http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล (เดือนตุลาคม 2566]

 

นายกฯ ชาวไร่อ้อยอีสาน ค้าน "น้ำตาลทราย" เป็นสินค้าควบคุม ชี้ ต้นทุนปลูกอ้อยสูง

นายกสมาคมชาวไร่อ้อยอีสานไม่เห็นด้วย ที่พาณิย์ ชง ครม.ให้น้ำตาลทรายเป็นสินค้าควบคุมราคา ชี้ ชาวไร่อ้อยลำบากแบกต้นทุนราคาน้ำมัน ราคาปุ๋ย หากมาคุมราคาจะอยู่ไม่ได้ ทำให้ปลูกอ้อยน้อยลง น้ำตาลก็จะขาดตลาด

ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.อุดรธานีว่า เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566 ที่สมาคมชาวไร่อ้อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ถ.มิตรภาพ ต.พันดอน อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี พบกับนายไพบูลย์ ธิติศักดิ์ นายกสมาคมฯ พร้อมกับคณะกรรมการสมาคมฯ เพื่อสอบถามข้อมูล และความคิดเห็นหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประชุมเห็นชอบตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอให้ ครม.พิจารณาให้น้ำตาลทรายเป็นสินค้าควบคุมนั้น

นายไพบูลย์ เปิดเผยว่า หลังจากนี้คงจะรับไม่ได้ว่า ให้น้ำตาลทรายเป็นสินค้าควบคุมราคา ซึ่งสถานการณ์ชาวไร่อ้อยตอนนี้ ต้นทุนทุกอย่างสูงขึ้นราคา เช่น ราคาน้ำมัน ราคาปุ๋ย มีการปรับราคาสูงขึ้น ทำให้ชาวไร่อ้อยอยู่ไม่ได้แน่ ถ้ามาควบคุมราคาน้ำตาลทราย อาจจะกระทบกับ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ที่ทำขึ้นมาเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งพอออก พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายช่วงนั้น ราคาอ้อยก็ดี และไม่เป็นสินค้าควบคุมราคาด้วย

นายไพบูลย์ ธิติศักดิ์ นายกสมาคมฯ เปิดเผยต่อว่า หากควบคุมราคาน้ำตาลทราย ทางรัฐบาลก็เข้ามากำหนดราคา แต่บางทีก็ไม่ได้กำหนดตามต้นทุนชาวไร่อ้อยไปด้วย แต่มากำหนดตามความคิดของรัฐบาล ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะคิดยังไงในการดูแลชาวไร่อ้อย แต่คิดแค่ดูแลประชาชนทั่วไป เพราะประชาชนทั่วไปแต่ละครอบครัว บางทีกินน้ำตาลทรายไม่ถึงกิโลกรัม หรือ 1 กิโลกรัม ซึ่งผลกระทบจากประชาชนทั่วไปไม่ได้มากเลย แต่ไปกระทบกับเจ้าของสินค้าที่ใช้น้ำตาลเป็นส่วนประกอบ เช่น น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง แล้วก็มาปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้น

นายกสมาคมชาวไร่อ้อยอีสาน กล่าวด้วยว่า ผลกระทบชาวไร่อ้อยนั้นไม่คุ้มกับต้นทุนที่ลงไป ก็จะทำให้ชาวไร่อ้อยปลูกน้อยลง ไปจนทำให้ชาวไร่อ้อยอยู่ไม่ได้ และเขาก็จะไม่ปลูก และในประเทศก็จะไม่มีน้ำตาลกิน ประเทศก็คงอาจจะได้ไปซื้อน้ำตาลจากต่างประเทศมาขายในอนาคต ตนก็อยากฝากถึงรัฐบาลว่า อยากให้ลงมาดูแลความทุกข์สุขของเกษตรกร ชาวไร่กันหน่อย ไม่ใช่ดูแลเพียงแค่ประชาชน ถ้าทำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยมีราคาต้นทุนพอเพียงก็คงจะดี เพราะเกษตรกรชาวไร่ก็จะมีหวังและกำลังใจปลูกพืชผลกันต่อไป.

จาก https://www.thairath.co.th วันที่ 31 ตุลาคม 2566

 

สหพันธ์ไร่อ้อย เดือด ขู่ปิดโรงงานน้ำตาล ขอเคลียร์ภูมิธรรม ปมเบรคขึ้นราคา

สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ขู่ปิดโรงงานหลัง ครม.ให้น้ำตาลทรายเป็นสินค้าควบคุม พร้อมขอนัดเคลียร์กับรองนายกฯภูมิธรรม

วันที่ 31 ตุลาคม 66 หลังจากมติครม.เห็นชอบให้เพิ่ม "น้ำตาลทราย" ขึ้นบัญชีเป็นสินค้าควบคุม ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ

ล่าสุด นายนราธิป อนันต์สุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย เปิดเผยหลังทราบมติครม. ดังกล่าวว่า ขณะนี้กำลังหารือกันในสมาคม เพื่อเข้าพบนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ถึงสาเหตุของการไม่ให้ปรับขึ้นราคาและดึงราคาน้ำตาลทรายมาเป็นสิค้าควบคุม หลังจากที่ได้ลอยตัวราคาน้ำตาลตามข้อตกลงการค้าเสรี

"ซึ่งถือเป็นการแทรกแซงกลไกการตลาดกระทบชาวไร่อ้อย หากยังยืนยันที่จะไม่ให้ขึ้นราคาน้ำตาล กลุ่มชาวไร่อ้อยพร้อมเดินหน้าปิดโรงงานน้ำตาล ไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายน้ำตาลออกจากโรงงาน"

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 31 ตุลาคม 2566

 

“ดร.วิโรจน์” ชี้ดึง "น้ำตาล" เป็นสินค้าควบคุมรัฐถอยหลังเข้าคลองลงโทษชาวไร่อ้อย

ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายสาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ให้ความเห็นกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 31 ต.ค. เห็นชอบให้เพิ่มน้ำตาลทรายเป็นสินค้าควบคุมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ตามมติคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ว่าเป็นการดำเนินนโยบายที่ถอยหลังเข้าคลองครั้งใหญ่ในรอบหลายสิบปี เพราะหลังจากที่ทำให้ชาวไร่อ้อยเสียประโยชน์ที่ควรได้แล้ว รัฐกลับจะต้องใช้เงินภาษีมหาศาลมายกราคาอ้อยซึ่งมีความเสี่ยงที่ผิดกติกาการค้าโลก ในขณะที่มีผลต่อค่าครองชีพของประชาชนเพียงเล็กน้อย

ทั้งนี้ เนื่องจากระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยเดิมได้มีการคุมราคาบริโภคภายในประเทศเอาไว้ แต่ต่อมาบราซิลได้แจ้งกล่าวหาไทยไปยังองค์การการค้าโลก (WTO) ว่าไทยมีการอุดหนุนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล จนนำมาสู่การเจรจาและมีการปรับโครงสร้างต่างๆ รวมทั้งเกิดการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายในปี 2561

