทั้งนี้ระดับราคาน้ำตาลตลาดโลกที่สูงขึ้นดังกล่าวคาดว่าจะส่งผลดีต่อการคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2556/57 ปรับเพิ่มขึ้นจากเดิมได้อีก

"บราซิลเป็นประเทศที่ส่งออกน้ำตาลมากสุดเมื่อท่าเรือซานโตสที่ใช้ขนส่งสินค้าหลักไฟไหม้ยังลามไปยังโกดังเก็บน้ำตาลให้ได้รับความเสียหายกว่า 1.8 แสนตันทันที ซึ่งท่าเรือดังกล่าวคาดว่าจะหยุดซ่อมนานหลายเดือนจะมีผลกระทบต่อสต็อกน้ำตาลโลกให้ลดต่ำลงอีกจากที่มีอยู่ราวกว่า 2 ล้านตันจึงทำให้ระดับราคาน้ำตาลตลาดโลกน่าจะสูงขึ้นอีก"นายสมศักดิ์กล่าว

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการบริหาร(กบ.) ที่มีนางอรรชกา ศรีบุญเรือง รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 56/57 วันที่ 24 ตุลาคมนี้ก่อนที่จะนำเสนอต่อคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.)ที่มีนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานเห็นชอบเพื่อประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป

ทั้งนี้ราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกที่มีแนวโน้มสูงขึ้นหลังบราซิลส่งออกน้ำตาลทรายชะงักจากไฟไหม้ท่าเรือซานโตสทำให้ล่าสุดบริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด ได้ทำการขายน้ำตาลล่วงหน้าได้ราคาเฉลี่ยเพิ่มขึ้นดังนั้นจากเดิมที่ราคาน้ำตาลตลาดโลกที่จะนำมาคำนวณเฉลี่ยที่ 18.5 เซนต์ต่อปอนด์จะปรับเป็น 19 เซนต์ต่อปอนด์ซึ่งจะทำให้ราคาอ้อยขั้นต้น56/57 ปรับขึ้นจากเดิมเฉลี่ยที่ 850 บาทต่อตันเป็น 900 บาทต่อตัน

"ปัจจัยอื่นๆไม่ได้เปลี่ยนแปลงนักยังคงยึดตัวเลขเดิมคือ ค่าเงินบาทเฉลี่ยที่ 31.50 บาทต่อเหรียญสหรัฐ โมลาส(กากน้ำตาล)ราคาเฉลี่ย 100 เหรียญฯต่อตัน เป็นต้นยกเว้นราคาน้ำตาลตลาดโลกที่มีแนวโน้มจะสูงขึ้นซึ่งทำให้ต้องมาปรับการคำนวณใหม่ "แหล่งข่าวกล่าว

นอกจากนี้กบ.จะมีการพิจารณาแนวทางการเปิดหีบอ้อยฤดูการผลิตใหม่ว่าจะเป็นช่วงใด ซึ่งยอารับว่าฝนที่ตกลงมาขณะนี้โดยเฉพาะภาคอีสานทำให้ชาวไร่อ้อยส่วนใหญ่ต้องการรอให้อ้อยสะสมความหวานก่อนเพราะหากหีบเร็วจะกระทบต่อค่าความหวานที่ลดต่ำชาวไร่จะได้รับค่าอ้อยต่ำตามไปด้วย แต่ฝ่ายโรงงานเองต้องการจะเปิดหีบเร็วเพราะปริมาณอ้อยปีนี้จะสูงกว่าเดิมที่ประเมินไว้คาดว่าจะอยู่ระดับไม่ต่ำกว่า 103 ล้านตัน ทั้งนี้มติกบ.เมื่อสรุปได้จะต้องมีการเปิดประชาพิจารณ์ให้ชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลเห็นร่วมกันก่อนสรุปเสนอกอน.ต่อไป

"ราคาอ้อยขั้นต้นปี 56/57 เฉลี่ย 900 บ.ต่อตันที่ค่าความหวาน 10 ซี.ซี.เอส แม้ว่าจะเพิ่มขึ้นแต่ก็ยังต่ำกว่าปีที่ผ่านมาที่ค่าอ้อยเฉลี่ยอยู่ 950 บ.ต่อตันดังนั้นหากชาวไร่อ้อยไม่พอใจราคาดังกล่าวก็ต้องไปว่ากันในเวทีประชาพิจารณ์"แหล่งข่าวกล่าว

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2556

รุกแผนพัฒนาอุตฯ ไทย

นายสมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า สศอ. ได้ดำเนินโครงการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทยในพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน เพื่อเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน โครงการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ฝั่งตะวันตกตามแนวพื้นที่เศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก และโครงการยกระดับคลัสเตอร์อุตสาหกรรมและขยายเครือข่ายการผลิตในภูมิภาคอาเซียน เพื่อจัดทำยุทธศาสตร์ แนวทาง มาตรการ กลยุทธ์ และข้อเสนอแนะในเชิงลึกที่เหมาะสมต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2556

น้ำตาลโลกพุ่งรับบราซิลสำลัก

นายสมศักดิ์ สุวัฒิกะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.)เปิดเผยว่าจากกรณีไฟไหม้ท่าเรือซานโตส ซึ่งเป็นท่าเรือที่ใหญ่สุดของบราซิลและยังเป็นท่าเรือสำคัญในการขนถ่ายน้ำตาลทรายกว่า 60% ของบราซิล ทำให้ขณะนี้ระดับราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดราคาเฉลี่ยน้ำตาลทรายดิบพุ่งกว่า 19 เซนต์ต่อปอนด์ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลดีต่อการคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2556/57 ปรับเพิ่มขึ้นจากเดิมได้อีก "บราซิลเป็นประเทศที่ส่งออกน้ำตาลอันดับ 1 ของโลก เมื่อท่าเรือซานโตสที่ใช้ขนส่งสินค้าหลักไฟไหม้ ยังลามไปยังโกดังเก็บน้ำตาลทำให้ได้รับความเสียหายกว่า 180,000ตันและท่าเรือดังกล่าวคาดว่าจะหยุดซ่อมนานหลายเดือนจึงส่งผลกระทบต่อสต๊อกน้ำตาลโลกที่น่าจะทำให้ระดับราคาสูงขึ้นอีก"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการบริหารอ้อย (กบ.)ที่มีนาง อรรชกา สีบุญเรือง รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นฤดูกาลผลิตปี 2556/57 ในวันที่ 24 ต.ค. นี้ ก่อนนำเสนอต่อคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ให้ความเห็นชอบเพื่อประกาศต่อไป ทั้งนี้ ราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ทำให้ล่าสุดบริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด (อนท.) ได้ขายน้ำตาลล่วงหน้าได้ราคาเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ราคาน้ำตาลตลาดโลกที่จะนำมาคำนวณเฉลี่ยที่ 18.5 เซนต์ต่อปอนด์ จะปรับเป็น 19 เซนต์ต่อปอนด์ ซึ่งจะทำให้ราคาอ้อยขั้นต้นปี 2556/57 ปรับขึ้นจากเดิม 850 บาทต่อตัน เป็น 900 บาทต่อตัน

อย่างไรก็ตาม ระดับราคาอ้อยดังกล่าวแม้จะสูงกว่าเดิม แต่ก็ยังต่ำกว่าราคาอ้อยเมื่อปีที่ผ่านมาที่เฉลี่ย 950 บาท ต่อตัน ซึ่งหากชาวไร่อ้อยไม่พอใจราคาดังกล่าวก็ต้องไปหารือกันในเวทีประชาพิจารณ์ที่ สอน.จะเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นในเร็วๆนี้.

จาก http://www.thairath.co.th วันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2556

รายงานพิเศษ : พด.เร่งพัฒนาคุณภาพดิน ต่อยอดโครงการเมืองเกษตรสีเขียว

ปัจจุบันภาคเกษตรของประเทศไทย มีความได้เปรียบประเทศอื่นในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น มีที่ตั้งที่เหมาะสมสำหรับเป็นแหล่งผลิตทางการเกษตรและอาหารที่สำคัญของโลกหรือการเป็นครัวโลก รวมถึงมีสภาพทางภูมิศาสตร์ที่สามารถติดต่อเชื่อมโยงกับกลุ่มประเทศในอนุภูมิภาคต่างๆ โดยเฉพาะประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ซึ่งส่งผลให้ภาคการเกษตรของไทยมีศักยภาพในการพัฒนาไปสู่ความเป็นศูนย์กลางทางการค้า การลงทุน และการคมนาคมขนส่งเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านและนานาชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ดังนั้น เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพและข้อได้เปรียบดังกล่าว จึงได้มีการจัดทำ โครงการเมืองเกษตรสีเขียว (Green Agriculture City) ขึ้น ซึ่งเป็นการคัดเลือกจากจังหวัดที่มีความเชื่อมโยงกับ AEC ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความโดดเด่นในการผลิตสินค้าเกษตรเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง ประกอบกับพิจารณาจากข้อมูลโครงการเศรษฐกิจและแนวทางการพัฒนากลุ่มจังหวัด/จังหวัด ของ สศช. และข้อมูลศักยภาพและตำแหน่งจุดยืนทางยุทธศาสตร์ของกลุ่มจังหวัด/จังหวัด ของ กพร. โดยดำเนินการให้มีกระบวนการผลิตสินค้าเกษตรที่ดีและเหมาะสม (GAP) ทั้งพื้นที่ และการผลิตและแปรรูปอุตสาหกรรมเกษตรในพื้นที่มีการใช้เทคโนโลยีสะอาดในการผลิตสู่เศรษฐกิจการเกษตรสีเขียว (Green and Cool Agricultural Economy) อาทิ การนำของเหลือจากกระบวนการผลิตมาผลิตเป็นพลังงานชีวมวลหรือ ไบโอแมส (Biomass) และการลดของเสียในกระบวนการผลิตให้เป็นศูนย์ (Zero Waste) ทั้งนี้ มุ่งเน้นในการสร้างความร่วมมือกับจังหวัด และภาคส่วนต่างๆ ในจังหวัด และคำนึงถึงความเชื่อมโยงกับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยใช้ศักยภาพจากการเป็นสินค้าเกษตรเพื่อสิ่งแวดล้อม (Agriculture Ecoproducts)

นายอภิชาต จงสกุล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า กรมพัฒนาที่ดิน ตระหนักถึงความได้เปรียบดังกล่าวเป็นอย่างดี จึงได้ดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพดินในเมืองเกษตรสีเขียวขึ้น เพื่อรองรับสถานการณ์ดังกล่าว และตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาล หรือยุทธศาสตร์ประเทศ ในแนวทางการพัฒนาพื้นที่และเมือง เพื่อเชื่อมโยงโอกาสจากอาเซียน อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาจังหวัดที่มีศักยภาพและความโดดเด่นในการผลิตสินค้าเกษตรให้เป็นเมืองเกษตรสีเขียวที่มีรูปแบบการผลิตสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสอดคล้องกับวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ตลอดจนสามารถส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรได้

โครงการเมืองเกษตรสีเขียว (Green Agricultural City) จะเริ่มดำเนินการนำร่องใน 6 จังหวัด ได้แก่ 1)จังหวัดเชียงใหม่ (โดดเด่นในการผลิตผลไม้และพืชผักเมืองหนาว) 2)จังหวัดศรีสะเกษ (โดดเด่นในการผลิตข้าว พืชผัก และผลไม้) 3)จังหวัดจันทบุรี (โดดเด่นในการผลิตผลไม้เมืองร้อนและการประมง) 4)จังหวัดราชบุรี (โดดเด่นในการผลิตปศุสัตว์ และพืชผัก) 5)หนองคาย (โดดเด่นเกษตรอินทรีย์และการค้าชายแดน) และ 6)จังหวัดพัทลุง (โดดเด่นการผลิตเกษตรผสมผสาน)

กรมมีความพร้อมในเรื่องของข้อมูลและกิจกรรมที่รองรับงานต่างๆ เช่น ฐานข้อมูลดิน งานปรับปรุงบำรุงดิน งานเกษตรอินทรีย์ เขตพัฒนาที่ดิน การปลูกไม้ยืนต้นโตเร็ว การรณรงค์ไถกลบตอซังพืช เป็นต้น ซึ่งจะเป็นโอกาสของกรม ที่จะดึงงาน Green Agricultural City ให้เกิดความชัดเจนได้ โดยต้องมาพิจารณากิจกรรมเพื่อดำเนินการในปี 2557 ซึ่งอันดับแรกต้องจัดทำข้อมูลพื้นฐานของทั้ง 6 จังหวัดก่อน จากนั้นหาข้อมูลพื้นฐานการใช้สารเคมีของแต่ละจังหวัด พิจารณาเขตพัฒนาที่ดินที่แต่ละจังหวัดทำไว้แล้ว กลุ่มเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ที่มีความเข้มแข็ง มีรูปแบบ/ต้นแบบ/ภูมิปัญญาของเกษตรกรที่ทำไว้แล้วในพื้นที่เพื่อนำมาทำ C&D หรือไม่ และจะต่อยอดโดยส่งเสริมให้ชุมชนมีการนำวัสดุทางการเกษตรที่เหลือจากกระบวนการผลิตมาเป็นพลังงานชีวมวล (Biomass) และการลดของเสียในกระบวนการผลิตให้เป็นศูนย์ (Zero Waste) ได้อย่างไร จะกักเก็บคาร์บอน (carbon sequestration) โดยใช้กิจกรรมอะไร หากปลูกไม้ยืนต้นโตเร็ว จะกักเก็บคาร์บอนได้เท่าไหร่ ต้องเก็บตัวเลขเพื่อเป็นตัวชี้วัดเมืองเกษตรสีเขียว และเราไปส่งเสริมและพัฒนาหมอดินอาสาให้เป็นเกษตรกรตัวอย่างเป็น eco-farmer ของจังหวัดได้อย่างไร แล้วจัดประกวดเพื่อรับรางวัลพระราชทานในวันพืชมงคลได้หรือไม่อย่างไร

สำหรับพื้นที่ดำเนินการโครงการดังกล่าวเน้นการพัฒนาปรับปรุงคุณภาพดินอย่างเป็นระบบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนาในกิจกรรมกลุ่มต้นน้ำ ด้วยการมุ่งเน้นการพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรเศรษฐกิจที่สำคัญ ให้มีประสิทธิภาพ โดยนำแนวคิดทางด้านโซ่คุณค่า (Value Chain) ซึ่ง กรมพัฒนาที่ดิน มีแนวทางการดำเนินงานเพื่อสอดรับนโยบายดังกล่าว คือ มีการคัดเลือกเกษตรกร ที่มีความพร้อมในการเข้าร่วมโครงการ โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภายในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และวิเคราะห์ความเหมาะสมของพื้นที่ โดยการใช้ข้อมูลกลุ่มชุดดินผนวกกับข้อมูลแผนที่การใช้ที่ดินและแผนที่การวางแผนการใช้ที่ดิน เพื่อดูความเหมาะสมของดินกับการปลูกพืช การถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยจัดฝึกอบรมเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ โดยการถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดิน วิธีการเพิ่มผลผลิตพืชตามหลักวิชาการ และสาธิตวิธีการดำเนินงาน

นอกจากนี้ กรมพัฒนาที่ดินจะสนับสนุนปัจจัยการผลิตต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดหาเมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสดให้เกษตรกรในครั้งแรก เพื่อใช้ในการปรับปรุงบำรุงดิน ตลอดจนสนับสนุนสารเร่งซุปเปอร์ พด. 1-12 จำนวน 450,000 ซอง และอุปกรณ์ในการทำ ได้แก่ ถังหมัก กากน้ำตาล และวัสดุ ให้กับเกษตรกรนำไปทำปุ๋ยอินทรีย์น้ำ รวมถึงปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าจังหวัดที่ได้รับการพัฒนาเป็นเมืองเกษตรสีเขียว (Green Agriculture City) ในพื้นที่ 6 จังหวัดนี้ จะได้รับการปรับปรุงบำรุงดิน เพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุทำให้ดินมีสภาพสมบูรณ์เพิ่มขึ้น และมีผลผลิตเพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 30 จากการใช้ปัจจัยต่างๆ ของกรมพัฒนาที่ดิน ส่งผลให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และที่สำคัญภาคเกษตรไทยสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้อย่างเต็มภาคภูมิ

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ธ.ก.ส.เล็งต่อยอดบัตรเครดิตเกษตรกร เตรียมขยายขอบเขตการใช้จ่ายหลังลูกค้าบัตรเดิมชำระตรงเวลา

นายลักษณ์ วัจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า หลังจากดำเนินโครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกร โดยส่งมอบบัตรสินเชื่อเกษตรกร 4.14 ล้านบัตร เกษตรกรนำไปซื้อปัจจัยการผลิต 1.7 หมื่นล้านบาท มีร้านค้าเข้าร่วมโครงการ 10,477 ร้านค้า เพื่อขายปุ๋ย เมล็ดพันธุ์ ยาปราบศัตรูพืช น้ำมัน อาหารสัตว์ และเครื่องจักรกลการเกษตรไม่เกิน 10,000 บาทต่อชิ้น ซึ่งถือว่าการดำเนินบัตรสินเชื่อเกษตรกรประสบความสำเร็จ มีลูกหนี้ชำระตรงตามกำหนดจำนวนมาก โดยมีลูกหนี้ดีและเข้าข่ายการพิจารณาให้บัตรเครดิตกว่า 10% หรือ 400,000 ราย ธ.ก.ส.จึงพร้อมบุกตลาดบัตรเครดิตเพื่อให้เกษตรกรที่มีฐานะดีใช้บัตรเครดิตซื้อสินค้าได้หลากหลายเหมือนกับบัตรเครดิตทั่วไป

ด้านนายสมศักดิ์ กังธีระวัฒน์ รองผู้จัดการ ธ.ก.ส.กล่าวว่า เมื่อมีเกษตรกรที่มีความพร้อมในการใช้บัตรจึงได้เตรียมรุกตลาดบัตรเครดิตด้วยการพัฒนาระบบบัตรเครดิตจากเดิมระบบปิดใช้ได้กับเครื่องที่ร้านค้าเข้าร่วมโครงการและสินค้าตามที่กำหนดเท่านั้นจึงต้องเปลี่ยนระบบเชื่อมโยงข้อมูลใหม่สำหรับบัตรเครดิตวีซ่าและมาสเตอร์การ์ด ให้สามารใช้ได้กับร้านค้าทั่วไป เมื่อเตรียมระบบพร้อมจะเปิดให้บริการบัตรเครดิต

นอกจากนี้ ธ.ก.ส.ได้เตรียมพัฒนาระบบให้บริการทางการเงินมีมาตรฐานทัดเทียมกับธนาคารพาณิชย์อื่นๆ หลังจากบอร์ด ธ.ก.ส.เห็นชอบเงินลงทุน 800 ล้านบาท เพื่อติดตั้งตู้เอทีเอ็ม 700 แห่ง ตู้ปรับสมุดเงินฝาก 1,000 แห่ง ตู้รับฝากเงินสด 200 แห่ง เพื่อให้เกษตรกรได้รับการบริการอย่างทั่วถึง และเป็นการปรับภาพลักษณ์ธ.ก.ส.ต่อการบริการทางการเงิน

ด้านนายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า โครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกร ของทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้มีการอนุมัติทำบัตร และจัดส่งมอบให้เกษตรกรไปแล้ว 4 ล้านใบ ครอบคลุมเกษตรกรทุกกลุ่มอาชีพ โดยให้เกษตรกรนำบัตรไปรูดปัจจัยซื้อการผลิตแล้ว 17,085 บาท ซึ่งคาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะขยายเป้าเป็น 20,000 ล้านบาท และมีร้านค้าเข้าร่วมโครงการ 8,616 ร้านค้า

“เพื่อเพิ่มคุณค่าของบัตรสินเชื่อเกษตรกร ธ.ก.ส. ได้ขยายสิทธิประโยชน์ในการใช้จ่ายผ่านบัตรเพิ่มเติมจากเดิมที่ซื้อได้เฉพาะปุ๋ย เมล็ดพันธุ์ สารกำจัดศัตรูพืช และน้ำมันเชื้อเพลิง เพิ่มเป็นการจัดซื้ออาหารสัตว์ อุปกรณ์เครื่องใช้ทางการเกษตร และสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน เช่น ข้าวสาร เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมอบสิทธิประโยชน์ให้ผู้ถือบัตรด้วยการจัดทำกรมธรรม์คุ้มครองการประกันชีวิตหรือการประกันอุบัติเหตุวงเงินสูงสุดไม่เกินรายละ 100,000 บาท การได้รับสิทธิการตรวจสุขภาพประจำปีฟรีกับโรงพยาบาลของรัฐที่เข้าร่วมโครงการ”

นอกจากนี้ ธ.ก.ส. กำลังพัฒนาระบบเพื่อใส่วงเงินสดรายละไม่เกิน 50,000 บาท เพื่อให้เกษตรกรผู้ใช้บัตรสามารถนำไปกดเงินสดที่ตู้ ATM ของ ธ.ก.ส. เมื่อมีเหตุฉุกเฉินที่ต้องการใช้เงินสดด่วนได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งบริการดังกล่าวจะช่วยลดปัญหาการพึ่งพาเงินนอกระบบที่คิดดอกเบี้ยในอัตราสูงๆ ถือเป็นการสร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการการเงินในระบบให้แก่เกษตรกรในช่วงจำเป็น โดยคาดว่าระบบดังกล่าวจะเสร็จก่อนสิ้นปีนี้

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2556

‘สนพ.’ไอเดียเจ๋ง ผลิตก๊าซชีวภาพ จากบ่อบำบัดน้ำในอุตฯยางพารา

นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ผู้ตรวจราชการกระทรวง รักษาราชการแทนผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า สนพ. สนับสนุนงบประมาณ 13.13 ล้านบาทให้กับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดำเนิน “โครงการส่งเสริมสาธิตการผลิตก๊าซชีวภาพในสหกรณ์กองทุนสวนยาง ระยะที่ 1” เพื่อส่งเสริมให้มีการนำระบบเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพไปใช้ในการจัดการน้ำเสีย ซึ่งจะก่อให้เกิดพลังงานทดแทน และลดปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยมีกลุ่มสหกรณ์ยางแผ่นรมควันเข้าร่วมโครงการรวม 10 แห่ง ตั้งเป้าผลิตก๊าซชีวภาพได้ประมาณ 105,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี จากน้ำเสียที่เกิดจากกระบวนการทำยางแผ่นรมควัน 5 ล้านกิโลกรัมต่อปี

ปัจจุบันอุตสาหกรรมยางพารา เป็นอุตสาหกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ของประเทศไทย ซึ่งมียอดการส่งออกเป็นอันดับ 1 ของโลก โดยร้อยละ 90 เป็นยางดิบแปรรูป ได้แก่ ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง น้ำยางข้น และยางอื่นๆ แต่ขั้นตอนการผลิตยางพาราโดยเฉพาะยางแผ่นรมควันนั้น ก่อให้เกิดมลพิษอินทรีย์ทางน้ำในปริมาณมาก ซึ่งจำนวนสหกรณ์ยางแผ่นรมควันที่มีประมาณ 400 แห่งทั่วประเทศ มีกำลังผลิตรวมประมาณ 2-3 แสนตันต่อปี ก่อให้เกิดน้ำเสียถึง 1.2 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

“สหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการฯ จะได้รับเงินสนับสนุนค่าลงทุนก่อสร้างระบบผลิตก๊าซชีวภาพ ในอัตราไม่เกิน 1.10 บาทต่อกิโลกรัมของกำลังการผลิต” นายเสมอใจกล่าว

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2556

กลุ่มเกษตรกรมหาสารคาม สนใจการเลี้ยงไส้เดือนผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ

อาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน ผู้นำกลุ่มและสมาชิกศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนตำบลประชาพัฒนา อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคามกว่า 50 คน เดินทางไปศึกษาดูงานการเลี้ยงไส้เดือนผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ ณ โรงผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ กองอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

นายอารีรัตน์ รักษาศิลป์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายอำนวยการ กล่าวว่า วิธีการเลี้ยงไส้เดือนไม่ยุ่งยาก โดยนำปุ๋ยหมักร่วมกับปุ๋ยคอกใส่ลงในอ่างปูนให้สูงพอสมควร รดน้ำให้เปียกชุ่มจนทั่ว แล้วใช้น้ำหมักชีวภาพที่หมักจากพืชผักสีเขียวรดให้ทั่ว เพื่อให้จุลินทรีย์ช่วยย่อยสลายปุ๋ยหมักให้สลายตัวเร็วยิ่งขึ้น โดยปกติก็จะใช้เวลาในการหมักประมาณ 7-10 วัน ในระหว่างนี้ ต้องคลุกเคล้ากองปุ๋ยไปมา 2-3 วันต่อครั้ง แล้วปล่อยไส้เดือนลงไปสักระยะหนึ่ง จากนั้นเริ่มให้อาหารเสริม เช่น เศษผัก เศษผลไม้สุก การให้อาหารเสริมนี้จะช่วยเร่งการเจริญเติบโต การเจริญพันธุ์ การขยายพันธุ์ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น และจะได้ปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนที่มีคุณภาพดีกว่าใช้ปุ๋ยคอกเป็นอาหารหลักอย่างเดียว

ด้านนายคนอง จุมพล ผู้แทนกลุ่มเกษตรกรที่มาศึกษาดูงานในครั้งนี้ กล่าวว่า การได้มาศึกษาดูงานการเลี้ยงไส้เดือนในครั้งนี้ ถือว่ามีประโยชน์มาก เพราะทางกลุ่มได้รับความรู้ เป็นการลดต้นทุนการผลิต ลดการใช้สารเคมี ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อีกทั้งเห็นขั้นตอน วิธีการทำ ตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดกระบวนการจนได้ปุ๋ยชีวภาพออกมาสำหรับใช้ประโยชน์ได้ ที่สำคัญคือ สามารถนำไปทดลองใช้กับตนเองและทางกลุ่มได้ เพราะวิธีการไม่ยุ่งยากซับซ้อน ซึ่งหลังจากนี้ ก็จะกลับไปทดลองทำตามขั้นตอนดังกล่าว หากได้ผลก็จะนำไปต่อยอดขยายผลสู่ชมชนของตนเองต่อไป

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2556

เอกชนถอดใจเศรษฐกิจไทยติดรองบ๊วยหลังเปิดเออีซี

คาดหลังเปิดเออีซีเศรษฐกิจไทยโตรองบ๊วยใน 10 ประเทศ โดยลาวเบอร์ 1 กัมพูชาตามมาติด

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้มีหลายหน่วยงานประเมินอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศอาเซียนหลังจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 58 โดยลาว จะมีเศรษฐกิจขยายตัวสูงเป็นอันดับ 1 รองลงมาเป็นกัมพูชา, พม่า, อินโดนีเซีย, เวียดนาม,ฟิลิปปินส์, มาเลเซีย, บรูไน, ไทย และ สิงคโปร์ เนื่องจากสิงคโปร์และไทยมีขนาดเศรษฐกิจไทยที่ใหญ่ ส่งผลให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับสูง ๆ นั้น ทำได้ลำบาก

ทั้งนี้ปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจลาว, กัมพูชา, พม่า ขยายตัวในระดับสูงหลังการเปิดเออีซี เนื่องจากจะมีทุนข้ามชาติเข้ามาตั้งโรงงานมากขึ้น ทั้งนักลงทุนจากไทย ยุโรป สหรัฐ และเอเชีย เพื่อต้องการอาศัยต้นทุนการผลิตที่ไม่สูง โดยเฉพาะเรื่องของค่าจ้างขั้นต่ำ ค่าเช่าพื้นที่โรงงาน และมีปริมาณแรงงานที่เพียงพอต่อความต้องการของนักลงทุน ขณะเดียวกันผลพวงจากการเข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านของไทยมากขึ้นก็จะทำให้ประชากรมีรายได้เพิ่ม

ประเมินเศรษฐกิจในประเทศอาเซียนจะสอดคล้องกับตัวเลขของไอเอ็มเอฟ ที่ประเมินการขยายตัวทางเศรษฐกิจในประเทศภูมิภาคอาเซียน หลังการเปิดเออีซีระหว่างปี 59-63 คือ 1.ลาว ขยายตัวเฉลี่ย7.7% ต่อปี, 2. กัมพูชา 7.5%, 3.พม่า 6.9%, 4. อินโดนีเซีย 6.5%, 5.เวียดนาม 5.5%, 6.ฟิลิปปินส์ 5.5%, 7.มาเลเซีย 5.2%, 8. บรูไน 4.8% , 9. ไทย 4.7% และ 10. สิงคโปร์ 4%

ส่วนก่อนการเปิดเออีซีตั้งแต่ปี 44-58 พบว่าพม่ามีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมากสุดเฉลี่ย 9% รองลงมาเป็น กัมพูชา 7.7%, ลาว 7.4%, เวียดนาม 6.6%, อินโดนีเซีย 5.6%, สิงคโปร์ 5%, ฟิลิปปินส์ 5%, มาเลเซีย 4.8%, ไทย 4.3% และ บรูไน 2.1%

“ลาวมีประชากรน้อยและในอนาคตเชื่อว่าภาคบริการและเกษตรกรรมจะเป็นกลุ่มที่จะสร้างรายได้ให้กับประชากรได้ดี ส่วนกัมพูชาและพม่า เชื่อว่า ภาคอุตสาหกรรมจะโดดเด่นทั้งสองประเทศ เพราะปัจจุบันมีแรงงานที่เพียงพอต่อความต้องการของนักลงทุน โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องนุ่งห่มของไทยจำนวนมากที่ได้ย้ายฐานการผลิตไปอยู่กัมพูชาเพื่อลดต้นทุนจากค่าจ้างบ้านเราที่สูงมากหากเทียบกับเพื่อนบ้าน”

นายอัทธ์ กล่าวว่า ในส่วนของไทย หากจะผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวระดับสูง ก็จะเน้นอานิสงส์จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาทของรัฐบาล เพราะหากเสร็จจะทำให้การขนส่งสินค้าและการเดินทางของนักท่องเที่ยวมีความสะดวกก็จะทำให้จีดีพีขยายตัวเพิ่มได้ดี

ขณะเดียว จำเป็นต้องส่งเสริมการลงทุนการวิจัยเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้ในภาคอุตสาหกรรม เพื่อทดแทนแรงงานที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของอุตสาหกรรม และต้องส่งเสริมการพัฒนาการดีไซน์ของสินค้าเพื่อที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้มากขึ้น

“ปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อการขยายตัวเศรษฐกิจไทย หลังเปิดเออีซีคงหนีไม่พ้นเรื่องของต้นทุนการผลิตที่สูง ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจไทยน้อยลง ซึ่งหากเพื่อนบ้านพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ใกล้เคียงกับไทยอาจทำให้เงินลงทุนต่างชาติไหลไปเพื่อนบ้านได้ อย่างไรก็ตามหากโครงการ 2 ล้านล้านบาทดำเนินการผ่านแบบฉลุยก็จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยในอนาคตโตเพิ่มได้มาก”

จาก http://www.dailynews.co.th  วัน 23 ตุลาคม 2556

กรอ. เผย 9 เดือน ยอดขอ รง.4 รวม 809 ราย

นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานออกใบอนุญาตโรงงาน (รง.4) ว่า ช่วง 9 เดือน( 1 มกราคม ถึง 30 กันยายน 2556) มีจำนวนโรงงานที่ขออนุญาตตั้งโรงงาน 809 ราย ส่งคณะกรรมการกลั่นกรองเนื่องจากมีเงินลงทุนเกิน 200 ล้านบาท จำนวน 103 ราย อยู่ระหว่างการดำเนินงานภายใน 90 วัน จำนวน 101 ราย และดำเนินงานเสร็จแล้ว 708 ราย ในจำนวนนี้ได้รับการอนุญาต 371 ราย ไม่อนุญาต 15 ราย และกลุ่มที่ติดปัญหา 322 ราย เช่น เอกสารไม่ครบ มีข้อร้องเรียนจากชุมชน ประเมินความเสี่ยงไม่เรียบร้อย ทับพื้นที่สาธารณประโยชน์ ไม่ผ่านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และก่อสร้างโรงงานไปแล้วก่อนที่จะขออนุญาต ซึ่งในกรณีนี้จะต้องเสียค่าปรับก่อนในอัตราไม่เกิน 2 แสนบาทต่อราย แล้วจึงค่อยกลับเข้าสู่ขั้นตอนการดำเนินงาน

“กลุ่มโรงงานที่ขอใบอนุญาตมากที่สุด คือ กลุ่มอุตสาหกรรมรายสาขา 5 อาทิ ผลิตภัณฑ์ไม้ สิ่งพิมพ์ กระดาษ เครื่องประดับรวม 266 ราย รองลงมาเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมรายสาขา 1 อาทิ อุตสาหกรรมอาหาร สุรา เอทานอล เครื่องดื่ม และเขตประกอบการชุมชนรวม 227 ราย และกลุ่มกลุ่มอุตสาหกรรมรายสาขา 3 อาทิ ปิโตรเคมี ปุ๋ยเคมี พลาสติก ยา สบู่ ผงซักฟอก เคมีภัณฑ์รวม 97 ราย"นายณัฐพล กล่าว

จาก http://www.matichon.co.th  วัน 23 ตุลาคม 2556

กรมหมอดินแนะเพิ่มอินทรียวัตถุในทรัพยากรดิน

กรมหมอดินแนะเกษตรกรในพื้นที่ต่างๆ เร่งปรับปรุงบำรุงดินด้วยการเพิ่มอินทรียวัตถุลงในดินอย่างสม่ำเสมอ เพื่อฟื้นฟูสิ่งมีชีวิตในดิน คืนความอุดมสมบูรณ์ให้ดินมีชีวิตขึ้นมาใหม่

นายอภิชาต จงสกุล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า จากผลการตรวจวิเคราะห์ทั่วประเทศ พบว่าค่าเฉลี่ยของอินทรียวัตถุที่มีอยู่ในดินต่ำกว่า 1% ซึ่งที่จริงสัดส่วนของดินที่ดีควรจะมีอินทรียวัตถุประมาณ 5 % จึงจะถือว่าเป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะสำหรับการเพาะปลูกพืชต่างๆ ซึ่งดินที่ขาดแคลนอินทรียวัตถุ ดินมีปัญหาต่างๆ หรือดินที่เสื่อมโทรม รวมทั้งการใช้ประโยชน์ที่ดินในการเพาะปลูกพืชต่างๆ อย่างผิดหลักวิชาการ หรือไม่ถูกวิธีการจะทำให้สิ่งที่มีชีวิตในดินและจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ในดินตายหมด

“ขอแนะนำเกษตรกรว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเพิ่มเติมอินทรียวัตถุลงในดิน ด้วยการใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์หรือการใช้พืชปุ๋ยสดปรับปรุงบำรุงดิน โดยปลูกพืชตระกูลถั่วต่างๆ เช่น ถั่วพุ่ม ถั่วพร้า และอื่นๆ แล้วไถกลบลงในดินเป็นการเพิ่มอินทรัยวัตถุในดินได้อย่างดี เพราะปมรากพืชตระกูลถั่วสามารถดูดตรึงธาตุไนโตรเจนจากอากาศลงสู่ดินและเป็นการช่วยฟื้นฟูสิ่งมีชีวิตในดินอย่างจุลินทรีย์ให้สามารถปลดปล่อยธาตุอาหารในดิน”

อธิบดีกรมพัฒนาที่ดินย้ำด้วยว่าการเพิ่มอินทรียวัตถุลงในดินเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่เกษตรกรทุกคนต้องปฏิบัติและสามารถทำได้เอง โดยกรมพัฒนาที่ดินมีข้าราชการเจ้าหน้าที่ นกวิชาการต่างๆ ตลอดจนหมอดินอาสาที่ประสบผลสำเร็จในอาขีพเกษตรกรรมคอยบริการให้คำแนะนำปรึกษาตลอดเวลาและให้การสนับสนุนปัจจัยการผลิตทางการเกษตรตามความเหมาะสม เกษตรกรสนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลต่างๆ ได้ที่สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 1-12 สถานี หมอดินอาสาประจำหมู่บ้านในชุมชนที่ท่านมีภูมิลำเนาอยู่ หรือโทรสายด่วน 1760

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 22 ตุลาคม 2556

ไทยร่วมถกความมั่นคงอาหารโลก ‘เอฟเอโอ’เรียกร้องส่งเสริมเกษตรกรรายย่อย

นายอนันต์ ลิลา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า นายสุรศักดิ์ พันธ์นพ รองเลขาธิการ สศก. และคณะ ได้เป็นผู้แทนเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการความมั่นคงอาหารโลก ครั้งที่ 40 ที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization: FAO) กรุงโรม สาธารณรัฐอิตาลี เพื่อกำหนดนโยบายและแนวทางที่จะผลักดันให้เกิดความมั่นคงด้านอาหารระดับโลก

ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าว ได้แสดงถึงความคืบหน้าการดำเนินการเพื่อการกำหนดทิศทางการพัฒนาด้านความมั่นคงอาหารในระดับโลก โดยเฉพาะการคำนึงถึงการส่งเสริมความมั่นคงอาหารที่สมดุลกับการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ และการส่งเสริมการเข้าถึงทรัพยากรการผลิตในด้านต่างๆ แก่เกษตรกรรายย่อย รวมทั้งความมุ่งมั่นที่จะมีส่วนร่วมในการตั้งเป้าหมายการพัฒนาภายหลัง
ปี ค.ศ.2015 ด้านความมั่นคงอาหาร

ด้าน นายสุรศักดิ์กล่าวว่า ที่ประชุมได้รับทราบจำนวนผู้ขาดสารอาหารจากรายงานสถานะความไม่มั่นคงอาหารโลกปี ค.ศ.2013 ที่ระบุว่าจำนวนผู้ขาดสารอาหารได้ลดลงเป็น 842 ล้านคน จาก 868 ล้านคน ในปี ค.ศ. 2012 ในส่วนของประเทศไทยมีสัดส่วนผู้ขาดสารอาหารลดลงจากร้อยละ 7 เป็นร้อยละ 6 ของประชากรทั้งประเทศ หรือลดลงเหลือ 4 ล้านคน

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือเกี่ยวกับประเด็นความมั่นคงอาหาร 2 เรื่อง คือ 1.เรื่องเชื้อเพลิงชีวภาพและความมั่นคงอาหาร ซึ่งได้เสนอแนะแนวทางการดำเนินงานในการส่งเสริมนโยบายที่เกี่ยวเนื่องกับความมั่นคงอาหารและเชื้อเพลิงชีวภาพ โดยให้ความสำคัญกับการผลิตอาหารเป็นลำดับแรก การวิจัยและพัฒนา รวมถึงการเชื่อมโยงระหว่างกันในการเสริมสร้างความมั่นคงอาหาร และ 2.เรื่องการลงทุนให้แก่เกษตรกรรายย่อยเพื่อความมั่นคงอาหารและโภชนาการ โดยเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกสนับสนุนนโยบายระดับชาติในเรื่องการทำการเกษตรรายย่อย การส่งเสริมให้เกษตรกรรายย่อยเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติที่นำมาผลิตอาหารและการทำการเกษตรทั้งในเรื่องการบริการทางสังคม การตลาด การส่งเสริมการเกษตร และเทคโนโลยี รวมถึงการส่งเสริมลงทุนสำหรับเกษตรกรรายย่อยเพื่อลดความยากจนและส่งเสริมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2556

รายงาน: กรอ.ยกเครื่อง...ออกใบรง.4ธุรกิจปลื้มโปร่งใสรวดเร็ว

หลังจากที่ ภาคเอกชน ร้องเรียนไปยังสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการออกใบอนุญาตจัดตั้งโรงงาน (รง.4) ล่าช้าโดยต้องรอให้ได้รับในอนุญาตจัดตั้งโรงงานก่อนถึงจะเริ่มก่อสร้างโรงงานได้ทำให้เกิดปัญหาและอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจ จึงเรียกร้องให้มีการแก้ไขระเบียบการจัดตั้งโรงงานเพื่อให้ผู้ประกอบการเริ่มก่อสร้างโรงงานได้ทันทีหลังจากยื่นขออนุญาตเพราะหากต้องรอให้ได้รับใบอนุญาตก่อนจะทำให้เกิดความล่าช้าไม่ทันต่อการจัดตั้งโรงงาน

นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า ขณะนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้มีการปรับกระบวนการอนุญาต เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการทั้งชาวไทย และต่างประเทศ

หลังจากที่มีการตั้ง คณะกรรมการกลั่นกรองการพิจารณาอนุญาตโรงงานบางประเภท ที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน พบว่าการทำงานของ กรอ. และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเริ่มมีมาตรฐานเดียวกัน มีการคำนึงถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบกระบวนการอนุญาตเป็นไปอย่างรวดเร็วขึ้นและอยู่ภายใต้กรอบระยะเวลา 90 วัน หลังจากเอกสารหลักฐานต่างๆ ครบถ้วน

อีกทั้ง ยังพบว่าปัจจุบันไม่มีปัญหาการร้องเรียนที่เกิดจากกระบวนการอนุญาตที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งต่างจากในอดีตที่มีการฟ้องร้องจนถึงขั้นมีคำสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาต หรือสั่งปิดโรงงาน เป็นจำนวนหลายราย

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการสร้างความโปร่งใส และอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ กรอ. ได้จัดทำระบบติดตามการอนุญาตขึ้นผ่าน Web Site ของ กรอ. โดยผู้ขออนุญาต สามารถติดตามสถานการณ์อนุญาตว่าอยู่ในขั้นตอนไหนและเจ้าหน้าที่คนไหนเป็นผู้รับผิดชอบได้จากwww.diw.go.thรวมทั้งสามารถแจ้งร้องเรียนกรณีมีปัญหาเกี่ยวกับการอนุญาตหรือมีผู้เรียกรับผลประโยชน์ ได้ผ่านโทรศัพท์สายด่วน 1564 อีกด้วย

เพื่อเป็นการรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) กรอ. จะมุ่งเน้นการให้บริการแก่ผู้ประกอบการมากขึ้นโดยจะเน้นการให้คำปรึกษาแนะนำแก่ผู้ประกอบการทุกรายว่า ควรจะต้องดำเนินการอย่างไรจึงจะถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องรวมทั้งสร้างมาตรฐานของเอกสาร ที่ต้องใช้ประ กอบการพิจารณาให้เป็นระบบเดียวกันทั่วประเทศ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ผู้ประกอบการสามารถขอคำปรึกษาแนะนำได้ที่ศูนย์บริการสารพันทันใจ ชั้น 1 ตึก กรอ.
ทางด้านภาคเอกชน ก็ออกมาขานรับกับแนวทางการดำเนินการยุคใหม่ของกรอ.

นายพิทักษ์พฤทธิสาริกรรองประธานกรรมการบริหารอาวุโส บริษัทฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัดกล่าวว่า กระบวนการอนุญาตตั้งโรงงานของประเทศไทยถือว่าสะดวกและรวดเร็วมากกว่าหลายประเทศในกลุ่มอาเซียนไม่ว่าจะเป็นเวียดนามฟิลิปปินส์ หรืออินโดนีเซียแม้ว่าประเทศไทยจะมีกระบวนการ หรือขั้นตอน ที่ต้องดำเนินการในหลายเรื่อง แต่ก็เป็นเรื่องปกติของประเทศที่มีการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมมากขึ้นอย่างรวดเร็ว

กฎระเบียบที่เคยใช้เมื่อหลายปีก่อนตอนตั้งโรงงานแห่งแรก ก็มีการปรับปรุงและพัฒนาไปเพื่อดูแลประชาชนและสิ่งแวดล้อมมากขึ้นกว่าเดิม แต่จากประสบการณ์ในการตั้งโรงงานแห่งใหม่ของ ฮอนด้า ก็พบว่า แม้จะมีกระบวนการหรือขั้นตอนที่เพิ่มมากขึ้น แต่หากเราได้เข้าไปทำการศึกษาอย่างถ่องแท้ กระบวนการดังกล่าว ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการตั้งโรงงานเลย อีกทั้งยังเป็นการดีที่ทำให้โรงงานสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างมีความสุขและสิ่งแวดล้อมได้รับการดูแลไปพร้อมกัน

นอกจากนี้ ฮอนด้าเองไม่เคยต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม จากที่ถูกกำหนดไว้ตามกฎหมายอีกด้วย ซึ่งกรณีของการตั้งโรงงานแห่งใหม่ของ ฮอนด้า ที่ จ.ปราจีนบุรี กระบวนการในส่วนของใบอนุญาตโรงงาน หรือ รง.4 หลังจากที่การตัดสินใจในส่วนของ ฮอนด้า ได้ข้อยุติแล้ว ปรากฏว่าใช้เวลาไม่ถึง 60 วัน ก็ได้รับการอนุญาตแล้ว

นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูรประธานกรรมการบริหาร บริษัท โตชิบาไทยแลนด์ จำกัด กล่าวว่า กฎระเบียบมีการเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ผู้ประกอบการจำเป็นต้องศึกษากฎระเบียบ เพื่อให้ปฏิบัติได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งโตชิบา เอง ก็ไม่รู้จะปรึกษาใคร จึงเดินเข้าไปขอรับคำแนะนำจาก กระทรวงอุตสาหกรรม และก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจาก กรอ. มีการทำงานร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ของ โตชิบา และเจ้าหน้าที่ของ กรอ. จนทำให้ โตชิบา ได้รับใบอนุญาตอย่างรวดเร็ว ภายในเวลาไม่เกิน 90 วัน

นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด(มหาชน)กล่าวว่าขั้นตอนการอนุญาตตั้งโรงงานผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนมีกระบวนการอนุญาตหลายขั้นตอน ซึ่งอยู่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ของ กระทรวงอุตสาหกรรมซึ่งเมื่อผ่านกระบวนการเหล่านั้นแล้ว พบว่ากระบวนการอนุญาตตั้งโรงงานในส่วนของ กระทรวงอุตสาหกรรมก็เป็นไปด้วยความสะดวกรวดเร็วไม่เกินเวลาที่กำหนดไว้

นายบรรณ เกษมทรัพย์กรรมการผู้จัดการบริษัท เอสซีจี เทรดดิ้ง จำกัดกล่าวว่า กระบวนการอนุญาตตั้งโรงงานของไทยถือว่ารวดเร็วกว่าประเทศอื่นในกลุ่มอาเซียน โดยมีบางประเทศที่ เอสซีจี ไปทำธุรกิจตั้งโรงงาน พบว่าใช้เวลานานกว่า 7 ปี จึงจะได้รับการอนุญาต

นายประยงค์ หิรัญญะวณิชย์จากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)กล่าวว่าเป็นที่น่ายินดีที่ กระทรวงอุตสาหกรรมโดยท่านปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมและอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้เชิญองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันเข้ามาทำให้กระบวนการอนุญาตตั้งโรงงานเป็นไปด้วยความโปร่งใสซึ่งขณะนี้ได้มีการทำงานร่วมกันกับ กระทรวงอุตสาหกรรม อย่างใกล้ชิดเพื่อปรับปรุงกระบวนการ จนเป็นที่ยอมรับของภาคเอกชนในระดับหนึ่งแล้ว แต่คงต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อทำให้ กรอ. เป็นองค์กรตัวอย่างที่สร้างความโปร่งใสต่อไป

นอกจากนี้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่อยากให้กระทรวงอุตสาหกรรมช่วยประสานกับหน่วยราชการอื่น เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุน ซึ่งจะช่วยทำให้บรรยากาศการลงทุนในประเทศไทยเป็นที่สนใจของนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างชาติ มากกว่าชาติอื่นกลุ่มประเทศอาเซียนอย่างยั่งยืนต่อไป

"ปัจจุบันไม่มีปัญหาการร้องเรียน ที่เกิดจากกระบวนการอนุญาตที่ไม่ถูกต้องซึ่งต่างจากในอดีตที่มีการฟ้องร้องจนถึงขั้นมีคำสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตหรือสั่งปิดโรงงานเป็นจำนวนหลายราย"

จาก http://www.siamrath.co.th  วันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2556

กรอ.เตรียมพร้อม รง.สู้ AEC

นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมเพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) นั้น ขณะนี้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้มีการปรับกระบวนการอนุญาตเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการทั้งชาวไทยและต่างประเทศ โดยหลังจากที่มีการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองการพิจารณาอนุญาตโรงงานบางประเภทที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานขึ้นมาดูแลการอนุญาตโรงงานบางประเภทดังกล่าว พบว่า การทำงานของ กรอ. และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด เริ่มมีมาตรฐานเดียวกัน มีการคำนึงถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบกระบวนการอนุญาตเป็นไปอย่างรวดเร็วขึ้น และอยู่ภายใต้กรอบระยะเวลา 90 วัน หลังจากเอกสาหลักฐานต่างๆ ครบถ้วน
ปัจจุบันไม่มีปัญหาการร้องเรียนที่เกิดจากกระบวนการอนุญาตที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งต่างจากในอดีตที่มีการฟ้องร้องจนถึงขั้นมีคำสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตหรือสั่งปิดโรงงานเป็นจำนวนหลายราย ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างความโปร่งใสและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ กรอ.ได้จัดทำระบบติดตามการอนุญาตขึ้นผ่านเว็บไซต์ของ กรอ. โดยผู้ขออนุญาตสามารถติดตามสถานะการอนุญาตว่าอยู่ในขั้นตอนไหนและเจ้าหน้าที่คนไหนเป็นผู้รับผิดชอบได้จาก www.diw.go.th รวมทั้งสามารถแจ้งร้องเรียนกรณีมีปัญหาเกี่ยวกับการอนุญาตหรือมีผู้เรียกรับผลประโยชน์ได้ผ่านโทรศัพท์สายด่วน 1564 อีกด้วย

"เพื่อเป็นการรองรับการเข้าสู่ AEC กรอ. จะมุ่งเน้นการให้บริการแก่ผู้ประกอบการมากขึ้น โดยจะเน้นการให้คำปรึกษาแนะนำแก่ผู้ประกอบการทุกรายว่าควรจะต้องดำเนินการอย่างไร จึงจะถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง"

จาก http://www.banmuang.co.th วันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2556

สารพัด'มิสเตอร์เกษตร'ก็แค่'GIMMICK' ทางการเมือง

ครม.วันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้มีมติแต่งตั้ง 5 รัฐมนตรีประกอบด้วย นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็น มิสเตอร์ข้าว, นายยุคล ลิ้มแหลมทองรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็น มิสเตอร์ยาง, นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็น มิสเตอร์มันสำปะหลัง, นายยรรยง พวงราช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็น มิสเตอร์ข้าวโพด และนายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็น มิสเตอร์อ้อย
หน้าที่รับผิดชอบกำหนดไว้อย่างกว้างขวางมโหฬารเพียงว่า ให้รับผิดชอบและติดตามสถานการณ์ผลผลิตทางการเกษตรเป็น "พิเศษ" ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต การแปรรูป เสถียรภาพทางราคา โดยให้เชื่อมโยงไปถึงการส่งออก

จัดเป็นการแต่งตั้งหน้าที่ "พิเศษ" นอกเหนือไปจากการกำกับดูแลนโยบายในแต่ละกระทรวงที่ได้รับมอบหมาย ท่ามกลางความสงสัยของสาธารณชนเป็นวงกว้างที่ว่า แท้ที่จริงแล้ว บรรดา Mister เหล่านี้ถูกตั้งขึ้นมาทำไม ?

