http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล(เดือนตุลาคม 2561)

ฝนหลวงฯ เร่งเติมน้ำกักเก็บใน 17 แห่ง รับมือแล้งปี’62

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ตามที่กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้รับการร้องขอรับบริการฝนหลวงจากเกษตรกร และอาสาสมัครฝนหลวงในพื้นที่ และได้รับประสานจากกรมชลประทาน เรื่อง การเติมน้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักให้มีเพียงพอสำหรับฤดูแล้งในปีถัดไปนั้น กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ให้ความสำคัญและปฏิบัติการช่วยเหลือ ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน ถึงวันที่ 29 ตุลาคม 2561 โดยขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 874 เที่ยวบิน ใช้สารฝนหลวง 751.5 ตัน เพื่อเติมน้ำให้เขื่อนสำคัญ ได้แก่ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่ ปฏิบัติการ จำนวน 22 วัน ทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อน จำนวน 10.359 ล้านลูกบาศก์เมตร

นายสุรสีห์กล่าวว่า จากแผนคาดการณ์ จำนวน 10 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมมีปริมาตรน้ำในอ่าง 125.22 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 48% ของความจุอ่าง ซึ่งสูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปี 2560 คิดเป็น 5% และเขื่อนลำตะคอง จ.นครราชสีมา ปฏิบัติการจำนวน 30 วัน ทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อน จำนวน 266.83 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 85 ของความจุอ่าง ซึ่งสูงกว่าในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2560 ร้อยละ 24 นอกจากนี้ สำหรับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำขนาดกลางบางส่วน อาทิ อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำลาด จ.นครสวรรค์ อ่างเก็บน้ำห้วยยาง จ.สระแก้ว เป็นต้น กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ยังคงปฏิบัติการช่วยเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักต่อไป โดยกำชับเจ้าหน้าที่ ให้ระมัดระวังและหลีกเลี่ยงพื้นที่การเกษตรที่กำลังเก็บเกี่ยวในช่วงนี้

นายสุรสีห์กล่าวว่า สำหรับการติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ ตามที่คณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ (WMSC) กรมชลประทานได้ขอให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรช่วยเติมน้ำให้กับอ่างเก็บน้ำ จำนวน 17 แห่ง อาทิ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนลำมูลบน อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำลาด อ่างเก็บน้ำห้วยโป่ง และอ่างเก็บน้ำกระเสียว

”กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้เร่งปฏิบัติตามแผนขยายเวลาปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือและคลี่คลายสถานการณ์น้ำต่อไป จนถึงกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ เพื่อช่วยให้พี่น้องเกษตรกรและประชาชนมีปริมาณน้ำเก็บกักรองรับการใช้เพื่อทำการเกษตรและอุปโภคบริโภคในฤดูแล้งที่กำลังมาถึงอย่างเพียงพอ” นายสุรสีห์กล่าว

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 31 ตุลาคม 2561

“อุตตม” เล็งเคาะแผนงานอีอีซีปี 62 วาดเป้าดึงลงทุน 11 อุตฯ เป้าหมายแสนล้านบาท

“อุตตม” นั่งหัวโต๊ะประชุมบอร์ดอีอีซีชุดเล็กพรุ่งนี้ (1 พ.ย.) เตรียมพิจารณาแผนงานอีอีซีปี 2562 แย้มกำหนดเป้าลงทุน 11 อุตสาหกรรมเป้าหมายในอีอีซีไม่ต่ำกว่าแสนล้านบาท เร่งเครื่องแผนงานวิจัยและพัฒนามุ่งเน้นการแปรรูปสินค้าเกษตรโดยเฉพาะ EFC พร้อมเร่งรัดการหาพื้นที่เคลียร์ผังเมืองให้เสร็จใน 6 เดือนหวังรองรับการลงทุนเพิ่มก่อนชงนายกฯ เคาะ 12 พ.ย.

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการตรวจเยี่ยมสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ซึ่งตั้งอยู่ที่บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT Tower เขตบางรัก ว่าวันที่ 1 พ.ย.นี้คณะกรรมการบริหารเฉพาะกิจเพื่อบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ที่มีตนเป็นประธานจะพิจารณาแผนงานการดำเนินงานของ สกพอ.ในปี 2562 ภาพรวมก่อนนำเสนอให้คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเห็นชอบในวันที่ 12 พ.ย.ต่อไป

ทั้งนี้ จากการหารือเบื้องต้นแผนงานสำคัญที่จะดำเนินการในปี 2562 ประกอบด้วย 1. การกำหนดเป้าหมายการสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในพื้นที่อีอีซี ในปี 2562 ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 11 อุตสาหกรรม ซึ่งจากการหารือเบื้องต้นคาดว่าจะก่อให้เกิดการลงทุนไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท โดยทาง สกพอ.จะมีการพิจารณาลงรายละเอียดแต่ละอุตสาหกรรม 2. การกำหนดแผนจัดกิจกรรมชักจูงนักลงทุน หรือโรดโชว์ ที่จะเป็นเชิงรุก ซึ่งจะต้องพบปะและเชิญชวนผู้ลงทุนโดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เน้นรายใหญ่ก่อนเพื่อก่อให้เกิดการลงทุนแบบกลุ่มอุตสาหกรรม (คลัสเตอร์) ตามมา

3. แผนการใช้พื้นที่ในอีอีซี ซึ่งตาม พ.ร.บ.อีอีซีได้กำหนดระยะเวลาที่จะมีความชัดเจนถึงพื้นที่ต่างๆ ภายใต้กรอบผังเมืองจะแล้วเสร็จใน 1 ปี อย่างไรก็ตาม ได้มอบหมายให้เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 6 เดือนเพื่อให้นักลงทุนได้รับทราบถึงพื้นที่การลงทุนล่วงหน้า 4. แผนงานการดูแลด้านสิ่งแวดล้อมที่จะมีการประสานการดำเนินงานร่วมกับทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่คาดว่าการจัดทำแผนดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายใน 3 เดือน

5. การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาและเพิ่มศักยภาพคนด้านเทคโนโลยีรองรับ โดยเฉพาะให้เน้นในเรื่องของการดำเนินการเกษตรแปรรูป ซึ่งไทยมีศักยภาพสูงโดยเฉพาะการดำเนินโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก(EFC) ที่บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) จะเป็นแกนหลักในการทำห้องเย็นเพื่อเพิ่มมูลค่าผลไม้ไทยในบริเวณอีอีซี ฯลฯ ที่จะเชื่อมโยงเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) รวมถึงการต่อยอดสินค้าเกษตรที่เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) 6. แผนประชาสัมพันธ์โครงการอีอีซี ที่มุ่งเน้นการให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับรู้โครงการถึงการสร้างประโยชน์ต่างๆ ในประเทศที่ให้เข้มข้นมากขึ้น

จาก  https://mgronline.com  วันที่ 31 ตุลาคม 2561

เอกชนขานรับยกเลิกต่อใบ รง.4 มั่นใจเป็นตัวบีบโรงงานคุณภาพต่ำเข้าระบบ

กนิษฐ์ เมืองกระจ่าง ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และคมนาคม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก และกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้า ส.อ.ท. มั่นใจการยกเลิกต่อใบอนุญาต รง.4 ส่งผลดีจะเป็นตัวสกรีนโรงงานไม่ได้มาตรฐานเข้าระบบ หลังต้องส่งรายงานประเมินละเอียดยิบ ลิ้งค์ข้อมูลจากการร้องเรียน และชุมชนโดยรอบหากเจอรายงานเท็จฟันโทษหนัก พร้อมจัดทำเป็น Big Data เหมือนจีน เหมาะกับประเทศพัฒนาแล้วที่ปฎิรูปอุตสาหกรรมสู่ 4.0 ดึงการลงทุนไม่ยาก

หลังจากที่ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม อยู่ระหว่างการปรับแก้ พ.ร.บ. โรงงาน (พ.ศ.2535) โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เพื่อยกเลิกการต่อใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) ทุกประเภทที่ต้องต่ออายุทุกๆ 5 ปีนั้น และได้กำหนดวิธีการขึ้นมาใหม่ โดยการให้โรงงานอุตสาหกรรมส่งข้อมูลแบบอิเล็กทรอนิกส์ และรับรองตนเอง เป็นการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตทางราชการ (พ.ศ. 2558)

ขณะเดียวกันยังลดภาระและความยุ่งยากในการขอต่อใบอนุญาตและประกอบกิจการโรงงาน เพิ่มระดับความน่าเชื่อถือในการลงทุนในประเทศให้มีลำดับที่ดีขึ้น จะส่งผลมีการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ยกระดับการประกอบกิจการโรงงานด้านการผลิต ความปลอดภัย และการจัดการมลพิษของโรงงาน มีข้อมูลการประกอบกิจการโรงงานที่สามารถพัฒนาไปสู่ Big Dataเพื่อใช้ในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม

นายวิกรม วัชระคุปต์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ใบอนุญาตประกอ[โรงงานควรที่จะต้องมีอายุ ไม่ควรที่จะเป็นตลอดชีพเหมือนใบขับขี่ ถึงรัฐจะใช้ว่าเป็นการยกเลิกต่อใบอนุญาต แต่ในทางปฏิบัติและวิธีแล้วนั้น กรอ. ยังคงต้องมีเจ้าหน้าที่ตรวจประจำปีเข้าไปตรวจโรงงานเช่นเดิม เพียงแต่เปลี่ยนจากเจ้าหน้าที่รัฐ เป็น Third party และยังต้องส่งรายงานด้านความปลอดภัยและด้านสิ่งแวดล้อม (Self Declare) และตรวจประเมินตนเอง (Internal Salf Audit) เป็นประจำทุกปี

อย่างไรก็ตามแม้จะเป็นเรื่องการอำนวยความสะดวก และตัดปัญหาเรื่องการค้างใบอนุญาตโดยการเรียกรับสินบนจากในอดีตที่เคยเกิดขึ้น แต่ในท้ายที่สุดแล้วอยู่ที่กลไกของรัฐจะกำกับดูแล และบังคับใช้กฏหมายกับโรงงานได้มากน้อยขนาดไหน หากทำได้นั่นถึงจะเพอร์เฟค ดังนั้นการยกเลิกต่อใบอนุญาตดังกล่าวรัฐต้องมีกลไกการกำกับดูแล มีความโปร่งใส มีการตรวจสอบ ที่ต้องมีความเข้มงวด

“อย่างโรงงานเหล็กที่เก่าๆ ทำให้เกิดมลพิษมากๆรัฐจะควบคุมมันยังไง ทุกอย่างถือว่าดีแต่การกำกับดูแลมันทำได้มีประสิทธิภาพและเป็นไปตามกฏหมายหรือไม่ เราห่วงแค่ตรงนี้ อีกอย่างที่กังวลอย่างโรงงานเก่าที่ไม่ต่อใบอนุญาตแล้วขายโรงงานทิ้งให้รายใหม่รัฐจะกำกับเรื่องเหล่านี้ยังไง และเราเองยังไม่เห็นในรายละเอียดว่าวิธีการ และสิ่งที่รัฐกำลังแก้ใน พ.ร.บ. โรงงาน 2535 คืออะไรบ้าง”

นางกนิษฐ์ เมืองกระจ่าง ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และคมนาคม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เอกชนเห็นด้วยและมองว่าการยกเลิกต่อใบอนุญาตดังกล่าวจะส่งผลดีในเรื่องข้อมูลเชิงลึก ที่แต่ละโรงงานจะต้องนำส่งให้ กรอ. เพราะเมื่อโรงงานส่งรายงานเข้าไปแล้ว กรอ. จะเช็คข้อมูลว่าโรงงานนี้มีการร้องเรียนอยู่แล้วหรือไม่ หากพบว่ามีและไม่ตรงกับรายงานที่ส่งมาถือว่ารายงานเท็จจะได้รับโทษหนัก และประเมินไม่ผ่านโรงงานเหล่านี้หากไม่ถูกปิด ก็จะถูกทำให้เข้าระบบโดยสั่งให้ปรับปรุง ซึ่งนี่ถือว่าเป็นข้อดีทีจะเห็นโรงงานเข้าระบบและปฎิบัติตามกฏหมายมากขึ้น

“ปัจจุบันสื่อโซเชียลและชุมชนโดยรอบโรงงานถือว่าเป็นหูเป็นตาให้กับ กรอ. ได้มาก เพราะเมื่อไรที่เกิดปัญหาน้ำเสีย ควัน คนเหล่านี้จะร้องเรียนเข้ามาก่อน กรอ. เขาก็จะเช็คนำคนไปลงตรวจด้วยที่สุดแล้ว คนที่ทำผิดก็ต้องถูกบีบให้เข้าระบบ เพราะตอนนี้ก็ยังมีโรงงานที่แอบแฝงทำผิดอยู่เหมือนกัน”

อย่างไรก็ตาม ถึงจะมีการยกเลิกต่อใบอนุญาตแต่ในทางปฎิบัติทาง กรอ. ก็ยังต้องมีการตรวจดูแลโรงงานเช่นเดิม ซึ่งจะใช้ระบบของ Third party เข้ามาช่วยมากขึ้น ซึ่งรูปแบบดังกล่าวเกิดขึ้นในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างจีน

ขณะที่ไทยเองมีนโยบายอุตสาหกรรม 4.0 การนำระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาใช้นอกจากความสะดวกรวดเร็วแล้ว ยังส่งผลให้นักลงทุนต่าชาติมองไทย ว่าสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมไปสู่ 4.0 ได้ตามที่ประกาศไว้ เกิดความมั่นในก็จะส่งผลให้เกิดการลงทุนตามมาเช่นกัน

“ระบบออนไลน์คืออนาคตที่เราจะนำมาใช้กันในภาคอุตสาหกรรม และเมื่อ Big Data เก็บข้อมูลครบทุกด้าน มันจะทำให้เราเห็นข้อมูลเชิงลึก เช่น โรงงานนี้มีการผลิตการส่งออก นำเข้า จ้างงานเป็นอย่างไรก็จะเชื่อมโยงไปสู่ระบบสรรพากร กระทรวงแรงงานเรื่องสวัสดิการ เป็นต้น และยังสามารถประเมินศักยภาพของภาคอุตสาหกรรมได้ชัดมากขึ้น”

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่า ปัจจุบันมีโรงงานที่ต้องต่ออายุใบอนุญาตประมาร 80,000 โรง. เป็นส่วนที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรม 20,000 โรง และนอกนิคมฯ 60,000 โรง แน่นอนว่าข้อดีจะได้รับความสะดวกในการประกอบกิจการมากขึ้นและเป็นการยกระดับการบริหารงานภาครัฐให้เกิดความสะดวกยิ่งขึ้นตามพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวก ขณะที่ข้อเสีย มีค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบและจัดทำรายงานด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น

โดยหลังจากแก้ พ.ร.บ. เสร็จ กรอ. จะเริ่มใช้วิธีให้โรงงาน 1.ตรวจประเมินตนเองเป็นประจำทุกปี (Internal Salf Audit) 2.ส่งรายงานด้านความปลอดภัยและด้านสิ่งแวดล้อม (Self Declare) ที่ได้รับการตรวจสอบโดยผู้ตรวจสอบเอกชนที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงอุตสาหกรรม (Third part) 3.ติดตามและให้คำแนะนำเป็นประจำทุกปี โดยพนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้ตรวจสอบเอกชนที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงสาหกรรมเท่านั้น

จาก  https://www.prachachat.net   วันที่ 31 ตุลาคม 2561

ดัชนีผลผลิตอุตฯ ก.ย.ปรับตัวลงครั้งแรกในรอบ 16 เดือน

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ก.ย.61 ลดลงร้อยละ 2.6 เป็นเดือนแรกในรอบ 16 เดือน เนื่องจากการส่งออกลดลง นักท่องเที่ยวจีนลดลงยอดการใช้จ่ายในส่วนนี้จะลดลงตาม

นายอิทธิชัย ปัทมสิริวัฒน์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) แถลงดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม หรือ MPI เดือนกันยายน 2561 ว่า ดัชนีอยู่ที่ระดับ 111.2 ปรับลดลงร้อยละ 2.6 จากช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา ที่อยู่ที่ระดับ 114.12 ลดลงเป็นเดือนแรกในรอบ 16 เดือน เนื่องจากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเดือนกันยายนหดตัว เช่น การส่งออกรถยนต์ไปออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ปัญหาการทำเอกสารของผู้ส่งออกบางรายลดลง และการซื้อในประเทศที่ไปส่งออกลดลง การส่งออกอัญมณีที่ลดลงจากมูลค่าเนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนดีไซน์ใหม่ปรับขนาดเล็กลง จึงใช้วัตถุดิบน้อยลง เพื่อมุ่งขยายตลาดกว้างมากขึ้น  เป็นต้น

นอกจากนี้ การปรับตัวลดลงยังเป็นผลสืบเนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่หดตัวลงร้อยละ 14.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา และลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ส่งผลให้ยอดการใช้จ่ายในส่วนนี้จะลดลงตามไปด้วย โดยนักท่องเที่ยวจีนมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 30 ของนักท่องเที่ยวในภาพรวมทั้งหมด และยังเป็นผลจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง

ขณะที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในช่วง 9 เดือนแรกปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 2.9 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมาที่ขยายตัว ร้อยละ 1.9 ด้านอัตราการใช้กำลังการผลิตเดือนกันยายน 2561 อยู่ที่ร้อยละ 66.35

สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลบวกเดือนกันยายน  2561 ได้แก่ น้ำตาลทรายขยายตัวร้อยละ 107.98 จากผลผลิตอ้อยที่มีมากกว่าปกติ ทำให้โรงงานปิดหีบช้ากว่าปีก่อน จึงยังมีการแปรสภาพน้ำตาลทรายดิบไปเป็นน้ำตาลทรายขาว  ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ร้อยละ 7.14 ตามความต้องการของตลาดโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง น้ำมันปิโตรเลียมขยายตัวร้อยละ 8.57 ตามภาคการขนส่งที่ดีขึ้น เสื้อผ้าสำเร็จรูปในส่วนของผ้าทอ โตจากการส่งออกชุดกีฬาส่งออกเพิ่มมากขึ้น และการเร่งผลิตเพื่อรอจำหน่ายในช่วงปลายปีนี้ ส่วนเครื่องปรับอากาศ ขยายตัวร้อยละ 15.81 จากการส่งออกไปญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการจำหน่ายในประเทศดีขึ้นจากการกระตุ้นยอดขายของผู้ผลิต เป็นต้น

ส่วนแนวโน้มดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนตุลาคม 2561 จะปรับตัวดีขึ้น กรณีดีที่สุดจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมาร้อยละ 1 เนื่องจากฐานปีที่ผ่านมาต่ำ แต่ถ้ากรณีปรับลดลงมากที่สุด จะลดลงร้อยละ 0.1

จาก https://tna.mcot.net  วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ชนีผลผลิตอุตสาหกรรมก.ย.ร่วง 2.6% แต่น้ำตาล ชิ้นส่วนอิเล็กฯ น้ำมัน ยังช่วยพยุงให้บวกไว้ได้ทั้งปี 61

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกันยายน ลดลงร้อยละ 2.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่ไตรมาส 3/2561 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และในขณะที่ 9 เดือนแรกยังคงขยายตัวร้อยละ 2.9 ขณะที่อุตสาหกรรมที่ส่งผลบวกคือ น้ำตาลทราย ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ น้ำมันปิโตรเลียม เสื้อผ้าสำเร็จรูป และเครื่องปรับอากาศยังส่งผลบวก

นายอิทธิชัย ปัทมสิริวัฒน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index – MPI) ประจำเดือนกันยายน 2561 ลดลงร้อยละ 2.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่ 9 เดือนแรกของปี 2561 MPI ขยายตัวร้อยละ 2.9 (9 เดือนแรกปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 1.9) อัตราการใช้กำลังการผลิตเดือนกันยายน 2561 อยู่ที่ร้อยละ 66.35 ซึ่งยังมีอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลบวกในเดือนกันยายน 2561 ได้แก่ น้ำตาลทราย ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ น้ำมันปิโตรเลียม เสื้อผ้าสำเร็จรูป (ผ้าทอ) และเครื่องปรับอากาศ

อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ประจำเดือนกันยายน ได้แก่ น้ำตาลทราย ขยายตัวร้อยละ 107.98 จากผลผลิตอ้อยที่มีมากกว่าปกติทำให้โรงงานปิดหีบช้ากว่าปีก่อน จึงยังมีการแปรสภาพน้ำตาลทรายดิบไปเป็นน้ำตาลทรายขาว ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวร้อยละ 7.14 จาก PCBA และ Other IC ตามความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

น้ำมันปิโตรเลียม ขยายตัวร้อยละ 8.57 จากน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ตามความต้องการของตลาดภายในประเทศภาคการขนส่งที่ดีขึ้น เสื้อผ้าสำเร็จรูป (ผ้าทอ) ขยายตัวร้อยละ 17.72 จากเครื่องแต่งกายชั้นนอกบุรุษและเด็กชาย โดยเพิ่มขึ้นจากตลาดส่งออกไปยังอเมริกาและยุโรปโดยเป็นสินค้าชุดกีฬา และตลาดในประเทศ จากการเร่งผลิตเพื่อรอจำหน่ายในช่วงปลายปี

เครื่องปรับอากาศ และชิ้นส่วน ขยายตัวร้อยละ 15.81 จากการส่งออกที่เพิ่มขึ้นไปตลาดญี่ปุ่นรวมถึงตลาดฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียที่ยังมีความต้องการเพิ่มขึ้น การจำหน่ายในประเทศจากการกระตุ้นยอดขายของผู้ผลิต

นอกจากนี้ยังมีอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลบวกต่อดัชนีในเดือนกันยายน ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร การผลิตในภาพรวมเดือนกันยายนปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 8.3 เพื่อรองรับผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแปรสภาพน้ำตาลทรายดิบเป็นน้ำตาลทรายขาวที่เพิ่มขึ้นมาก และการผลิตทูน่ากระป๋องเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับความต้องการของตลาดส่งออก และผลจากเศรษฐกิจภาพรวมที่กำลังซื้อในประเทศเริ่มแข็งแกร่งขึ้น รวมทั้งเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญฟื้นตัวอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง ซึ่งช่วยหนุนความต้องการสินค้าไทยทั้งทางตรงและทางอ้อมผ่านห่วงโซ่อุปทานการผลิต อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง ถุงมือยาง/ถุงมือตรวจมีปริมาณการผลิตขยายตัวร้อยละ 32.00 ตามการขยายตัวที่ดีของตลาดทั้งในและต่างประเทศ

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ครม.ไฟเขียว​ 7​ โครงการบริหารจัดการน้ำครบควงจร

ครม.ไฟเขียว​ 7​ โครงการบริหารจัดการน้ำครบควงจร วงเงิน3.1 หมื่นล้านบ.ก่อสร้าง​ 6 ปี                    

เมื่อวันที่ 30 ต.ค. ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ในฐานะโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  แถลงผลการประชุมอย่างเป็นทางการนอกสถานที่(ครม.สัญจร) ว่า ครม.เห็นชอบ 7 โครงการสำคัญเพื่อเร่งดำเนินการต่อไปใน เรื่องการบริหารจัดการน้ำอย่างครบวงจร ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) เสนอ วงเงินงบประมาณ​ 31,474 ล้านบาท​ ระยะเวลาดำเนินการก่อสร้าง​ 4-6​ ปี​ ตั้งแต่ปี​ 2562-2567 ได้แก่ ในพื้นที่กรุงเทพฯประกอบด้วย​ 1.โครงการอุโมงค์ระบายน้ำคลองทวีวัฒนา กำหนดแล้วเสร็จในระหว่างปี 2562-2565 ใช้งบประมาณ 2,274 ล้านบาท 2.โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบ ก่อสร้างตั้งแต่ปี 2562-2566 ใช้งบประมาณ 1,751 ล้านบาท ส่วนอีก 4 โครงการเป็นของกรมชลประทาน ประกอบด้วย 1.คลองระบายน้ำบางบาล-บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ระยะเวลาก่อสร้างตั้งแต่ปี 2562-2566 งบประมาณ 21,000 ล้านบาท 2.ประตูระบายน้ำลำน้ำพุง-น้ำก่ำ​ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.สกลนคร งบประมาณ 2,100 ล้านบาท 3.ประตูระบายน้ำบ้านก่อ จ.สกลนคร งบประมาณ 1,249 ล้านบาท ก่อสร้างตั้งแต่ปี 2562-2566 และ 4.โครงการอ่างเก็บน้ำลำสะพุง จ.ชัยภูมิ งบประมาณ 3,100 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้างตั้งแต่​ 2562-2567 และ​ 7.โครงการสำรวจความสูงของภูมิประเทศด้วยแสงเลเซอร์ ระยะที่ 2 ระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี (2562 - 2565) โดยให้กรมแผนที่ทหารดำเนินการและเสนอของบประมาณจากรัฐบาลต่อไป

โฆษกรัฐบาล กล่าวต่อว่า​ นายกรัฐมนตรีสั่งการด้วยว่าโครงการบริหารจัดการน้ำโครงการขนาดใหญ่ที่มีการผูกพันงบประมาณหลายปีงบประมาณ​ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปจัดทำงบประมาณในระยะปีแรกที่สามารถดำเนินการได้ก่อน ส่วนที่เหลือนำไปบรรจุไว้ในแผนแม่บทและกำหนดเป้าหมายในแต่ละปี เพื่อไม่ให้เกิดภาระผูกพันงบประมาณมากเกินไป ส่วนโครงการที่มีความสำคัญเร่งด่วน หากไม่สามารถจัดสรรงบประมาณตามปกติได้โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ ให้มอบให้สำนักบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณพิจารณาแหล่งเงินกู้เพื่อดำเนินการในโครงการตามความเหมาะสม

จาก https://www.dailynews.co.th  วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2561

เงินบาททุบสถิติอ่อนค่าสุดรอบ2เดือนครึ่ง

เงินบาทนำโด่งอ่อนสุดในภูมิภาควันนี้แตะระดับ 33.32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ทุบสถิติรอบ 2 เดือนครึ่ง เหตุเงินไหลออกหลังตัวเลขส่งออก ก.ย.ติดลบ 5.2% ขณะที่สหรัฐฯเตรียมรีดภาษีจีนเพิ่มกดค่าเงินตลาดเกิดใหม่อ่อนลงอีก

33.38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ               

น.ส. รุ่ง สงวนเรือง  ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแลโกลบอลมาร์เก็ตส์  ธนาคารกรุงศรีอยุธยา  เปิดเผยว่า  ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันนี้ที่ระดับ 33.29 บาทต่อดอลาร์สหรัฐ และเคลื่อนไหวอ่อนค่าสุดในระดับ 33.32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ  ซึ่งเป็นการอ่อนค่ามากสุดในรอบ 2 เดือนครึ่ง นับจาก 15 ส.ค.ที่ผ่านมา ที่อยู่ระดับ 33.38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ  เป็นผลมาจากเงินทุนไหลออก หลังจากที่ตัวเลขส่งออกไทยในเดือนก.ย.ที่ผ่านมาติดลบ 5.2% ประกอบกับนักลงทุนหันไปถือครองดอลลาร์สหรัฐเพิ่ม หลังจากที่เศรษฐกิจสหรัฐแกร่งทำให้ค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่ามากสุดหากเทียบกับภูมิภาค

ขณะเดียวกันเมื่อคืนหนี้สหรัฐฯประกาศจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มทำให้สกุลเงินในตลาดเกิดใหม่อ่อนค่าลงทันที รวมถึงค่าเงินบาทของไทย  ซึ่งตั้งแต่สิ้นก.ย.-30 ต.ค.พบว่า ค่าเงินบาท-ไทยอ่อนค่ามากสุด 2.8% วอน-เกาหลีใต้ 2.7 % รูเปียห์-อินโดนีเซีย 2.2%   หยวน-จีน 1.4%   รูปี-อินเดีย 1.3%  ดอลลาร์-สิงคโปร์ 1.1%  ริงกิต-มาเลเซีย 1% ส่วนเปโซ-ฟิลิปปินส์แข็งค่า 0.7%

นอกจากนี้จะต้องติดตามการเลือกตั้ง Midterm Election หรือการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐในเดือนพ.ย.นี้หากพรรคเดโมแครตมีชัยเหนือรีพับลิกัน และกลับมาครองเสียงข้างมากทั้งในสองสภาได้อีกครั้ง ทำให้การบริหารงานที่เหลืออยู่อีก 2 ปี ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ เป็นไปด้วยความยากลำบาก แต่ในทางกลับกันหากรีพับลิกันชนะก็จะทำให้ตลาดเงิน ตลาดทุนมีความผันผวนมากขึ้นเช่นกัน

สำหรับเงินทุนเคลื่อนย้ายยังไหลออกจากตลาดหุ้นไทยต่อเนื่อง โดยตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.-29 ต.ค.ที่ผ่านมาต่างชาติชายหุ้นไทยสุทธิ 62,000 ล้านบาท ขณะที่พันธบัตรซื้อสุทธิ 30,000 ล้านบาท  ซึ่งแนวโน้มค่าเงินบาทยังผันผวน และจะต้องติดตามตัวเลขส่งออกและท่องเที่ยวต.ค.อย่างใกล้ชิดเพราะเป็นแรงหนุนเศรษฐกิจในประเทศ อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกและนำเข้าควรป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เพราะในเดือนต.ค.นี้ขึ้นลงไปกลับบาทกว่า เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศไม่ค่อยดี และ sentiment ตลาดโลกกดดัน

จาก https://www.dailynews.co.th  วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ก.พลังงาน สั่ง พพ. ศึกษาแนวทางความร่วมมือพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานในอาเซียน

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงได้มอบหมายให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) พิจารณาแนวทางความร่วมมือการพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานของอาเซียน 10 ชาติสมาชิกในอีก 2 ปีข้างหน้า เสนอในเวทีประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน (ASEAN Ministers on Energy Meetings – AMEM ครั้งที่ 37 ซึ่งไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นในปี 2562 โดยจะมีการปรับเป้าหมายลดใช้พลังงานให้มากขึ้น หลังจากระยะแรกกำหนดเป้าหมายลดใช้พลังงาน 20% ในปี 2563 แต่ปรากฏว่าขณะนี้สามารถบรรลุเป้าหมายลดลงแล้วถึง 21.3%

“ปีหน้านอกจากประชุม AMEM แล้วจะมีประชุมอาเซียนบวก 3 (จีน เกาหลี ญี่ปุ่น) ซึ่งล้วนเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับพลังงานทดแทน ดังนั้นหัวข้อสำคัญที่จะหยิบยกมาหารือคือ การเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานที่จะมีค่อนข้างมาก โดยอนาคตมีแนวโน้มว่าโลกจะใช้พลังงานน้อยลง โดยเฉพาะการใช้น้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติน้อยลง แต่คุณภาพชีวิตจะดีขึ้น ซึ่งไทยได้ส่งเสริมไว้ในแผนอย่างชัดเจนและเป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียน”นายศิริกล่าว

นายสาร์รัฐ ประกอบชาติ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พพ. กล่าวว่า พพ. เตรียมศึกษาแนวทางดำเนินการเพื่อเสนอการปรับเป้าหมายการลดใช้พลังงานใหม่ในเวทีประชุม AMEM ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ เนื่องจากเป้าหมายระยะแรกที่กำหนดไว้ทำได้เกินเป้าไปแล้ว ที่ประชุม AMEN ปีนี้ ที่สิงคโปร์จึงเห็นว่าต้องขยายการพัฒนาเพื่อปรับเป้าหมายใหม่ โดยจะเน้นส่งเสริมพลังงานในภาคขนส่งเพิ่มขึ้น

รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงาน แจ้งว่า ขณะนี้กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศฉบับใหม่ หรือพีดีพี 2018 (PDP2018) คาดจะเสนอเข้าสู่การประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในเดือนธ.ค.นี้ พิจารณาเห็นชอบและประกาศใช้ในต้นปี 2562 โดยยืนยันราคาค่าไฟจะไม่กระทบกับประชาชน

จาก https://www.khaosod.co.th   วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2561

รง.น้ำตาลวอนรัฐเร่งเคลียร์ราคาอ้อย หวังดึงเงินส่วนต่าง2.3หมื่นล้านไปหมุนต่อ

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหารบริษัทไทยชูการ์ มิลเลอร์ (TSMC) เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลมีความกังวลต่อปัญหาการขาดสภาพคล่องเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับปริมาณผลผลิตอ้อยเข้าหีบฤดูการผลิตปี 2561/62 เพราะภาครัฐยังไม่ประกาศราคาอ้อยขั้นสุดท้ายของฤดูการผลิตปี 2560/61 ซึ่งตามกฎหมายสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย

(สอน.) จะต้องคำนวณราคาอ้อยขั้นสุดท้ายภายในเดือนตุลาคมนี้ โดยคาดว่าในฤดูการผลิตปีนี้จะต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้นที่ประกาศไว้อยู่ที่ 880 บาทต่อตันอ้อย ซึ่งผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลจะได้ดำเนินการขอรับเงินส่วนต่างคืนจากกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อนำมาใช้เป็นทุนหมุนเวียนในระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย

จากการประเมินคาดว่าโรงงานน้ำตาลจะได้รับเงินชดเชยส่วนต่างราคาอ้อยขั้นต้นที่ได้จ่ายสูงเกินกว่าราคาอ้อยขั้นสุดท้ายไปก่อนแล้ว 17,000-18,000 ล้านบาท ไม่รวมเงินชดเชยในส่วนผลตอบแทนการผลิตที่โรงงานน้ำตาลจะได้รับอีก 5,500 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 22,000-23,000 ล้านบาท จากกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย โรงงานจะได้นำเงินดังกล่าวมาใช้เสริมสภาพคล่องรองรับผลผลิตอ้อยเข้าหีบในฤดูการผลิตปี 2561/62 เพื่อช่วยเหลือชาวไร่อ้อยที่ได้รับผลกระทบจากราคาตลาดโลกที่ตกต่ำส่งผลต่อราคาอ้อยขั้นต้นของฤดูการผลิตปีนี้จะอยู่ในระดับต่ำกว่า 700 บาทต่อตันอ้อย

“หากประกาศราคาขั้นสุดท้ายได้เร็วจะยิ่งดีมาก เพราะเป็นเงินที่โรงงานน้ำตาลที่ออกไปก่อนแล้ว ต้องไปทำเรื่องขอรับคืน เพื่อนำมาใช้เสริมสภาพคล่องและใช้จ่ายให้แก่ชาวไร่ที่จะส่งมอบผลผลิตอ้อยเข้าหีบ ซึ่งคาดว่าจะมีประมาณ 120-125 ล้านตันอ้อย” นายสิริวุทธิ์ กล่าว

ส่วนแนวทางให้ความช่วยเหลือชาวไร่อ้อยตันอ้อยละ 50 บาท ไม่เกินรายละ 5,000 ตัน ตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)นั้น สอน. อยู่ระหว่างจัดทำวิธีปฏิบัติในการจ่ายเงินหากจ่ายเงินช่วยเหลือได้เร็วชาวไร่อ้อยก็จะได้นำไปซื้อปัจจัยการผลิตและช่วยบรรเทาความเดือดร้อนแก่ชาวไร่อ้อยในปีนี้ที่ราคาอ้อยตกต่ำ

“กรณีที่โรงงานต้องสำรองไปก่อนแล้วยังต้องนำส่งเงินส่วนต่างของราคาขายน้ำตาลส่งให้แก่กองทุนเต็มจำนวนแล้วไปรับคืนในภายหลังนั้นสภาพคล่องทางการเงินของโรงงานจะเพียงพอหรือไม่

หรือหากต้องกู้เงินก็จะมีภาระดอกเบี้ย ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบดอกเบี้ยที่เกิดขึ้น” นายสิริวุทธิ์กล่าว

จาก https://www.naewna.com วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2561

โรงงานจี้ “ สอน.”เคลียร์ส่วนต่างค่าอ้อย

โรงงานน้ำตาลทรายหวังกองทุนอ้อยฯ เคลียร์เงินส่วนต่างค้าอ้อยขั้นต้น ขั้นปลายเสร็จก่อนเริ่มฤดูการผลิตใหม่ หวั่นโรงงานขาดสภาพคล่อง

นายสิริวุทธิ์  เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหารบริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) เปิดเผยว่าโรงงานน้ำตาลมีความกังวลต่อปัญหาการขาดแคลนสภาพคล่องในการดำเนินงานเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับปริมาณผลผลิตอ้อยเข้าหีบฤดูการผลิตปี 2561/2562 เนื่องจากในปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐยังไม่ได้ประกาศราคาอ้อยขั้นสุดท้ายของฤดูการผลิตปี 2560/2561  ซึ่งตามกฎหมายสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) จะต้องคำนวณราคาอ้อยขั้นสุดท้ายภายในเดือน ต.ค.นี้ โดยคาดว่าราคาอ้อยขั้นสุดท้ายในฤดูการผลิตปีนี้จะต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นสุดต้นที่ประกาศไว้อยู่ที่ 880 บาทต่อตันอ้อย ซึ่งผู้ประกอบการจะได้ดำเนินการขอรับเงินส่วนต่างคืนจากกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนในระบบการผลิต

จากการประเมินเงินส่วนต่างดังกล่าวคาดว่าโรงงานน้ำตาลจะได้รับเงินชดเชยส่วนต่างราคาอ้อยขั้นต้นที่ได้จ่ายสูงเกินกว่าราคาอ้อยขั้นสุดท้ายไปก่อนแล้วประมาณ 1.7-1.8 หมื่นล้านบาท ไม่รวมเงินชดเชยในส่วนผลตอบแทนการผลิตที่โรงงานน้ำตาลจะได้รับอีก 5,500 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 2.2-2.3 หมื่นล้านบาท จากกองทุนอ้อยฯ ซึ่งจะได้นำเงินดังกล่าวมาใช้เสริมสภาพคล่องรองรับผลผลิตอ้อยเข้าหีบในฤดูการผลิตปี 2561/2562  โดยคาดว่าราคาอ้อยขั้นต้นของฤดูการผลิตปีนี้จะอยู่ในระดับต่ำกว่า 700 บาทต่อตันอ้อย

“เรากำลังรอเงินส่วนต่างจากราคาอ้อยขั้นต้นและขั้นสุดท้ายของปีนี้ เพื่อนำมาใช้หมุนเวียนในระบบการผลิตเพราะเป็นเงินที่โรงงานน้ำตาลที่ออกไปก่อนแล้วต้องไปทำเรื่องขอรับคืน เพื่อนำมาใช้เสริมสภาพคล่องและใช้จ่ายให้แก่ชาวไร่ที่จะส่งมองผลผลิตอ้อยเข้าหีบซึ่งคาดว่าจะมีจำนวน 120-125 ล้านต้นอ้อย”

ส่วนแนวทางให้ความช่วยเหลือชาวไร่อ้อย ต้นอ้อยละ 50 บาท ไม่เกินรายละ 5,000 ตัน ตามมติครม.นั้น สอน.อยู่ระหว่างจัดทำวิธีปฏิบัติในการจ่ายเงินดังกล่าว หากสามารถจ่ายเงินช่วยเหลือได้โดยเร็วชาวไร่อ้อยก็จะได้นำไปซื้อปัจจัยการผลิตต่อไป

จาก www.bangkokbiznews.com  วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2561

กระแสพลังงานทดแทนมาแรง อาเซียนหวั่นไม่เสถียร กระทบความมั่นคง

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน ASEAN Ministers on Energy Meetings (AMEM) ครั้งที่ 36 ประเทศสิงคโปร์ว่าที่ประชุมรัฐมนตรีพลังงานที่มีชาติสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศปีนี้พิเศษมีตัวแทนจากองค์กรพลังงานระหว่างประเทศ(IEA) และองค์การพลังงานทดแทนระหว่างประเทศ (IRENA)เข้าหารือด้วยซึ่งทุกส่วนต่างมองว่าพลังงานทดแทนจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในระบบไฟฟ้าอาเซียนในอนาคตทุกประเทศสมาชิกต่างก็ตื่นตัวในเรื่องของการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนแต่ส่วนใหญ่ก็ยังคงมีความกังวลถึงความสมดุลของพลังงานทดแทนและพลังงานหลักเพราะหากพลังงานทดแทนเข้ามามากแล้วทำให้ระบบไม่เสถียรอาจกระทบต่อความมั่นคง แต่ที่สำคัญสุดพลังงานทดแทนต้องไม่กระทบต่อราคาค่าไฟฟ้าให้เป็นภาระกับประชาชนด้วย

“อาเซียนมีเป้าหมายปี 2563 ลดใช้พลังงาน 20% แต่ความเข้มของการใช้พลังงานอาเซียนหรือ Energy Intensity ลดแล้วถึง 20.3% และในปี 2568 มีเป้าหมายจะมีพลังงานทดแทน 23% จากขณะนี้มีอยู่ 14-15% อาเซียนต่างก็ตื่นตัวกันมาก เช่น มาเลเซียหนุนเรื่องการติดตั้งการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์(โซลาร์รูฟท็อป)ด้วยการรับซื้อเท่าราคาขายปลีกเพื่อกระตุ้นตลาด เป็นต้น” นายศิริกล่าว

ทั้งนี้ได้มีการหารือเพิ่มเติมในโครงการซื้อขายไฟฟ้า สปป.ลาว-ไทย-มาเลเซีย หรือ LTM on Power Integration Project จากเดิมเป็นการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างลาว – มาเลเซีย ขนาดไม่เกิน 100 เมกะวัตต์ โดยผ่านประเทศไทย เป็นการซื้อขายเพิ่มเป็น 300 เมกะวัตต์ โดยไทยตกลงรับข้อเสนอการซื้อขายในครั้งนี้ แต่ขอเวลาศึกษาทางด้านเทคนิคเพื่อรองรับความต้องการให้เร็วที่สุด รวมทั้งที่ประชุมก็ผลักดันให้ประเทศอื่นๆ เข้าร่วมการซื้อขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เช่น สิงคโปร์ เมียนมา และให้มีการซื้อขายในลักษณะการซื้อไฟฟ้าตามสัญญา (Firm Contract)

นายศิริกล่าวเพิ่มเติมว่านับเป็นความสำเร็จของไทยอีกครั้งในเวที ASEAN Energy Awards 2018 ที่ผู้ประกอบการไทยคว้ารางวัลด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานได้ถึง 21 รางวัล จากการส่งเข้าประกวดทั้งสิ้น 25 ผลงาน สะท้อนให้สมาชิกอาเซียนเห็นถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลและภาคเอกชนไทยในการขับเคลื่อนการพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานเพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ

จาก https://www.naewna.com วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2561

คลังชี้เศรษฐกิจไทยปีนี้โต4.5% หลายข่าวดีหนุน/หวั่นสงครามการค้าฉุด

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง แถลงภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนกันยายน 2561 ว่า เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนกันยายน และไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ในหลายภูมิภาค นำโดย ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคเหนือ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน การฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนรวมถึงการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจทุกภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี

โดยกทม.และปริมณฑล เศรษฐกิจทรงตัว แต่มีการลงทุนภาคเอกชน และภาคการท่องเที่ยวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ,ภาคใต้ เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการบริโภคภาคเอกชน รวมถึงภาคการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เศรษฐกิจทรงตัว แต่มีการลงทุนภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ, ภาคเหนือ เศรษฐกิจฟื้นตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงภาคการท่องเที่ยว ส่วนภาคตะวันออก เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงภาคอุตสาหกรรมช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ

พร้อมคาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2561 คาดว่าจะสามารถขยายตัวอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 4.5 เร่งขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.9 โดยได้รับแรงขับเคลื่อนหลักมาจากการใช้จ่ายภาคเอกชนทั้งด้านการบริโภคและการลงทุนที่มีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับการจ้างงานที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น และรายได้ครัวเรือนในภาคเกษตรกรรมที่เริ่มขยายตัวดีขึ้นตามปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรที่สูงขึ้น

นอกจากนี้ มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐยังช่วยสนับสนุนการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน และความคืบหน้าของโครงการลงทุนภาครัฐจากปีก่อนหน้ายังเป็นแรงสนับสนุนให้การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นจากปีก่อนหน้าอีกด้วย สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เข้ามาประเทศไทยยังคงมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ซึ่งคาดว่าจะยังคงสนับสนุนให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวขยายตัวดีตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัวลงและนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐ รวมถึงการตอบโต้จากประเทศต่างๆ คาดว่าจะส่งผลให้การส่งออกสินค้าชะลอลงเล็กน้อย

สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2561 จะอยู่ที่ร้อยละ 1.2 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ตามทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกและการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ

นายพรชัยกล่าวว่า การประมาณการเศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อาทิ ผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน รวมทั้งความผันผวนของตลาดการเงินโลก

จาก https://www.naewna.com วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ฝนหลวง เติมน้ำเขื่อน บินทันทีที่อากาศเอื้อ ผลสำเร็จปฏิบัติการปี’61 บรรเทาภัยแล้ง

ภารกิจฝนหลวงฯ ปี’61 ช่วยบรรเทาภัยแล้งพื้นที่เกษตรกว่า 130 ล้านไร่ และยังปฏิบัติการเติมน้ำในเขื่อนอย่างต่อเนื่องเมื่อสภาพอากาศเอื้ออำนวย

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ต้องการฝน ซึ่งประสบปัญหาภัยแล้งและภาวะฝนทิ้งช่วง ที่ส่งผลให้มีน้ำไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูกและการเจริญเติบโตของพืชชนิดต่างๆ โดยช่วยเหลือพื้นที่ที่มีการร้องขอประกอบกับการวิเคราะห์จากสถานการณ์ภัยแล้ง พร้อมเร่งปฏิบัติการช่วยเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักสำหรับฤดูแล้งถัดไปอย่างเต็มความสามารถถึงกลางเดือนพฤศจิกายนนี้

ทั้งนี้จากการปฏิบัติการฝนหลวง ประจำปีงบประมาณ 2561 ที่ผ่านมา ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2561 กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ปฏิบัติการช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ทั่วทุกภูมิภาค ในบริเวณพื้นที่การเกษตรที่ขาดแคลนน้ำทำการเกษตร การอุปโภค-บริโภค ตามการร้องขอฝน การวิเคราะห์สภาพอากาศและสถานการณ์ภัยแล้งเป็นประจำทุกวัน โดยในภาพรวมของการขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม ถึงวันที่ 23 ตุลาคม 2561 ได้ขึ้นบินปฏิบัติการจำนวน 223 วัน 4,299 เที่ยวบิน ปริมาณการใช้สารฝนหลวง 3,621.83 ตัน มีฝนตกรวม 58 จังหวัด มีพื้นที่ที่ได้รับการช่วยเหลือทั้งสิ้น จำนวน 137.57 ล้านไร่ จากพื้นที่การขอรับบริการและพื้นที่ภัยแล้งทั้งหมด 181.05 ล้านไร่ ส่วนในปัจจุบันยังมีเกษตรกรและอาสาสมัครฝนหลวงแต่ละพื้นที่ขอรับบริการฝนหลวงเพื่อใช้ทำการเกษตรอยู่จำนวน 8.30 ล้านไร่ เนื่องจากบริเวณพื้นที่ดังกล่าวในบางภูมิภาค ประสบกับปัญหาฝนทิ้งช่วง เป็นพื้นที่ที่อยู่ในเขตอับฝน มีฝนตกน้อย จึงทำให้มีน้ำไม่เพียงพอสำหรับพืชบางชนิด อาทิ ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ที่มีความต้องการน้ำเพื่อการเจริญเติบโต ให้ทันฤดูกาลเก็บเกี่ยวปลายปีนี้ และจากการปฏิบัติการฝนหลวง เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ที่ผ่านมา กรมฝนหลวงและการบินเกษตร สามารถช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรบริเวณจังหวัดเชียงใหม่ สระบุรี ลพบุรี นครสวรรค์ อุทัยธานี สุพรรณบุรี ชัยนาท และสิงห์บุรี

นายสุรสีห์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ปฏิบัติการฝนหลวงอีกหนึ่งภารกิจ คือ การช่วยเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่างๆ ที่มีความต้องการทั่วทุกภูมิภาค โดยประสานข้อมูลกับกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งพบว่ามีเขื่อนและอ่างเก็บน้ำจำนวนมากที่มีความต้องการน้ำสำหรับรองรับการใช้ในช่วงฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึง กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จึงติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิดและช่วงชิงขึ้นปฏิบัติการทันทีที่อากาศเอื้ออำนวย โดยตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน ถึงวันที่ 23 ตุลาคม2561 มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนและอ่างเก็บน้ำแล้วทั้งสิ้นจำนวน 138.425 ล้าน ลบ.ม. จากแผนคาดการณ์ 155 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้ สำหรับการปฏิบัติการเติมน้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ปรับแผนขยายเวลาการทำงานจนถึงกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ หรือต่อเนื่องไปหากสภาพอากาศมีความเหมาะสมในการทำฝน จึงขอให้ประชาชนและพี่น้องเกษตรกรมั่นใจว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จะปฏิบัติหน้าที่และช่วยเหลืออย่างเต็มกำลังความสามารถ และสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารฝนหลวงได้ทางเพจเฟซบุ๊คหรือเว็บไซต์กรมฝนหลวงและการบินเกษตร www.royalrain.go.th

จาก https://www.naewna.com วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2561

จี้รัฐประกาศราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ปี60/61 หวั่นกระทบขาดสภาพคล่องโรงงาน

โรงงานน้ำตาลทราย วอนรัฐเร่งประกาศราคาอ้อยขั้นสุดท้ายของฤดูการผลิตปี 2560/61 หลังประเมินราคาขั้นสุดท้ายจะต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้น หวังให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายช่วยเคลียร์เงินส่วนต่างของราคาอ้อยขั้นต้นและขั้นสุดท้ายให้แก่โรงงานแล้วเสร็จก่อนเริ่มฤดูการผลิตใหม่ ที่จะเริ่มเปิดหีบในเดือนพฤศจิกายนนี้ หวั่นกระทบโรงงานขาดสภาพคล่อง พร้อมขอความชัดเจนในแนวทางปฏิบัติในการจ่ายเงินช่วยเหลือปัจจัยการผลิตแก่ชาวไร่ตันอ้อยละ 50 บาท ตามมติ ครม.

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหารบริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาล มีความกังวลต่อปัญหาการขาดสภาพคล่องในการดำเนินงานเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับปริมาณผลผลิตอ้อยเข้าหีบฤดูการผลิตปี 2561/62 เนื่องจากในปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐยังไม่ได้ประกาศราคาอ้อยขั้นสุดท้ายของฤดูการผลิตปี 2560/61 ซึ่งตามกฎหมายสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) จะต้องคำนวณราคาอ้อยขั้นสุดท้ายภายในเดือนตุลาคมนี้

โดยคาดว่าราคาอ้อยขั้นสุดท้ายในฤดูการผลิตปีนี้จะต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้นที่ประกาศไว้อยู่ที่ 880 บาทต่อตันอ้อย ซึ่งผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลจะได้ดำเนินการขอรับเงินส่วนต่างคืนจากกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อนำมาใช้เป็นทุนหมุนเวียนในระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย

จากการประเมินเงินส่วนต่างดังกล่าว คาดว่าโรงงานน้ำตาลจะได้รับเงินชดเชยส่วนต่างราคาอ้อยขั้นต้นที่ได้จ่ายสูงเกินกว่าราคาอ้อยขั้นสุดท้ายไปก่อนแล้ว ประมาณ 17,000-18,000 ล้านบาท ไม่รวมเงินชดเชยในส่วนผลตอบแทนการผลิตที่โรงงานน้ำตาลจะได้รับอีกประมาณ 5,500 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 22,000-23,000 ล้านบาท จากกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย

ซึ่งโรงงานจะได้นำเงินดังกล่าวมาใช้เสริมสภาพคล่องรองรับผลผลิตอ้อยเข้าหีบในฤดูการผลิตปี 2561/62 เพื่อช่วยเหลือชาวไร่อ้อยที่ได้รับผลกระทบจากราคาตลาดโลกที่ตกต่ำ ส่งผลต่อราคาอ้อยขั้นต้นของฤดูการผลิตปีนี้จะอยู่ในระดับต่ำกว่า 700 บาทต่อตันอ้อย

“เรากำลังรอเงินส่วนต่างจากราคาอ้อยขั้นต้นและขั้นสุดท้ายของปีนี้ เพื่อนำมาใช้หมุนเวียนในระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายในรอบการผลิตปี 2561/62 หากหน่วยงานภาครัฐประกาศราคาขั้นสุดท้ายได้เร็วจะยิ่งดีมาก เพราะเป็นเงินที่โรงงานน้ำตาลที่ออกไปก่อนแล้ว ต้องไปทำเรื่องขอรับคืน เพื่อนำมาใช้เสริมสภาพคล่องและใช้จ่ายให้แก่ชาวไร่ที่จะส่งมอบผลผลิตอ้อยเข้าหีบ ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนประมาณ 120-125 ล้านตันอ้อย” นายสิริวุทธิ์ กล่าว

สำหรับแนวทางให้ความช่วยเหลือชาวไร่อ้อย ตันอ้อยละ 50 บาท ไม่เกินรายละ 5,000 ตัน ตามมติ ครม. นั้น สอน. อยู่ระหว่างจัดทำวิธีปฏิบัติในการจ่ายเงินดังกล่าว หากสามารถจ่ายเงินช่วยเหลือได้โดยเร็ว ชาวไร่อ้อยก็จะได้นำไปซื้อปัจจัยการผลิตต่อไปและช่วยบรรเทาความเดือดร้อนแก่ชาวไร่อ้อยในปีนี้ที่ราคาอ้อยตกต่ำ

ส่วนการช่วยเหลืออีกส่วนหนึ่งผ่านกลไกของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย โดยให้นำเงินส่วนต่างระหว่างราคาสำรวจน้ำตาลที่ขายภายในประเทศ กับราคาตลาดลอนดอนบวกพรีเมี่ยมน้ำตาลไทย ที่โรงงานต้องส่งมอบให้แก่กองทุนฯ เป็นประจำทุกเดือน เพื่อนำมาช่วยเหลือเพิ่มเติมให้แก่ชาวไร่ก่อนนั้น

หากให้โรงงานน้ำตาลสำรองจ่ายไปก่อนแล้วจะกระทบกับสภาพคล่องทางการเงิน อีกทั้งโรงงานน้ำตาลต้องเจรจากู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์มาใช้เพื่อการนี้ซึ่งจะต้องมีภาระดอกเบี้ย และที่สำคัญขึ้นอยู่การพิจารณาของธนาคารพาณิชย์ที่จะให้กู้ด้วย

“ในกรณีที่โรงงานต้องสำรองไปก่อน แล้วยังต้องนำส่งเงินส่วนต่างของราคาขายน้ำตาลส่งให้แก่กองทุนฯ เต็มจำนวนแล้วไปรับคืนในภายหลังนั้น สภาพคล่องทางการเงินของโรงงานจะเพียงพอหรือไม่ หรือหากต้องกู้เงินก็จะมีภาระดอกเบี้ย และใครจะเป็นผู้รับผิดชอบดอกเบี้ยที่เกิดขึ้น” นายสิริวุทธิ์ กล่าว

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2561

เอกชนขอรัฐเร่งประกาศราคาอ้อยขั้นสุดท้ายของปี

โรงงานน้ำตาลทราย วอนรัฐเร่งประกาศราคาอ้อยขั้นสุดท้ายของปีก่อน หวังเคลียร์ส่วนต่างกองทุนอ้อยฯ

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหารบริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) เปิดเผยว่า ล่าสุดหน่วยงานภาครัฐยังไม่ได้ประกาศราคาอ้อยขั้นสุดท้ายของฤดูการผลิตปี 2560/61 ซึ่งตามกฎหมายสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) จะต้องคำนวณราคาอ้อยขั้นสุดท้ายภายในเดือนตุลาคมนี้ หากหน่วยงานภาครัฐประกาศราคาขั้นสุดท้ายได้เร็วจะยิ่งดี เพราะเป็นเงินที่โรงงานน้ำตาลได้สำรองจ่ายออกไปก่อน จึงต้องไปทำเรื่องขอรับคืน เพื่อนำมาใช้เสริมสภาพคล่องและใช้จ่ายให้แก่ชาวไร่ที่จะส่งมอบผลผลิตอ้อยเข้าหีบในฤดูการผลิตปี 2561/62

ทั้งนี้ คาดว่าราคาอ้อยขั้นสุดท้ายในฤดูการผลิตปีนี้จะต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้นที่ประกาศไว้อยู่ที่ 880 บาทต่อตันอ้อย รวม 120-125 ล้านตันอ้อย หรือ ประมาณ 17,000-18,000 ล้านบาท ซึ่งไม่รวมเงินชดเชยในส่วนผลตอบแทนการผลิตที่โรงงานน้ำตาลจะได้รับอีกประมาณ 5,500 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 22,000-23,000 ล้านบาท จากกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย

จาก https://www.innnews.co.th  วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2561

มิตรผลผนึกองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจกซื้อขายคาร์บอนเครดิต

นางประเสริฐสุข จามรมาน ผู้อำนวยการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เผยว่าเป็นที่ทราบกันดีว่าปัญหาภาวะโลกร้อนทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นทุกขณะ ประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบในแง่ของฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลง อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และฝนตกนอกฤดูกาล เป็นต้น ในฐานะสมาชิกรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและพิธีสารเกียวโต จึงตระหนักถึงการมีส่วนร่วมในการลดการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ในฐานะองค์กรที่สนับสนุนและส่งเสริมการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกแก่ภาคส่วนต่างๆ

จึงได้พัฒนาโครงการ “ลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย” (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วน มีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศโดยความสมัครใจ โดยสามารถนำปริมาณการลด/ดูดซับก๊าซเรือนกระจกที่ได้รับการรับรอง ที่เรียกว่า “คาร์บอนเครดิต” ซึ่งภายใต้โครงการ T-VER นี้เรียกว่า “TVERs” ไปขายในตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจภายในประเทศได้ ทั้งนี้ อบก. ได้กำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนการพัฒนาโครงการ ระเบียบวิธีการในการลดก๊าซเรือนกระจก (Methodology) การขึ้นทะเบียนและการรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจก

นายกฤษฎา มนเทียรวิเชียรฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มมิตรผล ผู้ขายคาร์บอนเครดิตรายใหญ่ของประเทศไทย กล่าวว่า บริษัทมุ่งมั่นในการพัฒนาต่อยอดคุณค่าจากอ้อย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในทุกกระบวนการผลิตด้วยแนวคิด Value Creation เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด นำไปสู่การต่อยอดสู่ธุรกิจอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ไฟฟ้า เอทานอล วัสดุทดแทนไม้ และ Bio-Based ซึ่งการดำเนินธุรกิจทั้งหมดนั้นล้วนให้ความสำคัญกับการดำเนินงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเสมอมา กลุ่มมิตรผลจึงมุ่งมั่นสู่การสร้างสังคมคาร์บอนต่ำอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรองรวม 489,217 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งได้มาจากการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ของโรงไฟฟ้ามิตรผล ไบโอเพาเวอร์ อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี

"ทั้งยังคงเดินหน้าขยายการดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่อง ผมขอขอบคุณพันธมิตรที่ร่วมกันทำกิจกรรมชดเชยคาร์บอนเครดิตและแสดงพลังความรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกันในวันนี้ ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน), โรงแรมศิวาเทล กรุงเทพฯ, บริษัท สแครทซ์ เฟิร์สท์ จำกัด (Wonderfruit) , ธนาคารแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านกลยุทธ์ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งนับเป็นนิมิตหมายอันดีที่เราได้เห็นความร่วมมือร่วมใจกันของทุกภาคส่วนในการสานพลังเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 20-25 ภายในปี 2573 เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของประเทศไทย"

ด้านนายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ตัวแทนภาคเอกชนที่ร่วมลงนามซื้อขายคาร์บอนเครดิตของกลุ่มมิตรผลและเป็นธนาคารพาณิชย์แห่งแรกของประเทศไทย ที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นองค์กรที่ไม่ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Neutral) กล่าวว่า ธนาคารกสิกรไทยในฐานะหน่วยงานในภาคการเงินการธนาคาร ที่ให้ความสำคัญต่อการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและมีแนวทางการดำเนินธุรกิจ ภายใต้แนวคิดการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนที่ครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม นอกจากการทำกิจกรรมชดเชยคาร์บอนเป็นศูนย์ด้วยการสนับสนุนคาร์บอนเครดิตจาก บริษัท มิตรผล ไบโอ-เพาเวอร์ จำกัด (ด่านช้าง) บล็อค (2) ซึ่งถือว่าเป็นความร่วมมือกันเพื่อผลักดันไปสู่สังคมเศรษฐกิจ คาร์บอนต่ำ (Low Carbon Economy) และการเติบโตอย่างยั่งยืนแล้ว ยังพร้อมที่จะเป็นกลไกทางการเงิน เพื่อผลักดันให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมตระหนักถึงผลกระทบของปัญหาภาวะโลกร้อน ด้วยการสนับสนุนทางการเงินเพื่อส่งเสริมการใช้ พลังงานทดแทน และสนับสนุนผู้ประกอบการเพื่อดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ส่งออกไทย“ฝ่ากระสุน” พลิกเกมกลางสงครามค้าโลก

บนสนามการค้าโลก ที่เกิดบาดแผลฉกรรจ์จากการฟาดฟันของ 2 ยักษ์มหาอำนาจเศรษฐกิจ“จีน-สหรัฐ” คนตัวเล็กอย่างไทยผู้พึ่งพาส่งออกดันจีดีพี จำต้องพลิกเกมรบคว้าชัย เป้าหมายส่งออกท้าทาย8%ปีนี้ กลางสมรภูมิค้าโลกเดือดพล่าน..!!

ความร้อนแรงของสงครามการค้าระหว่างสองยักษ์มหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลกอันดับ 1 อย่างสหรัฐ และอันดับ 2 จากจีน กำลังสู้รบกันข้ามโลก ด้วยการตั้งกำแพงพาษี (ขึ้นภาษีนำเข้า) ตอบโต้กันไปมาโดยรัฐบาลสหรัฐ ภายใต้การนำของประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ประกาศมาตรการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนอีก 2 แสนล้านดอลลาร์ตั้งแต่วันที่ 24 ก.ย. ที่ผ่านมา รวมแล้วส่งผลให้สหรัฐเก็บภาษีนำเข้าจากจีนรวมเป็นเกือบ 2.5 แสนล้านดอลลาร์ หรือประมาณครึ่งหนึ่งของการนำเข้าจากจีน

ขณะที่จีนตอบโต้ด้วยการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐอีก 6 หมื่นล้านดอลลาร์ ทำให้จีนเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐรวมเป็น 1.11 แสนล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน หรือครอบคลุมเกือบ 90% ของสินค้านำเข้าจากสหรัฐทั้งหมดของจีน

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กลายเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่ส่งกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ทำให้หลายสำนักเศรษฐกิจโลก หั่นการเติบโต อาทิ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) ได้ปรับลดคาดการณ์จีดีพีโลกปี 2561 ลง 0.2% อยู่ที่ 3.7%  เช่นเดียวกับ องค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของการค้าโลกปี 2561 อยู่ที่ 3.9% จากระดับ 4.4% เป็นผลจากสถานการณ์โลกที่ตึงเครียด

ไม่เพียงเท่านั้นปรากฎการณ์ดังกล่าว ยังส่งผลกระทบต่อประเทศ “คู่ค้า”รวมถึงไทย ทั้งผลกระทบทางตรงจากมาตรการขึ้นภาษีนำเข้า และผลกระทบทางอ้อมจากการเป็น“ซัพพลายเชน”ในกระบวนการผลิตสินค้าไปยังสองประเทศนี้

ล่าสุด ตัวเลขส่งออกไทยในเดือน ก.ย.ปีนี้สะท้อนชัด เมื่อมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 20,700 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 5.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา นับเป็นการหดตัวครั้งแรก ในรอบ 19 เดือนหรือกว่า“ปีครึ่ง” โดยกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่าการส่งออกที่ลดลง เป็นผลมาจากการจากสงครามการค้า(Trade War) 1.8 % หรือมูลค่าราว 400 ล้านดอลลาร์ หรือราว 12,800 ล้านบาท ( ณ อัตรแลกเปลี่ยน 32 บาทต่อดอลลาร์) หลังจากก่อนหน้านี้มูลค่าส่งออกไทย เติบโตทุบสถิติมาต่อเนื่อง โดยในเดือนส.ค.ปีนี้การส่งออกไทยเติบโตสูงสุดเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ 22,800 ล้านดอลล่าร์ ขยายตัว 6.7% เติบโตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18 ส่งผลทำให้รวม 8 เดือนแรก (ม.ค.-ส.ค.)ของปีนี้การส่งออกขยายตัว 10% เป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 8 ปี

แม้ผลกระทบด้านสงครามการค้า จะยังเกิดขึ้นไม่มากนัก แต่ไม่อาจนิ่งนอนใจ เพราะเศรษฐกิจไทยยังคงพึ่งพาการส่งออก เป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ มากกว่า 60% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ถือเป็นปัจจัยที่ทำให้ “กระทรวงพาณิชย์” ต้องเร่งวางยุทธศาสตร์การตลาดรับมือรับมือความแปรปรวนนี้ ผ่านการประชุมทูตพาณิชย์(สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ) 59 แห่งทั่วโลก ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี  ได้ให้โจทย์ในการส่งออก ไม่เพียงปีนี้ที่ยังคงเป้าส่งออกที่ 8% แต่ยังหมายรวมถึงในปี 2562 ที่จะต้องรักษาโมเมนตัมการส่งออกให้ขยายตัวที่ 8% บนความท้าทายจากปัจจัยเสี่ยงรอบทั้งสงครามการค้าที่ยิ่งปะทุรุนแรงขึ้น ราคาน้ำมันขาขึ้น การเมืองโลก รวมถึงความผันผวนทางเศรษฐกิจโลกหดตัว

**แจกโควตาจัดกลุ่ม รุก High Growth

โดย สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มองเป้าหมายท้าทายของ 3 เดือนสุดท้ายก่อนสิ้นปีว่า จะต้องทำให้การส่งออกเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 21,945 ล้านดอลล่าร์ ขณะที่ในปี 2562 การจะรักษาระดับการเติบโตของการส่งออก หมายถึงต้องทำให้มูลค่าส่งออกเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 23,000 ล้านดอลล่าร์

“การเติบโตในปีหน้าถือว่าท้าทาย เพราะข้อเท็จจริงปีที่ผ่านมา 2560 ก็เติบโตเกือบ10% (9.9 %) ปีนี้ก็ต้องเป้าเติบโตต่อเนื่อง 8%จากฐานส่งออกที่ใหญ่และปีหน้าอีก 8%บนปัจจัยเสี่ยงที่เราจะต้องทำให้เป็นโอกาสของเรา” เขาประเมิน

เสนาบดีประจำกระทรวงพาณิชย์ หรือเซลล์แมนของประเทศ จึงแบ่งโจทย์การบ้านให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.) เข็นตัวเลขโดยการแบ่งเป็น ตลาดที่เติบโตสูง (High Growth) และตลาดที่เป็นลบ จัดแผนกลยุทธ์แตกต่างกัน โดยตลาดที่มีการเติบโตสูงต้องเร่งเข้าไปเพิ่มยอดการค้า โดยเฉพาะในอาเซียน ซึ่งเป็นตลาดใกล้บ้านที่ต้องรุกสร้างความสัมพันธ์ทุกรูปแบบ เพราะมีสัดส่วนส่งออกถึง 27% และตลาดที่เติบโตอยู่แล้วอย่าง อินเดีย  เป็นต้น ขณะที่ตลาดที่มีความเสี่ยงและช่วงที่ผ่านมาติดลบอย่างตะวันออกกลาง ก็ต้องจัดทัพบุกตลาด เพื่อหาช่องว่างของตลาดที่ยังหลงเหลือ

ขณะที่“ยุทธศาสตร์ระยะสั้น”คือการสร้างการเติบโต พลิกวิกฤติสงครามการค้าเป็นโอกาสของสินค้าไทย เช่น การไปแสวงหาการผลิตสินค้าที่จีนส่งออกไปยังสหรัฐไม่ได้ และสหรัฐส่งไปจีนไม่ได้ให้ดึงกลับมาที่ไทย ถือเป็นการฉกฉวยจังหวะของการดึงฐานการผลิต (OEM) ปลดล็อกปัญหากลุ่มผู้ผลิตที่ได้รับผลกระทบระยะสั้น ส่วนระยะยาวจึงเชิญชวนบริษัทในจีนและสหรัฐเหล่านี้เข้ามาลงทุนในไทย

“ได้ประสานงานไปยังหอการค้าไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย( ส.อ.ท.) และทูตพาณิชย์ให้ไปแสวงหาโอกาสการผลิตสินค้า ที่จีนเสียโอกาสไปสหรัฐ และสหรัฐเสียโอกาสไปในจีนซึ่งมีมูลค่ามหาศาลถ้าเราดึงการผลิตในไทยได้"

**ชูแบรนด์ไทยแทรกกลางสหรัฐ-จีน

ขวัญนภา ผิวนิล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ณ นครลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา บอกว่า ในช่วง 9เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ก.ย.)อัตราการส่งออกของไทยไปสหรัฐ ขยายตัว 12% ปี 2561ตั้งเป้าหมายทั้งปีไว้ที่ 7% และปี 2562 ตั้งเป้าหมายขยายตัว 6% โดยตลาดสหรัฐมีสัดส่วน 14.7%ของการส่งออกทั้งหมด เป็นอันดับ 2 รองจากอาเซียน

กลยุทธ์ในการพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส ในช่วงที่สหรัฐฯกำลังสกัดสินค้าจากจีน ไทยต้องเร่งเข้าไปฉกฉวยโอกาสนำเสนอความเป็นสินค้าไทย (Thai DNA)ขายความเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นสู่สากล โดยใช้เครือข่ายทางการค้า สร้างแบรนด์ประเทศ และแบรนด์จากสินค้าไทย นำเสนอสินค้าจากท้องถิ่นไทย (Brand Collaboration & Marketing Networks)

โดยสินค้าไทยยังใช้ประโยชน์จากข้อตกลงทางการค้าระหว่างสหรัฐ เม็กซิโก แคนาดา (US-Mexico-Canada Agreement: USMCA) ซึ่งเป้าหมายเพื่อรวมกลุ่มการเจรจาพัฒนาการค้าให้เข้มแข็งเพื่อสร้างการต่อรอง และกีดกันสินค้าจากจีนและเวียดนามเป็นหลัก เพราะเป็นห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain)เชื่อมต่อกัน ไทยจึงใช้โอกาสนี้ในการพัฒนาซัพพลายเชนไปเชื่อมต่อโดยตรงกับกลุ่มประเทศผู้นำเข้าแทนผ่านซัพพลายเชนจากจีน

ขณะที่ในตลาดเก่าย่อมมีตลาดใหม่ และตลาดรองที่ยังมีศักยภาพที่สินค้าไทยยังไม่ได้เข้าไปเต็มที่ในภูมิศาสตร์ที่เข้าถึงยาก ประกอบด้วย กลุ่มลาตินอเมริกา กลุ่มหมู่เกาะ แคริบเบียน และกลุ่มรัฐมีภูเขา (Mountain states)ส่วนกลุ่มคนที่อาศัยในสหรัฐมีหลากหลายเชื้อชาติ ต้องเข้าไปสือสารวางแผนการตลาดอย่างชัดเจน ประกอบด้วย สเปนและโปรตุเกส (Hapanics),เอเชีย (Asians) และกลุ่มมิลเลนเนียลส์ คนรุ่นใหม่ที่มีอิทธิพลต่อการบริโภคในตลาด รวมถึงการส่งเสริมอาหารไทยและธุรกิจร้านอาหารไทย เป็นหัวหอกสำคัญที่เป็นจุดแข็งไทยที่มีโอกาสต้องขยายตลาดปักธงให้ครอบคลุมในพื้นที่ที่นิยมสินค้าไทย

ด้าน สกรรจ์ แสนโสภา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.)ณ นครหนานหนิง สาธาณรัฐประชาชนจีน บอกว่า สำหรับเป้าหมายการการส่งออกไปจีนและฮ่องกง ปี 2561 ขยายตัว 8%หรือมูลค่า 45,000 ล้านดอลล่าร์ และปี 2562 กลุ่มจีนได้กำหนดเป้าหมายการเติบโตของมูลค่าการค้าไว้ที่ 12%หรือมูลค่า 50,000 ล้านดอลล่าร์ เพื่อบรรลุเป้าหมายการค้าไทย-จีนที่กำหนดไว้ร่วมกันที่มูลค่า 140,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2564

โดยมองว่า ประเด็นของสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ ส่งผลกระทบเชิงบวกกับสินค้าไทย โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป อาทิ ผลไม้สดและแปรรูป อาหารทะเลสดและแปรรูป ซึ่งไทยสามารถขยายตลาดและเร่งผลักดันในกลุ่มนี้ให้ส่งออกมากขึ้น ขณะเดียวกันยังเพิ่มโอกาสให้ผู้ผลิตจีนหันมาย้ายฐานการผลิต หรือจ้างไทยผลิตสินค้าบางชนิดเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐ เช่น โรงงานธัญพืชแปรรูป รวมถึงกลุ่มบริษัทข้ามชาติผุ้ผลิตกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีฐานการผลิตใน และกระจายอยู่ใน เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง เป็นโอกาสดึงมาลงทุนและย้ายฐานการผลิตมาไทย

ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์การค้าเร่งการส่งออกและฟื้นความสัมพันธ์กับจีน ผ่านการประชุมJC Thai Chinaครั้งที่ผ่านมา สคต.จีนและฮ่องกง ได้นำเสนอ 3 แผนในการเพิ่มมูลค่าการค้า คือ 1.Connectivity & Logistic เชื่อมโยงการค้าการลงทุนในปีที่ผ่านมา ไทยได้ยกระดับความสัมพันธ์ในรูปของStrategic Partnershipในพื้นที่ปากมังกรของจีนPPRD (Pearl Pan River Delta)และGBA (Greater Bay Area)ทำตลาดเชิงรุกทางภาคตะวันตกของจีนเชื่อมโยงแนวเส้นทางเศรษฐกิจจีน – อาเซียน เริ่มจากมลฑลกว่างซีฯ ผ่านกุ้ยโจว ฉงชิ่ง และกานซู่ เข้าไปเชื่อมต่อกับซัพพลายเชนการผลิตของไทย

2.เพิ่มโอกาสและช่องทางการค้าด้วย E-Commerce เพราะตลาดจีนการซื้อขายออนไลน์เติบโตก้าวกระโดดถึง 25%ในช่วง3 ปีที่ผ่านมา โดยปี 2560มีมูลค่าการค้าออนไลน์สูงถึง 28.6 ล้านล้านหยวน จึงเป็นช่องทางสำคัญในการสร้างโอกาสให้กับสินค้าไทยโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม (SMEs)

3.ประชาสัมพันธ์สินค้าไทยเชิงรุกเน้นการใช้สื่อ Social Media และ Influencers ในการสร้างการรับรู้และถ่ายทอดประสบการณ์สู่ผู้บริโภคเกี่ยวกับสินค้าและบริการของไทย เช่นThai product experience หรือเน้นประชาสัมพันธ์สินค้าเชิงลึก เช่น ให้ผู้บริโภครู้จัก ทุเรียนหมอนทอง

“ตลาดจีนและฮ่องกงแตกต่างในด้านพฤติกรรมและกำลังซื้อผู้บริโภค ที่หลากหลาย สคต.จะปรับแผนการดำเนินการตามกลยุทธ์ให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ โดนโซนชายฝั่งตะวันออก โดยเฉพาะฮ่องกง และเซี่ยงไฮ้ จะเน้นสินค้าคุณภาพ (High end) สินค้าแบรนด์หรู (Luxury) สินค้าที่มีดีไซน์ สินค้าเพื่อสุขภาพ ขณะที่โซนภาคตะวันตกและใต้ เช่น เฉิงตู คุนหมิง หนานหนิง กวางโจว จะเน้นสินค้าระดับกลาง-สูง

**รุกหนัก“อาเซียน” -“อินเดีย”

ด้านจิรวุฒิ สุวรรณอาจ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ณ กรุงพนมเปญ กัมพูชา เผยถึงแผนกลยุทธ์ในการบุกตลาดอาเซียนว่า เป็นกลุ่มประเทศที่เศรษฐกิจกำลังเติบโตดีส่วนใหญ่เกิน 7%เพราะกำลังเข้าสู่ยุคโมเดิร์นเทรด และยังมีการขยายตัวของตลาดออนไลน์ ขณะที่ภาพลักษณ์สินค้าไทยดีในสายตาประเทศเหล่านี้ อีกทั้งยังมีข้อตกลงใหม่ ที่เอื้อต่อการลงทุนของไทยในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยเฉพาะเมียนมา และกัมพูชา เชื่อมต่อกับไทยโดยมีไทยเป็นศูนย์กลาง ที่ยังเชื่อมต่อกับเศรษฐกิจจีน

ดังนั้นในเชิงกลยุทธ์จึงต้องสนับสนุนกลุ่มผู้ประกอบการSMEsให้เข้าไปปักธงสู่โกลบอล ผ่านเครือข่ายนักธุรกิจ รัฐวิสาหกิจไทย ทั้งสินค้าและบริการใหม่ รวมถึงการเจาะเมืองรอง และเจาะกลุ่มสตาร์ทอัพ ซูเปอร์ริช ในประเทศอาเซียน

ด้านสุพัตรา แสวงศรี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) มองความสำคัญของตลาดในเอเชียใต้ว่า เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบเชิงบวกจากสงครามการค้า โดยเฉพาะอินเดีย ที่กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคเศรษฐกิจใหม่ภายใต้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ นเรนทรา โมที เข้ามาพลิกโฉมเศรษฐกิจอินเดียให้เปิดกว้าง และขยายตัวอย่างรวดเร็วคาดว่าปี 2562 จะมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 7%

กลยุทธ์คือการเข้าไปส่งเสริมผู้ประกอบการSMEsผลักดันธุรกิจบริการและธุรกิจสร้างสรค์ รวมถึงแบรนด์ไทย เข้าไปกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าผ่านการเป็น หุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ

---------------------------------------------

ผ่าแผนเดินหน้า-ตั้งรับ สงครามการค้าโลก

ผลศึกษาจากสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เผยถึงสถานการณ์ภายหลังจาก โดยประธานาธิบดีสหรัฐ โดนัลด์ ทรัมป์ งัดสารพัดมาตรการเพื่อปกป้องตลาดและอุตสาหกรรมภายในประเทศ ผ่าน 3 นโยบาย คือ นโยบายสร้างสมดุลการค้า (Fair Trade) โดยสกัดกั้นสินค้าจากประเทศที่ทำให้การค้าสหรัฐขาดดุล โดยพุ่งเป้าไปที่จีนเป็นเป้าหลัก เพราะขาดดุลการค้าสูงเป็นอันดับหนึ่ง , นโยบายซื้อสินค้าและวัตถุดิบที่ผลิตในสหรัฐ (Buy American) และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจให้คนอเมริกันเป็นหลักผ่านการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างความเข้มแข็งให้ชนชั้นกลาง (Hire-American)

จากนั้นในปี 2561 จึงออกมาตรฐานปกป้องการค้าใน 4 กลุ่มสินค้า คือ 1.เครื่องซักผ้าและส่วนประกอบ 2.โซลาร์เซลล์ 3.เหล็ก 4.อลูมิเนียม ที่บังคับใช้ทุกประเทศ และมีมาตการพิเศษที่บังคับใช้กับจีนประเทศเดียว ส่งผลทำให้เกิดการตอบโต้จากประเทศคู่ค้าหลัก 6 ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการ คือ จีน เม็กซิโก แคนาดา สหภาพยุโรป อินเดีย และตุรกี ซึ่งมาตรการการค้าของสหรัฐที่นำมาใช้กับ 6 ประเทศ ส่งผลกระทบรวมมูลค่าสูงถึง 4 แสนล้านดอลล่าร์ หรือสัดส่วน 2.12 %ของการนำเข้าทั้งหมดของโลก

ผลจากการสาดกระสุนทางการค้าสองประเทศยักษ์ใหญ่ และคู่ค้า กดดันบรรยากาศการค้าของโลกภาคธุรกิจทั่วโลกระมัดระวังและวางแผนการค้าการลงทุน และเกิดการเคลื่อนย้ายการลงทุน (Investment Flow)ไปสู่พันธมิตรใหม่ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยง จึงเกิดขั้วการค้าใหม่ๆ เช่น จีนลดภาษีนำเข้าสินค้าจาก บังคลาเทศ ลาว เกาหลีใต้ และศรีลังกา ภายใต้กรอบความตกลงทางการค้าเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Trade Agreement)รวมถึงจีนหันมาเพิ่มความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจกับญี่ปุ่น เป็นต้น

พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เผยถึงแผนการรับมือการค้าโลกว่าไทยควรยังคงยึดมั่นในจุดยืนและร่วมมือกับประเทศต่างๆ ผลักดันให้สหรัฐ ดำเนินมาตรการให้สอดคล้องทิศทางการค้าภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO)

โดยแนวทางการรับมือเชิงรุกสำหรับสินค้าส่งออกของไทยจะต้อง หาตลาดส่งออกใหม่ โดยกระจายความเสี่ยงตลาดส่งออก (diversify)เพื่อปรับตัวได้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์การค้าโลก และต้องปรับกลยุทธ์และพัฒนาสินค้าให้สอดรับกับความต้องการและศักยภาพการนำเข้าที่เปลี่ยนแปลงตามกลุ่มเซ็เมนท์ของแต่ละตลาดเป้าหมาย รวมไปถึงเดินหน้ากระชับความสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุนในรูปแบบต่างๆ ทั้งการทำข้อตกลงการค้าเสรี และหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ (FTA, Strategic Partnership)ตลอดจนการแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดทดแทน  และฉวยโอกาสดึงดูดต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายทั้งด้านเทคโนโลยีชั้นสูง อุตสาหกรรมเอสเคิร์ฟ และในระเบียบเขตเศรษฐกิจพิเศษ (high-tech / S-curve / EEC) และยังต้องเข้าไปขยายการลงทุนในประเทศที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี(GSP)จากสหรัฐฯ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อสร้างเป็นแต้ม ต่อในการส่งออกไปสหรัฐฯ

ส่วนมาตรการเชิงรับต้องติดตาม และเฝ้าระวังสถานการณ์การกระจายสินค้าจากประเทศต่างๆ มายังไทย คอยสอดส่องป้องกันมิให้เกิดการสวมสิทธิ์ (circumvention)หรือหลบเลี่ยงภาษี ที่สำคัญต้องสื่อสารให้สหรัฐฯ เห็นถึงพัฒนาการของไทยด้านต่างๆ ที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญ อาทิ การคุ้มครอง ทรัพย์สินทางปัญญา และแรงงาน เพื่อสร้างโอกาสใหม่ๆ ในการนำสินค้าไทยเข้าตลาดสหรัฐ

จาก www.bangkokbiznews.com  วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ไทยครองแชมป์ ASEAN Energy Awards มากสุด

กระทรวงพลังงานโชว์  21 ผลงานผู้ประกอบการไทยเข้ารับรางวัล ASEAN Energy Awards 2018 ที่สิงคโปร์ รักษาแชมป์อันดับหนึ่ง 9 ปีซ้อน ตอกย้ำความสำเร็จนโยบายขับเคลื่อนพลังงานไทย พร้อมรับไม้ต่อเป็นเจ้าภาพจัดประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียนปี 2562 ย้ำจุดยืนเดินหน้าส่งเสริมพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ชูจุดแข็งศักยภาพพลังงานทดแทนในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ 

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยในการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน ASEAN Ministers on Energy Meetings - AMEM ครั้งที่ 36 ที่ประเทศสิงคโปร์  ว่า ปีนี้นับเป็นความสำเร็จของไทยอีกครั้งในเวที  ASEAN Energy Awards 2018 ที่มีการมอบรางวัลรวม 63 รางวัล โดยผู้ประกอบการไทยสามารถคว้ารางวัลด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานได้ถึง 21 รางวัล จากการส่งเข้าประกวดทั้งสิ้น  25 ผลงาน โดยมีรางวัลที่ได้รับเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาและสูงสุดต่อเนื่องเป็นปีที่ 9 นับตั้งแต่ปี 2553 ซึ่งสะท้อนให้ประเทศสมาชิกอาเซียนเห็นถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลและภาคเอกชนไทยในการขับเคลื่อนการพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ

“กระทรวงพลังงานขับเคลื่อนการส่งเสริมพลังงานทดแทนภายใต้แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) และการลดใช้พลังงานภายใต้แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) ซึ่งเป็นแผนระยะยาว 20 ปี (พ.ศ.2558-2579) โดยไทยมีเป้าหมายชัดเจนในการส่งเสริมให้เกิดการลงทุน การพัฒนาและวิจัยเพื่อก่อให้เกิดความมั่นคงพลังงาน ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ ความมุ่งมั่นดังกล่าวพิสูจน์ให้เห็นถึงศักยภาพเอกชนไทยในเวที ASEAN Energy Awards ที่มีการจัดประกวดมาต่อเนื่องเป็นปีที่ 19 ซึ่งไทยได้ส่งผลงานเข้าประกวดมาตั้งแต่ปี 2543 และได้รับรางวัลบนเวทีอาเซียนมากที่สุดถึง 188 รางวัล รองลงมา อินโดนีเซีย 97 รางวัล และสิงคโปร์ 86 รางวัล ซึ่งปีนี้ไทยได้รับรางวัลอันดับสูงสุดเป็นปีที่ 9 ติดต่อกัน” นายศิริ กล่าว

สำหรับการประกวด ASEAN Energy Awards 2018 ปีนี้ครอบคลุม 2 หมวดหลัก คือ ด้านพลังงานทดแทน และการอนุรักษ์พลังงาน แบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1.การบริหารจัดการพลังงานดีเด่น 2.อาคารอนุรักษ์พลังงานดีเด่น  3.อาคารเขียวดีเด่น และ 4.โครงการพลังงานหมุนเวียนดีเด่น

นอกจากนี้ ในปี 2562 ประเทศไทยได้รับมอบเป็นประธานอาเซียนและเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียนครั้งที่ 37 ซึ่งไทยมีความพร้อมทั้งองค์ความรู้ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีจนนำมาสู่การพัฒนาพลังงานทดแทนอย่างเป็นรูปธรรมต่อเนื่อง ทั้งการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ ลม  ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ ขยะชุมชน นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้เกิดการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพที่เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรของไทยที่สำคัญ ได้แก่ การผลิตเอทานอลจากอ้อยและมันสำปะหลัง การผลิตไบโอดีเซล จากปาล์มน้ำมัน เป็นต้น และด้านอนุรักษ์พลังงาน เช่น การจัดการพลังงาน การกำหนดมาตรฐานอาคารประหยัดพลังงาน การให้การสนับสนุนทางด้านการเงิน

“อาเซียนมีการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อเนื่อง พลังงานจึงเป็นสิ่งสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและความยั่งยืน พลังงานทดแทนจึงเป็นเทรนด์ที่ทั่วโลกกำลังมุ่งก้าวไปเพื่อตอบโจทย์ของความมั่นคงและมีความยั่งยืนโดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ศักยภาพของอาเซียนที่สมาชิกมีความหลากหลายทางภูมิศาสตร์ จึงมีศักยภาพต่อการเอื้อให้เกิดการพัฒนาพลังงานดแทนและแลกเปลี่ยนระบบพลังงานได้ในอนาคต” นายศิริ กล่าว

สำหรับช่วงเย็นวันนี้ (29 ต.ค.) จะมีพิธีมอบรางวัลโดยผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัลประเภทต่าง ๆ ในเวที ASEAN Energy Awards 2018 รวมทั้งสิ้น  21 รางวัล  แบ่งเป็นด้านพลังงานทดแทน  13 ผลงาน แบ่งเป็นรางวัลชนะเลิศ  6 ผลงาน 1.โรงไฟฟ้าชีวมวล ช้างแรก ไบโอเพาเวอร์ : บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)(ประเภท On-Grid : National Grid)  2. โรงไฟฟ้าชีวมวล พิจิตร ไบโอเพาเวอร์ : บริษัท พิจิตรไบโอเพาเวอร์ จำกัด (ประเภท On-Grid : National Grid) 3. โครงการผลิตก๊าซชีวภาพทดแทนเชื้อเพลิง LPG : บริษัท ไทยอีสเทิร์น ไบโอ พาวเวอร์ จำกัด (ประเภท Off-Grid : Thermal) 4. โรงงานเอทานอลมิตรผล ด่านช้าง : บริษัท มิตรผล ไบโอฟูเอล จำกัด (สุพรรณบุรี)  (ประเภท Biofuel) 5. โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม : บริษัท สงวนวงษ์ เอ็นเนอร์ยี จำกัด (ประเภท Cogeneration) 6. ระบบกำจัดก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ในก๊าซชีวภาพด้วยเทคโนโลยีสะอาดสำหรับเกษตรกรรายย่อยภายใต้แนวคิดธรรมชาติช่วยธรรมชาติ  คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ (ประเภท Special Submission)

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จำนวน 4 ผลงาน 1. โครงการไฟฟ้าพลังน้ำระดับหมู่บ้านแม่กลองน้อย กำลังผลิต 20 kW หมู่บ้านแม่กลองน้อย ตำบลโมโกร อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก(ประเภท On-Grid : Local Grid) 2. โครงการนำระบบโซล่าร์ออฟกริดไปใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในธุรกิจห้องเย็น : บริษัท สินชัยห้องเย็น จำกัด (ประเภท Off-Grid : Power) 3. โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม บริษัท บุรีรัมย์เพาเวอร์ จำกัด : บริษัท บุรีรัมย์เพาเวอร์ จำกัด (ประเภท Cogeneration) 4. โรงงานผลิตเอทานอล : บริษัท แม่สอดพลังงานสะอาด จำกัด   (ประเภท Biofuel)   รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จำนวน 3 ผลงาน 1. โครงการไฟฟ้าพลังน้ำระดับหมู่บ้านหมากลาง กำลังผลิต 25 kW หมู่บ้านหมากลาง ตำบลห้วยโป่ง อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน (ประเภท On-Grid : Local Grid) 2. โครงการผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสีย : บริษัท เคทิส ไบโอเอทานอล จำกัด (ประเภท Off-Grid : Power) 3. โครงการบ่อหมักก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์ทดแทน LPG สำหรับหุงต้ม ในครัวเรือนขององค์การบริหารส่วนตำบลคลองน้ำไหล : องค์การบริหารส่วนตำบลคลองน้ำไหล (ประเภท Off-Grid : Thermal)

ด้านอนุรักษ์พลังงาน  8 ผลงาน แบ่งเป็น รางวัลชนะเลิศ  4 ผลงาน 1. บริษัท ริโก้ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ชนะเลิศ (Energy Management: Large Industry) 2. บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส จำกัด (โรงงาน 2) (Energy Management: Small and Medium Industry) 3. โรงแรมอันดามัน คาเนเซีย รีสอร์ทแอนด์สปา : บริษัท ภูเก็ตคาเนเซีย จำกัด (Energy Management: Small and Medium Building) 4. บริษัท แพนดอร่า โพรดักชั่น จำกัด (Energy Management: Special Submission Industry)  รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จำนวน 2 ผลงาน 1. โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา : สภากาชาดไทย (Energy Management: Large Building) 2. อาคาร KBTG : ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (Green Building) รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จำนวน 2 ผลงาน 1. โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี : มูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย (Energy Management: Large Building) และ 2. อาคาร ซี.พี.ทาวเวอร์ 3 (พญาไท) : บริษัท ซี.พี.แลนด์ จำกัด (มหาชน) (Energy Efficiency in Building: Retrofitted Building)

