http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล(เดือนตุลาคม 2560)

คาดบาทอ่อนปลายปี61

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินทิศทางค่าเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มอ่อนค่าลงในปี 2561 ตามทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัวของธนาคารกลางสหรัฐฯและธนาคารยุโรป

 อีไอซีคาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะปรับขึ้นดอกเบี้ย 1 ครั้งในการประชุมเดือนธันวาคม 2560 และอีก 3 ครั้งในปี 2561 นอกจากนี้ที่ประชุมธนาคารกลางยุโรป ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2560 ลดขนาดวงเงินที่จะเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลเหลือ 3 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน จาก 6 หมื่นล้านยูโรตั้งแต่มกราคม-กันยายน 2561

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01-3-1“ค่าเงินบาทจะอยู่ที่ราว 33.50-34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงสิ้นปี 2561 อ่อนค่าจากปัจจุบันที่ 33.14 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด และสภาพคล่องในตลาดการเงินทั่วโลกที่น้อยลง จากทั้งการลดวงเงินสำหรับการอัดฉีดสภาพคล่องของอีซีบี และการปรับลดงบดุลของเฟด”

ส่วนดอกเบี้ยของไทยนั้น อีซีบีคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังมีแนวโน้มที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% ตลอดปี 2560 และ 2561

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2560

อุตตม”โชว์ครม.ศก.สดใสจ่อคลอดของขวัญปีใหม่ให้โรงงาน

 “อุตตม” รายงานครม.ทิศทางอุตสาหกรรมสดใสคาดดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหรือ MPI ปีนี้โตสุดในรอบ 4 ปี นายกฯเป็นปลื้ม เตรียมออกมาตรการกรถตุ้นใน 2 สัปดาห์หน้าเป็นของขวัญปีใหม่ให้โรงงานอุตสาหกรรม ยันม. 44 เว้นบังคับผังเมืองในอีอีซีพ.ค.61 ได้เห็นแน่ย้ำใช้พื้นที่เดิมเป็นสีม่วง

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้รายงานภาพรวมสถานการณ์การผลิตของภาคอุตสาหกรรมต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)รับทราบเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงทิศทางภาวะกำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นที่ชี้ถึงกำลังซื้อฟื้นตัวและจะมีนัยสำคัญต่อการขับเคลื่อนทิศทางเศรษฐกิจในระยะต่อไปให้มีการเติบโตต่อเนื่องโดยเฉพาะดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหรือ MPI ในปีนี้ที่คาดว่าจะโต 2% จากปีนี้ที่คาดไว้ว่าจะโต 0.5-1% และจะเป็นดัชนีที่โตสูงสุดในรอบ 4 ปีนับตั้งแต่ปี 2556

“ ปี 2556 ที่อยู่ระดับ 1.6% ปี 2557 ระดับ -3.76% ปี 2558 ระดับ -0.04% ปี 2559 ระดับ 1.6% และปีนี้น่าจะได้ 2% โดยผมได้รายงานต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับทราบในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยนายกรัฐมนตรีพอใจ และได้ย้ำให้ดูแลการผลิตโดยเฉพาะขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี ที่อาจประสบปัญหาภาวะน้ำท่วม ผมจึงสั่งการให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมประสานกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ จัดทำแผนรับมือเพื่อป้องกันปัญหา แม้ปัจจุบันยังไม่มีรายงานว่าโรงงานใดได้รับผลกระทบ"นายอุตตมกล่าว

นอกจากนี้กระทรวงอุตสาหกรรมยังเตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในส่วนของภาคผลิต โดยจะออกมาตรการภายใน 2 สัปดาห์ข้างหน้า มีทั้งมาตรการใหม่ และมาตรการต่อเนื่องที่ดำเนินการในปัจจุบัน อาทิ กองทุนเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ซึ่งมาตรการนี้จะเป็นของขวัญปีใหม่ให้โรงงานอุตสาหกรรม

 นายอุตตม กล่าวยืนยันถึงคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ตามมาตรา 44 ยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายผังเมืองในพื้นที่ EEC ใน 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ว่า การประกาศใช้ม.44ดังกล่าวเป็นเครื่องมือเพื่อเอื้อต่อการดำเนินการให้สามารถเดินหน้าได้อย่างต่อเนื่องภายใต้นโยบายหลัก ที่คำนึงถึงผลกระทบรอบด้าน ซึ่งหากรอการประกาศใช้กฏหมายจะใช้เวลารวมกว่า 2 - 3 เดือน ทั้งนี้การพิจารณาผังเมืองจะต้องผ่าน คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป้นประธาน และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องร่วมพิจารณา

จาก https://mgronline.com  วันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2560

กรมชลประชุมร่วม 10 หน่วยงาน ติดตามสถานการณ์น้ำ

กรมชลประชุมร่วม 10 หน่วยงาน ติดตามสถานการณ์ฝนภาคใต้ -ระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา

                 วันนี้(30ตุลาคม2560)ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ครั้งที่37/2560พร้อมด้วยผู้แทนจาก กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน)การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมVDO Conferenceไปยังสำนักงานชลประทานทั้ง17แห่งทั่วประเทศ เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ การบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน และการบูรณาการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ณ ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ ชั้น3อาคาร99ปี หม่อมหลวงชูชาติ กำภู กรมชลประทาน สามเสน กรุงเทพฯ

                   รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร ว่าในช่วงวันที่30ตุลาคม –2พฤศจิกายน ความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนแผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบน ส่งผลให้อุณหภูมิจะลดลง2 – 4องศาเซลเซียสและมีลมแรง

                     นอกจากนี้ ร่องมรสุมยังคงพาดผ่านภาคใต้ตอนล่างเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่าง ส่งผลให้ฝั่งตะวันตกฝนฟ้าคะนองร้อยละ40 – 60ของพื้นที่ ในช่วงวันที่31ตุลาคม –1พฤศจิกายน2560และมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ60 – 70ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ ในช่วงวันที่2 – 4พฤศจิกายน2560

                       ทั้งนี้ รองอธิบดีกรมชลประทาน ได้กำชับให้สำนักงานชลประทานที่14 – 17เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำในภาคใต้ ซึ่งกรมชลประทานได้วางแผนบริหารจัดการน้ำ โดยเร่งระบายน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่ สำรวจสภาพอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก และให้คำแนะนำแก่หน่วยงานที่ทำหน้าที่ดูแลอ่างเก็บน้ำที่ถ่ายโอนไปแล้ว เพื่อให้อาคารชลประทานทำหน้าที่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำและเครื่องสูบน้ำในพื้นที่ที่คาดว่าจะเกิดอุทกภัย รวมทั้งขุดลอกคูคลอง กำจัดวัชพืช และสำรวจสิ่งกีดขวางทางน้ำ โดยบูรณาการการทำงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กรมทางหลวง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพมากที่สุด ตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

                    ส่วนสถานการณ์ในลุ่มน้ำเจ้าพระยามีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องจากการบริหารจัดการน้ำด้วยระบบชลประทาน รวมทั้งติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีนเพื่อเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเล โดยในวันนี้ กรมชลประทานได้ปรับลดการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาลง50 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จากเดิมคือไม่เกิน2,700ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เหลือ2,647ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และคาดการณ์ว่าสถานการณ์น้ำจะเข้าสู่ภาวะปกติภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ ในส่วนของการผันน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำตามแผนการปรับเปลี่ยนปฏิทินเพาะปลูกพืชฤดูฝนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปี2560นั้น จะเริ่มผันน้ำออกจากทุ่งบางระกำเป็นแห่งแรกในวันที่1พฤศจิกายน2560หลังจากสถานการณ์น้ำในลุ่มเจ้าพระยาลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยใช้ระบบชลประทานระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาต่อไป

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2560

รัฐออกโรงยืนยันปีนี้เกษตรกรรายได้พุ่ง เพิ่มประสิทธิภาพเพาะปลูกผลผลิตทะลัก

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ในช่วง 3 ไตรมาส (ม.ค.-ก.ย.) ปี 60 ดัชนีรายได้เกษตรกรอยู่ที่ 155.34 เพิ่ม 8.88% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น 10.50% และดัชนีราคาลดลงเพียง 1.47% โดยราคาที่ลดลงเป็นเพราะการพัฒนาประสิทธิภาพการผลทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น รวมทั้งฝนตกต่อเนื่อง ทำให้ผลผลิตมีความชื้น ส่งผลให้ราคาลดลง คาดว่า ดัชนีรายได้ทั้งปี 60 จะเพิ่มขึ้นจากปี 59 เพราะผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ทั้งข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงาน สับปะรดโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และผลไม้

ด้านนางสาวทัศนีย์ เมืองแก้ว ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร (จีดีพี) ไตรมาส 3 ปี 60 ขยายตัว 4.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 59 โดยผลผลิตข้าวยังเพิ่มขึ้น แม้เกิดน้ำท่วมบางพื้นที่ ขณะที่พืชอื่นๆ เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และลำไย ผลผลิตเพิ่มเช่นกัน ส่วนปศุสัตว์เพิ่มขึ้นตามความต้องการของตลาด และภาวะเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญ สำหรับจีดีพีภาคเกษตรปี 60 คาดขยายตัว 3.0-4.0% จากเดิมที่คาดขยายตัว 2.5-3.5%

จาก https://www.thairath.co.th วันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2560

พพ.ลุยระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ ดึงSMEร่วมโปรเจกท์เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร

นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) เปิดเผยว่า พพ. เดินหน้าโครงการระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ ในปีงบประมาณ 2561 ภายใต้แผนพัฒนาพลังงานทดแทน และอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี (ADEP 2015) เพื่อทดแทนการใช้เชื้อเพลิงแอลพีจี หรือพลังงานไฟฟ้า โดยเปิดให้ผู้ประกอบการทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และผู้สนใจเข้าลงทุนในระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์(พาราโบลาโดม) มุ่งลดการใช้พลังงานและน้ำมันในกระบวนการอบแห้งผลิตภัณฑ์สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการทางพพ. จะเปิดรับสมัครประมาณปลายเดือนธันวาคม 2560 ถึงกุมภาพันธ์ 2561

ทั้งนี้โครงการดังกล่าวมีพื้นที่เป้าหมาย 5,000 ตารางเมตร สำหรับผู้ประกอบการ 50 ราย สนับสนุนงบประมาณจากกองทุนอนุรักษ์พลังงานเพื่อดำเนินงาน 22.7 ล้านบาท หากดำเนินการครบจะช่วยทดแทนน้ำมันได้ 325 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดซ์ออกไซต์ 810 ตันต่อปี

สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการทาง พพ. คาดว่าจะเปิดรับสมัครประมาณปลายเดือนธันวาคม 2560 ถึงกุมภาพันธ์ 2561 โดยนับตั้งแต่เริ่มโครงการในปี 2554 จนถึงปี 2560 พพ.ให้การสนับสนุนชุมชนไปแล้ว 218 ราย รวมพื้นที่ 26,054 ตารางเมตร งบประมาณรวมเกือบ 92 ล้านบาท

โครงการดังกล่าวพพ.จะเป็นผู้พิจารณาให้เงินสนับสนุนให้กับผู้ประกอบการหรือวิสาหกิจชุมชนที่สมัครขอรับการสนับสนุนเพื่อที่จะสร้างระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ 30% ของเงินลงทุนคิดเป็นอัตรา 2,430 ต่อตารางเมตรตามแบบมาตรฐานที่พพ. กำหนดไว้ 3 แบบ ด้วยกันประกอบด้วย แบบพพ.1 ซึ่งมีขนาด 6x8.2 ตารางเมตรพื้นที่แนวราบ 49.2 ตารางเมตร จะได้รับเงินสนับสนุน 119,556 บาท แบบพพ. 2 มีขนาด 8x12.4 ตารางเมตร พื้นที่ในแนวราบ 99.2 ตารางเมตร จะได้รับเงินสนับสนุน 241,056 บาท และแบบพพ. 3 มีขนาด 8x20.8 ตารางเมตร จะได้รับเงินสนับสนุน 404,352 บาท

“ระบบอบแห้งจากพลังงานแสงอาทิตย์จะมีส่วนสำคัญต่อการสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ ทางการเกษตรของไทยคิดเป็นมูลค่าเพิ่มขึ้น 1-15%

จากการอบด้วยแสงแดดธรรมชาติและยังช่วยลดการสูญเสียถึง 1-20% เพราะการตากแดดธรรมชาติในช่วงที่ฝนตกพบว่าเกิดการสูญเสียมาก” นายประพนธ์กล่าว

นายสุรีย์ จรูญศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ พพ.กล่าวว่า พพ.ได้จัดการประชุมย่อย (Focus group) ครั้งที่ 3 เพื่อดำเนินโครงการศึกษาศักยภาพการใช้ และประยุกต์ใช้น้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ ในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการของประเทศไทย เพื่อนำเสนอ

ผลการสำรวจวิเคราะห์ข้อมูล รวมทั้งเสนอแนวทาง แผนการส่งเสริมการใช้งานระบบผลิตน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ และนำเสนอความก้าวหน้าผลการดำเนินงานในภาพรวม โครงการศึกษาศักยภาพการใช้และประยุกต์ใช้น้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการของประเทศไทย รวมถึงการระดมความคิดเห็นและรับฟังข้อเสนอแนะก่อนนำผลการศึกษาไปจัดทำแผนส่งเสริมวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2560

“พิจิตรไบโอ” ท้าชิงไฮบริด ชูจุดแข็งเชื้อเพลิงชีวมวล

รายเล็กโผล่ร่วมประมูลโรงไฟฟ้า SPP hybrid firm “พิจิตร ไบโอเพาเวอร์” ฝ่าวงล้อมรายใหญ่เสนอ 3 โครงการในพื้นที่ภาคเหนือ จับโซลาร์เซลล์-ชีวมวล รวมกับแบตเตอรี่ กำลังผลิตติดตั้งรวม 150 เมกะวัตต์ ชูจุดแข็งด้านเชื้อเพลิง บวกแผนปลูกพืชพลังงานกว่า 8,000 ไร่ แนะ กกพ.ให้การเปิดซองข้อเสนอขายไฟด้านราคาและประกาศรายชื่อผู้ชนะในวันเดียวกัน พร้อมอธิบายเหตุผลการพิจารณาให้ชัดเจน เพื่อความโปร่งใส

นาย บรรจง ตั้งจิตรวัฒนากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท พิจิตรโรงสีร่วมเจริญ 2 ไรซ์ จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ บริษัท พิจิตร ไบโอเพาเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือด้านผลิตไฟฟ้า ได้ยื่นประมูลในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ในแบบ SPP hybrid firm หรือการผสมผสานเชื้อเพลิงตั้งแต่ 1 ประเภทขึ้นไป รวม 300 เมกะวัตต์ ภายใต้อัตราค่าไฟฟ้ารูปแบบ FIT หรือ feed in tariff ที่ 3.66 บาท/หน่วย โดยยื่นรวม 3 โครงการในพื้นที่ภาคเหนือ กำลังผลิตรวม 150 โครงการ โดยจะผสมผสานเชื้อเพลิง คือ 1) โซลาร์เซลล์รวมกับระบบแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน (energy storage) และ 2) ชีวมวลรวมกับระบบแบตเตอรี่ สำหรับเหตุผลที่เลือกใช้ระบบแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน พราะเชื่อมั่นว่าราคาแบตเตอรี่จะลดลงอย่างมากในช่วง 3 ปีต่อจากนี้ ซึ่งสอดคล้องกับระยะเวลาที่ กกพ.กำหนดให้ผู้ชนะการประมูลจะต้องผลิตไฟฟ้าเข้าระบบภายในปี 2563-2564

อย่างไร ก็ตามจะเห็นว่า ผู้เข้าประมูลครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ ในขณะที่บริษัท พิจิตร ไบโอเพาเวอร์ เติบโตมาจากโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ที่มีกำลังผลิตไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ แต่จากประสบการณ์และความเชี่ยวชาญทางด้านโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในช่วงที่ผ่าน มา ทำให้มั่นใจว่าจะสามารถพัฒนาโรงไฟฟ้าที่มีขนาดใหญ่ขึ้นได้ ทั้งนี้ ความสำคัญของโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนคือ “เชื้อเพลิง” ซึ่งบริษัทมีเชื้อเพลิงที่เป็นผลพลอยได้จากธุรกิจสีข้าว คือ แกลบ และมีพันธมิตรที่พร้อมจะป้อนเชื้อเพลิงให้ต่อเนื่องตลอดอายุโรงไฟฟ้า 20 ปี นอกจากนี้ยังเตรียมแผนการปลูกพืชพลังงานรอีกรวม 7,000-8,000 ไร่

“ถ้า สู้กันด้วยเทคโนโลยีและเชื้อเพลิง เราก็ไม่ได้เป็นรองใครสำหรับประมูลโรงไฟฟ้าครั้งนี้ และหากมองเรื่องราคาค่าไฟที่ภาครัฐประกาศราคากลางไว้ที่ 3.66 บาท/หน่วย ก็มองว่าอยู่ในระดับที่ทำได้ แต่ในเมื่อใช้การแข่งขันด้านราคา (competitive bidding) ก็จะต้องกดราคาลงมาให้ได้มากที่สุด ตามที่มีกระแสข่าวว่าค่าไฟฟ้าที่ยื่นเสนออยู่ที่ 2.80-3.20 บาท/หน่วยนั้น ถ้าคำนวณค่าไฟที่ 3.20 บาท/หน่วย ยังพอไหว แต่ที่ราคา 2.80 บาท/หน่วย ถือว่าโหดมาก ซึ่งหากชนะประมูลที่ราคาดังกล่าว รายได้จากการขายไฟฟ้าน่าจะค่อนข้างตึงตัว”

นายบรรจงกล่าวเพิ่มเติม ว่า ภายหลังจากที่ปิดรับยื่นขอขายไฟฟ้าไปแล้ว หลังจากนี้ กกพ.จะประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติและประเมินข้อเสนอขอขายไฟฟ้าด้านเทคนิค หลังจากนั้นจึงจะเปิดซองข้อเสนอขายไฟฟ้าด้านราคา ทั้งนี้ ต้องการเสนอ กกพ.ว่า ในวันที่เปิดซองข้อเสนอขายไฟด้านราคา ต้องการให้ประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกภายในวันเดียวกัน และต้องให้เหตุผลกับภาคเอกชนให้ชัดเจน ทั้งในรายที่ผ่านหรือไม่ผ่านการคัดเลือกด้วย เพื่อความโปร่งใส

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2560

สภาเกษตรกรฯสำรวจปัญหาเกษตรกรจัดทำแผนพัฒนาทุกตำบลทั่วประเทศ

            นายเสน่ห์ วิชัยวงศ์ รองเลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ ได้กล่าวถึงการสำรวจข้อมูลสภาพปัญหาและความต้องการในการพัฒนาของเกษตรกร ว่าเมื่อ 2 ปีที่แล้วประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติมีนโยบายที่จะพัฒนาภาคเกษตรจากเกษตรกรผู้ขายวัตถุดิบไปเป็นอุตสาหกรรม จึงเป็นแนวทางให้สภาฯได้จัดทำแผนพัฒนาตำบลในทุกตำบลโดยเริ่มต้นที่อำเภอละ 1 ตำบล เจตนาที่ลงไปทำแผนก็เพื่อต้องการที่จะค้นหาศักยภาพของตำบลนั้นๆ ของกลุ่มเกษตรกร, เกษตรกรรายบุคคลว่ามีศักยภาพด้านใดบ้าง การที่เราลงไปทำแผนตำบลจะได้ข้อมูลที่เป็นข้อมูลพื้นฐานและข้อมูลที่เป็นความต้องการของเกษตรกรจริงในความต้องการที่อยากจะได้รับการพัฒนาในเรื่องอะไร ความต้องการที่อยากจะต่อยอดเป็นเกษตรอุตสาหกรรมเรื่องใด โดยสภาเกษตรกรฯทำมาทุกปี ปีละ 888 อำเภอ 888 ตำบลในทุกปี

          "ตอนนี้ขึ้นปีที่ 3 ซึ่งข้อมูลที่ได้มาเบื้องต้น 2 ปีนี้ก็จะมีอยู่ประมาณ 2,000 ตำบล 2,000 กลุ่ม  ในจำนวนนี้แต่ละจังหวัดต้องสำรวจและจัดเก็บข้อมูลว่าเกษตรกร/หมู่บ้าน/องค์กรนี้เหมาะที่จะทำอะไร มีความสนใจเรื่องอะไร มีองค์ความรู้เดิมเรื่องอะไร เหล่านี้เป็นพื้นฐานข้อมูลที่สำคัญ เมื่อได้ข้อมูลมาสิ่งที่เราต้องดำเนินการต่อคือคลังข้อมูลหรือดาต้าแบงค์ ที่เป็นความต้องการของเกษตรกรอย่างแท้จริง สภาเกษตรกรฯจึงต้องจัดทำเรื่องนี้ระดับจังหวัดและระดับชาติด้วย เพื่อเวลาที่จะไปบูรณาการโครงการเพื่อเกษตรกรกับหน่วยงานต่างๆ หากมีคลังข้อมูลก็สามารถดำเนินการได้ทันท่วงทีและตรงกับความต้องการของเกษตรกรอย่างแท้จริง"

            อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเบื้องต้นที่ได้มาในขณะนี้ความต้องการรับการพัฒนา 4 ภาคทั่วประเทศ รวม 636 หมู่บ้าน  547 องค์กร 32,292 ราย ต้องการพัฒนาด้านพืช สัตว์ ประมง อาหาร บรรจุภัณฑ์ ท่องเที่ยวเชิงเกษตร แปรรูป เครื่องจักรกล เป็นต้น   สำหรับข้อมูลที่สภาเกษตรกรจังหวัดจัดเก็บเพื่อเตรียมทำแผนตำบล ณ วันที่ 16 ต.ค.2560 ภาคเหนือ 186 ตำบล ภาคกลาง 220 ตำบล ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 317 ตำบล ภาคใต้ 157 ตำบล รวมทั้งสิ้น 880 ตำบล  โดยข้อมูลนี้เป็นข้อมูลสำคัญที่สภาเกษตรกรฯจะนำไปเชื่อมโยงในการพัฒนาเกษตรกรร่วมกับการบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆด้วย เช่นที่ผ่านสภาเกษตรกรฯได้นำข้อมูลเข้าบูรณาการร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย สถาบันการอาชีวศึกษาเกษตร 4 ภาค และล่าสุดประสานข้อมูลกับกรมการพัฒนาชุมชนเพื่อดำเนินการในปีงบประมาณ 2561 ต่อไป

           " โลกเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก เกษตรกรควรปรับตัว กระตือรือร้น พัฒนาตนเองไปสู่ผู้ประกอบการ สภาเกษตรกรฯจะเป็นกลไกในการเชื่อมโยง ประสานหน่วยงานต่างๆนำองค์ความรู้สู่เกษตรกรให้ตรงกับปัญหาและความต้องการพัฒนา " นายเสน่ห์ กล่าวปิดท้าย

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ราคาอ้อยร่วงเหลือ800บาทต่อตัน

รายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า วันที่ 31 ต.ค.นี้ นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.) ร่วมกับชาวไร่และโรงงานน้ำตาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีวาระสำคัญ กำหนดราคาอ้อยขั้นต้นฤดูผลิต 60/61 คาดว่า อยู่ราคาประมาณ 800 บาทต่อตัน เนื่องจากราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกปรับลดเหลือ 14 เซนต์ต่อปอนด์ จากฤดูการผลิตปี 59/60 ซึ่งตลาดโลกสูงถึง 21 เซนต์ต่อปอน ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าต้นทุนที่ชาวไร่เรียกร้องอยู่ที่ประมาณ 1,000 บาทต่อตัน จึงต้องติดตามที่ประชุมว่า จะคำนวณราคาอ้อยอย่างไร เพราะต้องดูแนวโน้มราคาตลาดโลกอีกครั้ง รวมทั้งการเคลื่อนไหวค่าเงินบาทช่วงที่ผ่านมา และบทบาทของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย(กท.) ที่มีเงินอยู่ประมาณ 7,000 ล้านบาทจะเข้าช่วยเหลืออย่างไรได้บ้าง

นอกจากนี้ที่ประชุมกอน.จะกำหนดวันเปิดหีบ หรือวันเริ่มตัดอ้อยส่งให้โรงงานน้ำตาลทราย เบื้องต้นคือวันที่ 1 ธ.ค. 60 จากปกติจะเปิดหีบช่วงเดือนพ.ย. แต่ช่วง 1-2 ปีมานี้กำหนดเปิดหีบเลื่อนเป็นเดือนธ.ค. เนื่องจากปลายปีฝนตกหนักหลายพื้นที่ จึงไม่สะดวกต่อการตัดอ้อย แต่เป็นผลดีกับอ้อย ทำให้เติบโตมากขึ้น โดยต้องลุ้นสภาพอากาศว่าจะเข้าสู่ฤดูหนาวเมื่อใด หากหนาวเร็วและหนาวนาน จะยิ่งเพิ่มความหวานของอ้อยให้สามารถขายได้ราคาดียิ่งขึ้น โดยฤดูการผลิต 60/61 ประมาณการค่าความหวานไว้ที่ 11.5 ซี.ซี.เอส จากปริมาณอ้อยทั่วประเทศประมาณ 103 ล้านตัน

จาก https://www.dailynews.co.th วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2560

กรมชลประทานชี้แจงการให้ข้อมูลสถานการณ์น้ำ

ตามที่มีมติชนออนไลน์ได้มีการเสนอข่าว“สถานการณ์ อุทกภัย น้ำไหลหลาก ‘การข่าว’ยังสะเปะสะปะ สับสน” เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2560 นั่น สำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน ขอเรียนว่า กรมชลประทานมีการให้ข้อมูลข่าวสารเรื่องสถานการณ์น้ำเป็นประจำทุกวัน ทั้งรายงานผ่านสื่อต่างๆ และรายงานผ่านช่องทางการสื่อสารของกรมชลประทาน รวมทั้งได้ให้ข้อมูลกับหน่วยงานในแต่ละพื้นที่เพื่อแจ้งให้ประชาชนทราบ อย่างต่อเนื่อง                                                           

สำหรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน่ำเจ้าพระยา ปัจจุบัน(28 ต.ค. 60) ปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ ลดลงอย่างต่อเนื่อง เช้านี้วัดได้ 2,919 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำลดลงจากวานนี้(27 ต.ค. 60)  12 เซนติเมตร ส่งผลให้ระดับน้ำบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ที่ +17.35 เมตร(รทก.) ระดับน้ำลดลง  6 เซนติเมตร ปริมาณน้ำไหลผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยายังคงที่ในอัตรา 2,697 ลบ.ม./วินาที ทำให้ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนจนถึงบริเวณ จ.อ่างทอง มีระดับน้ำทรงตัว ส่วนที่คลองโผงเผง ระดับน้ำลดลง 1 เซนติเมตร บ้านป้อม  จ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำลดลง 3 เซนติเมตร และบริเวณ อ.บางบาล ระดับน้ำเพิ่มขึ้น 1 เซนติเมตร

จากสถานการณ์ดังกล่าวข้างต้น กรมชลประทาน ได้ปรับแผนการระบายน้ำ โดยควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาไม่เกิน 2,700 ลบ.ม./วินาที พร้อมกับลดน้ำเข้าพื้นที่ฝั่งตะวันตก จาก 500 เหลือ 475 ลบ.ม./วินาที และจะลดลงตามลำดับ สำหรับในพื้นที่ฝั่งตะวันออก เมื่อระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาลดต่ำลงอยู่ที่ระดับ +17.30 เมตร(รทก.) จะลดการรับน้ำเข้าระบบชลประทานจาก 270 เหลือ 245 ลบ.ม./วินาที และจะลดลงตามลำดับเช่นกัน จากนั้นเมื่อระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาลดลงอยู่ในระดับที่ไม่ส่งผลกระทบ ต่อพื้นที่เหนือเขื่อนแล้ว จะทยอยลดปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาลง ให้สมดุลกับปริมาณน้ำที่ไหลเข้าในสัดส่วนที่สอดคล้องกัน ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลดลงในระยะต่อไป

ในส่วนของการนำน้ำออกจากทุ่งพื้นที่ลุ่มต่ำทั้งหมด ซึ่งปัจจุบัน(28 ต.ค. 60) มีปริมาณน้ำในทุ่งรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 1,418 ล้าน ลบ.ม. นั้น กรมชลประทาน ได้วางแผนทยอยระบายน้ำออกจากทุ่งทีละทุ่ง เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 60 – ต้นเดือน ม.ค. 61 โดยจะเริ่มตั้งแต่ทุ่งบางระกำก่อน ไล่ลงมาจนถึงทุ่งสุดท้ายคือทุ่งโครงการฯโพธิ์พระยา เพื่อให้สอดคล้องกับการเพาะปลูกของเกษตรกรในพื้นที่ด้วย

สำหรับเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 953 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 99 ของความจุอ่างฯ ระบายน้ำวันละ 25 ล้าน ลบ.ม./วัน น้ำไหลเข้าอ่างฯมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ทั้งนี้ ได้ควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนพระรามหก ในอัตรา 500 – 550 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทั้งนี้ จะรับน้ำส่วนหนึ่งเข้าระบบชลประทานฝั่งตะวันออกตอนล่างผ่านคลองระพีพัฒน์ ในอัตราเฉลี่ย 120 – 160 ลบ.ม./วินาที เพื่อแบ่งรับน้ำจากแม่น้ำป่าสักลงสู่คลองรังสิตก่อนที่จะระบายออกสู่แม่น้ำ เจ้าพระยาและแม่น้ำบางปะกง โดยจะควบคุมปริมาณน้ำให้อยู่ในคลองไม่ให้เกิดผลกระทบต่อพื้นริมคลองที่น้ำ ไหลผ่าน

กรมชลประทาน ได้เร่งระบายน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาให้ไหลลงสู่ทะเลให้เร็วที่สุด โดยได้รับการสนับสนุนเรือผลักดันน้ำ 7 ลำ และเรือหลวงมารวิชัย 1 ลำ จากกองทัพเรือ ติดตั้งในบริเวณท้ายประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ จ.สมุทรปราการ ช่วยเร่งระบายน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงที่น้ำลง นอกจากนี้ ยังได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำอีก 14 เครื่อง ในบริเวณคลองระพีพัฒน์ ไซฟ่อนพระธรรมราชา ไซฟ่อนพระอินทราชา คลองเปรมประชากร ประตูระบายน้ำคอกกระบือ ประตูระบายน้ำบางน้ำจืด และบริเวณท้ายท่อระบายน้ำบึงฝรั่ง เพื่อเพิ่มศักยภาพในการระบายน้ำลงสู่ทะเลให้เร็วขึ้น

ในส่วนของลุ่มน้ำท่าจีน ในช่วงวันที่ 27 ต.ค. - 5 พ.ย. 60 จะควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านประตูระบายน้ำโพธิ์พระยา ในอัตราที่ไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เศรษฐกิจริมฝั่งแม่น้ำท่าจีน พร้อมกับรับน้ำเข้าทุ่งพื้นที่ลุ่มต่ำ ประกอบด้วย ทุ่งเจ้าเจ็ด ทุ่งบางบาล ทุ่งบ้านแพน ทุ่งโพธิ์พระยา ทุ่งป่าโมก และทุ่งผักไห่ โดยจะสูบน้ำและเปิดระบายน้ำลงสู่แม่น้ำท่าจีนตอนล่างตามความเหมาะสม ทั้งนี้ ได้ติดตั้งเรือผลักดันน้ำ 55 ลำ บริเวณ จ.สมุทรสาคร ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทัพเรือ และเครื่องผลักดันน้ำของกรมชลประทานอีก 53 เครื่อง ติดตั้งบริเวณ จ.นครปฐม เพื่อเร่งระบายน้ำจากพื้นที่ฝั่งตะวันตกของลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ไหลลงสู่แม่ น้ำท่าจีนให้ไหลลงสู่ทะเลโดยเร็วต่อไป

จาก http://www.banmuang.co.th วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2560

มันทุกเม็ด! “มิตรผล”ผนึกโรงงานแม่รวย ส่งเสริมชาวไร่อ้อยปลูกถั่วลิสงป้อนโก๋แก่

มิตรผลจับมือโรงงานแม่รวย ศึกษากระบวนการปลูกถั่วลิสง หวังส่งเสริมชาวไร่อ้อยปลูกป้อนโรงงานถั่วโก๋แก่ หลังประสบปัญหาขาดวัตถุดิบอย่างหนัก พร้อมแจ้งเกิดศูนย์ต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง นำร่อง 70 แห่ง 8 จังหวัดปีนี้ ก่อนขยายครบ 7,000 แห่งทั่วประเทศในอนาคต

นายบรรเทิง ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มธุรกิจ กลุ่มงานอ้อย กลุ่มมิตรผล เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ทางกลุ่มมิตรผลได้ร่วมกับบริษัท โรงงานแม่รวย จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายถั่วลิสงกรอบเคลือบกะทิ ภายใต้แบรนด์ “โก๋แก่” เพื่อศึกษาเกี่ยวกับกระบวนการผลิตถั่วลิสงในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การปลูก การเก็บเกี่ยว และการดูแลรักษาหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อให้ได้ถั่วลิสงที่มีคุณภาพดี ปลอดภัยจากสารอะฟลาทอกซิน พร้อมส่งเป็นวัตถุดิบเข้าโรงงานแปรรูป หลังจากนั้นจะเตรียมถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับชาวไร่อ้อยในภาคตะวันออกเฉียง เหนือ ไปปลูกเสริมหลังการเก็บเกี่ยวอ้อยระหว่าง 4-5 เดือน เนื่องจากมีตลาดรองรับชัดเจน เพราะทางบริษัท โรงงานแม่รวยกำลังขาดแคลนวัตถุดิบถั่วลิสงอย่างมาก

 “ก่อนหน้านี้ มิตรผลให้นโยบายชาวไร่อ้อยไปปลูกพืชตระกูลถั่วบำรุงดิน แรก ๆ ให้ปลูกถั่วเหลืองอย่างเดียวสลับกับการปลูกอ้อย ตอนนี้เริ่มมองถั่วลิสง เพราะผลิตภัณฑ์ถั่วลิสงโก๋แก่ยังมีความต้องการผลผลิตมาก ขาดแคลนมาก เรากำลังดูว่าระหว่างที่เราพักดิน 4-5 เดือน เราปลูกในพื้นที่เรา ตอนนี้กำลังศึกษาร่วมกันอยู่ ถ้าทำได้ จะทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น ตอนนี้เรากำลังหาผู้เชี่ยวชาญเรื่องการจัดเก็บ เรื่องอะฟลาทอกซินมาให้ความรู้ก่อน เก็บแล้วทำอย่างไรไม่ให้เกิดอะฟลาทอกซิน จะเริ่มทดลองแถวอีสาน เพราะอีสานปลูกอ้อยในช่วงฤดูหลังฝน อ้อยปลายฝน จะมีเวลาตั้งแต่เราปิดหีบอ้อยหลังสงกรานต์ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไปจะเข้าสู่ฤดูฝน ก็สามารถปลูกถั่วได้ พอฝนหมดเก็บเกี่ยวพวกถั่ว ปลูกอ้อยตามเลย การปลูกพืชตระกูลถั่วจะมีปมดึงไนโตรเจนจากอากาศเข้ามาเก็บไว้ที่ดิน จะเป็นประโยชน์บำรุงให้พืชเขียว และงอกไว เป็นการตัดวงจรศัตรูพืชด้วย รวมถึงจะช่วยชาวไร่ในการทำตลาดอีกหลายสินค้าที่อยู่ระหว่างพัฒนา โดยจะผลิตและวางจำหน่ายลักษณะวิสาหกิจชุมชน สินค้าโอท็อปในอนาคต” นายบรรเทิงกล่าวและว่า

ขณะเดียวกัน มิตรผลได้เข้าร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนิน “โครงการ 5 ประสานเกษตรทฤษฎีใหม่” ภายใต้นโยบายสานพลังประชารัฐ ซึ่งได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนโครงการมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2560 โดยใช้งบประมาณ 20 ล้านบาท โดยมิตรผลได้คัดเลือกเกษตรกรกลุ่มที่มีความพร้อม จำนวน 292 ราย จากทั้งหมด 1,100 ราย ในพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ สิงห์บุรี สุพรรณบุรี ขอนแก่น กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ เลย ตาก อำนาจเจริญ มาอบรมเกษตรทฤษฎีใหม่กับปราชญ์ในพื้นที่ และสนับสนุนปัจจัยการผลิตเพื่อส่งเสริมการผลิตในแปลง โดยการตั้งเป็นธนาคารปศุสัตว์และพันธุ์พืช เพื่อให้เกษตรกรได้มีส่วนร่วมในการแบ่งปันองค์ความรู้แก่เกษตรกรรายอื่น รวมถึงการช่วยหาตลาดให้

ล่าสุด มิตรผลได้จัดทำโครงการพิเศษที่จะขับเคลื่อนชาวไร่อ้อยรายเล็ก เรื่องการประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามแนวทางของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จึงได้มีโครงการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ต้นแบบ มีโครงการนำร่อง 70 ศูนย์ภายในปีนี้ หลังจากนั้นจะขยายไปถึง 700 ศูนย์ ในปี 2561 และครบ 7,000 ศูนย์ในอนาคต ภายใต้ชื่อ “โครงการทำตามพ่อ ปลูก เพ(ร)าะ สุข” โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาชาวไร่อ้อย ขยายวงกว้างให้มีการทำเกษตรผสมผสานในครัวเรือน ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ มีความมั่นคงด้านอาหารในครัวเรือน ซึ่งเป็นแนวทางสร้างสุขให้ชาวไร่ได้อย่างยั่งยืน ให้ครอบคลุมกับชาวไร่ในเครือข่ายให้ได้มากที่สุด และในเดือนพฤศจิกายน 2560 จะจัดตลาดนัดพิเศษนำร่องให้ชาวไร่อ้อยทุกจังหวัดที่อยู่ในโครงการ นำผลิตผลทางการเกษตรที่ปลูกได้ และแปรรูปมาวางจำหน่ายที่เซ็นทรัลเวิลด์

“การประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การใช้แนวคิดเกษตรทฤษฎีใหม่ การรวมแปลง จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตชาวไร่อ้อย โดยเฉพาะการปลูกพืชผสมผสานเพิ่มรายได้ที่นอกจากพืชประธาน คือ อ้อย ที่ผ่านมาอาจจะเกิดอุปสรรค เพราะเกษตรกรอาจจะยังไม่เชื่อมั่น แต่เมื่อได้เห็นศูนย์เรียนรู้ต้นแบบ เห็นชาวไร่บางคนที่ประสบความสำเร็จจากสิ่งเหล่านี้ คนที่เหลือจะอยู่นิ่งแบบเดิมไม่ได้ นั่นเป็นสิ่งหนึ่งที่เราคิดว่าต้องมีศูนย์เรียนรู้ ให้เกิดความเข้มแข็ง ให้ความรู้เรื่องดิน น้ำ ปศุสัตว์ พืชผล นอกจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว คือ อ้อย”

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 29 ตุลาคม 2560

ไทย-จีนกระชับมั่นเศรษฐกิจ “สมคิด” จูงมือร่วมพัฒนาเกษตรสมัยใหม่

“สมคิด” หารือรองนายกฯจีนเดินหน้า เชื่อมต่อไทยกับเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมลุ่มแม่น้ำจูเจียง ดันไทยเป็นฮับอาเซียนและซีแอลเอ็มวี ดึงจีนร่วมพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่และยกระดับการพัฒนาภาคการผลิต บริการ และโลจิสติกส์ พร้อมเจรจารถไฟไทยจีนระยะที่ 2 โคราช-หนองคายในปี 2561

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังหารืออย่างเป็นทางการกับจางเกาลี่ รองนายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนและคณะ ว่า ได้เห็นชอบร่วมกันในการให้ความสำคัญกับโครงการเส้นทางสายทางสายไหม (one belt one road) และความร่วมมือโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย (รถไฟไทย-จีน) ซึ่งทั้งสองฝ่ายมีความพอใจในความคืบหน้า โดยคาดว่าในเดือน พ.ย.นี้ จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้

ขณะเดียวกัน ได้นำเสนอแนวคิดในการ ประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยความร่วมมือการค้า การลงทุน และความร่วมมืมือการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-จีน ซึ่งจะมีขึ้นในต้นปี 2561 ใน 2 ประเด็น คือ 1.การยกระดับความสัมพันธ์ด้านเกษตร จากการที่จีนเป็นเพียงตลาดรับซื้อ มาเป็นการร่วมพัฒนาโดยใช้วิทยาการสมัยใหม่เพื่อเพิ่มมูลค่า 2.ความร่วมมือยกระดับการพัฒนาทั้งภาคการผลิต ภาคบริการ และภาคโลจิสติกส์ โดยเน้นการสร้างคลัสเตอร์เฉพาะอย่าง ที่เน้นการใช้เทคโนโลยี และคลัสเตอร์โดยเฉพาะ เช่น เศรษฐกิจชีวภาพ หรือไบโออีโคโนมีการเกษตรแปรรูป ท่องเที่ยว และโลจิสติกส์

นอกจากนี้ ได้หารือถึงการเชื่อมต่อไทยเข้ากับเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมลุ่มแม่น้ำจูเจียง (Pan Pearl River Delta:PPRD) ซึ่งมี 11 มณฑล ที่เป็นมณฑลที่จะมีประโยชน์สูงสุดต่อเส้นทางสายไหมและโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ของไทย ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นยุทธศาสตร์สำคัญทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางระหว่างเขตเศรษฐกิจ สามเหลี่ยมลุ่มแม่น้ำจูเจียง ที่มี 11 มณฑลและภูมิภาคอาเซียน ตลอดจนกลุ่มซีแอลเอ็มวี ประกอบด้วย กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนามได้อย่างแท้จริง

ด้านนายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ กล่าวว่า นายสมคิดได้เสนอจีนให้มีกลไกที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมลุ่มแม่น้ำจูเจียงกับอาเซียน โดยเป็นความร่วมมือด้านยุทธศาสตร์ระหว่างภูมิภาคต่อภูมิภาค (regional to regional) ซึ่งที่ผ่านมาเป็นความร่วมมือในระดับประเทศต่อประเทศเท่านั้น โดยเห็นว่าโครงการนี้มีความสำคัญอย่างมาก เคยหารือกันตั้งแต่ 10 ปีก่อนแต่ ในช่วงหลัง ไม่ได้ความสำคัญ ซึ่งการที่ฮ่องกงได้ตัดสินใจมาตั้งสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าฮ่องกง (HKETO) ในประเทศไทยนั้น จะมีบทบาทสำคัญในการเป็นหัวหอกในการมาลงทุนของนักลงทุนจีนทางตอนใต้สู่ไทยและอาเซียนได้เป็นอย่างดีซึ่งในขณะนี้กระทรวงต่างประเทศกำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการในเรื่องนี้

ในส่วนของความร่วมมือด้านยุทธศาสตร์กับประเทศไทยนั้น ไทยได้เสนอให้มีความร่วมมือในการพัฒนาเพื่อยกระดับชุมชนไทย โดยเฉพาะการพัฒนาด้านการเกษตร ความร่วมมือ ด้านภาคการผลิต และโลจิสติกส์ ซึ่งจะมีการหารือในรายละเอียดในการประชุม

ทั้งนี้ นายจางกล่าวว่า ประเทศไทยเป็นเพื่อนบ้านของจีน ที่มีความสัมพันธ์มาอย่างยาวนาน และประเทศจีนกำลังอยู่ในช่วงของการพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่ ซึ่งมีการใช้นวัตกรรมเพิ่มผลผลิต ซึ่งมีความยินดีที่จะร่วมมือกับประเทศไทย นอกจากนี้ นายจางระบุด้วยว่า จีนให้ความสำคัญกับโครงการรถไฟไทย-จีนอย่างมาก เพราะถือเป็นเส้นทางสายสำคัญ ขณะที่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม ได้รายงานในที่ประชุมว่า ขณะนี้ โครงการรถไฟไทย-จีน ระยะที่ 1 เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย ได้ลงนามไปแล้ว 2 สัญญา เมื่อวันที่ 4 ก.ย.ที่ผ่านมา คือเรื่องการออกแบบ และงานก่อสร้าง ส่วนสัญญาที่ 3 จะมีการจะลงนามในต้นปี 2561 ในเรื่องของระบบอาณัติ สัญญาณซึ่งใช้ เทคโนโลยีของจีน ส่วนโครงการในระยะที่ 2 เส้นทางนครราชสีมา-หนองคาย น่าจะเจรจาได้ภายในปี 2561.

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 28 ตุลาคม 2560

เศรษฐกิจต่างจังหวัดปีหน้ายังอ่วม ทีเอ็มบีชี้คนไทยกำลังซื้อ“สิงห์ปืนฝืด”

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทีเอ็มบี รายงานว่า รายได้เกษตรกรปีหน้ายังอยู่ในภาวะนิ่ง ส่งผลให้กำลังซื้อเศรษฐกิจภูมิภาคไม่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน เหตุราคาสินค้าเกษตรสำคัญทรงตัว หวังรัฐเร่งเบิกจ่ายงบประมาณและมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม แม้เศรษฐกิจปี 2561 มีทิศทิศทางปรับตัวดีขึ้นกว่าปีนี้จากคาดการณ์ โดยคาดว่าจะขยายตัว 3.8% เพิ่มจากปีนี้ที่ขยายตัว 3.5% ปัจจัยหลักคือการส่งออกปรับตัวดีขึ้น แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังกระจุกอยู่ในพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ ด้านเศรษฐกิจภูมิภาคยังคงทรงตัว เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรสำคัญ คือ ข้าว ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน มีแนวโน้มทรงตัวต่อเนื่องจากปีนี้

โดยศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี ประเมินว่า ราคาเฉลี่ยข้าวเปลือกและยางแผ่นดิบที่เกษตรกรจะขายได้ในปี 2561 อยู่ที่ 7,700 บาทต่อตัน และ 66 บาทต่อกิโลกรบาทต่อกิโลกรัม หรือเพิ่มขึ้น 2% และ 1.5% ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกแม้ปริมาณจะเพิ่มขึ้นแต่อาจได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ซึ่งลดทอนความสามารถในการส่งออกข้าวและยางของไทย ขณะที่ราคามันสำปะหลังและปาล์มน้ำมันปีหน้า คาดว่ามันสดจะมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 1.40 บาทต่อกิโลกรัม เนื่องจากการปริมาณส่งออกไปจีนยังคงลดลงต่อเนื่อง ด้านปาล์มน้ำมัน คาดว่าราคาเฉลี่ยปาล์มสดอยู่ที่ 4.70 บาทต่อกิโลกรัม ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.4% เนื่องจากผลผลิตปาล์มสดออกสู่ตลาดเป็นปกติ และไม่เกิดภาวะภัยแล้ง

ทั้งนี้ สินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาลดลงปีหน้า คือ อ้อย ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากราคาน้ำตาลตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงจากต้นปีนี้กว่า 30% ทำให้ราคาอ้อยโรงงาน ปี 2561 จะอยู่ที่ 900 บาทต่อตันจากราคาเฉลี่ย 982 บาทต่อตัน นอกจากนี้ อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายยังต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการกำกับดูแลและกลไกการกำหนดราคา ซึ่งยังอยู่ในระยะเริ่มต้น อาจส่งผลต่อราคารับซื้ออ้อยจากเกษตรกร

ดังนั้น เมื่อภาพรวมของราคาสินค้าเกษตรสำคัญที่มีมูลค่าผลผลิตกว่า 710,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นรายได้ของเกษตรกรกว่า 12 ล้านคน ทั่วประเทศ มีแนวโน้มทรงตัวในปีหน้าทำให้คาดการณ์ดัชนีรายได้เกษตรกรปี 2561 พบว่า รายได้จะไม่ขยายตัว โดยเกษตรกรพื้นที่ภาคใต้ ภาคตะวันออก และบางจังหวัดในภาคกลาง รวม 21 จังหวัด มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย ขณะที่ 56 จังหวัด ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีแนวโน้มรายได้ทรงตัว และจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้อง อาทิ ธุรกิจปุ๋ย เคมีภัณฑ์ เป็นต้น รวมทั้งการจับจ่ายใช้สอยในเศรษฐกิจภูมิภาคอาจชะลอตัวจากความไม่มั่นใจในรายได้ของเกษตรกร

สำหรับกลุ่มสินค้าที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงคือ สินค้าคงทน สินค้าฟุ่มเฟือย สินค้าที่มีมูลค่าสูง และสามารถเลื่อนเวลาซื้อออกไปได้ เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เป็นต้น ดังนั้น เพื่อให้เศรษฐกิจภูมิภาคมีสภาพคล่องและขยายตัวได้ในระยะที่เกษตรกรไม่สามารถใช้จ่ายได้เพิ่มขึ้น ภาครัฐต้องเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณมากขึ้น หรือเพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภูมิภาค

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2560

สอน.เมินเสียงค้านลุยลอยตัวน้ำตาล

สอน.ย้ำไม่ต้องห่วงลอยตัวน้ำตาลพัง ยันเตรียมความพร้อมในการปรับปรุงระบบแล้ว ด้าน กอน.จ่อถกแก้ไขระเบียบ 31 ต.ค.นี้ ก่อนเสนอ ครม.พิจารณาความเห็นชอบต่อไป

นางวรวรรณ ชิตอรุณ รองเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) รักษาราชการแทนเลขาธิการ สอน. เปิดเผยถึงกรณีชาวไร่อ้อยเตรียมประชุมหารือนโยบายการยกเลิกโควตาและลอยตัวน้ำตาลทรายที่ภาครัฐจะประกาศลอยตัวอย่างเป็นทางการ หากภาครัฐยังไม่พร้อมก็ควรเลื่อนระยะเวลาการลอยตัวออกไปก่อน ยืนยันว่าขณะนี้ สอน.ได้เตรียมความพร้อมในการปรับปรุงระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไว้เรียบร้อยแล้ว โดยในช่วงเดือน ต.ค.2560 นี้ สอน.ได้มีการประชุมหารือกับผู้แทนชาวไร่อ้อยและผู้แทนโรงงานน้ำตาล จำนวน 3 ครั้งแล้ว และได้ข้อสรุปร่วมกันในหลักการการปรับปรุงระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเป็นที่เรียบร้อย

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการลอยตัวน้ำตาลจะต้องมีการแก้ไขระเบียบที่เกี่ยวข้อง ซึ่งตามขั้นตอนจะต้องนำเสนอร่างระเบียบต่างๆ ต่อคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ที่มีผู้แทนฝ่ายราชการ ฝ่ายชาวไร่อ้อย และฝ่ายโรงงานร่วมเป็นคณะกรรมการพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน โดยมีกำหนดการประชุม กอน.ในวันที่ 31 ต.ค.2560 จากนั้นจึงนำเสนอกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป ซึ่งสำนักงานจะต้องเร่งรัดดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่วางไว้ อย่างไรก็ตาม แนวทางดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ได้ก็จะต้องผ่านการพิจารณาของ กอน.และ ครม.ตามลำดับ.

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2560

กรมชลเตรียมพร้อม รับฝนเคลื่อนลงใต้ เฝ้าระวังเข้ม4จังหวัด

นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 14 กรมชลประทาน เปิดเผยว่า ช่วงปลายเดือนตุลาคม-ธันวาคม เป็นช่วงที่ฝนเคลื่อนตัวลงสู่ภาคใต้ กรมชลประทานจึงเตรียมความพร้อมรับมือ โดยเฉพาะในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และระนอง โดยดำเนินการกำจัดวัชพืชบริเวณแม่น้ำปราณบุรี แม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำชุมพร ขุดลอกวัชพืช ขยะต่างๆ บริเวณคลองส่งน้ำ คลองระบายน้ำชลประทาน และคลองธรรมชาติเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการส่งน้ำและการระบายน้ำ พร้อมทั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 60 เครื่อง และเครื่องผลักดันน้ำอีก 8 เครื่อง เสร็จเรียบร้อย

นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่กรมชลประทานทำการเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดภาวะน้ำท่วมเป็นพิเศษ คือ เขตเทศบาลเมืองเพชรบุรี เขตเทศบาลหัวหิน อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ บริเวณทางหลวงหมายเลข 4 และ อ.หลังสวน จ.ชุมพร พร้อมทั้งได้ทำหนังสือแจ้งข่าวสารสถานการณ์น้ำไปถึงผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ เทศบาล ในพื้นที่แล้วอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำ

จาก http://www.naewna.com วันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2560

กรมชลฯถอน EHIA เขื่อนแม่วงก์กลับมาทบทวน ตั้งคณะทำงานร่วมศึกษาใหม่ทั้งหมด คาดใช้เวลา 1 ปี

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่กรมชลประทานได้จัดส่งรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบและสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ (EHIA : อีเอชไอเอ) โครงการเขื่อนแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ ให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณาและนำเสนอให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อเข้าสู่การพิจารณาตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องนั้น ขณะนี้กรมชลฯได้ขอถอนเรื่องดังกล่าวออกมาจากการพิจารณาก่อน เนื่องจากได้รับการร้องเรียนถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง กรมชลฯจะศึกษาใหม่ร่วมกับหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ โดยจะตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อให้ได้ผลการศึกษาที่มีความชัดเจนที่สุดก่อนจะเสนอให้ คชก.พิจารณาอีกครั้ง คาดว่าจะใช้ระยะเวลาดำเนินการอย่างน้อย 1 ปี

นายสมเกียรติกล่าวว่า โครงการเขื่อนแม่วงก์จะมีความจุ 265 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เป็นเขื่อนขนาดเล็ก มูลค่าตัวเขื่อนประมาณ 3,000 ล้านบาท แต่เนื่องจากการสร้างเขื่อนจะกระทบกับพื้นที่ของประชาชน ต้องจัดโครงข่ายน้ำทั้งระบบใหม่ทั้งหมด ทำให้ต้องใช้งบทั้งโครงการร่วม 10,000 ล้านบาท การศึกษาเขื่อนแม่วงก์ครั้งใหม่นี้อาจมีการจัดรูปแบบของตัวเขื่อน พื้นที่การก่อสร้าง โครงข่ายน้ำทั้งจากตัวเขื่อนและอ่างน้ำธรรมชาติในบริเวณนั้นทั้งหมด โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าไปบริการจัดการ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงการปลูกพืชต่างๆ ทั้งการปลูกทดแทนและเกษตรกรรมจะต้องเหมาะสมกับดินในบริเวณนั้นด้วย

“เขื่อนแม่วงก์ที่จะสร้างขึ้นจะเป็นการชะลอน้ำจากแม่น้ำสะแกกรัง ในบริเวณ อ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์ ที่ปัจจุบันไม่มีเครื่องมือใดๆ ทำให้บริหารจัดการน้ำลำบากมาก ในช่วงน้ำหลาก น้ำจากสะแกกรังจะไหลบ่าผ่าน อ.ลาดยาว เข้าสู่ตัวเมืองอุทัยธานีเพื่อลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา เกษตรกรที่อยู่ในเส้นทางน้ำไม่ได้ใช้ประโยชน์ เกิดปัญหาน้ำท่วมและแล้งซ้ำซาก ดังนั้นการศึกษาครั้งใหม่ยังจำเป็นต้องสร้างตัวเขื่อนรองรับน้ำ แต่จะเพิ่มเติมเรื่องโครงข่ายเส้นทางน้ำให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น พร้อมกับองค์ประกอบทั้งหมดและเป้าหมายที่ชัดเจนของโครงการ”

นายสมเกียรติกล่าวว่า สำหรับข้อร้องเรียนกรณีสร้างเขื่อนแม่วงก์ ระบุว่า 1.โครงการเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ เป็นโครงการที่อยู่ในแผนพัฒนาลุ่มแม่น้ำสะแกกรัง ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 พ.ศ.2525-2529 เนื่องจากปัญหาสภาพอุทกภัยและภัยแล้งที่เกิดขึ้นเป็นประจำและปัญหาความยากจนในพื้นที่ลุ่มน้ำ โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีความเห็นเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2555 ว่า เป็นโครงการที่มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการน้ำและแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศ จึงเห็นชอบในหลักการการดำเนินงานโครงการ และมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดทำรายละเอียดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจนครบถ้วน เพื่อเสนอให้คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) พิจารณาขั้นตอนตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ พ.ศ.2555 ต่อไป

นายสมเกียรติกล่าวว่า 2.กรมชลฯได้เสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และชี้แจงรายงานตามข้อคิดเห็นของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้านการพัฒนาแหล่งน้ำอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านวิศวกรรม นิเวศวิทยาป่าไม้และสัตว์ป่า เศรษฐศาสตร์ สิ่งแวดล้อม และด้านสังคม ตามกรอบแนวทางการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำหนดไว้ รวมทั้งมีข้อคิดเห็นบางประเด็นที่ครอบคลุมในระดับการวิจัยหรือให้ศึกษาเพิ่มเติมในระดับลุ่มแม่น้ำ ภูมิภาค หรือเปรียบเทียบกับผลการศึกษาระดับทั้งประเทศ ซึ่งเกินจากขอบเขตการศึกษาเติมที่กรมชลฯดำเนินการไว้

นายสมเกียรติกล่าวว่า 3.ระหว่างรอการพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ กรมชลฯได้ศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ และข้อเสนอแนวทางจากหน่วยงานต่างๆ ตลอดจนมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร มาพิจารณาดำเนินการจัดแนวทางเลือกในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและขาดแคลนน้ำลุ่มน้ำสะแกกรังในเขตพื้นที่ อ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์ ภายใต้กรอบการบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่ เพื่อแก้ไขปัญหาทั้งระบบตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำ ปี 2558-2564 พร้อมกำหนดแผนการดำเนินการ 3 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาร่วมกันโดยไม่เกิดประเด็นต่อต้านคัดค้านและขัดแย้งทางสังคม จึงดำเนินการตามแผนระยะเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อลักษณะหรือขนาดโครงการที่ได้ศึกษาไว้เดิม ทำให้ต้องมีการทบทวนลักษณะโครงการใหม่ที่สอดคล้องกับแนวทางการจัดการน้ำเชิงพื้นที่ทั้งระบบ

“อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ถูกต้องชัดเจนตามหลักวิชาการ กรมชลฯจึงขอถอนรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการดังกล่าว ออกจากการพิจารณาของ คชก. เพื่อดำเนินการตามข้อ 1 และข้อ 2 ให้ครบถ้วน หากมีความจำเป็นต้องพิจารณาการดำเนินการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ตามแนวทางเลือกที่เหมาะสม กรมชลฯจะนำเสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพื่อเข้าสู่การพิจารณาตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง”

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2560

“กอน.” ถก 31 ต.ค.นี้เคาะแนวทางลอยตัวราคาน้ำตาลทราย

“สอน.” แจงความพร้อมเตรียมปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายพร้อมนำไปสู่การลอยตัวราคา โดยเตรียมประชุม “กอน.” 31 ต.ค.นี้ออกระเบียบรองรับ ก่อนนำเสนอกระทรวงอุตสาหกรรมชง “ครม.” เห็นชอบต่อไป

 นางวรวรรณ ชิตอรุณ รองเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย และรักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวถึงกรณีที่สมาคมชาวไร่อ้อยเตรียมประชุมหารือนโยบายการยกเลิกโควตาและลอยตัวน้ำตาลทรายที่ภาครัฐจะประกาศลอยตัวอย่างเป็นทางการ 1 ธ.ค. โดยทางสมาคมชาวไร่อ้อยกังวลว่าหากภาครัฐยังไม่พร้อมก็ควรเลื่อนระยะเวลาการลอยตัวออกไปก่อน เพราะเกรงว่าจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบในอนาคตว่า สอน.ได้เตรียมความพร้อมปรับปรุงระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไว้เรียบร้อยแล้ว แต่จะต้องมีการแก้ไขระเบียบที่เกี่ยวข้องโดยจะมีการประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) วันที่ 31 ต.ค.นี้ จากนั้นจะนำเสนอกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อเสนอ ครม.ต่อไป

ทั้งนี้ แนวทางดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2559 ที่ให้ความเห็นชอบแผนปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ และมติ ครม. เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2560 ที่รับทราบความคืบหน้ากรณีการเจรจาบราซิลฟ้องไทยอุดหนุนการส่งออกน้ำตาลทรายต่อองค์การการค้าโลก (WTO) เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2560 ให้มีการยกเลิกโควตาและยกเลิกการกำหนดราคาน้ำตาลทรายในประเทศ ณ หน้าโรงงานแบบคงที่ โดยปล่อยให้ราคาน้ำตาลเคลื่อนไหวตามราคาตลาดโลก หรือการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายในประเทศ ก่อนการเริ่มต้นฤดูการผลิตปี 2560/2561 โดยในเดือนตุลาคม 2560 ที่ผ่านมา สำนักงานได้มีการประชุมหารือกับผู้แทนชาวไร่อ้อยและผู้แทนโรงงานน้ำตาลจำนวน 3 ครั้งแล้ว และได้ข้อสรุปร่วมกันในหลักการการปรับปรุงระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเป็นที่เรียบร้อย

“ความเห็นของคุณธีระชัย แสนแก้ว เป็นข้อห่วงกังวลส่วนตัว โดยสำนักงานได้ประสานกับผู้แทนชาวไร่อ้อย ซึ่งเป็นผู้แทนที่เข้าร่วมประชุมหารือฯ เพื่อชี้แจงความคืบหน้าในการดำเนินการแก่คุณธีระชัยได้ทราบด้วยแล้ว อนึ่ง สำหรับข้อเรียกร้องของผู้ประกอบการขนมรายใหญ่ และชาวไร่อ้อยที่จะให้ชี้แจงรายละเอียดในเรื่องดังกล่าวนั้น สำนักงานจะชี้แจงทันทีหลังจากเรื่องนี้ได้ผ่านการพิจารณาของ กอน. และ ครม.เรียบร้อยแล้ว” นายธีระชัยกล่าว

จาก https://mgronline.com  วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2560

กอน. ถกแนวทางยกเลิกโควตา-ลอยตัวน้ำตาลทราย 31 ต.ค.นี้ ก่อนชงครม.