“บราซิลกล่าวหาว่าไทยอุดหนุนราคาน้ำตาลในประเทศทำให้ไทยสามารถไปดัมป์ราคาส่งออก เลยแจ้ง WTO ว่าจะฟ้องไทยที่ทำผิดกติกาการค้าของ WTO ทำให้เกิดการเจรจาและนำมาสู่ข้อตกลงการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมนี้ เช่น เลิกคุมราคาน้ำตาล เลิกระบบโควตา และมีการแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายฯ ใน 3-4 ประเด็น ซึ่งทำให้บราซิลชะลอหยุดฟ้องมาเฝ้าดูเราก่อน แต่เรากำลังจะกลับไปอยู่จุดเดิม จากที่รัฐประกาศควบคุมราคาและจะนำเงินงบประมาณมาอุดหนุนช่วยชาวไร่ ซึ่งก็เสี่ยงจะผิดกติกา WTO อีก ถึงแม้ว่าจะอ้างเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย และถ้ารัฐบาลจะช่วยให้ชาวไร่ได้ราคาอ้อยในระดับเดียวกับที่จะได้จากการปรับราคาน้ำตาลทรายนั้น เงินช่วยเหลือก็จะต้องสูงกว่าที่จ่ายเป็นค่าตัดอ้อยสด 120 บาทต่อตันในหลายปีนี้มาก และมีความเสี่ยงที่จะเกินวงเงินอุดหนุนเบ็ดเตล็ด (de minimis) ที่เป็นข้อยกเว้นของ WTO ที่เราเคยใช้อ้างในอดีต” ดร.วิโรจน์กล่าว

ทั้งนี้ แม้ว่ารัฐจะคุมราคาน้ำตาลทรายขาวและขาวบริสุทธิ์หน้าโรงงานไว้เช่นเดิมที่ 19-20 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ราคาขายปลีกจริงก็ไม่ได้เท่าเดิมแล้ว และแม้ว่า กกร.จะกำหนดให้การส่งออกน้ำตาลทรายเกิน 1 ตันต้องรายงานเพื่อป้องกันไม่ให้ส่งออกมากจนขาดแคลนก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงที่ราคาน้ำตาลทรายในตลาดล่วงหน้าที่อังกฤษขึ้นไปถึง 27 บาทกว่าต่อ กก. ก็ทำให้ราคาขายหน้าโรงงานและราคาปลีกที่ถึงมือผู้บริโภค (ยกเว้นน้ำตาลถุง 1 กก.ในโมเดิร์นเทรด) ได้ปรับขึ้นไปแล้วตั้งแต่ 2-3 สัปดาห์ก่อนหน้า และเมื่อราคาในประเทศต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านมากก็ยิ่งจูงใจให้เกิดการลักลอบนำน้ำตาลออกนอกประเทศมากขึ้น รวมทั้งอาจเกิดกองทัพมดที่ยังขนได้ครั้งละไม่เกิน 1 ตัน ก็จะทำให้น้ำตาลในประเทศค่อยๆ ตึงตัวและขาดแคลนในที่สุด การขวางไม่ให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ประกาศขึ้นราคาหน้าโรงงานที่สะท้อนราคาจริงเพื่อนำไปคำนวณราคาอ้อยปี 2566/67 ตามระเบียบที่กำหนด แล้วให้กลับไปควบคุมให้เป็นราคาเดิมก็ทำให้ชาวไร่อ้อยเสียประโยชน์ที่ควรได้ส่วนแบ่งตามราคาจริงที่โรงงานขายได้ในช่วงที่ผ่านมา

 

“การกลับไปควบคุมราคายังขัดกับนโยบายรัฐที่กำหนดภาษีความหวานเป็นขั้นบันไดเพื่อลดผลกระทบด้านสุขภาพต่อประชาชน การเบรกไม่ให้ขึ้นราคาน้ำตาลเท่ากับลงโทษชาวไร่อ้อย และในภาพรวมเมื่อต้องหาเงินมาช่วยเหลือชาวไร่อ้อยเพิ่มก็ต้องใช้เงินภาษีประชาชนจำนวนมาก ผลลัพธ์ที่ได้น้อยกว่าเสียมาก และการขึ้นราคา 4 บาท/กก.นั้น ผลกระทบจากการบริโภคทั้งทางตรงของครัวเรือนที่เฉลี่ยไม่เกิน 1 กก.ต่อเดือน และทางอ้อมที่ผ่านขนมและเครื่องดื่มต่างๆ นั้น ถ้าคิดคำนวณออกมาจริงๆ แล้ว ก็ไม่ได้มีผลกระทบที่สูงมากอย่างที่คนมักรู้สึกกัน” ดร.วิโรจน์กล่าว

จาก https://mgronline.com วันที่  31 ตุลาคม 2566

 

ชาวไร่อ้อยเร่งพบ "ภูมิธรรม" เคลียร์ขึ้นราคาน้ำตาลขู่ปิด รง.ห้ามขนย้ายน้ำตาลตอบโต้

ชาวไร่อ้อยเร่งประสานงานขอเข้าพบ "ภูมิธรรม" รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์หวังเคลียร์การดึงน้ำตาลเข้าเป็นสินค้าควบคุม ส่งผลให้ราคาหน้าโรงงานคงเดิมไม่ถูกปรับให้สะท้อนต้นทุนจริง ย้อนถามประโยชน์ตกแก่ใครแน่ ขู่เตรียมพร้อมห้ามขนย้ายน้ำตาลออกจากโรงงาน ด้าน รมว.อุตฯ เร่งหาแนวทางช่วยเหลือ

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ชาวไร่อ้อยกำลังอยู่ระหว่างการประสานงานเพื่อขอเข้าพบนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ถึงสาเหตุของการดึงราคาน้ำตาลมาเป็นสินค้าควบคุมที่ส่งผลให้ไม่สามารถปรับราคาหน้าโรงงาน 4 บาท/กก.ตามมติคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ทั้งที่น้ำตาลทรายถูกลอยตัวราคาและเป็นระบบเสรีไปแล้วถือเป็นการใช้อำนาจแทรกแซงกลไกตลาด พร้อมกันนี้ กำลังแจ้งไปยังสมาคมชาวไร่อ้อยทั่วประเทศให้พร้อมใช้มาตรการตอบโต้โดยการเตรียมพร้อมที่จะไปตั้งเต็นท์หน้าโรงงานเพื่อห้ามขนย้ายน้ำตาลในส่วนของชาวไร่อ้อยสัดส่วน 70% ตามระบบแบ่งปันผลประโยชน์ไม่ให้ออกมาจำหน่าย

