http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล(เดือนกันยายน 2556)

“ม็อบไร่อ้อย”บุกทำเนียบจี้สอบโกงสร้างโรงงานน้ำตาล

เกษตรกรชาวไร่อ้อยสระแก้วกว่า 40 คน บุกทำเนียบ จี้ “นายกฯ” สอบสวนขรก.ระดับสูงของกระทรวงอุตฯ ส่อทุจริตอนุมัติสร้างโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ที่ อ.วัฒนานคร ชี้เอื้อประโยชน์เอกชนฝ่ายเดียว

เมื่อวันที่ 30 ก.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มเกษตรกรชาวไร่อ้อยจังหวัดสระแก้วและเครือข่ายผู้รักความเป็นธรรมจังหวัดสระแก้ว ประมาณ 40 คน ได้เดินทางมาชุมนุมประท้วงที่บริเวณประตู 4 ถนนพิษณุโลก สืบเนื่องมาจากการปิดถนนหน้าศาลากลางจังหวัดสระแก้ว เมื่อวันที่ 25 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยผู้ชุมนุมกลุ่มนี้อ้างว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงในกระทรวงอุตสาหกรรมละเลยบกพร่องต่อการอนุมัติการเปลี่ยนแปลงสถานที่ตั้งโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่จาก อ.ตาพระยา มายัง อ.วัฒนานคร ทำให้สงสัยว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจเอกชนเพียงฝ่ายเดียว

นอกจากนี้ การประชุมจัดเวทีหาทางออกระหว่างนายภัครธรณ เทียนไชย ผวจ.สระแก้ว เกษตรกรชายแดนบูรพา พ.ต.อ.พายัพ ทองชื่อ ส.ว.สระแก้ว คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ การพาณิชย์และอุตสาหกรรม วุฒิสภา และสภาเกษตร จ.สระแก้ว ข้อสรุปมีความไม่ชัดเจนและคุลมเครือ โดยเฉพาะคำตอบของนายสิทธา ปัพพานนท์ อุตสหกรรม จ.สระแก้ว ในฐานะตัวแทนของนายประเสริฐ บุญชัยสุข รมว.อุตสาหกรรม ที่อ้างว่า โรงงานนิวกว้างสุ้นหลียังไม่ได้ยื่น รง.3 จึงทำให้เกิดความล่าช้า แต่ในความเป็นจริงกระทรวงอุตสาหกรรมยังไม่ได้อนุมัติให้เปลี่ยนแปลงสถานที่โรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ และการประกาศว่าจะรับซื้ออ้อยตันละ 1,200 บาทนั้น เป็นกลลวงให้เกษตรกรชาวไร้อ้อยหลงเชื่อว่าไม่จำเป็นต้องตั้งโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่

ทั้งนี้ จากพฤติกรรมดังกล่าว อาจเชื่อได้ว่ามีกระบวนการทุจริตมิชอบตั้งแต่ระดับอุตสาหกรรมจังหวัด ปลัดกระทรวงฯ ไปจนถึงรมว.อุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบ อย่างไรก็ตาม ขอให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม สอบสวนการละเลยบกพร่องต่อหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรม ในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวไร่อ้อยจ.สระแก้วด้วย.

จากนั้น นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมืองได้มารับหนังสือจากตัวแทนเกษตรกรชาวไร้อ้อยจ.สระแก้ว พร้อมกับระบุว่า จะนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อน.ส.ยิ่งลักษณ์ให้รับทราบ และเร่งนำเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้พิจารณาต่อไป

จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 30 กันยายน 2556

ประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ เป็นประธานเปิดการสัมมนา การเกษตรโซนนิ่ง และเกษตรอินทรีย์ ทางรอดของเกษตรไทย

ดร.สุนัย จุลพงศธร ประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ เป็นประธานเปิดการสัมมนา การเกษตรโซนนิ่ง และเกษตรอินทรีย์ ทางรอดของเกษตรไทย ที่หอประชุมที่ว่าการอำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย โดยนางชมภู จันทาทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า ปัจจุบันเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดหนองคาย มักประสบปัญหาทรัพยากรดินในพื้นที่การเกษตร ทั้งดินเปรี้ยว ดินเค็ม ดินทราย ไม่เว้นแม้แต่ดินขาดอินทรียวัตถุ ซึ่งล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อการทำการเกษตรทั้งทางตรงและทางอ้อม เนื่องจากสภาวะภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นจึงควรบูรณาการในหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการเพิ่มผลผลิตให้แก่เกษตรกร ซึ่งนโยบายสำคัญอันหนึ่งของรัฐบาล คือ การโซนนิ่งการเกษตร เพื่อพิจารณาความเหมาะสมของพื้นที่ในประเทศว่า พื้นที่บริเวณใดเหมาะสมที่จะส่งเสริมการปลูกพืชชนิดใดเพื่อให้เกษตรกรได้ผลผลิตที่ดีขึ้น ทั้งนี้ เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่เกษตรกร คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์จังหวัดหนองคาย ทั้งนี้ จึงจัดสัมมนาดังกล่าวขึ้น เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดหนองคาย ตระหนักถึงความสำคัญของดินต่อการเกษตร และเกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเกษตรโซนนิ่ง โดยมีคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ สภาผู้แทนราษฎรและ ผู้รับผิดชอบโครงการ เข้าร่วมสัมมนา จำนวน 550 คน

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 30 กันยายน 2556

ธุรกิจน้ำตาลไม่ควรมีโควตา

จากราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากเมื่อปีก่อน ทำให้ผู้ผลิตทั่วโลกต่างหันมาเพิ่มกำลังการผลิตเพิ่มมากขึ้น จนส่งผลให้ปีนี้ปริมาณการผลิตน้ำตาลทรายล้นตลาด กระทบต่อราคาต่ำลงอย่างต่อเนื่อง

ชลัช ชินธรรมมิตร์ชลัช ชินธรรมมิตร์ผู้ประกอบการหลายรายถึงกับหืดขึ้นคอ หนึ่งในนั้นหนีไม่พ้นบริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด(มหาชน) หรือเคเอสแอล ผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ นายชลัช ชินธรรมมิตร์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานจัดหาวัตถุดิบ ของเคเอสแอล ได้เปิดใจให้สัมภาษณ์พิเศษกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ไว้อย่างน่าสนใจ ถึงสถานการณ์น้ำตาลทรายที่เป็นอยู่ในช่วงนี้

+++ผลกระทบที่เกิดขึ้นมีมากน้อยเพียงใด

ในปีนี้ต้องยอมรับว่าราคาน้ำตาลทรายดิบปรับตัวลดลงอย่างมาก เนื่องจากราคาส่งออกลดลงมาก เทียบกับปีที่แล้วเฉลี่ยอยู่ที่ 24-25 เซ็นต์ต่อปอนด์ แต่ปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 18-20 เซ็นต์ต่อปอนด์ เพราะราคาตลาดโลกที่ดีจากปีก่อน ทำให้ประเทศผู้ส่งออกหันมาผลิตน้ำตาลเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผลผลิตน้ำตาลในโลกปีนี้โอเวอร์ซัพพลาย หรือการผลิตที่มากเกินกว่าความต้องการนั่นเอง

ปัจจุบันประเทศผู้ผลิตน้ำตาลได้หันมาเพิ่มผลผลิตจำนวนมาก โดยเฉพาะประเทศบราซิล ซึ่งมีความได้เปรียบด้านพื้นที่เพาะปลูกที่มีอยู่จำนวนมาก สามารถขยายพื้นที่ได้อีกมาก แต่ก็มีข้อเสียเปรียบ เพราะระยะทางไกลกว่าไทยมาก ดังนั้นการช่วงชิงตลาดอาเซียนจึงเป็นโอกาสของไทย เพราะยังมีความต้องการใช้น้ำตาลอย่างต่อเนื่อง และถือเป็นโอกาสของบริษัทที่จะเร่งเพิ่มกำลังการผลิต

"ในฤดูกาลหน้าปี 2556/57 บริษัทมองว่าแนวโน้มธุรกิจน้ำตาลจะดีกว่าปีนี้ เพราะจะมีปริมาณหีบอ้อยเพิ่ม คาดว่ายอดขายจะเติบโต 10-15% เมื่อเทียบกับปีนี้ มาจากกำลังการผลิตน้ำตาลทรายดิบที่จะเพิ่มเป็นไม่ต่ำกว่า 8 แสนตัน เทียบกับปีนี้ที่มีกำลังการผลิตที่ 7.3 แสนตัน ขณะเดียวกันต้นทุนต่อหน่วยก็ลดลง และคาดว่าราคาขายน้ำตาลทรายดิบในปีหน้าจะใกล้เคียงกับปีนี้"

+++ในช่วง 5 ปีมีงบลงทุนรองรับธุรกิจแค่ไหน

สำหรับเงินลงทุนในช่วง 5 ปีนี้ (ปี 2557-2561) คาดว่าจะใช้ไม่ต่ำกว่า 7 พันล้านบาท แบ่งเป็นการขยายโรงงานน้ำตาล จ.สระบุรี จำนวน 5 พันล้านบาท การขยายโรงงานเอทานอลเฟส 1 จำนวนไม่เกิน 100 ล้านบาท และมีแผนจะก่อสร้างโรงงานผลิตน้ำตาลทรายขาวที่กัมพูชา จำนวน 100 ล้านบาท รวมงบประมาณในการซ่อมบำรุงเครื่องจักรอีกประมาณ 400 ล้านบาทต่อปี

ในส่วนของความคืบหน้าการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลทรายที่ จ.สระแก้วนั้น ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน หรือ รง.4 เพื่อก่อสร้างโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ที่ จ.สระแก้ว ซึ่งย้ายมาจาก จ.ชลบุรี กำลังการผลิต 2.4 หมื่นตันอ้อยต่อวัน คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 5 พันล้านบาท คาดว่าจะทราบผลภายในปี 2557 อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ จะต้องรอดูนโยบายของภาครัฐก่อน โดยเฉพาะพื้นที่ตั้ง เพราะในปี 2558 จะมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี ดังนั้นต้องกลับมาพิจารณาว่าไทยยังคงใช้กฎระเบียบเดิมหรือไม่ อาทิ การกำหนดระยะทางระหว่างโรงงานไม่เกิน 80 กิโลเมตรอยู่หรือไม่

"ขณะที่แผนก่อสร้างโรงงานผลิตน้ำตาลทรายขาวในกัมพูชานั้น เนื่องจากปัจจุบันการลงทุนใน สปป.ลาวและกัมพูชา เป็นเพียงพื้นที่เพาะปลูกอ้อยทั้งหมด 1.5 ล้านไร่ ขณะนี้ดำเนินการไปแล้วประมาณ 3 แสนไร่ แต่ยังไม่มีโรงงานหีบอ้อย ต้องขนอ้อยมาหีบที่โรงงานในไทย ดังนั้นบริษัทจึงมีแนวคิดที่จะก่อสร้างโรงงานผลิตน้ำตาลทรายขาวในกัมพูชา เพราะเมื่อผลผลิตอ้อยออกมาก็ไม่ต้องขนมาหีบที่ไทยอีก และเมื่อสามารถผลิตน้ำตาลทรายขาวได้ ก็จะขายสินค้าในประเทศดังกล่าวได้"

+++จะขยายตลาดน้ำตาลในอาเซียนได้อย่างไรบ้าง

ปัจจุบันไทยส่งออกน้ำตาลทรายส่วนใหญ่ไปยังประเทศอินโดนีเซีย มาเลียเซีย และญี่ปุ่น โดยคาดว่าการบริโภคน้ำตาลในอาเซียนจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะอินโดนีเซีย เพราะเมื่อเทียบกับการบริโภคน้ำตาลทรายกับไทยที่มีประชากรประมาณ 67 ล้านคน คิดเป็นการบริโภคเฉลี่ย 40 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน แต่อินโดนีเซีย คิดเป็นเฉลี่ย 20 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน ดังนั้นยังมีโอกาสที่การบริโภคน้ำตาลทรายจะเติบโตอีกมาก ส่วนหนึ่งมาจากปริมาณประชากรที่มากกว่าไทย 2 เท่า และแนวโน้มเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ทำให้รายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้น จึงเกิดการใช้จ่ายด้านอาหารการกินเพิ่มขึ้นด้วย

สำหรับแผนขยายตลาดน้ำตาล ยังคงโฟกัสไปที่ประเทศรอบข้างไทย อาทิ สปป.ลาว เมียนมาร์ กัมพูชา ซึ่งส่วนใหญ่จะนำเข้าน้ำตาลทรายจากไทย แต่อินโดนีเซียและมาเลเซียยังมีปริมาณนำเข้าจากไทยไม่ถึงครึ่งของปริมาณการใช้ทั้งหมด โดยส่วนใหญ่นำเข้ามาจากบราซิล ดังนั้นทางสมาคมโรงงานน้ำตาลทราย จึงเข้าไปดูงานและหาแนวทางเพื่อเพิ่มปริมาณการค้าน้ำตาลของไทยในอาเซียนเพิ่มขึ้น ทั้งๆที่ไทยมีความได้เปรียบด้านระยะทางที่ใกล้กว่าบราซิลและออสเตรเลีย ดังนั้นหากสมาคมประสบความสำเร็จในการเจรจาก็จะทำให้ไทยสามารถขยายตลาดน้ำตาลเพิ่มขึ้น

"ปัจจุบันไทยมีโรงงานผลิตน้ำตาลทราย 51 แห่ง กำลังการผลิตรวม 1 ล้านตันอ้อยต่อวัน หรือคิดเป็นน้ำตาลทรายดิบที่ 1.1 แสนตันต่อวัน ซึ่งในส่วนนี้ยังมีเหลือส่งออก 7 ล้านตันต่อปี หากประเทศอินโดนีเซียสามารถรองรับได้ 2-3 ล้านตันต่อปี และมาเลเซียอีกกว่า 1 ล้านตันต่อปี ก็จะเป็นผลดีกับผู้ประกอบการของไทยด้วย"

+++ถึงเวลาปล่อยเสรีราคาน้ำตาลทรายได้หรือยัง

สำหรับกรณีที่น้ำตาลทรายยังเป็นสินค้าที่กระทรวงพาณิชย์ยังควบคุมราคา ดังนั้น ภาครัฐควรลอยตัวราคาน้ำตาลทราย และไม่ควรกำหนดโควตาน้ำตาล เพราะการที่ไทยกำหนดราคาน้ำตาลต่างจากตลาดโลก ทำให้เกิดการรั่วไหลตามตะเข็บชายแดน ซึ่งเป็นเรื่องที่ตรวจสอบยาก ปัจจุบันพบว่าความต้องการใช้น้ำตาลในอุตสาหกรรมคิดเป็น 80% ของปริมาณการใช้ทั้งหมด ส่วนอีก 20% จะอยู่ในภาคครัวเรือน

"ผมไม่คิดว่าราคาน้ำตาลที่ปรับตัวขึ้นลงตามตลาดโลกจะกระทบต่อประชาชนมากนัก เพราะจะปรับขึ้นประมาณ 1-2 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น โดยน้ำตาลส่วนใหญ่ถูกใช้ในภาคอุตสาหกรรมที่สามารถปรับต้นทุนขึ้นลงได้ ขณะเดียวกันหากเกิดเหตุการณ์น้ำตาลทรายขาดตลาด จะพบว่าภาคอุตสาหกรรมจะไม่ขาด แต่จะขาดในรายย่อย หรือภาคประชาชน เพราะปัจจุบันมีข้อบังคับว่า เมื่อเปลี่ยนจากถุง 50 กิโลกรัม เป็นถุง 1 กิโลกรัม จะมีค่าการตลาด ค่าบริหารจัดการ และค่าแรง รวม 70-75 สตางค์ต่อกิโลกรัม ซึ่งยอมรับว่าขาดทุน ถ้ากำไรดี เราคงเห็นน้ำตาลทราย 20 ยี่ห้อแล้ว แต่สาเหตุที่มีผู้ประกอบการบางรายทำนั้น เพราะมุมมองผู้บริหารไม่เหมือนกัน บางรายอยากสร้างยี่ห้อ ปัจจุบันน้ำตาลทรายนับว่าเป็นสินค้าเดียวที่ยังถูกควบคุมราคา ดังนั้นหากปล่อยราคาไปตามตลาดโลก เช่น ข้าว ประชาชนสามารถเลือกยี่ห้อใดก็ได้"

สำหรับแนวทางบริหารจัดการธุรกิจน้ำตาลของไทย มองว่าไม่ควรมีโควตา โรงงานใดอยากส่งออกก็ส่งออก เพราะขณะนี้กำลังการผลิตรวมของไทยเกินกว่าความต้องการในประเทศถึง 3 เท่า ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่น้ำตาลในประเทศจะขาดแคลน แต่หากภาครัฐกังวลว่าน้ำตาลในประเทศมีโอกาสขาดแคลนสูง ก็กำหนดให้ผู้ผลิตต้องเก็บสำรองน้ำตาลไว้ 1-2% ของปริมาณการขายทั้งหมด ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับธุรกิจน้ำมัน โดยสมาคมจะหารือกับกระทรวงพาณิชย์ต่อไป

+++ธุรกิจด้านพลังงานเป็นอย่างไรบ้าง

ส่วนแผนการขยายกำลังการผลิตเอทานอล ปัจจุบันบริษัทมีโรงงานเอทานอล 2 แห่ง กำลังการผลิตรวม 3.5 แสนลิตรต่อวัน แบ่งเป็นโรงงานแห่งที่ 1 กำลังการผลิต 1.5 แสนลิตรต่อวัน และแห่งที่ 2 อีก 2 แสนลิตรต่อวัน ดังนั้นจากความต้องการเอทานอลที่เติบโตขึ้นอย่างมาก ทำให้บริษัทมีแผนขยายกำลังการผลิตโรงงานแห่งที่ 1 เพิ่มเป็น 2-2.5 แสนลิตรต่อวัน สาเหตุที่ไม่ก่อสร้างโรงงานเอทานอลแห่งที่ 3 เพราะปริมาณกากน้ำตาลยังตึงตัว หากจะขยายกำลังการผลิตเอทานอล จะต้องขยายกำลังการผลิตน้ำตาลเพิ่มขึ้นด้วย

สำหรับธุรกิจโรงไฟฟ้า ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตรวมอยู่ที่ 210-220 เมกะวัตต์ต่อปี แต่ขายเข้าระบบเพียง 40-50 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลือใช้ในโรงงานของบริษัท ซึ่งต้องการขยายโรงไฟฟ้าเพิ่ม แต่ปริมาณผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นก็ต้องมีปริมาณกากอ้อยเพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้นจึงต้องรอให้แผนก่อสร้างโรงงานน้ำตาลที่สระบุรี ชัดเจนก่อน

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 30 กันยายน 2556

คณะกลั่นกรองฯไฟเขียว ออกใบอนุญาต6รายตั้งโรงงาน

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานกรรมการกลั่นกรองการพิจารณาอนุญาตโรงงานบางประเภทที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า การประชุมเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2556 มีเรื่องการอนุญาตประกอบกิจการโรงงานทั้งที่ตั้งใหม่และขอขยายในพื้นที่เดิม ที่ผ่านการพิจารณาจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) และเสนอมาที่คณะกรรมการกลั่นกรองฯ 7 ราย ซึ่งได้พิจารณาอนุญาต 6 ราย คืนเรื่องกลับให้ กรอ.พิจารณาชี้แจงเพื่อทบทวน 1 ราย ทั้งนี้โรงงานที่พิจารณาอนุญาตในครั้งนี้ เป็นการขออนุญาตตั้งโรงงานใหม่ 4 ราย และขอขยายในพื้นที่เดิม 2 ราย

โดยโรงงานที่ได้รับการอนุญาต คือ 1.บริษัท เอสซีจี นิชิเรโลจิสติกส์ จำกัด (ตั้งโรงงานใหม่) ตั้งอยู่ที่จ.สมุทรปราการ ประกอบกิจการโรงงานห้องเย็น ผลิตอาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง 22.2 ล้านกิโลกรัม/ปี เงินทุน 466 ล้านบาท จ้างแรงงาน 48 คน, 2.บริษัท ไทยแอโรว์ จำกัด (ขอขยายโรงงาน) ตั้งอยู่ที่จ.พิษณุโลก ประกอบกิจการผลิตชุดสายไฟฟ้าภายในรถยนต์ กำลังการผลิตชุดสายไฟสำหรับรถยนต์ 134,083 ชุด/ปี เงินทุน 700,000 บาทจ้างแรงงาน 385 คน

3.บริษัท แปซิฟิกไพพ์ จำกัด (มหาชน) (ตั้งโรงงานใหม่)ตั้งอยู่ที่จ.สมุทรสาคร ประกอบกิจการผลิตท่อเหล็กสำหรับใช้ในการก่อสร้างอาคาร กำลังการผลิต 70,000 ตัน/ปีเงินทุน 400 ล้านบาท จ้างแรงงาน 50 คน, 4.บริษัท อลูคอน จำกัด (มหาชน) (ขอขยายโรงงาน) ตั้งอยู่ที่จ.ชลบุรี ประกอบกิจการผลิตหลอดและกระป๋องอะลูมิเนียม กำลังการผลิตกระป๋องอะลูมิเนียม 100 ล้านชิ้น/ปี และหลอดอะลูมิเนียม 150 ล้านชิ้น/ปีเงินทุน 2,024 ล้านบาท จ้างแรงงาน 392 คน

5.บริษัท มหาชัย กรีน เพาเวอร์ จำกัด (ตั้งโรงงานใหม่)ตั้งอยู่จ.สมุทรสาคร ประกอบกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล กำลังการผลิต 9.5 เมกะวัตต์ เงินทุน 673 ล้านบาท จ้างแรงงาน 40 คน และ 6.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน) (ตั้งโรงไฟฟ้าใหม่) ตั้งอยู่ที่จ.พิษณุโลก ประกอบกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังน้ำ กำลังการผลิต 30 เมกะวัตต์ เงินทุน 469 ล้านบาท จ้างแรงงาน 10 คน

ส่วนโรงงานที่มีมติคืนเรื่องให้ กรอ.พิจารณาชี้แจงเพื่อทบทวน คือ บริษัท โออิชิ เทรดดิ้ง จำกัด ประกอบกิจการผลิตน้ำชาเขียว ตั้งอยู่ในจ.สระบุรี โดยให้ กรอ.รายงานเพิ่มเติมเกี่ยวกับปริมาณน้ำเสียจากกระบวนการผลิต และการใช้โซดาไฟ

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 30 กันยายน 2556

นครสวรรค์เดินหน้าแผนพัฒนา วางเป้าผลักดันรายได้เกษตรกร

นายคนิต ลิขิตวิทยาวุฒิ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 12 นครสวรรค์ (สศข.12) ได้จัดการประชุมแผนพัฒนาการเกษตร จ.นครสวรรค์ และกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 ประกอบด้วย นครสวรรค์ กำแพงเพชร พิจิตร และอุทัยธานี โดยมีหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ประธานสภาเกษตรกร 4 จังหวัด ภาคเหนือตอนล่าง 2 รวมทั้งผู้นำส่วนท้องถิ่นใน จ.นครสวรรค์ ร่วมหารือ

สำหรับสาระสำคัญของแผนพัฒนาการเกษตร จ.นครสวรรค์ ที่ได้พิจารณาร่วมกัน คือ การจัดเตรียมโครงการสำคัญต่างๆ ให้ทันตามปฏิทินงบประมาณปี 2558 ได้แก่ โครงการส่งเสริมการผลิตข้าว GAP เพื่อเพิ่มคุณภาพข้าว และยกระดับราคาข้าวที่เกษตรกรขายได้ โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวพันธุ์ลูกผสมเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้ได้ 1.5 ตัน ซึ่งจะส่งผลทำให้ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรลดลง และส่งจำหน่ายให้โรงงานแปรรูปแป้งข้าว โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลังให้ได้ 5 ตันต่อไร่ และอ้อยให้ได้ 15 ตันต่อไร่โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลังนา เช่น ถั่วลิสง ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ที่โรงงานแปรรูปต้องการเป็นการเพิ่มรายได้ ลดความเสี่ยงการขาดแคลนน้ำทำนาปรังในบางพื้นที่ โครงการส่งเสริมการเลี้ยงปลาในบริเวณบึงบอระเพ็ด และโครงการส่งเสริมการปลูกดอกมะลินอกฤดู

ด้าน นายโฆสิต วิโรจน์เพ็ชร์ผู้อำนวยการ สศข. 12 กล่าวว่า โครงการทั้งหมดดังกล่าว หากเกิดขึ้นสำเร็จเป็นรูปธรรม จะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 โดยยกระดับรายได้จาก 6 หมื่นบาท ต่อราย/ปี เพิ่มเป็น 7.2 หมื่นบาทต่อราย/ปี

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 30 กันยายน 2556

ถอดรหัส 2 ภารกิจเดินหน้าเพิ่มศักยภาพเกษตรไทย

นางกุลรัศมิ์ อนันต์พงษ์สุข รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ด้านวิชาการ กล่าวว่า ภารกิจสำคัญประการหนึ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการภาคการเกษตรของไทย เพื่อให้เกิดศักยภาพในการใช้ทรัพยากร และเกิดประโยชน์ต่อผลผลิตสูงสุด คือการบริหารจัดการที่ดิน และพัฒนาที่ดิน โดยกรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มียุทธศาสตร์หลัก คือการ “พัฒนาที่ดินให้สมบูรณ์ เพิ่มพูนผลผลิต ในทิศทางการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน บนพื้นฐานการมีส่วนร่วม” โดยจะมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้มากยิ่งขึ้น ในการดำเนินการนั้น ทางกรมพัฒนาที่ดินได้จัดทำรวบรวมข้อมูล Meta Data ด้านภาพถ่ายทางอากาศ ภาพถ่ายดาวเทียมและแฟ้มข้อมูลแผนที่ทุกประเภท สำหรับบริการหน่วยงานต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ ปรับปรุงฐานข้อมูลสารสนเทศด้านภูมิศาสตร์ให้เป็นปัจจุบัน เพื่อเข้าสู่ระบบเครือข่ายกลาง นอกจากนี้จัดหาและพัฒนาเทคโนโลยีและโปรแกรมการใช้งานทางด้านระบบภูมิสารสนเทศ และการให้บริการข้อมูลต่าง ๆ ในรูปของโปรแกรมบนเครือข่ายออนไลน์ ตลอดจน ประสาน ดำเนินการ วิเคราะห์จัดทำข้อมูล กรณีเร่งด่วนด้านการบริหารสินทรัพย์ ด้านการเตือนภัย การติดตามประเมินผล การใช้ประโยชน์ที่ดินให้ผู้บริหารทางด้านภูมิสาร สนเทศ

โดยกรมพัฒนาที่ดิน มีการร่วมมือกับหน่วยงานสำคัญ ๆ เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งได้จัดเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลดินและการใช้ประโยชน์ที่ดิน ด้วยระบบภูมิสารสนเทศ (GIS) ครอบคลุมพื้นที่ทั้งประเทศ เพื่อประเมินศักยภาพและความเหมาะสมของพื้นที่ ในการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ 12 ชนิด ที่ ประกอบด้วย ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง อ้อย ข้าวโพด ถั่วเหลือง มันสำปะหลัง สับปะรด ปาล์มน้ำมัน ยางพารา กาแฟ ทุเรียน และลำไย ขณะที่ภารกิจหลักด้านการส่งเสริมและพัฒนาเพิ่มศักยภาพให้กับเกษตรกร เป็นอีกหนึ่งในภารกิจสำคัญที่ทางกรมพัฒนาที่ดินได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้แนวคิดการสร้างฐานองค์ความรู้ที่เหมาะสมให้กับเกษตรกร โครงการ “เปิดศูนย์การเรียนรู้ส่งเสริมความรู้สู่เกษตรกร ได้ดําเนินการโครงการศูนย์เรียนรู้การพัฒนาที่ดินตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงตั้งแต่ ปี 2550–2554 รวม 2,400 แห่ง (ศูนย์เรียนรู้ใหม่ 800 แห่งและศูนย์เรียนรู้ต่อยอด 1,600 แห่ง) ซึ่งเป็นโครงการที่เกี่ยวกับการพัฒนาที่ดินให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินได้เหมาะสมกับพื้นที่

ทั้งนี้ กรมพัฒนาที่ดิน ได้ให้สถานีพัฒนาที่ดินตั้งศูนย์เรียนรู้การพัฒนาที่ดินฯกระจายตามพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อเป็นแบบอย่างให้เกษตรกร โดยมีเกษตรกรเข้ามาศึกษาแนวทางการเกษตรแบบผสมผสานที่มีการบริหารจัดการทรัพยากรดิน พืช น้ำอย่างเหมาะสม วิธีการดำเนินงานให้คัดเลือกพื้นที่ดําเนินการ จากแปลงสาธิตจุดเรียนรู้การพัฒนาที่ดินประจำตำบลของหมอดินอาสา ที่มีโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ เช่นแปลงสาธิตระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ การปรับปรุงบำรุงดิน การผลิตและใช้สารอินทรีย์ทดแทนสารเคมีทางการเกษตร ฯลฯ จัดทำศาลาศูนย์เรียนรู้เพื่อเป็นแหล่งให้บริการทางวิชาการ ซึ่งภายในศาลาศูนย์เรียนรู้ได้จัดให้มีบอร์ดองค์ความรู้ทางวิชาการ การจัดทำฐานเรียนรู้และแปลงสาธิตต่าง ๆ ตลอดจนการแก้ไขปัญหาดินที่ครอบคลุมภายในพื้นที่ ซึ่งในปัจจุบันได้ดำเนินการครอบคลุมแล้วในเกือบทุกพื้นที่ทั่วประเทศ และทั้งสองภารกิจนี้ จะเป็นแนวทางสู่การพัฒนาการใช้ที่ดินและการเสริมสร้างศักยภาพทางด้านการเกษตรของประเทศ รวมถึงความสามารถในด้านแข่งขันของประเทศ สอดรับกับการเข้ามาของการเกษตรและโลกแห่งการค้ายุคใหม่ในอนาคต.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 30 กันยายน 2556

สปก.-สถาบันการศึกษา เดินหน้าปั้นเกษตรกรรุ่นใหม่

ดร.วีระชัย นาควิบูลย์วงศ์ เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้รับมอบหมายจากกระทรวงเกษตรกรและสหกรณ์ ให้เป็นหน่วยงานหลักในการสร้างและพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ โดยเบื้องต้นได้ลงนามบันทึกข้อตกลงกับกระทรวงศึกษาธิการเพื่อขยายความร่วมมือเป็นระยะที่ 2 เพื่อสร้างโอกาสให้บุคคลที่สนใจได้เข้าสู่อาชีพเกษตรกรรม

โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน นักศึกษาจากสถาบันการศึกษาได้ร่วมโครงการ จะได้รับการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ ด้วยการสนับสนุนปัจจัยการผลิต โครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นจากหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรฯ หลังจากที่สิ้นสุดโครงการไปแล้วเมื่อเดือนมี.ค. 2556 ที่ผ่านมา

สำหรับการดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว ถือเป็นรอบที่ 2 สองหน่วยงานที่ร่วมกันสรุปและประเมินผลสำเร็จที่ดำเนินการมาร่วมกันในระยะแรก เพื่อนำมาปรับปรุงในการดำเนินงานรอบนี้ โดยเฉพาะกรอบแนวคิดของหลักสูตรการเรียนการสอนให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น แต่ยังเน้นย้ำในเรื่องของการเรียนการสอนที่ให้เยาวชนได้ลงมือปฏิบัติจริง รวมถึงการขยายความร่วมมือไปยังสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั้งในระดับอาชีวะศึกษา และในระดับมหาวิทยาลัยมากยิ่งขึ้น

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 30 กันยายน 2556

เอเปกถกลดภาษีสิ่งแวดล้อม

"นิวัฒน์ธำรง" เตรียมนำผู้แทนการค้าไทยประชุมเอเปก จี้สมาชิกลดภาษีสินค้าสิ่งแวดล้อมเหลือไม่เกิน 5% ในปี 58 เพื่อส่งเสริมการแก้ปัญหาโลกร้อน

นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า เตรียมนำคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเอเปค ระหว่างวันที่ 4-5 ต.ค. 56 ที่เมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย โดยการประชุมจะให้ความสำคัญกับการเปิดเสรีการค้าการลงทุน โดยเฉพาะการลดภาษีสินค้าสิ่งแวดล้อมของเอเปกจำนวน 54 รายการให้มีภาษีเหลือไม่เกิน 5% ในปี 58 เพื่อให้เอเปกเป็นผู้นำในการรักษาสิ่งแวดล้อมโลกและแก้ปัญหาโลกร้อน

ทั้งนี้สินค้าสิ่งแวดล้อมที่จะมีการลดภาษี เช่น หม้อไอน้ำชีวมวล กังหันก๊าซ กังหันลม เตาเผาขยะ เครื่องทำน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ เครื่องจักรสำหรับทำอากาศหรือก๊าซให้เป็นของเหลว เครื่องจักรกลที่ใช้สำหรับการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ชุดเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขับด้วยกำลังลม เครื่องมือตรวจวัดคุณภาพอากาศ เป็นต้น

“ไทยจะได้ประโยชน์จากการนำเข้า เพราะสินค้าบางรายการไม่มีผลิตในประเทศ เนื่องจากเทคโนโลยีสูง และยังทำให้ได้ใช้สินค้าราคาถูกลง มีผลดีต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งในด้านการจัดการน้ำเสีย การจัดการขยะ และการใช้พลังงานสะอาด ขณะเดียวกัน สินค้าสิ่งแวดล้อมของไทย ก็มีโอกาสส่งออกได้เพิ่มขึ้น เช่น ชิ้นส่วนอุปกรณ์สำหรับกระจกรับแสงอาทิตย์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์เครื่องจักรไฟฟ้า อุปกรณ์ไฟฟ้า ส่วนประกอบของเครื่องจักร อุปกรณ์ที่ใช้กรองของเหลวหรือก๊าซ”

นายนิวัฒน์ธำรง กล่าวว่า เอเปกยังจะมีแผนและเพิ่มความร่วมมือในการพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเพื่อ ให้ผู้ประกอบการสามารถขยายตลาดไปต่างประเทศได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการพิจารณาความมั่นคงทางด้านอาหารให้กับโลก เพราะสมาชิกเอเปกหลายประเทศเป็นผู้ผลิตอาหารรายสำคัญ ซึ่งไทยจะสนับสนุนให้สินค้าเกษตรมีการค้าที่เป็นธรรม และเปิดโอกาสให้เกษตรกรมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

นอกจากนี้ เอเปกจะเน้นการส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาค ให้เกิดการผลักดันการลงทุนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภค โดยดึงภาคเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 29 กันยายน 2556

ธพ. หารือเอกชนป้องกันเอทานอลตึงตัว

อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เผยขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับโรงกลั่นน้ำมัน ผู้ค้าน้ำมัน และโรงงานผลิตเอทานอล ในการดูและป้องกันปัญหาเอทานอลที่อาจตึงตัวในเดือน พ.ย.นี้

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในระหว่างหารือร่วมกับโรงกลั่นน้ำมัน ผู้ค้าน้ำมัน และโรงงานผลิตเอทานอล ในการดูและป้องกันปัญหาเอทานอลที่อาจตึงตัวในเดือนพฤศจิกายนนี้ ท่ามกลางความต้องการใช้เอทานอลที่เพิ่มสูงขึ้น

นายวีระพลกล่าวว่า ปลายปีนี้คาดว่าเอทานอลอาจจะเพิ่มสูงเป็น 3 ล้านลิตรต่อวัน จากที่ขณะนี้มียอดใช้ 2.5 ล้านลิตรต่อวัน โดยยอดใช้ที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากยกเลิกการใช้เบนซิน 91 และความมั่นใจแก๊สโซฮอล์เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่กังวลคือ เอทานอลอาจตึงตัวในเดือน พ.ย.นี้ เพราะเป็นช่วงปิดหีบอ้อย และผลผลิตมันสำปะหลังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ขณะที่โรงงานเอทานอลมีสัญญาการส่งออก แม้ว่าจะมีกำลังผลิตทั้งประเทศอยู่ที่ 4 ล้านตันต่อวัน

ดังนั้น ขณะนี้จึงต้องวางแผนป้องกัน โดยหารือผู้ค้าน้ำมันว่าจะขยายปั๊มแก๊สโซฮอล์ โดยเฉพาะอี 20 มากน้อยเพียงใด มีความต้องการเอทานอลเป็นอย่างไร และทางโรงงานเอทานอลทั้งโมลาสและมันสำปะหลังจะมีกำลังผลิตเป็นอย่างไร ซึ่งเชื่อมั่นว่าเมื่อเป็นเช่นนี้เอทานอลจะไม่ขาดแคลน

นอกจากนี้ยังหารือกับโรงกลั่นน้ำมันให้มีการแจ้งเรื่องการปิดซ่อมบำรุงให้มีการปิดเหลื่อมเวลากัน เพื่อป้องกันปัญหาการขาดแคลนจีเบสที่ต้องนำมาผสมเบนซินเพื่อผลิตแก๊สโซฮอล์ 91 และแก๊สโซออล์ 95 ซึ่งขณะนี้ไทยต้องนำเข้าจีเบสประมาณ 20-30 ล้านลิตรต่อเดือน หากโรงกลั่นฯ ปิดซ่อมพร้อมกันก็ต้องนำเข้าจีเบสเพิ่มขึ้น โดยในไตรมาส 2 ปีหน้า พบว่ามีโรงกลั่นฯ หลายแห่งเตรียมจะปิดซ่อมบำรุง.-สำนักข่าวไทย

จาก http://www.mcot.net  วันที่ 29 กันยายน 2556

เร่งพัฒนาปุ๋ยรายแปลงพาเกษตรกรสู่สมาร์ทฟาร์ม

จากเมื่อครั้งที่กรมพัฒนาที่ดินร่วมกับกรมวิชาการเกษตร กรมการข้าว และกรมส่งเสริมการเกษตร ได้จัดทำโปรแกรม “คำแนะนำการจัดการดินและปุ๋ยรายแปลง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ย” ขึ้นในปี 2551 จากโปรแกรมปุ๋ยรายแปลงได้รับการพัฒนาและส่งเสริมการใช้งานอย่างต่อเนื่อง พร้อม ๆ กับหลักการและแนวความคิดของปุ๋ยรายแปลงก็ได้รับการพัฒนาและขยายขอบเขตสู่การจัดการในด้านอื่น ๆ มากขึ้น และก้าวเข้าสู่เทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่างโปรแกรมบนโทรศัพท์มือถือ

นางกุลรัศมิ์ อนันต์พงษ์สุข รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมพัฒนาที่ดิน กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า โปรแกรมปุ๋ยรายแปลงเริ่มต้นจากการเป็นโปรแกรมสารสนเทศ เพื่อช่วยให้เจ้าหน้าที่หรือเกษตรกรสามารถเข้าถึงข้อมูลข้อสนเทศในการจัดการดินและปุ๋ย ตามหลักของการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินได้ โดยให้คำแนะนำใน 6 พืชหลัก คือ ข้าว ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา และปาล์มน้ำมัน มีหลักการพื้นฐานคือ เมื่อเกษตรกรนำตัวอย่างดินมาวิเคราะห์หาปริมาณธาตุอาหารในดิน ได้ผลเป็นค่าสูง กลาง ต่ำ ของธาตุไนโตเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม แล้วนำค่าที่ได้ป้อนเข้าสู่โปรแกรมปุ๋ยรายแปลง ระบุชนิดพืช ระบุชนิดดิน โปรแกรมก็จะบอกถึงคำแนะนำการจัดการดินที่เหมาะสมกับพืชนั้น ๆ และคำแนะนำการใช้ปุ๋ยเคมีที่เหมาะสมกับชนิดพืชและค่าวิเคราะห์ดิน

ด้วยหลักการดังกล่าว กรมพัฒนาที่ดินจึงได้ทำการศึกษาวิจัยตามหลักการปุ๋ยรายแปลงควบคู่ไปกับการพัฒนาโปรแกรมปุ๋ยรายแปลง เพื่อให้ปุ๋ยรายแปลงเป็นสะพานเชื่อมระหว่างข้อมูลข้อสนเทศจากงานวิจัยสู่เกษตรกร และนำพาเกษตรกรสู่การใช้เทคโนโลยีการจัดการดินและปุ๋ยรายแปลงในการสร้างความมั่นคงทางการเกษตรและคุณภาพชีวิต

นางกุลรัศมิ์ กล่าวอีกว่า จากข้อมูลข้อสนเทศในการจัดการดินและปุ๋ยรายแปลง ผ่านโปรแกรมปุ๋ยรายแปลง สู่การจัดการดินและปุ๋ยระดับไร่-นา คือ ความคาดหวังในการนำพาเกษตรกรไทยสู่การเป็นสมาร์ทฟาร์ม และทำอย่างไรให้ข้อมูลข้อสนเทศผ่านโปรแกรมปุ๋ยรายแปลงสู่เกษตรกรได้อย่างสะดวก แนวทางหนึ่ง ที่กรมพัฒนาที่ดินให้ความสำคัญคือ การใช้โปรแกรมผ่านระบบออนไลน์ และการทำเป็นโปรแกรมสำหรับโทรศัพท์มือถือและแท็บเล็ต ซึ่งภายในปี 2557 โปรแกรมปุ๋ยรายแปลงรุ่นแรกสำหรับโทรศัพท์มือถือคงได้ปรากฏสู่สายตาของเจ้าหน้าที่และเกษตรกรไทย และจะเป็นเครื่อง มือสำคัญในการให้คำแนะนำการจัดการดินและปุ๋ยให้แก่เกษตรกร และช่วยให้เจ้าหน้าที่ผู้นำโปรแกรมปุ๋ยรายแปลงไปใช้เป็นสมาร์ทออฟฟิศ ขณะเดียวกันปุ๋ยรายแปลงออนไลน์ และปุ๋ยรายแปลงสำหรับคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ ก็จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มศักยภาพของการให้คำแนะนำการจัดการดินและปุ๋ย เนื่องจากโปรแกรมสำหรับโทรศัพท์มือถือแม้จะสะดวกในการใช้งานแต่ก็มีข้อจำกัดบางประการ ทำให้ไม่สามารถยึดถือเป็นแนวทางเพียงแนวทางเดียวในการให้คำแนะนำได้

นอกจากการพัฒนาเครื่องมือในการนำพาหลักการปุ๋ยรายแปลงจากงานวิจัยสู่เกษตรกร หรือการพัฒนาโปรแกรมแล้ว การศึกษา ค้นคว้า วิจัย รวบรวมข้อมูลข้อสนเทศต่าง ๆ เพื่อความสมบูรณ์ของคำแนะนำการจัดการดินและปุ๋ยรายแปลง เป็นสิ่งที่กรมพัฒนาที่ดินได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทำให้ขอบเขตการใช้งานโปรแกรมปุ๋ยรายแปลงขยายจากพืช 6 ชนิด เพิ่มเป็น 12 ชนิด และจะเป็น 20 กว่าชนิดในรุ่นถัด ๆ ไป จากคำแนะนำเรื่องปุ๋ยเคมีเพียงอย่างเดียว.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 28 กันยายน 2556

ธปท.ย้ำศก.โลกผันผวนอีกนาน ลากตลาดเงิน-ทุนไทยปั่นป่วนตาม ใช้นโยบายการเงินที่ยืดหยุ่นรับมือ

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ปัญหาความผันผวนของเศรษฐกิจโลกยังคงจะเป็นเช่นนี้ไปอีกพักใหญ่ ซึ่งมาจากวิกฤติทางเศรษฐกิจของกลุ่ม จี 3 ที่เป็นกลุ่มเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ยังคงไม่ดีขึ้น อีกทั้งไม่เห็นทางออกของปัญหาทำให้ในระยะนี้ เศรษฐกิจจะยังคงผันผวนต่อไป

“เศรษฐกิจกลุ่มประเทศขนาดใหญ่ยังไม่มีแนวโน้มที่ดีขึ้น และเวลานี้ยังไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ที่เป็นทางออกของวิกฤติอย่างชัดเจน ทำให้ภาวการณ์ปัจจุบันเมื่อมีข่าวอะไรมากระทบก็จะมีปฏิกิริยากับตลาดการเงินในระยะสั้น ทำให้เกิดความผันผวนทันที”

ขณะที่ความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมานั้น เคยแข็งค่าไปที่ 28 บาทต่อดอลลาร์ และค่าเงินก็อ่อนค่าอย่างรวดเร็ว แสดงให้เห็นว่า ค่าเงินบาทนั้นมีความอ่อนไหวจากภาวะเศรษฐกิจโลก ส่วนมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) ของสหรัฐ ว่าการปรับนโนบายคิวอีน่าจะเป็นลักษณะค่อยเป็นค่อยไป และสหรัฐก็ชัดเจนว่าจะลดปริมาณคิวอีลงเมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น แม้ปัจจุบันสหรัฐจะยืนยันว่าจะใช้ปริมาณคิวอีแบบเดิมอยู่ แต่ธปท.ก็ติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้ความผันผวนกระทบกระเทือนกับภาคเศรษฐกิจจริง

“สิ่งสำคัญคือ ประเทศไทยจะต้องรักษาความยืดหยุ่นของนโยบายที่มีอยู่ โดยรักษาให้มีพื้นที่ยืดหยุ่นเชิงนโยบายที่เพียงพอ ในแง่ของนโยบายการเงิน ทั้งความสามารถที่จะลดดอกเบี้ยได้อย่างเหมาะสมตามสภาวะเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการมีเครื่องมือและมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน และในแง่ของนโยบายการคลัง ที่มีความพร้อมจะใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยจำเป็นต้องรักษาการขาดดุลและระดับหนี้สาธารณะไม่ให้สูงจนเกินไป”

นอกจากนี้ รัฐบาลจำเป็นที่จะต้องสื่อสารให้นักลงทุนและตลาดมีความเข้าใจอย่างชัดเจนถึงสถานการณ์และมุมมองต่อภาพเศรษฐกิจการเงินของภาครัฐบาลควบคู่กันไป ตลอดจนหมั่นสำรวจตัวเองไม่ให้มีจุดอ่อนที่จะทำให้เกิดการสูญเสียความเชื่อมั่นทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 27 กันยายน 2556

กษ.พา79ชาติย้อนประวัติศาสตร์ โชว์ศักยภาพพัฒนายุวเกษตรกร

นางพรรณพิมล ชัญญานุวัตร อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ตามที่กรมส่งเสริมการเกษตรเตรียมจัดงานชุมนุมยุวเกษตรกรโลกครั้งที่ 10 ในระหว่างวันที่ 11-18 พฤศจิกายน ที่โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ซิตี้ จอมเทียน จ.ชลบุรี ซึ่งคาดว่า จะมีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 1,500 คน ประกอบด้วยผู้แทนจากประเทศไทย 980 คน และ ผู้แทนจากต่างประเทศรวม 79 ประเทศ จำนวน 520 คน

โดยภายในงาน นอกจากจะมีการจัดกิจกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจแล้ว กรมส่งเสริมการเกษตร ยังเตรียมนำผู้เข้าร่วมประชุมเดินทางไปศึกษาดูงานด้านการเกษตรและยุวเกษตรกรของไทยนอกสถานที่ ซึ่งเส้นทางที่ถือเป็นไฮไลท์สำคัญ คือ การเดินทางไปศึกษาดูงานพิพิธภัณฑ์ยุวเกษตรกรไทย และร่วมทำกิจกรรมกับกลุ่มยุวเกษตรกรพรหมานุเคราะห์ ที่โรงเรียนพรหมานุเคราะห์ อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งถือเป็นการย้อนรอยศึกษาประวัติศาสตร์ไปยังจุดเริ่มต้นของกระบวนการส่งเสริมยุวเกษตรกรในประเทศไทย เนื่องจากกลุ่มยุวเกษตรกรพรหมานุเคราะห์ ถือเป็นกลุ่มยุวเกษตรกรกลุ่มแรกของประเทศไทยที่ก่อตั้งมานานถึง 60 ปี

นางพรรณพิมล กล่าวอีกว่า ตลอด 60 ปีที่ผ่านมา กลุ่มยุวเกษตรกรพรหมานุเคราะห์มีการพัฒนาตัวเองมาอย่างต่อเนื่องจนประสบความสำเร็จ จึงเชื่อว่า การนำตัวแทนยุวเกษตรกรจากทั่วโลกเดินทางไปศึกษาครั้งนี้ นอกจากจะทำให้ผู้เข้าร่วมงาน รับทราบถึงประวัติศาสตร์ด้านการส่งเสริมและพัฒนากลุ่มยุวเกษตรกรของไทยแล้ว ยังเป็นแสดงศักยภาพของประเทศไทยในการดำเนินงานด้านนี้ และเป็นการช่วยผลักดันให้ประเทศไทยมีบทบาทด้านการพัฒนายุวเกษตรกรบนเวทีระดับโลกได้อีกทางหนึ่งด้วย

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 27 กันยายน 2556

ไทยเสนอจัดตั้งตลาดพลังงานอาเซียน

อินโดนีเซีย 26 ก.ย. - นายอำนวย ทองสถิตย์ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน ครั้งที่ 31 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 23-27กันยายน 2556 ณ เมืองเดนปาซาร์ เกาะบาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี และบรรลุข้อตกลงสำคัญหลายด้าน

โดยโครงการเชื่อมโยงท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ที่ประชุมได้ลงนามร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียนในการขยายข้อตกลงด้านการเชื่อมโยงเครือข่ายท่อส่งก๊าซธรรมชาติ (MOU on the Trans- ASEAN Gas Pipeline : TAGP) ออกไปอีก 10 ปี ถึงปี 2567 เนื่องจาก MOU เดิมจะหมดอายุลงในเดือนพฤษภาคม 2557 ซึ่งความก้าวหน้าที่สำคัญล่าสุดคือ การเชื่อมโยงท่อส่งก๊าซจุดที่ 12 คือ แหล่งก๊าซ Zawtika (Block M-9) ตั้งอยู่ในประเทศเมียนมาร์ และเชื่อมโยงมาสู่ประเทศไทย ระยะทางประมาณ 298 กิโลเมตร ทำให้ประเทศไทยนำเข้าก๊าซจากเมียนมาร์ได้อีกประมาณ 240 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

ส่วนการเชื่อมโยงสายส่งไฟฟ้าอาเซียน (ASEAN Power Grid : APG) รัฐมนตรีพลังงานอาเซียนได้รับทราบถึงความก้าวหน้าในการพัฒนาจุดเชื่อมโยงสายส่งไฟฟ้าใหม่ในอาเซียน ซึ่งใกล้จะแล้วเสร็จในปีหน้า (2557) ระหว่างเวียดนาม-ลาว และมาเลเซีย-ฝั่งตะวันตกของเกาะกาลิมันตัน

ด้านพลังงานทดแทน (Renewable Energy) อาเซียนได้บรรลุผลสำเร็จของการพัฒนา โดยผลิตทั้งจากพลังน้ำ ชีวมวล พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานความร้อนใต้พิภพ รวมทั้งสิ้น 39,000 MW หรือคิดเป็นสัดส่วน 29% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าของอาเซียน ซึ่งจากตัวเลขดังกล่าวประเทศไทยมีสัดส่วนของพลังงานทดแทนในอาเซียนรวมทั้งสิ้นประมาณ 6,600 MW หรือคิดเป็น 17% ของกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าของอาเซียนทั้งหมด

นอกจากนี้ ประเทศไทยได้ผลักดันความร่วมมือที่สำคัญในอีก 2 ด้าน คือ 1.โครงการด้านการสร้างการรวมตัวของตลาดพลังงานอาเซียน (ASEAN Energy Market Integration : AEMI) นำไปสู่การลดปัญหาท้าทายที่สำคัญ คือลดความไม่สมดุลระหว่างความต้องการและการจัดหาพลังงานในอาเซียน (Energy Gap) ลดการพึ่งพาพลังงานจากภายนอก (Energy Dependency) และลดผลกระทบด้านพลังงานต่อสิ่งแวดล้อม (Energy Footprint)

และ 2.การสร้างความตระหนักรู้ด้านพลังงานในอาเซียน (ASEAN Energy Literacy Cooperation Initiative : AELCI) ซึ่งจะช่วยให้ประชากรของประชาคมอาเซียนมีข้อมูลและมีเหตุผลเพียงพอต่อการตัดสินใจด้านพลังงาน โดยกำหนดจะจัดให้มีการประชุมสัมมนาร “ความตระหนักรู้ด้านพลังงานของอาเซียน” (AELCI) ไทยช่วงเดือนมกราคม 2557

“ตลาดพลังงานอาเซียนจะมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาตลาดพลังงานอาเซียนในอนาคต เนื่องจากโครงการดังกล่าวจะช่วยให้สมาชิกอาเซียนสามารถเชื่อมโยงแหล่งพลังงานในอาเซียนเข้ากับแหล่งที่มีความต้องการใช้พลังงานในอาเซียนผ่านการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ (ASEAN Energy Infrastructure)” นายอำนวยกล่าว

นายอำนวย กล่าวว่า ในการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน ครั้งที่ 31 ได้มีการมอบรางวัลให้แก่ผู้ชนะการประกวด ASEAN Energy Awards 2013 ซึ่งประเทศไทยได้ 9 เหรียญทอง จาก 13 ประเภทย่อยที่มีการแข่งขันกัน. - สำนักข่าวไทย

จาก http://www.mcot.net  วันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2556

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์(องค์การมหาชน) เตรียมความพร้อมรองรับ AEC 2015

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์(องค์การมหาชน) เตรียมความพร้อมรองรับ AEC 2015 ผลักดันมาตรฐานธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และนำไปประยุกต์ใช้ในกระบวนการนำเข้า - ส่งออกสินค้าผ่านระบบ National Single Window (NSW) เพื่อการยกระดับคุณภาพการให้บริการของภาครัฐ และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของภาคเอกชน

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือสพธอ. เตรียมพร้อม โครงสร้างพื้นฐาน ที่สำคัญต่อการขับเคลื่อน ระบบ National Single Window ซึ่งเป็นระบบกลางสำหรับรองรับการเชื่อมโยงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า-ส่งออก และระบบโลจิสติกส์ของประเทศ ความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกด้านศุลกากรด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน(Agreement to Establish and Implement ASEAN Single Window) พร้อมจัดงานสัมมนาเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าร่วม AEC 2015 “มาตรฐาน e–Transactions กุญแจสู่ความสำเร็จของภาครัฐและเอกชน” ในวันอังคารที่ 24 กันยายน 2556 เวลา 09.00-16.00 น. ณ ห้องกมลทิพย์ 3 โรงแรมเดอะสุโกศล โดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและส่งเสริมให้มีการนำมาตรฐานธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์มาประยุกต์ใช้ในกระบวนการนำเข้า – ส่งออกสินค้าผ่านระบบ National Single Window (NSW) ที่สามารถใช้งานได้จริงสำหรับสินค้าทุกประเภทได้อย่างเต็มรูปแบบก่อนการเปิด AEC ในปี พ.ศ.2558

นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ. ซึ่งเป็นองค์การภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที)กล่าวว่า “ตามที่ สพธอ. ได้ดำเนินโครงการพัฒนามาตรฐานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่จำเป็นต่อธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อเตรียมความพร้อมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2015 (e-Transactions Standard for ASEAN) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำและส่งเสริมการใช้มาตรฐานที่เกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อประโยชน์ใน 3 ด้าน คือการชำระเงิน การนำเข้า-ส่งออก และการสาธารณสุข พร้อมทั้งผลักดันให้มีการประกาศใช้มาตรฐานในระดับประเทศ อันจะนำไปสู่การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานและการประมวลผลข้อความแบบ Straight Through Processing ซึ่งเป็นการส่งข้อความจากจุดเริ่มต้นไปยังปลายทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

ทั้งนี้เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุน มาตรฐานการนำเข้า-ส่งออกสพธอ. จึงจัดงานสัมมนาเตรียมความพร้อมเข้าร่วม AEC 2015 “มาตรฐาน e-Transactions กุญแจสู่ความสำเร็จของภาครัฐและเอกชน” โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในด้านการนำเข้า-ส่งออก มาร่วมบรรยายภายในงานสัมมนา นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) มาบรรยายให้ความรู้ในเรื่อง “ Standard Security Law (SSL) โครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการขับเคลื่อน National Single Window” จากนั้นมีการเสวนาในหัวข้อ “มาตรฐาน e-Transactions โครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน” ดำเนินการเสวนาโดย นายวรรณวิทย์ อาขุบุตร รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ร่วมด้วย ผู้แทน จากภาคเอกชน ร่วมแบ่งปันประสบการณ์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ในช่วงบ่ายได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.สมนึก คีรีโต ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มาบรรยายให้ความรู้ในเรื่องของ “อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ของ National Single Window เพื่อไปสู่ ASEAN Single Window”

ช่วงท้ายของงานสัมมนา มีการเสวนาในหัวข้อ "มาตรฐาน e-Transactions เพื่อยกระดับบริการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างรัฐและเอกชนและส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ" ดำเนินการเสวนาโดย ดร.อุรัชฎา เกตุพรหม ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ร่วมด้วย นายวรรณวิทย์ อาขุบุตร, ผู้แทนจากกรมศุลกากร และผู้แทนจากภาคเอกชน มาแบ่งปันประสบการณ์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกัน

ปัจจุบัน สพธอ. ได้มีความร่วมมือกับ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรมศุลกากร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการศึกษาวิเคราะห์รูปแบบการวางแผนธุรกิจ และการพัฒนากลไกและระบบบริหารจัดการ NSW (Business Model) นอกจากนี้ สพธอ. ยังมีบทบาทในการยกร่าง พรฎ. เกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ในภาพรวมทั้งหมดเพื่อรองรับระบบ NSW เพื่อพัฒนาสู่ระบบ ASW และยังเป็นที่ปรึกษา และให้คำแนะนำหน่วยงานต่างๆ ในการใช้งานรหัสมาตรฐานข้อมูลสากลสำหรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่านระบบ NSW เพื่ออำนวยความสะดวกในการนำเข้า-ส่งออก อีกด้วย

กรมศุลกากรเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการจัดตั้งระบบ “National Single Window” ซึ่งเป็นระบบกลางสำหรับรองรับการเชื่อมโยงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า - ส่งออก และระบบโลจิสติกส์ของประเทศ เริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปีพ.ศ. 2554 ปัจจุบันมีบริการหลักๆ ที่พร้อมดำเนินการแล้ว อาทิ ระบบการขอและออกใบอนุญาตอิเล็กทรอนิกส์ของกรมอุตสาหกรรมทหาร ระบบเชื่อมโยงข้อมูลใบอนุญาตและใบรับรองระหว่าง 36 ส่วนราชการ, ระบบติดตามสถานะของเอกสารและสินค้า, ระบบเชื่อมโยงข้อมูลธุรกรรมการชำระเงินผ่านเครือข่ายธนาคารพาณิชย์ เป็นต้น

โดยมี 16 ส่วนราชการที่มีการเชื่อมโยงข้อมูลเป็นทางการแล้วประกอบด้วย กรมศุลกากร กรมการค้าต่างประเทศ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมปศุสัตว์ กรมสรรพสามิต สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กรมประมง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กรมศิลปากร และกรมธุรกิจพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กรมการอุตสาหกรรมทหาร สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง กรมการขนส่งทางบก และมีอีก 4 ส่วนราชการอยู่ระหว่างทดสอบการเชื่อมโยงข้อมูล ได้แก่ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและเหมืองแร่ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กรมการปกครอง และกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ

จาก http://news.thaiquest.com  วันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2556

'พิรมล'สั่งติวเข้มคนพาณิชย์ ช่วยผู้ประกอบการรับมือเออีซี

“พิรมล” สั่งติวเข้มคนพาณิชย์ ช่วยผู้ประกอบการภูมิภาครับมือเออีซี ส่วนคืบหน้าเจรจาอาเซียน เตรียมเปิดเสรีสินค้าบริการชุดที่ 9 เปิดเสรีบางสาขา 70% เร็วๆ นี้ และเปิดเสรีวิชาชีพสาขาท่องเที่ยวเพิ่มอีก 1 จากเดิมไฟเขียว 7 อาชีพ...

วันที่ 25 ก.ย. นางพิรมล เจริญเผ่า อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมมีแผนพัฒนาบุคลากรของกระทรวงพาณิชย์ ในส่วนภูมิภาคทั้ง 76 จังหวัด เพื่อรองรับศูนย์เออีซีระดับจังหวัด ซึ่งจะดำเนินการทั่วทั้งภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคอีสาน และภาคกลางกับภาคตะวันออก โดยมีเป้าหมายพัฒนาคนพาณิชย์ที่สังกัดหน่วยงานต่างๆ ทั้งพาณิชย์จังหวัด การค้าภายในจังหวัด พัฒนาธุรกิจการค้าจังหวัด ผู้อำนวยการศูนย์ชั่งตวงวัด ผู้อำนวยการสำนักงานการค้าต่างประเทศ และผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศในภูมิภาค ให้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) เข้มข้นมากขึ้น

“กรมจะพัฒนาเจ้าหน้าที่สังกัดกระทรวงพาณิชย์ในส่วนภูมิภาค ให้มีความรู้ และเข้าใจ เกี่ยวกับเออีซีต่อเนื่องทุกปี จะได้สามารถไปถ่ายทอดให้ผู้ประกอบการและประชาชนในจังหวัดได้ต่อไป เพราะขณะนี้ เออีซีมีความคืบหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ และใกล้เปิดเสรีเออีซีในปี 58” นางพิรมล กล่าว

นางพิรมล กล่าวว่า ขณะนี้ การเจรจาในกรอบอาเซียนมีความคืบหน้าต่อเนื่อง โดยได้ลงนามในข้อเสนอผูกพันเปิดตลาดการค้าบริการของไทยชุดที่ 8 ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการบริการของอาเซียน และการเสนอข้อผูกพันฯ ชุดที่ 9 ซึ่งเป็นข้อเสนอฉบับสมบูรณ์ด้านการค้าบริการของอาเซียน ซึ่งจะทำให้นักลงทุนอาเซียนสามารถเข้าไปถือหุ้นในสาขาบริการนำร่อง คือ เทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอซีที) สุขภาพ ท่องเที่ยว การบิน และโลจิสติกส์ ได้ 70% และตามเป้าหมายในปี 58 นักลงทุนอาเซียนจะสามารถถือหุ้นในธุรกิจบริการอื่นๆ ได้ถึง 70%

นอกจากนี้ อาเซียนยังได้เพิ่มสาขาอาชีพที่สามารถเข้าไปประกอบอาชีพในประเทศสมาชิกอื่น ของอาเซียนได้ อีก 1 สาขา คือ สาขาการท่องเที่ยว จากเดิมที่อนุญาตแล้ว 7 อาชีพ ได้แก่ แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล นักบัญชี วิศวกร สถาปนิก ช่างสำรวจ รวมทั้งยังมีความคืบหน้าการเจรจาการค้าเสรีระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา และการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจในภูมิภาค (อาร์เซพ) ระหว่างอาเซียนกับ 6 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย ซึ่งมีเป้าหมายที่จะเจรจาให้เสร็จในปี 58 และจะกลายเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ขณะเดียวกัน อาเซียนยังกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร มาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรม เพื่อให้สินค้าที่ค้าขายในอาเซียนมีความปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค เพราะมาตรฐานนี้จะพัฒนาต่อไปเป็นมาตรฐานสินค้าเดียวกันทั่วโลกด้วย จึงจำเป็นต้องให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการให้เตรียมความพร้อมในการผลิตสินค้า.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2556

กรมชลฯยันการระบายน้ำยังอยู่ในเกณฑ์น่าพอใจ เขื่อนขนาดใหญ่ยังสามารถรองรับน้ำได้ในปริมาณมาก

กรมชลประทาน ยืนยันภาพรวมการระบายน้ำยังอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ โดยเฉพาะในภาคเหนือเขื่อนขนาดใหญ่ ยังสามารถรองรับน้ำได้ในปริมาณมาก

นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบปริมาณน้ำในลุ่มน้ำสำคัญต่างๆ ภาพรวมการระบายน้ำยังอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ โดยเฉพาะในภาคเหนือเขื่อนขนาดใหญ่ อาทิ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ ยังสามารถรองรับน้ำได้ในปริมาณมาก ขณะที่ร่องมรสุมกำลังจะพัดผ่านพื้นที่ จึงต้องวางมาตรการระบายน้ำ เน้นในพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกให้มากขึ้น เพราะในพื้นที่ภาคกลาง เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีปริมาณน้ำในเขื่อนสูงขึ้นอย่างรวดเร็วถึงร้อยละ 84 ของความจุเขื่อน จึงต้องระบายน้ำออกเพื่อรอรับน้ำฝนที่อาจจะตกมากหลังจากนี้ แต่จะระบายไม่ให้เกิน 400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อประชาชน ส่วนภาคตะวันออกจะเร่งระบายน้ำออกจากเขื่อนขุนด่านปราการชล ที่ล่าสุดมีปริมาณน้ำมากถึงร้อยละ 96 ของปริมาณความจุทั้งหมดของเขื่อน อย่างไรก็ตาม มั่นใจสถานการณ์น้ำจะคลี่คลายได้ ขอให้ประชาชนทุกพื้นที่ติดตาม การพยากรณ์อากาศอย่างใกลชิด ส่วนประชาชนที่อยู่บริเวณลุ่มน้ำต่างๆ ขอให้เก็บสิ่งของขึ้นที่สูงเพื่อเตรียมพร้อมไว้ก่อน

ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานพบความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมตอนบนของประเทศไทย ทำให้ร่องมรสุมที่พาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีกำลังแรงขึ้นทั่วทุกภาค โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ ยกเว้นภาคใต้มีฝนร้อยละ 40 ของพื้นที่ นอกจากนี้ยังพบสัญญาณการเริ่มก่อตัวพายุที่ฝั่งประเทศเวียดนาม ที่อาจทำให้น้ำในแม่น้ำโขงสูงขึ้น อาจเป็นอุปสรรคของการระบายน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย จึงขอให้ประชาชนเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2556

อาเซียนต่ออายุข้อตกลงเชื่อมโยงท่อก๊าซ10ปี

ชาติอาเซียนลงนามต่ออายุข้อตกลงเชื่อมโยงท่อก๊าซอีก 10 ปี สานต่อความร่วมมือพัฒนาความมั่นคงทางพลังงานในภูมิภาค

นายวิเชียรโชติ สุกโชติรัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การประชุมรัฐมนตรีพลังงงานภูมิภาคอาเซียน ครั้งที่ 31 (AMEM 2013) ที่เมืองเดนปาซาร์ เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 25-26 ก.ย. 2556 ซึ่งมีการกำหนดหัวข้อการประชุมปีนี้ คือ ความยั่งยืนด้านพลังงานเพื่อความรุ่งเรืองของอาเซียน (Energy Sustainability of ASEAN) โดยมีการประชุมข้อกำหนดสำคัญด้านต่างๆ รวมถึงติดตามความร่วมมือระหว่างชาติสมาชิก

ทั้งนี้ ในวันที่ 25 ก.ย. 2556 รมว.พลังงานของชาติสมาชิกได้ลงนามขยายข้อตกลงด้านการเชื่อมโยงเครือข่ายท่อส่งก๊าซธรรมชาติ (MOU one the Trans-ASEAM Gas Pipline: TAGP) ออกไปอีก 10 ปี จากเดิมที่ข้อตกลงเดิมจะสิ้นสุดลงในเดือนเม.ย. ปี 2557 แสดงถึงความมุ่งมั่นของอาเซียนที่จะร่วมมือกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อการพัฒนความมั่นคงทางพลังงานในภูมิภาค

นายวิเชียรโชติ กล่าวว่า นอกจากนี้ในการประชุมปีนี้ ประเทศไทยได้เสนอความริเริ่มในการสร้างความตระหนักรู้ด้านพลังงานในอาเซียน (ASEAN Energy Literacy Cooperation Initiative:AELCI) ซึ่งในที่ประชุมก็เห็นพ้องเนื่องจากเห็นว่าในอนาคตประชากรอาเซียนต้องตระหนักรู้ถึงปัญหาด้านพลังงานและมีความรู้ในการตัดสินใจเกี่ยวกับพลังงงานในด้านต่างๆ ซึ่งจะส่งผลต่อการดำเนินชีวิตตั้งแต่ระดับครัวเรือน ประเทศชาติ และภูมิภาค

“ในโอกาสนี้ประเทศไทยได้แถลงต่อที่ประชุมถึงความริเริ่มดังกล่าวในการพัฒนาทรัพยากรมุนษย์ของอาเซียน โดยกำหนดจะจัดให้มีการประชุมสัมมนาขึ้นที่ประเทศไทยในเรื่องความตระหนักรู้ด้านพลังงานของอาเซียน ในเดือนม.ค. 2557 เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และกำหนดประเด็นของกรอบความร่วมมือดังกล่าวต่อไป” นายวิเชียรโชติ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุม AMEM ครั้งที่ 31 ทั้ง 2 วัน เป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีของประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ รวมถึงประเทศคู่เจรจาอีก 2 กรอบ คือ อาเซียนบวก 3 จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ และการประชุมอาเซียนบวก 8 จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา และรัสเซีย

ด้านนายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การประชุม AMEM ครั้งที่ 31 มีการติดตามความคืบหน้าความร่วมมือของแผนปฏิบัติการด้านพลังงานทั้ง 8 สาขาของภูมิภาคอาเซียนให้เกิดความต่อเนื่อง ประกอบด้วย 1.ด้านปิโตรเลียม ซึ่งทำเรื่องการเชื่อมโยงท่อก๊าซธรรมชาติ การสร้างความมั่นคงด้านน้ำมัน มีความร่วมมือเรื่องการขายน้ำมันให้กันเมื่อเกิดภาวะฉุกเฉิน

2.แผนการเชื่อมโยงระบบสายส่งไฟฟ้าของอาเซียน 3.แผนงานด้านถ่านหิน 4. แผนงานพลังงานทดแทน 5.สาขาการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ 6.การวางแผนพลังงาน 7.การใช้พลังงานนิวเคลียร์อย่างสันติ และ 8.ความร่วมมือกันระหว่างคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2556

ม็อบอ้อยสระแก้วปิดถนนร้องเพิ่มโรงงานอ้อย

สระแก้ว 25 ก.ย.- สายวันนี้ (25 ก.ย.) กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยประมาณ 1,000 คน ในจังหวัดสระแก้ว รวมตัวปิดถนนถนนสุวรรณศร หน้าศาลากลางจังหวัดสระแก้ว ฝั่งขาเข้า กทม. เพื่อเรียกร้องจังหวัดให้อนุญาตเปิดโรงงานอ้อยอีก 1 แห่ง ไม่ให้เกิดการผูกขาดของโรงงานอ้อยที่มีอยู่แห่งเดียวทั้งจังหวัดอยู่ที่ อ.วัฒนานคร ซึ่งไม่สามารถรองรับผลผลิตอ้อยที่จะออกสู่ตลาดในช่วงฤดูหีบอ้อยที่จะมาถึงในอีก 2 เดือนข้างหน้านี้ และเกษตรกรได้เรียกร้องการตั้งโรงงานอ้อยเพิ่มอีกแห่งมานานแล้วตั้งแต่ปี 2549 หากการเรียกร้องยังไม่เป็นผลจะเคลื่อนไหวไปยังด่านพรมแดนอรัญประเทศ