นางวรวรรณ ชิตอรุณ รองเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวว่า กรณีที่สมาคมชาวไร่อ้อยเตรียมประชุมหารือนโยบายการยกเลิกโควตาและลอยตัวน้ำตาลทราย ที่ภาครัฐจะประกาศลอยตัวอย่างเป็นทางการ โดยทางสมาคมชาวไร่อ้อยกังวลว่าหากภาครัฐยังไม่พร้อมก็ควรเลื่อนระยะเวลาการลอยตัวออกไปก่อน เพราะเกรงว่าจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบในอนาคต

“ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายได้เตรียมความพร้อมในการปรับปรุงระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2559 ที่ให้ความเห็นชอบแผนปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ และมติ ครม. เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2560 ที่รับทราบความคืบหน้ากรณีการเจรจาบราซิลฟ้องไทยอุดหนุนการส่งออกน้ำตาลทรายต่อองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2560 ให้มีการยกเลิกโควตาและยกเลิกการกำหนดราคาน้ำตาลทรายในประเทศ ณ หน้าโรงงานแบบคงที่ โดยปล่อยให้ราคาน้ำตาลเคลื่อนไหวตามราคาตลาดโลก หรือการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายในประเทศ ก่อนการเริ่มต้นฤดูการผลิตปี 2560/2561 โดยในเดือนต.ค. 2560 ที่ผ่านมา สำนักงานได้มีการประชุมหารือกับผู้แทนชาวไร่อ้อยและผู้แทนโรงงานน้ำตาล จำนวน 3 ครั้งแล้ว และได้ข้อสรุปร่วมกันในหลักการการปรับปรุงระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเป็นที่เรียบร้อย”

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าวจะต้องมีการแก้ไขระเบียบที่เกี่ยวข้อง ซึ่งตามขั้นตอนจะต้องนำเสนอร่างระเบียบต่าง ๆ ต่อคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ที่มีผู้แทนฝ่ายราชการ ฝ่ายชาวไร่อ้อย และฝ่ายโรงงานร่วมเป็นคณะกรรมการพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน โดยมีกำหนดการประชุม กอน. ในวันที่ 31 ต.ค. 2560 จากนั้นจึงนำเสนอกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป ซึ่งสำนักงานจะต้องเร่งรัดดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่วางไว้ อย่างไรก็ตาม แนวทางดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ได้ก็จะต้องผ่านการพิจารณาของ กอน. และ ครม. ตามลำดับด้วยแล้ว

จาก https://www.khaosod.co.th   วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2560

จับตาชีวมวลไบโอแก๊สมาวินคว้า SPP ไฮบริด 300 MW

กลุ่มพลังงานทดแทน ส.อ.ท.วิเคราะห์ ยื่นประมูลโรงไฟฟ้าเอสพีพีไฮบริดฯแค่ 80 โปรเจ็กต์ ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ เหตุจากเงื่อนไข-สัญญาซื้อขายไฟของ กกพ.เข้มงวดมาก แจงรอบนี้ไบโอแมส-ไบโอแก๊ส ได้เปรียบที่สุดด้านเชื้อเพลิง กดราคาค่าไฟไว้ที่ 2.80-3.2 บาท เตรียมชงรัฐให้รับซื้อไฟฟ้าในอนาคตด้วยวิธีประมูลทั้งหมด

นายสุวัฒน์ กมลพนัส ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตามที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้เปิดรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรูปแบบ “SPP Hybrid Firm” ที่สามารถผสมผสานเชื้อเพลิงตั้งแต่ 1 ประเภทขึ้นไปว่า ภายหลังจากการปิดรับให้ผู้สนใจยื่นเสนอขายไฟฟ้าไปแล้ว จากเดิมที่คาดว่าจะมีผู้ยื่นประมูลกว่า 200 โครงการ แต่ยื่นจริงเพียง85 โครงการ เนื่องจากเงื่อนไขการประมูลและสัญญาที่ค่อนข้างเข้มงวด แต่การแข่งขันยังคงรุนแรงเหมือนเดิม เพราะเมื่อพิจารณาจากรายชื่อแล้ว ถือเป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาโรงไฟฟ้า และคาดว่าการที่ กกพ.ใช้รูปแบบการแข่งขันด้านราคา (competitive bidding) นั้น จะทำให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 2.80-3.2 บาท/หน่วย ในขณะที่ราคาประกาศของ กกพ.อยู่ที่ 3.66 บาท/หน่วย ถือว่ามีราคาใกล้เคียงกับค่าไฟฟ้าขายส่งของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่จำหน่ายในปัจจุบันเมื่อประเมินจากต้นทุนของเชื้อเพลิงในปัจจุบัน กลุ่มผู้ประกอบการที่จะค่อนข้าง “ได้เปรียบ” มากที่สุดคือ โครงการที่เป็นเจ้าของวัตถุดิบด้วย คือกลุ่มชีวมวลและกลุ่มไบโอแก๊ส ในขณะที่ผู้ที่เสนอโซลาร์เซลล์ รวมกับการใช้แบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน หรือ (energy storage system) แม้ว่าจะมีต้นทุนที่ต่ำกว่าราคาประกาศที่ 3.66 บาท/หน่วยก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถแข่งขันกับโครงการกลุ่มชีวมวลและกลุ่มไบโอแก๊สได้ ฉะนั้นจึงมีโอกาส “น้อยมาก” ที่จะชนะการประมูลครั้งนี้

แต่ในกรณีที่ภาครัฐต้องการสนับสนุนควร “แยก” การรับซื้อไฟฟ้าของกลุ่มนี้ออกต่างหากเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ ที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ตามโรดแมปของ Energy 4.0

“การประมูลโรงไฟฟ้า SPP Hybrid ครั้งนี้ มองว่าเป็นการแข่งขันกันตามกฎ win/win ทั้งรัฐและเอกชน ที่สำคัญคือผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ได้รับผลกระทบจากราคาค่าไฟ และส่งผลดีต่อประเทศที่ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าลดลง”

นายสุวัฒน์กล่าวเพิ่มเติมว่า ในกรณีที่การผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนรูปแบบ SPP Hybrid Firm ประสบความสำเร็จ สามารถผลิตไฟฟ้าเข้าระบบได้ตามเป้าหมายของภาครัฐกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนมีแนวคิดที่ต้องการเสนอภาครัฐคือ 1) หากการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการดังกล่าวทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าค่อนข้างต่ำได้จริง ภาครัฐควรสนับสนุนให้ภาคเอกชนแข่งขันอย่างเสรีโดยใช้รูปแบบการประมูลสำหรับการเปิดรับซื้อไฟฟ้าในรอบต่อ ๆ ไปด้วย นอกจากไม่เป็นภาระผู้ใช้ไฟฟ้าแล้ว ยังกระตุ้นการลงทุนในภาคเอกชนได้ 2) ภาคเอกชนเห็นด้วยกับการแข่งขันด้านราคา โดยใช้วิธีการประมูล แต่ควรออกแบบการรับซื้อไฟฟ้าที่เปิดให้ “ชุมชน” ต่าง ๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมด้วย เพราะการลงทุนด้านพลังงานทดแทนจะเป็นตัวกระจายรายได้ สร้างเศรษฐกิจให้ชุมชน และไม่ควรดูที่ราคาค่าไฟอย่างเดียว ควรมองถึงประโยชน์ด้านอื่น ๆ ด้วย และ 3) ต้องการเสนอให้ภาครัฐ “เปิดกึ่งเสรีธุรกิจไฟฟ้า” ด้วยการให้ภาคเอกชนสามารถผลิตไฟฟ้าและจำหน่ายให้ผู้ใช้โดยตรง (private sector)

“ภาครัฐควรเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนได้ผลิตไฟฟ้าขายตรงได้ ไม่ต้องการให้มองว่าต้องการเข้าไปแข่งกับ กฟผ. ในส่วนของ กฟผ.เองก็สามารถทำในส่วนของการทำระบบเพื่อสำรองเอาไว้ในกรณีที่โรงไฟฟ้าต้องหยุดเดินเครื่องกะทันหันได้”

ล่าสุดนางสาวนฤภัทร อมรโฆษิต เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ในฐานะรองโฆษกสำนักงาน กกพ. เปิดเผยถึงยอดผู้ยื่นข้อเสนอขอขายไฟฟ้าในโครงการ SPP Hybrid Firm ว่า มีจำนวนรวม 85 โครงการ ปริมาณไฟฟ้าเสนอขายรวมทั้งสิ้น 1,644 เมกะวัตต์ หรือมีกำลังผลิตติดตั้งรวม 2,464 เมกะวัตต์ สูงกว่าเป้าหมายรับซื้อถึงกว่า 5 เท่า ที่จะรับซื้อไฟฟ้าเพียง 300 เมกะวัตต์ โดยหลังจากประกาศผลการคัดเลือกแล้ว ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ด้วย

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ม.44ตั้งสนง.ทรัพยากรน้ำฯขึ้นตรงนายกฯแก้ภัยแล้ง-อุทกภัย

ภัยแล้ง ขึ้นตรงนายกฯ สนง.ทรัพยากรน้ำฯ ม.44 อุทกภัย น้ำท่วม  

25 ต.ค.60 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 46/2560 เรื่อง การจัดตั้งสํานักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเป็นไปอย่างบูรณาการ มีประสิทธิภาพ และยั่งยืน ตามแนวทางการปฏิรูปประเทศ เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งและปัญหาอุทกภัยในบางฤดู โดยอาศัยอํานาจตามความในมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 ประกอบกับ มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว ปี 2557

หัวหน้า คสช.จึงมีคำสั่งให้สํานักนายกรัฐมนตรี มีอํานาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการทั่วไปของนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับผิดชอบงานบริหารราชการทั่วไปรวมถึงการบริหารจัดการน้ำ และให้เพิ่ม (14) สำนักงานบริหารทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เข้าไปในมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.ปรับปรุง ทบวง กรม พ.ศ.2545 และให้สำนักงานดังกล่าวอยู่ใต้บังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนายกฯ ในกรณีมีเหตุจําเป็นฉุกเฉิน ให้อำนาจจัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราว และมีอํานาจขอเจ้าหน้าที่ในส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ มาปฏิบัติหน้าที่ได้ตามความเหมาะสม และในระยะแรก ให้สํานักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติประสานงานกับกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และให้ปฏิบัติหน้าที่สนับสนุน การดําเนินการของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติตามกฎหมาย และคําสั่งที่เกี่ยวข้อง

จาก http://www.naewna.com วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2560

มิตรผล” ใต้ร่มพระบารมี ธ คือธงชัยนำธุรกิจพ้นภัย

หลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นหลักชัยให้กับปวงพสกนิกร-ธุรกิจไทยตลอดรัชสมัยแห่งการครองราชย์กว่า 7 ทศวรรษ เมล็ดพันธุ์-แนวทางแห่งการทรงงาน ปกแผ่ทั่วทั้งแผ่นดินทั้งเกษตรกร-ชาวนา-พ่อค้า ต่างได้ขยายแปลงผลผลิต นำดอก-ผล เผยแพร่ต่อยอด จากผลิตภัณฑ์ไทย-สู่การค้าระดับโลก

อภิปรัชญาที่ผ่านการวิจัย ค้นคว้า ตั้งแต่ดิน-น้ำ-ฝนและฟ้า และหลักธรรมเรื่อง “ความเพียร” เป็นสะพานเชื่อมให้เกิดการทำงานไปสู่เป้าหมาย และมีความสำเร็จ พระอัจฉริยภาพในการทรงงาน ถูกกล่าวขานเป็น “ศาสตร์แห่งพระราชา”ที่นักธุรกิจน้อยใหญ่ ต่างรับสนองพระบรมราชโองการไว้เหนือเกล้า 1 ธุรกิจนั้นคือ “กลุ่มมิตรผล” เจ้าของกิจการโรงงานน้ำตาลที่ยึดโยงกับเกษตรกร ตั้งแต่ระดับปัจเจกชนถึงระดับองค์กรเครือข่ายธุรกิจอันดับ 1 ของอุตสาหกรรมน้ำตาล

“บรรเทิง ว่องกุศลกิจ” ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มธุรกิจ กลุ่มงานอ้อย กลั่นความคิดชีวิตธุรกิจ กว่า 6 ทศวรรษ ของบริษัทน้ำตาลใต้ร่มพระบารมี

หลัก “ห่มดิน” ล้างพิษไร่อ้อย

เมื่อ 60 ปีก่อน ที่การทำการเกษตรยังอาศัยแรงงานมนุษย์เป็นหลัก ยังไม่มีการรวบรวมและพัฒนาองค์ความรู้ด้านการเกษตร เกษตรกรจึงเพาะปลูก แต่ไม่ได้คำนึงการดูแลบำรุงดิน ช่วงแรก ๆ ดินยังมีความอุดมสมบูรณ์ ได้ผลผลิตดี แต่หลังจากนั้นต้องใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ เพื่อให้ได้ผลผลิตเพิ่ม ขณะเดียวกันชาวไร่อ้อยบางรายยังทำลายดินโดยการเผาใบอ้อย อุตสาหกรรมนี้จึงโดนโจมตีว่าเป็นผู้ร้ายทำลายสิ่งแวดล้อม เราเริ่มรู้สึกว่า ไม่ใช่แล้ว ตอนนั้นไปดูงานจากหลากหลายประเทศ ทั้งออสเตรเลีย บราซิล เราได้ค้นพบว่าการที่จะทำให้ดินไม่เสื่อมสลายไปเร็ว ต้องใช้ทั้งใบ กาบ เป็นผ้าห่มคลุมดิน ไม่ให้ดินขาดความชุ่มชื้นและรักษาหน้าดิน ไม่ให้เผาใบอ้อย เราจึงได้รวบรวมองค์ความรู้จนพัฒนามาเป็น “มิตรผล โมเดิร์นฟาร์ม” หรือ ทฤษฎี 4 เสาหลัก ได้แก่ ปลูกพืชตระกูลถั่วลดการบดอัดหน้าดิน ไม่เผาใบอ้อยใช้แต่ใบอ้อยคลุมดิน ใช้ระบบชีวภาพเข้าไป ช่วงฤดูฝนมีการปล่อยแตนเบียนเข้าไป ทำให้ลดการใช้สารเคมี สุขภาพคนดีขึ้น ผลผลิตดีขึ้น ปัจจุบันได้ผลผลิตอ้อย 18-20 ตัน/ไร่ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงสอนเรื่องการห่มดิน และมิตรผลได้เผยแพร่ให้กับชาวไร่ในเครือข่าย

35,000 ครอบครัวหัวใจพอเพียง

ปัจจุบันมิตรผลมีชาวไร่ในเครือข่าย 35,000 ครอบครัว ได้ตั้งทีมงานไปฝึกอบรม น้อมนำพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9 ประยุกต์ใช้ คือให้ปรับปรุงดินก่อน และให้เกษตรกรพึ่งพาตนเองได้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จากที่ปลูกอ้อย พืชเชิงเดี่ยวอย่างเดียว ให้เพิ่มรายได้ด้วยการปลูกพืชผักสวนครัว เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่เข้าไปเสริม และให้ปลูกอ้อยเท่าที่มีแรงงานและเครื่องมือทำได้ ไม่อย่างนั้นชาวไร่หลายคนจะกระโดดข้ามความพอเพียงไป ถ้าปีนี้ปลูกอ้อยได้ราคาดี…รวย ปีหน้าเพิ่มพื้นที่ปลูกเป็นสิบเท่า เครื่องมือไม่พอ ดูแลไม่ทั่วถึง กลายเป็นต้องจ้างคนเพิ่ม ปีไหนราคาไม่ดีก็แย่ เราจึงชวนชาวไร่อ้อย 3-4 รายมารวมแปลงกันและใช้เครื่องมือไปช่วยปลูกอ้อย พรวนดินเพราะประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ลูกหลานไม่อยากกลับมาทำไร่ เราพยายามดึงคนรุ่นใหม่กลับมา โดยใช้เครื่องมือสมัยใหม่เข้าไปช่วย จึงเกิด “หนองแซงโมเดล” ใน 1 ปีลดค่าใช้จ่าย แบ่งผลประโยชน์และดูแลกันเอง ทุกคนรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน

มิตรผลเป็นเพียงผู้ช่วย รวมถึงการขุดสระเก็บน้ำไว้ใช้ สมัยก่อนใช้น้ำเปลืองก็ทำน้ำหยด และใช้โซลาร์เซลล์ มีปั๊มน้ำรอบคันบ่อ สามารถปลูกพืชผักสวนครัว โดยใช้ปรัชญาพระองค์ท่านเป็นแนวทาง การทำเกษตรแบบผสมผสานเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและลดความเสี่ยงเศรษฐกิจครัวเรือน

ขยายผลอภิปรัชญา “พอเพียง”

มิตรผลครบรอบ 60 ปี เมื่อปี 2559 จึงได้ทำโครงการพิเศษที่จะขับเคลื่อนชาวไร่รายเล็กเรื่องการประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ จึงได้ตั้งศูนย์เรียนรู้ต้นแบบ มีโครงการนำร่อง 70 ศูนย์ หลังจากนั้นจะขยายไปถึง 700 ศูนย์ และครบ 7,000 ศูนย์ในอนาคตภายใต้ชื่อ “โครงการทำตามพ่อ ปลูก เพ(ร)าะสุข”โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาชาวไร่อ้อยขยายวงกว้างให้มีการทำเกษตรผสมผสานในครัวเรือน ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ มีความมั่นคงด้านอาหารในครัวเรือนซึ่งเป็นแนวทางสร้างสุขให้ชาวไร่ได้อย่างยั่งยืนให้ครอบคลุมกับชาวไร่ในเครือข่ายให้ได้มากที่สุด

ขณะเดียวกันได้ส่งเสริมให้ชาวไร่เกิดการรวมกลุ่ม หลังจากชาวไร่ใช้เครื่องมือเข้าไปช่วยปลูกอ้อย ทำให้มีเวลาเหลือ เราหาคนที่มีความรู้จริงเข้าไปสอนเรื่องการแปรรูปผลผลิตต่างๆ และช่วยหาตลาดให้ด้วย อนาคตหากรวมกันได้อย่างเข้มแข็งอยากทำตลาดชุมชน หาพื้นที่ให้ชาวไร่รวมกันขาย ตอนนี้พอมีบ้างแต่ยังไม่เข้มแข็งพอ เพราะเรามีจุดมุ่งหมายคือสร้างความมั่นคง ยั่งยืนให้เกิดขึ้นในการดำเนินงาน ดั่งปรัชญาการดำเนินงานของมิตรผล “ร่วมอยู่ ร่วมเจริญ” และห้วงเวลาที่ผ่านมามิตรผลได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งใน “โครงการ 5 ประสานเกษตรทฤษฎีใหม่” ภายใต้โครงการสานพลังประชารัฐด้วย

หลักธงชัยเศรษฐกิจพ้นภัย

หลายครั้งที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศ บริษัทได้น้อมนำพระราชดำริในหลวง รัชกาลที่ 9 มาปรับใช้ในการบริหารงานองค์กร เช่น ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 บริษัทเผชิญกับภาวะหนี้สินทำให้เกิดวิกฤตทางการเงินอย่างรุนแรง จนคิดว่าบริษัทอาจจะไปไม่รอด เราได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในระบบบริหาร หลักคิดความพอประมาณ มีเหตุผล และสร้างภูมิคุ้มกัน การทำธุรกิจให้ยั่งยืน ต้องประเมินตนว่า อย่าทำมากจนเกินไป ไม่ให้มีความเสี่ยงสูง ก้าวไปทีละก้าว มีคุณธรรมเพราะจะทำให้คนอื่นนับถือเรา ศรัทธาในตัวเรา และจะทำให้ธุรกิจของเราอยู่รอด กำไรสูงสุดไม่ใช่นโยบายของเรา แต่เราต้องไม่โกง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากในโลกธุรกิจยุคปัจจุบันบริษัทได้นำหลักการทรงงาน ในหลวง รัชกาลที่ 9 มาปรับใช้ทั้งชีวิต

ส่วนตัวและองค์กร เราต้องโตอย่างยั่งยืน มากกว่าที่จะโตแบบก้าวกระโดด โดยไม่มีเกราะป้องกัน เหมือนเวลาขึ้นบันได ถ้าเรากระโดดทีละขั้นสองขั้นตกลงมาขาแพลง เราก็จะเดินไม่ได้ไปหลายวัน แต่ถ้าก้าวขึ้นไปทีละขั้น จะมั่นคงและจะคำนึงถึงแต่ประโยชน์ส่วนตนไม่ได้ ต้องคำนึงถึงส่วนรวมด้วย

ตามรอย “ภูพาน” ทรงงานจดค่ำ

“ความประทับใจครั้งยังเด็กผมจำความได้ ตอนเริ่มทำโปรเจ็กต์ใหม่ได้เป็นตัวแทนรับเสด็จในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ ความรู้สึกตอนนั้นต้องรอนานตั้งแต่เช้าถึงเย็น แต่เมื่อทราบว่าพระองค์ท่านทั้งทรงงานเหน็ดเหนื่อยทั้งวัน กว่าจะได้พบราษฎรและไม่ได้เสวยอะไรเลย ความรู้สึกในการรอครั้งนั้น ทำให้รับรู้ได้เลยว่าเราต้องตามรอยพระบาท ในการขยันและอดทนตามแนวทางการทรงงานของพระองค์ท่าน”

หลักคำสอน พระราชดำรัส ของในหลวง รัชกาลที่ 9 เป็นที่รับรู้ของคนทั้งโลก และจะยังคงดำรงอยู่คู่ปวงพสกนิกรชาวไทย ทุกหมู่เหล่าต่างสานต่อพระราชปณิธาน นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ดันมอก.9999มาตรฐานศก.พอเพียงอุตฯ

นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้น้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร จัดทำเป็น มอก.9999 เล่ม 1-2556 มาตรฐานแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมนำไปประยุกต์ใช้ โดยมีลักษณะคล้ายกับหลักธรรมาภิบาล ที่ทำให้ ภาคธุรกิจอุตสาหกรรม พนักงานมีการเติบโต และชุมชนโดยรอบได้ประโยชน์ โดยที่ทุกฝ่ายมีความสุขไปด้วย และมีหน่วยงานผ่านการตรวจประเมิน มอก.9999 รวมทั้งสิ้น 40 ราย

 “กระทรวงอุตสาหกรรม โดย สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้ส่งเสริมการนำมาตรฐานแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรม มอก.9999 สู่ภาคปฏิบัติอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2558 และได้ดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เช่น การจัดสัมมนาฯ การสร้างวิทยากร การฝึกอบรมให้ความรู้ การศึกษาดูงาน และการจัดนิทรรศการ ที่สำคัญคือการพัฒนาองค์กรให้นำ มอก.9999 สู่ภาคปฏิบัติ แต่ละปีมีองค์กรผ่านการตรวจประเมินปีละ 10 ราย ซึ่งในปี 2560 สมอ.กำลังศึกษาข้อมูล เพื่อนำเสนอ มอก.9999 เป็นมาตรฐานระหว่างประเทศของ ISO” นายพสุ กล่าว

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ไฟเขียวตั้งสนง.ทรัพยากรน้ำฯ คุมเบ็ดเสร็จงบฯ-แผนงาน

คสช.เห็นชอบจัดตั้ง “สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ” ภายใต้กำกับดูแลสำนักนายกฯ คุมเบ็ดเสร็จแผนงานโครงการ-งบประมาณ

24 ต.ค.60 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ว่า ที่ประชุม คสช.เห็นชอบจัดตั้งสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ โดยก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.มีคำสั่งให้กรมทรัพยากรน้ำ เดิมอยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักนายกฯ แต่เมื่อพิจารณาในรายละเอียดพบว่าอาจจะเกิดความโกลาหล เพราะเรื่องน้ำ อุทกภัย ไม่ได้อยู่ที่กรมทรัพยากรน้ำอย่างเดียว แต่มีกรมอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย

พล.ท.สรรเสริญ กล่าวต่อว่า ดังนั้นการตั้งกรมทรัพยากรน้ำให้ชะลอไว้ก่อน แล้วให้จัดตั้งสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติขึ้นมาใหม่ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลสำนักนายกฯ ทำหน้าที่ในการบูรณาการงานของกรมน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล  กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) กรมอุตุนิยมวิทยา และกรมชลประทาน ร่วมบูรณาการข้อมูล แผนงานโครงการ งบประมาณ การติดตามประเมินผล และการควบคุมการปฏิบัติงาน อย่างไรก็ตาม กรมต่างๆที่เกี่ยวข้องทำงานตามปกติเหมือนเดิม แต่อะไรที่เป็นเรื่องใหญ่ต่อการบริหารจัดการเพื่อป้องกันเหตุรุนแรง หรือแผนงานใหญ่ๆสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติจะเป็นผู้ดำเนินการเอง

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2560

กรมน้ำแท้ง – คสช. สั่งตั้งสำนักงานบูรณาการน้ำแทน

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เป็นประธาน เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2560 เห็นชอบ การตั้งสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ขึ้นภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี จากเดิมนายกรัฐมนตรี เคยมีมติให้มีการตั้งกรมน้ำขึ้นมาใหม่ โดยโอนย้ายคณะบุคคลากรมาจากกรมต่างๆ ที่บริหารจัดการน้ำ เพื่อมาร่วมทำงาน ทำหน้าที่บูรณาการข้อมูล แผนงาน สังกัดกระทรวงทรัพยการธรรมชาติฯ กรมชลประทาน สังกัดกระทรวงเกษตร กรมอุตุนิยมวิทยา สังกัดกระทรวงดิจิทัลฯ รวมถึงกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สังกัดกระทรวงมหาดไทย

ทั้งนี้ สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ จะมีแก้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อบรรจุให้มีสำนักงานจัดการทรัพยากรน้ำ ที่มีข้าราชการระดับ 11 (ซี 11) นั่งบริหารงาน ส่วนจะโอนบุคคลากรน้ำจาก กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมอุตุนิยมวิทยา ฯลฯ หรือไม่ ไม่ใช่เวลานี้ แต่การตั้งสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำขึ้นมาครั้งนี้ เพื่อบูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับน้ำทั่วประเทศ เพื่อบริหารน้ำท่วม น้ำแล้ง โดยบุคคลากรน้ำในหน่วยงานเดิมๆไม่ต้องโอนย้ายมาสังกัดสำนักงานที่ตั้งขึ้นใหม่ คงยังทำงานที่เดิม

“หลังจากนี้กรมหรือหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำก็ยังทำหน้าที่เช่นเดิมต่อไป แต่อะไรที่เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องเกิดการบูรณาการกันก็จะดำเนินการผ่านสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาตินี้ พล.ท.สรรเสริญ กล่าว

จาก https://www.khaosod.co.th   วันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2560

บิ๊กฉัตร เตรียมชงครม. ของบกลาง สร้างอาชีพให้เกษตรกร 5 มาตรการ

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือเฉพาะกิจ เพื่อติดตามสภาพอากาศ และสถานการณ์น้ำ การบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัย ณ กรมชลประทาน สามเสน ว่า สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมการข้าว กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมประมง และกรมปศุสัตว์ ไปจัดทำรายละเอียดมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม โดยการสร้างอาชีพให้เกษตรกร

ประกอบด้วย 5 มาตรการ ได้แก่ 1. มาตรการจ้างงาน 2. มาตรการเงินกู้ฉุกเฉิน 3. มาตรการส่งเสริมปัจจัยการผลิต รวมถึงเมล็ดพันธุ์ข้าว 4. มาตรการลดดอกเบี้ยและพักชำระหนี้ และ 5. มาตรการช่วยเหลือด้านปศุสัตว์ ซึ่งหากหน่วยงานใด สามารถดึงงบประมาณประจำเพื่อออกมาตรการช่วยเหลือก็ให้ใช้งบประมาณประจำดังกล่าวทันที แต่หากหน่วยงานใดมีงบประมาณไม่เพียงพอ ก็เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติงบประมาณกลาง เพื่อช่วยเหลือเพิ่มเติม โดยคาดว่าน่าจะเสนอครม. ได้ภายใน 2 สัปดาห์

ทั้งนี้ หากดูปริมาณฝนในปีนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.- 15 ต.ค. 2560 จะพบว่ามีปริมาณฝน 1,740 มิลลิเมตร (มม.) ถือว่าใกล้เคียงกับปี 2554 ซึ่งมีปริมาณฝน 1,771 มม. แต่ด้วยการบริหารจัดการที่ดีกว่าในปี 2554 โดยได้มีการเตรียมแผนล่วงหน้า อาทิ การจัดทำแก้มลิง การเตรียมทุ่งรับน้ำ การจัดจราจรน้ำ การกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ และการส่งเครื่องสูบน้ำ ผลักดันน้ำลงพื้นที่อย่างทันที ทำให้ปี 2560 มีผลกระทบน้อยกว่าปี 2554

จาก https://www.khaosod.co.th   วันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2560

วอนรัฐเลื่อนลอยตัวน้ำตาลทราย ชาวไร่อ้อยชี้สูตรไม่ลงตัวหวั่นระบบพัง

นายธีระชัย แสนแก้ว ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน เปิดเผยว่า วันที่ 25 ตุลาคมนี้ สมาคม เตรียมประชุมหารือนโยบายการยกเลิกโควตาและลอยตัวน้ำตาลทรายที่ภาครัฐประกาศลอยตัวอย่างเป็นทางการวันที่ 1 ธันวาคม 2560 เบื้องต้นมองว่าหากภาครัฐยังไม่พร้อมก็ควรเลื่อนระยะเวลาออกไปก่อน เนื่องจากขณะนี้สูตรการคำนวณราคาอ้อยแบบใหม่ยังไม่แล้วเสร็จ ขั้นตอนการแก้ไขกฎหมายก็ยังไม่แล้วเสร็จ ต้องเปิดรับฟังความเห็นอีก หากยังดันทุรังประกาศลอยตัวทั้งที่ยังไม่มีความพร้อม เกรงว่า จะส่งผลกระทบอย่างหนักต่ออุตสาหกรรมอ้อยทั้งระบบ

“อุตฯอ้อยเป็นเรื่องซับซ้อน ตอนนี้ถ้ายังไม่มีความพร้อมอยากให้เลื่อนไปก่อน ชาวไร่อ้อยไม่ได้คัดค้านการลอยตัวน้ำตาลทราย แต่อยากให้ทำเมื่อพร้อมจริงๆ อย่าไปกลัวประเทศบราซิล หรือต้องเอาใจขนาดนั้นกลัวว่า จะฟ้องที่เรายังใช้ระบบเดิม เหมือนเป็นการอุดหนุนน้ำตาลทราย ถ้าไม่พร้อมก็ให้ใช้สูตรคำนวณราคาแบบเดิมไปก่อน ที่ใช้มากว่า 30 ปีก็ไม่มีปัญหาอะไร ซึ่งวันที่ 25 ตุลาคม หลังจากหารือแล้ว จะมีข้อสรุปแล้วจะเสนอภาครัฐต่อไป” นายธีระชัยกล่าว

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่าเมื่อวันที่ 4 ตุลาคมที่ผ่านมาได้ประชุมหารือร่วมกับผู้แทนชาวไร่อ้อย และผู้แทนโรงงานน้ำตาล จนสามารถหาข้อยุติในหลักการเบื้องต้นได้แล้ว โดยมีแนวทางบริหารราคาน้ำตาลทรายตามกลไกของตลาด และการยกเลิกโควตาน้ำตาลทรายเพื่อให้สอดคล้องต่อหลักเกณฑ์ขององค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) ซึ่งอยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดในการดำเนินการขั้นตอนแก้ไขปรับปรุงระเบียบ และประกาศที่เกี่ยวข้อง คาดว่า จะแล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคมหรือไม่เกินต้นเดือนพฤศจิกายน เพื่อให้มีผลบังคับใช้ และพร้อมนำไปดำเนินการก่อนการเปิดหีบอ้อยในฤดูการผลิตปี 60/61 ต่อไป รวมทั้งการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นในฤดูการผลิต ปี 60/61 ก่อนการเปิดหีบอ้อยได้อย่างแน่นอน

ขณะที่แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการขนมหวานรายใหญ่ กล่าวว่า ขณะนี้ยังมีความสับสนนโยบายการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายของภาครัฐอย่างมากว่า มีความพร้อมในการลอยตัวจริงหรือไม่ เนื่องจากการติดตามข่าวสารเห็นทางฝ่ายภาครัฐเงียบอยู่ ขณะที่ฝ่ายโรงงานน้ำตาลทรายและชาวไร่ จะออกมาระบุว่า นโยบายดังกล่าวไม่น่าจะทันตามที่ประกาศไว้ จึงอยากให้ภาครัฐ ออกมาชี้แจงความชัดเจน ขั้นตอนต่างๆ ผลกระทบต่อผู้บริโภคว่า หลังจากประกาศลอยตัวออกมาแล้วแนวโน้มราคาน้ำตาลทรายจะเป็นอย่างไร เพื่อให้ปรับตัวได้ทัน เนื่องจากน้ำตาลทรายเป็นวัตถุดิบของหลายอุตฯ เช่น อุตฯเครื่องดื่ม อุตฯ ขนมหวาน ซึ่งจากการพูดคุยในแวดวงผู้ประกอบการขนมหวานบางราย เริ่มมีการซื้อน้ำตาลกักตุนไว้บางส่วนแล้ว เนื่องจากยังไม่มั่นใจราคาน้ำตาลทราย หลังจากประกาศลอยตัว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2560

กรมชลเดินเครื่องสาน‘ศาสตร์พระราชา’ เล็งดัน5โครงการน้ำอันเนื่องจากพระราชดำริทั่วประเทศ

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2561 กรมชลประทานจะเร่งดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริให้แล้วเสร็จ โดยแบ่งโครงการที่จะขอเปิดดำเนินการในปี 2561 เป็น 2 ประเภท คือ โครงการที่สามารถดำเนินการก่อสร้างได้ทันทีโดยไม่ต้องขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี เนื่องจากวงเงินก่อสร้างไม่เกิน 1,000 ล้านบาท อาทิ โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำทบ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.วังสะพุง จ.เลย เมื่อแล้วเสร็จจะเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ 7,348 ไร่ และ โครงการอ่างเก็บน้ำป่าละอู อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ สามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ 6,490 ไร่

โครงการประเภทที่สองเป็นโครงการที่ต้องขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี โดยจะใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี อาทิ โครงการอ่างเก็บน้ำลำน้ำชี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ สามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 75,000 ไร่ ใช้เงินลงทุนประมาณ 2,938 ล้านบาท โครงการอ่างเก็บน้ำวังหีบ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ใช้งบประมาณ 2,377 ล้านบาท เพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ 13,014 ไร่ และโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อบรรเทาและแก้ไขปัญหาใน อ.พระพรหม อ.เมือง และพื้นที่ใกล้เคียง มีพื้นที่ได้รับประโยชน์ 17,400 ไร่ ใช้เงินลงทุน 9,580 ล้านบาท

นอกจากนี้ กรมชลประทาน ยังจะนำโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้งที่เป็น ฝาย อ่างเก็บน้ำ และรูปแบบอื่นๆ ที่ยังไม่มีระบบชลประทาน ซึ่งมีทั้งหมดประมาณ 1,645 โครงการ มาทำการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้คลอบคลุมในทุกมิติ เพื่อก่อสร้างระบบชลประทานให้สามารถใช้ประโยชน์จากโครงการได้เต็มศักยภาพ เพียงพอกับความต้องการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และการเพาะปลูกของประชาชนได้ตลอดทั้งปี โดยจะร่วมดำเนินงานในลักษณะบูรณาการกับมูลนิธิปิดทองหลังพระ จังหวัดที่ตั้งโครงการ หน่วยงานปกครองในท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่

จาก http://www.naewna.com วันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ชาวไร่อ้อยจี้รัฐเลื่อนลอยตัวน้ำตาลทราย

นายธีระชัย แสนแก้ว ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน กล่าวว่า วันที่ 25 ตุลาคมนี้ สมาคมเตรียมประชุมหารือนโยบายการยกเลิกโควต้า และลอยตัวน้ำตาลทรายของภาครัฐที่มีผลทางการวันที่ 1 ธันวาคมนี้ และจะเสนอความเห็นต่อรัฐบาล เบื้องต้นมีความเห็นว่าหากภาครัฐยังไม่พร้อมควรเลื่อนระยะเวลาออกไปก่อน เนื่องจากหลายเรื่องยังไม่เสร็จ ทั้งสูตรการคำนวณราคาอ้อยแบบใหม่ การแก้ไขกฎหมายยังไม่เสร็จ ต้องเปิดรับฟังความเห็นอีก หากดันทุรังประกาศลอยตัวทั้งที่ยังไม่มีความพร้อม เกรงว่าจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่ออุตสาหกรรมอ้อยทั้งระบบ

 “อุตฯอ้อยเป็นเรื่องซับซ้อน ถ้ายังไม่มีความพร้อมอยากให้เลื่อนไปก่อน ชาวไร่อ้อยไม่ได้คัดค้านการลอยตัวน้ำตาลทราย แต่อยากให้ทำเมื่อพร้อมจริงๆ อย่าไปกลัวประเทศบราซิลที่จะฟ้องไทยว่าระบบเดิม เหมือนเป็นการอุดหนุนน้ำตาลทราย อย่าปอดแหก ถ้าไม่พร้อมให้ใช้สูตรคำนวณราคาแบบเดิมไปก่อน ใช้มากว่า 30 ปีไม่มีปัญหาอะไร” นายธีระชัยกล่าว

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ชง ครม. ผุด “4 พื้นที่ ศก.ชีวภาพ" ตั้งเป็นคอมเพล็กซ์ 10 ปี ลงทุน 3.62 แสนล้าน เชื่อม “อีอีซี"

“อุตตม” เร่งนำแผนพัฒนา “เศรษฐกิจชีวภาพ” เข้า ครม. อนุมัติต้น พ.ย. นี้ วางกรอบ 10 ปี ต่อยอดจากอ้อยและมันสำปะหลัง ลงทุน 3.62 แสนล้านบาท นำร่องใน “อีอีซี” เชื่อมโยงสู่ 3 พื้นที่ “ขอนแก่น, นครสวรรค์ และกำแพงเพชร” ให้เป็นเขตส่งเสริม ได้สิทธิประโยชน์เหมือน “อีอีซี”

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้ทางคณะทำงานด้านการพัฒนาคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ภายใต้สานพลังประชารัฐ มีตัวเองเป็นหัวหน้าทีมภาครัฐ ได้มีการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ หรือ ไบโออีโคโนมี เสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเห็นชอบประมาณต้นเดือน พ.ย. นี้ โดยถือเป็น 1 ใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่รัฐบาลต้องการผลักดันให้เกิดขึ้นและยังเป็นการช่วยขับเคลื่อนการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี

 ทั้งนี้ แผนดังกล่าวจะครอบคลุมด้านมาตรการการส่งเสริมให้เกิดการใช้ผลิตภัณฑ์และมาตรการจูงใจให้เกิดการตั้งโรงงานผลิต ซึ่งจะมีการลงทุนในระยะเวลา 10 ปี (2560-2569) คิดเป็นเม็ดเงินราว 3.62 แสนล้านบาท โดยจะมีการลงทุนต่อยอดอุตสาหกรรมชีวภาพในพื้นที่อีอีซี ในกลุ่มไบโอพลาสติก, Biopharma, Palm Biocomplex ประมาณ 10,000 ล้านบาท เป็นการลงทุนใน จ.ชลบุรี ประมาณ 4,000 ล้านบาท และ จ.ระยอง อีกประมาณ 5,740 ล้านบาท โดยยังไม่รวมงบลงทุนในพื้นที่เขตส่งเสริมนวัตกรรม หรือ อีอีซีไอ และจะมีการเชื่อมโยงสู่การพัฒนา Biorefinery Complex ที่ใช้น้ำตาลและมันสำปะหลังเป็นพืชนำร่องในเขตภาคเหนือตอนล่าง จ.นครสวรรค์ เงินลงทุนประมาณ 4.1 หมื่นล้านบาท และกำแพงเพชร เงินลงทุนประมาณ 2.15 หมื่นล้านบาท และพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง ใน จ.ขอนแก่น ลงทุนอีกประมาณ 60,000 ล้านบาท โดยจะมีการเสนอให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตส่งเสริมพิเศษในลักษณะที่ใช้กับพื้นที่อีอีซี ซึ่งจะเป็นการสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนและจูงใจให้เกิดการลงทุนมากขึ้น

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สำหรับกลไกในการขับเคลื่อนไบโออีโคโนมีตลอดห่วงโซ่นั้น จะมีการทำงานแบบบูรณาการของภาครัฐทั้ง 5 กระทรวง โดยตั้งคณะทำงานขึ้นมา เช่น จากกระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงการคลัง, กระทรวงมหาดไทย เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้เกิดการประสานงานกับภาคเอกชนได้โดยตรง โดยจะต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีในการจัดตั้ง

 ขณะที่ ความสนใจของนักลงทุนนั้น เริ่มมีความชัดเจนขึ้นมากว่า รายใดจะลงทุนในโครงการอะไรในพื้นที่ดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน), บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด, บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน), บริษัท โกลบอลกรีน เคมีคอล จำกัด (มหาชน), บริษัท เกษตรไทยอินเตอร์เนชั่นแนลชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ เคทีไอเอส, บริษัท อูเนโนไฟน์เคมีคัลส์อินดัสตรี (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท เอเชีย สตาร์ เทรด จำกัด, บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด, บริษัท คริสตอลลา จำกัด, บริษัท แบ็กซ์เตอร์เฮลธ์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ไทยโอซูกา จำกัด เป็นต้น

ประกอบกับพื้นที่ตั้งโครงการใน อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ ที่จะตั้งเป็น “ไบโอคอมเพล็กซ์” ราว 1,000 ไร่ ของบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนลชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS และพื้นที่ใน อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ของกลุ่มมิตรผล ซึ่งจะเสนอเป็นเขตส่งเสริมพิเศษในลักษณะเดียวกับพื้นที่อีอีซีนั้น ก็มีการเตรียมความพร้อมและศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งแล้วเช่นกัน ดังนั้น หาก ครม. อนุมัติแผนพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพขึ้นมา เอกชนก็พร้อมจะลงทุนได้

จาก http://www.thansettakij.com วันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ส่องแผนจัดการน้ำ 2.4 แสนล. 3 ปีฉลุยจิ๊บๆ…’บิ๊กโปรเจ็กต์’ นิ่งสนิท

สร้างความตื่นตระหนกให้กับคนกรุงเทพฯ ไม่น้อย หลังจากช่วงกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องนานหลายชั่วโมง ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังสูงกว่า 50-60 เซนติเมตร (ซม.) โดยเฉพาะพื้นที่ใจกลางย่านเศรษฐกิจอย่างถนนอโศกมนตรี ย่านทองหล่อ เอกมัย ถนนวิภาวดีรังสิต ถนนพหลโยธิน และห้าแยกลาดพร้าว ที่ต้องใช้เวลานานหลายชั่วโมงกว่าระดับน้ำจะระบายจนเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งข้อมูลจากสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพฯ พบว่า ปริมาณฝนสะสมในบางเขตสูงสุดถึง 203 มิลลิเมตร (มม.) ถือเป็นปริมาณที่สูงสุดในรอบ 30 ปี

ประกอบกับในหลายจังหวัดภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) กำลังเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมจากฝนตกหนัก และมวลน้ำที่สะสมมากกว่าทุกปี โดยขณะนี้อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และกลางหลายแห่งก็เริ่มเต็มความจุแล้ว ปริมาณน้ำตามลำน้ำต่างๆ ก็ดูใกล้จะล้นตลิ่ง ดูเค้าลางคล้ายกับมหาอุทกภัยใหญ่ปี 2554

ประกอบกับที่ นายโสรัจจะ นวลอยู่ โหรชื่อดังฉายานอสตราดามุสเมืองไทย ออกมาทำนายว่า ในต้นปี 2561 จะเกิดมหาอุทกภัยหนักยิ่งกว่าปี 2554 ก็ยิ่งสร้างความตระหนกให้แก่ประชาชนอย่างมาก

จึงถึงเวลามาตรวจสอบการดำเนินงานของรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่าเดินหน้าไปถึงไหน หรือยังอยู่ที่เดิม

ย้ำทุกหน่วยบูรณาการดีกว่าทุกปี

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ อธิบดีกรมชลประทาน ระบุว่า หากจะเทียบการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลชุดนี้ ถือว่ามีพัฒนาการที่ดีขึ้น และมีความแตกต่างจากรัฐบาลในอดีต รวมถึงการบริหารจัดการในช่วงมหาอุทกภัยปี 2554 เป็นอย่างมาก เนื่องจากการทำงานของรัฐบาลจะเน้นการทำงานในลักษณะบูรณาการทั้งแผนงาน และงบประมาณ ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย กรมอุตุนิยมวิทยา ทำให้การทำงานเป็นไปในลักษณะที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

จะเห็นได้จากทุกหน่วยงานไม่ได้รอตั้งรับกับสถานการณ์น้ำท่วมเฉพาะหน้าเพียงอย่างเดียว แต่ทั้งหมดได้เตรียมรับมือไว้ล่วงหน้าแล้ว ดังจะเห็นได้จากในช่วงต้นปี ถือเป็นปีแรกที่รัฐบาลได้ปรับเปลี่ยนปฏิทินการ

เพาะปลูกของเกษตรกรในพื้นที่ภาคกลางเร็วขึ้นกว่าเดิม โดยส่งน้ำให้กับเกษตรกรไวขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน-31 กรกฎาคม เพื่อให้สามารถเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวได้ทันก่อนฤดูน้ำหลากในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน และนำพื้นที่ที่เก็บเกี่ยวแล้วมาเป็นพื้นที่ตัดยอดน้ำในกรณีที่มีฝนตกชุก และมีมวลน้ำสะสมจำนวนมาก เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับพื้นที่เพาะปลูก และพื้นที่ทางเศรษฐกิจในตัวเมือง โดยในพื้นที่เจ้าพระยาตอนบน

มีจำนวน 1 ทุ่ง คือทุ่งบางระกำ จ.พิษณุโลก พื้นที่ 265,000 ไร่ สามารถรองรับน้ำได้ 400 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ส่วนพื้นที่เจ้าพระยาตอนล่าง มีจำนวน 12 ทุ่ง ประกอบด้วย ทุ่งเชียงราก จ.สิงห์บุรี ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก ทุ่งท่าวุ้ง จ.ลพบุรี ทุ่งบางกุ่ม ทุ่งบางกุ้ง ทุ่งป่าโมก จ.อ่างทอง ทุ่งผักไห่ ทุ่งเจ้าเจ็ด ทุ่งพระยาบันลือ ทุ่งโพธิ์พระยา ทุ่งบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และทุ่งรังสิตใต้ พื้นที่รวม 1.15 ล้านไร่ สามารถรองรับน้ำได้ 1,500 ล้าน ลบ.ม. รวมทั้งสิ้น 1,900 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันสามารถนำพื้นที่ดังกล่าวมารองรับน้ำหลากได้รวมกันประมาณ 1,600 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งถือว่าเป็นประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก

โครงการน้ำขนาดใหญ่ไม่คืบ

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของโครงการบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่ เพื่อมาช่วยเสริมศักยภาพของลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำท่าจีน ที่ปัจจุบันแทบจะเต็มศักยภาพในการรองรับนั้น ต้องยอมรับว่า ในช่วง 1-2 ปีแรกของรัฐบาลชุดนี้ หมดไปกับการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ระยะเวลา 12 ปี (2558-2569) โครงการส่วนใหญ่ที่อนุมัติและเริ่มก่อสร้างก็จะเป็นเพียงโครงการขนาดเล็กเท่านั้น อาทิ การจัดทำแก้มลิง ขุดบ่อกักเก็บ ส่วนโครงการขนาดใหญ่แทบจะไม่มีการอนุมัติ และเริ่มก่อสร้างเลย เนื่องจากต้องใช้ระยะเวลาในการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) การสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนในพื้นที่ การทำประชาพิจารณ์เปิดรับฟังความคิดเห็น

ซึ่งทุกขั้นตอนล้วนกินระยะเวลานาน รวมไปถึงปัญหาในเรื่องของงบประมาณ แต่คาดว่าโครงการดังกล่าวน่าจะเริ่มทยอยอนุมัติและเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2561-2562

ลุยแผนจัดการลุ่มน้ำภาคกลาง

ทั้งนี้ การบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำใกล้เคียง ประกอบด้วย 9 แผนงาน วงเงินรวม 239,400 ล้านบาท ได้แก่ 1.โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง วงเงิน 57,100 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 7 ปี (2560-2566) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำลงสู่ทะเล และเพื่อพื้นที่กักเก็บน้ำในคลอง 18 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันศึกษาความเหมาะสมแล้วเสร็จบางส่วน แต่ต้องดำเนินการออกแบบรายละเอียดเพิ่มเติม 2.โครงการคลองระบายน้ำหลากเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก แบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงคลองชัยนาท-ป่าสัก วงเงิน 36,400 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี (2561-2565) เพื่อให้มีความสามารถระบายน้ำของคลองจาก 130 ลบ.ม.ต่อวินาที เป็น 930 ลบ.ม.ต่อวินาที และเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำ 80 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันศึกษาความเหมาะสมแล้วเสร็จ และช่วงคลองป่าสัก-อ่าวไทย วงเงิน 86,300 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ

7 ปี (2562-2568) เพื่อระบายน้ำหลากจากแม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำเจ้าพระยาที่ระบายมาทางคลองชัยนาท-ป่าสัก ลงสู่ทะเลเร็วขึ้นสูงสุด 600 ลบ.ม.ต่อวินาที เพิ่มพื้นที่เก็บกักน้ำ 50 ล้าน ลบ.ม. และลดพื้นที่น้ำท่วมลุ่มเจ้าพระยาได้ 2.86 ล้านไร่ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)

ขุดคลองแก้ไขปัญหาคอขวด

3.โครงการคลองระบายน้ำควบคู่กับถนนวงแหวนรอบที่ 3 ภายใต้ความร่วมมือกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) โดยจัดทำคลองระบายน้ำคู่ขนานถนน ขนาด 500 ลบ.ม.ต่อวินาที ความยาว 110.85 กม. คาดว่าการทบทวนผลการศึกษาจะแล้วเสร็จประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2561 และขอรับงบประมาณการศึกษาอีไอเอในปีงบประมาณ 2562 4.โครงการปรับปรุงโครงข่ายระบบชลประทานฝั่งตะวันตก วงเงิน 34,300 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 6 ปี (2561-2566) เพื่อระบายน้ำในแนวเหนือ-ใต้ ตั้งแต่คลองเจ้าเจ็ดต่อเนื่องออกสู่ทะเลอ่าวไทยให้ได้มากที่สุด โดยเพิ่มขึ้นจาก 52 ลบ.ม.ต่อวินาที เป็น 130 ลบ.ม.ต่อวินาที เพื่อลดการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำท่าจีนและเจ้าพระยา ปัจจุบันศึกษาความเหมาะสมแล้วเสร็จ 5.โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา วงเงิน 2,400 ล้านบาท โดยการขุดลอกแม่น้ำเจ้าพระยา รวม 29 กม. ให้สามารถระบายน้ำได้ 2,500 ลบ.ม.ต่อวินาที ที่ระดับตลิ่ง และ 2,800 ลบ.ม.ต่อวินาที ที่ระดับคันกั้นน้ำ ปัจจุบันศึกษาความเหมาะสมแล้วเสร็จ 6.โครงการบริหารจัดการพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ โดยดำเนินการตามแผนเพื่อลดผล

กระทบในพื้นที่ 14 แห่ง

7.โครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร วงเงิน 17,600 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปี (2562-2565) โดยขุดคลองสายใหม่ เพื่อเลี่ยง อ.เมือง จ.พระนครศรีอยุธยา ผ่าน อ.บางบาล ถึง อ.บางไทร ความยาว 22.4 กม. ระบายน้ำ 1,200 ลบ.ม.ต่อวินาที ปัจจุบันอยู่ระหว่างออกแบบ คาดว่าแล้วเสร็จปี 2562 อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมีแนวคิดที่จะให้ดำเนินโครงการได้รวดเร็วมากขึ้นภายในปีนี้ 8.โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำแม่น้ำท่าจีน วงเงิน 2,800 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 6 ปี (2561-2566) โดยการขุดลอกตะกอนในลำน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำสูงสุด 90 ลบ.ม.ต่อวินาที และแก้ไขปัญหาคอขวด จ.สุพรรณบุรี และ 9.โครงการพื้นที่รับน้ำนอง โดยใช้พื้นที่ที่ว่างจากการเพาะปลูกรองรับน้ำ 1,500 ล้าน ลบ.ม.

เมื่อทั้ง 9 แผนงานแล้วเสร็จ จะช่วยตัดยอดน้ำหลากหน้าเขื่อนเจ้าพระยา ได้เพิ่มขึ้น 880 ลบ.ม.ต่อวินาที หน้าเขื่อนพระราม 6 ได้เพิ่มขึ้น 800 ลบ.ม.ต่อวินาที ระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาได้ 2,800 ลบ.ม.ต่อวินาที โดยพื้นที่นอกคั้นกั้นน้ำไม่ได้รับผลกระทบ และเพิ่มความสามารถในการระบายน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณ จ.พระนครศรีอยุธยา 1,200 ลบ.ม.ต่อวินาที ส่วนแม่น้ำท่าจีนระบายน้ำลงสู่ทะเลได้ 600-650 ลบ.ม.ต่อวินาที นอกจากนี้ยังสามารถเก็บน้ำหลากไว้ในคลองขุดใหม่ได้รวม 200 ล้าน ลบ.ม. และในพื้นที่ลุ่มต่ำประมาณ 1,500 ล้าน ลบ.ม. เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูร้อน รวมทั้งลดพื้นที่น้ำท่วมเทียบกับปี 2554 ได้ประมาณ 1.7-5.04 ล้านไร่

ในพื้นที่ 14 จังหวัด

‘ทองเปลว’ชี้น้ำปีนี้ต่างจาก”54

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ระบุว่า ปัญหาน้ำท่วมในปีนี้ถือว่าแตกต่างจากปี 2554 อย่างมาก ซึ่งจะพบว่าในพื้นที่ภาคกลางมีน้ำท่วมในปีนี้ มีเพียงประมาณ 1 ล้านไร่ ต่างจากในปี 2554 ที่มีน้ำท่วมสูงถึง 7 ล้านไร่ และจากการติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา ก็คาดว่าตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคมเป็นต้นไป ทุกภาคของไทยยกเว้นภาคใต้จะเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว ซึ่งหมายความว่าปริมาณฝนจะลดลงเมื่อเทียบกับช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ดังนั้นจึงมั่นใจได้ว่าหลังจากนี้การบริหารน้ำในลุ่มเจ้าพระยาน่าจะเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ โดยมวลน้ำที่บริเวณลุ่มเจ้าพระยาตอนบนที่ขณะนี้มีปริมาณมาก น่าจะเริ่มทรงตัวภายใน 1 สัปดาห์ต่อจากนี้ จากนั้นคาดว่ามวลน้ำจะเริ่มลดระดับลง และระบายลงสู่อ่าวไทย จนเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงที่ 20 พฤศจิกายน 2560 อย่างไรก็ตามกรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้เร่งพร่องน้ำลงสู่ทะเลให้ได้มากที่สุด เพื่อป้องกันหากจะมีพายุเข้ามาเพิ่มเติมในช่วงเวลา

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2560

เอกชนเมิน! ใช้สิทธิ FTA เจอตอเพียบ

พาณิชย์เหนื่อย! เอกชนเมินใช้สิทธิ “เอฟทีเอ” ส่งออก ตัวเลขครึ่งปีแรกชี้ชัด “เอฟทีเอ” กับ 17 ประเทศ ใช้สิทธิรวมไม่ถึง 50% ... กรมเจรจาฯ ตีปี๊ปเร่งใช้ ระบุ เป็นแต้มต่อต้องใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ด้าน เอกชน ระบุ ใช้สิทธิน้อยจาก 3 ปัจจัยลบ

ขณะที่ ทุกฝ่ายกำลังปลื้มกับตัวเลขส่งออกของไทยช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ ขยายตัวสูงถึง 9.3% จนกระทรวงพาณิชย์ประกาศปรับเป้าส่งออกทั้งปี จาก 7% เป็น 8% นั้น แต่เมื่อย้อนกลับมาดูการใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ของผู้ประกอบการไทยในการส่งออกไปยังประเทศคู่สัญญา กลับพบว่า ยังมีการใช้สิทธิน้อย

 จากข้อมูลล่าสุดของกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ ไทยมีการส่งออกไปยังประเทศคู่สัญญาเอฟทีเอ 17 ประเทศ รวม 12 ฉบับ มูลค่ารวม 6.52 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในจำนวนนี้มีสัดส่วนการใช้สิทธิเอฟทีเอต่อการส่งออก รวมมูลค่า 2.85 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นเป็นสัดส่วนเพียง 43.6% เท่านั้น โดยเอฟทีเอที่ผู้ส่งออกไทยใช้สิทธิส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าในอัตราภาษีนำเข้า 0% หรือในอัตราภาษีต่ำมากที่สุดใน 5 กลุ่มประเทศแรก ได้แก่ เขตการค้าเสรีอาเซียน (นาฟต้า), เอฟทีเออาเซียน-จีน, เอฟทีเออาเซียน-ออสเตรเลีย และไทย-ออสเตรเลีย, เอฟทีเออาเซียน-ญี่ปุ่น และไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) และเอฟทีเออาเซียน-อินเดีย และไทย-อินเดีย

โปรโมทวิทยุ

 นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (จร.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ณ ปัจจุบัน ไทยมีการทำเอฟทีเอแล้วกับ 17 ประเทศ รวม 12 ฉบับ ทั้งในนามกลุ่มอาเซียนและระดับทวิภาคีในนามประเทศไทย ได้แก่ เขตการค้าเสรีอาเซียน (มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, สิงคโปร์, ฟิลิปปินส์, บรูไน, กัมพูชา, ลาว, เมียนมา และเวียดนาม) และเอฟทีเอกับอีก 8 ประเทศ ได้แก่ จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, อินเดีย, ออสเตรเลีย, ชิลี และเปรู โดยในปี 2559 ไทยมีการส่งออกไปยังประเทศคู่สัญญาเอฟทีเอข้างต้น มูลค่ารวม 1.20 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในจำนวนนี้เป็นมูลค่าการใช้สิทธิเอฟทีเอในการส่งออก 5.24 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิ 43.3%

ขณะที่ มีเอฟทีเอที่อยู่ระหว่างเปิดเจรจา ได้แก่ ไทย-ปากีสถาน และไทย-ตุรกี และมีเอฟทีเออีก 1 ฉบับ ที่จะมีการลงนามความตกลงในช่วงการประชุมอาเซียนซัมมิตที่ฟิลิปปินส์ในเดือน พ.ย. นี้ คือ เอฟทีเออาเซียน-ฮ่องกง และมีเอฟทีเอในกรอบใหญ่ของภูมิภาคอาเซียนกับ 6 ประเทศ (จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, อินเดีย, ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์) หรือ RCEP ที่อยู่ระหว่างการเจรจา เป้าหมายแล้วเสร็จในปีหน้า

“การจัดทำเอฟทีเอจะทำให้ผู้ส่งออกไทยมีแต้มต่อในการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าในอัตราภาษี 0% หรือในอัตราภาษีต่ำในสินค้าอ่อนไหวของประเทศคู่ค้า แต่ในปีที่ผ่านมา รวมถึงช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ การใช้สิทธิเอฟทีเอต่อการส่งออกโดยรวมของผู้ประกอบการไทยไปยังประเทศคู่ค้ายังต่ำ ทางกรมจะเร่งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้กับผู้ประกอบการว่า สินค้าใดที่เขาลดภาษีลงไปแล้วบ้าง หรือคิดว่า จะมีช่องทางใดที่เขาจะได้ประโยชน์มากยิ่งขึ้น ขณะที่ ในปี 2560-2561 กรมมีแผนจะลงพื้นที่ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เพื่อพูดคุยกับภาคส่วนต่าง ๆ ที่ได้รับผลดีหรือผลเสียจากเอฟทีเอที่มีอยู่ และที่จะมีในอนาคต เพื่อติดตามผลและพิจารณาว่า เรื่องใดที่อยากให้ผลักดันเปิดเสรีต่อ หรือเรื่องใดที่ได้รับผลกระทบจากการเจรจา และกรมจะเข้าไปเยียวยา หรือมีมาตรการช่วยเหลืออย่างไร”

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก

นายชัยชาญ เจริญสุข เลขาธิการสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า เหตุที่ผู้ประกอบการยังขอใช้สิทธิเอฟทีเอในการส่งออกน้อย มองว่า เป็นผลจาก 3 ปัจจัย คือ 1.สินค้าที่มูลค่าการส่งออกสูง เช่น รถยนต์ ยังมีอัตราการขยายตัวของการส่งออกไม่มาก (9 เดือนแรกปีนี้ มูลค่าการส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบของไทยยังติดลบ 1.9%), 2.สินค้าหลายรายการมีการแข่งขันสูงในประเทศคู่สัญญาเอฟทีเอ ทำให้การส่งออกขยายตัวไม่มาก และ 3.จากเงินบาทที่แข็งค่ามากขึ้น เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา มีผลต่อการเจรจาต่อรองซื้อขายสินค้า

จาก http://www.thansettakij.com วันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ทองคำ-เงินบาทผันผวน ปัจจัยลบตปท.รุมเร้า

สารพัดปัจจัยเสี่ยงในตลาดต่างประเทศ ทั้งสหรัฐฯ-ยุโรป-ญี่ปุ่น หนุนทองคำ-ค่าเงินบาทผันผวนต่อเนื่อง  แนะซื้อเก็งกำไรระยะยาวหลุดกรอบ 1,260 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์             

รายงานข่าวจากบริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์สแจ้งว่า  แนวโน้มราคาทองคำเคลื่อนไหวผันผวน แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาราคาดีดตัวกลับจากดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง  แต่มีปัจจัยกดดันในเรื่องการปฏิรูปกฏหมายภาษีหากผ่านสภาฯ จะเป็นแรงกดดันให้ดอลลาร์สหรัฐกลับมาแข็งค่าขึ้นและฉุดราคาทองคำ   เพราะล่าสุดวุฒิสภาสหรัฐได้ลงมติผ่านร่างกฎหมายงบประมาณปี 2561 วงเงิน 4 ล้านล้านดอลลาร์ ด้วยคะแนนเสียง 51-49 คะแนน ซึ่งจะกรุยทางสู่การพิจารณาแผนปฏิรูประบบภาษีของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐต่อไป ซึ่ง สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐมีกำหนดจะพิจารณาและลงมติเห็นชอบในร่างกฎหมายงบประมาณฉบับของวุฒิสภาในสัปดาห์นี้

นอกจากนี้ยังต้องติดตามเรื่องธนาคารกลางเฟดคนใหม่  ผลการประชุมของธนาคารกลางยุโรปหรืออีซีบี  เพราะหากมีการลดขนาดคิวอีจะหนุนให้เงินยูโรแข็งค่าขึ้นและทำให้ราคามีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้น  อย่างไรก็ตาม ประเมินแนวรับที่ 1,260-1,273 ดอลลลาร์สหรัฐต่อออนซ์  ซึ่งคิดเป็นทองคำแท่งราคาจะอยู่ที่ 19,750-19,950 บาท แนะต้านที่ระดับ 1,296-1,307 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

"ถ้าราคาหลุดกรอบ 1,260 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ถ้าเป็นนักลงทุนระยะยาวแนะซื้อเก็บไว้ขายในช่วงต้นปีหรือปลายปีหน้า เพราะแนวโน้มทิศทางทองคำยังปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันต้องจับตาการอ่อนค่าและแข็งค่าของค่าเงินบาท ซึ่งมีผลต่อราคาทองคำ โดยที่ผ่านมาค่าเงินบาทแข็งค่าแล้วประมาณ 8%"

รายงานข่าวจากสำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบีไทยแจ้งว่า  ค่าเงินบาทระหว่างวันที่ 23-27 ต.ค.  คาดว่าอยู่ในกรอบ 33.00-33.40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ  โดยยังต้องจับตาประเด็นเรื่องความเสี่ยงทางการเมืองในสหรัฐฯที่อาจกระทบหลายเรื่องทั้งเรื่องมาตรการลดภาษีของสหรัฐฯ ปัญหาเกาหลีเหนือ ประเด็นการค้ากับประเทศต่างๆเป็นต้น  รวมถึงการเลือกตั้งในญี่ปุ่นในวันอาทิตย์ที่ 22 ต.ค และการประชุมอีซีบี ในวันที่ 26  ต.ค.นี้  คาดว่าจะมีความชัดเจนเกี่ยวกับการลดขนาดมาตรการ ผ่อนคลายเชิงปริมาณหรือคิวอี รายเดือนของปีหน้า  รวมทั้งปัจจัยเกี่ยวกับคาตาโลเนียและสเปนที่ยังกดดันเงินยูโร และการรายงานตัวเลขอัตราการขยายตัวของจีดีพีสหรัฐฯไตรมาส 3 ในวันที่ 27 ต.ค.นี้ 

รายงานข่าวจากธนาคารกรุงศรีอยุธยาแจ้งว่า  ค่าเงินบาทมีทิศทางผันผวนเป็นผลมาจากปัจจัยในต่างประเทศ โดยเฉพาะการเลือกประธานธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) คนใหม่ แทนนางเจเน็ต เยเลน ประธานเฟดคนปัจจุบัน ตลอดจนผลการเลือกตั้งในญี่ปุ่น และการลดชนาดคิวอีของอีซีบี โดยคาดการณ์ว่าสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่ระดับ 33.05-33.35  บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ  ซึ่งตั้งแต่ช่วงต้นปีจนถึงปัจจุบันค่าเงินบาทไทยถือว่าแข็งค่ามากสุดหากเทียบกับภูมิภาค 8.4% รองลงมาคือดอลลาร์สิงคโปร์ 7.3%

จาก https://www.dailynews.co.th  วันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2560

เศรษฐกิจโลกฟื้นหนุนการค้า แบงก์ชาติยืนยันกรอบเงินเฟ้อ1-4%

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยอยู่ในระดับต่ำคาดว่าจะเข้าสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในช่วงต้นปีถึงกลางปีหน้าโดยยืนยันว่าไม่จำเป็นต้องปรับกรอบเงินเฟ้อในช่วงนี้ ส่วนการกำหนดกรอบเงินเฟ้อของปี 2561 นั้น มองว่ากรอบที่มีอยู่ก็น่าจะใช้ได้ดี ปัจจุบันอยู่ในระดับ 2.5% บวกลบ 1.5% หรือช่วง 1-4%

ทั้งนี้ที่ผ่านมาการที่อัตราเงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับต่ำเกิดจากราคาสินค้าเกษตรต่ำจากฐานปีที่ผ่านมาสูงจากปัญหาภัยแล้งรุนแรง ซึ่งคิดเป็น 30% ของเงินเฟ้อทั้งหมด และเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอีคอมเมอร์ส เปิดเสรีในการขายมากขึ้นโดยกรณีเงินเฟ้อต่ำนั้นหลายธนาคารกลางเริ่มมองกรอบเงินเฟ้อที่ยืดหยุ่นมากขึ้นและคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะกลับสู่กรอบเป้าหมายช้ากว่าที่คาด

นายวิรไทยังกล่าวถึงผลการประชุมธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) และธนาคารกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ว่าไอเอ็มเอฟ

 ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจของโลกปีนี้อยู่ที่ 3.6% และในปีหน้า 3.7% ซึ่งการฟื้นตัวขยายฐานกว้างมากขึ้นกระจายไปสู่กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลักการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังส่งผ่านไปยังการค้า การส่งออกและการนำเข้าสินค้าอีกด้วย

นอกจากนี้ไอเอ็มเอฟได้ตั้งข้อสังเกต ถึงกรณีที่เศรษฐกิจฟื้นตัวดี และตลาดแรงงานถึงแม้จะมีกิจกรรมเพิ่มขึ้นจากภาคการผลิต แต่ค่าจ้างแรงงานไม่ปรับเพิ่มขึ้น ถือเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำมีอยู่หลายสาเหตุเช่นกำลังการผลิตส่วนเกินสูง การพัฒนาการด้านการผลิตที่หันมาใช้ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเทคโนโลยี หรืออีคอมเมอร์ส ซึ่งผู้ผลิตไม่สามารถมีอำนาจต่อรองด้านราคา เพราะมีราคาเปรียบเทียบในออนไลน์ทำให้ปรับราคาได้ยากขึ้น ขณะเดียวกันหลายประเทศยังเจอปัญหาโครงสร้างที่สัดส่วนประชากรผู้สูงอายุสูงขึ้นทำให้มีความต้องการออมเงินมากขึ้นทำให้กำลังซื้อไม่แรงเท่าที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงที่ต้องจับตามอง เช่นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำมานาน และธนาคารกลางของประเทศอุตสาหกรรมหลักเริ่มส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยอาจส่งผลให้ต้นทุนทางการเงิน และราคาสินทรัพย์เพิ่มสูงขึ้น ทำให้กลุ่มประเทศเกิดใหม่ ที่เคยพึ่งพาต้นทุนทางการเงินถูกได้รับผลกระทบได้ และปัญหารัฐศาสตร์ สงครามบนคาบสมุทรเกาหลีรวมทั้งการกีดกันทางการค้าที่รุนแรงอาจส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานได้

นอกจากนี้ในรายงานของ Global Financial Stability Report ของไอเอ็มเอฟ ระบุว่าจะต้องจับตากลุ่มธุรกิจสถาบันการเงินที่มิใช่ธนาคารหรือนอนแบงก์ ที่เริ่มมีความเสี่ยงมากขึ้น จากการที่อัตราดอกเบี้ยต่ำนาน การมีสภาพคล่องส่วนเกินสูง ทำให้เกิดความเปราะบางขึ้นในหลายจุดของระบบการเงินโลกที่จะต้องติดตามต่อไป รวมถึงต้องติดตามการไล่ล่าผลตอบแทนสูงขึ้น(Hunt for yield) ในกลุ่มตราสารที่มีระดับความน่าเชื่อถือค่อนข้างต่ำ

ปัจจุบันพบว่ามีอัตราการลงทุนในตราสารดังกล่าวสูงถึง 45-50% จากเดิมที่ 25% ซึ่งเห็นการออกตราสารหนี้ในกองทุนที่ความน่าเชื่อถือต่ำกว่าที่ควร เช่น ช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา มีหลายประเทศที่ไม่เคยออกตราสารหนี้ หรือการออกตราสารกู้เงินในต่างประเทศ มาออกตราสารหรือ ประเทศที่เคยผิดนัดชำระหนี้มาก่อนก็กลับมาออกตราสารได้ สะท้อนว่า เห็นการแสวงหาผลตอบแทนที่ทำให้อาจจะมีการประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร

ส่วนประเทศไทยนั้นที่ผ่านมามีตราสารหนี้ หรือบีอี ผิดนัดชำระหนี้ ทำให้ผู้ลงทุนระมัดระวังมากขึ้นประกอบกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ปรับเงื่อนไขหลักเกณฑ์ จึงทำให้ปริมาณการออกตราสารปรับลดลงบ้าง

จาก http://www.naewna.com วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ส่งออก'กย.'ทุบสถิติ 'พาณิชย์'ลุ้นทั้งปีมีสิทธิโต8%

เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2560 กระทรวงพาณิชย์ แถลงตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทย หรือการส่งออกในเดือนกันยายน 2560 พบว่ามีมูลค่า 21,812 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 12.2% สูงกว่าเป้าที่ตั้งไว้ที่ 10.8%

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า การส่งออกในเดือนดังกล่าวขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 มีมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 21,812 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือขยายตัว ร้อยละ 12.2 หลังการส่งออกสินค้าเกษตร ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 ที่ร้อยละ 7.9 และการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ที่ร้อยละ 12.5 ประกอบกับกำลังซื้อของประเทศคู่ค้า และภาวะเศรษฐกิจของตลาดหลักดีขึ้น

ส่วนตัวเลขการค้าช่วง 9 เดือนแรก ของปีนี้ พบว่า มีมูลค่าสูงถึงกว่า 175,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือขยายตัว ร้อยละ 9.3 โดยเป็นอัตราขยายตัวสูงที่สุดในรอบ 6 ปี ดังนั้น จึงมั่นใจว่า จะสามารถผลักดันให้การส่งออกตลอดทั้งปีนี้ ขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 8 มากกว่าเป้าหมายเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 7

“การส่งออกรายสินค้ามีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 สำหรับสินค้าที่ขยายตัวได้ดีทั้งในแง่ของปริมาณและราคา ได้แก่ ยางพารา, น้ำตาลทราย, ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป ส่วนกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่องเป็นสินค้าที่ขยายตัวในระดับสูง ได้แก่ ทองคำ, ผลิตภัณฑ์ยาง, น้ำมันสำเร็จรูป, คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ, รถยนต์ และอุปกรณ์สื่อสาร เป็นต้น

รมว.พาณิชย์ กล่าวถึงตัวเลขนำเข้าในเดือนกันยายน ด้วยว่า มีมูลค่า 18,454 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 9.73% ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 3,358 ล้านเหรียญสหรัฐและส่งผลให้ในช่วง 9 เดือนของปีนี้ดุลการค้าเกินดุล 12,231 ล้านเหรียญสหรัฐ

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยแสดงความเห็นว่า ตัวเลขการส่งออกในช่วง 9 เดือน ของปีนี้ ที่ขยายตัว 9.3% เป็นเครื่องสะท้อนถึงภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวดีขึ้น ซึ่งภาคการส่งออกของไทยได้รับประโยชน์ในส่วนนี้ด้วย และเมื่อรวมกับความชัดเจนในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของรัฐบาล จะเป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนให้ภาคเอกชนลงทุนมากขึ้น

จาก http://www.naewna.com วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ประมูลโรงไฟฟ้าไฮบริดเดือด จับคู่ชิงเค้ก “มิตรผล” ร่วมวง

ประมูลโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือก SPP Hybrid Firm ฝุ่นตลบ แค่วันแรกยอดทะลุ 500 เมกะวัตต์ มีทั้งจับคู่ประมูล-ฉายเดี่ยว แข่งเสนอขายไฟฟ้าแบบสู้กันยิบตา หั่นราคาต่ำสุด 2.50-2.80 บาท/หน่วย ชี้รอบนี้กลุ่มชีวมวลได้เปรียบ ด้านมิตรผลยื่นประมูลแบบเดี่ยว ๆ จับตาหุ้นพลังงานในตลาดหลักทรัพย์ฯคึกคักอีกระลอก

รายงานข่าวจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ภายหลังเปิดให้ผู้สนใจยื่นเสนอขายไฟฟ้าในโครงการพลังงานหมุนเวียน SPP Hybrid Firm หรือการผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานเชื้อเพลิง ตั้งแต่ 1 ประเภทขึ้นไป ภายใต้อัตราค่าไฟฟ้าแบบ FIT (Feed in Tariff) ที่อัตรา 3.66 บาท/หน่วย วันที่ 16 ต.ค. 2560 ซึ่งเป็นวันแรกที่เปิดให้ยื่นข้อเสนอ มีผู้สนใจเสนอขายไฟฟ้ารวม 25 โครงการ คิดเป็นปริมาณไฟฟ้าเสนอขาย 541.26 เมกะวัตต์ เกินจากเป้าหมายที่ประกาศรับซื้อเพียง 300 เมกะวัตต์ และคาดว่ายังมีผู้สนใจยื่นอีกจำนวนมากก่อนปิดรับวันที่ 20 ต.ค.นี้

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการพลังงานทดแทน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาคเอกชนสนใจเข้าร่วมประมูลในโครงการ SPP Hybrid Firm ค่อนข้างมาก ขณะที่ภาครัฐรับซื้อไฟฟ้าเพียง 300 เมกะวัตต์ จึงแข่งขันกันค่อนข้างสูง คาดว่าจะมีผู้เสนอขายไฟฟ้ามากกว่า 2,000 เมกะวัตต์ จากกว่า 150 บริษัท นอกจากนี้จะมียื่นเสนอขายไฟฟ้าทั้งในแบบ “จับคู่” ร่วมกันประมูล และแยกประมูลแบบเดี่ยว ๆ