“คงจะต้องขอทำความเข้าใจกับกระทรวงพาณิชย์ถึงเรื่องดังกล่าว เพราะในข้อเท็จจริงท่านคุมราคาขายในท้องตลาดได้จริงหรือไม่ แต่การมาคุมหน้าโรงงานประโยชน์นั้นจะตกอยู่กับกลุ่มผู้ที่ใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบเป็นหลัก ตอนที่น้ำตาลเปิดเสรีด้วยการลอยตัวราคาเมื่อราวปี 2561 และทำให้ราคาน้ำตาลหน้าโรงงานต้องปรับลดตามต้นทุนราคาสินค้าได้ปรับลดหรือไม่ แต่พอราคาตลาดโลกขณะนี้คิดเป็นราว 27-28 บาท/กก.กลับจะคุมให้ต่ำลงทั้งที่ระเบียบที่ให้มีการคำนวณราคาอ้อยตามต้นทุน เงินเฟ้อ บ่งชี้ต้องปรับขึ้นแต่กลับไม่ให้ปรับนี่คือการทำร้ายชาวไร่อ้อย แม้ว่ารัฐจะระบุว่าจะมีมาตรการมาดูแลก็ตามแต่มาตรการเหล่านี้ก็เป็นการดูแลชั่วคราวต้องออกมาเรียกร้องทุกปีหรือไม่” นายนราธิปกล่าว

อย่างไรก็ตาม การกำหนดลอยตัวน้ำตาลก่อนหน้านั้นชาวไร่อ้อยเองก็คัดค้านแต่รัฐก็มุ่งเดินหน้าโดยอ้างว่าบราซิลฟ้องร้องต่อองค์การการค้าโลก (WTO) กล่าวหาไทยอุดหนุนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ ทำให้มาสู่การลอยตัวราคา การปรับโครงสร้างทั้งระบบใหม่ เมื่อกลับไปสู่แบบเดิมรัฐบาลจะต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ยอมรับว่า เห็นใจชาวไร่อ้อยที่เผชิญกับต้นทุนที่สูงแต่กระทรวงพาณิชย์เองก็ต้องดูแลราคาสินค้าให้ประชาชนภาพรวม จึงไม่ได้มองว่านี่เป็นการหักหน้ากัน อย่างไรก็ตาม กระทรวงอุตสาหกรรมจะกลับไปหามาตรการที่จะมาช่วยเหลือกลุ่มชาวไร่อ้อย เพราะที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้น้ำตาลเป็นสินค้าควบคุมตามมติที่ประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ หรือ กกร.แล้ว

จาก https://mgronline.com วันที่ 31 ตุลาคม 2566

 

ชงครม. "น้ำตาลทราย" เป็นสินค้าควบคุม "ภูมิธรรม" เบรคขึ้นราคา

ชงครม. "น้ำตาลทราย" เป็นสินค้าควบคุม "ภูมิธรรม" เบรคขึ้นราคา ขายปลีกห้ามเกิน 25 บาท พร้อมคุมเข้มส่งออกเกิน 1,000 กิโลกรัม ต้องขออนุญาต กันผลกระทบกับประชาชน และทุกภาคส่วนที่ใช้น้ำตาลทรายเป็นวัตถุดิบ

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ว่า ได้เรียกประชุมคณะกรรมการชุดนี้เป็นการเร่งด่วน และได้พิจารณากำหนดให้สินค้าน้ำตาลทรายเป็นสินค้าควบคุมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542

ทั้งนี้ เพื่อป้องกันผลกระทบกับประชาชน และทุกภาคส่วนที่ใช้น้ำตาลทรายเป็นวัตถุดิบ ไม่ว่าจะเป็นสินค้ากลุ่มอาหารกระป๋อง เครื่องดื่ม ขนมหวาน ที่อาจจะมีการปรับขึ้นราคา  หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้ประกาศปรับขึ้นราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานใหม่

โดยน้ำตาลทรายขาวจากเดิมกิโลกรัม (กก.) ละ 19 บาท เป็น 23 บาท น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์จากเดิมกิโลกรัมละ 20 บาท เป็น 24 บาท ส่งผลให้ราคาจำหน่ายปลีกน้ำตาลทรายขาว เพิ่มจากกิโลกรัมละ 23 บาท เป็น28 บาท และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ จากกิโลกรัมละ 24 บาท เป็น 29 บาท มีผลตั้งแต่วันที่ 28 ต.ค.2566 ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี หลังจากกำหนดให้น้ำตาลเป็นสินค้าควบคุม กกร.ได้กำหนดมาตรการกำกับดูแล 2 มาตรการ ได้แก่ กำหนดราคาจำหน่ายน้ำตาลทรายขาวหน้าโรงงานที่กิโลกรัมละ 19 บาท และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์กิโลกรัมละ 20 บาท และควบคุมราคาจำหน่ายปลีกน้ำตาลทรายขาว กิโลกรัมละ 24 บาท และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์กิโลกรัมละ 25 บาท

 “น้ำตาลทรายจะยังคงจำหน่ายในราคาเดิม ไม่มีการปรับขึ้นแต่อย่างใด ส่วนจังหวัดอื่นที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล จะมีการกำหนดราคาตามระยะทางและต้นทุนการขนส่งต่อไป”

ขณะที่อีกมาตรการ คือ การควบคุมการส่งออกตั้งแต่ 1 ตัน หรือ 1,000 กิโลกรัม ขึ้นไปต้องขออนุญาตจากคณะอนุกรรมการที่จะจัดตั้งขึ้น มีเลขาธิการ สอน. เป็นประธาน มีรองอธิบดีกรมการค้าภายใน เป็นรองประธาน มีตัวแทนจาก สอน.เป็นเลขานุการ และตัวแทนกรมการค้าภายใน เป็นผู้ช่วยเลขานุการ ซึ่งจะทำหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการในการกำกับดูแลต่อไป เพื่อให้น้ำตาลทรายมีเพียงพอใช้ในประเทศ และไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกน้ำตาลทรายของไทย

นายภูมิธรรม กล่าวอีกว่า การนำน้ำตาลทรายกลับมาเป็นสินค้าควบคุม เพื่อให้สามารถบริหารจัดการได้ และไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบ โดยให้ยึดราคาที่ กกร.ประกาศ

ส่วนที่ สอน.ประกาศ ก็ไม่มีผล ซึ่ง กกร.จะนำมติเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในวันที่ 31 ต.ค.2566 และประกาศลงราชกิจจานุเบกษา เพื่อบังคับใช้ทันที

สำหรับการดูแลเกษตรกรชาวไร่อ้อย ยืนยันว่า จะไม่ได้รับผลกระทบ ยังคงได้รับสิทธิประโยชน์ตามเดิม โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะเป็นผู้เข้าไปดูแล และรัฐบาลพร้อมที่จะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่

ด้านผู้ประกอบการ หรือร้านค้า ขอให้จำหน่ายสินค้าในราคาเดิม เพราะน้ำตาลทรายไม่มีการปรับขึ้นราคาแล้ว หากมีการขายเกินราคาควบคุม จะมีความผิด มีโทษจำคุก 5 ปี ปรับ 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และกรณีกักตุน จะมีโทษจำคุก 7 ปี ปรับ 1.4 แสน หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยประชาชนหากพบเห็นหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมให้ร้องเรียนสายด่วน 1569 จะเข้าไปตรวจสอบทันที