ล่าสุด พ.ต.อ.พายัพ ทองชื่น ส.ว.สระแก้ว เดินทางมาเจรจากับเกษตรกรผู้ชุมนุมและขอให้เปิดถนนเป็นผลสำเร็จ จากนั้นเกษตรกรได้ส่งตัวแทนเข้าไปหารือกับนายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการประชุมผ่านมา 2 ชั่วโมง ยังไม่ได้ข้อสรุป.-สำนักข่าวไทย

จาก http://www.mcot.net  วันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2556

บาทผันผวนรอผลสรุป QE และ Fiscal Cliff

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของค่าเงินประจำวันพุธที่ 25 กันยายน 2556 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ที่ระดับ 31.37/40 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดวันอังคารที่ (24/9) ที่ 31.31/32 บาท/ดอลลาร์ โดยค่าเงินบาทได้ปรับตัวอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วในการซื้อขายช่วงเช้านี้ที่ตลาดเอเชีย เนื่องจากมีแรงซื้อจากนักลงทุนเข้ามาทุกระดับราคาขาย ทำให้ค่าเงินบาทไทยไหลอ่อนค่าไปแตะที่ระดับ 31.47 บาท/ดอลลาร์ และเริ่มขยับปรับตัวแข็งค่า ตามแรงขายของตลาด

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนในตลาดยังคงเทรดแบบไร้ทิศทาง โดยเป็นผลจากความไม่แน่นอนในการถอนมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และการแก้ปัญหาเพดานหนี้ของสหรัฐฯ เนื่องจากสภาคองเกรสแสดงความเห็นกันอย่างเปิดเผยต่อการรับมือกับการผิดนัดชำระหนี้ เนื่องจากทั้งสองพรรคต้องร่วมเผชิญเส้นตาย 2 ครั้ง เส้นตายแรกคือการที่นักการเมืองพรรคเดโมแครตและรีพับลิกันต้องบรรลุข้อตกลงด้านงบประมารกันให้ได้ก่อนวันที่ 30 ก.ย. มิฉะนั้นหน่วยงานของรัฐบาลกลางสหรัฐอาจต้องปิดทำการตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. ส่วนเส้นตายที่สองคืด การที่สมาชิกสภาคองเกรสต้องลงมติอนุมัติการปรับเพิ่มเพดานหนี้ภายในกลางเดือน ต.ค.เพื่อสกัดกั้นการผิดนัดชำระหนี้ ปัจจัยอีกประการหนึ่งที่สร้างความกังวลในช่วงนี้คือปัญหาที่ว่า สมาชิกพรรครีพับลิกันเรียกร้องให้มีการปรับลดงบรายจ่ายครั้งใหญ่เพื่อแลกกับการปรับเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐจากระดับ 16.7 ล้านล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน ทั้งนี้ ข้อเรียกร้องดังกล่าวอาจเป็นสิ่งที่มากเกินไป เนื่องจากรัฐบาลสหรัฐได้ปรับลดงบรายจ่ายในเกือบทุกด้านลงไปแล้ว ยกเว้นการจ่ายเงินสวัสดิการสังคม ซึ่งถ้าหากรัฐบาลสหรัฐจะต้องปรับลดงบรายจ่ายลงไปอีก รัฐบาลก็ต้องตัดงบในโครงการสำคัญอย่างเช่น เงินบำนาญและเงินประกันสุขภาพสำหรับคนชรา (เมลิแคร์) ซึ่งเป็นสิ่งที่สมาชิกสภาคองเกรสไม่ต้องการจะทำ ทั้งนี้ การผิดนัดชำระหนี้จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อตลาดหุ้นวอลล์สตรีท และอาจก่อให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นอีกครั้ง ในขณะที่ต้นทุนการกู้ยืมอาจพุ่งขึ้นทั่วทั้งระบบเศรษฐกิจ โดยตลอดทั้งวันค่าเงินบาทมีกรอบการเคลื่อนไหวที่ 31.33-31.47 บาท/ดอลลาร์ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.30/33 บาท/ดอลลาร์

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้เปิดตลาดที่ระดับ 1.347/74 ดอลลาร์/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าลงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคารที่ 1.3482/84 ดอลลาร์/ยูโร โดยเงินยูโรอ่อนค่าลงในการซื้อขายช่วงเช้านี้ที่ตลาดเอเชีย ยังคงรับข่าวดีจากวานนี้ที่สถาบัน Ifo เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของเยอรมนีเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ซึ่งต่ำกว่าที่คาดไว้ อย่างไรก็ตาม ในช่วงบ่ายค่าเงินยูโรปรับตัวแข็งค่าขึ้น หลังจากบริษัทวิจัยตลาด Gfk เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เยอรมนีสำหรับเดือน ต.ค.พุ่งขึ้นแตะระดับ 7.1 ถือว่าสูงสุดในรอบ 6 ปี สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 6.9 ซึ่งตัวเลขที่สูงเกินคาดได้หนุนตลาดว่าจะมีการใช้จ่ายที่แข็งแกร่งของผู้บริโภค และส่งผลต่อเศรษฐกิจของเยอรมนีขยายตัวได้ในปีนี้ อย่างไรก็ตาม แรงกดดันยูโรยังถูกเทขายออกมาอย่างต่อเนื่องหลังจากนายมาริโอ้ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ออกมาแสดงความเห็นว่าพร้อมที่จะใช้มาตรการการปล่อยเงินกู้ระยะยาว (LTRO) เพิ่มเติม หากจำเป็นเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินพุ่งแตะระดับที่อาจจะทำให้อัตราเงินเฟ้อส่งผลกระทบทางลบกับระบบเศรษฐกิจ ประกอบกับนายเอวัลด์ โนวอตนี กรรมการสภาบริหารของอีซีบี ออกมาเสริมความเห็นไปในทางเดียวกันว่า เร็วเกินไปที่อีซีบีจะปรับลดมาตรการกู้วิกฤตในเร็ววันนี้ โดยตลอดทั้งวันค่าเงินยูโรมีกรอบการเคลื่อนไหวที่ 1.3465-1.3481 ดอลลาร์/ยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.3476/78 ดอลลาร์/ยูโร

สำหรับค่าเงินเยนวันนี้เปิดตลาดที่ระดับ 98.77/78 เยน/ดอลลาร์ ทรงตัวเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดในวันอังคารที่ 98.79/80 เยน/ดอลลาร์ โดยตลอดทั้งวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวในทิศทางที่แข็งค่า เนื่องจากนักลงทุนยังคงกังวลกับปัจจัยเดิม เรื่องมาตรการการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และปัญหาเพดานหนี้ของสหรัฐฯ ซึ่งไม่มีปัจจัยใหม่มาขับเคลื่อนตลาดจึงทำให้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวในกรอบระหว่างวันอยู่ที่ 98.40-98.79 เยน/ดอลลาร์ โดยค่าเงินเยนปิดตลาดที่ระดับ 98.55/58 เยน/ดอลลาร์

อนึ่ง ข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจในสัปดาห์นี้คือ ยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์และผลผลิตมวลรวมภายในประเทศไตรมาสสองของสหรัฐ (26/9) ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ดัชนีความเชื่อมั่นภาคบริการของประเทศในกลุ่มยูโรโซน และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของมหาวิทยาลัยมิชิแกน (27/9)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +5.9/6.1 สตางค์/ดอลลาร์ และอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +5.0/6.5 สตางค์/ดอลลาร์

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2556

น้ำตาลโลกร่วงส่อกระทบไร่อ้อย

ธ.ก.ส.ห่วงทุ่มจำนำข้าวไม่เหลือสภาพคล่องอุ้มสินค้าเกษตรอื่น เตือนราคาน้ำตาลโลกส่อลดลง อาจต้องเติมเงินให้ชาวไร่อ้อย
25 ก.ย. 56 นายลักษณ์ วจนานวัช กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ และธ.ก.ส. อยู่ระหว่างหารือถึงแผนหาเม็ดเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการรับจำนำข้าวฤดูการผลิต 2556/57 ที่จะดำเนินการในเดือนตุลาคมนี้ คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 1-2 วัน และมีความชัดเจนในการประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) อย่างไรก็ตาม มองว่าปัญหาของโครงการไม่ได้อยู่ที่เม็ดเงิน แต่เป็นเรื่องวิธีการปฏิบัติและกระบวนการตรวจสอบ ที่จะช่วยสร้างความมั่นใจว่าเม็ดเงินส่วนใหญ่อยู่ในมือชาวนาจริง

"การปิดบัญชีปีก่อนขาดทุนไป 1.22 แสนล้านบาท หากเงินตกอยู่กับชาวนาจริงก็รับได้ จึงอยากให้หน่วยงานกลางเข้ามาตรวจสอบอย่างเข้มข้น" นายลักษณ์กล่าวและว่า การรับจำนำข้าวรอบใหม่ในช่วงแรกคงใช้เงินไม่มากประมาณ 8,000 ล้านบาท และจะใช้เงินจำนวนมากในช่วงเดือนมกราคม 2557 ขณะที่ในปีนี้น่าจะมีเงินขายข้าวเข้ามาอีก 8-9 หมื่นล้านบาท จึงไม่น่ามีปัญหา

อย่างไรก็ตาม ปัญหาขณะนี้คือ รัฐบาลต้องการให้มีการระบายข้าว เพราะหากเก็บไว้นานข้าวจะยิ่งเสื่อมสภาพ ขณะเดียวกันต้นทุนก็เพิ่มขึ้น ทำให้รับาลฐมุ่งมั่นที่จะระบายข้าวให้ได้ก่อน สำหรับการคุมกรอบวงเงินการรับจำนำไว้ให้ได้ที่ 5 แสนล้านบาทภายในสิ้นปีนี้ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) นั้น ปัจจุบันรัฐบาลได้ใช้วงเงินในการรับจำนำข้าว 4 ฤดูการผลิตที่ผ่านมาไป จำนวน 6.67 แสนล้านบาท เท่ากับว่ามีวงเงินที่ใช้เกินกรอบไปจำนวน 1.67 แสนล้านบาท แต่รัฐบาลประเมินว่าจะสามารถคุมวงเงินไว้ให้อยู่ในกรอบที่กำหนด

นายลักษณ์กล่าวด้วยว่า ในปีงบประมาณ 2557 ทางธ.ก.ส.จะได้รับจัดสรรวงเงินงบประมาณเพื่อชำระหนี้โครงการในช่วงที่ผ่านมาจำนวน 8.2 หมื่นล้านบาท แต่เงินจำนวนดังกล่าวจะนำมาใช้เป็นสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจของธนาคารในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการดูแลลูกค้าเกษตรกรที่ไม่ได้พึ่งพารัฐบาลต่างๆ เช่น เกษตรกรชาวไร่อ้อย ซึ่งขณะนี้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกปรับลดลง

"เราห่วงลูกค้าที่ไม่ได้พึ่งพารัฐบาล โดยเฉพาะอ้อยและน้ำตาล เพราะขณะนี้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกอ่อนตัวลง ซึ่งอาจจะมีผลต่อการประกาศราคาขั้นต้นในการรับซื้ออ้อยและน้ำตาล ที่จะเริ่มประกาศใน 2 สัปดาห์ข้างหน้านี้" นายลักษณ์กล่าวและว่า ตามปกติราคาที่ประกาศจะต้องเกินกว่า 1,000 บาทต่อตัน โดยปีที่แล้วราคาอ้อยอยู่ที่ 1,150 บาทต่อตัน แต่ยังต่ำกว่าราคาที่ประกาศ ทำให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลต้องมาขอสินเชื่อเพื่อชดเชยส่วนต่างราคาให้แก่เกษตรกรจำนวน 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งธ.ก.ส.ประเมินว่า หากกองทุนจะต้องขอสินเชื่อก็น่าจะอยู่ในระดับเดียวกัน

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2556

รายงานพิเศษ "จัดระบบข้อมูลพยากรณ์ความเสี่ยงการเกิดอุกภัยลุมน้ำเจ้าพระยา"

แหล่งที่มา : สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย

แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแม่น้ำสายหลักที่ผูกพันกับวิถีชีวิตของชาวไทยในลุ่มแม่น้ำภาคกลางเป็นอย่างมาก ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้ที่อยู่อาศัยบริเวณริมตลิ่งโดยตรง ซึ่งปัจจุบันกรมชลประทานได้จัดระบบ ข้อมูลพยากรณ์ความเสี่ยงการเกิดอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ติดตามรายละเอียดได้จากรายงานพิเศษ

เทป : แม่น้ำเจ้าพระยา เป็นแม่น้ำสายหลักสายหนึ่งของประเทศไทย เกิดจากการรวมตัวของแม่น้ำสายหลัก 2 สายจากภาคเหนือ คือแม่น้ำปิงและแม่น้ำน่าน ที่จังหวัดนครสวรรค์ จากนั้นไหลลงไปทางทิศใต้ ผ่านจังหวัดอุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร ก่อนออกสู่อ่าวไทยที่ จังหวัดสมุทรปราการโดยในปี 2554 ประเทศไทยต้องเผชิญกับวิกฤติการณ์มหาอุทกภัย มวลน้ำจากภาคเหนือของประเทศจำนวนมหาศาลไหลทะลักเข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยาจนเกิดน้ำล้นตลิ่ง เข้าท่วมพื้นที่ภาคกลางเป็นบริเวณกว้างกินเวลานานนับเดือน ซึ่งหลังจากการเกิดเหตุมหาอุทกภัย กรมชลประทาน ได้พัฒนาระบบพยากรณ์ความเสี่ยงในการเกิดอุทกภัย ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ ด้วยการสนับสนุนด้านวิชาการจาก องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ JICA โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2555 ซึ่งได้พัฒนาระบบดังกล่าวจนสำเร็จ ซึ่งระบบดังกล่าวสามารถตรวจสอบอัตราการไหล ข้อมูลระดับน้ำ การขยายตัวของพื้นที่น้ำท่วม ตามเวลาจริง และสามารถพยากรณ์สถานการณ์ล่วงหน้าในระยะเวลา 7 ที่มีความแม่นยำสูง //นายทองเปลว กองจันทร์ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทานกล่าวว่า ระบบพยากรณ์ความเสี่ยงในการเกิดอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ถูกพัฒนาให้สามารถประมวลผลจากสถานการณ์จริงได้รวดเร็ว และสามารถพยากรณ์สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้ล่วงหน้า 7 วัน และมีความแม่นยำกว่าระบบเดิมที่กรมชลประทานเคยใช้ โดยมีแผนจะนำระบบดังกล่าวมาปรับใช้กับลำน้ำสำคัญทั่วประเทศในอนาคต

อย่างไรก็ตามข้อมูลจากระบบพยากรณ์ความเสี่ยงอันเนื่องมาจากอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา จะถูกส่งต่อให้กับคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย หรือ กบอ. เพื่อใช้ในการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลการพยากรณ์สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาล่วงหน้า 7 วัน ได้ทาง floodinfo.rid.go.th

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2556

ลุยปั่นไฟฟ้าจากแสงแดด

นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศืไพศาล รมว.พลังงานเปิดเผยว่า ความคืบหน้าโครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคา (โซลาร์ รูฟท็อป) ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันแรกที่เปิดให้ผู้ที่สนใจยื่นขอเข้าร่วมโครงการ ปรากฎว่า มีผู้ที่ยื่นผ่านการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) รวม 424 ราย แยกเป็นอาคาร สำนักงาน โรงงานอุตสาหกรรม 312 ราย บ้านพักอาศัย 111 ราย ยื่นผ่านการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) ในส่วนของอาคารสำนักงาน โรงงานอุตสาหกรรม 842 ราย แต่ยังไม่สามารถรวบรวมจำนวนเมกะวัตต์ได้ในขณะนี้ เพราะอยู่ในระหว่างขั้นตอนการยื่นเอกสาร โดยสามารถยื่นได้จนถึงวันที่ 11 ต.ค.นี้

นายณัฐพล ณัฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) เปิดเผยว่ากระทรวงอุตสาหกรรมกำลังเตรียมขอแก้ไขบัญชีแนบท้ายในกฎกระทรวงอุตสาหกรรมใหม่ โดยจะให้มีการเพิ่มโครงการโซลาร์ รูฟท็อป ชนาดไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ เข้าเป็นโรงงานประเภทที่ 2 ที่ไม่ต้องยื่นขอใบอนุญาตจากคณะกรรมการการกลั่นกรองการพิจารณาอนุญาตโรงงานบางประเภทที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม (รง.4) แต่ต้องแจ้งรายละเอียดให้ กรอ.รับทราบ เพื่อส่งเสิรมให้โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นได้ตามนโยบายของรัฐบาล โดยคาดว่าจะเสนอต่อ รมว.อุตสาหกรรม เพื่อส่งต่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาภายในสัปดาห์หน้า

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2556

'ทีดีอาร์ไอ'ชี้ใช้สิทธิ FTA ครึ่งเดียวทำสูญเงินแสนล้านบาทต่อปี

เยอะ ยุ่ง ยาก แย่ และ เยี่ยม คือนิยาม 5 ย.ที่ทางทีดีอาร์ไอกล่าวถึงมาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีศุลกากรหรือNTMs ซึ่งทีดีอาร์ไอ ระบุ ไทยสูญเงินปีละกว่าแสนล้านบาท จากการใช้สิทธิประโยชน์FTAs เพียงครึ่งเดียว พร้อมกันนี้ทางออกที่แนะรัฐบาลต้องทำ คือการเจรจาแก้ปัญหาในระดับทวิภาคีมากขึ้น ส่วนเอกชนควรปรับมาตรฐานสินค้าและตรวจสอบให้สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไทย

นายสุนทร ตันมันทอง นักวิจัยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

คือหรือทีดีอาร์ไอ เปิดเผยผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับ"การเพิ่มขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรมภายใต้นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศของไทย"(ระยะที่ 4) เพื่อศึกษาผลกระทบจากการบังคับใช้มาตรการทางภาษีศุลกากรและมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีศุลกากรที่มีต่อภาคอุตสาหกรรมไทย และหาแนวทางในการช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวตามความท้าทายดังกล่าวได้อย่างทันท่วงทีภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ในงานสัมมนาเรื่อง "ภาษีใกล้ศูนย์แล้ว แต่อุปสรรค

การค้ายังอยู่?" โดยระบุว่าผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมของไทยประสบกับอุปสรรคทางการค้าที่มีมากขึ้นโดยเฉพาะการที่ประเทศคู่ค้านำมาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีศุลกากร (Non-Tariff Measures : NTM) มาบังคับใช้มากขึ้นเพื่อกีดกันสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการต้องเพิ่มต้นทุนทางการค้าและการเข้าถึงตลาดมีข้อจำกัดมากขึ้น แต่ในทางกลับกันภาษีศุลกากรระหว่างประเทศภาคีกลับลดลงจนเหลือศูนย์หรือใกล้ศูนย์

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีข้อตกลงทาง การค้าเสรี (Free Trade Agreement : FTAs)

ที่มีผลบังคับใช้แล้ว จนถึง ณ ปี 2555 ทั้งหมด 11 ฉบับ ซึ่ง FTAs เป็นการรวมกลุ่มเศรษฐกิจโดยมีเป้าหมายเพื่อลดภาษีศุลกากรระหว่างภายในกลุ่มลงให้น้อยที่สุดหรือเป็นศูนย์ โดยเหตุผลสำคัญที่ทำให้
ประเทศต่างๆ หันมาใช้ FTA เป็นเครื่องมือในการเปิดเสรี เนื่องจาก FTAs เป็นการให้สิทธิพิเศษทางการค้าแก่ประเทศที่เข้าร่วมโดยไม่ขัดกับ WTO ซึ่งทำให้เกิดการขยายตัวทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศที่ร่วมทำ FTA รวมทั้งเป็นการสร้างพันธมิตรด้านเศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่การสร้าง และขยายฐานการค้าในภูมิภาคอื่นต่อไป โดยในช่วงระยะ 5 ปีที่ผ่านมาไทยมีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์จาก FTAs อยู่ในระดับ 40-50% หรือเพียงครึ่งเดียวเท่านั้นและพบว่าส่วนใหญ่มาจากการส่งออกประเภทรถยนต์บรรทุกน้ำหนักไม่เกิน 5 ตันกับเครื่องยนต์นั่งขนาด 1000-1500 ซีซี จาก FTAs เต็ม100% ลดเหลือ 43% และ 35% ตามลำดับ

ประเด็นที่น่าตกใจคือ ไทยมีเอฟทีเอและได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแต่กลับใช้เพียงแค่ครึ่งเดียวเท่านั้น โดยเฉพาะในปี2555 ผู้ส่งออกในไทยประหยัดภาษีศุลกากร 1.18 แสนล้านบาท แต่หากใช้ประโยชน์จากการลดภาษีศุลกากรอย่างเต็มที่จะอยู่ที่ 2.48 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า ขณะที่ในส่วนของการนำเข้าผู้นำเข้าไทยได้ประโยชน์จากการลดภาษีศุลกากรทั้งหมด 0.9 แสนล้านบาทแต่ในทางกลับกันหากใช้ประโยชน์จากการลดภาษีศุลกากรเต็มที่จะประหยัดภาษีไปได้มูลค่า 1.39 แสนล้านบาท จากข้อมูลเหล่านี้เห็นได้ว่าในแต่ละปีไทยมีเงินตกหล่นอยู่จำนวนหลายแสนล้านบาท

ขณะที่นายณัฐวุฒิ ลักษณาปัญญากุล นักวิจัยอาวุโส ทีดีอาร์ไอ ได้ให้คำจำกัดความของมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีศุลกากร (Non-Tariff Measures : NTMs) 5 คำ คือ เยอะ ยุ่ง ยาก แย่และเยี่ยม โดยระบุว่า อุปสรรคจากมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการที่มีผลกีดกันการค้า (non-tariff barrier) เป็นสิ่งที่เยอะ ซึ่งพบว่าแนวโน้มการใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษีในช่วงหลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2551 เพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจน แต่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมากลับลดลง ส่วนคำว่ายุ่ง นั่นคือ NTMs เกิดขึ้นจากแรงกดดันของผู้ผลิตและผู้บริโภคจากทั้งภายในประเทศและต่างประเทศรวมถึงผู้ผลิตในเครือข่ายต่างประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ ซึ่งผู้เกี่ยวข้องเหล่านี้จะคอยกำหนดมาตรฐานต่างๆ เพื่อการันตีถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค การรักษาสภาพแวดล้อม และเพื่อให้ผู้ผลิตปรับตัวแข่งขันได้

สำหรับนิยามคำว่ายาก นั่นคือ แรงกดดันจากหลายๆ ด้าน ทำให้ NTMs บางประเภทมีผลกีดกันการค้า อาทิ มาตรการควบคุมราคา มาตรการทางการเงิน มาตรการควบคุมปริมาณ มาตรการผูกขาด เพื่อปกป้องผู้ผลิตภายในประเทศ ส่วนมาตรการจดทะเบียนเพื่อรวบรวมสถิติ และมาตรการทางเทคนิค จะเป็นการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภคในประเทศและรักษาสภาพแวดล้อม รวมถึงแต่ละประเทศมีการบังคับใช้ NTMs ในระดับที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะประเทศอินโดนีเซียที่มีการใช้ NTMs มากที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน ส่วนคำว่า แย่ นั่นคือ NTMs จำกัดโควตาการนำเข้า เช่น มาเลเซียจำกัดปริมาณการนำเข้าน้ำตาลดิบ เวียดนามจำกัดการนำเข้าน้ำตาลดิบและน้ำมันปิโตรเลียม ขณะที่สิงคโปร์ห้ามนำเข้าหมากฝรั่ง ไทยห้ามนำเข้าข้าวกล้อง เนื้อมะพร้าวแห้งจากฟิลิปปินส์ ซึ่งผลกระทบที่ได้รับนั่นคือ ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถนำของไปขายยังประเทศคู่ค้าได้ โดยการจำกัดการเข้าถึงของตลาดมีผลทำให้ต้นทุนผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น และสุดท้ายคำว่าเยี่ยม คือการที่ NTMs น่าจะเป็นประโยชน์ในแง่ความเชื่อมั่นทางสินค้าที่มีมาตรฐานสูง มีมาตรการทางสุขอนามัยค่อนข้างเข้มงวด ทำให้ผู้บริโภคมั่นใจเชื่อถือสินค้าว่าไม่สร้างมลภาวะภายในประเทศ

ด้านดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวปิดท้ายว่า ทีดีอาร์ไอมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 5 ข้อหลักได้แก่ 1.การเพิ่มประสิทธิภาพและความชัดเจนในกระบวนการพิจารณาการใช้สิทธิประโยชน์ 2.การกระตุ้นให้ผู้ประกอบการใช้สิทธิประโยชน์มากขึ้น 3.การให้ข้อมูลและคำปรึกษาแบบจุดเดียว (One stop service) แก่ผู้ประกอบการ 4.การเจรจาต่อรองด้านภาษีศุลกากร กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าและระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง และ 5.การลดผลกระทบจากมาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี

ทั้งนี้ ประธานทีดีอาร์ไอ ยังกล่าวอีกว่า ในปี 2558 ที่จะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จึงเชื่อว่าข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่ทีดีอาร์ไอเสนอไปทั้ง5 ข้อ จะเป็นประโยชน์ในส่วนของการเคลื่อนย้ายจากการเจรจาลดภาษี ไปสู่การทำอย่างไรจะใช้ประโยชน์จาก FTAs ที่มีอยู่ให้ใช้กันมากยิ่งขึ้น

จาก http://www.siamturakij.com วันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2556

สพธอ. เตรียมพร้อมระบบ National Single Windowรับการเชื่อมโยงข้อมูลนำเข้า-ส่งออก-โลจิสติกส์

สพธอ. เตรียมพร้อม โครงสร้างพื้นฐาน ที่สำคัญต่อการขับเคลื่อน ระบบ National Single Window ซึ่งเป็นระบบกลางสำหรับรองรับการเชื่อมโยงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า-ส่งออก และระบบโลจิสติกส์ของประเทศ ความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกด้านศุลกากรด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน(Agreement to Establish and Implement ASEAN Single Window) จัดงานสัมมนาเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าร่วม AEC 2015 “มาตรฐาน e–Transactions กุญแจสู่ความสำเร็จของภาครัฐและเอกชน” โดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและส่งเสริมให้มีการนำมาตรฐานธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์มาประยุกต์ใช้ในกระบวนการนำเข้า – ส่งออกสินค้าผ่านระบบ National Single Window (NSW) ที่สามารถใช้งานได้จริงสำหรับสินค้าทุกประเภทได้อย่างเต็มรูปแบบก่อนการเปิด AEC ในปี พ.ศ.2558

นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ. ซึ่งเป็นองค์การภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที)กล่าวว่า “ตามที่ สพธอ. ได้ดำเนินโครงการพัฒนามาตรฐานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่จำเป็นต่อธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อเตรียมความพร้อมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2015 (e-Transactions Standard for ASEAN) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำและส่งเสริมการใช้มาตรฐานที่เกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อประโยชน์ใน 3ด้าน คือการชำระเงิน การนำเข้า-ส่งออก และการสาธารณสุข พร้อมทั้งผลักดันให้มีการประกาศใช้มาตรฐานในระดับประเทศ อันจะนำไปสู่การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานและการประมวลผลข้อความแบบ Straight Through Processing ซึ่งเป็นการส่งข้อความจากจุดเริ่มต้นไปยังปลายทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

ทั้งนี้เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุน มาตรฐานการนำเข้า-ส่งออกสพธอ. จึงจัดงานสัมมนาเตรียมความพร้อมเข้าร่วม AEC 2015 “มาตรฐาน e-Transactions กุญแจสู่ความสำเร็จของภาครัฐและเอกชน” โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในด้านการนำเข้า-ส่งออก มาร่วมบรรยายภายในงานสัมมนา นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) มาบรรยายให้ความรู้ในเรื่อง “ Standard Security Law (SSL) โครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการขับเคลื่อน National Single Window” จากนั้นมีการเสวนาในหัวข้อ “มาตรฐาน e-Transactions โครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน” ดำเนินการเสวนาโดย นายวรรณวิทย์ อาขุบุตร รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ร่วมด้วย ผู้แทน จากภาคเอกชน ร่วมแบ่งปันประสบการณ์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ในช่วงบ่ายได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.สมนึก คีรีโต ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มาบรรยายให้ความรู้ในเรื่องของ “อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ของ National Single Window เพื่อไปสู่ ASEAN Single Window”

ช่วงท้ายของงานสัมมนา มีการเสวนาในหัวข้อ "มาตรฐาน e-Transactions เพื่อยกระดับบริการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างรัฐและเอกชนและส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ" ดำเนินการเสวนาโดย ดร.อุรัชฎา เกตุพรหม ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ร่วมด้วย นายวรรณวิทย์ อาขุบุตร, ผู้แทนจากกรมศุลกากร และผู้แทนจากภาคเอกชน มาแบ่งปันประสบการณ์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกัน

ปัจจุบัน สพธอ. ได้มีความร่วมมือกับ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรมศุลกากร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการศึกษาวิเคราะห์รูปแบบการวางแผนธุรกิจ และการพัฒนากลไกและระบบบริหารจัดการ NSW (Business Model) นอกจากนี้ สพธอ. ยังมีบทบาทในการยกร่าง พรฎ. เกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ในภาพรวมทั้งหมดเพื่อรองรับระบบ NSW เพื่อพัฒนาสู่ระบบ ASW และยังเป็นที่ปรึกษา และให้คำแนะนำหน่วยงานต่างๆ ในการใช้งานรหัสมาตรฐานข้อมูลสากลสำหรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่านระบบ NSW เพื่ออำนวยความสะดวกในการนำเข้า-ส่งออก อีกด้วย

กรมศุลกากรเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการจัดตั้งระบบ “National Single Window” ซึ่งเป็นระบบกลางสำหรับรองรับการเชื่อมโยงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า - ส่งออก และระบบโลจิสติกส์ของประเทศ เริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่ไตรมาส 4ของปีพ.ศ. 2554ปัจจุบันมีบริการหลักๆ ที่พร้อมดำเนินการแล้ว อาทิ ระบบการขอและออกใบอนุญาตอิเล็กทรอนิกส์ของกรมอุตสาหกรรมทหาร ระบบเชื่อมโยงข้อมูลใบอนุญาตและใบรับรองระหว่าง 36ส่วนราชการ, ระบบติดตามสถานะของเอกสารและสินค้า, ระบบเชื่อมโยงข้อมูลธุรกรรมการชำระเงินผ่านเครือข่ายธนาคารพาณิชย์ เป็นต้น

โดยมี 16ส่วนราชการที่มีการเชื่อมโยงข้อมูลเป็นทางการแล้วประกอบด้วย กรมศุลกากร กรมการค้าต่างประเทศ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมปศุสัตว์ กรมสรรพสามิต สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กรมประมง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กรมศิลปากร และกรมธุรกิจพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กรมการอุตสาหกรรมทหาร สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง กรมการขนส่งทางบก และมีอีก 4ส่วนราชการอยู่ระหว่างทดสอบการเชื่อมโยงข้อมูล ได้แก่ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและเหมืองแร่ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กรมการปกครอง และกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2556

เล็งเคาะราคาอ้อยคาดอยู่ที่950บาท

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เปิดเผยว่า กอน. จะประกาศราคาอ้อยขั้นต้นในช่วงกลางเดือนต.ค. ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการบริหาร (กบ.) ตาม พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ที่มีนางอรรชกา สีบุญเรือง รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลต่างๆ เพื่อคำนวณราคาที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม คาดว่าราคาอ้อยขั้นต้นปีนี้จะใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา แม้ต้องกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มาจ่ายเงินส่วนเพิ่มก็ไม่น่าจะมีปัญหาใด

ด้านนางอรรชกากล่าวว่า คณะกรรมการ บริหารฯ จะกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นในปลายเดือนก.ย.นี้ โดยยอมรับว่าสถานการณ์ปีนี้ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยราคาที่นำมาคำนวณอยู่ที่ประมาณ 17 เซนต์/ปอนด์ เทียบกับปีที่แล้วที่ประมาณ 24 เซนต์/ปอนด์ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังต้องรวบรวมข้อมูลอื่นเพื่อประกอบการคำนวณเช่นผลผลิตต่อไร่ ต้นทุนการผลิต ซึ่งข้อมูลเบื้องต้นที่เห็นขณะนี้พบว่าผลผลิตต่อไร่ปีนี้ดีกว่าปีที่แล้ว จึงคาดว่าราคาอ้อยขั้นต้นที่ออกมาจะไม่ต่างจากปีที่แล้วที่ 950 บาท ทำให้ภาระการกู้ยืมมาชดเชยไม่ต่างจากฤดูกาล 2555/56 ซึ่งการกู้ยืมก็ไม่ควรสูงมากเพราะตอนนี้ธ.ก.ส.ก็มีภาระในโครงการอื่นๆ ค่อนข้างมาก

จาก http://www.khaosod.co.th  วันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2556

กพร. อัพเกรดผู้ประกอบการสู่สากลเปิดแผนมาตรฐานโลจิสติกส์

เพื่อให้การบริการโลจิสติกส์ของไทยสอดคล้องกับมาตรฐานระดับสากล การพัฒนาการมาตรฐานระบบโลจิสติกส์ จึงเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องโดยอาศัยกรอบการดำเนินงานด้านการพัฒนการโลจิสติกส์ของอาเซียน Roadmap for the Integration of Logistics Services เพื่อรองรับการเปิด AEC ในปี 2558 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) โดยสำนักโลจิสติกส์ จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาการมาตรฐานด้านโลจิสติกส์ของประเทศไทย (Logistics Standardization Roadmap) ระยะเวลา 5 ปี (2556-2560)

ดร.วิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจจำเป็นต้องมีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น เพราะมาตรฐานเป็นเครื่องมือสำคัญและเป็นสิ่งจำเป็นในการสร้างรูปแบบสากลของการดำเนินงาน เพื่อให้เกิดการดำเนินงานระหว่างหน่วยผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ มีความร่วมมือและความเข้าใจในทิศทางเดียวกัน

ส่งผลให้เกิดประสิทธิภาพ มีความถูกต้องแม่นยำและความน่าเชื่อถือซึ่งนำไปสู่การลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจลงได้ในอนาคต ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมมีการเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการหรือมีระบบให้เป็นสากลเพิ่มมากขึ้น จึงจำเป็นต้องพัฒนามาตรฐานโลจิสติกส์ของประเทศไทยให้สอดคล้องกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลก

สำหรับการจัดทำโครงการพัฒนา การมาตรฐานด้านโลจิสติกส์ของประเทศ ไทยเพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ได้มีการศึกษาเปรียบเทียบโครงสร้างและแผนพัฒนามาตรฐานโลจิสติกส์ของอาเซียนและผู้นำในเอเชีย สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา รวมทั้งกรอบดำเนินงานมาตรฐานด้านโลจิสติกส์ พร้อมจัดทำร่างมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการโลจิสติกส์ในเรื่องมาตรฐานของสินค้าและบริการ และมาตรฐานกระบวนการทำงานที่เป็นแนวทางปฏิบัติในระดับสากลให้กับผู้ประกอบการ

"เรื่องโลจิสติกส์และซัพพลายเชนเป็นเรื่องสำคัญซึ่งรัฐบาลภายใต้การนำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยนบายเกี่ยวกับการอนุญาต และการอนุมัติของหน่วยงานภาครัฐต้องนำเอาซัพพลายเชนมาพิจารณาเป็นหลัก สำหรับกระทรวงอุตสาหกรรม อยากให้ไปดูซัพพลายเชนตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ อย่างเช่น ยางพารา ต้องไปดูกระบวนการตั้งแต่การปลูก การผลิต และการส่งออก ทำแบบครบวงจร เพื่อจะได้รู้ว่ารัฐบาลควรจะเข้าไปส่งเสริมตรงไหน มีช่องโหว่ตรงไหน โดยให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เข้าไปส่งเสริมตลอดห่วงโซ่อุปทาน"

ผศ.ดร.ธรินี มณีศรี ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการโซ่อุปทาน มหาวิทยาลัยศรีปทุม ในฐานะผู้จัดทำแผนพัฒนาการมาตรฐานด้านโลจิสติกส์ของประเทศไทย กล่าวว่า แผนพัฒนาระบบโลจิสติกส์ประเทศไทย ระยะเวลา 5 ปี (2556-2560) ประกอบด้วย ปี 2556 มีมาตรฐาน AEO มาตรฐานบรรจุภัณฑ์หมุนเวียน มาตรฐานฉลากอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการจัดการโซ่อุปทาน ปี 2557 มาตรฐานอุปกรณ์ขนถ่ายและ RFID ปี 2558 มาตรฐานบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมและมาตรฐานรถบรรทุกอุตสาหกรรม ปี 2559 มาตรฐานตู้คอนเทนเนอร์ และปี 2560 มาตรฐานบรรจุภัณฑ์รายสินค้าวัตถุอันตราย

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ สำนักโลจิสติกส์ ยังได้ร่วมกับสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ได้จัดทำร่างมาตร ฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมพลาสติกรองรับสินค้า (Plastic Pallet) ตามมาตร ฐาน ISO 8611 ภายใต้โครงการยกระดับมาตรฐานด้านโลจิสติกส์ของประเทศสู่มาตรฐานระดับสากล เพื่อเสนอให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาห กรรม (สมอ.) นำไปใช้เป็นแนวทางในการกำหนดเป็นมาตรฐานของประเทศไทย เพื่อความเป็นมาตรฐานเดียวกันกับประเทศคู่ค้า ซึ่งมาตรฐานเปรียบเสมือนข้อกำหนดเบื้องต้นในการทำธุรกิจร่วมกัน สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน และลดทุนด้านโลจิสติกส์

สำหรับมาตรฐานเออีโอ (Authorized Economic Operator : AEO) ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกกำหนดไว้ในแผนปี2556 ถือว่าเป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อรับรองผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้ายสินค้าตลอดโซ่อุปทาน ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ผู้ผลิต ผู้นำของเข้า ผู้ส่งของออก ตัวแทนออกของ ผู้ขนส่ง ผู้รวบรวม คนกลาง ผู้ประกอบการท่าเรือ หรือท่าอากาศยาน ผู้ประกอบกิจการท่ารถ ผู้ประกอบการคลังสินค้า ตลอดจนผู้จัดจำหน่าย ให้มีการดำเนินงานตามมาตรฐานของ WCO ในเรื่องการรักษาความปลอดภัย

สำหรับประเทศไทย กรมศุลกากรตระหนักถึงระบบการค้าตามมาตรฐานโลกในทุกๆ ด้าน และการส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันทางการค้าของผู้ประกอบการ จึงได้จัดตั้งโครงการผู้ประกอบการระดับมาตรฐาน AEO เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยในห่วงโซ่อุปทานให้ทัดเทียมมาตรฐานสากล

โดยผู้ประกอบการที่ได้รับมาตรฐาน AEO จะได้รับสิทธิพิเศษต่างๆ จากทางศุลกากร เช่น ให้ผ่านการตรวจสอบใบขนสินค้าขาออกโดยไม่ต้องตรวจสอบพิธีการ (Green line) และได้รับการงดเว้นการตรวจทางกายภาพ เว้นแต่การสุ่มตรวจ นอกจากนี้ สินค้าที่ส่งออกจะได้รับการยอมรับจากศุลกากรต่างประเทศที่จะมีการทำความตกลงยอมรับร่วมกัน (Mutual Recognition Agreement : MRA) กับกรมศุลกากรในอนาคต ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการตรวจปล่อยสินค้าที่นำเข้าไปยังประเทศนั้นๆ

โดยขณะนี้มีประเทศคู่ค้าที่สนใจจะเจรจาจัดทำความตกลงยอมรับร่วมกันกับประเทศไทย ได้แก่ ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบจำนวนผู้ประกอบการ AEO ของประเทศเหล่านั้น ซึ่งมีหลายร้อยราย ในขณะที่ปัจจุบันปี 2556 ประเทศไทยยังมีผู้ประกอบการระดับมาตรฐาน AEO จำนวนน้อย โดยเป็นผู้นำของเข้า ผู้ส่งของออก จำนวน 39 ราย และเป็นตัวแทนออกของ จำนวน 28 ราย ทำให้กรมศุลกากรจำเป็นต้องเร่งผลักดันให้มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการ AEO ให้มากขึ้น

จาก ทรานสปอร์ต เจอร์นัล  วันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2556

แม่เมาะรับรางวัลโรงงานอุตฯ ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม

โรงไฟฟ้าแม่เมาะ รับรางวัลโรงงานอุตสาหกรรมที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม 2 รางวัล ต่อเนื่อง 5 ปี พร้อมหน่วยงาน กฟผ. 20 แห่ง โดยผู้บริหาร กฟผ.แม่เมาะ ทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการบริหารเครือข่าย CSRDIW จับมืออุตสาหกรรมทั่วประเทศเข้าเป็นส่วนหนึ่งของโรงงานที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม

ลำปาง/ เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ห้องแกรนด์ไดมอนด์บอลรูม ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม จัดงานสัมมนาสรุปและมอบรางวัลแก่โรงงานอุตสาหกรรม ในโครงการพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรมให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างมีส่วนร่วม (CSR-DIW) ซึ่งจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมทุกขนาด ดำเนินตามมาตรฐานด้านความรับผิดชอบของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต่อสังคม รวมถึงสร้างเครือข่ายในการทำกิจกรรมเพื่อสังคม ชุมชน อย่างมีคุณภาพ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน และรองรับการก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) โดยมีนายอาทิตย์ วุฒิคะโร รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานในงาน โดยนางสายลดา สิทธิวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายจัดการโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารเครือข่าย CSRDIW ได้กล่าวต้อนรับองค์กรสมาชิกและผู้เข้าร่วมงาน พร้อมชูวิสัยทัศน์การขยายเครือข่ายโรงงานอุตสาหกรรมที่เป็นสมาชิกอยู่ 1,274 โรงงาน จากโรงงานอุตสาหกรรมกว่า 132,955 โรงงานทั่วประเทศ ให้เข้าร่วมโครงการให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อสร้างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์จากการปฏิบัติจริงขององค์กรแต่ละแห่งสู่การพัฒนางาน CSR อย่างสร้างสรรค์และยั่งยืนต่อไป


ในปี 2556 นี้มีหน่วยงานของ กฟผ. จำนวน 20 แห่ง ทั้งโรงไฟฟ้า และเขื่อนพลังน้ำได้รับรางวัล โดยโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ได้รับมอบโล่และเกียรติบัตร CSR-DIW Advance ระดับ 4 และ CSR-DIW Continuous Award ซึ่งมอบให้แก่โรงงานที่เข้าร่วมเครือข่ายตั้งแต่ปี 2551-2555 โดยโรงไฟฟ้าแม่เมาะเป็นโรงไฟฟ้าแห่งแรกของ กฟผ. ที่เข้าร่วมโครงการ และได้รับรางวัลต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 5 แล้ว ซึ่งในอนาคต โรงไฟฟ้าแม่เมาะจะพัฒนาการดำเนินการด้าน CSR สู่การชักชวนเครือข่าย Supply Chain หรือองค์กรที่เป็นคู่ค้า ให้มาร่วมดำเนินงานตามมาตรฐานของ CSR-DIW เดียวกัน เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีจิตสำนึกและคำนึงถึงชุมชนและสังคมอย่างครบวงจร

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2556

กอน.พร้อมสรุปราคาอ้อยขั้นต้นกลางเดือนต.ค.

กระทรวงอุตสาหกรรมประกาศราคาอ้อยขั้นต้นกลาง ต.ค. ลุ้นผลิตต่อไร่ดีขึ้น สู้สถานการณ์น้ำตาลโลกดิ่ง

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เปิดเผยว่า กอน.จะประกาศราคาอ้อยขั้นต้นในช่วงกลางเดือน ต.ค. ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการบริหาร (กบ.) ตาม พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ที่มีนางอรรชกา สีบุญเรืองรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลต่างๆ เพื่อคำนวณราคาที่เหมาะสมและ

คาดว่าราคาอ้อยขั้นต้นปีนี้จะใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา แม้ต้องกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มาจ่ายเงินส่วนเพิ่มก็ไม่น่าจะมีปัญหา

รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า คณะกรรมการบริหารฯ และกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นในปลายเดือน ก.ย.นี้ และยอมรับว่าสถานการณ์ปีนี้ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยราคาที่นำมาคำนวณอยู่ที่ประมาณ 17 เซนต์ต่อปอนด์ เทียบกับปีที่แล้วที่ประมาณ 24 เซนต์ต่อปอนด์

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังต้องรวบรวมข้อมูลอื่นเพื่อประกอบการคำนวณเช่น ผลผลิตต่อไร่ ต้นทุนการผลิต ซึ่งข้อมูลเบื้องต้นที่เห็นขณะนี้พบว่าผลผลิตต่อไร่ปีนี้ดีกว่าปีที่แล้ว จึงคาดว่าราคาอ้อยขั้นต้นที่ออกมาจะไม่ต่างจากปีที่แล้วที่ 950 บาททำให้ภาระการกู้ยืมมาชดเชยไม่ต่างจากฤดูกาล 2555/2556 ซึ่งการกู้ยืมก็ไม่ควรสูงมาก เพราะตอนนี้ ธ.ก.ส.ก็มีภาระในโครงการอื่นๆค่อนข้างมาก

นายสมศักดิ์ สุวัฒิกะ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า ราคาอ้อยขั้นต้นจะไม่ต่างจากฤดูกาลก่อนหน้า เพราะตอนนี้ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 18 เซนต์ต่อปอนด์ ซึ่งช่วงปลายเดือน ก.ย. ราคาอาจจะสูงกว่านี้

ขณะที่ต้นทุนผลิตจะไม่ได้ต่างจากฤดูกาลที่ผ่านมา แม้ชาวไร่จะยืนยันว่าต้นทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งการประเมินต้นทุนสูงไว้ก่อนก็เป็นแนวทางที่ชาวไร่ปฏิบัติมาตลอดอยู่แล้ว เพื่อให้ได้เงินชดเชยสูงๆและที่ผ่านมามีการเรียกร้องทุกปี
"เมื่อราคาอ้อยขั้นต้นออกมาไม่ต่างจากปีที่แล้ว การกู้ยืมจาก ธ.ก.ส.มาชดเชย ก็ไม่น่าต่างจากฤดูกาลที่ผ่านมาที่กู้ยืมที่ 1.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากไม่มีการกู้ยืมเพิ่ม จะคืนหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยหมดในเดือน มิ.ย.ปีหน้า แต่หากกู้ยืมเพิ่มเติมระยะเวลาใช้หนี้ก็จะยืดออกไป" นายสมศักดิ์ กล่าว

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2556

สหรัฐเดินหน้ามาตรการคิวอี ดันเศรษฐกิจไทยรุ่งหรือร่วง?

กลายเป็นบิ๊กเซอร์ไพร้ส์ให้กับคนทั่วโลก เมื่อ “เบน เบอร์นันเก้” ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ออกมาแถลงผลการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายทางการเงินธนาคารกลางสหรัฐ หรือเอฟโอเอ็มซี เมื่อวันที่ 17-18 ก.ย. ที่ผ่านมา โดยบอกว่าเฟดจะเดินหน้ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือคิวอี 3 โดยเข้าซื้อพันธบัตรเดือนละ 85,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเหมือนเดิม เพราะต้องการเห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐที่ชัดเจนมากกว่านี้

ด้วยคำพูดนี้เอง ถือเป็นการพลิกความคาดหมายของตลาดเงินตลาดทุนกันทั่วโลกทีเดียวก็ว่าได้ หากจำกันได้ก่อนหน้านี้ตั้งแต่ปลายเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา “เฟด” ได้ส่งสัญญาณมาโดยตลอดว่าอาจทยอยชะลอมาตรการคิวอี แต่สุดท้าย...ก็ผิดคาด ทำเอาปากกา “เซียน” ทั้งหลายหักกลางไม่มีชิ้นดี เพราะต่างคาดการณ์เหมือนกันว่าเฟดจะเริ่มลดการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบแน่แต่ไม่มากนักเพียงเดือนละ 10,000-20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น

แน่นอนว่าการที่เฟดยังคงเดินหน้ามาตรการคิวอีต่อ แสดงให้เห็นว่าสหรัฐยังจำเป็นต้องอัดยาขนานเอก เพื่อพยุงเศรษฐกิจจนกว่าจะสามารถฟื้นตัวขึ้นได้อย่างชัดเจน ผลพวงจากการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบต่อนี้ ถือเป็นยาชั้นดีที่ช่วยให้นักลงทุนคลายกังวล และมีเวลาได้พักหายใจ หลังลุ้นกันมาระยะหนึ่ง... สะท้อนได้จากการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ ทั่วโลก ทั้งตลาดหุ้น และราคาทองคำ ต่างพุ่งพรวดรับข่าวดีที่เกิดขึ้น เช่นเดียวกับตลาดไทยที่แกว่งตัวคึกคักไม่แพ้กัน

แต่เงินร้อนที่ไหลทะลักเข้ามาลงทุนในรอบนี้ จะส่งผลบวกหรือลบต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้อย่างไร คงต้องติดตามสถานการณ์กันอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะบรรดา “กูรูเศรษฐกิจ” ในแต่ละด้าน

ห่วงบาทแข็งกระทบส่งออกไทย

เริ่มต้นกันที่...ภาคส่งออก เพราะหากย้อนดูการดำเนินมาตรการคิวอีของสหรัฐในช่วงที่ผ่านมา ถือว่าเป็นตัวช่วยสำคัญที่ผลักดันให้ไทย กลายเป็นแหล่งลงทุนที่ “เนื้อหอม” ยั่วยวนให้ต่างชาติขนเงินเข้ามาลงทุน ซึ่งเมื่อเงินร้อนเหล่านี้ไหลเข้ามาลงทุนจำนวนมาก ย่อมมีผลโดยตรงกับค่าเงินบาท ทำให้ค่าบาทของไทยเปลี่ยนทิศทาง จากอ่อนค่ากลายเป็นแข็งโป๊กได้ในพริบตา “ธนวรรธน์ พลวิชัย” ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองว่าในแง่เศรษฐกิจมหภาค เฟดประเมินว่าเศรษฐกิจสหรัฐปี 57 อาจเติบโตได้ 2.3% และเป็นไปได้ที่มีโอกาสไม่ถึง 2% ทำให้เห็นว่าเศรษฐกิจยังเปราะบางอยู่ และจำเป็นต้องคงคิวอีต่อ โดยเรื่องนี้ในส่วนของไทยไม่น่าจะได้อานิสงส์จากการส่งออกมากนัก ที่สำคัญหากมีปัจจัยลบที่เข้ามากระทบ อาจทำให้เศรษฐกิจโลกปรับลดลงได้อีก!!

แต่หากมองในแง่การลงทุนในตลาดหุ้น คงได้รับประโยชน์ไปเต็ม ๆ เพราะมั่นใจได้เลยว่าหลังจากนี้ไปจะมี “เงินร้อน” ไหลเข้าตลาดเอเชียรวมถึงไทยอีกระลอกแน่นอน เห็นได้จากค่าเงินบาทที่กลับมาแข็งค่าขึ้นแล้วโดยอยู่ที่ 31 บาทเศษต่อดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมที่เคยอ่อนค่าอยู่ที่ 32 บาท ซึ่งตรงนี้อาจมีผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยแน่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเดิมที่คาดว่าจะได้ผลดีจากการอ่อนค่าของเงินบาทก่อนหน้านี้ กลับเป็นปัจจัยลบขึ้นมาอีกรอบ คาดว่าในปีนี้การส่งออกไทยอาจขยายตัวเพียง 1.3% เท่านั้น

ลุ้นเศรษฐกิจไทยฟื้น

แม้ขณะนี้มีหลายฝ่ายเริ่มเป็นห่วงภาคส่งออกที่อาจได้รับผลกระทบจากเงินไหลเข้าจนทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่า แต่ “พยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือส.อ.ท. มองว่า สถานการณ์นี้ไม่มีผลต่อภาคอุตสาหกรรม การส่งออก การเคลื่อนไหวของตลาดทุน และอัตราแลกเปลี่ยน เพราะผู้ส่งออกต่างรับรู้สัญญาณนี้มานานแล้ว โดยค่าเงินบาทจะทรงตัวอยู่ในระดับนี้และไม่อ่อนค่ามากไปกว่านี้ ซึ่งถือว่าค่าเงินบาทอยู่ในระดับกลางของภูมิภาคนี้ ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปลายปีนี้ เชื่อว่า จะปรับตัวดีขึ้น เห็นได้จากทั้งดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ที่มองว่าอีก 3 เดือนข้างหน้า จะปรับตัวดีขึ้น หรือแม้แต่ตัวเลขของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจทั้งปีอาจขยายตัวได้ 3-4% โดยมีปัจจัยสำคัญอย่างเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกไทย ส่วนปีหน้าจะเป็นอย่างไรคงต้องดูตัวเลขในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ก่อน

ตลาดการเงินผันผวน

หันมาทางด้านนายแบงก์ต่างมีมุมมองในทิศทางเดียวกันว่า จากนี้ไปต้องจับตาตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐต่อเนื่องว่าเป็นอย่างไร เพราะหากเศรษฐกิจเริ่มโงหัว ไทยได้รับอานิสงส์ตามไปด้วย ซึ่ง “เชาว์ เก่งชน” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เป็นเรื่องที่ผิดความคาดหมาย ทำให้ตลาดการเงินโลกผันผวน ทั้งในตลาดหุ้น ค่าเงินบาท รวมไปถึงทองคำ นอกจากนี้ยังสะท้อนให้เห็นว่าเฟดมีมุมมองลบต่อเศรษฐกิจสหรัฐค่อนข้างมาก หลังจากนี้ไปนักลงทุนต้องจับตามองตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐอย่างต่อเนื่องว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้หรือไม่ รวมทั้งต้องป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนด้วย ขณะที่ด้านการค้านั้นเชื่อว่าไม่ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน เพราะค่าเงินบาทยังเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับสกุลอื่นในภูมิภาคนี้

’หากสหรัฐสามารถประคับประคองเศรษฐกิจให้กลับมาฟื้นตัวได้อย่างเข้มแข็ง จะส่งผลดีต่อภาพรวมของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งเศรษฐกิจไทยที่จะส่งผลให้เศรษฐกิจและภาคการส่งออกกลับมาฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง โดยประเมินว่าปี 57 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 4.5% จากปีนี้ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.7% ขณะที่การส่งออกคาดว่าจะขยายตัวได้ใกล้ 10% ขณะที่ปีนี้คาดว่าจะขยายตัวได้ 1.5%“

ส่วน “บุญทักษ์ หวังเจริญ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย เห็นว่า การคงมาตรการของเฟดไปอีกสักระยะ ส่งผลให้ตลาดการเงินทั่วโลกตอบรับในทิศทางที่ดีขึ้น นักลงทุนเริ่มเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น สะท้อนจากตลาดหุ้นทั่วโลก และอัตราแลกเปลี่ยนเริ่มกลับมาแข็งค่าขึ้น ซึ่งเป็นในทิศทางเดียวกับค่าเงินสกุลอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชีย ส่วนทิศทางเศรษฐกิจไทยมองว่ายังขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ระดับ 4% แต่ยังคงต้องติดตามตัวเลขสำคัญของสหรัฐในระยะต่อไปว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งหรือไม่ ด้านการส่งออกคาดว่าจะกลับมาขยายตัวได้ดีขึ้น เช่นเดียวกับ “กอบศักดิ์ ภูตระกูล” ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ ก็ไม่ได้มีมุมมองที่แตกต่างกันเท่าใดนัก เพราะเป็นเรื่องที่ผิดความคาดหมายและสร้างความผันผวนให้ตลาดการเงินทั่วโลกค่อนข้างมาก และอาจส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในระยะต่อไป ซึ่งประเมินว่าเศรษฐกิจไทยยังสามารถขยายตัวได้ดีที่ระดับ 4% แต่ต้องติดตามความผันผวนของตลาดการเงิน ทั้งตลาดหุ้น อัตราดอกเบี้ย และอัตราแลกเปลี่ยนในระยะต่อไปด้วย

เตือนระวังลงทุน

นับตั้งแต่เฟดออกมาส่งสัญญาณว่าจะชะลอมาตรการคิวอี ทำให้ต่างชาติเริ่มถอนทุนคืน โดยทยอยลดน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นไทย ซึ่งเห็นชัดเจนช่วงปลายเดือน มิ.ย.-ส.ค. ที่ผ่านมา ต่างชาติเทกระจาดสูงถึง 50,000 ล้านบาท เพื่อลดความเสี่ยง มารอบนี้ผู้คร่ำหวอดในแวดวงตลาดทุน จึงประเมินว่าแม้รอบนี้เงินทุนต่างชาติจะไหลเข้าตลาดหุ้นไทยต่อเนื่อง แต่คงเป็นปริมาณที่ไม่มากนัก เมื่อเทียบกับในอดีต สอดคล้องกับความเห็นของ “จรัมพร โชติกเสถียร” กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ที่ออกมาเตือนสตินักลงทุนให้เพิ่มความระมัดระวังการลงทุนมากขึ้น เพราะการที่เฟดคงมาตรการคิวอีจะส่งผลดีต่อตลาดหุ้นไทย และเป็นปัจจัยที่ทำให้การลงทุนในไตรมาส 4 กลับมาคึกคัก แต่ยังมีโอกาสที่เฟดลดมาตรการคิวอีลง หลังสภาพคล่องในตลาดส่วนหนึ่งมาจากเงินต่างชาติที่ไหลเข้า และมีโอกาสไหลกลับหากมีการปรับลดมาตรการคิวอีลง

เช่นเดียวกับ “ศุภวุฒิ สายเชื้อ” กรรมการผู้จัดการสายงานวิจัย บล. ภัทร ที่ระบุว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่าการเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์เสี่ยง เช่น ตลาดหุ้น จะไปได้ยาวนานแค่ไหน เพราะสุดท้ายแล้วสหรัฐต้องลดขนาดมาตรการคิวอี และเลิกในที่สุด แต่มั่นใจว่า เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มฟื้นตัวมากขึ้นในปี 57 จะเป็นผลดีต่อการส่งออกของไทย และทำให้ยอดส่งออก เพิ่มขึ้นเป็น 5-7% ในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ จากปีนี้ที่เชื่อว่าจะขยายตัวได้เพียง 2% เท่านั้น ซึ่งตรงนี้ถือเป็นแรงส่งสำคัญที่ช่วยให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยเติบโตในระดับ 4.8% ในปี 57 จากระดับ 3.8% ในปีนี้

หนุนทองคำระยะสั้น

หลังจากรู้ว่าเฟดเดินหน้าคงมาตรการคิวอีต่อ ได้ทำให้ราคาทองคำในไทยเมื่อเช้าวันที่ 19 ก.ย. ที่ผ่านมา ก็ทะยานขึ้นมาทันทีบาทละ 450 บาท แม้การแข็งค่าของเงินบาทจะเป็นตัวกดดันก็ตาม แต่การดีดตัวขึ้นยังไม่น่าไว้ใจ เพราะประธานเฟดระบุว่าการยุติมาตรการคิวอีลงนั้น จะพิจารณาจากแนวโน้มพื้นฐานทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ทั้งจากตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน การจ้างงานนอกภาคเกษตรและอัตราการว่างงาน ทำให้การเคลื่อนไหวของราคาทองคำในช่วงนี้ยังแขวนไว้กับปัจจัยต่างประเทศเป็นหลัก โดยเรื่องนี้ “พวรรณ์ นววัฒนทรัพย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด มองว่า ในช่วง 1 เดือนข้างหน้า ราคาทองคำมีโอกาสขึ้นไปทดสอบ 1,430-1,450 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ หรือบาทละ 21,000-21,300 บาท แต่หากมีปัจจัยเหตุสำคัญที่เข้ามากระทบอาจทำให้อ่อนตัวไปในระดับ 1,300-1,330 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ หรือ 19,100-19,600 บาท ซึ่งนักลงทุนสามารถรอซื้อสะสมได้ แต่หากหลุด 1,285 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ หรือ 18,800 บาท ควรชะลอการซื้อออกไปก่อน

ไม่แตกต่างไปจาก “ณัฐพงศ์ หิรัณยศิริ” กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ แม่ทองสุก ที่บอกว่า การเลือกคงมาตรการคิวอีในครั้งนี้ได้สนับสนุนให้ราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับ 1,400 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ในระยะสั้นเท่านั้น หรือภายใน 2 เดือนนี้ เพราะสุดท้ายแล้วเฟดก็ต้องลดคิวอีลงไปอีกแน่ โดยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวที่ 1,350-1,400 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ขณะที่ราคาทองในประเทศอาจถูกกดดันจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น หรือมีแนวรับที่บาทละ 19,000 บาท และแนวต้าน 20,500 บาท

ทั้งหมด..เป็นเพียงผลกระทบในระยะสั้น จากการที่เฟดมีมติคงนโยบายคิวอีไว้ แต่อย่าลืม! เมื่อใดก็ตามที่เศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวได้ เมื่อนั้น...ก็ถึงเวลา ’ถอนเงินกลับ“ และฉุด
ให้สภาพคล่องที่ล้นระบบหายวับไป ซึ่งคงต้องมาลุ้นระทึกกันอีก 2 ครั้งในการประชุมของเฟดวันที่ 29-30 ต.ค. และวันที่ 17-18 ธ.ค. นี้อย่างใกล้ชิด ว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยกระเพื่อมมากน้อยเพียงใด?.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2556

ไทยจัดชุมนุมยุวเกษตรกรโลก 11-18พ.ย.เชื่อมความร่วมมือเครือข่ายนานาชาติ

นางพรรณพิมล ชัญญานุวัตร อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมกับสมาคมยุวเกษตรกรสากลแห่งประเทศไทย และ มูลนิธิส่งเสริมยุวเกษตรกรไทยในพระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จัดงานชุมนุมยุวเกษตรกรโลกครั้งที่ 10 (10th World IFYE Conference 2013) ในระหว่างวันที่ 11-18 พฤศจิกายน ที่โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ซิตี้ จอมเทียน จ.ชลบุรี

ทั้งนี้การจัดงานดังกล่าว เพื่อแลกเปลี่ยนและเผยแพร่แนวทางการพัฒนายุวเกษตรกร และประชากรในภาคการเกษตรไปสู่ความพอเพียงและผาสุก เสริมสร้างเครือข่ายและความสัมพันธ์อันดีในการพัฒนายุวเกษตรกรระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการแลกเปลี่ยนยุวเกษตรกรระหว่างประเทศ (International Farm Youth Exchange) หรือ IFYE ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศภาคีสมาชิก

“การจัดงานชุมนุมยุวเกษตรกรโลกครั้งที่ 10 ที่กำลังจะเกิดขึ้น คาดว่าจะมีผู้มาเข้าร่วมประมาณ 1,500 คน แบ่งเป็น ผู้แทนจากประเทศไทย 980 คน และ ผู้แทนจากต่างประเทศ รวมทั้งหมด 79 ประเทศ จำนวน 520 คน โดยมีกิจกรรมที่สำคัญ อาทิ การบรรยายทางวิชาการ การศึกษาดูงาน การแสดงนิทรรศการผลงานยุวเกษตรกรกรไทยและต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือด้านการพัฒนายุวเกษตรกรระหว่างประเทศ นำไปสู่การพัฒนายุวเกษตรกรไทยและภาคการเกษตรของไทยให้เกิดความเข้มแข็งต่อไปในอนาคต”

นางพรรณพิมลกล่าวอีกว่า สำหรับความเป็นมาของการจัดงานดังกล่าว สืบเนื่องจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก มีการส่งเสริมและพัฒนายุวเกษตรกร เพื่อให้เป็นกำลังสำคัญของการพัฒนาประเทศในอนาคตซึ่งส่วนหนึ่งของการดำเนินการพัฒนายุวเกษตรกร คือ การสร้างเครือข่ายยุวเกษตรกรระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการแลกเปลี่ยนยุวเกษตรกร ระหว่างประเทศ หรือ IFYE โดยผู้ที่ผ่านการแลกเปลี่ยนยุวเกษตรกรของประเทศต่างๆ ได้มีการรวมตัวกันเป็นสมาคม IFYE Associationระดับประเทศและระดับภูมิภาค รวมทั้งมีการจัดประชุมสัมมนาระดับภูมิภาคและระดับโลกเป็นประจำ เพื่อสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน

ขณะที่ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมและพัฒนายุวเกษตรกรมาตั้งแต่ ปี 2495 และเริ่มดำเนินการแลกเปลี่ยนยุวเกษตรกรระหว่างประเทศมาตั้งแต่ปี 2506 จนถึงปัจจุบัน โดยในการจัดงานชุมนุมยุวเกษตรกรโลก ครั้งที่ 9 เมื่อเดือนตุลาคม 2551 ที่ประเทศออสเตรเลีย ที่ประชุมได้ลงมติมอบความไว้วางใจให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานชุมนุมยุวเกษตรกรโลก ครั้งที่ 10 หรือ 10th World IFYE Conference 2013

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2556

สพภ.จัดมหกรรมทรัพยากรชีวภาพ และภูมิปัญญาท้องถิ่น ครั้งที่ 6

สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ สพภ.จัดงานแถลงข่าวงาน มหกรรมทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น ครั้งที่ 6เพื่อสร้างความตระหนักในคุณค่าของความหลากหลายทางชีวภาพ และภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อรณรงค์ให้คนไทยหันมาร่วมกันใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพ และภูมิปัญญาท้องถิ่นให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างรายได้ พัฒนาเศรษฐกิจของชุมชนนั้นๆ รวมถึงเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 26-27 กันยายน 2556 เวลา 09.00-17.00 น.ณ ลานอเนกประสงค์ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 (อาคารรัฐประศาสนภักดี) ชั้น 2 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ

ผศ.ดร.วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ กล่าวว่า สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ สพภ. มีภารกิจส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาต่อยอด และลงทุนเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ โดยนำภูมิปัญญาท้องถิ่นไปพัฒนาประโยชน์เชิงพาณิชย์ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ อีกทั้งมีการส่งเสริมให้ชุมชนพึ่งพาตนเอง สามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน

การพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน เป็นภารกิจหนึ่งที่ สพภ. เห็นถึงความสำคัญที่จะทำให้เกิดการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ การสร้างงาน และสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน และศูนย์แสดงผลิตภัณฑ์ชุมชนจะสามารถเป็นช่องทางสื่อสารการตลาดระหว่างสินค้าชุมชนกับบุคคล หรือภาคธุรกิจที่สนใจ จำหน่ายสินค้าและแสดงผลิตภัณฑ์ชุมชน และเป็นช่องทางการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ชุมชนที่จะสร้างการรับรู้ถึงผลิตภัณฑ์อีกช่องทางหนึ่ง

โดยในปีงบประมาณ 2553 สพภ. ได้จัดตั้งศูนย์แสดงผลิตภัณฑ์ชุมชนในนาม “ร้านฟ้าใส แกลลอรี่” ขึ้นที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ จำนวน 1 ศูนย์ มีการนำผลิตภัณฑ์ชุมชนมาจัดแสดง ซึ่งมีเงื่อนไขสำหรับผลิตภัณฑ์ที่จะมาแสดง 3 ประการ คือ 1)ใช้ทรัพยากรชีวภาพหลักจากชุมชน 2)มีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ 3)มีการนำรายได้ส่วนหนึ่งกลับไปฟื้นฟู ดูแล และรักษาแหล่งวัตถุดิบ “ร้านฟ้าใส แกลลอรี่” ได้ดำเนินการต่อเนื่องในปีงบประมาณ 2554-2556 โดยเน้นด้านการจัดแสดงและแนะนำส่งเสริมการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์ทรัพยากรชีวภาพจากวิสาหกิจชุมชน รวมทั้งเชิญชวนวิสาหกิจชุมชนและเครือข่ายสินค้าทรัพยากรชีวภาพเข้าร่วมงานแสดงสินค้า

ส่วนการดำเนินงานต่อไป ร้านฟ้าใสแกลลอรี่มีเป้าหมายที่จะดำเนินงานด้านการจัดแสดง และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ โดยการเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายในลักษณะที่ทันสมัยมากขึ้น เช่น Vending Machine, Light wall และ Online รวมถึงการร่วมมือกับพันธมิตรทางการค้าเพื่อนำสินค้าไปวางจำหน่ายในแหล่งค้าปลีกสมัยใหม่ และยังคงเน้นกิจกรรมต่อเนื่องในการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้เกิดช่องทางการตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ทรัพยากรชีวภาพ และเกิดการรับรู้ของผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น

สำหรับ งานมหกรรมทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นประจำปี 2556 จะประกอบด้วยการร่วมแสดงเจตนารมณ์ของเครือข่ายสมัชชา เพื่อเป็นการยืนยันเจตนารมณ์ร่วมกันว่าด้วยการเรื่องของการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพอย่างยั่งยืน เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชน ภายในงานยังมีการจัดแสดงโซนความรู้ หรือ BEDO Exhibition Zone ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 โซน ได้แก่ 1.โซน B: Biodiversity Park 2.โซน E: Education Park 3.โซน D: Development Park 4.โซน O: Opportunity Park

และการบรรยายเนื้อหาเกี่ยวกับ“ความสำคัญในการรักษาสมดุลและใช้ประโยชน์ด้านทรัพยากรชีวภาพ” เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสมดุลของการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพนอกจากนี้ยังมีการจัดการประชุมสมัชชาเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และการวิเคราะห์ถึงปัญหาอุปสรรคในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น

นอกจากนี้ภายในงานยังมีกิจกรรมพิเศษ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานได้เรียนรู้ในรูปแบบกิจกรรมสาธิต การให้คำปรึกษาการจับคู่ทางธุรกิจ การเสวนากลุ่มย่อย ตามแนวคิดในการบริหารและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ภายใต้การดูแลของสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ ที่คำนึงถึง 3 ประโยชน์หลักคือ 1.ใช้ทรัพยากรชีวภาพในชุมชนเป็นวัตถุดิบ (Local content) 2.การผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco-friendlyProduct) 3.นำรายได้ไปอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรชีวภาพ (Future of the Origin)

สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ หมายเลข 0-2143-9268 www.bedo.or.th และที่ www.facebook.com/BedoThailand

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2556

กระทรวงเกษตรฯเร่งจัดทำฐานข้อมูลทะเบียนเกษตรกร เพื่อใช้จัดทำโซนนิ่ง

นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายว่า ขณะนี้กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินการขึ้นทะเบียนเกษตรกรจำนวนมากกว่า 7 ล้านครัวเรือนแล้ว ซึ่งฐานข้อมูลทะเบียนเกษตรกรนี้ นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเกษตรกร และในการวางแผนการเพิ่มผลผลิตและรายได้ให้แก่เกษตรกร โดยเฉพาะการนำไปใช้ประโยชน์ในการจัดทำโซนนิ่งเกษตรให้มีความเหมาะสม ในขณะที่การกำหนดนโยบายให้ความช่วยเหลือเกษตรกรในสถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดโดยเร่งด่วน ก็จะสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว จากการที่มีระบบและฐานข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วน

"เกษตรกรที่ได้รับมอบสมุดทะเบียนเกษตรกรแล้ว จะได้รับประโยชน์ในการใช้แสดงตนว่าเป็นเกษตรกรที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้ว ข้อมูลในสมุดทะเบียนเกษตรกรจะใช้เป็นหลักฐานในการขอรับบริการและความช่วยเหลือจากรัฐบาลตามนโยบายและโครงการต่าง ๆ ได้โดยสะดวกรวดเร็ว และจะใช้เป็นเอกสารที่ถูกต้องแทนใบรับรองการขึ้นทะเบียน เพื่อเข้าร่วมโครงการต่าง ๆ ในโอกาสต่อไป"

ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินการนำข้อมูลจากการขึ้นทะเบียนเกษตรกร มาบันทึกในสมุดทะเบียนเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรมีข้อมูลแสดงความเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไว้แล้ว และเกษตรกรสามารถนำไปใช้ขอรับความช่วยเหลือกรณีเกิดภัยพิบัติ และการเข้าร่วมโครงการของภาครัฐ ซึ่งข้อมูลในสมุดทะเบียนเกษตรกร ประกอบด้วย ส่วนที่ 1 : ข้อมูลทั่วไป ได้แก่ สถานที่ขึ้นทะเบียน รหัสทะเบียนเกษตรกร วันที่ขึ้นทะเบียน ชื่อเกษตรกรผู้ขึ้นทะเบียน เลขประจำตัวประชาชน วันเดือนปีเกิด เลขรหัสประจำบ้าน ที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน

ส่วนที่ 2 : ข้อมูลสมาชิกในครัวเรือน ได้แก่ ชื่อ-สกุล เลขประจำตัวประชาชน วันเดือนปีเกิด การเป็นสมาชิกองค์กร ส่วนที่ 3 : การถือครองที่ดินเพื่อการเกษตร ได้แก่ ที่ตั้งแปลง เอกสารสิทธิ์ ประเภทและเลขที่ เนื้อที่การถือครอง ของตนเองหรือเช่า เขตชลประทาน ส่วนที่ 4 : การประกอบกิจกรรมการเกษตร (พืช/ปศุสัตว์/ประมง) ได้แก่ วันที่เริ่มปลูกหรือวันที่เริ่มเลี้ยง วันที่คาดว่าจะเก็บเกี่ยวผลผลิต จำนวนผลผลิต ส่วนที่ 5 : การเข้าร่วมโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐ ได้แก่ การขอรับความช่วยเหลือกรณีเกษตรกรได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติ การเข้าร่วมโครงการรับจำนำของรัฐบาล เป็นต้น

สำหรับผลการดำเนินงาน ปี 2555 กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินการจัดทำสมุดทะเบียนเกษตรกรใน 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ชัยนาท สุพรรณบุรี ฉะเชิงเทรา นครราชสีมา อุบลราชธานี ขอนแก่น นครศรีธรรมราช เชียงราย และพิษณุโลก สามารถดำเนินการจัดทำสมุดทะเบียนเกษตรกรได้จำนวน 1,577,196 ครัวเรือน และในปี 2556 ได้ขยายผลการจัดทำสมุดทะเบียนเกษตรกรให้ครบทั้งประเทศรวม 77 จังหวัด 882 อำเภอ 7,354 ตำบล เป้าหมายเกษตรกรจำนวน 7.2 ล้านครัวเรือน โดยในส่วนของจังหวัดกำแพงเพชร มีเกษตรกรขึ้นทะเบียนแล้วจำนวน 82,967 ครัวเรือน และอยู่ระหว่างการดำเนินงานจัดพิมพ์สมุดทะเบียนเกษตรกรเพื่อมอบให้เกษตรกร โดยมีเป้าหมายแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม 2556

จาก http://www.siamrath.co.th  วันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2556

“GAP”ไทยเทียบมาตรฐานอาเซียน ครอบคลุม4ด้าน100เปอร์เซ็น เร่งดันรายย่อยรับรองฟาร์มกลุ่ม

นายดำรงค์ จิระสุทัศน์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินการเทียบเคียงมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) สำหรับพืชอาหารหรือคิวแก็บ (Q GAP) กับมาตรฐานอาเซียนแก็บ (ASEAN GAP) เสร็จสมบูรณ์แล้ว โดยครอบคลุมทั้ง 4 มาตรฐานย่อย ได้แก่ มาตรฐานด้านความปลอดภัยอาหาร มาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อม มาตรฐานสุขภาพความปลอดภัยและสวัสดิภาพของผู้ปฏิบัติงาน และมาตรฐานคุณภาพผลิตผลเกษตร ซึ่งเป็นไปตามพันธะสัญญาของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนที่กำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องเทียบเคียงมาตรฐานให้แล้วเสร็จภายในปี 2558

โดยไทยเป็นประเทศที่ 2 รองจากอินโดนีเซียที่ดำเนินการเทียบเคียงมาตรฐานดังกล่าวครบ 100% ส่วนประเทศสมาชิกอื่นๆ อยู่ระหว่างเทียบเคียงมาตรฐานเพื่อให้ได้ตามข้อตกลง การที่ไทยเทียบเคียงมาตรฐาน GAP พืชอาหารกับอาเซียนได้เร็ว ถือเป็นการสนับสนุนประเทศไทยในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่เวทีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี (AEC) และเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้กับสินค้าเกษตรและอาหารของไทยในตลาดอาเซียนและตลาดโลกได้เพิ่มสูงขึ้น

ด้าน นายวัชรินทร์ อุปนิสากร ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาระบบตรวจรับรองมาตรฐานการผลิต สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช กรมวิชาการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรได้เตรียมแผนประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมส่งเสริมการเกษตร และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ เร่งสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับเกษตรกรรายย่อย พร้อมส่งเสริมและผลักดันเข้าสู่การรับรองมาตรฐาน GAP แบบกลุ่ม เพื่อรักษาเกษตรกรรายย่อยให้อยู่ในระบบมาตรฐาน GAP ต่อไปให้มากที่สุด ซึ่งการส่งเสริมให้ผู้ผลิตรายย่อยได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP แบบกลุ่ม เป็นแนวทางหนึ่งที่จะผลักดันให้ผู้ปลูกพืชผักและผลไม้ของไทย ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งดีกว่าการรับรองแบบรายเดี่ยว เพราะเจ้าหน้าที่ตรวจรับรองแปลง GAP มีค่อนข้างจำกัด อาจไม่ทันต่อสถานการณ์ทางการค้าที่แข่งขันสูงขึ้น

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 20 กันยายน 2556

ผู้ว่าแบงก์ชาติชี้ 12 ปี จีดีพีไทยโตเฉลี่ย 4% ต่ำกว่าก่อน ′วิกฤตต้มยำกุ้ง" เร่งปรับโครงสร้างศก.

