|
ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล (เดือนตุลาคม 2565] |
โรงงานน้ำตาล-ชาวไร่อ้อยสงบศึก เตรียมเปิดหีบฤดูการผลิตปี 65/66
57 โรงงานน้ำตาลจ่อส่งตัวแทนเข้าร่วม 5 บอร์ดบริหารภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ชั่วคราวหลังลาออกแสดงจุดยืนค้าน "กากอ้อย" เป็นผลพลอยได้ หวังเดินหน้าตกลงเปิดหีบอ้อยที่อาจเป็นปลาย พ.ย.หรือต้น ธ.ค.นี้หลังน้ำท่วมภาคอีสานยังไม่พร้อม จับตาต้นทุนการผลิตพุ่งส่อกดดัน "กอน." ขยับราคาหน้าโรงงานเพิ่ม ชาวไร่หนุนดึงเงินที่เพิ่มเข้ากองทุนฯ เพื่อดูแลเสถียรภาพราคา
นายชลัช ชินธรรมมิตร์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.น้ำตาลขอนแก่น (KSL) ในฐานะประธานกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำตาล สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า กรณีที่ฝ่ายโรงงานน้ำตาลที่เป็นตัวแทน 57 โรงงานได้ยื่นลาออกจากคณะกรรมการ 5 ชุดภายใต้ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายก่อนหน้านี้เพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านการกำหนด "กากอ้อย" ในคำนิยามผลพลอยได้ใน พ.ร.บ.อ้อยฯ ฉบับใหม่ ล่าสุดได้หารือกับทุกฝ่าย โดยภายใน 1-2 สัปดาห์นี้โรงงานจะส่งตัวแทนเข้าไปร่วมในคณะกรรมการ 5 ชุดชั่วคราวเพื่อที่จะสามารถเดินหน้าขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของประเทศต่อไปโดยเฉพาะการกำหนดวันเปิดหีบอ้อย การคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นปี 65/66 และขั้นสุดท้ายปี 64/65 การบริหารทั่วไปเช่นงานบุคคล เป็นต้น
เบื้องต้นคาดว่าน่าจะมีการทยอยเปิดหีบได้ในช่วงต้นธันวาคมนี้แม้ว่าก่อนหน้าจะมีการมองไว้ที่ 23 พ.ย. แต่เนื่องจากโรงงานน้ำตาลทรายในภาคอีสานบางส่วนประสบภาวะน้ำท่วม จำเป็นต้องกำหนดวันเปิดหีบที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อภาพรวมโดยจะต้องหารือในคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เพื่อหาข้อยุติ โดยปริมาณอ้อยฤดูหีบปี 65/66 จะมากกว่าฤดูหีบปีก่อนที่มีอ้อยเข้าหีบ 92.07 ล้านตัน นายชลัสกล่าว
อย่างไรก็ตาม โรงงานมีความกังวลต่อสถานการณ์น้ำตาลทรายภายในประเทศที่ขณะนี้ราคาส่งออกเฉลี่ยอยู่ราว 21 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) สูงกว่าราคาหน้าโรงงานของไทยที่ราคาน้ำตาลทรายขาวธรรมดาและทรายขาวบริสุทธิ์อยู่ระดับ 17.25-18.25 บาทต่อ กก. จึงทำให้เกิดส่วนต่างจูงใจในการออกไปตามชายแดนเพื่อจำหน่ายยังประเทศเพื่อนบ้านที่มีราคาแพงทำให้ช่วงนี้เริ่มเกิดการตึงตัวแม้ปัญหานี้อาจคลี่คลายได้หลังเปิดหีบ แต่หากพิจารณาถึงภาวะต้นทุนการผลิตโรงงานและชาวไร่อ้อยในฤดูหีบใหม่ (ปี 65/66) ทั้งค่าแรงขั้นต่ำที่สูงขึ้น ราคาพลังงาน ค่าปุ๋ย สารเคมี รวมถึงราคาน้ำตาลตลาดโลกที่ทรงตัวระดับสูงจะส่งผลต่อการคำนวณต้นทุนการผลิตรวมของฤดูใหม่ปรับเพิ่มขึ้น
อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเป็นระบบเสรีแล้ว ที่ผ่านมาราคาหน้าโรงงานอยู่ที่ 17.25-18.25 บาทต่อ กก. ที่เป็นราคาที่ใช้ในการคำนวณต้นทุนการผลิตที่ผ่านมา แต่เวลานี้ยอมรับว่าต้นทุนสูงขึ้นราคาดังกล่าวก็ย่อมต้องเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกับสินค้าอื่นๆ ดังนั้นคงต้องหารือใน กอน.เพื่อสรุปแนวทางที่ต้องคำนึงถึงในหลายๆ ปัจจัย นายชลัสกล่าว
หวังขยับราคาหน้าโรงงานดึงเงินใส่กองทุนฯ
นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ที่ยังไม่ได้มีปัญหาขัดแย้งเรื่องกากอ้อย ชาวไร่อ้อย โรงงานและรัฐได้หารือระดับหนึ่งถึงต้นทุนการผลิตของชาวไร่อ้อยที่สูงขึ้นมากจากปุ๋ย น้ำมัน ค่าแรงงาน จำเป็นที่จะต้องทบทวนต้นทุนการผลิตที่ยึดตามสูตรราคา Cost Plus ให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง ซึ่งยอมรับว่าต้นทุนที่สูงขึ้นก็ต้องทบทวนราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานใหม่ โดยได้เสนอให้การปรับขึ้นราคาหน้าโรงงานแล้วนำเงินที่ได้ทั้งหมดไปใส่ไว้ในกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) เช่นอดีตที่เคยทำเพื่อนำเงินมาสร้างเสถียรภาพราคาลักษณะเดียวกับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง อย่างไรก็ตามแนวทางดังกล่าวต้องให้ กอน.สรุปข้อยุติ
การเปิดหีบก็จะต้องมาดูความเหมาะสมว่าจะเป็นช่วงปลาย พ.ย.นี้หรือต้น ธ.ค.ในที่ประชุม กอน.เป็นสำคัญเพราะต้องดูข้อมูลจากทุกฝ่าย ส่วนอ้อยแม้บางส่วนจะเจอน้ำท่วมแต่พบว่าเสียหายไม่มากทำให้ปริมาณอ้อยเข้าหีบปี 65/66 น่าจะอยู่ในระดับ 106 ล้านตันตามที่คณะกรรมการอ้อย (กอ.) คาดการณ์ไว้ นายนราธิปกล่าว
นายบุญถิ่น โคตรศิริ ที่ปรึกษาบริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด (อนท.) กล่าวว่า ราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกเฉลี่ยอยู่ราว 18-19 เซ็นต์ต่อปอนด์ โดยยังคงเป็นระดับที่ทรงตัวใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม อนท.ได้เสนอขายน้ำตาลทรายดิบล่วงหน้าในส่วนของ อนท. 8 แสนตันฤดูผลิตปี 65/66 แล้ว 53% เฉลี่ยราคา 20.05 เซ็นต์ต่อปอนด์ซึ่งเป็นระดับใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา
น้ำตาลตลาดโลกที่ทรงตัวใกล้เคียงกับปีก่อนแต่ปีนี้บาทอ่อนค่าการส่งออกจะทำให้รายได้รูปเงินบาทเพิ่มขึ้น แต่หากมองในแง่ของต้นทุนชาวไร่และโรงงานภาพรวมก็สูงขึ้นตาม ดังนั้นกรณีที่จะมีการปรับเพิ่มราคาหน้าโรงงานก็มีโอกาสเป็นไปได้เช่นกันแต่ก็ต้องอยู่ที่ กอน.จะตัดสินใจ นายบุญถิ่นกล่าว
จาก https://mgronline.com วันที่ 31 ต.ค. 2565
อินเดียขยายเวลาจำกัดส่งออกน้ำตาลจนถึงต.ค.ปีหน้า หวังคุมราคาในประเทศ
รัฐบาลอินเดียประกาศเมื่อวันศุกร์ (28 ต.ค.) ว่า อินเดียได้ขยายเวลาจำกัดการส่งออกน้ำตาลออกไปอีกหนึ่งปีจนถึงเดือนต.ค. 2566
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ในเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา อินเดียซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดของโลกได้สั่งจำกัดการส่งออกน้ำตาลจนถึงสิ้นเดือนนี้ เพื่อควบคุมราคาภายในประเทศหลังจากที่การส่งออกพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์
รัฐบาลและเจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมเปิดเผยในเดือนนี้ว่า อินเดียอาจจะผลิตน้ำตาลได้สูงเป็นประวัติการณ์ในปีนี้ ซึ่งอาจทำให้อินเดียสามารถส่งออกน้ำตาลได้มากถึง 8 ล้านตัน
การตัดสินใจห้ามส่งออกน้ำตาลดังกล่าว มีสาเหตุมาจากสถานการณ์ทั่วโลกที่อาจกระตุ้นให้เกิดความต้องการน้ำตาล โดยเกิดขึ้นเพียงไม่กี่วันหลังรัฐบาลห้ามส่งออกข้าวสาลี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนการควบคุมราคาในประเทศที่พุ่งสูงขึ้น
ทั้งนี้ อินเดียเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดในโลกและบริโภคน้ำตาลที่ผลิตเองเป็นส่วนใหญ่ ทั้งยังเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากบราซิล
จาก https://www.bangkokbiznews.com วันที่ 29 ต.ค. 2565
จับตาศึก กากอ้อย-บราซิลยกระดับฟ้อง WTO จุดเปลี่ยนอุตฯน้ำตาลไทย
ประเด็นแรก ทิศทางอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทย หลังร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อ้อยและน้ำตาลทรายฉบับใหม่ ได้ผ่านทั้งสองสภาไปแล้วและอยู่ในขั้นตอนเตรียมประกาศใช้ แต่เวลานี้ยังมีปัญหาตามมาจากการนำ กากอ้อย บรรจุในนิยาม ผลพลอยได้ ที่ต้องนำมาคิดคำนวณในระบบแบ่งปันผลประโยชน์ด้วย
ประเด็นที่ 2 ความเสี่ยงและทางออกน้ำตาลไทย หลังบราซิล ผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลเบอร์ 1 โลก รอดู พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายฉบับใหม่ของไทยจะตอบโจทย์บราซิล ที่ยื่นฟ้องไทยต่อองค์การการค้าโลก (WTO) เรื่องการอุดหนุนส่งออกน้ำตาล ทำให้ได้รับความเสียหายหรือไม่
ทั้งนี้ประเด็นจากการสัมมนามีประเด็นที่น่าสนใจและต้องติดตาม คือ พ.ร.บ.อ้อยฯฉบับใหม่ที่เตรียมประกาศใช้ เป็นการแก้ไขตรงตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้หรือไม่ (เพื่อให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีการผลิตที่เปลี่ยนไป และตอบโจทย์บราซิลให้ภาครัฐของไทยเลิกการ
จากรายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการติดตาม ประเมิน และเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหากรณีพิพาทเรื่องอ้อยและน้ำตาลกับบราซิลในองค์การการค้าโลก (WTO) และจัดทำแผนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลตามข้อผูกพันกับ WTO ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) โดยศาสตราจารย์ทัชมัย ฤกษะสุต ผู้เชี่ยว ชาญด้านกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในคณะผู้วิจัยโครงการนี้ยอมรับว่ามีความกังวล เพราะจากการศึกษาข้อกำหนดและกลไกต่าง ๆ ตามร่าง พ.ร.บ. อ้อยฯฉบับใหม่ หากใช้เกณฑ์ทางวิชาการล้วน ๆ แล้วยังไม่ตอบโจทย์บราซิล เพราะยังมีการอุดหนุนและแทรกแซงจากภาครัฐอยู่อย่างชัดเจน