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 30 ตุลาคม 2566

 

ชาวไร่อ้อยจ่อเคลื่อนไหวใหญ่หลังพาณิชย์ดึงน้ำตาลเป็นสินค้าควบคุม

ชาวไร่อ้อยทั่วประเทศเกาะติดหลัง ก.พาณิชย์ถกด่วนดึงน้ำตาลเป็นสินค้าควบคุม สกัดขึ้นราคา 4 บาท/กก. ขู่เคลื่อนไหวใหญ่ชี้ที่ผ่านมาลอยตัวก็เพราะ ม.44 เพราะโดนบราซิลฟ้องร้อง พอราคาสูงกลับจะไปคุมเหมือนเดิมอีกถามแล้วจะเอาอย่างไรกับบราซิล เตือนน้ำตาลส่อขาดหากทำตลาดโลกสูงแต่ยังกดราคาในประเทศต่ำ

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ชาวไร่อ้อยทั่วประเทศกำลังพิจารณามาตรการที่จะออกมาเคลื่อนไหวใหญ่กับแนวทางที่กระทรวงพาณิชย์ไม่ให้มีการปรับขึ้นราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานทั้งที่ภายใต้กฎหมายปัจจุบันราคาน้ำตาลไม่ได้เป็นสินค้าควบคุมและกำหนดราคาลอยตัวไปแล้ว ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการที่ไทยถูกบราซิลฟ้องร้องว่ามีการอุดหนุนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายภายในประเทศขัดกติกาขององค์การการค้าโลก (WTO) หากย้อนกลับมาดำเนินการเช่นเดิมจะทำอย่างไรกับปัญหาดังกล่าว

“หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีคำสั่ง ม.44 ในการลอยตัวน้ำตาลตั้งแต่ปี 2561 จากนั้นก็ได้มีการปรับกฎหมายต่างๆ ให้สอดรับเพราะบราซิลเตรียมจะฟ้องร้องไทย แม้ชาวไร่อ้อยจะคัดค้านแต่ก็ไม่ได้ผล ขณะเดียวกันราคาน้ำตาลทรายมีการปรับตัวลดลง 2-3 บาท/กก. และทรงตัวระดับต่ำต่อเนื่องสินค้าที่ใช้น้ำตาลทรายเป็นวัตถุดิบไม่เห็นปรับลดราคาลงเลย แต่ตอนนี้ราคาตลาดโลกปรับตัวสูงกลับจะมาควบคุมทั้งที่ราคาที่ประกาศเป็นการประกาศเพื่อคำนวณราคาอ้อยและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายปี 2566/67 เพื่อให้ประโยชน์ตกแก่ชาวไร่ ส่วนราคานั้นได้ทยอยปรับขึ้นไปแล้วในท้องตลาด” นายนราธิปกล่าว

ปัจจุบันราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกราคาขยับไป 26-27 เซ็นต์ต่อปอนด์ คิดกลับราว 27-28 บาท/กิโลกรัม (กก.) ส่วนต่างราคาหน้าโรงงานกับราคาในตลาดที่ต่างกันมากเหตุใดพาณิชย์ไม่คุมหรือดูแลเพื่อให้ประโยชน์นั้นตกแก่ชาวไร่ และตัวแทนพาณิชย์ก็อยู่ในคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) และข้อเท็จจริงราคาขายปลีกในต่างจังหวัดได้ปรับขึ้นไปแล้ว บางพื้นที่สูงถึง 28 บาท/กก.ด้วยซ้ำไป และการกำหนดแนวทางดังกล่าวจะยิ่งทำให้ปริมาณน้ำตาลทรายไหลออกต่างประเทศและจะส่งผลให้น้ำตาลทรายตึงตัวและอาจขาดแคลนในที่สุด รัฐพึงต้องระวังด้วยเช่นกัน

จาก https://mgronline.com วันที่ 30 ตุลาคม 2566

 

พาณิชย์ เบรกขึ้นราคาน้ำตาลทราย กก.ละ 4 บาท ชงครม.ออกประกาศสินค้าควบคุม

   ภูมิธรรม เบรก ห้ามขึ้นราคาน้ำตาล กิโลละ 4 บาท หวั่นกระทบค่าครองชีพ ชงครม.ออกประกาศเป็นสินค้าควบคุม ใครฝ่าฝืนเจอโทษทั้งจำทั้งปรับ

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 30 ต.ค.2566 ที่กระทรวงพาณิชย์ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ(กกร.) ได้เรียกประชุมด่วน กกร. หลังจากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้ออกประกาศปรับขึ้นราคาหน้าโรงงานน้ำตาลทรายขาวจากเดิมกิโลกรัม (กก.) ละ 19 บาท เป็นราคากก.ละ 23 บาท และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ เดิมกก.ละ 20 บาท เป็นราคา กก.ละ 24 บาท มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 28 ต.ค.ที่ผ่านมา

นายภูมิธรรม กล่าวถึงผลการประชุมกกร.ว่า กระทรวงพาณิชย์มีความห่วงใยกรณีการปรับขึ้นราคาน้ำตาลทราย กก.ละ 4 บาท ว่าจะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่น้ำตาลทราย ทั้งระบบ ตั้งแต่ประชาชน และผู้บริโภค รวมถึงอาจมีการปรับขึ้นราคาสินค้าที่ใช้น้ำตาลทรายเป็นวัตถุดิบ อาทิ น้ำอัดลม ยารักษาโรค และอื่นๆ จึงเรียกประชุม กกร.ด่วน เพื่อแก้ปัญหา

โดยที่ประชุม มีมติกำหนดให้น้ำตาลทรายเป็นสินค้าควบคุมภายใต้การกำกับของกระทรวงพาณิชย์ และออกมาตรการกำกับดูแลราน้ำตาล โดยแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ 1.ประกาศควบคุมราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงาน ดังนี้ น้ำตาลทรายขาว กก.ละ 19 บาท และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ กก.ละ 20 บาท ส่วนราคาจำหน่ายปลีกในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล น้ำตาลทรายขาว กก.ละ 24 บาท และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ กก.ละ 25 บาท

2.ออกมาตรการควบคุมการส่งออกน้ำตาลทรายไปยังต่างประเทศ หากส่งออกตั้ง 1 ตัน เป็นต้นไป จะต้องขออนุญาตอนุกรรมการที่จัดตั้งขึ้นก่อน ซึ่งมอบให้ สอน.เป็นประธานอนุกรรมการฯ เพื่อให้เกิดความสมดุลของปริมาณและราคาน้ำตาลทรายในประเทศ อย่างไรก็ตามม มาตรการดังกล่าวสามารถปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ในอนาคต

“กระทรวงพาณิชย์จะนำมติ กกร. เสนอให้ครม. พิจารณาอนุมัติเร่งด่วนในวันที่ 31 ต.ค. คาดว่าไม่เกินวันที่ 1 พ.ย. กระทรวงพาณิชย์จะออกประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ได้ทันที” นายภูมิธรรม กล่าว