นายวราเทพ รัตนากร ได้อธิบายสิ่งที่จะทำในฐานะ มิสเตอร์ข้าวว่า จะเชิญหน่วยงานต้นน้ำที่เกี่ยวข้องกับการผลิตข้าวของกระทรวงเกษตรฯ เข้ามาหารือบทบาทในการส่งเสริม และพัฒนาพันธุ์ข้าวของไทย และ "จัดภารกิจเรื่องข้าวทั้งระบบ"มีเป้าหมายที่จะพัฒนาข้าวไทยให้มีความยั่งยืน ก่อนเสนอ ข้อมูลต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และเตรียมนัดหารือกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อหาวิธีการระบายข้าวในสต๊อก รัฐบาลที่จะมีปริมาณเพิ่มขึ้นอีกในฤดูการผลิตปี 2556/57 สมทบกับ ข้าวในสต๊อกเก่าของรัฐบาลที่ยังจำหน่ายไม่หมด เบื้องต้นคาดว่าจะต้องเร่งหาตลาดส่งออกใหม่ เช่น สหรัฐ กับตะวันออกกลาง และขยายการส่งออกข้าวในตลาดเก่าที่มีอยู่แล้วด้วย

"การทำงานของมิสเตอร์ข้าว จะแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะสั้น เป็นการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับข้าวทั้งหมด ตั้งแต่การผลิต ไปถึงผลผลิต/ไร่ และมีเครื่องมืออะไรที่จะเสริมอาชีพให้ ชาวนาหรือคนปลูกข้าวก็ต้องเร่งดำเนินการ ส่วนระยะยาวคือต้องมองการแข่งขันทั้งระบบ ทั้งเรื่องของราคา คุณภาพ และความสามารถในการแข่งขันกับคู่แข่ง ซึ่งยอมรับว่าคู่แข่งของข้าวไทย ไม่ว่าทั้งเวียดนาม อินเดีย และพม่า ล้วนลุกขึ้นมาแข่งขันในตลาดค้าข้าวโลก โดยมีต้นทุนถูกกว่าไทย ในจุดนี้มิสเตอร์ข้าวต้องพยายามดำเนินการเพื่อลดต้นทุนให้กับชาวนาให้ได้" นายวราเทพกล่าว
ด้านนายยุคล ลิ้มแหลมทอง กลับมองว่า หน้าที่สำคัญของมิสเตอร์ยาง ก็คือการเป็นผู้ประสานงานข้อมูลตั้งแต่ระดับ ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ รวมทั้งประสานดูแลเรื่องการศึกษาวิจัย เพื่อการแก้ไขปัญหายางพาราเท่านั้น แต่การช่วยเหลือเกษตรกรด้านราคายังต้องอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบาย ยางธรรมชาติ (กนย.) ตามเดิม
และหลังจากที่ได้รับแต่งตั้งจาก ครม.แล้ว ก็ได้ตั้ง คณะทำงานดูแลข้อมูลและทิศทางการพัฒนายางพาราในอนาคต ขึ้นมา โดยให้ นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมหม่อนไหม ซึ่งมีประสบการณ์ความรู้ด้านยางพาราเป็นประธานคณะทำงาน คณะทำงานชุดนี้จะมีหน้าที่ดูแลประสานข้อมูลในระยะเริ่มต้นเท่านั้น แต่ในอนาคตเมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการยางไทย ก็จะมีหน่วยงานรับผิดชอบตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. มารับช่วงต่อไป

"วิธีแก้ปัญหาราคายางพาราที่รัฐบาลทำอยู่เป็นวิธีการที่ ถูกต้องแล้ว การชดเชยตามพื้นที่สามารถกำหนดและคาดการณ์ได้ว่าจะมีพื้นที่ประมาณเท่าใด ต้องใช้เงินช่วยเหลือเท่าใด ถ้าตั้งราคานำตลาดแล้วรัฐบาลรับซื้อ จะประมาณการผลผลิตและเงินที่จะใช้ช่วยเหลือไม่ได้ เราไม่สามารถควบคุมราคายางในตลาดโลกได้ ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา แต่จะยิ่งทำให้กลไกตลาดโลกบิดเบือน อยากให้ทุกฝ่ายที่เสนอความเห็นหรือเสนอวิธีการต่าง ๆ ผ่านสื่อ มานั่งหารือแลกเปลี่ยนความเห็นกัน เพื่อจะได้เข้าใจกันทุกฝ่าย" นายยุคลกล่าว
ขณะที่นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล"มิสเตอร์มันสำปะหลัง" ก็ได้เริ่มงานในหน้าที่ใหม่แล้วเช่นกัน โดยจะดูแลผลผลิตมันสำปะหลังแบบ "ครบวงจร" ทั้งผลิตอาหารและเป็นพืชพลังงานเพื่อผลิตเอทานอล โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากขณะนี้มีสินค้าเกษตรหลายชนิด รวมทั้งมันสำปะหลังที่กำลังเข้าสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก และมีระดับราคาที่ไม่คงที่ ซึ่งในส่วนของกระทรวงพลังงานจะรับผิดชอบการวางนโยบายและยุทธศาสตร์ปริมาณการใช้มันสำปะหลังให้สมดุลในทุกภาคส่วนเพื่อให้เกษตรกรได้ราคาที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการผลิตเพื่อป้อนโรงงานเอทานอลและไบโอดีเซล รวมไปถึงการใช้ในอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลัง

"กระทรวงพลังงานเตรียมหารือกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อวางยุทธศาสตร์ผลักดันการใช้มันสำปะหลังผลิตเอทานอลเป็นพลังงานทางเลือกมากขึ้น เพื่อที่จะดูแลราคาหัวมันสดไม่ให้ตกต่ำเกินไป โดยคำนึงถึงสิ่งที่เกษตรกรต้องการคือ ระดับราคาที่สม่ำเสมอ นี่เป็นหัวใจหลักในการพิจารณา ผมจะนำมันสำปะหลังมาใช้ผลิตเอทานอลมากขึ้น จากปัจจุบันที่การนำมันมาใช้ผลิตเอทานอลยังไม่เป็นที่นิยม หากเทียบกับการใช้กากน้ำตาลหรือโมลาส เพราะราคามันสำปะหลังจะขึ้นลงเร็ว แต่โมลาสมีคุณสมบัติในการผลิตแอลกอฮอล์ได้ดีกว่า ดังนั้นวิธีการบริหารที่ดีที่สุดควรจะมีกองทุนมันสำปะหลัง เพื่อดูโครงสร้างราคาอย่างสมดุล เป็นการถ่วงดุลกันทุกส่วน ความเป็นไปได้ในเรื่องนี้คงต้องหารือกับฝ่ายกฎหมาย เกษตรกร ผู้ผลิตแป้งมัน และผู้ผลิตไบโอดีเซลต่อไป" นายพงษ์ศักดิ์กล่าว
มีข้อน่าสังเกตว่า มิสเตอร์ทั้ง 3 ท่านมีมุมมองต่อหน้าที่ รับผิดชอบแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด 2 ท่านคือ มิสเตอร์ข้าวกับมิสเตอร์มันสำปะหลังกำลังคิดการใหญ่ถึงกับจะจัดระบบการผลิตการตลาดสินค้าเกษตรแบบครบวงจร ในขณะที่มิสเตอร์ยางมองอย่างผู้มีประสบการณ์ผ่านระบบราชการมาอย่างยาวนาน ด้วยการวาง Position ของตัวเอง เป็นแค่เพียง "ผู้ประสานข้อมูล" เท่านั้น

ท่ามกลางความเป็นจริงที่ว่า ทุกพืชผลทางการเกษตรเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่มี "คณะกรรมการ" ที่มีอำนาจหน้าที่ทางกฎหมายเป็นผู้กำกับดูแลทั้งด้านนโยบายและการปฏิบัติ ครอบคลุมตั้งแต่การผลผลิตไปจนกระทั่งถึงการตลาดและการส่งออก ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ มี นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน, คณะกรรมการนโยบายมันสำปะหลัง แห่งชาติ มี นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล เป็นประธาน, คณะกรรมการนโยบายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มี นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล เป็นประธาน, คณะกรรมการนโยบายอาหาร ก็มี นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล เป็นประธานอีกเช่นกัน

จะมีก็แต่ คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ประกอบด้วยผู้แทน 3 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายราชการ มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้แทนชาวไร่อ้อย 9 คน และผู้แทนโรงงานน้ำตาล 7 คน ส่วนคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ จะมี นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวง การคลัง เป็นประธาน ทั้ง 5 ชุดนี้ถึงจะเป็นตัวจริง ของจริง
ในขณะที่ปัญหาที่จะตามมาก็คือ ความสับสนในการบริหารจัดการพืชผลทางการเกษตรของบรรดามิสเตอร์เหล่านี้ที่มีแต่ชื่อ กับความคิดเห็น แต่ปราศจากอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ย้อนกลับมาเป็นวังวนในการแก้ปัญหาสินค้าเกษตรแบบ งูกินหางไม่สิ้นสุด

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 21 ตุลาคม 2556

"สนง.จัดรูปที่ดิน"รับโอนงานคันคูน้ำ

พิจิตร - นายเอกจิต ไตรภาควาสิน ผู้อำนวยการสำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง กรมชลประทาน เผยว่า ในภารกิจการจัดรูปที่ดิน สำนักงานจัดรูปที่ดินกลางยังเน้นการจัดรูปที่ดินประเภทพัฒนาสมบูรณ์แบบเป็นหลัก เนื่องจากในระยะยาวเป็นรูปแบบที่ตอบสนองประโยชน์ของเกษตรกรได้ดีที่สุด ถือเป็นรูปแบบการจัดรูปที่ดินเกรดเอมีโครงสร้างพื้นฐานคือคูส่งน้ำ คูระบายน้ำและถนนแล้ว ยังมีการเปลี่ยนรูปแปลงที่ดินใหม่ ง่ายต่อการจัดการ รองลงมาเป็นการจัดรูปที่ดินในรูปแบบการพัฒนากึ่งสมบูรณ์แบบ มีโครงสร้างพื้นฐานครบ ไม่มีการเปลี่ยนรูปแปลง ยกเว้นก่อสร้างคูส่งน้ำ คูระบายน้ำ และถนนเข้าไปตามรูปแปลงเดิม

"การจัดรูปที่ดินรูปแบบนี้มีเฉพาะในไทยเท่านั้น ประเทศแม่แบบอย่างเนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น และไต้หวัน เขามีรูปแบบพัฒนาสมบูรณ์แบบเพียงอย่างเดียว เรามาต่อยอด พยายามเน้นการจัดรูปที่ดินแบบพัฒนาสมบูรณ์แบบดังที่เห็นจากแปลงจัดรูปที่ดินในระยะหลังๆ"

กรมชลประทานได้โอนงานคันคูน้ำเข้ามาอยู่ในสำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง ดังนั้น เกษตรกรไม่ต้องการจัดรูปที่ดิน ก็จะเสนอให้ใช้ระบบคันคูน้ำสำหรับกระจายน้ำในแปลงไร่นา แต่จะไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกและลดต้นทุนได้อย่างถนนและคูระบายน้ำให้

จาก http://www.khaosod.co.th  วันที่ 21 ตุลาคม 2556

จัดระบบอนุรักษ์ดินและนํ้ารักษาอุดมสมบูรณ์ดิน

นายอภิชาต จงสกุล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า ปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรดินมีสาเหตุพื้นฐานมาจากการชะล้างพังทลายของดิน ส่วนใหญ่เกิดจากการใช้ที่ดินเพื่อกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งมีปริมาณการสูญเสียในระดับปานกลางถึงรุนแรงมาก รวมเป็นเนื้อที่กว่า 107.69 ล้านไร่ หรือคิดเป็น 33.55 เปอร์เซ็นต์ของเนื้อที่ทั้งประเทศ ทำให้เกิดผลเสียหายต่อเกษตรกรเจ้าของที่ดิน และมีผลเสียต่อชุมชนและประเทศชาติในที่สุด อย่างไรก็ตามในช่วงหลังจะเห็นได้ว่ารูปแบบของการใช้ประโยชน์ที่ดินได้เปลี่ยนแปลงไป ประชาชนและเกษตรกรได้บุกรุกเข้าไปใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ป่าไม้มากขึ้นจึงทำให้อัตราการชะล้างพังทลายของดินมีสูงขึ้นเรื่อย ๆ นับเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องสำหรับประเทศไทย

กรมพัฒนาที่ดิน เป็นหน่วยงานหลักทางด้านวิชาการในสำรวจจำแนกดิน ที่มีผลการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2506 จนถึงปัจจุบัน มีความเชี่ยวชาญในการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการพัฒนาที่ดินที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และคุณภาพของดินหรือที่ดิน ตลอดจนการจัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ เพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน สำหรับการจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ มีทั้งที่ลุ่มและที่ดอน โดยวิธีกลและวิธีพืช ซึ่งจะดำเนินการก็ต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมของสภาพภูมิประเทศ โดยการสร้างคันดินกั้นน้ำและร่องน้ำขวางความลาดชันของพื้นที่ เพื่อลดความยาวของพื้นที่รับน้ำฝนให้น้อยลง แบ่งออกได้เป็น 6 ชนิด ดังนี้ ชนิดเเรกคันดินแบบบันได ชนิดสองคันดินกั้นน้ำ ชนิดที่สามคันดินเบนน้ำ ชนิดที่สี่ทางระบายน้ำ ชนิดที่ห้าบ่อน้ำในไร่นาเพื่อกักเก็บน้ำ ชนิดสุดท้ายคูรับน้ำรอบขอบเขา

อย่างไรก็ตามการแนะนำและส่งเสริมยังมีอุปสรรคและปัญหาอยู่มาก เพราะนอกจากเกษตรกรจะยังไม่เข้าใจถึงประโยชน์และวิธีการอันแท้จริงแล้ว เกษตรกรยังไม่เห็นถึงประโยชน์ต่อทรัพยากรดินและการอนุรักษ์ดินในระยะยาว ดังนั้นจึงขอให้เจ้าหน้าที่ทุกสถานีพัฒนาที่ดิน นักวิชาการ ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่ และหมอดินอาสากรมพัฒนาที่ดิน ที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดิน ควรต้องพยายามอธิบายโดยใช้แปลงสาธิตการใช้ประโยชน์ที่ดินตามหลักการอนุรักษ์ดินและน้ำในพื้นที่เป็นตัวอย่าง ให้เกษตรกรหรือเจ้าของที่ดินได้มีประสบการณ์ เห็นผลสำเร็จจริง ๆ รวมทั้งได้รับความรู้ความเข้าใจ และรับทราบถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการใช้มาตรการทางด้านอนุรักษ์ดินและน้ำ เพื่อการอนุรักษ์ ปรับปรุง ฟื้นฟูทรัพยากรดินเสื่อมโทรม ให้ใช้ประโยชน์ในการทำเกษตรกรรมได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ยั่งยืนสืบไป.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 21 ตุลาคม 2556

เตือนภัยขายปุ๋ยทางอินเทอร์เน็ต - เกษตรทั่วไทย

มีข่าวแจ้งเตือนภัยมาจากกรมวิชาการเกษตร ถึงปัญหาที่พ่อค้าหัวใสเปิดเว็บฯ ขายปัจจัยการผลิตเถื่อนทาง “อินเทอร์เน็ต” มีทั้งปุ๋ย สารเคมี แถมโฆษณาคลุมเครือ ทำให้เกษตรกรเข้าใจผิดจนกรมวิชาการเกษตรต้อง เร่งตั้งทีมสกัดด่วน

นายดำรงค์ จิระสุทัศน์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้เปิดเผยถึงรายละเอียดดังกล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการปัจจัยการผลิตทางการเกษตรทั้งปุ๋ย สารเคมี และเมล็ดพันธุ์พืช อาศัยช่องทางจำหน่ายสินค้าผ่านทางเว็บไซต์หรืออินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการโฆษณาขายสินค้าส่วนใหญ่ไม่บ่งชี้ว่าเป็นปุ๋ย หรือเป็นวัตถุอันตรายทางการเกษตรอย่างชัดเจน ทำให้เกษตรกรเกิดความสับสนและเข้าใจว่าสามารถช่วยเร่งการเจริญเติบโตของพืช รวมทั้งยังช่วยป้องกันกำจัดศัตรูพืช และทำให้ได้ผลผลิตสูง ขณะเดียวกันยังมีการจำหน่ายสารปรับปรุงดินทางอินเทอร์เน็ตด้วย โดยมีการเลี่ยงกฎหมายใช้คำโฆษณาที่คลุมเครือและไม่ชัดเจน ทำให้เกษตรกรเข้าใจผิดว่าเป็นปุ๋ยที่สามารถทำให้พืชเจริญเติบโตดีและให้ผลผลิตสูง

ทั้งนี้ กรมวิชาการเกษตร ได้มอบหมายให้ สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร เร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องซึ่งจะสามารถใช้ประกอบการควบคุมการโฆษณาให้ตรงตามความเป็นจริง ไม่โม้โอ้อวดจนเกษตรกรเข้าใจผิดในคุณภาพ ของสินค้า เพื่อปกป้องเกษตรกรไม่ให้ถูกเอาเปรียบ เช่น โฆษณาว่าเมื่อใช้แล้วสามารถทำให้ผลผลิตมากกว่าความเป็นจริงถึง 2–3 เท่า โดยไม่มีข้อมูลทางวิชาการยืนยัน

“สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตรได้พยายามตรวจสอบแหล่งผลิต หรือแหล่งที่มาของสินค้าที่จำหน่ายในอินเทอร์เน็ตอย่างต่อเนื่อง แต่การที่ผู้จำหน่ายอ้างว่า สินค้าที่โฆษณาเป็นสารปรับปรุงดินทำให้กฎหมายภายใต้ พ.ร.บ.ปุ๋ย และ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ไม่สามารถเอาผิดได้ แต่ใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคมาควบคุมได้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่งตั้งคณะทำงาน เพื่อวางแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วนก่อนที่จะสร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรมากขึ้น” อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าว

อย่างไรก็ตาม เกษตรกรควรเลือกซื้อปุ๋ยและวัตถุอันตรายทางการเกษตรที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องกับกรมวิชาการเกษตร ที่สำคัญควรซื้อจากร้านค้าที่เชื่อถือได้ เช่น ร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพหรือร้าน Q Shop ไม่ควรซื้อจากรถเร่หรือการขายตรง พร้อมกันนี้ กรมวิชาการเกษตรขอความร่วมมือเกษตรกรช่วยแจ้งเบาะแสการโฆษณาชวนเชื่อ หรือโฆษณาเกินจริง รวมถึงขบวนการเร่ขายปุ๋ยและระบบขายตรงที่เข้าข่ายหลอกลวงเกษตรกร

โดยสามารถแจ้งเบาะแสได้ที่ กลุ่มสารวัตรเกษตร สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร โทร. 0-2940-6980

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 21 ตุลาคม 2556

นายกฯเร่งเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยหวังชิงส่วนแบ่งตลาด “บราซิล”

นายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในการประชุมเชิงปฏิบัติการ (เวิร์กช็อป) การบูรณาการขับเคลื่อนการจัดทำโซนนิ่งภาคการเกษตร ที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน เมื่อเร็วๆนี้ ได้รับทราบแนวทางบริหารจัดการและส่งเสริมการปลูกอ้อยแทนปลูกข้าวเพิ่มขึ้น โดยให้เร่งส่งเสริมการปลูกอ้อยให้ได้ 750,000 ไร่ คาดว่าเพิ่มผลผลิตอ้อยให้เพิ่มขึ้นอีก 7.5 ล้านตัน จากปัจจุบัน 89 ล้านตัน เพื่อให้ไทยเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดน้ำตาลในเอเชียจากเดิมที่มีเพียง 26% เท่านั้น

ทั้งนี้ นายกฯได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช) รับเรื่องไปพิจารณาต่อ โดยต้องการให้หาแนวทางลดสัดส่วนการปลูกข้าว และให้เกษตรกรหันมาปลูกผลผลิตทางการเกษตรอื่นแทน ทั้งอ้อยและมันฝรั่ง เพราะเห็นว่าไทยจะปลูกข้าวจำนวนมากและหวังรายได้การส่งออกข้าวเป็นหลักไม่ได้อีกต่อไป
“อ้อยและมันฝรั่งที่มีราคาดี แต่ปัจจุบันยังมีปริมาณไม่เพียงพอ ผลผลิตออกมาเท่าใดก็ใช้หมด ขณะที่ความต้องการพาชเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น 10% ทุกปี ทั้งการผลิตน้ำตาล เอทานอล และใช้บริโภค”

นอกจากนั้น ที่ประชุมยังย้ำถึงความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตน้ำตาล โดยไทยสามารถขยายการส่งออกให้ทันกับการเติบโตของตลาดโดยเฉพาะในตลาดเอเซีย ซึ่งตามโครงสร้างต้นทุนน้ำตาลไทยกับบราซิลซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกนั้น ปัจจุบันไทยมียอดส่งออกน้ำตาลรวม 7.54 ล้านตัน มีส่วนแบ่งตลาด 26 % ส่วนบราซิลมี 24 ล้านตัน มีส่วนแบ่งตลาด 44 % แสดงให้เห็นว่าไทยมีส่วนแบ่งการตลาดคงที่ จึงต้องหาวิธีเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดอ้อยเพิ่มขึ้น

หากไทยต้องการเพิ่มส่วนแบ่งตลาดน้ำตาลให้เพิ่มขึ้นเป็น 28% ในปี 2564 จะต้องเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกอ้อยให้ได้ 20.6 ล้านไร่ จากปัจจุบันที่มี 10 ล้านไร่ ขณะเดียวกันหากส่งเสริมการปลูกอ้อยมากขึ้นำถือว่ามีความเสี่ยงน้อยกว่าปลูกข้าว เพราะราคายังอยู่ในระดับสูง เห็นได้จากกรณีการวิเคราะห์ราคาอ้อยต่ำสุดที่ 650 บาทต่อตันก็ยังมีกำไร แต่ปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีมาตรการส่งเสริมผลผลิตต่อไร่ให้เพิ่มถึง 12 ตันต่อไร่ จากปัจจุบันผลิตได้เพียง 10 ตันต่อไร่ เพื่อลดความผันผวนด้านราคาด้วย

ทั้งนี้ ที่ประชุมยังรับทราบความคืบหน้าการจัดทำแผนที่และการบริหารจัดการโซนนิ่งภาคเกษตร ล่าสุดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังอยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียด คาดว่าจะเสร็จสิ้นเร็วๆนี้ โดยเฉพาะการจัดต้องหน่วยงานกลางเพื่อจัดทำแผนที่กลางของประเทศ จากนั้นจึงสามารถรับทราบได้ว่า จะมีแผนส่งเสริมการปลูกพืชให้ได้ประโยชน์ และสร้างรายได้เพิ่มอย่างไรบ้าง

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 21 ตุลาคม 2556

“อาเซียน”เล็งทำข้อตกลงร่วมจีน “พณ.”ได้ทีเร่งขายสินค้าเกษตร

นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 21-26 ตุลาคมนี้ จะไปประชุมร่วมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนโรดโชว์ (AEM Roadshow) ที่ฮ่องกง นครเฉิงตู มหานครเซี่ยงไฮ้ และกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เพื่อเดินสายทำความรู้จักกับประเทศคู่ค้าเพื่อแสดงศักยภาพของอาเซียนที่กำลังจะเป็นประชาคมอาเซียน (AEC) และสร้างเครือข่ายทำความรู้จักกับภาครัฐและเอกชนของทั้งสองฝ่ายในการเพิ่มโอกาสทางการค้า การลงทุนระหว่างกัน รวมทั้งฉลองครบรอบ 10 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-จีนด้วย

นายนิวัฒน์ธำรง กล่าวว่า นอกจากนี้จะหารือการจัดทำข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ฮ่องกงและการยกระดับกรอบความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน ให้ทันสมัยและสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน พบปะผู้บริหารของมณฑลและผู้บริหารของภาคเอกชนสำคัญในเมืองต่างๆ ด้วย โดยมองว่าจีนจะก้าวมาเป็นมหาอำนาจอันดับ 1 ของโลกภายในปีนี้ เพราะมีจุดแข็งในด้านการเมืองที่มั่นคง ตลาดขนาดใหญ่ มีแรงงานมาก และมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย และจะใช้โอกาสนี้ในการหารือการขายข้าว และสินค้าเกษตรกับกระทรวงพาณิชย์ของจีน และผู้นำเข้าข้าวไทยรวมถึงประเทศอื่นๆ

จากhttp://www.matichon.co.th วันที่ 21 ตุลาคม 2556

เดินหน้าพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ - ทิศทางเกษตร

นายสุวัฒน์ เทพอารักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) เปิดเผยว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสละความสุขส่วนพระองค์ บำเพ็ญพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่นานัปการ เพื่อความสุขของปวงชนชาวไทย โดยมิได้ทรงเห็นแก่ความเหนื่อยยาก หรือลำบากพระวรกาย และจากการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในท้องถิ่นทุรกันดารด้วยพระองค์เองและทรงพบว่า หนึ่งในปัญหาสำคัญที่สร้างความเดือดร้อนทุกข์ยากให้กับราษฎร ในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ คือ ปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และการเกษตร จึงได้พระราชทานพระราชดำริในการพัฒนาแหล่งน้ำ ศึกษาวางแผน และก่อสร้างโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อช่วยให้ราษฎรได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกหรือการชลประทาน นับเป็นงานที่มีความสำคัญและมีประโยชน์อย่างมากสำหรับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ในการช่วยให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกได้อย่างสมบูรณ์ตลอดปี โดยเฉพาะพื้นที่การเพาะปลูกนอกเขตชลประทาน ซึ่งต้องอาศัยเพียงน้ำฝนและน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติเป็นหลัก ทำให้พืชได้รับน้ำไม่สม่ำเสมอตามที่ต้องการ อีกทั้งความผันแปรเนื่องจากฝนตกไม่พอเหมาะกับความต้องการ เป็นผลให้ผลผลิตที่ได้รับไม่ดีเท่าที่ควร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสนพระราชหฤทัยเกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำมากกว่าโครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริประเภทอื่น ทรงให้ความสำคัญกับน้ำดังพระราชดำริความว่า “น้ำคือชีวิต”

“สำนักงาน กปร. ได้สนองพระราชดำริและน้อมนำพระราชดำริด้านการพัฒนาแหล่งน้ำมาดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 จวบจนปัจจุบันโดยได้ให้การสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านการพัฒนาแหล่งน้ำรวมทั้งสิ้นกว่า 2,900 โครงการ และเพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพ มีการบริหารจัดการที่ดี

มีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและประชาชน อันจะส่งผลถึงประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดทั้งต่อตนเอง ชุมชน สังคมและประเทศชาติอย่างยั่งยืน สำนักงาน กปร. จึงร่วมกับกรมชลประทานจัดให้มีการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในปี 2556 ขึ้น” นายสุวัฒน์ กล่าว

ทั้งนี้จะมีการจัดขึ้นจำนวน 4 ครั้งในแต่ละภูมิภาคและครั้งที่ 1 จัดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ ณ ห้องประชุมจุติ โรงแรมหรรษา เจบี อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เมื่อวันพุธที่ 4 กันยายน 2556 ที่ผ่านมา โดยมีนายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน ร่วมการสัมมนาและชี้แจงเกี่ยวกับนโยบายกรมชล ประทานที่เกี่ยวข้องกับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีการระดมความคิดเห็น และสร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างผู้ปฏิบัติทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคของหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง คือ สำนักงาน กปร. และกรมชลประทาน กับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง พร้อมหาแนวทางและหลักเกณฑ์ในการบริหารจัดการ ตั้งแต่ก่อนดำเนินการ ระหว่างดำเนินการ และหลังดำเนินการก่อสร้าง เพื่อให้ผลที่ได้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน

และครั้งที่ 2 จัดขึ้น ณ ห้องทิพย์วิมาน โรงแรมแกรนด์วิว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 15 ตุลาคม 2556 ที่ผ่านมา โดยในช่วงเช้าเป็นการบรรยายพิเศษโดยเลขาธิการ กปร. นายสุวัฒน์ เทพอารักษ์ พร้อมกับมอบนโยบายที่เกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จากนายทวี เต็มญาณศิลป์ ผู้ช่วยอธิบดีกรมชลประทาน (ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดสรรน้ำ) และประมาณปลายเดือนตุลาคมจะจัดขึ้นในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นครั้งที่ 3 พื้นที่จังหวัดขอนแก่น และครั้งที่ 4 พื้นที่ภาคกลาง ที่จังหวัดชลบุรี เป็นลำดับสุดท้าย

“การประชุมสัมมนาในครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน อันเป็นการสร้างบรรทัดฐานการปฏิบัติงานที่ดี และสามารถสนองพระราชดำริได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้ใช้น้ำ ชุมชน และทุกภาคส่วน ซึ่งสามารถขยายผลโดยยึดแนวทางจากต้นแบบการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ชัดเจน อีกทั้งจะเป็นแนวทางในการดำเนินงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดและยั่งยืนต่อไป” นายสุวัฒน์ เลขาธิการ กปร. กล่าว.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 19 ตุลาคม 2556

กระชับสัมพันธ์น้ำตาลไทย-อินเดีย

นายเชิดพงษ์ สิริวิชช์ ประธานกรรมการบริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด หรือ TSMC และหัวหน้าคณะผู้แทนอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายของไทย พร้อมนาย Shri M. Srinivaasan นายกสมาคมโรงงานน้ำตาลอินเดีย ร่วมงาน Asian Sugar Dinner ครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นงานที่จัดขึ้นโดยสมาคมโรงงานน้ำตาลทรายอินเดีย (ISMA) และบริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด เพื่อกระชับความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้ผลิตน้ำตาลทรายของทั้ง 2 ประเทศ ณ โรงแรม Oberoi นครนิวเดลี ประเทศอินเดีย

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 18 ตุลาคม 2556

'เทคโนโลยี-งานวิจัย'ตัวช่วยอุตฯยุคใหม่

เปิดหูเปิดตาอาเซียน : 'เทคโนโลยี-งานวิจัย' ตัวช่วยอุตสาหกรรมยุคใหม่

เมื่อประเทศคู่แข่ง โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน ต่างเร่งพัฒนาเทคโนโลยีในภาคอุตสาหกรรมของตน เพื่อยกระดับเศรษฐกิจและเตรียมตัวพร้อมรับกับกระแสการเปลี่ยนแปลงทุกด้านที่กำลังจะเกิดขึ้นในโลกอนาคต แน่นอนว่าอุตสาหกรรมของไทยก็ต้องเตรียมความพร้อมด้วยการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยที่มีอยู่ โดยจากเวทีสัมมนา OIE Forum 2556 Next Generation of Thai Industry “อุตสาหกรรมยุคใหม่” ก้าวที่ท้าทายสู่อนาคต ของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ทั้งภาครัฐและเอกชนมีความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า อุตสาหกรรมยุคใหม่ที่สามารถอยู่รอดได้จำเป็นต้องเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน มีการนำเทคโนโลยีนวัตกรรม และงานวิจัยเข้ามาเป็นตัวช่วย

นายสมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กล่าวว่า อุตสาหกรรมยุคใหม่ที่สามารถอยู่รอดได้ในอนาคต จำเป็นต้องตอบโจทย์ 3 ด้านนี้ให้ได้ คือ 1.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ท่ามกลางตลาดมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น และเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น ซึ่งทุกอุตสาหกรรมไทยมีโอกาสในการแข่งขัน เพียงแต่ต้องเลือกเวทีการค้าและสินค้าให้ตรงกับความต้องการ โดยการสร้างความร่วมมือให้แข็งแกร่ง ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ รวมทั้งการนำเทคโนโลยีนวัตกรรมเข้ามาตอบโจทย์ด้วย

2.ประเด็นระดับนานาชาติ (Global) เช่น แรงงานในภาคอุตสาหกรรม ต้องสามารถข้ามเงื่อนไขของกฎระเบียบและมาตรฐานสากลได้ และ 3.ประเด็นระดับท้องถิ่น (Local) คือการที่ภาคอุตสาหกรรมต้องอยู่ร่วมกับสังคมให้ได้ โดยอาศัยเครื่องมือ เช่น การทำกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) หรือการพัฒนาไปสู่ Green industry ซึ่งจะสามารถลดต้นทุนและความสูญเสีย และนำไปสู่การแข่งขันที่ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ทันกับประเทศอื่นๆ ที่พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ขึ้นมาจำนวนมาก ซึ่งเทคโนโลยีถือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมให้เดินไปข้างหน้า โดย รศ.ดร.วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ หรือ MTEC กล่าวว่า สิ่งสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมให้ยั่งยืน คือ การพูดคุยกันเพื่อสร้างความไว้วางใจ และนำไปสู่ความร่วมมือของทุกฝ่าย แต่อุตสาหกรรมจะขาดความมั่นคง ถ้าไม่มีเทคโนโลยี และเทคโนโลยีจะไม่มีความหมาย ถ้าอุตสาหกรรมไม่นำไปใช้

ดังนั้น อุตสาหกรรมกับวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีจะต้องก้าวไปด้วยกัน และต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงสู่อุตสาหกรรมยุคใหม่ ปัจจุบันเรามีแหล่งข้อมูลเชิงลึกมากมายด้านอุตสาหกรรม ทั้งจาก สศอ. และสถาบันเฉพาะทาง รวมถึงคลังข้อมูลงานวิจัย 6ส 1ว ซึ่งเป็นการบูรณาการหน่วยงานวิจัยของประเทศ เพื่อลดความซ้ำซ้อน และต่อยอดงานวิจัยให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งแหล่งข้อมูลต่างๆ เหล่านี้จะสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการในการพัฒนาอุตสาหกรรมได้

รศ.ดร.วีระศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในอนาคตเทคโนโลยีชีวภาพจะเข้ามามีบทบาทเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการพัฒนาต่อยอดงานวิจัยด้านเทคโนโลยีไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ สำหรับภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี จำเป็นต้องมีความพร้อมทั้งด้านบุคลากรและห้องทดสอบ ซึ่งทาง MTEC มีห้องทดสอบ เพื่อให้บริการทดสอบและวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ ตามโจทย์ที่ภาคเอกชนกำหนดว่าต้องการจะผลิตสินค้าใด โดยจะช่วยแก้ปัญหาและทำวิจัยและพัฒนา (R&D) ร่วมกับภาคเอกชน

ด้าน รศ.ดร.สนอง เอกสิทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวัสดุ ศูนย์นวัตกรรมนาโนเทคโนโลยี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การพูดคุยกันระหว่างนักวิจัยและผู้ประกอบการเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพื่อให้นักวิจัยเข้าใจความต้องการของผู้ประกอบการที่ชัดเจน และพัฒนาเทคโนโลยีตรงกับความต้องการนั้น อย่างไรก็ตาม ระบบมหาวิทยาลัยไทยมีข้อจำกัด ทำให้ไม่สามารถทำงานวิจัยเชิงรุกหรือเชิงพาณิชย์ได้อย่างเต็มตัว จึงทำได้เฉพาะงานวิจัยพื้นฐานที่อาจไม่ตรงตามความต้องการของภาคเอกชน

ในอนาคตเทคโนโลยีนาโนจะเป็นกระแสที่มาแรงในวงการอุตสาหกรรม เนื่องจากสามารถนำมาประยุกต์ใช้ผลิตสินค้าได้หลากหลาย เช่น เสื้อผ้า ยาสีฟัน เครื่องใช้ไฟฟ้า โดยประเทศผู้นำด้านเทคโนโลยีนาโน ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี จีน เกาหลี ญี่ปุ่น แต่วัสดุที่ทำจากเทคโนโลยีนาโนมีราคาแพงมาก หากนำเข้ามาใช้ในประเทศจะสูญเสียเงินตราต่างประเทศ จึงต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวขึ้นมา ซึ่งปัจจุบันไทยสามารถพัฒนาไปถึงขั้นการปรับปรุงขนาดรูปร่างและสีของวัสดุนาโนได้แล้ว และสามารถควบคุมคุณสมบัติให้เหมาะสมกับการนำไปพัฒนาสินค้า

ด้านนายพรชัย หอมชื่น ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ บริษัท บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด (มหาชน) ให้มุมมองในฐานะภาคเอกชนว่า ภาครัฐควรมีนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ชัดเจน และบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน เช่น กระทรวงอุตสาหกรรมดูแลเรื่องการผลิต กระทรวงพาณิชย์ดูแลเรื่องตลาด และกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เข้ามาช่วยเพิ่มศักยภาพการผลิต ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์กับภาคเอกชน

อย่างไรก็ตาม การลงทุนทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้นั้น จำเป็นต้องทราบข้อมูลด้านตลาดก่อน ซึ่งผู้ซื้อบรรจุภัณฑ์ คือ ร้านค้า ไม่ใช่ผู้บริโภคคนสุดท้าย ดังนั้น บริษัทจึงมุ่งไปที่ตลาด โมเดิร์นเทรด และเมื่อทราบตลาดที่ชัดเจนแล้ว จึงเชื่อมโยงองค์ความรู้ที่มีอยู่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ วิเคราะห์ความเป็นไปได้ และจัดหาแหล่งเงินทุนต่อไป

"อุตสาหกรรมไทยจำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยี นวัตกรรม และองค์ความรู้ต่างๆ เพื่อพัฒนาต่อไปได้อย่างยั่งยืน และสิ่งสำคัญคือ การปรับความคิดของนักวิจัยและความต้องการของผู้ประกอบการให้ตรงกัน เพื่อสร้างผลงานวิจัยที่ตอบโจทย์ความต้องการและสามารถต่อยอดไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ของอุตสาหกรรมยุคใหม่ได้"

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 18 ตุลาคม 2556

วาง4ยุทธศาสตร์พัฒนา“ลุ่มน้ำหมัน” เกษตรเดินหน้าร่างแผนยุทธศาสตร์ต่อยอด“รักษ์น้ำเพื่อแม่ของแผ่นดิน”

นายชลิต ดำรงศักดิ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริหารและกำกับดูแลโครงการ “รักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน” ได้รับรายงานจากสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ถึงผลการดำเนินงานโครงการ “รักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน” ประจำปีงบประมาณ 2556 โดยจำแนกเป็น 4 ยุทธศาสตร์ คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจากผลการดำเนินงาน ทำให้มีการจัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำเพิ่มขึ้นในทุกลุ่มน้ำโดยเฉลี่ยลุ่มน้ำละประมาณ 1,000 ไร่ มีการปรับปรุงบำรุงดินโดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์ และมีการแก้ไขปัญหาดินเป็นกรดในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่คำ จ.เชียงราย และลุ่มน้ำขุนน่าน จ.น่าน รวมพื้นที่ 455 ไร่ และส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ประมาณ 420 ไร่ เพื่อลดการพังทลายของดิน ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาและส่งเสริมอาชีพเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ในการดำรงชีวิต โดยผลการดำเนินงานมีเกษตรกรทั้งหมด 3,879 ราย ได้รับการส่งเสริมด้านการผลิตในภาคการเกษตร และนอกภาคการเกษตร ส่วนการผลิตข้าวจะเน้นการเพิ่มศักยภาพการเพิ่มผลผลิตให้เพียงพอกับการบริโภค

ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาคน และพัฒนาคุณภาพชีวิตของคน โดยการจัดบริการสังคมพื้นฐานทั้งด้านการศึกษา สาธารณสุขและสวัสดิการสังคม พัฒนาสุขอนามัย พัฒนาผู้สูงอายุ และป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชนพื้นที่ลุ่มน้ำ สนับสนุนการรวมกลุ่มอาชีพและพัฒนาไปสู่ระบบสหกรณ์ ซึ่งจากการดำเนินงานด้านสาธารณสุข และด้านพัฒนาสังคมได้ทำให้ชุมชนสามารถเข้าถึงบริการพื้นฐานได้มากขึ้น ตลอดจนมีการจัดตั้งกลุ่มอาชีพเพิ่มขึ้นและส่งเสริมการจัดทำบัญชีต้นทุนอาชีพแก่เกษตรกร ซึ่งทำให้กลุ่มเกษตรกรมีความเข้มแข็ง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ยุทธศาสตร์ที่ 4 การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ ซึ่งจากการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ทำให้เกิดการขับเคลื่อนโครงการที่มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการมากยิ่งขึ้น การดำเนินงานแบบบูรณาการมีการปรับปรุงระบบการทำงานให้รวดเร็ว รวมถึงมีการประชาสัมพันธ์โครงการอย่างต่อเนื่อง โดยมีสำนักงานเกษตรและสหกรณ์เป็นศูนย์กลางในการประสานงาน อย่างไรก็ตาม ยังขาดข้อมูลด้านสารสนเทศในการบริหารจัดการบางประการ ซึ่งจะได้ดำเนินการในปีงบประมาณ 2557 ต่อไป

ทั้งนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณาแผนปฏิบัติการโครงการ “รักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน” ปี 2557 โดยให้แต่ละหน่วยงานจัดทำแผนปฏิบัติงานประจำปีงบประมาณ 2557 และให้ฝ่ายเลขานุการทำการรวบรวมก่อนจัดประชุมสัมมนาจัดทำแผนปฏิบัติการ ในเดือนพฤศจิกายน 2556 นอกจากนี้ ยังได้พิจารณาร่างแผนแม่บทโครงการ “รักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน” พ.ศ. 2558-2559 ลุ่มน้ำหมัน ตำบลกกสะทอน อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ตามที่ได้มีมติเห็นชอบให้ขยายพื้นที่ดำเนินงาน ซึ่งประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนา และส่งเสริมอาชีพเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ในการดำรงชีวิต ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาคน และพัฒนาคุณภาพชีวิตของคน และยุทธศาสตร์ที่ 4 การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ ซึ่งจะได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเพื่อขยายพื้นที่ต่อไป

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 18 ตุลาคม 2556

วางแผนบริหารน้ำ อ่างห้วยหลวงอุดร เน้น3กิจกรรมหลักเพาะปลูก-บริโภค

นายธนกิจ นิ่มวิญญา ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยหลวง จ.อุดรธานี เปิดเผยว่า ระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยหลวง ในปัจจุบันอยู่ที่ 91.64 ล้านลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 67.59 ซึ่งในการบริหารจัดการน้ำ จะดำเนินการตามแผนที่ได้วางไว้กรณีที่ฝนเริ่มทิ้งช่วงในเวลาเดียวกับที่ข้าวนาปีตั้งท้อง ออกรวง และบางแห่งอยู่ระหว่างการเก็บเกี่ยว โครงการฯ ห้วยหลวงจะส่งน้ำเพื่อช่วยข้าวนาปีจำนวน 10 ล้านลบ.ม. เพื่อช่วยให้ต้นข้าวที่กำลังตั้งท้อง ออกรวงได้น้ำอย่างทั่วถึง ได้เมล็ดดี มีน้ำหนัก คาดว่าจะช่วยพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีได้ประมาณ 88,000 ไร่ โดยจะเริ่มส่งน้ำให้ระหว่างวันที่ 15 -31 ตุลาคม 2556

“คาดการณ์ไว้ว่า ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 จะมีน้ำต้นทุนในอ่างฯประมาณ 80 ล้านลบ.ม. ซึ่งจะต้องนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมคณะกรรมการจัดการน้ำชลประทาน ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีเป็นประธานว่าจะมีแนวทางการใช้น้ำอย่างไร โดยกิจกรรมที่จำเป็นต้องใช้น้ำจำนวนดังกล่าวมี 3 กิจกรรมหลัก คือ 1.สำหรับการปลูกพืชฤดูแล้ง จำนวน 25 ล้านลบ.ม. คาดว่าจะส่งได้ราว 15,000 ไร่ โดยจะเริ่มส่งให้ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2556 – 15 เมษายน 2557 กิจกรรมที่ 2 การใช้น้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และอุตสาหกรรม จำนวน 20 ล้านลบ.ม. ซึ่งเริ่มส่งให้แล้วและจะไปสิ้นสุดวันที่ 30 เมษายน” และกิจกรรมสุดท้ายคือใช้น้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศน์บริเวณหนองประจักษ์ในเขตเทศบาลเมืองอุดรธานี จำนวน 2 ล้านลบ.ม.” นายธนกิจ กล่าว

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 18 ตุลาคม 2556

ขยายผลสำเร็จศูนย์ศึกษาฯ สู่ราษฎรทั่วประเทศ - เกษตรทั่วไทย

นายสุวัฒน์ เทพอารักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครง การอันเนื่องมาจากพระราชดําริ (สำนักงาน กปร.) เปิดเผยว่า สำนักงาน กปร. ได้ร่วมกับสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย กรมการปกครอง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย จัดทำโครงการขยายผล ผลสำเร็จในการศึกษาทดลองของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั้ง 6 แห่งทั่วประเทศสู่ราษฎร

โดยได้มีการประชุมสัญจรเจ้าหน้าที่จากส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อหาแนวทางในการดำเนินโครง การ โดยให้ทุกจังหวัดทำการคัดเลือกราษฎรจังหวัดละ 100 คน เข้ามาศึกษา ดูงาน พร้อมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ในสาขาอาชีพต่าง ๆ ที่ราษฎรสนใจ โดยใช้เวลา 3 วัน 3 คืน พร้อมมอบปัจจัยการผลิตเบื้องต้นให้ทุกคนนำไปดำเนินการ โดยราษฎรไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ใด ๆ ทั้งสิ้น

ซึ่งราษฎรที่เข้าศึกษาอบรมจะใช้ชีวิตร่วมกันภายในศูนย์ศึกษาฯ ซึ่งนอกเหนือจะทำให้ได้รับความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในสาขาอาชีพที่แต่ละคนสนใจเพื่อนำไปเป็นแนวทางในการดำเนินการในพื้นที่ของตนเองได้แล้วยังจะก่อเกิดเครือข่ายระหว่างเกษตรกรด้วยกันเอง เพื่อจะได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการทำการผลิตในวันข้างหน้า ตลอดถึงการศึกษาดูงานระหว่างกัน ด้วยแต่ละคนอาจจะมีความสามารถที่เป็นการเฉพาะตัวที่แตกต่างกัน จะได้มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้อย่างต่อเนื่อง ตลอดถึงการนำราษฎรรายอื่น ๆ ในชุมชนที่สนใจในแขนงอาชีพอื่น ๆ นอกเหนือจากที่ชุมชนมีแล้วแต่ชุมชนอื่นมิได้มีการติดต่อเพื่อศึกษาดูงานซึ่งกันและกันต่อไป โดยโครงการนี้จะเริ่มดำเนินการในเดือนตุลาคม 2556 นี้ในพื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั้ง 6 แห่งทั่วประเทศ

“จะมีการสร้างเครือข่ายเพื่อการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในด้านการผลิตของราษฎรโดยทั้ง 100 คน ในแต่ละจังหวัดจะขยายผลสำเร็จที่ตนดำเนินการไปยังเพื่อนบ้าน และชุมชนใกล้เคียงต่อไป ขณะเดียวกันก็จะมีกระบวนการติดตามผลการดำเนินงานจากเจ้าหน้าที่ในแต่ละสาขาอาชีพจากศูนย์ศึกษาฯ เข้าไปดูแลและสนับสนุน รวมถึงช่วยเหลือเพื่อแก้ไขปัญหาหากมีข้อติดขัดเกิดความผิดพลาดคลาดเคลื่อนขึ้นมาในการประกอบอาชีพ ทั้งนี้ก็เพื่อให้มั่นใจได้ว่าทั้ง 100 คน ของแต่ละจังหวัดนั้นจะสามารถก้าวไปสู่การเป็นฐานสำคัญในการขยายความสำเร็จจากศูนย์ศึกษาฯ ไปยังพี่น้องประชาชนทั่วประเทศต่อไป” เลขาธิการ กปร. กล่าว

นายสุวัฒน์ เทพอารักษ์ เปิดเผยเพิ่มเติมด้วยว่า การดำเนินงานในโครงการนี้นับเป็นการขยายผลการศึกษาทดลองที่ประสบความสำเร็จแล้วของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั้ง 6 ศูนย์ ทั่วประเทศ ซึ่งมีมากมายหลายสาขาอาชีพ อาทิ การเพาะเห็ดเชิงพาณิชย์ การเลี้ยงกบนาเพื่อการส่งออก การแปรรูปผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำทะเลเพื่อการบริโภคอย่างถูกสุขอนามัย การเลี้ยงไก่ดำ การปลูกมะนาวนอกฤดูในวงบ่อ ตลอดถึงการปรับปรุงบำรุงดินที่เสื่อมโทรมให้สามารถทำการเพาะปลูกพืชอาหารชนิดต่าง ๆ ได้ ไปสู่ราษฎรได้อย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 18 ตุลาคม 2556

'ส.ป.ก.'มุ่งผลิตสินค้าคุณภาพรับค้าเสรี

แม้ในปัจจุบันรัฐบาลจะพยายามสร้างความมั่นคงให้อาชีพเกษตรกรของไทย โดยการแก้ปัญหาด้วยวิธีต่างๆ ทั้งการประกันราคาพืชผลทางการเกษตร ช่วยเหลือปัจจัยการผลิต ให้ความรู้เพื่อพัฒนาตัวเกษตรกร รวมถึงการส่งเสริมเกษตรกรเข้าสู่ระบบการผลิตที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน ทว่ายังมีปัญหาที่สำคัญอีกประการที่เกษตรกรไทยยังคงต้องเผชิญและรอการแก้ไขอย่างเร่งด่วน นั่นคือ ปัญหาการไร้ที่ดินทำกินเป็นของตนเองในการประกอบอาชีพ

สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่เข้ามาทำหน้าที่ในการจัดสรรที่ดินของรัฐและเอกชนเพื่อกระจายสิทธิ์การเข้าทำประโยชน์ในที่ดินเพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรมให้แก่เกษตรกรและผู้ไร้ที่ดินทำกิน ที่ผ่านมามีการจัดสรรที่ดินของรัฐไปแล้วกว่า 34 ล้านไร่ และมีเกษตรกรที่ได้รับการจัดสรรที่ดินไปแล้วกว่า 2.6 ล้านราย

สมปอง อินทร์ทอง รองเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เปิดเผยว่าปัจจุบัน ส.ป.ก.มีที่ดินอยู่ 2 ประเภทที่ดำเนินการอยู่ คือ ที่ดินของรัฐและที่ดินของเอกชน ในส่วนที่ดินของรัฐ ส.ป.ก.ได้ให้สิทธิ์แก่เกษตรกรและผู้ยากไร้ที่ดินทำกินในการเข้ามาใช้ประโยชน์ตามกฎหมาย ส่วนที่ดินของเอกชน ส.ป.ก. ได้มุ่งเน้นที่การจัดหาที่ดินด้วยการจัดซื้อที่ดินจากเอกชน โดยใช้เงินกองทุนเป็นส่วนสนับสนุน ปัจจุบันนี้ยังมีเกษตรกรที่รอความหวัง และต้องการมีที่ดินทำกินเป็นของตนเองอีก 3.7 แสนราย คาดว่าภายในระยะเวลาไม่กี่ปี ส.ป.ก.น่าจะดำเนินการจัดสรรที่ดินให้ได้เรียบร้อย

หลังจากที่ได้จัดสรรที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกรแล้ว ส.ป.ก.ยังเข้ามาดูแลพื้นที่ ทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาที่ดิน แหล่งน้ำ และปัจจัยการผลิต รวมทั้งการพัฒนาตัวเกษตรกร ในเรื่องของความรู้ความสามารถ ทักษะ และประสบการณ์ของการทำอาชีพเกษตรกร เพื่อให้การประกอบอาชีพเกษตรกรรมมีความมั่นคง และมีรายได้เพียงพอกับการดำเนินชีวิต โดยทำควบคู่กับหน่วยงานอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมการเกษตร เป็นต้น

"สำหรับปัญหาที่ดินทำกินที่ยังพบอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ ปัญหาผู้ไร้ที่ดินทำกิน ซึ่งมีอยู่ประมาณ 3.7 แสนราย ส.ป.ก.ยังคงทำหน้าที่จัดหาที่ดินให้ ปัญหาของผู้ที่มีที่ดินทำกินแล้ว แต่ยังมีการใช้ประโยชน์ที่ดินไม่มีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาทักษะและองค์ความรู้ด้านการจัดการอย่างต่อเนื่อง ปัญหาการบุกรุกที่ดินทำกินของรัฐ และการกระจายสิทธิ์ที่ดินที่ไม่เป็นธรรม บางรายถือครองที่ดินเป็นจำนวนมาก ส.ป.ก. ต้องเข้าไปเจรจาเพื่อจัดซื้อที่ดินมากระจายสิทธิ์ให้ผู้ไร้ที่ดินทำกิน ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ล้วนเป็นปัญหาหลักๆ ในเรื่องที่ดินทำกินของคนไทยที่ยังดำรงอยู่ ซึ่งหน่วยงานภาครัฐหลายส่วนได้พยายามดำเนินการแก้ปัญหาอยู่อย่างต่อเนื่อง"

รองเลขาธิการกล่าวอีกว่า สำหรับปัญหาเร่งด่วนที่ ส.ป.ก.ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน เรื่องแรกคือ การจัดซื้อจากภาคเอกชน โดยมีการแก้ไขกฎหมายบางมาตรา เพื่อให้ ส.ป.ก.ได้เข้าไปจัดซื้อที่ดินได้ และการจัดสรรที่ดินของรัฐใหม่ ด้วยการตรวจสอบที่ดินที่จัดสรรไปก่อนหน้านี้ที่นำไปใช้ประโยชน์ผิดวัตถุประสงค์ ผิดประเภท เพื่อนำมาจัดสรรให้ผู้ไร้ที่ดินทำกินรายใหม่ รวมทั้งการพัฒนาเกษตรกร และการพัฒนาพื้นที่ ตามนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งการโซนนิ่งพื้นที่การเกษตรทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น พื้นที่เพาะปลูกพืช พื้นที่สำหรับการเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น

"ขณะนี้ ส.ป.ก.เพิ่งได้รับการรับรองจากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ให้สามารถตรวจสอบและรับรองมาตรฐานจีเอพี ให้แก่เกษตรกรได้ ในกลุ่มพืชประเภท อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และสับปะรด และเตรียมที่จะพัฒนาไปยังพืชเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น ข้าว และผัก ด้วย" สมปองกล่าวและว่า

ทั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมและขยายศักยภาพทางด้านการผลิตสินค้าเกษตรในพื้นที่ต่างๆ ให้มีมาตรฐานมากขึ้นรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ที่จะมีการเปิดเสรีในกลุ่มสินค้าเกษตร ซึ่งเกษตรกรไทยจำเป็นต้องปรับมาตรฐานการผลิตของตนเองให้มีคุณภาพและมีความปลอดภัย ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในตลาดสากล เพื่อสร้างความมั่นคงในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมของคนไทยให้ยั่งยืนต่อไปนั่นเอง

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 17 ตุลาคม 2556

ชาวไร่อ้อยช้ำกอน.เล็งหั่นราคา

ชาวไร่อ้อยช้ำ กอน. เตรียมลดราคาอ้อนขั้นต้นเหตุบาทอ่อน เชื่อชาวไร่ไม่เห็นด้วย วอนรอราคาขั้นปลายจะสูงกว่านี้

นายสมศักดิ์ สุวัฒิกะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) เปิดเผยว่า ภายในเดือน ต.ค. นี้คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.) จะพิจารณาราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิต 56 /57 ได้ ซึ่งเบื้องต้นสอน.พิจารณาราคาไว้ระหว่าง 860-900 บาทต่อตันอ้อย ต่ำกว่าปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 950 บาทต่อตันอ้อย เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนอ่อนค่าลงมาอยู่ที่ 31.5 – 32 ดอลลาร์สหรัฐ จากปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 30 – 31 ดอลลาร์สหรัฐ โดยจะประกาศให้ได้ภายในเดือนต.ค.นี้ เนื่องจากนายกรัฐมนตรี เร่งรัดให้กำหนดราคาตามกรอบที่วางไว้คือ เดือนต.ค.ของทุกปี

“ ราคาอ้อยขั้นต้นดังกล่าวคำนวณจาก 2 ปัจจัยหลักคือ ราคาตลาดโลกที่ปัจจุบันอยู่ที่ 18.5 และอัตราแลกเปลี่ยนที่ค่อนข้างอ่อนค่าอยู่ที่ 31.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ขณะที่ค่าความหวานคำนวณเฉลี่ยอยู่ที่ 10 ซีซีเอส และผลผลิตต่อไร่(ยิว)10.5-10.8 ตันต่อไร่ โดยปีนี้คาดว่าปริมาณอ้อยทั้งปีจะอยู่ที่ 110 ล้านตันอ้อย เพิ่มขึ้นจากฤดูการผลิต 55-56 ที่ผลผลิตรวมอยู่ที่ 100
ล้านตันอ้อย และเชื่อว่า ราคาอ้อยขั้นต้นปีนี้น้อยกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ 950 บาทต่อตันอ้อย เชื่อว่า ชาวไร่อ้อยคงไม่เห็นด้วย เพราะคำนวณต้นทุนแล้วอยู่ที่ประมาณ 1,060-1,070 บาทต่อตันอ้อย แต่อยากให้เข้าใจเพราะการคำนวณราคาขั้นต้นต่ำกว่าต้นทุนอยู่แล้วเชื่อว่าจากแนวโน้มหลังจากนี้ราคาขั้นปลายจะสูงกว่านี้ จนชาวไร่คุ้มทุนแน่นอน"

สำหรับกรณีการขอเงินเพิ่มค่าอ้อยโดยวิธีการกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เชื่อว่า ชาวไร่อ้อยคงเรียกร้องตามปกติ เพราะที่ผ่านมาเคยได้รับเงินเพิ่ม เช่นปีที่ผ่านมาได้เงินเพิ่มค่าอ้อยอยู่ที่ 160 บาทต่อตันอ้อย คิดเป็นวงเงินกู้รวม 16,000 ล้านบาท แต่ในส่วนของสอน.ไม่เห็นด้วย เพราะปัจจุบันกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย(กท.)ยังมีหนี้เหลือค้างชำระอีก 8 เดือน ตั้งแต่พ.ย. 56 –มิ.ย. 57 ประมาณ 9,600 ล้านบาท หากมีหนี้เพิ่มจะทำให้ภาระการชำระหนี้ยาวออกไปอีก