จับตาศึก กากอ้อย-บราซิลยกระดับฟ้อง WTO จุดเปลี่ยนอุตฯน้ำตาลไทย
โดยได้ยกตัวอย่าง พ.ร.บ.ฉบับแก้ไขยังคงมีเจ้าหน้าที่ภาครัฐเป็นกรรมการอยู่เกือบทุกชุด เสมือนหนึ่งเป็นการบริหารจัดการโดยภาครัฐ, มีกระบวนการหลักเกณฑ์การประมาณรายได้ของระบบจากข้อกำหนดที่มาจากคณะกรรมการต่าง ๆ เพื่อวัตถุประสงค์ในการกำหนดราคาอ้อย ทำให้ไม่เป็นไปตามกลไกตลาด, มีการกำหนดให้นำเงินส่วนต่างจากราคาขายน้ำตาลส่วนที่ขายได้เกินราคาที่กำหนดนำส่งให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อกองทุนฯนำมาจ่ายคืนให้แก่โรงงานและชาวไร่อ้อยตามมาตรา 56 และยังมีการกำหนด จัดสรร ปริมาณน้ำตาลให้โรงงานผลิต ฯลฯ
ขณะที่ นายดวงอาทิตย์ นิธิอุทัย รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า กรณีที่บราซิลฟ้องไทยเป็นเรื่องปกติจากไทยเป็นสมาชิก WTO ที่ต้องปฏิบัติตามพันธกรณีและข้อตกลง แต่ไม่ควรตื่นตระหนก เพราะการอุดหนุนยังทำได้ โดยไทยมีสิทธิ์อุดหนุนสินค้าเกษตรในวงเงินประมาณ 1.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งเวลานี้ก็ยังไม่เกินกรอบที่กำหนด ที่ผ่านมาหลังบราซิลฟ้องไทย ทั้งสองฝ่ายก็ได้มีการหารือในการแก้ไขปัญหาร่วมกันกว่า 10 ครั้งแล้ว และขณะนี้ทางบราซิลอยู่ระหว่างรอดู พ.ร.บ.อ้อยฯฉบับใหม่ว่าจะส่งผลกระทบต่อบราซิลในอนาคหรือไม่
จากความเห็นของรองอธิบดีกรมเจรจาการค้าฯ ชี้ให้เห็นว่า ไทยไม่ค่อยกังวลต่อการฟ้องร้องของบราซิล เพราะที่ผ่านมาตั้งแต่บราซิลฟ้อง ไทยได้ปรับเปลี่ยน โดยยกเลิกการกำหนดโควตาน้ำตาล และแจ้งให้บราซิลทราบว่า กำลังดำเนินการแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยฯให้สอดคล้องกับข้อเรียกร้อง และจากราคาน้ำตลาดโลกตกต่ำในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาอ้อยไม่จูงใจให้เกษตรกรปลูก ปริมาณอ้อยที่ไทยเคยผลิตได้กว่า 100 ล้านตันต่อปี ลดเหลือเพียง 66 ล้านตัน(ปีการผลิต 2563 /2564)
อย่างไรก็ดี วงการน้ำตาลแสดงความกังวลว่า ในฤดูการผลิตอ้อยใหม่ปีนี้ หากปริมาณอ้อยของไทยเพิ่มสูงกว่า 100 ล้านตัน บราซิลอาจหันมาเร่งดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งกับไทยได้ แม้ภาครัฐของไทยจะบอกว่าสามารถเจรจากับบราซิลเพื่อผ่อนหนักเป็นเบาได้ตลอดเวลา และยังมีเวลาต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ได้อีก จึงไม่ควรเป็นห่วงมากนัก แต่ก็ไม่ควรจะชะล่าใจ เพราะหากเกิดผลอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาและสร้างความเสียหายให้กับประเทศใครจะรับผิดชอบ
ส่วนในอีกหนึ่งประเด็นร้อน เรื่อง กากอ้อย ที่ต้องนำมาคำนวณในระบบแบ่งปันผลประโยชน์เพิ่มเติมให้กับชาวไร่อ้อยตามกฎหมายอ้อยฉบับใหม่ ที่โรงงานน้ำตาลและชาวไร่ยังไร้ทางออก เพราะในร่าง พ.ร.บ.ไม่ได้กำหนดในรายละเอียดไว้ และเร่งให้ภาครัฐเป็นเจ้าภาพในการเจรจา ส่งผลถึงการประกาศเปิดหีบอ้อยปีการผลิต 2565 /2566 ที่ต้องเริ่มในปลายเดือนพฤศจิกายน ถึงต้นเดือนธันวาคมนี้ต้องสะดุดลง จากกรรมการผู้แทนจากฝ่ายโรงงานในคณะกรรมการ 5 คณะตามพ.ร.บ.อ้อยฯได้ลาออก ทำให้การประชุมและลงมติต่าง ๆ หยุดชะงัก
โดยฝ่ายโรงงานให้เหตุผลสำคัญที่คัดค้านการนำกากอ้อยมาคำนวณในระบบแบ่งปันผลประโยชน์ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของโรงงานกับชาวไร่ต้องคุยกันให้ตกผลึกหรือได้ข้อยุติก่อนไปออกกฎหมาย ดังประเพณีปฏิบัติที่เคยเป็นมา และครั้งนี้ฝ่ายโรงงานไม่ได้รับเชิญเข้าร่วมเป็นคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมาย มองว่าเหมือนถูกดมือชกให้ยอมรับ เป็นที่มาของปัญหาที่ยุ่งยากในขณะนี้
ขณะที่ผ่านมาโรงงานซื้ออ้อยจากชาวไร่อ้อยโดยจาก 100% ในจำนวนนี้สัดส่วน 60% ซื้อตามค่าความหวาน (ซี.ซี.เอส.) และอีก 40% ซื้อโดยน้ำหนัก หมายถึงได้รวมถึงกากอ้อยแล้ว ดังนั้นเมื่อทำการหีบอ้อยไปแล้ว หากกากอ้อยถูกกลับนำมาคิดราคาอีก ถือเป็นการคิดซ้ำสอง ประเด็นนี้เป็นประเด็นสำคัญที่โรงงานมองว่าไม่เป็นธรรมและไม่สามารถยอมรับได้
นอกจากนี้ที่ผ่านมาแม้โรงงานน้ำตาลบางโรงจะนำกากอ้อยไปต่อยอดในอุตสาหกรรมต่อเนื่องได้ เช่น เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าและมีรายได้จากการขายไฟ แต่บางโรงไม่มีความสามารถทำได้ และไม่มีรายได้ตรงนี้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ยุ่งยากที่จะนำกากอ้อยเข้าสู่ระบบแบ่งปันผลประโยชน์ ขณะที่ในมุมชาวไร่ มองว่า ปัจจุบันโรงงานได้ประโยชน์มหาศาลจากกากอ้อยที่เป็นผลพลอยได้ ที่มีมูลค่าปีหนึ่ง 2-3 หมื่นล้านบาท ดังนั้นจึงควรนำมาแบ่งปันผลประโยชน์เพิ่มให้ชาวไร่ด้วย แต่จะแบ่งอย่างไรนั้นคงต้องมาคุยกัน
จะเห็นได้ว่า 2 ประเด็นร้อนข้างต้น จะนำสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทยที่ต้องติดตามตอนต่อไป
จาก https://www.thansettakij.com/ วันที่28 ต.ค. 2565
ส่งออกสินค้าเกษตรโตยกแผง นับถอยหลังสิ้นปี ฉลองใหญ่
แม้ภาคการส่งออกของไทยช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้มีแนวโน้มชะลอตัว จากสถานการณ์เงินเฟ้อของประเทศคู่ค้าหลัก โดยเฉพาะเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกหลายครั้งเพื่อสกัด ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯเสี่ยงชะลอตัวอย่างมีนัยสำคัญขณะจีน อีกหนึ่งคู่ค้าหลักที่เศรษฐกิจยังชะลอตัวจากนโยบาย Zero Covid ผลกระทบจากราคาพลังงานทรงตัวระดับสูง ส่งผลค่าไฟฟ้า ต้นทุนการผลิตของผู้ส่งออกปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ยังมีปัญหาวัตถุดิบขาดแคลนและราคาผันผวน อาทิ เซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) เหล็ก วัตถุดิบอาหารสัตว์ ปุ๋ย เป็นต้น
อย่างไรก็ดีจากปัจจัยเสี่ยงที่กล่าวมาข้างต้นในภาพรวมยังไม่กระทบการส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรอุตสาหกรรมของไทยมากนักจากเป็นสินค้าที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก และยังได้รับอานิสงส์จากวิกฤติขาดแคลนอาหารของโลกจากผลพวงสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ รวมถึงเงินบาทที่อ่อนค่ามากสุดรอบ 16 ปี แตะที่ระดับ 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯในเวลานี้ ช่วยเพิ่มความสามารถในแข่งขันด้านราคาเพิ่มขึ้นสะท้อนได้จากตัวเลขการส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรอุตสาหกรรมของไทยช่วง 8 เดือนแรกปีนี้ขยายตัวได้ในอัตราสูง โดยข้อมูลจากศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร สินค้าเกษตรส่งออกได้รวม 6.35 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรส่งออกได้ 5.41 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 42%
แยกย่อยลงไปในกลุ่มสินค้าเกษตรหลัก ยางพารา ส่งออกแล้ว 1.27 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 15%, ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง 1.04 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 28%, ข้าว 8.36 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 40%, ไก่ 8.99 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 34%
ส่วนสินค้าเกษตรอุตสาหกรรมหลัก อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ส่งออกแล้ว 8.63 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 25%, น้ำตาลทราย 8.59 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 180%, อาหารสัตว์เลี้ยง 6.66 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 36%, ผลไม้กระป๋องและแปรรูป 4.71 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 28%, ผักกระป๋องและผักแปรรูป 1.08 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% และสิ่งปรุงรสอาหาร 2.15 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% ซึ่งโดยภาพรวมการส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรอุตสาหกรรมถือว่าโตยกแผง สวนกระแสเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ท่ามกลางภาวะค่าครองชีพและเงินเฟ้อสูงที่เป็นแรงกดดันทั่วโลก
สำหรับทิศทางการส่งออกทั้งปีนี้ ในส่วนของสินค้าข้าว ทางสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยคาดจะส่งออกได้แตะ 8 ล้านตัน ขยายตัวได้ 20-25% เมื่อเทียบกับปีก่อน ปัจจัยจากอินเดียผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลกเกิดวิกฤติภัยแล้ง และมีการปรับขึ้นภาษีขาออกข้าวขาวเพิ่มขึ้น 20% ทำให้ราคาข้าวไทยสามารถแข่งขันได้ดีขึ้น และผลพวงจากอิรักได้กลับมาซื้อข้าวไทยในรอบ 7 ปี คาดเฉพาะอิรักตลาดเดียวในปีนี้ไทยจะส่งออกข้าวได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านตัน
ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง จากอานิสงส์วิกฤติอาหารโลกที่ได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังยืดเยื้อ และสภาพอากาศที่แปรปรวนในหลายประเทศ ทำให้ความต้องการผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังจากไทยของประเทศผู้นำเข้าหลักได้แก่ จีน เนเธอร์แลนด์ และญี่ปุ่น ยังมีต่อเนื่อง
น้ำตาลทราย จากวิกฤติภัยแล้งในบราซิลที่เป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลทรายอันดับ 1 ของโลกทำให้ซัพพลายสินค้าเข้าสู่ตลาดน้อยลง และจากเงินบาทที่อ่อนค่าทำให้ราคาน้ำตาลทรายของไทยมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น
ไก่ จากหลายตลาดมีความต้องการสินค้าไก่เพิ่ม เช่น ยุโรป มาเลเซีย สิงคโปร์ รวมถึงตลาดใหม่ เช่น ซาอุดีอาระเบีย ที่ล่าสุดองค์การอาหารและยา หรือ อย. ของซาอุฯได้แก้ไขข้อมูลบนเว็บไซต์ อนุญาตให้โรงงานไก่ไทย 11 โรง สามารถส่งออกไก่สด ไก่แปรรูป ไก่ปรุงสุก เข้าประเทศได้อย่างครบถ้วนทุกชนิด และทุกด่านทั่วประเทศแล้ว ล่าสุดไทยยังได้ยื่นรายชื่อโรงงานชำแหละเนื้อไก่อีก 27 โรงงาน ให้ทางการซาอุฯเร่งรัดการตรวจรับรอง หากได้รับไฟเขียวจะช่วยเพิ่มการส่งออกสินค้าไก่ไทยไปตลาดซาอุฯได้เพิ่มขึ้นอีกในอนาคต
ขณะที่สินค้าเกษตรอุตสาหกรรมดาวรุ่งดวงใหม่คือ อาหารสัตว์เลี้ยง การส่งออกได้วิ่งแซงทูน่ากระป๋องที่เป็นอาหารคนไปแล้ว โดยสมาคมการค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไทยเผยว่า ตัวเลขการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงได้โตระดับตัวเลข 2 หลัก ติดต่อกันมานานกว่า 35 เดือน หรือเกือบ 3 ปีต่อเนื่องแล้ว จากผลพวงโควิด-19 ระบาด ทำให้คนอยู่กับบ้านมากขึ้น และมีการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงเช่น สุนัข แมว เป็นเพื่อน หรือเป็นส่วนหนึ่งในสมาชิกครอบครัวเพิ่มขึ้น ส่งผลอาหารสัตว์เลี้ยงขายดีตามไปด้วย
จากสินค้าเกษตร และสินค้าเกษตรอุตสาหกรรมหลักข้างต้น ที่ปีนี้กลับมาขยายตัวในระดับตัวเลขสองหลักเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งหมายถึงรายได้ และกำไรของผู้ส่งออกที่เพิ่มขึ้น และอานิสงส์ส่วนหนึ่งยังตกถึงมือเกษตรกรผู้ผลิตวัตถุดิบที่เกี่ยวเนื่องเพิ่มขึ้น ดังนั้นฟันธงได้ว่า ถึงสิ้นปีนี้ผู้ส่งออกจะได้เฮ และฉลองใหญ่กันอย่างแน่นอน
จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 21 ตุลาคม 2565
ศึกนํ้าตาลไร้ทางออก จี้รัฐดึงชาวไร่-รง.หาข้อยุติ ผวาบราซิลยกระดับฟ้อง WTO
น้ำตาลขม โรงงาน-ชาวไร่ จี้ รมต. 3 กระทรวง อุตสาหกรรม-เกษตรฯ-พาณิชย์ รับหน้าเสื่อ เคลียร์ปมขัดแย้งแบ่งผลประโยชน์กากอ้อย 3 หมื่นล้าน หลังเป็นชนวนทำอุตฯป่วน เปิดหีบอ้อยสะดุด กังวลกฎหมายอ้อยฉบับใหม่ยังไม่ตอบโจทย์บราซิล ผวายกระดับฟ้อง WTO ทัชมัย-จร. ยันขั้นตอนอีกยาว
อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทยที่มีการส่งออกน้ำตาลและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องปีละกว่า 2.5 แสนล้านบาท กำลังถูกท้าทาย และเสี่ยงเครื่องสะดุดจาก 2 ประเด็นร้อนคือ 1.ความขัดแย้งและยังไม่มีข้อสรุป หลัง ร่าง พ.ร.บ.อ้อยฯฉบับใหม่ที่คาดจะประกาศใช้ในเร็ว ๆ นี้ ได้เพิ่ม กากอ้อย ในนิยาม ผลพลอยได้ ที่ต้องนำมาคิดคำนวณในระบบแบ่งผลประโยชน์ระหว่างชาวไร่อ้อยกับโรงงานด้วย (จากเดิมโรงงานระบุว่าได้ซื้อขาดอ้อยตามน้ำหนักรวมกากอ้อยไปแล้ว ไม่ต้องแบ่งผลประโยชน์ในส่วนนี้)
ประเด็นดังกล่าวส่งผลให้กรรมการจากฝ่ายโรงงานได้ทยอยลาออกจาก 5 คณะกรรมการ ตาม พ.ร.บ.อ้อยฯ ซึ่งจะส่งผลให้การประกาศเปิดหีบอ้อยปีการผลิต 2565/66 ที่ปกติจะเปิดหีบในปลายเดือน พ.ย.ถึงต้น ธ.ค. ยังต้องลุ้นว่าจะเปิดหีบได้หรือไม่ จากไม่มีกรรมการตัวแทนจากฝ่ายโรงงานเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการบริหาร (กบ.) ที่ต้องร่วมให้ความเห็นชอบเปิดหีบอ้อยด้วย และประเด็นที่ 2.การตั้งรับบราซิลที่กำลังเพ่งเล็ง พ.ร.บ.อ้อยฯฉบับใหม่ที่ใกล้จะมีผลบังคับใช้ จะตอบโจทย์บราซิลที่ยื่นฟ้องไทยต่อองค์การการค้าโลก (WTO) เรื่องการอุดหนุนน้ำตาลหรือไม่ เนื่องจากผลศึกษาวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุ พ.ร.บ.อ้อยฯฉบับใหม่ยังไม่ต่างจากฉบับเดิมมากนัก และยังมีมาตรการที่ยังคงเป็นการอุดหนุนอยู่
ต่อ 2 ประเด็นร้อนดังกล่าว ฐานเศรษฐกิจ ได้จัดสัมมนา The Big Issue : น้ำตาลขม มรสุม WTO กฎหมายใหม่ โดยเชิญผู้ส่วนเกี่ยวข้องร่วมให้ความเห็น กมธ.ชี้ยังไม่ได้กำหนดรายละเอียด
ในประเด็น กากอ้อย นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ รองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.)พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่ .. ) พ.ศ. .... กล่าวว่า ในรายละเอียดการแบ่งปันผลประโยชน์เรื่องกากอ้อยไม่ได้ระบุไว้ในร่าง พ.ร.บ.อ้อยฯฉบับใหม่ ในส่วนนี้โรงงานน้ำตาล ชาวไร่อ้อย และภาครัฐที่เกี่ยวข้องต้องไปหารือกันในรายละเอียดเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย
ในเรื่องกากอ้อย (ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ 2-3 หมื่นล้านบาทต่อปี) นี้ ในอดีตถือเป็นของเสียที่ไม่มีประโยชน์ แต่ปัจจุบันกากอ้อยมีมูลค่าทางเศรษฐกิจและสร้างรายได้มหาศาลให้กับกลุ่มโรงงาน ด้วยเทคโนโลยีการผลิตที่พัฒนาไปมาก สามารถนำไปผลิตเป็นถ้วยชาม เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า (ชีวมวล) และอื่น ๆ ได้ จึงต้องมีการปรับปรุงกฎหมายให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป
จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 21 ตุลาคม 2565
โรงงานน้ำตาลพร้อมเจรจาชาวไร่ แบ่งผลประโยชน์ กากอ้อยบนพื้นฐานเป็นธรรม
โรงงานน้ำตาล พ้อไม่มีส่วนร่วมเป็นคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายอ้อยฯฉบับใหม่ ถูกมัดมือชกนำ กากอ้อยแบ่งปันผลประโยชน์ซ้ำซ้อน โวยทำธุรกิจต่อเนื่องขาดทุนไม่เห็นมีใครมาร่วมแบกรับภาระ แต่ยันพร้อมเจรจาชาวไร่แบ่งปันผลประโยชน์ใหม่บนพื้นฐานที่เป็นธรรม
นายนพพร ว่องวัฒนะสิน ประธานกรรมการฝ่ายปฏิบัติการ กลุ่มน้ำตาลไทย กล่าวในการเสวนา พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลใหม่ฉุดไทยติดหล่ม? : ทิศทางอนาคต ในงานสัมมนาออนไลน์ THE BIG ISSUE : น้ำตาลขม มรสุม WTO กฎหมายใหม่ จัดโดยฐานเศรษฐกิจ ใจความสำคัญระบุว่า
ทางโรงงานน้ำตาลขอระบายความในใจถึงร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อ้อยและน้ำตาลทราย ฉบับที่ .. พ.ศ. .... ที่ได้ผ่านความเห็นชอบจาก 2 สภา คือสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาแล้ว เหลือเพียงรอประกาศมีผลบังคับใช้ว่า จริง ๆ แล้ว พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายคนที่เกี่ยวข้องมีเพียงชาวไร่อ้อยกับโรงงานน้ำตาลเท่านั้นแต่ในการออกกฎหมายครั้งนี้ แม้ภายหลังตัวแทนจากโรงงานน้ำตาลจะได้รับเชิญเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. และเป็นชุดอนุกรรมการกลั่นกรองกฎหมาย แต่ไม่ได้เป็นคณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ตั้งแต่แรก พอถึงเวลารับฟังความเห็นก็เป็นได้แค่คนนอก ไม่ได้อยู่ในวงคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งทางโรงงานพยายามเรียกร้องตรงนี้ตลอดเวลาว่า กฎหมายนี้มาบังคับแค่โรงงานกับชาวไร่ แล้วทำไมไม่ให้โรงงานน้ำตาลเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไขกฎหมาย มองว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมตั้งแต่ต้น
วันนี้กลายเป็นว่าโรงงานเข้าไปมีส่วนร่วมแล้ว ทั้งที่วันนั้นเราขอเท่าไหร่ก็ไม่ให้เราร่วม พอเราเข้าไปเป็นที่ปรึกษาก็ออกมาเป็นว่า โรงงานเห็นด้วยแล้วทุกอย่าง ย้อนไปในอดีตไม่มีกฎหมายฉบับใดมาบังคับเอกชนให้ไปซื้อของจากเอกชนอีกฝ่ายหนึ่ง มีแต่กฎหมายอ้อยและน้ำตาลที่บังคับโรงงานว่าถ้าจะไปซื้ออ้อยจากชาวไร่ ต้องซื้อแบบนี้ โดยมีฝ่ายราชการเข้ามากำกับดูแล แต่ที่ทำได้อย่างนี้เพราะชาวไร่กับโรงงานยอมกันทั้งสองฝ่าย แล้วถึงไปออกกฎหมาย (พ.ร.บ.อ้อยฯปี 2537)
ทั้งนี้ในส่วนกากอ้อย ที่เพิ่มเติมในนิยาม ผลพลอยได้ในร่าง พ.ร.บ.อ้อยฯฉบับใหม่ ไม่ใช่เพิ่งมามีวันนี้ แต่มีมานานแล้ว แต่วันนี้โรงงานและชาวไร่คุยกันไม่รู้เรื่อง ชาวไร่เลยไปยืมมือ ส.ส.บังคับให้ใส่คำว่า กากอ้อยในนิยามผลพลอยได้เพื่อให้ราชการมาบังคับว่าต้องนำไปเจรจาในการนำไปคำนวณราคาและแบ่งปันผลประโยชน์ ซึ่งที่จริงในเรื่องนี้โรงงานและชาวไร่คุยกันมาโดยตลอด แต่ยังไม่ตกผลึก และยังไม่มีทางออกเท่านั้น
อย่างไรก็ดี ตามโครงสร้างกฎหมายอ้อยฯ เดิม ถ้าโรงงานยอม ชาวไร่อ้อยยอม ไม่ต้องระบุว่าเป็นอะไร ก็สามารถเอามาคิดคำนวณเป็นค่าอ้อยให้ชาวไร่ได้เลย เพียงแต่ว่าทั้งสองฝ่ายต้องคุยกันให้เข้าใจก่อน ซึ่งตาม พ.ร.บ.อ้อยฯฉบับเดิม การแบ่งปันผลประโยชน์มีแค่เรื่องน้ำตาลอย่างเดียวที่นำมาคำนวณราคาให้ชาวไร่อ้อย กากน้ำตาล(โมลาส)ก็ไม่มี