นายภูมิธรรมกล่าวว่า ได้สั่งให้กรมการค้าภายในติดตามดูแลราคาขายน้ำตาลทราย หน้าโรงงาน และร้านค้าให้เป็นไปตาม มติ กกร. หากใครขายเกินราคาควบคุม จะมีโทษ ตามาตรา 25 จำคุก ไม่เกิน 5 ปี ปรับ ไม่เกิน 1 แสนบาท หรือ ปรับ 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากพบมีการกักตุน จะมีความผิด ตามมาตรา 30 ข้อหาปฏิเสธการ จําหน่ายหรือประวิงการจําหน่ายหรือการส่งมอบสินค้าควบคุม มีโทษ จําคุกไม่เกิน 7 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 140,0000 บาท

สำหรับเกษตรกรชาวไร่อ้อยนั้น กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมเข้าไปช่วยกันดูแลต่อไป เพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบ

จาก https://www.khaosod.co.th วันที่ 30 ตุลาคม 2566

 

จับตาสินค้าขึ้นราคาตามราคาน้ำตาล เครื่องดื่ม-ขนมอาหาร-อาหาร กระทบยกแผง

วันที่ 30 ตุลาคม 2566 นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย นายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการที่สำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ออกประกาศเรื่อง ราคาน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักร เพื่อใช้ประกอบในการคำนวณราคาอ้อยและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย ประจำฤดูการผลิตปี 2566/2567 ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ลงนามโดยนายฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) และรักษาราชการแทนเลขาธิการ กอน. ได้กำหนดราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานใหม่ส่งผลให้จากเดิมน้ำตาลทรายขาวอยู่ที่กิโลกรัม (กก.) ละ 19 บาท เป็นราคา กก.ละ 23 บาท และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์จากเดิม กก.ละ 20 เป็น กก.ละ 24 บาทความต้องการของผู้บริโภคโดยตรง 57.7% ที่เหลืออีก 42.3% เป็นความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 28 ต.ค. 2566 เป็นต้นมา

ราคาน้ำตาลที่ปรับขึ้นยังไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการผลิต สินค้า เพราะยังไม่ได้ปรับขึ้นราคาน้ำตาลทรายในทันที กระทรวงพาณิชย์ได้ขอความร่วมมือผู้ค้าส่ง ค้าปลีก ร้านสะดวกซื้อ ในการจำหน่ายราคาเดิมในสต๊อกเดิมไปก่อน เนื่องจากถือเป็นต้นทุนเก่า จนกว่าจะมีการปรับเปลี่ยน ส่วนสินค้าที่ใช้น้ำตาลทรายเป็นวัตถุดิบ จะดูแลในส่วนของสินค้าควบคุม ให้มีการปรับราคาสะท้อนกับต้นทุนที่แท้จริงตามสัดส่วน”

แต่อย่างไรก็ตาม ในอนาคตหากมีการปรับขึ้นราคาจริง ก็จะพิจารณาต้นทุนอย่างเหมาะสม และดูต้นทุนตัวอื่น ๆ ประกอบด้วย ซึ่งคาดว่ากลุ่มอาหารสำเร็จรูปที่คาดว่าหากมีการปรับราคาขึ้นจะส่งผลต่อต้นทุนสินค้า คือ ผลไม้กระป้อง น้ำผลไม้และแปรรูป ซอส เป็นต้น ผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งแต่ละสินค้าสัดส่วนในการใช้แตกต่างกัน ในส่วนของสินค้าที่ไม่ได้เป็นสินค้าควบคุมนั้นจะใช้การขอความร่วมมือในการปรับราคาเท่าที่ได้รับผลกระทบจากต้นทุนเท่านั้น โดยจะมีการติดตามดูแลอย่างใกล้ชิดต่อไป”

ทั้งนี้ หากประเมินความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่มีสัดส่วน 42.3% (ทางอ้อม) อาทิ เครื่องดื่ม สัดส่วน 41.5% ของปริมาณการใช้น้ำตาลทรายทางอ้อมทั้งหมด รองลงมาเป็นอาหาร 28.1% ผลิตภัณฑ์นม 18.8% และอื่น ๆ 11.6% ซึ่งจะเห็นว่าแต่ละสินค้ามีสัดสัดการใช้น้ำตาลทรายไม่เท่ากันเลย ถ้าใช่น้ำตาลเป็นส่วนผสมมากจะกระทบมากกว่าตัวที่ใช้เป็นส่วนผสมน้อย พิจารณาเรื่องราคาก็จะเป็นไปตามสัดส่วน ด้านการส่งออกน้ำตาลและกากน้ำตาลของโลกปี 2565 ไทยส่งออกสินค้าน้ำตาลและกากน้ำตาลเป็นอันดับที่ 3 ของโลก เติบโต 93% มีสัดส่วนการส่งออกในตลาดโลกคิดเป็น 8% รองจากบราซิลและอินเดียเมื่อพิจารณาจากปริมาณน้ำตาลในการส่งออก ปี 2565 ประเทศอันดับต้น ๆ ที่ส่งออกมาก คือ โมซัมบิก บราชิล อินเดีย ฟิจิ โดยไทยส่งออกเป็นอันดับ 5 ของโลก มีปริมาณการส่งออก 7.5 ล้านตัน เติบโต 75% มีสัดส่วนการส่งออกในตลาดโลกคิดเป็น 5%  ล่าสุดในช่วง 9 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ย.) ปี 2566 ไทยส่งออกน้ำตาลและกากน้ำตาลมูลค่า 100,000 ล้านบาท ขยายตัว 12% โดยส่งออกไปยังตลาดอินโดนีเซียเติบโต 4% ฟิลิปปินส์เติบโต 157% เกาหลีใต้เติบโต 8% มาเลเซียเติบโต 39% กัมพูชาเติบโต 4%

จาก  https://www.prachachat.net  วันที่  30/10/66

 

 

สอน.ออกประกาศราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานเป็น 4 บาท/กก. มีผลตั้งแต่ 28 ต.ค. นี้

หวังใช้ในการคำนวณราคาอ้อยและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายประจำฤดูการผลิตปี 2566/67 เพื่อให้ประโยชน์ตกถึงชาวไร่

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) ได้ออกประกาศเรื่อง ราคาน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักร เพื่อใช้ประกอบในการคำนวณราคาอ้อยและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย ประจำฤดูการผลิตปี 2566/2567 ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มลงนาม โดยนายฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.) และรักษาราชการแทนเลขาธิการกอน. โดยกำหนดราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานใหม่ดังนี้ 1. จากเดิมน้ำตาลทรายขาวอยู่ที่กิโลกรัม(กก.)ละ 19 บาท เป็นราคากก.ละ 23 บาท 2. น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์จากเดิมกก.ละ 20 เป็นกก.ละ 24 บาท โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 28 ต.ค.นี้เป็นต้นไป