3 กลุ่มหลักจับคู่ประมูล

ในส่วนของการจับคู่สามารถแบ่งได้ 3 รูปแบบ 1) กลุ่มพลังงานแสงอาทิตย์ รวมกับการใช้ระบบกักเก็บพลังงาน หรือแบตเตอรี่ (energy storage system) สามารถผลิตไฟฟ้าและจัดเก็บไว้ในแบตเตอรี่เพื่อส่งเข้าระบบในช่วงเวลากลางคืน ซึ่งไม่สามารถผลิตไฟได้ 2) กลุ่มไบโอก๊าซกับกลุ่มชีวมวล คาดว่าจะเป็นกลุ่มที่สามารถลดอัตราค่าไฟฟ้าได้ “ต่ำที่สุด” โดยเฉพาะหากจับคู่กับกลุ่มผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาล ที่มีจุดแข็งคือวัตถุดิบอยู่แล้ว และ 3) กลุ่มชีวมวลกับกลุ่มพลังงานแสงอาทิตย์ กลุ่มนี้น่าจะลดต้นทุนค่าไฟฟ้าได้ค่อนข้างมาก และใกล้เคียงกับกลุ่มที่ยื่นเสนอประเภทชีวมวลกับกับไบโอก๊าซ

ทั้งนี้ ช่วงที่เปิดให้ผู้สนใจยื่นเสนอขายไฟฟ้าตรวจสอบจุดเชื่อมโยงระบบส่งทั้ง 3 กิจการไฟฟ้า (กฟผ./กฟภ./กฟน.) ทั่วทุกภาคของประเทศ ปรากฏว่ามีผู้ขอลงทะเบียนมากกว่า 1,000 ราย แต่เมื่อ กกพ.ประเมินเบื้องต้นทางเทคนิคแล้ว มีเพียง 100 กว่ารายที่สามารถเชื่อมโยงกับระบบสายส่งได้ คาดว่าผู้ที่ผ่านประเมินดังกล่าวจะเข้าประมูลเป็นส่วนใหญ่ด้วย เช่น กลุ่มบริษัท มิตรผล จำกัด อย่างไรก็ตาม กกพ.ได้กำหนดสัดส่วนกำลังผลิตไฟฟ้าจากการประมูลครั้งนี้เป็นรายภาค ทำให้การแข่งขันแตกต่างกันไป บางพื้นที่อยู่ที่ 1 : 5 บางพื้นที่อยู่ที่ 1 : 10 โดยเฉพาะพื้นที่มีโรงงานน้ำตาลการแข่งขันสูงมาก

แนวโน้มค่าไฟต่ำสุด 2.50 บาท

การเปิดรับซื้อไฟฟ้าครั้งนี้ใช้รูปแบบการประมูล (competitive bidding) โดย กกพ.ได้กำหนดราคากลางค่าไฟฟ้าไว้ที่ 3.66 บาท/หน่วย นั่นหมายถึงว่าผู้ยื่นเสนอขายไฟฟ้าจะต้องทำราคาค่าไฟฟ้าให้ต่ำกว่าราคากลาง “มากที่สุด” ซึ่งในแวดวงพลังงานทดแทนมีการประเมินจากศักยภาพจากเชื้อเพลิงพลังงานทดแทนทุกประเภทแล้วพบว่า กลุ่มชีวมวลน่าจะหั่นราคาค่าไฟฟ้าได้ถูกที่สุด 2.50-2.80 บาท/หน่วย สามารถแข่งขันกับโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่อย่างเช่นโรงไฟฟ้าถ่านหินได้

ในอนาคตหากในพื้นที่ภาคใต้ไม่สามารถพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ หรือโรงไฟฟ้าเทพาได้ ก็สามารถพิจารณาให้สร้างโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนรองรับความต้องการใช้ได้ ส่วนกลุ่มพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใช้แบตเตอรี่ ยังไม่ชัดเจนว่าแนวโน้มราคาจะมีทิศทางลดลงหรือไม่

จับตาหุ้นพลังงานทดแทนคึกคัก

แหล่งข่าวกล่าวว่า การรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการ SPP Hybrid Firm ครั้งนี้ นอกจากบริษัทพลังงานทั่วไปจะเข้าร่วมประมูลแล้ว บริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหลายรายก็เข้าร่วมประมูลด้วย และการเปิดประมูลครั้งนี้น่าจะช่วยทำให้ราคาหุ้นในกลุ่มพลังงานทดแทนกลับมาคึกคักอีกครั้ง เพราะที่ผ่านมาภาครัฐชะลอการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน หลังกำลังผลิตใหม่ในส่วนของพลังงานแสงอาทิตย์ในรูปแบบติดตั้งบนหลังคาขยายตัวอย่างมาก จนกระทบต่อภาพรวมของระบบไฟฟ้าหลัก

ล่าสุด ผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยัง กกพ.ว่า บริษัทที่ยื่นขอขายไฟฟ้ามีรายใดบ้างนั้น ได้รับการปฏิเสธที่จะให้ข้อมูล เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งอาจจะส่งผลต่อราคาหุ้นได้ ทั้งนี้ กกพ.จะสรุปข้อมูลทั้งหมดภายหลังจากปิดรับข้อเสนอแล้ว อย่างไรก็ตาม สำหรับบริษัทด้านพลังงานทดแทนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เช่น บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) บริษัท กันกุล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) บริษัท ซุปเปอร์ บล็อก จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) ฯลฯ

ด้านนายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ หรือ EA กล่าวว่า บริษัทไม่ได้เข้าร่วมประมูลครั้งนี้ เนื่องจากอยู่ในระหว่างลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าจากกังหันลมรวม 260 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ จ.ชัยภูมิ ต้องใช้เงินลงทุนกว่า 20,000 ล้านบาท จึงไม่มีความพร้อมที่จะเข้าร่วมประมูล นอกจากนี้เมื่อพิจารณาค่าไฟฟ้าราคากลางที่ประกาศไว้ 3.66 บาท/หน่วย ถือว่าค่อนข้างต่ำ และต้องประมูลแข่งขัน นั่นหมายถึงว่าราคาค่าไฟฟ้าจะต้องต่ำลงอีก

นอกเหนือจากการลงทุนในพลังลม บริษัทอยู่ระหว่างเตรียมลงทุนสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานอีกด้วย ขณะนี้อยู่ระหว่างหาพื้นที่ก่อสร้างโรงงาน เป้าหมายต้องการให้อยู่ในพื้นที่โครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC เริ่มต้นเฟสแรก 1 จิกะวัตต์/ชั่วโมง จะผลิตเข้าระบบในช่วงปลายปี 2561 ใช้เงินลงทุน 3,000 ล้านบาท และหลังเฟสแรกผลิตแล้ว 3-6 เดือน จะพิจารณาลงทุนในเฟส 2 ต่ออีก 50 จิกะวัตต์/ชั่วโมง

ทั้งนี้ กกพ.ระบุว่าภายหลังจากปิดรับการยื่นขอผลิตไฟฟ้า SPP Hybrid Firm แล้ว วันที่ 24 พ.ย. 2560 จะประกาศรายชื่อผู้ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติและการประเมินข้อเสนอขอขายไฟฟ้าด้านเทคนิค สำหรับกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 300 เมกะวัตต์ดังกล่าว จะเริ่มผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ช่วงปี 2564

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2560

12 ชาติ รุมจ่อขึ้น! ภาษีสินค้าไทย ใช้ 'AD-SG' กีดกัน 23 รายการ ชี้ 2 นโยบายทรัมป์ทุบซํ้า

ไทยอ่วม 12 คู่ค้า สั่งเปิดไต่สวนใช้มาตรการเอดีและเซฟการ์ดสินค้า 23 รายการ นักวิชาการสั่งจับตากฎหมาย Buy

ทรัมป์จี้รื้อกฎแหล่งกำเนิดสินค้าในนาฟต้า กระทบส่งออกไทยไปสหรัฐฯ-เม็กซิโก-แคนาดา

 แม้การส่งออกของไทยจะขยายตัวได้ดี ช่วง 8 เดือนแรกปีนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 8.8% แต่อีกด้านหนึ่งตรวจสอบพบคู่ค้าอยู่ระหว่างการเปิดไต่สวนเพื่อใช้มาตรการเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน(AD/CVD) รวมถึงภาษีปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (SG หรือเซฟการ์ด) กับสินค้าไทยจำนวนมาก

 จากการตรวจสอบข้อมูลจากเว็บไซต์กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์พบว่า ณ ปัจจุบันมี 12 ประเทศที่อยู่ระหว่างการเปิดไต่สวนเพื่อใช้มาตรการข้างต้นกับสินค้าไทยรวมทั้งสิ้น 12 ประเทศ รวม 23 รายการ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา แคนาดา บราซิล ตูนิเซีย แซมเบีย ยูเครน ตุรกี จีน อินเดีย ปากีสถาน เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย โดย 5 อันดับแรกที่อยู่ระหว่างการไต่สวนเพื่อใช้มาตรการกับสินค้าไทย ได้แก่ ตุรกี, สหรัฐฯ, อินเดีย, ตูนิเซีย และจีน ตามลำดับ (กราฟิกประกอบ)

สินค้าไทยที่อยู่ระหว่างถูกเปิดไต่สวน อาทิ แปรงสีฟัน, เครื่องซักผ้าในบ้านขนาดใหญ่, กระดาษพิมพ์, ขวดแก้ว, อุปกรณ์เฟอร์นิเจอร์, เส้นใยโพลีเอสเตอร์สังเคราะห์สั้น, เหล็กเสริมคอนกรีต, ท่อเหล็กกล้าไร้สนิม,ไฟเบอร์บอร์ด, PET film และโลหะซิลิคอน เป็นต้น

นายบัณฑูร วงศ์สีลโชติ รองประธานคณะกรรมการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากการตรวจสอบมาตรการของคู่ค้าที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกของไทยรอบ 9 เดือนแรกปีนี้ ส่วนใหญ่ยังเป็นมาตรการเดิมๆ เช่น มาตรการที่เป็นอุปสรรคเทคนิคทางการค้า (TBT) มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมและอื่นๆ

 อย่างไรก็ดีมี 2 สถานการณ์ที่ต้องติดตามเพราะอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในอนาคตได้ กรณีแรก นโยบาย Buy American ซึ่งเป็นกฎหมายเชิงนโยบายที่กำหนดให้รัฐบาลสหรัฐฯต้องจัดซื้อจัดจ้างและเลือกซื้อสินค้าที่ผลิตภายในประเทศเป็นอันดับแรก ล่าสุดสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (ยูเอสทีอาร์) อยู่ระหว่างการเปิดขอรับข้อมูลที่เป็นประโยชน์จากผู้ประกอบการของสหรัฐฯ เพื่อใช้ประกอบการศึกษาผลกระทบ อย่างไรก็ดีหากกฎหมายมีผลบังคับใช้จะมีผลกระทบกับสินค้าไทยไม่มากก็น้อย เพราะต่อไปบริษัทอเมริกันที่ร่วมประมูลจัดซื้อจัดจ้างให้กับรัฐบาลจะต้องซื้อสินค้าที่ผลิตในสหรัฐฯเป็นอันดับแรก จากที่ผ่านมาสามารถซื้อจากที่ใดก็ได้

 กรณีต่อมา ทรัมป์อยู่ระหว่างการเจรจากับเม็กซิโกและ แคนาดา เพื่อขอแก้ไขกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า (Rules of Origin:ROO) ในข้อตกลงเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (นาฟต้า) เป้าหมายเพื่อลดการขาดดุลการค้า จากเดิมกำหนดให้สินค้าที่ค้าขายและจะได้รับการยกเว้นภาษีระหว่างกันต้องใช้วัตถุดิบหรือชิ้นส่วนที่ผลิตใน 3 ประเทศสัดส่วน 62.5% ให้เพิ่มเป็น 85% (ในจำนวนนี้ต้องเป็นวัตถุดิบจากสหรัฐฯ สัดส่วน 50% และอีก 35% จากเม็กซิโกหรือแคนาดา)

“ขณะนี้เม็กซิโกและแคนาดา ยังไม่ยอมรับตามที่สหรัฐฯเสนอในเรื่องกฎแหล่งกำเนิดสินค้า ซึ่งทั้ง 2 เรื่องนี้ต้องติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด เพราะจะมีผลกระทบกับการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ เม็กซิโก และแคนาดา เช่นในกลุ่มชิ้นส่

ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยกล่าวว่า นโยบาย Buy American คงไม่ส่งผลกระทบกับสินค้าไทยทุกสินค้า เพราะหลายรายการสหรัฐฯไม่สามารถผลิตได้เองทั้งหมด จากค่าแรงสูง ที่ยังจำเป็นต้องมีการนำเข้า เช่น ผัก ผลไม้ สินค้าเกษตรแปรรูป รองเท้า เสื้อผ้า เครื่องหนัง เครื่องแต่งกายต่างๆ เป็นต้น

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2560

เกษตรฯขับเคลื่อน '5 ประสาน' สืบสานเกษตรทฤษฎีใหม่ถวายในหลวงรัชกาลที่ 9

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 ตุลาคม 2560 ณ.  ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 134-135  พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมโครงการ “5 ประสาน สืบสานเกษตรทฤษฎีใหม่ ถวายในหลวง” เตรียมดำเนินการต่อเนื่อง ปี พ.ศ.2561 ตั้งเป้าเกษตรกรสมัครใจ เข้าร่วมโครงการฯ เพิ่มจำนวน 70,000 ราย  รวมเป็น 140,000 ราย เพื่อถวายรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

จากปัญหาของภาคการเกษตรที่สำคัญ คือ เกษตรกรส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ และการบริหารจัดการผลิต ทั้งการพัฒนาเรื่องดินและน้ำ ขาดแคลนทุนและโครงสร้างพื้นฐาน มีหนี้สิ้นจากจากผลิตเชิงเดี่ยว และมีความเสี่ยงเสียหายจากภัยพิบัติธรรมชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายปฏิรูปภาคการเกษตร ให้เกษตรกรมีรายได้และความภาคภูมิใจในอาชีพ เป้าหมายเพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และยกระดับมาตรฐานคุณภาพสินค้าเกษตร ส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรแปลงใหญ่ ในเขตพื้นที่เหมาะสม ซึ่งนอกเหนือจากการผลิตสินค้าหลักแล้ว ยังได้ส่งเสริมเกษตรกรมีการผลิตอาหารที่ปลอดภัยบริโภคอย่างเพียงพอในครัวเรือน และนำรายได้จากการผลิตสินค้าหลักมาเป็นเงินออม เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงในอนาคต และสร้างภูมิคุ้มกันให้เกษตรกร

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดทำโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ ปี 2560 เพื่อถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร โดยส่งเสริมให้เกษตรกรที่มีความสมัครใจจากพื้นที่ทั่วประเทศ จำนวน 70,000 ราย ได้น้อมนำหลักทฤษฎีใหม่ไปปรับใช้ในพื้นที่ของตนเองอย่างเหมาะสม วัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น สามารถลดรายจ่ายในครัวเรือน และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยในการดำเนินงานดังกล่าว ได้รับความร่วมมือจากสถาบันการศึกษา ปราชญ์เกษตร บริษัทเอกชน สนับสนุนการดำเนินงานในทั่วทุกพื้นที่เป็นอย่างดี

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ) ได้เป็นประธานการประชุมโครงการ “5 ประสาน สืบสานเกษตรทฤษฎีใหม่ ถวายในหลวง” ร่วมกับส่วนราชการในสังกัด สถาบันการศึกษา ปราชญ์เกษตร และภาคเอกชนที่สนับสนุนโครงการ เพื่อรับทราบสรุปผลการดำเนินงานโครงการ “5 ประสาน สืบสานเกษตรทฤษฎีใหม่ ถวายในหลวง” ปี  2560 และร่วมกันขับเคลื่อนโครงการต่อเนื่องใน ปี 2561 โดยผลการดำเนินงานปี 2560 มีเกษตรกรสมัครใจเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น จำนวน 70,002 ราย พบว่าหลังจากร่วมโครงการแล้ว เกษตรกรได้นำความรู้เรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ทำการเกษตรผสมผสานอย่างเกื้อกูลกัน ตามศักยภาพของตนเองในพื้นที่ เกิดพึ่งพาตนเอง โดยสามารถลดรายจ่ายจากการบริโภคผลผลิตที่ปลอดภัยของตนเองได้เฉลี่ยเดือนละ 533 บาท มีการลดต้นทุนการผลิต และลดใช้การใช้สารเคมี โดยใช้ปัจจัยการผลิตและใช้แรงงานของตนเองได้ เฉลี่ยเดือนละ 556 บาท เกษตรกรมีการเคลื่อนย้ายแรงงานไปทำงานในเมือง ลดลงร้อยละ 1.47 มีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง และจัดทำบัญชีครัวเรือน มีการลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ส่งผลให้ครัวเรือนร้อยละ 18.38 สามารถลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นลงได้ อีกทั้งยังมีการวางแผนและดำเนินการผลิตในแปลงที่เข้าร่วมโครงการ สร้างรายได้สุทธิเพิ่มขึ้น เฉลี่ยเดือนละ 4,613 บาท

เพื่อให้การดำเนินงานมีความต่อเนื่องและเกิดการพัฒนาความยั่งยืน ทุกภาคส่วนจึงได้ร่วมกันวางแผนขับเคลื่อนการดำเนินงาน ในปี พ.ศ.2561 โดยกำหนดรับสมัครเกษตรกรที่มีความสมัครใจเข้าร่วมโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่เพิ่มขึ้น จำนวน 70,000 ราย  รวมเป็น 140,000 ราย เพื่อถวายรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และร่วมกันทุกภาคส่วนในการพัฒนาภาคเกษตรกรรมให้เกิดความมั่นคง เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้อย่างเพียงพอและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

จาก  http://www.naewna.com   วันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2560

เกษตรฯงัด15แผน หลักลุยปี’61 ยกระดับ มาตรฐานสินค้า สู่ยุค4.0      

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ปีงบประมาณ 2561 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับจัดสรรงบประมาณในภาพรวมทั้งหน่วยงานราชการในสังกัด องค์กรมหาชน และรัฐวิสาหกิจ รวม 103,586.6227 ล้านบาท จำแนกเป็น 1) งบบุคลากรภาครัฐวงเงิน 25,823.0087 ล้านบาท 2) งบรายจ่ายตามภารกิจ (Function) วงเงิน 17,422.3205 ล้านบาท 3) งบบูรณาการ (Agenda) วงเงิน 53,234.3502 ล้านบาท และ 4) งบพื้นที่ (Area) วงเงิน 7,106.9433 ล้านบาท ในจำนวนนี้ มีงานโครงการสนับสนุนนโยบาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ยกกระดาษ A4) และงานสำคัญอื่นๆ จำนวน 57,742.1386 ล้านบาท ประกอบ 15 โครงการ/แผนงานสำคัญ ประกอบด้วย

1) การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 50,010.2374 ล้านบาท 2) ระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ 1,868.4714 ล้านบาท3) ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร 449.0476 ล้านบาท 4) Zoning by Agri-Map 333.0441 ล้านบาท 5) Smart Farmer 143.7429 ล้านบาท 6) พัฒนาสถาบันเกษตรกรรูปแบบ ประชารัฐ 21.9530 ล้านบาท 7) ธนาคารสินค้าเกษตร 40.6349 ล้านบาท 8) เกษตรอินทรีย์ 910.4219 ล้านบาท 9) ส่งเสริมเกษตรทฤษฎีใหม่ 379.3885 ล้านบาท 10) จัดระเบียบการประมงให้เป็นมาตรฐาน 577.9542 ล้านบาท 11) ขยายศูนย์เมล็ดพันธ์ข้าว 472.9215 ล้านบาท 12) ส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าสินค้าและการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรทดแทนแรงงาน 351.1151 ล้านบาท 13) ตลาดสินค้าเกษตร 268.1654 ล้านบาท 14) พัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรสู่มาตรฐาน (GAP) 1,414.2919 ล้านบาท และ 15) การช่วยเหลือด้านหนี้สินสมาชิกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร 500.7488 ล้านบาท

ทั้งนี้ ปี 2561 กระทรวงเกษตรฯ ได้กำหนดเป้าหมายให้เป็น “ปีแห่งการยกระดับคน การบริหารจัดการมาตรฐานสินค้าเกษตรสู่เกษตร 4.0” โดยมีกรอบแนวคิดและการดำเนินงานต่อเนื่องตามนโยบายยกกระดาษ A4 ซึ่งจะเป็นกลไกผลักดันให้แผนขับเคลื่อน Smart Agricultural Curve ในปี 2561 บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ เร่งสร้างเกษตรกรให้เป็น Smart Farmer นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปปรับใช้ในกระบวนการผลิตสินค้าเกษตร และเชื่อมโยงตลาด ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาการเกษตรเร่งเครื่องสู่เกษตร 4.0 อย่างต่อเนื่อง

จาก http://www.naewna.com วันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2560

“พาณิชย์” ถก ธปท.ปรับฐานเงินเฟ้อ นำการซื้อขายออนไลน์มาคำนวณเพิ่ม

 “พาณิชย์” หารือ ธปท. นำธุรกิจอีคอมเมิร์ซเข้ามาใช้ในการคำนวณในตะกร้าเงินเฟ้อเพิ่มเติม หลังพบประชาชนนิยมซื้อสินค้าทางออนไลน์มากขึ้น เหตุราคาถูกกว่าที่ขายในร้านและในห้าง เพื่อป้องกันผลคำนวณเงินเฟ้อผิดพลาด เล็งนำวิธีการของสหรัฐฯ และจีนมาปรับใช้ ส่วนผลสำรวจการใช้จ่ายกลุ่มแรงงาน เกษตรกร พบส่วนใหญ่ซื้ออาหารเป็นหลัก ชงรัฐช่วยให้ตรงจุด

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค.อยู่ระหว่างการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการพิจารณานำการซื้อขายสินค้าผ่านทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (อีคอมเมิร์ซ) มาใช้ในการคำนวณเงินเฟ้อเพิ่มเติม เพื่อให้อัตราเงินเฟ้อออกมาสอดคล้องกับความเป็นจริงมากที่สุด เนื่องจากในปัจจุบันธุรกิจอีคอมเมิร์ซได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของไทยและหลายๆ ประเทศอยู่ในระดับต่ำ เพราะสินค้าที่ซื้อขายผ่านทางอีคอมเมิร์ซมีราคาต่ำกว่าสินค้าหน้าร้านหรือห้างสรรพสินค้ามาก

“เงินเฟ้อที่ต่ำลง บางครั้งไม่สามารถบอกได้ว่าเศรษฐกิจชะลอตัวหรือประชาชนไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย เพราะระยะหลังพฤติกรรมผู้บริโภคได้เปลี่ยนแปลงไปมาก โดยหันไปใช้บริการซื้อสินค้าผ่านออนไลน์แทน เพราะร้านค้าออนไลน์มีการตัดราคาให้ต่ำกว่าท้องตลาดทั่วไป จากการไม่มีต้นทุนในการสร้างร้านหรือต้นทุนจากการเสียค่าธรรมเนียมกรณีการวางจำหน่ายในห้าง และการซื้อขายออนไลน์จะบูมมากกว่านี้อีก หลังจากที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังผลักดันอย่างเต็มที่” น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบันในหลายประเทศได้นำการซื้อขายสินค้าผ่านทางอีคอมเมิร์ซมาคำนวณในตะกร้าเงินเฟ้อแล้ว โดยเฉพาะสหรัฐฯ และจีน ที่พบว่าร้านค้าทั่วไปที่มียอดขายลดลงอย่างมาก แต่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซกลับขยายตัวเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด ดังนั้น อาจจะศึกษาวิธีการคำนวณเงินเฟ้อของประเทศเหล่านี้ ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ก็สนับสนุนให้มีการนำธุรกิจอีคอมเมิร์ชมาเพิ่มในการคำนวณเช่นเดียวกัน

น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว่า ได้ทำการวิเคราะห์ดัชนีราคาผู้บริโภคชุดรายได้น้อย หรือเงินเฟ้อของกลุ่มผู้มีรายได้น้อย และดัชนีราคาผู้บริโภคเขตชนบท หรือเงินเฟ้อกลุ่มเกษตรกร ซึ่งได้ทำการสำรวจในช่วงเดียวกันกับการสำรวจดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) แต่ที่ผ่านมาไม่ได้มีการเปิดเผยออกสู่สาธารณะ นอกจากจัดส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ธปท. และสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งผลการวิเคราะห์พบว่า กลุ่มผู้มีรายได้น้อยส่วนใหญ่จะใช้จ่ายเป็นค่าอาหารและเครื่องดื่ม สัดส่วนสูงถึง 45.12% ของสัดส่วนค่าใช้จ่ายรวม ที่เหลือเป็นค่าใช้จ่ายเป็นค่าเช่าบ้าน ค่าก๊าซหุงต้ม ค่าวัสดุก่อสร้าง ค่าไฟฟ้า สัดส่วน 24.60% และค่าโดยสาร ค่าน้ำมัน ค่ามือถือ อีก 15.8% ส่วนกลุ่มเกษตรกร สัดส่วนการใช้จ่ายเป็นค่าอาหารและเครื่องดื่มอยู่ที่ 42.63% ค่าเช่าบ้าน ค่าก๊าซหุงต้ม ค่าวัสดุก่อสร้าง ค่าไฟฟ้า 20.13% และค่าโดยสาร ค่าน้ำมัน ค่ามือถือ 23.51%

“จะนำผลวิเคราะห์เหล่านี้เสนอผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ และรัฐบาล เพื่อพิจารณามาตรการช่วยเหลือให้ตรงจุดต่อไป เพราะอย่างน้อยก็ทำให้รู้ว่ากลุ่มแรงงาน และเกษตรกรรายจ่ายส่วนใหญ่อยู่ในหมวดอาหาร ซึ่งนโยบายร้านค้าธงฟ้าประชารัฐถือเป็นแนวทางที่ถูกต้อง ช่วยลดค่าครองชีพได้จริง แต่เห็นว่าน่าจะเพิ่มรายการสินค้าในหมวดอาหารให้เพิ่มมากขึ้นเพื่อเป็นทางเลือกให้คนเหล่านี้”

น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวอีกว่า สนค.ยังได้สำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.ย. 2560 โดยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 39.5 จากเดือน ส.ค. 2560 ที่ 38.4 โดยปัจจัยที่ทำให้ความเชื่อมั่นสูงขึ้นมาจากการที่เศรษฐกิจไทยขยายตัว การบริโภค การส่งออกดีขึ้น เอกชนมีการลงทุนตามโครงการลงทุนของรัฐ ทั้งในโครงการพัฒนาระเบียบเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ และโครงการลงทุนขนาดใหญ่ และยังได้ผลดีจากราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้นจากการส่งออกที่สูงขึ้น ทั้งข้าว ยางพารา ผลไม้ น้ำตาลทราย รวมทั้งมีการกระตุ้นกำลังซื้อภาคประชาชนผ่านมาตรการต่างๆ ของรัฐ

จาก https://mgronline.com  วันที่ 18 ตุลาคม 2560

ปลัดอุตฯ สั่งวางกรอบทำงานไทย-เยอรมัน

ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม สั่งวางกรอบคณะทำงานประชารัฐไทย-เยอรมัน ดึงเทคโนโลยีพัฒนาสู่อุตสาหกรรม 4.0

นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มอบแนวทางการจัดตั้งคณะทำงานประชารัฐไทย - เยอรมัน เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0 ตามนโยบายของภาครัฐ ซึ่งคณะทำงานของฝ่ายไทยจะประกอบด้วย กระทรวงอุตสาหกรรม โดยมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (เอสซีจี) โดยได้กำชับให้ทุกฝ่ายเร่งวางกรอบความร่วมมือเพื่อร่วมดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากประเทศเยอรมันเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการ SMEs ของไทยปรับเปลี่ยนใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยเฉพาะจากบริษัทเอกชนรายใหญ่ ก่อนที่จะนำแผนดังกล่าวเข้าร่วมหารือกับคณะทำงานประชารัฐฝ่ายเยอรมันในเดือนพฤศจิกายน ประกอบด้วย ประธานหอการค้าไทย - เยอรมัน จะเป็นประธานคณะทำงานร่วมกับเอกอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทย และบริษัทเอกชนรายใหญ่ อาทิ บริษัท โรเบิร์ต บ๊อช จำกัด (BOSCH) บริษัท SIEMENS เป็นต้น

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 18 ตุลาคม 2560

สภาเศรษฐกิจโลก ยกทีมถก “สมคิด” ช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0                      

นางอภิรดี ตันตราภรณ์  รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ สภาเศรษฐกิจโลก (ดับเบิ้ลยูอีเอฟ) เตรียมเดินทางมาเยือนประเทศไทยเพื่อหารือกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานเศรษฐกิจเกี่ยวกับการร่วมกันยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของไทย  และส่งเสริมให้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ให้ประสบความสำเร็จ เพราะดับเบิ้ลยูอีเอฟ เป็นผู้มีความชำนาญด้านนโยบายและการปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกยุคใหม่

 “ดับเบิ้ลยูอีเอฟ เป็นสถาบันและเวทีประชุมที่มีบทบาทและอิทธิพลสำคัญต่อนโยบายเศรษฐกิจและการเมืองระดับโลก ซึ่งการมาเยือนไทยครั้งนี้ไทยจะนำข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะมาปรับใช้ และกำหนดนโยบายให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกยุคใหม่ นอกจากดับเบิ้ลยูอีเอฟจะพบกับนายสมคิดแล้ว ก็ยังหารือกับรัฐมนตรีเศรษฐกิจ เช่น พาณิชย์ คลัง อุตสาหกรรม ดีอี รวมถึงหน่วยงานรัฐ เช่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคเอกชนรายสำคัญอย่าง  ปตท. ธนาคารกรุงเทพ และไทยเบฟ เป็นต้น”

 นอกจากนี้ดับเบิ้ลยูอีเอฟ ยังจะมีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ (เวิร์กชอป) ให้กับเจ้าหน้าที่ เพื่ออธิบายถึงการคำนวณดัชนีที่ใช้ในการชี้วัดอันดับความสามารถในการแข่งขัน  ของประเทศต่างๆ โดยในปี 61 มีแนวโน้มที่จะนำเกณฑ์ชี้วัดใหม่มาใช้ในการวัดและจัดอันดับ ซึ่งจะให้ความสำคัญกับด้านนวัตกรรมมากขึ้น

 ทั้งนี้เมื่อเดือนก.ย. 60 ที่ผ่านมาดับเบิ้ลยูอีเอฟได้จัดลำดับให้ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันอยู่ในลำดับที่ 32 จาก 137 ประเทศ เพิ่มขึ้นจากลำดับที่ 34 จากการจัดลำดับในครั้งก่อนหน้านี้

จาก https://www.dailynews.co.th   วันที่ 18 ตุลาคม 2560

เกษตรอินทรีย์หวั่นพ.ร.บ.พันธุ์พืชใหม่ ทำพืชจีเอ็มโอครองตลาด จวกออกกม.มาหยุดการพัฒนาของเกษตรกร

กรณีที่กรมวิชาการเกษตรได้เปิดรับฟังความคิดเห็น เพื่อปรับปรุง พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 ผ่านเว็บไซต์ภายในของกรมวิชาการเกษตรระหว่างวันที่ 5-20 ตุลาคมนี้ ก่อนนำเสนอ คณะรัฐมนตรี และถ้าคณะรัฐมนตรี (ครม.)มีความเห็นชอบ จะส่งร่างดังกล่าวไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาก่อนเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไปนั้น นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ยืนยันว่าจะส่งผลดีต่อเกษตรกรและเกษตรกรสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์พื้นเมืองได้ต่อไปและยังส่งผลดีต่อการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์พืชใหม่ๆ เป็นการสร้างประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพของการผลิตสูงขึ้นและเกษตรกรยังสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ในพื้นที่ของตนเองไว้เพาะปลูกได้ตามสิทธิพิเศษของเกษตรกรที่กำหนดไว้ในมาตรา 35 ของร่างพระราชบัญญัตินี้

ถ้าเป็นไปตามแผนสามารถปรับปรุง กฎหมายได้ จะส่งเสริมให้เกิดนักปรับปรุงพันธุ์พืชไทย เกิดแรงจูงใจในการลงทุนวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืชใหม่ๆ และมีแหล่งพันธุกรรมที่มีความหลากหลาย ในการปรับปรุงพันธุ์มากขึ้นมีการนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ในการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ เป็นประโยชน์กับอุตสาหกรรมแปรรูป จะมีการขยายตัวการลงทุนเมล็ดพันธุ์พืชใหม่ๆ ได้ผลดีทั้งในประเทศและการส่งออก

เมื่อวันที่ 18 ต.ค. นายอำนวย คลี่ใบ เกษตรกรผู้ปลูกพืชอินทรีย์ บ้านป่าไผ่ ต.ไทรย้อย อ.เด่นชัย จ.แพร่ กล่าวว่า ในจังหวัดแพร่ มีประชาชนจำนวนมากที่หันมาสนใจการพัฒนาการเกษตรแบบไม่ใช้สารเคมี ทำให้ต้องมีการเก็บเมล็ดพันธุ์และปรับปรุงพันธุ์เองคือการคัดเลือกพืชที่มีความทนทานต่อโรคและแมลงตามธรรมชาติ จนสายพันธุ์นั้นๆ ได้ผลดีจะมีการเก็บเมล็ดไว้ใช้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการลดต้นทุนการผลิต เป็นการผลิตอาหารที่ไม่ปนเปื้อนการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรม GMO เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค

 “แต่ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายแม้จะมีมาตรา 35 คุ้มครองเกษตรกรให้เก็บเมล็ดพันธุ์ได้ แต่ใครจะยืนยันว่า การส่งเสริมการวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืชจะไม่มีการตัดต่อเปลี่ยนแปลงพันธุกรรม GMO ซึ่งถ้ามีพืชจีเอ็มโอเข้ามาในวงษ์ของพืชพรรณไทย จะไม่มีใครที่จะหยุดการฟุ้งกระจายของเกสรพืชจีเอ็มโอได้ ในที่สุดเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านหรือเมล็ดพันธุ์ที่เกษตรกรปรับปรุงพันธุ์เองโดยธรรมชาติก็จะถูกเกษรพืชจีเอ็มโอเข้าผสม ในที่สุดพืชผักที่เป็นอาหารของคนทั้งโลก ก็จะตกเป็นของนักวิจัยเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมถ้ามีข้อพิพาทและมีการตรวจสอบ โดยมีตัวอย่างในต่างประเทศมาแล้ว

“ถ้ากรมวิชาการเกษตรที่มีการรับฟังความคิดเห็นภายในเว็บไซต์ของตนเอง เชื่อแน่ว่าเกษตรกรไม่สามารถเข้าถึง นอกจากผู้ที่ต้องการปรับปรุงพันธุ์พืชระดมให้ความคิดเห็น ตนจึงขอเรียกร้องผ่านสื่อมวลชนในการคัดค้าน พ.ร.บ.ดังกล่าวและขอให้มีการเปิดให้พันธุ์พืชยังเป็นของสาธารณะต่อไป ทุกวันนี้กลุ่มทุนใหญ่มีการปรับปรุงพันธุ์พืชหลายชนิดเพื่อส่งเสริมการใช้ปุ๋ยและยา เพิ่มมูลค่าการขายอยู่แล้ว เกษตรกรได้ยึดเอาแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เก็บเมล็ดพันธุ์ปรับปรุงเองสู้กับพืชในตลาด และกำลังเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีพ.ร.บ.นี้ ออกมาหยุดยั้งการพัฒนาของเกษตรกรมากกว่า”

จาก  https://www.matichon.co.th วันที่ 18 ตุลาคม 2560

ชาวนายุ! คว่ำร่าง “พ.ร.บ.น้ำ” ย้ำจุดยืน! ห้ามเก็บเงิน เล็งเอาคืนรัฐ

นายกสมาคมชาวนาฯ ย้ำจุดยืน! ห้ามเก็บเงิน ขณะล่ารายชื่อ 10 จังหวัด เอาคืนรัฐเรียกค่าเสียหายใช้ที่นาทำแก้มลิง ... กลุ่มอีสท์วอเตอร์ชี้! เก็บ 3 บาท/ลบ.ม. กระทบใช้น้ำดิบรวม 30 ล้าน ลบ.ม. ... วิป สนช. ยกประวัติศาสตร์ ร่าง พ.ร.บ. ส่อถูกตีตกสูงขยายเวลาพิจารณารอบ 4

คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ... ต้องขยายเวลาพิจารณาออกไปอีกรอบ หลังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เฉพาะอย่างยิ่งจากชาวนา กรณีที่จะมีการออกกฎหมายลูกเรียกเก็บค่าใช้น้ำสาธารณะจากภาคส่วนต่าง ๆ รวมถึงเกษตรกรที่ปลูกข้าวเกิน 50 ไร่ ที่ถูกระบุเป็นข้าวเพื่อการพาณิชย์ รวมถึงพืชเกษตรและปศุสัตว์ต่าง ๆ

เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2560 สถานีข่าวสปริงนิวส์ร่วมกับ “หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ” จัดเสวนาโต๊ะกลมหัวข้อ “ชำแหละกฎหมายทรัพยากรน้ำ : ประชาชนรับกรรม สรุปประเด็นสำคัญจากทั้งในและนอกเวที ดังนี้

 นายสุเทพ คงมาก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า ชาวนาถือเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามร่าง พ.ร.บ. นี้ มีคำถามจากชาวนาและจากประชาชนทั่วไปว่า จะมีการออกกฎหมายเพื่อเก็บค่าใช้น้ำจากชาวนาสมควรหรือไม่ จากเดิมต้นทุนการใช้น้ำของชาวนา น้ำมาจากธรรมชาติเป็นหลัก ดังนั้น ก่อนที่รัฐบาลจะเรียกเก็บค่าใช้น้ำจากชาวนาควรลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้เกษตรกรได้ใช้น้ำอย่างไม่ขาดแคลนเสียก่อน ไม่ใช่มาเรียกเก็บค่าใช้น้ำจากชาวนาก่อน

“การเขียนกฎหมายว่า เราต้องเสียค่าน้ำ ชาวนา 3.7 ล้านครัวเรือน หรือประมาณ 30-40 ล้านคน ตื่นตระหนกกันทั่งประเทศ เพราะมองว่า ไม่สมควร วันนี้กระทรวงเกษตรฯ มาบอกว่า ต้องเสียค่าน้ำ โดยแบ่งผู้ใช้น้ำเป็น 3 ประเภท ที่เราไม่อยากเห็นใน พ.ร.บ.ฉบับนี้ คือ มีคำว่าเก็บเงินจากเกษตรกร ไม่ว่ามีการใช้น้ำระดับไหนก็ตาม ตัวอย่าง แค่สูบน้ำเข้านา ต้นทุนค่าน้ำมันต่อไร่ก็ตก 400-500 บาทแล้ว มาเก็บค่าน้ำอีก ไม่สมควรอย่างยิ่ง วันนี้ทางรัฐมนตรีเกษตรฯ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ก็ยืนยันชัดเจนว่า เกษตรกรไม่ต้องเสียค่าน้ำแน่นอน หากจะเก็บเราขอให้คว่ำร่างกฎหมาย”

สถานีข่าวสปริงนิวส์ ร่วมกับนสพ.ฐานเศรษฐกิจ จัดเสวนาโต๊ะกลมหัวข้อ “ชำแหละ กฎหมายทรัพยากรน้ำ : ประชาชนรับกรรม เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2560

 สถานีข่าวสปริงนิวส์ ร่วมกับนสพ.ฐานเศรษฐกิจ จัดเสวนาโต๊ะกลมหัวข้อ “ชำแหละ กฎหมายทรัพยากรน้ำ : ประชาชนรับกรรม เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2560

… เอาคืนเก็บค่าที่ “แก้มลิง” ...

อย่างไรก็ดี ล่าสุด วันที่ 12 ต.ค. 2560 ทางแกนนำสมาชิกชาวนา 10 จังหวัดภาคกลาง อาทิ พระนครศรีอยุธยา, ชัยนาท, ลพบุรี, อ่างทอง ได้มีมติเห็นชอบ หากรัฐบาลจะเก็บค่าน้ำจากเกษตรกรผ่าน พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ ทางเจ้าของที่นาที่มีโฉนดที่ดินถูกต้องจะเรียกร้องคิดเก็บค่าน้ำจากรัฐบาล 50 สตางค์ต่อลูกบาศก์เมตร เช่นเดียวกัน เพราะเป็นผู้เสียสละที่นาให้รัฐบาลใช้ทำเป็นแก้มลิงรับน้ำไม่ให้น้ำเข้าเมืองหลวง ดังนั้น เพื่อไม่ให้เรื่องบานปลาย เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเกษตรฯ จะต้องสั่งทันทีให้ยกมาตรกลุ่มผู้ใช้น้ำที่เป็นเกษตรกรเชิงพาณิชย์ออกไปเลย ปัจจุบัน ชาวนากลุ่มนี้ไม่ได้รับการชดเชยในการให้ที่นาทำเป็นแก้มลิง แต่ได้ยอมทุกอย่างเพื่อไม่ให้มีความขัดแย้ง

… อีสท์วอเตอร์กระทบ 10% ...

นายเชิดชาย ปิติวัชรากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูนิเวอร์แซล ยูทีลิตี้ส์ จำกัด (มหาชน) หรือ ยูยู ผู้ผลิตน้ำประปาแบบครบวงจรในเครือบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์วอเตอร์ กล่าวว่า ภาคเอกชนด้วยกันยังไม่มีการเคลื่อนไหวต่อร่าง พ.ร.บ. นี้ ที่มีหลักการใครใช้น้ำสาธารณะต้องรับภาระค่าใช้จ่าย ในส่วนของอีสท์วอเตอร์ ล่าสุด ได้มีการตั้งคณะทำงานภายในเพื่อศึกษาผลกระทบ ข้อมูลเบื้องต้น กลุ่มอีสท์วอเตอร์ใช้น้ำดิบที่มาจากแหล่งน้ำสาธารณะสัดส่วนรวมกันราว 10% ของการใช้น้ำดิบทั้งหมด หรือมีสัดส่วนรวม 30 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ของปริมาณน้ำดิบจากแหล่งต่าง ๆ ที่ทางกลุ่มใช้ต่อปี รวม 377 ล้าน ลบ.ม. โดยปริมาณน้ำดิบดังกล่าวสัดส่วนอีก 90% จะมาจากแหล่งน้ำชลประทาน เช่น อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล, อ่างเก็บน้ำดอกกราย จ.ระยอง เป็นต้น โดยเสียค่าน้ำดิบให้กรมชลประทาน 50 สตางค์ต่อ ลบ.ม. และ 10% หรือปริมาณน้ำ 30 ล้าน ลบ.ม. จะมาจากแหล่งน้ำสาธารณะ

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01-3

“การเก็บค่าใช้น้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะตาม พ.ร.บ.น้ำ เบื้องต้น จะเก็บภาคอุตสาหกรรม 3 บาทต่อลูกบาศก์เมตร หรือ สูงขึ้น 6 เท่า จากที่เราใช้น้ำจากแหล่งชลประทานในธุรกิจของกลุ่มกระทบ 10% เพราะว่าเราใช้น้ำสาธารณะ ถือว่ากระทบก็ไม่มากนัก ส่วนในกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นก็คงกระทบไปในแต่ละประเภทธุรกิจ เช่น คนที่ใช้น้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะในการผลิตจากเดิม ไม่เคยเสีย ก็ต้องเสีย”

… ขยายพิจารณาร่างรอบ 4 ...

นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ... สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า ในอดีตตั้งแต่ปี 2534 กฎหมายน้ำมีการยกร่างฯ กันมาหลายฉบับ แต่ครั้นพอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาจะถูกตีตกตลอด จากประเด็นในเรื่องค่าใช้น้ำ ขณะนี้การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ... ได้พิจารณาถึงมาตราที่ 100 แล้ว แต่ยังไม่รวมในเรื่องประชามติ ล่าสุด วันที่ 12 ต.ค. 2560 ที่ประชุม สนช. ได้มีมติขยายเวลาการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำฯ ออกไปอีก 90 วัน จากเดิมจะครบกำหนดในวันที่ 25 ม.ค. 2561 ซึ่งนี้เป็นการขยายเวลาครั้งที่ 4

จาก http://www.thansettakij.com   วันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2560

“บิ๊กฉัตร” แจง ครม.น้ำไม่ท่วมอีสาน นายกฯ ขีดเส้น 1 เดือน โปรเจกต์แก้น้ำท่วมต้องจบ

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงต่อที่ประชุม ครม.ว่า การบริหารสถานการณ์น้ำในพื้นที่อีสานประกอบด้วยแม่น้ำมูล กับแม่น้ำชี ที่แม่น้ำมูลไม่มีปัญหา แต่ที่แม่น้ำชีมีปัญหาเล็กน้อยคือที่เขื่อนอุบลรัตน์ ปัจจุบันปริมาณน้ำที่กักเก็บไว้เต็มความจุของเขื่อนแล้ว จึงจำเป็นต้องระบายน้ำออกมา แม้ว่าพายุขนุนจะไม่ส่งผลต่อประเทศไทยแล้วก็ตาม แต่จะมีผลกระทบจากหย่อมความกดอากาศหลังวันที่ 15 ตุลาคม แม้ฝนจะไม่ตกหนักมาก แต่ยังมีผล จึงจำเป็นต้องระบายน้ำในเขื่อนออกมา

 “การระบายน้ำออกมาแบบนี้ทำให้พื้นที่ของลำน้ำชีมีปริมาณน้ำสูงขึ้นเล็กน้อยไม่มากนัก แต่ที่เขื่อนลำปาวปิดไม่ได้ระบายน้ำ วิธีการบริหารจัดการน้ำเช่นนี้จะไม่ทำให้พื้นที่ภาคอีสานได้รับผลกระทบ ส่วนแม่น้ำมูลตอนล่างมีการบริหารจัดการที่สอดคล้องกับแม่น้ำชี โดยให้ระดับความเร่งด่วนในการระบายน้ำในแม่น้ำชีก่อน ดังนั้น พื้นที่ในภาคอีสานจึงไม่มีปัญหา” พล.ท.สรรเสริญ กล่าว

พล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า นอกจากนี้ ในวันที่ ครม.สัญจรที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ประชุม ครม.ได้มีการอนุมัติโครงการทำคลองระบายน้ำ บางบาล – บางไทร สามารถระบายน้ำสูงสุด 1,200 ลบ.ม./ ซึ่งหลังจาก ครม.ผ่านความเห็นชอบ มีเสียงติงมาจากบางส่วนว่าทำแล้วจะได้ผลจริงอย่างที่ตั้งวัตถุประสงค์หรือไม่ พล.อ.ฉัตรชัย จึงรับบัญชานายกฯ ว่า จะไปสรุปข้อมูลประเด็นข้อสังเกตและข้อห่วงใยทุกมิติมาพิจารณาให้ระเอียดให้เร็วที่สุดภายใน 3 เดือน ซึ่งนายกฯ ให้เวลาเพียง 1 เดือน หากทุกอย่างลงตัวจะสามารถสร้างได้ในปี 2562

นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอข้อมูลแนวคิดสำหรับบริหารจัดการเพื่อให้สามารถระบายน้ำในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาได้เร็วขึ้น 2-3 วิธี ซึ่ง พล.อ.ฉัตรชัยก็ได้รับบัญชาจากนายกฯ ไปศึกษาให้รอบด้านเช่นกัน เพราะลำน้ำเจ้าพระยาบางตอนมันคดเคี้ยวกว่าน้ำจะไหลลงมาด้วยความเร็วของน้ำ และด้วยปริมาณน้ำที่มากจะทำให้น้ำเอ่อท่วม 2 ฝั่งได้ จึงพยายามคลองลัดให้เร็วขึ้น โดยโครงการที่ 1.ทำคลองที่ลัดเส้นทางเจ้าพระยาลงสู่อ่าวไทยให้เร็วขึ้น อ้อมทางด้านฝั่งตะวันออกของสนามบินสุวรรณภูมิ คือคลองระบายน้ำควบคู่ถนนวงแหวนรอบที่ 3 ระบายน้ำได้สูงสุด 500 ลบ.ม./วินาที โครงการที่ 2.คลองเชื่อมเพื่อระบายน้ำจากแม่น้ำ ป่าสัก ลงสู่อ่าวไทย ระบายสูงสุด 600 ลบ.ม/วินาที และโครงการที่ 3.ทำอุโมงค์ 3 แห่ง ที่ภาษีเจริญ และราชมนตรี โดยใช้เวลาทั้งหมดภายศึกษาให้เสร็จภายใน 1 เดือน ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ อยากให้ทุกภาคส่วนเปิดใจและมาคุยกัน รัฐบาลไม่ได้ตั้งธงสร้างแหล่งกักเก็บน้ำ จะคิดแค่เพียงผลกระทบสิ่งแวดล้อมในมิติเดียวไม่ได้

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2560

เกษตรขยายผลจัด‘โซนนิ่ง’ ตั้งเป้าปีหน้าเพิ่ม2.6แสนไร่-เกษตรกรรายใหม่4.3หมื่น

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การดำเนินงานโครงการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม หรือ Zoning by Agri-map ในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สามารถสร้างแรงจูงใจและสนับสนุนให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพื้นที่การผลิตที่ไม่เหมาะสมได้ถึง 190,319 ไร่ มีเกษตรกรได้รับผลประโยชน์ 40,946 ราย โดยเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้ความรู้แก่เกษตรกรผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศ.พ.ก.) และเครือข่าย ในการส่งเสริมสนับสนุนให้เกษตรกร ปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกพืชให้เหมาะสมกับพื้นที่ เพื่อสร้างผลตอบแทนที่คุ้มค่า และช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดีขึ้น

นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้พัฒนาระบบการจัดทำแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุกออนไลน์ (Agri–Map Online) โดยให้บริการผ่านระบบอินเตอร์เนต เพื่อให้ใช้ได้อย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น ตลอดจนเพิ่มความสะดวก และรวดเร็วให้กับผู้ใช้งาน สามารถตอบสนองการใช้งานในพื้นที่ได้ จึงมีการพัฒนาแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุกออนไลน์ให้อยู่ในระบบโมบาย (Agri-Map Mobile) เกษตรกรสามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลตัดสินใจในการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำการเกษตรให้ตรงตามศักยภาพของพื้นที่ (Zoning) ได้

ช่วงที่ผ่านมา โครงการ Zoning by Agri-map เป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จ มีความคืบหน้าเป็นที่น่าพอใจ สามารถสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจหลังการปรับเปลี่ยนและเกษตรกรได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้น อาทิ การปรับเปลี่ยนจากข้าวเป็นอ้อยโรงงาน สามารถสร้างผลตอบแทนเฉลี่ย ปีที่ 1 อยู่ที่ 3,093 บาท/ไร่ จากเดิมที่การปลูกข้าวจะให้ผลตอบแทน 500-700 บาท/ไร่ สำหรับแผนการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2561 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีเป้าหมายในการปรับเปลี่ยนทั้งหมด 260,304 ไร่ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการจำนวน 43,313 ราย ใน 67 จังหวัด โดยจะเน้นการปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวและยางพาราในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม ไปเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นที่สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่และความต้องการของตลาด

จาก http://www.naewna.com วันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2560

“อุตตม” จ่อชง ครม.ต้น พ.ย.คลอดแผนพัฒนา ศก.ชีวภาพ

“อุตตม” เตรียมเสนอ “ครม.” ต้น พ.ย. นี้ คลอดแผนพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) สร้างมูลค่าสินค้าเกษตร จ่อคิวด้วยอุตฯแปรรูปอาหาร พร้อมสั่ง 4 หน่วยงานรัฐเอกชนทำแผนส่งเสริมเอสเอ็มอี วิสาหกิจชุมชนเชื่อมอุตสาหกรรมเป้าหมาย

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ปาฐกถาพิเศษ “แนวทางการพัฒนากลุ่มธุรกิจให้สอดคล้องกับ S-Curve เพื่อมุ่งสู่ Thailand 4.0 ภายในงานสัมมนาสมาคมการค้า ปี 2560 ซึ่งจัดโดยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ว่า ต้นเดือน พ.ย. นี้ กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่ออนุมัติแผนพัฒนาอุตสาหกรรมเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) ซึ่งจะเป็นการต่อยอดสินค้าเกษตรไปสู่บรรจุภัณฑ์ คอสเมติก ฯลฯ ซึ่งล่าสุดเอกชนได้เสนอที่จะพัฒนาในจังหวัดขอนแก่น

“เศรษฐกิจชีวภาพเป็นการต่อยอดสินค้าเกษตรของไทย โดยในแง่พื้นที่ภาคอีสานจะมีการพัฒนาจากอุตสาหกรรมอ้อย ที่เรากำลังปรับโครงสร้างอยู่ ทางเหนือก็สนใจเช่นกัน แนวทางส่งเสริมก็จะเป็นการพัฒนาเชิงพื้นที่ลักษณะคล้ายกับระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) นอกจากนี้ยังมีแผนพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป หรือ Food Valey ที่เตรียมจะเข้า ครม. ต่อไป” นายอุตตมกล่าว

นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (สสว.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ไปจัดทำมาตรการส่งเสริมให้วิสาหกิจชุมชน เอสเอ็มอี เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมเป้าหมายโดยให้สรุปภายในต้นเดือน พ.ย. นี้

“อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เศรษฐกิจชีวภาพ อุตสาหกรรมเป้าหมายเหล่านี้ต้องทำให้วิสาหกิจชุมชนและเอสเอ็มอี เกิดการพัฒนาและลงพื้นที่ให้มากที่สุดเช่นต้องเกี่ยวข้องกับภาคเกษตรเพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งสภาหอฯเองมีสมาชิกที่เป็นรายใหญ่จากการหารือก็จะเข้ามาร่วมได้” รมว.อุตสาหกรรม กล่าว

 นายสนั่น อังอุบลกุล รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สมาคมการค้าเรามีสมาชิกจำนวนมากถึง 4 หมื่นราย ที่จะเข้ามาช่วยเอสเอ็มอี บริษัทใหญ่ก็มีมากที่จะช่วยทั้งด้านการลงทุนและค้าขายในต่างประเทศ

จาก https://mgronline.com  วันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2560

กระทรวงอุตฯทุ่ม100ล. ตั้งศูนย์ไอทีซีทั่วไทย ปั้น‘เอสเอ็มอี’สู่ยุค4.0

นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้ภารกิจเร่งด่วนที่ต้องเร่งผลักดันให้เกิดภายในสิ้นปีนี้ คือ การจัดตั้งศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต หรือ อินดัสทรี ทรานฟอร์เมชั่น เซ็นเตอร์(ไอทีซี) ทั่วประเทศ โดยจะตั้งอยู่ภายในศูนย์ภาคของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมรวม 11 แห่ง จากปัจจุบันเริ่มดำเนินการแล้วที่ศูนย์ภาคกล้วยน้ำไท เริ่มเมื่อเดือนสิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา โดยใช้งบประมาณ 100 ล้านบาท จาก กองทุนเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ วงเงิน 20,000 ล้านบาท ที่จัดสรรเงินไว้ประมาณ 3,000 ล้านบาท ภารกิจของศูนย์ไอทีซีจะเน้นช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี เพื่อยกระดับสู่อุตสาหกรรม 4.0

“ศูนย์ไอทีซี 11 แห่ง ที่อยู่ตามศูนย์ภาคทั่วประเทศจะมีผู้เชี่ยวชาญประจำศูนย์คอยให้คำแนะนำ มีเอกชนรายใหญ่ให้คำแนะนำเอสเอ็มอี อุตสาหกรรมจังหวัดจะมีบทบาทในการทำงานร่วมกับเอสเอ็มอีอย่างใกล้ชิด”นายพสุกล่าว

ส่วนความคืบหน้าการอนุมัติสินเชื่อจากกองทุนเอสเอ็มอี 20,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีทั่วประเทศ ขณะนี้กองทุนเอสเอ็มอีมีการอนุมัติเงินให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีแล้วจำนวน 4,000 ล้านบาท ตั้งเป้าว่าภายในสิ้นเดือนตุลาคมนี้ จะถึง 10,000 ล้านบาท จากปัจจุบันมีคำขอเข้ามาเกือบเต็มวงเงินแล้ว

นายสมชาย หาญหิรัญ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงการพัฒนารูปแบบการให้บริการ (แพลตฟอร์ม) ของฐานข้อมูลศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต (ไอทีซี) ว่าจะบริการแบบครบวงจรในวันที่ 1 พฤศจิกายน นำร่องในพื้นที่ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จ.ชลบุรี

จาก http://www.naewna.com วันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2560

เตือน‘เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล’ ย้ำสภาพอากาศเอื้อระบาดหนัก

นางอ้อมทิพย์ สุทธิพงศ์เกียรติ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 จังหวัดราชบุรี กรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ช่วงนี้มีฝนตกชุกหลายพื้นที่สลับอากาศร้อนชื้นและมีแดดจัด เหมาะต่อการระบาดของศัตรูพืชโดยเฉพาะเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ซึ่งเป็นศัตรูพืชสำคัญของข้าว จึงขอแจ้งเตือนชาวนาให้ติดตามสถานการณ์การระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลอย่างใกล้ชิด แม้ขณะนี้ยังไม่พบการระบาดที่รุนแรง แต่ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ

ด้าน นายสมคิด เฉลิมเกียรติ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า หากพบเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล 2-3 ตัว/กอ และเป็นระยะตัวอ่อนที่ยังไม่มีปีก แนะนำให้ใช้สารสกัดสะเดาผสมสารจับใบฉีดพ่นต่อเนื่อง 2-3 ครั้ง ทุก 5 วัน แต่ถ้าพบส่วนใหญ่เป็นตัวเต็มวัยมีปีก แนะนำให้ใช้เชื้อราบิวเวอร์เรียฉีดพ่นในช่วงแสงแดดอ่อนหรือช่วงเย็น โดยใช้เชื้อราบิวเวอร์เรีย 1 กก./น้ำ 40 ลิตร ผสมสารจับใบ ฉีดพ่น 1-2 ครั้ง ต่อเนื่องทุก 5 วัน หรือใช้กับดักแสงไฟจับตัวเต็มวัยมาทำลายควบคู่กันไป

สำหรับพื้นที่ที่มีการระบาดมากจำเป็นต้องใช้สารเคมีต้องคำนึงถึงความถูกต้องและปลอดภัย เช่น ในระยะแตกกอพบตัวอ่อนเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลมากกว่า 10 ตัว/กอ ให้ใช้สารฆ่าแมลงบูโพรเฟซิน หรือสารอีโทเฟนพรอกซ์ ส่วนในระยะข้าวตั้งท้องถึงออกรวง หากพบเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลมากกว่า 10 ตัว/กอ และไม่พบมวนเขียวดูดไข่หรือพบในปริมาณน้อย แนะนำให้ใช้สารไดโนทีฟูแรนหรือสารคาร์โบซัลเฟน ที่สำคัญการเลือกปลูกข้าวพันธุ์ต้านทานต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ก็สามารถลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น พันธุ์พิษณุโลก 2 สุพรรณบุรี 2 กข 41 กข 47 และ กข 49 เป็นต้น แต่ไม่ควรปลูกพันธุ์เดียวกันติดต่อกันเกิน 4 ฤดูปลูก ฉะนั้นการควบคุมเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลให้ได้ผลดีต้องใช้วิธีผสมผสานควบคู่กันไปและเกษตรกรควรสำรวจแปลงนาอย่างสม่ำเสมอ

จาก http://www.naewna.com วันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2560

นำศาสตร์พระราชา แก้ปัญหานํ้าทั้งระบบ

 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 พระมหากษัตริย์ที่เป็น “ปราชญ์แห่งน้ำ” ทรงมีพระปรีชาสามารถในด้านการพัฒนาแหล่งน้ำในทุก ๆ ด้าน จะเห็นได้จากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเกี่ยวกับน้ำมากกว่า 2,700 โครงการ ที่สามารถแก้ไขทั้งปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง คุณภาพน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนในปัจจุบันกลายเป็น “ศาสตร์พระราชา”                 

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 พระมหากษัตริย์ที่เป็น “ปราชญ์แห่งน้ำ” ทรงมีพระปรีชาสามารถในด้านการพัฒนาแหล่งน้ำในทุก ๆ ด้าน จะเห็นได้จากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเกี่ยวกับน้ำมากกว่า 2,700 โครงการ ที่สามารถแก้ไขทั้งปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง คุณภาพน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนในปัจจุบันกลายเป็น “ศาสตร์พระราชา” ที่ถ่ายทอดและสืบสานต่อไปชั่วลูกชั่วหลาน

กรมชลประทาน เป็นหน่วยงานหนึ่งของหน่วยงานภาครัฐที่มีบทบาทสำคัญในการดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั้งศึกษา วางแผน และก่อสร้าง ตั้งแต่พื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ในทุก ๆ พื้นที่ที่กรมชลประทานเข้าไปพัฒนาแหล่งน้ำ จะต้องมีการปลูกป่าทดแทนในบริเวณป่าเสื่อมโทรมไม่น้อยกว่า 2 เท่าของพื้นที่ป่าเดิม รวมทั้งยังได้น้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” ในเรื่องฝายชะลอความชุ่มชื้น ซึ่งได้ทำการศึกษาและพัฒนาตามแนวพระราชดำริที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ มาต่อยอดขยายผลดำเนินการในพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศ

ในพื้นที่ต้นน้ำบริเวณชายขอบป่า พระองค์มีพระราชดำริให้กรมชลประทานพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ เพื่อให้เป็นเครื่องมือบริหารจัดการน้ำ ในการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ อุทกภัย คุณภาพน้ำ และรักษาระบบนิเวศของลำน้ำ ตลอดจนสร้างอาชีพเสริมให้กับประชาชนในพื้นที่

เช่นที่เขื่อนขุนด่านปราการชล โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนครนายก เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ที่มีพระราชดำริเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2536 อ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทร อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลเกาะจันทร์ อำเภอเกาะจันทร์ จังหวัดชลบุรี ก่อสร้างแล้วเสร็จเปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 มีพื้นที่ได้รับประโยชน์มากกว่า 44,000 ไร่ อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา หรือโครงการห้วยโสมง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลแก่งดินสอ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งการก่อสร้างตัวอ่างขณะนี้เสร็จสมบูรณ์แล้ว สามารถเก็บกักน้ำและช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมให้กับพื้นที่ลุ่มน้ำปราจีนบุุรีได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์จากโครงการมากกว่า 111,300 ไร่

ส่วนพื้นที่กลางน้ำ พระองค์มีพระราชดำริให้พัฒนาแหล่งน้ำในหลากหลายรูปแบบตามความเหมาะสม และปัญหาที่เกิดขึ้น อาทิ โครงการเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลหนองบัว อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี เป็นโครงการที่เพิ่มพื้นที่ชลประทานเกิดใหม่กว่า 174,500 ไร่ และเสริมความมั่นคงในเรื่องน้ำให้กับพื้นที่โครงการชลประทานเดิมในทุ่งเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่างอีกประมาณ 2.2 ล้านไร่ ทั้งยังช่วยบรรเทาอุทกภัยทั้งในพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสัก และลุ่มน้ำเจ้าพระยา

ส่วนพื้นที่กลางที่ประสบปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำ ได้พระราชทานพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาด้วยการใช้แก้มลิง เพื่อชักน้ำให้รวมกันแล้วนำมาเก็บไว้เป็นบ่อพักน้ำ แล้วค่อยระบายน้ำออกในภายหลัง สำหรับพื้นที่ปลายน้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง ซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ และเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของประเทศ ก็ได้น้อมนำแนวพระราชดำริแก้มลิงมาใช้แก้ปัญหา โดยจัดทำแก้มลิงในพื้นที่ฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา

ตลอดถึงโครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้มีการขุด“คลองภูมินาถดำริ” ทำให้ในปัจจุบัน อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ได้บรรเทาปัญหาน้ำท่วมลงไปเป็นอย่างมาก หรือโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองจันทบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี เป็นอีกโครงการที่ได้น้อมนำแนวทางการแก้ปัญหาตามพระราชดำรัส โดยการขุด“คลองภักดีรำไพ” แยกออกจาก แม่น้ำจันทบุรีก่อนเข้าถึงตัวเมือง เพื่อผันน้ำส่วนเกินศักยภาพของแม่น้ำจันทบุรีที่จะรองรับปริมาณน้ำได้ ไม่ให้ไหลเข้าสู่ตัวเมืองจันทบุรี

นอกจากนี้ยังเตรียมขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี เพื่อเปิดโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งจะมีพื้นที่ได้รับประโยชน์ 17,400 ไร่

ทั้งนี้เป็นการสานต่อในการดำเนินการให้สำเร็จตามพระราชประสงค์ พร้อมทั้งนำศาสตร์พระราชาในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับน้ำ มาพัฒนาต่อยอดดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปีอีกด้วย.

จาก https://www.dailynews.co.th  วันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ค่าบาท ​'แข็งค่า' หลังเงินเฟ้อสหรัฐเพิ่มน้อย

บาทเปิดตลาดเช้านี้แข็งค่าทรงตัวที่ "33.04 บาทต่อดอลลาร์" รับแรงหนุนเงินเฟ้อสหรัฐเพิ่มน้อย และในสัปดาห์นี้จับตาตัวเลขศก. สหรัฐและจีน

 นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่าค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 33.04บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าทีระดับ ไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงปิดท้ายสัปดาห์ก่อน

ฝั่งเงินเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวตามแนวโน้มของสกุลเงินเอเชียที่ได้รับแรงหนุนจากเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาดในสหรัฐ นอกจากนี้แรงขายของผู้ส่งออกเอง ก็เป็นแรงกดดันให้เงินบาทในช่วงนี้แข็งค่าขึ้นด้วย

ในสัปดาห์นี้สิ่งที่น่าจับตาคือ ตัวเลขภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐ การประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมูนิสต์จีน และการประชุมสภายุโรปในวันศุกร์

ในฝั่งของสหรัฐ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนก.ย. (Industrial Production) ในวันอังคาร คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.30% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน เป็นการเติบโตที่ช้าลงเพราะปัญหาพายุเฮอริเคน อย่างไรก็ตามในวันพฤหัสจะมีรายงานผลสำรวจภาคอุตสาหกรรมของฟิลาเดลเฟียเฟด (Philadelphia Fed manufacturing index) ซึ่งคาดว่าจะยังอยู่ในระดับ 22 จุด (เหนือ 0 ถือว่าเติบโต) ซึ่งถือว่าเป็นการขยายตัวที่แข็งแกร่งอยู่

ในวันพุธ จะมีการประชุมใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งน่าจะมีการแถลงนโยบายทั้งในมุมของเศรษฐกิจและการเมืองในช่วงอีก 5 ปีข้างหน้า หลายฝ่ายยังมองว่าจีนจะคงนโยบายขยายเศรษฐกิจที่ระดับปัจจุบัน (6-7%) และอาจมีการแก้กฏเพื่อให้นายสีจิ้นผิงสามารถอยู่ในตำแหน่งได้นานกว่า 2 สมัย ซึ่งจะสร้างเสถียรภาพให้การเมืองจีนในอีก 10ปีข้างหน้า

และถัดมาวันพฤหัส จะมีการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจจีน ตลาดคาดว่าจีดีพีจะยังขยายตัวที่ 6.8% (เทียบรวมทั้ง 3 ไตรมาสนี้กับสามไตรมาสก่อน) ค้าปลีกชะลอตัวที่ 10.3% การลงทุนสินทรัพย์คงทนขยายตัว 7.7% ขณะที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมจะเติบโต 6.7% ชี้ว่าเศรษฐกิจจีนยังคงไม่มีปัญหาในระยะสั้น

กรอบเงินดอลลาร์รายวัน 33.0.2 - 33.12 บาท/ดอลลาร์ กรอบเงินดอลลาร์รายสัปดาห์ 32.80 - 33.30 บาท/ดอลลาร์             

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ฝ่าดินโคลนไร่อ้อยอินทรีย์ กว่าจะเป็นน้ำตาลออแกนิก

ทำความรู้จัก “ไร่อ้อยอินทรีย์” ผสานนวัตกรรมเทคโนโลยี เพิ่มผลผลิตสร้างรายได้ กลายเป็น “น้ำตาลออแกนิก” คุณภาพถึงมือประชาชน               

เชื่อว่าใครหลายๆ คน คงจะเคยได้ยิน เกี่ยวกับการทำไร่อ้อยมาบ้าง แต่วันนี้เราลองมาทำความรู้จักกับ “การทำไร่อ้อยอินทรีย์” ไร่อ้อยสุดหวานที่ไม่ใช่แค่น้ำตาลเพิ่มความหวาน แต่ยังได้ประโยชน์มากกว่านั้น

แล้วอ้อยอินทรีย์คืออะไร? เป็นการทำไร่อ้อยที่ปราศจากสารเคมีนั่นเอง แต่การทำไร่อ้อยอินทรีย์นั้น มีความยากง่ายแตกต่างจากไร่อ้อยปกติอย่างไร? ฟังจาก “กริชอารักษ์ รักษาพล” เกษตรกรชาวจ.มหาสารคาม บอกว่า เดิมทีที่บ้านก็ปลูกไร่อ้อยใช้สารเคมี แต่มีอยู่วันหนึ่งได้ลองศึกษาโครงการปลูกอ้อยด้วยนวัตกรรม Kubota (agri) solutions (KAS) ซึ่งเป็นความร่วมมือของ บริษัทสยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด และกลุ่มวังขนาย

โดยเมื่อชาวบ้านเข้ารับการอบรมแล้ว ได้ลองปลูกอ้อยแบบอินทรีย์ในพื้นที่ 1 ไร่ เริ่มจากการวางแผนการจัดการ ทำแนวป้องกันการปนเปื้อนสารเคมี ที่อาจจะถูกลมพัดเข้ามาในพื้นที่ โดยปลูกพืชเป็นแนวกันชนรอบแปลง อาทิ ยูคาลิปตัส กระถินเทพา มะม่วง และขนุน หรือพืชอื่นๆ ที่เหมาะสมกับพื้นที่ ต่อมาก็เป็นการปรับปรุงบำรุงดินให้มีสารเคมีหลงเหลือน้อย โดยใช้เวลาราว 1 เดือน หลังจากนั้นจึงเริ่มลงมือปลูก ซึ่งระหว่างที่รอผลผลิตก็ต้องกำจัดวัชพืช และสุดท้ายก็คือการเก็บเกี่ยว โดยครั้งแรกสามารถได้ผลผลิตถึง 18 ตัน/ไร่ ต่างจากปกติที่ได้แค่ 10-12 ตัน/ไร่เท่านั้น ตอนนี้ครอบครัวก็มีรายได้เพิ่มขึ้น มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และยังมีสุขภาพที่แข็งแรงห่างไกลสารเคมีอีกด้วย

มาถึงตรงนี้ หลายคนอาจสงสัยแล้วว่า เมื่อทำไร่อ้อยอินทรีย์แล้วจะนำไปทำน้ำตาลแบบไหนกัน?

