http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล(เดือนตุลาคม 2562)

ธ.ก.ส.ลุยจ่ายเงินเกษตรกร 1 พ.ย.นี้

ธ.ก.ส.จ่ายเงิน 4.8 แสนล้านบาทปลุกเศรษฐกิจฐานรากช่วง 6 เดือน ดีเดย์แจกเงินประกันรายได้สวนยางวันแรก 5.2 หมื่นราย 176 ล้านบาท

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า วันนี้  (1 พ.ย.2562 )ธนาคารจะโอนเงินงวดแรก ผ่านบัญชี ธ.ก.ส.ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา จำนวน 52,000 ราย เป็นเงิน 176 ล้านบาท ตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งมีเป้าหมายเกษตรกรชาวสวนยางทั้งเจ้าของสวนและคนกรีดอย่างรวมกว่า 1.7 ล้านราย วงเงินรวม 23,472 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 3 งวด นอกจากนี้ ในส่วนโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปี 2562 /63 วงเงิน 20,940 ล้านบาท เป้าหมายเกษตรกร 4.31 ล้านราย ได้โอนเงินรอบที่หนึ่งไปแล้วทั้งสิ้น 349,300 ครัวเรือน เมื่อวันที่ 15 ต.ค.ที่ผ่านมา รวมเป็นเงินกว่า 9,411 ล้านบาท

ส่วนโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562 /63 ในอัตราไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ วงเงิน 24,810 ล้านบาท เป้าหมายเกษตรกร 4.31 ล้านครัวเรือน โอนไปแล้ว 3.99 ล้านครัวเรือน หรือ 98% ของผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด เป็นเงิน 23,929 ล้านบาท มีเพียงเกษตรกรในภาคใต้ซึ่งฤดูกาลปลูกล่าช้ากว่าพื้นที่อื่นคาดว่าจะโอนเงินให้แล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2563

 ขณะที่โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันปี 2562 -2563 วงเงิน 13,000 ล้านบาท เป้าหมายเกษตรกร 263,107 ครัวเรือน โอนเงินรอบแรกไปเมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา จำนวน 254,667 ครัวเรือน คิดเป็นเงิน 1,351 ล้านบาท โดยแบ่งจ่ายเป็น 8 งวด ทุกๆ 45 วัน รวมเม็ดเงินที่ธนาคารได้กระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากไปแล้ว ทั้ง 4 โครงการ กว่า 34,600 ล้านบาท อย่างไรก็ตามมาตรการเป็นโครงการระยะสั้น ที่กระตุ้นราคาตลาดให้ปรับตัวสูงขึ้นเท่านั้น แต่ทางธนาคารได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนช่องทางตลาดระยะยาว และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนในระยะยาวด้วย

นายอภิรมย์ กล่าวว่า ในช่วง 6 เดือนจากนี้ นอกจากวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากตามนโยบายรัฐบาลประมาณ 8 หมื่นล้านบาท ยังมีเม็ดเงินปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าของธนาคาร อีกประมาณ 4 แสนล้านบาท รวมเป็น 4.8 แสนล้านบาท ที่จะอัดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ โดยคาดว่าเม็ดเงินส่วนนี้จะสะพัดในเศรษฐกิจฐานรากเพิ่มขึ้นอีก 2.5 เท่า คิดเป็นเงิน 1.2 ล้านล้านบาท ตามที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประเมินไว้

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 31 ตุลาคม 2562

จุรินทร์” ประธานถกอาเซียน ติดตาม 13 ประเด็นเศรษฐกิจที่ไทยผลักดัน มั่นใจสำเร็จหมดปีนี้

“จุรินทร์” ประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ติดตามความคืบหน้า 13 ประเด็นเศรษฐกิจที่ไทยผลักดัน มั่นใจทุกประเด็นสำเร็จทั้งหมดภายในปีนี้ เผยอาเซียนได้ลงนามพิธีสารปรับปรุงกลไกระงับข้อพิพาทที่ใช้มากว่า 10 ปี คาดช่วยแก้ไขปัญหาข้อพิพาทในอาเซียนได้ดีขึ้น

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Council) ครั้งที่ 18 ว่าวันนี้เป็นการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนนัดสุดท้ายที่ไทยเป็นเจ้าภาพ โดยที่ประชุมได้ยินดีและรับทราบความคืบหน้าประเด็นด้านเศรษฐกิจที่ไทยผลักดันทั้ง 13 ประเด็น โดยมั่นใจว่าจะสามารถผลักดันไปสู่ความสำเร็จครบทั้ง 13 ประเด็นภายในสิ้นปีนี้ และจะรายงานความคืบหน้าต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียนต่อไป

สำหรับประเด็นด้านเศรษฐกิจทั้ง 13 ประเด็น ได้แก่ 1. แผนงานด้านดิจิทัลของอาเซียน 2. แผนงานในการส่งเสริมนวัตกรรมอาเซียน 3. การเตรียมการสำหรับการพัฒนาแรงงานเพื่อรองรับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 คือเรื่องของการใช้แรงงานพัฒนาแรงงานคนเพื่อรองรับการใช้เครื่องจักร การใช้นวัตกรรมใหม่ในการผลิต 4. การเดินหน้าไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 5. การเตรียมการที่จะนำ SME ไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล เช่น การค้าออนไลน์ เป็นต้น

6. การดำเนินการในเรื่อง ASEAN Single Window การนำเข้าส่งออกระหว่างประเทศอาเซียนด้วยกันที่ต้องมีการอำนวยความสะดวกโดยใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ และไม่ซ้ำซ้อน ทำให้การส่งออกระหว่างการคล่องตัวยิ่งขึ้น 7. เรื่องการผลักดันให้มีการใช้เงินสกุลท้องถิ่นค้าขายระหว่างกันในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นรูปธรรมแล้วอย่างน้อย 3 คู่ คือ ไทย-ฟิลิปปินส์ ไทย-อินโดนีเซีย และไทย-มาเลเซีย ภายใต้ความร่วมมือของแบงก์ชาติของไทยกับธนาคารพาณิชย์ของ 3 ประเทศ

8. การเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในระบบที่เรียกว่า PPP 9. การร่วมมือกันระหว่างอาเซียนในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหาร คือ การใช้อาหารส่งเสริมการท่องเที่ยว 10. การแสดงเจตจำนงค์ร่วมกันผลักดันให้ RCEP ซึ่งอาเซียนเป็นศูนย์กลางของ RCEP จบภายในสิ้นปีนี้ 11. การผลักดันเครือข่าย IUU ของอาเซียน คือ การทำประมงอาเซียนที่มุ่งเน้นในเรื่องของการสร้างความยั่งยืน 12. การส่งเสริมตลาดทุนของอาเซียนในประเทศต่างๆ โดยเมื่อจะรับบริษัทเข้าไปจดทะเบียน ต้องคำนึงถึงเป้าหมายของบริษัทนั้นๆ ที่มุ่งเน้นความยังยืน เช่น สิ่งแวดล้อม เป็นต้น และ 13. การผลักดันให้มีการลงนาม ศูนย์พลังงานอาเซียนระหว่างมหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิงชีวภาพ

นอกจากนี้ ได้ให้การรับรองแผนการดำเนินงานตามกรอบการบูรณาการด้านดิจิทัลของอาเซียน ปี 2562-2568 ซึ่งครอบคลุมการดำเนินงาน 6 ด้าน ได้แก่ (1. การอำนวยความสะดวกทางการค้า (2. การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลพร้อมกับการส่งเสริมการค้าดิจิทัลและนวัตกรรม (3. การส่งเสริมการชำระเงินดิจิทัล (4. การพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล (5. การส่งเสริมวิสาหกิจ และ (6. กลไกความร่วมมือ

ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ได้มีการลงนามพิธีสารกลไกระงับข้อพิพาทด้านเศรษฐกิจของอาเซียน ซึ่งเป็นการปรับปรุงกลไกระงับข้อพิพาทที่ใช้มากว่า 10 ปี ตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งจะทำให้เกิดความชัดเจนในขั้นตอนกระบวนการต่างๆ เมื่อมีข้อพิพาทเกิดขึ้นระหว่างสมาชิกอาเซียน เช่น การระบุชัดเจนในเรื่องขั้นตอน ระยะเวลาฟ้องร้องว่าใช้ระยะเวลากี่วัน การพิจารณาคดีจะต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นในช่วงระยะเวลาเท่าไร อย่างไร และมีการเพิ่มกลไกทางเลือกให้คู่พิพาทเลือกได้ เช่น อาจไม่ต้องไปสู่คณะลูกขุน แต่ใช้อนุญาโตตุลาการได้ เป็นต้น รวมทั้งเปิดโอกาสให้สำนักเลขาธิการอาเซียนสามารถให้คำปรึกษาด้านกฎหมายกับผู้พิพาท รวมทั้งประเทศที่ยังมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับความสนับสนุนช่วยเหลือ เช่น กัมพูชา สปป.ลาว พม่า ก็จะได้รับการดูแลเป็นพิเศษในเรื่องข้อกฎหมาย แนวทางการปฏิบัติต่างๆ

จาก https://mgronline.com  วันที่ 31 ตุลาคม 2562

ก.เกษตรฯเตรียมพร้อมรับมือภัยแล้งปี’63

ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยหลังตรวจเยี่ยมการปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือที่เขื่อนแม่กวงอุดมธารา ต.ลวงเหนือ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตร รายงานภารกิจปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อป้องกันและแก้ปัญหาภัยแล้ง เติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนกักเก็บน้ำ บรรเทาปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และฝุ่นละอองขนาดเล็ก รวมทั้งยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บ ตามแผนปฏิบัติการฝนหลวงประจำปี 2562 โดยศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำภาคทั้ง 5 ศูนย์ฯ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม- 24 ตุลาคม ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง มีวันฝนตกจากการปฏิบัติการ คิดเป็นร้อยละ 89 และขึ้นบินปฏิบัติงาน 6,139 เที่ยวบิน ผลปฏิบัติการทำให้มีฝนตกรวม 59 จังหวัด พื้นที่ประสบภัยแล้งได้รับการช่วยเหลือ คิดเป็นร้อยละ 78.04 และเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนขนาดใหญ่ 2,923.22 ล้าน ลบ.ม. และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 43.21 ล้าน ลบ.ม. ทำให้มีปริมาณน้ำสะสม 2,966.43 ล้าน ลบ.ม. นอกจากนี้ ยังหารือรมว.เกษตรฯถึงแนวทางแก้ปัญหาบุคลากรของกรมฝนหลวงฯ และรายงานนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกฯเห็นควรให้ปรับโครงสร้างกำลังคน และจัดซื้อยุทโธปกรณ์ทดแทน ซ่อมแซมยุทโธปกรณ์ที่ชำรุดเสียหาย

สำหรับภาพรวมปัญหาภัยแล้งปีนี้ เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนมีปริมาณน้อย กระทรวงเกษตรฯ เตรียมรับมือไว้แล้ว โดยโครงการต่างๆ ของกรมชลประทาน อีกทั้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีสั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมรับสถานการณ์ภัยแล้งปี 2563 และรณรงค์ทุกภาคส่วนให้ความรู้แก่เกษตรกร ประชาชน ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใช้น้ำอย่างประหยัด หรือการปลูกพืชใช้น้ำน้อย

ด้านนายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันกรมฝนหลวงฯ ยังตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 18 หน่วยปฏิบัติการกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ได้แก่ เชียงใหม่ พิษณุโลก ตาก ลพบุรี กาญจนบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น สุรินทร์ ระยอง สุราษฎร์ธานี และสงขลา อีกทั้ง ยังมีฐานเติมสารฝนหลวง 3 ฐาน ได้แก่ สระแก้ว บุรีรัมย์ และนครสวรรค์ มีอากาศยาน 28 ลำ และอากาศยานของกองทัพบก 1 ลำ เดินหน้าช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง และพื้นที่ที่ต้องการน้ำด้านการเกษตรช่วงปลายฤดูฝน รวมทั้งเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อน/อ่างเก็บน้ำ 20 แห่ง ได้แก่ เขื่อนภูมิพลเขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนแม่มอก เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนกระเสียว เขื่อนทับเสลา เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนลำตะคอง เขื่อนลำแชะเขื่อนลำนางรอง เขื่อนมูลบน อ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก อ่างเก็บน้ำคลองสียัด อ่างเก็บน้ำประแสร์ อ่างเก็บน้ำบางวาด อ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ อ่างเก็บน้ำป่าพะยอม และอ่างเก็บน้ำคลองหัวช้าง

จาก https://www.naewna.com วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2562

เกษตรฯ เร่งแจงเหตุผลเสนอยกเลิกสารเคมี 3 ชนิดและมาตรการรองรับ

รมว.เกษตรฯ สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งตอบข้อซักถามผู้แทนเกษตรกรพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิด ถึงเหตุผลที่ส่งหนังสือสรุปมติคณะทำงาน 4 ฝ่าย ซึ่งปรับสถานะสารเคมีการเกษตร 3 ชนิดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ไปยังคณะกรรมการวัตถุอันตรายจนนำไปสู่การยกเลิกใช้ รวมทั้งแจงมาตรการรองรับและช่วยเหลือเกษตรกรที่เดือดร้อนจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและคณะทำงานพิจารณาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกใช้สารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิด ซึ่งมีปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธานทำหนังสือตอบข้อซักถามของกลุ่มเกษตรกรพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิด ได้แก่ อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ข้าวโพด และไม้ผล

ทั้งนี้ กลุ่มเกษตรกรได้ยื่นข้อเรียกร้องให้กระทรวงเกษตรฯ เปิดเผยเอกสารฉบับเต็มของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ลงนามโดย รมว. เกษตรฯ ใช้ประกอบวาระการประชุมของคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 จนนำไปสู่การลงมติยกเลิกการใช้สารเคมีตามคำแถลงของคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่ว่า “กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รายงานว่าได้มีการพิจารณาข้อมูลวิธีการและสารทางเลือกในการจัดการวัชพืช ต้นทุนของวิธีการและสารทางเลือก ข้อมูลสารทดแทนคลอร์ไพริฟอส ปริมาณสารที่คงเหลือปัจจุบัน ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เห็นว่าสามารถบริหารจัดการ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการปฏิบัติได้ หากยกเลิกการใช้วัตถุอันตรายทั้ง 3 รายการ”

สำหรับหนังสือดังกล่าวเป็นมติของคณะทำงาน 4 ฝ่ายที่แต่งตั้งตามบัญชาของนายกรัฐมนตรีที่ให้ผู้แทนภาครัฐ เกษตรกร ผู้บริโภค และผู้นำเข้าสารเคมี ซึ่งนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรฯ เป็นประธานในการประชุมเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2562 ซึ่งนางสาวมนัญญาได้เสนอมติให้ รมว.เกษตรฯ รับทราบเพื่อส่งไปยังคณะกรรมการวัตถุอันตราย

นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการ สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย กล่าวว่า เกษตรกรผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิดต้องการให้กระทรวงเกษตรฯ แสดงความโปร่งใสในการดำเนินการเรื่องดังกล่าว โดยเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับแนวทางการบริหารจัดการวัตถุอันตรายที่อยู่ที่เกษตรกรหลังวันที่ 1 ธันวาคม 2562 มาตรการและรายละเอียดเกี่ยวกับสารทดแทนวิธีการทดแทน วิธีการทางเลือก ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์นำเสนอให้เกษตรกรไทยปฏิบัติตาม เมื่อมีการยกเลิกการใช้สารเคมี ตลอดจนรายละเอียด ค่าชดเชย หรือมาตรการการเยียวยาเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกการใช้สารเคมี แนวทางการรับฟังความคิดเห็นร่างประกาศกระทรวงว่าด้วยบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย ตลอดจนวิธีการและช่องทางที่เปิดโอกาสให้มีการรับฟังความคิดเห็นของเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึงเนื่องจากเกษตรกรหลายรายไม่สามารถเข้าถึงการรับฟังความเห็นโดยผ่านช่องทางเว็บไซต์

“กลุ่มเกษตรกรขอให้กระทรวงเกษตรฯ เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวภายใน 7 วันตามสิทธิ์ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 59 ที่ว่า รัฐต้องเปิดเผยข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วยงานของรัฐ ที่มิใช่ข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐหรือเป็นความลับของทางราชการตามที่กฎหมายบัญญัติ และต้องจัดให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารดังกล่าวโดยสะดวก เนื่องจากเกษตรกรจำนวนมากไม่เห็นด้วยต่อมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายในการยกเลิกใช้สารเคมี 3 ชนิด เพราะจะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ผลผลิตตกต่ำ และรายได้ไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ” นายสุกรรณ์ กล่าว

นายสุกรรณ์ กล่าวต่อว่า ขอเรียกร้องกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ดำเนินการลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อเกษตรกร โดยใช้สถานที่ราชการทั่วประเทศจัดกิจกรรมรับฟังความคิดเห็นต่อร่างประกาศกระทรวงว่าด้วยบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย เพื่อให้เกษตรกรสามารถมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงและชะลอกระบวนการร่างประกาศกระทรวงว่าด้วยบัญชีรายชื่อวัตถุอันตรายออกไป จนกว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะสามารถชี้แจงได้ว่า มีมาตรการรองรับเพื่อเยียวยาเกษตรกร โดยต้องเป็นมาตราการที่เกษตรกรยอมรับ

จาก https://tna.mcot.net วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2562

KTISจับมือทุนจีนตั้งโรงงาน ผลิตภาชนะจากเยื่อชานอ้อยดีเดย์ปี’63

นายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนลชูการ์ คอร์ปอเรชั่น หรือกลุ่ม KTIS เปิดเผยว่าตามที่กลุ่ม KTIS ได้ตั้งบริษัท เอ็นไวรอนเม็นท์พัลพ์ แอนด์ แพ็คเกจจิ้ง เพื่อดำเนินโครงการผลิตภาชนะจากเยื่อชานอ้อยเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยร่วมลงทุนกับ บริษัท ยูเรเซีย ไลท์ อินดัสตรี อีควิปเม้นท์ แมนูแฟคเจอริ่ง จากประเทศจีน ในสัดส่วน กลุ่ม KTIS 85%และ ยูเรเซียฯ 15% นั้น ขณะนี้ได้เริ่มการก่อสร้างโรงงานซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดนครสวรรค์ แล้ว ขณะเดียวกัน ก็ได้เร่งกระบวนการคัดสรรเครื่องจักรที่เหมาะสมสำหรับผลิตภาชนะจากเยื่อชานอ้อยได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ผลิตได้หลากหลายรูปทรง และมีคุณภาพสูง

ภาชนะจากเยื่อชานอ้อยที่โรงงานใหม่สามารถผลิตได้นั้นมีหลากหลายรูปแบบ เช่น จาน ถ้วย ชามหลุม กล่องใส่อาหาร เป็นต้น โดยมีกำลังการผลิต 50 ตันต่อวัน เทียบเท่ากับจำนวนภาชนะประมาณ 3 ล้านชิ้นต่อวัน ใช้เงินลงทุนประมาณ 1,300 ล้านบาท ถือเป็นโรงงานขนาดใหญ่ในสายธุรกิจชีวภาพของกลุ่ม KTIS อีกโรงงานหนึ่ง นอกเหนือจากโรงงานผลิตเอทานอล โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวล และโรงงานผลิตเยื่อกระดาษชานอ้อย โดยคาดว่าโรงงานใหม่นี้จะเริ่มผลิตและจำหน่ายสินค้าสู่ตลาดได้ภายในปี 2563 ซึ่งจะทำให้สัดส่วนรายได้ของสายธุรกิจชีวภาพเติบโตขึ้นมาในระดับที่ใกล้เคียงกับรายได้จากสายธุรกิจน้ำตาล อันจะช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนของราคาน้ำตาลได้เป็นอย่างดี จากปัจจุบันที่กลุ่ม KTIS มีรายได้จากสายธุรกิจน้ำตาลประมาณ 64% และสายธุรกิจชีวภาพ 36%

“เรามั่นใจมากว่า โรงงานผลิตภาชนะชานอ้อยนี้จะมีศักยภาพในการทำรายได้และกำไรที่ดี เนื่องจากปัจจุบันกระแสรักสิ่งแวดล้อมมาแรงมาก ความต้องการใช้ภาชนะที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ดูได้จากการผลิตภาชนะชานอ้อยที่ปัจจุบันกลุ่ม KTIS มีสายการผลิตอยู่ที่โรงงานของบริษัท เอ็นไวรอนเม็นท์พัลพ์ แอนด์ เปเปอร์ กำลังการผลิตประมาณ 2 ตันต่อวัน หรือประมาณ 100,000 ชิ้นต่อวันนั้น แม้จะใช้เต็มกำลังการผลิต ก็ยังไม่สามารถรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วได้” นายณัฎฐปัญญ์กล่าว

จาก https://www.naewna.com วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2562

แล้งถาโถม! สทนช.เปิดพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้-ทำเกษตร

สทนช. ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงขาดน้ำอุปโภค-บริโภคและการเกษตร เตรียมพร้อมจัดการแล้ง-ท่วมเดินหน้าเต็มกำลัง  ขณะที่ ครม. เห็นชอบ 5 มาตรการ รับมือใต้เสี่ยงท่วมจากฝนตกหนัก ต.ค.–พ.ย.62 และ 15 มาตรการบริหารน้ำฤดูแล้ง 2562/63

 ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เผยพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค แบ่งเป็น ในเขตพื้นที่ให้บริการของ กปภ. ซึ่งประเมินพบ 42 สาขา 56 อำเภอ ใน 22 จังหวัด เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำ ประกอบด้วย เหนือ 7 จังหวัด 19 อำเภอ 12 สาขา ได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง พะเยา เชียงราย นครสวรรค์ พิจิตร เพชรบูรณ์ อีสาน 10 จังหวัด 32 อำเภอ 25 สาขา ได้แก่ นครราชสีมา ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ชัยภูมิ ขอนแก่น อุดรธานี หนองบัวลำภู เลย สกลนคร บุรีรัมย์ ตะวันออก 1 จังหวัด 1 อำเภอ 1 สาขา ได้แก่ ชลบุรี  ใต้ 4 จังหวัด 4 อำเภอ 4 สาขา ได้แก่ พังงา ภูเก็ต นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี โดยขณะนี้ กปภ. ได้เตรียมมาตรการรับมือแล้ว อาทิ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ พร้อมวางท่อเพื่อเข้าสู่ระบบผลิต เจาะบ่อบาดาล ฯลฯ ขณะที่พื้นที่นอกเขตบริการ ซึ่งอาจประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค 38 จังหวัด แบ่งเป็น เหนือ 16 จังหวัด อีสาน 7 จังหวัด กลาง 10 จังหวัด ตะวันออก 3 จังหวัด ตะวันตก 2 จังหวัด

ขณะที่พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร แบ่งเป็น ในเขตชลประทานและนอกเขตชลปะทาน ซึ่งจากการประเมินสภาพอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ พบว่า มี 25 แห่ง คาดว่าปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตร ได้แก่ 1) อ่างฯ มีปริมาณน้ำไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนการเพาะปลูก 5 แห่ง อาทิ กระเสียว ทับเสลา  อุบลรัตน์ ลำนางรอง และจุฬาภรณ์ 2) ปริมาณน้ำเพียงพอเพื่อการเกษตรต่อเนื่อง ได้แก่ พืชไร่ พืชผัก ไม้ผล  ไม้ยืนต้น จำนวน 9 แห่ง อาทิ ภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยฯ ป่าสักฯ แม่กวงฯ แม่มอก มูลบน ลำพระเพลิง คลองสียัด

3) ปริมาณน้ำเพียงพอเพื่อการเกษตรนาข้าวรอบที่ 2 บางพื้นที่ 9 แห่ง อาทิ แม่งัดฯ กิ่วลม กิ่วคอหมา น้ำอูนน้ำพุง ลำตะคอง ลำแชะ บางพระ ประแสร์ และอ่างฯ ขนาดกลางมีปริมาณน้ำน้อยกว่าร้อยละ 30 ของความจุ กระทบต่อพื้นที่การเกษตร จำนวน 50 แห่ง อยู่ในภาคเหนือ 17 แห่ง อีสาน 28 แห่ง กลาง 1 แห่ง ตะวันออก 3 แห่ง ตะวันตก 1 แห่ง ใต้ 4 แห่ง ขณะที่พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรนอกเขตชลประทาน ฤดูแล้ง 62/63

โดยกรมทรัพยากรน้ำ พบ 20 จังหวัด 109 ตำบล ประกอบด้วย เหนือ 9 จังหวัด 84 ตำบล อาทิ เชียงราย อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ พิษณุโลก พิจิตร อีสาน 8 จังหวัด 16 ตำบล อาทิ ยโสธร ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด  นครราชสีมา กลาง 2 จังหวัด 7 ตำบล ได้แก่ ลพบุรี สุพรรณบุรี ตะวันตก 1 จังหวัด 2 ตำบล ได้แก่ กาญจนบุรี ซึ่งขณะนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับทราบข้อมูลปริมาณน้ำที่สามารถจัดสรรได้เพื่อนำไปใช้วางแผนการเพาะปลูกพืช ฤดูแล้งปี 62/63 และประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้เกษตรกรโดยเร่งด่วนแล้ว

“สทนช. ได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานด้านน้ำที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยอย่างเต็มที่ โดยกำหนดมาตรการครอบคลุมรอบด้าน เพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ ทั้งอุทกภัยจากฝนตกหนักในพื้นที่ภาคใต้ในช่วงปลายปีนี้ และฤดูแล้งปี 62/63 ที่กำลังจะมาถึง โดยขณะนี้ ครม. ได้มีมติเห็นชอบต่อมาตรการที่เสนอพิจารณาแล้ว ซึ่ง สทนช. จะดำเนินการขับเคลื่อนทุกมาตรการอย่างเร่งด่วนในทันที เพื่อสามารถช่วยป้องกันปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนเสียหายแก่ประชาชนจากภัยแล้งและน้ำท่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ” เลขาธิการ สทนช. กล่าว  

อนึ่ง ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ 5 มาตรการหลักป้องกันผลกระทบจากสถานการณ์น้ำหลากและอุทกภัยจะเริ่มเกิดขึ้นบริเวณทางภาคใต้ ในช่วงเดือน ต.ค. 62 – ธ.ค. 62 ตามที่ สทนช. เสนอ ได้แก่ 1) ตรวจสอบสภาพอาคารบังคับน้ำ ระบบป้องกันน้ำท่วม ระบบระบายน้ำ ตลอดจนสถานีโทรมาตร ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ให้มีความพร้อมใช้งาน 2) ตรวจสอบสิ่งกีดขวางทางน้ำ และบริหารจัดการน้ำหลากของอ่างเก็บน้ำ โดยใช้เกณฑ์ปฏิบัติการ (Rule Curve) ที่ได้ปรับปรุงใหม่ เพื่อช่วยป้องกันและลดผลกระทบน้ำท่วม

3) สำรวจแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์วิกฤติ พร้อมทั้งจัดทำแผนการบริหารจัดการน้ำหลากเป็นไปอย่างเหมาะสม และมีการปรับเปลี่ยนไปตามแนวโน้มสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น 4) วางแผนด้านเครื่องจักรและเครื่องมือในการให้ความช่วยเหลือ พร้อมจัดทำแผนการเคลื่อนย้ายเครื่องจักร เครื่องมือ สนับสนุนในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย และ 5) ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้กับหน่วยงานและประชาชนในพื้นที่เสี่ยง

ขณะเดียวกัน ครม. ยังเห็นชอบให้หน่วยงานเกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) และหน่วยงานท้องถิ่น ดำเนินการเชิงป้องกันการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฤดูแล้ง 62/63 ตามที่ สทนช. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำล่วงหน้า ประกอบด้วย 15 มาตรการหลัก ครอบคลุม 4 ด้าน ได้แก่ ด้านน้ำต้นทุน 4 มาตรการ คือ 1) จัดทำแผนสำรองน้ำ/แหล่งน้ำสำรอง/ขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำดิบ ทำนบดินชั่วคราวปิดกั้นลำน้ำในพื้นที่เหมาะสม ขุดลอกลำน้ำที่มีสภาพตื้นเขิน รวมถึงดึงน้ำจากแหล่งน้ำใกล้เคียง2) ปฏิบัติการฝนหลวงเติมน้ำในแหล่งน้ำและพื้นที่เกษตร 3) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับด้านการบริหารจัดการน้ำกำหนดปริมาณน้ำจัดสรรในฤดูแล้งให้ชัดเจน และแจ้งให้กระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบแผน

4) จัดทำทะเบียนผู้ใช้น้ำจากแหล่งน้ำ เพื่อตรวจสอบข้อมูลแหล่งน้ำ และเป็นข้อมูลในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ด้านความต้องการใช้น้ำ 7 มาตรการ แบ่งออกเป็น อุปโภค-บริโภค คือ 1) ทุกภาคส่วนควบคุมการใช้น้ำของพื้นที่ตอนบนให้เป็นไปตามแผนไม่ให้กระทบต่อน้ำอุปโภคบริโภคของพื้นที่ตอนล่าง 2) ควบคุมการผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างให้เป็นไปตามแผน เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในด้านอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ คือ 1) การควบคุมการปล่อยน้ำเสียจากภาคอุตสาหกรรมและชุมชน ลงสู่แหล่งน้ำ เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำดีไล่น้ำเสีย

2) ติดตามเฝ้าระวังคุณภาพน้ำที่สถานีสูบน้ำดิบสำแล ปทุมธานี อย่างใกล้ชิด 3) ควบคุมและขึ้นทะเบียนการเลี้ยงปลากระชังในแหล่งน้ำและลำน้ำ 4) สำรวจ ตรวจสอบ ถนนที่เชื่อมต่อกับทางน้ำในพื้นที่อ่อนไหวต่อการทรุดตัวของคันคลองเนื่องจากระดับน้ำลดต่ำกว่าปกติเพื่อการเกษตร และการเกษตร โดยวางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง จัดทำทะเบียนผู้ปลูกพืช โดยระบุพื้นที่เพาะปลูก และแหล่งน้ำที่นำมาใช้ให้ชัดเจน เพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน

ด้านการติดตามประเมินผล 3 มาตรการ คือ 1) ติดตาม ควบคุมการจัดสรรน้ำให้เป็นไปตามแผน 2) สทนช. ติดตาม วิเคราะห์ ประเมินสถานการณ์และกิจกรรมการใช้น้ำร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด 3) หน่วยงานที่รับผิดชอบพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำทุกกิจกรรม ติดตาม เฝ้าระวัง และรายงานเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง ในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ และ ด้านการเตรียมการและสร้างการรับรู้ สทนช. รับหน้าที่ประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ให้หน่วยงาน คณะกรรมการลุ่มน้ำ และประชาชนทราบอย่างต่อเนื่อง

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2562

'พาณิชย์' งัด 7 มาตรการรับระงับ 'จีเอสพี'

"พาณิชย์" เปิด 7 มาตรการรับมือระงับจีเอสพีสหรัฐ พร้อมแจงแผนถกสหรัฐหวังได้คืนสิทธิ ทั้งถกนอกรอบช่วงประชุมอาเซียนและกรอบความร่วมมือสองฝ่ายไทย-สหรัฐ

หลังนายดีโดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ประกาศระงับการสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรหรือจีเอสพีแต่ไทย ซึ่งให้มานานตั้งแต่ปี 2519 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันแม้ก่อนหน้านี้จะมีการยกเลิกไปบ้างแล้วหลายรายการแต่ก็มีบางช่วงที่คืนสิทธิให้ ซึ่งการระงับการให้สิทธิในครั้งนี้ แม้จะดูเป็นเรื่องปกติมีหลักการและเหตุผลรองรับแต่เป็นการตัดสินใจประกาศในช่วงเวลาที่ไม่ปกติ

นายกีรติ รัชโน ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยถึงกรณีที่สหรัฐฯ ประกาศระงับการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี)สินค้าไทยชั่วคราว มีผลในอีก6เดือนข้างหน้าว่ากระทรวงพาณิชย์ จะเร่งเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อขอคืนสิทธิโดยเร็วที่สุด ซึ่งไทยจะไม่ใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้าแน่นอน

คาดว่า จะหารือกับสหรัฐฯในระหว่างการประชุมอาเซียนซัมมิต ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพในเดือนพ.ย.นี้ เพราะสหรัฐฯจะเดินทางมาเข้าร่วมประชุมอาเซียนในฐานะคู่เจรจาด้วย รวมทั้งจะเจรจาภายใต้กรอบความตกลงการค้าและการลงทุนไทย-สหรัฐฯ (ทิฟา) ด้วย

“หลังประชุมอาเซียนซัมมิต อาจพอมีเวทีคุยกันได้เบื้องต้น โดยสำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. แจ้งมาแล้วว่าจะให้เราจัดคณะไปคุยกับสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (ยูเอสทีอาร์) ก็ได้ หรือจะให้เขามาคุยที่ไทยก็ได้ ซึ่งการเจรจาจะทำความเข้าใจให้ดีที่สุด เพราะมีหลายมิติที่ต้องดู ไม่ใช่เรื่องการค้าอย่างเดียว แต่มีประเด็นแรงงานด้วย”

อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่าการให้สิทธิจีเอสพีเป็นการให้เพียงฝ่ายเดียวของสหรัฐฯ ที่ให้กับประเทศกำลังพัฒนา ที่เข้าตามเงื่อนไขที่สหรัฐฯกำหนด และมีหลักในการทบทวนการให้สิทธิอยู่แล้ว เช่น ระดับการพัฒนาประเทศ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การคุ้มครองสิทธิแรงงาน

ที่ผ่านมา สหรัฐฯมีทั้งตัดสิทธิและคืนสิทธิสินค้าให้ไทยมาอย่างต่อเนื่อง อย่างในปี 2561 ได้ตัดสิทธิสินค้าไทย และปี 2562 ก็เพิ่งจะคืนสิทธิให้ 7 รายการ ได้แก่ เลนส์แว่นตา, เห็ดทรัฟเฟิล, กล้วยไม้, ปลาดาบ, หนังดิบ, โกโก้และเครื่องดื่มช็อคโกแลต และเครื่องประกอบแรงดันไฟฟ้า

สำหรับการตัดสิทธิสินค้าไทยครั้งนี้รวม 573 รายการนั้นไทยจะสูญเสียมูลค่าการได้รับสิทธิไปทั้งหมด40,000ล้านบาท เพราะต้องเสียภาษีนำเข้าอัตราปกติ (MFN Rate)เฉลี่ย4.5%คิดเป็นมูลค่าไม่เกิน1,800ล้านบาท จากเดิมที่ไม่เสียภาษีเลย โดยกลุ่มสินค้าที่ถูกเก็บอัตราภาษีสูงสุด คือ เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร และเครื่องครัวเซรามิก ที่26%ส่วนสินค้าที่ถูกเรียกเก็บอัตราภาษีต่ำสุด คือ เคมีภัณฑ์ ที่0.1%

นายกีรติ กล่าวว่า การตัดจีเอสพีไทยครั้งนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับกรณีที่ไทยประกาศห้ามใช้สารเคมีอันตราย 3 ชนิด เพราะสหรัฐฯได้ส่งสัญญาณมาระยะหนึ่งแล้วว่าจะประกาศการตัดสิทธิไทยในช่วงปลายเดือนต.ค. หรือต้นเดือนพ.ย.นี้

ถกเอกชนรับมือมาก่อนแล้ว

ที่ผ่านมากรมหารือกับภาคเอกชนให้เตรียมความพร้อมมาอย่างต่อเนื่อง โดยแนะนำให้หาตลาดใหม่รองรับ พร้อมกับต้องปรับกลยุทธ์ในการแข่งขัน และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ซึ่งเชื่อว่า ผู้ประกอบการไทยสามารถปรับตัวได้ เพราะก่อนหน้านี้ ทั้งสหภาพยุโรป (อียู) และญี่ปุ่น ก็ตัดสิทธิจีเอสพีไทยมาแล้ว และผู้ส่งออกไทยก็หาตลาดอื่นรองรับได้

ทั้งนี้ ในช่วง 8 เดือน (ม.ค.-ส.ค.) ปี 62 ไทยใช้สิทธิจีเอสพีส่งออกสินค้าไปสหรัฐ 3,234.38 ล้านดอลลาร์คิดเป็นการใช้สิทธิ 66.68%ของมูลค่าการส่งออกสินค้าที่สหรัฐให้สิทธิไทย ขณะที่ช่วงเดียวกันของปี 61 มีมูลค่าการใช้สิทธิ 2,858.82 ล้านดอลลาร์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การตัดจีเอสพีครั้งนี้ เป็นเรื่องของสิทธิแรงงานเพียงอย่างเดียว ซึ่งที่ผ่านมา ในช่วงที่ไทยแก้กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ ยูเอสทีอาร์ได้พยายามกดดันให้ไทยแก้ไขกฎหมายตามประเด็นที่สหรัฐฯเรียกร้อง 7 ข้อ แต่ไทยดำเนินการตามได้ 5 ข้อ ส่วนที่ 2 ข้อ เช่น ขอให้แรงงานต่างด้าวในไทยตั้งสหภาพแรงงานนั้น ไทยไม่สามารถดำเนินการให้ได้ เพราะหากมีการประท้วง จะส่งผลกระทบต่อนายจ้าง และเศรษฐกิจของไทย โดยกระทรวงพาณิชย์ ได้ชี้แจงให้ยูเอสทีอาร์ทราบอย่างต่อเนื่องว่า ไทยดำเนินการไม่ได้ เพราะสหรัฐฯเองก็ยังดำเนินการไม่ได้เช่นกัน แล้วเหตุใดจึงกดดันไทยเพื่อแลกกับการให้จีเอสพี

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2562

เหล่ากูรูตัวจริง! ชี้EECเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายยกระดับรายได้คนไทย

เหล่ากูรูตัวจริง ชี้ EEC เป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย ในการพัฒนาประเทศและยกระดับรายได้คนไทย แนะไทยเร่งปรับตัว รองรับโลกเปลี่ยน ก่อนตามไม่ทัน!

ทีมเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมกับคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้จัดงานสัมมนาและระดมสมองโดยเหล่าวิทยากรตัวจริงที่รู้จริงและเข้าใจจริงเรื่อง EEC ในหัวข้อ “แปลง EEC ให้เป็นโอกาส เข้าใจศักยภาพ EEC ในการพัฒนาประเทศและยกระดับรายได้คนไทย” โดยมีคุณปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก คุณวิกรม กรมดิษฐ์ ผู้ก่อตั้งและ CEO บมจ. อมตะ คอร์ปอเรชัน รวมถึงบรรดาแขกผู้มีเกียรติที่มาในงานที่ได้ร่วมแบ่งปันองค์ความรู้และประสบการณ์อีกเป็นจำนวนมาก

โดย ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ได้กล่าวว่าทุกวันนี้เมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ แน่นมาก สนามบินสุวรรณภูมิก็โอเวอร์โหลดเพราะความแออัดมากเกินไป จึงจำเป็นต้องขยายเมืองออกไป ปัจจุบันกำลังจะมีฮับแห่งใหม่คือสนามบินอู่ตะเภาซึ่งมีขนาดใหญ่พอ ๆ กับสนามบินสุวรรณภูมิที่กำลังก่อสร้างถือเป็นการพัฒนามหานครการบินของภาคตะวันออก และหากสร้างเสร็จจะช่วยให้การเดินทางจากสถานีมักกะสัน (กรุงเทพฯ) ไปยังสถานีอู่ตะเภา (ระยอง) ใช้เวลาเดินทางเพียง 45 นาที นอกจากนี้รัฐบาลยังได้วางนโยบายการลงทุนใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ EEC ซึ่งปัจจุบันได้ผลดีกว่าเป้าหมายที่วางไว้ โดยในช่วงเริ่มต้นมีนักลงทุนสนใจเข้าร่วมลงทุนรวมกันประมาณ 300,000 ล้านบาท โดยในปีที่ผ่านมามีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นถึง 600,000 ล้านบาท

“ผมเชื่อว่าในอนาคตข้างหน้าถ้ากระบวนการวางแผนในพื้นที่นี้สามารถทำได้ในพื้นที่เป้าหมายอื่น ๆก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน อย่างเช่น ภูเก็ต พังงา โดยการลงทุนในเขตพื้นที่ EEC มีเม็ดเงินประมาณ 1.7 ล้านล้านบาท ซึ่งบอกเลยว่าเป็นการใช้เงินลงทุนจากภาครัฐไม่ถึง 20% เพราะส่วนที่เหลือเป็นเม็ดเงินที่มาจากนักลงทุน”

ด้านคุณวิกรม กรมดิษฐ์ ผู้ก่อตั้งและ CEO บมจ.อมตะ คอร์เปอเรชัน ได้บรรยายให้หัวข้อ “EEC โอกาสและความท้าทาย วิสัยทัศน์เรื่อง EEC ไทยและจีน” โดยได้กล่าวว่า วันนี้ทวีปเอเชียมีบทบาทการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจในเวทีโลกเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะประเทศจีนที่ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจแซงหน้าสหรัฐอเมริกาเพียงช่วงระยะเวลาไม่กี่ปี ความน่าสนใจของจีนคือการมีเงินคงคลังภายในประเทศมหาศาล ซึ่งเราจะทำอย่างไรเพื่อให้เม็ดเงินเหล่านี้หันกลับมาลงทุนในประเทศไทย ยกตัวอย่างประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ ที่วันนี้ต้องยอมรับว่าสิงคโปร์เป็นประเทศที่น่าลงทุนที่สุด มั่นคงที่สุด เพราะสิงคโปร์ขายนโยบายเพื่อเชิญชวนให้นักลงทุนหันมาทุนในประเทศของเขา

“สิ่งที่ผมมองว่าจะขับเคลื่อนประเทศไทยเป็นอย่างมากก็คือนโยบาย  “Belt & Road Initiative (BRI)” ของประเทศจีน เพราะมันสามารถเชื่อมโยงการคมนาคม การสื่อสาร และการค้าขายได้ถึงกันหมด ดังนั้น Belt & Road Initiative จึงไม่ใช่ความฝัน ทรัพย์สินของเราคือภูมิศาสตร์ ส่วนจีนก็พร้อมที่จะเอาเงินมาลงทุนถ้านโยบายด้านการลงทุนของเรามีความน่าสนใจ สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นวันนี้คือ “รถไฟ” ที่สามารถเชื่อมโยงภูมิภาคอาเซียนได้ถึงกัน ซึ่งในอนาคตภูมิภาคแห่งนี้จะมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจในเวทีโลกเป็นอย่างมาก เพราะเรามีทั้งทรัพยากร และแรงงานการผลิตที่ได้เปรียบ น่าเสียดายว่าที่ผ่านมาประเทศเรามีความขัดแย้ง “กีฬาสี” ทำให้ส่งผลกระทบถึงการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างต่อเนื่อง”

ขณะที่ คุณปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การพัฒนาประเทศจำเป็นจะต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ความต่อเนื่องถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับมหภาค การขับเคลื่อนนโยบายบางเรื่องไม่จำเป็นจะต้องเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หรือต้องใช้สิ่งใหม่เสมอไป หัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจวันนี้คือ ก. หรือ กฎหมายที่ชัดเจน และ ข. คือการแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ผมมองว่าการก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจของจีน ณ เวลานี้ไม่ได้มาแบบธรรมดา เขาพร้อมที่จะขนเม็ดเงินมหาศาลเพื่อกระจายการลงทุนไปยังภูมิภาคที่สำคัญ ๆ ของโลก ดังนั้น ประเทศไทยจะต้องมีการเตรียมความพร้อมและปรับตัวเข้าสู่การแข่งขันทางเศรษฐกิจในเวทีโลกอย่างเต็มตัว เราจะต้องเป็นหนึ่งในผู้เล่นที่ศึกษาองค์ความรู้มาอย่างดีและมีความมั่นใจในการลงสนามอย่างเต็มที่”

ในช่วงท้ายของการสัมมนาได้รับเกียรติจาก ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรองผู้ว่าฯ กทม. ขึ้นมาร่วมแชร์ประสบการณ์และความรู้ร่วมกับเหล่าวิทยากรบนเวที โดยได้กล่าวถึงประเด็นการก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภาว่าส่วนตัวเห็นด้วยและสนับสนุน และอยากให้คณะทำงานขับเคลื่อนเรื่องรถไฟความเร็วสูงที่เชื่อมต่อระหว่างสนามบินอย่างเต็มที่ เพราะรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC โดยไม่ได้ทำให้เกิดประโยน์เฉพาะต่อประชาชนในพื้นที่ EEC เท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนตลอดเส้นทาง ซึ่งสามารถสร้างประโยชน์มากมายมหาศาลให้เกิดขึ้นกับประเทศชาติได้อีกด้วย

ทั้งนี้ วิทยากรทุกคนยังเชื่อว่าวันนี้คนไทยกำลังเฝ้ารอโอกาสอย่างมีความหวังเพื่อที่จะให้การขับเคลื่อนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เติบโตขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมด้วยนโยบายการบริหารและจัดการของภาครัฐที่ชัดเจน โดยใช้องค์ความรู้ของผู้เชี่ยวชาญในหลาย ๆ ด้านมาร่วมกันทำงานอย่างบูรณาการ เพื่อให้พื้นที่ยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจจุดนี้เกิดเป็น “แหล่งเงินแหล่งทอง” ในการยกระดับอาชีพและรายได้ของคนไทย นำประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน รวมถึงเรียนรู้จากการพัฒนาในเฟสแรก โดยเฉพาะการจัดการเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการจัดการเรื่องสาธารณูปโภค เพื่อนำมาแก้ไขให้ดียิ่งขึ้น โดยนายปริญญ์ได้สรุปปิดท้ายว่า EEC จะไม่ใช่เป็นแค่การสร้างรถไฟความเร็วสูง สร้างสมาร์ตซิตี้ สร้างสนามบินหรือท่าเรือใหม่เพียงอย่างเดียว แต่จะเป็นมิติใหม่ของการสร้างคน ยกระดับแรงงานฝีมือ ซึ่งจะเป็นทรัพยากรสำคัญให้กับประเทศได้ในอนาคต

จาก https://www.naewna.com วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2562

'เฉลิมชัย'เซ็นตั้งทีมช่วยเหลือเกษตรกรได้รับผลกระทบแบน3สาร

รมว.เกษตรฯเซ็นตั้งคณะทำงานช่วยเหลือเกษตรกรได้รับผลกระทบยกเลิกใช้3สารพิษ กำชับคณะทำงานฯพร้อมรับฟังผู้แทนเกษตรกรพืชเศรษฐกิจที่ต้นทุนสูงขึ้นและกำหนดมาตรกรชดเชย ชี้ต้องเสร็จก่อนวันที่1ธันวาคมเพื่อให้เกษตรกรเดือดร้อนน้อยที่สุด

เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2562 นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้ออกคำสั่งกระทรวงเกษตรฯ ที่ 2300/2562 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกใช้สารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิด หลังจากคณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติประกาศวัตถุอันตรายทางการเกษตรเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส โดยกระทรวงเกษตรฯ เร่งขับเคลื่อนมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร

โดยมีปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธานคณะทำงาน นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษา รมว.เกษตรฯ เป็นที่ปรึกษาคณะทำงาน ประกอบด้วย อธิบดีกรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวม 17 คน มีอำนาจหน้าที่ศึกษา รวบรวมข้อมูล นวัตกรรม เครื่องจักรกล เทคโนโลยีทางการเกษตร และสารเคมีทดแทน และกำหนดแนวทางหรือมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบการยกเลิกใช้สารเคมี 3 ชนิด กำหนดแนวทาง วิธีการสื่อสารตามแนวทางและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรต่างๆ ที่กำหนดเพื่อสร้างการรับรู้และทำความเข้าใจให้แก่เกษตรกรและประชาชนทั่วไป กำกับดูแล และติดตามผลการปฏิบัติงานตามแนวทางและมาตรการที่กำหนด รายงานผลการดำเนินการต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ พร้อมเชิญหน่วยงานหรือผู้เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล ความเห็น และข้อเสนอแนะ รวมทั้งจัดส่งเอกสาร และข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้องตามที่คณะทำงานเห็นสมควร

ทั้งนี้ นายเฉลิมชัย เปิดเผยว่า จากการที่ออกคำสั่งกระทรวงเกษตรฯ เรื่องแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกใช้สารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิด เมื่อวันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา ในวันนี้ได้กำชับ นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งเป็นประธานคณะทำงาน ให้เร่งประชุมกรรมการ ซึ่งประกอบด้วยอธิบดีกรมต่างๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 17 คน เพื่อศึกษา รวบรวมข้อมูล นวัตกรรม เครื่องจักรกล เทคโนโลยีทางการเกษตร และสารเคมีทดแทน และกำหนดแนวทางหรือมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบการยกเลิกใช้สารเคมี 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ตามที่คณะกรรมการวัตถอันตรายประกาศมติให้สารเคมีดังกล่าวเป็นวัตถุเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 มีผลให้ห้ามผลิต ห้ามนำเข้า ห้ามจำหน่าย ห้ามครอบครอง

นายเฉลิมชัย กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่กระทรวงเกษตรฯ ให้ความสำคัญ เนื่องจากส่งผลกระทบต่อวิถีการทำเกษตรของเกษตรกรจำนวนมาก โดยเฉพาะในพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิด คือ อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ข้าวโพด และไม้ผล จึงสั่งการให้คณะทำงานเชิญผู้แทนเกษตรกรมาให้ความคิดเห็นถึงแนวทางในการปรับเปลี่ยนและสิ่งที่ต้องการให้รัฐช่วยสนับสนุน ทั้งด้านต้นทุนการผลิตที่อาจสูงขึ้น เครื่องจักรกล และเทคโนโลยีการเกษตรซึ่งจะนำมาทดแทน กำกับดูแลและติดตามผลการปฏิบัติงานตามแนวทางและมาตรการที่กำหนด โดยมอบหมาย นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษา รมว.เกษตรฯ และนายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วย รมว.เกษตรฯ เป็นที่ปรึกษา โดยให้รายงานผลการดำเนินการต่อ รมว.เกษตรฯ อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ คณะทำงานยังต้องกำหนดวิธีการสื่อสารแนวทางและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่จัดทำ เพื่อสร้างการรับรู้และทำความเข้าใจให้แก่เกษตรกรและประชาชนทั่วไป

"ได้แต่งตั้งผู้บริหารทุกกรมที่เกี่ยวข้องมาเป็นกรรมการเพื่อจะได้แนวทางและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรอย่างรอบด้าน ต้องได้ข้อสรุปก่อนวันที่ 1 ธันวาคม ซึ่งการยกเลิกใช้สารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิด จะมีผลบังคับใช้ ทั้งนี้ ยังคงมอบหมาย น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรฯ ซึ่งกำกับดูแลกรมวิชาการเกษตร ในการเตรียมสารชีวภัณฑ์ สารเคมีอื่น และวิธีการต่างๆ รองรับไว้ด้วย เพื่อให้เกษตรกรได้รับผลกระทบน้อยที่สุด" นายเฉลิมชัย กล่าว

จาก https://www.naewna.com วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2562

เงินบาทแข็งค่าทำสถิติในรอบ6ปี

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 6 ปีครั้งใหม่โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์สอดคล้องกับทิศทางของสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชียและสถานะซื้อสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ

ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ เผชิญแรงขายต่อเนื่อง หลังจากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีสัญญาณอ่อนแอตอกย้ำโอกาสการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ในช่วงปลายเดือนตุลาคมนี้ เงินบาทเพิ่มช่วงบวกและทำสถิติแข็งค่าสุดในรอบกว่า 6 ปี ครั้งใหม่ที่ 30.16 บาทต่อดอลลาร์ฯ ท่ามกลางแรงหนุนจากปัจจัยทางเทคนิคหลังเงินบาทแข็งค่าทะลุแนว 30.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ ได้ในช่วงปลายสัปดาห์

ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจฯ มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้กล่าวถึง ภาวะเงินบาทแข็งค่าที่จะซ้ำเติมภาคส่งออก ว่า สถานการณ์ของภาคส่งออกในระยะหกเดือนข้างหน้า นอกจากจะได้รับผลกระทบจากการตัดจีเอสพีแล้วอาจถูกซ้ำเติมจากการแข็งค่าของเงินบาทอันเป็นผลจากเงินทุนระยะสั้นไหลเข้ามาเก็งกำไรในตลาดการเงินจากสภาพคล่องที่ยังคงล้นระบบการเงินโลก

“แนวโน้มค่าเงินบาทอาจจะแข็งค่าแตะระดับ 28-29 บาทต่อดอลลาร์ ได้ การแข็งค่าในระดับดังกล่าวจะไม่เป็นผลดีต่อภาคการส่งออก การจ้างงานการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวมมีความจำเป็นที่ธปท.อาจต้องนำผลการศึกษาเรื่องการนำเอาทุนสำรองระหว่างประเทศจำนวนหนึ่งมาจัดตั้ง กองทุนเพื่อความมั่งคั่งแห่งชาติ ที่เคยทำไว้กลับมาพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง”ดร.อนุสรณ์ กล่าว

นอกจากนี้ ควรไปศึกษาและทบทวนดูว่า ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบมีการจัดการที่ใช้มา 22 ปี หลังวิกฤตการณ์เศรษฐกิจปี 2540 ยังสอดคล้องกับเศรษฐกิจภายในและสถานะทางการเงินของประเทศในปัจจุบันและอนาคตหรือไม่

จาก https://www.naewna.com วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2562

ผ่าแผนพลังงานทดแทน

เพิ่งผ่านพ้นไปในการรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ปี 2561-2580 (AEDP 2018) ที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้เดินสายจัดทั่วประเทศไปเมื่อช่วงเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา เพื่อนำข้อเสนอแนะมาปรับปรุง ให้สอดรับกับนโยบายและเป้าหมายของกระทรวงพลังงานที่กำหนดแผนการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนให้เกิดขึ้นในระดับไม่น้อยกว่า 30% ของการใช้พลังงานทั้งหมด

หากมาดูเนื้อในจะพบว่า แผนดังกล่าว กำหนดการพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ตามแผนเดิม ปี 2579 จะติดตั้งให้ได้รวม 6,000 เมกะวัตต์ โดยสิ้นปี 2560 ดำเนินการแล้ว 2,849 เมกะวัตต์ ในแผนใหม่จะติดตั้งระหว่างปี 2561-2580 อีก 12,725 เมกะวัตต์ แยกเป็นโซลาร์ภาคประชาชน 10,000 เมกะวัตต์ และโซลาร์แบบทุ่นลอยนํ้า 2,725 เมกะวัตต์ รวมมีเป้าหมาย สิ้นปี 2580 อยู่ที่ 15,574 เมกะวัตต์

ขณะที่การพัฒนาพลังงานชีวมวล แผนเดิมอยู่ที่ 5,570 เมกะวัตต์ สิ้นปี 2560 ดำเนินการแล้ว 2,290 เมกะวัตต์ มีแผนจะติดตั้งระหว่างปี 2561- 2580 อีก 3,496 เมกะวัตต์ รวมมีเป้าหมาย สิ้นปี 2580 อยู่ที่ 5,786 เมกะวัตต์ ส่วนการพัฒนา ก๊าซชีวภาพ (นํ้าเสีย/ของเสีย) ตามแผนเดิมอยู่ที่ 600 เมกะวัตต์ สิ้นปี 2560 ดำเนินการแล้ว 382 เมกะวัตต์ มีแผนจะติดตั้งระหว่างปี 2561-2580 อีก 546 เมกะวัตต์ รวมมีเป้าหมายสิ้นปี 2580 อยู่ที่ 928 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ ในแผน AEDP 2018 จะมีการผลิตไฟฟ้ารูปแบบใหม่ที่ไม่มีในแผน AEDP 2015 เป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบลอยนํ้า โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ 2,725 เมกะวัตต์ และมีการเพิ่มเป้าหมายของโรงไฟฟ้าขยะจากเดิม 500 เมกะวัตต์ เป็น 900 เมกะวัตต์ เพื่อช่วยแก้ปัญหาการจัดการขยะซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ และการส่งเสริมผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ จากพืชพลังงาน ไม่มีการบรรจุอยู่ในแผนแต่อย่างใด จากแผนเดิมที่เคยกำหนดไว้ราว 680 เมกะวัตต์

การไม่กำหนดพืชพลังงานอยู่ในร่างแผน AEDP2018 ทางพพ.ได้ให้เหตุผลว่าปัจจุบันยังมีต้นทุนการผลิตสูงหากมีการส่งเสริมให้เกิดการผลิตไฟฟ้า ก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงาน จะทำให้ประชานต้องรับภาระในการ จ่ายไฟฟ้าที่มีราคาสูงขึ้น

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2562

แจงเหตุผลสหรัฐฯ ตัดจีเอสพีสินค้าไทย

 ‘อลงกรณ์’ แจงสาเหตุกรณีสหรัฐตัดจีเอสพีไทย โยงปัญหาแรงงานไม่น่าจะเกี่ยว เพราะก่อนหน้ายกฐานะไทยเลื่อนจากเทียร์ 3 เป็นเทียร์ 2 เป็นการตัดตามเนื้อผ้า ชี้หนึ่งในสาเหตุจากขาดดุลการค้าไทยหลายแสนล้าน แต่หากจะมาต่อรองหรือกดดันเพื่อแลกเปลี่ยนสินค้าไม่เห็นด้วย ติงหากต้องการเป็นมิตรประเทศที่ดีต่อกันอย่าใช้วิธีกดดันไทยเด็ดขาด

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยว่า จากกรณีที่ที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกา โดยประธานาธิบดีทรัมป์ตัดจีเอสพีไทยบางรายการว่าจากการวิเคราะห์ 3 สาเหตุกรณีสหรัฐตัดจีเอสพีไทยบางรายการมูลค่าเกือบ 4 หมื่นล้าน มีผลอีก 6 เดือนข้างหน้าแล้วโดยอ้างเรื่องปัญหาแรงงานนั้นน่าจะเป็นข้ออ้างหาเหตุมากกว่าเพราะก่อนหน้านี้สหรัฐฯ พอใจการแก้ไขปัญหาแรงงานจนยกฐานะไทยจากเทียร์ 3 เป็นเทียร์ 2 ส่วนปัญหาประมงก็มอบธงเขียวให้ไทยและยกเป็นตัวอย่างประเทศที่ประสบความสําเร็จในการต่อต้านประมงผิดกฎหมายไอยูยู(IUU)

ทั้งนี้เท่าที่ตนเคยเจรจากับผู้แทนการค้าของสหรัฐ(ยูเอสทีอาร์:USTR)สมัยรัฐบาลโอบามาพอประเมินได้ว่าสาเหตุหลักน่าจะเหลือแค่3กรณี ได้แก่ 1. สหรัฐตัดจีเอสพีเพราะรายการสินค้ากลุ่มที่ถูกยกเลิกสิทธิพิเศษทางภาษีมียอดส่งออกไปสหรัฐเกินพิกัดกติกาจีเอสพีแบบนี้เรียกว่าตัดจีเอสพีตามเนื้อผ้า ก็ยังเจรจาขอผ่อนปรนออกไปก่อนหรือลดรายการที่ตัดสิทธิพิเศษบางรายการโดยอาศัยความเป็นมิตรพิเศษตามสนธิสัญญามิตรไมตรี(Treaty of Amity and Commerce)

2.สหรัฐฯค้าขายสู้ไม่ได้เสียเปรียบดุลการค้าไทยหลายแสนล้านเลยใช้มาตรการยกเลิกสิทธิพิเศษทางภาษีกับกลุ่มสินค้าไทยที่ได้สิทธิประโยชน์จีเอสพี.เช่นเดียวกับการที่สหรัฐฯเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนและสหภาพยุโรป หากเป็นเหตุผลนี้ก็ยังมีโอกาสเจรจาต่อรองอีก6เดือน

3.สหรัฐฯต้องการใช้การตัดสิทธิพิเศษจีเอสพีเพื่อต่อรองแลกเปลี่ยนผลประโยชน์แบบหมูไปไก่มา เช่น การขอให้ไทยเปิดให้นำเข้าเนื้อหมูที่ใช้สารเร่งเนื้อแดงจากสหรัฐฯหรือขอให้ไทยทบทวนการแบนสารพิษไกลโฟเซตที่ทั้งทางการสหรัฐฯและหอการค้าสหรัฐฯไม่เห็นด้วยเพราะกระทบผลประโยชน์ของบริษัทอเมริกัน

"เห็นว่าถ้าเป็นเหตุผลหลังสุดคงยากที่ทางการไทยจะยอมอ่อนข้อเพราะเป็นเรื่องสุขภาพของคนไทย ด้วยสาเหตุดีงกล่าวทางการสหรัฐฯควรทบทวนตัวเองมากกว่าเรียกร้องให้ทางการไทยทบทวน และหากยังคิดจะเป็นมิตรที่ดีกับคนไทยและประเทศไทย อย่าใช้มาตรการจีเอสพีกดดันแบบนี้เป็นอันขาด"

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2562

กลุ่ม KTIS ได้ฤกษ์ลงเสาเข็มโครงการผลิตภาชนะชานอ้อย

ผู้บริหารกลุ่ม บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่ม KTIS โดย ทันตแพทย์ประเสริฐ ศิริวิริยะกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม KTIS นายสมชาย สุวจิตตานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายธุรกิจอ้อยและน้ำตาล นายอภิชาต นุชประยูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายธุรกิจชีวภาพ และทันตแพทย์สุพจน์ หวังปรีดาเลิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ KTIS 3 ร่วมพิธีลงเสาเข็มเอกมงคลฤกษ์ เริ่มเดินหน้าโครงการผลิตภาชนะจากเยื่อชานอ้อย (Pulp Mold) มูลค่าโครงการ 1,300 ล้านบาท ของบริษัท เอ็นไวรอนเม็นท์พัลพ์ แอนด์ แพ็คเกจจิ้ง จำกัด หรือ EPAC ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างกลุ่ม KTIS โดยบริษัท เอ็นไวรอนเม็นท์พัลพ์ แอนด์ เปเปอร์ จำกัด (กลุ่ม KTIS ถือหุ้น 100%)  กับบริษัทยูเรเซีย ไลท์ อินดัสตรี อีควิปเม้นท์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด จากประเทศจีน

จาก https://www.banmuang.co.th  วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2562

กลุ่มวังขนาย แนะนำ โปรโมชั่นสุดคุ้ม  น้ำตาลคาราเมล

  บริษัท ครีเดนซ์ จำกัด ผู้จัดจำหน่ายสินค้าภายใต้ กลุ่มวังขนาย แนะนำ น้ำตาลคาราเมล ผลิตจากอ้อยที่    คัดสรรเป็นพิเศษด้วยกระบวนการผลิตที่ทันสมัย สะอาด บริสุทธิ์ ถูกหลักอนามัย ในขนาดที่พอเหมาะ ช่วย   เพิ่มอรรถรสในการบริโภค ทั้งยังสร้างความหวาน และเสริมความหอมกรุ่นให้กับอาหารและเครื่องดื่มให้   น่ารับประทานยิ่งขึ้น บรรจุถุงซิปล็อค ขนาด 500 กรัม สะดวกในการใช้งานและการเก็บรักษา มีจำหน่ายที่ซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำทั่วไป โปรโมชั่นสุดคุ้ม !!! ปกติราคา 38 บาท พิเศษในราคา 32 บาท เท่านั้น  ระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม – 12 พฤศจิกายน 2562 ที่ท็อปส์ มาร์เก็ต ทุกสาขา

จาก https://www.banmuang.co.th  วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2562

เล็งขึ้นทะเบียนสารชีวภาพ โครงการหลวง ใช้แทน3วัตถุอันตราย

ก.เกษตรฯเดินหน้าหาสารทดแทน ให้เกษตรกร หลังมติกรรมการวัตถุอันตรายให้เลิกใช้ 3 สารพิษ สั่งกรมวิชาการเกษตรเปิดขึ้นทะเบียนสารชีวภาพจากภูมิปัญญาไทย เล็งนำร่องสารชีวภาพสูตรที่ใช้ในโครงการหลวง ของรัชกาลที่ 9 ทรงทำเป็นต้นแบบไว้ วิษณุชี้เป็นสิทธิ์ของฝ่ายค้านเลิกสารพิษจะฟ้องศาลปกครองให้คุ้มครองชั่วคราว ขณะที่องค์กรต้านโกงขอบคุณ 4 รมต.จุดยืนชัดเจนจนปิดตำนานสารพิษได้สำเร็จ เพื่อสุขภาพคนไทยและสิ่งแวดล้อม

เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยความคืบหน้าหลังคณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติให้แบน 3 สารเคมีอันตรายคือ คลอร์ไพรีฟอส พาราควอต ไกลโฟเซตให้มีผลทันทีวันที่ 1 ธันวาคมนี้ ส่งผลให้สารเคมีทั้งสามชนิดถูกยกระดับเป็นวัตถุอันตรายประเภท 4 ห้ามจำหน่าย ผลิต ครอบครอง นำเข้า ส่งออกว่า ตนเห็นด้วยที่ยุติการใช้สารเคมี โดยกระทรวงเกษตรฯทุกคนเห็นด้วยและสนับสนุน และอยากให้มีการปรับเปลี่ยนไปใช้สารทางเลือกทำเกษตรปลอดภัย โดยต้องทำให้เกษตรกรเชื่อถือในสารชีวภัณฑ์ตัวใหม่ ที่เป็นอินทรีย์ มาทดแทน โดยจะไม่ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น ไม่ให้เป็นภาระกับชาวไร่ชาวนา

รมช.เกษตรฯกล่าวต่อว่า ชาวไร่ ชาวนา บางส่วนยังติดการใช้สารเคมี เพราะเคยชินกับการใช้อะไรที่หาง่ายฉีดแล้วหญ้า แมลง ตายทันที ถ้ามาใช้ตัวใหม่ศัตรูพืชตายช้าจึงอยากใช้ตัวเดิม ซึ่งการแบน 3 สารครั้งนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของประเทศ จึงขอให้ทุกฝ่ายช่วยกัน ทำให้เกษตรกรฐานรากอยู่ได้ ใครมีข้อคิดเห็นดีๆเสนอมาได้ เพราะสารทดแทนมีหลายชนิด ต้องทำให้เกษตรกรเชื่อมั่น แม้อาจกำจัดศัตรูพืชได้ช้ากว่าสารตัวเดิม แต่มีความปลอดภัยต่อสุขภาพประชาชนและสิ่งแวดล้อม

“จากนี้กรมวิชาการเกษตร ต้องเปิดรับขึ้นทะเบียนให้สารทดแทน สารชีวภัณฑ์ ที่คิดค้นโดยคนไทย นำภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่ทำใช้กันในชุมชน มาขึ้นทะเบียนสูตรต่างๆไว้ ทั้งปุ๋ยอินทรีย์ สารชีวภาพวีธีทำเกษตรปลอดสาร ที่ใช้ทำในโครงการหลวง ของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่ทรงทำต้นแบบไว้มากมายให้คนไทย”นายประภัตรกล่าว และว่า รวมถึงเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ ผู้คิดค้นที่มีสารทดแทน ใครมีของดี ให้นำเข้าขั้นตอนวิชาการตรวจสอบ โดยต้องให้รู้ผลเร็วภายใน 3-7 วัน ถ้าเครื่องมือไม่พอขอให้เอกชนช่วยทดสอบ เพื่อความรวดเร็ว จะได้เสนอเป็นทางเลือกให้เกษตรกร ไม่กระทบต้นทุน ซึ่งตนเห็นว่าโครงการหลวง ทั่วประเทศ มีสารอินทรีย์ สูตรกำจัดวัชพืช แมลง ที่เกษตรกรทำได้เอง ให้หน่วยงานเข้าไปดู นำมาขึ้นทะเบียน เพื่อให้เองใช้ได้อย่างแพร่หลาย ทั้งมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคและเกษตรกรอีกด้วย.

ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงกรณีมีกลุ่มเกษตรกรบางกลุ่มคัดค้านมติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่ให้ยกเลิกใช้ 3 สารเคมีกำจัดศัตรูพืชดังกล่าว โดยจะยื่นฟ้องศาลปกครองวันที่ 28 ตุลาคมขอให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวว่า เป็นสิทธิ์ของกลุ่มเกษตรกร ส่วนจะมีคำสั่งอย่างไรเป็นดุลยพินิจของศาล ซึ่งตามมติจะมีผลวันที่ 1 ธันวาคม ส่วนผลกระทบต่อเกษตรกรหลังจากนี้ กระทรวงเกษตรฯจะเป็นคนประเมิน และหาทางแก้ไขต่อไป

ขณะที่ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่ปรึกษารมว.สาธารณสุข กล่าวถึงกรณีน.ส.อัญชุลี ลักษณ์อำนวยพร ประธานเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลองออกมาระบุจะฟ้องศาลปกครองขอให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว หลังคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติยกเลิกใช้ 3 สารเคมีอันตรายภาคเกษตร พร้อมตั้งข้อสังเกตถึงข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขที่เป็นต้นเหตุให้ยกเลิกสารเหล่านี้ และเอ็นจีโอบางกลุ่มใช้ข้อมูลอันเป็นเท็จหรือไม่ว่า เป็นเรื่องตลกที่กล่าวหาว่าข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขเป็นเท็จ จะเป็นเท็จได้อย่างไร ข้อมูลการป่วย การเสียชีวิตนั้นพูดกันมาหลายครั้งแล้วว่าจะมีการลงรหัสโรคเฉพาะ ซึ่งที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีเหล่านี้จะเป็นรหัส T60 T60.1-60.9 ซึ่งเป็นหลักฐานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่จะนำมาใช้พิจารณาจ่ายค่ารักษาให้โรงพยาบาล เป็นข้อมูลที่แก้ไขหรือตกแต่งไม่ได้ เพราะเกี่ยวกับระบบการเงินการคลังของประเทศ เวลาแพทย์วินิจฉัยเสร็จ ลงรหัสโรคส่งถึงสปสช. สปสช.จะลงมาตรวจซ้ำก่อนพิจารณาจ่ายเงิน เป็นมาตรฐานปฏิบัติของแพทย์มาตั้งนานแล้ว ดังนั้น ยืนยันว่าข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขเป็นข้อมูลมาตรฐาน

ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าวต่อว่า เกี่ยวกับการกล่าวหาว่ากระทรวงใช้มูลเท็จนั้น ตนคุยกับคนในกระทรวงเบื้องต้นทราบว่ากำลังดูข้อกฎหมายจะดำเนินการเอาผิดได้หรือไม่ เพราะถือเป็นการกล่าวหากระทรวงสาธารณสุข ทำให้เกิดความแตกแยก ประชาชน คนป่วยเคลือบแคลงในข้อมูลของกระทรวง และขอยืนยันว่าผลกระทบต่อสุขภาพมีมานานตั้งแต่ปี 2560 จากการที่ผู้ตรวจการแผ่นดินลงพื้นที่ไปสำรวจผลกระทบก็พบว่าจริง นำไปสู่คำวินิจฉัยว่าให้ยกเลิกการใช้ เมื่อปลายปี 2561 และให้ดำเนินการให้สิ้นสุดภายในปี 2562

ส่วนที่จะมีการยื่นฟ้องศาลปกครองให้คุ้มครองชั่วคราวนั้น เข้าใจว่าเป็นกลยุทธ์ที่ทำให้คนทำงานเรื่องนี้พะว้าพะวง เสียเวลาและหยุดเผยแพร่ความจริงหรือไม่ ซึ่งถ้าบอกจะฟ้องเรียงตัวก็คงต้องฟ้องหมอทั้งประเทศ ฟ้องคนในกระทรวงสาธารณสุขจำนวนมากเพราะเราทำงานกันเป็นทีม

วันเดียวกัน องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ACT ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 3 ขอบคุณคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่มีมติยกเลิกใช้พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต เพื่อคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและคนไทย เป็นการปฎิบัติหน้าที่ดำรงไว้ซึ่งจริยธรรมและมนุษยธรรม ไม่เพิกเฉยต่อสุขภาพ ชีวิต ทั้งในส่วนของเกษตรกรผู้รับผลกระทบโดยตรงและผู้บริโภคผู้ได้รับผลกระทบภายหลัง และที่น่าชื่นชมอย่างยิ่ง คือ การลงมติเปิดเผย สร้างความมั่นใจเรื่องความโปร่งใสในการพิจารณา นอกจากนี้ ยังขอบคุณ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.สาธารณสุข นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรฯ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ที่แสดงจุดยืนชัดเจนให้ยกเลิกใช้ 3 สารเคมีดังกล่าว รวมถึงรณรงค์ผลักดันจนมีมติดังกล่าว

อีกด้านหนึ่ง ยังมีความเคลื่อนไหวสนับสนุนมติยกเลิกใช้ 3 สารเคมีทางการเกษตรต่อเนื่อง โดยนายสมชาย จันทะสระ เกษตรกรต.ทุ่งตำเสา อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เผยว่า ตนเลิกใช้สารเคมีอันตรายทั้ง 3 ชนิดในสวนยางพารา รวมถึงแปลงพืชผักมานานประมาณ 10 ปีแล้ว โดยช่วงที่ใช้สารเคมีนั้น ตนและครอบครัวมีสุขภาพย่ำแย่ จึงต้องทบทวนและเลิกใช้สารเคมีทุกชนิด หันมาทำเกษตรอินทรีย์ ใช้สารชีวภัณฑ์ โดยเรียนรู้ผ่านสถาบันการศึกษาและหน่วยราชการที่เปิดอบรมให้ความรู้ จนวันนี้สามารถทำเกษตรอินทรีย์แบบครบวงจรได้ ปลูกพืชผักหลากหลายชนิด ทำปุ๋ยอินทรีย์ สารกำจัดศัตรูพืชแบบชีวภัณฑ์ด้วยตัวเองทั้งหมด ทั้งต้นทุนการผลิตก็ลดลง คุณภาพชีวิตดีขึ้น ผลผลิตปลอดสารพิษ 100% ขายได้ราคาดี สามารถส่งขายในตลาดเกษตรอินทรีย์ รวมถึงโรงพยาบาล ที่ตอบรับผลผลิตไม่อั้น โดยปัจจุบันนี้แปลงผักของตนได้รับการยืนยันเป็นแปลงพืชผักเกษตรอินทรีย์ร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังนั้น ตนเห็นด้วยกับมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่ให้ยกเลิกใช้สาร 3 ชนิด วันที่ 1 ธันวาคมที่จะถึงนี้

จาก https://www.naewna.com วันที่ 24 ตุลาคม 2562

สทนช.เล็งทำแผนรับมือภัยแล้ง ห่วงเขื่อนใหญ่ปริมาณน้ำน้อย

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำขณะนี้ว่า มีเขื่อนขนาดใหญ่ 2 แห่ง ที่ปริมาณน้ำใช้การน้อยกว่าร้อยละ 15ของปริมาณเก็บกัก คือ เขื่อนอุบลรัตน์ และเขื่อนลำนางรอง ไม่สามารถจัดสรรน้ำเพื่อการเกษตรฤดูแล้งได้ และมี 9 แห่ง ที่มีปริมาณน้ำใช้การไม่เกินร้อยละ 30 ของปริมาณเก็บกัก ในจำนวนนี้รวมทั้ง 4 เขื่อนหลักที่ส่งน้ำให้ลุ่มเจ้าพระยาด้วย โดยเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีน้ำใช้การรวม 5,400 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คาดการณ์ว่าวันที่ 1 พฤศจิกายน จะมีน้ำใช้การรวม 5,200 ล้านลบ.ม. แม้จะมีปริมาณน้ำมากกว่าปี 2558 ประมาณ 1,000 ล้านลบ.ม. แต่ยังนับว่าน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย ดังนั้น ก่อนสิ้นฤดูฝนวันที่ 31 ตุลาคม ต้องเก็บน้ำให้มากที่สุด และเตรียมผันน้ำจากแม่น้ำแม่กลองเข้ามาเสริมอีก 500-1,000 ล้านลบ.ม. ทั้งนี้ จะใช้น้ำทั้งหมดเพื่ออุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศเป็นหลัก

นอกจากนี้ ที่ประชุมหารือร่วมกันของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดพื้นที่ความต้องการใช้น้ำและรอบเวรรับน้ำอย่างชัดเจน ไม่ให้น้ำสูญหายระหว่างทางโดยเฉพาะลุ่มเจ้าพระยาที่มีปริมาณฝนตกสะสมน้อย มีข้าวนาปีที่รอเก็บเกี่ยว 9.75 ล้านไร่ และยังมีพื้นที่ส่วนหนึ่งเตรียมทำนาต่อเนื่องอีก หากดึงน้ำไปใช้โดยไม่จำกัดปริมาณ จะทำให้ไม่มีน้ำเพียงพออุปโภคบริโภคและผลักดันน้ำเค็ม ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรที่ปลูกพืชสวน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.)วางมาตรการรับมือสถานการณ์ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค โดยประสานกรมชลประทานติดตั้งเครื่องสูบน้ำพร้อมวางท่อตรงจากแหล่งน้ำเข้าระบบผลิต เจาะบ่อบาดาล ขยายสระพักน้ำดิบ ขุดลอกร่องชักน้ำดิบ ขยายร่องน้ำให้ไหลมายังจุดสูบมากขึ้น ตลอดจนมาตรการซื้อน้ำจากเอกชนหรือแหล่งอื่น สำหรับเขื่อนที่มีปริมาณน้ำใช้การมากกว่าร้อยละ 60 ของปริมาณเก็บกักมี10 แห่ง เช่น เขื่อนห้วยหลวง เขื่อนนฤบดินทรจินดา เขื่อนวชิราลงกรณ เขื่อนแก่งกระจาน สามารถใช้น้ำในทุกกิจกรรมได้ตามศักยภาพของน้ำต้นทุนที่มี

จาก https://www.naewna.com วันที่ 24 ตุลาคม 2562

รมช.เกษตรฯยันพร้อมดูแลเกษตรกรได้รับผลกระทบหลังแบนสารพิษ

รมช.เกษตรฯระบุขอคารวะคณะกรรมการวัตถุอันตราย แบน 3 สารเคมี ยืนยันพร้อมดูแลเยียวยาเกษตรกรได้รับผลกระทบทุกกลุ่ม

น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังรับทราบมติยกเลิกการใช้3สาร ให้มีผลวันที่1ธ.ค.62ว่า ขอน้อมคารวะ คณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่มีมติตามความเห็นของ 3 กระทรวงให้แบน3สาร ขอขอบคุณที่มอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับคนไทย ซึ่งเรื่องนี้ไม่อยากให้พูดว่าเป็นชัยชนะของใคร มองว่าทุกฝ่ายเป็นคนไทยด้วย ต้องทำให้เกิดสิ่งที่ดีที่สุดกับประเทศไทยและปลอดภัยทุกกลุ่ม ทั้งเกษตรกร และผู้บริโภค

หลังจากนี้กระทรวงเกษตรฯจะเปิดเวทีรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย ว่าต้องการให้ช่วยเหลืออย่างไร จะหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาดูว่า ปุ๋ยอินทรีย สารชีวะภัณฑ์ ที่ปัจจุบันยังมีปัญหาการขึ้นทะเบียนไม่ได้ จะมีแนวทางอย่างไรที่จะทำให้มีการขึ้นทะเบียนอย่างถูกกฏหมายได้ รวมถึงมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค และเกษตรกร เช่นควรมีการเก็บตัวอย่าง พืชสมุนไพรไทย ที่มีฤทธิ์จำกัดศัตรูพืช ในแต่ละช่วงของพืชสมุนไพร ดูว่าช่วงไหนให้ประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อนำมากำหนดเงื่อนเวลา มาตรฐานการผลิต มาตรฐานการใช้ได้ ซึ่งจะเป็นการเปิดกว้างให้เกษตรกร ได้มีทางเลือกใช้ทำเกษตรอินทรีย์ ทั้งนี้แม้จะไม่มีสาร3ตัว แต่ปัจจุบันกรมวิชาการเกษตร ได้อนุญาตให้นำเข้าตามกฏหมาย อยู่แล้วหลายร้อยชนิด ซึ่งเกษตรกรใช้อยู่กันเป็นประจำ

“ใครต้องการเสนอสิ่งที่ดีในการทำเกษตร มาหาพี่ได้ ให้มาร่วมมือกันทุกอย่างเพื่อให้สิ่งที่ดีที่สุดแก่ประเทศ พร้อมดูแลเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบไม่ว่าชนิดพืชใด จะส่งเจ้าหน้าที่ลงไปดูแลเกษตรกร เพื่อให้ตรงกับความต้องการ ส่งไปตรวจสอบความเป็นอยู่เกษตรกร ให้ตรงตามข้อเท็จจริงที่เกษตรกรต้องการให้ช่วยเหลือ นอกจากนี้จะเปิดกว้างให้ขึ้นทะเบียน ปุ๋ยอินทรีย์ สารทดแทน สารชีวภาพ ยังมีหลายตัวให้มาขึ้นทะเบียน จากที่ไม่เคยผ่านการอนุญาตให้จดทะเบียน โดยจะมาหารือกันทำอย่างไรให้สูตรต่างๆถึงเกษตรกร สามารถนำไปทำเองใช้ได้แพร่หลายด้วย”น.ส.มนัญญา กล่าว

รมช.เกษตรฯกล่าวว่าถ้าถามความรุ้สึกวันนี้ ไม่เป็นชัยชนะฝ่ายหนึ่ง ฝ่ายใด ซึ่งจะให้บอกความรู้สึกบอกไม่ถูก จริงๆแล้วพี่เป็นคนของพี่น้องประชาชน จะดีใจ หรือเสียใจ คงไม่ได้ ถ้าถามว่ามาตรการเดินหน้าต่อไปคือดูแลผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมด

“วันนี้พี่ชาดา ห่วงสถานการณ์ไม่ค่อยปกติ ได้เรียกตัวให้กลับบ้านจ.อุทัยธานี ท่านอยากดูแล”น.ส.มนัญญา กล่าว

รมช.เกษตรฯกล่าวอีกว่าวันนี้ประชุมครม. ไม่ได้ไปนั่งเฝ้าหน้าห้องประชุมคก.วัถตุอันตราย ซึ่งการต่อสู้ครั้งนี้ คงไม่ใช่ตัวเราคนเดียว มาจากพี่น้องประชาชนทุกคนทุกฝ่าย ใครๆก็อยากทานอาหารปลอดสารปลอดภัย ไม่ใช่ชัยชนะของใคร ขอบคุณทุกฝ่ายอีกครั้ง ทุกหน่วยงานร่วมกันสนับสนุนการแบนสาร

แหล่งข่าวในกระทรวงเกษตรฯ เปิดเผยว่าที่ผ่านมาในการขึ้นทะเบียนให้เกษตรกรมาเข้ารับอบรมการใช้สารเคมี ตามมาตรการจำกัดการใช้ มีเพียง4-5แสนคนเท่านั้น หากเทียบเคียงกับเกษตรกร ผู้ปลูกสวนยาง 1.4 ล้านราย มีพื้นที่ปลูกยาง 17ล้านไร่ ผู้ปลูกอ้อย 8แสนราย พื้นที่ปลูก8ล้านไร่ และเกษตรกรปลูกมันสำปะหลัง 1.8 ล้านไร่ ปลูกข้าวโพด 4ล้านไร่ ปาล์มน้ำมัน7ล้านไร่ แต่การที่มีเกษตรกรมาขอขึ้นทะเบียนอบรมใช้สาร เพียงเท่านี้ หมายถึงว่าเกษตรกรส่วนใหญ่กว่า30ล้านราย ไม่จำเป็นต้องใช้สาร3ตัวนี้

นอกจากนั้นในการใช้พาราควอต จำกัดหญ้า จะใช้เริ่มปลูกต้นยางในช่วงอายุต้นยาง 1-4ปีเท่านั้น หลังจากนั้นจะไม่ใช่ เมื่อเปิดกรีดได้ และผู้ปลูกยางรายใหม่ ถ้าพิจารณาจากโครงการส่งเสริมของรัฐปลูกยางใหม่ ทดแทนสวนยางเก่า มีพื้นที่ปีละ4แสนไร่ ทำให้เห็นว่าปริมาณนำเข้าสารเคมีที่ผ่านมามากเกินกว่าจำนวนพืชไร่ พืชสวน ที่จะใช้สาร ที่มีความจำเป็นต้องใช้

จาก https://www.posttoday.com วันที่ 22 ตุลาคม 2562

ชาวไร่อ้อยบุกศาลากลาง!วอนประกันราคาตันละ1พัน ชี้ขาดทุนจ่อขายสวนทิ้ง

สมาความกลุ่มชาวไร่อ้อยเขต 7 นำชาวสมาชิกกว่า 200 คน บุกศาลากลาง ยื่นหนังสือถึงบิ๊กตู่ ผ่านพ่อเมืองกาญจน์ วอนประกันราคาอ้อยปีการผลิต 2562/2563 ที่ตันละ 1,000 บาท หากไม่ช่วยเหลือมีหวังขายไร่อ้อยทิ้ง เหตุทนขาดทุนไม่ไหว

21 ตุลาคม 2562 เมื่อเวลา 09.30 น. นายกำธร กิตติโชติทรัพย์ นายกสมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยเขต 7 ต.ท่ามะกา อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี มอบหมายให้นายเอกชัย อริยมงคลชัยเลขาธิการนายกสมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยเขต 7 นายปารเมศ โพธารากุล รองเลขาธิการสมาคมฯ นายสายชล ตันมันทอง อุปนายกสมาคมฯ นายพนม ตะโกเมือง อุปนายกสมาคมฯ นายนราธิป อนันตสุข ผู้จัดการสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 7 นำสมาชิกกลุ่มชาวไร่อ้อยเขต 7 กว่า 200 คน

เดินทางมาที่ศาลากลางจังหวัดกาญจนบุรีเพื่อยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ช่วยเหลือราคาอ้อยฤดูการผลิตปี 2562/2563 ที่กำลังตกต่ำ โดยให้รัฐบาลประกันราคาอ้อยที่ตันละ 1,000 บาท ก่อนที่นายจีระเกียรติ ภูมิสวัสดิ์ ผวจ.กาญจนบุรี จะมาพบ กลุ่มเกษตรกรได้นำป้ายไวนิลเขียนข้อความระบุว่า