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. กล่าวเปิดงานสัมมนาประจำปีธนาคารแห่งประเทศไทย ในวันนี้ (19 ก.ย.) ว่า ความผันผวนระยะสั้น ที่เป็นอาการช็อกทั้งจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก เหตุการณ์น้ำท่วม เงินทุนไหลเข้า เงินทุนไหลออก เงินบาทแข็งค่า-อ่อนค่า ตลอดจนความไม่แน่นอนทางการเมือง ถือเป็นสิ่งที่ไม่ได้มีการคาดการณ์ล่วงหน้า แต่ไม่น่าห่วงนัก เนื่องจากเรามีเครื่องมือดูแลจัดการ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ โครงสร้างพื้นฐานของเศรษฐกิจไทย ว่ามีศักยภาพเพียงพอหรือไม่

สัญญาณต่าง ๆ ที่เห็นตอนนี้ ทุกฝ่ายจะนิ่งนอนใจไม่ได้ ในขณะที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจชะลอลงจากเฉลี่ยประมาณ 9 % ในช่วงปี 2540 มาอยู่ที่ปีละราว 4 % ในช่วงปี 2543-2555 ในขณะที่รายได้ต่อหัวติดอยู่ที่ระดับ 15-20 % เทียบกับสหรัฐมาสิบปีกว่าแล้ว ทั้งที่หลายประเทศมีจุดเริ่มต้นเดียวกับไทย เช่น มาเลเซีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน ที่ตอนนี้ทิ้งห่างไทยไป บ่งบอกว่ามาตรฐานการครองชีพไม่ได้พัฒนาเท่าที่ควร นอกจากนี้ ในเชิงคุณภาพการกระจายรายได้ยังเป็นปัญหาที่เรื้อรัง

ดังนั้น เราจะยกเครื่องเศรษฐกิจไทยอย่างไร เพื่อเพิ่มความสามารถในการผลิต โดยต้องอาศัยวัตกรรมในการใช้ทรัพยากรการผลิตที่มีอยู่อย่างจำกัด เพื่อให้ได้ผลผลิตออกมามากขึ้น นอกจากนี้ยังต้องจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการโยกย้ายทรัพยากรไปยังภาคการผลิตภาพสูงขึ้น

โดยปัจจุบันภาคเกษตรในประเทศใช้แรงงานอยู่ที่ 40 % ของแรงงานทั้งหมด ขณะที่รายได้ 10 % ของจีดีพี หากเทียบภาคอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้ 40 % ของจีดีพี แต่ใช้แรงงานเพียง 15 % ของแรงงานทั้งหมด สิ่งนี้สะท้อนถึงช่องว่างที่เหลืออยู่ในการยกระดับผลิตภาพการผลิตของประเทศให้สูงขึ้น โดยการใช้นวัตกรรมใหม่ ๆ ในภาคเกษตรไปยังภาคอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ จากการสำรวจของ World Economic Forum หรือ WEF พบว่าไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายอย่างมากกับความสามารถทางการแข่งขึ้น เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยไทยตกมาอยู่ที่ลำดับ 37 จากเดิมอยู่อันดับที่ 28 ขณะที่เพื่อนบ้าน อาทิ อินโดนีเซียก้าวขึ้นมาจากอันดับที่ 54 มาอยู่อันดับที่ 38 และองค์ประกอบที่พบว่ามีปัญหามากที่สุด คือคุณภาพของสถาบัน ความไม่แน่นอนทางการเมือง การทุจริตคอรัปชั่นฯลฯ

ขณะที่นโยบายด้านเศรษฐกิจมหภาคด้านอุปสงค์ เช่น นโยบายการคลังก็มีข้อจำกัด แก้ไขไม่ตรงจุด ไม่เพียงพอที่จะยกเครื่องเศรษฐกิจให้เติบโตในอัตราสูงต่อเนื่อง ในทางกลับกัน การกระตุ้นดังกล่าว อาจสร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงินหากภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ มีการใช้จ่ายเกินตัว

ประเด็นวันนี้จึงอยู่ที่เราจะสามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากทุนดั้งเดิมที่มีมาได้อย่างไร จะลงทุนต่อยอดอย่างไร

สิ่งที่ต้องตระหนักประการแรกคือการเปลี่ยนแปลง ผู้ประกอบการต้องกล้าเสี่ยง ยกระดับตัวเอง แรงงานไทยต้องมีความยืดหยุ่น ยอมรับข้อจำกัดของสิ่งที่มีอยู่ และปรับทักษะให้พร้อมกับนวัตกรรมใหม่ ๆ ภาครัฐต้องสร้างแรงจูงใจต่อการเปลี่ยนแปลงผ่านกฎกติกาที่สนับสนุนการแข่งขันในตลาด ที่สำคัญประชาชนต้องเปิดกว้างยอมรับความคิดที่หลากหลาย โดยเฉพาะการปลูกฝังค่านิยมที่เปลี่ยนแปลงสังคม อาทิ สร้างทัศนคติต่อการทุจริตคอร์รัปชั่นและมีหลักธรรมาภิบาลที่ดี

ประการที่สอง คือ ความยากลำบากที่เกิดขึ้นควบคู่กับการเปลี่ยนแปลง เพราะการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจย่อมนำมาสู่การได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ ดังนั้นเราจึงต้องมีกระบวนการหรือสถาบันทางเศรษฐกิจและการเมืองแบบมีส่วนร่วม ที่สามารถถ่วงดุลอำนาจไม่ให้ผู้เสียประโยชน์กีดขวางการเปลี่ยนแปลงอันเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมได้ กลไกที่สำคัญคือการกระจายผลประโยชน์ที่ได้ หรือกระจายโอกาสที่จะสร้างผลประโยชน์นั้น ๆ ควบคู่กับการรองรับการปรับเปลี่ยนและการแสวงหาโอกาสใหม่ให้แก่ผู้เสียผลประโยชน์
ทั้งหมดนี้ก็เพื่อไปสู่จุดหมายของการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงและยั่งยืน

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 19 กันยายน 2556

มุ่งไทยศก.เครื่องจักรการเกษตร

นายดำรง จิระสุทัศน์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยหลังเปิดงาน “เปิดบ้านงานวิจัยเกษตรวิศวกรรม เพื่อพัฒนาอีสาน” ภายใต้แนวคิด “เทคโนโลยีก้าวไกลนำไทยสู่ AEC” ว่า รัฐบาลมีนโยบายผลักดันให้ไทยเป็นเป็นศูนย์กลางด้านการเกษตรระดับอาเซียน โดยมอบหมายให้กระทรวงเกษตรฯ เป็นหน่วยงานผลักดันและส่งเสริมให้มีการใช้เครื่องจักรกลเกษตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางเครื่องจักรกลเกษตรของอาเซียนใน 3 ด้าน คือ ยุทธศาสตร์การผลิต, ยุทธศาสตร์การปรับแก้กฎระเบียบและนโยบายต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าเครื่องจักรกลเกษตรในภูมิภาคและด้านยุทธศาสตร์การผลักดันธุรกิจ การวิจัยธุรกิจการผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์เครื่องจักรกลตลอดจนสายการผลิต

จาก http://www.komchadluek.net วันที่ 19 กันยายน 2556

โชว์ต้นแบบ“ถังบำบัดน้ำเสีย” กรมชลเล็งขยายผลทั่วประเทศ

นายศุภชัย รุ่งศรี ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา กรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทาน ประสบผลสำเร็จในการบำบัดน้ำเสียของฟาร์มสุกรและโรงงานเต้าหู้ ที่ปล่อยลงในคลองชลประทานของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาราชบุรีฝั่งซ้าย ต.ดอนทราบ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ด้วยการใช้ถังบำบัดแบบไม่ใช้ออกซิเจน แต่จะใช้แบคทีเรียที่จะย่อยสารอินทรีย์ในการลดค่าความสกปรกหรือ BOD ของน้ำลง ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่ยุ่งยาก เหมาะกับการนำมาใช้บำบัดน้ำเสียในชุมชนหรือในพื้นที่ห่างไกล และค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาน้อยอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้ที่ผ่านมาฟาร์มเลี้ยงสุกรจะมีการขุดบ่อบำบัดน้ำเสียจากมูลสุกรก่อนปล่อยลงคลองบ้างก็ตาม แต่พอบ่อตื้นเขินก็หยุดใช้ และปล่อยของเสียลงคลองเหมือนเดิม ส่วนที่โรงงานทำเต้าหู้ แม้น้ำที่ปล่อยออกมาจะไม่มีกลิ่นเหม็น แต่เมื่อนำน้ำดังกล่าวไปตรวจสอบ พบว่ามีสารอินทรีย์อยู่มากและอุณหภูมิน้ำที่สูงมากก็เป็นสาเหตุให้น้ำเสียด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีการปล่อยของเสียจากการเลี้ยงเป็ด เลี้ยงวัว และจากชุมชน ลงไปในคลอง จนทำให้คลองกลายเป็นแหล่งมลพิษมีสารอินทรีย์อยู่มาก ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้น้ำเน่าเสีย

ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา กล่าวต่อว่า สำหรับถังบำบัดต้นแบบสำหรับฟาร์มเลี้ยงสุกรที่มีสารอินทรีย์จากมูลสุกรสูงมาก จะใช้ถังบำบัดขนาด 22 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 2 ถัง ส่วนถังบำบัดต้นแบบสำหรับโรงงานเต้าหู้จะใช้ถังบำบัดขนาด 10 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 2 ถัง ลักษณะถังเป็นรูปแคปซูลวางในแนวนอน ฐานมีขาตั้งเพื่อรองรับน้ำหนัก ด้านบนมีช่องเปิดสำหรับทำความสะอาด ถังบำบัดทำจากไฟเบอร์กลาส ซึ่งสามารถลดค่า BOD ลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ กรมชลประทานจะใช้เป็นต้นแบบในการจัดการคุณภาพน้ำทิ้งที่จะปล่อยลงคลองชลประทาน หรือทางน้ำที่เชื่อมต่อกับคลองชลประทาน เตรียมที่จะส่งน้ำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ขยายผลต่อไป

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 19 กันยายน 2556

ชลประทานเร่งแผนพัฒนาแหล่งน้ำ

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมชลประทานได้เร่งรัดให้โครงการพัฒนาแหล่งน้ำทุกโครงการ ดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ทั้งในด้านนิเวศวิทยา ด้านสังคม และด้านสุขภาพ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และมีประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งจะต้องลดผลกระทบที่เกิดขึ้นให้อยู่ระดับน้อยสุดอีกด้วย

สำหรับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่ปฏิบัติการตามแผนดังกล่าวในขณะนี้ ประกอบด้วย โครงการห้วยโสมงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ อาทิ กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมส่งเสริมการเกษตร กรมการพัฒนาชุมชน เป็นต้น ดำเนินการปลูกป่าเสริมในพื้นที่รอบอ่างเก็บน้ำจำนวน 18,000 ไร่ อพยพและอนุรักษ์สัตว์ป่าบริเวณเขตอุทยานแห่งชาติทับลานและปางสีดา ตรวจสอบคุณภาพน้ำ พัฒนาอาชีพและป้องกันการขยายตัวของชุมชนในพื้นที่จัดสรรอพยพ จัดตั้งหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติทับลานและปางสีดาแห่งใหม่ และอยู่ระหว่างการดำเนินงานอีกหลายแผนงาน

นอกจากนี้ที่โครงการเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.พิษณุโลก ได้มีการปลูกป่าทดแทนมาตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบันรวม 29,000 ไร่ โครงการเขื่อนกิ่วคอหมา ปลูกป่าตั้งแต่ปี 2553–ปัจจุบัน รวม 17,200 ไร่ และร่วมกับกรมประมงติดตามระบบนิเวศวิทยาทางน้ำ ศึกษาชนิด ปริมาณ ความชุกชุมของสัตว์น้ำ จากนั้นได้ปล่อยสัตว์น้ำในพื้นที่โครงการฯ ทั้งสองมาตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน รวมพันธุ์สัตว์น้ำกว่า 20 ล้านตัว

ส่วนโครงการพัฒนาแหล่งน้ำใหม่ ๆ ก็ได้ดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการดัง กล่าวเช่นกัน ล่าสุดโครงการอ่างเก็บน้ำคลองหลวง จ.ชลบุรี และโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.อุตรดิตถ์ ได้ทำการปลูกป่ารวมกันอีกกว่า 667 ไร่.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 19 กันยายน 2556

สองยักษ์ใหญ่ญี่ปุ่นจับมือทุ่ม 2.6 พันล้านบาทลงทุนใน JV Holding

มิสเตอร์ คูนิฮารุ นากามูระ ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น และ มิสเตอร์ โยอิชิ ฮิกูชิ ประธานกรรมการ นิสชิน ชูการ์ เปิดเผยว่า บริษัทร่วมทุนของซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น นิสชิน ชูการ์ และกลุ่มคุณหทัย ศิริวิริยะกุลจะเข้ามาถือหุ้นในบริษัทเกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (KTIS) ในสัดส่วนร้อยละ 25 เมื่อบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยยอดเงินลงทุนของสองยักษ์ใหญ่ญี่ปุ่นอยู่ที่ประมาณ 2.6 พันล้านบาท ทั้งนี้บริษัทร่วมทุน ประกอบด้วยผู้ถือหุ้นได้แก่ ซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น ร้อยละ 25 นิสชิน ชูการ์ ร้อยละ 5 และกลุ่มคุณหทัย ศิริวิริยะกุล ร้อยละ 70

บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นกลุ่มผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่อันดับสามของประเทศไทย และโรงงานเกษตรไทยเป็นโรงงานที่มีกำลังการผลิตใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และใหญ่ที่สุดในโลก โดยกลุ่มบริษัทฯ ผลิตอ้อยที่ใช้ในกระบวนการผลิตและในการหีบประมาณ 10 ล้านตันหรือคิดเป็นร้อยละ 10ของจำนวนอ้อยที่ผลิตได้ในประเทศไทย ทั้งนี้ผลผลิตทั้งหมดมาจากโรงงานของกลุ่มบริษัทฯที่ตั้งอยู่ที่ภาคเหนือของประเทศไทยที่จังหวัดนครสวรรค์ และอุตรดิตถ์ โดยบริษัทเกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) นอกจากดำเนินธุรกิจผลิตน้ำตาลเป็นหลักแล้ว บริษัทได้ขยายไปยังธุรกิจผลิตเอทานอล และเยื่อกระดาษจากชานอ้อย รวมถึงมีแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาลอีกด้วย

“ด้วยศักยภาพของประเทศไทยที่เป็นผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่เป็นอันดับสองของโลก รองจากบราซิล และความได้เปรียบจากทำเลที่ตั้งที่เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วทำให้ซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น และนิสชิน ชูการ์ มองว่าประเทศไทยจะเป็นพันธมิตรที่สำคัญยิ่งในการขยายธุรกิจน้ำตาลในภูมิภาคนี้

ซึ่งการเข้าร่วมทุนกับบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่นในครั้งนี้ บริษัทร่วมทุนของซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น และนิสชิน ชูการ์ จะนำความชำนาญในการบริหารจัดการธุรกิจ ข้ามชาติ และประสบการณ์ในการเป็นบริษัทเทรดดิ้งชั้นนำของโลก รวมถึง Know How ของนิสชิน ชูการ์ มาส่งเสริมประสิทธิภาพการบริหารของเกษตรไทย และเพื่อเป็นฐานขยายธุรกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อไป”

อนึ่งกลุ่ม KTIS เดิมรู้จักในนามกลุ่มน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ ก่อตั้งโดยคุณจรูญ และคุณหทัย ศิริวิริยะกุล ในช่วงปีพ.ศ. 2500 โดยเริ่มจากการเป็น ผู้กระจาย สินค้าน้ำตาลและก้าวเข้าสู่การเป็นผู้ผลิตน้ำตาลในเวลาต่อมา จากความสำเร็จของกิจการโรงงานน้ำตาลแห่งแรก กลุ่ม KTIS ได้ขยายกิจการ อย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบัน กลุ่ม KTIS ได้ก้าวสู่การเป็นกลุ่มบริษัทที่ผลิตและจำหน่ายน้ำตาลและผลพลอยได้จากน้ำตาล แบบครบวงจร โดยมีบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จากัด (มหาชน) เป็นบริษัทแม่ ดำเนินธุรกิจในเครือ ประกอบด้วยโรงงานน้ำตาลจำนวน 3 แห่ง ธุรกิจ Bio Product และ Bio Energy ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการผลิตน้ำตาล ได้แก่ โรงงานเยื่อกระดาษฟอกขาวจากชานอ้อย โรงงานเอทานอลจากกากน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลจากชานอ้อย

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 18 กันยายน 2556

รัฐพัฒนาระบบคลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งชาติเสร็จแล้ว

รัฐบาลพัฒนาระบบคลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งชาติเสร็จเสรียบร้อยแล้ว ทำให้การคาดการณ์แจ้งเตือนภัยมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ระบบคลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งชาติ หรือ NHC ใช้งบประมาณ 1,200 ล้านบาท มีสถาบันสารสนเทศทรัพยากรณ์น้ำและการเกษตรทำหน้าที่ดูแลรวบรวมและเชื่อมโยงข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 12 หน่วยงาน เพื่อคาดการณ์แจ้งเตือภัยสถานการณ์น้ำและสภาพอากาศได้อย่างทันท่วงที

นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี และประธาน กบอ. กล่าวว่า คลังข้อมูลนี้จะไปเชื่อมโยงกับระบบคลังข้อมูลใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในอีก 3 ปีข้างหน้า ตามแผนงานเอ 6 + บี 4 ของ กบอ. ซึ่งจะทำให้ระบบคลังข้อมูลน้ำและอากาศมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น

ด้านนายสัญญา ชีนิมิตร รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงสถานการณ์น้ำจากด้านเหนือที่ปล่อยลงมาผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาเช้าวันนี้ ว่า สำนักการระบายน้ำรายงานอยู่ที่ 1,518 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ยังถือว่าเป็นปริมาณปกติ ยังไม่มีสัญญาณน่ากังวล ขอให้ประชาชนอย่าเพิ่งตื่นตระหนก โดย กทม.ได้วางแนวกระสอบทรายทั้งสองฝั่งที่ 2.80-3 เมตรไว้พร้อมแล้ว

ขณะที่การติดตามดาวเทียมตั้งแต่ช่วงเช้ามืด พบเพียงละอองฝนบางพื้นที่เท่านั้น ยังไม่พบกลุ่มฝนขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม จากรายงานคาดการณ์กรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งว่า วันนี้ในพื้นที่กรุงเทพฯ จะมีปริมาณฝนร้อยละ 80 และคาดว่าจะมีฝนตกลงมาในช่วงบ่ายเป็นต้นไป จึงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด.-สำนักข่าวไทย

จาก http://www.mcot.net  วันที่ 18 กันยายน 2556

น่ากลัว...หากไทยต้องนำเข้าพลังงานสูงเหมือนญี่ปุ่น

พพ.- ชี้ภายในอีก 20 ปีข้างหน้าเราจะต้องนำเข้าพลังงานที่สูงเหมือนเช่นญี่ปุ่น ทำให้ประเทศจะไปไม่รอด เพราะเศรษฐกิจเราไม่แข็งแรงเหมือนญี่ปุ่น ดังนั้นจึงต้องใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ด้านหอการค้าไทยหนุนนำพืชเศรษฐกิจหลัก ข้าว ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน มาผลิตเป็นพืชอาหารและพลังงานทางเลือก

ภายในงานสัมมนาวิชาการเรื่อง “Energy : Main Road to Low Carbon Society” ที่จัดโดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เมื่อวันที่ 17 ก.ย.56 ณ โรงแรมสวิสโซเทล นายเลิศปาร์ค กรุงเทพฯ มีตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน และผู้ประกอบการ เข้าร่วมงานสัมมนาประมาณ 400 คน

นายประวิทย์ ประกฤตศรี ประธานคณะอำนวยการด้านพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก คณะกรรมการพลังงาน หอการค้าไทย กล่าวในการเสวนาเรื่อง “ความท้าทายสู่การเป็นนิคมเกษตร-พลังงานทางเลือก...เป็นไปได้หรือไม่” ว่า หากประเทศไทยยังใช้พลังงานในแบบปัจจุบัน ภายในอีก 20 ปีข้างหน้า เราจะต้องนำเข้าพลังงานที่สูงเหมือนเช่นญี่ปุ่น ทำให้ประเทศจะไปไม่รอด เพราะเศรษฐกิจเราไม่แข็งแรงเหมือนญี่ปุ่น ดังนั้นจึงต้องใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันพืชเศรษฐกิจสำคัญของไทย 6 ชนิดที่เป็นสินค้าส่งออกทำรายได้มากกว่า 50 % ของ GDP คือ ข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง ขณะนี้ข้าวและยางพาราก็มีปัญหาราคาตกต่ำ ชาวบ้านก็ออกมาปิดถนนประท้วง

“เราต้องนำพืชทั้ง 6 ตัวนี้มาพัฒนาให้สอดคล้อง ทั้งเรื่องอาหารและพลังงาน เช่น ข้าว ถ้าเราปลูกในพื้นที่ที่เหมาะสม ปลูกในเขตชลประทานจะผลิตข้าวได้ดี แต่ปัญหาตอนนี้คือผลิตในที่ที่ไม่เหมาะสม ดังนั้นจะต้องจัดโซนนิงประกาศพื้นที่ที่เหมาะสมว่าจะปลูกอะไร อย่าไปปลูกเกิน ทำแผนให้ชัดเจน สร้างระบบชลประทาน แต่พืชบางชนิดก็ไม่ต้องการน้ำมาก เช่น อ้อยและมันสำปะหลัง และต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ระบบการขนส่ง รวมทั้งดูเรื่องการตลาดด้วย” นายประวิทย์กล่าว

สำหรับพืชพลังงานทดแทนนั้น อ้อยถือว่าเป็นพืชที่มีศักยภาพที่จะเติบโต และประเทศไทยเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ในเอเชีย นอกจากจะนำมาเป็นน้ำตาลแล้วยังสามารถผลิตเป็นไฟฟ้า เป็นเอทานอลได้อีก หากเพิ่มพื้นที่ปลูกอีกประมาณ 6 ล้านไร่ ก็จะนำมาแทนน้ำมันเบนซีนได้อีกประมาณ 6,000 ล้านลิตร เช่น ประเทศบราซิลถือเป็นโมเดลแห่งความสำเร็จที่ได้ทั้งน้ำตาลและพืชพลังงาน โดยใช้พลังงานทดแทนจากอ้อยถึง 46% หรือโรงงานผลิตภัณฑ์แปรรูปข้าวโพดครบวงจรที่รัฐเนบราสกา สหรัฐอเมริกา ที่นำข้าวโพดมาผลิตเป็นอาหาร เมล็ดพลาสติก และยังนำมาผลิตเป็นเอทานอลได้ด้วย

ส่วนข้อเสนอของหอการค้าไทยนั้น นายประวิทย์กล่าวว่า 1.พืชทั้ง 6 ชนิดจะต้องถือเป็นวาระแห่งชาติตามการจัดการโซนนิง 2.จัดตั้งคณะกรรมการและหน่วยงานเข้ามาศึกษา ดูแลดำเนินการพัฒนาและส่งเสริมจนถึงห่วงโซ่ผลิตภัณฑ์ของพืชนั้นๆ 3.ผลิตอาหารและพลังงานให้อยู่ในกลุ่มเดียวกัน 4.ต้องมีการเชื่อมโยงการผลิตจากวัตถุดิบถึงผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะทำให้ช่วยลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มมูลค่า ทำให้ราคาพืชผลการเกษตรมีความเสถียร

ดร.วีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า ขณะนี้ กนอ.ได้ปรับแนวคิดจากนิคมอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมเปลี่ยนมาเป็น Eco Industrial Town หรือ “เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ” เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างมีดุลภาพและยั่งยืน เช่น การนำวัสดุหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ การใช้พลังงานทางเลือกจากขยะ และแสงอาทิตย์ โดยขณะนี้ กนอ.ได้รณรงค์เรื่องเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศไปแล้ว 15 นิคม จากนิคมอุตสาหกรรมทั้งหมด 48 แห่งทั่วประเทศ โดยเฉพาะนิคมเกิดใหม่ก็จะนำแนวคิดนี้ไปใช้ตั้งแต่การออกแบบให้เป็นนิคมสีเขียว

ส่วนในอนาคต กนอ.มีวิสัยทัศน์ในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมพลังงานทางเลือกโดยเฉพาะ โดยเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา กนอ.ได้เซ็น MOU ร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เพื่อศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมทางเลือก ระยะเวลาศึกษา 1 ปี และคาดว่าภายในปี 2559 จะสามารถจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมพลังงานทางเลือกได้ โดยมีเป้าหมายแห่งแรกอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมจังหวัดพิจิตร ส่วนรูปแบบของนิคมอุตสาหกรรมพลังงานทางเลือกนั้น จะมีลักษณะรวมกลุ่มการผลิตแบบคลัสเตอร์ เพื่อใช้ทรัพยากรร่วมกัน เช่น อุตสาหกรรมมันสำปะหลัง ซึ่งนอกจากจะผลิตเป็นสินค้าอาหารแล้ว ยังนำมาผลิตเป็นพลังงานด้วย ส่วนโรงงานที่จะเข้ามาตั้งในนิคมนอกจากจะได้รับสิทธิพิเศษจากบีโอไอแล้ว ยังอาจได้รับสิทธิพิเศษในฐานะอุตสาหกรรมสีเขียวด้วยอย่างไรก็ตาม นอกจากเป้าหมายที่จังหวัดพิจิตรแล้ว ขณะนี้ที่จังหวัดนครพนมและนครราชสีมาก็มีความสนใจที่จะจัดตั้งนิคมพลังงานทางเลือกด้วยเช่นกัน

นายอำนวย ทองสถิตย์ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่าทิศทางการขับเคลื่อนพลังงานของประเทศไทยมุ่งเน้นสู่สังคมคาร์บอนต่ำ การจัดตั้งนิคมเกษตรฯ ก็จะต้องเชื่อมโยงกับพืชเกษตร เช่น ปาล์ม อ้อย โดยมีเป้าหมายในปี 2564 จะต้องใช้เอทานอลปริมาณ 9 ล้านลิตรต่อวัน ส่วนปาล์มน้ำมันจะมีปัญหาเรื่องราคาสต๊อกและราคาผลผลิตไม่คงที่ หากราคาปาล์มสูงก็จะทำให้กระทบต่อราคาน้ำมันไปด้วย

อย่างไรก็ตามในปี 2557 จะสามารถดึงปาล์มมาผลิตน้ำมัน B7ได้อีก 240,000 ตัน และปี 2560 จะสามารถผลิตน้ำมันจากปาล์มได้ประมาณ 1 ล้านลิตรต่อวัน และจะสามารถดึงปาล์มมาใช้ได้ประมาณ 350,000 ตัน ทำให้สัดส่วนการใช้พลังงานจากน้ำมันปาล์มมากกว่าการใช้เพื่อบริโภค ซึ่งก็จะต้องดูด้วยว่าจะมีน้ำมันปาล์มเหลือบริโภคหรือไม่ แต่ที่สำคัญก็คือจะทำอย่างไรให้ราคาน้ำมันปาล์มราคาถูกลง

ส่วนการนำมาผลิตเอทานอล ปัจจุบันผลิตได้ประมาณ 2.7 ล้านลิตร โดย 2 ล้านลิตรมาจากกากน้ำตาล และอีก 7 แสนลิตรผลิตจากมันสำปะหลัง ซึ่งเราพยายามควบคุมสัดส่วนให้สมดุลกัน ซึ่งหากดูแลเรื่องมันสำปะหลังได้ก็จะทำให้การผลิตเพิ่มขึ้น ส่วนพืชพลังงานอีกชนิดหนึ่งคือหญ้าเนเปียร์ ซึ่งทาง พพ.มีเป้าหมายจะนำมาผลิตกระแสไฟฟ้าให้ได้ประมาณ 3,000 เมกะวัตต์ ตอนนี้เริ่มนำร่องผลิต 15 เมกะวัตต์ และยังสามารถนำหญ้าเนเปียร์มาผลิตแทนก๊าซเอ็นจีวีได้ โดยในขณะนี้ทาง พพ.เปิดรับผู้สนใจเข้าร่วมลงทุนผลิตกระแสไฟฟ้าจากหญ้าเนเปียร์ และเกษตรกรสามารถปลูกหญ้าเนเปียร์แทนพืชเกษตรที่มีรายได้ต่ำโดยจะต้องมีการจัดโซนนิ่งเพื่อปลูกในพื้นที่ที่เหมาะสม
ดร.ขวัญฤดี โชติชนาทวีวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า นิคมอุตสาหกรรมเกษตรเชิงนิเวศเพื่ออาหารและพลังงาน ถือเป็นการมองมุมใหม่ เพราะเป็นการจัดเขตพื้นที่เกษตรและอุตสาหกรรมที่เหมาะสมโดยการนำหลักการนิคมเชิงนิเวศมาใช้ เพื่อผลิตสินค้าทางเกษตรสำหรับอาหารและพลังงานที่มีความยืดหยุ่นตามความต้องการของผู้บริโภค กลไกตลาด และปัญหาด้านวิกฤตพลังงานและอาหาร โดยต้องมีการกำหนดเขตพื้นที่ว่าพื้นที่ใดควรปลูกอะไร ขนาดพื้นที่ที่เหมาะสม ผลผลิตต่อไร่ มีตลาดรองรับการผลิต โดยมีหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกรเข้ามามีส่วนร่วมและสนับสนุน ทั้งด้านปัจจัยการผลิต โครงสร้างพื้นฐาน งานวิจัย ฯลฯ

“เราควรเปลี่ยนเนวคิดอุตสาหกรรมใหม่ โดยเอาวัตถุดิบในท้องถิ่นมาพัฒนาเป็นอุตฯ ส่งออกได้ จะสามารถสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ได้ โดยนิคมฯ ควรกระจายไปแต่ละภาค รวมทั้งหมดให้เป็นเรื่องเดียวกัน ทั้งอาหาร พลังงาน มีการวิจัยเพื่อต่อยอด เช่น เรื่องเครื่องสำอาง ยาสมุนไพร โดยมีเครือข่ายภาคเอกชนมาร่วมด้วย มาลงขันทำงานวิจัย และหนุนให้มหาวิทยาลัยท้องถิ่นศึกษาเพื่อป้อนความรู้ให้กับนิคม” ดร.ขวัญฤดีกล่าว

ทางด้าน ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนฯ กล่าวถึงการขับเคลื่อนสู่สังคมคาร์บอนต่ำว่า สามารถทำได้โดยขับเคลื่อนด้วย 3 เสาหลัก คือ 1.จัดการเมือง ซึ่งต้องมีการจัดการพื้นที่ จัดการระบบลอจิสติกส์ ที่อยู่อาศัย หรือนิคมอุตสาหกรรม 2.ประหยัดพลังงาน โดยส่งเสริมให้คนในเมืองหรือนิคมฯ ประหยัดพลังงานเป็นที่ตั้ง และ 3.พลังงานทางเลือกหรือพลังงานทดแทน ที่ต้องเสาะแสวงหาด้วยการวิจัยเทคโนโลยี สนับสนุนผู้ประกอบการให้คิดค้น เพื่อป้อนให้กับเมืองหรือนิคมฯ เพื่อขับเคลื่อน 3 เสาหลักไปพร้อมๆ กัน

“เกาะสมุยเป็นกรณีตัวอย่างในการขับเคลื่อนสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เช่น ลงสนามบินมีรถยนต์ไฟฟ้าให้เช่า ชาร์ตแบตจากพลังงานแสงอาทิตย์ จัดรถบัสไปแหล่งท่องเที่ยวสำคัญฟรี เป็นสัญลักษณ์สังคมคาร์บอนต่ำ เอกชนก็ทำภาครัฐก็ทำให้เกิดการบูรณาการ ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ หรือกรณีนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์ก็ริเริ่มกันแล้ว และในอนาคตอาจจะมีสมาร์ทซิตี้ สังคมไทยก็จะอยู่แถวหน้าที่คิดเรื่องนี้อย่างจริงจัง ถ้าไม่คิด เมืองพัฒนาไป พื้นที่สีเขียวหายไปแล้ว เช่นเวลานี้สมุยขยายแนวราบ เพราะกฎห้ามตึกสูงเกิน 12 เมตร” ดร.ทวารัฐ ยกตัวอย่าง

ดร.ทวารัฐ ยังกล่าวถึงประเด็นการเชื่อมโยงภาคเกษตรที่เป็นพื้นฐานของประเทศหรือเป็นกระดูกสันหลังกับภาคพลังงานด้วยว่า เป็นเรื่องที่สำคัญ โดยอาศัยแนวคิดรวมตัวกันจัดโซนนิ่งคลัสเตอร์ เชื่อมโยงทุกอย่าง วัตถุดิบ ผลิต ลอจิสติกส์ รีไซเคิล ให้เป็นพลังงานได้ทุกรูปแบบ เช่น อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ที่มีโรงไฟฟ้าระบบความร้อนร่วม ผลิตไฟฟ้าชีวมวลจากชานอ้อยหรือไอน้ำสำหรับใช้ในโรงงาน หากเหลือใช้ก็ขายเข้าระบบ ส่วนกากน้ำตาลเอาไปทำเอทานอลหมุนเวียน เป็นอุตสาหกรรมที่เรียกได้ว่าไม่มีของเสียหรือซีโร่เวสท์ และยังต่อยอดได้อีก เช่น เอาไปทำชานอ้อย พาร์ติเคิลบอร์ด

ส่วนปาล์มนั้น ทลายปาล์มสามารถผลิตเป็นพลังงาน ต่อยอดผลิตภัณฑ์ เพื่อนำไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ แต่ต้องมีการจัดการ มีการรวมกลุ่มครบวงจร เพื่อเสริมสรรพกำลังซึ่งกันและกันให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น โรงงานน้ำตาล 47 โรง บางแห่งเล็ก ทำครบวงจรไม่ได้ ในต่างประเทศมีบางเมืองที่เอาโรงน้ำตาลมาตั้งอยู่ใกล้เคียงกัน แล้วมีโรงไฟฟ้า ผลิตจากชานอ้อยอยู่ใกล้ๆ ตอนนี้โรงไฟฟ้าจากชานอ้อยของเรายังไม่มีประสิทธิภาพ ถ้ารวมตัวกันแล้วยกระดับเทคโนโลยีในการผลิตได้จะดีขึ้น

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 18 กันยายน 2556

กรมโรงงานฯขวางโซลาร์รูฟ

โซลาร์รูฟท็อป 1.2 หมื่นล้านบาท ส่อเค้าสะดุด กรมโรงงานฯโดดขวาง ครม.เตรียมชี้แจงขนาดติดตั้งเกิน 3.7 กิโลวัตต์ถึง 1 พันกิโลวัตต์ เข้าข่ายต้องมีใบรง.4 กำกับดูแล

altความปลอดภัยให้กับผู้บริโภค และป้องกันการทิ้งแผงหมดอายุ ด้านสกพ.ยืนกรานต้องปลดล็อกให้ผู้ประกอบการเร่งพัฒนาภายในสิ้นปีนี้ พร้อมเปิดทางโซลาร์ฟาร์มชุมชนอีก 800 เมกะวัตต์ ไม่ต้อขออนุญาต

นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า จากกรณีที่กระทรวงพลังงานได้ประกาศโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาหรือโซลาร์รูฟท็อป โดยมีเป้าหมายติดตั้งบนหลังคาบ้านอยู่อาศัยจำนวน 100 เมกะวัตต์ และอาคารธุรกิจจำนวน 100 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งจะเปิดให้ยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้าในวันที่ 23 กันยายนถึงวันที่ 11 ตุลาคม 2556 และจะคัดเลือกผู้ยื่นคำขอตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2556 เป็นต้นไปนั้น

"เรื่องนี้ กรมโรงงานฯเห็นว่า หากมีการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปที่มีขนาด 3.7 กิโลวัตต์ขึ้นไป เข้าข่ายเป็นโรงงานอุตสาหกรรมจำพวกที่ 3 ตามพ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 ที่ห้ามตั้งโรงงานทุกประเภทในบริเวณบ้านจัดสรรเพื่อการอาศัย อาคารชุดพักอาศัย และบ้านแถวเพื่อการพักอาศัย การจะดำเนินการได้จะต้องได้รับอนุมัติใบอนุญาตประกอบกิจการหรือรง.4ก่อน หากฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ"

ก่อนหน้านี้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ซึ่งเป็นผู้ออกระเบียบการรับซื้อไฟฟ้า พยายามที่จะให้กรมโรงงานฯผ่อนผันระเบียบดังกล่าว ที่จะขอยกเว้นการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปขนาด เกิน 3.7 กิโลวัตต์ขึ้นไปถึงไม่เกิน 1 พันกิโลวัตต์ ไม่ถือว่าเข้าข่ายเป็นโรงงาน

ทั้งนี้ กรมโรงงานฯเห็นว่า หากจะดำเนินการยกเว้น จะทำให้ไม่มีหน่วยงานใดเข้ามากำกับดูแลด้านความปลอดภัย เวลาเกิดอุบัติเหตุหลังคาถล่มลงมาหรือเกิดไฟฟ้าช็อตหรือไฟฟ้ารั่วและเกิดไฟไหม้ที่พักอาศัยหรืออาคารธุรกิจขึ้นมา การเอาผิดทำได้แค่คดีแพ่งเท่านั้น เหมือนกับกรณีการเกิดน้ำมันรั่วไหลลงทะเลจังหวัดระยอง ก็ไม่สามารถเอาผิดทางอาญากับผู้กระทำได้ เป็นต้น อีกทั้งแผงโซลาร์เซลล์ที่มีจำนวนมาก หากหมดอายุหรือเกิดชำรุดก่อน จะกลายเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ขึ้นมา และถูกทิ้งอยู่ตามหน้าบ้านหรืออาคารปนกับขยะชุมชนไม่มีการจัดเก็บอย่างถูกวิธี กลายเป็นสารพิษเกิดอันตรายกับผู้บริโภคได้

"ดังนั้น กรมโรงงานฯจะต้องเข้ามาดูแลผู้บริโภค ที่จะต้องตรวจสอบด้านวิศวกรรมด้านความปลอดภัยและการจัดการกับขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธี ไม่ใช่ขอยกเว้นเอาง่ายไว้ก่อนแต่ผู้บริโภคไม่ได้รับการดูแลจึงไม่ถูกต้อง"

นายณัฐพลกล่าวอีกว่า ขณะนี้ทราบว่ากกพ.พยายามที่จะผลักดันเรื่องนี้อย่างเร่งรีบ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานนำเรื่องนี้เข้าหารือกับคณะรัฐมนตรี(ครม.)เพื่อจะขอให้มีการยกเว้น รวมถึงสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) จะนำเรื่องการขออนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเป็นแบบ One Stop Service ในการประชุมครม.ด้วย หากมีการเห็นชอบก็จะทำให้โรงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์หรือโซลาร์ฟาร์มที่มีขนาดต่ำกว่า 1 เมกะวัตต์ ไม่อยู่ในข่ายต้องขอรง.4ด้วย ทั้งที่ปัจจุบันโซลาร์ฟาร์มหลายแห่งถูกต่อต้านจากประชาชนในท้องถิ่น ซึ่งการจะได้มาด้วยใบรง.4จึงต้องทำความเข้าใจกับประชาชนจำนวนมากไม่ใช่ใช้วิธีรวบรัดอย่างนี้

ดังนั้น กรมโรงงานฯจะทำการคัดค้าน และชี้แจงถึงเหตุผลและผลกระทบที่จะตามมา เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องของความมั่นคงด้านพลังงาน หากขาดไฟฟ้าไป 200 เมกะวัตต์ คงไม่ทำให้เกิดไฟฟ้าดับหรือเศรษฐกิจของประเทศเสียหาย ยังมีเวลาที่จะหารือในรายละเอียดอีกหลายประเด็นเพื่อการทำความเข้าใจ

ด้านนายกวิน ทังสุพานิช เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(สกพ.) กล่าวว่า การขอยกเว้นการขอใบรง.4นี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานรับทราบแล้ว และจะนำเข้าสู่การพิจารณาของครม.เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมายได้ภายในสิ้นปีนี้ แต่หากไม่ทันก็เตรียมที่จะหามาตรการรองรับขยายเวลาการจ่ายไฟฟ้าออกไปอีก 1 เดือนแทน ซึ่งจะช่วยให้เกิดการตื่นตัวด้านการลงทุนด้านพลังงานทดแทน โดยต้นทุนการติดตั้งต่อ 1 กิโลวัตต์ จะอยู่ที่ประมาณ 6 หมื่นบาท หากติดตั้งจำนวน 200 เมกะวัตต์ คิดเป็นมูลค่าการลงทุนกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท ช่วยประเทศลดการนำเข้าพลังงานได้ทางหนึ่งและยังปลดล็อกให้กับโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ชุมชนที่มีเป้าหมายไว้จำนวน 800 เมกะวัตต์ หรือชุมชนละ 1 เมกะวัตต์ ที่มีเป้าหมายจะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในปี 2557 ด้วย

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 18 กันยายน 2556

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยจากความกังวลต่อการอ่อนแรงทางเศรษฐกิจทำให้การบริโภคชะลอตัว ขณะที่ภาคการส่งออกชะลอตัวต่อเนื่อง

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย เดือนสิงหาคม 2556 ว่า อยู่ที่ระดับ 91.3 ลดลงจากระดับ 91.9 ของเดือนกรกฎาคม โดยค่าดัชนีความเชื่อมั่นที่ลดลงเกิดจากองค์ประกอบหลายอย่าง เช่น ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ ทั้งนี้ ค่าดัชนีปรับตัวลดลงต่ำกว่า 100 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 14 และต่ำที่สุดในรอบ 22 เดือน ซึ่งเป็นผลมาจากความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง จากความกังวลต่อการอ่อนแรงทางเศรษฐกิจ ที่ทำให้การบริโภคชะลอตัว ขณะที่ภาคการส่งออกชะลอตัวต่อเนื่อง แม้ว่าค่าเงินบาทจะอ่อนค่าแต่ไม่ได้เป็นปัจจัยสนับสนุนภาคการส่งออก โดยต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นยังเป็นอุปสรรคสำคัญของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ขณะที่ความไม่สงบในตะวันออกกลางได้เริ่มก่อตัวขึ้น อาจเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้ผู้ประกอบการต้องระมัดระวังในการดำเนินกิจการ

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการมีข้อเสนอแนะโดยต้องการให้ภาครัฐดูแลอัตราแลกเปลี่ยนให้อยู่ในทิศทางเดียวกันกับภูมิภาค พร้อมทั้งเร่งผลักดันโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ดูแลราคาพลังงานให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ช่วยเสริมสภาพคล่องของผู้ประกอบการ SMEs โดยสนับสนุนให้สถาบันการเงินพิจารณาปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ รวมถึงส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพแรงงาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับแรงงานไทยด้วย

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่น คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อาจอยู่ที่ระดับ 98.1 เพิ่มขึ้นจากระดับ 97.2 ในเดือนกรกฎาคม ผลมาจากปัจจัย ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 18 กันยายน 2556

รายงานพิเศษ : พื้นฟูป่า-พัฒนาแหล่งน้ำตามรอยพ่อ...แม่

ป่าไม้และน้ำถือเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่จำเป็นต้องมีความสมดุล และมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน อย่างใกล้ชิด หากทรัพยากรดังกล่าวอย่างใดอย่างหนึ่งถูกทำลายสูญเสียไป ความสมดุลระหว่างกันที่มีอยู่ย่อมจะมีการเปลี่ยนแปลง และอาจทำให้พื้นที่ต้นน้ำลำธารนั้นเสื่อมความอุดมสมบูรณ์ลงอย่างรวดเร็ว

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงให้ความสำคัญในเรื่องป่าไม้และน้ำ เป็นอย่างยิ่ง ดังที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริเกี่ยวกับการฟืนฟูป่าไม้ ไว้ตอนหนึ่งว่า

“....ให้พิจารณาดำเนินการสร้างฝายราคาประหยัด โดยใช้วัสดุราคาถูกและหาง่ายในท้องถิ่น เช่น แบบหินทิ้งคลุมด้วยตาข่ายปิดกั้นร่องน้ำกับลำธารขนาดเล็กเป็นระยะๆ เพื่อใช้เก็บกักน้ำและตะกอนดินไว้บางส่วน โดยน้ำที่กักเก็บไว้จะซึมเข้าไปในดินทำให้ความชุ่มชื้นแผ่ขยายออกไปทั้งสองข้าง ต่อไปจะสามารถปลูกป่าไม้ป้องกันไฟ พันธุ์ไม้โตเร็ว และพันธุ์ไม้ไม่ทิ้งใบ เพื่อฟื้นฟูที่ต้นน้ำลำธารให้มีสภาพเขียวชอุ่มขึ้นเป็นลำดับ....”

กรมชลประทานได้น้อมน้ำแนวพระราชดำริดังกล่าว มาใช้ในการดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นศูนย์ที่กรมชลประทานรับผิดชอบ เพื่อเป็นตัวอย่างในการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ และเป็นต้นแบบขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ

ในอดีตก่อนปี 2528 พื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ มีสภาพเป็นดินหินกรวด แห้งแล้ง ขาดความชุ่มชื้น ปริมาณน้ำธรรมชาติมีน้อย สภาพป่าเป็นป่าเสื่อมโทรม แต่ในปัจจุบันสภาพพื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ กลับมีความชุ่มชื้นในป่าเพิ่มขึ้น การระเหยของน้ำลดลง มีปริมาณฝนตกเพิ่มขึ้น ลำห้วยมีน้ำตลอดทั้งปี ธาตุอาหารในดินมีมากขึ้น ส่งผลให้ป่ามีความอุดมสมบูรณ์ตลอดทั้งปี

เมื่อป่าได้รับการฟื้นฟู แหล่งน้ำก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ความสำคัญ โดยเฉพาะการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กและขนาดกลาง บริเวณใกล้ๆกับป่าต้นน้ำหรือบริเวณเชิงเขา ซึ่งพระองค์ทรงเคยมีพระราชดำริในการพัฒนาอ่างเก็บน้ำบริเวณเชิงเขาเหนือเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ว่า

“...ควรพิจารณาวางโครงการเก็บกักน้ำตอนบนของลำน้ำป่าสักไว้ให้มาก เพื่อใช้ด้านการเกษตรและป้องกันอุทกภัย เนื่องจากเหนือเขื่อนป่าสักฯมีมาก ให้พิจารณาจัดเก็บให้เหมาะสม.....”

กรมชลประทานได้นำพระราชดำริดังกล่าว มาดำเนินโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จำนวน 7 แห่ง คือ อ่างฯห้วยหิน อ่างฯห้วยน้ำก้อ อ่างฯห้วยใหญ่ อ่างฯห้วยป่าเลา อ่างฯห้วยนา อ่างฯคลองลำกง และอ่างฯห้วยเล็ง ทำให้สามารถกักเก็บน้ำได้ 116 ล้านลบ.ม.ช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกได้อีกทั้งสิ้นประมาณ80,000 ไร่ นอกจากนี้ยังได้ขยายผลวางแผนพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง ในระยะกลางและระยะยาวบริเวณเชิงเขาในพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสักอีก 22 โครงการ สามารถเก็บน้ำได้รวมกันกว่า 137.72 ล้าน ลบ.ม. ขยายพื้นที่การเกษตรในเขตชลประทานได้อีกกว่า 225,000 ไร่

จะเห็นได้ว่าป่ากับน้ำนั้นสามารถอยู่เคียงคู่กันได้อย่างยั่งยืน ดั่งพระราชดำรัสสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เกี่ยวกับเรื่องน้ำและป่าไม้ ที่ว่า

“พระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่า ป่าที่ถวายความจงรักภัคดีต่อน้ำ ...พระเจ้าอยู่หัวสร้างอ่างเก็บน้ำ ฉันจะสร้างป่า”

ไม่ใช่เฉพาะพื้นที่ต้นน้ำ หรือในพื้นที่เชิงเขาเท่านั้น พื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ได้มีพระราชดำริให้กรมชลประทานพัฒนาแหล่งน้ำด้วยการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่หลายโครงการ อาทิ

"....โครงการที่คิดจะทำนี้บอกได้ ไม่กล้าพูดมาหลายปีแล้วเพราะเดี๋ยวจะมีการคัดค้านจากผู้เชี่ยวชาญจากผู้ที่ต่อต้านการทำโครงการ แต่โครงการนี้เป็นโครงการที่อยู่ในวิสัยที่ทำได้ แม้จะต้องเสียค่าใช้จ่ายไม่ใช่น้อย แต่ถ้าดำเนินการไปเดี๋ยวนี้อีก 5-6 ปี ข้างหน้าเราก็สบาย แต่ถ้าไม่ทำในอีก 5-6 ปีข้างหน้าราคาค่าสร้างค่าดำเนินการก็จะขึ้นไป 2 เท่า 3 เท่า ลงท้ายก็จะต้องประวิงต่อไป และเมื่อประวิงต่อไปไม่ได้ทำ เราก็ต้องอดน้ำแน่จะกลายเป็นทะเลทราย แล้วเราก็จะอพยพไปที่ไหนไม่ได้ โครงการนี้คือสร้างอ่างเก็บน้ำ 2 แห่ง แห่งหนึ่งคือแม่น้ำป่าสัก อีกแห่งคือ แม่น้ำนครนายก สองแห่งรวมกันจะเก็บกักน้ำเหมาะสมพอเพียงสำหรับการบริโภค การใช้ในเขตกรุงเทพฯ และเขตใกล้เคียงที่ราบลุ่มของประเทศไทยนี้......”

กรมชลประทานได้น้อมนำพระราชดำริดังกล่าวมาดำเนินการ ด้วยการก่อสร้างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี และเขื่อนขุนด่านปราการชล จังหวัดนครนายก ที่เห็นในปัจจุบัน

“...อีกสายหนึ่งแควน้อยซึ่งจะต้องทำ อันนี้ก็ยังไม่ได้ทำ ซึ่งจะต้องทำ เพื่อกักเก็บน้ำที่มาจากอำเภอชาติตระการ อาจจะมีคนค้านว่า ทำไมทำเขื่อนพวกนี้แล้วมีประโยชน์อะไร ก็เห็นแล้วประโยชน์ของเขื่อนใหญ่เขื่อนนี้ ถ้าไม่มีสองเขื่อนนี้ ที่นี่น้ำท่วมยิ่งกว่า จะไม่ท่วมทั้งหมด...”

ซึ่งเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จังหวัดพิษณุโลก ก็เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่อีกแห่งที่กรมชลประทานได้ดำเนินงานตามพระราชดำริ

และโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ที่กรมชลประทานได้ดำเนินงานตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวล่าสุด คือ โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยโสมง ซึ่งมีพระราชดำริความตอนหนึ่ง จากหลายต่อหลายครั้งว่า

“…โครงการพัฒนาพื้นที่ราบเชิงเขา จังหวัดปราจีนบุรี-จังหวัดสระแก้ว ตามพระราชดำริ เช่น โครงการอ่างเก็บน้ำพระปรง อ่างเก็บน้ำห้วยสะโตน อ่างเก็บน้ำท่ากระบาก และอ่างเก็บน้ำอื่นๆ เป็นโครงการที่ดีมากทำให้มีปริมาณน้ำใช้เพิ่มมากขึ้นและผลที่ได้รับเพิ่มเติมก็คือทำให้ที่ดินมีการพัฒนาตามมาด้วย…”

โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยโสมง เป็นการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ ราบเชิงเขา จังหวัดปราจีนบุรี-สระแก้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินงานก่อสร้าง มีความคืบหน้าไปกว่า 10% เมื่อแล้วเสร็จจะสามารถกักเก็บน้ำได้ 295 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะสร้างประโยชน์มากมาย โดยเฉพาะจะช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำปราจีนบุรีและลุ่มน้ำสาขา ในเขตพื้นที่อำเภอนาดี และอำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี

รวมทั้งยังจะสามารถส่งน้ำให้พื้นที่เกษตรกรรมในเขตชลประทานได้ถึง 111,300 ไร่ เป็นแหล่งน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภค ช่วยรักษาระบบนิเวศน์ผลักดันน้ำเค็มและน้ำเน่าเสียในแม่น้ำปราจีนบุรี และแม่น้ำบางปะกงและยังใช้เป็นแนวกันชนหรือแนวป้องกันการบุกรุกทำลายพื้นที่ป่าไม้ ในเขตอุทยานแห่งชาติทับลานและอุทยานแห่งชาติปางสีดา รวมทั้งช่วยเพิ่มระดับความชุ่มชื้นในพื้นที่ป่าไม้อีกด้วย

นอกจากนี้ ทั้ง 2 พระองค์ทรงมีพระราชดำริ เกี่ยวกับเรื่องป่าและน้ำหลายต่อหลายครั้ง หากใครจะเดินตามรอยพ่อ...แม่ นำแนวพระราชดำริไปปฏิบัติ รับรองได้ว่า จะประสบผลสำเร็จในเรื่องนั้นๆ อย่างแน่นอน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 18 กันยายน 2556

'มหาธีร์'ยกบทเรียนอียูค้านเออีซีรวมสกุลเงิน

'มหาธีร์'ค้านอาเซียนใช้เงินสกุลเดียว หวั่นซ้ำรอยวิกฤติอียู แนะแต่ละประเทศชูจุดแข็งเร่งสร้างความเท่าเทียมกัน 'สุรินทร์' จี้เตรียมพร้อมอาเซียนรุกเพิ่มบทบาทค้าโลก

หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ร่วมกับสำนักงานกองทุนส่งเสริมงานวิจัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเวทีสัมมนานานาชาติ "Assessing ASEAN’s Readiness by Country : Opportunities, Concerns, and Preparedness towards the AEC 2015" เมื่อวันที่ 17 กันยายน มี ดร.มหาธีร์ บิน โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย กล่าวปาฐกถาพิเศษ พร้อมตัวแทนจากประเทศสมาชิกร่วมเสวนา

ดร.มหาธีร์ กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมสู่อาเซียนเป็นหัวข้อที่หลายประเทศกำลังให้ความสนใจ แต่ยังมีความแน่ใจว่าจะทำอย่างไรให้บรรลุเป้าหมายเพื่อให้การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) นำมาซึ่งผลประโยชน์ร่วมกัน

ดร.มหาธีร์ กล่าวว่า แนวทางแรกๆ คือการศึกษาข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของสหภาพยุโรป (อียู) ที่มีการนำเงินสกุลยูโรมาใช้ร่วมกันและขณะนี้ยุโรปกำลังประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจที่ดำเนินมานานถึง 5 ปี และยังไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ดังนั้น หากการรวมตัวของอาเซียนจะเกิดขึ้นต้องทำให้ดีกว่าที่อียูทำ

ดร.มหาธีร์ กล่าวว่า สำหรับประเด็นที่ต้องศึกษา เช่น ข้อผิดพลาดของอียู ที่ครั้งหนึ่งเคยปฏิเสธไม่ให้ตุรกีร่วมเป็นสมาชิก แต่ขณะนี้ตุรกีกลับมีสภาพเศรษฐกิจที่ดีกว่า อียูชี้ให้เห็นว่าการรวมตัวกันนั้นมีจุดแข็งหรือจุดอ่อนอย่างไร เมื่อยุโรปตะวันตกซึ่งมีขีดความสามารถสูงกว่ายุโรปตะวันออกในทุกด้าน มีการใช้ประโยชน์จากต้นทุนที่ต่ำในการผลิตสินค้า และการท่องเที่ยวจากยุโรปตะวันออก ก่อนหน้าที่จะมีการรวมตัวกันของยุโรปทั้งสอง ซึ่งหลังการรวมตัวกันนี้ ทำให้ยุโรปตะวันออกต้องปรับตัวเองมาใช้มาตรฐานเดียวกันตะวันตก ทั้งการท่องเที่ยว ค่าเงิน มาตรฐานสินค้า ทำให้สินค้าของยุโรปตะวันออกแพงขึ้น ค่าครองชีพสูงขึ้น ค่าแรงงานสูงขึ้น รัฐบาลกรีซต้องกู้เงินมาเพื่อจ่ายเงินเดือนที่แพงขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจของกรีซล่มสลายในที่สุด และตามมาในอีกหลายประเทศ

“ยุโรปกลายเป็นสหภาพแห่งความไม่เท่าเทียมกัน ยุโรปพยายามรักษามาตรฐานค่อนข้างสูงไว้ ซึ่งในที่สุดมาตรฐานที่สูงจากพื้นฐานความไม่เท่าเทียมกันนำมาซึ่งความล่มสลาย” นายมหาธีร์ กล่าว

ขณะเดียวกัน สิ่งที่อยากเสนอคือ การใช้ทองคำมาเป็นพื้นฐานการในการอ้างอิงเงินสกุลพิเศษที่จะกำหนดขึ้นเพื่อใช้สำหรับการทำการค้าในภูมิภาค แต่ไม่ใช่การใช้เงินสกุลเดียวกัน เพราะทองคำมีเสถียรภาพมากกว่าค่าเงินสกุลที่นิยมใช้การค้าในตอนนี้ เช่น ดอลลาร์สหรัฐ ที่ไร้เสถียรภาพ ซึ่งการจะมาหารือถึงประเด็นที่ว่าอาเซียนจะใช้เงินสกุลเดียวกันหรือไม่อย่างไรยังไม่ใช่ในตอนนี้ แต่น่าจะมีการพูดถึงในอีกเกือบ 40 ปีข้างหน้า หรือ ปี 2593

ดร.มหาธีร์ กล่าวอีกว่า การเตรียมความพร้อมของอาเซียนคือการพยายามพัฒนาด้วยการดึงสิ่งที่ดีที่สุดของแต่ละประเทศมาใช้ การลดภาษีต้องสร้างความเท่าเทียมกัน บางประเทศต้องการกำหนดภาษีสูงไว้เพื่อปกป้องความไม่พร้อมบางอย่าง เช่น ไทยเป็นผู้ผลิตรถยนต์ที่มีวัตถุดิบในประเทศ (โลคอลคอนเทนท์) เพียง 40% หากได้รับการลดภาษีจากมาเลเซีย ซึ่งมีโลคอลคอนเทนท์ถึง 90% แน่นอนรถยนต์ของมาเลเซียจะแข่งขันไม่ได้ จึงต้องคงภาษีไว้ก่อนไม่เป็น 0% เพื่อไม่ให้การเปิดเออีซี ทำให้ใครได้เปรียบเสียเปรียบ

“ปี 2558 ประเทศที่ยังไม่พร้อมเข้าสู่อาเซียน ต้องสามารถเปลี่ยนแปลงใดๆ ได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป และมีการให้เวลาในการเสริมสร้างมาตรการและความเข้มแข็ง อย่างเป็นขั้นเป็นตอน และหากเกิดผิดพลาดอะไรก็แก้ไขได้ง่ายกว่า คาดว่าการเป็น เออีซี อีก 1 ปีข้างหน้าทุกประเทศกำลังเตรียมความพร้อม แต่ขณะนี้อาเซียนยังมองไม่ลึกซึ้งกับปัญหาอียู ทั้งที่อาเซียนต้องมองเรื่องนี้อย่างมากและไม่เอาความผิดพลาดจากการใช้เงินสกุลเดียวกันมาใช้กับอาเซียน” นายมหาธีร์ กล่าว

ส่วนการกำหนดนโยบายด้านอื่นๆ ต้องเป็นไปเพื่อการสร้างความเท่าเทียมกัน ขจัดระบบราชการที่ล่าช้า การลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ รวมถึงการเดินหน้าสร้างความร่วมมือกับประเทศนอกภูมิภาค เพื่อกำหนดอำนาจการต่อรองในการเจรจาในเวทีระดับโลก

ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน กล่าวว่า ภูมิภาคที่ได้รับความสนใจจากโลกในขณะนี้ คืออาเซียน+3 (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้) ครอบคลุมประชาชน 3,000 ล้านคน มีมูลค่าการค้าต่อปี 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกกนี้กำลังจะถูกจับตามอง แต่เกิดคำถามว่าไทยและอาเซียนมีความพร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุนแล้วหรือยัง

ดร.สุรินทร์ กล่าวว่า ปัจจุบันอาเซียนยังมีปัญหาความยากจน และความไม่เสมอภาค รวมถึงความขัดแย้งระหว่างประเทศ และการแข่งขันกันเองยังมีอยู่ ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำเพื่อลดปัญหาที่เกิดขึ้น คือ รวมตัวกันเพื่อขยายการค้าร่วมกันให้มากขึ้น เพราะอาเซียนถือว่ามีสัดส่วนการค้าภายในภูมิภาคต่ำ

รวมทั้งอาเซียนจะต้องสร้างระดับรายได้ของประเทศให้เท่าเทียมกัน ในประเด็นนี้ไม่นับรวม สิงคโปร์ บูรไน มาเลเซีย ที่มีสัดส่วนรายได้ต่อหัวสูง ขณะที่ประเทศอื่นๆ ที่มีรายได้ระดับกลางและต่ำ เป็นประเทศที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติแบบที่ไม่ได้มีการลงทุนต่อยอดมาเป็นรายได้หลัก ซึ่งทิศทางการผลิตแบบนี้เป็นการแข่งขันกับจีน อินเดีย และแอฟริกาได้ แนวทางที่จะทำให้หลุดจากกับดักนี้ไปได้คือการลงทุนด้านการวิจัยและการพัฒนา หรือ อาร์แอนด์ดี ให้มากขึ้น

ดร.สุรินทร์ กล่าวอีกว่า อุปสรรคสำคัญที่จะไม่ทำให้อาเซียนรวมเป็นตลาดเดียวได้ คือ การสร้างมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีมาแทนหลังการลดภาษีเป็น 0% การลดข้อจำกัดการให้บุคคลเดินทางไปทำงานในประเทศต่างๆ ของภูมิภาค และการเร่งแก้ไขกฎระเบียบภายในเพื่อให้สอดคล้องกับสัตยาบันที่ได้ให้ไว้กับอาเซียน

ขณะที่ผู้แทนจาก 3 ประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่เข้าร่วม คือ พม่า กัมพูชาและไทย โดยนายซอ อู ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของประธานาธิบดีพม่า กล่าวในหัวข้อ "พม่าในเออีซี โอกาสในอนาคต" , นายชับ โสทาริท จากสถาบันกัมพูชาเพื่อความร่วมมือและสันติภาพ พูดคุยในหัวข้อ "กัมพูชา โอกาสและความท้าทายของการลงทุน" และนายมาณพ เสงี่ยมบุตร ผู้ช่วยผู้จัดการอาวุโส ธนาคารไทยพาณิชย์ ให้ข้อมูลเรื่อง "ไทยในเออีซี เชื่อมโยงทั่วภูมิภาค"

ผู้แทนจากทั้ง 3 ประเทศข้างต้น ได้ตอบข้อสงสัยที่ว่าอะไรเป็นสิ่งสำคัญสุดสำหรับประเทศด้านการพัฒนาเตรียมพร้อมเข้าการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ซึ่งนายซอ อูกับนายชับ โสทาริท ตอบตรงกันว่าเป็นเรื่องของความสามารถและการเร่งปฏิรูปด้านต่างๆ ในประเทศ

นายซอ อู ยอมรับว่า พม่าตอนนี้อยู่บนทางแพร่ง จำเป็นต้องเลือกว่าไปทางไหน และอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านเปิดรับวิสัยทัศน์อาเซียน และพม่าได้ปฏิรูปแล้วในหลายเรื่อง มุ่งมั่นปฏิรูปภายในประเทศโดยเฉพาะ 4 ด้านสำคัญ คือ การเมือง เศรษฐกิจกับสังคม การบริหารภาครัฐและพัฒนาภาคเอกชน เพื่อช่วยส่งเสริมการลงทุนในอาเซียน