ในเรื่องกากอ้อยนี้ หากคิดหยาบ ๆ อ้อยเข้าโรงงาน 100 กิโลกรัม(กก.)ในจำนวนนี้สมมุติได้น้ำตาล 80 กก.เหลือเป็นโมลาสหรือกากอ้อย อย่างละ 10 กก. แต่เป็นไปไม่ได้ที่ของเข้าไป 100 กก.จะออกมา 150 กก. ของเข้าไป 100 กก. ก็จะออกมา 100 กก.ตามน้ำหนัก ที่ผ่านมาน้ำตาลถือเป็นโปรดักส์อย่างเดียวที่นำมาคิดคำนวณราคาแบ่งปันผลประโยชน์ ส่วนกากน้ำตาล (โมลาส)กับกากอ้อย ขี้หม้อกรองของเสียทั้งหมดที่ติดมากับอ้อย ถือเป็นของเสียที่โรงงานซื้อรวมมาแล้วตามน้ำหนักอ้อยเข้าโรงงาน หากตีมูลค่ากากอ้อยทั้งระบบในปัจจุบันสมมุติที่ 2 หมื่นล้านบาทถือเป็นของที่ซื้อมาแล้วตอนชั่งน้ำหนักเข้าโรงงาน
รองคณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.อ้อยฯระบุว่า ต่อไปผลพลอยได้ข้างต้นต้องเอามาแบ่งปันผลประโยชน์อีก ซึ่งก่อนที่จะไปถึงจุดนั้น ขอถามว่า ณ วันแรกที่โรงงานลงทุนเป็นร้อย เป็นพันล้านเพื่อให้ได้น้ำตาลออกมา และให้ได้ของเสียคือ กากน้ำตาล กากอ้อย ณ วันนั้นผมต้องลงทุนในการกำจัด ต้องสร้างที่เก็บ จ่ายเงินเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อม แต่พอวันหนึ่งกากน้ำตาลสามารถพัฒนานำไปทำเหล้า ซีอิ๊ว ผงชูรส หรือไปทำเอทานอลที่มีมูลค่าขึ้นมา เพื่อให้เป็นโปรดักส์ และต้องลงทุนตรงนั้นอีกเป็นร้อยเป็นพันล้าน ถามว่าชาวไรที่ขายอ้อยมาตั้งแต่วันแรกลงทุนตรงไหนเพิ่ม
ที่ผ่านมาในกากอ้อยนี้ ทางโรงงานก็ได้พยายามจะพูดคุยกับชาวไร่ ซึ่งในส่วนของชาวไร่ในข้อเท็จจริงก็มีชาวไร่ที่จะเอาและไม่เอาเรื่องแบ่งปันผลประโยชน์จากกากอ้อย ทั้งนี้หากชาวไร่อ้อยอยากจะได้ราคาหรือรายได้ที่ดีขึ้นก็มีวิธีอื่นที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็อยากให้เห็นใจโรงงานที่ต้องใช้เงินในการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำตาล เช่น ปาติเคิลบอร์ด ที่ต้องลงทุนเป็นพันล้านบาท แต่วันนี้โรงงานปาติเคิลบอร์ดปิดตัวไปแล้วจากธุรกิจไปต่อไม่ได้ แต่ชาวไร่อ้อยก็ไม่ได้มารับภาระด้วยซักบาท
แต่วันนี้พอผมไปลงทุนแล้วคุณบอกว่าต้องมาแบ่ง มาแบ่งก็ได้ แต่ก่อนที่เอามาคิดคำนวณในการแบ่งปันผลประโยชน์ 70 : 30 ให้คุณหักน้ำหนัก(กากอ้อย)ออกก่อนเพราะผมซื้อมาแล้ว ให้คุณหักส่วนที่ผมซื้อออกไปก่อน แล้วถ้ามันมีมูลค่าเหลือจะเอามาแบ่งก็เอามาแบ่ง ซึ่ง สส.หรือสภาที่ผ่านร่างกฎหมายนี้มา ผมบอกเลยว่า ผ่านมาเพื่อให้ธุรกิจนี้ล่มสลาย เพราะว่าทะเลาะกันเละเทะ
สำหรับเรื่องกากอ้อยนี้ทางโรงงานน้ำตาลยอมรับว่ามีความไม่สบายใจ เพราะเดิมในการตรากฎหมายอ้อยฯฉบับเดิม ในเรื่องต่าง ๆ ทางโรงงาน และชาวไร่อ้อยจะพูดคุยกันก่อน แต่เวลานี้ได้ตรากฎหมายใหม่แล้วเหมือนถูกเอาปืนมาจ่อหลังให้ไปเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ที่มองว่ามีความซ้ำซ้อน
ขณะที่เวลานี้ร่าง พ.ร.บ.อ้อยฯฉบับใหม่ได้ผ่านความเห็นชอบจากทั้งสองสภาไปแล้ว และเตรียมประกาศในราชกิจจานุเษกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ ดังนั้นทางออกในเรื่องนี้ (กากน้ำตาล)ทางโรงงานพร้อมเจรจาว่าจะแบ่งปันกันอย่างไร โดยคุยกันแบบพี่น้อง อาจมี สส.นั่งตรงกลาง และต้องฟังความด้วยเหตุและผล บนพื้นฐานที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย
จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 19 ตุลาคม 2565
อัครเดชแนะ สอน.เป็นกาวใจ ดึง รง. -ชาวไร่แบ่งปันผลประโยชน์ กากอ้อย win win
อัครเดช รองประธานพิจารณากฎหมายอ้อยฯ ฉบับใหม่ ชี้เป้าหมายตอบโจทย์บราซิลฟ้องไทยอุดหนุนน้ำตาล พร้อมแก้ไขคำนิยม นำกากอ้อยบวกเพิ่มเงินให้ชาวไร่ ตามสภาพเศรษฐกิจ และเทคโนโลยีการผลิตที่เปลี่ยนไป แนะ สอน.เป็นกาวใจ ดึง รง.-ชาวไร่หารือรายละเอียดแบ่งผลประโยชน์ หวัง win win
ในการสัมมนาออนไลน์ THE BIG ISSUE 2022 น้ำตาลทราย มรสุม WTO กฎหมายใหม่ จัดโดยฐานเศรษฐกิจ (19 ต.ค. 2565) นายอัครเอช วงษ์พิทักษ์โรจน์ รองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.)พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)อ้อยและน้ำตาลทราย ฉบับที่ .. พ.ศ. .... กล่าวในการบรรยายพิเศษ เรื่อง "อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลหลัง พ.ร.บ.ใหม่" ว่า ร่างพ.ร.บ.อ้อยฯฉบับแก้ไขเพิ่มเติม เวลานี้ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาแล้ว และอยู่ในขั้นตอนการนำทูลเกล้าฯเพื่อลงพระปรมาภิไธย ก่อนประกาศมีผลบังคับใช้ต่อไป
สำหรับพ.ร.บ.ฉบับนี้ ทางคณะรัฐมนตรี(ครม.) และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงสมาพันธ์ชาวไร่อ้อยฯ ได้ร่วมกันเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 ที่เป็นกฎหมายฉบับเดิมที่ใช้มานานเกือบ 40 ปีแล้ว มีเป้าหมายเพื่อตอบโจทย์บราซิลที่ฟ้องไทยต่อองค์การการค้าโลก (WTO) ให้รัฐบาลเลิกแซงแทรกหรืออุดหนุนน้ำตาลในการส่งออก และปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้มีความทันสมัย และให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีในการผลิตอ้อยในปัจจุบัน
ถามว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ทุกฝ่ายที่มีส่วนได้เสียและมีส่วนเกี่ยวข้องได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณาครบถ้วนหรือไม่ ในการตรากฎหมายฉบับนี้ในส่วนของคณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้ที่เสนอร่างกฎหมายก็เข้ามานั่งในส่วนของกรรมาธิการวิสามัญพิจารณากฎหมายฉบับนี้ รวมถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั้งในส่วนของรัฐบาล และในส่วนของฝ่ายค้าน ตัวแทนจากสมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทยที่เข้ามานั่งในส่วนนี้ด้วย ซึ่งชาวไร่อ้อยได้เข้ามานั่งในสัดส่วนของกรรมาธิการในส่วนของเจ้าของ หรือผู้ที่เสนอร่างพระราชบัญญัติอ้อยฯในฉบับแก้ไขนี้
ขณะในส่วนของโรงงานน้ำตาลทางประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.อ้อยฯ (นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์) ได้เชิญทางโรงงานเข้ามานั่งในฐานะที่เป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาแก้ไขร่าง พ.ร.บ. รวมถึงได้แต่งตั้งเข้าไปนั่งในชุดของอนุกรรมาธิการในการพิจารณากลั่นกรองกฎหมายฉบับนี้ด้วย ถือว่าการที่ได้ออกกฎหมายฉบับนี้ถือว่าเป็นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ชาวไร่อ้อย และส่วนที่ 3 คือโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งทั้ง 3 ส่วนนี้ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการตรากฎหมายฉบับนี้ และ 3 ส่วนนี้ถือเป็นส่วนที่สำคัญในองค์ประกอบของคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย หรือ กอน.อยู่แล้ว
อย่างไรก็ดีจากร่าง พ.ร.บ.นี้ได้นำสู่ความขัดแย้ง จากที่โรงงานน้ำตาล ไม่ยอมรับการกำหนดคำว่า "กากอ้อย"ในนิยาม "ผลพลอยได้" ต้องนำมาแบ่งปันผลประโยชน์ในระบบด้วย(จาก พ.ร.บ.ฉบับเดิมกากอ้อยรวมอยู่ในน้ำหนักอ้อยที่โรงงานรับซื้อและนำมาคำนวณในระบบแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงานแล้ว) โดยโรงงานน้ำตาลระบุไม่ได้มีส่วนร่วมในคณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ตั้งแต่แรก นำมาซึ่งความไม่พอใจและทยอยลาออกจากคณะกรรมการ 5 คณะตาม พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ส่งผลให้ระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทยสะดุดเวลานี้
ในเรื่องนี้จะมีทางออกย่างไร นายอัครราชเดช กล่าวว่า จากที่เวลานี้ พ.ร.บ.อ้อยฉบับนี้ได้ผ่านกระบวนการทางนิติบัญญัติไปแล้ว และอยู่ในช่วงการเตรียมประกาศบังคับใช้ ดังนั้นในส่วนนี้ มองว่าภาครัฐต้องไปทำความเข้าใจกับทางโรงงาน และชาวไร่อ้อยโดยต้องประชุมหารือกันว่าจะปฏิบัติตามกฎหมายนี้อย่างไร เพื่อให้ทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นชาวไร่ หรือโรงงานสามารถที่จะขับเคลื่อนและร่วมมือกันต่อไปได้
การลาออกของฝ่ายโรงงานจากกรรมการทั้ง 5 คณะ ไม่ว่าจะเป็นของคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.) คณะกรรมการกองทุน คณะกรรมการอ้อย คณะกรรมการน้ำตาลทราย ตรงนี้ถือว่ามีผลกระทบ แต่ผมคิดว่าทุกภาคส่วนโดยเฉพาะในส่วนของ สอน.(สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย) ที่เป็นตัวแทนของกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นตัวแทนของรัฐบาลต้องไปแก้ปัญหาตรงนี้ และไปทำความเข้าใจในรายละเอียด เพราะกฎหมายที่เรามีการแก้ไขก็คือการแก้ไขคำนิยามขอคำว่า ผลพลอยได้ ซึ่งมีผลกระทบและคิดว่าเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ทางโรงงานอุตสาหกรรมอาจจะเกิดความไม่เข้าใจ และเป็นเรื่องของผลประโยชน์ที่จะต้องนำมาแบ่งปันกัน
โดยในส่วนนี้ภาครัฐ ชาวไร่ และโรงงานจะต้องมาหารือกันว่าจะต้องแบ่งปันกันอย่างไร ให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย เพราะในกฎหมายไม่ได้ระบุรายละเอียดไว้ แต่ระบุไว้ว่าการแก้ไขคำนิยามของ ผลพลอยได้ ให้รวมถึงไม่ใช่เฉพาะกากน้ำตาลอย่างเดียว แต่ให้รวมถึงกากอ้อย รวมถึงส่วนที่ตกตะกอนจากหม้อกรองด้วยที่ต้องนำเอามาคำนวณแบ่งปันผลประโยชน์ด้วย