ในเรื่องนี้ “นธัญรักษ์ ณ วังขนาย” ผอ.ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กลุ่มวังขนาย ให้ข้อมูลว่า ก่อนหน้านี้น้ำตาลออแกนิกมีราคาสูงถึง 80 บาท/กก. เพราะผลผลิตน้อย แต่ตอนนี้เกษตรกรหันมาทำไร่อ้อยอินทรีย์เพิ่มขึ้น ทำให้สามารถขายน้ำตาลออแกนิกได้ที่ราคา 32 บาท/กก.ได้

ขณะนี้มีพื้นที่ปลูกไร่อ้อยอินทรีย์ถึง 3 หมื่นไร่ ในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ มหาสารคาม ชัยภูมิ นครราชสีมา และลพบุรี โดยใช้นวัตกรรมเครื่องจักรกลเกษตร เพื่อช่วยรักษาคุณภาพออร์แกนิก เช่น การกั้นสารเคมีจากแปลงนาอื่น แถมยังลดต้นทุนแรงงานเพิ่มขึ้น

ซึ่งในเรื่องนวัตกรรม “สมศักดิ์ มาอุทธรณ์” กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยว่า การปลูกอ้อยด้วยนวัตกรรม Kubota (agri) solutions (KAS) ในทุกขั้นตอนการเพาะปลูก จะทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ เกษตรกรมีความสะดวกเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการทำเกษตรอินทรีย์ ที่ต้องใช้ความแม่นยำและประณีต ซึ่งเกษตรกรสามารถได้ผลผลิตจำนวน 26.64 ตัน/ไร่ ทั้งยังใช้ต้นทุนประมาณ 8,400 บาท/ไร่ และได้กำไรถึง 24,000 บาท/ไร่

ทุกวันนี้การทำไร่อ้อยแบบอินทรีย์ นอกจากจะได้สุขภาพของเกษตรกรที่ห่างไกลสารเคมี กำไรที่มากขึ้นแล้ว ผลลัพธ์สำคัญที่ได้ก็คือ...ประชาชนจะได้น้ำตาลออแกนิก มีคุณภาพ ในราคาถูกลงนั่นเอง.

คอลัมน์ : รายงานพิเศษ   โดย : “พรรณรวี พิศาภาคย์”

จาก https://www.dailynews.co.th  วันที่ 15 ตุลาคม 2560

ห่วงเงินเฟ้อต่ำ-บาทแข็งฉุดศก.ระยะยาว

'ออมสิน' ปรับเป้าจีดีพีใหม่โต 3.6%  หวังส่งออก-ท่องเที่ยว-โครงการสวัสดิการแห่งรัฐ หนุนการใช้จ่ายปลายปีคึกคัก  หวั่นเงินเฟ้อต่ำ-ค่าเงินบาทแข็งค่าถ่วงเศรษฐกิจไทย                   

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจธุรกิจ และเศรษฐกิจฐานราก ธนาคารออมสินได้ปรับตัวเลขเศรษฐกิจไทยใหม่เติบโต 3.6%  จากเดิมอยู่ที่ 3.5%  เป็นผลมาจากการส่งออกและท่องเที่ยวขยายตัวด้ดีต่อเนื่อง    เพราะเป็นช่วงฤดูการท่องเที่ยว  ส่งผลดีต่อสาขาการผลิตและบริการที่เกี่ยวข้อง ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจปีนี้ นอกจากนี้คาดว่าการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและเม็ดเงินจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะเข้าสู่ระบบในช่วงไตรมาสสุดท้าย ทั้งโครงการสวัสดิการแห่งรัฐสำหรับผู้มีรายได้น้อยและโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวประชารัฐ ซึ่งจะส่งผลต่อบรรยากาศการใช้จ่ายให้กลับมาคึกคักในช่วงท้ายของปี

สำหรับปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยคือ  อัตราเงินเฟ้อที่ทรงตัวในระดับต่ำเป็นเวลานาน ส่งผลให้คนเริ่มรู้สึกไม่อยากใช้เงิน ทำให้การอุปโภคบริโภคของภาคเอกชนชะลอตัว ความไม่ต่อเนื่องของการขยายตัวในภาคการส่งออกและการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก  รวมถึงต้นทุนการผลิตมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นจากผลกระทบของนโยบายด้านแรงงานต่างด้าวของไทยและมาตรการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมาย (ไอยูยู)   และ ผลสำเร็จจากการดำเนินนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐตามที่ประกาศต่อสภาคองเกรสจะส่งผลต่อกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย  ตลอดจน ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศทั้งกรณีเกาหลีเหนือและการลงประชามติแยกตัวเป็นอิสระของชาวเคิร์ตในประเทศอิรักและชาวคาตาลันในประเทศสเปน ซึ่งอาจพัฒนาไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงได้

ส่วนด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ดี จากดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งเป็นผลจากการเกินดุลการค้าและบริการที่ขยายตัวได้ดี รวมถึงการดำเนินนโยบายแบบผ่อนคลายเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ และอัตราแลกเปลี่ยนที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น อาจส่งผลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาวได้

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย,ธนาคารออมสิน,ค่าเงินบาท,เงินเฟ้อต่ำ,ส่งออก,ท่องเที่ยว,เบิกจ่ายภาครัฐ,โครงสร้างพื้นฐาน 

จาก https://www.dailynews.co.th  วันที่ 15 ตุลาคม 2560               

กฟผ.ยันไม่มีระบายน้ำจากเขื่อน

กฟผ. ยืนยันไม่มีการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม  เพื่อบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา วอนประชาชนอย่าหลงเชื่อข่าวลือ

นายณัฐวุฒิ แจ่มแจ้ง ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ  การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวชี้แจงกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อความในสื่อโซเชียลมีเดียระบุว่า จะมีการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพลอีกกว่าวันละ 100 ล้านลูกบาศก์เมตร และจะทำให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ นั้น ขอยืนยันว่า เรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง เนื่องจากปัจจุบัน เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ได้หยุดการระบายน้ำมาตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2560 ซึ่งเป็นไปตามมติของคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ เพื่อช่วยบรรเทาสถานการณ์อุทกภัยและไม่เป็นการซ้ำเติมผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา รวมทั้งได้สั่งการให้มีการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำของเขื่อนทั้งสองแห่งอย่างต่อเนื่อง

สำหรับปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์อยู่ที่ 9,238 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น69 %และ 7,968 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น84 %ตามลำดับ (ข้อมูล ณ วันที่ 14 ตุลาคม 2560) และยังสามารถกักเก็บน้ำเพิ่มได้อีก เพื่อนำไปใช้ในการบริหารจัดการน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคและการทำเกษตรกรรมในช่วงฤดูแล้งปีหน้า

  “กฟผ. ขอยืนยันว่าไม่มีการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด และเขื่อนทั้งสองยังสามารถรองรับปริมาณน้ำได้อีกโดยเขื่อนภูมิพลยังรับน้ำได้อีกประมาณร้อยละ 30 ของความจุ และเขื่อนสิริกิติ์ยังรับน้ำได้อีกประมาณร้อยละ 20 ของความจุ ขอให้พี่น้องประชาชนอย่าหลงเชื่อข่าวลือ และสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารสถานการณ์น้ำได้ทางเว็บไซต์WATER.EGAT.CO.TH และแอพพลิเคชั่น EGAT Water ซึ่งสามารถดาวน์โหลดค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำได้อย่าง Real Time ตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งมีการถ่ายทอดสดจากกล้อง CCTV ของแต่ละเขื่อนอีกด้วย”

จาก http://www.banmuang.co.th วันที่ 15 ตุลาคม 2560

Agri-map2ปีปรับเปลี่ยนเพาะปลูก1.9แสนไร่

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลื้ม Agri-map 2 ปีปรับเปลี่ยนเพาะปลูก 1.9 แสนไร่,ปีหน้า2.6แสนไร่

พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การดำเนินงานโครงการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม หรือ Zoning by Agri-map ในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สามารถสร้างแรงจูงใจ และสนับสนุนให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพื้นที่การผลิตที่ไม่เหมาะสมได้ถึง 190,319 ไร่ มีเกษตรกรได้รับผลประโยชน์ 40,946 ราย ได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่การเพาะปลูกพืชที่ไม่เหมาะสม เป็นการผลิตสินค้าชนิดใหม่ ที่สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่และความต้องการของตลาด ในปี 2560 เกษตรกรมีความสมัครใจและปรับเปลี่ยนพื้นที่แล้ว 157,701 ไร่ เกษตรกรเข้าร่วม 34,000 ราย จาก 53 จังหวัด เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ที่มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่การเพาะปลูกอยู่ที่ 32,618 ไร่ มีเกษตรกรเข้าร่วม 10,502 ราย จาก 49 จังหวัด  โดยเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้ความรู้แก่เกษตรกรผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศ.พ.ก.) และเครือข่าย ในการส่งเสริมสนับสนุนให้เกษตรกร ปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกพืชให้เหมาะสมกับพื้นที่ เพื่อสร้างผลตอบแทนที่คุ้มค่า และช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดีขึ้น

นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการ Zoning by Agri-map ถือว่าเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จ มีความคืบหน้าเป็นที่น่าพอใจ สามารถสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจหลังการปรับเปลี่ยน และเกษตรกรได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้แผนการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2561 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีเป้าหมายในการปรับเปลี่ยนทั้งหมด 260,304 ไร่ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการจำนวน 43,313 ราย ใน 67 จังหวัด โดยจะเน้นการปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวและยางพาราในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม ไปเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นที่สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่และความต้องการของตลาด

จาก http://money.sanook.com  วันที่ 15 ตุลาคม 2560

รับมือ “อ้อย” ทะลัก ผลผลิต 104 ล้านตัน

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงาน ด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า จากการประเมินภาพรวมผลผลิตอ้อยเข้าหีบในฤดูการหีบอ้อยประจำปี 2560/2561 ที่จะเริ่มเปิดหีบในปลายเดือน พ.ย.นี้ คาดว่าจะอยู่ที่ 104 ล้านตันอ้อย เพิ่มขึ้นประมาณ 10% เมื่อเทียบกับปีการผลิต 2559/2560 โดยคิดเฉลี่ยเป็นผลผลิตต่อไร่ประมาณ 10.48 ตัน และพื้นที่เพาะปลูกที่เพิ่มขึ้นเป็น 9.89 ล้านไร่  ซึ่งจากการประเมินภาพรวมผลผลิตอ้อยที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว เชื่อว่าจะส่งผลให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกปีนี้ไม่หวือหวา จากปัจจุบันที่มีราคาอยู่ที่ 13.50-14.00 เซนต์ต่อปอนด์ ดังนั้นรายได้ของอุตสาหกรรมน้ำตาลในปีนี้จะได้รับผลกระทบจากราคา

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมการเปิดหีบอ้อยประจำฤดูการผลิตในปีนี้ ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทรายจะจัดประชุมปฏิบัติการประจำปีนี้ ช่วงปลายเดือน ต.ค.2560 โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายไร่และฝ่ายโรงงานจะร่วมกันหารือถึงการเพิ่มคุณภาพผลผลิตอ้อยด้วยการตรวจวัดมาตรฐานคุณภาพอ้อย เพื่อลดปัญหาอ้อยปนเปื้อนและอ้อยไฟไหม้ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย จะต้องร่วมมือกันเพื่อยกระดับมาตรฐานของอุตสาหกรรม เบื้องต้นโรงงานน้ำตาลทรายทุกโรง จะเพิ่มระดับความเข้มงวดในการวัดคุณภาพผลผลิตอ้อย เพื่อให้ประสิทธิภาพการหีบสกัดเป็นน้ำตาลทรายได้สูงสุด ซึ่งเชื่อว่าสุดท้ายแล้วจะส่งผลดีต่อทุกฝ่ายทั้งชาวไร่และโรงงานน้ำตาลทราย

จาก https://www.thairath.co.th วันที่ 14 ตุลาคม 2560

3สมาคมโรงงานน้ำตาลถก19-20ต.ค.รับมือผลผลิตอ้อยทะลัก104ล้านตัน

3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย คาดปริมาณอ้อยเข้าหีบประจำฤดูการผลิตปี 60/61 เพิ่มขึ้นเป็น 104 ล้านตันอ้อย สูงกว่าจากฤดูหีบปีก่อนประมาณ 10% จากปัจจัยการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกอ้อย ด้านโรงงานน้ำตาลทรายจัดประชุมทุกฝ่ายเตรียมความพร้อมรับผลผลิต 19-20 ต.ค. นี้

 นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า จากการประเมินภาพรวมผลผลิตอ้อยเข้าหีบในฤดูการหีบอ้อยประจำปี 2560/61 คาดว่าจะอยู่ที่ 104 ล้านตันอ้อย เพิ่มขึ้นประมาณ 10% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยคิดเฉลี่ยเป็นผลผลิตต่อไร่ประมาณ 10.48 ตัน และพื้นที่เพาะปลูกที่เพิ่มขึ้นเป็น 9.89 ล้านไร่ ซึ่งจากการประเมินภาพรวมผลผลิตอ้อยที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว เชื่อว่า จะส่งผลให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกปีนี้จะไม่หวือหวา จากปัจจุบันที่มีราคาอยู่ที่ 13.50-14.00 เซนต์ต่อปอนด์

 ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมการเปิดหีบอ้อยประจำฤดูการผลิตในปีนี้นั้น ทางโรงงานน้ำตาลทรายจะจัดประชุม Workshop ประจำปี 2560 เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดหีบอ้อยฤดูการผลิตปี 2560/61 ระหว่างวันที่ 19-20 ตุลาคม 2560 ที่โรงแรมการ์เด้นคลิฟ รีสอร์ท แอนด์ สปา พัทยา จังหวัดชลบุรี

 สำหรับการประชุมครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายไร่และฝ่ายโรงงานจะร่วมกันหารือถึงการเพิ่มคุณภาพผลผลิตอ้อย ด้วยการตรวจวัดมาตรฐานคุณภาพอ้อย เพื่อลดปัญหาอ้อยปนเปื้อนและอ้อยไฟไหม้ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย จะต้องร่วมมือกันเพื่อยกระดับมาตรฐานของอุตสาหกรรม โดยเบื้องต้นโรงงานน้ำตาลทรายทุกโรงจะเพิ่มระดับความเข้มงวดในการวัดคุณภาพผลผลิตอ้อย เพื่อให้ประสิทธิภาพการหีบสกัดเป็นน้ำตาลทรายได้สูงสุด ซึ่งเชื่อว่าสุดท้ายแล้วจะส่งผลดีต่อทุกฝ่ายทั้งชาวไร่และโรงงานน้ำตาลทราย

“เราประเมินว่า ภาพรวมผลผลิตอ้อยเข้าหีบในปีนี้จะเพิ่มขึ้น แม้ว่าในบางพื้นที่เพาะปลูกต้องประสบกับภาวะน้ำท่วมในช่วงที่ผ่านมาก็ตาม สำหรับรายได้ของอุตสาหกรรมน้ำตาลในปีนี้จะได้รับผลกระทบจากราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกที่ไม่หวือหวาอย่างที่คาดหวัง แต่หากชาวไร่สามารถจัดส่งอ้อยที่มีคุณภาพดีเข้าหีบอ้อย จะทำให้ชาวไร่มีเม็ดเงินจากการเพาะปลูกเพิ่มขึ้นและมีรายได้จากการเพาะปลูกอ้อยที่ดีอย่างแน่นอน” นายสิริวุทธิ์ กล่าว

จาก https://mgronline.com  วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2560

อ้อยเข้าหีบฤดูกาลปี60/61แตะ104ล้านตันอ้อยโต10%

3สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย คาดอ้อยเข้าหีบปี 60/61 โต 10% แตะ 104 ล้านตัน-พื้นที่เพาะปลูกเพิ่ม

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า จากการประเมินภาพรวมผลผลิตอ้อยเข้าหีบในฤดูการหีบอ้อยประจำปี 2560/61 คาดว่าจะอยู่ที่ 104 ล้านตันอ้อย เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 10 จากปีก่อน  เฉลี่ยเป็นผลผลิตต่อไร่ประมาณ 10.48 ตัน จากปัจจัยการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกอ้อยอยู่ที่ 9.89 ล้านไร่ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกปีนี้ไม่หวือหวา จากปัจจุบันที่มีราคาอยู่ที่ 13.50 - 14.00 เซนต์ต่อปอนด์ 

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมการเปิดหีบอ้อยประจำฤดูการผลิตในปีนี้ ทางโรงงานน้ำตาลทรายจะจัดประชุม Workshop ประจำปี 2560 เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดหีบอ้อยฤดูการผลิตปี 2560/61 ระหว่างวันที่ 19-20 ตุลาคม 2560  เพื่อหารือถึงการเพิ่มคุณภาพผลผลิตอ้อย ด้วยการตรวจวัดมาตรฐานคุณภาพอ้อย  ลดปัญหาอ้อยปนเปื้อนและอ้อยไฟไหม้  เบื้องต้นโรงงานน้ำตาลทรายทุกโรงจะเพิ่มระดับความเข้มงวดในการวัดคุณภาพผลผลิตอ้อย เพื่อให้ประสิทธิภาพการหีบสกัดเป็นน้ำตาลทรายได้สูงสุด

จาก http://www.innnews.co.th   วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2560 

สนช. ยึดแบบประเทศพัฒนา “เรียกเก็บค่าน้ำ-ขอใบอนุญาต”

สนช. กางตำราเลียนแบบโมเดล “การเก็บค่าน้ำสาธารณะ” ตามอย่างประเทศพัฒนาแล้ว ขณะที่ สมาคมทรัพยากรน้ำเปิดต้นทุนค่าน้ำที่ใช้ในการทำนาในและนอกเขตชลประทาน ต่ำสุด-สูงสุด 5.07-11.98 บาทต่อ ลบ.ม. ... นายกชาวนา ระบุ หากเก็บต้องมีน้ำตามสัญญา

นายสุรจิต ชิรเวทย์ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ... เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในคณะกรรมาธิการได้มีการนำร่างกฎหมายของประเทศพัฒนาแล้ว ที่มีการจัดสรรสิทธิการใช้น้ำแบบชัดเจน ในรูปแบบของ “ใบอนุญาตการใช้น้ำ” หรือในภาษาอังกฤษเรียกว่า “Water Licensing” ถือเป็นรูปแบบการจัดสรรการใช้น้ำที่เป็นมาตรฐานของบรรดาประเทศที่พัฒนาแล้ว

โดยมีหลักการพื้นฐาน คือ หากเป็นการใช้น้ำในฐานะปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต เช่น เพื่อการอุปโภคบริโภคในครัวเรือน ก็ไม่จำต้องขอใบอนุญาตการใช้น้ำ แต่เมื่อใดก็ตามที่มีการแสวงหาผลประโยชน์ หรือ ทำกำไรจากการใช้น้ำนั้น ๆ ในแต่ละกรณี จะต้องเข้าระบบขอใบอนุญาตการใช้น้ำ ตัวอย่างประเทศที่มีใบอนุญาตการใช้น้ำ อาทิ ออสเตรเลีย, แอฟริกาใต้, รัฐบริติชโคลัมเบีย, แคนาดา, ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

 สำหรับสหรัฐฯ การจัดสรรสิทธิการใช้น้ำฯ จะเป็นไปตามกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการจัดสรรการใช้น้ำของแต่ละรัฐ ซึ่งใบอนุญาตการใช้น้ำจะถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในบรรดารัฐทางตะวันตก ซึ่งมีสภาพแห้งแล้ง เป็นทะเลทราย มีทรัพยากรน้ำค่อนข้างจำกัด และเป็นรัฐที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น รัฐแอริโซนา, แคลิฟอร์เนีย, โคโลราโด, นิวเม็กซิโก, เท็กซัส เป็นต้น

 นายสุรจิต กล่าวอีกว่า ความต้องการน้ำแบ่งออกเป็น 5 ด้าน ได้แก่ 1.เพื่ออุปโภคบริโภค 2.เพื่อรักษาระบบนิเวศ 3.เพื่อเกษตรกรรายย่อย 4.เพื่อเกษตรกรเพื่อการเลี้ยงสัตว์/ปลูกพืช ขนาดใหญ่ และ 5.เพื่ออุตสาหกรรมบริการและอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ดังนั้น 2 ประเภทหลัง ควรต้องมีการจัดเก็บค่าน้ำ ส่วน 3 ประเภทแรก เป็นความจำเป็นขั้นพื้นฐานไม่ควรเก็บ

สอดคล้องกับ นายอภิชาต อนุกูลอำไพ นายกสมาคมทรัพยากรน้ำแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ต้นทุนน้ำมีการคำนวณปริมาณน้ำที่ใช้ในการผลิตต่างกัน เช่น ข้าวสาร 1 ตัน ต้องใช้น้ำในการผลิต 3,600 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เนื้อไก่ 1 ตัน ใช้ 4,500 ลบ.ม. เป็นต้น อย่างไรก็ดี ผลการศึกษาระบุ ต้นทุนมูลค่าการใช้น้ำเสมือนในการปลูกข้าว ใน 4 ภาคของประเทศ ทั้งในเขตและนอกเขตชลประทาน ในการทำนาปีและนาปรัง สูงสุด-ต่ำสุดเฉลี่ยอยู่ที่ 5.07-11.98 บาทต่อ ลบ.ม. อาทิ ภาคเหนือมีมูลค่าการใช้น้ำเสมือนในการปลูกข้าวนาปีในเขตชลประทานเท่ากับ 9.39 บาทต่อ ลบ.ม. นอกเขตชลประทาน 8.50 บาทต่อ ลบ.ม. ส่วนข้าวนาปรังเขตชลประทานเท่ากับ 11.67 บาทต่อ ลบ.ม. และนอกเขต 11.23 บาทต่อ ลบ.ม. เป็นต้น

 นายสุเทพ คงมาก นายกสมาคมข้าวและชาวนาไทย กล่าวว่า หากรัฐบาลจะเก็บค่าน้ำจริง จะต้องได้น้ำตามที่สัญญา ไม่ใช่เก็บแต่น้ำ ไม่มีให้ เช่นเดียวกับ รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ เห็นว่า ควรจะเก็บค่าน้ำสำหรับชาวนาที่ต้องการจะปลูกข้าวนาปรัง

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2560

วางยุทธศาสตร์แข่งขันการค้า

คณะกรรมการแข่งขันทางการค้าตั้งคณะทำงาน 3 ชุดเน้นการจัดทำยุทธศาสตร์-ตั้งสำนักงานสขค.                            

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน  กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า  ที่ประชุมคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าซึ่งเป็นการประชุมนัดแรก เห็นชอบตั้งคณะทำงาน 3 คณะ ประกอบด้วยคณะทำงานเพื่อจัดทำยุทธศาสตร์การทำงานของ สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.) ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผน 12 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ( สศช.) คณะทำงานด้านโครงสร้างของ สขค.  และ คณะทำงาน ดูด้านบุคลากรว่าจะมาจากไหน โดยปัจจุบันมีกำลังคนอยู่ที่ 65 คน

 “สขค. มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐ แต่ไม่ใช่ราชการ ไม่ใช่องค์การมหาชน แต่ทำหน้าที่คล้ายกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)   หรือ ธนาคารแห่งประเทศไทย ) แล้วกรรมการต้องทำงานแบบเต็มเวลา”

 สำหรับเรื่องร้องเรียนการเอาเปรียบทางการค้าที่มีอยู่เดิมประมาณ 10 เรื่อง จะถูกโอนมาเป็นอำนาจการพิจารณาของคณะกรรมการฯ ตามกฎหมายใหม่ แต่ในการพิจารณาองค์ประกอบความผิด จะใช้หลักเกณฑ์ตามกฎหมายฉบับเดิมปี 42 ส่วนการลงโทษจะใช้โทษตามกฎหมายฉบับใหม่ปี60 โดยกฎหมายเดิมมีแต่โทษอาญา แต่กฎหมายใหม่มีโทษอาญาและทางปกครอง ส่วนคดีใหม่หลังจากวันที่ 5 ต.ค.60 จะใช้หลักเกณฑ์การพิจารณาตามกฎหมายใหม่ทั้งหมด ซึ่งยืนยันว่า คดีที่ค้างอยู่ การพิจารณาจะไม่ล่าช้า เหมือนกฎหมายเก่า เพราะไม่ต้องมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาอีก สามารถพิจารณาต่อได้เลย

 “คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าได้นัดประชุมครั้งแรก เมื่อวันที่ 12 ต.ค.ที่ผ่านมา หลังจากที่พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 ได้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 60 โดยได้พิจารณาแนวทางการทำงานในช่วงรอยต่อที่ยังไม่มีคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ชุดใหม่  พร้อมทั้งมีการสรรหาคณะกรรมการฯ ชุดใหม่ การแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การทำงานของสขค. โครงสร้างกำลังคนและงบประมาณการทำงาน และแนวทางการพิจารณาเรื่องร้องเรียนที่ค้างอยู่” 

จาก https://www.dailynews.co.th   วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2560

TAE หยุดผลิตเอทานอล รอประเมินผลกระทบไตรมาส 4

TAE เผยกระทรวงอุตสาหกรรม สั่งยุติผลิตเอทานอล พร้อมซ่อมคันบ่อที่ชำรุดให้เสร็จภายใน 15 พ.ย.60 หลังฝนตกหนักชี้ไม่มีเอทานอลในสต๊อกเหตุส่งมอบลูกค้า รอประเมินผลกระทบไตรมาส 4

บริษัท ไทย อะโกร เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ TAE แจ้งว่า จากเหตุอุทกภัยที่เกิดขึ้นเมื่อ 1 ตุลาคม 2560 ได้เกิดฝนตกหนักในอําเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นเวลานานกว่า 3 ชั่วโมง ทําให้คันบ่อเก็บกักน้ำกากสาบางส่วนชํารุดพังทลายและน้ำกากสาบางส่วนได้ไหลล้นปะปนกับมวลน้ำฝนที่หลากไหลจากพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกรในบริเวณใกล้เคียง มวลน้ำเหล่านี้ได้ไหลลงสูงที่ราบต่ำและสร้างความเสียหายแก่หมู่บ้านและพื้นที่เกษตรกรรมบางส่วนที่มวลน้ำไหลผ่าน บริษัทฯ จึงได้รับคำสั่งของกระทรวงอุตสาหกรรมซึ่งให้บริษัทฯยุติการผลิตเอทานอลเป็นการชั่วคราว เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 4 ตุลาคม 2560

นอกจากนี้ให้บริษัทฯ จัดการซ่อมแซมคันบ่อที่ชํารุดและเพิ่มแนวป้องกันน้ำหลากที่มั่นคงแข็งแรงและจัดทําแผนหรือมาตรการการลดปริมาณกากสาในบ่อกักเก็บให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย และเร่งดําเนินการกําจัดกากสาที่ตกค้างในแหล่งสาธารณะ บ้านเรือน และไร่นาให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2560

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01-3-1อย่างไรก็ตาม หากบริษัทฯ สามารถดําเนินการตามคําสั่งและผ่านความเห็นชอบจากกระทรวงอุตสาหกรรมได้ก่อนวันที่ 15 พฤศจิกายน 2560 ก็จะได้รับการพิจารณาให้เปิดดําเนินการผลิตเอทานอลก่อนกําหนดต่อไปได้

 ปัจจุบัน บริษัทฯไม่มีเอทานอลในสต๊อกสินค้าเพื่อจำหน่าย เนื่องจากได้นำเอทานอลที่มีอยู่ในสต๊อกส่งมอบให้แก่ลูกค้าแล้วทั้งหมด ส่วนผลกระทบในไตรมาส 4 ปี 2560 จากกรณีที่ไม่สามารถผลิตและส่งมอบเอทานอลแปลงสภาพให้กับลูกค้า บริษัทฯ อยู่ระหว่างการประเมินมูลค่า

 ทั้งนี้ ภายหลังเกิดเหตุบริษัทฯ ได้เร่งช่วยเหลือเยียวยาชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ โดยเร่งซ่อมแซมบูรณะบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย ตลอดจนการจัดอาหารและยารวมถึงสิ่งของที่จําเป็นและจ่ายเงินชดเชยเบื้องต้นแก่ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น อีกทั้งร่วมกับเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นสํารวจความเสียหายในพื้นที่เกษตรกรรมเพื่อให้ความช่วยเหลือต่อไป

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2560

สนช.มีมติเอกฉันท์ขยายเวลา ร่างกฎหมายน้ำ ออกไปอีก 90 วัน

นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ กรรมาธิการวิสามัญ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. .... เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า วันนี้(12 ต.ค.2560)ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติขยายเวลาการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. .... ออกไปอีก 90 วัน ด้วยคะแนนเสียง 187 งดออกเสียง 2 ไม่ลงคะแนนเสียง 2 ทั้งนี้เป็นการขยายเวลาครั้งที่ 4 และจะครบกำหนดในวันที่ 25 มกราคม 2561

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2560

งานใหญ่โชว์เทคโนฯน้ำตาลระดับประเทศครั้งที่4

นางสาวปุณฑริกา แสนฤทธิ์ ผู้จัดการ บริษัท ไฟร์เวิร์คส มีเดีย ไทยแลนด์ จำกัด  เปิดเผยว่างาน แสดงสินค้า อุตสาหกรรมน้ำตาล เครื่องมือการเกษตรและเทคโนโลยี ใหญ่ที่สุดของเอเชีย “World Sugar Expo & Conference 2017”  ซึ่งจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 4 โดยงานนี้ได้รวบรวมสินค้าด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ จากทั่วโลกกว่า 100 บริษัท มาจัดแสดงและให้ความรู้กับผู้ที่สนใจ เพื่อให้ผู้สนใจได้อัพเดทเทคโนโลยีล่าสุด เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ในไทย ให้มีทัดเทียมนานาชาติ  โดย “World Sugar Expo & Conference 2017” มีหน่วยงานภาครัฐและเอกชนชั้นนำกว่า ผู้ประกอบการจากทุกภูมิภาคทั่วโลก นำอุปกรณ์ เครื่องจักร และ และเครื่องจักรกลหนัก ซึ่งเป็นเทคโนโยลีล่าสุด ของอุตสาหกรรมน้ำตาล และเครื่องมือการเกษตร มาจัดแสดงภายในงาน อาทิ กระทรวงอุตสาหกรรม, สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.),สมาคมผู้ผลิตน้ำตาลและชีวพลังงานไทย, สมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย, บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด อีกทั้งบริษัทผู้ผลิตน้ำตาลและเอทานอล เช่น บริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน), บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท เอกรัฐพัฒนา จำกัด นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือและสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจาก หจก.สามารถเกษตรยนต์ ผู้พัฒนาการผลิตเครื่องมือการเกษตรรถตัดอ้อยในประเทศไทยและส่งออกจำหน่ายทั่วโลก และ บริษัท เกสเนอร์ อินดัสทรี เชี่ยวชาญในการออกแบบและผลิตอุปกรณ์การเกษตร จากประเทศออสเตรเลีย เป็นต้น

นางสาวปุณฑริกา ยังกล่าวอีกว่า ภายในงานได้จัดการประชุมวิชาการ World Sugar Conference 2017 ภายใต้หัวข้อ “Growth and Convergence in Southeast Asia Sugarcane Industries”  โดยบุคคลสำคัญในวงการน้ำตาลและ  เอทานอลในประเทศไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้เกียรติมาเป็นวิทยากร นอกจากนี้ในการการประชุมยังคงเน้นการค้าการลงทุนและเทคโนโลยี ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีเยี่ยมสำหรับผู้ที่สนใจและเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมนี้

 “งานนี้ ไม่ได้เป็นเพียงงานมหกรรมงานแสดงสินค้า แต่เป็นงานที่จะ สร้างแรงบันดาลใจ ในการนำเทคโนโลยีอันทันสมัย ที่ถูกคิดค้นมา เพื่อเป็นเครื่องมือ ที่จะช่วยให้ท่านบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจ เนื่องจากเทคโนโลยี เป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการเพิ่มกำลังการผลิต และกลายเป็นความจำเป็นที่ผู้ประกอบการ ต้องแสวงหาเทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อนำไปต่อยอดเพื่อพัฒนาธุรกิจ ตลอดจนมีโอกาสในการเจราจา ธุรกิจ ระหว่างขาย และผู้ซื้อที่มีอำนาจตัดสินใจโดยตรง ” นางสาวปุณฑริกา กล่าว

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2560

วังขนายผนึกสยามคูโบต้าใช้นวัตกรรมปลูกอ้อยเพิ่ม

“วังขนาย”ผนึกคูโบต้าดันไอเดียเกษตรสมัยใหม่ Kubota agri solutions นวัตกรรมลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต หนุนยอดน้ำตาลออร์แกนิก ตั้งเป้าขยายผลผลิตอ้อยอินทรีย์เพิ่ม 30%

นางสาวธัญรักษ์  ณ วังขนาย  ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ กลุ่มวังขนาย เปิดเผยว่า เนื่องจากกลุ่มวังขนายตั้งเป้าภายในปี 3-5 ปี จะเพิ่มปริมาณอ้อยอินทรีย์ให้ได้ถึงร้อยละ 30 ของปริมาณอ้อยทั้งหมดของกลุ่มวังขนาย นำไปผลิตเป็นน้ำตาลออร์แกนิกเพื่อการส่งออกนั้นจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วย บริษัทจึงได้ร่วมมือกับสยามคูโบต้าฯ ส่งเสริมให้เกษตรกรสมาชิกในพื้นที่รอบโรงงานน้ำตาลปลูกอ้อยที่เหมาะสม และไร้สารเคมี ซึ่งล่าสุดมีเกษตรกรเข้าร่วมแล้วพื้นที่ 30,000 ไร่ ในพื้นที่ 4 จังหวัด คือ มหาสารคาม  ชัยภูมิ  นครราชสีมา  และลพบุรี  อย่างไรก็ดี ล่าสุดวังขนายได้เข้าร่วมโครงการภาครัฐเปลี่ยนนาข้าวเป็นอ้อย  และสนับสนุนพื้นที่เกษตรอินทรีย์สร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ โดยในกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับรองมาตรฐานอ้อยอินทรีย์ จะเพิ่มค่าอ้อย 100 บาทต่อตัน  และกลุ่มเกษตรกรที่อยู่ในระยะปรับเปลี่ยนจะเพิ่มค่าอ้อย 50 บาทต่อตัน  ในอนาคตอยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการส่งเสริมแปลงใหญ่อ้อยประชารัฐ

“เมื่อก่อนออร์แกนิกค่อนข้างราคาสูงเพราะผลผลิตน้อย แต่ตอนนี้เรามองว่าการที่เราเป็นผู้ผลิตเบอร์ 1 น้ำตาลออร์แกนิก ทุกคนต้องเข้าถึงราคาได้ จึงต้องขยายพื้นที่อินทรีย์เพื่อเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้นจากเมื่อก่อนเราขาย 80 บาท/กก. ตอนนี้ขาย 32 บาท/กก.ได้ เพราะเรามีผลผลิตมากขึ้น ซึ่งอนาคตเราตั้งเป้าขยาย 30% การใช้นวัตกรรมเครื่องจักรกลเกษตรจะช่วยรักษาคุณภาพออร์แกนิก  เช่น ช่วยกั้นสารเคมีจากแปลงนาอื่นแล้วยังลดต้นทุนแรงงานชาวไร่ได้มากเท่าตัว ที่ผ่านมาเราสนับสนุนให้กู้และบริษัททำลักษณะกึ่งคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่งร่วมกับเกษตรกรเพื่อรายได้ที่มั่นคง”

ทั้งนี้ วังขนายมีกำลังผลิตน้ำตาลออร์แกนิกอยู่ที่จำนวน 15,000 ตัน จำหน่ายในประเทศประมาณ 75% และอี 25%  จำหน่ายในประเทศแถบเอเซียและยุโรป อาทิ เกาหลีใต้ ฮ่องกง มาเลเซีย สิงคโปร์  ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์  เยอรมนี โอเซียเนีย และนิวซีแลนด์

นายสมศักดิ์  มาอุทธรณ์  กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส  บริษัท สยามคูโบต้า  คอร์ปอเรชั่น  จำกัด เปิดเผยว่า ล่าสุด บริษัทสยามคูโบต้าฯได้ร่วมมือกับกลุ่มวังขนาย  ส่งเสริมให้เกษตรกรสมาชิกในพื้นที่รอบโรงงานน้ำตาลปลูกอ้อยด้วยนวัตกรรม Kubota (agri) solutions (KAS) ในทุกขั้นตอนการเพาะปลูก เพื่อช่วยลดต้นทุนเพิ่มผลผลิตซึ่งได้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้การทำเกษตรครบวงจรหรือ KAS มาอย่างต่อเนื่อง และให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะการทำเกษตรอินทรีย์ต้องใช้ความแม่นยำและประณีต ซึ่งจะได้ผลผลิตจำนวน 26.64 ตัน/ไร่ ใช้ต้นทุนประมาณ 8,400 บาท/ไร่ และได้กำไรอยู่ที่ 24,000 บาท/ไร่

ทั้งนี้ จากผลที่ผ่านมา การปลูกอ้อยด้วยวิธี KAS  เป็นอีกหนึงแนวทางที่ช่วยสนับสนุนให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยได้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น และมีรายได้ที่มั่นคง และส่งผลให้กลุ่มวังขนายได้วัตถุดิบป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาลที่มีคุณภาพ สามารถนำไปผลิตเป็นน้ำตาลออร์แกนิกได้มาตรฐาน

“อนาคตสยามคูโบต้าฯจะเดินหน้าถ่ายทอดการทำการเกษตรครบวงจรให้กับเกษตรกรในหลายพื้นที่ด้วยนวัตกรรมKAS ซึ่งเรามีเป้าหมายขยายพื้นที่ตัวเลขนั้นขึ้นอยู่กับการเข้าร่วมของผู้แทนจำหน่ายปัจจุบันมีเข้าร่วม 20 ดีลเลอร์แต่คาดว่าภายในปี 2019 จะให้ผู้แทนจำหน่ายเข้าร่วมหมด 80 แห่งได้แน่นอน” นายสมศักดิ์กล่าว

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2560

เขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำเฉียด2,500ลบ.ม.กระทบแล้ว700หลังคาเรือน

12 ต.ค.60 สถานการณ์น้ำแม่น้ำเจ้าพระยาที่ จ.ชัยนาทปริมาณ ล่าสุดตรวจสอบพบว่าน้ำจากภาคเหนือที่ไหลผ่าน จ.นครสวรรค์ ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยวัดได้ 2,696 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้เขื่อนเจ้าพระยา ต.บางหลวง อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำขึ้นเป็น 2,481 ลบ.ม.ต่อวินาที่ ส่งผลให้พื้นที่ท้ายเขื่อนตั้งแต่ อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ลงไป จ.สิงห์บุรี จ.อ่างทอง และจ.พระนครศรีอยุธยา มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอีก 25-30 ซ.ม.และโดยล่าสุดพื้นที่ อ.สรรพยา มีบ้านเรือนได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมแล้วกว่า 700 หลัง

ซึ่งจากระดับน้ำที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สร้างความหวาดหวั่นให้กับชาวบ้านใน 3ตำบลของ อ.สรรพยา คือ ต.ตะหลุก ต.หาดอาษา และ ต.โพนางดำออก ทำให้ชาวบ้านต่างอพยพขึ้นมาจับจองที่ริมถนน ซึ่งเป็นพื้นที่สูงน้ำท่วมไม่ถึง เพื่อนำรถยนต์ รถจักรยานยนต์ เครื่องมือการเกษตร ทรัพย์สินต่างๆ ขึ้นมาหนีน้ำ และปลูกเพิงพักชั่วคราวเพื่อใช้หลับนอน เพราะไม่ไว้วางใจในสถานการณ์ ที่ไม่รู้ว่าแนวกั้นน้ำจะพังทะลายลงตอนใหน การนอนริมถนนจึงเป็นทางเลือกของชาวบ้านกว่า 300 หลังคาเรือนในขณะนี้

จาก http://www.naewna.com วันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ชงครม.รื้อโครงสร้างสมอ.สู่ยุค4.0 ปรับระบบเป็นออนไลน์ทำงานรวดเร็วขึ้น

นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรมเปิดเผยภายหลังการตรวจเยี่ยมสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม(สมอ.) ว่า สมอ. จะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 และอุตสาหกรรม 4.0 โดยได้มอบหมายให้สมอ.ปรับโครงสร้างการทำงานเป็นระบบออนไลน์ เพื่อยกระดับ สมอ.ไปสู่ 4.0 เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกที่รวดเร็วขึ้น โดยลดขั้นตอนการกำหนดมาตรฐานมอก.จากเดิมที่ผ่านมาใช้ระยะเวลา400 วัน แต่ปัจจุบันใช้ 150 วัน ซึ่งได้ตั้งเป้าให้ใช้ระยะเวลาไม่เกิน 100 วัน ภายในต้นปี 2561 เพื่อให้ได้มาตรฐานสากลเทียบเท่าประเทศอาเซียน

ส่วนการออกใบอนุญาตเดิมใช้ระยะเวลา 50 วันแต่ปัจจุบัน 15 วัน ซึ่งได้ตั้งเป้าใหม่เป็น 10 วัน โดยการปรับไปสู่การขออนุญาตในรูปแบบระบบออนไลน์ให้ได้ภายในต้นปี 2561 ส่วนการตรวจสอบและติดตามผลให้เน้นใช้บุคคลที่ 3 หรือเอาท์ซอสเข้ามาร่วมดำเนินการมากขึ้น เพื่อให้สามารถครอบคลุมได้ทั่วประเทศ

โดยภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ จะเสนอแนวทางการปรับโครงสร้างการบริหารงานของสมอ. 4.0 เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เพื่อให้สอดรับกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยเฉพาะการลดขั้นตอนการอนุมัติอนุญาตและการยกระดับมาตรฐานสินค้าชุมชนไปสู่มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน(มผช.)เพื่อขยายสู่ตลาดมากขึ้น ล่าสุดสมอ.อยู่ระหว่างเจรจากับสายการบินไทยสมายล์ ที่จะนำร่องนำสินค้าที่ผ่านมผช.ไปจำหน่ายยังสายการบินดังกล่าว

“เรามองไปที่สายการบินไทยสมายล์ก่อนที่จะนำสินค้าวางจำหน่ายซึ่งต้องร่วมมือกับหลายหน่วยงาน ทั้งกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.)ธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอีแบงก์) โดยนำมาตรฐานมาและสนับสนุนเงินด้านการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ และมองไปถึงการขยายตลาดที่กว้างไปยังประเทศเพื่อนบ้านคือ CLMV ซึ่งขอให้ สมอ.เน้นให้มากในเรื่องนี้” นายอุตตมกล่าว

นอกจากนี้ สมอ.เตรียมที่จะพัฒนามาตรฐานตัวใหม่สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และผู้ประกอบการเริ่มต้น(สตาร์ทอัพ)ซึ่งอยู่ระหว่างหาผู้ประกอบการรายใหญ่ที่จะมีมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(มอก.)รองรับ กับสินค้าชุมชนที่มีมผช. โดยส่วนนี้จะเป็นกลุ่มที่เป็นผู้ประกอบการเริ่มต้นขนาดเล็กแต่ไม่ใช่สินค้าชุมชนโดยมาตรฐานตัวใหม่ที่คาดว่าจะใช้มอก.Lite นั้นได้มอบให้สมอ.ไปดูแลให้เป็นระบบ ส่วนมาตรฐานอุตสาหกรรมที่มีอยู่แล้วคือมอก.ก็ขอให้มุ่งเน้นพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายเช่น เกษตรแปรรูป อาทิ การนำยางพารามาแปรรูป

นายณัฐพล รังสิตพล เลขาธิการสมอ.กล่าวว่ากำลังเจรจาสายการบินไทยสมายล์ในการนำร่องก่อนจากนั้นจะหารือสายการบินอื่นๆ ต่อไป เช่น นกแอร์ บางกอกแอร์เวย์ส ที่จะนำสินค้าผ่านมผช.ไปจำหน่ายผ่านแคตตาล็อกเพื่อสั่งซื้อในเครื่องบิน ส่วนมอก.Lite จะเป็นมาตรฐานใหม่โดยมีจุดประสงค์ที่จะดำเนินการให้ผู้ประกอบการที่เริ่มต้นหรือสตาร์ทอัพให้มีมาตรฐานเพื่อให้สามารถพัฒนาเข้าสู่ตลาดได้ ซึ่งจะพัฒนาเป็นระบบรวมถึงการดูแลทรัพย์สินทางปัญญา และหลังจากมีการเติบโตก็จะเข้าสู่ มอก.คาดว่าจะดำเนินการได้ต้นปี 2561

จาก http://www.naewna.com วันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2560

คูโบต้าถ่ายทอดเทคโนโลยี‘KAS’ ยกระดับศักยภาพผลิตชาวไร่อ้อย

นายสมศักดิ์ มาอุทธรณ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทได้ถ่ายทอดองค์รู้การทำเกษตรครบวงจร หรือ KAS มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ สร้างความยั่งยืนให้กับภาคเกษตรกรรม โดยที่ผ่านมาได้ร่วมมือกับภาครัฐขับเคลื่อนการทำเกษตรครบวงจรด้วยวิธี KAS และการทำเกษตรแบบประณีตมาโดยตลอด เช่น โครงการนาแปลงใหญ่ประชารัฐเกษตรสมัยใหม่ สำหรับในส่วนของภาคเอกชน สยามคูโบต้าได้ร่วมมือกับกลุ่มวังขนาย ส่งเสริมให้เกษตรกรสมาชิกในพื้นที่รอบโรงงานน้ำตาลปลูกอ้อยด้วยวิธี KAS ในทุกขั้นตอนการเพาะปลูก เพื่อช่วยลดต้นทุนเพิ่มผลผลิต

“จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมา การปลูกอ้อยด้วยวิธี KAS จึงถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ช่วยสนับสนุนให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยได้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้นและมีรายได้ที่มั่นคง อีกทั้งยังส่งผลให้กลุ่มวังขนายได้วัตถุดิบป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาลที่มีคุณภาพ สามารถนำไปผลิตเป็นน้ำตาลออร์แกนิคได้มาตรฐานอีกด้วย ในอนาคต สยามคูโบต้า ยังคงเดินหน้าถ่ายทอดการทำการเกษตรครบวงจรให้กับเกษตรกรในหลายพื้นที่ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำการเกษตรให้มีการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และเพิ่มรายได้อย่างยั่งยืน ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยให้ดีขึ้น อีกทั้งยังร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการวิจัยการทำเกษตรด้วยวิธี KAS กับพืชอีกหลากหลายชนิด และมุ่งมั่นที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้ KAS ให้กับร้านค้าผู้แทนจำหน่ายครอบคลุมทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งและยั่งยืนให้กับเกษตรกรต่อไป” นายสมศักดิ์ กล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2560

กรมชลฯยันน้ำเหนือยังคงเพิ่มสูงขึ้น แต่ไม่มากเท่าปี 2554

สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ล่าสุด(11 ต.ค. 60) ยังคงมีน้ำไหลหลากจากตอนบนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาที่นครสวรรค์อย่างต่อเนื่อง แต่ไม่มากเท่าปี 2554 ที่หลายฝ่ายกังวลว่าจะเกิดน้ำท่วมใหญ่

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ ได้ติดตามสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา หลังจากที่ได้มีการปรับแผนการระบายน้ำเพิ่ม พบว่าวันนี้(11 ต.ค. 60) มีปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ 2,630 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 1.97 เมตร แนวโน้มระดับน้ำยังคงเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำเหนือยังคงไหลลงมาอย่างต่อเนื่อง และมีน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในเกณฑ์ 2,386 ลบ.ม.ต่อวินาที ส่งผลให้พื้นที่ลุ่มต่ำด้านท้ายเขื่อน นอกคันกั้นน้ำ ยังคงได้รับผลกระทบเนื่องจากมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น บริเวณคลองโผงเผง คลองบางบาล และริมแม่น้ำน้อย บริเวณ อ.บางบาล อ.เสนา และอ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา กรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำ เพื่อลดผลกระทบในบริเวณดังกล่าวให้มากที่สุด โดยการทดระดับน้ำบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาที่ไหลมาจากจังหวัดนครสวรรค์ และอุทัยธานี เพื่อชะลอน้ำไว้ให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม พร้อมกับใช้ระบบชลประทานทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกรับน้ำเข้าไปอย่างเต็มศักยภาพ รวมกันวันละประมาณ 509 ลบ.ม.ต่อวินาที จากนั้นจะใช้พื้นที่ลุ่มต่ำต่างๆ รับน้ำเข้าไปเก็บไว้ในทุ่ง เพื่อลดยอดปริมาณน้ำที่จะไหลผ่านลงสู่พื้นที่ตอนล่างต่อไป

 สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำป่าสัก ปัจจุบันเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 888 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 93 ของความจุที่ระดับเก็บกัก คงเหลือพื้นที่รองรับน้ำได้อีกเพียง 72 ล้านลูกบาศก์เมตร ในขณะที่ยังคงมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯมาก ถึงวันละประมาณ 41 ล้านลูกบาศก์เมตร และมีการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำป่าสัก วันละประมาณ 30 ล้านลูกบาศก์เมตร ก่อนที่จะไหลลงมารวมกับปริมาณน้ำที่มาจากคลองชัยนาท – ป่าสัก กรมชลประทาน ได้ใช้เขื่อนพระรามหก ในการควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อน ส่งผลให้พื้นที่ริมแม่น้ำป่าสัก ตั้งแต่ท้ายเขื่อนพระรามหก บริเวณอำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จนถึงจุดบรรจบแม่น้ำเจ้าพระยา อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ยังคงมีระดับน้ำเพิ่มสูง แต่ยังไม่ส่งผลกระทบให้เกิดน้ำเอ่อล้นตลิ่ง ซึ่งยังคงต้องติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เนื่องจากยังคงมีฝนตกในพื้นที่ตอนบน

 อนึ่ง กรณีที่มีหลายฝ่ายมีความกังวลว่าปริมาณน้ำในปีนี้ จะส่งผลให้เกิดน้ำท่วมใหญ่คล้ายปี 2554 ได้นั้น หากเปรียบเทียบปริมาณน้ำที่ไหลผ่านในแม่น้ำเจ้าพระยา ณ เวลาเดียวกัน (11 ต.ค.) จะเห็นได้ว่าปี 2554 มีปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ มากถึง 4,650 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที มีการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา 3,634 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และมีปริมาณน้ำไหลผ่านที่อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา 3,476 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ในขณะที่ปี 2560 มีปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์เพียง 2,630 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที มีการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา 2,386 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และมีปริมาณน้ำไหลผ่านที่อ.บางไทร 2,404 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะเห็นได้ว่าปริมาณน้ำในปีนี้ ยังอยู่ในเกณฑ์น้อยกว่าปี 2554 มาก จึงเป็นไปได้ยากมากที่สถานการณ์น้ำท่วมในปีนี้ จะเกิดขึ้นเหมือนเช่นปี 2554 ที่ผ่านมา

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ไขข้อข้องใจ‘อีอีซี’ เชื่อมโลก ให้ไทยแล่น

จากกรณีร่างพ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. ...(อีอีซี)ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ที่มีการประเมินว่าจะผ่านการพิจารณาและสามารถประกาศใช้ได้ภายในสิ้นปีนี้นั้นระหว่างนี้ก็มีคำถามเกิดขึ้นมากมายถึงสาระสำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าวว่ามีความโปร่งใส และเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือไม่ 

 ในข้อสงสัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นนี้ ทางสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือสกรศ. ได้ออกมายืนยันถึงการดำเนินการและการมีกฎหมายรองรับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี)

-สิทธิเช่าที่ดิน 50 ปี

 โดยเฉพาะข้อสงสัยที่เกี่ยวข้องกับสิทธิการใช้ที่ดินของนักลงทุนต่างชาติที่ยาวถึง 99 ปี ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ยาวนานเกินไปนั้น ก็มีคำตอบว่า ในร่างพ.ร.บ.อีอีซีระบุสิทธิการเช่าที่ดินไว้สูงสุดเพียง 50 ปี และต่อได้อีกไม่กิน 49ปีเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียกำหนดให้เช่าได้ไม่เกิน99ปี กัมพูชา ลาว กำหนดระยะเวลาการเช่าที่ดินในเขตส่งเสริมได้สูงสุด 99ปี เวียดนาม 70 ปีและต่อได้หลายครั้ง

 ส่วนกรณีที่เข้าใจกันว่าสิทธิพิเศษ การลดภาษีนิติบุคคล ให้แก่นักลงทุนมากกว่าเดิมนั้น ก็เป็นสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่มีอยู่ตามกรอบกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ที่มีอยู่เดิม และเป็นไปตามระเบียบของกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ไม่ได้มีอะไรที่มากเกินไปกว่าเพดานที่บีโอไอได้ระบุเอาไว้

 นอกจากนี้ การเพิ่มสิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงสุดถึง 17% เป็นการสร้างฐานภาษีใหม่เพราะเมื่อเก็บภาษีสูง ผู้บริหารนักลงทุน ผู้เชี่ยวชาญ เหล่านี้ไม่เปิดบัญชีหรือยื่นภาษีในประเทศไทย แต่เปิดบัญชีเงินเดือนอยู่ต่างประเทศ เข้ามาทำงานโดยไม่เสียภาษี ดังนั้นการกำหนดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 17% ทำให้ประเทศไทยได้บัญชีเงินเดือนเหล่านี้มาอยู่ในประเทศไทยเพิ่มเติมแทน

-สานงานรัฐบาลชุดก่อน

 อีกทั้งการมองว่าอีอีซี ใช้เงินงบประมาณในการพัฒนาถึง 1.5 ล้านล้านบาท มากที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ทางสกรศ.ชี้ให้เห็นว่า หากมองย้อนกลับไปรัฐบาลที่ผ่านมาก็ตั้งงบด้านการพัฒนาไว้ระดับนี้ เพื่อจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขยายให้อีอีซี เป็นประตูเชื่อมโยงเศรษฐกิจไทยสู่เศรษฐกิจโลก โครงการหลักๆ เกือบทั้งหมดในอีอีซีได้มีการริเริ่มมาตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้วไม่ว่าจะเป็น โครงการรถไฟความเร็วสูง โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือมาบตาพุดและมอเตอร์เวย์ ซึ่งบางโครงการได้ทำรายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม( EIA) เสร็จไปแล้วและบางโครงการก็อยู่ในกระบวนการทำ EIA รัฐบาลปัจจุบันเข้ามาทำหน้าที่ประสานโครงการเหล่านี้ให้เชื่อมโยงกันเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศ

-พีพีพีช่วยลดภาระลงทุน

 ที่สำคัญโครงการต่างๆ จะใช้กระบวนการในการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน(พีพีพี) ไม่ได้เป็นการให้ประโยชน์กับเอกชนรายใดรายหนึ่ง การใช้วิธีนี้ เพื่อเป็นการลดภาระงบประมาณแผ่นดิน ในการลงทุนกับโครงสร้างพื้นฐาน และเพื่อเป็นการไม่ทำให้รัฐบาลต้องกู้เงินเพื่อลงทุนกับโครงการต่างๆ จึงได้เลือกรูปแบบพีพีพี ที่รัฐบาลจะมีเอกชนเป็นคู่สัญญา

 ดังนั้น วิธีพีพีพีจึงเหมาะสำหรับโครงการที่มีผลตอบแทนทางการเงิน และเอกชนสนใจลงทุน และรัฐอาจจะให้เงินชดเชยบ้างก็ได้ กรณีนี้เหมาะสมสำหรับ รถไฟความเร็วสูง สนามบินอู่ตะเภา และท่าเรือนํ้าลึก ซึ่งจะเป็นการประหยัดเงินงบประมาณให้ประเทศสามารถนำไปทำงานที่สำคัญให้กับประเทศ และลดภาระทางงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลได้

-หวังให้เป็นประตูเชื่อมโลก

 ส่วนความเข้าใจที่ว่า การใช้จ่ายเงินงบประมาณจำนวนมากมายมหาศาล กระจุกตัวเพียง 3 จังหวัดในอีอีซี แต่ไม่กระจายลงไปในพื้นที่ต่างๆ นั้น ก็เพราะพื้นที่อีอีซี ได้ถูกวางตำแหน่ง และได้รับการพัฒนามาตั้งแต่ยุค Eastern Seaboard ให้เป็นประตูของประเทศ มีการวางแผนให้เชื่อมต่อกันอย่างสมบูรณ์แบบ เช่น การขนส่งระบบรางพื้นที่อีอีซี ที่จะต้องเชื่อมต่อกับรถไฟทางคู่ จากหนองคาย เชียงใหม่ เป็นต้น ส่วนสนามบินอู่ตะเภาที่ได้รับการพัฒนาเป็นสนามบินพาณิชย์ จะเป็นการลดภาระจากสนามบิน ดอนเมือง และสุวรรณภูมิที่แออัดอยู่แล้ว และเป็นการกระจายตัวออกมา

 อีกทั้งการที่ต้องพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ๆเพราะสถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลงไปมาก อีอีซีจึงวางพื้นฐานสำหรับอุตสาหกรรมใหม่ที่กำลังเติบโต และหากไม่พัฒนาตาม ความสามารถในการแข่งขันของประเทศจะลดลง โดนเพื่อนบ้านแซงหน้า

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2560

“ฮ่องกง”เลือกไทยตั้งสนง.ศก.-การค้า

                 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ขณะนี้รัฐบาลฮ่องกงได้ประกาศจัดตั้งสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าฮ่องกง (HKETO) ประจำประเทศไทยขึ้นมาเป็นแห่งที่3ของอาเซียนซึ่งถือว่า เป็นข่าวดีกับไทยอย่างมาก เพราะการจัดตั้งสำนักงานดังกล่าว จะช่วยขยายช่องทางการค้า และการลงทุนของทั้ง 2 ประเทศ อีกทั้งยังสร้างโอกาสให้ไทยก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางทางด้านการค้าเชื่อมโยงระหว่างฮ่องกง ไปจีน และจากฮ่องกงมายังอาเซียนและกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี ได้สะดวกยิ่งขึ้น

              สำหรับการจัดตั้งสำนักงานดังกล่าว ที่ผ่านมารัฐบาลฮ่องกงได้จัดตั้งสำนักงานอยู่ในประเทศสำคัญๆ ทั่วโลก โดยในภูมิภาคอาเซียน เดิมมีอยู่ 2 แห่งคือ ที่ประเทศสิงคโปร์ และกรุงจาการ์ต้า ประเทศอินโดนีเซีย ล่าสุดได้ประกาศจัดตั้งเพิ่มอีก1แห่งที่ไทย ถือเป็นการสร้างเครื่อข่ายทางการค้าการลงทุน โดยนางแคร์รี่ แลม ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ยืนยันถึงเรื่องดังกล่าวว่าการที่ตัดสินใจเปิดสำนักงานขึ้นอีกแห่งในอาเซียนนั้น เนื่องจากเห็นว่าอาเซียนเป็นคู่ค้าสำคัญลำดับที่2ในด้านสินค้า และเป็นลำดับที่4ในด้านการค้าบริการ

              ก่อนหน้านี้ ในการเดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของนางแคร์รี่ แลม ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง เมื่อช่วงเดือนส.ค.60ที่ผ่านมาได้หารือเรื่องความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจร่วมกันระหว่างรัฐบาลฮ่องกง และไทย โดยเรื่องหนึ่งที่สำคัญ คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ขอให้ฮ่องกงเข้ามาจัดตั้งเอชเคอีทีโอ ขึ้นในไทย ซึ่งทางฮ่องกง ก็แสดงความยินดี และยังพร้อมเข้ามาร่วมมือด้านต่างๆกับไทยในหลายๆ เรื่องด้วย

จาก http://www.komchadluek.net   วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2560

อนาคตไฟฟ้ากับไทยแลนด์4.0 พลิกโฉมพลังงานเปลี่ยนโลก

                    สแกนความพร้อมของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กับการขับเคลื่อนองค์กรในยุค Energy 4.0                   

                    พลังงานไทยกำลังพลิกโฉมครั้งใหญ่ หลังรัฐบาลประกาศโมเดลพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ “Thailand 4.0” ภาคพลังงานไฟฟ้าที่เป็นพื้นฐานสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จึงปรับนำความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น โดย กฟผ. เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่ร่วมสร้างเศรษฐกิจให้เข้มแข็งด้วยนวัตกรรมพลังงาน

พัฒนาและเสริมศักยภาพพลังงานหมุนเวียน

กฟผ. จะก้าวไปสู่การเป็นผู้นำด้านพลังงานหมุนเวียนบนจุดเด่นที่ไม่ใช่จำนวนกำลังการผลิต แต่คำนึงถึงประโยชน์รอบด้านที่ประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญ คือ

                ใช้เซลล์แสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนทุ่นลอยน้ำในพื้นที่อ่างเก็บน้ำของ กฟผ. เพื่อมิให้กระทบพื้นที่การเกษตร และความเย็นของน้ำ

                ยังช่วยลดความร้อนของแผงโซลาร์เซลล์ ทำให้ประสิทธิภาพการผลิตเพิ่มขึ้น

                ติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์บนดินในพื้นที่โรงไฟฟ้า เขื่อน และสถานีไฟฟ้าแรงสูงของ กฟผ. เป็นการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

                มุ่งเน้นโครงการพลังน้ำท้ายเขื่อน เพื่อใช้ประโยชน์สูงสุดจากศักยภาพด้านพลังน้ำที่มี

                ศึกษาความเหมาะสมในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล ควบคู่กับการวิจัยและพัฒนาความร่วมมือด้านการปลูกพืชพลังงานเพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร

                นำระบบ Wind Hydrogen Hybrid ซึ่งเป็นระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าจากกังหันลมในรูปก๊าซไฮโดรเจน ก่อนที่จะแปลงกลับมาเป็นพลังงานไฟฟ้าด้วยเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) โดยพลังงานไฟฟ้าจะนำมาใช้ภายในศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา

                แก้ปัญหาความไม่มั่นคงของพลังงานหมุนเวียนด้วยระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) ซึ่ง กฟผ. ได้เริ่มพัฒนาแล้วที่อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี ขนาด 21 เมกะวัตต์ และที่อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ ขนาด 16 เมกะวัตต์ โดยทั้งสองจังหวัดเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านพลังงานทดแทนสูง

ต้นแบบนวัตกรรมพลังงานในยุค Energy 4.0

                รถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle)

                กฟผ. ร่วมกับ สวทช. พัฒนารถไฟฟ้าดัดแปลงมาตั้งแต่ปี 2553 โดยในระยะที่ 1 พ.ศ. 2553-2559 ได้ดัดแปลงรถยนต์ใช้แล้ว รุ่น Honda Jazz ให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้า และขณะนี้อยู่ในระยะที่ 2 พ.ศ. 2560 – 2562 ที่จะพัฒนาชุดประกอบรถไฟฟ้าดัดแปลงและคู่มือดัดแปลงเพื่อลดต้นทุน

                Smart Grid อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

                กฟผ. นำร่องโครงการสมาร์ทกริดที่อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยใช้ระบบสารสนเทศมาบริหารจัดการการผลิตและส่งจ่ายไฟฟ้า โดยมีแนวทางการดำเนินงาน 4 ด้าน คือ

1.Smart Energy พัฒนาด้านการจัดหาไฟฟ้า โดยติดตั้งโรงไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ขนาด 3 เมกะวัตต์ และระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ที่สามารถจ่ายพลังงานไฟฟ้าได้ 4 เมกะวัตต์ 15 นาที เพื่อรอระบบไฟฟ้าหลักเริ่มเดินเครื่อง (Start up) เป็นการแก้ปัญหาไฟฟ้าดับในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

2. Smart System พัฒนาระบบควบคุมและระบบปฏิบัติการทางไฟฟ้าที่เป็นตัวกลางการเชื่อมโยงระหว่างภาคการผลิตและผู้ใช้ไฟฟ้าให้มีความยืดหยุ่นและมีการบริหารจัดการกำลังผลิตไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ

3. Smart City สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยีระบบโครงข่ายสมาร์ทกริด

4. Smart Learning  ก่อสร้างศูนย์การเรียนรู้ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีสมาร์ทกริดให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและเป็นการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้คู่ชุมชนผ่านสื่อการเรียนรู้ที่ทันสมัย

เมืองนิเวศแห่งความสุข EGAT Eco Plus+

กฟผ. จะเนรมิตพื้นที่ 300 ไร่ของสำนักงานใหญ่ กฟผ. ให้เป็นต้นแบบการเชื่องโยงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมโดยสร้างสมดุลระหว่าง “โรงไฟฟ้า ป่านิเวศ และมนุษย์”

ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. (EGAT Learning Center)

กฟผ. ได้รวบรวมองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมพลังงานไว้ในศูนย์การเรียนรู้กฟผ. 8 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดการพัฒนาพลังงานด้วยความเข้าใจของประชาชนอย่างยั่งยืน

ปัจจุบันกำลังเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก หรือ Disruptive Technology กฟผ. จึงมุ่งนำนวัตกรรมมาดูแลความมั่นคงของระบบไฟฟ้าและจากแนวทางในอนาคตของ กฟผ. จะเห็นว่า กฟผ. ให้ความสำคัญกับพลังงานทดแทนไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเชื้อเพลิงหลัก โดยให้โรงไฟฟ้าหลักเป็นพี่เลี้ยงให้พลังงานทดแทนทยอยเข้าสู่ระบบได้อย่างราบรื่นไม่ให้ประเทศไทยต้องพบกับอาการป่วยจากโรคพลังงานอย่างที่หลายประเทศกำลังประสบกับภาวะค่าไฟฟ้าสูงและระบบไฟฟ้าไม่เสถียร

จาก https://www.dailynews.co.th วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2560

เร่งเครื่องปราบ‘ศัตรูอ้อย’ สุพรรณ-ราชบุรี’หนุนเกษตรกรใช้วิธีผสมผสาน

นายสมคิด เฉลิมเกียรติ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืชจังหวัดสุพรรณบุรี สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 กรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 จ.ราชบุรี โดยศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืชจังหวัดสุพรรณบุรี (ศทอ.สุพรรณบุรี) ดำเนินโครงการป้องกันและกำจัดศัตรูอ้อย ปี 2560 โดยแบ่งเป็นกิจกรรมต่างๆ ดังนี้ 1.ผลิตพ่อแม่พันธุ์แมลงหางหนีบ จำนวน 25,000 ตัว 2.ผลิตแมลงหางหนีบพร้อมปล่อย จำนวน 175,000 ตัว 3.ผลิตหัวเชื้อราเมตตาไรเซียม จำนวน 250 ขวด 4.ผลิตเชื้อราเมตตาไรเซียมพร้อมใช้ จำนวน 1,000 กิโลกรัม และ 5.จัดงานวันรณรงค์ป้องกันกำจัดศัตรูอ้อย โดยเน้นศัตรูอ้อยที่สำคัญ 2 ชนิด คือด้วงหนวดยาว และตั๊กแตนไฮโรไกลฟัส

สืบเนื่องจากในช่วงเดือนก.ค.-ก.ย.2559 ได้พบการระบาดของตั๊กแตนไฮโรไกลฟัส (ตั๊กแตนข้าว) ในอ้อย เขตพื้นที่ หมู่ที่ 7 อ.จอมบึง และเขตติดต่อ ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี พื้นที่ประมาณ 2,300 ไร่ ซึ่งเป็นช่วงที่ตัวเต็มวัยของตั๊กแตนเริ่มมีการผสมพันธุ์และวางไข่ และจะฟักเป็นตัวอ่อนรุ่นใหม่ประมาณปลายเดือนพ.ค.2560 ศทอ.สุพรรณบุรี ได้ร่วมมือกับกลุ่มงานอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดราชบุรี วางแผนป้องกันกำจัดศัตรูอ้อยโดยวิธีผสมผสาน ส่วนด้านการควบคุมโดยชีววิธีได้ยึดตามคำแนะนำจากกรมส่งเสริมการเกษตรให้ใช้แมลงหางหนีบ และเชื้อราเมตาไรเซียมป้องกันกำจัดระยะตัวอ่อนที่เพิ่งฟักออกจากไข่ โดยแนะนำให้เกษตรกรใช้เชื้อราเมตาไรเซียมให้ไปกับระบบน้ำหยด ทั้งนี้ เพื่อให้การป้องกันกำจัดศัตรูอ้อยมีความต่อเนื่อง ศทอ.สุพรรณบุรี จึงได้ของบประมาณเพิ่มเติมจากกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อดำเนินโครงการดังกล่าว ซึ่งมีเกษตรกรสนใจและเข้าร่วมโครงการ จำนวน 29 ราย ครอบคลุมพื้นที่ปลูกอ้อย จำนวน 1,795 ไร่