“ประกันราคาอ้อยตันละ 1,000 บาท เป็นความหวังของชาวไร่อ้อยทั่วประเทศ และอีกหนึ่งป้ายเขียนระบุว่า “อย่าหลอกเกษตรกร เพื่อแลกเสียง วอนรัฐทำตามสัญญาราคาอ้อยตันละ 1,000 บาท”มาถือโชว์อยู่ที่หน้าศาลากลาง และมีการกล่าวปราศรัยผ่านเครื่องขยายเสียงที่เตรียมเอาไว้ด้วย ซึ่งเกษตรกรบางรายกล่าวว่า หากรัฐบาลไม่ให้ความช่วยเหลือตามข้อเรียกร้อง ชาวไร่อ้อยส่วนใหญ่ก็จำเป็นที่จะต้องประกาศขายที่ทิ้ง เพราะต้องทนขาดทุนมานานกว่า 3 ปีแล้ว

หลังจากกลุ่มชาวไร่อ้อยกล่าวปราศรัยได้ไม่นานนัก ก็เคลื่อนย้ายไปอยู่ที่บริเวณทางขึ้นศาลากลาง จากนั้นนายจีระเกียรติ ภูมิสวัสดิ์ ผวจ.กาญจนบุรี ก็มาพบกลุ่มชาวไร่อ้อยที่รออยู่ โดยมีนายสมเกียรติ วอนเพียร สส.พรรคพลังประชารัฐ เขต 2 กาญจนบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็มาพบกับกลุ่มเกษตรกรด้วยเช่นกัน โดยนายจีระเกียรติ ภูมิสวัสดิ์ ผวจ.กาญจนบุรี ได้กล่าวกับกลุ่มชาวไร่อ้อยว่า จะเร่งดำเนินการส่งหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ให้เร็วที่สุด สร้างความพอใจให้กับทุกคนเป็นอย่างมาก

ต่อมานายเอกชัย อริยมงคลชัย เลขาธิการนายกสมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยเขต 7 จึงเป็นตัวแทนยื่นหนังสือให้กับนายจีระเกียรติ ภูมิสวัสดิ์ ผวจ.กาญจนบุรี โดยหนังสือที่ยื่นระบุว่า

ด้วยขณะนี้ใกล้ฤดูกาลผลิตอ้อยและน้ำตาลทรายฤดูการผลิตปี 2562/2563 ซึ่งก่อนการเปิดหีบผลิตอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรมซึ่งเป็นกระทรวงหลักในการบริหารอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย โดยคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย จะทำการกำหนดราคาอ้อยเพื่อจ่ายค่าอ้อยให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยส่งโรงงานน้ำตาลทราย ตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527

และจัดการประเมินสถานการณ์ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกขณะนี้ ยังอยู่ในช่วงตกต่ำซึ่งวิกฤตราคาดังกล่าวได้เกิดขึ้นติดต่อกันมาเป็นปีที่ 3 แล้ว และหากสถานการณ์ราคายังเป็นอยู่เช่นนี้ การกำหนดราคาอ้อยในฤดูกาลผลิตปี 2562/2563 ราคาอ้อยจะไม่เกินตันละ 700 บาท ขณะที่ต้นทุนการปลูกอ้อยอยู่ที่ตันละ 1,131 บาท

ประกอบกับปัจจุบันค่าเงินบาทแข็งตัวมากยิ่งขึ้น ราคาอ้อยยิ่งตกต่ำลงไปอีก จนทำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยขาดทุนต่อเนื่องมากกว่า 3 ปีแล้ว และหากไม่มีการแก้ไขเยียวยาต่อกรณีปัญหาดังกล่าว พี่น้องเกษตรกรที่ปลูกอ้อยซึ่งมีมากกว่า 4 แสนครัวเรือนทั้งประเทศ จะประสบปัญหาจากรายได้ไม่พอในการดำรงชีพ และประสบปัญหาการขาดทุนติดต่อกันหลายปี มันเป็นการซ้ำเติมหนี้สินให้เพิ่มมากขึ้น จนนำไปสู่สภาวะล้มละลายทางอาชีพทำกิน และครอบครัวตามมา

ดังนั้นสมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยเขต 7 มีสมาชิกในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี และจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งมีสมาชิกชาวไร่อ้อย 99,380 ราย จึงขอความอนุเคราะห์ให้นายกรัฐมนตรี ได้พิจารณาหาแนวทางเพื่อเพิ่มราคาอ้อยที่ตกต่ำในฤดูกาลนี้ ไห้พี่น้องเกษตรกรชาวไร่อ้อยได้รับค่าอ้อยตันละ 1,000 บาท ณ ความหวาน 10 ซี.ซี.เอส

ซึ่งจะเป็นการสอดรับกับนโยบายพรรคร่วมรัฐบาล ที่เคยสัญญาประกาศกับพี่น้องชาวไร่อ้อยเอาไว้ก่อนการเลือกตั้งที่ผ่านมาแล้วด้วย ในนามพี่น้องชาวไร่อ้อยตามกล่าวข้างต้นหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความอนุเคราะห์จากท่านท่านนายกรัฐมนตรี เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อย ให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างเหมาะสม

อีกทั้งมีเงินทุนในการประกอบอาชีพ รวมทั้งเป็นการกระจายรายได้ต่อเกษตรกรซึ่งเป็นรากหญ้าเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจจากเกษตรซึ่งจำเป็นในปัจจุบันอันเป็นการสร้างความมั่นคงต่อสังคมชนบทและประเทศสืบไป

จาก https://www.naewna.com วันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2562

ชาวไร่อ้อยยื่นหนังสือถึง‘บิ๊กตู่’ วอนช่วยดันราคาอ้อย1,000บาทต่อตัน

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และหัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อย เขต 7 เปิดเผยว่าวันที่ 21 ตุลาคมนี้ ทางสถาบันและสมาคมชาวไร่อ้อยจะยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อเรียกร้องให้ช่วยเหลือราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี’62/63 ที่คาดว่าจะตกต่ำระดับ 700 บาทต่อตัน ให้ได้ระดับราคา 1,000 บาทต่อตัน ที่สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่เคยระบุไว้

“เวลาประมาณ 10.00 น.ของวันที่ 21 ตุลาคมนี้ เป็นกิจกรรมที่สถาบันชาวไร่อ้อยหรือสมาคมชาวไร่อ้อยในจังหวัดต่างๆ ยื่นผ่านผู้ว่าจังหวัดนั้นๆ เพื่อส่งต่อนายกรัฐมนตรี ซึ่งก่อนหน้านี้พรรคพลังประชารัฐและพรรคร่วมรัฐบาลต่างก็เคยระบุที่จะช่วยเหลือยกระดับราคาอ้อยให้ได้ระดับสูง 1,000 บาทต่อตัน ซึ่งล่าสุดได้รายงานถึงการดำเนินงานในเรื่องนี้ต่อรัฐมนตรีในการกำกับดูแลอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว”นายนราธิปกล่าว

ทั้งนี้แนวโน้มราคาอ้อยฤดูผลิตปี62/63 คาดว่าจะอยู่ที่ไม่เกิน 700 บาทต่อตัน เนื่องจากระดับราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกตกต่ำและค่าเงินบาทที่แข็งค่าซึ่งถือเป็นราคาที่ตกต่ำต่อเนื่องมา 3 ปี จึงต้องการให้รัฐหามาตรการช่วยเหลือให้ได้ระดับราคา 1,000 บาทต่อตันส่วนจะเป็นมาตรการใดนั้นก็คงอยู่ที่นโยบายรัฐโดยในฤดูผลิตที่ผ่านมารัฐบาลได้ช่วยเหลือด้วยการใช้งบประมาณจากรัฐมาช่วยเหลือปัจจัยการผลิต

สำหรับมาตรการที่จะช่วยเหลือราคาอ้อยเบื้องต้นจากการหารือกับกระทรวงอุตสาหกรรม เอง มีแนวนโยบายที่จะสนับสนุนการตัดอ้อยสดเพื่อลดการเผาอ้อยในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน(PM2.5)ซึ่งหากได้ราคาอ้อยระดับ 1,000 บาทต่อตัน ก็จะทำให้การขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวเป็นไปได้ง่ายขึ้นเนื่องจากต้องยอมรับว่ารถตัดอ้อยมีราคาสูงการเข้าถึงของชาวไร่อ้อยยังมีเพียงบางส่วนเท่านั้น ดังนั้นส่วนหนึ่งยังต้องอาศัยแรงงานคนในการตัด

ทั้งนี้มาตรการในการลดการเผาอ้อยตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2562 ได้กำหนดให้ฤดูการผลิตปี 2562/2563 โรงงานน้ำตาลจะรับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบได้ไม่เกิน 30% ต่อวันฤดูการผลิต ปี 2563 /2564 โรงงานน้ำตาลจะรับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบได้ไม่เกิน 20% ต่อวัน และในฤดูการผลิตปี 2564/2565 จะลดปริมาณอ้อยไฟไหม้เข้าหีบเพียง 0-5% ต่อวัน ซึ่งจะทำให้อ้อยไฟไหม้หมดไปภายในภายใน 3 ปี

จาก https://www.naewna.com วันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2562

เงินบาทเปิดแข็งค่า แรงขายจากผู้ค้าตปท. กดดันช่วงสั้น

เงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 30.28 บาท แข็งค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ 30.30 บาทต่อดอลลาร์

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์นักกลยุทธตลาดเงินและตลาดทุนธนาคารกรุงไทยระบุว่าส่วนของเงินบาท ช่วงสั้นมีแรงขายจากผู้ค้าต่างประเทศกลับมากดดัน เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่มีความชัดเจนในเรื่องนโยบายที่คาดว่าจะใช้ในการควบคุมความเคลื่อนไหว ขณะเดียวกันสกุลเงินเพื่อนบ้านก็เริ่มปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์แล้ว

ในสัปดาห์นี้เรามองความผันผวนของตลาดทุนสหรัฐเป็นปัจจัยหลักที่จะกำหนดทิศทางเงินบาท ถ้าผลประกอบการของบริษัทในสหรัฐยังแข็งแกร่ง ก็อาจเห็นดอลลาร์ทรงตัวได้พร้อมกับบอนด์ยีลด์สหรัฐอายุ 10ปีที่จะไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับ 1.75% แต่ในทางกลับกัน ถ้าบริษัทเทคโนโลยีเริ่มแสดงให้เห็นถึงกำไรที่ชะลอตัว ก็อาจมี แรงเทขายดอลลาร์ตามมาเพราะความหวังว่าธนาคารกลางสหรัฐจะต้อง”ลด”ดอกเบี้ยทันทีในการประชุมสิ้นเดือนนี้

กรอบเงินบาทสัปดาห์นี้ 30.00 ถึง 30.50 บาทต่อดอลลาร์

ล่าสุด นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ยื่นจดหมายบขอเลื่อนการพิจารณาข้อตกลง Brexit ระหว่างสหราชอาณาจักร (UK) กับสหภาพยุโรป (EU) ออกไปถึงวันที่ 31 มกราคมปีหน้าส่งผลให้ความไม่แน่นอนเรื่อง Brexit จะกลับมากดดันเงินปอนด์อีกครั้ง โดยเราเชื่อว่าจุดสูงสุดของเงินปอนด์ครั้งนี้จะเป็นแนวต้านใหม่ ขณะที่ในระยะยาว ข้อตกลงล่าสุดที่ทาง UK และ EU กำลังต่อรองอยู่ ถือว่าไม่ดีกับเศรษฐกิจ ขณะที่หลายบริษัทในอังกฤษก็เข้าสู่โหมดเตรียมพร้อมรับสถานการณ์เลวร้ายที่อาจเกิดขึ้นแล้ว

ขณะเดียวกัน ก็จะมีการประชุมคณะกรรมการธนาคารกลางยุโรปหรือ ECB ในวันที่ 24 ตุลาคม เป็นครั้งสุดท้ายของนายมาริโอ ดรากี้ โดยรวม เราเชื่อว่า ECB จะ “คง”นโยบายการเงินทั้งหมดในครั้งนี้ เป็นการส่งสัญญาณว่า ECB จะไม่ใช้เพียงนโยบายการเงิน แต่จะพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจยุโรปด้วยนโยบายทางการคลังระหว่างประเทศ

นอกจากนั้น ระหว่างสัปดาห์ก็ต้องระวังการรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา แม้กำไรส่วนใหญ่จะออกมาดีกวาคาดแต่กลับเป็นการกดดันให้ตลาดปรับฐาน เนื่องจากนักลงทุนขายทำกำไรเมื่อดัชนี S&P500 เข้าใกล้จุดสูงสุดเก่า

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2562

เครือข่ายแบน 3 สารเคมียันเลิกใช้ภายใน 1 ธ.ค.62 จี้รัฐบาลเร่งหามาตรการช่วยเกษตรกร 4 แสนราย

เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เครือข่ายสนับสนุนการแบน 686 องค์กร เข้าร่วมเสวนาวิชาการ “ความจริงของ 3 สาร จากคนทำงานสู่ผู้บริโภค” โดยกิจกรรมดังกล่าวเป็นการแสดงจุดยืนที่จะให้รัฐบาลและคณะกรรมการวัตถุอันตรายยกเลิกการใช้ 3 สารเคมีทางการเกษตร ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ภายในวันที่ 1 ธันวาคม 2562

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี หรือ ไบโอไทย กล่าวว่า ยืนยันเรื่องการแบน 3 สารเคมีให้เด็ดขาดภายในเดือนธันวาคมนี้ อีกทั้งต้องการเน้นย้ำว่าคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่จะมีการประชุมในวันที่ 22 ตุลาคมนี้ ควรมีการลงมติอย่างเปิดเผย โปร่งใส และขอให้มีมาตราการสนับสนุนเกษตรกรจำนวนกว่า 400,000 คน ที่ได้ลงทะเบียน/อบรม/การสอบเพื่อให้ใช้สารเคมีและมีความต้องการใช้ต่อไป หากเกิดการแบนสารทั้งหมด รัฐบาลจะต้องเร่งหามาตรการรองรับในกรณีนี้ต่อไป

“ทั้งนี้ช่วงของการปรับเปลี่ยนนั้น ถ้าหากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ได้ดำเนินการตามข้อเสนอของ สธ.ตั้งแต่แรกในชุดบริหารรัฐบาลที่แล้ว ก็จะมีเวลาดำเนินงานกว่า 2 ปี การเตรียมความพร้อมในมาตรการนี้เป็นความรับผิดชอบของ กษ. ดังนั้น ขณะนี้รัฐบาลควรเร่งหารือให้ความช่วยเหลือต่อทุกฝ่ายในช่วงเปลี่ยนผ่านและควรสร้างความชัดเจนโดยเร็ว” นายวิฑูรย์ กล่าว

จาก https://www.matichon.co.th   วันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2562

อย.ประกาศชัด ร่วมแบน3สารอันตราย ฝ่ายหนุนเปิดข้อมูล นัดแถลงวันจันทร์นี้

อย.ประกาศชัดสนับสนุนให้ยกเลิกใช้สารเคมีอันตรายสูง ทั้ง 3 ชนิด เนื่องจากมีผลเสียต่อสุขภาพอย่างชัดเจน ขณะที่กลุ่มเกษตรกรคัดค้านแบน 3 สารเคมี เตรียมแถลงใหญ่ความเดือดร้อนจันทร์นี้ก่อนจะมีการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ชี้ขาดยกเลิกหรือไม่ 22 ตุลาคม

นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (เลขาธิการอย.) กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ประกาศจุดยืนชัดเจนในการสนับสนุนให้ยกเลิกสารเคมีอันตรายทางการเกษตร 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพรีฟอส และไกลโฟเซต เนื่องจากมีอันตรายต่อสุขภาพ มีข้อมูลตรวจพบผู้ป่วยโรคเนื้อเน่าจากพาราควอต ใน จังหวัดหนองบัวลำภู พบการตกค้างของพาราควอตในซีรั่มของเด็กแรกเกิดและมารดา ขณะที่ไกลโฟเซตน่าจะก่อมะเร็ง(กลุ่ม 2A) และรบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อทำให้เกิดโรคเบาหวานและโรคไต ส่วนคลอร์ไพรีฟอสทำให้เกิดความผิดปกติด้านพัฒนาการทางสมองของเด็กอีกด้วย

 “ล่าสุดปี 2562 ตรวจพบคลอร์ไพรีฟอสในผักผลไม้ ไม่ผ่านมาตรฐาน 37 ตัวอย่างจาก 456 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ8.11ส่วนใหญ่พบใน ส้ม คื่นฉ่าย มะเขือเทศและคะน้า ดังนั้น อย.จึงสนับสนุนให้ยกเลิกการใช้สารเคมีอันตราย 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพรีฟอส และไกลโฟเซต เพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชน” เลขาธิการ อย.กล่าว

ด้านสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย (อ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ผักและผลไม้) แจ้งว่า ในวันจันทร์นี้ (21 ต.ค.)จะเปิดแถลงข่าว โหมโรง รวมพลังเกษตรกรไทย คัดค้านการแบน 3 สาร คือ สารคลอร์ไพริฟอส พาราควอต และไกลโฟเสต โดยระบุว่าจะมีการเปิดหลักฐานสำคัญคัดค้าน นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรที่ให้ยกเลิก หรือแบน 3 สารดังกล่าว โดยระบุว่า จะมีการประกาศเจตนารมณ์ของเกษตรกรทั่วไทย ในการ แบนพรรคการเมือง โดยงานจะจัด เวลา 10.00 น. ณ โรงแรมเอเชีย กรุงเทพฯ

จาก https://www.naewna.com วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2562

ก.อุตฯพร้อมบังคับใช้กม.โรงงานใหม่

ดีเดย์กฎหมายโรงงานฉบับใหม่ 27 ต.ค.นี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรมทยอยคลอดกฎหมายลูก จัดกลุ่มโรงงาน 107 ประเภท ยกให้ อปท.ดูแลโรงงานจำพวก 1 ทั้งหมด เพราะไม่ใช่โรงงานไม่ต้องขออนุญาต รง.4 ขณะที่จำพวก 2-3 ปรับแรงม้าใหม่ยกแผง ปรับเพิ่มค่าธรรมเนียม ร่างหลักเกณฑ์เทิร์ดปาร์ตี้ใกล้เสร็จ ด้าน “ส.อ.ท.” พร้อมรับหน้าที่ third party แนะรัฐเคาะมาตรการเสริมลดค่าใช้จ่ายการตรวจโรงงานช่วงแรก ช่วยผู้ประกอบการ SMEs

นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในวันที่ 27 ต.ค. 2562 พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2562 (ฉบับใหม่) จะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ ซึ่งขณะนี้กรมได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมทั้งในส่วนการยกร่างกฎหมายลูกหลายฉบับเสร็จแล้ว โดยเฉพาะเรื่องของการกำหนดขนาดโรงงานทั้ง 107 ประเภท หรือคำนิยามของโรงงานอุตสาหกรรม หลักเกณฑ์คุณสมบัติของผู้ตรวจบุคคลที่ 3 (third party) และอัตราค่าธรรมเนียม เป็นต้น

โดยกฎหมายใหม่ฉบับนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญหลัก 4 เรื่องใหญ่ คือ 1.ขอบเขตโรงงานได้ปรับแก้จากเดิมที่กำหนด 5 แรงม้า หรือคนงาน 7 คน มาเป็น 50 แรงม้า หรือคนงาน 50 คน เป็นโรงงานจำพวกที่ 2 ขณะที่ 75 แรงม้าขึ้นไป หรือคนงาน 75 คน เป็นโรงงานจำพวกที่ 3 ส่วนโรงงานจำพวกที่ 1 คือต่ำกว่า 50 แรงม้า โอนอำนาจการดูแลให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อติดตามดูแลโรงงานในท้องถิ่นภายใต้ พ.ร.บ.สาธารณสุขที่จะควบคุมดูแลด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม

2.ผู้ตรวจสอบเอกชน (third party) สามารถตรวจสอบโรงงานหรือเครื่องจักรได้ ซึ่งขณะนี้ยังคงอยู่ระหว่างการร่างหลักเกณฑ์คุณสมบัติที่เบื้องต้นจะให้เอกชนผู้เชี่ยวชาญทำหน้าที่ดังกล่าว และยังคงอยู่ระหว่างหารือว่า 11 สถาบันภายใต้สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมจะสามารถทำหน้าที่ได้ด้วยหรือไม่

3.ใบอนุญาตประกอบกิจการ รง.4 นั้นกำหนดไว้ว่า ผู้ประกอบการ เครื่องจักรไม่ถึง 50 แรงม้า แรงงานไม่ถึง 50 คน (จำพวก 1) ไม่ต้องขอใบอนุญาต เพราะถือว่าไม่ใช่โรงงาน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการรายเล็กเหล่านี้ไม่ต้องมีต้นทุน ส่วนโรงงานจำพวก 2 และ 3 เข้าข่ายเป็นโรงงาน จะต้องมาขออนุญาต และผู้ประกอบการ/โรงงานเดิมไม่ต้องต่อใบอนุญาต

และ 4.ผู้ประกอบกิจการ ต้องมีการรับรองตนเอง (self desired)

“กฎหมายลูกมีหลายตัวก็จะทยอยประกาศออกมาก่อน อย่างการกำหนดขนาดโรงงาน 107 ประเภทเสร็จแล้ว เรื่องค่าธรรมเนียมก็มีการปรับเพิ่มขึ้น แต่ยังมีกฎหมายลูกบางตัวที่ยังไม่เสร็จ เราสามารถประกาศใช้กฎหมายไปก่อนได้ กฎหมายลูกค่อยทยอยตามมา”

นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ความพยายามที่รัฐบาลต้องการให้ประเทศไทยมีความสะดวกกับนักลงทุนและผู้ประกอบการในการทำธุรกิจ จึงเป็นที่มาของการปรับแก้ ยกเลิกกฎหมายหลายฉบับ ส่งผลให้ความยากง่ายของการทำธุรกิจ (ease of doing business) ของไทยมีอันดับเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดเช่นเดียวกันกับกฎหมายของกรมโรงงานฯที่ต้องการลดปัญหาและอุปสรรค เรื่องของการขอใบอนุญาต รง.4 ในอดีตที่สะสมมานาน ทั้งความยุ่งยาก ใช้เวลานาน หลายขั้นตอน บุคลากรรัฐไม่เพียงพอ รวมถึงปัญหาการทุจริตรับสินบน ดังนั้น กฎหมายใหม่ฉบับนี้จะตัดปัญหาทั้งหมด และการใช้วิธีให้โรงงานประเมินตนเองเป็นการลดขั้นตอนและน่าเชื่อถือ โดยมี third party เข้ามาตรวจสอบอีกครั้ง

สำหรับคุณสมบัติ third party จะต้องเป็นผู้ที่เข้าใจในการประกอบธุรกิจ โครงสร้างของโรงงานอุตสาหกรรมแต่ละประเภทอยู่ในกลุ่มธุรกิจนั้น ๆ และต้องมีที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญวิศวกรรมด้านต่าง ๆ เช่น วิศวะเครื่องจักร วิศวะด้านการใช้พลังงาน เป็นต้น เนื่องจากวิศวะเหล่านี้จะรู้กระบวนการการทำงาน การผลิตของเครื่องจักร รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการของเสีย ซึ่ง ส.อ.ท.ได้เสนอตนเองทำหน้าที่ third party ดังกล่าว ด้วยความพร้อมและมีความสามารถครบทุกคุณสมบัติ เนื่องจากสมาชิกมีความเชี่ยวชาญและอยู่ในทุกกลุ่มอุตสาหกรรมและยังมีฐานข้อมูล

อย่างไรก็ตาม การกำหนดค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบช่วงแรกนั้น ภาครัฐต้องคิดในอัตราที่ถูก หรืออาจจะพิจารณาให้สามารถนำไปลดหย่อนได้ หรืออาจต้องเข้ามาสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้กับโรงงานก่อน โดยเฉพาะโรงงานที่ยังเป็น SMEs ซึ่งอัตราค่าตรวจคาดว่าจะต้องกำหนดออกมาเป็นเกณฑ์ที่จัดกลุ่มไปตามขนาดของโรงงาน

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2562

พลังงานไทยในสายตาโลก

“เป้าหมายของทุกประเทศชั้นนำด้านพลังงานจะเพิ่มสัดส่วนพลังงานทางเลือกสูงขึ้น ซึ่งไทยก็มีเป้าหมายตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกว่า ในปี 2580 สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงพลังงานหมุนเวียนจะอยู่ที่ระดับ 20% หรือเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปัจจุบัน สอดล้องกับนโยบายพลังงานเพื่อทุกคน ที่จะเกิดโรงไฟฟ้าชุมชนที่ใช้เชื้อเพลิงจากพลังงานหมุนเวียนเกิดขึ้นในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ถือเป็นการเปลี่ยนผ่านของพลังงานทางเลือกในประเทศไทย”

        ภาคพลังงานในยุคนี้ถือว่าเป็นกิจกรรมที่เติบโตและมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากเทคโนโลยีในปัจจุบันทำให้การทำงานในทุกเรื่องนั้นง่ายไปหมด การใช้พลังงานแบบเดิมก็ถูกปรับเปลี่ยนไปสู่แนวทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ควบคู่ไปกับด้านอื่นที่ถูกพัฒนาไปด้วยเช่นกัน ทั้งภาคอุตสาหกรรม การคมนาคม การแพทย์ หรือแม้กระทั่งการใช้ชีวิตของคนในยุคนี้ ซึ่งในทุกๆ  ด้านก็จะถูกปรับเปลี่ยนไปตามเทคโนโลยีปัจจุบัน แต่ทั้งหมดก็ยังต้องพึ่งพาพลังงานเป็นกลไกที่จะช่วยขับเคลื่อนให้เดินหน้าต่อไปได้เหมือนเช่นในอดีต

        ด้วยการพัฒนาของโลกนั้น ที่ทำให้ทุกด้านไปต่อได้ในแนวทางที่ดี รวมถึงด้านพลังงานด้วย แม้จะมีการปรับเปลี่ยนวิธีไปบ้าง มีสิ่งแปลกใหม่เพิ่มขึ้นอยู่เรื่อยๆ เมื่อเทียบกับอดีต แต่ก็ยังเป็นพื้นฐานให้กับเกือบทุกกิจกรรมที่เกิดขึ้นบนโลก ซึ่งทุกอย่างเริ่มต้นมามากกว่า 10 ปีแล้ว และได้รับการต่อยอดอย่างถูกที่ถูกทาง จึงเห็นได้ว่าปัจจุบันกระแสโลกด้านพลังงานจะมีทิศทางที่ใกล้เคียงกัน คือการเปลี่ยนพลังงานรูปแบบเดิมๆ ไปยังพลังงานแบบใหม่

        เช่น การผลิตไฟฟ้า ที่จากเดิมมีไม่กี่รูปแบบ และไม่สามารถเลือกเชื้อเพลิงได้หลากหลาย ก็ถูกพัฒนามาให้เลือกหลายประเทศ หรือแม้แต่การผลิตกลั่นน้ำมัน ที่มีส่วนผสมต่างๆ เพิ่มขึ้น มีชนิดให้ประชาชนเลือกใช้ได้มากขึ้น และราคาถูกลง ทำให้เป็นผลดีต่อผู้บริโภค โดยทุกเรื่องนั้นส่วนใหญ่นอกจากจะตอบสนองตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีแล้ว ยังสอดคล้องกับแนวคิดที่จะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ต่อโลก และต่อประชาชนในสังคมด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่เกือบทุกประเทศส่วนใหญ่ให้ความสนใจ

        ขณะที่ภาคพลังงานของประเทศไทยเอง ก็มีการปรับเปลี่ยนไปตามยุคตามสมัยพอสมควร หลายเรื่องก็มีทิศทางไปในแนวเดียวกันกับกระแสโลก และมีบางเรื่องที่เกิดขึ้นเนื่องจากเป็นความเหมาะสม หรือเพื่อมาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งต้องยอมรับว่ามีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดเช่นเดียวกันจากแรงสนับสนุนของรัฐบาล และความสนใจของภาคเอกชนในประเทศ จึงเป็นแรงผลักดันที่ทำให้ไทยจะก้าวขึ้นไปเป็นผู้นำด้านพลังงานในภูมิภาคอาเซียนได้ไม่ช้านี้

        ซึ่งในช่วงนี้กระทรวงพลังงานที่เป็นหน่วยงานหลักการบริหารนโยบายของประเทศ ก็เร่งทำคะแนนในการสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ โดยยืนยันว่าจะก้าวขึ้นไปเป็นหนึ่งในผู้นำด้านพลังงานของอาเซียน โดยผ่านการสื่อสารของ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ตามเวทีระดับโลก ยิ่งทำให้เกิดการรับรู้ที่มากขึ้นของต่างประเทศว่าไทยเริ่มดำเนินการเรื่องอะไรบ้าง และมีเป้าหมายที่จะเป็นอะไรในอนาคต

        และเมื่อไม่นานมานี้ก็ได้เดินทางไปยังสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ร่วมแสดงวิสัยทัศน์และแลกเปลี่ยนกับประเทศชั้นนำในระดับนโยบายในเวทีการประชุมรัฐมนตรีระดับโลกในการบูรณาการระบบพลังงานหมุนเวียน ว่าพลังงานหมุนเวียนได้กลายมาเป็นกระแสหลักในตลาดพลังงานระดับโลกอย่างรวดเร็วในไม่กี่ ปีที่ผ่านมานี้ ต้นทุนของพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเซลล์แสงอาทิตย์ถูกคาดการณ์ว่าจะมีราคาลดลงกว่าครึ่งในไม่กี่ปีข้างหน้า ซึ่งหมายความว่ามันจะกลายมาเป็นคู่แข่งกับพลังงานจากฟอสซิล

        ทั้งนี้ ในหลายๆ ประเทศ เช่น อินเดียและตะวันออกกลาง พลังงานแสงอาทิตย์ถูกเสนอขายในราคาเท่าราคาขายส่งเฉลี่ย หรือถูกกว่า หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่คาดการณ์ไว้คือแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์ ในอนาคตอันใกล้นี้จะสามารถใช้งานร่วมกับเทคโนโลยีการกักเก็บพลังงาน (แบตเตอรี่) สามารถแข่งขันได้กับการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งปัจจุบันสามารถเห็นได้จากประเทศชั้นนำอย่างเช่น สหรัฐอเมริกา ภูมิภาคยุโรป และออสเตรเลีย

        “เป้าหมายของทุกประเทศชั้นนำด้านพลังงานจะเพิ่มสัดส่วนพลังงานทางเลือกสูงขึ้น ซึ่งไทยก็มีเป้าหมายตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกว่า ในปี 2580 สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงพลังงานหมุนเวียนจะอยู่ที่ระดับ 20% หรือเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปัจจุบัน สอดล้องกับนโยบายพลังงานเพื่อทุกคน ที่จะเกิดโรงไฟฟ้าชุมชนที่ใช้เชื้อเพลิงจากพลังงานหมุนเวียนเกิดขึ้นในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ถือเป็นการเปลี่ยนผ่านของพลังงานทางเลือกในประเทศไทย”

        องค์ประกอบสำคัญอีกประการหนึ่ง คือเทคโนโลยี ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ และระบบอินเทอร์เน็ตออฟติงส์ (ไอโอที) กำลังเปลี่ยนแปลง วิธีที่ใช้งานกับอุปกรณ์เครื่องใช้ เครื่องมือ และการสื่อสารระหว่างกัน ความก้าวหน้าในอุปกรณ์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ควบคุม และการตอบสนองการใช้งานแบบดิจิทัล จึงช่วยให้สามารถบูรณาการการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและพลังงานหมุนเวียนที่ไม่ต่อเนื่องได้กว้างขึ้น อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ในภาคพลังงาน ได้วางผู้บริโภคพลังงานให้เป็นผู้ควบคุมพลังงานได้โดยเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ขาย (โปรซูเมอร์) ทำให้สามารถควบคุมการใช้ การผลิต การขาย และเลือกแหล่งพลังงาน สำหรับการผลิตพลังงานไฟฟ้าได้มากขึ้น ซึ่งเรียกโอกาสเหล่านี้ว่า “พลังงาน 4.0” ประเทศไทยเองก็ยังคงเพิ่มทักษะและความสามารถในการแข่งขันด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถก้าวไปสู่ระดับแนวหน้าของการปฏิวัติพลังงานนี้เช่นเดียวกัน

        และด้วยเป้าหมายที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับด้านพลังงานนี้เอง นอกจากจะพัฒนาในประเทศแล้ว ก็ต้องมีการเรียนรู้จากคนอื่นๆ ด้วย โดยการศึกษาข้อมูลจากประเทศชั้นนำจึงเป็นเรื่องที่ดีที่สุด ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานจึงได้ส่งให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทำความร่วมมือกับบริษัทต่างชาติ เพื่อร่วมกันศึกษาพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน โดยมุ่งเน้นเชื้อเพลิงประเภทชีวมวล (ไบโอแมส) และก๊าซชีวภาพ (ไบโอแก๊ส) ซึ่งจะเป็นโมเดลสำคัญที่สามารถนำมาต่อยอดให้กับการพัฒนาในประเทศได้ และตรงตามนโยบายของกระทรวงพลังงานที่จะมุ่งเน้นให้เกิดโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน

        ซึ่ง กฟผ.ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) กับบริษัท Stadtwerke Rosenheim นำรูปแบบความสำเร็จมาบูรณาการกับโรงไฟฟ้าชุมชนในประเทศไทยให้เหมาะกับเศษวัสดุทางการเกษตรที่มีอยู่ในท้องถิ่น อาทิ ซังข้าวโพด แกลบ หญ้าเนเปียร์ ทะลายปาล์ม รวมถึงร่วมกันแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ในการพัฒนาโรงไฟฟ้าชุมชน ตลอดจนการออกแบบเทคโนโลยีโรงไฟฟ้าที่เหมาะสมต่อชุมชนแต่ละแห่ง รวมถึงศึกษาพื้นที่ที่มีศักยภาพในประเทศไทยสำหรับการสร้างโรงไฟฟ้าชุมชน เป็นระยะเวลา 2 ปี เพื่อพัฒนาโรงไฟฟ้าชุมชนต้นแบบ โดยชุมชนร่วมเป็นเจ้าของ มีการบริหารจัดการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างรายได้ สร้างงานให้กับท้องถิ่น

        “จากแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี สัดส่วนพลังงานหมุนเวียนได้ถูกกำหนดไว้ที่อย่างน้อย 30% ของปริมาณการใช้พลังงานทั้งหมด โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีบทบาทหลักในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว เราไม่สามารถปฏิเสธแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีในอุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้าได้ ดังนั้นเราจึงมีการเริ่มต้นแผนงานจำนวนมากเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว”

        ประเทศไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้นำด้านการปฏิบัติที่เป็นเลิศในระดับภูมิภาคในภาคพลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และเทคโนโลยี ยานยนต์ไฟฟ้า โดยทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ระบุไทยมีการใช้พลังงานหมุนเวียนสูงสุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และไทยกำลังก้าวสู่ประเทศที่มีกำลังผลิตติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานชีวมวลที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้ ซึ่งคาดว่าจะเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยสามารถมีชื่อเสียงในสายตาประเทศชั้นนำของโลกได้.

จาก https://www.thaipost.net   วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2562

สมาคมชาวไร่อ้อยค้านแบนพาราควอต

สหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน และสมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ในนามตัวแทนสมาชิกชาวไร่อ้อยรวม 37 สถาบันในเขตภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กว่า 4 แสนครัวเรือน รวม 1.2 ล้านราย ร่วมประกาศจุดยืน ค้านการแบนพาราควอตและไกลโฟเซต เนื่องจาก อ้อยเป็นพืชเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สร้างแรงงาน รายได้เข้าสู่ประเทศปีละหลายแสนล้านบาท การใช้สารออร์แกนิกแทนสารเคมี คงไม่สามารถนำมาใช้กับการทำเกษตรอุตสาหกรรมได้ ดังนั้น การยกเลิกสารดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยอย่างมาก

นายทองคำ เชิงกลัด ประธานสหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย กล่าวถึงผลกระทบสำคัญว่า “ต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ค่าสารเคมี ค่าแรงงาน รวมทั้งยังเป็นข้อสงสัยเรื่อง สารทดแทนนั้นมีราคาสูงแต่คุณสมบัติไม่แน่ใจว่าทดแทนกันได้ และเครื่องจักรไม่สามารถใช้ได้ในไร่อ้อย โดยเฉพาะวัชพืชที่อยู่ในแถวหรือโคนอ้อย ที่สำคัญ หากมีการตกค้างของพาราควอตจริง วัชพืชคงไม่สามารถเติบโตขึ้นมาใหม่ในพื้นที่เดิมที่เคยฉีดได้ ดังนั้น ในนามของ 4 องค์กรชาวไร่อ้อย เห็นควรให้ใช้สารดังกล่าวต่อไปอย่างมีขอบเขตตามที่ได้จัดอบรมไปก่อนหน้านี้”

ขณะเดียวกัน ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยลุ่มน้ำป่าสัก สมาคมชาวไร่อ้อยเพชรบูรณ์ สมาคมชาวไร่อ้อยเขื่อนป่าสัก สระบุรี สมาคมชาวไร่อ้อยพิจิตร พิษณุโลก สมาคมชาวไร่อ้อยบึงสามพัน นำโดย นายวิชัย เปาวิมาน นายกสมาคมชาวไร่อ้อยลพบุรี กล่าวเสริมว่า “ปัจจุบัน ไม่สามารถใช้แรงงานได้เหมือนเมื่อก่อน การใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชพาราควอต จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ประกอบกับยังไม่มีสิ่งใดมาทดแทนได้ในทางปฏิบัติ เห็นควรให้อนุญาตใช้สารต่อไปภายใต้การจำกัดการใช้ จนกว่าจะหาสารทดแทนอันเป็นที่ยอมรับของเกษตรกรได้”

ด้านนายกิตติ ชุณหวงศ์ นายกสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “การเพาะปลูกอ้อยของไทยในพื้นที่กว่า 11 ล้านไร่ สร้างรายได้สูงกว่า 3 แสนล้านบาทต่อปี  เนื่องจากเกษตรกรไม่สามารถผลิตอ้อยได้ตามเป้าหมาย กระทบเป็นลูกโซ่ ส่งผลให้โรงงานน้ำตาลขาดวัตถุดิบ ต้นทุนผลิตสูงขึ้น กระทบต่อเนื่องไปยังอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายดิบ ผลเลวร้ายที่สุด โรงงานน้ำตาลคงต้องทยอยปิดตัวลงในไม่ช้า เหตุเพราะขาดทุน"

ด้านนายวิโรจน์ ณ ระนอง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI  เปิดเผยว่า การใช้สารเคมีเกษตร ทำให้ประเทศไทยพัฒนาเกษตรกรรมมาหลายสิบปี จนผลิตได้เกินบริโภคมากมาย ถ้าไม่ใช้สารเคมีเกษตร คือ ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ไม่ใช้เคมีเกษตร ไทยจะผลิตอาหารไม่พอกิน ถ้าไม่ใช้เคมีเกษตร แต่ใช้ปุ๋ยเคมี อาจพอกินในภาพรวม แต่บางกลุ่มจะลำบาก เช่น อาจต้องใช้แรงงานใช้จอบเสียมแทน แต่แรงงานก็มีราคาแพงกว่า รัฐบาลจะจัดการปัญหาตามกระแส ตามความรู้สึก ตามการเมือง ไม่ใช่ข้อมูลวิชาการไม่ได้ การแบน DDT ในอดีต คนจะใช้ก็ไปแอบนำเข้า ในสหรัฐอเมริกา เมื่อมีปัญหาสารกำจัดวัชพืช เขาก็มีวิธีควบคุมแก้ปัญหาแบบวิทยาศาสตร์และทำการค้าขายได้ ท้ายสุด เรื่องเหล่านี้ จะมีผู้ได้และผู้เสียประโยชน์ ไม่ว่าจะเลือกใช้หรือแบน จะชดเชยความเสียหายให้เกษตรกร และอุตสาหกรรมต่าง ๆ อย่างไร

“สิ่งเหล่านี้ รัฐบาล ต้องไม่ปล่อยให้เกิดขึ้น ไม่เช่นนั้นผลกระทบกับมูลค่า GDP ภาคการเกษตรจะกระทบมหาศาล เป็นมูลค่าความเสียหายในการส่งออกเฉพาะน้ำตาลและผลิตภัณฑ์ กว่า 94,618 ล้านบาท จากมูลค่าความเสียหายรวมกว่า 570,000 ล้านบาท และถ้ารัฐคิดจะจ่ายค่าชดเชยให้ผู้ปลูกอ้อย ต้องใช้วงเงินอย่างน้อย 270,000 ล้าน โดยยังไม่รวมค่าชดเชยในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และอาจใช้ระยะเวลาในการชดเชยมากกว่า 1 ปีแน่นอน” ดร. กิตติ ชุณหวงศ์ กล่าวสรุป

จาก https://www.thaipost.net วันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2562

ขู่ลุกฮือทั่วประเทศ!! ชาวไร่อ้อยนับล้านต้านแบนสารพิษ ปูดศก.พังยับ5.7แสนล.-รง.น้ำตาลเจ๊ง

นายทองคำ เชิงกลัด ประธานสหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย กล่าวถึงผลกระทบสำคัญหากแบนพาราควอต ว่า ต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ค่าสารเคมี ค่าแรงงาน รวมทั้งยังเป็นข้อสงสัยเรื่อง สารทดแทนนั้นมีราคาสูงแต่คุณสมบัติไม่แน่ใจว่าทดแทนกันได้ และเครื่องจักรไม่สามารถใช้ได้ในไร่อ้อย โดยเฉพาะวัชพืชที่อยู่ในแถวหรือโคนอ้อย ที่สำคัญหากมีการตกค้างของพาราควอตจริง วัชพืชคงไม่สามารถเติบโตขึ้นมาใหม่ในพื้นที่เดิมที่เคยฉีดได้ ดังนั้น ในนามของ 4 องค์กรชาวไร่อ้อย เห็นควรให้ใช้สารดังกล่าวต่อไปอย่างมีขอบเขตตามที่ได้จัดอบรมไปก่อนหน้านี้

สหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน และสมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ในนามตัวแทนสมาชิกชาวไร่อ้อยรวม 37 สถาบันในเขตภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กว่า 4 แสนครัวเรือน รวม 1.2 ล้านราย ร่วมประกาศจุดยืนค้านการแบนพาราควอตและไกลโฟเซต เนื่องจากอ้อยเป็นพืชเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สร้างแรงงาน รายได้เข้าสู่ประเทศปีละหลายแสนล้านบาท การใช้สารออร์แกนิกแทนสารเคมี คงไม่สามารถนำมาใช้กับการทำเกษตรอุตสาหกรรมได้ ดังนั้น การยกเลิกสารดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยอย่างมาก

ขณะเดียวกันชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยลุ่มน้ำป่าสัก สมาคมชาวไร่อ้อยเพชรบูรณ์ สมาคมชาวไร่อ้อยเขื่อนป่าสัก สระบุรี สมาคมชาวไร่อ้อยพิจิตร พิษณุโลก สมาคมชาวไร่อ้อยบึงสามพัน นำโดยนายวิชัย เปาวิมาน นายกสมาคมชาวไร่อ้อยลพบุรีกล่าวว่า ปัจจุบัน ไม่สามารถใช้แรงงานได้เหมือนเมื่อก่อน การใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชพาราควอต จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ประกอบกับยังไม่มีสิ่งใดมาทดแทนได้ในทางปฏิบัติ เห็นควรให้อนุญาตใช้สารต่อไปภายใต้การจำกัดการใช้จนกว่าจะหาสารทดแทนอันเป็นที่ยอมรับของเกษตรกรได้

ดร.กิตติ ชุณหวงศ์ นายกสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย กล่าวว่าการเพาะปลูกอ้อยของไทยในพื้นที่กว่า 11 ล้านไร่ สร้างรายได้สูงกว่า 3 แสนล้านบาทต่อปี เนื่องจากเกษตรกรไม่สามารถผลิตอ้อยได้ตามเป้าหมาย กระทบเป็นลูกโซ่ ส่งผลให้โรงงานน้ำตาลขาดวัตถุดิบ ต้นทุนผลิตสูงขึ้น กระทบต่อเนื่องไปยังอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายดิบ ผลเลวร้ายที่สุด โรงงานน้ำตาลคงต้องทยอยปิดตัวลงในไม่ช้า เหตุเพราะขาดทุน

"สิ่งเหล่านี้รัฐบาลต้องไม่ปล่อยให้เกิดขึ้น ไม่เช่นนั้นผลกระทบกับมูลค่า GDP ภาคการเกษตรจะกระทบมหาศาลเป็นมูลค่าความเสียหายในการส่งออกเฉพาะน้ำตาลและผลิตภัณฑ์กว่า 94,618 ล้านบาท จากมูลค่าความเสียหายรวมกว่า 570,000 ล้านบาท และถ้ารัฐคิดจะจ่ายค่าชดเชยให้ผู้ปลูกอ้อยต้องใช้วงเงินอย่างน้อย 270,000 ล้าน โดยยังไม่รวมค่าชดเชยในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และอาจใช้ระยะเวลาในการชดเชยมากกว่า 1 ปีแน่นอน"

ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI กล่าวว่า การใช้สารเคมีเกษตร ทำให้ประเทศไทยพัฒนาเกษตรกรรมมาหลายสิบปีจนผลิตได้เกินบริโภคมากมาย ถ้าไม่ใช้สารเคมีเกษตร คือ ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ไม่ใช้เคมีเกษตร ไทยจะผลิตอาหารไม่พอกิน ถ้าไม่ใช้เคมีเกษตร แต่ใช้ปุ๋ยเคมีอาจพอกินในภาพรวม แต่บางกลุ่มจะลำบากเช่น อาจต้องใช้แรงงานใช้จอบเสียมแทน แต่แรงงานมีราคาแพงกว่า รัฐบาลจะจัดการปัญหาตามกระแส ตามความรู้สึก ตามการเมือง ไม่ใช่ข้อมูลวิชาการไม่ได้ การแบน DDT ในอดีตคนจะใช้ก็ไปแอบนำเข้าในสหรัฐฯ เมื่อมีปัญหาสารกำจัดวัชพืช เขามีวิธีควบคุมแก้ปัญหาแบบวิทยาศาสตร์และทำการค้าขายได้ ท้ายสุดเรื่องเหล่านี้จะมีผู้ได้และผู้เสียประโยชน์ ไม่ว่าจะเลือกใช้หรือแบน แต่จะชดเชยความเสียหายให้เกษตรกร และอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างไร

จาก https://www.naewna.com วันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2562

สงครามการค้า-บาทแข็ง ฉุดเชื่อมั่นอุตฯ ก.ย.ต่ำสุดรอบ 12 เดือน

ส.อ.ท.เผยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนกันยายนต่ำสุดในรอบ 12 เดือน เหตุสงครามการค้า เงินบาทแข็งค่า คาดหวังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐดัน 3 เดือนข้างหน้ากระเตื้อง

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนกันยายน 2562 ว่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ อยู่ระดับ 92.1 ปรับลดลงต่ำสุดในรอบ 12 เดือน นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561 เนื่องจากผู้ประกอบการกังวลเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจภายในประเทศที่ยังคงชะลอตัว

“ผู้ประกอบการยังคงกังวลปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่ยังไม่มีท่าทีชัดเจน และบางส่วนยังกังวลเรื่องเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง โดยเดือนกันยายน 2562 เงินบาทแข็งค่าแตะระดับต่ำสุด 30.76 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่ากว่าร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2561 ทำให้ผู้ส่งออกได้รับผลกระทบ ขณะที่ราคาขายปลีกน้ำมันภายในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการดำเนินธุรกิจด้วยเช่นเดียวกัน” นายสุพันธ์กล่าว

ส่วนการที่รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศช่วยคลายความกังวลให้แก่ผู้ประกอบการลงได้ แต่ยังมีปัจจัยกดดันภายในประเทศที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ไม่ฟื้น ประกอบกับการชะลอการลงทุนภายในประเทศ นอกจากนี้ อุทกภัยในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือทำให้กำลังซื้อในภูมิภาคลดลงด้วย

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 103.4 เพิ่มขึ้นจาก 102.9 ในเดือนสิงหาคม 2562 เนื่องจากผู้ประกอบการเชื่อว่าเศรษฐกิจไทย 3 เดือนข้างหน้าจะได้รับปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐผ่านโครงการชิมช้อปใช้ ระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ซึ่งจะช่วยให้เกิดการใช้จ่ายภายในประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงช่วงปลายปี 2562

อย่างไรก็ตาม มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ คือ ควรส่งเสริมผู้ประกอบการไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศ โดยมุ่งเน้นตลาดที่มีศักยภาพ ผ่านการปรับเงื่อนไขการลงทุนและสิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อจูงใจผู้ลงทุนมากขึ้น พร้อมกันนี้ควรสนับสนุนสินค้า Made in Thailand พร้อมส่งเสริมให้ใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ รวมทั้งรณรงค์ให้ผู้บริโภคใช้สินค้าไทย

จาก https://mgronline.com วันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2562

9 สมาคมใหญ่ชาวไร่อ้อย/TDRI เตือนรัฐฯแบนพาราควอตผลกระทบมหาศาล

เกษตรกรอ้อยและแรงงาน 1 ล้านราย เตรียมรุกฮือ แบนพาราควอต ไร้เหตุผลและข้อเท็จจริงด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

                นายทองคำ เชิงกลัด ประธานสหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย กล่าวถึงผลกระทบสำคัญว่า ต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ค่าสารเคมี ค่าแรงงาน รวมทั้งยังเป็นข้อสงสัยเรื่อง สารทดแทนนั้นมีราคาสูงแต่คุณสมบัติไม่แน่ใจว่าทดแทนกันได้ และเครื่องจักรไม่สามารถใช้ได้ในไร่อ้อย โดยเฉพาะวัชพืชที่อยู่ในแถวหรือโคนอ้อย ที่สำคัญ หากมีการตกค้างของพาราควอตจริง วัชพืชคงไม่สามารถเติบโตขึ้นมาใหม่ในพื้นที่เดิมที่เคยฉีดได้ ดังนั้น ในนามของ 4 องค์กรชาวไร่อ้อย เห็นควรให้ใช้สารดังกล่าวต่อไปอย่างมีขอบเขตตามที่ได้จัดอบรมไปก่อนหน้านี้

                นายวิชัย เปาวิมาน นายกสมาคมชาวไร่อ้อยลพบุรี ตัวแทนชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยลุ่มน้ำป่าสัก สมาคมชาวไร่อ้อยเพชรบูรณ์ สมาคมชาวไร่อ้อยเขื่อนป่าสัก สระบุรี สมาคมชาวไร่อ้อยพิจิตร พิษณุโลก สมาคมชาวไร่อ้อยบึงสามพัน นำโดย กล่าวว่า ปัจจุบัน ไม่สามารถใช้แรงงานได้เหมือนเมื่อก่อน การใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชพาราควอต จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ประกอบกับยังไม่มีสิ่งใดมาทดแทนได้ในทางปฏิบัติ เห็นควรให้อนุญาตใช้สารต่อไปภายใต้การจำกัดการใช้ จนกว่าจะหาสารทดแทนอันเป็นที่ยอมรับของเกษตรกรได้

                ดร. กิตติ ชุณหวงศ์ นายกสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การเพาะปลูกอ้อยของไทยในพื้นที่กว่า 11 ล้านไร่ สร้างรายได้สูงกว่า 3 แสนล้านบาทต่อปี เนื่องจากเกษตรกรไม่สามารถผลิตอ้อยได้ตามเป้าหมาย กระทบเป็นลูกโซ่ ส่งผลให้โรงงานน้ำตาลขาดวัตถุดิบ ต้นทุนผลิตสูงขึ้น กระทบต่อเนื่องไปยังอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายดิบ ผลเลวร้ายที่สุด โรงงานน้ำตาลคงต้องทยอยปิดตัวลงในไม่ช้า เหตุเพราะขาดทุน

ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI กล่าวในรายการสถานีวิทยุจุฬาฯ ว่า การใช้สารเคมีเกษตร ทำให้ประเทศไทยพัฒนาเกษตรกรรมมาหลายสิบปี จนผลิตได้เกินบริโภคมากมาย ถ้าไม่ใช้สารเคมีเกษตร คือ ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ไม่ใช้เคมีเกษตร ไทยจะผลิตอาหารไม่พอกิน ถ้าไม่ใช้เคมีเกษตร แต่ใช้ปุ๋ยเคมี อาจพอกินในภาพรวม แต่บางกลุ่มจะลำบาก เช่น อาจต้องใช้แรงงานใช้จอบเสียมแทน แต่แรงงานก็มีราคาแพงกว่า รัฐบาลจะจัดการปัญหาตามกระแส ตามความรู้สึก ตามการเมือง ไม่ใช้ข้อมูลวิชาการไม่ได้ การแบน DDT ในอดีต คนจะใช้ก็ไปแอบนำเข้า ในสหรัฐอเมริกา เมื่อมีปัญหาสารกำจัดวัชพืช เขาก็มีวิธีควบคุมแก้ปัญหาแบบวิทยาศาสตร์และทำการค้าขายได้ ท้ายสุด เรื่องเหล่านี้ จะมีผู้ได้และผู้เสียประโยชน์ ไม่ว่าจะเลือกใช้หรือแบน จะชดเชยความเสียหายให้เกษตรกร และอุตสาหกรรมต่าง ๆ อย่างไร

“สิ่งเหล่านี้ รัฐบาล ต้องไม่ปล่อยให้เกิดขึ้น ไม่เช่นนั้นผลกระทบกับมูลค่าจีดีพี (GDP) ภาคการเกษตรจะกระทบมหาศาล เป็นมูลค่าความเสียหายในการส่งออกเฉพาะน้ำตาลและผลิตภัณฑ์ กว่า 94,618 ล้านบาท จากมูลค่าความเสียหายรวมกว่า 570,000 ล้านบาท และถ้ารัฐคิดจะจ่ายค่าชดเชยให้ผู้ปลูกอ้อย ต้องใช้วงเงินอย่างน้อย 270,000 ล้าน โดยยังไม่รวมค่าชดเชยในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และอาจใช้ระยะเวลาในการชดเชยมากกว่า 1 ปีแน่นอน”

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2562

ล้มภาคเกษตร 5.7 แสนล้าน? หากล้มพาราควอต

สมาคมไร่อ้อยดิ้นเตือนรัฐบาล  แบนพาราควอตผลกระทบเกินรับไหว ชี้มูลค่าความเสียหายในการส่งออกเฉพาะน้ำตาลและผลิตภัณฑ์ กว่า 94,618 ล้านบาท จากมูลค่าความเสียหายรวมกว่า 570,000 ล้านบาท

นายทองคำ เชิงกลัด ประธานสหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มติการแบนแบนพาราควอตและไกลโฟเซตที่กำลังจะเกิดขึ้น ล่าสุด 9สมาคมชาวไร่อ้อย เช่น สหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย, สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย, ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน, และสมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ในนามตัวแทนสมาชิกชาวไร่อ้อยรวม 37 สถาบัน กว่า 4 แสนครัวเรือน รวม 1.2 ล้านราย ร่วมประกาศจุดยืน ค้านการแบนพาราควอตและไกลโฟเซต ในครั้งนี้ เนื่องจาก อ้อยเป็นพืชเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สร้างแรงงาน รายได้เข้าสู่ประเทศปีละหลายแสนล้านบาท การใช้สารออร์แกนิกแทนสารเคมี คงไม่สามารถนำมาใช้กับการทำเกษตรอุตสาหกรรมได้ ดังนั้น การยกเลิกสารดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยอย่างมาก

“ต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ค่าสารเคมี ค่าแรงงาน รวมทั้งยังเป็นข้อสงสัยเรื่อง สารทดแทนนั้นมีราคาสูงแต่คุณสมบัติไม่แน่ใจว่าทดแทนกันได้ และเครื่องจักรไม่สามารถใช้ได้ในไร่อ้อย โดยเฉพาะวัชพืชที่อยู่ในแถวหรือโคนอ้อย ที่สำคัญ หากมีการตกค้างของพาราควอตจริง วัชพืชคงไม่สามารถเติบโตขึ้นมาใหม่ในพื้นที่เดิมที่เคยฉีดได้ ดังนั้น ในนามของ 4 องค์กรชาวไร่อ้อย เห็นควรให้ใช้สารดังกล่าวต่อไปอย่างมีขอบเขตตามที่ได้จัดอบรมไปก่อนหน้านี้”

ดร. กิตติ ชุณหวงศ์ นายกสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า ขณะที่การเพาะปลูกอ้อยของไทยในพื้นที่กว่า 11 ล้านไร่ สร้างรายได้สูงกว่า 3 แสนล้านบาทต่อปี  เนื่องจากเกษตรกรไม่สามารถผลิตอ้อยได้ตามเป้าหมาย กระทบเป็นลูกโซ่ ส่งผลให้โรงงานน้ำตาลขาดวัตถุดิบ ต้นทุนผลิตสูงขึ้น กระทบต่อเนื่องไปยังอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายดิบ ผลเลวร้ายที่สุด โรงงานน้ำตาลคงต้องทยอยปิดตัวลงในไม่ช้า เหตุเพราะขาดทุน

“รัฐบาล ต้องไม่ปล่อยให้เกิดขึ้น เพราะจะกระทบกับมูลค่า GDP ภาคการเกษตรอย่างมหาศาล โดยเฉพาะมูลค่าความเสียหายในการส่งออกจากน้ำตาลและผลิตภัณฑ์ กว่า 94,618 ล้านบาท จากมูลค่าความเสียหายรวมกว่า 570,000 ล้านบาท และถ้ารัฐคิดจะจ่ายค่าชดเชยให้ผู้ปลูกอ้อย ต้องใช้วงเงินอย่างน้อย 270,000 ล้านบาท โดยยังไม่รวมค่าชดเชยในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และอาจใช้ระยะเวลาในการชดเชยมากกว่า 1 ปีแน่นอน” ดร. กิตติ ชุณหวงศ์ กล่าวสรุป

จาก https://mgronline.com  วันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2562

สทนช.ขีดไกด์ไลน์ “ค่าน้ำ” ยึดโครงสร้างต้นทุน-มุ่งใช้คุ้มค่า

การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ถือเป็นนโยบายที่สำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทุกภาคส่วน ไทยเพิ่งประกาศบังคับใช้ พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา แต่ยังมี “หมวด 4 การจัดสรรน้ำและการใช้น้ำ” ซึ่งมีกำหนดจะบังคับใช้ในอีก 1.5 ปีข้างหน้า หรือในปี 2564

ภายใต้บทบัญญัตินี้จะจัดลำดับความสำคัญการจัดสรรน้ำ การแบ่งประเภทการใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะ และการออกใบอนุญาตการใช้น้ำ และการจัดเก็บค่าน้ำสาธารณะ โดยแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ

ประเภทที่ 1 การใช้ทรัพยากรน้ำเพื่อการดำรงชีพ การอุปโภคบริโภคในครัวเรือน การเกษตรหรือการเลี้ยงสัตว์เพื่อการยังชีพ การอุตสาหกรรมในครัวเรือน การรักษาระบบนิเวศ จารีตประเพณี การบรรเทาสาธารณภัย การคมนาคม และการใช้น้ำปริมาณน้อย

ประเภทที่ 2 การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อการอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การผลิตพลังงานไฟฟ้า การประปาและกิจการอื่น

ประเภทที่ 3 การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อกิจการขนาดใหญ่ที่ใช้น้ำปริมาณมาก ซึ่งนายกรัฐมนตรี โดยคณะกรรมการนโยบายน้ำแห่งชาติ (กนช.) และคณะกรรมการลุ่มน้ำ จะเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์การกำหนดค่าน้ำและผู้รับผิดชอบ ซึ่งทางสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) มอบให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้ศึกษาหลักเกณฑ์ภายใต้บทบัญญัติดังกล่าว คาดว่าอีก 6-7 เดือนข้างหน้าจึงจะแล้วเสร็จ

จุฬาฯไม่ศึกษา “ค่าน้ำ”

นายสราวุธ ชีวะประเสริฐ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์น้ำ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ขอบเขตการศึกษาของ “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” จะเน้นศึกษาเรื่องวิธีการ การขออนุญาตทำอย่างไร การจัดสรรน้ำทำอย่างไร แต่ไม่ได้คำนวณ “อัตราค่าน้ำ”

เพราะเรื่องนี้คณะกรรมการลุ่มน้ำ 22 ลุ่มน้ำ จะเสนอ กนช. แต่ไม่ว่าอัตราค่าน้ำที่เก็บจะเป็นอย่างไร สทนช.คงต้องออกแนวปฏิบัติ (ไกด์ไลน์) ว่า น้ำที่ประกอบกิจกรรมภาคธุรกิจมีมูลค่าเท่าไร เช่น มูลค่าน้ำภาคการเกษตรที่บอกว่าค่าน้ำ 1 หน่วย ได้ผลผลิตมาไม่ถึง 10 บาท ถ้าเก็บเขา 5 บาท เกษตรกรจะไม่สามารถอยู่ได้ เพราะราคาผลผลิตที่ขายได้ไม่คุ้มค่าน้ำ ฉะนั้น หลักการต้องดูว่าธุรกิจอะไรเอาน้ำไปใช้ “ได้มูลค่าเพิ่ม” เท่าไร คือ ดูโครงสร้างต้นทุน และปัจจัยที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ มาตรานี้ถือว่ามีความสำคัญ โดยเฉพาะการเก็บค่าน้ำใน 3 ประเภทกิจกรรม เช่น ประเภที่ 1 ใช้เพื่อความจำเป็นพื้นฐาน ในการทำการเกษตรเพื่อยังชีพรายย่อยที่มีพื้นที่น้อยกว่า 20% ซึ่งจะไม่เก็บค่าน้ำแน่นอน ประเภท 2 อาจเก็บก็ได้ หรือไม่เก็บก็ได้ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการนโยบายน้ำแห่งชาติ (กนช.) และคณะกรรมการลุ่มน้ำจะพิจารณาอีกครั้ง และประเภทที่ 3 อาจเก็บก็ได้ หรือไม่เก็บก็ได้ แต่จะ “ต้อง” ขออนุญาตใช้น้ำ จากเดิมถ้าเป็นน้ำที่ใช้จากแหล่งน้ำสาธารณะไม่เคยต้องขออนุญาต เพียงแต่แจ้งให้ทราบ ซึ่งจากนี้จะเก็บหรือไม่เก็บค่าน้ำก็ได้ เป็นไปตามข้อเสนอทางคณะกรรมการลุ่มน้ำ ที่จะเสนอ กนช. เช่นกัน อนึ่ง ขณะนี้มีการเก็บ 2 ประเภทน้ำ คือ น้ำที่ประกาศเป็นแหล่งน้ำชลประทาน กับน้ำบาดาล

โรงงานหวั่น “ค่าน้ำแพง”

ต่อประเด็นนี้ ภาคอุตสาหกรรมอาจกังวลว่าแล้ว “อัตราค่าน้ำ” ที่จะเรียกเก็บเป็นเท่าไร ยืนยันได้ไม่ต้องห่วงว่าประกาศนี้จะทำให้ต้องจ่ายค่าน้ำสูงขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากหลักการเก็บค่าน้ำแต่ละประเภทมีอยู่แล้ว โดย 1) น้ำนอกเขตชลประทาน ทางกรมทรัพยากรน้ำจะเป็นผู้จัดเก็บ 2) ทางน้ำชลประทาน มีกรมชลประทานเป็นผู้จัดเก็บ และ 3) น้ำบาดาล กรมทรัพยากรน้ำเป็นผู้จัดเก็บ

หากกรมทรัพยากรน้ำพิจารณาว่าจะเก็บค่าน้ำคิวละ 1 บาท ซึ่งตอนนี้กรมชลประทานเก็บคิวละ 50 สตางค์ ก็จะต้องปรับขึ้นเป็น 2 บาท เพื่อให้สะท้อนความเป็นจริงในการจัดหา ส่วนอัตราค่าน้ำบาดาลอาจไม่เก็บเพิ่ม เพราะราคาสูงอยู่แล้วโดยเฉพาะในเขตบังคับการอนุรักษ์น้ำบาดาลสูงกว่าปกติ 2 เท่า จากการเป็นทรัพยากรของชาติ และเพื่ออนุรักษ์น้ำบาดาล ในพื้นที่เสื่อมโทรมก็ต้องเก็บเพิ่ม

ส่วนของกรมชลประทานนั้นหลักการเก็บค่าน้ำสะท้อนค่าบำรุงรักษา ดังนั้นมี 2 แนวคิด คือ เก็บในฐานะเป็นทรัพยากร ซึ่งก็คงต้องเก็บทั้งปี เพราะถือเป็นทรัพยากรของประเทศ หรือเก็บเพื่อสะท้อนการใช้น้ำในช่วงที่หาน้ำยาก (หน้าแล้ง) เพื่อสะท้อนว่าน้ำที่ได้มาเป็นส่วนที่รัฐลงทุน อาจเก็บเฉพาะฤดูแล้ง

กนช.เคาะเก็บช่วงแล้งหรือทั้งปี

“การเก็บค่าน้ำเฉพาะหน้าแล้งเป็นหนึ่งแนวคิด เพราะมองว่าน้ำและอากาศเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความเสียหาย ขณะที่อากาศสามารถหาได้ทุกที่ เทียบกับน้ำเป็นทรัพยากรธรรมชาติเหมือนกัน แต่ไม่ได้หาได้ทุกที่ บางช่วงเยอะบางช่วงน้อย เราจึงคิดว่ามาเก็บช่วงที่น้ำน้อย เพื่อให้เกิดการใช้อย่างมีประสิทธิภาพได้ไหม แล้วเอาส่วนที่เก็บไปพัฒนาเป็นกองทุนพัฒนาด้านน้ำต่อ

“การพิจารณาว่าจะเก็บหน้าแล้งหรือเก็บทั้งปีแต่อัตราต่ำ ยังต้องหาข้อสรุปกันก่อน การเก็บทั้งปีง่ายต่อการคำนวณ เพราะหลักการมองว่าน้ำเป็นทรัพยากรชาติ แต่หากอีกด้านมองว่าน้ำเป็นการลงทุนของรัฐ ถ้าคุณใช้น้ำที่รัฐลงทุนก็ควรต้องจ่ายเงินใช่ไหม ฉะนั้น ถ้าคิดอย่างนี้หน้าฝนไม่เก็บ ท้ายที่สุด กนช.จะเคาะโดยความเห็นของคณะกรรมการลุ่มน้ำ”

ตรึงค่าน้ำยาวถึงปี”64

ต่อประเด็นคำถามที่ว่า ระหว่างการศึกษาและกำหนดอัตราค่าน้ำนั้น ภาคเอกชนจะขอปรับค่าน้ำได้หรือไม่ คำตอบคือ “ไม่ได้” และหากจะขึ้นราคาโดยอ้างว่าเป็นค่าบำรุงรักษาจำเป็นต้องตอบให้ได้ว่าค่าบำรุงรักษาเท่าไร ส่วนที่จะอ้างเหตุผลว่ารัฐเก็บค่าน้ำ จึงต้องปรับค่าน้ำทำไม่ได้ เพราะตอนนี้เรายังไม่ได้เก็บ อย่างเร็วก็อีก 2 ปี คือ 2564

จัดสรรน้ำ 6 ภารกิจตามสัดส่วน

ส่วนข้อเสนอเบื้องต้นว่าด้วย “การจัดสรรน้ำ” กำหนดว่าจะไม่ลดการใช้น้ำใน 6 ประเภทกิจกรรม คือ เกษตร อุตสาหกรรม พาณิชย์ ท่องเที่ยว คมนาคม และพลังงาน ถ้าเกิดกรณีมีน้ำปริมาณน้อยจะลดเป็นสัดส่วนตามลำดับประเภทกิจกรรม แต่อันดับท้าย ๆ อาจลดลงสัดส่วนมากกว่า

แต่หากจะลด “ยังต้อง” ตกลงกันก่อนในแต่ละพื้นที่ ซึ่งประเด็นนี้อยู่ในหมวดการบริหารจัดการน้ำในภาวะวิกฤต และต้องมีรายละเอียดภายใต้กฤษฎีกาอีกครั้ง ซึ่งในกฎหมายฉบับนี้ยังมีบทบัญญัติเกี่ยวกับสถานการณ์ฉุกเฉินว่าสามารถดึงน้ำจากภาคเอกชนมาใช้ได้ แต่รัฐต้อง “คืนรายได้” ค่าน้ำให้กับเอกชนเจ้าของน้ำด้วย

มุ่งอนุรักษ์แหล่งน้ำสาธารณะ

นอกจากนี้ อีกมาตราที่ไม่ค่อยมีการพูดถึงากนัก คือ “หมวด 6 การอนุรักษ์และการพัฒนาแหล่งน้ำสาธารณะ” ซึ่งเดิมมีช่องว่างในกฎหมายผังเมือง โดยกฎหมายกำหนดให้การใช้ประโยชน์ที่ดินสาธารณะที่จะมีผลกระทบต่อการใช้แหล่งน้ำสาธารณะในกรณีที่จำเป็นอนุญาตให้กระทรวงมหาดไทยสามารถไปออกกฎระเบียบผังเมืองเรื่องเหล่านั้นได้ เช่น อาจจะไม่อนุญาตให้ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมที่เสี่ยงจะก่อให้เกิดมลพิษทางน้ำ หรือต้องตั้งห่างไม่น้อยกว่า 1 กม. หรือ 500 เมตร

หรือแนวทางที่ 2 อาจอาศัยอำนาจของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่จะออกระเบียบว่า โรงงานอุตสาหกรรมประเภทใดที่ไม่อนุญาตให้ตั้งอยู่เหนือแหล่งน้ำสำคัญ หรืออ่างเก็บน้ำ เพราะป้องกันเรื่องการตกค้างของมลพิษในแหล่งน้ำต่าง ๆ ซึ่งประเด็นนี้ในอดีตเราจะเห็นว่า หลายนิคมอุตสาหกรรมตั้งอยู่เหนืออ่างเก็บน้ำ เพราะในสมัยก่อนไม่มีกฎหมายบังคับด้านนี้

อย่างไรก็ตาม 2 จุดนี้ยังไม่กำหนดรายละเอียดของการดำเนินการ เพียงระบุว่า “ถ้าจำเป็น” ให้ 2 กระทรวงสามารถออกระเบียบ และรัฐอาจเรียกค่าใช้จ่ายจากผู้ที่ทำให้เกิดมลพิษตามมาตราความไม่ชอบทางแพ่งด้วย

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 17 ตุลาคม 2562

กระทรวงเกษตรแจ้ง อสก.แล้ว ต้องแบน 3 สารเคมีพิษร้าย

ให้มีผล 1 ธ.ค. 62 วอร์รูม สธ.ลุยต่อชี้ก่อโรครุนแรง ‘กลุ่มเกษตรกร’ ยังมุ่งมั่นที่จะใช้

“เฉลิมชัย ศรีอ่อน” รมว.เกษตรและสหกรณ์ ลงนามหนังสือแจ้งมติคณะทำงาน 4 ฝ่าย แบน 3 สารเคมีด้านพืช ให้ “สุริยะ” ส่งไม้ต่อคณะกรรมการวัตถุอันตราย ยันกระทรวงเกษตรฯต้องปฏิบัติตามกฎหมายป้องกันข้อหาละเว้นปฏิบัติหน้าที่และพร้อมรับฟังความคิดเห็นรอบด้านจากทุกฝ่าย ด้านกระทรวงสาธารณสุขเดินหน้าให้ข้อมูลประชาชนและคณะกรรมการวัตถุอันตรายรู้เท่าทันพิษ 3 สารเคมี ระบุมีผลทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำ ก่อมะเร็ง อัลไซเมอร์ และเด็กสมาธิสั้น สารเคมีตกค้างได้ถึงในรกเด็ก ส่วนกลุ่มสนับสนุนการใช้สารวอนพิจารณาทบทวนการยกเลิกมติแบน

ศึกแบนสารเคมีด้านการเกษตรกรรม 3 ชนิด คือ คลอร์ไพริฟอส พาราควอต และไกลโฟเซต เข้มข้นดุเดือดและท่าทางเป็นหนังเรื่องยาว เมื่อมีเกษตรกรหลายกลุ่มออกมาคัดค้านการแบน 3 สารเคมี สวนทางกับกลุ่มผู้สนับสนุนให้เลิกใช้

รมว.ลงนามหนังสือแจ้ง 4 ฝ่าย

เมื่อวันที่ 16 ต.ค. นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 15 ต.ค.ได้ลงนามในหนังสือ แจ้งมติคณะทำงาน 4 ฝ่ายที่มีมติเป็นเอกฉันท์ให้แบนสารเคมี 3 ชนิด คือ คลอร์ไพริฟอส พาราควอต ไกลโฟเซต ปรับจากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 เป็นชนิดที่ 4 ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2562 ให้กับคณะกรรมการวัตถุอันตรายรับทราบ ผ่านไปทางนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว. อุตสาหกรรม ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายในวันที่ 22 ต.ค. จะบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมหรือไม่และจะมีมติอย่างไร กระทรวงเกษตรฯ ในฐานะเป็นหน่วยปฏิบัติพร้อมทำตามมติ

ประกาศกระทรวง 5 ฉบับยังมีผล

นายเฉลิมชัยกล่าวอีกว่า ระหว่างคณะกรรมการวัตถุอันตรายยังไม่ได้ประชุมเพื่อมีมติใหม่ กระทรวงฯ ยังคงต้องปฏิบัติตามมติเดิม ในการจำกัดการใช้ โดยในวันที่ 20 ต.ค. ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 5 ฉบับจะมีผลบังคับใช้ ประกอบด้วย ฉบับที่ 1 เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขในการผลิต การนำเข้า การส่งออก การครอบครองวัตถุอันตรายที่เกี่ยวกับไกลโฟเซต คลอร์ไพริฟอส พาราควอต สาระสำคัญคือผู้ขายต้องผ่านการอบรมตามหลักสูตรที่กรมวิชาการเกษตรกำหนดและต้องเข้าอบรมทุกๆ 3 ปี ต้องใช้วัตถุอันตรายดังกล่าวกับพืชและพื้นที่ตามที่แสดงหลักฐานการซื้อขาย ผู้ที่มีไว้ในครอบครองจะต้องจัดให้มีบุคลากรเฉพาะในการขายวัตถุอันตราย ต้องแยกออกจากวัตถุอันตรายอื่นๆ และมีป้ายแสดงข้อความว่า “วัตถุอันตรายที่จำกัดการใช้” อย่างชัดเจน

จำกัดการใช้แต่ละพื้นที่

ฉบับที่ 2 เรื่อง การจำกัดการใช้ การกำหนดฉลากและภาชนะบรรจุวัตถุอันตรายที่เกี่ยวกับไกลโฟเซต ที่ห้ามใช้ในพื้นที่ปลูกพืชผักหรือพืชสมุนไพร พื้นที่ต้นน้ำ พื้นที่สาธารณะในกรณีอยู่นอกพื้นที่ข้างต้น ให้ใช้เฉพาะเพื่อกำจัดวัชพืชในการปลูกอ้อย ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ข้าวโพด และไม้ผล ส่วนผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าวัตถุอันตรายเกี่ยวกับไกลโฟเซต ต้องแสดงข้อความในฉลากว่าเป็นวัตถุอันตรายและระดับความเป็นพิษเพื่อประโยชน์ในการควบคุม ป้องกัน บรรเทา หรือระงับอันตรายที่จะเกิดแก่บุคคล สัตว์ พืช ทรัพย์ หรือสิ่งแวดล้อม

ตั้ง พนง.ท้องถิ่นตรวจการใช้สาร

ฉบับที่ 3 กำหนดให้ใช้คลอร์ไพริฟอสในไม้ผลเฉพาะเพื่อกำจัดหนอนเจาะลำต้นเท่านั้น ฉบับที่ 4 เกี่ยวกับพาราควอต โดยห้ามใช้ในพื้นที่ปลูกพืชผักหรือพืชสมุนไพร พื้นที่ต้นน้ำ พื้นที่สาธารณะ รวมถึงมีข้อกำหนดการใช้อื่นๆ เช่นเดียวกับไกลโฟเซต ฉบับที่ 5 เรื่องแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้แก่ ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นผู้มีอำนาจตรวจสอบการใช้วัตถุอันตรายทั้ง 3 ชนิด ภายในเขตท้องที่รับผิดชอบ ตามมาตรา 54 (1) แห่งพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535

ยันต้องปฏิบัติตามกฎหมาย

“กระทรวงเกษตรฯ ต้องปฏิบัติตามกฎหมายจำกัดการใช้ดังกล่าว ไม่เช่นนั้นจะมีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ แต่หากคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติใหม่อย่างไร พร้อมปฏิบัติตาม ระหว่างนี้ยินดีรับฟังข้อมูลรอบด้านจากทุกฝ่าย ในวันที่ 21 ต.ค. จะมีกลุ่มเกษตรกรที่คัดค้านการยกเลิกสารเคมี 3 ชนิดเข้าพบ” นายเฉลิมชัยกล่าวตอนท้าย

ก.สาธารณสุขเปิดวอร์รูม

อีกด้านวันเดียวกัน ที่กระทรวงสาธารณสุข มีการประชุมวอร์รูมรณรงค์และขับเคลื่อนเพื่อยุติการใช้สารเคมีทางการเกษตร ที่มีอันตรายต่อสุขภาพ โดยมี นพ.ม.ล.สมชาย จักรพันธุ์ ที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข เป็นประธานการประชุม มี นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และผู้แทนกรม กองในสังกัดที่ดูแลเรื่องผลกระทบกับสุขภาพ เข้าร่วมประชุม ใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง

เร่งส่งข้อมูลให้ คกก.วัตถุอันตราย

นพ.ม.ล.สมชาย แถลงหลังประชุมว่า นับจากนี้ไปจนถึงวันที่ 22 ต.ค.ซึ่งจะมีการประชุมคณะกรรม การวัตถุอันตราย กระทรวงจะเร่งให้ข้อมูลผลกระทบจากสารเคมี 3 ตัว ที่มีต่อสุขภาพประชาชน สิ่งแวดล้อม อย่างต่อเนื่อง รวมถึงจะส่งข้อมูลนี้ให้กับคณะกรรมการชุดดังกล่าวทุกคนก่อนการประชุมให้เปิดอ่าน เพื่อให้ได้ข้อมูลชัดเจน กระทรวงยืนยันว่าไม่เอาสารนี้อยู่แล้ว เป็นที่น่าสังเกตว่ากว่า 50 ประเทศ มีการแบนสารเคมี 3 ตัวนี้แล้ว แม้กระทั่งประเทศผู้ผลิตเองก็ไม่มีการใช้ แต่ทำไมประเทศไทยถึงจะแบนไม่ได้

ชี้สารเคมีปนเปื้อนในอาหารก่อโรค

ขณะที่ นพ.ธีระวัฒน์กล่าวว่า ข้อมูลผลกระทบด้านสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข เป็นผลการศึกษาวิจัยร่วมกับต่างประเทศ ตรงกับทั่วโลก แน่ชัดว่า ผลกระทบจากสารเคมีทั้ง 3 ตัว ปะปนอยู่ในห่วงโซ่อาหาร ทำให้เกิดโรคต่างๆ ทั้งภูมิคุ้มกันต่ำ มะเร็ง โรคทางสมองที่รักษาไม่หายขาด ระบบทางเดินหายใจ โดยพาราควอต อันตรายอันดับ 1 รองลงมาไกลโฟเซต แม้รับแค่ 200 มิลลิลิตร ก็ทำให้เป็นโรคอัลไซเมอร์แบบเฉียบพลัน ส่วนคลอร์ไพรีฟอส ทำให้หายใจติดขัด ระบบอื่นในร่างกายผิดปกติ ขณะเดียวกันจากการตรวจสอบในรกเด็ก น้ำครํ่า ขี้เทา พบว่ามีสารเคมี 3 สารนี้ตกค้าง ส่งผลให้เด็กมีพัฒนาล่าช้า สมาธิสั้น เป็นต้น ยืนยันว่าสิ่งที่เราทำเป็นการปกป้องเกษตรกร แม้จะมีบางกลุ่มโจมตีว่า ที่เสียชีวิตเพราะใช้ผิดวัตถุประสงค์ หรือเอาไปใช้ฆ่าตัวตาย แต่ทางการแพทย์รับไม่ได้ ทั้งยังมีข้อมูลว่าร้อยละ 40 ที่เสียชีวิตจากการได้รับสารเคมีโดยไม่รู้ตัว ข้อมูลกระทรวง ตั้งแต่ ต.ค. 2561-ก.ค. 2562 มีคนเสียชีวิตจากสารเคมีทุกประเภทกว่า 280 ชนิด รวมสารเคมี 3 ตัวนี้ด้วย รวม 406 คน ป่วยเข้า รพ.มากกว่า 15,000 คน

ห้องแล็บกรมวิทย์มีมาตรฐานชัวร์

นพ.ธีระวัฒน์กล่าวอีกว่า ส่วนกลุ่มคนที่สนับสนุนการใช้สารเคมี ระบุว่าไม่เชื่อข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ย้ำว่ากระทรวง เป็นหน่วยงานหลักระดับประเทศที่ดูแลเรื่องสุขภาพประชาชน ห้องแล็บของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ก็มีมาตรฐานตรวจสอบสารเคมีได้ 500-600 ชนิด ที่กระทรวงยอมรับผลการตรวจสอบการปนเปื้อนสารเคมีในผักผลไม้ของไทยแพน เพราะมีการลงพื้นที่เก็บข้อมูลจริง บุคลากรสาธารณสุขในพื้นที่ อธิบดีกรมควบคุมโรคต่างรับทราบ ไทยแพนเองได้ส่งตรวจที่ห้องแล็บที่ประเทศอังกฤษ ที่มีมาตรฐาน ขอถามกลับไปยังคนที่สนับสนุน และระบุว่า มีการตรวจสอบจากแล็บในพื้นที่ที่ได้รับการรับรองจากกรมวิทย์ฯ แต่ให้ผลแตกต่างกับข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขนั้น เรื่องนี้กรมวิทย์ฯก็น่าจะลงไปตรวจสอบด้วยว่าเป็นแล็บที่ทางกรมฯรับรองจริงหรือไม่

จ่อฟ้องคนเอาโลโก้ไปใช้อ้างสนับสนุน

ทางด้าน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงการดำเนินคดีกับกลุ่มที่มีการแอบอ้างชื่อผู้บริหาร และนำโลโก้กระทรวงไปจัดงานที่ส่อไปในเชิงสนับสนุนการใช้สารเคมีว่า ขณะนี้ฝ่ายกฎหมายของกระทรวง ได้มีการรวบรวมข้อมูลหลักฐานและฟ้องร้องเอาผิดกับผู้ดำเนินการแล้ว ย้ำว่านโยบายของกระทรวงสาธารณสุขขณะนี้คือไม่เอาสารเคมีอันตราย

กลุ่มสนับสนุนใช้สารแถลงจวกอีกฝ่าย

ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงเช้าวันเดียวกัน ที่โรงแรมรอยัลปริ๊นเซส นางวรณิกา นาควัชระ บีดิงเฮาส์ ผู้อำนวยการบริหารสมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย นายเปรม ณ สงขลา บรรณาธิการวารสารเคหะการเกษตร นายศิลป์ชัย ตระกูลทิพย์ ประธานชมรมผู้ปลูกมะม่วงเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก นายไตรรัตน์ เปียถนอม ประธานเครือข่ายผู้ผลิตมะม่วงในการส่งออก จังหวัดเพชรบูรณ์ นายภมร ศรีประเสริฐ ตัวแทนผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมันสำปะหลัง นายมนัส พุทธรัตน์ ประธานสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย น.ส.สวาท โพธิ์ศรี และนางอิน เชื้อน้อย ตัวแทนเกษตรกรชาวข้าวโพด จังหวัดลพบุรี นายนิวัตน์ ตันวัฒนเสรี นายฝ้าย สุกะปัญญา นายฉลอง เข็มเงิน เกษตรกรชาวไร่อ้อย จังหวัดสุพรรณบุรี ได้ร่วมกันแถลงถึงท่าทีและจุดยืนของภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรไทย ต่อมติการแบนสารเคมีทางการเกษตร

ยังจำเป็นต้องใช้–ไม่เห็นด้วยเลิกสาร

ทั้งนี้ ผู้ร่วมแถลงทั้งหมดมีความเห็นตรงกันว่า ยังมีความจำเป็นต้องใช้สารเคมีในภาคการเกษตร และไม่เห็นด้วยที่จะยกเลิก 3 สาร แต่ต้องใช้ให้ถูกวิธีและรู้จักวิธีป้องกัน โดยเฉพาะพาราควอต มีประสิทธิภาพในการกำจัดหญ้ามากและได้ผลดี แต่คนไปเรียกว่าสารพิษ หากรัฐยกเลิกหรือแบน จะมีผลกระทบกับเกษตรกรที่ปลูกมันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด ปาล์มน้ำมันแน่นอน เพราะจะมีต้นทุนสูงขึ้นและไม่รู้จะใช้อะไรมาทดแทน

วอนทบทวนยกเลิกมติแบน

นางวรณิกากล่าวว่า จากประกาศกระทรวงเกษตรฯ เรื่องแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาความเห็นของส่วนรัฐ ผู้นำเข้า เกษตรกร ผู้บริโภค ต่อการยกเลิก 3 สารเคมี คณะทำงานนำโดยกระทรวงเกษตรฯ มีมติยกเลิกและจะนำเข้าเสนอต่อคณะกรรมการวัตถุอันตราย เกษตรกรกลุ่มพืชเศรษฐกิจหลัก ขอคัดค้านมติดังกล่าว พร้อมระบุการแต่งตั้งคณะทำงานฯ ขาดความชอบธรรม ไม่มีตัวแทนเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิก ไม่มีตัวแทนผู้นำเข้าอย่างครบถ้วน ต้องการให้ทบทวนมติยกเลิก โดยให้ใช้ข้อเท็จจริง ข้อมูลและหลักฐานเชิงประจักษ์ มากกว่าการใช้ข้อมูลบิดเบือนจากเอ็นจีโอ เกษตรกรที่ผลิตสินค้าเกษตรอุตสาหกรรม อย่างมันสำปะหลัง อ้อย ปาล์ม ยางพารา ข้าวโพด ยังมีความจำเป็นต้องใช้ และยังไม่มีสารใดที่มีคุณสมบัติกับราคาเทียบเท่ามาทดแทนพาราควอต