ส่วนในเรื่องบราซิลร้องเรียน WTO เรื่องการอุดหนุนน้ำตาลของไทย จากที่ได้มีโอกาสคุยกับทางสมาพันธ์ชาวไร่อ้อย ผู้ที่มีความรู้ทางด้านนี้ รวมถึงในส่วนของภาครัฐในระหว่างที่มีการตรากฎหมาย ซึ่งจริง ๆ แล้วประเด็นที่บราซิลร้อง ปัจจุบันนี้ก็ผ่อนคลายไประดับหนึ่งแล้ว เพราะทางส่วนที่เกี่ยวข้องอย่าง สอน.เอง หรือ กอน.เองก็มีการแก้ไขกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เป็นไปตามที่บราซิลได้ร้องไปมากแล้ว
จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 19 ตุลาคม 2565
พาณิชย์ แนะแก้กฎหมาย ยุติบราซิลฟ้อง WTO ไทยอุดหนุนน้ำตาล
พาณิชย์ แนะทางออกแก้กฎหมาย พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย สางปัญหาบราซิลฟ้อง WTO เหตุไทยอุดหนุนน้ำตาลมั่นใจคดีความได้ข้อยุติ หลังไทยผ่านประสบการณ์หลายคดี
นายดวงอาทิตย์ นิธิอุทัย รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยในงานสัมมนา THE BIG ISSUE น้ำตาลขม มรสุม WTO กฎหมายใหม่ ช่วงความเสี่ยงและทางออกบราซิลฟ้ององค์การการค้าโลก(WTO) ไทยอุดหนุนน้ำตาล ว่า กรณีการฟ้องร้องที่มีการยื่นเรื่องต่อ WTO นั้นถือเป็นเรื่องปกติ หากย้อนกลับไปพบว่าไทยได้ดำเนินการเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาลตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ซึ่งไทยได้เป็นสมาชิกของ WTO ในปี 2535 โดยข้อตกลงในการเป็นสมาชิกนั้นมีผลในปี 2538 ซึ่งตามปกติเมื่อไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์กรระหว่างประเทศหรือผูกพันข้อตกลงต่าง ๆจะต้องดำเนินการปรับแก้ไขกฎหมายของไทยให้สอดคล้องกับข้อตกลงเหล่านั้น
เรื่องนี้ควรดำเนินการในเรื่องข้อกฎหมายในช่วง 30 ปี ที่ผ่านมาแล้ว โดยตามปกติประเทศสมาชิกของ WTO รายใดที่เล็งเห็นว่าประเทศเขาเดือดร้อน เขามีสิทธิที่จะยื่นฟ้องร้องต่อ WTO ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นหนึ่งในหลายเรื่อง ที่เป็นคดีความได้เช่นกัน เพราะไทยก็ยื่นฟ้องร้องหลายประเทศ ประมาณ 14 คดี
ขณะเดียวกันกระทรวงพาณิชย์มีคณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก ทำหน้าที่เป็นผู้แทนของไทย โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เป็น1กรมที่อยู่ภายใต้กระทรวงพาณิชย์ ได้ทำงานใกล้ชิดร่วมกัน ซึ่งกระบวนการในการระงับข้อพิพาทเรื่องอ้อยน้ำตาลถือเป็นคดีความ เพราะมีการยื่นเรื่องฟ้องร้องแล้ว เมื่อบราซิลมีการยื่นเรื่อง ทำให้ต้องดำเนินการตามกระบวนการของศาล ทั้งนี้ในความตกลงระหว่างกันได้มีการเจรจาเพื่อไกล่เกลี่ยร่วมกันก่อน ซึ่งอยู่ในกระบวนการของศาลเช่นเดียวกัน ที่ผ่านมาจาก 14 คดี มีหลายเรื่องที่สามารถเจรจาจนได้ข้อยุติและสิ้นสุดคดีความแล้ว และบางคดีความยังคงอยู่ในกระบวนการของศาล เพราะยังไม่ได้ข้อยุติ
การรับมือถึงกรณีดังกล่าวนั้น เชื่อว่าไทยผ่านประสบการณ์มาแล้วหลายคดี ไม่ใช่เรื่องตื่นตระหนก เพราะเราดำเนินการตามกระบวนการ ส่วนกรณีที่อุดหนุนอ้อยและน้ำตาลภายในประเทศ ไม่ใช่เรื่องที่ดำเนินการไม่ได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้ข้อจำกัดว่าไทยให้สัญญาร่วมกับ WTO ไว้อย่างไร โดยไทยมีสิทธิ์อุดหนุนสินค้าเกษตรในวงเงินประมาณ 19,000 ล้านบาท ทั้งนี้คงต้องประเมินอีกครั้งภายหลังจากการแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาลทราย มีผลบังคับใช้ หลังจากนั้นจะหารือกับบราซิลต่อไป
ทั้งนี้ในการยื่นฟ้องร้องของบราซิลอยู่ในกระบวนการการระงับข้อพิพาท ซึ่งเป็นข้อจำกัดอย่างหนึ่ง หากไทยจะเจรจาหารือต้องระมัดระวังด้วย ขณะนี้ได้รับทราบว่าสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) จะมีการปรับโครงสร้างระบบอ้อยและน้ำตาล ซึ่งเป็นช่วงที่ได้หารือกับบราซิลมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบันกว่า 10 ครั้ง ซึ่งไทยและบราซิลสามารถหารือร่วมกันได้ดี โดยบราซิลก็เข้าใจเหตุผลด้วยเช่นกัน ทั้งนี้จะต้องรอการแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย แล้วเสร็จก่อนว่าจะมีผลกระทบต่อบราซิลในอนาคตหรือไม่
จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 19 ตุลาคม 2565
รง.น้ำตาลยังกังวล บราซิลฟ้อง WTO ตัดสินไทย ชี้ร่างกม.ใหม่ยังมีช่องโหว่
รง.น้ำตาลยังกังวล บราซิลฟ้อง WTO ตัดสินไทย ชี้ร่างกฎหมายใหม่ยังมีช่องโหว่ โดยฉพาะการอุดหนุนของกองทุนน้ำตาล สุดท้ายแล้วคงเป็นเรื่องที่กรมเจรจาฯจะต้องมองว่าจะกระทบกับการค้าของไทยอย่างไร ส่วนปลายปีนี้จะเปิดหีบอ้อยได้หรือไม่ ยังไม่มีคำตอบ
นายสมคิด บรรยาย ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย 3 สมาคมโรงงานน้ำตาล กล่าวในการเสวนา The Big Issue :น้ำตาลขม มรสุม WTO กฎหมายใหม่ ช่วงเสวนา ความเสี่ยงน้ำตาลไทยและทางออกบราซิลฟ้อง WTO ว่า ได้เป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการยกร่างกฎหมายอ้อยและน้ำตาลฉบับใหม่ ยังมีความกังวลว่าเรามีการแก้ตามที่ทางบราซิลฟ้องร้องไทยหรือไม่ ซึ่งก็ได้เห็นรายงานของศาสตราจารย์ทัชมัย ฤกษะสุต นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ทั้งนี้ยอมรับว่ายังมีความกังวล เหมือนเราไปเปิดหน้าชี้ช่องให้ทางบราซิลรู้ว่าไทยยังมีการอุดหนุนและแทรกแซงประเด็นที่มองว่าเป็นการแทรกแซงคือ การที่มีคณะกรรมการซึ่งมีส่วนของภาคราชการอยู่ในนั้นด้วย และพ.ร.บ.ฉบับเดิมระบุว่ากรรมการ หรืออนุกรรมการชาวไร่ หรือโรงงานถือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ถ้าไปกำหนดไม่ว่าจะเป็นเรื่องราคา หลักเกณฑ์ประมาณการรายได้ หรือจัดสรรปริมาณน้ำตาล ก็จะเป็นลักษณะของการแทรกแซงก็เป็นข้อกังวลว่าเราแก้มาถูกทางหรือครบถ้วนหรือไม่
เหมือนที่ อ.ทัชมัย เขียนในรายงานการสรุปกรรมการบริหารมาตรการ 49 ประมาณการรายได้ไว้ในระบบ ตรงนี้ผมว่าเราแก้แต่ก็เหมือนไม่ได้แก้ ตรงจุดนี้บราซิลจะมองว่าราชการก็หน่วยงานรัฐยังมาแทรกแซงอยู่ในเรื่องของการกำหนดราคา กำหนดรายได้ของระบบเพื่อจะไปกำหนดราคาอ้อย ราชการก็เข้าไปแทรกแซง ทำให้ราคาอ้อยอาจจะไม่เป็นไปตามกลไกตลาด และช่วงปี 2561-62 ก็มีการแก้ไขว่าไม่กำหนดราคาน้ำตาลในประเทศ ซึ่งก็ไม่แตกต่างจากที่กรมการค้าภายในไปกำหนดราคาน้ำตาลทรายก็ยังเหมือนเดิม ผมก็มองว่าบราซิลอาจจะฟ้องเพิ่มหรือเปล่านี่เป็นข้อกังวล และการไปกำหนดหลักเกณฑ์ราคาน้ำตาลทรายในปี 64 นี้ก็เหมือนกัน สำนักงานอ้อยและน้ำตาลทรายก็ไปกำหนดปริมาณจัดสรรให้น้ำตาลแต่ละโรงงานขาย ใช้ในการคำนวณราคา อย่างไรก็ตาม ผมมองว่าอาจจะเข้าข่ายการแทรงแซงกำหนดปริมาณโรงงาน คุณต้องขายเท่านี้ถ้าเกินก็เอาเข้ากองทุนและกองทุนก็มาจ่ายคืนโรงงาน ซึ่งกองทุนก็หน่วยงานของรัฐก็มองว่าเข้าข่ายการอุดหนุนที่บราซิลจะฟ้องเราเพิ่มหรือเปล่า จากที่เขาฟ้องเรา เราดันไปเปิดเผยว่าเรายังมีประเด็นที่ยังไม่จบก็อาจจะฟ้องเราเพิ่มได้
ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นหากสุดท้ายแล้วบราซิลฟ้องไทย มองว่าคงเป็นเรื่องที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจะต้องมองว่าจะกระทบกับการค้าของไทยอย่างไร ส่วนกฎหมายที่แก้ มองว่ามาตรา 56 ยังไม่ชัดเจน ร่างแรกที่ห่วงที่บอกว่าถ้าราคาน้ำตาลตามขั้นต้นให้ไปหักจากราคาอ้อย ตรงนี้ยังพอรับได้ แต่พอหลังจากร่างผ่านสภามาแล้วกองทุนยังอุดหนุนเหมือนเดิมซึ่งประเด็นนี้เหมือนยังไม่ได้แก้ตามที่ทางบราซิลฟ้องไทย ที่กองทุนยังไปอุดหนุดชดเชยให้โรงงาน
ส่วนปลายปีนี้จะสามารถหีบอ้อยได้หรือไม่นั้น ก็มีการพูดคุยกับชาวไร่และโรงงาน ซึ่งต้องพูดคุยและตกลงกันได้ก่อนที่จะมาออกกฎหมาย กฎระเบียบ แต่เมื่ออกมาแล้วก็อาจจะถึงจุดบอดจะเดินต่อไปไม่ได้เพราะเมื่อกฎหมายออกมาแล้วอยู่ในประมาณการรายได้ที่จะเอาไปกำหนดราคาอ้อยว่าจะคิดหรือไม่คิด ซึ่งก็ยังมองไม่ออกว่าจะคุยกับรู้เรื่องในประเด็นใด เพราะเป็นเรื่องกฎหมายที่ออกมาแล้ว เท่าที่คุยกับครั้งแรกว่าจะทำเป็นข้อตกลง ซึ่งตนมองว่าข้อตกลงมาหักร่างข้อกฎหมายไม่ได้เมื่อกฎหมายเขียนไว้แล้วว่ากากอ้อยเป็นผลพลอยได้ต้องนำมาคำนวณเป็นรายได้ของระบบ ผมมองว่ายังไม่ควรเอามาคิดและราชการคงไม่กล้าทำโดยที่จะไม่เอากากอ้อยมาคำนวณเป็นรายได้ของระบบ เพราะตามกฎหมายต้องเอามาคำควณ ซึ่งตรงนี้อาจจะกระทบโรงงานก็ยอมไม่ได้
ขณะที่ตัวแทนฝ่ายโรงงานที่ทยอยลาออกจากคณะกรรมการทั้ง 5 คณะตาม ตาม พ.ร.บ.อ้อยฯ ที่ถอดตัวออกไปก่อนหน้านั้นจะกลับเข้ามาหรือไม่นั้น ยังตอบไม่ได้ แต่ก็มีการหารือกับทางผู้แทนโรงงานซึ่งยังไม่ได้ข้อยุติ
จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 19 ตุลาคม 2565
มั่นใจไทยเจรจาบราซิล ปลดล็อกปม"น้ำตาลทราย" ใน WTO
"ศ.ทัชมัย" อาจารย์นิติศาสตร์ จุฬาฯชี้ กฏหมายอ้อย-น้ำตาลทรายใหม่ มีเงื่อนให้ชี้ได้ว่าผิดกติกา WTO แต่ต้องทำให้อุตสาหกรรมอยู่รอดประเทศได้ประโยชน์ เชื่อมั่นทีมเจรจาไทยทำความเข้าใจบราซิลได้ อีกทั้งขั้นตอนยังมีอีกยาว