อย่างไรก็ตาม ในช่วงถามตอบ นายซอ อูระบุว่า สิ่งสำคัญสำหรับพม่าในการพัฒนาสู่กลุ่มเออีซี อยู่ที่ความสามารถในการดำเนินการปฏิรูปอย่างต่อเนื่อง และในพม่ายังมีช่องว่างอยู่มาก ที่จำเป็นต้องแก้ไขและได้รับความช่วยเหลือ

ความเห็นดังกล่าวสอดรับกับนายชับ โสทาริท ที่ว่าสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับกัมพูชาเข้าสู่เออีซี เป็นความจำเป็นต้องเร่งปฏิรูปในประเทศ เพื่อเอื้ออำนวยให้ความสะดวกด้านการค้าการลงทุนและด้านการเงิน

"เราต้องปฏิรูปเศรษฐกิจ ต้องปฏิรูปกระบวนการต่างๆ อย่างเช่น อัตราภาษีศุลกากรต้องเป็น 0% เมื่อรายได้ส่วนนี้หายไปก็ต้องปรับตัวหารายได้จากแหล่งอื่นแทน และต้องเตรียมความพร้อมให้ประชาชนเข้าสู่เออีซี"

นายชับให้ข้อมูลด้วยว่า ระดับความเข้าใจของภาคเอกชนเกี่ยวกับเออีซีโดยเฉพาะในหมู่ผู้ประกอบการท้องถิ่นยังมีจำกัด และภาคเอกชนในกัมพูชายังไม่ได้เตรียมตัวให้ดีสำหรับการรวมกลุ่มเศรษฐกิจ

"ภาคเอกชนกัมพูชายังไม่มีศักยภาพพอที่จะแข่งขัน และเก็บเกี่ยวประโยชน์จากการขยายธุรกิจออกไปนอกประเทศ และกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางถึงเล็ก หรือ เอสเอ็มอี จะเผชิญความยากลำบากจากการแข่งขันภายในกลุ่มประเทศสมาชิกเออีซี"

เช่นเดียวกับมุมมองของนายมาณพ ที่ว่าจากการสำรวจความคิดเห็นและความต้องการของเอสเอ็มอีในไทยจำนวนหนึ่งของธนาคารไทยพาณิชย์ พบว่าเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ยังต้องการให้มีกลไกต่างๆ ช่วยสนับสนุนภาคธุรกิจเอสเอ็มอี สามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับการรวมตัวของอาเซียนเพื่อเป็นเออีซี

ขณะที่มีคำถามที่ว่าเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการค้าการลงทุนในอาเซียน จะผลักดันให้การลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานมีส่วนช่วยอย่างไรนั้น นายชับระบุว่ากัมพูชาอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจ จำเป็นต้องมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับ แต่รัฐบาลทำเองไม่ได้โดยลำพัง ต้องดึงเอกชนเข้าเป็นพันธมิตรร่วมลงทุน หรือ พีพีพี แต่เวลานี้ประชาชนในประเทศยังไม่เข้าใจ และคิดว่าพีพีพีส่งผลกระทบต่อพวกเขา มีปัญหาคอร์รัปชั่น และไม่มีหน่วยงานที่สามารถดูแลการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน

ด้านนายซอ อู ยอมรับว่าพม่ามีความท้าทายเรื่องโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานคล้ายกัมพูชา และเห็นด้วยกับนโยบายทำพีพีพี ด้วยการดึงเอกชนเข้ามาทำโครงการลงทุน แต่ต้องพัฒนาอย่างระมัดระวัง ต้องจัดลำดับความสำคัญ ซึ่งรัฐบาลพม่าให้ความสำคัญกับการลงทุนระยะสั้นช่วยแก้ปัญหาได้มาก อย่างเช่นการพัฒนาภาคผลิตกับภาคพลังงาน

ส่วนนายมาณพชี้ว่า ในภูมิภาคอนุลุ่มแม่น้ำโขงคาดว่าจะมีการลงทุนโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานมากราว 6.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ถือเป็นตัวเลขมหาศาล แต่การทำโครงการพีพีพีดึงเอกชนมาร่วมได้นั้น ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคต้องมีภาคธนาคารก้าวหน้าพัฒนาแล้วเข้ามาช่วย

"ถ้าภาคธนาคารในกลุ่มประเทศอนุลุ่มน้ำโขงไม่มีความก้าวหน้า หรือไม่ได้รับการพัฒนาแล้ว ภาคเอกชนประเทศในภูมิภาคนี้ก็จะไม่สามารถพึ่งพาอาศัยแหล่งทุน ที่จะใช้ในการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานได้" นายมาณพกล่าว

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 18 กันยายน 2556

จับตาเงินทุน-ค่าบาทระส่ำ

นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ขณะนี้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังไม่ได้หารือถึงมาตรการเตรียมรับมือผลกระทบจากการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในช่วงวันที่ 17-18 ก.ย.นี้เป็นพิเศษ หากเฟดยกเลิกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเชิงปริมาณ (คิวอี) แต่ยังคงติดตามใกล้ชิด เพราะจะมีผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายระยะสั้นและการเคลื่อนไหวของเงินบาท อย่างไรก็ดี ถ้าผลออกมาตามที่ตลาดคาดการณ์ คงส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินไม่มากนัก เพราะตลาดรับรู้ข่าวดังกล่าวไปพอสมควรไปแล้ว

ด้านนายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจการเงิน ธปท. กล่าวว่า การประชุมกนง.วันที่ 16 ต.ค.นี้ คงจะทบทวนตัวเลขเศรษฐกิจปีนี้ใหม่ เพราะคาดจะโตต่ำกว่าที่คาดไว้ 4.2% พร้อมทบทวนตัวเลขส่งออกใหม่จากเดิมคาดไว้โต 4%

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวว่า เศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลังจะปรับตัวดีขึ้น เพราะปัจจัยหนุนจากเงินบาทที่อ่อนค่าลง ช่วยให้การส่งออกดีขึ้น การท่องเที่ยวก็มี นักท่องเที่ยวเข้ามาในไทยมากขึ้น การขอสินเชื่อเพื่อการลงทุนจากธนาคารพาณิชย์ยังอยู่ในอัตราที่ปกติ โดยคาดครึ่งปีหลังเศรษฐกิจจะดีขึ้นจากครึ่งแรกของปีนี้โต 4.1%

จาก http://www.khaosod.co.th  วันที่ 18 กันยายน 2556

รง.น้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์รวมพลังชาวไร่อ้อย รณรงค์ไม่ใช้แรงงานเด็ก

โรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์จัดงานวันรวมใจชาวไร่อ้อยและประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2556 โดยในการประชุมครั้งนี้ กลุ่มมิตรผลในฐานะภาคเอกชนของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทยได้รวมพลังชาวไร่อ้อยสร้างความเข้าใจและตอกย้ำแนวทางการไม่ส่งเสริมและสนับสนุนการใช้แรงงานเด็กในทุกกระบวนการดำเนินธุรกิจของบริษัท ทั้งในโรงงานและในไร่อ้อย

กาฬสินธุ์ - กลุ่มมิตรผลรวมพลังชาวไร่อ้อยเดินหน้ารณรงค์ไม่ส่งเสริมแรงงานเด็กในไร่อ้อย พร้อมร่วมขับเคลื่อนโครงการกาฬสินธุ์คนดี สุขภาพดี รายได้ดี มุ่งสู่เมืองแห่งความสุข ลดใช้สารเคมีที่ก่อมะเร็ง

วันนี้ (17 ก.ย.) ที่ลานอเนกประสงค์ โรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ นายสุวิทย์ สุบงกฎ ผู้ว่าราชการจังหวัด พร้อมผู้บริหารโรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ เจ้าหน้าที่โรงงาน และสมาชิกสมาคมชาวไร่อ้อยจังหวัดกาฬสินธุ์จำนวนมาก ร่วมกันจัดงานวันรวมใจชาวไร่อ้อย และประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2556 โดยการประชุมครั้งนี้กลุ่มมิตรผลได้รวมพลังชาวไร่อ้อยรณรงค์ไม่ส่งเสริมและสนับสนุนการใช้แรงงานเด็กในทุกกระบวนการทำธุรกิจของบริษัททั้งในโรงงาน และในไร่อ้อย

ทั้งนี้ ในงานมีการจัดนิทรรศการให้ความรู้แก่เกษตรกรในการปลูกอ้อยเพื่อให้ได้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น รณรงค์ลดสารเคมี โดยเฉพาะยาฆ่าหญ้า เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนวาระของจังหวัดตามโครงการกาฬสินธุ์ “คนดี สุขภาพดี รายได้ดี” อีกด้วย

นายไพฑูรย์ ประภาฐโร ผู้อำนวยการด้านอ้อย โรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ กล่าวว่า หลังร่วมลงนามในข้อตกลงผลักดันให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลปราศจากการใช้แรงงานเด็ก และการใช้แรงงานผิดกฎหมาย กับตัวแทนสมาคมชาวไร่อ้อย สหกรณ์ชาวไร่อ้อย และผู้รับเหมารายใหญ่เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา กลุ่มมิตรผลในฐานะภาคเอกชนได้เดินหน้ารณรงค์รวมพลังชาวไร่อ้อยในกาฬสินธุ์ ในงานวันนัดพบชาวไร่อ้อย และการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2556 เพื่อปฏิบัติให้สอดคล้องกับการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสู่การยอมรับในระดับสากล

อย่างไรก็ตาม ฤดูการผลิตปี 2555/2556 มีผลผลิตอ้อยเข้าสู่โรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ 3.3 ล้านตัน สำหรับฤดูการผลิตปี 2556/2557 ตั้งเป้าจะมีอ้อยเข้าสู่โรงงาน 4 ล้านตัน ซึ่งจะสร้างรายได้กลับคืนสู่เกษตรกรหลายพันล้านบาท

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 17 กันยายน 2556

รัฐผุดไอเดียโซนนิง “ปลูกอ้อยแทนข้าว” นอกฤดูกาล

ครม.เห็นชอบ เอ็มโอยู ลิขสิทธิ์ไทย-เกาหลี อีกด้านผุดไอเดียจัดโซนนิงภาคกลาง ปลูกอ้อยแทนข้าวช่วงนอกฤดูกาล

วันนี้ (17 ก.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติเห็นชอบการลงนามบันทึกความเข้าใจเรื่องความร่วมมือด้านลิขสิทธิ์และสิทธิข้างเคียง ระหว่างกรมทรัพย์สินทางปัญญาและสำนักงานลิขสิทธิ์เกาหลี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการคุ้มครองลิขสิทธิ์ และการป้องปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ ตลอดจนส่งเสริมอุตสาหกรรมวัฒนธรรม (cultural industries) ของทั้งสองประเทศผ่านการหารือแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจระหว่างผู้เกี่ยวข้องโดยทั้งสองฝ่ายจะแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านนโยบายการคุ้มครองลิขสิทธิ์ การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์จากลิขสิทธิ์ และสภาพการณ์ด้านลิขสิทธิ์ (copyright environment) รวมทั้งจะส่งเสริมความพยายามในการพัฒนานโยบาย และสภาพการณ์ที่ส่งเสริมลิขสิทธิ์ โดยทั้งสองหน่วยงานตกลงที่จะร่วมมือในการปรับปรุงนโยบายและสิ่งแวดล้อมด้านลิขสิทธิ์ให้มีคุณภาพสูงขึ้น และจะจัดให้มีการประชุมหารือระดับอธิบดี หรือระดับผู้บริหารขั้นสูง (Director General-level consultation meeting) เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านกฎหมาย นโยบาย และการป้องปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ การประชุมระดับเจ้าหน้าที่ (Working-level meeting) และผลัดกันเป็นเจ้าภาพจัดเวที (forum)

ทั้งนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลความเห็นด้านลิขสิทธิ์ทุกปีตามความเหมาะสมนอกจากนี้ทั้งสองฝ่ายจะส่งเสริมการแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญ เจ้าหน้าที่ของรัฐจัดให้มีการฝึกอบรมบุคลากรของรัฐที่ปฏิบัติงานด้านลิขสิทธิ์ ตลอดจนจัดให้มีการเยี่ยมชมอุตสาหกรรมลิขสิทธิ์ระหว่างกัน เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมลิขสิทธิ์ของทั้งสองประเทศให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น และจะส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานด้านการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ ซึ่งรวมถึงการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมลิขสิทธิ์ทั้งนี้มีผลใช้บังคับทันทีที่ทั้งสองฝ่ายลงนามสมบูรณ์ มีระยะเวลา 3 ปี นับจากวันที่ลงนามและสามารถต่ออายุได้โดยอัตโนมัติ เว้นแต่จะมีผู้เข้าร่วมฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแจ้งความประสงค์ที่จะยกเลิกความร่วมมือฉบับนี้เป็นลายลักษณ์อักษรอย่างน้อย 6 เดือน ก่อนบันทึกความเข้าใจฯ จะมีกำหนดสิ้นสุด

ด้าน ร.ท.หญิง สุนิสา เลิศภควัต รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้กำชับในเรื่องราคาอ้อย โดยขอให้กระทรวงอุตสาหกรรมมีการตามงานและเร่งทำโครงสร้างราคามา โดยจะมีการเร่งรัดให้มีการประชุมโซนนิง ในเรื่องของการปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวนาปรังในช่วงนอกฤดูกาลมาปลูกอ้อย หรือพืชชนิดอื่นแทน หรือหากในช่วงน้ำท่วมก็ให้ทำประมง ก็จะทำให้มีรายได้มากขึ้นในทุกฤดูกาล โดยจะนำโมเดลนี้ไปทำในพื้นที่ภาคกลางก่อน ซึ่งเมื่อเกษตรกรภาคอื่นเห็นว่าทำแล้วทำให้มีรายได้ดีขึ้นก็จะทำตาม

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 17 กันยายน 2556

คาด เฟดลด QE ...แต่ผลกระทบคงจำกัด

ในวันที่ 17-18 กันยายน ที่จะถึงนี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการประชุมครั้งสำคัญ เนื่องจากเป็นที่คาดหมายกันอย่างกว้างขวางในตลาดเงิน-ตลาดทุนทั่วโลก ว่าในประชุมดังกล่าว เฟดคงจะประกาศการลดจำนวนเงินในการเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงิน หรือการทำ QE ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน โดยการปรับวงเงินการเข้าซื้อสินทรัพย์ดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นก้าวสำคัญก้าวแรกของธนาคารกลางสหรัฐ ในการที่จะทยอยปรับสมดุลทางการเงินให้เข้าสู่ระดับปกติ หลังจากที่ตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐ ทยอยฟื้นตัวขึ้นตามลำดับ ส่วนทำไมต้องเริ่มทำตอนนี้ เหตุผลหลัก ๆ คือ หากไม่เริ่มทยอยดำเนินการ ต่อไปอาจจะปรับตัวลำบากเมื่อเงินเฟ้อกลับมาเป็นประเด็น เพราะจะถูกเงินเฟ้อกดดันให้ต้องเร่งทำ ซึ่งจะส่งผลให้ตลาดผันผวนมากกว่าตอนนี้มากครับ

ทั้งนี้ ผมคาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐ คงจะเริ่มต้นการลดวงเงินการเข้าซื้อสินทรัพย์ในจำนวนที่ไม่มากนักก่อน เช่น ประมาณ 1.0-1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ พร้อม ๆ กับคงจะย้ำว่า จะยังติดตามตัวเลขเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการจ้างงาน อย่างใกล้ชิดต่อไป โดยคงจะระบุในแถลงการณ์ว่า หากเศรษฐกิจไม่ดีขึ้นอย่างที่ควรจะเป็น ก็พร้อมที่จะกลับมาเพิ่มขนาดการเข้าซื้อสินทรัพย์ฯ รวมถึงดำเนินการต่าง ๆ เพื่อที่จะช่วยให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐ สามารถดำเนินไปได้อย่างตลอดรอดฝั่ง

หากเฟดประกาศการปรับลดการเข้าซื้อสินทรัพย์ในจำนวนไม่มากตามที่คาด ผลกระทบต่อตลาดเงิน ตลาดทุน และอัตราแลกเปลี่ยน คงจะมีจำกัด เพราะตลาดต่าง ๆ ได้ทยอยรับรู้การปรับลด QE ของเฟดไปก่อนหน้านี้พอสมควรแล้ว ประกอบกับสถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลางก็ดูผ่อนคลายลงเช่นกัน โดยล่าสุด คงจะไม่มีการใช้กำลังทหารโจมตีซีเรียอย่างที่เคยกังวล ซึ่งสถานการณ์ที่ผ่อนคลายลงดังกล่าว ได้ส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับลดลง ขณะที่เงินดอลลาร์สหรัฐ ก็พลอยลดความน่าสนใจ ในฐานะสกุลเงินที่ปลอดภัยในยามที่เกิดวิกฤติไปด้วย

นอกจากนี้ ความกังวลที่นักลงทุนเคยมีต่อค่าเงินรูปีของอินเดีย จากปัญหาการขาดดุลต่าง ๆ ก็ผ่อนคลายลงไปพอสมควร จากการดำเนินการของทางการอินเดีย และความเชื่อมั่นในตัวผู้ว่าการธนาคารกลางคนใหม่ ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ดูดีขึ้น ซึ่งส่งผลให้ค่าเงินรูปี ฟื้นตัวขึ้นจากระดับต่ำสุดในช่วงปลายเดือนสิงหาคมถึงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ส่วนเงินรูเปียของอินโดนีเซียนั้น แม้ว่าจะฟื้นตัวจากระดับต่ำสุดมาบ้าง แต่ก็ไม่เด่นชัดเท่ากับเงินรูปีของอินเดีย ทั้งนี้เนื่องมาจากประเด็นเงินเฟ้อ ที่ยังคงสูงอยู่เมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้ยังคงส่งผลกดดันต่อค่าเงินของอินโดนีเซีย

โดยรวมแล้ว ทั้งหมดนี้น่าจะถือได้ว่าเป็นข่าวดีครับ ซึ่งเมื่อประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดของจีนและญี่ปุ่น ที่ออกมาค่อนข้างดีเช่นกัน ก็ยิ่งทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลก รวมถึงในบ้านเรา ปรับตัวขึ้นขานรับต่อข่าวดังกล่าว แต่สำหรับเศรษฐกิจไทยนั้น เรายังคงต้องติดตามตัวเลขส่งออกเดือนสิงหาคม ที่จะประกาศในช่วงปลายเดือนนี้ โดยหากยังคงออกมาต่ำกว่าคาดเหมือนในเดือนก่อน ๆ แล้ว ตัวเลขเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และประมาณการต่าง ๆ ที่ตั้งกันไว้ ก็อาจจะต้องปรับลดกันอีกรอบ ซึ่งย่อมจะเป็นโจทย์ที่ท้าทายการดำเนินการของทางการไทย แต่อย่างน้อยในรอบนี้ ความกังวลเรื่องเงินทุนไหลออก ดูเหมือนจะบรรเทาลงไปตามสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เริ่มดูดีขึ้นมาบ้างครับ ...

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 17 กันยายน 2556

อนาคตเกษตรกรรายย่อยจะแย่

หากเกษตรกรไทยยังคงปลูกพืชด้วยพฤติกรรมเดิม ต่อไปจะมีความทุกข์กว่านี้ เพราะราคาพืชอาหารจะถูกลงไปทุกวัน ทั้งที่โลกใบนี้มีประชากรเพิ่มขึ้น มีปากท้องของมนุษย์ทานอาหารมากขึ้น ที่ราคาถูกลงก็เพราะการเกษตรจะเป็นอุตสาหกรรมใหญ่โตขึ้น บริษัทขนาดใหญ่ลงมาเป็นผู้ผลิตเอง ทำการเกษตรทีละเป็นหมื่นเป็นแสนไร่ ผลิตทีละมากๆ ต้นทุนการผลิตถูกลงไปเป็นเท่าตัว หลายบริษัททำครบวงจร ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ทั้งปลูกเอง แปรรูปเอง ขายส่งเอง และขายปลีกเอง อยากจะถามคำถามสั้นๆ ว่าไอ้ปื๊ด อีเปี๊ยก ลูกเจ้น้องก้นซอยสองที่ปลูกทีละ 5 ไร่ 10 ไร่ ราคาแพงกว่า ท่านจะเอาผลผลิตไปขายที่ไหน

ผู้บริหารที่เดินทางไปเยือนต่างประเทศ ถ้าท่านไม่ได้นั่งรถเทียวเที่ยวไป ท่านก็จะมองไม่ออกดอกครับ ว่าวันนี้นักลงทุนจีน เกาหลี ไต้หวัน และอเมริกัน แห่กันมาเช่าที่ดินปลูกพืชในประเทศพรมแดนที่ประชิดติดกับไทย ทั้งพม่า กัมพูชา ลาว แม้แต่ในเวียดนาม

บริษัทขนาดใหญ่ของไทยเองก็ใช่ย่อย อย่างบริษัทน้ำตาลขอนแก่นในนามบริษัทเกาะกงแพลนเทชั่นและบริษัทเกาะกงชูการ์อินดัสทรี เข้าไปปลูกอ้อยในเขมร ปลูกกันทีเป็นพันหลายหมื่นไร่ คนเขมรพื้นถิ่นยากจนถูกขับออกจากพื้นที่ ไม่มีที่อยู่อาศัยกันเป็นร้อยครอบครัว หรือบริษัทซีแพคอะโกรอินดัสทรีของไทยก็เข้าไปปลูกยูคาลิปตัสในเขมร บริษัทขนาดใหญ่อย่างเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือซีพี วันนี้ก็เข้าไปปลูกพืชไร่และเลี้ยงหมูเห็ดเป็ดไก่ปลากุ้ง เลี้ยงครบวงจรซะจนเป็นผลให้เกษตรกรอย่างเขมรจำเริญขายผลผลิตของตนไม่ได้

คนที่ซวยก็คือเกษตรกรรายย่อยชาวกัมพูชาที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ทว่าได้ทำมาหากินบนหน้าที่ดินเหล่านี้ตั้งแต่สมัยรุ่นปู่ย่าตาทวด วันดีคืนดี รัฐบาลเขมรก็มาไล่ให้ออกจากแผ่นดินของตนเอง ส่วนใหญ่ไล่โดยไม่มีค่าชดเชยด้วยนะครับ บางแห่งมีค่าชดเชย แต่ก็น้อยมาก ปัจจุบันทุกวันนี้ จึงมีคนเขมรเร่ร่อนไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นจำนวนไม่น้อย อยากจะได้ที่ดินคืนก็ไม่รู้จะทำยังไง เพราะรัฐบาลเอาไปให้บริษัทต่างชาติเช่าซะแล้วนานถึง 99 ปี

รัฐบาลลาวเองอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติเช่าที่ดินของเอกชนได้นานถึง 20 ปี ถ้าเป็นที่ดินของรัฐก็เช่าได้นานถึง 50 ปี โดยให้สิทธิประโยชน์การโอนสิทธิการเช่า การซื้อ และปรับปรุงโครงสร้างที่ก่อสร้างบนที่ดินให้เช่าได้

ข้อมูลจากธนาคารโลกนะครับ บอกว่าจนถึงปลาย พ.ศ. 2552 ลาวให้สัมปทานแก่นักลงทุนต่างชาติ 398 ราย 1,143 โครงการ รวมเป็นที่ดิน 248,846 เฮกตาร์ หรือ 1.5 ล้านไร่ ตอนที่ลาวจะเป็นเจ้าภาพแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ พ.ศ.2552 เวียดนามร่วมกับจีนเข้าไปสร้างสนามกีฬาให้ลาวในมูลค่า 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตีเป็นเงินไทยก็สักห้าหกร้อยล้านบาท แฮ่ๆ แต่ต้องแลกกับสิทธิการทำเหมืองแร่และปลูกยางพาราในพื้นที่ดิน 10,000 เฮกตาร์ ก็ประมาณหกเจ็ดหมื่นไร่ รัฐบาลลาวหวังว่า บริษัทญวนบริษัทจีนพวกนี้จะจ้างคนลาวเข้าทำงาน แต่พอเอาเข้าจริงๆ มีแต่คนญวนและคนจีนมาเป็นแรงงานมากกว่าแรงงานท้องถิ่น

อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีพื้นที่เป็นล้านตารางกิโลเมตร ตอนนี้ก็อนุญาตให้บริษัทการเกษตรขนาดใหญ่ของสิงคโปร์ มาเลเซีย อินเดีย ไทย และบริษัทของพวกฝรั่งมังค่าทั้งหลายเข้าไปลงทุน กฎหมายการลงทุนของอินโดนีเซียให้นักลงทุนของท้องถิ่นและชาวต่างประเทศใช้ประโยชน์ที่ดินได้ 3 ลักษณะ

ลักษณะแรกคือ Right to Cultivate เข้าไปทำการเกษตร ปศุสัตว์ และประมงได้นานถึง 60 ปี ขยายเวลาได้อีกครั้งละ 35 ปี

ลักษณะที่สองคือ Right to Build สำหรับบุคคลธรรมดา นิติบุคคลจดทะเบียน และบริษัทลงทุนต่างชาติเข้าไปสร้างสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินได้ครั้งแรกไม่เกิน 50 ปี ขยายเวลาได้อีกไม่เกิน 30 ปี แถมยังสามารถโอนสิทธิให้กับผู้อื่นได้

ลักษณะที่สามคือ Right to Use หมายถึง สิทธิการใช้ประโยชน์บนที่ดิน เป็นสิทธิการใช้ประโยชน์บนที่ดินตามวัตถุประสงค์ที่ได้กำหนดไว้ ระยะเวลาอนุญาตสูงสุด 70 ปี ครั้งแรก 45 ปี และขยายเวลาได้อีก 25 ปี

ผู้อ่านท่านลองหลับตา จินตนาการถึงระยะเวลาอีกห้าปีสิบปีข้างหน้า เมื่อผลผลิตทางการเกษตรของบริษัทต่างชาติขนาดใหญ่ได้ผลออกมาสู่ตลาด พวกผลิตผลของไอ้ปื๊ด อีเปี๊ยก ลูกเจ้น้องก้นซอยสองชาวไทยจะราคาตกต่ำมากมายขนาดไหนครับ

ถึงเวลาที่รัฐบาลไทยต้องบอกความจริงแก่พี่น้องเกษตรกรและประชาชนคนไทยถึงความเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างเกษตรกรรมโลกแล้วครับ นี่ผมยังไม่ได้เขียนรับใช้ถึงเกษตรในทวีปแอฟริกาและอเมริกาใต้นะครับ เขียนถึงเมื่อใด เกษตรกรไทยจะหนาวเมื่อนั้น.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 17 กันยายน 2556

กรมโรงงานค้าน กกพ.ให้อภิสิทธิ ติดตั้งโซล่าร์รูฟ ไม่ต้องขอใบรง.4

นายณัฐพล ณัฎฐสมบูรณ์ อธิบดี กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า ตามที่ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)อจะผลักดัน โครงการติดตั้งโซล่าร์รูฟท็อปให้เกิดขึ้นรวดเร็ว โดยขอยกเว้นให้ผู้เข้าร่วมโครงการไม่ต้องขออนุญาตใบประกอบกิจการโรงงาน(รง.4)นั้น ยอมรับว่าเป็นไปได้ยาก อย่างไรก็ดีหากมีความกังวลว่ากระบวนการออกใบ รง.4 จะล่าช้า สามารถใช้มาตรา 31 ตาม พระราชบัญญัติ(พรบ.)โรงงานอุตสาหกรรม พ.ศ. 2535 ร่างเกณฑ์อนุญาตให้เป็นวันสต๊อปเซอร์วิส ซึ่งจะช่วยให้การอนุญาตรวดเร็วกว่ากระบวนการปกติได้

ทั้งนี้ มาตรา31 พรบ.โรงงานอุตสาหกรรมฯ ระบุว่า เพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการให้มีประสิทธิภาพ และอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ถ้าการประกอบกิจการโรงงานใดมีกรณีที่เกี่ยวข้องอันจะต้องได้รับอนุญาตจากพนักงาน เจ้าหน้าที่ตามกฎหมายอื่นอยู่ด้วย พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ และพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจดำเนินการตามกฎหมายในเรื่องนั้นๆ อาจกำหนดวิธีการในการ ดำเนินการเพื่อพิจารณาอนุญาตร่วมกันได้

สำหรับสาเหตุที่ให้ผู้ประกอบการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ต้องขออนุญาต รง.4 เพราะเมื่อแผงโซลาร์เซลล์ที่ผลิตกระแสไฟฟ้าหมดอายุแล้ว ต้องมีกฎหมายใดที่มาควบคุมการกำจัด เพราะแผงโซลาร์เซลล์ถือเป็นขยะอันตรายประเภทหนึ่งที่ต้องมีกฎหมายควบควบให้ชัดเจน

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 17 กันยายน 2556

เกษตรกรขาดความตระหนัก“AEC” สศก.เตือนเพิ่มการชี้แจงผลกระทบ

นางจันทร์ธิดา มีเดช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 7 ชัยนาท (สศข.7) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงว่า สศข.7 ร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 1-12 ทำการศึกษาแบบบูรณาการร่วม เกี่ยวกับการรับรู้ของเกษตรกรเรื่องการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) โดยสำรวจเกษตรกรทั้ง 77 จังหวัด จำนวนเกษตรกรตัวอย่างทั้งหมด 4,405 ราย เพื่อใช้ประกอบการพิจารณากำหนดนโยบายและมาตรการรองรับจากผลกระทบที่จะเกิด จากการเข้าสู่ AEC ของภาคเกษตร

ผลการศึกษาพบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ร้อยละ 54 มีความรู้เกี่ยวกับ AEC ในด้านต่างๆ ได้แก่ ความรู้เรื่องทั่วๆ ไป ความรู้ด้านการผลิต การตลาด การลงทุน และแรงงาน รวมทั้งผลกระทบและมาตรการในการรองรับผลกระทบในระดับน้อย โดยการรับรู้ส่วนใหญ่ได้จากสื่อโทรทัศน์ คิดเป็นร้อยละ 67 รองลงมา คือ หอกระจายข่าว เสียงตามสายในชุมชน/หมู่บ้าน วิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์การเข้าร่วมฝึกอบรม/สัมมนา ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการเตรียมความพร้อมการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่มีการเตรียมความพร้อมร้อยละ 55 ซึ่งเป็นผลมาจากการรับรู้ โดยเกษตรกรที่มีการรับรู้มากก็จะมีการเตรียมความพร้อมทั้งทางด้านการผลิตการตลาด และตระหนักถึงการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมความปลอดภัยและสุขภาพของผู้บริโภคมากด้วยเช่นกัน

ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเพิ่มการสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมเผยแพร่ความรู้สร้างความเข้าใจในสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรไทยมากขึ้น โดยเฉพาะผลกระทบทางบวก ทางลบ การปรับตัวและมาตรการเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบโดยควรเน้นประชาสัมพันธ์เชิงรุกให้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะผ่านสื่อโทรทัศน์เนื่องจากเป็นสื่อที่เกษตรกรใช้บริการและรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับ AEC มากที่สุด

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 17 กันยายน 2556

ชาวนาบุรีรัมย์แห่ปลูกอ้อยไม่ต้องง้อน้ำแถมกำไรงาม

ชาวนาบุรีรัมย์ประสบแล้งซ้ำซาก ทำนาไม่คุ้มทุนหันมาปลูกอ้อยเพิ่มปีละ 50,000 ไร่ มีรายได้เฉลี่ย 6,000-7,000 บาทต่อไร่ ขณะ รง.น้ำตาลเตรียมขยายกำลังผลิตปี 57-58 เพิ่มอีก 1 ล้านตัน รองรับผลผลิตเกษตรกรที่เพิ่มขึ้นทุกปี

เกษตรกรชาวนาในพื้นที่ 6 อำเภอ จ.บุรีรัมย์ ประกอบด้วย อ.เมืองบุรีรัมย์ อ.บ้านด่าน อ.แคนดง อ.ลำปลายมาศ อ.สตึก และ อ.คูเมือง ซึ่งตั้งอยู่ในรัศมี 50 กิโลเมตร รอบโรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์ ที่ประสบปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก ฝนไม่ตกตามฤดูกาล ส่งผลให้ทำนาข้าวได้ผลผลิตน้อยไม่คุ้มทุน ได้หันมาปลูกอ้อยเพิ่มขึ้นปีละกว่า 50,000 ไร่

โดยจากข้อมูลในปีการผลิต 2555/56 มีเกษตรกรทั้ง 6 อำเภอ ปลูกอ้อยอยู่ประมาณ 6,000 ราย พื้นที่ปลูกกว่า 120,000 ไร่ มีผลผลิตส่งเข้าหีบกว่า 1.3 ล้านตัน ต่อมาในปี 2556/57 มีเกษตรกรหันมาปลูกอ้อยเพิ่มขึ้นอีก 3,000 ราย พื้นที่ปลูกเพิ่มอีกกว่า 50,000 ไร่ มีผลผลิตส่งเข้าหีบเพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านตัน และคาดว่าในปี 57/58 เกษตรกรจะหันมาปลูกอ้อยเพิ่มอีกไม่น้อยกว่า 50,000 ไร่

สาเหตุที่เกษตรกรปรับเปลี่ยนจากการทำนาหันมาปลูกอ้อยแทนนั้น เนื่องจากอ้อยเป็นพืชที่ทนแล้ง ใช้น้ำน้อย ทั้งยังสามารถไว้ตอได้หลายปี ซึ่งช่วยลดต้นการผลิตให้เกษตรกรได้อีกด้วย และหลังจากทางหน่วยงานภาครัฐร่วมกับสมาคมชาวไร่อ้อย โรงงานน้ำตาล ได้เข้ามาสนับสนุนส่งเสริมให้ความรู้เรื่องเทคนิคการปลูกอ้อยให้ได้ผลผลิตอย่างเต็มที่แล้ว ปัจจุบันทำให้เกษตรกรมีผลผลิตเฉลี่ย 13 ตันต่อไร่ มีรายได้ประมาณ 6,000-7,000 บาทต่อไร่ ซึ่งถือเป็นรายได้ที่คุ้มค่า

นางจิรวรรณ พงษ์พิชิตกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท บุรีรัมย์วิจัยและพัฒนาอ้อย จำกัด และรองกรรมการผู้จัดการโรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด กล่าวว่า จากพื้นที่ปลูกและผลผลิตอ้อยที่เพิ่มขึ้นในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา ทางโรงงานน้ำตาลได้วางแผนจะเพิ่มกำลังการผลิต จากปัจจุบันมีผลผลิตส่งเข้าหีบ 2 ล้านตันในปี 2557-2558 จะเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นอีกปีละ 500,000 ตัน รวมเป็น 1 ล้านตัน เพื่อรองรับผลผลิตของเกษตรกรที่เพิ่มขึ้น

ทางด้าน นายศานติ นึกชอบ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดบุรีรัมย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางเกษตรและสหกรณ์จังหวัดฯ ได้ทำเรื่องประสานไปยังศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง จ.นครราชสีมา และ จ.ขอนแก่น ให้มาปฏิบัติการบินโปรยสารเคมีทำฝนหลวงในเขตพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ หลังจากเกษตรกรในหลายพื้นที่อำเภอได้ร้องขอให้ช่วยเหลือเนื่องจากประสบปัญหาฝนทิ้งช่วง ต้นข้าวที่ไถหว่านและปักดำไว้ขาดน้ำหล่อเลี้ยงเหี่ยวเฉาใกล้แห้งตายเป็นจำนวนมาก

"จากการสำรวจพบว่า ทั้งจังหวัดบุรีรัมย์มีพื้นที่นาข้าวประสบปัญหาขาดน้ำหล่อเลี้ยงถึงร้อยละ 60 จากพื้นที่เพาะปลูกทั้งจังหวัดกว่า 3.4 ล้านไร่" นายศานติ กล่าว

โดยก่อนหน้านี้ นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ลงพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ติดตามความคืบหน้าโครงการเกษตรโซนนิ่ง ตามนโยบายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่หวังกระตุ้นให้เกษตรกรหันมาทำการเกษตรให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ของแต่ละพื้นที่ เพื่อลดความเสี่ยงจากปัญหาสภาพอากาศที่ไม่แน่นอน ภาวะราคาผลผลิต และตลาดที่จะรองรับผลผลิต

โดยรองนายกรัฐมนตรีได้ร่วมเวทีเสวนากับหน่วยงานราชการ ภาคเอกชน และตัวแทนเกษตรกร ที่หอประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลโนนขวาง อ.บ้านด่าน เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการกำหนดโซนนิ่งการปลูกอ้อยแปลงเล็กในพื้นที่นาไม่เหมาะสม ก่อนจะลงพื้นที่ไปดูตัวอย่างพื้นที่นาไม่เหมาะสมที่เกษตรกรได้มีการปรับเปลี่ยนจากนาข้าว หันมาปลูกอ้อยโรงงาน เพื่อนำไปเป็นตัวอย่างแก่เกษตรกรรายอื่นที่สนใจจะปรับเปลี่ยน

ซึ่งจากข้อมูลพบว่าจังหวัดบุรีรัมย์ มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวกว่า 3 ล้านไร่ แต่จากการสำรวจพบว่าในจำนวนนี้มีพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการทำนากว่า 8,500 ไร่ เหมาะสมปานกลางกว่า 1 ล้าน 4 แสนไร่ ที่เหลือเป็นพื้นที่เหมาะสมน้อยและไม่เหมาะสมในการทำนามากกว่า 2 ล้านไร่

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากข้อมูลจังหวัดบุรีรัมย์มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวกว่า 3 ล้านไร่ และจากการสำรวจพบว่ามีพื้นที่ที่เหมาะสมจะปรับเปลี่ยนหันไปปลูกอ้อยแทนนาข้าวกว่า 3 แสนไร่ โดยในปีแรกจะมีการส่งเสริมให้ดำเนินการก่อน 60,000 ไร่ ที่เหลือก็จะส่งเสริมปรับเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง

พร้อมทั้งจะประสานทางโรงงานน้ำตาลให้ขยายการผลิต เพื่อการรองรับผลผลิตอ้อยของเกษตรกรด้วย เชื่อว่าโครงการเกษตรกรโซนนิ่งจะสามารถลดปัญหาต่างๆ ให้กับเกษตรกรมีพื้นที่นาไม่เหมาะสมได้เป็นอย่างดี

จาก http://www.siamturakij.com  วันที่ 17 กันยายน 2556

ประกาศชัยชนะ จังหวัดสุพรรณบุรีไม่มีการใช้แรงงานหญิงและเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายและการค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมน้ำตาล จังหวัดสุพรรณบุรี

นายสุภัทร์ ศรีสุนทรพินิต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี ได้เปิดเผยเกี่ยวกับการใช้แรงงานหญิงและเด็กว่า กลุ่มโรงงานน้ำตาลในจังหวัดสุพรรณบุรี ดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดและการป้องกันและแก้ไขการใช้แรงงานหญิงและเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายและการค้ามนุษย์จังหวัดสุพรรณบุรี โดยกำหนดลงนามประกาศเจตจำนงความมุ่งมั่นร่วมดูแลป้องกันการใช้แรงงานหญิงและเด็กที่ผิดกฎหมายและแรงงานบังคับในอุตสาหกรรมน้ำตาลจากอ้อยจังหวัดสุพรรณบุรี ในวันที่ 19 กันยายน 2556 ระหว่างเวลา 13.00 – 15.00 น. ณ หอสมุดแห่งชาติจังหวัดสุพรรณบุรี เฉลิมพระเกียรติ อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี

นายอาณาจักร สุทธายน สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งมีหน้าที่ดูแลคุ้มครองแรงงาน แรงงานหญิงและเด็กในสถานประกอบกิจการให้ได้รับสิทธิตามกฎหมาย ร่วมกับบริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด บริษัท น้ำตาลรีไฟน์ชัยมงคล บริษัท อุตสาหกรรมน้ำตาลสุพรรณบุรี จำกัด สมาคมส่งเสริมอาชีพการเกษตรสุพรรณบุรี ได้ประกาศเจตนารมณ์ว่าบริษัทน้ำตาลทั้ง 3 แห่ง ไม่มีการใช้แรงงานหญิงและเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายและการค้ามนุษย์ ทั้งนี้ขอเชิญชวน นายจ้าง ลูกจ้าง ประชาชนทั่วไป และผู้ที่สนใจเข้าร่วมเป็นสักขีพยานใน “พิธีลงนามประกาศเจตจำนงความมุ่งมั่นร่วมดูแลป้องกันการใช้แรงงานหญิงและเด็กที่ผิดกฎหมายและแรงงานบังคับในอุตสาหกรรมน้ำตาลจากอ้อย จังหวัดสุพรรณบุรี” ตามวัน เวลา และสถานที่ดังกล่าว

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 17 กันยายน 2556

แนะไทยเร่งหาพลังงานทดแทน รองรับการเปิดประชาคมอาเซียนชูโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นทางเลือก

ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์การการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย แนะไทยเร่งหาพลังงานทดแทน รับประชาคมอาเซียนชูโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นทางเลือก

นาย ธาตรี ริ้วเจริญ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์การการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวระหว่างศึกษาดูงานโรงไฟฟ้า jimah ประเทศมาเลเซีย ว่า ปัจจุบันการใช้พลังงานของไทยสูงขึ้นทุกปี เชื่อว่าเมื่อเปิดประชาคมอาเซียน จะขยายตัวสูงขึ้นตามการเคลื่อนย้ายทุนและแรงงานไทย จึงต้องเตรียมแผนด้านพลังงานรองรับความมั่นคงด้านพลังงาน และการเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุน ที่แข็งแกร่งของภูมิภาคอาเซียน กฟผ.เห็นว่า ประเทศไทยควรหาแหล่งพลังงานเชื้อเพลิงที่ไม่ใช่ก๊าซธรรมชาติเพิ่ม ซึ่งถ่านหินเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง เพราะมีจำนวนมาก ราคาถูก ไม่สร้างมลพิษให้สิ่งแวดล้อม ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ ต.คลองขนาน อ.เหนือคลอง จ. กระบี่ คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้ โดยจะศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ และจะทำประชาพิจารณ์ ครั้งที่ 3 ช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2557 ซึ่งจะทำให้การก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ จ.กระบี่ล่าช้าจากเดิม ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2562 เป็นปี 2563

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 17 กันยายน 2556

กรมชลเดินหน้าพัฒนาเกษตรกร พื้นที่จัดรูปที่ดิน4จุดเสริมเข้มแข็ง

นายเอกจิต ไตรภาควาสิน ผู้อำนวยการสำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง กรมชลประทาน เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตร ในคณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลาง อนุมัติให้สำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง ดำเนินการพัฒนาการเกษตรในพื้นที่ จัดรูปที่ดิน 4 แห่ง ได้แก่ แปลงตัวอย่างจัดรูปที่ดิน 2 แห่ง ประกอบด้วยโครงการเขื่อนแควน้อย จ.พิษณุโลก และโครงการห้วยสำราญ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งเป็นระบบส่งน้ำด้วยแรงโน้มถ่วง และโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้า และอีก 2 แห่ง ประกอบด้วยโครงการรางสาลี่ จ.กาญจนบุรี และโครงการรางหวาย จ.มหาสารคาม โดยใช้เวลาดำเนินการ 3 ปี (พ.ศ. 2557-2559)

แนวคิดหลักในการพัฒนาการเกษตรในพื้นที่จัดรูปที่ดิน มุ่งให้เกษตรกรพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน มีความเข้มแข็งในการบริหารจัดการน้ำและแปลงที่ดิน สามารถเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนการผลิตและมีระบบการตลาดที่มั่นคง ช่วยให้เกษตรกรขายผลผลิตได้ โดยใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงเข้าไปเสริมสร้างความเข้มแข็งในชุมชนจัดรูปที่ดินด้วย

“ชุมชนจัดรูปที่ดินจะเข้มแข็ง พึ่งพาตัวเองได้ เกษตรกรต้องมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการด้วยตัวเอง ทั้งเรื่องน้ำ การใช้ประโยชน์จากที่ดิน การผลิต และการตลาด สามารถเชื่อมโยงผลผลิตของเกษตรกรกับตลาดรับซื้อได้อย่างเป็นรูปธรรม”

นายเอกจิต กล่าวว่า พื้นที่จัดรูปที่ดินเป็นพื้นที่ที่ภาครัฐและเกษตรกรเจ้าของแปลงที่ดินได้ลงทุนพัฒนาไปมากมาย ดังนั้น จึงต้องอนุรักษ์ให้เป็นพื้นที่สีเขียว เพื่อเป็นแหล่งผลิตอาหารของประเทศตลอดไป “ที่ดินในเขตจัดรูปที่ดินมีคุณค่าและมูลค่าสูง เพราะมีระบบชลประทานเข้าถึงแปลงไร่นาโดยตรง จึงต้องพัฒนาให้เกษตรกรดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพและมีความยั่งยืน สามารถส่งต่อที่ดินและการผลิตไปยังชั้นลูกหลานได้ด้วย” นายเอกจิต กล่าว

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2556

ไร่อ้อยขู่ตามรอยสวนยางอ้างตลาดโลกดิ่งฉุดราคาขั้นต้นต่ำกว่าทุนเร่งปล่อยกู้แต่ห่วงสภาพคล่องธกส.

หวั่นอ้อยซ้ำรอยยางพาราเหตุราคาน้ำตาลโลกร่วง ฉุดผลผลิต2556/2557 ต่ำกว่าทุน

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผยว่า ราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี2556/2557 ที่จะประกาศในช่วงเดือน ต.ค.นี้จะอยู่ที่ประมาณ 820-830 บาท/ตันเนื่องจากราคาน้ำตาลทรายดิบที่นำมาคำนวณเฉลี่ยอยู่ที่เพียง 17.5 เซนต์/ปอนด์แต่ทั้งนี้คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ที่มีนายวิฑูรย์ สิมะโชคดีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานจะมีการพิจารณาตัวเลขก่อนประกาศอย่างเป็นทางการอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าราคาดังกล่าวค่อนข้างต่ำและเป็นไปได้สูงที่ชาวไร่อ้อยจะเรียกร้องให้กระทรวงอุตสาหกรรมหาแหล่งเงินทุนมาอุดหนุน ซึ่งแนวปฏิบัติที่ผ่านมาคือ รัฐจะให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ปล่อยกู้ผ่านกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.)เพื่อเพิ่มค่าอ้อยให้คุ้มต้นทุนการผลิต

ทั้งนี้ หากพิจารณาต้นทุนที่ชาวไร่อ้อยได้เคยเสนอมาก่อนหน้านี้ที่ระดับ 1,190 บาท/ตัน รัฐต้องจ่ายส่วนต่างเพิ่มประมาณ400 บาท/ตัน ในขณะที่รายได้กองทุนอ้อยฯ ที่หลักๆ มาจากการเก็บเงินจากการปรับขึ้นราคาขายปลีกหน้าโรงงาน 5 บาท/กิโลกรัม (กก.) มีรายได้เฉลี่ยเพียงปีละ 1.6 หมื่นล้านบาทหรือสามารถจ่ายส่วนต่างให้ชาวไร่ได้ 200 บาท/ตันเท่านั้น ทำให้ประเมินเบื้องต้นได้ว่ากองทุนอ้อยฯ จะต้องกู้ประมาณ 4.4 หมื่นล้านบาทจากผลผลิตอ้อยฤดูการผลิต 2556/2557 ที่คาดว่าจะออกมาที่ 110 ล้านตัน

ด้านนายชัยวัฒน์ คำแก่นคูณ ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน กล่าวว่า แนวโน้มราคาอ้อยขั้นต้นปี 2556/2557 คงจะต่ำสุดในรอบ 5-6 ปี หรือประมาณ830 บาท/ตัน ซึ่งคงจะต้องรอให้ กอน.ประกาศอย่างเป็นทางการอีกครั้ง จากนั้นชาวไร่อ้อยคงจะต้องมากำหนดท่าทีว่าจะขอรัฐสนับสนุนแหล่งเงินกู้อย่างไรเนื่องจากต้องยอมรับว่าราคาดังกล่าวไม่คุ้มทุน

ทั้งนี้ มองว่าที่ผ่านมารัฐสนับสนุนแค่แหล่งเงินกู้เท่านั้นไม่ได้สิ้นเปลืองงบประมาณเหมือนพืชอื่นๆเช่น ข้าว โดยหลังอุดหนุนแล้วก็มีการนำเงินรายได้จากราคาน้ำตาลทรายมาใช้หนี้เงินต้นพร้อมดอกเบี้ย แต่ก็ยอมรับว่าการกู้ครั้งนี้อาจเป็นเงินค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับรายได้ที่กองทุนอ้อยฯ มีอยู่และไม่แน่ใจว่า ธ.ก.ส.ยังมีสภาพคล่องดีอยู่หรือไม่ เนื่องจากมีภาระการรับจำนำข้าวของรัฐบาล

แหล่งข่าวจากสหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กอน.ยังไม่มีท่าทีที่จะเร่งสรุปราคาอ้อยขั้นต้นแต่อย่างใด ทั้งที่มีปัญหาราคาอ้อยตกต่ำรออยู่

"ไม่ได้อยากขู่ แต่ถ้ากระทรวงอุตสาหกรรมยังคงทำงานล่าช้าและชาวไร่ได้รับเงินช้า เราจะไม่ยอมแล้ว ที่ผ่านมารัฐบาลใช้เงินมหาศาลจำนำข้าวได้และช่วยยางพาราได้ จึงไม่มีเหตุผลที่จะไม่ช่วยเหลืออ้อย ซึ่งไม่ใช่การช่วยที่สูญงบประมาณ ด้วย" แหล่งข่าวเปิดเผย

จากhttp://www.posttoday.com   วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2556

ไทยพาณิชย์ชำแหละอุตฯได้รับประโยชน์-ผลเชิงลบจากการอ่อนค่าของเงินบาท

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ออกบทวิเคราะห์ บาทอ่อนค่า… ใครได้ ใครเสีย ระบุว่า ค่าเงินบาทได้ปรับตัวอ่อนค่าลงอย่างมากหลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed)

ส่งสัญญาณถึงแนวโน้มในการลดขนาด QE ซึ่งค่าเงินที่อ่อนลงนั้นส่งผลดีและผลเสียที่แตกต่างกันไปในแต่ละภาคธุรกิจ โดยศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC) ประเมินว่ากลุ่มอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มจะได้ประโยชน์ค่อนข้างมาก ได้แก่ ยางพารา และสินค้าเกษตรแปรรูป ซึ่งมีการพึ่งพาการส่งออกมาก และมีการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศน้อย ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบในเชิงลบมากที่สุด ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง และเหล็ก ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวพึ่งพาตลาดภายในประเทศเป็นหลัก มีสัดส่วนการนำเข้าวัตถุดิบค่อนข้างมาก และยังมีความสามารถในการส่งผ่านราคารวมไปถึงอัตรากำไรสุทธิที่ไม่สูงมากนัก สำหรับภาคบริการนั้น การก่อสร้างมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบเชิงลบมากที่สุด ในส่วนของการท่องเที่ยวนั้น EIC ประเมินว่าการอ่อนค่าของเงินบาทเป็นผลดีต่อทั้งจำนวนนักท่องเที่ยว และปริมาณการใช้จ่าย แต่ผลกระทบน่าจะมีไม่มากนัก

ค่าเงินบาทของไทยมีแนวโน้มอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ช่วงกลางปี 2013 เป็นต้นมา โดยหากพิจารณาตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤษภาคมถึงสิ้นเดือนสิงหาคม ค่าเงินบาทได้อ่อนค่าลงประมาณ 7.6% ซึ่งการอ่อนค่าลงดังกล่าวเป็นผลหลักมาจากแนวโน้มการชะลอมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ของสหรัฐฯ ภายในสิ้นปี 2013 และแนวโน้มเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ G3 ที่ปรับตัวดีขึ้น โดยทั้ง 2 ปัจจัยทำให้เงินทุนโลกมีแนวโน้มไหลออกจากกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) ซึ่ง EIC ประเมินว่าในระยะต่อไป ภาวะเงินทุนโยกย้ายกลับสู่ประ

การอ่อนค่าของเงินบาทนี้ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจต่างๆ แตกต่างกัน โดย EIC ประเมินว่า ปัจจัยหลักที่จะกำหนดผลกระทบจากการอ่อนค่าของเงินบาท ได้แก่

1) สัดส่วนการพึ่งพาการส่งออก (Export Reliance) การอ่อนค่าของเงินบาทส่งผลให้ผู้ส่งออกมีรายรับที่เพิ่มขึ้นในรูปเงินบาท และยังเปิดโอกาสให้ผู้ส่งออกปรับลดราคาในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐฯลงเพื่อเพิ่มปริมาณการส่งออก ดังนั้นอุตสาหกรรมที่พี่งพาการส่งออกมากมีแนวโน้มที่จะได้รับผลดีจากการอ่อนค่าของเงินบาทมากกว่าอุตสาหกรรมที่พี่งพาการส่งออกน้อย

จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม อาหารทะเลแปรรูป เครื่องนุ่งห่ม ผักและผลไม้แปรูป ยางพารา อัญมณีและเครื่องประดับ และเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นอุตสาหกรรมที่มีการส่งออกมากกว่า 60% ของการผลิต ในขณะที่ เครื่องดื่ม ปิโตรเลียม เหล็ก ผลิตภัณฑ์ยาง กระดาษ เคมีภัณฑ์ ผลิตการส่งออกต่ำกว่า 30% ของยอดการผลิต

2) สัดส่วนการพึ่งพาวัตถุดิบจากการนำเข้า ( Import content) การอ่อนค่าของเงินบาทส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบเพิ่มสูงขึ้น และจะส่งผลกระทบทางลบต่อธุรกิจที่เน้นใช้วัตถุดิบจากต่างประเทศในการผลิต กลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบจากต่างประเทศรวมไปถึงน้ำมันมากกว่า 50% ของวัตถุดิบทั้งหมด ได้แก่ ปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ กระดาษ ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องประดับ อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ในขณะที่อุตสาหกรรมที่พึ่งพาวัตถุดิบนำเข้าน้อยได้แก่ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร สำหรับภาคบริการนั้น กลุ่มธุรกิจที่พี่งพาวัตถุดิบนำเข้าและนำมันในสัดส่วนที่สูงเกิน 30% ของต้นทุนทั้งหมด ได้แก่ ขนส่ง ก่อสร้าง และ ไฟฟ้าและสาธารณูปโภค

3) ความสามารถในการส่งผ่านต้นทุน และอัตรากำไรสุทธิ สำหรับกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบทางลบจากต้นทุนนำเข้าที่เพิ่มขึ้นนั้น ความสามารถในการส่งผ่านต้นทุนจะเป็นช่องทางหนึ่งที่สามารถชดเชยการเพิ่มขึ้นของต้นทุน โดยความสามารถนี้จะขึ้นกับปัจจัยต่างๆ เช่น แนวโน้มอุปสงค์ จำนวนผู้ขายในตลาด และการควบคุมราคา หรือสนับสนุนจากภาครัฐ นอกจากนี้อัตรากำไรสุทธิก็เป็นปัจจัยที่สำคัญเช่นกัน โดยธุรกิจที่มีอัตรากำไรสุทธิในระดับต่ำจะมีความอ่อนไหวต่อต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมากกว่าธุรกิจที่มีอัตรากำไรสุทธิในระดับสูง

EIC ประเมินว่ากลุ่มอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มได้รับผลประโยชน์มากที่สุด ได้แก่ เครื่องนุ่งห่ม ยางพารา ผักและผลไม้แปรรูป อาหารทะเลแปรรูป และอาหารทะเลกระป๋อง (ไม่รวมทูน่ากระป๋อง) ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้มีสัดส่วนการพึ่งพาการส่งออกที่สูงกว่า 60% และยังได้รับผลกระทบจากต้นทุนนำเข้าที่เพิ่มขึ้นไม่มากนัก เนื่องจากใช้วัตถุดิบภายในประเทศเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม สินค้าดังกล่าวเป็นสัดส่วนเพียง 9% ของการส่งออกไทยทั้งหมด โดยสินค้าส่งออกหลักของไทย เช่น รถยนต์และส่วนประกอบ อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้านั้น มีสัดส่วนวัตถุดิบนำเข้าค่อนข้างมาก ซึ่งจะไปชดเชยประโยชน์จากการอ่อนค่าของเงินบาท (รูปที่ 2)

กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบเชิงลบมากที่สุด ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง และเหล็ก ซึ่งทั้งสองกลุ่มอุตสาหกรรมพี่งพาตลาดภายในประเทศเป็นหลัก ใช้วัตถุดิบนำเข้ารวมไปถึงน้ำมันเป็นสัดส่วนที่ประมาณ 40% นอกจากนี้ ยังมีความสามารถในการส่งผ่านราคา และอัตรากำไรสุทธิที่ไม่สูงมากนัก สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เน้นตลาดในประเทศ และใช้วัตถุดิบนำเข้าเป็นสัดส่วนที่สูง เช่น กระดาษ เคมีภัณฑ์ และปิโตรเลียมนั้น มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบเชิงลบเช่นกัน แต่ไม่น่าจะมากเท่ากับผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์ยางและเหล็ก เนื่องจากเป็นกลุ่มธุรกิจที่ความสามารถในการส่งผ่านต้นทุนค่อนข้างมาก หรือมีอัตรากำไรสุทธิในระดับสูง

สำหรับภาคบริการนั้น การก่อสร้างมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบเชิงลบมากที่สุด ธุรกิจในภาคบริการส่วนใหญ่ไม่ได้พึ่งพาตลาดต่างประเทศ ดังนั้น การอ่อนค่าของเงินบาทจึงไม่ได้ส่งผลดีต่อธุรกิจเหล่านี้ ในทางกลับกัน ธุรกิจภาคบริการต้องเผชิญกับต้นทุนจากวัตถุดิบนำเข้าและน้ำมันที่เพิ่มขึ้น โดยธุรกิจในกลุ่มไฟฟ้าและสาธารณูปโภค การก่อสร้าง และการขนส่งมีการพึ่งพาวัตถุดิบจากต่างประเทศและน้ำมันคิดเป็นสัดส่วนสูงกว่า 30% ของต้นทุนทั้งหมด ซึ่งในกลุ่มธุรกิจเหล่านี้ การก่อสร้างเป็นภาคธุรกิจที่มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบทางลบมากที่สุด เนื่องจากมีอัตรากำไรสุทธิเฉลี่ยค่อนข้างต่ำเพียง 4.7% ส่งผลให้ธุรกิจมีความอ่อนไหวค่อนข้างมากต่อต้นทุนที่เพิ่มขึ้น (รูปที่ 3)

ในส่วนของภาคท่องเที่ยวนั้น EIC ประเมินว่าผลกระทบเชิงบวกน่าจะมีไม่มากนัก ถึงแม้ว่าการอ่อนค่าของเงินบาทเป็นผลดีต่อทั้งจำนวนนักท่องเที่ยว และปริมาณการใช้จ่าย แต่ผลกระทบน่าจะมีไม่มาก เนื่องจาก ในมุมมองของนักท่องเที่ยวที่ได้ประโยชน์หลักๆ จากการอ่อนค่าของเงินบาท เช่น นักท่องเที่ยวจากยุโรปและสหรัฐฯ จะใช้จ่ายส่วนใหญ่ไปกับตั๋วเครื่องบิน (Airfare) ซึ่งจะขึ้นอยู่กับราคาน้ำมันเป็นหลัก นอกจากนี้ ประมาณ 30% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดเป็นนักท่องเที่ยวจากอาเซียนซึ่งค่าเงินมีแนวโน้มอ่อนค่าไปในทางเดียวกับค่าเงินบาท อย่างไรก็ดี การท่องเที่ยวอาจจะได้รับผลบวกจากนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งได้แรงสนับสนุนจากค่าเงินหยวนที่แข็งค่าเมื่อเปรียบเทียบกับเงินบาทและค่าเครื่องบินที่ไม่สูงมากนัก

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 16 กันยายน 2556

'ยุคล'เร่งจัดระบบ ดู แลสินค้าเกษตร

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ภายในวันที่ 21 ก.ย. 2556 ได้ขอความร่วมมือกระทรวงมหาดไทย ให้เรียกผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดและเกษตรจังหวัดมาทำความเข้าใจเรื่องโซนนิ่งเกษตร เนื่องจากที่ผ่านมาผู้ปฏิบัติในพื้นที่ยังเข้าใจผิดว่าโซนนิ่งคือการเปลี่ยนชนิดพืชที่เพาะปลูกจากข้าวเป็นอ้อยเท่านั้น แต่จุดมุ่งหมายของโซนนิ่งคือการจัดการเกษตรทั้งระบบ

ทั้งนี้ หลังจากทำความเข้าใจเสร็จแล้ว เกษตรจังหวัดและคณะทำงานด้านโซนนิ่งเกษตรจะต้องเสนอแผนโซนนิ่งทั้งหมดให้กระทรวงเกษตรฯ พิจารณาภายในวันที่ 1 ต.ค. 2556 เพื่อให้ทันการเสนองบประมาณประจำปีงบประมาณ 2558 ที่ต้องจัดทำให้แล้วเสร็จภายในเดือนก.พ. 2557 คาดว่าจะใช้งบประมาณใกล้เคียงกับปี 2556 ที่ 5,600 ล้านบาท เชื่อมั่นว่าหากทุกจังหวัดจัดทำแผนและเริ่มปฏิบัติภายในปี 2558 ประเทศไทยจะไม่เห็นผลผลิตเกษตรล้นตลาดหรือไม่เพียงพอต่อความต้องการแน่นอน

จาก http://www.khaosod.co.th  วันที่ 16 กันยายน 2556

พักหนี้เกษตรกรรายย่อย

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 สิงหาคมที่ผ่านมา เห็นชอบให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ดำเนินโครงการพักหนี้เกษตรกรรายย่อยและประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่มีหนี้คงค้างต่ำกว่า 500,000 บาท ผ่านสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร โดยเฉพาะสหกรณ์การเกษตรเพื่อให้เกษตรกรมีความสามารถในการประกอบอาชีพได้

ในเบื้องต้นได้สำรวจหนี้สินครัวเรือนภายใต้เงื่อนไขทั้งหนี้ค้างชำระและหนี้ปกติทุกบัญชีรวมกันไม่เกิน 5 แสนบาท พบว่ามีอยู่ 2,265 แห่ง สมาชิกทั้งหมด 808,799 ราย
มีวงเงินที่ต้องชำระดอกเบี้ยแทนสมาชิกรวมระยะเวลา 3 ปี จำนวน 3,684.714 ล้านบาท โดยในปีแรก วงเงิน 1,966.959 ล้านบาท ส่วนอีก 2 ปีถัดไป ปีละประมาณ 858 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม กรมฯ จะดำเนินการสำรวจสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 16 กันยายน 2556 พร้อมทั้งกำหนดแผนการอบรมและฟื้นฟูอาชีพให้สอดคล้องกับความต้องการของสมาชิก โดยให้ผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันการศึกษาเพื่อปวงชน มาจัดอบรมถ่ายทอด ความรู้ต่อเนื่อง 9 เดือน เพื่อเป็นหลักประกันว่าผู้ที่ร่วมโครงการต้องมีความสามารถในการพลิกฟื้นอาชีพ วางแผนคุณภาพชีวิตของเขาเองได้.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 16 กันยายน 2556

มหาสารคามจัดโซนนิ่ง ปลูกอ้อย 7,000 ไร่ใน 2 อำเภอ

มหาสารคาม - จังหวัดจัดโซนนิ่งพื้นที่ปลูกอ้อย นำร่อง อ.ชื่นชม และ อ.เชียงยืน 7,000 ไร่ ทดแทนการปลูกข้าว หวังเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นเนื่องจากเป็นพื้นที่เหมาะสม

วันนี้ (16 ก.ย.) ที่หอประชุมโรงเรียนชื่นชมพิทยาคาร อ.ชื่นชม จ.มหาสารคาม นายนพวัชร สิงห์ศักดา ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม พร้อมผู้จัดการโรงงานน้ำตาล เกษตรจังหวัด และนายกสมาคมชาวไร่อ้อยจังหวัดมหาสารคาม ลงพื้นที่เสนอทางเลือกการจัดโซนนิ่งปลูกอ้อย หรือการปรับเปลี่ยนพื้นที่นาไม่เหมาะสมไปปลูกอ้อยโรงงาน เพื่อพัฒนาระบบการผลิต และกระจายพันธุ์อ้อยสู่เกษตรกร

นายนพวัชรกล่าวว่า จากนโยบายการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรมหรือเกษตรโซนนิ่ง ที่รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการจัดระเบียบพื้นที่ที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อพัฒนาศักยภาพพื้นที่ปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ให้มีลู่ทางการตลาด ในส่วนของจังหวัดได้สำรวจพื้นที่ปลูกข้าวที่มีอยู่กว่า 2 ล้านไร่ พบว่าสามารถปลูกข้าวให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพอยู่เพียง 1 ล้านไร่เศษ ส่วนพื้นที่ไม่เหมาะสม เช่น เป็นที่นาดอนมีดินปนทราย ซึ่งมีอยู่ประมาณ 3 แสนไร่

ทางจังหวัดจึงได้วางแนวทางปรับยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดปี 2557 ในด้านการเกษตร ด้วยการปรับพื้นที่กว่า 3 แสนไร่ให้เกษตรกรหันไปปลูกพืชทางเลือกอื่นทดแทนเพื่อให้ผลตอบแทนคุ้มค่า และเป็นพืชที่มีลู่ทางการตลาด โดยเฉพาะจังหวัดมีโรงงานน้ำตาลตั้งอยู่ที่ ต.แก้งแก อ.โกสุมพิสัย ก็จะช่วยลดต้นทุนค่าขนส่ง อีกทั้งอ้อยยังนำไปผลิตเป็นพลังงานทางเลือกเป็นการเตรียมความพร้อมในการแข่งขันด้านการตลาดในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ปี 2558

ทั้งนี้ การปลูกข้าวในพื้นที่นาไม่เหมาะสมต้องลงทุนสูง ผลตอบแทนไม่คุ้มค่า โดยจังหวัดได้คัดเลือกเกษตรกรใน อ.เชียงยืน และ อ.ชื่นชม นำร่องปีแรก 7,000 ไร่ เนื่องจากพื้นที่เหมาะสม เกษตรกรส่วนใหญ่มีประสบการณ์ และจังหวัดได้จัดหาแหล่งกระจายผลผลิตเข้าสู่โรงงานน้ำตาลทั้งในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียงไว้แล้ว เชื่อมั่นว่าการปลูกอ้อยป้อนโรงงานจะเป็นการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร คุ้มค่ากว่าการปลูกข้าวแน่นอน

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 16 กันยายน 2556

อุบลไบโอเอทานอลเปิดโต๊ะถามความเห็นประชาชน ก่อนเพิ่มกำลังผลิต

อุบลราชธานี - กลุ่มผู้ผลิตเอทานอลรายใหญ่ของประเทศเดินหน้าทำรายงานสิ่งแวดล้อม ขอเพิ่มกำลังการผลิตจาก 4 แสนลิตรต่อวันเป็นกว่า 2.2 ล้านลิตร รองรับความต้องการใช้พลังงานทดแทนในอนาคต

วันนี้ (16 ก.ย.) ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี นางนภา ศกุนตนาค รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวกับพลังงานในจังหวัด ร่วมกับบริษัท ไบโอเอทานอล จำกัด เปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 1 เนื่องจากบริษัทมีโรงงานผลิตเอทานอลตั้งอยู่ในเขตรอยต่อ 4 อำเภอ 1 เทศบาล 6 ตำบล ได้วางแผนขยายกำลังการผลิตเอทานอลจากวันละ 400,000 ลิตร เพิ่มขึ้นอีก 1,850,000 ลิตรต่อวัน หรือรวมเป็น 2,250,000 ลิตรต่อวันหลังเสร็จสิ้นโครงการ

ทั้งนี้ การเพิ่มกำลังผลิตเอทานอลเพื่อตอบสนองตามแผนพัฒนางานทดแทนในระยะ 10 ปีของรัฐบาล จะทำให้มีการใช้เอทานอลเป็นพลังงานทดแทน จากปัจจุบันมีความต้องการใช้วันละกว่า 2.5 ล้านลิตร (สถิติถึงเดือนพฤษภาคม 2556) เป็น 3 ล้านลิตรต่อวันในปี 2557 และคาดว่าอนาคตมีแนวโน้มสูงขึ้นอีก ทั้งยังเชื่อว่าภายในระยะ 10 ปีจะมีความต้องการใช้เอทานอลเป็นพลังงานทดแทนถึงวันละ 9 ล้านลิตร

แต่การเพิ่มกำลังการผลิตของกลุ่มบริษัทต้องมีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 จึงเปิดรับความเห็นประชาชนให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั้ง 4 อำเภอ 6 ตำบล 1 เทศบาล เพื่อให้ประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรับรู้ข้อมูลข่าวสาร แสดงความคิดเห็น พร้อมข้อเสนอแนะ เพื่อประโยชน์สูงสุดในการดำเนินโครงการในอนาคต และอยู่ร่วมกันกับชุมชนและสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีความสุข

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 16 กันยายน 2556

นักวิชาการ-เอกชนแนะ สศช.ออกนโยบายรับมือเออีซี

เมืองทองธานี 16 ก.ย.- สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จัดประชุมประจำปี 2556 หัวข้อ “การเตรียมความพร้อมด้านการเงิน การคลัง และการค้า เพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน” นายเจน นำชัยศิริ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สินค้าไทยเป็นที่ยอมรับของประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งสินค้าอุปโภค บริโภค ดังนั้น ควรผลักดันการใช้เงินบาทเป็นสกุลหลักในการซื้อขายสินค้าตามแนวชายแดน เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการค้า โดยควรเร่งปรับปรุงช่องทางเข้าออกรองรับการขนส่งสินค้า ควรมีเขตฟรีโซนตามด่านสำคัญและจัดเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มจากภาษีอากร เนื่องจากการค้าระหว่างประเทศเพื่อนบ้านปี 2555 มีประมาณ 900,000 ล้านบาท โดยการค้าชายแดนมีสัดส่วนถึงร้อยละ 71 จึงต้องให้ความสำคัญกับการอำนวยความสะดวกสินค้าชายแดน

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ ผู้อำนวยการสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ กล่าวว่า หากต้องการให้อาเซียนมีความโดดเด่นในเวทีโลกจะต้องจับมือกับกลุ่มประเทศในภูมิภาค ทั้งจีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย ถึงจะทำให้กลุ่มประเทศเหล่านี้มีความแข็งแกร่งและน่าสนใจเข้ามาค้าขายและลงทุน ดังนั้น รัฐบาลต้องกำหนดนโยบาย เพื่อเชื่อมโยงกับอาเซียนด้วยกันเชื่อมกับเพื่อนบ้านของอาเซียนและเชื่อมกับเวทีโลก