กังขา–พิจารณาความเสียหายหรือยัง

“การประกาศยกเลิกและห้ามครอบครองทันทีภายในวันที่ 1 ธ.ค.2562 คณะทำงานฯได้พิจารณาถึง ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นของเกษตรกร ที่ยังไม่มีสารใดมาทดแทนหรือไม่ ขณะเดียวกันก็ไม่ให้ระยะเวลาในการจัดการสต๊อกสินค้า หากคำนวณงบประมาณที่รัฐฯจะต้องใช้จ่าย ในการจัดการสินค้าคงค้างไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท ได้คำนึงถึงตรงนี้หรือยัง เพราะสารดังกล่าวที่มีอยู่มากถึง 30,000-40,000 ตัน จะต้องมีค่าทำลายสารเหล่านี้ประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาท ค่าขนย้ายและดูแลรักษาที่ภาครัฐต้องเช่าโกดังเก็บสินค้าอีกกว่า 5,050 ล้านบาท ค่าชดเชยให้เกษตรกรประมาณ 3 เท่าของราคาสินค้า คาดว่าขณะนี้ในมือเกษตรกรมีอยู่ประมาณ 10,000 ตัน และถ้ารัฐต้องจ่าย 500 บาทต่อ 1 กิโลกรัม เท่ากับว่าจะต้องชดเชยถึง 500,000 บาท ต่อ 1 ตัน หากรัฐจะมีมติยกเลิกจริงควรต้องให้ระยะเวลาอย่างน้อย 2 ปี เช่นเดียวกับที่ประเทศอื่นทำ เพื่อให้สินค้าที่คงค้างอยู่หมดไป ไม่ต้องสูญเสียงบประมาณไปกับการทำลายสารเคมีที่ถูกประกาศยกเลิก” นางวรณิกากล่าว

ยันหากมีสารตกค้างคนไทยตายเกลี้ยง

ด้านนายมนัส พุทธรัตน์ ประธานสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เกษตรกรคือผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการตัดสินใจในเรื่องนี้ ส่วนสารเคมีที่คาดว่าจะนำมาใช้ทดแทนพาราควอตและไกลโฟเซตนั้น เป็นวัตถุอันตรายประเภท 3 ที่มีราคาสูงกว่าถึง 6 เท่า ขณะเดียวกัน ประสิทธิภาพต้องใช้เพิ่มขึ้น 1.5-2 เท่า เท่ากับเกษตรกรมีต้นทุนเพิ่ม 12-14 เท่าตัว ดังนั้น ขอให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย วันที่ 22 ต.ค. เป็นตัว ของตัวเอง จะตัดสินใจอะไรต้องมีวิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้ หากสารกำจัดวัชพืชมีสารตกค้างคนไทยตายหมดแล้ว เรื่องนี้กรมวิชาการต้องตอบสังคมได้

ข้องใจทำไมแบนสารกำจัดวัชพืช

“ผมเป็นเกษตรกรกลุ่มแรกที่ออกมา เพราะเกษตรกรถ้าไม่เดือดร้อนไม่ออกมาต่อต้านรัฐบาลหรอก วันนี้ความอยุติธรรมในสังคมเกิดขึ้น มีการตั้งธงแบนสารอย่างเดียว ไม่มีเหตุผล ขอถามว่าทำไมมาแบนสารกำจัดวัชพืช ทำไมไม่แบนสารกำจัดแมลงศัตรูพืชที่ น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรฯ มาว่าคณะกรรมการวัตถุอันตรายใครไม่แบนแสดงว่าไปรับอะไรใครมา พูดได้ยังไง กรรมการแต่ละคนเป็นผู้มีคุณวุฒิ มีความซื่อสัตย์สุจริต ได้รับเกียรติอันใหญ่หลวงว่าประเทศจะเดินทางไปไหน ต่างจาก รมช.เกษตรฯ เพิ่งมาเป็นแค่ 3 เดือน ถ้าแบน 3 สารพืชอุตสาหกรรม 3 ตัว ล้มทั้งกระดานแน่นอน” นายมนัสกล่าว

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 17 ตุลาคม 2562

เกษตรฯ เร่งสร้างแหล่งเก็บกักน้ำขนาดเล็กทั่วประเทศ

รัฐมนตรีเกษตรฯเปิดโครงการแก้มลิงบ้านเกาะยวน อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ระบุเป็นต้นแบบการสร้างแหล่งน้ำสำหรับชุมชนที่ให้กรมชลประทานดำเนินการทั่วประเทศ ช่วยป้องกันและบรรเทาทั้งน้ำท่วม-ภัยแล้ง

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยหลังจากเป็นประธานเปิดโครงการแก้มลิงบ้านเกาะยวน ตำบลท่ากระดาน อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ว่า  โครงการแก้มลิงบ้านเกาะยวนเป็นต้นแบบการพัฒนาแหล่งน้ำที่จะดำเนินการในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ โดยให้นโยบายแก่กรมชลประทานหาพื้นที่ลุ่มจัดทำแหล่งเก็บกักน้ำสำหรับใช้ประโยชน์ในพื้นที่ เสริมการใช้น้ำจากเขื่อนต่างๆ จากนั้นจะได้มอบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดูแลต่อไป พร้อมกันนี้ยังได้ให้กรมประมงนำพันธุ์ปลาและกุ้งก้ามกรามมาปล่อยจำนวนมาก อีก 6 เดือนสามารถจับมาบริโภคและจำหน่ายเป็นรายได้เสริมแก่ครอบครัว

ด้านนายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ตำบลท่ากระดานมีราษฎร  523 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรกว่า 16,289 ไร่ กรมชลประทานจึงขุดลอกแก้มลิงให้สามารถเก็บกักน้ำได้ประมาณ 550,000 ลูกบาศก์เมตร มีสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า และหอถังพร้อมระบบส่งน้ำความยาวประมาณ 6,460 เมตร นับว่าเป็นโครงการชลประทานขนาดเล็กที่สามารถเก็บกักน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคของราษฎรในพื้นที่ดังกล่าวกว่า 150 ครัวเรือน ส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตรกว่า 1,000 ไร่

ประกอบด้วย สวนปาล์มน้ำมัน 600 ไร่ สวนยางพารา 220 ไร่ ไม้ผลต่าง ๆ เช่น ทุเรียน​ มังคุด พืชผักตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงอีก 140 ไร่ และพื้นที่นาอีกประมาณ 40 ไร่ บริเวณพื้นที่โครงการตั้งอยู่ในลุ่มน้ำคลองพุมดวงซึ่งมีปริมาณน้ำหลากมาก แก้มลิงบ้านเกาะยวนจึงเป็นพื้นที่ชะลอน้ำขนาดเล็กสามารถบรรเทาอุทกภัยอีกทางหนึ่งนอกจากนี้ยังใช้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำจืด ทั้งยังจัดทำสภาพภูมิประเทศให้มีความสวยงามสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของชุมชนได้อีกต่อไป

หลังจากนั้นรมว. เกษตรฯ เดินทางต่อไปยังโครงการแก้มลิงบางท่าข้าม ตำบลท่าข้าม อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานีซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่สนับสนุนโครงการเกษตรแปลงใหญ่ผักให้สามารถทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี อีกทั้งยังช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมขังบ้านเรือนกว่า 800 ครัวเรือน และพื้นที่การเกษตรกว่า 1,700 ไร่

“โครงการแปลงใหญ่ผักแห่งนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้ประสานกับห้างโมเดิร์นเทรดเข้ามารับซื้อผลผลิตผักปลอดภัยได้มาตรฐาน GAP ของเกษตรกรตามนโยบายการตลาดนำการผลิต ทำให้ผลผลิตทั้งหมดของเกษตรกรมีผู้รับซื้อ โดยไม่ผ่านคนกลาง จึงได้ราคาดีซึ่งเป็นการเพิ่มรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้น”

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 16 ตุลาคม 2562

"อียู"ส่งสัญญาณชัด ฟื้นเจรจา FTA กับไทย

อียู ส่งสัญญาณเตรียมฟื้นเจรจาเอฟทีเอกับไทย   เตรียมนำผลการศึกษาและการหารือผู้มีส่วนได้เสียการฟื้นเจรจาเอฟทีเอไทย-อียูเสนอ ครม. พิจารณาภายใน พ.ย. นี้

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า มติคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปด้านการต่างประเทศ เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2562 ให้อียูกระชับความสัมพันธ์กับไทยให้แน่นแฟ้นขึ้นรวมถึงการลงนามกรอบความตกลงว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือกับไทยและการฟื้นเจรจาเอฟทีเอไทย-อียูถือเป็นการปลดล็อคสำคัญที่ทำให้ไทยกับอียูสามารถเดินหน้าหารือฟื้นการเจรจาเอฟทีเอระหว่างกันได้ ภายหลังฝ่ายบริหารชุดใหม่ของอียูจะเข้ารับตำแหน่งในเดือนพฤศจิกายน2562 ขณะที่ไทยก็อยู่ระหว่างการศึกษาและหารือผู้มีส่วนได้เสียเรื่องการฟื้นการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียูโดยตั้งเป้าเสนอระดับนโยบาย (คณะรัฐมนตรี)พิจารณาเรื่องนี้ในช่วงเดือนพฤศจิกายนเช่นกัน จึงคาดว่าทั้งสองฝ่ายน่าจะได้ภาพที่ชัดเจนขึ้นในเรื่องขั้นตอนการดำเนินการต่อไป เพื่อฟื้นการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียูภายในสิ้นปีนี้

การฟื้นเจรจาเอฟทีเอไทย-อียูมีทั้งโอกาสและความท้าทาย โดยในส่วนของโอกาสจะช่วยขยายตลาดใหม่ให้กับสินค้าของไทย โดยเฉพาะสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมแปรรูป สิ่งทอ ยานยนต์และชิ้นส่วน รวมทั้งการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ  ในขณะที่ความท้าทายเนื่องจากเอฟทีเอที่อียูทำกับหลายประเทศในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เช่น เวียดนาม สิงคโปร์ และเมร์โกซูร์ (บราซิล อาร์เจนตินา อุรุกวัย และปารากวัย) มีมาตรฐานสูง

ทั้งในส่วนการเปิดตลาดสินค้า บริการ และการลงทุน ตลอดจนมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้าอื่นๆ รวมอยู่ด้วย เช่น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การแข่งขันทางการค้า ทรัพย์สินทางปัญญา และการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐเป็นต้นไทยจึงต้องพิจารณาเตรียมความพร้อมและการปรับตัวสำหรับเรื่องเหล่านี้เช่นกันซึ่งขณะนี้กรมฯอยู่ระหว่างเตรียมข้อมูลการประเมินประโยชน์ที่ไทยจะได้รับตลอดจนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นและสิ่งที่ไทยจะต้องเตรียมเยียวยาหรือปรับตัว

 โดยได้ดำเนินการใน 2 ส่วนหลัก คือ ด้านการศึกษาวิจัย ได้มอบสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา ทำการศึกษาวิจัย วิเคราะห์ประโยชน์และผลกระทบจากการฟื้นการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู มีกำหนดแล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายน 2562 และด้านการหารือผู้มีส่วนได้เสีย กรมฯได้จัดรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก เกษตรกร และภาคประชาสังคม ทั้งในรูปแบบกลุ่มเล็กและกลุ่มใหญ่และทั้งในกรุงเทพฯและส่วนภูมิภาคเพื่อให้ได้ข้อมูลความเห็นและมุมมองของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆให้รอบด้านและครบถ้วนมากที่สุดหลังจากนั้นจะรวบรวมนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ(กนศ) และคณะรัฐมนตรี พิจารณาตัดสินใจในเรื่องนี้ต่อไป คาดว่าดำเนินการเสร็จในเดือนพฤศจิกายนนี้

ทั้งนี้ ในปี 2561 ไทยและอียูมีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 47,290 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออก 25,041 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบและไทยนำเข้า 22,249 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องบิน เครื่องร่อน อุปกรณ์การบิน เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม สำหรับในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2562(ม.ค.–ส.ค.) ไทยและอียูมีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 29,757 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออก 16,093 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้า 13,664 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 16 ตุลาคม 2562

ผู้ผลิตเอทานอลลุ้น “สนธิรัตน์” ยกเลิกจำหน่ายแก๊สโซฮอล์ 91

สมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลไทยหนุนแนวนโยบาย “สนธิรัตน์” ที่เตรียมจะปรับลดชนิดน้ำมันกลุ่มเบนซินลง ดันยกเลิกแก๊สโซฮอล์ 91 ตามนโยบายที่วางไว้นานแต่ยังไม่เกิดเป็นรูปธรรม เพื่อเร่งขยับการใช้อี 20 และอี 85 ส่งเสริมการใช้เอทานอลน้ำมันบนดินช่วยเกษตรกร ป้องฝุ่นละออง

นายเจษฎา ว่องวัฒนะสิน อุปนายกสมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลไทย หรือ TEMA เปิดเผยว่า สมาคมฯ พร้อมที่จะสนับสนุนนโยบายของ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่มีเป้าหมายลดชนิดน้ำมันเชื้อเพลิงลง ซึ่งจะสรุปภายในเดือน พ.ย.นี้ โดยเฉพาะในส่วนของกลุ่มน้ำมันเบนซินเนื่องจากมีจำนวนมากเกินไป ซึ่งเห็นว่าควรยกเลิกแก๊สโซฮอล์ 91 เพื่อผลักดันการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์อี 20 และอี 85 เพื่อสนับสนุนการใช้เอทานอลให้มากขึ้น ซึ่งไม่เพียงจะช่วยยกระดับรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้เพาะปลูกมันสำปะหลังและอ้อยเท่านั้น ยังช่วยลดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ได้อีกด้วย

“แก๊สโซฮอล์คือน้ำมันเบนซินที่ผสมกับเอทานอล เช่นกรณีอี 20 คือเบนซินผสมเอทานอล 20% ซึ่งยิ่งผสมมากก็จะเป็นพลังงานสะอาดมากขึ้น ขณะเดียวกันเอทานอลที่ผลิตได้ในประเทศล้วนมาจากโมลาส (กากน้ำตาล) และมันสำปะหลัง ซึ่งจะย้อนกลับมายังรายได้ของเกษตรกรไม่ให้ตกต่ำ ที่ผ่านมานโยบายรัฐมีแผนจะยกเลิกแก๊สโซฮอล์ 91 อยู่แล้วแต่ยังไม่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติ ซึ่งเราเห็นด้วยอย่างมากที่จะยกเลิกเพื่อให้เหลือหัวจ่ายเพียงแก๊สโซฮอล์ 95 อี 20 และอี 85 ซึ่งปริมาณเอทานอลขณะนี้มีเพียงพอ” นายเจษฎากล่าว

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กังวลคือทางด้านกฎหมายและแผนปฏิบัติที่จะมีส่วนขับเคลื่อน ดูเหมือนจะสวนทางกับแนวทางการเพิ่มการใช้เอทานอลทั้งในแง่ของ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 ที่กำหนดให้การอุดหนุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพซึ่งก็คือ เอทานอล และน้ำมันปาล์มบริสุทธ์ (บี 100) ได้อีกเพียง 3 ปี และต่ออายุได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 2 ปี รวมๆ แล้ว 7 ปี จากนั้นก็เลิกอุดหนุน ขณะที่แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP 2018) ที่กำลังปรับปรุงได้ลดเป้าหมายส่งเสริมเอทานอลจากเดิมตลอดแผนที่ 11.30 ล้านลิตรต่อวัน แผนใหม่จะเหลือ 6.6 ล้านลิตรต่อวัน จึงต้องการให้ภาครัฐได้พิจารณาแนวทางให้ชัดเจน

“น้ำมันบนดิน ทั้งไบโอดีเซลและเอทานอลล้วนมาจากพืชเกษตรเป็นวัตถุดิบกว่า 70-80% ต้นทุนจึงสัมพันธ์กับราคาพืชเกษตรเหล่านี้หากทำให้ต่ำราคาพืชก็จะต่ำไปด้วย จึงต้องมองภาพรวมหากไม่อุดหนุนจะมีการยกระดับราคาอย่างไรที่เป็นประโยชน์ในแง่ของราคาน้ำมันและราคาพืชเกษตร ซึ่งหาก พ.ร.บ.กองทุนฯ อุดหนุนไม่ได้อาจมองในเรื่องของโครงสร้างภาษีสรรพสามิตแทนหรือไม่เพราะหลายประเทศก็ทำกัน” นายเจษฎากล่าว

จาก https://mgronline.com  วันที่ 16 ตุลาคม 2562

กมธ.พลังงานหารือความคืบหน้านโยบายพลังงาน

คณะกรรมาธิการการพลังงาน วุฒิสภา รุดพบปะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อรับทราบและติดตามการดำเนินงานต่าง ๆ ด้านนโยบายพลังงาน

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงพลังงาน และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงพลังงาน ได้ร่วมพบปะหารือกับคณะกรรมาธิการการพลังงาน วุฒิสภา นำโดย พลเอกสกนธ์ สัจจานิตย์ ประธานคณะกรรมาธิการ สมาชิกวุฒิสภา ทั้งนี้ เพื่อคณะกรรมาธิการฯ จะได้ติดตามและรับทราบนโยบายการทำงานของกระทรวงพลังงานทุกแง่มุม ในประเด็นต่าง ๆ อาทิ ความคืบหน้าการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน การส่งเสริมโรงไฟฟ้าชุมชน การรื้อถอนแท่นการผลิตปิโตรเลียมของเชฟรอน รวมถึงเรื่องพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ชี้แจงทิศทางสำคัญให้คณะกรรมาธิการฯ ทราบ โดยสรุป 3 เรื่องใหญ่ คือ เรื่องที่ 1 กระทรวงพลังงานผลักดันนโยบาย Energy For All พลังงานเพื่อทุกคน เพื่อให้เกิดการกระจายอำนาจการบริหารจัดการพลังงานไปในกลุ่มฐานรากมากขึ้น จากเดิมมีเพียงผู้เล่นเป็นรายใหญ่ ทิศทางจะเป็นกระแส Prosumer ผู้ใช้ไฟฟ้าผลิตไฟฟ้าได้เอง กระจายการผลิตพลังงานสู่ชุมชน เป็นนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนโดยอาศัยจุดแข็งที่แต่ละชุมชนมีวัสดุทางการเกษตรเป็นเชื้อเพลิง เช่น ฟางข้าว ซังข้าวโพด มาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าแทนที่จะเผาทิ้งเกิดฝุ่น PM2.5 หลังจากนี้จะสนับสนุนเชื้อเพลิงจากขยะเพื่อนำมาผลิตเป็นไฟฟ้าในลำดับต่อไป

 เรื่องที่ 2 การแก้ปัญหาสินค้าเกษตรของประเทศ ซึ่งกระทรวงฯ ได้นำร่องด้วยการปรับสัดส่วนการใช้น้ำมันปาล์มดิบในดีเซล เป็น B10 เพื่อเป็นดีเซลพื้นฐานแทน B7 จะประกาศใช้ทั่วประเทศวันที่ 1 มีนาคม2563 เป็นต้นไป ซึ่งช่วยดูดซับน้ำมันปาล์มดิบได้ 2 ใน 3 ของปริมาณการผลิตทั่วประเทศ โดยกระทรวงฯ จะทำหน้าที่ดูแลสตอกของไบโอดีเซล (B100) เพื่อสร้างเสถียรภาพราคาปาล์ม หลังจากนี้พืชพลังงานถัดไปที่จะเข้ามาดูแล คือ อ้อยและมันสำปะหลังที่ใช้ผลิตเป็นเอทานอลผสมในน้ำมันเบนซินเป็นกลุ่มแก๊สโซฮอล

 เรื่องที่ 3 การวางประเทศไทยเป็น Leader ด้านพลังงาน 2 เรื่อง คือ 1.การเป็นศูนกลางหรือฮับ (Hub) ด้านการซื้อขายไฟฟ้าอาเซียน โดยซื้อไฟจาก สปป.ลาวจำหน่ายให้แก่ เมียนมา กัมพูชา มาเลเซีย เปลี่ยนบทบาทให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นเทรดเดอร์ภูมิภาค 2.การเป็นฮับด้านก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในภูมิภาค โดย ปตท.ได้ประกาศความพร้อมดังกล่าวแล้ว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานยังได้ชี้แจงต่อข้อสงสัยของกรรมาธิการฯ เกี่ยวกับงบประมาณของกระทรวงฯ ด้วยว่า กระทรวงฯได้รับงบประมาณจัดสรรน้อยเพียง 2,000 กว่าล้านบาท คิดเป็น 0.07%ของงบประมาณแผ่นดินรวม แต่สามารถสร้างรายได้กลับมาได้มากราว 10% ของงบประมาณ อย่างไรก็ตาม การสนับสนุนตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนจะไม่ได้ใช้เงินงบประมาณแต่อย่างใด โดยโรงไฟฟ้าชุมชนจะมีโมเดล 3 รูปแบบ คือ โมเดลที่เอกชนลงทุนร่วมกับชุมชน โมเดลที่ผลิตใช้เองอย่างเดียวสำหรับชุมชน จะมีงบจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานสนับสนุน และโมเดลโรงไฟฟ้าขยะ โดยบริหารจัดการองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น (อปท.)

นอกจากนี้ ในประเด็นพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานสรุปว่าจะเร่งรัดการฟื้นการเจรจาตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างไทย-กัมพูชา เพื่อหาแนวทางการพัฒนาแหล่งพลังงานร่วมกัน ส่วนการรื้อถอนของแหล่งสัมปทานที่กำลังหมดอายุอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อหาทางออกโดยหลีกเลี่ยงการเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ

 ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ชี้ทิศทางสำคัญของนโยบายพลังงานที่สอดคล้องกับทิศทางโลกให้คณะกรรมาธิการฯ ด้วยว่า การใช้พลังงานทดแทนจะมีบทบาทเพิ่มขึ้น การใส่ใจต่อประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาดำเนินการเพื่อเปลี่ยนผ่านในยุค Disruption โดยเฉพาะเรื่องการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งชณะนี้อยู่ระหว่างหารือกระทรวงที่เกี่ยวข้องเพื่อผลักดันแผน EV ของประเทศทั้งระบบออกมาช่วงต้นปีหน้า 2563 โดยจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน Energy Storage เพื่อผลักดันให้ประเทศเป็นผู้นำด้าน EV ระดับภูมิภาคต่อไป

จาก https://tna.mcot.net   วันที่ 16 ตุลาคม 2562

เงินบาทเปิดอ่อนค่า

เงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 30.42บาท อ่อนค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อน ที่ระดับ 30.37 บาทต่อดอลลาร์

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ ตลาดเงินตลาดทุนธนาคารกรุงไทยระบุ ในคืนที่ผ่านมา ตลาดอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ด้วยปัจจัยบวกทั้งความหวังว่าอังกฤษและสหภาพยุโรปจะสามารถบรรลุข้อตกลง Brexit ได้ภายในสัปดาห์นี้ รายงานผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่ไม่แย่ และดัชนีภาคการผลิตสหรัฐฯโดยนิวยอร์กเฟด (Empire Manufacturing Index) ก็รายงานออกมาดีกว่าคาด ส่งผลให้ดัชนี S&P500 และดัชนี STOXX50 ของยุโรป ปรับตัวขึ้น 1.0% และ 1.2% ตามลำดับ ขณะที่บอนด์ยีลด์สหรัฐอายุ 10ปี ปรับตัวขึ้น 4 bps สู่ระดับ 1.77%

อย่างไรก็ดี ทิศทางเศรษฐกิจโลกก็ยังไม่ได้กลับมาสดใส ล่าสุดองค์การการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF ออกมาคาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปี 2019 ว่าจะขยายตัวเพียง 3.0% ลดลงจากที่เคยประเมินไว้ 0.3% และเป็นระดับการขยายตัวที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2008 แม้ในปี 2020 เศรษฐกิจอาจกลับมาขยายตัวได้ 3.4% แต่ความไม่แน่นอนจะยังอยู่ในระดับสูง เพราะความเสี่ยงหลักคือการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและสหรัฐอเมริกา

ฝั่งของตลาดเงิน เราสังเกตุเห็นว่าดอลลาร์กลายเป็นสินทรัพย์ที่นักลงทุนกลับมาสนใจเมื่อตลาดทุนสหรัฐดูดีขึ้น

ล่าสุด เมื่อหุ้นสหรัฐฟื้นตัวและบอนด์ยีลด์ปรับตัวขึ้น ดอลลาร์ก็จะแข็งค่าตามทันที อย่างไรก็ดี เงินบาทอาจไม่ได้เคลื่อนไหวตามทิศทางของดอลลาร์มากนักในช่วงนี้เพราะสภาพคล่องอยู่ในระดับต่ำ ผู้ค้าส่วนใหญ่ระวังตัวมากขึ้นเพราะกังวลว่าธปท.จะมีนโยบายควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้ายเข้ามาเพิ่มเติม

ในระยะสั้น เราเชื่อว่าภาพความเสี่ยงทางการเมืองทั่วโลกที่ลดลงจะเป็นตัวหนุนตลาดทุน มีความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐ อาจไม่ต้องลดดอกเบี้ยต่อเนื่องในการประชุมปลายเดือนนี้ เงินดอลลาร์จึงจะแข็งค่าอยู่ได้เมื่อเทียบกับเงินบาทและสกุลเงินหลักอื่นๆ

กรอบค่าเงินบาทวันนี้ 30.38-30.48 บาทต่อดอลลาร์

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 16 ตุลาคม 2562

อนุมัติงบกลาง 5 พันล้านบาท เยียวยาเกษตรกรประสบภัย

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกรัฐบาล แถลงว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบแผนเยียวยาเกษตรกรผู้ประสบภัยฝนทิ้งช่วง และอุทกภัยปี 62 จำนวน 5 โครงการ วงเงิน 3,120 ล้านบาทจากงบกลางและงบกระทรวงเกษตรฯ ประกอบด้วย

1.ส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อยได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์, ถั่วเขียว มีเกษตรกรเป้าหมาย 150,000 ครัวเรือน พื้นที่ 1.4 ล้านไร่ โดยโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารเพื่อการเกษตร และสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ของเกษตรกรเพื่อซื้อเมล็ดพันธุ์รายละไม่เกิน 20 ไร่

2.รักษาระดับปริมาณและคุณภาพข้าวปี 63/64 มีเกษตรกรเป้าหมาย 827,000 ครัวเรือน เมล็ดพันธุ์ข้าว 63,200 ตัน พื้นที่ 6.32 ล้านไร่ เป็นพันธุ์ข้าวไร่ละ 10 กิโลกรัม ไม่เกินครัวเรือนละ 10 ไร่ จะจัดส่งเมล็ดพันธุ์ข้าวกลุ่มไม่ไวแสง ได้กลางเดือน พ.ย.-ธ.ค.62 ส่วนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวกลุ่มข้าวไวแสงจะจัดส่ง ช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย.63

3.โครงการพัฒนาเสริมทางเลือกอาชีพด้านประมง ได้แก่ การเลี้ยงปลานิลแปลงเพศในบ่อดิน มีเกษตรกรเป้าหมาย 50,000 ราย พื้นที่ 50,000 ไร่ สนับสนุนพันธุ์ปลา และอาหารสัตว์น้ำให้แก่เกษตรกร เป็นพันธุ์ปลานิลแปลงเพศ รายละ 800 ตัว พร้อมอาหารสัตว์นำร่อง 120 กก.รายละ 5,000 บาท

4.โครงการสร้างรายได้จากอาชีพประมงในแหล่งน้ำชุมชนจำนวน 1,436 แห่ง ในพื้นที่ 129 อำเภอ โดยปล่อยลูกพันธุ์กุ้งก้ามกรามขนาดตั้งแต่ 5-7 เซนติเมตรขึ้นไป ในแหล่งน้ำชุมชนขนาดกลางหรือขนาดเล็กแบบปิด 200,000 ตัวต่อแหล่งน้ำ

5.ส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ปีกมีเกษตร กรเป้าหมาย 48,000 ครัวเรือน สนับสนุนเป็นเงินโอนเข้าบัญชี ธ.ก.ส.เพื่อซื้อพันธุ์ไก่ไข่ เป็ดไข่ ครัวเรือนละ 10 ตัว ไก่พื้นเมืองคละเพศครัวเรือนละ 30 ตัว พร้อมค่าอาหาร และค่าวัสดุในการเลี้ยง ครม. ยังอนุมัติงบ 2,000 ล้านบาทให้กระทรวงทรัพยากรฯ ทำระบบกระจายน้ำไปยังพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ 120 โครงการ ครอบคลุมพื้นที่ 80,000 ไร่ตามเยียวยาด้วย.

จาก https://www.thairath.co.th วันที่ 16 ตุลาคม 2562

ม็อบไร่มัน บุกยื่นหรีดถึงมนัญญา ไม่ให้แบนพาราควอต

ชาวไร่มันสำปะหลังบุกกระทรวงเกษตรฯ มอบพวงหรีด “มนัญญา” อย่าแบนพาราควอตแบบไร้เหตุผล ระบุชาวไร่มันสำปะหลังจำเป็นต้องใช้ ยืนยันไม่มีสารตกค้าง เผย ข่าวแบนพาราควอตทำให้ราคามันสำปะหลังสูงขึ้นจนกระทบต้นทุนการผลิต ร้องรัฐบาลหันมาสนใจประกันราคา และแก้ปัญหาโรคใบด่างจะดีกว่า “บิ๊กตู่” ย้ำจุดยืนลดละเลิกสารเคมี กมธ.สารเคมีของรัฐสภาเตรียมลุยตรวจผักจีนแดงที่ตลาดไทและหนองบัวลำภูดูงานแก้ไขใช้ยาฆ่าหญ้า

ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อตอนสายวันที่ 15 ต.ค. นายวชิระ ถนัดค้า ประธานกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง พร้อมเกษตรกรกว่า 60 ราย ที่ระบุว่าเป็นตัวแทนครอบครัวเกษตรกรกลุ่มมันสำปะหลัง 1.5 ล้านราย เดินทางมาจากอำเภอหนองบุญมาก อำเภอครบุรี อำเภอเสิงสาง อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา และนำพวงหรีดมามอบให้ น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ แต่ น.ส.มนัญญาไปประชุมรัฐมนตรีเกษตรและป่าไม้อาเซียนที่บรูไน กลุ่มผู้เดินทางมาจึงไม่ได้พบ พร้อมระบุสาเหตุที่นำพวงหรีดมามอบให้ รมช.เกษตรฯว่า เพราะตัดสินใจไร้เหตุผล ขาดข้อเท็จจริง ใช้ข้อมูลบิดเบือนจากเอ็นจีโอ เกษตรกรมันสำปะหลังจำเป็นต้องใช้พาราควอต เพราะไม่ดูดซึม ปลอดภัยต่อหัวมันใต้ดินและไม่ขัดข้องถ้าจะยกเลิกไกลโฟเซตหรือคลอร์ไพริฟอส

จากนั้นเจ้าหน้าที่ของกระทรวงเกษตรฯ ได้เชิญกลุ่มเกษตรกรไปพบกับนายเมฆินทร์ เอี่ยมสะอาด เลขานุการของนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษา รมว.เกษตรและสหกรณ์ ที่มารับเรื่องแทนนายเมฆินทร์ กล่าวว่า กระทรวงรับรู้ถึงปัญหาเกษตรกรเป็นอย่างดี และจะนำข้อเสนอเรื่องการยกเลิกการแบน 3 สารเคมี ราคาผลิตผลมันสำปะหลัง ไปดำเนินการแก้ปัญหาโดยเร็วที่สุด

นายวชิระกล่าวว่า ไทยผลิตมันสำปะหลังเป็นอันดับ 2 ของโลก อันดับ 1 ของอาเซียน ส่งออก เป็นอันดับ 1 ของโลก คิดเป็นมูลค่า 100,000 ล้านบาท เป็นผลผลิตจากเกษตรกร 542,000 ครอบครัวในพื้นที่ประมาณ 7.9 ล้านไร่ เพื่อนำไปใช้ในอุต– สาหกรรมอาหารคน อาหารสัตว์ เอทานอล อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง จากการแบนสารพาราควอตและให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องในหลายด้าน ส่งผลกระทบต่อราคาผลผลิตทางการเกษตรและมาตรฐานอุตสาหกรรม เกษตรกรต้องแบกรับต้นทุนจากราคาพาราควอตที่สูงขึ้นจากข่าวการแบนใน 2 ปีที่ผ่านมา

นายวชิระกล่าวอีกว่า การนำมันสำปะหลังไปใช้ในกระบวนการผลิตอาหาร โรงงานผลิตมันสำปะหลังมีระบบประกันคุณภาพ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติก็ตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง ยังไม่เคยพบสารพาราควอตในมันสำปะหลัง ผู้บริโภคจึงมั่นใจได้ว่ามันสำปะหลังมีคุณภาพดี ปราศจากการปนเปื้อน การห้ามใช้พาราควอตจะส่งผลต้นทุนการเกษตรเพิ่มขึ้น ผลผลิตสูญหาย กระทบต่อเนื่องไปยังอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลังและมันสำปะหลังเส้น จนถึงการส่งออกไปต่างประเทศ เกษตรกรต้องแบกรับต้นทุนจากราคาพาราควอตที่สูงขึ้นจากข่าวการแบนใน 2 ปีที่ผ่านมา และรัฐควรสนใจเรื่องประกันราคาและเร่งช่วยเหลือแก้ปัญหาโรคใบด่างจะดีกว่า

อีกด้านวันเดียวกัน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงการยกเลิก 3 สารพิษว่า กระทรวงสาธารณสุขมีความชัดเจนอยู่แล้วว่าให้ยกเลิก ในส่วนอื่นต้องไปดูแลกันเอง เมื่อถามว่า การลงมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายควรเปิดเผยให้สาธารณชนรับทราบหรือไม่ นายอนุทินตอบว่า ต้องเปิดเผย คณะกรรมการ ในส่วนของกระทรวงจะเสนอให้ที่ประชุมลงมติเปิดเผย อะไรที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพประชาชนไม่เอา อยู่แล้ว ส่วนที่นักวิชาการที่สนับสนุน 3 สารเคมีเกษตรอันตราย ท้าดีเบตกับฝ่ายที่ต้องการให้ยกเลิก ไม่มีความจำเป็นเพราะสุดท้ายการตัดสินใจขึ้นอยู่กับคณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่จะนำมติคณะทำงาน 4 ฝ่ายไปใช้พิจารณา

ช่วงบ่ายที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ถึงจุดยืนเรื่อง 3 สารเคมีอันตรายทางการเกษตรว่า เรื่องนี้เคยแสดงจุดยืนไปตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว ให้ลด ละ เลิก สารเคมีดังกล่าว มีระยะเวลาและขั้นตอนดำเนินการตั้งแต่ปี 60 เป็นต้นมา วันนี้อยู่ในขั้นตอนที่เป็นหน้าที่ของรัฐบาลใหม่ที่เข้ามาพิจารณา เป็นเรื่องของคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่ต้องลงมติในวันที่ 22 ต.ค. ต้องหามาตรการที่เหมาะสมในการดำเนินการ เพื่อให้สามารถดำเนินการได้

ที่รัฐสภา นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร แถลงว่า วันที่ 20 ต.ค. กมธ.จะลงพื้นที่ตลาดไท เพื่อตรวจสอบรถคอนเทนเนอร์ ที่นำเข้าพืชผักผลไม้จากประชาชนจีนว่า มีการปนเปื้อนสารเคมีหรือไม่ จากนั้นจะไปโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (จปร.) นครนายก เยี่ยมชมโครงการแปลงสาธิตนาอินทรีย์ วันที่ 1 พ.ย.จะไปดูงาน จ.หนองบัวลำภู เพื่อศึกษาแนวทางการแก้ไขการใช้ยาปราบวัชพืชในพื้นที่เนื่องจาก เดิมเกษตรกรในพื้นที่ใช้ยาปราบวัชพืชเป็นจำนวนมาก ทำให้ได้รับผลกระทบต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม

จาก https://www.thairath.co.th วันที่ 16 ตุลาคม 2562

จับตาปัจจัยภายนอกสารพัด ดันเศรษฐกิจซึมยาวถึงปีหน้า

ส.อ.ท.จับตาปัจจัยภายนอกสารพัดกดดันเศรษฐกิจโลกซึมยาว แถมบาทแข็งค่า ฉุดส่งออกไทยวูบต่อเนื่อง คาดทั้งปี 2562 ส่งออกติดลบ 2–3% จีดีพีโต 2.8% กังวลปัจจัย เหล่านี้ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงจะส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงปี 2563 หนุนรัฐอัดเงินกระตุ้น ศก.

นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.ได้ติดตามปัจจัยภายนอกที่จะมีผลต่อภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และปัจจัยภายในที่อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่องคาดว่าจะกระทบโดยตรงต่อการส่งออกไทยทั้งปีนี้ ติดลบระดับ 2-3% จากขณะนี้ที่การส่งออก 8 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ส.ค.) ติดลบ 2.2% อัตราการเติบโต ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ปีนี้จะอยู่ที่ 2.8% จากที่คาดไว้จะขยายตัว 3% สิ่งที่กังวลคือปัญหาเหล่านี้จะยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องในปี 2563

“โค้งสุดท้าย 3 เดือนนี้ หากดูปัจจัยต่างๆ โดยเฉพาะปัจจัยภายนอกแล้วก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงอะไรมากนักจึงทำให้เศรษฐกิจโลกยังอยู่ภาวะ ถดถอยแต่สิ่งที่เอกชนกำลังกังวลคือ สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นต่อเนื่องไปในปี 2563”

สำหรับปัจจัยที่ ส.อ.ท.กำลังติดตามใกล้ชิด ได้แก่ ปัจจัยภายนอก ซึ่งได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ ชะลอตัวที่มีผลจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ขณะเดียวกัน ยังคงต้องติดตามการออกจากกลุ่มสหภาพยุโรปของอังกฤษที่อาจจะกดดันให้เศรษฐกิจโลกซบเซามากขึ้น นอกจากนี้ ล่าสุดจากความไม่สงบของฮ่องกง ที่ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะจบเมื่อใดก็ยังคงบั่นทอนให้ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ โลกมีมากขึ้นอีกด้วย

ขณะเดียวกัน ยังมีปัจจัยภายในประเทศ คือ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าซึ่งขณะนี้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวระดับ 30.40-30.30 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ หากเทียบกับต้นปีนี้นับว่าแข็งค่าระดับ 6% แต่หากนับตั้งแต่ 5 ปีที่ผ่านมา อัตราแข็งค่าสูงถึง 20% เป็นการบั่นทอนขีดความสามารถการแข่งขัน การส่งออกของไทยที่คิดเป็น 70% ของจีดีพีซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการส่งออกของไทย ในรูปค่าเงินบาทติดลบลงต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน เงินบาทที่แข็งค่าอาจมีผล ให้การท่องเที่ยวไทยลดลงได้เช่นกัน เพราะค่าใช้จ่ายจะสูงขึ้น

นอกจากนี้ ตนเห็นว่ารัฐบาลจะต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะนี้อีกครั้งหนึ่ง ดังนั้น โครงการชิม ช้อป ใช้ ของรัฐบาลถือว่าเป็นมาตรการที่ดีในการกระตุ้น การใช้จ่ายซึ่งรัฐบาลได้คาดหวังว่าจะก่อให้เกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจ 4-5 รอบ แต่ข้อเท็จจริงโครงการดังกล่าวกลับหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพียง 1-2 รอบเท่านั้น เนื่องจากการซื้อสินค้ายังคงกระจุกตัวอยู่ในห้างขนาดใหญ่ยังลงไปยังชุมชนไม่มาก หากรัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ๆ หรือใช้ชิม ช้อป ใช้ ระยะที่ 2 จึงอยากให้มองในประเด็นนี้ให้มากขึ้น

“เห็นด้วยที่รัฐบาลจะเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจท่ามกลางปัจจัยภายนอกที่เข้ามากระทบโดยตรงแต่หากจะให้เห็นผลมากขึ้นต้องปรับให้มีการหมุนเวียนของเงินด้วยการให้ถึงชุมชนฐานรากมากขึ้น แต่กรณีปัญหาที่เกิดขึ้นกับฮ่องกงไทยเองก็น่าจะใช้จังหวะนี้ดึงท่องเที่ยวมาไทย”

ด้านนายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวว่า ธนาคารได้สำรวจความคิดเห็นภาคธุรกิจ และนักลงทุน ในงานสัมมนาประจำปี จากการสำรวจความคิดเห็นพบว่า แรงกดดันจากปัจจัยภายนอกและการขาดปัจจัยกระตุ้นภายในทำให้ธุรกิจ และนักลงทุน มีมุมมองต่อการทำธุรกิจของตนในช่วง 6 เดือนข้างหน้าแบบระมัดระวัง

“ประเด็นที่เป็นห่วงมากที่สุดคือสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน หากมีความตึงเครียดมากขึ้น โดยครึ่งหนึ่งของผลสำรวจของเราบอกว่าได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งนี้แล้ว ในขณะที่ 30% คิดว่ากำลังจะได้รับผลกระทบในไม่ช้า”

อย่างไรก็ตาม หากสงครามการค้ามีทางออกที่คลี่คลายจะเป็นแรงกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญไปอีก 2-3 ปีข้างหน้า แต่หากยังไม่มีทางออก ก็ไม่เห็นปัจจัยหรือมาตรการอื่นที่จะช่วยผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจโลกได้ ซึ่งหมายความว่านโยบายเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายการเงิน ถูกมองว่าอาจจะมีประสิทธิภาพน้อยลงในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่นักลงทุนกังวลเป็นอย่างมาก.