ศ.ทัชมัย ฤกษะสุต นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในการเสวนา"ความเสี่ยงน้ำตาลไทย และทางออกบราซิลฟ้อง WTO" ในการสัมมนาThe Big Issue 2022 น้ำตาลขม:มรสุม WTO/กฏหมายใหม่" จัดโดยฐานดิจิทัล ว่า ในมุมมองทางวิชาการ จากที่ร่วมคณะวิจัยของ TDRI เมื่อศึกษาข้อกำหนดและกลไกต่าง ๆ ตามร่างพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลฯฉบับใหม่ที่รอประกาศใช้นั้น หากใช้เกณฑ์ทางวิชาการล้วน ๆ แล้ว ยังไม่ตอบโจทย์ของบราซิลที่ยื่นเรื่อง WTO ร้องว่าไทยอุดหนุนราคาน้ำตาลทราย ทำให้บราซิลเสียหาย
ทั้งนี้ต้องเข้าใจก่อนว่า การอุดหนุนสินค้าเกษตรตามหลักเกณฑ์ของ WTO ไม่ใช่ว่าห้ามทำโดยเด็ดขาด แต่ให้ทำได้ภายใต้ข้อจำกัด ซึ่งแบ่งเป็นการอุดหนุนประเภทต่าง ๆ อาทิ กรีนบ็อกซ์ บลูบ็อกซ์ หรือแอมเบอร์บ็อกซ์ การที่รัฐช่วยเมล็ดพันธุ์พืชแก่เกษตรกรที่ประสบภัยธรรมชาติทำได้ หรือกำหนดเพดานให้รัฐบาลไทยอุดหนุนเกษตรกรทุกประเภทรวมกันได้ไม่เกินปีละ 19,000 ล้านบาท หรือการอุดหนุนด้านการขนส่งสำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่ WTO ขยายเวลาให้ได้ถึงปี 2566 เป็นต้น ดังนั้น หากจะอุดหนุนก็ต้องทำให้ถูกต้อง
ศ.ทัชมัยกล่าวอีกว่า อีกบทบาทของตนคือเป็นกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลฉบับใหม่ ซึ่งต้องพิจารณาภาพรวมให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศ กฎหมายที่ออกมา ต้องทำให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายอยู่รอดและไปได้ด้วย ดังนั้น หากจะเขียนกฎหมายให้เข้าหลักเกณฑ์ WTO อย่างหมดจดเลยนั้น อุตสาหกรรมนี้น่าจะไปไม่รอด
เรื่องการอุดหนุนผู้ผลิตนั้นรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ก็ทำกันรวมถึงบราซิล เพียงแต่เขามีลูกเล่น เขาช่วยเกษตรกรเป็นครั้งคราว เช่น มีปัญหาครั้งหนึ่งก็ออกกฎหมายช่วยชดเชยให้เฉพาะครั้งนั้น ๆ แล้วจบ ไม่มีกลไกถาวรจึงร้อง WTO ไม่ได้ ออสเตรเลียก็อุดหนุนเพียงแต่ยังไม่มีใครเอาเรื่อง"
ถ้ามุ่งเน้นว่าเป็นเด็กดีของ WTO บทบัญญัติหลายมาตราในร่างพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลฯฉบับใหม่ แก้ไปหลายจุด เช่น มาตรา 17(8) แก้ไขแล้ว ตัดเรื่องการกำหนดราคาขายน้ำตาลทรายออก แต่หลายมาตรายังอาจถูกตีความได้ว่า ภาครัฐยังมีบทบาทแทรกแซงกลไกอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลอยู่ เช่น ตัดเรื่องการรับเงินชดเชยจากรัฐบาลเปลี่ยนมาเป็นกองทุน แต่ก็ยังถูกมองได้ว่าเป็นภาครัฐ มาตรา 56 เรื่องคณะกรรมการบริหาร แม้ส่วนใหญ่เป็นตัวแทนโรงงาน-ชาวไร่อ้อย แต่บางตำแหน่งถูกตีความได้ว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หรือเรื่องการชดเชยราคาอ้อยขั้นสุดท้ายต่ำกว่าขั้นต้นได้ เป็นต้น
ศ.ทัชมัย กล่าวต่อว่า กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.อ้อยฯ มีตัวแทนจากทุกหน่วยงานทุกภาคส่วนที่มีส่วนได้เสียในอุตสาหกรรมนี้ พิจารณาออกกฎหมายภายใต้เป้าหมายอุตสาหกรรมอ้อย-น้ำตาลทรายต้องอยู่ได้ และเป็นประโยชน์กับประเทศ ส่วนข้อพิพาทกับบราซิลที่ไปร้อง WTO นั้น เราควรพินิจพิจารณาอย่างรอบคอบ เป็นเรื่องที่ต้องตระหนักแต่ไม่ควรตื่นตระหนก บราซิลร้องไทยมา 6 ปีแล้ว และยังอยู่ในขั้นตอนการเจรจาไกล่เกลี่ยระหว่างประเทศผู้ร้องและประเทศผู้ถูกร้องยังไม่ไปไหน จึงเชื่อมั่นได้ในทีมเจรจาของฝ่ายไทยที่เชื่อว่าเราเอาอยู่ และกรณีพิพาททางการค้านั้นถ้าพูดคุยกันดีๆ ก็จบสวยได้
โดยขั้นตอนการระงับข้อพิพาททางการค้าใน WTO เริ่มต้นในขั้นตอน Consultation ประเทศที่เห็นว่าถูกปฎิบัติไม่เป็นธรรม ยื่นร้องต่อ WTO จากนั้นประเทศผู้ร้องและประเทศผู้ถูกร้องต้องมาพูดคุยเจรจากันเองก่อน เป็นขั้นตอนทางการทูต ซึ่งไม่มีกำหนดกรอบเวลา เพียงแต่ถ้าพ้น 60 วันไปแล้ว ถ้าประเทศผู้ร้องเห็นว่าไม่คืบหน้า สามารถร้องตั้ง Panel หรือการตั้งผู้พิพากษามาพิจารณาคดี
กรณีน้ำตาลทรายของไทยที่บราซิลร้อง WTO ผ่านมา 6 ปี ยังอยู่ในขั้นตอนแรก สะท้อนว่าทางบราซิลเองก็คงเห็นความคืบหน้าการดำเนินการของฝ่ายไทย จึงยังไม่ขยับสู่ขั้นตอนที่ 2 และหากคุยกันได้ข้อสรุปก็ยุติเรื่องได้ ส่วนคดีที่บราซิลร้องอินเดีย เรื่องขึ้นสู่ขั้นตอนตั้งผู้พิพากษา และมีการตัดสินคดีไปแล้วให้อินเดียแพ้ แต่อินเดียได้อุทธรณ์ และคดีน้ำตาลทรายไทยไม่ใช่คดีเดียว ใน WTO นั้นมีการยื่นร้อง 614 เรื่อง อยู่ในขั้นตอน Consultition 182 คดี
ศ.ทัชมัยกล่าวอีกว่า หรือถึงแม้จะถูกยื่นตั้ง Panel มีผู้พิพากษามาตัดสินคดีนั้น ทางคดีก็มีขั้นตอนอีกยาว โดยหากมีคำพิพากษาออกมาและให้ไทยเป็นฝ่ายผิด ยังสามารถยื่นอุทธรณ์ ซึ่งเวลานี้กลไกขึ้นอุทธรณ์ของ WTO ยังเป็นเป็ดง่อยอยู่ ซึ่งนี่อาจเป็นข้อดีของฝ่ายเรา รวมทั้งเมื่อถึงขั้นตอนบังคับคดีหลังมีคำพิพากษาถึงที่สุด หากเรายังไม่ปฎิบัติตาม ตามขั้นตอนทางบราซิลที่ประกาศตอบโต้ทางการค้า ต้องร้อง WTO ซ้ำ ว่าไทยดื้อแพ่งไม่ปฎิบัติตามคำตัดสิน ซึ่งก็มีขั้นตอนเช่นเดียวกับตอนร้องคดี แต่ใช้เวลาสั้นกว่า
รวมทั้งไทยอาจท้วงขอตั้งอนุญาโตตุลาการขึ้นมาพิจารณาขนาดของการตอบโต้ ตามที่ทางบราซิลแจ้งมา เพื่อดูว่ารายการต่าง ๆ นั้น เหมาะสมแค่ไหนเพียงใด โดยระหว่างนี้บราซิลยังทำอะไรไม่ได้ ต้องรออนุญาโตตุลาการสรุปก่อน จะเห็นว่ายังมีขั้นตอนอีกยาว
อย่างไรก็ตาม ดร.ทัชมัยชี้ว่า มีจุดที่ยังต้องเฝ้าระวัง โดยในคดีที่บราซิลร้องอินเดีย และอินเดียถูกตัดสินให้แพ้นั้น แม้อินเดียอ้างว่าการอุดหนุนราคานั้นทางโรงงานเป็นผู้จ่ายให้แก่ชาวไร่ก็ตาม คำพิพากษาชี้ว่า ก็ยังถือว่าเป็นการอุดหนุนราคา ซึ่งต้องระมัดระวังให้ดีในการเจรจาหรือต่อสู้คดีใน WTO
จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 19 ตุลาคม 2565
ครม.อนุมัติตั้งกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย เปิดแหล่งที่มาเงิน 9 แห่ง
วันที่ 18 ตุลาคม 2565 น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการขอจัดตั้งกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ตามร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่ ) พ.ศ. ตามที่คณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียนเสนอ
โดยการจัดตั้งกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (ใช้ชื่อตามกองทุนเดิม) การจัดตั้งกองทุนนี้ สืบเนื่องจากได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่ ) พ.ศ. โดยมีการโอนกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ตาม พ.ร.บ.อ้อยและน้าตาลทราย พ.ศ. 2527 ซึ่งเป็นทุนหมุนเวียนเดิมไปเป็นทุนหมุนเวียนใหม่ และมีเพิ่มเติมวัตถุประสงค์ของกองทุน
วัตถุประสงค์ของกองทุนนี้ เพื่อสนับสนุน ส่งเสริม ศึกษา วิจัย และพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายให้เป็นไปตามนโยบายของประเทศในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน รวมทั้งรักษาเสถียรภาพของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเพื่อผลประโยชน์ของชาวไร่อ้อย โรงงาน และผู้บริโภค และกระทำการอื่นที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของกองทุน
และเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศไทย การจ่ายเงินของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายเพื่อชดเชยราคาอ้อย จะต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับพันธกรณีภายใต้องค์การการค้าโลก หรือ WTO ที่กำหนดให้เป็นงบประมาณจากภาครัฐ น.ส.ทิพานันกล่าว
จาก https://www.prachachat.net/ วันที่ 18 ตุลาคม 2565
57 รง.น้ำตาลจี้เปิดหีบอ้อย ดันเศรษฐกิจหมุน 1.2 แสนล้าน ลุยเดินหน้าระบบเสรี
โรงงานน้ำตาลจี้ เลขาฯสอน.-รัฐมนตรี 3 กระทรวงที่เกี่ยวข้อง ใช้อำนาจประกาศเปิดหีบอ้อย ดันเศรษฐกิจหมุนเวียนอีก 1.2 แสนล้าน ชี้หากไม่กล้าเตรียมเดินหน้ายื่นศาลปกครองขอคุ้มครองชั่วคราว ให้โรงงานเปิดหีบเอง ยันไม่ขอร่วมบริหารจัดการอ้อยตาม พ.ร.บ.ใหม่ ปลดบ่วงรัฐรอบ 38 ปี
จากที่ประชุม 57 โรงงานน้ำตาลทรายทั่วประเทศเมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2565 ได้มติเห็นพ้องกันในการกำหนดวันเริ่มเปิดหีบอ้อยผลิตน้ำตาลทราย ฤดูการผลิตปี 2565/2566 ตั้งแต่วันที่ 23 พ.ย. 2565 เป็นต้นไป โดยโรงงานเห็นพ้องกันที่จะกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นเองเป็นครั้งแรกในรอบ 38 ปี ภายใต้ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ปี 2527 (เดิมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายที่ประกอบด้วยผู้แทนฝ่ายราชการ ผู้แทนฝ่ายชาวไร่อ้อย และผู้แทนฝ่ายโรงงาน ร่วมกันกำหนดราคา) เป็นราคาเดียวกันทั่วประเทศที่ตันละ 1,040 บาท ณ ค่าความหวาน 10 ซี.ซี.เอส. หรือตันละ 1,200 บาท ที่ค่าความหวานเฉลี่ย 12.61 ซี.ซี.เอส.