จาก https://tna.mcot.net   วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ดัชนีรายได้เกษตรกรยังทรงตัว จับตา‘อ้อย-ยาง-ปาล์ม’ราคาลด

นางสาวจริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ภาพรวมรายได้ของเกษตรกร วัดจากดัชนีรายได้เกษตรกรในเดือนกันยายน 2561 ลดลงจากเดือนกันยายน 2560 ร้อยละ 4.04 โดยดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ที่ไร่นาเดือนกันยายน 2561 ลดลงจากเดือนกันยายน 2560 ร้อยละ 6.00 สินค้าที่ราคาปรับตัวลดลงได้แก่ ปาล์มน้ำมัน ราคาลดลงเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังมีสต๊อกน้ำมันปาล์มคงเหลือเป็นจำนวนมาก ประกอบกับความต้องการใช้บริโภคและอุตสาหกรรมลดลงอย่างต่อเนื่อง ลองกอง เงาะ ราคาลดลงเนื่องจากเป็นผลผลิตจากภาคใต้ ซึ่งอยู่ในช่วงที่ผลผลิตออกมากส่งผลให้ผลผลิตออกสู่ตลาดกระจุกตัว ไก่เนื้อ ราคาลดลงเนื่องจากผลผลิตยังคงออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ประกอบกับการบริโภคชะลอตัว

สินค้าที่ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ มันสำปะหลัง ราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดไม่เพียงพอต่อความต้องการของโรงงานแป้งมัน และลานมันสำปะหลัง ลำไย ราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลงเนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ทำให้ผลผลิตไม่เพียงพอความต้องการ และ สุกร ราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดลดลงประกอบกับผลผลิตเนื้อสุกรลดลงจากนโนบายควบคุมการผลิตเนื้อสุกรที่เริ่มได้ผล

หากมองแนวโน้มดัชนีรายได้เกษตรกรในเดือนตุลาคม 2561 คาดว่าเพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2560 ร้อยละ 0.19 เป็นผลมาจากดัชนีผลผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.78 โดยสินค้าสำคัญที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ยางพารา เงาะ ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว และไก่เนื้อ ในขณะที่ดัชนีราคาปรับตัวลดลงร้อยละ 1.56 โดยสินค้าสำคัญที่มีราคาลดลง ได้แก่ อ้อยโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว สุกร ไก่เนื้อ และ กุ้งขาวแวนนาไม

อย่างไรก็ตาม เดือนพฤศจิกายน 2561 ดัชนีรายได้เกษตรกร คาดว่าอยู่ในเกณฑ์ทรงตัว เนื่องจากดัชนีราคาคาดว่าจะทรงตัวต่อเนื่องเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2560 ในขณะที่ดัชนีผลผลิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอาทิ ข้าวเปลือกเจ้า ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และไข่ไก่

จาก https://www.naewna.com วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2561

AFTA ดันการค้าไทย-อาเซียนโต14.7% พาณิชย์เร่งพีอาร์หาตลาดเพิ่ม

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การค้าระหว่างไทยกับประเทศอาเซียนในฐานะกลุ่มประเทศที่มีการจัดทำเขตการค้าเสรี หรือ FTA ฉบับแรกของไทย ตั้งแต่ปี 2536 มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยช่วง 9 เดือนแรกของปี 2561 (มกราคม-กันยายน) มีมูลค่าการค้ารวมระหว่างกันสูงถึง 85,127.3 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า 14.7%

แบ่งเป็นการส่งออก 51,036.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 16.6% และนำเข้า 34,090.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 12.1% โดยอาเซียนยังครองตำแหน่งเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย ด้วยสัดส่วนการค้ามากถึง 22.6% รองลงมาเป็นประเทศจีน 15.7% และญี่ปุ่น 11.8%

นางอรมนกล่าวว่า จากการติดตามการใช้สิทธิประโยชน์จากการลดภาษีศุลกากรภายใต้ FTA ของอาเซียน (AFTA) ซึ่งอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ลดภาษีศุลกากรสินค้ากว่า 98-99%ของรายการสินค้าทั้งหมดเป็น 0% แล้ว โดย 6 ประเทศอาเซียนดั้งเดิม ได้แก่ บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ลดเป็น 0% ตั้งแต่ปี 2553 ขณะที่กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม (CLMV) ลดเป็น 0% ตั้งแต่ 1 มกราคม 2561 พบว่า ในช่วง 8 เดือนแรก (มกราคม-สิงหาคม) ของปี 2561 ไทยส่งออกสินค้าไปอาเซียนโดยใช้สิทธิภายใต้ AFTA มูลค่า 17,853.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 39.2% ของการส่งออกไทยไปโลก โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ รถยนต์และอุปกรณ์ น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์

สำหรับการนำเข้าสินค้าจากอาเซียน โดยใช้สิทธิ์ภายใต้ AFTA มูลค่า 6,241 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 20.5% ของการนำเข้าจากโลก มีสินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันดิบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ และก๊าซธรรมชาติ

เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว พบว่า ไทยใช้สิทธิ์ AFTA ส่งสินค้าออกไปและนำเข้ามาจากอาเซียนเพิ่มขึ้น โดยใช้สิทธิ์ส่งออกเพิ่มขึ้นถึง 17% และใช้สิทธิ์นำเข้าเพิ่มขึ้น 11.6% เนื่องจากไทยส่งออกไป CLMV เพิ่มขึ้นจากการลดภาษีศุลกากรในกรอบอาเซียนของ CLMV ประกอบกับสมาชิกอาเซียนพัฒนาระบบการอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างกันมากขึ้น

นางอรมนกล่าวว่า ในวาระที่ไทยจะเป็นประธานอาเซียนต่อจากสิงคโปร์ปี 2562 ถือเป็นโอกาสที่จะเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการที่มีศักยภาพของไทยต่อผู้บริโภคอาเซียน เพื่อขยายลู่ทางการค้า โดยเฉพาะในเมืองใหม่ๆ ของอาเซียนที่ผู้ส่งออกไทยยังไม่เคยเข้าไปทำตลาด ขณะเดียวกันไทยสามารถใช้เวทีการประชุมต่างๆ ของอาเซียนที่จะจัดขึ้นในไทย เพื่อแสวงหาความร่วมมือทางการค้าตลอดจนแสดงศักยภาพสินค้าและบริการของไทยสู่อาเซียนและชาวโลกด้วย

จาก https://www.naewna.com วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2561

เร่งแก้ปัญหา8เขื่อนใหญ่น้ำน้อย กรมชลดึงประชาชนร่วมจัดการ-ใช้‘เขื่อนกระเสียว’ต้นแบบ

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ทั้ง 35 แห่งทั้งประเทศก่อนที่จะสิ้นฤดูฝนว่า มีปริมาณน้ำในภาพรวมเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 80 ของปริมาณการกักเก็บ ซึ่งอยู่ในระดับที่ดีมาก แต่เนื่องจากปริมาณฝนในปีนี้ไม่กระจาย กระจุกตัวในบางพื้นที่ ทำให้มีเขื่อนขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่าร้อยละ 60 ถึง 8 เขื่อน โดยอยู่ในภาคเหนือ2 เขื่อน คือ เขื่อนแม่มอก เขื่อนแม่กวงอุดมธารา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 เขื่อน คือ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนห้วยหลวง เขื่อนมูลบน และ เขื่อนลำนางรอง ภาคกลาง 2 เขื่อน คือ เขื่อนกระเสียว และ เขื่อนทับเสลา ซึ่งจะต้องวางแผนบริหารจัดการน้ำอย่างรอบครอบเพื่อให้ไม่ให้เกิดภาวะวิกฤติขาดแคลนน้ำ

สำหรับแนวทางการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนทั้ง 8 แห่งดังกล่าว กรมชลประทานจะนำแนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชน ภายใต้คณะกรรมการจัดการชลประทาน หรือ คณะกรรมการ JMC ที่มีทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการใช้น้ำร่วมเป็นคณะกรรมการ มาใช้ในการวางแผนบริหารจัดการน้ำ ให้เพื่อเพียงพอใช้สำหรับการอุปโภค-บริโภค การรักษาระบบนิเวศน์ของลุ่มน้ำ และเหลือสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนปี 2562

ทั้งนี้การบริหารจัดการน้ำโดยการมีส่วนร่วมของประชาชน ประสบผลสำเร็จมาแล้วในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะที่เขื่อนกระเสียว อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี ที่เมื่อฤดูกาลปี 2558/59 เคยประสบปัญหาน้ำในเขื่อนมีปริมาณน้อยเช่นเดียวกับปีนี้ แต่กรมชลประทาน ร่วมกับ คณะกรรมการ JMC เขื่อนกระเสียว สามารถบริหารจัดการน้ำให้รอดพ้นวิกฤติขาดแคลนน้ำในครั้งนั้นมาได้ ซึ่งคณะกรรมการ JMC ของเขื่อนกระเสียว มีความเข้มแข็งมากทำให้สามารถบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนได้รับรางวัลต่างๆ มากมายทั้งในระดับประเทศ และระดับโลกจากสหประชาชาติมาแล้ว

รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าวต่อว่า สถานการณ์น้ำในเขื่อนกระเสียวปีนี้ มีปริมาณน้ำใกล้เคียงกับปี 2558/59 คาดการณ์ว่าหลังจากสิ้นฤดูฝน ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นของการส่งน้ำตามแผนการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2561/62 เขื่อนกระเสียวจะมีปริมาณน้ำต้นทุนใช้การได้ประมาณ 58 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) จากปริมาณน้ำจุของเขื่อน 240 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 22 ของปริมาณน้ำใช้การเท่านั้น กรมชลประทานได้วางแผนการจัดสรรน้ำตั้งแต่เดือน พ.ย. 2561 - เม.ย. 2562 ดังนี้ จัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค 2 ล้านลบ.ม. รักษาระบบนิเวศน์ 9 ล้านลบ.ม. อุตสาหกรรม 1 ล้าน ลบ.ม. และจัดสรรเพื่อการเกษตรเฉพาะอ้อยและพืชต่อเนื่อง(ข้าวนาปีที่ยังไม่เก็บเกี่ยว) 30 ล้าน ลบ.ม. รวม เป็น 42 ล้าน ลบ.ม. ส่วนที่เหลืออีก 16 ล้าน ลบ.ม. จะสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนปี 2562

อย่างไรก็ตาม แผนการจัดสรรน้ำดังกล่าว คณะกรรมการ JMC ของเขื่อนกระเสียว จะพิจารณาตามความเหมาะสมและสถานการณ์จริงอีกครั้ง ซึ่งจะมีการควบคุมการใช้น้ำอย่างรัดกุมเคร่งครัดตามแผนที่วางไว้ ให้ไม่มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยปริมาณน้ำที่มีอยู่ จะเพียงพอสำหรับใช้ในการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศน์ อย่างแน่นอน ส่วนการทำนาปรังนั้นในฤดูแล้งปี 2561/62 จะต้องงดทั้งหมด ซึ่งกรมชลประทานได้เตรียมมาตรการจ้างแรงงานเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ไม่ได้ทำนาปรังให้มีรายได้รองรับไว้แล้ว แต่ถ้าหากมีฝนตกลงมาเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนมีมากกว่าร้อยละ 50 ของปริมาณการเก็บกัก คณะกรรมการ JMC ก็จะมีการพิจารณาให้ทำนาปรังหรือปลูกพืชที่ได้น้ำน้อยได้ตามความเหมาะสมต่อไป

“แผนการบริหารจัดการน้ำโดยคณะกรรมการ JMC ดังกล่าวทำให้เกิดความสามัคคี รู้คุณค่าของน้ำ ซึ่งกรมชลประทานจะขยายผลการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนกระเสียว ไปใช้ในการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนที่เหลืออีก 7 แห่งที่มีปริมาณน้ำน้อย ให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งปีนี้ และมีน้ำสำรองสำหรับการทำการเกษตรในช่วงต้นฤดูฝนปีหน้า” รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าวย้ำในตอนท้าย

จาก https://www.naewna.com วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2561

จำกัดการใช้ 3 สารเคมีเกษตร จะซื้อจะขาย ต้องมีใบอนุญาตพิเศษ

ในที่สุดร่างประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เกี่ยวกับมาตรการจำกัดการใช้สารเคมี 3 ชนิด พาราควอต ไกลโฟเซส และ คลอร์ไพริฟอส ที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติให้กรมวิชาการเกษตร ไปทำการยกร่างฯ ได้คลอดออกมาเป็นรูปเป็นร่างให้เห็นกันแล้ว

แต่คณะกรรมการวัตถุอันตราย จะเห็นชอบกับที่จะนำมาใช้ด้วยหรือไม่ ยังเป็นที่ต้องรอกันอีกต่อไป

สรุปสาระสำคัญของร่างฉบับนี้...ได้แยก พาราควอต ไกลโฟเซส และคลอร์ไพริฟอส ให้เป็นสารชนิดพิเศษ ที่แยกออกมาจากสารเคมีทางการเกษตรชนิดอื่นๆ และต้องจัดพื้นที่วางขายแยกจากวัตถุอันตรายชนิดอื่นๆให้เห็นชัดเจน

 คนซื้อ คนขาย ร้านค้า คนนำไปใช้ คนรับจ้างพ่น รวมทั้งผู้ผลิต ผู้นำเข้า นอกจากจะต้องขออนุญาตพิเศษแล้ว ยังต้องผ่านการอบรม และต้องอบรมทุกๆ 2 ปี

จะไม่สามารถซื้อขายกันได้แบบง่ายๆ เหมือนที่ผ่านมา

ที่สำคัญ สารกำจัดวัชพืช พาราควอต และ ไกลโฟเซส จะใช้ได้เฉพาะกับพืช 6 ชนิด อ้อย, ยางพารา, ปาล์มน้ำมัน, มันสำปะหลัง, ข้าวโพด และ ไม้ผล ที่ขึ้นทะเบียนเท่านั้น

ส่วนสารกำจัดแมลงศัตรูพืช คลอร์ไพริฟอส ให้ใช้ได้เฉพาะ ไม้ผล ไม้ดอก และ พืชไร่

สารทั้ง 3 ชนิด ห้ามนำไปใช้ในแปลงปลูกผัก พืชสมุนไพร พื้นที่ต้นน้ำ และพื้นที่สาธารณะ

ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ปลัด อบต. เป็นผู้มีอำนาจตรวจสอบการใช้วัตถุอันตราย ทุกอย่างมีผลบังคับใช้ในระยะเวลา 90 วัน หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา

หลังจากที่ได้เห็นร่างฯที่ออกมา ฟากฝั่งเกษตรกรให้ความเห็นติงในเรื่องกรอบเวลาในการอบรมเกษตรกรทั่วประเทศกว่า 20 ล้านราย ในระยะเวลา 90 วันคงเป็นไปไม่ได้ จึงเสนอให้กรมวิชาการเกษตรขยายเวลาออกไป เพราะหากบังคับใช้มาแล้วไม่สามารถปฏิบัติได้ เกษตรกรจะมีความผิด

 นอกจากนั้น การแต่งตั้งผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ปลัด อบต. เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจสอบนั้น บางคนอาจขาดองค์ความรู้ด้านเกษตรกรรม ซ้ำต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มในการอบรมก่อนปฏิบัติงานจริง หน้าที่นี้จึงสมควรเป็นของบุคลากรกระทรวงเกษตรฯเอง อาทิ เกษตรตำบล เพราะมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้เป็นอย่างดี

สำคัญที่สุดเรื่องราคา เนื่องจากช่วงที่ผ่านมา หลังกลุ่มเอ็นจีโอมีการขับเคลื่อนให้แบนสารเคมี 3 ชนิด ส่งผลให้สารเคมีดังกล่าวมีราคาแพงขึ้นมาตลอด ทำให้เกษตรกรมีต้นทุนสูงขึ้น สูญเสียรายได้ไปปีละ 1,500 ล้านบาท จึงเสนอให้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด เป็นสินค้าที่ต้องมีการควบคุมราคา.

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2561

พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช

การเปิดรับฟังความคิดเห็น ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช ทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ (เว็บไซต์) จากทุกภาคส่วนเสร็จสิ้นไปแล้ว และปัจจุบัน ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไข และเมื่อเสร็จแล้วจะมีการนำไปทำประชาพิจารณ์ใน 6 ภูมิภาคทั่วประเทศอีกครั้ง

ดร.เสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ชี้แจงถึงการปรับปรุงแก้ไข ยึดผลประโยชน์ของเกษตรกรเป็นหลัก เกษตรกรยังคงสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไปปลูกต่อไปในพื้นที่ของตนเองได้โดยไม่มีโทษใดๆ

ส่วนการขยายการคุ้มครองจากส่วนขยายพันธุ์ไปถึงผลผลิตและผลิตภัณฑ์นั้น ได้ขยายความคุ้มครองเฉพาะ “ผลผลิต” หรือ “ผลิตภัณฑ์” ที่เกิดจากส่วนขยายพันธุ์ที่ได้มาโดยมิชอบเท่านั้น แต่หากส่วนขยายพันธุ์นั้นได้มาอย่างถูกต้อง ผู้ผลิตมีสิทธิในผลผลิตและผลิตภัณฑ์นั้น ทั้งนี้เพื่อป้องกันการใช้ประโยชน์จากส่วนขยายพันธุ์ที่ได้มาอย่างไม่ถูกต้อง

กรณีการปรับระยะเวลาคุ้มครองตามกลุ่มพืชจากเดิม พืชล้มลุก 12 ปี เพิ่มเป็น 20 ปี พืชไม้ผลไม้ยืนต้นจาก 17 ปีเป็น 25 ปี พืชให้เนื้อไม้จาก 27 ปี ลดเหลือ 25 ปี เนื่องจากในการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์พืชกว่าจะได้พันธุ์ใหม่จำเป็นต้องใช้ต้นทุน การปรับช่วงเวลาดังกล่าวเพื่อให้นักปรับปรุงพันธุ์มีแรงจูงใจที่จะลงทุนและลงแรงในการปรับปรุงพันธุ์ใหม่ๆ รวมทั้งเกษตรกร ประชาชนทั่วไป นักวิชาการซึ่งเป็นผู้ปรับปรุงพันธุ์พืชใหม่และได้จดทะเบียนคุ้มครองจะได้รับผลประโยชน์ จากการขยายระยะเวลานี้ด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ ได้มีการปรับแก้ที่มาของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากเกษตรกร นักวิชาการ องค์กรสาธารณประโยชน์ และภาคเอกชน จากการเลือกตั้งกันเอง เป็นแต่งตั้งทั้งหมด เพื่อลดขั้นตอนให้การแต่งตั้งสามารถทำได้รวดเร็ว มีความต่อเนื่อง แต่ยังคงไว้ซึ่งองค์ประกอบของคณะกรรมการจากทุกภาคส่วนเช่นเดิม

การปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชในครั้งนี้ เป็นการปรับมาตรฐานการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ให้สอดคล้องกับหลักสากล โดยเกษตรกรยังสามารถใช้พันธุ์พืชดั้งเดิมและเมล็ดพันธุ์ที่มีอยู่ทั่วไปได้ตามปกติ.

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2561

"น้ำตาลดิบ" ดีดตัวสูงขึ้นแค่ระยะสั้น เหตุตัวแปรสำคัญกดราคาร่วง อยู่ที่อินเดียอุดหนุนส่งออก

จับตาราคาน้ำตาลทรายดิบกลับมาดีดตัวสูงขึ้น ล่าสุด ขยับใกล้ 14 เซ็นต์ต่อปอนด์ เผย 5 เหตุผลทำราคาดีขึ้น คาดแค่ช่วงสั้น ๆ เพราะยังมีตัวแปรสำคัญกรณีรัฐบาลอินเดียทุ่มงบกว่า 2 หมื่นล้าน ช่วยเพิ่มค่าอ้อยและชดเชยค่าขนส่งจากโรงงานไปยังท่าเรือเพื่อส่งออก

นายภิรมย์ศักดิ์ สาสุนีย์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ค้าผลผลิตน้ำตาล จำกัด เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ขณะนี้ราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกดีดตัวกลับมาแตะใกล้ ๆ 14 เซนต์ต่อปอนด์ จากที่เมื่อปลายเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา ลงไปต่ำสุดในรอบหลายปีที่ระดับ10.80 เซ็นต์ต่อปอนด์

โดยสาเหตุที่ดีดตัวสูงขึ้นเกิดจาก 5 ปัจจัยหนุน ไล่ตั้งแต่ 1.สกุลเงินเรียลของบราซิลแข็งค่าขึ้นมาก เป็นผลต่อเนื่องจากที่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่รอบแรกที่ได้เสียงเพียง 46% และอยู่ในช่วงเลือกตั้งรอบ 2 (28 ต.ค. 61) 2.เป็นที่คาดการณ์กันว่า บราซิลจะมีผลผลิตน้ำตาลต่ำกว่า 26 ล้านตัน จากที่ปีก่อนผลิตได้สูงถึง 36 ล้านตัน เท่ากับปริมาณน้ำตาลหายไป 10 ล้านตัน เนื่องจากช่วงที่ผ่านมา นำอ้อยไปผลิตเอทานอลจำนวนมาก เพราะได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่า โดยได้อานิสงค์จากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น อีกทั้งบราซิลมีสภาพอากาศแห้งแล้งทำให้มีผลผลิตอ้อยลดลง

3.คาดการณ์ว่าผลผลิตอ้อยในกลุ่มสหภาพยุโรป ปี 2561/2562 จะมีปริมาณลดลงราว 2 ล้านตัน จากที่ปีก่อน (2560/2561) มีปริมาณน้ำตาลประมาณ 21 ล้านตัน ทำให้เหลือน้ำตาลเพียง 19 ล้านตัน 4.ผลผลิตอ้อยของไทยปี 2561/2562 อาจลดลง เนื่องจากมีปริมาณฝนน้อยกว่าปีที่แล้ว 5.กองทุนและนักเก็งกำไรกลับมาซื้อตั๋วน้ำตาลคืน ยิ่งช่วยหนุนให้ราคาน้ำตาลปรับตัวสูงขึ้น

"ขณะนี้วงการน้ำตาลต่างมองไปในทิศทางเดียวกันว่า ราคาน้ำตาลที่ปรับขึ้นครั้งนี้น่าจะเกิดขึ้นในช่วงระยะสั้น ๆ เท่านั้น เนื่องจากยังต้องเผชิญกับตัวแปรสำคัญกรณีที่รัฐบาลอินเดียอนุมัติงบกว่า 2 หมื่นล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเพิ่มค่าอ้อยและชดเชยค่าขนส่งน้ำตาลจากโรงงานไปยังท่าเรือส่งออก"

ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ค้าผลผลิตน้ำตาล จำกัด กล่าวอีกว่า เรื่องนี้ยังเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามและจับตาอย่างใกล้ชิด ซึ่งก่อนหน้านี้ คณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานนํ้าตาลทราย ออกมาเปิดเผยว่า กลุ่มพันธมิตรเพื่อการปฎิรูปการค้านํ้าตาลโลก หรือ Global Sugar Alliance for Sugar Trade Reform and Liberalization (GSA) ซึ่งมีประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลทรายที่สําคัญของโลกร่วมเป็นสมาชิก อย่างเช่น บราซิล ออสเตรเลีย กัวเตมาลา โคลัมเบีย ซิลี แคนาดา และไทย ได้เรียกร้องให้รัฐบาลอินเดียยกเลิกมาตรการอุดหนุนการ ส่งออกนํ้าตาลทราย จํานวน 5 ล้านตัน หลังจากภาครัฐบาลอินเดียอนุมัติงบกว่า 760 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ ประมาณ 22,000 ล้านบาท เพื่ออุดหนุนการส่งออกน้ำตาล  ซึ่งขัดข้อตกลง WTO และเป็นการบิดเบือนตลาดน้ำตาลโลก สําหรับผลกระทบจากการอุดหนุนการส่งออกของอินเดียในครั้งนี้ มีผลให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกลดลง 36% ตํ่าสุดในรอบ 10 ปี และอยูในระดับตํ่ากว่าต้นทุนการผลิตของประเทศที่มีประสิทธิภาพการผลิตสูง เช่น บราซิล ออสเตรเลีย และไทย

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2561

โรงงาน 8 หมื่นราย เตรียมเฮ “อุตตม”ปลดล็อกเลิกต่อใบอนุญาต

ผู้ประกอบการโรงงานทั่วประเทศ 8 หมื่ราย เตรียมเฮ “อุตตม”ลุยยกเครื่องแก้กฎหมายให้ยกเลิกอายุของใบอนุญาตรง.4 ส่งผลดีทันทีกับภาคผลิต ไม่ต้องเสียเวลาทำเรื่องต่อใบอนุญาตแบบเดิมอีก  เปลี่ยนรูปแบบใหม่ให้ผู้ประกอบการเป็นฝ่ายรับรองตนเอง ลดขั้นตอนและประหยัดเวลาอื้อ แถมปิดช่องครหาเรียกรับผลประโยชน์ทุกชนิด

นายอุตตม  สาวนายน  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า  ได้สั่งการให้เร่งทำการปฏิรูปกระบวนการให้บริการของกระทรวงอุตสาหกรรมทุกมิติ เพื่อรองรับนโยบายปฏิรูปประเทศของรัฐบาล  ซึ่งที่ผ่านมาได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงงานไปแล้วเกือบทุกด้าน โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วย เพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับความสะดวก รวดเร็ว โปร่งใสทุกขั้นตอน ล่าสุดที่กำลังดำเนินการคือ จะปลดล็อคกระบวนการขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) ใหม่  ซึ่งจะให้กับผู้ประกอบการโรงงานทั่วประเทศกว่า 80,000 รายสามารถดำเนินธุรกิจต่อเนื่องโดยไม่ติดขัดเรื่องนี้อีกต่อไป

ทั้งนี้ กฎหมายเดิมกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องเป็นฝ่ายทำเรื่องเสนอให้กระทรวงพิจารณา มีขั้นตอนและใช้เอกสารประกอบการยื่นคำขอค่อนข้างมาก  ซึ่งเมื่อยื่นเรื่องแล้วต้องรอให้เจ้าหน้าที่พิจารณาความถูกต้องของเอกสาร จากนั้นจึงจะนัดหมายไปตรวจโรงงาน หากพบว่าไม่เรียบร้อยต้องแก้ไขปรับปรุง และต้องกลับไปตรวจโรงงานอีกครั้ง  กระบวนการเดิมใช้เวลามากจึงทำให้ไม่สะดวกและเกิดความล่าช้ากับผู้ประกอบการโรงงานทั่วประเทศ

โดยในระยะเวลา 5 ปีจาก 2562-2566 มีโรงงานต้องดำเนินการมากกว่า 80,000 แห่งทั่วประเทศ  สิ่งเหล่านี้เข้าใจดีว่าผู้ประกอบการต่างต้องการความสะดวกและรวดเร็วในการต่ออายุใบอนุญาต เพื่อให้สามารถทำธุรกิจได้อย่างถูกต้อง และปิดช่องไม่ให้มีการกล่าวอ้างเรื่องเจ้าหน้าที่รัฐมีการแสวงหาประโยชน์   แนวทางใหม่ที่จะแก้ไขถือว่าเป็นการปฏิรูปใหญ่แบบเบ็ดเสร็จคือ การยกเลิกอายุของใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน  ไม่ใช่เป็นการแก้ไขรายละเอียดของกฎหมายการต่ออายุใบอนุญาต  เรียกว่าแก้ที่ต้นทางคือเมื่อยกเลิกอายุของใบอนุญาตก็เท่ากับไม่จำเป็นต้องมีการต่ออายุเช่นเดิมอีกต่อไป

ทั้งนี้ จะเปลี่ยนหลักการเป็นให้ผู้ประกอบการโรงงานเป็นฝ่ายรับรองตนเองหรือ Self-declared  ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องแสดงข้อมูลเพื่อรับรองตนเองว่าการประกอบกิจการได้มีการดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย   โดยกำหนดให้มีการแจ้งข้อมูลที่จำเป็นต่อการควบคุมกำกับดูแล ทั้งด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม  และจะมีเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือผู้ตรวจสอบเอกชนที่ขึ้นทะเบียนเจ้าหน้าที่ตรวจโรงงานกับกระทรวงอุตสาหกรรม (Third Party) ไปทำการตรวจภายหลังและเป็นผู้รับรองข้อเท็จจริงความถูกต้องอีกขั้นหนึ่งเพื่อป้องกันการรับรองเท็จ

“มาตรการนี้จะส่งผลดีชัดเจนแบบ  2 เพิ่ม 2 ลด คือ เพิ่มความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ  เพิ่มประสิทธิภาพในการบริการ  ลดระยะเวลาการทำเรื่องขอใบอนุญาตแบบเดิม และ ลดปัญหาข้อร้องเรียนเรื่องความโปร่งใสในกระบวนการต่อใบอนุญาต  ทั้งนี้ผู้ที่ได้รับประโยชน์โดยตรงก็คือผู้ประกอบการโรงงานทั่วประเทศประมาณ 80,000 ราย   ที่สำคัญผมมั่นใจว่ามาตรการนี้จะช่วยสร้างความสนใจดึงดูดนักลงทุนทั่วโลกมาลงทุนเพิ่มในประเทศไทยได้มาก โดยผมจะให้เร่งนำเสนอแก้ไขข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาภายในเดือนตุลาคมนี้  และคาดว่าร่างกฎหมายดังกล่าวจะเข้าสู่วาระการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติและมีผลบังคับใช้เป็นของขวัญปีใหม่แก่ผู้ประกอบการในต้นปีหน้า” นายอุตตมกล่าว

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2561

สนช.เร่งคลอด6พรบ.เศรษฐกิจ 6 ฉบับ

 สนช.เร่งพิจารณาร่างกฎหมายเศรษฐกิจ 6 ฉบับ ให้ทันรัฐบาลชุดนี้ เผยร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินเสร็จแล้ว ยอมรับใช้เวลาพิจารณานาน ผู้มีส่วนได้เสียเยอะ พร้อมเร่งกฎหมายภาษีอีคอมเมิร์ซ กฎหมายกำกับรัฐวิสาหกิจ เผย 4 ปี ผ่านกฎหมายเศรษฐกิจ 117 ฉบับ มั่นใจช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจธุรกิจช่วงเปลี่ยนผ่านสู่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

ช่วงที่จะมีการประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งทั่วไป ถือเป็นช่วงสุดท้ายในการทำงานของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยสัปดาห์ที่ผ่านมานายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มอบนโยบายให้ผู้บริหารกระทรวงการคลังว่าต้องการเร่งผลักดันร่างกฎหมาย 2 ฉบับ ที่ สนช.กำลังพิจารณา คือ 1.ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 2.ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เพื่อรองรับการเก็บภาษีจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากการให้บริการในต่างประเทศ

นายสาธิต ชาญเชาวน์กุล คณะกรรมาธิการการพาณิชย์ การอุตสาหกรรมและการแรงงาน สนช.กล่าวว่า ขณะนี้มีร่าง พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับด้านเศรษฐกิจและอยู่ในระหว่างการพิจารณาขั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ รวม 6 ฉบับ ประกอบด้วย 1.ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ... 2.ร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ....

3.ร่างพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... 4.ร่าง พ.ร.บ.สหกรณ์ (ฉบับที่...) พ.ศ... 5.ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.. และ 6.ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฏากร (ฉบับที่....) พ.ศ....

พิจารณาภาษีที่ดินครบ89มาตรา

นายสาธิต กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ...ซึ่ง สนช.ได้รับหลักการไปเมื่อวันที่ 31 มี.ค.2560 จนถึงขณะนี้ก็เป็นเวลากว่า 1 ปีแล้ว โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้ขอขยายระยะเวลาการพิจารณาออกไปเป็นครั้งที่ 4 โดยร่างกฎหมายฉบับนี้มีจำนวน 89 มาตรา และคณะกรรมาธิการวิสามัญฯได้พิจารณาครบทุกมาตราแล้ว

สำหรับร่างกฎหมายฉบับนี้ส่งผลกระทบในวงกว้างจึงทำให้มีผู้แสดงความเห็นที่หลากหลายทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งในระหว่างการพิจารณาร่างกฎหมาย ได้มีองค์กรและประชาชนได้เสนอความเห็นต่อร่างกฎหมายดังกล่าว โดยเฉพาะอัตราภาษีที่ดินที่องค์กรเอกชนกังวลว่าจะส่งผลต่อการทำธุรกิจ และได้เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เพื่อขอให้พิจารณาอย่างรอบคอบ เช่น คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย

นอกจากนี้ยังมีเอกชนอีกหลายกลุ่มที่แสดงความเห็น เช่น กลุ่มผู้ประกอบการสนามกอล์ฟเอกชน สมาคมการศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย สมาคมนิคมอุตสาหกรรมไทยและพันธมิตร โดยองค์กรภาคเอกชนมองว่า การทำธุรกิจของภาคเอกชนไม่ได้ซื้อที่ดินมาเพื่อการเก็งกำไร แต่ในสภาพธุรกิจต้องมีการซื้อที่ดินสำรองไว้เพื่อการใช้ประโยชน์ ซึ่งยังไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ทันที

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมที่ต้องเตรียมพื้นที่ไว้เพื่อที่จะทำนิคมอุตสาหกรรมในอนาคต  ดังนั้นการซื้อที่ดินนอกจากเป็นภาระของผู้ประกอบการแล้ว การเสียภาษีก็มีอัตราที่สูงตั้งแต่ปีแรก ทำให้การแข่งขันมีความยากลำบากมากส่วนภาคการเกษตรที่ต้องใช้ที่ดินจำนวนมากในการทำการเกษตร หรือสนามกอล์ฟ ก็มีความกังวลในเรื่องของการเก็บภาษี

สนช.มั่นใจแก้กฎหมายปลดล็อกธุรกิจ

นายสาธิต กล่าวว่า ขณะนี้การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เกือบมีความสมบูรณ์แล้ว โดยประเด็นที่ถกเถียงกันมากคือ อัตราการเสียภาษีที่ดินควรจะเป็นอย่างไร จึงได้มีการระบุถึงการบังคับใช้โดยอาจจะให้มีเวลาสำหรับองค์กรต่างๆได้มีการปรับตัวจนมีความพร้อม ต้องยอมรับว่ากฎหมายฉบับนี้เกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วนรวมถึงประชาชนด้วยจึงต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบและกำหนดอัตราเสียภาษีที่เหมาะสมให้เป็นไปตามการประเมินราคาที่ดิน

“สนช.ได้พิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจในการนำไปใช้เพื่อการขับเคลื่อนประเทศหลายฉบับ ประเด็นปัญหาที่เป็นอุปสรรคทาง สนช.ก็ได้แก้ไขกฎหมายให้สามารถดำเนินต่อไปได้หรือเสนอกฎหมายที่คิดว่าจะล้าสมัยก็ผลักดันให้ออกมา ถ้า สนช.ไม่มีอายุยาวขนาดนี้ กฎหมายบางฉบับก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ จึงถือเป็นโอกาสที่ดีของประเทศ”นายสาธิต กล่าว

4ปีผ่านกฎหมายเศรษฐกิจ117ฉบับ

นายสาธิต กล่าวว่า ในช่วง 4 ปี ที่ผ่านมา สนช.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.รวม 409 ฉบับ โดยเป็นร่าง พ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับด้านเศรษฐกิจ 117 ฉบับ หรือคิดเป็นมากกว่า 1 ใน 3 ของร่าง พ.ร.บ.ที่เข้าสู่การพิจารณาของ สนช. ซึ่งในจำนวนนี้มีร่างกฎหมายเศรษฐกิจมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษามีผลบังคับใช้แล้วรวม 111 ฉบับ

แยกเป็นกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงิน เช่น พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 5 ) พ.ศ.2559 พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ.2558 ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมมีสิ่งที่เป็นหลักทรัพย์มายื่นขอสินเชื่อได้ รวมถึงการออก พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ที่จะวางแนวทางในการกำกับดูแลการคลังของประเทศ

สำหรับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน เช่น พ.ร.บ.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย พ.ศ.2560 ซึ่งช่วยเพิ่มบทบาทของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ให้มีมากขึ้น เพื่อเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลต้องการสนับสนุนให้เกิดการลงทุน รวมทั้งมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 ซึ่งเป็นกฎหมายสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี)

นอกจากนี้ มีกฎหมายสำคัญที่บางฉบับไม่สามารถออกได้ช่วงสภาผู้แทนราษฎร เช่น พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ.2558 ซึ่งกฎหมายฉบับนี้มีการวิพากษ์ วิจารณ์กันมาทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย รวมถึงการประกาศใช้ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 ซึ่งเป็นกฎหมายที่คุ้มครองประชาชนที่มีการกู้เงินนอกระบบ ทำให้คนที่เป็นเจ้าหนี้ไม่สามารถเรียกดอกเบี้ยสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดแต่หากเรียกดอกเบี้ยเกินจะต้องมีโทษอย่างรุนแรง

ส่วนการประกาศใช้ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 ถือว่าเป็นการแก้กฏหมายศุลกากรทั้งฉบับโดยแก้ให้มีความทันสมัยมีความเป็นสากลมากขึ้น รวมทั้งปรับปรุงค่าปรับให้เหมาะสมส่วนกฎหมายด้านเศรษฐกิจอื่น เช่นพ.ร.บ.ภาษีสรรพามิต พ.ศ. 2560 พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2560 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2560

กมธ.เตรียมชงภาษีที่ดินให้วิป สนช.

รายงานข่าวจาก สนช.ระบุว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่มีนายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน ได้พิจารณาร่างกฎหมายเสร็จแล้ว โดยอยู่ระหว่างการตรวจสอบถ้อยคำและจะส่งร่างดังกล่าวให้คณะอนุกรรมาธิการกลั่นกรองกฎหมาย ก่อนเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) เพื่อบรรจุเข้าสู่วาระการประชุม สนช.โดยคาดว่าจะเข้าที่ประชุม สนช.เห็นชอบในวาระที่ 2 และ 3 ภายในต้นเดือน พ.ย.นี้ โดยมีรายงานว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ จะมีการแถลงรายละเอียดการพิจารณาและประเด็นที่องค์กร เอกชน เป็นห่วงในสัปดาห์หน้า

 ทั้งนี้ ที่ผ่านมานายวิสุทธิ์ ได้ยืนยันมาตลอดว่าจะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเสร็จภายในรัฐบาลนี้ ส่วนระยะเวลาการบังคับใช้กฎหมายอาจจะเลื่อนออกไปจากต้นปี 2562 โดยขึ้นอยู่กับความพร้อมของผู้ปฏิบัติ ซึ่งที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้ให้เวลาแก่ท้องถิ่นในการซักซ้อมแนวทางปฏิบัติในการจัดเก็บภาษีบ้างแล้ว พบว่า ส่วนใหญ่ยังไม่มีความพร้อม และยืนยันว่าประชาชนส่วนใหญ่ที่มีรายได้น้อยจะไม่ได้รับผลกระทบ โดยจะยกเว้นการจัดเก็บสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่มีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท

จาก www.komchadluek.net วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2561

สทนช.ก้าวต่อไปเตรียมยกระดับสู่"กระทรวงน้ำ"

1ปี"สทนช."บูรณาการ38หน่วยงาน ก้าวต่อไปเตรียมยกระดับสู่"กระทรวงน้ำ"

         แนวคิด “ปฐมบทน้ำแห่งชาติ จากบนฟ้าสู่มหานที”ครบรอบ 1 ปีสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) หนว่ยงานที่ตั้งขึ้นโดยม.44 เพื่อบูรณาการด้านน้ำของประเทศ ซึ่งจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ไปแล้วเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

         เป็นหน่วยงานที่รัฐบาลได้วางเป็นฐานไว้เพื่อเตรียมความพร้อมก้าวไปสู่การยกระดับเป็น“กระทรวงทรัพยากรน้ำ”ในอนาคต เนื่ิองจากปัญหาน้ำจะเป็นเรื่องใหญ่ภายใต้บริบทของสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปไม่ว่าจะน้ำท่วมหรือน้ำแล้ง น้ำอุปโภคบริโภคหรือน้ำเพื่อการเกษตรและอุตสาหกรรม 

        แม้เสาหลักแรกจะสำเร็จลุงล่วงไปด้วยคือการจัดตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.)ตามคำสั่งคสช.โดยม.44 แต่ยังเหลือเสาหลักที่สองพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำพ.ศ...แม้จะผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแหง่ชาติ(สนช.)วาระ3 ทว่ายังรอกฎหมายลูกอีกใช้เวลาประมาณ 120 ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ประมาณต้นปีหน้า(2562) ขณะที่เสาหลักสุดท้ายแผนแม่บทน้ำ 20 ปี (2561-2580) ที่ปรับจากแผนยุทธศาสตร์น้ำ 12 ปี (2558-2569) เพื่อให้สอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาล

          พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวช่วงหนึ่งระหว่างเป็นประธานพิธีเปิดงาน โดยระบุว่าวันนี้เมื่อ 1 ปีที่แล้วที่รัฐบาลตัดสินใจตั้ง “สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ” หรือ (สทนช.) ขึ้น โดยใช้วิธีที่รวดเร็วที่สุดเพื่อให้หน่วยงานน้องใหม่นี้สามารถทำงานได้ทันที เนื่องจากรัฐบาลต้องการ “หน่วยงานกลาง” ที่เหมือนกับเป็นเสนาธิการด้านน้ำที่ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี มองภาพรวมการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทยได้ทั้งระบบ โดยผลงานที่เกิดขึ้นชัดเจนเป็นรูปธรรม

          "คาดว่าภายในสิ้นปีนี้เราจะได้เห็น “กฎหมายน้ำฉบับแรก” ของประเทศไทย ที่รัฐบาลคาดหวังว่ากฎหมายฉบับนี้จะทำให้เกิดการบูรณาการ การบริหารจัดการน้ำ การฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำที่เป็นเอกภาพ มีมาตรการป้องกันแก้ไขน้ำแล้ง-น้ำท่วม วางหลักเกณฑ์ในการประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการเข้าถึงทรัพยากรน้ำสาธารณะ มีองค์กรในการบริหารจัดการน้ำระดับชาติ ระดับลุ่มน้ำ และระดับองค์กรผู้ใช้น้ำสะท้อนการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อร่วมกันบริหารจัดการน้ำมากยิ่งขึ้น"

         รองนายกรัฐมนตรีเผยต่อว่านอกจากการวางระเบียบกฎหมายน้ำแล้วยังมีองค์กรกลางด้านน้ำที่มีเอกภาพหน่วยงานแรก ที่สามารถกำกับดูแล เสนอแนะด้านน้ำในทุกมิติจาก 38 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ทำให้โครงการสำคัญ ๆ ได้รับการผลักดันจากที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ กนช. รวมถึงการจัดลำดับแผนงานโครงการสำคัญเพื่อขับเคลื่อนให้ได้ภายในปี 2562 – 2565 รวม 31 โครงการ ซึ่งโครงการขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมมีผลการศึกษา กระบวนการ EIA การรับฟังความคิดเห็น การออกแบบ และ การขอใช้พื้นที่ ที่เริ่มก่อสร้างได้ในปี 62 จำนวน 11 โครงการ สามารถเพิ่มปริมาณน้ำได้ 379 ล้าน ลบ.ม. และ พื้นที่รับประโยชน์ 840,201 ไร่

    นอกจากนี้ยังได้มีการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์น้ำปี 58-69 ซึ่งอยู่ระหว่างการยกระดับให้เป็นแผนแม่บทด้านทรัพยากรน้ำให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งผลการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์น้ำจนถึงปัจจุบัน พบว่า จัดทำระบบประปาหมู่บ้านได้ 7,291 หมู่บ้าน เหลืออีก 199 หมู่บ้าน ซึ่งจะดำเนินการให้แล้วเสร็จในปี 2562 เพิ่มแหล่งเก็บกักน้ำได้ 1,483 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ 2.53 ล้านไร่ พร้อมฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติ/ขนาดเล็กนอกเขตชลประทานได้ 1,939 ล้าน ลบ.ม.

    ขณะเดียวกันยังมีการใช้งบประมาณด้านน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการปรับแผนใช้จ่ายงบประมาณ ปี’61 ภายใต้แผนบูรณาการน้ำ วงเงิน 7,813 ล้านบาท เพื่อนำมาดำเนินงานตามโครงการเร่งด่วนที่ประชาชนร้องขอจากการที่นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่และครม.สัญจร ส่งผลให้สามารถเพิ่มแหล่งเก็บกักน้ำได้อีก 28.5 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มพื้นที่รับประโยชน์ 342,000 ไร่ พร้อมกับปรับแผนงานด้านการป้องกันอุทกภัย เพื่อฟื้นฟูพื้นที่เกษตร 1.065 ล้านไร่ เกษตรกรได้รับความช่วยเหลือ 173,864 คน และที่สำคัญการสานต่อโครงการแหล่งน้ำตามแนวพระราชดำริ โดยในห้วงที่ผ่านมารัฐบาลได้อนุมัติให้เปิดโครงการสำคัญ ๆ อาทิ อ่างเก็บน้ำน้ำปี้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.พะเยา อ่างเก็บน้ำบ้านป่าละอู อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ประจวบคีรีขันธ์ นอกจากนี้ยังมีโครงการที่มีความพร้อมแต่อยู่ระหว่างการสร้างความเข้าใจแก่ราษฎรอีกหลายโครงการ ซึ่งรัฐบาลจะเร่งผลักดันต่อไป  พร้อมกับการจัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต ที่เน้นดำเนินการในเชิงป้องกัน โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันวิเคราะห์ข้อมูลแบบบูรณาการ และหาแนวทางป้องกันแก้ไขปัญหาในพื้นที่ที่คาดวาจะประสบภัยได้ทันท่วงที

        “1 ปี ของ สทนช. ที่ผ่านมามีผลงานหลายประการ ได้แก่ การบูรณาการข้อมูล แผนงานโครงการ การบริหารจัดการน้ำในภาวะวิกฤติ การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ หรือ แผนแม่บท 20 ปี การผลักดันกฎหมายด้านน้ำจนผ่านการพิจารณาของ สนช. รวมถึงการเพิ่มน้ำต้นทุน และ การแก้ไขน้ำท่วมน้ำแล้ง ดังนั้น สทนช. จะเป็นมือของรัฐบาลในการประสานบูรณาการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับน้ำ 38 หน่วยงาน เพื่อให้เดินตามนโยบาย แผนยุทธศาสตร์ และ แก้ไขวิกฤติน้ำท่วมน้ำแล้ง ซึ่ง สทนช. ต้องเป็นหลักให้กับทุกรัฐบาลที่เข้ามาบริหารจัดการน้ำ"

        อย่างไรก็ตามก้าวต่อไปในอนาคตของ สทนช. พลเอกฉัตรชัยย้ำว่าจะทำหน้าที่รวบรวมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการจัดตั้ง “กระทรวงทรัพยากรน้ำ” แต่จะตั้งเป็นกระทรวงได้หรือไม่ จะต้องใช้เวลา และดูผลงานในอนาคตต่อไป โดยทุกกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรน้ำจะต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสทนช. นอกจากนี้ยังมีการพัฒนางานวิชาการและงานวิจัยของการบริหารจัดการน้ำ เพื่อรองรับเทคโนโลยีใหม่ที่ใช้พื้นที่เดิมเก็บกักน้ำได้มากขึ้น น้ำเท่าเดิมแต่ใช้ประโยชน์มากขึ้น เช่นการนำน้ำมาใช้ใหม่ การกรองน้ำทะเล การเพิ่มประสิทธิภาพฝนหลวง การหาแหล่งน้ำใหม่ และ การรองรับสภาพอากาศแปรปรวน  อีกทั้งสทนช.ยังมีบทบาทที่เกี่ยวข้องกับความร่วมมือกับต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นตัวแทนของรัฐบาลในการประสานงานกับประเทศต่าง ๆ ด้วย 

 สทนช.พร้อมเป็นแกนกลางขับเคลื่อนนโยบายน้ำประเทศ

        ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.)กล่าวบนเวทีเสวนา"ครบรอบ 1 ปีสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.)ตอนหนึ่งว่ารัฐบาลให้ความสำคัญในการวางรากฐานด้านทรัพยากรน้ำอย่างมาก ซึ่ง สทนช.พร้อมเป็นแกนกลางในการขับเคลื่อนและรวมศูนย์ทุกหน่วยงานด้านน้ำ เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด ไม่ว่าจะเป็นความชัดเจนในการแก้ไขปัญหาด้านน้ำ ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมทำงานบนฐานข้อมูลเดียวกัน เป็นมาตรฐานเดียวกัน การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อแก้ไขและสนับสนุนในเชิงพื้นที่ หรือ Area Based ใน 66 พื้นที่ ทำให้หน่วยปฏิบัติเห็นพื้นที่ที่เป็นเป้าหมายลำดับแรกๆ ในการพัฒนาแหล่งน้ำ การแก้ไขปัญหาด้านน้ำ โดยมีแผนงาน/โครงการสำคัญระบุไว้ชัดเจน การจัดทำแผนแม่บทด้านน้ำ ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่กำหนดทิศทางของการขับเคลื่อนนโยบายด้านน้ำในภาพรวมของประเทศ                 

       สำหรับก้าวต่อไปของ สทนช. ที่เป็นภารกิจเร่งด่วนคือ การวางแผนจัดการน้ำในฤดูแล้ง และติดตามการดำเนินงานของหน่วยปฏิบัติเฝ้าระวังน้ำหลากในภาคใต้ การจัดทำคลังข้อมูลน้ำหรือบิ๊กดาต้า โดยพัฒนาเว็บไซต์ One map ให้เป็นระบบฐานข้อมูลที่เสถียร แม่นยำ และอัตโนมัติ การจัดทำแผนแม่บทด้านน้ำและแผนปฏิบัติการรายลุ่มน้ำให้ชัดเจนกว่าเดิม ทั้งตัวชี้วัด ผลลัพธ์ ตอบโจทย์ความเป็นสากล และแก้ปัญหาตรงพื้นที่ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนผ่านการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำอย่างเป็นรูปธรรม ขับเคลื่อนโครงการสำคัญขนาดใหญ่ 31 โครงการให้แล้วเสร็จ เร่งผลักดันโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สร้างความรู้ความเข้าใจกฎหมายน้ำ จัดทำกฎหมายลำดับลูกภายใต้ พ.ร.บ.น้ำ และการจัดทำผังน้ำพร้อมกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนให้กฎหมายฉบับนี้เกิดประโยชน์สูงสุดให้กับประชาชนและประเทศต่อไป

จาก www.komchadluek.net วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2561

อดีต รมช.เกษตรฯ ค้านหัวชนฝา แก้ กม.อ้อย ชี้ ทำลายสามัคคีชาวไร่

เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม นายธีระชัย แสนแก้ว อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายกสมาคมชาวไร่อ้อยอีสานเหนือ และทีมยุทธศาสตร์ภาคการเกษตรของพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)อ้อยและน้ำตาล ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการแก้ไขของสภานิติับัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ว่า ขอคัดค้านการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ทุกวิถีทาง เนื่องจากภาครัฐกำลังทำลายความสามัคคีในกลุ่มชาวไร่อ้อยและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง พร้อมไปกับทำลายระบบแบ่งปันรายได้ที่ยกระดับความเป็นอยู่ของชาวไร่อ้อยมาร่วม 35 ปีเต็ม

นายธีระชัยกล่าวว่า เรื่องสำคัญในประเด็นดังกล่าวคือ ในอดีต พ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาลเปิดโอกาสให้ชาวไร่อ้อย โรงงานอ้อย และส่วนราชการร่วมกันส่งตัวแทนเข้ามากำหนดราคา พร้อมกับแบ่งปันรายได้จากการขายอ้อย ผ่านการประเมินราคาล่วงหน้า ซึ่งตัวแทนแต่ละฝ่ายจะจัดสรรผลประโยชน์ให้เกษตรกร และพ่อค้าสามารถดำรงอาชีพได้อย่างมีความสุข

ตัวแทนของชาวไร่อ้อย คือ สถาบันชาวไร่อ้อย มีคุณสมบัติที่สำคัญ ประกอบไปด้วย ต้องมีสมาชิกไม่ต่ำกว่า 600 คน ต้องส่งอ้อยให้โรงงานไม่น้อยกว่า 55% ของกำลังหีบโรงงาน แต่กฎหมายที่อยู่ในขั้นตอนการแก้ไขได้ยกเลิกคุณสมบัติดังกล่าวทิ้ง ส่งผลให้ใครก็สามารถตั้งสถาบันชาวไร่อ้อยได้ ซึ่งไม่มีการรับประกันเลยว่าสถาบันที่กำลังจะเกิดขึ้นใหม่ เป็นตัวแทนของชาวไร่อ้อย หรือเป็นตัวแทนกลุ่มไหนกันแน่ และที่น่ากังวลยิ่งกว่า หากสถาบันใหม่ซึ่งอาจไม่ใช่ตัวแทนชาวไร่อ้อยที่แท้จริงได้เข้าไปประชุมกับผู้แทนโรงงานและภาครัฐเพื่อกำหนดราคาอ้อย พวกเขาจะทำหน้าที่โดยคำนึงถึงปากท้องของเกษตรกรชาวไร่อ้อยหรือไม่

นายธีระชัยกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวยังกำหนดปรับปรุงรายได้จากผลพลอยได้ของการผลิตอ้อยและน้ำตาลทราย แต่ไม่มีการระบุหรือจำแนกย่อยลงไปว่ารายได้ที่จะเข้าระบบดังกล่าวมีอะไรบ้างที่เป็นผลพลอยได้ แต่ให้อำนาจคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.)ไปหารือร่วมกัน ซึ่งชาวไร่เห็นว่าควรจะระบุให้ชัดเจน ส่วนประเด็นอื่นๆ ทางชาวไร่ก็ไม่ได้คัดค้านอะไร

“พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย 2527 ที่ใช้มา ตนเห็นด้วยที่จะมีการแก้ไข แต่ควรแก้ไขเป็นบางมาตราเพื่อให้ทันสมัยขึ้น เพราะอ้อยสามารถนำไปทำอย่างอื่นได้หลายอย่างเช่น เอทานอล ไฟฟ้า และบายโปรดักต่างๆ มิใช่ทำได้แค่น้ำตาลอย่างเดียว” นายธีระชัยกล่าว

นายกสมาคมชาวไร่อ้อยอีสานเหนือ กล่าวทิ้งท้ายว่า ในอดีตราคาอ้อยถูกกำหนดโดยกลไกภายในประเทศ แต่ปัจจุบัน มีการใช้มาตรา 44 เพื่อกำหนดราคาอ้อยลอยตัวตามตลาดโลก ซึ่งทำให้ราคาอ้อยมีแต่ทรงกับทรุด ยังดีที่กฎหมายอ้อยและน้ำตาลกำหนดให้ใช้ระบบตกลงรายได้ระหว่างเกษตรกร โรงงาน และภาครัฐ จึงทำให้เกษตรกรสามารถดำรงชีพอยู่ได้ ดังนั้น จึงไม่สนับสนุนให้มีการแก้ไขกฎหมายที่ไปกระทบกับระบบแบ่งปันรายได้ที่กำลังดำเนินอยู่ และตนหวังว่าที่สุดแล้ว ภาครัฐจะเห็นใจประชาชนที่เป็นเกษตรกร

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ทีมยุทธศาสตร์ภท.ค้านแก้กม.อ้อยที่ทำลายแบ่งปันรายได้

ทีมยุทธศาสตร์ภูมิใจไทย ค้านแก้ กม.อ้อย ที่ทำลายระบบแบ่งปันรายได้ พร้อมน้อมรับหากมีการแก้ไขบางมาตราให้ทันสมัยมากขึ้น

นายธีระชัย แสนแก้ว นายกสมาคมชาวไร่อ้อยอีสานเหนือ และทีมยุทธศาสตร์ภาคการเกษตร ของพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึง ร่างพระราชบัญญัติอ้อย และน้ำตาล ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการแก้ไขของ สนช. ว่า ขอคัดค้านการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ทุกวิถีทาง เนื่องจากภาครัฐกำลังทำลายความสามัคคีในกลุ่มชาวไร่อ้อย และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง พร้อมไปกับทำลายระบบแบ่งปันรายได้ ที่ยกระดับความเป็นอยู่ของชาวไร่อ้อยมาร่วม 35 ปีเต็ม

นายธีระชัย ระบุ กฎหมายที่อยู่ในขั้นตอนการแก้ไข ได้ยกเลิกคุณสมบัติ สถาบันชาวไรอ้อย ที่ประกอบไปด้วย ต้องมีสมาชิกไม่ต่ำกว่า 600 คน ต้องส่งอ้อยให้โรงงานไม่น้อยกว่า 55% ของกำลังหีบโรงงาน จะส่งผลให้ใครก็สามารถตั้งสภาชาวไร่อ้อยได้ ซึ่งไม่มีการรับประกันเลยว่าสถาบันที่กำลังจะเกิดขึ้นใหม่ เป็นตัวแทนชาวไร่อ้อย หรือเป็นตัวแทนกลุ่มไหนซึ่งอาจไม่ใช่ตัวแทนชาวไร่อ้อยที่แท้จริง หากได้เข้าไปประชุมกับผู้แทนโรงงาน และภาครัฐเพื่อกำหนดราคาอ้อย จะทำหน้าที่ โดยคำนึงถึงปากท้องของเกษตรกรชาวไร่อ้อยหรือไม่ รวมถึงยังกำหนดปรับปรุงรายได้จากผลพลอยได้ของการผลิตอ้อยและน้ำตาลทราย แต่ไม่มีการระบุหรือจำแนกย่อยลงไปว่ารายได้ที่จะเข้าระบบดังกล่าวมีอะไรบ้าง ยืนยันเห็นด้วยที่จะมีการแก้ไข แต่ควรแก้ไขเป็นบางมาตราเพื่อให้ทันสมัยขึ้น เพราะอ้อยสามารถนำไปทำอย่างอื่นได้หลายอย่างเช่น เอทานอล ไฟฟ้า และบายโปรดักต่างๆ มิใช่ทำได้แค่น้ำตาลอย่างเดียว

อย่างไรก็ตาม นายกสมาคมชาวไร่อ้อยอีสานเหนือ กล่าวทิ้งท้ายว่า ในอดีตราคาอ้อยถูกกำหนดโดยกลไกภายในประเทศ แต่ปัจจุบัน มีการใช้ ม.44 เพื่อกำหนดราคาอ้อยลอยตัวตามตลาดโลก ซึ่งทำให้ราคาอ้อยมีแต่ทรงกับทรุด โชคยังดีที่กฎหมายอ้อยและน้ำตาลกำหนดให้ใช้ระบบตกลงรายได้ระหว่างเกษตรกร โรงงาน และภาครัฐ จึงทำให้เกษตรกร สามารถดำรงชีพอยู่ได้ ดังนั้น จึงไม่สนับสนุนให้มีการแก้ไขกฎหมายที่ไปกระทบกับระบบแบ่งปันรายได้ ที่กำลังดำเนินอยู่ หวังว่าที่สุดแล้ว ภาครัฐจะเห็นใจประชาชน ที่เป็นเกษตรกร

จาก https://www.innnews.co.th   วันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2561

51 ปี กรมส่งเสริมการเกษตร “Smart & Strong Together”

การก้าวเข้าสู่ปีที่ 51 ของกรมส่งเสริมการเกษตร ในปี 2562 นี้ นับเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญในหลากหลายมิติ หลายปีที่ผ่านมาเราจะเห็นภาพของการเปลี่ยนแปลงมากมายในโลกอย่าง รวดเร็ว ทั้งภาคเศรษฐกิจ หรือภาคสังคม แม้แต่ภาคการเกษตร การเปลี่ยนแปลงภายใต้ในยุค 4.0 จึงไม่ใช่เรื่องง่ายของ นักส่งเสริมการเกษตร แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยาก ที่พวกเรานักส่งเสริมการเกษตรจะต้องเข้าไปเผชิญและพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงนั้น

นายสำราญ  สาราบรรณ์  รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวถึงแนวทางการขับเคลื่อนงานส่งเสริมการเกษตร ในปี 2562 นี้ ว่า ภายใต้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทุกด้าน พวกเรานักส่งเสริมการเกษตรจะเดินเคียงคู่พี่น้องเกษตรกรไปด้วยกันอย่างเข้มแข็ง ยึดหลัก “Smart & Strong Together” ทั้งการร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมทำ ร่วมแก้ปัญหา และร่วมรับประโยชน์ ภายใต้ 5 นโยบายหลัก ที่วางไว้ โดยเฉพาะโครงการพระราชดำริทุกโครงการของทุกพระองค์ ที่จะต้องร่วมขับเคลื่อน ขยายผล และส่งเสริมให้เกษตรกรน้อมนำหลักปรัชญาต่างๆ ที่พระองค์ท่านพระราชทาน มาปรับใช้และให้เกษตรกรเข้าถึงและเข้าใจในหลักการไปพร้อมกัน

กรมส่งเสริมการเกษตรจะต้องทำงานเป็นทีมมากขึ้น มุ่งประสิทธิภาพกลไกขับเคลื่อนงานในระดับพื้นที่  มุ่งเน้นการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรในลักษณะตลาดนำการผลิต ซึ่งเป้าหมายสำคัญอยู่ที่การพัฒนาเจ้าหน้าที่และเกษตรกร ให้เกิดการทำงานแบบควบคู่กัน ให้เข้มแข็งและเชื่อมโยงการทำงานกันทั้งระบบ รวมทั้งการส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าใจและเรียนรู้ในมิติเชิงสังคมมากขึ้น พัฒนาศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) และเครือข่ายให้เข้มแข็ง สามารถทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางด้านการเกษตรของชุมชนได้อย่างแท้จริง พัฒนาระบบการทำงานของแปลงใหญ่ให้เข้มแข็งและยั่งยืน เชื่อมโยงเครือข่ายทั้งภาคการผลิต และภาคการตลาด โดยเกษตรกรจะเป็นผู้ประกอบการเกษตรได้ ต้องเข้าใจว่า ควรจะขายอะไร ขายให้ใคร ผลิตที่ไหน ผลิตอย่างไร และต้องคำนึงถึงส่วนรวมด้วย อันนี้คือโจทย์ใหญ่ ซึ่งการทำให้เกษตรกรไปถึงตรงนี้ได้ นักส่งเสริมการเกษตรเอง จะต้องเป็น Smart Officer ก่อน คือ เป็นนักส่งเสริมการเกษตรมืออาชีพที่เกษตรกรสามารถเข้าถึงได้ ต้องพัฒนานักส่งเสริมการเกษตรให้มีแนวคิดเชิงธุรกิจ มุ่งเน้นการผลิตเชิงคุณภาพ นอกจากนี้การสร้างทายาทเกษตรกรและการพัฒนาเกษตรกรมืออาชีพ ก็เป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่งในภาคการเกษตร และนี่คือโจทย์ท้าทายสำคัญท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลกอย่างรวดเร็ว การใช้เทคโนโลยีมีบทบาทมากขึ้น ทายาทเกษตรกรเหล่านี้ จะพัฒนาไปสู่การเป็น Young Smart Farmer ได้อย่างไร  เป็นเรื่องที่นักส่งเสริมการเกษตร จะต้องเข้าใจถึงสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น รวมถึงการพัฒนาเกษตรกรมืออาชีพ ให้ก้าวสู่การเป็น Smart Farmer และนี่คือ ความ Smart ที่นักส่งเสริมการเกษตร จะต้องมีและปฏิบัติให้เกิดผลจริง

นอกจากนี้ การทำงานกับเครือข่ายภาคเกษตรกร รวมทั้งภาคเอกชน ให้เกษตรกรเข้มแข็งและยั่งยืน ก็เป็นเรื่องที่จะต้องทำความเข้าใจ ในมิตินี้ให้มากขึ้น Strong Together จึงเป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่จะต้องเผชิญ การทำงานแบบบูรณาการ ทั้งภายในและภายนอกองค์กร การเพิ่มประสิทธิภาพกลไกขับเคลื่อนงาน  ในพื้นที่ และ การเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการองค์กร และสานพลังทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนงานส่งเสริมการเกษตร  โดยเฉพาะการพัฒนาศักยภาพบุคลากรและการบริหารทรัพยากรบุคคลล้วนแต่เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยการทำงานแบบบูรณาการ ซึ่งเป้าหมายของนักส่งเสริมการเกษตรคือจะต้องเป็นนักพัฒนาการเกษตรในพื้นที่ ยึดหลักการทำงานแบบมีส่วนร่วม โดยให้ทุกภาคส่วนเข้าร่วมดำเนินการในภารกิจที่มีความเกี่ยวข้อง การปฏิบัติงานตามความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ของแต่ละหน่วยงาน จะช่วยลดปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติงาน ลดความซ้ำซ้อน เกิดการระดมทรัพยากร ส่งผลให้เกษตรกรได้รับประโยชน์สูงสุด ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องรับทราบ เข้าใจ และปฏิบัติให้ถูกต้องการส่งเสริมให้เกษตรกรเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา ก็ถือเป็นเรื่องที่ต้องขับเคลื่อน รวมทั้งต้องสร้างเกษตรกรให้เกิดความเข้าใจในมิติของสังคมด้วย และทั้งหมดก็จะทำให้กรมส่งเสริมการเกษตรและประเทศไทยก้าวไปพร้อมๆ กัน เหมือนกับที่ท่านนายกรัฐมนตรีกล่าวไว้ว่า  "OUR HOME OUR COUNTRY TOGETHER STRONGER" "เราจะเติบโตและแข็งแกร่งไปด้วยกัน เพราะที่นี่คือ บ้านของเรา ประเทศไทยของเรา"

จาก https://www.naewna.com วันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2561

สแกน 23 จังหวัดเสี่ยง "ภัยแล้ง" !! รัฐคุมเข้มปล่อยน้ำ 35 เขื่อนใหญ่

'บิ๊กฉัตร' สั่งทุกหน่วยสแกนพื้นที่แล้ง ทั้งในและนอกเขตชลประทาน คาดพื้นที่ 2.49 ล้านไร่ ใน 23 จังหวัดเสี่ยงภัย งัดมาตรการเข้มจัดสรรน้ำ 35 เขื่อนใหญ่ ตั้งเป้าปี 62 ไม่มีพื้นที่ประสบภัยแล้งต่อเนื่องเป็นปีที่ 2

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ได้เตรียมการสำหรับฤดูแล้งปี 2561/2562 ซึ่งที่ผ่านมามีความแปรปรวนของสภาพอากาศ บางพื้นที่ฝนตกมาก แต่บางพื้นที่ฝนไม่ตกเลย ทำให้เกิดภัยแล้งแล้วในบางพื้นที่ ดังนั้น จึงต้องเตรียมการรับมือตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

สำหรับสถานการณ์น้ำในปี 2561 พบว่า เขื่อนที่มีผลกระทบต่อระบบการบริหารจัดการ คือ เขื่อนหลัก 35 เขื่อน ซึ่งมีปริมาณน้ำมากกว่าเขื่อนขนาดกลางและขนาดเล็กรวมกันมาก ปัจจุบัน 35 เขื่อนหลัก มีน้ำ 57,343 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 81% ของความจุ ถือว่ามีน้ำอยู่ในเกณฑ์ดีกว่าทุกปี แต่การกระจายตัวของน้ำเป็นไปตามลักษณะการกระจายตัวของฝน โดยเขื่อนที่มีปริมาณน้ำมากกว่า 80% มี 16 เขื่อน แบ่งเป็น ภาคเหนือ 4 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เขื่อนกิ่วลม และเขื่อนกิ่วคอหมา ภาคอีสาน 2 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนลำตะคองและเขื่อนน้ำอูน

ส่วนภาคตะวันตกมี 2 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนวชิราลงกรณ ภาคตะวันออก 5 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนหนองปลาไหล เขื่อนคลองสียัด เขื่อนขุนด่านปราการชล เขื่อนประแสร์ และเขื่อนนฤบดินทรจินดา ภาคใต้ 3 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนแก่งกระจาน เขื่อนปราณบุรี และเขื่อนรัชชประภา

ขณะที่ เขื่อนที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 50% ของความจุ มี 6 เขื่อน แบ่งเป็น ภาคเหนือ 2 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนแม่กวงและเขื่อนแม่มอก ภาคอีสาน 2 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์และเขื่อนลำนางรอง ภาคกลาง 2 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนกระเสียวและเขื่อนทับเสลา ซึ่งฝนที่ตกในช่วง 20-24 ต.ค. 2561 พบว่า มีน้ำไหลเข้า 35 เขื่อนหลัก รวม 900 ล้าน ลบ.ม. ได้มีการระบายออกเพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร รวม 351 ล้าน ลบ.ม. สามารถบรรเทาพื้นที่การเกษตรนอกเขตชลประทานได้มาก ดังนั้น ในเขตชลประทาน การบริหารจัดการน้ำ 7 เขื่อนหลัก ที่น้ำน้อยกว่า 50% พบว่า น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ และเพื่อการเกษตรต่อเนื่องมีเพียงพอ

ทั้งนี้ สามารถสนับสนุนพื้นที่การเกษตรต่อเนื่องได้ 138,946 ไร่ แต่ไม่สามารถสนับสนุนน้ำทำนาปรังที่เคยปลูกในฤดูแล้งปี 2560/61 พื้นที่ประมาณ 4 แสน – 6 แสนไร่ ซึ่งพื้นที่การเกษตรที่ได้ผลกระทบมาก ได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนทับเสลา และเขื่อนกระเสียว ส่วนพื้นที่นอกเขตชลประทาน น้ำอุปโภคบริโภค มีเพียงพอ ไม่มีความเสี่ยงจากภัยแล้งเช่นกัน

ขณะที่ น้ำเพื่อการเกษตร ซึ่งสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ได้ทำการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง โดยใช้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมรอบ 10 ปีที่ผ่านมา พบพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง 35 จังหวัด 215 อำเภอ 653 ตำบล ทำให้ตัวเลขการคาดการณ์ ปี 2561/2562 พื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง 2.49 ล้านไร่ ใน 23 จังหวัด 76 อำเภอ 172 ตำบล ได้แก่ จ.กำแพงเพชร ขอนแก่น ชัยภูมิ ตาก นครราชสีมา นครสวรรค์ บุรีรัมย์ พิจิตร พิษณุโลก แพร่ ยโสธร ร้อยเอ็ด ลำพูน เลย ศรีสะเกษ สระแก้ว สุโขทัย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี อุตรดิตถ์ อุทัยธานี และอุบลราชธานี

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวอีกว่า สำหรับสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลอง ไม่ได้รับผลกระทบภัยแล้ง โดยปริมาณน้ำ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีน้ำใช้การได้รวม 12,420 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ 2 เขื่อนหลักลุ่มน้ำแม่กลอง มีน้ำใช้การได้รวม 10,958 ล้าน ลบ.ม. สามารถจัดสรรเป็นน้ำอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ การเกษตรต่อเนื่อง การเกษตรฤดูแล้ง และการเริ่มต้นเพาะปลูกในช่วงต้นฤดูฝน ได้ถึง ก.ค. 2562 โดยการเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้ง ต้องเป็นไปตามแผนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ไรโซแบคทีเรีย ลดปุ๋ยเคมี 50%

แต่ละปีไทยนำเข้าปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศปีละไม่ต่ำกว่า 40,000 ล้านบาท ขณะที่การทำเกษตรอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก ไม่ว่าอย่างไรก็ยังคงต้องพึ่งพาปุ๋ยเคมี ฉะนั้นปัญหาคือ จะมีสิ่งใดสามารถนำมาลดต้นทุนเรื่องปุ๋ยให้กับเกษตรกรได้ วันนี้คำตอบอยู่ใกล้ตัวแค่เอื้อม...แบคทีเรียใต้ดิน

“สกว.สนับสนุนทุนวิจัยให้เราทำเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2549 หลังพบแบคทีเรียอยู่ตามรากพืช มีส่วนช่วยให้พืชเจริญเติบโต และเมื่อนำมาใช้จริงในแปลงพืช ได้ผลเป็นอย่างดี ขณะนี้อยู่ระหว่างการต่อยอดในเชิงพาณิชย์ร่วมกับบริษัทเอกชน”

รศ.ดร.กัญชลี เจติยานนท์ คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร เผยถึงการวิจัยการศึกษาไรโซแบคทีเรียเพื่อนำมาทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี

จากการศึกษา พบว่าแบคทีเรียชนิดนี้ สามารถสร้าง สปอร์เชื้อ Bacillus cereus สายพันธุ์ RS87 ที่มีคุณสมบัติช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตให้กับพืช โดยเฉพาะช่วยเพิ่มรากแขนง ทำให้พืชหากินได้มากขึ้น

เพราะไรโซแบคทีเรียช่วยตรึงไนโตรเจนให้พืช ปลดปล่อยฮอร์โมนออกซินให้รากพืชเจริญเติบโตดี ปลดปล่อยกรดอินทรีย์ ย่อยสลายธาตุฟอสเฟตที่ตรึงอยู่ในดินให้อยู่ในรูปที่พืชนำไปใช้ได้ อีกทั้งมีความเป็นพิษต่อสัตว์ในระดับต่ำ สามารถทนต่อสภาพแวดล้อมได้เป็นอย่างดี

จนทีมวิจัยจึงพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป ลักษณะเม็ดขนาดใกล้เคียงกับปุ๋ยเคมี และนำไปทดสอบในระดับแปลงร่วมกับการใช้ปุ๋ยเคมีในพืชหลากหลายชนิด อาทิ ข้าว มะม่วง พริก ผักกวางตุ้ง ผักกาดหอม ส้มโอ แตงกวา

ดร.กัญชลี เผยถึงผลการทดสอบในระดับแปลงพบว่า สามารถลดการใช้ปุ๋ยเคมีได้กว่า 50% แต่ให้ผลผลิตไม่แตกต่างจากตอนที่ได้รับปุ๋ยเคมีในอัตราปกติ และยังช่วยลดความแข็งกระด้างของดิน การเสื่อมโทรมคุณภาพของดินที่เกิดจากการใช้ปุ๋ยเคมีอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนั้น การทดลองใน แปลงพริก ยังพบว่าสามารถต้านทานโรคเหี่ยวเขียวในพริก ซึ่งยังไม่มีสารเคมีใดๆควบคุมโรคได้...แตงกวา มีรสชาติหวานขึ้น เนื้อแน่น กรอบ เก็บไว้ได้นานขึ้น เพราะแบคทีเรียไปลดสารให้ความขมในเนื้อแตงกวา...ข้าว จะออกรวงพร้อมๆกัน ต่างจากใช้สารเคมี ที่ข้าวจะทยอยออกรวงและสุกทีละน้อย ใช้เวลา 7-14 วัน...สนใจติดต่อได้ที่ 0-5596-2722.

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2561

เล็งชงครม.รื้อพรบ.โรงงาน ‘อุตตม’ยกเลิกการต่อใบ‘รง.ทุก5ปี

นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงเตรียมปรับปรุงพ.ร.บ. โรงงานอุตสาหกรรมพ.ศ.2535 โดยเอกชนไม่ต้องขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน(รง.4)ทุก 5 ปี โดยคาดว่าจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบเร็วๆ นี้และเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)เพื่อประกาศบังคับใช้ได้ภายในสิ้นปีนี้หรือต้นปี 2562 ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการโรงงานทั่วประเทศ 60,000 ราย ที่ต้องต่ออายุใบอนุญาตรง.4 ในช่วงปี 2562-2566 สามารถดำเนินธุรกิจต่อเนื่องโดยไม่ติดขัดและเอื้อให้นักลงทุนจากทั่วโลกมาลงทุนยังไทยเพิ่มขึ้น

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.)กล่าวว่า การยกเลิกการต่ออายุใบอนุญาตดังกล่าว

เพื่อทำบทบาทเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมภาคเอกชนไทย และที่สำคัญจะช่วยลดปัญหาความไม่โปร่งใส เพิ่มระดับความน่าเชื่อถือในการลงทุนในประเทศมากขึ้น

“ปกติแล้วการต่อใบอนุญาตรง.4 จะใช้เวลาต่อไม่เกิน 30 วัน และการต่อต้องเสียค่าธรรมเนียมเฉลี่ย 1,500-60,000 บาทต่อใบอนุญาต ซึ่งค่าธรรมเนียมดังกล่าวจะขึ้นอยู่กับขนาดแรงม้าของเครื่องจักรโรงงานว่ามีขนาดเท่าใด มีมากก็เสียมาก ซึ่งเราอาจจะสูญเสียรายได้จุดนี้ไปแต่เมื่อเทียบกับความสะดวกที่จะทำให้การลงทุนเพิ่มขึ้น และรัฐจะมีรายได้จากภาษีที่เพิ่มจากการลงทุนก็คุ้มค่ากว่ามาก”นายทองชัย กล่าว

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสอท.กล่าวว่า การยกเลิกการต่ออายุใบอนุญาตรง.4 ทุก 5 ปี นับเป็นนิมิตหมายที่ดีเพราะที่ผ่านมาเอกชนได้เคยเรียกร้องมาอย่างต่อเนื่อง หลังจากนี้จะได้หารือกับผู้ประกอบการที่จะทำเรื่อง Self –declared ต่อไปเพื่อให้มีความเข้าใจตรงกัน

จาก https://www.naewna.com วันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2561

หอการค้าคงจีดีพีโต4.5% ห่วงปัจจัยเสี่ยงรุมเร้าปี’62

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัย หอการค้าไทย เปิดเผยว่า ทิศทางเศรษฐกิจโดยรวมและกำลังซื้ออของผู้บริโภคฟื้นตัวขึ้นดีต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นปี 2561 ที่ผ่านมาแม้ว่าอาจจะยังไม่กระจายตัวในส่วนกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและพื้นที่ต่างจังหวัดบางพื้นที่ อย่างไรก็ดี มองว่าช่วงไตรมาสที่ 4 (ตุลาคม-ธันวาคม) นี้จะมีแรงส่งต่อเนื่อง โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ยังคงประมาณการอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ(จีดีพี) ปีนี้ที่ 4.5% หรือในกรอบ 4.4–4.6% ขณะที่การส่ออกคาดว่าจะขยายตัวใกล้เคียง 8% ซึ่งพบว่าปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจไทยมีเพิ่มมากขึ้นทั้งจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่มีความรุนแรงมากขึ้น ตลาดการเงินที่มีความผันผวน ทิศทางราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น และจำนวนนักท่องเที่ยวที่ชะลอลง

นายธนวรรธ์ กล่าว่าท ความเสี่ยงเหล่านี้อาจจะยังส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังปี 2562 โดยเฉพาะกรณีสงครามการค้าที่จะทำให้บรรยากาศการค้าโลกและภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวจะส่งผลกระทบต่อไทยได้ และยังต้องติดตามท่าทีของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ต่อการกีดกันทางการค้า รวมทั้งการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยเบื้องต้นยังคงประมาณการจีดีพี ปี 2562 ที่ 4.5% แต่โอกาสที่จะขยายตัวได้เท่าระดับนี้มีความเสี่ยงมากขึ้นอาจจะเห็นการเติบโตที่ระดับ 4.2% ขณะที่การส่งออกคาดที่เติบโตราว 5%

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2561

'กรมชลฯ'จับมือ'ฝนหลวง'วางแนวทางบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง

"อธิบดีชลประทานฯ"จับมือ"อธิบดีกรมฝนหลวงฯ"วางแผนจัดการน้ำฤดูแล้ง ขอให้ประชาชนมั่นใจมีน้ำเพียงพอใช้ตลอดหน้าแล้งนี้ ยังมีน้ำสำรองไว้ถึงเดือนก.ค.ปีหน้ารับมือฝนทิ้งช่วงได้ ขณะที่ฝนหลวงเร่งเติมน้ำเขื่อน120แห่ง สำรองไว้ให้มากที่สุด ชี้ปีนี้เผญิชปรากฏการณ์เอลนีโญ

ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ร่วมกันแถลงแผนบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งนี้ เริ่ม 1 พ.ย. - ปลายเดือน เม.ย.ปี 62

โดย นายทองเปลว กล่าวว่า ปริมาณน้ำที่เตรียมไว้เพียงพอสำหรับทุกกิจกรรมในฤดูแล้งนี้ และมีน้ำสำรองไว้จนถึงเดือน ก.ค.62 โดยในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางมีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 60,994 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 80 ของความจุอ่างฯรวมกันทั้งหมด คาดว่าในวันที่ 1 พ.ย.61 จะมีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 39,373 ล้าน ลบ.ม.การจัดสรรน้ำใช้การนั้นแบ่งเป็น 2 ส่วน ใช้ในหน้าแล้ง ตั้งแต่ 1 พ.ย. - 30 เม.ย.ประมาณร้อยละ 59 ปริมาณ 231,000 ล้านลูกบาศก์เมตร และสำรองไว้ใช้เพื่อเตรียมการเพาะปลูกในต้นฤดูฝนตั้งแต่ 1 พ.ค. - 30 ก.ค.62 ปริมาณ 162,723 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งที่เผื่อไว้ถึง 3 เดือน เนื่องจากปรากฏการณ์เอลนีโญอาจทำให้เกิดฝนมาช้าหรือฝนทิ้งช่วง

ส่วนสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อยกว่าร้อยละ 50 ของความจุอ่างฯ 7 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่ , อ่างเก็บน้ำแม่มอก จ.ลำปาง , อ่างเก็บน้ำทับเสลา จ.อุทัยธานี , อ่างเก็บน้ำกระเสียว จ.สุพรรณบุรี , อ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น , อ่างเก็บน้ำห้วยหลวง จ.อุดรธานี และอ่างเก็บน้ำลำนางรอง จ.บุรีรัมย์ ได้วางแผนบริหารจัดการน้ำ เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศอย่างเพียงพอตลอดฤดูแล้งนี้ ส่วนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง สามารถสนับสนุนได้เฉพาะพืชใช้น้ำน้อยเท่านั้น ยกเว้นอ่างเก็บน้ำแม่มอก จ.สุโขทัย และอ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ จ.ข่อนแกน ที่ไม่สามารถสนับสนุนน้ำเพื่อการเกษตรได้ รวม 4.1 แสนไร่ เนื่องจากมีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อยมาก คงสนับสนุนได้เฉพาะน้ำอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศเท่านั้น

สำหรับลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่ใช้น้ำต้นทุนจาก 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล , เขื่อนสิริกิติ์ , เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) ปัจจุบันมีปริมาณน้ำรวมกัน 19,116 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็นร้อยละ 77 ของความจุอ่างฯ รวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้ 12,420 ล้าน ลบ.ม.เพียงพอที่จะสนับสนุนการใช้น้ำในเขตชลประทาน ตลอดช่วงฤดูแล้งนี้

ในส่วนของภาคตะวันออก ที่มีความต้องการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งจำนวนมาก เนื่องจากเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของประเทศ มีทั้งแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก สวนผลไม้ส่งออก และเขตอุตสาหกรรมหนัก เป็นต้น กรมชลประทาน ได้วางระบบโครงข่ายการเชื่อมโยงแหล่งน้ำภาคตะวันออก เพื่อบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอต่อการใช้ในแต่ละกิจกรรมตลอดในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งปีนี้สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ในภาคตะวันออกอยู่ในเกณฑ์ดี มีปริมาณน้ำในอ่างฯเฉลี่ยระหว่างร้อยละ 70 - 90 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 763 ล้าน ลบ.ม.เพียงพอที่จะสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว ในเขตโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก (Eastern Seaboard) จ.ระยอง และ จ.ชลบุรี

นายทองเปลว ยืนยันว่า เกษตรกรในพื้นที่ 2 ล้านไร่ 33 จังหวัด ที่สมัครเข้าร่วมโครงการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนาทั้งหมด จะมีน้ำเพียงพอตลอดฤดูกาลเพาะปลูก 4 เดือนแน่นอน ส่วนจังหวัดที่ขอสมัครเข้าร่วมโครงการเพิ่มอีก 7 จังหวัด จะเร่งออกไปสำรวจศักยภาพในการจัดสรรน้ำ ซึ่งหากที่ใดทำได้ นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะขอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติขยายจังหวัด จากเดิมกำหนดพื้นที่เป้าหมายไว้ 33 จังหวัด สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังอีกประการคือ การควบคุมค่าความเค็มของน้ำภาคกลาง ต้องเฝ้าระวังค่าความเค็มของน้ำที่อำเภอสำแล ปทุมธานีซึ่งต้องใช้น้ำมาผลิตน้ำประปา นอกจากนี้ ต้องเฝ้าระวังที่ อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี ซึ่งมีพืชสวนมาก และปากคลองจินดา ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกกล้วยไม้แหล่งใหญ่ของ อ.สามพราน จ.นครปฐม

สำหรับการเตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ เพื่อช่วยเหลือพื้นที่ที่อาจจะประสบกับปัญหาภัยแล้งนั้น กรมชลประทานได้เตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ 1,851 เครื่อง กระจายอยู่ตามสำนักงานชลประทานที่ 1 - 17 จำนวน 1,151 เครื่อง สำรองไว้ที่ส่วนกลาง 700 เครื่อง นอกจากนี้ ยังมีรถบรรทุกน้ำอีก 200 คัน กระจายอยู่ตามโครงการชลประทานต่างๆ 150 คัน อีก 50 คัน สำรองไว้ที่ส่วนกลาง ซึ่งสามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้ตลอดเวลา

ส่วนในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งกำลังจะเข้าสู่ฤดูฝนนั้น กรมชลประทานได้มีการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ โดยได้กำหนดจุดเฝ้าระวังเสี่ยงภัยน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ตั้งแต่ จ.เพชรบุรี ลงไป 75 จุด ได้มีการเตรียมพร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ ประจำไว้ในพื้นที่แล้ว

ด้าน นายสุรสีห์ กล่าวว่า จะเร่งปฏิบัติการเติมน้ำเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลาง 120 เขื่อน ที่ยังมีน้ำต่ำกว่าร้อยละ 30 และร้อยละ 60 จำนวน 120 เขื่อน ในช่วงเวลาที่เหลือจะทำฝนหลวงถึง 15 พ.ย.คาดว่าจะเติมน้ำให้ได้อีก 30 ล้าน ลบ.ม.โดยรวมจากช่วงก่อนหน้านี้ได้เร่งปฏิบัติตั้งแต่ 20 ก.ย.เพื่อเติมน้ำเขื่อนน้ำน้อย ให้ได้ไม่ต่ำกว่า 200 ล้าน ลบ.ม.