ทั้งนี้รายได้ดังกล่าวจะมีการนำไปคำนวณราคาอ้อยขั้นต้น และผลตอบแทนการผลิตและจำหน่าย ปี 2566/67 ที่มีการประเมินปริมาณอ้อยบริโภคภายในประเทศอยู่ที่ราว 25 ล้านกระสอบโดยจะนำรายได้ดังกล่าวส่งผ่านกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย(กท.)เพื่อใช้ในการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมจำนวน 2 บาท/กก. เช่น การสนับสนุนตัดอ้อยสด ฯลฯ ซึ่งหากไม่ประกาศจะทำให้ชาวไร่อ้อยเสียประโยชน์จากราคาหน้าโรงงานเดิมที่ต่ำในการนำไปคำนวณราคาอ้อยฯ ท่ามกลางการปรับขึ้นราคาชายปลีกจากฟากโรงงาน ยี่ปั๊ว และซาปั๊ว ที่ดำเนินการไปแล้วเพราะขณะนี้ราคาน้ำตาลทรายไม่ใช่สินค้าควบคุม และหากไม่รีบปรับราคาก็จะยิ่งทำให้มีน้ำตาลบริโภคในประเทศอาจไหลไปสู่ตลาดส่งออกโดยเฉพาะเพื่อนบ้านที่ราคาสูงได้ โดยขณะนี้ราคาน้ำตาลส่งออกเฉลี่ยอยู่สูงราว 27 บาทกว่าต่อกก.

จาก  https://www.thaipost.net  วันที่  30/10/66

 

 

จับตาน้ำตาลทรายทะลุ 30 บาท หลังโรงงานน้ำตาลลักไก่ขึ้น 4-5 บาท

จับตาน้ำตาลทรายทะลุ 30 บาท หลังโรงงานน้ำตาลลักไก่ขึ้น 4-5 บาท เหตุปัจจุบันราคาน้ำตาลทรายขาวตลาดโลกบวกพรีเมียมคิดกลับเป็นเงินไทยที่อ่อนค่าราคาขยับไปสู่ระดับ 27-28 บาทต่อกิโลกรัม

แหล่งข่าวจากโรงงานน้ำตาล เปิดเผยว่า ขณะนี้หลายโรงงานได้มีการปรับราคาน้ำตาลทรายไปแล้วราว 4-5 บาท/กิโลกรัม (กก.) เนื่องจากปัจจุบันราคาน้ำตาลทรายขาวตลาดโลกบวกพรีเมียมคิดกลับเป็นเงินไทยที่อ่อนค่าราคาขยับไปสู่ระดับ 27-28 บาท/กก.

ทั้งนี้ รัฐโดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) ควรจะต้องประกาศราคาน้ำตาลหน้าโรงงานตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจริงเพื่อนำมาคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2566/67 ภายในพ.ย.นี้เพื่อให้ประโยชน์นั้นได้ตกกับชาวไร่อ้อยในการได้รับราคาน้ำตาลที่สูงขึ้นจากปริมาณน้ำตาลทรายจำหน่ายในประเทศที่จะมาคำนวณราคาขั้นต้น 25 ล้านกระสอบ

"ราคาน้ำตาลทรายขณะนี้ไม่ได้เป็นสินค้าควบคุมอะไร ที่ผ่านมาโรงงานก็พยายามรักษาระดับราคาไม่ให้สูงแต่หากรัฐยังยื้อที่จะประกาศผลเสียจะตกกับชาวไร่อ้อยที่จะได้คำนวณออกมาในราคาอ้อยที่สูงขึ้น และหากโรงงานไม่ขึ้นน้ำตาลก็อาจจะไหลออกนอกประเทศหมดได้"

รายงานข่าวแจ้งว่า ล่าสุดผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.)ได้หารือกับฝ่ายโรงงานน้ำตาลทรายและชาวไร่อ้อยในการพิจารณาแนวทางการสนับสนุนการตัดอ้อยสดเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ที่ชาวไร่ต้องการวงเงินสนับสนุน 120 บาท/ตันหรือคิดเป็นเงินงบประมาณราว 8,000 ล้านบาทที่รัฐยังคงค้างจ่ายปีการผลิต 2565/66 และความชัดเจนถึงการสนับสนุนในปีการผลิต 2566/67 ที่กำลังจะเปิดหีบสิ้นปีนี้

โดยการหารือมีการหยิบยกแนวทางการปรับขึ้นราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานเพิ่มขึ้นอีกกิโลกรัมละ 4 บาทตามต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงเนื่องจากราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกได้ปรับตัวสูงขึ้นรวมถึงเกณฑ์การช่วยเหลือการตัดอ้อยสดเพื่อลดอ้อยไฟไหม้ ที่ยังไม่มีข้อสรุปและมีการต่อรองในเรื่องของการปรับขึ้นราคาน้ำตาลแล้วอาจไม่จำป็นต้องขอเงินสนับสนุน 120 บาท/ตันแต่ทางชาวไร่และโรงงานต่างเห็นว่าเป็นคนละเรื่อง

 สำหรับมติกอน.ก่อนหน้าการปรับราคาขึ้นจะแบ่งเป็น 2 ส่วนคือสะท้อนไปยังราคาหน้าโรงงานจริงกก.ละ 2 บาท และการเก็บเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย กก.ละ 2 บาท เพื่อนำไปจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ปลูกอ้อยที่ตัดอ้อยสดส่งเข้าโรงงานน้ำตาลตามนโยบายลดฝุ่นPM 2.5 จากปัจจุบันราคาหน้าโรงงาน ได้แก่

น้ำตาลทรายขาวธรรมดาอยู่ที่ กก.ละ 19 บาท

น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ กก.ละ 20 บาท

ขณะที่ราคาขายปลีกในท้องตลาด ประกอบด้วย

น้ำตาลทรายขาวธรรมดา กก.ละ 24 บาท

น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ กก.ละ 25 บาท

การปรับราคาดังกล่าว จะมีผลให้ราคาหน้าโรงงาน น้ำตาลทรายขาวธรรมดาปรับขึ้นเป็น กก.ละ 23 บาท น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ปรับขึ้นเป็น กก.ละ 24 บาท

ขณะที่ราคาขายปลีกจะปรับขึ้นไปเป็น กก.ละ 28 บาท และ กก.ละ 29 บาทตามลำดับ หลังจากที่ราคาหน้าโรงงานเพิ่งปรับเพิ่มขึ้น กก.ละ 1.75 บาท เป็น กก.ละ 19 บาท และ กก.ละ 20 บาท เมื่อเดือนมกราคม 66

 นายปารเมศ โพธารากุล ประธานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทยกล่าวว่า การปรับขึ้นราคาน้ำตาลทรายดังกล่าวเป็นไปตามข้อเสนอที่ชาวไร่ผลักดันไปก่อนหน้านั้นและคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.)เมื่อ28 ก.ย.ก็เห็นชอบโดยปัจจัยหลักมาจากราคาตลาดโลกปรับขึ้นสูง