ทั้งนี้เป็นผลจากโรงงานน้ำตาลประกาศไม่เข้าร่วมบริหารจัดการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ภายใต้ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายฉบับใหม่ที่คาดจะประกาศบังคับใช้ปลายปีนี้ หลังในร่าง พ.ร.บ.อ้อยฯฉบับใหม่ได้เพิ่มคำว่า กากอ้อย รวมในบทนิยาม ผลพลอยได้ โดยให้ถือเป็นรายได้ของระบบด้วย ซึ่งในเรื่องนี้โรงงานน้ำตาลได้คัดค้านมาโดยตลอด โดยระบุว่าขัดกับหลักการข้อตกลงเดิมระหว่างชาวไร่อ้อยกับโรงงาน และในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ทางโรงงานก็ไม่ได้รับการแต่งตั้งให้เข้าร่วมในคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ล่าสุดกรรมการผู้แทนจากฝ่ายโรงงานในคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) และในคณะกรรมการบริหาร (กบ.) ตาม พ.ร.บ.อ้อยฯได้ลาออกแล้ว ส่วนคณะกรรมการอื่น ๆ อยู่ระหว่างการดำเนินการลาออก
นายโกศล โพธิ์สุวรรณ กรรมการ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เผยกับ ฐานเศรษฐกิจ ว่า ล่าสุด 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายได้ทำหนังสือลงนามถึงสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) (หรือกรมอ้อยและน้ำตาลทราย)เพื่อให้ใช้อำนาจพิจารณากำหนดวันเริ่มต้นหีบอ้อยผลิตน้ำตาลทรายฤดูการผลิต 2565/2566 หลังคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ไม่มีตัวแทนจากฝ่ายโรงงาน ทำให้อาจถูกใช้เป็นเหตุผลหรือข้ออ้างทำให้ กอน.ไม่สามารถประกาศเปิดหีบอ้อยได้
ทั้งนี้หากเลขาธิการ สอน.ไม่กล้าใช้อำนาจสั่งเปิดหีบอ้อย หรือนำเรื่องหารือรัฐมนตรีกระทรวงที่เกี่ยวข้อง (กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์) แล้วทั้งเลขาธิการ หรือรัฐมนตรีไม่ใช้อำนาจในการประกาศวันเริ่มต้นหีบอ้อยฤดูการผลิตใหม่ ที่ปกติทุกปีจะประกาศเปิดหีบในเดือนพฤศจิกายน เราจะใช้เหตุผลที่เขากล่าวอ้างถึงว่าเป็นสาเหตุทำให้ไม่สามารถประกาศเปิดหีบอ้อยได้ เช่น กรรมการไม่ครบก็แจ้งมา เพื่อที่เราจะเอาหนังสือตรงนี้ไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้พิจารณาให้การคุ้มครองชั่วคราว ให้โรงงานสามารถเปิดหีบอ้อยได้
อย่างไรก็ดีนับจากนี้โรงงานจะเข้าสู่ระบบการค้าเสรี ภายใต้กฎกติกาขององค์การการค้าโลก (WTO) เลิกพึ่งกลไก และระเบียบกฎเกณฑ์ของรัฐที่ยังให้การอุดหนุนอุตสาหกรรม ที่เสี่ยงถูกคู่แข่งขันเช่นประเทศบราซิล และประเทศอื่น ๆ ฟ้อง อาจนำมาซึ่งการถูกใช้มาตรการกีดกันหรือตอบโต้ทางการค้า ทั้งนี้ที่ผ่านมารัฐบาลได้ประกาศลอยตัวราคาน้ำตาลทรายมีผลมาตั้งแต่ปี 2561 ถือเป็นการปล่อยตามกลไกตลาดเสรีแล้ว ก็ไม่ควรมีกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายที่กำหนดอัตราให้โรงงานน้ำตาลที่ขายในประเทศต้องนำเงินส่งกองทุนฯ เพื่อมาชดเชยรายได้ของระบบ รวมถึงการใช้กลไกต่างๆ มาควบคุมดูแลที่เข้าข่ายเป็นการอุดหนุนอีก
ด้าน นายรังสิต เฮียงราช ผู้อำนวยการบริษัท ไทยชูการ์มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) หรือผู้อำนวยการ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กล่าวว่า เนื่องจากเวลานี้คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย และคณะกรรมการอื่น ๆ ตาม พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ โรงงานและชาวไร่อ้อยคู่สัญญาซึ่งมีความร่วมมือกันด้วยดีอยู่แล้วจะร่วมมือกันบริหารอุตสาหกรรมนี้ต่อไป โดยโรงงานจะสนับสนุนส่งเสริมชาวไร่อ้อยปลูกอ้อยส่งโรงงานและมีการทำสัญญาซื้อขายอ้อยตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และจะกำหนดราคาอ้อยอย่างเป็นธรรม โดยใช้วิธีการคำนวณคล้ายระบบเดิม
โดยหากราคาอ้อยขั้นสุดท้ายต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้น โรงงานจะรับผิดชอบส่วนต่างเอง และหากราคาอ้อยขั้นสุดท้ายสูงกว่าราคาขั้นต้น โรงงานจะจ่ายส่วนต่างเพิ่มให้ชาวไร่อ้อย
เนื่องจากรายได้หลักของอุตสาหกกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายมาจากน้ำตาลทรายส่งออกเป็นหลัก และบริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด (อนท.) ที่เป็นองค์กรทำหน้าที่ทำราคาส่งออกอ้างอิงสำหรับคำนวณราคาอ้อย มีการทำราคาน้ำตาลทรายดิบส่งออก ฤดูการผลิตปี 2565/2566 ไปแล้วเพียงร้อยละ 50 อีกทั้งโรงงานก็ได้ทำการประกันราคาอ้อยขั้นต่ำไปแล้ว หากโรงงงานไม่สามารถบริหารจัดการการส่งออกได้ ก็จะมีความเสี่ยง ดังนั้นจึงจะได้เร่งรัดให้ อนท. ทำราคาน้ำตาลทรายดิบส่วนที่เหลือให้ได้ในระดับสูงที่สุด หรือหากฝ่ายโรงงานจะนำมาบริหารจัดการทำราคาส่งออกเองในอนาคต ซึ่งจะได้พิจารณาแนวทางดำเนินการ รวมทั้งประเด็นข้อกฎหมายในสัญญาและข้อตกลงที่จัดกับ อนท. ก่อนนายรังสิต กล่าว
ด้าน นายนพพร ว่องวัฒนะสิน ประธานกรรมการฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท น้ำตาลไทยกาญจนบุรี จำกัด และบริษัท น้ำตาลไทยอุดรธานี จำกัด กล่าวว่า จากที่โรงงานได้ประกาศราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2565 /2566 ที่ตันอ้อยละ 1,040 บาท ณ ค่าความหวาน 10 ซี.ซี.เอส. หรือ 1,200 บาทต่อตัน ที่ค่าความหวานเฉลี่ย 12.61 ซี.ซี.เอส ที่กำลังรอภาครัฐประกาศเปิดหีบอ้อย ทั้งนี้หากไม่มีการเปิดหีบอ้อย หากคิดที่ผลผลิตอ้อยที่ 100 ล้านตัน ราคาเฉลี่ยตันละ 1,200 บาท จะคิดเป็นมูลค่าถึง 1.2 แสนล้านบาทที่จะเป็นเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่มีการเปิดหีบอ้อย ดังนั้นจึงขอให้เร่งดำเนินการเพื่อทุกฝ่ายจะได้เตรียมการต่อไป ทั้งนี้เสียงจากชาวไร่อ้อย หากได้ราคาไม่ต่ำกว่า 1,000 บาทต่อตันเขาอยู่ได้และมีกำไร
จาก https://www.thansettakij.com/วันที่ 8 ตุลาคม 2565
แกนนำยืมดาบชาวไร่อ้อยล้มโรงงานสู่เสรี รง.สวนแบ่งผลประโยชน์ไม่เป็นธรรม
เปิดหีบอ้อยวุ่น แกนนำชาวไร่ไม่รับข้อเสนอโรงงานน้ำตาลฟ้องศาลปกครอง เปิดหีบและตั้งราคาอ้อยขั้นต้นเอง แนะให้กลับมาเป็นกรรมการและดำเนินการตามกฎหมาย ชี้ให้ 1,040 บาทต่อตันน้อยไป โรงงานสวนกลับถูกเอาเปรียบซื้ออ้อยตามน้ำหนักไปแล้วมาขอแบ่งผลประโยชน์จาก กากอ้อยอีก
แหล่งข่าวจากแกนนำชาวไร่อ้อย เผยว่า ตามที่ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาล ได้ให้ข่าวเกี่ยวกับการเปิดหีบอ้อยผลิตน้ำตาลทรายในฤดูการผลิตปี 2565 / 2566 โดยจะให้ชาวไร่อ้อยคู่สัญญาไปยื่นฟ้องศาลปกครอง เพื่อให้คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กำหนดวันเปิดหีบอ้อยในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2565 เบื้องต้นโรงงานได้กำหนดราคาอ้อยที่ 10 ซี.ซี.เอส. ที่ 1,040 บาทต่อตันนั้น
เรื่องนี้ชาวไร่อ้อยทั่วประเทศไม่สามารถรับข้อเสนอนี้ได้ เพราะเป็นการดำเนินการของฝ่ายโรงงานน้ำตาลเอง และไม่มีหลักประกันใด ๆ ให้กับชาวไร่อ้อยเลย และปัญหาในปัจจุบันเรื่องการเปิดหีบอ้อยก็เกิดจากการที่โรงงานน้ำตาลลาออกจากคณะกรรมการไม่ใช่ปัญหาเกิดจากชาวไร่อ้อย และส่วนราชการ
ชาวไร่อ้อยเห็นว่าโรงงานน้ำตาลควรกลับเข้ามาเป็นคณะกรรมการและดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด จะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย และราคาอ้อยที่โรงงานเสนอมานั้นก็เป็นราคาที่ต่ำเมื่อเทียบกับการคำนวณราคาอ้อยในระบบปีนี้ ซึ่งมีบางเขตที่คำนวณแล้วราคาอ้อยได้มากกว่า 1,100 บาทต่อตัน ที่ความหวาน 10 ซี.ซี.เอส.