ทั้งนี้ ปัจจุบันยังมีเกษตรกรขอรับบริการฝนหลวงเพื่อใช้ทำการเกษตรอยู่ จำนวน 8.30 ล้านไร่ เนื่องจากบริเวณพื้นที่ดังกล่าวในบางภูมิภาค ประสบกับปัญหาฝนทิ้งช่วง เป็นพื้นที่ที่อยู่ในเขตอับฝน มีฝนตกน้อย จึงทำให้มีน้ำไม่เพียงพอสำหรับพืชบางชนิด อาทิ ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ที่มีความต้องการน้ำเพื่อการเจริญเติบโตให้ทันฤดูกาลเก็บเกี่ยวปลายปีนี้ ซึ่งจากการปฏิบัติการฝนหลวงเมื่อวันที่ 24 ต.ค.ที่ผ่านมา สามารถช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรบริเวณ จ.เชียงใหม่ , สระบุรี , ลพบุรี , นครสวรรค์ , อุทัยธานี , สุพรรณบุรี , ชัยนาท และ จ.สิงห์บุรี ประมาณ 170 ล้านลูกบาศก์เมตร

อย่างไรก็ตาม แม้กรมอุตุนิยมวิทยาจะประกาศเข้าสู่ฤดูหนาว ในวันที่ 27 ต.ค.นี้ ซึ่งจะทำให้มีความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศต่ำ ไม่เอื้ออำนวยต่อการทำฝน แต่ฝนหลวงจะยังคงเฝ้าติดตามสภาพอากาศ ช่วงชิงจังหวะที่สามารถปฏิบัติการให้เกิดฝนได้ ทำต่อเนื่องไปจนถึงกลางเดือน พ.ย.คาดว่าจะสามารถทำให้มีฝนตกลงมาเพิ่มปริมาณน้ำได้อีก 30 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ทั้งนี้ แม้จะปิดหน่วยฝนหลวงทั้งหมดเพื่อนำอากาศยานเข้าซ่อมบำรุง ก่อนจะเปิดตามแผนปฏิบัติการประจำปีในเดือน มี.ค.62 กรมฝนหลวงฯ จะตั้งหน่วยเคลื่อนที่เร็ว 2 ชุดที่ จ.นครสวรรค์ เตรียมพร้อมขึ้นบินปฏิบัติการในพื้นที่ที่สภาพอากาศเอื้ออำนวยได้ทั่วประเทศ เนื่องจากในหน้าแล้งนั้น ในเดือนหนึ่งจะมีวันที่มีความชื้นสัมพัทธ์ในบรรยากาศเกินกว่าร้อยละ 60 ซึ่งสามารถทำฝนให้ตกลงมาได้ เพื่อช่วยเหลือพื้นที่เกษตรโดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทาน

จากการปฏิบัติการฝนหลวง ประจำปีงบประมาณ 2561 ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้ปฏิบัติการช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ประสบปัญหาภัยแล้งทั่วทุกภูมิภาค ในบริเวณพื้นที่การเกษตรที่ขาดแคลนน้ำทำการเกษตร การอุปโภค-บริโภค ตามการร้องขอฝน การวิเคราะห์สภาพอากาศและสถานการณ์ภัยแล้งเป็นประจำทุกวัน โดยในภาพรวมของการขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. - 23 ต.ค.61 ได้ขึ้นบินปฏิบัติการ จำนวน 223 วัน 4,299 เที่ยวบิน ปริมาณการใช้สารฝนหลวง 3,621.83 ตัน มีฝนตกรวม 58 จังหวัด มีพื้นที่ที่ได้รับการช่วยเหลือทั้งสิ้น จำนวน 137.57 ล้านไร่ จากพื้นที่การขอรับบริการและพื้นที่ภัยแล้งทั้งหมด 181.05 ล้านไร่ อีกภารกิจ คือ การช่วยเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่างๆ ที่มีความต้องการทั่วทุกภูมิภาค โดยประสานข้อมูลกับกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสามารถเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศเพื่อรองรับการใช้การในช่วงฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึง

จาก https://www.naewna.com วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2561

สงครามการค้าสหรัฐเริ่มกระทบ จีนเบนเข็มดึงไทย-อาเซียนลงทุนเพิ่ม

ส.การค้าลงทุนเอเซียน-สากล ชี้สงครามการค้าสหรัฐกระทบจีน เบนเข็มดึงไทย-อาเซียนลงทุนเพิ่ม แนะธุรกิจนวด ร้านอาหาร มวยไทย และสินค้าเกษตร มาแรง

จีนเบนเข็มดึงไทยลงทุน – นายอู๋ จื้อ อี้ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมการค้าและการลงทุนเอเซียน-สากล หรือ เอซีไออีซี เปิดเผยว่า สถานการณ์สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ ในขณะนี้ส่งผลกระทบกับจีน แต่ยังไม่รุนแรงมากนักต่อเศรษฐกิจของจีน เพราะฐานเศรษฐกิจที่ค่อนข้างดี มีความมั่นคงและศักยภาพในการเติบโต อย่างไรก็ดี จีนยังคงส่งเสริมการเปิดและการปฏิรูปในประเทศเพื่อลดแรงกดดันจากสงครามการค้า ทั้งการลดภาษีและลดค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ประกอบการ, เร่งรัดการใช้นโยบายการขยายการเข้าถึงตลาด และปกป้องระบบการค้าตลาดจีน หรือพหุภาคีตามกฎ

นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ โดยลดขั้นตอนต่างๆ ให้ง่ายขึ้น เพื่อดึงนักลงทุนต่างชาติเน้นไทยและกลุ่มประเทศในอาเซียนให้เข้ามาลงทุนในจีนมากขึ้น ซึ่งตั้งแต่เดือนม.ค.-พ.ค. 2561 ยอดการค้าจีนและอาเซียนเพิ่มขึ้น 18.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีแนวโน้มจะเพิ่มในระดับนี้ไปจนถึงสิ้นปีนี้ จากตัวเลขยอดการค้าการลงทุนของประเทศอาเซียนและจีนปีที่แล้วประมาณ 5,147.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เฉพาะในไทยอยู่ที่ 741.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และเมื่อมีการลดขั้นตอนเพื่อจะดึงนักลงทุนเข้าไปลงทุนแล้ว น่าจะทำให้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

สำหรับโอกาสของธุรกิจไทยที่จะเข้าไปลงทุน มองว่าธุรกิจบริการ อย่าง นวดไทย ร้านอาหาร และมวยไทย รวมถึงธุรกิจสินค้าเกษตร กำลังได้รับความนิยมและเป็นที่ต้องการของตลาดจีน ซึ่งในวันที่ 16-17 พ.ย.นี้ ทางสมาคมฯ จะจัดงานมหกรรมสินค้าจีนมาตรฐานส่งออก ครั้งที่ 8 ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี เพื่อส่งเสริมการค้าไทยและจีน โดยผู้ประกอบการจีนจาก 10 มณฑล มาออกบูธแสดงสินค้า ซึ่งประเมินว่าจะนักธุรกิจไทย-จีนและผู้สนใจทั่วไปเข้าร่วมงานประมาณ 10,000 คน มีเงินสะพัดจากการจัดงานและการจับคู่ธุรกิจประมาณ 500 ล้านบาท

“ขณะนี้จีนกำลังอยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจปรับลดลงต่อเนื่อง โดยในไตรมาส 3 การเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) อยู่ที่ 6.5% ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้านี้ที่เติบโต 6.7% และคาดการณ์ว่าปี 2562 จะอยู่ที่ 6% แม้ว่าจะเป็นตัวเลขที่น่าพอใจเมื่อเทียบกับจีดีพีโลก ดังนั้นการให้ความสำคัญด้านเศรษฐกิจและการค้าจีน-อาเซียน เป็นแนวทางความร่วมมือเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศให้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งการดึงนักลงทุนอาเซียนมาลงทุนในจีน และการส่งเสริมให้นักธุรกิจจีนไปลงทุนการค้าในกลุ่มอาเซียน ซึ่งกลุ่มธุรกิจที่ยังเติบโตดีทำให้เศรษฐกิจจีนขยายตัวต่อเนื่อง ได้แก่ กลุ่มอีคอมเมิร์ซ พลังงาน และกลุ่มเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ)”

จาก https://www.khaosod.co.th  วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2561

อุตฯแก้ พ.ร.บ.โรงงานใหม่

 ก.อุตฯ เดินหน้าแก้ พ.ร.บ.โรงงาน หวังยกเลิกขอต่อใบอนุญาตทุก ๆ 5 ปี ระบุเปลี่ยนระบบมาเป็นการรับรองตนเองหรือ Self-declared คาดเริ่มใช้ปลายปีนี้หรือต้นปี62

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มอบหมายกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) แก้พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 ยกเลิกอายุของใบอนุญาต ร.ง.4 ช่วยให้ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมไม่ต้องยื่นเรื่องขอต่อใบอนุญาตประกอบกิจการ ( ร.ง. 4) เพื่ออำนวยความสะดวก รวดเร็ว ลดความยุ่งยากแก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ซึ่งผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศ 60,000 โรงได้รับประโยชน์ คาดว่ากระบวนการแก้ไขกฎหมายจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งคาดว่าการยกเลิกขอต่อใบอนุญาต ร.ง. 4 จะมีผลปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า ขณะที่ภาครัฐจะได้ข้อมูลการประกอบกิจการโรงงานที่สามารถพัฒนาไปสู่ Big Data เพื่อใช้ในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมด้วย

ทั้งนี้ กรอ.จะจับมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เตรียมความพร้อมและทำความเข้าใจกับโรงงานในการรับรองตนเองหรือ Self-declared เพราะการยกเลิกขอต่อใบอนุญาต ร.ง.4 ครั้งนี้ เป็นการเปลี่ยนหลักการ จากเดิมเจ้าหน้าที่ กรอ.ลงไปตรวจสอบการขอต่อ ร.ง. 4  เปลี่ยนมาเป็นผู้ประกอบการโรงงานเป็นฝ่ายรับรองตนเอง ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องแสดงข้อมูลเพื่อรับรองตนเองว่าการประกอบกิจการได้มีการดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย โดยมีกำหนดให้แจ้งข้อมูลที่จำเป็นต่อการควบคุมกำกับดูแลทั้งด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม และจะมีเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือผู้ตรวจสอบเอกชนที่ขึ้นทะเบียนเจ้าหน้าที่ตรวจโรงงานกับกระทรวงอุตสาหกรรมไปทำการตรวจสอบภายหลังและเป็นผู้รับรองข้อเท็จจริงความถูกต้องอีกขั้นหนึ่งเพื่อป้องกันการรับรองเท็จ

โดยมาตรการนี้จะส่งผลดีชัดเจนแบบ 2 เพิ่ม 2 ลด คือ เพิ่มความสะดวกผู้ประกอบการ เพิ่มประสิทธิภาพในการบริการ ลดระยะเวลาทำเรื่องขอใบอนุญาตแบบเดิม และลดปัญหาข้อร้องเรียนเรื่องความโปร่งใสในกระบวนการต่อใบอนุญาต ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับประโยชน์โดยตรง คือ ผู้ประกอบการโรงงานทั่วประเทศ

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากข้อมูลล่าสุดมีโรงงานอุตสาหกรรมที่จะต้องขอต่ออายุ ร.ง.4  ทุก ๆ  5  ปี ในช่วงปี 2562 -2566 มี 60,000 โรง เมื่อแก้ไข พ.ร.บ.โรงงานเสร็จและมีผลบังคับใช้ ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมไม่จำเป็นต้องขอต่อใบอนุญาต ขณะที่ กรอ.จะขาดรายได้จากค่าธรรมเนียมที่เดิมโรงงานที่ขอต่อใบอนุญาต ร.ง. 4 จะต้องจ่าย ซึ่งคิดตามแรงม้าของเครื่องจักร โดยมีค่าใช้จ่ายตั้งแต่ 1,500-60,000 บาท  ซึ่ง กรอ.เห็นว่าค่าธรรมเนียมที่จัดเก็บไม่ได้ หากเทียบกับความสะดวกที่ผู้ประกอบการได้รับและการประกอบการดีขึ้นมีการเสียภาษีมากขึ้นถือว่าคุ้มค่ากว่ามาก

จาก www.banmuang.co.th  วันที่ 24ตุลาคม 2561

ค้านร่างพรบ.อ้อยฉบับใหม่ องค์กรชาวไร่ขึ้นป้ายต่อต้าน26ตค.

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทยและหัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 7 เปิดเผยว่า 4 องค์กรชาวไร่อ้อยประกอบด้วยสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน สหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และสมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ได้เห็นชอบร่วมกันที่จะให้สมาคมชาวไร่อ้อยทั่วประเทศติดตั้งป้ายไวนิลที่มีข้อข้อความระบุ “ชาวไร่อ้อยขอคัดค้านร่างพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายฉบันกระทรวงอุตสาหกรรมที่ทำให้ชาวไร่อ้อยแตกแยก ถูกผลประโยชน์เข้าครอบงำ” โดยจะขึ้นป้ายพร้อมกันในวันที่ 26 ตุลาคม 2561 นี้

สำหรับสาระสำคัญที่ชาวไร่อ้อยส่วนใหญ่คัดค้าน คือ มาตรา 20 ที่ให้เพิ่มสมาคม สหกรณ์หรือกลุ่มเกษตรกรชาวไร่ สามารถจดทะเบียนเป็นสถาบันชาวไร่อ้อยได้ โดยไม่ต้องกำหนดหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขใดที่เป็นการปิดกั้นโอกาสของชาวไร่อ้อยซึ่งเห็นว่าประเด็นดังกล่าวจะทำให้เกิดองค์กรชาวไร่อ้อยที่มากเกินไปซึ่งจะเป็นผลร้ายมากกว่าผลดีเพราะจะสร้างความแตกแยกให้ชาวไร่ได้เพราะ พ.ร.บ.ฯ ดังกล่าวเป็นกฎหมายไตรภาคีที่เกษตรกรชาวไร่อ้อยต้องมีตัวแทนร่วมบริหาร โดยยึดหลักจากปริมาณอ้อยที่มากกว่าเป็นหลักในการเป็นสถาบันชาวไร่อ้อย

“คำจำกัดความของสถาบันชาวไร่อ้อยที่จดทะเบียนนิติบุคคลที่ให้สิทธิพิเศษสหกรณ์ชาวไร่อ้อยและกลุ่มเกษตรกร มาอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.อ้อยฯ ผ่านการกำหนดให้คณะกรรมการอ้อยในชุดต่างๆ มีตัวแทนจากสหกรณ์ชาวไร่อ้อย 2 คน และกลุ่มเกษตรกร 1 คน โดยชาวไร่ไม่ขัดข้องหากสถาบันและกลุ่มเกษตรกรที่กำหนดขึ้นนี้จะต้องมีคุณสมบัติเช่นเดียวกัน คือ สมาชิกต้องไม่น้อยกว่า 600 ราย ต้องส่งอ้อยให้โรงงานไม่น้อยกว่า 55% ของกำลังหีบโรงงานนั้นๆ ตาม พ.ร.บ.อ้อยฯ แต่คุณสมบัติกลับไม่กำหนดไว้เช่นเดียวกับสมาคชาวไร่อ้อย” นายนราธิปกล่าว

นอกจากนี้ ร่างพ.ร.บ.ฯดังกล่าวยังกำหนดปรับปรุงรายได้จากผลพลอยได้ของการผลิตอ้อยและน้ำตาลทรายแต่ไม่มีการระบุหรือจำแนกย่อยลงไปว่ารายได้ที่จะเข้าระบบดังกล่าวมีอะไรบ้างที่เป็นผลพลอยได้ แต่ให้อำนาจคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.)ไปหารือร่วมกันซึ่งชาวไร่เห็นว่าควรจะระบุให้ชัดเจนไปเลย ส่วนประเด็นอื่นๆ ทางชาวไร่ก็ไม่ได้คัดค้านอะไร

“ขณะนี้ร่างพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลฯ พ.ศ. ...ฉบับกระทรวงอุตสาหกรรมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมาและกำลังอยู่ระหว่างการตีความของกฤษฎีกา ซึ่งตามขั้นตอนจากนั้นก็จะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ที่จะมีการตั้งกรรมาธิการมาพิจารณาหากผ่านวาระหมดก็จะส่งเรื่องเข้าครม.อีกครั้งจากนั้นจึงจะประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาก็จะมีผลบังคับใช้ ซึ่งเราเองก็ยังหวังว่าในช่วงสนช.จะมีการปรับปรุงประเด็นดังกล่าว” นายนราธิปกล่าว

จาก https://www.naewna.com วันที่ 24ตุลาคม 2561

ชาวไร่รวมพลค้านพรบ.อ้อย

พร้อมใจทั่วประเทศ 26 ต.ค.นี้ ขึ้นป้ายค้านระบุเปิดทางสหกรณ์มีส่วนบริหารง่ายไปผลพลอยได้ไม่ชัดนายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทยและหัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 7 เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 26 ต.ค. เป็นต้น ไป องค์กรชาวไร่อ้อยรวม 4 องค์กร ซึ่งครอบคลุมชาวไร่อ้อยทั่วประเทศจะติดตั้งป้ายไวนิลที่มีข้อความระบุว่าชาวไร่อ้อยขอคัดค้านร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายฉบับกระทรวงอุตสาหกรรมที่ทำให้ชาวไร่อ้อยแตกแยก ถูกผลประโยชน์เข้าครอบงำ เพื่อคัดค้านร่างกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปแล้ว และอยู่ในชั้นการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

ทั้งนี้ สาระสำคัญที่ชาวไร่อ้อยคัดค้านคือมาตรา 20 ที่ให้เพิ่มสมาคม สหกรณ์ หรือกลุ่มเกษตรกรชาวไร่ สามารถจดทะเบียนเป็นสถาบันชาวไร่อ้อยได้ โดยไม่ต้องกำหนดหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขใด ซึ่งเป็นการปิดกั้นโอกาสของชาวไร่อ้อยและทำให้เกิดองค์กรชาวไร่อ้อยที่มากเกินไปจนอาจสร้างความแตกแยกให้ชาวไร่ได้ และกฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายไตรภาคีที่ชาวไร่อ้อยต้องมีตัวแทนร่วมบริหารด้วย

นอกจากนี้ ร่างกฎหมายยังกำหนดปรับปรุงรายได้จากผลพลอยได้ของการผลิตอ้อยและน้ำตาลทรายแต่ไม่มีการระบุหรือจำแนกย่อยลงไปว่ารายได้ที่จะเข้าระบบ มีอะไรบ้าง แต่ให้อำนาจคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ไปกำหนด ซึ่งควรจะระบุให้ชัด ส่วนประเด็นอื่นที่เป็นไปเพื่อไม่ให้เป็นการขัดหลักการขององค์การการค้าโลก (ดับเบิ้ลยูทีโอ) ชาวไร่ไม่ได้คัดค้าน.

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 24ตุลาคม 2561

ค่าเงินบาทวันนี้อ่อนค่า เหตุตลาดกังวลความเสี่ยงสงครามการค้า หลังผลประกอบบริษัทสหรัฐออกมาไม่ค่อยดี

ค่าเงินบาทวันนี้อ่อนค่าในกรอบการเคลื่อนไหวที่ 32.70-33.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เหตุตลาดกังวลความเสี่ยงสงครามการค้า หลังผลประกอบบริษัทสหรัฐออกมาไม่ค่อยดี

ผู้สื่อข่าวรายงานค่าเงินบาท วันที่ 24 ต.ค. 2561 ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ 32.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากระดับปิดเมื่อวานที่ 32.77 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ล่าสุดค่าเงินบาทซื้อขายอยู่ที่ระดับ 32.63-32.93 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ด้านนักวิเคราะห์ค่าเงินบาทธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ค่าเงินบาทวันนี้ มีทิศทางอ่อนค่าในกรอบการเคลื่อนไหวที่ 32.70-33.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ตามการอ่อนค่าของค่าเงินในภูมิภาค โดยมาจากปัจจัยหลักที่ตลาดมีความกังวลต่อความเสี่ยงด้านต่างๆของโลกที่สูงขึ้น โดยเฉพาะประเด็นสงครามการค้า ซึ่งสะท้อนให้เห็นในตลาดหุ้นที่ปรับตัวลดลง เนื่องจากในช่วงนี้ผลประกอบการของบริษัทในสหรัฐที่เริ่มทยอยออกมามีทิศทางที่ไม่ค่อยดี โดยตลาดมองว่าเป็นผลจากสงครามการค้า โดยวันนี้ให้กรอบการเคลื่อนไหวที่แนวรับ 32.70 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่แนวต้านให้ไว้ที่ 33.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 24ตุลาคม 2561

สนทช.เตือนปี’62น้ำพอใช้แต่ไม่พอเพาะปลูก ชี้8เขื่อนหนักเหลือน้ำ50%

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สนทช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ขอความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กรมพัฒนาที่ดิน (พด.) ช่วยกันรวบรวมข้อมูลเรื่องของในอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 50% ของความจุอ่าง เพื่อวางแผนบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2562 หรือช่วงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2561- 30 เมษายน 2562 เบื้องต้น ได้รับรายงานว่ามี 8 เขื่อน ต้องเก็บน้ำเอาไว้เพื่อการอุปโภคบริโภคเท่านั้น ไม่เพียงพอสำหรับเกษตรกรรม ยกเว้นการปล่อยน้ำต่อเนื่องให้กับพืชที่ปลูกไปแล้วก่อนหน้า

นายสมเกียรติกล่าวว่า ทั้ง 8 เขื่อน ประกอบด้วย เขื่อนแม่กวงอุดมธารา มีปริมาณน้ำในอ่าง 115 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 44% ของความจุอ่างฯ เพียงพอที่จะสนับสนุนการปลูกพืช รวม 3.9 หมื่นไร่จากทั้งสิ้น 1.7 แสนไร่ เขื่อนแม่มอก มีปริมาณน้ำ 35 ล้าน ลบ.ม. หรือ 32% ของความจุอ่างฯ เขื่อนมูลบน มีปริมาณน้ำ 76 ล้าน ลบ.ม. หรือ 54 % ของความจุอ่างฯ เขื่อน อุบลรัตน์ มีปริมาณน้ำ 823 ล้าน ลบ.ม. หรือ 34% ของความจุอ่างฯ และเขื่อนกระเสียว มีปริมาณน้ำ 101 ล้าน ลบ.ม. หรือ 34% ไม่สามารถสนับสนุนการเพาะปลูกได้ ส่วนเขื่อนห้วยหลวง มีปริมาณน้ำ 66 ล้าน ลบ.ม. หรือ 48% ของความจุ เขื่อนทับเสลา มีปริมาณน้ำ 48 ล้าน ลบ.ม. หรือ 30% ของความจุอ่าง เขื่อนลำนางรอง มีปริมาณน้ำ 41 ล้าน ลบ.ม. หรือ 34% สามารถสนับสนุนการปลูกพืชใช้น้ำน้อยได้เท่านั้น

“ท้ายเขื่อนอุบลรัตน์ ต้องการใช้น้ำจำนวนมาก และพื้นที่เหนือเขื่อนที่น้ำเข้าไม่ถึงด้วย ดังนั้นจึงควรปรับรูปแบบใหม่ โดยจะต้องแบ่งชัดเจนว่าปริมาณน้ำที่มีทั้งหมด จะใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค ระบบนิเวศ อุตสาหกรรม และเกษตรเท่าไหร่ ซึ่งแผนการปลูกพืชฤดูแล้งภาพรวม กระทรวงเกษตรฯจะเคาะแผนดำเนินการในวันที่ 25 ตุลาคมนี้ เพื่อจะได้เตือนประชาชนให้วางแผนการปลูก”

นายสมเกียรติกล่าวว่า สำหรับภาพรวมแหล่งน้ำขนาดใหญ่ทุ่งเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนสิริกิติ์ แควน้อย ภูมิพล และป่าสักชลสิทธิ์ มีเพียงพอสำหรับการใช้น้ำทุกประเภททั้งอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ และการทำการเกษตร ส่วนภาคตะวันออกคาดว่าปริมาณน้ำเพียงพอ โดยระหว่างนี้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร อยู่ระหว่างเร่งทำฝนหลวงน้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยหลวง ซึ่งมีปริมาณน้อยให้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 50-60% และให้หน่วยประเมินความต้องการใช้น้ำ ประเมินปริมาณใช้น้ำในทุกภาคส่วนให้ชัด เนื่องจากไม่อยากให้เกษตรกรลงทุนไปก่อนและมาปรับแก้ตอนหลัง

“สิ่งที่น่ากังวล คือ ฤดูแล้งปี ช่วง เมษายน-1 พฤษภาคม 2562 เพราะถ้ามีฝนน้อยน้ำในเขื่อนมีมากพอ ฤดูแล้งปีต่อไป จะลำบาก ซึ่งที่ผ่านมาสภาพภูมิอากาศของไทยจะเป็นเป็นฝนปกติ 2 ปี สลับกับแล้งต่อเนื่อง 2 ปี ซึ่งปี 2560-2561 ฝนปกติแล้ว ดังนั้น ต้องรอดูปี 2562 จะแล้งหรือไม่และต้องหาทางรับมือกัน” นายสมเกียรติกล่าว

จาก https://www.matichon.co.th   วันที่ 24ตุลาคม 2561

บาทเปิด 32.80/84 บาทต่อดอลลาร์ แนวโน้มแข็งค่า

เงินบาทเปิดตลาด 32.80/84 บาทต่อดอลลาร์ แนวโน้มกลับมาแข็งค่า หลังบาทอ่อนสวนทางภูมิภาคจากตัวเลขส่งออกติดลบในรอบ 19 เดือน

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า เงินบาทเช้านี้เปิดตลาดที่ระดับ 32.80/84 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าจากเย็นวันจันทร์ที่ปิดตลาดที่ระดับ 32.77 บาท/ดอลลาร์

วันนี้แนวโน้มเงินบาทมีโอกาสจะกลับแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สอดคล้องกับสกุลเงินอื่นๆในภูมิภาค หลังจากที่เมื่อวันจันทร์เงินบาทปรับตัวอ่อนค่าสวนทางภูมิภาค ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากที่การส่งออกของไทยในเดือนก.ย.61 ติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 19 เดือน

"เมื่อวันจันทร์บาทเราอ่อนค่าสวนทางภูมิภาค อาจเป็นเพราะส่งออกติดลบแต่วันนี้ดูแนวโน้มแล้วบาทน่าจะเคลื่อนไหวสอดคล้องภูมิภาค คือแข็งค่าขึ้น" นักบริหารเงินระบุ

นักบริหารเงิน คาดว่า วันนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 32.60-32.90 บาท/ดอลลาร์

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 24ตุลาคม 2561

สทนช. ลุยทำยุทธศาสตร์เชิงลุ่มน้ำ หวังจัดระเบียบห้วยหนองคลองบึง

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ทรัพยากรน้ำ ที่ระบุให้จัดเก็บค่าน้ำกับพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม ที่ใช้น้ำเป็นจำนวนมาก นั้น ขอยืนยันว่ายังไม่ดำเนินการภายใน 2 ปีนี้ แต่ปัจจุบันที่ยังมีการเรียกเก็บอยู่เนื่องมาจากพรบ.อื่น อาทิ การเรียกเก็บของกรมชลประทาน และน้ำบาดาลเป็นต้น ทั้งนี้ จะรวมถึงการจัดระเบียบ ห้วย หนอง คลอง บึงต่างๆ ควรจะนำมารวมไว้ภายใต้อำนาจของสทนช. จากปัจจุบันที่อยู่ภายใต้การดูแลของท้องถิ่น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการรวบรวม คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน มิถุนายน 2562 ในอนาคต บึงต่างๆที่มีอยู่ควรบริหารภายใต้กฎระเบียบเดียวกัน

ทั้งนี้ ทาง สทนช. จะทำการศึกษากำหนดหลักเกณฑ์ขึ้นมาใหม่ว่าพื้นที่ประเภทใด หรือกิจกรรมใดควรต้องจ่ายเงินค่าน้ำ ด้วยหลักเกณฑ์ใด มีมาตรฐานอย่างไร ซึ่งกฎเกณฑ์เหล่านี้จะต้องผ่านการมีส่วนร่วม อย่างไรก็ตามปัจจุบันการใช้น้ำเพื่ออุปโภค-บริโภค ไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายอยู่แล้ว แต่ประเภทพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม จะต้องมีแผนการทบทวนอีกครั้ง

นายสมเกียรติ กล่าวว่า การที่จะต้องจ่ายเงินค่าน้ำ มีปัจจัยหลายอย่าง อาทิ มีการใช้น้ำพอไม่ ถ้าน้ำในแหล่งน้ำมีเยอะอยู่แล้ว อาจไม่ต้องจ่ายก็ได้ ถ้าน้ำมีน้อยหรือมีการใช้จำนวนมากเกินปกติ อันนี้ต้องจ่ายแน่นอน โดยจะพิจารณาจากข้อมูลสถิติการใช้น้ำ เช่น ฤดูแล้ง เดิมปกติน้ำไม่มี ถ้ามีการปล่อยน้ำลงมา แม้ไม่ใช่พื้นที่ชลประทาน เมื่อมีคนสูบน้ำจากพื้นที่ชลประทานไปใช้ จากที่ไม่เคยต้องจ่ายเงิน ในอนาคตอาจต้องจ่ายในส่วนนี้ก็ได้ เป็นต้น

“ปัจจุบัน มีผู้ที่เก็บค่าน้ำอยู่ 2 หน่วยงาน คือ กรมชลประทาน และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล แต่ต่อจากนี้เป็นต้นไปผู้ที่เก็บค่าน้ำต้องเป็นกรมทรัพยากรน้ำ ส่วนสทนช.จะเป็นผู้ออกระเบียบและออกกเกณฑ์เท่านั้น โดยทั้ง 3 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องหารือกันในเรื่องของอัตราเก็บ อาทิ กรมชลฯ ปัจุบันให้เสียค่าน้ำแค่ 50 สตางค์ต่อลูกบาศก์เมตร เสนอมาแล้วว่าอาจเก็บเพิ่มเป็น 2 บาท ซึ่งกรมชลฯ รอ พ.ร.บ.กลาง อยู่ซึ่งเป็นผู้กำหนดเกณฑ์ ส่วนเขตพื้นที่นอกเขตชลประทานปัจจุบันไม่มีสิทธิ์ไปเก็บค่าน้ำตามกฎหมาย เวลากรมชลฯ ปล่อยน้ำมาจากเขื่อนภูมพิล และสิริกิติ์ มีชาวบ้านมารอสูบน้ำ ก็เก็บเขาไม่ได้ ”

นายสมเกียรติ กล่าวต่อว่า สทนช.ได้บริหารงานมา 1 ปี ยังไม่สามารถบริหารงานได้อย่างครอบคลุมทั้งหมด ส่วนหนึ่งเพราะยังไม่มีบุคคลกรประจำภูมิภาค โดยต้องรอร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อบรรจุ ทั้งเจ้าหน้าที่ประจำภูมิภาคแต่ด้านต่างประเทศ เพราะจะเชื่อมโยงต่อไปว่าแผนสำคัญต่างๆต้องผ่าน คณะกรรมการลุ่มน้ำต่างๆ ที่พาดพิงถึงประเทศอื่นๆ ในขณะที่ 25 ลุ่มน้ำของไทยจะยุบรวมเหลือเพียง 22 ลุ่มน้ำเท่านั้น ซึ่งมีที่ซ้อนกันอยู่คือ ปราจีนบุรีกับบางประกง การกำหนดโครงการต่างๆที่เกี่ยวข้องกับน้ำ จะเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง เช่นการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ได้ให้ทางกรมชลประทานและกรมอุทยานไปศึกษา ว่าทำได้หรือไม่ อย่างไร แล้วสทนช. จะนำมาประเมินยุทธศาสตร์เชิงลุ่มน้ำ

“สิ่งที่ต้องทำ และเป็นเรื่องที่สำคัญมากในช่วงนี้ คือ บิ๊กดาต้า ปี 2562 โดย สทนช.จะนำข้อมูลภาพถ่าย ทุกข้อมูลมาทำให้หมดเพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการแหล่งน้ำ ในอนาคตที่จะทำเกิดความแม่นยำในการคาดเดามากยิ่งขึ้น จากปัจจุบันที่ฝนตกส่วนใหญ่กลายเป็นน้ำท่า ซึ่งที่ผ่านมาประเมินยาก เนื่องจากหน่วยงานที่ทำเรื่องน้ำมีหลายหน่วยงานมาก” นายสมเกียรติ กล่าว

จาก https://www.matichon.co.th   วันที่ 24ตุลาคม 2561

เตือนความเสี่ยง ‘4 ร.’ ฉุดเศรษฐกิจปีหน้าโตช้า

โดย ศุภลักษณ์ เอกกิตติวงษ์

ปี 2561 ผ่านมาเกือบ 10 เดือน เริ่มเห็นภาพรวมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ชัดเจนมากขึ้นธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จึงเริ่มประมาณการภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2562 ซึ่งมีปัจจัยรออีกหลายประการอมรเทพ จาวะลา ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ประมาณการเศรษฐกิจในปี 2562 ขยายตัว 4% น้อยกว่าระดับระดับ 4.5% ในปี 2561 แต่เศรษฐกิจไทยอาจโตต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้จากความเสี่ยงในช่วง 3-6 เดือนข้างหน้าก่อนวันเลือกตั้ง สรุปเป็นตัว ร.เรือ 4 ตัว ได้แก่ รากหญ้า แรงงาน รักษาการ และรีพับลิกัน.

ทั้งนี้ ความเสี่ยง “รากหญ้า” ที่สะท้อนกำลังซื้อที่แท้จริง แม้ว่าตัวเลขการบริโภคภาคเอกชนฟื้นตัวชัดเจนถึง 4.5% แต่กระจุกตัวเพียงหมวดรถยนต์ที่สะท้อนกำลังซื้อระดับกลางและบนที่ดีขึ้น ส่วนการบริโภคหมวดพื้นฐาน เช่น อาหาร เสื้อผ้า หรือของใช้ต่างๆ เติบโตน้อยมาก บางหมวดหดตัว ซึ่งมาจากกำลังซื้อของคนระดับกลางถึงล่างยังไม่ขยับ ต้องรอการหมุนเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวจากบนลงล่าง

ขณะเดียวกันการหมุนของเศรษฐกิจรอบนี้ช้ากว่าในอดีตส่วนหนึ่งมาจากภาคเกษตรที่เดิมมีปัจจัยราคาดีและมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ แต่ในช่วงหลายปีราคาสินค้าเกษตรตกต่ำและรัฐบาลระมัดระวังการใช้นโยบายบิดเบือนกลไกตลาด หนี้ครัวเรือนกลุ่มนี้พุ่งสูงขึ้น ทำให้กำลังซื้อของรากหญ้าซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศหดหายเป็นความเสี่ยงเศรษฐกิจในระยะนี้

ด้านความเสี่ยง “แรงงาน” เป็นผลกระทบจากเทคโนโลยีเข้ามาช่วยลดต้นทุนการผลิต ซึ่งการลงทุนภาคเอกชนเร่งตัวขึ้นเน้นการนำเครื่องจักรแบบออโตเมชั่นทดแทนแรงงานคน แก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตแต่ในระยะสั้น ทำให้ชั่วโมงการทำงานลดลง ค่าจ้างโดยรวมโตช้า ในระยะยาวต้องรอให้แรงงานพัฒนาฝีมือ เพื่อให้ได้ค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้น

ขณะที่ความเสี่ยง “รักษาการ” ที่รัฐบาลชุดปัจจุบันจะกลายสภาพเป็นรัฐบาลรักษาการในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าหลังประกาศการเลือกตั้ง ซึ่งคาดว่าจะประกาศในเดือน ธ.ค.นี้ และมีการเลือกตั้งในเดือน ก.พ. 2562 ในช่วงเวลาก่อนที่จะมีรัฐบาลชุดใหม่นั้น รัฐบาลรักษาการจะไม่อนุมัติโครงการใหม่ ฅแม้จะยังสามารถดำเนินนโยบายเดิมให้มีความต่อเนื่องได้ แต่อาจกระทบการเบิกจ่ายหรือความเชื่อมั่นนักลงทุนต่อการเดินหน้าในด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เตรียมไว้“

อย่างโครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน หรือโครงการรถไฟฟ้าชานเมืองในสายที่ยังไม่ได้รับอนุมัติจาก ครม.อาจล่าช้าไป ที่สำคัญการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ ยังไม่แน่ใจว่าจะใช้เวลานานขึ้นกว่าในอดีตหรือไม่ ก่อนที่จะได้นายกรัฐมนตรี หากไม่มีพรรคการเมืองใดรวบรวมเสียงข้างมาก และได้รับความไว้ใจจากวุฒิสมาชิก 250 เสียงที่สามารถลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีได้” อมรเทพ กล่าว

ความเสี่ยงสุดท้าย “รีพับลิกัน” เป็นความเสี่ยงด้านต่างประเทศในประเด็นสงครามการค้า ที่ต้องจับตาการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐในวันที่ 6 พ.ย.นี้ หากพรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากจากทั้งสภาสูงและสภาล่างการเดินหน้าสงครามการค้าจะรุนแรงมากขึ้น ไม่เพียงกดดันจีนแต่อาจมองหาประเทศอื่นที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐด้วย ซึ่งไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐปีละกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นประเทศอันดับที่ 11 ที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐมากที่สุดซึ่งเป็นความเสี่ยงของการส่งออกของไทยในปีหน้า

อย่างไรก็ดี หากรีพับลิกันไม่ได้เสียงข้างมากและนโยบายสงครามการค้าชะลอไป แต่ยังไม่สามารถยืนยันว่าส่งออกจะดีขึ้นชัดเจน เพราะการส่งออกที่ดีในปีนี้ส่วนหนึ่งมาจากการเร่งการนำเข้าเพื่อป้องกันความเสี่ยงในการขึ้นภาษีในปีหน้าและหากปีหน้าไม่มีสงครามการค้า การนำเข้าก็ไม่จำเป็นต้องเร่งแรง เพราะผู้นำเข้าได้สต๊อกสินค้าไว้แล้ว

อมรเทพ ยังให้มุมมองเศรษฐกิจไทยในโค้งสุดท้ายของปีนี้น่าจะขยายตัวต่อเนื่อง แต่อาจไม่ได้เร่งตัวแรงเหมือนช่วงก่อนหน้า โดยคาดว่าจีดีพีไตรมาส 3 จะเติบโต 4.3% และไตรมาส 4 จะเติบโต 4.2% ทำให้เฉลี่ยครึ่งปีหลังขยายตัว

จาก https://www.posttoday.com    วันที่ 24ตุลาคม 2561

กรมเจรจาฯหารือสภาเกษตรกร 6 ภูมิภาค เร่งใช้ประโยชน์เอฟทีเอ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้ประชุมร่วมกับนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติและคณะ เพื่อหารือแผนกิจกรรมที่ทั้งสองหน่วยงาน จะทำร่วมกันภายใต้ความร่วมมือในบันทึกความเข้าใจ ที่กรมฯลงนามกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ เมื่อเดือนกันยายน 2561 เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแก่เกษตรกรในการจัดการตลาดสินค้าเกษตร และใช้ประโยชน์จากการเปิดเสรีทางการค้า

นางอรมน กล่าวว่า สำหรับกิจกรรมปี 2561-2562 กรมฯจะลงพื้นที่ให้ความรู้แก่เกษตรกรเกี่ยวกับความตกลงการค้าเสรี(เอฟทีเอ) ฉบับต่างๆ โดยจะนำผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ไปแนะนำ ตั้งแต่การพัฒนาศักยภาพและคุณภาพผลผลิตการเกษตร การแปรรูป และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร และการนำสินค้าเกษตรออกสู่ตลาด ทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะการส่งออกไปประเทศที่ไทยมีเอฟทีเอด้วย

 โดยเบื้องต้น กรมฯ ร่วมกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ คัดเลือกสินค้า และกลุ่มจังหวัดที่จะลงพื้นที่และจัดกิจกรรมให้ความรู้แก่เกษตรกร แบ่งได้ 6 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ในสินค้า เช่น กาแฟ มะม่วง กล้วย กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน เช่น ชา กาแฟ สมุนไพร ธัญพืช กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เช่น ผลไม้ สมุนไพร ไม้ดอกไม้ประดับ กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง เช่น ทุเรียน เงาะ สมุนไพร กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก เช่น สมุนไพร ไม้ดอกไม้ประดับ ผลไม้ และ กลุ่มจังหวัดภาคใต้ เช่น ทุเรียน เงาะ มังคุด เป็นต้น

นางอรมน กล่าวว่า กรมฯ ตั้งเป้าว่าการดำเนินกิจกรรมจากความร่วมมือดังกล่าว จะช่วยให้เกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความตกลงการค้าเสรี ซึ่งปัจจุบันมี 12 ฉบับ กับ 17ประเทศ เช่น อาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เป็นต้น ตลอดจนมีความพร้อมพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพและมีมาตรฐานสูงขึ้น เพิ่มโอกาสตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่ไทยมีเอฟทีเอ

ทั้งนี้ มูลค่าการค้าสินค้าเกษตร (พิกัดศุลกากร 01-24) ของไทยกับ 17 ประเทศที่ไทยมี FTA ในปี 2560 อยู่ที่ 26,561.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการส่งออกไป 17 ประเทศ 19,122.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 57.3 ของการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมด และเป็นการนำเข้าจาก 17 ประเทศ 7,439.1 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 52.4 ของการนำเข้าสินค้าเกษตรทั้งหมด โดยประเทศที่ไทยส่งออกสินค้าเกษตรเป็นอันดับต้นๆ อาทิ ญี่ปุ่น จีน สหรัฐฯ เวียดนาม ในสินค้า เช่น ยางพารา ข้าว อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ไก่แปรรูป ผลไม้กระป๋องและแปรรูป เป็นต้น

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 23 ตุลาคม 2561

เร่งเครื่องจัดสรรที่ทำกินเกษตรกร เกษตรฯมอบบ้านมั่นคง-ส่งเสริมอาชีพมุ่งสร้างชุมชนเข้มแข็ง

นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งที่ 36/2559 เรื่องมาตรการแก้ไขปัญหาการครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย นำมาจัดสรรให้เกษตรกรตามนโยบายจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนของรัฐบาล โดยได้ดำเนินการสำรวจ จัดสรรที่ดินตามระเบียบของคณะอนุกรรมการจัดหาที่ดิน คทช. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนกำหนดแผนการส่งเสริมอาชีพในพื้นที่

โดยล่าสุดได้มีการจัดสรรใน จ.นครราชสีมา ซึ่งมีพื้นที่เป้าหมาย 3 แปลง ใน อ.ปากช่อง 2 แปลง และ อ.ครบุรี 1 แปลง โดยได้จัดตั้งสหกรณ์การเกษตรขึ้น 2 สหกรณ์ คือ สหกรณ์การเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดินอำเภอปากช่อง (คทช.) จำกัด แบ่งออกเป็น 2 แปลง คือ แปลงศูนย์เรียนรู้และฝึกอบรมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในเขตปฏิรูปที่ดิน เนื้อที่ 535 ไร่ และแปลงบ้านกอก เนื้อที่ 1,021 ไร่ โดยได้รับมอบบ้านมั่นคงชนบท 85 หลัง ก่อสร้างแล้วเสร็จ จำนวน 77 หลัง อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง 8 หลัง และสหกรณ์การเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดินอำเภอครบุรี (คทช.) จำกัด เนื้อที่ 537-1-47 ไร่ ได้รับมอบบ้านมั่นคงชนบท 60 หลัง ซึ่งยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ทั้งนี้ได้มอบบ้านให้ชุมชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 ชุมชน ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดิน จ.นครราชสีมา 4 ชุมชน คือ สหกรณ์การเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดินปากช่อง (คทช.) จำกัด, กลุ่มออมทรัพย์เกษตรกรรุ่นใหม่ปากช่อง, สหกรณ์การเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดินครบุรี(คทช.) จำกัด, แปลง ส.ป.ก. บ้านดอกกระชาย ต.ครบุรี อ.ครบุรี และสหกรณ์การเกษตรบ้านดงกล้วย จำกัด จ.กาฬสินธุ์ รวม 365 หลัง

“องค์การสหประชาชาติ ได้กำหนดให้วันจันทร์แรก ของเดือนตุลาคมของทุกปี เป็นวันที่อยู่อาศัยโลก (World Habitat Day) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศต่างๆ ในโลกให้ความสำคัญกับสถานการณ์การอยู่อาศัยและการตั้งถิ่นฐานมนุษย์ โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในส่วนกระทรวงเกษตรฯ โดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) มีภารกิจโดยตรงในการจัดสรรที่ดินทำกินแก่เกษตรกร อันเป็นปัจจัยสนับสนุนด้านอาชีพและความเป็นอยู่ที่มั่นคงแก่ประชาชน”  นายวิวัฒน์ กล่าว

จาก https://www.naewna.com วันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2561

เงินบาทอ่อนค่า จับตาตัวเลขการค้าไทยวันนี้

ธนาคารกรุงไทยระบุเงินดอลลาร์สหรัฐเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 32.58บาท อ่อนค่าลงจาก 32.61บาทในช่วงสิ้นวันทำการก่อน ในสัปดาห์นี้แนะนำติดตามตัวเลขการค้าไทย การประชุมอีซีบี และจีดีพีสหรัฐ

วันจันทร์ รายงานตัวเลขการค้าไทยเดือนกันยายน คาดว่าการส่งออกจะขยายตัว 5.4% พร้อมกับการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น 12.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ชี้ว่าการส่งออกยังคงขยายตัวได้ดี ขณะที่การนำเข้าชะลอตัวลงจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลงในเดือนก่อน

ในสัปดาห์นี้ มองว่าความผันผวนของหุ้นสหรัฐจะเป็นปัจจัยที่ตลาดจะให้ความสำคัญมากที่สุดเพราะเป็นช่วงสองสัปดาห์ก่อนการเลือกตั้งมิดเทอมสหรัฐ มีความเป็นไปได้ที่ค่าเงินดอลลาร์จะอ่อนไหวตามข่าวการเมือง ซึ่งถ้าตลาดปิดรับความเสี่ยง เงินดอลลาร์ก็มีโอกาสแข็งค่าได้

สำหรับความเสี่ยงคือช่วงท้ายสัปดาห์ ที่ความสนใจจะถูกเบนมาที่นโยบายการเงินของยุโรปและตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ถ้าอีซีบีส่งสัญญาณว่ามีโอกาสขึ้นดอกเบี้ย หรือมีข้อสรุปทางการเมืองที่ดีขึ้น อาจส่งผลบวกกับเงินยูโร สวนทางกับดอลลาร์สหรัฐที่อยู่บนความคาดหวังของการเติบโตที่สูง จึงต้องระวังการปรับฐาน ถ้าตัวเลขจีดีพีชะลอตัวลง

. ส่วนของค่าเงินบาท ในช่วงสัปดาห์นี้คาดว่าจะแกว่งตัวแคบเช่นเดียวกับในช่วงสัปดาห์ก่อน เนื่องจากถูกคานด้วยทิศทางของเงินหยวนที่อ่อนกับเงินเยนญี่ปุ่นที่แข็งค่า อย่างไรก็ตาม ด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจ เชื่อว่าเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าลงต่อได้อีกทั้งจากการเกินดุลการค้า และเงินดอลลาร์ที่มีแนวโน้มอ่อนค่าหลังการเลือกตั้ง

มองกรอบเงินบาทระหว่างวันเคลื่อนไหวในระดับ32.53-32.63บาท

จาก www.thansettakij.com วันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2561

จีนตั้งเครือข่ายพลังงานสะอาดในเอเชีย

รายงานข่าวจากผู้ประกอบการธุรกิจพลังงาน เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ ได้มีพิธีเปิดการประชุมอภิปรายในหัวข้อ “การพัฒนาด้านการเชื่อมต่อพลังงานระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” หรือNortheast Asia and Southeast Asia Energy Interconnection Development Forum ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 450 คนจากทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และภูมิภาคอื่นๆ รวมแล้วกว่า 20 ประเทศทั่วโลก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมประชุมวางแผนการพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืน และส่งเสริมการพัฒนาเชื่อมต่อพลังงานระดับโลกในภูมิภาคเอเชียในเชิงลึก รวมถึงร่วมกันสร้างพื้นที่จำลองการเชื่อมต่อพลังงานในระดับภูมิภาคอีกด้วย ในที่ประชุมเริ่มต้นด้วยการนำเสนอหัวข้อ “รายงานการวิจัยการเชื่อมต่อพลังงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ” และ “รายงานการวิจัยการเชื่อมต่อพลังงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ที่ประชุมยังได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ สำหรับการพัฒนาพลังงานสะอาดและการเชื่อมต่อโครงข่ายในภูมิภาคอย่างครบวงจร ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวเป็นประเด็นหนึ่งที่ไทยอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องรับมือ

นายหลิว เจิ้นย่า ประธานองค์การเพื่อการพัฒนาและความร่วมมือด้านการเชื่อมต่อพลังงานระดับโลก พร้อมด้วยประธานสภาการไฟฟ้าจีน และ นักวิชาการแห่งสถาบันวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดน รวมถึงนักวิชาการแห่งสถาบันวิศวกรรมศาสตร์แห่งสหราชอาณาจักรได้เข้าร่วมเวทีการประชุมนี้พร้อมกล่าวคำปราศรัยนอกจากนั้นยังมี นาย หลี เหย่ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับดูแลสำนักงานบริหารพลังงานแห่งชาติจีนนาย หลิว หงเผิง ผู้อำนวยการด้านพลังงาน คณะกรรมาธิการแห่งสหประชาชาติภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก พร้อมด้วย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพลังงานแห่งประเทศมองโกเลีย ได้เข้าร่วมการประชุมและกล่าวสุนทรพจน์ด้วย

นาย หลิว เจิ้นย่า กล่าวว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นภูมิภาคที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกเร็วที่สุด ดังนั้นอุปสงค์และอุปทานด้านการพัฒนาพลังงานมีมากขึ้น โดยปัจจุบันมีสัดส่วนการใช้พลังงานฟอสซิลที่สูงเกินพลังงานอื่นๆ อีกทั้งความสามารถด้านการผลิตไฟฟ้าระหว่างประเทศไม่เพียงพอกับความท้าทายที่เกิดขึ้น สำหรับการพึ่งพาน้ำมันจากต่างประเทศของประเทศจีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้นั้นมีมากกว่า 80% ส่วนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยในปัจจุบันมีประชากรมากถึง 65 ล้านคนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้และยังมีประชากรราว 250 ล้านคนยังคงใช้ฟืนและถ่านสำหรับการปรุงอาหารและทำความร้อน ดังนั้นการเร่งการก่อสร้างระบบเชื่อมต่อพลังงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะทำให้แหล่งจ่ายพลังงานของแต่ละประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยจะเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานสะอาดอีกทางหนึ่งด้วย

“ทั้งนี้การผลักดันสภาพเศรษฐกิจและส่งเสริมการพัฒนาแบบบูรณาการในระดับภูมิภาคจำเป็นต้องมีการสร้างความร่วมมือเชื่อมต่อพลังงานของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยในขณะนี้ได้มีการแบ่งการลงทุนก่อสร้าง ในส่วนระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานสำหรับการขับเคลื่อนพลังงาน 2.7 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐ และส่วนการพัฒนาอุตสาหกรรมต้นน้ำและปลายน้ำอีกกว่า 2.1 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐ สามารถสร้างงานบุคลากรอีกกว่า 30 ล้านคน”นายหลิวเจิ้นย่ากล่าว

การประชุมครั้งนี้ได้มีผู้เข้าร่วมอภิปรายจากหลากหลายภูมิภาคและหลายองค์กร อาทิ ตัวแทนหน่วยงานราชการจากประเทศจีนรัสเซีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น มาเลเซีย คาซัคสถาน อิตาลี ฯลฯ บริษัทด้านพลังงาน สถาบันการวิจัย รวมถึงผู้แทนจากสถาบันการเงิน โดยทั้งหมดได้มีการร่วมกันอภิปรายแลกเปลี่ยนกันในกรอบหัวข้อต่างๆ อันได้แก่ พลังงานสะอาดและการเชื่อมต่อ ความร่วมมือในการสร้างและพัฒนาแหล่งพลังงานโดยเน้นที่การทำให้เกิดการเชื่อมโยงทำงานร่วมกัน รวมถึงได้แบ่งปันงานวิจัยและแนวคิดในหัวข้อการเชื่อมต่อพลังงานของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือและเฉียงใต้เพื่อให้เห็นถึงอนาคตของการเชื่อมต่อพลังงานโลกที่ดียิ่งๆขึ้นไป

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ราคาน้ำตาลตลาดโลกตกต่ำ เกษตรกรชาวไร่อ้อยหันไปปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทยและหัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อย เขต 7 เผยจากสถานการณ์ราคาน้ำตาลตลาดโลกที่ตกต่ำ ทำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยบางส่วนเลือกที่จะหันไปปลูกพืชชนิดอีกที่มีราคาสูงกว่า โดยเฉพาะเกษตรกรชาวไร่อ้อยรายเล็ก ส่วนเกษตรกรรายใหญ่ที่มีอุปกรณ์ในการเพาะปลูกอาทิ รถไถ รถบรรทุก รถหีบอ้อย ก็ยังคงปลูกต่อไป  เบื้องต้นคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ที่ผ่านมา มีมติช่วยเหลือด้านปัจจัยการผลิตแก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยโดยมีวงเงินไม่เกิน 6,500 ล้านบาท เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรรายเล็ก ไม่เกินรายละ 5,000 ตันอ้อย ทำให้บรรเทาความเดือดร้อนได้ในส่วนหนึ่ง แต่หากราคาน้ำตาลในตลาดโลกสูงขึ้น ก็ไม่มีความจำเป็นที่ต้องสนับสนุนด้านปัจจัยการผลิต

จาก https://tna.mcot.net  วันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ต่างชาติสนลงทุนอุตฯชีวภาพ ‘อุตตม’ฝันไทยเป็นฮับอาเซียนปี’70

เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2561 สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.)จัดงานเสวนา “ก้าวต่อไปกับการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย”

นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานสำคัญต่อการปฏิรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มตามแนวนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ด้วยมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ(Bio Economy)ปี 2561-2570 โดยไทยที่ตั้งเป้าหมายยกระดับให้ไทยเป็น ศูนย์กลางเศรษฐกิจชีวภาพของอาเซียน ( Bio Hub of ASEAN) ภายในปี 2570 โดยผลิตภัณฑ์เป้าหมายคือพลาสติกชีวภาพ เคมีชีวภาพ และชีวเภสัชภัณฑ์ ฯลฯ

สำหรับอุตสาหกรรมชีวภาพ หรือ อุตสาหกรรมส่วนต่อยอดจากอุตสาหกรรมเกษตร อาทิ พลังงานชีวภาพ เช่น ไบโอดีเซล เอทานอล และผลิตภัณฑ์ชีวภาพ เช่น พลาสติกชีวภาพ เคมีชีวภาพ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ฯลฯ

รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า สำหรับการสนับสนุนเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2561 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบร่างแก้ไขพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายฯแล้วขณะนี้อยู่ระหว่างการตีความจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งคาดว่ากระบวนการต่างๆ เหล่านี้จะเสร็จได้ในช่วงกุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งระเบียบดังกล่าวจะเอื้อต่อการนำอ้อยและน้ำอ้อยไปผลิตอุตสาหกรรมชีวภาพได้ ซึ่งเบื้องต้นมีนักลงทุนทั้งจากไทยและต่างประเทศได้เข้าหารือที่จะมาลงทุนหลายราย

นายอุตตมกล่าวว่า เพื่อให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเข้มแข็งสอน.ได้มีการได้จัดตั้ง ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้ง 4 ภาค คือ ชลบุรี กาญจนบุรี กำแพงเพชร และอุดรธานี ให้พร้อมสู่การเป็นศูนย์แห่งการวิจัย และพัฒนาร่วมกับเอกชน และเตรียมที่จะมีการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมชีวภาพจังหวัดชลบุรี ที่จะเชื่อมโยงกับศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 (ICT) ของกระทรวงอุตสาหกรรมในการพัฒนาบุคลากร ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ

นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการ สอน. กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้บริหารจากหลายบริษัทสนใจในการนำน้ำตาลไปผลิตอุตสาหกรรมไบโอชีวภาพทั้งไทยและต่างประเทศเพิ่มขึ้นได้แก่ บริษัท คอร์เบียน(Corbion) จากสแกนดิเนเวีย, เนเจอร์เวิร์ค จากสหรัฐอเมริกา, พูแรค (ประเทศไทย) จำกัด, กลุ่มน้ำตาลเบียร์ช้าง, กลุ่มมิตรผล เป็นต้น

“เนเจอร์เวิร์ค ที่จะร่วมทุนกับเครือปตท.ได้ส่งเจ้าหน้าที่มาคุยเพื่อหารือถึงที่ตั้งโรงงานซึ่งเขามองไว้หลายแห่ง ปตท.เองก็อยากให้มาไทย ซึ่งเขาเองก็ต้องการความมั่นคงถึงปริมาณในอนาคตว่าจะมีเพียงพอหรือมีเสถียรภาพมากน้อยเพียงใดซึ่งเราเองยืนยันถึงแผนงานที่กำหนดเป้าหมายในเรื่องของการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทั้งผลผลิตต่อไร่ น้ำตาลต่อตัน ให้มากขึ้น”นางวรวรรณกล่าว

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยอมรับว่าราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกตกต่ำรัฐจึงจำเป็นจะต้องดูแลชาวไร่อ้อยบนพื้นฐานที่ไม่ขัดกับระเบียงองค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งล่าสุดครม.ได้อนุมัติเงินช่วยเหลือเป็นปัจจัยการผลิตให้ชาวไร่ตันละ 50 บาท วงเงินประมาณ 6,500 ล้านบาท เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบราคาอ้อยตกต่ำฤดูปี’61/62 ที่กำหนดไว้ 680 บาทต่อตัน

จาก https://www.naewna.com วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ขอรับผิดชอบเอง!รง.ผลิตเอทานอลปล่อยน้ำเสียลงลำน้ำสาธารณะ

กาญจนบุรี-โรงงานผลิตเอทานอล ประกาศพร้อมรับผิดชอบ กรณีเกิดอุบัติเหตุท่อชำรุดปล่อนน้ำเสียลงลำน้ำสาธารณะทำปลาตายเกลื่อน

ชาวบ้านหมู่ที่ 6

ชาวบ้านหมู่ที่ 6 ตำบลหลุมรัง อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรีร้องเรียนไปที่ อบต.หลุมรังว่า โรงงานขนาดใหญ่ปล่อยน้ำเสียไหลออกมาลงไร่อ้อยและลำน้ำสาธารณะทำให้เกิดน้ำเสียไหลลงบ่อเลี้ยงปลาที่เลี้ยงไว้ตายหมดบ่อ และส่งกลิ่นเหม็นไปทั่วสร้างความเดือดร้อนอย่างหนักขอให้หน่วยงานภาครัฐเข้าตรวจสอบ

ต่อมา นายชลัท ตะเพียนทอง ปลัดอำเภอชำนาญ (พิเศษ) รักษาการนายอำเภอบ่อพลอย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมที่อบต.หลุมรัง โดยมี นายปัญจพัฒน์ อภิรัตน์ธราธาร ผอ.บริษัท เคจีไอ กรีนอันเนอเวชั่น จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานผลิตเอทานอลเข้าร่วมและได้นำคณะลงพื้นที่ที่เกิดเหตุพบน้ำมีสีดำเน่าเสียหลายหน่วยงานได้เก็บตัวอย่างน้ำและดินรวมทั้งซากปลาตายปลาเป็นส่งพิสูจน์หาสาเหตุโดยเร่งด่วน

นายเฉลิมโชค ศรีสุวรรณ ผจก.โรงงานยอมรับว่า ท่อส่งน้ำเสียที่อยู่ในโรงงานมีความเก่ามากแล้ว ขณะนี้ระหว่างสั่งท่อใหม่มาเพื่อทำการเปลี่ยนได้เกิดแตกและรั่วไหลออกไปลงแหล่งน้ำนอกโรงงานเมื่อคืนวันที่ 9 ตุลาคม2561 ถึงเช้าวันที่ 10 ตุลาคม 2561 วันนี้ได้เดินทางมาชี้แจงที่สำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบลหลุมรัง ต่อหน้าหลายส่วนของภาครัฐและชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ว่าจะรับผิดชอบเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมด.

ด้านนายสราวุธ พรทิพย์ วิศวกรชำนาญการ หน.กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า ได้สั่งให้โรงงานหยุดกระบวนการผลิตทั้งหมด ตั้งแต่วันที่ 12 ต.ค.61 จากนั้นให้ซ่อมแซมท่อที่มีลักษณะที่มั่งคงและก็ให้ปรับปรุงแก้ไขให้แล้วเสร็จต่อมาทางโรงงานก็ได้แจงขอเปิดเมื่อวันที่ 16 ต.ค.61ซึ่งอุตสาหกรรมได้ไปตรวจสอบแล้วจึงอนุญาตให้เปิดทำการต่อได้

นายปัญจพัฒน์ อภิรัตน์ธราธาร ผอ.บริษัท เคจีไอ กรีนอันเนอเวชั่น เปิดเผยว่า กรณีที่เกิดขึ้นเป็นอุบัติเหตุโรงงานพร้อมดำเนินการแก้ไขพร้อมประสานนายก อบต.และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อไม่ให้เกิดเหตุเช่นนี้ขึ้นอีกอย่างไรก็ตามหากผลการตรวจพิสูจน์ออกมาพบว่าเป็นความผิดของโรงงานก็ยินดีที่จะแก้ไขปัญหาเพื่อให้อยู่กับชุมชนรอบโรงงานอย่างยั่งยืน

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2561

กรมชลย้ำความสำเร็จ 'ไทยนิยม ยั่งยืน' สร้างประโยชน์ทั่วประเทศร่วม 8 แสนไร่

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ 2561 จำนวน 13,701.985 ล้านบาท เพื่อดำเนินการโครงการไทยนิยมยั่งยืน จำนวน 2,074 แห่ง/2,088 รายการ ภายใต้กรอบการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง 3 กรอบ ได้แก่ 1.คนไทยไม่ทิ้งกัน 2. ชุมชนอยู่ดีมีสุข และ 3. รู้กลไกการบริหารราชการ แบ่งเป็น 3 โครงการ/ 4 เมนู คือ 1. โครงการจ้างแรงงานชลประทานสร้างรายได้แก่เกษตรกร (คนไทยไม่ทิ้งกัน) เมนูจ้างแรงงานสร้างรายได้ 2. โครงการส่งเสริมการใช้ยางพาราในหน่วยงานภาครัฐ (ชุมชนอยู่ดีมีสุข) เมนูการใช้ยางพาราในหน่วยงานภาครัฐ 3. โครงการพัฒนาโครงสร้างด้านแหล่งน้ำชลประทาน(รู้กลไกการบริหารราชการ)มี 2 เมนูคือ เมนูพัฒนาแหล่งน้ำสนับสนุนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และเมนูพัฒนาฟื้นฟูแหล่งน้ำชลประทาน เพื่อป้องกันและบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้ง

“ผลความก้าวหน้าโครงการไทยนิยมยั่งยืนที่กรมชลประทานได้ดำเนินการแล้ว มีพื้นที่ได้รับประโยชน์ 830,974 ไร่ เกษตรกรได้รับผลประโยชน์จำนวน 186,367 ครัวเรือน มีการสนับสนุนการใช้ยางพาราทำถนนเลียบคลองชลประทานแล้วปริมาณ 259.44 ตัน จัดจ้างแรงงานได้จำนวน 9,238 คน เกินจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 7,520 คน ทำให้ประชาชนผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และกลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำที่ขึ้นทะเบียน ได้รับค่าจ้าง 377.85 บาทต่อวัน คิดเป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยคนละ 16,000 บาท สำหรับด้านการกักเก็บน้ำ เมื่อแล้วเสร็จสามารถเพิ่มความจุกักเก็บน้ำได้ 14 ล้านลูกบาศก์เมตร อย่างไรก็ตาม กรมชลประทานได้กำชับหน่วยงานในพื้นที่ ให้เร่งดำเนินงานทุกโครงการให้สำเร็จภายในสิ้นปีนี้   เพื่อประชาชนและเกษตรกร จะได้รับประโยชน์สูงสุดในเวลาอันรวดเร็วและต่อเนื่อง” อธิบดีกรมชลประทานกล่าว

ด้านนายเชษฐา ดิษยมาลย์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเพชรบูรณ์ กล่าวว่า โครงการชลประทานเพชรบูรณ์ได้รับงบประมาณจากโครงการไทยนิยมยั่งยืน จำนวน 106.9 ล้านบาท ซึ่งได้กำหนดแผนการใช้งบประมาณประกอบด้วยงานซ่อมแซมและบำรุงรักษาระบบชลประทาน งานก่อสร้างฝาย งานสนับสนุนการใช้ยางพาราเพื่อซ่อมแซมถนนเลียบลำคลองส่งน้ำ และจ้างแรงงาน ขณะนี้งานดำเนินการไปตามแผนที่วางไว้อย่างรวดเร็ว แก้ไขปัญหาได้ตรงจุดทันท่วงที ยกตัวอย่างงานซ่อมแซมระบบส่งน้ำอ่างเก็บน้ำรัตนัยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ตำบลเขาค้อ ที่เกิดการชำรุดทำให้ส่งน้ำได้ไม่เต็มศักยภาพ ราษฎรร้องขอให้ซ่อมแซมและได้รับเงินจากโครงการไทยนิยมยั่งยืนไปจัดซื้อวัสดุซ่อมแซมโดยตรง ไม่ต้องผ่านขั้นตอนที่ซับซ้อน และราษฎรได้ช่วยลงแรงปรับปรุง / วางท่อระบบส่งน้ำกันเอง ณ ตอนนี้ระบบส่งน้ำใช้งานได้ตามปกติ ราษฎรได้รับประโยชน์เต็มพื้นที่ 300 ไร่เช่นเดิม ตัวอย่างอีกงานคือ การขุดลอกตะกอนดินที่กรมชลประทานจ้างแรงงานผู้ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกรในพื้นที่มาช่วยลอกดินในคลอง จากที่ตื้นเขิน ส่งน้ำไม่สะดวก ปัจจุบันน้ำไหลได้สะดวก นอกจากช่วยปรับปรุงสิ่งก่อสร้างแล้ว ยังช่วยให้ประชาชนรู้สึกถึงการเป็นเจ้าของระบบชลประทานร่วมกันด้วย

นอกจากนี้ งานซ่อมแซมปรับปรุงถนนเลียบคลองชลประทาน ก็เป็นอีกหนึ่งงานที่ได้ดำเนินการ เนื่องจากเกษตรกรต้องใช้เป็นเส้นทางสัญจร เพื่อขนส่งพืชผลทางการเกษตร ซึ่งถนนเลียบคลองชลประทานในจังหวัดเพชรบูรณ์ส่วนใหญ่เป็นลูกรัง เกิดการชำรุดเสื่อมโทรมจากการใช้งานมายาวนาน เมื่อเกิดโครงการไทยนิยมยั่งยืนขึ้นมา จึงได้รับงบประมาณเข้าไปซ่อมแซมปรับปรุงถนน ด้วยการใช้แบบถนนที่ผสมน้ำยางพารา ในอัตราร้อยละ 20 ช่วยสนับสนุนการใช้ยางพาราในประเทศ ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้สั่งซื้อน้ำยางพาราจากการยางแห่งประเทศไทยโดยตรง เพื่อให้ได้     น้ำยางที่ตรงความต้องการและราคาที่เป็นธรรม สำหรับใช้ในงานซ่อมแซมถนนคันคลองชลประทานในพื้นที่ต่างๆ อาทิ งานซ่อมแซมถนนคันคลองฝั่งซ้าย 2R-LMC อ่างเก็บน้ำห้วยป่าแดง ต.นางั่ว อ.เมือง ระยะทาง 800 เมตร , งานซ่อมแซมถนนคันคลองฝั่งขวา 1L-RMC ของอ่างเก็บน้ำห้วยป่าแดง ต.สะเดียง อ.เมือง ระยะทาง 1.170 กิโลเมตร , งานซ่อมแซมถนนบริเวณหัวงานอ่างเก็บน้ำห้วยใหญ่ ต.ห้วยใหญ่ อ.เมือง ระยะทาง 1.25 กิโลเมตร , งานซ่อมแซมถนนบริเวณ     หัวงานอ่างเก็บน้ำรัตนัย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.เขาค้อ อ.เขาค้อ ระยะทาง 300 เมตร และงานซ่อมแซมถนนบริเวณหัวงานอ่างเก็บน้ำคลองลำกง ต.วังท่าดี อ.หนองไผ่ ระยะทาง 715 เมตร เป็นต้น รวมงานซ่อมแซมถนนทั้งสิ้น 10 สาย ความยาวรวม 27.93 กิโลเมตร ชาวบ้านได้รับประโยชน์รวม 4,960 ครัวเรือน ใช้น้ำยางพาราไปทั้งสิ้น 51 ตัน ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562

“ตั้งแต่ทางโครงการชลประทานเพชรบูรณ์ ได้รับงบประมาณจากโครงการไทยนิยมยั่งยืน เป็นเวลาเพียง 7 เดือน สามารถช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ในระบบชลประทานได้รวดเร็วกว่าขั้นตอนปกติ ส่งผลไปถึงประชาชนและเกษตรกรที่จะมีน้ำใช้ และได้นำน้ำต้นทุนไปสร้างงานสร้างรายได้ต่อไป” นายเชษฐา กล่าว

นางเจริญ บางทา ชาวบ้านหมู่ 11 ต.ป่าเลา อ.เมืองเพชรบูรณ์ กล่าวว่า ก่อนหน้าที่จะเข้าร่วมโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ตนก็รับจ้างทั่วไป เช่น รับจ้างดำนา เกี่ยวข้าว เก็บข้าวโพด และก็หารายได้เสริมจากการขายแมลงทอดตามตลาดนัดบ้าง แต่ก็มีรายได้ไม่แน่นอน พอมีโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ที่ให้มีการจ้างแรงงานตนก็ได้เข้าร่วม โดยงานหลักคือขุดลอกคลองชลประทาน ปรับปรุงถนนเลียบคลองชลประทาน รวมทั้งงานอื่นที่ทางหน่วยงานชลประทานเพชรบูรณ์จะมอบหมาย ซึ่งมีระยะเวลาทำงานนี้ 3 เดือน ได้รายได้เฉลี่ยวันละ 377 บาท ซึ่งมองว่าเป็นโครงการที่ดี เนื่องจากตนก็เป็นชาวบ้านมีความรู้ไม่มาก จะไปหางานทำที่อื่นคงยาก แต่โครงการนี้สนับสนุนให้คนในพื้นที่ได้ทำงานในถิ่นฐาน ไม่ต้องเคลื่อนย้ายไปรับจ้างที่อื่น ตนจึงอยากให้มีโครงการที่ดีมีประโยชน์ต่อชาวบ้านอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ

จาก https://www.naewna.com วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2561

“อุตตม” รับปากช่วยชาวไร่อ้อยทั้งระยะสั้น-ยาว ดันสู่ไบโอชีวภาพให้ได้ ชี้เป็นแนวทางช่วยราคาสินค้าเกษตรตกระยะยาว

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดงานเสวนา “ก้าวต่อไปกับการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย” ว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมาแม้จะเผชิญกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทั้งเงื่อนไขทางการค้าระหว่างประเทศ และปัญหาราคาสินค้าในตลาดโลกตกต่ำ นำมาซึ่งการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ รวมถึงการปรับแก้กฎหมาย เพื่อให้สอดคล้องและรองรับกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป

สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการนอกจากการเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการผลิตในไร่อ้อยของเกษตรกรแล้ว การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมอ้อย น้ำตาลทราย และอุตสาหกรรมต่อเนื่องเป็นสิ่งที่มีความสำคัญด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Innovation Drive Economy) โดยมีเทคโนโลยีชีวภาพเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน อาทิ การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์จากอ้อยรวมถึงของเหลือทิ้งจากขบวนการผลิต เพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ตลอดห่วงโซ่มูลค่า (Value Chain) ด้วยขบวนการผลิตทางชีวภาพ (Bio-Based Process)

ทั้งนี้ เพื่อให้สอดรับกับมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2561 ที่ได้เห็นชอบมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ปี พ.ศ. 2561-2570 โดยมีเป้าประสงค์ที่ต้องการให้ประเทศไทยเป็น Bio Hub of ASEAN ภายในปี 2570 โดยเน้นผลิตภัณฑ์เป้าหมายทั้งพลาสติกชีวภาพ เคมีชีวภาพ และชีวเภสัชภัณฑ์ คาดว่าจะก่อให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมชีวภาพในประเทศอย่างน้อย 190,000 ล้านบาท และทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 85,000 บาทต่อคน ต่อปีอีกด้วย

และช่วงเปลี่ยนผ่านระบบใหม่ที่นำไปสู่การค้าแบบเสรี ภาครัฐเองไม่ได้นิ่งนอนใจกับช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ ซึ่งช่วงระยะเวลา 2 ปี (ฤดูการผลิตปี 2560/61 และ 2561/62) กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้เร่งรัดและดำเนินการ อาทิ การปรับแก้พระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาล เพื่อให้สามารถนำอ้อยไปผลิตอุตสาหกรรมชีวภาพเพื่อการเพิ่มมูลค่าแก่ภาคอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทย และเพื่อเป็นการรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ

กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้พัฒนาศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้ง 4 ภาค (จังหวัดชลบุรี, กาญจนบุรี,กำแพงเพชร และอุดรธานี) ให้พร้อมสู่การเป็นศูนย์แห่งการวิจัย ขณะนี้ได้ดำเนินการพัฒนาและปรับปรุงอุปกรณ์เครื่องมือของห้องปฏิบัติการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายตามความชำนาญของแต่ละศูนย์

อีกทั้งกระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดตั้งศูนย์การปรับปรุงพันธุ์อ้อยแห่งประเทศไทย (Thailand Sugarcane Breeding Center: TSBC) ขึ้นที่จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อเป็นหน่วยงานกลางในการปรับปรุงพันธุ์อ้อย พร้อมขยายผลบทบาทภาระหน้าที่ของศูนย์ TSBC ให้เป็นศูนย์กลางการปรับปรุงพันธุ์อ้อยของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถานการณ์ปัจจุบันราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกตกต่ำต่อเนื่องมากว่า 2 ปี ทำให้เกษตรกรได้รับผลกระทบจาก

ทั้งด้านราคาที่ตกต่ำและระบบใหม่ ไม่สามารถเข้ามาแทรกแซงหรือพยุงราคาได้เหมือนในอดีตที่ผ่านมา จึงจำเป็นต้องกำหนดมาตรการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ โดยเฉพาะชาวไร่อ้อยรายเล็กให้สามารถเข้าถึงปัจจัยด้านการผลิตที่จำเป็นอย่างเร่งด่วนโดยเร็ว

ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายและผู้บริโภคภายในประเทศ ซึ่งนอกจากจะมีแนวทางในการส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Innovation Drive Economy) โดยเน้นอุตสาหกรรมชีวภาพเป็นอุตสาหกรรมปลายน้ำที่สำคัญแล้ว กระทรวงอุตสาหกรรมยังมีแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยในด้านอื่นๆ ด้วย

โดยล่าสุดในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2561 ได้มีมติเห็นชอบโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต เพื่อนำมาช่วยเหลือชาวไร่อ้อยด้านปัจจัยการผลิตที่จำเป็น โดยจะช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นชาวไร่อ้อยกับสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย และเป็นคู่สัญญากับโรงงานหรือมีการส่งอ้อยผ่านหัวหน้ากลุ่มชาวไร่อ้อย ที่ได้จดทะเบียนถูกต้องตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ตามจำนวนตันอ้อยที่เกษตรกรได้ส่งให้กับโรงงานคู่สัญญาหรือหัวหน้ากลุ่ม โดยในเบื้องต้นกำหนดความช่วยเหลืออยู่ที่ไม่เกิน 50 บาท/ตันอ้อย แต่จะมีการกำหนดปริมาณตันอ้อยสูงสุดที่จะได้รับเงินช่วยเหลือ ไม่เกินรายละ 5,000 ตันอ้อย รวมจำนวน 6,500 ล้านบาท

ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยโดยเฉพาะชาวไร่อ้อยรายเล็กให้สามารถเข้าถึงปัจจัยด้านการผลิตที่จำเป็น และมีผลตอบแทนเพียงพอ สำหรับนำไปเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ และแก้ไขปัญหาโรคและแมลงศัตรูอ้อยต่าง ๆ รวมทั้งด้านการเพาะปลูกและบำรุงรักษาอ้อย รวมถึงการดำรงชีพของตนเองและครอบครัว ซึ่งจะก่อให้เกิดเงินทุนหมุนเวียนต่อเนื่องในระบบเศรษฐกิจ อันจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศโดยรวม

อีกทั้งยังช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นในช่วงเปลี่ยนผ่านจากการปรับโครงสร้างระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทั้งระบบ จนกว่าระบบใหม่จะมีเสถียรภาพ ทั้งนี้ การดำเนินโครงการดังกล่าวข้างต้นเป็นการดำเนินการที่ไม่ขัดต่อพันธกรณีภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) เนื่องจากโครงการดังกล่าวเป็นการอุดหนุนด้านปัจจัยการผลิต (Input Subsidies) ถือเป็นการอุดหนุนภายในที่ยกเว้นสำหรับประเทศกำลังพัฒนา

ซึ่งข้อกำหนดดังกล่าวเพื่อเปิดโอกาสให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถสนับสนุนการพัฒนาทางการเกษตรของตน ผ่านมาตรการให้ความช่วยเหลือของรัฐเพื่อสนับสนุนการพัฒนาการเกษตรและชนบท การอุดหนุนการลงทุน และการอุดหนุนเรื่องปัจจัยการผลิต

ซึ่งต้องให้เป็นการทั่วไปแก่ผู้ผลิตที่มีรายได้ต่ำ และเข้าถึงปัจจัยการผลิตได้ยาก รวมถึงผู้ผลิตที่มีทรัพยากรไม่สมบูรณ์ โดยภาครัฐสามารถดำเนินการได้

ดังนั้น เพื่อให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยสามารถพัฒนาและแข่งขันได้ทั้งในตลาดอาเซียนและตลาดโลกได้อย่างยั่งยืนและมั่นคงด้วยแรงสามัคคีจากทุกภาคส่วน กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย จึงได้กำหนดจัดเสวนาพิเศษ เรื่อง “ก้าวต่อไปกับการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย” ในวันนี้ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทย ในการก้าวไปสู่อุตสาหกรรมยุค 4.0

และเพื่อให้ทุกท่านได้มีโอกาสรับทราบสถานการณ์ที่แท้จริง ทำความเข้าใจถึงผลกระทบที่มีต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายอย่างชัดเจน รวมถึงการดำเนินการภายใต้แผนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย และสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมให้เกษตรกรชาวไร่อ้อย โรงงานน้ำตาล และภาครัฐ ร่วมกันกำหนดทิศทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยในอนาคต”

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2561

“อุตตม” ลั่นดันอ้อยนำร่องฐานเศรษฐกิจชีวภาพเพิ่มรายได้ วางเป้าฮับอาเซียนปี 70

 “อุตตม” ประกาศลั่นพร้อมเดินหน้าพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลนำร่องพืชแรกที่จะก้าวสู่เศรษฐกิจชีวภาพ สร้างรายได้ให้เกษตรกร ก่อนที่จะขับเคลื่อนพืชอื่นๆ ตามมาทั้งปาล์ม มันสำปะหลัง ฯลฯ พร้อมตั้งเป้าให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นฮับของอุตสาหกรรมชีวภาพอาเซียนในปี 70 “สอน.” แย้มนักลงทุนไทย-เทศสนใจลงทุนใหม่และขยายลงทุนเพิ่มเพียบ

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในการเสวนาเรื่อง “ก้าวต่อไปกับการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย” จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ว่าอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานสำคัญต่อการปฏิรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มตามแนวนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ด้วยมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ (Bio Economy) ปี 2561-2570 ที่วางเป้าหมายยกระดับให้ไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจชีวภาพของอาเซียน (Bio Hub of ASEAN) ภายในปี 2570 โดยผลิตภัณฑ์เป้าหมายคือพลาสติกชีวภาพ เคมีชีวภาพ และชีวเภสัชภัณฑ์ ฯลฯ

“อ้อยถือเป็นพืชที่มีความพร้อมมากสุดสำหรับการนำไปสู่ Bio Economy จากนั้นรัฐวางเป้าหมายจะขยายไปสู่เกษตรอื่นๆ เช่น ปาล์ม มันสำปะหลัง ซึ่ง 2 ปีที่ผ่านมาถือเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายและจะต้องก้าวต่อไปเพื่อสู่เป้าหมายการเพิ่มมูลค่าสร้างรายได้ให้แก่ชาวไร่อ้อย ระหว่างทางหากมีปัญหาก็ต้องพูดคุยกัน รัฐเปิดกว้างเสมอ” นายอุตตมกล่าว

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 2 ต.ค. คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบร่างแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายฯ แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการตีความจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา คาดว่ากระบวนการต่างๆ เหล่านี้จะเสร็จได้ในช่วง ก.พ. 2562 ซึ่งระเบียบดังกล่าวจะเอื้อต่อการนำอ้อยและน้ำอ้อยไปผลิตอุตสาหกรรมชีวภาพได้ ซึ่งเบื้องต้นมีนักลงทุนทั้งจากไทยและต่างประเทศได้เข้าหารือที่จะมาลงทุนหลายราย

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเข้มแข็งสอน.ได้มีการได้จัดตั้งศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้ง 4 ภาค คือ ชลบุรี กาญจนบุรี กำแพงเพชร และอุดรธานี ให้พร้อมสู่การเป็นศูนย์แห่งการวิจัย และพัฒนาร่วมกับเอกชน และเตรียมที่จะมีการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมชีวภาพจังหวัดชลบุรีที่จะเชื่อมโยงกับศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 (ICT) ของกระทรวงอุตสาหกรรมในการพัฒนาบุคลากร ผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ

นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า มีผู้บริหารจากหลายบริษัทสนใจในการนำน้ำตาลไปผลิตอุตสาหกรรมไบโอชีวภาพทั้งไทยและต่างประเทศเพิ่มขึ้นได้แก่ บริษัท คอร์เดี้ยน จากสแกนดิเนเวีย, เนเจอร์เวิร์ก จากสหรัฐอเมริกา, พูแรค (ประเทศไทย) จำกัด, กลุ่มน้ำตาลเบียร์ช้าง, กลุ่มมิตรผล เป็นต้น

“เนเจอร์เวิร์กที่จะร่วมทุนกับเครือ ปตท.ได้ส่งเจ้าหน้าที่มาคุยเพื่อหารือถึงที่ตั้งโรงงานซึ่งเขามองไว้หลายแห่ง ปตท.เองก็อยากให้มาไทย เขาเองก็ต้องการความมั่นถึงปริมาณในอนาคตว่าจะมีเพียงพอหรือมีเสถียรภาพมากน้อยเพียงใด เราเองยืนยันถึงแผนงานที่กำหนดเป้าหมายในเรื่องของการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทั้งผลผลิตต่อไร่ น้ำตาลต่อตันให้มากขึ้น” นางวรวรรณกล่าว

จาก https://mgronline.com วันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2561

รัฐมนตรีฯ อุตตม เปิดการเสวนาและปาฐกถาพิเศษ เรื่อง ก้าวต่อไปกับการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานในพิธีเปิดงานเสวนาพิเศษ ก้าวต่อไปกับการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย พร้อมด้วย นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าร่วม โดยมี นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย คณะผู้บริหาร และผู้เข้าร่วมงานเสวนาให้การต้อนรับ ณ โรงแรม เดอะ เบอร์เคลีย์ โฮเต็ล ประตูน้ำ กรุงเทพฯ

นายอุตตมฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เป็นอุตสาหกรรมที่มีบทบาทสำคัญต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ถึงแม้ช่วงเวลาที่ผ่านมาจะเผชิญกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทั้งเงื่อนไขทางการค้าระหว่างประเทศ และปัญหาราคาสินค้าในตลาดโลกตกต่ำ ซึ่งนำมาสู่การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ รวมถึงการปรับแก้กฎหมาย เพื่อให้สอดคล้องและรองรับกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป

ทั้งนี้ นอกจากในด้านของการเพิ่มผลผลิตและการลดต้นทุนการผลิตในไร่อ้อยของเกษตรกรแล้ว การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพื่อก้าวไปสู่โมเดลประเทศไทย 4.0 ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Innovation Drive Economy) โดยมีเทคโนโลยีชีวภาพเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน เพื่อให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยให้สามารถแข่งขันในตลาดอาเซียนและตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน ตามแนวทางของรัฐบาล "มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน"

สำหรับการเสวนาพิเศษ ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทย ในการก้าวไปสู่อุตสาหกรรมยุค 4.0 และเพื่อให้ประชาชนเกษตรกรได้มีโอกาสรับทราบสถานการณ์ที่แท้จริง ทำความเข้าใจถึงผลกระทบที่มีต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายอย่างชัดเจน รวมถึงการดำเนินการภายใต้แผนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย และสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมให้เกษตรกรชาวไร่อ้อย โรงงานน้ำตาล และภาครัฐ ร่วมกันกำหนดทิศทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยในอนาคต

จาก www.industry.go.th  วันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ขยายเวลาปิดหน่วยปฏิบัติการ‘ฝนหลวง’ถึงพ.ย. ช่วยเกษตรกรเริ่มพบปัญหาภัยแล้ง

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์พื้นที่การเกษตรในหลายภูมิภาคของประเทศ พบว่า เกษตรกรเริ่มประสบปัญหาภัยแล้ง จึงทำให้ในพื้นที่การเกษตรยังคงมีความต้องการน้ำ เพื่อหล่อเลี้ยงพืชอีกหลายชนิดที่อยู่ระหว่างการเจริญเติบโต อาทิ ข้าว ข้าวโพด อ้อยและมันสำปะหลัง พบว่าพื้นที่เก็บเกี่ยวผลผลิตข้าว ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน โดยเก็บเกี่ยวในช่วงเดือน พ.ย.61-ม.ค.62 ซึ่งขณะนี้เกษตรกรและอาสาสมัครฝนหลวงได้ขอรับบริการฝนหลวงมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับในส่วนของเขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่างๆ ยังมีความต้องการปริมาณน้ำเก็บกักให้มากยิ่งขึ้น กรมฝนหลวงฯ จึงต้องเร่งเพิ่มปริมาณน้ำให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อให้สอดรับกับโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา ในการช่วยเหลือเกษตรกรหลังฤดูการทำนา ซึ่งเป็นรูปแบบการปฏิรูปภาคเกษตรให้ผลผลิตสมดุลกับตลาด สามารถยกระดับรายได้เกษตรกรได้จริง

โดยกรมฝนหลวงฯ ได้ปรับแผนการปฏิบัติการฝนหลวงขยายเวลาปฏิบัติการฝนหลวงจากแผนเดิมที่ดำเนินการปิดหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงทั่วประเทศในวันที่ 31 ต.ค. ให้ขยายเวลาไปจนถึงกลางเดือน พ.ย.61 และอาจขยายการปฏิบัติการต่อเนื่องไปจนกว่าสภาพอากาศจะไม่เหมาะสม โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จะติดตามสถานการณ์สภาพอากาศจากสถานีเรดาร์ตลอด 24 ชม ถ้าพบว่าสภาพอากาศเหมาะสมก็จะขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงทันที ซึ่งขณะนี้ได้สั่งการให้หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่ไม่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งให้ระดมกำลังไปปฏิบัติการในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบนี้แล้ว

นายสุรสีห์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โดยสรุปผลรวมการปฏิบัติการฝนหลวงตั้งแต่เริ่มตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง เมื่อวันที่ 1 มี.ค.-18 ต.ค.61 มีการขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 218 วัน มีวันฝนตกจากการปฏิบัติการฝนหลวงคิดเป็นร้อยละ 95.15 ขึ้นบินปฏิบัติงานจำนวน 4,162 เที่ยวบิน ปริมาณการใช้สารฝนหลวง 3502.63 ตัน พลุซิลเวอร์ไอโอไดด์สำหรับภารกิจปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 1,809 นัด พลุแคลเซียมคลอไรด์สำหรับภารกิจปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 84 นัด จังหวัดที่มีรายงานฝนตกรวม 58 จังหวัด

อีกทั้งตามแผนการคาดการณ์ปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนและอ่างเก็บน้ำในภูมิภาคต่างๆ ระหว่างวันที่ 20 ก.ย. – 31 ต.ค. 61 สามารถปฏิบัติการฝนหลวงเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักได้ตามเป้าหมาย อาทิ ภาคเหนือ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่ มีปริมาณน้ำไหลเข้า จำนวน 8.030 ล้าน ลบ.ม.จากแผนคาดการณ์ 10 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเขื่อนลำแชะ จังหวัดนครราชสีมา มีปริมาณน้ำไหลเข้า จำนวน 4.630 ล้าน ลบ.ม.จากแผนคาดการณ์ 5 ล้าน ลบ.ม.