แต่เรื่องดังกล่าวได้เงียบไปดังนั้นจึงไม่ได้เกี่ยวกับว่าหากขึ้นราคาแล้วจะต้องไม่ได้รับเงิน 120บาท/ตันแต่อย่างใด โดยหากรัฐบาลจะพิจารณาออกมาเช่นนั้นชาวไร่ก็พร้อมจะปฏิบัติตามแต่ขอเพียงให้รัฐมีความชัดเจนในเรื่องดังกล่าวโดยเร็วก่อนที่จะมีการเปิดหีบปี2566/67 ในช่วงธ.ค.นี้

“การตัดอ้อยสดนั้นชาวไร่ยืนยันว่าเป็นนโยบายรัฐบาลที่ทำให้ชาวไร่อ้อยมีต้นทุนเพิ่มขึ้นมากรัฐที่ผ่านมาจึงได้สนับสนุนเงินมาช่วยเหลือ120 บาท/ตันแต่หากไม่ชัดเจนในเรื่องดังกล่าวก็จะซ้ำรอยเดิมเช่นปีที่ผ่านมาที่จนขณะนี้ก็ไม่ได้รับเงินสนับสนุนทำให้อ้อยไฟไหม้มีปริมาณที่เพิ่มขึ้นและการหารือล่าสุดชาวไร่อ้อยยืนยันว่ายังคงใช้หลักเกณฑ์เดิมคือการส่งอ้อยไฟไหม้จะถูกหักเงินเข้ากองทุนตันละ 30 บาทเท่านั้นไม่รับข้อเสนอรัฐที่ต้องการหักถึง 90 บาทที่สูงเกินไป เหมือนเป็นผู้ร้ายทั้งที่รถยนต์ปล่อยมลพิษมากกว่าเยอะ”

อย่างไรก็ดี ได้มีการสำรวจราคาน้ำตาลทรายในท้องตลาดขณะนี้ ราคาอยู่ที่กก.ละ 26 -29 บาท ขึ้นอยู่แต่ละชนิด ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์ต่อไปว่า หากสอน.ประกาศขึ้นราคาครั้งใหม่ จะยิ่งส่งผลให้ราคาน้ำตาลในประเทศปรับขึ้นเกินกว่ากก.ละ 30 บาทหรือไม่ หรือเป็นเพียงการปรับขึ้น เพื่อการคำนวณให้ชาวไร่อ้อยเพิ่มเติมเท่านั้น ต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป เพราะหากราคาน้ำตาลทรายปรับขึ้นอีก ย่อมส่งผลให้ราคาสินค้าอื่นๆ ที่ใช้น้ำตาลทรายเป็นส่วนประกอบ ต้องปรับขึ้นราคาตาม โดยเฉพาะเครื่องดื่มชนิดต่างๆ ทั้งน้ำอัดลม น้ำผลไม้ เครื่องดื่มชูกำลัง นมและผลิตภัณฑ์ รวมถึงขนม เบเกอร์รี่ อาหาร จะยิ่งทำให้ภาระค่าครองชีพของคนปรับตัวสูงขึ้นอีก ขณะที่รัฐบาลพยายามลดค่าครองชีพ ลดรายจ่ายประชาชนในทุกด้าน

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 26 ตุลาคม 2566

 

อ่วม! รัฐจ่อขึ้นราคาน้ำตาล 4 บ./กก.แลกเงินตัดอ้อยสด 8,000ล้านบาท

กระทรวงอุตสาหกรรมผ่าทางตัน! อาจต้องเสนอขอขึ้นราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงาน 4 บาท/กก. โดยดึง 2 บาท/กก. เข้ากองทุนน้ำตาลเพื่อนำมาบริหารการตัดอ้อยสดเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ตามนโยบายรัฐที่ต้องการเงินสนับสนุนตันละ 120 บาทวงเงินรวม 8,0000 ล้านบาท

รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อเร็วๆ นี้ผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.)ได้หารือกับฝ่ายโรงงานน้ำตาลทรายและชาวไร่อ้อยในการพิจารณาแนวทางการสนับสนุนการตัดอ้อยสดเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ที่ชาวไร่ต้องการวงเงินสนับสนุน 120 บาท/ตันหรือคิดเป็นเงินงบประมาณราว 8,000 ล้านบาทที่รัฐยังคงค้างจ่ายปีการผลิต 2565/66 และความชัดเจนถึงการสนับสนุนในปีการผลิต 2566/67 ที่กำลังจะเปิดหีบสิ้นปีนี้ โดยการหารือมีการหยิบยกแนวทางการปรับขึ้นราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานเพิ่มขึ้นอีกกิโลกรัม (กก.) ละ 4 บาทตามต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงเนื่องจากราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกได้ปรับตัวสูงเพื่อแลกกับการที่รัฐไม่อาจหาเงินมาสนับสนุนการตัดอ้อยสดดังกล่าวได้

โดยการปรับราคาขึ้นจะแบ่งเป็น 2 ส่วนคือสะท้อนไปยังราคาหน้าโรงงานจริงกก.ละ 2 บาท และการเก็บเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย กก.ละ 2 บาท เพื่อนำไปจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ปลูกอ้อยที่ตัดอ้อยสดส่งเข้าโรงงานน้ำตาลตามนโยบายลดฝุ่นPM 2.5 จากปัจจุบันราคาหน้าโรงงาน น้ำตาลทรายขาวธรรมดาอยู่ที่ กก.ละ 19 บาท น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ กก.ละ 20 บาท ขณะที่ราคาขายปลีกในท้องตลาด น้ำตาลทรายขาวธรรมดา กก.ละ 24 บาท น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ กก.ละ 25 บาท การปรับราคาดังกล่าว จะมีผลให้ราคาหน้าโรงงาน น้ำตาลทรายขาวธรรมดาปรับขึ้นเป็น กก.ละ 23 บาท น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ปรับขึ้นเป็น กก.ละ 24 บาท ขณะที่ราคาขายปลีกจะปรับขึ้นไปเป็น กก.ละ 28 บาท และ กก.ละ 29 บาทตามลำดับ หลังจากที่ราคาหน้าโรงงานเพิ่งปรับเพิ่มขึ้น กก.ละ 1.75 บาท เป็น กก.ละ 19 บาท และ กก.ละ 20 บาท เมื่อเดือนมกราคม 66

อย่างไรก็ตามมติดังกล่าวจะต้องนำเสนอไปยังนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะประธานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.)เห็นชอบและนำเสนอนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่จะต้องทำหนังสือเวียนขอความเห็นจากกระทรวงพาณิชย์ในเรื่องของการปรับราคาดังกล่าวก่อน

จาก https://mgronline.com วันที่ 26 ตุลาคม 2566

เร่งผลักดันแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาล

เปิดประชุมสมาคมชาวไร่อ้อยชัยภูมิ มอบพันธุ์อ้อย เร่งผลักดันแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาล พร้อมสานต่อและเร่งดำเนินการให้พี่น้องเกษตรกรได้รับเงินชดเชยแน่นอน