“ผลจากการถ่ายทอดความรู้เรื่องการป้องกันกำจัดศัตรูอ้อยโดยวิธีผสมผสาน ทำให้สถานการณ์ระบาดของตั๊กแตนไฮโรไกลฟัส ตั้งแต่เดือนพ.ค.2560 ถึงปัจจุบัน ไม่พบความเสียหายของอ้อยที่เกิดจากการทำลายของตั๊กแตนไฮโรไกลฟัส ที่สำคัญยังพบว่าแปลงไหนที่เกษตรกรมีการใช้เชื้อราเมตตาไรเซียมไปกับระบบน้ำหยดจะพบตั๊กแตนขึ้นไปตายบริเวณปลายยอดอ้อย และแปลงไหนที่ปล่อยแมลงหางหนีบเพื่อกำจัดตัวอ่อนตั๊กแตนตั้งแต่เดือน พ.ค.- มิ.ย.2560 พบการระบาดของหนอนกออ้อยลดลง ซึ่งขณะนี้มีเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการสามารถผลิตขยายแมลงหางหนีบปล่อยในแปลงของตนเอง และยังขยายผลไปสู่แปลงของญาติพี่น้องและเพื่อนเกษตรกรข้างเคียงที่สนใจ โดยเกษตรกรยืนยันว่าแปลงที่ปล่อยแมลงหางหนีบจะสังเกตเห็นการระบาดของหนอนกอลดลงอย่างเห็นได้ชัด” นายสมคิด กล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2560

เกษตรฯลุยรื้อกม.คุ้มครองพันธุ์พืช ยันเกษตรกรได้ประโยชน์-ทำถูกต้องทุกขั้นตอน

นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า จากการบังคับใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 มาได้ระยะหนึ่งพบว่า มีข้อติดขัดทั้งในด้านกระบวนการปฏิบัติงานและการบังคับใช้กฎหมาย นอกจากนี้เนื้อหากฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ยังขาดสาระสำคัญบางประการทำให้ไม่สามารถให้ความคุ้มครองสิทธินักปรับปรุงพันธุ์พืชได้อย่างเพียงพอ มีบางข้อที่จำกัดโอกาสการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์พืชใหม่ๆ อีกทั้งไม่ส่งเสริมสนับสนุนให้ชุมชนได้อนุรักษ์พัฒนาและใช้ประโยชน์พันธุ์พืชของชุมชน รวมถึงเป็นอุปสรรคต่อการวิจัยและพัฒนาที่ใช้พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไปและพันธุ์พืชป่า และไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน ส่งผลให้ไม่ส่งเสริมศักยภาพด้านการแข่งขันการลงทุนและการวิจัยและพัฒนาของประเทศเท่าที่ควร ดังนั้นจึงเห็นสมควรปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืชฉบับที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน โดยคงไว้ซึ่งเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 ทุกประการ

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า การปรับแก้ไขกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชให้เป็นสากลจะส่งผลดีต่อผู้เกี่ยวข้องจำแนกตามกลุ่ม ได้ดังนี้ 1.เกษตรกรผู้ค้า/ผู้ปลูก มีทางเลือกมากขึ้นในการเลือกชนิดพืชและพันธุ์พืชใหม่ๆ ที่เหมาะสมใช้เพาะปลูกตามความต้องการ ทำให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพของผลผลิตให้ได้รับผลตอบแทนสูงขึ้น อาชีพเกษตรกรผู้รับจ้างผลิตเมล็ดพันธุ์ (พืชไร่และผัก) มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น สร้างรายได้ให้เกษตรกร นอกจากนี้ เกษตรกรจะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ที่ทันสมัยไปด้วย โดยที่เกษตรกรยังสามารถใช้พันธุ์พืชพื้นเมืองและเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกได้เองตามปกติ ส่วนพันธุ์พืชใหม่ที่ได้รับการจดทะเบียนคุ้มครอง เกษตรกรยังสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้เพาะปลูกในพื้นที่ของตนเองได้ตามสิทธิพิเศษสำหรับเกษตรกรที่กำหนดไว้ในมาตรา 35 ของร่างพระราชบัญญัติฯ 2.นักปรับปรุงพันธุ์พืชไทย มีแรงจูงใจในการลงทุนวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืชใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง และมีแหล่งพันธุกรรมที่มีความหลากหลายใช้ในการปรับปรุงพันธุ์มากขึ้น มีการนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ในการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์มากยิ่งขึ้น และจะมีจำนวนนักปรับปรุงพันธุ์เพิ่มมากขึ้น 3.ผู้บริโภคและอุตสาหกรรมแปรรูป มีทางเลือกที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น สามารถเลือกซื้อผลิตผลและผลิตภัณฑ์พืชได้ตรงกับความต้องการ มีพันธุ์พืชใหม่ๆออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ไม่ขาดแคลน ทำให้ประสิทธิภาพการผลิตดีขึ้น 4.การลงทุนด้านเมล็ดพันธุ์พืช มีการขยายการลงทุนด้านการวิจัยพัฒนาปรับปรุงพันธุ์และการผลิตเมล็ดพันธุ์ ทั้งเพื่อใช้ในประเทศและส่งออก นักลงทุนมีความเชื่อมั่น ดึงดูดให้เข้ามาลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาในประเทศมากขึ้น

ทั้งนี้การดำเนินการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืชที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2553 ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม 40 มาตรา จาก 69 มาตรา ได้มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้ข้อสรุปว่า เกษตรกรรายย่อยส่วนใหญ่มีข้อห่วงกังวลต่อการที่จะไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกเองได้ดังเช่นที่เคยปฏิบัติมา ราคาเมล็ดพันธุ์ที่อาจจะสูงขึ้น และการกระทำผิด (ละเมิด) โดยไม่รู้ ซึ่งต่อมาภายหลังจากได้รับความรู้เกี่ยวกับการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายจากพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว เกษตรกรมีความเข้าใจและไม่คัดค้านการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายดังกล่าว โดยปัจจุบัน การเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืชทางเว็บไซต์ของกรมวิชาการเกษตรในระหว่างวันที่ 5-20 ตุลาคม 2560 ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนการเสนอกฎหมายของหน่วยงานซึ่งจะต้องให้กระทรวงพิจารณาเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี และหาก ครม. เห็นชอบ จะต้องส่งร่างดังกล่าวไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาก่อนเสนอให้ สนช. ในขั้นตอนสุดท้าย

จาก http://www.naewna.com วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ลดระบายเขื่อนลุ่มน้ำชี บรรเทาน้ำท่วมอีสาน-กักน้ำรับมือแล้งปีหน้า

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ขณะนี้แหล่งกักเก็บน้ำในลุ่มน้ำชีทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก มีปริมาณน้ำค่อนข้างมาก เนื่องจากตั้งแต่เดือนกรกฎาคม มีพายุดีเปรสชั่นหลายลูกพัดผ่าน ทำให้ฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกรมชลประทานร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ได้วางแผนบริหารจัดการน้ำโดยกักเก็บน้ำไว้ในเขื่อนให้ได้มากที่สุด และชะลอการระบายเพื่อลดผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม อย่างไรก็ตามในบางพื้นที่ยังคงมีน้ำท่วมอยู่บ้าง แต่คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติก่อนสิ้นเดือนตุลาคมแน่นอน

สำหรับปริมาณน้ำล่าสุดของเขื่อนขนาดใหญ่ที่อยู่ในลุ่มน้ำชีทั้ง 3 แห่ง คือ เขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น มีปริมาณน้ำ 1,992 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ยังสามารถรับน้ำได้อีก 439 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ มีปริมาณน้ำในอ่าง 1,689 ล้าน ลบ.ม. ยังสามารถรับน้ำได้อีก 291 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนจุฬาภรณ์ มีปริมาณน้ำในอ่าง 136 ล้าน ลบ.ม. ยังสามารถรับน้ำได้อีก 27 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งกรมชลประทาน และ กฟผ.จะบริหารจัดการน้ำทั้งการระบายและการกักเก็บน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยจะคำนึงถึงปริมาณน้ำต้นทุนสำหรับใช่ในกิจกรรมต่างๆ ในช่วงฤดูแล้งปี 2561 ด้วย

“โดยเฉพาะที่เขื่อนลำปาว กรมชลประทานจะเก็บน้ำไว้ในเขื่อนมากขึ้น เพื่อให้มีปริมาณน้ำต้นทุนไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งปีหน้าอย่างพอเพียง และยังเป็นการช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมทางตอนล่างของลุ่มน้ำชี ในพื้นที่ อำเภอจังหาร อำเภอทุ่งเขาหลวง จังหวัดร้อยเอ็ด และอำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร ซึ่งเป็นที่ลุ่มน้ำระบายน้ำได้ช้า โดยขณะนี้ได้สั่งการให้ลดการระบายน้ำเขื่อนลำปาวลงให้น้อยที่สุด” ดร.สมเกียรติกล่าว

นอกจากนี้ยังได้ให้เร่งระดมส่งเครื่องสูบน้ำช่วยพื้นที่ชุมชนเมืองขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ชัยภูมิ และร้อยเอ็ด พร้อมจัดทำแผนที่ทางน้ำสาธารณะ เพื่อเตรียมปรับการบริหารจัดการน้ำหลากในครั้งต่อไป อย่างไรก็ตามในการเร่งระบายน้ำนั้น ให้คำนึงถึงการวางแผนการปลูกพืชในฤดูแล้งช่วงปลายปีนี้ด้วย โดยจะต้องจัดสรรน้ำให้กับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบของน้ำท่วมเป็นอันดับแรก

จาก http://www.naewna.com วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2560

กรมชลฯ เปิด 5 โครงการตามพระราชดำริสืบสานศาสตร์พระราชาพัฒนาแหล่งน้ำ

          ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีรักษาราชการแทนอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2561กรมชลประทานจะเร่งดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริให้แล้วเสร็จ ตามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และแนวพระราชดำริต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 พร้อมกับนำ "ศาสตร์พระราชา" มาขยายผลแก้ปัญหาเรื่องน้ำในภูมิภาคต่างๆ เพื่อ บรรเทาความเดือดร้อนให้กับราษฎร

          สำหรับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่กรมชลประทานจะขอเปิดดำเนินการในปี 2561 ประกอบด้วยโครงการสำคัญๆ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้ โครงการที่สามารถดำเนินการก่อสร้างได้ทันทีโดยไม่ต้องขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี เนื่องจากวงเงินก่อสร้างไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำทบ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย เป็นโครงการขนาดกลางมีความจุ 7.43 ล้านลูกบาศก์ เมื่อแล้วเสร็จจะเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ 7,348 ไร่ และ โครงการอ่างเก็บน้ำป่าละอู อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคพื้นที่ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง มีความจุ 10.46 ล้าน ลบ.ม.สามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ 6,490 ไร่

 โครงการประเภทที่สองเป็นโครงการที่ต้องขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเพื่อเปิดโครงการโดยจะใช้ระยะเวลาในก่อสร้างประมาณ 5 ปี ประกอบด้วย โครงการอ่างเก็บน้ำลำน้ำชี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอหนองบัวระเหว จังหวัดชัยภูมิ เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง มีความจุประมาณ 70 ล้าน ลบ.ม. สามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 75,000 ไร่ ใช้เงินลงทุนประมาณ 2,938 ล้านบาท โครงการอ่างเก็บน้ำวังหีบ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง มีความจุประมาณ 20 ล้าน ลบ.ม. ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 2,377 ล้านบาท เมื่อแล้วเสร็จจะเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ 13,014 ไร่ และโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อบรรเทาและแก้ไขปัญหาอุทกภัยพื้นที่ของอำเภอพระพรหม อำเภอเมือง และพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งจะช่วยลดปัญหาพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากของจังหวัด โดยเฉพาะในเขตชุมชนและเขตเศรษฐกิจของเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งยังสามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตรกรรม การอุปโภค-บริโภค ในฤดูแล้ง ได้อีกประมาณ 5 ล้านลบ.ม. มีพื้นที่ได้รับประโยชน์ 17,400 ไร่ โดยจะมีการก่อสร้างและปรับปรุงคลองระบายน้ำเดิม พร้อมทั้งขุดคลองผันน้ำสายใหม่ ความยาวประมาณ 18.64 กม. และก่อสร้างประตูระบายน้ำ เพื่อกักเก็บน้ำและป้องกันน้ำเค็มหนุนในฤดูแล้ง ใช้เงินลงทุนประมาณ 9,580 ล้านบาท

          นอกจากนี้ในปีงบประมาณ 2561 กรมชลประทานยังจะนำโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้งที่เป็น ฝาย อ่างเก็บน้ำ และรูปแบบอื่นๆ ที่ยังไม่มีระบบชลประทาน ซึ่งมีทั้งหมดประมาณ 1,645 โครงการ มาทำการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้คลอบคลุมในทุกมิติ เพื่อก่อสร้างระบบชลประทานให้สามารถใช้ประโยชน์จากโครงการได้เต็มศักยภาพ เพียงพอกับความต้องการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และการเพาะปลูกของประชาชนได้ตลอดทั้งปี โดยจะร่วมดำเนินงานในลักษณะบูรณาการกับมูลนิธิปิดทองหลังพระ จังหวัดที่ตั้งโครงการ หน่วยงานปกครองในท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2560 

อีสานช่วงมรสุม เผยแต่ละเขื่อนมีน้ำกักเก็บมากกว่า80%

กฟผ. เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำของเขื่อนพื้นที่ภาคอีสานอย่างใกล้ชิด แต่ละเขื่อนมีปริมาณน้ำกักเก็บมากกว่าร้อยละ 80 เนื่องจากอิทธิพลของพายุหลายลูกในช่วงที่ผ่านมา อีกทั้งตุลาคมนี้ยังคงมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง เร่งช่วยเหลือและส่งมอบถุงยังชีพให้แก่ผู้ประสบอุทกภัยมากกว่า 800 ชุด

นายณัฐวุฒิ แจ่มแจ้ง ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์น้ำของเขื่อน กฟผ. ส่วนใหญ่ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ ยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีปริมาณน้ำสูงกว่าเกณฑ์ควบคุม เนื่องจากปีนี้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนจำนวนมาก ประกอบกับช่วงที่ผ่านมาอิทธิพลของพายุ “ตาลัส”, “เซินกา” และหย่อมความกดอากาศต่ำที่สลายตัวจากพายุ “ฮาโตะ” ทำให้มีฝนตกหนักและน้ำหลากในหลายจังหวัดของประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันเขื่อนต่าง ๆ ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีปริมาณน้ำสูงเกินกว่าเกณฑ์ควบคุม (ข้อมูล ณ วันที่ 10 ตุลาคม 2560) ได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์ มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ 2,488 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 102 ซึ่งสูงเกินเกณฑ์ควบคุมอุทกภัย ส่งผลให้ต้องเพิ่มการระบายน้ำ จากเดิมวันละ 25 ล้าน ลบ.ม. เป็นวันละ 28 ล้าน ลบ.ม. แต่ไม่เกินวันละ 34 ล้าน ลบ.ม. ตามมติคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำให้ระบายได้ จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ โดยอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ท้ายน้ำ ทั้งลำน้ำพองและลำพะเนียง, เขื่อนจุฬาภรณ์ มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ 164 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 100, เขื่อนสิรินธร มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ 1,616 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 82 และเขื่อนน้ำพุง มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ 166 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 100

นายณัฐวุฒิ แจ่มแจ้ง กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับในพื้นที่ภาคเหนือ เขื่อนต่าง ๆ มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ ได้แก่ เขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ 8,871 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 66, เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ 7,821 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 82 ซึ่งปัจจุบันทั้งสองเขื่อนหยุดการระบายน้ำระหว่างวันที่ 9 – 15 ตุลาคม 2560 ตามมติของคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ เพื่อช่วยบรรเทาสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา, เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ 210 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 79 และจากสถานการณ์ฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ส่งผลให้อ่างเก็บน้ำแม่จาง อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ความจุ 102 ล้าน ลบ.ม. ตั้งอยู่ในพื้นที่ กฟผ. แม่เมาะ มีปริมาณน้ำสูงกว่าเกณฑ์ควบคุม จึงจำเป็นต้องเปิดบานประตูระบายน้ำ เพื่อระบายน้ำลงสู่ลำน้ำจาง ไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่อยู่อาศัยของประชาชน แต่มีพื้นที่เกษตรกรรมบางส่วนได้รับความเสียหาย ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์ได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติเรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ การบริหารจัดการน้ำเขื่อน กฟผ. เป็นไปตามแผนการระบายน้ำของกรมชลประทานและคณะอนุกรรมการฯ รวมทั้งของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำแต่ละจังหวัด ซึ่งคำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชนเป็นสำคัญ การระบายน้ำในแต่ละครั้ง กฟผ. ได้ดำเนินการจัดส่งหนังสือแจ้งให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้นำท้องถิ่น และมีการประกาศแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ให้ทราบล่วงหน้า เพื่อเตรียมพร้อมและป้องกันผลกระทบจากการระบายน้ำ เป็นไปตามข้อกำหนดและการปฏิบัติเรื่องการระบายน้ำ

สำหรับในพื้นที่ประสบอุทกภัย กฟผ. ได้ทยอยลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือ โดยเบื้องต้นได้ส่งมอบถุงยังชีพให้แก่ชุมชนโดยรอบเขื่อนจุฬาภรณ์ 500 ชุด และชุมชนโดยรอยเขื่อนอุบลรัตน์ 300 ชุด รวมทั้งสิ้น 800 ชุด ซึ่ง กฟผ. จะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม และส่งมอบถุงยังชีพให้แก่ผู้ประสบอุทกภัยต่อไป

“กฟผ. ขอความร่วมมือประชาชนช่วยกันติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด สามารถติดตามข่าวสารผ่านทางเว็บไซต์ WATER.EGAT.CO.TH และแอพพลิเคชั่น EGAT Water ซึ่งสามารถดาวน์โหลดค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำได้อย่าง Real Time ตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งมีการถ่ายทอดสดจากกล้อง CCTV ของแต่ละเขื่อนอีกด้วย” ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ กฟผ. กล่าวทิ้งท้าย

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ครม.ทุ่ม 4 พันล้าน พัฒนาระบบ “วันสต็อปเซอร์วิส”

เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2560 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติเห็นชอบการพัฒนาระบบอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจแบบครบวงจร (Doing Business Portal) โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ภายใต้กรอบวงเงิน 4,000 ล้านบาท และให้สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (สรอ.) (องค์การมหาชน) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กระทรวงการคลังและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.)

เพื่อยกระดับการบริการด้วยระบบดิจิทัลทั้ง 10 ด้าน ตาม Ease of Doing Business Report เพื่อให้การติดต่อภาครัฐได้แบบเบ็ดเสร็จครบวงจร ณ จุดเดียวแบบออนไลน์ สามารถแบ่งปันข้อมูลระหว่างหน่วยงานและติดตามผลการพิจารณาอนุมัติ อนุญาตแบบออนไลน์ ตลอด 24 ชั่วโมง

จุดประสงค์เพื่อเชื่อมโยงกระบวนการให้บริการของหน่วยงานภาครัฐตั้งแต่เริ่มต้นธุรกิจ ดำเนินธุรกิจ จนถึงเลิกกิจการ โดยมีขอบเขตการดำเนินงานครอบคลุม 4 ส่วน ได้แก่ 1.การพัฒนาแพลตฟอร์มกลางในการขออนุมัติอนุญาต (License Digitization & Analytics) 2.การพัฒนาระบบกลางในการยืนยันตัวตนออนไลน์ (Digital Authentication) 3.การพัฒนาแพลตฟอร์มกลางเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้าระหว่างประเทศ (Trade Digitization) และ 4.การเชื่อมโยงระบบการทำงานภาครัฐเชิงรุก (Digitization Commando)

ทั้งนี้ ได้แบ่งการดำเนินงานเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ภายในปีงบประมาณ พ.ศ.2561 เป็นการวางแผนและพัฒนาระบบนำร่องการเริ่มต้นธุรกิจครอบคลุมใบอนุญาต 50 บริการ ให้บริการร่วมกับสถาบันการเงิน 2 แห่ง นำร่องบริการ 2 สินค้า ครอบคลุมการขออนุญาต 8 บริการและการออกใบอนุญาต 5 หน่วยงานและทำแผนงานเชิงรุกแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรค

ระยะที่ 2 ภายในปีงบประมาณ พ.ศ.2562 เริ่มขยายผลให้ครอบคลุมบริการสำคัญ 100 บริการ ให้บริการร่วมกับสถาบันการเงินทุกแห่ง ให้บริการสินค้านำเข้า ส่งออกอื่นๆ ที่มีความสำคัญและพร้อม ขับเคลื่อนงานบริการเชิงรุก 50 หน่วยงาน และระยะที่ 3 ภายในปีงบประมาณ พ.ศ.2563 จะขยายผลไปสู่งานบริการอื่น ๆ 150 บริการ ให้บริการแก่ทุกหน่วยงานภาครัฐ ให้บริการสินค้านำเข้า ส่งออกอื่น ๆ ที่สำคัญและเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการเอกชน ขับเคลื่อนเชิงรุกกับ 50 หน่วยงาน ในการปลดล็อกปัญหาและอุปสรรค

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2560

หวั่นเกิดความขัดแย้ง! สภาเกษตรกรฯขอให้ถอยฟังเสียงเกษตรกร ก่อนปรับปรุง พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า เรื่องการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 เข้าใจได้ว่ากรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พยายามจะปรับปรุงตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืช 1991 (UPOV 1991) แต่มีสิ่งน่าห่วงใยและกังวลอย่างยิ่งคือเรื่องนี้เกี่ยวพันกับชีวิตของเกษตรกรทั่วประเทศเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่พึ่งตนเองไม่ได้และเป็นเกษตรกรรายย่อย เรื่องแก้ไข พ.ร.บ.ที่มีผลกระทบกับเกษตรกรมากขนาดนี้ ขอให้กระทรวงเกษตรฯทำด้วยความรอบคอบ ให้ประชาชนและเกษตรกรมีส่วนร่วมมากๆ ทำความเข้าใจกับเกษตรกรและสาธารณะให้มากกว่านี้ ที่ผ่านมาสภาเกษตรกรแห่งชาติรู้สึกได้ว่า กระทรวงเกษตรฯโดยเฉพาะกรมวิชาการเกษตรทำแบบเงียบๆ เหมือนว่าไม่ยอมให้เกษตรกรรับรู้ ซึ่งตรงนี้อันตรายมาก หากกฎหมายบังคับใช้แล้วมีผลกระทบต่อเกษตรกรมากๆ ก็อาจเป็นกระแสต่อต้านลุกลามที่อาจจะเอาไม่อยู่ นับว่าโชคดีที่กฎหมายฉบับนี้ถึงแม้จะเร่งรีบทำ แต่ก็ยังไม่มีผลบังคับใช้ จึงใคร่เรียกร้องให้กรมวิชาการเกษตร ถอยออกมาก้าวหนึ่งเพื่อชะลอกฎหมาย และทำให้เกษตรกรและประชาชนเข้าใจได้มากกว่านี้ ภายใต้คำชี้แจงของอธิบดีทุกคนฟังอยู่ แต่มีหลายประเด็นมากที่ยังไม่ชัดเจน เช่น เรื่องคณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืช ซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนหนึ่งเป็นตัวแทนเกษตรกร ที่อยากเห็นก็คือกระบวนการเกษตรกรเลือกกันเองโดยการเสนอรายชื่อ ซึ่งตรงนั้นจะทำให้กรรมการมีที่มาที่ไป อย่างน้อยที่สุดก็จะเป็นการช่วยในกรรมการระดับชาติในกรณีที่จำเป็นจะต้องสร้างความเข้าใจกับเกษตรกรทั้งประเทศก็ทำได้ง่าย แต่ในกฎหมายเขียนว่าให้เกิดจากการแต่งตั้งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งอันตรายมาก หากแต่งตั้งบุคคลที่ไม่มีคุณสมบัติหรือคนที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้ ก็จะขาดการมีส่วนร่วมในการเชื่อมโยงกับเกษตรกรทั้งประเทศ เวลาพิจารณาบางประเด็นอาจจะเกิดกระแสต่อต้านได้ และอีกหลายเรื่องที่ยังห่วงกังวลมาก เช่น การเอาพันธุกรรมไปขยายผลปลูกต่อ มาตรา 35 เขียนว่าในพื้นที่ของตนเอง ซึ่งเกษตรกรในประเทศส่วนใหญ่เช่าพื้นที่ทำกินทั้งนั้น หรือพื้นที่ทำกินไม่มีเอกสารสิทธิ์ เหล่านี้จะมีคำอธิบายอย่างไร ปัจจุบันปัญหาด้านเศรษฐกิจรุนแรง เกษตรกรย่ำแย่อยู่แล้ว จะเป็นการซ้ำเติมให้หนักหน่วงมากขึ้น รวมทั้งในระยะยาวก็อาจจะมีผลกระทบกับระบบเศรษฐกิจใหญ่ของประเทศได้ จึงขอเรียกร้อง วิงวอนให้กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถอยออกมาก้าวหนึ่งเพื่อที่จะชะลอกฎหมายไว้ระยะหนึ่ง เพื่อพูดคุยกับเกษตรกรให้รอบด้าน รอบคอบกว่านี้ จะได้เกิดความผิดพลาดน้อยลงหรือจะทำให้เกิดความมั่นใจมากขึ้น

 “เรื่องนี้เท่าที่จำความได้เป็นประเด็นขัดแย้งทางสังคมมาโดยตลอด หลายรัฐบาลพยายามหยิบยกกฎหมายฉบับนี้มาปรับปรุงแต่ก็ถูกกระแสคัดค้านจนต้องถอยกลับไปหลายรอบ ครั้งนี้เป็นอีกครั้งหนึ่ง หากว่ากระทรวงเกษตรฯไม่สนใจกระแสเสียงของเกษตรกร หลับหูหลับตาเร่งรัดออกมา เชื่อมั่นได้ว่าจะเกิดความขัดแย้งสูงมาก จึงอยากให้เกษตรกรกรุณาติดตาม ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องอนาคตของท่านและลูกหลานยาวนาน หากกฎหมายในชั้นพระราชบัญญัติบังคับใช้แล้วมีผลกระทบก็จะเป็นผลกระทบที่ยาวนานและแก้ไขยากมาก จึงขอให้พี่น้องเกษตรกรติดตามด้วยความเป็นห่วง” นายประพัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ยุค 4.0 อนาคตไฟฟ้าไทย พลิกนวัตกรรมพลังงานเกาะกระแสโลก

สแกนความพร้อมของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กับการขับเคลื่อนองค์กรในยุค Energy 4.0 พลังงานไทยกำลังพลิกโฉมครั้งใหญ่ หลังรัฐบาลประกาศโมเดลพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ “Thailand 4.0” ภาคพลังงานไฟฟ้าที่เป็นพื้นฐานสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จึงปรับนำความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น โดย กฟผ. เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่ร่วมสร้างเศรษฐกิจให้เข้มแข็งด้วยนวัตกรรมพลังงาน

พัฒนาและเสริมศักยภาพพลังงานหมุนเวียน

กฟผ. จะก้าวไปสู่การเป็นผู้นำด้านพลังงานหมุนเวียนบนจุดเด่นที่ไม่ใช่จำนวนกำลังการผลิต แต่คำนึงถึงประโยชน์รอบด้านที่ประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญ คือ

1.ใช้เซลล์แสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนทุ่นลอยน้ำในพื้นที่อ่างเก็บน้ำของ กฟผ. เพื่อมิให้กระทบพื้นที่การเกษตร และความเย็นของน้ำ ยังช่วยลดความร้อนของแผงโซลาร์เซลล์ ทำให้ประสิทธิภาพการผลิตเพิ่มขึ้น

2.ติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์บนดินในพื้นที่โรงไฟฟ้า เขื่อน และสถานีไฟฟ้าแรงสูงของ กฟผ. เป็นการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

3.มุ่งเน้นโครงการพลังน้ำท้ายเขื่อน เพื่อใช้ประโยชน์สูงสุดจากศักยภาพด้านพลังน้ำที่มี

4.ศึกษาความเหมาะสมในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล ควบคู่กับการวิจัยและพัฒนาความร่วมมือด้านการปลูกพืชพลังงานเพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร

5.นำระบบ Wind Hydrogen Hybrid ซึ่งเป็นระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าจากกังหันลมในรูปก๊าซไฮโดรเจน ก่อนที่จะแปลงกลับมาเป็นพลังงานไฟฟ้าด้วยเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) โดยพลังงานไฟฟ้าจะนำมาใช้ภายในศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา แก้ปัญหาความไม่มั่นคงของพลังงานหมุนเวียนด้วยระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) ซึ่ง กฟผ. ได้เริ่มพัฒนาแล้วที่อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี ขนาด 21 เมกะวัตต์ และที่อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ ขนาด 16 เมกะวัตต์ โดยทั้งสองจังหวัดเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านพลังงานทดแทนสูง

ต้นแบบนวัตกรรมพลังงานในยุค Energy 4.0

รถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle)

กฟผ. ร่วมกับ สวทช. พัฒนารถไฟฟ้าดัดแปลงมาตั้งแต่ปี 2553 โดยในระยะที่ 1 พ.ศ. 2553-2559 ได้ดัดแปลงรถยนต์ใช้แล้ว รุ่น Honda Jazz ให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้า และขณะนี้อยู่ในระยะที่ 2 พ.ศ. 2560 – 2562 ที่จะพัฒนาชุดประกอบรถไฟฟ้าดัดแปลงและคู่มือดัดแปลงเพื่อลดต้นทุน

Smart Grid อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

กฟผ. นำร่องโครงการสมาร์ทกริดที่อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยใช้ระบบสารสนเทศมาบริหารจัดการการผลิตและส่งจ่ายไฟฟ้า โดยมีแนวทางการดำเนินงาน 4 ด้าน คือ

1.Smart Energy พัฒนาด้านการจัดหาไฟฟ้า โดยติดตั้งโรงไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ขนาด 3 เมกะวัตต์ และระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ที่สามารถจ่ายพลังงานไฟฟ้าได้ 4 เมกะวัตต์ 15 นาที เพื่อรอระบบไฟฟ้าหลักเริ่มเดินเครื่อง (Start up) เป็นการแก้ปัญหาไฟฟ้าดับในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

2.Smart System พัฒนาระบบควบคุมและระบบปฏิบัติการทางไฟฟ้าที่เป็นตัวกลางการเชื่อมโยงระหว่างภาคการผลิตและผู้ใช้ไฟฟ้าให้มีความยืดหยุ่นและมีการบริหารจัดการกำลังผลิตไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ

3.Smart City สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยีระบบโครงข่ายสมาร์ทกริด

4.Smart Learning  ก่อสร้างศูนย์การเรียนรู้ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีสมาร์ทกริดให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและเป็นการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้คู่ชุมชนผ่านสื่อการเรียนรู้ที่ทันสมัย

เมืองนิเวศแห่งความสุข EGAT Eco Plus+

กฟผ. จะเนรมิตพื้นที่ 300 ไร่ของสำนักงานใหญ่ กฟผ. ให้เป็นต้นแบบการเชื่องโยงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมโดยสร้างสมดุลระหว่าง “โรงไฟฟ้า ป่านิเวศ และมนุษย์”

ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. (EGAT Learning Center)

กฟผ. ได้รวบรวมองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมพลังงานไว้ในศูนย์การเรียนรู้กฟผ. 8 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดการพัฒนาพลังงานด้วยความเข้าใจของประชาชนอย่างยั่งยืน

ปัจจุบันกำลังเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก หรือ Disruptive Technology กฟผ. จึงมุ่งนำนวัตกรรมมาดูแลความมั่นคงของระบบไฟฟ้าและจากแนวทางในอนาคตของ กฟผ. จะเห็นว่า กฟผ.ให้ความสำคัญกับพลังงานทดแทนไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเชื้อเพลิงหลัก โดยให้โรงไฟฟ้าหลักเป็นพี่เลี้ยงให้พลังงานทดแทนทยอยเข้าสู่ระบบได้อย่างราบรื่นไม่ให้ประเทศไทยต้องพบกับอาการป่วยจากโรคพลังงานอย่างที่หลายประเทศกำลังประสบกับภาวะค่าไฟฟ้าสูงและระบบไฟฟ้าไม่เสถียร

จาก  http://www.banmuang.co.th   วันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ยกเครื่องระบบบริหารจัดการน้ำ นำร่อง‘สระแก้ว’มุ่งความเท่าเทียมทุกภาคส่วน

ระบบบริหารจัดการน้ำ สมเกียรติ ประจำวงษ์   

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีรักษาการแทนอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้ดำเนินการศึกษาและปรับปรุงการจัดการน้ำทั้งระบบ เพื่อสร้างความสมดุลการใช้น้ำในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกที่ได้มีการดำเนินโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC: Eastern Economic Corridor) ครอบคลุม 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และโครงการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว ซึ่งมีพื้นที่ครอบคลุมอำเภออรัญประเทศ และอำเภอวัฒนานคร จำนวน 207,500 ไร่ เพื่อรองรับการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตของ

 ประชาชน และส่งเสริมความมั่นคงของประเทศ ภายใต้โจทย์ที่ว่าเมื่อเอาน้ำมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมแล้วภาคเกษตรยังมีน้ำใช้อยู่อย่างไม่ขาดแคลน

“สิ่งที่กรมชลประทานกำลังทำคือ พัฒนาหรืออัพเกรดโอกาสการเข้าถึงน้ำให้กับภาคการเกษตรควบคู่กับการพัฒนาทางด้านภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรม แม้ว่าภาคอุตสาหกรรมจะมีความต้องการใช้น้ำไม่มากเมื่อเทียบกับภาคการเกษตรก็ตาม แต่ต้องการความมั่นคงในเรื่องน้ำเช่นกันเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน เราเลือกเขตเศรษฐกิจพิเศษสระแก้วที่ตั้งอยู่ทางตอนล่างของลุ่มน้ำห้วยพรมโหดในการจัดทำแผนพัฒนาระบบชลประทาน เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่กำลังเติบโตทางด้านอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันก็ยังมีปัญหาเรื่องน้ำค่อนข้างมาก ทั้งปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง” รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าว

สำหรับลุ่มน้ำห้วยพรมโหด เป็นลุ่มน้ำย่อยของลุ่มน้ำโตนเลสาบที่ไหลเข้าไปในประเทศกัมพูชา มีพื้นที่ลุ่มน้ำประมาณ 932.94 ตารางกิโลเมตร มีปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยต่อปีมากถึง 490 ล้าน ลบ.ม. แต่ส่วนใหญ่จะตกหนักในช่วงฤดูฝน และบริเวณด้านท้ายน้ำเป็นคลองระหว่างประเทศมีลักษณะแคบและตื้นเขิน ทำให้ประสิทธิภาพการระบายน้ำลดลง จึงเกิดภาวะน้ำท่วมเป็นประจำ ในขณะที่ฤดูแล้งกลับประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ ปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งสร้างความเสียหายให้กับภาคการเกษตร และระบบเศรษฐกิจของอำเภออรัญประเทศซึ่งเป็นศูนย์กลางการส่งออกไปยังประเทศกัมพูชาเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ จากการศึกษาในการจัดทำแผนหลักการพัฒนาแหล่งน้ำในลุ่มน้ำห้วยพรมโหด พบว่ามีโครงการที่สำคัญๆ ทั้งสิ้น 18 โครงการ สามารถเพิ่มพื้นที่รับประโยชน์ได้ 68,500 ไร่ อย่างไรก็ตาม ทั้ง 18 โครงการดังกล่าวจากการศึกษาเบื้องต้นพบว่าเป็นโครงการเพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ 3 โครงการ ได้แก่ คลองผันน้ำหลากอ้อมเมืองอรัญประเทศ ความยาว 24 กิโลเมตร โครงการประตูระบายน้ำพร้อมสถานีสูบน้ำปลายคลองพรหมโหด และโครงการพนังกั้นน้ำคลองพรหมโหด ในส่วนของโครงการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและจัดหาน้ำเพื่อการเกษตร ได้แก่ โครงการประตูระบายน้ำบ้านคลองยาง ตำบลผักขะ อำเภอวัฒนานคร โครงการเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำหนองบัวเหนือ ตำบลหันทราย อำเภออรัญประเทศ ซึ่งกรมชลประทานจะได้ทำการศึกษาความเหมาะสมและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) ต่อไป

นอกจากนี้ ในพื้นที่ภาคตะวันออก กรมชลประทานยังกำลังดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำในจังหวัดจันทบุรี อีก 3 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำประแกด อ่างเก็บน้ำพะวาใหญ่ อ่างเก็บน้ำคลองหางแมว ความจุรวม 209 ล้าน ลบ.ม. คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี พ.ศ.2563 ซึ่งจะมีการจัดทำแผนพัฒนาระบบชลประทานสร้างความสมดุลในการใช้น้ำทุกภาคส่วนเช่นกัน โดยจะสามารถนำน้ำไปพัฒนาภาคการเกษตรได้ไม่น้อยกว่า 300,000 ไร่ และจะยังมีน้ำเหลืออีกประมาณ 100 ล้าน ลบ.ม. ที่จะมีส่วนนำไปช่วย 3 จังหวัด EEC ได้ ดังนั้นจึงมั่นใจได้ว่าภายใน 10 ปี EEC จะมีความพร้อมในเรื่องน้ำอย่างแน่นอน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2560

รักษ์เกษตร ระบบเกษตรอินทรีย์   

ถาม ผมอยากทราบความรู้ความเข้าใจ

 ในการทำเกษตรอินทรีย์จะทำให้เกิดระบบที่มีประสิทธิภาพได้อย่างไร

ณรงค์ชัย บุญสว่าง

อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี

คำตอบ ปัจจุบัน กระแสความนิยมการบริโภคผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ประชากรในประเทศหันมาบริโภคสินค้าเกษตรและอาหารที่ผลิตด้วยวิธีเกษตรอินทรีย์มากขึ้น การทำเกษตรอินทรีย์เป็นการช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรให้มีอยู่อย่างยั่งยืน และช่วยฟื้นฟูทรัพยากรการเกษตรที่เสื่อมโทรมไปจากการทำการผลิตทางการเกษตรแบบที่ใช้สารเคมี ผลผลิตในการเพาะปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ จะช่วยแก้ปัญหาด้านสุขภาพอนามัยของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการใช้สารเคมี และที่สำคัญคือ ผลผลิตทางการเกษตรนั้น ปลอดภัยในการบริโภค

ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง องค์กรพัฒนาเอกชน ชุมชน และเกษตรกร ได้ร่วมกันการกำหนดแนวทาง สรุปเบื้องต้นได้ดังนี้

การส่งเสริมสนับสนุนด้านนโยบาย

1.ในด้านการผลิต ควรกำหนดนโยบายที่ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการทำเกษตรอินทรีย์ ให้แยกออกจากแหล่งที่ทำการเกษตรแบบทั่วไป เพื่อลดการปนเปื้อนจากสารที่เป็นพิษต่างๆ

2.ในด้านการตลาด ควรกำหนดนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนการทำการเกษตรอินทรีย์ ในแบบระบบการค้าร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน

การส่งเสริมสนับสนุนระดับปฏิบัติการ

1.ขั้นตอนการผลิต จัดสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการทำเกษตรอินทรีย์ สร้างองค์ความรู้ และเผยแพร่อย่างกว้างขวางไปสู่เกษตรกร ให้บริการความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำเกษตรอินทรีย์ ให้บริการคำปรึกษา ให้ข้อมูล ให้เงินทุนสนับสนุนแก่เกษตรกรที่เริ่มเข้ามาทำการเกษตรอินทรีย์ และสร้างแรงจูงใจในการทำเกษตรอินทรีย์ผ่านมาตรการทางภาษี และการให้สินเชื่อต่างๆ สนับสนุนด้านเมล็ดพันธุ์อินทรีย์ และสร้างระบบหลักประกันแก่เกษตรกรผู้ทำการเกษตรอินทรีย์

2.ขั้นเก็บเกี่ยวผลผลิต สร้างเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตที่ดี ที่สามารถรักษามาตรฐานผลผลิตอินทรีย์ได้อย่างมีคุณภาพ ให้ความรู้ ให้บริการที่ปรึกษา และให้ข้อมูลที่เกี่ยวกับการดูแลรักษาผลผลิต ตามกฎระเบียบมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ให้มีระบบประกันคุณภาพสินค้า สร้างแรงจูงใจผ่านมาตรการทางภาษี

3.ขั้นตอนการออกใบรับรองมาตรฐาน ให้มีหน่วยงานที่ได้รับการประกันระบบการรับรองคุณภาพมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ สร้างระบบความร่วมมือกับภาคเอกชน ให้การอุดหนุนในด้านค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แก่เกษตรกร

4.ขั้นตอนการตลาด ส่งเสริมและจัดการด้านการตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ ให้ข้อมูล สร้างแรงจูงใจ พัฒนาและสร้างช่องทางตลาดทางเลือก ให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการค้าสินค้าเกษตรอินทรีย์ และผู้บริโภคให้มีมากขึ้น

การทำเกษตรอินทรีย์ที่ดี จะต้องกระทำเป็นแบบองค์รวม มีความสัมพันธ์กันทั้งระบบ เมื่อระบบมีมาตรฐานถูกต้อง ผลผลิตที่ได้จากการผลิตในพื้นที่ที่มีระบบการผลิตแบบอินทรีย์ที่ได้มาตรฐาน ก็ย่อมเป็นผลิตผลอินทรีย์ที่มีมาตรฐานไปด้วย การที่จะส่งเสริมให้ไทยเป็นประเทศแนวหน้าในการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ สู่ตลาด ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ภายใต้วัตถุประสงค์ของการเพิ่มรายได้เกษตรกร จากระดับราคาที่สูงกว่าสินค้าเกษตรทั่วไป เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรที่เสื่อมโทรมไปจากการทำเกษตรที่ใช้สารเคมีเป็นปัจจัยการผลิต เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม และเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกที่ปัจจุบัน มีการกีดกันทางการค้าในรูปที่มิใช่ภาษี โดยการตั้งข้อกำหนดที่เข้มงวดในด้านสุขอนามัย ความปลอดภัยในการบริโภคจากสิ่งเจือปนต่างๆ และการผลิตที่จะไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศของสิ่งมีชีวิตนั้น

ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจะต้องเข้ามาให้ความสนใจอย่างจริงจัง ซึ่งต้องให้การสนับสนุนทั้งระบบ และถือเป็นนโยบายการเกษตรแห่งชาติ ข้อเสนอทั้งหมดนี้ บางส่วนได้มีการดำเนินการไปแล้วบ้าง ซึ่งเกษตรกรเองก็ได้ยึดถือปฏิบัติตามระบบการทำเกษตรอินทรีย์ที่ดี

จาก http://www.naewna.com วันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2560

กรมชลฯสั่งรับพายุลูกใหม่ เร่งระบายน้ำ‘ลุ่มเจ้าพระยา’

สถานการณ์น้ำใต้เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท

สมเกียรติ ประจำวงษ์

                  นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ที่มีพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วยผู้บริหารกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่า รมว.เกษตรฯ มีความเป็นห่วงสถานการณ์น้ำในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่ยังมีฝนตกชุกต่อเนื่อง โดยได้สั่งการให้เพิ่มช่องทางการระบายน้ำให้พื้นที่เสี่ยง และเตรียมแผนรองรับหากปริมาณน้ำล้นตลิ่ง โดยขอความร่วมมือเจ้าหน้าที่และผู้ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ให้ประสานทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่

               สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมพื้นที่จ.สุโขทัย และโรงพยาบาลสุโขทัย ได้พ้นวิกฤตแล้ว ซึ่งกรมชลประทานได้เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่อย่างเร่งด่วน ด้านปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพล จ.ตาก ขณะนี้มีปริมาณน้ำในเขื่อนประมาณ 60% ด้านเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีปริมาณน้ำในเขื่อนประมาณ 80% ยังสามารถรองรับน้ำได้อีก แต่ยังคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่า วันที่ 12 -14 ต.ค.นี้ จะมีฝนตกต่อเนื่องบริเวณภาคกลางของประเทศ และวันที่ 15 – 17 ต.ค.อาจจะมีพายุลูกใหม่เคลื่อนตัวเข้ามาในประเทศไทย     

                ขณะเดียวกันจากสถานการณ์น้ำท่วมริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา พบว่าหลายวัดที่อยู่รอบเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา ได้รับผลกระทบแล้ว โดยน้ำได้เอ่อเข้าท่วมวัดต่างๆ เช่น วัดกษัตราธิราชวรวิหาร ต.บ้านป้อม ระดับน้ำที่สูงขึ้น เข้าท่วมพื้นสนามหน้าวัดเข้าไปเป็นระยะทางกว่า 50 เมตร โดยนายอภิชาต สุขสมบูรณ์ นายก องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)บ้านป้อม นำทรายพร้อมอุปกรณ์ร่วมกับพระเณรช่วยกันกรอกกระสอบทรายป้องกันน้ำท่วมด้านหน้าวัด เพื่อไม่ให้น้ำเข้าท่วมภายใน บางส่วนได้ปั้นคันดินสูงประมาณ 1.50 เมตรและมีความกว้างกว่า 1 เมตรช่วยป้องกัน

              ขณะที่วัดท่าการ้อง ซึ่งอยู่ใกล้เคียง ก็มีการเคลื่อนย้ายพระพุทธรูปที่อยู่ริมแม่น้ำขึ้นที่สูง ส่วนตลาดน้ำซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญระดับน้ำสูงขึ้นต่อเนื่อง ทางวัดเตรียมประกาศหยุดหากน้ำขึ้นเกิน 50 ซ.ม. เพื่อความปลอดภัย 

               ส่วน จ.อ่างทอง แม่น้ำเจ้าพระยายังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและเอ่อท่วมเป็นวงกว้าง เนื่องจากวานนี้มีฝนตกหลายพื้นที่ โดยเฉพาะตำบลโผงเผงเดือดร้อนหนัก เจ้าหน้าที่หลายหน่วยงานเร่งให้การช่วยเหลืออย่างเต็มที่ สำหรับระดับน้ำแม่เจ้าพระยาหน้าศาลากลางจังหวัดอ่างทอง อยู่ที่ 8.36 เมตร เพิ่มขึ้น 20 เซนติเมตร

              ทั้งนี้ จังหวัดอ่างทองมีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำเอ่อท่วมแล้ว 5 อำเภอ กว่า 500 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตร 1,750 ไร่ หากเขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำมากขึ้นและมีฝนตกอีกจะทำให้ระดับน้ำเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ที่หมู่ 1 ต.จำปาหล่อ อ.เมือง ชาวบ้านยังเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมสูงขึ้น

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2560

กระแสโลกเปลี่ยนไปสู่ EV ธพ.แนะผู้ค้าเอทานอลปรับตัว

ทิศทางการใช้พลังงานของประเทศภาคขนส่งที่กำลังปรับเปลี่ยนไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า (EV) จะส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำมันและเอทานอลในอนาคต ทางกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) จึงแนะผู้ประกอบการเอทานอลเตรียมรับมือ และปรับตัวสู่ธุรกิจผลิตพลาสติกชีวภาพ หรือ ไบโอพลาสติก ขณะที่ผู้ค้ารายใหญ่ อุบลไบโอ เอทานอล หนุนปลูกมันออร์แกนิก เดินหน้า “อุบลโมเดล”

“ถึงแม้ในปัจจุบันภาคขนส่งยังใช้พลังงานหลักจากน้ำมันและเอทานอล แต่ในอนาคตคงอีกไม่นาน หากทิศทางการใช้พลังงานของประเทศในภาคขนส่งปรับเปลี่ยนไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า (EV) เช่นเดียวกับกระแสโลก ก็จะเกิดผลกระทบต่อการใช้น้ำมันและเอทานอลในอนาคต โดยเฉพาะภาคเอกชนผู้ผลิตเอทานอลไทยควรจะเร่งปรับตัวก่อน โดยการปรับเปลี่ยนนำวัตถุดิบมันสำปะหลังไปผลิตพลาสติกชีวภาพ หรือ ไบโอพลาสติกให้มากขึ้น และหาตลาดเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น” วิศักดิ์ วัฒนศัพท์ รองอธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) กล่าว

ด้าน เดชพนต์ เลิศสุวรรณโรจน์ ประธานบริษัท อุบลไบโอ เอทานอล จำกัด และในฐานะนายกสมาคมผู้ผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลัง กล่าวว่าบริษัทฯ มีลูกค้าจากต่างประเทศที่มีความต้องการแป้งมันออร์แกนิก ซึ่งเป็นอีกช่องทางการตลาดที่ยังมีความต้องการในตลาดโลกสูง โดยเฉลี่ยราคาขายแป้งมันภายในประเทศอยู่ที่ 10-11 บาทต่อกิโลกรัม แต่หากสามารถผลิตเป็นแป้งมันออร์แกนิกจะได้ราคาเพิ่มถึง 40-50% จากราคาปกติ ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกจะได้รายได้เพิ่มขึ้น

บริษัทฯมีความพร้อมในตัวเครื่องจักรและสายการผลิต เราได้รับการยอมรับตามมาตรฐานอาหารปลอดภัยระดับสากล ได้แก่ GMP, HACCP, HALAL, KOCHER และเราเป็นบริษัทแรกที่ได้รับมาตรฐานการรับรองการผลิตพืชอินทรีย์ในระบบ USDA NOP และ EU Organic ทำให้สามารถผลิตแป้งมันออร์แกนิกไปขายในตลาดยุโรปและสหรัฐได้ ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในการผลิตและมาตรฐานของไทยอย่างมาก ดังนั้น บริษัทเป้าหมายต้องการขยายตลาดแป้งมันสำปะหลังออร์แกนิกเข้าสู่ตลาดโลกมากขึ้นด้วย

ปัจจุบัน บริษัททำโครงการประชาสัมพันธ์ โดยร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อส่งเสริมและพัฒนาให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง หันมาปลูกมันสำปะหลังออร์แกนิกให้มากขึ้น ตอนนี้ยังมีผู้ปลูกน้อยมาก แต่ความต้องการมีมาก อีกทั้งตลาดมีพร้อมแล้วด้วย ขณะเดียวกันพบว่าโรงงานอาหารสัตว์ต้องการมันเส้นออร์แกนิกเช่นกัน ซึ่งความต้องการออร์แกนิกมีหลากหลายมากขึ้น

เดินหน้าต่อโครงการอุบลโมเดล

เดชพนต์ กล่าวถึงโครงการพัฒนาส่งเสริมการเกษตรการปลูกมันสำปะหลัง หรือ "อุบลโมเดล" ว่าเป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างบริษัทและหน่วยงานของภาครัฐในพื้นที่ตั้งแต่ปี 2557 ด้วยแนวคิดและวัตถุประสงค์เพื่อต้องการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ปัจจุบันมีเกษตรกรเข้าร่วมอบรมในโครงการมากกว่า 5,000 ราย และสามารถสร้างเกษตรกรต้นแบบได้ 100 ราย และเราได้ผลักดันให้เกิดเกษตรกรผู้ปลูกมันออร์แกนิกได้ 13 ราย และเป้าหมายการผลิตให้ได้มากกว่า 5 ตันต่อไร่ และสามารถลดต้นทุนต่อไร่มากกว่า 1,000 บาท

ในปีนี้ โครงการเดินหน้าต่อให้มีเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังออร์แกนิกมากขึ้น เนื่องจากต้องการสร้างแรงกระตุ้นให้เกษตรกรหันมาปลูก อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าเราจะการันตีในการรับซื้อเข้ามา แต่ปัญหาสำคัญในการปลูกมันเป็นเรื่องของพันธุ์ที่ใช้ในการปลูกยังไม่เพียงพอ และแม้เราจะมีธนาคารพันธุ์แล้ว ดังนั้น เราจึงต้องการได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐในเรื่องนี้ด้วย

การมีส่วนรวมในอุตฯไบโอพลาสติก

ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกมีความต้องการมันออร์แกนิก หรือสารตั้งต้นที่เป็นออร์แกนิก เพื่อไปใช้ในกลุ่มอุตสาหกรรมไบโอพลาสติก เช่น ฝรั่งเศส มีนโยบายอีก 3 ปี พลาสติกธรรมดาห้ามนำมาใช้ผลิตในอุปกรณ์แก้ว โดยต้องใช้สารที่เป็นออร์แกนิกในการผลิตเท่านั้น ขณะที่เทคโนโลยีที่ใช้ก็ไม่ได้ซับซ้อน เราสามารถทำได้แล้ว และหากได้รับการส่งเสริมจากหน่วยงานรัฐ ในเรื่องของการสร้างความต้องการภายในประเทศได้ ก็เชื่อว่าจะเป็นการสร้างเครดิตให้กับประเทศไทยในการส่งออกได้ เพราะจะเกิดความเชื่อมั่นในการสั่งซื้อสินค้าจากไทย

จาก https://mgronline.com  วันที่ 9 ตุลาคม 2560

บิ๊กฉัตร’ ห่วงปชช.เตือนผลกระทบ แผนปล่อยน้ำ3 เขื่อนใหญ่ปล่อยน้ำ ผลกระทบ ประชาชน เตือน บิ๊กฉัตร 3เขื่อนหลัก    

 “บิ๊กฉัตร”ห่วงประชาชน อาจได้รับผลกระทบแผนปล่อนน้ำ 3 เขื่อนหลัก หลังอุตุเตือนฝนจ่อถล่มระลอกใหม่กลางตุลาคมนี้

9 ต.ค. 60 พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว. เกษตรฯร่วมประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม อาทิ กรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นต้น เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ การบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน และการให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ลุ่มต่ำเจ้าพระยา ณ ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ กรมชลประทาน สามเสน กรุงเทพฯ

โดยพลเอกฉัตรชัย กล่าวว่า   ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาปริมาณฝนตกหนักส่งผลให้น้ำไหลเข้าเขื่อนขนาดกลางและขนาดใหญ่ทั่วประเทศเพิ่มขึ้น ประกอบกับช่วง 2-3 วันที่ผ่านมามีปริมาณฝนตกท้ายเขื่อนเป็นส่วนใหญ่ทั้ง จ.กำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์ และภาคอีสานหลายจังหวัดส่งผลทำให้ปริมาณน้ำไหลเข้าสู่ลำน้ำมากขึ้น โดยปริมาณน้ำไหลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาที่ จ.นครสรรค์อยู่ที่ 2,468 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่ลุ่มน้ำยมก็มีปริมาณฝนตกมากที่ จ.พิจิตร เช่นกัน

"กรมชลประทานได้หารือกับ กฟผ. อย่างใกล้ชิดเมื่อเห็นแนวโน้มปริมาณไหลเข้าสู่ลำน้ำเพิ่มขึ้น โดยปิดการระบายน้ำที่เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิตติ์ เพื่อไม่ให้น้ำตอนบนไม่ไหลมากระทบ รวมถึงมีการตัดยอดน้ำเข้าสู่พื้นที่แก้มลิง เช่น พื้นที่บางระกำ  ซึ่งกรมชลประทานได้มีการวางแผนล่วงหน้าโดยดึงนำออกจากหาดสะพานจันทร์ออกทางฝั่งน่านระบายลงสู่บางระกำที่สามารถรับน้ำได้  400 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยขณะนี้รับน้ำแล้วกว่า 380  ล้านลูกบาศก์เมตรซึ่งส่งผลกระทบต่อเส้นทางสัญจรอยู่บ้าง ซึ่งกรมชลประทานจะนำไปปรับแผนให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด"รมว.เกษตรฯ กล่าว

ขณะที่นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า นอกจากการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ที่ยังมีปริมาณน้ำขังเดิมแล้ว ยังมีการคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยาที่อาจจะส่งผลกระทบในหลายพื้นที่ เป็นสองช่วง ช่วงแรกในช่วงวันที่ 9-10 ตุลาคม นี้ที่ยังมีหย่อมความกดอากาศต่ำยังคงอยู่ และจะส่งผลกระทบกับอีสานตอนบน จ.สกลนคร นครพนม ยโสธร และภาคเหนือตอนบน ซึ่งพื้นที่ภาคเหนือไม่น่าเป็นห่วงมากนัก เนื่องจากยังมีเขื่อนภูมิพลที่ปัจจุบันปริมาณน้ำในเขื่อน 60 เปอร์เซ็นต์ของความจุอ่าง และเขื่อนสิริกิตติ์ 80  ของความจุอ่าง แต่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือในพื้นที่ลุ่มน้ำชี ที่ต้องเร่งแผนการพร่องน้ำเพิ่มเติมเช่นการระบายน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์

ซึ่งขณะนี้ปริมาณเต็มความจุ 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว จำเป็นจะต้องระบายน้ำเพิ่มเติมซึ่งอาจส่งผลให้หลายพื้นที่ได้รับผลกระทบ ดังนั้น รมว.กษ.ได้สั่งการให้มีการประสานแจ้งทางผู้ว่าราชการจังหวัด รวมถึงองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ผ่านกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ถึงข้อมูลปริมาณน้ำไหลผ่าน และระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นแต่ละจุดให้ชัดเจน โดยกรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัยจะเป็นหน่วยงานหลักในการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบอย่างใกล้ชิด

สำหรับในช่วงประมาณ 15- 17 ต.ค. กรมอุตุนิยมวิทยาได้ติดตามการก่อตัวของพายุ ที่จะมีความชัดเจนประมาณวันที่ 13 ต.ค.นี้ ซึ่งรัฐมนตรีเกษตรฯ ได้สั่งการให้มีการประชุมติดตามสถานการณ์ทุกวัน และทุกๆ 6 ชั่วโมงเพื่อประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการส่งเครื่องจักรเครื่องมือต่างๆ เพื่อระบายน้ำออกจากพื้นที่ โดยเฉพาะการเร่งสูบน้ำออกทะเลบริเวณชายขอบของอ่าวไทยช่วงที่น้ำทะเลยังไม่หนุนสูงขณะนี้ และในช่วง 1 สัปดาห์นี้จะมีการปรับแผนระบายน้ำเพิ่มทั้งพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมในปัจจุบัน และแผนรองรับปริมาณน้ำที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยอาจจะมีการเร่งการระบายน้ำที่เขื่อนในพื้นที่ภาคกลางและอีสาน คือ เขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์  และเขื่อนอุบลรัตน์ ที่ต้องดำเนินการอย่างรอบคอบและให้กระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำน้อยที่สุด

จาก http://www.naewna.com วันที่ 9 ตุลาคม 2560

เกษตรฯเตรียมแผนรับน้ำหลังมีแนวโน้มฝนระลอกใหม่15-17ต.ค.

"บิ๊กฉัตร"เตรียมแผนรับน้ำก้อนใหม่ หลังกรมอุตุฯ จับตาการก่อตัวของพายุ ช่วง 15-17 ต.ค. มีฝนระลอกใหม่

พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ร่วมประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ เนื่องจากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาปริมาณฝนตกหนักส่งผลให้น้ำไหลเข้าเขื่อนขนาดกลางและขนาดใหญ่ทั่วประเทศเพิ่มขึ้นประกอบกับช่วง 2-3 วันที่ผ่านมามีปริมาณฝนตกท้ายเขื่อนเป็นส่วนใหญ่ทั้ง จ.กำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือหลายจังหวัดส่งผลทำให้ปริมาณน้ำไหลเข้าสู่ลำน้ำมากขึ้น ปริมาณน้ำไหลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาที่ จ.นครสรรค์อยู่ที่ 2,468 ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)ต่อวินาที และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งให้กรมชลประทานไปบริหารจัดการไม่ให้กระทบกับประชาชน โดยลดการระบายน้ำจากเขื่อนใหญ่ และตัดยอดน้ำเข้าทุ่งบางระกำ

ทั้งนี้กรมชลประทานได้มีการวางแผนล่วงหน้าโดยดึงน้ำออกจากหาดสะพานจันทร์ออกทางฝั่งแม่น้ำน่านระบายลงสู่ทุ่งบางระกำที่สามารถรับน้ำได้

400 ล้านลบ.ม. โดยขณะนี้รับน้ำแล้วกว่า 380 ล้านลบ.ม. ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเส้นทางสัญจรอยู่บ้าง จึงให้กรมชลประทานนำไปปรับแผนให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่านอกจากการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ที่ยังมีปริมาณน้ำขังเดิมแล้ว ยังมีการคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยาที่อาจจะส่งผลกระทบในหลายพื้นที่ เป็นสองช่วง ช่วงแรกในช่วงวันที่ 9-10 ตุลาคม นี้ที่ยังมีหย่อมความกดอากาศต่ำยังคงอยู่และจะส่งผลกระทบกับอีสานตอนบน จ.สกลนคร นครพนม ยโสธร และภาคเหนือตอนบน ซึ่งพื้นที่ภาคเหนือไม่น่าเป็นห่วงมากนัก เนื่องจากยังมีเขื่อนภูมิพลที่ปัจจุบันปริมาณน้ำในเขื่อน 60% ของความจุอ่าง และเขื่อนสิริกิตติ์ 80 ของความจุอ่าง แต่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือในพื้นที่ลุ่มน้ำชี ที่ต้องเร่งแผนการพร่องน้ำเพิ่มเติมเช่นการระบายน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ ซึ่งขณะนี้ปริมาณเต็มความจุ 100% แล้ว จำเป็นจะต้องระบายน้ำเพิ่มเติมซึ่งอาจส่งผลให้หลายพื้นที่ได้รับผลกระทบ

ดังนั้น รมว.เกษตรได้สั่งการให้มีการประสานแจ้งทางผู้ว่าราชการจังหวัด รวมถึงองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ผ่านกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ถึงข้อมูลปริมาณน้ำไหลผ่าน และระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นแต่ละจุดให้ชัดเจน โดยกรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัยจะเป็นหน่วยงานหลักในการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบอย่างใกล้ชิด

สำหรับในช่วงประมาณ 15- 17 ต.ค. กรมอุตุนิยมวิทยาได้ติดตามการก่อตัวของพายุ ที่จะมีความชัดเจนประมาณวันที่ 13 ต.ค.นี้ ซึ่งรัฐมนตรีเกษตรฯ ได้สั่งการให้มีการประชุมติดตามสถานการณ์ทุกวัน และทุกๆ 6 ชั่วโมงเพื่อประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการส่งเครื่องจักรเครื่องมือต่างๆ เพื่อระบายน้ำออกจากพื้นที่ โดยเฉพาะการเร่งสูบน้ำออกทะเลบริเวณชายขอบของอ่าวไทยช่วงที่น้ำทะเลยังไม่หนุนสูงขณะนี้ และในช่วง1 สัปดาห์นี้จะมีการปรับแผนระบายน้ำเพิ่มทั้งพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมในปัจจุบันและแผนรองรับปริมาณน้ำที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยอาจจะมีการเร่งการระบายน้ำที่เขื่อนในพื้นที่ภาคกลางและอีสาน คือ เขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนอุบลรัตน์ ที่ต้องดำเนินการอย่างรอบคอบและให้กระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำน้อยที่สุด

สำหรับสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ณ 9 ต.ค. 60 ปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ 2,468 ลบ.ม.ต่อวินาที มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 2.07 เมตร มีน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา 2,000 ลบ.ม.ต่อวินาที ส่งผลให้พื้นที่ลุ่มต่ำด้านท้ายเขื่อน นอกคันกั้นน้ำ ซึ่งได้รับผลกระทบน้ำเอ่อล้นตลิ่งเดิม ได้แก่ บริเวณคลองโผงเผง คลองบางบาล และริมแม่น้ำน้อย บริเวณ อ.บางบาล อ.เสนา และ อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา ยังคงมีน้ำเอ่อล้นตลิ่ง กรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำเพื่อลดผลกระทบในบริเวณดังกล่าว โดยการทดระดับน้ำบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาที่ไหลมาจากจังหวัดนครสวรรค์ เพื่อชะลอน้ำไว้ให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม พร้อมกับใช้ระบบชลประทานทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกรับน้ำเข้าไปอย่างเต็มศักยภาพ รวมกันวันละประมาณ 440 ลบ.ม. ต่อวินาที จากนั้นจะใช้พื้นที่ลุ่มต่ำต่างๆ รับน้ำเข้าไปเก็บไว้ในทุ่ง เพื่อลดยอดปริมาณน้ำที่จะไหลผ่านลงสู่พื้นที่ตอนล่าง

นอกจากนี้ กรมชลประทาน ยังได้บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ประสบกับปัญหาน้ำท่วมโดยการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เพื่อเร่งระบายน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำต่างๆ อาทิ บริเวณริมคลองชัยนาท – ป่าสัก ในเขต อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี 2 เครื่อง บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในเขต อ.เมือง จ.อ่างทอง 1 เครื่อง บริเวณ อ.เมือง จ.สิงห์บุรี 20 เครื่อง พร้อมกับปิดท่อลอดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่ให้น้ำไหลย้อนเข้าไปส่งผลกระทบ และยังได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยในเขตอ.เมือง จ.อุทัยธานี อีก 5 เครื่องด้วย

ในส่วนของการรับน้ำเข้าทุ่งพื้นที่ลุ่มต่ำตอนล่างจนถึงปัจจุบัน (9 ต.ค. 60) สรุปได้ดังนี้ พื้นที่ฝั่งตะวันออก รับน้ำเข้าไปแล้วรวมทั้งสิ้น 365 ล้านลบ.ม. จากปริมาณน้ำที่รับได้สูงสุด 437 ล้านลบ.ม. และพื้นที่ฝั่งตะวันตก รับน้ำเข้าไปแล้วรวมทั้งสิ้น 484.66 ล้านลบ.ม. จากปริมาณน้ำที่รับได้สูงสุด 1,077 ล้านลบ.ม. รวมทั้งสองฝั่งรับน้ำไปแล้วทั้งสิ้น 849.66 ล้านลบ.ม. จากความจุเก็บกักสูงสุดที่รับได้รวมกันประมาณ 1,500 ล้านลบ.ม.

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 9 ตุลาคม 2560

ใช้หุ่นยนต์แทนแรงงานมากขึ้น ธปท.ห่วงเร่งศึกษาผลกระทบ!

นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า สายนโยบายการเงิน ธปท. อยู่ระหว่างศึกษาผลกระทบของการใช้เครื่องจักรกลและปัญญาประดิษฐ์ทดแทนแรงงาน โดยเฉพาะผลกระทบของแรงงานที่มีรายได้น้อยและมีทักษะไม่สูง เนื่องจากการศึกษาล่าสุดของ ธปท. เรื่อง “เศรษฐกิจกระจายตัวมากขึ้นหรือไม่ ในมุมมองของตลาดแรงงาน” พบว่า ลูกจ้างนอกภาคเกษตรกลุ่มรายได้ปานกลางหรือรายได้ตั้งแต่ 10,000-30,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป ซึ่งเป็นแรงงานที่มีทักษะ ยังมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นและมีโอกาสหางานใหม่ได้ ขณะที่ลูกจ้างกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 10,000บาท ต่อเดือน และสูงกว่า 30,000 บาทต่อเดือน การจ้างงานยังลดลง โดยเฉพาะแรงงานที่มีรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือน ซึ่งเป็นกลุ่มแรงงานที่มีมากถึง 50% ของแรงงานนอกภาคเกษตรทั้งหมด มีโอกาสที่จะหางานใหม่ได้น้อยลง เนื่องจากผลของการนำเครื่องจักรกลและหุ่นยนต์มาทดแทนแรงงานมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะสามารถเพิ่มศักยภาพการผลิตได้ดีกว่าแรงงานและต้นทุนการผลิตลดลง “ธปท.จะประเมินทิศทางการเปลี่ยนแปลงของแรงงาน หลังมีการใช้เครื่องจักรกลทดแทนแรงงานคนมากขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อเนื่องถึงรายได้และการใช้จ่ายของคนไทยในอนาคต รวมทั้งโอกาสในการปรับตัวของแรงงานว่าทำอย่างไรจะมีโอกาสเพิ่มขึ้น เช่น ปรับทักษะการทำงานให้ดีขึ้น กลายเป็นคนคุมเครื่องจักรแทน รวมทั้งต้องพัฒนาทักษะทางภาษาของแรงงานไทยเพิ่มขึ้นด้วย”.