"อีกเหตุผลที่ชาวไร่ต้องการกู้เงินคือ สถานะการเป็นหนี้จะทำให้อุตสาหกรรมน้ำตาลยังสามารถเรียกเก็บเงินเพิ่มน้ำตาล 5 บาทต่อกก.ต่อไปได้ ซึ่งประเด็นนี้รัฐบาลค่อข้างไม่เห็นด้วย เพราะเป็น

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2556

อ้อยไม่หวาน!งานเข้า

นายสมศักดิ์ สุวัฒิกะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า ภายในเดือน ต.ค.นี้ คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) จะสามารถเคาะราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิต 2556/2557 ได้ ซึ่งเบื้องต้นอยู่ระหว่าง 860-900 บาทต่อตันอ้อย ทั้งนี้ ราคาอ้อยขั้นต้นมาจาก 2 ปัจจัยหลักคือ ราคาตลาดโลกที่ปัจจุบันอยู่ที่ 18.5 เซนต์ต่อปอนด์ และค่าเงินบาทที่ 31.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ค่าความหวานเฉลี่ยอยู่ที่ 10 ซีซีเอส และผลผลิตต่อไร่ (ยิว) 10.5-10.8 ตันต่อไร่ โดยปีนี้คาดว่าปริมาณอ้อยทั้งปีจะอยู่ที่ 110 ล้านตันอ้อย เพิ่มขึ้นจากฤดูกาลที่แล้ว 100 ล้านตันอ้อย

“ราคาอ้อยขั้นต้นปีนี้น้อยกว่าปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ 950 บาทต่อตันอ้อย เชื่อว่าชาวไร่อ้อยคงไม่เห็นด้วย เพราะคำนวณต้นทุนแล้วอยู่ที่ประมาณ 1,060-1,070 บาทต่อตันอ้อย แต่อยากให้เข้าใจ เพราะการคำนวณราคาขั้นต้นต่ำกว่าต้นทุนอยู่แล้ว เชื่อว่าจากแนวโน้มหลังจากนี้ราคาขั้นปลายจะสูงกว่านี้ จนชาวไร่คุ้มทุนแน่นอน”

สำหรับกรณีการขอเงินเพิ่มค่าอ้อยโดยวิธีการกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สอน.ไม่เห็นด้วย เพราะกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) ยังมีหนี้เหลือค้างชำระอีก 8 เดือน 9,600 ล้านบาท หากมีหนี้เพิ่มจะทำให้ภาระการชำระหนี้ยาวออกไปอีก ขณะที่ชาวไร่เห็นว่าอุตสาหกรรมน้ำตาลยังสามารถเรียกเก็บเงินเพิ่มน้ำตาล 5 บาทต่อ กก.ต่อไปได้ ซึ่งประเด็นนี้รัฐบาลค่อนข้างไม่เห็นด้วย เพราะเป็นการโยนภาระให้ผู้บริโภค.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2556

รายงานพิเศษ : เปิดแนวทางขับเคลื่อนเมืองเกษตรสีเขียว “Green Agriculture City”

โครงการเมืองเกษตรสีเขียว หรือ Green Agriculture City เป็น 1 ใน 8 โครงการสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (Flagship Project) ในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ที่สอดคล้องกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประเทศของรัฐบาล เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันเมื่อเปิด AEC

นายสมโสถติ์ ดำเนินงาม ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า การจะขับเคลื่อนโครงการเมืองเกษตรสีเขียวได้นั้นต้องได้รับความร่วมมือ ร่วมใจในการสนับสนุนการดำเนินงานจากทุกภาคส่วน ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดรวม 11 หน่วยงาน ร่วมดำเนินโครงการดังกล่าว พร้อมกับแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายปฏิรูปภาคเกษตรกรรมและคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการสำคัญ “โครงการเมืองเกษตรสีเขียว” มีรองปลัดกระทรวงเกษตรฯ กลุ่มภารกิจด้านพัฒนาการผลิต เป็นประธาน และมอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตร เป็นเจ้าภาพหลัก วางแนวทางการขับเคลื่อนให้สอดคล้องตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด

ทั้งนี้ เพื่อพัฒนาจังหวัดที่มีศักยภาพและความโดดเด่นในการผลิตสินค้าเกษตรให้เป็นเมืองเกษตรสีเขียว ที่มีรูปแบบการผลิตสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับวัฒธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น สามารถส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรได้ โดยมีเป้าหมาย 6 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดเชียงใหม่ หนองคาย ศรีสะเกษ จันทบุรี ราชบุรี และพัทลุง

การขับเคลื่อนโครงการเมืองเกษตรสีเขียว เป็นความร่วมมือกันทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ฉะนั้นจำเป็นต้องมีการกำหนดวัตถุประสงค์ของแนวทางที่ชัดเจน ซึ่งในที่นี้ได้ตั้งเป้าไว้ว่าแนวทางการขับเคลื่อนฯ ต้องมุ่งสร้างความรู้ ความเข้าใจถึงวิธีการที่จะนำสาระสำคัญของโครงการดังกล่าวที่เป็นนามธรรม ไปแปลงสู่การปฏิบัติให้แก่หน่วยงานและภาคีการพัฒนาทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่หน่วยงานกำกับนโยบายของประเทศ คณะกรรมการที่ดูและการพัฒนาเฉพาะเรื่องไปจนถึงหน่วยงานระดับปฏิบัติการ ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนธุรกิจเอกชน ชุมชนต่างๆ และประชาชนผู้สนใจ โดยแต่ละหน่วยงานจะต้องนำประเด็นสำคัญของโครงการไปเชื่อมโยงเข้ากับแผนงานที่รับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นแผนแม่บท แผนยุทธศาสตร์ แผนพัฒนาของจังหวัด เพื่อนำไปขอจัดสรรงบประมาณและจัดทำแผนปฏิบัติการต่อไป พร้อมกันนั้น ต้องสร้างระบบการติดตามประเมินผลสำเร็จของการดำเนินงานตามโครงการที่เปิดโอกาสให้ทุกคนในสังคมเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเต็มที่

นายสมโสถติ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การแปลงแนวทางการขับเคลื่อนโครงการเมืองเกษตรสีเขียว ไปสู่การปฏิบัตินั้น มีอยู่ด้วยกันหลายแนวทางที่ความเชื่อมโยงกันของหลายหน่วยงาน เช่น การขับเคลื่อนโครงการเมืองเกษตรสีเขียวที่ไม่ได้หมายถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเรื่องเดียว แต่เกี่ยวพันกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการเกษตร การพัฒนาสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานที่ดีและเหมาะสม การเชื่อมโยงตลาดสินค้าเกษตรสีเขียว การผลิตและใช้พลังงานทดแทนในฟาร์ม การท่องเที่ยวเชิงเกษตรและวัฒนธรรม รวมทั้งการสร้างความตระหนักในการใช้สารเคมีทางการเกษตรที่ถูกต้อง เพื่อดูแลสุขภาพเกษตรกรและผู้บริโภคอย่างจริงจัง

โอกาสนี้ขอกล่าวถึงแนวทางการขับเคลื่อนโครงการเมืองเกษตรสีเขียวแต่เพียงอย่างเดียวก่อน ไว้คราวหน้า จะเจาะเข้าถึงประเด็นความสำคัญและความจำเป็นที่ต้องพัฒนาประเทศไทยไปสู่การเป็นเมืองเกษตรสีเขียวต่อไป

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2556

กอน.เชื่อได้ข้อสรุปเดือนนี้ถกราคาอ้อยขั้นต้นปี56/57

กอน.เตรียมประชุมสรุปราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2556/2557 ภายในเดือนนี้ สอน.ประเมินราคาน่าอยู่ที่ 950 บาทต่อตันอ้อย ขณะที่ผลผลิตคาดเกิน100 ล้านตันอ้อยแน่นอน

นายสมศักดิ์ สุวัฒิกะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) กล่าวว่าภายในเดือนนี้คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.)ที่มีนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน จะพิจารณาเคาะราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี2556/2557 ได้ เบื้องต้นสอน.ได้พิจารณาราคาไว้ระหว่าง 860-900 บาทต่อตันอ้อย โดยสอน.จะพยายามกำหนดราคาและประกาศให้ทันภายในเดือนนี้ เนื่องจากนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เร่งรัดให้การกำหนดราคาเสร็จตามกรอบที่วางไว้คือภายในเดือนต.ค.ของทุกปี ทั้งนี้ราคาอ้อยขั้นต้นดังกล่าวคำนวณจาก 2 ปัจจัยหลักคือ ราคาตลาดโลกที่ปัจจุบันอยู่ที่ 18.5 เซนต์ต่อปอนด์ และอัตราแลกเปลี่ยนที่ค่อนข้างอ่อนค่าอยู่ที่ 31.5 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ค่าความหวานคำนวณเฉลี่ยอยู่ที่ 10 ซีซีเอส และผลผลิตต่อไร่(ยิว)10.5-10.8 ตันต่อไร่ โดยปีนี้คาดว่าปริมาณอ้อยจะอยู่ที่ 110 ล้านตันอ้อย เพิ่มขึ้นจากฤดูการผลิตปี 2555-2556 ที่ผลผลิตรวมอยู่ที่ 100 ล้านตันอ้อย "ราคาอ้อยขั้นต้นปีนี้จะต่ำกว่าปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ 950 บาทต่อตันอ้อย เชื่อว่าชาวไร่อ้อยคงไม่เห็นด้วย เพราะคำนวณต้นทุนแล้วอยู่ที่ประมาณ 1,060-1,070 บาทต่อตันอ้อย แต่อยากให้เข้าใจเพราะการคำนวณราคาขั้นต้นต่ำกว่าต้นทุนอยู่แล้ว เชื่อว่าจากแนวโน้มหลังจากนี้ราคาขั้นปลายจะสูงกว่านี้ ซึ่งจะทำให้ชาวไร่คุ้มทุนแน่นอน" นายสมศักดิ์ กล่าว

ส่วนกรณีการขอเงินเพิ่มค่าอ้อย โดยวิธีการกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เชื่อว่าชาวไร่อ้อยคงเรียกร้องปกติ ที่ผ่านมาเคยได้รับเงินเพิ่มแล้ว โดยปีที่ผ่านมาได้เงินเพิ่มค่าอ้อยอยู่ที่ 160 บาทต่อตันอ้อย คิดเป็นวงเงินกู้รวม 16,000 ล้านบาท แต่ในส่วนของสอน.ไม่เห็นด้วย เพราะปัจจุบันกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย(กท.)ยังมีหนี้เหลือค้างชำระอีก 8 เดือน ราว 9,600 ล้านบาท หากมีหนี้เพิ่มจะทำให้ภาระการชำระหนี้ยาวออกไปอีก

"เหตุผลที่ชาวไร่ต้องการกู้เงินคือ สถานะการเป็นหนี้จะทำให้อุตสาหกรรมน้ำตาล ยังสามารถเรียกเก็บเงินเพิ่มจากน้ำตาล 5 บาทต่อกิโลกรัมต่อไปได้ ประเด็นนี้รัฐบาลไม่เห็นด้วย เพราะเป็นการผลักภาระให้กับผู้บริโภค ดังนั้นจึงอยู่ระหว่างศึกษาแนวทางใหม่ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย อาทิ การเก็บเงินจากน้ำตาลที่นำเข้ามาบริโภคในประเทศ"นายสมศักดิ์ กล่าว

จาก http://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2556

นายกรัฐมนตรี กำชับกระทรวงเกษตรฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการคัดเลือกเกษตรกรที่ต้องการเปลี่ยนอาชีพปลูกข้าวมาปลูกอ้อย โดยจะต้องเริ่มปลูกอ้อยในเดือนพฤศจิกายนนี้ เพื่อให้ได้อ้อยที่มีคุณภาพ

นายกรัฐมนตรี กำชับกระทรวงเกษตรฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการคัดเลือกเกษตรกรที่ต้องการเปลี่ยนอาชีพปลูกข้าวมาปลูกอ้อย โดยจะต้องเริ่มปลูกอ้อยในเดือนพฤศจิกายนนี้ เพื่อให้ได้อ้อยที่มีคุณภาพ

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมแนวทางการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน ที่มีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน ว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม หารือร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อคัดเลือกเกษตรกรที่ต้องการเปลี่ยนอาชีพปลูกข้าวมาปลูกอ้อย โดยจะต้องเริ่มปลูกอ้อยในเดือนพฤศจิกายนนี้ เพื่อให้ได้อ้อยที่มีคุณภาพ ซึ่งจากการสำรวจพบว่าในประเทศไทยมีโรงงานน้ำตาลที่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตน้ำตาลได้อีก 20 โรงงาน จากทั้งหมด 50 โรงงาน โดยในพื้นที่รัศมี 50 กิโลเมตรจากโรงงานผลิตน้ำตาลทั่วประเทศ มีพื้นที่เหมาะสมที่จะปลูกอ้อย 2,300,000 ไร่ และสามารถเปลี่ยนการเพาะปลูกได้ทันทีในจำนวน 750,000 ไร่ ซึ่งจะเพิ่มปริมาณอ้อยได้อีก 7,500,000 ตัน โดยการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวสู่การปลูกอ้อย โรงงานผลิตน้ำตาลจะเป็นผู้สนับสนุนเงินเกี่ยวกับการลงทุนให้กับเกษตรกร โดยจะรับซื้ออ้อยจากเกษตรกรในอัตรา ตันละ 850 บาท ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะต้องช่วยสนับสนุนให้เกษตรกรมีผลผลิตอ้อยได้ไม่ต่ำกว่า 10 ตันต่อไร่

นายยุคล กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้การจัดเตรียมโครงการจัดโซนนิ่งปลูกพืช ของรัฐบาลต้องทำควบคู่กับการศึกษามาตรการส่งเสริมการใช้ของเสียจากการผลิตน้ำตาลให้เกิดประโยชน์ การปรับปรุงระบบขนส่งอ้อยเข้าโรงงานให้มีประสิทธิภาพเพื่อลดเวลาและการสูญเสียรายได้ของเกษตรกร และศึกษามาตรการส่งเสริมการนำอ้อยไปผลิตเอทานอล เพื่อเป็นมาตรการป้องกันปัญหาราคาน้ำตาลตกต่ำ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาอ้อยด้วย

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2556

สอ.ปักธงส่งเสริมเอกชนไทยบุกอาเซียน ประเดิมกลุ่มอาหารแปรรูปบุกตลาดกัมพูชา

ศิริรัตน์ จิตต์เสรี ศิริรัตน์ จิตต์เสรี กสอ.เร่งเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการก่อนเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน รุกส่งเสริมผู้ประกอบการกลุ่มอาหารไทยบุกตลาดกัมพูชา พร้อมงัดกลยุทธ์การสร้างเครือข่าย(Cluster)เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางธุรกิจอย่างบูรณาการ

นางศิริรัตน์ จิตต์เสรี รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ประเทศกัมพูชา เป็นประเทศหนึ่งในกลุ่ม CLMV ประกอบด้วย กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่พัฒนาการทางเศรษฐกิจช้าเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค แต่ปัจจุบันมีแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนจากต่างประเทศที่มีอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดด เพราะเล็งเห็นศักยภาพของแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ ปัจจัยต้นทุนการผลิตต่ำ ค่าแรงถูกและมีแรงงานจำนวนมาก

ที่สำคัญประเทศกัมพูชาให้การยอมรับสินค้าอาหารแปรรูปจากประเทศไทยเป็นอย่างมาก เห็นได้จากมูลค่าการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารแปรรูปจากไทยช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายน 2556 กว่า 1.4 หมื่นล้านบาท (ที่มา : ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สนง.ปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร) เนื่องจากมั่นใจในคุณภาพมาตรฐานของสินค้าและราคายุติธรรม ทำให้กัมพูชากำลังเป็นที่สนใจของนักลงทุนไทย อีกทั้งสภาวะเศรษฐกิจมีอัตราการเจริญเติบโตที่ดี ประชาชนในเมืองใหญ่อย่างพนมเปญและเสียมราฐมีกำลังการซื้อสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอาหารแปรรูปที่มีคุณภาพกำลังเป็นที่ต้องการของชาวกัมพูชาเป็นอย่างมาก ในขณะที่ปริมาณการผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของชาวกัมพูชา อันเนื่องมาจากกัมพูชาขาดแคลนเทคโนโลยีและความรู้ความสามารถในการผลิตอาหารเพื่อบริโภค

นางศิริรัตน์ กล่าวต่อว่า กสอ. มีบทบาทในการส่งเสริมการสร้างโอกาสและผลักดันผู้ประกอบการไทยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันผ่าน "โครงการเตรียมความพร้อมและสร้างเครือข่ายภาคธุรกิจอุตสาหกรรมเพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)"ทั้งนี้ เพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการไทย รวมทั้งสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมอาหารระหว่างประเทศไทยกับประเทศในกลุ่มอาเซียน ก่อให้เกิดการขยายฐานการผลิตในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้กับการทำธุรกิจ นอกจากจะเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยแล้ว ยังเป็นการเชื่อมโยงเครือข่ายไปสู่ผู้ประกอบการชาวกัมพูชา ก่อให้เกิดการขยายฐานการผลิตของผู้ประกอบการไทย นับเป็นการช่วยเพิ่มศักยภาพการผลิตของกัมพูชาได้อีกทางด้วย

อย่างไรก็ตาม การสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมระหว่างไทยกับประเทศในอาเซียน ยังส่งผลให้เกิดการรวมกลุ่มขยายฐานการผลิตในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน รวมทั้งเพิ่มอำนาจให้กลุ่มประเทศอาเซียนสามารถต่อรองกับภูมิภาคอื่นๆ ได้

ทั้งนี้ กสอ. ได้วางแนวทางในการพัฒนาผู้ประกอบการกลุ่ม Cluster อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป ใน 2 รูปแบบคือ 1) รูปแบบการค้า เป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการคัดสรรวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้าให้เหมาะกับชาวกัมพูชา ซึ่งจะส่งผลให้การทำการตลาดตรงใจชาวกัมพูชามากขึ้น 2) รูปแบบการผลิต โดยการให้คำแนะนำและสนับสนุนผู้ประกอบการในการผลิตสินค้าในประเทศไทย เพื่อส่งไปจำหน่ายที่ประเทศกัมพูชา ซึ่งในการอบรมให้ความรู้ผู้ประกอบการนั้นต้องให้ผู้ประกอบการวิเคราะห์ศักยภาพของตนเองวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ของตนในการทำการตลาดในประเทศกัมพูชา จากนั้นจะทำแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับตลาด ตลอดจนวางแผนการตลาดให้เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์และตลาดเป้าหมาย

โดย กสอ.ทำหน้าที่ในการอำนวยความสะดวกและขอความร่วมมือจากกระทรวงพาณิชย์ของกัมพูชาในการให้ผู้ประกอบการไทยดำเนินธุรกิจในกัมพูชา รวมทั้งเจรจากับนักธุรกิจหรือตัวแทนจัดจำหน่ายของกัมพูชา ซึ่งกสอ. จะเป็นตัวกลางประสานระหว่างภาครัฐและเอกชนของกัมพูชากับผู้ประกอบการไทยเพื่อการทำธุรกิจอย่างราบรื่น ทั้งนี้ สินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปที่ไทยส่งไปจำหน่ายในกัมพูชา ได้แก่ น้ำตาลทราย เครื่องดื่ม น้ำมันสำเร็จรูปนมและผลิตภัณฑ์นม และเบเกอรี่ เป็นต้น

"การพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปให้สามารถขับเคลื่อนในภูมิภาคอาเซียนได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นจำเป็นต้องสนับสนุนให้มีการผลิตเชื่อมโยงกันอย่างครบวงจร ซึ่งก่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ร่วมกัน ทั้งวัตถุดิบ เทคโนโลยี การผลิต การตลาด และบุคลากร อันจะนำไปสู่การยกระดับอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปในตลาดอาเซียนให้สามารถแข่งขันในตลาดสากลได้ ตลอดจนทำให้กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารของภูมิภาคอาเซียนลดการพึ่งพาจากต่างชาตินอกภูมิภาคได้และมีรากฐานการพัฒนาร่วมกันอย่างครบวงจรและยั่งยืน" นางศิริรัตน์ กล่าวสรุป

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 15 ตุลาคม 2556

ครม.ตั้ง 5 รัฐมนตรี เป็น “มิสเตอร์เกษตร”

ครม.ตั้ง 5 รัฐมนตรี เป็น “มิสเตอร์เกษตร” ดูสินค้าเกษตรแบบรายตัว ทั้งข้าว มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด และยางพารา ให้คุมตั้งแต่ปลูกยันขาย พร้อมให้รายงานปัญหาตรงต่อนายกฯ ตัดสินใจแก้ในทันที

นายธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในการประชุมครม. นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทย ติดตามสถานการณ์สินค้าเกษตรที่กำลังทยอยเข้าสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก พร้อมทั้งแต่งตั้งรัฐมนตรี 5 คน ให้เป็นมิสเตอร์เกษตร มีหน้าที่เข้าไปกำกับดูแลผลผลิตทางการเกษตรแบบรายสินค้า ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้ง ความเหมาะสมของปริมาณ พื้นที่เพาะปลูก ไปจนถึงสถานการณ์ด้านราคา การระบายสินค้า และการจัดหาช่องทางการตลาดเพื่อจัดจำหน่ายแบบครบวงจร ก่อนรายงานความคืบหน้าต่อนายกฯ โดยตรง เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนและตรงจุด

สำหรับรัฐมนตรี 5 คน ที่ได้รับการมอบหมายให้ติดตามสินค้าเกษตรนั้น คือ ให้นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรมช.เกษตรฯ เป็นมิสเตอร์ข้าว ดูแลผลผลิตข้าวทุกขั้นตอน ,นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง เป็นมิสเตอร์อ้อย ดูแลผลผลิตอ้อยทั้งระบบ ,นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน เป็นมิสเตอร์มันสำปะหลัง ดูแลผลผลิตมันสำประหลังครบวงจร ทั้งผลิตอาหารและเป็นพืชพลังงานเพื่อผลิตเอทานอล ,นายยรรยง พวงราช รมช.พาณิชย์ เป็นมิสเตอร์ข้าวโพด ดูแลผลผลิตข้าวโพดทั้งระบบ และนายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.เกษตรฯ เป็นมิสเตอร์ยางพารา ดูแลผลผลิตยางทั้งระบบ

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 15 ตุลาคม 2556

สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เตรียมออกประกาศราคาฤดูกาลผลิตอ้อยปี 56/57 สิ้นตุลาคมนี้ คาดราคาอ้อยขั้นต้นไม่เกิน 900 บาท/ตันอ้อย

นายสมศักดิ์ สุวัฒิกะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อย และน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย หรือ สอน.เตรียมหารือการออกประกาศราคาฤดูกาลผลิตอ้อยปี 56/57 ซึ่งคาดว่าปีนี้จะกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นระหว่าง 860-900 บาท บวกค่าส่วนต่างของระดับความหวาน หรือ CCS รวมกันไม่เกิน 1,070 บาท/ตันอ้อย โดยจะเสนอเข้าที่ประชุม คณะกรรมการอ้อย และน้ำตาลทราย ก่อนนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบ ภายในสิ้นเดือนตุลาคมนี้ คาดว่าปีนี้การผลิตอ้อยจะเพิ่มขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากรัฐบาลส่งเสริมโครงการเกษตรโซนนิ่ง เปลี่ยนจากการทำนามาปลูกอ้อยทดแทน เพื่อเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่าย

นายสมศักดิ์ ยังกล่าวถึงการชำระหนี้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ว่า ส.อ.น.ยังคงมียอดค้างชำระหนี้อีก 9,600 ล้านบาท

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 15 ตุลาคม 2556

รายงานสายไอที การใช้น้ำของแต่ละประเทศในภูมิภาคอาเซียน

การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในประเทศไทยในอดีตได้มุ่งเน้นการใช้น้ำในภาคการเกษตรเพียงอย่างเดียว ซึ่งไม่เพียงพอต่อการบริหารจัดการให้ครอบคลุมทั้งระบบ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในฐานะหน่วยงานหลักที่ดูแลด้านทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ จึงได้มีแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในประเทศ ให้ครอบคลุมทั้งทางด้านการเกษตร ด้านพลังงาน และความมั่นคงทางด้านอาหรโดยเน้นให้ประชาชนในประเทศมีส่วนร่วม ติดตามได้จากรายงาน
การบริหารจัดการน้ำในปัจจุบัน นอกจากจะมุ่งเน้นเพียงทรัพยากรภายในประเทศแล้ว ยังต้องเตรียมความพร้อมด้านการบริหารจัดการน้ำเพื่อเข้าสู่การใช้ทรัพยากรร่วมกันในภูมิภาคอาเซียน ในปี พ.ศ.2558 เพื่อความมั่นคงทางด้านอาหาร การผลิตพลังงาน การจัดการภัยพิบัติ การระบายน้ำ การกักเก็บน้ำ และมาตรการบรรเทาอุทกภัย ร่วมกันด้วย

นายสุรพล ปัตตานี รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมด้านการบริหารจัดการน้ำร่วมกันภายในภูมิภาคในขณะนี้คือ ให้แต่ละประเทศที่มีความเชียวชาญเฉพาะด้านในประเทศของตนเองจัดทำแผน เพื่อเสนอแนวทางให้กับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค ซึ่งประเทศไทยได้จัดทำแผนในส่วนของการรับมือและบรรเทาอุทกภัย โดยใช้บทเรียนอุทกภัยในปี พ.ศ.2554 เป็นแม่แบบ เพื่อนำข้อมูลทั้งหมด และปัญหาการใช้น้ำของแต่ละประเทศเข้าสู่การประชุม ระดับรัฐมนตรีในการลดความเสียงจากภัยพิบัติ ในปี พ.ศ.2557 ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพ

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้จัดการประชุมระหว่างประเทศเพื่อสร้างความตระหนักด้านการบริหารจัดการน้ำของเยาวชนไทยเข้าสู่อาเซียน ( The ASEAN Water Dialogue Conference 2013 : AWDC 2013 ) ซึ่งเป็นภารกิจร่วมกันภายในภูมิภาค เพิ่มขีดความสามารถของเยาวชน สร้างเครือข่าย ในการใช้ทรัพยากรน้ำภายในภูมิภาคร่วมกัน ให้เล็งเห็นถึงความเชื่อมโยงของทรัพยากรน้ำ อาหาร และพลังงานซึ่งเชือมโยงกัน การใช้พืชในกระบวนการผลิตพลังงาน อาทิ มันสำปะหลังในกระบวนการผลิตพลังงาน การใช้น้ำเพื่อผลิตไฟฟ้า การสร้างความรู้การใช้น้ำเพื่อความมั่นคงด้านอาหาร ตลอดจนการดำเนินงานภายในภูมิภาคด้านหลักเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ร่วมกันภายในภูมิภาค

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 15 ตุลาคม 2556

ธ.โลกชี้ไทยยังไม่เหมาะตั้งกองทุนมั่งคั่ง

ธนาคารโลกชี้ไทยยังไม่เหมาะตั้งกองทุนความมั่งคั่งในช่วง 1-2 ปี เหตุยังจำเป็นต้องกันเงินสำรองรองรับความผันผวนตลาดการเงินโลกไว้ดูแลค่าเงินบาทก่อน

นางสาวกิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก สำนักงานประเทศไทย เปิดเผยถึงแนวคิดในการจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ ว่า เป็นแนวคิดที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งในประเทศ เพื่อนำเงินทุนสำรองส่วนเกินออกมาลงทุนในต่างประเทศ แต่หากจะมีการจัดตั้งในช่วง 1-2 ปีนี้ มองว่ายังไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสม เนื่องจากตลาดการเงินโลกมีความผันผวนมาก เพราะมีเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลเข้าออกอย่างรวดเร็ว ดังนั้นจึงยังจำเป็นต้องกันเงินทุนสำรองระหว่างประเทศไว้ดูแลค่าเงินบาทก่อน เนื่องจากหากประเทศใดมีทุนสำรองระหว่างประเทศสูงจะสามารถความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติได้

อย่างไรก็ตาม ถือเป็นเรื่องที่ดีหากรัฐบาลจะศึกษาในเรื่องไว้ล่วงหน้า เพราะหากเศรษฐกิจและภาวะตลาดเงินมีความมั่นคงมากขึ้น ไทยจะสามารถจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ เพื่อนำเงินสำรองออกไปลงทุนได้

ทั้งนี้ ในช่วงที่เหลือของปีนี้ยังคงต้องจับตาเศรษฐกิจของสหรัฐที่อาจมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งหากสหรัฐไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ตามที่คาด ก็จะมีผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก รวมถึงเศรษฐกิจไทยปีหน้าอาจจะเติบโตไม่ได้ตามที่คาดการณ์ไว้ โดยธนาคารโลกคาดการณ์ขยายตัวที่ร้อยละ 4.5 แต่เชื่อในระยะสั้นสหรัฐจะสามารถขยายเพดานหนี้ได้ตามกำหนดก่อนวันที่ 17 ตุลาคมได้ เพราะสหรัฐต้องคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจโลกได้

นอกจากนี้ ในส่วนของโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ทางธนาคารโลกประเมินว่ารัฐบาลจะขาดทุนประมาณ 150,000-200,000 ล้านบาทต่อปี โดยในส่วนการขาดทุน 150,000 ล้านบาทนั้น รัฐบาลจะต้องระบายข้าวในสตอกที่มีอยู่ทั้งหมด แต่หากดำเนินการไม่ได้ก็จะขาดทุนที่ 200,000 ล้านบาท พร้อมมองว่าโครงการดังกล่าวใช้งบประมาณสูงกว่าร้อยละ 10 ของเงินงบประมาณทั้งหมด ซึ่งอาจทำให้รัฐบาลอาจต้องลดสัดส่วนในงบประมาณส่วนอื่นออกไปหรือมีการกู้เงินเพื่อเพิ่มงบประมาณมากขึ้น ทำให้รัฐบาลสูญเสียโอกาสในการพัฒนาด้านอื่น ๆ ของประเทศ และยังมีผลเสียระยะยาวต่อการพัฒนาภาคการเกษตร โดยเฉพาะการพัฒนาข้าว เนื่องจากเกษตรกรมองว่าไม่ต้องมีการพัฒนาก็สามารถขายข้าวได้ในราคาที่สูง

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2556

โรงงานน้ำตาลส่งฝ่ายไร่สำรวจที่นา "สิริวุทธิ์"ชี้ปลูกอ้อยได้6.7ล้านไร่

โรงงานน้ำตาลเดินหน้าหนุนนโยบายโซนนิ่งเกษตร ส่งฝ่ายไร่ลงสำรวจพื้นที่ใกล้เคียง พบมีศักยภาพที่จะเปลี่ยนจากนาข้าวมาปลูกอ้อยโรงงาน ย้ำกำลังการผลิตที่มีอยู่รองรับปริมาณอ้อยที่จะเพิ่มได้ถึง 130 ล้านตัน

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า จากการสำรวจข้อมูลพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวทั้งหมด 73.43 ล้านไร่ ซึ่งในจำนวนพื้นที่ปลูกข้าวดังกล่าวนั้นมีพื้นที่ไม่เหมาะสมต่อการปลูกข้าว และเหมาะสมในการส่งเสริมให้ชาวนาปรับเปลี่ยนนาข้าวหันมาปลูกอ้อยโรงงานประมาณ 6.7 ล้านไร่ แบ่งเป็นพื้นที่นาข้าวที่อยู่ใกล้โรงงานน้ำตาลไม่เกิน 50 กม. ประมาณ 4.19 ล้านไร่ และในรัศมีไม่เกิน 100 กม.จากโรงงานน้ำตาลทรายเพิ่มได้อีก 2.17 ล้านไร่ นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ทับซ้อนที่อยู่ในรัศมีโรงงานน้ำตาลทรายและโรงงานแปรรูปอาหารสัตว์ ซึ่งสามารถปลูกได้ทั้งอ้อยโรงงานและข้าวโพดเพื่อทำเป็นอาหารสัตว์ได้อีกประมาณ 3.56 ล้านไร่

ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับโรงงานน้ำตาลที่ต้องการขยายพื้นที่ปลูกอ้อยอีกจำนวน 7.2 ล้านไร่ และได้นำมาจัดทำแผนส่งเสริมการเพาะปลูกอ้อยโรงงานในระยะเวลา 3 ปี ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มได้ในปีการผลิตถัดไป หรือตั้งแต่ปีการผลิต 2557/2558 จำนวน 2.5 ล้านไร่ ปี 2558/2559 จำนวน 2.7 ล้านไร่ และปี 2559/2560 อีกจำนวน 2 ล้านไร่ เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางการลงทุนของฝ่ายโรงงานน้ำตาลในการวางแผนเพิ่มกำลังการผลิต เพื่อรองรับผลผลิตที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากการส่งเสริมการเพาะปลูกอ้อยโรงงานดังกล่าว

สำหรับการส่งเสริมและสนับสนุนพื้นที่เพาะปลูกอ้อยโรงงานที่เพิ่มขึ้นนั้น ทางโรงงานน้ำตาลพร้อมให้คำแนะนำเบื้องต้นเกี่ยวกับการจัดเตรียมพันธุ์อ้อย จัดเตรียมดิน ระบบการให้น้ำ การตัดอ้อย รวมถึงองค์ความรู้อื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการเพาะปลูกและการดูแลอ้อยให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ

นายสิริวุทธิ์กล่าวต่อว่า จากข้อมูลการปลูกอ้อยปีที่ผ่านมา (ปี 2555/56) มีพื้นที่ปลูกอ้อยทั้งสิ้น 9.33 ล้านไร่ มีผลผลิตอ้อยเข้าหีบทั้งสิ้น 100 ล้านตัน หรือคิดเป็นผลผลิตอยู่ที่ 10.72 ตัน/ไร่ ดังนั้นการเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยตามนโยบายโซนนิ่งเกษตรคาดว่าจะมีพื้นที่เพาะปลูกอ้อยเพิ่มขึ้น จึงเชื่อว่าโรงงานน้ำตาลจะสามารถรองรับผลผลิตอ้อยที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น

"ศักยภาพการผลิตของโรงงานน้ำตาลปัจจุบัน สามารถรองรับอ้อยได้ประมาณ 130 ล้านตัน ทั้งยังมีการปรับปรุงและพัฒนาเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการที่จะมีพื้นที่ปลูกอ้อยเพิ่มขึ้น

จากนโยบายจัดโซนนิ่ง จึงไม่เป็นปัญหาสำหรับเกษตรกรและโรงงานน้ำตาลในการรองรับผลผลิตที่เพิ่มขึ้น และสามารถสร้างความมั่นใจให้เกษตรกรที่สมัครใจเปลี่ยนจากปลูกข้าวมาปลูกอ้อยได้ว่า ผลผลิตอ้อยที่เพาะปลูกได้นั้นทางโรงงานน้ำตาลจะรับซื้อเพื่อนำมาผลิตเป็นน้ำตาลทรายแน่นอน"

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2556

สหรัฐผิดนัดชำระนี้ ส่อก่อวิกฤติการเงินโลก

ผ่ามุมมองเวิลด์แบงก์กับวิกฤติเพดานหนี้สหรัฐซี่งยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ ชี้หากสหรัฐผิดนัดชำระหนี้ เสี่ยงก่อวิกฤติการเงินโลก

ความขัดแย้งเรื่องขยายเพดานหนี้ของสหรัฐยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ ระหว่างทำเนียบขาวกับสภาผู้แทนราษฎร ในขณะที่มีการกำหนดเส้นตายวันที่ 17 ต.ค. นี้ แม็ทธิว เวอร์กิส หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากธนาคารโลก ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ "กรุงเทพธุรกิจทีวี" โดยประเมินว่าในที่สุดแล้วจะตกลงกันได้ แต่เกิดกรณีเลวร้าย จะส่งผลกระทบเงินไหลออกภูมิภาค แต่ยังเชื่อว่าไทยจะรับมือได้

คุณมองอย่างไรเรื่องเส้นตายเพดานหนี้วันที่ 17 ต.ค. นี้

เราคาดว่า จะมีการตกลงกันได้ โดยอาจจะตกลงกันได้ในนาทีสุดท้าย อย่างเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี 2554 ที่เขาสามารถตกลงกันได้ก่อนที่จะพ้นเส้นตาย ครั้งนี้เราก็คาดการณ์ว่ามันจะเป็นเหมือนครั้งที่ผ่านมา

ทำไมคิดว่าเรื่องนี้จะตกลงกันได้

เนื่องจากความเสียหายที่จะตามมานั้นมีมหาศาล การปิดสำนักงานบางส่วนของรัฐบาลในขณะนี้นั้นกำลังทำให้ประชาชนบางส่วนประสบความยากลำบากอย่างมาก ลูกจ้างของรัฐบาลส่วนหนึ่งต้องถูกให้ออกจากงาน สำหรับคนเหล่านี้แล้วมันเป็นภาวะที่ยากลำบาก ในขณะที่ภาพรวมของเศรษฐกิจยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ในช่วงปี 2538 และ 2539 สมัยประธานาธิบดีบิล คลินตัน ก็เคยมีการปิดสำนักงานรัฐบาลเช่นกันแต่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลกมากนัก ในปี 2555 ก็สามารถตกลงขยายเพดานหนี้ได้ก่อนที่จะพ้นกำหนดเส้นตาย ถ้าหากครั้งนี้พวกเขาไม่สามารถหาทางออกได้ ความเสียหายร้ายแรงจะตามมา คล้ายกับผลกระทบปี 2551 ที่ธนาคารเลแมน บราเดอร์สล้มละลายและนำไปสู่วิกฤติการเงินโลก

ถึงแม้ว่าจะมีความหวัง แต่ก็ยังมีความเห็นที่ไม่ลงรอยกันในสหรัฐ ทั้งสองฝ่ายจะตกลงกันอย่างไร

คือว่า ไม่ฝ่ายใดก็ฝ่ายหนึ่ง หรือทั้งสองฝ่ายจะต้องประนีประนอมกัน ณ เวลานี้ ประธานาธิบดีโอบามา ยืนยันว่า จะยอมเจรจาต่อเมื่อมีการขยายเพดานหนี้ก่อน เนื่องจากเขาไม่ต้องการให้มีการต่อรองเรื่องเพดานหนี้ เมื่อมีการยกเพดานหนี้แล้ว ถึงจะมีการต่อรองกันในเรื่องงบประมาณที่ฝ่ายรีพับลิกันต้องการ ฝ่ายรีพับลิกันต้องการที่จะต่อรองในเรื่องงบประมาณให้เสร็จก่อนที่จะมีการยกเพดานหนี้ การต่อรองกันจึงครอบคลุมสองประเด็นคือ งบประมาณประจำปีและเพดานหนี้ ดังนั้นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องยอมลดข้อเรียกร้องของตนลง หรือทั้งสองฝ่ายต้องทางออกร่วมกัน พวกเขาเริ่มหารือกันแล้ว และมีการยื่นข้อเสนอให้อีกฝ่ายพิจารณา ทางเลือกอันหนึ่งคือ การขยายเพดานหนี้ชั่วคราวประมาณ 2 ถึง 3 สัปดาห์ เพื่อที่จะให้มีเวลาต่อรองกันมากขึ้น ผมคิดว่ายังมีข้อเสนออื่นอีกที่ถูกวางไว้บนโต๊ะเจรจา ทั้งสองฝ่ายต้องหาทางออกร่วมกัน แต่ ณ เวลานี้พวกเขายังไม่สามารถรอมชอมกันได้

แต่เป็นการเลื่อนปัญหาออกไป หรือว่าจะสามารถแก้ไขได้จริง

อย่างแรกคือ ผมมีความหวัง แต่ผมยังก็ไม่มั่นใจเสียทีเดียว ผมหวังว่า พวกเขาจะสามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ ส่วนจะเป็นการเลื่อนปัญหาออกไปหรือไม่ นี่เป็นประเด็นของประธานาธิบดีโอบามา แต่ละประเทศก็มีการต่อรองเรื่องงบประมาณกันทั้งนั้น คุณต้องหาฉันทามติว่าจะใช้จ่ายเงินงบประมาณอย่างไร พรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านต้องหาทางออกเพื่อให้บรรลุข้อตกลงให้ได้ แต่ที่เป็นปัญหาน่ากลัวของสหรัฐคือ การเอาเรื่องงบประมาณไปผูกติดกับเรื่องเพดานหนี้ เพราะมันทำให้เกิดข้อสงสัยขึ้นว่า สหรัฐจะสามารถจ่ายหนี้ตนเองได้หรือไม่ ประเด็นของโอบามาคือ มันเป็นเรื่องที่อันตราย ฉะนั้นจึงไม่ควรเอาเรื่องเพดานหนี้มาต่อรองร่วมกับเรื่องงบประมาณ ผมคิดว่าในแง่ของรีพับลิกันก็จะบอกว่ามันเป็นเรื่องง่ายสำหรับพรรคที่เป็นรัฐบาลที่จะพูดเช่นนั้น แต่เมื่อคุณเป็นฝ่ายค้านก็ต้องใช้กลยุทธ์ ไม่เช่นนั้นฝ่ายค้านก็จะไม่มีอำนาจต่อรองได้ นี่คือปัญหา ผมคิดว่า จากความเห็นของเรา จากมุมมองของประเทศกำลังพัฒนา มันน่าจะดีกว่าหากการต่อรองเรื่องงบประมาณของรัฐบาลสหรัฐไม่ถูกนำมาผูกติดกับเรื่องเพดานหนี้ เพราะความเสี่ยงในเรื่องนี้ต่อประเทศกำลังพัฒนามีสูงมาก

ถ้าพูดถึงกรณีที่เลวร้ายที่สุด คือสหรัฐผิดนัดชำระหนี้ กรณีนี้มีโอกาสเกิดขึ้นไหม และถ้าเกิดขึ้นจริง จะกระทบกับตลาดเกิดใหม่มากแค่ไหน

เรื่องนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เหตุผลคือพันธบัตรสหรัฐเป็นสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงปราศจากความเสี่ยงมากที่สุดในโลก รัฐบาลสหรัฐไม่เคยผิดนัดชำระหนี้ และมีความเชื่อกันโดยทั่วไปว่า สหรัฐจะสามารถชำระหนี้ได้เสมอ จึงเป็นเรื่องที่ยากมากที่จะทำนายผลกระทบว่าจะออกมาในรูปใด แต่เราอาจจะเทียบเคียงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2008 เมื่อธนาคารเลแมน บราเดอร์ส ล้มละลาย เมื่อ เลแมน บราเดอร์ส ล้มก็เกิดวิกฤติความเชื่อมั่นในตลาดการเงินและในสถาบันการเงิน เช่น ธนาคารไม่กล้าปล่อยกู้ให้ธนาคารอื่น เพราะไม่เชื่อมั่นซึ่งกันและกัน เหตุการณ์เช่นนี้อาจจะเกิดขึ้นอีกในวันนี้ เราสามารถมองย้อนหลังไปยัง เลแมน บราเดอร์ส และเราจะเห็นว่า อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรในประเทศกำลังพัฒนาพุ่งสูงขึ้นถึง 500 เบสิส พอยท์ ในขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นตกลงเฉลี่ย 50 % ภาคอุตสาหกรรมการผลิตลดลง 10% ปี 2551 เป็นเวลาในอดีต ดังนั้นเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นอาจจะไม่เหมือนกันเสียทีเดียว แต่ผมคิดว่าระดับความรุนแรงน่าจะเทียบเท่ากันคือ จะเกิดวิกฤติการเงินโลกอย่างเช่นที่เกิดขึ้นในปี 2551 นั่นจะเป็นสิ่งที่คุณจะได้เห็น หากรัฐบาลสหรัฐผิดนัดชำระหนี้จริงๆ

มุมมองต่อเศรษฐกิจไทยและสิ่งที่รัฐบาลไทยควรจะทำ

หากว่าสหรัฐผิดนัดชำระหนี้ ประเทศไทยถือว่ามีความแข็งแกร่งมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น หรือประเทศไทยในปี 2008 เหตุผลเพราะว่าประเทศไทยมีประสบการณ์ผ่านช่วงที่ดีและร้ายมาแล้ว ล่าสุดคือการรับมือกับทุนไหลออกเพราะการปรับลดคิวอี ซึ่งจะเป็นสิ่งแรกที่จะเกิดขึ้นหากสหรัฐผิดนัดชำระหนี้ สิ่งที่รัฐบาลไทยต้องทำคือ ใช้นโยบายการเงินการคลังที่เหมาะสม ในด้านของนโยบายการคลัง ไทยได้ดำเนินนโยบายด้านการคลังไปค่อนข้างมาก ดังนั้นจึงอาจจะมีข้อจำกัดในการดำเนินนโยบายมากขึ้น แต่หากเกิดผลกระทบในวงกว้าง ผมคิดว่ารัฐบาลก็ต้องวางแผนรับมือในด้านการคลัง ในส่วนของนโยบายการเงินผมคิดว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นและจะช่วยสร้างสมดุลให้กับระบบเศรษฐกิจคือการลดค่าของค่าเงินบาท ที่น่าจะอ่อนค่าต่อไป แต่ไทยก็ไม่อยากให้ค่าเงินบาทผันผวน คือไทยไม่อยากให้ค่าเงินอ่อนค่าเร็วและแรงจนเกินไป แต่การอ่อนค่าอย่างค่อยเป็นค่อยไปจะช่วยสนับสนุนการส่งออกและทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นขึ้นมาได้ อีกสิ่งหนึ่งที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยต้องระวังคือการเพิ่มอัตราดอกเบี้ย เพราะหนี้ครัวเรือนจะโตขึ้นเร็วมากหากอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น สิ่งที่ต้องจับตาคือผลกระทบต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และความแข็งแกร่งของภาคธนาคาร ผลกระทบเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทั้งกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยต้องเผชิญ ทั้งสององค์กรต้องเตรียมรับมือกับความเสี่ยงเหล่านี้ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2556

มจพ. เผยผลวิจัยชี้ชัด อุตสาหกรรม “อ้อย-น้ำตาล” ไทย มีศักยภาพสูง

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย จัดสัมมนาเผยแพร่การประเมินศักยภาพในการแข่งขันของอุตสาหกรรม
อ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) พบว่า ในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำนั้น ประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขันสูง พร้อมทั้งเสนอแนะภาครัฐควรให้การสนับสนุนเพื่อเพิ่มศักยภาพด้านปัจจัยการผลิต และการเพิ่มศักยภาพด้านกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับต่างๆ ทั้งนี้ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยก้าวเป็นผู้นำในการแข่งขันของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในตลาดอาเซียนอย่างต่อเนื่อง

ผ.ศ. ดร.ศจีมาส ณ วิเชียร วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยฯ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย จัดสัมมนาการเผยแพร่การประเมินศักยภาพในการแข่งขันของอุตสาหกรรมอ้อย และน้ำตาลทราย เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยการสัมมนารายงานถึงศักยภาพในการดำเนินงานของประเทศในประชาคมอาเซียนตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ พบว่าไทยมีศักยภาพสูง มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและกลยุทธ์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลเพื่อการแข่งขัน ดังนี้

การเพิ่มศักยภาพด้านปัจจัยการผลิต

เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน รัฐควรมุ่งไปที่การเพิ่มผลผลิตต่อไร การลดต้นการเพาะปลูก การเพิ่มคุณภาพของผลผลิต และการเพิ่มประสิทธิภาพในการเก็บเกี่ยว ซึ่งปัจจุบันพบว่ายังเป็นปัญหาหรือจุดอ่อนของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทย นโยบายและมาตรการเหล่านี้ได้แก่

1.รัฐควรมีการพัฒนาแหล่งน้ำ มีการจัดการด้านชลประทานอย่างมีประสิทธิภาพทั้งนี้เพื่อให้น้ำสามารถเข้าถึงแหล่งเพาะปลูกอ้อยของเกษตรกรได้อย่างทั่วถึง ด้วยเหตุผลที่ว่าพื้นที่ปลูกอ้อยมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ยังคงต้อง อาศัยน้ำฝนที่มีความแปรปรวนสูง ทำให้ผลผลิตของอ้อยขาดเสถียรภาพตามไปด้วย

2. รัฐควรส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาพันธุ์อ้อย

2.1 ในการเพิ่มคุณภาพของอ้อย ให้มีค่าความหวานที่สูงขึ้น อ้อยไทยมีค่าความหวานต่ำเพียงประมาณ 11-12 CCS ในขณะที่ประเทศออสเตรเลียและบราซิลนั้นค่าความหวานของน้ำตาลอยู่ที่ประมาณ 13-15 CCS ซึ่งค่าความหวานที่สูงจะหมายถึงปริมาณผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยที่สูงขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นหากมีการเพิ่มคุณภาพของอ้อยให้สูงขึ้นจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตน้ำตาลของไทยต่ำลง

2.2 ให้มีผลผลิตต่อไร่ที่สูงขึ้น อีกทั้งรัฐต้องมีมาตรการสนับสนุนและชักจูงเกษตรกรให้ความร่วมมือในการเพาะปลูกอ้อยที่คิดค้นขึ้นมา ทั้งนี้ปัจจุบันผลผลิตอ้อยต่อไร่ของไทยประมาณ 10.2 ตันต่อไร่ ขณะที่ประเทศออสเตรเลีย บราซิล มีผลผลิตอ้อยเฉลี่ย 13-14 ตันต่อไร่ และ12.5 ตันต่อไร่ตามลำดับ การมีผลผลิตต่อไรสูงก็จะช่วยลดต้นทุนการผลิต ทั้งยังสามารถส่งออกน้ำตาลไปแข่งขันในต่างประเทศด้วยต้นทุนที่สามารถแข่งขันได้

2.3 ให้สามารถต้านทานโรค และรักษาสภาพดินไว้ได้ เพราะที่ผ่านการปลูกอ้อยมาอย่างต่อเนื่องและยาวนานขาดการบำรุงรักษาอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมของดิน นอกจากนี้การเพาะปลูกอ้อยยังต้องพบกับการระบาดของโรคและแมลงที่สำคัญ เช่น โรคใบขาว โรคเหี่ยวเน่าแดง โรคแส้ดำ และหนอนกออ้อยชนิดต่างๆ ล้วนเป็นปัจจัยที่จำกัดผลผลิตทั้งสิ้น

3. รัฐควรใช้มาตรการด้านภาษี ในการลดภาษีเทคโนโลยี เครื่องจักรสำหรับการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวอ้อย เพื่อเป็นแรงกระตุ้นให้เกษตรกรหันมาใช้เทคโนโลยีให้เกิดประสิทธิภาพในการเพาะปลูก ช่วยลดต้นทุนค่าแรงงานที่มีแนวโน้มสูงขึ้น และการขาดแคลนแรงงานในฤดูเก็บเกี่ยว ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านราคาในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลระหว่างประเทศได้

2. การเพิ่มศักยภาพด้านกฎหมาย ระเบียบและข้อบังคับ

1. รัฐควรมีการทบทวน ระดมสมองฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และประชาพิจารณ์กฎหมาย ระเบียบและข้อบังคับที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ให้มีความทันสมัยกับกาลเวลา โดยเฉพาะ พระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาล พ.ศ. 2527 ที่หลายฝ่ายเห็นว่าไม่เอื้อต่อแข่งขัน

1.1 ด้านการแบ่งผลประโยชน์ ที่ต่างเห็นไม่ตรงกันในเรื่องของความยุติธรรม ทั้งที่การเกิดขึ้นของ พรบ. มาจากการรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ และคุ้มครองรักษาผลประโยชน์ของชาวไร่อ้อยและเจ้าของโรงงานน้ำตาล ผู้มีส่วนไดเสียโดยตรงในด้านการผลิตและการจัดจำหน่าย ตั้งแต่การผลิตอ้อยไปจนถึงการจัดสรรเงินรายได้จากการขายน้ำตาลทรายทั้งในและนอกราชอาณาจักรระหว่างชาวไร่อ้อย และเจ้าของโรงงานน้ำตาลทรายเพื่อให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและเกิดความเป็นธรรมแก่ชาวไร่อ้อยเจ้าของโรงงานน้ำตาลและผู้บริโภค

1.2 ด้านการป้องกันการหายไปของน้ำตาลในช่วงที่ราคาตลาดโลกสูง ระบบของรัฐที่มีอยู่ปัจจุบันไม่สามารถป้องกันการหายไปของน้ำตาลในช่วงที่ราคาตลาดโลกสูงได้ วิธีการแก้ปัญหากลับสร้างผลกระทบให้เกิดขึ้นผู้บริโภคกลายเป็นผู้เสียประโยชน์อย่างจำยอม

2. รัฐควรสนับสนุนอุตสาหกรรมทั้งระบบอย่างจริงจัง ด้วยอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลเป็นอุตสาหกรรมที่ศักยภาพในการสร้างอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องได้อย่างมากมาย ฉะนั้นการกำหนดนโยบาย กลยุทธ์และแนวทางต่าง ๆ ควรคำนึงถึงผลกระทบต่อการส่งเสริมการเติบโตในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมด้านพลังงานไฟฟ้า และอุตสาหกรรมเอทานอล ซึ่งจะเป็นการสร้างมูลค่าจากอ้อยและเพิ่มรายได้ ช่วยลดการนำเข้าพลังงาน

3. รัฐควรสนับสนุนให้มีการรวมกลุ่มกันในกลุ่มเกษตรกรรายย่อย ผู้ประกอบการรายย่อย เพื่อให้มีอำนาจในการจัดหาทุน วัตถุดิบมาใช้ในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในตลาดอาเซียน

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2556

กรมหมอดินกับบทบาทการโซนนิ่ง สู่ทางเลือกของเกษตรกร

การกำหนดเขตความเหมาะสมสำหรับการปลูกพืช หรือที่เรียกว่า Zoning ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศไปแล้ว 13 ชนิดพืช ซึ่งการประกาศ Zoningจะใช้ข้อมูลจากกรมพัฒนาที่ดินเป็นหลัก โดยใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ทั้งเรื่องคุณสมบัติของดิน ความต้องการธาตุอาหารของพืชแต่ละชนิด สภาพภูมิอากาศต่างๆ เอามาประกอบกันว่าพื้นที่ตรงไหนมีความเหมาะสมสำหรับปลูกพืชชนิดใด โดยแบ่งเป็นความเหมาะสมระดับมาก ปานกลางและน้อย รวมถึงไม่เหมาะสมเลย

นายอภิชาต จงสกุล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เรื่องของข้อมูลโซนนิ่งนั้น สิ่งสำคัญคือ คุณสมบัติของดิน มีการสำรวจทำแผนที่ดิน มีการจำแนกเป็นดินชนิดต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งพื้นที่โซนนิ่งที่ประกาศไปแล้วเป็นภาพรวมของทั้งประเทศ เป็นข้อมูลเบื้องต้นเพื่อดูศักยภาพของดินที่จะนำมาใช้ในการปลูกพืชชนิดต่างๆ ทั้งนี้ในแต่ละจังหวัดจะต้องมีการตรวจสอบเพิ่มเติมอย่างละเอียด เพื่อให้ถูกต้อง แม่นยำอีกครั้ง และสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเป็นจริง เนื่องจากดินในพื้นที่ติดกัน อาจมีคุณสมบัติไม่เหมือนกัน โดยกรม จะมีการพัฒนาข้อมูลนี้ให้มีความละเอียดมากยิ่งขึ้นไป