ภาคกลางอ่างเก็บน้ำทับเสลา จังหวัดอุทัยธานี มีปริมาณน้ำไหลเข้า จำนวน 10.550 ล้าน ลบ.ม.จากแผนคาดการณ์ 5 ล้าน ลบ.ม. และภาคตะวันออกอ่างห้วยยาง จังหวัดสระแก้ว มีปริมาณน้ำไหลเข้า จำนวน 3.126 ล้าน ลบ.ม.จากแผนคาดการณ์ 12 ล้าน ลบ.ม. สำหรับอ่างเก็บน้ำและเขื่อนอื่นๆ จะเร่งปฏิบัติการอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักให้รองรับความต้องการของเกษตรกร

จาก https://www.naewna.com วันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2561

สมาคมหลักอุตสาหกรรมน้ำตาลหนุ่นการจัดงาน“World Sugar Expo & Conference 2018”

หน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน สมาคมหลักอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล รวมทั้งโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศไทยกว่า  55 แห่ง สนับหนุนการจัดงาน  “World Sugar Expo & Conference 2018” งานใหญ่ประจำปีของผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมน้ำตาล,อ้อย และเอทานอล ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 นางสาวปุณฑริกา แสนฤทธิ์ ผู้จัดการ บริษัท ไฟร์เวิร์คส มีเดีย ไทยแลนด์ จำกัด  เปิดเผยว่า “ World Sugar Expo & Conference 2018” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17 -18 ตุลาคม ที่ผ่านมา ถือเป็นงานใหญ่ประจำปีของผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมน้ำตาล,อ้อย และเอทานอล ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นภูมิภาคหลักในการผลิตน้ำตาลจากอ้อยสู่ตลาดโลก โดยไทยเป็นประเทศที่ส่งออกน้ำตาลมากเป็นอันดับ 2 ของโลก และเป็นอันดับ 4 ในฐานะผู้ผลิตน้ำตาล ซึ่งในปัจจุบันอุตสาหกรรมน้ำตาลกำลังต้องการเทคโนโลยีและอุปกรณ์ใหม่ๆ มาใช้เพื่อช่วยลดต้นทุนในการการผลิตและส่งออก

โดยงาน World Sugar Expo & Conference จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 5 เพื่อแสดงสินค้า เเละ เทคโนโลยีเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล รวมถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้รวมเอาบริษัทธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำ จนกระทั่งถึงปลายน้ำในระดับนานาชาติไว้ด้วยกัน โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนมากมาย อาทิ กระทรวงอุตสาหกรรม, สำนักงานคณะกรรม การอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.), สมาคมผู้ผลิตน้ำตาลและชีวพลังงานไทย, สมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย, สมาคมโรงงานน้ำตาลไทย,สมาคมการค้าผู้ผลิตน้ำตาลไทย และสมาคมการค้าอุตสาหกรรมน้ำตาล ขณะเดียวกันยังได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นทางการจาก สมาคมน้ำตาลและอ้อยเวียดนาม (VSSA) อีกด้วย

นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศไทยกว่า 55 แห่ง อาทิ โรงงาน จากบริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท เคทิส ไบโอเอทานอล จำกัด (KTBE), บริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) และ หจก.สามารถเกษตรยนต์ ผู้พัฒนาการผลิตเครื่องมือการเกษตรรถตัดอ้อยในประเทศไทย และส่งออกจำหน่ายทั่วโลก เป็นต้น

นางสาวปุณฑริกา ยังกล่าวอีกว่า ภายในงานได้จัดการประชุมนานาชาติ World Sugar Conference 2018 ภายใต้หัวข้อ "Convergence And Divergence In The Asean Sugar & Ethanol Industry"  โดยบุคคลสำคัญในวงการน้ำตาลและเอทานอลในประเทศไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้เกียรติมาเป็นวิทยากร นอกจากนี้ในการการประชุมยังคงเน้นการค้าการลงทุนและเทคโนโลยี ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีเยี่ยมสำหรับผู้ที่สนใจและเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมนี้

“งานนี้ ไม่ได้เป็นเพียงงานมหกรรมงานแสดงสินค้า แต่เป็นงานที่จะ สร้างแรงบันดาลใจ ในการนำเทคโนโลยีอันทันสมัย ที่ถูกคิดค้นมา เพื่อเป็นเครื่องมือ ที่จะช่วยให้ท่านบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจ เนื่องจากเทคโนโลยี เป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการลดต้นทุนการผลิต ตลอดจนมีโอกาสในการเจราจา ธุรกิจ ระหว่างขาย และผู้ซื้อที่มีอำนาจตัดสินใจโดยตรง” นางสาวปุณฑริกา กล่าว

จาก www.banmuang.co.th  วันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2561

เกษตรฯเปิดเวทีฟังความเห็น กม.จำกัดการใช้สารพิษ3ชนิด

ดร.เสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตร ได้กำหนดจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นร่างประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เกี่ยวกับการจำกัดการใช้วัตถุอันตราย 3 ชนิด คือ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซตในวันที่ 25 ตุลาคม ที่โรงแรมทีเค พาเลซ กทม. โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 250 คน ประกอบด้วย ผู้แทนภาครัฐ ได้แก่ กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมการข้าว อาจารย์มหาวิทยาลัย กระทรวงสาธารณสุข กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้แทนภาคเอกชน ได้แก่ ผู้ประกอบการด้านสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช และผู้แทนกลุ่มสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ องค์กรอิสระ รวมทั้งเกษตรกร และผู้สนใจ

“การจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ จะเป็นการเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐ ภาคเอกชน เกษตรกร และผู้เกี่ยวข้องได้แสดงความคิดเห็น และรับรู้การออกกฎหมายที่เกี่ยวกับมาตรการจำกัดการใช้วัตถุอันตราย พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ก่อนที่จะออกเป็นกฎหมายเพื่อบังคับใช้ต่อไป ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้เปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ของกรมวิชาการเกษตร ตั้งแต่วันที่ 8-23 ตุลาคม 2561 นี้ ซึ่งเป็นไปตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดให้เปิดรับฟังความคิดเห็นไม่น้อยกว่า 15 วัน หลังจากนั้นจะรวบรวมความคิดเห็นทั้งหมดจากการรับฟังทั้ง 2 ช่องทางพร้อมร่างประกาศที่ผ่านการวิเคราะห์ความคิดเห็นดังกล่าวแล้วส่งให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณาเป็นลำดับต่อไป” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว

จาก https://www.naewna.com วันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2561

สอท.จับตาพิษน้ำมันแพง-บาทแข็ง-สงครามยืดเยื้อกดดันดัชนี คาดปีหน้าอ่วมแน่

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการเดือนกันยายน พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง อยู่ที่ระดับ 91.5 ลดลงจาก 92.5 ในเดือนสิงหาคม เนื่องจากกังวลราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง กระทบต่อต้นทุนการผลิตและการขนส่ง ขณะที่ผู้ประกอบการส่งออกเห็นว่า เงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับภูมิภาคกระทบความสามารถในการแข่งขันลดลง รวมทั้งปัญหาความแออัดของท่าเรือทำให้ความล่าช้าในการขนส่งสินค้า และเห็นว่า ข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐและจีนมีแนวโน้มยืดเยื้อ

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 106.1 เพิ่มขึ้นจากระดับ 105.6 ในเดือนสิงหาคม เพราะมีความชัดเจนของภาครัฐเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้ง ประกอบกับ ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2561 อุปสงค์ของสินค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศจะเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่

นายสุพันธุ์กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ คือ คงมาตรการดูแลราคาน้ำมันดีเซลให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้กระทบต้นทุนการผลิตและต้นทุนการขนส่งของผู้ประกอบการ และยังเสนอให้รัฐใช้ประโยชน์จากสงครามการค้าในการเชิญนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทยและให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีแรงงานไทย

“ภาพรวมเศรษฐกิจไทยหลังมีการชัดเจนเลือกตั้ง เศรฐษกิจไทยจะดีในช่วงสั้น ส่วนระยะยาวขึ้นกับรัฐบาลใหม่ที่เข้ามาบริหารประเทศจะสร้างความเชื่อมั่นได้มากน้อยเพียงใด เชื่อว่าปีหน้าการลงทุนเอกชนต่างประเทศทยอยเข้ามา โดยเฉพาะโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ทำให้นักลงทุนต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุน หากการเลือกตั้งไม่มีปัญหาความมั่นใจจะสูงขึ้น สภาพการลงทุนในประเทศน่าจะดี และโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมีความชัดเจนมากหลายโครงการ โดยเฉพาะโครงการในอีอีซี และโครงข่ายคมนาคมในประเทศที่จะชัดเจนมากขึ้น”นายสุพันธุ์กล่าว

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2561

สทนช.เร่งกฎหมายลูก20ฉบับ เคลื่อนทัพบริหารจัดการนํ้า 1.2 แสนล้าน

สัมภาษณ์

จากร่าง พ.ร.บ. ทรัพยากรนํ้า พ.ศ. .... ที่ผ่านสภาวาระ 3 เรียบร้อยแล้วด้วยเสียงมติเอกฉันท์ เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา ส่งผลให้สำนักงานทรัพยากรนํ้าแห่งชาติ หรือ สทนช. เป็นองค์กรที่มีกฎหมายรองรับตามโครงสร้างองค์การบริหารจัดการทรัพยากรนํ้า ที่ทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการทรัพยากรนํ้าแห่งชาติ หรือ กนช.ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จากนี้ต่อไป สทนช.จะมีการขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างไรบ้าง “ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “สมเกียรติ ประจำวงษ์” เลขาธิการ สทนช. ถึงการบริหารจัดการนํ้าในช่วงระยะเวลาร่วม 1 ปี ที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายหรือไม่ อย่างไร และจะมีแผนการขับเคลื่อนอย่างไรต่อไปในช่วงงบประมาณปี 2562

เร่งกฎหมายลูกใน 1 เดือน

นายสมเกียรติ กล่าวว่า ร่างกฎหมายนํ้า ผ่านสภาวาระ 3 ไปแล้ว ไม่ใช่ง่ายๆ หากย้อนเวลามองกลับไปกว่า 20 ปีมาแล้ว แก้ร่างฯกว่า 90 ครั้ง แม้ว่าทุกคนจะเห็นพ้องต้องกันว่าควรจะเป็นแบบนั้นหรือเป็นแบบนี้ แต่ด้วยความละเอียดอ่อนในเรื่องการใช้คำ มีผลมากจะต้องพิถีพิถันทุกขั้นตอนต้องมองในอนาคต มีคำบางคำที่จะต้องบัญญัติคำนิยามขึ้นมาใหม่ เช่น ผังนํ้าซึ่งไม่เคยมีมาก่อน ที่ผ่านมามีแต่ผังเมือง แต่วันนี้ผังนํ้าสำคัญ เพราะนํ้าเกิดขึ้นจากธรรมชาติ ต้องมีกลไกในการบริหารจัดการ

“สทนช. มีการวางแผน จะมีการจัดทำกฎหมายลำดับรองหรือประกาศ หรือกระทั่งออกพระราชกฤษฎีกากว่า 20 ฉบับ ซึ่งบางส่วนได้เตรียมการไว้แล้ว อย่างไรก็ตามเพื่อให้แผนดังกล่าวขับเคลื่อนในระยะเวลาที่กำหนดภายใน 1 เดือนนับจากนี้ จะทำโรดแมปออกมาต้องผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของคณะกรรมการลุ่มนํ้าหรือประชาชนที่อยู่ในลุ่มนํ้าได้มีส่วนในการวางแผนร่วมกัน ซึ่งการมีกฎหมายนํ้าฉบับนี้จะทำให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการดูแลการบริหารจัดการนํ้าของประเทศได้อย่างสมบูรณ์แบบมากขึ้น”

สำหรับเจตนารมณ์ของการออกร่างกฎหมายต้องการใช้นํ้าอย่างยั่งยืนและเป็นธรรมมากขึ้น จะมีการศึกษาอย่างรอบคอบในหลักเกณฑ์ต่างๆโดยเฉพาะการเก็บค่านํ้า 3 หน่วยงาน ได้แก่ กรมทรัพยากรนํ้า กรมชลประทาน และกรมทรัพยากรนํ้าบาดาล มีอัตราการเก็บค่านํ้าที่มีมาตรฐานการเก็บค่านํ้าที่แตกต่างกัน เงินที่ได้มาก็เอาเข้าไปสู่กองทุนหรือเข้ารัฐบาลแตกต่างกัน ดังนั้นทาง สทนช.จะต้องกำหนดหลักเกณฑ์ในการคิดค่านํ้าที่จะใช้หลักเกณฑ์เดียวกันแต่อัตราในแต่ละพื้นที่ แต่ละนํ้าที่อยู่ในแต่ละส่วนอาจจะไม่เหมือนกัน เพื่อสร้างมาตรฐานและให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น

“ถ้าพูดถึงเรื่องความสำเร็จก็ยังพูดไม่ได้เต็มที่ แต่เมื่อเราเดินออกจากฝั่งแล้ว ก็เดินไกลออกจากฝั่งพอสมควร ถามว่าเป้าหมายอยู่อีกไกลหรือไม่กว่าจะไปไกลถึงฝั่งก็คงอีกนานพอสมควร ที่เป็นรูปธรรมมากๆ ก็คือ เป็นฝั่งเป็นฝา เป็นปึกแผ่นมากขึ้นจากมาคนเดียวเพิ่มเป็น  100 คน 150 คน และภายในสิ้นปี คาดว่าจะถึง 300 คน (พนักงาน/เจ้าหน้าที่ของสทนช.) ต่อไปแผนยุทธศาสตร์นํ้าจะเปลี่ยนชื่อใหม่ เป็นแผน แม่บทนํ้า ออกมาประมาณเดือนพฤศจิกายน แล้วจะเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประมาณเดือนธันวาคม เป็นแผนแม่บทนํ้าให้ครอบคลุมแผน 20 ปี รวมทั้งปรับตัวชี้วัดใหม่ เช่น สร้างเขื่อน 1 เขื่อนประชาชนได้อะไรบ้าง โดยจะปรับรูปแบบเพื่อไปสู่การขับเคลื่อนโครงการ” 

ลุยบิ๊กดาต้าข้อมูลนํ้า

นายสมเกียรติ กล่าวว่า ทุกคน ทุกหน่วยงาน ที่เข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการจะทำตามข้อจำกัด หรือทำตามระเบียบของหน่วยงานเป็นหลัก เนื่องจากยุทธศาสตร์นํ้าเป็นเรื่องสำคัญโดยเฉพาะเรื่องของข้อมูล แต่ละคนต่างก็มีข้อมูลของตัวเอง แต่ข้อมูลที่ว่านี้มีการเก็บรักษาข้อมูลแตกต่างกันไป และข้อมูลที่ได้มาก็มีการวิเคราะห์ที่แตกต่าง แต่พอมาอยู่หน่วยงานกลางจะต้องออกแบบงานมาตรฐาน เช่น ควรจะเก็บข้อมูลช่วงไหน เป็นต้น จะเห็นว่าข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญมาก จะต้องมีระบบจัดเก็บ เป็นอีกเรื่องสำคัญที่จะขับเคลื่อนในปี 2562

สมเกียรติ ประจำวงษ์

“โชคดีที่บริหารจัดการนํ้ามาร่วม 1 ปี ไม่มีปัจจัยแทรกมาจากการเมือง จะต้องทำให้เร็ว รู้เรื่องก่อน แล้วตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อมูลจริง และตามหลักวิชาการจริงๆ เรื่องข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญมากต่อไป สทนช.จะมีสำนักงานภูมิภาค คาดว่าจะมีบุคลากรประจำภูมิภาคเพิ่มอีกประมาณ 300 อัตรา จะมีลักษณะของการผ่องถ่ายระดับนโยบายไปสู่ระดับพื้นที่ เพื่อให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วม”

ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีและ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ได้ลงพื้นที่มีคำขอโครงการมาร่วม 200 โครงการ ทางนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ สทนช.ได้พิจารณา กลั่นกรองแผนงานให้มีประสิทธิผลมากที่สุด โดยจะนำแผนงาน/โครงการต่างๆ มาวางกรอบงบประมาณของแผนงาน บูรณาการการบริหารจัดการทรัพยากรนํ้า ปี 2562 วงเงินงบประมาณ 1.28 แสนล้านบาท

“จากนี้ไม่ว่ารัฐบาลชุดไหนจะเข้ามาบริหาร สทนช. เดินด้วย 3 เสาหลัก เสาแรกคือ แผนยุทธศาสตร์นํ้า หรือต่อไปจะ เรียกแผนแม่บทนํ้า 20 ปี แผนนี้จะนำเข้าครม.เพื่อให้พิจารณาให้ความเห็นชอบประมาณเดือนธันวาคม 2.เมื่อเป็นกฎหมาย การจะไปรื้ออะไรก็ต้องผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของคณะกรรมการลุ่มนํ้าและประชาชน ซึ่งเมื่อผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมแล้วยากที่จะไปล้ม และ 3.เรื่องขององค์กร นอกจากจะมีคณะกรรมการนํ้าแห่งชาติ (กนช.) แล้วยังมีฝ่ายเลขานุการ สทนช.ต่อไป กระบวนการตั้งแต่ระดับนโยบายไปจนถึงระดับปฏิบัติเมื่อมีองค์ประกอบ 3 ส่วนที่กล่าวมาจะทำให้การบริหารทรัพยากรนํ้าประสานสอดคล้องกันในทุกมิติ

จาก www.thansettakij.com   วันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2561

จีนจัดตั้งเครือข่ายพลังงานสะอาดในเอเชีย แบ่งปันโอกาสใหม่ในการเชื่อมต่อพลังงานอย่างครบวงจร

จีนพร้อมจัดตั้งเครือข่ายพัฒนาพลังงานสะอาดในระดับภูมิภาค เพื่อแบ่งปันโอกาสใหม่ในการเชื่อมต่อพลังงานอย่างครบวงจร เริ่มจากร่วมกันสร้างพื้นที่จำลองการเชื่อมต่อพลังงานในระดับภูมิภาค

16 ตุลาคม ที่ผ่านมา ได้มีพิธีเปิดการประชุมอภิปรายในหัวข้อ “การพัฒนาด้านการเชื่อมต่อพลังงานระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” หรือ  Northeast Asia and Southeast Asia Energy Interconnection Development Forum  ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 450 คนจากทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และภูมิภาคอื่นๆ รวมแล้วกว่า 20 ประเทศทั่วโลก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมประชุมวางแผนการพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืน และส่งเสริมการพัฒนาเชื่อมต่อพลังงานระดับโลกในภูมิภาคเอเชียในเชิงลึก รวมถึงร่วมกันสร้างพื้นที่จำลองการเชื่อมต่อพลังงานในระดับภูมิภาคอีกด้วย ในที่ประชุมเริ่มต้นด้วยการนำเสนอหัวข้อ "รายงานการวิจัยการเชื่อมต่อพลังงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ" และ "รายงานการวิจัยการเชื่อมต่อพลังงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" ที่ประชุมยังได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ สำหรับการพัฒนาพลังงานสะอาดและการเชื่อมต่อโครงข่ายในภูมิภาคอย่างครบวงจร 

นายหลิว เจิ้นย่า ประธานองค์การเพื่อการพัฒนาและความร่วมมือด้านการเชื่อมต่อพลังงานระดับโลก พร้อมด้วยประธานสภาการไฟฟ้าจีน และ นักวิชาการแห่งสถาบันวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดน รวมถึงนักวิชาการแห่งสถาบันวิศวกรรมศาสตร์แห่งสหราชอาณาจักร ได้เข้าร่วมเวทีการประชุมนี้พร้อมกล่าวคำปราศรัย นอกจากนั้นยังมี นาย หลี เหย่ ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับดูแลสำนักงานบริหารพลังงานแห่งชาติจีน นาย หลิว หงเผิง ผู้อำนวยการด้านพลังงาน คณะกรรมาธิการแห่งสหประชาชาติภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก พร้อมด้วย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพลังงานแห่งประเทศมองโกเลีย ได้เข้าร่วมการประชุมและกล่าวสุนทรพจน์ด้วย 

นาย หลิว เจิ้นย่า กล่าวว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นภูมิภาคที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกเร็วที่สุด ดังนั้นอุปสงค์และอุปทานด้านการพัฒนาพลังงานมีมากขึ้น โดยปัจจุบันมีสัดส่วนการใช้พลังงานฟอสซิลที่สูงเกินพลังงานอื่นๆ อีกทั้งความสามารถด้านการผลิตไฟฟ้าระหว่างประเทศไม่เพียงพอกับความท้าทายที่เกิดขึ้น สำหรับการพึ่งพาน้ำมันจากต่างประเทศของประเทศจีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้นั้นมีมากกว่า 80% ส่วนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยในปัจจุบันมีประชากรมากถึง 65 ล้านคนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ และยังมีประชากรราว 250 ล้านคนยังคงใช้ฟืนและถ่านสำหรับการปรุงอาหารและทำความร้อน ดังนั้นการเร่งการก่อสร้างระบบเชื่อมต่อพลังงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะทำให้แหล่งจ่ายพลังงานของแต่ละประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยจะเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานสะอาดอีกทางหนึ่งด้วย  “ทั้งนี้การผลักดันสภาพเศรษฐกิจและส่งเสริมการพัฒนาแบบบูรณาการในระดับภูมิภาคจำเป็นต้องมีการสร้างความร่วมมือเชื่อมต่อพลังงานของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยในขณะนี้ได้มีการแบ่งการลงทุนก่อสร้าง ในส่วนระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานสำหรับการขับเคลื่อนพลังงาน 2.7 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐ และส่วนการพัฒนาอุตสาหกรรมต้นน้ำและปลายน้ำอีกกว่า 2.1 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐ สามารถสร้างงานบุคลากรอีกกว่า 30 ล้านคน" นาย หลิวเจิ้นย่ากล่าว 

การประชุมครั้งนี้ได้มีผู้เข้าร่วมอภิปรายจากหลากหลายภูมิภาคและหลายองค์กร อาทิ ตัวแทนหน่วยงานราชการจากประเทศจีน รัสเซีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น มาเลเซีย คาซัคสถาน อิตาลี ฯลฯ บริษัทด้านพลังงาน สถาบันการวิจัย รวมถึงผู้แทนจากสถาบันการเงิน โดยทั้งหมดได้มีการร่วมกันอภิปรายแลกเปลี่ยนกันในกรอบหัวข้อต่างๆ อันได้แก่ พลังงานสะอาดและการเชื่อมต่อ ความร่วมมือในการสร้างและพัฒนาแหล่งพลังงาน โดยเน้นที่การทำให้เกิดการเชื่อมโยงทำงานร่วมกัน รวมถึงได้แบ่งปันงานวิจัยและแนวคิดในหัวข้อการเชื่อมต่อพลังงานของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือและเฉียงใต้ เพื่อให้เห็นถึงอนาคตของการเชื่อมต่อพลังงานโลกที่ดียิ่งๆขึ้นไป

จาก https://www.naewna.com  วันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2561

น้ำเขื่อนทั่วประเทศรวมกัน 1.2 หมื่นล้านลบ.ม. อีก 15 วันสิ้นฤดูฝน แล้งปีหน้า มีใช้เหลือเฟือ

วันที่ 18 ตุลาคม แบบจำลองสภาพอากาศ (วาฟ-รอม) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) รายการปริมาณน้ำกักเก็บรวมในเขื่อนทั้งประเทศอยู่ร้อยละ 80 โดยเขื่อนที่มีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนมากกว่าค่าเฉลี่ย และยังอยู่ในพื้นที่เฝ้าระวังฝนตกหนัก

ได้แก่ เขื่อนแก่งกระจาน มีปริมาณน้ำกักเก็บร้อยละ 90 เป็นน้ำใช้การได้จริง 569 ล้านลูกบาศก์เมตร สถานการณ์น้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำมาก เขื่อนรัชชประภา มีปริมาณน้ำกักเก็บร้อยละ 86 เป็นน้ำใช้การได้จริง 3,499 ล้านลูกบาศก์เมตร สถานการณ์น้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำมาก สำหรับเขื่อนขนาดใหญ่อื่นๆ มีปริมาณน้ำดังนี้ เขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำกักเก็บอยู่ที่ร้อยละ 68 เป็นน้ำที่ใช้การได้จริง 5,407 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์ ปริมาณกักเก็บน้ำ ร้อยละ 88 ปริมาณน้ำที่ใช้การได้จริง 5,480 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนลำปาว ปริมาณการกักเก็บ ร้อยละ 66 ปริมาณน้ำที่ใช้การได้จริง 1,198 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนอุบลรัตน์ ปริมาณการกักเก็บอยู่ที่ร้อยละ 34 ปริมาณน้ำที่ใช้การได้จริง 248 ล้านลูกบาศก์เมตร

เขื่อนสิรินธร ปริมาณการกักเก็บ ร้อยละ 70 ปริมาณน้ำที่ใช้การได้จริง 554 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ปริมาณการกักเก็บน้ำร้อยละ 71 ปริมาณน้ำที่ใช้การได้จริง 682 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนศรีนครินทร์ ปริมาณการกักเก็บร้อยละ 91 ปริมาณที่ใช้ได้จริง 5,965 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนวชิราลงกรณ์ ปริมาณการกักเก็บ ร้อยละ 89 ปริมาณน้ำที่ใช้การได้จริง 4,833 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนรัชประภา ปริมาณการกักเก็บร้อยละ 86 ปริมาณที่ใช้การได้จริง 3,99 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนบางลาง ปริมาณการกักเก็บ ร้อยละ 61 ปริมาณน้ำที่ใช้การได้จริง 606 ล้านลูกบาศก์เมตร

ส่วนเขื่อนที่มีปริมาณการเก็บกักน้ำไม่ถึงร้อยละ 40 ได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนลำนางรอง ร้อยละ 34 (ความจุเขื่อนอยู่ที่ 121 ล้านลูกบาศก์เมตร) เขื่อนกระเสียว ร้อยละ 34 (ความจุเขื่อนอยู่ที่ 299 ล้านลูกบาศก์เมตร) เขื่อนทับเสลา ร้อละ 30 (ความจุเขื่อนอยู่ที่ 160 ล้านลูกบาศก์เมตร)

ปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อยู่ที่ 12,236 โดยกรมชลประทานได้คำนวณปริมาณความต้องการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งและต้นฤดูฝนในปี 2562 สำหรับ การอุปโภค บริโภค การเกษตร และสำหรับระบบนิเวศน์ อยู่ที่ 12,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเหลือเวลาอีก 15 วัน จะสิ้นสุดฤดูฝน จึงถือว่าปริมาณน้ำที่มีอยู่ในเขื่อนทั่วทั้งประทศ เพียงพอแล้ว

วาฟระบุว่า ช่วงวันที่ 18-20 ตุลาคม บริเวณความกดอากาศสูงยังคงปกคลุมทะเลจีนใต้แต่ยังคงแผ่เป็นลิ่มลงมาปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบน ทำให้มีกระแสลมตะวันออกจากทะเลจีนใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบนประกอบกับมีกระแสลมตะวันตกเฉียงใต้พัดนำความชื้นเข้ามาปะทะกัน ส่งผลให้ประเทศไทยตอนบนกลับมามีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นและมีฝนตกปานกลางถึงหนักได้ในบางแห่ง ส่วนภาคใต้จะยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่งโดยเฉพาะภาคใต้ฝั่งตะวันตก ช่วงวันที่ 21-24 ตุลาคม บริเวณความกดอากาศสูงอีกระลอกจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ส่งผลให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนลดลง ส่วนลมตะวันออกที่พัดปกคลุมอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้นประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่าง อาจมีกำลังแรงขึ้นและมีแนวโน้มเคลื่อนตัวเข้าสู่ปลายแหลมญวน ส่งผลให้ภาคใต้ฝั่งตะวันออกจะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่งโดยเฉพาะภาคใต้ตอนบน

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ถึงเวลาที่ต้องเร่งปฏิรูปองค์การการค้าโลก (WTO) ก่อนระบบการค้าพหุภาคีจะล่มสลาย

คอลัมน์ แตกประเด็น

โดย อรมน ทรัพย์ทวีธรรม กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

ภายหลังจากนานาชาติพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจโลกที่ตกต่ำเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงในปี 2488 โดยมีแนวคิดที่จะจัดตั้งองค์กรระหว่างประเทศด้านการค้า (International Trade Organization : ITO) แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงพัฒนามาเป็นการจัดทำข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีศุลกากรและการค้า หรือ General Agreement on Tariffs and Trade (GATT 1947) ในปี 2490 และต่อมาได้จัดตั้งเป็นองค์การการค้าโลก (World Trade Organization หรือ WTO) ในปี 2538 เพื่อส่งเสริมการค้าเสรีภายใต้ระบบการค้าพหุภาคี (Multilateral Trading System : MTS) กำกับดูแลกฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศ และเป็นเวทีระงับข้อพิพาททางการค้าระหว่างประเทศ โดยมีกติกาหลัก เช่น การไม่เลือกปฏิบัติระหว่างสินค้าที่ผลิตในประเทศและสินค้านำเข้า การเผยแพร่กฎระเบียบการค้าของสมาชิกเพื่อความโปร่งใสและตรวจสอบได้ การให้สิทธิพิเศษแก่ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (Special and Differential Treatment : S&D) เป็นต้น ซึ่งสมาชิก WTO 164 ประเทศรวมถึงไทยได้ยึดเป็นแนวปฏิบัติมาจนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี ในช่วงหลังมานี้ เมื่อการเจรจาการค้าเสรี WTO รอบโดฮา ซึ่งเปิดรอบมาตั้งแต่ปี 2544 ยังไม่มีวี่แววว่าจะหาข้อสรุปได้ เนื่องจากกระบวนการตัดสินใจใน WTO ยึดหลักฉันทามติที่สมาชิกทุกประเทศต้องเห็นชอบร่วมกัน ส่งผลให้หลายประเทศหันมาเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement : FTA) ในรูปแบบสองฝ่าย หรือหลายฝ่ายกันมากขึ้น เนื่องจากหาข้อสรุปได้ง่ายและรวดเร็วกว่า ประกอบกับหลายประเทศหันมาใช้มาตรการฝ่ายเดียวกีดกันการนำเข้าโดยขึ้นภาษีศุลกากรกับสินค้านำเข้าจากคู่ค้า ซึ่งเป็นการลดทอนความสำคัญของ WTO

ขณะที่ กลไกระงับข้อพิพาททางการค้า ซึ่งเป็นเขี้ยวเล็บสำคัญของ WTO เพราะมีบทลงโทษผู้แพ้คดี และเปิดช่องให้ผู้ชนะคดีสามารถตอบโต้ทางการค้าได้ หากผู้แพ้ไม่ยอมยกเลิกมาตรการที่ขัดต่อ WTO ก็ได้เกิดปัญหาในเชิงระบบ โดย ระบบการพิจารณากรณีพิพาททางการค้าของ WTO มี 2 ระดับ คือ (1) การพิจารณาคดีขั้นต้นโดยคณะผู้พิจารณา (Panel) 3-5 คน ที่เลือกมาจากการเสนอชื่อและตัดสินใจร่วมกันของประเทศคู่กรณี หรือหากตกลงไม่ได้ก็ให้ผู้อำนวยการใหญ่ WTO ช่วยเลือก และ (2) การพิจารณาคดีในขั้นอุทธรณ์ โดยสมาชิก WTO จะเลือกผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศและแต่งตั้งให้เป็นองค์กรอุทธรณ์ (Appellate Body) ซึ่งมีสมาชิกรวม 7 คน ดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี เวียนกันทำหน้าที่พิจารณาตัดสินคดีพิพาทชั้นอุทธรณ์ของ WTO คดีละ 3 คน

แต่ปัจจุบัน ตำแหน่งสมาชิกองค์กรอุทธรณ์ว่างลง 4 จาก 7 คน และในปี 2562 ก็จะว่างอีก 2 คน รวมเป็น 6 คน ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือ สมาชิก WTO ไม่สามารถเริ่มกระบวนการคัดเลือกผู้ที่จะมาเป็นสมาชิกองค์กรอุทธรณ์แทนตำแหน่งที่ว่างลงได้ เพราะสหรัฐเห็นว่าต้องมีการปรับปรุงระบบการทำงานขององค์กรอุทธรณ์ของ WTO ก่อน เนื่องจากที่ผ่านมามีปัญหาในเชิงระบบ เช่น การตัดสินอุทธรณ์ล่าช้าเกินกรอบเวลา 90 วัน ที่ความตกลงว่าด้วยการระงับข้อพิพาทของ WTO กำหนดไว้ สมาชิกองค์กรอุทธรณ์มีคำตัดสินที่เกินเลยกว่าประเด็นพิพาททางการค้า ซึ่งไม่จำเป็นต่อการระงับข้อพิพาท และสมาชิกองค์กรอุทธรณ์ที่ครบวาระแล้ว ยังคงทำหน้าที่ตัดสินกรณีพิพาทที่ยังค้างอยู่ต่อไป เป็นต้น

การคัดค้านกระบวนการคัดเลือกสมาชิกองค์กรอุทธรณ์ของสหรัฐ จึงส่งผลกระทบให้กลไกระงับข้อพิพาททางการค้าของ WTO ไม่สามารถทำหน้าที่ได้ในปี 2562 เนื่องจากไม่สามารถตั้งสมาชิกองค์กรอุทธรณ์ที่ว่างลงได้ ขณะนี้เรื่องการปฏิรูปการทำงานของ WTO จึงเป็นหัวข้อที่กล่าวถึงกันมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในการประชุม WTO ที่เจนีวา และในเวทีประชุมระหว่างประเทศต่าง ๆ โดยสมาชิก WTO หลายประเทศ เช่น สหรัฐ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น แคนาดา บราซิล และฮอนดูรัส เริ่มแสดงความเห็นให้มีการปรับปรุงการดำเนินการของ WTO ให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ทันสมัย สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางการค้าที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการปรับปรุงกระบวนการแจ้งกฎระเบียบการค้าของสมาชิก WTO เพื่อความโปร่งใส และการปรับปรุงกลไกการทำงานขององค์กรอุทธรณ์ เป็นต้น

ในส่วนของไทยให้ความสำคัญและสนับสนุนระบบ WTO มาโดยตลอด และเห็นความสำคัญที่จะต้องปรับปรุงระบบกลไกการทำงานของ WTO ให้รองรับพัฒนาการของการค้าที่เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน จึงได้ร่วมสนับสนุนการปฏิรูป WTO ให้มีประสิทธิภาพ ทันสมัย และเป็นธรรม โดยให้ความสำคัญกับระบบการค้าพหุภาคีที่ทุกประเทศมีสิทธิ์เท่าเทียมกัน คงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าสมาชิก WTO จะสามารถเรียกความเชื่อมั่นในระบบการค้าพหุภาคีกลับคืนมาได้ จะสามารถหาข้อสรุปเรื่องการปฏิรูป WTO และแต่งตั้งสมาชิกองค์กรอุทธรณ์ที่ว่างลงได้ทันเวลา เพื่อให้กลไกระงับข้อพิพาท WTO เดินต่อไปได้หรือไม่ มิฉะนั้นแล้วเราอาจเห็นประเทศต่าง ๆ นำมาตรการทางการค้าฝ่ายเดียวมาใช้เพิ่มขึ้น เพราะ WTO ขาดเขี้ยวเล็บ

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ระดมขุนพลทูตพาณิชย์สู้ศึกการค้าโลก

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เตรียมการจัดประชุมทูตพาณิชย์ไทยทั่วโลก เพื่อประเมินสถานการณ์การค้าและเตรียมกลยุทธ์เพื่อผลักดันยอดส่งออกในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2561 พร้อมวางแผนการขับเคลื่อนการส่งออกในปี 2562

ทั้งนี้การประชุมผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 15 -22 ตุลาคม 2561 ซึ่งตรงกับช่วงงานแสดงสินค้าไลฟ์สไตล์ระดับนานาชาติ STYLE Bangkok ของกรม

โดยในช่วงก่อนการประชุมทุกครั้งทูตพาณิชย์จะได้รับการบ้านให้ประเมินวิกฤตและโอกาสของในพื้นที่ที่รับผิดชอบดูแลอยู่ วิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงว่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยอย่างไร และให้จัดทำแผนการรับมือ รวมถึงแผนผลักดันการส่งออกอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งในการประชุมจะมีการนำเสนอแผนผลักดันการส่งออกดังกล่าวและพูดคุยหารือกันเพื่อจัดทำแผนการทำงานที่ชัดเจนต่อไป โดยในการประชุมทูตพาณิชย์จะเปิดโอกาสให้ผู้แทนจากภาคเอกชนเข้ามาร่วมให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอีกด้วย ซึ่งจะทำให้แผนการขับเคลื่อนการส่งออกมีกลยุทธ์การเจาะตลาดที่ชัดเจนและสามารถขับเคลื่อนการส่งออกของประเทศได้จริง ทั้งนี้ การประชุมทูตพาณิชย์ถือได้ว่าเป็นการทำงานในมิติใหม่ เนื่องจากเป็นการทำงานร่วมกันในรูปแบบการบูรณาการระหว่างภาครัฐกับเอกชน ไม่ว่ารายเล็กหรือรายใหญ่

สำหรับแผนในการขับเคลื่อนการส่งออกในปี 2562 โดยมีเป้าหมายในการผลักดันผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) ผู้ประกอบการในกลุ่ม Startup และผู้ประกอบการท้องถิ่น ให้มีโอกาสส่งออกได้เพิ่มขึ้น ภายใต้ 4 ยุทธศาสตร์สำคัญคือ การเร่งรัดขยายตลาดส่งออกและธุรกิจในต่างประเทศเชิงรุก,การส่งเสริมอุตสาหกรรมรายคลัสเตอร์ ,การพัฒนาผู้ประกอบการและสร้างมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมส่งออก และการพัฒนาองค์กรและเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ

 หนึ่งในแผนงานสำคัญของกรมในการช่วยเหลือผู้ประกอบการรุ่นเล็ก คือโครงการ SMEs Pro-active ระยะที่ 3 หากผู้ประกอบการรายใดที่สนใจสามารถสมัครเข้ามาร่วมโครงการดังกล่าวได้ โดยกรมพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือสำหรับผู้ประกอบการมือใหม่ที่ยังไม่เคยออกไปทำตลาดต่างประเทศได้เรียนรู้และเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ฐานราก และขยายโอกาสให้ผู้ประกอบการในทุกระดับ ในการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าและกิจกรรมเจรจาการค้าในต่างประเทศ (Business Matching และ Pitching/Startup) โดยไม่จำกัดว่าจะเป็นสินค้าหรือบริการอะไรก็ตาม

เพื่อให้โครงการมีความรวดเร็ว ตรวจสอบได้อย่างทันท่วงที กรมฯ ได้นำระบบการบริหารจัดการโครงการออนไลน์ โดยเฉพาะการใช้ฐานข้อมูลออนไลน์ในกระบวนการรับสมัคร ประเมินผล และติดตามผล   มาปรับใช้ในการบริหารโครงการ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย E-Government ของรัฐบาล เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการด้วย

จาก www.banmuang.co.th   วันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2561

กลุ่มบางจากรุกธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ

 กลุ่มบางจาก ฯ ผนึก กลุ่มน้ำตาลขอนแก่น หนุน ‘บีบีจีไอ’รุกธุรกิจผลิตชีวภาพที่มีมูลค่าสูง รองรับความต้องการใช้พลังงานในประเทศ

นายพงษ์ชัย ชัยจิรวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) (“BBGI” หรือ บริษัทฯ) เปิดเผยว่า กลุ่มบางจากฯและกลุ่มน้ำตาลขอนแก่น ร่วมทุนกันจัดตั้ง บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) ในสัดส่วน 60%:40 %ตามลำดับ เพื่อเข้าลงทุนถือหุ้นในบริษัทที่ดำเนินธุรกิจผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงชีวภาพ รวมถึงธุรกิจผลิตและจำหน่ายเอทานอล ไบโอดีเซล และผลิตภัณฑ์พลอยได้ รวมทั้งธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ซึ่งปัจจุบัน กลุ่มบริษัทฯ ถือเป็นผู้ประกอบการธุรกิจผลิตและจำหน่ายเชื้อเพลิงชีวภาพรายใหญ่ของประเทศไทย โดยได้ถือหุ้นในบริษัทย่อย 3 บริษัท ได้แก่ 1.) บมจ.เคเอสแอล กรีน อินโนเวชั่น (KGI) ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเอทานอลที่ใช้กากน้ำตาลเป็นวัตถุดิบ 2.) บริษัท บางจากไบโอเอทานอล (ฉะเชิงเทรา) จำกัด (BBE) ผู้ผลิตและจำหน่ายเอทานอลโดยใช้มันสำปะหลังสดและมันสำปะหลังเส้น และ 3.) บริษัท บางจากไบโอฟูเอล จำกัด (BBF) ผู้ผลิตและจำหน่ายไบโอดีเซล โดยใช้น้ำมันปาล์มดิบ เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต

นายชลัช ชินธรรมมิตร์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ BBGI กล่าวว่า กลุ่มบริษัทฯ มีความได้เปรียบทางธุรกิจจากการมีกลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่เป็นผู้ประกอบการชั้นนำในธุรกิจต้นน้ำและปลายน้ำของผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงชีวภาพ ทั้งจากกลุ่มบางจากฯ ที่มีจำนวนสถานีบริการน้ำมันมากกว่า 1,000 แห่งทั่วประเทศ และจาก บมจ.น้ำตาลขอนแก่น ผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายรายใหญ่ ทำให้กลุ่มบริษัทฯ มีความมั่นคงด้านวัตถุดิบ มีความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการการสั่งซื้อวัตถุดิบ และได้รับประโยชน์จากการประหยัดจากขนาด (Economies of Scale) นอกจากนี้ กลุ่มบริษัทฯ ยังมีพันธมิตรทางธุรกิจที่มีความเข้มแข็งและพร้อมที่จะสนับสนุนการดำเนินงานกลุ่มบริษัทฯ ได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทฯ มีเป้าหมายที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและขยายกำลังการผลิตเอทานอล (เฉพาะบริษัทย่อย) และปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและจำหน่ายไบโอดีเซล ซึ่งสอดคล้องนโยบายภาครัฐที่มุ่งส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพภายในประเทศ ทั้งนี้ มีแผนลงทุนธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มีมูลค่าสูง (HVP) รวมถึงนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตเชื้อเพลิงไปสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อีกด้วย

จาก www.banmuang.co.th วันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ปรับเป้าส่งออกปีนี้โต9-10% พาณิชย์ถกทูต-เอกชนประเมินปี62-สรท.คาดโตได้5%

เอกชน ห่วงสงครามการค้า-เบร็กซิทกระทบส่งออกปีหน้า เตรียมข้อมูลแลกเปลี่ยนประชุมทูตพาณิชย์56 สำนักงานทั่วโลก “สนธิรัตน์” คาดประกาศเป้าหมายใหม่ส่งออกไทยปี 2561 โต 9-10% พร้อมประกาศเป้าปี 2562 ด้านสรท.คาดโตได้ 5%

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่าในการประชุมร่วมกับทูตพาณิชย์วันที่ 18 ตุลาคมนี้ เอกชนได้เตรียมข้อมูลที่จะแลกเปลี่ยนกับทูตพาณิชย์ในแต่ละภูมิภาค เพื่อนำมาวิเคราะห์ร่วมกันถึงสถาน การณ์ส่งออกของไทยในเดือนที่เหลือของปีนี้รวมถึงประเมินทิศทางแนวโน้มปี 2562 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องผลกระทบจากสงครามการค้าว่าเหตุการณ์เกิดกับประเทศใดบ้าง และเกิดผลอย่างไร และประเทศใดที่ยังมีทิศทางแนวโน้มที่ดีที่ไทยสามารถจะไปเจาะตลาดเพิ่มเติมได้ ซึ่งคาดหวังจะเป็นข้อมูลให้กับภาคเอกชนในการไปประเมินการส่งออกไปยังตลาดนั้นๆ ในปีหน้าด้วย

“สงครามทางการค้าจะยังคงยืดเยื้อไปจนถึงปีหน้า ซึ่งจะกระทบกับการค้าที่เป็นประเทศคู่ค้าของไทยโดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ไทยเป็นซัพพลายเชนที่เราต้องรับมือ ทั้งนี้สิ่งที่น่ากังวล คือ ความซบเซาของการค้าโลกซึ่งการที่ประเทศใหญ่ทำสงครามการค้าระหว่างกันจะส่งผลทำให้การค้าของโลกชะลอตัวลง และจะกระทบต่อประเทศคู่ค้าหากสถานการณ์ยังยืดเยื้อออกไป”

เอกชนยังได้เตรียมเสนอมุมมองเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกับทูตพาณิชย์ในกรณีอังกฤษอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป(อียู) หรือเบร็กซิท ว่าจะมีผลดี ผลเสียต่อการส่งออกของไทยไปอียูหรืออังกฤษอย่างไร และจะปรับกลยุทธ์อย่างไร รวมถึงอุปสรรคทางการค้าในปีหน้าที่เอกชนต้องเตรียมความพร้อม และมีสัญญาณอะไรที่ต้องเตือนภาคเอกชนบ้างทั้งนี้สงครามการค้า เบร็กซิท ถือว่าเป็นปัจจัยที่กระทบต่อการส่งออกไทยในปีหน้า

อย่างไรก็ดีนอกจากสงครามการค้า และเบร็กซิทที่เอกชนมองเป็นปัจจัยเสี่ยงแล้ว ในปีหน้ายังมีปัจจัยเสี่ยงในอีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะค่าบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นจากการไหลกลับเข้ามาของเงินทุนต่างประเทศในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (อีเมอร์จิ้ง มาร์เก็ต)ที่มีทิศทางที่แข็งค่าเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความไม่แน่นอนของสงครามการค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

นายวิศิษฐ์กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามปัจจัยบวกต่อการส่งออกของไทยในปีหน้าก็ยังมี เช่นการขยายตัวทางเศรษฐกิจของตลาดที่มีศักยภาพที่ยังขยายตัวต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นตลาดอาเซียน ตลาดอินเดีย หรือตลาดรองอย่างรัสเซียและกลุ่มCIS(12) รวมไปถึงกลุ่มประเทศเอเชียที่ได้รับอานิสงส์จากการย้ายฐานการผลิตของบริษัทที่เป็นห่วงโซ่การผลิตระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นที่ไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย ซึ่งถือว่าเป็นประเทศที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอัตราที่ค่อนข้างสูงและยังเป็นตลาดเศรษฐกิจใหม่ที่สามารถดึงดูดนักลงทุนที่ได้รับผลกระทบจากสงครามทางการค้าให้เข้ามาลงทุนได้ ทั้งนี้เอกชนประเมินการส่งออกไทยปีนี้น่าจะขยายตัวได้ 9% และปีหน้าคาดจะขยายตัวได้ที่ 5%

ด้านนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ได้มอบหมายให้ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) หรือทูตพาณิชย์จาก 56 สำนักงานทั่วโลก และผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์เตรียมข้อมูลในการประเมินสถานการณ์ และวางเป้าหมายการส่งออกในปี 2562 รวมถึงวางแผนขยายการค้าการลงทุนไทยในต่างประเทศ ซึ่งจะมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในวันที่ 18 ตุลาคมนี้ โดยจะรับฟังการชี้แจงในมิติใหม่ของสคต. รวมถึงแผนผลักดันการค้าเชิงรุกที่จะนำมาใช้ในการดำเนินการสำหรับปี 2562 ซึ่งจะเป็นการขับเคลื่อนธุรกิจการค้าระหว่างประเทศโฉมใหม่ โดยผ่านการรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชนทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายการส่งออกในปี 2561 ไว้ที่ 8% และคาดว่าหลังจากการประชุมทูตพาณิชย์น่าจะมีการปรับตัวเลขการส่งออกไทยอีกครั้งคาดว่าน่าจะอยู่ที่ 9-10%

จาก www.thansettakij.com วันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2561

บีบีจีไอวอนรัฐออกแนวทางชัดเจนผลิตน้ำมันผสมเอทานอล-ไบโอดีเซลเพิ่มขึ้น

นายชลัช ชินธรรมมิตร์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือบีบีจีไอ ผู้ดำเนินธุรกิจผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงชีวภาพ ได้แก่ ธุรกิจผลิตและจำหน่ายเอทานอล ไบโอดีเซลและผลิตภัณฑ์พลอยได้ รวมถึงผลิตภัณฑ์เกี่ยวเนื่องกับผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เปิดเผยว่า สนับสนุนนโยบายของภาครัฐในการวางแผนพัฒนาพลังงานทดแทนด้วยมาตรการส่งเสริมการผลิตและการใช้เอทานอล โดยมีเป้าหมายภายในปี 2579 ปริมาณการผลิตเอทานอลเพื่อทดแทนน้ำมันเบนซินจะอยู่ที่ 11.30 ล้านลิตรต่อวัน จากปี 2560 ที่มีปริมาณการใช้เอทานอลอยู่ที่ 3.91 ล้านลิตรต่อวัน โดยตั้งแต่ปี 2550-2560 ปริมาณการใช้เอทานอลมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 19.8%

อย่างไรก็ตามอยากเห็นแนวทางที่ชัดเจนของภาครัฐในการดำเนินมาตรการส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเอทานอลและไบโอดีเซลให้มากขึ้น อาทิ น้ำมันแก๊สโซฮอล์ อี20 น้ำมันแก๊สโซฮอล์ อี85 และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานแก่ประชาชนและสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการในการที่จะขยายกำลังการผลิตเพื่อรองรับความต้องการใช้งานในระยะยาว

นายชลัสกล่าวว่า ปัจจุบันภาคเอกชนไทยมีศักยภาพและพร้อมลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตเอทานอล ซึ่งปัจจุบันมีกำลังการผลิตเอทานอลรวม 5.79 ล้านลิตร จากฐานการผลิตรวม 26 โรงงาน วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตส่วนใหญ่มาจากกากน้ำตาลที่เป็นผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาล โดยในปี 2560 มีปริมาณกากน้ำตาลที่เหลือจากการบริโภค และสามารถนำมาผลิตเอทานอลได้ประมาณ 5.00 ล้านตัน และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 5.79 ล้านตัน ในปี 2562 ซึ่งกากน้ำตาลดังกล่าวสามารถนำมาผลิตเอทานอลได้ประมาณ 3.29 ล้านลิตรต่อวันในปี 2560 และ 3.81 ล้านลิตรต่อวันในปี 2562 ดังนั้น อุตสาหกรรมเอทานอลของไทยมีความมั่นคงด้านวัตถุดิบที่เพียงพอที่จะสนับสนุนนโยบายของภาครัฐที่ต้องการผลักดันการใช้เอทานอลเป็นส่วนผสมในน้ำมันเชื้อเพลิงให้มากขึ้น

“ในฐานะที่เราเป็นหนึ่งในผู้ผลิตเอทานอลรายใหญ่ของประเทศ เราพร้อมลงทุนขยายกำลังการผลิตเพื่อสนับสนุนภาครัฐที่มีเป้าหมายผลักดันการใช้เอทานอลเพื่อทดแทนการใช้น้ำมันเบนซิน เนื่องจากเรามีความมั่นคงด้านวัตถุดิบจากกากน้ำตาลที่สามารถนำมาผลิตเป็นเอทานอลในปริมาณมากพอ แต่อยากเห็นแนวทางของรัฐบาลที่ชัดเจนกว่านี้” นายชลัช กล่าว

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 17 ตุลาคม 2561

เปิดรับฟังความเห็นมาตรการจำกัด3สารอันตราย ก่อนยกร่างประกาศกฎกระทรวง

น.ส.เสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติให้จำกัดการใช้วัตถุอันตราย 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต โดยให้กรมวิชาการเกษตรจัดทำมาตรการจำกัดการใช้เสนอคณะกรรมการฯนั้น เมื่อวันที่ 30 ส.ค.61 คณะกรรมการฯได้เห็นชอบให้ใช้มาตรการจำกัดการใช้วัตถุอันตราย พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ตามที่กรมวิชาการเกษตรเสนอ ซึ่งกรมวิชาการเกษตรจะต้องดำเนินการจัดทำกฎหมาย เกี่ยวกับมาตรการจำกัดการใช้วัตถุอันตรายทั้ง 3 ชนิด โดยยกร่างประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเสนอรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียจากทุกภาคส่วน

ทั้งนี้ กรมวิชาการเกษตรได้กำหนดจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นร่างประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เกี่ยวกับวัตถุอันตรายพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมวิชาการเกษตร ในวันที่ 25 ต.ค.61 ที่โรงแรมทีเค พาเลซ กรุงเทพฯ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมเพื่อแสดงความคิดเห็นจำนวนประมาณ 250 คน ประกอบด้วย  ผู้แทนภาครัฐ ได้แก่  กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมการข้าว อาจารย์มหาวิทยาลัย  กระทรวงสาธารณสุข  กรมโรงงานอุตสาหกรรม  สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ  สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ผู้แทนภาคเอกชน ได้แก่ ผู้ประกอบการด้านสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช และผู้แทนกลุ่มสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ องค์กรอิสระ  รวมทั้งเกษตรกร และผู้สนใจ

“การจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ จะเป็นการเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐ ภาคเอกชน เกษตรกร และผู้เกี่ยวข้อง ได้แสดงความคิดเห็น และรับรู้การออกกฎหมายที่เกี่ยวกับมาตรการจำกัดการใช้วัตถุอันตราย พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ก่อนที่จะออกเป็นกฎหมายเพื่อบังคับใช้ต่อไป ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้เปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านระบบอิเลคทรอนิกส์ (เว็บไซต์) ของกรมวิชาการเกษตร ตั้งแต่วันที่ 8-23 ต.ค.61 ซึ่งเป็นไปตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดให้เปิดรับฟังความคิดเห็นไม่น้อยกว่า 15 วัน หลังจากนั้นจะรวบรวมความคิดเห็นทั้งหมดจากการรับฟังทั้ง 2 ช่องทาง พร้อมร่างประกาศที่ผ่านการวิเคราะห์ความคิดเห็นดังกล่าว แล้วส่งให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณาเป็นลำดับต่อไป” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว

จาก https://www.naewna.com วันที่ 17 ตุลาคม 2561

ธ.โลกเตือนปัญหาการค้า ป่วนค่าเงินทำประเทศยากจนหนี้พุ่ง

สิ่งที่น่ากังวลในขณะนี้คือภาวะการเผชิญหน้าทางการค้าระหว่างสองมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกากับจีน ซึ่งจะเป็นปัจจัยเสี่ยงเหนี่ยวรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจโลกให้ชะลอตัว และปัญหาหนี้สินที่กำลังก่อตัวมากขึ้นในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนารายได้ตํ่า

นายจิม ยง คิม ประธานธนาคารโลก กล่าวภายหลังการประชุมประจำปีระหว่างธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซียว่า ท่ามกลางบริบทดังกล่าวข้างต้น และภาพปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นนี้ชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงที่ว่า การค้ามีความสำคัญอย่างยิ่งยวดกับประเทศยากจน และหากโลกต้องการขจัดความยากจนให้หมดสิ้นไป ก็จำเป็นจะต้องสร้างบรรยากาศที่เกื้อหนุนต่อการทำการค้า แต่ภาวะที่เป็นอยู่ก็คือ การเผชิญหน้าทางการค้าระหว่างประเทศมีความตึงเครียดมากขึ้นเรื่อยๆ และประเทศยากจนก็มีหนี้สินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นในการประชุมประจำปีครั้งนี้ สาระสำคัญที่ธนาคารโลกต้องการนำเสนอให้เห็นก็คือ ทุกประเทศควรจะต้องทำทุกวิถีทางที่จะเตรียมตัวรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดจากการเผชิญหน้าทางการค้า ประเทศกำลังพัฒนาจะต้องทำความเข้าใจว่าอะไรจะเกิดขึ้นได้บ้างเมื่อเกิดสงครามการค้าและควรจะต้องรับมืออย่างไร

“สิ่งที่ประเทศกำลังพัฒนาจำเป็นต้องทำนั้นชัดเจนมาก นั่นคือต้องจัดสมดุลทางการคลังให้ดี ต้องมีนโยบาย ทางการเงินที่เหมาะสม และนโยบายการเงินนั้นต้องไม่ปั่นค่าเงิน” หัวเรือใหญ่เวิลด์แบงก์กล่าว และยอมรับว่าประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน เป็นเรื่องน่าเป็นห่วงอย่างมาก และถ้าหากประเทศอื่นๆหันมาใช้มาตรการตั้งกำแพงภาษีใส่กันก็จะส่งผลกระทบฉุดการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างแน่นอน “นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อเข้าใจถึงผลกระทบของสงครามการค้าที่มีต่อประเทศต่างๆ ที่อยู่ในซัพพลายเชนที่ต้องส่งออกสินค้าและบริการมายังประเทศจีน

อีกประเด็นที่เวิลด์แบงก์เฝ้าจับตาอย่างใกล้ชิดคือการเคลื่อนไหวของค่าเงินดอลลาร์ที่กำลังแข็งค่าขึ้น และทำให้ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศที่กำลังแบกหนี้ในสกุลเงินดอลลาร์ต้องมีภาระหนี้เพิ่มมากขึ้น ยิ่งถ้าประเทศที่มีภาระหนี้สกุลเงินดอลลาร์มากเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น ผลกระทบก็จะสร้างแรงสะเทือนไปยังประเทศอื่นๆได้มาก

นอกเหนือจากการแข็งขึ้นของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯแล้ว อีกสกุลเงินที่อาจสร้างปัญหาคือ เงินหยวนของจีนที่กำลังอ่อนค่าลงและอาจนำไปสู่ประเด็นเผ็ดร้อนทางการค้ามากยิ่งขึ้น เมื่อฝั่งสหรัฐฯเริ่มมีความกังวลว่า จีนตั้งใจปล่อยให้ค่าเงินหยวนอ่อนลงอย่างมากหรือไม่ กระทั่งนายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีคลังของสหรัฐฯ ต้องมาออกโรงปรามจีนผ่านสื่อเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า เงินหยวนหรือในชื่อทางการว่า เหรินหมินปี้ อ่อนค่าลงมากตลอดช่วงปีนี้ ดังนั้นสหรัฐฯ จึงอยากให้ประเด็นเรื่องค่าเงินถูกรวมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการเจรจาทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯด้วย

นับตั้งแต่ต้นปีมากระทั่งถึงวันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา เงินหยวนอ่อนค่าลงมาแล้ว 6.5% (เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ) ท่ามกลางแนวโน้มที่ว่าเศรษฐกิจจีนปีนี้จะขยายตัวที่อัตราน้อยลงกว่าปีที่ผ่านมาขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯมีแนวโน้มแข็งแรงขึ้น นักวิเคราะห์คาดหมายว่า เงินหยวนยังจะอ่อนลงได้อีกโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีแผนปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป ซึ่งน่าจะมีผลทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าขึ้นด้วย

ทั้งนี้ สหรัฐฯได้ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนครั้งล่าสุด 10% รวมมูลค่า 200,000 ล้านดอลลาร์มีผลตั้ง แต่ปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา (ซึ่งจีนตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯรวมวงเงิน 60,000 ล้านดอล ลาร์ มีผลในเวลาไล่เลี่ยกัน) และขู่ว่าจะขยับอัตราภาษีเพิ่มขึ้นอีกเป็น 25% ในวันที่ 1 มกราคม 2562 เป็นต้นไป

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 17 ตุลาคม 2561

ส่งออกเจอดีแน่! ปี 62 บาทแข็งยาว

เอกชนฟันธงส่งออกปี 62 โตถดถอย! ขยายตัวได้ 5-7% หรือ ถึงขั้นติดลบ สงครามการค้าปัจจัยเสี่ยงทุบเศรษฐกิจ 2 ตลาดใหญ่สหรัฐฯ-จีน ขยายตัวลดลง จับตา 'ทรัมป์' ลุยก๊อก 2 เร่งสงครามค่าเงินกดดอลลาร์อ่อน เพิ่มส่งออกสินค้ามะกัน หอการค้าจี้! หาตลาดใหม่ชดเชย

การส่งออกไทยปี 2561 กำลังสู่โค้งสุดท้าย ซึ่งทุกสำนักพยากรณ์ต่างฟันธงว่า ปีนี้การส่งออกของไทยจะขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ 9% จาก 8 เดือนแรกปีนี้ ยังขยายตัวสูงที่ 10% และยังมีแรงส่งที่ดีถึงเดือนที่เหลือของปีนี้ ที่คาดจะวิ่งเข้าป้ายได้อย่างไม่ยากเย็นนัก ขณะที่ สงครามการค้าสหรัฐอเมริกา-จีน ที่ทุกฝ่ายกังวลจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยนั้น คาดผลกระทบที่เป็นรูปธรรมชัดเจนจะเกิดขึ้นในปีหน้า

ส่งออกปี 62 โตถดถอย

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการ ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ในปี 2562 คาดการณ์เบื้องต้นการส่งออกของไทยจะขยายตัวได้ราว 7% จากปีนี้ คาดจะขยายตัว 8-9% การส่งออกไทยที่จะขยายตัวลดลงมีปัจจัยสำคัญผลพวงสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ที่ล่าสุด กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ ได้ออกมาคาดการณ์จะทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง โดยปี 2562 จะขยายตัวได้ที่ 3.7% และจะส่งผลให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของ 2 ตลาดใหญ่ คือ สหรัฐฯ ในปีหน้า จะขยายตัวลดลงเหลือ 2.5% และจีนลดลงเหลือ 6.2% และจะกระทบทำให้การค้าโลกหดตัวลง

อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการ ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

ขณะเดียวกัน กรณีที่สหรัฐฯ ได้ปรับขึ้นภาษีสินค้าจีน 5,745 รายการ จาก 10% ไปแล้ว และจะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 25% ในวันที่ 1 ม.ค. 2562 และสหรัฐฯ ยังขู่จะขึ้นภาษีสินค้าจีน (รอบที่ 4) อีกมูลค่ากว่า 2.67 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หากเกิดขึ้นจริงในปีหน้าจะยิ่งกระทบทำให้เศรษฐกิจและการค้าโลกชะลอตัวลงอีก

"ปัจจัยเสี่ยงส่งออกไทยปีหน้ายังมีเรื่องสงครามค่าเงิน โดยเวลานี้ โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ได้กดดันเฟด (ธนาคารกลางสหรัฐฯ) ไม่ให้ขึ้นดอกเบี้ย เพื่อทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อน เพื่อช่วยกระตุ้นการส่งออกของสหรัฐฯ ให้มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ค่าเงินบาทของไทยและค่าเงินในภูมิภาคแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ และจะกระทบต่อการส่งออกของไทยไปตลาดโลก เรื่องที่ภาครัฐและเอกชนของไทยจะต้องทำ คือ ช่วยกันวิเคราะห์และวางแผนว่า จะใช้วิกฤติสงครามการค้าเป็นโอกาสในการส่งออกไปสหรัฐฯ และจีนเพิ่มขึ้นได้อย่างไร ในส่วนของศูนย์อยู่ระหว่างประเมินสินค้าที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีสินค้าจีนครั้งล่าสุดกว่า 5,700 รายการ ว่าตัวไหนเราจะได้หรือเสียอย่างไร"

มองต่างอาจถึงขั้นติดลบ

นายบัณฑูร วงศ์สีลโชติ รองประธานคณะกรรมการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การส่งออกของไทยปี 2562 จะขยายตัวลดลง หรือ อาจถึงขั้นติดลบได้ เพราะปีหน้าการนำเข้าสินค้าจากจีนของสหรัฐฯ จะลดลงอย่างมากจากกำแพงภาษีสินค้าหลายพันรายการจะปรับเพิ่มขึ้น การลดการนำเข้าสินค้าจีนจะกระทบการส่งออกสินค้าวัตถุดิบจากไทยไปจีน ที่เคยนำเข้าไปผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูปเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ ที่ลดลงด้วย ขณะที่ สหรัฐฯ ในปีหน้ามีแนวโน้มการใช้มาตรการปกป้องผู้ผลิตภายในเพิ่มขึ้น คาดหลังเลือกตั้งกลางเทอมเดือน พ.ย. นี้ ทรัมป์จะประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้ารถยนต์จากทั่วโลกเป็น 25% เพื่อให้สอดรับกับความตกลงใหม่ใน USMCA (นาฟต้าเดิม) ที่ล่าสุด สมาชิก คือ สหรัฐฯ เม็กซิโก และแคนาดา ได้บรรลุความตกลงใหม่ โดยในสินค้ารถยนต์ที่จะได้รับการลดภาษีนำเข้า 0% ระหว่างกันต้องใช้ชิ้นส่วนประกอบในกลุ่มเพิ่มเป็น 75% จากเดิม 62.5% ซึ่งจะกระทบกับการส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนของไทยไปตลาดนี้ได้

จี้หาตลาดใหม่ชดเชย

นายชัยชาญ เจริญสุข เลขาธิการ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) การส่งออกไทยปี 2562 คาดจะขยายตัวได้ 5-7% ปัจจัยลบจากสงครามการค้าทำให้เศรษฐกิจการค้าโลกชะลอตัว รวมถึงผลจากฐานตัวเลขส่งออกในปี 2561 ที่สูง ส่วนปัจจัยบวกยังมี เช่น ตลาดอาเซียน การส่งออกของไทยน่าจะยังขยายตัวเป็นบวก เฉพาะอย่างยิ่งกลุ่ม CLMV จะหันมาค้ากันเองภายในกลุ่มมากขึ้น และสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง จากน้ำมันราคาจะปรับตัวสูงขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลก

"ทาง สรท. อยู่ระหว่างเตรียมข้อมูลจากสมาชิกในทุกอุตสาหกรรมว่า สถานการณ์ ณ ปัจจุบัน เป็นอย่างไร และทิศทางแนวโน้มการส่งออกปีหน้าจะเป็นอย่างไร ซึ่งจะแถลงให้รับทราบต้นเดือน พ.ย."

ด้าน นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ผลจากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ที่อาจทำให้การส่งออกของไทยลดลง ผู้ประกอบการควรเร่งปรับทิศทางการส่งออกไปยังตลาดใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพและเศรษฐกิจยังขยายตัวได้ดีเพิ่มขึ้น เช่น CLMV อินเดีย บังกลาเทศ ตะวันออกกลาง รวมถึงยุโรปตะวันออก ขณะเดียวกัน ต้องปรับรูปแบบการค้าสู่ระบบอี-คอมเมิร์ซมากขึ้น และต้องติดตามสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด ว่าจะมีมาตรการอะไรออกมาอีก เพราะเวลานี้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงเร็วมาก

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 17 ตุลาคม 2561

งินบาทอ่อนค่าที่ระดับ 32.51

ธนาคารกรุงไทย ระบุว่า ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เปิดเช้าวันนี้ (17 ต.ค. 61) ที่ระดับ 32.51บาท อ่อนค่าลงจาก 32.65บาท ในช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อน

ในคืนที่ผ่านมา ตลาดการเงินกลับมาสดใส หลังจากที่บริษัทในสหรัฐฯ รายงานผลประกอบการไตรมาสที่ผ่านมาออกมา "ดีกว่าคาด" S&P500 ปรับตัวขึ้น 1.9% และ Stoxx600 ในยุโรป ปรับตัวขึ้น 1.6% พร้อมกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ปรับตัวลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์ แม้บอนด์ยิลด์สหรัฐฯ อายุ 10ปี จะทรงตัวได้ที่ระดับ 3.16%

ทั้งนี้ แม้ล่าสุดผลการสำรวจนักลงทุนสถาบันของ Bank of America ชี้ว่า นักลงทุนมีความกังวลมากขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน และกว่า 85% เชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้เข้าสู่ช่วงท้ายของการเติบโต ลักษณะเช่นเดียวกับในช่วงก่อนวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2550 แล้ว แต่การที่ธุรกิจใหญ่ในภาคการธนาคารทั้ง Goldman และ Morgan Stanley รายงานผลการดำเนินงานออกมาดีกว่าคาดในเกือบทุกหมวดธุรกิจ ก็พลิกมุมมองให้ตลาดกลับมามีความมั่นใจอีกครั้ง

ในระยะสั้น มองว่า ปัจจัยดังกล่าวเป็นบวกกับการลงทุน ทั้งในกลุ่มความเสี่ยงสูง อย่าง ตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) และค่าเงินเอเชีย เนื่องจากการที่นักลงทุนไม่เชื่อมั่นในเศรษฐกิจสหรัฐฯ มาก หมายความว่าความคาดหวังกับทั้งค่าเงินดอลลาร์ หรือ ผลการดำเนินงานของภาคธุรกิจ ก็จะอยู่ในระดับที่ต่ำ และเมื่อตัวเลขผลประกอบการจริงของบริษัทรายงานได้ในระดับสูง ตลาดก็จะกลับเข้าสู่ภาวะเปิดรับความเสี่ยงได้ (Risk On) ทันที โดยวันนี้ (17 ต.ค. 61) กรอบค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ อยู่ที่ 32.45-32.60 บาท

จาก www.thansettakij.com วันที่ 17 ตุลาคม 2561

“ส.อ.ท.”หวั่นสงครามการค้ากดส่งออกเหลือ 4-5%

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มการส่งออกของไทยในช่วงสิ้นปีนี้คาดว่าจะเติบโตได้ตามเป้าหมายที่รัฐวางไว้ 9-10% แต่สิ่งที่ส.อ.ท.กังวลและต้องติดตามใกล้ชิดคือมาตรการตอบโต้ทางการค้าของสหรัฐระลอก 2 ที่มีมูลค่า 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ครอบคลุมสินค้าเกือบทุกชนิดที่จีนส่งไปขายสหรัฐหากยืดเยื้อและไม่สามารถเจรจาได้คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตการส่งออกของไทยในปี 2562 อย่างชัดเจนโดยคาดว่าอาจขยายตัวได้เพียง 4-5% เพราะการส่งออกคิดเป็นสัดส่วน70%ของจีดีพี

“มีหลายปัจจัยมากที่ต้องติดตามซึ่งรวมถึงระดับราคาน้ำมันตลาดโลกที่เริ่มสูงขึ้น การอ่อนตัวของเงินหยวนที่เริ่มกระทบต่อการท่องเที่ยวของคนจีนที่จะออกมายังต่างประเทศให้มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าปกติ ดังนั้นการประชุมทูตพาณิชย์ทั่วโลกวันที่ 18 ตุลาคมนี้ก็เชื่อว่ารัฐเองจะหาหนทางในการเพิ่มตลาดใหม่ๆ “นายเกรียงไกรกล่าว

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 17 ตุลาคม 2561

ชาวบ้านโกนหัวประท้วงโรงไฟฟ้าชีวมวลมิตรผลไบโอ-พาวเวอร์ จำกัด

ชาวบ้านกว่า 300 คนบุกประท้วงพร้อมโกนหัวคัดค้าน กกพ.เคาะใบอนุญาตสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลน้ำตาลมิตรผลพรุ่งนี้ (17 ต.ค.) จี้ลงพื้นที่ดูข้อเท็จจริงจากชาวบ้านในพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้า ลั่นค้าน รง.น้ำตาล-โรงไฟฟ้าชีวมวลทุกแห่งในภาคอีสาน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สายของวันนี้ (16 ต.ค.) ที่บริเวณด้านหน้าสำนักงานกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประจำเขต 5 (อุบลราชธานี) เครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำเซบาย 2 จังหวัดคือ ยโสธร และอำนาจเจริญ ซึ่งหวั่นวิตกจะได้รับผลกระทบจากการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาด 61 เมกะวัตต์ของบริษัทมิตรผลไบโอ-พาวเวอร์ จำกัด บริเวณริมแม่น้ำเซบายในพื้นที่เกือบ 700 ไร่ กินอาณาเขตรอยต่อ 2 จังหวัด โดยทั้งเด็กและผู้ใหญ่ร่วม 300 คนได้รวมตัวประท้วงคัดค้านและยื่นหนังสือถึงบอร์ดหรือคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานแห่งชาติ

ทั้งนี้เพื่อขอให้ชะลอการออกใบอนุญาตให้บริษัทมิตรผลไบโอ-พาวเวอร์ จำกัด ประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าดังกล่าวไว้ก่อน

ในหนังสือตอนหนึ่งระบุว่า ให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานแห่งชาติรอผลการศึกษาข้อเท็จจริงในการมีส่วนร่วมด้านทรัพยากรและสุขภาพ ซึ่งจังหวัดยโสธรมีคำสั่งแต่งตั้งเพื่อนำไปประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานแห่งชาติด้วย

เนื่องจากกระบวนการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (รายงาน EIA) ที่บริษัทมิตรผลไบโอ-พาวเวอร์ จำกัด นำเสนอต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานแห่งชาติไม่ได้ผ่านการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน 2 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริง ตามที่เครือข่ายฯ ได้ยื่นหนังสือประท้วงคัดค้านมาโดยตลอด

ดังนั้นจึงขอให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานแห่งชาติยกเลิกการพิจารณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าบริษัทมิตรผลไบโอ-พาวเวอร์ จำกัด ในวันที่ 17 ตุลาคม 2561 ไปก่อน พร้อมขอให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานแห่งชาติลงพื้นที่ดูข้อเท็จจริงและรับฟังคำคัดค้านของประชาชนในพื้นที่รอบ 5 กิโลเมตรของที่ตั้งโรงไฟฟ้าที่จะก่อสร้างขึ้น และเครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำเซบาย 2 จังหวัด คือ ยโสธร และอำนาจเจริญ ต้องการเข้าพบกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานแห่งชาติ เพื่อชี้แจงข้อมูลที่เป็นจริงทั้งหมดด้วย

ต่อมานายปฏิภาณ แก้วรินขวา ผู้อำนวยการฝ่ายสำนักงานกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประจำเขต 5 (อุบลราชธานี) ได้ลงมาพบกับชาวบ้านและรับหนังสือที่ชาวบ้านมายื่นเรียกร้อง พร้อมแจ้งว่าจะรีบส่งหนังสือต่อไปให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานแห่งชาติภายในวันนี้ (16 ต.ค.) เนื่องจากสำนักงานกำกับกิจการพลังงานประจำเขต 5 (อุบลราชธานี) ไม่มีอำนาจสั่งการใดๆ

รวมทั้งไม่ทราบจะมีการพิจารณาเรื่องการออกใบอนุญาตให้บริษัทมิตรผลไบโอ-พาวเวอร์ จำกัด ผลิตกระแสไฟฟ้าในวันที่ 17 ตุลาคม 2561 จริงหรือไม่

รายงานข่าวระบุว่า หลังจากชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำเซบาย 2 จังหวัด คือ ยโสธร และอำนาจเจริญ ยื่นหนังสือแล้วได้มารวมตัวที่หน้าสำนักงาน กกพ.ประจำเขต 5 (อุบลราชธานี) และโกนหัวประท้วง 5 คน เพื่อแสดงเจตนาไม่ยอมรับหากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานแห่งชาติยังจะพิจารณาออกใบอนุญาตให้บริษัทมิตรผลไบโอ-พาวเวอร์ จำกัด ผลิตกระแสไฟฟ้าโดยไม่ฟังเสียงคัดค้านจากชาวบ้าน รวมทั้งประกาศจะเดินทางไปรวมตัวกันที่สำนักงานกำกับกิจการพลังงานในวันพรุ่งนี้ (17 ต.ค.) อีกด้วย

ด้านนางมะลิจิตร เอกตาแสง แกนนำชาวบ้านจากตำบลเชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร ที่เกรงได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งนี้ กล่าวว่า ลำน้ำเซบายเป็นลำน้ำขนาดเล็กที่ชาวบ้านใช้หากินกับป่าบุ่งป่าทาม จับปลามาเลี้ยงครอบครัว รวมทั้งใช้น้ำในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมอินทรีย์หลายหมู่บ้าน

เมื่อมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในพื้นที่จะเกิดการแย่งน้ำระหว่างชาวบ้านกับโรงงาน ซึ่งในฤดูแล้งลำน้ำเซบายนี้ก็มีน้ำไม่พอต่อการเพาะปลูกพืชผลอยู่แล้ว และแน่นอนเมื่อมีการต่อสู้กันระหว่างนายทุนกับชาวบ้าน ชาวบ้านต้องเป็นฝ่ายพ่ายแพ้เพราะไม่มีกำลังพอที่จะต่อสู้กับทุนขนาดใหญ่ได้ ซึ่งอนาคตจะส่งผลกระทบด้านปากท้องของชาวบ้านที่หากินอยู่ในพื้นที่ในระยะยาว

รวมถึงชาวบ้านยังเกรงหากโรงงานปล่อยสิ่งปนเปื้อนลงไปในน้ำก็จะกระทบต่อสัตว์น้ำในลำน้ำเซบาย และมีผลกระทบมาถึงความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ซึ่งไม่รวมถึงเรื่องมลภาวะด้านเสียง ฝุ่นละออง ของรถบรรทุกที่จะขนอ้อยเข้ามาใช้ผลิตไฟฟ้าของโรงงาน จึงต้องการให้มีการทบทวนการออกใบอนุญาตให้โรงไฟฟ้าแห่งนี้

ลั่นค้านลงทุนอุตฯ ชีวภาพ

รง.น้ำตาล-ชีวมวลทุกแห่ง

ด้านนายสิริศักดิ์ สะดวก ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย เปิดเผยอีกว่า ขณะนี้เครือข่ายประชาชนภาคอีสานได้ออกแถลงการณ์คัดค้านกรณีที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้มีการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมกรรมชีวภาพ และอนุญาตให้มีการตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ในภาคอีสาน 28 โรงงาน และโรงงานขยายกำลังการผลิตในโรงงานเดิม 1 โรงงาน พ่วงด้วยโรงไฟฟ้าชีวมวลทุกแห่ง

โดยขอประณามคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. ที่เร่งรัดการพิจารณาใบอนุญาตโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 61 เมกะวัตต์ ใน ต.เชียงเพ็ง ไม่ยอมฟังเสียงคัดค้านของชาวบ้าน และกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายและภาคีเครือข่ายได้ยื่นเรื่องคัดค้านประกอบการพิจารณาเพื่อชะลอการออกใบอนุญาตไว้แล้ว ซึ่งผู้ว่าฯ ยโสธรได้แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเด็นการมีส่วนร่วม ทรัพยากร และสุขภาพไปแล้วเช่นกัน

นายสิริศักดิ์กล่าวย้ำว่า การเร่งรัดพิจารณาออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการในวันที่ 17 ตุลาคมนี้ ถือเป็นการละเลยผลกระทบที่จะเกิดขึ้นแก่ประชาชนในพื้นที่ เครือข่ายประชาชนภาคอีสานขอสนับสนุนข้อเรียกร้องของกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายและภาคีเครือข่าย คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานจะต้องชะลอการพิจารณาออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการไว้ก่อน จนกว่ารัฐบาลจะทำการศึกษาและประเมินผลกระทบในทุกมิติ

“เราขอยืนยันว่าต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย ประชาชน และชุมชนที่เกี่ยวข้องในทุกพื้นที่ โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมสำหรับการดำเนินนโยบายสาธารณะ ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อระบบนิเวศ สังคม และประชาชนในภาคอีสาน” นายสิริศักดิ์กล่าว และว่า

ทางเครือข่ายฯ ประกาศจุดยืนไปอย่างชัดเจนหลายครั้งแล้วว่า รัฐบาลต้องยุติการอนุมัติอนุญาตใดๆ ต่อโครงการทั้งหมดแก่ผู้ประกอบการไว้ก่อน รัฐต้องใช้กระบวนการนโยบายสาธารณะดำเนินการให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้องก่อน เพื่อให้ประชาชนมีข้อมูลความเข้าใจที่เพียงพอจะนำมาประกอบการพิจารณาความเหมาะสมของแต่ละโครงการ และขอให้มีการทบทวนแผนยุทธศาสตร์อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2558-2569 และแผนการพัฒนาไบโอฮับ ซึ่งวางเป้าหมายที่ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงและเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนบางกลุ่มอย่างชัดเจน

จาก https://mgronline.com   วันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ไทยร่วมออสซี่ฟ้อง “WTO” อินเดียอุดหนุนขายน้ำตาล

พาณิชย์เตรียมถกเอกชน 3 สมาคมน้ำตาล กำหนดท่าทีผนึกออสเตรเลียฟ้องอินเดียอุดหนุนส่งออกทุบราคาตลาดโลกดิ่งต่ำสุดในรอบ 10 ปี ด้านอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายไทยจับ GSA คัดค้านรัฐบาลอินเดียใช้มาตรการอุดหนุนการส่งออกน้ำตาล

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรมได้รับรายงานจากคณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก ประจำกรุงเจนีวา ว่า ทางรัฐบาลออสเตรเลียได้แจ้งต่อองค์การการค้าโลก (WTO) ว่าจะขอหารือกับรัฐบาลอินเดียในประเด็นที่อินเดียใช้มาตรการอุดหนุนการส่งออกน้ำตาลทราย และขอความเห็นจากประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลทรายหลายประเทศรวมถึงไทย

“ทางเจนีวาแจ้งมาว่าออสเตรเลียขอหารือกับอินเดีย แต่กระบวนการนี้ยังไม่ใช่การยื่นขอหารือ consultation แต่เป็นการหารือเบื้องต้น ซึ่งทางออสเตรเลียน่าจะต้องการชักชวนประเทศพันธมิตรอื่น ๆ ในการดำเนินการครั้งนี้”

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของไทยจะต้องดำเนินการเตรียมข้อมูล โดยกรมจะประสานเพื่อขอข้อมูลและความเห็นจากภาคเอกชน 3 สมาคมน้ำตาลทราย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดท่าที ซึ่งเบื้องต้นจะต้องศึกษารายละเอียดก่อนว่าการดำเนินนโยบายอุดหนุนส่งออกน้ำตาลทรายของอินเดียเป็นอย่างไรบ้าง มีประเด็นใดที่เข้าข่ายจะผิดต่อหลัก WTO หรือไม่ ทั้งนี้ ประเด็นนี้จะไม่เชื่อมโยงกับกรณีที่ข้อพิพาทน้ำตาลระหว่างไทย-บราซิล

นายวิบูลย์ ผาณิตวงศ์ รองประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า กลุ่มพันธมิตรเพื่อการปฏิรูปการค้าน้ำตาลโลก หรือ Global Sugar Alliance for Sugar Trade Reform and Liber-alization (GSA) ซึ่งมีประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลทรายที่สำคัญของโลกร่วมเป็นสมาชิก อย่างเช่น บราซิล ออสเตรเลีย กัวเตมาลา โคลอมเบีย ชิลี แคนาดา และไทย ได้เรียกร้องให้รัฐบาลอินเดียยกเลิกมาตรการอุดหนุนการส่งออกน้ำตาลทราย จำนวน 5 ล้านตัน หลังจากภาครัฐบาลอินเดียอนุมัติงบฯกว่า 760 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 22,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเพิ่มค่าอ้อยและชดเชยค่าขนส่งน้ำตาลจากโรงงานไปยังท่าเรือส่งออก ซึ่งขัดข้อตกลง WTO และเป็นการบิดเบือนตลาดน้ำตาลโลก มีผลให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกลดลง 36% ต่ำสุดในรอบ 10 ปี และอยู่ในระดับต่ำกว่าต้นทุนการผลิตของประเทศที่มีประสิทธิภาพการผลิตสูง เช่น บราซิล ออสเตรเลีย และไทยหากอินเดียไม่ดำเนินการยกเลิกมาตรการนี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศผู้ผลิตน้ำตาลทั่วโลก

ดังนั้น ภาคอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย จึงได้ร่วมกับภาครัฐ (สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย) เสนอต่อคณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก หรือ WTO เพื่อสอบถามและเรียกร้องให้อินเดียเลิกมาตรการอุดหนุนการส่งออกดังกล่าว และเห็นว่า ประเทศผู้ผลิตน้ำตาลจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกันยับยั้งมาตรการอุดหนุนใด ๆ ก็ตามที่บิดเบือนการค้าน้ำตาลโลก

“ในฐานะที่ไทยเป็นสมาชิกของ GSA จะร่วมกันเรียกร้องผ่านรัฐบาลของตนเอง เพื่อเรียกร้องผ่านกลไกระงับข้อพิพาทของ WTO ให้อินเดียยกเลิกมาตรการอุดหนุนการส่งออก

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ชาวไร่โอดเงินค่าอ้อยไม่พอใช้ ขอ 900 ให้ 800 บาท ดึงงบรัฐ-กองทุนช่วย

 “ชาวไร่อ้อย” โอดเงินช่วยเหลือรัฐไม่พอ หวังดันราคาอ้อยขั้นต้น 900 บาท/ตัน แต่ได้แค่ 800 บาท/ตัน หลัง ครม.อนุมัติเงินช่วยเหลือจากงบฯกลาง 50 บาท/ตัน และจากกองทุน 70 บาท/ตัน ด้าน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลเฝ้าระวัง 3 ปัจจัย อินเดียอุดหนุนราคาน้ำตาลโลกดิ่ง ค่าเงิน พร้อมรับปากช่วยประคบประหงมชาวไร่ต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2561 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อย วงเงินรวม 15,600 ล้านบาท เพื่อซื้อปัจจัยการผลิตหลัก เช่น ปุ๋ย และยาปราบศัตรูพืช หลังราคาอ้อยขั้นต้นตกมาอยู่ที่ 680 บาท/ตัน ในฤดูการผลิตปี 2561/2562

โดยเงินช่วยเหลือมาจาก 2 ส่วน คือ 1.งบฯกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจําเป็นประจำปีงบประมาณ 2562 จำนวน 6,500 ล้านบาท ให้กับชาวไร่อ้อยที่ลงทะเบียนกับสํานักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) จำนวน 340,000 ราย ที่เป็นคู่สัญญากับโรงงานน้ำตาล 54 โรงในฤดูการผลิต 2561/2562 เป็นการช่วยรายเล็กรายละ 50 บาท/ตัน จำกัดรายละไม่เกิน 5,000 ตัน หรือไม่เกิน 250,000 บาท/ราย ผ่านทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่จะจ่ายเงินเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรง

และ 2.ให้กลไกของโรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อยดูแลกันเอง โดยเห็นชอบให้นำเงินกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายที่มีอยู่ 9,100 ล้านบาท ช่วยเหลือรายใหญ่รายละ 70 บาท/ตัน ซึ่งทางโรงงานจะจ่ายโดยตรงให้กับเกษตรกร ทั้งนี้ จากการใช้มาตรการช่วยเหลือครั้งนี้รวมเป็น 120 บาท/ตัน ดังนั้น ราคาอ้อยขั้นต้นปี 2561/2562 จาก 680 บาท/ตัน จึงอยู่ที่ 800 บาท/ตัน

รายงานข่าวจากชาวไร่อ้อย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เงินช่วยเหลือดังกล่าวนับเป็นการช่วยทุเลาชาวไร่ได้แค่ส่วนหนึ่ง แต่ยังไม่เพียงพอกับต้นทุนของเกษตรกร เพราะการหารือกับนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ไปเมื่อต้นเดือน ชาวไร่ได้เสนอขอให้รัฐพิจารณาเงินช่วยเหลือ เพื่อให้ได้ราคาอ้อยขั้นต้นอยู่ที่ 900 บาท/ตัน

“ถึงเงินช่วยเหลือจะน้อยแต่ก็ถือว่ารัฐได้เข้ามาช่วยดูแลเราตอนที่ราคาอ้อยตกต่ำ แต่ก็ยังมีความกังวลว่าระบบการจ่ายเงินของ ธ.ก.ส.จะเริ่มได้รับพร้อมกับการจ่ายค่าอ้อยขั้นต้น ภายใน 15 วัน หลังจากเปิดหีบช่วงกลางเดือน พ.ย. 2561 หรือไม่” ชาวไร่กล่าว

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการ บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) ในฐานะนายกสมาคมผู้ผลิตเอทานอลไทย และประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาล เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงสถานการณ์ของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยว่า ในช่วงกลางเดือน พ.ย. 2561 จะเริ่มทำการเปิดหีบอ้อยของฤดูการผลิตปี 2561/2562 โดยคาดว่าจะมีปริมาณอ้อยเข้าหีบประมาณ 120-125 ล้านตัน และสูงสุดได้ถึง 126 ล้านตัน และเมื่อเร็ว ๆ นี้ทางสมาคมได้จัดกิจกรรมเวิร์กช็อป และหารือเรื่องวิธีการที่จะทำให้ธุรกิจอยู่ได้ การจัดการอ้อย การดูแลชาวไร่อ้อย การบริหารจัดการสิ่งปนเปื้อนในอ้อย รวมถึงประสิทธิภาพของโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศที่ปัจจุบันมีทั้งหมด 54 โรง โดยมี 3 ประเด็นหลักในการหารือ คือ 1.ทำอย่างไรให้ลดต้นทุนทั้งชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล 2.ทำอย่างไรให้เพิ่มผลผลิตอ้อยต่อไร่สูงขึ้นมาเฉลี่ยเป็น 14 ตัน/ไร่ จากปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 12 ตัน/ไร่ 3.การเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ที่ได้จากอ้อยและน้ำอ้อย และการเพิ่มมูลค่าของเหลือจากอ้อย

สำหรับปัจจัยลบที่คาดการณ์และต้องจับตาระวังในปี 2562 มี 3 เรื่องหลัก คือ 1.ราคาน้ำตาลโลกยังคงตกต่ำเนื่องจากซัพพลายมากกว่าดีมานด์ เมื่อราคาตกต่อเนื่องจะมีวิธีรับมือกันอย่างไร 2.ผู้ผลิตบางประเทศอย่างอินเดียใช้วิธีการอุดหนุน (subsidize) 3.อัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินดอลลาร์ที่จะส่งผลต่อค่าเงินบาท

“แน่นอนว่าอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย มันเกี่ยวข้องกับชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลที่ต้องคอยช่วยเหลือดูแลกัน เมื่อเกิดวิกฤตในอุตสาหกรรมรัฐเขาช่วยเป็นตัวเงิน ส่วนเราโรงงานช่วยดูแลชาวไร่อ้อยอย่างการเพิ่มประสิทธิภาพ ช่วยพัฒนาพันธุ์อ้อย การบริหารจัดการภายในไร่อย่างการตัดอ้อย การใช้แรงงาน การดูแลดิน การใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์เครื่องจักร และการนำเครื่องมือ NIR คลื่นอินฟราเรดระยะสั้นเพื่อลดสิ่งปนเปื้อนในอ้อย”

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า หลักการของการดูแลเกษตรกรชาวไร่อ้อยรัฐสามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ โดยเฉพาะช่วงที่กำลังเผชิญกับราคาตลาดโลกตกต่ำ และวางแนวทางรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นข้างหน้า กรณีของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายรัฐจำเป็นต้องมีวิธีและกลไกช่วยเหลือโดยไม่ขัดต่อ WTO

ดังนั้น จากการหารือที่ผ่านมารัฐจะไม่ทิ้งชาวไร่อ้อย และนอกจากแนวทางช่วยเหลือด้านปัจจัยการผลิตสำหรับอ้อยฤดูกาลปีหน้าแล้วนั้น สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) จะยังเข้าไปช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายต่อไปให้สอดรับกับการปรับโครงสร้างอ้อย และ พ.ร.บ.อ้อยฯฉบับใหม่ที่เตรียมประกาศใช้เร็ว ๆ นี้

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2561

พาณิชย์ลุยเจรจาเอฟทีเออีก11ฉบับ

อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศชี้ไทยอยู่ระหว่างการเจรจาเอฟทีเออีก 5 ฉบับและอาจดำเนินการในอนาคตอีก 6 ฉบับ หลังจากที่ผ่านมามีเอฟทีเอแล้ว 12 ฉลับและต้นปีกำลังลงนามอาเซียน-อ่องกง           

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ  กล่าวบรรยายห้อข้อ “ภาพรวมสถานการณ์เจรจาการค้าระหว่างประเทศของไทย”แก่ผอ.สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) 64 แห่งทั่วโลกว่า ขณะนี้กรมฯอยู่ระหว่างการเจรจาและเตรียมการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ อีก 11 ฉบับ เพื่อขยายการค้าของไทยให้มีความสะดวกหลังจากในปัจจุบันประเทศไทยได้มีการลงนามข้อตกลงเอฟทีเอไปแล้ว 12 ฉบับ กับ 17 ประเทศ ส่งผลให้มูลค่าการค้าของไทยมีการขยายตัวอย่างมาก

 สำหรับการเจรจาอีก 11 ฉบับแบ่งเป็นอยู่ระหว่างการเจรจา 5 ฉบับ คือเอฟทีเอไทย-ปากีสถาน,ไทย-ตุรกี,อาเซียน+6, ไทย-ศรีลังกาและกลุ่มบิมสเทค ส่วนที่อาจดำเนินการเจรจาในในอนาคต มี 6 ฉบับ คือ ไทย-สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย, อาเซียน-สหภาพยุโรป, ไทย-สหภาพยุโรป, ไทย-สมาคมการค้าเสรียุโรป, ไทย-บังกลาเทศ และซีพีทีพีพี

 “ตอนนี้มีทำข้อตกลงแล้ว 12 ฉบับ และต้นปีหน้าจะมีข่าวดีอีก 1 ฉบับคืออาเซียน-ฮ่องกง  ส่วนอีก 11 ฉบับนั้นคาดว่าในปี 63 ข้อตกลงไทย-ตุรกีและไทยปากีสถาน จะสำเร็จลงได้  ส่วนที่เหลือเจ้าหน้าที่ได้มีการเจรจาคืบหน้าไปมาก ยกเว้นไทย-สหภาพยุโรปและ ไทย-สมาคมการค้าเสรียุโรป ที่ต้องรอหลังเลือกตั้งเพราะอียูได้ประกาศเจตนารมณ์ไว้ตั้งแต่แรกแล้ว”

 สำหรับการเข้าร่วมสมาชิกความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี)นั้นล่าสุดนักลงทุนต่างชาติที่ตั้งฐานการผลิตในไทยได้เข้ามาสอบถามความคืบหน้าต่อเนื่อง เพราะจะนำผลการตัดสินใจของไทยไปเป็นแผนธุรกิจในอนาคตด้วย

จาก https://www.dailynews.co.th    วันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ครม.เห็นชอบแผนโลจิสติกส์ขนส่งสินค้าเกษตรฯ 25,511 ล้านบาท

ครม.เห็นชอบแผนพัฒนาโลจิสติกส์ขนส่งสินค้าเกษตรฯ วงเงิน  25,511 ล้านบาท  หวังลดต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศ อำนวยความสะดวกขนส่ง อ้อย น้ำตาล ข้าว ยางพารา

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบแผนการพัฒนาระบบโลจิสติกส์และโซ่อุปทานภาคเกษตรตามข้อเสนอกระทรวงเกษตรฯ วงเงิน 25,511 ล้านบาท ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศ (ปี 60-64)  524 โครงการ วงเงิน 808,768 ล้านบาท หวังลดขั้นตอนการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ สำหรับขนส่งสินค้า อ้อย น้ำตาล ข้าว ยางพารา สินค้าแช่แข็ง และวัตถุอันตราย โดยต้องปรับลดขั้นตอนให้ได้ร้อยละ 50 ภายในเดือนธันวาคม 2561 ด้วยการดึงบริษัท กสท โทรคมนาคม พัฒนาระบบ National single Window (NSW) ร่วมกับศุลกากรและสำนักงาน ก.พ.ร. โดยจัดทำตัวชี้วัดทุกหน่วยงานที่ร่วมโครงการ

ทั้งนี้ จากการประเมินประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ประจำปี 2561 ของธนาคารโลก ไทยขยับอันดับจาก 45 เพิ่มเป็นอันดับ 32 ของโลก และอันดับ 2 ของกลุ่มอาเซียน คาดว่าปี 2560 ต้นทุนการขนส่งโลจิสติกส์ลดลงเหลือร้อยละ 13.8 ต่อจีดีพี ส่วนต้นทุนการขนส่งสินค้าและบริหารจัดการลดลงเหลือร้อยละ 7.5 รัฐบาล (ทราบตัวเลขชัดเจนของปี 60 ในปี 61) จึงต้องการยกระดับโครงข่ายการขนส่งสินค้าของไทยผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานพัฒนาขนส่งชายฝั่ง การขนส่งทางน้ำเป็นร้อยละ 17.10 ต้นทุนขนส่งทางน้ำลดลง 38,179 ล้านบาทต่อปี ประหยัดพลังงานขนส่งสินค้าภาคคมนาคม 16,390 ล้านบาทต่อปี และลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุด้านคมนาคม 2,067 ล้านบาทต่อปี.