จาก https://www.thairath.co.th วันที่ 14 ตุลาคม 2562

ชี้ชะตา3สารพิษ กก.วัตถุอันตรายถก22ต.ค. รอแค่ก.เกษตรชงเรื่องแบน

คณะกรรมการวัตถุอันตราย นัดประชุม 22 ตุลาคมนี้ หากกระทรวงเกษตรฯยื่นเรื่องขอยกเลิกใช้ 3 สารเคมีอันตรายเข้ามา จะบรรจุในวาระพิจารณาทันที ด้าน“สุริยะ” เชื่อส่งเข้ามาทันตามกำหนด ขณะ“ลูกชายมนัญญา” ยันคุณแม่พร้อมเดินหน้าแบน 3สารพิษ ให้มีผล 1 ธันวาคมนี้

เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม นายประกอบ วิวิธจินดา รักษาการอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.)ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการวัตถุอันตราย กล่าวถึงความคืบหน้าการยกเลิกใช้ 3 สารเคมีอันตราย คือ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ว่า คณะกรรมการวัตถุอันตราย ได้นัดประชุมวันที่ 22 ตุลาคมนี้ โดยมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ฉบับเดิม พ.ศ.2535 จะพิจารณาตามที่หน่วยงานต่างๆ ยื่นเรื่องเข้ามาแล้ว เช่น กรอ., กรมปศุสัตว์ , สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอพิจารณากฎหมายลูกที่จะรองรับพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)วัตถุอันตรายฉบับใหม่ พ.ศ.2562 ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีเรื่องการยกเลิก 3 สารพิษ จากกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยื่นเข้ามา ซึ่งหากยื่นก่อนวันที่ 22 ตุลาคม คณะกรรมการฯ พร้อมจะบรรจุในวาระการพิจารณาทันที

ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายเรียกร้องให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย ลงมติเปิดเผยต่อสาธารณะชน ช่วงโหวตยกมือให้แบน 3 สารเคมีนั้น นายประกอบ กล่าวว่า โดยปกติที่ประชุมจะเปิดเผยมติจำนวนเสียงของคณะกรรมการที่โหวตอยู่แล้วว่า มีมติเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย หรืองดออกเสียงมีจำนวนเท่าไร แต่ถ้าจะให้เปิดเผยรายชื่อคณะกรรมการแต่ละรายว่า ใครออกเสียงอย่างไรนั้น ต้องมีการหารือในที่ประชุมอีกครั้งหนึ่งว่า ยินยอมให้เปิดเผยรายชื่อต่อสาธารณะหรือไม่ เพราะถือเป็นเรื่องสิทธิเฉพาะบุคคล หากคณะกรรมการยินดี ก็พร้อมที่จะเปิดเผยรายชื่อได้

“ผมไม่รู้สึกหนักใจอะไร เพราะทุกอย่างเป็นไปตามมติที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายฯ ถ้าภายในวันที่ 22 ตุลาคมนี้ ทางกระทรวงเกษตรฯ ยังไม่เสนอเรื่องมา ก็จะไม่สามารถพิจารณาเรื่องนี้ได้ แต่ทางคณะกรรมฯ ก็สามารถเรียกประชุมใหม่ได้ภายในเดือนตุลาคมได้เช่นกัน โดยให้คณะกรรมการทั้ง 29 รายมีความพร้อมร่วมกัน แต่ถ้าส่งมาหลังวันที่ 27 ตุลาคม พ.ร.บ.วัตถุอันตรายฯ ฉบับใหม่ มีผลบังคับใช้ จะเปลี่ยนประธานเป็น รมว.อุตสาหกรรม มีคณะกรรมการ 27 ราย” นายประกอบ กล่าว

ทางด้าน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับเรื่องการยกเลิกใช้ 3 สารเคมีอันตราย จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งทางคณะกรรมการวัตถุอันตราย ได้แจ้งว่าจะมีประชุมในวันที่ 22 ตุลาคมนี้ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า กระทรวงเกษตรฯ จะส่งเรื่องเข้ามาพิจารณาทันในวันดังกล่าว

ขณะที่ นายเจเศรษฐ์ ไทยเศรษฐ์ ส.ส.จังหวัดอุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย และลูกชาย น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรฯ เปิดเผยว่าคุณแม่ออกจาก รพ.สมิติเวช ตั้งแต่ช่วงบ่ายวันที่ 10 ตุลาคม เพื่อมาเร่งดูเอกสารข้อมูลในการแบน 3 สารเคมีอันตราย เสนอให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง พร้อมลงนามในมติแบน3สาร ให้มีผลวันที่ 1 ธันวาคมนี้ ส่งไปยังคณะกรรมการวัถตุอันตรายแล้ว ซึ่งในวันนี้คุณแม่เดินทางไปจ.พัทลุง เพื่อดูงานสหกรณ์การเกษตร ปากพะยูน ตรวจเยี่ยมโครงการฝึกอบรมเกษตรกรสมาชิก ผสมปุ๋ยใช้เอง

“ไปเยี่ยมคุณแม่ที่โรงพยาบาลเมื่อวานผมดีใจเห็นหน้าตาท่านสดใสขึ้นแล้ว ท่านบอกพักสองวัน มีแรงลุยงานของกระทรวงเกษตรฯ แก้ปัญหาเกษตรกรได้เต็มที่ พร้อมเดินหน้าแบน3สารเคมีจะดำเนินการอย่างเต็มที่ เพื่อเกิดประโยชน์สูงสุดให้คนส่วนใหญ่ของประเทศ”นายเจเศรษฐ์ ย้ำ เมื่อถามว่ามีกระแสข่าวว่ามีคำสั่งให้เปลี่ยนตัวกรรมการวัตถุอันตรายในส่วนผู้แทนกระทรวงเกษตรฯ นายเจเศรษฐ์กล่าวว่าไม่ทราบว่าคุณแม่ทราบเรื่องนี้ หรือไม่ แต่คุณแม่เป็นคนจริงจังมากทุกเรื่อง เมื่อลงมือทำอะไรแล้วต้องให้จบและสำเร็จ ไม่ยอมปล่อยในเรื่องที่ผิดเด็ดขาด

จาก https://www.naewna.com  วันที่ 12 ตุลาคม 2562

กษ.เปิดตัวอ้อยพันธุ์ใหม่‘ศรีสำโรง1’

นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ภาคเหนือตอนล่างเป็นแหล่งปลูกอ้อยคั้นน้ำและอ้อยโรงงานที่สำคัญของประเทศ ได้แก่ จ.กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ สุโขทัย พิษณุโลก และนครสวรรค์ มีพื้นที่ปลูกอ้อยทั้งหมด 1.8 ล้านไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 11 ตันต่อไร่ซึ่งอ้อยคั้นน้ำนั้นถือเป็นเครื่องดื่มที่นิยมบริโภคแพร่หลายในทวีปเอเชีย เนื่องจากหาซื้อง่าย รสชาติหอมหวาน ราคาไม่แพง รวมทั้งในน้ำอ้อยยังประกอบด้วยเกลือแร่สำคัญที่ร่างกายต้องการ เช่น แคลเซียม ธาตุเหล็ก และโพแทสเซียม

ในประเทศไทยนิยมปลูกอ้อยคั้นน้ำพันธุ์สุพรรณบุรี 50 ซึ่งเป็นพันธุ์อ้อยรับรองของกรมวิชาการเกษตร อย่างไรก็ตามพื้นที่ปลูกอ้อยดังกล่าวมีสภาพแวดล้อมที่ต่างจากพื้นที่ปลูกอ้อยในภาคเหนือตอนล่าง ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุโขทัย กรมวิชาการเกษตร จึงนำพันธุ์อ้อย ซึ่งผสมพันธุ์ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี นำมาคัดเลือกและประเมินผลผลิตที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุโขทัย มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้พันธุ์อ้อยคั้นน้ำที่มีผลผลิตสูงกว่าพันธุ์สุพรรณบุรี 50 หรือให้ผลผลิตอ้อยโรงงานสูงกว่าพันธุ์ที่เกษตรกรปลูก มีความหวาน หรือค่าซีซีเอส มากกว่า 12 และเป็นพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพการปลูกในเขตภาคเหนือตอนล่าง  จนได้อ้อยพันธุ์ใหม่ที่มีคุณสมบัติตามที่ต้องการผ่านการรับรองพันธุ์จากกรมวิชาการเกษตรเมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา ใช้ชื่อพันธุ์ว่า “อ้อยคั้นน้ำพันธุ์ศรีสำโรง 1”

อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าวต่อว่า อ้อยคั้นน้ำพันธุ์ศรีสำโรง 1มีลักษณะเด่นคือ ให้ผลผลิตน้ำอ้อยเฉลี่ย 5,647 ลิตร/ไร่ เปอร์เซ็นต์หีบ38.1 มีความหวาน 19.1 องศาบริกซ์น้ำอ้อยคั้นมีสีเหลืองอมเขียว มีกลิ่นหอมซึ่งจากการประเมินความพึงพอใจของผู้บริโภคพบว่า สิ่งที่ชอบมาก ได้แก่กลิ่นหอม รองลงมาคือ สี รสชาติและความหวาน ส่วนผลการประเมินเกษตรกรผู้ผลิตและจำหน่ายอ้อยในจ.สุโขทัย และพิษณุโลกพบว่า เกษตรกรทุกรายชอบและให้การยอมรับอ้อยพันธุ์ศรีสำโรง 1 โดยเฉพาะจำนวนผลผลิต กลิ่น รสชาติ  เปอร์เซ็นต์หีบ และขนาดลำ

“อ้อยพันธุ์ใหม่ศรีสำโรง 1 เป็นทางเลือกให้เกษตรกรใช้พันธุ์อ้อยคั้นน้ำพันธุ์ใหม่ที่มีลำต้นค่อนข้างนิ่ม ใช้ประโยชน์ได้หลากหลายทั้งคั้นน้ำ เคี้ยว หรือส่งเป็นอ้อยโรงงาน โดยในอ้อยคั้นน้ำจะมีเปอร์เซ็นต์หีบสูง น้ำอ้อยมีสีสวยและมีกลิ่นหอม รวมทั้งยังสามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่น เช่น ทำอ้อยงบ อ้อยกะทิ อ้อยผง เป็นการเพิ่มมูลค่าให้อ้อยด้วย โดยในปี 2562 หน่วยงานในส่วนภูมิภาคของกรมวิชาการเกษตรขยายอ้อยโคลน คั้นน้ำพันธุ์ศรีสำโรง 1ในพื้นที่ 5 ไร่ ซึ่งปลูกขยายต่อในพื้นที่ได้ถึง 50 ไร่” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว

จาก https://www.naewna.com   วันที่ 11 ตุลาคม 2562

ดันอุตฯเคมีชีวภาพเป็นอุตสาหกรรม S-Curve เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจชีวภาพ

"สนค." ยกระดับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี/เคมีชีวภาพ-การเกษตรไทย เป็นหนึ่งในอุตฯเป้าหมาย รับเทรนด์การบริโภคผลิตภัณฑ์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

นางสุรีย์พร สหวัฒน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าภายหลังเยี่ยมชมโรงงาน บริษัท พีทีที เอ็มซีซี ไบโอเคม จำกัด ณ นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย จ.ระยอง เพื่อหารือแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับผู้บริหารระดับสูงของบริษัทฯ ในการขับเคลื่อนและยกระดับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี/เคมีชีวภาพ และภาคเกษตรไทย

เพื่อให้เติบโตและสามารถปรับตัวไปสู่การเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมศักยภาพเป้าหมาย (S-Curve) และเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio-economy)

สำหรับอุตสาหกรรมผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพชนิด PBS เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนภาคเกษตรและเศรษฐกิจไทยในอนาคต เนื่องจากมีโอกาสทางธุรกิจและสามารถขยายการส่งออกได้จากกระแสรักษ์โลก และเทรนด์การบริโภคผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ตลอดจนข้อกำหนดผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในหลายประเทศ และการนำระบบดิจิทัลเข้ามาปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิตและการดำเนินงานขององค์กรในหลายส่วน (Digital Transformation) อาทิ ระบบบล็อกเช่น (Blockchain) ที่เชื่อมโยงข้อมูลและสามารถตรวจสอบย้อนกลับระหว่างผู้ซื้อ ผู้ขาย สถาบันการเงิน และผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ

การนำระบบ E-Finance และระบบ AI เข้ามาใช้ในองค์กร ตลอดจนการมุ่งวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างแท้จริง จะเป็นการยกระดับให้เข้าสู่อุตสาหกรรม S-Curve มากยิ่งขึ้น

นางสุรีย์พร กล่าวว่า กิจกรรมในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ "ประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมศักยภาพเชิงลึก (ระดับรายสถานประกอบการ)" ที่ สนค.ได้ดำเนินการร่วมกับที่ปรึกษาโครงการ บริษัท เอ็นไอดี โปรเกรส เทคโนโลยี จำกัด เพื่อศึกษาการปรับตัวของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมไทยไปสู่ "อุตสาหกรรม 4.0"

อย่างไรก็ตาม การดำเนินธุรกิจผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพชนิด PBS ในประเทศไทยยังคงมีข้อจำกัดที่สำคัญ คือ ไทยยังจำเป็นที่ต้องพึ่งพิงวัตถุดิบต้นน้ำที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งคือ วัตถุดิบทางการเกษตรที่ผ่านกระบวนการหมักให้เป็นโมโนเมอร์ (Monomer)

ทั้งนี้ ภาครัฐและภาคเอกชนควรเร่งสนับสนุนการใช้ผลิตภัณฑ์เคมีชีวภาพและพลาสติกชีวภาพในประเทศไทยให้เป็นรูปธรรม ตลอดจนเร่งผลักดันแผนพัฒนา Bio Hub แห่งแรกในอาเซียน (Bio Hub of ASEAN) และโครงการไบโอรีไฟเนอรีคอมเพล็กซ์ (Bio-refinery Complex) ณ จ.นครสวรรค์ ให้เกิดผลอย่างชัดเจน

เพื่อขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจชีวภาพของประเทศและดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพ/พลาสติกชีวภาพ ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมต้นน้ำที่เกี่ยวข้อง

สำหรับบริษัท พีทีที เอ็มซีซี ไบโอเคม เป็นบริษัท ร่วมทุนระหว่าง บริษัท ปตท จำกัด (มหาชน) และ บริษัท มิตซูบิชิ เคมิคอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพชนิด PBS เชิงพาณิชย์แห่งแรกของโลก

โดยผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และปลอดภัยสำหรับการสัมผัสกับอาหาร และสามารถประยุกต์ใช้ได้กับเครื่องจักรเดิม ผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติ เช่น อ้อย มันสำปะหลัง และข้าวโพด ซึ่งตลาดส่งออกหลักของเม็ดพลาสติกชีวภาพชนิด PBS ได้แก่ ตลาดสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น เพื่อนำไปผลิตสินค้านวัตกรรมต่าง ๆ อาทิ แก้วกระดาษเคลือบพลาสติกชีวภาพ แคปซูลกาแฟ ถุงบรรจุเมล็ดกาแฟ และถุงห่อเสื้อผ้า แบรนด์พรีเมียม เป็นต้น

จาก https://www.posttoday.com วันที่ 11 ตุลาคม 2562

ธปท.จ่อออกมาตรการสกัดบาทแข็ง

ธปท.เตรียมออกมาตรการสกัดบาทแข็ง เผย 1-2 เดือนชัดเจน แก้ปัญหาจากสาเหตุ  ลดแรงกดดัน ย้ำทำเงินไหลเข้า-ออกให้สมดุล เปิดเสรีลงทุนในต่างประเทศเพิ่ม-ลดแรงกระแทกการค้าทองคำ

 นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ไม่ได้นิ่งนอนใจกับค่าเงินบาทบาทที่แข็งค่าขึ้น คาดว่า ภายใน 1-2 เดือน น่าจะประกาศมาตรการได้ แต่มาตรการใดที่ออกไปจะต้องแก้ปัญหาให้ตรงจุด ซึ่งสาเหตุที่มีผลต่อค่าเงินให้เปลี่ยนแปลงมี 4-5 ปัจจัยคือ ปัจจัยต่างประเทศ การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง การซื้อขายทองคำ และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ

ทั้งนี้ ธปท.อยู่ระหว่างดูมาตรการแก้ปัญหาเหล่านี้อยู่ เช่น การทำให้เงินต่างประเทศมีความสมดุลระหว่างเงินไหลเข้าและไหลออก โดยจะเปิดเสรีมากขึ้น ทั้งในรายบุคคลและรายสถาบัน ผู้ประกอบการส่งออกที่มีรายได้ต่างประเทศไม่จำเป็นต้องแปลงเป็นเงินบาททันที รวมถึงการส่งเสริมให้มีผู้ประกอบการโอนเงินตราต่างประเทศ เพื่อลดต้นทุน ซึ่งจะเป็นมาตรการ 1 ใน 2 มาตรการที่จะเห็นชัดเจน

นอกจากนั้น การเข้าไปดูแลเรื่องการการซื้อขายทองคำ เนื่องจากเป็นปัจจัยที่เข้ามาซ้ำเติมค่าเงิน และไม่สร้างมูลค่าต่อเศรษฐกิจไทย อย่างไรก็ดี ธปท.ไม่ได้จะออกหลักเกณฑ์หรือจำกัดการค้าทองคำแต่อย่างใด แต่จะเข้าไปดูว่าจะทำอย่างไรไม่ให้การซื้อขายทองคำมีแรงกระแทกต่อค่าเงินบาท ซึ่งตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันมีมูลค่าซื้อขายทองคำ 4,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ขณะเดียวกัน การลดดุลบัญชีเดินสะพัดที่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยการช้จังหวะนี้ในการส่งเสริมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อรองรับไทยเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งเป็นโจทย์ที่จะส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในภาครัฐและเอกชน ซึ่งจะเป็นมาตรการที่จะช่วยลดดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล และช่วยลดแรงกดดันค่าเงิน

 “มาตรการที่จะออกนั้นจะต้องดูปัจจัยที่มีผลต่อค่าเงิน มีอยู่ 4-5 ปัจจัย ซึ่งอยู่ใน 3 กลุ่มหลัก หลังจากที่ก่อนหน้าเรามีมาตรการลดการพักเงินสั้นๆ ได้ โดยบางเรื่องอาจมีหน่วยงานเกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน แต่คาดว่าภายใน 1-2 เดือนน่าจะประกาศได้ ซึ่งบางมาตรการน่าจะลดดุลบัญชีเดินสะพัดได้อีก แต่อย่ามองว่าเป็นปัญหาอย่างเดียว”

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 10 ตุลาคม 2562

เกษตรกรกว่า 5 แสนราย ร้องลุงตู่ค้านมติแบนพาราควอต ย้ำตัดสินด้วยหลักวิทยาศาสตร์

เกษตรกรพร้อมเปิดข้อสงสัยการแบนพาราควอต ภาคประชาคมเกษตรกรกว่า 500,000 ราย เดินหน้าพบนายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยืนยันมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายเดิม “อนุญาตให้ใช้พาราควอต” โชว์มูลค่าความเสียหายทางผลผลิตเกษตร 6.5 หมื่นล้านบาท ยังไม่รวมความเสียหายของอุตสาหกรรมต่อเนื่องกระทบ  รัฐเตรียมดึงภาษีประชาชนมาแก้ไขปัญหา ทวงถาม นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เหตุผลการแบนพาราควอต และย้ำขอให้ตัดสินจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เป็นหลัก

นายมนัส พุทธรัตน์ ประธานสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เกษตรกรกว่า 500,000 ราย ขอประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันขอยืนยันมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายเดิม “อนุญาตให้ใช้พาราควอต” ภายใต้มาตรการจำกัดการใช้ฯ เนื่องจากตลอดสองปีกว่าที่ผ่าน เกษตรกรเป็นผู้รับเคราะห์มาโดยตลอด มีการจัดตั้งคณะทำงานหลายชุดตามข้อเสนอแบนสารเคมีของกระทรวงสาธารณสุข องค์กรอิสระ เอ็นจีโอ

ท้ายที่สุดมติจากคณะกรรมการวัตถุอันตรายก็ระบุชัดว่า “ข้อมูลต่าง ๆ ของฝ่ายแบนนั้น หลักฐานไม่เพียงพอ” แสดงให้เห็นว่า “ข้อมูลเหล่านั้นไม่มีน้ำหนัก ขาดความน่าเชื่อถือมาโดยตลอด” แต่ฝ่ายเสนอแบนไม่เคยยอมรับมติ เผยแพร่ข้อมูลที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อตัวเกษตรกร ต้นทุนพุ่ง กระทบต่อเศรษฐกิจการเกษตร สินค้าปลอมและสารเคมีนำเข้าผิดกฎหมายเกลื่อน ไทยสูญเสียความน่าเชื่อถือในการส่งออก

ที่บอกว่าปาล์มน้ำมันทั่วโลกเลิกใช้พาราควอต เป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้องจริง ๆ แล้ว มาตรฐาน RSPO เป็นมาตรฐานสมัครใจ  ก็ยังให้ใช้พาราควอตตามเงื่อนที่จำเป็น และเป็นไปตามกฏระเบียบของประเทศ เกษตรกรที่เข้ามาตรฐาน RSPO มีกี่รายที่ทำได้ ตอนนี้อินโดนีเซียเองก็ยังออกจากมาตรฐาน RSPO มาใช้มาตรฐานของตนเอง

รวมทั้ง คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการควบคุมวัตถุอันตรายฯ เคยรายงานต่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายแล้วว่า ไม่มีข้อมูลที่สามารถเชื่อมโยงได้อย่างชัดเจนกับข้อกล่าวอ้างว่าพาราควอตเป็นสารก่อมะเร็ง โรคผิวหนังอักเสบเนื้อเน่า การถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกนั้น ล้วนแต่ขาดความชัดเจนของข้อมูล อย่างโรคมะเร็งจากบุหรี่ในปีหนึ่งๆ ห้าหมื่นกว่าคน ทำไมไม่แบนบุหรี่

นายวราวุธ ชูธรรมธัช รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า “ประเทศไทยจะเพิ่งเกษตรอินทรีย์ทั้งหมดไม่ได้ ต้องพึ่งเกษครเคมีด้วย ดังนั้นใครถนัดวิถีไหน ก็ทำไป และเป็นเรื่องที่ดีที่เกษตรกรออกมาให้ข้อมูล จะได้เป็นการให้ข้อมูลทั้งสองด้าน ไม่ใช่ให้ข้อมูลแต่เพียงด้านเดียว เป็นการโฆษณาชวนเชื่อ หากมีการแบน ต้นทุนเพิ่มขึ้น ผู้บริโภคก็ต้องรับภาระราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้น”

สิ่งที่เกษตรกรสงสัยที่สุด ตอนนี้ คือ ความพยายาม “แบนพาราควอต” อย่างรุนแรง และไม่มีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ ควบคู่ไปกับ ความพยายาม “ผลักดันสารเคมีทดแทนตัวใหม่” ที่ราคาแพงกว่าหลายเท่า แถมสารที่แนะนำ เอ็นจีโอที่อังกฤษ บอกว่าก่อมะเร็งและทำลายระบบประสาท สามารถตกค้างในสิ่งแวดล้อม ซึ่งสารทดแทนที่แนะนำนี้ ขายในไทยมานานแล้ว แต่เกษตรกรไม่ใช้เหตุเพราะแพงและอันตรายกว่า งานนี้ อาจมีเบื้องหลังจากกลุ่มทุนรายใหญ่ร่วมแบน “หากพาราควอตยังอยู่ ตัวนี้ก็ขายไม่ได้” ท้ายสุด เกษตรกรก็รับเคราะห์เหมือนเดิม

“เกษตรกร 500,000 ราย อยากร้องขอ “นายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา” และ “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน” ที่ได้รับเสียงเลือกตั้งส่วนใหญ่จากเกษตรกร “คณะกรรมการวัตถุอันตราย” “กรมวิชาการเกษตร” พิจารณาจากข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ ไม่ตามกระแสสังคม เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นประเทศชาติเสียหาย ประชาชนเดือดร้อน ต้องนำภาษีประชาชนมาใช้อีกกี่แสนล้านบาท “อย่าใช้เกษตรกรเล่นเกมการเมือง” และ “เอื้อประโยชน์นายทุนที่อยู่เบื้องหลังการแบน” นายมนัส กล่าว

จาก https://www.naewna.com  วันที่ 10 ตุลาคม 2562

ซื้อเวลาสั่งแบน”พาราควอต” ผู้ค้าเร่งระบายสต๊อก4พันล้าน

แบน 3 สารกำจัดศัตรูพืช “พาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอส” ฝุ่นตลบ หวั่น กก.วัตถุอันตรายซื้อเวลา “จำกัด” การใช้ต่อไม่ยอมแบน เหตุประชุม 4 ฝ่ายชุด “มนัญญา” ไม่มีอำนาจสั่งห้ามใช้-ห้ามนำเข้า อีกทั้งคำสั่ง “บิ๊กตู่” ก็ไม่ได้บอกให้แบน ร้านขายยากำจัดศัตรูพืชเร่งระบายสต๊อกมูลค่า 4,000 ล้านบาท

การประชุมผู้แทน 4 ฝ่าย (รัฐ-ผู้นำเข้า-เกษตรกร-ผู้บริโภค) เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช (พาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอส) ตามบัญชาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้มีมติในที่ประชุมครั้งสำคัญให้ “แบน” การใช้สารเคมีทั้ง 3 ประเภทโดยมตินี้จะถูกส่งไปยังคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งจะประชุมกันในวันที่ 27 ตุลาคม ท่ามกลางข้อสงสัยว่า ผลการประชุมดังกล่าวจะ “สั่ง” ให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายทำการเปลี่ยนแปลงมติจากการ “จำกัด” การใช้สารเคมีพาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอสมาเป็น “ยกเลิก” การใช้ได้หรือไม่

มติให้แบนกรมวิชาการมีแต่..

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานในที่ประชุม 4 ฝ่าย กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 (สมาคมอารักขาพืชไม่ได้เข้าร่วมการประชุม) ให้ยกระดับสารเคมีทั้ง 3 ชนิดจากวัตถุอันตรายประเภทที่ 3 มาเป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 คือ ห้ามผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562

ขณะที่ น.ส.เสริมสุข สลักเพ็ชร อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า เห็นด้วยที่จะให้มีการพิจารณาสารเคมี 3 ชนิดเป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 ตามนโยบายของ น.ส.มนัญญา ที่กำกับดูแลกรมวิชาการเกษตร “แต่การพิจารณายกเลิกการใช้ต้องมีข้อมูลทางวิชาการและข้อเท็จจริงในเชิงประจักษ์และมีความชัดเจน ครบถ้วน รอบด้าน ว่าสารเคมีทั้ง 3 ชนิดเป็นอันตรายต่อมนุษย์จริง จึงจะมีมติตามที่ประชุม 4 ฝ่ายให้ยกระดับสารเคมีเป็นประเภทที่ 4 ได้” น.ส.เสริมสุขกล่าว

กก.วัตถุอันตรายซื้อเวลาต่อ

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายในวันที่ 27 ตุลาคมที่จะถึงนี้ว่า นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม จะเข้าร่วมการประชุมในฐานะประธานในที่ประชุมด้วย โดยมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายครั้งสุดท้าย (18 ก.ย. 2562) มีเพียงรอฟังผลการประชุม 4 ฝ่ายตามบัญชาของนายกรัฐมนตรีกับติดตามความคืบหน้านโยบายของกระทรวงเกษตรฯเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยมีข้อสังเกตว่า “บัญชา” ของนายกรัฐมนตรีสั่งแค่ให้ทั้ง 4 ฝ่ายแสดงความเห็นเพื่อสร้างความเข้าใจในสังคม ไม่ได้สั่งให้พิจารณาว่า “จะยกเลิกหรือไม่ยกเลิก” แต่อย่างใด

ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ว่า คณะกรรมการวัตถุอันตรายยังคงยืนยันมติเดิม (23 พฤษภาคม 2561) ที่ให้ “จำกัด” การใช้สารพาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอสต่อไป โดยจะติดตามและประเมินผลอย่างใกล้ชิดและให้มีการทบทวนมาตรการ “จำกัด” การใช้ภายใน 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 หรือภายในวันที่ 14 ก.พ. 2564 (มติวันที่ 27 พ.ค 2562) แต่หากมีสารเคมีทางการเกษตรใดทดแทนได้ก็สามารถออกมาตรการห้ามการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดโดยไม่ต้องรอให้ครบ 2 ปี

“การประชุมวันที่ 27 ตุลาคมจึงน่าจะออกมาในลักษณะของ “รับทราบ” มติของการประชุม 4 ฝ่ายชุดของ น.ส.มนัญญา กับ “รับทราบ” นโยบายของ รมว.กระทรวงเกษตรฯที่มีความเห็นสั่งให้แบน แต่การแบนหรือไม่แบนนั้นจะต้องขึ้นอยู่กับสิ่งที่เรียกกันว่า ข้อมูลทางวิชาการและข้อมูลเชิงประจักษ์ ว่าทั้ง 3 สารเคมีนั้นมีอันตรายต่อมนุษย์จริง แต่ถึงจะมีอันตรายก็ต้องมีสารเคมีที่จะทดแทนในแง่ของประสิทธิภาพและราคาที่เกษตรกรรับได้ด้วย” แหล่งข่าวในกระทรวงเกษตรฯกล่าว

สุดท้ายจึงขึ้นอยู่กับว่าคณะกรรมการวัตถุอันตราย จะ “พลิก” มติตัวเองหรือไม่ โดยแข็งขืนกับกระแสสังคมที่เรียกร้องให้ “แบน” สารเคมีการเกษตรทั้ง 3 ชนิด รวมไปถึงนโยบายของฝ่ายการเมืองโดยเฉพาะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องการอย่างไร

เผยสต๊อกลับ 34,688 ตัน

ล่าสุด กรมวิชาการเกษตรได้ยอมเปิดเผยปริมาณนำเข้าพาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอสระหว่างปี 2558-2562 และปริมาณคงเหลือ ปรากฏ 6 เดือนแรกของปี 2562 มีปริมาณนำเข้า 36,066 ตัน และปริมาณคงเหลือ 34,688 ตัน นอกจากนี้ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ยังได้ตรวจสอบรายละเอียดเกี่ยวกับการนำเข้าสารเคมีทดแทนที่ชื่อ “กลูโฟซิเนต แอมโมเนีย” ในช่วง 8 เดือนแรก (ม.ค.-ส.ค. 2562 ) มีปริมาณ 1,308 ตัน โดยผู้นำเข้าหลักได้แก่ บจ.ไบเออร์ไทย, บจ.มิลเลนเนียม ฟาร์ม, บจ.เรนโบว์ อโกรไซเอนเซส, บจ.ไซโนเคม ฟาร์มแคร์ และ บจ.เดมาร์ เคมิคอล เวิร์ค ออกระเบียบจำกัดการใช้

อย่างไรก็ตามก่อนที่จะมีการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายในวันที่ 27 ตุลาคมนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังคงเดินหน้าออกประกาศ “หลักเกณฑ์ในการจำกัดการใช้วัตถุอันตราย พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส” รวม 5 ฉบับ ให้เกษตรกรต้องผ่านการอบรมและขึ้นทะเบียนและใช้สารเคมี 3 ชนิดก่อนจึงจะมีสิทธิ์ซื้อพาราคอต-ไกลโฟเซต กลูโฟซิเนตได้

โปรโมชั่นโละพาราควอต

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สำรวจร้านค้าสารเคมีทางการเกษตรและสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในหลายจังหวัด พบว่าหลายร้านเริ่มจัดโปรโมชั่นลดราคาสินค้าเพื่อระบายสินค้าที่ค้างสต๊อกก่อนที่จะถึงเส้นตาย “จำกัด” การซื้อเฉพาะเกษตรกรที่ผ่านการอบรมและขึ้นทะเบียนในวันที่ 20 ตุลาคม 2562 โดยเกษตรกรในหลายจังหวัด อาทิ นครสวรรค์, จันทบุรี, ตราด, เพชรบูรณ์ ต่างกล่าวตรงกันว่า รัฐบาลไม่มีความชัดเจนว่า จะเลิกหรือไม่เลิกใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้ง 3 ชนิด ส่วนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชชนิดใหม่อย่าง “กลูโฟซิเนต” ที่จะนำมาทดแทนสารเคมีทั้ง 3 ชนิดยังมี “ราคาแพงมาก สูงกว่าตัวเดิม 2-3 เท่า” แต่ร้านจำหน่ายสารกำจัดศัตรูพืชได้นำเข้ามาจำหน่ายให้กับเกษตรกรแล้ว

“กลูโฟซิเนตขายในราคาลิตรละ 480-500 บาท ในขณะที่พาราควอต-ไกลโฟเซตลิตรละ 120-150 บาท โดยสารเคมีตัวใหม่ กลูโฟซิเนต มีอัตราสิ้นเปลืองการใช้เมื่อเทียบกับตัวเดิมถึง 1 เท่า ร้านค้าส่วนใหญ่ในต่างจังหวัดไม่มีการสั่งสต๊อกพาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอสมาตั้งแต่ 6 เดือนที่แล้ว เพราะกลัวคำสั่งแบน ที่ยังมีขายอยู่ก็พยายามระบายสต๊อกให้หมดจากปัจจุบันที่มีเหลือตกค้างอยู่ในประเทศ 34,688 ตันหรือมีมูลค่าประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาท” ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจรายงาน

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 10 ตุลาคม 2562

การกลายพันธุ์ของสินค้าเกษตรสู่อุตสาหกรรมชีวภาพ

อุตสาหรรมพลาสติกชีวภาพเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมแห่งอนาคตและเป็นเป้าหมายหนึ่งของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี ซึ่งไทยก็มีศักยภาพด้านนี้

โดยรายงานรูปแบบธุรกิจสมัยใหม่และปัจจัยที่ผู้ประกอบการควรรู้ในยุค “โลกป่วน...ควรเปลี่ยน”จัดทำโดยสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์

 เผยถึงอุตสาหกรรมพาสติกย่อยสลายได้มีอุตสาหกรรมสนับสนุนที่ครบวงจรอยู่ในประเทศไทย โดยกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตร ซึ่งไทยได้อานิสงค์จากที่เป็นผู้ส่งออกมันสำปะหลังและน้ำตาลสูงสุดติดอันดับ 2ของโลก

ขณะที่ Biomonomers ประเทศไทยมีกำลังการผลิต Bio-BDO(Butanediol) BSA (Bio-Succinic)และกรมแลกติกในระดับที่สูง ส่วนBiopolymers ประเทศไทยก็มีโรงงานผลิตPBSเป็นแห่งแรกของโลกด้วยกำลังการผลิตที่ 20,000 ตันต่อปี และเป็นผู้ผลิต PLA อันดับ 2 ของโลก

ด้านอุตสาหกรรมแปรรูปพลาสติกชีวภาพ ประเทศไทยมีผู้ประกอบการมากกว่า 3,000 ราย ที่พร้อมให้บริการสนับสนุนกระบวนการผลิตด้านพลาสติกชีวภาพ

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 9 ตุลาคม 2562

ไทยเล็งเปิดเวที ถกรมต.อาร์เซ็ป ช่วง10-12ตค.นี้ จับมือค้า-ลงทุน

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีอาร์เซ็ป สมัยพิเศษ ครั้งที่ 9 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ เป็นประธานการประชุม โดยรัฐมนตรีอาร์เซ็ปจะร่วมกันตัดสินใจประเด็นระดับนโยบายในเรื่องที่ยังคงค้างและดำเนินการตามความตั้งใจของผู้นำที่จะประกาศความสำเร็จการเจรจาอาร์เซ็ปปีนี้

โดยระหว่างวันที่ 10-11 ตุลาคม2562 จะมีการประชุมระดับคณะกรรมการเจรจาจัดทำความตกลงอาร์เซ็ปก่อนที่จะมีการประชุมระดับรัฐมนตรีวันที่ 12 ตุลาคม 2562สำหรับความตกลงอาร์เซ็ปจะช่วยให้การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเข้มแข็งและสร้างสภาวะแวดล้อมทางการค้าและการลงทุนที่เอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาของภูมิภาค รวมถึงไทย ซึ่งสินค้าของไทยที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์เพิ่มเติมเมื่อเปรียบเทียบกับข้อตกลงเอฟทีเอ

มีรายงานแจ้งว่า สำหรับรัฐมนตรี 16 ประเทศของอาร์เซ็ปคือ 10 ประเทศ อาเซียนบวกกับจีนเกาหลีใต้ อินเดีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์และออสเตรเลีย

จาก https://www.naewna.com วันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2562

กรมวิชาการเกษตรย้ำจุดยืน3สารพิษ พร้อมทำตามมติคณะกก.ตามกม.

นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ชี้แจงแนวทางดำเนินการของกรมวิชาการเกษตรเกี่ยวกับวัตถุอันตราย 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอตคลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ตามที่เป็นประเด็นข่าวอยู่ขณะนี้ว่า กรมวิชาการเกษตร เป็นเพียงหน่วยงานผู้ปฏิบัติตามข้อเท็จจริงตามหลักวิชาการและตามข้อกฎหมายที่ให้อำนาจหน้าที่ไว้เพียงบางส่วนเท่านั้น   มิได้มีอำนาจหน้าที่เบ็ดเสร็จทั้งหมด โดยกรมวิชาการเกษตร พร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่ตามทิศทางที่ถูกต้องตามข้อเท็จจริงตามหลักวิชาการและภายใต้กรอบกฎหมายที่ให้ไว้ ขอยืนยันว่ากรมวิชาการเกษตรมิได้ต่อต้านการยกเลิกการใช้วัตถุอันตรายทั้ง 3 ชนิด แต่อย่างใด  แต่เป็นการให้ข้อเท็จจริงตามหลักวิชาการเท่านั้น การตัดสินใจขั้นสุดท้ายเป็นอำนาจของคณะกรรมการที่ระบุไว้ชัดเจนตามกฎหมาย

“การยกเลิกการใช้สารเคมีทางการเกษตรจำเป็นต้องมีข้อมูลและเหตุผลประกอบการยกเลิกที่ชัดเจนและเพียงพอ เช่น ข้อมูลความเป็นพิษของสารเคมีต่อสุขภาพมนุษย์ สุขภาพสัตว์ รวมถึงการตกค้างในพืชและสิ่งแวดล้อม และมีสารที่ใช้ทดแทน ซึ่งกรมวิชาการเกษตรมีหน้าที่ต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ และขอเน้นย้ำว่าที่ผ่านมา ได้ทำหน้าที่ดีที่สุดแล้วตามขอบเขตอำนาจหน้าที่ที่ระบุไว้ในกฎหมายตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ซึ่งให้อำนาจหน้าที่กรมวิชาการเกษตร พิจารณาขึ้นทะเบียนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศกระทรวงเกษตรฯ และพิจารณาการขออนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง  โดยกรมวิชาการเกษตร พร้อมที่จะปฏิบัติตามมติของคณะกรรมการที่มีอำนาจที่ระบุไว้ชัดเจนตามกฎหมายทุกประการ” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว

จาก https://www.naewna.com วันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2562

5ข้อดีคำนวณราคาน้ำตาลในประเทศแบบใหม่

วงการน้ำตาลฟันธงมี 5 ข้อดี ที่เกิดจากการคำนวณราคาน้ำตาลในประเทศแบบ "Cost Plus"ทุกโรงงานต้องขายในราคาที่กอน.กำหนด

 แนวทางการกำหนดราคาน้ำตาลทรายเพื่อใช้บริโภคในราชอาณาจักรและร่างประกาศคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เรื่องหลักเกณฑ์ และวิธีการในการกำหนดราคาจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักร พ.ศ.....ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบไปเมื่อ 1 ตุลาคม 2562  โดยเห็นชอบแนวทางการกำหนดราคาน้ำตาลทรายเพื่อใช้บริโภคในราชอาณาจักรของคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ

 รวมทั้งเห็นชอบในหลักการร่างประกาศคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เรื่อง หลักเกณฑ์ และวิธีการในการกำหนดราคาจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักร พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วนแล้วดำเนินการต่อไปได้

แหล่งข่าวจากวงการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลกล่าวว่า แนวทางในการจัดการราคาน้ำตาลในประเทศ เรียกว่า "Cost Plus" ซึ่งจะทำให้เสถียรภาพของอ้อยและน้ำตาล เกิดความมั่นคงมากขึ้น รวมทั้งมีสมมติฐานและเงื่อนไขหลายอย่าง แตกต่างจากปีที่ผ่านมาที่จากเดิมใช้วิธีสำรวจราคาน้ำตาลในประเทศ โดยมีราคาต่างประเทศอ้างอิง แต่การคำนวนราคาน้ำตาลภายในประเทศของใหม่นี้ในแบบ Cost Plus นั้น จะต้องมาดูต้นทุนชาวไร่ ต้นทุนโรงงานน้ำตาล ต้นทุนค่าขนส่ง รวมทั้งต้นทุนค่าบริหารจัดการที่ต้องนำมาเข้าสูตร Cost Plus ก็จะได้ราคาตามที่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.)กำหนด โดยจะแปรผันตามต้นทุนของแต่ละฝ่าย โดยนำราคาที่กอน.กำหนดมาเป็นราคาที่ใช้ในการคำนวนราคาอ้อยและราคาน้ำตาลที่จำหน่ายในประเทศ

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่าการคำนวนราคาน้ำตาลในประเทศแบบ"Cost Plus" นั้น จะมีข้อดีหลักๆ 5 ด้านด้วยกันใล่ตั้งแต่ 1.โรงงานน้ำตาลจะไม่เกิดการแข่งขัน เพราะทุกโรงงานจะต้องขายในราคาที่กอน.กำหนดไว้ 2.ที่ผ่านมาไม่ทราบข้อเท็จจริงว่าแต่ละโรงงานน้ำตาลขายเท่าไหร่ ต่อไปนี้ก็จะอยู่ที่ว่าค่ายไหนขายน้ำตาลในราคาเท่าไหร่ 3. ชาวไร่จะมีความมั่นคงและมีความมั่นใจในราคาที่ได้รับ 4.ผู้บริโภคได้ประโยชน์ในแง่ความมั่นคงด้านราคา 5.โรงงานน้ำตาลมีการผลิตที่คุ้มต่อต้นทุน 

“ปัจจุบันราคาขายน้ำตาลทรายขาวหน้าโรงงานอยู่ที่ 17.25 บาทต่อกิโลกรัม ราคาน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์หน้าโรงงานอยู่ที่ 18.25 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนราคาขายปลีกในตลาดมีตั้งแต่ 21-22 บาทต่อกิโลกรัม”

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2562

ภัยแล้งฉุดผลผลิตอ้อยปีนี้เหลือ 111.5 ล้านตัน

กอน.คาดผลผลิตอ้อยปีนี้เหลือ 111.5 ล้านตัน จากปีที่ผ่านมาสูงถึง 130.97 ล้านตัน เนื่องจากภัยแล้งและราคาไม่จูงใจ จึงหันไปปลูกพืชชนิดอื่นแทนประมาณ  2 ล้านไร่

นายสมพล โนดไธสง รองเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เปิดเผยผลการประเมินผลผลิตอ้อยล่าสุดสำหรับฤดูกาลผลิตปี 2562/2563 ว่า ผลผลิตอ้อยจะอยู่ที่ 111.5 ล้านตันอ้อย ลดลงจากปีที่ผ่านมา หรือฤดูกาลผลิตปี 2561/2562 ที่มีผลผลิตอ้อยรวม  130.97 ล้านตันอ้อย ส่วนค่าความหวานเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 12.5 ซีซีเอส.