จาก https://www.thairath.co.th   วันที่ 9 ตุลาคม 2560

กรมโรงงานฯ ดีเดย์ 25 ต.ค.นี้ เปิดให้เอกชนจดทะเบียนเครื่องจักรแทนเจ้าหน้าที่

นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมโรงงานฯ ได้เพิ่มมาตรการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการที่จะยื่นขอจดทะเบียนกรรมสิทธิเครื่องจักร โดยเพิ่มช่องทางเลือกใหม่สำหรับผู้ประกอบการที่ยังไม่ได้จดทะเบียนกรรมสิทธิเครื่องจักร กำหนดให้บุคคลหรือนิติบุคคลเป็นผู้ตรวจสอบเครื่องจักรเอกชน เข้ามาช่วยตรวจสอบเครื่องจักรแทนพนักงานเจ้าหน้าที่โดยต้องได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ตรวจสอบเครื่องจักรเอกชน เพื่อช่วยให้ประหยัดเวลาและมีความสามารถในการให้บริการจดทะเบียนเพิ่มมากขึ้น ตั้งเป้า 1,800 ฉบับต่อปี จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2560 เป็นต้นไป เบื้องต้นคาดว่ามีเอกชนเปิดให้บริการตรวจสอบเครื่อง 20 ราย

นอกจากนี้ กรมโรงงานฯ ยังได้จัดทำระบบการจดทะเบียนกรรมสิทธิเครื่องจักรออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์ www.diw.go.th ช่วยลดระยะเวลาการจดทะเบียนฯ จากเดิม 30 วัน เป็นไม่เกิน 15 วัน และผู้ประกอบการไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง อีกทั้งช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้อีกด้วย

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 8 ตุลาคม 2560

เกษตรรอต่ออายุพาราควอต สบช่องรออุตฯโยน สธ.ชี้ขาด

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2560 ที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ครั้งที่ 4/2560 ซึ่งมีหน่วยงาน 5 กระทรวงหลักเข้าร่วม ที่ประชุมมีมติให้ยกเลิกการใช้สารเคมี 2 ชนิด คือ พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส ซึ่งถูกกำหนดเป็นวัตถุอันตรายชนิด 4 ที่ไม่อนุญาตให้มีการใช้ โดยระหว่างนี้จะไม่อนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียนเพิ่ม ไม่ต่ออายุทะเบียน (โดยปกติจะต่อ 6ปี/ครั้ง) และต้องยุติการนำเข้าภายในวันที่ 1 ธ.ค. 2560 และยุติการใช้สารเคมีทั้ง 2 ตัว ในวันที่ 1 ธ.ค. 2562 เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการและเกษตรกร มีเวลาเตรียมตัว โดยระบุว่า พาราควอตจัดเป็นยาพิษที่มีความรุนแรง ไม่สามารถหายาถอนพิษได้ ที่ผ่านมา 47 ประเทศทั่วโลกยกเลิกการใช้แล้ว ทั้งนี้ ที่ผ่านมาพบว่ามีการนำเข้าพาราควอตมากถึง 128 บริษัท และคลอร์ไพริฟอสถึง 81 บริษัท

เมื่อวันที่ 13 ก.ย. นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้เปิดแถลงข่าวว่า กรมยืนยันจากการตรวจสอบตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ สารเคมีทั้ง 3 ตัว คือ พาราควอตคลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต เกษตรกรยังสามารถใช้ได้ หากใช้ภายใต้การควบคุมตามปริมาณและวิธีตามฉลากกำหนดการใช้วัตถุอันตรายควบคุมการโฆษณา ภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) หลังจากนี้ กรมจะนำเสนอข้อมูลจากการตรวจสอบ 5 ด้าน ได้แก่ 1.การทบทวนค่าพิษวิทยา 2.การห้ามใช้ในประเทศต่าง ๆ ด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ 3.การปฏิบัติภายใต้อนุสัญญาประชาคมโลก 4 ข้อ 4.ผลการรับฟังความเห็น และ 5.ผลกระทบสุขภาพอนามัย ส่งให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน และกรมโรงงานอุตสาหกรรมเป็นเลขานุการพิจารณา ทั้งนี้ ข้อมูลวิชาการและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยังไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน จึงเป็นเหตุผลที่ยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะยกเลิกหรือไม่ ดังนั้น กรมจำเป็นต้องพิจารณา “ชะลอ” การต่ออายุขึ้นทะเบียนพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส ที่กำลังจะหมดอายุในต้นเดือนตุลาคมนี้

ล่าสุดนายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงาน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ยังรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสารเคมี 2 ตัวยังกล่าวไม่เสร็จ จึงต้องเลื่อนการประชุมของคณะกรรมการวัตถุอันตรายออกไป แต่จะต้องประชุมหารือและสรุปให้ได้ภายในเดือนตุลาคมนี้อย่างแน่นอน จากนั้นจึงจะเสนอคณะกรรมการชุดใหญ่ที่มีกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมอยู่ด้วย เพื่อพิจารณาว่าควรยกเลิกสารพาราควอตหรือไม่ แต่หากยังจำเป็นต่อผู้ใช้และจะไม่ยกเลิกการใช้ จะทำอย่างไรให้ถูกวิธีเนื่องด้วยเป็นสารเคมีอันตราย

นายอุทัย นพคุณวงศ์ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า สารเคมีพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมวิชาการเกษตรไว้จะหมดอายุในเดือนตุลาคมนี้ หากยังไม่มีการประกาศห้าม (แบน) อย่างเป็นทางการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และคณะกรรมการวัตถุอันตราย ทางกรมวิชาการเกษตรจะต้องดำเนินการตามระเบียบที่เคยเป็น แต่ในขณะนี้กรมวิชาการเกษตรไม่รับขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายชนิดใหม่เพิ่มเติม แต่ถ้าเป็นวัตถุอันตรายที่เคยขอขึ้นทะเบียนก่อนหน้านี้แล้วจะพิจารณาให้ตามขั้นตอน

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 8 ตุลาคม 2560

เจรจา RCEP จบไม่ลง 4 ปี เปิดเสรีสินค้า-บริการไร้ข้อสรุป

ในปี 2013 (2556) ประเทศสมาชิกอาเซียนและคู่เจรจา 6 ประเทศ (ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์) ได้ออก “ปฏิญญาร่วมว่าด้วยการประกาศการเริ่มเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจในภูมิภาค (RCEP)” และตั้งเป้าหมายร่วมกันว่าจะเจรจาให้แล้วเสร็จในปี 2558 แต่ก็ต้องเลื่อนมาเป็นปี 2560 และมีสัญญาณว่าจะเลื่อนอีก 1 ปี

ด้วยเหตุ RCEP เป็นความตกลงในลักษณะ comprehensive agreement หมายถึงเจรจาพร้อมกันหมดทั้งสินค้า บริการ และการลงทุน ถือเป็น “การเปิดเสรีทั้งกว้างและลึก” ครอบคลุมทั้ง 16 ประเทศ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะระดับความสัมพันธ์ในการเปิดเสรีของบรรดาสมาชิกแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน เช่น อาเซียน มีการเจรจาแบบ ASEAN+1 กับทั้ง 6 ประเทศ แต่ระหว่างคู่ 6 ประเทศนั้นไม่เคยทำเอฟทีเอกันมาก่อน

จะเห็นว่าในการประชุมระดับหัวหน้าคณะทำงาน RCEP ครั้งที่ 19 เมื่อวันที่ 23-28 กรกฎาคมที่ผ่านมายังไม่สรุป เกี่ยวกับ “ข้อเสนอการเปิดตลาดสินค้า และรูปแบบข้อสงวนในการเปิดเสรีบริการ” ซึ่งเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของ RCEP ทั้งฉบับที่มี 11 ประเด็น ดังนั้นจึงเหลือการประชุมระดับหัวหน้าคณะทำงานระหว่างวันที่ 23-28 ตุลาคมนี้ ที่ประเทศเกาหลี อีกเพียงรอบเดียวก่อนที่จะสรุปเสนอที่ประชุมระดับสุดยอดผู้นำอาเซียน (ASEAN Summit) ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ในวันที่ 10-14 พฤศจิกายนนี้ แต่โอกาสที่จะ “ปิดการเจรจาทั้งฉบับ” ให้ทันภายในปีนี้แทบเป็นไปไม่ได้เลย

อย่างไรก็ตาม หาก 16 ประเทศ “ยอมลดระดับมาตรฐาน” เพียงเพื่อให้การเจรจา RCEP บรรลุเป้าหมายตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด อาจทำให้ความตกลง RCEP ไม่ได้ประโยชน์ ดูด้อยกว่าความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) จึงทำให้สมาชิก 16 ประเทศอยู่ในภาวะกระอักกระอ่วนว่าจะผลักดันให้ RCEP จบ หรือจะให้ RCEP เป็นความตกลงที่มีมาตรฐานสูง

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เป้าหมายของผู้นำอาเซียนยังคงต้องการเดินหน้าผลักดันให้ RCEP เกิดขึ้น เบื้องต้นเป้าหมายต้องการลดภาษี 0% ในสินค้า 92% ของรายการสินค้าที่ค้าขายระหว่างกันภายใน 15 ปี แต่ปัจจุบันประเทศคู่เจรจายังไม่สามารถปรับลดภาษีในสินค้า 92% ได้ ปรับลดได้เพียง 90% เท่านั้น เนื่องจากยังมีประเทศคู่เจรจาที่ไม่มีข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ร่วมกัน เช่น ญี่ปุ่น จีน อินเดีย เป็นต้น

“ส่วนตัว เชื่อว่าจะเห็นความชัดเจนของกรอบเจรจาดังกล่าวได้อย่างแน่นอน ในการประชุม ASEAN Summit โดยสมาชิกจะพยายามหาข้อยุติร่วมกันเรื่องการลดภาษีสินค้าก่อน ส่วนการค้าบริการอาจต้องหารือกันให้ชัดเจนอีกครั้ง”

นายอรินทร์ จิรา รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน ประเทศไทย กล่าวว่า เอกชนมองว่าการเจรจา RCEP มีความสำคัญ แต่ยังติดขัดในส่วนของบางประเทศที่ยังไม่ได้ข้อสรุป ซึ่งสมาชิกพยายามจะผลักดันให้การเจรจานี้บรรลุเป้าหมายให้ได้ในปี 2561 แต่ไม่ได้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากนัก เพราะได้มีการประเมินสถานการณ์ไว้ก่อนหน้านี้แล้ว

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 8 ตุลาคม 2560

ยันแก้กม.คุ้มครองพันธุ์พืชฯ เกษตรกรไทยได้ประโยชน์

กรมวิชาการเกษตร แจงแก้ พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชฯ เกษตรกรไทย-ชุมชน ได้ประโยชน์เต็มๆ สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เองได้ พร้อมยังคุ้มครองสิทธิ นักปรับปรุงพันธุ์พืช เหตุ กม.ฉบับเก่าไม่ครอบคลุมในหลายประเด็น ปัดเอื้อประโยชน์ให้บรรษัทข้ามชาติ ปิดทางผูกขาดพันธุ์พืชแน่นอน

นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวถึง กระแสข่าวการปรับปรุง พ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นการเอื้อประโยชน์ให้บรรษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติ และเพิ่มการผูกขาดพันธุ์พืช ว่า เนื้อหาของ พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชฯฉบับเดิมนั้น ว่าด้วยเรื่องการคุ้มครองพันธุ์พืช 3 ระบบ ประกอบด้วย ระบบการจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ ซึ่งเป็นการคุ้มครองเชิงทรัพย์สินทางปัญญา ให้สิทธิกับนักปรับปรุงพันธุ์พืช ระบบการจดทะเบียนพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น ให้สิทธิความเป็นเจ้าของกับชุมชน และ ระบบการแจ้งและอนุญาตให้ใช้พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป และพันธุ์พืชป่า เพื่อการศึกษา ทดลอง วิจัย และปรับปรุงพันธุ์ ซึ่งเป็นการคุ้มครองเชิงอนุรักษ์ รวมถึงการบริหารจัดการกองทุนคุ้มครองพันธุ์พืช ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พันธุ์พืชอย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม เมื่อบังคับใช้กฎหมายมาระยะหนึ่ง พบว่า มีข้อติดขัดทั้งในด้านกระบวนการปฏิบัติงาน และการบังคับใช้กฎหมาย และยังขาดสาระสำคัญบางประการ ทำให้ไม่สามารถให้ความคุ้มครองสิทธินักปรับปรุงพันธุ์พืชได้อย่างเพียงพอ มีข้อจำกัดในเรื่องโอกาสการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์พืชใหม่ๆ อีกทั้งไม่ส่งเสริมสนับสนุนให้ชุมชนได้อนุรักษ์พัฒนาและใช้ประโยชน์พันธุ์พืชของชุมชน รวมถึงเป็นอุปสรรคต่อการวิจัย และพัฒนาที่ใช้พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไปและพันธุ์พืชป่า ส่งผลให้ไม่ส่งเสริมศักยภาพด้านการแข่งขันการลงทุนและการวิจัยและพัฒนาเท่าที่ควร จึงเห็นสมควรปรับปรุงแก้ไข บทบัญญัติ โดยคงไว้ซึ่งเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ฉบับเดิม ทุกประการ

การปรับแก้ไขครั้งนี้ จะส่งผลดีต่อทุกภาคส่วน ในหลายประเด็น กล่าวคือ 1. เกษตรกรผู้ค้า หรือผู้ปลูก มีทางเลือกมากขึ้นในการเลือกชนิดพืชและพันธุ์พืชใหม่ๆ ที่เหมาะสมใช้เพาะปลูกตามความต้องการ 2. นักปรับปรุงพันธุ์พืชไทย มีแรงจูงใจในการลงทุนวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืชใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง 3. ผู้บริโภคและอุตสาหกรรมแปรรูป มีทางเลือกที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น และ 4. การลงทุนด้านเมล็ดพันธุ์พืช มีการขยายการลงทุน ทั้งเพื่อใช้ในประเทศและส่งออก ทั้งนี้การดำเนินการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับนี้ ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 53 ได้มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสีย ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้ข้อสรุปว่า จะมีการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม 40 มาตรา ทั้งหมดที่มี 69 มาตรา ตลอดจนการรับฟังความเห็นของเกษตรกรรายย่อย ส่วนใหญ่กังวลว่า จะไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกเองได้ดังเช่นที่เคยปฏิบัติมา ราคาเมล็ดพันธุ์ที่อาจจะสูงขึ้น และการกระทำผิดโดยไม่รู้ ซึ่งต่อมากรมวิชาการเกษตร ก็ได้มีการจัดอบรมให้ความรู้สร้างความเข้าใจอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกษตรกรมีความเข้าใจ และไม่คัดค้านการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายดังกล่าว

"ตอนนี้ในเว็บไซต์ของกรมวิชาการเกษตร ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชฯ ฉบับแก้ไข ตั้งแต่เมื่อวันที่ 5 ต.ค.ที่ผ่านมา และจะปิดการรับฟังในวันที่ 20 ต.ค.นี้ ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนการเสนอกฎหมายของหน่วยงาน ซึ่งจะต้องให้กระทรวงพิจารณาเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) และหาก ครม. เห็นชอบ ก็จะส่งร่างฯ ไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาก่อนเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในขั้นตอนสุดท้าย" นายสุวิทย์ ระบุ

จาก https://mgronline.com  วันที่ 8 ตุลาคม 2560

สสนก.เปิดข้อมูล 16 เขื่อนใหญ่วิกฤตน้ำมาก

เว็บไซต์สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) เปิดเผยข้อมูลเขื่อนขนาดใหญ่ที่มีน้ำมากวิกฤต เช่น เขื่อนน้ำอูน มีน้ำเต็ม 105.64 เปอร์เซ็นต์ เขื่อนน้ำพุง 100.87 เปอร์เซ็นต์ เขื่อนแควน้อย 100.33 เปอร์เซ็นต์ เขื่อนกิ่วคอหมา 100.17 เปอร์เซ็นต์ เขื่อนหนองปลาไหล 97.46 เปอร์เซ็นต์ เขื่อนจุฬาภรณ์ 94.8 เปอร์เซ็นต์ เขื่อนบางพระ 94.72 เปอร์เซ็นต์ เขื่อนประแสร์ 94.64 เปอร์เซ็นต์ เขื่อนอุบลรัตน์ 92.87 เปอร์เซ็นต์ เขื่อนห้วยหลวง 92.86 เปอร์เซ็นต์ เขื่อนกระเสียว 92.5 เปอร์เซ็นต์ เขื่อนทับเสลา 89.06 เปอร์เซ็นต์ เขื่อนป่าสักฯ 88.15 เปอร์เซ็นต์ เขื่อนลำปาว 87.13 เปอร์เซ็นต์ เขื่อนกิ่วลม 86.97 เปอร์เซ็นต์ เขื่อนขุนด่านปราการชล 85.29 เปอร์เซ็นต์ ส่วนเขื่อนปิดการระบายน้ำ เช่น เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ ทับเสลา คลองสียัด สิริธร ลำน้ำรอง ลำตะคอง นฤบดินทรจินดา โดยเขื่อนแควน้อยฯ ยังระบาย วันละ 14 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนป่าสักฯ 25 ล้านลูกบาศก์เมตร สำหรับสถานการณ์น้ำมากในลุ่มน้ำต่างๆ อยู่ในระดับเตือนภัยวิกฤต เช่น แม่น้ำแควน้อย-น่าน แม่น้ำห้วงหลวง-โขง แม่น้ำเลย-โขง แม่น้ำมูล-มูล แม่น้ำลำชี-มูล แม่น้ำป่าสัก-ป่าสัก แม่น้ำเข็ก-น่าน แม่น้ำคลองเมน-ยม แม่น้ำลาว-โขง แม่น้ำชี แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำบางหลวง แม่น้ำบางบาล แม่น้ำลำปลายมาศ แม่น้ำสะแกกรัง แม่น้ำตากแดด-สะแกกรัง แม่น้ำพระปรง-ปราจีน แม่น้ำยม-ยม แม่น้ำป่าสัก-ลพบุรี โดยเตือนภัยปริมาณฝนมากระดับเฝ้าระวังพิเศษ และไม่มีพายุเข้าใกล้ไทยช่วงนี้

จาก https://mgronline.com  วันที่ 8 ตุลาคม 2560

น้ำเหนือไหลสู่เขื่อนเจ้าพระยาต่อเนื่องวัดได้2,390ลูกบาศก์เมตร

ปริมาณน้ำจากภาคเหนือ ยังไหลเข้าสู่เขื่อนเจ้าพระยาต่อเนื่อง ล่าสุดเช้านี้วัดได้ 2,390 ลูกบาศก์เมตร

สถานการณ์น้ำในเขื่อนเจ้าพระยาเมื่อในช่วงเช้าวันนี้ พบว่ามีปริมาณน้ำจากภาคเหนือที่ไหลผ่าน จ.นครสวรรค์ เข้าสู่เขื่อนเจ้าพระยา ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยวัดได้ 2,390 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ขณะที่เขื่อนเจ้าพระยา ต.บางหลวง อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ปรับเพิ่มการระบายน้ำจาก 1,595 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ขึ้นไปเป็น 1,971 ลูกบาศ์เมตรต่อนาที ส่งผลให้น้ำท้ายเขื่อนเพิ่มอีก 1 เมตร ในรอบ 24 ชั่วโมง โดยวัดได้ 14.43 เมตรจากระดับทะเลปานกลาง โดยเฉพาะพื้นที่หมู่ที่ 1 ต.ตลุก อ.สรรพยา ได้รับผลกระทบ น้ำเอ่อล้นขึ้นท่วมบ้านเรือนประชาชนที่อยู่นอกแนวกั้นน้ำ จำนวน 80 หลังคาเรือน

ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ ชาวบ้านได้เตรียมกระสอบทรายจำนวน 3,000 กระสอบ เพื่อรองรับสถานการณ์ พร้อมทั้งยังมีการนำถุงยังชีพลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือบรรเทาทุกข์

จาก http://www.innnews.co.th   วันที่ 8 ตุลาคม 2560

ชี้ผลสำเร็จ‘อีอีซี’ TDRI ต้องพัฒนาทักษะแรงงาน-เทคโนโลยี

ทีดีอาร์ไอเผยผลการศึกษาอีอีซียังมีช่องโหว่ จี้ภาครัฐเร่งพัฒนาบุคลากรและเทคโนโลยีรองรับมองการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงและสร้างเมืองใหม่ เป็นสิ่งท้าทาย และอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นได้มีไม่กี่กลุ่ม

 มีผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือทีดีอาร์ไอ ในหัวข้อ“จากไทยแลนด์ 4.0 สู่อีอีซีข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ”ออกมา ที่ชี้ให้เห็นถึงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี ยังมีอุปสรรคหลายด้านที่รัฐบาลจะต้องเข้ามาแก้ไข และเป็นความท้าทายในการผลักดันการลงทุนและก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานว่าจะบรรลุเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่

 โดยผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลได้เดินนโยบายการพัฒนาอีอีซีมาถูกทาง แต่หากจะให้สำเร็จในการพัฒนาควรจะวัดด้วยความสามารถทางเทคโนโลยีของประเทศ และทักษะของแรงงานที่เพิ่มขึ้น พร้อมชี้ให้เห็นถึงโอกาสของ 10 กลุ่มอุตสาหกรรม ที่จะเกิดขึ้นในอีอีซีได้

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า การพัฒนาอีอีซีเป็นนโยบายที่เดินมาถูกทางทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการอำนวยความสะดวกในการลงทุน และการให้สิทธิประโยชน์เพื่อดึงดูดใน10อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่าการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นเมืองการบินภาคตะวันออก รถไฟรางคู่และมอเตอร์เวย์พัทยา-มาบตาพุด ระยะทาง 32 กิโลเมตร น่าจะได้รับการพัฒนาตามแผนที่วางไว้

 ส่วนรถไฟความเร็วสูงและการก่อสร้างเมืองใหม่ รวมถึงการดึงมหาวิทยาลัยระดับโลกเข้ามาตั้ง เป็นสิ่งท้าทายว่ารัฐบาลจะผลักดันได้แค่ไหนเนื่องจากเป็นโครงการใหม่ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้น โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยอง ที่เชื่อมทั้ง 3 สนามบิน นักธุรกิจที่จะเข้ามาลงทุนในอีอีซีให้ความสนใจกับโครงการนี้มากแต่ผลการศึกษาระบุว่า เป็นโครงการที่เกิดขึ้นได้ยากเนื่องจากเป็นโครงการที่เข้าตามกระบวนการในการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน(พีพีพี) ซึ่งเอกชนต้องรับความเสี่ยงเองทั้งหมด ทำให้นักลงทุนเกิดความลังเลและหาผู้ลงทุนได้ยาก เนื่องจากใช้เงินลงทุนที่สูงและต้องใช้ระยะเวลานานในการคืนทุน

 ขณะที่การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ที่อยู่ระหว่างการจัดทำรายงานศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) ซึ่งจะต้องทำการถมทะเล และอยู่ระหว่างเตรียมการจัดทำโครงการตามกระบวนการในการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน(พีพีพี) เป็นสิ่งที่ท้าทายว่ารัฐบาลจะผลักดันได้หรือไม่ เนื่องจากได้รับการต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่จากการถมทะเลอยู่เช่นเดียวกับการก่อสร้างท่าเรือมาบตาพุดระยะ 3 ที่ต้องทำการถมทะเล เช่นเดียวกัน ยังคัดค้านอยู่ แม้ว่ารายงานอีไอเอจะผ่านความเห็นชอบไปแล้วก็ตาม รวมถึงการพัฒนาท่าเรือสัตหีบ ที่อาจมีความล่าช้าเนื่องจากกองทัพเรือขาดความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการท่าเรือพาณิชย์

นอกจากนี้ในส่วนของการดึงดูดนักลงทุนใน10กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายเห็นว่า อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพและเกิดการลงทุนจริงได้ จะอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายเดิม เช่น อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ยานยนต์และชิ้นส่วนและบริการสุขภาพ ส่วนอุตสาหกรรมใหม่ที่เกิดได้จะอยู่ในส่วนของการซ่อมบำรุงเครื่องบิน(เอ็มอาร์โอ)โลจิสติกส์และระบบอัตโนมัติที่จะเข้ามาใช้ในโรงงานหรือคลังสินค้า

ที่สำคัญความสำเร็จของอีอีซี จะเกิดขึ้นได้จะต้องมีการวัดโดยความสามารถทางเทคโนโลยีและทักษะของแรงงานที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งการจะดึงดูดนักลงทุนเข้ามาจะต้องมีการออกแบบแพ็กเกจจูงใจรายสาขาแบบครบวงจร ไม่เพียงสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนเท่านั้น แต่จะต้องมีการสนับสนุนการวิจัย และการพัฒนาทักษะแรงงานและการแก้ไขกฎระเบียบรวมถึงการให้สถาบันการศึกษา และสถาบันวิจัยของรัฐเข้าร่วมด้วย เป็นต้น

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 7 ตุลาคม 2560

คาดเงินบาทสัปดาห์หน้าแกว่ง33.30-33.60บาท/ดอลลาร์

ธนาคารกสิกรไทย ประเมินค่าเงินบาทสัปดาห์หน้าเคลื่อนไหวในกรอบ 33.30-33.60 บาท/ดอลลาร์

 ธนาคารกสิกรไทย ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทระหว่างวันที่ 9 - 12 ตุลาคม ว่า อยู่ที่ 33.30-33.60 บาทต่อดอลลาร์ โดยอาจต้องจับตาการปรับตัวของตลาดเงินตลาดทุนในช่วงต้นสัปดาห์ที่ตอบรับสัญญาณจากตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ขณะที่ จุดสนใจในระหว่างสัปดาห์น่าจะอยู่ที่ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด และตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญในระหว่างสัปดาห์ ได้แก่ ยอดค้าปลีก ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนกันยายน สต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเดือนสิงหาคมและดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเบื้องต้นสำหรับเดือนตุลาคม

นอกจากนี้ ตลาดอาจรอติดตามรายงานการประชุมเฟด (ประชุมเมื่อวันที่ 19-20 ก.ย.) และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารกลางยุโรปด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม เงินบาทอ่อนค่ากว่าระดับ 33.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทเผชิญแรงขายเกือบตลอดสัปดาห์เช่นเดียวกับสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชีย เนื่องจากเงินดอลลาร์ฯ ได้รับแรงหนุนจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าที่คาด อาทิ ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคบริการ ตลอดจนข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชน ประกอบกับเจ้าหน้าที่เฟดยังคงส่งสัญญาณถึงความเป็นไปได้ที่จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งในปีนี้ ทั้งนี้ กระแสข่าวที่ระบุว่านายเจอโรม พาวเวล ซึ่งมีแนวคิดแบบสายพิราบ หรือ Dovish อาจเป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกเสนอชื่อให้เป็นประธานเฟดคนใหม่หลังนางเยลเลนหมดวาระลงนั้น กดดันเงินดอลลาร์ฯ ให้อ่อนค่าลงช่วงสั้นๆ กลางสัปดาห์ ก่อนที่เงินดอลลาร์ฯ จะฟื้นขึ้นอีกครั้งก่อนการรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 7 ตุลาคม 2560

กรมชลฯ วางแผนบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำน่านลดผลกระทบพื้นที่ตอนล่าง

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ในพื้นที่ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก พื้นที่การเกษตรในที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ ไม่ได้รับผลกระทบหรือเสียหายจากปัญหาน้ำท่วม เนื่องจากได้เก็บเกี่ยวผลผลิตไปหมดแล้วก่อนหน้านี้ ซึ่งกรมชลประทานได้ผันน้ำจากแม่น้ำยมที่ไหลมาจาก จ.สุโขทัย เข้าไปเก็บไว้ทุ่งแล้ว คิดเป็นพื้นที่กว่า 220,000 ไร่ ปริมาณน้ำที่เก็บไว้ในคลองและในทุ่งมากกว่า 350 ล้านลูกบาศก์เมตร ยังสามารถควบคุมสถานการณ์ได้

สำหรับพื้นที่ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำเอ่อล้นตลิ่ง กรมชลประทานได้ร่วมกับฝ่ายปกครอง และฝ่ายทหาร ดำเนินการเข้าไปช่วยเหลือ โดยการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ และใช้รถขุดเอาวัชพืชออก พร้อมกับเสริมคันดิน และเสริมกระสอบทราย เพี่อป้องกันน้ำเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรในพื้นที่แล้ว ส่วนแม่น้ำน่าน ในพื้นที่ อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร ปัจจุบันระดับน้ำอยู่ต่ำกว่าตลิ่ง 7 - 10 เซนติเมตร โครงการชลประทานพิจิตร ได้รายงานสถานการณ์น้ำไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่พื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำน่านให้เตรียมรับสถานการณ์น้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ หากเกิดฝนตกลงมาเพิ่ม โดยจัดเตรียมเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ 4 เครื่อง พร้อมกระสอบทรายและเครื่องจักรกล ไว้รองรับสถานการณ์แล้ว

นอกจากนี้ หากปริมาณน้ำที่ผันมาจาก จ.สุโขทัย เคลื่อนมาถึงบริเวณ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ เริ่มมีผลกระทบกับพื้นที่ จะลดระดับน้ำเหนือเขื่อนนเรศวรลงตามลำดับ ขณะเดียวกัน เพื่อลดผลกระทบในพื้นที่ตอนล่าง จะคงการระบายของเขื่อนแควน้อยบำรุงแดนไว้ในอัตราต่ำสุด พร้อมกับประสานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ให้หยุดการระบายน้ำจากเขื่อนสิริกิต์เป็นการชั่วคราวไว้ก่อนตั้งแต่วานนี้ (6 ต.ค.) เป็นต้นมา

จาก https://mgronline.com  วันที่ 7 ตุลาคม 2560

ไทยเบอร์หนึ่ง พลังงานทดแทนอาเซียน

โดย ปิยนุช ผิวเหลือง

ผลรางวัลอาเซียน เอเนอร์จี อวอร์ด 2017 (ASEAN Energy Awards 2017) ปีล่าสุด ที่จัดขึ้น ณ กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ไทยคว้ารางวัลด้านพลังงาน 19 รางวัล สูงที่สุดในภูมิภาค ครองแชมป์ผู้นำด้านพลังงานทดแทนในอาเซียน

พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน ในฐานะเจ้ากระทรวง ที่นำคณะไปครั้งนี้ บอกว่า อาเซียน เอเนอร์จี อวอร์ด 2017 เป็นเวทีการประกวดด้านพลังงานสำหรับภาครัฐและเอกชนในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งปีนี้ไทยคว้าไปทั้งหมด 19 รางวัล แบ่งเป็นรางวัลด้านพลังงานทดแทน 9 ผลงาน รางวัลด้านการบริหารจัดการพลังงานดีเด่น 6 ผลงาน รางวัลด้านอาคารอนุรักษ์พลังงานดีเด่น 3 ผลงาน และรางวัลด้านอาคารเขียวดีเด่น 1 ผลงาน ขณะเดียวกันไทยได้รับรางวัล อาเซียน โคล อวอ์ด 2017 (ASEAN Coal Awards 2017) อีก 6 รางวัล

ขณะที่อินโดนีเซียครองอันดับ 2 โดยคว้าไปได้ 8 รางวัล ตามด้วยสิงคโปร์ 7 รางวัล มาเลเซีย 5 รางวัล ฟิลิปปินส์เจ้าภาพปีนี้คว้าไป 4 รางวัล และเมียนมา 1 รางวัล

พล.อ.อนันตพร บอกถึงเบื้องหลังความสำเร็จในครั้งนี้ว่า ส่วนหนึ่งมาจากการที่ไทยมีกระบวนการคัดเลือกตัวแทนประกวดรางวัลอาเซียน เอเนอร์จี อวอร์ด ผ่านเวทีไทยแลนด์ เอเนอร์จี อวอร์ด โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เป็น ผู้ดำเนินการ ซึ่งเหมือนเป็นเวทีเตรียมความพร้อมให้ โดยปีนี้มีผู้ส่งผลงานเข้าประกวด 262 ราย มีผู้ได้รับการคัดเลือกชนะการประกวด 66 ราย จากโครงการต่างๆ เป็นผลให้ผู้ประกอบการสามารถประหยัดพลังงานได้มากกว่า 420 ล้านบาท/ปี ลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้กว่า 2.9 แสนตัน/ปี

ทั้งนี้ งานอาเซียน เอเนอร์จี อวอร์ด จะจัดขึ้นควบคู่กับการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน (ASEAN Ministers on Energy Meetings - AMEM) ซึ่งมักจัดการประชุมหารือใน ช่วงเช้า และประกาศผลรางวัลอาเซียน เอเนอร์จี อวอร์ด ในช่วงค่ำ โดยการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน ครั้งที่ 36 ในปี 2561 จะส่งไม้ต่อให้สิงคโปร์เป็นเจ้าภาพ

"การประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียนครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญของไทย ในแผนปฏิบัติการพลังงานอาเซียนที่ขณะนี้ประเทศไทยถือเป็นผู้นำในด้านการพัฒนาพลังงานทดแทนในอาเซียน มุ่งสู่การส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้วางยุทธศาสตร์การพัฒนาพลังงานระยะ 20 ปี (ปี 2558-2579 ) โดยเฉพาะแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2558-2579 (EEP 2015) และแผนพัฒนาพลังงาน ทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP 2015) ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่ง ในการตอบโจทย์นโยบายพลังงาน 4.0" พล.อ.อนันตพร กล่าว

สำหรับแผนพัฒนาพลังงานของไทย มีเป้าหมาย 4 ด้าน ได้แก่ 1.ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตามข้อผูกพันของการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติ 2.ลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิล 3.สร้างกลไกการแข่งขันไปสู่เสรีเพื่อราคาเป็นธรรม และ 4.การพัฒนาพลังงานชุมชนเพื่อสร้างรายได้แก่ชุมชน นอกจากนี้เวทีการประชุมรัฐมนตรีอาเซียน ยังกล่าวถึงเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนให้ได้ 23% ภายในปี 2568 จากปัจจุบันอยู่ที่ 14%

ด้าน สุธี ผู้เจริญชนะชัย รอง ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็ก ทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) บอกว่า NECTEC ได้ รับรางวัลชนะเลิศอาคารสร้างสรรค์ เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน : อาคารปรับปรุง ซึ่งภายหลังปรับปรุงอาคารเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน สามารถลดการใช้พลังงานได้ 39.69%

จาก https://www.posttoday.com   วันที่ 7 ตุลาคม 2560

แนะเกษตรกรยุค4.0 ใช้"โดรน"ลดต้นทุน-ทุ่นแรง

 ศูนย์วิจัยกสิกรฯชวนเกษตรกรไทยรายเล็กรวมกลุ่มทำนาแปลงใหญ่ ใช้โดรนเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โชว์ตัวเลขปี 60 ลดต้นทุน 1,100 ล้านบาท                 

รายงานข่าวจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยแจ้งว่า  โดรนเพื่อการเกษตรเป็นทางเลือกที่น่าสนใจในฐานะเครื่องมือทางการเกษตรมีความแม่นยำสูง ซึ่งกำลังมาแรงในยุคเกษตร 4.0 ที่เน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ลดต้นทุนการผลิตประหยัดเวลา และประหยัดการใช้แรงงานคนท่ามกลางภาวะที่แรงงานภาคเกษตรมีแนวโน้มปรับตัวลดลง และควบคุมคุณภาพการผลิตของสินค้าเกษตรได้อย่างแม่นยำ

ทั้งนี้ หากไทยนำเทคโนโลยีโดรนเข้ามาประยุกต์ใช้ตามนโยบายนาแปลงใหญ่ของภาครัฐในปี 60 จะทำให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิตได้รวม 1,100 ล้านบาท และคาดว่าจะสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ 6,000 ล้านบาทในอีก 4 ปีข้างหน้า ภายใต้สมมติฐานของพื้นที่เป้าหมายนาแปลงใหญ่ที่ 1,512 แปลงในปี 60 และ 7,000 แปลงในปี 64 

"แม้ปัจจุบันการใช้โดรนเพื่อการเกษตรในประเทศไทยจะยังไม่เป็นที่แพร่หลายนัก แต่คาดว่าในอนาคตจะถูกลง เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตโดรนมีการแข่งขันกันหลายบริษัท  ประกอบกับความนิยมใช้ โดรนของเกษตรกร ผู้ประ กอบการที่มีมากขึ้น เพื่อใช้เป็นเครื่องทุ่นแรง รวมทั้งเทรนด์ของสินค้าพวกเทคโนโลยีที่จะปรับลดราคาลดลงอย่างรวดเร็วตามเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น ซึ่งประเมินว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าหรือปี 65 ราคาโดรนเพื่อการเกษตรอาจลดลง 20-25% ต่อปี อยู่ที่ 67,000-106,000 บาท จากราคาเปิดตัวในปี 58 ที่ 300,000-500,000 บาท"

อย่างไรก็ตาม ในปี 63 มูลค่าตลาดโดรนเชิงพาณิชย์ของโลกอาจอยู่ที่ 127,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 4.4 ล้านล้านบาท โดยโดรนเพื่อการเกษตรคาดว่าจะมีมูลค่าตลาดโดรนสูงเป็นอันดับ 2 ที่ 32,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากในประเทศที่การเกษตรมีความก้าวหน้าสูง โดรนจะมีราคาถูก เพื่อนำไปใช้ในการสำรวจพื้นที่ทางการเกษตรขนาดใหญ่ รวมถึงวิเคราะห์ดิน การปลูกเมล็ดพันธุ์ และคาดการณ์เวลาในการเก็บเกี่ยวได้อย่างแม่นยำด้วย ความสามารถในการสร้างแผนที่ในรูปแบบสามมิติ ทำให้ผู้ประกอบการสามารถวิเคราะห์และวางแผนในการเพาะปลูกได้ง่ายขึ้น ซึ่งแสดงถึงแนวโน้มที่ดีของความต้องการใช้โดรนเพื่อการเกษตรในอนาคต

"เกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงมีการทำเกษตรแปลงเล็ก ทำให้ไม่สามารถได้รับการสนับสนุน อีกทั้งการลงทุนเทคโนโลยีดังกล่าวสาหรับเกษตรแปลงเล็กก็จะไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ดังนั้นเกษตรกรอาจพิจารณาการรวมกลุ่มกันทันทำเกษตรแปลงใหญ่ตามแนวทางของภาครัฐที่วางไว้ นอกจากนี้ภาครัฐควรสร้างความเข้าใจทางด้านเทคโนโลยี และการมีส่วนร่วมของเกษตรกรมากขึ้น เพื่อให้เกษตรกรยอมรับความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เข้ามา รวมถึงภาครัฐควรพิจารณาความคุ้มค่าในการลงทุนด้านเทคโนโลยีเข้ามาใช้ด้วย".                   

จาก https://www.dailynews.co.th  วันที่ 7 ตุลาคม 2560

อธิบดี สถ. ขับเคลื่อนธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด ช่วยแก้น้ำท่วม-น้ำแล้งยั่งยืน

อธิบดี สถ. ลงพื้นที่ชัยนาท ขับเคลื่อน “โครงการธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด” สนองนโยบายนายกฯ ติวเข้มผู้เข้าอบรมการแก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งได้อย่างเบ็ดเสร็จ ชี้โครงการฯช่วยสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้แผ่นดินไทย และช่วยให้มีน้ำใช้ในฤดูแล้งอย่างยั่งยืน

วันที่ 7 ต.ค. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นประธานเปิดการเรียนรู้ประโยชน์ของระบบโครงการธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด ณ เขาขยาย ตำบลท่าพระ อำเภอเมืองชัยนาท จังหวัดชัยนาท พร้อมสำรวจปักหมุดจุดดำเนินการธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด จำนวน 50 บ่อ เป็นโครงการที่แก้ปัญหาการบริหารจัดการน้ำได้อย่างยั่งยืน ช่วยให้ประชาชนในพื้นที่สามารถนำน้ำขึ้นมาใช้สำหรับการอุปโภคบริโภคและทำการเกษตร ทั้งยังส่งเสริมการประกอบอาชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี โดยมีนายชวพล พันธุมรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท นายคงศักดิ์ สังขมุรินทร์ ท้องถิ่นจังหวัดชัยนาท ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาชน รวมทั้งผู้บริหารของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจากส่วนกลาง และสมาชิกชมรมคนรักษ์เขาขยายกว่า 200 คนร่วมกิจกรรม

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวต่อผู้มาร่วมฝึกอบรมว่า โครงการดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายของท่านนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ได้กล่าวในรายการศาสตร์พระราชาเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2560 ว่าจะให้ทุกจังหวัดดำเนินการบริหารจัดการน้ำด้วยระบบธนาคารน้ำใต้ดิน สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้แผ่นดินไทย โดยการนี้พลเอกอนุพงศ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นตัวแทนของกระทรวงมหาดไทยขับเคลื่อนเรื่องนี้ หลังจากคณะผู้แทนของสถาบันวิจัยนิเทศศาสนคุณได้เข้าพบและอธิบายเรื่องระบบธนาคารน้ำใต้ดิน

 “วันนี้ได้รับความกรุณาจากท่านชาตรี ศรีวิชาฐา นายก อบต.เก่าขาม อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี และท่านชูชีพ สุพบุตร นายกเทศมนตรี ตำบลหนองมะโมง จังหวัดชัยนาท เป็นผู้นำการฝึกอบรม เพื่อจัดสร้างระบบธนาคารน้ำใต้ดินกักเก็บน้ำฝนไว้ในดินเพื่อให้ดินชุ่มชื้นตลอดทั้งปี”

อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่าจากการทดลองทำในหลายพื้นที่พบว่าระบบธนาคารน้ำใต้ดินเมื่อทำแล้วสามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในฤดูฝน และช่วยให้มีน้ำใช้ในฤดูแล้ง เพิ่มพูนความอุดมสมบูรณ์ให้ดินชุ่มชื้นต้นไม้เขียวชะอุ่มทั้งปี รวมทั้งลดความเสียหายด้านโครงสร้างพื้นฐานได้อย่างดีกรณีถนนขวางทางน้ำ ที่สำคัญใช้งบประมาณน้อยมาก แต่ละครัวเรือนสามารถทำได้ได้ตัวเอง ซึ่งกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจะเร่งเผยแพร่และขับเคลื่อนการดำเนินการกับ อปท. ภาคประชาชน และสถาบันวิจัยนิเทศศาสนคุณ ให้สำเร็จครอบคลุมพื้นที่ต่อไป 

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 7 ตุลาคม 2560

“กอน.”ย้ำโรงงาน-ชาวไร่อ้อยไม่ต้องกังวลเคาะราคาอ้อยได้ทันแน่

“กอน.”ออกโรงการันตีชาวไร่อ้อยและ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลอย่างได้กังวลใจถึงแนวทางการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นฤดูผลิตปี60/61 มั่นใจเสร็จทันต.ค.หรือพ.ย.ก่อนเปิดหีบอ้อยสิ้นปีนี้แน่นอน สัปดาห์หน้าเตรียมหารือในรายละเอียด

 นางวรวรรณ ชิตอรุณ รองเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.) กล่าวถึงกรณีที่เกษตรกรชาวไร่อ้อยและผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาล มีความกังวลในหลักการปฏิบัติและการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นว่าอาจจะไม่ทันก่อนการเปิดหีบอ้อย ฤดูกาลผลิต ปี 2560/61 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบนั้นยืนยันว่าจากการหารือกับทุกฝ่ายได้ข้อยุติแล้วในหลักการเบื้องต้นและจะมีการหารือรายละเอียดในทางปฏิบัติสัปดาห์หน้า

“ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) ได้มีการประชุมหารือระหว่างฝ่ายชาวไร่อ้อย โรงงานน้ำตาล และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง มาอย่างต่อเนื่องหลายครั้ง และเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2560 ได้มีการหารือกับผู้แทนชาวไร่อ้อยและผู้แทนโรงงานน้ำตาล จนสามารถหาข้อยุติในหลักการเบื้องต้นได้แล้ว โดยมีแนวทางบริหารราคาน้ำตาลทรายตามกลไกของตลาด และการยกเลิกโควตาน้ำตาลทรายเพื่อให้สอดคล้องต่อหลักเกณฑ์ขององค์การการค้าโลก (WTO)”นางวรวรรณกล่าว

 ทั้งนี้แนวทางทั้งหมด คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน เดือนตุลาคม หรือไม่เกินต้นเดือนพฤศจิกายน 2560 เพื่อให้มีผลบังคับใช้ และพร้อมนำไปดำเนินการก่อนการเปิดหีบอ้อยในฤดูการผลิตปี 2560/2561 ต่อไป รวมทั้งการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นในฤดูการผลิต ปี 2560/61 ก่อนการเปิดหีบอ้อยได้อย่างแน่นอน ส่วนข้อกังวลของ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายที่เป็นข่าวนั้นได้รับคำชี้แจงว่าข้อมูลที่ปรากฏเป็นข้อมูลช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา

จาก https://mgronline.com วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2560 

สอน. คาด สรุปราคาอ้อยขั้นต่ำเสร็จไม่เกินพย.

สอน. สรุปหลักการเบื้องต้น กำหนดราคาอ้อยขั้นต้น คาดแล้วเสร็จไม่เกิน พ.ย. พร้อมบังคับใช้ก่อนเปิดหีบอ้อยปี 60/61

นางวรวรรณ ชิตอรุณ รองเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวถึงกรณีที่เกษตรกรชาวไร่อ้อย และผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาล มีความกังวลในหลักการปฏิบัติและการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้น ว่า อาจจะไม่ทันก่อนการเปิดหีบอ้อย ฤดูกาลผลิต ปี 2560/61 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอ้อย และน้ำตาลทรายทั้งระบบนั้น สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ได้ประชุมหารือระหว่างฝ่ายชาวไร่อ้อย โรงงานน้ำตาล และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่องหลายครั้ง และเมื่อวันที่  4 ตุลาคม 2560 ได้มีการหารือกับผู้แทนชาวไร่อ้อยและผู้แทนโรงงานน้ำตาล จนสามารถหาข้อยุติในหลักการเบื้องต้นได้แล้ว โดยมีแนวทางบริหารราคาน้ำตาลทรายตามกลไกของตลาด และการยกเลิกโควตาน้ำตาลทรายเพื่อให้สอดคล้องต่อหลักเกณฑ์ขององค์การการค้าโลก (WTO) และจะดำเนินการหารือเพื่อจัดทำรายละเอียดในการดำเนินการ ภายในสัปดาห์หน้า ซึ่งตามขั้นตอนจะต้องมีการแก้ไขปรับปรุงระเบียบ และประกาศที่เกี่ยวข้อง คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคม หรือไม่เกินต้นเดือนพฤศจิกายน 2560 เพื่อให้มีผลบังคับใช้ และพร้อมนำไปดำเนินการก่อนการเปิดหีบอ้อยในฤดูการผลิตปี 2560/2561 ต่อไป รวมทั้งการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นในฤดูการผลิต ปี 2560/61 ก่อนการเปิดหีบอ้อยได้อย่างแน่นอน

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2560 

กรมโรงงานฯ เผยยอดขอ รง.4 และขยายกิจการ 9 เดือน ผุด 3,906 โรงงาน มูลค่า 3.32 แสนล้าน

นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า การขอใบอนุญาตประกอบกิจการ รง.4 และขยายกิจการในเดือนม.ย.-ก.ย. 2560 มีจำนวนโรงงานทั้งสิ้น 3,923 โรงงาน เพิ่มขึ้น 0.43% จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 3,906 โรงงาน ขณะที่มูลค่าการลงทุน 3.32 แสนล้านบาท ลดลง 6.21% จากปีก่อนอยู่ที่ 3.54 แสนล้านบาท

“มูลค่าการลงทุน 9 เดือนที่ผ่านมาลดลงแบบไม่มีนัยยะสำคัญอะไร เนื่องจากโครงการขนาดกลางและเล็ก หรือเอสเอ็มอีจะมีการทยอยขอประกอบกิจการและขยายกิจการอย่างต่อเนื่องทั้งปี ขณะที่โครงการขนาดใหญ่จะเข้ามาลงทุนในช่วงปลายปีเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นไปตามงบการลงทุนปกติของบริษัทขนาดใหญ่เป็นหลัก”นายมงคล กล่าว

นอกจากนี้ นโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่คาดว่าจะส่งผลให้เอกชนลงทุนในช่วงหลังของปีนี้ เพราะเอกชนยังรอดูความชัดเจน พ.ร.บ.อีอีซีว่าจะประกาศให้มีผลบังคับใช้เมื่อไร แต่ยังมั่นใจว่าจำนวนและมูลค่าการลงทุนของยอดขอรง.4 ปีนี้ไม่น้อยกว่าทุกๆ ปีที่ผ่านมาหรืออยู่ที่ประมาณ 4,000-5,000 โรงงาน คิดเป็นมูลค่าลงทุนประมาณ 5 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา มียอดขอเปิดกิจการใหม่ 3,216 โรงงาน ลดลง 1.19% จากช่วงเดียวกันปีก่อนมี 3,255 โรงงาน ส่วนการขยายกิจการ 707 โรงงาน เพิ่มขึ้น 8.6% จากปีก่อนอยู่ที่ 651 โรงงาน

โดยอุตสาหกรรมที่มีจำนวนเปิดกิจการใหม่และขยายกิจการคิดเป็นมูลค่าสูงสุดตั้งแต่เดือนม.ค.-ก.ย. ปี 2560 ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารมูลค่าการลงทุน 4.1 หมื่นล้านบาท เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ มูลค่า 3.02 หมื่นล้านบาท ผลิตยานพาหนะและอุปกรณ์รวมทั้งการซ่อมยานพาหนะและอุปกรณ์ มูลค่า 2.46 หมื่นล้านบาท การผลิตโลหะขั้นมูลฐาน 2.35 หมื่นล้านบาท แปรรูปไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ 2.07 หมื่นล้านบาท

นายมงคล กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการขอใบอนุญาตประกอบกิจการ รง.4 และขยายกิจการในเดือนก.ย. 2560 มีจำนวน 576 โรงงาน ลดลง 1.03% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมี 582 โรงงาน คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 4.43 หมื่นล้านบาท ลดลง 19.45% จากปีก่อนอยู่ที่ 5.5 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการเปิดกิจการใหม่ 470 โรงงาน เพิ่มขึ้น 0.42% จาก 468 โรงงาน และการขยายกิจการมี 106 โรงงาน ลดลง 7.01% จากปีก่อนอยู่ที่ 114 โรงงาน

จาก https://www.khaosod.co.th   วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2560 

กระตุ้นกรมโรงงานลุยออนไลน์ ปรับโฉมงานบริการเริ่มปี'61 

 "อุตตม" สั่งกรมโรงงานอุตสาหกรรม ดึงระบบออนไลน์รับใบอนุญาตตั้งโรงงานก้าวสู่ยุค 4.0

          นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการตรวจเยี่ยมกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ว่า ได้มอบนโยบายการดำเนินงานที่สำคัญเพื่อให้ กรอ.ก้าวสู่ 4.0  ใน 4 เรื่อง ได้แก่ 1.การอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการทั่วประเทศให้สามารถ ขออนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) การขออนุญาตนำกากออกนอกโรงงาน (สก.2) การจดทะเบียนเครื่องจักร ฯลฯ ซึ่งทุกอย่างต้องเป็นระบบออนไลน์ทั้งหมดซึ่งมีเป้าหมายที่จะดำเนินการให้ได้ทั้งหมดทั่วประเทศภายในกลางปี 2561

          2.มอบหมายให้ดูแลเรื่องของระบบเรียลไทม์ในการดูแลด้านมลพิษที่มี เป้าหมายการดูแลแล้วในโรงงาน 400 แห่ง และมีเป้าหมายทึ่จะขยายเป็น 600 แห่ง ในปี 2561 หรือคิดเป็น 70% ของปริมาณมลพิษที่เกิดขึ้น

          3.สนับสนุนส่งเสริมผู้ประกอบการให้ก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยเน้นไปที่การยกระดับอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยจัดทำแผนที่ชัดเจน เช่น การพัฒนาส่งเสริมผู้ประกอบการสู่ Smart Technology เพื่อสนับสนุน การติดตามการทำงาน พร้อมใช้ระบบอินเทอร์เน็ต หรือ Internet of Things (IOT) เข้ามาปรับใช้มากยิ่งขึ้น 4.การพัฒนาฐานข้อมูลที่ต้องเน้นการบริการประชาชนให้ดีขึ้นและให้นำมาบริหารเพื่อกำหนดนโยบายภายในบริษัท เพื่อเชื่อมฐานข้อมูลกลางของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

          นอกจากนี้ ขณะเดียวกันยังให้มีการสร้างเครือข่ายบุคคลที่ 3 (Thrid Party) เข้ามาช่วยกำกับดูแลความ ปลอดภัย รวมถึงการต่ออายุใบอนุญาตโรงงาน โดยจะมีการแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรงงาน พ.ศ. 2535 ให้ครอบคลุมบุคคลที่ 3 เข้ามาทำงานภายใต้การควบคุมของ กรอ. โดยล่าสุดคณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณาตรวจร่าง พ.ร.บ. และส่งกลับมาที่กระทรวงอุตสาหกรรม ก่อนที่จะเสนอเข้าที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาได้ภายในปลายปี 2560 นี้ และคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในปี 2561

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2560 

“อุตตม” เข้ม กรอ.ดันโรงงานออนไลน์ 4.0 กลางปี’61

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) และหารือเรื่องการปรับโครงสร้าง กรอ. 4.0 ว่าได้เน้นย้ำให้กรมโรงงานฯปรับกระบวนการทำงานเป็นระบบออนไลน์ 100% ภายในกลางปี 2561 โดยเฉพาะขั้นตอนการอนุมัติอนุญาต ตลอดจนกระบวนการขอนำกากอุตสาหกรรมออกจากโรงงานไปกำจัดตามมาตรฐานสิ่งแวดล้อม เพื่อลดขั้นตอน ลดการใช้เอกสารที่เพิ่มต้นทุนและเวลา ช่วยให้ผู้ประกอบการได้รับความสะดวก สอดรับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งมีโรงงานทั่วประเทศจำนวนกว่า 1.39 แสนราย นอกจากนี้ได้ย้ำให้เจ้าหน้าที่กรมโรงงานฯปรับกระบวนการทำงานในการตรวจสอบ ใช้อุปกรณ์ทันสมัย อาทิ แท็บเล็ตทดแทนเอกสารในรูปกระดาษ เพื่อความคล่องตัว รวดเร็ว

นอกจากนี้ กรมโรงงานฯจะจัดทำฐานข้อมูลภาคอุตสาหกรรมระบบเดียวทั่วประเทศ ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เพื่อให้กระบวนการดูแลของเสียจากโรงงานสู่การกำจัดรวดเร็วยิ่งขึ้น โดย กรอ.ได้พัฒนาระบบซอฟต์แวร์ในการใช้ระบบออนไลน์ติดตามดูแลโรงงานทั่วประเทศเรียบร้อยแล้ว และจะขยายผลออกสู่พื้นที่ต่างๆ ช่วยให้ระยะยาวสามารถประหยัดต้นทุนและคล่องตัวมากขึ้น สู่การพัฒนาข้อมูลกลาง (บิ๊กดาต้า) เพื่อเชื่อมฐานข้อมูลกลางของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม สัปดาห์จะเดินทางไปมอบนโยบายให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เพื่อผลักดัน สมอ. 4.0 และจะมอบนโยบายหน่วยงานอื่นๆ ของกระทรวง อาทิ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ให้เสร็จภายในเดือนตุลาคมนี้

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2560

อภิรดี” เผยไทย-สหรัฐก้าวข้ามปัญหาขาดดุลการค้า พร้อมจับมือเป็นพันธมิตรเพิ่มมูลค่าการค้าการลงทุนระหว่างกัน

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การเดินทางเยือนกรุงวอชิงตัน ดีซี สหรัฐอเมริกาของนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทน์โอชา) ตามคำเชิญของนายโดนัลล์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 2-4 ตุลาคม 2560 ประสบผลสำเร็จด้วยดี โดยเฉพาะการหารือด้านการค้าและการลงทุน ทำให้ผู้นำทั้งสองฝ่ายมีโอกาสหารือกันอย่างใกล้ชิด เข้าใจกันมากยิ่งขึ้น และพร้อมที่จะร่วมมือเพื่อสร้างผลประโยชน์ร่วมกัน โดยได้ก้าวข้ามปัญหาการขาดดุลการค้า เน้นการจับมือเป็นพันธมิตรเพิ่มมูลค่าการค้าการลงทุนระหว่างกัน

ในการพบหารือครั้งนี้ ผู้นำทั้งสองเห็นพ้องกันว่า นโยบายอเมริกันมาก่อน หรือ America First และนโยบายไทยแลนด์ 4.0 สามารถเกื้อกูลและส่งเสริมกันได้ โดยสินค้าที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่สหรัฐฯ นำเข้าเพื่อไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตต่อในห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) ของอุตสาหกรรมสหรัฐฯ ในขณะที่ไทยก็สนใจนำเข้าสินค้าเทคโนโลยีคุณภาพสูงจากสหรัฐฯ เพื่อนำมาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มทางการค้า ซึ่งเป็นการเสริมผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน และสามารถนำไปสู่การขยายมูลค่าการค้าระหว่างกันในอนาคต โดยในปี 2559การค้าสองประเทศมีมูลค่า 36.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยไทยส่งออกไปสหรัฐฯ 24.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และนำเข้าจากสหรัฐฯ 12 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

นอกจากความร่วมมือทางการค้า ยังมีประเด็นเรื่องการลงทุน ซึ่งปัจจุบันนักธุรกิจไทยมีการลงทุนในสหรัฐฯ เป็นอันดับ 2 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ โดยได้ลงทุนในสหรัฐฯ เป็นสาขาการผลิตอุตสาหกรรมในสาขาต่างๆ อาทิ อาหาร พลังงาน และยานยนต์และชิ้นส่วน เป็นต้น คิดเป็นมูลค่าประมาณ 5.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ก่อให้เกิดการจ้างงานในสหรัฐฯ กว่า 7-8 หมื่นตำแหน่ง ในปี 2559 และมีแผนที่จะลงทุนเพิ่มอีก 8.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ สร้างงานเพิ่มอีกกว่า 1 หมื่นตำแหน่ง จึงได้ขอให้สหรัฐฯ ช่วยดูแลและอำนวยความสะดวกการลงทุนของไทยในสหรัฐฯ ด้วย โดยเฉพาะไทยและสหรัฐฯ มีสนธิสัญญาไมตรีและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ตั้งแต่ปี 2509 ที่ให้สิทธินักลงทุนของทั้งสองฝ่ายเยี่ยงคนชาติ นอกจากนั้น ยังได้เชิญชวนให้ นักลงทุนสหรัฐฯ พิจารณาการลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก รวมทั้งการพัฒนาการศึกษาในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นการลงทุนที่ทั้งสองฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน สำหรับประเด็นการค้าที่ยังเป็นอุปสรรคได้มอบหมายระดับเจ้าหน้าที่หารือกันต่อไป โดยไม่ได้ลงรายละเอียดในการพบกันครั้งนี้

ในการนี้ ไทยได้ขอบคุณสหรัฐฯ ที่ได้เปิดทบทวนการจัดสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทยนอกรอบ (Out of cycle review : OCR) ซึ่งไทยจะมุ่งมั่นปฏิรูประบบทรัพย์สินทางปัญญาและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในไทยอย่างเข้มแข็งจริงจังต่อไป โดยหวังว่าผลการทบทวนจะนำไปสู่การถอดไทยจากบัญชีประเทศที่ต้องจับตามองพิเศษ (PWL) โดยเร็ว รวมทั้งได้ขอให้สหรัฐฯ สนับสนุนการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยไปสหรัฐฯ เช่น การลดความเข้มข้นของระดับการฉายรังสีที่สหรัฐฯ กำหนดในผลไม้ไทย เพื่อไม่ให้กระทบคุณภาพและผิวของผลไม้ที่ไทยส่งไปสหรัฐฯ เช่น มะม่วง ตลอดจนเร่งออกใบอนุญาตด้านสุขอนามัยให้สินค้าส้มโอของไทย ซึ่งได้ยื่นคำขอไว้ตั้งแต่ปี 2558 โดยขอให้สหรัฐฯ ออกประกาศใน Federal Register โดยเร็ว

ในการเดินทางเยือนสหรัฐฯ ครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้นำคณะนักธุรกิจชั้นนำของไทยเดินทางมาหารือกับนักธุรกิจสหรัฐฯ ด้วย โดยเฉพาะนักธุรกิจไทยที่ลงทุนในสหรัฐฯ เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร พลังงาน ยานยนต์และชิ้นส่วน เป็นต้น ซึ่งผลการหารือ หอการค้าไทยและหอการค้าสหรัฐฯ ได้ตกลงที่จะจัดทำ MOU ระหว่างกัน โดยมีสาระสำคัญเพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนและคัดเลือกสาขาธุรกิจที่จะสามารถร่วมมือกันได้ เช่น สาขาพลังงาน การค้าบริการ นวัตกรรมและ IT การศึกษา การแพทย์และสุขภาพ และความมั่นคงทางอาหาร เป็นต้น รวมทั้งได้ตกลงที่จะให้ผู้บริหารระดับสูงของหอการค้าไทยและหอการค้าสหรัฐฯ พบหารือกันเป็นประจำทุกปี โดยหอการค้าไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมหารือครั้งแรกในปี 2561 ถือเป็นโอกาสของการเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ครบรอบ 185 ปีของทั้งสองประเทศด้วย

นอกจากนี้ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (PTTGC) ยังได้ลงนาม MOU กับหน่วยงานด้านการจ้างงานของมลรัฐโอไฮโอ (JobsOhio) เรื่องความร่วมมือในการศึกษาและจัดทำโครงการพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนในพื้นที่เขตเบลมอนต์ (Belmont County) ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานปิโตรเคมี บริษัทเอสซีจี (SCG) ได้ลงนาม MOU และคำสั่งซื้อถ่านหินกับ Smoky Mountain Coal Corporation ซึ่งเป็นเรื่องที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ให้ความสำคัญ เนื่องจากมองว่าจะช่วยสร้างงานให้กับชาวอเมริกัน ในขณะเดียวกันการสั่งซื้อดังกล่าวจะเป็นประโยชน์แก่ไทยสำหรับการสั่งซื้อวัตถุดิบถ่านหินที่มีคุณภาพดี มลภาวะน้อย และให้ความร้อนสูง มาต่อยอดใช้ประโยชน์ภายในประเทศ

ทั้งนี้ ในการกล่าวถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรีกับสภานักธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน (U.S.-ASEAN Business Council) เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2560 นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า จะผลักดันให้มูลค่าทางการค้าระหว่างสองประเทศเพิ่มเป็น 85 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และได้เชิญชวนนักลงทุนสหรัฐฯ เข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของไทยที่เป็นอุตสาหกรรมอนาคตที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมสูง โดยไทยได้เตรียมความพร้อมต่างๆ เพื่อดึงดูดและรองรับการลงทุน เช่น การให้สิทธิประโยชน์ของ BOI และเขตเศรษฐกิจพิเศษ การปรับกฎระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการลงทุน เป็นต้น

ปัจจุบันสหรัฐฯ เป็นคู่ค้าอันดับที่ 3 ของไทย รองจากจีนและญี่ปุ่น โดยในปี 2559 การค้าระหว่างไทยและสหรัฐฯ มีมูลค่า 36.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับที่ 1 ของไทย มีมูลค่าการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ 24.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่สหรัฐฯ เป็นแหล่งนำเข้าอันดับที่ 3 ของไทย มีมูลค่านำเข้าของไทยจากสหรัฐฯ 12 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในด้านการลงทุน ในปี 2559 สหรัฐฯ ลงทุนในไทยมากเป็นอันดับที่ 3 รองจากญี่ปุ่นและสิงคโปร์ ด้วยมูลค่าการลงทุน 11.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 11.14

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2560

เปิดร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ แขวน ม.39 ลดแรงต้านจัดเก็บค่าน้ำ

นับวันการหาแหล่งน้ำเพิ่มเติมของประเทศหาได้ยากยิ่งขึ้นจากงบประมาณของรัฐที่มีจำกัดในการเวนคืนที่ดินและงบฯค่าก่อสร้างโครงการที่พุ่งขึ้นทุกปี ปัจจุบันมีกฎหมายหลักในการบริหารจัดการน้ำดิบ คือ พ.ร.บ.การชลประทานหลวง พ.ศ. 2485 ที่เป็นการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ชลประทานของกรมชลประทาน ทั้งนี้ ในมาตรา 4 พ.ร.บ.การชลประทานหลวง ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2507 ได้มีการแก้ไขมาตรา 8 ของกฎหมายเดิม โดยให้รัฐมนตรีมีอำนาจเรียกเก็บค่าชลประทานจากเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดิน ในอัตราไม่เกินไร่ละ 5 บาทต่อปี โดยออกกฎกระทรวง แต่ในความเป็นจริงไม่มีการออกกฎกระทรวงเก็บค่าชลประทานแต่อย่างใด

แต่ล่าสุด เสียงคัดค้านจากเกษตรกรทั่วประเทศก็ดังกระหึ่มขึ้นพร้อมเพรียงกัน เมื่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ยกร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำขึ้นมา ด้วยวัตถุประสงค์ให้เกิดการใช้น้ำอย่างคุ้มค่าที่สุด ปล่อยน้ำเสียน้อยที่สุด รวมทั้งปิดช่องโหว่การใช้น้ำฟรีและการลักลอบการใช้น้ำนอกเขตพื้นที่ชลประทานทั่วประเทศ ทำให้ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่แม้ไม่ใช่เจ้าของต้นร่างกฎหมายฉบับนี้ ก็ต้องออกมาพูดว่า ไม่มีการเก็บค่าใช้น้ำจากเกษตรกรแต่อย่างใด

รวมทั้ง ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ ว่าที่อธิบดีกรมชลประทานคนใหม่ ออกมารับรองด้วยว่า “เกษตรแปลงใหญ่” ที่มีเกษตรกรจำนวนมากมารวมกลุ่มกันทำการเกษตรแปลงใหญ่หรือผู้ที่ทำเกษตรเกิน 50 ไร่ กรมชลประทาน “ไม่มีการเก็บค่าใช้น้ำชลประทานแต่อย่างใด” เกษตรกรในส่วนที่อยู่ในพื้นที่ชลประทานจึงคลายวิตกกังวลได้ระดับหนึ่ง แต่ในส่วนเกษตรกรที่อยู่นอกพื้นที่ชลประทาน แน่นอนยังมีความวิตกกังวลอยู่ แม้ในความเป็นจริง เกษตรกรต้องเสมอภาคกัน คือไม่ต้องจ่ายค่าน้ำ ไม่ว่าจะอยู่เขตไหน

สำหรับร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำใหม่ฉบับนี้ถือเป็นกฎหมายแม่ของเรื่องน้ำ จึงมีทั้งหมด 100 มาตรา ขณะนี้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบในหลักการเข้าสู่การพิจารณาวาระที่ 1 และแต่งตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายไปได้ 95 มาตราแล้ว แต่ยังมีการแขวนพิจารณาหลายมาตรา คาดว่าข้อสรุปทั้งหมดของร่างกฎหมายฉบับนี้ที่จะเสร็จสิ้นในวันที่ 27 ต.ค.นี้ จะต้องยืดออกไปอีก 90 วัน เป็นปลายเดือน ม.ค. 2561 แทน

สาระสำคัญของร่างกฎหมายใหม่นี้ จะมีคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการ ทำหน้าที่บริหารจัดการ กำกับ ดูแล ทั้งการใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟู และการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎหมายนี้ ทั้งเรื่องน้ำท่วม น้ำแล้ง ลุ่มน้ำ การใช้น้ำ ทรัพยากรน้ำสาธารณะ น้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน น้ำในทะเล เว้นแต่ในกรณีที่มีกฎหมายใดกำหนดเกี่ยวกับการใช้ การพัฒนาฯไว้โดยเฉพาะ ก็ให้ดำเนินการไปตามกฎหมายเฉพาะนั้น

เรื่องสิทธิในน้ำ เพื่อป้องกันการแก่งแย่งน้ำกันในอนาคตมากขึ้น ก็มีการกำหนดไว้ในมาตรา 7-8 ว่า ทรัพยากรน้ำสาธารณะเป็นของส่วนรวม บุคคลมีสิทธิใช้หรือเก็บกักน้ำได้เท่าที่จำเป็นแก่ประโยชน์ในกิจกรรมหรือในที่ดินของตน โดยไม่เป็นเหตุให้เกิดความเดือดร้อนหรือเสียหายแก่บุคคลอื่นซึ่งอาจจะใช้น้ำนั้น

ส่วนการจัดสรรน้ำ ตามมาตรา 39 ที่ถือเป็นหัวใจสำคัญของกฎหมายนี้ ปรากฏคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างฯได้ประกาศแขวนการพิจารณามาตรานี้ไว้ก่อนเพื่อยุติความขัดแย้งที่กำลังจะเกิดจาก “การเรียกเก็บค่าน้ำ” โดยมาตรานี้ได้มีการแบ่งการใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเป็น 3 ประเภท คือ การใช้น้ำประเภทที่ 1 ได้แก่ การใช้น้ำเพื่อดำรงชีพทั้งอุปโภคบริโภคในครัวเรือน การเกษตรหรือการเลี้ยงสัตว์เพื่อยังชีพ การอุตสาหกรรมในครัวเรือนและการใช้น้ำในปริมาณเล็กน้อย การใช้น้ำประเภทที่ 2 ได้แก่ การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อการเกษตรหรือการเลี้ยงสัตว์เพื่อการพาณิชย์ การอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การผลิตพลังงานไฟฟ้า การประปาและกิจการอื่น และการใช้น้ำประเภทที่ 3 ได้แก่ การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อกิจการขนาดใหญ่ที่ใช้น้ำปริมาณมาก หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบข้ามลุ่มน้ำหรือครอบคลุมพื้นที่อย่างกว้างขวาง

ลักษณะหรือรายละเอียดการใช้น้ำแต่ละประเภท 1-3 ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวงที่จะออกหลัง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ทั้งนี้ รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการแต่ละลุ่มน้ำที่เกี่ยวข้อง และโดยความเห็นชอบของ กนช. มีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการใช้น้ำประเภทที่ 1 สำหรับแต่ละลุ่มน้ำได้