จาก https://tna.mcot.net  วันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2561

SCB EIC วิเคราะห์ IMF ปรับลด GDP โลกปี 2018 2019 ระบุความเสี่ยงสงครามการค้าเพิ่มขึ้น

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) ในเดือนตุลาคม 2018 และปรับลดคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจโลกในปี 2018 และ 2019 ลดลงเป็น 3.7% ทั้งสองปีจากประมาณการในเดือนกรกฎาคมที่ระดับ 3.9% จากการที่หลายกลุ่มประเทศมีการขยายตัวน้อยกว่าที่คาด ประกอบกับความเสี่ยงต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผลกระทบจากสงครามการค้า

IMF ปรับลด GDP ของเศรษฐกิจโลกจากความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของสงครามการค้า ความเปราะบางทางเศรษฐกิจรายประเทศ และภาวะการเงินโลกที่มีแนวโน้มตึงตัวต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับประมาณการในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา การเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคหลักปี 2018 ถูกปรับลดลงโดยเฉพาะในยูโรโซนและกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา (EM) สำหรับประมาณการการเติบโตในปี 2019 สหรัฐฯ และจีนจะขยายตัวราว 2.5% และ 6.2% ตามลำดับลดลงจากประมาณการรอบก่อน 0.2% ทั้งสองประเทศจากผลของสงครามการค้า ในขณะที่ยูโรโซนและญี่ปุ่นจะขยายตัวราว 1.9% และ 0.9% ตามลำดับ  สำหรับการขยายตัวของกลุ่มประเทศ EM ทั้งในปี 2018 และ 2019 มีทิศทางแตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ EM เอเชียจะเติบโตได้ค่อนข้างดีราว 6.5% และ 6.3% ตามลำดับ อย่างไรก็ดี อัตราการขยายตัวของปริมาณการค้าโลกถูกปรับลดลงเหลือ 4.2% (ลดลงจากรอบก่อน 0.6%) ในปี 2018 และ 4% (ลดลงจากรอบก่อน 0.5%) ในปี 2019 ตามลำดับ สะท้อนผลกระทบจากสงครามการค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ การขยายตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ EM ถูกปรับลงในปีหน้า เนื่องจากจีน บราซิล เม็กซิโก และแอฟริกาใต้ถูกปรับ GDP ลง และกลุ่มประเทศ EM ที่มีความเปราะบางสูง อาทิ ตุรกี อาร์เจนตินา กำลังประสบวิกฤตค่าเงินและมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย พร้อมกันนี้ ภาวะการเงินโลกที่จะตึงตัวขึ้นจากดอกเบี้ยนโยบายในหลายประเทศที่เข้าสู่ช่วงขาขึ้น และผลกระทบจากมาตรการกีดกันการค้าของสหรัฐฯ ที่จะเริ่มส่งผล จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อภาพรวมการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีหน้า

IMF ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2019 จากมาตรการกีดกันการค้า โดย IMF คงประมาณการเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2018 ขยายตัวที่ 2.9% เนื่องจากพื้นฐานเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและการกระตุ้นนโยบายการคลังส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวเกินกว่าศักยภาพ อย่างไรก็ตาม การขยายตัวทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2019 ถูกปรับลดลงเป็น 2.5% (จากเดิม 2.7%) โดยมีปัจจัยเสี่ยงหลักมาจากมาตรการกีดกันการค้า จากล่าสุดที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนมูลค่ารวม 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และจีนได้ตอบโต้กลับ หลังปี 2019 เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวลงเมื่อผลของนโยบายการคลังหมดลงและนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติ

เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องในระยะข้างหน้า โดย IMF ปรับการเติบโตเศรษฐกิจจีนในปี 2019 ลดเหลือ 6.2% (จากเดิม 6.4%) จากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนที่ทวีความรุนแรงขึ้น ประกอบกับการควบคุมภาคธนาคารเงาและระดับหนี้ในบางภาคส่วนจะส่งผลให้เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอลง โดยตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจล่าสุด อาทิ การบริโภคภายในประเทศ

การลงทุน และการผลิตภาคอุตสาหกรรมเริ่มมีแนวโน้มขยายตัวลดลง ในขณะที่ การส่งออกจะเริ่มชะลอตัวชัดเจนในปี 2019 เนื่องจากภาษีนำเข้าสินค้าจีนที่สหรัฐฯ เรียกเก็บมูลค่ารวม 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จะถูกปรับอัตราภาษีจาก 10% เป็น 25% ในวันที่ 1 มกราคม 2019 นอกจากนี้ เงินหยวนยังมีความเสี่ยงอ่อนค่าอย่างต่อเนื่องจากความเชื่อมั่นนักลงทุนที่อาจลดลงและความเสี่ยงจากสงครามการค้าที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง

กลุ่มประเทศ EM เฉพาะในภูมิภาคเอเชียยังมีปัจจัยพื้นฐานโดยรวมแข็งแกร่ง แต่ความเสี่ยงต่อการเติบโตเพิ่มขึ้น การเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ EM เอเชียยังอยู่ในเกณฑ์ดี อย่างไรก็ดี สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะสร้างแรงกดดันให้เศรษฐกิจกลุ่ม ASEAN-5 (มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย) เติบโตในอัตราที่ชะลอลงเล็กน้อยจาก 5.3% ในปี 2018 เป็น 5.2% ในปี 2019 อย่างไรก็ตาม จากผลกระทบสงครามการค้า ภาวะการเงินโลกที่มีแนวโน้มตึงตัวขึ้นจากการที่ Fed ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ผนวกกับวิกฤตการเงินในตุรกี อาร์เจนตินา จะยังเป็นปัจจัยกดดันความเชื่อมั่นของนักลงทุนและสินทรัพย์ในกลุ่มประเทศ EM และยังอาจส่งผลให้เกิดภาวะเงินทุนไหลออกจากกลุ่มประเทศ EM เอเชียได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในประเทศ EM เอเชียที่มีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลการคลังสูงต่อเนื่อง เช่น อินโดนีเซีย ที่เริ่มประสบปัญหาภาวะเงินทุนไหลออกและค่าเงินอ่อนค่า

สงครามการค้าจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งสหรัฐฯ และจีนโดยผลกระทบจะเริ่มชัดเจนในปีหน้าโดยเฉพาะกับเศรษฐกิจจีน IMF ได้คาดการณ์ผลกระทบจากมาตรการการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ทั้งการขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียม 10% และ 25% ตามลำดับ การขึ้นภาษีนำเข้า 25% ในสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และภาษีนำเข้า 10% ในสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงการตอบโต้จากประเทศคู่ค้าสหรัฐฯ และจีนซึ่งตอบโต้ในมูลค่าที่เท่ากัน ยกเว้นรอบล่าสุดที่จีนขึ้นภาษีนำเข้าเฉลี่ย 7% ในมูลค่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยคาดว่าเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะสหรัฐฯ และจีนจะได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันการค้าชัดเจนในปี 2019 จากประมาณการของ IMF นอกจากภาษีนำเข้าปัจจุบันที่มีผลบังคับใช้แล้ว หากคาดการณ์ว่าสหรัฐฯ จะขึ้นภาษีนำเข้า 25% บนสินค้านำเข้าจากจีนที่เหลือ 2.67 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รวมมูลค่าสินค้าจีนที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าราว 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และจีนมีการตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ ทั้งหมดที่จีนสามารถทำได้ราว 1.3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ผลกระทบสงครามการค้าจะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และจีนในปี 2019 มีแนวโน้มชะลอลง 0.2% และ 1.16% ตามลำดับ และในปี 2020 จะมีแนวโน้มลดลง 0.27% และ 0.95% ตามลำดับ

มุมมองของอีไอซีต่อเศรษฐกิจไทยสอดคล้องกับประมาณการใหม่ของ IMF โดย IMF ปรับประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยดีขึ้นจากประมาณการครั้งก่อน ซึ่งในปี 2018 เพิ่มขึ้นเป็น 4.6% จาก 3.9% และในปี 2019 ขึ้นเป็น 3.9% จาก 3.8% ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจไทยโดยอีไอซีที่ระดับ 4.5% และ 4.0% ในปี 2018 และ 2019 ตามลำดับ ทั้งนี้ อัตราการขยายตัวตามประมาณการใหม่ของ IMF สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมาสามารถขยายตัวได้ดีกว่าที่เคยประเมิน โดยไทยเป็นประเทศเดียวในกลุ่ม ASEAN-5 ที่ IMF ปรับประมาณการเพิ่มขึ้นทั้งในปีนี้และปีหน้า ทั้งนี้ ถึงแม้ว่า IMF จะมองว่าการเติบโตของไทยอาจชะลอลงบ้างในระยะข้างหน้า แต่อัตราการเติบโตในระดับดังกล่าวยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีเมื่อเทียบกับช่วง 5 ปีก่อนหน้า (2013-2017) ที่เติบโตเฉลี่ยเพียง 2.8% ต่อปี เศรษฐกิจไทยยังคงได้รับแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายทั้งจากในประเทศและต่างประเทศที่มีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ไทยควรจับตาผลกระทบและความเสี่ยงจากปริมาณการค้าโลกที่ IMF ประเมินว่าจะมีแนวโน้มขยายตัวลดลงในปีหน้า จากสาเหตุของการชะลอตัวของเศรษฐกิจกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วและสงครามการค้า รวมถึงผลกระทบของนโยบายการเงินที่มีแนวโน้มตึงตัวมากขึ้น ทั้งนี้ ธุรกิจไทยยังต้องจับตาผลกระทบทั้งในเชิงบวก เช่น การย้ายฐานการผลิตของธุรกิจจีนเข้ามาไทย และผลกระทบเชิงลบ เช่น การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและการค้าโลกหากสงครามการค้าทวีความรุนแรงขึ้น

ภาวะการเงินที่ตึงตัวขึ้นในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ อีไอซีมองว่าภาระหนี้ของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่เป็นประเด็นที่ต้องจับตามอง ภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นและการเงินที่ตึงตัวขึ้นในประเทศที่พัฒนาแล้ว อาจทำให้เกิดการปรับพอร์ตการลงทุนของนักลงทุน การเคลื่อนไหวของค่าเงินที่รุนแรง และเงินทุนไหลเข้าที่ชะลอตัวลงของกลุ่มประเทศ EM โดยเฉพาะประเทศที่มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอ

ทั้งนี้ อีไอซีมองว่าจุดเปราะบางที่สำคัญสำหรับกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ ได้แก่ ภาระหนี้สิน เนื่องจากในช่วงที่ภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น สภาพคล่องที่ลดลง ทำให้กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่มีความเสี่ยงจากเรื่องภาวะหนี้สูงขึ้น จากข้อมูล Institute of International Finance (IIF) พบว่า หนี้ต่อ GDP ของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหนี้ภาคธุรกิจและหนี้ที่อยู่ในรูปสกุลเงินต่างประเทศที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา และจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นและหากเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจไทยนั้นยังแข็งแกร่ง เนื่องจากในปี 2017 ไทยมีดุลบัญชีเดินสะพัดสูงถึง 11% ต่อ GDP เงินทุนสำรองต่อหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 3 เท่า และมีหนี้ที่อยู่ในรูปสกุลเงินต่างประเทศค่อนข้างต่ำหากเปรียบเทียบกับในกลุ่มประเทศ EM ด้วยกัน

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ผวาปี’62ส่งออกร่วงหนัก “สมคิด”เรียกประชุมทูตพาณิชย์ทั่วโลกถกแผนตั้งรับ18ต.ค.นี้

ปี 2562 โจทย์ยากเศรษฐกิจไทย IMF ปรับลดจีดีพี “สหรัฐ-จีน” ส่งสัญญาณอันตรายการค้าโลกชะลอตัว รองนายกฯ “สมคิด” ชี้อย่าหวังพึ่งส่งออก หันปลุกเศรษฐกิจในประเทศ พร้อมเตือนราคาน้ำมันขาขึ้นดันต้นทุนการผลิตพุ่ง เผยนัดถกยักษ์ ปตท.เร่งส่งเสริม “ไบโออีโคโนมี” 18 ต.ค. ประชุมทูตพาณิชย์ทั่วโลก วางแผนรับมือตัวเลข “ส่งออก” แผ่ว เอกชนคาดโตแค่ 5% ศูนย์วิจัยกสิกรฯชี้เสี่ยงตัวเลขส่งออก+นักท่องเที่ยวจีนจับมือร่วงทั้งคู่

IMF ปรับลดจีดีพี “สหรัฐ-จีน”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) แถลงปรับลดคาดการณ์ขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในระหว่างปี 2561-2562 ลงสู่ระดับ 3.7% จากเดิมที่เคยคาดการณ์ขยายตัว 3.9% จากปัจจัยลบหลายประการ ได้แก่ สงครามการค้าของสหรัฐและจีน, ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในกลุ่มยูโรโซน ญี่ปุ่น และสถานการณ์เบร็กซิตที่ไม่แน่นอนกระทบต่ออังกฤษ และผลกระทบจากสหรัฐปรับขึ้นดอกเบี้ย

พร้อมกันนี้ IMF ได้ปรับลดคาดการณ์ขยายตัวเศรษฐกิจของสหรัฐในปีหน้าเหลือ 2.5% จากเดิม 2.7% ส่วนจีนปรับลดลงเหลือ 6.2% จากเดิมที่ 6.4% หลังจากที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจบางส่วนหมดไป รวมถึงผลกระทบจากมาตรการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าระหว่างกัน ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบชัดเจนในปีหน้า

“สมคิด” ชี้อย่าหวังพึ่ง “ส่งออก”

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนจะกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในปีหน้า ปัญหาดังกล่าวนอกจากจะกระทบเศรษฐกิจระดับมหภาคแล้ว คนในประเทศจีนเองก็หวั่นเกรงผลกระทบเช่นกัน จีนจึงใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินมาประคองสถานการณ์ เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจภายในและนอกประเทศ

“ขณะนี้สิ่งที่ผู้คนกังวลไม่ใช่เรื่องผลกระทบจากสงครามการค้าในระยะสั้นว่าจะออกมาเป็นอย่างไร แต่ที่กังวลกันคือสงครามการค้าจะอยู่นาน เพราะจากนโยบายของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐดีขึ้น ในทางการเมืองจึงเข้มแข็งมาก จึงมองกันว่าสงครามการค้าจะยืดเยื้อออกไปอย่างน้อยอีก 2-3 ปี”

เมื่อสงครามการค้ายืดเยื้อ ย่อมกระทบการค้าโลก ดังนั้นอย่าหวังพึ่งการส่งออกให้ขยายตัวได้มาก หรือทำสถิติทุกเดือน เพราะคงเป็นไปไม่ได้ แต่ต้องหันมาสร้างเศรษฐกิจภายใน หรือ local economy เพื่อให้เกิดความสมดุล เศรษฐกิจโลกจะกระทบมากเพียงใดก็ตาม แต่ประเทศไทยจะต้องวางตำแหน่งของตัวเองให้ปลอดภัยที่สุด

นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องระวังอีกเรื่อง คือ ราคาน้ำมันที่อยู่ในช่วงขาขึ้น จะทำให้ต้นทุนในการผลิตสูงขึ้น โดยเมื่อวันที่ 11 ต.ค. มีการหารือกับผู้บริหาร บมจ.ปตท. เรื่องพลังงาน ปิโตรเคมี และเศรษฐกิจชีวภาพ หรือไบโออีโคโนมี ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ประเทศไทยจะต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้

18 ต.ค.ประชุมทูตพาณิชย์รับมือ

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ในวันที่ 18 ตุลาคมนี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ร่วมกับนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะประชุมมอบนโยบายผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) ทั่วโลก เพื่อประเมินทิศทางการส่งออกไตรมาส 4/61 และกำหนดเป้าหมายและแผนผลักดันการส่งออกในปี 2562

สำหรับทิศทางการส่งออกปี 2561 จะเป็นไปตามเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้ 9% มูลค่า 257,932 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ สามารถทำได้ 169,030 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 10.03% และช่วง 5 เดือนที่เหลือไทยเพียงประคองตัว ส่งออกให้ได้เฉลี่ยเดือนละ 22,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ก็จะไปถึงเป้าหมาย

สรท.ชี้ส่งออกปี”62 โตแผ่ว 5%

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า เบื้องต้นคาดการณ์ตัวเลขส่งออกในปี 2562 ขยายตัว 5% ชะลอตัวลงจากปีนี้ที่คาดว่าจะขยายตัว 9% โดยจะมีการหารือรายกลุ่มสินค้าและอุตสาหกรรมภายในปลายเดือนนี้ เหตุผลสำคัญที่ทำให้ตั้งเป้าหมายที่แผ่วลงจากปีนี้ เพราะจากแรงกดดันจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน กระทบบรรยากาศการค้าโลก หากไม่มีเทรดวอร์อาจจะขยายตัวได้ถึง 10% ประกอบกับฐานการส่งออกของไทยขยายตัวสูงมาตั้งแต่ปี 2560 ขยายตัว 9.9% หากปีนี้ขยายตัวได้อีก 9% ก็ถือว่ามาแรงมาก

ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับขึ้นสูงเกิน 80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล กลายเป็นต้นทุนกับผู้ประกอบการ ซึ่งเดิมมองว่าการปรับจาก 30-40 เป็น 60-70 เหรียญสหรัฐ ช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศผู้ค้าน้ำมันมีกำลังซื้อสูงขึ้น และยังมีส่วนเสริมให้สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เช่น พลาสติก เคมีภัณฑ์ และสินค้าเกษตรที่ใช้เป็นพลังงานทดแทนปรับตัวดีขึ้น แต่ขณะนี้ราคาน้ำมันปรับขึ้นเกิน 80 เหรียญสหรัฐ จึงกลับเป็นอีกด้าน

ทั้งนี้ หลังจากไอเอ็มเอฟปรับลดตัวเลขจีดีพีของสหรัฐและจีน อาจจะต้องทบทวนกลุ่มสินค้าที่ส่งออกไปยังตลาดจีน และสหรัฐใหม่ เพราะจีนเป็นตลาดหลักของยางพาราและมันสำปะหลัง ซึ่งกลุ่มมันสำปะหลังประสบปัญหาวัตถุดิบขาดแคลนจากโรคใบด่างและสถานการณ์ราคาซบเซาหลายปี

นายวิศิษฐ์กล่าวว่า สำหรับตลาดเด่นที่จะทำให้การส่งออกขยายตัวยังเป็นตลาดในกลุ่มอาเซียน และ CLMV รวมทั้งจีน อินเดีย ญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามผลสงครามการค้าสหรัฐ-จีนว่า ประเทศที่ส่งออกสินค้าวัตถุดิบให้จีนและสหรัฐจะส่งออกลดลงหรือไม่ และตลาดจีน และสหรัฐ ซึ่งเป็นตลาดหลักของการส่งออกจะปรับลดการนำเข้าหรือไม่

พาณิชย์ฝันส่งออกปี”62 โต 9%

ขณะที่นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ก่อนการประชุมได้มอบหมายให้ทูตพาณิชย์ได้ศึกษาผลกระทบและแนวทางการแก้ไขเพื่อนำมารายงานในที่ประชุมเบื้องต้น คาดการณ์ว่าทิศทางการส่งออกในปี 2562 จะเติบโตเท่ากับหรือมากกว่าปี 2561 ที่วางไว้ 9% ซึ่งจะเป็นเป้าหมายการทำงานที่ต้องพยายามให้เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม เป้าการส่งออกอย่างเป็นทางการยังต้องรองรับการมอบนโยบายจากที่ประชุมต่อไป

“ประเด็นที่มอบหมายให้ทูตพาณิชย์ศึกษา 2-3 เรื่อง คือให้ประเมินว่า สงครามการค้าจะส่งผลกระทบต่อกลุ่มคลัสเตอร์และสินค้าตัวไหน พร้อมกับมองหาโอกาสจากปัจจัยดังกล่าวเพื่อให้การส่งออกไทยเติบโตในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม รวมไปถึงภาคบริการ และให้รวบรวมข้อมูลจากทุกหน่วยงานที่มีการประเมินการค้า การส่งออก ผลกระทบที่เกิดขึ้น มาวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางการผลักดันการส่งออกที่เหมาะสมในตลาดนั้น ๆ รวมถึงการจัดทำแผนและกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกเพื่อสร้างโอกาสขยายตลาด และมูลค่าการค้าให้มากขึ้น”

ทั้งนี้ รายงานนโยบายการเงินเดือน ก.ย. 2561 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวชัดเจนและต่อเนื่องที่ 4.4% และ 4.2% ในปี 2561 และ 2562 ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกสินค้าในปี 2561 คาดว่าจะขยายตัว 9.0% เท่ากับประมาณการเดิม และในปี 2562 คาดว่าจะขยายตัว 4.3% ต่ำกว่าประมาณการเดิมที่ 5.0% เนื่องจากประเมินว่าปริมาณการค้าโลกและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าจะได้รับผลกระทบบางส่วนจากมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐ และการตอบโต้จากจีน

หวั่น “การค้า-ท่องเที่ยว” ดิ่งคู่

ด้านนายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า จากที่ IMF ปรับลดประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้และปีหน้า สอดคล้องกับองค์การการค้าโลก (WTO) ที่ออกมาก่อนหน้านี้ว่า ปริมาณการค้าโลกในปีหน้าจะเติบโตช้าลง และการที่ตลาดหลักอย่างสหรัฐและจีนเติบโตต่ำ ย่อมส่งผลให้ไทยได้รับผลกระทบด้วย โดยเฉพาะภาคส่งออกของไทยที่จะได้รับผลกระทบชัดเจนในปีหน้า เพราะหากจีนโดนเรียกเก็บภาษีเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้คำสั่งซื้อต่าง ๆ จากไทยลดลง โดยเฉพาะสินค้าโภคภัณฑ์ที่จีนเป็นผู้บริโภคใหญ่ที่สุดในโลก “ถ้าจีนกระทบก็ส่งผลกระทบกับซัพพลายเชนของไทยที่ส่งไปจีนด้วย และในส่วนของจีนที่ไม่เพียงแค่กระทบกับการค้าของไทย ยังกระทบไปถึงการท่องเที่ยวอีกด้วย เนื่องจากที่ผ่านมาจะเห็นว่านักท่องเที่ยวจีนเดินทางลดลง ทั้งในไทยและประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก”

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปีหน้าการค้าและท่องเที่ยวของไทยอาจขยายตัวน้อยลง แต่หวังว่าการใช้จ่ายในประเทศจะเข้ามาชดเชยส่วนดังกล่าวได้ เช่น โครงการภาครัฐที่มีการให้เร่งเบิกจ่ายงบประมาณ และความชัดเจนของการเลือกตั้งที่จะหนุนการใช้จ่ายและความเชื่อมั่นของภาคเอกชนได้ ขณะเดียวกันก็หวังว่าไทยจะได้อานิสงส์จากที่มีการลงทุนเข้ามามากขึ้น เพื่อหลบข้อพิพาททางการค้า และหากข้อพิพาทระหว่างสหรัฐและจีนยืดเยื้อ จะทำให้การลงทุนในจีนไม่น่าสดใส นักลงทุนอาจเบี่ยงความสนใจมาลงทุนที่ไทยหรือในภูมิภาค

3 สินค้าส่งออกเสี่ยงซัพพลายหด

แหล่งข่าวระบุว่า สินค้าส่งออกที่ยังน่าห่วงทั้งกุ้ง มันสำปะหลัง และข้าว ยังเป็นสินค้าที่มีความเสี่ยงจากปัญหาผลผลิตที่ลดต่ำลง โดยสินค้ากุ้งคาดการณ์ว่าจะมีการผลิตได้เพียง 300,000 ตัน จากที่เคยผลิตได้ 500,000-600,000 ตัน จากปัญหาการเกิดโรคตายด่วน ขณะที่ผู้ส่งออกมันสำปะหลังของไทยยอมรับว่า ยังมีความเสี่ยงจากโรคใบด่าง ซึ่งขณะนี้ได้แพร่ระบาดลุกลามไปยังประเทศผู้ผลิตมันสำปะหลังในอาเซียน ทั้งเวียดนามและกัมพูชาที่เป็นแหล่งซัพพลายวัตถุดิบให้ไทย ขณะที่ข้าวยังมีความผันผวนเพราะต้องติดตามสถานการณ์การเก็บเกี่ยวข้าวหอมมะลิ นาปี 2561/2562 ซึ่งจะทยอยเกี่ยวช่วงปลายเดือนตุลาคม 2561 และมีแนวโน้มว่าผลผลิตจะลดลง ทั้งนี้ ในช่วง 8 เดือนแรกมีการส่งออกไปแล้ว 7.1 ล้านตัน ลดลง 3.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

เงินลงทุนไหลกลับสหรัฐ

ขณะที่ ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดหุ้นเกิดใหม่ทั่วโลกยังคงถูกกดดันจากการที่สหรัฐปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยเฉพาะตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวลดลงมากกว่าประเทศอื่น ๆ ในช่วง 3-4 วัน

ที่ผ่านมา ซึ่งหลัก ๆ ตลาดค่อนข้างได้รับผลกระทบจาก global effect จึงอยากให้พิจารณา asset allocation ว่าจะมีการเคลื่อนไหวอย่างไร เพราะขณะนี้เม็ดเงินลงทุนไหลกลับไปยังสหรัฐ

สำหรับภาวะค่าเงินหยวนที่ร่วงลงหนัก เป็นผลจากธนาคารกลางจีนได้ปรับลดสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ลง เพื่อเสริมสภาพคล่องและพยุงเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการจัดเก็บภาษีของสหรัฐ ซึ่งถือเป็นทิศทางที่ทุกประเทศก็พยายามกระตุ้นเศรษฐกิจภายใน “global effect ที่เข้ามากระทบต่อประเทศไทย คาดว่าอาจส่งผลกระทบต่อกลุ่มส่งออกและบริษัทจดทะเบียนที่มีการส่งออกค่อนข้างมากในช่วงสั้น ๆ แต่ต้องดูในระยะยาวว่าจะส่งผลกระทบต่อเนื่องหรือไม่”

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2561

จับตาพณ.ชงครม.ปัดฝุ่นพ.ร.บ.หอการค้า-สมาคมการค้า บังคับใช้มานานไม่เอื้อการค้าโลก

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล โดยมีวาระที่กระทรวงและหน่วยงานต่างๆเสนอ ผ่านสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี(สลค.) เพื่อบรรจุเป็นวาระพิจารณาหลายวาระ โดยวาระที่น่าสนใจ อาทิ กระทรวงพาณิชย์ จะเสนอ ร่างพระราชบัญญัติหอการค้า (ฉบับที่...) พ.ศ... และร่างพระราชบัญญัติสมาคมการค้า (ฉบับที่...) พ.ศ.... รวม 2 ฉบับ เพื่อทดแทนพระราชบัญญัติฉบับเก่าที่บังคับใช้มาเป็นเวลานาน เพื่อให้ทันกับยุคสมัยของการค้าที่มีบริบทที่เปลี่ยนไปอย่างมาก

โดยพ.ร.บ.สมาคมการค้าที่ใช้ปัจจุบันบังคับใช้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2509 หรือ 52 ปีมาแล้ว ส่วน พ.ร.บ.หอการค้ามีการแก้ไขมาแล้ว 1 ครั้ง หลังจากบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2509 เช่นกัน แต่มีการแก้ไขมาแล้ว 1 ครั้งเมื่อปี 2550 หรือ 10 ปีที่แล้ว

ส่วนวาระอื่นๆ กระทรวงพาณิชย์ จะเสนอร่างพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์(ฉบับที่...) พ.ศ....และการสมัครเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยลิขสิทธิ์ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก(WIPO Copyright Treathy) และนอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์ ขออนุมัติลงนามเอกสารผลลัพธ์การประชุมคณะทำงานสาขาความร่วมมือเศรษฐกิจข้ามพรมแดนภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 2

กระทรวงการคลังขอความเห็นต่อร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่12 กระทรวงการต่างประเทศ เสนอเรื่องการขอความเห็นชอบของเอกสารผลลัพธ์การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 25

กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เสนอร่างแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ฉบับที่2 พ.ศ. 2560-2564 และขอความเห็นชอบปฏิญญาบาลาคาวา ว่าด้วยการเสริมสร้างบทบาททางเศรษฐกิจของสตรีและความเสมอภาคระหว่างเพศ ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

กระทรวงกลาโหม ขอความเห็นชอบต่อร่างปฏิญญาร่วมของรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน และร่างแถลงการณ์ร่วมของรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา รวมทั้งร่างเอกสารความร่วมมือในกรอบการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน

กระทรวงคมนาคม ขออนุมัติให้ความช่วยเหลือสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในการซ่อมแซมบูรณะความเสียหายสะพานมิตรภาพ 3(นครพนม-คำม่วน) และสะพานมิตรภาพ4 (เชียงของ-ห้วยทราย)

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2561

“เขื่อนอุบลรัตน์” งดส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง เหตุน้ำเหลือแค่ 34%

วันที่ 16 ตุลาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีประกาศโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวาย เรื่อง แจ้งกำหนดการหยุดส่งน้ำเพื่อการปลูกพืชฤดูฝนปี พ.ศ.2561 และงดการส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี พ.ศ. 2561/ 62

นายทรงวุฒิ กิจวรวุฒิ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวาย เปิดเผยว่า ตามที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวาย ได้เริ่มส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกพืชฤดูฝนปี พ.ศ. 2561 ตั้งแต่วันที่ 20 มิ.ย. 2561 เป็นต้นมา แต่เนื่องจากในปี พ.ศ.2561 ปลายปี มีปริมาณฝนตกเหนือเขื่อนอุบลรัตน์น้อยกว่าเกณฑ์ปกติค่อนข้างมาก ทำให้สถานการณ์น้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ปัจจุบันมีน้ำปริมาณ 844.94 ล้าน ลบ.เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 34.75 ของความจุที่ระดับเก็บกัก โดยเป็นน้ำใช้การ 263.27 ล้าน ลบ.เมตร ณ วันที่ 3 ต.ค.2561 ปัจจุบันได้เข้าสู่ช่วงปลายฤดูฝน ที่ปริมาณฝนจะลดลงตามลำดับ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวายจะดำเนินการส่งน้ำให้ทุกพื้นที่พร้อมกันเพื่อเสริมปริมาณน้ำฝนในช่วงข้าวตั้งท้องออกรวงตั้งแต่วันที่ 8 – 21 ต.ค. 2561 แล้วจะเริ่มลดปริมาณน้ำที่ประตูระบายน้ำปากคลองสายใหญ่ทั้ง 2 ฝั่ง และปิดบานสนิทเพื่อหยุดส่งน้ำเพื่อการเกษตรฤดูฝน ปี พ.ศ. 2561 ในวันที่ 25 ต.ค. 2561

“สำหรับการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี พ.ศ. 2561/ 62 โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวาย อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ขอแจ้งงดการส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง เพราะปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนอุบลรัตน์มีน้อยไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก และการประมง มีความจำเป็นต้องใช้น้ำส่วนที่เหลือเพื่อการอุปโภค – บริโภค และรักษาระบบนิเวศน์ให้เพียงพอตลอดฤดูแล้ง จึงขอประกาศแจ้งเตือนให้งดการเตรียมเมล็ดพันธุ์ ลูกปลาหรือลูกกุ้ง ที่จะนำมาใช้ในฤดูแล้งเพื่อป้องกันความเสียหาย เนื่องจากขาดแคลนน้ำ และขอให้เกษตรกรและผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วนได้โปรดใช้น้ำอย่างประหยัด สำรองน้ำไว้ในสระเก็บน้ำ หนองน้ำ ให้มากที่สุด เพื่อเก็บไว้ใช้ประโยชน์ในช่วงฤดูแล้ง” นายทรงวุฒิกล่าว

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ไทย ร่วมประชุม รมต.อาเซียนฯ พัฒนาด้านการเกษตรยั่งยืน

รมช.ลักษณ์ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ร่วมประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านเกษตรและป่าไม้ ครั้งที่ 40

นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านเกษตรและป่าไม้ ครั้งที่ 40 (ASEAN Ministers on Agriculture and Forestry: 40th AMAF) ณ กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 61 ที่ผ่านมา ได้มีการแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการพัฒนาระดับภูมิภาคที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการตามแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ปี 2568 และรับทราบความสำเร็จในการดำเนินงานด้านอาหาร เกษตร และป่าไม้ ในปี 2560 - 2561 ภายใต้วิสัยทัศน์และแผนยุทธศาสตร์ความร่วมมืออาเซียนด้านอาหารการเกษตรและป่าไม้ ปี 2559 – 2568 โดยในที่ประชุม ได้มีการรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานภายใต้กรอบนโยบายบูรณาการความมั่นคงด้านอาหารของอาเซียน และแผนกลยุทธ์ความมั่นคงด้านอาหารของอาเซียน ปี 2558 - 2563 และให้ความเห็นชอบกรอบแนวคิดหลายสาขาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้านเกษตรและป่าไม้ ที่มีต่อความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเกิดความมั่นคงด้านอาหาร โดยการใช้ประโยชน์จากที่ดิน ป่าไม้ น้ำ และแหล่งน้ำอย่างยั่งยืน ให้มีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

สำหรับการดำเนินงานในด้านอาหาร การเกษตร และป่าไม้ ในปี 2561 มีความสำเร็จของผลงานสำคัญ 6 ด้าน ประกอบด้วย 1.แนวปฏิบัติของอาเซียนในการเสริมสร้างศักยภาพในการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบในภาคอาหารเกษตรและป่าไม้ 2.แนวทางการดำเนินการของรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้เกี่ยวกับการบรรจุเรื่องมิติด้านเพศในภาคอาหาร การเกษตร และป่าไม้ ของอาเซียน 3.ค่าสารพิษตกค้างสูงสุดและค่ามาตรฐานของอาเซียน 4.นโยบายในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสาขาป่าไม้และสาขาอื่นๆ ของอาเซียน 5.มาตรฐานฟาร์มเลี้ยงสุกรของอาเซียน และ6.แผนงานอาเซียนเพื่อเสริมสร้างบทบาทของสหกรณ์การเกษตรในห่วงโซ่คุณค่าอาหารของโลกด้านการเกษตร ปี 2561 – 2568

“ความสำคัญของการผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดภัย ได้มาตรฐาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยภาคการเกษตรต้องสามารถเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่มูลค่าของโลกได้ จะต้องใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีส่งเสริมเกษตรสีเขียวและเกษตรอัจฉริยะ รวมทั้งส่งเสริมให้เยาวชนรุ่นใหม่เข้าสู่ภาคเกษตรได้มากยิ่งขึ้น และการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐบาลกับเอกชน (PPP) อีกทั้งขอให้ตระหนักถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งได้เสนอให้ประเทศสมาชิกอาเซียนร่วมมือกันภายใต้กรอบแนวคิดหลายสาขาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้านเกษตรและป่าไม้ที่มีต่อความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการ ให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อให้ภาคการเกษตรสามารถปรับตัวและบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นได้”

นอกจากนี้ ได้เน้นย้ำให้ประเทศสมาชิกอาเซียนแลกเปลี่ยนข้อมูลภายใต้ระบบแจ้งเตือนความปลอดภัยอาหารและอาหารสัตว์ของอาเซียน (ASEAN Rapid Alert System for Food and Feed: ARASFF) เพื่อติดตามสถานการณ์ความไม่ปลอดภัยทางด้านอาหาร และใช้มาตรการที่รวดเร็วและเหมาะสมในการคุ้มครองผู้บริโภค และขอให้ประเทศสมาชิกอาเซียนร่วมมือกันให้มากขึ้น เพื่อส่งเสริมและพัฒนาสินค้าปลาทูน่าของภูมิภาคอาเซียนอย่างยั่งยืน และมาตรฐานฟาร์มเลี้ยงสุกรของอาเซียนเพื่อให้เกษตรกรสามารถผลิตสุกรที่ปลอดภัยต่อการบริโภค เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

จาก https://siamrath.co.th   วันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2561

เปิดผลประเมิน‘Zoning’ สศก.ชี้ช่วยเกษตรกรได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่า

นางสาวจริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จากการประเมินผลโครงการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (Zoning by Agri-Map) ซึ่งมีกรมพัฒนาที่ดินเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการจัดทำแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก โดยปีงบประมาณ 2560 มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวไม่เหมาะสมไปปลูกพืชชนิดใหม่ 157,702 ไร่ อาทิ อ้อยโรงงาน เกษตรผสมผสาน หญ้าเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง และหม่อนเลี้ยงไหม โดยในฤดูกาลผลิต 2560/61 พื้นที่ร้อยละ 57 ได้รับผลผลิตแล้ว ส่วนร้อยละ 32 ให้ผลผลิตบางส่วน เนื่องจากเกิดน้ำท่วม อีกร้อยละ 11 ยังไม่ได้รับผลผลิต อาทิ พื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน ไม้ผล ไม้ยืนต้น โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ร้อยละ 96 ยังคงผลิตสินค้าที่ปรับเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง และเกษตรกรร้อยละ 34 ต้องการขยายพื้นที่เพื่อปรับเปลี่ยนการผลิตเพิ่มขึ้นเฉลี่ยรายละ 5 ไร่

จากการประเมินพบว่า ทุกชนิดสินค้าที่เก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ให้ผลตอบแทนสูงกว่าการปลูกข้าว โดยหญ้าเลี้ยงสัตว์ ให้ผลตอบแทนสุทธิสูงกว่าการปลูกข้าวประมาณ 9,502 บาท/ไร่/ปี

หม่อนเลี้ยงไหม ให้ผลตอบแทนสูงกว่า 6,788 บาท/ไร่/ปี ประมงให้ผลตอบแทนสูงกว่า 4,783 บาท/ไร่/ปี อ้อยโรงงานให้ผลตอบแทนสูงกว่า 3,323 บาท/ไร่/ปี และมันสำปะหลัง ให้ผลตอบแทนสูงกว่า 476 บาท/ไร่/ปี ตามลำดับ ซึ่งภาพรวมเกษตรกรที่ปรับเปลี่ยนการผลิตมีความพึงพอใจต่อการเข้าร่วมโครงการในระดับมากที่สุด เนื่องจากได้รับการดูแลให้คำปรึกษาจากเจ้าหน้าที่ ได้รับการสนับสนุนปัจจัยการผลิต และงบประมาณเพื่อการปรับเปลี่ยนพื้นที่ ซึ่งช่วยลดต้นทุนการผลิตบางส่วนได้จริง

สำหรับโครงการในปี 2561 ขณะนี้ ได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวในพื้นที่ไม่เหมาะสม (N) ไปทำประมง ปศุสัตว์ ปลูกพืชเศรษฐกิจ และเกษตรผสมผสาน แล้วกว่า 257,000 ไร่ รวมทั้งได้อบรมการจัดทำบัญชีต้นทุนอาชีพในพื้นที่ปรับเปลี่ยนการผลิตแก่เกษตรกร 4,560 ราย โดยกรมพัฒนาที่ดิน ได้เร่งพัฒนาแผนที่ทางเลือกพืชเศรษฐกิจ ด้วยการจัดทำฐานข้อมูลเพื่อรองรับเขตเกษตรเศรษฐกิจ 5 ชนิดสินค้าเพิ่มเติมในปี 2562

จาก https://www.naewna.com วันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2561

เกษตรฯแจงผลงานรอบ4ปี ยกระดับรายได้เกษตรกร1.3ล้านครัวเรือน

นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้สรุปผลการดำเนินงาน รอบ 4 ปี (พ.ศ.2557-2561) โดยในการปฏิรูปภาคการเกษตร สามารถยกระดับรายได้เกษตรกรกว่า 1.3 ล้านครัวเรือนได้เป็นผล โดยเร่งขับเคลื่อนแผนการผลิตของประเทศ มุ่งให้เกษตรกรรวมกลุ่มผลิตสินค้าเกษตรตามความต้องการของตลาด ซึ่งได้มีการกำหนด “แผนการผลิตภาคการเกษตรของประเทศ” ขึ้นมาแก้ไขปัญหาและใช้แนวทาง “ตลาดนำการผลิต” โดยจะตรวจสอบความต้องการผลผลิตทางการเกษตรจากทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ แล้วจึงมาวางแผนส่งเสริมการผลิต โดยกำหนดให้ผลิตในพื้นที่ที่เหมาะสม (Zonning by Agri-Map) ไม่ให้มากเกินความต้องการของตลาด

นอกจากนี้ ยังได้จัดทำระบบกระจายน้ำเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า ทำระบบชลประทานใหม่ 3,500 แห่ง ในพื้นที่เกษตร 2.8 ล้านไร่ เพิ่มปริมาณน้ำได้ 1,652 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) อีกทั้งได้จัดทำแผนบริหารจัดการน้ำในลุ่มเจ้าพระยา โดยหาพื้นที่รองรับน้ำหลากในทุ่งบางระกำและทุ่งเจ้าพระยาตอนล่าง 12 ทุ่ง เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก และสนับสนุนการทำประมงเป็นรายได้เสริมในช่วงที่ใช้พื้นที่ดังกล่าวชะลอน้ำไว้

สำหรับการส่งเสริมการทำการเกษตรในรูปแบบแปลงใหญ่ ปัจจุบันมี 4,007 แปลง พื้นที่ 5.1 ล้านไร่ เกษตรกรในโครงการ 300,000 คน มีศูนย์เรียนรู้การเพิ่มการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) เป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีมีกว่า 10,000 แห่งทั่วประเทศ จากนั้นส่งเสริมให้สหกรณ์ 1,300 สหกรณ์เป็นหน่วยธุรกิจต่อรองราคาซื้อปัจจัยการผลิตและขายผลผลิตในราคาที่เป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ภายใต้โครงการสานพลังประชารัฐ เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร 1.3 ล้านครัวเรือน ทำให้เกษตรกรมีรายได้ 2,750 บาทต่อไร่ รวมทั้งสิ้น 2,300 ล้านบาท

นายกฤษฎา กล่าวต่อไปว่า แนวทางการเพิ่มช่องทางการตลาดนั้น นอกจากกระทรวงเกษตรฯ จะจับคู่ค้าให้ผู้ประกอบการมารับซื้อผลผลิตจากกลุ่มเกษตรกรโดยตรงแล้ว ยังได้กำหนดแผนพระพิรุณส่งเสริมตลาด e-commerce ขายผลผลิตทาง 0nline ด้วย จึงจำเป็นต้องสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) ที่มีความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีการผลิตและช่องทางการตลาดใหม่ๆ มาสานต่อประสบการณ์จากเกษตรกรรุ่นปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานของกระทรวงเกษตรฯ สามารถช่วยลดภาระหนี้สินสะสมของเกษตรกร 36,605 ราย 10,200 ล้านบาท ตามที่ได้เสนอ ครม. เห็นชอบปรับปรุงโครงสร้างหนี้แก่เกษตรกรที่กู้ยืมเงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แล้วกลายเป็นหนี้เสีย โดยจะจัดทำแผนพัฒนาอาชีพ เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ไปชำระเงินกู้ตามสัญญาที่ทำกันใหม่ รวมถึงสามารถเลี้ยงชีพได้อย่างมั่นคง

จาก https://www.naewna.com วันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2561

จ่อชงผลศึกษาเข้าร่วม CPTPP เผยสร้างโอกาสส่งออก-ลงทุน

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเตรียมชงผลรับฟังความคิดเห็น ผลการศึกษาเข้าร่วม CPTPP ให้คณะทำงานที่มี “สนธิรัตน์” เป็นประธานพิจารณาต้น พ.ย.นี้ เผยเบื้องต้นพบช่วยเปิดตลาดสินค้า ทั้งกับประเทศที่มี FTA และไม่มี FTA โดยเฉพาะแคนาดาและเม็กซิโก และยังช่วยดึงดูดการลงทุนมาไทย พร้อมชงตั้งกองทุนช่วยปรับตัว จะเป็นกองทุน FTA เดิมหรือกองทุนใหม่ก็ได้

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ กำลังอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลทั้งผลดี ผลเสีย ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) เสนอให้กับคณะทำงานเตรียมการพิจารณาเข้าร่วมความตกลง CPTPP ที่มีนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน พิจารณาในช่วงต้นเดือน พ.ย. 2561 โดยมีผลที่รวบรวมได้ในเบื้องต้น ทั้งจากการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนทั่วประเทศและจากผลการศึกษาวิเคราะห์ เห็นว่าการเข้าร่วมจะเป็นประโยชน์กับไทยที่จะมีโอกาสในการขยายการค้า การลงทุนได้เพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ ในด้านการค้า มีรายการสินค้าที่คาดว่าไทยน่าจะได้รับประโยชน์จากการเปิดตลาดเพิ่มเติม ภายใต้ความตกลง CPTPP กับประเทศที่ไทยมี FTA อยู่แล้ว เช่น เนื้อไก่สดและไก่แปรรูป เนื้อสุกร ข้าว น้ำตาล รถยนต์และชิ้นส่วน เป็นต้น และจากประเทศที่ไทยไม่เคยมี FTA ด้วย คือ แคนาดา และเม็กซิโก เช่น อาหารทะเล อาหารแปรรูป ยางพารา ผลไม้ปรุงแต่งและแปรรูป เนื้อไก่ปรุงแต่งและแปรรูป รถจักรยานยนต์ รถยนต์และชิ้นส่วน เป็นต้น

ส่วนในด้านการลงทุน หากไทยไม่เข้าร่วมจะเสียโอกาสในการเป็นฐานการผลิตและดึงดูดการลงทุน และยิ่งรัฐบาลมีนโยบายในการขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ให้เป็นที่ดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมสมัยใหม่จากต่างประเทศ ก็จำเป็นที่จะต้องมีเครือข่ายในการผลิต ไม่เช่นนั้นนักลงทุนก็อาจจะพิจารณาไปลงทุนที่อื่นได้

นางอรมนกล่าวว่า ประเด็นที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่งที่มีข้อเสนอและต้องการให้มี ก็คือ การมีกองทุนช่วยเหลือเกษตรกร และผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการเข้าร่วม CPTPP โดยจะยืนยันว่ากองทุน FTA ยังมีความจำเป็น แม้ปัจจุบันจะถูกตัดงบประมาณไปหมดแล้ว ซึ่งจะต้องผลักดันให้มีต่อไป หรืออาจจะพิจารณาจัดตั้งกองทุนใหม่ที่ดูแลผลกระทบจากการเข้าร่วม CPTPP เป็นการเฉพาะก็ได้

ทั้งนี้ กรมฯ ยังได้รวบรวมข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากกลุ่มย่อยต่างๆ ที่มีประมาณ 30 หน่วยงานที่คณะทำงานฯ ได้มอบหมายให้ไปศึกษา ซึ่งได้เริ่มทยอยส่งผลเข้ามาแล้ว และจะดูว่ามีข้อเสนอเพิ่มเติมอะไรหรือไม่ หรือจะมีประเด็นหรือแนวทางการปรับตัวอย่างไร ซึ่งเมื่อรวบรวมได้ก็จะทำเป็นข้อเสนอแนะในภาพรวมทั้งหมด และเสนอให้คณะทำงานฯ พิจารณา จากนั้นจะนำข้อสรุปที่ได้เสนอให้รัฐบาลพิจารณาต่อไป

จาก https://mgronline.com  วันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2561

เงินบาทแข็งรับดอลล่าร์อ่อนค่า

ธนาคารกรุงไทยระบุเงินบาทต่อดอลลาร์วหรัฐเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 32.65บาท อ่อนค่าลงจาก 32.75บาทในช่วงท้ายสัปดาห์ก่อน แม้ในช่วงสัปดาห์ก่อนเงินบาทจะแข็งแกร่งกว่าสกุลเงินในกลุ่มของประเทศเพื่อนบ้าน แต่ในช่วงหยุดยาวเงินดอลลาร์ได้ปรับตัวลงส่งผลให้สกุลเงินเอเชียอื่นๆ ปรับตัวแข็งค่าใกล้เคียงกันแล้ว

ในวันนี้ เชื่อว่าแนวโน้มการเคลื่อนไหวของดอลลาร์ ตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) ที่เปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลง และราคาทองที่ปรับตัวสูงขึ้น จะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เงินบาทและสกุลเงินเอเชียแข็งค่าได้ต่อ

และในสัปดาห์นี้ สิ่งที่นักลงทุนยังต้องระมัดระวังคือความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเทคโนโลยีในสหรัฐฯ ซึ่งได้รับผลกระทบจากความผันผวนในตลาดที่สูงขึ้น และโอกาสที่จะมีการกีดกันทางการค้าเพิ่มเติมระหว่างจีนกับสหรัฐ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลให้เงินดอลลาร์จะอ่อนค่าเพราะความน่าสนใจของการลงทุนในสหรัฐลดลง

ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)ยังคงมีความมั่นใจในเศรษฐกิจสหรัฐ และพร้อมที่จะ “ขึ้นดอกเบี้ย” ต่อเนื่อง แม้ตลาดเริ่มมีความกังวลว่าภาวะดอกเบี้ยสูง จะส่งผลให้หุ้นทั่วโลกปรับฐาน โดยมองกรอบเงินบาทระหว่างวัน 32.60-32.70บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ

จาก www.thansettakij.com   วันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2561

กรมชลเปิดตัว‘SWOC WL’ n แอพฯตรวจวัดระดับ-สถานการณ์น้ำเรียลไทม์ทั่วปท.

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน ได้พัฒนาแอพพลิเคชั่นตรวจวัดระดับน้ำ “SWOC WL” โดยเปิดให้ดาวน์โหลดไปใช้งานบนโทรศัพท์มือถือทั้งระบบ Android และ iOS ซึ่งจะทำให้ประชาชนสามารถตรวจวัดระดับน้ำได้ด้วยตนเอง ด้วยการสแกน AR MARKER แล้ววัดระดับน้ำบริเวณที่สนใจ ระบบจะประมวลผลและส่งผลการประเมินพร้อมข้อมูลต่างๆ ที่สำคัญ เช่น สถานการณ์น้ำปัจจุบัน แนวโน้มของระดับน้ำในลำน้ำ กลับไปให้ผู้ใช้งานแบบอัตโนมัติ ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำ และเชื่อถือได้

โดยกรมชลประทานมีแผนต่อยอดจุดบริการ SWOC WL ทั้งสิ้น 935 จุด ให้ครอบคลุมลำน้ำต่างๆ ทั่วทั้งประเทศ ภายในระยะเวลา 3-5 ปี ซึ่งในปีนี้เป็นปีนำร่อง ติดตั้งจุดบริการ 3 แห่ง คือ ท่าเรือวังหลัง (ศิริราช) กทม., ท่าเรือนนทบุรี จ.นนทบุรี และตลาดน้ำอยุธยา วัดท่าการ้อง จ.พระนครศรีอยุธยา ในปีงบประมาณ 2562 จะติดตั้งจุดบริการเพิ่มเติมอีก 150 จุด กระจายตามลำน้ำสำคัญทั่วประเทศ ในปีงบประมาณ 2563 ติดตั้งเพิ่มอีก300 จุด และปีงบประมาณ 2564 ติดตั้งเพิ่มอีก 482 จุด รวมเป็น 935 จุด ครอบคลุมลำน้ำต่างๆ ทั่วทั้งประเทศ ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้กรมชลประทานได้รับข้อมูลสถานการณ์น้ำ ณ เวลาจริง และประชาชนทั่วประเทศก็สามารถตรวจวัดระดับน้ำ ณ จุดต่างๆ ของลำน้ำที่ตนเองสนใจได้ตลอดเวลา พร้อมทั้งได้รับข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์ของลำน้ำนั้นๆ จากศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) เพิ่มเติมด้วย

ในปีแรกนี้ ประชาชนจะสามารถตรวจวัดระดับน้ำ และทราบสถานะของระดับน้ำในลำน้ำว่าอยู่ที่สถานะไหน ปกติ เฝ้าระวัง หรือเตือนภัย เท่านั้น แต่นับเป็นก้าวแรกในการพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่ให้ประชาชนสามารถตรวจวัดระดับน้ำ และติดตามสถานการณ์น้ำได้ด้วยตนเอง ซึ่งในปีที่ 2-4 SWOC WL จะถูกพัฒนาเพิ่มเติมให้สามารถประมวลผล และรายงานแนวโน้มของสถานการณ์น้ำในลำน้ำที่ตรวจวัดให้ผู้ใช้แอพพลิเคชั่นทราบ รวมถึงสามารถติดตามสถานการณ์น้ำของลำน้ำต่างๆ ทั่วประเทศได้อีกด้วย ซึ่งระบบ SWOC WL คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ภายในปี พ.ศ.2564

จาก https://www.naewna.com วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2561

'สนธิรัตน์' ติวเข้มทูตพาณิชย์! ลุยแผนผลักดันส่งออกปี 62 มิติใหม่ พร้อมรับมือเศรษฐกิจโลก

'สนธิรัตน์' เร่งเครื่องสู้ศึกการค้า ติวเข้มทูตพาณิชย์ทั่วโลกก่อนประชุมใหญ่ ถกรายภูมิภาควิเคราะห์สถานการณ์การค้าและเตรียมกลยุทธ์รับมือสถานการณ์ผันผวนของโลกผันวิกฤติเป็นโอกาส

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ในการประชุมเตรียมการผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) จาก 64 แห่งทั่วโลก เปิดเผยว่า การประชุมในวันนี้ เพื่อเจาะลึกสถานการณ์รายภูมิภาคกับทูตพาณิชย์ ประเมินวิกฤตและโอกาสทางการตลาดของพื้นที่ที่รับผิดชอบ ดูแล วิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยง ที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยอย่างไร และให้จัดทำแผนการรับมือรวมถึงแผนผลักดันการส่งออกอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อผลักดันยอดส่งออกในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2561 พร้อมวางแผนการขับเคลื่อนการส่งออก รวมทั้งขยายการค้าและการลงทุนในปี 2562 ก่อนการประชุมใหญ่ในวันที่ 18 ต.ค. 2561 โดยมี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

นายสนธิรัตน์ ยังกล่าวอีกว่า "หลายภูมิภาคยังมีลู่ทางสำหรับสินค้าไทย โดยใช้โอกาสจากประเทศที่มีการเจรจา FTA กับไทย เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย เป็นต้น และประเทศในเขตการค้าเสรี นอกจากนั้น ยังมีภูมิภาคและประเทศต่าง ๆ ที่มีความน่าสนใจทางด้านเศรษฐกิจที่กำลังขยายตัว เช่น ภูมิภาคอัฟริกา ซึ่งเป็นตลาดใหม่ที่ยังมีโอกาสมากในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น อัฟริกาใต้ โมซัมบิก และแองโกลา ตลาดตะวันออกกลาง และ CIS รวมถึงกลุ่มประเทศฮาลาล นอกจากนี้ ยังมีประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่น่าจับตามอง อย่าง อินเดีย ซึ่งได้รับอานิสงส์จากสถานการณ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน คาดว่าเศรษฐกิจอินเดียจะขยายตัวมากขึ้น พร้อมกับโอกาสของสินค้าไทยที่เพิ่มขึ้นในตลาดอินเดีย ซึ่งมีประชากรถึง 1,300 ล้านคน"

ทั้งนี้ การประชุมในครั้งนี้จะปรับเพิ่มบทบาทใหม่ของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ในการทำงานเชิงรุกให้มากขึ้น เพื่อรองรับสถานการณ์ทางการค้าที่มีความผันผวนได้อย่างทันท่วงที และรูปแบบใหม่ของธุรกิจที่มีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ รวมทั้งเพิ่มบทบาทในการจัดทำแผนส่งเสริมและขยายตลาดแก่ธุรกิจบริการไทยอย่างเป็นรูปธรรม นอกเหนือจากส่งเสริมการส่งออกสินค้า นอกจากนั้น ยังได้มอบหมายให้ สคต. ทุกแห่งกระชับความสัมพันธ์กับผู้นำเข้าและนักธุรกิจรายสำคัญในประเทศเขตดูแลของตน เพื่อสร้างแนวร่วมในการส่งเสริมและแก้ไขปัญหาทางการค้า ตลอดจน สคต. ต้องบูรณาการการทำงานและเชื่อมโยงการทำงานกับระดับจังหวัด โดยมีสำนักงานพาณิชย์ 18 กลุ่มจังหวัด เป็นกลไกในภูมิภาค เพื่อสร้างโอาสทางธุรกิจการค้าระหว่างประเทศให้แก่เกษตกรรุ่นใหม่ ผู้ประกอบการท้องถิ่นที่เป็นรายย่อย (MSMEs) และผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) ที่มีศักยภาพซึ่งกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญและมีเป้าหมายที่จะเร่งผลักดันการสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานราก โดยภายใต้นโยบาย Local 2 Global

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมทูตพาณิชย์ครั้งนี้จะมีการประเมินแนวโน้มการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยมั่นใจว่า เป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ที่ 8% เป็นไปได้อย่างแน่นอน รวมถึงจะประเมินแนวโน้ม ทิศทาง และเป้าหมายการส่งออกปี 2562 ด้วย ซึ่งจะประเมินจากภาวะเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจคู่ค้าในปัจจุบัน ผลกระทบจากสงครามการค้า ราคาน้ำมัน และอัตราแลกเปลี่ยน โดยจะรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

การส่งออกของไทยใน 8 เดือนแรก มีมูลค่า 169,030 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 10% โดยตลาดส่งออกสำคัญมีมูลค่าเพิ่มขึ้น ได้แก่ เอเชียใต้ เพิ่มขึ้น 20.8%, อาเซียน ขยายตัว 17.7%, จีน เพิ่มขึ้น 6.3%, ญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น 16.7%, สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 5.5%, สหภาพยุโรป เพิ่มขึ้น 8.4% มีเพียงตะวันออกกลางเท่านั้นที่ลดลงเล็กน้อย ที่ 2.3% เนื่องจากปัญหาความไม่สงบในภูมิภาค กระทรวงพาณิชย์มั่นใจว่า มูลค่าการส่งออกในปี 2561 จะเป็นไปตามเป้าหมายกำหนด โดยมีมูลค่าถึง 255,565 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ได้อย่างแน่นอน

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2561

"กุลิศ สมบัติศิริ" คลายทุกปมเร่งด่วนด้านพลังงาน

หลังจากที่ นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงานคนใหม่ เข้ารับตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2561 เป็นต้นมา ก็ได้เดินสายไปทำความรู้จักกับหน่วยงานต่าง ๆ ภายใต้สังกัดกระทรวงพลังงานทันที เพื่อที่จะเรียนรู้งานและต้องปฏิบัติหน้าที่ตามแผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงานตามกรอบที่วางไว้ทั้ง 6 ด้าน 17 ประเด็น ซึ่งในแต่ละเรื่องถือเป็นภารกิจเร่งด่วนที่จะเข้าดำเนินการ และเป็นประเด็นร้อน ๆ ของวงการพลังงานที่ต้องจับตา

ประมูลเอราวัณ-บงกช

โดย นายกุลิศ ได้กล่าวถึงภารกิจเร่งด่วนว่า จะสานต่อนโยบายตามที่ นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้วางเป้าหมายไว้ ไม่ว่าการผลักดันการเปิดประมูลสำรวจและผลิตปิโตรเลียม แหล่งเอราวัณและบงกช ที่กำลังจะสิ้นอายุสัมปทานลงในเดือน เม.ย. 2565 และ มี.ค. 2566 (ตามลำดับ) โดยจะให้ทุกขั้นตอนการเปิดประมูลเกิดความโปร่งใสและให้ได้ผู้ชนะการประมูลตามกรอบแผนภายในสิ้นปีนี้ เพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงาน และจะยึดการปฏิบัติตามแผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงานเป็นหลัก

อีกทั้งยังยํ้าถึงความพร้อม เตรียมเดินหน้าบริหารจัดการแหล่งปิโตรเลียมดังกล่าว เพื่อให้สามารถผลิตและนำก๊าซธรรมชาติมาใช้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นบทพิสูจน์ครั้งสำคัญในการขึ้นสู่แม่ทัพใหญ่ของกระทรวงพลังงานเวลานี้ เพราะแหล่งเอราวัณและบงกช นอกจากจะนำก๊าซธรรมชาติมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าแล้ว ยังเป็นทรัพยากรพลังงานที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากสามารถแปรสภาพเป็นก๊าซหุงต้ม (LPG) เพื่อใช้ในครัวเรือน และเป็นก๊าซธรรมชาติในยานยนต์ (NGV) ใช้ในภาคขนส่งและอุตสาหกรรม อีกทั้งยังเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตและเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี

จากข้อกำหนดของการเปิดประมูลครั้งนี้ จะเกิดการผลิตก๊าซธรรมชาติในแหล่งเอราวัณให้ได้ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และแหล่งบงกชให้ได้ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในช่วง 10 ปีแรกของสัญญา โดยสัญญาจะมีอายุ 20 ปี และสามารถต่ออายุได้อีก 10 ปี และกระทรวงพลังงานคาดว่า การเปิดประมูลครั้งนี้จะก่อให้เกิดการลงทุนในไทยสูงถึง 1.2 ล้านล้านบาท

คลายปมกองทุนอนุรักษ์ฯ

นอกจากนี้ ในฐานะประธานคณะทำงานกลั่นกรองกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน นายกุลิศได้ส่งสัญญาณว่า จะเดินหน้าพิจารณาการยื่นขอรับสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำหรับโครงการในปี 2561 (เพิ่มเติม) ภายใต้กลุ่มโครงการ "ไทยนิยมยั่งยืน" วงเงิน 5,200 ล้านบาท ส่วนการพิจารณางบประมาณในปี 2562 วงเงิน 10,448 ล้านบาทนั้น จะทบทวนหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุมัติงบประมาณใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบของกระทรวงการคลัง

ทั้งนี้ การกำหนดหลักเกณฑ์ให้มีความเหมาะสม จำเป็น ไม่ซํ้าซ้อน ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับแผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงานและสอดคล้องกับแผนอนุรักษ์พลังงาน พร้อมจัดลำดับความสำคัญของโครงการให้ชัดเจน เช่น โครงการตามพระราชดำริจะพิจารณาเป็นอันดับแรก รวมถึงพิจารณาว่า งบประมาณที่ยื่นขอเข้ามาจะสามารถดำเนินการต่อได้หรือไม่ หรือ มีงบประมาณสำหรับบำรุงรักษาในระยะต่อไปหรือไม่ ซึ่งจะต้องมีการตั้งอนุกรรมการขึ้นมาประเมินผลด้วย

"งบปี 2562 ที่เดิมคณะกรรมการอนุมัติแล้ว 7,000 ล้านบาท จากที่ยื่นขอมาราว 3 หมื่นล้านบาท ต้องมาพิจารณาใหม่ เพราะมีวงเงินอยู่แค่ 10,448 ล้านบาท ซึ่งต้องมาพิจารณาว่า จำเป็นต้องอนุมัติถึง 1 หมื่นล้านบาทหรือไม่ ถ้าไม่จำเป็น ก็อาจจะอนุมัติแค่โครงการที่ตอบคำถามสังคมได้ และยืนยันว่า การพิจารณางบกองทุนจะเน้นความคุ้มค่าและประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก" ปลัดกุลิศ กล่าว

ผลักดันแผนปฏิรูป

ขณะเดียวกัน การขับเคลื่อนแผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน 6 ด้าน 17 ประเด็น ถือเป็นอีกภารกิจสำคัญที่นายกุลิศ จะต้องขับเคลื่อนให้เป็นไปตามเป้าหมายตามกรอบการปฏิรูปภายในระยะเวลา 5 ปี ไม่ว่าจะเป็น เรื่องของการจัดหาพลังงาน โดยเฉพาะการสำรวจและผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งในประเทศให้เกิดความต่อเนื่อง เดินหน้าปลดล็อกกฎระเบียบ เพื่อให้การพัฒนาพลังงานทางเลือกเกิดความคล่องตัวและเติบโตยิ่งขึ้น รวมถึงการยกระดับการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน รับเกณฑ์มาตรฐานการออกแบบอาคาร (BEC) และเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานอาคารรัฐด้วยกลไก ESCO

นอกจากนี้ เพื่อให้การปฏิรูปประเทศด้านพลังงานเกิดผลเป็นรูปธรรมมากขึ้น ในช่วงกลางแผนจึงมุ่งเน้นขจัดการทับซ้อนในองค์กร โดยการสร้าง Code of Conduct ระหว่างหน่วยงานพลังงาน และเกิดการสร้างศูนย์ One Stop Service อย่างแท้จริง เพื่อให้การอนุมัติการผลิตไฟฟ้าทำได้สะดวกรวดเร็ว พร้อมทั้งจัดตั้งศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลที่เชื่อถือได้ สู่การวิเคราะห์รอบด้านและลดการบิดเบือนข้อมูลพลังงาน

ทะยานสู่ยานยนต์ไฟฟ้า

ศึกษาและกำหนดทิศทางการจัดหาแหล่งพลังงานไฟฟ้า ก๊าซธรรมชาติ และเชื้อเพลิงภาคขนส่ง ในระยะยาว ซึ่งนับเป็นมิติใหม่ที่ประชาชนจะสามารถเสนอพื้นที่สร้างโรงไฟฟ้าได้เอง โดยในช่วง 3 ปีสุดท้ายของการปฏิรูป จะเกิดเป้าหมายการพัฒนาพลังงานที่ชัดเจน ทั้งด้านยานยนต์ไฟฟ้า ระบบเก็บกักพลังงาน การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เสริมสร้างเศรษฐกิจในระยะยาว การสร้างโรงไฟฟ้า สายส่งที่ลํ้าสมัย การลงทุนธุรกิจปิโตรเคมีระยะใหม่

ท้ายสุด ประชาชนจะเกิดทางเลือกที่สามารถผลิตและใช้พลังงานทดแทนอย่างเสรี ลดการผูกขาด สร้างการแข่งขันในทุกกิจการพลังงาน ในขณะเดียวกัน สามารถบังคับใช้กฎหมาย หรือ ระเบียบด้านการอนุรักษ์และใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพต่อทุกภาคส่วน การปฏิรูปประเทศด้านพลังงานทั้งหมดนี้ จะเป็นทิศทางการพัฒนาด้านพลังงานให้ก้าวทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจในระยะยาวต่อไป

 จาก www.thansettakij.com  วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2561

กระทรวงเกษตรฯ สั่งกรมชลฯรับมือฤดูแล้ง เจอ 6 เขื่อนน้ำน้อย เร่งสรุปแผนปลูกพืชพ.ย.นี้

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เตรียมแผนการปลูกพืชฤดูแล้ง ในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ – เมษายน 2562 เพื่อรับมือสถานการณ์น้ำทั่วประเทศ ซึ่งเขื่อนที่มีปริมาณน้อยกว่า 50% ของความจุ มีทั้งหมด 6 เขื่อน ได้แก่ 1.เขื่อนแม่กวง จ.เชียงใหม่ 2.แม่เมาะ จ.ลำปาง 3.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น 4.ลำนางรอง จ.บุรีรัมย์ 5.เขื่อนกระเสียว จ.ชลบุรี และ 6.เขื่อนทับเสลา จ.อุทัยธานี ซึ่งอาจกระทบกับการทำการเกษตรในฤดูแล้ง ดังนั้น แผนการปลูกพืชฤดูแล้งจะต้องเสร็จ และได้ข้อสรุปแนวทางปฏิบัติในเดือนตุลาคมนี้

“กรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเตรียมรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น เบื้องต้นแม้น้ำในเขื่อนจะน้อย แต่กิจกรรมหลัก คือ น้ำเพื่ออุปโภคบริโภคมีเพียงพอต่อความต้องการแน่นอน แต่น้ำสำหรับทำการเกษตรในช่วงหน้าแล้ง ต้องหารือกันอีกครั้งว่าจะดำเนินการอย่างไร จะมีมาตรการอะไรในการเพาะปลูกช่วงฤดูแล้ง” นายทองเปลวกล่าว

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า ระหว่างวันที่ 1-18 กันยายนที่ผ่านมา มีพื้นที่ทำการเกษตร อาทิ ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง และไม้ผล ได้ร้องขอรับบริการฝนหลวงเป็นจำนวนมาก รวมทั้งสิ้น 211 ครั้ง แบ่งเป็น ภาคเหนือ 83 ครั้ง อาทิ จ.กำแพงเพชร จ.ตาก จ.ลำปาง และจ.ลำพูน เป็นต้น มีพื้นที่ที่ยังมีความต้องการฝน 3.33 ล้านไร่ ชนิดพืชในพื้นที่เกษตรที่ขอรับบริการ อาทิ ข้าว ข้าวโพด และมันสำปะหลัง เป็นต้น

ส่วนภาคกลางมีการร้องขอบริการฝนหลวง 30 ครั้ง อาทิ จ.กาญจนบุรี จ.ชัยนาท จ.นครสวรรค์ จ.สุพรรณบุรี และจ.อุทัยธานี เป็นต้น มีพื้นที่ที่ยังมีความต้องการฝน 10.81 ล้านไร่ ชนิดพืชในพื้นที่เกษตรที่ขอรับบริการ อาทิ ข้าว ข้าวโพด และอ้อย เป็นต้น ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีการร้องขอรับบริการฯ 90 ครั้ง อาทิ จ.ขอนแก่น จ.ชัยภูมิ จ.นครราชสีมา จ.บุรีรัมย์ และจ.มหาสารคาม เป็นต้น มีพื้นที่ที่ยังมีความต้องการฝน 10.06 ล้านไร่ ชนิดพืชในพื้นที่เกษตรที่ขอรับบริการ ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด อ้อย และมันสำปะหลัง

ขณะที่ภาคตะวันออกมีการร้องขอบริการฯ 6 ครั้ง ในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว ชนิดพืชในพื้นที่เกษตรที่ขอรับบริการ ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง และภาคใต้ได้มีการร้องขอบริการฯ 2 ครั้ง ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา และสุราษฎร์ธานี ชนิดพืชในพื้นที่เกษตรที่ขอรับบริการ ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน ยางพารา และข้าว นอกจากนี้ ยังมีการร้องขอรับบริการฝนหลวง เพื่อเติมน้ำในเขื่อนตามการร้องขอ จำนวน 11 แห่ง ได้แก่ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนทับเสลา เขื่อนห้วยหลวง เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนลำนางรอง เขื่อนลำแซะ เขื่อนลำมูลบน เขื่อนลำปลายมาศ เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนห้วยตะเคียน และเขื่อนห้วยยาง

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2561

‘ฝนหลวง’เร่งช่วยพื้นที่เกษตร l แจงเข้าหน้าหนาวส่งผลกระทบขึ้นบินปฏิบัติการ

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การขาดแคลนน้ำจากภาวะฝนทิ้งช่วงในพื้นที่การเกษตรนอกเขตชลประทานเริ่มได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง อีกทั้งได้รับแจ้งจากเกษตรกรและอาสาสมัครฝนหลวง ที่มีการร้องขอฝนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จึงได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่ดังกล่าว

โดยจากการปฏิบัติการตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม - 7 ตุลาคม 2561 รวม 58 จังหวัด มีพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์ทั้งสิ้น 218.20 ล้านไร่ ได้แก่ ภาคเหนือ 27 จังหวัด 76.88 ล้านไร่ ภาคกลาง 15 จังหวัด 31.75 ล้านไร่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 16 จังหวัด 58.38 ล้านไร่ ภาคตะวันออก 7 จังหวัด 20.94 ล้านไร่ และภาคใต้ 4 จังหวัด 30.25 ล้านไร่ รวมทั้งได้ปรับแผนการปฏิบัติการฝนหลวงเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง และเพิ่มปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำและเขื่อนต่าง ๆ ในช่วงระหว่างวันที่ 20 กันยายน - 31 ตุลาคม 2561 โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มปริมาณน้ำทั้งสิ้นจำนวน 156 ลบ.ม. ซึ่งปัจจุบันสามารถเพิ่มปริมาณน้ำได้ 67.686 ลบ.ม. เนื่องจากในการปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ร้องขอฝน มีพื้นที่ติดกับแปลงเกษตรที่ส่วนใหญ่กำลังจะเก็บเกี่ยว อาจทำให้เกิดความเสียหายกับเกษตรกรส่วนใหญ่ได้ ประกอบกับ สภาพอากาศกำลังเปลี่ยนแปลงจากฤดูฝนเข้าสู่ฤดูหนาว ทำให้บริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีน เริ่มแผ่ลงมาปกคลุมตอนบนของภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้หลายพื้นที่มีความชื้นสัมพัทธ์ชั้นบนต่ำ ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญในการขึ้นบินปฏิบัติการช่วงเวลานี้ และไม่สามารถบินปฏิบัติการได้ในบางวัน

อย่างไรก็ตาม กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้กำชับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกคน ให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และร่วมกันวิเคราะห์สภาพอากาศ สภาพพื้นที่ ก่อนขึ้นปฏิบัติการทุกครั้ง เพื่อป้องกันข้อผิดพลาด และให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการปฏิบัติงาน พร้อมทั้งมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ที่ประจำอยู่ในแต่ละภูมิภาค ลงพื้นที่เพื่อสร้างการรับรู้และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถึงภารกิจการทำฝนหลวง ปัญหา และอุปสรรคในการดำเนินการทำฝน รวมทั้งรณรงค์ให้ใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อรับมือกับปัญหาภัยแล้งที่กำลังจะมาถึง และขอให้เกษตรกรและประชาชนมั่นใจว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตรจะดำเนินการช่วยเหลือพื้นที่ที่ร้องขอฝนให้อย่างทั่วถึง และพร้อมเคียงข้างประชาชนเพื่อรับมือกับปัญหาภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ทำการเกษตร โดยจะมุ่งมั่นทุ่มเทอย่างสุดความสามารถในการปฏิบัติภารกิจ

จาก https://www.naewna.com   วันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ยูเอ็นเร่งนานาประเทศเลิกใช้ถ่านหิน-หนุนพลังงานหมุนเวียน

เพื่อฉุดรั้งปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่เลวร้ายลงโลกจะต้องลงทุนในการพัฒนาพลังงานสะอาดขึ้นมาใช้ราวปีละ 2.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 81.6 ล้านล้านบาทไปจนถึงปีค.ศ. 2035 หรือตลอดช่วง 17 ปีข้างหน้า และจะต้องลดหรือกระทั่งเลิกการใช้พลังงานจากถ่านหินภายในปี2050

จากการประชุมคณะทำงานภาครัฐระหว่างประเทศว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ (ไอพีซีซี) ภายใต้องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ได้มีการเผยแพร่รายงานออกมาเมื่อต้นสัปดาห์นี้ (8 ตุลาคม) เนื้อหาเรียกร้องให้ทั้งภาครัฐและเอกชนของประเทศต่างๆทั่วโลก เร่งหามาตรการป้องกันปัญหาอุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งได้ส่งผลทำให้ภูเขานํ้าแข็งขั้วโลกละลายและเกิดพายุที่มีความรุนแรงมากขึ้น

รายงานระบุว่า อุณหภูมิโลกขยับสูงขึ้นเกือบๆ 1 องศาเซลเซียส (1.8 องศาฟาเรนไฮต์) เมื่อเทียบกับต้นยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ทั้งนี้ การเผาผลาญเชื้อเพลิงจากฟอสซิลไม่ว่าจะเป็นนํ้ามันดิบ ก๊าซธรรมชาติ หรือถ่านหิน ล้วนเป็นตัวเร่งทำให้โลกมีอุณหภูมิร้อนขึ้นเรื่อยๆ โดยการศึกษาพบว่า อุณหภูมิโลกในขณะนี้มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีก 3 องศาเซลเซียสภายในปี 2100 (พ.ศ. 2643) ซึ่งเป็นระดับที่สูงเกินเป้าหมายของข้อตกลงว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่กรุงปารีสถึง 2 เท่า ข้อตกลงดังกล่าวได้รับการลงนามโดยประเทศสมาชิกยูเอ็นเกือบ 200 ประเทศในการประชุมว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศซึ่งมีขึ้นที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสในปี 2015

นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า เพียงแค่โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น 1 องศาเซลเซียส มนุษย์ก็ได้รับผลกระทบอย่างมากแล้วจากสภาพอากาศที่มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ระดับนํ้าทะเลสูงขึ้นและแผ่นนํ้าแข็งที่ปกคลุมผิวทะเลในเขตอาร์กติกก็ละลายลงอย่างรวดเร็ว ในการประชุมที่กรุงปารีสเมื่อปี 2015 ได้มีการตั้งโจทย์ระดมความคิดเห็นว่า โลกจะต้องทำอย่างไรหรือมีมาตรการอะไรบ้างหากต้องการจะควบคุมให้อุณหภูมิพื้นผิวโลกและในชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ผลสรุปที่ได้ในเวลานั้นคือ โลกต้องลดการปล่อยไอเสียในรูปก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 45% (เมื่อเทียบกับระดับของปี 2010) ภายในปี 2030 หรือพ.ศ. 2573

รายงานของไอพีซีซีแนะนำมาตรการแก้ไขปัญหาโลกร้อนไว้ดังนี้ อาทิ ในแต่ละปีต้องลงทุนเพิ่มขึ้น 5 เท่าในอุตสาหกรรมพลังงานที่สร้างคาร์บอนน้อยและต้องทำต่อเนื่องไปจนถึงปี 2050 (โดยใช้ตัวเลขในปี 2015 เป็นฐาน) และเสนอว่าพลังงานหมุนเวียนรูปแบบต่างๆ จะต้องขึ้นมาเป็นพลังงานกระแสหลัก 70-85% ที่โลกใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า เป็นต้น นั่นหมายความถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในสัดส่วนโครงสร้างพลังงานที่โลกใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าซึ่งปัจจุบันใช้ถ่านหินเป็นหลัก (37%) ตามมาด้วยก๊าซธรรมชาติ (24%) รายงานระบุว่า การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่าย และมีต้นทุนสูง แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้

จาก www.thansettakij.com   วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2561

รหัสสับ Area Based 66 คัมภีร์ไขปัญหาน้ำทั้งระบบ

 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พูดในรายการ “ศาสตร์พระราชา” ว่าด้วย ความคืบหน้าและผลสำฤทธิ์จากการบริหารจัดการน้ำของประเทศ ตอนหนึ่งเอ่ยถึง Area Based 66

กลายเป็นรหัสลับที่คนทั่วไปไม่เข้าใจ เพราะนายกฯตู่ ไม่ได้ขยายความว่า หมายถึงอะไร อย่างไร

 ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทนช.) จึงต้องไขรหัสลับ Area Based 66 แทน

ประการแรก Area Based เป็นการแก้ไขปัญหาน้ำเชิงพื้นที่ของน้ำ ไม่ใช่พื้นที่ปกครอง พื้นที่ที่มีปัญหาน้ำไม่จำกัดเหมือนพื้นที่ปกครอง จังหวัดนั้น จังหวัดนี้ อำเภอนั้น อำเภอนี้ แต่จะข้ามพื้นที่ปกครองไปมาตามพื้นที่ลุ่มน้ำ

ประการที่สอง  นิยาม Area Based หมายถึง พื้นที่ที่มีปัญหาน้ำซ้ำซาก ไม่ว่าน้ำท่วม น้ำแล้ง หรือน้ำเสีย แก้ปัญหาไม่ได้สักที หรือรวมกระทั่งพื้นที่ที่ต้องเร่งพัฒนาโดยด่วน เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือแหล่งท่องเที่ยว โดยใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์และข้อมูลสถิติในพื้นที่ เข้าไปช่วยกำกับ

ประการที่สาม เป็นพื้นที่ปัญหาที่ยังมีช่องโหว่ผู้รับผิดชอบ หรือไม่มีเจ้าภาพรับผิดชอบ

ดังนั้น Area Based 66 จึงหมายถึงกระบวนการแก้ไขปัญหาน้ำอย่างเป็นระบบ ทั้งพื้นที่ที่มีปัญหาน้ำซ้ำซาก พื้นที่ที่ต้องพัฒนาเรื่องน้ำเป็นการเร่งด่วน และพื้นที่ที่มีปัญหาน้ำแต่ยังขาดหน่วยงานรับผิดชอบ รวมทั้งหมด 66 พื้นที่ทั่วประเทศ

ทีนี้ มาถึงกระบวนการในการจัดการ พื้นที่ Area Based ทั้ง 66 พื้นที่ ตรงนี้จะเป็นการบูรณาการแผนงานโครงการ ระหว่างหน่วยงานเกี่ยวข้อง ซึ่งต้องประชุม และหาข้อสรุปร่วมกันเป็นแผนงานโครงการของพื้นที่

“เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาน้ำในเชิงพื้นที่ ใครทำอะไร ตรงไหน อย่างไร เชื่อมโยงเป็นเนื้อเดียวกันหมด หรือเป็นเอกภาพ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำทั้งระบบให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนด  ต่างจากเดิมที่ต่างคนต่างทำ และไม่ทราบเป้าหมายรวมของพื้นที่” ดร.สมเกียรติขยายความ

พื้นที่ 66 แห่งดังกล่าว ครอบคลุมเนื้อที่ 49.91 ล้านไร่ โดยแบ่งเป็นพื้นที่น้ำท่วมอย่างเดียว 18 แห่ง 11.23 ล้านไร่ พื้นที่แล้งอย่างเดียว 8 แห่ง 6.65 ล้านไร่ พื้นที่ท่วมผสมแล้ง 25 แห่ง 16.44 ล้านไร่ พื้นที่น้ำเค็มรุกล้ำ 2 แห่ง 1.09 ล้านไร่ พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ 10 แห่ง 11.74 ล้านไร่ และพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว 3 แห่ง 0.76 ล้านไร่

แยกเป็นรายภาค ประกอบด้วย ภาคเหนือ 14 แห่ง ภาคกลาง 16 แห่ง ภาคอีสาน 18 แห่ง ภาคตะวันออก 13 แห่ง ภาคใต้ 14 แห่ง และภาคใต้ชายแดน 4 แห่ง

“การแก้ไขปัญหาน้ำจะมีเครื่องมือหลากหลาย เช่น แก้มลิง อ่างเก็บน้ำ ประตูระบายน้ำ เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ การผันน้ำ ระบบป้องกันน้ำท่วมและระบายน้ำ การเพิ่มน้ำต้นทุน แล้วแต่สภาพปัญหาของแต่ละพื้นที่” ดร.สมเกียรติกล่าว

ที่สำคัญ หากมีโครงการใดมีความชัดเจนในการแก้ไขปัญหาน้ำเชิงพื้นที่ จะได้รับการบรรจุในแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำ ถือเป็นโครงการที่ต้องผลักดันให้เกิดรูปธรรมโดยเร็วที่สุด เพื่อไม่ให้เสียโอกาสในการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ ขณะเดียวกัน เมื่อปัญหาน้ำได้รับการแก้ไขก็จะเกิดผลดีต่อประเทศตามมาในทันทีอีกด้วย

เปรียบไปก็คล้ายคัมภีร์แก้ไขปัญหาน้ำในแต่ละพื้นที่ มีการวางตัวผู้รับผิดชอบเฉพาะส่วนที่ร้อยเรียงอย่างเป็นระบบ โดยมีจุดหมายร่วมคือการแก้ไขปัญหาทั้งระบบนั่นเอง

มิน่าเล่า พล.อ.ประยุทธ์ ถึงหยิบยก Area Based 66 ขึ้นมาพูดด้วยความมั่นอกมั่นใจว่า เป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำทั้งระบบ เชิงผลงานชิ้นโบแดงจากฝีมือทำคลอดของรัฐบาลชุดนี้

จาก www.banmuang.co.th  วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2561

เงินบาทขยับอ่อนค่า 32.98 บาทต่อดอลลาร์ฯ ตามการเคลื่อนไหวค่าเงินภูมิภาคเอเชีย

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ระบุค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 32.98 บาทต่อดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลงจาก 32.96 บาทต่อดอลลาร์ฯ ณ สิ้นวันทำการที่ผ่านมา ค่าเงินภูมิภาคเอเชียยังคงเผชิญแรงกดดันจากความกังวลผลกระทบสงครามการค้าต่อเศรษฐกิจจีน ซึ่งทำให้ค่าเงินเอเชีย(ยกเว้นค่าเงินเยนญี่ปุ่น)มีแนวโน้มจะเคลื่อนไหวตามค่าเงินหยวนในระยะนี้ อย่างไรก็ดี ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อ เมื่อเทียบกับสกุลค่าเงินอื่นๆ หลังค่าเงินปอนด์และค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นจากความหวังว่าการเจรจา Brexit จะสามารถได้ข้อตกลงก่อนการประชุม EU summit ในสัปดาห์หน้า

ดังนั้น ในระยะสั้นนี้ตลาดโดยรวมยังคงมีการปิดรับความเสี่ยงอยู่ ซึ่งสะท้อนผ่านดัชนีความกลัว (VIX Index) ที่ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องและแตะระดับสูงสุดในรอบ 3เดือน นักลงทุนและผู้ประกอบการจึงควรเตรียมรับมือกับความผันผวนในตลาด สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอดูผลประมูลบอนด์ 10 ปีสหรัฐฯว่าจะได้รับความสนใจจากนักลงทุนมาน้อยแค่ไหน หลังบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯปรับตัวขึ้นแตะจุดสูงสุดตั้งแต่ปี 2554 ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากนี้ตลาดจะจับตารายงานตัวเลขเงินเฟ้อพื้นฐานของสหรัฐฯ(Core CPI) ซึ่งคาดว่าจะปรับตัวขึ้น สอดคล้องกับมุมมองของเฟด ทำให้เฟดจะยังคงเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปต่อ

มองกรอบค่าเงินบาทวันนี้อยู่ที่ 32.95-33.10 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในระยะสั้นนี้ค่าเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าลงและแกว่งตัวในกรอบกว้าง หากนักลงทุนต่างชาติเริ่มเทขายบอนด์ไทยและหุ้นไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทว่าแรงขายดอลลาร์จากผู้ส่งออกอาจจะพอช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้ในระยะสั้นนี้

จาก www.thansettakij.com   วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ครม.เทงบ 1.5 หมื่นล้านบาท ซื้อใจชาวไร่อ้อย 3.4 แสนคนผ่าวิกฤติน้ำตาล

ครม.อุ้มชาวไร่อ้อย 3.5 แสนราย เคาะเงินช่วยเหลือซื้อปัจจัยการผลิต 1.56 หมื่นล้านบาท ย้ำชัดไม่ขัดระเบียบ WTO เพราะรัฐบาลอุดหนุนไม่เกิน 10% ของมูลค่าอุตสาหกรรม 1.3 แสนล้านบาท คาดช่วยให้ชาวไร่อ้อยอยู่ได้ในยามที่ราคาตลาดโลกตกต่ำ

นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิตฤดูการผลิต 2561/2562 วงเงินรวม 15,600 ล้านบาท แยกเป็นเงินงบประมาณจากงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็น ประจำปีงบประมาณ 2562 จำนวน 6,500 ล้านบาท จ่ายให้ชาวไร่อ้อยตันละ 50 บาท ไม่เกินรายละ 5,000 ตัน และเงินจากกลไกของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ที่โรงงานจะจ่ายตรงให้อีก 9,100 ล้านบาท จ่ายให้ตันละ 70 บาท รวมเป็นตันละ 120 บาท ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือน พ.ย.2561-เม.ย. 2562 ซึ่งการใช้เงินช่วยเหลือจากรัฐบาลในวงเงิน 6,500 ล้านบาท ไม่ถือว่าขัดต่อพันธกรณีองค์การการค้าโลก (WTO) เนื่องจากมูลค่าอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยในฤดูการผลิตปี 2561/2562 มี 130,000 ล้านบาทต่อปี การอุดหนุนจึงไม่เกิน 10% หรือ 13,000 ล้านบาท ถือเป็นการอุดหนุนที่เล็กน้อยที่รัฐดำเนินการได้

ทั้งนี้ จากงบประมาณทั้ง 2 ส่วนสำหรับช่วยเหลือชาวไร่อ้อย จะทำให้ชาวไร่อ้อยได้รับราคาอ้อยขั้นต้นในฤดูการผลิตปี 2561/2562 ที่ราคาประมาณ 800 บาทต่อตัน มาจากการคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นที่ตันละ 680 บาท รวมกับเงินช่วยเหลืออีกตันละ 120 บาท รวมเป็น 800 บาท และเมื่อรวมกับค่าส่วนเพิ่มจากคุณภาพอ้อยที่เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยเกษตรกร ชาวไร่อ้อยจะได้รับราคาอ้อยประมาณ 880-900 บาทต่อตัน ที่ค่าความหวานเฉลี่ย 12.35 ซี.ซี.เอส

“ราคาอ้อยและน้ำตาลในตลาดโลกตกต่ำพอสมควรเมื่อเทียบกับช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ราคาอ้อยอยู่ที่ประมาณตันละ 680 บาท จากที่ผ่านมาตันละ 900-1,000 บาท จึงส่งผลกระทบโดยตรงกับพี่น้องเกษตรกร โดยเฉพาะในช่วงที่กำลังปรับตัวกับโครงสร้างใหม่ ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมจึงเสนอมาตรการเพื่อดูแลชาวไร่อ้อย ซึ่งมี 2 ส่วนคือ ส่วนแรกรัฐบาลให้การช่วยเหลือเงินไปซื้อปัจจัยการผลิตในอัตราตันละ 50 บาท และส่วนที่ 2 คือชาวไร่อ้อยและโรงงานช่วยเหลือตัวเอง โดยนำเงินส่งกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายมาใช้ในอัตราตันละ 70 บาทรวมการช่วยเหลือ 120 บาทต่อตัน เมื่อรวมแล้วจะได้รับราคาอ้อยประมาณ 800-900 บาท จะทำให้ชาวไร่อ้อยอยู่ได้ในช่วงนี้ และเป็นการช่วยเหลือชาวไร่อ้อยทุกคน 340,000 ราย ไม่ใช่เฉพาะรายใหญ่”

นายอุตตมกล่าวว่า โครงการนี้จะร่วมมือกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยเงิน 50 บาทต่อตันที่รัฐสนับสนุนจะจ่ายเงินเข้าบัญชีชาวไร่อ้อยโดยตรงไม่ผ่านใคร ส่วนเงินสนับสนุนจากกลไกกองทุนอ้อยและน้ำตาล-ทรายในอัตราตันละ 70 บาทนั้น โรงงานจะเป็นผู้จ่ายให้ชาวไร่อ้อยโดยตรง

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้ประเมินปริมาณอ้อยเบื้องต้นพบว่า ในฤดูการผลิตปี 2561/2562 คาดว่า จะมีปริมาณอ้อยเข้าหีบ 130 ล้านตัน มีพื้นที่ปลูก 12.07 ล้านไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 10.92 ตันต่อไร่ โดยมีจำนวนเกษตรกรชาว ไร่อ้อยที่ได้ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย 340,000 ราย ที่ได้รับผลประโยชน์จากโครงการนี้ โดยเฉพาะชาวไร่อ้อยรายเล็กสามารถเข้าถึงปัจจัยด้านการผลิตที่จำเป็นและมีผลตอบแทนเพียงพอสำหรับนำไปเป็นเงินทุน หมุนเวียนในการประกอบอาชีพและแก้ไขปัญหาโรคและแมลงศัตรูอ้อย รวมทั้งด้านการเพาะปลูก และบำรุงรักษาอ้อย ก่อให้เกิดเงินหมุนเวียนต่อเนื่องในระบบเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันยังเป็นการช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นในช่วงเปลี่ยนผ่านจากการปรับโครงสร้างระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ โดยมีระยะเวลาการเปลี่ยน ผ่านในช่วง 2 ปีแรกคือ ฤดูการผลิตปี 2560/2561 และปี 2561/2562

“ขณะนี้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายอยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยน เพื่อให้สามารถผลิตสินค้าใหม่ๆมีมูลค่าสูงเกิดประโยชน์กับทุกฝ่ายทั้งชาวไร่อ้อย ผู้ประกอบการแปรรูป โรงงาน และผู้บริโภค ซึ่งได้ดำเนินการมาประมาณ 1 ปีแล้ว ในการปรับโครงสร้าง คือการปรับแก้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อ้อยและน้ำตาลทรายเพื่อให้สามารถนำน้ำอ้อยไปทำอย่างอื่นได้นอกเหนือจากน้ำตาลซึ่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจาก ครม.ไปแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา”

สำหรับสถานะของกองทุนอ้อยและน้ำตาล-ทราย ณ วันที่ 31 ส.ค. มีจำนวน 9,701 ล้านบาทโดยมีภาระค่าใช้จ่ายต่างๆที่ต้องดำเนินการ เช่น จ่ายเงินชดเชยกรณีที่ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิต และการจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้ายต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้น และผลตอบแทนการผลิตและการจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้นฤดูกาลประมาณ 18,000 ล้านบาท ทั้งนี้ คาดว่า ณ สิ้นปี 2561 เงินกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายจะอยู่ ที่ติดลบ 7,797 ล้านบาท.