ส่วนสาเหตุที่ผลผลิตอ้อยลดลง เนื่องจากได้รับผลกระทบทั้งจากภัยแล้งและศัตรูพืชรบกวน รวมถึงราคาอ้อยไม่จูงใจส่งผลให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยบางส่วนหันไปปลูกพืชชนิดอื่น ทำให้พื้นที่ปลูกอ้อยภาพรวมทั้งประเทศฤดูกาลผลิต 2562/2563 ลดลงประมาณ 2 ล้านไร่ พื้นที่ปลูกจากเดิมมีประมาณ 11 ล้านไร่ ลดลงเหลือประมาณ 9 ล้านไร่

สำหรับการเปิดหีบอ้อยเพื่อผลิตน้ำตาลในฤดูกาลผลิตปี 2562/2563 จะเริ่มต้นเดือนพฤศจิกายนนี้และจะปิดหีบก่อนเทศกาลสงกรานต์ปี 2563 ซึ่งตามมาตรการลดปัญหาอ้อยไฟไหม้ปีนี้ปริมาณอ้อยเข้าหีบในโรงงานน้ำตาลมีสัดส่วนอ้อยไฟไหม้ลดลงมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 30 ขณะที่อ้อยสดเข้าหีบในโรงงานน้ำตาลจะเพิ่มเป็นร้อยละ 70 ของปริมาณอ้อยที่เข้าหีบแต่ละวัน และปีต่อไปจะเหลืออ้อยไฟไหม้เข้าหีบร้อยละ 20   อ้อยสดเพิ่มเป็นร้อยละ 80 และปีที่ 3 ปีสุดท้ายของมาตรการแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้ สัดส่วนอ้อยไฟไหม้มีเป้าหมายเหลือร้อยละ 0 อ้อยเข้าหีบในโรงงานน้ำตาลทั้งหมดจะเป็นอ้อยสดทำให้ได้อ้อยคุณภาพดีเข้าหีบมากขึ้น

นายสมพล กล่าวว่า ผลการประเมินภาพรวมผลผลิตอ้อยฤดูกาลผลิตปี 2562/2563 จะเสนอให้ กอน.พิจารณา เพื่อกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นต่อไป  คาดว่าจะมีการประชุมภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ ส่วนราคาอ้อยจะเป็นเท่าใดนั้น ยังมีปัจจัยราคาน้ำตาลตลาดโลกและค่าเงินบาทเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย หากเงินบาทแข็งค่ามากขึ้นขณะที่ราคาน้ำตาลตลาดโลกไม่ดีจะส่งผลต่อการคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นได้.

จาก https://tna.mcot.net   วันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2562

พลังงานดัน 4 มาตรการ ลด PM 2.5

กระทรวงพลังงาน อัด 4 แคมเปญลดฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ประกาศแผนกระตุ้นการใช้ดีเซล บี10 สิ้นเดือน ต.ค.นี้ พร้อมรณรงค์ใช้แก๊สโซฮอล์ ช่วยพยุงราคาอ้อยและมันสำปะหลัง เร่งคลอดโมเดลโรงไฟฟ้าชุมน ลดการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ดันแพคเก็จส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าทั้งระบบสิ้นปีนี้ หวังรักษาฐานผลิตรถและฮับแบตเตอรี่อาเซียน

 นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) กระทรวงพลังงานมีบทบาทสำคัญที่จะดำเนินงานใน 4 เรื่องได้แก่  การเร่งส่งเสริมใช้น้ำมันไบโอดีเซล โดยปลายเดือนตุลาคมนี้ จะออกแคมเปญกระตุ้นการใช้น้ำมันดีเซล บี10 ที่จะบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2563 ให้เป็นน้ำมันดีเซลพื้นฐานใช้สำหรับรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซลทั่วไป  ซึ่งภายในเดือนมีนาคม 2563 ยืนยันว่าจะมีสถานีบริการน้ำมันดีเซลบี 10 จำหน่ายครบทุกแห่ง

 ทั้งนี้ มีเป้าหมายให้มียอดการใช้ ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2563 อยู่ที่ 57 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งจะช่วยดูดซับสต็อกน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) แก้ไขปัญหาราคาผลผลิตปาล์มตกต่ำ และลดการเกิด PM 2.5 จากกระบวนการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ได้ด้วย

 ส่วนการส่งเสริมน้ำมันดีเซล บี20 ยังเป็นทางเลือกสำหรับรถบรรทุกและรถโดยสารขนาดใหญ่ต่อไป แม้ว่าจะปรับลดอัตราการชดเชยลงเหลือถูกกว่า บี 7 อยู่ที่ 3 บาทต่อลิตรก็ตาม  ซึ่งการส่งเสริมดีเซลบี 10 ก่อน เนื่องจากปัจจุบันมีรถยนต์ที่จะเติมบี 10 ได้ถึง 50% ของรถเครื่องยนต์ดีเซล และรถยนต์ที่ใช้ดีเซลบี 7 สามารถขยับขึ้นไปใช้ดีเซลบี 10 ได้  ขณะที่รถยนต์ที่ใช้ดีเซลบี 20 มีจำนวนน้อยกว่ามาก  ดังนั้น การส่งเสริมดีเซลบี 10 จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายดูดซับน้ำมันปาล์มดิบได้เร็วกว่ามาก

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการช่วยพยุงราคาพืชผลทางการเกษตร เช่น อ้อย และมันสำปะหลัง และยังช่วยลดปัญหา PM 2.5 ด้วย กระทรวงพลังงาน จะออกแคมเปญกระตุ้นการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ ที่นำเอาเอทานอลมาเป็นส่วนผสม โดยขณะนี้ได้มอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงาน จัดทำรายละเอียดในการส่งเสริมการใช้น้ำมันในกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอล์ ที่จะลดหัวจ่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล์บางชนิดลง เพื่อไปส่งเสริมน้ำมันแก๊สโซฮอล์ที่มียอดการใช้ที่มากแทน และเป็นการลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมันด้วย

อีกทั้ง จะเร่งส่งเสริมโครงการ 1 ชุมชน 1 โรงไฟฟ้า ผ่านการจัดตั้งโรงไฟฟ้าชุมชน ที่จะเป็นการนำเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ฝางข้าว ซังข้าวโพด ที่มีการเผาทิ้งในบางจังหวัดจนเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิด PM 2.5  นำเข้ามาป้อนเป็นเชื้อเพลิงให้กับโรงไฟฟ้า เป็นการขยายผลการลดปัญหา PM 2.5 ที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ ซึ่งรูปแบบโรงไฟฟ้าชุมชนนั้น คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือนตุลาคมนี้

รวมทั้งการเร่งส่งเสริมอุตสาหกรรมผลิตยานยนต์ไฟฟ้าหรืออีวี ทั้งระบบ เพื่อช่วยปัญหามลพิษในเมืองหลวงและเมืองหลัก ซึ่งจะเป็นการส่งสัญญาณให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้มีการเตรียมความพร้อม  หลังจากพบว่า การใช้รถยนต์ไฮบริด และมอเตอร์ไฟฟ้า จากทั่วโลกเติบโตอย่างมีนัยสำคัญราว 20% ต่อปี  ขณะที่อินโดนีเซียและเวียดนาม ได้มีประกาศมาตรการส่งเสริมรถยนต์อีซี อย่างจริงจังแล้ว ดังนั้นประเทศไทยควรที่จะมีเป้าหมายชัดเจนในการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ ในภูมิภาค

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงาน อยู่ระหว่างหารือร่วมกับ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง ภาคเอกชนและค่ายรถยนต์ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อระดมข้อมูลต่างๆจัดทำเป็นแพคเกจส่งเสริมไปสู่การเปลี่ยนไปสู่ยานยนต์สมัยใหม่ใน 3 เทคโนโลยี ได้แก่ ปลั๊กอินไฮบริด รถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่ 100% หรือบีอีซี และรถยนต์ที่ใช้ Fuel Cell หรือใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจน

“ตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่(ฮับ)ของอาเซียน ซึ่งแคมเปญที่ออกมาจะต้องมีแรงจูงใจให้กับผู้บริโภคที่จะเข้าถึงการซื้อรถยนต์ไฟฟ้า แรงจูงใจให้กับผู้ประกอบการผลิตรถ และต้องมีความพร้อมในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรองรับ เช่น สถานีชาร์จไฟฟ้า ธุรกิจเช่าแบตเตอรี่ ซึ่งจะเห็นแพคเกจส่งเสริมภายในสิ้นปีนี้”

ส่วนแรงจูงใจที่จะส่งเสริมให้มีการผลิตหรือใช้รถยนต์อีวีนั้น  จะต้องมีมาตรการทางด้านภาษี และสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนจากบีโอไอ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย คาดว่าการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้าจะใช้เวลาใน 5 ปี (2563-2567) และให้สอดคล้องกับปรับปรุงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า ปี2561-2580 เพื่อเตรียมความพร้อมด้านกำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศที่จะมารองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในอนาคตด้วย

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2562

สยามคูโบต้าหนุน 6 สตาร์ตอัพเกษตร

สยามคูโบต้าผนึก 3 หน่วยงานรัฐ-เอกชน หนุน 6 สตาร์ตอัพด้านนวัตกรรมการเกษตร พัฒนาแผนธุรกิจ ขยายตลาดและแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรได้จริง

นายสมศักดิ์ มาอุทธรณ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า จากนโยบายและวิสัยทัศน์ของสยามคูโบต้าในการเป็นผู้นำนวัตกรรมเกษตรแห่งอนาคต และสนับสนุนนโยบายเกษตร 4.0 ของรัฐบาล มีเป้าหมายในการยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทยให้ดีขึ้นและสามารถทำการเกษตรเพื่อสร้างอาหารให้กับโลกได้อย่างยั่งยืน สยามคูโบต้าได้มีการพัฒนานวัตกรรมการเกษตรเพื่ออนาคตให้เป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ โดรนทางการเกษตร ระบบบริหารจัดการฟาร์มผ่านแอพพลิเคชั่น  รวมไปถึงระบบ Telematics ตลอดจนการพัฒนาองค์รู้การทำเกษตรครบวงจร หรือ KUBOTA (Agri) Solutions (KAS) เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในระยะยาว ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ อีกทั้งยังเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับเกษตรกรรมของประเทศ

เพื่อตอกย้ำการเป็นผู้นำด้านเครื่องจักรกลการเกษตรและนวัตกรรมการเกษตรอย่างแท้จริง สยามคูโบต้า ได้ร่วมมือกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA บริษัท เนสท์ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด และศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน จัดดำเนินงานโครงการบ่มเพาะสตาร์ตอัพด้านนวัตกรรมการเกษตรระดับนานาชาติ หรือ AGrowth ครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการเพื่อพัฒนาสตาร์ตอัพด้านการเกษตร หรือ AgTech Startup ให้มีความพร้อมและศักยภาพในเชิงพาณิชย์ สามารถพัฒนาแผนธุรกิจที่ตอบสนองความต้องการของตลาดได้อย่างเป็นรูปธรรมและเป็นไปได้จริง และสามารถขยายผลไปสู่ตลาดระดับสากลได้ และจะร่วมกันพัฒนา 6 สตาร์ตอัพจาก 4 ประเทศ ได้แก่ Evergrow, GetzTrac จากประเทศไทย Agrisource Data, Pola Drone  จากประเทศมาเลเซีย Cropin จากอินเดีย และ Hello Tractor จากไนจีเรีย ให้มีการเติบโตทั้งในด้านช่องทางการขยายธุรกิจ การตลาด และนำโซลูชั่นที่สตาร์ตอัพแต่ละรายมีอยู่ มาทดลองและแก้ปัญหาจริงให้กับเกษตรกรที่อยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ ในประเทศไทยให้ได้มากยิ่งขึ้น

สำหรับโครงการ “AGrowth” สยามคูโบต้าได้ร่วมสนับสนุนเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากสตาร์ตอัพที่มีความเชี่ยวชาญจากทั่วโลก โดยได้มีการคัดเลือกสตาร์ตอัพอย่างเข้มข้นจากผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตร จนเหลือเพียง 6 รายจากผู้เข้าร่วมกว่า 100 ราย จากทุกทวีป ซึ่งได้คัดเลือกสตาร์ตอัพที่มีความเชี่ยวชาญจากในแต่ละด้าน และมีประสบการณ์การนำสินค้ามาใช้ในตลาดได้จริง เพื่อทำ Proof of Concepts (PoC) ภายใต้แนวคิด 3 หลัก คือ 1.จะทำอย่างไรเพื่อที่จะสร้างรายได้สูงสุดให้กับเกษตรกรในพื้นที่การเกษตรที่จำกัด

2.จะทำอย่างไรเพื่อที่จะเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุดในการจัดการเครื่องจักรในกลุ่มเกษตรกร และ 3.จะทำอย่างไรเพื่อที่จะเพิ่มความสามารถในการจัดการผลผลิตและความสามารถด้านการตลาดในกลุ่มเกษตรกรไทย เพื่อทดลองหาโซลูชั่นที่สามารถใช้งานได้จริงและเหมาะสมกับประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน ตลอดจนสามารถต่อยอดได้ในการขยายตลาดไปสู่เอเซียนในอนาคต ตอบโจทย์ที่ทางสยามคูโบต้าคาดหวังว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาของเกษตรกรไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2562

เงินบาทเปิดตลาดแข็งค่า

เงินดอลลาร์เปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 30.48 บาท แข็งค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ 30.47 บาทต่อดอลลาร์

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ ตลาดเงินตลาดทุนธนาคารกรุงไทยระบุว่าในคืนที่ผ่านมา ตลาดเงินซื้อขายในกรอบแคบ เนื่องจากหุ้นทั่วโลกยังคงผันผวน ขณะที่นักลงทุน ก็ยังไม่สามารถตีความการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่อาจมีข้อตกลงบางส่วนได้

ฝั่งสินทรัพย์ปลอดภัยพลิกกลับมาเป็นดอลลาร์ในระยะสั้น เพราะบอนด์ยีลด์สหรัฐปรับตัวขึ้น ล่าสุดยีลด์อายุ 10 ปีกลับขึ้นมาที่ระดับ 1.56% ส่วนราคาทองคำ และค่าเงินเยนก็ปรับตัวลง 0.8% และ 0.3%

นอกจากนี้ในฝั่งยุโรป Brexit ที่ไม่มีทิศทางการเจรจาที่ชัดเจน ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ทำให้ยูโรและปอนด์อ่อนค่า  ขณะที่ค่าเงินตุรกีรีลาก็ปรับตัวลง 2.6% ทันทีที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ขู่ที่จะทำลายเศรษฐกิจ ถ้าตุรกีใช้กำลังทหารกับกบฏชาวเคิร์ดในซีเรีย

ในส่วนของเงินบาท ระยะสั้นยังมีความเคลื่อนไหวไม่มากนัก แนวรับหลัก อยู่ที่ระดับ 30.40 ถึง 30.45 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ผู้ส่งออกก็รอขายเงินดอลลาร์ที่ระดับเหนือ 30.50 บาทต่อดอลลาร์ ในวันนี้ต้องจับตาทิศทางเงินทุนเคลื่อนย้ายที่อาจหนีจากฝั่ง EM ยุโรปเข้ามาเอเชีย ซึ่งอาจส่งผลให้เงินบาทแข็งค่า ขณะที่ช่วงที่เหลือของสัปดาห์ ก็ต้องติดตามทิศทางทองคำที่ปรับตัวลงซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ทำให้เงินบาทอ่อนค่าตามได้เช่นกัน

กรอบค่าเงินบาทวันนี้ 30.45 ถึง 30.55 บาทต่อดอลลาร์

จาก https://www.thansettakij.com   วันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2562

ยก‘อีอีซี’โมเดล สร้างสมดุลเศรษฐกิจ

 “อุตตม”เร่งขับเคลื่อน “อีอีซี” ต้นแบบการสร้างสมดุลเศรษฐกิจ เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สร้างความเชื่อมั่นลงทุน “สาธิต” ยกระดับสาธารณสุข 3 จังหวัด รองรับแรงงาน นักท่องเที่ยวในอนาคต หวังเพิ่มความเชี่ยวชาญแพทย์เฉพาะทาง

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวในงานสัมมนา “EEC NEXT : มหานครการบิน “ฮับ” โลจิสติกส์แห่งอาเซียน” จัดโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ว่า ปัจจุบันรัฐบาลอยู่ระหว่างการผลักดันโครงสร้างพื้นฐาน โดยโครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 ได้มีการลงนามสัญญาร่วมลงทุนแล้วเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา และบางโครงการเตรียมที่จะมีการลงนาม โดยจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ชี้ให้เห็นว่าไทยมียุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศ

“วันนี้เป็นช่วงรอยต่อสำคัญของอีอีซี ซึ่งต้องการเห็นการเติบโตที่ยั่งยืนและดูแลคนไทยด้วยกันอย่างมีประสิทธิภาพ ถือเป็นโจทย์สำคัญของประเทศไทยที่จะต้องให้สำเร็จทุกส่วน” นายอุตตม กล่าว

นอกจากนี้ อีอีซีจะต้องขับเคลื่อนในทุกมิติและเป็นต้นแบบสำคัญให้กับพื้นที่อื่นทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาบุคลากร ที่ผ่านมามีการสร้างบุคลากรระดับอาชีวศึกษา รวมถึงการสร้างบุคลากรเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกร

ปัจจุบันอีอีซีเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกและเหมาะสมในการพัฒนาในหลายด้าน เช่น การบริการสุขภาพ แต่ต้องเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจให้สมดุลหลังจากเศรษฐกิจไทยพึ่งการส่งออกมีสัดส่วนถึง 70% ในขณะที่อีสเทิร์น ซีบอร์ด มีการพัฒนามามาก แต่เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ทำให้ต้องมีการปรับ การปรับต้องพึ่งพาการลงทุนจากในและต่างประเทศ โดยต้องทำให้เป็นการลงทุนเพื่ออนาคต

“วันนี้เมื่ออีอีซีเกิดขึ้นจะไม่ใช่แค่การต่อยอดอีสเทิร์นซีบอร์ดที่มีการพัฒนาในช่วง 35 ปีที่ผ่านมา แต่จะเป็นตัวขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงภาคตะวันออกและประเทศไทย เพื่อประโยชน์ของคนไทย” นายอุตตม กล่าว

นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในหัวข้อ “เปิดแผนภาครัฐ...เตรียมพร้อมรับมือเมืองขยาย” ว่า อีอีซีจะเป็นธงนำของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยเฉพาะพื้นที่ จ.ระยอง ที่แบกรับการเป็นธงนำทางเศรษฐกิจมาตั้งแต่ยุคอีสเทิร์นซีบอร์ด ดังนั้นการพัฒนาอีอีซีจะต้องควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านอื่นทั้งสาธารณสุข การเกษตรและการท่องเที่ยว

โดยเฉพาะการพัฒนาด้านสาธารณสุขจะช่วยสร้างสมดุลของการพัฒนาอีอีซีได้ เนื่องจากการพัฒนาอีอีซีจะทำให้มีทั้งนักท่องเที่ยวและแรงงานจำนวนมากเข้ามาในอีอีซี จากปัจจุบันที่มีประชากร 2.8 ล้านคน แต่อีก 20 ปีข้างหน้าจะมีประชากร 9.8 ล้านคน

ปัจจุบันโรงพยาบาลใน 3 จังหวัดมี 55 แห่ง 7,471 เตียงเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาด้านสาธารณสุขในพื้นที่อีอีซีจะต้องพัฒนาให้สถานพยาบาลในจังหวัดชลบุรี ระยองและฉะเชิงเทราอยู่ระดับทุติยภูมิที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านและไม่ต้องส่งต่อผู้ป่วยไปที่กรุงเทพฯ โดยการดำเนินงานผ่านอีอีซีจะเสนอให้มีการจ้างแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางมาประจำในโรงพยาบาลในอีอีซี โดยอาจจ้างในอัตราสูง แต่ไม่ได้รับสวัสดิการเท่ากับบุคลากรอื่น

นายยุทธพล องอาจอิทธิชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง กล่าวว่า การพัฒนาอีอีซีในจังหวัดระยองมีการผลักดันโครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เป็นกลไกสำคัญในการปลุกเศรษฐกิจระยองให้ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น รวมถึงจังหวัดใกล้เคียงด้วย โดยภาครัฐต้องการให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจดังกล่าวครอบคลุมภาคการเกษตรและภาคการท่องเที่ยวด้วย เพื่อให้ทั้ง 2 ส่วนดังกล่าว เติบโตไปพร้อมกับภาคอุตสาหกรรม ดังนั้นการพัฒนาทุกส่วนไปพร้อมกันจึงเป็นเรื่องสำคัญ

จาก https://www.thansettakij.com   วันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2562

จี้ผ่าตัดใหญ่ประเทศไทย ลดเสี่ยงสงครามการค้า

วอร์รูมพาณิชย์ ภาครัฐ-เอกชน เห็นพ้อง ปรับพอร์ตประเทศไทยลดความเสี่ยงสงครามการค้า-เศรษฐกิจโลกถอดถอย สอท.ประเมิน หากสถานการณ์ยืดเยื้อคาดส่งผลส่งออกไทยปี63 ขยายตัวติดลบ3% ขณะที่ปีนี้คาดติดลบ 2-3%

สงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ ภาคเอกชนประเมินว่าเป็นปัจจัยฉุดเศรษฐกิจทั่วโลกกระทบการส่งออกไทย จากคำสั่งซื้อลดลง บริษัทลดเวลาทำงานและลดคนเพิ่มขึ้นเพื่อลดต้นทุน พร้อมแนะรัฐบาลปรับโครงสร้างเน้นการบริโภคในประเทศลดการพึ่งพาการส่งออก ขณะที่กระทรวงพาณิชย์จะนำข้อสรุปเสนอคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์(กรอ.พาณิชย์)พิจารณาต่อไป

นายเกรียงไกร  เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(สอท.) ระบุว่า ปัญหาสงครามการค้าขณะนี้ ส่งผลให้ให้การส่งออกไทยชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 8 เดือนแรกติดลบ 2.2%  ซึ่งภาคเอกชนประเมินว่าสถานการณ์ในช่วงที่เหลือของปีสถานการณ์ยังน่าเป็นห่วงเพราะแนวโน้มยังคงยืดเยื้อถึงปีหน้า อาจทำให้การส่งออกปีนี้ติดลบ 2-3 %และปีหน้าอาจจะติดลบ3%ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้ ทั้งนี้จากการส่งออกที่ชะลอตัว ทำให้โรงงานหลายแห่งมีการปรับลดเวลาการจ้างงานและลดคนงานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าที่ส่งไปจีน เช่น แผงวงจรไฟฟ้า ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ซึ่งเป็นการปรับตัวของโรงงานเมื่อคำสั่งซื้อลดลง

ดังนั้นเห็นว่าไทยควรปรับโครงสร้างลดการพึ่งพาการส่งออก จากปัจจุบันที่พึ่งพาการส่งออก 70%  และบริโภคในประเทศ 30%  ให้เป็น 60:40 และเพิ่มเป็น 50:50 ในอนาคต เพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบจากปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ ทั้งปัญหาสงครามการค้า ,Brexit,การเมืองในฮ่องกง  ซึ่งรัฐควรสนับสนุนอุตสาหกรรม หรือสินค้าที่ผลิตในประเทศ  และรณรณงค์ให้ประชาชนใช้สินค้าและบริการในประเทศ เพิ่มขึ้นซึ่งจะช่วยสนับสนุนและทดแทนการส่งออกได้

สอดคล้องกับนายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ระบุว่า ปัญหาสงครามการค้าและเงินบาทที่แข็งค่าส่งผลให้การส่งออกชะลอตัว และกระทบถึงโรงงานบางแห่งที่จะต้องลดต้นทุน เพราะคำสั่งซื้อลด จึงทำให้โรงงานบางแห่งมีการลดคนงาน  ซึ่งทางออกในการรับมือปัญหาสงครามการค้า ผู้ประกอบการต้องปรับตัว เช่น การนำเข้าวัตถุดิบมาเพื่อส่งออก การนำมาเทคโนโลยีมาช่วยควบคู่แรงงานฝีมือ ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นเวลานี้กระทบทั่วโลก แต่ไทยถูกซ้ำเติมจากเงินบาทที่แข็งค่า ทำให้แข่งขันยาก โดยภาคเอกชนคาดว่าการส่งออกปีนี้คาดว่าจะติดลบ

ด้านนายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร  ปลัดกระทรวงพาณิชย์  กล่าวภายหลังการประชุมคณะทำงานติดตามสถานการณ์ผลกระทบที่มีผลต่อค้าโลกและการส่งออกไทยจากปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน  ร่วมกับภาคเอกชน เช่น หอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย เพื่อประเมินผลกระทบว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นตรงกันว่า แนวทางแก้ปัญหาการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัยขณะนี้ จะต้องมีปรับโครงสร้างประเทศไทย(ปรับพอร์ต)เน้นการบริโภคในประเทศมากขึ้น เพื่อเพิ่มจีดีพี การนำเข้าวัตถุดิบราคาถูกมาผลิตสินค้าสำเร็จเพื่อส่งออก ซึ่งจะต้องปรับกฎระเบียบที่เอื้ออำนวย รวมทั้งเพิ่มมูลค่าให้สินค้าที่ผลิตในประเทศไทย   ขณะเดียวกันยังต้องเร่งเจรจาข้อตกลงต่างๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ทั้ง เช่น FTA ไทย-อียู การเจรจา  RCEP รวมทั้งการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ  นอกจากนี้ยังต้องเฝ้าระวังเรื่องสินค้าที่อาจไหลทะลักเข้าไทยหรือใช้เป็นทางผ่านไปประเทศที่สาม รวมทั้งปัญหาค่าเงินบาท โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยืนยันว่าจะไม่เข้าไปแทรกแซง

จาก https://www.thansettakij.com   วันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2562

ลั่นโลก! 1 ม.ค.63 ไทยปลอดสารพิษ

“มนัญญา” เปิดเวทีดึงรัฐ ผู้นำเข้า เกษตรกร และผู้บริโภค ถกความคิดเห็นยกเลิก 3 สารอันตราย เดินหน้าแบนสำเร็จก่อนสิ้นปี พร้อมมอบของขวัญปีใหม่ 2563 ลั่น 1 ม.ค.แผ่นดินไทยปลอดสารพิษ ​

​วันนี้ (7 ต.ค.62) นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะทำงานเพื่อพิจารณาความคิดเห็นของ ส่วนรัฐ ผู้นำเข้า เกษตรกร และผู้บริโภค ต่อการยกเลิกคลอร์ไพริฟอส พาราควอต และไกลโฟเซต ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาและรวบรวมความคิดเห็นเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันทั้ง 4 ส่วน

ประกอบด้วย รัฐ เกษตรกร ผู้บริโภค และผู้นำเข้า ในการยกเลิกคลอร์ไพริฟอส พาราควอต และไกลโฟเซต ซึ่งเป็นไปตามบัญชานายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) กรณีการแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ยกเลิกการใช้คลอร์ไพริฟอส พาราควอต และไกลโฟเซต โดยให้เปลี่ยนจากสารวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 เป็นสารวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 และให้ยกเลิกใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไป เนื่องจากมีข้อมูลในเชิงประจักษ์ว่าสารทั้ง 3 ชนิดดังกล่าวได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน

​“เพื่อเป็นการมอบของขวัญปีใหม่ให้กับคนไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงมุ่งหวังให้วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นวันที่ประเทศไทยปลอดสารพิษ คนไทยจะได้สูดอากาศบริสุทธิ์ มีพืชพันธุ์ธัญญาหารบริโภคอย่างปลอดภัย ดังนั้น ที่ประชุมจึงมีมติร่วมกันว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 จะต้องไม่มีการใช้ 3 สารอันตรายดังกล่าวในประเทศไทยอีกต่อไป โดยร้านค้าที่มีสารดังกล่าวจำหน่าย จะต้องส่งคืนให้แก่บริษัททั้งหมด

สำหรับผลสรุปจากการพิจารณาความคิดเห็นของทั้ง 4 ฝ่าย ในวันนี้ จะรวบรวมนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อทราบต่อไป รวมทั้งเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย วันที่ 27 ตุลาคม 2562 นี้ โดยผู้แทนของกระทรวงเกษตรฯ ที่จะเข้าไปเป็นคณะกรรมการวัตถุอันตรายได้แสดงจุดยืนที่จะขอให้มีการลงมติโหวตอย่างเปิดเผยเพื่อให้เกิดความโปร่งใสด้วย” นางสาวมนัญญา กล่าว

จาก https://www.thansettakij.com   วันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2562

สอน.อุ้มชาวไร่อ้อย ต่อยอดผลิตสินค้าชีวภาพ

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2562 ณ สมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น  ว่า ที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรมได้รับทราบและเข้าใจปัญหาของชาวไร่อ้อยเป็นอย่างดี จึงได้ดำเนินโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต จำนวน 50 บาทต่อตันอ้อย รายละไม่เกิน 5,000 ตัน ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2561 ในวงเงินงบประมาณ 6,500 ล้านบาท

ทั้งนี้ได้รับรายงานจากเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ว่าได้จ่ายเงินงวดที่ 1 ไปแล้ว จำนวน 149,150 ราย วงเงิน 3,203 ล้านบาท  และงวดที่ 2 ทางสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้สั่งจ่ายเช็คให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โอนเข้าบัญชีชาวไร่อ้อยอีกจำนวน 160,281 ราย วงเงิน 3,293 ล้านบาทเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา สำหรับมาตรการช่วยเหลือในปี 2563 อยู่ระหว่างการพิจารณาหาแนวทางช่วยเหลือ อย่างไรก็ตาม อาจจะพิจารณาในหลักการเดิมที่เคยให้ความช่วยเหลือในปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ได้ดำเนินนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า เศรษฐกิจฐานชีวภาพ หรือ Bio Economy ขยายต่อห่วงโซ่มูลค่า (Value Chain) ของสินค้าเกษตร เพื่อแก้ปัญหาปริมาณอ้อยและน้ำตาลล้นตลาดและราคาตกต่ำ โดยการต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง เช่น ผลิตภัณฑ์กลุ่มพลาสติกชีวภาพ (Bioplastic) สารให้ความหวานที่มีแคลอรี่ต่ำอย่างสารซอร์บิทอล (Sorbitol) และสารไอโซมอล์ท (Isomalt) เป็นต้น รวมถึงการวิจัยจุลินทรีย์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมการเกษตรให้มีมูลค่าสูงขึ้น และเมื่อใช้ร่วมกับเทคโนโลยีด้านอื่นๆ จะทำให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ที่ใช้พืชเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตอย่างอุตสาหกรรมยา อาหารเสริม และเครื่องสำอาง

ทั้งนี้ยังมอบนโยบายให้สอน. มุ่งเน้นส่งเสริมการสร้างทายาทชาวไร่อ้อยรุ่นใหม่ ต่อยอดการทำไร่อ้อย ให้ไปสู่สมาร์ทฟาร์ม หรือไร่อ้อย 4.0 ด้วย

จาก https://www.naewna.com  วันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2562

"สุริยะ" พร้อมแถลงจุดยืนร่วม 3 รมต.แบนสารพิษ

รมว.อุตสาหกรรมตอบรับคำเชิญเฉลิมชัย  ยันพร้อมแถลงจุดยืนร่วมการยกเลิกใช้สารเคมีวัตถุอันตรายทางการเกษตร  ลั่นพี่น้องเกษตรกรต้องอยู่ได้ด้วย

ตามที่มีรายงานข่าวว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงถึงจุดยืนการยกเลิกการใช้สารเคมีวัตถุอันตรายทางการเกษตร 3 สาร พาราควอต ไกลโฟเซส คอร์ไพริฟอส และจะขอเชิญนายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ทุกท่านพร้อมแบน 3 สาร มาแถลงข่าวร่วมกันนั้น

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตนขอตอบรับและยินดีอย่างยิ่ง โดยพร้อมทุกที่ ทุกเวลาขอให้นัดมา เนื่องจากโดยส่วนตัวต้องการหาทางออกเรื่องนี้อยู่แล้ว เพราะมีผลกระทบด้านสุขภาพและความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน แต่ก็ต้องทำให้พี่น้องเกษตรกรอยู่ได้ด้วย ซึ่งตลอดเวลาผมก็ได้ทำงานร่วมกันกับทุกฝ่ายอยู่แล้ว

                “ตนยินดีที่จะรับนัด เพื่อแถลงจุดยืนพร้อมกัน ขอให้บอกมา ตนพร้อมทุกที่ทุกเวลา โดยยึดถือประโยชน์และความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนเป็นหลัก และต้องมีทางออกที่ทุกคนต้องอยู่ร่วมกันได้”

จาก https://www.thansettakij.com   วันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2562

บราซิลปลูกอ้อยจีเอ็มโอ

ที่ผ่านมาได้มีการสังเคราะห์ Cry (Bt) แบคทีเรียในดิน เพื่อให้ผลิตโปรตีนที่มีฤทธิ์กำจัดแมลงศัตรูพืช แล้วนำมาใส่ในพืช

ทำให้พืชเศรษฐกิจหลายชนิด ข้าวโพด ถั่วเหลือง และฝ้าย ต้านทานต่อหนอนศัตรูพืชในกลุ่ม Lepidopteran ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมหาศาลทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

แต่อ้อยยังไม่มีการวิจัยชนิดเดียวกันนี้ ทำให้หนอนเจาะลำต้นอ้อย Diatraeasaccharalis ยังคงเป็นหนอนศัตรูอ้อยตัวฉกาจในประเทศบราซิล สร้างความสูญเสียคิดเป็นมูลค่ามากกว่าปีละ 1 พันล้านดอลลาร์

เหตุนี้เองช่วงไม่กี่ปีก่อนได้มีการวิจัยและพัฒนาพันธุ์อ้อยดัดแปลงพันธุกรรม จนได้อ้อยพันธุ์ CTC20BT ที่มีโปรตีน Cry1Ab ที่มีความต้านทานต่อหนอนเจาะลำต้นอ้อย

ถือเป็นอ้อยดัดแปลงพันธุกรรมพันธุ์แรกของโลกที่ได้รับอนุญาตให้ปลูกเชิงการค้า

และกลางปี 2560 ได้รับอนุญาตให้ปลูกเชิงการค้าได้ จากหน่วยงานด้านความปลอดภัยทางชีวภาพของบราซิล (Brazilian Biosafety Authority) พร้อมกับได้รับการตรวจสอบจากหน่วยงานด้านความปลอดภัยของอาหารแคนาดา (Health Canada) และสำนักงานอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (FDA-US)

ยืนยันว่า อ้อยดัดแปลงพันธุกรรมพันธุ์นี้ มีความปลอดภัยในการบริโภคของมนุษย์

ล่าสุดในการประชุม International Society of Sugarcane Technologist. ณ เมือง Tucuman อาร์เจนตินา เมื่อ 31 สิงหาคม-8 กันยายนที่ผ่านมา มีข่าวว่า บราซิลเตรียมที่จะปลูกอ้อยพันธุ์นี้แล้ว แต่ยังไม่มีรายงานปริมาณหรือพื้นที่ปลูกที่แน่ชัด

ปัจจุบันบราซิลส่งออกน้ำตาลมากเป็นอันดับ 1 ของโลก ในขณะที่ยังไม่ได้ปลูกอ้อยพันธุ์นี้ด้วยซ้ำ แล้วยิ่งมาใช้อ้อยพันธุ์นี้อีก จะส่งผลกระทบต่อชาวไร่อ้อยไทยแค่ไหน... เอ็นจีโอคงไม่มีคำตอบ.

จาก https://www.thairath.co.th วันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2562

ชาวไร่อ้อยได้เงินช่วยเหลืองวดสุดท้ายกว่า 3,200 ล้านบาทแล้ว

สอน.ให้ ธ.ก.ส.โอนเงินช่วยเหลืองวดสุดท้าย 3,293 ล้านบาท เข้าบัญชีชาวไร่อ้อยแล้ว พร้อมเดินหน้าเศรษฐกิจฐานชีวภาพ และสร้างทายาทชาวไร่อ้อยรุ่นใหม่ต่อยอดการทำไร่อ้อยแบบสมาร์ทฟาร์ม 4.0

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2562 สมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ว่า เงินช่วยเหลือชาวไร่อ่อยตามโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต 50 บาทต่อตันอ้อย รายละไม่เกิน 5,000 ตัน งวดที่ 2 ทางสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้สั่งจ่ายเช็คให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) โอนเข้าบัญชีชาวไร่อ้อย 160,281 ราย วงเงิน 3,293 ล้านบาท เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2562 สำหรับมาตรการช่วยเหลือปี 2563 อยู่ระหว่างการพิจารณาหาแนวทางช่วยเหลือ อย่างไรก็ตาม อาจจะพิจารณาหลักการเดิมที่เคยให้ความช่วยเหลือปีที่ผ่านมา

สำหรับโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต 50 บาทต่อตันอ้อย รายละไม่เกิน 5,000 ตัน คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2561 วงเงินงบประมาณ 6,500 ล้านบาท ก่อนหน้านี้จ่ายเงินงวดที่ 1 ไปแล้ว 149,150 ราย วงเงิน 3,203 ล้านบาท

นอกจากนี้ สอน.ยังได้ดำเนินนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานชีวภาพ หรือ Bio Economy ขยายต่อห่วงโซ่มูลค่าของสินค้าเกษตร เพื่อแก้ปัญหาปริมาณอ้อยและน้ำตาลล้นตลาดและราคาตกต่ำ โดยการต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง เช่น ผลิตภัณฑ์กลุ่มพลาสติกชีวภาพ สารให้ความหวานที่มีแคลอรี่ต่ำอย่างสารซอร์บิทอล และสารไอโซมอล์ท เป็นต้น รวมถึงการวิจัยจุลินทรีย์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมการเกษตรให้มีมูลค่าสูงขึ้น และเมื่อใช้ร่วมกับเทคโนโลยีด้านอื่น ๆ จะทำให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ที่ใช้พืชเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตอย่างอุตสาหกรรมยา อาหารเสริม และเครื่องสำอาง

นายกอบชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเป็นอุตสาหกรรมที่สามารถต่อยอดเป็นอุตสาหกรรมไบโอในอนาคต เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงต้องมีการสร้างคนรุ่นใหม่เพื่อรับช่วงสืบทอดอาชีพเกษตรกรชาวไร่อ้อยต่อไป จึงมอบนโยบายให้ สอน.มุ่งเน้นส่งเสริมการสร้างทายาทชาวไร่อ้อยรุ่นใหม่ ต่อยอดการทำไร่อ้อยให้ไปสู่สมาร์ทฟาร์ม หรือไร่อ้อย 4.0 โดยการให้ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการผลิตอ้อยแบบครบวงจร นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ตั้งแต่ขั้นตอนการคัดเลือกพันธุ์ การเตรียมดิน การบริหารจัดการ ไปจนถึงการขนส่งอ้อยเข้าโรงงาน เป็นการปรับเปลี่ยนจากการเกษตรแบบดั้งเดิมสู่การทำเกษตรสมัยใหม่ที่มีการบริหารจัดการเทคโนโลยีและการเกษตรแม่นยำสูง รวมทั้งการใช้วิทยาการ ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี โดยภาครัฐจะให้การสนับสนุนการวิจัยและส่งเสริมพัฒนาต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์กลุ่มเกษตรอาหารและชีวภาพ ทำให้ภาคการเกษตรเกิดความก้าวหน้าและขยายวงกว้างไปสู่ชาวไร่อ้อยรายอื่น ๆ เป็นการสร้างความมั่นคงยั่งยืนให้กับธุรกิจและอาชีพชาวไร่อ้อยตลอดไป.