“ยืนยันได้ว่าข้อมูลที่ประกาศออกไป อย่างน้อยกว่า 90% มีความถูกต้องสูง อาจจะมีบางจุดที่มีการคลาดเคลื่อนไปบ้าง แต่โดยพื้นฐานแล้ว ไม่แตกต่างกันมากนัก สำหรับเกษตรกรในพื้นที่ ส่วนใหญ่อาศัยประสบการณ์ความรู้ ภูมิปัญญาชาวบ้าน ใช้ประโยชน์
ใกล้เคียงกับพื้นที่ที่ประกาศไป มีเพียงส่วนน้อยที่อาจจะไปใช้ในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม เช่น ปลูกยางพาราในพื้นที่ลุ่ม เมื่อน้ำท่วมยางก็ตายหมด ทำให้เกิดการขาดทุน นี่คือตัวอย่างที่เห็นชัดเจนว่าการโซนนิ่งมีความสำคัญอย่างไร” นายอภิชาต กล่าว

การทำโซนนิ่งที่ผ่านมานั้น ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของเกษตรกรเป็นสำคัญ ถ้าเกษตรกรเห็นว่าข้อมูลนี้เป็นประโยชน์ ก็สามารถปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า รวมทั้งมีความเหมาะสมมากกว่า ถือเป็นทางเลือกของเกษตรกร รัฐบาลจะมองในภาพรวมของอุปสงค์ อุปทาน ในแต่ละสินค้าว่าการผลิตกับความต้องการสอดคล้องกันหรือไม่ ถ้าความต้องการมีมาก รัฐบาลอาจจะเข้าไปเสริมในเรื่องของประสิทธิภาพการผลิตให้ดีขึ้น แต่ถ้าความต้องการมีน้อยกว่าผลผลิตที่ออกมา จะส่งผลให้ผลผลิตขายไม่ได้ หรือขายได้ในราคาต่ำ รัฐบาลก็จะเสนอทางเลือกในการปรับเปลี่ยนให้ปลูกพืชชนิดอื่นแทน ซึ่งขณะนี้กำลังหาแนวทางในการสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรเกิดการปรับเปลี่ยน เช่น ร่วมมือกับภาคเอกชน หรือโรงงานที่พร้อมรองรับวัตถุดิบ รวมทั้งสามารถนำไปแปรรูปเพื่อให้เกษตรนำไปขายได้ในราคาสูง เป็นต้น

อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า จากผลการวิเคราะห์ดินทั่วประเทศ พบว่า ค่าเฉลี่ยของอินทรียวัตถุที่อยู่ในดินต่ำกว่า 1% ซึ่งสัดส่วนของดินที่ดีควรจะมีอินทรียวัตถุประมาณ 5% จึงจะถือว่าเป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ ดินที่ขาดแคลนอินทรียวัตถุทำให้สิ่งมีชีวิตในดินและจุลินทรีย์ในดินตายหมด ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน การใช้ปุ๋ยหมัก การใช้ปุ๋ยพืชสด เป็นการช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน และฟื้นฟูสิ่งมีชีวิตในดินอย่างจุลินทรีย์ให้สามารถปลดปล่อยธาตุอาหารในดิน หรือตรึงไนโตรเจนจากอากาศ นอกจากนี้ ใบไม้ที่หล่นลงมาทับถมบนดินถ้ามีการไถกลบก็จะเป็นการเพิ่มอินทรียวัตถุได้เช่นกัน เมื่อดินเริ่มมีสิ่งมีชีวิต ดินก็จะเริ่มมีชีวิต คืนความอุดมสมบูรณ์ขึ้นมาใหม่ สอดคล้องกับโลกร้อนที่เราจะดึงคาร์บอนไดออกไซด์ลงไปเก็บไว้ในดินได้ด้วย

นายอภิชาต กล่าวทิ้งท้ายว่า ถ้าเกษตรกรเห็นประกาศในเรื่องของการโซนนิ่งว่าพื้นที่บริเวณนี้ไม่สามารถปลูกพืชชนิดนี้ได้ แต่ท่านคิดว่าดินในพื้นที่ของตนเองสามารถปลูกพืชได้เป็นอย่างดีและมีความเหมาะสมอยู่แล้ว ก็สามารถแจ้งทางสำนักงานพัฒนาที่ดินที่มีอยู่ทุกจังหวัดให้ช่วยตรวจสอบเพิ่มเติมได้ เพื่อยืนยันความเหมาะสมดังกล่าวต่อไป

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2556

สปก.เดินหน้าขับเคลื่อนแผนปี’57 มุ่งเพิ่มมูลค่าด้วย‘ภูมิปัญญาไทย’

นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ได้รับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 ภายใต้ยุทธศาสตร์ประเทศ (ปีงบประมาณ 2556-2561) และยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2557 จำนวน 1,713.67 ล้านบาท โดยยุทธศาสตร์ประเทศ เน้นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน นำทุนทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาไทยมาเพิ่มมูลค่า ให้ความสำคัญกับการเติบโตของประเทศที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Growth) รวมถึงการลงทุนบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการและมีประสิทธิภาพ

ส่วนยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2557 จะเน้นการสนับสนุนการเร่งรัดการพัฒนาประเทศ การเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) นอกเหนือจากนี้ ส.ป.ก. ยังมีภารกิจสำคัญ ที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ 2 ผลผลิต คือ 1.เกษตรกรได้รับการจัดที่ดินและคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม จำแนกโดยจัดที่ดินทำกิน เนื้อที่ 472,500 ไร่ เกษตรกร 31,500 ราย จัดที่ดินชุมชน 31,500 ราย ใน 450 ชุมชน และตรวจสอบข้อมูลพื้นที่ปฏิรูปที่ดินรายอำเภอ เนื้อที่ 6,000,000 ไร่ ส่งเสริมปลูกไม้เศรษฐกิจในเขตปฏิรูปที่ดิน 6,000 ไร่ 2.เกษตรกรได้รับการส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพ และสร้างมูลค่าที่ทำกิน โดยแบ่งออกเป็น 3 โครงการ ได้แก่ โครงการที่ 1 ส่งเสริมและอนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านของไทย โครงการที่ 2 พัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) 6,300 ราย และโครงการที่ 3 เพิ่มพื้นที่ชลประทานโดยจัดการแหล่งน้ำในเขตปฏิรูปที่ดิน 34 แห่ง ใน 20 จังหวัด

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2556

สพธอ.พร้อมเทคโนโลยีรับเปิดเสรีอาเซียน

สพธอ.เตรียมความพร้อมรองรับ AEC 2015 ผลักดันมาตรฐานธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และนำไปประยุกต์ใช้ในกระบวนการนำเข้า-ส่งออกสินค้าผ่านระบบ National Single Window (NSW) เพื่อการยกระดับคุณภาพการให้บริการของภาครัฐ และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของภาคเอกชน

นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ. ซึ่งเป็นองค์การภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า สพธอ. เตรียมพร้อมโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญต่อการขับเคลื่อนระบบ National Single Window ซึ่งเป็นระบบกลางสำหรับรองรับการเชื่อมโยงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า-ส่งออก และระบบโลจิสติกส์ของประเทศ ความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกด้านศุลกากรด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน (Agreement to Establish and Implement ASEAN Single Window) รุกจัดงานสัมมนาเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและส่งเสริมให้มีการนำมาตรฐานธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์มาประยุกต์ใช้ในกระบวนการนำเข้า-ส่งออกสินค้าผ่านระบบ National Single Window (NSW) ที่สามารถใช้งานได้จริงสำหรับสินค้าทุกประเภทได้อย่างเต็มรูปแบบ ก่อนการเปิด AEC ในปี 2558

ปัจจุบัน สพธอ. ได้มีความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรมศุลกากร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการศึกษาวิเคราะห์รูปแบบการวางแผนธุรกิจ และการพัฒนากลไกและระบบบริหารจัดการ National Single Window (Business Model) โดยรหัสมาตรฐานข้อมูลสากลที่กรมศุลกากรให้นำมาประยุกต์ใช้กับการแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่านระบบ NSW ได้นำมาจากข้อเสนอแนะของ UN/CEFACT จำนวน 7 ฉบับ ได้แก่ Codes for Types of Cargo, Packages and Packaging Materials Code for Modes of Transport, UN/LOCODE-Code for Ports and Other Locations, Country Code, Measurement Unit, Currencies Code, Incoterms ซึ่งในอนาคตถ้าเราสามารถผลักดันได้สำเร็จ ระบบ NSW สามารถเชื่อมโยงข้อมูลได้ทั้งหมด ก็จะส่งผลดีต่อประเทศอย่างมาก ส่งผลให้กระบวนการนำเข้า-ส่งออกสินค้ามีปริมาณมากขึ้นและมีมูลค่าสูงขึ้น ซึ่งจะสามารถช่วยเพิ่มความคล่องตัวของเศรษฐกิจของประเทศได้ และเมื่อประเทศเรามีการเชื่อมโยงกับ NSW ทั้งหมดแล้ว เมื่อเปิด AEC 2015 เราก็พร้อมที่จะก้าวไปสู่ ASEN Single Window ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ สพธอ. ยังมีบทบาทในการยกร่างพระราชกฤษฎีกาเกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ในภาพรวมทั้งหมด เพื่อรองรับระบบ National Single Window เพื่อเตรียมพร้อมพัฒนาสู่ระบบ ASEAN Single Window และ สพธอ. ยังเป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำหน่วยงานต่างๆ ในการใช้งานรหัสมาตรฐานข้อมูลสากลสำหรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่านระบบ National Single Window เพื่ออำนวยความสะดวกในการนำเข้า-ส่งออก ซึ่ง สพธอ.นำมาจัดทำเป็นข้อมูลเสนอแนะที่เกี่ยวกับมาตรฐานที่จำเป็นต่อธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์อีกด้วย

ดังนั้น หากมีการประกาศพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ สิ่งที่คาดว่าจะส่งผลต่อการนำเข้า-ส่งออกคือ การขอขึ้นทะเบียนการใช้งานระบบเชื่อมโยงข้อมูลและธุรกิจบริการรองรับการนำเข้า-ส่งออก นำร่องและโลจิสติกส์ผ่านระบบเชื่อมโยงข้อมูล (NSW) ผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ได้รับความสะดวกมากขึ้น มีการกำหนดแนวทางที่ชัดเจนในการสนับสนุนการจัดทำแนวนโยบายและแนวปฏิบัติในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศและการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามประกาศคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่กำหนด และได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานที่มีอำนาจตามกฎหมาย, มีการกำหนดแนวนโยบายและแนวปฏิบัติเพื่อใช้เป็นแนวทางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการนำเข้า-ส่งออกผ่านระบบเชื่อมโยงข้อมูล (NSW) แก่หน่วยงานของรัฐและผู้ประกอบธุรกิจบริการให้มีการบริหารจัดการแลกเปลี่ยนข้อมูลให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน, มีการกำหนดแนวทางที่ชัดเจนสำหรับการใช้งานระบบเชื่อมโยงข้อมูล เพื่อเป็นแนวทางตัวอย่างที่เกี่ยวกับการสร้างเอกสาร การรับรองเอกสาร การลงลายมือชื่อด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือการเก็บรักษาเอกสาร เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายหรือมาตรฐานสากล

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจปัญหาและอุปสรรคของหน่วยงานภาครัฐที่เป็นหน่วยงานนำร่อง ที่เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการนำเข้า-ส่งออก ได้มีการทดลองดำเนินการผ่านระบบ National Single Window ซึ่งมีหน่วยงานนำร่อง ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กระทรวงอุตสาหกรรม กรมการค้าต่างประเทศ (กต.) กระทรวงพาณิชย์ กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การท่าเรือแห่งประเทศไทย กระทรวงคมนาคม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข

โดยสรุปอุปสรรค คือ ความไม่มั่นใจ และความไม่พร้อมในการเปลี่ยนแปลงระบบ ความไม่มั่นใจในการออกใบอนุญาต-ใบรับรองในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ว่าจะมีผลในทางกฎหมายหรือไม่ หรือรูปแบบของแบบฟอร์มกลาง (Single Form) ที่ใช้ระหว่างหน่วยงานในประเทศและต่างประเทศจะสามารถใช้ทดแทนเอกสารเดิมที่มีอยู่ได้หรือไม่ ส่วนในแง่ของความไม่พร้อม คือความไม่พร้อมในส่วนของการแก้กฎหมายภายในเพื่อรองรับการออกใบอนุญาต-ใบรับรอง เพื่อการนำเข้า-ส่งออกผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ และยังมีความไม่พร้อมในแง่ของงบประมาณในการจัดทำระบบ เช่น ระบบ Digital Signature ด้านบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญ เป็นต้น

สำหรับระบบ National Single Window (NSW) เป็นระบบการบริการเชื่อมโยงข้อมูลหน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจ สำหรับการนำเข้า-ส่งออก และโลจิสติกส์เพื่อรองรับการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน และประเทศในภูมิภาคอื่นๆ โดยเป็นระบบบริการแบบอัตโนมัติและกึ่งอัตโนมัติควบคู่ไปกับการปฏิรูปกระบวนการและขั้นตอนการให้บริการและการลดรูปเอกสาร เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการ ได้แก่ ผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออก และโลจิสติกส์ เป็นต้น

ระบบ NSW จะมีความสำคัญต่อกระบวนการนำเข้า-ส่งออก ในแง่ของการอำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจให้มีความรวดเร็ว ปลอดภัยมากขึ้น ภายใต้การเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานในรูปแบบไร้เอกสาร (Paperless) โดยผู้ใช้บริการทั้งหน่วยงานภาครัฐ และภาคธุรกิจ สามารถติดตามผลในทุกๆ ขั้นตอนของการดำเนินงานนำเข้า-ส่งออก และการอนุมัติต่างๆ ผ่านทางอินเตอร์เน็ตได้ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง

สำหรับ สพธอ. มีหน้าที่ในการควบคุมดูแล Thailand NRCA หรือ Thailand National Root Certificate Authority ซึ่งเป็นระบบ National Root ที่คอยควบคุมดูแล Subordinate CA ซึ่งก็คือหน่วยงานที่ทำหน้าที่ออก Certificate ให้แก่หน่วยงานต่างๆ ให้นำไปใช้ในกระบวนการต่างๆ ได้ เช่น การเงิน (e-banking), การนำเข้า-ส่งออก (National Single Window) เช่น การออกใบรับรองสำหรับรับรองซอฟต์แวร์ (Code Singing Certificate) เป็นต้น โดยประเทศไทยมี Subordinate CA หลักๆ คือ CAT, TOT, Thailand Digital ID (TDID) และระบบ NRCA จะช่วยทำให้ใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ ที่รับรองตัวบุคคล, นิติบุคคล หรือเซิร์ฟเวอร์ให้เชื่อมโยงและสามารถตรวจสอบได้

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2556

‘เบญจา’สั่งกรมศุลฯรื้อการให้สิทธิฟรีโซน

นางเบญจา หลุยเจริญ รมช.คลัง เปิดเผยว่า ตนได้มอบหมายให้กรมศุลกากรไปพิจารณาทบทวนถึงการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีในเขตปลอดอากร (ฟรีโซน) ใหม่ ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งเดิมนั้นเขตปลอดอากร กำหนดให้เฉพาะอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อการส่งออกเท่านั้น แต่ปัจจุบันเพิ่มให้กับกลุ่มพาณิชยกรรมหรือกิจการอื่นที่เป็นประโยชน์แก่เศรษฐกิจของประเทศด้วย

ทั้งนี้ในเบื้องต้นพบว่ามีโรงงานอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการบางราย ได้กระทำผิด โดยลักลอบนำสินค้าที่ควรส่งออกมาขายในประเทศแทน ซึ่งถือว่าผิดหลักการของการได้รับสิทธิประโยชน์ของการให้ฟรีโซน

“ปัจจุบันมีเขตฟรีโซนเป็นจำนวนมาก ซึ่งควรต้องมาดูว่าสิทธิประโยชน์ที่ให้นั้นเหมาะสมหรือไม่ ควรจะทบทวนใหม่หรือไม่ เพราะการลักลอบนำสินค้าที่ควรส่งออกมาขายที่เกิดขึ้นนั้นมีปริมาณเท่าไหร่ มาจากอุตสาหกรรมไหน และเป็นผู้ประกอบการในกลุ่มไหน” นางเบญจา กล่าว

สำหรับสิทธิประโยชน์ที่ให้กับเขตฟรีโซนในปัจจุบัน อาทิ ยกเว้นของที่เป็นเครื่องจักร อุปกรณ์ เครื่องมือและเครื่องใช้ รวมทั้งส่วนประกอบของดังกล่าวที่จำเป็นต้องใช้ในการประกอบอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือกิจการอื่นใดที่เป็นประโยชน์แก่เศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงวัตถุดิบที่นำมาใช้ในการผลิต

นอกจากนี้ ยังยกเว้นอากรขาออก สำหรับของที่ปล่อยไปจากเขตปลอดอากร เพื่อส่งออกนอกประเทศ ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ยกเว้นภาษีสรรพสามิต สำหรับการนำเข้าและการผลิตของที่กระทำในเขตปลอดอากร ยกเว้นภาษีสุรา การปิดแสตมป์และค่าธรรมเนียมตามกฎหมายว่าด้วยสุรา กฎหมายยาสูบ และกฎหมายว่าด้วยไพ่ ทั้งนี้หากมีการนำสินค้าที่ผลิตได้ในเขตฟรีโซนออกมาขายในประเทศ จะถือว่าเป็นการนำเข้าสินค้าดังกล่าวมาจากต่างประเทศ ซึ่งผู้ประกอบการต้องเสียภาษีต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนด

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 12 ตุลาคม 2556

โรงงานน้ำตาลทรายส่งฝ่ายไร่เจาะพื้นที่เปลี่ยนนาเป็นไร่อ้อย ยืนยันกำลังผลิตรองรับอ้อยเข้าหีบเพิ่มตามนโยบายโซนนิ่งได้

โรงงานน้ำตาล เดินหน้าหนุนนโยบายโซนนิ่งเกษตร ส่งฝ่ายไร่ลงสำรวจพื้นที่ใกล้เคียง พบมีศักยภาพที่จะเปลี่ยนจากนาข้าวมาปลูกอ้อยโรงงาน ย้ำกำลังการผลิตที่มีอยู่รองรับปริมาณอ้อยที่จะเพิ่มขึ้นได้แน่นอน

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย (Mr.Sirivuth Siamphakdee, President of the Thai Sugar Millers Corporation Limited’ s public relations working group)เปิดเผยว่า จากการสำรวจข้อมูลพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวทั้งหมด 73.43 ล้านไร่ ซึ่งในจำนวนพื้นที่ปลูกข้าวดังกล่าวนั้น มีพื้นที่ไม่เหมาะสมต่อการปลูกข้าวและเหมาะสมในการส่งเสริมให้ชาวนาปรับเปลี่ยนนาข้าวหันมาปลูกอ้อยโรงงานประมาณ 6.7 ล้านไร่ แบ่งเป็นพื้นที่นาข้าวที่อยู่ใกล้โรงงานน้ำตาลไม่เกิน 50 กม. ประมาณ 4.19 ล้านไร่ และในรัศมีไม่เกิน 100 กม. จากโรงงานน้ำตาลทรายเพิ่มได้อีก 2.17 ล้านไร่ นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่ทับซ้อนที่อยู่ในรัศมีโรงงานน้ำตาลทรายและโรงงานแปรรูปอาหารสัตว์ซึ่งสามารถปลูกได้ทั้งอ้อยโรงงานและข้าวโพด เพื่อทำเป็นอาหารสัตว์ได้อีกประมาณ 3.56 ล้านไร่

ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับโรงงานน้ำตาลที่ต้องการขยายพื้นที่ปลูกอ้อยอีกจำนวน 7.2 ล้านไร่ และได้นำมาจัดทำแผนส่งเสริมการเพาะปลูกอ้อยโรงงานในระยะเวลา 3 ปี ซึ่งคาดว่า จะสามารถเริ่มได้ในปีการผลิตถัดไป หรือตั้งแต่ปีการผลิต 2557/2558 จำนวน 2.5 ล้านไร่ ปี 2558/2559 จำนวน 2.7 ล้านไร่ และปี 2559-2560 อีกจำนวน 2 ล้านไร่ เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางการลงทุนของฝ่ายโรงงานน้ำตาลในการวางแผนเพิ่มกำลังการผลิต เพื่อรองรับผลผลิตที่คาดว่า จะเพิ่มขึ้นจากการส่งเสริมการเพาะปลูกอ้อยโรงงานดังกล่าว

สำหรับการส่งเสริมและสนับสนุนพื้นที่เพาะปลูกอ้อยโรงงานที่เพิ่มขึ้นนั้น ทางโรงงานน้ำตาลพร้อมให้คำแนะนำเบื้องต้นเกี่ยวกับการจัดเตรียมพันธุ์อ้อย จัดเตรียมดิน ระบบการให้น้ำ การตัดอ้อย รวมถึงองค์ความรู้อื่นๆ ที่เกี่ยวกับการเพาะปลูกและการดูแลอ้อยให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ

ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กล่าวว่า จากข้อมูลการเพาะปลูกอ้อยประจำฤดูการผลิตที่ผ่านมา (ปี 2555/2556) มีพื้นที่ปลูกอ้อยทั้งสิ้น 9.33 ล้านไร่ โดยมีผลผลิตอ้อยเข้าหีบทั้งสิ้น 100 ล้านตันหรือคิดเป็นผลผลิตอยู่ที่ 10.72 ตันต่อไร่ ดังนั้น การเพิ่มจำนวนเพาะปลูกอ้อยตามนโยบายโซนนิ่งเกษตร ที่คาดว่า จะมีพื้นที่เพาะปลูกอ้อยเพิ่มขึ้นดังกล่าว จึงเชื่อว่า โรงงานน้ำตาลจะสามารถรองรับผลผลิตอ้อยที่คาดว่า จะเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ชาวนาที่หันมาปลูกอ้อยโรงงานจะมีความมั่นคงทางรายได้และสามารถยึดเป็นอาชีพหลักที่หาเลี้ยงครอบครัวได้อย่างแน่นอน

“ศักยภาพการผลิตของโรงงานน้ำตาลปัจจุบัน สามารถรองรับอ้อยได้ประมาณ 130 ล้านตัน ทั้งยังมีการปรับปรุงและพัฒนาเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การที่จะมีพื้นที่ปลูกอ้อยเพิ่มขึ้นจากนโยบายจัดโซนนิ่งจึงไม่เป็นปัญหาสำหรับเกษตรกรและโรงงานน้ำตาลในการรองรับผลผลิตที่เพิ่มขึ้น และสามารถสร้างความมั่นใจให้แก่เกษตรกรที่สมัครใจเปลี่ยนจากปลูกข้าวมาปลูกอ้อยได้ว่า ผลผลิตอ้อยที่เพาะปลูกได้นั้นทางโรงงานน้ำตาลจะรับซื้อเพื่อนำมาผลิตเป็นน้ำตาลทรายแน่นอน” นายสิริวุทธิ์ กล่าว

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 11 ตุลาคม 2556

เอเปคหนุนเจรจาWTOเปิดเสรีในปี63

เอเปคเห็นพ้องหนุนเจรจา WTO ผลักดันรอบโดฮาบรรจุเป้าหมายโบกอร์ เปิดเสรีค้า-ลงทุนในปี 2563

นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ 25 เมื่อวันที่ 4-5 ตุลาคม ที่ผ่านมา ณ เมืองบาหลี ประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซีย เห็นพ้องต้องการให้ประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก (WTO) ครั้งที่ 9 (MC 9) เดือนธันวาคมนี้ ณ บาหลี ประสบผลสำเร็จ โดยมี “Bali Package” คือ สามารถมีข้อตกลงในบางเรื่องได้ก่อน เช่น การอำนวยความสะดวกทางการค้าเกษตร และประเด็นผลประโยชน์ของประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (LDCs)

“ซึ่งไทยพร้อมร่วมผลักดันให้การประชุม MC 9 สำเร็จ เพราะมองว่าเป็นก้าวสำคัญในการผลักดันให้การเจรจารอบโดฮาเดินหน้าและบรรลุผล โดยไทยเรียกร้องให้สมาชิกแสดงความยืดหยุ่นในการเจรจา เพื่อลดช่องว่างระหว่างท่าทีที่แตกต่างกันลงมา”

นายนิวัฒน์ธำรง ระบุว่า ประเด็นหลักของปี 2556 ประกอบไปด้วยเรื่องการบรรลุเป้าหมายโบกอร์ เพื่อเปิดเสรีการค้าการลงทุนในภูมิภาค ภายในปี 2563 โดยเน้นการเจริญเติบโตอย่างเท่าเทียม ลดช่องว่างการพัฒนาของสมาชิก เช่น มาตรการภาษี มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (NTMs) และการร่วมกันต่อต้านมาตรการกีดกันทางการค้าทุกรูปแบบ รวมถึงการลดภาษีสินค้าสิ่งแวดล้อม ให้เหลือไม่เกิน 5% ภายในปี 2558 ซึ่งไทยเห็นว่าปัจจุบันมีการนำ NTMs มาใช้เพื่อกีดกันทางการค้า จึงหนุนให้มีกลไกเสริมสร้างความโปร่งใสของ NTMs เพื่อให้การนำมาใช้มีเหตุผลอันชอบธรรม และเกิดผลกระทบน้อยที่สุดต่อการค้า รวมทั้งสนับสนุนเรื่องการลดภาษีสินค้าสิ่งแวดล้อมของเอเปค 54 รายการ ให้เหลือไม่เกิน 5% ภายในปี 58 ด้วย

นายนิวัฒน์ธำรง กล่าวว่า อีกเรื่องคือการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยความเท่าเทียม เน้นความสำคัญบทบาทของสตรี และ SMEs รวมทั้งเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของสตรีในระบบเศรษฐกิจ การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของ SMEs รวมถึงเรื่องความมั่นคงทางอาหาร พลังงาน และสาธารณสุข ซึ่งไทยได้สนับสนุนการมีส่วนร่วมของเกษตรกรในเวทีเอเปค ความมั่นคงด้านน้ำ พร้อมทั้งยืนยันให้ที่ประชุมทราบว่ารัฐบาลไทยมีแผนการลงทุนบริหารจัดการน้ำ และสนับสนุนให้เอเปคเสริมสร้างความร่วมมือด้านการจัดการน้ำให้มากขึ้น เพื่อความมั่นคงด้านน้ำในภูมิภาค และการพัฒนาภาคเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน

นายนิวัฒน์ธำรง กล่าวเสริมว่า สุดท้ายคือเรื่องส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาค โดยเอเปคมีการจัดทำกรอบความเชื่อมโยงของเอเปค ใน 3 ด้าน คือ กายภาพ สถาบัน และความเชื่อมโยงระหว่างประชาชน โดยในปีหน้า จะมีการหารือในรายละเอียดเพื่อกำหนดแผนงานการทำงานในแต่ละเรื่องต่อไป ซึ่งไทยพร้อมที่จะสนับสนุนการเชื่อมโยงในภูมิภาค รวมทั้งสนับสนุนด้านความเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานของเอเปค เพื่อนำไปสู่การลดต้นทุน โลจิสติกส์ และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศและภูมิภาคเอเปค

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 11 ตุลาคม 2556

กรมการค้าตปท.ปรับการทำงานเชิงรุกรับAEC

กรมการค้าต่างประเทศ ปรับการทำงานเชิงรุก ดูแลสินค้าเกษตรรับเปิด AEC พร้อมใช้ประโยชน์จาก FTA ให้มากขึ้น

นายสุรศักดิ์ เรียงเครือ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงนโยบายและทิศทางการทำงานของ

กรมการค้าต่างประเทศ ว่า จากนี้ไปจะต้องมีการปรับเปลี่ยน เพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC โดยจะมีการปรับการทำงานให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงทางการค้า เพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการให้มีความสะดวกมากขึ้นและดำเนินการเชิงรุกปกป้องผลประโยชน์ทางการค้าของประเทศ โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ต้องมีการจัดระบบนำเข้าส่งออกสินค้าเกษตรให้มีความสะดวก แต่จะต้องควบคุมได้ เพื่อไม่ให้กระทบกับเกษตรกรในประเทศ ตามนโยบายของรัฐบาล
นอกจากนี้จะต้องมีการสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากการเจรจาเขตการค้าเสรี หรือ FTA ในกรอบต่างๆ ให้มากที่สุดเพื่อทดแทนสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรหรือ GSP ที่สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ได้ตัดสิทธิ์สินค้าไทยเพื่อให้สามารถรักษาระดับการค้าของประเทศไว้

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 11 ตุลาคม 2556

3กลุ่มน้ำตาล-เกษตรลุยปลูกอ้อย ในพื้นที่ปลูกข้าวไม่เหมาะสม-กองทุนค้านแหลก

3 สมาคมน้ำตาลเห็นต่างกองทุนอ้อยฯ พร้อมรับนโยบายโซนนิ่งปลูกอ้อยแทนข้าว 10 ล้านไร่ ของกระทรวงเกษตรฯ เร่งปลูก พ.ย.นี้ เพื่อให้ได้ความหวานสูงขึ้น "เชิดพงษ์" หนุนเต็มที่ หากสามารถขยายพื้นที่การปลูกอ้อยได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น

แม้ว่าในการประชุมของภาครัฐร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับอ้อยและน้ำตาลทราย ที่มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง เป็นประธาน เมื่อวันที่ 3 ต.ค.ที่ผ่านมา ทางกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายไม่เห็นด้วยที่กระทรวงเกษตรฯจะขยายพื้นที่ปลูกอ้อยแทนพื้นที่ปลูกข้าว โดยให้เหตุผลว่าจะเป็นภาระกับรัฐบาล และในขณะนี้ปริมาณอ้อยที่ผลิตได้เต็มกำลังการผลิตของโรงงานแล้ว แต่ 3 สมาคมผู้ผลิตน้ำตาลทรายและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็ยังเดินหน้าเจรจาความร่วมมือต่อไป

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากการหารือกับสมาคมโรงงานน้ำตาลไทย สมาคมผู้ผลิตน้ำตาลและชีวพลังงานไทย และสมาคมการค้าอุตสาหกรรมน้ำตาล ถึงนโยบายของกระทรวงเกษตรฯที่ต้องการเปลี่ยนพื้นที่นาข้าวในเขตไม่เหมาะสมประมาณ 7-10 ล้านไร่ ทางภาคเอกชนให้การสนับสนุน และเห็นว่ากระทรวงเกษตรฯควรเร่งดำเนินการส่งเสริมให้เกษตรกรกรเริ่มปลูกได้ไม่เกินเดือนพฤศจิกายนนี้ เพื่อให้ได้ค่าความหวานที่ดี หากเกษตรกรปลูกล่าช้ากว่านี้จะทำให้ค่าความหวานลดลง ไม่เป็นไปตามเป้าหมายของกระทรวงเกษตรฯที่ต้องการให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการมีรายได้เพิ่มสูงขึ้นจากการปลูกอ้อย

ปัจจุบันกำลังการผลิตของโรงงานน้ำตาลโดยรวมสามารถรับอ้อยเข้าโรงงานสูงสุดได้อีก 1 เท่าตัว จากปัจจุบันที่ผลิตอ้อยได้ 100 ล้านตัน ซึ่งเพียงพอกับการป้อนโรงงานได้ 120-150 วัน หากกระทรวงเกษตรฯสามารถเพิ่มผลผลิตได้มากขึ้นจะทำให้โรงงานผลิตได้เต็มกำลังใน 3-5 ปีข้างหน้า

นายยุคลกล่าวว่า เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าวจะได้รับการสนับสนุนด้านการลงทุนจากรัฐบาล เช่น การชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราไร่ละ 840 บาท/ไร่/ปี ซึ่งจะเชื่อมโยงกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่จะให้เกษตรกรกลุ่มนี้เข้าร่วมโครงการพักหนี้ 3 ปีด้วย ทั้งหมดนี้จะเสนอให้ที่ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

นายเชิดพงษ์ สิริวิชช์ ประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคม กล่าวว่า ทั้ง 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลเห็นว่า นโยบายของรัฐในการส่งเสริมเกษตรกรให้ปลูกพืชในพื้นที่ที่เหมาะสมจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุน อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรด้วย เพราะอ้อยเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ นอกจากผลิตน้ำตาลแล้วยังมีผลพลอยได้ที่สามารถใช้เป็นวัตถุดิบผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องอื่น ๆ ได้อีก หากสามารถขยายพื้นที่การปลูกอ้อยได้อย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น ขณะเดียวกัน โรงงานน้ำตาลมีการใช้กำลังการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพจากการมีอ้อยเข้าหีบเพิ่มขึ้น ซึ่งสามารถรองรับการขยายกำลังการผลิตของโรงงานในอนาคตด้วย

สำหรับปี 2555/56 มีโรงงานน้ำตาลเปิดหีบจำนวน 46 โรงงาน หากหีบอ้อยเต็มกำลังการผลิตจะต้องใช้อ้อยเฉลี่ยวันละ 8 แสนตัน ดังนั้น หากโรงงานเดินเครื่องเต็มกำลังเป็นเวลา 120 วัน จะสามารถหีบอ้อยได้ปีละ 96 ล้านตัน/ปี และขณะนี้มีโรงงานน้ำตาลที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จในปีนี้ และสามารถเปิดหีบใหม่ได้อีก 2 โรงงาน คือโรงงานน้ำตาลไทยกาญจนบุรี จ.อุดรธานี กำลังการผลิตวันละ 2.5 หมื่นตัน และโรงงานน้ำตาลมิตรเกษตร ที่ จ.อุทัยธานี กำลังการผลิตวันละ 2.4 หมื่นตัน

ดังนั้น หากเดินเครื่องเต็มกำลังการผลิตเป็นเวลา 120 วัน จะสามารถหีบอ้อยได้อีกประมาณ 5.8 ล้านตัน หรือรวมทั้งสิ้น 102 ล้านตัน/ปี

แต่การที่โรงงานน้ำตาลทรายเดินเครื่องมากกว่า 120 วัน ควรคำนึงถึงช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเก็บเกี่ยวอ้อยด้วย เนื่องจากหากขยายกำลังการผลิตเป็น 150 วัน อาจทำให้คุณภาพอ้อยและค่าความหวานลดลงหากเก็บเกี่ยวในช่วงที่มีฝนตก รวมทั้งสิ่งเจือปนที่จะเข้าสู่โรงงานด้วย

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ปี 2527 ซึ่งมีระบบการแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างชาวไร่อ้อยกับโรงงาน ดังนั้น การขยายพื้นที่ปลูกอ้อยจำเป็นต้องมีการหารือร่วมกันระหว่างสมาคมโรงงาน ชาวไร่อ้อย และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพราะหากขยายการผลิตน้ำตาลทรายเร็วเกินไปอาจส่งผลให้ราคาตกต่ำทั่วโลก เพราะไทยเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก และจะเป็นภาระต่อกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายในการเข้าไปดูแลเสถียรภาพของระบบได้ เนื่องจากเกษตรกรมักเรียกร้องให้เพิ่มราคาอ้อยขั้นสุดท้ายทุกปี

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 11 ตุลาคม 2556

ทริสฯจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่เกิน 7,500 ลบ.“บ. น้ำตาลมิตรผล”ที่ระดับ “A+/Stable”

ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตให้แก่หุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 7,500 ล้านบาทของ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ที่ระดับ “A+” พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดปัจจุบันของบริษัทที่ระดับ “A+” เช่นกัน โดยแนวโน้มยังคง “Stable” หรือ “คงที่”

ทั้งนี้ บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปใช้ชำระหนี้เดิมและใช้ในการลงทุนตามแผน อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งของบริษัทในอุตสาหกรรมน้ำตาลในภูมิภาค ตลอดจนแบรนด์สินค้าที่มีชื่อเสียง กระบวนการผลิตน้ำตาลที่มีประสิทธิภาพ และการขยายกิจการสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำตาล นอกจากนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงความเสี่ยงด้านกฎระเบียบและความเสี่ยงทางด้านการดำเนินงานในต่างประเทศ รวมถึงความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาน้ำตาลและปริมาณผลผลิตอ้อยด้วย ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่ากลุ่มมิตรผลจะยังคงดำรงสถานะผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลทั้งในประเทศไทยและจีนต่อไป ระบบแบ่งปันผลประโยชน์ในอุตสาหกรรมน้ำตาลในประเทศไทยและแนวโน้มการใช้แก๊สโซฮอล์และเอทานอลที่เพิ่มขึ้นจะช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของบริษัทในช่วงที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกอยู่ในระดับต่ำ

บริษัทน้ำตาลมิตรผลก่อตั้งในปี 2489 โดยตระกูลว่องกุศลกิจ ปัจจุบันบริษัทเป็นผู้นำในธุรกิจอ้อยและน้ำตาลของไทยซึ่งมีตระกูลว่องกุศลกิจถือหุ้นเต็ม 100% โดยถือหุ้นผ่าน บริษัท น้ำตาลมิตรสยาม จำกัด บริษัทน้ำตาลมิตรผลมีโรงงานน้ำตาลในประเทศไทย จีน ลาว และออสเตรเลีย ในเดือนกรกฎาคม 2556 บริษัทน้ำตาลมิตรผลได้ซื้อหุ้นในสัดส่วน 25% ของ บริษัท น้ำตาลสิงห์บุรีซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตน้ำตาลทรายที่ถือหุ้นโดยครอบครัวว่องกุศลกิจ โดยบริษัทซื้อหุ้นในราคาตามมูลค่าที่ตราไว้ และใช้เงินลงทุนรวม 93.5 ล้านบาท บริษัทจะรวมผลการดำเนินงานของบริษัทน้ำตาลสิงห์บุรีในปี 2556 เป็นต้นไป ในปีการผลิต 2555/2556 กลุ่มมิตรผลรวมบริษัทน้ำตาลสิงห์บุรีมีผลผลิตน้ำตาลรวมทั้งสิ้น 4.0 ล้านตัน

บริษัทเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในประเทศไทยมาอย่างยาวนานโดยเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดในประเทศ ในฤดูการผลิต 2555/2556 กลุ่มมิตรผลผลิตน้ำตาลที่ 2.00 ล้านตัน หรือคิดเป็นสัดส่วน 19.9% ของปริมาณน้ำตาลทั้งประเทศ ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นจาก 19.1% ในปีก่อนเนื่องจากโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ที่จังหวัดเลยเริ่มดำเนินงาน ผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่รองลงมาคือกลุ่มไทยรุ่งเรือง (16.3%) กลุ่มไทยเอกลักษณ์ (9.3%) กลุ่มน้ำตาลขอนแก่น (7.4%) และกลุ่มวังขนาย (6.6%) ประสิทธิภาพในการผลิตน้ำตาลของบริษัทอยู่ที่ระดับ 105.9 กิโลกรัม (กก.) ต่อตันอ้อยนับว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ 100.24 กก. ต่อตันอ้อยสำหรับปีการผลิต 2555/2556

บริษัทยังเป็นเจ้าของและบริหารโรงงานน้ำตาล 7 แห่งในประเทศจีนโดยมีผลผลิตน้ำตาล 1.14 ล้านตันในปีการผลิต 2555/2556 ปัจจุบันบริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาด 9.0% ซึ่งถือเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 2 ในประเทศจีน โดยมีประสิทธิภาพในการผลิตน้ำตาลที่ระดับ 123.2 กก. ต่อตันอ้อยในฤดูการผลิต 2555/2556 โรงงานน้ำตาลที่ประเทศลาวของบริษัทผลิตน้ำตาล 0.34 ล้านตันในฤดูการผลิต 2555/2556 ส่วนโรงงานน้ำตาลในออสเตรเลีย (MSF) อยู่ระหว่างการหีบอ้อยสำหรับฤดูการผลิตปี 2555/2556 MSF คาดว่าจะผลิตน้ำตาลได้ 0.55 ล้านตันในฤดูการผลิตปี 2555/2556

ธุรกิจน้ำตาลเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้และกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายรวม (EBITDA) ในสัดส่วนที่สูงที่สุดของบริษัท ในปี 2555 บริษัทมีรายได้รวม 89,572 ล้านบาท และมี EBITDA 15,581 ล้านบาท กำไรจากธุรกิจน้ำตาลมีสัดส่วน 67% ของ EBITDA รวมของบริษัทกำไรของธุรกิจน้ำตาลในจีนมีสัดส่วน 37% ของ EBITDA รวม ในขณะที่กำไรของธุรกิจน้ำตาลในประเทศไทยคิดเป็นสัดส่วน 28% ของ EBITDA รวม ธุรกิจน้ำตาลในประเทศลาวและออสเตรเลียยังให้ผลกำไรไม่มาก โดยธุรกิจน้ำตาลในประเทศลาวมี EBITDA เพียง 416 ล้านบาทในปี 2555 ส่วน MSF มี EBITDA เพียง 64 ล้านบาทในปี 2555

นอกเหนือจากธุรกิจน้ำตาลแล้ว บริษัทยังขยายการลงทุนไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอ้อยและน้ำตาลเพื่อใช้ประโยชน์สูงสุดจากอ้อยด้วย อาทิ ธุรกิจผลิตไฟฟ้า ธุรกิจผลิตเอทานอล ธุรกิจวัสดุทดแทนไม้ ธุรกิจผลิตกระดาษ และธุรกิจโลจิสติกส์ ณ เดือนมิถุนายน 2556 โรงงานผลิตเอทานอลของบริษัทในประเทศไทยมีกำลังการผลิตที่ 960,000 ลิตรต่อวัน นอกจากนี้ บริษัทยังเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าซึ่งมีกำลังการผลิตรวม 322 เมกะวัตต์ด้วย EBITDA จากธุรกิจเอทานอลและไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมาโดย EBITDA เพิ่มขึ้นเท่าตัวเป็น 4,833 ล้านบาทในปี 2555 จาก 2,425 ล้านบาทในปี 2551 โดย EBITDA จากธุรกิจเอทานอลและไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วน 31% ของ EBITDA รวมของบริษัทในปี 2555

แม้ว่าราคาน้ำตาลในตลาดโลกจะปรับตัวลดลง รายได้ของบริษัทยังทรงตัวในระดับสูงในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2556 โดยรายได้ทรงตัวที่ 47,400 ล้านบาทในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2556 เทียบกับ 46,899 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน การเติบโตที่แข็งแกร่งของธุรกิจเอทานอลและธุรกิจไฟฟ้าตลอดจนการเพิ่มขึ้นของปริมาณการขายน้ำตาลในประเทศจีนชดเชยการปรับลดของราคาน้ำตาลทราย อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจน้ำตาลทั้งประเทศไทยและจีนลดลงโดยอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ (รวมกำไรจากสัญญาขายน้ำตาลล่วงหน้า) ลดลงเป็น 22.5% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2556 เทียบกับ 25.3% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน EBITDA รวมลดลงเป็น 11,333 ล้านบาทในครึ่งแรกของปี 2556 ลดลง 10% จาก 12,570 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน กำไรของธุรกิจเอทานอลและไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น 53% ช่วยลดผลกระทบจากการลดลงของกำไรในธุรกิจน้ำตาล แม้ว่าราคาน้ำตาลจะลดต่ำลงแต่อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายยังแข็งแกร่งอยู่ที่ระดับ 9.5 เท่าในครึ่งปีแรกของปี 2556 โครงสร้างการก่อหนี้ของบริษัทเพิ่มขึ้นมาอยู่ระดับปานกลาง อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 47.0% ณ เดือนธันวาคม 2555 อัตราส่วนเงินกู้ดังกล่าวเพิ่มขึ้นตามฤดูกาลเป็น 52.0% ณ เดือนมิถุนายน 2556 เนื่องจากความต้องการเงินทุนหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูกาลการผลิตในครึ่งแรกของปี

ราคาน้ำตาลในตลาดโลกยังอยู่ระดับต่ำแม้ว่าจะปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ระดับ 18 เซนต์ต่อปอนด์จากประมาณ 16 เซนต์ต่อปอนด์ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา นอกจากนี้ บริษัทยังประสบปัญหาต้นทุนอ้อยในประเทศจีนที่อยู่ระดับสูงเนื่องจากนโยบายการกำหนดราคาอ้อยของรัฐบาลจีน ดังนั้นคาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะอ่อนแอลงแต่คาดว่ายังอยู่ในระดับที่น่าพอใจ

ทั้งนี้ เนื่องจากราคาส่งออกสำหรับปี 2556 ของธุรกิจน้ำตาลในประเทศไทยได้มีการทำสัญญาขายล่วงหน้าไปทั้งหมดแล้ว ณ ราคาใกล้เคียงกับราคาส่งออกอ้างอิงที่ดำเนินการขายโดย บริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย โดยบริษัทอ้อยและน้ำตาลไทยได้ทำสัญญาขายน้ำตาลทั้งหมดในราคาประมาณ 21 เซนต์ต่อปอนด์สำหรับฤดูกาลผลิตปี 2555/2556 นอกจากนี้ การเติบโตของความต้องการเอทานอลและกำไรจากธุรกิจไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจะช่วยชดเชยการลดลงของกำไรในธุรกิจน้ำตาลได้บางส่วน บริษัทมีแผนการขยายธุรกิจโดยใช้เงินลงทุนจำนวนรวม 17,500 ล้านบาทในปี 2556-2558 เงินลงทุนนี้สามารถใช้เงินจากกำไรจากการดำเนินงาน เนื่องจากบริษัทมี EBITDA ประมาณ 15,000-17,000 ล้านบาทต่อปี ดังนั้นอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะยังอยู่ในระดับปานกลางในระยะ 2 ปีข้างหน้า

บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด (MPSC)
อันดับเครดิตองค์กร: A+
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
MPSC13DB: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2556 A+
MPSC145A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 300 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2557 A+
MPSC146A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2557 A+
MPSC14OA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2557 A+
MPSC155B: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558 A+
MPSC156A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558 A+
MPSC15OA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558 A+
MPSC165A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 A+
MPSC16OA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 A+
PSC175A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 A+
MPSC185A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 700 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 A+
MPSC20OA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 A+
MPSC21OA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A+
MPSC22OA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A+
MPSC233A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A+
MPSC256A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 2,400 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A+
หุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 7,500 ล้านบาท ไถ่ถอนภายในปี 2563 A+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 10 ตุลาคม 2556

ไทยเตรียมทบทวนนโยบายพืชจีเอ็มโอ

รายงานข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยถึงผลการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ ครั้งที่ 35 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ว่า การประชุมครั้งนี้นอกจากจะเป็นการรับทราบความก้าวหน้าในการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสของประเทศสมาชิกในกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศแล้ว ยังหารือถึงความคืบหน้าในการเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ ที่จะเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปลายปี 2558 นี้ ประกอบด้วย การสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารและความปลอดภัยอาหาร การศึกษาค้นคว้าวิจัยร่วมกัน ซึ่งครอบคลุมทั้งด้านประมง ปศุสัตว์และป่าไม้ การควบคุมหรือลดการใช้ย่าฆ่าแมลงในการผลิตสินค้าเกษตร การเตรียมการรองรับความเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ รวมถึงความร่วมมือกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนบวก 3 ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี

ขณะเดียวกัน ในการประชุมครั้งนี้ยังหารือร่วมกันในการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก คือ 1. ความร่วมมือในการจัดระบบระบาดวิทยาทางสัตว์ ทั้งโรคไข้หวัดนก และโรคระบาดสัตว์อื่นๆ เพื่อให้ประเทศอาเซียนไปสู่เป้าหมาย เพื่อควบคุมโรคติดต่ออุบัติใหม่ระบาดตามเป้าหมายขององค์การสหประชาชาติ 2. การใช้ระบบสหกรณ์และสร้างการร่วมกลุ่มให้เข้มแข็ง เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับพี่น้องเกษตรกรแต่ละประเทศ 3. การร่วมกันกำหนดมาตรฐานสินค้าอาเซียน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการค้าสินค้าเกษตรร่วมกัน โดยเฉพาะประเทศไทยที่ถือว่ามีมาตรฐานสินค้าเกษตรมาอย่างต่อเนื่องและค่อนข้างจะเป็นมาตรฐานสากล ดังนั้น หากสามารถนำมาพัฒนาต่อยอดให้เป็น มาตรฐานของอาเซียนได้ ก็จะเพิ่มอำนาจการต่อรองและการแข่งขันสินค้าเกษตรของภูมิภาคในตลาดโลกมากขึ้น ขณะเดียวกัน ยังจะสร้างความมั่นคงและความปลอดภัยทางอาหารให้แก่ประชากรในอาเซียนกว่า 600 ล้านคน และก้าวไปสู่การเป็นฐานการผลิตสินค้าอาหารของโลก ป้อนประชากรโลกกว่า 7 พันล้านคนในอนาคตด้วย

นอกจากนี้ ที่ประชุมอาเซียนยังมีแนวโน้มที่จะร่วมกันกำหนดมาตรฐานจีเอ็มโอด้วย เนื่องจากพิจารณาเห็นว่าสินค้าจีเอ็มโอสามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอาหารให้แก่ประชากรโลกได้ โดยในส่วนของประเทศไทยก็คงต้องมีการทบทวนนโยบายเกี่ยวกับสินค้าจีเอ็มโออีกครั้งให้สอดคล้องกับแนวทางของอาเซียนด้วยเช่นกัน ซึ่งจะมีการหารือกับส่วนที่เกี่ยวข้องในลำดับต่อไป .