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ค่าบาทสิ้นปีจ่อแตะ33.00 ดอกเบี้ย‘เฟด’-น้ำมันกดดัน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จัดทำบทวิเคราะห์ “ดอกเบี้ยเฟด น้ำมัน ค่าเงินในภูมิภาค ... 3 แรงส่ง กดดันบาทอ่อน ช่วงปลายปี”โดยระบุว่า เป็นที่น่าสังเกต ค่าเงินบาทและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย โดยเฉพาะอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว เริ่มมีกรอบการเคลื่อนไหวที่“แกว่งตัว” ชัดเจนขึ้นเมื่อเริ่มเข้าสู่ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี โดยเงินบาทอ่อนค่าไปแตะระดับ 33.10 บาทต่อดอลลาร์ฯ เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2561 หรือคิดเป็นอัตราการอ่อนค่าถึง 2.6% เพียงไม่กี่วันจากระดับ 32.25 บาทต่อดอลลาร์ฯในช่วงต้นเดือนตุลาคม 2561

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจและเครื่องชี้เสถียรภาพต่างประเทศที่ค่อนข้างแข็งแกร่งของไทย อาจจะช่วยบรรเทาความผันผวนของค่าเงินบาทลงได้บ้างบางส่วน

อย่างไรก็ดี เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวในกรอบที่อ่อนค่าลง เพราะปัจจัยแวดล้อมที่รออยู่ในระยะที่เหลือของปี ทั้งการคุมเข้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ทรงตัวในระดับสูงรวมถึงข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน แม้จะไม่ใช่ปัจจัยใหม่ แต่เมื่อผนวกกับช่วงห่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ และไทย ก็อาจจะทำให้ทิศทางของเงินบาท“มีความอ่อนไหว” ต่อปัจจัยต่างๆ เหล่านี้มากขึ้น

“ธนาคารกสิกรไทย ยังคงตัวเลขคาดการณ์ค่าเงินบาท ณ สิ้นปี 2561 ที่ระดับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ จากกรอบคาดการณ์ที่ 32.50-33.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ” ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ

จาก https://www.naewna.com วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2561

5กลไก7ภาคส่วนขับเคลื่อน เดินหน้า‘เกษตรกรรมยั่งยืน’

นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯได้กำหนดแนวทางการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืน พ.ศ.2560-2564 ให้มีการเสริมสร้างฐานการผลิตภาคเกษตรให้เข้มแข็งและยั่งยืนโดยยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารเข้าสู่ระบบมาตรฐานและสอดคล้องกับความต้องการของตลาด

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการสร้างกลไกการทำงานในระดับพื้นที่ร่วมกับภาคีเครือข่ายเกิดขึ้นแล้ว แต่ก็ยังไม่เกิดประสิทธิภาพอย่างเต็มที่ ดังนั้น จึงได้มีแนวทางการดำเนินงานขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืน ปี 2562 ที่จะก่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมโดยมีการดำเนินงาน ดังนี้ 1.เน้นการขับเคลื่อนเชิงพื้นที่ 2.ใช้พลังขับเคลื่อน 3 ระดับ (ชาติจังหวัด พื้นที่) 5 กลไก (ประสานงาน ยุทธศาสตร์ชาติ จัดการความรู้ติดตามความต่อเนื่อง และสื่อสารสังคม) 7 ภาคส่วนความร่วมมือ (รัฐ วิชาการ ประชาชน เอกชน ประชาสังคม สื่อ และศาสนา) 3.ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน พัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่เชื่อมต่อภูมิปัญญาเกษตรกรรุ่นเดิม 4.สร้างพื้นที่ต้นแบบเกษตรกรรมยั่งยืน 6 รูปแบบ 5.พัฒนาสู่การรับรองมาตรฐานทุกระดับ 6.สร้างตลาดสีเขียวทุกระดับ อาทิ ตลาดชุมชน โรงพยาบาล โรงเรียน ฯลฯ 7.เชื่อมโยงแหล่งทุนกับระบบเกษตรกรรมยั่งยืนตลอดห่วงโซ่ และ 8.ขยายสู่ตลาดโมเดิร์น เทรด ทั้งนี้ ในการสร้างพื้นที่ต้นแบบของการดำเนินงานร่วม 7 ภาคีนั้น ได้เลือกพื้นที่นำร่อง 28 จังหวัดที่ได้กำหนดไว้เมื่อปี 2561 ได้แก่ ภาคเหนือ 9 จังหวัด ภาคอีสาน13 จังหวัด ภาคกลาง 3 จังหวัด และภาคใต้ 3 จังหวัด

จาก https://www.naewna.com วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2561

เกษตรฯเร่งเครื่อง‘Big Data’ พัฒนาฐานข้อมูลเกษตรกรกลาง‘Farmer ONE’

นางสาวจริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ Big data ได้มีการเชื่อมโยงกับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และอยู่ระหว่างการทดสอบการเชื่อมโยงกับกระทรวงพาณิชย์ รวมทั้งได้มีการหารือการเชื่อมโยงข้อมูลกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเชื่อมั่นว่า การเชื่อมโยงกับภาคการตลาดจะช่วยให้สามารถทราบปริมาณผลผลิต ช่วงเวลา แหล่งผลิตที่สำคัญ ตามนโยบายตลาดนำการผลิต เพื่อใช้บริหารจัดการการจำหน่าย การกระจายสินค้า กำหนดราคาได้อย่างเหมาะสมต่อไป

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในการสนับสนุน “การพัฒนาฐานข้อมูลเกษตรกรกลาง (Farmer ONE)” ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) เพื่อร่วมสนับสนุนการดำเนินงานด้านเทคโนโลยีและด้านสารสนเทศ ขับเคลื่อนตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ด้านการพัฒนาฐานข้อมูลเกษตรกรกลาง มาตั้งแต่ปี 2559 สศก. ในฐานะหน่วยงานอำนวยการของคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วน จึงได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการรวบรวมข้อมูลทะเบียนเกษตรกรของหน่วยงานต่างๆ ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยใช้เลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ในการเชื่อมโยง ทั้งจากข้อมูลทะเบียนเกษตรกรของกรมส่งเสริมการเกษตร ทะเบียนผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของกรมประมง ทะเบียนผู้เลี้ยงสัตว์ของกรมปศุสัตว์ รวมทั้งได้ขยายฐานข้อมูลเพื่อรวบรวมข้อมูลทะเบียนเกษตรกรของกรมการข้าว กรมหม่อนไหม การยางแห่งประเทศไทย และกรมส่งเสริมสหกรณ์ด้วยเช่นกัน โดยมีศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ให้การสนับสนุนทางด้านเทคโนโลยีการจัดการฐานข้อมูล การบูรณาการฐานข้อมูลและระบบการตรวจสอบถูกต้อง

สำหรับ ท่านที่ต้องการสอบถามข้อมูลการให้บริการของ Farmer ONE เช่น จำนวนครัวเรือนเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนในภาพรวมระดับประเทศ ระดับภาค หรือ ระดับจังหวัด สามารถสอบถามได้ที่ ส่วนสารสนเทศเศรษฐกิจการเกษตร โทร.0-2940-6640 หรือ ส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศ0-2940-7038 ในวันและเวลาราชการ

จาก https://www.naewna.com วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ครม.อนุมัติ 6.5 พันล้าน อุ้มชาวไร่อ้อย 3.4 แสนราย

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต โดยขอรับการจัดสรรงบกลาง รายการเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจําเป็นประจำปีงบประมาณ 2562 จำนวน 6,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบในช่วงที่กำลังมีการปรับโครงสร้างอ้อยและน้ำตาล ประกอบกับขณะนี้ราคาตลาดโลกตกต่ำเมื่อเทียบกับ 2-3 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ราคาปัจจัยการผลิตหลัก เช่น ปุ๋ย และยาปราบศัตรูพืชมีราคาสูงขึ้นมาก ชาวไร่อ้อยได้รับผลกระทบจากทั้งด้านราคาที่ตกต่ำ และต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น และการเปลี่ยนแปลงระบบอ้อยและน้ำตาลทรายใหม่ ทำให้รัฐไม่สามารถเข้ามาแทรกแซงหรือพยุงราคาได้เหมือนในอดีตที่ผ่านมา

จึงช่วยดูแลปัจจัยการผลิตให้กับชาวไร่อ้อยที่ลงทะเบียนกับสํานักงานคณะกรรมการอ้อยจำนวน 3.4 แสนราย ที่เป็นคู่สัญญากับโรงงานทั้ง 54 โรงงาน ในรอบปีการผลิต 2561/2562 ซึ่งตัวเลขมาจากการประมาณการอ้อยในปีหน้าว่าจะมีผลผลิตออกมาประมาณ 130 ล้านตัน โดยจะเป็นการช่วยเหลือเงินซื้อปัจจัยการผลิต 50 บาทต่อตัน ซึ่งใช้งบประมาณ 6,500 ล้านบาท รายละไม่เกิน 5 พันตัน หรือไม่เกิน 2.5 แสนบาทต่อราย หน่วยงานที่จะจ่ายเงินคือ ธนาคารธกส. ที่จะจ่ายเงินเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรงไม่ผ่านใคร อยู่ภายใต้ระเบียบองค์การการค้าโลก (WTO) ที่รัฐบาลสามารถช่วยเหลือได้

นอกจากนี้ ยังมีการให้นำเงินในระบบอุตสาหกรรมอ้อยจำนวนกว่า 9 พันล้านบาท มาจ่ายให้กับเกษตรกรก่อนล่วงหน้า ซึ่งไม่ใช่งบประมาณ ส่วนนี้จะช่วยเหลืออีก 70 บาทต่อตัน ส่วนนี้โรงงานจะจ่ายโดยตรงให้กับเกษตรกรเช่นกัน

นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ไม่ใช่ว่าเกษตรกรทุกคนจะได้เงิน 2.5 แสนบาท เพราะตามความเป็นจริงบางรายอาจจะมีอ้อยหลายหมื่นตัน แต่เราจำกัดที่ไม่เกิน 5 พันตัน แต่รายเล็กจะเฉลี่ยอยู่ที่รายละ 500 ตัน ดังนั้นมติครม.จึงจะจ่ายความเป็นจริง และยืนยันว่าอ้อยทุกตันที่เข้าโครงการจะถูกตรวจสอบผ่านการลงทะเบียนของชาวไร่อยู่แล้ว เพราะมีการควบคุมโดยเจ้าหน้าที่อยู่ที่โรงงาน

“รวมแล้วมาตรการนี้ใช้เงินประมาณ 1.5 หมื่นล้าน เป็นการใช้งบ 6.5 พันล้านบาท ส่วน 9 พันล้านเป็นเงินในระบบที่โรงงานนำมาจ่ายล่วงหน้า เมื่อถึงปลายปีโรงงานก็จะเก็บ หากราคาสูงขึ้นก็จะดูแล ซึ่งเรื่องนี้เราได้คุยกับภาคเอกชนแล้ว เป็นส่วนที่ภาคเอกชนเขาจะดูแลกันเอง”นายสมชาย กล่าว

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 10 ตุลาคม 2561

“อุตตม” ดัน ครม.เคาะงบ 6.5 พันล้าน เพิ่มปัจจัยการผลิตให้ชาวไร่อ้อย

“อุตตม” เผย ครม.เคาะอนุมัติงบประมาณช่วยเหลือชาวไร่อ้อยผ่าน ธ.ก.ส.วงเงิน 6,500 ล้านบาทเพื่อเป็นปัจจัยการผลิตเพิ่มขึ้นอีกตันละ 50 บาท หลังราคาอ้อยขั้นต้นปี 61/62 ตกต่ำตามทิศทางตลาดโลก ขณะเดียวกันยังมีอีกส่วนจากเงิน กท.เพิ่มให้อีกตันละ 70 บาท ยันไม่ขัดหลัก WTO

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.วันนี้ (10 ต.ค.)ได้เห็นชอบการจัดสรรงบประมาณช่วยเหลือชาวไร่อ้อยเพื่อเป็นปัจจัยด้านการผลิตเพิ่มขึ้น ในการช่วยบรรเทาผลกระทบราคาอ้อยขั้นต้นฤดูกาลผลิตปี 2561/62 ที่คำนวณเบื้องต้นอยู่เพียงตันละ 680 บาท ถือเป็นอัตราที่ต่ำจากราคาปกติเฉลี่ยควรจะอยู่ระดับตันละ 900-1,000 บาท เนื่องจากราคาอ้อยตลาดโลกตกต่ำต่อเนื่องช่วงที่ผ่านมา

สำหรับกรอบวงเงินช่วยเหลือจะแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกใช้งบประมาณช่วยเหลือจ่ายให้ชาวไร่อ้อยผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) คำนวณจากผลผลิตตันละ 50 บาท โดยเป็นการนำไปเป็นปัจจัยการผลิตเพิ่ม โดยจะจ่ายให้สูงสุดต่อรายไม่เกิน 5,000 ตัน หรือไม่เกิน 250,000 บาทต่อราย ส่วนที่ 2 เงินสะสมของชาวไร่อ้อยจ่ายจากโรงงานโดยตรงให้แก่ชาวไร่อ้อยผ่านกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) ซึ่งเป็นเงินสะสมจากส่วนต่างราคาน้ำตาลในประเทศและต่างประเทศ อีกตันละ 70 บาท รวมทั้ง 2 ส่วน ชาวไร่อ้อยจะได้เงินช่วยเหลือเพิ่มอีกตันละ 120 บาท โดยการจ่ายเงินจะสามารถดำเนินการได้โดยใช้งบประมาณปี 2562 คาดว่าเงินจะถึงมือชาวไร่อ้อยปลายเดือนพฤศจิกายนนี้

“เงินช่วยเหลือชาวไร่อ้อยทั้ง 2 ส่วน ส่วนแรกใช้งบประมาณภาครัฐประมาณ 6,500 ล้านบาท คาดว่าครอบคลุมผลผลิตชาวไร่อ้อยที่ 130 ล้านตัน ส่วนโรงงานจ่ายจะอยู่ที่ประมาณ 9,000 ล้านบาท โดยกระทรวงอุตสาหกรรมยืนยันว่าการให้เงินช่วยเหลือครั้งนี้เป็นไปตามกรอบองค์การการค้าโลก (WTO)” นายนราธิปกล่าว

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทยและหัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 7 กล่าวว่า การที่รัฐบาลช่วยเหลือครั้งนี้ก็จะทำให้สภาพคล่องของชาวไร่อ้อยดีขึ้นเพราะยอมรับว่าราคาอ้อยค่อนข้างตกต่ำมากเมื่อเทียบกับที่ผ่านๆ มาและแม้ว่าอาจจะไม่ถึงราคาที่ชาวไร่ต้องการที่ 900 บาทต่อตัน เพราะเป็นราคาที่คุ้มทุนแต่ก็ยังดีกว่าไม่ได้รับการช่วยเหลือเลย

“เมื่อรัฐให้วงเงินแค่นี้ก็ถือว่าก็ยังดีเมื่อรวมแล้วเราก็จะได้เงินค่าอ้อย 800 บาทก็ยังพอรับได้ถ้าไม่มีเข้ามาก็คงจะลำบากกว่า ยอมรับว่าขณะนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายที่ได้ลอยตัวราคาแล้วเป็นช่วงที่ตลาดโลกตกต่ำต่อเนื่อง โดยล่าสุดราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกเริ่มขยับเล็กน้อยมาอยู่ระดับ 12 เซ็นต์ต่อปอนด์ เพราะบราซิลได้นำอ้อยไปผลิตเอทานอลเพิ่มขึ้นหลังราคาน้ำมันปรับตัวสูง” นายนราธิปกล่าว

จาก https://mgronline.com   วันที่ 10 ตุลาคม 2561

'พาณิชย์' เตรียมความพร้อมไทย เป็นประธานอาเซียนปี 2562

กระทรวงพาณิชย์เตรียมเสนอประเด็นเด่นให้อาเซียนผลักดันให้สำเร็จในปี 2562 ทั้งเรื่องการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน การส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อรองรับยุคดิจิทัล พร้อมเดินหน้าเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมอาเซียนด้านเศรษฐกิจในปีหน้า ทั้งการประชุมระดับรัฐมนตรี และระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจของอาเซียน ช่วงไทยเป็นประธานอาเซียนในปี 2562

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยความคืบหน้าการเตรียมการของไทยที่จะรับไม้ต่อจากสิงคโปร์ในการเป็นประธานอาเซียนปี 2562 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ ว่า ปลัดกระทรวงพาณิชย์ได้ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ เพื่อกำหนดประเด็นด้านเศรษฐกิจที่ไทยต้องการผลักดันในช่วงที่เป็นประธานอาเซียน โดยมีอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเป็นประธาน และมีผู้แทนจากหน่วยงานด้านเศรษฐกิจทั้งภาครัฐและเอกชนรวม 33 หน่วยงาน เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงาน กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการต่างประเทศ เป็นต้น ร่วมเป็นคณะทำงาน ซึ่งได้มีการประชุมไปแล้วหลายครั้ง นับตั้งแต่เดือน มี.ค. ที่ผ่านมา

จากการร่วมกันพิจารณาประเด็นที่เห็นควรเสนอให้อาเซียนผลักดันให้สำเร็จในปี 2562 โดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แนวโน้มที่จะดำเนินการได้แล้วเสร็จและประโยชน์ที่อาเซียนจะได้รับ โดยเฉพาะภาคเอกชน ในเบื้องต้น คณะทำงานฯ เห็นว่าประเด็นที่น่าจะผลักดัน ได้แก่ การอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน การส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) การส่งเสริมการท่องเที่ยว การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) การพัฒนาเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อรองรับยุคดิจิทัล เป็นต้น

ขณะนี้ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศอยู่ระหว่างการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำเอกสารแนวคิด (Concept Paper) สรุปประเด็นที่จะผลักดันในปี 2562 เพื่อเสนอที่ประชุมคณะอนุกรรมการด้านสารัตถะฯ ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธาน และที่ประชุมคณะกรรมการระดับชาติฯ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในช่วงปลายเดือน ต.ค. นี้ พิจารณาก่อนเสนออาเซียนต่อไป

สำหรับการเตรียมการจัดการประชุมอาเซียนของไทยในปี 2562 กระทรวงพาณิชย์จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมที่สำคัญ ได้แก่ การประชุมระดับรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) การประชุมคณะทำงานระดับสูงว่าด้วยการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน (HLTF-EI) และการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน (SEOM) โดยการประชุมแรกที่จะจัดขึ้น คือ การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (SEOM Retreat) ระหว่างวันที่ 29-30 พ.ย. นี้ ณ กรุงเทพฯ

ทั้งนี้ ในปี 2561 อาเซียนประสบความสำเร็จในการผลักดันเรื่องที่สำคัญ เช่น จัดทำข้อสรุปความตกลงพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ลงนามพิธีสารอนุวัติข้อผูกพันการเปิดตลาด ชุดที่ 10 ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยบริการอาเซียน และลงนามพิธีสารเพื่อแก้ไขความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน เพื่อรองรับการใช้งานระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของอาเซียน เป็นต้น

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 10 ตุลาคม 2561

ก.เกษตรฯ สรุปผลงาน 4 ปี ปฏิรูปภาคเกษตร-ยกระดับรายได้

กระทรวงเกษตรฯ สรุปผลงาน 4 ปีตามนโยบายปฏิรูปภาคการเกษตร สามารถยกระดับรายได้เกษตรกรกว่า 1.3 ล้านครัวเรือนได้เป็นผล เร่งขับเคลื่อนแผนการผลิตของประเทศ เน้นรวมกลุ่มผลิตสินค้าตามความต้องการของตลาด

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ สรุปผลการดำเนินงาน 4 ปี (2557-2561) ซึ่งได้ปฏิรูปภาคการเกษตรตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี ที่ผ่านมาเกษตรกรประสบปัญหารายได้ไม่เพียงพอ ราคาผลผลิตตกต่ำจากสินค้าเกษตรล้นตลาดและพ่อค้าคนกลางกดราคา บางส่วนเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน อีกจำนวนมากมีหนี้สินสะสมจึงกำหนดแผนการผลิตภาคการเกษตรของประเทศขึ้นมาแก้ไขปัญหาและใช้แนวทางตลาดนำการผลิต ซึ่งจะตรวจสอบความต้องการผลผลิตทางการเกษตรจากทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ จึงวางแผนส่งเสริมการผลิตทั้งด้านพืช ปศุสัตว์ และประมง โดยกำหนดให้ปลูกในพื้นที่ที่เหมาะสมและไม่ให้ผลิตมากเกินสมดุลตลาด ที่เห็นเป็นรูปธรรม คือ การร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ทำแผนข้าวครบวงจร ลดการทำนาปรังในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม แล้วส่งเสริมทำการเกษตรอื่น ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้หาผู้ประกอบการมารับซื้อแน่นอน สามารถลดผลผลิตข้าวที่เกินความต้องการบริโภคและส่งออก ทำให้ราคาข้าวที่ตกต่ำสูงขึ้นได้

 นายกฤษฎา กล่าวว่า น้ำเป็นปัจจัยสำคัญของภาคการเกษตรจึงได้จัดทำระบบกระจายน้ำเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า ทำระบบชลประทานใหม่ 3,500 แห่ง ในพื้นที่เกษตร 2.8 ล้านไร่ เพิ่มปริมาณน้ำได้ 1,652 ล้านลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้ จัดทำแผนบริหารจัดการน้ำในลุ่มเจ้าพระยาโดยหาพื้นที่รองรับน้ำหลากในทุ่งบางระกำและทุ่งเจ้าพระยาตอนล่าง 12 ทุ่ง เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากและสนับสนุนการทำประมงเป็นรายได้เสริมช่วงที่ใช้พื้นที่ดังกล่าวชะลอน้ำไว้

สำหรับการส่งเสริมการทำการเกษตรรวมกลุ่มแบบแปลงใหญ่ ปัจจุบันมี 4,007 แปลง พื้นที่ 5.1 ล้านไร่ เกษตรกรในโครงการ 300,000 คน มีศูนย์เรียนรู้การเพิ่มการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) เป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีมีกว่า 10,000 แห่งทั่วประเทศ จากนั้นส่งเสริมให้สหกรณ์ 1,300 สหกรณ์เป็นหน่วยธุรกิจต่อรองราคาซื้อปัจจัยการผลิตและขายผลผลิตในราคาที่เป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ภายใต้โครงการสานพลังประชารัฐ เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร 1.3 ล้านครัวเรือน ได้ 2,750 บาทต่อไร่ รวมทั้งสิ้น 2,300 ล้านบาท

ส่วนแนวทางเพิ่มช่องทางการตลาดนั้น นอกจากกระทรวงเกษตรฯ จะจับคู่ค้าให้ผู้ประกอบการมารับซื้อผลผลิตจากกลุ่มเกษตรกรโดยตรงแล้ว ยังกำหนดแผนพระพิรุณส่งเสริมตลาด e-commerce ขายผลผลิตทางออนไลน์ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) ซึ่งมีความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีการผลิตและช่องทางการตลาดใหม่ ๆ สานต่อประสบการณ์จากเกษตรกรรุ่นปัจจุบัน

นายกฤษฎา กล่าวเพิ่มเติมว่า ล่าสุดได้ช่วยปลดเปลื้องภาระหนี้สินสะสมของเกษตรกร 36,605 ราย ลดภาระหนี้ได้ 10,200 ล้านบาท ตามที่ได้เสนอ ครม. เห็นชอบปรับปรุงโครงสร้างหนี้แก่เกษตรกรที่กู้ยืมเงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แล้วกลายเป็นหนี้เสีย โดยจะจัดทำแผนพัฒนาอาชีพเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ไปชำระเงินกู้ตามสัญญาที่ทำกันใหม่ รวมถึงสามารถเลี้ยงชีพได้อย่างมั่นคง ทั้งนี้ ในการบริหารจัดการการเกษตรแผนใหม่นั้น กระทรวงเกษตรฯ ได้ปฎิรูปโครงสร้างการทำงานของหน่วยงานในพื้นที่ โดยจัดตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ระดับจังหวัด (อ.พ.ก.) ขึ้น โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ซึ่งจะบูรณาการการทำงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เป็นเอกภาพและแก้ปัญหาตรงประเด็น

สำหรับโครงการสำคัญซึ่งจะเริ่มต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ คือ โครงการปลูกพืชอื่นทดแทนนาปรังในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมจะทำนา โดยจากการสำรวจความต้องการของตลาดพบว่า ไทยยังขาดแคลนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยความต้องการของโรงงานผลิตอาหารสัตว์รวม 8 ล้านตันต่อปี ผลิตได้เพียง 4 ล้านตันต่อปี เมื่อเปรียบเทียบข้าวนาปรังให้กำไร 306 บาทต่อไร่ ขณะที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้กำไร 3,690 บาทต่อไร่ มากกว่าข้าว 10 เท่าตัว ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้สร้างความมั่นใจให้เกษตรกรโดยสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเป็นทุน หาผู้รับซื้อมาทำสัญญาล่วงหน้า ตกลงราคารับซื้อขั้นต่ำ และประกันภัยพืชผล เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตเกษตรกรที่ร่วมโครงการอย่างแน่นอน จากนั้นจะใช้เป็นต้นแบบในการผลิตภาคการเกษตรของประเทศต่อไป

จาก https://tna.mcot.net   วันที่ 10 ตุลาคม 2561

ฝนหลวงฯ ฮึดสู้! โค้งสุดท้าย เร่งทำฝนช่วยพื้นที่การเกษตรและเติมน้ำในเขื่อน

กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เร่งปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร และเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักให้กับพื้นที่ลุ่มรับน้ำของอ่างเก็บน้ำและเขื่อนต่างๆ ที่ร้องขอฝน แม้จะประสบปัญหาทางด้านสภาพอากาศ ที่กำลังเข้าสู่ฤดูหนาว

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การขาดแคลนน้ำจากภาวะฝนทิ้งช่วงในพื้นที่การเกษตรนอกเขตชลประทานเริ่มได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง อีกทั้งได้รับแจ้งจากเกษตรกรและอาสาสมัครฝนหลวง ที่มีการร้องขอฝนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จึงได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่ดังกล่าว โดยจากการปฏิบัติการตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม – 7 ตุลาคม 2561 รวม 58 จังหวัด มีพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์ จำนวนทั้งสิ้น 218.20 ล้านไร่ ได้แก่ ภาคเหนือ 27 จังหวัด 76.88 ล้านไร่ ภาคกลาง 15 จังหวัด 31.75 ล้านไร่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 16 จังหวัด 58.38 ล้านไร่ ภาคตะวันออก 7 จังหวัด 20.94 ล้านไร่ และภาคใต้ 4 จังหวัด 30.25 ล้านไร่ รวมทั้งได้ดำเนินการปรับแผนการปฏิบัติการฝนหลวงเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง และเพิ่มปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำและเขื่อนต่างๆ ในช่วงระหว่างวันที่ 20 กันยายน –31 ตุลาคม 2561 โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มปริมาณน้ำทั้งสิ้นจำนวน 156 ล้านลบ.ม. ซึ่งปัจจุบันสามารถเพิ่มปริมาณน้ำได้ 67.686 ล้านลบ.ม. เนื่องจากในการปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ร้องขอฝน มีพื้นที่ติดกับแปลงเกษตรที่ส่วนใหญ่กำลังจะเก็บเกี่ยว อาจทำให้เกิดความเสียหายกับเกษตรกรส่วนใหญ่ได้ ประกอบกับ สภาพอากาศกำลังเปลี่ยนแปลงจากฤดูฝนเข้าสู่ฤดูหนาว ทำให้บริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีน เริ่มแผ่ลงมาปกคลุมตอนบนของทั้งภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นระยะๆ ลมชั้นบนเริ่มเปลี่ยนเป็นมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุม จึงทำให้ในหลายพื้นที่มีความชื้นสัมพัทธ์ชั้นบนต่ำ ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญ ในการขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงในช่วงเวลานี้ และไม่สามารถขึ้นบินปฏิบัติการได้ในบางวัน

อย่างไรก็ตาม กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้กำชับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกคน ให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และร่วมกันวิเคราะห์สภาพอากาศ สภาพพื้นที่ ก่อนขึ้นปฏิบัติการทุกครั้ง เพื่อป้องกันข้อผิดพลาด และให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการปฏิบัติงาน พร้อมทั้งมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ที่ประจำอยู่ในแต่ละภูมิภาค ลงพื้นที่เพื่อสร้างการรับรู้และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถึงภารกิจการทำฝนหลวง ปัญหา และอุปสรรคในการดำเนินการทำฝน รวมทั้งรณรงค์ให้ใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อรับมือกับปัญหาภัยแล้งที่กำลังจะมาถึง และขอให้เกษตรกรและประชาชนมั่นใจว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตรจะดำเนินการช่วยเหลือพื้นที่ที่ร้องขอฝนให้อย่างทั่วถึง และพร้อมเคียงข้างประชาชนเพื่อรับมือกับปัญหาภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ทำการเกษตร โดยจะมุ่งมั่นทุ่มเทอย่างสุดความสามารถในการปฏิบัติภารกิจ

จาก https://siamrath.co.th   วันที่ 10 ตุลาคม 2561

ไทยร่วมออสซี่ฟ้อง “WTO” อินเดียอุดหนุนขายน้ำตาล

พาณิชย์เตรียมถกเอกชน 3 สมาคมน้ำตาล กำหนดท่าทีผนึกออสเตรเลียฟ้องอินเดียอุดหนุนส่งออกทุบราคาตลาดโลกดิ่งต่ำสุดในรอบ 10 ปี ด้านอุตสาหกรรมน้ำตาลไทยจับ GSA คัดค้านรัฐบาลอินเดียใช้มาตรการอุดหนุนการส่งออกน้ำตาล

นางอรมน  ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่ากรมได้รับรายงานจากคณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก ประจำกรุงเจนีวา ว่าทางรัฐบาลออสเตรเลียได้แจ้งต่อองค์การค้าโลก (WTO) ว่าจะขอหารือกับรัฐบาลอินเดียในประเด็นที่อินเดียใช้มาตรการอุดหนุนการส่งออกน้ำตาลทราย และขอความเห็นจากประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลทรายหลายประเทศรวมถึงไทย

“ทางเจนีวาแจ้งมาว่าออสเตรเลียขอหารือกับอินเดีย แต่กระบวนการนี้ยังไม่ใช่การยื่นขอหารือ consultion แต่เป็นการหารือเบื้องต้น ซึ่งทางออสเตรเลียน่าจะต้องการชักชวนประเทศพันธมิตรอื่นๆ ในการดำเนินการครั้งนี้”

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของไทยจะต้องดำเนินการเตรียมข้อมูล โดยกรมจะประสานเพื่อขอข้อมูลและความเห็นจากภาคเอกชน 3 สมาคมน้ำตาลทรายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดท่าทีซึ่งเบื้องต้นจะต้องศึกษารายละเอียดก่อนว่าการดำเนินนโยบายอุดหนุนส่งออกน้ำตาลทรายของอินเดียเป็นอย่างไรบ้าง มีประเด็นที่เข้าข่ายจะผิดต่อหลัก WTO หรือไม่ ทั้งนี้ ประเด็นนี้จะไม่เชื่อมโยงกับกรณีที่ข้อพิพาทน้ำตาลระหว่างไทย-บราซิล

นายวิบูลย์  ผาณิตวงศ์  รองประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า กลุ่มพันธมิตรเพื่อการปฏิรูปการค้าน้ำตาลโลกหรือ Global Sugar Alliance for Sugar Trade Reform and Liberalization (GSA) ซึ่งมีประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลทรายที่สำคัญของโลกร่วมเป็นสมาชิก อย่างเช่น บราซิล  ออสเตรเลีย  กัวเตมาลา โคลอมเบีย  ซีลี  แคนาดา และไทย ได้เรียกร้องให้รัฐบาลอินเดียยกเลิกมาตรการอุดหนุนการส่งออกน้ำตาลทราย จำนวน 5 ล้านตัน หลังจากภาครัฐบาลอินเดียอนุมัติงบฯกว่า 760 ล้านเหรียญสหรัฐ  หรือประมาณ 22,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเพิ่มค่าอ้อยและชดเชยค่าขนส่งน้ำตาลจากโรงงานไปยังท่าเรือส่งออก ซึ่งขัดข้อตกลง WTO และเป็นการบิดเบือนตลาดน้ำตาลโลก มีผลให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกลดลง 36%  ต่ำสุดในรองบ 10  ปี และอยู่ในระดับต่ำกว่าต้นทุนการผลิตของประเทศที่มีประสิทธิภาพการผลิตสูงเช่น  บราซิล  ออสเตรเลีย  และไทย

หากอินเดียไม่ดำเนินการยกเลิกมาตรการนี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศผู้ผลิตน้ำตาลทั่วโลก ดังนั้น ภาคอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย จึงได้ร่วมกับภาครัฐ (สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย) เสนอต่อคณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก หรือ WTO เพื่อสอบถามและเรียกร้องให้อินเดียเลิกมาตรการอุดหนุนส่งออกดังกล่าว และเห็นว่า ประเทศผู้ผลิตน้ำตาลจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกันยับยั้งมาตรการอุดหนุนใดๆ ก็ตามที่บิดเบือนการค้าน้ำตาลโลก

“ในฐานะที่ไทยเป็นสมาชิกของ GSA จะร่วมกันเรียกร้องผ่านรัฐบาลของตนเองเพื่อเรียกร้องผ่านกลไกระงับข้อพิพาทของ WTO ให้อินเดียยกเลิกมาตรการอุดหนุนการส่งออก

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 10 ตุลาคม 2561

21ผู้นำคลังเอเปกถกศก.การเงินโลก

อภิศักดิ์" นำทีมประชุมคลังเอเปก เน้นระดมทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท โฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปก (APEC FMM) ครั้งที่ 25 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องระหว่างวันที่ 15-17 ต.ค. 2561 ณ กรุงพอร์ตมอร์สบี รัฐเอกราชปาปัวนิวกินี โดยมี รมว.คลัง หรือ ผู้แทนจากสมาชิกเอเปก จำนวน 21 เขตเศรษฐกิจ เช่น ออสเตรเลีย แคนาดา จีน อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ รัสเซีย สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม

ทั้งนี้ ในการประชุมครั้งนี้เน้นหารือใน 4 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ การเร่งรัดการลงทุนและระดมทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การสนับสนุนการเข้าถึงบริการทางการเงิน การผลักดันความร่วมมือด้านภาษีและความโปร่งใส และการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการเซบูของสมาชิกเอเปกรวมทั้งจะหารือถึงสถานการณ์เศรษฐกิจและการเงินโลก รวมถึงกลยุทธ์ทางการคลังในยุคดิจิทัล ซึ่งในการประชุมครั้งนี้นาย อภิศักดิ์จะเสนอนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลต่อที่ประชุมด้วย

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 10 ตุลาคม 2561

'พายัพ'จี้รัฐบาลดูด่วนอ้อยขาดทุนหนักชาวบ้านสุดแร้นแค้น

 นายพายัพ ปั้นเกตุ อดีตสส.พรรคเพื่อไทย จ.สิงห์บุรี กล่าวว่าขณะนี้ชาวไร่อ้อยเดือดร้อนหนักมากแล้วประสพปัญหาตัดอ้อยขาดทุน บางท้องที่ปล่อยอ้อยยืนต้นตายไม่ยอมตัดเนื่องจากต้นทุนค่าเก็บเกี่ยวแพงกว่าราคาขายเข้าโรงงาน แถมเงินชดเชยก็ไม่มีถูกตัดหมด เถ้าแก่ที่เคยวิ่งแย่งกันชื้ออ้อยก็ไม่ยอมซื้อเพราะขาดทุน ตอนนี้ชาวไร่อ้อยจะอดตายอยู่แล้วขอให้รัฐบาลช่วยเหลือด่วนด้วย     

นายพายัพ กล่าวต่อไปอีกว่าขณะนี้ราคาอ้อยต่ำมากเหลือตันละ 670 บาทสำหรับอ้อยดีมีความหวานสูง แต่ถ้าอ้อยไม่ดีฝนตกมากความหวานต่ำไม่ได้มาตรฐานราคาก็จะต่ำลงไปอีก บางท้องที่เหลือตันละ 640-650 บาทเท่านั้น ค่าแรงงานตัดอ้อยก็แพงและหายาก ค่าจ้างตัดตันละ120บาท แต่ถ้าเป็นคนงานอีสานที่จ้างมาใกล้ๆก็ต้องจ่ายมัดจำล่วงหน้า ยิ่งถ้าเป็นแรงงานเขมรก็จะเสียค่าใช้จ่ายค่าโซห่วยสูงเบี้ยบ้ายรายทางมากทุกขั้นตอน ทุกด่านทุกพื้นที่ ค่ารถคีบคนขนรถขนก็แพง ยิ่งรัฐบาลคสช.บอกว่าไม่อุดหนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยและสินค้าเกษตรทุกรายการอีกแล้วจะให้ยืนบนขาตัวเอง แต่รัฐบาลคสช.ไม่หาตลาดให้เลย จะยืนยังไงไหว "รัฐบาลบอกจะช่วยคนจน ช่วยยังไงนี่มันจะจนตายกันหมดแล้ว"

ออกบัตรคนมาให้ 11.4ล้านคนเดือนก่อนอนุมัติจ่ายไปแล้ว43,000ล้านบาท เข้าร้านธงฟ้ามหาเศรษฐีได้ไป 41,000 ล้านบาท ถามว่าอย่างนี้ช่วยใครช่วยคนจนหรือว่าคนรวยให้รวยยิ่งขึ้นไปอีก ส่วนชาวบ้านเกษตรกรจะให้อดตายหรือไง ไหนบอกว่ารายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้น4.8 % มันเพิ่มขึ้นตรงใหนเพิ่มขึ้นที่ใคร อยากถามว่ารัฐบาลคสช.ทำไมรังเกียจอาชีพเกษตรกรชาวนาชาวไร่ชาวสวนกันนัก พวกเราเป็นภาระประเทศมากนักหรือไง ขายอะไรไม่ได้ก็ให้ไปปลูกไปทำอย่างอื่น แต่ตลาดรัฐไม่ดูแลเลยมันเป็นอะไรกันนักกันหนาประเทศนี้ ที่เป็นรัฐบาลที่ประชาชนไม่เลือกมันเป็นกันอย่างนี้เองหรือ ลดละทัศนคติเชิงลบกับชาวไร่อ้อยและเกษตรกรลงบ้างเถิด ขอให้เอางบประมาณ3.3ล้านๆมาช่วยชาวบ้านบ้าง หาตลาดส่งออกให้บ้าง เพราะเขาก็เป็นคนไทยและเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศนี้ และถ้าอยากเป็นรัฐบาลต่อก็ต้องหันมาดูแลเกษตรกรคนยากคนจนให้มากกว่านี้ และควรจะทำเดี๋ยวนี้ด้วย

จาก www.banmuang.co.th วันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2561

“มิตรผล” จ่อตั้ง รง.ผลิตอาหารสัตว์ในจีน แย้มสิ้นปีนี้เปิด รง.น้ำตาลใหม่

กลุ่มมิตรผลเตรียมเปิดโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ในจีนปลายปีนี้ ก้าวสู่ผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 3 ในจีน เตรียมต่อยอดผลิตอาหารสัตว์ในปีหน้า

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานอาวุโสหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานกรรมการ กลุ่มมิตรผล เปิดเผยว่า กลุ่มมิตรผลได้เข้าไปลงทุนในธุรกิจน้ำตาลจากอ้อยในจีนมา 25 ปี จนเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 3 ของจีน โดยบริษัทเตรียมเปิดโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ในนิคมฯ ที่ฉงจั่ว ปลายปีนี้ มีกำลังการหีบอ้อย 1.5 หมื่นตันอ้อย/วัน และโรงไฟฟ้าชีวมวล 70 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนรวม 1.5 พันล้านหยวนหรือ 7.5 พันล้านบาท

ส่งผลให้กลุ่มมิตรผลมีโรงงานน้ำตาลในจีน 5 โรงตั้งอยู่ที่เมืองฉงจั่ว ฝูหนาน ทั่วหลู หนิงหมิง และไห่ถัง มีกำลังการหีบอ้อยรวม 9.25 หมื่นตัน/วัน คิดเป็นกำลังการผลิตน้ำตาล 1 ล้านตัน/ปี หรือคิดเป็น 10% ของการบริโภคน้ำตาลในจีน

โดยในปีหน้ากลุ่มมิตรผลมีแผนจะลงทุนต่อยอดจากอุตสาหกรรมน้ำตาล โดยตั้งโรงงานผลิตอาหารสัตว์บกใหญ่ กำลังผลิต 5 หมื่นตัน/ปี โดยใช้ชานอ้อยและยีสต์เป็นวัตถุดิบ เพื่อรองรับความต้องการอาหารสัตว์บกใหญ่ในมณฑลกวางสี

ส่วนการลงทุนในไทย บริษัทฯ มองโอกาสที่จะลงทุนต่อยอดจากธุรกิจน้ำตาลโดยใช้ชานอ้อยในการผลิตไบโอ เทคโนโลยี อาทิ สารให้ความหวานจากธรรมชาติที่มีแคลอรีต่ำ เช่น อีริทริทอล, ไซลีทอล สร้างมูลค่าเพิ่มถึง 5-10 เท่า โดยมิตรผลจะนำเทคโนโลยีจากการร่วมทุนกับบริษัท DFI เพื่อตั้งโรงงานผลิตสารให้ความหวานจากข้าวโพด ในสหรัฐฯ มาขยายการลงทุนในไทย

ในปีนี้ กลุ่มมิตรผลคาดว่าจะมีรายได้รวม 9 หมื่นล้านบาท โดยเป็นรายได้จากจีน 3.5 หมื่นล้านบาท ไม่ได้เพิ่มขึ้นเนื่องจากราคาน้ำตาลโลกตก

ทั้งนี้ นายอิสระได้รับรางวัล Friendship Award ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดที่สาธารณรัฐประชาชนจีนมอบให้แก่บุคคลหรือองค์กรต่างชาติที่ทำประโยชน์ให้กับประเทศจีน ซึ่งนายอิสระ ว่องกุศลกิจ นับเป็นคนไทยลำดับที่ 8 ที่ได้รับรางวัลดังกล่าว

จาก https://mgronline.com  วันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2561

เห็นชอบ "กฎหมายน้ำ" ร่างอนุบัญญัติใน 1 เดือน!!

ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2561 มีมติเสียงข้างมาก 191 ต่อ 2 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง ในวาระ 3 เห็นสมควรให้ร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ... เป็นกฎหมาย หลังจากที่สมาชิก สนช. อภิปรายอย่างกว้างขวางต่อจากการประชุมครั้งก่อนที่ไม่แล้วเสร็จ โดยเป็นการรับฟังข้อท้วงติงจาก สนช. ที่ไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาในร่างกฎหมาย ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างฯ ได้ปรับปรุงแก้ไขจำนวนมาก ถึง 63 มาตรา จาก 102 มาตรา

สนช. ไฟเขียวกฎหมายน้ำ "เจน" ตั้งท่าฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ

นายเจน นำชัยศิริ สมาชิก สนช. อภิปรายว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญที่รับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชน อาทิ มาตรา 57 การให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้บุคคลซึ่งกักเก็บน้ำไว้ ต้องเฉลี่ยน้ำเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในการอุปโภคบริโภคของประชาชนในพื้นที่ และมาตรา 77 ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปในที่ดินบุคคลใด เพื่อตรวจตรา สำรวจ ตรวจค้น ยึดหรืออายัด เอกสารหรือสิ่งใดที่เกี่ยวข้อง

พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ ประธาน กมธ.วิสามัญฯ กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายฉบับแรกของการปฏิรูปประเทศที่กำหนดให้มีการบริหารจัดการน้ำ ยืนยันว่า กมธ. พิจารณาอย่างรอบคอบ รับฟังปัญหาจากทุกภาคส่วน มั่นใจว่า ไม่มีเนื้อหากฎหมายส่วนใดขัดต่อรัฐธรรมนูญแน่นอน ส่วนการที่จะไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ถือเป็นสิทธิที่ทำได้ แต่ขอให้ไปดูในคำปรารภ ที่ระบุชัดเจนถึงเหตุผลและความจำเป็นในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลบางประการตามกฎหมายนี้ เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำมีประสิทธิภาพ จึงไม่ขัดรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด ซึ่งเรื่องนี้นายเจนกล่าวหลังการลงมติว่า ขอไปหารือก่อน เพราะต้องไปพิจารณาให้รอบคอบว่า ประชาชนจะได้รับผลกระทบอย่างไรจากกฎหมายนี้บ้าง ขอเวลาพิจารณาก่อน

ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ ที่ สนช. เห็นชอบให้เป็นกฎหมาย คือ โครงสร้างองค์กรบริหารจัดการน้ำ ให้มีสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 46/2560 มีหน้าที่กำกับนโยบายให้ส่วนราชการอื่นที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ปฏิบัติ กำหนดให้มีผังน้ำ หลักการ คือ หากจะมีการใช้ประโยชน์ที่ดินที่อยู่ในระบบทางน้ำตามผังน้ำ จะต้องไม่เกิดการเบี่ยงเบนทางน้ำ หรือ กีดขวางการไหล ช่วยป้องกันน้ำแล้ง น้ำท่วม จะทำให้เห็นถึงเส้นทางการระบายน้ำ

ส่วนการกำหนดค่าธรรมเนียมการขอใบอนุญาตใช้น้ำประเภทที่ 2 | 10,000 บาท สำหรับการอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การผลิตไฟฟ้า และประปา และน้ำประเภทที่ 3 | 50,000 บาท สำหรับกิจการขนาดใหญ่ที่ใช้น้ำมาก หรือ ก่อให้เกิดผลกระทบข้ามกลุ่มน้ำ โดยรายละเอียดการใช้น้ำแต่ละประเภทให้นายกฯ กำหนดในกฎกระทรวง โดยต้องศึกษาและรับฟังความเห็นก่อนออกเป็นกฎกระทรวงต่อไป ส่วนน้ำเพื่อการยังชีพ การทำเกษตรรายย่อยเพื่อเลี้ยงชีพ ไม่เสียค่าธรรมเนียม

ขั้นตอนจากนี้ ให้ สทนช. ยกร่างกฎหมายอนุบัญญัติให้แล้วเสร็จใน 1 เดือน รวมถึงแต่งตั้งอนุกรรมการลุ่มน้ำ เพื่อรับฟังการกำหนดอัตราค่าเก็บน้ำแต่ละลุ่มน้ำต่อไป โดยมีบทเฉพาะกาลให้ผ่อนปรนการจัดเก็บไว้เป็นระยะเวลา 2 ปี นอกจากนี้ ในการจัดเก็บอัตราค่าใช้น้ำสาธารณะ ที่เป็นหน้าที่ของกรมทรัพยากรน้ำนั้น ต้องหารือกับกรมชลประทาน กรมน้ำบาดาล เพื่อกำหนดอัตราการจัดเก็บที่เป็นมาตรฐานต่อไป

จาก www.thansettakij.com   วันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2561

เวิลด์แบงก์ชี้ เศรษฐกิจโลกจะผันผวนมากขึ้น

รายงานเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกฉบับล่าสุดของธนาคารโลก (เผยแพร่จากกรุงมะนิลา เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2561) ชี้ว่า ภาพรวมแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคนี้ยังคงเป็นบวก แม้ว่าปัจจัยแวดล้อมภายนอกจะไม่เอื้อต่อการเติบโตก็ตาม คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาจะเติบโต 6.3% ในปีพ.ศ. 2561 ต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อปีพ.ศ. 2560 จากการที่เศรษฐกิจของจีนยังคงเติบโตในระดับปานกลางเนื่องจากอยู่ระหว่างการปรับสมดุลทางเศรษฐกิจ

รายงาน East Asia and Pacific Economic Update ภายใต้ชื่อ Navigating Uncertainty ประจำเดือนตุลาคม 2561 เน้นว่าแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศตลาดเกิดใหม่จะมีเสถียรภาพลดลง เนื่องจากปัจจัยร่วมหลายประการ ได้แก่ ความตึงเครียดทางการค้า สหรัฐอเมริกาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ค่าเงินดอลลาห์สหรัฐฯแข็งตัว และความผันผวนจากตลาดการเงิน  ขณะเดียวกัน อัตราเงินเฟ้อในประเทศต่าง ๆ ก็เพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศเมียนมา ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม

“เศรษฐกิจที่เข้มแข็งอย่างต่อเนื่องเป็นกุญแจสำคัญในการลดความยากจนและความเปราะบางในภูมิภาค” นางวิคตอเรีย กวากวา รองประธานธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าว “นโยบายกีดกันและความผันผวนของตลาดเงินจะส่งผลต่อแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะกลาง อีกทั้งจะส่งผลลบต่อกลุ่มคนยากจนที่สุดและกลุ่มเปราะบาง ในช่วงเวลานี้ ผู้กำหนดนโยบายควรใช้ความระมัดระวัง เตรียมความพร้อม และสร้างความยืดหยุ่นไว้ล่วงหน้าเพื่อให้ประเทศสามารถรับมือกับสภาวะเศรษฐกิจได้”

เศรษฐกิจของจีนคาดว่าจะเติบโตระดับปานกลางที่ 6.5% ในปีนี้ (2561) หลังจากเติบโตมากกว่าที่คาดการณ์ไว้เมื่อปี 2560  เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ซึ่งไม่รวมประเทศจีน คาดว่าจะเติบโตคงที่ที่อัตรา 5.3% ในช่วงปีพ.ศ. 2561-2563 จากการบริโภคภายในประเทศ  เศรษฐกิจของประเทศไทยและเวียดนามคาดว่าจะเติบโตอย่างเข้มแข็งในปีพ.ศ. 2561 ก่อนจะชะลอตัวลงในปีพ.ศ. 2562-2563 เนื่องจากการบริโภคภายในประเทศที่เข้มแข็งเพียงอย่างเดียวนั้นไม่สามารถชดเชยการชะลอตัวของการส่งออกสุทธิได้ เศรษฐกิจของอินโดนีเซียยังเติบโตคงที่จากแนวโน้มการลงทุนและการบริโภคของภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้น ในขณะที่การเติบโตทางเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์จะยังคงชะลอตัว แต่ทว่าการขยายตัวของการลงทุนภาครัฐจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะปานกลาง ส่วนเศรษฐกิจของมาเลเซียจะเติบโตลดลง อันเป็นผลมาจากการส่งออกที่ชะลอตัว การใช้จ่ายภาครัฐที่ลดลงหลังจากมีการยกเลิกโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ 2 โครงการ

การเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชา สปป.ลาว มองโกเลีย และเมียนมา ยังเข้มแข็งและเติบโตเฉลี่ยมากกว่า  6% ในช่วงปีพ.ศ. 2561-2563  เศรษฐกิจของประเทศติมอร์-เลสเตย์คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวหลังสถานการณณ์ทางการเมืองคลี่คลาย ส่วนปาปัวนิวกินีคาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวในปีพ.ศ. 2562 หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ส่วนเศรษฐกิจของประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิกคาดว่าจะคงมีเสถียรภาพ แม้ว่าจะมีความเปราะบางต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติสูง

“ความร่วมมือระดับภูมิภาคและระดับโลกของประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคจะช่วยเพิ่มความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจในการรับมือกับปัจจัยภายนอก ความเสี่ยงสำคัญที่จะมีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง ได้แก่ การเพิ่มอัตราการกีดกันทางการค้า ความผันผวนของตลาดการเงินที่เพิ่มขึ้น และการตอบสนองต่อความเปราะบางเรื่องการเงินการคลังในประเทศ” นายชูเดียร์ แชตตี้ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ของธนาคารโลกกล่าว และว่า  “ในสภาวะการณ์ที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นนี้ ประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคจะต้องใช้นโยบายด้านเศรษฐกิจมหภาค ด้านการกำกับดูแล และด้านโครงสร้างอย่างรอบคอบเพื่อให้สามารถรับมือกับปัจจัยลบจากภายนอกได้อย่างราบรื่น และเพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเต็มศักยภาพ”

รายงานนี้ได้เสนอแนวทาง 4 ประการสำหรับประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเพื่อรับมือกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น ดังนี้

ลดความเสี่ยงระยะสั้น และสร้างนโยบายที่จะลดผลกระทบ  การใช้นโยบายกำกับดูแลมหภาคสามารถช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนของภาคการเงิน ลดความผันผวนจากตลาดทุน และจัดการกับความไม่แน่นอนของอัตราแลกเปลี่ยน  อัตราแลกเปลี่ยนที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้นจะสามารถช่วยประเทศต่างๆ ให้ซึมซับและปรับตัวรับปัจจัยภายนอกได้ นอกจากนี้ นโยบายการคลังที่เข้มงวดจะช่วยรักษาหรือสร้างกันชนเพื่อรับมือกับเศรษฐกิจขาลงในอนาคตได้โดยไม่กระทบกับความยั่งยืนของหนี้สาธารณะ

การเพิ่มข้อตกลงเปิดระบบการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศตามกฎเกณฑ์เป็นสองเท่า  รวมถึงการรวมตัวด้านเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคให้มากกว่าเดิม เศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคสามารถได้รับประโยชน์จากการเพิ่มความเข้มข้นของสิทธิพิเศษตามข้อตกลงทางการค้าที่มีอยู่ และกำแพงภาษีต่ำ นอกจากนี้ ยังสามารถเลี่ยงความตึงเครียดทางการค้าที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตได้ด้วยการเจรจาการค้าแบบทวิภาคี หรือ เจรจาผ่านองค์การการค้าโลก (WTO)

การปฏิรูปโครงสร้างเชิงลึก รวมถึงการเปิดเสรีในภาคส่วนที่สำคัญ การปรับปรุงบรรยากาศการลงทุน และการกระตุ้นขีดความสามารถในการแข่งขัน  การช่วยให้ SMEs สามารถแข่งขันกับบริษัทขนาดใหญ่ รวมถึงระหว่างบริษัทในประเทศกับบริษัทต่างชาติสามารถแข่งขันกันได้จะช่วยลดปัญหาการจัดสรรทรัพยากรที่ผิดพลาดและสร้างงานที่ดีได้

การสร้างความเข้มแข็งให้กับความปลอดภัยทางเศรษฐกิจ และส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านโครงการให้เงินช่วยเหลือแบบมีเงื่อนไขในกลุ่มเป้าหมาย ระบบการประกันสังคมที่มีความยั่งยืนทางการเงิน การพัฒนาการเข้าถึงบริการก่อนคลอดและการดูแลเด็กในวัยก่อนเรียนให้ดีขึ้น การให้ทรัพยากรแก่โรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่กันดาร รวมถึงการลดช่องว่างในการเข้าถึง และคุณภาพทางการศึกษา

สำหรับประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิกนั้น รายงานนี้ได้เน้นว่าต้องให้ความสำคัญกับการรักษาความยั่งยืนด้านการคลังและหนี้สาธารณะ ในขณะเดียวกันก็ต้องสร้างความเข้มแข็งในการรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง  การปรับปรุงความยั่งยืนของหนี้สาธารณะนั้นจะต้องใช้ความพยายามในการสร้างความเข้มแข็งด้านนโยบายและการจัดการหนี้สาธารณะ การปรับปรุงการจัดการทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และการกระตุ้นการใช้จ่ายภาครัฐอย่างมีคุณภาพ  นอกจากนี้ การลดผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติในอนาคตจะต้องสร้างกันชนด้านการคลัง การปรับปรุงการรับมือวิกฤติการณ์ การบริหารจัดการ การลดผลกระทบ และการขยายกลไกการคุ้มครองทางสังคมให้กับกลุ่มเป้าหมาย

จาก www.thansettakij.com   วันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2561

จ่อเก็บภาษีนำเข้าปุ๋ยยาสารเคมี ตั้งกองทุนภาษีบาป!!

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เตรียมเปิดเวทีรับข้อคิดเห็นจากเกษตรกรทุกภูมิภาค ใน 60 วัน ถึงผลดีผลเสีย 3 สารพิษ จ่อเก็บภาษีนำเข้าปุ๋ยยาสารเคมีตั้งกองทุนภาษีบาป เหมือนเหล้าบุหรี่

นายธีระ วงษ์เจริญ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังกลุ่มเกษตรกร 6 สมาคมสนับสนุนการใช้สารเคมีวัตถุอันตราย 3 สาร พาราควอต ไกลโฟร์เซต คอร์ไพริฟอส เข้าพบนายกฤษฏา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า ได้รับฟังข้อคิดเห็นจากทุกกลุ่มเกษตรกร เพื่อนำไปพิจารณากันต่อไปและเสนอเข้าคณะกรรมการวัตถุอันตราย โดยนายกฤษฏา ยังยืนยันเหมือนเดิมว่าถ้ามีข้อมูลหลักฐานเกี่ยวกับ 3 สารดังกล่าวก็เสนอมาให้แบนก็พร้อมดำเนินการ ขณะนี้ยังไม่มี จึงยังไม่ดำเนินการอะไรได้ ถ้ามีข้อมูลใหม่ทางวิชาการถึงผลกระทบจะนำมาพิจารณาเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตราย

“พร้อมเชิญสองฝ่ายมาให้ข้อคิดเห็นทั้งฝ่ายต้านและสนับสนุน โดยนายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเชิญมาหารือขณะนี้ ซึ่งกรมวิชาการเกษตร กำลังทำโปรแกรมเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นกำหนดเวลาภายใน 60 วัน ทุกภูมิภาค เพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติมในกรณีปัญหาการใช้สารเคมีวัตถุอันตรายร้ายแรงตามที่คณะกรรมการศึกษาแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมี ที่นายกรัฐมนตรี ตั้งขึ้นให้แล้วเสร็จตามกรอบเวลา”นายธีระ กล่าว

ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ทั้งนี้ นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร ยังเดินหน้าเปิดพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืน 5 ล้านไร่ภายในปี64 เป็นภาคีความร่วมมือ 7 กระทรวงเป็นสัดส่วนร้อยละ 3 เท่านั้นของพื้นที่เกษตรใช้สารเคมี รวมทั้งจะกำหนดมาตรการควบคุมการใช้สารพิษทั้ง 3 ชนิด โดยการเก็บภาษีเพราะที่ผ่านมายังไม่เคยเก็บภาษีเลยในการนำเข้าสารเคมี ปุ๋ยเคมี ไม่มีการสำแดงต้นทุน ไม่มีการควบคุมราคา ต่างคนสามารถขายได้อย่างอิสระ ดังนั้นจะเก็บภาษีเข้ากองทุน เหมือน สสส.เช่นเดียวกับ ภาษีบาป เหล้า บุหรี่ เพื่อมีกองทุนมารักษาเยียวยาสนับสนุนการพัฒนาสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ที่ได้รับผลกระทบถูกทำลายจากสารเคมีเหล่านี้ แต่จะไม่ทำให้ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรสูงขึ้น พร้อมกับห้ามโฆษณา โดยมาตรการเหล่านี้สมัชชาสุขภาพ ได้เสนอต่อรมว.เกษตรฯแล้ว รวมทั้งมีมาตรการจำกัดขอบเขตการใช้ ผู้ใช้ต้องผ่านการอบรมไม่ต่ำกว่า 4 เดือน จะได้ตั๋วไปซื้อ ถ้าไม่มีตั๋วแต่ไปขายจะโดนโทษเช่นกรณีเหล้าบุหรี่ที่ห้ามขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี

จาก https://siamrath.co.th    วันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2561

สภาผู้ส่งออกฯ ค้านขึ้นค่าแรง กระทบต้นทุนภาคการผลิต – ค่าเงินบาทผันผวนซัดส่งออกปี’61

น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือ สภาผู้ส่งออก กล่าวว่า การส่งออกในเดือนพ.ย. 2560 มีมูลค่า 21,435 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 13.4% สูงสุดในรอบ 6 ปี เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ทำให้ในปี 2560 การส่งออกขยายตัวเกิน 10% แน่นอน ซึ่งเกินคาดการณ์ที่ประเมินไว้ และในปี 2561 เชื่อว่าส่งออกจะดีต่อเนื่อง ขยายตัวที่ 5.5% ขณะที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะขยายตัวอยู่ในกรอบ 3.8-4%

อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการส่งออกไทยที่ต้องเร่งแก้ไขและติดตามอย่างใกล้ชิด คือ ค่าเงินบาทที่ยังผันผวนไปในทิศทางแข็งค่าขึ้น และจะกระทบการส่งออก โดยวันที่ 12 ม.ค.นี้ ทางสภาผู้ส่งออกฯ จะเข้าพบและหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อสอบถามถึงสถานการณ์การแข็งค่าของเงินบาท และสะท้อนความเดือดร้อนของผู้ประกอบการส่งออก

สำหรับข้อเสนอแนะที่สภาผู้ส่งออกฯ เสนอไปยังธปท. และกระทรวงการคลัง ให้ดูแลคือ ค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพและไม่แข็งค่าจนเกินไปเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคและคู่แข่ง โดย ธปท. ควรดำเนินมาตรการที่มีอยู่แล้วให้เข้มข้นขึ้น ทั้งมาตรการควบคุมการออกพันธบัตรระยะสั้น มาตรการสกัดเงินไหลเข้าระยะสั้นเพื่อการเก็บกำไรค่าเงิน และสภาผู้ส่งออกฯ ขอทราบรายงานการไหลเข้าออกของเงินแบบรายวัน เพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับทราบสถานการณ์และเตรียมความพร้อมรับมือ ขณะที่กระทรวงการคลังควรพิจารณานำเงินสำรองของประเทศที่อยู่ในระดับสูงมาใช้ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศและโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อลดการกู้ยืมจากต่างประเทศลดกระแสเงินไหลเข้า

นายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหารสภาผู้ส่งออก กล่าวว่า คาดการณ์ปี 2561 ส่งออกจะขยายตัวได้ 5.5% หรือคิดเป็นมูลค่า 230,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หากแปลงเป็นรายได้ในรูปเงินบาท สมมติฐานอัตราแลกเปลี่ยน 33 บาทต่อเหรียญสหรัฐ จะมีรายได้ประมาณ 7,590,000 ล้านบาท แต่หากเงินบาทในปีนี้ยังแข็งค่าต่อเนื่องและนานทั้งปี ที่สมมติฐาน 32 บาทต่อเหรียญสหรัฐ คิดเป็นรายได้รูปเงินบาทประมาณ 7,360,000 ล้านบาท ดังนั้นหากการส่งออกขยายตัวระดับดังกล่าว แต่เงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง และแข็งค่าขึ้น 1 บาท จะทำให้รายได้จากการส่งออกในรูปเงินบาทหายไป 230,000 ล้านบาท (7,590,000-7,360,000) ซึ่งกระทบไปยังห่วงโซ่การผลิตหลายทอด จะทำให้เม็ดในระบบเศรษฐกิจหายไปถึง 791,200 ล้านบาท ส่งผลให้จีดีพีลดลง 5% จึงเป็นคำตอบของเศรษฐกิจไทยที่ว่าทำไมการส่งออกดี แต่เศรษฐกิจในประเทศไม่ได้ดีตาม ดังนั้นอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ ธปท. ต้องให้ความสนใจกับเรื่องของค่าเงินเป็นพิเศษ มาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีในการประกันความเสี่ยงค่าเงินอาจยังไม่เพียงพอ ขณะที่ปี 2560 เงินบาทแข็งค่าเช่นกัน ส่งผลให้รายได้จากการส่งออกในรูปเงินบาทหายไปประมาณ 350,000 ล้านบาท

นายคงฤทธิ์ กล่าวอีกว่า ยอมรับว่าตั้งแต่ต้นปีจนถึงขณะนี้เงินบาทแข็งค่าขึ้นในเกณฑ์ค่อนข้างสูง และมีความผันผวน ทำให้ผู้ประกอบการส่งออก โดยเฉพาะเอสเอ็มอีรับมือไม่ทันในการจะตัดสินใจทำประกันความเสี่ยงค่าเงินว่าจะทำดีหรือไม่ ช่วงตั้งแต่ต้นปีจนวันที่ 8 ม.ค. 2561 ซึ่งอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 32.204 บาทต่อเหรียญสหรัฐ แข็งค่าขึ้น 10.33% จากตั้งแต่ต้นปี และแข็งค่าขึ้น 8% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน แข็งค่าสุดในรอบ 39 เดือน เมื่อเทียบกับค่าเงินของคู่ค้าและคู่แข่งทางการค้าสำคัญของไทย

นายชัยชาญ เจริญสุข เลขาธิการสภาผู้ส่งออก กล่าวว่า นอกจากเงินบาทแข็งค่าเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการส่งออกในปี 2561 แล้ว อีกปัจจัยเสี่ยงสำคัญคือการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งค่าแรงคิดเป็น 10-20% ของต้นทุนการผลิต หากขึ้นค่าแรงจะทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น กระทบภาคอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร รวมทั้งเอสเอ็มอี สภาผู้ส่งออกฯ เห็นว่าให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาชะลอขึ้นค่าแรงในปีนี้ออกไปก่อน

“ในขณะนี้ สภาผู้ส่งออกฯ เห็นว่าการพิจารณาเพิ่มขึ้นค่าแรงยังไม่อยู่ในสภาพที่เหมาะสม เพราะพิจารณาข้อมูลเชิงลึกพบว่าไทยมีค่าแรงขั้นต่ำอยู่ในเกณฑ์สูงกว่าหลายประเทศในภูมิภาค เช่น อินโดนีเซีย และเวียดนาม ประกอบกับไทยมีอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ หากปรับขึ้นค่าแรงจะทำให้ต้นทุนผู้ประกอบการสูงขึ้น กระทบร้ายแรงสุดคือเอสเอ็มอี ที่ปรับตัวไม่ทัน”นายชัยชาญกล่าว

จาก https://www.khaosod.co.th  วันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2561

กรมชลฯเปิดตัว"แอปพลิเคชั่น SWOC WL"ตรวจวัดระดับน้ำเรียลไทม์

             กรมชลประทานก้าวสู่ยุค 4.0 มุ่งสู่องค์กรอัจฉริยะ เปิดตัว ไม้บรรทัดวัดระดับน้ำ "แอปพลิเคชั่น SWOC WL" บนโทรศัพท์มือถือ สร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมของประชาชนตรวจวัดระดับน้ำได้ด้วยตนเองแบบเรียลไทม์

          วันที่ 8 ตุลาคม 2561  กรมชลประทานได้เปิดตัว แอปพลิเคชั่น SWOC Water Level (SWOC WL) หรือไม้บรรทัดวัดระดับน้ำ ณ ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน ถนนสามเสน กรุงเทพฯ ซึ่งเป็น Mobile Application ที่เปิดให้ประชาชนทั่วไปสามารถดาวน์โหลด ตรวจวัดระดับน้ำได้ด้วยตนเองแบบเรียลไทม์

          ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า แอปพลิเคชั่น SWOC WL เป็นแอปพลิเคชั่นตรวจวัดระดับน้ำ ที่กรมชลประทานได้พัฒนาขึ้นมาให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่จะมุ่งขับเคลื่อนประเทศสู่ Thailand 4.0 และเป็นไปตามแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์กรมชลประทานภายใต้กรอบแนวคิด RID No.1 ซึ่งได้ตั้งเป้าที่จะนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำและพัฒนาระบบการทำงาน เพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรอัจฉริยะให้ได้ภายในปี 2579 ตลอดจนยังเป็นการส่งเสริมการสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมของประชาชนตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมชลประทานอีกด้วย  

          สำหรับแอปพลิเคชั่น SWOC WL ดังกล่าว สามารถดาวน์โหลดเปิดใช้งานได้บนโทรศัพท์มือถือ ทั้งระบบปฏิบัติการ Android และระบบปฏิบัติการ iOS ซึ่งจะทำให้ประชาชนสามารถตรวจวัดระดับน้ำได้ด้วยตนเอง ด้วยการแสกน AR MARKER แล้ววัดระดับน้ำในบริเวณที่สนใจ ระบบจะประมวลผลและส่งผลการประเมินพร้อมข้อมูลต่างๆ ที่สำคัญ เช่น สถานการณ์น้ำในปัจจุบัน แนวโน้มของระดับน้ำในลำน้ำ กลับไปให้ผู้ใช้งานแบบอัตโนมัติ ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำ และเชื่อถือได้

           โดยกรมชลประทานมีแผนต่อยอดจุดบริการ SWOC WL ทั้งสิ้น 935 จุด ให้ครอบคลุมลำน้ำต่างๆ ทั่วทั้งประเทศ ภายในระยะเวลา 3 – 5 ปี ซึ่งในปีนี้เป็นปีนำร่อง เริ่มติดตั้งจุดบริการ 3 แห่ง คือ บริเวณท่าเรือวังหลัง (ศิริราช) (กรุงเทพฯ) ท่าเรือนนทบุรี (จ.นนทบุรี) และตลาดน้ำอยุธยา (วัดท่าการ้อง จ.อยุธยา) ในปีงบประมาณ 2562 จะดำเนินการติดตั้งจุดบริการเพิ่มเติมอีก 150 จุด กระจายตามลำน้ำสำคัญทั่วประเทศ ในปีงบประมาณ 2563 ติดตั้งจุดบริการเพิ่มเติมอีก 300 จุด และในปีงบประมาณ 2564 ติดตั้งจุดบริการเพิ่มเติมอีก 482 จุด รวมเป็น 935 จุด ครอบคลุมลำน้ำต่างๆ ทั่วทั้งประเทศ ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้กรมชลประทานได้รับข้อมูลสถานการณ์น้ำ ณ เวลาจริง และประชาชนทั่วประเทศก็สามารถตรวจวัดระดับน้ำ ณ จุดต่างๆ ของลำน้ำที่ตนเองสนใจได้ตลอดเวลา พร้อมทั้งได้รับข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์ของลำน้ำนั้นๆ จากศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) เพิ่มเติมด้วย ในปีแรกนี้ ประชาชนจะสามารถตรวจวัดระดับน้ำ และทราบสถานะของระดับน้ำในลำน้ำว่าอยู่ที่สถานะไหน ปกติ เฝ้าระวัง หรือเตือนภัย เท่านั้น แต่นับเป็นก้าวแรกในการพัฒนาแอปพลิเคชั่นที่ให้ประชาชนสามารถตรวจวัดระดับน้ำ และติดตามสถานการณ์น้ำได้ด้วยตนเอง ซึ่งในปีที่ 2 – 4 SWOC WL จะถูกพัฒนาเพิ่มเติมให้สามารถประมวลผล และรายงานแนวโน้มของสถานการณ์น้ำในลำน้ำที่ตรวจวัดให้ผู้ใช้แอปพลิเคชั่นทราบ รวมถึงสามารถติดตามสถานการณ์น้ำของลำน้ำต่างๆ ทั่วประเทศได้อีกด้วย ซึ่งระบบ SWOC WL คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ภายในปี พ.ศ. 2564

            ทั้งนี้ ในปัจจุบัน SWOC จะเป็นศูนย์บัญชาการในการประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ การติดตาม พยากรณ์สถานการณ์น้ำ การจัดสรรน้ำ การเฝ้าระวังเพื่อการเตือนภัยจากน้ำ โดยนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาจัดการกับข้อมูลให้สอดคล้องกับเหตุการณ์ปัจจุบัน รวมถึงการนำข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาเชื่อมโยงและจัดทำเป็นฐานข้อมูลกลาง สะดวกต่อการใช้งาน สามารถนำมาติดตาม วิเคราะห์ และพยากรณ์สถานการณ์น้ำ ได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ รวดเร็ว น่าเชื่อถือ ทันเหตุการณ์ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการบริหารจัดการน้ำสำหรับการเกษตร อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย และทำให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น     

    นอกจากนี้ ดร.ทองเปลวยังกล่าวถึงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีว่า ได้กำหนดเป้าหมายให้ประชาชนมีความสุข ความปลอดภัย ความก้าวหน้า และส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ประกอบกับ วิสัยทัศน์เชิงนโยบาย Thailand 4.0 โดยการปรับเปลี่ยนให้ประเทศไทยขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน "สานพลังประชารัฐ" ส่งเสริมโครงสร้างด้านการสื่อสารและโทรคมนาคมที่มีคุณภาพ

          "ที่ผ่านมาการดำเนินงานของกรมชลประทาน นอกจากจะสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีแล้ว ยังสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 แผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ 20 ปี ตลอดจนสอดคล้องกับนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลอีกด้วย" ดร.ทองเปลว กล่าวในตอนท้าย

จาก www.komchadluek.net    วันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ลุยเชื่อมข้อมูล "มหาดไทย-พาณิชย์-ธ.ก.ส." เกษตรฯ เร่งเครื่อง "บิ๊กดาต้า"

กระทรวงเกษตรฯ ลุยบิ๊กดาต้า บริหารจัดการข้อมูลเกษตรกร-สินค้าเกษตรยุคดิจิทัล เร่งเครื่องเชื่อมโยงข้อมูลกับ 3 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งมหาดไทย พาณิชย์ ธ.ก.ส.

นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า มีนโยบายในการพัฒนา Big Data ด้านการเกษตรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เป็นเอกภาพและเชื่อมโยงกับระบบของรัฐบาลให้ก้าวทันยุคดิจิทัล โดยปัจจุบัน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ใช้ฐานข้อมูลเกษตรกรกลาง (Farmer ONE) ในการบริหารจัดการเชิงนโยบาย ด้วยการจัดทำ Big data ซึ่งแบ่งข้อมูลออกเป็น 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1) ด้านข้อมูลเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ได้แก่ ข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกร ข้อมูลสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร มีกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก

2) ด้านข้อมูลสินค้าเกษตร ได้แก่ ข้อมูลด้านการผลิตสินค้าเกษตร มีสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก 3) ด้านข้อมูลและพื้นที่เกษตรกรรม ได้แก่ ข้อมูลความเหมาะสมการใช้ที่ดิน ข้อมูลการใช้ที่ดิน มีกรมพัฒนาที่ดินเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก และ 4) ด้านข้อมูลน้ำและการชลประทาน ได้แก่ ข้อมูลแหล่งน้ำ ปริมาณน้ำ ซึ่งมีกรมชลประทานเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก

นางสาวจริยา สุทธิไชยา เลขาธิการ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ Big data ได้มีการเชื่อมโยงกับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และอยู่ระหว่างการทดสอบการเชื่อมโยงกับกระทรวงพาณิชย์ รวมทั้งได้มีการหารือการเชื่อมโยงข้อมูลกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเชื่อมั่นว่า การเชื่อมโยงกับภาคการตลาดจะช่วยให้สามารถทราบปริมาณผลผลิต ช่วงเวลา แหล่งผลิตที่สำคัญ ตามนโยบายตลาดนำการผลิต เพื่อใช้บริหารจัดการการจำหน่าย การกระจายสินค้า กำหนดราคาได้อย่างเหมาะสมต่อไป

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ในการสนับสนุน "การพัฒนาฐานข้อมูลเกษตรกรกลาง (Farmer ONE)" ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) เพื่อร่วมสนับสนุนการดำเนินงานด้านเทคโนโลยีและด้านสารสนเทศ ขับเคลื่อนตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ด้านการพัฒนาฐานข้อมูลเกษตรกรกลาง มาตั้งแต่ปี 2559

สศก. ในฐานะหน่วยงานอำนวยการของคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วน จึงได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการรวบรวมข้อมูลทะเบียนเกษตรกรของหน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยใช้เลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ในการเชื่อมโยง ทั้งจากข้อมูลทะเบียนเกษตรกรของกรมส่งเสริมการเกษตร ทะเบียนผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของกรมประมง ทะเบียนผู้เลี้ยงสัตว์ของกรมปศุสัตว์ รวมทั้งได้ขยายฐานข้อมูลเพื่อรวบรวมข้อมูลทะเบียนเกษตรกรของกรมการข้าว กรมหม่อนไหม การยางแห่งประเทศไทย และกรมส่งเสริมสหกรณ์ด้วยเช่นกัน โดยมีศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ให้การสนับสนุนทางด้านเทคโนโลยีการจัดการฐานข้อมูล การบูรณาการฐานข้อมูล และระบบการตรวจสอบถูกต้อง

จาก www.thansettakij.com   วันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2561

“สรท.” ยืนเป้าส่งออกปี”61 โต 9%

สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ยังคงคาดการณ์การส่งออกทั้งปี 2561 โต 9% หลังจากการส่งออกเดือน ส.ค. 2561 มีมูลค่า 22,794 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยาย 6.7% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนถือเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18 ส่งผลให้ภาพรวมช่วงเดือน ม.ค.-ส.ค.ปี 2561 ไทยส่งออกรวมมูลค่า 169,030 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 10.0%

สำหรับคาดการณ์นี้อยู่บนสมมุติฐาน ค่าเงินบาท 33.0 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย 75 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ขณะที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ในกรอบ 3.8-4% โดยปัจจัยสนับสนุนการส่งออกไทยจากการส่งออกไปตลาดสำคัญ ทั้งอาเซียน จีน สหรัฐ และญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น แม้บางประเทศ เช่น ยุโรป ตะวันออกกลาง จะส่งออกลดลงบ้าง แต่ยังมีปัจจัยหนุนอื่น สงครามการค้าและการปรับขึ้นภาษีรอบที่ 3 ของสหรัฐ ซึ่งเป็นการปรับขึ้นภาษีในรายการสินค้าที่ส่งผลดีต่อสินค้าไทย ทำให้สามารถส่งออกไปแทนสินค้าจีนในตลาดสหรัฐ เช่น สินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป อีกทั้งไทยได้รับอานิสงส์จากการย้ายฐานการผลิต นักลงทุนที่ได้รับผลกระทบจากสงครามทางการค้าเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น

ส่วนปัจจัยเสี่ยงยังคงเป็นค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น จากการไหลกลับเข้ามาของเงินทุนต่างประเทศในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ ความยืดเยื้อของสงครามการค้าอาจจะส่งผลต่อภาพรวมการค้าโลก ปัญหาการคว่ำบาตรอิหร่าน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม สรท.ขอให้ภาครัฐติดตามและกำกับดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพโดยเฉพาะในกลุ่ม emerging market เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อกลุ่มสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศสูง มาตรการกีดกันทางการค้า รวมถึงเร่งเปิดตลาดคู่ค้าใหม่และการตอบโต้ทางการค้าของมหาอำนาจจีนและสหรัฐ

จาก www.thansettakij.com   วันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ก.เกษตรฯ ถกแก้หนี้เกษตรกรพรุ่งนี้

ก.เกษตรฯ หารือ กฟก.-ธ.ก.ส.-กรมส่งเสริมสหกรณ์  9 ต.ค.นี้ หาทางออกปัญหาหนี้สินเกษตรกร

นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มารับเรื่องร้องเรียนจากกลุ่มเกษตรกรสมาชิก กฟก.ทั้ง 2 กลุ่มโดยผู้แทนกลุ่มเกษตรกรระบุว่าคู่มือการกลั่นกรองตรวจสอบยืนยันข้อมูลหนี้สินเกษตรกรออกโดยคณะกรรมการ กฟก. เฉพาะกิจที่มีถึง 16 ขั้นตอน กว่าจะดำเนินการครบทุกกระบวนการเป็นการจำกัดสิทธิ์ของสมาชิก กฟก.กว่า 300,000 รายซึ่งขึ้นทะเบียนหนี้สินไว้นานแล้ว ขณะนี้มีสมาชิก กฟก.จำนวนหนึ่งถูกธนาคารเจ้าหนี้ยื่นฟ้องศาล ศาลสั่งให้กรมบังคับคดียึดทรัพย์และขายทอดตลาด อีกส่วนหนึ่งเป็นหนี้หลักทรัพย์ถูกขายไปยังบุคคลที่ 3 เช่น บริษัทบริหารสินทรัพย์แล้ว ซึ่งต้องการให้ กฟก.ยกเลิกขั้นตอนกลั่นกรองตรวจสอบ เพื่อให้สามารถช่วยเหลือเกษตรกรเร็วขึ้น

นอกจากนี้ ยังระบุว่าหนี้ที่กู้ยืมมาทั้งจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารพาณิชย์อื่น และสหกรณ์นั้น แม้ตามสัญญาไม่ใช่เป็นหนี้ที่กู้ยืมมาเพื่อทำการเกษตรโดยตรง แต่เป็นหนี้ที่เกี่ยวเนื่องกับการเกษตร เช่น กู้เพื่อซื้อรถจักรยานยนต์ใช้เดินทางไปดูไร่นาของตนเอง หรือกู้เพื่อสร้างถังเก็บน้ำก็เพื่อเตรียมน้ำไว้ใช้ในการทำเกษตร เป็นต้น

ผู้แทนเกษตรกรระบุว่า ตามมติ ครม.วันที่ 7 เมษายน 2553 เห็นชอบให้ กฟก.เข้าซื้อหนี้ได้โดยชำระเงินต้นครึ่งหนึ่งและปลดดอกเบี้ย ส่วนเงินต้นอีกร้อยละ 50 ที่เหลือเกษตรกรผ่อนกับสถาบันเจ้าหนี้ตามเดิม แล้วเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพ จึงต้องการให้ กฟก.ดำเนินการลักษณะเดียวกัน ส่วนเงินต้นที่เหลืออีกร้อยละ 50 ขอผ่อนชำระกับ กฟก.

นายอนันต์ ได้รับเรื่องของกลุ่มเกษตรกรไว้พิจารณา โดยระบุให้ส่งผู้แทนมาร่วมหารือกับกระทรวงเกษตรฯ กฟก. ธ.ก.ส. และกรมส่งเสริมสหกรณ์ในวันพรุ่งนี้ (9 ต.ค.) เพื่อพิจารณาว่ามีประเด็นใดตามข้อเรียกร้องที่จะลดขั้นตอนหรือปรับให้ตรงกันได้ โดยไม่ขัดข้อกฎหมาย ซึ่งกลุ่มของนายยศวัจน์ ชัยวัฒนศิริกุล ที่ปรึกษาสหพันธ์เกษตรกรแห่งประเทศไทย (สกท.) ได้เดินทางกลับไปชุมนุมหน้ากระทรวงการคลังตามเดิม ส่วนกลุ่มของนางนิสา ยังคงชุมนุมอยู่ที่หน้ากระทรวงเกษตรฯ

ทั้งนี้ ข้อที่จะต้องหารือกันในวันพรุ่งนี้จะรวมถึงเจตนารมย์ของพ.ร.บ.กองทุนและฟื้นฟูเกษตรกร พ.ศ. 2542 ซึ่งสมาชิก กฟก. อ้างว่ากำหนดชำระหนี้ให้เกษตรกรได้ อีกทั้งเป็นข้อกฎหมายที่อยู่เหนือระเบียบของคณะกรรมการ กฟก.เฉพาะกิจที่กำหนดขั้นตอนกลั่นกรองตรวจสอบหนี้ ขณะเดียวกันทาง กฟก.ได้ระบุถึง ข้อท้วงติงของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่กำชับให้คณะกรรมการจัดการหนี้แก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรให้เป็นไปตามเจตนารมย์ เพื่อช่วยเหลือหนี้ที่กู้ยืมการทำการเกษตรเท่านั้น

จาก https://www.tnamcot.com   วันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2561

เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าต่อ

ธนาคารกรุงไทยระบุว่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 32.85บาท อ่อนค่าลงจาก 32.87บาทในช่วงท้ายสัปดาห์ก่อน และต้องติดตามการรายงานผลประกอบการของกลุ่มธนาคารกับเงินเฟ้อสหรัฐในสัปดาห์นี้

อย่างไรก็ตาม ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมามีทั้งรายงานการตัวเลขการว่างงานในสหรัฐที่ต่ำลงซึ่งเป็นบวกกับแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐ ขณะที่ธนาคารกลางจีนก็มีการปรับลดอัตราการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (Required Reserve Ratio:RRR) ลงอีก 1.0% ไปที่ระดับ 14.5% เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจจีนที่กำลังได้รับผลกระทบจากการกีดกันทางการค้าด้วย ทั้งสองปัจจัยยังคงยืนยันว่าเศรษฐกิจโลกจะไม่เข้าสู่ภาวะถดถอยในระยะสั้น

ส่วนของค่าเงินบาทที่อ่อนค่าแรงพร้อมกับสกุลเงินภูมิภาคในช่วงสัปดาห์ก่อน จะยังคงมีแนวโน้มอ่อนค่าได้ต่อในช่วงนี้ถ้าตลาดปิดรับความเสี่ยง (Risk Off) เรามองว่าการลด RRR ของจีนพร้อมกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยิลด์สหรัฐเป็นสองปัจจัยที่จะกำหนดทิศทางของสกุลเงินเอเชีย ช่วงสั้นจึงต้องจับตาตลาดหุ้นประกอบไปด้วย

ด้วยทิศทางดอกเบี้ย เงินเอเชียมีโอกาสอ่อนค่าแน่นอน ดังนั้นถ้าตลาดยังไม่เปิดรับความเสี่ยง ก็มีโอกาสสูงที่เงินบาทจะอ่อนค่าต่อไปในระยะสั้นมองกรอบเงินบาทระหว่างวัน 32.76-32.86บาท

จาก www.thansettakij.com   วันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2561

กรมชลประทาน...เดินแผนยุทธศาสตร์ พัฒนาบริหารจัดการน้ำยั่งยืน

หมายเหตุ : ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ให้สัมภาษณ์พิเศษ “สยามรัฐรายวัน” ถึงการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์กรมชลประทาน ภายใต้กรอบแนวคิด “RID No.1” สู่การเป็นองค์กรอัจฉริยะ ที่มุ่งสร้างความมั่นคงด้านน้ำ (Water Security) มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

ดร.ทองเปลว กองจันทร์

-การขับเคลื่อนพัฒนาแหล่งน้ำ และเพิ่มพื้นที่ชลประทาน

ปัจจุบัน ภายใต้การบริหารงานของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 รัฐบาลให้ความสำคัญในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ โดยให้มีความเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ตลอดจนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (ปี2560-2564) ซึ่งได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาพื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้นปีละ 350,000 ไร่ โดยผลการดำเนินงานในช่วง ปี พ.ศ. 2557-2561 สามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 2.83 ล้านไร่ ปริมาตรน้ำเก็บกัก 1,652.54 ล้าน ลบ.ม.

กรมชลประทาน ได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) ในด้านการพัฒนาแหล่งน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทาน โดยกำหนดเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ชลประทาน จำนวน 17.95 ล้านไร่ ส่งผลให้มีการพัฒนาพื้นที่ชลประทานทั้งหมด 49.84 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 82.67 ของพื้นที่ศักยภาพ และกำหนดเป้าหมายปริมาตรน้ำเก็บกักเพิ่มขึ้น 13,243 ล้าน ลบ.ม.