นางสุทธาภา อมรวิวิฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า รัฐบาลควรสนับสนุนการขายเครื่องจักรเก่าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เพราะสอดรับกับการหาเครื่องจักรต้นทุนต่ำของเพื่อนบ้าน เพื่อให้มีศักยภาพการผลิตเพิ่มจะทำให้การค้าชายแดนคึกคักมากขึ้น ขณะที่เอกชนไทยจะได้เปลี่ยนไปใช้เครื่องจักรอุปกรณ์ที่สูงขึ้น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้า

ส่วนกรณีสหรัฐเตรียมผ่อนคลายมาตรการคิวอีนั้น คาดว่าจะอัดฉีดเงินไม่มากนัก เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐยังไม่ได้ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ แต่ผลกระทบดังกล่าวจะคลายความวิตกกังวลให้กับนักลงทุนได้ระดับหนึ่ง เนื่องจากที่ผ่านมาปริมาณเงินทุนที่ไหลออกเกิดจากความวิตกกังวลของนักลงทุนการชะลอมาตรการของเฟดที่ยังไม่ชัดเจน.-สำนักข่าวไทย

จาก http://www.mcot.net  วันที่ 16 กันยายน 2556

จับตาชาวไร่อ้อยฮึ่ม! อ้างตัวอย่างข้าวรัฐต้องหาแหล่งเงินกู้ช่วยหลังราคาดิ่ง

จับตาราคาอ้อยขั้นต้นปี 56/57 ต่ำเฉลี่ยเพียง 820-830 บาทต่อตันรอ “กอน.” เคาะประกาศทางการ ต.ค.นี้ ชาวไร่ส่งสัญญาณต้นทุน 1,190 บาทต่อตันทำให้แนวโน้มกองทุนอ้อยฯ ต้องกู้ ธ.ก.ส.เช่นอดีตที่ผ่านมาราว 4.4 หมื่นล้านบาท ชาวไร่ขู่ไม่มีเหตุผลใดที่รัฐจะไม่ช่วยเหตุไม่ได้ใช้งบประมาณเหมือนข้าว ยางพารา จวก “กอน.” ล่าช้าทั้งที่ปัญหากำลังรออยู่ข้างหน้า

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผยว่า คาดการณ์ว่าราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 56/57 ที่จะประกาศในช่วง ต.ค.นี้จะมีราคาเฉลี่ยเพียง 820-830 บาทต่อตันเนื่องจากราคาน้ำตาลทรายดิบที่นำมาคำนวณเฉลี่ยอยู่ที่เพียง 17.5 เซนต์ต่อปอนด์เท่านั้น อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ที่มีนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานจะมีการพิจารณาตัวเลขอีกครั้งก่อนประกาศอย่างเป็นทางการ

ทั้งนี้ ราคาดังกล่าวยอมรับว่าค่อนข้างต่ำและมีความเป็นไปได้สูงที่ชาวไร่อ้อยจะเรียกร้องให้กระทรวงอุตสาหกรรมหาแหล่งเงินทุนมาสนับสนุนเช่นที่ผ่านมาที่รัฐให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ปล่อยกู้ผ่านกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) เพื่อเพิ่มค่าอ้อยให้คุ้มต้นทุนการผลิต ซึ่งหากพิจารณาต้นทุนที่ชาวไร่อ้อยได้เคยเสนอมาก่อนหน้านี้ที่ระดับ 1,190 บาทต่อตันนั้น ประเมินเบื้องต้นกองทุนอ้อยฯ จะต้องกู้ประมาณ 4.4 หมื่นล้านบาท จากผลผลิตอ้อยที่คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 110 ล้านตัน

“หากยึดต้นทุนผลิตอ้อยของชาวไร่ที่เสนอตัวเลขมาแบบคุ้มทุนก็คือ 1,200 บาทต่อตันจะต้องจ่ายส่วนต่างเพิ่มถึงเฉลี่ย 400 บาทต่อตัน แต่หากมาพิจารณารายได้กองทุนอ้อยฯ ที่หลักๆ มาจากการเก็บเงินจากการปรับขึ้นราคาขายปลีกหน้าโรงงาน 5 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) จะมีรายได้เฉลี่ยเพียงปีละ 1.6 หมื่นล้านบาทเท่านั้น หรือเฉลี่ยก็จะช่วยไม่ถึง 200 บาทต่อตัน ซึ่งก็คงจะต้องมาดูท่าทีชาวไร่กับรัฐว่าจะเดินไปทางใด” แหล่งข่าวกล่าว

นายชัยวัฒน์ คำแก่นคูณ ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน กล่าวว่า แนวโน้มราคาอ้อยขั้นต้นปี 56/57 คงจะต่ำสุดในรอบ 5-6 ปี โดยเบื้องต้นคาดว่าน่าจะอยู่ระดับ 830 บาทต่อตันอ้อย ซึ่งคงจะต้องรอให้ กอน.ประกาศอย่างเป็นทางการอีกครั้ง หลังจากนั้นชาวไร่อ้อยคงจะต้องมากำหนดท่าทีว่าจะขอรัฐสนับสนุนแหล่งเงินกู้อย่างไร เนื่องจากต้องยอมรับว่าราคาดังกล่าวไม่คุ้มทุนการผลิตที่อยู่ที่ 1,190 บาทต่อตัน

“ตลอดเวลาที่ผ่านมารัฐสนับสนุนแค่แหล่งเงินกู้เท่านั้นไม่ได้สิ้นเปลืองงบประมาณใดๆ เหมือนพืชอื่นๆ เช่นข้าว โดยมีการนำเงินรายได้จากราคาน้ำตาลทรายที่ขึ้น 5 บาทต่อ กก.ก่อนหน้านี้มาใช้หนี้รวมดอกเบี้ย รัฐไม่ได้สูญเสียอะไร แต่ก็ยอมรับว่าการกู้ครั้งนี้อาจเป็นเงินค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับรายได้ที่กองทุนอ้อยมีอยู่ และไม่แน่ใจว่า ธ.ก.ส.ยังมีสภาพคล่องดีอยู่หรือไม่ ทั้งหมดจะต้องมาหารือกัน” นายชัยวัฒน์กล่าว

แหล่งข่าวจากสหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทยกล่าวว่า ขณะนี้ กอน.ยังไม่มีท่าทีที่จะเร่งสรุปราคาอ้อยขั้นต้นแต่อย่างใดทั้งที่ใกล้เวลาเข้ามาแล้ว โดยเห็นว่าปัญหารออยู่ข้างหน้าที่ราคาอ้อยตกต่ำหากกระทรวงอุตสาหกรรมยังคงทำงานล่าช้าเช่นที่ผ่านมาจนชาวไร่ได้รับเงินค่าอ้อยล่าช้าเหมือนอดีตครั้งนี้ชาวไร่อ้อยจะไม่ยอมแล้ว โดยไม่อยากจะขู่แต่ในเมื่อรัฐบาลยังสามารถใช้เงินมหาศาลจำนำข้าวได้ ช่วยยางพาราได้ แล้วอ้อยไม่มีเหตุผลใดที่จะไม่ช่วยเหลือเพราะแค่ขอแหล่งเงินกู้เท่านั้นไม่ใช่เงินงบประมาณแบบสูญเปล่าแต่อย่างใด

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 15 กันยายน 2556

ทีดีอาร์ไอยันศก.ชะลอตัวไม่ถึงขั้นเงินฝืด ชี้ไม่เหมาะลดดอกเบี้ย

วันที่ 15 ก.ย. นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยจะต้องจับตาการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ว่า มีความเป็นห่วงปัญหาเงินเฟ้อและเศรษฐกิจชะลอตัวมากน้อยแค่ไหน

“ในสถานการณ์ปกติ หากภาวะเศรษฐกิจซบเซา การใช้นโยบายการเงินลดดอกเบี้ยเพื่อที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ แต่ในภาวะที่ไม่ปกติการใช้นโยบายการเงินต้องคัดเลือกเครื่องมือการเงินที่เหมาะสม ซึ่งจะต้องออกมาตรการที่จะประคับประคองเศรษฐกิจไม่ให้ซบเซา ซึ่งความคิดเห็นส่วนตัวก็ยังไม่เห็นความจำเป็นที่จะใช้มาตรการการคลังหรือรัฐบาลกู้เงิน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ควรใช้ช่วงเวลานี้ในการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจจะดีกว่า” นายนิพนธ์ กล่าว

นายนิพนธ์ กล่าวว่า ขณะนี้ไม่ใช่จะมาพูดว่าจะเกิดปัญหา “Stagflation” หรือเกิดเงินฝืดในภาวะที่เงินเฟ้อสูง เพราะปัญหาขณะนี้เป็นปัญหาเศรษฐกิจซบเซาซึ่งเป็นกันทั่วโลก ทำให้การส่งออกชะลอตัวมาก ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เองได้จับตาดูแลเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย เห็นได้ชัดเจนว่า กนง.ยังคงอัตราดอกเบี้ยต่อไป

แหล่งข่าวจาก ธปท. เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการ กนง. ในเดือน ต.ค.นี้ คาดว่าจะมีการประกาศปรับลดอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ลง หากการส่งออกยังไม่กระเตื้องขึ้น

สำหรับภาวะเศรษฐกิจไทยรายภาคนั้น ทุกภาคมีการขยายตัวของเศรษฐกิจลดลงทั้งสิ้น โดยภาคใต้ชะลอตัวหนักที่สุด เนื่องจากได้รับผลกระทบจากราคายางพาราตกต่ำ และการส่งออกกุ้งเสียหาย

ทั้งนี้ เศรษฐกิจภาคใต้ในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา การบริโภคเอกชนชะลอตัวต่อเนื่อง มีการขยายตัวเพียง ร้อยละ 1.2 ตามการใช้จ่ายในหมวดยานยนต์ หลังสิ้นนโยบายรถยนต์คันแรก สินเชื่ออุปโภคบริโภคที่เริ่มลดลง โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อรถ ประกอบกับรายได้เกษตรกรลดลง ดัชนีรายได้เกษตรกรลดลง ร้อยละ 15 จากการลดลงทั้งราคาและผลผลิต โดยดัชนีราคาสินค้าเกษตรลดลง ร้อยละ 12.8 จากราคายางพาราและปาล์มน้ำมัน

ด้านการท่องเที่ยวในภาคใต้เป็นภาคธุรกิจเดียวที่ยังมีการขยายตัวมีนักท่อง เที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้น ร้อยละ 22 อัตราเข้าพักอยู่ที่ ร้อยละ 58.8 จากแผนกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐและเอกชน

จาก http://www.khaosod.co.th  วันที่ 15 กันยายน 2556

"อุตสาหกรรมสีเขียว" เพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม

"อุตสาหกรรมไทยก้าวไกล ใส่ใจสิ่งแวดล้อม" เป็นความมุ่งมั่นของกระทรวงอุตสาหกรรมในการส่งเสริมและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมให้ประกอบกิจการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมทั้งสามารถอยู่ร่วมกับสังคม ชุมชน และประชาชนได้อย่างยั่งยืน เพื่อให้ความมุ่งมั่นดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้ดำเนินโครงการ "อุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry)" โดยการส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิตและการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการมีความรับผิดชอบต่อสังคมทั้งภายในและภายนอกตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

ดร.วิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะหน่วยงานหลักในการพัฒนาอุตสาหกรรมได้กำหนดยุทธศาสตร์รองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมให้เติบโตและพัฒนาอย่างยั่งยืนจึงได้ริเริ่มโครงการอุตสาหกรรมสีเขียวขึ้นในปี 2554 เพื่อส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมให้มีการประกอบการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีความรับผิดชอบต่อสังคมให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถอยู่ร่วมกับสังคม และชุมชนได้อย่างมีความสุขไปพร้อมๆ กันเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้วางพื้นฐานการพัฒนาสถานประกอบการทั่วประเทศสู่การเป็น"อุตสาหกรรมสีเขียว" ใน 5 ระดับ ดังนี้ ระดับที่ 1 ความมุ่งมั่นสีเขียว (Green Commit ment) คือ ความมุ่งมั่นที่จะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและมีการสื่อสารภายในองค์กรให้ทราบโดยทั่วกัน ระดับที่ 2 ปฏิบัติการสีเขียว (Green Activity) คือ การดำเนินกิจกรรมเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้สำเร็จตามความมุ่งมั่นที่ตั้งไว้ ระดับที่ 3 ระบบสีเขียว (Green System) คือ การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ มีการติดตาม ประเมินผล และทบทวนเพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการได้รับรางวัลด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นที่ยอมรับ และการรับรองมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ

ระดับที่ 4 วัฒนธรรมสีเขียว (Green Culture) คือ การที่ทุกคนในองค์กรให้ความร่วมมือร่วมใจดำเนินงาน อย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในทุกด้านของการประกอบกิจการ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กร ระดับที่ 5 เครือข่ายสีเขียว (Green Network) คือ การแสดงถึงการขยายเครือข่ายตลอดห่วงโซ่อุปทานสีเขียวโดยสนับสนุนให้คู่ค้าและพันธมิตรเข้าสู่กระบวนการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวด้วย

ซึ่งตลอดระยะเวลาของการดำเนินโครงการฯ ได้รับกระแสตอบรับและความร่วมมือจากสถานประกอบการเป็นอย่างดี โดยมีโรงงานอุตสาหกรรมเข้าร่วมกิจกรรมและผ่านการประเมินแล้วกว่า 2,600 โรง และยังมีสถานประกอบการที่อยู่ระหว่างรอการประเมินอีกเป็นจำนวนมาก นับเป็นอีกหนึ่งโครงการที่สร้างความภาคภูมิใจแก่กระทรวงอุตสาหกรรม ในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมให้เติบโตอย่างมั่นคง โดยไม่ทำร้ายระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดความเข้าใจที่ดีและการยอมรับระหว่างอุตสาหกรรมและชุมชนที่อยู่โดยรอบ ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจึงขอเชิญชวนให้หน่วยงานที่ยังมิได้เข้าสู่สังคมอุตสาหกรรมสีเขียวให้ความสนใจและเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อมุ่งสู่ดุลยภาพของการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่ออนาคตอันสดใสของประเทศชาติต่อไป หน่วยงานใดที่สนใจโครงการอุตสาหกรรมสีเขียว สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.greenindustrythailand.com

"โครงการอุตสาหกรรมรวมใจภักดิ์ รักษ์แม่น้ำ"ร่วมอนุรักษ์และฟื้นฟูแม่น้ำสายหลักทั่วประเทศ เพื่อให้ลูกหลานประชาชนคนไทยได้ใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน

จาก http://www.matichon.co.th วันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2556

โลจิสติกส์เชื่อมภูมิภาคท้าทายอุตฯไทย

เปิดหูเปิดตาอาเซียน : ปูทางโลจิสติกส์เชื่อมภูมิภาค ความท้าทายภาคอุตสาหกรรมไทย

ต้นทุนด้านโลจิสติกส์ นับเป็นอีกปัจจัยสำคัญในการพัฒนาขีดแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม โดยจากผลวิเคราะห์ล่าสุดทางด้านต้นทุนโลจิสติกส์ต่อยอดขายของภาคอุตสาหกรรม ในการสำรวจ 1,300 สถานประกอบการ 21 กลุ่มอุตสาหกรรม ตั้งแต่ปี 2552-2554 มีสัดส่วนลดลงถึง 20.85% เฉพาะการลดต้นทุนถือครองสินค้าคงคลังต่อยอดขายของภาคอุตสาหกรรมในปี 2554 สามารถลดลงได้ถึง 26.04% จากปีฐาน 2552

"ขณะนี้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ โดยสำนักโลจิสติกส์ได้ก้าวข้ามการสนับสนุนและช่วยเหลือผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไปอีกขั้นหนึ่ง นั่นคือการขยายความสำเร็จของแต่ละองค์กรสู่การเชื่อมโยงระบบการบริหารจัดการโลจิสติกส์ของซัพพลายเชนด้วยการสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรในซัพพลายเชน รวมทั้งการตัดสินใจลงทุนและการขยายฐานการผลิตที่ต้องดำเนินการไปทั้งโซ่อีกด้วย" นายธวัช ผลความดี รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว

โครงการที่สำคัญที่จะนำไปสู่แนวทางใหม่คือ โครงการพัฒนาระบบการจัดการโลจิสติกส์อุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจชายแดน ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่รัฐบาลเห็นว่าจุดชายแดนระหว่างประเทศของไทยกับเพื่อนบ้านจะกลายเป็นพื้นที่สำคัญของภาคอุตสาหกรรมเมื่อมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ประกอบกับการใช้ประโยชน์จากโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคมต่างๆ รวมถึงการร่วมลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ หรือ Mega Project ของไทยและเพื่อนบ้าน จะทำให้การผลักดันให้เขตอุตสาหกรรมในแต่ละพื้นที่มีความโดดเด่น

ในเบื้องต้นสำนักโลจิสติกส์ได้คัดเลือกพื้นที่ชายแดนของไทยกับ พม่า กัมพูชา อย่างละ 1 แห่ง และอีก 2 แห่งที่ลาว ให้เป็นพื้นที่ต้นแบบ โดยจะทำโมเดล หรือแบบจำลองรูปแบบระบบโลจิสติกส์และซัพพลายเชนที่เหมาะสม สำหรับโปรดัก แชมเปี้ยน หรือสินค้าเป้าหมายในเขตเศรษฐกิจบริเวณชายแดนดังกล่าว ซึ่งหากศึกษาแล้วพบว่าโปรดัก แชมเปี้ยนใดมีศักยภาพในการยกระดับการกระจาย จัดเก็บ และขนย้ายสินค้า หรือแม้แต่การรวมสินค้า บรรจุสินค้า หรือผลิตสินค้า ก็จะให้การสนับสนุนส่งเสริมเพื่อผลักดันให้เกิดการปรับเปลี่ยนกระบวนการ เพื่อให้การเคลื่อนไหวของสินค้าและบริการมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้นในแต่ละพื้นที่เศรษฐกิจชายแดน

“โมเดลเหล่านี้จะเสร็จประมาณเดือนหน้า ต่อจากนั้นก็จะนำโมเดลการจัดการโลจิสติกส์ที่เหมาะสมของแต่ละสินค้าเป้าหมายในแต่ละพื้นที่ชายแดน ไปประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาระบบการจัดการโลจิสติกส์ให้กับสถานประกอบการในโซ่อุปทานสินค้าเป้าหมาย คิดเป็น 12 สถานประกอบการใน 4 พื้นที่เขตเศรษฐกิจ ชายแดน” นายธวัชชัยกล่าว

สำหรับรายกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ สำนักโลจิสติกส์ก็ได้เร่งดำเนินงานให้สอดคล้องกับการเปิดเสรีทางการค้าเออีซี โดยมีโครงการรองรับคือ โครงการยกระดับศักยภาพการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานของกลุ่มวิสาหกิจผู้ผลิตชิ้นส่วนสินค้าอุตสาหกรรมเพื่อเป็นฐานการผลิตของเออีซี ซึ่งได้มุ่งเน้นพัฒนา 2 กลุ่มอุตสาหกรรม คือ ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

ทั้งนี้ ทั้งสองกลุ่มจะมีการศึกษาจัดทำแผนปรับรูปแบบโลจิสติกส์และโซ่อุปทานเพื่อรองรับเออีซีกันใหม่ ให้สอดรับกับแนวทางการดำเนินธุรกิจที่จะมีโอกาสการขยายตลาดมากกว่าเดิม โดยอาศัยการวิเคราะห์ผลกระทบจากปัจจัยภายในและภายนอกและจัดทำ Simulation Model เพื่อคาดการณ์ผลลัพธ์ที่เปลี่ยนไปจากปัจจัยที่แตกต่างกัน ซึ่งผมคิดว่าเป็นโครงการนำร่องที่น่าสนใจมาก

นี่เป็นแนวทางการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของภาคอุตสาหกรรมหลังปี 2556 ที่ท้าทายยิ่ง ทั้งในส่วนของภาครัฐ และภาคอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพราะเป็นการเปิดแนวรุกและเชื่อมโยงกับสถานการณ์ในภูมิภาค และแนวนโยบายของภาครัฐที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอย่างมาก

นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เปิดเผยว่า ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการลดต้นทุนการถือครองสินค้าคงคลังต่อยอดขายของภาคอุตสาหกรรม คือ ผู้ประกอบการเห็นความสำคัญของการลดต้นทุน ต่อมาก็คือการเร่งสร้างทักษะและองค์ความรู้ใหม่ให้บุคลากรในระดับต่างๆ รวมถึงมีการใช้เทคโนโลยี เครื่องมือ และแบบอย่างที่ดี เพื่อช่วยในการบริหารจัดการ และสุดท้ายที่สำคัญคือต้องลงมือปรับปรุงพัฒนาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ดังนั้น การที่ผู้ประกอบการรวมกลุ่มเพื่อ Collaboration หรือแลกเปลี่ยนระหว่างกัน ทำให้ปัจจัยข้างต้นทำได้ง่ายขึ้น เพราะเรื่องเหล่านี้ได้รับการยอมรับ และกลายเป็นต้นแบบให้กับผู้ประกอบการใหม่ๆ ที่จะเข้ามาร่วมวงธุรกิจต่อไป

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2556

ครม. เห็นชอบพักชำระหนี้ สมาชิกสหกรณ์ 8 แสนราย

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติ เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2556 ที่ผ่านมาให้ดำเนินโครงการพักหนี้ครัวเรือนเกษตรกรรายย่อยและผู้มีรายได้น้อยที่มีหนี้ต่ำกว่า 500,000 บาท ผ่านสหกรณ์หรือกลุ่มเกษตรกร ตามข้อเสนอของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ดำเนินการโดยรับสมัครสมาชิกที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2555 จนถึงวันที่ 20 สิงหาคม 2555 ที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ทั้งหมด 808,799 ราย ทั้งนี้เพื่อดูแลปัญหาภาระหนี้สินและบรรเทาความเดือดร้อนด้านการเงินของกลุ่มเกษตรกรและสมาชิกสหกรณ์อย่างต่อเนื่องและเร่งด่วน

พร้อมกันนี้มติ ครม. ยังเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณในการดำเนินโครงการระหว่างปีงบประมาณ 2556-2558 รวมเป็นเงิน 3,684.714 ล้านบาทด้วย โดย แยกเป็นงบประมาณจากงบกลางรายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นปี พ.ศ. 2556 จำนวน 1,966.96 ล้านบาท เพื่อชดเชยให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่พักหนี้หรือลดภาระหนี้ให้สมาชิกจำนวน 1,445.821 ล้านบาท และจัดสรรให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรเป็นเงินอุดหนุนจ่ายขาด เพื่อฟื้นฟูอาชีพแก่สมาชิกจำนวน 521.139 ล้านบาท และงบประมาณในการดำเนินการโครงการเพื่อจ่ายชดเชยดอกเบี้ยจำนวน 1,717.754 ล้านบาท โดยให้กับสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรปีที่ 2 และปีที่ 3 ปีละ 858.877 ล้านบาท

“โดยรัฐบาลจะจ่ายชดเชยดอกเบี้ยแทนสมาชิก ตามสัญญาเงินกู้ที่แจ้งเข้าร่วมโครงการฯ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2555 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2558 ซึ่งหนี้ค้างชำระของผู้ที่สมัครเข้าร่วมโครงการจะได้รับการพักชำระทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยรัฐบาลรับภาระจ่ายดอกเบี้ยแทน ในอัตราร้อยละ 4 ต่อปี ของมูลหนี้ที่คงเหลืออยู่จริง ส่วนหนี้ปกติ สมาชิกโครงการฯ สามารถเลือกแบบพักเงินต้น และลดดอกเบี้ย หรือแบบไม่พักเงินต้น แต่ลดดอกเบี้ยก็ได้ โดยรัฐบาลจ่ายดอกเบี้ยแทนในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี ทั้งนี้เพื่อช่วยให้เกษตรกรสามารถตั้งตัวและพัฒนาอาชีพ สร้างรายได้ให้กับตนเองในระหว่างการพักชำระหนี้ ฟื้นฟูศักยภาพจนสามารถชำระหนี้คืนต่อสหกรณ์หรือกลุ่มเกษตรกรได้ต่อไป” นายสมชายกล่าว.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2556

รายงานพิเศษ : กลุ่มบริหารการใช้น้ำคลองC95 มิติใหม่งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น

พื้นที่บ้านใหม่ ต.วัดขวาง อ.โพทะเล จ.พิจิตร เป็นหนึ่งในพื้นที่จัดรูปที่ดิน ในเขตโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่าบัว ซึ่งรับน้ำจากเขื่อนนเรศวร จ.พิษณุโลก

โดยหลักการ พื้นที่จัดรูปที่ดินมีการก่อสร้างคูส่งน้ำ คูระบายน้ำและถนนเข้าถึงที่ดินทุกแปลงแล้ว ยังมีน้ำต้นทุนเป็นหลักประกันด้วย แต่บางครั้งโครงสร้างชลประทานอาจมีปัญหากระทบการส่งน้ำได้

ชุมชนบ้านใหม่ได้รับน้ำไม่สม่ำเสมอ หนักเข้าถึงกับทะเลาะจนมีการยิงกันตาย แต่การตายก็ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา ชุมชนแห่งนี้จึงมีการเรียกร้อง เดินขบวนอยู่บ่อยครั้ง กระนั้นก็ยังไม่สำเร็จ

เมื่อสำนักงานส่งเสริมการวิจัย (สกว.) และสถาบันพัฒนาการชลประทาน (สพช.) ร่วมกันจัดทำโครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่น จึงได้คัดเลือกชุมชนบ้านใหม่ ต.วัดขวาง เป็นหนึ่งในพื้นที่นำร่อง

วิจัยท้องถิ่น หมายถึง การวิจัยที่ทำโดยคนในท้องถิ่น และมีความตั้งใจแก้ไขปัญหาของตนเอง เว้นแต่ว่าเหลือกำลังก็ค่อยขอความช่วยเหลือจากภาคส่วนอื่น

กระบวนการเริ่มต้นด้วยการหาอาสาสมัครในพื้นที่ทำวิจัย เพื่อให้ชุมชนได้รับรู้ปัญหาและหาทางแก้ไขด้วยตัวเอง เป็นการระเบิดจากภายใน ชาวบ้านกว่า 20 คน อาสาเข้าร่วมเป็นนักวิจัยท้องถิ่น โดยระยะอายุโครงการ 3 ปี เริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2549-2551

“มีคำสบประมาทมากมาย เพราะมีส่วนราชการลงมาหลายครั้งแต่แก้ปัญหาไม่ได้ ชาวบ้านจึงไม่วางใจ เกรงจะถูกหลอกอีก  บางครั้งแซวกันว่าประชุมเอาโล่รึไง” นายสุทิน อ่วมประเสริฐ แกนนำทีมวิจัยครั้งนั้นเล่า เพราะประชุมคุยกันบ่อยมาก

การวิจัยท้องถิ่นเป็นกระบวนที่ทำให้ชาวบ้านแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เปิดโลกทัศน์ใหม่ให้เกษตรกร โดยเฉพาะการค้นหาโจทย์วิจัยว่าด้วยปัญหาของชุมชนบ้านใหม่คืออะไร และแก้ไขอย่างไร

สุดท้าย สรุปได้ว่าเป็นปัญหาสำคัญ 3 เรื่อง ทั้งน้ำ นา และหนี้ โดยเห็นว่าถ้าแก้ปัญหาน้ำได้จะคลายปัญหานาและหนี้ได้

เริ่มต้นทีมวิจัย ต้องค้นหาปัญหาการขาดแคลนน้ำให้ได้ว่า เกิดขึ้นได้อย่างไร และจะแก้ไขอย่างไร

แลกเปลี่ยนพูดคุยแล้ว ปัญหาหลักน่าจะเป็นเรื่องการส่งน้ำจากคลองใหญ่เข้าสู่คลอง C95 ชาวบ้านคาดหมายว่า น่าจะเป็นระดับของบานประตูต่ำกว่าระดับคลอง ทำให้การน้ำส่งเข้าคลอง C95 ของบ้านใหม่ได้ไม่เต็มที่

แค่คาดการณ์อย่างเดียวไม่พอ ยังต้องหาหลักฐานเพื่อเป็นข้อพิสูจน์ให้ได้ เวทีตรงนี้ทำให้ชาวบ้านได้ใช้ภูมิปัญญามาทดสอบวัดระดับบานประตู ระดับคลอง การคาดหมายปริมาณน้ำ ทำขึ้นเป็นข้อมูล โดยหารือร่วมกับ สกว. และ สพช. แล้วส่งไปให้หน่วยงานกรมชลประทานพิจารณา

ด้วยข้อมูลที่ผ่านการกลั่นกรองและทดสอบพิสูจน์ สุดท้ายกรมชลประทานสั่งรื้อถนนแล้วปรับเปลี่ยนโครงสร้างเสียใหม่ เมื่อทดลองเปิดประตูน้ำ ทุกอย่างเป็นไปตามข้อมูลวิจัยของชาวบ้าน ความสำเร็จนี้ไม่เพียงสร้างความยินดีแก่ทีมวิจัยชาวบ้านเท่านั้น ชุมชนบ้านใหม่ที่ได้รับน้ำมากขึ้นประกาศเอาด้วยกับทีมวิจัย เพราะเห็นถึงความมุ่งมั่น ทุ่มเทแก้ปัญหาจนเป็นผลสำเร็จ

งานต่อไปเป็นการวิจัยปัญหาแต่ละแฉกส่งน้ำจำนวน 9 แฉก ซึ่งแตกต่างกันตามสภาพ แต่ละแฉกใช้เวลาประชุม 9 วัน รวมเวลา 81 วันเข้าแล้ว สำรวจวิจัยเสร็จเอามานั่งถกต่อในหมู่บ้านจนค่ำมืดอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย

เครื่องมือสำคัญประการหนึ่ง นอกเหนือจากเวทีประชาคมที่เปิดให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมคิด ร่วมแสดงความเห็นคือ กระบวนการทำแผนที่ด้วยมือ

หากจะเอาแผนที่กรมชลประทานมาใช้ก็ง่ายดายดี แต่ชาวบ้านตาลอยไม่เข้าใจ และไม่จูงใจเท่ากับได้ทำด้วยตัวเอง ระบายสีเอง มีรายชื่อตัวเองและขนาดแปลงที่ดินระบุไว้ด้วย แผนที่ทำมือจึงเป็นนวัตกรรมที่ชาวบ้านทำขึ้นเอง ด้วยความเข้าใจของตัวเอง และมีรายละเอียดระบุด้วยว่า ในแฉกของตัวเองนั้น มีคลองส่งน้ำตรงไหน ผ่านที่ดินของใคร ถนนอยู่ตรงไหน และตรงไหนมีปัญหาน้ำผ่านยาก เป็นเพราะอะไร น้ำท่วมบ่อยเป็นเพราะเหตุใด แปลงที่นาของใครอยู่ตรงไหน กี่ไร่ ระบุไว้หมด

กลายเป็นเครื่องมือสำหรับแก้ไขปัญหาร่วมกัน มองภาพเหมือนกัน เข้าใจร่วมกัน และสามารถบรรลุการแก้ไขปัญหา จากข้อมูลที่สำรวจจากภาคสนาม และการประชุม

จากแฉกส่งน้ำแต่ละแฉก ขยายถึง 9 แฉก ทุกคนมองเห็นสภาพพื้นที่ของตัวเองและแฉกส่งน้ำของตัวเอง กระทั่งได้เรียนรู้ปัญหาของตัวเองและแฉกอื่น กลายเป็นการรวมศูนย์ข้อมูลและความรู้ใกล้เคียงกันทั้งชุมชน

นางฉลาด ลอประเสริฐ ประธานกลุ่มบริหารการใช้น้ำ เล่าว่า เกษตรกรบางคนที่นึกว่า ปัญหาตัวเองใหญ่ พอได้รับรู้ปัญหาเพื่อนบ้านก็พบว่า ของตัวเองเล็กกระจ้อยไปเลย “มีบางคนไปเห็นปัญหาวิกฤติของแฉกอื่น ถึงกับยอมควักกระเป๋าลงขันช่วยกันตรงนั้นเลยก็มี อันนี้เป็นความพิเศษของการที่ชาวบ้านได้รับรู้ปัญหาร่วมกัน”

เมื่อใจรวมกันเป็นหนึ่งเดียว การแก้ปัญหาก็เริ่มชัดเจนขึ้น ง่ายขึ้น ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยเฉพาะได้กลุ่มผู้นำที่ทำงานอย่างจริงจัง เสียสละ ทุ่มเท

มีการจัดตั้งกลุ่มตั้งแต่ระดับย่อยคือแต่ละแฉกส่งน้ำ เลือกประธานกลุ่ม 9 คน และยังมีคณะกรรมการบริหารการใช้น้ำมาจากการเลือกตั้งเช่นกัน ทำหน้าที่บริหารจัดการน้ำทั้งระบบ และมีการเลือกตั้งบุคคลเพียง 2 คนทำหน้าที่ในการเปิด-ปิดบานประตู โดยให้สิทธิขาด ซึ่งจะเป็นไปตามมติที่กำหนดกันไว้ โดยที่กรมชลประทานไม่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง ยกเว้นทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงาน อำนวยการ
เท่านั้น

กลุ่มผู้บริหารการใช้น้ำคลอง C95 แห่งบ้านใหม่ ต.วัดขวาง อ.โพทะเล จ.พิจิตร กลายเป็นกลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำเข้มแข็ง สามารถบริหารจัดการน้ำด้วยตัวเองอย่างมีประสิทธิภาพ บางครั้งกรมชลประทานแจ้งลดปริมาณการส่งน้ำ กลุ่มนี้สามารถบริหารจัดการเฉลี่ยน้ำให้สมาชิกอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง

จากชุมชนที่ฆ่ากันตายเพราะแย่งน้ำ วันนี้ชุมชนบ้านใหม่กลับสามัคคีร่วมกันในแทบทุกเรื่องที่เป็นเรื่องน้ำและเรื่องอื่นๆ จนต่อยอดเป็นกลุ่มสตรีวิสาหกิจชุมชน และกลุ่มเกษตรอินทรีย์

นายเอกจิต ไตรภาควาสิน ผู้อำนวยการสำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง กรมชลประทาน และนายจรัญ ภูขาว ที่ปรึกษาสำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง ไม่เพียงประทับใจต่อความเข้มแข็งของกลุ่มผู้ใช้น้ำคลอง C95 หากยังเตรียมส่งอาสาจัดรูปที่ดินกว่า 200 คนทั่วประเทศ ไปศึกษาดูงานความสำเร็จของกลุ่มผู้ใช้น้ำแห่งนี้ เพื่อนำไปขยายผลในพื้นที่จัดรูปอื่นต่อไป

เพราะความสำเร็จของกลุ่มผู้ใช้น้ำคือประสิทธิภาพของการใช้น้ำชลประทาน หมายถึงผลผลิตที่เพิ่มขึ้น รายได้ที่เพิ่มขึ้น และคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในเขตจัดรูปที่ดินนั่นเอง

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 13 กันยายน 2556

เร่งพักหนี้เกษตรกรรายย่อย

สหกรณ์เดินหน้าช่วยสมาชิกตามมติครม./พบเข้าเงื่อนไขกว่า8แสนราย

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 สิงหาคมที่ผ่านมา เห็นชอบ ให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ดำเนินโครงการพักหนี้เกษตรกรรายย่อยและประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่มีหนี้คงค้างต่ำกว่า 500,000 บาท ผ่านสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร โดยเฉพาะสหกรณ์การเกษตรเพื่อให้เกษตรกรมีความสามารถในการประกอบอาชีพได้ ทั้งนี้ แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ลักษณะ คือ 1.หนี้ค้างชำระ สมาชิกสหกรณ์ภาคการเกษตรและกลุ่มเกษตรกร ได้รับการพักชำระหนี้ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยรัฐรับภาระจ่ายดอกเบี้ยแทนสมาชิกในอัตราร้อยละ 4 ต่อปี ของมูลหนี้ที่คงเหลืออยู่จริง 2.หนี้ปกติ สมาชิกสามารถเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ พักต้นเงินและลดดอกเบี้ย เป็นระยะเวลา 3 ปี โดยรัฐรับภาระจ่ายดอกเบี้ยแทนสมาชิกในอัตราร้อยละ 3 ต่อปีของมูลหนี้ที่คงเหลืออยู่จริง หรือไม่พักเงินต้นแต่ลดดอกเบี้ย โดยรัฐรับภาระจ่ายดอกเบี้ยแทนสมาชิกในอัตราร้อยละ 3 ต่อปีของมูลหนี้ที่คงเหลืออยู่จริง ประกอบกับต้องมีการฟื้นฟูอาชีพเพื่อพัฒนาอาชีพ เพิ่มรายได้และลดรายจ่ายให้กับสมาชิกที่มีหนี้ค้างชำระให้สามารถชำระหนี้ให้กับสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรได้

ในเบื้องต้น ได้สำรวจหนี้สินครัวเรือนภายใต้เงื่อนไขทั้งหนี้ค้างชำระและหนี้ปกติทุกบัญชีรวมกันไม่เกิน 5 แสนบาท พบว่ามีอยู่ 2,265 แห่ง สมาชิกทั้งหมด 808,799 ราย มีวงเงินที่ต้องชำระดอกเบี้ยแทนสมาชิกรวมระยะเวลา 3 ปี จำนวน 3,684.714 ล้านบาท โดยในปีแรก วงเงิน 1,966.959 ล้านบาท ส่วนอีก 2 ปีถัดไป ปีละประมาณ 858 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม กรมจะดำเนินการสำรวจสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 16 กันยายน 2556 พร้อมทั้งกำหนดแผนการอบรมและฟื้นฟูอาชีพให้สอดคล้องกับความต้องการของสมาชิก โดยให้ผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันการศึกษาเพื่อปวงชน มาจัดอบรมถ่ายทอดความรู้ต่อเนื่อง 9 เดือน เพื่อเป็นหลักประกันว่าผู้ที่ร่วมโครงการต้องมีความสามารถในการพลิกฟื้นอาชีพ วางแผนคุณภาพชีวิตของเขาเองได้

“ตัวชี้วัดสำคัญภายหลังการอบรมตามกิจกรรมฟื้นฟูอาชีพ สมาชิกร้อยละ 80 สามารถจัดทำแผนฟื้นฟูอาชีพของตนเองได้ และสมาชิกที่ผ่านการอบรมไปแล้ว 12 เดือน มีเงินออมร้อยละ 1 ต่อปีของต้นเงินคงเป็นหนี้ เป็นระยะเวลา 3 ปี แต่ถ้าหลังการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูอาชีพไปแล้ว 12 เดือน หากสมาชิกยังไม่สามารถแสดงให้เห็นว่ามีความสามารถในการชำระหนี้ได้ดีขึ้น รัฐจะไม่ชดเชยดอกเบี้ยในปีต่อไปให้อีก ซึ่งเจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์จะต้องเร่งรัดการดำเนินการ และติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการดังกล่าวอย่างใกล้ชิดต่อไป” อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 13 กันยายน 2556

เปิดหูเปิดตาอาเซียน : ปูทางโลจิสติกส์เชื่อมภูมิภาค ความท้าทายภาคอุตสาหกรรมไทย

ต้นทุนด้านโลจิสติกส์ นับเป็นอีกปัจจัยสำคัญในการพัฒนาขีดแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม โดยจากผลวิเคราะห์ล่าสุดทางด้านต้นทุนโลจิสติกส์ต่อยอดขายของภาคอุตสาหกรรม ในการสำรวจ 1,300 สถานประกอบการ 21 กลุ่มอุตสาหกรรม ตั้งแต่ปี 2552-2554 มีสัดส่วนลดลงถึง 20.85% เฉพาะการลดต้นทุนถือครองสินค้าคงคลังต่อยอดขายของภาคอุตสาหกรรมในปี 2554 สามารถลดลงได้ถึง 26.04% จากปีฐาน 2552

"ขณะนี้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ โดยสำนักโลจิสติกส์ได้ก้าวข้ามการสนับสนุนและช่วยเหลือผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไปอีกขั้นหนึ่ง นั่นคือการขยายความสำเร็จของแต่ละองค์กรสู่การเชื่อมโยงระบบการบริหารจัดการโลจิสติกส์ของซัพพลายเชนด้วยการสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรในซัพพลายเชน รวมทั้งการตัดสินใจลงทุนและการขยายฐานการผลิตที่ต้องดำเนินการไปทั้งโซ่อีกด้วย" นายธวัช ผลความดี รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว

โครงการที่สำคัญที่จะนำไปสู่แนวทางใหม่คือ โครงการพัฒนาระบบการจัดการโลจิสติกส์อุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจชายแดน ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่รัฐบาลเห็นว่าจุดชายแดนระหว่างประเทศของไทยกับเพื่อนบ้านจะกลายเป็นพื้นที่สำคัญของภาคอุตสาหกรรมเมื่อมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ประกอบกับการใช้ประโยชน์จากโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคมต่างๆ รวมถึงการร่วมลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ หรือ Mega Project ของไทยและเพื่อนบ้าน จะทำให้การผลักดันให้เขตอุตสาหกรรมในแต่ละพื้นที่มีความโดดเด่น

ในเบื้องต้นสำนักโลจิสติกส์ได้คัดเลือกพื้นที่ชายแดนของไทยกับ พม่า กัมพูชา อย่างละ 1 แห่ง และอีก 2 แห่งที่ลาว ให้เป็นพื้นที่ต้นแบบ โดยจะทำโมเดล หรือแบบจำลองรูปแบบระบบโลจิสติกส์และซัพพลายเชนที่เหมาะสม สำหรับโปรดัก แชมเปี้ยน หรือสินค้าเป้าหมายในเขตเศรษฐกิจบริเวณชายแดนดังกล่าว ซึ่งหากศึกษาแล้วพบว่าโปรดัก แชมเปี้ยนใดมีศักยภาพในการยกระดับการกระจาย จัดเก็บ และขนย้ายสินค้า หรือแม้แต่การรวมสินค้า บรรจุสินค้า หรือผลิตสินค้า ก็จะให้การสนับสนุนส่งเสริมเพื่อผลักดันให้เกิดการปรับเปลี่ยนกระบวนการ เพื่อให้การเคลื่อนไหวของสินค้าและบริการมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้นในแต่ละพื้นที่เศรษฐกิจชายแดน

“โมเดลเหล่านี้จะเสร็จประมาณเดือนหน้า ต่อจากนั้นก็จะนำโมเดลการจัดการโลจิสติกส์ที่เหมาะสมของแต่ละสินค้าเป้าหมายในแต่ละพื้นที่ชายแดน ไปประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาระบบการจัดการโลจิสติกส์ให้กับสถานประกอบการในโซ่อุปทานสินค้าเป้าหมาย คิดเป็น 12 สถานประกอบการใน 4 พื้นที่เขตเศรษฐกิจ ชายแดน” นายธวัชชัยกล่าว

สำหรับรายกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ สำนักโลจิสติกส์ก็ได้เร่งดำเนินงานให้สอดคล้องกับการเปิดเสรีทางการค้าเออีซี โดยมีโครงการรองรับคือ โครงการยกระดับศักยภาพการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานของกลุ่มวิสาหกิจผู้ผลิตชิ้นส่วนสินค้าอุตสาหกรรมเพื่อเป็นฐานการผลิตของเออีซี ซึ่งได้มุ่งเน้นพัฒนา 2 กลุ่มอุตสาหกรรม คือ ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

ทั้งนี้ ทั้งสองกลุ่มจะมีการศึกษาจัดทำแผนปรับรูปแบบโลจิสติกส์และโซ่อุปทานเพื่อรองรับเออีซีกันใหม่ ให้สอดรับกับแนวทางการดำเนินธุรกิจที่จะมีโอกาสการขยายตลาดมากกว่าเดิม โดยอาศัยการวิเคราะห์ผลกระทบจากปัจจัยภายในและภายนอกและจัดทำ Simulation Model เพื่อคาดการณ์ผลลัพธ์ที่เปลี่ยนไปจากปัจจัยที่แตกต่างกัน ซึ่งผมคิดว่าเป็นโครงการนำร่องที่น่าสนใจมาก

นี่เป็นแนวทางการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของภาคอุตสาหกรรมหลังปี 2556 ที่ท้าทายยิ่ง ทั้งในส่วนของภาครัฐ และภาคอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพราะเป็นการเปิดแนวรุกและเชื่อมโยงกับสถานการณ์ในภูมิภาค และแนวนโยบายของภาครัฐที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอย่างมาก

นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เปิดเผยว่า ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการลดต้นทุนการถือครองสินค้าคงคลังต่อยอดขายของภาคอุตสาหกรรม คือ ผู้ประกอบการเห็นความสำคัญของการลดต้นทุน ต่อมาก็คือการเร่งสร้างทักษะและองค์ความรู้ใหม่ให้บุคลากรในระดับต่างๆ รวมถึงมีการใช้เทคโนโลยี เครื่องมือ และแบบอย่างที่ดี เพื่อช่วยในการบริหารจัดการ และสุดท้ายที่สำคัญคือต้องลงมือปรับปรุงพัฒนาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ดังนั้น การที่ผู้ประกอบการรวมกลุ่มเพื่อ Collaboration หรือแลกเปลี่ยนระหว่างกัน ทำให้ปัจจัยข้างต้นทำได้ง่ายขึ้น เพราะเรื่องเหล่านี้ได้รับการยอมรับ และกลายเป็นต้นแบบให้กับผู้ประกอบการใหม่ๆ ที่จะเข้ามาร่วมวงธุรกิจต่อไป

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 13 กันยายน 2556

ขอนแก่นต้านการค้าแรงงานเด็ก 'นํ้าตาล-ไร่อ้อย'ร่วม

ขอนแก่น - ที่โรงงานนํ้าตาลมิตรผล (ภูเวียง) นายเสน่ห์ นนทะโชติ ปลัดจังหวัดขอนแก่น เป็นสักขีพยานการลงนามของกลุ่มอุตสาหกรรมมิตรผล ประกาศต้านการใช้แรงงานเด็กในอุตสาหกรรมอ้อยและนํ้าตาล ร่วมกับสมาชิกในสมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยในเขตพื้นที่ภาคอีสาน โดยยืนยันจะไม่ส่งเสริมการใช้แรงงานเด็กอย่างผิดกฎหมายทุกขั้นตอน โดยนายกฤษฎา มนเทียรวิเชียรฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มมิตรผล และนายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เป็นสักขีพยาน ที่จะไม่ส่งเสริมสนับสนุนการใช้แรงงานเด็กในทุกกระบวนการดำเนินธุรกิจของบริษัทกลุ่มมิตรผล ไม่ว่าจะในบริษัท โรงงาน และในไร่อ้อย นายอาทิตย์กล่าวว่า การค้ามนุษย์เป็นเรื่องใหญ่ในสากล โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกาขึ้นบัญชีว่าประเทศไทยใช้แรงงานเด็กในโรงงานและไร่อ้อย ซึ่งต้องชี้แจงให้เข้าใจว่าไม่มีใช้แรงงานเด็กอย่างเด็ดขาดในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบไหนก็ตาม เพื่อไม่ให้มีการขึ้นบัญชีว่ามีการใช้แรงงานเด็ก เพื่อไม่ให้มีผลกระทบในเชิงการค้า และในด้านธุรกิจของประเทศอีกด้วย

นายกฤษฎากล่าวว่า ปัญหาแรงงานเด็กในภาคเกษตรกรรมอ้อย เกิดจากวิถีชีวิตของเกษตรกรชาวไร่ที่มีความสัมพันธ์แบบครอบครัวใหญ่ สมาชิกในครอบครัวร่วมแรงงานช่วยกันทำงาน จึงต้องช่วยผลักดันให้ภาพลักษณ์อุตสาหกรรมอ้อยและนํ้าตาลหมดเรื่องการใช้แรงงานเด็ก ซึ่งกลุ่มมิตรผลจะไม่ส่งเสริมและสนับสนุนการใช้แรงงานเด็กทุกกระบวนการ

จาก http://www.khaosod.co.th  วันที่ 12 กันยายน 2556

กรมโรงงานรื้อโครงสร้างเข้มมลพิษ

นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า กรมโรงงานมีแผนที่จะปรับปรุงโครงสร้างการบริหารภายในกรม โดยจะมีการปรับเปลี่ยนสำนักอุตสาหกรรมรายสาขาจากเดิมมี 5 สำนัก ลดลงเหลือ 3 สำนักอุตสาหกรรมรายสาขา ส่วน 2 สำนักที่ปรับเปลี่ยนจะมีการตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นอีก 2 กอง ได้แก่ 1.กองตรวจสอบโรงงาน เพื่อทำหน้าตรวจสอบข้อร้องเรียนต่างๆ ที่ได้รับแจ้งเข้ามา เพื่อให้การดำเนินงานตรวจสอบโรงงานที่ถูกร้องเรียนรวดเร็วมากยิ่งขึ้นและ 2.กองอุตสาหกรรมเชิงพื้นที่ มีหน้าที่ดูแลโรงงานในสวนอุตสาหกรรม และพื้นที่โซนนิ่งอุตสาหกรรมต่างๆ ทั่วประเทศ โดยในแต่ละกองจะมีเจ้าหน้าที่ประมาณ 40 คน

นอกจากนี้จะมีการตั้งกองใหม่อีก 2 กอง ได้แก่ 1.กองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์ เพื่อเข้าไปดูแลนิคมเชิงนิเวศ หรือ อีโคอินดัสตรี โดยเฉพาะ เพื่อขยายพื้นที่นิคมฯที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และ 2. กองวิเคราะห์สิ่งแวดล้อม มีหน้าที่เก็บตัวอย่างน้ำทิ้ง และของเสียที่ปล่อยออกมาจากโรงงาน เพื่อให้การตรวจสอบเอาผิดกับโรงงานมีความรวดเร็ว และป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ให้บานปลายไปสู่วงกว้าง

“การปรับโครงสร้างครั้งนี้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ให้กรมโรงงานเข้าไปดูแลเรื่องอีโคทางอินดันตรี ขยายพื้นที่อุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์ เพื่อให้โรงงาน และชุมชนอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข โดยโครงสร้างดังกล่าวจะเริ่มใช้ในวันที่
1 ต.ค.นี้” นายณัฐพลกล่าว

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 12 กันยายน 2556

เร่งพัฒนาเกษตรกรพื้นที่จัดรูป นำร่องชุมชนแควน้อย-ศรีสะเกษ ร่วมบริหารจัดการน้ำอย่างจริงจัง

กรมชลประทาน เดินหน้าพัฒนาการเกษตรในพื้นที่จัดรูปที่ดิน กำหนดพื้นที่แควน้อยและศรีสะเกษเป็นโครงการตัวอย่าง โดยเน้นใช้การมีส่วนร่วมของเกษตรกรมาขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำอย่างจริงจัง

นายเอกจิต ไตรภาควาสิน ผู้อำนวยการสำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง กรมชลประทาน เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรในพื้นที่จัดรูปที่ดิน ที่มีนายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีกรมชลประทานเป็นประธาน ได้กำหนดแนวทางพัฒนาพื้นที่จัดรูปที่ดิน โดยมุ่งส่งเสริมให้เกษตรกรในโครงการ มีส่วนร่วมบริหารจัดการน้ำอย่างจริงจัง ทั้งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ ลดการสูญเสียน้ำ ตลอดจนลดความเสียหายของอาคารชลประทาน และการทำการเกษตรอย่างยั่งยืน ในพื้นที่ใหม่ 2 แห่ง ได้แก่ พื้นที่แปลงตัวอย่างโครงการจัดรูปที่ดินเขื่อนแควน้อย จ.พิษณุโลก และโครงการจัดรูปที่ดิน จ.ศรีสะเกษ

ทั้งนี้ พื้นที่จัดรูปที่ดินเขื่อนแควน้อย จะเป็นตัวแทนของการจัดรูปที่ดินในโครงการชลประทานขนาดใหญ่ ในขณะพื้นที่จัดรูปที่ดิน จ.ศรีสะเกษ จะเป็นตัวแทนของการจัดรูปที่ดินที่ใช้ระบบสูบน้ำด้วยไฟฟ้า

นายเอกจิตกล่าวว่า กรมชลประทานเองมีตัวอย่างโครงการที่ประสบความสำเร็จ ในแง่การมีส่วนร่วมของเกษตรกร เช่น โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่ยม จ.แพร่ ที่ได้รับรางวัลจากองค์การสหประชาชาติ โดยสามารถประยุกต์ใช้เป็นแม่แบบในการพัฒนาในพื้นที่จัดรูปแห่งอื่นด้วย เพราะนอกจากสร้างความเข้มแข็งให้กลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำแล้ว ยังช่วยพัฒนาเศรษฐกิจในระดับครัวเรือน
และชุมชน รวมทั้งก่อเกิดความรักและหวงแหนในที่ดินการเกษตร

“การสร้างการมีส่วนร่วมของเกษตรกรต้องใช้เวลานาน ขณะเดียวกันยังต้องพัฒนาการเกษตรในพื้นที่จัดรูปที่ดินให้เห็นผลเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการเชื่อมโยงผลผลิตการเกษตรกับตลาด ซึ่งเป็นสิ่งที่เกษตรกรต้องการเห็นมากที่สุด”

สำหรับพื้นที่จัดรูปที่ดินที่ก่อสร้างมานานแล้ว โครงสร้างต่างๆ เช่น คูคลองส่งน้ำชำรุด ทรุดโทรม และใช้งานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ สำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง กำลังตั้งงบประมาณปรับปรุง โดยเฉพาะในจุดที่เกษตรกรไม่อาจทำได้ด้วยตัวเอง

“เป็นโครงการเหลียวหลัง เราต้องเข้าไปปรับปรุงให้มีสภาพใช้งานเป็นปกติ ขณะเดียวกันก็ต้องเร่งส่งเสริมเกษตรกรให้มี
ส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำพร้อมกันไปด้วย” นายเอกจิต กล่าว

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 12 กันยายน 2556

กรมส่งเสริมแนะจีนคุมคุณภาพ พัฒนาผลิตเครื่องจักรกลเกษตร

นายวิทยา อธิปอนันต์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากคณะเจ้าหน้าที่กรมเครื่องจักรกลการเกษตร มณฑลเจียงซู สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้เดินทางเข้าหารือกับกรมส่งเสริมการเกษตรในช่วงต้นปีที่ผ่านมา เพื่อขอนำเสนอเครื่องจักรกลการเกษตรที่ผลิตได้ รวมทั้งศึกษาสถานภาพการใช้เครื่องจักรของไทย และขอคำแนะนำในการพัฒนา ปรับปรุงผลิตภัณฑ์ ซึ่งกรมได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับมาตรฐานเครื่องจักรกลของจีนที่เข้ามาขายในประเทศไทยเรื่องคุณภาพที่ไม่ได้มาตรฐาน และบริการหลังการขายที่มีน้อย ทำให้มีข้อจำกัดในการบำรุงรักษา และหาอะไหล่ทดแทน

ผลจากการหารือดังกล่าว กรมเครื่องจักรกลการเกษตรของจีน จึงได้เชิญกรมส่งเสริมการเกษตร เดินทางไปร่วมประชุมพัฒนาการผลิตเครื่องจักรกลที่มณฑลเจียงซู สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยกรมได้มอบหมายให้ นางดาเรศร์ กิตติโยภาส ผู้อำนวยการกองส่งเสริมวิศวกรรมเกษตร รับผิดชอบด้านเครื่องจักรกลการเกษตร เดินทางไปร่วมหารือแลกเปลี่ยนข้อมูลตามคำเชิญของหน่วยงานดังกล่าวในระหว่างวันที่ 4–6 สิงหาคมที่ผ่านมา

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวต่อว่า สำหรับประเด็นสำคัญในการหารือครั้งนี้ ทางการจีนชี้แจงนโยบายเกี่ยวกับการพัฒนาผู้ประกอบการผลิตเครื่องจักรกลการเกษตร ให้มีศักยภาพเพื่อสนับสนุนการทำการเกษตรของเกษตรกร เพิ่มสมรรถนะในการผลิตภาคการเกษตร และมีความพร้อมที่จะพัฒนาการเกษตรของอาเซียนร่วมกับประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ผู้แทนกรมส่งเสริมการเกษตร
ยังคงย้ำถึงการควบคุมคุณภาพการผลิตเครื่องจักรกลการเกษตรที่จะผลิตออกมาให้ได้มาตรฐาน เพื่อประโยชน์ต่อเกษตรกรและผู้ใช้เครื่องจักรกลการเกษตรของไทยและประเทศอาเซียนในอนาคต

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 12 กันยายน 2556

ขยายความร่วมมือสร้างเกษตรกร เกษตรจับมือศธ.และ5หน่วยงาน เข็น3หลักสูตรพัฒนาคนรุ่นใหม่

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงศึกษาธิการ ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการสร้างและพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ ในระยะเวลา 5 ปี โดยสิ้นสุดโครงการเมื่อเดือนมีนาคม 2556 นั้น คณะกรรมการบริหารโครงการสร้างและพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ มีมติเห็นชอบขยายระยะเวลาความร่วมมือในโครงการดังกล่าว โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2556 ซึ่งร่วมมือกับ 5 หน่วยงาน ได้แก่ 1.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2.มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 3.สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบังร่วมกับมหาวิทยาลัยนครพนม 4.สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และ 5.สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก.

โดยหน่วยงานดังกล่าว ได้ร่วมกันส่งเสริมพัฒนาการจัดการเรียนรู้ การส่งเสริมงานวิจัยการเกษตร โดยดำเนินการใน 3 หลักสูตร ได้แก่ 1.หลักสูตรการพัฒนาผู้นำเกษตรกรรุ่นใหม่ มีระยะเวลา 6 เดือน โดยการพึ่งพิงฐานความรู้ เพื่อสร้างความได้เปรียบในการผลิตและแข่งขันพร้อมทั้งแสวงหาโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ โดยกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้ถูกเลิกจ้าง หรือผู้ว่างงาน นักศึกษาที่จบการเกษตรเกษตรกรรม และบุคคลทั่วไป 2.หลักสูตรการพัฒนาเกษตรกรอย่างยั่งยืน มีระยะเวลา 4-6 เดือน กลุ่มเป้าหมายคือ เกษตรกรทั่วไป บุตรหลานเกษตรกรที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมพื้นที่ในเขต หรือนอกเขตปฏิรูปที่ดิน และ 3.หลักสูตรการพัฒนาเกษตรกรมืออาชีพยุคใหม่ ระดับ ปวช./ปวส. กลุ่มเป้าหมาย คือ นักศึกษาที่เข้าศึกษาเกษตรกรรมในสถาบันอาชีวศึกษา หรือยุวเกษตรกรสมัครเข้าเรียนในสถาบันอาชีวศึกษา

ทั้งนี้ เกษตรรุ่นใหม่ที่ผ่านการฝึกอบรมและผ่านการทดลองอาชีพ หากไม่มีที่ดินทำกินและประสงค์ทำการเกษตร ส.ป.ก.จะจัดที่ดินให้ทำประโยชน์ตามเงื่อนไข โดยแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ที่ดินของรัฐพิจารณามอบเอกสารสิทธิตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม รายละไม่เกิน 5 ไร่ และที่ดินของเอกชนพิจารณาทำสัญญาเช่าหรือเช่าซื้อ รายละไม่เกิน 5 ไร่ เมื่อครบตามกำหนด 6 เดือน และผ่านการประเมินเรียบร้อยแล้ว คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัด (คปจ.) จะพิจารณาให้เข้าทำประโยชน์ตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมต่อไป

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 11 กันยายน 2556

นักปกครองท้องถิ่น : กิตติ อดิสรณกุล นายกเทศมนตรีตำบลเนินขาม ‘เร่งพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อชีวิตเกษตรกร’

เทศบาลตำบลเนินขาม อ.เนินขาม จ.ชัยนาท ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มและที่ราบสูงเชิงเขา ประชาชนส่วนใหญ่จะมีอาชีพเกษตรกรรม โดยมีพื้นที่การเกษตรทั้งหมด 60,903 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าวซึ่งเป็นนาน้ำฝน 41,690 ไร่ แต่ด้วยสภาพพื้นที่ทำให้ ต.เนินขาม มีปัญหาเรื่องของแหล่งน้ำมาต่อเนื่องและยาวนาน ในฤดูฝนก็เกิดน้ำป่าไหลหลากท่วมพื้นที่การเกษตรเสียหาย ในหน้าแล้งก็ขาดน้ำในการอุปโภคบริโภค ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน และนายกิตติ ผู้เป็นลูกหลานชาวเนินขามก็ทราบถึงเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างดี ด้วยอยู่มาตั้งแต่เกิด

เมื่อมีโอกาสได้เข้ามาเป็นผู้บริหารของเทศบาลเนินขามการพัฒนาและหาแหล่งกักเก็บน้ำจึงเป็นนโยบายเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการคือ การปรับปรุงและพัฒนาแหล่งน้ำสาธารณะ โดยในปี 2556 นายกกิตติได้เร่งผลักดันโครงการหลักๆ ในการแก้ปัญหาเรื่องแหล่งน้ำ 2 โครงการ คือ โครงการขุดสระน้ำสาธารณะ ขนาด 25 ไร่ ในพื้นที่หมู่ที่ 14 (ดงปอ) โดยได้รับงบประมาณจากกรมทรัพยากรน้ำ จำนวน 10 ล้านบาท เพื่อรองรับน้ำจากเขาราวเทียนทอง ที่จะไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่ ต.เนินขาม สร้างความเสียหายพื้นที่การเกษตรทุกครั้งที่มีฝนตกหนัก ซึ่งนายกกิตติมั่นใจว่า หลังการขุดสร้างสระสำเร็จจะสามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้กับการเกษตรในหน้าแล้งได้ไม่น้อยกว่า 160,000 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะสามารถบรรเทาความเดือดร้อนให้ชาวบ้านได้กว่า 500 หลังคาเรือน ในหมู่ที่ 10, 14 และหมู่ที่ 15 ของตำบลเนินขามซึ่งคาดว่าโครงการจะสามารถแล้วเสร็จได้ภายในเดือนกันยายน 2556 นี้

อีกแหล่งน้ำหนึ่งที่นายกกิตติ กำลังเขียนโครงการเสนอ คือการขุดสระเพื่อกักเก็บน้ำขนาด 20 ไร่ ในพื้นที่หมู่ที่ 14 แห่งที่ 2 (ดงเหียง) ซึ่งหากเป็นไปตามแผนจะสามารถใช้งานได้ทันเก็บน้ำในฤดูฝนนี้ เพื่อเก็บน้ำไว้ใช้หน้าแล้งของปี 2557 ได้และประชาชนกว่า 70% ของเทศบาลตำบลเนินขามจะได้รับประโยชน์

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 11 กันยายน 2556

ธปท.พร้อมแทรกค่าบาท หลังตลาดผันผวน

ธปท.ลั่น พร้อมดูแลค่าเงินบาท หลังจากตลาดผันผวน ค่าเงิน-หุ้นฟื้นตามตลาดเอเชีย มั่นใจเศรษฐกิจจีน-แนวโน้มสงครามซีเรียยุติ

ดัชนีตลาดหลักทรัพย์และค่าเงินในภูมิภาคเอเชียส่วนใหญ่ทะยานขึ้นต่อเนื่อง หลังจากคลายความกังวลสหรัฐจะโจมตีซีเรีย ซึ่งหนุนปัจจัยบวกในเรื่องตัวเลขเศรษฐกิจจีนปรับตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งก่อนหน้านี้

นักวิเคราะห์กล่าวว่านักลงทุนมีความมั่นใจมากขึ้นในการซื้อสินทรัพย์เสี่ยง แต่ยังไม่ชัดเจนว่าเงินต่างชาติที่ไหลออกไปก่อนหน้านี้จากความกังวลธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะลดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) จะกลับเข้ามาในภูมิภาคอีกหรือไม่

ตลาดหุ้นบางแห่งในภูมิภาค เช่น อินโดนีเซีย ไทย มีแรงซื้อจากนักลงทุนต่างชาติเข้ามาหนาแน่น ในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมา

สำหรับสกุลเงินเอเชียแข็งส่วนใหญ่ปรับแข็งค่ารับข่าวดีเกี่ยวกับเศรษฐกิจและวิกฤติซีเรียมีแนวโน้มสงบลง โดยรูปีแข็งมากสุดในตลาดเกิดใหม่เอเชีย ขณะที่ข้อมูลจากจีนเพิ่มสัญญาณที่บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจจีนกำลังมีเสถียรภาพ

สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน เปิดเผยว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมพุ่งขึ้น 10.4% ต่อปีในเดือนส.ค. ซึ่งสูงกว่าที่คาดไว้ที่ 9.9% ส่วนยอดค้าปลีกพุ่งขึ้น 13.4% สูงกว่าที่คาดไว้ที่ 13.2%

ความเชื่อมั่นยังได้แรงหนุนจากการคลายความวิตกเกี่ยวกับการโจมตีทางทหารของสหรัฐต่อซีเรีย ซึ่งส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบร่วงลง ขณะที่ประธานาธิบดีบารัก โอบามา กล่าวว่า ข้อเสนอของรัสเซียเพื่อส่งมอบอาวุธเคมีของซีเรียให้อยู่ภายใต้การควบคุมขององค์กรระหว่างประเทศ "อาจจะถือเป็นข้อตกลงที่สำคัญ"

เปโซ พุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 3 สัปดาห์ จากแรงซื้อของกองทุน หลังจากการเปิดเผยตัวเลขส่งออกในเดือนก.ค. ที่สดใส ส่วนริงกิตดีดตัวขึ้นจากแรงซื้อคืน ปริมาณเงินทุนไหลเข้าตลาดหุ้นอย่างต่อเนื่อง และแรงซื้อของผู้ส่งออกหนุนวอนแข็งค่าแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.