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 10 ตุลาคม 2556

เกษตรไฟเขียวปล่อยปุ๋ยเสื่อมเข้าตลาด

เกษตรฯ เปิดทางเอกชนขายปุ๋ยเสื่อมคุณภาพ อ้างเหตุผลสุดวิสัย เร่ง 2 เดือนออกสู่ท้องตลาดได้

นายศักดิ์เกษม สุนทรภัทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการปุ๋ยมีมติให้กรมวิชาการเกษตรออกประกาศ หลักเกณฑ์การาจำหน่ายและการขอจำหน่ายปุ๋ยเคมีเสื่อมคุณภาพด้วยเหตุผลสุดวิสัย เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาออกมาบังคับใช้ในอีก 2 เดือนข้างหน้า

ทั้งนี้การอออกกฎเกณฑ์ดังกล่าวเป็นไปตามพ.ร.บ.ปุ๋ย พ.ศ. 2518 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2550 กำหนดให้มีการนำปุ๋ยเสื่อมมาใช้ได้ภายใต้การอนุญาตของกรมวิชาการเกษตร เช่น กรณีผู้ผลิตมีปุ๋ยเสื่อมจากเหตุผลสุดวิสัยจากน้ำท่วมโรงงาน บริษัทดังกล่าวจะต้องแจ้งกับกรมวิชาการเกษตรเพื่อจัดจำหน่าย โดยกรมจะส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบ หากพบว่าคุณภาพยังพอใช้ได้ ก็จะอนุญาตให้จำหน่ายภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด เช่น หน้าถุงปุ๋ยจะต้องเขียนคำว่าปุ๋ยเสื่อมคุณภาพ มีปริมาณธาตุอาหารเท่าไหร่ เพื่อแจ้งให้ประชาชนทราบและตัดสินใจเลือกซื้อ

อย่างไรก็ตาม กรณีที่พบว่าเป็นปุ๋ยเสื่อมจากเหตุผลที่ไม่ได้สุดวิสัย กรมจะไม่อนุญาตให้จำหน่าย และหากพบว่านำมาจำหน่าย โดยกรมไม่อนุญาตจะเข้าข่ายจำหน่ายปุ๋ยปลอม ซึ่งมีโทษทั้งจำทั้งปรับ

“การออกประกาศดังกล่าว เนื่องจากที่ผ่านมาได้เกิดปัญหาอุทกภัยและภัยอื่นๆ เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทำให้ปุ๋ยจำนวนหนึ่งต้องถูกทำลาย ทั้งนี้ยังมีประโยชน์พอใช้ได้ เช่นในปี 2554 มีปุ๋ยเสียหายจากน้ำท่วมกว่าหมื่นตัน” นายศักดิ์เกษม กล่าว

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบให้ต่ออายุทะเบียนปุ๋ยเคมีเกษตรได้ครั้งละไม่เกิน 5 ปี ซึ่งตามทะเบียนกฎหมายเดิมจะหมดอายุในปี 2556 นี้ ประมาณ 7 หมื่นทะเบียน

จาก http://www.posttoday.com วันที่ 9 ตุลาคม 2556

ลดขั้นตอนตั้งโรงงานใหม่รู้ผลใน90วันนับจากวันขออนุญาต-เน้นโปร่งใสไร้คอร์รัปชั่น

อุตสาหกรรม ปรับระบบอนุญาตโรงงานเร็วขึ้น การันตี 90 วัน รู้ผลนับแต่ได้รับคำขออนุญาต การันตรีขั้นตอนโปร่งใสไม่มีจ่ายใต้โต๊ะ เพิ่มความสะดวกให้ผู้ใช้บริการยึดความถูกต้อง-ผลประโยชน์ของผู้ขอและชาวบ้านอยู่กับโรงงานได้
นายวิฑูรย์ สิมะโชคดีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงการประชุมหารือแนวทางการปฏิบัติในการพิจารณาอนุญาตประกอบกิจการโรงงานว่า การประชุมมีขึ้นเพื่อหาข้อยุติร่วมกันในการแก้ปัญหาความล่าช้าและเรื่องการอนุญาตที่อาจค้างการพิจารณาอยู่กับกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด (สอจ.) หลังมีผู้กล่าวพาดพิงถึงการทำงานของคณะกรรมการกลั่นกรองพิจารณาอนุญาตโรงงานบางประเภทที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมของกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นระยะๆ โดยขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยึดเอาความถูกต้องและประโยชน์ของผู้ขออนุญาตและประชาชนเป็นที่ตั้ง

ทั้งนี้ขอยืนยันการทำงานของคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ตลอดเวลาที่ผ่านมาไม่เคยมีเรื่องค้าง กรมโรงงานฯและฝ่ายเลขานุการส่งเรื่องเข้ามาให้พิจารณาเท่าใดเราก็พิจารณาให้แล้วเสร็จในการประชุมแต่ละครั้ง การออกใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 กำหนดให้ดำเนินการพิจารณาต้องแล้วเสร็จภายใน 90 วันนับแต่ได้รับคำขอ ทุกวันนี้ปัญหาความล่าช้าอาจเกิดจาก 3 ฝ่าย ได้แก่ สอจ.ที่รับเรื่องหรือ กรอ.ที่พิจารณาอนุญาต รวมทั้งผู้ประกอบกิจการโรงงานเอง ดังนั้นกระทรวงอุตสาหกรรม จึงพยายามแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการจัดทำแบบฟอร์มมาตรฐานกลางและเมื่อ สอจ.รับเรื่องจากผู้ประกอบการที่มาขออนุญาต ให้ตรวจสอบเอกสารให้ครบถ้วนตามแบบฟอร์ม ก่อนส่งเรื่องให้ กรอ.พิจารณา หากไม่ครบก็ขอให้อธิบายให้ผู้ขอเข้าใจเพื่อจะได้นำมายื่นใหม่

โดยเมื่อ กรอ.ตรวจสอบเอกสารแล้วหากไม่ครบถ้วนห้ามพิจารณาต่อ ขอให้ส่งเรื่องกลับทันที โดยแจ้งเอกสารที่ต้องการเพิ่มเติมให้ สอจ.ดำเนินการโดยแจ้งเหตุผลให้ทราบด้วย ทั้งนี้ การตรวจสอบคำขอและเอกสารหลักฐาน หากไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วนในข้อเท็จจริง หรือไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ให้คืนเรื่องคำขอดังกล่าวพร้อมกับคำแนะนำให้ผู้ประกอบการไปดำเนินการให้ถูกต้องครบถ้วน หรือกรณีที่ไม่อนุญาตต้องแจ้งผู้ประกอบการให้ทราบโดยไม่ชักช้า พร้อมระบุประเด็นเหตุผล ข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย โดยให้ขอเอกสารเพิ่มเติมจากผู้ขออนุญาตได้เพียงครั้งเดียวให้เบ็ดเสร็จครบถ้วน การส่งเรื่องกลับคืนไปมาระหว่างจังหวัดกับกรมโรงงานฯ บ่อยครั้ง ส่วนกลางจะเก็บข้อมูลทั้งของ กรอ.และสอจ. เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ประเมินผลงาน ซึ่งการไม่ดำเนินการตามขั้นตอน ถือว่าบกพร่องต่อการปฏิบัติหน้าที่ราชการ

สำหรับการทำงานของเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานอนุญาตแม้จะต้องมีความละเอียดรอบคอบในการตรวจสอบเอกสารหลักฐานแต่ถ้าเรื่องช้าอยู่ที่หน่วยงานใดหน่วยงานนั้นต้องรับผิดชอบ ส่วนกรณีมีเรื่องอนุญาตค้างที่ สอจ.หรือ กรอ.มากกว่า 30 วัน ขอให้หน่วยงานทั้งสองติดตามและทวงถามกันเพื่อให้การพิจารณาอยู่ในกรอบระยะเวลา 90 วัน อันจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของภาคธุรกิจอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ เพื่อให้การทำงานของผู้เกี่ยวข้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน จึงได้สั่งการให้ กรอ. และ สอจ.สรุปแนวทางปฏิบัติให้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเอกสารประกอบการอนุญาต การกำหนดเงื่อนไขท้ายใบอนุญาต การพิจารณาอนุญาตของหน่วยงานอนุญาตที่เป็นไปตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 รวมทั้งเรื่องมวลชนประท้วง ส่งมาภายในวันที่ 15 ต.ค. นี้ เพื่อประกาศใช้เป็นทางการต่อไป โดยทุกอย่างต้องอยู่บนความโปร่งใสไร้คอร์รัปชั่น

จาก http://www.siamrath.co.th  วันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2556

เอกชนบุกทวงแผนส่งเสริมปลูกอ้อย

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย ได้แก่ สมาคมโรงงานน้ำตาลไทย สมาคมผู้ผลิตน้ำตาลและชีวพลังงานไทย สมาคมการค้าอุตสาหกรรมน้ำตาล เกี่ยวกับการส่งเสริมการปลูกอ้อยในเขตในเขตพื้นที่ไม่เหมาะสมสำหรับข้าว ว่า ทาง 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย ได้มาขอความชัดเจนในการดำเนินการในการส่งเสริมการปลูกอ้อยในเขตไม่เหมาะสมสำหรับข้าว เนื่องจากหากการพิจารณาเรื่องดังกล่าวมีความล่าช้า ก็จะไม่สามารถดำเนินโครงการได้ทันกับฤดูกาลเพาะปลูกอ้อยใหม่ประมาณเดือนพฤศจิกายน 2556 จึงได้ขอให้กระทรวงเกษตรฯ ช่วยผลักดันเร่งรัดการดำเนินการ ทั้งนี้ หากภายในเดือนตุลาคม 2556 ยังไม่มีความชัดเจน ก็จะเสียโอกาสในการเพาะปลูกอ้อยไป 1 ปี เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงที่ชาวนาเก็บเกี่ยวข้าว และพร้อมที่จะปรับเปลี่ยน และยังส่งผลกระทบต่อการคุณภาพอ้อยที่จะผลิตในปีหน้าอีกด้วย

“กระทรวงเกษตรฯ ขอยืนยันว่า การส่งเสริมการปลูกอ้อยในเขตพื้นที่ไม่เหมาะสมสำหรับปลูกข้าว มีความพร้อมทั้งในระบบการปลูกอ้อย เกษตรกร และผู้ประกอบการ ซึ่งมีการจัดผลประโยชน์ที่ชัดเจน โดยมีรัฐบาลเข้าไปส่งเสริมกำกับดูแล ซึ่งในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ ได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่มีรายได้ต่ำจากการที่ปลูกข้าวในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม โดยขณะนี้โรงงานน้ำตาลมีกำลังการผลิตได้ 100 ล้านตัน และสามารถรองรับผลผลิตอ้อยที่เพิ่มขึ้นได้ จึงมั่นใจว่าไทยสามารถแข่งขันตลาดน้ำตาลในเอเชียได้ นอกจากนี้ ผลผลิตอ้อยและน้ำตาลยังสามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ เช่น เอทานอล ผลิตภัณฑ์ชีวเคมี และการผลิตพลังงานไฟฟ้า จึงเป็นโอกาสของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทยในการขยายผลผลิตเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ จะเร่งผลักดันการดำเนินงานในโครงการนี้ โดยจะนำประเด็นการหารือดังกล่าวพิจารณาร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงการคลังต่อไป” นายยุคล กล่าว

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2556

“รถตัดอ้อยแบรนด์ไทย-นักเทคโนโลยีจีโนม” คว้ารางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นประจำปี 2556

วันนี้ (9 ตค.56) ที่โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ แถลงข่าวรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นและนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ประจำปี 2556 โดย รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ประธานคณะกรรมการรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์ ฯ เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทย อยู่ในสภาพที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศและขาดอำนาจการต่อรอง มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์ ฯ เห็นความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นอัตราการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อแก้ปัญหาของประเทศอย่างเร่งด่วน จึงจัดมีการมอบรางวัล “นักเทคโนโลยีดีเด่น” และรางวัล “นักเทคโนโลยีรุ่นใหม่” ขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 คู่ขนานไปกับรางวัลทางด้านวิทยาศาสตร์

สำหรับปีนี้รางวัลดังกล่าวได้รับความสนใจจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเป็นจำนวนมาก โดยมีผลงานที่ได้รับการเสนอชื่อกว่า 70 ผลงาน ทั้งนี้ผลงานที่ได้รับรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น ประจำปี 2556 มืทั้งสิ้น 2 ทีม คือ ทีมนายสามารถ ลี้ธีระนานนท์ หุ้นส่วนผู้จัดการ และนายวิฑูร ลี้ธีระนานนท์ วิศวกรออกแบบและควบคุมการผลิต ห้างหุ้นส่วนจำกัด สามารถเกษตรยนต์ คณะผู้ประดิษฐ์คิดค้นเทคโนโลยีรถตัดอ้อยที่มีกระบะบรรจุท่อนอ้อยทำงานแบบอัตโนมัติ ครั้งแรกในโลก และทีมดร.สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง ผู้อำนวยการสถาบันจีโนมแห่งชาติ และคณะ จากห้องปฏิบัติการดีเอ็นเอเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสถาบันจีโนม ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ซึ่งประสบความสำเร็จในการวิจัยพัฒนาและการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีจีโนมในควบคุมคุณภาพสินค้าในการส่งออกอาหารและการปรับปรุงพันธุ์พืชอายุยืนแบบก้าวกระโดด

ส่วนรางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ประจำปี 2556 คือ ดร.บุญรัตน์ โล่ห์วงศ์วัฒน หน่วยปฏิบัติการวิจัยนวัตกรรมโลหะ ภาควิชาวิศวกรรมโลหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีผลงานวิจัยการออกแบบวัสดุโดยใช้หลักการทางอุณหพลศาสตร์และการปรับปรุงโครงสร้างเชิงโลหะวิทยาเพื่อพัฒนาระบบโลหะผสมและคิดค้นเทคนิคการผลิตใหม่สำหรับอุตสาหกรรมผลิตเครื่องประดับไทย

ด้านดร.สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง ผู้อำนวยการสถาบันจีโนมแห่งชาติ ฯ เปิดเผยว่า การใช้เทคโนโลยีฐานจีโนมิกส์ สามารถช่วยประเทศได้ทั้งด้านการส่งออก กฎหมายและการป้องกันการกีดกันทางการค้า โดยช่วยให้ไทยสามารถตรวจสอบการปลอมปนอาหาร และสิ่งมีชีวิตได้อย่างแม่นยำ โดยเฉพาะการพัฒนาเทคโนโลยีตรวจสอบการปลอมปนข้าวสารได้ทุกสายพันธุ์ เทคโนโลยีการตรวจสอบการปนเปื้อนของพืชดัดแปลงพันธุกรรมหรือจีเอ็มโอ และเทคโนโลยีตรวจสอบการปนเปื้อนเนื้อวัวในอาหารสำเร็จรูปหรืออาหารสัตว์ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรควัวบ้าเข้ามาในประเทศไทย นอกจากนี้เทคโนโลยีดังกล่าวยังสามารถใช้ในการปรับปรุงพันธุ์พืชและสัตว์ได้อย่างรวดเร็วเช่นการปรับปรุงพันธุ์ปาล์มน้ำมัน จากปกติที่ใช้เวลา 15-20 ปีเหลือเพียง 5-8 ปีเท่านั้น

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2556

สพธอ.เร่งผลักดันมาตรฐานธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์-ระบบNational Single Window

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือสพธอ. เตรียมพร้อม โครงสร้างพื้นฐาน ที่สำคัญต่อการขับเคลื่อน ระบบ National Single Window ซึ่งเป็นระบบกลางสำหรับรองรับการเชื่อมโยงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า-ส่งออก และระบบโลจิสติกส์ของประเทศ ความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกด้านศุลกากรด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน(Agreement to Establish and Implement ASEAN Single Window) รุกจัดงานสัมมนาเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและส่งเสริมให้มีการนำมาตรฐานธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์มาประยุกต์ใช้ในกระบวนการนำเข้า – ส่งออกสินค้าผ่านระบบ National Single Window (NSW) ที่สามารถใช้งานได้จริงสำหรับสินค้าทุกประเภทได้อย่างเต็มรูปแบบก่อนการเปิด AEC ในปี พ.ศ.2558

นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ. ซึ่งเป็นองค์การภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที)กล่าวว่า ในปัจจุบัน สพธอ. ได้มีความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรมศุลกากร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการศึกษาวิเคราะห์รูปแบบการวางแผนธุรกิจ และการพัฒนากลไกและระบบบริหารจัดการ National Single Window (Business Model) โดยรหัสมาตรฐานข้อมูลสากลที่กรมศุลกากรให้นำมาประยุกต์ใช้กับการแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่านระบบ NSW ได้นำมาจากข้อเสนอแนะของ UN/CEFACT จำนวน 7 ฉบับ ได้แก่ Codes for Types of Cargo, Packages and Packaging Materials Code for Modes of Transport, UN/LOCODE-Code for Ports and Other Locations, Country Code, Measurement Unit, Currencies Code, Incoterms ซึ่งในอนาคต ถ้าเราสามารถผลักดันได้สำเร็จ ระบบ NSW สามารถเชื่อมโยงข้อมูลได้ทั้งหมด ก็จะส่งผลดีต่อประเทศอย่างมาก ส่งผลให้กระบวนการนำเข้า ส่งออกสินค้ามีปริมาณมากขึ้นและมีมูลค่าสูงขึ้น ซึ่งจะสามารถช่วยเพิ่มความคล่องตัวของเศรษฐกิจของประเทศได้ และเมื่อประเทศเรามีการเชื่อมโยงกับ NSW ทั้งหมดแล้ว เมื่อเปิด AEC2015 เราก็พร้อมที่จะก้าวไปสู่ ASEN Single Window ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ สพธอ. ยังมีบทบาทในการยกร่างพระราชกฤษฎีกาเกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ในภาพรวมทั้งหมด เพื่อรองรับระบบ National Single Window เพื่อเตรียมพร้อมพัฒนาสู่ระบบ ASEAN Single Window และสพธอ. ยังเป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำหน่วยงานต่างๆ ในการใช้งานรหัสมาตรฐานข้อมูลสากลสำหรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่านระบบ National Single Window เพื่ออำนวยความสะดวกในการนำเข้า-ส่งออก ซึ่งสพธอ. นำมาจัดทำเป็นข้อมูลเสนอแนะที่เกี่ยวกับมาตรฐานที่จำเป็นต่อธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์อีกด้วย

ดังนั้นหากมีการประกาศพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ สิ่งที่คาดว่าจะส่งผลต่อการนำเข้า-ส่งออก คือ การขอขึ้นทะเบียนการใช้งานระบบเชื่อมโยงข้อมูลและธุรกิจบริการรองรับการนำเข้า ส่งออก นำผ่านและโลจิสติกส์ผ่านระบบเชื่อมโยงข้อมูล (NSW) ผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้ได้รับความสะดวกมากขึ้น, มีการกำหนดแนวทางที่ชัดเจนในการสนับสนุนการจัดทำแนวนโยบายและแนวปฏิบัติในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศและการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามประกาศคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่กำหนด และได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานที่มีอำนาจตามกฎหมาย, มีการกำหนดแนวนโยบายและแนวปฏิบัติเพื่อใช้เป็นแนวทางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการนำเข้าส่งออกผ่านระบบเชื่อมโยงข้อมูล (NSW) แก่หน่วยงานของรัฐและผู้ประกอบธุรกิจบริการให้มีการบริหารจัดการแลกเปลี่ยนข้อมูลให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน, มีการกำหนดแนวทางที่ชัดเจนสำหรับการใช้งานระบบเชื่อมโยงข้อมูล เพื่อเป็นแนวทางตัวอย่างที่เกี่ยวกับการสร้างเอกสาร การรับรองเอกสาร การลงลายมือชื่อด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือการเก็บรักษาเอกสาร เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายหรือมาตรฐานสากล

อย่างไรก็ตามจากการสำรวจปัญหาและอุปสรรคของหน่วยงานภาครัฐที่เป็นหน่วยงานนำร่อง ที่เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการนำเข้าส่งออก ได้มีการทดลองดำเนินการผ่านระบบ National Single Window ซึ่งมีหน่วยงานนำร่องได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กระทรวงอุตสาหกรรม กรมการค้าต่างประเทศ (กต.) กระทรวงพาณิชย์ กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การท่าเรือแห่งประเทศไทย กระทรวงคมนาคม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข

กล่าวโดยสรุปอุปสรรค คือ ความไม่มั่นใจ และความไม่พร้อมในการเปลี่ยนแปลงระบบ ความไม่มั่นใจในการออกใบอนุญาต-ใบรับรองในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ว่าจะมีผลในทางกฎหมายหรือไม่ หรือรูปแบบของแบบฟอร์มกลาง (Single Form) ที่ใช้ระหว่างหน่วยงานในประเทศและต่างประเทศจะสามารถใช้ทดแทนเอกสารเดิมที่มีอยู่ได้หรือไม่ ส่วนในแง่ของความไม่พร้อม คือความไม่พร้อมในส่วนของการแก้กฎหมายภายในเพื่อรองรับการออกใบอนุญาต-ใบรับรอง เพื่อการนำเข้า-ส่งออกผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ และยังมีความไม่พร้อมในแง่ของงบประมาณในการจัดทำระบบ เช่น ระบบ Digital Signature, ด้านบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญ เป็นต้น

สำหรับระบบ National Single Window (NSW) เป็นระบบการบริการเชื่อมโยงข้อมูลหน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจ สำหรับการนำเข้า-ส่งออก และโลจิสติกส์ เพื่อรองรับการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน และประเทศในภูมิภาคอื่นๆ โดยเป็นระบบบริการแบบอัตโนมัติและกึ่งอัตโนมัติควบคู่ไปกับการปฏิรูปกระบวนการและขั้นตอนการให้บริการ และการลดรูปเอกสาร เพื่ออำนวยความสะดวกแก้ผู้ใช้บริการได้แก่ ผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออก และโลจิสติกส์ เป็นต้น

ระบบ NSW จะมีความสำคัญต่อกระบวนการนำเข้า-ส่งออก ในแง่ของการอำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจให้มีความรวดเร็ว ปลอดภัยมากขึ้นภายใต้การเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานในรูปแบบไร้เอกสาร (Paperless) โดยผู้ใช้บริการทั้งหน่วยงานภาครัฐ และภาคธุรกิจ สามารถติดตามผลในทุกๆ ขั้นตอนของการดำเนินงานนำเข้า-ส่งออก และการอนุมัติต่างๆ ผ่านทางอิเทอร์เน็ตได้ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง

สำหรับ สพธอ. มีหน้าที่ในการควบคุมดูแล Thailand NRCA หรือ Thailand National Root Certificate Authority ซึ่งเป็นระบบ National Root ที่คอยควบคุมดูแล Subordinate CA ซึ่งก็คือหน่วยงานที่ทำหน้าที่ออก Certificate ให้แก่หน่วยงานต่างๆ ให้นำไปใช้ในกระบวนต่างๆ ได้ เช่น การเงิน(e-banking), การนำเข้า-ส่งออก (National Single Window) เช่น การออกใบรับรองสำหรับรับรองซอฟต์แวร์ (Code Singing Certificate) เป็นต้น โดยประเทศไทยมี Subordinate CA หลักๆ คือ CAT, TOT, Thailand Digital ID (TDID) และระบบ NRCA จะช่วยทำให้ใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ ที่รับรองตัวบุคคล, นิติบุคคล, หรือเซิร์ฟเวอร์ให้เชื่อมโยงและสามารถตรวจสอบได้

โดยในวันอังคารที่ 24 กันยายน 2556 เวลา 09.00-16.00 น. ณ ห้องกมลทิพย์ 3 โรงแรมเดอะสุโกศล ทางสพธอ.ได้จัดงานสัมมนาเตรียมความพร้อมเข้าร่วมAEC 2015 “มาตรฐาน e-Transactions กุญแจสู่ความสำเร็จของภาครัฐและเอกชน” โดยมีผู้เข้าร่วมงานทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชน อย่างคับคั่ง ณ โรงแรมเดอะสุโกศล

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 8 ตุลาคม 2556

คอลัมน์ เส้นทางอาชีพ: ฟังเสวนา 'จักรกลเกษตร' รับเออีซี

สุรัตน์ อัตตะ
surat_a@nationgroup.com

การพัฒนาการเกษตรให้สอดคล้องตามนโยบายของรัฐบาล นอกจากปัจจัยการผลิตด้านต่างๆ เช่น พันธุ์พืชและปุ๋ยแล้ว การสนับสนุนให้เกษตรกรรู้จักใช้เครื่องจักรกลการเกษตรอย่างถูกวิธีและให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุดก็เป็นส่วนสำคัญไม่น้อยในการลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตในภาคเกษตร ทั้งยังเป็นก้าวสำคัญในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในอีก 2 ปีข้างหน้า ที่มุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในภาคเกษตรเป็นสำคัญ

วันก่อนปะหน้า รศ.ดร.เจษฎา แก้วกัลยา ที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็ได้ถามไถ่ถึงความคืบหน้านโยบายส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลในภาคเกษตรที่ทางกระทรวงเกษตรฯ ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็ได้รับคำตอบว่าหลังรัฐมนตรีได้มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร หรือ สวก. (องค์การมหาชน) หน่วยงานหลักในการจัดทำแผนงานดังกล่าว ล่าสุด ได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว กำลังจะเตรียมเสนอนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในเร็วๆ นี้

ถ้าดูจากข้อมูลศึกษาเชิงวิจัยของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมก็จะพบว่าการบริโภคจักรกลเกษตรของไทยส่วนใหญ่จะเป็นการใช้ในนาข้าวมากที่สุด เนื่องจากข้าวมีพื้นที่การผลิต 55% ของพื้นที่การเกษตรทั้งประเทศประมาณ 72 ล้านไร่ โดยต้นทุนในการผลิตข้าวนาปีเป็นต้นทุนที่เกิดจากการใช้จักรกลการเกษตร 32.31% นาปรัง 25.51% ซึ่งสูงไม่น้อยไปกว่าต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีทางการเกษตร

บทสรุปที่น่าสนใจของรายงานการศึกษานี้บอกว่า ปัญหาของจักรกลการเกษตรไทยปัจจุบันก็คือ ปัญหาคุณภาพการผลิตมาตรฐานการผลิตความร่วมมือระหว่างผู้ผลิต การสนับสุนนจากภาครัฐ การพัฒนาที่ไม่เป็นระบบและขาดประสิทธิภาพ การขาดความเชื่อถือของผู้ใช้ภายในประเทศ จึงทำให้ต้นทุนสูงกว่าที่ควรจะเป็น และยิ่งเมื่อเข้าสู่ตลาดเสรีมากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะทำให้มีปัญหาความสามารถในการแข่งขัน เรื่องเครื่องจักรกลเกษตรไทยยิ่งกลับลดลงเป็นลำดับ โดยเฉพาะการแข่งขันกับจักรกลสำเร็จรูปมาตรฐานสูงที่นำเข้าจากต่างประเทศ ดังนั้น จึงควรมีการดำเนินการให้มีการพัฒนาในระยะยาวโดยเชื่อมโยงระหว่างฐานการเกษตรและฐานอุตสาหกรรมอย่างสอดคล้องกัน รวมทั้งสนับสนุนให้มีการวิจัยให้เกิดนวัตกรรม เพื่อผลิตจักรกลเกษตรที่มีมาตรฐานเทคโนโลยีขั้นสูง ตลอดจนส่งเสริมให้ผู้ประกอบการขนาดกลาง และขนาดย่อมมีการเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตร่วมกัน

จากเหตุผลสำคัญดังกล่าว ทางสมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทย (สกท.) จึงร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเครือข่าย ภาคีที่เกี่ยวข้องกำหนดจัดสัมมนาในหัวข้อ "ลดต้นทุน-เพิ่มผลผลิตภาคการเกษตร ด้วยเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตร" ในวันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม 2556 เวลา 09.00-16.00 น. ณ ห้องสุธรรมอารีกุล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน พร้อมฟังปาฐกถาพิเศษ "นโยบายการใช้เครื่อง จักรกลกับภาคการเกษตรไทย" จาก คุณชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานเปิดงาน เพื่อให้ข้อมูลที่เหมาะสมให้เกิดประโยชน์แก่เกษตรกรไทยให้สามารถเลือกซื้อเลือกใช้จักรกลเกษตรอย่างคุ้มค่าต่อไป

สอบถามรายละเอียดและสำรองที่นั่ง (ฟรี) ได้ที่สมาคมสื่อมวลชนเกษตรฯ 0-2940-5425-6 และ 08-6340-1713 วันและเวลาราชการ

จากhttp://www.komchadluek.net  วันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2556

เกษตรกรเฮ!รูดปรื๊ดซื้อคูโบต้า

ธ.ก.ส.จับมือสยามคูโบต้า - ปั๊มพีทีขยายช่องทางการใช้บัตรรูดปรื๊ดเกษตรกรให้สามารถช็อปเครื่องมือ เครื่องจักร ได้ไม่เกินชิ้นละ 1 หมื่นบาท พร้อมสนับสนุนดอกเบี้ยรูดซื้อน้ำมัน

นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.การคลัง กล่าวในระหว่างเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือในโครงการการใช้บัตรสินเชื่อเกษตรกร เพื่อซื้อเครื่องมือเครื่องจักรกลและอุปกรณ์ทางการเกษตร และน้ำมันเชื้อเพลิง ระหว่างธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) บริษัท สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น และบริษัท ปิโตรเลียมไทย คอร์ปอเรชั่น (พีที) ว่า การดำเนินการดังกล่าวจะทำให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงสินค้าและบริการทางการเงินได้รวดเร็วยิ่งขึ้น รวมทั้งยังเป็นการช่วยลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกรอีกด้วย

ซึ่งเกษตรกรที่ถือบัตรดังกล่าวจะสามารถรูดซื้อสินค้าประเทศเครื่องมือ เครื่องจักรกลและอุปกรณ์ทางการเกษตรที่มีมูลค่าไม่เกินชิ้นละ 1 หมื่นบาท จากร้านค้าเครือข่ายของสยามคูโบต้าทั่วประเทศ โดยจะปลอดดอกเบี้ยสำหรับสินค้าทุกชนิดเป็นเวลา 1 เดือน และเพิ่มอีก 4 เดือนสำหรับสินค้าบางรายการ นอกจากนี้ PT ยังสนับสนุนดอกเบี้ยในอัตรา 0.52% ของมูลค่าเงินเมื่อเติมน้ำมันที่สถานีให้บริการปั๊มน้ำมัน PT แต่ต้องไม่เกินรายละ 3 พันบาทต่อปี ทั้งนี้ การลงนามดังกล่าวจะช่วยเพิ่มจำนวนสถานีบริการน้ำมันอีก 485 แห่ง ซึ่งทำให้มีสถานีบริการน้ำมันเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 1,300 แห่ง และขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการเจรจากับคาสโก้ คาลเท็กซ์ ปิโตรนาส

สำหรับขณะนี้ ธ.ก.ส.ได้ส่งมอบบัตรให้แก่เกษตรกรไปแล้ว 4.14 ล้านบัตร โดยครอบคลุมเกษตรกรทุกอาชีพ จำนวนวงเงินกว่า 6.32 หมื่นล้านบาท โดยเกษตรนำบัตรไปรูดซื้อปัจจัยการผลิตแล้ว 1.7 หมื่นล้านบาท มีร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 1.05 หมื่นร้านค้า.

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 8 ตุลาคม 2556

บรรลุข้อเจรจา FTA"ไทย-เปรู" เตรียมบังคับใช้

ไทย-เปรู ประกาศความสำเร็จเจรจา FTA เตรียมลงนามบังคับใช้ต่อไป

นายยรรยง พวงราช รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 5 ต.ค.2556 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้หารือกับนายโอยันตา อุมาลา ตัสโซ ประธานาธิบดีเปรู ซึ่งผู้นำทั้งสองประเทศได้ร่วมกันประกาศความสำเร็จการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-เปรู ซึ่งครอบคลุมการเปิดเสรีในทุกด้าน ทั้งการค้าสินค้า บริการ การลงทุน กฎเกณฑ์ทางการค้า และความร่วมมือทางเศรษฐกิจในด้านต่างๆ

หลังจากผู้นำทั้งสองประเทศได้ประกาศความสำเร็จของการเจรจา FTA ไปแล้ว หลังจากนี้เจ้าหน้าที่ของทั้งสองประเทศจะได้รวบรวมผลการเจรจาที่ผ่านมาทั้งหมด จัดทำเป็นความตกลงฉบับสมบูรณ์ รวมทั้งดำเนินกระบวนการภายในที่จำเป็นก่อนที่จะให้มีการลงนามเพื่อใช้บังคับความตกลงต่อไป

เปรูเป็นประเทศแรกในทวีปอเมริกาใต้ ที่ไทยจัดทำความตกลงการค้าเสรีร่วมกัน โดยทั้งสองประเทศได้ตกลงเริ่มลดภาษีสินค้าส่วนแรกจำนวน 70% ของรายการสินค้าทั้งหมดตั้งแต่ปี 2554 และได้เริ่มการเจรจาเพิ่มเติมในส่วนที่เหลือให้มีสาระครบสมบูรณ์ตั้งแต่ต้นปี 2555 จนบรรลุผล ซึ่งจะช่วยให้ไทยเปิดตลาดสินค้าไทยเข้าสู่ทวีปอเมริกาใต้ โดยใช้เปรูเป็นฐาน รวมทั้งนำเข้าวัตถุดิบที่จำเป็นต่ออุตสาหกรรม.

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 8 ตุลาคม 2556

กกร.ผนึกคลัง-ธปท.เกาะติดค่าเงินบาท

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ว่า ได้เชิญกลุ่มการค้ามาวางแผนการค้าระยะยาวเพื่อเสนอนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และจะตั้งคณะทำงานร่วมกับกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมีตัวแทนจากสภาฯ แห่งละ 3 คน เพื่อติดตามมอนิเตอร์การเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนของทั้งไทย ประเทศคู่ค้า และประเทศคู่แข่ง ซึ่งคาดว่าจะตั้งคณะทำงานได้ภายในสัปดาห์นี้ เพื่อจัดการประชุมโดยเร็วที่สุด เพราะขณะนี้เศรษฐกิจโลกผันผวนมากกระทบต่อผู้ประกอบการทั้งนำเข้าและส่งออก ดังนั้น หากดูแลค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวนมากเกินไป และเกาะกลุ่มสกุลเงินประเทศคู่แข่ง จะไม่กระทบต่อความสามารถทางการค้า และขณะนี้ประเทศไทยเปลี่ยนบทบาทเป็นผู้นำเข้ามาผลิต และออกไปค้าขายและลงทุนยังต่างประเทศด้วย จึงควรศึกษาอัตราแลกเปลี่ยนของหลายประเทศ

โดยจะขอความร่วมมือจากสมาคมธนาคารไทยและธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า เพื่อแก้ปัญหาและลดอุปสรรคเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการค้า เพื่อให้การค้าต่างประเทศสะดวกมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการเดินทางไปโรดโชว์ของนายกรัฐมนตรีและคณะ ที่มีกำหนดการเดินทางไปเอธิโอเปีย แอฟริการใต้ รัสเซีย และญี่ปุ่นในปีนี้ ซึ่งภาคเอกชนจะร่วมเดินทางไปเจรจาการค้าด้วย เพื่อผลักดันการส่งออกในต่างประเทศให้สูงขึ้น

ส่วนผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม ขณะนี้ดีขึ้น โดยมีจังหวัดที่ถูกน้ำท่วมเหลือ 26 จังหวัด จาก 33 จังหวัด ผลกระทบประมาณ 5,000 ล้านบาท ในพื้นที่เกษตร และการค้าหยุดชะงัก โดยเฉพาะที่ จ.สุรินทร์ ปราจีนบุรี และศรีสะเกษ แต่ยังไม่มีผลต่อภาคอุตสาหกรรม โดยมีตัวแทนของแต่ละสภาฯ ในพื้นที่ช่วยเหลือสมาชิกที่ได้รับผลกระทบ

นายชาติศิริ โสภณพนิช ประธานสมาคมธนาคารไทย และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า สหรัฐคงจะสามารถแก้ไขปัญหางบประมาณของตัวเองได้ โดยเฉพาะกรณีการพิจารณาการขยายเพดานหนี้ในวันที่ 17 ต.ค.นี้ ซึ่งจะไม่กระทบต่อภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย แต่ยอมรับอาจกระทบให้ตลาดการเงินมีความผันผวนบ้างในช่วงนี้จนถึงวันที่ 17 ต.ค. อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่น่ามีปัญหาแต่อย่างใด เห็นได้จากการเคลื่อนไหวของเงินทุนเคลื่อนย้ายในตลาดตราสารหนี้และตลาดหุ้น ยังเป็นปกติ

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 8 ตุลาคม 2556

กน. เคาะน้ำตาลบ.ในปท. 25ล.กระสอบ ชาวไร่จี้ “กอน.” หารือประกาศราคาอ้อย

คณะกรรมการน้ำตาลทรายเคาะการจัดสรรปริมาณน้ำตาลทรายบริโภคภายในประเทศ (โควตา ก.) ฤดูกาลผลิตใหม่ ที่ 25 ล้านกระสอบลดต่ำจากปีที่แล้วที่กำหนดไว้สูงถึง 26 กว่าล้านกระสอบ เหตุยังเหลือค้างกระดานหลังการใช้ปลายปีนี้แผ่วตาม ศก. ขณะที่ตัวเลขราคาอ้อยขั้นต้น 56/57 ชาวไร่สับสนอะไรกันแน่จึ้ “กอน.” เร่งสรุปเพื่อประกาศก่อนเปิดหีบด่วน

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.) เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะกรรมการน้ำตาลทราย(กน.) ได้พิจารณาการจัดสรรน้ำตาลทรายเพื่อบริโภคภายในประเทศ หรือโควตา ก. สำหรับฤดูกาลผลิตปี 2556/57 แล้วที่ 25 ล้านกระสอบ โดยจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.) เห็นชอบต่อไป

สำหรับการจัดสรรดังกล่าวเนื่องจากพบว่าขณะนี้ยังมีปริมาณน้ำตาลทรายค้างกระดานเหลือขายจากน้ำตาลโควตา ก.ของฤดูกาลผลิตปี 55/56 อีกประมาณ 2 ล้านกระสอบจากการจัดสรรรวมไว้ที่ 26.65 ล้านกระสอบ เนื่องจากยอดการใช้น้ำตาลทรายช่วงปลายปีตกลงตามทิศทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ประกอบกับเข้าสู่ฤดูฝน และเกิดน้ำท่วมบางพื้นที่ทำให้การใช้ปลายปีลดต่ำ

อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำตาลที่จัดสรรดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งนำมาประกอบการพิจารณาราคาอ้อยขั้นต้นฤดูกาลผลิตปี 56/57 ที่จะต้องประกาศเร็วสุดภายในต.ค. ขณะที่ปัจจัยอื่นๆ ที่นำมาคำนวณได้มีการสรุปเบื้องต้นได้แก่ ราคาน้ำตาลทรายดิบส่งออก (โควตา ข.) ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 18.63 เซ็นต์ต่อปอนด์ อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ย 31.50 บาทต่อเหรียญสหรัฐอเมริกา ราคากากน้ำตาล (โมลาส) 100 เหรียญฯต่อตัน ผลผลิตอ้อยคาดการณ์ไว้ที่ 103 ล้านตัน ผลผลิตน้ำตาลทรายต่อตันอ้อยเฉลี่ยที่ 101 กิโลกรัมต่อตันอ้อย ซึ่งทำให้ราคาอ้อยขั้นต้นเฉลี่ยจะอยู่ที่ 901.50 บาทต่อตันที่ค่าความหวานระดับ 10 ซี.ซี.เอส.

“ราคาที่คำนวณเขตต่ำสุดเฉลี่ยจะอยู่ที่ 855 บาทต่อตัน ดังนั้นการจ่ายค่าอ้อยขั้นต้นปกติจะจ่าย 90% ของราคาคำนวณ ดังนั้นเฉลี่ยทั่วประเทศราคาจะออกมาที่ไม่เกิน 850 บาทต่อตัน ซึ่งทั้งหมดจะนำหารือในคณะกรรมการบริหาร(กบ.) ก่อนนำเข้าสู่ที่ประชุมกอน. เพื่อประกาศราคาต่อไป อย่างไรก็ตามขณะนี้ กบ. เองมีองค์ประชุมไม่ครบเนื่องจากมีกรรมการเกษียณราชการซึ่งจะต้องรอแต่งตั้งก่อน “ แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้ หากพิจารณาจากฐานะกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) หากจะเพิ่มราคาอ้อยให้แก่ชาวไร่ ความสามารถในการกู้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) เพื่อนำมาจ่ายส่วนเกินจะอยู่ที่ไม่เกิน 160-170 บาทต่อตัน เนื่องจากกองทุนฯมีรายได้ที่จากการปรับซื้อราคาน้ำตาลหน้าโรงงาน 5 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ราว 16 หมื่นล้านบาทต่อปีมาใช้หนี้เท่านั้น แต่หากจะกู้มากกว่านี้ก็จะต้องขึ้นอยู่กับนโยบายจากภาครัฐ

นายชัยวัฒน์ คำแก่นคูณ ประธานที่ปรึกษาชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน กล่าวว่า ขณะนี้ชาวไร่เองก็กำลังรอการหารือถึงตัวเลขราคาอ้อยขั้นต้นปี 56/57 อยู่ทั้งที่ควรจะมีการเรียกประชุมคณะทำงานเพื่อประเมินราคาได้แล้วแต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ อย่างไรก็ตามจากกรณีที่มีกระแสข่าวว่าราคาอ้อยอยู่ที่ 950 บาทต่อตันก็ทำให้ชาวสับสนเนื่องจากไม่ทราบถึงฐานข้อมูลว่าเอามาจากใดกันแน่

“ชาวไร่เองก็งงกับตัวเลขที่ออกมา เพราะจากการหารือกันขั้นต้นเฉลี่ยราคาทั่วประเทศน่าจะราว 850 บาทต่อตัน มองอย่างไรก็ไม่น่าจะได้ 950 บาทต่อตันยกเว้นคิดที่ค่าความหวาน 12 ซี.ซี.เอส. อย่างไรก็ตามฝ่ายราชการควรจะเร่งสรุปเรื่องนี้โดยเร็ว เพราะหากล่าช้าปัญหาจะตามมาอีก

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2556

รง.น้ำตาลทรายสำรวจพื้นที่เปลี่ยนนาเป็นไร่อ้อย/ยันกำลังผลิตรองรับอ้อยเข้าหีบเพิ่มได้

โรงงานน้ำตาล เดินหน้าหนุนนโยบายโซนนิ่งเกษตร ส่งฝ่ายไร่ลงสำรวจพื้นที่ใกล้เคียง พบมีศักยภาพที่จะเปลี่ยนจากนาข้าวมาปลูกอ้อยโรงงาน ย้ำกำลังการผลิตที่มีอยู่รองรับปริมาณอ้อยที่จะเพิ่มขึ้นได้แน่นอน

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย (Mr.Sirivuth Siamphakdee, President of the Thai Sugar Millers Corporation Limited’ s public relations working group) เปิดเผยว่า จากการสำรวจข้อมูลพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวทั้งหมด 73.43 ล้านไร่ ซึ่งในจำนวนพื้นที่ปลูกข้าวดังกล่าวนั้น มีพื้นที่ไม่เหมาะสมต่อการปลูกข้าวและเหมาะสมในการส่งเสริมให้ชาวนาปรับเปลี่ยนนาข้าวหันมาปลูกอ้อยโรงงานประมาณ 6.7 ล้านไร่ แบ่งเป็นพื้นที่นาข้าวที่อยู่ใกล้โรงงานน้ำตาลไม่เกิน 50 กม. ประมาณ 4.19 ล้านไร่ และในรัศมีไม่เกิน 100 กม. จากโรงงานน้ำตาลทรายเพิ่มได้อีก 2.17 ล้านไร่ นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่ทับซ้อนที่อยู่ในรัศมีโรงงานน้ำตาลทรายและโรงงานแปรรูปอาหารสัตว์ซึ่งสามารถปลูกได้ทั้งอ้อยโรงงานและข้าวโพด เพื่อทำเป็นอาหารสัตว์ได้อีกประมาณ 3.56 ล้านไร่

ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับโรงงานน้ำตาลที่ต้องการขยายพื้นที่ปลูกอ้อยอีกจำนวน 7.2 ล้านไร่ และได้นำมาจัดทำแผนส่งเสริมการเพาะปลูกอ้อยโรงงานในระยะเวลา 3 ปี ซึ่งคาดว่า จะสามารถเริ่มได้ในปีการผลิตถัดไป หรือตั้งแต่ปีการผลิต 2557/2558 จำนวน 2.5 ล้านไร่ ปี 2558/2559 จำนวน 2.7 ล้านไร่ และปี 2559-2560 อีกจำนวน 2 ล้านไร่ เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางการลงทุนของฝ่ายโรงงานน้ำตาลในการวางแผนเพิ่มกำลังการผลิต เพื่อรองรับผลผลิตที่คาดว่า จะเพิ่มขึ้นจากการส่งเสริมการเพาะปลูกอ้อยโรงงานดังกล่าว

สำหรับการส่งเสริมและสนับสนุนพื้นที่เพาะปลูกอ้อยโรงงานที่เพิ่มขึ้นนั้น ทางโรงงานน้ำตาลพร้อมให้คำแนะนำเบื้องต้นเกี่ยวกับการจัดเตรียมพันธุ์อ้อย จัดเตรียมดิน ระบบการให้น้ำ การตัดอ้อย รวมถึงองค์ความรู้อื่นๆ ที่เกี่ยวกับการเพาะปลูกและการดูแลอ้อยให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ

ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กล่าวว่า จากข้อมูลการเพาะปลูกอ้อยประจำฤดูการผลิตที่ผ่านมา (ปี 2555/2556) มีพื้นที่ปลูกอ้อยทั้งสิ้น 9.33 ล้านไร่ โดยมีผลผลิตอ้อยเข้าหีบทั้งสิ้น 100 ล้านตันหรือคิดเป็นผลผลิตอยู่ที่ 10.72 ตันต่อไร่ ดังนั้น การเพิ่มจำนวนเพาะปลูกอ้อยตามนโยบายโซนนิ่งเกษตร ที่คาดว่า จะมีพื้นที่เพาะปลูกอ้อยเพิ่มขึ้นดังกล่าว จึงเชื่อว่า โรงงานน้ำตาลจะสามารถรองรับผลผลิตอ้อยที่คาดว่า จะเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ชาวนาที่หันมาปลูกอ้อยโรงงานจะมีความมั่นคงทางรายได้และสามารถยึดเป็นอาชีพหลักที่หาเลี้ยงครอบครัวได้อย่างแน่นอน

“ศักยภาพการผลิตของโรงงานน้ำตาลปัจจุบัน สามารถรองรับอ้อยได้ประมาณ 130 ล้านตัน ทั้งยังมีการปรับปรุงและพัฒนาเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การที่จะมีพื้นที่ปลูกอ้อยเพิ่มขึ้นจากนโยบายจัดโซนนิ่งจึงไม่เป็นปัญหาสำหรับเกษตรกรและโรงงานน้ำตาลในการรองรับผลผลิตที่เพิ่มขึ้น และสามารถสร้างความมั่นใจให้แก่เกษตรกรที่สมัครใจเปลี่ยนจากปลูกข้าวมาปลูกอ้อยได้ว่า ผลผลิตอ้อยที่เพาะปลูกได้นั้นทางโรงงานน้ำตาลจะรับซื้อเพื่อนำมาผลิตเป็นน้ำตาลทรายแน่นอน” นายสิริวุทธิ์กล่าว

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 7 ตุลาคม 2556

สถานะเศรษฐกิจและการเงินของประเทศไทย

โดย...ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

ต้องยอมรับว่าโลกเราเปลี่ยนแปลงเร็วมาก เมื่อ 3-4 เดือนก่อน หลายท่านคงกังวลว่าเงินบาทจะแข็งไปถึงเท่าไหร่ เนื่องจากเวลานั้นเศรษฐกิจโลกมีความเชื่อมั่นดีขึ้นมาก เศรษฐกิจสหรัฐและญี่ปุ่นมีแนวโน้มฟื้นตัวดีต่อเนื่อง กระแสเงินจากต่างประเทศไหลบ่าเข้ามายังตลาดเงินในภูมิภาคเอเชีย

แต่หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ เริ่มออกมาให้สัญญาณว่าอาจจะทยอยถอนมาตรการ QE ภายในปีนี้ บรรยากาศในตลาดเงินก็ได้เปลี่ยนไปคนละด้าน ความเชื่อมั่นในตลาดลดลง กระแสเงินทุนกลับทิศทาง ไหลออกจากภูมิภาคเอเชียอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนลงต่อเนื่อง จากนั้นไม่นานเงินบาทก็แข็งค่าสลับกับอ่อนค่า จนยากจะคาดเดาได้

สภาพแวดล้อมของเศรษฐกิจโลกในภาพรวมกำลังเปลี่ยนแปลงไป ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา เศรษฐกิจหลักกับเศรษฐกิจเกิดใหม่เติบโตในความเร็วที่แตกต่างกันมาก เศรษฐกิจเกิดใหม่อย่างกลุ่ม BRICS ที่เติบโตเร็วและมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ขึ้นมากกลายมาเป็นหัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก ทำให้มีการค้าและการลงทุนระหว่างเศรษฐกิจเกิดใหม่กันเองขยายตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เกิดเป็นขั้วอำนาจเศรษฐกิจโลกใหม่ควบคู่กับเศรษฐกิจหลัก

ภายใต้สภาพแวดล้อมโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็วเช่นนี้ ประเทศไทยควรจะทำอย่างไร คงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะลดความผันผวนหรือหลบหลีกความเสี่ยงต่างๆ ของเศรษฐกิจโลก สิ่งที่ดีที่สุดคือ ทำตัวเราให้แข็งแรงพอที่จะรับมือกับความผันผวนได้ และแข็งแรงพอที่จะฉกฉวยโอกาสทางธุรกิจในสภาพแวดล้อมโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง

เราต้องการเห็นประเทศไทยแข็งแรงใน 4 ด้าน

ความแข็งแรงที่ผมกล่าวถึงนี้เป็นอย่างไร สำหรับประเทศไทย ผมมองว่าเราต้องการเห็นความแข็งแรงใน 4 ด้าน

ด้านแรก เราต้องการเห็นผู้ประกอบการไทยเก่ง ไม่ใช่เก่งเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ เราต้องการเห็น SMEs ไทยมีศักยภาพด้วย เพราะประเทศจะขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างแข็งแกร่งจริงต้องเดินหน้าไปด้วยกัน ผู้ประกอบการต้องมีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงมากพอที่จะสามารถออกไปแข่งขันในต่างประเทศได้ มีสินค้าโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์และเป็นที่ต้องการในตลาดโลก ซึ่งจะทำให้ธุรกิจไม่อ่อนไหวต่อความผันผวนต่างๆ

ด้านภาครัฐ ภาครัฐที่แข็งแรงต้องมีวินัยทางการเงินดี สามารถทำหน้าที่ดูแลให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ส่งเสริมให้ภาคเอกชนพัฒนาศักยภาพและลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศในระยะยาว โดยเฉพาะการวางรากฐานให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็น Hub เศรษฐกิจสำคัญของภูมิภาค ขณะเดียวกัน ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเสริมสร้างความเจริญก้าวหน้าของประเทศ

ด้านสถาบันการเงิน สถาบันการเงินที่แข็งแรงต้องมีศักยภาพพอที่จะแข่งขันกับต่างประเทศได้ ดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวัง ไม่สร้างความเปราะบางให้กับเศรษฐกิจเหมือนวิกฤตการเงินปี 2540 หรือวิกฤตการเงินหลายๆ ครั้งในต่างประเทศ ขณะเดียวกัน ช่วยส่งเสริมการเติบโตของภาคธุรกิจและเศรษฐกิจได้ดี

ด้านสุดท้าย เราต้องการเห็นคนไทยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ไม่มีความแตกต่างด้านรายได้เกินไป ได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึงและมีสุขภาพดี

การที่จะเห็นประเทศไทยแข็งแรงทั้ง 4 ด้านจะต้องมาสำรวจตัวเองก่อนว่า ตอนนี้เราแข็งแรงแล้วแค่ไหน มีภูมิคุ้มกันพอหรือยัง

ในช่วงที่ผ่านมา เราได้สร้างภูมิคุ้มกันส่วนหนึ่งขึ้นมาแล้ว ในส่วนของผู้ประกอบการ พิสูจน์ให้เห็นว่า แม้จะผ่านมรสุมมามากมายหลายรูปแบบ นับตั้งแต่วิกฤตซับไพรม์ในสหรัฐ วิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรป วิกฤตการเมืองในประเทศ รวมถึงน้ำท่วมครั้งใหญ่เมื่อ 2 ปีก่อน แต่ก็ยังยืนหยัดได้ ถ้าเราไปดูในกลุ่มผู้ส่งออก เห็นว่า มีการขยายตลาดไปยังเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่มีการเติบโตสูงมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดเพื่อนบ้านในอาเซียน ลดการพึ่งพาตลาดสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น รวมทั้งมีการส่งออกสินค้าที่หลากหลายขึ้นด้วย ทำให้เมื่อเกิดปัญหาเศรษฐกิจในภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่ง หรือสินค้ากลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เราก็จะไม่ได้รับผลกระทบรุนแรงมากนัก

ในส่วนของผู้ทำนโยบาย ในฐานะของแบงก์ชาติ นับจากวิกฤตการเงินปี 2540 จนถึงปัจจุบัน เราเองได้เปลี่ยนแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินมาเป็น Inflation Targeting และดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบยืดหยุ่น รวมถึงได้ยกระดับมาตรฐานการกำกับดูแลสถาบันการเงิน ทำให้แบงก์ชาติมีความสามารถในการรักษาเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจและการเงินมากขึ้น

ดังนั้น ก็ถือได้ว่าเศรษฐกิจไทยมีภูมิคุ้มกันในการรับมือกับความผันผวนต่างๆ ดีขึ้นมาในระดับหนึ่ง แต่ยังต้องพัฒนาขีดความสามารถเชิงรุกในการแข่งขันกับต่างประเทศ

นโยบายการเงินมีบทบาทสำคัญในการรักษาสมดุลระหว่างการขยายตัวและเสถียรภาพของเศรษฐกิจ ทำหน้าที่คล้ายกับการเหยียบหรือผ่อนคันเร่งให้เศรษฐกิจสามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยความเร็วที่เหมาะสม เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่น แม้ว่านโยบายการเงินจะไม่มีบทบาทโดยตรงในการเพิ่มศักยภาพของประเทศ แต่อย่างน้อยต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ อย่างเช่น บทเรียนวิกฤตซับไพรม์ในสหรัฐได้แสดงให้เห็นว่า การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายยาวนานเกินไป อาจนำไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเงินในที่สุด

สำหรับนโยบายการคลัง มีบทบาทโดยตรงในการเพิ่มศักยภาพของประเทศ จึงควรให้ความสำคัญกับการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นและการยกระดับศักยภาพของประเทศในระยะยาวควบคู่กันไป

ที่ผ่านมาเราเห็นนโยบายภาครัฐมุ่งเน้นแต่การเพิ่มรายได้ กระตุ้นรายจ่ายของครัวเรือน แต่การกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นลักษณะนี้มีข้อจำกัด คือ 1) ไม่ยั่งยืน 2) เสียโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของประเทศ 3) บิดเบือนกลไกตลาดและไม่จูงใจให้ภาคเอกชนพัฒนาตัวเอง เหมือนคนที่ถูกอุ้มชูอาจจะได้ความสุขสบาย แต่ขณะเดียวกันก็จะอ่อนแอลง เพราะไม่ได้ยืนด้วยกำลังของตัวเอง โดยธรรมชาติร่างกายและสติปัญญาของคนจะแข็งแรงขึ้นเมื่อได้ใช้งาน การทำนโยบายแบบอุ้มชูจะทำให้ศักยภาพภาคเอกชนล้าหลังในระยะยาว

นโยบายภาครัฐที่ดีสำหรับประเทศไทยเวลานี้ ควรเน้นที่ด้าน Supply โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างที่ยังมีอยู่หลายด้าน ทั้งระบบการขนส่งและด้านตลาดแรงงาน รวมถึงการสร้างสภาพแวดล้อมที่จูงใจให้ภาคเอกชนพัฒนาศักยภาพของตัวเองอย่างเต็มที่

หากเปรียบประเทศไทยเป็นเสมือนเรือที่แล่นอยู่ในทะเล วันนี้เรือลำนี้ได้เดินทางมาไกลพอสมควร แต่ยังต้องเดินทางอีกไกลกว่าจะถึงเป้าหมายที่ได้วาดไว้ ซึ่งอาจจะยังไม่เห็นจุดหมายเองด้วยตา เพราะที่ผ่านมาการเดินทางของเราสะดุดระหว่างทางกับมรสุมต่างๆ ที่พัดผ่านมา ทำเราเสียสมาธิออกนอกเส้นทางในบางครั้ง และเผลอคลุกตัวอยู่กับปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้า ซึ่งทำให้เสียเวลาและทรัพย์สินไปบ้าง แต่ขอแค่เรามีสติกลับมาที่เสาหลัก กางใบออกเต็มที่ นำพาเรือลำนี้มุ่งหน้าอย่างมีทิศทาง เมื่อนั้นเราจะไม่อ่อนไหวต่อมรสุมต่างๆ ข้างหน้า และจะสามารถเดินทางไปถึงจุดหมายได้อย่างรวดเร็วและมั่นคง

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 7 ตุลาคม 2556

รัฐต้องแก้ปัญหาพืชเกษตรหลักก่อนสายไป

ชำแหละปัญหาพืชเกษตรหลัก รัฐต้องแก้ทั้งระบบก่อนสายเกินไป : ณัฎฐ์ชิตา เกิดแดง ... รายงาน

ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตอาหารและพืชผลทางการเกษตรที่สำคัญของโลก แต่สินค้าเกษตรหลักๆ ที่เป็นพืชเศรษฐกิจของไทย 5-6 ชนิด ทั้งข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพด อ้อย และน้ำตาล รวมถึงปาล์มน้ำมัน กลับประสบปัญหาราคาตกต่ำและมีเกษตรกรออกมาเรียกร้องให้ภาครัฐเข้าไปอุดหนุนราคาเป็นประจำทุกปี ซึ่งมีการใช้เงินรวมกันแล้วไม่ต่ำกว่าปีละ 4 แสนล้านบาท ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะประเทศไทยเน้นไปที่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และมีเรื่องของการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่มีการวางแผนเพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบในระยะยาว ทำให้ไทยสูญเสียโอกาสในการแข่งขันอย่างมาก

นายสุพัฒน์ เอี้ยวฉาย ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ปัญหาของราคาสินค้าเกษตรตกต่ำที่ต้องเผชิญเป็นประจำทุกปี อยู่ที่ว่าปริมาณผลผลิตสอดคล้องกับการใช้ในประเทศและความต้องการของตลาดโลกหรือไม่ ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำซาก ทั้งเรื่องของราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ การเรียกร้องให้รัฐเข้าไปช่วยเหลือ รวมถึงการใช้เม็ดเงินเข้าไปอุดหนุนก็มักจะเป็นช่วงที่ผลผลิตของพืชเกษตรออกสู่ตลาดพร้อมกันในปริมาณมาก และต้องยอมรับว่าประเทศไทยยังไม่มีหน่วยงานใดที่ทำหน้าที่ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์ทุกด้านเพื่อบริการจัดการผลิตให้สอดคล้องกัน เช่น มีการใช้ในประเทศจำนวนเท่าใด ส่งออกไปขายต่างประเทศปริมาณเท่าใด เพื่อดูแลให้ระดับราคามีความเหมาะสมและเกษตรกรอยู่ได้ เป็นต้น