-แผนพัฒนาแหล่งน้ำ และเพิ่มพื้นที่ชลประทาน จะช่วยลดปัญหาการขาดแคลนน้ำได้หรือไม่

ในพื้นที่เขตชลประทาน จะไม่พบปัญหาการขาดแคลนน้ำ ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน การจะทำให้ทั่วทุกภูมิภาคไม่ขาดแคลนน้ำ ต้องทำให้อยู่ในเขตชลประทาน เนื่องจากมีน้ำจากเขื่อน มีระบบส่งน้ำไปถึงทุกที่ใขเขตชลประทาน ซึ่งแผนยุทธศาสตร์ในแต่ละปี จะเพิ่มพื้นที่เขตชลประทานขึ้นเรื่อยๆ ก็จะหมดปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำ

-มีความเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะพัฒนาเป็นเขตพื้นที่ชลประทานครอบคลุมทั้งประเทศ

ประเทศไทย มีพื้นที่ 320 ล้านไร่ แบ่งเป็นพื้นที่การเกษตร 149 ล้านไร่ การทำให้เป็นพื้นที่เขตชลประทานทั้ง 149 ล้านไร่ เป็นไปได้ยาก ด้วยข้อจำกัดเรื่องปริมาณน้ำ สภาพพื้นที่ และความเหมาะสมของการเพาะปลูก ซึ่งจากการประเมิน และออกแบบ สามารถพัฒนาเป็นเขตพื้นที่ชลประทานได้ไม่เกิน 60 ล้านไร่ จากพื้นที่ทำการเกษตรทั้งหมด 149 ล้านไร่ ส่วนพื้นที่ที่เหลือก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชให้เหมาะสมกับพื้นที่ ตามข้อมูล Agri Map หรือขุดสระเก็บกักน้ำใช้ในชุมชน

-มีนวัตกรรม ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน และบริหารจัดการน้ำหรือไม่

ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (Smart Water Operation Center : SWOC) เป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่สำคัญ ที่ใช้เป็นเรื่องมือเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน และการบริหารจัดการน้ำ โดยเป็นศูนย์ที่รวมนวัตกรรมด้านการปฏิบัติงานและการบริหารจัดการน้ำของทุกหน่วยงานในกรมชลประทาน รวมถึงหน่วยงานภายนอก โดยแบ่งนวัตกรรมออกเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่ นวัตกรรมด้านแบบจำลอง ใน SWOC ได้รวบรวมนวัตกรรมด้านแบบจำลองทางคณิตศาสตร์เพื่อใช้ในการบริหารจัดการน้ำทั้งแบบจำลองประเภท Lump model และ Distributed model ซึ่งมีทั้งแบบจำลองที่พัฒนาโดยสำนักวิจัยและพัฒนา หรือหน่วยงานภายในกรมชลประทาน และแบบจำลองจากหน่วยงานภายนอก เพื่อนำมาวิเคราะห์ ประเมินผลการบริหารจัดการน้ำ และนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี SWOC ได้รวบรวมนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี เข้ามาใช้ในการรวบรวมข้อมูล บริหารจัดการข้อมูล รวมถึงการติดต่อสื่อสารเพื่อเชื่อมต่อการสั่งการจากหน่วย Operator ถึง หน่วยปฏิบัติงานในสนาม การพัฒนาโปรแกรมอ่านค่าระดับน้ำจากภาพของกล้องวงจรปิดแบบอัตโนมัติ (Automatic Gauge Information Camera) รวมทั้งการติดต่อสื่อสาร SWOC ได้พัฒนาการเชื่อมต่อการสื่อสารแบบวิดีโอ เพื่อเชื่อมต่อระหว่าง SWOC Center กับ SWOC เครือข่าย และสามารถเชื่อมต่อกับผู้ปฏิบัติงานของกรมชลประทานที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในสนามผ่าน Mobile Application ชื่อว่า “SCOPIA Mobile”

นอกจากนี้ กรมชลประทาน ยังได้มีการติดตั้งระบบโทรมาตรเตือนภัย สำหรับใช้ในการตรวจวัดระดับน้ำ รวมทั้ง ติดตั้งกล้อง CCTV สำหรับติดตามสถานการณ์น้ำครอบคลุมทั่วประเทศ ในบริเวณจุดที่มีความสำคัญในการติดตามและเฝ้าระวังในแม่น้ำสายหลักต่างๆ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา

-ประชาชนจะทราบข้อมูลเรื่องน้ำของกรมชลประทาน ได้ทางไหนบ้าง

ได้พัฒนาช่องการรับรู้ข้อมูลข่าวสารเรื่องน้ำจากกรมชลประทานในหลากหลายช่องทาง เพื่อรับทราบสถานการณ์น้ำ โดยผ่าน Mobile Application “SWOC WL” ทั้งในระบบ IOs และ Android ซึ่งจะเริ่มเปิดตัวให้ประชาชนทั่วไปได้ทดลองใช้ประมาณสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนตุลาคม โดยในช่วงแรก จะสามารถตรวจวัดระดับน้ำได้ 3 จุดที่ ท่าเรือวังหลัง (ศิริราช) ท่าเรือนนทบุรี และ ตลาดน้ำอยุธยา (วัดท่าการ้อง) และใช้ระยะเวลาอีก 3 ปีเพื่อขยายไปตามจุดต่างๆ ที่สำคัญครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ 935 จุด เพื่อให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจวัดระดับน้ำ พร้อมทั้งรับทราบข้อมูลสถานการณ์น้ำในลำน้ำแบบ ณ เวลาจริง (Real Time)

-กำหนดแผนสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการใช้น้ำอย่างยั่งยืน

กรมชลประทาน ขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมของประชาชนผ่านกลไกล 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทาน (กลุ่มพื้นฐาน) 51,477 กลุ่ม สมาชิก 1,096,044 คน พื้นที่องค์กรทั้งสิ้น 19,068,863 ไร่ คิดเป็น 76.96% ของพื้นที่ชลประทานโครงการขนาดใหญ่และขนาดกลาง 24,777,313 ไร่ 2.อาสาสมัครชลประทาน 3,403 คน เป็นตัวแทนเกษตรกรที่มีจิตอาสา ทำหน้าที่ประสานงาน สื่อสาร ความต้องการใช้น้ำ แผนการส่งน้ำ ปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะต่างๆ ในการบริหารจัดการน้ำระหว่างโครงการชลประทานและกับกลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทาน 3.คณะกรรมการจัดการชลประทาน 396 คณะจากสำนักงานชลประทาน ทั้ง 17 สำนักงาน เป็นคณะทำงานที่มีบทบาทหน้าที่ร่วมรับรู้รับทราบ ร่วมพิจารณาตัดสินใจในการบริหารจัดการน้ำของโครงการ และ4.ยุวชลกร จำนวน 4,695 รุ่น (ข้อมูลปี 2560) รวม 237, 128 คน

-ประเมินสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน

สถานการณ์น้ำในปัจจุบัน มองได้ 2 แบบ คือ พื้นที่ที่มีปริมาณน้ำมาก และพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำน้อย ทั้งนี้ ในพื้นที่น้ำน้อย ต้องมีการวางแผนบริหารจัดการน้ำ ก่อนหมดฤดูฝนในช่วงกลางเดือนตุลาคมนี้ ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์ เช่น อ่างเก็บน้ำห้วยจรเข้มาก อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ มีปริมาณน้ำเพียง 4 ล้าน ลบ.ม. แต่มีการใช้น้ำเดือนละประมาณ 1.6 ล้าน ลบ.ม. กรมชลประทาน จึงมีการวางแผนบริหารจัดการน้ำ โดยให้โครงการชลประทานบุรีรัมย์ เร่งสูบน้ำจากลำปลายมาศ อำเภอลำปลายมาศ มาเก็บไว้ที่อ่างเก็บน้ำห้วยจรเข้มาก วันละ 100,000 ลบ.ม. ระยะเวลา 1 เดือนได้น้ำ 3 ล้าน ลบ.ม. แต่จะต้องเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างฯให้ได้อย่างน้อย 5-6 ล้าน ลบ.ม. จึงได้บูรณาการร่วมกับกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ปรับแผนการปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อเติมน้ำให้เพียงพอ ในขณะที่พื้นที่ที่มีน้ำมาก ต้องมีการวางแผนการใช้น้ำ ให้เป็นไปตามนโยบายปรับพื้นที่การเพาะปลูก เช่น ส่งเสริมปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 2 ล้านไร่ แทนการปลูกข้าวนาปรัง พร้อมสำรองน้ำไว้ใช้ระหว่างรอต้นฤดูฝนปีหน้า

-ยืนยันว่า สามารถบริหารจัดการน้ำได้

ในเขตพื้นที่ชลประทาน ขอยืนยันว่า สามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างแน่นอน ซึ่งเน้นบริหารจัดการน้ำเพื่ออุปโภค บริโภคให้เพียงพอเป็นอันดับแรก รองลงมาการบริหารน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศและควบคุมคุณภาพน้ำ และการเกษตรในฤดูแล้ง รวมทั้งการสำรองน้ำไว้ใช้ในปีต่อๆไป ซึ่งจะนำประสบการณ์ในปี 2558 ที่ปริมาณฝนในช่วงต้นฤดูหายไปเกือบ 3 เดือน มาใช้เป็นกรณีศึกษา และปรับใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน

จาก https://siamrath.co.th    วันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2561

รัฐบาลสร้าง Young Smart Farmer

รัฐบาลมีนโยบายในการดูแลลูกหลานของเกษตรกร โดยการพัฒนาและสร้าง “คนรุ่นใหม่” เข้าสู่ “เกษตรยุคใหม่”  ด้วยมอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรผลิตเกษตรกรรุ่นใหม่หรือ Young  Smart Farmer (YSF) ให้เรียนรู้เรื่องเทคโนโลยี  การใช้เครื่องมือ การบริหารจัดการและขับเคลื่อนชุมชนให้เกิดการปรับเปลี่ยนที่ทันสถานการณ์และมีความทันสมัย โดยมุ่งหวังให้คนรุ่นใหม่จบภาคการเกษตรมีความรู้ความสามารถด้านวิชาการเกษตรแบบครบวงจร เพื่อจะได้มีความยั่งยืนในการประกอบอาชีพการเกษตร พึ่งพาตนได้และสามารถแข่งขันในตลาดได้อย่างเข้มแข็งสอดคล้องกับโมเดล Thailand 4.0 ของรัฐบาล

นายสมชาย  ชาญณรงค์กุล  อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร  กล่าวว่า ปัจจุบันมีแนวโน้มของคนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นคนหนุ่มสาวไฟแรงมีแรงบันดาลใจในการเข้ามาทำอาชีพการเกษตรมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับกรมส่งเสริมการเกษตรที่ปัจจุบันได้ให้ความสำคัญในการสนับสนุนคนรุ่นใหม่เข้าสู่โครงการ Young  Smart Farmer หรือ YSF  เนื่องจากเห็นว่าเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนพัฒนาภาคเกษตรกรรมของประเทศไทยสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ที่มีความทันสมัยและเท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบันให้เป็นไปตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ 20ปีของกระทรวงเกษตรฯ โดยวางเป้าหมายสร้างเครือข่าย YSF ทั้งประเทศให้ได้ไม่น้อยกว่า 58,520 รายจากปัจจุบันสามารถผลิตได้แล้ว 7,598 ราย ซึ่งต่อไปกรมจะผลักดันคนเหล่านี้ต่อยอดให้เป็นผู้ประกอบการเกษตรรุ่นใหม่ที่มีการบริหารจัดการการเกษตรด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม สามารถพึ่งพาตนเองได้ และเป็นผู้นำทางการเกษตรในท้องถิ่น

สำหรับคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้ามาเป็น YSF หลักๆจะต้องเป็นคนที่มีความรู้ในเรื่องที่จะทำ มีการจัดการผลิต /การตลาดใส่ใจคุณภาพ รับผิดชอบสังคม/สิ่งแวดล้อม และที่สำคัญจะต้องมีความภาคภูมิใจที่จะเป็นเกษตรกร  โดยจะมีการประเมินศักยภาพและต้องผ่านคุณสมบัติด้านรายได้ไม่ต่ำกว่า 180,000 บาท/ครัวเรือน/ปีและมีอายุระหว่าง 17-45ปี เมื่อผ่านคุณสมบัติแล้วกรมส่งเสริมการเกษตรก็จะมีหลักสูตรอบรมในแต่ละระดับ  คือ 1 เริ่มจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเกษตรกรรุ่นใหม่แต่ละรุ่น 2.มีการพัฒนากิจกรรมการเกษตรด้วยนวัตกรรม และบริการจัดการกิจกรรมด้วยระบบ internet of Things  (loT) 3. พัฒนาเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ รวมทั้งพัฒนาระบบธุรกิจเกษตรด้วยนวัตกรรรม Smart Farm Digital  Market 4.สินค้าเกษตรได้รับรองมาตรฐานสากลและยกระดับผู้ประกอบรุ่นใหม่สู่สากล

“ลลิดา  คำวิชัย”  YSF สระแก้ว  วัย 27ปีจากริมขอบชายแดน   ต.ทับพริก อ.อรัญญาประเทศ จ.สระแก้ว นับเป็นอีกต้นแบบความสำเร็จของนิยาม“เกษตรกรรุ่นใหม่”ที่วันนี้วิถีการเป็นอาชีพเกษตรกรรุ่นใหม่ของเธอมีรูปธรรมที่ชัดเจนทั้งแนวคิดและการลงมือกระทำ  “สลิดา”ทิ้งเงินเดือนครึ่งแสนจากการเป็นพนักงานแบงค์ ผันชีวิตสู่ชีวิตเกษตรกรโดยเนรมิตฟาร์ม “ณ.ไร่ ชายแดน”

“สำหรับแรงบันดาลใจในการหันมาทำอาชีพเกษตรกร  เกิดจากมีความฝันอยากทำฟาร์มของตัวเองด้วยการพลิกฝืนพื้นดินเกษตรของครอบครัวจำนวน  35ไร่ซึ่งเดิมทำเกษตรเชิงเดี่ยวและมีปัญหาขาดแคลนน้ำ ผลผลิตตกต่ำมาอย่างตลอด โดยการปรับเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ ทำใหม่ ด้วยกันหันมาปลูกพืชแบบใช้น้ำน้อยนั่นคือการปลูกมะม่วงแก้วขมิ้นเนื่องจากเห็นว่าเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศและปลูกให้ผลผลิตดีในพื้นที่สระแก้ว ซึ่งตนเองได้เปรียบเพราะสามารถอ่าน ออกเขียนหลายภาษาทั้งภาษาอังกฤษและภาษากัมพูชาทำให้ง่ายในการเข้าไปบุกเบิกตลาดทั้งภายในและต่างประเทศได้เอง

“ลลิดา” เล่าวด้วยว่า จากนั้นต่อยอดด้วยการเลี้ยงหมูหลุมแบบอินทรีย์ตามด้วยเลี้ยงไส้เดือนคอนโด  ทำเป็นปุ๋ยภายใต้แบรนด์ “ไอเดือน” โดยการรวมกลุ่มกับคนในชุมชนกว่า 40 ครอบครัวในการรวมตัวการผลิตและรวมตัวกันขายโดยมีตลาดหลักในประเทศกัมพูชา นอกจากนั้นยังได้แปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเป็นผลิตภัณฑ์เองส่งขายตามร้านในท้องถิ่นสร้างรายได้เป็นอย่างเป็นดี และยังร่วมกับคนในชุมชนต่อยอดการตลาดด้วยการเปิด”สวนเรียนรู้ด้านการเกษตรแบบพอเพียง” เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรสร้างรายได้ให้กับชุมชนอีกทางหนึ่งด้วย  เพื่อเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมขบวนการผลิต แปรรูปในฟาร์ม

“ลลิดา”  กล่าวว่าหลักสำคัญของการเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่นั้น จะต้องรู้จักนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานตามความต้องการของตลาด  มีความรู้ในการประกอบอาชีพด้านการเกษตรอย่างครบถ้วน ทันต่อสถานการณ์และสภาวการณ์ ปัจจุบันจังหวัดสระแก้วมี”  Young  Smart Farmer  ทั้งหมด 5 รุ่น จำนวน 150 คน รุ่นละ 30 คน เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันอย่างต่อเนื่อง และมีการตั้ง “ศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่” ขึ้นมาช่วยทำให้เกษตรกรรุ่นใหม่ๆ สามารถก้าวเดินแบบก้าวกระโดดที่สาม สี่ ห้า และหก ได้ทันที เป็นการต่อยอดและการเข้าถึงโอกาสในความสำเร็จได้โดยไม่ต้องเริ่มต้นที่นับหนึ่งใหม่กันทุกคน

“ลลิดา” กล่าวย้ำด้วยว่าด้วยว่า ในอนาคตการทำกาเกษตรจะอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน  จะต้องทำในรูปแบบการตลาดนำการผลิต เน้นการต่อยอดผลิตภัณฑ์ในชุมชน ทำให้คนในชุมชนมีรายได้เพิ่ม ที่สำคัญคือเกษตรกรุ่นใหม่และการพัฒนาชุมชนจะต้องเดินไปควบคู่กัน โดยตนมีความมุ่งมั่นเป็นแบบอย่างงหรือไอดอลให้คนรุ่นใหม่ที่คิดจะก้าวมาสู่อาชีพเกษตรกร  เพื่อให้ค่าว่าเกษตรกรมีคุณค่า ทำให้คนรุ่นหลังเห็นว่าการเกษตรเป็นหัวใจหลัก ที่เป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตร อาหารที่ยั่งยืนของมนุษย์ ฉะนั้นทำการต่อยอดแค่ว่าให้การตลาดนำการผลิตเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ที่ยั่งยืนด้วยการกล้าคิด กล้าทำ กล้าลองและมีความมุ่งมั่นในเป้าหมายในการก้าวสู่อาชีพเกษตรรุ่นใหม่

“Young  Smart Farmer”   จึงถือเป็นพลังสำคัญของภาคเกษตรไทยที่จะเปลี่ยนแปลงและพัฒนาภาคเกษตรไปสู่ความทันสมัยและทันเหตุการณ์ภายใต้การนวัติกรรมใหม่ๆ คิดค้นใหม่ๆ   มีแนวคิดที่แตกต่าง มีองค์ความรู้ที่หลากหลายเพื่อพัฒนาภาคเกษตรไทยไปสู่ความมั่นคงและยั่งยืน

จาก https://www.naewna.com  วันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2561

เงินบาทผันผวนชี้ปัจจัยเสี่ยงนอกประเทศกดดัน

"รุ่ง" คาดเงินบาทสัปดาห์หน้าเคลื่อนไหวระดับ 32.70-33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ชี้ปัจจัยลบมาจากต่างประเทศเป็นหลัก เตือนผู้ส่งออก-นำเข้าป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน                   

น.ส.รุ่ง  สงวนเรือง ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแลโกลบอลมาร์เก็ตส์  ธนาคารกรุงศรีอยุธยา  เปิดเผยว่า  ค่าเงินบาทในสัปดาห์หน้าเคลื่อนไหวที่ระดับ 32.70-33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ  ซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อค่าเงินบาทผันผวนมาจากปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะสหรัฐ เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจหลายตัวที่ออกมาดีกดดันสกุลเงินในตลาดเกิดใหม่อ่อนค่าลง   ขณะที่ราคาน้ำมันดิบได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นทำให้ประเทศที่นำเข้าน้ำมันที่ภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้น

สำหรับในส่วนของไทยแม้ว่านักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นในตลาดหุ้นไทย แต่ในตลาดพันธบัตรต่างชาติยังเอาเงินมาพักฐานไว้   โดยยอดซื้อพันธบัตรตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.-5ต.ค.มีมูลค่าประมาณ 16,000 ล้านบาท  ขณะที่ตลาดหุ้นไทยขายสุทธิ 11,053 ล้านบาท  อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการนำเข้าและส่งออกต้องป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อลดความผันผวนของค่าเงิน

รายงานข่าวแจ้งว่า  ทิศทางค่าเงินบาทสัปดาห์หน้าไม่อ่อนค่ามากนักหากเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา  เนื่องจากกระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรในเดือนก.ย.เพิ่มขึ้นเพียง 134,000 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.ย.ปีที่แล้วและต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 185,000 ตำแหน่ง อาจเป็นผลมาจากพายุเฮอร์ริเคนฟลอเรนซ์ ซึ่งได้พัดถล่มรัฐนอร์ธและเซาธ์แคโรไลนาในเดือนก.ย. เป็นสาเหตุที่ทำให้ตัวเลขการจ้างงานลดลงในบางภาคอุตสาหกรรม และส่งผลต่อสกุลเงินในตลาดเกิดใหม่กลับมาแข็งค่าขึ้น รวมถึงบาทไทย  จากที่เมื่อสัปดาห์ก่อนดอลาร์แข็งค่ากดสกุลเงินในภูมิภาคอ่อน

จาก https://www.dailynews.co.th   วันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2561

เร่งแผนพัฒนาเกษตรพันธสัญญาเตรียมเสนอ ครม.ใน 4 เดือน

    ก.เกษตรฯเตรียมเสนอแผนการพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาให้ครม.เห็นชอบในอีก 4 เดือน กำกับข้อตกลงให้เป็นธรรมระหว่างเกษตรกรกับผู้ประกอบการ ยกตัวอย่างปลูกมันฝรั่งส่ง “เลย์” ยกระดับรายได้เกษตรกรมั่นคง-แน่นอน

       นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า เตรียมจัดทำแผนการพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาเสนอคณะรัฐมนตรีให้การเห็นชอบภายใน 4 เดือน อีกทั้งจะเร่งสร้างความรู้ ความเข้าใจแก่บุคลากรของกระทรวงเกษตรเพื่อจะได้สามารถแนะนำและให้ข้อมูลแก่เกษตรกรและผู้ประกอบการรับทราบอย่างต่อเนื่อง และจะขอความร่วมมือผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรจัดส่งร่างสัญญาให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เก็บไว้ เพื่อเป็นข้อมูลในการตรวจสอบ

           สำหรับ พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้มา 1 ปีแล้วเป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการทำการเกษตรในระบบเกษตรพันธสัญญา โดยวางหลักเกณฑ์ และมาตรการในการกำกับดูแลการทำสัญญาให้เกิดความเป็นธรรม โดยกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรมีหน้าที่จัดทำเอกสารสำหรับการชี้ชวนและร่างสัญญาให้เกษตรกรทราบล่วงหน้าเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเข้าทำสัญญา

          ขณะนี้มีผู้ประกอบการสนใจขึ้นทะเบียน 187 ราย มีเกษตรกรในระบบเกษตรพันธสัญญา กว่า 200,000 ราย ทั้งด้านพืช เช่น อ้อยโรงงาน เมล็ดพันธ์ข้าวโพด มันฝรั่ง พืชผัก ด้านปศุสัตว์เช่น ไก่เนื้อ ไก่ไข่ และด้านประมงเช่น ปลานิล ปลาทับทิม ตัวอย่างที่เห็นเป็นรูปธรรมได้แก่ ผู้ผลิตมันฝรั่งอบกรอบ “เลย์”  บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด ดำเนินการภายใต้สัญญาข้อตกลงซื้อขายผลผลิตมันฝรั่งที่กำหนดราคารับซื้อที่แน่นอน ส่งเสริมเกษตรกรใน 6 จังหวัดภาคเหนือปลูกมันฝรั่ง 3,500 ราย รวมพื้นที่  22,000 ไร่

นายบุญศรี ใจเป็ง ผู้นำกลุ่มเกษตรกรอำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่กล่าวว่า เดิมรายได้ไม่มั่นคงราคารับซื้อของพ่อค้าคนกลางไม่แน่นอน แต่เมื่อเข้าสู่ระบบเกษตรพันธสัญญา (CONTRACT FARMING) สัญญาระบุชัดเจนถึงจำนวนที่ต้องผลิตและคุณภาพที่รับซื้อ จึงสามารถขายผลผลิตได้ตามราคาที่ตกลงกัน ถือว่าเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบเหมือนในอดีต

ทั้งนี้ คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาได้ออกประกาศหลักเกณฑ์ตามที่ กฏหมายที่มีความจำเป็นต่อการปฏิบัติงานเรียบร้อยแล้วจำนวน 4 ฉบับ เช่น หลักเกณฑ์และวิธีการแจ้งประกอบธุรกิจ   และอยู่ในระหว่างการพิจารณา อีก 2 ฉบับ หากมีความจำเป็นเพิ่มเติมสามารถพิจารณาออกประกาศได้ตามสภาวะและสถานการณ์ในอนาคต อีกทั้งได้รับเรื่องร้องเรียนและให้กระทรวงเกษตรฯ ไกล่เกลี่ยและยุติข้อพิพาท จำนวน 2 เรื่องซึ่งสามารถประนีประนอมยอมความกันได้หมด

คณะกรรมการฯ ยังมีมติมอบหมายให้ศึกษาและจัดทำสัญญาแนะนำเพื่อเผยแพร่ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ และจัดทำสัญญาแนะนำเพิ่มเติมอีก เพื่อให้มีรูปแบบสัญญาที่หลากหลายและครอบคลุมการผลิตผลิตผลหรือบริการทางการเกษตรในแต่ละชนิด

“กฏหมายเกษตรพันธสัญญา ออกมาเพื่อใช้เพื่อสร้างความเป็นธรรมระหว่างเกษตรกรและผู้ประกอบการ  เช่น มาตรา 20 ได้มีข้อกำหนดในเชิงควบคุมการทำสัญญา ต้องระบุราคาและวิธีการคำนวณวัตถุดิบและผลผลิต  ใช้ราคาในวันเวลาใด รวมถึงกำหนดวันและสถานที่ส่งมอบ เป็นต้น” รมว.เกษตรกล่าว

สำหรับผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรหรือเกษตรกรรายใดที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการทำสัญญาในระบบเกษตรพันธสัญญา สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่เจ้าหน้าที่ของกระทรวงเกษตร เกษตรตำบล เกษตรอำเภอ ปศุสัตว์อำเภอ สหกรณ์อำเภอในพื้นที่ รวมทั้งสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โทรศัพท์ 02 281 5955 ต่อ 354 สายด่วนโทร 1170

จาก https://www.tnamcot.com  วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2561

เกษตรฯเตรียมพร้อมจัดมหกรรมวันดินโลก2561ทั่วประเทศ

เกษตรฯเตรียมพร้อมจัดมหกรรมวันดินโลก2561ทั่วประเทศ เชิญชวนประชาชนร่วมปลูกปอเทืองให้บานสะพรั่งพร้อมกัน ในวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร 5 ธ.ค.61

นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการวันดินโลก ครั้งที่ 4/2561 เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานวันดินโลก ปี 2561 ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า ตามที่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO และองค์การสหประชาชาติ หรือ UN ได้ให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานวันดินโลก ในวันที่ 5 ธันวาคม 2561 เพื่อสืบสานศาสตร์พระราชา และรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่พระองค์ทรงมีพระอัจฉริยภาพด้านการพัฒนาดิน

พร้อมทั้งได้กำหนดให้มีพิธีมอบรางวัล วันดินโลก (World Soil Day Award) เพื่อมอบให้แก่ผู้ที่มีผลงานและกิจกรรมที่เป็นประจักษ์ ในการส่งเสริมและสร้างความตระหนักด้านการจัดการทรัพยากรดินเพื่อความมั่นคงอาหารโลกอย่างยั่งยืน ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมผลักดันวันดินโลก ร่วมกับสมาคมดินและปุ๋ยแห่งประเทศไทย และ  FAO จนประสบความสำเร็จ

โดยในปีนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายให้จัดกิจกรรมเพื่อสนับสนุนการสร้างการรับรู้และตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรดินอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยในเดือน ธ.ค.61 กำหนดให้มีการจัดกิจกรรมตลอดทั้งเดือน และกำหนดการจัดมหกรรมวันดินโลกอย่างยิ่งใหญ่ ระหว่างวันที่ 5 - 7 ธ.ค.61 ณ พิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในหัวข้อ "น้อมนำศาสตร์พระราชา พัฒนาที่ดินอย่างยั่งยืน คืนชีวิตให้แก่ดิน คืนความสุขให้แก่เรา" ผ่านนิทรรศการจากหน่วยงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และภาคีเครือข่าย รวมทั้งจัดกิจกรรม ณ ศาลากลางหรือสถานที่ที่แต่ละจังหวัดเห็นสมควร และเป็นการดำเนินงานร่วมกันจากหลายภาคส่วนทั้งหน่วยงานภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่วนราชการต่างๆ และภาคเอกชน พร้อมเชิญหน่วยงานต่างประเทศร่วมงานวันดินโลก ได้แก่ คณะทูตานุทูต 70 ประเทศ สมาชิก ASP 23 ประเทศ ASEAN 9 ประเทศ

โดยในเดือน ต.ค.ได้กำหนดจัดกิจกรรมปลูกปอเทืองขับเคลื่อนงานวันดินโลก 5 ธ.ค.61 และรณรงค์ปลูกปอเทืองเพื่อให้บานสะพรั่งในวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร โดยจะดำเนินการในพื้นที่ 329 แห่ง ทั่วประเทศ เป้าหมายจำนวน 26,376 ไร่ ใช้เมล็ดพันธุ์ปอเทืองทั้งสิ้น 133 ตัน ซึ่งกรมพัฒนาที่ดินได้จัดส่งเมล็ดพันธุ์ให้กับสถานีพัฒนาที่ดินทุกแห่งเรียบร้อยแล้ว ผู้ที่สนใจสามารถแจ้งความจำนงขอรับเมล็ดพันธุ์ได้ฟรีที่สถานีพัฒนาที่ดินจังหวัด ภายในวันที่ 8 ต.ค.61 ทั้งนี้ ปอเทืองจะออกดอกภายใน 45 - 55 วันหลังหว่าน หากต้องการให้ดอกบานในช่วง 5 ธ.ค.จะต้องหว่านเมล็ดพันธุ์ภายในวันที่ 15 ต.ค.61

อย่างไรก็ตาม การจัดงานวันดินโลกปีนี้เน้นการแสดงผลความสำเร็จของการน้อมนำศาสตร์พระราชาด้านการจัดการดินมาต่อยอด เพื่อสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ทรัพยากรดิน น้ำ นำไปสู่ความมั่นคงทางอาหาร และการขจัดความอดอยากหิวโหย โดยการบูรณาการทำงานระหว่างหน่วยงานในคณะกรรมการงานวันดินโลกดำเนินกิจกรรมทั่วประเทศ เพื่อมุ่งเน้นการสร้างการรับรู้ และการมีส่วนร่วมทั้งภาคการศึกษา ศาสนา ภาครัฐ เอกชน องค์กรต่างประเทศ ชุมชน และประชาชน

จาก https://www.naewna.com  วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2561

1 ปีกฎหมายเกษตรพันธสัญญา เอกชนแห่ขึ้นทะเบียน 187 ราย

กระทรวงเกษตรฯ แจงความก้าวหน้าการจัดทำสัญญาแนะนำตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560 ครบรอบ 1 ปี เผยมีผู้ประกอบการขึ้นทะเบียน 187 ราย ไกล่เกลี่ยยุติข้อพิพาทแล้ว 2 เรื่อง

นายพีรพันธ์ คอทอง ผู้ช่วยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะรองโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยความก้าวหน้ากรณีการจัดทำสัญญาแนะนำตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560 ในโอกาสครบรอบ 1 ปี การขับเคลื่อนกฎหมายเกษตรพันธสัญญา ว่า ณ ปัจจุบันสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนพระราชบัญญัติฯ โดยมีผลการดำเนินการ ดังนี้ 1) รับแจ้งการประกอบธุรกิจและขึ้นทะเบียนผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรแล้วจำนวน 187 ราย 2) จัดเก็บเอกสารสำหรับการชี้ชวนและร่างสัญญาฯ จากผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรเพื่อเป็นหลักฐานในการตรวจสอบ และติดตามการทำสัญญาในระบบเกษตรพันธสัญญา โดยมีผู้ประกอบธุรกิจนำส่งแล้วจำนวน 52 ราย มีเอกสารสำหรับการชี้ชวนฯ 67 เรื่อง

3) ดำเนินการไกล่เกลี่ยและยุติข้อพิพาท โดยมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันแล้วจำนวน 2 เรื่อง ในพื้นที่ 2 จังหวัด และอยู่ระหว่างดำเนินการจำนวน 1 เรื่องในพื้นที่ 16 จังหวัด และ 4) ดำเนินการออกประกาศหลักเกณฑ์ตามที่พระราชบัญญัติฯ กำหนดเรียบร้อยแล้วจำนวน 4 ฉบับ และอยู่ระหว่างดำเนินการ 2 ฉบับ รวมทั้งมีแผนการดำเนินงานในระยะต่อไป ได้แก่ 1) การจัดทำแผนการพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา 2) การพัฒนาบุคลากรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อให้ความรู้แก่เกษตรกรในพื้นที่ และ 3) การกำหนดรูปแบบสัญญาแนะนำและส่งเสริมการนำไปใช้ ทั้งนี้ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้เกี่ยวกับพระราชบัญญัติฯ และรายละเอียดการทำสัญญาตามข้อกำหนดของพระราชบัญญัติฯ ให้ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรรับทราบอย่างต่อเนื่อง และขอความร่วมมือผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรจัดส่งร่างสัญญาให้สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เก็บไว้เพื่อเป็นข้อมูลในการตรวจสอบ

“จากการตรวจสอบร่างสัญญาจากผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรในเบื้องต้นยังไม่พบร่างสัญญาที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดของพระราชบัญญัติฯ”

นายพีรพันธ์ กล่าวอีกว่า พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560 เป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการทำการเกษตรในระบบเกษตรพันธสัญญา โดยวางหลักเกณฑ์ และมาตรการในการกำกับดูแลการทำสัญญาให้เกิดความเป็นธรรม โดยกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรมีหน้าที่จัดทำเอกสารสำหรับการชี้ชวนและร่างสัญญาให้เกษตรกรทราบล่วงหน้าเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเข้าทำสัญญา

ทั้งนี้เอกสารสำหรับการชี้ชวนจะต้องมีรายละเอียดตามที่พระราชบัญญัติกำหนด ตามมาตรา 20 รวมทั้งยังมีข้อกำหนดในเชิงควบคุมการทำสัญญาเพื่อดูแลให้การจัดทำสัญญาเกิดความเป็นธรรมกับคู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่าย ตามมาตรา 21 และมาตรา 26 เช่น ต้องทำเป็นหนังสือ ระยะเวลาในการทำสัญญาต้องสอดคล้องกับระยะเวลาคืนทุน ราคาและวิธีการคำนวณวัตถุดิบและผลผลิตกำหนดอย่างไร และใช้ราคา ณ เวลาใด วันและสถานที่ส่งมอบ เหตุยกเว้นไม่ปฏิบัติตามสัญญากรณีเกิดเหตุสุดวิสัย ใครเป็นผู้รับความเสี่ยงภัย การเยียวยาความเสียหาย สิทธิการบอกเลิกสัญญา และกำหนดให้ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมไม่สามารถใช้บังคับได้

จาก www.thansettakij.com   วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2561

เกษตรฯ จ่อชงครม.ของบ 4 โปรเจ็กต์ 1.2 หมื่นล้าน

เกษตรฯ จ่อชง ครม.ของบกว่า 1.2 หมื่นล้านแก้ปัญหา 4 โครงการ ทั้งเยียวยานํ้าท่วม ซื้อเรือคืน แก้หนี้เกษตรกร ชดเชยรายได้ยางพารา ชี้ล่าช้าเหตุชาวสวนพ้อให้น้อยไม่เกินรายละ 3 พัน

แหล่งข่าวจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงมาตรการโครงการเร่งด่วนที่ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะนำเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อของบดำเนินการตามแผนงาน ประกอบด้วย

1.มาตรการเยียวยานํ้าท่วม แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ เยียวยาพื้นที่ประสบภัยนํ้าท่วมและเยียวยาพื้นที่รับนํ้าโดยชดเชยรายได้ ให้เกษตรกรทั้ง 2 กรณี เบื้องต้นใช้ ฐานไร่ละ 1,100 บาท ซึ่งอยู่ระหว่างการสำรวจข้อมูล และกำหนดวงเงิน ต่อไป

2.มาตรการซื้อเรือคืนจากรัฐบาลแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย (กรอบวงเงินกำหนดไว้ประมาณ 3,000 ล้านบาท)

3.มาตรการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) กว่า 3.6 หมื่นราย มูลหนี้ 6,000 ล้านบาท ซึ่งเกษตรกรกลุ่มนี้ เป็นหนี้ค้างชำระธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตัดยอดหนี้ให้ 50% พักดอกเบี้ย ในช่วงมีมาตรการฟื้นฟูอาชีพมีรายได้ดีขึ้นให้ได้ ในระยะเวลาปรับโครงสร้างหนี้ 15 ปี

4.เรื่องยางพารา ที่จะขออนุมัติชดเชยรายได้ให้เกษตรกรนั้น ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้ให้นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรคนใหม่ไปศึกษามาตรการรักษาเสถียรภาพราคายาง โครงการพัฒนาศักยภาพการผลิตเกษตรกรชาวสวนยางชดเชยรายได้ให้แก่ชาวสวนยาง งบประมาณ 3,000 ล้านบาท (เงินอุดหนุนให้เกษตรกร 2,900 ล้านบาท ค่าบริหารจัดการ 100 ล้านบาท) ทั้งนี้ผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการต้องเป็นสมาชิกการยางแห่งประเทศไทย (กยท.โดยจะสนับสนุน 500 บาทต่อไร่ ไม่เกิน 6 ไร่ต่อราย หรือไม่เกิน 3,000 บาท เงื่อนไขต้องเป็นสวนยาง ที่ให้ผลผลิตและเปิดกรีดอายุไม่ตํ่ากว่า 7 ปี ซึ่งให้ไปพิจารณาว่าผลตอบแทนนั้นควรจะปรับเพิ่มหรือไม่อย่างไร เนื่องจากที่ผ่านมามีเสียงเกษตรกรวิพากษ์วิจารณ์ว่าให้น้อยเกินไป

จาก www.thansettakij.com   วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2561

พืชศก.อ่วม 19จังหวัดวิกฤตแล้ง สุพรรณ-โคราชขาดน้ำ5แสนไร่

19 จังหวัดส่อแล้งหนัก ขอฝนหลวงก่อนวิกฤต “ข้าว-ข้าวโพด-อ้อย-มันสำปะหลัง” กระทบหนัก “สุพรรณบุรี-โคราช” ขาดน้ำมากสุดรวมกว่า 5 แสนไร่ เร่งสร้างฝายกักน้ำเพิ่ม อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว พื้นที่เงาฝน นาข้าวยืนต้นตาย กรมฝนหลวงฯเร่งช่วย “อุตรดิตถ์” ประกาศเขตภัยแล้งซ้ำซาก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ปรับแผนการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือพื้นที่เกษตร 19 จังหวัด ที่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยแล้งและร้องขอฝน ได้แก่ เชียงใหม่ กำแพงเพชร อุตรดิตถ์ สุโขทัย ลำพูน ตาก ลำปาง แพร่ กาญจนบุรี สุพรรณบุรี นครสวรรค์ ชัยนาท อุทัยธานี ลพบุรี ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ และสระแก้ว เนื่องจากประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ รวมทั้งเพิ่มปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำ และเขื่อนต่าง ๆ

พท.เกษตรนอกชลประทานอ่วม

นายมานะ จิวสิทธิประไพ เกษตร อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี กล่าวว่า อ.ด่านช้าง เป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน มีพื้นที่ปลูกอ้อยได้รับผลกระทบจากแล้ง 2 แสนไร่ ข้าวโพด 3.5 หมื่นไร่ อย่างไรก็ตาม ตัวเลขความเสียหายยังไม่ชัดเจน หากต.ค.-พ.ย. 61 ฝนหมดเร็วอาจทำให้ผลผลิตลดลง 10-15% ขณะที่ข้าวโพดรุ่นแรกต้องตัดขายทิ้งเพื่อป้องกันผลผลิตเสียหาย 10% อีก 20% ขาดน้ำ ทำให้ได้ผลผลิตไม่เต็มที่ เหลือ 70% ยังไม่เก็บเกี่ยว แนวทางป้องกันคือ ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรปลูกพืชหลากหลายอิงสถิติน้ำฝน

นางแสงเสน่ห์ เกตุกระทุ่ม หัวหน้าฝ่ายยุทธศาสตร์ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่าพื้นที่ที่คาดว่าได้รับผลกระทบจากฝนแล้ง และขอสนับสนุนฝนหลวงจากศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ขอนแก่น) 4 อำเภอ 3 แสนไร่ ได้แก่ ด่านขุนทด แก้งสนามนาง บัวใหญ่ และหนองบุญมาก ส่วนใหญ่เป็นข้าว มันสำปะหลัง และอยู่นอกเขตชลประทาน ขณะที่แนวทางการแก้ไขระยะยาวอยู่ระหว่างเร่งสร้างฝายชะลอน้ำและแหล่งกักเก็บน้ำเพิ่มเติม

“สระแก้ว” นาข้าวยืนต้นตาย

ขณะที่นายทินกร สุทิน ผู้อำนวยการโครงการชลประทานสระแก้ว เปิดเผยว่า อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว เป็นพื้นที่เงาฝน ส่งผลให้นาข้าวยืนต้นตาย ขณะที่อ่างเก็บน้ำหลัก 2 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำห้วยยาง มีน้ำเพียง 9.5 ล้าน ลบ.ม. จากปีก่อน 40 ล้าน ลบ.ม. และอ่างเก็บน้ำห้วยตะเคียนมีปริมาณ 10 ล้าน ลบ.ม. จากปีก่อน 20 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้ กรมฝนหลวงฯเร่งทำฝนหลวงตั้งแต่วันที่ 9 ส.ค. 61 แต่ยังไม่เพียงพอ เบื้องต้นคาดว่าพืชในเขตชลประทานไม่น่ามีปัญหา แต่นอกพื้นที่ชลประทานจะเสียหาย ทั้งนี้ ประชาชนผลักดันให้สร้างอ่างเก็บน้ำห้วยสะโตน สามารถใช้เพาะปลูกได้ 2 หมื่นไร่ ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือน พ.ย. 61

นายสุรพันธ์ สุวรรณไพบูลย์ หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดสระแก้ว กล่าวว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้วทำเรื่องขอให้กรมฝนหลวงฯมาช่วย โดยเน้นเติมน้ำให้อ่างเก็บน้ำห้วยยาง และอ่างเก็บน้ำห้วยตะเคียน ซึ่งช่วยพื้นที่เกษตร 160,000 ไร่ ตามแผนที่วางไว้จะปฏิบัติการต่อเนื่องจนถึงปลายเดือน ต.ค. 61

“บุรีรัมย์” ประหยัดน้ำรับโมโตจีพี

เช่นเดียวกับ อ.พล แวงน้อย แวงใหญ่ หนองสองห้อง และบ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ได้รับผลกระทบจากฝนทิ้งช่วง นายวรวุฒิ ขอดจันทึก เกษตรจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า เริ่มมีฝนตกลงมาบ้าง แต่ อ.พลและหนองสองห้องรายงานคาดการณ์ว่าเสียหาย จึงได้ประชุมขอฝนหลวง อย่างไรก็ตาม ได้ให้เกษตรกรลดรอบการทำนาปรัง และปลูกพืชใช้น้ำน้อย

นายสมชาย จงบัญญัติ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดอุตรดิตถ์ กล่าวว่า จ.อุตรดิตถ์ ประกาศพื้นที่ประสบภัยแล้ง 51 หมู่บ้าน ต.นาอิน และนายาง อ.พิชัย มีเกษตรกรได้รับความเดือดร้อน 3,263 ราย นาข้าว 51,478 ไร่ ซึ่งต้องสำรวจว่าเสียหายสิ้นเชิง ต้องให้ชลประทานเข้าไปดูว่าจะส่งน้ำจากเขื่อนเก็บน้ำผาจุกเข้าในพื้นที่ได้หรือไม่ รวมถึงสนับสนุนให้เกษตรกรโครงการพืชน้ำน้อยโดยมุ่งเน้นข้าวโพด เนื่องจากอุตรดิตถ์มีการปลูกข้าวโพดได้ดีอยู่แล้วราว 1.9 แสนไร่/ปี

นายนพรัตน์ พงศ์กิตติโชติ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า เมื่อเดือนที่ผ่านมาได้ทำหนังสือขอสนับสนุนการทำฝนหลวง ทำให้ฝนตกบ้างและข้าวไม่เสียหาย แต่ห่วงว่าน้ำจะไม่เพียงพอที่จะออกรวง รวมถึงห่วงเรื่องน้ำอุปโภคบริโภค เนื่องจาก ต.ค. มีการจัดแข่งขันโมโตจีพี ซึ่งสถานประกอบการต่าง ๆ ต้องใช้น้ำมาก จึงประชาสัมพันธ์ให้ใช้น้ำอย่างประหยัด ลดการทำนาปรังและปลูกพืชอายุสั้นน้อยลง

“เชียงใหม่-ลำพูน” รับหน้าแล้ง

นายจานุวัตร เลิศศิลป์เจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ กล่าวว่า ช่วง พ.ย.จึงจะทราบว่ามีปริมาณน้ำเพียงพอในช่วงฤดูแล้งหรือไม่ ซึ่งพื้นที่ประสบภัยแล้งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่บนภูเขา และเชิงเขาที่ระบบน้ำชลประทานเข้าไม่ถึง เช่น อ.ดอยเต่า อ.ดอยหล่อ อ.ฮอด อ.สะเมิง เป็นต้น

จากสถานการณ์ปริมาณน้ำที่มีอยู่ในปัจจุบันจะรองรับฤดูแล้งปี 2561-2562 ได้ โดยวางแผนจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับสภาพน้ำฝน เพื่อรับมือฤดูแล้งตามลำดับความสำคัญ คือ 1.น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค 2.น้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ 3.น้ำเพื่อการเกษตร 4.น้ำเพื่อการอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว

ลุ้นข้าวเปลือกมะลินาปี 8 ล.ตัน

นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย เปิดเผยว่า ผลผลิตข้าวเปลือกนาปี 2561/2562 ที่กำลังจะเริ่มเก็บเกี่ยวปลายเดือน ต.ค.นี้ คาดว่าจะใกล้เคียงกับปี 2560/2561 ปริมาณ 7-8 ล้านตันข้าวเปลือก บวกลบกว่านี้เล็กน้อย เพราะพื้นที่นาปีในภาคอีสานเหนือน้ำท่วมบางส่วน เช่น อีสานใต้ และบางส่วนประสบภัยแล้ง เช่น จ.ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด สุรินทร์

นายวิชัย ศรีนวกุล อุปนายกสมาคมโรงสีข้าวไทย และประธานชมรมโรงสีข้าวหอมมะลิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า การคาดการณ์ผลผลิตข้าวเปลือกหอมมะลินาปี ปี 2561/2562 จะชัดเจนในช่วงกลางเดือน ต.ค. เพราะจากการลงพื้นที่สำรวจพบว่าบางพื้นที่ได้รับน้ำจากพายุมังคุดก่อนหน้านี้ จึงมีผลผลิตดีประมาณ 3-4 ล้านตันข้าวเปลือก คิดเป็นสัดส่วน 50% ส่วนที่เหลือยังต้องรอประเมินอีกครั้งช่วง 15-20 ตุลาคมนี้ เพราะในบางพื้นที่ผลผลิตไม่ดี สภาพอากาศต่างกัน เช่น ในนครราชสีมาตอนกลาง-ล่าง ผลผลิตดี ส่วนตอนเหนือของจังหวัด อ.ประทาย ซึ่งมีพื้นที่ติดกับ อ.พุทไธสง และ อ.ชุมพวง ติดกับ จ.บุรีรัมย์ ผลผลิตไม่ดี

“วันที่ 25 ต.ค.นี้ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยจะลงพื้นที่สำรวจผลผลิตข้าวเปลือกนาปี ที่ จ.อุบลราชธานี เพื่อประเมินสถานการณ์อย่างละเอียดอีกครั้ง”

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2561

สรท.คงเป้าส่งออกปีนี้โต9% หวั่นน้ำมัน-บาทแข็ง-สงครามการค้าฉุด

เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2561 นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) แถลงข่าวแนวโน้มการส่งออก ที่อาคารลุมพินีทาวเวอร์ โดยระบุว่าการส่งออกเดือนสิงหาคม 2561 มีมูลค่า 22,794 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวต่อเนื่องในระดับสูงเป็นเดือนที่ 18 ที่ 6.7% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY)โดยเมื่อประเมินภาพรวมแล้วสรท.ได้คงเป้าส่งออกเติบโตทั้งปี 9%

โดยปัจจัยบวกสำคัญ ประกอบด้วย ตลาดศักยภาพขยายตัวอย่างมากในแถบเอเชีย อาเซียน อินเดีย รวมถึงตลาดศักยภาพตลาดรองอย่าง รัสเซีย และกลุ่ม CIS (Commonwealth of Independent States -12)

2.การขาดดุลการค้าในเดือนสิงหาคม กว่าห้าร้อยล้านเหรียญสหรัฐเกิดจากการนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบอย่างต่อเนื่อง เป็นสัญญาณการลงทุนของภาคการผลิตเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตและการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย 3.ดัชนีคาดการณ์ภาวะธุรกิจส่งออกในไตรมาส 4 อยู่ที่ระดับ 64.8 แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของผู้ส่งออกไทย 4.ผลกระทบเชิงบวกจากสถานการณ์สงครามการค้าและการปรับขึ้นภาษีรอบที่สามของสหรัฐ พบว่ามีรายการที่ส่งผลดีต่อสินค้าไทยในการส่งออกสินค้าทดแทนสินค้าจีนในตลาดสหรัฐฯ

5.กลุ่มประเทศอาเซียน อาจได้รับอานิสงส์จากการย้ายฐานการผลิตของบริษัทระดับ Global Supply Chain

ขณะที่ ความเสี่ยงที่อาจเป็นอุปสรรคสำคัญ ประกอบด้วย1.ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น จากการไหลกลับเข้ามาของเงินทุนต่างประเทศในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (Emerging Market) 2.ความยืดเยื้อของสงครามการค้าที่อาจส่งผลกระทบในระยะยาวต่อภาคการส่งออก และห่วงโซ่อุปทานได้ โดยเฉพาะมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ภายใต้กฎหมายการค้ามาตรา 201 และ 232

3. ปัญหามาตรการคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐ ทำให้ทิศทางราคาน้ำมันดิบปรับขึ้น ราคาน้ำมันดิบปิดตลาดปรับตัวสูงขึ้นกว่าร้อยละ 3 แตะระดับ 75 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตและต้นทุนการขนส่งสินค้าปรับสูงขึ้น กระทบต่อความสามารถในการบริโภคของอุปสงค์ภายในประเทศและผลกำไรของผู้ประกอบการในทางอ้อม

4. ราคาสินค้าเกษตรและประมงบางรายการ ที่ยังคงเผชิญสภาวะตกต่ำ โดยเฉพาะยางพารา (อุปทานล้นตลาด) กุ้งและน้ำตาล (จากการขาดแคลนวัตถุดิบ) มะพร้าว (ราคาตกต่ำจากอุปทานในตลาดที่เพิ่มขึ้น) และ 5.ปัญหาด้านโลจิสติกส์ อาทิ ปัญหาความแออัดภายในท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนโลจิสติกส์และกฎระเบียบที่ไม่เอื้ออำนวยความสะดวกในการส่งออก

“ข้อเสนอแนะที่สำคัญคือ ภาครัฐต้องกำกับดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ ให้ไม่แข็งค่าสูงกว่าคู่ค้าและคู่แข่งสำคัญ และควรติดตามมาตรการกีดกันทางการค้า ฯลฯ”นางสาวกัณญภัค กล่าว

จาก https://www.naewna.com วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ส่งออกปีหน้าท่าจะหนาว

น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยถึงแนวโน้มการส่งออกสินค้าไทยปี 62 ว่า เบื้องต้น สรท.ประเมินว่า มูลค่าการส่งออกจะเติบโต 5% ซึ่งขยายตัวชะลอลงจากปี 61 ที่คาดจะเติบโตได้ 9% เนื่องจากฐานการส่งออกปี 61 ใหญ่ขึ้น ดังนั้น หากมูลค่าการส่งออกปี 62 เติบโตได้ 5% ถือว่าเป็นการขยายตัวดีอยู่ แต่ตัวเลขดังกล่าวยังไม่รวมผลกระทบจากสงครามการค้า โดยหากไทยได้รับผลกระทบทางตรงจากการใช้มาตรการภาษีของสหรัฐฯ เช่น การประกาศใช้มาตรา 201 เพื่อใช้มาตรการโควตาภาษีกับสินค้าเครื่องซักผ้า และแผงโซลาร์เซลล์ไปแล้ว และการใช้มาตรา 232 ที่ขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมจากทั่วโลก และคาดว่าจะขึ้นภาษีนำเข้ายานยนต์และชิ้นส่วนอีกจากทั่วโลก

คาดว่าจะทำให้การส่งออกยานยนต์และชิ้นส่วนจากไทย ซึ่งอยู่ในห่วงโซ่การผลิต (ซัพพลายเชน) ให้กับการผลิตยานยนต์จากทั่วโลก ได้รับผลกระทบแน่นอน และอาจทำให้อัตราการส่งออกขยายตัวต่ำกว่า 5% ได้ ส่วนการส่งออกปี 61 สรท.ยังคงเป้าหมายเติบโตที่ระดับ 9% ซึ่งใกล้เคียงกับคาดการณ์ของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ประเมินการส่งออกปี 61 เติบโต 8-10% โดยหากต้องการให้มูลค่าส่งออกเติบโต 10% ในช่วง 4 เดือนที่เหลือปี 61 จะต้องส่งออกให้ได้เดือนละ 22,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ถ้าต่ำกว่านี้ ก็น่าจะโตประมาณ 9%

ด้านนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธาน สรท. กล่าวว่า สถานการณ์ส่งออกปี 62 น่ากังวลปัจจัยเสี่ยงที่เริ่มมีผลกระทบต่อการส่งออก โดยเฉพาะค่าเงินบาท ที่เริ่มกลับมาแข็งค่าขึ้นอีก โดยค่าเงินบาท ณ วันที่ 3 ต.ค.61 อยู่ที่ระดับ 32.34 บาท/เหรียญ แข็งค่าขึ้น 3.17% เทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา เพราะความผันผวนของตลาดเงินของประเทศเกิดใหม่ ในขณะที่ค่าเงินของประเทศต่างๆในอาเซียนอ่อนค่ากว่าไทย ซึ่งจะส่งผลให้ส่งออกไทยเสียเปรียบ.

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ศาสตร์พระราชา ร.9 ต้นแบบจัดการน้ำ สทนช.

 “...หลักสำคัญว่า ต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้เพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้...ถ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้า ไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้...”

พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อ 17 มี.ค. 2529 อันเป็นที่มาของบทสรุป “น้ำคือชีวิต” ด้วยพระองค์ทรงตระหนักดีว่าเนื้อแท้ของปัญหาความยากจน มีรากฐานจากน้ำเป็นสำคัญ ไม่ว่า การขาดแคลนน้ำ อุทกภัย น้ำไม่มีคุณภาพ

ไม่เพียงทรงเข้าใจปัญหา ทรงเข้าถึงทั้งพื้นที่และความรู้สึกนึกคิดของราษฎรอย่างถ่องแท้ การพัฒนาแหล่งน้ำเริ่มที่ปัญหาของราษฎร ทรงเสาะหาข้อมูลจากราษฎรเองเทียบเคียงกับข้อมูลจากส่วนราชการ และในการพัฒนาแหล่งน้ำแต่ละประเภท แต่ละขนาด ทรงพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ ขนาดของแหล่งน้ำต้องเหมาะสมกับความต้องการใช้ ไม่ใหญ่โตเกินความจำเป็น เพราะจะใช้งบประมาณมาก หรือเล็กเกินไปจะใช้งานไม่คุ้มค่า

ทรงใช้วิธีรับฟังความเห็นจากชาวบ้าน ฟังปัญหาความต้องการ จนตกผลึกเป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริกว่า 3,000 โครงการ โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อที่ดินทำกินของราษฎร รวมทั้งธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม...ไม่ต่างไปจากการจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ในยุคปัจจุบันแม้แต่น้อย

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบเรื่องน้ำของประเทศ กล่าวว่า รัฐบาลได้จัดตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เพื่อให้เป็นหน่วยงานระดับนโยบายด้านน้ำของประเทศ...ทิศทางการดำเนินงานนั้น รัฐบาลได้มอบนโยบายให้ สทนช.นำศาสตร์พระราชา พร้อมทั้งยึดโยง

กับแนวทางพระราชดำริ ในเรื่องการบูรณาการหน่วยงานแก้ปัญหาน้ำร่วมกันมาใช้ เหมือนกรณีการสร้างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ใช้เวลาแค่ 5 ปี (2537-2542) ก็แล้วเสร็จ

“การดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชดำริให้ทุกหน่วยงานบูรณาการการทำงานด้วยกัน แทนที่จะเป็นเพียงหน่วยงานเดียวอย่างที่เคยทำมา รวมทั้งยังให้ประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานอีกด้วย ทำให้ขับเคลื่อนงานได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ สามารถกักเก็บน้ำ และหน่วงน้ำช่วยลดปัญหาอุทกภัยท่วมกรุงเทพฯ ได้เป็นอย่างดีจนถึงทุกวันนี้” ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช.กล่าว

ภายใต้บริบทใหม่ของการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ การน้อมนำยึดเอาแนวทางพระราชดำริและศาสตร์พระราชามาเป็นแนวทางขับเคลื่อนนั้น จะทำให้การปฏิรูปทรัพยากรน้ำเกิดประโยชน์สูงสุด สามารถแก้ปัญหาน้ำให้กับประเทศชาติและประชาชนได้อย่างแท้จริง.

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2561

"กลุ่มน้ำตาลไทย" ผนึกพันธมิตร! ร้อง WTO "อินเดียผิดกฎ"

อุตสาหกรรมนํ้าตาลทรายไทยผนึกกลุ่ม GSA ร้อง WTO จี้! อินเดียยกเลิกการอุดหนุนการส่งออกนํ้าตาล ฉุดราคาน้ำตาลโลกตํ่าสุดในรอบ 10 ปี ออกโรงคัดค้านรัฐบาลอินเดียใช้มาตรการอุดหนุนการส่งออกนํ้าตาล หลังรัฐให้เงินช่วยเหลือกว่า 2 หมื่นล้านบาท ช่วยเพิ่มค่าอ้อยและชดเชยค่าขนส่งนํ้าตาลจากโรงงานไปยังท่าเรือ ส่งผลราคานํ้าตาลในตลาดโลกตํ่าสุดในรอบ 10 ปี

นายวิบูลย์ ผาณิตวงศ์ รองประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานนํ้าตาลทราย เปิดเผยว่า กลุ่มพันธมิตรเพื่อการปฎิรูปการค้านํ้าตาลโลก หรือ Global Sugar Alliance for Sugar Trade Reform and Liberalization (GSA) ซึ่งมีประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลทรายที่สําคัญของโลกร่วมเป็นสมาชิก อย่างเช่น บราซิล ออสเตรเลีย กัวเตมาลา โคลัมเบีย ชิลี แคนาดา และไทย ได้เรียกร้องให้รัฐบาลอินเดียยกเลิกมาตรการอุดหนุนการส่งออกน้ำตาลทราย จํานวน 5 ล้านตัน หลังจากภาครัฐบาลอินเดียอนุมัติงบกว่า 760 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ ประมาณ 22,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเพิ่มค่าอ้อยและชดเชยค่าขนส่งน้ำตาลจากโรงงานไปยังท่าเรือส่งออก ซึ่งขัด ข้อตกลง WTO และเป็ นการบิดเบือนตลาดนํ้ าตาลโลก สําหรับผลกระทบจากการอุดหนุนการส่งออกของอินเดียในครั้งนี้ มีผลให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกลดลง 36% ตํ่าสุดในรอบ 10 ปี และอยู่ในระดับตํ่ากว่าต้นทุนการผลิตของประเทศที่มีประสิทธิภาพการผลิตสูง เช่น บราซิล ออสเตรเลีย และไทย หากอินเดียไม่ดําเนินการยกเลิกมาตรการนี้ จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศผู้ผลิตน้ำตาลทั่วโลก

ดังนั้น ภาคอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยจึงได้ร่วมกบภาครัฐ โดยสํานักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เสนอต่อคณะผู้แทนถาวรไทยประจําองค์การการค้าโลก หรือ WTO เพื่อสอบถามและเรียกร้องให้อินเดียเลิกมาตรการอุดหนุนการส่งออกดังกล่าว และเห็นว่าประเทศผู้ผลิตน้ำตาลจําเป็นจะต้องร่วมมือยับยั้งมาตรการอุดหนุนใด ๆ ก็ตาม ที่บิดเบือนการค้าน้ำตาลโลก

"ในฐานะที่ไทยเป็นสมาชิกของ GSA จะร่วมกันเรียกร้องผ่านรัฐบาลของตนเอง เพื่อเรียกร้องผ่านกลไกระงับข้อพิพาทของ WTO ให้ประเทศอินเดียยกเลิกมาตรการอุดหนุนการส่งออกที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อราคาน้ำตาลในตลาดโลกเป็นอย่างมาก ดังนั้น เราจะต้องช่วยกันยับยั้งการบิดเบือนราคาน้ำตาลที่จะส่งผลต่อรายได้ของโรงงานและเกษตรกรชาวไร่อ้อยทั่วโลก" นายวิบูลย์ กล่าว

ด้าน นายภิรมย์ศักดิ์ สาสุนีย์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ค้าผลผลิตน้ำตาล จำกัด กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ปริมาณน้ำตาล ปี 2561/2562 อินเดียมีผลผลิตน้ำตาลได้มากถึง 32-35 ล้านตัน และมีความต้องการใช้น้ำตาลในประเทศอินเดียเพียง 25-26 ล้านตันน้ำตาล ดังนั้น จะมีปริมาณน้ำตาลส่วนเกินอยู่ราว 10 ล้านตัน ในจำนวนนี้ส่วนหนึ่งจะเก็บไว้เป็นสต็อกภายในประเทศและอีกราว 5 ล้านตันจะส่งออก โดยที่รัฐบาลอินเดียให้การอุดหนุนโดยให้เงินช่วยเหลือตันละไม่ต่ำกว่า 150 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน เพื่อเป็นการจูงใจให้ส่งออก

นอกจากนี้ การที่อินเดียมีมาตรการอุดหนุนดังกล่าว กำลังสร้างความปั่นป่วนให้กับราคาน้ำตาลในตลาดโลก ทำให้ราคาน้ำตาลร่วงลงมาต่ำสุดในรอบ 10 ปี โดยขณะนี้ราคาน้ำตาลซื้อขายล่วงหน้าเดือน มี.ค. 2562 ลงมาอยู่ที่ระดับ 10.80 เซ็นต์ต่อปอนด์ จากปัจจุบันราคาอยู่ที่ 12.2 เซ็นต์ต่อปอนด์

"สำหรับประเทศไทย ถึงแม้ผลผลิตจะเพิ่มขึ้น แต่เราก็แข่งขันกันด้วยราคาตลาดโลก และไม่ได้มีการอุดหนุนการส่งออกโดยรัฐบาล"

ปัจจุบัน สถานะการผลิตอ้อยและน้ำตาลในประเทศไทย ปี 2560/2561 มีปริมาณอ้อยจำนวน 134.9 ล้านตันอ้อย และมีปริมาณน้ำตาลอยู่ที่ 14.6-14.7 ล้านตันน้ำตาล ในจำนวนนี้คาดว่า ใช้ในประเทศในปีดังกล่าวทั้งสิ้นประมาณ 3 ล้านตันน้ำตาล และเป็นส่วนสต็อกน้ำตาลอีกราว 1 ล้านตันเศษ ที่เหลือคาดว่าจะส่งออกได้ราว 9-10 ล้านตันน้ำตาล

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2561

เพิ่มปฏิบัติการ‘ฝนหลวง’เติมน้ำ104เขื่อน กู้วิกฤติฝนทิ้งช่วง

นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รมช.เกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจติดตามผลการปฏิบัติการเติมน้ำในเขื่อนและสถานการณ์ฝนทิ้งช่วง โดยมีนายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร และเจ้าหน้าที่ให้การต้อนรับ ณ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงนครราชสีมา กองบิน 1 อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา

นายวิวัฒน์ กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์การขาดแคลนน้ำจากภาวะฝนทิ้งช่วงในพื้นที่การเกษตรนอกเขตชลประทานเริ่มได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง อีกทั้งได้รับแจ้งจากเกษตรกรและอาสาสมัครฝนหลวงที่มีการร้องขอฝนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตระหนักถึงผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว รวมถึงมีความห่วงใยพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อน จึงได้มอบแนวทางการดำเนินงานเติมน้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบ โดยกำชับให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรเร่งปฏิบัติการเติมน้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่างๆ ให้ได้มากที่สุด และทำฝนเพื่อหล่อเลี้ยงพื้นที่การเกษตรที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ พร้อมทั้งให้กำลังใจแก่เจ้าหน้าที่กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ทั้งนักวิทยาศาสตร์ นักบินฝนหลวง และเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ ให้ปฏิบัติหน้าที่ในทุกภารกิจด้วยความตั้งใจอย่างเต็มความสามารถ

ด้านนายสุรสีห์ กล่าวว่า ตั้งแต่เริ่มตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง เมื่อวันที่ 1 มีนาคม – 2 ตุลาคม 2561 ได้ขึ้นปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 202 วัน มีวันฝนตกจากการปฏิบัติการฝนหลวงคิดเป็นร้อยละ 95.24 ขึ้นปฏิบัติงานจำนวน 3,816 เที่ยวบิน (5,613:50 ชั่วโมงบิน) ปริมาณการใช้สารฝนหลวง 3,211.43 ตัน พลุซิลเวอร์ไอโอไดด์สำหรับภารกิจปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 1,809 นัด พลุแคลเซียมคลอไรด์สำหรับภารกิจปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 74 นัด จังหวัดที่มีรายงานฝนตกรวม 58 จังหวัด

สำหรับปฏิบัติการเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำกักเก็บให้กับพื้นที่ลุ่มรับน้ำต่างๆ ขณะนี้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้จัดทำแผนการคาดการณ์ปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อน/อ่างเก็บน้ำจากการปฏิบัติการฝนหลวง ในช่วงระหว่างวันที่ 20 กันยายน - 31 ตุลาคม 2561 เพื่อช่วยเหลือพื้นที่ขาดแคลนน้ำและเพิ่มปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่างๆ จำนวน 15 แห่ง ได้แก่ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา อ่างเก็บน้ำแม่มอก อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำลาด อ่างเก็บน้ำคลองโพธิ์ อ่างเก็บน้ำทับเสลา เขื่อนกระเสียว เขื่อนห้วยหลวง เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนลำนางรอง เขื่อนลำแซะ เขื่อนลำมูลบน เขื่อนลำปลายมาศ เขื่อนลำพระเพลิง อ่างเก็บน้ำห้วยยาง และอ่างเก็บน้ำห้วยตะเคียน โดยมีเป้าหมายเพิ่มปริมาณน้ำทั้งสิ้น 150 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้ จากการปฏิบัติการเพื่อเติมน้ำในเขื่อน/อ่างเก็บน้ำ ระหว่างวันที่ 20 กันยายน – 2 ตุลาคม 2561 สามารถเพิ่มปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อน/อ่างเก็บน้ำต่างๆ แล้ว รวมทั้งสิ้น 57.571 ล้าน ลบ.ม.

นายสุรสีห์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ล่าสุดกรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้รับการประสานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำให้กับเขื่อน/อ่างเก็บน้ำต่างๆ ในหลายพื้นที่ จากพื้นที่เป้าหมายเดิมจำนวน 15 แห่ง เป็นจำนวน 104 แห่งทั่วประเทศ จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ ปรับแผนการปฏิบัติการฝนหลวง โดยยังคงให้หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงทั้ง 9 หน่วย ประกอบด้วย หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดเชียงใหม่ พิษณุโลก กาญจนบุรี ลพบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น อุบลราชธานี สุรินทร์ และสระแก้ว ตั้งหน่วยเพื่อเตรียมความพร้อมติดตามสถานการณ์และสภาพอากาศอย่างใกล้ชิดทุกวัน เพื่อติดตามความต้องการน้ำและดูแลพื้นที่การเกษตรทั้ง 4 ภาคที่ยังได้รับปริมาณน้ำไม่เพียงพอ รวมทั้งเพิ่มปริมาณน้ำกักเก็บให้กับเขื่อน/อ่างเก็บน้ำต่างๆ ที่ยังมีปริมาณน้ำน้อย

ทั้งนี้ จากการปฏิบัติการเพื่อเติมน้ำในอ่างเก็บน้ำ ระหว่างวันที่ 20 กันยายน – 2 ตุลาคม 2561 สามารถปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำต่างๆ แบ่งเป็น อ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่าร้อยละ 30 เทียบกับระดับน้ำเก็บกักของอ่าง จำนวน 11 แห่ง รวมทั้งสิ้น 2.537 ล้าน ลบ.ม. และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 30-60 เทียบกับระดับน้ำเก็บกักของอ่าง จำนวน 23 แห่ง รวมทั้งสิ้น 4.500 ล้าน ลบ.ม.

จาก https://www.naewna.com  วันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ใช้ 2 แนวทางช่วย “อ้อย” ขั้นต้น กู้กองทุน/งบรัฐ-ราคาน้ำตาลตกหนัก

ชาวไร่อ้อยถก “อุตตม” ขอ 2 แนวทางช่วยเหลืออ้อยขั้นต้นต่ำกว่า 700 บาท/ตัน ด้วยการของบฯกลาง 6,500 ล้านบาท หรือดึงเงินกองทุนอ้อยเข้ามาช่วย แต่ต้องไม่ขัดกับข้อตกลง WTO เหตุ “บราซิล” จ้องรัฐบาลไทยอุดหนุนจนบิดเบือนราคาน้ำตาล

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานเข้ามาว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมากลุ่มชาวไร่อ้อยได้เข้าพบนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อหารือถึงแนวทางและวิธีการช่วยเหลือหลังจากที่มีการคำนวณราคาค่าอ้อยขั้นต้นปีการผลิต 2561/2562 เบื้องต้นเฉลี่ยอยู่แค่ 680 บาท/ตัน หรือ”ต่ำกว่า” ปีการผลิตที่ผ่านมามาก โดยที่ประชุมได้สรุปแผนการช่วยเหลือในเบื้องต้นไว้ 2 แนวทาง คือ

1) เงินส่วนต่างที่เก็บเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (ประมาน 5 บาท/กก.) หลังลอยตัวราคาน้ำตาลเข้าระบบตั้งแต่เดือนมกราคม 2561 ขณะนี้มีอยู่ประมาณ 7,000-8,000 ล้านบาทนั้นสามารถนำเงินกองทุนส่วนนี้ไปช่วยเหลือให้ชาวไร่อ้อยได้ แต่แนวทางนี้จะต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบเพื่อเห็นชอบและต้องพิจารณาว่า การนำเงินจากกองทุนอ้อยฯเข้าไป “อุดหนุน” ราคาอ้อยขั้นต้นนั้น “จะขัดต่อความตกลงในองค์การการค้าโลก “WTO หรือไม่” แต่ทั้งนี้กองทุนอ้อยฯยังมีหนี้ที่ทำการกู้ยืมมาเพื่อจ่ายค่าอ้อยให้กับชาวไร่อ้อยก่อนหน้านี้ ดังนั้น เงินที่เก็บเข้ากองทุนอ้อยฯอาจต้องนำมาชำระหนี้ที่มีอยู่ก่อนและให้ชาวไร่อ้อยรอการชดเชยราคาอ้อยในปีการผลิตถัดไป

2) ให้ของบประมาณกลางปี 2562 ที่เป็น “งบฯฉุกเฉิน” จากรัฐบาล โดยคาดว่าอาจจะต้องใช้เงินจำนวนถึง 6,500 ล้านบาทเพื่อมาจ่ายชดเชยในส่วนของปัจจัยการผลิต อาทิ ค่าปุ๋ย-ค่าน้ำมัน ตามที่ชาวไร่อ้อยร้องขอ แต่จะกำหนดเพดานวงเงินไว้ว่าจะต้องไม่เกินเท่าไรเพราะบางรายมีอ้อยหลายล้านตัน จึงหวั่นว่าถ้าไม่มีการกำหนดเพดานชาวไร่อ้อยแต่ละรายอาจจะได้รับเงินช่วยเหลือไม่สมดุลกัน

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนที่จะถึงนี้ บราซิลซึ่งฟ้องประเทศไทยมีการอุดหนุนราคาอ้อย+น้ำตาลจนเกิดการบิดเบือนราคาน้ำตาลในตลาดโลกนั้น ได้เตรียมเดินทางมายังประเทศไทยเพื่อติดตามว่ามาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลไทยเคยรับปากว่าจะยกเลิกการอุดหนุนนั้น รัฐบาลไทยได้ดำเนินการหรือยัง และ “เพียงพอ” ที่จะให้รัฐบาลบราซิลยุติการฟ้องไทยใน WTO หรือไม่

ด้านนายวีระศักดิ์ ขวัญเมืองผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวว่า ภายหลังจากที่กลุ่มชาวไร่อ้อยได้เข้าพบนายอุตตมแล้วว่า ในการหารือที่ประชุมได้เสนอแนวทางไว้หลายแนวทาง เช่น 1) ชาวไร่อ้อยได้เสนอให้กองทุนอ้อยฯกู้เงินเพื่อนำมาช่วยเหลือ 2) ให้รัฐบาลนำงบประมาณกลางที่มีอยู่มาช่วยในส่วนของ “ปัจจัยการผลิต” ซึ่งแนวทางนี้สามารถทำได้ แต่ข้อกำหนดขององค์การการค้าโลก (WTO) ระบุไว้ว่า รัฐบาลสามารถนำงบประมาณช่วยสินค้าเกษตรได้ในอัตรา 5-10% ของมูลค่าสินค้าเกษตรนั้น ๆ ในส่วนของปัจจัยการผลิต เช่น ค่าปุ๋ย ค่าน้ำมัน ค่ายาฆ่าแมลง รวมถึงค่าแรงงาน หากรัฐช่วยเกินกว่า 10% จะถือว่าขัดต่อข้อตกลง WTO ทันที 3) ให้นำเงินจากการเก็บเงินส่วนต่างที่เข้ากองทุนอ้อยฯมาช่วย ซึ่งปัจจุบันเงินส่วนต่างดังกล่าวเก็บเข้ากองทุนมาตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2560 สิ้นสุดเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2561 มีจำนวนประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่งเงินส่วนนี้จะนำไปจ่าย “ชดเชย” ได้เฉพาะปีการผลิตเก่าของปี 2560/2561 เท่านั้น ขณะที่เงินส่วนต่างเข้ากองทุนที่จะใช้ในปีการผลิต 2561/2562 เพิ่งเริ่มเก็บเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา ดังนั้น ในตอนนี้จึงยัง “ไม่มีเงินกองทุน” เข้ามาที่จะนำไปช่วยเหลือชาวไร่อ้อย

“กองทุนอ้อยฯคือเงินของชาวไร่สามารถนำออกมาใช้เพื่อช่วยพวกเขาได้ แต่ที่เก็บมาของเก่ามันถูกใช้ไปชดเชยได้เฉพาะของปีการผลิต 2560/61 ส่วนของใหม่เพิ่งเริ่มเก็บคงต้องรอไปจนถึงปีหน้าจนกว่าจะประกาศราคาอ้อยขั้นสุดท้ายแล้วมาคำนวณกันถึงจะรู้ว่า”

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) กล่าวว่า ในฤดูการผลิตปี 2561/62 จะมีโรงงานน้ำตาลทรายเกิดใหม่เพิ่มขึ้นอีก 3 แห่ง จากเดิมมี 54 แห่ง จึงจะมีการประชุม workshop เตรียมความพร้อมในการเปิดหีบอ้อยในระหว่างวันที่ 5-6 ตุลาคม เพื่อติดตามสถานการณ์อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยหลังปรับโครงสร้างจากการลอยตัวราคาน้ำตาลทราย โดยผลผลิตอ้อยปีนี้น่าจะอยู่ที่ 120-125 ล้านตันอ้อยราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกอยู่ในภาวะตกต่ำจากเดิม 16-20 เซนต์/ปอนด์ได้ลดลงเหลือ 10-11 เซนต์/ปอนด์ ขณะที่เงินบาทแข็งค่าอยู่ในระดับ 32.60 บาท ดังนั้น จึงมีผลต่อการคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นปี 2561/62 ที่คาดว่า “จะต่ำกว่า 700 บาท/ตันแน่นอน”

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ไฟเขียว พ.ร.บ.น้ำ พ.ศ….สนช.มีมติเอกฉันท์รับร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ 191 เสียง

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ในฐานะรองเลขานุการคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ…. เข้าร่วมการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยมีศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติแห่งชาติ เป็นประธานในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.…. ณ ห้องประชุม อาคาร 1 รัฐสภา ซึ่งการประชุมครั้งนี้เป็นการพิจารณาต่อจากการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นพิเศษ เมื่อวันที่ 28 กันยายน ที่ผ่านมา หลังพิจารณาวาระ 2 โดยให้คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ รับไปแก้ปรับปรุงให้เกิดความสมบูรณ์ก่อนลงมติในวาระ 3 ต่อไป

โดยในวันนี้ (4 ต.ค.61) วาระ 3 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ประกาศใ้ช้ร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. … เป็นกฏหมายได้ ด้วยคะแนน 191 เสียง ไม่เห็นด้วย 2 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง จากจำนวนผู้เข้าประชุมจำนวน 199 คน ทั้งนี้ เมื่อกฏหมายฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้เรียบร้อยแล้ว จะถือเป็นกฎหมายเพื่อสร้างเอกภาพในการบริหารจัดการน้ำฉบับแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศไทยด้วย

สำหรับกฎหมายฉบับนี้ นับเป็นกฎหมายที่ทำให้เกิดการปฏิรูปด้านทรัพยากรธรรมชาติอย่างแท้จริง และเป็นหนึ่งในสามเสาหลักสำคัญที่ช่วยสร้างรากฐานในการบริหารจัดการน้ำให้มีเอกภาพและครอบคลุมน้ำทั้งระบบ ซึ่งปัจจุบันเรามีเสาหลักด้านองค์กรกลางที่มีเอกภาพ และมีเสาหลักด้านแผนยุทธศาสตร์น้ำที่อยู่ระหว่างทบทวนให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

ในโอกาสนี้ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้มอบดอกไม้เป็นที่ระลึกและแสดงความขอบคุณพลเอก อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ… ที่ได้ทำงานร่วมกันในการพิจารณาทบทวน ปรับปรุง ร่างกฏหมายดังกล่าวถึง 1 ปี 7 เดือน เพื่อให้เกิดความรอบคอบ เป็นธรรมแก่ประชาชน ส่งเสริมให้เกิดการบริหารจัดการน้ำที่มีเอกภาพอีกด้วย

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ไทยร้องWTOช่วยบีบอินเดีย เลิกอุดหนุนส่งออก-ชี้น้ำตาลต่ำสุดรอบ10ปี

นายวิบูลย์ ผาณิตวงศ์ รองประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า กลุ่มพันธมิตรเพื่อการปฏิรูปการค้าน้ำตาลโลก หรือ Global Sugar Alliance for Sugar Trade Reform and Liberalization (GSA) ซึ่งมีประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลทรายที่สำคัญของโลกร่วมเป็นสมาชิก อย่างเช่น บราซิล ออสเตรเลีย กัวเตมาลา โคลอมเบีย ซิลี แคนาดา และไทย ได้เรียกร้องให้รัฐบาลอินเดียยกเลิกมาตรการอุดหนุนการส่งออกน้ำตาลทราย จำนวน 5 ล้านตัน หลังจากภาครัฐบาลอินเดียอนุมัติงบกว่า 760 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 22,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเพิ่มค่าอ้อย และชดเชยค่าขนส่งน้ำตาลจากโรงงานไปยังท่าเรือส่งออก ซึ่งขัดข้อตกลงองค์การการค้าโลก (WTO) และเป็นการบิดเบือนตลาดน้ำตาลโลก

สำหรับผลกระทบจากการอุดหนุนการส่งออกของอินเดียในครั้งนี้ มีผลให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกลดลง 36% ต่ำสุดในรอบ 10 ปี และอยู่ในระดับต่ำกว่าต้นทุนการผลิตของประเทศที่มีประสิทธิภาพการผลิตสูง เช่น บราซิล ออสเตรเลีย และไทย หากอินเดียไม่ดำเนินการยกเลิกมาตรการนี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศผู้ผลิตน้ำตาลทั่วโลก

ดังนั้น ภาคอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย จึงได้ร่วมกับภาครัฐ (สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย หรือ กอน.) เสนอต่อคณะผู้แทนถาวรไทยประจำ WTO เพื่อสอบถาม และเรียกร้องให้อินเดียเลิกมาตรการอุดหนุนการส่งออกดังกล่าว และเห็นว่า ประเทศผู้ผลิตน้ำตาลจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกันยับยั้งมาตรการอุดหนุนใดๆ ก็ตามที่บิดเบือนการค้าน้ำตาลโลก

“ในฐานะที่ไทยเป็นสมาชิกของ GSA จะร่วมกันเรียกร้องผ่านรัฐบาลของประเทศตนเอง เพื่อเรียกร้องผ่านกลไกระงับข้อพิพาทของ WTO ให้ประเทศอินเดียยกเลิกมาตรการอุดหนุนการส่งออกที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อราคาน้ำตาลในตลาดโลกเป็นอย่างมาก ดังนั้น เราจะต้องช่วยกันยับยั้งการบิดเบือนราคาน้ำตาลที่จะส่งผลต่อรายได้ของโรงงานและเกษตรกรชาวไร่อ้อยทั่วโลก” นายวิบูลย์ กล่าว

จาก https://www.naewna.com วันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2561

เงินบาทเปิดตลาดที่ 32.52 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

ธนาคารกรุงไทย ระบุ เงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เปิดตลาดเช้าวันนี้ (4 ต.ค.) ที่ระดับ 32.52 บาท แข็งค่าขึ้นจาก 32.38 บาท ในช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อน โดยตลาดการเงินโลกกลับมาคึกคักมาก (Risk On) หลังจากที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ย้ำสัญญาณการขยายตัวที่แข็งแกร่งในทุกภาคธุรกิจ อาทิ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อนอกภาคการผลิต ปรับตัวขึ้นแตะระดับ 61.6 จุด สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2540 พร้อมกับตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชน ที่ขยายตัวถึง 2.31 แสนตำแหน่ง จากที่ประเมินไว้เพียง 1.81 แสนตำแหน่ง

ทั้งนี้ ภาพเศรษฐกิจที่ร้อนแรงดังกล่าว ส่งผลให้บอนด์ยิลด์สหรัฐฯ ระยะยาวทั้งอายุ 10 ปี และ 30 ปี ปรับตัวขึ้นแรงที่สุดในปีนี้ โดยยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ สูงขึ้นที่ระดับ 3.18% (11bp) ขณะที่ ยิลด์ 30 ปี ที่ 3.34% ในปัจจุบัน เป็นจุดสูงที่สุดในรอบ 4 ปี ในอนาคตความร้อนแรงของเศรษฐกิจจะเริ่มส่งผลบวกกลับมาสู่เศรษฐกิจโลก เพราะเรื่องเงินเฟ้อที่สูงจากภาษีนำเข้าในสหรัฐฯ จะได้รับการควบคุมด้วยดอกเบี้ยนโยบาย เมื่อดอลลาร์ไม่อ่อนค่า เศรษฐกิจก็จะยังคงมีแนวโน้มเป็นบวก

สำหรับมุมมองค่าเงินบาท ในระยะสั้นถูกดันขึ้นจากแนวโน้มดอลลาร์แข็ง แต่ในวันนี้เชื่อว่า จะมีแรงขายจากผู้ส่งออกกลับมากดให้เงินบาทอ่อนค่าได้ไม่มาก มองกรอบค่าเงินดอลลาร์วันนี้ที่ระดับ 32.47- 32.57 บาท

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2561

อุตฯน้ำตาลทรายไทย ผนึกกลุ่ม GSA ร้อง WTO จี้อินเดียเลิกอุดหนุนส่งออกน้ำตาล ฉุดราคาน้ำตาลโลกต่ำสุดในรอบ 10 ปี

อุตสาหกรรมน้ำตาลทรายไทย จับมือ GSA ออกโรงคัดค้านรัฐบาลอินเดีย ใช้มาตรการอุดดหนุนการส่งออกน้ำตาล หลังรัฐให้เงินช่วยเหลือ 760 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ช่วยเพิ่มค่าอ้อยและชดเชยค่าขนส่งน้ำตาลจากโรงงานไปยังท่าเรือ ส่งผลฉุดราคาน้ำตาลในตลาดโลกต่ำสุดในรอบ 10 ปี

นายวิบูลย์ ผาณิตวงศ์ รองประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า กลุ่มพันธมิตรเพื่อการปฎิรูปการค้าน้ำตาลโลก หรือ Global Sugar Alliance for Sugar Trade Reform and Liberalization (GSA) ซึ่งมีประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลทรายที่สำคัญของโลกร่วมเป็นสมาชิก อย่างเช่น บราซิล ออสเตรเลีย กัวเตมาลา โคลัมเบีย ซิลี แคนาดา และไทย

ได้เรียกร้องให้รัฐบาลอินเดียยกเลิกมาตรการอุดหนุนการส่งออกน้ำตาลทราย จำนวน 5 ล้านตัน หลังจากภาครัฐบาลอินเดียอนุมัติงบกว่า 760 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 22,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเพิ่มค่าอ้อยและชดเชยค่าขนส่งน้ำตาลจากโรงงานไปยังท่าเรือส่งออก ซึ่งขัดข้อตกลง WTO และเป็นการบิดเบือนตลาดน้ำตาลโลก

สำหรับผลกระทบจากการอุดหนุนการส่งออกของอินเดียในครั้งนี้ มีผลให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกลดลง 36% ต่ำสุดในรอบ 10 ปี และอยู่ในระดับต่ำกว่าต้นทุนการผลิตของประเทศที่มีประสิทธิภาพการผลิตสูง เช่น บราซิล ออสเตรเลีย และไทย

หาก “อินเดีย” ไม่ดำเนินการยกเลิกมาตรการนี้ จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม ของประเทศผู้ผลิตน้ำตาลทั่วโลก ดังนั้น ภาคอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย จึงได้ร่วมกับภาครัฐ (สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย) เสนอต่อคณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก หรือ WTO เพื่อสอบถามและเรียกร้องให้อินเดียเลิกมาตรการอุดหนุนการส่งออกดังกล่าว และเห็นว่า ประเทศผู้ผลิตน้ำตาลจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกันยับยั้งมาตรการอุดหนุนใดๆ ก็ตามที่บิดเบือนการค้าน้ำตาลโลก

“ในฐานะที่ไทยเป็นสมาชิกของ GSA จะร่วมกันเรียกร้องผ่านรัฐบาลของตนเอง เพื่อเรียกร้องผ่านกลไกระงับข้อพิพาทของ WTO ให้ประเทศอินเดียยกเลิกมาตรการอุดหนุนการส่งออกที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อราคาน้ำตาลในตลาดโลกเป็นอย่างมาก ดังนั้น เราจะต้องช่วยกันยั่บยั้งการบิดเบือนราคาน้ำตาลที่จะส่งผลต่อรายได้ของโรงงานและเกษตรกรชาวไร่อ้อยทั่วโลก” นายวิบูลย์ กล่าว

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2561

พลังงานหวั่นราคาน้ำโลกพุ่ง100เหรียญ

 "ศิริ" หวั่นราคาน้ำมันโลกขยับถึง 90-100 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล จนตรึงราคาดีเซลไม่ไหว ต้องขยับเกิน 30 บาทต่อลิตร  ขณะที่กองทุนน้ำมันใช้เงินอุดหนุน 60 สตางต์ต่อลิตร  

 นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานกำลังติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิด เนื่องจากราคาน้ำมันดิบโลกขยับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยหากราคาน้ำมันดิบโลกดูไบขยับไปถึง 90-100 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลในระยะสั้นซึ่งกระทรวงพลังงานจะต้องกลับมาพิจารณามาตรการใหม่ที่เหมาะสม ซึ่งอาจขยับราคาน้ำมันดีเซลเกิน 30 บาทต่อลิตรก็เป็นได้ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของสถานการณ์ปัจจุบัน

 ทั้งนี้เมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2561 ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบดูไบระหว่างการซื้อขายขยับไปใกล้ 85 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และมาปิดที่ราคา 82.80 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล โดยปรับขึ้นจากวันที่ 1 ต.ค. 2561 ประมาณ 2.14 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในไทยยังอยู่ที่ 29.89 บาทต่อลิตร

 กระทรวงพลังงานยืนยันยังมีเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเหลือประมาณ  26,000 ล้านบาท สามารถดูแลราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ไปจนถึงสิ้นปี 2561 หรืออาจถึง 2 เดือนแรกของปี 2562 โดยที่ผ่านมาคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) กำหนดวงเงินอุดหนุนราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร โดยอุดหนุนในกรอบไม่เกิน 1 บาทต่อลิตร หรือ 6,000 ล้านบาทจนถึงสิ้นปี 2561 ภายใต้ราคาน้ำมันดิบดูไบต้องไม่เกิน 85 เหรียญสหรัฐฯต่อบารต์เรล 

 โดยปัจจุบันใช้เงินอุดหนุนแล้ว 60 สตางค์ต่อลิตร และกำลังพิจารณาว่าจะต้องใช้เงินในกรอบดังกล่าวอุดหนุนเพิ่มอีกหรือไม่ เนื่องจากปัจจุบันผู้ค้าน้ำมันได้ช่วยพยุงราคาดีเซลจนทำให้ค่าการตลาดลดต่ำเหลือ 1.12 บาทต่อลิตร จากที่ควรได้ 1.70 บาทต่อลิตร ซึ่งอาจจะใช้เงินกองทุนฯไปช่วยพยุงไม่ให้ค่าการตลาดต่ำเกินไป แต่ไม่ให้ราคาดีเซลเกิน 30 บาทต่อลิตร  โดยเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2561 กองทุนน้ำมันฯ เหลือเงินสุทธิ 25,142 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมัน 29,212 และบัญชีLPG ติดลบ 4,071 ล้านบาท

จาก www.banmuang.co.th  วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2561

WTO เผย “เทคโนโลยี-นวัตกรรม” ดันการค้าโลกไปจนถึงปี 2030

รอยเตอร์สรายงานว่า หัวหน้าองค์การการค้าโลก (WTO) กล่าวในรายงานเมื่อวันพุธที่ผ่านมาว่า เทคโนโลยีเเละนวัตกรรมจะเพิ่มการค้าโลกขึ้นเป็น 1.8-2.0 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ไปจนถึงปี 2030

นาย Roberto Azevedo กล่าวในคำกล่าวของ WTO World Trade Report 2018 ว่า “เเม้ว่าจะมีความตึงเครียดในเรื่องสงครามการค้าที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เเต่เราคาดการณ์ว่าการค้าจะเติบโตขึ้นปีละ 1.8 ถึง 2.0 เปอร์เซ็นต์ จนถึงปี 2030 เนื่องจากค่าใช้จ่ายทางการค้าที่ลดลง โดยมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 31 ถึง 34 เปอร์เซ็นต์ในรอบ 15 ปี”

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ก.อุตฯ จับมือยูนิโดนำร่องเศรษฐกิจหมุนเวียนในอีอีซี

ก.อุตฯ จับมือยูนิโดขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว และเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนนำร่องในพื้นที่อีอีซี

กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูนิโด และ UNESCAP จัดการประชุมนานาชาติ เรื่อง อุตสาหกรรมสีเขียวเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Green Industry Conference) ครั้งที่ 5 ระหว่างวันที่ 3 – 5 ตุลาคม 2561 ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ โดยมีรัฐมนตรีจาก 7 ประเทศ ผู้บริหารระดับสูง นักวิชาการภาคอุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อมกว่า 500 คน เข้าร่วมการประชุม

ภายในงานยังมีพิธีการลงนามความร่วมมือระหว่างสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) โดยนายสุพันธ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และยูนิโด เพื่อส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมด้านต่าง ๆ อาทิ นวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco-innovation) การพัฒนาอุตสาหกรรมไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ การส่งเสริมเอสเอ็มอีภาคอุตสาหกรรม และการเชื่อมโยงธุรกิจ เป็นต้น

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสีเขียวที่กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการ รวมทั้งหารือกับนายลี ยง ผู้อำนวยการใหญ่ ยูนิโด โดยขอให้เข้าร่วมสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy เพราะยูนิโดมีองค์ความรู้ในการพัฒนา ซึ่งสอดรับกับแนวทางการพัฒนา Smart City ของรัฐบาล และจะนำร่องการพัฒนาในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นลำดับแรก ซึ่งทางยูนิโดมีการหารือเบื้องต้นกับสำนักงานอีอีซีแล้ว พร้อมทั้งกำหนดเป้าหมายการพัฒนาด้านต่าง ๆ อาทิ การคมนาคมขนส่ง การบริหารจัดการของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม การจัดการขยะและน้ำเสียจากชุมชน และการบริหารจัดการพลังงานในชุมชนเมือง

นอกจากนี้ ยังแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสีเขียวที่กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ที่มีโรงงานอุตสาหกรรมกว่า 34,000 โรงเข้าร่วมโครงการ และโครงการ Eco-Industrial Town ที่มีนิคมอุตสาหกรรม 21 แห่งเข้าร่วมและมีโครงการได้รับการรับรองเป็น Eco-Champion แล้ว

ประเด็นหารือยังรวมถึงการพัฒนาโรงงาน 4.0 ซึ่งจะเป็นกรอบแนวทางในการยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียว เพื่อส่งเสริมการเพิ่มผลิตภาพและการใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่กระทรวงอุตสาหกรรมจะร่วมมือกับภาคเอกชน โดยเฉพาะ ส.อ.ท.ผลักดันให้โรงงานอุตสาหกรรมปรับเปลี่ยนสู่การเป็นผู้ปกปักรักษาสิ่งแวดล้อมที่ดี ไม่ใช่ผู้ที่ทำลายหรือก่อมลพิษให้สังคม

หารือถึงการส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้พร้อมเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งเป็นทิศทางการพัฒนาที่ทั่วโลกเห็นพ้องต้องกัน โดยโอกาสนี้นายลี ยง ได้เดินทางไปเยี่ยมชมศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 หรือ ITC ของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่เป็นกลไกในการพัฒนาเอสเอ็มอีเข้าสู่ยุค 4.0  และในฐานะที่ประเทศไทยจะดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนในปีหน้า จึงมีแผนที่จะร่วมมือกับยูนิโดยกระดับเอสเอ็มอีของอาเซียนเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยการจัดประชุมระดับภูมิภาค Symposium on ASEAN SME 4.0 เป็นครั้งแรกในไทยด้วย

ด้านผู้อำนวยการใหญ่ยูนิโด กล่าวว่า  ยูนิโดยินดีที่จะสนับสนุนการอุตสาหกรรมสีเขียวรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ รวมทั้งรัฐบาลไทยในการพัฒนายุทธศาสตร์เศรษฐกิจหมุนเวียนด้วย

จาก https://www.tnamcot.com วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2561

จี้ กรมชลฯ-ฝนหลวง ปรับแผนสร้างการรับรู้ ปชช. มีน้ำใช้หน้าแล้งเท่าไหร่!! 