ดอลลาร์ไต้หวัน พุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือน จากแรงซื้อหุ้นไต้หวันของสถาบันการเงินต่างประเทศ แต่เงินรูเปี๊ยะห์ร่วงลงเกือบ 3% แตะระดับต่ำสุด นับตั้งแต่เดือนเม.ย. 2552 จากแรงซื้อดอลลาร์ของบริษัทอินโดนีเซีย

สำหรับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ยังคงได้รับแรงกดดัน หลังจากตัวเลขการจ้างงานที่น่าผิดหวังของสหรัฐ ทำให้นักลงทุนไม่แน่ใจว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเริ่มต้นปรับลดขนาดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) ในการประชุมวันที่ 17-18 ก.ย. หรือไม่

ธปท.พร้อมแทรกแซงค่าเงินผันผวน

นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท. พร้อมแทรกแซงค่าเงินบาท เพื่อไม่ให้ค่าเงินบาทมีความผันผวนมากเกินไป จนส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ และยอมรับว่าที่ผ่านมา เข้าแทรกแซงค่าเงิน โดยสะท้อนผ่านระดับเงินสำรองระหว่างประเทศที่ปรับลดลง

"เงินสำรองระหว่างประเทศที่เห็นว่าลดลง มาจาก 2 เรื่อง คือ เรื่องของ Valuation กับ Intervention ซึ่งที่ผ่านมาเราไม่ปฏิเสธว่าเราไม่ได้ Intervene เพราะว่าในสถานการณ์ที่เงินบาทอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว หรือแม้แต่แข็งเร็ว ก็ไม่ใช่เรื่องดีทั้งนั้น" นางผ่องเพ็ญ กล่าว

สำหรับเงินสำรองระหว่างประเทศ ล่าสุด ณ วันที่ 30 ส.ค. ที่ผ่านมา อยู่ที่ 168,770.33 ล้านดอลลาร์ ลดลงจากช่วงปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ระดับ 181,640.57 ล้านดอลลาร์ หรือลดลง 12,870.24 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นการลดลงประมาณ 7.08%

เกาะติดผลประชุมเฟดใกล้ชิด

สำหรับการประชุมเฟด ในวันที่ 17-18 ก.ย. นี้ นางผ่องเพ็ญ กล่าวว่า ธปท.คงต้องติดตามดูสถานการณ์ดังกล่าวใกล้ชิด เพื่อดูมติเฟด เพราะมีความละเอียดอ่อน

"เรื่องนี้มีหลายมิติด้วยกัน คือ มีทั้งเรื่องจังหวะและสปีดที่เขาจะดำเนินการ เรารู้ว่าขณะนี้เขาปล่อยเงินออกมาเดือนละ 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ถามว่าเขาจะค่อยๆ ลดลงอย่างไร ลดลงเดือนละเท่าไร และมีช่วงเวลาการลดอย่างไร อีกทั้งการลดก็ต้องดูว่าลดในส่วนไหน ส่วนที่เป็นตราสารหนี้ของรัฐบาลสหรัฐ หรือส่วนที่เป็นเอ็มบีเอส (ตราสารที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยหนุนหลัง)" นางผ่องเพ็ญ กล่าว

อีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญ คือ การสื่อสารกับตลาด ซึ่งต้องดูด้วยว่า เฟดจะส่งสัญญาณอย่างไร และตลาดตีความในสัญญาณที่เฟดส่งออกมาอย่างไรเข้าใจตรงกันหรือไม่ เพราะอย่าลืมว่าเวลานี้ สภาพคล่องการเงินในโลกมีล้นมาก การตีความในสัญญาณของเฟดย่อมมีผลต่อการเคลื่อนย้ายของสภาพคล่องเหล่านี้

มั่นใจรับกระแสทุนไหลออกไหว

นอกจากนี้ นางผ่องเพ็ญ ยังกล่าวด้วยว่า ทรัพยากรที่ธปท.มีอยู่ในขณะนี้ ค่อนข้างมั่นใจว่าจะรับมือกับกระแสเงินทุนไหลออกได้ และโดยภาพรวมก็เชื่อว่า การไหลออกของเงินทุนเคลื่อนย้ายคงจะไม่สูงมากนัก เพราะด้วยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ยังเป็นที่สนใจของนักลงทุนระยะยาว จึงเชื่อว่าเงินทุนที่เข้ามาค่อนข้างมากในช่วงก่อนหน้านี้ หากจะออกไปก็คงไม่ได้กลับออกไปทั้งหมด

แม้ ธปท. จะมีทรัพยากรและเครื่องมือในการดูแลที่ค่อนข้างพร้อม แต่ก็อยากเตือนผู้ประกอบการให้ระมัดระวังในเรื่องเหล่านี้ด้วยเช่นกัน ไม่ควรเปิดสถานะเงินตราต่างประเทศโดยที่ไม่มีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไว้มากจนเกินไป

"คนที่มีหนี้ต่างประเทศและไม่มีการบริหารจัดการความเสี่ยงให้เหมาะ เวลาที่มี Out Flows มากๆ มันก็จะเป็นประเด็นกับเขา เพราะต้นทุนในรูปของเงินบาทก็จะเพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าจากประสบการณ์ในปี 2540 ก็ทำให้ผู้ประกอบการ รวมถึงสถาบันการเงินเอง มีความระมัดระวังในเรื่องเหล่านี้มากขึ้น" นางผ่องเพ็ญ กล่าว

รับขายสินทรัพย์สกุลดอลล์อุ้มบาท

ส่วนกรณีที่มีข่าวจากสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ว่า ธปท.ได้ขายตราสารหนี้ของรัฐบาลสหรัฐออกมากว่า 18,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อนำไปดูแลในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนนั้น นางผ่องเพ็ญ กล่าวว่า ตัวเลขที่ชัดเจนธปท.กำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบว่าเป็นข้อมูลที่ถูกต้องหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตามยอมรับว่า เวลาที่ ธปท. เข้าแทรกแซงในตลาดเงิน ก็ต้องขายสินทรัพย์ที่เป็นสกุลเงินดอลลาร์ออกไป ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติ

สำหรับสถานการณ์ในซีเรียนั้น เธอเชื่อว่า น่าจะเป็นเพียงปัจจัยเสี่ยงระยะสั้นเท่านั้น เพราะขณะนี้ดูเหมือนว่าประชาคมทั่วโลกไม่ต้องการให้สถานการณ์เศรษฐกิจที่ดูจะเริ่มฟื้นตัวขึ้น แต่มีปัจจัยมาทำให้ภาพดังกล่าวเปลี่ยนไป เชื่อว่าหลายประเทศก็คงอยากรักษาโมเมนตัมของการเติบโตให้อยู่ในระดับค่อยเป็นค่อยไป

"เราก็คิดในมุมบวก ว่า ทุกคนก็อยากให้ช่วยๆ กัน คือ อยากให้คุยกันได้ และมีทางออกที่ดีกว่าการจะใช้ความรุนแรง และสหรัฐเองก็มีปัญหาภายในของเขาอยู่ เร็วๆ นี้เขามีปัญหาเรื่องเพดานหนี้สาธารณะที่ต้องมีการเจรจากันอีกรอบ เขาเองก็คงไม่อยากต้องขยับเพดานหนี้ เพื่อไปลุยกับซีเรีย เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น ก็คงต้องตอบคำถามกันเยอะ" นางผ่องเพ็ญ กล่าว

สศค.ชี้ปัจจัยลบขณะนี้แค่ช่วงสั้น

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวปาฐกถาพิเศษทิศทางเศรษฐกิจไทยในงานสัมมนา SCB Investment Symposium 2013 โดยกล่าวว่า ปีนี้เศรษฐกิจไทยในภาพใหญ่คงโตได้ประมาณ 3.8-4% โดยปัจจัยหนุน คือ 1.เศรษฐกิจของประเทศขนาดใหญ่เริ่มฟื้นตัว อาทิ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และ ยุโรป 2.การท่องเที่ยวขยายตัวได้ดีเฉลี่ยมากกว่า 20% จากปีก่อน 3.อัตราการว่างงานในประเทศต่ำ หรือ 0.7% ของกำลังแรงงานรวม และ 4.ฐานะการคลังภาครัฐยังเอื้อต่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน

ปัญหาด้านการเมืองทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงความผันผวนจากเงินทุนไหลเข้า ถือเป็นความเสี่ยงระยะสั้นที่สำคัญต่อภาวะเศรษฐกิจไทย ทั้งนี้ ประเมินว่า เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาจะผันผวนอีกรอบหนึ่ง เพราะว่าเพดานการก่อหนี้จะอยู่ในระดับสูงในช่วงปลายเดือนต.ค. นี้ ซึ่งอาจจะทำให้เงินทุนไหลเข้าตลาดเกิดใหม่อีกครั้ง การเลือกตั้งในเยอรมนี ก็ยังเป็นประเด็นที่ต้องจับตามอง

นายเอกนิติ กล่าวว่า จากการประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยในระยะที่ผ่านมา จะพบว่า มีการเติบโตอย่างผันผวน เพราะว่าโครงสร้างเศรษฐกิจที่มีความไม่สมดุล กล่าวคือ พึ่งพาเครื่องยนต์จากการส่งออกเป็นหลัก โดยมีสัดส่วนถึง 73% ของ จีดีพี เมื่อเศรษฐกิจโลกมีปัญหา เศรษฐกิจไทยก็จะมีความผันผวน ขณะที่ การลงทุนของภาครัฐไม่ได้มีส่วนสนับสนุนมากนัก ปัจจุบัน การลงทุนของภาครัฐ มีสัดส่วนเพียง 5%

ต่างชาติซื้อหุ้น-ขายพันธบัตร

ส่วนภาพรวมตลาดหุ้นไทยวานนี้ (10 ก.ย.) ดัชนีปิดตลาดที่ระดับ 1,393.17 จุด เพิ่มขึ้น 8.86 จุด คิดเป็น 0.64% มูลค่าการซื้อขายรวม 7.06 หมื่นล้านบาท

โดยนักลงทุนต่างชาติมียอดซื้อสุทธิ 3.5 พันล้านบาท นักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิ 2.07 พันล้านบาท บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ ซื้อสุทธิ 1.23 พันล้านบาท ส่วนนักลงทุนทั่วไป ขายสุทธิ 6.83 พันล้านบาท

ขณะที่ การเคลื่อนไหวค่าเงินบาท เมื่อเวลา 15.00 น. ราคาอยู่ที่ 32.16 บาทต่อดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 0.03% จากวันก่อน 32.15 บาทต่อดอลลาร์ สำหรับราคาทองคำล่าสุด เมื่อเวลา 16.38 น. ราคาทองคำในตลาดโลกอยู่ที่ 1375 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ลดลง 5 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ส่วนราคาทองคำในประเทศ อยู่ที่ 20,850 บาทต่อบาททองคำ ลดลง 50 บาทต่อบาททองคำ

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย รายงานการซื้อขายวานนี้ รวม 109,520 ล้านบาท โดย Yield Curve แกว่งตัวในกรอบแคบๆ ประมาณ 1-2 bps. โดยนักลงทุนต่างชาติมีแรงขายในตราสารระยะสั้น ยอดขายสุทธิ (NET SELL) เท่ากับ 2,760 ล้านบาท

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 11 กันยายน 2556

กรมวิชาการเกษตรเร่งจัดโซนนิ่งพืชเศรษฐกิจรับ AEC เปิดจุดให้บริการ ณ ศูนย์บริการส่งออกแบบเบ็ดเสร็จ

กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินหน้าจัดโซนนิ่งเขตเพาะปลูกพืชอาหารและพลังงาน และเสริมองค์ความรู้เกษตรกรสู่การเป็น Smart Farmer เพื่อรับการแข่งขันยุคเปิดเสรีอาเซียน พร้อมส่งเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญ ร่วมบริการให้คำปรึกษาและออกหนังสือรับรองผู้ส่งออกสินค้าเกษตร ณ ศูนย์บริการส่งออกแบบเบ็ดเสร็จ ถนนรัชดาภิเษก

วันที่ 9 ก.ย.2556 จากมูลค่าส่งออกของสินค้าเกษตรกรรมและสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรในปี 2555 ซึ่งคิดเป็นเม็ดเงินกว่า 1,284,924.6 ล้านบาท เฉพาะในตลาดอาเซียน ไทยส่งออกสินค้าคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 267,733.7 ล้านบาท นับเป็นตัวเลขที่บ่งชี้ความสำคัญของภาคเกษตรต่อเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างดี นอกจากนี้ ความเข้มแข็งของภาคเกษตร ยังเป็นตัวชี้วัดความมั่นคงทางด้านอาหารและพลังงานทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค

กรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ปัจจุบันได้เดินหน้าปรับยุทธศาสตร์และเข็นมาตรการต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมและสร้างความเข้มแข็งแก่ภาคเกษตรเพื่อความได้เปรียบในอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืช การสร้างองค์ความรู้แก่เกษตรกร เพื่อก้าวสู่การเป็น Smart Farmer ที่มีทักษะและศักยภาพการแข่งขันสูงขึ้น การพัฒนางานวิจัยให้เกิดเทคโนโลยีการผลิตพืชที่มีประสิทธิภาพ สามารถลดต้นทุน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การพัฒนาพลังงานทดแทนจากพืช เช่น เอทานอลและไบโอดีเซล เพื่อลดการนำเข้าและการใช้พลังงานเชื้อเพลงฟอสซิล โดยตั้งเป้าหมายเพิ่มการใช้เอทานอลและไบโอดีเซลเป็นส่วนประกอบในน้ำมันเบนซินและดีเซลไม่น้อยกว่า 9 และ 4.5 ล้านลิตรต่อวัน ภายในปี 2556 ฯลฯ

อีกหนึ่งมาตรการที่สำคัญและคาดว่าจะสามารถเตรียมความพร้อมเกษตรกรให้รู้จักวางแผนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ นั่นคือการจัดระบบโซนนิ่งภาคเกษตร ปัจจุบัน พื้นที่เกษตรกรรมที่มีอยู่ประมาณ 150 ล้านไร่ทั่วประเทศ ได้มีการกำหนดเขตพื้นที่ที่เหมาะสมกับการปลูกพืชไปแล้ว 13 ชนิด สัตว์น้ำ 2 ชนิด ดังนั้น การจัดโซนนิ่ง จะเป็นแนวทางแก่เกษตรกรว่าควรปลูกพืช ทำปศุสัตว์ หรือเลี้ยงสัตว์น้ำชนิดไหนในพื้นที่ใดจึงจะเหมาะสมที่สุดและได้ผลผลิตสูงสุด

ล่าสุด กรมวิชาการเกษตร ได้ร่วมมือกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ร่วมบริการให้คำปรึกษา รวมถึงขอหนังสือรับรอง และขอจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบธุรกิจการค้าระหว่างประเทศสินค้าเกษตร ณ ศูนย์บริการส่งออกแบบเบ็ดเสร็จ ถนนรัชดาภิเษก
ซึ่งถือเป็นการร่วมสร้างเสริมศักยภาพการแข่งขันแก่ผู้ประกอบการค้าระหว่างประเทศของไทยแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว เพื่อสร้างความสะดวกสบาย และช่วยลดต้นทุนด้านเวลาและค่าใช้จ่ายแก่ผู้ประกอบการค้าระหว่างประเทศของไทย

ศูนย์บริการส่งออกแบบเบ็ดเสร็จ ซึ่งเปิดให้บริการวันจันทร์-ศุกร์ ระหว่างเวลา 08.30-16.30 น. ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่โทร. 0-2512-0123 ต่อ 800-802 อีเมล์ onestop@ditp.go.th หรือค้นหาข้อมูลบริการต่างๆ ได้ทางเว็บไซต์ http://onestopservice.ditp.go.th

จาก http://www.siamrath.co.th  วันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2556

สปก.ปฏิรูปการจัดสรรที่ทำกิน เล็งชงระเบียบจ่ายเงินชดเชย ให้เกษตรกรคืนสิทธิ์ในที่ดิน

ดร.วีระชัย นาควิบูลย์วงศ์ เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เปิดเผยว่า ส.ป.ก. เตรียมเสนอแนวทางการจ่ายเงินชดเชยให้แก่เกษตรกรที่คืนสิทธิ์การเข้าใช้ประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินของ ส.ป.ก. หลังจากร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศึกษามูลค่าที่ดินและสินทรัพย์ในเขตปฏิรูปที่ดินมาเป็นระยะเวลา 3 ปี เพื่อนำมาใช้เป็นเกณฑ์มาตรฐานในการจ่ายเงินชดเชย
คืนให้แก่เกษตรกร โดยหลักการเบื้องต้นเกษตรกรจะได้รับเงินชดเชยขั้นต่ำ 60% จากราคาประเมินของกรมธนารักษ์ ขณะเดียวกันเพื่อพัฒนากระบวนการปฏิรูปที่ดินตามแบบสากลที่ได้มาตรฐาน และลดปัญหาเกษตรกรนำที่ดิน ส.ป.ก. ไปขายต่อให้กับนายทุน ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ทั้งนี้ คาดว่าจะเร่งผลักดันกระบวนการดังกล่าวให้เสร็จภายในปีนี้และจะเริ่มใช้ระเบียบดังกล่าวภายในปี 2557

ทั้งนี้ ปัญหาของการจัดสรรที่ทำกินให้แก่เกษตรกร ส่วนหนึ่งมาจากไม่มีการหมุนเวียนการใช้ประโยชน์ที่ดินเท่าที่ควร เนื่องจากกรอบของกฎหมายเดิม ที่กำหนดให้ที่ดินตามเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 สามารถตกทอดเป็นมรดก หรือ คืนให้กับ ส.ป.ก. เท่านั้น ไม่สามารถจำหน่าย ขาย โอนได้ และอีกประเด็นสำคัญ คือ ไม่มีการจูงใจให้เกษตรกรที่ต้องการคืนสิทธิ์ในที่ดิน หลังจากเข้าใช้ประโยชน์และพัฒนาที่ดินจนประสบความสำเร็จแล้ว ทำให้เกิดการกระทำผิดกฎหมาย เชื่อว่า หาก ส.ป.ก.สามารถดำเนินการแก้ไขระเบียบการจ่ายเงินชดเชยให้แก่เกษตรกรที่ต้องการคืนสิทธิ์การใช้ประโยชน์ที่ดินได้ จะช่วยทำให้มีการกระจายหรือจัดสรรที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกรได้มากยิ่งขึ้น

เลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ดำเนินการศึกษามูลค่าที่ดินและสินทรัพย์ในเขตปฏิรูปที่ดินเสร็จแล้วทั้งสิ้น 8 จังหวัด และยังอยู่ระหว่างการศึกษาและจัดทำข้อมูลเพิ่มเติมในอีก 14 จังหวัด ในขณะที่ส.ป.ก. ได้เตรียมนำระเบียบการจ่ายเงินชดเชยดังกล่าวเข้าที่ประชุม คณะกรรมการกองทุน และอนุกรรมการด้านระเบียบและกฎหมายพิจารณาก่อนที่จะนำเข้าที่ประชุม.คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) และประกาศใช้อย่างเป็นทางการ

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าว ถือเป็นกลไกที่ทำให้เอกสารสิทธิ์ ส.ป.ก.4-01 และที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินมีมูลค่ามากขึ้น สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทั้งในด้านการขอสินเชื่อกับสถาบันทางการเงิน โดยเบื้องต้น ส.ป.ก. ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงกับทาง ธ.ก.ส. หรือในกรณีที่ต้องคืนสิทธิ์ให้กับ ส.ป.ก.ก็มีหลักเกณฑ์การจ่ายเงินชดเชยที่เหมาะสมให้แก่เกษตรกร สร้างกระบวนการปฏิรูปที่ดินให้เป็นมาตรฐานมากขึ้น

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2556

กลุ่มมิตรผลจับมือภาคีลงนามความร่วมมือต้านการใช้แรงงานเด็กในไร่อ้อย

กลุ่มมิตรผล ผสานความร่วมมือสมาคมชาวไร่อ้อย สหกรณ์ชาวไร่อ้อยและผู้รับเหมารายใหญ่เป็นภาคี ร่วมลงนามบรรลุข้อตกลงในการผลักดันให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลปราศจากการใช้แรงงานเด็ก

และการบังคับใช้แรงงานผิดกฎหมายทุกประเภท หลุดกรอบประเทศกลุ่มที่ 2 ภายใต้การจับตาของสหรัฐฯ พร้อมเดินหน้าปรับมาตรฐานข้อกำหนดว่าด้วยมาตรฐานแรงงาน 8 ขั้นเทียบชั้นระดับสากล มุ่งสร้างโอกาสขยายพื้นที่ส่งออกในเวทีการค้าโลก

นายกฤษฎา มนเทียรวิเชียรฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า ปมปัญหาการใช้แรงงานในภาคเกษตรกรรมอ้อยมาจากมุมมองที่แตกต่างในด้านการใช้ “แรงงานเด็ก” ซึ่งเกิดจากวิถีชีวิตของเกษตกรชาวไร่ที่มีความสัมพันธ์แบบครอบครัวใหญ่ สมาชิกในครอบครัวร่วมแรงช่วยกันทำงาน เพื่อลดภาระการจ้างแรงงาน ภาพการมีเด็กเข้าไปอยู่ในเขตไร่อ้อยจึงกลายเป็นประเด็นสำคัญ ที่ทำให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ถูกจับตามองเช่นเดียวกับกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่อยู่ในข่ายของการบังคับใช้แรงงานผิดกฎหมาย

การเร่งแก้ปัญหาการใช้แรงงานเด็กในไร่อ้อยอย่างจริงจัง จะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยผลักดันให้ภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทยได้รับการยอมรับจากนานาประเทศมากขึ้น และอาจส่งผลต่อการพิจารณาผ่อนปรนสถานะของประเทศไทยให้คงอยู่ในระดับกลุ่มที่ 2 บัญชีรายชื่อประเทศที่ต้องจับตามอง (Tier 2 Watch List) ในเรื่องการใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับ (List of Goods Produced by Child Labor or Forced Labor) โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกาต่อไป แต่หากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมองข้ามหรือละเลยต่อประเด็นปัญหาดังกล่าว เมื่อสิ้นสุดกรอบระยะเวลาตามเงื่อนไขข้อกำหนดประเทศไทยในปี 2556 นี้ เราอาจถูกลดอันดับให้อยู่ในกลุ่มประเทศ Tier 3 หรือเป็นประเทศที่ถูกมาตรการกีดกันด้านการค้าและความช่วยเหลืออื่นๆ จากสหรัฐอเมริกา

นายกฤษฎา กล่าวอีกว่า กลุ่มมิตรผล ในฐานะภาคเอกชนของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทย จึงได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเพื่อไม่สนับสนุนการใช้แรงงานเด็กในภาคเกษตรกรรมอ้อย ไม่เพียงแต่การบังคับใช้มาตรฐานด้านแรงงานตามที่กฎหมายกำหนด เช่น มาตรฐานแรงงานไทย (มรท.8001) หรือสูงกว่ากฎหมายกำหนด เช่น มาตรฐานความปลอดภัยในสถานประกอบการ (OHSAS 18001) ข้อกำหนดตามมาตรฐานของคู่ค้า แต่ยังได้ปรับมาตรฐานด้านแรงงานให้สูงขึ้น สอดรับกับระบบการรับรองมาตรฐานแรงงานที่มีการยอมรับกันในระดับสากล ครอบคลุมการใช้แรงงานในทุกโรงงานของกลุ่มมิตรผล ชาวไร่คู่สัญญา และผู้รับเหมาในด้านต่างๆ

การกำหนดมาตรฐานแรงงานที่เข้มงวดขึ้นเป็นกลไกสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหาแรงงานที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งกลุ่มมิตรผลได้ริเริ่มดำเนินการภายใต้มาตรฐานดังกล่าวใน 8 ลำดับขั้น ประกอบด้วย

1. การกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและหุ้นส่วน ผ่านการบรรลุข้อตกลงร่วมกันในการไม่ส่งเสริมการใช้แรงงานเด็กและแรงงานผิดกฏหมายระหว่างกลุ่มมิตรผล ภาครัฐ ชาวไร่ และผู้รับเหมาร่วมด้วยการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ในเขตโรงงานและชุมชนใกล้เคียงอย่างต่อเนื่อง

2. การประเมินความเสี่ยงและผลกระทบในแต่ละโรงงาน โดยหน่วยงานกำกับดูแล (Compliance Team) ก่อนจะได้รับการตรวจประเมินขั้นสุดท้ายจากหน่วยงานภายนอก

3. การจัดทำแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง ด้วยข้อกำหนดที่ชัดเจนในการห้ามใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับร่วมกับชาวไร่คู่สัญญาและผู้รับเหมา

4. การสื่อสารและฝึกอบรมตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกันในเรื่องการใช้แรงงานเด็กและแรงงานผิดกฎหมายให้กับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องให้เกิดความตระหนักในปัญหาที่เกิดขึ้น และช่วยป้องกันไม่ให้เกิด หรือแก้ไขได้ทันท่วงทีเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนด ร่วมด้วยการปรับหน่วยงานรับผิดชอบจากส่วนงานเดียวเป็นองค์รวม

5. การติดตามการปฏิบัติตามแนวทางที่ถูกต้อง โดยกำหนดให้ประเด็นปัญหาการใช้แรงงานเด็กและการบังคับใช้แรงงานผิดกฎหมายเป็นหนึ่งใน Key Risk Indicator (KRI) ในความรับผิดชอบของหน่วยงานกำกับดูแล ซึ่งต้องรายงานต่อคณะบริหารความเสี่ยงเป็นประจำทุกเดือน (Risk Management Committee)

6. การพยายามแก้ไขให้สามารถปฏิบัติตามแนวทางที่ถูกต้อง โดยการจัดทำแผนจัดการความเสี่ยงเพื่อการแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นอย่างทันท่วงที

7. การทบทวนที่เป็นอิสระ โดยการตรวจสอบของหน่วยงานราชการ (External Audit) เพื่อให้การรับรองการเป็นสถานประกอบกิจการที่ไม่มีการใช้แรงงานผิดกฎหมายและการบังคับใช้แรงงานผิดกฎหมาย

8. การรายงานผลการปฏิบัติงานอย่างสม่ำเสมอ

นอกจากนี้ กลุ่มมิตรผล ยังได้มีการกำหนดแผนงานเพื่อป้องกันการเกิดปัญหาการใช้แรงงานเด็กและการบังคับใช้แรงงานผิดกฎหมายในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในระยะยาว ด้วยการเร่งพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานให้มากขึ้น ควบคู่ไปกับการนำเครื่องมือเครื่องจักรสมัยใหม่ทางการเกษตรมาใช้ในทุกขั้นตอนการปลูกอ้อย เพื่อให้เกษตรกรได้ผลผลิตที่เพิ่มขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

“จุดเริ่มต้นของการบรรลุข้อตกลงร่วมกันในการไม่สนับสนุน ไม่ส่งเสริมและต่อต้านการใช้แรงงานเด็กและการบังคับใช้แรงงานผิดกฎหมายของหลายส่วนงานที่เกี่ยวข้องเป็นสัญญาณที่ดีในการผสานความร่วมมือกับภาครัฐในการป้องกันและร่วมกันแก้ไขปัญหาเรื่องแรงงานเด็ก รวมถึงแรงงานผิดกฎหมายทุกประเภทในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลอย่างจริงจัง การดำเนินงานของกลุ่มมิตรผลด้านการจัดการแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพเป็นอีกแนวทางหนึ่งสำหรับผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลที่จะช่วยสนับสนุนให้อุตสาหกรรมนี้ ปราศจากปัญหาดังกล่าว และเกิดการยอมรับในระดับสากลมากขึ้นในทุกๆ ด้าน ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยให้เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืนต่อไป” นายกฤษฎา กล่าวทิ้งท้าย

อย่างไรก็ตามเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา กลุ่มมิตรผลได้เข้าร่วมในพิธีประกาศเจตจำนงของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมกับสมาคมชาวไร่อ้อยทั่วประเทศในการไม่ส่งเสริมการใช้แรงงานเด็กและการบังคับใช้แรงงานผิดกฎหมายทุกประเภททั้งในไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลโดยมุ่งกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง เพื่อช่วยยกระดับภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทยให้ทัดเทียมกับระดับสากล

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 9 กันยายน 2556

8 สินค้าสดใสในเออีซี

หลายคนอาจจะทราบแล้วว่า สินค้าไทยที่ขายดีในอาเซียน 10 อันดับแรก ได้แก่ 1.น้ำมันสำเร็จรูป 2.รถยนต์และอุปกรณ์ส่วนประกอบ 3.เครื่อง จักรกลและส่วนประกอบ 4.น้ำตาลทราย 5.เคมีภัณฑ์ 6.เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 7.เม็ดพลาสติก 8.เหล็ก 9.แผงวงจรไฟฟ้า 10.ยางพารา

ซึ่งต้องยอมรับว่าสินค้าทั้ง 10 อันดับที่กล่าวมานั้น ล้วนอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่แทบทั้งสิ้น

แต่เออีซีคือการสร้างโอกาสให้กับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs รัฐบาลจึงวางนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมที่เป็นโอกาสของ SMEs และเป็นสินค้าที่คนไทยผลิตได้เอง ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดสินค้าเป้าหมายที่จะผลักดันเข้าสู่ตลาดเออีซีจำนวน 8 กลุ่มสินค้า ได้แก่ 1.อาหาร 2.ชิ้นส่วนยานยนต์ 3.ท่องเที่ยว 4.สุขภาพ/ความงาม 5.วัสดุก่อสร้าง 6.แฟชั่น 7.เฟอร์นิเจอร์ และ 8.เครื่องจักรกล ใครที่ทำธุรกิจอยู่ในอุตสาหกรรม 8 กลุ่มนี้ เปิดเออีซีเมื่อไหร่มีโอกาสโตทะลุเป้า

จาก http://www.siamturakij.com  วันที่ 9 กันยายน 2556

รัฐแก้ปัญหาสินค้าเกษตรไม่ขาดมุ่งการเมือง!ฉุดเกษตรไทย

ในที่สุดเสถียรภาพของรัฐบาลต้องกลับมาเจอกับความสั่นคลอนอีกครั้ง หลังจากปัญหาเรื่องค่าครองชีพที่พุ่งกระฉูดได้เขย่าเก้าอี้นายกฯ ปู “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” มาเป็นระยะ แต่คราวนี้ถึงคิวกลุ่มเกษตรกรที่เดือดร้อนจากราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ต่างเรียงหน้ากันเรียกร้องให้เข้ามาแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพราะหลายคนรายได้เริ่มหดหายไม่พอจ่ายกับรายได้ในแต่ละวัน

เมื่อการรวมกลุ่มเพื่อเรียกร้องกลับไม่ได้ตามที่หวัง...สุดท้ายต้องเกิดความโกลาหลไปทั่วประเทศ โดยเฉพาะชาวสวนยางพารา และปาล์มน้ำมันที่ลุกฮือประท้วงถึงขั้นปิดเส้นทางคมนาคม และยังลุกลามไปยังพืชผลทางการเกษตรอื่น ๆ

นครศรีฯ โมเดล

กระแสการประท้วงโดยปิดถนนที่จังหวัดนครศรีธรรมราชอาจกลายเป็น “นครโมเดล” ที่จะทำให้เกษตรกรกลุ่มอื่นและอาชีพอื่นทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องมันสำปะหลัง ข้าวโพด อ้อย หอมแดง และผลไม้ต่าง ๆ อีกมากมายนำมาเป็นต้นแบบเพื่อลุกขึ้นมาเรียกร้องให้รัฐบาลรับจำนำหรือประกันราคาในระดับสูง

เหมือนกับการรับจำนำข้าวที่รัฐบาลรับซื้อในราคา 15,000 บาทต่อตัน ซึ่งสูงกว่าราคาตลาดโลก 30-40% จนชาวนาหรือเจ้าของโรงสีหลายรายพลิกชีวิตจากคนเป็นหนี้มาเป็นเถ้าแก่ในพริบตาจนเป็นที่อิจฉาของเกษตรกรในอาชีพอื่น ๆ

แต่หลายคนหารู้ไม่ว่านโยบายการช่วยเหลือภาคเกษตรกรรมของรัฐบาลตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันอาจเป็นจุดเริ่มต้นของความหายนะประเทศได้ ยิ่งเฉพาะในยุครัฐบาลหลัง ๆ ที่จะให้ราคาสูงกว่าตลาดโลกซึ่งต่างจากในอดีตหากมีการรับจำนำสินค้าเกษตรรัฐบาลก็จะให้ราคา 80-90% ของราคาสินค้าเพื่อให้เกษตรกรได้มีเวลากลับมาไถ่ถอนหากสินค้าเกษตรมีราคาดีในภายหลัง พร้อมกับหาแนวทางที่พัฒนาภาคเกษตรให้เติบโตอย่างยั่งยืนเห็นได้จากแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแต่ละฉบับที่ผ่านมา

การเมืองทำผิดเพี้ยน

แต่ระยะหลังแนวทางการช่วยเหลือและพัฒนาภาคเกษตรกรรมกลับผิดเพี้ยนไปหมด แต่รัฐบาลกลับเลือกแนวทางระยะสั้น ๆ โดยวิธีการแทรกแซงทางมาตรการต่าง ๆ เช่น การรับซื้อผลผลิต การรับจำนำผลผลิต การประกันราคา เป็นต้น เพื่อหวังเพียงคะแนนเสียงทางการเมืองให้ตัวเองอยู่ในอำนาจนานที่สุด

ทั้งนี้นโยบายแทรกแซงตลาดสินค้าเกษตรต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ซึ่งเป็นเงินภาษีที่มาจากประชาชนทั้งนั้น และนับวันปัญหาเหล่านี้ก็ยิ่งขยายขอบเขตมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาเพิ่มขึ้นทุกปี จนหลายฝ่ายมองว่าจะมีรัฐบาลชุดไหนบ้างที่จะมีสมองในการแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำได้อย่างยั่งยืนไม่ใช่หว่านเม็ดเงินไปวัน ๆ

ละเลงงบประมาณ

เพียงแค่โครงการรับจำนำข้าว 3 ฤดูกาลหลังใช้เงินในโครงการไปแล้วประมาณ 7.2-7.3 แสนล้านบาทแล้ว และหากรวมวงเงินที่ครม.เพิ่งอนุมัติอีก 2 ฤดูการผลิต อีก 2.7 แสนล้านบาทรวมกันแล้วก็ใช้เงินพุ่งไปแล้ว 1 ล้านล้านบาท และคาดว่าใน 4 ปีของรัฐบาลยิ่งลักษณ์น่าจะทำให้ประเทศขาดทุนในโครงการนี้ไม่ต่ำกว่า 4 แสนล้านบาท

ทั้งนี้รัฐบาลคงเข้าใจว่าการแทรกแซงราคาในระดับที่สูงจะช่วยให้ราคาข้าวตลาดโลกสูงตามด้วย เพราะไทยคือผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลกสามารถสร้างพลังในการกำหนดทิศทางข้าวโลกได้ และคุณภาพชีวิตชาวนาก็อยู่ดีกินดีตามมาภายหลัง แต่ก็คิดผิดเพราะลืมไปไทยมีผลผลิตข้าวสารเพียง 4.3% ของปริมาณข้าวทั่วโลกที่มีปริมาณ 470 ล้านตันข้าวสาร

ขณะที่ “ยางพารา” ไทยเป็นผู้ผลิตรายใหญ่อันดับ 1 ของโลกและหากรวมกับอินโดนีเซียที่เป็นเบอร์ 2 ก็จะทำให้มีปริมาณยางพาราเกินครึ่งหนึ่งของผลผลิตปริมาณยางพาราทั้งหมดที่คาดว่ามีประมาณกว่า 10 ล้านตัน แต่สุดท้ายก็ควบคุมราคาไม่ได้ตามเคย ทั้ง ๆ ที่รัฐบาลทั้งสองประเทศน่าจะมีมาตรการเข้ามาดำเนินการได้

ในอดีตราคายางพาราเคยอยู่ในระดับสูง 180-190 บาทต่อกก. เพราะอานิสงส์ประเทศจีนที่มีความต้องการมากจากอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ผลิตรถยนต์ปีละ 17-18 ล้านคันแซงหน้าอเมริกาและญี่ปุ่นมาเป็นเบอร์ 1 ของโลกแทนแต่ในระยะหลังจีนเริ่มไปลงทุนและซื้อยางในประเทศลาว เวียดนาม กัมพูชา เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตและราคาที่ต่ำกว่าไทย

สุดท้ายนโยบายการรับซื้อยางพาราของรัฐบาลกว่า 2 แสนตันก็ล้มเหลวไม่เป็นท่าเช่นกันทั้ง ๆ ที่ใช้เงินในการแทรกแซง 2-3 หมื่นล้านบาทไปแล้วก็ตามแต่ก็ไม่สามารถผลักดันให้ราคายางอยู่เหนือในระดับ 100 บาทต่อกก.ขึ้นไปได้

“ปาล์มน้ำมัน” มีพื้นที่ผลิตรวมทั้งประเทศ 4 ล้านไร่ ผล ผลิตรวม 11-12 ล้านตัน แม้ปัจจุบันราคาจะปรับขึ้นมาบ้างในระดับกว่า 4 บาทต่อ กก. แต่ที่ชาวสวนยางเรียกร้องคือต้องการให้รัฐบาลประกันราคาไม่ให้ต่ำกว่า 4.5 บาทต่อ กก. และให้มีแนวทางแก้ปัญหาเรื่องราคาไม่ให้ผันผวนเหมือนกับโครงการรับจำนำ

“ข้าวโพด” รัฐบาลได้เห็นชอบในแนวทางการแทรกแซงราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปี 56/57 เพื่อให้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อยู่ในระดับ 7-9 บาทต่อ กก. พร้อมทั้งได้อนุมัติวงเงินกว่า 1,900 ล้านบาท ในการแทรกแซงราคาข้าวโพด โดยให้ภาคเอกชนเข้ารับซื้อข้าวโพดจากเกษตรกรในราคาที่อัตรารัฐบาลกำหนด จำนวน 1 แสนตันโดยส่วนต่าง

“อ้อย” มีแนวโน้มที่มีราคาลดลงเพราะน้ำตาลทรายในตลาดโลกอยู่ในระดับตกต่ำจากปริมาณทั่วโลกที่มีส่วนเกินจำนวนมาก โดยปัจจุบันไทยเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลทรายเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากบราซิล แต่ปัญหาของไทยคือมีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่า 1,100 บาทต่อตัน โดยราคานี้กองทุนอ้อยและน้ำตาลอุดหนุน 160 บาทต่อตัน จนทำให้กองทุนฯ ต้องเป็นหนี้เป็นสินไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท

ทั้งนี้หากรัฐบาลยังใช้นโยบายในการอุดหนุนราคาสินค้าเกษตรไปเรื่อย ๆ โดยไม่มีการเอาจริงเอาจังหรือทุ่มงบประมาณในการแก้ปัญหาระยะยาวก็จะยิ่งทำให้ภาคเกษตรของไทยยิ่งตกต่ำและสุดท้ายก็ไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้ และการพัฒนาการเกษตรแบบยั่งยืนก็ไม่สามารถสัมฤทธิ์ผลตามที่แผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้กำหนดไว้

เห็นได้จากผลจากการเข้าไปอุดหนุนราคาพืชผลทางการเกษตรทำให้ราคาสินค้าเกษตรไทยมีราคาแพงกว่าคู่แข่งเกือบทุกตัว เช่น ข้าวที่มีราคาสูงกว่าคู่แข่ง 120-150 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ยาง พาราแพงกว่า 7-10 บาทต่อ กก. รวมถึงสินค้าอื่น ๆ ด้วย

สาเหตุที่พืชผลทางการเกษตรที่ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นมาจากหลาย ๆ ปัจจัย เช่น การเข้าไปแทรกแซงราคาสินค้าของรัฐบาล, ต้นทุนการผลิตสูงแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปุ๋ย ยาฆ่าวัชพืช, ค่าแรง และราคาเช่าหรือราคาซื้อขายที่ทำกินอยู่ในระดับสูง เป็นต้น

แนะศึกษาเวียดนาม

ดังนั้นหากมีการบูรณาการอย่างจริงจังในการแก้ปัญหาพร้อมทั้งทุ่มงบประมาณตรงนี้ให้มาก ๆ แทนที่จะทุ่มเงินกับการรับจำนำสินค้าเกษตรเป็นหลัก ทั้งเรื่องการส่งเสริมเขตโซนนิ่งสินค้าเกษตรซึ่งมีการพูดกันมาหลายปีแต่ไม่มีรูปธรรมชัดเจน

พร้อมทั้งมีการพัฒนาเมล็ดพันธ์พืชให้มีคุณภาพ, การลงทุนระบบชลประทานให้ครอบคลุมพื้นที่เกษตรมากขึ้น, ลดต้นทุนการผลิตต่อไร่ลง, ลดการใช้ปุ๋ยเคมี, ลดการใช้ยาปราบวัชพืช, การส่งเสริมเพิ่มผลผลิตต่อไร่ รวมถึงการเข้าไปศึกษาประเทศเพื่อนบ้านถึงสาเหตุที่จำหน่ายราคาสินค้าที่ต่ำกว่าไทยแต่เกษตรกรไม่มีปัญหาขาดทุนเหมือนกับไทย

โดยเฉพาะเวียดนามที่พบว่ารัฐบาลเข้าไปดูแลต้นทุนการผลิตและการจำหน่ายแบบครบวงจรจนสามารถส่งออกข้าวแซงหน้าไทยไปแล้ว และในปีฤดูผลิต 56/57 คาดว่าเวียดนามจะผลิตข้าวได้ 27 ล้านตัน มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวเพียง 49 ล้านไร่ ต่างจากไทยที่มีพื้นที่เพาะปลูก 70 ล้านไร่ ผลิตข้าวเปลือกได้ 21 ล้านตัน

ขณะเดียวกันเวียดนามมีต้น ทุนการปลูก และผลิตข้าวต่ำกว่าไทยกว่า 15% แต่ได้กำไรสูงกว่าไทยมาก พร้อมทั้งมีการ ส่งเสริมให้ชาวนา ลดปริมาณเมล็ดให้เหมาะสมต่อพื้นที่เพาะปลูก, ลดการใช้ปุ๋ยเคมี และลดการใช้ยาปราบศัตรูพืช รวมทั้งการเพิ่มผลผลิต, เพิ่มคุณภาพ และเพิ่มกำไร ซึ่งจากนโยบายดังกล่าวทำให้ชาวนาเวียดนามมีกำไรเพิ่มขึ้น 15-20%

ประการสุด ท้ายรัฐบาลเวียดนาม ให้การอุดหนุนลดต้นทุนการผลิต ยกเว้นภาษี ค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ย และตั้งกองทุนช่วยเหลือ รวมถึงบังคับให้พ่อค้าคนกลางที่จะรับซื้อข้าวจากชาวนา ต้องเหลือกำไรให้ชาวนาอย่างน้อย 30% ของต้นทุน เป็นต้น

การใช้นโยบายแทรกแซงตลาดสินค้าเกษตรบ่อยครั้งเพื่อแก้ปัญหาระยะสั้น ทำให้เกษตรกรเชื่อว่ารัฐบาลจะต้องเข้ามาช่วยเหลือทุกครั้งที่มีปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ จนไม่มีใครสนใจหาวิธีป้องกันความเสี่ยงหรือวางแผนเพิ่มผลผลิตอย่างจริงจัง สุดท้ายรัฐบาลไทยก็ต้องนำภาษีมาละเลงต่อเนื่อง.

มนัส แวววันจิตร

.............................................................................................................................................

***จี้วางยุทธศาสตร์เกษตร***

“ธนิต โสรัตน์” รองประธานคณะทำงานเศรษฐกิจมหภาค การเงิน การคลัง สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) ระบุว่า ในมุมมองของภาคเอกชนเอง ต้องการให้รัฐบาลเร่งจัดการเรื่องระบบโซนนิ่งสินค้าเกษตร พร้อมทั้งวางยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคเกษตรกรรมทั้งระบบให้ชัดเจนก่อนที่ระยะยาวจะเกิดปัญหาใหญ่ต่อระบบเศรษฐกิจไทย โดยที่ผ่านมาผู้ส่งออกและผู้รับซื้อข้าวเปลือกได้ให้ข้อมูลว่านโยบายการจำนำข้าวทำให้ไทยไม่สามารถพัฒนาคุณภาพข้าวให้ดีขึ้น สูงขึ้น หรือมีมูลค่าเพิ่มขึ้นได้ และราคาที่สูงเกินตลาดโลกทำให้ผู้ส่งออกไม่สามารถซื้อข้าวจากรัฐบาลได้ ขณะเดียวกันผลกระทบจากราคาพืชผลทางการเกษตรที่ตกต่ำได้ทำให้เศรษฐกิจของประเทศชะลอตัวตามด้วย เช่น พื้นที่ภาคใต้ที่เกษตรกรเจอปัญหายางพาราและปาล์มตกต่ำ ทำให้ภาคธุรกิจไม่สามารถจำหน่ายสินค้าได้ด้วย เพราะชาวบ้านลดการใช้จ่าย ดังนั้นหากเร่งแปรรูปสินค้าเกษตรในการเพิ่มมูลค่าก็จะช่วยแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตร

“ปาล์มน้ำมันก็มีสต๊อกสูง ขณะที่ต้นทุนการผลิตสูงและผลผลิตต่อไร่ต่ำจึงไม่สามารถแข่งขันกับมาเลเซียได้ ตรงนี้รัฐต้องเร่งสนับสนุนการนำวัตถุดิบไปใช้เป็นพลังงานทดแทนโดยเฉพาะการเพิ่มสัดส่วนผสมไบโอดีเซลเป็นบี 10 เป็นต้น”

***ชาวนาเห็นใจสวนยาง***

“วิเชียร พวงลำเจียก” นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ยืนยันว่า ชาวนาทั่วประเทศจะยังไม่เดินขบวนประท้วงรัฐบาลเพื่อเรียกร้องให้เพิ่มราคารับจำนำข้าว แม้บางส่วนไม่พอใจราคารับจำนำที่ตันละ 13,000 บาท ซึ่งระดับราคาดังกล่าว ยังดีกว่าที่รัฐบาลไม่ทำโครงการรับจำนำต่อ แต่ขณะเดียวกันต้องการให้รัฐบาลดูแลปัจจัยการผลิตอื่น ๆ ด้วย โดยเฉพาะปุ๋ยเคมี ที่มีราคาแพงมาก และทำให้ต้นทุนการผลิตของชาวนาเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามไม่ต้องการให้เปรียบเทียบมาตรการช่วยเหลือชาวนาผู้ปลูกข้าวกับชาวสวนยางพารา เพราะชาวนาเองก็เห็นใจชาวสวนยาง ไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้งขึ้น เนื่องจากเป็นประชาชนที่อยู่ในภาคเกษตรเช่นเดียวกัน เมื่อเดือดร้อนต้องขอให้รัฐเข้ามาดูแลแก้ปัญหา ที่ผ่านมาถึงแม้ชาวนาจะได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลด้วยงบประมาณค่อนข้างมาก แต่เป็นเพราะชาวนามีจำนวนมากถึง 3.7 ล้านครัวเรือน ซึ่งมากกว่าเกษตรกรกลุ่มอื่น ๆ

ทั้งนี้ต้องการขอให้กรมการค้าภายใน กำกับดูแลการจำหน่ายวัสดุทางการเกษตร เช่น ยาฆ่าแมลง หรือปุ๋ยเคมี ที่ปรับราคาสูงขึ้นไปก่อนหน้านี้ เพื่อช่วยเหลือชาวนาอีกทางหนึ่งด้วย

***กระทุ้งยกเลิกนโยบายจำนำ***

“นิพนธ์ พัวพงศกร” นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มองว่า รัฐบาลควรยกเลิกโครงการรับจำนำข้าว แล้วหามาตรการอื่น ๆ ในการช่วยเหลือเกษตรกรแทน โดยนำรูปแบบจากต่างประเทศมาปรับใช้ เช่น ในสหรัฐและเกาหลีใต้ ที่รัฐบาลจ่ายชดเชยให้เกษตรกร 70-80% ของส่วนต่างระหว่างราคาเป้าหมายกับราคาตลาด โดยใช้วิธีการกำหนดราคาเป้าหมายจาก 3 ปัจจัย ประกอบด้วย ราคาตลาด การชดเชยโดยตรง และความผันผวนของราคา ภายใต้ค่าเฉลี่ย 3-5 ปีในอดีต ขณะเดียวกันก็ต้องแนะนำให้มีการจัดทำระบบประกันภัยพืชผลทางการเกษตรควบคู่กันไปด้วย โดยที่ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือด้านเบี้ยประกันส่วนหนึ่งให้กับเกษตรกร และออกค่าใช้จ่ายบางส่วนให้กับบริษัทประกันภัยต่าง ๆ ด้วย

ส่วนการระบายข้าวคงค้างในสต๊อกของรัฐนั้น ควรเน้นการขายข้าวคุณภาพดี ผ่านช่องทางตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือ เอเฟท ที่ในอดีตเคยนำวิธีการนี้มาใช้และได้ผลดีมาแล้ว อย่างไรก็ตามในปัจจุบันบรรดากลุ่มพ่อค้ากำลังจ้องที่จะกดราคาข้าวไทยให้ต่ำลงเพราะรู้ว่ามีในสต๊อกจำนวนมาก ดังนั้นหากข้าวฤดูใหม่ออกมาควรระบายข้าวใหม่ก่อนส่วนข้าวเก่าค่อยมาหาวิธีการกันต่อไป

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 9 กันยายน 2556

เกษตรดันตั้ง‘สหกรณ์อาเซียน’ เชื่อมประสานเครือข่ายภูมิภาค-เตรียมพร้อมบุคลากรรองรับเปิดประชาคม

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในอีก 2 ปีข้างหน้า จะเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน อย่างเป็นทางการ ปัจจุบันขบวนการสหกรณ์ไทยมีทั้งสิ้น 8,087 แห่ง มีสมาชิกสหกรณ์รวมกันทุกประเภท จำนวน 11.11 ล้านคน และมีปริมาณธุรกิจที่ดำเนินการ ทั้งการรับฝากเงิน ให้เงินกู้ จัดหาสินค้ามาจำหน่าย รวบรวมผลผลิต แปรรูปผลผลิตและธุรกิจบริการ รวมมูลค่าประมาณ 2.07 ล้านล้านบาท อาจได้รับผลกระทบทั้งที่เป็นปัจจัยด้านบวกและด้านลบ ดังนั้น กรมส่งเสริมสหกรณ์ จึงได้เตรียมความพร้อมทั้งบุคลากรของกรมส่งเสริมสหกรณ์ และของขบวนการสหกรณ์มาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะการเน้นย้ำให้สหกรณ์ยึดมั่นในอุดมการณ์ หลักการ และวิธีการสหกรณ์อย่างเหนียวแน่น เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันต่อสิ่งที่อาจจะมากระทบต่อการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ในอนาคต

พร้อมทั้งดำเนินการในส่วนที่จะพัฒนาสหกรณ์ไทยให้ก้าวสู่เวที AEC และเวทีโลกด้วยการนำเสนอคณะรัฐมนตรีประกาศให้ “การสหกรณ์เป็นวาระแห่งชาติ” โดยความร่วมมือจากขบวนการสหกรณ์และผู้เกี่ยวข้องจากหลายองค์กรทั้งในภาครัฐและเอกชน ซึ่งขณะนี้มีความคืบหน้าในการดำเนินงานเป็นไปตามแผนการที่ตั้งไว้ ในขณะเดียวกันได้มีการจัดตั้ง “กลุ่มสหกรณ์อาเซียน” และมอบหมายให้ นายจิตรกร สามประดิษฐ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นผู้กำกับดูแล ซึ่งมีภารกิจหลัก 2 ด้าน คือ งานประสานงานสหกรณ์ในภูมิภาคอาเซียน และงานฝึกอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากรสหกรณ์ในภูมิภาคอาเซียน

อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้จัดทำศูนย์ฝึกอบรมการสหกรณ์อาเซียนที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งต่อจากนี้จะใช้สำหรับอบรมกรรมการ ผู้จัดการ สมาชิกสหกรณ์ให้กับประเทศในอาเซียนและนอกอาเซียนด้วย จะทำเป็น International โดยจะมีการเสนอหัวข้อหลักสูตรการจัดอบรมว่าควรมีหัวข้ออะไรบ้าง และจะขอความเห็นชอบจากประเทศสมาชิกอาเซียนมาร่วมนำเสนอหลักสูตรที่ต้องการจะเข้าอบรม พร้อมทั้งจะมีการแลกเปลี่ยนวิทยากรซึ่งกันและกันในประเทศอาเซียน ขณะนี้เชิญอาจารย์จาก COOPERATIVE COLLEGE OF MALAYSIA ซึ่งเป็นวิทยาลัยที่สอนด้านการสหกรณ์ของมาเลเซียมาร่วมเป็นวิทยากรให้กับศูนย์อบรมสหกรณ์อาเซียนด้วย

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 9 กันยายน 2556

กรมส่งเสริมฯคัดเลือก3ผลงาน เสนอเวทีวิจัยสร้างการต่อยอด

นายวิทยา อธิปอนันต์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้คัดเลือกผลงานวิชาการเข้าร่วมนำเสนอในมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2556 หรือ Thailand Research Expo2013 ระหว่างวันที่ 23-27 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้จัดขึ้นเพื่อนำเสนอผลงานของนักวิจัยไทยทั่วประเทศ

โดยในภาคบรรยายมีการนำเสนอ 2 ผลงาน คือ 1.แนวทางการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยและได้มาตรฐาน GAP ข้าวและพืชอื่นที่มีประสิทธิผลในจังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นการถอดบทเรียนวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศของเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรและเกษตรกร แล้วนำบทเรียนไปขยายผลการดำเนินงานและเกิดการพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรของเกษตรกรให้ได้รับใบรับรอง GAP เพิ่มขึ้น 2.บทเรียนการดำเนินโครงการจัดระบบพิเศษเฉพาะพื้นที่มันสำปะหลัง เพื่อพัฒนารูปแบบการเพิ่มขีดความสามารถของเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังในการบริหารจัดการการผลิตและการตลาดด้วยตนเอง

ภาคนิทรรศการ มีการนำเสนอผลงานเรื่อง “นวัตกรรมการส่งเสริมการเกษตรยุคใหม่” ซึ่งเป็นผลงานการพัฒนาฐานข้อมูลกลาง สำหรับสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ในการส่งเสริมการเกษตรแก่เกษตรกรอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยบูรณาการฐานข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการเกษตรภายใต้ความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในการเชื่อมโยงข้อมูล จัดทำเป็นฐานข้อมูลกลางด้านการส่งเสริมการเกษตร ซึ่งมีการตรวจสอบยืนยันความถูกต้องของข้อมูลรายบุคคลกับฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรจากกรมการปกครอง

“กรมส่งเสริมการเกษตรหวังว่า ผลงานที่คัดเลือกไปนำเสนอทั้ง 3 เรื่อง จะเป็นประโยชน์กับหน่วยงานและนักวิจัยอื่นๆ ในการนำข้อมูลไปศึกษาวิเคราะห์เพื่อใช้ประโยชน์ในหน่วยงาน หรือไปต่อยอดสร้างผลงานชิ้นอื่นๆ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศต่อไป” นายวิทยา กล่าว

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 9 กันยายน 2556

ส.ป.ก.ปฏิรูปที่ดินครั้งใหญ่จัดสรรที่ทำกินให้เกษตรกร

ดร.วีระชัย นาควิบูลย์วงศ์ เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เปิดเผยว่า ส.ป.ก. ได้เตรียมเสนอแนวทางการจ่ายเงินชดเชยให้แก่เกษตรกรที่คืนสิทธิการเข้าใช้ประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินของ ส.ป.ก.หลังจากที่ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศึกษามูลค่าที่ดินและสินทรัพย์ในเขตปฏิรูปที่ดินมาเป็นระยะเวลา 3 ปี เพื่อนำมาใช้เป็นเกณฑ์มาตรฐานในการจ่ายเงินชดเชยคืนให้แก่เกษตรกรโดยหลักการเบื้องต้นเกษตรกรจะได้รับเงินชดเชยขั้นต่ำ 60% จากราคาประเมินของกรมธนารักษ์ ขณะเดียวกันเพื่อพัฒนากระบวนการปฏิรูปที่ดินตามแบบสากลที่ได้มาตรฐาน และลดปัญหาเกษตรกรนำที่ดิน ส.ป.ก.ไปขายต่อให้กับนายทุน ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ทั้งนี้ คาดว่าจะเร่งผลักดันกระบวนการดังกล่าวให้เสร็จภายในปีนี้และจะเริ่มใช้ระเบียบดังกล่าวภายในปี 2557

ทั้งนี้ ปัญหาของการจัดสรรที่ทำกิน ให้แก่เกษตรกร ส่วนหนึ่งมาจากไม่มีการหมุนเวียนการใช้ประโยชน์ที่ดินเท่าที่ควร เนื่องจากกรอบของกฎหมายเดิม ที่กำหนดให้ที่ดินตามเอกสาร สิทธิ ส.ป.ก.4-01 สามารถตกทอดเป็นมรดกหรือคืนให้กับ ส.ป.ก. เท่านั้น ไม่สามารถจำหน่าย ขาย โอนได้ และอีกประเด็นสำคัญ คือ ไม่มีการจูงใจให้เกษตรกร ที่ต้องการคืนสิทธิในที่ดิน หลังจากเข้าใช้ประโยชน์และพัฒนาที่ดินจนประสบความสำเร็จแล้ว ทำให้เกิดการกระทำผิดกฎหมาย เชื่อว่าหาก ส.ป.ก.สามารถดำเนินการแก้ไขระเบียบการจ่ายเงินชดเชยให้แก่เกษตรกรที่ต้องการคืนสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดินได้ จะช่วยทำให้มีการกระจายหรือจัดสรรที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกรได้มากยิ่งขึ้น.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 9 กันยายน 2556

ชงรัฐแก้ส่งออกวางกรอบเวลาอุ้มสินค้าเกษตร

สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจ ฯ ระดมความคิดเห็นผู้ประกอบการ 4 ภาค เตรียมเสนอครม.กลางเดือนนี้ ห่วงศก.โลกฉุดส่งออกไทยระยะยาว หลัง 7 เดือนขยายเพียง 0.6% ส่งออกกุ้งแช่แข็งและแปรรูป เดี้ยงหนักสุดติดลบ 39.87 % รองลงมาเป็นน้ำตาลและยาง ขณะที่อุตสาหกรรมเซรามิก ปิดกิจการแล้ว 30 % จากไม่มีออร์เดอร์

ชี้เหตุจากต้นทุนสูงแข่งไม่ได้-ขาดแคลนแรงงาน แนะรัฐรอบคอบแทรกแซงพืชเกษตรควรวางกรอบเวลา-ปรับโครงสร้างราคาให้แข่งตลาดโลก พร้อมหนุนเทคโนโลยีการผลิตทดแทน

นายธนิต โสรัตน์ ในฐานะรองประธานคณะทำงานเศรษฐกิจมหาภาค การเงิน การคลัง สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่าจากปัจจัยเศรษฐกิจโลกที่ชะลอ ส่งผลต่อภาคส่งออกไทยในช่วง 7 เดือน (มกราคม-กรกฎาคม 2556) อย่างรุนแรง โดยส่งออกในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐฯขยายตัวเพียง 0.6 % หรือที่มูลค่า 132,368 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มจากช่วงเดียวกันที่ 131,584 แสนดอลลาร์สหรัฐฯเล็กน้อย แต่หากคิดในรูปของเงินบาทจะติดลบถึง 3.7 % จากเป้าหมายส่งออกทั้งปีที่กระทรวงพาณิชย์วางไว้วางจะขยายเพิ่ม 7-7.5 %

จากผลกระทบของภาคส่งออก ทางสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจฯ ได้จัดรับฟังความคิดเห็นผู้ประกอบการ ถึงแนวทางการปรับตัวของภาคส่งออกด้านอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมทั้ง 4 ภาคในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา พบว่ากรณีของยางพาราซึ่งมีพื้นที่ปลูกยางอยู่ประมาณ 18.7 ล้านไร่ทั่วประเทศ มีเกษตรกรชาวสวนยางประมาณ 1.8 ล้านราย ช่วง 7 เดือนที่ผ่านมียอดส่งออก 3.2 ล้านตัน เป็นประเทศส่งออกยางอันดับ 1 ของโลก แต่ที่ผ่านมาการส่งออกลดลง เพราะปริมาณการสั่งซื้อจากทางทั้งยุโรปและจีนลดลง เนื่องจากราคายางไทยมีราคาสูง จึงได้หันไปซื้อจากอินโดนีเซีย ที่มีราคาถูกกว่าไทย 7-10 บาทต่อกิโลกรัมแทน

อีกทั้งจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของไทย ได้หันมาปลูกยางพาราเพิ่มมากขึ้น และได้ขยายพื้นที่การปลูกยางมายัง สปป.ลาวและเมียนมาร์ จะเป็นปัญหาให้ปริมาณยางในตลาดโลกล้นมากขึ้นในช่วง 2 ปีนี้ ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาให้ราคายางของไทยมีปัญหามากขึ้น โดยผู้ประกอบการสะท้อนให้เห็นว่าจากภาวะที่เกิดขึ้นจะส่งผลให้การส่งออกยางของไทยเฉลี่ยในปีนี้จะติดลบอยู่ประมาณ 13-15 % ดังนั้นการแก้ปัญหาราคายางในประเทศจะต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง หากจะแทรกแซงราคาควรมีกรอบเวลาที่ชัดเจน

ขณะที่อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล แนวโน้มราคาน้ำตาลทรายโลกปรับตัวลดลงจากส่วนเกินที่ยังอยู่ในระดับสูง จากการส่งออกของบราซิลและเม็กซิโก ซึ่งจะส่งผลให้ในอนาคตราคาอ้อยมีทิศทางปรับตัวลดลงอีก และจะกระทบต่อปริมาณการส่งออกน้ำตาล เนื่องจากมีราคาสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านกว่า 10 บาทต่อกิโลกรัม ดังนั้น สิ่งที่ผู้ประกอบการอยากให้รัฐบาล ส่งเสริมนำน้ำตาลทรายไปแปรรูปเป็นโมลาสหรือ กากน้ำตาลไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ พลังงาน ให้มากขึ้นแทนที่จะส่งในรูปน้ำตาลเพียงอย่างเดียว รวมถึงการจัดโซนนิ่งพื้นที่เพาะปลูกอ้อยด้วย

ส่วนการส่งออกข้าว ผู้ประกอบการชี้ให้เห็นว่าโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล เป็นปัญหาโครงสร้างทั้งระบบที่มีการบิดเบือนราคา ผู้ส่งออกรายย่อยไม่สามารถซื้อข้าวเพื่อไปส่งออกได้ เพราะต้องผ่านการประมูลซื้อจากรัฐบาลโดยตรงทำให้มีต้นทุนสูง ผู้ส่งออกจะหันไปซื้อข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านส่งออกแทน เนื่องจากมีราคาถูกกว่า 120-150 บาทต่อตัน ซึ่งรัฐบาลจะต้องไปแก้โครงสร้างราคาข้าวลงมาเพื่อให้สามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้

นายธนิต กล่าวเสริมอีกว่า สำหรับอุตสาหกรรมเซรามิก ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอีอยู่ในภาคเหนือ พบว่า ปัญหาการส่งออกที่ชะลอตัว เกิดจากการลดสั่งออร์เดอร์ของประเทศคู่ค้าจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยเฉพาะจังหวัดลำปางได้มีโรงงานปิดตัวไปแล้ว 20-30 % จากที่มีอยู่กว่า 300 ราย และโรงงานที่เหลือได้ลดกำลงผลิตลง สิ่งที่ผู้ประกอบการอยากเห็นรัฐบาลเข้ามาช่วยสนับสนุนในด้านเทคโนโลยีการผลิตเพื่อทดแทนแรงงาน เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นไม่ว่าจะเป็นค่าแรง ราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ไม่สามารถแข่งขันได้

รวมถึงหัตถอุตสาหรรม ที่ส่วนใหญ่เป็นรายย่อย การส่งออกชะลอลง 30-50 % เกิดจากตลาดมีการชะลอตัว ขณะที่ต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะค่าแรงที่สูงขึ้น ส่วนอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากปัจจัยเศรษฐกิจโลกก็ตาม แต่ยังถือว่าเป็นปัจจัยรองเมื่อเทียบกับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น จากค่าแรง การขาดแคลนแรงงาน ทำให้ต้องย้ายฐานการผลิตไปเพื่อนบ้านแทน

ทั้งนี้ จากการรวบรวมปัญหาการส่งออกของผู้ประกอบการทั้ง 4 ภาค พบว่า เป็นผลมาจากต้นทุนการผลิตของไทยที่สูงกว่าคู่แข่ง การขาดแคลนแรงงาน การขาดแคลนวัตถุดิบและปัจจัยการผลิต ประมาณการผลิตส่วนเกินสูง สต๊อกสูงโดยเฉพาะสินค้าเกษตร รวมทั้งมาตรการของรัฐจากนโยบายรับจำนำ ส่งผลต่อการบิดเบือนราคา

ดังนั้น สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องการ อยากให้รัฐบาลเข้ามาดูแลเรื่องกลไกต้นทุนการผลิต การปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี การเพิ่มสภาพคล่อง ขณะที่มองว่ากระทรวงพาณิชย์ไม่สามารถบริหารจัดการส่งออกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควรจะมีการตั้งคณะกรรมการโลจิสติกส์แห่งชาติ มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ขึ้นมาเพื่อให้เกิดการบูรณการกับกระทรวงต่างๆที่เกี่ยวข้อง ให้พัฒนาและส่งเสริมการส่งออกอย่างเป็นระบบ

"ทั้งหมดนี้ทางสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจฯจะรวบรวมข้อมูลและข้อเสนอแนะส่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาช่วงกลางเดือนกันยายนนี้ เพราะไม่เช่นนั้นแล้วปัญหาที่เกิดขึ้นจะไม่ได้รับการแก้ไข และจะเป็นปัญหาระยะยาวในการสร้างความได้เปรียบกับคู่แข่งขัน" นายธนิต กล่าว

สำหรับภาพส่งออกไทยในช่วง 7 เดือน ที่มีมูลค่ารวม 132,368 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ หรือขยายเพิ่มเพียง 0.6% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แยกเป็นภาคพบว่าภาคการเกษตรและเกษตรแปรรูปได้รับผลกระทบมากสุด โดยส่งออกในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ติดลบ 6.07 % และในรูปเงินบาทจะติดลบ 9.96 % และหากแยกเป็นประเภทสินค้า กุ้งแช่แข็งและแปรรูปจะติดลบ 39.87 % โดยในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาติดลบถึง 55.26 % รองลงมาเป็นน้ำตาล การส่งออกติดลบ 29.37 % ยาง ติดลบ 13.34 % และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปติดลบ 3.19 % และข้าวติดลบ 1.59 % เป็นต้น

ขณะที่การส่งออกในช่วง 7 เดือนของภาคอุตสาหกรรม มูลค่าการส่งออกในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐ ฯขยายตัวเพียง 3.18 % ส่วนในรูปเงินบาทติดลบ 1.21 % โดยอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เป็นอัญมณีและเครื่องประดับ ติดลบ 23.62 % รองลงมาเป็นเครื่องนุ่งห่มติดลบ 4.87 % และอิเล็กทรอนิกส์ติดลบ 3.93 %

โดยตลาดหลักที่มีสัดส่วนการส่งออกถึง 73 % ใน 6 กลุ่มประเทศ พบว่าในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา การส่งออกสินค้าไปจีนติดลบ 3.85 % โดยในช่วงเดือนกรกฎาคมติดลบถึง 5.34 % รองลงมาเป็นญี่ปุ่นยอดการส่งออกติดลบ 3.70 % และสหรัฐอเมริกาติดลบ 0.55 %

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 8 กันยายน 2556

กำชับสปก.เร่งตรวจสอบที่ดิน

เกษตรฯสั่งตามเอาผิดแก๊งลักลอบทำรีสอร์ท/พร้อมกำชับเดินหน้า4งานหลัก

นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้ติดตามเร่งรัดแผนงานเร่งด่วนตามนโยบายการจัดสรรที่ดินทำกินจากสำนักงานการปฏิรูปที่ดิน(ส.ป.ก.)จังหวัด ทั่วประเทศ ใน 4 ประเด็นหลัก คือ 1.การสรุปผลการดำเนินโครงการพระราชดำริในเขตปฏิรูปที่ดินทั่วประเทศทั้ง 10 โครงการ 2.การส่งเสริมเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินให้ทำการเกษตรที่เหมาะสมกับพื้นที่ที่ประกาศเป็นเขตโซนนิ่ง

3.ให้ส.ป.ก.ดำเนินการตรวจสอบการถือครองที่ดินของเกษตรกร ให้มีความชัดเจนว่า มีการซื้อขายเปลี่ยนมือมากน้อยแค่ไหน และเป็นพื้นที่ใดบ้าง โดยให้ปฏิรูปที่ดินจังหวัดทุกจังหวัดรายงานข้อมูลมายังกระทรวงเกษตรฯ รับทราบภายใน 1 เดือน และ 4.ให้ส.ป.ก.ดำเนินการติดตามการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน ไปใช้ประกอบกิจกรรมอื่นที่ไม่ใช่การเกษตร โดยจากข้อมูลแผนที่ภาพถ่ายดาวเทียมที่ได้ตรวจสอบพื้นที่ ส.ป.ก. 20 ล้านไร่ เบื้องต้นคาดว่าน่าจะมีการใช้ที่ดินส.ป.ก.ไปเพื่อการอื่นที่ไม่ใช่การเกษตรกระจายอยู่ทั่วประเทศประมาณ 5 หมื่นไร่ ซึ่งทางส.ป.ก.จังหวัดจะต้องตรวจสอบในพื้นที่จริงอีกครั้งว่ามีการใช้เพื่อกิจการใด หากเป็นการสร้างโรงเรือนเพื่อรวบรวมผลผลิตทางการเกษตร สามารถขออนุญาตดำเนินการ แต่หากใช้เป็นอาคารพาณิชย์เพื่อประกอบกิจการอื่นหรือรีสอร์ทก็ต้องมีการตรวจสอบเพื่อดำเนินคดีต่อไป

ดร.วีระชัย นาควิบูลย์วงศ์ เลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าวว่า การดำเนินคดีกรณีใช้ที่ดินสปก.ผิดประเภท โดยนำที่ดินส.ป.ก.เพื่อการธุรกิจ , รีสอร์ททั่วประเทศว่า ขณะนี้ สปก.ได้ส่งข้อมูลไปยังอัยการเพื่อส่งฟ้องแล้ว 44 คดี โดยมี 9 คดีในพื้นที่วังน้ำเขียวได้ส่งสำนวนเข้าสู่การพิจารณาของศาลแล้ว ซึ่งการดำเนินคดีผู้ที่กระทำผิดก็ต้องเป็นตามประจักษ์หลักฐานที่มีแม้จะพบว่าในบางพื้นที่มีการใช้นอนินีสวมสิทธิ์เพื่อครอบครองกรรมสิทธิ์ที่ดินก็ตาม อย่างไรก็ตาม การดำเนินการทางคดีกับผู้ที่นำที่ดิน ส.ป.ก.ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา โดยได้ส่งฟ้องศาลแล้ว 9 คดีนั้น ถือว่า ส.ป.ก.ได้เร่งรัดและดำเนินการอย่างถูกต้องตามขั้นตอนและไม่ล่าช้าแต่อย่างใด เนื่องจากต้องดำเนินการตามระเบียบที่กำหนดและเป็นไปตามกระบวนการทางปกครอง ตั้งแต่ขั้นตอนหนังสือแจ้งผู้ที่พบว่านำที่ดิน สปก.ไปใช้อย่างไม่ถูกต้องให้มาชี้แจง หรือนำหลักฐานมายืนยันกับเจ้าหน้าที่ และเมื่อครบกำหนด ส.ป.ก. จะดำเนินการออกตรวจสอบอีกครั้งหากไม่ปฏิบัติตามคำเตือน จะดำเนินการแจ้งสั่งให้รื้อถอน ดำเนินคดีอาญาและคดีแพ่งตามลำดับ แต่อย่างไรก็ตาม ส.ป.ก.ก็เชื่อมั่นว่าการดำเนินการการตรวจสอบการใช้ที่ดิน ส.ป.ก.ผิดวัตถุประสงค์จะเป็นการป้องปรามผู้ที่จะกระทำความผิดได้อีกทางหนึ่ง

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 6 กันยายน 2556

สศก.แจงเปิดเอฟทีเอ7ประเทศ ไทยพลิกได้เปรียบออสเตรเลีย

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จากข้อตกลงเขตการค้าเสรีของไทยภายใต้กรอบเจรจา FTA ที่เริ่มมีผลบังคับไปแล้วกับ 7 คู่เจรจา คือ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย และเปรู สศก.ได้ติดตามสถานการณ์สินค้าเกษตร พิกัดศุลกากรตอนที่ 01-24 (ไม่รวมยางพารา) ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2556 พบว่าทิศทางการค้าสินค้าเกษตรเป็นไปในทิศทางเดียวกับการส่งออกในภาพรวมของไทย โดยคู่เจรจาที่ไทยยังคงได้เปรียบดุลการค้าสินค้าเกษตร ได้แก่ เกาหลี มูลค่า 7,624 ล้านบาท ญี่ปุ่น มูลค่า 62,473 ล้านบาท และจีน มูลค่า 21,597 ล้านบาท รวมทั้งไทยยังกลับมาเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้ากับออสเตรเลีย มูลค่า 1,153 ล้านบาท จากที่เคยเสียเปรียบดุลการค้ากับออสเตรเลียซึ่งเกิดจากการลดการนำเข้าข้าวสาลีจากออสเตรเลียลงกว่า 3 เท่า

อย่างไรก็ตาม มีประเทศบางคู่เจรจาที่ไทยมีมูลค่าการนำเข้ามากกว่าการส่งออก โดยไทยเสียเปรียบดุลการค้าสินค้าเกษตรกับเปรู มูลค่า 1,167 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ (ประมง) และองุ่นสด และกับอินเดีย มูลค่า 8,097 ล้านบาท เนื่องจากการนำเข้าสินค้าปัจจัยการผลิต คือ อาหารสัตว์ และข้าวสาลี เสียเปรียบดุลการค้ากับนิวซีแลนด์ 4,144 ล้านบาท เนื่องจากการนำเข้านมผงและของปรุงแต่งจากธัญพืชและนม

สำหรับทิศทางการค้าสินค้าเกษตรในช่วงครึ่งปีแรก จะเห็นได้ว่า FTA เป็นเพียงหนึ่งปัจจัยเท่านั้น แต่ ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งเป็นตัวกำหนดความต้องการในตลาดโลก ไม่ว่าจะเป็นอัตราแลกเปลี่ยนผลผลิตภายในประเทศ ช่วงอายุประชากร รสนิยม การระบาดของโรคพืชโรคสัตว์ และที่สำคัญคือ สภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในตลาดหลักของโลก ทั้งนี้ หากสังเกตการนำเข้าสินค้าเกษตรไทย จะพบว่า โดยมากเป็นการนำเข้าสินค้ากลุ่มวัตถุดิบ/ปัจจัยการผลิต เพื่อนำมาเพิ่มมูลค่าโดยการแปรรูป และเป็นการใช้ประโยชน์จาก FTA ในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอีกทางหนึ่งด้วย