อย่างไรก็ตาม การใช้น้ำประเภทที่ 2 ต้องได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการลุ่มน้ำที่ทรัพยากรน้ำสาธารณะตั้งอยู่ ตลอดจนการขอรับใบอนุญาต การออกใบอนุญาต อายุใบอนุญาต การขอต่ออายุใบอนุญาต แต่ไม่ใช้บังคับกับการใช้น้ำของหน่วยงานของรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนการใช้น้ำประเภทที่ 3 ต้องได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ โดยความเห็นชอบของ กนช. และมีการยกเว้นไม่ใช้บังคับการใช้น้ำของหน่วยงานรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่นเดียวกับประเภทที่ 2

ในขณะที่มาตรา 47 ได้เขียนไว้ชัดเจนว่า รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของ กนช.มีอำนาจที่จะออกกฎกระทรวงเพื่อกำหนด “อัตราค่าใช้น้ำ” สำหรับการใช้น้ำประเภทที่ 2 กับประเภทที่ 3 เท่านั้น โดยมีข้อสังเกตว่า ไม่มีอัตราการใช้น้ำประเภทที่ 1 เพื่อการดำรงชีพ-อุปโภคบริโภคในครัวเรือน การเกษตร/เลี้ยงสัตว์ยังชีพ อุตสาหกรรมในครัวเรือน และการใช้น้ำปริมาณเพียงเล็กน้อยแต่อย่างใด

เรื่องการแก้ปัญหาการเกิดน้ำท่วม-น้ำแล้ง ให้รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศเขตฉุกเฉิน กำหนดวิธีการใช้น้ำเพื่อลดปริมาณการใช้ และห้ามใช้น้ำบางประเภทเกินกว่าจำเป็นแก่การอุปโภคบริโภค รวมทั้งกำหนดวิธีการแบ่งปันน้ำในพื้นที่เพื่อบรรเทาปัญหา ส่วนการป้องกันและแก้ไขน้ำท่วม ให้คณะกรรมการลุ่มน้ำจัดทำแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วมขึ้นไว้เป็นการล่วงหน้า ทั้งกรณีปกติและกรณีฉุกเฉิน

สุดท้ายคือ บทลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืน กำหนดบทลงโทษไว้ถึง 15 มาตราแล้วแต่กรณีที่ฝ่าฝืน โดยโทษสูงสุดคือ ผู้ที่ฝ่าฝืนมาตรา 75 วรรคหนึ่ง (2) ให้รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของ กนช.มีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเพื่อคุ้มครองและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำสาธารณะ ในเรื่องต่อไปนี้ได้ คือ (2) กำหนดห้ามกระทำใด ๆ ที่มีผลเป็นการเสื่อมสภาพแหล่งน้ำหรือเสื่อมประโยชน์ต่อการใช้น้ำหรือทำให้เกิดภาวะมลพิษแหล่งน้ำฯ ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นต้น

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ชาวบ้าน อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณ โดนน้ำเสียจากโรงงานผลิตเอทานอลทะลักเข้าท่วมอีกรอบ

 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อช่วงกลางดึกที่ผ่านมาเริ่มตั้งแต่ประมาณตี 1 ได้มีน้ำเสียจากโรงงานผลิตเอทานอลไหลทะลักเข้าท่วมหมู่บ้านสระบัวก่ำ หมู่ที่ 7 ต.หนองมะค่าโมง อ.ด้านช้าง จ.สุพรรณบุรี อีกครั้ง หลังเกิดเหตุครั้งแรกไปเมื่อคืนวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมาและทางจังหวัดได้สั่งปิดโรงงานชั่วคราวเป็นเวลา 45 วัน

ชาวบ้านบอกว่าน้ำเสียที่ทะลักมาครั้งนี้ไม่มากเท่าเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมแต่ก็มากพอที่จะทะลักเข้าท่วมบ้านชาวบ้านเมื่อกลางดึกที่ผ่านมา โดยในช่วงสายวันนี้น้ำส่วนที่ท่วมบ้านได้ลดลงไปแล้ว แต่ยังเหลือในส่วนที่อยู่ตามท่อระบายน้ำและทางน้ำ

ชาวบ้านบอกว่ายังไม่ทราบว่าจุดที่ทำให้น้ำจากโรงงานทะลักเข้าท่วมหมู่บ้านอีกครั้งมาจากจุดไหนแต่ในช่วงเช้านี้ที่ชาวบ้านไปสำรวจบ่อน้ำเสียของโรงงานพบว่ามีบางบ่อที่ปริมาณน้ำเสียในบ่อปริ่มคันดินหากฝนตกหนักก็จะเสี่ยงที่จะพังหรือล้นออกมาอีก

ทั้งนี้ทางหน่วยงานท้องถิ่นได้มีการเตรียมกระสอบทรายไว้ให้ชาวบ้านไว้ป้องกันหากมีน้ำเสียพนักมาอีก

จาก http://www.komchadluek.net วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2560

อุตฯแจงปัญหาน้ำเสียรง.เอทานอลสุพรรณฯรั่ว        

น.ส.นิสากร จึงเจริญธรรม รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงฯ ยังคงติดตามและกำกับดูแลการแก้ไขปัญหาของบริษัท ไทย อะโกร เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) ตำบลหนองมะค่าโมง อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี อย่างใกล้ชิด โดยนายทองชัย ชวลิตพิเชฐ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม เจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว เมื่อวันที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมา

ล่าสุดมีการรายงานข่าวตามสื่อต่างๆว่าบ่อพักน้ำเสียของโรงงานได้เกิดรั่วเป็น ครั้งที่ 2 ทำให้มีน้ำเสียไหลเข้าท่วมบ้านเรือนของประชาชน จากการลงพื้นที่ตรวจสอบของเจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสุพรรณบุรี โดยนายอนุสรณ์ ภู่พงศ์สกุล อุตสาหกรรมจังหวัด ไม่พบการไหลล้นเป็นครั้งที่ 2 ตามที่ได้มีการเสนอข่าว ข้อเท็จจริงเป็นน้ำเสียที่ตกค้างอยู่ตามบ่อน้ำต่างๆ เมื่อฝนตกหนักทำให้เกิดน้ำไหลหลากพัดพาน้ำเสียดังกล่าวเข้าท่วมบ้านประชาชนบางหลังคาเรือน 

“เบื้องต้นได้รับรายงานว่าผู้ประกอบการได้มีการประชุมกับจังหวัดสุพรรณบุรี ผู้นำชุมชน และประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อน เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2560 ณ ศาลาอเนกประสงค์ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองมะค่าโมง สรุปได้ว่าผู้ประกอบการยินดีเยียวยาให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบในเบื้องต้น ซึ่งประชาชนที่เข้าร่วมประชุมมีความพอใจ สำหรับพืชผลทางการเกษตร เกษตรจังหวัดสุพรรณบุรี จะดำเนินการสำรวจความเสียหายของผู้ได้รับผลกระทบและผู้ประกอบการดำเนินการชดใช้ค่าเสียหายต่อไป”

จาก https://www.dailynews.co.th  วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2560

3สมาคมรง.น้ำตาลจี้สอน. รีบเคาะราคาอ้อยขั้นต้น

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ขณะนี้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้โครงสร้างใหม่ หลังจากที่ใช้มานานกว่า 30 ปี โดยมีกฎเกณฑ์และหลักปฏิบัติที่เปลี่ยนไปจากเดิม ซึ่งภายใต้โครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลใหม่นั้น ทุกฝ่ายเห็นชอบให้มีการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายให้เป็นไปตามกลไกของตลาดโลกตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคมนี้ ตามที่ได้ประกาศไว้กับประชาคมโลก โดยจะมีการยกเลิกการอุดหนุนราคา ยกเลิกโควตาน้ำตาล ก. ข. ค. ซึ่งทุกฝ่ายพยายามเร่งดำเนินการให้เป็นไปตามแผนงานที่ได้เคยแจ้งไปกับประเทศบราซิล

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังมีความกังวลในหลักการปฏิบัติในประเด็นการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้น ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถตกลงกันได้

“เรายังกังวลว่า สำนักงานงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) จะสรุปสูตรคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นไม่ทันก่อนการเปิดหีบอ้อย เพราะยังมีความคิดเห็นที่ต่างกันระหว่างชาวไร่ โรงงาน และหน่วยงานภาครัฐ ในส่วนของสูตรการคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นในช่วงเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ทำให้ผู้ประกอบการต้องรอความชัดเจนว่าจะใช้สูตรการคำนวณราคาอ้อยอย่างไรให้เป็นที่ยอมรับได้ของทุกฝ่ายเพื่อให้ฝ่ายโรงงานนำไปใช้เป็นเกณฑ์ปฏิบัติในการรับซื้อผลผลิตอ้อยเข้าหีบประจำฤดูกาลผลิตปี 2560/61 ซึ่งหากมีความล่าช้า ย่อมส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมโดยรวมทั้งระบบทั้งหมด” นายสิริวุทธิ์ กล่าว

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2560

รง.น้ำตาลโอดสูตรอ้อยอืด หวั่นเปิดหีบอ้อย60-61ช้า

3 สมาคมน้ำตาลลุ้นรัฐเร่งคลอดสูตรคำนวณราคาอ้อยขั้นต้น หวั่นกระทบต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่โครงสร้างใหม่ ส่งผลการเปิดหีบอ้อยในฤดูการผลิตปี 60/61 ล่าช้า

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ขณะนี้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้โครงสร้างใหม่ โดยมีความกังวลในหลักการปฏิบัติ ในประเด็นการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้น ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถตกลงกันได้ หลังจากที่มีการเสนอใช้ราคาน้ำตาลลอนดอนนัมเบอร์ไฟว์ บวกกับไทยพรีเมียม เป็นสูตรคำนวณเพื่อคำนวณราคาแนะนำในการใช้กำหนดราคาอ้อยขั้นต้น จากเดิมที่เคยใช้ราคาน้ำตาลทรายดิบ โควตา ข. อัตราแลกเปลี่ยนเพื่อคำนวณราคาอ้อยขั้นต้น

“กังวลว่า สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย หรือ สอน. จะสรุปสูตรคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นไม่ทันก่อนการเปิดหีบอ้อย เพราะยังมีความคิดเห็นที่ต่างกันระหว่างชาวไร่ โรงงาน และหน่วยงานภาครัฐ ในส่วนของสูตรการคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นในช่วงเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทำให้ผู้ประกอบการต้องรอความชัดเจนว่าจะใช้สูตรการคำนวณราคาอ้อยอย่างไรให้เป็นที่ยอมรับได้ของทุกฝ่ายเพื่อให้ฝ่ายโรงงานนำไปใช้เป็นเกณฑ์ปฏิบัติในการรับซื้อผลผลิตอ้อยเข้าหีบประจำฤดูการผลิตปี 2560/61 ซึ่งหากมีความล่าช้า ย่อมส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมโดยรวมทั้งระบบทั้งหมด” นายสิริวุทธิ์กล่าว.

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ทวงคำตอบราคาอ้อยขั้นต้น!

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ขณะนี้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้โครงสร้างใหม่ หลังจากที่ใช้มานาน 30 ปี โดยมีกฎเกณฑ์และหลักปฏิบัติที่เปลี่ยนไปจากเดิม ภายใต้โครงสร้างใหม่ ทุกฝ่ายเห็นชอบ ให้มีการลอยตัวราคาน้ำตาล เพื่อให้เป็นไปตามกลไกของตลาดโลกตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.นี้ โดยจะมีการยกเลิกการอุดหนุนราคา, ยกเลิกโควตาน้ำตาล ก. (จำหน่ายในประเทศ) โควตา ข.  (ส่งออกโดยบริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด หรือ อนท.) โควตา ค. (ส่งออกโดยโรงงานน้ำตาลและ อนท.) ซึ่งทุกฝ่ายได้เร่งดำเนินการให้เป็นไปตามแผนงานที่ได้เคยแจ้งไปกับประเทศบราซิล

นายสิริวุทธิ์กล่าวว่า 3 สมาคมมีความกังวลในหลักการปฏิบัติ เรื่องการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้น ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถตกลงกันได้ หลังจากที่มีการเสนอใช้ราคาน้ำตาลลอนดอนนัมเบอร์ไฟว์ บวกกับไทยพรีเมียม ซึ่งเป็นสูตรคำนวณ เพื่อคำนวณราคาแนะนำในการใช้กำหนดราคาอ้อยขั้นต้น จากเดิมที่เคยใช้ราคาน้ำตาลทรายดิบ โควตา ข. และตามอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อคำนวณราคาอ้อยขั้นต้น เนื่องจากปัจจุบันราคาน้ำตาลตลาดโลกอยู่ในระดับต่ำที่ 13.50-14.00 เซนต์ต่อปอนด์ และเมื่อบวกกับค่าไทยพรีเมียม จะทำให้ราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการ ผลิตปี 2560/61 อยู่ที่ตันละ 850 บาท ซึ่งต่ำจากปีก่อน ทำให้ชาวไร่ได้รับผลกระทบไม่คุ้มกับต้นทุนการเพาะปลูกที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับภายใต้โครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายฉบับใหม่ไม่มีการอุดหนุนราคาอ้อยที่ตันละ 160 บาทบาทอีกต่อไป

“3 สมาคมฯยังกังวลว่า สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) จะสรุปสูตรคำนวณราคาอ้อยขั้นต้น ไม่ทันก่อนการเปิดหีบอ้อยในเดือน พ.ย.นี้ เพราะยังมีความคิดเห็นที่ต่างกันระหว่างชาวไร่ โรงงาน และหน่วยงานภาครัฐ ในส่วนของสูตรการคำนวณราคาอ้อยขั้นต้น ทำให้ผู้ประกอบการ ต้องรอความชัดเจนว่าจะใช้สูตรคำนวณราคาอ้อยอย่างไรให้เป็นที่ยอมรับได้ของทุกฝ่าย เพื่อให้ฝ่ายโรงงานนำไปใช้เป็นเกณฑ์ปฏิบัติในการรับซื้อผลผลิตอ้อยเข้าหีบประจำฤดูกาลผลิตปี 2560/61 ซึ่งหากมีความล่าช้าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทั้งระบบ”.

จาก https://www.thairath.co.th   วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2560

เกษตรฯเปิดแผนขับเคลื่อนปี’61 ทุ่ม5.7หมื่นล้านดัน15โครงการ

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เผยว่า ปีงบประมาณ 2561 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับจัดสรรงบประมาณรวม 103,586.6227 ล้านบาท จำแนกเป็น 1.งบบุคลากรภาครัฐ 25,823.0087 ล้านบาท 2.งบรายจ่ายตามภารกิจ (Function) 17,422.3205 ล้านบาท 3.งบบูรณาการ (Agenda) 53,234.3502 ล้านบาท และ 4.งบพื้นที่ (Area) 7,106.9433 ล้านบาท ในจำนวนนี้มีงานโครงการสนับสนุนนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ยกกระดาษ A4) และงานสำคัญอื่นๆ 57,742.1386 ล้านบาท ประกอบด้วย 15 โครงการสำคัญ คือ

1.การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 50,010.2374 ล้านบาท 2.ระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ 1,868.4714 ล้านบาท 3.ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร 449.0476 ล้านบาท 4.Zoning by Agri-Map 333.0441 ล้านบาท 5.Smart Farmer 143.7429 ล้านบาท 6.พัฒนาสถาบันเกษตรกรรูปแบบ ประชารัฐ 21.9530 ล้านบาท 7.ธนาคารสินค้าเกษตร 40.6349 ล้านบาท 8.เกษตรอินทรีย์ 910.4219 ล้านบาท 9.ส่งเสริมเกษตรทฤษฎีใหม่ 379.3885 ล้านบาท 10.จัดระเบียบการประมงให้เป็นมาตรฐาน 577.9542 ล้านบาท 11.ขยายศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว 472.9215 ล้านบาท 12.ส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าสินค้าและการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรทดแทนแรงงาน 351.1151 ล้านบาท 13.ตลาดสินค้าเกษตร 268.1654 ล้านบาท 14.พัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรสู่มาตรฐาน (GAP) 1,414.2919 ล้านบาท และ15.การช่วยเหลือด้านหนี้สินสมาชิกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร 500.7488 ล้านบาท

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2560

แวดวงเกษตรทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั่วไทย

ข่าวแรก...พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กระทรวงฯ สักการะพระพุทธสยัมภู พระประจำกระทรวงฯ และบูชาพระภูมิ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ณ บริเวณหน้าอาคารกรมควบคุมมลพิษ จากนั้นประกอบพิธีทางพุทธศาสนา โดยนิมนต์พระสงฆ์จากวัดแก้วฟ้าจุฬามณี สวดเจริญพระพุทธมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคลเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ครบรอบ 15 ปี ณ ห้องประชุมศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ชั้น 2 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

เรื่องดีๆ...ต้อนรับ....สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ โดย นายภพปภพ ลรรพรัตน์ หัวหน้าฝ่าย (ระดับ 8) รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักสถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ ให้การต้อนรับเลขาธิการเอกอัคราชทูต ณ กรุงดาการ์ และสื่อมวลชนจากแอฟริกาตะวันตก (กาบอง กาบูเวร์ดี และเซเนกัล) ในโอกาสที่เข้าศึกษาดูงาน ณ สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ จังหวัดลำปาง เกี่ยวกับวิถีชีวิตและการอนุรักษ์ช้างไทยตลอดจนศึกษาเกี่ยวกับการบริหารจัดการระบบนิเวศ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับประเทศของตน ณ สถาบันคชบาลแห่งชาติในพระอุปถัมภ์ฯ

นายณรงค์พล พัฒนศรี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 กรมส่งเสริมสหกรณ์ มอบโล่รางวัลการประกวดผลงานการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในสหกรณ์ ให้กับสหกรณ์เคหสถานศิรินทร์และเพื่อน จำกัด ซึ่งได้รับการคัดเลือกให้เป็นสหกรณ์บริการที่ได้รับรางวัลที่ 3 ของการประกวดการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินงานและส่งเสริมอาชีพให้กับสมาชิก โดยมีผู้แทนของสหกรณ์เข้ารับมอบเมื่อวันก่อน ณ ห้องประชุมสำนักพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการสหกรณ์ ถนนพิชัย กรุงเทพฯ

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานพิธีเปิดการสัมมนาทางวิชาการเนื่องในโอกาสวั นคล้ายวันสถาปนากรมส่งเสริมสหกรณ์ครบรอบ 45 ปี  เพื่อให้ผู้สัมมนาได้รับทราบนโยบายแนวทางการปฏิบัติงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 และสามารถปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับนโยบายแนวทางการปฏิบัติงาน มีความรู้ ความเข้าใจในสถานการณ์ที่กำลังเปลี่ยนแปลง มีการบูรณาการปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน พร้อมกันนี้ได้เยี่ยมชมการแสดงนิทรรศการของโรงเรียนที่ได้รับรางวัลกิจกรรมสหกรณ์ นักเรียนดีเด่น ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ

 “เก็บขยะชายฝั่งสิงหนคร คืนความยั่งยืนสู่ท้องทะเลไทย” วันที่ 3 ตุลาคม 2560 กรม ทช. โดยสำนักงานบริหาร ทช.ที่ 5 (สงขลา) ร่วมกับสมาคมประมงพื้นบ้านบ้านเล อ.สิงหนคร บ.ทรูคอปอร์เรชั่น ทัพเรือภาคที่๒ เทศบาลเมืองสิงหนคร หน่วยงานและชุมชนในพื้นที่ 300 คน จัดเก็บขยะชุมชน ประมงชายฝั่ง คืนความยั่งยืนสู่ท้องทะเลไทย ณ ชุมชนบ้านเล อ.สิงหนคร จ.สงขลา เพื่อเป็นการรณรงค์สร้างจิตสำนึกแก่ประชาชนในการลดปริมาณขยะ ปลูกฝังและกระตุ้นจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้ชุมชนน่าอยู่ น่าอาศัย น่าท่องเที่ยว และเกิดสัมพันธ์อันดีต่อกัน สามารถเก็บขยะได้ปริมาณ 2,479 กก. ส่วนใหญ่เป็นขยะจำพวกพลาสติก

กรมชลฯออกโรงการันตีเกษตรกรไม่ต้องจ่ายค่าน้ำ พรบ.น้ำยังไม่มีผลบังคับ-พิจารณาอีกหลายรอบ  นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีรักษาราชการแทนอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงพระราชบัญญัติ (พรบ.)ทรัพยากรน้ำว่า ขณะนี้ยังไม่มีผลบังคับใช้ใดๆทั้งสิ้น ยังอยู่ในขั้นตอนของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) พิจารณาเห็นชอบในหลักการเข้าสู่การพิจารณาวาระที่ 1 และแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพรบ. เท่านั้น ซึ่งมีทั้งหมด 100 มาตรา เพิ่งพิจารณาได้ 95 มาตรา และมีหลายมาตราที่ยังมีข้อทักท้วง โดยเฉพาะในมาตราที่เกี่ยวกับการเก็บค่าน้ำ คือ มาตรฐานที่ 39 และ มาตราที่ 47 ซึ่งจะต้องมีการพิจารณาอีกครั้ง และปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมซึ่งต้องใช้ระยะเวลา และที่สำคัญจะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องตามกระบวนของกฎหมาย หลังจากนั้นถึงจะนำเสนอต่อที่ประชุม สนช.พิจารณาในวาระที่ 2 วาระที่ 3 ตามลำดับ ก่อนเสนอให้นายกรัฐมนตรี นำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อลงนามพระปรมาภิไธย

ปิดท้ายข่าว...ครม.เด้ง ชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้ เข้าทำเนียบฯ นั่งที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พ.อ.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติอนุมัติตามที่สำนักนายกรัฐมนตรีเสนอรับโอน นายชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ตามข้อ 1 วรรคหนึ่งของคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 16/2558 เรื่อง มาตรการแก้ปัญหาเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบและการกำหนดกรอบอัตรากำลังชั่วคราวลงวันที่ 15 พ.ค. 2558 ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป โดยผู้มีอำนาจสั่งบรรจุทั้งสองฝ่ายได้ตกลงยินยอมในการโอนแล้ว  ..มีลาภก็เสื่อมลาภ มียศก็เสื่อมยศ ทุกสรรพสิ่งในโลกไม่มีอะไรแน่นอน

จาก http://www.banmuang.co.th   วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ธนาคารโลกแฉปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า

เศรษฐกิจไทยโตต่ำสุดอาเซียน กัมพูชาพุ่งทะยานขึ้นแชมป์ 6.8%

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารโลกได้ออกรายงานเศรษฐกิจประเทศเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก East Asia an Pacific Economic Update ล่าสุด โดยระบุว่า เศรษฐกิจปี 2560 ในภูมิภาคนี้จะเติบโต 6.4% เพิ่มขึ้นจาก 6.2% จากที่ได้คาดการณ์ไว้ก่อนหน้า เป็นผลจากเศรษฐกิจจีนที่เติบโตกว่าที่คาดไว้ที่ 6.5% ขึ้นมาเป็น 6.7% ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาครวมถึงประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 5 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประกอบด้วย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และสิงคโปร์ จะเติบโตสูงขึ้นเล็กน้อยที่ 5.1% จากที่คาดไว้เดิมว่าจะขยายตัว 5%

ทั้งนี้ ธนาคารโลกได้คาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้ไว้ที่ 3.5% เท่ากับการประมาณการครั้งก่อน แต่เพิ่มการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2561 จากเดิมที่ไว้ที่ 3.3% ขึ้นมาขยายตัวที่ 3.6% รวมทั้งได้ปรับเพิ่มการคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2562 มาอยู่ที่ 3.5% จากเดิมที่คาดไว้ 3.2%  อย่างไรก็ตาม หากเทียบอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยกับเศรษฐกิจประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ไม่รวมสิงคโปร์ซึ่งไม่อยู่ในกลุ่มนี้) ในปีนี้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงเพิ่มขึ้นในอัตราต่ำที่สุด โดยประเทศกัมพูชาได้รับการคาดการณ์ว่าจะโตสูงที่สุด 6.8% ตามมาด้วยสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว 6.7% ฟิลิปปินส์ 6.6% เมียนมา 6.4% เวียดนาม 6.3% มาเลเซีย 5.2% และอินโดนีเซีย 5.1%

นอกจากนั้น ในรายงานดังกล่าว ธนาคารโลกยังเตือนถึงความเสี่ยงทั้งปัจจัยภายนอกและในประเทศที่อาจส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการเติบโต ทั้งนโยบายเศรษฐกิจในประเทศ ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์เพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ ขณะที่สหรัฐฯและสหภาพยุโรปอาจเพิ่มความเข้มงวดด้านนโยบายทางการเงินเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ อีกทั้งหลายประเทศในภูมิภาคมีระดับหนี้ของภาคเอกชนและการขาดดุลการคลังเพิ่มสูงขึ้น.

จาก http://www.thairath.co.th วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2560

โรงงานน้ำตาลผวาระบบอ้อยรวนหลังไร้ข้อยุติสูตรคำนวณอ้อย

3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายลุ้นรัฐเร่งคลอดสูตรคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นปี 2560/61 หวั่นกระทบช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่โครงสร้างใหม่ ทำอุตสาหกรรมอ้อยฯ รวนทั้งระบบ

 นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า จากนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรมที่ต้องการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายหลังจากใช้มานานกว่า 30 ปีโดยทุกฝ่ายเห็นชอบให้มีการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายให้เป็นไปตามกลไกตลาดโลกตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคมนี้ตามที่ประกาศไว้กับประชาคมโลก โดยจะยกเลิกการอุดหนุนราคา ยกเลิกโควตาน้ำตาล ก. ข. ค. ซึ่งทุกฝ่ายพยายามเร่งดำเนินการให้เป็นไปตามแผนงานที่เคยแจ้งประเทศบราซิล

 ขณะเดียวกันยังมีความกังวลหลักการปฏิบัติประเด็นการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้น ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถตกลงกันได้ หลังจากเสนอใช้ราคาน้ำตาลลอนดอนนัมเบอร์ไฟว์บวกกับไทยพรีเมียมเป็นสูตรคำนวณ เพื่อคำนวณราคาแนะนำการใช้กำหนดราคาอ้อยขั้นต้น จากเดิมเคยใช้ราคาน้ำตาลทรายดิบโควตา ข. อัตราแลกเปลี่ยนเพื่อคำนวณราคาอ้อยขั้นต้น เนื่องจากปัจจุบันราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกอยู่ในระดับต่ำ 13.50-14.00 เซนต์ต่อปอนด์เท่านั้น และเมื่อบวกกับค่าไทยพรีเมียมจะทำให้ราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2560/2561 เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณตันละ 850 บาท ซึ่งต่ำจากปีก่อน ทั้งนี้ผลดังกล่าวทำให้ชาวไร่ได้รับผลกระทบไม่คุ้มกับต้นทุนการเพาะปลูกที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับ ภายใต้โครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายฉบับใหม่จะไม่มีการอุดหนุนราคาอ้อยเพื่อการเพาะปลูกที่ตันละ 160 บาท เพื่อช่วยเหลือชาวไร่อ้อยอีกต่อไป

 “กังวลว่าสำนักงานงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) จะสรุปสูตรคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นไม่ทันก่อนการเปิดหีบอ้อย เพราะยังมีความคิดเห็นต่างกันระหว่างชาวไร่ โรงงาน และหน่วยงานภาครัฐ ในส่วนของสูตรการคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นช่วงเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ทำให้ผู้ประกอบการต้องรอความชัดเจนว่าจะใช้สูตรการคำนวณราคาอ้อยอย่างไรให้เป็นที่ยอมรับได้ของทุกฝ่ายเพื่อให้ฝ่ายโรงงานนำไปใช้เป็นเกณฑ์ปฏิบัติในการรับซื้อผลผลิตอ้อยเข้าหีบประจำฤดูการผลิตปี 2560/2561 หากมีความล่าช้าย่อมส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมโดยรวมทั้งระบบทั้งหมด” นายสิริวุทธิ์ กล่าว

จาก https://mgronline.com  วันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2560

โรงงานน้ำตาลกระทุ้งรัฐเคาะราคาอ้อย กลัวไม่ทันเปิดหีบฤดูใหม่

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ขณะนี้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้โครงสร้างใหม่ โดยมีความกังวลในหลักการปฏิบัติในประเด็นการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถตกลงกันได้ หลังจากที่มีการเสนอใช้ราคาน้ำตาลลอนดอนนัมเบอร์ไฟว์ บวกกับไทยพรีเมียม เป็นสูตรคำนวณเพื่อคำนวณราคาแนะนำในการใช้กำหนดราคาอ้อยขั้นต้น จากเดิมที่เคยใช้ราคาน้ำตาลทรายดิบ โควต้า ข. อัตราแลกเปลี่ยนเพื่อคำนวณราคาอ้อยขั้นต้น เนื่องจากปัจจุบันราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกอยู่ในระดับต่ำที่ 13.50-14.00 เซ็นต์ต่อปอนด์เท่านั้น และเมื่อบวกกับค่าไทยพรีเมียม จะทำให้ราคาอ้อยขั้นต้นในฤดูการผลิตปี 2560/61 เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณตันละ 850 บาท ซึ่งต่ำจากปีก่อน ทำให้ชาวไร่ได้รับผลกระทบไม่คุ้มกับต้นทุนการเพาะปลูกที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับภายใต้โครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายฉบับใหม่ จะไม่มีการอุดหนุนราคาอ้อยเพื่อการเพาะปลูกที่ตันละ 160 บาทเพื่อช่วยเหลือชาวไร่อ้อยอีกต่อไป

“กังวลว่า สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย หรือ สอน. จะสรุปสูตรคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นไม่ทันก่อนการเปิดหีบอ้อย เพราะยังมีความคิดเห็นที่ต่างกันระหว่างชาวไร่ โรงงาน และหน่วยงานภาครัฐ ในส่วนของสูตรการคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นในช่วงเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ทำให้ผู้ประกอบการต้องรอความชัดเจนว่าจะใช้สูตรการคำนวณราคาอ้อยอย่างไรให้เป็นที่ยอมรับได้ของทุกฝ่าย เพื่อให้ฝ่ายโรงงานนำไปใช้เป็นเกณฑ์ปฏิบัติในการรับซื้อผลผลิตอ้อยเข้าหีบประจำฤดูการผลิตปี 2560/61 ซึ่งหากมีความล่าช้าย่อมส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมโดยรวมทั้งระบบทั้งหมด” นายสิริวุทธิ์กล่าว

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2560

สรรพากรขยายเวลาจัดเก็บแวต7% ออกไปอีก 1ปี

กรมสรรพากรประกาศตรึงภาษีแวต 7% ไปจนถึงสิ้น ก.ย.61  หนุนเศรษฐกิจ-ลดค่าครองชีพประชาชน                   

นางแพตริเซีย มงคลวนิช รองอธิบดีกรมสรรพากร ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยว่า  กรมฯ ขยายเวลาการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม(แวต)  7 % ไปจนถึงวันที่ 30 ก.ย.61 เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยลดภาระค่าครองชีพของประชาชน รวมถึงเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในการประกอบธุรกิจให้กับภาคเอกชน ซึ่งจะส่งผลทำให้ภาพรวมของการบริโภคและ การลงทุนของประเทศมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและมั่นคงยิ่งขึ้น

 “การขยายเวลาการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นไปตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 646) พ.ศ. 2560 โดยให้ยังคงจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มะ 7% รวมภาษีท้องถิ่น (ภาษีมูลค่าเพิ่ม 6.3% และภาษีท้องถิ่น 0.7%) สำหรับการขายสินค้า การให้บริการ หรือการนำเข้าทุกกรณี ซึ่งความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.60 ถึงวันที่ 30 กย.61"

ส่วนการที่ระบุว่าเป็นการลดอัตราภาษีลงมานั้น เนื่องจากกฎหมายปัจจุบันกำหนดให้กรมสรรพากรจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 10%  รวมภาษีท้องถิ่น (ภาษีมูลค่าเพิ่ม 9%  และภาษีท้องถิ่น 1%) จึงจำเป็นต้องมีการออกพระราชกฤษฎีกา เพื่อลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มลงมาที่อัตรา 7% รวมภาษีท้องถิ่นดังกล่าว

จาก https://www.dailynews.co.th  วันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2560

‘อธิบดี’ ยันออกกฎหมายหวังคุ้มครองสิทธิผู้ใช้น้ำอย่างเป็นธรรม

                จากกรณีมีเสียงท้วงติงเกี่ยวกับการเก็บภาษีน้ำตามร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ....ซึ่งก่อนหน้านี้พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมออกมา ปฏิเสธว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ไม่ได้มีการสั่งการในเรื่องดังกล่าวนั้น

                พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า เรื่องน้ำพล.อ.ประยุทธ์ ไม่เคยมีแนวคิดในการเก็บเงิน ตอนนี้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) กำลังดำเนินการอยู่ แต่เมื่อมีการเสนอมาก็ต้องพิจารณา ขอเวลาให้เขาพิจารณาก่อน แนวความคิดของพล.อ.ประยุทธ์ ไม่คิดจะเก็บ เพราะสถานการณ์ในปัจจุบันยังไม่เอื้ออำนวยในการเก็บเรื่องเหล่านี้ โดยในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ไม่มีการหยิบยกเรื่องดังกล่าวขึ้นมาพูดคุย และเมื่อวันที่ 2 ต.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.สุรศักดิ์ ก็ได้ชี้แจงเรื่องดังกล่าวแล้ว ยืนยันช่วงนี้ไม่มีแน่นอน

                  ด้านนายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า ร่างกฎหมายนี้อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นการวางกรอบโครงสร้างและแบ่งประเภทของเกษตรกร เช่น เกษตรกรรายใหญ่และรายย่อย ผู้ประกอบการขนาดใหญ่และขนาดเล็ก เกษตรเชิงพาณิชย์ เป็นต้น และยังไม่ได้กำหนดอัตราเรียกเก็บภาษีใดๆ

               ทั้งนี้การกำหนดรายละเอียดต่างๆที่ชัดเจนนั้น จะต้องบรรจุในกฎกระทรวง ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ จะพิจารณาว่าจะกำหนดหลักเกณฑ์ในการเรียกเก็บหรือไม่ ทั้งนี้ทราบว่าคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ อยากจะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม ตามขั้นตอนในรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 เพื่อจะนำข้อมูลไปประกอบการพิจารณาร่างพ.ร.บ.และร่างกฎกระทรวงที่จะต้องออกตามมา เนื่องจากสิ่งที่เหล่านี้จะมีผลกระทบต่อประชาชน

               นายวรศาสน์ อภัยพงษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวกับการควบคุม จัดสรร และการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่นอกเขตชลประทานที่มีเนื้อที่119ล้านไร่ จึงทำให้การใช้น้ำสาธารณะไม่มีการคุ้มครองสิทธิการใช้น้ำ ดังนั้นร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ จะคุ้มครองสิทธิการใช้น้ำให้เกิดความเป็นธรรม ป้องกันความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้น โดยมาตรา 39 ของร่างพ.ร.บ.มีการกำหนดประเภทการใช้น้ำไว้ 3 ประเภท ได้แก่ .1 เพื่อการดำรงชีพ การอุปโภคบริโภคในครัวเรือน 2 .การใช้น้ำในปริมาณมากเพื่อการอุตสาหกรรมหรือการเกษตรเพื่อการพาณิชย์ การประปาสัมปทานการท่องเที่ยว และ3.การใช้น้ำในปริมาณมากที่จะส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง

                ทั้งนี้ใช้น้ำประเภทที่ 2 และที่ 3 ให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการลุ่มน้ำในการพิจารณา และสามารถยกเว้นการเก็บค่าน้ำกรณีผลผลิตไม่ดีหรือขาดทุนตามมาตรา 47 ดังนั้นจะเห็นได้ว่ากฎหมายดังกล่าวมีไว้เพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชนเกษตรกรนอกเขตชลประทานให้สามารถเข้าถึงน้ำได้เป็นลำดับแรก ทั้งนี้ภายหลังกฎหมายผ่านสภาแล้ว จำเป็นจะต้องศึกษารายละเอียดให้เหมาะสมและต้องรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง เพื่อประกอบการจัดทำร่างกฎกระทรวงตามมาตรา39 ต่อไป

              ส่วนกรณีที่พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ... สั่งให้กรมฯน้ำ ทบทวนมาตรา 39 และให้กำหนดหลักเกณฑ์การแบ่งเกษตรกรรายย่อยรายใหญ่ให้ชัดเจนนั้น ร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ ถือเป็นกฎหมายแม่การจะสั่งให้ทบทวนมาตราดังกล่าว ต้องรอให้กฎหมายแม่ออกมาก่อนเพื่อให้มีขอบเขตของกฎหมายที่ชัดเจน จากนั้นภายใน 180 วัน จึงจะออกกฎหมายลูกหรือกฎกระทรวง ที่เป็นหลักเกณฑ์ตามมาตรา 39 ได้ โดยอัตราการเก็บค่าน้ำที่ยกตัวอย่างมานั้น เป็นเพียงตัวเลขที่ทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ทำการศึกษาวิจัยไว้เมื่อปี 2551เท่านั้น

               ในส่วนข้อกังวลว่า ถึงแม้จะไม่ได้เก็บค่าน้ำเกษตรกรรายย่อย แต่เก็บค่าน้ำในกลุ่มผู้ใช้น้ำเพื่อการพาณิชย์และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ก็อาจส่งผลให้ผลผลิตหรือต้นทุนมีราคาที่สูงขึ้นสุดท้ายก็จะส่งผลกระทบต่อภาคประชาชนอยู่ดีนั้น การออกกฎหมายลูกจำเป็นต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งกลุ่มผู้ใช้น้ำประเภท 2 และ 3 ที่เข้าข่ายต้องเสียค่าน้ำนั้น ก็ต้องไปสอบถามว่าอัตราเก็บค่าน้ำควรอยู่ที่เท่าไร จึงไม่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตหรือต้นทุน เพื่อไม่ให้กระทบต่อภาคประชาชนในวงกว้างอย่างที่เป็นกังวลกัน

                อย่างไรก็ดีเห็นว่ากระแสต่อต้านของกฎหมายน้ำคือ ความไม่เข้าใจในเนื้อหาของกฎหมายฉบับนี้อย่างแท้จริงตั้งแต่คำว่าน้ำสาธารณะแล้ว ไม่เข้าใจวัตถุประสงค์ของกฎหมายนี้ที่ออกมาเพื่อคุ้มครองสิทธิการเข้าถึงน้ำของเกษตรกรรายย่อยในพื้นที่นอกชลประทาน ไม่ให้ต้องประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำอย่างที่ผ่านมา

                นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิปสนช.) กล่าวว่า ขณะนี้มีการบิดเบือนว่า ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวต้องเสร็จภายใน 60 วัน เช่นเดียวกับพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ แต่ร่างพ.ร.บ.โดยทั่วไปจะมีกรอบเวลากำหนดพิจารณาให้เสร็จภายใน 60 วัน แต่ถ้าเสร็จไม่ทันสามารถขยายเวลาและต่ออายุได้ตามข้อบังคับการประชุม ซึ่งร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ ยังต้องใช้เวลาพิจารณาเพราะต้องผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ขอยืนยันว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้จะไม่มีการเก็บเงินค่าใช้น้ำจากเกษตรกรและชาวนา เกษตรกรต้องไม่เดือดร้อน เพราะเจตนาของกฎหมายคือต้องการเก็บเงินค่าใช้น้ำจากภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรายใหญ่เช่น โรงงานอุตสาหกรรม สนามกอล์ฟ โรงแรม คิดว่าเรื่องนี้มีการบิดเบือนเพื่อสร้างสถานการณ์เพื่อประโยชน์ทางการเมือง

จาก http://www.komchadluek.net   วันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ไทย ผลักดันอาเซียน แก้ปมมาตรการกีดกันทางการค้า

ครม. เห็นชอบทำข้อตกลงร่วมกัน ยอมรับผลการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานด้านสุขลักษณะอาหาร (GMP/HACCP) ระหว่างสมาชิกอาเซียน หวังลดปัญหาการกีดกันทางการค้า

รายงานข่าวจากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้อนุมัติให้ลงนามในข้อตกลงการยอมรับร่วมรายสาขาว่าด้วยระบบการตรวจสอบและการให้การรับรองด้านสุขลักษณะอาหาร สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปของอาเซียน เช่น เนื้อสัตว์และอาหารทะเลแปรรูป ผักผลไม้แปรรูป อาหารกระป๋อง น้ำตาล โกโก้ กาแฟสำเร็จรูป แป้งและเส้นก๋วยเตี๋ยว ซอสปรุงรส และเครื่องดื่ม เป็นต้น ซึ่งจะช่วยการอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศสมาชิก ลดความซ้ำซ้อน และคุ้มครองผู้บริโภคในอาเซียน

การยอมรับร่วมกันภายใต้ข้อตกลงฯ นี้ ดำเนินการเป็นรายสินค้าครอบคลุมสินค้าผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป เฉพาะพิกัดศุลกากรที่ 16-22 ไม่รวมข้อกำหนดด้านสารตกค้าง สารปนเปื้อน วัตถุเจือปน ฉลากอาหารและมาตรฐานด้านคุณภาพอื่นๆ ที่นอกเหนือนี้ ประเทศผู้ส่งออกยังคงต้องปฏิบัติตามข้อกำหนด กฎระเบียบของประเทศผู้นำเข้าเหมือนเดิม ทั้งนี้มูลค่าการค้าสินค้าในพิกัด 6-22 ระหว่างปี 2557 – 2559 ที่ไทยส่งไปขายยังตลาดอาเซียนนั้น มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 146,000 ล้านบาท เป็น 154,000 และ 170,154 ล้านบาท ตามลำดับ หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 7.95 ต่อปี

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ มกอช. ได้ร่วมผลักดันการจัดทำข้อตกลงฯ ฉบับนี้มาตั้งแต่ปี 2555 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการยอมรับร่วมกันในระบบการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารหลายรายการ ผลจากการลงนามในครั้งนี้ประเทศสมาชิกอาเซียนแต่ละประเทศจะต้องให้การยอมรับผลการตรวจรับรองด้านสุขลักษณะอาหาร (GMP/HACCP) ที่ได้รับจากประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นที่เป็นผู้ส่งออก โดยไม่ต้องส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจรับรองสถานที่ผลิตอาหารในประเทศผู้ส่งออกนั้นซ้ำอีก

สำหรับข้อตกลงการยอมรับร่วมฯ ฉบับนี้ ได้ผ่านการพิจารณาอย่างรอบครอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และได้รับการรับรองจากที่ประชุมคณะเจ้าหน้าที่อาวุโสเศรษฐกิจอาเซียนเมื่อเดือนพฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา และกำหนดให้มีการลงนามข้อตกลงฯ ดังกล่าวในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) ครั้งที่ 49 ซึ่งจะจัดให้มีขึ้นที่ผ่านมา ณ ประเทศฟิลิปปินส์ ความตกลงร่วมกันในครั้งนี้ นับเป็นอีกก้าวหนึ่งของอาเซียนในการเป็น ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) อย่างสมบูรณ์ ตามเป้าหมายการลดมาตรการกีดกันการค้าและการลงทุนที่ประเทศสมาชิกอาเซียนมุ่งหวังไว้

จาก http://www.siamrath.co.th   วันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2560

“กรมชลฯ”เผยปริมาณน้ำ4 เขื่อนหลักรองรับการเพาะปลูกได้ตลอดแล้ง-เว้น”ลุ่มลำตะคอง-ลำนางรอง”ยังน้อย

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในฤดูแล้ง ปี 2560/61 ที่จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 ในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำแม่กลอง และลุ่มน้ำอื่นๆ ซึ่งมีปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์ปีปกติ สามารถจัดสรรน้ำเพื่อการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2560/61 ตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ที่อยู่ระหว่างการกำหนดแผนการเพาะปลูก คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคมนี้ รวมไปถึงการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน มีปริมาณน้ำต้นทุน สามารถสนับสนุนการเพาะปลูกพืชฤดูฝนฤดูกาลผลิตปี 2561 ได้ ยกเว้น พื้นที่ที่ใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา และอ่างเก็บน้ำลำนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ เนื่องจากมีปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์น้อย จึงไม่สามารถสนับสนุนน้ำเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปรังปี 2559/60 ได้

นายสมเกียรติ กล่าวว่า ทั้งนี้การใช้น้ำในช่วงแล้งจาก 4 เขื่อนหลักคือ ภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดนและป่าสักชลสิทธิ์ ปัจจุบันมีน้ำใช้การได้รวมกัน 10,833 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) มากกว่าปีที่ผ่านมาที่มีน้ำใช้การได้ 9,704 ล้าน ลบ.ม. และยังหวังว่าปริมาณฝนที่ยังมีอยู่ในเดือนตุลาคม จะส่งผลให้มีน้ำลงอ่างมากขึ้น โดย กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดการณ์ว่า บริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และภาคใต้ จะมีฝนตกชุกหนาแน่น กับมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ตอนบน

นายสมเกียรติ กล่าวว่า ส่วนสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ณ 1 ตุลาคม 60 มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 56,131 ล้าน ลบ.ม. หรือ 75% ของความจุอ่างฯรวมกันทั้งหมด ปริมาณน้ำมากกว่าปี 2559 รวม 9,411 ล้าน ลบ.ม. เป็นน้ำใช้การได้ 32,312 ล้าน ลบ.ม. หรือ 63 % สามารถรองรับน้ำได้อีก 19,087 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก มีปริมาณน้ำรวมกัน 17,279 ล้าน ลบ.ม. หรือ 69 % ของความจุอ่างฯรวมกัน ปริมาณน้ำมากกว่าปี 2559 รวม 2,657 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำใช้การได้ 10,583 ล้าน ลบ.ม. หรือ 58% สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 7,592 ล้าน ลบ.ม.

นายสมเกียรติ กล่าวว่า สำหรับการรับน้ำเข้าทุ่งต่างๆ จนถึงปัจจุบัน(1 ต.ค. 60) ใน ทั้งพื้นที่ฝั่งตะวันออก และฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา รวม 298.69 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 20% ของปริมาณน้ำที่รับได้ทั้งหมด แยกเป็น พื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ได้ส่งน้ำเข้าระบบชลประทานผ่านประตูระบายน้ำมโนรมย์ลงสู่คลองชัยนาท – ป่าสัก ก่อนจะนำน้ำส่วนหนึ่งเข้าไปเก็บไว้ในทุ่งต่างๆ ซึ่งมีปริมาณน้ำที่เกิดจากฝนตกในพื้นที่ ขังอยู่ในทุ่งเชียงราก มีปริมาณน้ำรวม 50.38 ล้านลบ.ม. ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก มีปริมาณน้ำรวม 8.19 ล้านลบ.ม. ทุ่งท่าวุ้ง มีปริมาณน้ำรวม 6.15 ล้าน ลบ.ม. ทุ่งบางกุ่ม มีปริมาณน้ำรวม 32.98 ล้าน.ลบ.ม. ทุ่งบางกุ้ง มีปริมาณน้ำรวม 17.35 ล้านลบ.ม.

นายสมเกียรติ กล่าวว่า ส่วนของพื้นที่ฝั่งตะวันตกของลุ่มน้ำเจ้าพระยา กรมชลประทาน ได้มีการส่งน้ำเข้าระบบชลประทานผ่านประตูระบายน้ำต่างๆ ก่อนจะนำน้ำบางส่วนเข้าไปเก็บไว้ในทุ่ง ที่มีปริมาณน้ำที่เกิดจากฝนตกในพื้นที่ขังอยู่แล้วบางส่วน โดย ส่งน้ำผ่านประตูระบายน้ำพลเทพ ลงสู่แม่น้ำท่าจีน จากนั้นจะรับน้ำเข้าไปเก็บไว้ในทุ่งโพธิ์พระยา มีปริมาณน้ำในทุ่งรวม 15 ล้านลบ.ม. ส่วนปริมาณน้ำที่รับผ่านประตูระบายน้ำบรมธาตุลงสู่แม่น้ำน้อย จะนำไปเก็บไว้ในทุ่งผักไห่ มีปริมาณน้ำรวม 88 ล้านลูกลบ.ม. ทุ่งป่าโมก มีปริมาณน้ำรวม 12 ล้าน ลบ.ม. และทุ่งเจ้าเจ็ด มีปริมาณน้ำรวม 52.59 ล้าน ลบ.ม.

“กรมชลประทาน จะทยอยนำน้ำเข้าไปในทุ่งต่างๆ ที่มีความพร้อมและได้รับการยินยอมจากราษฎรในพื้นที่ ที่ได้มีการทำประชาคมและมีมติร่วมกันแล้ว เพื่อใช้ประโยชน์ในการหมักตอซังเป็นปุ๋ยอินทรีย์ การเกษตร และการประมง โดยจะควบคุมระดับน้ำในทุ่งให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เนื่องจากยังคงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ฝนที่จะตกลงมาในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาอย่างใกล้ชิดด้วย อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังไม่มีปริมาณน้ำหลากจำนวนมากไหลลงสู่เขื่อนเจ้าพระยาแต่อย่างใด”นายสมเกียรติ กล่าว

จาก https://www.matichon.co.th วันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2560

กระทรวงอุตฯสั่งปิดรง.เอทานอล 

          เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 3 ต.ค. จากกรณีน้ำในบ่อบำบัดน้ำเสียของบริษัท ไทยอะโกรเอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) ทะลักล้นจากบ่อบำบัดไหลลงมากับน้ำฝนลงสู่ลำห้วยกระเสียว ส่งผลให้ปลาในลำห้วยตายและน้ำยังส่งกลิ่นเหม็น สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านใน อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี จนกระทั่ง นายพิภพ บุญธรรม รอง ผวจ.สุพรรณบุรี ได้สั่งตรวจสอบ ด้านนาย จองชัย เที่ยงธรรม อดีต ส.ส.สุพรรณบุรี พร้อมด้วยนายบุญชู จันทร์สุวรรณ นายก อบจ.สุพรรณบุรี และนายศักดิ์ชัย จันทร์ใหม่มูล นายกเทศบาลตำบลบ่อกรุ นายธง กาฬภักดี นายกเทศบาลหนองกระทุ่ม อ.เดิมบางนางบวช รวมทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อนเดินทางประชุมหารือและดูจุดที่เกิดเหตุน้ำในบ่อบำบัดน้ำเสียทะลักออกมากับน้ำฝนทำให้ชาวบ้านต่างผวาว่าจะเกิดเหตุซ้ำรอย เนื่องจากยังไม่ดำเนินการแก้ไขมีเพียงรถแบ๊กโฮไปประจำการเท่านั้น

          ขณะที่ กระทรวงอุตสาหกรรม มีหนังสือถึงกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยอะโกร เอ็น เนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (ผู้ประกอบกิจการโรงงาน) ให้หยุดประกอบกิจการโรงงานทั้งหมดเป็นการชั่วคราวลงวันที่ 3 ต.ค. โดยระบุว่าได้ตรวจสอบบริษัทฯ ผลิตเอทานอลเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงและผลตรวจสอบปรากฏว่า 1.มีน้ำเสียล้นออกจากบ่อกักเก็บน้ำเสียอันเกิดจากฝนตกทำให้น้ำเสียในบ่อกักเก็บน้ำเสียมีปริมาณเพิ่มขึ้นและไหลลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะจำนวนมาก 2.บริเวณคันดินที่สร้างขึ้นเป็นแนวป้องกันสำหรับเก็บน้ำเสียถูกน้ำฝนกัดเซาะ ทำให้น้ำเสียไหลท่วมบ้านเรือนและพื้นที่เพาะปลูกของประชาชน ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวมีสภาพที่อาจก่อให้เกิดอันตราย ความเสียหายหรือความเดือดร้อนอย่างร้ายแรง แก่บุคคลหรือทรัพย์สินและสิ่งแวดล้อม จึงมีคำสั่งให้ปรับปรุงแก้ไขทั้งนี้ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 15 พ.ย. ลงชื่อโดยนายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

          ด้าน นายสมชาย โล่วิสุทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บ.ไทยอะโกรฯ กล่าวว่า ทางโรงงานยินดีที่จะปิดเพื่อทำการปรับปรุงแก้ไข ในส่วนของความเสียหาย ทางบริษัทฯ ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบความเสียหายและช่วยเหลือเยียวยาชาวบ้านที่เดือดร้อนอย่างเร่งด่วนเต็มที่ยืนยันว่าจะไม่ทอดทิ้งชาวบ้านที่เดือดร้อน.

จาก เดลินิวส์ วันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2560 

สังคมเรียกร้อง เสวนาโต๊ะกลม ถกร่างกฎหมายเก็บ ‘ภาษีน้ำ'

กรณีการถกเถียงร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ....ที่มีบางฝ่านในกมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ....ของสนช.ออกมาให้ข้อมูลว่าจะมีการเก็บภาษีการใช้น้ำจากทุกฝ่ายในสังคม เพื่อก้ปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วม จนมีเสียงต่อต้านจากหลายฝ่ายในสังคม

 เมื่อวันที่ 22 ก.ย.ที่ผ่านมา รายการชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ  สปริงนิวส์ทีวีดิจิทัลช่อง 19นำเสนอประเด็นสนช.เตรียมยกร่างกฎหมายการเก็บภาษีน้ำจากผู้ใช้น้ำโดยมีการนำเทปบันทึกการลงพื้นที่สำรวจความเห็นประชาชนลุ่มน้ำแม่กลอง นำโดยพล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ ประธานกมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ....นั้น

 “ภาณุมาศ  ทักษณา” ซึ่งเป็นผู้ชมรายการชั่วโมงฐานเศรษฐกิจส่งจดหมายถึง “บากบั่น บุญเลิศ” บรรณาธิการอำนวยการหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจและสปริงนิวส์ ในฐานะผู้ดำเนินรายการชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ โดยเนื้อความดังกล่าวสรุปความว่า ขอเสนอแนะผ่านรายการนี้ไปยังรัฐบาลชุดนี้ว่าควรตั้งการชลประทานแห่งชาติโดยรวบรวมหน่วยงานที่บริหารจัดการด้านทรัพยากรน้ำทั้งหมด 42 หน่วยงานจากทุกกระทรวงมารวมอยู่ที่หน่วยงานที่เสนอขึ้น

ขณะเดียวกันผู้ชมรายการชั่วโมงฐานเศรษฐกิจที่แสดงความเห็นผ่านแอพลิเคชั่นไลน์ของฐานเศรษฐกิจนั้น สะท้อนว่ารายการชั่วโมงฐานเศรษฐกิจควรจัดเสวนาโต๊ะกลมเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีน้ำโดยเชิญฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องมาร่วมเสวนาผ่านรายการชั่วโมงฐานเศรษฐกิจด้วย

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2560

รัฐบาลคง Vat 7% อีก 1 ปี! ประกาศราชกิจจามีผลบังคับใช้แล้ว

เมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๖๐ ที่ผ่านมาเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ๖๔๖)พ.ศ. ๒๕๖๐ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มอาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๑๗๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา ๘๐ แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๐)พ.ศ. ๒๕๓๔ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑ พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ๖๔๖) พ.ศ. ๒๕๖๐”

มาตรา ๒ พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ เป็นต้นไป

มาตรา ๓ ให้ยกเลิกคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๖๕/๒๕๕๙เรื่อง การลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม ลงวันที่ ๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๕๙

มาตรา ๔ ให้ลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา ๘๐ แห่งประมวลรัษฎากรและคงจัดเก็บในอัตรา ดังต่อไปนี้

(๑) ร้อยละหกจุดสาม สําหรับการขายสินค้า การให้บริการ หรือการนําเข้าทุกกรณี ซึ่งความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ ถึงวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๑

 (๒) ร้อยละเก้า สําหรับการขายสินค้า การให้บริการ หรือการนําเข้าทุกกรณี ซึ่งความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ เป็นต้นไป

โดยการประกาศดังกล่าว เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี ที่เห็นชอบให้ขยายเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ในอัตรา 6.30% (ไม่รวมภาษีท้องถิ่น) หรืออัตรา 7% (รวมภาษีท้องถิ่น) สำหรับการขายสินค้า การให้บริการ หรือการนำเข้าทุกกรณี ออกไปอีก 1 ปี คือ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2560 ถึง 30 ก.ย. 2561จากเดิมมาตรการดังกล่าวจะหมดอายุลงในวันที่ 30 ก.ย. ที่ผ่านมา

" กระทรวงการคลัง ได้พิจารณาผลกระทบของการขยายเวลาการลดอัตราภาษีดังกล่าวแล้ว โดยในส่วนของประชาชนนั้น จะช่วยลดผลกระทบจากค่าครองชีพและช่วยกระตุ้นการบริโภคมากขึ้น ส่วนผู้ประกอบธุรกิจจะทำให้เกิดความชัดเจนในเรื่องของอัตราภาษี ซึ่งจะมีส่วนช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการประกอบธุรกิจแก่ภาคเอกชนและสามารถวางแผนการบริหารธุรกิจได้อย่างถูกต้อง "

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2560

กรมชลฯลุยเต็มสูบ! เร่งเข็น 5 โครงการน้ำขนาดใหญ่ 4 หมื่นล้าน เข้าครม.ทันสิ้นปีนี้

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมชลประทานอยู่ในระหว่างเร่งรัดดำเนินการเปิดโครงการก่อสร้างระบบชลประทาน ขนาดใหญ่ ตามแผนงานปีงบประมาณ 2561เพื่อให้สอดคล้องตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ปี 2558 – 2569 และยุทธศาสตร์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 20 ปี จำนวน 5 โครงการ วงเงินรวม 40,895 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.โครงการประตูระบายน้ำศรีสองรัก จ.เลย วงเงิน 5,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มพื้นที่ชลประทานรองรับน้ำฝน 72,500 ไร่ และแก้ไขพื้นที่ประสบภัยแล้ง 18,100 ไร่ คาดว่าจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่ออนุมัติเปิดโครงการได้ภายใน 1 – 2 สัปดาห์นี้ 2.โครงการบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่อ.เมืองนครศรีธรรมราช วงเงิน 9,580 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในอ.เมืองนครศรีธรรมราช ให้ลดลง 90% ของพื้นที่ รวมทั้งเพิ่มพื้นที่เก็บกักน้ำ 5 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ซึ่งจะทำให้เกษตรกรได้รับประโยชน์จำนวน 17,400 ไร่ คาดว่าจะเสนอเข้าครม.ได้ภายในวันที่ 24 ตุลาคม 2560

 นายสมเกียรติ กล่าวว่า 3.โครงการอ่างเก็บน้ำวังหีบ จ.นครศรีธรรมราช วงเงิน 2,377 ล้านบาท โดยมีความจุอ่าง 20.1 ล้านลบ.ม. และเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 13,014 ไร่ คาดว่าจะเสนอเข้าที่ประชุมผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯซึ่งมีพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธาน เห็นชอบภายในวันที่ 15 ตุลาคมนี้ จากนั้นจะเสนอเข้าครม.ภายในเดือนพฤศจิกายน 4.โครงการห้วยหลวง จ.หนองคาย วงเงิน 21,000 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ 45,390 ไร่ และเพิ่มน้ำต้นทุน 245.87 ล้านลบ.ม. ครอบคลุมพื้นที่ 315,195 ไร่ คาดว่าจะเสนอเข้าที่ประชุมผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ เห็นชอบภายในวันที่ 15 ตุลาคมนี้ จากนั้นจะเสนอเข้าครม.ภายในเดือนพฤศจิกายน 5.อ่างเก็บน้ำลำน้ำชี จ.ชัยภูมิ วงเงิน 2,938 ล้านบาท โดยมีความจุอ่าง 70.21 ล้านลบ.ม. และเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 75,000 ไร่ คาดว่าจะเสนอเข้าที่ประชุมผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ เห็นชอบภายในวันที่ 30 ตุลาคมนี้ จากนั้นจะเสนอเข้าครม.ภายในเดือนพฤศจิกายน

นอกจากนี้กรมชลประทาน จะเร่งรัดผลักดันโครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล – บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด ภายหลังจากครม.ได้อนุมัติหลักการเตรียมความพร้อมดำเนินโครงการไปเมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา โดยขณะนี้กรมชลประทาน และกระทรวงเกษตรฯอยู่สร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ จากนั้นจะทำการเปิดรับฟังความคิดเห็นคิดของผู้เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมในการปักหลักเขตที่ดินให้เกิดความชัดเจน ควบคู่ไปกับการสำรวจออกแบบ จากนั้นจะประเมินค่าใช้จ่ายของทั้งโครงการ และจะเสนอครม.เพื่ออนุมัติเปิดโครงการ คาดว่าจะใช้เวลาทั้งสิ้น 8-9 เดือนนับจากนี้ และจะดำเนินการก่อสร้างต่อไป

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2560

กรมชลฯ สั่งพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม เฝ้าระวังและรับมือฝนตกหนักอีกระลอก ช่วงวันที่ 2-6 ต.ค.