“กฤษฏา” สอนงาน กรมชลประทาน และกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จี้ปรับวิธีใหม่ ให้ประชาชนรู้ข้อเท็จจริงแล้งนี้มีน้ำกินใช้ ทำเกษตร ถึงเมื่อไหร่ พื้นที่ใดเสี่ยง ย้ำฝนหลวง 9 ศูนย์ ขึ้นทำฝนกี่เที่ยว ตกพื้นที่ไหน ได้น้ำเท่าไหร่ ต้องรายงาน

วันนี้ (3 ต.ค.61) นายกฤษฏา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการวางแผนจัดสรรน้ำรับมือฤดูแล้งนี้ ว่าสั่งให้กรมชลประทาน กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ปรับระบบวิธีใหม่การรายงานสถานการณ์น้ำให้กับประชาชน ได้รับทราบข้อเท็จจริงถึงผลกระทบในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ไม่ใช่มีแต่การรายงานสถานการณ์น้ำในเขื่อนในอ่างต่างๆอย่างเช่นทุกวันนี้ ยกตัวอย่างเช่นพื้นที่ภาคเหนือ ให้กรมชลประทานไปดูมีแหล่งน้ำธรรมชาติกี่แห่งมีปริมาณน้ำเท่าไหร่ และในแหล่งกักเก็บน้ำจากการก่อสร้าง ในปัจจุบันเหลือปริมาณน้ำเท่าไหร่ หากเกิดภาวะแห้งแล้ง จะเพียงพอหรือไม่พร้อมมาตรการแก้ไข โดยแยกเป็น 3 น้ำ คือ อุปโภค-บริโภค รักษาระบบนิเวศ การเกษตร ซึ่งการรายงานว่าน้ำในเขื่อนเหลือเท่าไหร่ยังรับน้ำได้อีก ไม่ต้องรายงานเพราะประชาชนอยากรู้ว่าจะมีน้ำพอใช้กี่เดือนและถึงเมื่อไหร่ เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้ตระหนักและประหยัดการใช้น้ำไปด้วย นอกจากนี้การทำฝนหลวงซึ่งมีศูนย์ฝนหลวง 9 หน่วยทั่วประเทศ ให้รายงานด้วยว่าในทุกสัปดาห์ ขึ้นทำฝนกี่ครั้ง และปริมาณฝนจากการทำฝนหลวง ทำให้มีฝนตกเท่าไหร่พื้นที่ไหน

“ยอมรับว่าภาคเอกชนมีความกังวลเรื่องปริมาณน้ำเขื่อนมีพอใช้ตลอดฤดูแล้งหรือไม่ ทั้งนี้ฤดูฝนที่ผ่านมาไปตกในส่วนขอบด้านซ้าย-ขวา ของประเทศ แนวแม่น้ำโขงและแถบเทือกเขาตะนาวศรี ส่วนกลางประเทศ มีฝนไม่มาก อย่างไรก็ตามผมมั่นใจว่าระบบการจัดการน้ำ การคาดการณ์ที่แม่นยำ มีน้ำเพียงพอ อุปโภค -บริโภคในหน้าแล้งนี้ ส่วนน้ำภาคเกษตร จะลดพื้นที่นาปรังลง2 ล้านไร่ ปลูกพืชอื่นจะประหยัดน้ำได้ถึง 3เท่า”นายกฤษฏา กล่าว

จาก https://siamrath.co.th  วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2561

พ.ร.บ.ใหม่นิยาม “อ้อย”พืชพลังงาน

ครม.ไฟเขียว พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายฉบับใหม่กำหนดราคาอ้อยขั้นต้นต้องไม่น้อยกว่า 80% และไม่เกิน 95% จากเดิมที่ไม่ได้กำหนดเพดานราคาอ้อยขั้นสูงไว้

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์  ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วานนี้(2 ต.ค.) เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อ้อยและน้ำตาลทรายฉบับใหม่ ที่ปรับปรุงจากฉบับเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2527 สาระสำคัญได้แก่การกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นต้องไม่น้อยกว่า 80% และไม่เกิน 95%  ของประมาณการรายได้ที่คำนวณได้เพื่อไม่ให้ราคาอ้อยขั้นต้นสูงเกินกว่าประมาณการรายได้ที่คำนวณได้ และราคาอ้อยขั้นสุดท้ายจากเดิมที่กำหนดราคาอ้อยขั้นต้นเฉพาะขั้นต่ำแต่ไม่กำหนดขั้นสูงไว้

รวมทั้งขยายนิยามให้ครอบคลุมเรื่องของการใช้อ้อยเป็นพืชพลังงานเช่น การผลิตเป็นแก๊สโซฮอลล์  และให้มีสัดส่วนของกรรมการระหว่างชาวไร่อ้อย โรงงาน และตัวแทนภาครับในสัดส่วนที่เท่ากันอย่างเหมาะสม

ส่วนกรณีราคาอ้อยขั้นสุดท้ายต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้น เดิมจะให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างให้แก่โรงงาน โดยชาวไร่อ้อยไม่ต้องส่งคืนค่าอ้อยที่ได้รับเกิน แก้ไขเป็นให้นำส่วนต่างไปหักออกจากราคาอ้อยขั้นต้นหรืออ้อยขั้นสุดท้ายในฤดูการผลิตปีถัดไป ซึ่งเป็นวิธีการนี้ที่ไม่ขัดกับเงื่อนไของค์การการค้าโลก WTO

ด้านที่มาของเงินกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายได้แก้ไข โดยยกเลิกเงินกู้ที่ครม.อนุมัติและเงินอุดหนุนจากรัฐบาลเพื่อเป็นไปตามกรอบของ WTO เช่นกัน และให้โรงงานนำเงินส่งเข้ากองทำนฯ 2% ของรายได้สุทธิ

นอกจากนี้ยังแก้ไขบทนิยามโดยเพิ่มคำว่า “น้ำอ้อย” เข้าไปใน พ.ร.บ. เพื่อให้สามารถนำน้ำอ้อยไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ชนินอื่นได้โดยตรงนอกเหนือจากน้ำตาลทราย ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น เพราะโรงงานสามารถผลิตอย่างอื่นได้ในช่วงที่ราคาน้ำตาลาทรายโลกตกต่ำ

และยังกำหนดให้ชาวไร่อ้อยเป็นสมาชิกสถาบันชาวไร่อ้อยที่เป็นสมาคมสหกรณ์ หรือกลุ่มเกษตรกรชาวไร่อ้อยได้เพียงแห่งเดียวพร้อมทั้งปรับปรุงบทกำหนดโทษสำหรับชาวไร่อ้อยที่ปลูกอ้อยโดยไม่ขึ้นทะเบียนจะมีโทษปรับ 2 หมื่นบาท

ทั้งนี้ยังยกเลิกเงินกู้ของรัฐบาลตามมติ ครม. เดิมอนุมัติไว้ รวมทั้งกำหนดให้เกษตรกรชาวไร่อ้อย หรือกลุ่มเกษตรกรได้เพียงแห่งเดียว และกำหนดให้แยกโทษของสมาชิกชาวไร่อ้อยจากหัวหน้ากลุ่ม และเพิ่มโทษปรับจากเดิม 4 เท่า เดิมปรับ 5,000 บาท เพิ่มเป็นโทษปรับสูงสุด 2 หมื่นบาท และหลังจากนี้เตรียมเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาต่อไป

จาก www.bangkokbiznews.com วันที่ 3 ตุลาคม 2561

ใช้2 แนวทางช่วย”อ้อย” ขั้นต้น กู้กองทุน-งบรัฐ-ราคาน้ำตาลตกหนัก

ชาวไร่อ้อยถก “อุตตม”ขอ 2 แนวทางช่วยเหลืออ้อยขั้นต้นต่ำกว่า 700/ตัน ด้วยการของบฯกลาง 6,500 ล้านบาท หรือตึงเงินกองทุนอ้อยเข้ามาช่วยแต่ต้องไม่ขัดกับตกลง WTO เหตุ “บราซิล” จ้องรัฐบาลไทยอุดหนุนจนบิดเบือนราคาน้ำตาล

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานเข้ามาว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมากลุ่มชาวไร่อ้อยได้เข้าพบนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อหารือถึงแนวทางและวิธีการช่วยเหลือหลังจากที่มีการคำนวณราคาค่าอ้อยขั้นต้นปีการผลิต 2561/2562 เบื้องต้นเฉลี่ยอยู่แค่ 680 บาท/ตัน หรือ “ต่ำกว่า”  ปีการผลิตที่ผ่านมามาก โดยที่ประชุมได้สรุปแผนการช่วยเหลือในเบื้องต้นไว้ 2 แนวทาง คือ

1)เงินส่วนต่างที่เก็บเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (ประมาณ 5 บาท/กก.) หลังลอยตัวราคาน้ำตาลเข้าระบบตั้งแต่เดือนมกราคม 2561 ขณะนี้มีอยู่ประมาณ 7,000-8,000 ล้านบาทนั้น สามารถนำเงินกองทุนส่วนนี้ไปช่วยเหลือให้ชาวไร่อ้อยได้ แต่แนวทางนี้จะต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) รับทราบเพื่อเห็นชอบและต้องพิจารณาว่า การนำเงินจากกองทุนอ้อยฯเข้าไป “อุดหนุน” ราคาอ้อยขั้นต้นนั้น “จะขัดต่อความตกลงในองค์การการค้าโลก ”(WTO  หรือไม่” แต่ทั้งนี้กองทุนอ้อยฯยังมีหนี้ที่ทำการกู้ยืมมาเพื่อจ่ายค่าอ้อยให้กับชาวไร่อ้อยก่อนหน้านี้ ดังนั้น เงินที่เก็บเข้ากองทุนอ้อยฯอาจต้องนำมาชำระหนี้ที่มีอยู่ก่อนและให้ชาวไร่อ้อยรอการชดเชยราคาอ้อยในปีการผลิตถัดไป

2)ให้ของบประมาณกลางปี 2562 ที่เป็น “งบฯฉุกเฉิน” จากรัฐบาล โดยคาดว่าอาจจะต้องใช้เงินจำนวนถึง 6,500 ล้านบาทเพื่อมาจ่ายชดเชยในส่วนของปัจจัยการผลิต อาทิ ค่าปุ๋ย-ค่าน้ำมัน ตามที่ชาวไร่อ้อยร้องขอ แต่จะกำหนดเพดานวงเงินไว้ว่าจะต้องไม่เกินเท่าไรเพราะบางรายมีอ้อยหลายล้านตัน จึงหวั่นว่าถ้าไม่มีการกำหนดเพดานชาวไร่อ้อยแต่ละรายอาจจะได้รับเงินช่วยเหลือไม่สมดุลกัน

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนที่จะถึงนี้ บราซิลซึ่งฟ้องประเทศไทยมีการอุดหนุนราคาอ้อย+ น้ำตาลจนเกิดการบิดเบือนราคาน้ำตาลในตลาดโลกนั้น ได้เตรียมเดินทางมายังประเทศไทยเพื่อติดตามว่ามาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลไทยเคยรับปากว่าจะยกเลิกการอุดหนุนนั้น รัฐบาลไทยได้ดำเนินการหรือยัง และ “เพียงพอ” ที่จะให้รัฐบาลบราซิลยุติการฟ้องไทยใน WTO หรือไม่

ด้านนายวีระศักดิ์  ขวัญเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวว่า ภายหลังจากที่กลุ่มชาวไร่อ้อยได้เข้าพบนายอุตตมแล้วว่า ในการหารือที่ประชุมได้เสนอแนวทางไว้หลายแนวทาง เช่น 1) ชาวไร่อ้อยได้เสนอให้กองทุนอ้อยฯกู้เงินเพื่อนำมาช่วยเหลือ 2) ให้รัฐบาลนำงบประมาณกลางที่มีอยู่มาช่วยในส่วนของ “ปัจจัยการผลิต” ซึ่งแนวทางนี้สามารถทำได้แต่ข้อกำหนดขององค์การการค้าโลก(WTO) ระบุไว้ว่า รัฐบาลสามารถนำงบประมาณช่วยสินค้าเกษตรได้ในอัตรา 5-10% ของมูลค่าสินค้าเกษตรนั้นๆ ในส่วนของปัจจัยการผลิต เช่น ค่าปุ๋ย  ค่าน้ำมัน  ค่ายาฆ่าแมลง รวมถึงค่าแรงงาน หากรัฐช่วยเกินกว่า 10% จะถือว่าขัดต่อข้อตกลง WTO ทันที 3) ให้นำเงินจากการเก็บเงินส่วนต่างที่เข้ากองทุนอ้อยฯมาช่วย ซึ่งปัจจุบันเงินส่วนต่างดังกล่าวเก็บเข้ากองทุนมาตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2560  สิ้นสุดเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2561 มีจำนวนประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่งเงินส่วนนี้จะนำไปจ่าย “ชดเชย” ได้เฉพาะปีการผลิตเก่าของปี 2560/2561 เท่านั้น ขณะที่เงินส่วนต่างเข้ากองทุนที่จะใช้ในปีการผลิต 2561/2562 เพิ่งเริ่มเก็บเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา ดังนั้น ในตอนนี้จึงยัง “ไม่มีเงินกองทุน” เข้ามาที่จะนำไปช่วยเหลือชาวไร่อ้อย

“กองทุนอ้อยฯคือเงินของชาวไร่สามารถนำออกมาใช้เพื่อช่วยพวกเขาได้แต่ที่เก็บมาของเก่ามันถูกใช้ไปชดเชยได้เฉพาะของปีการผลิต 2560/61 ส่วนของใหม่เพิ่งเริ่มเก็บคงต้องรอไปจนถึงปีหน้าจนกว่าจะประกาศราคาอ้อยขั้นสุดท้ายแล้วมาคำนวณกันถึงจะรู้ว่า”

นายสิริวุทธิ์   เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ไทยซูการ์ มิลเลอร์  จำกัด  (TSMC) กล่าวว่า ในฤดูการผลิตปี 2561/62  จะมีโรงงานน้ำตาลทรายเกิดใหม่เพิ่มขึ้นอีก 3 แห่ง จากเดิมมี 54 แห่ง จึงจะมีการประชุม workshop เตรียมความพร้อมในการเปิดหีบอ้อยในระหว่างวันที่ 5-6 ตุลาคม เพื่อติดตามสถานการณ์อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยหลังปรับโครงสร้างจากการลอยตัวราคาน้ำตาลทราย โดยผลผลิตอ้อยปีนี้น่าจะอยู่ที่ 120-125 ล้านตันอ้อย

ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกอยู่ในภาวะตกต่ำจากเดิม 16-20 เซนต์/ปอนด์ ได้ลดลงเหลือ 10-11 เซนต์/ปอนด์ ขณะที่เงินบาทแข็งค่าอยู่ในระดับ 32.60 บาท ดังนั้น จึงมีผลต่อการคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นปี 2561/62 ที่คาดว่า “จะต่ำกว่า 700 บาท/ตันแน่นอน”

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 3 ตุลาคม 2561

ไฟเขียวแก้ พ.ร.บ.อ้อย-น้ำตาล รัฐทำทุกทางไม่ให้ผิดกฎ “WTO”

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อ้อยและน้ำตาลทราย ที่ปรับปรุงจากฉบับเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2527 จึงไม่ทันกับสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยมีสาระสำคัญ คือ การกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นต้องไม่น้อยกว่า 80% และไม่เกิน 95% ของประมาณการรายได้ที่คำนวณได้ เพื่อไม่ให้ราคาอ้อยขั้นต้นสูงเกินประมาณการรายได้ที่คำนวณได้และราคาอ้อยขั้นสุดท้าย จากเดิมที่กำหนดราคาอ้อยขั้นต้นเฉพาะขั้นต่ำ แต่ไม่กำหนดขั้นสูงไว้

ส่วนกรณีราคาอ้อยขั้นสุดท้ายต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้น เดิมให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างให้โรงงาน โดยชาวไร่อ้อยไม่ต้องส่งคืนค่าอ้อยที่ได้รับเกิน แก้ไขเป็นให้นำส่วนต่างไปหักออกจากราคาอ้อยขั้นต้นหรืออ้อยขั้นสุดท้ายในฤดูผลิตปีถัดไป ซึ่งวิธีการนี้จะไม่ขัดกับหลักการขององค์การการค้าโลก (WTO) ส่วนที่มาของเงินกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายได้แก้ไขโดยยกเลิกเงินกู้ที่ ครม.อนุมัติและเงินอุดหนุนจากรัฐบาล เพื่อเป็นไปตามกรอบของ WTO เช่นกัน และยังแก้ไขเรื่องการกำหนดให้โรงงานนำเงินเข้ากองทุนฯ 2% ของรายได้สุทธิ จากเดิมให้นำเงินเข้ากองทุนฯเท่าจำนวนผลต่างระหว่างรายได้สุทธิกับราคาอ้อยขั้นสุดท้าย นอกจากนี้ยังปรับปรุงบทกำหนดโทษสำหรับชาวไร่อ้อยที่ปลูกอ้อยโดยไม่ขึ้นทะเบียนเป็นชาวไร่อ้อย มีโทษปรับเพิ่มขึ้น 4 เท่า คือเป็น 20,000 บาท จากเดิม 5,000 บาท.

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 3 ตุลาคม 2561

ทีเอ็มเอเปิดโลก"เทคโนฯ-นวัตกรรม"ผนึกเครือข่ายพัฒนาธุรกิจสู่ความยั่งยืน

               “น้ำ อาหาร ทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ คือฐานของพีระมิดกว้างสุดในความต้องการของมนุษย์ก่อนก้าวมาสู่ขั้นที่สองการพัฒนาพลังงานที่ยั่งยืน  และไปสู่ขั้นสุดท้ายเศรษฐกิจที่จะเติบโต เพราะฉะนัั้นอาหารและเครื่องดื่ม จึงมีความสำคัญอยู่ตรงฐานพีระมิดเลย”

             มาร์ค บัคลี่ ผู้ก่อตั้งบริษัท ANJA GmbH & Co, KG และ AlOHAS ECO-Center ผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 100% ประเทศเยอรมนีกล่าวตอนหนึ่งในงานสัมมนา “Global Business Dialogue 2018 : Innovating the Sustainable Future” จัดโดยสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ และภาคีเครือข่ายหลายองค์กร ระหว่างวันที่ 2-3 ตุลาคม 2561 ณ โรงแรมอนันตรา ราชดำริ โดยยกตัวอย่างทฤษฎีความต้องการของมาสโลว์มาเปรียบเทียบความต้องการของมนุษย์เพื่อก้าวสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก ซึ่งงานนี้ได้รวบรวมผู้มีชื่อเสียงจากทั้งในและต่างประเทศที่มากด้วยประสบการณ์ในการช่วยเหลือสังคมให้ก้าวสู่ Sustainable Development Goals(SDGs) มาร่วมเผยแนวคิดการพัฒนาคุณภาพชีวิต สังคม และธุรกิจ ด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามามีส่วนร่วมสร้างสรรค์โลกให้ยั่งยืน

             โดยมีกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นจริงในแอฟริกา เยอรมนี และประเทศไทย มาแชร์ประสบการณ์เรื่องการบริหารจัดการอาหารไม่ให้เหลือทิ้ง การทำธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม การสร้างพลังงานหมุนเวียนสำหรับชุมชนและการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสให้มีชีวิตที่ดีขึ้น นอกจากนี้เนื้อหาได้ครอบคลุมถึงความสำคัญของการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้เพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย

              มาร์ค กล่าวต่อว่า การเกิดวิกฤติของโลกแต่ละครั้งทำให้อุตสาหกรรมต่างๆ ล้มหายตายจากไปมากมาย แต่สิ่งที่อยู่รอดได้มาตลอดก็คืออุตสาหกรรมการเกษตร ดังนั้นจึงควรมีการปฏิรูปอุตสาหกรรมภาคการเกษตรโดยเฉพาะอาหารและเครื่องดื่มทั่วโลก โดยเน้นการผลิตในทิศทางที่ถูกต้อง เนื่องจากในกระบวนการผลิตอาหารนั้นมักจะมีส่วนที่เหลือทิ้งประมาณ 1 ใน 3 ของกระบวนการผลิต ซึ่งน่าเสียดายน่าจะนำส่วนนี้มาแปรรูปเพิ่มมูลค่าทำให้เกิดประโยชน์ได้อีกมากมายมหาศาล

             “ในทุกๆ การผลิตอาหารหรือเครื่องดื่มก็จะมีของเหลือจากการผลิตประมาณ 1 ใน 3 มันก็ถูกทิ้งไปโดยไม่ได้รับการนำมาใช้ประโยชน์ ไม่ใช่แค่ของเหลือถูกทิ้งไปเท่านั้น แต่ได้ทิ้งพลังงานของคนไปด้วย”

                มาร์คได้ยกตัวอย่างประเทศจีน คนส่วนใหญ่ยังมีความยากจน มีรายได้น้อย การบริโภคจึงเน้นอาหารที่มีราคาถูก ถึงแม้อาหารเหล่านี้จะมีคุณภาพต่ำก็ตาม โดยคนกลุ่มนี้ไม่ได้สนใจว่าอาหารเหล่านี้มีผลต่อร่างกายหรือไม่ ขณะเดียวกันราคาไม่ใช่สิ่งสำคัญ แต่กระบวนการผลิตสำคัญมากกว่า บางครั้งบริษัทพยายามลดต้นทุนการผลิตให้น้อยที่สุดเพื่อหวังกำไรที่สูง แต่สุดท้ายต้นทุนที่ถูกกลับไปทำลายสิ่งแวดล้อมในระยะยาว

             “ยกตัวอย่างเมื่อเราจับปลา เราก็เลือกเฉพาะปลาที่เราต้องการ โดยสัตว์น้ำอื่นๆ ที่เราไม่ต้องการก็ทิ้งมันไป แต่ตอนนี้มีสเปกตรัมเน็ตที่เป็นแสงสี ก็ได้มีการศึกษาในเหล่าผู้เชี่ยวชาญว่าสิ่งชีวิตสปีชี่ใดมองแสงสีอะไรที่จะทำให้สัตว์สปีชี่นั้นมาติดแหอวน ต่อไปเราอยากจับสัตว์น้ำชนิดใด ก็ใช้แสงสีนั้นเป็นตัวล่อ จะได้ไม่ทำให้สัตว์น้ำอื่นที่ไม่ต้องการเสียหายไปด้วย”

                 มาร์คมองอีกว่า สิ่งทีี่ผลิตมาแล้วนั้นวันหนึ่งก็จะกลายเป็นขยะ จึงจำเป็นต้องคิดหาวิธีการว่าจะนำกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างไร ซึ่งในภาคธุรกิจเวลาเราจะผลิตอะไรขึ้นมาสักชิ้น ผู้ผลิตจะต้องมีความรับผิดชอบด้วยว่าจะเอาไปย่อยสลายได้อย่างไร ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นความรับผิดชอบของผู้บริโภค  อย่างเช่นบริษัทผลิตเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่อย่าง โค้ก เป๊ปซี่ ควรจะเลือกบรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำมาใช้ใหม่ได้เช่นขวดแก้ว หรือไม่ก็ควรให้ผู้บริโภคนำภาชนะหรือบรรจุภัณฑ์มาเอง จะได้ไม่เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในระยะยาว

               “ในทางธุรกิจถ้าเราจะผลิตอะไรขึ้นมาสักอย่าง เราต้องคิดว่าผลิตภัณฑ์ที่เราผลิตขึ้นมานั้นจะสามารถนำไปย่อยสลายหรือนำกลับมาใช้ใหม่อย่างไรได้บ้าง เจ้าของธุรกิจหรือผู้ผลิตจะต้องช่วยคิดแทนผู้บริโภคด้วย อย่างบริษัทโคคา โคล่า แทนที่จะผลิตโค้กกระป๋องอลูมิเนียมหรือพลาสติกก็ผลิตเป็นขวดแก้วแทนหรือให้ลูกค้านำบรรจุภัณฑ์ไปใส่เองก็ได้ แทนที่ไปซื้อโค้กแล้วได้บรรจุภัณฑ์ใหม่ๆ มาเรื่อยๆ เพราะการที่ผู้ผลิตอยากผลิตสินค้าลดต้นทุนน้อยทีี่สุด แม้จะทำให้คนอยากซื้อของมากขึ้น แต่จริงๆ แล้ววิธีการคิดนี้มันไม่ยั่งยืน เพราะจะมีต้นทุนอื่นเพิ่มเข้ามา โดยเฉพาะต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม” เจ้าของบริษัท ANJA ย้ำ 

                 ขณะที่  ธรรมศักดิ์ จิตติมาพร ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มธุรกิจใหม่ กลุ่มมิตรผล ในฐานะรองประธานสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย(TMA) กล่าวในระหว่างเป็นประธานเปิดประชุม โดยระบุว่าปัจจุบันไม่อาจปฏิเสธได้ว่าทุกอย่างได้ถูกเชื่อมต่อด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม และการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารความรู้ได้อย่างไม่จำกัด ก่อให้เกิดความยั่งยืนกับสิ่งต่างๆ มากมายบนโลกใบนี้ ซึ่งมิตรผลอยู่ในประเทศไทยมา 62 ปีแล้ว ประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมน้ำตาลและพลังงานชีวมวล เราเองได้พยายามสิ่งต่างๆ เพื่อให้่เกิดความยั่งยืนตลอดมา

              "อย่างเรื่องเทคโนโลยีที่เราได้ทำในช่วงที่ผ่านมา เราได้เข้าร่วมการผลิตน้ำตาลโดยใช้มาตรฐานบองซูโก้ มาตรฐานความยั่งยืนเพื่อโลกเพื่อเรา ก็คือเอาเรื่องเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมมาบาลานซ์เข้าด้วยกันเพื่อให้เกิดความสมดุลอย่างยั่งยืน อย่างเช่นการเข้าไปจัดการเตรียมดินในการปลูกอ้อย ไปดูว่าจะใช้พันธุ์อ้อยแบบไหนจึงจะเติบโตได้ดี การเฝ้าดูแลการเจริญเติบโตของอ้อยโดยการลดการใช้สารเคมีหรือแม้กระทั่งการเก็บเกี่ยวโดยใช้เทคโนโลยีการนำส่งสู่โรงงานรวมถึงการผลิตนำสู่ผู้บริโภคด้วย”  

         จากผลการดำเนินการตามมาตรฐานดังกล่าว ทำให้มิตรผลได้รับรางวัลบองซูโก้อวอร์ดที่ประเทศบราซิลเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเป็นผลมาจากการรณรงค์ลดการเผาทำลายอ้อยก่อนที่จะตัด ซึ่งจะช่วยทำให้ลดการเกิดคาร์บอนมอนอกไซด์ในอากาศ รวมไปถึงนำเสนอการทำฟาร์มสมัยใหม่ที่เรียกว่าโมเดิร์นฟาร์มให้เกษตรกร ส่งผลทำให้ได้ผลผลิตที่ดีจากการนำเทคโนโลยีมาใช้ ซึ่งจากเดิมผลผลิตที่เคยได้รับโดยเฉลี่ย 10 ตันต่อไร่ จนถึงขณะนี้เพิ่มขึ้นมาเป็น 20 ตันต่อไร่ นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ทำไร่อ้อยเฉพาะของมิตรผลเองจากเดิมมีประมาณ 1 หมื่นไร่ ตอนนี้เพิ่มขึ้นมาเกือบ 2 แสนไร่ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดีที่จะทำให้ชาวไร่มีความยั่งยืนในการทำเกษตร

             “อีกตัวอย่างที่มิตรผลได้ทำและทางรัฐบาลเองก็ได้สนับสนุนเพื่อให้เกิดไบโออีโคโนมี มิตรผลพยายามให้เกิดการพัฒนาโดยการนำวัตถุดิบคืออ้อยนอกจากนำมาผลิตน้ำตาลและพลังงานชีวมวลแล้วยังพัฒนากระบวนการที่ได้จากการผลิตน้ำตาลและพลังงานชีวมวลออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เป็นไบโอโปรดักท์ และไบโอเทคโนโลยี ซึ่งตอนนี้เราได้นำสิ่งเหล่านี้มาทำเป็นอาหารคนส่วนหนึ่ง อาหารสัตว์ส่วนหนึ่ง แล้วก็ยังนำมาเป็นส่วนผสมเวชภัณฑ์เวชสำอาง รวมไปถึงการผลิตอาหารทางการแพทย์ในอนาคตด้วย” บอสใหญ่กลุ่มธุรกิจใหม่ มิตรผล กล่าวทิ้งท้าย

จาก www.komchadluek.net วันที่ 3 ตุลาคม 2561

กรมชลฯ ประสานฝนหลวงฯ เร่งเติมน้ำเขื่อนสำรองใช้ฤดูแล้ง

กรมชลฯ เตรียมสำรองน้ำไว้ใช้ฤดูแล้ง ชี้ภาคอีสาน เก็บน้ำในเขื่อนได้ 5.1 พันล้านลบ.ม. ใช้การได้ 3.4 พันล้านลบ.ม. เร่งประสานฝนหลวงฯ เติมน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ มีน้ำน้อย 34% ป้องกันพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งซ้ำซาก

เมื่อวันที่ 2 ต.ค.61 นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัจจุบันมีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 5,104 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 61 ของความจุอ่างฯ รวมกันทั้งหมด มีปริมาณน้ำใช้การได้ 3,453 ล้าน ลบ.ม. สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 3,300 ล้าน ลบ.ม. ได้เน้นย้ำให้ทุกโครงการชลประทานเก็บกักน้ำไว้ในอ่างเก็บน้ำต่างๆ สำรองไว้ใช้ในฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึง

สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่บางแห่ง ที่ยังคงมีปริมาณน้ำสูงกว่าเกณฑ์ควบคุม (Upper rule curve) อาทิ เขื่อนน้ำอูน และเขื่อนน้ำพุง ได้ทำการปรับแผนการระบายน้ำตามความเหมาะสม และเริ่มเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งแล้ว

ส่วนที่เขื่อนอุบลรัตน์ มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 837 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 34 เป็นน้ำใช้การได้ 256 ล้าน ลบ.ม. และอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อยกว่าร้อยละ 30 จำเป็นต้องวางแผนการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งอย่างเหมาะสม ได้ประสานขอรับการสนับสนุนจากกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เพื่อปฏิบัติการทำฝนหลวงช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่การเกษตร และลำน้ำธรรมชาติ รวมถึงช่วยเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ พร้อมกับวางแผนการจัดสรรน้ำ โดยคำนึงถึงการอุปโภค-บริโภค การรักษาระบบนิเวศ และการเกษตร ประสานความร่วมมือจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยง ภัยแล้งซ้ำซากเพื่อให้สามารถบรรเทา ติดตาม และแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ทั้งพื้นที่ในเขตและนอกเขตชลประทานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จาก https://siamrath.co.th  วันที่ 3 ตุลาคม 2561

เพิ่มค่าปรับชาวไร่อ้อยไม่ขึ้นทะเบียนเป็น 2 หมื่น – ครม.ไฟเขียวอับเกรดพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย

ครม.ไฟเขียวอับเกรดพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายสอดคล้องดับเบิลยูทีโอ พร้อมเพิ่มค่าปรับชาวไร่ไม่ขึ้นทะเบียนเป็น 2 หมื่นบาท

เพิ่มค่าปรับชาวไร่อ้อยไม่ขึ้นทะเบียน – นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำตัวรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อ้อยและน้ำตาลทราย ที่ปรับปรุงจากฉบับเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2527 ข้อตกลงทางการค้าภายใต้องค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) และสถานการณ์เศรษฐกิจ เทคโนโลยี สังคมและการค้าขายระหว่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป โดยสาระสำคัญได้แก่ การกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นต้องไม่น้อยกว่า 80% และไม่เกิน 95% ของประมาณการรายได้ที่คำนวณได้ เพื่อไม่ให้ราคาอ้อยขั้นต้นสูงเกินกว่าประมาณการรายได้ที่คำนวณได้และราคาอ้อยขั้นสุดท้าย จากเดิมที่กำหนดราคาอ้อยขั้นต้นเฉพาะขั้นต่ำแต่ไม่กำหนดขั้นสูงไว้

ส่วนกรณีราคาอ้อยขั้นสุดท้ายต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้น เดิมจะให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างให้แก่โรงงาน โดยชาวไร่อ้อยไม่ต้องส่งคืนค่าอ้อยที่ได้รับเกิน แก้ไขเป็นให้นำส่วนต่างไปหักออกจากราคาอ้อยขั้นต้นหรืออ้อยขั้นสุดท้ายในฤดูผลิตปีถัดไป ซึ่งวิธีการนี้จะไม่ขัดกฏขององค์กรการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ส่วนที่มาของเงินกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย แก้ไขโดยยกเลิกเงินกู้ที่ครม.อนุมัติและเงินอุดหนุนจากรัฐบาล เช่นกัน และยังได้แก้ไขเรื่องการกำหนดให้โรงงานนำเงินเข้ากองทุนฯ จากเดิมกำหนดให้โรงงานนำเงินเข้ากองทุนฯ เท่าจำนวนผลต่างระหว่างรายได้สุทธิกับราคาอ้อยขั้นสุดท้าย แก้ไขเป็น ให้โรงงานนำเงินส่งเข้ากองทุนฯ 2%ของรายได้สุทธิ

“แก้ไขบทนิยามโดยเพิ่มคำว่า “น้ำอ้อย” เข้าไปในพ.ร.บ. เพื่อให้สามารถนำน้ำอ้อยไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดอื่นได้โดยตรงนอกเหนือจากน้ำตาลทราย เช่น แก๊สโซฮอล์ ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นเนื่องจากโรงงานสามารถผลิตอย่างอื่นได้นอกจากน้ำตาลทรายในช่วงที่ราคาน้ำตาลทรายโลกตกต่ำ กำหนดให้ชาวไร่อ้อยเป็นสมาชิกสถาบันชาวไร่อ้อยที่เป็นสมาคม สหกรณ์ หรือกลุ่มเกษตรกรชาวไร่อ้อยได้เพียงแห่งเดียว พร้อมทั้งปรับปรุงบทกำหนดโทษสำหรับชาวไร่อ้อยที่ปลูกอ้อยโดยไม่ขึ้นทะเบียนเป็นชาวไร่อ้อย จะมีโทษปรับเพิ่มขึ้น 4 เท่า จากเดิม 5,000 บาท เพิ่มเป็น 20,000 บาท”

จาก https://www.khaosod.co.th  วันที่ 2 ตุลาคม 2561

ครม. ปลดล็อก "อ้อย" ผลิตเป็นอย่างอื่นได้ ไม่ใช่แค่น้ำตาล

วันที่ 2 ต.ค. 2561 นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติ ครม. ว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาล (ฉบับที่ ...) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ มีสาระสำคัญเพื่อแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาล พ.ศ. 2527 ซึ่งเป็นกฎหมายเก่าบังคับใช้มานานแล้ว ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบทนิยาม คณะกรรมการ องค์ประกอบคณะกรรมการ การกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและราคาอ้อยขั้นสุดท้าย บทกำหนดโทษ และคณะกรรมการเปรียบเทียบปรับ ให้เป็นไปตามแผนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ

นายณัฐพร กล่าวว่า สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. อาทิ มีการแก้ไขบทนิยาม เพิ่มคำว่า "น้ำอ้อย" และ "น้ำตาลทราย"  เพื่อให้นำน้ำอ้อยไปผลิตอย่างอื่นได้นอกเหนือจากน้ำตาลทราย เช่น แก๊สโซฮอลล์ เพราะเดิมกฎหมายเก่าอ้อยจะทำได้แค่น้ำตาลทราย ดังนั้น จะช่วยให้เกษตรกรจะมีรายได้มากขึ้น และมีทางเลือกมากขึ้นในกรณีที่ราคาน้ำตาลทรายและอ้อยตกต่ำ

นอกจากนี้ ในส่วนของการนำเข้าน้ำตาลทราย ซึ่งเดิมห้ามมิให้ผู้ใดนำเข้าน้ำตาลทราย เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย แก้ไขใหม่เป็นให้นำเข้าน้ำตาลทรายได้ แต่จะต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ เพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดขององค์การการค้าโลก (WTO)

อย่างไรก็ตาม หลังจาก ครม. อนุมัติหลักการแล้ว จะส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาปรับแก้ถ้อยคำให้เหมาะสม และส่งเข้าพิจารณาในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป

จาก www.thansettakij.com   วันที่ 2 ตุลาคม 2561

ครม.ไฟเขียว พ.ร.บ.อ้อย-น้ำตาลทราย ฉบับใหม่

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อ้อยและน้ำตาล (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เพื่อให้เป็นไปตามแผนปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบและสอดคล้องกับพันธกรณีและกรอบข้อตกลงทางการค้าขององค์การการค้าโลก WTO อาทิ แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “น้ำตาลทราย” และ “โรงงาน” เพื่อให้ครอบคลุมถึงน้ำอ้อยที่จะนำไปใช้ในการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ นอกเหนือจากน้ำตาลทราย กำหนดบทนิยามใหม่คำว่า “น้ำอ้อย” และ “สมาคมโรงงาน” เพื่อให้สามารถนำน้ำอ้อยไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดอื่น ๆ ได้โดยตรงนอกเหนือจากน้ำตาลทราย อาทิ แก๊สโซฮอลล์

การกำหนดราคาอ้อยขั้นต้น ต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 และไม่เกินร้อยละ 95 เพื่อไม่ให้ราคาอ้อยขั้นต้นสูงเกินกว่าประมาณการรายได้ที่คำนวณได้และราคาอ้อยขั้นสุดท้าย แก้ไขเพิ่มเติมกรณีราคาอ้อยขั้นสุดท้ายต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้น ให้นำส่วนต่างไปหักออกจากราคาอ้อยขั้นต้นหรืออ้อยขั้นสุดท้ายในฤดูผลิตปีถัดไป เพื่อแก้ไขเรื่องการอุดหนุนเกษตรกรของกองทุน

แก้ไขเพิ่มเติมบทลงโทษ แยกอัตราโทษของชาวไร่อ้อยและหัวหน้ากลุ่มชาวไร่อ้อยออกจากกันและเพิ่มอัตราโทษเฉพาะโทษปรับจากเดิมเพิ่มขึ้นอีก 4 เท่า

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 2 ตุลาคม 2561

ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาลทราย

ทำเนียบฯ 2 ต.ค. - ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย  กำหนดเพดานราคาอ้อยขั้นต้นและขั้นปลาย ลดความเสี่ยงต้องชดเชยจากเงินกองทุน เลี่ยงการละเมิดกฎ WTO ขยับโทษปรับเพิ่ม 4 เท่า สูงสุด 2 หมื่นบาท

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทรายฉบับแก้ไข  ระบุว่าการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นต้องอยู่ในกรอบร้อยละ 85-95 ของราคาประมาณการณ์รายได้ เพื่อลดความเสี่ยงจากการชดเชยจากกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย  หากส่วนต่างของราคาอ้อยขั้นสุดท้ายต่ำกว่าราคาขั้นต้น เดิมกองทุนจ่ายเงินชดเชยให้โรงงาน โดยชาวไร่อ้อยไม่ต้องนำส่งเงินคืน เปลี่ยนเป็นให้นำส่วนต่างหักออกในปีถัดไป เพื่อลดการใช้เงินกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายเข้าไปชดเชย 

นอกจากนี้ ยังยกเลิกเงินกู้ของรัฐบาลตามมติ ครม.เดิมอนุมัติไว้ การกำหนดให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยเป็นสมาชิกสถาบันการชาวไร่อ้อย หรือกลุ่มเกษตรกรได้เพียงแห่งเดียว  กำหนดให้แยกโทษของสมาชิกชาวไร่ออกจากหัวหน้ากลุ่ม และเพิ่มโทษปรับจากเดิม 4 เท่า เดิมปรับ 5,000 บาท เพิ่มเป็นโทษปรับสูงสุด 20,000  บาท  การกำหนดให้โรงงานผลิตน้ำตาลทรายไม่เกินข้อกำหนดตามกฎหมาย  เปิดทางให้นำเข้าน้ำตาลทราย  แต่ต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรมการอ้อยและน้ำตาลทราย หลังจากนี้เตรียมนำเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจาณาในขั้นต่อไป

จาก https://www.tnamcot.com  วันที่ 2 ตุลาคม 2561

บริการจัด เก็บน้ำเข้า2เขื่อนให้มากสุด

 สทนช.ประเมินสถานการณ์ฝนลดลงช่วงปลายฤดู  ตั้งใจเก็บน้ำไว้ใน 2 เขื่อนหลัก ทั้งเขื่อนภูมิพล-เขื่อนสิริกิติ์ ให้ได้มากที่สุด

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กล่าวถึงแนวทางการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ของภาคเหนือที่ส่งน้ำสนับสนุนพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา คือ เขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก และเขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ ว่า เนื่องจากช่วงเวลาต่อจากนี้ เป็นช่วงปลายฤดูฝนซึ่งโดยรวมแล้วสถานการณ์น้ำอยู่อยู่ในวิสัยที่จัดการได้ โดยเฉพาะเขื่อนภูมิพลที่มีปริมาณน้ำ 8,659 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 64% ของความจุอ่าง ในขณะที่เขื่อนสิริกิติ์แม้ดูจะมีปริมาณน้ำมากถึง 8,178  ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น86% ของความจุอ่าง แต่ถ้าพ้นวันที่ 15 ตุลาคมไปแล้ว เป็นช่วงรอยต่อเข้าสู่ฤดูหนาวทำให้ปริมาณฝนจะน้อยลง ดังนั้น จึงมอบหมายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบคือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเฝ้าดูสถานการณ์และปรับแผนการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมกับสถานการณ์ด้วย

 “ถ้าเป็นไปได้ จะพยายามเก็บน้ำไว้ในทั้ง 2 เขื่อนให้มากที่สุด โดยลดการระบายน้ำลง เพราะเป็นช่วงปลายฤดูฝน ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์ไว้ว่า ปริมาณฝนทางภาคเหนือจะลดลงแล้ว โดยปริมาณน้ำที่เก็บกักใน 2 เขื่อนนี้จะใช้เป็นแหล่งน้ำต้นทุนไว้สำหรับบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึงนี้”

 ดร.สมเกียรติกล่าวถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคกลางด้วยว่า  เมื่อตัดประเด็นน้ำเหนือที่จะหลากลงมาแล้ว ยังเหลือประเด็นฝนตกพื้นที่ท้ายเขื่อนในพื้นที่ภาคกลาง ซึ่งกำหนดแผนรองรับโดยใช้เขื่อนเจ้าพระยาระบายผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นเส้นทางหลัก เพราะระบายได้เร็วกว่า ในขณะที่คลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง แม่น้ำท่าจีนทางด้านตะวันตก หรือคลองชัยนาท-ป่าสักทางด้านตะวันออก ล้วนมีข้อจำกัดในการระบายน้ำซึ่งทำได้ช้ากว่าเส้นทางหลักทางแม่น้ำเจ้าพระยา

 “ปี 2561 นี้ พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำ ได้แก่ พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือบริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขงจะได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำในแม่น้ำโขง และลำน้ำสาขา ส่วนที่ภาคตะวันตก เนื่องจากเกิดฝนตกหนักในพื้นที่ทำให้เกิดเป็นปริมาณน้ำท่าจำนวนมากไหลเข้าอ่างเก็บน้ำทำให้ปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในระดับที่ต้องเฝ้าจับตา ทั้งเขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี และ เขื่อนปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดย สทนช. ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มปริมาณการระบาย โดยระมัดระวังผลกระทบด้านท้ายด้วย ภาคตะวันออกฝนมากแต่กระทบไม่มากนัก ส่วนภาคกลางสถานการณ์ในขณะนี้ดูจากข้อมูลแล้วยังไม่น่าเป็นห่วง” เลขาธิการ สทนช. กล่าว

จาก www.banmuang.co.th   วันที่ 2 ตุลาคม 2561

ดันไทยขึ้นฮับตลาดการเงิน

คณะกรรมการพัฒนาฯ เตรียมเสนอ ครม.ผลักดันไทยเป็นตัวกลางด้านการเงิน CLMV โอนเงินผ่านพร้อมเพย์

รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานประชุมคณะกรรมการพัฒนาความเชื่อมโยงด้านตลาดเงินตลาดทุนของไทยกับกลุ่มประเทศในภูมิภาค เพื่อนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ ประกอบด้วยแผน ส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินโดยใช้ไทยเป็นตัวกลางของกลุ่มประเทศ CLMV ในการระดมทุนผ่านตราสารหนี้ ตราสารทุน การส่งเสริมให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) ของไทยร่วมลงทุนกับ บลจ.ประเทศเพื่อนบ้านการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนด้านประกันภัย เพื่อให้ไทยเป็นฐานทำธุรกิจรับช่วงประกันภัยต่อ

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวว่า คณะกรรมการฯ ได้สั่งการให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หารือกับธนาคารกลางของประเทศเพื่อนบ้านเพื่ออำนวยความสะดวกการโอนเงินข้ามประเทศผ่านระบบพร้อมเพย์ในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน CLMV รวมถึงให้ใช้คิวอาร์โค้ดที่เป็นมาตรฐานกลางนำมาใช้โอนเงินระหว่างประเทศ เพื่อความสะดวกรวดเร็วและลดต้นทุน

อย่างไรก็ตาม ธปท.ต้องส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนเงินในสกุลของประเทศ CLMV มากขึ้น ที่ปัจจุบันยังมีน้อยอยู่ เพราะเป็นการให้แลกเปลี่ยนกันระหว่างธนาคารพาณิชย์ด้วยกันเท่านั้น ให้ปริมาณแลกเปลี่ยนมีน้อย ซึ่ง ธปท.ต้องหามาตรการเพิ่มเติมที่จะช่วยให้เรื่องนี้เกิดขึ้นได้มากกว่านี้ไม่ใช่ปล่อยให้แต่ธนาคารพาณิชย์ทำกันเองเท่านั้น

นายอภิศักดิ์ กล่าวว่า ในส่วนของภาคประกันภัยทางคณะกรรมการฯ ได้มีการเสนอให้มีการรับประกันช่วงต่อภายในประเทศมากขึ้น เพราะประเทศไทยมีการลงทุนอีกจำนวนมากที่ต้องทำประกันภัยทั้งสิ้น หากสามารถประกันภัยรับช่วงต่ออยู่ในประเทศ และเป็นฐานประกันรับช่วงต่อในกลุ่มประเทศ CLMV ก็จะทำให้เงินอยู่ในประเทศ โดยปัจจุบันไทยต้องส่งประกันช่วงต่อให้กับบริษัทประกันในประเทศสิงคโปร์ เบื้องต้นมีแนวคิดให้บริษัทประกันภัยรับช่วงต่อขนาดใหญ่ของโลกมาเปิดสำนักงานสาขาในประเทศไทย

นอกจากนี้ ยังต้องมีการส่งเสริมให้บริษัทประกันภัยของไทย ไปเปิดสาขาในกลุ่มประเทศ CLMV มากขึ้น ซึ่งในประเทศลาวมีบริษัทประกันภัยของไทยไปเปิดแล้วหลายแห่ง แต่ในประเทศอื่นๆ ยังมีน้อยและอยู่ระหว่างเจรจาไปเปิด

จาก https://www.posttoday.com    วันที่ 2 ตุลาคม 2561

กกร. ขยับจีดีพี ปีนี้โต 4.4-4.8% ส่งออก 8-10% แต่กังวลสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน

กกร.ปรับประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เป็น 4.4-4.8% จากเดิมคาดโต 4.3-4.8% ส่งออกคาดโต 8-10% กังวลสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนกระทบศก. พร้อมประสานเสียงอยากได้รัฐบาลใหม่โปร่งใส

ขยับจีดีพีปีนี้โต 4.4-4.8% – นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า กกร. ได้ประเมินเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีหลังปี 2561 ยังมีแนวโน้มขยายตัวทั้งการส่งออก การลงทุนทั้งรัฐและเอกชนแต่ไม่สูงเท่าครึ่งปีแรก จึงปรับประมาณการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพีในปี 2561 กรอบล่างเพิ่มขึ้นจากเดิมจะขยายตัว 4.3-4.8% เป็นขยายตัว 4.4-4.8% การส่งออกจากเดิมโต 7-10% เป็นโต 8-10% เงินเฟ้อคงเดิมที่ 0.9-1.5%

“เรามองว่าการส่งออกช่วงที่เหลือของปีน่าจะได้รับแรงหนุนจากคำสั่งซื้อในช่วงเทศกาลปีใหม่ การท่องเที่ยวที่ยังมีการเติบโตแม้จะชะลอลงไปเล็กน้อย ขณะที่การบริโภคและการลงทุนเอกชนที่ฟื้นตัวจึงทำให้มีการปรับกรอบล่างที่โตขึ้น แต่ปัจจัยที่ต้องติดตามช่วงถัดไปที่สำคัญคือ ข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่จะรุนแรงขึ้น ซึ่งประเด็นดังกล่าวจะกระทบต่อไทยทั้งทางตรงและทางอ้อมมากขึ้นในช่วงปี 2562 โดยเบื้องต้นประเมินว่าอาจจะกระทบต่อการส่งออกประมาณ 0.6-0.8% ของจีดีพี” นายกลินท์กล่าว

ทั้งนี้ จากการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการของกกร. ในการเลือกตั้งของไทยที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้นเชื่อว่าจะส่งผลต่อบรรยากาศโดยรวมที่ดีขึ้นและสิ่งที่กกร. ต้องการเห็นรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศควรจะมีการบริหารงานที่โปร่งใส สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปข้างหน้าได้ สนับสนุนด้านกฏระเบียบต่างๆ ที่จะทำให้การลงทุนของเอกชนได้รับความสะดวกมากขึ้น และที่สำคัญอยากเห็นการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นมากขึ้นโดยไม่กระจุกตัวเฉพาะเมืองใหญ่

อย่างไรก็ตาม หลายมาตรการรัฐขณะนี้เป็นเรื่องที่ดี อยากให้รัฐบาลชุดต่อไปสานต่อ เช่น เมืองรองที่จะช่วยกระจายรายได้ การปราบปรามคอร์รัปชั่นซึ่งรัฐบาลนี้ก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีเพราะจากการดำเนินงานร่วมกันระหว่างรัฐและเอกชนในเรื่องของข้อตกลงคุณธรรมก็พบว่ามีการจัดซื้อจัดจ้าง 40 โครงการวงเงิน 2.1 แสนล้านบาทประหยัดงบประมาณได้ถึง 7.1 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนถึงกว่า 30% ถือว่าเป็นความสำเร็จร่วมกันในการจัดซื้อจัดจ้างเกิดความโปร่งใสเราก็อยากเห็นรัฐบาลใหม่เป็นไปในแนวทางดังกล่าว

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า กกร. ได้หารือถึงการจัดทำบัญชีชุดเดียวให้กับธุรกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ซึ่งสนับสนุนสภาวิชาชีพในการจัดทำแอพลิเคชั่นสำหรับเอสเอ็มอีที่มียอดขายไม่เกิน 30 ล้านบาท ให้นำไปใช้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายในต้นปีหน้าโดยจะมีการจัดสัมมนาเพื่อสร้างความเข้าใจในวันที่ 1 พ.ย.นี้ อย่างไรก็ตามสิ่งที่เอกชนกังวลและได้หารือในกกร. คือระดับราคาน้ำมันที่เริ่มสูงขึ้นต่อเนื่องจากกรณีที่สหรัฐฯ คว่ำบาตรอิหร่าน และหากภาครัฐต้องการตรึงราคาน้ำมันให้เหมาะสมก็ควรจะพิจารณาการใช้เงินกองทุนน้ำมันอย่างรอบคอบด้วย เพราะขณะนี้มีอยู่จำกัด

“การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นสิ่งที่เราอยากเห็นคือไม่เกิดความวุ่นวายเช่นอดีต และเมื่อถึงเวลาก็ต้องยอมรับกติกาที่เกิดขึ้น และรัฐบาลใหม่เราอยากเห็นความโปร่งใส มีนโยบายที่สนับสนุนให้เอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการวางแผนโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ และให้เอกชนทำธุรกิจได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ปรับปรุงกฎหมายให้มีประสิทธิภาพ”นายสุพันธุ์กล่าว

จาก https://www.khaosod.co.th  วันที่ 2 ตุลาคม 2561

ครม.ไฟเขียว ธ.ก.ส. พักหนี้สมาชิกกฟก. ผ่อนดี 15 ปี ยกดอกเบี้ยให้ พร้อมฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพ

ครม.ไฟเขียว ธ.ก.ส. สมาชิกกฟก. โดยพักหนี้เงินต้นครึ่งหนึ่งและดอกเบี้ยทั้งหมด ให้ผ่อน 15 ปี และเมื่อเกษตรกรผ่อนจนหมดแล้ว ธ.ก.ส. จะพิจารณายกดอกเบี้ยที่พักไว้ให้

พักหนี้สมาชิกกฟก. – นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำตัวรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการปรับโครงสร้างหนี้ระหว่างเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรอย่างยั่งยืน (กฟก.) จำนวน 36,605 ราย ที่เป็นลูกหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และเป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2560 วงเงินหนี้ไม่เกิน 2.5 ล้านบาท/ราย มียอดหนี้เงินต้นรวม 6,382 ล้านบาท และดอกเบี้ย 3,829 ล้านบาท

ทั้งนี้ ธ.ก.ส. จะพักหนี้เงินต้นครึ่งหนึ่งและดอกเบี้ยทั้งหมด โดยเงินต้นครึ่งหนึ่งให้เกษตรกรผ่อนจ่ายตามกรอบเวลาไม่เกิน 15 ปี คิดอัตราดอกเบี้ยเอ็มอาร์อาร์ลบ 3 และเมื่อเกษตรกรผ่อนจนหมดแล้ว ธ.ก.ส. จะพิจารณายกดอกเบี้ยที่พักไว้ให้ ส่วนเงินต้นที่เหลืออยู่อีกครึ่งก็ให้เกษตรกรให้มาปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ต่อไป สำหรับระยะเวลาดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ให้เสร็จภายใน 3 ปี หลังจากครม. มีมติเห็นชอบ

สำหรับเงื่อนไขผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการได้ คือ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะต้องเป็นหนี้เอ็นพีแอล มาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี เกษตรกรลูกหนี้ที่ได้รับการปรับโครงสร้างหนี้ต้องชำระตามที่มาของแหล่งรายได้อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง กรณีผิดนัดชำระหนี้ ธ.ก.ส. จะคิดอัตราดอกเบี้ยในส่วนของเงินต้นที่ค้างชำระในอัตราสูงสุด รวมดอกเบี้ยปรับ 3% แต่มีข้อยกเว้นกรณีประสบภัยพิบัติ กรณีเกษตรกรมีปัญหาสุขภาพ และกรณีมีเหตุจำเป็นอื่นๆ โดยจะมีคณะทำงานร่วมพิจารณา และหากสุดท้ายเกษตรกรลูกหนี้กลับมาเป็นหนี้เอ็นพีแอล เกษตรกรลูกหนี้ต้องรับภาระหนี้ตามนิติกรรมเดิม ซึ่งจะถูกเรียกเก็บเงินต้นและดอกเบี้ยที่พักไว้ทั้งหมด รวมทั้งดอกเบี้ยที่ยังไม่ได้เรียกเก็บในส่วนของหนี้ที่ปรับโครงสร้างแล้วด้วย

“ประโยชน์ที่เกษตรกรจะได้รับจากโครงการดังกล่าว อย่างแรกจะช่วยให้เกษตรกรสมาชิกสามารถรักษาที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัยของต่อเองไว้ได้ต่อไป พร้อมทั้งยังช่วยแก้ปัญหาหนี้สินที่เป็นเอ็นพีแอลของเกษตร ในที่ประชุม ครม. นายกรัฐมนตรี ได้สอบถามว่าการทำเรื่องนี้จะมีความพร้อมทำได้เมื่อใด ซึ่งทางรมว.เกษตรฯ แจ้งว่า ตอนนี้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความพร้อมดำเนินโครงการ โดยเฉพาะทางธ.ก.ส. มีข้อมูลของเกษตรกรอยู่แล้ว สามารถทำได้ทันที”

นายณัฐพร กล่าวว่า โครงการนี้เป้าหมายปรับโครงสร้างหนี้ให้ได้ปีละ 12,202 ราย ส่วนงบประมาณที่ใช้ดำเนินการปกติของ กฟก. เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการนี้ ยังต้องมีการจัดทำแผนฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพของตัวเอง ที่ผ่านการรับรองจากองค์กรเกษตรกรจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำเสนอต่อธ.ก.ส. ในการขอปรับโครงสร้างหนี้ และเมื่อได้รับการเห็นชอบแล้ว จะต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูตามแผนหรือโครงการฟื้นฟูขององค์กรเกษตรกรตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนฟื้นฟูฯ ต่อไป

จาก https://www.khaosod.co.th  วันที่ 2 ตุลาคม 2561

โรงงานน้ำตาลประชุมต้นต.ค. เตรียมความพร้อมเปิดหีบอ้อยปี’61/62

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหารบริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) เปิดเผยว่า ในฤดูกาลผลิตปี 2561/2562 จะมีโรงงานน้ำตาลทรายเพิ่มขึ้นอีก 3 แห่ง จากเดิมมีอยู่จำนวน 54 แห่ง โดยผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทรายทั้งหมดจะเข้าร่วมประชุม Workshops เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดหีบอ้อย ในระหว่างวันที่ 5-6 ตุลาคม 2561 นี้

ทั้งนี้จะมีการติดตามสถานการณ์อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย หลังปรับโครงสร้างจากการลอยตัวราคาน้ำตาลทราย โดยสถานการณ์ในปัจจุบันที่ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกอยู่ในภาวะตกต่ำ จากเดิม 16-20 เซนต์ต่อปอนด์ในช่วงปีก่อนหน้า ลดลงเหลือ 10-11 เซนต์ต่อปอนด์ ขณะที่เงินบาทที่แข็งค่าอยู่ในระดับ 32.60 บาท มีผลต่อการคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นปี 2561/2562 ที่คาดว่าจะลดเหลือต่ำกว่า 700 บาทต่อตัน

อย่างไรก็ตาม ทางผู้ประกอบการโรงงานมีความกังวล และเข้าใจถึงผลกระทบต่อราคาอ้อยตกต่ำไม่คุ้มกับต้นทุนการเพาะปลูกอ้อย และส่งผลกระทบต่อชาวไร่อ้อยทั่วประเทศ ดังนั้น ที่ประชุมในครั้งนี้จะมีการหารือถึงแนวทางให้ความช่วยเหลือชาวไร่ ซึ่งจะยึดหลักผลประโยชน์ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และต้องไม่ผิดกฎระเบียบขององค์การการค้าโลก หรือ WTO

“โรงงานน้ำตาลทรายจะหารือถึงแนวทางการให้ความช่วยเหลือชาวไร่อ้อย เนื่องจากชาวไร่อ้อยก็เปรียบเสมือนคนในครอบครัวเดียวกัน ชาวไร่อยู่ได้โรงงานก็อยู่ได้ และไม่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค ส่วนแนวทางจะเป็นอย่างไรนั้น จะต้องมีการพูดคุยกับทุกฝ่ายอีกครั้งและที่สำคัญต้องไม่ผิดต่อกฎระเบียบ WTO” นายสิริวุทธิ์ กล่าว

นอกจากนี้ที่ประชุมยังเตรียมหารือแนวทางการยกระดับคุณภาพผลผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยทั้งระบบ ตั้งแต่การประเมินพันธุ์อ้อย การแก้ไขปัญหาโรคใบขาว รวมถึงการเสนอใช้เครื่อง NIRS มาใช้ตรวจวัดสิ่งปนเปื้อนในอ้อย และการจัดการด้านโลจิสติกส์ในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ครอบคลุมตั้งแต่การจัดเก็บผลผลิตอ้อยจากไร่ การขนส่งอ้อยไปยังโรงงานน้ำตาล และการจัดเก็บผลผลิตน้ำตาลทราย เพื่อให้เกิดการวางแผนแบบบูรณาการเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์ของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยทั้งระบบ หลังจากปีที่ผ่านมาติดข้อจำกัดด้านการขนส่งผลผลิตอ้อยไปยังโรงงาน ทำให้ปริมาณการขนอ้อยต่อเที่ยวลดลง และหากปีนี้ปริมาณผลผลิตที่มีการคาดการณ์ว่า จะมีอ้อยเข้าหีบ 120-125 ล้านตันอ้อย ดังนั้นการวางแผนบริหารจัดการเพื่อเตรียมความพร้อมที่ดี เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาที่ทำให้โรงงานต้องปิดหีบล่าช้า เป็นผลให้คุณภาพผลผลิตอ้อยเข้าหีบในช่วงปลายฤดูหีบมีคุณภาพลดลง

“ปีนี้เราเน้นในเรื่องของคุณภาพผลผลิตอ้อยที่มีคุณภาพ จึงต้องมีการบริหารจัดการที่ดีตั้งแต่ต้น ทั้งการเพาะปลูกอ้อย การจัดเก็บผลผลิตเพื่อจัดส่งให้แก่โรงงาน คุณภาพอ้อยต้องไม่มีสิ่งปนเปื้อน ซึ่งเชื่อว่าการหารือเพื่อวางแนวทางปฏิบัติก่อนการเปิดหีบฤดูกาลนี้ จะทำให้เราสามารถลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบอุตสาหกรรมได้ดีขึ้น และจะส่งผลดีต่อการสร้างความเข้มแข็งให้แก่อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย เพื่อให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน” นายสิริวุทธิ์ กล่าว

จาก https://www.naewna.com วันที่ 2 ตุลาคม 2561

รง.น้ำตาลนัดถกรับอ้อยราคาตก

โรงงานน้ำตาลทรายจัดประชุมเตรียมพร้อมรับผลผลิตอ้อยเข้าหีบปี 61/62 หวังยกระดับคุณภาพผลผลิต สร้างความเข้มแข็งอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ พร้อมหาแนวทางช่วยเหลือชาวไร่ หลังราคาน้ำตาลโลกตก ห่วงกดราคาอ้อยขั้นต้นต่ำกว่า 700 บาทต่อตัน

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหารบริษัท ไทยชูการ์มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) เปิดเผยว่า ในฤดูการผลิตปี 2561/2562 จะมีโรงงานน้ำตาลทรายเพิ่มขึ้นอีก 3 แห่ง จากเดิมมี 54 แห่ง โดยผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทรายทั้งหมดจะเข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ เตรียมความพร้อมในการเปิดหีบอ้อย ระหว่างวันที่ 5-6 ต.ค.นี้ ซึ่งจะมีการติดตามสถานการณ์อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย หลังปรับโครงสร้างจากการลอยตัวราคาน้ำตาลทราย อีกทั้งปัจจุบันราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกอยู่ในภาวะตกต่ำ จากเดิม 16-20 เซนต์ต่อปอนด์ในช่วงปีก่อนหน้า ลดลงเหลือ 10-11 เซนต์ต่อปอนด์ และเงินบาทที่แข็งค่าในระดับ 32.60 บาท มีผลต่อการคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นปี 2561/2562 ที่คาดว่าจะลดเหลือต่ำกว่า 700 บาทต่อตัน

ทั้งนี้ผู้ประกอบการมีความกังวลต่อผลกระทบดังกล่าว ดังนั้นการประชุมครั้งนี้จะหารือถึงแนวทางให้ความช่วยเหลือชาวไร่ ซี่งจะยึดหลักผลประโยชน์ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และต้องไม่ผิดกฎระเบียบองค์การการค้าโลก (WTO)

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเตรียมหาแนวทางยกระดับคุณภาพผลผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยทั้งระบบตั้งแต่การประเมินพันธุ์อ้อย การแก้ไขปัญหาโรคใบขาว รวมถึงการเสนอใช้เครื่อง NIRS มาใช้ตรวจขวัดสิ่งปนเปื้อนในอ้อย และการจัดการด้านโลจิสติกส์ในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยคาดการณ์ว่าปีนี้จะมีอ้อยเข้าหีบ 120-125 ล้านตันอ้อย จึงต้องวางแผนบริหารจัดการเพื่อเตรียมความพร้อมที่ดี เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาที่ทำให้โรงงานต้องปิดหีบล่าช้า และมีคุณภาพลดลง

“ปีนี้เน้นเรื่องคุณภาพผลผลิตอ้อยที่มีคุณภาพ จึงต้องบริหารจัดการให้ดีตั้งแต่ต้น ทั้งการเพาะปลูกอ้อย การจัดเก็บผลผลิตเพื่อจัดส่งให้แก่โรงงานคุณภาพอ้อยต้องไม่มีสิ่งปนเปื้อน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายทำให้ระบบอุตสาหกรรมดีขึ้น และสร้างความเข็มแข็งให้แก่อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย เพื่อให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน” นายสิริวุทธิ์ กล่าว

จาก www.bangkokbiznews.com วันที่ 2 ตุลาคม 2561

โรงงานน้ำตาลหาช่องช่วยชาวไร่รับอ้อยตกต่ำ

พร้อมเปิดหีบฤดูกาลใหม่ โรงงานน้ำตาลหาแนวทางช่วยเหลือ หลังราคาโลกลดฉุดอ้อยขั้นต้นต่ำกว่า 700 บาท/ตัน

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ เปิดเผยว่า ในฤดูการผลิตปี 2561/2562 จะมีโรงงานน้ำตาลทรายเพิ่มขึ้นอีก 3 แห่ง จากเดิมมี 54 แห่ง โดยผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทรายทั้งหมดจะเข้าร่วมประชุมเตรียมความพร้อมในการเปิดหีบอ้อย เพื่อติดตามสถานการณ์อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยหลังปรับโครงสร้างลอยตัวราคาน้ำตาลทราย

ทั้งนี้ สถานการณ์ในปัจจุบันที่ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกอยู่ในภาวะตกต่ำจากเดิม 16-20 เซนต์/ปอนด์ ในช่วงปีก่อนหน้า ลดลงเหลือ 10-11 เซนต์/ปอนด์ ขณะที่เงินบาทที่แข็งค่าอยู่ในระดับ 32.60 บาท มีผลต่อการคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นปี 2561/2562 ที่คาดว่าจะลดเหลือต่ำกว่า 700 บาท/ตัน ขณะที่อ้อยที่จะเข้าหีบในฤดูการผลิตนี้น่าจะอยู่ที่ 120-125 ล้านตัน

อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการโรงงานมีความกังวลและเข้าใจถึงผลกระทบต่อราคาอ้อยตกต่ำไม่คุ้มกับต้นทุนการเพาะปลูกอ้อยและส่งผลกระทบต่อชาวไร่อ้อยทั่วประเทศ ดังนั้นที่ประชุมครั้งนี้จะมีการหารือถึงแนวทางให้ความช่วยเหลือชาวไร่ ซึ่งจะยึดหลักผลประโยชน์ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และต้องไม่ผิดกฎระเบียบองค์การการค้าโลก

ขณะเดียวกันที่ประชุมยังเตรียมหารือแนวทางการยกระดับคุณภาพผลผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทั้งระบบ รวมถึงการจัดเก็บผลผลิตน้ำตาลทราย เพื่อให้เกิดการวางแผนแบบบูรณาการ เพื่อประโยชน์ของอุตสาหกรรม และยิ่งปีนี้ที่คาดว่าจะมีอ้อยเข้าหีบ 120-125 ล้านตัน การวางแผนบริหารจัดการที่ดี จะทำให้ไม่เกิดปัญหาที่ทำให้โรงงานต้องปิดหีบล่าช้าจนกระทบคุณภาพผลผลิต

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 2 ตุลาคม 2561

เร่งช่วยชาวอ้อย “ดอนแสลบ”

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดกาญจนบุรี ศาลากลางจังหวัดกาญจนบุรี เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่  1 ตุลาคม สำนักงานยุติธรรมจังหวัดกาญจนบุรีได้เรียกสอบกลุ่มเกษตรกร นำโดย นายจำรัส  เชื้องาม ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 16 บ้านวังข้าวใหม่ ต.ดอนแสลบ อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี และชาวบ้านอีกกว่า 20 ราย ภายหลังจากนางหงส์ภรณ์ชนก  คุณพันธ์  เจ้าของโควตาอ้อย ที่กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยได้ร้องเรียนว่าไม่ได้รับการชำระค่าตัดอ้อยจากเจ้าของโควตา รวามเป็นจำนวนเงินประมาณ 6 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรมให้ติดต่อไป แต่ไม่สามารถขอพูดคุยไกล่เกลี่ยได้  อ้างเพียงว่าจะรอขายที่ เพื่อนำเงินมาชดใช้หนี้เท่านั้น โดยมีนางพรพิมล สงวนแก้ว นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดกาญจนบุรี และนางบวรลักษณ์  งิ้วงาม  พนักงานคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ สำนักงานยุติธรรมจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งได้รับมอบหมายจากนางสาวดุษสิยา  วงศ์วาสนา  ผู้อำนวยการสำนักงานยุติธรรมจังหวัดกาญจนบุรี ดำเนินการสอบเพื่อหาแนวทางการช่วยเหลือ โดยจะใช้กองทุนยุติธรรมไปช่วยเหลือด้านการดำเนินการยื่นฟ้องต่อเจ้าของโควต้าอ้อยต่อไป

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากตามกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยได้เข้าร้องเรียนว่า กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยไม่ได้รับการชำระค่าตัดอ้อยจากนางหงส์ภรณ์ชนก  คุณพันธ์  ซึ่งเป็นเจ้าของโควตาอ้อย  รวมเป็นจำนวนเงินประมาณ 6 ล้านบาท ซึ่งกลู่มผู้ปลูกอ้อยได้นำหนังสือสัญญามาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ ว่าได้รับค่ามัดจำในการขายอ้อยแล้วส่วนหนึ่งแต่ยังมียอดคงค้างที่จะต้องได้รับจากเจ้าของโควต้าอีก ซึ่งได้มีการเข้าไปสอบถามนางหงส์ภรณ์ชนก  เจ้าของโควต้าอ้อยของกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยก็ได้รับการบ่ายเบี่ยงจากนางหงส์ภรณ์ชนกมาโดยตลอด  ซึ่งตามความจริงแล้วกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยต้องได้รับเงินในการขายอ้อยงวดสุดท้ายตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ.2561 ที่ผ่านมา แต่จนถึงในขณะนี้ยังไม่ได้รับเงินค่าขายอ้อย  ได้รับเฉพาะเงินค่ามัดจำ ซึ่งมียอดทีแตกต่างกันไปและยังมีคนงานที่รับจ้างตัดอ้อยยังไม่ได้รับค่าแรงในการตัดอ้อยอีกด้วย  ซึ่งการให้ความช่วยเหลือทางสำนักงานยุติธรรมที่มีไว้ช่วยเหลือประชาชนในการดำเนินคดี  ไปช่วยเหลือด้านการดำเนินการยื่นฟ้องต่อนางหงส์ภรณ์ชนก  คุณพันธ์  เจ้าของโควต้าอ้อยต่อไป

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 2 ตุลาคม 2561

ค่าเงินบาทอ่อนค่า หลังการเจรจาความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือรอบใหม่ (NAFTA) ระหว่างสหรัฐ-แคนาดาผ่านไปได้ด้วยดี

ค่าเงินบาทอ่อนค่า หลังการเจรจาความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือรอบใหม่ (NAFTA) ระหว่างสหรัฐและแคนาดา ผ่านไปได้ด้วยดี เตรียมจับมือลงนามบันทึกข้อตกลงระหว่างกัน พ.ย.นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานค่าเงินบาท วันนี้ (2 ต.ค. 2561 ) เปิดตลาดที่ 32.24 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่า จากระดับปิดเมื่อวานที่ 32.24 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ล่าสุดค่าเงินบาทซื้อขายอยู่ที่ระดับ 32.17-32.47 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ด้านนักค้าเงินธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ค่าเงินบาทวันนี้มีทิศทางอ่อนค่า โดยปัจจัยหลักมาจากเมื่อวานนี้การเจรจาความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) ระหว่างสหรัฐและแคนาดารอบใหม่ที่ผ่านไปได้ด้วยดี โดยจะมีการลงนามบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) เรื่องการเจรจาการค้ารอบใหม่ทั้ง 2 ประเทศ ในช่วงเดือน พ.ย.นี้

พร้อมกันนี้นักค้าเงินได้ประเมินว่า ค่าเงินบาทในวันนี้ น่าจะเคลื่อนไหวในกรอบที่มีแนวรับ 32.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่แนวต้านให้ไว้ที่ 32.40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 2 ตุลาคม 2561

กระทรวงอุตฯดันทีโออาร์ 4 โครงการยักษ์ในอีอีซีต.ค.นี้

อุตฯเร่งเครื่องหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดออกทีโออาร์ 4 โครงสร้างพื้นฐานอีอีซีในเดือน ต.ค. นี้ พร้อมเตรียมข้อมูลเสนอบอร์ด กพอ. เห็นชอบในวันที่ 4 ต.ค.นี้ พร้อมเตรียมแผนพัฒนาสมาร์ท ซิตี้

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ครั้งที่ 2/2561 ว่าที่ประชุมมีการเสนอความคืบหน้าของกรอบการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) รวม 4 โครงการ เพื่อเตรียมจะเสนอข้อมูลให้กับคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในวันที่ 4 ต.ค. 2561 นี้

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าโครงสร้างพื้นฐานทั้ง 4 โครงการ ที่นอกเหนือจากรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน คณะกรรมการบริหารเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(กบอ.) วางกำหนดการเพื่อออกหนังสือชี้ชวนผู้สนใจลงทุนในเดือนต.ค. 2561 นี้ โดยแบ่งเป็น 1. สนามบินอู่ตะเภา โดยอยู่ภายใต้การดำเนินงานของกองทัพเรือ โดยจะเปิดให้มีเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในการสร้างอาคารผู้โดยสารใหม่ โดยจะมีการกำหนดเอกชนผู้ร่วมทุนในเดือน ก.พ. 2562 และเปิดดำเนินการภายในปี 2566

2.โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานสนามบินอู่ตะเภา ที่ บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) เป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการ ซึ่งจะมีการกำหนดเอกชนผู้ร่วมทุนภายในเดือน ธ.ค. 2562 โดยเป็นการพัฒนาศูนย์ซ่อมใหม่ที่ขนาดใหญ่ขึ้น โดยกำหนดเปิดดำเนินการกลางปี 2565

3. โครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ซึ่งจะเปิดชี้ชวนผู้ลงทุนภายในเดือนนี้และได้เอกชนร่วมทุนในเดือน ก.พ. 2562 เพื่อลงทุนพัฒนาระบบรางเชื่อมระบบขนส่งจากเรือขึ้นมาบนราง  และถมทะเลเพื่อรองรับการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุตเพิ่มขึ้น 8 ล้านตู้ต่อปี จากปัจจุบันที่รองรับได้อยู่ที่ 10.8 ล้านตู้ต่อปี

4. โครงการท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 โดยเป็นการขยายท่าเรือเพื่อเพิ่มขีดความสามารถและความจุในการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติ ประมาณ 10.8 ล้านตันต่อปี และสินค้าเหลว ประมาณ 4 ล้านตันต่อปี โดยอยู่ภายใต้การดูแลของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) โดยช่วงแรกจะเป็นการถมทะเลเพื่อพัฒนาท่าเรือ และคลังก๊าซธรรมชาติ ซึ่งจะใช้เวลา 3-5 ปีในการพัฒนา และช่วงที่ 2 คือท่าเรือสินค้าเหลว โดยจะชี้ชวนผู้ลงทุนต.ค. นี้ และกำหนดได้เอกชนร่วมทุนในเดือน ม.ค.2562 ก่อนที่จะเปิดกำเนินการต้นปี 2568

“การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดจะอยู่ภายใต้เงื่อนไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (พีพีพี) โดยรวมเงินลงทุนทั้ง 5 โครงการทั้งสิ้น 650,000ล้านบาท โดยรัฐบาลจะลงทุน 30% หรือประมาณ 200,000 ล้านบาท”นายกอบศักดิ์ กล่าว

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะ กพอ. กล่าวว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีการหารือถึงแผนพัฒนาโครงการแผนปฏิบัติการการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลระยะเวลา 5 ปี (สมาร์ท ซิตี้ ดิจิทัล ปาร์ค) ที่จะมีการออกประกาศเชิญชวนเอกชนที่สนมใจลงทุนในวันที่ พ.ย. 2561 นี้ ซึ่งจะเป็นการพัฒนา 8 แผนงานหลัก อาทิการพัฒนาศูนย์ทดสอบ 5G การการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอินเตอร์เน็ต ออฟ ติงส์(ไอโอที) และโครงสร้างพื้นฐาน ท่อร้อยสาย เคเบิ้ลใยแก้วนำแสงและเสา เป็นต้น

 “โครงการสมาร์ท ซิตี้ ทั้ง 8 แผนงาน มีการใช้งบประมาณรวมแล้วกว่า 18,000 ล้านบาท และมีการอนุมัติงบมาเบื้องต้นแล้ว แต่ขณะเดียวกันจะมีการของบประมาณกลาง ของปีงบประมาณ 2562 เพิ่มเติมอีก 813 ล้านบาท เพื่อมาเสริมในการดำเนินงานเพิ่มเติม”นายคณิศ กล่าว

จาก https://www.thaipost.net วันที่ 2 ตุลาคม 2561

โมเดลเศรษฐกิจBCG'บิ๊กตู่' หวังหนุนไทยแลนด์4.0

 สัปดาห์นี้ตามแนวคิด "บิ๊กตู่" ให้ความสำคัญต่อประเทศ-การพัฒนาที่ยั่งยืน ชูโมเดลเศรษฐกิจ BCG ใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หวังไทยพ้นกับดักความยากจน จะเป็นจริงหรือไม่ลองไปดูกันเลย                   

ทำเอาคนไทยทั้งประเทศต้องแคะหู เกาหัว สะบัดความคิดกันยกใหญ่ หลัง “บิ๊กตู่” หยิบยกเอาโมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า “BCG” มาบอกเล่าเก้าสิบผ่านทางรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เชื่อได้ว่าหลายๆ คนคงเกิดอาการ “งงงวย” ว่ามันคืออะไรกันหว่า? เพราะเพียงแค่ “ไทยแลนด์ 4.0” ก็ยังเข้าใจกันไม่ถ่องแท้ มาอาทิตย์นี้...มีโมเดลใหม่มากันอีกแล้ว

แม้บิ๊กตู่จะอธิบายความสื่อความหมายให้เข้าใจว่า B (Bio Economy) คือ เศรษฐกิจชีวภาพ, C (Circulr Economy) คือ เศรษฐกิจหมุนเวียน และ G (Green Economy) คือ เศรษฐกิจสีเขียว ก็ตาม แต่เชื่อเถอะ...ในความคิดของคนไทย คงมีความคิดไปในแนวทางเดียวกันว่า...แล้วยังไง? เดี๋ยว…รากหญ้า เดี๋ยว…ฐานราก เดี๋ยว…เอส-เคิร์ฟ เดี๋ยว…นิวเอส-เคิร์ฟ และอีกมากมายสารพัดศัพท์ แล้วสุดท้ายรัฐบาลของบิ๊กตู่จะเอาอย่างไรกันแน่ เอาเป็นว่าไม่ต้องงงงวยอะไรกันมาก เพราะเศรษฐกิจ BCG ที่ว่านี้ ก็เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดไว้ก่อนหน้านี้อยู่แล้ว ตั้งเป้าหมายนำพาให้ไปสู่ไทยแลนด์ 4.0

โดยมีความหวัง ความตั้งใจ แน่วแน่ว่าจะพาให้คนไทยก้าวพ้นจากกับดัก “ความยากจน” ไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนภายใน 20 ปี ตามสโลแกนของรัฐบาลท็อปบูท “บิ๊กตู่” ย้ำนักย้ำหนาว่า โมเดลเศรษฐกิจใหม่ครั้งนี้จะสามารถนำพาประเทศไทยไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง เพราะเป็นการส่งเสริมให้การเติบโตเศรษฐกิจไทยนั้นเติบโตแบบก้าวเดินไปพร้อมๆ กันทุกคน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง หากจะแปลความหายในเวลานี้ ก็เหมือนกับการทำให้คนจนหมดไปจากประเทศนั่นแหล่ะ ไม่ใช่เติบโตแต่คนร่ำคนรวย คนมีเงิน หรือเศรษฐี แต่คนไทยต้องมีรายได้เกิน 12,000 ดอลลาร์สหรัฐ/คน/ปีให้ได้ในอีก 20 ปี

B (Bio Economy) หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เป็นการพัฒนาความเข้มแข็งจากศักยภาพของไทยที่มีอยู่แล้ว โดยเฉพาะผลผลิตที่ได้จากการเกษตร โดยนำเอาเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้สูงขึ้น ไม่ใช่ปลูกข้าว ก็ขายแค่ข้าวเจ้า ข้าวหอมมะลิ ข้าวเหนียวเท่านั้น แต่ต้องนำเทคโนโลยีมาสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้น เป็นข้าวไรซ์เบอรี่ หรือข้าวกข.43 อะไรเทือกนี้ เป็นต้น

ปัจจุบันประเทศไทยถือเป็นแหล่งผลิตอาหารของโลก ที่ใครๆ ก็รู้ เพราะไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม จึงมีผลผลิตมากมายที่จะนำมาพัฒนาให้กลายเป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม ที่สำคัญ...มูลค่าเพิ่มที่เพิ่มขึ้น จะส่งกลับมาให้ชุมชน มาให้ชาวไร่ ชาวนา เกษตรกร ซึ่งเป็นฐานรากของประเทศไทยอย่างแท้จริง นั่นหมายความว่าเมื่อฐานรากของประเทศเข้มแข็ง ประเทศก็ย่อมต้องเข้มแข็งตามไปด้วยเช่นกัน โดยเวลานี้รัฐบาลบิ๊กตู่ได้ไฟเขียวแผนแม่บทเศรษฐกิจชีวภาพปี 61-70 ไปแล้วโดยมีมูลค่าการลงทุนเกือบ 2 แสนล้านบาท ช่วยทำให้เกษตรกรไทยมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็นคนละ 85,000 บาท/ปี ยกระดับคุณภาพชีวิตให้เกษตรกรไทยอย่างน้อย 8 แสนครัวเรือน กันทีเดียว

C (Circulr Economy) หรือ เศรษฐกิจหมุนเวียน คือ การมุ่งสร้างมูลค่าสูงสุดจากทรัพยากรธรรมชาติ ควบคู่ไปกับการลดของเสียลงให้ได้มากที่สุด หรือทางที่ดีก็ให้เป็นศูนย์ หรือไม่มีของเสียเกิดขึ้นเลย โดยทำให้กระบวนการผลิตนั่นมีประสิทธิภาพมากที่สุด เช่นการนำน้ำเสีย ของเสีย จากกระบวนการผลิตไปผลิตสิ่งต่าง ๆ เพื่อลดต้นทุนการผลิต เช่น นำไปผลิตแอลกอฮอล์ ไปใช้เป็นปุ๋ย หรือการนำขยะเน่าเสียไปหมักให้เกิดก๊าซชีวภาพ แล้วนำมาใช้ในการหุงต้ม นำมาใช้เป็นพลังงาน  อะไรเหล่านี้ เป็นต้น ที่สำคัญการเดินหน้าเศรษฐกิจหมุนเวียน จะเป็นการลดปริมาณ “ขยะ” ของประเทศ ทำให้ไทยเป็นประเทศที่สะอาด ไม่มีของเสียอีกต่อไป และเทรนด์ของธุรกิจของทั้งโลกใบนี้ก็กำลังเดินหน้าเข้าสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนแทบธุรกิจก็ว่าได้เช่นกัน

สุดท้าย G (Green Economy) หรือ เศรษฐกิจสีเขียว หรือเศรษฐกิจที่พัฒนาด้วยความคำนึงถึงความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม การใช้ทรัพยากรที่เหมาะสม และการตระหนักถึงคุณค่า และรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากการใช้สารเคมี มาใช้สารชีวภาพชีวภัณฑ์ อะไรเทือกนี้ ซึ่งจะไม่ทำให้สิ่งแวดล้อมโลกเสียหายหรือไม่มีความสมดุล

เอาเป็นว่า...ถ้าว่ากันในทางทฤษฎีแล้ว โมเดลเศรษฐกิจใหม่ของบิ๊กตู่มีแต่เรื่องดี ๆ ทำให้คนไทยมีคุณภาพ มีศักยภาพ อยู่ดีกินดี ลืมตาอ้าปากได้แน่นอน แต่ในทางปฏิบัติแล้ว รัฐบาลของบิ๊กตู่จะสื่อสารให้คนไทยทั้งประเทศเข้าใจความหมายของโมเดลเศรษฐกิจใหม่ได้มากน้อยอย่างไรนี่สิ...ถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะอย่าลืมว่าทุกวันนี้…ถ้าให้พูดถึงเรื่องการสื่อสารของรัฐบาลแล้วยังแค่ครึ่งๆ กลางๆ ที่คนไทยจะเข้าใจ.

จาก https://www.dailynews.co.th  วันที่ 1 ตุลาคม 2561

พาณิชย์’หนุนใช้บล็อกเชน ยกระดับภาคเกษตร-แข่งขันตลาดโลก

 “พาณิชย์” เตรียมนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ โดยหนุนกลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่นำบล็อกเชนมาใช้ในการค้าข้าวอินทรีย์ พร้อมจับมือสถานทูตอังกฤษ ศึกษาความเป็นไปได้ในการนำบล็อกเชนมาใช้ในภาคธุรกิจไทย 2 โครงการ คือ การจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา ปรับปรุงกระบวนการชำระเงินในการส่งออก เพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้าและการแข่งขันในตลาดโลก

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค.ได้จัดให้มีการ Workshop เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ของข้าราชการและเอกชนไทย เกี่ยวกับเทคโนโลยี Blockchain (บล็อกเชน) ที่เข้ามามีบทบาท อย่างมากต่อเศรษฐกิจยุคใหม่ปัจจุบัน (New Economy)

โดยในปัจจุบันนี้เทคโนโลยีบล็อกเชนนั้น สามารถจะนำมาใช้ในการค้าได้อย่างหลากหลาย อาทิ การทำกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับ (traceability) การยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital ID) การบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา (IP) เชิงพาณิชย์ และการเงินเพื่อการค้าระหว่างประเทศ (Trade Finance) เป็นต้น ซึ่งการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้หลายอย่างเกี่ยวข้องกับงานที่กระทรวงพาณิชย์รับผิดชอบ

น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวเพิ่มเติมว่า สนค.ได้เล็งเห็นความเป็นไปได้ในการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาช่วยยกระดับภาคการเกษตร และการทำงานของกระทรวงพาณิชย์ จึงได้ขอการสนับสนุนจากสถานทูตอังกฤษ ประจำประเทศไทย เพื่อจัดทำโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ในภาคธุรกิจของประเทศไทย 2 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการ Blockchain เพื่อช่วยเรื่องการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา และ 2.โครงการ Blockchain for trade finance เพื่อปรับปรุงกระบวนการชำระเงินของผู้ประกอบการในการส่งออก ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสทางการค้าแก่ผู้ประกอบการ ลดขั้นตอนการทำงาน และเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการภาครัฐในอนาคต

นอกจาก 2 โครงการดังกล่าวข้างต้น สนค.กำลังหารือกับกลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ เพื่อทำ sandbox หรือ กระบวนการทดลองนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ในการค้าข้าวอินทรีย์ โดยเน้นการทำกระบวนการตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับ ซึ่งปกติกระบวนการตรวจรับรองมาตรฐานข้าวอินทรีย์ และการขออนุญาตส่งออกข้าว จะใช้เวลานานถึงประมาณ 15-20 วัน เพราะเอกสารซับซ้อน ต้องประสานกับหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน หากนำเทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาใช้ จะสามารถลดระยะเวลาได้เหลือเพียงไม่เกิน 3 วันเท่านั้น และยังช่วยเพิ่มความโปร่งใส ลดต้นทุนเกษตรกร ลดเวลา และเพิ่มความน่าเชื่อถือ หรือไว้ใจ (trust) ให้กับผู้นำเข้าข้าวอินทรีย์ของไทยในต่างประเทศได้อีกด้วย

“สนค.เชื่อว่า เทคโนโลยีสมัยใหม่หลายอย่าง เช่น เทคโนโลยีบล็อกเชน หากมีการนำมาใช้จะสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ตลอดจนเกษตรกรรายย่อย ที่เป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ ให้สามารถจะแข่งขันทางการค้าในตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งยังจะสามารถพัฒนาเศรษฐกิจการค้าในระดับท้องถิ่นให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืนอีกด้วย ซึ่ง สนค.เชื่อมั่นว่าเทคโนโลยีสมัยใหม่นี้ จะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจไทยได้อย่างแน่นอน” น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว

จาก https://www.naewna.com วันที่ 1 ตุลาคม 2561

อคส.เตรียมปรับโครงสร้าง เปลี่ยนชื่อเป็น “องค์การจัดการสินค้าเกษตร”

อคส. ผุดความคิด ปรับโครงสร้างองค์กร รองรับการบริหารงานในอนาคต ให้สอดคล้องภาระกิจที่แท้จริง พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็น “องค์การจัดการสินค้าเกษตร” ลดบทบาทแทรกแซงสินค้าเกษตร ด้านบอร์ด อคส. เห็นชอบ เตรียมชงครม.พิจารณา ก่อนแก้ไขกฎหมายต่อไป

พล.ต.ท.ไกรบุญ ทรวดทรง ประธานคณะกรรมการองค์การคลังสินค้า (บอร์ดอคส.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ดอคส.ได้เห็นชอบแผนการปรับโครงสร้างอคส. ที่จะต้องมีการเปลี่ยนชื่อองค์กรและปรับบทบาทภารกิจเพื่อให้สอดคล้องกับแผนธุรกิจในการสร้างรายได้ขององค์กร ซึ่งจะเน้นในเรื่องการบริหารคลังสินค้าให้เกิดรายได้เป็นหลักมาเลี้ยงองค์กร และลดบทบาทในการเป็นกลไกแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรตามนโยบายรัฐบาล โดยจะเสนอแผนการปรับโครงสร้างองค์กรให้นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ พิจารณาก่อนนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบภายในเดือนต.ค. 2561 นี้ หากครม.เห็นชอบก็จะนำเรื่องเข้าสู่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อแก้ไขพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การคลังสินค้า พ.ศ. 2498 ในการเปลี่ยนชื่อองค์และกำหนดบทบาทของอคส.ใหม่

“เรื่องแผนการปรับโครงสร้างองค์กร เพื่อปรับบทบาทโครงสร้างองค์กรตามแผนการสร้างรายได้ของอคส. ที่จะไม่เน้นบทบาทการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรเหมือนที่ผ่านมา เพราะอคส.ไม่ได้มีคลังสินค้าอยู่ทั่วประเทศ ทำให้มีการบริหารจัดการลำบากหากมีการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรที่ต้องไปเช่าโกดังกลางเข้ามาเก็บสินค้าเกษตรของรรัฐบาล และจะเกิดปัญหาเหมือนอดีตที่ผ่านมา”

สำหรับแผนการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ จะมีการเปลี่ยนชื่อจากองค์การคลังสินค้า เป็นองค์การจัดการสินค้าเกษตร และปรับบทบาทภารกิจในการนำคลังสินค้าที่อคส.มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์กับเกษตรกร เช่น คลังสินค้าทีอยู่พื้นที่จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดนครสวรรค์ จะให้เกษตรกรในพื้นที่มาใช้ประโยชน์ทำเป็นลานตากสินค้าเกษตร รวมทั้งจะเชื่อมโยงกับระบบการเกษตร โดยมีการจัดซื้อรถไถ รถเกี่ยวข้าว ฯลฯ มาไว้ในพื้นที่เพื่อให้เกษตรกรนำไปใช้ประโยชน์ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ซึ่งจะเป็นการลดต้นทุนให้เกษตรกร

ขณะที่รายได้ของอคส.ที่จะเกิดขึ้นหลังจากปรับโครงสร้างองค์กรแล้ว จะมาจากคลังสินค้าธนบุรี 1 เป็นคลังสินค้าที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ 19 ไร่ ติดแม่น้ำเจ้าพระยา โดยตามแผนจะนำมาเปิดร่วมทุนกับเอกชน (พีพีพี) ในการจัดทำเป็นแหล่งช็อปปิ้งแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ รูปแบบจะเหมือนกับเอเชียทีค ซึ่งกำลังทำเรื่องเสนอรมว.พาณิชย์ เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ตั้งเป้าว่าอคส.จะมีรายได้จากคลังสินค้าธนบุรี 1 ไม่ต่ำกว่าปีละ 1,000 ล้านบาท ถือเป็นรายได้ครอบคลุมกับการเลี้ยงทั้งองค์กร

“ที่มีปัญหาการเรียกค่าเสียหายข้าวสาร มีทั้งหมด 224 สัญญา ถ้าบริษัทไม่ยอมรับชดใช้ค่าเสียหาย ก็ต้องไปสู้กันที่ศาล ส่วนสต๊อกมันสำปะหลังและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จะมีการระบายออกให้กับเจ้าของโกดัง และเรียกค่าเสียหายทางแพ่งด้วยเช่นกัน” พล.ต.ท.ไกรบุญ กล่าว

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 1 ตุลาคม 2561

ค่าเงินบาทแข็งค่า เหตุนักลงทุนต่างชาติยังคงลงทุนพันธบัตร-หุ้นไทยต่อ

ค่าเงินบาทแข็งค่าในกรอบการเคลื่อนไหวที่ 32.20-32.40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เหตุนักลงทุนต่างชาติยังคงลงทุนพันธบัตร-หุ้นไทยต่อ

ผู้สื่อข่าวรายงานค่าเงินบาท วันที่ 1 ต.ค. 2561 ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ 32.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากระดับปิดเมื่อวันศุกร์ (28 ก.ย.) ที่ 32.32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ล่าสุดค่าเงินบาทซื้อขายอยู่ที่ระดับ 32.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ด้านนักวิเคราะห์ค่าเงินบาทธนาคารซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า ค่าเงินบาทวันนี้ มีทิศทางแข็งค่าขึ้นในกรอบการเคลื่อนไหวที่ 32.20-32.40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยมาจากปัจจัยหลักที่นักลงทุนต่างชาติยังคงเข้ามาลงทุนในพันธบัตรและหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง โดยวันนี้ให้กรอบการเคลื่อนไหวที่แนวรับ 32.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่แนวต้านให้ไว้ที่ 32.40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 1 ตุลาคม 2561