สำหรับพืชเกษตรหลักของไทยที่เป็นพืชเศรษฐกิจและมักจะเกิดปัญหาเป็นประจำทุกปี ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด ยางพารา ปาล์ม มันสำปะหลัง และอ้อย แต่บางตัวก็ไม่เกิดปัญหาอย่างข้าวโพด มันสำปะหลัง ที่จริงๆ แล้วปริมาณความต้องการยังมากกว่าผลผลิต ทำให้ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาไม่มีปัญหา แต่ปีนี้พบว่าสินค้าทั้ง 2 ประเภทก็ประสบกับปัญหาราคาตกต่ำเช่นกัน ขณะที่วิธีการช่วยเหลือของภาครัฐก็จะมีทั้งการรับจำนำ การประกันราคาและการชดเชยต้นทุนการผลิต ซึ่งถือเป็นเครื่องมือที่ดีหากนำมาใช้ในจังหวะที่เหมะสมและใช้เพียงช่วงระยะสั้นๆ เท่านั้น

ชี้ช่องลดพื้นที่ปลูกข้าวเน้นคุณภาพ

นายสุพัฒน์กล่าวถึงกรณีของข้าวที่รัฐบาลเข้าไปแทรกแซงด้วยการรับจำนำทุกเม็ดว่า ทำให้เกิดปัญหาราคาข้าวที่รับซื้อสูงกว่าราคาตลาด และส่งผลถึงการระบายหรือขายข้าวไปยังต่างประเทศ รวมถึงปัญหาเรื่องของการใช้เงินแต่ละปีที่สูงถึง 3 แสนกว่าล้านบาท โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ล่าสุดรัฐบาลส่งสัญญาณรับจำนำแบบจำกัดปริมาณต่อครัวเรือนเหลือไม่เกิน 3.5 แสนบาทในรอบแรกและ 3 แสนบาทในรอบสองต่อรายแทน ขณะที่ราคาเริ่มลดลงจากรอบแรก 1.5 หมื่นบาทต่อตัน เหลือ 1.3 หมื่นบาทต่อตันในรอบสอง ซึ่งในอนาคตการจำนำก็คงต้องยกเลิกไปในที่สุด แต่ต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะรัฐบาลคงไม่กล้ายกเลิกในทันที

"จากการสำรวจความเห็นของกลุ่มชาวนาส่วนใหญ่พอใจและไม่อยากให้รัฐบาลยกเลิกการรับจำนำ เพราะการรับจำนำในราคาสูงเป็นหลักประกันว่าเขาจะมีรายได้แน่นอน ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วราคาที่จำนำนั้นสูงกว่าราคาตลาดถึง 40% และสูงกว่าต้นทุนการผลิตบวกกำไรค่อนข้างมาก” นายสุพัฒน์กล่าว

ทั้งนี้ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมารัฐบาลใช้เงินปีละกว่า 3.3 แสนล้านบาทในการรับจำนำข้าวประมาณ 22 ล้านตัน จากผลผลิตข้าวทั้งหมด 36 ล้านตัน จึงมีคำถามว่าอีก 10 กว่าล้านตันที่ขายผ่านกลไกตลาด หรือโรงสีทำไมชาวนายังอยู่ได้ ทั้งที่ขายข้าวได้ในราคาต่ำกว่าจำนำ หรือไม่ถึงหมื่นบาทต่อตัน เหตุที่อยู่ได้เป็นเพราะต้นทุนการผลิตที่เคยสอบถามจากชาวนาอยู่ที่ประมาณ 6,000-7,000 บาทต่อตันเท่านั้น

“มองว่าเรื่องราคารับจำนำสูงๆ ไม่ใช่ประเด็น แต่ควรจะกำหนดให้เป็นราคาที่เกษตรกรอยู่ได้ เช่น ราคาต้นทุนบวกกำไร 30% เพราะจากงานวิจัยล่าสุดก็พบว่าต้นทุนการทำนาสูงขึ้นจริงทั้งจากค่าปุ๋ย ค่าแรง ค่าขนส่งและค่าเช่าที่ดินที่นายทุนต่างปรับให้สูงขึ้นตามราคาจำนำข้าวด้วย ทำให้เกษตรกรเหลือส่วนต่างรายได้น้อยลง”

นอกจากนั้น การดูแลเสถียรภาพของราคาสินค้าเกษตรด้วยการจำนำต้องทำแล้วดึงสินค้าราคาในตลาดสูงขึ้นได้ เพราะเป็นการดึงปริมาณผลผลิตออกจากตลาด อย่างข้าวรัฐบาลรับจำนำทุกเม็ดก่อนหน้านี้เท่ากับดึงข้าวเข้ามาในสต็อกเกือบทั้งหมดแต่ราคาในตลาดก็ยังไม่ขยับขึ้นและยังต่ำกว่าราคาจำนำถึง 40% ทางที่ดีควรให้เอกชนเข้ามาเป็นกลไกในการช่วยให้ราคาสินค้าสะท้อนความเป็นจริง แต่ที่ผ่านมากลไกของภาคเอกชนและภาคการส่งออกไม่ทำงาน การส่งสัญญาณว่าจะไม่รับจำนำทุกเม็ดน่าจะทำให้เอกชนแข่งขันกันรับซื้อข้าวจากเกษตรกรมากขึ้น

ส่วนการแก้ปัญหาในระยะยาวอย่างเรื่องการจัดโซนนิ่งลดพื้นที่ปลูกข้าวลงนั้น เป็นแนวทางที่ถูกต้อง โดยปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกข้าวมากถึง 79.76 ล้านไร่ เกษตรกร 3.73 ล้านครัวเรือน มีผลผลิต 36.85 ล้านตัน แต่ปัญหาขณะนี้คือภาพของโซนนิ่งยังไม่ชัดเจน หากเป็นไปได้รัฐบาลควรประกาศยุทธศาสตร์ข้าวไทยใหม่ โดยลดพื้นที่เพาะปลูกลง ไม่เน้นปริมาณแต่เน้นคุณภาพแทน เช่น ปัจจุบันไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวมากกว่า 60 ล้านไร่ ภายใน 3-5 ปีควรลดเหลือเพียง 40 ไร่ หรือลดไป 30% และแต่ละภาคควรกำหนดให้ปลูกข้าวขึ้นชื่อของพื้นที่นั้นๆ เช่น ภาคเหนือและอีสานปลูกข้าวหอมมะลิ ภาคกลางปลูกข้าวหอมปทุม ซึ่งเป็นข้าวที่ตลาดต้องการ ส่วนข้าวอื่นๆ ควรเลิกปลูกและเอาพื้นที่ไปปลูกพืชอย่างอื่นแทน

นายสุพัฒน์กล่าวว่า รัฐบาลขาดทุนจากการดำเนินโครงการจำนำข้าวประมาณปีละ 1 แสนล้านบาทอยู่แล้ว หากนำเงินจำนวนนี้มาแบ่งเป็น 2 ส่วนเพื่อใช้ดูแลเสถียรภาพราคาข้าวโดย 60% หรือ 7.5 หมื่นล้านบาท นำมาใช้สนับสนุนให้กลไกตลาดทำงาน และอีก 2.5 หมื่นล้านบาทนำมาช่วยลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกร ทั้งปรับปรุงแปลงนา อุดหนุนปุ๋ย ต้นกล้า พัฒนาแหล่งน้ำเพื่อเพิ่มผลผลิตจาก 500 กิโลกรัมต่อไร่ให้เป็น 600-800 กิโลต่อไร่ ซึ่งหากปริมาณข้าวในระบบลดลงราคาก็จะสูงขึ้นและเข้าสู่จุดสมดุลได้เองในอนาคต

หนุนเลิกเพิ่มพื้นที่ยาง-เน้นแปรรูป

นายสุพัฒน์ กล่าวถึงผลผลิตยางพาราที่มีปัญหาในปีนี้ว่า สาเหตุหลักมาจากความต้องการซื้อจากต่างประเทศที่ลดลงมาตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว โดยเฉพาะประเทศใหญ่ๆ เพราะยางเป็นสินค้าที่สะท้อนเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรมได้ดี ทำให้ราคามีความผันผวนสูงสุดในบรรดาสินค้าเกษตรด้วยกัน ที่สำคัญยางพาราของไทยส่วนใหญ่จะเน้นพึ่งพาการส่งออกกว่า 90% โดยเฉพาะจีน ญี่ปุ่น สหรัฐ ถือเป็นตลาดหลักของไทย เมื่อประเทศเหล่านี้เศรษฐกิจชะลอตัวก็ลดการซื้อลง ทำให้ราคายางในประเทศอ่อนตัวลงมาอยู่ที่ 78 บาทต่อกิโลกรัม จึงเกิดปัญหาการชุมนุมและเรียกร้องให้รัฐเข้าไปรับซื้อหรือประกันราคาที่ 100 บาทต่อกิโลกรัม

อย่างไรก็ตาม สุดท้ายรัฐบาลได้มีมาตรการช่วยเหลือชาวสวนยางทั้งระบบ ด้วยการชดเชยต้นทุนการผลิตให้กิโลละ 12 บาท หรือชาวสวนจะได้ราคายางอยู่ที่ 90 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้เกษตรกรชาวสวนยางได้รับเงินชดเชย 2,520 บาทต่อไร่ รายละไม่เกิน 25 ไร่ จำนวนเกือบ 1 ล้านราย รัฐบาลต้องใช้เงินกว่า 2.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขึ้นทะเบียนสำรวจคุณสมบัติและทยอยจ่ายเงินโดย ธ.ก.ส.

“ในช่วงที่ยางราคาดีตามภาวะเศรษฐกิจโลกนั้นเคยขึ้นไปถึงกิโลกรัมละ 120 บาท ซึ่งไม่ใช่ราคาที่แท้จริงเกษตรกรไม่ควรยึดติดกับราคาดังกล่าว เห็นว่าราคาที่รับได้ควรอยู่ที่ 90-100 บาท เพราะต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 60-70 บาทเท่านั้น หากราคาอยู่ที่ 85-90 บาทเกษตรกรก็ยังอยู่ได้”

นายสุพัฒน์กล่าวต่อว่า การชดเชยต้นทุนการผลิตเป็นเพียงการช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงสั้น ส่วนการแก้ปัญหาราคายางตกต่ำระยะยาวต้องมีมาตรการอื่นเข้ามาเสริมด้วย เช่น การหยุดเก็บเงินเซสส์จากผู้ส่งออกชั่วคราว เพื่อช่วยลดต้นทุนการส่งออกให้ภาคเอกชน ในอนาคตเห็นว่าควรทบทวนอัตราการจัดเก็บเงินเซสส์ให้เหมาะสมด้วย รวมทั้งการควบคุมพื้นที่ปลูกยางจากปัจจุบันที่มีถึง 18 ล้านไร่ ใน 43 จังหวัด

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลมีการส่งเสริมให้ปลูกยางรอบแรกไปแล้ว 1 ล้านไร่ ส่วนรอบ 2 อีก 8 แสนไร่นั้นเริ่มปลูกไปแล้ว 2 แสนไร่ ล่าสุดรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นตรงกันให้ยุติการขยายพื้นที่ปลูกอีก 6 แสนไร่ที่เหลือ โดยรัฐจะยกเลิกการอุดหนุนทั้งหมด ซึ่งมองว่าเป็นการส่งสัญญาณที่ถูกต้อง และรัฐควรหันไปสนับสนุนอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องกับยาพาราแทน เช่น อุตสาหกรรมผลิตยางรถยนต์รัฐควรดึงให้บริษัทใหญ่ๆ มาลงทุนในประเทศไทย เพราะมีทั้งวัตถุดิบและความพร้อมทางด้านอื่นๆ เพื่อให้ไทยเป็นฐานการผลิตของสินค้าที่ทำจากยางพาราในอนาคต

ข้าวโพดปัญหาน้อยแค่เกาะกระแส

สำหรับข้าวโพดที่กำลังมีปัญหาชุมนุมเรียกร้องของเกษตรกรให้รัฐเข้าไปพยุงราคาเพิ่มเป็นกิโลกรัมละ 8 บาทสำหรับความชื้น 30% และ 10 บาทสำหรับความชื้น 14.5% และเพิ่มปริมาณเข้าโครงการแต่ละรายเป็น 30 ตัน เพราะไม่พอใจมาตรการช่วยเหลือก่อนหน้านี้ที่กำหนดช่วยไม่เกินคนละ 25 ตัน และราคาข้าวโพดความชื้น 30% ให้อยู่ที่ 7 บาทต่อกก. ความชื้น 14.5% อยู่ที่ 9 บาทต่อกก. ใช้เงินประมาณ 1,900 ล้านบาท จนกระทั่งล่าสุดรัฐยอมผ่อนปรนช่วยเหลือและใช้เงินเพิ่มเป็น 2,400 ล้านบาท เพื่อให้การชุมนุมยุติลง

นายสุพัฒน์กล่าวว่า จริงๆ แล้วข้าวโพดน่าจะเป็นสินค้าเกษตรที่มีปัญหาน้อยที่สุด เพราะปริมาณผลผลิตมีน้อยกว่าความต้องการของตลาดและการขยายตัวของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ทำให้ที่ผ่านมาต้องมีการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านด้วยซ้ำ เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกในไทยมีเพียง 7.19 ล้านไร่ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเกษตรกรหันไปปลูกยาง อ้อยและมันสำปะหลังเพราะเห็นว่าได้ราคาดีกว่าแทน

“ข้าวโพดน่าจะมีปัญหาน้อยที่สุดและจะเกิดขึ้นช่วงที่ผลผลิตทะลักออกสู่ตลาดพร้อมๆ กันคือในช่วงนี้ ทำให้รัฐบาลต้องเข้าไปพยุงราคาบ้าง แต่จะใช้เงินไม่มากนัก และที่เรียกร้องการช่วยเหลือเพิ่มเติมก็เพราะเห็นว่าพืชชนิดอื่นเรียกร้องแล้วได้จึงเอาแบบอย่างบ้าง ขณะที่ต้นทุนการผลิตของข้าวโพดต่อไร่จริงๆ แล้วอยู่ที่ 6.39 บาทต่อกก. เท่านั้น” นายสุพัฒน์กล่าว

สำหรับพื้นที่ปลูกข้าวโพดของไทยอยู่ที่ 7.19 ล้านไร่ ผลผลิต 4.88 ล้านตัน แม้ไทยจะมีสภาพพื้นที่เหมาะสมในการปลุกแต่ยังมีปัญหาเรื่องของต้นการผลิต การดูแลรักษายากกว่าพืชชนิดอื่นทำให้เกษตรกรหันไปปลูกพืชชนิดอื่นแทน

มันสำปะหลังอนาคตไปได้สวย

นายสุพัฒน์กล่าวถึงพืชมันสำปะหลังว่า ค่อนข้างมีปัญหาเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ที่จะมีผลผลิตออกมามากและจะมีปัญหาราคาตกต่ำประมาณ 4 เดือนคือ ธันวาคม-มีนาคม ทั้งๆ ที่มันสำปะหลังสามารถขุดขายได้ตลอดทั้งปี ทำให้ช่วงที่เกิดปัญหารัฐก็ต้องยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือทั้งการรับจำนำและการชดเชยต้นทุนการผลิต ส่วนปีนี้ก็มีแนวโน้มที่จะต้องเข้าไปช่วยเหลือเช่นกัน โดยอยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมในการดึงราคาในตลาดให้ขยับขึ้น ขณะที่ปีที่ผ่านมาใช้วิธีรับจำนำและใช้เงินไปกว่า 2.7 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าการรับจำนำมันสำปะหลังมีการออกแบบและขั้นตอนดำเนินการที่รัดกุมกว่าการรับจำนำข้าวมากทำให้ไม่ค่อยเกิดปัญหา โดยเฉพาะการกำหนดวงเงินที่ใช้และขีดเส้นช่วงเวลาที่ชัดเจน เช่น เดือนแรกรับจำนำที่ 2.65 บาทต่อกก. เดือนที่ 2 เพิ่มอีก 5 สตางค์ เดือนที่ 3 เพิ่มอีก 5 สตางค์ ซึ่งวิธีการนี้จะช่วยชะลอการขุดหัวมันได้ เพราะเกษตรกรจะสามารถวางแผนการขุดหัวมันในราคาที่ตัวเองพอใจ

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง 8.6 ล้านไร่ 5 แสนกว่าครัวเรือน มีผลผลิตปีละ 27.5 ล้านตัน มีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 1.798 บาทต่อกก. ปัญหาของมันสำปะหลังคือผลผลิตต่อไร่ยังต่ำ ต้นทุนต่อหน่วยสูง แต่จากความต้องการของตลาดต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงกระแสการใช้พลังงานทดแทนจากเอทานอล ทำให้มองว่ามันสำปะหลังเป็นพืชที่น่าจะมีอนาคตที่สุดของไทย เพราะไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกรายใหญ่ แต่เพื่อดูแลให้ราคามีเสถียรภาพรัฐบาลก็ต้องวางแผนการใช้มันสำปะหลังให้เหมาะสม ว่าควรนำไปใช้บริโภคเท่าไหร่ ใช้ผลิตพลังงานทดแทนเท่าไหร่ โดยประสานงานกับกระทรวงพลังงานให้ชัดเจน รวมทั้งต้องเร่งเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อลดต้นทุนให้เกษตรกรก็น่าจะช่วยแก้ปัญหาในระยะยาวได้

"น้ำตาล"สินค้าเพื่อความมั่นคงต้องดูแล

สำหรับพืชอ้อยและน้ำตาลนั้น ถือเป็นสินค้าด้านความมั่นคงของประเทศและมีกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายคอยดูแลเป็นการเฉพาะอยู่แล้ว จึงมีความแตกต่างจากพืชชนิดอื่นๆ โดยราคาน้ำตาลจะขึ้นอยู่กับตลาดโลก และราคาในตลาดโลกจะมีผลกับราคารับซื้ออ้อยในประเทศ โดยปีนี้มีแนวโน้มราคาตลาดโลกจะปรับลดลงต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ ทำให้การประกาศราคารับซื้ออ้อยขั้นต้นที่กำลังดำเนินการอยู่น่าจะออกมาต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งหากราคาต่ำกว่าตันละ 1,000 บาทจะทำให้เกษตรกรขาดทุน และในปีนี้อาจอยู่ที่ 800 กว่าบาทเท่านั้น ดังนั้น กองทุนฯคงต้องเข้าไปอุดหนุนราคาให้ชาวไร่อ้อยอยู่ได้ ตามปกติทุกปีกองทุนจะมากู้เงินจากธ.ก.ส.ประมาณ 1.5- 2 หมื่นล้านบาท โดยจะเก็บเงินจากผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลเข้ากองทุนเพื่อนำมาชำระหนี้คืนให้ ธ.ก.ส.หมุนเวียนเป็นประจำทุกปี จึงถือเป็นพืชที่มีกลไกการช่วยเหลือชัดเจน เป็นระบบและไม่น่าเป็นห่วง

ทั้งนี้ ปัจจุบันอ้อยมีพื้นที่เพาะปลูกจำนวน 8 ล้านไร่ เกษตรกร 2.2 แสนครัวเรือน ปริมาณผลผลิตอยู่ที่ 98.4 ล้านตัน ต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 711 บาทต่อไป แม้จะเป็นพืชที่ปลูกได้ผลผลิตดีในไทยแต่ยังมีจุดอ่อนที่ผลผลผลิตต่อไร่ต่ำ ต้นทุนการผลิตสูง และการส่งออกของไทยยังแคบอีกทั้งมีคู่แข่งมาก ทำให้เกษตรกรไทยต้องเร่งปรับตัวเพื่อลดต้นการผลิตเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในอนาคต

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 7 ตุลาคม 2556

การอุดหนุนราคาสินค้าทางการเกษตรกับการอุดหนุนราคาพลังงาน

ในที่สุดคณะรัฐมนตรีก็มีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) เสนอ โดยให้ใช้งบกลางในรายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นวงเงิน 21,248.95 ล้านบาท ให้ความช่วยเหลือกับเกษตรกรชาวสวนยางในอัตราไร่ละ 2,520 บาท ไม่เกินรายละ 25 ไร่ เป็นเวลา 7 เดือน ซึ่งก็จะทำให้เกษตรกรชาว สวนยางได้รับความช่วยเหลือประมาณ 12 บาท/กก. เมื่อรวมกับราคายางในปัจจุบันที่ประมาณ 80 บาท/กก.แล้ว ก็เท่า กับราคาที่รัฐบาลรับปากไว้ที่ 90 บาท/กก. หรืออาจจะสูงกว่าถ้าราคายางในตลาดมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นอีก

การแก้ปัญหาในลักษณะนี้นอกจากจะเป็นการแก้ปัญหา ในลักษณะพบกันครึ่งทางระหว่างรัฐบาลกับเกษตรกรชาวสวน ยางแล้ว ยังเป็นความพยายามของรัฐบาลในการแก้ปัญหาราคา สินค้าทางการเกษตรตกต่ำ ด้วยการไม่เข้าไปประกันราคาหรือรับจำนำผลิตภัณฑ์ในราคาสูงกว่าราคาตลาดอย่างที่เคยทำมาในอดีต เพราะรัฐบาลได้รับบทเรียนจากการรับจำนำข้าวในราคาสูงกว่าตลาดมาก จนกระทั่งเป็นปัญหาทำให้รัฐบาลแก้ไม่ตกมาจนทุกวันนี้

ความจริงแล้วการช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถจำหน่าย พืชผลได้ในราคาดี มีรายได้สูง เป็นเรื่องที่ดี ถือเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบที่สำคัญของรัฐบาล และเป็นนโยบายที่รัฐบาลทุกรัฐบาลในทุกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือกำลังพัฒนาล้วนแล้วแต่ให้ความสำคัญ เพราะเกี่ยวกับการอยู่ดีกินดีและความมั่นคงด้านอาหารของคนในประเทศ

เพียงแต่แนวทางในการสนับสนุนหรืออุดหนุนเกษตรกรในประเทศต่างๆ นั้นมีความแตกต่างกันออกไป แล้วแต่วัฒนธรรม สภาพทางภูมิศาสตร์และดินฟ้าอากาศของแต่ละประเทศ ตลอดจนความสำคัญของพืชผลทางการเกษตรที่มีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ

ที่สำคัญคือวิสัยทัศน์ของรัฐบาลในการดำเนินนโยบายการ อุดหนุนเกษตรกรของประเทศให้มีความเข้มแข็ง ยืนอยู่บนขาของ ตัวเองได้ และส่งเสริมให้อาชีพเกษตรกรมีการพัฒนาไปอย่างยั่งยืน โดยไม่ต้องพึ่งพิงความช่วยเหลือจากภาครัฐอยู่ตลอดเวลา

ซึ่งเรื่องอย่างนี้มีการพูดถึงอยู่ตลอดเวลาในบ้านเราทุกครั้ง ที่มีปัญหาเรื่องราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ เช่น การเพิ่มพื้นที่ ชลประทาน การปรับปรุงพันธุ์พืช การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ การใช้เทคโนโลยีทางการเกษตร การจัดรูปที่ดิน และล่าสุดมีการพูดถึงการจัดโซนนิ่งทางการเกษตร แต่พูดมาหลายสิบปีแล้ว ก็ยังไม่เห็นว่าการเกษตรของเราจะก้าวหน้าไปถึงไหน

จึงเป็นเรื่องที่น่าเศร้ามากที่เราจะได้ยินว่า ประเทศไทยเป็น ประเทศผู้ (เคย) ส่งออกข้าวเป็นอันดับหนึ่งของโลก ส่งออกยางพาราเป็นอันดับหนึ่งของโลก แต่ปรากฏว่าผลผลิตต่อไร่ของเราต่ำกว่าประเทศอื่น และต้นทุนของเราสูงกว่าประเทศคู่แข่งขัน

ในเมื่อเป็นเช่นนี้เราจะไปแข่งขันกับประเทศอื่นได้อย่างไร ใน ภาวะปกติหรือในภาวะที่ตลาดมีความต้องการสูง ตลาดเป็นของผู้ขาย ก็ไม่เป็นไร ผลิตออกมาเท่าไรก็ขายหมด ราคาแพงเท่าไรก็ขายได้

แต่ในภาวะที่เศรษฐกิจซบเซาอย่างเช่นในปัจจุบัน ตลาดเป็น ของผู้ซื้อ ราคาเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง ถ้าเราขาด ความสามารถในการแข่งขัน เราก็ขายไม่ได้

ยิ่งเรามีนโยบายกินตัวเองด้วยการเรียกร้องให้มีการประกัน ราคาพืชผลให้สูงจนเกินไป ก็จะยิ่งซ้ำเติมทำให้ราคาตลาดปรับลด ลงไปอีก เพราะเขารู้ว่าในเมื่อรัฐต้องรับซื้อ (จำนำ) ในราคาสูง รัฐ ก็จะมีสต็อกมากและขายไม่ออก ในที่สุดก็ต้องระบายออกมาในราคาถูกๆ

ในกรณีประกันราคาหรือประกันส่วนต่างราคาก็เช่นเดียวกัน เมื่อพ่อค้ารู้ว่ารัฐบาลประกันราคาสูง เขาก็จะตั้งราคารับซื้อต่ำ เพื่อ ให้เกษตรกรไปเรียกร้องส่วนต่างเอาจากรัฐบาล จึงไม่มีทางที่ราคา ตลาดจะสูงขึ้นจากมาตรการประกันราคาของรัฐบาล นอกจากราคา ในตลาดโลกจะสูงขึ้นเอง (ซึ่งไม่ใช่ฝีมือของรัฐบาลไหนทั้งสิ้น)

อีกประการหนึ่งการแทรกแซงหรือการอุดหนุนราคาสินค้าทางการเกษตรให้สูงกว่าราคาในตลาดโลกนั้น ยังเป็นการทำลายอุตสาหกรรมต่อเนื่องทางการเกษตรที่ใช้สินค้าทางการเกษตรมาเป็นวัตถุดิบเพื่อเพิ่มมูลค่าอีกด้วย

ลองคิดคดูก็แล้วกันว่าถ้าเราเป็นนักลงทุน อยากตั้งโรงงาน ผลิตถุงมือยางทางการแพทย์ เราจะอยากไปลงทุนที่ไหน ที่ประเทศไทยที่มีการเรียกร้องให้ประกันราคายางที่ 100 บาท/กก. หรือที่ประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม ที่ราคายางอยู่ที่ 80 บาท/กก. และขึ้นลงตามราคาตลาดโลก

ดังนั้น การแทรกแซงหรือการอุดหนุนราคาสินค้าทางการ เกษตรให้สูงกว่าราคาในตลาดโลก จึงเป็นนโยบายที่สวนทางกับนโยบายส่งเสริมให้มีการใช้พืชผลทางการเกษตรมาต่อยอดเป็นวัตถุดิบป้อนอุตสาหกรรมการเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่าโดยสิ้นเชิง

คำถามก็คือ ถ้าอย่างนั้นเราก็ควรปล่อยให้ราคาสินค้าทางการ เกษตรเป็นไปตามยถากรรมไม่ควรไปอุดหนุนหรือแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรเลยใช่หรือไม่

คำตอบคือไม่ใช่ครับ แต่การอุดหนุนหรือแทรกแซงราคาสินค้าทางการเกษตรนั้นต้องทำอย่างรอบคอบ และด้วยวัตถุประสงค์สองข้อด้วยกันคือ

1.เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยที่มีรายได้น้อยที่ไม่สามารถพึ่งตนเองได้ โดยนัยนี้หมายความว่า การช่วยเหลือหรือการอุดหนุนใดๆ ที่เป็นลักษณะหว่านแห คือช่วยไปหมดทุกคนไม่ว่ารายใหญ่ รายย่อย คนมี คนจน ย่อมเป็นการอุดหนุนที่ผิดวัตถุประสงค์นี้

2.การอุดหนุนหรือการแทรกแซงราคานั้นต้องเป็นลักษณะชั่วคราว และเป็นไปเพื่อการบรรเทาผลกระทบจากการ ที่ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำเท่านั้น ไม่ใช่เป็นการชดเชย รายได้ที่ขาดหายไปในยามปกติของเกษตรกร รัฐบาลต้องให้เกษตรกรเรียนรู้และพร้อมที่จะยอมรับความเสี่ยงในการประกอบอาชีพการเกษตร ซึ่งย่อมต้องมีความเสี่ยงเหมือนกับผู้ประกอบอาชีพในสาขาอื่นๆ เช่นกัน

ว่ากันที่จริงแล้วการแทรกแซงหรือการอุดหนุนราคาสินค้า ทางการเกษตรให้สูงกว่าราคาในตลาดโลกนั้น มันก็ไม่ต่างอะไรกับการแทรกแซงหรือการอุดหนุนราคาพลังงานให้ต่ำกว่า ราคาในตลาดโลกเลยแม้แต่น้อยและหลักการในการแทรกแซงหรืออุดหนุนราคาก็ต้องใช้หลักการเดียวกันนั่นเอง

โดยในเรื่องของพลังงานนั้น เราก็เริ่มเห็นการปรับโครงสร้างราคาก๊าซแอลพีจีให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงมากขึ้น โดยเริ่มตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นไป เพื่อลดการอุดหนุนในลักษณะหน้ากระดาน (across the board) คือทุกคนได้รับการอุดหนุนให้ใช้ก๊าซในราคาถูกหมด ไม่ว่าคนรวยหรือคนจน แต่ต่อไปนี้คนที่ช่วยตัวเองได้ มีรายได้สูง ก็ต้องจ่ายแพงขึ้น แต่รัฐจะไปช่วยเฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อย หรือผู้ประกอบการรายย่อยเท่านั้น ให้ได้ใช้ก๊าซในราคาเดิม ซึ่งเป็นวิธีที่ถูกต้องในการให้การอุดหนุน คือให้กับผู้ที่สมควรได้รับความช่วยเหลือเท่านั้น

ผมคิดว่าถ้าเราเดินในแนวทางที่ถูกต้องอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ก็คงไม่ต้องห่วงว่านโยบายประชานิยมจะพาเราลงเหวหรือเข้ารกเข้าพงอย่างที่หลายคนวิตกกัน

สำคัญแต่ว่าที่ผิดพลาดไปแล้ว จะกล้ายอมรับแล้วแก้ไขให้มันถูกต้องหรือเปล่า!!!

จาก http://www.siamturakij.com  วันที่ 7 ตุลาคม 2556

"คลองน้ำไหล" ชุมชนต้นแบบบริหารพลังงานทดแทนใกล้ตัว

รายงานพิเศษ

นายประพจน์ เพียรพิทักษ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลคลองน้ำไหล อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร ในฐานะบทบาทของผู้นำ อบต.คลองน้ำไหล ที่ต้องการเน้นคุณภาพชีวิตที่ดี ประชาชนมีรายได้พอเพียง จึงได้กระตุ้นให้ชาวบ้านในตำบลมีแนวคิดในการส่งเสริมให้คนในชุมชนหันมาใช้พลังงานทดแทน ทั้งเพื่อต้องการลดค่าใช้จ่าย ควบคู่ กับการรณรงค์ให้ความรู้ปลูกจิตสำนึก รู้จักใช้พลังงานอย่างประหยัด และมีประสิทธิภาพ

การใช้ทุนทรัพยากรในชุมชนทำให้เกิดประโยชน์ และเพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขพร้อมทั้งพัฒนาพลังงานที่ดีและยั่งยืน และเกิดผลเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนมากขึ้นเพื่อการดำรงชีวิตอย่างมีคุณค่า ที่มีวิธีปฏิบัติสอดคล้องไปกับการทำงานของ อบต.ที่เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเปิดโอกาสให้ชาวชุมชนคลองน้ำไหลมีส่วนร่วมในการคิด ตัดสินใจที่เกิดจากการร่วมมือของทุกฝ่าย ซึ่ง อบต.คลองน้ำไหลจะมีการจัดการอยู่ 2 ระดับ คือ การจัดการกันเองโดยมติของกลุ่ม ประกอบด้วย ฝ่ายท้องถิ่น ฝ่ายท้องที่ หน่วยงานรัฐ และประชาชน

ในการบริหารจัดการที่นี่ได้มีการจัดเวทีประชาคมหมู่บ้าน ทั้ง 28 หมู่บ้าน เพื่อให้ชาวบ้านทุกหลังคาเรือนมีส่วนร่วมในการคิด ปฏิบัติ และมุ่งเน้นคุณภาพชีวิตที่ดีและพอเพียงเป็นหลักในการนำชาวบ้านทุกคนไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ ดังนั้นชาวบ้านตำบลน้ำไหลได้เล็งเห็นว่ามีวัสดุสิ่งของในพื้นที่ ที่จะมาทำในเรื่องของพลังงานทดแทนได้ ประกอบกับทาง อบต.คลองน้ำไหล และทางพลังงานกำแพงเพชร ได้ส่งตัวแทนของแต่ละหมู่บ้านไปดูงานที่โคราช พอกลับมาหลายคนก็มีแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องของพลังงานทดแทนว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวมาก และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับในครัวเรือน ดังนั้นจึงได้มีกลุ่มพลังงานทดแทนเริ่มจากกลุ่มคนที่มีจิตอาสา

ซึ่งแรกเริ่มไม่มีการรวมกลุ่มกันทำ ต่างคนต่างทำ โดยคนที่คิดทำก็เพื่อที่ต้องการแก้ปัญหา ในครอบครัวในชุมชนของตนเอง ในด้านของการลดรายจ่าย สร้างรายได้เพิ่มเติม รวมถึงเรื่องของการรณรงค์ลดภาวะโลกร้อน อีกทั้งเรื่องของการแก้ปัญหาในชุมชนโดยเฉพาะในเรื่องของกลิ่นเหม็นจากสุกร หรือพวกสัตว์ที่มีมูล จะทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์ได้สูงสุด จึงได้เกิดการรวมกลุ่มขึ้นมา โดยจะมีพลังงานจังหวัดกำแพงเพชร กองทุนสิ่งแวดล้อมโลก และอบต.คลองน้ำไหล ได้เข้ามาหนุนเสริมในเรื่องของพลังงานทดแทนที่มีอยู่ทั้งหมด 6 ชนิด คือ 1.เตาแกลบ ชีวมวล 2.เตาย่างไร้ควัน 3.เตาซูเปอร์ อั้งโล่ 4.เตาเศรษฐกิจ 5.เตาถ่าน 200 ลิตร และ 6.บ่อหมักแก๊สจากมูลสัตว์ โดยการ นำวัสดุเหลือใช้ที่อยู่หัวไร่ปลายนา มาทำให้ เกิดประโยชน์ โดยการ เอามาเผาถ่าน ลองผิด ลองถูก พอหลังๆเริ่มทำได้อย่างจริงๆ จังๆ ก็มีหลายคนประสบผลสำเร็จ จนสามารถลดรายจ่ายในครัวเรือน เห็นผลได้อย่างชัดเจน

โดยภาพรวมของคนชาวตำบลคลองน้ำไหลมีความ เข้มแข็งในตัวอยู่แล้ว แต่เมื่อได้มีพบปะและพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับพื้นที่เรียนรู้แหล่งต่างๆ จนเกิดเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาชุมชนท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืน ด้วยการสร้างฐานความสุขทั้งสุขกายและสุขใจ นำไปสู่การเข้าร่วมเป็นเครือข่ายหนึ่งในตำบลสุขภาวะของสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

นี่เป็นมุมสะท้อนให้เห็นว่าท้องถิ่นของเราจะอยู่คนเดียวไม่ได้ ถึงแม้ว่าท้องถิ่นของเราอาจมีดีส่วนหนึ่ง แต่บางส่วนก็อาจจะยังไม่ดีพอเพราะฉะนั้นเมื่อเรามีโอกาสไปเรียนรู้ ทำให้เราสามารถนำความรู้ที่ได้จากแต่ละท้องถิ่นกลับมาพัฒนาท้องถิ่นของเราเอง

จาก http://www.siamturakij.com  วันที่ 7 ตุลาคม 2556

กรมโรงงานคุมพิษมลสวนอุตสาหกรรม

กรมโรงงาน เล็งแก้ระเบียบควบคุมดูแล เขต และสวนอุตสาหกรรม ที่กำกับดูแลโดยกระทรวงมหาดไทย หวังแก้ปัญหามลพิษแบบครบวงจร

วันที่ 6 ต.ค.นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมฯมีแผนที่จะแก้ไขกฎกระทรวงอุตสาหกรรม กำหนดให้การตั้งเขต และสวนอุตสาหกรรมจะต้องขออนุญาตจากกรมโรงงาน พร้อมทั้งเปิดช่องให้กรมฯเข้าไปควบคุมดูแลการบริหารจัดการในเขต และสวนอุตสาหกรรม แบบการบริหารงานของการนิคมอุตสาหกรรม เนื่องจากที่ผ่านมาได้เกิดเหตุการรั่วไหลของมลพิษหลายครั้งในเขต และสวนอุตสาหกรรม แต่กรมโรงงานก็ไม่สามารถเข้าไปบริหารจัดการให้ ผู้พัฒนาที่ดินมีมาตรฐานเหมือนกับในนิคมอุตสาหกรรมได้

“ขณะนี้การจัดตั้ง เขต และสวนอุตสาหกรรมที่อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน ที่กำกับดูแลโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย โดยผู้ประกอบกิจการเขต และสวนอุตสาหกรรมเพียงแต่เข้ามาแจ้งให้กรมโรงงานรับทราบ โดยกรมโรงงานไม่มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบการดำเนินงาน และตรวจสอบความปลอดภัยในด้านต่างๆ ทำให้ที่ผ่านมาเกิดปัญหามลพิษในพื้นที่เหล่านี้เป็นจำนวนมาก”

นายณัฐพล กล่าวว่า เขต และสวนอุตสาหกรรมที่ความเสี่ยงสูง จะอยู่ในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ และสมุทรสาคร เพราะว่ามีความแออัดของโรงงานอุตสาหกรรมสูงกว่าพื้นที่อื่น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรมได้เคยตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาการจัดตั้งเขตประกอบการอุตสาหกรรมแห่งใหม่ และพิจารณาการยกเลิกใบอนุญาตเขตประกอบการที่ไม่ได้ดำเนินการแล้ว ซึ่งมีจำนวน 5 ราย แต่ก็ไม่มีความคืบหน้ามใรนการดำเนินการในเรื่องนี้

สำหรับจำนวนเรื่องร้องเรียนปัญหามลพิษจากโรงงาน ที่ประชาชนส่งมายังกรมโรงงานอุตสาหกรรมตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 30 ก.ย. 56 มีผู้ร้องเรียนจำนวนทั้งสิ้น 666 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นปัญหามลพิษทางกลิ่น 402 เรื่อง รองลงมาเป็นมลพิษทางเสียง 259 เรื่อง ปัญหาโรงงานเถื่อน 194 เรื่อง มลพิษทางฝุ่น 192 เรื่อง มลพิษไอสารเคมี 149 เรื่อง น้ำเสีย 137 เรื่อง และควัน 125 เรื่อง

โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับการร้องเรียนมากที่สุด ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร 52 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องมลพิษทางกลิน ฝุ่น และเสียง รองลงมาเป็นอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์โลหะ 30 เรื่อง เป็นเรื่องมลพิษทางเสียง และกลิ่น, อุตสาหกรรมผลิตยานพาหนะและอุปกรณ์รวมทั้งการซ่อมบานพาหนะ 29 เรื่อง เป็นเรื่องทางมลพิษกลิ่น เสียง และไอสารเคมี

“กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาทั้ง 666 เรื่อง โดยสามารถแก้ไขปัญหาเบื้องต้นได้สำเร็จ 128 เรื่อง ส่งสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดดูแล 122 เรื่อง พร้อมทั้งสั่งแก้ไข ดำเนินคดี 33 เรื่อง หรือปิดโรงงาน ไปแล้วหลายเรื่อง”

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 6 ตุลาคม 2556

รัฐพร้อมผลักดันปลูกอ้อยในพื้นที่ไม่เหมาะทำนา

ก.เกษตรฯ หารือ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย ผลักดันปลูกอ้อยในเขตไม่เหมาะสมสำหรับปลูกข้าว

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย ได้แก่ สมาคมโรงงานน้ำตาลไทย สมาคมผู้ผลิตน้ำตาลและชีวพลังงานไทย สมาคมการค้าอุตสาหกรรมน้ำตาล เกี่ยวกับการส่งเสริมการปลูกอ้อยในเขตในเขตพื้นที่ไม่เหมาะสมสำหรับข้าว ว่า ทาง 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย ได้ขอความชัดเจนในการส่งเสริมการปลูกอ้อยในเขตไม่เหมาะสมสำหรับข้าว เพราะหากล่าช้าจะไม่ทันกับฤดูกาลเพาะปลูกอ้อยใหม่ประมาณเดือนพ.ย.นี้ ซึ่งหากภายในเดือนต.ค.ยังไม่มีความชัดเจน ก็จะเสียโอกาสปลูกอ้อยไป 1 ปี เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงที่ชาวนาเก็บเกี่ยวข้าวและพร้อมที่จะปรับเปลี่ยน และยังส่งผลกระทบต่อการคุณภาพอ้อยที่จะผลิตในปีหน้าอีกด้วย

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ ยืนยันว่า การส่งเสริมการปลูกอ้อยในเขตในเขตพื้นที่ไม่เหมาะสมสำหรับปลูกข้าว มีความพร้อมแล้ว ทั้งในระบบการปลูกอ้อย เกษตรกร และผู้ประกอบการ ซึ่งมีการจัดผลประโยชน์ที่ชัดเจน โดยรัฐบาลเข้าไปส่งเสริมกำกับดูแล ซึ่งในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ ได้เข้าไปช่วยเหลือเกษตรกรที่มีรายได้ต่ำจากการที่ปลูกข้าวในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม โดยขณะนี้โรงงานน้ำตาลมีกำลังการผลิตได้ 100 ล้านตัน และสามารถรองรับผลผลิตอ้อยที่เพิ่มขึ้นได้ จึงมั่นใจว่าไทยสามารถแข่งขันตลาดน้ำตาลในเอเชียได้ นอกจากนี้ ผลผลิตอ้อยและน้ำตาลยังสามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ เช่น เอทานอล ผลิตภัณฑ์ชีวเคมี และการผลิตพลังงานไฟฟ้า จึงเป็นโอกาสของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทยในการขยายผลผลิตเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ จะเร่งผลักดันการดำเนินงานในโครงการนี้ โดยจะนำประเด็นการหารือดังกล่าวพิจารณาร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงการคลังต่อไป

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 5 ตุลาคม 2556

ก.เกษตรฯหารือ 3 สมาคมรง.น้ำตาลทราย ผลักดันการปลูกอ้อยในเขตไม่เหมาะสมสำหรับข้าว

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย ได้แก่ สมาคมโรงงานน้ำตาลไทย สมาคมผู้ผลิตน้ำตาลและชีวพลังงานไทย,สมาคมการค้าอุตสาหกรรมน้ำตาลเกี่ยวกับการส่งเสริมการปลูกอ้อยในเขตในเขตพื้นที่ไม่เหมาะสมสำหรับข้าวว่าทาง 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายได้มาขอความชัดเจนในการดำเนินการในการส่งเสริมการปลูกอ้อยในเขตไม่เหมาะสมสำหรับข้าว เนื่องจากหากการพิจารณาเรื่องดังกล่าวมีความล่าช้าจะไม่สามารถดำเนินโครงการได้ทันกับฤดูกาลเพาะปลูกอ้อยใหม่ประมาณเดือนพฤศจิกายน 2556

จึงได้ขอให้กระทรวงเกษตรฯ ช่วยผลักดันเร่งรัดการดำเนินการ ทั้งนี้ หากภายในเดือนตุลาคม 2556 ยังไม่มีความชัดเจน ก็จะเสียโอกาสในการเพาะปลูกอ้อยไป 1 ปี เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงที่ชาวนาเก็บเกี่ยวข้าว และพร้อมที่จะปรับเปลี่ยน และยังส่งผลกระทบต่อการคุณภาพอ้อยที่จะผลิตในปีหน้าอีกด้วย

นายยุคล กล่าวต่อไปว่า กระทรวงเกษตรฯ ขอยืนยันว่า การส่งเสริมการปลูกอ้อยในเขตในเขตพื้นที่ไม่เหมาะสมสำหรับปลูกข้าว มีความพร้อมทั้งในระบบการปลูกอ้อย เกษตรกร และผู้ประกอบการ ซึ่งมีการจัดผลประโยชน์ที่ชัดเจน โดยมีรัฐบาลเข้าไปส่งเสริมกำกับดูแล ซึ่งในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ ได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่มีรายได้ต่ำจากการที่ปลูกข้าวในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม โดยขณะนี้โรงงานน้ำตาลมีกำลังการผลิตได้ 100 ล้านตัน และสามารถรองรับผลผลิตอ้อยที่เพิ่มขึ้นได้ จึงมั่นใจว่าไทยสามารถแข่งขันตลาดน้ำตาลในเอเชียได้ นอกจากนี้ ผลผลิตอ้อยและน้ำตาลยังสามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ เช่น เอทานอล ผลิตภัณฑ์ชีวเคมี และการผลิตพลังงานไฟฟ้า จึงเป็นโอกาสของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทยในการขยายผลผลิตเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ จะเร่งผลักดันการดำเนินงานในโครงการนี้ โดยจะนำประเด็นการหารือดังกล่าวพิจารณาร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงการคลังต่อไป

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 5 ตุลาคม 2556

ปคบ.บุกตรวจปุ๋ยปลอมอยุธยา

เมื่อวันที่ 5 ต.ค. พล.ต.ต.นรศักดิ์ เหมนิธิ ผบก.ปคบ. นายประนอม กองชนะ นักวิชาการเกษตร ชำนาญการพิเศษ กรมวิชาการเกษตร พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจ ปคบ. และเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตร เข้าตรวจค้นโกดังขนาดใหญ่เก็บปุ๋ยไม่มีเลขที่ ริมถนนสายภาชี-ท่าเรือ ม.8 ต.หนองน้ำใส อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา พบปุ๋ย ยาฆ่าแมลง สารจำกัดวัชพืช สารจับใบผสมยา อุปกรณ์การผลติ การบรรจุ ถุงสารเคมี จำนวนมากเต็มโกดัง จากการสอบถามน.ส.จุฑามาส ผอบแก้ว อายุ 26 ปี อยู่บ้านเลขที่ 6 ม.5 ต.สามโก้ อ.สามโก้ จ.อ่างทอง ผู้ดูแลโกดัง ทราบว่าเจ้าของปุ๋ยไม่อยู่และไม่รู้เกี่ยวกับการเก็บปุ๋ยและผลิตปุ๋ยทั้งหมด

พล.ต.ต.นรศักดิ์ เปิดเผยว่า ได้รับการร้องเรียนจากเกษตรกร ที่ทำนาทำสวน หลายรายร้องเรียนว่าได้ซื้อยาฆ่าแมลงและปุ๋ยจากดกดังแห่งนี้แล้วไม่มีคุณภาพ จึงได้ร่วมกับกรมวิชาการเกษตรเข้าตรวจสอบ พบปุ๋ยและสิ่งของต่างในการผลิตจำนวนมากได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตรวจอย่างละเอียดและทำการเก็บปุ๋ยและสารเคมีต่างๆไปตรวจสอบ ในเบื้อต้นพบว่าปุ๋ยที่อยู่ในโกดังไม่มีใบอนุญาตในการผลิต และไม่ขึ้นทะเบียน ตรวจสอบบางอย่างพบว่ามีการผสมสารกำจัดวัชพืช ยาฆ่าแมลงไม่ทราบว่าถูกต้องหรือไม่ เพราะสลากไม่มีการกำกับว่าใช้สารเคมีตัวใดบ้าง ส่วน ของในโกดังทั้งหมดจะทำการอายัดเอาไว้ตรวจสอบ มีบางส่วนที่ทำไม่ถูกต้อง ส่วนผู้ควบคุมดูแลจะต้องนำตัวไปสอบสวนเพื่อหาผู้กระทำความผิด จึงขอฝากให้ประชาชนที่ได้ซื้อสิ่งของจากโกดังแห่งนี้หรือผู้ที่พบเกี่ยวกับการกระทำความผิดในเรื่องของปุ๋ยปลอมให้แจ้ง ไปที่ ปคบ.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 5 ตุลาคม 2556

ค่าเงินเอเชียผันผวน กังวลการเมืองสหรัฐส่งผลต่อเศรษฐกิจ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของค่าเงินประจำวันที่ 30 กันยายน -4 ตุลาคม 2556 ในช่วงต้นสัปดาห์ค่าเงินดอลลาร์มีการปรับตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลหลัก หลังจากทำเนียบขาวได้ประกาศปิดหน่วยงานของรัฐบาลบางแห่ง และพนักงานราว ๆ 1 ล้านคนอาจถูกสั่งพักงานชั่วคราว

เนื่องจากสภาคองเกรสยังคงมีความขัดแย้งเกี่ยวกับการผ่านร่างกฎหมายงบประมาณฉุกเฉิน โดยร่างกฎหมายงบประมาณฉุกเฉินฉบับของสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐซึ่งมีการพ่วงการเลื่อนเวลาในการบังคับใช้กฎหมายประกันสุขภาพปี 2010 นั้น ยังไม่ผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภา ทำให้วุฒิสภาจะส่งร่างกฎหมายที่มีเพียงมาตรการขยายงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลกลับคืนสู่สภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณารับรองต่อไป โดยเมื่อถึงเส้นตายช่วงเที่ยงคืน (30/9) สภาคองเกรสได้ประกาศปิดทำการหน่วยงานของรัฐ นับเป็นครั้แงรกในรอบ 17 ปี ที่หน่วยงานหลายแห่งของรัฐบาลจะต้องหยุดทำการลง พนักงานจำนวนมากโดนพักงาน ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อการดำเนินงานและความเชื่อมั่นของรัฐบาล โดยบริษัทโกลด์แมน แซคส์ ได้มีการประเมินว่าการปิดหน่วยงานรัฐบาลเป็นเวลา 1 สัปดาห์ อาจส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐชะลอการเติบโตลงราว 0.3% อย่างไรก็ดี ตลาดยังต้องจับตาดูการเผชิญหน้าระหว่างพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครต ก่อนที่จะถึงเส้นตายเส้นที่ 2 เกี่ยวกับการลงมติอนุมัติของสภาคองเกรสในการปรับเพิ่มเพดานหนี้ ในวันที่ 17 ต.ค. ที่จะถึงนี้ ในช่วงกลางสัปดาห์ ค่าเงินดอลลาร์เริ่มฟื้นตัวแข็งค่าขึ้นอีกครั้ง หลังจากสถาบัน ISM ของสหรัฐ ได้รายงานดัชนีภาคการผลิตประจำเดือน ก.ย. (ISM Manufacturing Index) ออกมาที่ระดับ 56.2 ซึ่งสูงกว่าระดับที่ตลาดคาดการณ์ แต่การแข็งค่าของดอลลาร์ยังเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากในช่วงปลายสัปดาห์ได้มีการรายงานการจ้างงานภาคเอกชนของสถาบัน ADP สหรัฐ ออกมาน่าผิดหวัง โดยตัวเลขการจ้างงานปรับตัวเพิ่มขึ้น 166,000 ตำแหน่ง แต่ยังคงต่ำกว่าระดับคาดการณ์ที่ 180,000 ตำแหน่ง รวมทั้งดัชนี ISM ภาคบริการในเดือน ก.ย. ปรับตัวลงมาอยู่ที่ระดับ 54.4 จากระดับ 58.6 ในเดือนก่อนหน้า

ในส่วนของค่าเงินบาทนั้น ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันจันทร์ (30/9) ที่ระดับ 31.40/43 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากระดับปิดวันศุกร์ที่ระดับ 31.28/30 บาท/ดอลลาร์ แต่หลังจากผลการประชุมของสภาคองเกรสออกมาในวันที่ 1 ต.ค. ซึ่งมีมติให้ทำการปิดหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐบางแห่ง ได้ส่งผลให้ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าอย่างรวดเร็วจนกระทั่งแตะระดับต่ำสุดของสัปดาห์ที่ 31.11 บาท/ดอลลาร์ ขณะที่ในวันพุธ (2/10) ค่าเงินบาทกลับเริ่มอ่อนค่าอีกครั้ง โดยแต่ะที่ระดับสูงสุดของวันที่ 31.35 บาท/ดอลลาร์ หลังจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ISM ภาคการผลิตออกมาดีขึ้นกว่าระดับคาดการณ์ รวมทั้งตลาดมีการปรับตัวรับข่าวเกี่ยวกับการปิดหน่วยงานรัฐบาลของสหรัฐที่เกิดขึ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ดี ในช่วงปลายสัปดาห์ค่าเงินบาทมีการเคลื่อนไหวอย่างผันผวน ทั้งจากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่รายงานออกมาไม่ดีเท่าที่ควร และการเข้าแทรกแซงซื้อเงินดอลลาร์ของธนาคารกลางเกาหลีใต้ เพื่อสกัดกั้นการแข็งค่าของเงินวอน หลังจากที่ค่าเงินวอนแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 8 เดือน โดยค่าเงินบาทปิดตลาดในวันศุกร์ (4/10) ที่ระดับ 31.30/33 บาท/ดอลลาร์

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินสกุลหลัก ค่าเงินเยนเปิดตลาดวันจันทร์ (30/9) ที่ระดับ 97.73/75 เยน/ดอลลาร์ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดวันศุกร์ที่ระดับ 98.24/26 เยน/ดอลลาร์ เนื่องจากช่วงต้นสัปดาห์นักลงทุนมีความกังวลปัญหาเรื่องร่างกฎหมายงบประมาณของสหรัฐและสถานการณ์การเมืองในอิตาลี จึงหันมาถือครองเงินเยนในฐานะที่เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย รวมทั้งเงินเยนยังได้รับแรงหนุนจากการที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตญี่ปุ่นปรับตัวเพิ่มสู่ระดับ 52.5 ในเดือน ก.ย. จากระดับ 52.2 ในเดือนก่อนหน้า ขณะที่ในวันอังคาร (1/10) ค่าเงินเยนได้ปรับตัวอ่อนค่าในช่วงเช้า จากการรายงานอัตราว่างงานของญี่ป่นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 3.8% สู่ระดับ 4.1% ขณะที่ในช่วงสายนายกรัฐมนตรีชินโซะ อาเบะ ได้ประกาศการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จาก 5% เป็น 8% โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.ปี 2014 เพื่อช่วยรักษาฐานะการคลังของประเทศ นอกจากนี้จากการประกาศปิดหน่วยงานรัฐบาลของสหรัฐ ได้ส่งผลให้ค่าเงินเยนกลับปรับตัวแข็งค่าอีกครั้ง และแข็งค่าอย่างต่อเนื่องจนถึงปลายสัปดาห์ ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นมีมติเป็นเอกฉันท์ คงนโยบายการเงินตามการคาดการณ์ของตลาด โดยตลอดทั้งสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวในกรอบที่ระดับ 96.93-98.72 เยน/ดอลลาร์ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (4/10) ที่ระดับ 97.10/15 เยน/ดอลลาร์