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า คาดว่าในช่วงวันที่ 2-6 ต.ค. 2560 บริเวณประเทศไทยจะมีฝนตกชุกหนาแน่น กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ และมีลมกระโชกแรงบางแห่ง โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทั้งนี้ เนื่องจากร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง

สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ณ 3 ต.ค. 2560 มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 56,574 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือคิดเป็น 75% ของความจุอ่างฯรวมกันทั้งหมด ปริมาณน้ำมากกว่าปี 2559 รวม 9,303 ล้าน ลบ.ม. เป็นน้ำใช้การได้ 32,755 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 64% สามารถรองรับน้ำได้อีก 18,644 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก มีปริมาณน้ำรวมกัน 17,431 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 70% ของความจุอ่างฯรวมกัน ปริมาณน้ำมากกว่าปี 2559 รวม 2,618 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำใช้การได้ 10,735 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 59% (ปี 2559 มีน้ำใช้การได้ 8,117 ล้าน ลบ.ม.) สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 7,440 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจุบัน (3 ต.ค.) มีปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ 1,853 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 3.28 เมตร มีน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา 1,306 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งบริเวณเหนือเขื่อนได้รับน้ำเข้าสู่คลองฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก รวมทั้ง 2 ฝั่งวันละประมาณ 560 ลบ.ม.ต่อวินาที ทั้งนี้ กรมชลประทาน จะบริหารจัดการน้ำที่อยู่บริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาให้เข้าระบบชลประทานให้มากที่สุดตามศักยภาพของพื้นที่ ก่อนจะกระจายน้ำบางส่วนไปเก็บไว้ในทุ่งแก้มลิงต่างๆ ตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ เพื่อลดปริมาณน้ำจำนวนมากที่จะไหลลงสู่พื้นที่ตอนล่างของแม่น้ำเจ้าพระยา

ในส่วนของการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้น ในช่วงวันที่ 2-6 ต.ค. 2560 กรมชลประทานได้ให้ทุกโครงการชลประทานทั่วประเทศ กำชับเจ้าหน้าในการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมกับให้ตรวจสอบระบบชลประทาน อาคารชลประทาน ให้สามารถรองรับสถานการณ์น้ำได้เต็มศักยภาพ ตามสถานการณ์น้ำที่เป็นจริงในแต่ละช่วงเวลา รวมทั้งบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมอย่างเคร่งครัด สำหรับพื้นที่ที่เคยเกิดน้ำท่วมเป็นประจำ ให้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเครื่องมืออื่นๆ เตรียมพร้อมไว้ด้วยแล้ว

ทั้งนี้ ได้ให้ทุกโครงการชลประทานรายงานสถานการณ์น้ำในพื้นที่ของตนให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด รวมไปถึงฝ่ายความมั่นคง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชน ให้เตรียมรับสถานการณ์น้ำ พร้อมกับให้ติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศที่อาจจะเกิดหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิดด้วย

นายทองเปลว กล่าวว่า สำหรับพื้นที่ลุ่มต่ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่กรมชลประทานได้ส่งเสริมให้ทำการเพาะปลูกไปก่อนแล้วและอยู่ระหว่างเก็บเกี่ยวผลผลิต เพื่อใช้เป็นพื้นที่รองรับน้ำหลาก นั้น ได้มอบหมายให้โครงการชลประทานในพื้นที่บูรณาการร่วมกับจังหวัด ฝ่ายความมั่นคงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าไปดำเนินการประชุมชี้แจงเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มต่ำต่างๆ ให้ชะลอการเพาะปลูกข้าวต่อเนื่อง โดยให้ไปทำการเพาะปลูกพร้อมกันในช่วงต้นฤดูแล้งปี 2560/61

นอกจากนี้ ยังได้ให้ทุกโครงการเตรียมความพร้อมทางด้านเครื่องจักร เครื่องมือ รถแบคโฮ/รถขุด รถเทรลเลอร์ เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ และเครื่องผลักดันน้ำ ในบริเวณพื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมเป็นประจำ เพื่อให้สามารถนำไปช่วยเหลือประชาชน เมื่อเกิดปัญหาน้ำท่วมได้อย่างทันท่วงที จึงขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ของตนอย่างใกล้ชิดด้วย

จาก https://www.khaosod.co.th  วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2560

สรท. คาดส่งออกปีนี้ โตไม่ต่ำกว่า 6% ห่วงเงินบาทยังคงแข็งค่า-สหรัฐกีดกันทางค้า

น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือ สภาผู้ส่งออก กล่าวว่า สภาผู้ส่งออก คาดการณ์การส่งออกทั้งปี 2560 ขยายตัวไม่ต่ำกว่า 6% โดยการส่งออกไตรมาสสุดท้ายเฉลี่ยอยู่ที่ 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ พร้อมกับปัจจัย การขยายตัวของเศรษฐกิจโลก รวมไปถึงประเทศคู่ค้าหลักและคู่ค้าสำคัญดีอย่างต่อเนื่อง

อีกทั้งทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้น ตามราคาน้ำมัน และความต้องการของผู้บริโภคทั้งภายในประเทศและประเทศที่ประสบปัญหาภัยพิบัติมีผลต่อความต้องการนำเข้า ซึ่งมีผลกระทบให้ภาพการส่งออกไทยขยาตัวได้ดี

ทั้งนี้ การคาดการณ์ภาพการส่งออกช่วงไตรมาสสุดท้าย ปัจจัยที่จะมีผลต่อการส่งออกในภาพรวมขยายตัว ก็ยังเป็นปัจจัยเศรษฐกิจโลก และประเทศคู่ค้า เช่น จีน ญี่ปุ่น สหรัฐ กลุ่มประเทศ CLMV ขยายตัว การปรับตัวสินค้าไทยเข้าสู่ Digitization ต่อความต้องการของตลาด ทิศทางสินค้าโภคภัณฑ์ ยังเป็นปัจจัยต่อภาพการส่งออก

ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อการส่งออก เช่น ค่าเงินบาทยังคงแข็งค่า และอาจจะมีความผันผวน การกีดกันทางการค้าของสหรัฐ จากการออกประกาศ เซฟการ์ดกับสินค้าเครื่องซักผ้า อุปสรรคทางด้านโลจิสติกส์ เช่น การขาดแคลนตู้บรรจุสินค้า การยกเลิกเที่ยวเรือ เป็นต้น ปัญหาคาบสมุทรเกาหลีเหนือ ที่จะมีผลกระทบต่อการส่งออก

นอกจากนี้ ก็ยังมีปัจจัยต่อผู้ส่งออกที่ต้องติดตาม ซึ่งอาจจะมีผลกระทบ เพิ่มเติมจากปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อการส่งออก โดยเฉพาะเรื่องของกฎหมายที่มีผลบังคับใช้ คือ พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ 13 พ.ย. 2560 โดยอาจจะกระทบต่อการบริหารจัดการวัตถุดิบขาเข้าของภาคการผลิต นโยบายส่งเสริมลงทุนภาคเอกชน และนักลงทุนต่างชาติ ในโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จะมีเอ็มโอยู 7 ฉบับ เป็นสัญญาณที่ดี แต่อาจจะต้องเฝ้าระวังการเคลื่อนย้ายสินค้าจากจีนตอนใต้เข้าไทย พ.ร.บ.สรรพสามิต อาจกระทบต่อภาคการนำเข้า ส่งออก และพ.ร.บ.การบริหารจัดการน้ำ ระหว่างเกษตรกรและโรงงานอุตสาหกรรม ที่ยังไม่ชัดเจน ซึ่งหากพบว่าทำให้เอกชนมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นโดยไม่เป็นธรรมก็ต้องออกมาคัดค้าน เพราะภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจมีการควบคุมการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดอยู่แล้ว

อย่างไรก็ดี สภาผู้ส่งออกมีข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการติดตามดูแลและแก้ไข เช่น การดูแลและรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาท ไม่ให้แข็งค่าสูงเกินไป เร่งส่งเสริมตลาดอื่นที่มีศักยภาพรองลงมา ควรมีการกำหนดรูปแบบแนวทางการพัฒนาพื้นที่อีอีซี ให้มีความชัดเจน เพื่อส่งเสริมการลงทุน มีการเปิดโอกาสให้เอกชนมีส่วนร่วม มากขึ้นในการออกกฎหมายใหม่ แก้ไข ปรับปรุง พ.ร.บ. กฎกระทรวง ประกาศ เป็นต้น และระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากเป็นเรื่องใกล้ตัวสำคัญ และออกมาก็ไม่ต้องการให้เกิดภาระต่อการส่งออกหรือผู้ประกอบการเอง

สำหรับการส่งออกเดือนส.ค. 2560 มีมูลค่า 21,224 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 13.2% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้การส่งออก 8 เดือนแรก มีมูลค่า 153,623 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโต 8.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

จาก https://www.khaosod.co.th  วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2560

พาณิชย์รื้อกรอบเงินเฟ้อ เคาะทั้งปี’60เป็น0.4-1%

น.ส.พิมชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป หรือ อัตราเงินเฟ้อ ในเดือนกันยายน 2560 ว่า ขยายตัวสูงขึ้น 0.86% เนื่องจากดัชนีราคาในหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ปรับตัวสูงขึ้นทั้งในส่วนของผักสด, ผลไม้ รวมถึงสินค้าในหมวดยานพาหนะค่าขนส่ง ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้น และยังมีในส่วนของการปรับภาษีสรรพสามิตสุราและยาสูบที่เพิ่มขึ้น มีผลต่ออัตราเงินเฟ้อให้ปรับตัวสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ขยายตัวอยู่ที่ 0.59% ผลมาจากดัชนีราคาในหมวดยานพาหนะเป็นสำคัญ โดยอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในระดับดังกล่าวกระทรวงพาณิชย์ไม่ได้มีความกังวล โดยการปรับอัตราภาษีสรรพสามิตสุราและยาสูบใหม่มีผลกระทบโดยรวมต่ออัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเพียง 0.027%

ขณะที่สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่อยู่ในระดับ ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ในช่วงต้นปี โดยราคาเฉลี่ยจะอยู่ที่ 50 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล, อัตราแลกเปลี่ยนที่ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศอยู่ที่ 3.5%

ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์จึงปรับประมาณการกรอบอัตราเงินเฟ้อทั้งปี 2560 เป็น 0.4-1.0% จากเดิมอยู่ที่ 0.7-1.7% ปัจจัยหลักมาจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ไม่สูงขึ้นมากนัก อีกทั้งยังมองว่า มาตรการดูแลค่าครองชีพของรัฐบาลมีส่วนช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนทำให้อัตราเงินเฟ้อทั้งปีไม่สูง

จาก http://www.naewna.com วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2560

กรมชล-กปน.จับมือบริหารน้ำ ร่วมแก้ปัญหาช่วงวิกฤติ‘ประปา’ด้อยคุณภาพ

นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ในความร่วมมือบริหารทรัพยากรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคอย่างยั่งยืนกับการประปานครหลวง (กปน.) เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำ ลดปัญหาปริมาณและคุณภาพน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคอย่างยั่งยืน ในลักษณะการบูรณาการทำงานร่วมกัน โดยจะมีการตั้งคณะทำงานเพื่อร่วมกันใช้ทรัพยากรน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด และประสานงานเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนข้อมูลการจัดทำแผนงานโครงการในอนาคตของทั้ง 2 หน่วยงาน กำหนดแผนและการจัดสรรน้ำสำหรับการผลิตน้ำประปาของการประปานครหลวง ดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกันในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤตการณ์น้ำดิบสำหรับผลิตน้ำประปาด้อยคุณภาพ พิจารณาดำเนินการเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเสริมสร้างทักษะร่วมกัน

นอกจากนี้ กรมชลประทานจะสนับสนุนให้การประปานครหลวงเข้าร่วมเป็นตัวแทนในคณะกรรมการจัดการชลประทาน (Joint Management committee: JMC) ของพื้นที่ลุ่มน้ำทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเกิดประโยชน์สูงสุด สอดคล้องกับภารกิจของกรมชลประทานที่นอกจากจะมีภารกิจในด้านการพัฒนาแหล่งน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทานแล้ว ยังจะต้องบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการให้เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำทุกภาคส่วน รวมทั้งยังสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปีของรัฐบาล ที่กรมชล ประทานได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบยุทธศาสตร์การจัดการน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคอีกด้วย

ด้าน นายปริญญา ยมะสมิต ผู้ว่าการ กปน. กล่าวว่า จากสถิติเมื่อปี 2559 ที่ผ่านมา มีการใช้น้ำไปเพื่อการอุปโภคบริโภคอยู่ที่ 2,172.34 ล้านลูกบาศก์เมตร คาดว่าในปี 2590 จะเพิ่มสูงขึ้นถึง 2,800 ล้านลูกบาศก์เมตร เนื่องจากการเพิ่มของจำนวนประชากร การขยายตัวของภาคบริการด้านการท่องเที่ยว ด้านการค้าขาย ตลอดจนภาคอุตสาหกรรม ซึ่งการลงนามบันทึกความเข้าใจในครั้งนี้ ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่จะนำไปสู่การใช้ทรัพยากรน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่พี่น้องประชาชน ตามนโยบายบำบัดทุกข์บำรุงสุข ของกระทรวงมหาดไทย และจะเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้การบริหารทรัพยากรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเกิดความยั่งยืน และเพียงพอกับความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคตต่อไป

จาก http://www.naewna.com วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2560

บิ๊กตู่เดือดภาษีนํ้า ปัดรีด'เกษตรกร' แจงเก็บรายใหญ่

  "บิ๊กตู่" เดือด! ร่างกฎหมายเก็บภาษีน้ำ ลั่น "กูไปสั่งมันตอนไหนวะ" ยันไม่เคยคิดเก็บค่าน้ำจากเกษตรกร รมว.ทส.เผยนายกฯ งงกับเรื่องนี้ บี้อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำชี้แจงแล้ว "สนช." แจงไม่ใช่การเก็บภาษีแต่เก็บค่าใช้น้ำเฉพาะรายใหญ่ ไม่เก็บจากเกษตรกรรายย่อย รอกรมน้ำวางหลักเกณฑ์ ปชป.ชี้ไทยมีปัญหาจัดการน้ำ จี้รัฐบาลแจงให้ชัด

ที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรกธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) วันที่ 2 ตุลาคม พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรกธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวตอนหนึ่งระหว่างเป็นประธานวันคล้ายวันสถาปนากรมอุทยานแห่งชาติฯ ครบรอบ 15 ปี ถึงกรณีกรมทรัพยากรน้ำจัดทำร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ ซึ่งจะมีการจัดเก็บค่าใช้น้ำว่า ที่อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำออกมาแถลงข่าวเรื่องกฎหมายภาษีน้ำ นายกรัฐมนตรียังงงกับเรื่องนี้ และส่งข้อความหาตนว่า "กูไปสั่งมันตอนไหนวะ" และยังบอกด้วยว่านายกฯ และรัฐบาลไม่เคยคิดให้เก็บค่าใช้น้ำจากเกษตรกร ซึ่งการที่ตนไม่ชี้แจงก่อนหน้านี้เพราะไม่ใช่หน้าที่ของรัฐมนตรีที่เป็นฝ่ายบริหาร แต่เป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติ คือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่พิจารณากฎหมายนี้อยู่

จากนั้น พล.อ.สุรศักดิ์ให้สัมภาษณ์ว่า กรมชลประทานต้องดูแลจัดหาน้ำให้เกษตรกรอยู่แล้ว และที่ผ่านมามีเพียงกรมทรัพยากรน้ำบาดาลที่มีการจัดเก็บค่าใช้น้ำในบางประเภท เช่น การทำอุตสาหกรรม ตนได้ให้อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำชี้แจงประชาชนผ่านสื่อต่างๆ แล้ว หวังว่าจะเข้าใจกันมากขึ้นว่ารัฐบาลไม่มีนโยบายเก็บค่าใช้น้ำ เพราะมีเป้าหมายคือลดต้นทุนในภาคการเกษตรเพื่อช่วยเหลือประชาชน

เมื่อถามว่า หลังจากนี้อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำจะมีสถานภาพอย่างไร พล.อ.สุรศักดิ์กล่าวว่า จากนี้กรมทรัพยากรน้ำจะมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเป็น สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สังกัดสำนักนายกฯ ซึ่งอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำก็ต้องไปด้วย แต่จะไปทำหน้าที่อะไร และโครงสร้างหน่วยงานจะเป็นอย่างไรตนยังไม่ทราบ

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีหลายฝ่ายแสดงความกังวลเกี่ยวกับการเก็บภาษีน้ำตามร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำว่า รัฐบาลไม่มีความประสงค์จะไปเก็บค่าน้ำเกษตรกรรายย่อย วันนี้กฎหมายยังอยู่ในชั้นกรรมาธิการ พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ สมาชิก สนช. ในฐานะประธานกรรมาธิการ, นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช.คนที่ 2, พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ออกมาพูดแล้วตรงกันหมดว่าไม่มี คงต้องดูว่าจะทำอย่างไรในการชี้แจงประชาชนอย่างเป็นทางการ การที่หลายคนให้สัมภาษณ์อาจทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนจนหวาดกลัวกันขึ้นมา มันไม่ได้ไปถึงขนาดนั้น แต่คนที่ใช้มากอาจต้องรับผิดชอบแน่ จากเดิมที่ไม่ต้องรับผิดชอบเลย แต่จะไปรวมถึงชาวนานั้นคงไม่ใช่

ที่รัฐสภา พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ... แถลงว่า ขณะนี้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการออกกฎหมายฉบับนี้ ในเรื่องการเก็บภาษีน้ำ ซึ่งไม่ใช่การเก็บภาษีแต่เป็นเพียงเก็บค่าใช้น้ำเท่านั้น ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนเนื่องจาก กมธ.ยังเห็นว่ามีปัญหาที่จะต้องกลับไปทบทวน เพื่อให้เกิดความรอบคอบและต้องแบ่งประเภทการใช้น้ำให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำ โดย พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำฉบับนี้จะใช้บังคับในเรื่องการใช้น้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะนอกเขตชลประทาน เช่น แม่น้ำ คลอง ห้วย โดยจะไม่เกี่ยวกับการใช้น้ำประปา น้ำบาดาล และน้ำในเขตชลประทานซึ่งมีกฎหมาย 3 ฉบับกำกับอยู่แล้ว คือ พ.ร.บ.ชลประทานหลวง 2485, พ.ร.บ.น้ำบาดาล และ พ.ร.บ.การประปา

"ยืนยันว่าร่างกฎหมายนี้จะไม่มีการเก็บค่าใช้น้ำจากเกษตรกรรายย่อย โดยจะเก็บเฉพาะรายใหญ่เท่านั้น ซึ่งรายละเอียดเรื่องการแบ่งเกษตรกรรายย่อย รายใหญ่ จะต้องออกเป็นกฎกระทรวงอีกครั้ง ซึ่งขณะนี้ได้ให้กรมทรัพยากรน้ำจัดทำหลักเกณฑ์เรื่องการกำหนดประเภทเกษตรกรอยู่ เพราะเดิมกฎกระทรวงที่กรมทรัพยากรน้ำเสนอมาแบ่งประเภทเกษตรกรโดยกำหนดจากจำนวนไร่ และจำนวนสัตว์เลี้ยงเพียงอย่างเดียว ซึ่ง กมธ.เห็นว่าเป็นรายละเอียดที่ยังไม่ครอบคลุมเพียงพอ" พล.อ.อกนิษฐ์กล่าว

พล.อ.อกนิษฐ์กล่าวอีกว่า จากเดิมที่มีข่าวว่ากฎหมายฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ปลายเดือนตุลาคม ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนส่งผลกระทบต่อเกษตรกร แม้กฎหมายฉบับนี้จะผ่านชั้นรับหลักการมาแล้วในวันที่ 2 มี.ค.60 ซึ่งเป็นวันก่อนที่รัฐธรรมนูญจะประกาศใช้ จึงยังไม่ได้มีการรับฟังความเห็นจากประชาชน แต่เมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้ว กมธ.ก็ได้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 ในการออกไปรับฟังความเห็นจากประชาชนและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ขณะนี้รับฟังความเห็นแล้ว 29 จังหวัด ซึ่งทุกพื้นที่เห็นด้วยในการไม่ให้เก็บค่าใช้น้ำจากเกษตรกรรายย่อย นอกจากนี้ในวันที่ 17-18 ต.ค.จะไปรับความเห็นจากประชาชนในพื้นที่จังหวัดสงขลา ดังนั้นคาดว่ากฎหมายฉบับนี้จะเสร็จในเดือนมกราคม 2561 จากนั้นจะต้องมีการออกกฎกระทรวงรองรับการประกาศใช้กฎหมายฉบับดังกล่าวอีก 27 ฉบับ ดังนั้นคาดว่าจะต้องใช้เวลาอีกพอสมควรกว่ากฎหมายจะบังคับใช้ได้อย่างสมบูรณ์

ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายกรณ์ จาติกวณิช ประธานกรรมการนโยบายพรรคประชาธิปัตย์และคณะทำงานด้านน้ำ แถลงถึงกรณีร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ ที่อยู่ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ สนช.ว่า ทีมนโยบายพรรคได้ศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องทรัพยากรน้ำมาโดยตลอด พบว่าแท้จริงแล้วประเทศไทยไม่ได้มีปัญหาการขาดแคลนน้ำ เพราะปริมาณน้ำฝนที่ตกในประเทศแต่ละปีมีมากกว่าปริมาณน้ำที่ต้องใช้ ดังนั้นต้นตอของปัญหาเรื่องน้ำที่แท้จริงอยู่ที่ "ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำ" ที่บางช่วงเยอะเกินไปจนท่วมและบางช่วงน้อยเกินไปจนแล้ง

นายกรณ์กล่าวว่า ทีมนโยบายพรรคจึงขอเสนอแนวคิดต่อรัฐบาลดังต่อไปนี้ 1.ขอให้รัฐบาลแถลงความชัดเจนว่าจะไม่เก็บค่าน้ำจากเกษตรกรรายย่อย รวมถึงชี้แจงรายละเอียดของนิยามการเป็นเกษตรกรรายย่อย และเกณฑ์สำหรับเกษตรกรที่ปลูกเพื่อการพาณิชย์ตามมาตรา 39 ร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ 2.ขอให้รัฐบาลนำรายได้ค่าน้ำของภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการมาเป็นรายได้ตรง (Earmarked Tax) ต่อการพัฒนาแหล่งน้ำชุมชน การอนุรักษ์แหล่งน้ำและการสนับสนุนการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ

3.ขอให้รัฐบาลปฏิรูปกฎหมายน้ำควบคู่กับการปฏิรูปองค์กรด้านน้ำ เพื่อให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรน้ำทั้ง 33 หน่วยงานสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนผู้เป็นเกษตรกรอย่างแท้จริง 4.ขอให้รัฐบาลเร่งรัดการขยายพื้นที่ชลประทานที่ปัจจุบันมีเพียงร้อยละ 30 ของพื้นที่เพาะปลูกให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ภาคอีสาน โดยจัดให้มีระบบการเก็บกักน้ำที่ทั่วถึงและเพียงพอ และ 5.ขอให้รัฐบาลพิจารณาเช่าพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากในฤดูน้ำหลากเป็นพื้นที่กักเก็บน้ำ และใช้น้ำจากพื้นที่นี้สำหรับพื้นที่เกษตรบริเวณใกล้เคียง.

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2560

'ทีดีอาร์ไอ'หนุนทุ่มอีอีซีแนะจัดแพ็กเกจจูงใจมากกว่าลดภาษี 

          ทีดีอาร์ไอหนุนโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ชี้ช่วยขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 มีโอกาสสำเร็จมากกว่า ทุกโครงการที่ผ่านมา พร้อมแนะออกแบบแพ็กเกจจูงใจรายสาขามากกว่าแค่เรื่องภาษี โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ไทยได้เปรียบ เพื่อนบ้าน

          นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในงานสัมมนาสาธารณะในหัวข้อ "เช็กเครื่องยนต์อีอีซี พร้อมขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0" ว่า โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี เป็นโครงการเพื่อขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 ที่มาถูกทาง แก้ไขข้อผิดพลาดของนโยบาย ก่อนหน้า และมีโอกาสสำเร็จมากกว่าทุกโครงการที่ผ่านมา

          รัฐบาลควรศึกษาโครงการอย่างละเอียดให้รอบด้านทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ลงทุนอย่างรอบคอบ เลือกเฉพาะโครงการที่คุ้มค่า มองว่าสนามบินอู่ตะเภา รถไฟทางคู่ และมอเตอร์เวย์ น่าจะได้รับการพัฒนาตามแผนที่วางไว้ ส่วนรถไฟความเร็วสูง เมืองใหม่ และมหาวิทยาลัยระดับโลกยังเป็นความท้าทาย

          สำหรับการอำนวยความสะดวกการลงทุน โครงการอีอีซีต้องให้สิทธิประโยชน์เพื่อดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย และควรออกแบบแพ็กเกจจูงใจรายสาขา หรือรายอุตสาหกรรมแบบครบวงจร ทั้งการสนับสนุนการวิจัย การพัฒนาทักษะแรงงาน และการแก้ไขกฎระเบียบ เพื่อตอบโจทย์นักลงทุน แสดงถึงความพยายามของรัฐที่ต้องการให้เกิดการลงทุนในแต่ละอุตสาหกรรม

          อุตสาหกรรมที่น่าจะลงทุนมากคือสาขาที่ไทยสามารถสร้างความได้เปรียบเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง เช่น ท่องเที่ยว ยานยนต์และชิ้นส่วน และบริการสุขภาพในขณะที่อุตสาหกรรมใหม่ เช่น การซ่อมบำรุงเครื่องบิน โลจิสติกส์ และออโตเมชั่น

          "อีอีซีควรมุ่งปลดล็อกปัญหาด้านกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค ที่ผ่านมาสิทธิประโยชน์ทางภาษีช่วยดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายได้บ้าง แต่มีต้นทุนสูงและประสิทธิผลจำกัด จากนโยบายที่ผ่านมาประเทศไทยเสียรายได้จากการยกเว้นภาษีการลงทุนเพื่อดึงดูดนักลงทุนไปถึง 220,000 ล้านบาท แต่อีอีซีหากรัฐสามารถตอบโจทย์ความต้องการนักลงทุนได้จะส่งให้ประเทศไทยก้าวกระโดดไปอีกหลายขั้น" นายสมเกียรติกล่าว

          ด้านนายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า รัฐบาลพยายามดำเนินการอีอีซีอย่างเต็มที่ เห็นจากนายกรัฐมนตรีต้อนรับนักลงทุนญี่ปุ่นจำนวน 600 คน เมื่อเดือนก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งมีหลายรายให้ความสำคัญที่จะเข้ามาลงทุน

          ขณะนี้มีหลายโครงการลงนามลงทุนแล้ว อาทิ ศูนย์พัฒนาบุคลากร อิเล็กทรอนิกส์หุ่นยนต์ ของซูมิโตโม่ และการบินไทยลงนามกับ แอร์บัสก่อสร้างศูนย์ซ่อมอากาศยานที่สนามบินอู่ตะเภา เป็นต้น

          ในขณะที่พ.ร.บ.อีอีซี จะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ พร้อมกันนี้ 5 โครงการสำคัญของอีอีซีจะแล้วเสร็จตามกำหนดเดิมใน 5 ปี ส่วนท่าเรือ และสนามบิน สำเร็จใน 7 ปี

 จาก https://www.khaosod.co.th   วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2560

อธิบดีใหม่กรมชลฯยืนยัน 10ปีพื้นที่อีอีซีไม่ขาดแคลนน้ำ

จากที่มีข่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรีสั่งเบรกโครงการซื้อไฟฟ้าและผันนํ้าจากโครงการสร้างเขื่อนสตึงมนัมของกัมพูชาเพื่อป้อนโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี) เนื่องจากพบมีราคาที่สูง และได้สั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กลับไปศึกษาอย่างละเอียดนั้น “ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ“สมเกียรติ ประจำวงษ์”ว่าที่อธิบดีกรมชลประทานคนใหม่ถึงที่มาที่ไปของโครงการนี้ รวมถึงแผนงานของกรมชลฯในระยะต่อไป

++งบศึกษา25ล้าน

“สมเกียรติ” กล่าวว่า โครงการซื้อไฟฟ้าและผันนํ้าจากโครงการสตึงมนัมของกัมพูชานั้น นโยบายของนายกรัฐมนตรีให้ไปทบทวนเรื่องผลการศึกษาโครงการของกระทรวงพลังงานและกรมทรัพยากรนํ้าอย่างละเอียดและให้มีความชัดเจนก่อนที่จะนำไปสู่การปฏิบัติ เพราะใช้วงเงินสูง แค่ระบบท่อก็ประมาณ 3 หมื่นล้านบาทแล้วดังนั้นจำเป็นที่จะต้องศึกษาลงรายละเอียดถึงพื้นที่ความต้องการนํ้าในอีอีซีว่าอยู่ที่ใดบ้าง และจะเอานํ้าไปให้ใครบ้างขอเวลาศึกษาตรงนี้ โดยมีงบประมาณ 25 ล้านบาท ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องการจัดสรรนํ้าในภาคตะวันออกที่ต้องทบทวนใหม่ คาดจะใช้เวลา 8-12 เดือน

“ต้องมีความรอบคอบ เพราะพื้นที่ในอีอีซี มี 3 จังหวัด ได้แก่ ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา ไม่ว่าต้นนํ้าแต่ละสายจะอยู่ที่ไหน ท้ายสุดจะเชื่อมโยงเครือข่ายนํ้าเป็นอันเดียวกัน เนื่องจากนํ้าเวลาอยู่ต้นนํ้า ไม่ได้อยู่เฉพาะ 3 จังหวัด เช่น ฉะเชิงเทราเอานํ้ามาจากปราจีนบุรีก็ได้ ชลบุรีและระยองเป็นนํ้าก้อนเดียวกัน ระยองต้องไปสนับสนุนชลบุรี ชลบุรีจริงๆ นํ้าไม่เพียงพอ ต้องเอานํ้าจากลุ่มเจ้าพระยาเข้ามาช่วย ส่วนระยองก็สามารถนำนํ้าไปช่วยชลบุรีได้ ถามว่าในอนาคตความต้องการใช้นํ้าจะเพิ่มขึ้นหรือไม่ถ้าไม่มีอีอีซีเลยข้อเท็จจริงก็จะเพิ่มขึ้น โดยในระยะ 20 ปีความต้องการใช้นํ้าในภาคตะวันออกจะเพิ่มขึ้น 245ล้านลูกบาศก์เมตรจากปัจจุบันที่มีความต้องการใช้นํ้า 325 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี แต่ถ้าหากมีอีอีซี มีการประเมินความต้องการนํ้าจะมากกว่า 400 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี”

++10ปีนํ้าอีอีซีไม่ขาดแคลน

 ว่าที่อธิบดีกรมชลฯ ยืนยันว่า 10 ปีจากนี้ในพื้นที่อีอีซีรับรองไม่ขาดแคลนนํ้า ยกเว้นปริมาณนํ้าฝนตกน้อยเฉลี่ย 2-3 ปีต่อเนื่อง อย่างนี้อาจจะมีปัญหา เช่นปี 2548 เป็นต้นแต่ในปีที่ 11-20 ได้มีการประมาณการเอาไว้การใช้นํ้าในพื้นที่อีอีซีจะสูงมาก ตรงนั้นจะนำมาประเมินว่าจริงหรือไม่ พื้นที่ต้องการใช้นํ้าจริงๆ อยู่ตรงไหน เพื่อให้ได้ข้อมูลสัดส่วนการใช้นํ้าในภาคเกษตร อุตสาหกรรม และอุปโภคบริโภค

 อย่างไรก็ดีในขณะนี้มีนํ้าสำรองภาคตะวันออกประมาณ 100 ล้านลูกบาศก์เมตร เพราะปีนี้นํ้าค่อนข้างดี ทางกรมจึงได้ถือโอกาสในการลงทุนเพื่อเพิ่มความจุของอ่างเก็บนํ้าในพื้นที่อีอีซีอาทิ อ่างเก็บนํ้าคลองสียัด(ฉะเชิงเทรา)อ่างเก็บนํ้าหนองปลาไหล(ระยอง)ขณะที่ในพื้นที่ใกล้เคียงอีอีซีคือจันทบุรีถือว่าโชคดีมากที่มีการสร้างอ่างเก็บนํ้าคลองประแกด ความจุ 60.26 ล้านลูกบาศก์เมตรในลุ่มนํ้าวังโตนด(คาดแล้วเสร็จปี 2561)รวมถึงมีโครงการสร้าง3 อ่างเก็บนํ้าใหม่ในพื้นที่จันทบุรีที่เตรียมงบไว้แล้ว 2,500 ล้านบาทได้แก่ อ่างเก็บนํ้าคลองพะวาใหญ่ ความจุ 68ล้านลูกบาศก์เมตร อ่างเก็บนํ้าแก่งหางแมว ความจุ 80 ล้านลูกบาศก์เมตร และอ่างเก็บนํ้าคลองวังโตนด ความจุ 99 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมความจุทุกโครงการกว่า 300 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งในอนาคตวางแผนจะผันนํ้าไปพื้นที่อีอีซี ประมาณ 100 ล้านลูกบาศก์เมตรและจะพัฒนาเพิ่มความจุได้อีก100 ล้านลูกบาศก์เมตรในอ่างเก็บนํ้าที่มีอยู่แล้ว

 “การพัฒนาแหล่งนํ้าขึ้นมาใหม่จะต้องให้คนได้ใช้นํ้าควบคู่กันระหว่างภาคเกษตรและอุตสาหกรรม ซึ่งถ้าทำอาจจะติดป่าบ้าง ก็ต้องไปถามกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะอนุโลมบ้างได้หรือไม่ ถ้าสามารถสร้างได้100% จะทำให้เพิ่มแหล่งนํ้าภาคตะวันออกความจุถึง 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่บางพื้นที่ที่ดินเอกชนราคาแพงมาก ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะสู้ราคาไหวหรือไม่ แต่ถ้าสู้ก็ยั่งยืนต่อไปนโยบายกรมจะดูนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลเกิดขึ้นที่ไหนจะทำแผนบริหารจัดการนํ้าควบคู่กันไปโดยแผนทั้งหมดนี้บรรจุอยู่ในแผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการนํ้า 20 ปี

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ชะลอซื้อน้ำตาล ลอยตัวราคาถูก

อุตสาหกรรมอาหาร-เครื่องดื่มชะลอซื้อนํ้าตาล รอหลัง 1 ธ.ค.ลอยตัว หวังได้ราคานํ้าตาลทรายถูกลงขณะที่วงการนํ้าตาลทั้งภาครัฐ โรงงานนํ้าตาล ชาวไร่อ้อย ระดมวิธีคำนวณราคาอ้อยเบื้องต้น พร้อมถกปัญหาผลที่จะเกิดขึ้นกับการชำระหนี้ชาวไร่ที่เหลือ 5,800 ล้านบาท เพื่อไม่ให้ขัด WTO ยังไม่ได้ข้อยุติ

 นับถอยหลังลอยตัวราคานํ้าตาลในประเทศ อิงราคาตลาดโลกนับตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคมนี้ เป็นต้นไป โดยระบบโควตาก. (นํ้าตาลสำหรับบริโภคภายในประเทศ) โควตา ข. (นํ้าตาลดิบที่ส่งออกโดยบริษัทอ้อยและนํ้าตาลไทยฯ) และโควตา ค. (นํ้าตาลดิบหรือนํ้าตาลทรายที่ส่งออกโดยโรงงานนํ้าตาล) จะไม่มีระบบโควตาอีกต่อไป โดยราคานํ้าตาล ที่เคยบริโภคภายในประเทศ จะต้องอิงกับราคาตลาดโลก

 ต่อเรื่องนี้แหล่งข่าวจากวงการผลิตนํ้าตาลเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้คำสั่งซื้อหรือการจองปริมาณนํ้าตาลจากโรงงานอุตสาหกรรมสำหรับปี2560/2561 มีการชะลอการสั่งซื้อหรือจองล่วงหน้า โดยเฉพาะจากโรงงานผลิตอาหารและเครื่องดื่ม สำหรับใช้ตลอดปี จากเดิมทุกปีในช่วงไตรมาส 3 และ 4 จะเริ่มคำสั่งซื้อหรือการจองล่วงหน้าเข้ามาแล้ว โดยสัดส่วนการใช้นํ้าตาลในภาคอุตสาหกรรมมีมากถึง 70% ของปริมาณนํ้าตาลที่บริโภคภายในประเทศที่มีปริมาณรวมทั้งสิ้น 2.6 ล้านตัน สัดส่วนที่เหลือเป็นการบริโภคในภาคครัวเรือน

 ทั้งนี้ในช่วงที่ผ่านมาโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการซื้อนํ้าตาลสูงสุดในลำดับต้นๆ เมื่อปี2559 เช่น บริษัทไทยนํ้าทิพย์ฯ 1.79 ล้านกระสอบ, บริษัทโอสถสภาฯ 5.37 แสนกระสอบ, บริษัทเสริมสุขฯ 2.18 แสนกระสอบ, บริษัท เอกชัยฯ 3.53 แสนกระสอบ และบริษัทอายิโนะโมะโต๊ะฯ 3.07 แสนกระสอบ เป็นต้น

สำหรับสาเหตุที่โรงงานอุตสาหกรรมชะลอการสั่งซื้อนํ้าตาลมาจาก 2 เหตุผลหลักคือ โรงงานผลิตอาหารและเครื่องดื่มรอจังหวะซื้อนํ้าตาลหลังวันที่ 1 ธันวาคม ไปแล้ว เนื่องจากราคานํ้าตาลในประเทศจะลอยตัวตามราคาตลาดโลก สอดคล้องกับจังหวะที่ราคานํ้าตาลในตลาดโลกในขณะนี้มีราคาตกตํ่าลง โดยราคานํ้าตาลทรายขาวที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม ขณะนี้ราคาในตลาดโลกวิ่งอยู่ที่ 380 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ยังไม่รวมไทยพรีเมียม ซึ่งไทยพรีเมียมจะมากหรือน้อยจะขึ้นอยู่กับดีมานด์-ซัพพลายนํ้าตาล ถ้าดีมานด์น้อยไทยพรีเมียมจะลงมาอยู่ที่ 30 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน และถ้าดีมานด์มากไทยพรีเมียมจะอยู่ที่ 70-100 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ซึ่งหลังประกาศลอยตัวราคานํ้าตาลในประเทศมีการคาดการณ์ว่า แนวโน้มราคานํ้าตาลทรายขาวจะตํ่าลงจากปัจจุบันอีก เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาราคานํ้าตาลทรายขาวสูงกว่า 400 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน

 ส่วนราคานํ้าตาลดิบเมื่อปี 2559 อยู่ที่ระดับราคาเฉลี่ย 24 เซ็นต์ต่อปอนด์ ล่าสุดราคานํ้าตาลดิบในตลาดโลกลงมาอยู่ที่ 13-14 เซ็นต์ต่อปอนด์ 2.วิธีการจำหน่ายของโรงงานนํ้าตาลยังไม่ชัดเจน และรอดูว่าภาครัฐจะมีแนวทางอย่างไรกับระบบการขายในประเทศ และการกำหนดราคาในประเทศหลังจากที่ราคานํ้าตาลลอยตัวแล้ว

“เป็นห่วงว่าต่อไปโรงงาน นํ้าตาลอาจจะส่งออกดีกว่าขายในประเทศ เพราะส่งออกขายได้ล็อตใหญ่กว่า”

แหล่งข่าวจากวงการนํ้าตาลอีกรายให้ข้อมูลว่า ในวันที่ 1 ธันวาคม 2560 ราคานํ้าตาลใน ประเทศจะลอยตัวแล้ว แต่ปัญหาในอุตสาหกรรมอ้อยและนํ้าตาลยังไม่ได้ข้อยุติอีกหลายส่วน เช่น เรื่องการคำนวณราคาอ้อยเบื้องต้นว่าจะเป็นอิงราคาตลาดลอนดอน No.5 บวกราคาไทยพรีเมียม หรือน่าจะใช้การตั้งราคาสินค้าจากต้นทุนบวกกําไร (Cost plus) ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ เหล่านี้ยังเป็นเพียงความเห็นจากแต่ละฝ่ายอยู่ และรอเข้าพิจารณาในคณะกรรมการอ้อยและนํ้าตาลทราย ภายในเดือนตุลาคมนี้

 นอกจากนี้การลอยตัวราคา นํ้าตาลจะทำให้นํ้าตาลในประเทศขาดแคลนไม่ได้ เบื้องต้นก็หารือกันว่าจะต้องใช้วิธีการสต๊อกนํ้าตาลทราย (บัฟเฟอร์ สต๊อก) เพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงป้องกันภาวะนํ้าตาลทรายในประเทศขาดแคลน ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคภายในประเทศได้ ซึ่งคณะกรรมการอ้อยและนํ้าตาลทราย(กอน.)จะต้องออกระเบียบการสต๊อกนํ้าตาลให้ชัดเจน ซึ่งขณะนี้ยังไม่ชัดเจน ส่วนกระทรวงพาณิชย์จะดูในเรื่องของราคา

 แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ปัจจุบันกระทรวงพาณิชย์ควบคุมราคานํ้าตาลทรายขายปลีกอยู่ที่ 23-24 บาทต่อกิโลกรัม ถ้าลบ 5 บาทออกไปราคานํ้าตาลหน้าโรงงานในประเทศจะอยู่ที่ 18-19 บาทต่อกิโลกรัม (ยังไม่รวมค่าขนส่งค่าหีบห่อ) ตรงนี้ที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า ชาวไร่อ้อยจะอยู่ไม่ได้ เพราะที่ผ่านมา เงิน 5 บาทที่บวกอยู่ในราคานํ้าตาลนั้นถูกหักออกไปใช้หนี้ธ.ก.ส.

“หากเงินส่วนนี้หายไป ภาระหนี้ ณ เดือนธันวาคม 2560 จะมียอดหนี้ที่ต้องชำระธ.ก.ส. อีกราว 5,800 ล้านบาท ที่กองทุนอ้อยและนํ้าตาลกู้ธ.ก.ส.มาตั้งแต่ปี2558/2559 วงเงินต้น 15,000 ล้านบาท เพื่อมาเพิ่มค่าอ้อยให้ชาวไร่ 160 บาทต่อตัน แล้วนำเงิน 5 บาทไปชำระหนี้ทุกเดือน ตรงนี้ยังเป็นปัญหาเพราะตามกำหนดจะชำระหมดมิถุนายน 2561 ที่ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป ซึ่งแนวทางทั้งหมดจะต้องอยู่ภายใต้กรอบที่ไม่ขัดกับข้อตกลงองค์การการค้าโลกหรือWTO”

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2560

เตือนไร่อ้อยระวัง‘ด้วงหนวดยาว’ ย้ำทำลายผลผลิตหนัก-จับตาเข้มจนถึงเมษายนปีหน้า

ไร่อ้อย ด้วงหนวดยาว          

นายสมคิด เฉลิมเกียรติ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืชจังหวัดสุพรรณบุรี เปิดเผยว่า ขอให้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยเฝ้าระวังการระบาดของด้วงหนวดยาวอ้อย โดยเฉพาะตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน 2560 ไปจนถึงเดือนเมษายน 2561 ซึ่งด้วงหนวดยาวจะระบาดกระจายอยู่ทั่วทุกพื้นที่โดยเฉพาะในเขตที่ปลูกอ้อยเป็นดินทราย หรือดินร่วนปนทราย โดยตัวอ่อนด้วงหนวดยาวจะกัดกินราก ทำลายเหง้า และเจาะลำต้นติดกับเหง้าแล้วกินเข้าไปในเนื้ออ้อย ทำให้ใบอ้อยมีสีเหลือง และแห้งตายคล้ายกับอ้อยขาดน้ำ อ้อยปลูกใหม่จะเข้าทำลายในท่อนพันธุ์ที่ปลูก ทำให้หน่อไม่งอกหรืองอกก็แห้งตาย ซึ่งด้วงหนวดยาวสามารถเข้าทำลายอ้อยได้ตั้งแต่ระยะแตกกอ จนถึงใกล้เก็บเกี่ยว การแก้ไขปัญหาโดยการใช้สารเคมี นอกจากทำให้ได้ผลไม่ดีเท่าที่ควรแล้วยังเป็นอันตรายต่อเกษตรกรผู้ใช้และยังส่งผลให้สภาพแวดล้อมเป็นพิษ

เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวและลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืชจังหวัดสุพรรณบุรี ขอแนะนำให้เกษตรกรต้องหมั่นสำรวจแปลงอ้อยตั้งแต่เดือนธันวาคม 2560 ถึงเดือนเมษายน 2561 หากพบว่าตัวอ่อนด้วงหนวดยาวมากกว่า 1 ตัว ต่อความยาวของแถวปลูกอ้อย ประมาณ 1 เมตร แนะนำให้ไถรื้อแปลงลึก 50-60 ซม. แล้วเก็บตัวหนอนมาทำลายหรือนำมาประกอบเป็นอาหารรับประทาน นอกจากนี้ ควรปลูกพืชหมุนเวียนเพื่อตัดวงจรการระบาด ใช้เชื้อราเมตาไรเซียม (เชื้อสด) ฉีดพ่นหรือโรยบนท่อนพันธุ์อ้อยที่ปลูกใหม่แล้วกลบดิน ส่วนอ้อยตอแนะนำให้ขุดเป็นร่องใกล้ตออ้อย แล้วฉีดพ่นเชื้อราเมตาไรเซียมแล้วกลบดิน และในช่วงประมาณปลายเดือนเมษายน ถึงเดือนมิถุนายน ดักแด้ของด้วงหนวดยาวจะออกมาเป็นตัวเต็มวัยแนะนำให้ขุดหลุมดัก เพื่อกำจัดตัวเต็มวัยก่อนวางไข่ พร้อมกันนั้นควรปรับปรุงดินโดยการใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยพืชสด เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้สารเคมี แนะนำให้ฉีดพ่นด้วยสาร Fipronil (Asscend 5% SC) อัตรา 80 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร ฉีดบนท่อนพันธุ์อ้อยแล้วกลบดิน ส่วนอ้อยตอแนะนำให้ขุดร่องข้างแถวอ้อยแล้วฉีดพ่นสารเคมีแล้วกลบดิน

นายสมคิดกล่าวอีกว่า ขณะนี้ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืชจังหวัดสุพรรณบุรี ได้ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดกาญจนบุรี จัดอบรมเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยในจังหวัดกาญจนบุรีให้มีความรู้เกี่ยวกับการป้องกันกำจัดศัตรูอ้อยที่สำคัญโดยเฉพาะด้วงหนวดยาว

โดยสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร.0-3544-0926-7 ทุกวันในเวลาราชการ

จาก http://www.naewna.com วันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ฝนหลวง’ขับเคลื่อนแผน5ปี ลั่นสร้างองค์กรสู่ความสำเร็จ

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่ากรมฝนหลวงและการบินเกษตร เป็นกรมจัดตั้งใหม่ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีภารกิจหลักในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำในชั้นบรรยากาศ ให้เกิดฝนในปริมาณและการกระจายที่เหมาะสม การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการทำฝน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในชั้นบรรยากาศ และการดัดแปรสภาพอากาศแก้ไขภัยพิบัติ

 อันเนื่องมาจากความผันแปรของภูมิอากาศและสภาวะโลกร้อน โดยมีบุคลากรจากหลากหลายหน่วยงาน ซึ่งอาจมีความคิด ความเชื่อ หรือแนวปฏิบัติที่แตกต่างกัน ดังนั้น การที่หน่วยงานที่ต้องการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ดำเนินงานไปสู่เป้าหมายตามวิสัยทัศน์ คือ เป็นองค์กรชั้นนำในระดับโลกด้านการดัดแปรสภาพอากาศตามศาสตร์ของพระราชา ภายในปี 2579 จึงต้องเสริมสร้างวัฒนธรรมที่สอดคล้องกับกลยุทธ์ขององค์การ เพื่อเป็นสิ่งที่หล่อหลอมให้บุคลากรมีพฤติกรรมที่สามารถสนับสนุนการดำเนินการต่างๆ ให้องค์การบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้

กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จึงได้ดำเนินการเสริมสร้างวัฒนธรรมองค์กร โดยมีการจัดทำแผนวัฒนธรรมองค์กรระยะ 5 ปี เพื่อกำหนดทิศทางและแนวทางในการเสริมสร้างให้บุคลากรของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร มีพฤติกรรมตามแนวทางของวัฒนธรรมองค์กรที่พึงประสงค์ของกรม เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์ต่างๆ ของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ รวมทั้งยังเป็นการเสริมสร้างให้บุคลากรมีรูปแบบพฤติกรรมการทำงานและแนวคิดทัศนคติที่ดีเป็นไปในทิศทางเดียวกันอีกด้วย นายสุรสีห์ กล่าวทิ้งท้าย

จาก http://www.naewna.com วันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ทางเลือกใหม่เกษตรไทย..บ.เอกชนหัวใส ใช้ “โดรน” พ่นยา-หว่านปุ๋ยแทนแรงงานคนลดผลกระทบเพียบ

อ่างทอง - บริษัทเอกชนหัวใส..ใช้ “โดรน” สร้างทางเลือกใหม่ในการทำเกษตรยุคไทยแลนด์ 4.0 ด้วยการสาธิตวิธีการใช้โดรน พ่นยา และหว่านปุ๋ยในนาข้าวทางอากาศ เพิ่มความสะดวก รวดเร็ว และลดผลกระทบจากการสัมผัสสารเคมีของเกษตรกร คิดอัตราค่าบริการ 120 บาทต่อไร่ เผยสามารถพ่นยาและปุ๋ยในเนื้อที่นา 10ไร่ โดยใช้เวลา 10 นาที

 วันนี้ ( 2 ต.ค.) ชาวนาใน อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง กว่า100 คน ได้พากันมารวมตัวที่บริเวณแปลงนาข้าวกลางทุ่งนาหมู่ 2 ต.ตลาดใหม่ อ.วิเศษชัยชาญ ซึ่งเป็นของ นายชโลม ยอดทอง ผู้ใหญ่บ้าน ม. 2 เจ้าของ ที่กำลังสาธิตวิธีการพ่นยา หว่านปุ๋ย ในแปลงนาข้าวทางอากาศ โดยใช้โดรนเป็นอุปกรณ์สำคัญ

 นายชโลม เผยว่าโดยปกติแล้วการฉีดยาหว่านปุ๋ยในแปลงนาข้าว จะใช้คนซึ่งมีค่าจ้างต่อหัวอยู่ที่ราคาไร่ละ 50 บาท แต่เมื่อมีบริษัทดังนำเครื่องมือไฮเทค ซึ่งก็คือ “โดรน” เข้ามาทำการสาธิตพ่นยาและหว่านปุ๋ยในแปลงนา โดยมีต้นทุนอยู่ที่ราคาไร่ละ 120 บาท ก็พบว่าประสิทธิภาพดีกว่าการใช้แรงงานคน ซึ่งคาดว่าในอนาคตจะมีการใช้โดรน เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือทางการเกษตรอย่างแน่นอน

 ด้านนายพันธ์เลิศ ศรีอุไร เจ้าหน้าที่บริษัท สเตเวีย เทคนิว (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าการสาธิตฉีดปุ๋ยและยาฆ่าแมลง โดยใช้โดรนเพื่อการเกษตร ถือเป็นทางเลือกหนึ่งในการใช้เครื่องมือแบบใหม่ที่มีความสะดวก รวดเร็วและไวต่อการพ่นยา ซึ่งเนื้อที่นา10ไร่ จะใช้เวลาประมาณ 10นาที ผลดีคือจะไม่มีการเหยียบย่ำตนข้าวจนเกิดความเสียหาย และลดอันตรายจากการฟุ้งกระจายของสารเคมีที่มีผลต่อผู้พ่นยา

 โดยโดรน ที่บริษัทฯนำมาใช้ในการรับจ้างทำการเกษตร คิดอัตราค่าบริการเพียง 120 บาทต่อไร่ ซึ่งชาวนาจะใช้ยาและปุ๋ยของตนเองได้ตามสะดวก แนวคิดนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำเกษตรของไทย เพื่อนำพาเกษตรกร ก้าวสู่ยุคเกษตรกร 4.0 ต่อไป

จาก https://mgronline.com  วันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2560

จากอ้อยอินทรีย์ สู่น้ำตาลออร์แกนิก

โดย เบ็ญจวรรณ รัตนวิจิตร รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้วางยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ปี 2560-2564 โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ในปี 2564 กว่า 1 ล้านไร่ โดยเฉพาะการเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยอินทรีย์ ซึ่งปัจจุบันยังมีอยู่น้อยในขณะที่โรงงานน้ำตาลมีความต้องการอ้อยอินทรีย์เป็นวัตถุดิบ เพื่อนำไปผลิตเป็นน้ำตาลออร์แกนิกป้อนตลาดต่างประเทศที่มีแนวโน้มความต้องการสูง

กรมวิชาการเกษตร จึงได้ร่วมกับกลุ่มวังขนายเพื่อจัดทำโครงการความร่วมมือผลิตอ้อยอินทรีย์และอ้อยสะอาดปลอดภัย ซึ่งจากการทำงานร่วมกันกับกลุ่มวังขนายมาตั้งแต่ปี 2555 โดยการจัดอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีการผลิตอ้อยอินทรีย์อย่างถูกต้อง การจัดทำแปลงเรียนรู้แปลงต้นแบบการผลิตอ้อยอินทรีย์ตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์

สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีเกษตรกรร่วมโครงการอ้อยอินทรีย์รวมทั้งหมด 1,223 ราย เป็นพื้นที่ประมาณ 27,427 ไร่โดยเฉพาะใน จ.มหาสารคาม มีเกษตรกรที่ปลูกอ้อยอินทรีย์จำนวน 283 ราย เป็นพื้นที่ประมาณ 4,554 ไร่ และที่ผ่านการตรวจรับรองมาตรฐาน Organic Thailand ของกรมวิชาการเกษตรแล้วจำนวน 90 ราย รวมพื้นที่ 1,502 ไร่ ได้ผลผลิตอ้อยอินทรีย์ 15,086 ตัน ซึ่งนับเป็นโรงงานน้ำตาลแห่งแรกในประเทศไทยที่ผลิตอ้อยอินทรีย์และน้ำตาลออร์แกนิกมาตรฐาน Organic Thailand ของกรมวิชาการเกษตร

นอกจากนี้ ได้มีการลงนามความร่วมมือในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตอ้อยอินทรีย์ สุขภาพดี มีรายได้เพิ่ม ภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่างกรมวิชาการเกษตรและกลุ่มวังขนาย ประกอบด้วย 3 เรื่องหลัก คือ 1.การขยายพื้นที่ปลูกอ้อยอินทรีย์เพื่อขยายพื้นที่ปลูกอ้อยที่งดการใช้สารเคมีทุกชนิด โดยไม่ใช้พันธุ์อ้อยจากการตัดต่อพันธุกรรม และร่วมฟื้นฟู อนุรักษ์ สภาพแวดล้อมระบบนิเวศและทรัพยากรธรรมชาติ จนทำให้เป็นผลผลิตทางการเกษตรที่ยั่งยืน 2.การผลิตอ้อยและน้ำตาลปลอดภัยโดยใช้มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรดีที่เหมาะสม หรือ GAP เพื่อควบคุมการใช้สารเคมีเท่าที่จำเป็นในการปลูกอ้อยโรงงาน เพื่อผลิตน้ำตาลที่ปลอดภัยให้กับผู้บริโภค ลดมลพิษจากการเผาอ้อย โดยรณรงค์ส่งเสริมให้เกษตรกรตัดอ้อยสดและ 3.การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ยในแปลงอ้อย โดยให้เกษตรกรสามารถผสมปุ๋ยใส่แปลงปลูกอ้อยตามผลวิเคราะห์ตัวอย่างดิน เป็นการใช้ปุ๋ยอย่างประหยัด มีประสิทธิภาพ ป้องกันการเสื่อมสภาพของดิน และลดต้นทุนการผลิตอ้อยโรงงาน

บุญญฤทธิ์ ณ วังขนาย ผู้จัดการทั่วไป กลุ่มวังขนาย กล่าวว่า ที่ ผ่านมาทางกลุ่มวังขนายได้จัดทำโครงการปลูกอ้อยอินทรีย์เป็นเวลานานกว่า 10 ปีแล้ว จนสามารถผลิตน้ำตาลออร์แกนิกจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ เริ่มจำหน่ายครั้งแรกในปี 2554 โดยผ่านการรับรองมาตรฐานของประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (EEC 483/2007) มาตรฐานของประเทศสหรัฐ (USDA-NOP) มาตรฐานของประเทศญี่ปุ่น (Japan Agriculture Standard; JAS) และมาตรฐานของประเทศเกาหลี (Korean Organic)

ทั้งนี้ สามารถผลิตน้ำตาล ออร์แกนิกได้จำนวน 1.5 หมื่นตัน จำหน่ายในประเทศประมาณ 75% และอีก 25% จำหน่ายในประเทศแถบเอเชียและยุโรป ได้แก่ เกาหลีใต้ ฮ่องกง มาเลเซีย สิงคโปร์ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี โอเชียเนีย และนิวซีแลนด์ โดยกลุ่มวังขนายตั้งเป้าภายใน 3-5 ปีนี้ จะเพิ่มปริมาณอ้อยอินทรีย์ให้ได้ถึงร้อยละ 30 ของปริมาณอ้อยทั้งหมดของกลุ่มวังขนาย เพื่อนำไปผลิตเป็นน้ำตาลออร์แกนิกส่งจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศครับ

ปัจจุบันกลุ่มวังขนายมีความพร้อมในการพัฒนาผลิตอ้อยอินทรีย์และอ้อยสะอาดปลอดภัย เนื่องจากได้มีเจ้าหน้าที่คอยดูแลติดตามและตรวจประเมินแปลงเบื้องต้น โดยใช้ระบบควบคุมภายใน (CIS : Internal Control System) ก่อนที่จะตัดอ้อยอินทรีย์เข้าหีบเพื่อผลิตเป็นน้ำตาลออร์แกนิก

นอกจากนี้ ยังได้สนับสนุนปัจจัยการผลิต เช่น ฟิลเตอร์เค้ก และสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ โดยในกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับรองมาตรฐานอ้อยอินทรีย์แล้วนั้น ทางกลุ่มวังขนายจะเพิ่มค่าอ้อยให้อีก 100 บาท/ตัน

ส่วนกลุ่มเกษตรกรที่อยู่ในระยะปรับเปลี่ยนจะเพิ่มค่าอ้อยให้ 50 บาท/ตัน และปัจจุบันก็ยังมีการเก็บตัวอย่างดินจากแปลงปลูกอ้อยของเกษตรกรมากกว่า 2 หมื่นตัวอย่าง เพื่อส่งให้กรมวิชาการเกษตรได้แนะนำเรื่องการใช้ปุ๋ยตามผลวิเคราะห์ตัวอย่างดิน ซึ่งจะเป็นการใช้ปุ๋ยอย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพ และประหยัดค่าใช้จ่าย โดยทางกรมวิชาการเกษตรและกลุ่มวังขนายจะนำข้อมูลที่ได้รับเพื่อไปพัฒนาแอพพลิเคชั่นการใช้ปุ๋ยกับการผลิตอ้อยร่วมกันในอนาคต

ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้างการเติบโตให้กับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในระยะยาวและยั่งยืน สอดรับกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกที่ให้ความสำคัญกับสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

จาก http://www.posttoday.com   วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2560

“ไบโอไทย” วิเคราะห์หากเก็บค่าน้ำเกษตรกร “กลุ่มล๊อบบี้นโยบาย”ได้ประโยชน์ ชี้กลุ่มใดกระทบมากที่สุด –สนช.เต้น! นัดเคลียร์พรุ่งนี้

ไบโอไทย เปิดรายละเอียดกลุ่มเกษตรกร ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด หากมีการเก็บค่าน้ำจากภาคเกษตรกร พบกลุ่มพืชไร่ "อ้อย" ที่ใช้ปริมาณน้ำ 1,626 ลบ.เมตร/ไร่ จะต้องชำระค่าน้ำ 813 บาท/ไร่ ส่วนกลุ่มพืชผัก "หน่อไม้ฝรั่ง" ที่ใช้น้ำ 2,538 ลบ.ม./ไร่ จะต้องชำระค่าน้ำ 1,269 บาท/ไร่ ชี้ “กลุ่มล๊อบบี้นโยบาย”จ่อได้ประโยชน์ ด้าน กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ นัดแถลงข่าว ย้ำไม่มีแนวคิดเก็บค่าน้ำเกษตรกรพรุ่งนี้ หลัง "บิ๊กฉัตร"ย้ำรัฐบาล-นายกฯ ไม่มีแน่นอน

วันนี้(1 ต.ค.) มีรายงานว่า เช้าวันนี้ เพจเฟซบุ๊ก ไบโอไทย "มูลนิธิชีววิถี" เผยแพร่รายละเอียดของกลุ่มเกษตรกร ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด หากมีการเก็บค่าน้ำจากภาคเกษตรกร ตามที่มีการเสนอข่าวว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เตรียมออกพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ… ซึ่งหากมีผลบังคับผู้ที่ทำการเกษตร และเลี้ยงสัตว์เพื่อการพาณิชย์ อาจต้องจ่ายค่าน้ำไม่เกิน 50 สตางค์ต่อลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) นั้น

โดยพบว่า กลุ่มพืชไร่ อ้อยที่ใช้ปริมาณน้ำ 1,626 ลบ.เมตร/ไร่ จะต้องชำระค่าน้ำ 813 บาท/ไร่ ส่วนกลุ่มพืชผัก หน่อไม้ฝรั่ง ที่ใช้น้ำ 2,538 ลบ.ม./ไร่ จะต้องชำระค่าน้ำ 1,269 บาท/ไร่

ไบโอไทย ระบุว่า กฎหมายเก็บค่าน้ำจากภาคเกษตร ซึ่งมาจากการผลักดันของธนาคารโลก ธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย กลุ่มล๊อบบี้นโยบายการเกษตรในประเทศอุตสาหกรรมที่พบว่าราคาสินค้าเกษตรของตนไม่สามารถแข่งขันกับประเทศกำลังพัฒนา/เศรษฐกิจเกิดใหม่ได้รวมทั้งนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักในประเทศไทยจำนวนหนึ่ง กำลังเข้าใกล้ความจริงมากที่สุด

การใช้ทรัพยากรน้ำอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ การสร้างความเป็นธรรมในการใช้ทรัพยากรเป็นเรื่องจำเป็น แต่ต้องไม่อยู่บนพื้นฐานของการทำให้ทรัพยากรน้ำกลายเป็นสินค้า และผลักภาระทั้งหมดของผู้ที่เกี่ยวข้องและได้ประโยชน์จากระบบเกษตรและอาหารไปยังเกษตรกรรายย่อย

สำหรับชาวนาที่ต้องอาศัยน้ำชลประทานในการทำนา การเก็บค่าน้ำเหมือนถูกหักหลัง เนื่องจากรัฐเองเป็นคนผลักดันให้พวกเขาเปลี่ยนจากการทำนารอบเดียวโดยอาศัยน้ำฝนมาเป็นการทำนาหลายครั้ง จากการเปลี่ยนพันธุ์ข้าว สร้างระบบชลประทานเพื่อส่งเสริมการผลิตตามแนวทางการปฏิวัติเขียว แต่แล้วในที่สุดรัฐกลับหักหลังพวกเขาโดยเก็บค่าน้ำเพื่อทำนา นอกเหนือจากที่ต้องเพิ่มต้นทุนจากการใช้ปุ๋ยเคมี และสารเคมีเพิ่มมากขึ้นๆเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ต้องการ ในขณะเดียวกันชุมชนชาวนาไม่สามารถกลับไปสู่วิถีการเกษตรแบบเดิมได้อีก เพราะการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานและการทำลายระบบนิเวศเกษตรเดิมโดยรัฐเอง

ผู้เกี่ยวข้องอ้างว่าร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ กำลังอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็น แต่ภายใต้บรรยากาศทางการเมืองที่เป็นอยู่ ร่างกฎหมายแย่ๆสามารถโผล่พรวด 3 วาระรวดและออกมาบังคับใช้โดยที่เราไม่ทันตั้งตัวหลายต่อหลายฉบับ

เสียงของเกษตรกรและผู้ที่ได้รับผลกระทบจะมีความหมายเพียงใด ?

มีรายงานด้วยว่า ขณะที่ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงว่า ขณะนี้ร่างพ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของสนช. จริง แต่ยังไม่มีการหยิบหยกมาตรการเก็บค่าใช้น้ำจากเกษตรกรมาหารือกัน จึงเป็นการด่วนสรุปเร็วเกินไปว่าจะเก็บค่าใช้น้ำจากเกษตรกร และรัฐบาลชุดนี้ไม่มีแนวคิดจะเก็บค่าน้ำกับเกษตรกรอย่างแน่นอน เพราะเป็นการเพิ่มภาระให้กับเกษตรกร สวนทางกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการลดต้นทุนให้กับเกษตรกร

นอกจากนี้ที่ผ่านมาการประชุมของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ซึ่งมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในทุกๆ ครั้ง ได้เน้นย้ำเสมอไม่ให้เพิ่มภาระให้กับเกษตรกรด้วยการเก็บค่าใช้น้ำ.

ขณะที่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้บรรจุ ร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ ในชั้นคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณา ซึ่งคาดว่าน่าจะเสร็จเรียบร้อยในต้นปี 2561 โดยหลักการและสาระสำคัญคือ ต้องการให้บริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ที่เดียวกัน โดยจะลดค่าใช้จ่าย เพื่อลดต้นทุนให้กับเกษตรกร และเพิ่มกำไรในผลผลิต ยกเว้นเกษตรกรรายใหญ่ที่มีพื้นที่เป็นหลักพันหลักหมื่นไร่ว่า สมควรเก็บหรือไม่ รวมถึงโรงงานอุตสาหกรรม ที่ปัจจุบันเก็บอยู่ตามกฎหมายน้ำบาดาล

มีรายงานว่า วันที่ 2 ต.ค.นี้ พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ สมาชิก สนช. ในฐานะประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ จะได้แถลงข่าวในเรื่องนี้อีกครั้ง.

จาก https://mgronline.com  วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2560

พีระศักดิ์ยันไม่เก็บภาษีน้ำ ลั่นเอาตำแหน่งเป็นเดิมพัน

"พีระศักดิ์" รองประธาน สนช. ยันไม่เก็บภาษีน้ำเกษตรกรรายย่อย มีแต่จะลดเพื่อลดต้นทุนช่วยเพิ่มผลผลิต ลั่นเอาตำแหน่งเดิมพัน

นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 2 กล่าวถึง การเก็บภาษีน้ำกับกลุ่มเกษตรกร และกลุ่มอุตสาหกรรมว่า ร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ อยู่ในชั้นคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณา ซึ่งคาดว่าน่าจะเสร็จเรียบร้อยในต้นปี 2561 ทั้งนี้ โดยหลักการ และสาระสำคัญ คือต้องการให้บริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ที่เดียวกัน

 สำหรับข่าวที่ออกมาว่าจะมีการเก็บภาษีน้ำกับเกษตรกรนั้น ยืนยันร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่มีรัฐบาลใดจะเพิ่มค่าใช้จ่ายให้แก่เกษตรกร มีแต่จะลดค่าใช้จ่าย เพื่อลดต้นทุนให้กับเกษตรกร จะได้มีกำไรในผลผลิต ยกเว้นเกษตรกรรายใหญ่ที่มีพื้นที่เป็นหลักพัน หลักหมื่นไร่ ว่าสมควรเก็บหรือไม่ รวมทั้งโรงงานอุตสาหกรรมด้วย ซึ่งตามปกติเขาก็เก็บอยู่แล้ว ตามกฎหมายน้ำบาดาล แต่การเก็บค่าน้ำจากเกษตรกรรายย่อยนั้น ยืนยันไม่มีแน่นอน ทั้งรัฐบาล และกมธ.ไม่มีความคิดนี้

 นายพีระศักดิ์ กล่าวอีกว่า ขอให้ประชาชนมั่นใจว่าไม่มีทางเก็บภาษีน้ำกับเกษตรกรรายย่อยแน่นอน ทั้งนี้จากการลงพื้นที่ของสนช. ที่ จ.สุรินทร์ เมื่อวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา ก็มีประชาชนสอบถามเรื่องดังกล่าวด้วย ซึ่งก็ได้ยืนยันแล้วว่า ไม่มีแน่นอน และ วันที่ 2 ต.ค.นี้ พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ สมาชิกสนช. ในฐานะประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ จะได้แถลงข่าวในเรื่องนี้ อีกครั้ง

 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่ สนช.ลงพื้นที่ ร่วมรับฟังการเสนอประเด็นปัญหาที่ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ นายพีระศักดิ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า“ขณะนี้มีการกระจายข่าวทั่วประเทศว่า รัฐบาลเสนอกฎหมายเก็บภาษีน้ำจากเกษตรกร ขอยืนยันว่า เป็นไปไม่ได้ เพราะไม่มีรัฐบาลไหนอยากเพิ่มภาระให้เกษตรกร มีแต่จะช่วยลดภาระ ผมขอเอาหัวเป็นประกัน ถ้ากฎหมายนี้ออกจากสนช. แล้วมีการเก็บภาษีน้ำจากเกษตรกร ผมกับครูหยุย (วัลลภ ตั้งคณานุรักษ์) จะขอลาออกจากสนช. ทันที " รองประธาน สนช. กล่าว

จาก https://mgronline.com  วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ไทยผงาดพลังงานอาเซียน ASEAN Power Grid เชื่อม 4 ปท.

การประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน และพิธีมอบรางวัล ASEAN Energy Awards 2017 ที่กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ประเทศไทยสร้างความโดดเด่น โดยเฉพาะการพัฒนาพลังงานทดแทน ควบคู่ไปกับการลดการใช้พลังงาน โดยภาคเอกชนสามารถนำโครงการต่าง ๆ คว้าหลายรางวัลในครั้งนี้

อาเซียนชูเพิ่มพลังงานทดแทน

ประเทศไทย ถือเป็นผู้นำในการพัฒนาพลังงานทดแทนในอาเซียน โดย พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวภายหลังการร่วมประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียนว่า การประชุมครั้งนี้มุ่งติดตามความคืบหน้าแผนงานต่าง ๆ อาเซียนมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนร้อยละ 23 ของการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายภายในปี 2568 ซึ่งปัจจุบันลดการใช้ได้แล้วกว่าร้อยละ 14

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือถึงทิศทางการใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่แต่ละประเทศมีการใช้เพิ่มขึ้น และหารือถึงความร่วมมือที่จะเพิ่มอำนาจการต่อรองในการซื้อของภูมิภาคนี้ รวมถึงการปรับตัวรองรับเทคโนโลยีด้านพลังงานที่เปลี่ยนไป นอกจากนี้ ได้มีการหารือระดับทวิภาคีระหว่างไทยกับสิงคโปร์ ซึ่งจะเป็นเจ้าภาพการประชุมครั้งหน้าด้วย

สำหรับฟิลิปปินส์ในฐานะประเทศเจ้า ภาพในปีนี้ระบุว่า ฟิลิปปินส์มีปัญหาการจัดระบบโลจิสติกส์ เนื่องจากภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นเกาะแก่ง รวมถึงอัตราค่าไฟฟ้าแพงกว่าไทยถึง 2 เท่า ขณะนี้ได้กระจายเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าเพื่อลดความเสี่ยงจากการใช้ พลังงานประเภทใดประเภทหนึ่งเท่านั้น

ไทยกวาด 19 รางวัลพลังงาน

ภายใน งานมีกิจกรรมมอบรางวัล ASEAN Energy Awards ซึ่งกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้ดำเนินการคัดเลือกผู้ประกอบการไทยที่มีการพัฒนาระบบภายในองค์กรให้เพิ่ม ประสิทธิภาพการใช้พลังงานผ่านการประกวด Thailand Energy Awards ขึ้นเป็นประจำทุกปี ก่อนจะส่งเข้าประกวดในเวที ASEAN Energy Awards โดยในปี 2560 นี้คว้ารางวัลได้ 19 รางวัล ถือว่า “มากที่สุด” ในเวทีครั้งนี้

สำหรับ 19 รางวัลจาก ASEAN Energy Awards แบ่งเป็นด้านพลังงานทดแทน รวม 9 ผลงาน เช่น บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) ในโครงการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะ หรือ RDF กำลังผลิต 60 เมกะวัตต์ จุดแข็งคือ การนำขยะจากชุมชน ฯลฯ มาเป็นเชื้อเพลิงร่วมในเตาเผาปูนเม็ดทดแทนถ่านหิน และส่วนที่เหลือนำมาเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า โครงการดังกล่าวลงทุน 3,967 ล้านบาท ได้รับส่วนเพิ่มค่าไฟ (adder) อยู่ที่ 3.50 บาท/กิโลวัตต์รวมถึงบริษัท มิตรผล ไบโอฟูเอล จำกัด (สาขาชัยภูมิ) ในโครงการเอทานอลมิตรผล ภูเขียว ซึ่งมีกากน้ำตาล (โมลาส) 200,000 ตัน/ปี นำมาเพิ่มมูลค่าผลิตเอทานอลขายให้ผู้ค้าน้ำมัน และมีผลพลอยได้จากการผลิตเอทานอล คือ วีนัส (Vinasses) นำไปแจกให้เกษตรกร เพื่อเป็นสารปรับปรุง และฟูเซลออยล์ (fusel oil) นำไปเป็นสารตั้งต้นการผลิต ด้านการอนุรักษ์พลังงานรวม 10 ผลงาน เช่น อาคารศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ที่ปรับปรุงอาคาร ตั้งค่าอุณหภูมิเครื่องทำความเย็นให้เหมาะสม ออกแบบระบบปรับอากาศให้ส่งลมเย็นแตกตามเฉพาะตู้เพื่อลดการใช้พลังงาน

ดันความร่วมมือซื้อขายไฟฟ้า

ในการประชุมครั้งนี้ยังมีการลงนามซื้อขายไฟฟ้า Energy Purchase and Wheeling Agreement (EPWA) สำหรับโครงการ Lao PDR, Thailand and Malaysia-Power Interconnection Project หรือ LTM-PIP ระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกับรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (ฟฟล.) และ Tenaga Nasional Berhad (TNB) ระหว่างการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านพลังงาน (ASEAN Minister on Energy Meeting and its Associated Meetings : AMEM) ครั้งที่ 35 ด้วย โครงการนี้อยู่ภายใต้กรอบบันทึกความเข้าใจในการบูรณาการด้านไฟฟ้าระหว่าง สปป.ลาว ไทย และมาเลเซีย (LTM-PIP MOU) เมื่อ 21 กันยายน 2559 ในการประชุม AMEM ครั้งที่ 34 โดยมีเป้าหมายให้มีการขายไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ไปยังมาเลเซีย ผ่านระบบส่งของไทย 100 เมกะวัตต์

โครงการ LTM-PIP เป็นความร่วมมือของ 4 ประเทศ ได้แก่ สปป.ลาว ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ตามแผนของ ASEAN Power Grid (APG) โดยในระยะที่ 1 (ปี 2561-2562) จะส่งไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ไปยังมาเลเซีย โดยผ่านระบบส่งของไทย จากนั้นในระยะที่ 2 (ปี 2563 เป็นต้นไป) จะส่งไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ไปยังสิงคโปร์ โดยผ่านระบบส่งของไทยและมาเลเซีย

เขย่าแผนพีดีพียกแผง

จากนโยบายพลังงานทดแทนที่มีความคืบหน้าค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ทำให้การใช้ไฟฟ้าจากระบบของทั้ง 3 กิจการ คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ลดน้อยลง ด้านนายกรศิษฐ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ในระหว่างปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ ของประเทศ หรือ PDP (Power Development Plan 2558-2579) ซึ่งภาพของการใช้พลังงานเปลี่ยนไปค่อนข้างมาก แต่สิ่งสำคัญคือการประเมินอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือ GDP จะมีทิศทางอย่างไร เพราะตามแผนเดิมมีการคาดการณ์ว่าจะขยายตัวถึงร้อยละ 3 แต่กลับไม่ขยายตัวตามที่คาดการณ์เอาไว้

“เขย่าพีดีพีใหม่ยกแผง ต้องมีตัวเลขยืนยันชัดเจนว่าสัดส่วนพลังงานทดแทนจะต้องเพิ่มสัดส่วนจากเดิม หรือไม่ ส่วนจะกระทบต่อกำลังผลิตใหม่ในส่วนของ กฟผ.คงต้องรอความชัดเจนจากการปรับแผนพีดีพีครั้งนี้”

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ธนาคารโลกเปิดรายงานศก.เอเชียตะวันออก4ต.ค.

ธนาคารโลกเตรียมเปิดตัว รายงานวิเคราะห์เศรษฐกิจเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก 4 ต.ค.นี้

ธนาคารโลกเตรียมเปิดตัวรายงานเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก (EAP Economic Update) ซึ่งเป็นบทวิเคราะห์เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาค โดยเป็นการรายงานทุก 6 เดือน ในวันที่ 4 ตุลาคมนี้ โดยรายงานฉบับดังกล่าว จะวิเคราะห์ภาพรวมด้านเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา ในภูมิภาคเชียตะวันออกและแปซิฟิก ในเรื่องแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจ ท่ามกลางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ทั้ง นโยบายการค้าของประเทศคู่ค้าสำคัญที่ยังคงไม่แน่นอน ความกดดันด้านภูมิรัฐศาสตร์โลกที่เพิ่มขึ้น รวมถึงความเป็นไปได้ ที่ภาวะทางการเงินโลกจะตึงตัว โดยหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลก ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก และจะมีการนำเสนอความเห็น เรื่องแนวโน้มเศรษฐกิจและโอกาสของภูมิภาค รวมถึงโครงการด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลไทย และการเชื่อมโยงระหว่างประเทศไทยกับประเทศCLMV

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2560