นายไชยา พรหมา รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่เข้าเยี่ยมให้กำลังใจสมาคมชาวไร่อ้อยจังหวัดชัยภูมิ และเป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมใหญ่สามัญ สมาคมชาวไร่อ้อยจังหวัดชัยภูมิ ประจำปี 2566 ณ หอประชุมสมาคมไร่อ้อยจังหวัดชัยภูมิ ว่า วันนี้ ปัญหาของราคาอ้อย โดยเฉพาะปัญหาการขอรับเงินชดเชย 120 บาท/ตัน จากการตัดอ้อยสด เพื่อลด PM2.5 ในช่วงปี 2565-2566 ที่ผ่านมา ขอยืนยันว่าพร้อมสานต่อและเร่งดำเนินการให้พี่น้องเกษตรกรได้รับเงินชดเชยแน่นอน เห็นควรเร่งผลักดันการแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาล

อีกครั้งภายใต้การดำเนินงานของรัฐบาลนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ให้มีความทันสมัย มีสิทธิประโยชน์ที่ก่อให้เกิดกำไรต่อเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยมากขึ้น เช่น ผลผลิตที่เกิดขึ้นเป็นรายสินค้าต้องนำมาคำนวณผลกำไรแบ่งให้เกษตรกร รวมถึงพี่น้องเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่ได้ปลูกเพียงแค่อ้อย แต่ปลูกพืชอื่นผสมด้วย จึงควรนำ พ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาลมาอยู่ในความดูแลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อาจจะตรงตามภารกิจมากกว่า...

จาก https://www.dailynews.co.th วันที่ 15 ตุลาคม 2566

 

จับตาราคาอ้อยขั้นต้นปี 66/67 จ่อทำสถิติใหม่สูงสุดเป็นประวัติการณ์

รอลุ้น "กบ." เตรียมเคาะราคาอ้อยขั้นต้นปี 66/67 เร็วๆ นี้ จ่อทะลุ 1,400 บาท/ตันทำสถิติใหม่สูงสุดเป็นประวัติการณ์หลังราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกพุ่งสูง จับตาการสู้รบในอิสราเอลอาจดันราคาไปต่อได้หากราคาน้ำมันขยับแรง ส่วนเงินตัดอ้อยสด 120 บาท/ตันที่ยังคงคั่งค้างยังคาดหวังหลัง รมว.อุตฯ รับปากจะเร่งดำเนินการ

นายวีระศักดิ์ ขวัญเมือง ผู้แทนชาวไร่อ้อยในคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มีการทำตัวเลขประมาณการราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและการจำหน่ายขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2566/67 พบว่าราคาอ้อยขั้นต้นเฉลี่ยรวมทั่วประเทศที่ค่าความหวาน 10 ซีซีเอสจะอยู่ในระดับ 1,484 บาท/ตัน ซึ่งนับเป็นราคาที่ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์เนื่องจากราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกปรับตัวขึ้นสูงจากผลผลิตน้ำตาลทรายภาพรวมที่ลดต่ำ อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวจะมีการสรุปอีกครั้งในการประชุมคณะกรรมการบริหาร (กบ.) เร็วๆ นี้ก่อนที่จะนำเสน กอน.เห็นชอบเพื่อประกาศต่อไป

ตามระเบียบแล้วการประกาศราคาอ้อยขั้นต้นจะคิดที่ 95% ของราคาที่กำหนดซึ่งก็จะเฉลี่ยที่ 1,409.79 บาท/ตัน ซึ่งก็ถือว่าเป็นสถิติใหม่สูงสุดเป็นประวัติการณ์จากฤดูหีบปี 65/66 ทำไว้ที่ 1,080 บาทต่อตัน ณ ระดับความหวานที่ 10 ซีซีเอส อย่างไรก็ตามตัวเลขดังกล่าวสุดท้ายจะออกมาอย่างไรก็คงต้องรอ กบ.เห็นชอบก่อน” นายวีระศักดิ์กล่าว

สำหรับการคำนวณราคาดังกล่าวมาจากการประมาณราคาน้ำตาลทรายส่งออก รวมพรีเมียม 26.274 เซ็นต์/ปอนด์ อัตราแลกเปลี่ยน 34.50 บาท/เหรียญสหรัฐ ผลผลิตกากน้ำตาล 3.0780 ล้านตัน ราคากากน้ำตาลเฉลี่ยภายในและส่งออก 5,182 บาท/ตัน เป็นต้น โดยยอมรับว่าปัจจัยหลักที่ทำให้ราคาอ้อยในฤดูหีบนี้เพิ่มสูงมาจากราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากกรณีที่อินเดียงดส่งออกน้ำตาลทรายตั้งแต่เดือน ต.ค. 2566 เพื่อสงวนไว้ใช้ในประเทศ หลังจากประสบปัญหาภัยแล้ง ขณะเดียวกันผลผลิตอ้อยของไทยปี 2566/67 ที่จะเปิดหีบในช่วงปลายปีนี้ก็มีแนวโน้มลดลงจากปีก่อนโดยคาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 75 ล้านตันบวกลบซึ่งดีขึ้นจากการประเมินก่อนหน้าเพราะบางพื้นที่ได้รับปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้นจาก เดิมที่ประสบภาวะภัยแล้ง

ราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกส่งมอบเดือน มี.ค. 2567 อยู่ที่ 26.74 เซ็นต์/ปอนด์ ซึ่งถือเป็นอัตราที่สูงและยังมีแนวโน้มที่อาจไปต่ออีกหลังจากเกิดการสู้รบระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสที่จะหนุนให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นที่จะทำให้บราซิลผู้ผลิตน้ำตาลใหญ่สุดของโลกจะหันนำอ้อยไปผลิตเอทานอลก็จะส่งผลให้ปริมาณน้ำตาลลดต่ำลง จึงต้องติดตามใกล้ชิด” นายวีระศักดิ์กล่าว

สำหรับประเด็นโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ฤดูกาลผลิตปี 2565/66 ที่รัฐจะสนับสนุนการตัดอ้อยสดคุณภาพดีส่งโรงงานในอัตรา 120 บาทต่อตันชาวไร่อ้อยทั่วประเทศยังคงคาดหวังว่าจะมีการนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อเห็นชอบหลังจากที่ได้มีการหารือกับนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และทาง รมว.ได้รับปากที่จะดำเนินการช่วยเหลือแล้ว

เงินส่วนนี้มีความสำคัญต่อการตัดอ้อยสดเพราะแม้ว่าราคาอ้อยจะสูงแต่ต้นทุนการผลิตต่างๆ ที่ผ่านมาก็ปรับตัวสูงขึ้นมาต่อเนื่องทั้งปุ๋ย น้ำมัน ค่าแรง และที่สำคัญ การตัดอ้อยสดต้องใช้รถตัดที่ยังคงมีต้นทุนที่แพง เมื่อการจ่ายเงินที่ผ่านมาไม่มีความชัดเจนก็จะยิ่งกดดันชาวไร่ในการรับมือกับการตัดอ้อยสดมากขึ้น” นายวีระศักดิ์กล่าว

จาก https://mgronline.com วันที่ 11 ตุลาคม 2566