ในส่วนของค่าเงินยูโร เงินยูโรเปิดตลาดวันจันทร์ (30/9) ที่ระดับ 1.3493/97 ดอลลาร์/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดวันศุกร์ที่ 1.3521/23 ดอลลาร์/ยูโร หลังจากที่มีการรายงานว่านายซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี อดีตนายกรัฐมนตรีของอิตาลีได้ถอนรัฐมนตรีออกจากรัฐบาลในวันเสาร์ที่ผ่านมา และเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งใหม่ มีผลทำให้นายกรัฐมนตรีเอ็นริโก เล็ตตา ต้องจัดการลงมติไว้วางใจในวันพุธ (2/10) โดยต่อมาในช่วงปลายสัปดาห์ค่าเงินยูโรได้รับแรงหนุนอย่างมากอีกครั้ง ภายหลังจากสถานการณ์ความตึงเรียดทางการเมืองในอิตาลีผ่อนคลายลงภายหลังจากที่ นายเอ็นริโก เล็ตตา นายกรัฐมนตรีรอดพ้นจากการลงมติไม่ไว้วางใจ ขณะเดียวกันทางธนาครกลางยุโรป (ECB) ประกาศคงนโยบายการเงินไว้เช่นเดิมภายหลังการประชุม ECB ในวันพุธ 2/10) ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อประจำเดือน ก.ย.ของยุโรปโซนนั้นปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 52.1 ซึ่งบ่งชี้ถึงการจขยายตัวของเศรษฐกิจของยูโรโซน ทั้งนี้ตลอดสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบที่ระดับ 1.3466-1.3345 ดอลลาร์/ยูโร ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (4/10) ที่ระดับ 1.3615/20 ดอลลาร์/ยูโร

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2556

กางแผนติดอาวุธอุตฯไทยสู้ศึกเออีซี

เปิดหูเปิดตาอาเซียน : กางแผนติดอาวุธอุตฯไทย ชู 5 โครงการพร้อมสู้ศึกเออีซี

การพัฒนาผู้ประกอบการและอุตสาหกรรมไทยยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2557 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) มีแผนมุ่งไปที่ 5 โครงการ ครอบคลุมกลุ่มอุตสาหกรรมหลักของไทย ได้แก่ ศูนย์กลางด้านห่วงโซ่อุปทานของอาเซียน ศูนย์กลางแฟชั่นอาเซียน โครงการไทยแลนด์ฟู้ดวัลเลย์ โครงการเพิ่มผลิตภาพและนวัตกรรมเพื่อการเติบโตของเอสเอ็มอี และการเพิ่มมูลค่าสินค้าโอท็อปด้วยทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา ผ่านงบประมาณดำเนินการกว่า 686 ล้านบาท

นายโสภณ ผลประสิทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า การดำเนินงานปี 2556 ที่ผ่านมา ข้อตกลงประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี เข้ามามีบทบาทต่อการปรับตัวทางธุรกิจของผู้ประกอบการไทยเป็นอย่างมาก ดังนั้น ยุทธศาสตร์ด้านการส่งเสริมธุรกิจอุตสาหกรรมให้พร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จึงเพิ่มความสำคัญมากขึ้น โดย กสอ. ได้มีการจัดวางแผนการดำเนินงานภายใต้โครงการ “DIP Drives the ASEAN Synergy” ขึ้น เพื่อเป็นการส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้มีความพร้อมต่อการลงแข่งขันในตลาดเออีซี

ในปี 2557 นโยบายการบริหารงานหลักภายใต้โครงการดังกล่าวนี้ คือ การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของไทยให้ก้าวขึ้นสู่ซัพพลายเชนของอาเซียน และนโยบายที่ได้มีการวางไว้ยังครอบคลุมชัดเจนไปถึงแต่ละอุตสาหกรรมย่อย อาทิ การผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางแฟชั่นอาเซียน การพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น โครงการไทยแลนด์ฟู้ดวัลเลย์ การเพิ่มมูลค่าสินค้าโอท็อปด้วยทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา และการสร้างผลิตภาพและนวัตกรรมเพื่อการเติบโตของเอสเอ็มอี เป็นต้น

"ประเทศไทยมีกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่ความเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมในอาเซียน นั่นคือโอกาสและช่องทางต่างๆ เนื่องจากประเทศไทยมีความได้เปรียบกว่าประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียนหลายประการ เช่น การเป็นศูนย์กลางทางด้านทำเลที่ตั้ง การคมนาคมขนส่งที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ ปัจจัยทางด้านภูมิศาสตร์ และแรงงานมีฝีมือมากกว่าประเทศอื่นๆ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เอื้อต่อการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมของอาเซียนได้ไม่ยาก" นายโสภณกล่าว

ทั้งนี้ การดำเนินงาน 5 โครงการข้างต้น มีเป้าหมายส่งเสริมผู้ประกอบการทั้งสิ้น 16,700 คน และพัฒนาสถานประกอบการ 3,500 กิจการ แต่การดำเนินงานตามนโยบายต่างๆ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน อาทิ หน่วยงานทางด้านวิชาการ ซึ่งจะให้ข้อมูลในเชิงทฤษฎี เพื่อนำมาบูรณาการให้เข้าถึงภาคปฏิบัติมากขึ้น

ด้านนายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาองค์การการค้าโลก มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมไทยในปี 2557 ต้องเริ่มต้นจากการสร้างความเชื่อมโยงของผู้ประกอบการในแต่ละประเทศให้เกิดขึ้น เนื่องจากข้อตกลงประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนถือเป็นประโยชน์อย่างมากต่อผู้ประกอบการทั่วทั้งอาเซียน และด้วยจำนวนประชากรเกินกว่า 600 ล้านคน ทำให้อาเซียนเป็นตลาดที่สำคัญที่มีความพร้อมทางด้านการผลิตและการพัฒนาอุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก

สิ่งสำคัญคือการพัฒนาศักยภาพการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย โดยปัจจุบันผู้ประกอบการไทยเผชิญกับปัญหาต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น สาเหตุหนึ่งมาจากค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น สิ่งที่ผู้ประกอบการสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ คือการเพิ่มประสิทธิภาพของแรงงานให้สูงขึ้น ส่วนการประสบกับภาวะขาดแคลนแรงงานภายในประเทศนั้น การขยายโรงงานการผลิตไปยังประเทศอื่นๆ ในอาเซียนที่มีความพร้อมทางด้านแรงงานทั้งในแง่ของปริมาณและค่าจ้างแรงงานเป็นทางออกสำหรับผู้ประกอบการได้เช่นกัน

นอกจากนี้ การที่ผู้ประกอบการขาดข้อมูลทางด้านช่องทางการจำหน่ายหรือขาดกลยุทธ์ด้านการตลาด ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ทำให้การพัฒนาอุตสาหกรรมของไทยชะงักได้ อย่างไรก็ตาม การเพิ่มโอกาสในการลงทุนและช่องทางการจำหน่าย ให้แก่ผู้ประกอบการในตลาดอาเซียน ถือเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้กลไกการผลักดันอุตสาหกรรมไทยเป็นไปอย่างราบรื่น ซึ่งกุญแจสำคัญในการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้แก่ผู้ประกอบการ คือ การจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าหรือศูนย์จำหน่ายสินค้าในแต่ละประเทศในกลุ่มอาเซียน

"ปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่งของผู้ประกอบการไทย คือ การขาดแคลนเงินทุนเพื่อขยายธุรกิจ ดังนั้น หากภาครัฐได้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อเอสเอ็มอีขึ้น โดยมีการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งผู้ประกอบการที่จะได้รับสิทธิ์ดังกล่าวจะต้องเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสามารถทำตลาดได้ เพื่อให้เกิดการขยายตัวของอุตสาหกรรมไทย และนำมาซึ่งการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืนด้วย" นายอัทธ์กล่าว

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ปุ๋ยฮาลาลทางเลือกช่วยเกษตรกรชาวมุสลิม

ประเทศไทยมีการนำเข้าปุ๋ยเคมีเพิ่มขึ้นทุกปี จากสถิติในปี 2555 ที่ผ่านมา มีปริมาณมากกว่า 5.66 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 8 หมื่นล้านบาท นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกษตรกรมีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ส่วนปุ๋ยที่ผลิตภายในประเทศไทยยังสร้างความศรัทธาได้ไม่ทั่วถึง เรื่องของการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ของเกษตรกรชาวมุสลิม ที่มีอยู่เพียงร้อยละ 4-5 ของประเทศไทย กลับถูกมองข้าม จนเป็นเหมือนข้อบังคับที่ต้องใช้ปุ๋ยเคมีเพียงอย่างเดียว เนื่องจากในส่วนประกอบของปุ๋ยอินทรีย์นั้น มีส่วนประกอบของมูลสัตว์ ซากสัตว์ ซึ่งขัดต่อข้อบัญญัติของฮาลาล

นายกฤชนนท์ ห่อทองคำ ผู้บริหาร บริษัท ไอออนิค จำกัด ผู้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยอินทรีย์เคมีตรานกอินทรีคู่ เป็นเจ้าแรกของประเทศไทยที่ได้รับรองมาตรฐานฮาลาล จากสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เมื่อกลางปี 2556 ที่ผ่านมา กล่าวถึงเหตุผลที่ต้องทำปุ๋ยชนิดนี้ว่า ทางบริษัทฯ มีนโยบายชัดเจนในการช่วยประเทศลดการนำเข้าปุ๋ยเคมี เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรลดต้นทุน เรามีโรงงานผลิตปุ๋ยเอง ทั้งประเภทปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยอินทรีย์เคมี และยังส่งออกไปในหลายประเทศ เช่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ซึ่งประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม รวมถึงประเทศไทยเราเองโดยเฉพาะทางภาคใต้ก็มีเกษตรกรที่เป็นชาวมุสลิมอยู่เป็นจำนวนมาก

“เกษตรกรชาวมุสลิมหลายคนอยากใช้ปุ๋ยอินทรีย์ แต่ผิดหลักศาสนา คือห้ามแตะต้องมูลสัตว์ จึงต้องจำใจใช้ปุ๋ยเคมี และมีเกษตรกรชาวมุสลิมเวลาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ต้องใส่ถุงมือ เพราะไม่มั่นใจ จึงทำให้รู้สึกไม่สะดวกในการใช้ อีกทั้งเมื่อพูดถึงปุ๋ยอินทรีย์ เกษตรกรส่วนใหญ่จะนึกถึงปุ๋ยที่ผลิตจากมูลสัตว์ หรือสิ่งปฏิกูล แต่ปุ๋ยไอออนิคของเราสกัดจากธาตุอาหารที่เป็นปุ๋ยออกจากพืช วัสดุเหลือใช้จากอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ส่วนมากเป็นเปลือกว่านหางจระเข้ และสาหร่ายทะเล โดยใช้ความร้อน ความดัน จุลินทรีย์ และประจุไฟฟ้า มาเป็นกรรมวิธีในการสกัดเอาปุ๋ยธาตุหลัก 3 ชนิด ธาตุรอง 26 ชนิด และกรดอะมิโนทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์ ไม่มีการนำมูลสัตว์มาใช้” นายกฤชนนท์ กล่าว

ผู้บริหารปุ๋ยฮาลาลเจ้าแรกของไทย กล่าวต่ออีกว่า ปุ๋ยไอออนิค ยังเป็นปุ๋ยอัจฉริยะที่ใช้เทคโนโลยีล้ำหน้าหนึ่งเดียวของประเทศไทย ด้วยนวัตกรรม “3T” เม็ดปุ๋ย 3 ชั้น คือ ชั้นธาตุอาหารปลดปล่อยเร็ว ชั้นธาตุอาหารปลดปล่อยช้า และชั้นจุลินทรีย์ ทั้งยังมีนวัตกรรม “HCC” การพอกผิวเม็ดปุ๋ย สูตรลับเฉพาะปุ๋ยไอออนิค ทำให้เรามีจุดเด่นที่ชัดเจน ยอดเยี่ยม คือ สามารถปลดปล่อยธาตุอาหารได้ตามช่วงระยะเวลาของพืชได้อย่างเหมาะสม

นายกฤชนนท์ กล่าวด้วยว่า ในเรื่องของการเตรียมโรงงานให้ผ่านมาตรฐานฮาลาล คือ อุปกรณ์ เครื่องจักร รวมทั้งกระบวนการผลิต และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการผลิต ต้องไม่ขัดแย้งต่อบทบัญญัติศาสนาอิสลาม เช่น สถานที่ผลิตสะอาดต้องมีระบบป้องกันสัตว์ทุกชนิด, เครื่องจักรเครื่องมือ และอุปกรณ์การผลิตต้องใช้สำหรับผลิตภัณฑ์ฮาลาลเท่านั้น, การเก็บรักษา การขนส่ง และจำหน่าย ต้องแยกสัดส่วนเฉพาะผลิตภัณฑ์ฮาลาลเท่านั้น, พนักงานที่ผลิตจะต้องไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ไม่ฮาลาลในขณะผลิต เช่น สุนัข เลือด แอลกอฮอล์ เป็นต้น ส่วนปัญหาที่มักพบและหาวิธีป้องกันได้อย่างเด็ดขาดแล้ว คือ เรื่องสุนัขที่เข้ามาในบริเวณโรงงาน เราได้ใช้วิธีการกั้นรั้วรอบโรงงาน และป้องกันนกเข้ามาในบริเวณผลิตปุ๋ยทุกจุด

“นอกจากนี้ โรงงานของเราได้กำหนดจุดควบคุมฮาลาล คือ จุดที่ต้องควบคุมพิเศษ เพื่อดูแลป้องกันหรือกำจัดอันตรายต่อผลิตภัณฑ์ฮาลาล สำหรับกรณีพนักงานสัมผัส “นยิส”(NAJIS) หมายถึงสิ่งสกปรกในความหมายของศาสนาอิสลาม ทุกคนจะรู้วิธีการล้างนยิส ซึ่งเป็นกฎปฏิบัติที่ยึดถือกันอย่างเคร่งครัด ซึ่งกระบวนการตรวจสอบของคณะกรรมการอิสลามเป็นไปอย่างเข้มงวด มีการตรวจถึง DNA ปุ๋ย ต้องแน่ชัดว่าปราศจากสิ่งต้องห้ามตามหลักศาสนา เวลากว่า 2 ปี ที่เราสามารถทำให้ทางคณะกรรมการอิสลามมั่นใจได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ว่าผลิตภัณฑ์ปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยอินทรีย์เคมีของเราถูกต้องตามมาตรฐานฮาลาล ปุ๋ยไอออนิค เน้นเพิ่มผลผลิตพืชหลัก 6 ชนิด ได้แก่ ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพด และสามารถใช้กับพืชผักและผลไม้ได้ดีเช่นกัน แถมยังมีข้อเด่นที่แตกต่างจากปุ๋ยเคมี คือ ช่วยบำรุงและปรับสภาพของดินอีกด้วย” นายกฤชนนท์ กล่าวทิ้งท้าย.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2556

สมาคมน้ำตาลขานรับนโยบายกระทรวงเกษตรฯ เปลี่ยนนาข้าวไร่เป็นอ้อย

สมาคมน้ำตาลขานรับนโยบายกระทรวงเกษตรฯเ ปลี่ยนข้าวเป็นอ้อย แนะเร่งดำเนินการให้ได้ในพ.ย.นี้

เมื่อวันที่ 4 ต.ค. ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการเข้ าพบของสมาคมโรงงานน้ำตาลไทย สมาคมผู้ผลิตน้ำตาลและชีวพลังงานไทย และสมาคมการค้าอุตสาหกรรมน้ำตาลว่า ทั้ง 3 สมาคม ได้หารือถึงนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ ที่ต้ องการเปลี่ยนพื้นที่นาข้าวในเขตไม่เหมาะสมหรือพื้นที่ นาดอนประมาณ7-10 ล้านไร่ ส่วนใหญ่อยู่ในภาคกลางและภาคอีสาน ให้หันมาปลูกอ้อยทดแทน ซึ่งทางภาคเอกชนให้การสนับสนุน และเห็นว่ากระทรวงเกษตรฯควรเร่งดำเนินการส่งเสริมให้ เกษตรกรกร เริ่มปลูกได้ไม่เกินเดือน พ.ย.นี้ เพื่อให้ได้ค่าความหวานที่ดี หากเกษตรกรปลูกล่าช้ากว่านี้ จะทำให้ค่าความหวานลดลง ไม่เป็นไปตามเป้าหมายของกระทรวงเกษตรฯ ที่ต้องการให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการมีรายได้เพิ่มสูงขึ้นจากการปลูกอ้อย

นายยุคล กล่าวต่อว่า ปัจจุบั นกำลังการผลิตของโรงงานโดยรวมสามารถรับอ้อยเข้าโรงงานสูงสุดได้อีก 1 เท่าตัวจากปัจจุบันที่ไทยผลิตอ้อยได้ 100 ล้านตัน ซึ่งเพียงพอกับการป้อนโรงงานได้ 120-150 วัน หากกระทรวงเกษตรฯสามารถเพิ่ มผลผลิตได้มากขึ้นจะทำให้ โรงงานเหล่านี้สามารถผลิตได้เต็ มกำลังใน 3-5 ปีข้างหน้า โดยน้ำตาลที่ได้จะสามารถผลักดั นให้เข้าสู่ตลาดเอเชียที่ ไทยสามารถแข่งขันได้กับน้ำตาลของบราซิลที่มีต้นทุนการขนส่งสูงกว่า นอกจากนี้กากน้ำตาลที่ได้ยั งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ด้านเอทานอลได้ด้วย ซึ่งเกษตรกรที่เข้าร่ วมโครงการดังกล่าวจะได้รั บการสนับสนุนด้านการลงทุนจากรั ฐบาลเช่นการชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราไร่ละ 840 บาทต่อปี ซึ่งจะเชื่อมโยงกับธ. ก.ส. ที่จะให้เกษตรกรกลุ่มนี้เข้าร่ วมโครงการพักหนี้ 3 ปีด้วย ทั้งหมดนี้จะเสนอให้ที่ประชุมร่ วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามที่นายกรัฐมนตรีมอบให้ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เป็นประธาน หากได้รับความเห็นชอบจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรั ฐมนตรีพิจารณาต่อไป

ด้านนายเชิดพงษ์ สิริวิชช์ ประธานคณะกรรมการประสานงานสมาคมโรงงานน้ำตาลไทย สมาคมผู้ผลิตน้ำตาลและชีวพลังงานไทย และสมาคมการค้าอุตสาหกรรมน้ำตาล กล่าวว่า ทั้ง 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลเห็นว่ านโยบายของรัฐในการส่งเสริมเกษตรกรให้ปลูกพืชในพื้นที่ที่ เหมาะสม หากสามารถขยายพื้นที่ การปลูกอ้อยได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น โดยเนื่องจากอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล มีระบบการแบ่งปันผลประโยชน์ ร่วมกันระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงาน ดังนั้นการขยายพื้นที่ปลูกอ้อยจำเป็นต้องมีการหารือร่วมกันระหว่าสงสมาคมโรงงาน ชาวไร่อ้อย และส่วนราชการ ที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากหากราคาน้ำตาลทราบในตลาดโลกตกต่ำ หรือการขยายการผลิตน้าตาลทรายเร็วเกินไป อาจส่งผลให้ราคาตกต่ำ ซึ่งเป็นภาระต่อกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายในการเข้าไปดูแลเสถียรภาพของระบบได้ ซึ่งการบริหารจัดการเรื่องโซนนิ่ง อย่างยั่งยืนจะต้องทำให้ ระบบสามารถดำเนินการได้โดยไม่ เป็นภาระต่อกองทุนและภาครัฐอีกต่อไป.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ชี้ช่องอุตฯปรับตัวรับมือกระแสโลกเปลี่ยน

เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2556 สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ร่วมกับหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ จัดงานสัมมนา OIE Forum 2556 : Nex Generation of Thai Industry อุตสาหกรรมยุคใหม่ก้าวที่ท้าทายสู่อนาคต

นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในหัวข้อ "ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยสู่อนาคต" ว่า การเปลี่ยนแปลงในกระแสโลกาภิวัตน์ ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาอุตสาหกรรม ปี 2555-2574 มุ่งสู่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่สมดุลยั่งยืน โดยกำหนดเป้าหมายการพัฒนาเป็น 3 ระยะ ได้แก่ เป้าหมายในระยะที่ 1 มีระยะเวลาปีที่ 1-5 เป็นการสร้างความพร้อมก้าวไปสู่การเป็นผู้ผลิตในระดับภูมิภาคเตรียมความพร้อมสู่เออีซี โดยปรับปรุงกฎระเบียบ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับ พัฒนาเรื่องโนว์เลจเบสท์ อินดัสตรี เชื่อมโยงเป็นฐานการผลิตและบริการในอาเซียน

เป้าหมายในระยะที่ 2 ในระยะ 10 ปีข้างหน้า จะเป็นช่วงเวลาการมุ่งเน้นการพัฒนาต่อจากการพัฒนาฐานความรู้ เพื่อนำมาต่อยอดในการพัฒนาภาคการผลิตและสินค้า เน้นการผลิตสินค้าที่ต้องใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ปรับบทบาทประเทศไทยให้เป็นตัวกลางในการจัดการบริหารจัดการระบบห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาค ให้เป็นที่ยอมรับในอาเซียน

ขณะที่เป้าหมายที่ 3 ระยะเวลา 20 ปีข้างหน้า เป็นการสร้างภาพลักษณ์ของประเทศไทย ในด้านตราสินค้าไทยที่ก้าวไกลไปในตลาดโลก เป็นผู้บริหารจัดการตราสินค้าที่มีเครือข่ายการผลิตจากในภูมิภาคที่เป็นที่ยอมรับในตลาดโลก โดยมีความสมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรมนุษย์

นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของไทยจะต้องมีกรอบการดำเนินงานที่ชัดเจน โดยจะต้องสนับสนุนใน 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 อุตสาหกรรมที่ไทยเข้มแข็ง และต้องรักษาความแข็งแกร่งในระยะยาว ส่วนที่ 2 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต ซึ่งไทยจะต้องก้าวตามให้ทันในอุตสาหกรรมเหล่านี้ และส่วนที่ 3 อุตสาหกรรมเสาหลักที่ยั่งยืนของไทย ซึ่งจะเป็นอุตสาหกรรมที่ยืนอยู่บนพื้นฐานของเกษตรกรรม

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวในการเสวนาเรื่อง "อุตสาหกรรมยุคใหม่ ก้าวที่ท้าทายสู่อนาคต" ว่า ขณะนี้มีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจของโลก 6 เทรนด์ด้วยกัน ที่ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัว ได้แก่ 1.การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ที่ในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงเร็วมาก 2.การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศของโลก ทำให้เกิดมาตรการปกป้องสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ขึ้นมาก หากผู้ผลิตไม่ได้มาตรฐานสิ่งแวดล้อม ก็จะค้าขายในตลาดโลกได้ยาก

3.การรวมตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคต่างๆ ก่อให้เกิดกลุ่มเศรษฐกิจใหม่ๆ ทั่วโลก รวมทั้งอาเซียน หากไทยเร่งเข้าไปใช้โอกาสจากอาเซียนก็จะสร้างความได้เปรียบมากขึ้น 4.การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร ก่อให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและเครื่องสำอางที่มาจากธรรมชาติ 5.วัฒนธรรม โดยจะต้องนำเอาภูมิปัญญาท้องถิ่น มาสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า และสร้างความโดดเด่นเหนือสินค้าอื่น และ 6.การเมือง

แนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมไทยในระยะต่อไป ต้องให้ความสำคัญกับการใช้งานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น เพราะปัจจุบันประเทศเกิดใหม่หลายประเทศเริ่มเปิดตัวและสามารถผลิตได้ ไม่ต่างจากไทย ดังนั้นกระทรวงอุตฯ ซึ่งเป็นผู้วางแผนการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมต้องให้ความสำคัญกับการเชื่อมสถาบันการศึกษากับภาคเอกชนให้ได้ เพื่อนำงานวิจัยมาใช้ในทางการค้าได้มากขึ้น

"การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีขณะนี้เกิดขึ้นรวดเร็วมาก ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมต้องตามเรื่องนี้ให้ทัน เพื่อมาบอกกับผู้ประกอบการ รวมถึงให้คำแนะนำแก่รัฐบาล เพื่อปรับเปลี่ยนนโยบายจูงใจเปลี่ยนแปลงการผลิต"

ขณะที่ นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ประเทศไทยมีจุดแข็ง 4 ด้าน ที่ทำให้สามารถรับกับทุกวิกฤติได้ คือ ภาคเกษตร ท่องเที่ยว อุตสาหกรรมที่หลากหลายและการค้าบริการ แต่ก็มีประเด็นที่เป็นปัญหาต้องเร่งแก้ไขคือ การขาดแคลนแรงงาน หรือฝีมือแรงงานไม่ตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรม ประสิทธิภาพการใช้พลังงานต่ำ โดยในกระแสการเปลี่ยนแปลงในขณะนี้ กลุ่มที่น่าเป็นห่วงคือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งต้องมีการช่วยเหลือให้เกิดการรวมตัว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขัน

จาก http://www.komchadluek.net   วันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ม็อบอ้อยขีดเส้นขู่ปิดตลาดโรงเกลือ

สระแก้ว * เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 3 ต.ค. เกษตรกรชาวไร่อ้อยใน จ.สระแก้วกว่า 300 คน พากันไปชุมนุมที่ศาลากลาง จ.สระแก้ว เพื่อทวงถามสัญญาในการเรียกร้องให้มีการอนุญาตก่อสร้างโรงงานน้ำตาลขึ้นอีก 1 แห่ง โดยนายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการ จ.สระแก้ว ได้ให้ตัวแทนเข้าหารือที่ห้องบูรพา บนศาลากลางชั้น 4 โดยเรียก หน.ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมาร่วมด้วย ซึ่ง รมว.อุตสาหกรรมได้ส่งตัวแทนมาเจรจา รับว่าจะอนุมัติให้บริษัท นิว กว้างสุ้น สร้างโรงงานได้ในเดือน ต.ค.นี้

นายมนตรี คำพล นายกสมาคมเกษตรกรชายแดน กล่าวว่า การเรียกร้องให้มีโรงงานน้ำตาลเพิ่มอีก 1 แห่ง เพื่อเกษตรกรชาวไร่อ้อยจะได้มีทางเลือกไม่ถูกกดราคาจากโรงงานที่มีการผูกขาดใน จ.สระแก้วรายเดียว ในแต่ละปีชาวไร่อ้อยนอกจากจะถูกกดราคาแล้ว อ้อยที่มีมากจนเกินกำลังผลิตของโรงงานน้ำตาลตะวันออก เกษตรกรก็ต้องบรรทุกไปขายที่ จ.ชลบุรี ทำให้เดือดร้อน ซึ่งจากการเจรจากันในวันนี้ หากไม่ทำตามก็จะรวมตัวกันปิดตลาดโรงเกลือเพื่อกดดันทันที

ร.อ.ทองทศ มากสาคร ส.จ.เขต อ.คลองหาด, นายไชโย ขนบบวรกุล ส.จ.เขต อ.อรัญประเทศ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ฮ่องกง ก็รับว่าจะช่วยเหลือ แต่หากรัฐบาลยังยื้อเวลาก็จะต้องมาชุมนุมกันอีกครั้งต่อไป.

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ก.อุตฯ ไฟเขียวช่วยโรงงานน้ำท่วม

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกหลักเกณฑ์การย้ายเครื่องจักรบางส่วนที่ติดตั้งในโรงงานไปยังสถานที่อื่น เพื่อประกอบกิจการเป็นการชั่วคราวสำหรับโรงงานที่ประสบภัยพิบัติต่างๆ ตั้งแต่เกิดเหตุน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 โดยสถานประกอบการที่ประสบภัยน้ำท่วมขณะนี้ สามารถขอใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าวได้เช่นกัน

ทั้งนี้ โรงงานอุตสาหกรรมที่ไม่สามารถประกอบกิจการในสถานที่เดิมได้ และหากพิจารณาเห็นว่าสถานการณ์เข้าขั้นวิกฤติ จำเป็นต้องย้ายเครื่องจักรไปประกอบกิจการในสถานที่อื่น สามารถติดต่อยื่นขอใบอนุญาตที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรณีมีพื้นที่กิจการในกรุงเทพมหาคร สวน/เขตอุตสาหกรรม หรือสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดที่โรงงานตั้งอยู่ กรณีโรงงานในเขตนิคมอุตสาหกรรม ให้ยื่นเรื่องต่อการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

โดยแจ้งสถานะ เหตุผลของการย้ายเครื่องจักรบางส่วน สถานที่ที่จะย้ายเครื่องจักรไปติดตั้งชั่วคราว ระยะเวลา (ไม่เกิน 1 ปี) แผนผัง รายละเอียดมลพิษและวิธีการบำบัดมลพิษจากการประกอบกิจการ โดยผู้ขอใช้สิทธิต้องเป็นโรงงานจำพวกที่ 3 เท่านั้น

“ที่ผ่านมาเมื่อตอนเกิดเหตุมหาอุทกภัยปี 2554 กระทรวงฯ ได้ออกหลักเกณฑ์การย้ายเครื่องจักรบางส่วนที่ติดตั้งในโรงงานไปยังสถานที่อื่นได้เป็นการชั่วคราว ได้ไม่เกิน 1 ปี และสามารถขอขยายเวลาได้อีกไม่เกิน 1 ปี แต่ในช่วงเวลาดังกล่าวมีผู้ขออนุญาตย้ายเครื่องจักร จำนวน 5 ราย ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี โดยย้ายไปที่จังหวัดนครนายก ชลบุรี และปราจีนบุรี ซึ่งมีระยะทางไม่ไกลจากโรงงานเดิม” นายวิฑูรย์กล่าว

สำหรับในปีนี้ศูนย์ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมและช่วยเหลือผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่ประสบอุทกภัย (ศน.อก.) ได้รายงานล่าสุด (1 ต.ค. 2556) พบว่า มีสถานประกอบการได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม จำนวน 39 โรงงาน และ 14 วิสาหกิจชุมชน ใน 7 จังหวัด ประกอบด้วย อุบลราชธานี สุรินทร์ ศรีสะเกษ นครนายก ปราจีนบุรี จันทบุรี และสุพรรณบุรี โดยยังไม่มีสถานประกอบการรายใดยื่นขอใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าว อาจเป็นเพราะยังไม่ทราบข้อมูลที่ชัดเจน ดังนั้น ผมจึงสั่งการให้อุตสาหกรรมจังหวัดทุกจังหวัด ไปประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการเพื่อให้รับทราบหลักเกณฑ์ดังกล่าวอย่างทั่วถึง

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2556

“ประเสริฐ”ชูยุทธศาสตร์ ดันอุตฯไทยสู่ระดับโลก

กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดเป้าหมายยุทธศาสตร์พัฒนาภาคอุตสาหกรรม 20 ปี ดันไทยสู่ระดับโลก ระบุยันนักลงทุนไม่หวั่นน้ำท่วม มั่นใจ ไม่ซ้ำรอยปี 2554 ขณะที่ทำยุทธศาสตร์พัฒนาอุตสาหกรรมไทย มุ่งเน้นเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสู่ความยั่งยืน

นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังปาฐกถาพิเศษ เรื่อง ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยสู่อนาคต ว่า อุตสาหกรรมไทยนับว่ามีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยดูได้จากสัดส่วนมูลค่าผลผลิตอุตสาหกรรมต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ (จีดีพี) อยู่ที่ประมาณ 40% หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 3.86 ล้านล้านบาท ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาอุตสาหกรรม ระยะ 20 ปี โดยการกำหนดทิศทางเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 สร้างความพร้อมให้กับประเทศในการก้าวสู่เป็นผู้ผลิต โดยการปรับแก้ไขกฎระเบียบ เพื่ออำนวยความสะดวกและลดอุปสรรค

ระยะที่ 2 การต่อยอดจากการพัฒนาความรู้ สู่การพัฒนาภาคการผลิตและสินค้า เน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม และระยะที่ 3 การพัฒนาให้เป็นที่ยอมรับระดับโลก เน้นส่งเสริมการสร้างแบรนด์สินค้า การสร้างนิคมอุตสาหกรรมใหม่ๆ เพื่อดึงดูดการลงทุนและเพื่อสร้างการเชื่อมโยงกับประเทศอื่น

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่ากรอบนโยบายและยุทธศาสตร์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนนั้น ทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้กำหนดทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยในอนาคตให้อยู่ภายใต้แนวความคิดของอุตสาหกรรมสีเขียว เพื่อสร้างจิตสำนึกให้กับผู้ประกอบการในการดำเนินธุรกิจที่ใส่ใจชุมชนและสิ่งแวดล้อม เพราะเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการช่วยส่งเสริมภาคธุรกิจ อุตสาหกรรมทั้งระบบ ให้เกิดความยั่งยืน โดยจะต้องคำนึงถึงการผลิตที่เกิดความสมดุลใน 3 ด้าน คือ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อเติบโตและพัฒนาไปพร้อมๆ กัน ซึ่งสิ่งนี้เปรียบเสมือนแกนหลักสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียวและการพัฒนาอย่างยั่งยืน

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ม็อบอ้อยเลื่อนปิดโรงเกลือ หลังกอน.ลั่นผุดเพิ่มโรงน้ำตาล

เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 3 ตุลาคม ที่ห้องประชุมบูรพา ศาลากลางจังหวัดสระแก้ว มีตัวแทนจากชาวไร่อ้อยจากทุกอำเภอจำนวน กว่า 200 คน เข้าร่วมรับฟังการชี้แจงจากนายสมศักดิ์ สุวัฒิกะ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) และนายภัครธรณ์ เทียนไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว กรณีเรียกร้องให้กระทรวงอุตสาหกรรมอนุมัติให้มีการเปิดโรงงานน้ำตาลเพิ่มอีก 1 แห่ง เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อน ที่ผลผลิตอ้อยล้นตลาดและถูกกดราคา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสมศักดิ์ เลขาธิการ กอน. กล่าวรับปากและให้ความมั่นใจกับชาวไร่อ้อยว่า จะผลักดันให้มีการอนุญาตเปิดโรงงานน้ำตาลทรายเพิ่มอี 1 แห่ง ในพื้นที่อย่างแน่นอนภายในเดือนตุลาคมนี้ ด้วยการผลักดันให้กระทรวงอุตสาหกรรมขออนุมัติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ยกเลิกเงื่อนไขที่กำหนดให้โรงงานน้ำตาล 2 แห่งต้องห่างกันเป็นระยะทาง 80 กิโลเมตร ซึ่งหลังการอนุมัติแล้วโรงงานแห่งใหม่นี้จะใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 1 ปี ดังนั้นภายในเดือนตุลาคม 2557 จะมีโรงงานน้ำตาลเพิ่มอีก1 โรง และต้องเป็นโรงงานสีเขียวที่ปลอดมลพิษ ตามข้อเรียกร้องของชาวไร่ หลังการชี้แจงสร้างความพอใจให้กับชาวไร่และสลายตัวในเวลาต่อมา

จากนั้นกลุ่มชาวไร่อ้อยได้ออกแถลงการณ์ขอเลื่อนการปิดตลาดโรงเกลือ ในวันที่ 5 ตุลาคมนี้ออกไปก่อน เพื่อให้โอกาสกระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการตามขั้นตอนการอนุมัติให้เปิดโรงงาน แต่หากไม่ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคนี้ กลุ่มชาวไร่อ้อยจะนัดชุมนุมและปิดตลาดโรงเกลือทันที

ด้านนายสมิธ เย็นสบาย ประธานเครือข่ายศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค จ.สระแก้ว เผยว่า ทางศูนย์กำลังศึกษาและหาช่องทางในการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย จากโรงงานน้ำตาลแห่งหนึ่งที่โฆษณาชวนเชื่อว่าสามารถรับซื้ออ้อยจากชาวไร่จำนวนมากถึง 4 ล้านตัน ในฤดูเปิดหีบที่กำลังจะมาถึงนี้ ทำให้ชาวไร่ขยายพื้นที่เพาะปลูกมากขึ้น แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ ทำให้ชาวไร่อ้อยได้รับความเสียหายจากปริมาณการผลิตที่มากขึ้น

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2556

นำร่องทดลองเติมน้ำสู่ชั้นใต้ดิน แก้ปัญหาแล้งภาคเหนือตอนล่าง

นายสุพจน์ เจิมสวัสดิพงษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เปิดเผยว่า กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้จัดทำโครงการทดลองเติมน้ำลงสู่ชั้นน้ำใต้ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำภาคเหนือตอนล่าง จ.พิจิตร พิษณุโลก และสุโขทัย เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร และปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี เนื่องจากไม่มีพื้นที่กักเก็บน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่ลุ่มน้ำยม

โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้ทำการศึกษาทดลองการเติมน้ำลงสู่ชั้นน้ำใต้ดินผ่านระบบสระน้ำ โดยคัดเลือกพื้นที่บ้านหนองนา จ.หนองกุลา อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก เป็นพื้นที่นำร่อง เนื่องจากมีความเหมาะสมทางด้านอุทกธรณีวิทยา และอยู่ใกล้คลองส่งน้ำ ซึ่งการก่อสร้างระบบเติมน้ำลงสู่ชั้นน้ำบาดาลนำร่อง ในพื้นที่ประมาณ 8 ไร่ ประกอบด้วย ระบบผันน้ำ ระบบบึงประดิษฐ์ และระบบเติมน้ำขนาด 1 ไร่ (1,600 ตารางเมตร) พร้อมมีระบบติดตามตรวจสอบปริมาณและคุณภาพน้ำบาดาล พบว่า สามารถเติมน้ำลงสู่ชั้นน้ำบาดาลในช่วงฤดูฝนได้ 26,000 ลูกบาศก์เมตร และนำน้ำที่เก็บไว้มาใช้ในการปลูกข้าวได้ 16 ไร่ โดยไม่พบการเปลี่ยนแปลงทางเคมีของน้ำบาดาล สำหรับผลการวิเคราะห์ความเหมาะสมทางเศรษฐศาสตร์ พบว่า ระบบเติมน้ำควรมีพื้นที่ตั้งแต่ 5 ไร่ขึ้นไป จะคุ้มทุนภายในระยะเวลา 4 ปี และระบบเติมน้ำที่มีขนาดมากกว่า 10 ไร่ จะมีความคุ้มทุนภายในระยะเวลา 3 ปี

การศึกษาครั้งนี้พบว่า มีพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการก่อสร้างระบบเติมน้ำรวมทั้งสิ้น 65 ตำบล แบ่งออกเป็นจังหวัดพิษณุโลก 28 ตำบล จังหวัดพิจิตร 25 ตำบล และจังหวัดสุโขทัย 12 ตำบล สามารถเติมน้ำลงสู่ชั้นน้ำบาดาลระดับตื้นได้ไม่น้อยกว่า 935 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ซึ่งมีปริมาณใกล้เคียงกับปริมาณกักเก็บของเขื่อน ป่าสักชลสิทธิ์ คือ ประมาณ 960 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยมีพื้นที่ได้รับผลประโยชน์จำนวนทั้งสิ้น 146,700 ไร่

สำหรับการป้องกันไม่ให้บ่อน้ำบาดาลเสียหายจากเหตุอุทกภัยนั้น กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้จัดทำโครงการป้องกันน้ำท่วมบ่อน้ำบาดาลโดยวิธีปิดปากบ่อน้ำบาดาลแบบถาวร จำนวน 12,000 บ่อทั่วประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำและสารปนเปื้อนจากการเกิดอุทกภัยรั่วซึมเข้าไปในบ่อน้ำบาดาลได้อย่างถาวร

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2556

คลังเล็งรื้อภาษี รับมือเปิดเออีซี

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า เชื่อว่ารัฐสภาสหรัฐจะสามารถผ่านงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้แน่ แต่ที่เป็นห่วงคือหากการขยายเพดานหนี้ไม่ทันภายในวันที่ 17 ต.ค.นี้ จะทำให้ตลาดการเงินผันผวน โดยจะมีเงินทุนไหลเข้ามาในตลาดต่างๆ มากขึ้น ทั้งเอเชีย และตลาดเกิดใหม่

ส่วนนายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบาย เศรษฐกิจการเงิน ธปท. กล่าวว่า ธปท.อยู่ระหว่างติดตามผลกระทบจากปัญหาการพิจารณางบประมาณสหรัฐ ที่มีต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายของไทย ซึ่งเบื้องต้นพบว่าการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทยังคงทรงตัว

นางลัษมณ อรรถาพิช เศรษฐกรอาวุโส ประจำประเทศ ไทย ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) กล่าวว่า กรณี ของสหรัฐไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย เพราะประเมินการหยุดงานของลูกจ้างรัฐบาลสหรัฐ จะเกิดขึ้นเพียง ระยะสั้นเท่านั้น ทั้งนี้ เอดีบีได้ปรับลดการขยายตัวของ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของไทยปีนี้ลงเหลือ 3.8% จากเดิมคาดไว้ที่ 4.9% และคาดการส่งออกโตได้เพียง 2% ลดลงจากเดิมคาดไว้ที่ 7% ส่วนปี 2557 คาดว่าจีดีพี จะโต 4.9% ลดลงจากเดิมคาดไว้ที่ 5% การส่งออกโต 7-8%

จาก http://www.khaosod.co.th  วันที่ 3 ตุลาคม 2556

พัฒนาเกษตรกรสู่ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน - เกษตรทั่วไทย

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เป็นประเด็นที่ทุกภาคส่วนกำลังตื่นตัวและเตรียมการรับมือ ด้วยการพัฒนาศักยภาพให้เหนือคู่แข่ง เพราะเป็นเขตการค้าเสรี ที่มีภาษีเป็นศูนย์ สำหรับเกษตรกรไทยนับจากนี้ก็จะมีเวลาเพียงไม่ถึง 2 ปี ในการเตรียมความพร้อมเพื่อการนี้

ล่าสุดทาง สภาเกษตรกรแห่งชาติ (สกช.) ที่ถือเป็นองค์กรของภาคการเกษตร ด้วยมีผู้แทนเกษตรกรเข้ามาเป็นสมาชิก และเป็นกระบอกเสียง เพื่อวิเคราะห์หาแนวทางพร้อมสรุปเป็นข้อเสนอต่อการแก้ไขปัญหาต่างๆของเกษตรกรเพื่อส่งต่อไปยังรัฐบาล ได้ใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดนโยบายแก้ไขความเดือดร้อนในการทำมาหากินของพี่น้องเกษตรกร และพัฒนาภาคการเกษตรไทยสู่ความยั่งยืน โดยร่วมมือกับกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จัดอบรมให้ความรู้แก่ผู้นำเกษตรกร และสมาชิกสภาจังหวัดทั้ง 4 ภูมิภาค เพื่อพร้อมรับมือการเข้าสู่ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งจะมีการวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็ง รู้เขารู้เราให้กับเกษตรกรได้รับรู้ ตลอดถึงการลดต้นทุนด้านการผลิตอันเป็นจุดแข็งสำคัญที่จะต้องเกิดขึ้นกับขบวนการผลิตของเกษตรกรไทย

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า บทบาทของสภาเกษตรกรฯ สำหรับการส่งเสริมเกษตรกรในการพัฒนาเพื่อรองรับการเปิดการค้าเสรีนั้น สิ่งแรกที่ต้องดำเนินการคือ การวิเคราะห์เพื่อแยกระหว่างสินค้าที่เป็นคู่แข่งและคู่ค้าของประเทศในกลุ่มอาเซียน เพราะเกษตรกรเกือบ 100 % ไม่มีความรู้ว่าอาเซียนคืออะไร หากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีการพัฒนา และตื่นตัวตลอดเวลา ซึ่งประเทศไทย ยังขาดการวางรากฐานที่เป็นระบบอย่างชัดเจน หากมีการเปิดอาเซียนไทยจะเสียเปรียบประเทศอื่น ซึ่งที่ผ่านมาไทย จะมองเฉพาะสินค้าที่ไทยได้เปรียบ แต่ไม่เคยพูดถึงเรื่องที่เสียเปรียบ เช่น การนำเข้ากระเทียมจากจีน ซึ่งทำให้ผู้ปลูกกระเทียมของไทยได้รับผลกระทบ ราคาตกต่ำ จนต้องรวมตัวประท้วงเพื่อหาทางออก แต่สภาเกษตรกรฯ ได้เข้าไปประสานเพื่อช่วยเหลือโดยการเจรจากลุ่มผู้ค้าจนสามารถหาข้อยุติได้ในที่สุด

ทั้งนี้ เกษตรกร ต้องมีการพัฒนาหรือปรับตัวอยู่ตลอดเวลา เรียนรู้สิ่งใหม่ ไม่ประมาท อาทิ การผลิตข้าว ปัจจุบันข้าวจากประเทศเวียดนาม และพม่า นับวันมีการผลิตที่สูงขึ้น และมีการพัฒนาคุณภาพ ฉะนั้น เกษตรกรไทย ต้องมีการกระตุ้นเพื่อพัฒนากระบวนการผลิตข้าวให้ได้มาตรฐาน เพื่อหนีคู่แข่งให้ไกล โดยการหาเมล็ดพันธุ์ใหม่ๆ ให้กับเกษตรกรทดลองปลูก หรือมีการขยายพันธุ์ใหม่ๆ เพื่อให้ตรงกับความต้องการของตลาดผู้ส่งออก โดยเฉพาะนโยบายโซนนิ่งภาคเกษตร ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถือเป็นจุดแข็งในการที่จะพัฒนาการทำเกษตรกรรม ทั้งพืช สัตว์ ประมง โดยการวิเคราะห์พื้นที่เหมาะสมในการทำการเกษตร เช่น พื้นที่นา ถ้าทำการปลูกข้าวไม่ได้คุณภาพ ควรจะเปลี่ยนแนวคิดโดยการหันปลูกพืชชนิดอื่นๆ หรือการเลี้ยงสัตว์ทดแทน แต่ต้องมีการศึกษาข้อมูล และวางแผนการผลิต เชื่อว่าสามารถสู้กับประเทศเพื่อนบ้านได้

“การปรับตัวเพื่อเข้าสู่การค้าเสรี เกษตรกรต้องไม่หยุดนิ่ง หาข้อมูลแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันในเครือข่ายเกษตรกร หากเกษตรกรคนใดไม่มีข้อมูลสามารถติดต่อสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดทุกจังหวัดเพื่อศึกษาข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการทำการเกษตรที่ถูกต้องและถูกวิธี ซึ่งสภาเกษตรกรแห่งชาติ พร้อมเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงองค์ความรู้เหล่านี้ ” นายประพัฒน์ กล่าว

สำหรับแผนการดำเนินงานของสภาเกษตรกรแห่งชาติในปี 2557 ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า จะเร่งดำเนินการจัดทำแผนแม่บท เพื่อพัฒนาเกษตรกรรม โดยเริ่มตั้งแต่ระดับล่าง คือ หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัด เพื่อกระตุ้นให้เกิดองค์ความรู้ จากนั้นก็บูรณาการเป็นแผนแม่บทของชาติ พร้อมผลักดันสร้างหลักประกันแก่อาชีพเกษตรกรให้เป็นอาชีพที่มีความมั่นคง ซึ่งเป็นหัวใจหลักที่จะต้องดำเนินการพัฒนา ภายใต้แนวทางเกษตรกรต้องมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี เท่าเทียมกับอาชีพอื่นๆ ในสังคม และสามารถต่อสู้บนถนนตลาดอาเซียนในอนาคตได้ ทั้งหมดนี้คือยุทธศาสตร์ที่จะเร่งขับเคลื่อนเพื่อเสริมเขี้ยวเล็บเกษตรกรไทยเตรียมพร้อมเข้าสู่ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในอีก2ปีข้างหน้านี้

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 3 ตุลาคม 2556

ไทย-มาเลย์ร่วมมือตั้งเมืองยาง "พาณิชย์"จีบซื้อข้าว-น้ำตาลเพิ่ม

มาเลเซียจีบไทยตั้งรับเบอร์ ซิตี้ พัฒนาอุตสาหกรรมยางของทั้งสองประเทศ “นิวัฒน์ธำรง”หนุนสุดตัว เหตุช่วยยกระดับราคายางของไทย พร้อมจี้แก้ปัญหาขนสินค้าเน่าเสียง่ายผ่านแดน ดันซื้อข้าวและน้ำตาลทรายจากไทยเพิ่ม เล็งตามผลในการประชุม JTC อีกครั้งปลายปีนี้

นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้หารือกับดาโต๊ะ มุสตาฟา โมฮัมเม็ด รัฐมนตรีกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมมาเลเซีย ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้เห็นตรงกันที่จะให้การส่งเสริมความร่วมมือทางด้านการค้าและการลงทุน โดยจะเน้นการส่งเสริมในสาขาที่ทั้งสองมีศักยภาพ เช่น ฮาลาลและยางพารา โดยเฉพาะยางพารา มาเลเซียได้เสนอให้มีการจัดตั้งเมืองยาง (รับเบอร์ ซิตี้) บริเวณชายแดน ซึ่งไทยเห็นด้วย เพราะปัจจุบันไทยเป็นแหล่งวัตถุดิบยางพาราของมาเลเซีย มีการนำเข้าจำนวนมาก อีกทั้งปัจจุบันมาเลเซียไม่สามารถเพิ่มพื้นที่สำหรับการปลูกยางพาราได้ ในขณะที่ไทยต้องการเทคโนโลยีการผลิตจากมาเลเซีย

ทั้งนี้ ล่าสุดได้มีการสำรวจพื้นที่ๆ เหมาะสมในการจัดตั้งแล้ว หากไทยกับมาเลเซียร่วมมือกันสำเร็จ จะทำให้อุตสาหกรรมยางของทั้งสองประเทศมีความเข้มแข็ง และช่วยยกระดับราคายางของทั้งสองประเทศด้วย

นอกจากนี้ ไทยได้ขอให้มาเลเซียพิจารณาแก้ไขปัญหาเรื่องการขนส่งสินค้าไทยผ่านแดนมาเลเซียไปยังสิงคโปร์ ซึ่งมีข้อจำกัดให้การขนส่งสินค้าเน่าเสียง่ายผ่านแดนมาเลเซียไปยังสิงคโปร์ได้เพียงปีละ 30,000 ตัน ซึ่งเรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยได้ยกขึ้นหารือกับมาเลเซียมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข จึงต้องการเห็นการแก้ไขปัญหานี้ให้เกิดผลโดยเร็ว โดยมาเลเซียรับที่จะนำเรื่องนี้ไปเสนอให้นายกรัฐมนตรีมาเลเซียพิจารณาต่อไป

สำหรับการก่อสร้างสะพานสุไหงโกลก-รันเตาปันจัง แห่งที่ 2 ทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกันว่า จะเป็นผลดีต่อการค้าและการท่องเที่ยวของทั้งสองฝ่าย และเห็นควรที่จะเพิ่มความร่วมมือและสนับสนุนให้มีการพบปะระหว่างนักธุรกิจไทย-มาเลเซียให้มากขึ้น รวมทั้งยังได้ขอให้มาเลเซียเพิ่มการนำเข้าข้าวและน้ำตาลทรายจากไทยเพิ่มขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์จะนำเรื่องต่างๆ ที่ได้มีการหารือกันในครั้งนี้ นำไปเป็นประเด็นในการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (JTC) ครั้งที่ 2 ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพ โดยจะจัดขึ้น ณ จังหวัดเชียงใหม่ ในช่วงปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้า เพื่อหารือในรายละเอียดและติดตามความคืบหน้าต่อไป

โครงการรับเบอร์ซิตี้ เป็นโครงการที่ไทยและมาเลเซียจะร่วมมือกันพัฒนาอุตสาหกรรมยางของทั้งสองประเทศ โดยมาเลเซียจะตั้งรับเบอร์ ซิตี้ ที่เมืองโกตาปูตรา รัฐเคดาร์ ซึ่งได้เริ่มมีการลงทุนพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานไปแล้ว ขณะที่ไทยจะตั้งในพื้นที่บริเวณด่านบ้านประกอบ อ.นาทวี จ.สงขลา ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับโครงการของมาเลเซีย โดยมาเลเซียต้องการให้ไทยป้อนวัตถุดิบให้ ซึ่งขณะนี้มาเลเซียเป็นผู้ผลิตถุงมือยางอันดับ 1 ของโลก มีแผนที่จะผลิตยางรถยนต์ และอุตสาหกรรมปลายน้ำจากยางอื่น

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 2 ตุลาคม 2556

เงินบาทอ่อนค่าตามภูมิภาค

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของค่าเงินประจำวันพุธที่ 2 ตุลาคม 2556 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ที่ระดับ 31.22/31.24 บาท/ดอลลาร์ ปรับตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดวันอังคาร (1/10) ที่ระดับ 31.13/15 บาท/ดอลลาร์

โดยในวันนี้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงตามสกุลเงินในภูมิภาค เนื่องจากนักลงทุนยังไม่ต้องการเน้นสถานะซื้อหรือขายดอลลาร์/บาท มากเกินไป เพราะยังคงรอความคืบหน้าในการแก้ปัญหางบประมาณของสหรัฐ และอาจส่งผลกระทบต่อเพดานหนี้ของรัฐบาลสหรัฐฯ ในช่วงกลางเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งถ้าทางสภาคองเกรซไม่สามารถตกลงเรื่องงบประมารและปรับเพิ่มระดับเพดานหนี้รัฐบาลของสหรัฐฯได้ อาจจะส่งผลให้ทางการสหรัฐฯไม่สามารถจ่ายคืนหนี้รัฐบาลและจะส่งผลต่อตลาดเงินทั่วโลก อย่างไรก็ตาม นักลงทุนในตลาดทุนและตลาดเงินได้ปรับตัวรับเหตุการณ์นี้ โดยไม่ได้แสดงความกังวลมากนัก เนื่องจากเชื่อมั่นว่าจะมีการบรรลุข้อตกลงภายในเวลาอันรวดเร็วและไม่ได้เป็นปัจจัยให้มีการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐทั้งนี้ บริษัทโกลด์แมน แซคส์ ได้ออกมาให้ความเห็นว่า การปิดหน่วยงานรัฐบาลเป็นเวลา 1 สัปดาห์ อาจจะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐชะลอการเติบโตลงราว 0.3% โดยตลอดทั้งวันค่าเงินบาทมีกรอบการเคลื่อนไหวอยู่ที่ 31.22-31.35 บาท/ดอลลาร์ ก่อนจะปิดตลาดที่ระดับ 31.30/31.32 บาท/ดอลลาร์