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 6 กันยายน 2556

ฝนทิ้งช่วงอีสานตอนล่างยังแล้งหนัก

นายวีระยุทธ ภูขาว หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า ขณะนี้หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.นครราชสีมา ซึ่งรับผิดชอบในพื้นที่ 4 จังหวัดอีสานตอนล่าง ประกอบด้วย จ.นครราชสีมา , ชัยภูมิ , บุรีรัมย์ , สุรินทร์ เรายังคงได้รับการร้องขอให้นำเครื่องบินบรรทุกสารเคมี เพื่อขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงตามพื้นที่ต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีพี่น้องเกษตรกรปลูกข้าวที่กำลังได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาฝนทิ้งช่วงทำให้ต้นข้าวที่กำลังออกรวงแห้งเหี่ยวจากการขาดแคลนน้ำ ซึ่งที่ผ่านมาทางหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.นครราชสีมา ได้นำเครื่องบินขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ที่ประสบภัยทุกวัน อย่างน้อยวันละ 1-2 ครั้ง แต่สาเหตุที่การขึ้นบินปฏิบัติทำฝนหลวงไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากขณะนี้พื้นที่ในภาคอีสานตอนล่างประสบกับปัญหาลมมรสุมที่พัดมาค่อนข้างรุนแรง ทำให้การทำฝนหลวงไม่ได้ผลสำเร็จเท่าที่ควร

ดังนั้น ในระยะนี้ขอให้เกษตรกรช่วยกันตรวจสอบสภาพอากาศในพื้นที่ตนเอง โดยการสังเกตง่าย ๆ ด้วยการลองจุดกองไฟ หากในพื้นที่ไม่มีลม ควันไฟก็จะพวยพุ่งขึ้นท้องฟ้า แต่หากบริเวณใดมีลมแรง ควันไฟก็จะพัดลอยไปกับพื้นดิน ไม่จับกลุ่มเป็นก้อน ซึ่งวิธีการสังเกตเหล่านี้ ก็จะช่วยให้การขึ้นบินทำฝนหลวงค่อนข้างประสบผลสำเร็จแน่นอน โดยประชาชนที่ประสบภัยแล้งสามารถร้องขอให้ทางหน่วยขึ้นบินปฏิบัติทำฝนหลวงได้ ที่หมายเลข 044-359-116 ได้ในวันและเวลาราชการ

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 6 กันยายน 2556

กนง.เตือนระวังคิวอีขย่มตลาดเงิน

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (ฉบับย่อ) ของการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อ 21 ส.ค.ที่ผ่านมา ว่า กนง.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2556 และ 2557 อาจจะขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเดิม ที่คาดไว้เมื่อเดือน ก.ค. ว่าปี 2556 อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) จะขยายตัวที่ 4.2% และปี 2557 จะขายตัวที่ 5% ภายใต้เงินเฟ้อทั่วไปที่ระดับ 2.3% และ 2.6% ตามลำดับ

ทั้งนี้ เพราะ กนง.เห็นว่า การบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกอาจชะลอตัวนานกว่าคาด ประกอบกับแรงกระตุ้นจากภาครัฐยังมีความเสี่ยงที่จะล่าช้า อย่างไรก็ดี ในระยะสั้นแม้เศรษฐกิจจะชะลอลงแต่ก็เป็นอัตราการขยายตัวที่ใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน และเศรษฐกิจยังมีแรงขับเคลื่อนต่อไปได้ ภายใต้ภาวะการเงินที่ผ่อนปรนซึ่งน่าจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง

สำหรับตลาดการเงิน กนง.มองว่า ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลต่อค่าเงินบาทในระยะต่อไป ได้แก่ 1.แนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศหลักและจีน รวมทั้งภูมิภาค และ 2.ช่วงเวลาของการทยอยปรับลดวงเงินการทำธุรกรรมในมาตรการผ่อนคลายทางปริมาณเงิน (คิวอี) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

นอกจากนี้ กนง.ยังได้อภิปรายถึงความผันผวนในตลาดการเงินของประเทศในภูมิภาค โดยเฉพาะอินโดนีเซีย อินเดีย และมาเลเซีย ว่า สองประเทศแรกมีความเสี่ยงจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่อยู่ในระดับสูง ขณะที่มาเลเซียมีความเสี่ยงจากภาคการคลังที่อ่อนแอลง ทั้งนี้ การถือครองพันธบัตรของนักลงทุนต่างชาติในตลาดพันธบัตรมาเลเซียมีสัดส่วนค่อนข้างสูง ทำให้มาเลเซียมีความเสี่ยงทางด้านความผันผวนของค่าเงิน จากการเคลื่อนย้ายเงินทุน แม้ว่าพื้นฐานเศรษฐกิจโดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดี

สำหรับภาวะตลาดการเงิน กนง.ประเมินว่าเงินเหรียญสหรัฐมีแนวโน้มอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลหลัก จากคำแถลงของเฟดที่ยังไม่กำหนดเวลาชัดเจนในการทยอยปรับลดวงเงินคิวอี ประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยูโรโซนและญี่ปุ่นปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ดี เงินเหรียญสหรัฐปรับแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลในภูมิภาค หลังจากตลาดเริ่มให้น้ำหนักมากขึ้นกับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและภูมิภาค และปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจในบางประเทศ

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 5 กันยายน 2556

ก.อุตสาหกรรมดันธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมสู่อุตสาหกรรมสีเขียว

กระทรวงอุตสาหกรรม จัดงานสัมมนา "จากธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม.. สู่..อุตสาหกรรมสีเขียว" วางเป้าหมายส่ง เสริมให้สถานประกอบการภาคการผลิต ทั่วประเทศมุ่งสู่การเป็น "อุตสาหกรรมสีเขียว" ภายในปี 2561 หวังให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการพัฒนาอุตสาหกรรม ที่ยั่งยืน

ดร.พสุ โลหารชุน รองปลัดกระทรวง อุตสาหกรรม กล่าวว่า "สังคมและสิ่งแวด ล้อมได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญ ต่อการดำรงอยู่ของสถานประกอบการ นอกจาก สถานประกอบการจะต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ชุมชนและคนรอบข้างต่างคาดหวังว่าภาคอุตสาหกรรม จะเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กับการไม่สร้างปัญหาและผลกระทบทางลบที่เป็นมลภาวะต่างๆ ต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม จึงเป็นที่มาที่กระทรวงอุตสาหกรรมจะต้องส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม ในสถานประกอบการ และต่อยอดให้เป็นอุตสาหกรรมสีเขียวของประเทศ"

ดร.พสุ โลหารชุน กล่าวต่อว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ให้ความสำคัญในการร่วมมือรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง โดยภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และประชาชน ด้วย การส่งเสริมสนับสนุนให้สถานประกอบการอุตสาหกรรมได้นำระบบธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมไปดำเนินการให้เกิดผล สำเร็จ ซึ่งในปี 2556 มีสถานประกอบการได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมนำระบบธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมไปดำเนินการใน สถานประกอบ จำนวน 216 ราย จากเป้าหมายที่กำหนดไว้ในปีนี้ จำนวน 150 ราย ในพื้นที่ 55 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดในภาคกลาง 22 จังหวัด ภาคเหนือ 11 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 11 จังหวัด และภาคใต้ 10 จังหวัด รวมระยะเวลาตั้งแต่ปี 2551-2556 มีจำนวนสถานประกอบการที่ได้ผ่านตามหลักเกณฑ์ธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม จำนวน 1,250 ราย ซึ่งสถานประกอบการเหล่านี้เมื่อมีความยึดมั่นในการประกอบกิจการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวด ล้อมโดยมุ่งเน้นการพัฒนาและปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง และประกอบกิจการด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมทั้งภายในและภายนอกองค์กรตลอดห่วงโซ่อุปทานเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนแล้ว จะกลายเป็น "อุตสาหกรรมสีเขียว" อย่าง สมบูรณ์แบบในที่สุด

"ปัจจุบันมีสถานประกอบการที่ผ่านการประเมินเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว รวมทั้งสิ้น 7,238 ราย แบ่งเป็นระดับที่ 1 ความมุ่งมั่นสีเขียว จำนวน 3,730 ราย, ระดับที่ 2 ปฏิบัติการสีเขียว จำนวน 1,627 ราย, ระดับที่ 3 ระบบสีเขียว จำนวน 1,851 ราย, ระดับที่ 4 วัฒนธรรมสีเขียว จำนวน 30 ราย และระดับที่ 5 เครือข่าย สีเขียว ยังอยู่ระหว่างการตรวจประเมิน นอกจากนี้ ยังมีสถานประกอบการที่เห็นประโยชน์ของการเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว และได้ขออนุญาตใช้ตราสัญลักษณ์อุตสาหกรรมสีเขียว หรือ Green Industry Mark จำนวน 16 ราย เพื่อสื่อให้ผู้บริโภคได้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการเป็นอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมและที่สำคัญการเชิญชวนให้ประชาชนมีส่วนร่วม ในฐานะของผู้บริโภค ในโครงการอุตสาหกรรมสีเขียว โดยเลือกซื้อเลือกใช้สินค้า หรือเลือกบริการที่เกิดจากกระบวนการผลิตที่สะอาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อชุมชนหรือประชาชนด้วย"

จาก http://www.siamturakij.com  วันที่ 5 กันยายน 2556

CAT ปรับกลยุทธ์รับยุคสิ้นสัมปทาน ยึดเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศรายได้หลัก

บมจ.กสท ปรับแผนธุรกิจหวังกระตุ้นรายได้หลังสิ้นยุคสัมปทาน เน้นลงทุนระบบเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศ ยึดเป็นหลักระยะยาว มองโอกาสดาต้าคอมเติบโตสูง พร้อมเดินหน้าขยายตลาดในประเทศเพื่อนบ้านรับเออีซี เล็งขยายพันธมิตรทั่วโลก

น.ส.ธัญวดี วงศ์ธีรฤทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานกลยุทธ์องค์กร บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า รายได้รวมตลอด 7 เดือนของปี 56 ที่รวมสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่มีมูลค่าอยู่ที่ 3.02 หมื่นล้านบาท กำไร 1.07 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 55 ที่ผ่านมาเล็กน้อย ส่วนรายได้ที่ไม่รวมสัมปทานอยู่ที่ 8.94 พันล้านบาท ขาดทุน 2.25 พันล้านบาท ถือว่าขาดทุนน้อยกว่าแผนที่วางไว้ที่ 3.33 พันล้านบาท

ขณะที่แผนการดำเนินงานโครงการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3จี เอชเอสพีเอ มูลค่า 1.5 หมื่นล้านบาท ที่ผ่านจากที่ประชุมคณะกรรมการแล้ว ซึ่งอยู่ระหว่างขั้นตอนการนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้งนี้ หากโครงการดังกล่าวได้รับการอนุมัติ จะทำให้รายได้บริษัทเพิ่มขึ้น 1.9 หมื่นล้านบาท คิดเป็นกำไร 407 ล้านบาท จะส่งผลให้สิ้นปี 56 บมจ.กสท จะมีรายได้รวม 4.06 หมื่นล้านบาท กำไร 1.2 หมื่นล้านบาท แต่ถ้าไม่รวมรายได้เอชเอสพีเอ จะทำให้สิ้นปี 56 มีรายได้อยู่ที่ 1.5 หมื่นล้านบาท

นายดนันท์ สุภัทรพันธุ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์ บมจ.กสท กล่าวเสริมว่า เราได้ปรับกลยุทธ์ดำเนินธุรกิจโทรคมนาคมอย่างต่อเนื่องหลังสิ้นสุดสัมปทาน โดยเน้นการลงทุนระบบเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศเพื่อสร้างรายได้หลักระยะยาว ซึ่งมองว่าโอกาสกลุ่มบริการสื่อสารข้อมูล หรือ ดาต้าคอม (Datacom) มีโอกาสเติบโตค่อนข้างมาก และในปี 57 จะขยายไฟเบอร์ออพติกทั่วประเทศ หวังเจาะกลุ่มลูกค้ารายย่อยทั้งโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ต ซึ่งมองว่ามีปัจจัยการเติบโตจาก 1.ธุรกิจอินเตอร์เน็ตเกตเวย์และวงจรสื่อสารข้อมูลในประเทศของ บมจ.กสท ซึ่งรองรับผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต ทั้ง Internet Service Provider และ Mobile Operator โดยสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องตามแนวโน้มการเติบโตอย่างสูงของธุรกรรมออนไลน์ และสังคมออนไลน์

2.ความพร้อมในการพัฒนาบริการที่หลากหลาย อาทิ จากการที่ประเทศไทยจะมีการเปลี่ยนผ่านระบบการแพร่ภาพโทรทัศน์จากระบบอนาล็อกเป็นระบบดิจิตอล เป็นโอกาสที่ บมจ.กสท ได้เปิดบริการใหม่สำหรับลูกค้ากลุ่ม Content Provider คือบริการ CAT Satellite TV Platform เพื่อส่งภาพผ่านระบบดาวเทียมออกอากาศในระบบดิจิตอล และ 3.การเดินหน้าสานต่อโครงการภาครัฐ

นายดนันท์ กล่าวต่อว่า มีการร่วมมือกับผู้ให้บริการในภูมิภาคให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ รวมทั้งสิ้น 25 แห่ง ในภูมิภาคอาเซียนรวมถึงฮ่องกง และยังมีแผนพัฒนาติดตั้งจุดให้บริการสื่อสารข้อมูลและอินเตอร์เน็ต (Point of Presence) จาก 6 จุด เพิ่มเป็น 8 จุด ครอบคลุมทวีปเอเซีย ยุโรป และอเมริกา ภายในปี 56

“พื้นที่ให้บริการที่ครอบคลุมทั่วถึง คือจุดแข็งทำให้เราสามารถให้บริการสื่อสารข้อมูลได้ทั่วไทยตลอดจนประเทศในกลุ่มเออีซี และทุกภูมิภาคทั่วโลก ดังนั้นแนวทางหลักยังคงให้ความสำคัญที่การพัฒนาโครงข่ายในและระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เน้นเพิ่มจำนวนจุดเชื่อมต่อในประเทศต่างๆ เพื่อขยายให้ครอบคลุมพื้นที่มากยิ่งขึ้น ประกอบกับขยายความร่วมมือกับพันธมิตรต่างประเทศที่ช่วยให้บริการเข้าถึงผู้ใช้ทุกที่ทั่วโลก” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์ กล่าว

นอกจากนี้ บมจ.กสท พร้อมทำการตลาดในรูปแบบธุรกิจภาพลักษณ์ใหม่ ที่เน้นการให้บริการแบบฉับไว และคงความเป็นที่หนึ่งโครงข่ายระดับภูมิภาคที่พร้อมเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อกลุ่มประเทศอินโดจีน ซึ่งจากผลวิจัยล่าสุดของ Gartner พบว่าหน่วยธุรกิจทั่วโลกมีการใช้จ่ายในระบบไอทีสูงขึ้นกว่า 4.1% ในปี 56 ด้วยมูลค่าตลาดประมาณ 3.7 ล้านล้านบาท และจะเติบโตอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยกว่า 3.9% ต่อปี และรายงานการเติบโตของเศรษฐกิจอาเซียนในกลุ่มเออีซี ตลอดปี 56 ที่มีตัวเลขการเติบโตสูงขึ้นในเกือบทุกประเทศ จึงนับเป็นโอกาสทางการตลาดในกลุ่มธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม

ทั้งนี้ ในกลุ่มของการให้บริการเครือข่ายเชื่อมโยงเพื่อการสื่อสารโทรคมนาคม รองรับกลุ่มธุรกิจที่มีแนวโน้มขยายตัวออกไปสู่ตลาดในระดับภูมิภาคมากขึ้น อีกทั้งจะทำให้ Network Provider อยู่ในธุรกิจอย่างยั่งยืน ซึ่ง บมจ.กสท มีความเชี่ยวชาญในการออกแบบโครงข่าย การลงทุนและขยายโครงข่าย รวมถึงประสบการณ์ของบุคลากรผู้เชี่ยวชาญในการให้บริการ

สำหรับในกลุ่มประเทศอาเซียน ให้บริการสื่อสารข้อมูลกับผู้ให้บริการ 9 ประเทศ ได้แก่ ลาว กัมพูชา เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และพม่า ซึ่งอยู่ในช่วงของการปฏิรูปประเทศ โดยในวันที่ 10-11 ก.ย.56 นี้ จะมีการจัดประชุมผู้ประกอบการสื่อสารโทรคมนาคมนานาชาติ Myanmar Connect 2013 ณ นครเนปิดอว์ ก็ได้ร่วมเป็นผู้สนับสนุนการจัดงาน ซึ่งจะเป็นโอกาสทางธุรกิจในการเป็นพัฒนาการให้บริการเชื่อมต่อไปยังพม่า และเป็นศูนย์กลางสู่การเชื่อมต่อจากพม่าไปยังทั่วโลก

นายดนันท์ กล่าวต่อว่า ในส่วนโครงข่ายหลัก บมจ.กสท มีระบบเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศเชื่อมโยงในกลุ่มประเทศอาเซียน 4 ระบบ รวมถึงการพัฒนาโครงข่ายภาคพื้นดินตามเขตแนวชายแดนกับลาว กัมพูชา พม่า และมาเลเซีย อีกทั้งการสร้างศักยภาพในกลุ่มประเทศอินโดจีนระหว่างรัฐบาล หรือ จีทูจี ทั้งใน ลาว กัมพูชา พม่า เวียดนาม และจีน ภายใต้โครงการ Greater Mekong Sub-Region Information Superhighway

ทั้งนี้ ได้ลงทุนในระบบเคเบิลใต้น้ำระบบใหม่คือ ระบบ Asia Pacific Gateway (APG) ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 2558 นับเป็นการลงทุนเริ่มต้นที่มีมูลค่าสูง แต่จะสร้างรายได้ในระยะยาว โดยจะรองรับความต้องการในอาเซียน และประเทศในภูมิภาค Asia Pacific ซึ่งรวมถึงจีน, ไต้หวัน, ญี่ปุ่น, เกาหลี ระบบนี้สามารถรองรับความจุกว่า 55 terabit

ส่วนแผนการพัฒนาโครงข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงด้วยเทคโนโลยี Fiber to the X (FTTx) ในปี 57 โดยจะทำการปรับปรุงจากสายทองแดง (Co-axial) เป็นไฟเบอร์ออพติกหรือเคเบิลใยแก้วทั้งหมด รวมถึงสร้างโครงข่ายเพิ่มเพื่อให้บริการครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย ทั้งกลุ่มลูกค้ารายย่อยและองค์กรธุรกิจและภาครัฐ ซึ่งการปรับปรุงและขยายโครงข่าย FTTx

นอกจากเพิ่มประสิทธิภาพบริการให้ความเร็วในการอัพโหลดดาวน์โหลดมากกว่า 20 mbps แล้ว ยังเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาดให้ บมจ.กสท รองรับความต้องการใช้งานอินเตอร์เน็ตของลูกค้าทั้งรายย่อยและธุรกิจได้อย่างสะดวกรวดเร็ว บริการนี้จะเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น ทั้งหมู่บ้าน คอนโดมิเนียม ศูนย์การค้าขนาดกลางควบคู่กับการขยายโครงข่าย Fttx คือ การขยายเครือข่ายอินเตอร์เน็ตไร้สายในพื้นที่เป้าหมาย โดยร่วมมือกับพันธมิตร อาทิ แฟรนไชส์ร้านอาหาร กาแฟและเครื่องดื่ม ร้านสะดวกซื้อ ศูนย์ให้บริการซ่อมบำรุงรักษารถยนต์ โรงภาพยนตร์

สำหรับกลุ่มบริการอิเล็กทรอนิกส์ (CAT eBiz) บมจ.กสท มีแนวทางหลักคือ การพัฒนาบริการที่มีอยู่ อาทิ การประชุมออนไลน์ ให้รองรับการใช้งานบนอุปกรณ์ทั้งแท็บเล็ตและสมาร์ทโฟนทุกเครือข่าย ทั้งระบบไอโอเอส ระบบแอนดรอยด์ และระบบวินโดวส์ ส่วนความร่วมมือกับภาครัฐ ได้ให้บริการนี้ผ่านโครงการจิน (GIN) ซึ่งตั้งเป้าจะขยายจากเดิม 120 จุด เป็น1,200 จุด ภายในปี 57

ส่วนบริการ CAT e-logistics ได้ร่วมมือกับภาครัฐในการสร้างระบบ Supply Chain ด้านสุขภาพเพื่อจัดทำระบบกลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ด้านกลุ่มอุตสาหกรรมบริการสุขภาพระหว่างโรงพยาบาลและซัพพลายเออร์ผ่านระบบ Supply Chain และระบบ e-Logistics รวมถึงผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านอุตสาหกรรมบริการสุขภาพ ตลอดจนเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านโลจิสติกส์สุขภาพของภูมิภาคเอเชีย (Asia Healthcare Logistics Trade Exchange – ATX)

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2556

โครงการบริหารน้ำไปได้สวย สศก.เปิดเผยสำรวจพบช่วยเสริมรายได้ครัวเรือนเกษตรกรเพิ่มขึ้นปีละ3.9หมื่นบ.

นายสุรศักดิ์ พันธ์นพ รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินการโครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรตั้งแต่ปี 2554 เพื่อมุ่งเน้นการทำงานแบบบูรณาการของหน่วยงานในสังกัดและเชื่อมโยงเครือข่ายทุกภาคส่วน โดยคำนึงถึงศักยภาพของพื้นที่และความต้องการของชุมชน และมุ่งหวังให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เกษตรกรนั้น

สศก. ได้รับผิดชอบในการประเมินผลโครงการฯ ดังกล่าว โดยผลการดำเนินงานโครงการนี้ตั้งแต่ปี 2554-2556 พบว่า มีพื้นที่ดำเนินงานโครงการรวม 294,000 ไร่ เกษตรกรรับประโยชน์กว่า 22,800 ครัวเรือน ส่งผลให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการมีรายได้เพิ่มขึ้นครัวเรือนละ 39,850 บาทต่อปี ซึ่งการดำเนินงานที่ผ่านมา มีทั้งหน่วยงานภายในและภายนอกกระทรวงเกษตรฯ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน เข้ามามีส่วนร่วมในการบูรณาการในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ที่ดินทั้งปี จาก 17.86 ไร่ต่อครัวเรือน เป็น 19.06 ไร่ต่อครัวเรือน หรือร้อยละ 12 จากก่อนการดำเนินโครงการ โดยเฉพาะการทำนาซึ่งเป็นพืชหลักในโครงการ พบว่า ได้รับผลผลิตเพิ่มขึ้นจาก 630 กิโลกรัมต่อไร่ เป็น 667 กิโลกรัมต่อไร่ และต้นทุนการผลิตต่อหน่วยลดลงจาก 5.28 บาทต่อกิโลกรัม เหลือ 5.12 บาทต่อกิโลกรัม หรือร้อยละ 4 เนื่องจากเกษตรกรมีการใช้เมล็ดพันธุ์ลดลงจาก 23.06 กิโลกรัมต่อไร่ เหลือ 21.74 กิโลกรัมต่อไร่ และเมื่อพิจารณารายได้ของครัวเรือนเกษตร พบว่า มีรายได้สุทธิเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 38,283 บาทต่อครัวเรือน เป็น 78,133 บาทต่อครัวเรือน นอกจากนี้ ยังก่อให้เกิดความเข้มแข็งของกลุ่มผู้ใช้น้ำ สามารถพัฒนาไปสู่การจัดตั้งเป็นสหกรณ์ผู้ใช้น้ำ เพื่อให้บริการแก่สมาชิกในด้านอื่นๆ ต่อไป

รองเลขาธิการกล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ทุกหน่วยงานหน่วยงานควรดำเนินไป ในรูปแบบการประสานความร่วมมือแบบบูรณาการทุกภาคส่วนตั้งแต่การผลิตถึงการตลาด รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีการติดตามและแนะนำเพิ่มเติมภายหลังการถ่ายทอดความรู้แล้วเสร็จ โดยในส่วนพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการน้ำ ควรพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้และประชาสัมพันธ์ให้เจ้าหน้าที่ เกษตรกร และผู้ที่สนใจเข้าเยี่ยมชม ศึกษาดูงาน และนำไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติขยายผลสู่พื้นที่อื่นๆ ต่อไป

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2556

สศค.ลั่นเงินเฟ้อไม่หลุดกรอบ

สศค.ยืนเงินเฟ้อไม่หลุดกรอบ แม้พบแรงกดดันทั้งราคาก๊าซแอลพีจีภาคครัวเรือน รวมถึงปัจจัยความไม่สงบในตะวันออกกลาง ขณะที่นักวิชาการจาก"นิด้า"บอกการลอยตัวแอลพีจีช่วงนี้เหมาะ"ฐานเศรษฐกิจ"บุกฟูดคอร์ตพบรอจังหวะโขกราคาอาหาร

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า สศค. ประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปทั้งปีจะอยู่ที่ 2.5% (ประมาณการเดือนมิถุนายน 2556) แม้อาจได้รับแรงกดดันให้เพิ่มขึ้นก็ตาม แต่ได้คำนึงถึงปัจจัยที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับ 2.5% ได้แก่ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) มีมติเพิ่มค่าผ่านทางด่วนพิเศษ กระทรวงพลังงานมีมติปรับเพิ่มขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม แอลพีจี ภาคครัวเรือน ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2556 คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติเห็นชอบเพิ่มค่า เอฟทีงวดเดือนกันยายน -ธันวาคมปีนี้ นอกจากนั้น สถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะประเทศอียิปต์ อาจส่งผลต่ออุปทานน้ำมันดิบโลกและทำให้ราคาน้ำมันดิบขายปลีกภายในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น และค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลง ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนน้ำมันขายปลีกภายในประเทศเพิ่มขึ้น

สุดท้ายคือปัจจัยทางฤดูกาลในช่วงไตรมาส 3-4 เป็นช่วงฤดูหนาวซึ่งจะเร่งอุปสงค์น้ำมันดิบ และทำให้ราคาน้ำมันดิบโลกปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ การเตรียมการลดเม็ดเงินของมาตรการ QE ของประเทศสหรัฐฯ อาจส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีการฟื้นตัวอย่างล่าช้า และทำให้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงได้

ฉะนั้น สศค. คาดว่า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะไม่หลุดกรอบ 0.5-3.0% โดยปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนสิงหาคม 2556 อยู่ที่ 0.8% ทำให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2556 อยู่ที่ 1.1% ดังนั้น สศค. คาดว่า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2556 จะอยู่ที่ 1.2% (ประมาณการเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา)

สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในปี 2557 ไม่น่ามีการเปลี่ยนแปลงไปจากปีนี้มากนัก โดยปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ ได้แก่ ราคาน้ำมันดิบโลก ค่าเงินบาท และมาตรการภาครัฐที่ยังมีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหาค่าครองชีพของประชาชน
ขณะที่เศรษฐกิจไทยในเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา เริ่มมีสัญญาณของการปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า แม้ว่าเศรษฐกิจไทยในภาพรวมยังคงชะลอลง โดยการส่งออกเริ่มกลับมาขยายตัว อีกครั้งเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 0.8% จากสินค้าในหมวดอิเล็กทรอนิกส์ ที่เริ่มฟื้นตัวตามเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรปที่เริ่มขยายตัวดีขึ้น

นายยุทธนา เศรษฐปราโมทย์ ผู้อำนวยการหลักสูตรเศรษฐศาสตร์การเงิน สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อถึงสิ้นปีน่าจะเฉลี่ย 2.5-2.8% เห็นได้จากอัตราเงินเฟ้อในช่วงที่ผ่านมามีการปรับตัวลดลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ ในเดือนสิงหาคม รายงานอัตราเงินเฟ้อขยายตัวอยู่ที่ 2.4% ตัวเลขดังกล่าวขยายตัวเป็นไปตามเป้าหมายที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดไว้ที่ไม่เกิน 3%

อย่างไรก็ดี แม้ในช่วงที่เหลือของปีนี้มีความกังวลจากการลอยตัวของค่าแอลพีจีจะกระทบต่อภาคการขนส่งและภาคครัวเรือน ซึ่งการปล่อยลอยตัวในช่วงนี้ถือว่าเหมาะสมเนื่องจากที่ผ่านมาอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยคาดการณ์ช่วงที่เหลือ (ก.ย.-ธ.ค.56) อัตราเงินเฟ้อน่าจะขยายตัวใกล้เคียง 2.5-3% ถือเป็นระดับที่ไม่ส่งผลเชิงลบต่อเศรษฐกิจหรือการใช้จ่ายมากนัก แต่หากอัตราเงินเฟ้อปรับตัวไปถึง 4-5% แล้ว ย่อมส่งสัญญาณว่า เศรษฐกิจหดตัวถึงจุดอันตรายของเศรษฐกิจไทย

ขณะเดียวกัน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคงคาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไปทั้งปีที่ 2.5% อยู่ในกรอบ 2.2-2.7% ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานน่าจะอยู่ที่ 1.1% ในกรอบ 0.9-1.3% แม้ช่วงที่เหลือแนวโน้มเงินเฟ้ออาจขยับตามราคาขายปลีกพลังงานในประเทศ แต่การระมัดระวังการใช้จ่ายของครัวเรือน และการทยอยปรับราคาสินค้าอุปโภคบริโภคลักษณะค่อยเป็นค่อยไปอัตราเงินเฟ้อทั่วไปไม่สูงกว่า 2.50%

"ฐานเศรษฐกิจ" ได้สำรวจร้านอาหารในฟูดคอร์ต ของศูนย์การค้าเจ เจ มอลล์ เขตจตุจักร เจ้าของร้านข้าวแกงรายหนึ่งกล่าวว่า การปรับขึ้นราคาก๊าซ เชื่อว่าจะทำให้ร้านมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แต่ในขณะนี้ยังไม่มีการปรับขึ้นราคาแต่อย่างใด เพราะหากปรับขึ้นราคาจะต้องแจ้งกับศูนย์ก่อน แต่คงต้องรอดูว่าโดยรวมแล้วร้านค้ามีต้นทุนเพิ่มขึ้นเท่าไร ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เวลาประมาณ 1 เดือน และหากมีต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นมากจริงๆ ก็จะขอเสนอปรับขึ้นราคาอาหาร

เช่นเดียวกับแม่ค้าร้านขายข้าวขาหมู ในฟูดคอร์ต ห้างบิ๊กซี สาขารามอินทรา กล่าวถึงราคาอาหารภายในร้านว่า โดยส่วนตัวมองว่าการขึ้นราคาก๊าซหุงต้มจะส่งผลให้ราคาต้นทุนของร้านขึ้นตามไปด้วย แต่ขณะนี้ทางเจ้าของร้านยังไม่มีการปรับขึ้นราคาเมนูข้าวขาหมูในร้านแต่อย่างใด และหากจะมีการปรับขึ้นราคาทางร้านจะต้องมีการประชุมกับผู้จัดการสาขาเพื่อปรับขึ้นให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด

อย่างไรก็ดี จากการสำรวจร้านอาหารส่วนใหญ่ที่ตั้งอยู่ในฟูดคอร์ต ไม่ว่าจะเป็นเซ็นทรัล เวิลด์ , พารากอน ดีพาร์ทเม้นท์สโตร์ , บิ๊กซี ลาดพร้าว ฯลฯ พบว่ายังไม่มีการปรับราคาอาหารขึ้นแต่อย่างใด ขณะที่แม่ค้าส่วนใหญ่ บอกว่า หากก๊าซปรับขึ้นในราคานี้ (7 บาท) แต่หากปรับขึ้นมากกว่านี้ก็คงไม่ไหว และอาจต้องปรับราคาขึ้นก็เป็นได้

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เข้าชี้แจงต่อกรรมาธิการคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การพาณิชย์ กรณีการปรับขึ้นราคาสินค้าก๊าซหุงต้มเมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมาว่า การปรับขึ้นราคาดังกล่าวเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องทำ เพราะที่ผ่านมามีการบิดเบือนกลไกตลาดจากที่รัฐบาลให้หลายฝ่ายตรึงราคาสินค้าไว้ เช่น การตรึงราคาก๊าซแอลพีจี ที่ปัจจุบันไทยราคาถูกกว่าตลาดโลกถึง 6 บาท

ทั้งนี้หากทางกรรมาธิการจะลงไปสำรวจเรื่องดังกล่าว ควรที่จะไปสำรวจผู้ที่ยากจนอย่างแท้จริง มองว่าการปรับขึ้นค่าครองชีพในครั้งนี้เหมาะสม และสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ เชื่อว่าประชาชนจะปรับตัวเพื่อรองรับกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นได้ และจะไม่ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ จะขยายตัวอยู่ที่ 4.5 % เพราะเศรษฐกิจโลกมีทิศทางที่ดีขึ้น แม้ว่าหากในอนาคตรัฐบาลจะติดปัญหาการกู้เงินจากโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท หรือ โครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม 2 ล้านล้านบาท

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2556

ผู้ประกอบการยันโรงงานน้ำตาลปลอดใช้แรงงานเด็ก

รายงานข่าวจากสมาคมผู้ผลิตน้ำตาลและชีวพลังงานไทย ได้ร่วมกับคณะทำงานตรวจรับรองสถานประกอบกิจการที่ไม่มีแรงงานเด็กผิดกฎหมาย กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ออกตรวจรับรองสถานประกอบการโรงงานน้ำตาลทรายทั่วประเทศในการไม่ใช้แรงงานเด็กผิดกฎหมาย

โดยได้เข้าตรวจโรงงานน้ำตาลสิงห์บุรี โรงงานน้ำตาลนครเพชร โรงงานน้ำตาลทิพย์ กำแพงเพชร โรงงานน้ำตาลทรายกำแพงเพชร และโรงงานน้ำตาลมิตรผล สุพรรณบุรี เพื่อแสดงความโปร่งใสในการดำเนินงานว่าไม่มีการใช้แรงงานเด็ก และให้คณะทำงานฯ จัดทำรายงานผลการดำเนินงานให้กระทรวงแรงงานพิจารณาออกประกาศนียบัตรรับรองสถานประกอบการที่ไม่มีแรงงานเด็กให้แก่โรงงานน้ำตาลทราย พร้อมรายงานความคืบหน้าของการดำเนินงานให้รัฐบาลต่างประเทศได้รับทราบ เพื่อเป็นเครื่องยืนยันว่าไม่มีการใช้แรงงานเด็กผิดกฎหมายในอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายของไทยอย่างแน่นอน

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2556

จีนลดนำเข้าน้ำตาลจากไทย

จีนนำเข้าน้ำตาลจากไทยลดลง เฉพาะ 7 เดือนแรก ปี2555/2556 เหลือเพียง1.3 แสนตัน เทียบปีก่อนนำเข้าสูงถึง 9.6 แสนตัน ชี้ 7 เดือนแรกปีนี้ทำส่งออกหายไปแล้ว 1.1 ล้านตัน ย้ำระยะยาวไทยได้เปรียบในตลาดเออีซี แม้ไร้กำแพงภาษีกั้น 60% เพราะอยู่ใกล้ตลาดที่สุด

alt นายภิรมย์ศักดิ์ สาสุนีย์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ค้าผลผลิตน้ำตาล จำกัด เปิดเผ ย"ฐานเศรษฐกิจ" ถึงสถานการณ์น้ำตาลส่งออกว่าฤดูการผลิตปี 2555/2556 ที่กำลังจะสิ้นสุดลงในเดือนพฤศจิกายนนี้ว่า ในช่วง 7 เดือนหรือระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนกรกฎาคมเปรียบเทียบปีที่แล้ว ปริมาณน้ำตาลส่งออกลดลงไปแล้วประมาณ 1.1 ล้านตัน หรือมีตัวเลขส่งออกลดลงจากปีที่แล้วที่ 5.9 ล้านตัน ลงมาอยู่ที่ 4.7 ล้านตัน(ดูตาราง)

เนื่องจากจีนนำเข้าน้ำตาลจากไทยลดลง เมื่อเทียบกับปี 2554/2555 ที่นำเข้าจากไทย 9.6 แสนตัน ขณะที่ในช่วง 7เดือนแรก ปี 2555/2556 จีนเพิ่งมีการนำเข้าจากไทยเพียง 1.3 แสนตัน และหันไปนำเข้าจากบราซิลมากขึ้น เพราะซื้อได้ในราคาที่ถูกกว่าไทย เนื่องจากค่าเฟดลดลง เพราะนำเข้าในปริมาณที่มาก ทำให้ผู้ส่งออกไทยต้องหันไปส่งออกในตลาดเกาหลีใต้ และซูดาน เป็นการชดเชยตลาดจีนและอิรักได้เพียงบางส่วนเท่านั้น

ทั้งนี้มองว่าทั้งปีน่าจะยังรักษาระดับการส่งออกรวมไว้ที่ 7 ล้านตันเศษได้ แต่ต้องยอมรับว่าการส่งออกและปริมาณน้ำตาลที่ได้ในฤดูการผลิตไม่สอดคล้องกับปริมาณอ้อย ที่ปีนี้(2555/2556) มีจำนวนอ้อยมากถึง 100 ล้านตันอ้อย สูงกว่าปีที่ผ่านมา แต่ผลผลิตน้ำตาลกลับทำได้เพียง 10 ล้านตันเศษ ถือว่าผลผลิตตกต่ำลง และการส่งออกไม่เติบโต ในขณะที่ตัวเลขบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้นโดยมีการบริโภคเพิ่มจาก 2.5 ล้านตันปีที่แล้วเป็น 2.66 ล้านตันในปีนี้ โดยเพิ่มขึ้นมาถึง 1.6 แสนตัน เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม

"การที่ผลผลิตน้ำตาลปี 2555/2556 ไม่ดี เนื่องจากคุณภาพอ้อยบางส่วนไม่ดี และมีช่วงที่ปริมาณน้ำน้อย ทำให้ผลผลิตไม่ดี เพราะเดิมอ้อย 1 ตันจะได้น้ำตาล 100 กิโลกรัม แต่ปีนี้ปริมาณอ้อยมีมากขึ้นแต่กลับได้ปริมาณน้ำตาลเท่าเดิม"

สำหรับการส่งออกปี 2556/2557 ยังมีความหวังว่าจะมีปัจจัยบวกอยู่บ้าง หากจีนและอินโดนีเซียอาศัยจังหวะที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกตกต่ำลง ทำการกว้านซื้อน้ำตาลดิบเก็บเพื่อสต๊อกไว้ โดยปัจจุบันอินโดนีเซียเป็นผู้นำเข้าน้ำตาลรายใหญ่ของไทย ปี 2554/2555 นำเข้าจากไทย 1.9 ล้านตัน ปี 2555/2556 เฉพาะนำเข้าในช่วง 7 เดือนแรก 1.6 ล้านตัน คาดว่า ทั้งปีจะยังรักษาระดับเดิมไว้ได้ ส่วนปี 2556/2557 คาดว่าจะนำเข้าจากไทยไม่น้อยกว่าปี 2556

อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่าเป็นห่วงในฤดูการผลิตใหม่คือ ราคาน้ำตาลในตลาดโลกตกต่ำลงจะทำให้ค่าตอบแทนจากการผลิตน้ำตาลน้อยลง หรือมีรายได้น้อยลง ขณะเดียวกันราคาอ้อยปี2556/2557 ก็จะตกต่ำลงด้วยโดยมีราคาไม่ถึง 1 พันบาทต่อตัน ขณะเดียวกันถ้าปริมาณอ้อยเพิ่มขึ้นทะลุ 100 ล้านตัน ก็น่าจะเป็นเรื่องดีสำหรับโรงงานผลิตน้ำตาลที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งโรงใหม่และโรงเก่าที่ขยายกำลังการผลิต ซึ่งในช่วงที่ผ่านมามีโรงงานน้ำตาลจำนวน 50 แห่ง และอีก 1-2 ปีนับจากนี้ไปจะมีโรงงานน้ำตาลเพิ่มขึ้นอีก

"รวมทั้งยังมีการจัดโซนนิ่งในการปลูกอ้อยตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทำให้มีพื้นที่ในการปลูกอ้อยมากขึ้น โดยเปลี่ยนพื้นที่ที่เป็นนาดอนมาปลูกอ้อย เพียงแต่การเติบโตนี้จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ซึ่งรวมทั้งการขนส่งน้ำตาลและการเก็บสต๊อกในคลังสินค้า รวมถึงการนำอ้อยไปผลิตเป็นเอทานอลให้มากขึ้นเพื่อรับความเสี่ยงเมื่อราคาน้ำตาลในตลาดโลกตกต่ำลงมาก"
สอดคล้องกับที่แหล่งข่าวจากวงการน้ำตาลกล่าวว่า การเตรียมพร้อมนี้จะเป็นการรองรับการขยายตัวของตลาดเอเชีย โดยไทยอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่ใกล้ตลาดและเป็นผู้นำในตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี)มากที่สุด ทำให้อุตสาหกรรมน้ำตาลได้เปรียบ ถึงแม้จะไม่มีกำแพงภาษีอากรนำเข้ากับประเทศในกลุ่มเออีซีที่ 60% แล้วก็ตาม แต่ตลาดโซนนี้ก็ยังต้องการใช้น้ำตาลจากประเทศไทย ที่ปัจจุบันก็เป็นผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ในโซนนี้อยู่แล้ว

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2556

ชาวนาบุรีรัมย์แห่ปลูกอ้อยหนีแล้ง

บุรีรัมย์ - เกษตรกรในพื้นที่ 6 อำเภอ ของ จ.บุรีรัมย์ ประกอบด้วย อ.เมือง, บ้านด่าน, แคนดง, ลำปลายมาศ, สตึก และ คูเมือง ซึ่งตั้งอยู่ในรัศมี 50 กิโลเมตรรอบโรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์ ซึ่งประสบปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก ฝนไม่ตกตามฤดูกาล ส่งผลให้ทำนาได้ผลผลิตน้อยไม่คุ้มทุน ได้หันมาปลูกอ้อยเพิ่มขึ้นปีละกว่า 50,000 ไร่

โดยจากข้อมูลในปีการผลิต 2555/56 มีเกษตรกรทั้ง 6 อำเภอ ปลูกอ้อยอยู่ประมาณ 6,000 ราย พื้นที่ปลูกกว่า 120,000 ไร่ มีผลผลิตส่งเข้าหีบกว่า 1.3 ล้านตัน ต่อมาในปี 2556/57 มีเกษตรกรหันมาปลูกเพิ่มอีกกว่า 50,000 ไร่ มีผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านตัน ซึ่งสาเหตุที่เกษตรกรปรับเปลี่ยนจากการทำนาหันมาปลูกอ้อยแทน เพราะเป็นพืชที่ทนแล้งใช้น้ำน้อย ซึ่งช่วยลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกรได้อีกด้วย

หลังจากทางหน่วยงานภาครัฐ ร่วมกับสมาคมชาวไร่อ้อย โรงงานน้ำตาล เข้ามาสนับสนุนส่งเสริมให้ความรู้เรื่องเทคนิคการปลูกอ้อยให้ได้ผลผลิตอย่างเต็มที่ ปัจจุบันทำให้เกษตรกรมีผลผลิตเฉลี่ย 13 ตันต่อไร่ เกษตรกรมีรายได้ประมาณ 6-7 พันบาทต่อไร่

จาก http://www.khaosod.co.th  วันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2556

ก.อุตสาหกรรมดันธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมสู่อุตสาหกรรมสีเขียว

ประเทศอธิบายกับ"ประกายดิน" ว่า เราตื่นกระแสเออีซี แต่ไม่รู้จักเออีซีอย่างแท้จริง ความจริงการมีเออีซีหรือไม่มีเออีซี ดูจะไม่ต่างกันคือ สุดท้ายปลาใหญ่ก็กินปลาเล็ก

กฎระเบียบต่างๆ ที่เอื้อประโยชน์ด้านการค้า การลงทุน ถามว่านักธุรกิจหรือคนไทยเข้าใจจริงๆ สักกี่คน
มีนักธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมกี่คนที่เข้าใจเรื่อง"แหล่งกำเนิดสินค้า"อย่างแท้จริง ไม่ต้องพูดถึงกฎการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยนำออกมาช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทุกกลุ่มสินค้าและบริการ โดยจะส่งเสริมทุกตลาด แต่มีนโยบายเน้นเข้าไปสร้างเสริมกิจกรรมในตลาดใหม่ เช่น พม่า เวียดนาม มาเลเซียสิงคโปร์ จีน ฮ่องกง เกาหลีใต้ อินเดียชิลี เปรู เป็นต้น

กระทรวงอุตสาหกรรม จัดงานสัมมนา "จากธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม..สู่..อุตสาหกรรมสีเขียว" วางเป้าหมายส่งเสริมให้สถานประกอบการภาคการผลิตทั่วประเทศมุ่งสู่การเป็น "อุตสาหกรรมสีเขียว" ภายในปี 2561 หวังให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการพัฒนาอุตสาหกรรม ที่ยั่งยืน

ดร.พสุ โลหารชุน รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า "สังคมและสิ่งแวดล้อมได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญ ต่อการดำรงอยู่ของสถานประกอบการ นอกจากสถานประกอบการจะต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ชุมชนและคนรอบข้างต่างคาดหวังว่าภาคอุตสาหกรรมจะเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กับการไม่สร้างปัญหาและผลกระทบทางลบที่เป็นมลภาวะต่างๆ ต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม จึงเป็นที่มาที่กระทรวงอุตสาหกรรมจะต้องส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการ และต่อยอดให้เป็นอุตสาหกรรมสีเขียวของประเทศ

ดร.พสุ โลหารชุน กล่าวต่อว่ากระทรวงอุตสาหกรรม ให้ความสำคัญในการร่วมมือรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง โดยภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และประชาชน ด้วยการส่งเสริมสนับสนุนให้สถานประกอบการอุตสาหกรรมได้นำระบบธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมไปดำเนินการให้เกิดผลสำเร็จ ซึ่งในปี 2556 มีสถานประกอบการได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมนำระบบธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมไปดำเนินการในสถานประกอบ จำนวน 216 ราย จากเป้าหมายที่กำหนดไว้ในปีนี้ จำนวน 150 ราย ในพื้นที่ 55 จังหวัด ประกอบด้วยจังหวัดในภาคกลาง 22 จังหวัด ภาคเหนือ11 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 11 จังหวัด และภาคใต้ 10 จังหวัด รวมระยะเวลาตั้งแต่ปี 2551-2556 มีจำนวนสถานประกอบการที่ได้ผ่านตามหลักเกณฑ์ธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม จำนวน 1,250 รายซึ่งสถานประกอบการเหล่านี้เมื่อมีความยึดมั่นในการประกอบกิจการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวด ล้อมโดยมุ่งเน้นการพัฒนาและปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง และประกอบกิจการด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมทั้งภายในและภายนอกองค์กรตลอดห่วงโซ่อุปทานเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนแล้วจะกลายเป็น "อุตสาหกรรมสีเขียว" อย่างสมบูรณ์แบบในที่สุด"

"ปัจจุบันมีสถานประกอบการที่ผ่านการประเมินเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวรวมทั้งสิ้น 7,238 ราย แบ่งเป็นระดับที่1 ความมุ่งมั่นสีเขียว จำนวน 3,730 ราย,ระดับที่ 2 ปฏิบัติการสีเขียว จำนวน 1,627 ราย, ระดับที่ 3 ระบบสีเขียว จำนวน1,851 ราย, ระดับที่ 4 วัฒนธรรมสีเขียวจำนวน 30 ราย และระดับที่ 5 เครือข่ายสีเขียว ยังอยู่ระหว่างการตรวจประเมินนอกจากนี้ ยังมีสถานประกอบการที่เห็นประโยชน์ของการเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวและได้ขออนุญาตใช้ตราสัญลักษณ์อุตสาหกรรมสีเขียว หรือ Green Industry Mark จำนวน 16 ราย เพื่อสื่อให้ผู้บริโภคได้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการเป็นอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมและที่สำคัญการเชิญชวนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในฐานะของผู้บริโภค ในโครงการอุตสาหกรรมสีเขียว โดยเลือกซื้อเลือกใช้สินค้าหรือเลือกบริการที่เกิดจากกระบวนการผลิตที่สะอาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อชุมชนหรือประชาชนด้วย"

จากhttp://www.siamturakij.com วันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2556

ตั้งฐานปฏิบัติการฝนหลวงหัวหินแก้ภัยแล้ง

หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง ตั้งฐานปฏิบัติการทำฝนเทียมที่สนามบินบ่อฝ้าย อ.หัวหิน รับหน้าที่สร้างความชุมชื้นแก่ อ.ปราณบุรี อ.หัวหิน รวมทั้ง จ.เพชรบุรี และ จ.ราชบุรี

เมื่อวันที่ 3 ก.ย. นายแทนไทร์ พลหาญ นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการ หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง กระทรวงเกษตรและหสกรณ์ ได้ตั้งฐานปฏิบัติการทำฝนเทียมที่สนามบินบ่อฝ้าย อ.หัวหิน โดยใช้เครื่องบินคาราแวน 3 ลำ รับผิดชอบในพื้นที่ อ.ปราณบุรี อ.หัวหิน รวมทั้ง จ.เพชรบุรี และ จ.ราชบุรี เนื่องจากขณะนี้ในพื้นที่ดังกล่าว มีสภาพปัญหาภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อการอุตสาหกรรม และ การเกษตร สำหรับเป้าหมายในการปฏิบัติงานจะเต้องเร่งทำฝนเทียมเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ในขณะที่ปกติในช่วงเดือนส.ค. - พ.ย.ของทุกปี จะเป็นฤดูที่มีฝนตกต่อเนื่อง

นายแทนไทร์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังมีการตั้งฐานปฏิบิติการฝนหลวงที่ กองบิน 5 อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยใช้เครื่องบินคาราแวน 2 ลำเพื่อปฏิบัติภารกิจเสริมในพื้นที่ อ.ปราณบุรี หลังจากมีปริมาณน้ำดิบในเขื่อนปราณบุรีเหลือเพียง 27 % จากปริมาณกักเก็บ 445 ล้านลูกบาศ์กเมตร รวมทั้งเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างยางชุม ที่ อ.กุยบุรีและอ่างเก็บน้ำคลองบึงที่ อ. เมือง ยังมีปริมาณน้ำน้อยมาก หลังจากภาวะฝนทิ้งช่วงประกอบกับมีลมตะวันออกเฉียงใต้พัดเข้ามาส่งผลทำให้ปริมาณความชื้นสัมพัทธ์มีเพียง 60 % เท่านั้น

"สำหรับการทำฝนเทียมทั้ง 2 ฐานปฏิบัติการยังมีปัญหาจากสภาพภูมิประเทศลักษณะแคบและยาว เนื่องจากตะวันตกติดชายแดนประเทศพม่าและทิศตะวันออกเป็นทะเลอ่าวไทย และ การทำฝนเทียมต้องใช้เวลาดำเนินการอย่างรวดเร็วในการใช้สารเคมีโปรยบนก้อนเมฆ โดยรอให้มีการรวมตัวของกลุ่มเมฆชั้นล่าง และมีปริมาณความชื้นสัมพัทธ์เพียงพอตามหลักวิชาการ เพื่อให้มีฝนตกในพั้นที่เป้าหมาย ขณะที่การขึ้นบินแต่ละวันใช้งบประมาณ 50,000-100,000 บาท"นายแทนไทร์ กล่าว.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 3 กันยายน 2556

เตือนปลูกอ้อยในนาข้าวอย่าให้น้ำขัง

เมื่อวันที่ 3 ส.ค. นายเฉลิมศักดิ์ ประสิทธิ์สุวรรณ เกษตรจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผย กรณีที่รัฐบาลมีนโยบายให้เกษตรกรชาวนาหันมาปลูกพื้นอย่างอื่นทนแทนข้าว เพื่อให้ได้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น และมีรายได้มากขึ้นว่า เนื่องจากการทำนาในบางพื้นที่อาจะไม่คุ้มค่ากับการลงทุน จังหวัดนครราชสีมา จึงเริ่มสำรวจและหาทางกำหนดพื้นที่ให้เกษตรกรปลูกอ้อยทดแทนนาข้าว โดยเบื้องต้น ต้องเป็นพื้นที่ใกล้โรงงาน หรือเป็นที่นาดอน เช่น เขตอำเภอแก้งสนามนาง โนนสูง พิมาย ครบุรี จักราช ทั้งนี้เพื่อให้เกษตรกรชาวนาปลูกอ้อยทดแทน ซึ่งเชื่อว่าน่าจะมีความเหมาะสม และคุ้มค่ามากกว่าการทำนา

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจเบื้องต้นพบว่า ในหลายพื้นที่ มีการปลูกอ้อยในนาข้าวไปบ้างแล้ว เชื่อว่าการลงทุนปลูกอ้อยในนาข้าว น่าจะได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าและมีความเสี่ยงกว่าการ ปลูกข้าวเพียงอย่างเดียว เนื่องจากอ้อยสามารถทนแล้งได้ดี และอยู่ใสภาพน้ำท่วมขังได้ด้วย อย่างไรก็ตาม เกษตรกรที่ปลูกอ้อยในนาข้าวควรดูแลอ้อย อย่างใกล้ชิด บำรุงรักษาตามระยะเวลา หากมีน้ำท่วมขังควรรีบระบายน้ำออกทันที ไม่ควรให้น้ำขังเป็นเวลานาน ๆ เนื่องจากจะทำให้อ้อยชะงักการเจริญเติบโต และขณะที่น้ำท่วมขัง ก็ไม่ควรใส่ปุ๋ย ที่สำคัญ ควรเฝ้าระวังโรคหนอนกออ้อย เนื่องจากพบว่ามีการระบาดในบางพื้นที่แล้ว โดยหากอ้อยที่ปลูกไว้มีปัญหา หรือพบการระบาดของหนอนกออ้อย ให้รีบแจ้งสำนักงานเกษตรอำเภอหรือตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้าให้ให้ความช่วยเหลือ หรือให้คำปรึกษาด่วน เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง และจะได้รีบแก้ปัญหาอย่างทันท่วงที.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 3 กันยายน 2556

อีสานใต้”แล้งลมแรงทำฝนเทียมไม่สำเร็จ

หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง เผยพื้นที่รับผิดชอบ 4 จังหวัดอีสานตอนล่างยังประสบภัยแล้ง เนื่องจากฝนทิ้งช่วง ซ้ำลมมรสุมกระหน่ำ เป็นอุปสรรคต่อการทำฝนหลวง

เมื่อวันที่ 3 ก.ย. ที่กองบิน 1 นครราชสีมา นายวีระยุทธ ภูขาว หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า ขณะนี้หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.นครราชสีมา ซึ่งรับผิดชอบในพื้นที่ 4 จังหวัดอีสานตอนล่าง ประกอบด้วย จ.นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ และชัยภูมิ ยังคงได้รับการร้องขอให้นำเครื่องบินบรรทุกสารเคมี ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงตามพื้นที่ต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการปลูกข้าว ซึ่งได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาฝนทิ้งช่วง ทำให้ต้นข้าวที่กำลังออกรวง แห้งเหี่ยว จากการขาดแคลนน้ำ

ที่ผ่านมา ทางหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.นครราชสีมา ได้นำเครื่องบินขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ที่ประสบภัยทุกวัน อย่างน้อยวันละ 1-2 ครั้ง แต่สาเหตุที่ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากลมมรสุมที่พัดมาค่อนข้างรุนแรง จึงขอให้เกษตรกรช่วยกันตรวจสอบสภาพอากาศในพื้นที่ตนเอง โดยการสังเกตง่าย ๆ ด้วยการลองจุดกองไฟ หากในพื้นที่ไม่มีลม ควันไฟก็จะพวยพุ่งขึ้นท้องฟ้า แต่หากบริเวณใดมีลมแรง ควันไฟก็จะพัดลอยไปกับพื้นดิน ไม่จับกลุ่มเป็นก้อน ซึ่งวิธีการสังเกตเหล่านี้ ก็จะช่วยให้การขึ้นบินทำฝนหลวงค่อนข้างประสบผลสำเร็จ

หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.นครราชสีมา กล่าวต่อว่า ปัจจุบันที่หน่วย จ.นครราชสีมา มีเครื่องบินที่ใช้ปฏิบัติการทำฝนหลวง จำนวน 1 ลำ สามารถบรรทุกสารฝนหลวงได้ 2,000 กิโลกรัม ต่อการขึ้นบิน 1 เที่ยว โดยเริ่มดำเนินการตั้งหน่วยมาตั้งแต่วันที่ 4เมษายน 2556 จนถึงขณะนี้ ได้ขึ้นบินรวมทั้งสิ้น 118 เที่ยวบิน ใช้สารฝนหลวงแล้ว 278.30 ตัน โดยมีฝนตกในพื้นที่เป้าหมาย ซึ่งหากประชาชนที่ประสบภัยแล้ง ก็สามารถร้องขอให้ทางหน่วยขึ้นบินปฏิบัติทำฝนหลวงได้ ที่หมายเลข 044-359-116 ได้ในวันและเวลาราชการ.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 3 กันยายน 2556

ภาคเกษตรครึ่งปีแรกจังหวัดขอนแก่นขยายตัว 6.4%

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 4 ขอนแก่น เผยผลประมาณการภาวะเศรษฐกิจการเกษตรจังหวัดขอนแก่น ช่วงครึ่งแรกของปี 56 ระบุภาคเกษตรขยายตัวร้อยละ 6.4 โดยดัชนีรายได้ภาคเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.2

เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา จากนโยบายของภาครัฐที่มุ่งเน้นพัฒนาภาคเกษตรให้พร้อมเข้าสู่ AEC ส่งผลเกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูกยิ่งขึ้น คาดแนวโน้มตลอดปีของจังหวัดจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.0 – 3.0

นายบัณฑิต มงคลวีราพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 4 ขอนแก่น (สศข.4) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการประมาณการภาวะเศรษฐกิจการเกษตรจังหวัดขอนแก่น ในช่วงครึ่งแรกของปี 2556 พบว่า ภาคเกษตรขยายตัวร้อยละ 6.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรในช่วงครึ่งแรกของปี 2556 คือนโยบายของภาครัฐ ที่มุ่งเน้นการพัฒนาด้านการเกษตรเพื่อมุ่งสู่การแข่งขันเตรียมพร้อมการเข้าประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 ทั้งด้านเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตรเพื่อรองรับปัญหาการขาดแคลนแรงงานเกษตร และการปรับโครงสร้างราคาสินค้าเกษตร เช่น โครงการรับจำนำข้าว เป็นแรงผลักดันให้เกษตรกรมั่นใจและขยายพื้นที่เพาะปลูกมากขึ้น ยกเว้นสาขาป่าไม้ที่มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่แผ้วถางป่าเพื่อทำไร่อ้อยและมันสำปะหลังเพิ่มขึ้น ซึ่งเมื่อจำแนกเป็นรายสาขา พบว่า
สาขาพืช ขยายตัวร้อยละ 9.6 จากการผลิตอ้อยที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ประกอบกับเกษตรกรเร่งตัดอ้อยในช่วงฤดูกาลเปิดหีบอ้อยโรงงาน นอกจากนี้จำนวนต้นยางพาราที่มีอายุพร้อมกรีดยางใหม่ในปีนี้ยังทำให้มีปริมาณผลผลิตยางพาราเพิ่มขึ้น

ด้านสาขาปศุสัตว์ ขยายตัวร้อยละ 2.0 จากการเพิ่มขึ้นของปริมาณผลผลิตสุกร ไก่เนื้อ ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ ในขณะที่การเลี้ยงโคเนื้อและกระบือยังคงลดลง ส่วนสาขาประมงขยายตัวร้อยละ 0.4 จากการที่เกษตรกรสามารถดักจับสัตว์น้ำธรรมชาติได้มากขึ้น

สำหรับสาขาการบริการทางการเกษตรหดตัวร้อยละ 0.5 เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่จะซื้อเครื่องจักรกลเกษตรและเทคโนโลยีที่ทันสมัยไว้ใช้เองเพื่อความรวดเร็วประหยัดและลดการจ้างแรงงาน ในขณะที่สาขาป่าไม้หดตัวร้อยละ 2.2 เนื่องจากปริมาณไม้ยูคาลิปตัสลดลงมากและการเก็บของป่าน้อยลง

นายบัณฑิต กล่าวต่อไปว่า สำหรับดัชนีผลผลิตภาคเกษตรในภาพรวมช่วงครึ่งแรกของปี 2556 พบว่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 และดัชนีราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ส่งผลดัชนีรายได้ภาคเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.2 ทั้งนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรปี 2556 ของจังหวัดขอนแก่น คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.0 – 3.0 โดยสาขาพืชขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.2 - 3.2 สาขาปศุสัตว์ขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 1.6 - 2.6 สาขาประมงขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 0.4 - 1.4 สาขาการบริการทางการเกษตรขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 1.6 - 2.6 และสาขาป่าไม้คาดว่าจะหดตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 1.4 - 2.4 โดยยังมีปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคเกษตร ได้แก่ ราคาปัจจัยการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น ความแปรปรวนของภูมิอากาศที่อาจส่งผลต่อปริมาณน้ำฝน ภาวะฝนทิ้งช่วง ภาวะแห้งแล้งช่วงปลายปีที่อาจเกิดขึ้นเร็วกว่าปกติ ปัญหาโรคระบาดต่างๆ รวมถึงนโยบายของรัฐบาล นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก เช่น ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก อัตราแลกเปลี่ยน และราคาน้ำมัน

จาก http://www.thanonline.com วันที่ 3 กันยายน 2556

ทุนไทยยกทัพบุกกัมพูชาแสนล. กกร.ถกพาณิชย์ช่วย20อุตสาหกรรม

บีโอไอแจงนักลงทุนรายใหญ่ของไทยแห่ลงทุนในกัมพูชาอื้อ ทั้งปูน ค้าปลีก โรงงาน ธนาคาร โรงงานปิโตรเลียม รวมมูลค่าหลายแสนล้าน หลังรัฐบาลกัมพูชามุ่งส่งเสริมให้ต่างชาติลงทุนในหลายธุรกิจ กกร.ถก 20 อุตสาหกรรม แก้ปัญหาส่งออก คาดอุตสาหกรรมอาหารยอดส่งออกทะลุ 1 ล้านล้านบาท

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) แจ้งว่า ปัจจุบันมีกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่จากประเทศไทยจำนวนมากเข้าไปลงทุนในประเทศกัมพูชาในหลากหลายธุรกิจ มีมูลค่ารวมหลายแสนล้านบาท โดยกลุ่มธุรกิจส่วนใหญ่เป็นการลงทุนด้านธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจปูนซีเมนต์ ธุรกิจโรงแรม สนามกอล์ฟ ธุรกิจทางการเกษตรขนาดใหญ่ เช่น การปลูกสวนปาล์มนับ 10,000 ไร่ ธุรกิจโรงพยาบาล ธุรกิจการบิน ธุรกิจทางด้านพลังงาน ธุรกิจธนาคาร ธุรกิจในอุตสาหกรรมน้ำตาล ธุรกิจบันเทิง ปศุสัตว์และอาหารสำเร็จรูปครบวงจร

ทั้งนี้ กลุ่มทุนไทยรายใหญ่ที่ลงทุนในประเทศกัมพูชาล่าสุด เป็นกลุ่มทุนในทางด้านการเกษตรและปศุสัตว์ครบวงจร เช่น กลุ่มซี.พี. และกลุ่มโบทาโกร, กลุ่มอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ เช่น กลุ่มสยามซีเมนต์, กลุ่มไทยนครพัฒนา โดยลงทุนในธุรกิจโรงแรมโซฟิเทล และสนามกอล์ฟโภคีธารา, กลุ่มทีทีซี กรุ๊ป (ทีซีซี แลนด์, ทีซีซี แคปปิตอล, ไทยเบฟและบีเจซี), กลุ่มทุนของ บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ หรือโรงพยาบาลกรุงเทพ และ บมจ.การบินไทย

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มทุนขนาดใหญ่ทางด้านพลังงานอย่าง ปตท.ที่เข้าไปลงทุนธุรกิจทางด้านปิโตรเลียม และทางด้านพลังงาน เช่น การขุดเจาะแหล่งก๊าชธรรมชาติ, กลุ่มทุนทางด้านการเงิน เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารกรุงไทย และกลุ่มทุนทางด้านอุตสาหกรรมโรงงานน้ำตาล คือ กลุ่มบมจ.โรงงานน้ำตาลขอนแก่น เป็นต้น

ทั้งนี้ ที่ผ่านมานั้นรัฐบาลกัมพูชาได้ส่งเสริมให้ต่างชาติลงทุนในหลายธุรกิจ เช่น ธุรกิจการเกษตร เช่น ปลูกข้าว ปลูกยางและอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม เสื้อผ้าและอาหารสัตว์ อุตสาหกรรมผลิตวัสดุก่อสร้าง และอุตสาหกรรมผลิตกระแสไฟฟ้า นอกจากนี้ยังมีปัจจัยหลายๆ ด้านที่เอื้อต่อการลงทุน ทั้งจากจำนวนประชากรของกัมพูชามากกว่า 14 ล้านคน ที่มีค่าแรงงานต่ำ รวมถึงทรัพยากรทางธรรมชาติยังอุดมสมบูรณ์ และโอกาสการลงทุนในกลุ่มธุรกิจอื่นๆ อีกจำนวนมาก ทำให้นักลงทุนไทยสนใจเข้าไปสร้างธุรกิจในกัมพูชามากขึ้น

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยภายหลังการประชุม กกร. ว่า ที่ประชุมมีความเป็นห่วงภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันที่อยู่ในภาวะถดถอย ซึ่งจะเป็นปัญหาส่งผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมากในเวลาอันสั้น โดยเฉพาะปัญหาด้านค่าครองชีพ จึงอยากให้รัฐบาลหาทางเพิ่มรายได้แก่ประชาชน

นอกจากนี้ รัฐบาลควรเร่งดำเนินการผลักดันการส่งออก โดย กกร.ได้รวบรวมปัญหาอุปสรรคการส่งออกของ 20 กลุ่มอุตสาหกรรมเพื่อหาวิธีการในการเพิ่มยอดส่งออก โดยในอีก 2-3 สัปดาห์หลังจากนี้จะนำข้อเสนอที่ได้ส่งให้กระทรวงพาณิชย์พิจารณาต่อไป คาดว่าปี 2556 นี้ ยอดส่งออกเกินกว่า 1 ล้านล้านบาท เพิ่มจากในปี 2555 มูลค่า 9 แสนล้านบาท สำหรับนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่จะประกาศใช้กรอบส่งเสริมการลงทุนใหม่ และจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2558 นั้น กกร.ต้องการให้บีโอไอคงระยะเวลาให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีแก่โครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมยางพารา ข้าว มันสำปะหลัง อ้อยและน้ำตาล และปาล์ม ไว้ที่ 5 ปีหรือมากกว่าต่อไป แทนที่จะเป็น 3 ปีอย่างที่กำหนดไว้ในมาตรการใหม่ เพราะเป็นระยะเวลาสั้นเกินไป เนื่องจากการทำธุรกิจจะต้องใช้เวลา 5 ปีจึงได้กำไร.