จาก https://tna.mcot.net  วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2562

กระตุ้นชาวไร่อ้อยต่อยอดแตกไลน์สินค้า สร้างสมาร์ทฟาร์ม 4.0 แตกไลน์สินค้า

กระทรวงอุตสาหกรรมขันน๊อตชาวไร่อ้อย เร่งต่อยอดการทำไร่แบบสมาร์ทฟาร์ม4.0 สร้างมูลค่าเพิ่มสินค้า ปลดล็อคอ้อยล้นตลาดราคาตก

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2562 ณ สมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ว่า ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) มุ่งเน้นส่งเสริมการสร้างทายาทชาวไร่อ้อยรุ่นใหม่ ต่อยอดการทำไร่อ้อย ให้ไปสู่สมาร์ทฟาร์ม หรือไร่อ้อย 4.0 โดยการให้ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการผลิตอ้อยแบบครบวงจร นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ตั้งแต่ขั้นตอนการคัดเลือกพันธุ์ การเตรียมดิน การบริหารจัดการ ไปจนถึงการขนส่งอ้อยเข้าโรงงาน เป็นการปรับเปลี่ยนจากการเกษตรแบบดั้งเดิม (Traditional Farming)สู่การทำเกษตรสมัยใหม่ที่มีการบริหารจัดการเทคโนโลยี (Smart Farming)และการเกษตรแม่นยำสูง (Precision Farming)

ตลอดจนการใช้วิทยาการ ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี โดยภาครัฐจะให้การสนับสนุนการวิจัยและส่งเสริมพัฒนาต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์กลุ่มเกษตรอาหารและชีวภาพ ซึ่งจะทำให้ภาคการเกษตรเกิดความก้าวหน้าและขยายวงกว้างไปสู่ชาวไร่อ้อยรายอื่น ๆ เป็นการสร้างความมั่นคง ยั่งยืนให้กับธุรกิจและอาชีพชาวไร่อ้อยตลอดไป

ทั้งนี้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเป็นอุตสาหกรรมที่สามารถต่อยอดเป็นอุตสาหกรรมไบโอในอนาคต เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงต้องมีการสร้างคนรุ่นใหม่ขึ้นมาเพื่อรับช่วงสืบทอดอาชีพเกษตรกรชาวไร่อ้อยต่อไป

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า เศรษฐกิจฐานชีวภาพ หรือ Bio Economy ขยายต่อห่วงโซ่มูลค่า (Value Chain)ของสินค้าเกษตร เพื่อแก้ปัญหาปริมาณอ้อยและน้ำตาลล้นตลาดและราคาตกต่ำ โดยการต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง เช่น ผลิตภัณฑ์กลุ่มพลาสติกชีวภาพ (Bioplastic)สารให้ความหวานที่มีแคลอรี่ต่ำอย่างสารซอร์บิทอล (Sorbitol)และสารไอโซมอล์ท (Isomalt)เป็นต้น

รวมถึงการวิจัยจุลินทรีย์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมการเกษตรให้มีมูลค่าสูงขึ้น และเมื่อใช้ร่วมกับเทคโนโลยีด้านอื่น ๆ จะทำให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ที่ใช้พืชเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตอย่างอุตสาหกรรมยา อาหารเสริม และเครื่องสำอาง

อย่างไรก็ตามขณะนี้ ได้ดำเนินโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต จำนวน 50 บาทต่อตันอ้อย รายละไม่เกิน 5,000 ตัน ตามที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2561 ในวงเงินงบประมาณ 6,500 ล้านบาท ซึ่งได้รับรายงานจากเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ว่าได้จ่ายเงินงวดที่ 1 ไปแล้ว จำนวน 149,150 ราย วงเงิน 3,203 ล้านบาท และงวดที่ 2 ทางสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้สั่งจ่ายเช็คให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) โอนเข้าบัญชีชาวไร่อ้อยอีกจำนวน 160,281 ราย วงเงิน 3,293 ล้านบาท เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา

สำหรับมาตรการช่วยเหลือในปี 2563 อยู่ระหว่างการพิจารณาหาแนวทางช่วยเหลืออย่างไรก็ตาม อาจจะพิจารณาในหลักการเดิมที่เคยให้ความช่วยเหลือในปีที่ผ่านมา

จาก https://www.posttoday.com วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2562

ก.อุตฯ พบปะชาวไร่อ้อย แย้มจ่อของบฯ ปัจจัยการผลิตช่วยหลังราคาอ้อยตกต่ำ

ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเดินสายพบชาวไร่อ้อย ลั่นพร้อมเร่งหามาตรการช่วยเหลือราคาอ้อยฤดูผลิตปี 62/63 ตกต่ำ แย้มอาจของบประมาณฯ หนุนเช่นฤดูกาลผลิตที่ผ่านมาที่ล่าสุด สอน.ได้สั่งจ่ายเงินที่เหลืองวดสุดท้าย 3,293 ล้านบาทเรียบร้อยแล้ว พร้อมเดินหน้าเศรษฐกิจฐานชีวภาพ และสร้างทายาทชาวไร่อ้อยรุ่นใหม่ต่อยอดการทำไร่อ้อยแบบสมาร์ทฟาร์ม 4.0

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2562 ณ สมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น โดยมีนางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ร่วมคณะ ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมที่จะเร่งแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ของชาวไร่อ้อย โดยเฉพาะราคาอ้อยที่ตกต่ำที่ขณะนี้ทุกส่วนกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณามาตรการช่วยเหลือราคาอ้อยขั้นต้นปี 2562/63 ซึ่งอาจจะใช้หลักการเดียวกับฤดูกาลผลิตที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ฤดูการผลิตปี 61/62 คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 10 ตุลาคม 2561 ได้เห็นชอบโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิตจำนวน 50 บาทต่อตันอ้อย รายละไม่เกิน 5,000 ตันเพื่อลดผลกระทบราคาอ้อยตกต่ำวงเงินงบประมาณ 6,500 ล้านบาท ซึ่งได้รับรายงานจากเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายว่าได้จ่ายเงินงวดที่ 1 ไปแล้ว จำนวน 149,150 ราย วงเงิน 3,203 ล้านบาท และงวดที่ 2 ทางสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้สั่งจ่ายเช็คให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โอนเข้าบัญชีชาวไร่อ้อยอีกจำนวน 160,281 ราย วงเงิน 3,293 ล้านบาท เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ได้ดำเนินนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า เศรษฐกิจฐานชีวภาพ หรือ Bio Economy ขยายต่อห่วงโซ่มูลค่า (Value Chain) ของสินค้าเกษตร เพื่อแก้ปัญหาปริมาณอ้อยและน้ำตาลล้นตลาดและราคาตกต่ำ โดยการต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง เช่น ผลิตภัณฑ์กลุ่มพลาสติกชีวภาพ (Bioplastic) สารให้ความหวานที่มีแคลอรีต่ำอย่างสารซอร์บิทอล (Sorbitol) และสารไอโซมอล์ต (Isomalt) เป็นต้น รวมถึงการวิจัยจุลินทรีย์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมการเกษตรให้มีมูลค่าสูงขึ้น และเมื่อใช้ร่วมกับเทคโนโลยีด้านอื่นๆ จะทำให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ที่ใช้พืชเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตอย่างอุตสาหกรรมยา อาหารเสริม และเครื่องสำอาง

ขณะเดียวกัน ได้มอบหมายให้ สอน. มุ่งเน้นส่งเสริมการสร้างทายาทชาวไร่อ้อยรุ่นใหม่ ต่อยอดการทำไร่อ้อยให้ไปสู่สมาร์ทฟาร์ม หรือไร่อ้อย 4.0 โดยการให้ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการผลิตอ้อยแบบครบวงจร นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ตั้งแต่ขั้นตอนการคัดเลือกพันธุ์ การเตรียมดิน การบริหารจัดการ ไปจนถึงการขนส่งอ้อยเข้าโรงงาน เป็นการปรับเปลี่ยนจากการเกษตรแบบดั้งเดิม (Traditional Farming) สู่การทำเกษตรสมัยใหม่ที่มีการบริหารจัดการเทคโนโลยี (Smart Farming) และการเกษตรแม่นยำสูง (Precision Farming) รวมทั้งการใช้วิทยาการ ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี โดยภาครัฐจะให้การสนับสนุนการวิจัยและส่งเสริมพัฒนาต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์กลุ่มเกษตรอาหารและชีวภาพ ซึ่งจะทำให้ภาคการเกษตรเกิดความก้าวหน้าและขยายวงกว้างไปสู่ชาวไร่อ้อยรายอื่นๆ เป็นการสร้างความมั่นคง ยั่งยืนให้แก่ธุรกิจและอาชีพชาวไร่อ้อยตลอดไป

จาก https://mgronline.com วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2562

อากาศแปรปรวนผลผลิตอ้อยลด ปี2562/63มีเข้าหีบแค่110ล้านตันอ้อย

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย (TSMC) เปิดเผยว่าผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทั้ง 57 โรง ทำการสำรวจปริมาณผลผลิตอ้อยเข้าหีบประจำฤดูการผลิตปี 2562/63 คาดว่าจะมีผลผลิตเข้าหีบประมาณ 110 ล้านตันอ้อย และมีผลผลิตน้ำตาลประมาณ 12 ล้านตันน้ำตาล ลดลงจากฤดูการผลิตปีก่อนที่มีอ้อยเข้าหีบทั้งสิ้น 130 ล้านตัน และผลิตน้ำตาลได้ 14.58 ล้านตัน ซึ่งปริมาณผลผลิตที่คาดการณ์ว่าจะลดลงถึง 20 ล้านตันนั้น เป็นผลมาจากสภาพอากาศที่แปรปรวนในช่วงการเพาะปลูกอ้อยในรอบการผลิตปีนี้ จากเดิมที่มีสภาพอากาศร้อนจัดทำให้แหล่งเพาะปลูกอ้อยหลายพื้นที่ต้องประสบปัญหาภัยแล้ง และเปลี่ยนมาเจอสภาพอากาศที่ฝนตกชุกทำให้มีน้ำท่วมในพื้นที่เพาะปลูก ส่งผลให้ผลผลิตอ้อยของชาวไร่ได้รับความเสียหายไปบางส่วน

จากปัจจัยดังกล่าว ส่งผลต่อภาพรวมอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายในตลาดโลก ที่คาดว่าจะมีปริมาณสต๊อกลดลง เนื่องจากผู้ส่งออกน้ำตาลทรายรายใหญ่ของโลกอย่างประเทศบราซิล ก็ได้รับผลกระทบจากปัญหาสภาพอากาศเช่นกัน ประกอบกับการคงนโยบายการนำน้ำตาลทรายไปผลิตเป็นเอทานอล จึงทำให้ปัญหาปริมาณผลผลิตที่มีมากกว่าความต้องการบริโภคคลายตัวลง แต่จะส่งผลต่อสถานการณ์ภาพรวมราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกหรือไม่ยังต้องเฝ้าติดตามอีกสักระยะ

“ปีนี้การเพาะปลูกอ้อยประสบปัญหาสภาพอากาศที่แปรปรวนอย่างรวดเร็วจากภัยแล้งสู่ภาวะน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ทำให้ผลผลิตอ้อยได้รับความเสียหายโดยเฉพาะพื้นที่เพาะปลูกในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกอ้อยที่สำคัญของไทย จึงคาดว่าจะทำให้ปริมาณผลผลิตอ้อยเข้าหีบที่โรงงานน้ำตาลสำรวจในเบื้องต้นปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับฤดูการผลิตปีก่อน” นายสิริวุทธิ์ กล่าว

ส่วนการเปิดหีบอ้อยประจำฤดูการผลิตปีนี้ ทางผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทรายทั้ง 57 โรง ได้จัด Workshop เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดหีบอ้อยประจำฤดูการผลิต ปี 2562/63 ระหว่างวันที่ 6-7 ตุลาคม 2562 ณ โรงแรมลองบีช การ์เด้น โฮเต็ล แอนด์ สปา จังหวัดชลบุรี โดยภายในงานจะมีการสัมมนาถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโรงงานน้ำตาล แนวทางการแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงสถานการณ์โรคระบาดในอ้อย เช่น โรคใบขาว เป็นต้นซึ่งวัตถุประสงค์การจัด Workshop ครั้งนี้ต้องการให้โรงงานน้ำตาลทุกโรงเตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่ในการรองรับผลผลิตอ้อยเข้าหีบเพื่อผลิตน้ำตาลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

จาก https://www.naewna.com วันที่ 4 ตุลาคม 2562

บาทเปิด 30.50/51 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าเล็กน้อย

เงินบาทเปิดตลาด 30.50/51 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าเล็กน้อยหลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯกดดอลล์อ่อน

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า เช้านี้เงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 30.50/51 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าจากช่วงเย็นวานนี้ที่ปิดตลาดที่ระดับ 30.56 บาท/ดอลลาร์        

วันนี้เงินบาทคาดว่าจะแข็งค่าได้เล็กน้อย เนื่องจากเมื่อคืนการรายงานข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ออกมาไม่ค่อยดีนัก ทั้งดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายของสหรัฐ และจำนวนการยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกของสหรัฐ จึงทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงไป

"วันนี้บาทคงจะย่อตัวลงเล็กน้อย จากเมื่อคืนนี้สหรัฐรายงานตัวเลข PMI และ Jobless Claims ออกมาไม่ค่อยดี จึงทำให้ดอลลาร์อ่อนค่าไป" นักบริหารเงินระบุ

นักบริหารเงิน คาดว่า วันนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 30.45 - 30.60 บาท/ดอลลาร์

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 4 ตุลาคม 2562

แบน3สารอันตรายวุ่น ก.อุตย้ำกก.วัตถุอันตรายมาจากทุกสารทิศ ชี้นำไม่ได้

นายประกอบ วิวิธจินดา รักษาการแทนอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) เปิดเผยถึงบทบาทกระทรวงอุตสาหกรรมต่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่มีพิพาทเรื่องการแบนสารเคมี 3 ชนิด คือ พาราควอต , ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมขอยืนยันว่า คณะกรรมการวัตถุอันตรายไม่ได้สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม แต่เป็นคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 โดยกรรมการประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานหลายหน่วยงาน ทั้งจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงอุตสาหกรรม รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิที่ครอบคลุมในทุกมิติ ซึ่งคณะกรรมการฯแต่ละคนมีวิจารณญาณและเอกสิทธิในการพิจารณาลงคะแนนในทุกๆเรื่องที่เกี่ยวข้อง โดยอิสระ โดยเฉพาะเรื่องการห้ามใช้สารเคมี 3 ชนิด ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการหาข้อมูลเพื่อมาพิจารณาอีกครั้งหนึ่งในเร็วๆนี้

นายประกอบกล่าวว่า แม้กระทรวงอุตสาหกรรมจะมีความเห็นว่าสมควรที่จะยกเลิกการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดดังกล่าว แต่ก็ไม่สามารถดำเนินการในสิ่งที่ขัดกับมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่เป็นคณะกรรมการตามกฎหมายนี้ได้ เนื่องจากไม่ว่าจะให้มีการยกเลิกหรือให้มีการจำกัดการใช้ ก็ต้องดำเนินการตามมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย และในการประชุมเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 คณะกรรมการฯมีมติเห็นชอบแนวทางการจำกัดการใช้มากกว่าการยกเลิกการใช้ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯให้ความเห็นว่าควรจะปรับกระบวน

การใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด โดยกระทรวงเกษตรฯจะออก 5 มาตรการ เพื่อจำกัดการใช้ อาทิ ผู้ใช้ และผู้รับจ้างฉีดสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ต้องผ่านการฝึกอบรมจากกรมวิชาการเกษตร การให้ความรู้กับเกษตรกร

“กระทรวงเกษตรฯจะต้องรายงานความคืบหน้าของมาตรการจำกัดการใช้ 3 สารเคมีนี้ทุกๆ 3 เดือน และเมื่อครบกำหนด 2 ปี นับจากเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก็จะสรุปผลของมาตรการจำกัดการใช้ว่าได้ผลหรือไม่ จากนั้นคณะกรรมการฯจะลงมติว่าจะระงับการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดนี้หรือไม่”นายประกอบกล่าว

จาก https://www.matichon.co.th วันที่ 4 ตุลาคม 2562

กกร.ห่วงเศรษฐกิจไทยไร้ปัจจัยหนุน จีดีพีปีนี้ส่อวืดเป้า จี้ภาครัฐดูแลค่าเงินบาท

กกร.คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้โตต่ำกว่าเป้าหมาย เหตุยังมีปัจจัยกดดันจากสงครามกาารค้า- Brexit-ค่าเงินบาทแข็ง ฉุดส่งออกและท่องเที่ยวลดลง ลุ้นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐบาลพยุงการเติบโตครึ่งหลังของปี

นายปรีดี ดาวฉาย สมาคมธนาคารไทย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีความเป็นห่วงต่อสถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่ยังขาดปัจจัยหนุน และมีโอกาสมากขึ้นที่ทั้งปี 2562 นี้ เศรษฐกิจไทยอาจจะขยายตัวต่ำกว่าที่กำหนดไว้ จีดีพี โต 2.9-3.3% ส่งออก ติดลบ1-1% และเงินเฟ้อ 0.8-1.2% โดยยังกังวลต่อเรื่องเงินบาทที่แข็งค่ามากที่สุดในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง และยังมีแนวโน้มที่จะแข็งค่าขึ้นอีกหากธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกในช่วงข้างหน้า ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสามารถทางการแข่งขันของการส่งออกและการลงทุนของไทย จึงอยากให้ทางการออกมาตรการเพื่อดูแลการแข็งค่าของเงินบาทโดยเร็ว ทั้งนี้ กกร. จะติดตามและทบทวนประมาณการเครื่องชี้เศรษฐกิจต่างๆ อีกครั้งในเดือนหน้า

สำหรับในเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นเดือนแรกของช่วงครึ่งปีหลัง แรงส่งเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในภาวะที่อ่อนแรงต่อเนื่อง สะท้อนจากการส่งออกที่ไม่รวมทองคำ ยังคงหดตัว ส่งผลต่อการผลิตภาคอุตสาหกรรม ขณะที่การลงทุนทรงตัว ส่วนการบริโภคภาคเอกชนแผ่วลงจากช่วงครึ่งปีแรก และแม้การท่องเที่ยวจะขยายตัว แต่ส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานที่ต่ำในช่วงเดียวกันปีก่อน

อย่างไรก็ตามมองไปในช่วงที่เหลือของปี 2562 เศรษฐกิจไทยยังอยู่ท่ามกลางปัจจัยกดดัน ทั้งจากภาคต่างประเทศ ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน และปัญหาการค้าระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลี ความเสี่ยงจากประเด็น Brexit รวมทั้งการแข็งค่าของเงินบาทอย่างต่อเนื่อง ที่ล้วนจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทย ในขณะเดียวกัน การใช้จ่ายภายในประเทศก็ถูกกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง และล่าสุด

ทั้งนี้ ภาครัฐจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ชิม ช้อป ใช้ รวมถึงมาตรการประกันรายได้สินค้าเกษตรสำคัญๆ อาจมีแรงบวกที่จะสามารถชดเชยผลกระทบจากหลายปัจจัยกดดันข้างต้น นอกจากนี้ อานิสงส์จากการที่ภาครัฐเตรียมจะออกมาตรการเพื่อดึงดูดการย้ายฐานการลงทุนจากผลกระทบเรื่องสงครามการค้า ก็อาจต้องใช้เวลา และคงจำเป็นต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานและแรงจูงใจที่มากพอสำหรับนักลงทุน ซึ่งรวมถึงประเด็นเรื่องค่าเงินด้วย

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 4 ตุลาคม 2562

บิ๊กเกษตรฯลั่น!พร้อมแจงจุดยืน3สารเคมี ย้ำไม่ต่อต้านหากต้องยกเลิก

"อธิบดีกรมวิชาการเกษตร"ลั่นพร้อมแจงจุดยืนสารเคมีทางการเกษตร3ชนิด ให้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ยันที่ผ่านมาทำหน้าที่ตามกฎหมายให้อำนาจไว้ ย้ำไม่ต่อต้านหากต้องยกเลิกใช้

เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2562 น.ส.เสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวถึงแนวทางการดำเนินการของกรมวิชาการเกษตร เกี่ยวกับวัตถุอันตราย 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ว่า กรมวิชาการเกษตรเป็นเพียงหน่วยงานผู้ปฏิบัติตามข้อเท็จจริงตามหลักวิชาการ และตามข้อกฎหมายที่ให้อำนาจหน้าที่ไว้เพียงบางส่วนเท่านั้น ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่เบ็ดเสร็จทั้งหมด โดยกรมวิชาการเกษตรพร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่ตามทิศทางที่ถูกต้องตามข้อเท็จจริง ตามหลักวิชาการและภายใต้กรอบกฎหมายที่ให้ไว้ ขอยืนยันว่า กรมวิชาการเกษตรไม่ได้ต่อต้านการยกเลิกการใช้วัตถุอันตรายทั้ง 3 ชนิด แต่อย่างใด แต่เป็นการให้ข้อเท็จจริงตามหลักวิชาการเท่านั้น  การตัดสินใจขั้นสุดท้ายเป็นอำนาจของคณะกรรมการที่ระบุไว้ชัดเจนตามกฎหมาย

ทั้งนี้ การยกเลิกการใช้สารเคมีทางการเกษตรจำเป็นต้องมีข้อมูลและเหตุผลประกอบการยกเลิกที่ชัดเจนและเพียงพอ เช่น ข้อมูลความเป็นพิษของสารเคมีต่อสุขภาพมนุษย์ สุขภาพสัตว์ รวมถึงการตกค้างในพืชและสิ่งแวดล้อม และมีสารที่ใช้ทดแทน ซึ่งกรมวิชาการเกษตรมีหน้าที่ต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ และขอเน้นย้ำว่า ที่ผ่านมาได้ทำหน้าที่ดีที่สุดแล้วตามขอบเขตอำนาจหน้าที่ที่ระบุไว้ในกฎหมายตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ซึ่งให้อำนาจหน้าที่กรมวิชาการเกษตร พิจารณาขึ้นทะเบียนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศกระทรวงเกษตรฯ และพิจารณาการขออนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง โดยกรมวิชาการเกษตรพร้อมที่จะปฏิบัติตามมติของคณะกรรมการที่มีอำนาจที่ระบุไว้ชัดเจนตามกฎหมายทุกประการ

จาก https://www.naewna.com  วันที่ 3 ตุลาคม 2562

เกษตรฯ ดันกองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมช่วยปลดหนี้สินเกษตรกร

รมว.เกษตรฯ ระบุกองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมเป็นที่พึ่งของเกษตรกรที่มีหนี้สิน สั่งเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือเกษตรกรปลดเปลื้องหนี้สินและรอดพ้นจากการถูกบังคับยึดที่ดินทำกินขายทอดตลาด

กลุ่มเกษตรกรและผู้ยากจนที่กู้ยืมเงินจากกองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจน 60 ราย เดินทางมาขอบคุณนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้อนุมัติเงินกู้เพื่อไถ่ถอนที่ดินคืนจากเจ้าหนี้ โดยผู้แทนเกษตรกร กล่าวว่า ผู้ที่มาวันนี้เป็นหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ ซึ่งไม่สามารถชำระคืนได้ จนกระทั่ง รมว. เกษตรฯ อนุมัติเงินกู้จากกองทุนหมุนเวียนฯ เพื่อให้ไปชำระหนี้และไถ่ถอนที่ดิน ซึ่งกำลังจะถูกยึดกลับมาได้ จึงต้องการมาขอบคุณที่ช่วยให้รักษาที่ดินทำกินไว้ได้

นายเฉลิมชัย กล่าวว่า เห็นใจเกษตรกรที่เดือดร้อนจากภาวะหนี้สิน เมื่อไม่สามารถชำระได้ตามกำหนดทำให้ดอกเบี้ยเพิ่มทบเงินต้นขึ้นอีก จึงสั่งการให้กองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เร่งช่วยเหลือ โดยการอนุมัติเงินกู้ให้ไปชำระแก่เจ้าหนี้ รวมถึงพ้นจากการถูกยึดที่ดินที่ทำการเกษตร ซึ่งนำไปค้ำประกันไว้ได้

สำหรับกองทุนหมุนเวียนฯ ช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจนตั้งแต่ปี 2534 ปัจจุบันสามารถช่วยไถ่ถอนที่ดินประมาณ 300,000 ไร่ เกษตรกร  33,500 ราย เฉพาะปี 2562 สามารถช่วยไถ่ถอนที่ดินประมาณ 6,000 ไร่ เกษตรกร 1,200 ราย โดยกองทุนหมุนเวียนฯ จะให้เงินให้กู้ไม่เกิน 2.5 ล้านบาท ระยะเวลาชำระคืนไม่เกิน 20 ปี คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี หากชำระหนี้ดีสามารถลดดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 4 3 และ 2 ตามลำดับ

ทั้งนี้ เกษตรกรและผู้ยากจนที่ต้องการขอความช่วยเหลือจากกองทุนหมุนเวียนฯ สามารถติดต่อได้ที่ สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอ ธ.ก.ส. ทุกสาขาที่มีภูมิลำเนา และสำนักบริหารกองทุนเพื่อช่วยเหลือเกษตรและรับเรื่องร้องเรียน (สกร.)

วันเดียวกันนี้ผู้แทนสหกรณ์โคนมไทยมิลค์ จำกัด ได้เข้าขอบคุณรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ที่สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรฯ อนุมัติเงินกู้จากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรให้แก่สหกรณ์โคนมไทยมิลค์ จำกัด เพื่อนำไปใช้เป็นทุนหมุนเวียนสำหรับรวบรวมวัตถุดิบสำหรับผลิตอาหารสัตว์จากเกษตรกร เข้าสู่ศูนย์ผลิตอาหารโคนมของสหกรณ์ (Feed Center) ผลิตเป็นอาหารโคนมให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ผลจากการมีเงินทุนหมุนเวียนของสหกรณ์ดังกล่าว ทำให้สมาชิกสหกรณ์มีอาหารสัตว์คุณภาพดี ปริมาณเพียงพอตลอดทั้งปี ส่งผลให้ผลผลิตน้ำนมโคของสมาชิกสหกรณ์มีมาตรฐานและคุณภาพ นอกจากนั้น อาหารสัตว์ยังมีราคาถูกกว่าท้องตลาดช่วยลดต้นทุนของเกษตรกร

ปัจจุบันลูกค้ากองทุนสงเคราะห์เกษตรกรมี 6 หน่วยงาน คือ กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมปศุสัตว์ กรมหม่อนไหม และ สหกรณ์โคนมไทยมิลค์ สหกรณ์ลานสัก และสหกรณ์นครชุม อัตราดอกเบี้ยของส่วนราชการ 0% ของนิติบุคคล 1-2% ขึ้นกับวัตถุประสงค์ ระยะเวลาชำระหนี้ 3-7 ปี ขณะนี้มีวงเงินทุนหมุนเวียนประมาณ 3,000 ล้านบาท

จาก https://tna.mcot.net   วันที่ 3 ตุลาคม 2562

เร่งเครื่อง “ธนาคารที่ดิน” ดัน 4 โครงการลุ้น ครม.ต่ออายุ

ปัญหาเกษตรกรไร้ที่ดินทำกิน ถือเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ของสังคมไทย ซึ่งประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม จึงเป็นที่มาในการจัดตั้ง “สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน” (องค์การมหาชน) หรือ บจธ. ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันการบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2554 ขึ้นเพื่อทำหน้าที่จัดตั้ง “ธนาคารที่ดิน” เพื่อช่วยให้เกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกิน ได้มีที่ดินของตนเองอย่างถาวร และเมื่อดำเนินการจัดตั้งธนาคารที่ดินเสร็จ บจธ.จะยุติการดำเนินการภายในระยะเวลา 5 ปี แต่ล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ขยายเวลาดำเนินการของ บจธ.ต่อไปอีก 3 ปี นับจากวันที่ 8 มิถุนายน 2562 “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “กุลพัชร ภูมิใจอวด” รองผู้อำนวยการ ปฏิบัติหน้าที่แทน ผู้อำนวยการ บจธ. ถึงการดำเนินงานที่ผ่านมา แผนงานในอนาคต รวมถึงแนวทางการผลักดันการจัดตั้งธนาคารที่ดินให้เป็นรูปธรรม

4 โครงการ วัดใจ ครม.ต่ออายุ

“กุลพัชร” กล่าวว่า เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ครม.มีมติต่ออายุให้ บจธ.ออกไปอีก 3 ปี โดย ครม.จะมีการพิจารณาประเมินผลการดำเนินงานปีต่อปี ดังนั้น ในช่วงระยะเวลา 1 ปี ทาง บจธ.จะต้องเร่งดำเนินการ 4 โครงการ 1 โมเดล เพื่อให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม เริ่มจาก 1.โครงการนำร่องธนาคารที่ดินในพื้นที่นำร่อง 5 ชุมชน ครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัด คือ เชียงใหม่ และลำพูน สามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้ 499 ครัวเรือน ภายใต้งบประมาณ 167 ล้านบาท โดยโครงการต้นแบบการบริหารจัดการที่ดินแบบครบวงจร ปัจจุบันกำลังดำเนินโครงการใน 4 พื้นที่ มีเกษตรกรเข้าร่วม 150 ครัวเรือน วงเงินประมาณ 50 ล้านบาท เป็นโครงการที่สนับสนุนให้เกษตรกรได้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ที่ได้รับอย่างเหมาะสม เริ่มต้นเกษตรกรจะต้องมีการรวมกลุ่มในรูปแบบของสถาบันเกษตรกร เช่น สหกรณ์ หรือวิสาหกิจชุมชน

2.โครงการบริหารจัดการที่ดินแบบครบวงจรที่เกษตรกรมีการรวมกลุ่มในรูปแบบของสถาบันเกษตรกร โดย บจธ.ได้เข้าไปช่วยเหลือดูแลในทุกขั้นตอน เพื่อให้มีการกระจายการถือครองที่ดินให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนตลอดไป นอกจากนี้ยังมีการดำเนินการส่งเสริมอาชีพ โดยร่วมกับ 15 หน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งดำเนินโครงการไปแล้ว 4 แห่ง ได้แก่ ชุมชนใน อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ชุมชนน้ำแดงพัฒนา อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี ชุมชนใน ต.แม่กก อ.เมือง จ.เชียงราย และชุมชนใน จ.นครศรีธรรมราช มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการประมาณ 150 ครัวเรือน วงเงินประมาณ 120 ล้านบาท

3.โครงการแก้ไขปัญหาการสูญเสียสิทธิในที่ดินของเกษตรกรและผู้ยากจน ได้ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2558-2559 เพื่อช่วยแก้ไขปัญหากรณีที่เกษตรกรนำที่ดินไปจำนองกับสถาบันการเงินหรือขายฝากกับนายทุน แล้วหลุดจำนอง พบมากที่สุด คือ เกษตรกรที่กู้ยืมเงินจาก บจธ.ไปไถ่ถอน มักจะไปเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ให้คนอื่นด้วย ทาง บจธ.ได้แก้ปัญหานี้โดยการรับซื้อที่ดินดังกล่าวมา แล้วนำมาให้เจ้าของที่เช่าซื้อต่อ โดยมีระยะเวลาการผ่อนชำระสูงสุด 30 ปี

และ 4.โครงการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาด้านที่ดินจากการดำเนินนโยบายของรัฐ ได้เข้าไปแก้ไขโดยการจัดหาที่ดินแห่งใหม่ให้แก่กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบ เช่น กรณีชุมชนที่ ต.เขาดิน อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งอยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และมีความต้องการพื้นที่สำหรับใช้ประกอบอาชีพจำนวนไม่มากนัก นอกจากนี้ บจธ.ได้ร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ดำเนินการจัดหาที่อยู่อาศัยใหม่ให้แก่คนกลุ่มนี้ด้วย

ชูมิติสังคมตั้งธนาคารที่ดิน

ส่วนโครงการตลาดกลางที่ดินนั้น ทาง บจธ.ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างผู้ต้องการใช้ประโยชน์ในที่ดิน กับเจ้าของที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ โดย บจธ.ได้จัดทำระบบเว็บไซต์ตลาดกลางที่ดิน เพื่อทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลและอำนวยความสะดวกให้กับผู้สนใจรับบริการ พร้อมมีบริการให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย ซึ่งการดำเนินการที่มีความก้าวหน้าและประสบความสำเร็จจากการจับคู่ผ่านตลาดกลางที่ดิน มี 2 คู่ ได้แก่ โครงการที่ดินเฟสแรกที่ อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา เนื้อที่ 59.9 ไร่ และโครงการปลูกหน่อไม้ฝรั่ง เฟสแรกที่ อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น เนื้อที่ 19 ไร่

“กุลพัชร” กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาทาง บจธ.ได้เริ่มปล่อยสินเชื่อตั้งแต่ปี 2558 ให้เกษตรกร 2 โครงการ ได้แก่ โครงการต้นแบบการบริหารจัดการแบบครบวงจร และโครงการแก้ไขปัญหาการสูญเสียสิทธิ ซึ่งได้ช่วยเหลือไปทั้งหมด 300 ราย รายละ 500,000 บาท รวมวงเงินทั้งหมด 150 ล้านบาท

“สำหรับแนวทางการจัดตั้งธนาคารที่ดินในอนาคต จะต้องให้ความสำคัญในมิติทางด้านสังคม โดยไม่มองเพียงมิติทางด้านเศรษฐกิจ และการเป็นองค์กรเพื่อแสวงหากำไรแต่เพียงมิติใดมิติหนึ่ง เพื่อให้สามารถเดินหน้าแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดิน และกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมในการช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจน”

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 3 ตุลาคม 2562

น้ำตาลเทียมไม่อันตรายเหรอ?

วันวานตั้งข้อสังเกตการเก็บภาษีความหวานของบ้านเรา การตรวจวัดค่าปริมาณความหวานจากปริมาณน้ำตาลทราย ในทางปฏิบัติตรวจวัดจากปริมาณซูโครส หรือน้ำตาลธรรมชาติที่มีอยู่ในพืชและผลไม้

ส่งผลให้ผลผลิตจากเกษตรกร ไม่ว่าอ้อย สารพัดผลไม้ที่นำไปผลิตเป็นเครื่องดื่ม โดนภาษีกันถ้วนหน้า...ส่วนเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมจากน้ำตาลเทียมทำมาจากสารเคมี ไม่มีซูโครส ตรวจวัดไม่เจอไม่ต้องจ่ายภาษี

เขียนมาถึงตรงนี้ หลายคนที่ได้ความรู้มาจากองค์เทพกูเกิล คงมองว่าเป็นเรื่องถูกต้อง เพราะน้ำตาลจากธรรมชาตินี่แหละตัวดี ทำให้เกิดโรคอ้วน โรค NCDs...ไม่เหมือนน้ำตาลเทียม ที่ให้ความหวานก็จริงแต่ให้พลังงานต่ำ มันเลยไม่ทำให้อ้วน

สิ่งเหล่านี้มีความจริงแท้แค่ไหน หรือ FAKE NEWS บิดเบือนความจริง

ข้อมูลจากสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงต่อคณะอนุกรรมาธิการเพื่อศึกษาปัญหาเรื่องอ้อยในคณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ สภาผู้แทนราษฎร

การบริโภคน้ำตาลเทียมเป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน

และสารให้ความหวานทดแทนน้ำตาลที่นิยมใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม มีอยู่ด้วยกัน 4 ชนิด...ที่นิยมมากที่สุดเพราะรสชาติใกล้เคียงน้ำตาลทราย คือ แอสปาร์เทม หวานกว่าน้ำตาล 200 เท่า ขัณฑสกร หวานกว่าน้ำตาล 300-700 เท่า, อะชิชัลเฟรมเค หวานกว่าน้ำตาล 200 เท่า, ซูคราโลส หวานกว่าน้ำตาล 600 เท่า

รายงานการทบทวนงานวิจัยและวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของเครื่องดื่มผสมน้ำตาลและน้ำตาลเทียมกับโรคอ้วน จากงานวิจัย 11 เรื่อง พบว่า การบริโภคน้ำอัดลมที่มีน้ำตาล มีความเสี่ยงจะเป็นโรคอ้วนเพิ่ม 18%

ในขณะที่มี 3 ผลการศึกษาเรื่องการบริโภคน้ำอัดลมใส่น้ำตาลเทียม มีความเสี่ยงจะเป็นโรคอ้วน 59%

ก่อปัญหามากกว่า ทำไมไม่จัดการ...มุ่งแต่เล่นงานน้ำตาลธรรมชาติจากเกษตรกร มีอะไรอยู่เบื้องหลังมั้ย หรือคิดจะสร้างสถานการณ์ก่อตั้งกองทุนใหม่ อย่างกองทุนภาษีบาป หรือเปล่า.

จาก https://www.thairath.co.th วันที่ 3 ตุลาคม 2562

‘มิตรผล’ฝ่าแรงต้าน  ตั้งรง.นํ้าตาลขอนแก่น

กลุ่มมิตรผล ลุยรับฟังความคิดเห็น ยันตั้งโรงงานนํ้าตาลที่ขอนแก่น ไม่กระทบสิ่งแวดล้อม ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ช่วยสร้างรายได้ ประหยัดต้นทุนส่งอ้อยได้ตันละ 100 บาท

สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและนํ้าตาลทราย (สอน.) ได้อนุมัติให้บริษัท นํ้าตาลมิตรผล จำกัด (บ้านไผ่) ดำเนินการก่อสร้างโรงงานผลิตนํ้าตาลที่กำลังการหีบอ้อย 20,000 ตันอ้อยต่อวัน ในพื้นที่ตำบลเมืองเพีย อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา ล่าสุดบริษัทได้เริ่มดำเนินการเข้าสู่กระบวนการจัดทำรายงานศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และเปิดรับฟังความเห็นประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียขึ้น (เวที ค.1) ไปเมื่อช่วงเดือนกันยายน ที่ผ่านมา ซึ่งมีทั้งกลุ่มผู้สนับสนุนและกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยเกิดขึ้นในพื้นที่

นายไพฑูรย์ ประภาถะโร ผู้บริหารโครงการมิตรบ้านไผ่​ ​ บริษัท นํ้าตาลมิตรผล จำกัด (บ้านไผ่) เปิดเผยว่า​ สำหรับโครงการโรงงานผลิตนํ้าตาล “มิตรบ้านไผ่” มีกำลังผลิตหีบอ้อย 20,000 ตันต่อวัน และโรงไฟฟ้าชีวมวล กำลังผลิต 32 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนไม่ตํ่ากว่า 6 พันล้านบาท ซึ่งได้เปิดรับฟังความเห็นจากประชาชนในพื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตรรอบโครงการครั้งที่ 1 ไปแล้ว ยังเหลือการเปิดรับฟังความคิดเห็นอีก 2 ครั้ง ตามกระบวนการจัดทำรายงานอีไอเอ

ทั้งนี้ ยืนยันว่า โครงการนี้มีนโยบายที่จะนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้ในระบบผลิตนํ้าตาล และมีเป้าหมายที่จะให้เป็นโรงงานสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามหลักมาตรฐานสากล อีกทั้งยังมีการบริหารจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อมและมีการพัฒนาชุมชนรอบโรงงานอย่างยั่งยืน จึงอยากให้ประชาชนในพื้นที่มั่นใจว่า จะไม่มีผลกระทบสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้น หรือต้องไปแย่งแหล่งนํ้าแต่อย่างใด แต่จะเป็นการช่วยให้ชาวไร่สามารถส่งอ้อยได้ในระยะใกล้ ประหยัดค่าใช้จ่ายในการขนส่งได้อย่างน้อยตันละ 100 บาท

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 3 ตุลาคม 2562

เงินบาทยังแข็งค่า

เงินบาทยังแข็งค่ารับสัญญาณสินทรัพย์ปลอดภัยย้ายกลับฝั่งเอเชีย เงินดอลลาร์เปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 30.61 บาท อ่อนค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ 30.66 บาทต่อดอลลาร์

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ ตลาดเงินตลาดทุนธนาคารกรุงไทยระบุว่าช่วงคืนที่ผ่านมา เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงอีก 0.6% และ 1.4% เมื่อเทียบกับค่าเงินเยน และราคาทองคำ เป็นสัญญาณว่าสินทรัพย์ปลอดภัยย้ายกลับมาอยู่ฝั่งเอเชียเมื่อเศรษฐกิจสหรัฐมีปัญหา ในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ เราเชื่อว่าตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (Nonfarm payrolls) จะกลายเป็นจุดสนใจของตลาด ส่วนใหญ่ผู้ค้าในตลาดเชื่อว่ากลุ่มธุรกิจอื่นนอกเหนือจากภาคอุตสาหกรรม ไม่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า แต่ขณะเดียวกันก็เชื่อว่าธนาคารกลางต้องเข้ามาช่วยเหลือถ้าเศรษฐกิจมีปัญหา ดังนั้น ถ้าตลาดแรงงานชะลอตัวลง ดอกเบี้ยสหรัฐก็จะลดต่ำลงอีก กดดันให้เงินดอลลาร์สามารถปรับตัวลงได้ใหม่

กรอบค่าเงินบาทวันนี้ 30.57-30.67 บาทต่อดอลลาร์                

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 3 ตุลาคม 2562

ประกาศก้องโลก ไทยฮับพลังงานทดแทน

“สนธิรัตน์” ชี้โอกาสไทยเป็นบิ๊กพลังงานทางเลือกภูมิภาคอาเซียน พร้อมโชว์ศักยภาพระบบ ‘โซลาร์เซลล์-พลังงานลม-ชีวมวล’ บนเวทีโลก

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าวภายหลังการเข้าร่วมแสดงวิสัยทัศน์และแลกเปลี่ยนกับประเทศชั้นนำในระดับนโยบายในเวทีการประชุมรัฐมนตรีระดับโลกในการบูรณาการระบบพลังงานหมุนเวียน (Global Ministerial Conference on System Integration of Renewables) ที่ประเทศเยอรมนี (1 ต.ค.62) ว่า เวทีนี้มีความสำคัญ เพราะเป็นการแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ในเชิงนโยบายกับประเทศชั้นนำหลายประเทศถึงทิศทางการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานทางเลือกที่กำลังกลายเป็นกระแสหลักแทนพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลดั้งเดิม เป้าหมายของทุกประเทศชั้นนำด้านพลังงานจะเพิ่มสัดส่วนพลังงานทางเลือกสูงขึ้น ซึ่งไทยก็มีเป้าหมายตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกว่าในปี 2580 สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงพลังงานหมุนเวียนจะอยู่ที่ระดับ 20% หรือเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปัจจุบัน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายพลังงาน Energy for All พลังงานเพื่อทุกคน ที่จะเกิดโรงไฟฟ้าชุมชนซึ่งใช้เชื้อเพลิงจากพลังงานหมุนเวียนเกิดขึ้นในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ถือเป็นการเปลี่ยนผ่านของพลังงานทางเลือกในประเทศไทย

สำหรับประเทศไทย พลังงานทางเลือกไม่ได้เป็นแค่ทิศทาง แต่เราได้ดำเนินการไปมากกว่านั้นด้วยการวางนโยบายให้เกิดโรงไฟฟ้าชุมชนขึ้นด้วยการอาศัยจุดแข็งด้านวัสดุทางการเกษตรของแต่ละชุมชนที่นำมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าป้อนให้ชุมชนและสามารถขายส่วนเกินเข้าระบบได้อีกด้วย และในอนาคตคาดว่าไทยจะสามารถนำโมเดลการจัดตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนที่กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคนี้นำเสนอบนเวทีโลกในโอกาสต่อไป เพื่อแสดงให้เห็นว่าโมเดลนี้เป็นการพัฒนาพลังงานทางเลือกที่สามารถสร้างให้ระบบเศรษฐกิจในภาพรวมเข้มแข็งขึ้นได้จริง

 “ไทยได้รับการยอมรับว่า เป็นผู้นำด้านปฏิบัติที่เป็นเลิศในระดับภูมิภาคด้านพลังงาน โดยทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ระบุว่า ไทยมีการใช้พลังงานหมุนเวียนสูงสุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(SEA) ไม่รวมโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ และไทยกำลังก้าวสู่ประเทศที่มีกำลังผลิตติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานชีวมวลที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้ ไทยเป็นประเทศกลุ่มแรกๆ ที่ก่อตั้งกองทุนเฉพาะด้านสำหรับการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพของภาครัฐและภาคเอกชน ธนาคารพาณิชย์ของไทยมีประสบการณ์ในการจัดหาเงินทุนสำหรับโครงการด้านพลังงานหมุนเวียน โครงการด้านพลังงานต่างๆ ของไทยถูกพัฒนาจริงจังทั่วทุกภูมิภาค”

 ด้านการดำเนินนโยบายและโครงการต่างๆ ไทยมีนโยบายที่หลากหลายเพื่อกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมและการเปลี่ยน   ไปสู่แหล่งพลังงานหมุนเวียนและพลังงานใหม่ที่มีความหลากหลาย(Diversified) มีการส่งเสริมในระบบกระจายไปยังหลายพื้นที่ (Decentralized) และการใช้ต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ(Cost-effective) ซึ่งจะนำประโยชน์ทางเศรษฐกิจมาสู่ชุมชนท้องถิ่น ภายใต้คอนเซ็ปต์ Energy for All

ปัจจุบันนโยบายในการพัฒนาระบบพลังงานหมุนเวียนมีทั้งการรวมพลังงานหมุนเวียนหลายๆ ประเภทเข้าด้วยกัน หรือรวมพลังงานหมุนเวียนเข้ากับระบบการกักเก็บพลังงาน หรือที่เรียกว่าเป็นระบบพลังงานหมุนเวียนแบบผสมผสาน (Renewable Energy Hybrid System) ตัวอย่างเช่น การติดตั้งและรวมโซลาร์เซลล์ลอยน้ำเข้าด้วยกันกับพลังงานน้ำ (Hydro-Floating Solar Hybrid) จำนวน 2,725 เมกะวัตต์ ที่ดำเนินการโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)บริเวณด้านบนอ่างกักเก็บน้ำที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำ

นายสนธิรัตน์กล่าวว่า ไทยมีศักยภาพด้านพลังงานหมุนเวียนทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานชีวมวล ชีวภาพ ที่มีจุดแข็งด้านวัสดุทางการเกษตรเป็นเชื้อเพลิงชั้นดี ทั้งซังข้าวโพด ฟางข้าว แกลบ หญ้าเนเปียร์ รวมถึงพลังงานลมซึ่งเดิมไทยมีจุดอ่อนเรื่องความแรงลมไม่สูงมากนัก แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีเปลี่ยน สามารถใช้ลมที่มีอยู่ในประเทศไทยสามารถผลิตพลังงานที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น

“ประเทศไทยมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาพลังงานหมุนเวียนเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นด้านพลังงานของประเทศ เราพร้อมจะสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนที่มีความหลากหลายโดยการพัฒนาระบบไฟฟ้าผ่านระบบผสมผสานของการบริหารจัดการด้านพลังงานหมุนเวียน และผมเชื่อว่าการประชุมครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นให้เราได้แบ่งปันแนวคิดเกี่ยวกับวิธีการจัดการกับโอกาสและความท้าทายที่สำคัญ เพื่อจัดการกับการเปลี่ยนผ่านไปสู่การบูรณาการระบบพลังงานหมุนเวียนที่มีประสิทธิภาพ เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำต่อไป”

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 2 ตุลาคม 2562