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้เปิดตลาดที่ระดับ 1.3508/12 ดอลลาร์/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคารที่ 1.3492/95 ดอลลาร์/ยูโร อย่างไรก็ตาม ค่าเงินยูโรได้ปรับตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ จากระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือน ในการซื้อขายช่วงเช้านี้ที่ตลาดเอเชีย หลังจากร่วงลงจากระดับ สูงสุดในรอบ 8 เดือน ซึ่งช่วยหนุนดัชนีดอลลาร์ให้ปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่นักลงทุนทั่วโลกยังคงใช้ความระมัดระวังในสกุลเงินยูโรเนื่องจากปัญหาการเมืองภายในของประเทศอิตาลี ประกอบกับการปิดทำการของหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐ เป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 2 ทศวรรษ ยังคงเป็นปัจจัยกดดันตลาด อย่างไรก็ดี นักลงทุนยังคงรอผลการประชุมธนาคารยุโรป (ECB) ในคืนวันพุธนี้ (2/10) ว่า ECB จะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0.5% ต่อไป โดยตลอดทั้งวันค่าเงินยูโรมีกรอบการเคลื่อนไหวที่ 1.3508-1.3539 ดอลลาร์/ยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.3532/11.3535 ดอลลาร์/ยูโร

สำหรับค่าเงินเยนวันนี้เปิดตลาดที่ระดับ 98.04/06 เยน/ดอลลาร์ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดวันอังคาร (1/10) ที่ระดับ 97.82/83 เยน/ดอลลาร์ โดยค่าเงินเยนนั้นปรับตัวแข็งค่าขึ้นทันทีหลังจากที่สภาคองเกรซไม่สามารถหาข้อสรุปเรื่องงบประมาณ ประกอบกับนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ประกาศเมื่อวานนี้ (1/10) ว่าทางรัฐบาลตัดสินใจจะขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จาก 5% ในขณะนี้เป็น 8% และเริ่มมีผลในเดือนเมษายนปีหน้า ซึ่งการตัดสินใจเพิ่ม VAT ของรัฐบาลในครั้งนี้ ได้ออกมาพร้อมกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 5 ล้านล้านเยน (5.096 หมื่นล้านดอลลาร์) หรือมากกว่านั้น เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ทั่วประเทศ การดำเนินการดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อหนุนเศรษฐกิจในระยะสั้นและควบคุมหนี้สาธารณะจำนวนมหาศาลของญี่ปุ่นในระยะยาวโดยตลอดทั้งวันค่าเงินเยนมีกรอบการเคลื่อนไหวอยู่ที่ 97.27-98.08 เยน/ดอลลาร์ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 97.50/97.52 เยน/ดอลลาร์

อนึ่ง ข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจในสัปดาห์นี้คือ ผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB), ตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนของสหรัฐฯ โดยสถาบัน ADP (2/10), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของฝรั่งเศส, เยอรมนี, ยูโรโซน, ยอคค้าปลีกของยูโร, ตัวเลขผู้ขอสวัสดิการผู้ว่างงานประจำสัปดาห์ของสหรัฐฯ (3/10), ดัชนีราคาผู้ผลิตของเยอรมนี, ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรและอัตราการว่างงานของสหรัฐฯ (4/10)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +5.9/6.0 สตางค์/ดอลลาร์ และอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +3.5/7.5 สตางค์/ดอลลาร์

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 2 ตุลาคม 2556

"สุรินทร์"ย้ำศก.ไทยโอกาสดีสุดในเออีซี/เน้นธุรกิจโตยั่งยืน

"สุรินทร์ พิศสุวรรณ" อดีตเลขาธิการอาเซียน ย้ำเศรษฐกิจไทยหลากหลาย ศักยภาพและโอกาสดีสุดในกลุ่มประเทศอาเซียน ต้องเร่งเน้นความโปร่งใส พัฒนาระบบการทำงาน และ R&D ควบคู่ไปกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตอบโจทย์หวังผลเศรษฐกิจระยะยาวในเวทีเออีซี

นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ กล่าวว่า ระบบเศรษฐกิจไทยใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากประเทศอินโดนีเซีย โดยไทยมีจีดีพีอยู่ที่ 4 แสนล้านดอลลาร์ ส่วนอินโดนีเซียมีจีดีพีอยู่ที่ 8.5 แสนล้านดอลลาร์ แต่ไทยมีศักยภาพและโอกาสสูงกว่า เนื่องจากไทยมีกิจกรรมเศรษฐกิจหลากหลายกว่าอินโดนีเซีย เห็นได้จากภาคอุตสาหกรรมที่มีทั้งการผลิต การบริการ ส่วนเกษตรกรรมก็มีการแปรรูปอาหารควบคู่ ด้านอินโดนีเซียมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ แต่มุ่งส่งออกวัตถุดิบ ทรัพยากรธรรมชาติ น้ำมัน และแร่ธาตุต่าง ๆ ซึ่งยังไม่มีภาคอุตสาหกรรมที่พัฒนาให้เกิดความหลากหลาย

"จีดีพีขนาด 4 แสนล้านดอลลาร์ และมีความหลากหลายทางเศรษฐกิจ จะเป็นจุดแข็งทำให้ไทยสามารถอยู่ในตำแหน่งที่ดีที่สุดในการพัฒนาทางเศรษฐกิจเมื่อเทียบกับชาติอื่น ๆ ในอาเซียน" นายสุรินทร์กล่าว

นายสุรินทร์กล่าวว่า ปัจจุบันจีดีพีรวมอาเซียนอยู่ที่ 2.5 ล้านล้านดอลลาร์ และมีเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเข้ามามาก แต่ไทยยังสามารถดึงดูดเงินจำนวนนี้เข้าประเทศได้ในจำนวนจำกัด เนื่องจากข้อจำกัดไทย คือ ความไม่โปร่งใสในขั้นตอนการทำธุรกิจ ซึ่งเมื่อคิดเป็นต้นทุนแล้วการเข้ามาลงทุนในไทยเริ่มต้นด้วยการติดลบ 30% เพราะต้องเผื่อไว้ให้การคอร์รัปชั่น

"เป็นที่รู้กันในบรรดาภาครัฐและเอกชนของสมาชิกชาติอาเซียนว่า ไทยมีต้นทุนในการทำธุรกิจใต้โต๊ะตั้งต้นที่ติดลบ 30% เพราะความไม่โปร่งใส ในอนาคตต้นทุนการผลิตจะวัดกันที่จุดทศนิยมว่า ความคุ้มค่าจากการลงทุนจะเกิดจากการเข้าไปลงทุนที่ไหน ใช้ต้นทุนการผลิตมากหรือไม่ จำนวนการผลิตเป็นยูนิตต่อวันเท่าไร ได้กำไรเท่าไร หรือเอาความรู้การผลิตเข้าที่ไหน สิ่งเหล่านี้เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ การทำให้โปร่งใสจะทำให้เราได้เปรียบ"

สุรินทร์ยังเพิ่มเติมว่า อีกประเด็นสำคัญที่ไทยต้องพัฒนาคือ การสนับสนุนการพัฒนาระบบเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และความรู้ด้านการพัฒนาและวิจัย หรือ R&D รวมถึงนวัตกรรมต่าง ๆ ควบคู่กันไป

การสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนาของไทยยังต่ำมาก หากเทียบกับประเทศที่ไต่อันดับทางเศรษฐกิจระดับโลกอย่างเกาหลีใต้ซึ่งมุ่งพัฒนาด้านนี้ โดยเกาหลีใต้ลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาคิดเป็น 4% ของรายได้ประชาชาติ ส่วนไทยลงทุนเพียง 18-20% ของรายได้ประชาชาติ ทั้งยังขาดการนำความรู้ที่ได้มาบูรณาการกับระบบการผลิตในประเทศ หากภาครัฐและเอกชนจับมือกับแหล่งความรู้ มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ก็จะสามารถช่วยพัฒนาความรู้ในประเทศได้ยิ่งขึ้น

สุรินทร์เห็นว่า การพัฒนาอย่างยั่งยืนยังเป็นอีกทางหนึ่งที่ภาคธุรกิจให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะโลกาภิวัตน์ได้ปลูกฝังแนวความคิดว่าทั้งโลกมีทรัพยากรร่วมกัน การให้ความสนใจกับสิ่งแวดล้อมเพื่อพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนจึงเป็นเรื่องที่ไทยต้องให้ความสำคัญ เพื่อลดความสิ้นเปลือง เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และทำให้เกิดความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ

ในบรรดาประเทศอาเซียน สิงคโปร์เป็นประเทศแม่แบบในด้านเศรษฐกิจยั่งยืน เนื่องจากมีทรัพยากรจำกัดมาก จึงมีระบบการควบคุม ดูแล จัดการสิ่งแวดล้อมที่ต้องนำมาใช้อย่างเป็นระบบ รองลงมาคือ บรูไน และมาเลเซีย นอกจากนี้ สปป.ลาวก็มีการวางแผนประเทศในเชิงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสูง โดยอาเซียนและไจก้าก็มีส่วนเข้าไปผลักดันแผนพัฒนาของลาวเป็นอย่างมาก

ขณะเดียวกัน โคซ์ ราวนด์ เทเบิล (Caux Round Table) เครือข่ายด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนระดับโลก ได้ร่วมมือกับหอการค้าไทย และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) จัดการประชุมระดับโลกด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนครั้งแรกในภูมิภาคอาเซียน ชื่องาน "The 2013 Bangkok Conference : Global Dialogue on Sustainable Development" ในวันที่ 10 ตุลาคมนี้ เพื่อขยายความคิดและประสบการณ์ซีอีโอ

ในภาคธุรกิจไทยและนานาชาติ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญและภาคประชาสังคม โดยจะมีนักคิดนักเขียนชื่อดังระดับโลก อาทิ นายเกลย์ ซี. เอเวอร์รี ศาสตราจารย์สถาบันผู้นำเพื่อความยั่งยืนจากออสเตรเลีย, นายไมเคิล เจ. แซนเดิล อาจารย์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน และนางดีปา นารายัน ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาความยากจนและเพศให้แก่องค์กรระดับนานาชาติ เช่น ธนาคารโลก เป็นต้น

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 2 ตุลาคม 2556

กฟผ.เดินหน้าโรงไฟฟ้าถ่านหิน เตือนไทยเสี่ยงใช้ก๊าซธรรมชาติสูง

กฟผ.ลุย.สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ 4 แห่ง ลงทุนกว่า 3 หมื่นล้าน อ้างสร้างความมั่นคงทางพลังงาน ด้านไออีเอเตือนไทยอีก 22 ปี ประเทศเสี่ยงความมั่นคงพลังงานสูงสุดในอาเซียน ต้นเหตุจากการใช้ก๊าซมาก ชี้ทางรอดต้องพึ่งพลังงานทดแทนอย่างจริงจัง

นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ.จะเดินหน้าก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ทดแทนโรงไฟฟ้าเก่าที่อำเภอแม่เมาะ 4 โรง คือ โรงที่ 4-7 โรงละ 150 เมกะวัตต์ โดยทั้ง 4 โรงรวมกำลังผลิต 600 เมกะวัตต์ ซึ่งใช้เทคโนโลยีถ่านหินสะอาดด้วยเงินลงทุนกว่า 30,000 ล้านบาท จะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบปี 2561 ทั้งนี้เนื่องจากโรงไฟฟ้าเดิมหมดอายุการใช้งาน เพราะสร้างมาตั้งแต่ปี 2524 ซึ่งใช้งานมานานกว่า 30 ปีแล้ว

ส่วนภาคใต้ที่จังหวัดกระบี่อยู่ระหว่างทำความเข้าใจกับประชาชน ซึ่ง กฟผ.ต้องการให้ทยอยมีโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น มีสัดส่วนคิดเป็นประมาณ 30% ของภาพรวมการผลิตไฟฟ้า เพื่อช่วยเรื่องราคาไฟฟ้าและสร้างความมั่นคงทางพลังงานได้ดีขึ้น โดยตามแผนกำหนดให้ทุก ๆ 3 ปี จะมีโรงงานไฟฟ้าถ่านหินเข้ามาในระบบขนาดกำลังผลิตโรงละ 800 เมกะวัตต์ เริ่มตั้งแต่ปี 2562

“รัฐบาลต้องการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้าและมีแผนว่า หากเศรษฐกิจโตขึ้นจะต้องประหยัดการใช้ไฟฟ้าลงอีกประมาณ 25% ซึ่งตามแผนพัฒนาไฟฟ้าระยะยาว (พีดีพี) ใหม่ กำหนดให้ในอีก 20 ปีข้างหน้า จะมีการใช้พลังงานทดแทน 13,000 เมกะวัตต์ ซึ่งปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าของไทย 70% มาจากก๊าซธรรมชาติ ถือเป็นความเสี่ยง เพราะเราพึ่งก๊าซจากเมียนมาร์คิดเป็น 1 ใน 3 ของปริมาณที่ใช้" นายสุนชัยกล่าว

นายสุนชัยกล่าวว่า ในปี 2556 นี้ กฟผ.ได้เป็นเจ้าภาพจัดงาน POWER-GEN Asia and Renewable Energy World Asia 2013 ระหว่างวันที่ 2-4 ต.ค.2556 ซึ่งเป็นงานแสดงนิทรรศการและการจัดประชุมเชิงวิชาการชั้นนำด้านอุตสาหกรรมการผลิตพลังงานไฟฟ้าในทุกรูปแบบ และเป็นเวทีสำคัญที่หน่วยงานต่างๆ ในวงการอุตสาหกรรมไฟฟ้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ และเปลี่ยนแลกความรู้และประสบการณ์

นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า จากผลการศึกษาของสำนักงานพลังงานสากล (ไออีเอ) พบในอีก 22 ปี ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงด้านความมั่นคงพลังงานมากที่สุดในอาเซียน เนื่องจากมีการเติบโตในการใช้ก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้าสูงสุดในอาเซียน ขณะที่ในอนาคตแหล่งผลิตก๊าซเริ่มมีจำกัด ดังนั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องหันมาพึ่งพาพลังงานในประเทศ เพื่อทดแทนการนำเข้าเพียงอย่างเดียว

อย่างไรก็ตาม ไทยยังมีโอกาสลดความเสี่ยงได้ เนื่องจากไทยมีแผนอนุรักษ์พลังงานอย่างชัดเจน ซึ่งกำหนดลดใช้พลังงานให้ได้ 25% ในปี 2573 จากปัจจุบันลดได้ประมาณ 10% นอกจากนี้ไทยยังมีแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท โดยโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าจะช่วยประหยัดพลังงานลงได้อีก 10% และลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ลงได้ส่วนหนึ่ง จากปัจจุบันที่มีต้นทุนอยู่ที่ 18-20%

นอกจากนี้ยังพบว่าอาเซียนมีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงและประชากรจะเพิ่ม 25% ในอีก 22 ปี ทำให้การใช้พลังงานของอาเซียนเพิ่มขึ้นอีก 80% จากปัจจุบัน โดยจะเกิดการใช้น้ำมันเพิ่มเป็น 6.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปัจจุบันใช้อยู่ 4.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่วนการใช้ถ่านหินจะเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว และการใช้ก๊าซเพิ่มขึ้นอีก 80% ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้น 2 เท่าตัว ดังนั้น อาเซียนจะต้องเตรียมความพร้อมในการแก้ปัญหาดังกล่าว.

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 2 ตุลาคม 2556

ทส.ประสานสภาอุตสาหกรรม กำหนดปริมาณปล่อย "คาร์บอน"

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รับมือกีดกันทางการค้า ออกกฏหมายบังคับแสดงฉลากและกำหนดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในสินค้าและกิจกรรมต่างๆ วิเชษฐ์ เผย สั่งหน่วยงานเกี่ยวข้องศึกษาข้อมูล เตรียมปฏิบัติ

วันที่ 2 ตุลาคม นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อเร็วๆนี้ ได้ไปตรวจเยี่ยม และมอบนโยบายแก่ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก(องค์การมหาชน) หลังจากที่ได้ฟังผู้บริหารบรรยายสรุปแล้ว เข้าใจว่า เวลานี้การที่โลกเจริญก้าวหน้าด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำมากขึ้นแม้จะเป็นเรื่องที่ดีสามารถอำนวยความสะดวกในหลายๆด้าน แต่ผลเสียที่ตามมาติดๆคือเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ จากกิจกรรมต่างๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ล่าสุดปี 2553 ทั่วโลกปล่อยปริมาณก๊าซเรือนกระจกออกมารวม 354.4 ล้านตัน แม้ว่ากิจกรรมต่างๆที่คนไทยเราปล่อยปริมาณก๊าซเรือนกระจกออกมาสู่โลกจะอยู่ที่ 0.8-0.9 % ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งโลก แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ มีแนวโน้มว่า ปริมาณการปล่อยนั้นจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

"หลายๆประเทศเขาก็มีวิธีการต่างๆกันไปเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนี้ ในประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน ส่วนใหญ่เราจะเน้นเรื่องของการรณรงค์ ซึ่งเป็นภาคความสมัครใจ ผมจึงให้นโยบายไปว่า ให้ไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมโดยประสานกับทางสภาอุตสาหกรรมประเมินออกมาว่าธุรกิจอะไร ชนิดไหน ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาปริมาณเท่าไร จะลดได้จากการทำอย่างไรบ้าง เพราะเวลานี้ หลายประเทศโดยเฉพาะแถบยุโรป เริ่มแสดงออกมาแล้วว่า สินค้าที่นำเข้าประเทศเขาจะต้องติดฉลากให้ผู้บริโภครู้ว่าปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาเท่าใด เพื่อให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกซื้อ ซึ่งผู้บริโภคก็มักจะเลือกสินค้าชนิดที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยอยู่แล้ว เพื่อต้องการเป็นส่วนหนึ่งของผู้ที่ร่วมดูแลโลกด้วย"นายวิเชษฐ์ กล่าว

รัฐมนตรีทส.กล่าวว่า ตนมองว่า ในอนาคต ประเด็นเรื่องสินค้าดูแลโลก มีแนวโน้มว่าอาจจะเกิดการกีดกันทางการค้าได้ ประเทศไทยจะต้องเตรียมการรับมือกับเรื่องนี้ โดยการออกเป็นกฏหมาย หรือระเบียบ บังคับว่า เมื่อผลิตสินค้าแต่ละอย่างออกมาแล้ว สินค้าชนิดนั้นๆจะต้องปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ไม่เกินเท่าใด หรือการติดฉลากสินค้าว่าตั้งแต่ ต้นน้ำถึงปลายน้ำสินค้าชนิดนั้นปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เท่าไร โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกจะเป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบ และออกเป็นฉลากมาให้เรียกว่า คาร์บอนฟุตพริ้นมาให้ เพื่อเป็นทางเลือกของผู้บริโภค ซึ่งเวลานี้ก็มีสินค้าหลายชนิดได้รับฉลากดังกล่าวแล้ว
"ผมถ้าเราไม่เตรียมตัว หรือคิดที่จะเริ่มทำตอนนี้ก็ไม่รู้จะทำตอนไหน มั่นใจว่าในอนาคตจะต้องมีการกีดกันทางการค้า โดยเอาเรื่องนี้มาอ้างแน่นอน ดังนั้นเราจะต้องเตรียมการเรื่องนี้แต่เนิ่นๆ ผมสั่งการให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเร่งหาข้อมูลเพื่อเตรียมดำเนินการเรื่องนี้แล้ว"นายวิเชษฐ์ กล่าว

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 2 ตุลาคม 2556

รายงานพิเศษ กระทรวงอุตสาหกรรม ตั้งศูนย์ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมและช่วยเหลือผู้ประกอบการอุตสาหกรรม

กระทรวงอุตสาหกรรม ตั้งศูนย์ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมและช่วยเหลือผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่ประสบอุทกภัย ที่กระทรวงอุตสาหกรรม ตลอด 24 ชม.เพื่อประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สามารถเข้าไปให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที

จากเหตุการณ์มหาอุทกภัยในปี2554 สร้างความเสียหายหลายแสนล้านบาท โดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรม เขตอุตสาหกรรมได้รับความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง ซึ่งสร้างความกังวลแก่ภาคธุรกิจ นักลงทุน ทำให้ภาครัฐ เอกชนมีความตื่นตัวและหามาตรการบูรณาการร่วมกันในการป้องกันและรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วม เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย โดยผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ทุกพื้นที่ ที่เคยได้รับผลกระทบจากมหาอุทกภัยเมื่อปี 2554 เพื่อตรวจสอบแนวป้องกันน้ำท่วม ทั้ง6 นิคมอุตสกรรม ประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค (บ้านหว้า) นิคมอุตสาหกรรมนวนคร สวนอุตสาหกรรมบางกะดี และนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร และสวนอุตสาหกรรมเพื่อติดตามตรวจสอบความคืบหน้ามาตรการป้องกันและ ประเมินความเสียหายให้การช่วยเหลือ

ล่าสุดนายประเสริฐ บุญชัยสุข รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าว โดยจัดตั้งศูนย์ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมและช่วยเหลือผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่ประสบอุทกภัย(ศน.อก.) ที่กระทรวงอุตสาหกรรม ตลอด 24 ชม.เพื่อประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สามารถเข้าไปให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการได้รวดเร็ว

โดย ศน.อก. จะเป็นหน่วยรับข้อมูลจากหน่วยงานของกระทรวงฯ ที่รับผิดชอบเฝ้าติดตามในส่วนต่างๆ ได้แก่ (กนอ.) ดูแลโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) ดูแลโรงงานในสวน/เขตประกอบการอุตสาหกรรม และปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมโดยอุตสาหกรรมจังหวัดดูแลโรงงานในทุกจังหวัดที่อยู่นอกนิคมอุตสาหกรรม หรือนอกสวน/เขตประกอบการอุตสาหกรรม โดยทุกส่วนต้องรายงานข้อมูลล่าสุดเข้ามา ศูนย์ฯ ในเวลา 16.00 น. ทุกวัน

อย่างไรก็ดี สถานการณ์น้ำขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรมยังสามารถรับมือได้ แต่ก็ไม่ประมาท ยังคงต้องเฝ้าระวัง และเตรียมพร้อมป้องกันน้ำท่วมอย่างเต็มที่ เพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้ประกอบ ประชาชน และ สร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 2 ตุลาคม 2556

อ็อกแฟมพบน้ำตาลเป็นเหตุสิทธิชุมชนและที่ดินถูกละเมิดทั่วโลก

องค์การอ็อกแฟมตีพิมพ์รายงานฉบับล่าสุดเรื่องผลกระทบการกว้านซื้อที่ดินเพื่อตอบสนองความต้องการน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกต่อเกษตรกรรายย่อยพบว่า กลุ่มบริษัทผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มชั้นนำของโลกไม่มีมาตรการควบคุมที่เข้มงวดเพียงพอเรื่อง

แหล่งที่มาของน้ำตาลที่ซื้อ ทั้งๆ ที่บริษัทเหล่านี้สามารถช่วยหยุดยั้งการกว้านซื้อและยึดครองที่ดินอย่างไม่เป็นธรรมโดยกลุ่มผู้ป้อนวัตถุดิบการผลิตหลักอย่างน้ำตาล

โดยในรายงานที่ชื่อว่า “ไม่มีคำว่าหวานสำหรับเรื่องนี้: น้ำตาลทำให้เกิดการกว้านซื้อที่ดินได้อย่างไร” (‘Nothing sweet about it: How sugar fuels land grabs’) ได้ชึ้ให้เห็นถึงกรณีตัวอย่างในพื้นที่และชุมชนที่ได้รับผลการกระทบจากการกว้านซื้อที่ดิน รวมทั้งความขัดแย้งที่ตามมาระหว่างชุมชมกับบริษัทผู้ผลิตน้ำตาลส่งให้บริษัทโคคา-โคล่า บริษัทเป็ปซี่โค และบริษัทแอสโซซิเอ็ตเตท บริติช ฟู้ดส์ (Associated British Foods) ผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก

ปัจจุบันนี้ ธุรกิจการค้าน้ำตาลทั่วโลกมีมูลค่าที่ประมาณ 4.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ โดยปริมาณที่ผลิตได้ปีที่แล้วคือ 176 ล้านตัน ซึ่งกว่าครึ่งของปริมาณที่ได้ ถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมผลิตอาหารและเครื่องดื่ม มีการคาดการณ์ว่าการผลิตน้ำตาลจะเพิ่มขึ้นอีก 25 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2020 หรือ 7 ปีข้างหน้า

ในขณะที่วงการแพทย์กำลังเป็นกังวลอย่างมากกับโรคภัยต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นตามรสนิยมกินหวานของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นและพยายามรณรงค์ลดการกินหวานอย่างจริงจัง คนส่วนใหญ่กลับมองข้ามธุรกิจค้าน้ำตาล ซึ่งทำลายไปถึงวิถีชิวิตของชุมชนและเกษตรกรรายย่อยหลายล้านคนทั่วโลก ณ เวลานี้พื้นที่กว่า 310,000 ล้านตารางกิโลเมตร หรือขนาดเท่าประเทศอิตาลี ได้ถูกเปลี่ยนเป็นไร่อ้อยไปเรียบร้อยแล้ว โดยส่วนใหญ่ปลูกอยู่ในประเทศกำลังพัฒนาซึ่งการมีที่ดินทำกินเป็นสิ่งสำคัญมากต่อความมั่นคงทางอาหาร และความอยู่ดีกินดี

ด้วยเหตุนี้ การที่ที่ดินทำกินถูกยึดไปโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า ไม่มีการจ่ายค่าชดเชยที่พอเพียง หรือไม่มีการช่วยหาพื้นที่ทำกินใหม่ที่อุดมสมบูรณ์ จึงเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย ในรายงานนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญ “เบื้องหลังแบรนด์ดัง” (“Behind the Brands” Campaign) ของอ็อกแฟม พบว่าบริษัทผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่ม 10 อันดับต้นๆ ของโลกไม่มีนโยบายที่ชัดเจนและเข้มงวดพอที่จะหยุดยั้งการกว้านซื้อที่ดินของนายทุนผู้ปลูกอ้อยและแปรรูปเป็นน้ำตาลส่งขายให้ได้

วินนี่ บยันยีมา ผู้อำนวยบริหารอ็อกแฟมกล่าวว่า “น้ำตาลไม่เพียงจัดว่าเป็นตัวอันตรายต่อสุขภาพ แต่ยังเป็นหัวใจของปัญหาการกว้านซื้อที่ดินหลายแห่งทั่วโลก บริษัทยักษ์ใหญ่ทั้ง 3 (โคคา-โคล่า เป็ปซี่โค แอสโซซิเอ็ตเตท บริติช ฟู้ดส์) เป็นผู้ซื้อและผู้ผลิตน้ำตาลอันดับต้นๆ ของโลก แต่กลับแทบไม่ได้มีมาตรการอะไรที่ปัองกันการรับซื้อน้ำตาลจากแหล่งที่เป็นปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม

“ผู้บริโภคที่ชื่นชอบสินค้าของบริษัทเหล่านี้มีความคาดหวังสูงต่อสินค้าที่ตนเองซื้อ เราขอเรียกร้องให้ผู้บริโภคทุกคนช่วยกันแสดงเจตจำนงที่จะเห็น โคคา-โคล่า เป็ปซี่โค แอสโซซิเอ็ตเตท บริติช ฟู้ดส์ มีมาตรการที่จะช่วยแก้ปัญหานี้อีกทางหนึ่ง บริษัททั้ง 3 รายนี้มีอำนาจและอิทธิพลมากพอที่จะพลิกการทำงานของอุตสาหกรรมนี้ได้อย่างไม่ยาก” วินนี่กล่าว

ตัวอย่างต่อไปนี้คือหลักฐานของการเข้ายึดครองที่ดินหรือการกว้านซื้อที่ดินอย่างไม่เป็นธรรมในกัมพูชาและบราซิล

• ในอำเภอศรี อัมเบล (Sre Ambel) ประเทศกัมพูชา ชาวบ้านกว่า 200 ครอบครัวได้พยายามเรียกร้องความเป็นธรรมขอที่ดินทำกินซึ่งตกทอดมาแต่บรรพบุรุษคืน การต่อสู้นี้มีมาตลอดตั้งแต่ปี 2006 ที่บริษัทเอกชนเข้ามาขับไล่ที่ โดยผลผลิตอ้อยที่ได้จากพื้นที่นี้ถูกขายให้กับบริษัทน้ำตาล เทด และ ไลล์ (Tate & Lyle Sugars) ของอังกฤษ ซึ่งขายน้ำตาลให้กับ โคคา-โคลา และเป็ปซี่โค ชาวบ้านที่ยากจนเหล่านี้กลายเป็นเกษตรกรไร้ที่ดินและมีรายได้ไม่เพียงพอ เนื่องจากไม่มีที่เพาะปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์

• เมื่อปี 1998 ชุมชนประมงในรัฐเพิร์นอัมบูโค (Pernambuco State) ประเทศบราซิลถูกขับไล่ออกจากที่ดินทำกินที่ตกทอดมาอย่างยาวนาน บริษัทที่เข้าครอบครองมีการใช้กำลังรุนแรง และห้ามไม่ให้ชาวบ้านกลับเข้าไปในพื้นที่ทำกินหรือหาปลาในแถบนั้น ชาวบ้านได้พยายามต่อสู้ร้องขอสิทธิ์คืนมาโดยตลอด หลายครอบครัวต้องอพยพไปอยู่ในชุมชนแออัดในเมืองใกล้เคียงและกลายเป็นแรงงานหาเช้ากินค่ำ

• กลุ่มชุมชนชาวพื้นเมืองในเมืองมาโต กรอสโซ โด ซูล (Mato Grosso do Sul) ได้ ต่อสู้เพื่อเอาที่ดินทำกินของตนเองกลับคืนมาจากของนายทุนซึ่งถางพื้นที่ป่าทำเป็นไร่อ้อยเพื่อขายให้กับโรงงานของบริษัท Bunge โคคา-โคลายอมรับว่าเป็นลูกค้าของ Bunge ในบราซิล แต่ไม่ได้ซื้อน้ำตาลจากโรงงานแห่งนี้ ไร่อ้อยเหล่านี้ได้ทำลายพื้นที่ป่าชุมชนของชาวบ้านเป็นวงกว้าง ส่งผลให้แหล่งอาหารของชุมชนลดลงอย่างมาก
• บริษัทแอสโซซิเอ็ตเตท บริติช ฟู้ดส์ (Associated British Foods) ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกว้านซื้อหรือยึดครองที่ดินโดยไม่เป็นธรรมด้วยเช่นกันในประเทศมาลี แซมเบีย และมาลาวี โดย ABF เป็นเจ้าของบริษัท Illovo ซึ่งเป็นผู้ปลูกอ้อยรายใหญ่ที่สุดในแอฟริกา

อ็อกแฟมต้องการเห็นบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้ง 3 แห่งมีส่วนในการหยุดยั้งการแย่งชิงทรัพยากรจากคนจนอย่างไม่เป็นธรรมโดยตั้งกฎระเบียบและมาตรการตรวจสอบแหล่งที่มาของน้ำตาลที่ครอบคลุมและชัดเจน รวมทั้งเปิดเผยข้อมูลสินค้าว่ามาจากแหล่งใด ที่ไหน และมีการติดตามดูว่าน้ำตาลที่ได้เป็นผลพวงของการละเมิดสิทธิชุมชนและสิทธิที่ดินหรือไม่ นอกจากนี้ บริษัททั้ง 3 แห่งควรมีส่วนร่วมรณรงค์ให้ภาครัฐและอุตสาหกรรมอาหารให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้มากขึ้น

• โคคา-โคล่าเป็นผู้ซื้อน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยมีสัดส่วนถือครองตลาดน้ำอัดลมทั่วโลกถึง 25 เปอร์เซ็นต์ และมีเครื่องดื่มอื่นๆ อีกกว่า 500 ยี่ห้อวางขายทั่วโลก อาทิเช่น ไดเอตโค้ก แฟนต้า

• เป็ปซึ่โคมีส่วนแบ่งการตลาดน้ำอัดลม 18 เปอร์เซ็นต์และผลิตเครื่องดื่มยึ่ห้ออื่นๆ อีก 21 ยี่ห้อ เช่น เป็ปซี่ ทรอปิคาน่า และชาลิปตัน

• แอสโซซิเอ็ตเตท บริติช ฟู้ดส์ เป็นบริษัทผู้ผลิตน้ำตาลอันดับ 2 ของโลกและเป็นเจ้าของสินค้าชื่อดังที่รู้จักกันทั่วโลกเช่น โอวัลติน คิงส์มิลล์ (Kingsmill) น้ำตาลช้อนทอง (Silver Spoon Sugar) และ ปาตักส์ (Patak’s)

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ส่งท้ายปี 56 แจก ส.ป.ก.4-01 แก่ผู้ยากไร้ที่ทำกิน 1,700 ไร่

ดร.วีระชัย นาควิบูลย์วงศ์ เลขาธิการ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ( ส.ป.ก.) เปิดเผยว่า ส.ป.ก.ร่วมกับจังหวัดอุทัยธานี มอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.4-01 ) เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระชนมายุ 86 พรรษา 5 ธันวาคม 2556 ให้กับเกษตรกรในพื้นที่อำเภอลานสัก จำนวน 1,294 ราย 1,315 แปลง เนื้อที่ 1,542 ไร่ และเกษตรกรในอำเภอสว่างอารมณ์ จำนวน 234 ราย 234 แปลง เนื้อที่ 158 ไร่ ซึ่งรวมเกษตรกรที่ได้รับส.ป.ก.4-01 จำนวน 1,528 ราย 1,549 แปลง เนื้อที่รวมทั้งสิ้น 1,700 ไร่

สำหรับที่ผ่านมาส.ป.ก.ได้ดำเนินการจัดสรรที่ดินให้เกษตรกรในที่ดินของรัฐแล้ว จำนวน 30,553 ราย 38,172 แปลง เนื้อที่ 561,210 ไร่ และที่ดินเอกชน จำนวน 1,014 ราย 1,014 แปลง เนื้อที่19,275 ไร่ ทั้งนี้ได้จัดสรรที่ดินให้เกษตรกรรวมทั้งสิ้น 31,567 ราย 39,186 แปลง เนื้อที่ 580,485 ไร่

“ขอย้ำว่าเกษตรกรที่ได้รับมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน จะต้องหวงแหน จะต้องเอาที่ดินทำเกษตรกรรม ทำประโยชน์ในที่ดินด้วยตนเอง ไม่นำไปขายหรือให้เช่า อีกทั้งไม่เปลี่ยนแปลงสภาพดินจนเสื่อมโทรม ปฏิบัติตามสัญญาที่ทำไว้กับทางส.ป.ก และสถาบันการเงิน และสุดท้ายเกษตรกรที่ได้รับมอบ ส.ป.ก.4-01ต้องปฏิบัติตามระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมอย่างเร่งครัด ” ดร.วีระชัย กล่าว.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2556

กมธ.อุตฯโดดอุ้มชาวไร่อ้อย

นพงวรรณรัตน์ ชาญนุกูล ประธานคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า คณะกรรมาธิการอุตสาหกรรมได้รับหนังสือร้องเรียนจากสหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย, สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน ถึงปัญหาความเดือดร้อน โดยเฉพาะการขอแก้ไขปันผลประโยชน์กับโรงงาน 70-30 ให้เป็นธรรม โดยคิดมูลค่าเพิ่มจากการใช้อ้อยที่โรงงานเดิมไม่น้อยกว่า 80 กม.การควบคุมปัญหามลภาวะและอ้อยตกค้างจากการซ่อมบำรุงเครื่องจักร

ทั้งนี้ ภายหลังได้รับฟังการชี้แจงของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) ที่ประชุมมีมติให้ทำหนังสือถึงนายประเสริฐ บุญชัยสุข รมว.อุตสาหกรรม เพื่อให้เร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหาชาวไร่อ้อยใน 3 ประเด็น คือ 1.ให้ทำการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 ให้มีความครอบคลุมเหมาะสมต่อสถานการณ์ของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงซึ่งในการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว จะนำมาซึ่งระบบแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างเกษตรกรชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลที่เป็นธรรมมากยิ่งขึ้น เนื่องจากระบบการแบ่งปันผลประโยชน์ในสัดส่วน 70:30 เป็นสัดส่วนที่ใช้มาเป็นระยะเวลานานไม่เหมาะสมแล้ว

2.เห็นควรยกเลิกหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการขอย้ายสถานที่ตั้งโรงงานน้ำตาล ที่กำหนดให้ระยะห่างระหว่างโรงงานแห่งใหม่กับโรงงานเดิมไม่น้อยกว่า 80 กม.เพื่อแก้ปัญหาและลดผลกระทบที่เกิดกับเกษตรกรชายไร่อ้อย ทั้งค่าความหวานและน้ำหนักลดลงทำให้รายได้ของเกษตรกรลดลงเฉลี่ยคิดเป็นอัตราประมาณ 57 บาทต่อ 1 C.C.S.ที่สูญเสียไป

และ 3.การตั้งหรือการขอขยายกำลังการผลิตของโรงงานควรเป็นโรงงานที่มีกำลังผลิตไม่มากนัก เพราะหากกรณีเครื่องจักรเกิดชำรุดเสียหาย จำเป็นต้องมีการหยุดซ่อมบำรุง จะทำให้เกิดปัญหาอ้อยตกค้างในไร่ และหน้าโรงงานได้ หากใช้เวลานานจะทำให้อ้อยสูญเสียความหวานและกระทบต่อรายได้ของเกษตรกร.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2556

เศรษฐกิจโลกจะดูดีขึ้น แต่ต้องติดตามการคลังสหรัฐ - โลกการเงิน

วันนี้ ผมขอเรียนสรุปสถานการณ์เศรษฐกิจการเงินล่าสุด โดยมีประเด็นสำคัญ ๆ ดังนี้ ครับ

ประเด็นแรก ... ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ตัดสินใจที่จะคงระดับการซื้อสินทรัพย์ทางการเงิน หรือการทำ QE ไว้ที่ 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ต่อเดือนตามเดิม นอกเหนือความคาดหมายของตลาด ที่ก่อนหน้านี้มองว่า เฟดคงจะลดการทำ QE ลงในการประชุมในวันที่ 17-18 กันยายนที่ผ่านมา ทั้งนี้ การตัดสินใจของเฟดในครั้งนี้ ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในประเด็นการสื่อสารกับตลาดเงินตลาดทุน นอกจากนี้ ในช่วงต้นปีหน้ายังจะมีการเปลี่ยนตัวประธานธนาคารกลางสหรัฐ ซึ่งทำให้การคาดการณ์การตัดสินใจของเฟดในการประชุมอีกสองครั้งที่เหลือของปีนี้ยิ่งทำได้ยากขึ้น อย่างไรก็ตาม คาดว่าเฟดจะยังคงให้น้ำหนักต่อตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ โดยเฉพาะตัวเลขการจ้างงาน รวมไปถึงประเด็นความคืบหน้าของการผ่านกฎหมายงบประมาณ และการยกระดับเพดานหนี้ของสภาคองเกรส โดยสำหรับกฎหมายด้านงบประมาณนั้น หากไม่สามารถผ่านได้ภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้ จะส่งผลให้หน่วยงานของรัฐบาลกลางสหรัฐบางส่วนอาจจะต้องหยุดดำเนินการลง ส่วนประเด็นเพดานหนี้นั้น คาดว่ายอดหนี้ของรัฐบาลสหรัฐ คงจะเกินเพดานในช่วงประมาณกลางเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ ซึ่งหากไม่มีการปรับเพิ่มเพดาน ก็อาจส่งผลให้รัฐบาลสหรัฐประสบปัญหาในการหมุนเงินเพื่อชำระหนี้ที่จะครบกำหนด ซึ่งย่อมจะกระทบต่ออันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ และส่งผลเป็นลูกโซ่ไปยังค่าเงินดอลลาร์ฯ ทั้งนี้ พรรครีพับลิกัน ที่คุมเสียงในสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ได้พยายามผูกเงื่อนไขในการผ่านกฎหมายงบประมาณ โดยต้องการจะแลกกับการตัดงบประมาณสำหรับโครงการประกันสุขภาพของประธานาธิบดีโอบามา ที่ฝ่ายรีพับลิกันไม่เห็นด้วย ขณะที่ในการเจรจาเพื่อที่จะขยับเพดานหนี้ พรรครีพับลิกันต้องการที่จะแลกกับการปรับลดงบประมาณรายจ่ายและการปฏิรูปทางการคลัง โดยอ้างถึงประเด็นหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา

ประเด็นที่สอง ... เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่อง โดยดัชนีภาวะภาคอุตสาหกรรมเดือนกันยายนได้ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า รวมถึงยังเป็นระดับสูงสุดในรอบ 6 เดือน ในขณะเดียวกัน การส่งออกของจีนก็ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 7.2 ในเดือนสิงหาคม เทียบกับร้อยละ 5.1 ในเดือนกรกฎาคม อย่างไรก็ตาม การนำเข้ายังคงขยายตัวต่ำกว่าคาด โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0 ในเดือนสิงหาคม ชะลอลงจากร้อยละ 10.9 ในเดือนก่อนหน้า รวมถึงยังต่ำกว่าการคาดการณ์ของตลาด ทั้งนี้ แม้ว่าเศรษฐกิจจีนจะมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ต่อเนื่อง แต่คาดว่าทางการจีนจะยังคงติดตามการขยายตัวของสินเชื่อและประเด็นด้านเสถียรภาพต่าง ๆ อาทิ สภาพคล่อง เงินเฟ้อ ภาคอสังหาฯ อย่างใกล้ชิดต่อไป ทำให้การขยายตัวในช่วงข้างหน้าอาจจะยังคงไม่ร้อนแรงมากนัก ในขณะเดียวกัน ยังต้องจับตามาตรการปฏิรูปเศรษฐกิจ ที่คาดว่าจะประกาศออกมาหลังการประชุมสำคัญในเดือนพฤศจิกายนนี้ด้วยครับ

ประเด็นที่สาม...นางแองเจลลา เมอร์ เคล คว้าชัยชนะอย่างยิ่งใหญ่ โดยพรรคสหภาพคริสเตียน เดโมแครต หรือ CDU ของนางเมอร์เคล สามารถครองเสียงเกือบจะข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร แม้ว่ายังคงต้องเดินหน้าหาพรรคอื่น ๆ มาร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลผสมเพื่อบริหารประเทศเป็นสมัยที่สาม ทั้งนี้ ชัยชนะของนางเมอร์เคล สะท้อนว่า ประชาชนส่วนใหญ่ให้ความเห็นชอบต่อแนวทางในการแก้ปัญหาวิกฤติยูโรโซนที่เยอรมนีเป็นผู้นำ โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่า ประเทศที่จะขอรับความช่วยเหลือ จะต้องทำการปฏิรูปและรัดเข็มขัดอย่างยกใหญ่ เพื่อที่จะเรียกความเชื่อมั่นให้กลับคืนมา จึงจะได้รับเงิน ไม่ใช่แจกกันง่าย ๆ ทั้งนี้ หากเศรษฐกิจยุโรปสามารถทยอยฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องแล้ว สิ่งที่ต้องติดตามต่อไปคือ การผลักดันให้เกิดการปฏิรูปทางการคลัง และการกำกับดูแลสถาบันการเงินในยุโรป เพื่อที่จะลดโอกาสที่วิกฤติฯ จะย้อนกลับมาเกิดขึ้นอีกในอนาคต

ส่วนเศรษฐกิจไทยนั้น แม้ว่าการส่งออกในเดือนสิงหาคม ที่ขยายตัวร้อยละ 3.9 จะสูงกว่าการคาดการณ์ของตลาด แต่ประเด็นความล่าช้าในเรื่อง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ก็อาจจะส่งผลต่อการเบิกจ่ายของภาครัฐในช่วงที่เหลือของปีนี้ ทำให้อาจกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้าย โดยล่าสุด ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ปรับลดประมาณการจีดีพีไทยสำหรับปีนี้ลง เหลือร้อยละ 3.7 ครับ

โดยสรุป หากไม่นับรวมการปรับลดประมาณการของเศรษฐกิจไทย และประเด็นการคลังของสหรัฐที่ยังคงติดตามแล้ว ภาพความเสี่ยงต่าง ๆ ของเศรษฐกิจโลก ดูเหมือนจะดีขึ้นระดับหนึ่งจากช่วงหนึ่งถึงสองเดือนก่อนหน้า ซึ่งหากสหรัฐ สามารถผ่านประเด็นการคลังไปได้ ก็จะยิ่งถือเป็นข่าวดี เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงหนึ่งปีจากนี้ คงจะขึ้นอยู่กับการส่งออก และภาวะเศรษฐกิจในต่างประเทศเป็นสำคัญครับ.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2556

รายงานพิเศษ : กรมหมอดินเร่งพัฒนาปุ๋ยรายแปลง นำพาเกษตรกรไทยสู่การเป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์

จากเมื่อครั้งที่ กรมพัฒนาที่ดิน ร่วมกับกรมวิชาการเกษตร กรมการข้าว และกรมส่งเสริมการเกษตร ได้จัดทำโปรแกรม “คำแนะนำการจัดการดินและปุ๋ยรายแปลง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ย” ขึ้นในปี 2551 ตามนโยบายการส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยเคมีอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ เนื่องจากขณะนั้นได้มีการขึ้นราคาน้ำมันอย่างมาก ส่งผลให้ราคาปุ๋ยเคมีขยับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย ทำให้คำว่า “ปุ๋ยรายแปลง” กลายเป็นคำที่คุ้นหูที่ติดปากมาจนถึงปัจจุบัน

หลังจากนั้นเป็นต้นมา โปรแกรมปุ๋ยรายแปลงได้รับการพัฒนาและส่งเสริมการใช้งานอย่างต่อเนื่อง พร้อมๆ กับหลักการและแนวความคิดของปุ๋ยรายแปลงก็ได้รับการพัฒนาและขยายขอบเขตสู่การจัดการในด้านอื่นๆ มากขึ้น และก้าวเข้าสู่เทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างโปรแกรมบนโทรศัพท์มือถือ

นางกุลรัศมิ์ อนันต์พงษ์สุข รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดินด้านวิชาการ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า โปรแกรมปุ๋ยรายแปลงเริ่มต้นจากการเป็นโปรแกรมสารสนเทศ เพื่อช่วยให้เจ้าหน้าที่หรือเกษตรกรสามารถเข้าถึงข้อมูลข้อสนเทศในการจัดการดินและปุ๋ย ตามหลักของการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินได้ โดยให้คำแนะนำใน 6 พืชหลัก คือ ข้าว ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา และปาล์มน้ำมัน มีหลักการพื้นฐานคือ เมื่อเกษตรกรนำตัวอย่างดินมาวิเคราะห์หาปริมาณธาตุอาหารในดิน ได้ผลเป็นค่าสูง กลาง ต่ำ ของธาตุ ไนโตเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม แล้วนำค่าที่ได้ป้อนเข้าสู่โปรแกรมปุ๋ยรายแปลง ระบุชนิดพืช ระบุชนิดดิน โปรแกรมก็จะบอกถึงคำแนะนำการจัดการดินที่เหมาะสมกับพืชนั้นๆ และคำแนะนำการใช้ปุ๋ยเคมีที่เหมาะสมกับชนิดพืชและค่าวิเคราะห์ดิน แต่เมื่อมีการพัฒนาและการแนะนำส่งเสริมการใช้งานโปรแกรมอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปุ๋ยรายแปลงก้าวสู่เทคโนโลยีการใช้ปุ๋ยที่มีความจำเพาะขึ้น และมีความชัดเจนในเรื่องการจัดการดินตามสมบัติและชนิดของดินมากขึ้น ทำให้เกิดเป็นแนวคิดหรือเป็นหลักการในการจัดการดินและปุ๋ย หรือเรียกรวมๆ ว่าหลักการ “ปุ๋ยรายแปลง” นั่นคือ นอกจากจะกล่าวถึงคำแนะนำการใช้ปุ๋ยแล้ว ยังบูรณาการคำแนะนำการจัดการดิน การจัดการอินทรียวัตถุ การอนุรักษ์ดินและน้ำ ฯลฯ เข้าเป็นส่วนเดียวกัน

ด้วยหลักการดังกล่าว ทำให้เกิดเป็นการบริหารจัดการไร่-นาเฉพาะพื้นที่เป็นรายแปลง ซึ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและเสริมศักยภาพทางการเกษตรของไทยให้สูงขึ้น แต่การจะเข้าสู่หลักการปุ๋ยรายแปลงอย่างสมบูรณ์แบบนั้น จำเป็นต้องมีข้อมูลข้อสนเทศจำนวนมากในการประมวลผล ซึ่งควรเป็นข้อมูลที่มีความละเอียดเป็นปัจจุบัน และจำเป็นต้องมีการศึกษาค้นคว้าวิจัยแบบบูรณาการแยกตามพื้นที่รายแปลง ฉะนั้น กรมพัฒนาที่ดินจึงได้ทำการศึกษาวิจัยตามหลักการปุ๋ยรายแปลงควบคู่ไปกับการพัฒนาโปรแกรมปุ๋ยรายแปลง เพื่อให้ปุ๋ยรายแปลงเป็นสะพานเชื่อมระหว่างข้อมูลข้อสนเทศจากงานวิจัยสู่เกษตรกร และนำพาเกษตรกรสู่การใช้เทคโนโลยีการจัดการดินและปุ๋ยรายแปลงในการสร้างความมั่นคงทางการเกษตรและคุณภาพชีวิต

นางกุลรัศมิ์ กล่าวอีกว่า จากข้อมูลข้อสนเทศในการจัดการดินและปุ๋ยรายแปลง ผ่านโปรแกรมปุ๋ยรายแปลง สู่การจัดการดินและปุ๋ยระดับไร่-นา คือ ความคาดหวังในการนำพาเกษตรกรไทยสู่การเป็น smart farmer และทำอย่างไรให้ข้อมูลข้อสนเทศผ่านโปรแกรมปุ๋ยรายแปลงสู่เกษตรกรได้อย่างสะดวก แนวทางหนึ่งที่กรมพัฒนาที่ดินให้ความสำคัญคือ การใช้โปรแกรมผ่านระบบ online และการทำเป็นโปรแกรมสำหรับโทรศัพท์มือถือ (smart phone) และแท็บเล็ต ซึ่งภายในปี 2557 นี้ โปรแกรมปุ๋ยรายแปลงรุ่นแรกสำหรับโทรศัพท์มือถือคงได้ปรากฏสู่สายตาของเจ้าหน้าที่และเกษตรกรไทย และโปรแกรมปุ๋ยรายแปลงจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการให้คำแนะนำการจัดการดินและปุ๋ยให้แก่เกษตรกร สร้างเกษตรกรไทยให้เป็น smart farmer และช่วยให้เจ้าหน้าที่ผู้นำโปรแกรมปุ๋ยรายแปลงไปใช้เป็น smart officer ขณะเดียวกันปุ๋ยรายแปลง online และปุ๋ยรายแปลงสำหรับคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ ก็จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มศักยภาพของการให้คำแนะนำการจัดการดินและปุ๋ย เนื่องจากโปรแกรมสำหรับโทรศัพท์มือถือแม้จะสะดวกในการใช้งานแต่ก็มีข้อจำกัดบางประการ ทำให้ไม่สามารถยึดถือเป็นแนวทางเพียงแนวทางเดียวในการให้คำแนะนำได้

นอกจากการพัฒนาเครื่องมือในการนำพาหลักการปุ๋ยรายแปลงจากงานวิจัยสู่เกษตรกร หรือการพัฒนาโปรแกรมแล้ว การศึกษา ค้นคว้า วิจัย รวบรวมข้อมูลข้อสนเทศต่างๆ เพื่อความสมบูรณ์ของคำแนะนำการจัดการดินและปุ๋ยรายแปลง เป็นสิ่งที่กรมพัฒนาที่ดินได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทำให้ขอบเขตการใช้งานโปรแกรมปุ๋ยรายแปลงขยายจากพืช 6 ชนิด เพิ่มเป็น 12 ชนิด และจะเป็น 20 กว่าชนิดในรุ่นถัดๆ ไป จากคำแนะนำเรื่องปุ๋ยเคมีเพียงอย่างเดียว

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2556

เกษตรจ่อทบทวนนโยบายGMO อ้างเสริมความมั่นคงอาหารตามทิศทางอาเซียน

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้นำคณะผู้แทนไทยเดินทางไปร่วมประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ (AMAF) ครั้งที่ 35 ที่ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งการประชุมครั้งนี้นอกจากจะเป็นการรับทราบความก้าวหน้าในการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสของประเทศสมาชิกในกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศแล้ว ยังหารือถึงความคืบหน้าในการเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ สำหรับการเข้าสู่ความเป็นประชาคมอาเซียนในปลายปี 2558 นี้ ประกอบด้วย การสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารและความปลอดภัยอาหาร การศึกษาค้นคว้าวิจัยร่วมกัน ซึ่งครอบคลุมทั้งด้านประมง ปศุสัตว์และป่าไม้ การควบคุมหรือลดการใช้ย่าฆ่าแมลงในการผลิตสินค้าเกษตร การเตรียมการรองรับความเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ รวมถึงความร่วมมือกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนบวก 3 ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี

นอกจากนี้ ยังหารือร่วมกันในการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก คือ 1.ความร่วมมือในการจัดระบบระบาดวิทยาทางสัตว์ ทั้งโรคไข้หวัดนก และโรคระบาดสัตว์อื่นๆ เพื่อให้ประเทศอาเซียนไปสู่เป้าหมายการเป็น One Health เพื่อควบคุมโรคติดต่ออุบัติใหม่ระบาดตามเป้าหมายขององค์การสหประชาชาติ 2.การใช้ระบบสหกรณ์และสร้างการร่วมกลุ่มให้เข้มแข็ง เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับพี่น้องเกษตรกรแต่ละประเทศ 3.การร่วมกันกำหนดมาตรฐานสินค้าอาเซียน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการค้าสินค้าเกษตรร่วมกัน โดยเฉพาะประเทศไทยที่ถือว่ามีมาตรฐานสินค้าเกษตรมาอย่างต่อเนื่องและค่อนข้างจะเป็นมาตรฐานสากล ดังนั้นหากสามารถนำมาพัฒนาต่อยอดให้เป็นมาตรฐานของอาเซียนได้ ก็จะเพิ่มอำนาจการต่อรองและการแข่งขันสินค้าเกษตรของภูมิภาคในตลาดโลกมากขึ้น ขณะเดียวกัน ยังจะสร้างความมั่นคงและความปลอดภัยทางอาหารให้แก่ประชากรในอาเซียนกว่า 600 ล้านคน และก้าวไปสู่การเป็นฐานการผลิตสินค้าอาหารของโลก หรือ Food Hub of the world ป้อนประชากรโลกกว่า 7 พันล้านคนในอนาคตด้วย

นายยุคล กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ที่ประชุมอาเซียนมีแนวโน้มที่จะร่วมกันกำหนดมาตรฐานจีเอ็มโอด้วย เนื่องจากพิจารณาเห็นว่า สินค้าจีเอ็มโอสามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอาหารให้แก่ประชากรโลกได้ ดังนั้น ในส่วนของประเทศไทย ก็คงต้องมีการทบทวนนโยบายเกี่ยวกับสินค้าจีเอ็มโออีกครั้งให้สอดคล้องกับแนวทางของอาเซียนด้วยเช่นกัน ซึ่งคงจะต้องมีการหารือกับส่วนที่เกี่ยวข้องในลำดับต่อไป

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2556