ประกอบกับที่ผ่านมาคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ได้มีแนวทางในการช่วยเหลือชาวไร่อ้อยในการตัดอ้อยสดส่งโรงงานตันละไม่ต่ำกว่า 120 บาท และมีการพิจารณาราคาอ้อยขั้นสุดท้ายเพิ่มให้กับชาวไร่อ้อยทุกปี และขณะนี้ราคาน้ำตาลในประเทศและราคาตลาดโลกอยู่ในระดับที่สูงขึ้น ถ้ามีคณะกรรมการเข้ามาพิจารณาก็จะทำให้รายได้ของระบบมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา
การดำเนินการโดยฝ่ายโรงงานฝ่ายเดียวเท่ากับเป็นการล้มระบบ และเลิกกฎหมายอ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งชาวไร่อ้อยทั่วประเทศไม่สามารถรับได้ และในปัจจุบันการจำหน่ายน้ำตาลภายในประทศและการส่งออกน้ำตาลทรายไปยังต่างประเทศเป็นระบบเสรีอยู่แล้ว ไม่มีข้อขัดแย้งกับองค์การการค้าโลก(WTO) แต่อย่างใด
ปัญหาของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ที่โรงงานน้ำตาลพยามทําอยู่นั้นคือ วัตถุประสงค์ต้องการล้มระบบแบ่งปันผลประโยชน์ 70:30 โดยใช้วิธีการให้กรรมการฝ่ายโรงงานลาออก จากกรรมการทุกคณะตามพระราชบัญญัติอ้อยน้ำตาลทราย ซึ่งทําให้คณะกรรมการคณะต่าง ๆ ไม่สามารถจัดประชุมได้ตามปกติ เนื่องจากขาดองค์ประกอบคือตัวแทนของโรงงานน้ำตาล และก็วางแผนที่จะร้องศาลปกครองเพื่อขอเปิดหีบ และโรงงานก็จะเป็นผู้กําหนดราคาอ้อยที่จะรับซื้อจากชาวไร่อ้อยเอง โดยไม่ต้องฟังเสียงของทางราชการและชาวไร่อ้อย นี่คือวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของโรงงานที่สร้างความวุ่นวายอยู่ในขณะนี้ และไปออกข่าวจะให้ราคาอ้อยตันละ 1,040 บาท ซึ่งตามความเป็นจริงในระบบราคาอ้อยจะต้องได้มากกว่าตันละ 1,040 บาท
ดังนั้นขอให้ชาวไร่อ้อยรอฟังข่าวสารจากส่วนราชการ ซึ่งมีแนวทางในการดําเนินการแก้ไขปัญหาอยู่แล้ว การให้ข่าวของฝ่ายโรงงานเป็นเพียงการสร้างสถานการณ์ เพื่อล้มพระราชบัญญัติอ้อย และน้ำตาลทราย (พ.ร.บ.) เท่านั้น ซึ่งไม่มีชาวไร่อ้อยคนใดเห็นด้วย
ด้านแหล่งข่าวจากโรงงานน้ำตาล กล่าวว่า ปัจจุบัน การซื้อขายอ้อย ถูกกำหนดให้ซื้ออ้อยจากค่าความหวาน (CCS) ในอัตราส่วนที่ 60% และอีกส่วนเป็นการซื้ออ้อยแบบน้ำหนักที่ 40% หมายความว่าอย่างไร นั่นก็คือ โรงงานซื้อสารความหวานในต้นอ้อย ในอัตรา 60% ส่วนน้ำหนักคือโรงงานซื้อสิ่งที่เป็นชานอ้อย สิ่งเจือปนที่มาจากอ้อยทั้งหมด (กาบใบ ดิน ทราย ที่ติดมากับอ้อย)ในอัตรา 40% ในส่วนนี้ไม่สามารถผลิตเป็นน้ำตาลได้ แต่ได้คิดราคากับโรงงานไปแล้ว
ดังนั้น การนำเอากากอ้อยหรือชานอ้อยมาคิดราคาอีก เป็นการคิดราคาที่ซ้ำซ้อนกันหรือไม่ และความเป็นธรรมในระบบอยู่ที่ไหนในการคิดราคาอ้อย ต้องแก้ไขตรงนี้ก่อนที่จะไปคิดระบบส่วนแบ่ง 70:30
ทั้งนี้เนื่องระบบแบ่งปันผลประโยชน์ 70 : 30 (ชาวไร่อ้อย 70 โรงงานน้ำตาล 30 )มีการพูดคุยตกลงกันระหว่างชาวไร่และโรงงานไปก่อนแล้ว ในเรื่องโมลาส และขยะสิ่งเจือปนที่มาอ้อย จึงได้ตกลงในระบบ 70:30
แต่มาปัจจุบันชาวไร่อ้อยไม่ได้มาพูดคุยตกลงกันว่าจะทำอย่างไร ถ้าจะเอากากอ้อย กลับมาคิดเป็นรายได้ค่าอ้อย แต่ใช้วิธียื่นแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยฯ ร่วมกับนักการเมือง ฝ่ายราชการ เสนอแก้ไขเอากากอ้อยมาเป็นรายได้ โดยไม่ฟังเสียงโรงงานเลย จึงเป็นที่มาของเรื่องวุ่นวายในระบบอุตสาหกรรมอ้อยขณะนี้
แกนนำยืมดาบชาวไร่อ้อยล้มโรงงานสู่เสรี รง.สวนแบ่งผลประโยชน์ไม่เป็นธรรม
ดังนั้นต้องเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนระบบกันใหม่ หากต้องการใช้ทุกส่วนของต้นอ้อยเป็นของชาวไร่ ก็จะต้องคิดต้นทุนในทุกกิจกรรม จะยกเว้นไม่คิดต้นทุนใด ๆ แต่จะเอาเพียงรายได้อย่างเดียว ย่อมไม่ได้ ต้องทำให้เกิดความเป็นธรรมในระบบให้ได้ แม้จะไม่ได้ 100% ก็ขอให้ใกล้เคียง แหล่งข่าวจากโรงงานน้ำตาล กล่าว และว่า
เป็นเรื่องน่าคิดที่โรงงานน้ำตาล มีหน้าที่สกัดความหวานจากต้นอ้อยมาทำน้ำตาล โรงงานน้ำตาลไม่สามารถสกัดสิ่งเจือปน อิฐ หิน ดินทราย กาบใบอ้อยมาเป็นน้ำตาลได้ แต่ต้องแบกภาระต้นทุนเรื่องนี้ไว้ ดังนั้นหากชาวไร่ต้องการให้นำกากอ้อยมาคิดเป็นรายได้ ก็ต้องเลิกคิดเรื่องน้ำหนัก ให้โรงงานซื้อค่าความหวานเต็ม 100 % จากนั้นสิ่งเจือปนต่างเป็นเรื่องที่ชาวไร่ต้องมีต้นทุนภาระในการจัดการ จะทิ้งให้โรงงานจัดการ ให้เป็นค่าใช้จ่ายแก่โรงงานได้อย่างไร ต้องมีการพูดคุยตกลงกันก่อนจึงจะเหมาะควร ตรงกันข้ามที่ทำไปโดยการแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยฯ แล้วคงระบบเดิมทั้งหมด จึงทำให้ฝ่ายโรงงานรับไม่ได้
จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 7 ตุลาคม 2565
ชาวไร่อ้อย 1.22 แสนรายเฮ! รัฐบาลจ่ายเงินช่วยอ้อยตัดรอบแรกผ่านบัญชี ธ.ก.ส. รับครบทุกคนไม่เกิน 7 ต.ค.นี้
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2565 เห็นชอบโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดเพื่อลดฝุ่น PM2.5 ฤดูการผลิตปี 2564/65 ในอัตรา 120 บาทต่อตัน ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ ภายใต้กรอบวงเงิน 8,319.24 ล้านบาท โดยจะเริ่มจ่ายเงินรอบแรกช่วยเหลือชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดคุณภาพดีไม่เกินวันที่ 7 ตุลาคม 2565 ผ่านบัญชี ธ.ก.ส.ของชาวไร่อ้อยแต่ละรายโดยตรง จำนวน 122,651 ราย มีปริมาณอ้อยสดส่งโรงงาน 64.36 ล้านตัน เป็นจำนวนเงิน 7,723.73 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถจ่ายเงินช่วยเหลือครบทุกรายภายในเดือนพฤศจิกายน 2565 ทั้งนี้ คณะกรรมการ ธ.ก.ส.ได้ให้ความเห็นชอบโครงการ เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2565
นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากนโยบายในการช่วยเหลือชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดลดฝุ่น PM2.5 ทำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยหันมาตัดอ้อยสดก่อนส่งโรงงานเพิ่มมากขึ้น กระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมที่จะผลักดันอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายให้เติบโตไปพร้อมกับการรักษาสิ่งแวดล้อม และได้วางแผนกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้อย่างต่อเนื่อง จัดหาเครื่องสางใบอ้อยมาให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยยืมใช้สางใบอ้อย ส่งเสริมการรับซื้อใบอ้อยเพื่อเพิ่มรายได้และลดการเผาอ้อยการลงนามในบันทึกความร่วมมือการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ในพื้นที่ปลูกอ้อย 47 จังหวัดทั่วประเทศ สนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ปี 2565-2567 รวมถึงขอรับการสนับสนุนเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลเพื่อลดต้นทุนการตัดอ้อยสด
นายเอกภัทร วังสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวเพิ่มเติมว่า เกษตรกรชาวไร่อ้อยที่มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือสามารถตรวจสอบสถานะการโอนเงินไปยังบัญชีของท่านผ่านไลน์ ตรวจสิทธิ์อ้อย หากไม่มีปัญหาระบบจะแจ้งว่า บัญชีพร้อมโอน และหากได้รับการโอนแล้วระบบจะแจ้งว่า โอนเงินสำเร็จแล้ว กรณีระบบแจ้งว่าบัญชีของท่าน ไม่สามารถรับโอนได้ ระบบจะแจ้งให้ทราบว่าไม่สามารถโอนได้เนื่องจากกรณีใด ให้ผู้ตรวจสิทธิฯ รีบแจ้งดำเนินการแก้ไขผ่านโรงงานคู่สัญญาของท่าน และให้โรงงานทำหนังสือรับรองมายังสำนักบริหารอ้อยและน้ำตาลทราย (สบน.) เพื่อรับรองและส่งให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) พิจารณาตรวจสอบร่วมกับ ธ.ก.ส.เพื่อเร่งดำเนินการเบิกจ่ายต่อไป
จาก https://www.matichon.co.th/ วันที่ 4 ตุลาคม 2565