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 3 กันยายน 2556

รายงานพิเศษ : เปิดมาตรการควบคุมปัจจัยการผลิตด้านพืช

ปัจจุบันเกษตรกรได้มีการผลิตพืชในเชิงการค้าเพิ่มมากขึ้น ทำให้ความต้องการใช้ปัจจัยการผลิตทางการเกษตรสูงขึ้นด้วย ทั้งปุ๋ย สารเคมีการเกษตร และเมล็ดพันธุ์ ทำให้มีพ่อค้าบางรายฉวยโอกาสนำปัจจัยการผลิตทางการเกษตรด้อยคุณภาพ หรือไม่ได้มาตรฐานมาจำหน่ายให้กับเกษตรกร ซึ่งปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นแทบทุกปีถึงแม้จะมีการกวดขันอย่างเข้มงวด ปี 2556 นี้ กรมวิชาการเกษตรได้กำหนดมาตรการควบคุมปัจจัยการผลิตด้านพืช เพื่อปกป้องเกษตรกรให้ได้รับปุ๋ย สารเคมีการเกษตร และเมล็ดพันธุ์พืชที่มีคุณภาพ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าพืช

นายดำรงค์ จิระสุทัศน์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า จากการที่สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร และเจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตรพร้อมเครือข่ายสารวัตรเกษตรได้ติดตามตรวจสอบการผลิตและจำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตรอย่างต่อเนื่อง พบว่า ปัญหาปุ๋ยปลอม สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชปลอม และเมล็ดพันธุ์พืชเสื่อมคุณภาพส่วนใหญ่หลุดลอดไปสู่เกษตรกรโดยพ่อค้าเร่ไปตามหมู่บ้านต่างๆ และขายโดยตรงให้กับเกษตรกรในราคาถูก หากซื้อปริมาณมากจะมีของแถม เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า และมีการให้สินเชื่อด้วย

นอกจากนั้น ยังพบว่ามีการจำหน่ายสารปรับปรุงดินโดยโฆษณาชวนเชื่อ ทำให้เกษตรกรเข้าใจผิดว่า เป็นปุ๋ยที่สามารถทำให้พืชเจริญเติบโตและให้ผลผลิตมาก และยังมีการโฆษณาขายสินค้าบางชนิดที่ไม่บ่งชี้ว่าเป็นปุ๋ยหรือเป็นวัตถุอันตรายทางการเกษตรผ่านทางวิทยุ โทรทัศน์ และอินเตอร์เน็ต ทำให้เกษตรกรเข้าใจว่า สามารถป้องกันกำจัดศัตรูพืช ช่วยเร่งการเจริญเติบโตและให้ผลผลิตสูง

อย่างไรก็ตาม กรมวิชาการเกษตรได้กำหนดมาตรการควบคุมปัจจัยการผลิตด้านพืช 5 มาตรการ เป็นแนวทางช่วยให้ได้เกษตรกรผู้ปลูกพืชได้รับปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน คือ 1.มาตรการควบคุมโดยออกใบอนุญาตและการขึ้นทะเบียน 2.มาตรการควบคุมการนำเข้าปัจจัยการผลิตทางการเกษตร 3.มาตรการควบคุมการผลิตและจำหน่ายภายในประเทศ 4.การประชาสัมพันธ์และยกระดับร้านค้าเป็นร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพ (Q Shop) และ5.ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อควบคุมการโฆษณาให้ตรงตามความเป็นจริง

สำหรับมาตรการควบคุมโดยออกใบอนุญาตและการขึ้นทะเบียน ผู้ที่จะนำเข้า ผลิตและจำหน่ายปุ๋ย วัตถุอันตรายทางการเกษตร และเมล็ดพันธุ์ควบคุมต้องได้รับอนุญาตจากกรมวิชาการเกษตรก่อน โดยผู้ประกอบการต้องนำสินค้าที่นำเข้า ผลิตและจำหน่ายมาขอขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตรด้วย เพื่อควบคุมมาตรฐานของสินค้าว่ามีคุณภาพ ได้มาตรฐานและปลอดภัยต่อบุคคล สัตว์ และสิ่งแวดล้อม ส่วนมาตรการควบคุมการนำเข้าปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตรได้มอบหมายให้ด่านตรวจพืชตรวจสอบปุ๋ย วัตถุอันตรายทางการเกษตร และเมล็ดพันธุ์ควบคุมที่จะนำเข้า โดยเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบเอกสารใบอนุญาต ใบกำกับสินค้า ทะเบียน และสุ่มเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจสอบคุณภาพด้วยทั้งสินค้าสำเร็จรูปและวัตถุดิบ ถ้าผ่านการตรวจสอบจึงจะอนุญาตให้นำเข้ามาในราชอาณาจักรได้

อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าวถึงมาตรการควบคุมการผลิตและจำหน่ายภายในประเทศว่า กรมวิชาการเกษตรได้ติดตามตรวจสอบขบวนการผลิตปุ๋ย วัตถุอันตรายทางการเกษตร และเมล็ดพันธุ์ควบคุมอย่างต่อเนื่อง โดยตรวจเครื่องมืออุปกรณ์การผลิต ใบอนุญาต ทะเบียน ข้อมูลการผลิต ข้อมูลการจำหน่าย และสุ่มเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจสอบคุณภาพด้วย ตลอดจนให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการให้ปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องตามกฎหมาย ขณะเดียวกันยังมอบหมายให้สารวัตรเกษตรและผู้ช่วยสารวัตรเกษตรกว่า 400 คน ตรวจสอบร้านจำหน่ายปุ๋ย วัตถุอันตรายทางการเกษตร และเมล็ดพันธุ์อย่างใกล้ชิด และร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจทำการปราบปรามผู้ฝ่าฝืนกฎหมายด้วย

นอกจากนั้น กรมวิชาการเกษตรยังได้ประชาสัมพันธ์และยกระดับร้านค้าเป็นร้าน Q Shop ซึ่งปัจจุบันมีร้าน Q Shop ที่ได้รับการรับรองจากกรมวิชาการเกษตรแล้ว 711 ร้านค้า ปีนี้มีแผนเร่งขยายให้มีอำเภอละ 1 ร้านค้า และขยายผลสู่ตำบลละ 1 ร้านค้า เป้าหมายรวม 2,000 ร้านทั่วประเทศ

อีกทั้งยังได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้อง สามารถนำไปประกอบการควบคุมการโฆษณาให้ตรงตามความเป็นจริง ไม่โอ้อวดจนเกษตรกรเข้าใจผิดในคุณภาพของสินค้า คาดว่า 5 มาตรการนี้ จะช่วยปกป้องเกษตรกรจากการถูกเอาเปรียบ และได้รับปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพนำไปใช้แล้วได้ผลคุ้มค่า

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 3 กันยายน 2556

ส.ประกันวินาศภัยฯ พร้อมร่วมมือรัฐขยายการประกันภัยพืชผลไปยังพืชไร่และปศุสัตว์

นายจีรพันธ์ อัศวะธนกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า วันนี้เป็นวันแรกในการเปิดให้เกษตรกรทำประกันภัยพืชผลผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยมีเกษตรกรให้ความสนใจเข้าร่วมจำนวนมาก

เพราะรัฐบาลช่วยชดเชยเบี้ยประกัน ซึ่งเกษตรกรควรทำประกันภายใน 45 วัน หลังการเพาะปลูก จากนั้นในปี 2557 ตั้งเป้าหมายที่จะรับประกันภัยข้าวให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยจะแบ่งพื้นที่เสี่ยงลงไปในแต่ละอำเภอ เพราะจะมีความเสี่ยงแตกต่างกัน คาดว่าจะมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก

นอกจากนี้ สมาคมวินาศภัยไทย พร้อมร่วมมือกับรัฐบาลขยายการประกันภัยพืชผลไปยังพืชไร่ ขณะนี้ได้ทดลองนำร่องข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อย และขยายไปยังปศุสัตว์ โดยจะทดลองกับเกษตรกรโคนมท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อให้เกษตรกรทำประกันภัยโคนม ซึ่งเบื้องต้นประกันราคาวัวตัวละ 20,000 บาท ค่าเบี้ยประกัน 200 บาทต่อปี หากมีความพร้อมจะขยายไปยังโคนมพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ และสัตว์เลี้ยงชนิดอื่นๆ ส่วนเบี้ยประกันประเภทอื่นๆ อยู่ระหว่างการคำนวณให้อยู่ในความเหมาะสม โดยรัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุน

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 2 กันยายน 2556

'แปรรูปสินค้าเกษตร'ทางรอดราคาตกต่ำ

ปั้นอุตฯ 'แปรรูปสินค้าเกษตร' หนึ่งทางรอดหนีวังวนราคาตกต่ำ : ณัฎฐ์ชิตา เกิดแดง ... รายงาน

ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำในบ้านเรามีมาต่อเนื่อง จนทำให้ภาพการออกมาประท้วงของเกษตรกรกลายเป็นภาพชินตา และบางครั้งก็ลุกลามบานปลายไปถึงขั้นเสียเลือดเสียเนื้อ ซึ่งที่ผ่านมามักไม่ค่อยได้รับการแก้ไขในลักษณะสร้างความยั่งยืน เน้นการแทรกแซงราคาเฉพาะหน้าเป็นหลัก

ทั้งนี้ แนวทางหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนได้คือ การเร่งเพิ่มมูลค่าให้สินค้าเกษตร โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้ริเริ่มโครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรในภูมิภาค ตามนโยบาย One Province One Agro-Industrial Product หรือ OPOAI ตั้งแต่ปี 2550 จนถึงขณะนี้ ถือว่าช่วยผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ปรับตัวได้ไม่น้อย และถือเป็นต้นแบบของการเพิ่มมูลค่าในสินค้าเกษตรแปรรูปกว่า 750 ราย ที่เห็นผลในทางปฏิบัติทั้งการลดต้นทุนการผลิต ช่วยเพิ่มรายได้มากกว่า 2,800 ล้านบาท และเกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้

หนุนเอสเอ็มอีแปรรูปสินค้าเกษตร

นายพสุ โลหารชุน รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงการจัดทำโครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรในภูมิภาค หรือ โอปอย ว่ากระทรวงเริ่มดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปี 2550 เนื่องจากที่ผ่านมาทุกรัฐบาลได้เห็นความสำคัญของการแปรรูปสินค้าเกษตรในทุกพื้นที่ทุกจังหวัด โดยเบื้องต้นทางอุตสาหกรรมจังหวัดจะเข้าไปสำรวจว่าในจังหวัดนั้นๆ มีพืชเกษตรอะไรที่โดดเด่นและควรชักชวนให้เข้าสู่กระบวนการแปรรูปสินค้าเกษตร

จากนั้นจะเข้าไปหารือกับทางผู้ประกอบการเพื่อชี้แจงถึงประโยชน์ในการเข้าร่วมในโครงการ โดยจะคัดเลือกรายที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 200 ล้านบาท หรือเป็นผู้ประกอบการรายกลางและรายย่อย หรือเอสเอ็มอีเท่านั้น เพราะผู้ประกอบการรายใหญ่สามารถปรับตัวและพัฒนาศักยภาพการผลิตได้เองอยู่แล้ว

สำหรับขั้นตอนการปฏิบัติหลังจากเลือกผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการได้แล้ว อุตสาหกรรมจังหวัดจะเข้าไปวิเคราะห์ปัญหาการทำธุรกิจ อาจเป็นเรื่องโลจิสติกส์ ประสิทธิภาพการผลิต หรือมีปัญหาด้านคุณภาพของผลิตภัณฑ์ การใช้พลังงานที่สิ้นเปลืองมากเกินไป หรือปัญหาด้านการตลาด ด้านการจัดจำหน่ายสินค้า จากนั้นก็จะสร้างความเข้าใจให้ตรงกันและให้เอกชนเป็นผู้

ตัดสินใจเลือกว่าอยากปรับปรุงประสิทธิภาพทางด้านใด

ตามแผนแล้วกระทรวงจะมีโครงการการพัฒนาศักยภาพใน 6 แผนงานหลัก ได้แก่ 1.การบริหารจัดการโลจิสติกส์ 2.การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต 3.การปรับปรุงคุณภาพและพัฒนางาน 4.การลดต้นทุนพลังงาน 5.การยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ระบบมาตรฐานสากล และ 6.กลยุทธ์ขับเคลื่อนการตลาด ให้ผู้ประกอบการเลือกแผนงานที่คิดว่าธุรกิจจะได้ประโยชน์สูงสุด 2 แผนงาน โดยที่อุตสาหกรรมจังหวัดจะร่วมให้ความเห็นว่าแนวทางใดเหมาะสมที่สุด

ผู้ประกอบการแห่ร่วมโครงการ

นายพสุ กล่าวอีกว่า ในปี 2556 มีสถานประกอบการเสนอตัวเข้าร่วมโครงการมากถึง 157 แห่ง จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 130 แห่ง โดยแต่ละปีจะพยายามดูแลให้ไม่เกิน 150 แห่ง เพราะหากเข้ามามากเกินไปทีมงานผู้เชี่ยวชาญก็อาจดูแลได้ไม่ทั่วถึงและไม่เกิดผลในทางปฏิบัติจริง สำหรับปีนี้ธุรกิจให้ความสนใจเข้าร่วมแผนงานที่ 2 คือ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อลดต้นทุนมากที่สุดถึง 83 แห่ง ส่วนการเข้าร่วมในแผนงานบริหารจัดการโลจิสติกส์ เพื่อปรับปรุงกระบวนการทางด้านโลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพและลดต้นทุนการขนส่งให้ต่ำลง มีสถานประกอบการเข้าร่วม 24 แห่ง

ขณะที่การเข้าร่วมในแผนงานปรับปรุงคุณภาพและการพัฒนางาน เพื่อให้มีระบบการบริหารจัดการและควบคุมคุณภาพที่ดี มีสถานประกอบการเข้าร่วม 43 แห่ง การลดต้นทุนพลังงาน เพื่อให้องค์กรสามารถลดต้นทุนการใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งระยะสั้นและระยะยาว มีสถานประกอบการเข้าร่วม 53 แห่ง ส่วนการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์/ระบบมาตรฐานสากล เพื่อสร้างความพร้อมขององค์กรในการยื่นขอรับรองมาตรฐานต่างๆ มีสถานประกอบการเข้าร่วม 29 แห่ง

สำหรับกลยุทธ์ขับเคลื่อนการตลาด โดยการวางแผนการตลาด รวมทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน มีสถานประกอบการเข้าร่วม 31 แห่ง ส่วนสถานประกอบที่เข้าร่วมโครงการปีนี้มีทั้งสินค้าเกษตรประเภทข้าว พืชไร่ ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ ไม้ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางพารา อาหารทะเลแปรรูป มันสำปะหลัง แปรรูปไม้ สมุนไพร/สปา และอื่นๆ

“ปีนี้มีผู้ประกอบการให้ความสนใจมากกว่าที่คาด แสดงให้เห็นถึงความตื่นตัวที่มากขึ้น และจากที่เห็นแบบอย่างของรายที่ประสบความสำเร็จในปีก่อนๆ ซึ่งก่อนเริ่มโครงการเราต้องพูดคุยดูท่าทีทัศนคติของเอกชนด้วยว่าพร้อมจะรับการเปลี่ยนแปลง มีเวลาและเต็มใจทำตามแผนของเราหรือไม่ตั้งแต่แรก เพราะก่อนหน้านี้อาจมีบางรายไม่พร้อมพอทำไปแล้วก็อาจจะไม่ประสบความสำเร็จเสียทั้งเวลาเสียทั้งความรู้สึกทั้ง 2 ฝ่าย”

สำหรับระยะเวลาการปรับตัวตามแผนนั้น จะใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือนหลังจากที่เข้าไปให้คำแนะนำ ส่งผู้เชี่ยวชาญไปช่วยเหลือ โดยที่ผู้ประกอบการไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายส่วนนี้ ยกเว้นจะต้องมีการลงทุนเพิ่ม เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอาจต้องลงทุนซื้ออุปกรณ์เครื่องจักรเพิ่มเป็นต้น ซึ่งส่วนนี้ต้องโน้มน้าวให้ผู้ประกอบการเห็นผลดีที่จะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งการลดต้นทุนการผลิต การช่วยให้มีรายได้จากการขายสินค้ามากขึ้น เช่น หากใช้เงินลงทุนไป 4-5 แสนบาท อาจจะสามารถคืนทุนภายใน 2-3 เดือนก็ได้ เป็นต้น

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาการปรับตัวตามแผนนั้น ทางกระทรวงจะส่งทีมเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบความคืบหน้าของแผนเป็นระยะๆ ประมาณ 8-10 ครั้ง รวมทั้งต้องมีการวัดผลด้วยคาดว่าใช้เวลาประมาณ 4-5 เดือน ก็จะเริ่มเห็นผลของการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น

สำหรับตัวอย่างของเอสเอ็มอีเกษตรแปรรูปที่เข้าโครงการและประสบความสำเร็จ ได้แก่ โรงสีสหกรณ์การเกษตร ร้อยเอ็ด จำกัด เข้าร่วมโครงการ ปี 2551 ตอนเข้าร่วมโครงการ สหกรณ์มีต้นทุนการดำเนินงานที่สูงมาก ที่ปรึกษาโครงการแนะนำว่า ต้องสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าโดยเสนอให้ทำข้าวกาบ้า (ข้าวกล้องงอก) บรรจุถุงสุญญากาศถุงละ 1-2 กิโลกรัม ขายคนชั้นกลางขึ้นไป เพราะกระแสคนสนใจเรื่องสุขภาพมาก เบื้องต้นก็ส่งเสริมให้สมาชิกทำ ซึ่งก็มีไม่มากนัก และได้ไปเสนอขายบิ๊กซีและโลตัส จากข้าวสารธรรมดาขายกิโลกรัมละ 31-32 บาท ข้าวกล้องงอกขายกิโลกรัมละ 70 บาท เพิ่มมูลค่า 2-3 เท่า โดยสหกรณ์ได้ช่วยสร้างรายได้แก่สมาชิกกว่า 7,000 คนให้มีชีวิตดีขึ้น จากที่ต้องเข้ากรุงเทพฯ หรืออยู่บ้านไม่ได้ทำอะไร มาปลูกและทำข้าวกล้องงอกมีรายได้ 9,000 บาทต่อคนต่อเดือน

บริษัท อำไพพรรณการเกษตร จำกัด จ.เชียงใหม่ เมื่อเข้าโครงการใช้หลักวิชาการมาบริหารจัดการ ลดการใช้พลังงานจากที่เคยผลิตและแปรรูปลำไยอบแห้ง 3,000 ตัน ในปี 2549 เมื่อเข้าโครงการสามารถแปรรูปเพิ่มขึ้นอีก 30% พร้อมทั้งแนะนำว่าลำไยไม่ต้องอบแห้ง 100% อบแค่ 80% แล้วนำไปแช่ห้องเย็น เสียค่าใช้จ่ายประมาณ 5 แสนบาท แต่มีผลกำไรถึง 2 ล้านบาท โดยในปีนี้บริษัทสามารถผลิตลำไยอบแห้งได้เพิ่มขึ้นเป็น 7,000 ตัน ทำให้เกษตรกรที่ปลูกลำไยพลอยได้รับผลดีไปด้วย

เล็งปรับแผนมุ่งเน้นนวัตกรรม

นายพสุ กล่าวต่อว่า จากที่ดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2550 ถึงปัจจุบันมีสถานประกอบการอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรเข้าร่วมโครงการแล้วมากกว่า 750 แห่ง สามารถลดต้นทุน เพิ่มรายได้มากกว่า 2,800 ล้านบาท ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งและน่าจะเดินหน้าโครงการต่อไปในอนาคต โดยแต่ละปีกระทรวงจะจัดสรรงบประมาณปีละ 30 ล้านบาท ในการสนับสนุนการพัฒนาเอสเอ็มอีเกษตรกรแปรรูป ซึ่งแต่ละแห่งจะใช้งบในการพัฒนาขีดความสามารถประมาณ 1-2 แสนบาท เท่านั้น โดยถือเป็นส่วนหนึ่งในการเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรของประเทศ ให้สามารถรองรับเออีซีที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2558 ด้วย แม้ว่าขณะนี้ไทยจะมีความได้เปรียบประเทศอื่นๆ อยู่แล้ว ทั้งในแง่ผลผลิตทางการเกษตรที่มีหลากหลายและมีจำนวนมาก รวมถึงการพัฒนาด้านเทคโนโลยีต่างๆ

นอกจากนี้ จะเห็นประโยชน์ทางอ้อมของโครงการว่ายังสามารถช่วยรักษาแรงงานภาคการเกษตร ที่คิดเป็นสัดส่วน 43% ของประเทศ ซึ่งมีอยู่มากที่สุดให้สามารถประกอบอาชีพด้านการเกษตรต่อไป เมื่อปลูกผลผลิตออกมาแล้วสามารถขายได้ราคาดีขึ้น ส่งผลให้สถาบันครอบครัวก็เข้มแข็งขึ้น และเมื่อมีการกระจายการผลิต และการรับช่วงการผลิตไปทุกจังหวัดก็จะช่วยลดปัญหาการอพยพของแรงงานเกษตรเข้ามาในเมืองหรือย้ายข้ามไปทำงานภาคส่วนอื่นๆ ได้ด้วย

“ปัจจุบันพบว่ามีสถานประกอบการอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรกว่า 5.7 หมื่นรายทั่วประเทศ แต่เราคงเข้าไปช่วยพัฒนาไม่ได้ทั้งหมด เพราะหากช่วยทุกรายคงต้องใช้งบไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาทและความสนใจหรือความตั้งใจของแต่ละรายไม่เท่ากัน แต่เชื่อว่า ที่ทำมา 750 แห่งน่าจะเป็นตัวอย่างในทุกกลุ่มสินค้าเกษตรแล้ว โดยเฉพาะข้าว ปาล์ม เนื้อสัตว์ อาหารทะเล ซึ่งรายที่ไม่ได้เข้าโครงการก็สามารถนำวิธีการของรายที่ประสบความสำเร็จไปใช้เป็นต้นแบบได้"

นายพสุ กล่าวทิ้งท้ายว่า แผนงานที่กำหนดไว้ 6 ด้านนั้น กระทรวงใช้มาระยะเวลาหนึ่งแล้วเห็นว่าปัจจุบันอาจจะล้าสมัย และไม่เพียงพอ หรือบางด้านก็ถึงจุดอิ่มตัวเอกชนไม่สนใจเข้าร่วม ดังนั้นในปีหน้าจึงจะทบทวนปรับปรุงแผนงานใหม่ เช่น การพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ที่หันไปใช้นวัตกรรมใหม่ๆ แทน เพราะจากตัวเลขการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรของไทย ที่มีสัดส่วนถึง 18% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดและนำเม็ดเงินรายได้เข้าประเทศได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท โดยมีข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง น้ำตาลทราย เป็นสินค้าหลัก

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าส่วนใหญ่ผลผลิตการเกษตรของไทยจะเป็นผลิตภัณฑ์ขั้นต้น ไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่มเป็นผลิตภัณฑ์ขั้นกลางและปลาย และจะมีสินค้าซ้ำๆ ขาดความแตกต่างและหลากหลาย กระทรวงจึงเร่งส่งเสริมและผลักดันให้อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปมีความมั่นคงและเกิดความยั่งยืนในระยะยาว

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 2 กันยายน 2556

กกร.ห่วงเศรษฐกิจถดถอย แนะรัฐเพิ่มรายได้-เร่งส่งออก 20 กลุ่มอุตฯ

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวว่า กกร. มีความเป็นห่วงเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันที่อยู่ในภาวะถดถอย ซึ่งจะเป็นปัญหาส่งผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมากในเวลาอันสั้นนี้ โดยเฉพาะปัญหาด้านค่าครองชีพ จึงอยากให้รัฐบาลหาทางเพิ่มรายได้แก่ประชาชน

นอกจากนี้ รัฐบาลควรเร่งดำเนินการผลักดันการส่งออกเพื่อเป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่ง กกร.ได้เร่งรวบรวมอุปสรรคการส่งออกของ 20 กลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อหาวิธีการในการเพิ่มยอดส่งออก โดยอีก 2-3 สัปดาห์นี้จะนำข้อเสนอเพื่อช่วยสนับสนุนการส่งออกให้กระทรวงพาณิชย์พิจารณา โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร คาดว่าตลอดปีนี้จะมียอดรวมเกินกว่า 1 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ ตัวเลขส่งออกภาพรวมยังไม่สามารถรวบรวมได้อย่างชัดเจนโดยเฉพาะการค้าชายแดนกับ 4 ประเทศเพื่อนบ้าน คือ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนามและมาเลเซีย โดยเฉพาะมาเลเซียมีมูลค่าการค้าชายแดน คิดเป็นร้อยละ 30 ของมูลค่าการค้าชายแดนที่ขณะนี้มียอดรวมจะเพิ่มเป็น 1 ล้านล้านบาท จากปีที่ผ่านมา มียอดรวมประมาณ 900,000 ล้านบาท ซึ่งการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพิ่มการถือครองเงินในการค้าชายแดนจาก 500,000 บาท เป็น 2 ล้านบาทต่อรายที่ประกาศเมื่อวานนี้ นับเป็นสิ่งที่สามารถช่วยด้านการค้าชายแดนได้มาก

ขณะเดียวกันรัฐบาลควรเร่งปรับปรุงด่านชายแดนไทย เช่น ด่านชายแดนติดประเทศมาเลเซีย ยังต้องได้รับการปรับปรุง เพราะขณะนี้การขนส่งใช้เวลานานกว่า 4 ชั่วโมง เพราะด่านชายแดนไทยส่วนนี้ ไม่ได้รับการปรับปรุงมากว่า 10 ปี สำหรับภาพรวมการส่งออกแม้ว่าการส่งออกชะลอตัวลงแต่ตลอดปีนี้ปริมาณสินค้าส่งออกจะยังคงเติบโตได้จากปีที่ผ่านมาส่วนราคาจะต้องติดตามต่อไปส่วนอัตราการเพิ่มขึ้นเป็น ร้อยละยังไม่ขอประมาณการขณะนี้ ด้านภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 ของการค้าชายแดนปีละกว่า 900,000 ล้านบาท ต้องการให้มีการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มรวดเร็วยิ่งขึ้นโดยเฉพาะผู้ค้ารายย่อยควรได้รับการช่วยเหลือ เพราะจะทำให้มีเม็ดเงินกว่า 20,000 ล้านบาทหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจประเทศ

นอกจากนี้ กกร. ยังมีแนวคิดที่จะเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาปรับลดภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่จัดเก็บ ร้อยละ 3 ลดลงร้อยละ 0.5-1 หรือประมาณร้อยละ 2 เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับลดภาษีนิติบุคคลลงจากร้อยละ 30 เหลือร้อยละ 23 และจะเหลือร้อยละ 20 ในรอบปีบัญชี 2557 พร้อมกันนี้รัฐควรพิจารณาเร่งรัดเปิดด่านชายแดนถาวรเพิ่มขึ้นกว่าปัจจุบัน และควรเพิ่มเขตฟรีโซน ที่ไม่มีภาระภาษีทำให้การค้าเป็นไปอย่างสะดวกยิ่งขึ้น รวมทั้งพิจารณาปรับปรุงกฎระเบียบการขนส่งสินค้าผ่านแดนให้เป็นไปด้วยความสะดวกมากขึ้น

ส่วนการที่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.)ส่งร่างทีโออาร์การจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 3,138 คัน มาให้ กกร.พิจารณานั้น กกร.เห็นว่าการประมูลระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรืออี-อ๊อกชั่น ไม่มีความเหมาะสม เนื่องจากมีรายละเอียดการกำหนดคุณสมบัติผู้เข้าร่วมประมูลไว้มาก ส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยไม่สามารถเข้าร่วมประมูลได้ทั้งหมด ซึ่ง กกร.ต้องการให้ภาคเอกชนไทยมีส่วนร่วมในการเข้าร่วมประมูลขายรถให้กับ ขสมก.ด้วย ซึ่งเรื่องนี้ กกร.มีคณะทำงานร่วมกับ ขสมก.อยู่แล้วจะเสนอให้ ขสมก.พิจารณาแก้ไขต่อไป

ขณะที่การที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จะประกาศใช้กรอบส่งเสริมการลงทุนใหม่และจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 นั้น กกร.ต้องการให้บีโอไอ คงระยะเวลาให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีแก่โครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ในอุตสาหกรรมยางพารา ข้าว มันสำปะหลัง อ้อยและน้ำตาล และปาล์ม ให้มีระยะเวลาได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีนาน 5 ปีหรือมากกว่าต่อไป แทนที่จะเป็น 3 ปีอย่างที่กำหนดไว้ เพราะเป็นระยะเวลาที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่สั้นเกินไป เนื่องจากผู้ประกอบการเป็นรายเล็ก ทั้งนี้ต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนให้มีโครงการลงทุนเหล็กต้นน้ำ เพราะจะเป็นอุตสาหกรรมที่มีอุตสาหกรรมปลายน้ำอีกมาก เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นต้น

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 2 กันยายน 2556

ยุคล"มึนโซนนิ่งเกษตรไม่คืบ เหตุจนท.เถรตรงปลูกอ้อยแทนข้าว ชง"ยิ่งลักษณ์"ประชุมทำความเข้าใจ

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการกำหนดพื้นที่เศรษฐกิจเกษตร (โซนนิ่ง) ว่ายังพบปัญหาเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในระดับพื้นที่ไม่เข้าใจความหมาย จุดประสงค์ของโซนนิ่ง และวิธีการดำเนินงานเบื้องต้นที่จะปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวที่ให้ผลผลิต ต่ำเป็นปลูกอ้อย เพราะการดำเนินการผู้ปฏิบัติระดับพื้นที่จะต้องไปสำรวจว่าข้อมูลที่ส่วนกลาง ได้รับนั้นถูกต้องหรือไม่ หรือเกษตรกรเปลี่ยนชนิดพืชที่เพาะปลูกไปแล้ว แต่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ยังไม่ทราบข้อมูลที่แท้จริงว่าเกษตรกรต้องการปรับ เปลี่ยนมีจำนวนเท่าใด ขณะที่การดำเนินงานที่ถูกต้องเกษตรจังหวัดต้องเรียกเกษตรกรมาทำความเข้าใจ ว่าถ้าปรับเปลี่ยนจะต้องทำอย่างไรและมีผลดีอย่างไร

"ไม่ใช่ว่าขีดพื้นที่ไปแล้วว่าพื้นที่ที่เคยปลูกข้าวเดิมแต่มีผลผลิตน้อยจะต้องปลูกอ้อยทั้งหมด แต่ต้องลงไปทำความเข้าใจกับเกษตรกรว่าถ้าปลูกแล้วจะดีขึ้นอย่างไร และห้ามไปบังคับเกษตรกรเด็ดขาดว่าจะต้องหันมาปลูกพืชนี้แทนเพราะได้ผลดีขึ้น เพราะจะเป็นการให้คำสัญญากับเกษตรกรและจะกลายเป็นปัญหาระยะยาว เกษตรกรต้องตัดสินใจเอง ส่วนการช่วยเหลือเกษตรกรที่จะหันมาปลูกพืชแนะนำตามความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่นั้น รัฐบาลจะช่วยเหลืออัตราดอกเบี้ยให้ในปีแรกที่ปรับเปลี่ยน ขณะที่ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ต้องชี้แจงประชาชนให้ชัด ว่าการสนับสนุนดังกล่าวเป็นเพียงองค์ประกอบย่อยเท่านั้น ไม่ใช่เป็นปัจจัยหลักหรือเป็นแรงจูงใจให้ปรับเปลี่ยนการเพาะปลูก" นายยุคลกล่าว

นายยุคลกล่าวว่า นอกจากนี้ ยังห่วงว่าหากเกษตรกรหันมาปลูกอ้อยหรือพืชอื่นๆ แทนข้าวพร้อมกันอาจทำให้ข้าวหายไปจากตลาดประมาณ 8 ล้านตัน และอาจกระทบต่อวงการข้าวได้ จึงเห็นว่าการปรับเปลี่ยนควรทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ละจังหวัดควรเสนอแผนงานและงบประมาณที่ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือมาที่ส่วนกลาง ว่าจังหวัดนั้นๆ มีจุดเด่นด้านทรัพยากร หรือขาดสาธารณูปโภคพื้นฐานใดบ้าง ดังนั้น จะเสนอ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เรียกประชุมทุกหน่วยงานเพื่อดูความคืบหน้าและแนวทางการดำเนินงานต่อไป

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 2 กันยายน 2556

กระทรวงอุตสาหกรรม กับภารกิจการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว

ปัจจุบันถนนทุกสายกำลังมุ่งไปสู่การเป็นเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจที่สร้างคุณภาพชีวิตของประชาชนในปัจจุบันให้ดีขึ้น และสามารถลดความไม่เสมอภาคได้ในระยะยาว ในขณะที่ไม่ทำให้ประชาชนรุ่นหลังต้องประสบความเสี่ยงในเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติที่เสื่อมสภาพและปัญหาด้านนิเวศวิทยาที่เสียสมดุล

เศรษฐกิจสีเขียว เกี่ยวข้องกับการลงทุนในภาคเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องโดยการให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อลดความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสมดุลของระบบนิเวศ เช่น การเลือกใช้พลังงานทดแทน การผลิตที่สะอาด การบริหารจัดการของเสีย การเกษตรและการป่าไม้ที่ยั่งยืน เป็นต้น

"เศรษฐกิจสีเขียว" จึงนับว่าเป็นพื้นฐานที่สำคัญโดยมีความสัมพันธ์กับ "อุตสาหกรรมสีเขียว" (Green Industry) ซึ่งเป็นการปรับปรุงโรงงานอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องให้ก้าวไปสู่ความยั่งยืน

บันได 5 ขั้นสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

Green Industry หรือ "อุตสาหกรรมสีเขียว" เกิดจากกระแสรวมของผู้คนในโลกที่ให้ความใส่ใจกับการรักษาสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวเนื่องกับภาคอุตสาหกรรมและผลกระทบที่มีต่อระบบนิเวศ ซึ่งเป็นการพึ่งพาอาศัยกันของสิ่งมีชีวิตในระบบห่วงโซ่อาหาร

ว่าไปแล้ว กิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ล้วนแต่เกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิตและสภาพแวดล้อมทั้งสิ้น โดยเฉพาะในภาคการผลิตต้องใช้ทรัพยากรมหาศาลที่สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ แต่ในขณะเดียวกันก็อาจจะก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมด้วยเช่น อากาศเสีย น้ำเสีย ดินเสื่อมสภาพเป็นต้น ซึ่งจะ ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีพปกติของมนุษย์และ สิ่งมีชีวิตอื่นๆ ด้วย

ความสำคัญของการอยู่ร่วมกันระหว่างโรงงานอุตสาหกรรม สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน จึงเป็นที่มาของ "โครงการอุตสาหกรรมสีเขียว" ของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อเชิญชวนส่งเสริม และสนับสนุนให้สถานประกอบการทั่วประเทศหันมาใส่ใจกับการดำเนินธุรกิจและประกอบกิจการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและเกิดความยั่งยืนมากที่สุด

สำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน (Sustainable Industrial Development) นั้นจะต้องเป็นการพัฒนาที่ตั้งอยู่บนความสมดุลของ 3 องค์ประกอบอย่างครบถ้วน คือ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ดร.วิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นผู้ให้คำจำกัดความของ "อุตสาหกรรมสีเขียว" (Green Industry) ว่าเป็น "อุตสาหกรรมที่ยึดมั่นในการประกอบกิจการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นการพัฒนาและปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง และประกอบกิจการด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมทั้งภายในและภายนอกองค์กรตลอดห่วงโซ่อุปทานเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน"

ขั้นตอนของการเป็น "อุตสาหกรรมสีเขียว" จะแบ่งเป็น 5 ระดับ (จากง่ายไปยาก เหมือนขึ้นบันได) คือ ระดับที่ 1 ความมุ่งมั่นสีเขียว (Green Commitment) ระดับที่ 2 ปฏิบัติการสีเขียว (Green Activity) ระดับที่ 3 ระบบสีเขียว (Green System) ระดับที่ 4 วัฒนธรรมสีเขียว (Green Culture) และระดับที่ 5 เครือข่ายสีเขียว (Green Network)

เริ่มที่ใจ

รูปแบบของการพัฒนาโรงงานไปสู่ "อุตสาหกรรมสีเขียว" ใน 5 ระดับ ระดับแรกเริ่มต้นที่ "ความสมัครใจ" เป็นระดับง่ายสุด ที่เรียกว่า "ความมุ่งมั่นสีเขียว"ผู้บริหารองค์กรต้องแสดงความมุ่งมั่นในเป้าหมายด้วยการกำหนดวิสัยทัศน์และพันธกิจขององค์กร และแนวทางดำเนินการต่างๆ ในแผนกลยุทธ์ขององค์กร เพื่อให้เป็น "อุตสาหกรรมสีเขียว"

ดังนั้น ผู้บริหารระดับสูงสุดจะต้องประกาศความมุ่งมั่นในการดำเนินกิจการ (ประกอบกิจการโรงงาน) ที่สะอาด ไม่สร้างมลภาวะสิ่งแวดล้อม ไม่ทำความเดือดร้อนให้กับสังคมและชุมชนโดยรอบ ซึ่งการประกาศเป็นนโยบายดังกล่าวจะต้องสื่อสารให้ทุกคนภายในองค์กรได้รับทราบและถือปฏิบัติด้วย

ลงมือทำ

จากระดับที่ 1 พื้นฐานเพื่อก้าวต่อไปสู่ระดับที่ 2 คือ "ปฏิบัติการสีเขียว" หรือ "Green Activity"หลังจากที่องค์กรกำหนดเป็นนโยบายและสื่อสารให้ทุกคนได้รับทราบและเข้าใจแล้ว ขั้นตอนต่อไปเป็นการทดลองและลงมือทำตามแนวทางที่ประกาศไว้ในระดับที่ 1 โดยการทำให้เห็นผลเป็นรูปธรรม ซึ่งไม่จำเป็นที่องค์กรจะต้องเริ่มต้นด้วยการเปลี่ยนแปลงสิ่งเดิมๆ ที่เคยเป็นอยู่ให้กลายเป็นกิจกรรมสีเขียวในพริบตา แต่อาจเป็นการกำหนดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างง่ายๆ โดยที่ไม่ต้องลงทุนมากนัก และเลือกแผนกใดแผนกหนึ่งเพื่อจะเริ่มทำเป็นการทดลอง (นำร่อง) และกำหนดตัวชี้วัดที่สำคัญเพียงไม่กี่ตัว และถ้าหากกิจกรรมดังกล่าวประสบความสำเร็จ ก็สามารถขยายไปในแผนกอื่นๆ หรือริเริ่มกิจกรรมใหม่ ๆ ทั่วทั้งองค์กรได้

แนวทางดังกล่าวนี้สอดคล้องกับ "การบริหารจัดการคุณภาพทั่วทั้งองค์กร" (Total Quality Management: TQM) ที่ให้ความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสู่สิ่งที่ดีขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้เกิดความร่วมมือจากทุกคนในองค์กรโดยไม่เกิดการต่อต้าน ซึ่งในที่สุดก็จะทำให้กิจกรรมต่างๆ กลายเป็นส่วนหนึ่งของกิจวัตรประจำวัน

ตัวอย่างของกิจกรรมในอุตสาหกรรมสีเขียว ระดับที่ 2 เช่นการทำกิจกรรม 5 ส. (สะสาง สะดวก สะอาด สุขลักษณะ และสร้างนิสัย) กิจกรรม 3R (Reduce Reuse Recycle) กิจกรรม Lean Manufacturing หรือแม้แต่กิจกรรม QCC (Quality Control Circle) ซึ่งเป็นกิจกรรมกลุ่มย่อยที่มุ่งลดใช้ทรัพยากรและพลังงานในกระบวนการทางธุรกิจ เป็นต้น

ทำอย่างเป็นระบบ

การทำให้โรงงาน หรือสถานประกอบการเป็น "อุตสาหกรรมสีเขียว" ยังจะต้องอาศัยปัจจัยอีกหลายอย่างที่ถือว่าเป็น "ปัจจัยแห่งความสำเร็จ" หรือ "Critical Success Factors" (CSFs) เช่นเดียวกับที่ต้องมี "การบริหารจัดการคุณภาพ" (Quality Management) โดยปัจจัยดังกล่าวจะแตกต่างกันไปตามลักษณะของอุตสาหกรรมและสภาพแวดล้อมของแต่ละโรงงาน หรือสถานประกอบการ

ตัวอย่างของ CSFs ได้แก่ การสนับสนุนของผู้บริหารระดับสูง ความรู้ความสามารถของบุคลากร ข้อมูลที่เกี่ยวกับผลประกอบการ การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม ความร่วมมือของบุคลากรทั่วทั้งองค์กร เป็นต้น หากองค์กรใดสามารถระบุได้ชัดเจนว่า CSFs ขององค์กรคืออะไรแล้ว องค์กรนั้นก็จะนำปัจจัยนั้นไปวางแผนเพื่อกำหนดระบบและแนวทางปฏิบัติให้ถูกต้องได้มากขึ้น

"ระบบ" ที่เกี่ยวพันกับการพัฒนาโรงงานไปสู่อุตสาหกรรมสีเขียวเป็นที่รู้จักกันดี ก็คือ "ระบบการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม" ( Environmental Management System) หรือ ISO 14000 ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลในเรื่องของการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมโดยมีพื้นฐานอยู่บน "หลักการ P-D-C-A" (Plan Do Check Action) ของ ISO 9000 ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของ "การปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง" (Continuous Improvement)

นอกจากนี้ มาตรฐาน"ระบบการบริหารจัดการพลังงาน" หรือ ISO 50001 เป็นระบบสีเขียวอีกหนึ่งทางเลือกที่อยู่บนหลักการ P- D-C- A เช่นเดียวกัน มาตรฐานนี้เป็น กรอบสำหรับการบริหารจัดการพลังงาน เพื่อให้องค์กรมีระบบและกระบวนการปรับปรุงสมรรถนะด้านพลังงาน ซึ่งทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ลดการ ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอื่นๆ อีกด้วย

สำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) นั้นอาจเห็นว่า "ระบบสีเขียว" อย่างเช่น ISO 14000 และ ISO 50001 จะเพิ่มภาระด้านต้นทุนในการดำเนินงานมากขึ้น เพราะต้องมีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติตามมาตรฐานดังกล่าว ในเรื่องนี้กระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดทำ "โครงการพัฒนาโรงงานหรือสถานประกอบการให้มีความรับผิดชอบต่อสังคม" (Corporate Social Responsibility : CSR) ที่เรียกว่า CSR-DIW (มาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคม ฉบับกรมโรงงานอุตสาหกรรม) และ CSRDPIM (มาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคม ฉบับกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่) สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมทั่วไป และอุตสาหกรรมเหมืองแร่ตามลำดับ ทั้งสองโครงการมีพื้นฐานมาจากแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคม (ISO 26000) โดยสถานประกอบการสามารถขอเข้าร่วมโครงการดังกล่าวได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และยังสามารถประเมินให้เป็น "อุตสาหกรรมสีเขียวระดับ 3" หรือ "ระบบสีเขียว" (Green System) เทียบเท่ากับมาตรฐานอื่นๆ ได้อีกด้วย

เปลี่ยนเป็นวัฒนธรรม

สถานประกอบการที่ได้ "อุตสาหกรรมสีเขียว" ตั้งแต่ระดับเริ่มต้นเป็นการแสดงออกถึงนโยบายและความมุ่งมั่น ไปจนถึงระดับที่ 4 ของการมีวัฒนธรรมที่เป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ย่อมพิสูจน์ให้สังคมไทยและสังคมโลกประจักษ์ว่า การเดินไปสู่เส้นทางนี้ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อตนเองในฐานะที่เป็นผู้ปฏิบัติ และเป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม

สำหรับสถานประกอบการระดับที่ 4 สามารถลดต้นทุนการผลิต สร้างยอดขายได้เพิ่มขึ้น สร้างการยอมรับของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และที่สำคัญยังเป็นหลักประกันในความยั่งยืนของธุรกิจอุตสาหกรรมต่อไปในอนาคต
ปัจจุบัน มีสถานประกอบการ 30 ราย ได้รับการตรวจประเมินว่ามี "วัฒนธรรมสีเขียว" จากจำนวนโรงงานที่สมัครเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้นกว่า 7,000 ราย ซึ่งแสดงให้เห็นความเป็นผู้นำภาคอุตสาหกรรมจากการที่มีวัฒนธรรมสีเขียว โดยทั้งรัฐบาล ประชาชน และกระทรวงอุตสาหกรรม เชื่อมั่นว่าจะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและเพิ่มคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ให้กับชุมชนและสังคมไทยโดยรวม ในขณะเดียวกันยังสามารถช่วยเหลือภาคราชการในการเป็นพี่เลี้ยงให้กับสถานประกอบการอื่นๆ เพื่อนำพาให้เข้าสู่กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายของกระทรวงอุตสาหกรรมที่มุ่งทำให้กระบวนการผลิตภาคอุตสาหกรรมซึ่งอาจจะส่ง ผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงเป็น "อุตสาหกรรมสีเขียว" ได้ทั้งหมด

การได้รับใบรับรอง "อุตสาหกรรมสีเขียว ระดับที่ 4 : วัฒนธรรมสีเขียว" ของผู้ประกอบกิจการทั้ง 30 ราย ถือเป็นความน่าภาคภูมิใจอย่างยิ่งของสถานประกอบการเองและภาครัฐ เพราะต้องผ่าน "เกณฑ์การตรวจประเมิน" ที่เข้มข้น จึงตอกย้ำให้เห็นถึงความสามารถของผู้บริหารที่ทำให้ผู้คนทุกระดับในองค์กรมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจนเป็น "วัฒนธรรมองค์กร" ที่เป็นรากแก้วของการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน

ต้องผนวกแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังเข้าใจว่า เศรษฐกิจพอเพียง เป็นเรื่องไกลตัว เป็นเรื่องของภาคชุมชน หรือภาคเกษตรกรรม แต่กระทรวงอุตสาหกรรมมองว่า หลัก 3 ประการของเศรษฐกิจพอเพียง ได้แก่ การประมาณตน ใช้เหตุผล และสร้างภูมิคุ้มกัน จะสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในทุกระดับ ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการต่อยอดเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวในระดับที่ 5 (เครือข่ายสีเขียว) ซึ่งเรื่องนี้ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ในฐานะเป็นผู้ให้การสนับสนุนการจัดทำมาตรฐาน มอก.9999 หรือมาตรฐานแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรม กล่าวว่า ผู้ประกอบการควรทำธุรกิจที่ถนัด จะได้เข้มแข็ง รวมถึงสร้างภูมิคุ้มกันตลอดเวลา ไม่ก่อหนี้สินเพิ่มขึ้น และต้องก้าวให้ทันโลก

หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพิสูจน์แล้วว่าถ้าดำเนินตามรอยเบื้องพระยุคลบาท จะเกิดการพัฒนาไม่ว่าต่อบุคลากรหรือองค์กรต่างๆ อย่างสมดุล มั่นคง ยั่งยืน และมีความสุข

การนำมาตรฐานเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรมไปปฏิบัติ องค์กรควรพิจารณาหลักการของมาตรฐานนี้ ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของบุคลากรและองค์กร อันจะก่อให้เกิดการพัฒนาที่สมดุลมีความมั่นคง เติบโตได้อย่างยั่งยืนและมีความสุข พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอก รวมทั้งความไม่แน่นอนต่างๆ ด้วย

สร้างการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย

ระดับสูงสุดของการพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียว เรียกว่า "เครือข่ายสีเขียว" เป็นการสร้างตัวคูณ และการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายตลอดโซ่อุปทานของสถานประกอบการ ซึ่งอาจพิจารณานำหลักการเกณฑ์ธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมสถานประกอบการ ซึ่งมีอยู่7 ประการ มาประยุกต์ใช้ ได้แก่ (1) ประชาชน สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร (2) ประชาชนมีส่วน ร่วมในการแก้ไขปัญหา (3) ความโปร่งใส (4) ความรับผิดชอบต่อสังคม (5) นิติธรรม (6) ความยุติธรรม (7) ความยั่งยืน เพื่อมุ่งไปสู่การจัดสมดุลแห่งความสัมพันธ์ระหว่าง ภาคอุตสาหกรรม ภาคประชาชน และภาครัฐ ทั้งนี้เป็นเพราะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเหล่านี้อาจเกิดข้อสงสัยและกังวลเกี่ยวกับสถานประกอบการอุตสาหกรรมที่อยู่ในชุมชน เพราะไม่รู้ ไม่เข้าใจว่าสถานประกอบการอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ใกล้กับชุมชนผลิตอะไร มีกระบวนการผลิตอย่างไร มีการใช้สารเคมี และปล่อยของเสียจากกระบวนการผลิตซึ่งส่งผลต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างไรทั้งนี้โซ่อุปทานในส่วนที่เป็นภาคธุรกิจจะต้องได้รับการประเมินเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวอย่างน้อย ระดับที่ 2 ขึ้นไป

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ : สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียว (สอข.) สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม โทร 0 2202 3249, 0 2202 3196 โทรสาร 0 2202 3199 www.greenindustry.go.th, www.industry.go.th

เราได้อะไร จากการเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว

ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า "มาถึงวันนี้เราต้องเชิญชวนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในฐานะของผู้บริโภคเลือกซื้อ เลือกใช้สินค้า หรือเลือกบริการที่เกิดจากกระบวนการผลิตที่สะอาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อชุมชนหรือประชาชนด้วย"

เนื่องจากประโยชน์ของการเป็น "อุตสาหกรรมสีเขียว" ที่มีอย่างมากมาย ได้แก่

- ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน ลดข้อร้องเรียนจากผลกระทบและลดความเสี่ยงที่เกิดจากการประกอบกิจการโรงงาน
- ลดการใช้ทรัพยากรและพลังงาน ประหยัดต้นทุน สร้างโอกาสในการแข่งขัน
- เกิดการสร้างงานและการจ้างงานเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น มีการว่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรม คนงานมีความปลอดภัยและมีความสุขกับการทำงานในสภาพแวดล้อมที่ดี
- สร้างโอกาสทางการตลาด โดยเน้นประเด็น "สีเขียว" ของผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิต
- ชุมชนโดยรอบได้รับความเป็นธรรม เข้าถึงโอกาสในการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ชุมชนและสิ่งแวดล้อม จากการเกิดอุตสาหกรรมสีเขียว
- เกิดภาพลักษณ์และทัศนคติที่ดีต่ออุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้เกิดความเข้าใจที่ดีและการยอมรับระหว่างอุตสาหกรรมและชุมชนที่อยู่โดยรอบ

นอกจากนี้ ยังต้องเชิญชวนให้โรงงานหรือสถานประกอบการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นอุตสาหกรรมสีเขียวด้วยความสมัครใจและดำเนินกิจกรรมต่างๆ อย่างง่ายๆ แต่ได้ผลชัดเจน โดยให้มีภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการเป็นผู้สอดส่อง จับตามอง และเป็นผู้ประเมินว่าโรงงานหรือสถานประกอบการนั้นๆ ให้ความใส่ใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมและการดำรงอยู่ร่วมกันของโรงงาน สังคม และชุมชนอย่างจริงจังหรือไม่

ทุกวันนี้เราจะเห็นว่าองค์กรที่มี "วัฒนธรรมสีเขียว" นั้นเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะทุกคนในองค์กรจะมีความเชื่อและประพฤติปฏิบัติร่วมกันในการพัฒนาองค์กรให้เติบโตไปพร้อมๆ กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการอยู่ร่วมกันกับชุมชนอย่างมีความสุข เพื่อความยั่งยืนของธุรกิจอุตสาหกรรมจนชั่วลูกชั่วหลาน

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมตั้งเป้าว่า ภายในปี พ.ศ.2561 จะมีโรงงานหรือสถานประกอบการทั่วประเทศกว่า 7 หมื่นแห่งได้รับการรับรองเป็น "อุตสาหกรรมสีเขียว" เพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นว่าโรงงานหรือสถานประกอบการที่เป็นอุตสาหกรรมสีเขียวนั้นๆ จะไม่ก่อความเดือดร้อน และให้เป็นไปตามคำขวัญที่ว่า "กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นที่พึ่งของผู้ประกอบการและประชาชนอย่างแท้จริง"

"กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นที่พึ่งของผู้ประกอบการและประชาชนอย่างแท้จริง"
"องค์กรที่มี"วัฒนธรรมสีเขียว"นั้นเป็นสิ่งที่สํคัญอย่างยิ่ง เพราะทุกคนในองค์กรจะมีควํ มเชื่อและประพฤติปฏิบัติร่วมกันในกํ รพัฒนํ องค์กรให้เติบโตไปพร้อมๆ กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการอยู่ร่วมกันกับชุมชนอย่างมีความสุข"

จากhttp://www.manager.co.th วันที่ 2 กันยายน 2556

คู่มือพัฒนาดิน พด.รวบรวมองค์ความรู้ตลอดกึ่งศตวรรษแจกจ่ายเกษตรกร

นางกุลรัศมิ์ อนันต์พงษ์สุข รองอธิบดี กรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาที่ดิน ได้จัดทำเอกสาร “ชุดองค์ความรู้กึ่งศตวรรษพัฒนาที่ดิน” ซึ่งหนังสือชุดนี้จะแจกให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ หมอดินอาสา เกษตรกร และประชาชนทั่วไป โดยเนื้อหาสาระของหนังสือเป็นเอกสารคู่มือคำแนะนำ แบบอ่านเข้าใจง่าย เมื่อเกษตรกรหรือผู้สนใจได้อ่านแล้วก็จะสามารถวิเคราะห์สภาพทั่วไปในเบื้องต้นของพื้นที่ตนเองได้ว่าดินมีสภาพเป็นอย่างไร มีแนวทางในการแก้ปัญหาอย่างไร และสามารถนำไปปฏิบัติได้ง่าย ไม่ยุ่งยากซับซ้อน ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์ต่อทุกคน และสามารถใช้ได้ในระยะยาว

ทั้งนี้ ในเอกสารแต่ละชุดจะมีเนื้อหาทั้งหมด 9 เรื่อง ได้แก่ 1.ดินของประเทศไทย ทำให้รู้จักชนิดของดินและเข้าใจลักษณะดิน ในพื้นที่ของตนเอง 2.การวางแผนการใช้ที่ดินในพื้นที่เกษตรกรรายแปลง เพื่อให้เกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับศักยภาพของพื้นที่ทำกินของเกษตรเอง 3.การปรับปรุงบำรุงดิน

4.การชะล้างพังทลายของดินและการอนุรักษ์ดินและน้ำ 5.เทคโนโลยีชีวภาพเพื่อการพัฒนาที่ดิน ซึ่งกรมพัฒนาที่ดินคิดค้นนวัตกรรมจุลินทรีย์ ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ พด. ชนิดต่างๆ ใช้เป็นปัจจัยการผลิตทางการเกษตร สนับสนุนการผลิตพืชในระบบเกษตรอินทรีย์ 6.การจัดการดินเค็มและดินด่าง

7.การจัดการดินเปรี้ยวจัด ดินกรด และดินอินทรีย์ เป็นการรวบรวมปัญหาและแนวทางการจัดการดิน ทั้งการปรับปรุงบำรุงดิน 8.การจัดการดินทราย ดินตื้น ดินลูกรัง ดินดาน และดินปนเปื้อน และ 9.เครือข่ายพัฒนาที่ดินและงานบริการ เป็นการถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมการพัฒนาที่ดินสู่เกษตรกร ตลอดจนการเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิตทางการเกษตรเป็นภารกิจที่สำคัญอย่างยิ่ง หากเกษตรกรไม่ได้ศึกษาจากจุดเรียนรู้ หรือศูนย์เรียนรู้ที่มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมการพัฒนาที่ดินไปปฏิบัติจริง และเกิดผลสำเร็จที่เห็นผลได้อย่างเด่นชัดก็มักจะไม่เปลี่ยนแปลงวิถีการผลิตที่ดำเนินอยู่

นอกจากนี้ คู่มือฉบับดังกล่าว ยังได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเครือข่ายและงานบริการของกรมพัฒนาที่ดิน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร และผู้ที่จะประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้ทราบถึงเครือข่ายด้านการพัฒนาที่ดินและช่องทางการให้บริการผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีชีวภาพ ปัจจัยการผลิตทางการเกษตร ข้อมูลดินและแผนที่ การให้ความรู้เบื้องต้นด้านการพัฒนาที่ดินผ่านทางเว็บไซต์ www.ldd.go.th ตลอดจนหมายเลขโทรศัพท์ของหน่วยงานกรมพัฒนาที่ดินสำหรับการให้บริการ

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 2 กันยายน 2556

จี้สศค.ชงร่างก.ม.ภาษีสิ่งแวดล้อม-ที่ดิน

"คลัง"เร่งสศค.เสนอร่างกฎหมายการจัดเก็บภาษีสำหรับผู้ปล่อยมลพิษทางน้ำ พร้อมดันร่างก.ม.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หวังสร้างความเป็นธรรมในสังคม

นายลวรณ แสงสนิท รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการ

bangkokbiznews.com/home/search/?cx=009233870810540600983%3Ahkyg0dlysoo&cof=FORID%3A9&ie=windows-874&q=คลัง' class='anchor-link' target='_blank'>คลัง(.bangkokbiznews.com/home/search/?cx=009233870810540600983%3Ahkyg0dlysoo&cof=FORID%3A9&ie=windows-874&q=สศค' class='anchor-link' target='_blank'>สศค.)เปิดเผยว่า นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการ.bangkokbiznews.com/home/search/?cx=009233870810540600983%3Ahkyg0dlysoo&cof=FORID%3A9&ie=windows-874&q=คลัง' class='anchor-link' target='_blank'>คลัง ได้มอบนโยบายแก่ .bangkokbiznews.com/home/search/?cx=009233870810540600983%3Ahkyg0dlysoo&cof=FORID%3A9&ie=windows-874&q=สศค' class='anchor-link' target='_blank'>สศค.ให้เร่งดำเนินการร่างกฎหมายสำคัญ 2 ฉบับ ได้แก่ ร่างกฎหมาย.bangkokbiznews.com/home/search/?cx=009233870810540600983%3Ahkyg0dlysoo&cof=FORID%3A9&ie=windows-874&q=ภาษีที่ดิน' class='anchor-link' target='_blank'>ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และร่างกฎหมายจัดเก็บ.bangkokbiznews.com/home/search/?cx=009233870810540600983%3Ahkyg0dlysoo&cof=FORID%3A9&ie=windows-874&q=ภาษีสิ่งแวดล้อม' class='anchor-link' target='_blank'>ภาษีสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับการปล่อยมลพิษทางน้ำ ซึ่งขณะนี้ .bangkokbiznews.com/home/search/?cx=009233870810540600983%3Ahkyg0dlysoo&cof=FORID%3A9&ie=windows-874&q=สศค' class='anchor-link' target='_blank'>สศค.อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสนอให้ระดับนโยบายพิจารณาโดยเร็ว

เหตุที่ต้องเร่งผลักดันกฎหมาย 2 ฉบับดังกล่าว เนื่องจากกระทรวงการ.bangkokbiznews.com/home/search/?cx=009233870810540600983%3Ahkyg0dlysoo&cof=FORID%3A9&ie=windows-874&q=คลัง' class='anchor-link' target='_blank'>คลังเห็นว่า มีความสำคัญอย่างมาก โดยในส่วนของร่างกฎหมายสิ่งแวดล้อมด้านการปล่อยมลพิษทางน้ำ ปัจจุบันพบว่าการปล่อยน้ำเสียในประเทศมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง และเห็นว่ากลไกในการควบคุมนั้น ควรจะมีเรื่องของการจัดเก็บภาษีเข้ามาร่วมด้วย

มลพิษต่อสิ่งแวดล้อมยังมีอีกหลายประเภท ซึ่งกระทรวงการ.bangkokbiznews.com/home/search/?cx=009233870810540600983%3Ahkyg0dlysoo&cof=FORID%3A9&ie=windows-874&q=คลัง' class='anchor-link' target='_blank'>คลังมีแนวคิดจะออกกฎหมายเพื่อช่วยควบคุมการปล่อยมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมในส่วนอื่นๆในอนาคต เช่นมลพิษทางอากาศ และมลพิษจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

สำหรับประเด็นที่ยังต้องหาข้อสรุปสำหรับร่างกฎหมายสิ่งแวดล้อมด้านมลพิษทางน้ำ คือ อัตราในการจัดเก็บ โดยคณะทำงานเห็นว่าต้องสามารถจูงใจให้ลดการปล่อยน้ำเสีย กล่าวคือ จะต้องเก็บอัตราภาษีที่สูงกว่าการส่งน้ำไปบำบัด

"อัตราที่จะจัดเก็บนั้น เราคิดว่าจะต้องอยู่ในระดับที่สูงกว่าค่าใช้จ่ายในการส่งน้ำไปบำบัดน้ำเสีย เพราะจะทำให้ผู้ปล่อยน้ำเสียเลือกวิธีการบำบัดน้ำ ที่มีต้นทุนต่ำกว่าการเสียภาษี โดยหน่วยงานที่จะเข้าไปจัดเก็บน่าจะเป็นท้องถิ่น เนื่องจากเห็นว่าภาษีที่ได้ควรนำไปบำรุงท้องถิ่นนั้นๆ"

นายลวรณกล่าวว่า กลุ่มผู้ประกอบการที่เข้าข่ายต้องเสียภาษี คือ กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม โรงแรม ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น ส่วนครัวเรือนนั้น ทางคณะทำงานมีความเห็นว่า ควรจะมีการจัดเก็บในอนาคต เพราะเป็นกลุ่มที่ปล่อยน้ำเสียมากที่สุด แต่อย่างไรก็ตามในขณะนี้พบว่ามีข้อจำกัดในการจัดเก็บสูง จึงเห็นว่าควรนำร่องการจัดเก็บจากกลุ่มผู้ประกอบการก่อน

สำหรับ.bangkokbiznews.com/home/search/?cx=009233870810540600983%3Ahkyg0dlysoo&cof=FORID%3A9&ie=windows-874&q=ภาษีที่ดิน' class='anchor-link' target='_blank'>ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้นก็ให้ความสำคัญเช่นกัน เพราะเห็นว่า จะทำให้เกิดความเป็นธรรม และ ส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจ โดยทาง.bangkokbiznews.com/home/search/?cx=009233870810540600983%3Ahkyg0dlysoo&cof=FORID%3A9&ie=windows-874&q=คลัง' class='anchor-link' target='_blank'>คลังเห็นด้วยกับร่างกฎหมายเดิมสมัยที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล แต่ขอให้ปรับปรุงในบางส่วน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีสินทรัพย์เป็นที่อยู่อาศัย โดยเห็นว่า อัตราภาษีที่จะจัดเก็บต้องเป็นอัตราที่ประชาชนยอมรับได้

"หลักคิดสำหรับร่างกฎหมายนี้จะต่างจากเดิม เพราะร่างเดิมเราให้น้ำหนักเรื่องของรายได้เป็นหลัก ทำให้มีแรงต้าน แต่ร่างปัจจุบัน คือ เราต้องการให้ประชาชนทุกคนยอมรับว่า จะต้องมีการเสียภาษีบนทรัพย์สิน แต่ในแง่ของอัตราการจัดเก็บนั้น จะต้องอยู่บนพื้นฐานความเป็นธรรมและทุกฝ่ายต้องรับได้ด้วย" นายลวรณกล่าว

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 2 กันยายน 2556

สศก.โครงการพัฒนาระบบน้ำฯหนุนเกษตรกรมีรายได้เพิ่ม

สศก.แจงผลประเมินโครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำฯ ประสบความสำเร็จสูง เกษตรกรมีรายได้เพิ่ม ต้นทุนลดลงแล้วถึง 4%...

นายสุรศักดิ์ พันธ์นพ รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงผลการประเมินงานในโครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2554 ว่า นับตั้งแต่เริ่มโครงการในปี 2554 จนถึงขณะนี้โครงการดังกล่าวมีพื้นที่ดำเนินโครงการรวม 294,000 ไร่ เกษตรกรได้รับประโยชน์กว่า 22,800 ครัวเรือน ส่งผลให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการมีรายได้เพิ่มขึ้น 39,850 บาท/ครัวเรือน

นอกจากนี้ยังสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ที่ดินได้ถึง 19.06 ไร่/ครัวเรือน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากก่อนดำเนินโครงการถึง 12% โดยเฉพาะการทำนาซึ่งเป็นพืชหลักในโครงการ ที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้นจาก 630 กิโลกรัม/ไร่ เป็น 667 กิโลกรัม/ไร่ ในขณะที่ต้นทุนการผลิตลดลงจาก 5.28 บาท/กิโลกรัม เหลือ 5.12 บาท/กิโลกรัม หรือลดลง 4%เนื่องจากจำนวนการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวของเกษตรกรลดลงจากเดิมที่เคยใช้ 23.06 กิโลกรัม/ไร่ เหลือ 21.74 กิโลกรัม/ไร่

ขณะเดียวกันรายได้ครัวเรือนของเกษตรกรยังเพิ่มสูงขึ้น โดยมีรายได้สุทธิต่อเดือนเพิ่มขึ้นจาก 38,283 บาท/ครัวเรือน เป็น 78,133 บาท/ครัวเรือน และเกษตรกรมีความเข้มแข็งขึ้นโดยสามารถพัฒนาตัวเองสู่รูปแบบของสหกรณ์ผู้ใช้น้ำ เพื่อให้บริการสมาชิกด้านอื่นๆ ต่อไป.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 2 กันยายน 2556

เหตุ 9 ปี ลุ่มน้ำตาวข้าวยังเปื้อนสารพิษ

ปัญหาสารพิษแคดเมียมในลุ่มน้ำตาวยังไม่สิ้นชาวบ้านยังได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง แม้ปัญหาจะเกิดมา 9 ปีแล้วก็ตาม

ลุ่มน้ำตาว อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ได้รับผลกระทบจากสารแคดเมียม อย่างน้อยตั้งแต่ พ.ศ.2547 ประจักษ์ได้จากผลการตรวจร่างกายชาวบ้านในอำเภอแม่สอดรวม 13 หมู่บ้าน พบว่าจากจำนวน 7,730 ราย มีร้อยละ 89.1 ค่าปกติ ร้อยละ 8.5 มีค่าค่อนข้างสูง ร้อยละ 2.4 มีค่าสูง

ผลการตรวจผู้ที่มีระดับแคดเมียมสูงหรือค่อนข้างสูงพบว่า จำนวน 800 คน มีภาวะไตเสื่อม 40 คน มีภาวะไตเริ่มเสื่อม 219 คน และมีภาวะไตปกติ 541 คน

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้สถาบันการจัดการน้ำนานาชาติ แห่งสหภาพยุโรป เข้ามาศึกษาวิจัยและได้เผยแพร่งานศึกษาซึ่งพบว่ามีการปนเปื้อนสารแคดเมียมในดินพื้นที่ทำนาปลูกข้าวและในเมล็ดข้าว การปนเปื้อนนั้นมีความเข้มข้นในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

ต้นเหตุนั้น การสำรวจพบว่าพื้นที่ลุ่มน้ำตาวเป็นพื้นที่อยู่ใกล้กับแหล่งแร่สังกะสี เหมืองแร่สังกะสีและโรงงานถลุงสังกะสี ของบริษัท ผาแดง อินดัสเตรียล จำกัด แม้จะมีโรงงานถลุงแร่สังกะสี แต่ไม่อาจระบุได้ชัดว่า สารพิษมาจากโรงงาน อดีตเจ้าหน้าที่ผู้เข้าไปคลุกคลีกับปัญหาบอกว่า ชาวบ้านที่เชื่ออย่างนั้นก็มีการฟ้องร้องกัน แต่ “ที่ฟ้องก็ฟ้องกันไม่รู้จบรู้สิ้น เพราะว่าเหมืองแร่นั้นทำกันมาตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. 2500 แล้ว เปลี่ยนมาหลายเจ้าของ เจ้าของปัจจุบันเขาก็อ้างทำนองว่า เหมือนวัวลงไปกินข้าวของชาวบ้าน ไม่รู้ว่าวัวใครลงไปกินก่อน พอมาเห็นตัวสุดท้ายก็จะเอาผิด”

ความยากในการพิสูจน์ทราบนั้น ปัญหาอยู่ที่ไม่ได้สำรวจสารพิษในน้ำและในดินก่อนที่โรงงานถลุงแร่จะดำเนินการ ดังนั้นเมื่อโรงงานอุตสาหกรรมปล่อยน้ำปนเปื้อนสารพิษออกมา จึงเป็นข้ออ้างได้

พิษของสารแคดเมียมนั้น จะมีผลต่อไต แต่ปกติภาวะโรคไตเสื่อมก็พบได้ในคนทั่วไป และสารแคดเมียมกว่าจะสำแดงฤทธิ์เดชออกมาก็ต้องสั่งสมมาหลายปี ทำให้ยากในการตรวจสอบอยู่ไม่น้อย มูลเหตุต่างๆเหล่านี้ ทำให้เหตุการณ์ผ่านมา 9 ปี เปลี่ยนผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอไปแล้วเกือบ 10 คน ปัญหาก็ยังไม่ได้รับการคลี่คลาย

สำหรับแนวทางแก้ไขในเรื่องนี้ของฝ่ายรัฐ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษเคยออกมาแนะไว้ 4 วิธีคือ 1.การปลูกพืชทดแทน เช่น ปลูกอ้อยเพื่อดูดซับสารแคดเมียม แล้วนำอ้อยที่ปลูกนั้นไปผลิตเป็นเอทานอลต่อไป ไม่อาจนำมาเข้าสู่วงจรอาหารได้ 2.ขุดหน้าดินที่พบสารปนเปื้อนออก แล้วนำไปฝังกลบ 3.ใช้สารเคมีตกตะกอน และ 4.นำดินมาถมหน้าดิน

แนวทางทั้ง 4 ชาวบ้านส่วนหนึ่งยืนยันปลูกข้าวต่อไป อีกส่วนหนึ่งหันมาปลูกอ้อย เพื่อขายเข้าโรงงานผลิตเอทานอล แต่ตอนนี้ชาวนาเหมือนหนีเสือปะจระเข้ เพราะราคาอ้อยตกต่ำและราคาอ้อยของผู้ต้องชะตากรรมก็ถูกกว่าราคาอ้อยที่ส่งเข้าโรงงานน้ำตาล กลายเป็นปัญหาซ้อนปัญหาขึ้นมา

เรื่องเงินช่วยเหลือผู้ปลูกอ้อย นายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เคยออกมาบอกว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการจ่ายเงินชดเชยพิเศษให้กับกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยเพื่อผลิตเอทานอล จ.ตาก โดยอนุมัติให้ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2555

แต่เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2556 ที่ผ่านมา นายสุริยะ ประสาทบัณฑิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ออกมาบอกว่า กรณีการจ่ายเงินชดเชย 200 บาทต่ออ้อย 1 ตัน ให้แก่กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยเพื่อผลิตเอทานอลนั้น ล่าสุดทางสำนักงบประมาณมีหนังสือถึงกระทรวงมหาดไทยแจ้งว่า ให้กระทรวงมหาดไทยประสานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ตาว เพื่อแก้ไขปัญหาสารเปื้อนแคดเมียมอย่างยั่งยืน ในพื้นที่ ตำบลแม่ตาว ตำบลพระธาตุผาแดง และตำบลแม่กุ

ส่วนการจ่ายเงินชดเชยนั้น ให้คำนึงถึงผู้ที่ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหามลภาวะ ต้องมีส่วนร่วมในการจ่ายเงินชดเชย และบอกด้วยว่าอ้อยที่ส่งโรงงานแม่สอดพลังงานสะอาด เพื่อผลิตเอทานอลนั้น ไม่ได้เงินชดเชย

แต่เสียงของคนในพื้นที่ “ผมว่า ได้นะคงได้แน่ครับ เพราะคณะรัฐมนตรีอนุมัติมาแล้ว แต่คงต้องรอหน่อย จะนานแค่ไหนยังไม่รู้ คงขึ้นอยู่กับทางขั้นตอนของราชการ” นายสรศักดิ์บอก

นายสรศักดิ์ ดวงมณี นายกเทศมนตรีตำบลแม่ตาว บอกว่า การปลูกอ้อยของชาวบ้านลุ่มแม่น้ำแม่ตาวปัจจุบันน้อยลงมากแล้ว เนื่องจากประสบปัญหาเรื่องราคาอ้อยตกต่ำ แถมยังได้ราคาต่ำกว่าท้องตลาดทั่วไปและการปลูกอ้อยชาวบ้านเองก็ไม่ถนัด เนื่องจากปลูกข้าวมาแต่บรรพบุรุษ

“ถ้าปลูกข้าว เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวไปแล้ว ชาวบ้านยังปลูกถั่วเหลืองได้ แต่ถ้าปลูกอ้อยพื้นที่จะไม่ว่างทำการเกษตรอื่นๆ”

เมื่อหันมาปลูกพืชอาหาร เกรงพิษภัยจากสารแคดเมียมหรือไม่ อย่างไรนั้น นายสรศักดิ์บอกว่า ชาวบ้านไม่สนใจเรื่องสารแคดเมียมเท่าไร ที่ฟ้องร้องก็ฟ้องกันไป ส่วนที่ทำนาก็ทำกันไป เรื่องสารพิษ ก็กลัวเหมือนกัน แต่ก็เห็นชาวบ้านปลูกข้าวกันปกติ

“ผมเองก็กินข้าวหอมมะลิของแม่ตาว” นายสรศักดิ์บอกพร้อมอธิบายว่า สาเหตุที่ชาวบ้านไม่กลัว เพราะว่าสารแคดเมียมไม่ได้เหมือนโรคร้ายอย่างมะเร็ง หรือโรคอื่นๆ ที่เป็นโรคแล้วเห็นอาการทันที โรคที่เกิดจากสารแคดเมียมอย่างโรคไต คนทั่วไปก็เป็นได้ แม้ไม่ได้กินข้าวลุ่มน้ำตาวก็เป็น

เมื่อถามความสนใจในการแก้ปัญหาของจากฝ่ายรัฐ นายกเทศมนตรีบอกว่า เมื่อประมาณ 7–8 ปีก่อน เคยซื้อข้าวไปเผาทิ้งหลายสิบล้าน แล้วรณรงค์ให้ชาวบ้านปลูกอ้อย แต่ก็มาเจอปัญหาอีก ทำให้คนไม่น้อยหันกลับไปปลูกข้าวอีกครั้ง

“เขาปลูกข้าวกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ อยู่ๆ มาให้เปลี่ยนมันยาก แม้จะรู้ว่ามันมีสารพิษ ทางวิชาการก็ว่ากันไปจนน่ากลัว แต่ชาวบ้านเมื่อไม่เห็นว่าเป็นโรควันสองวันตาย เดือนสองเดือนตาย เขาก็ไม่กลัว มองว่าเรื่องเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นเรื่องธรรมดา”

แน่ชัดแล้วว่า อย่างไรชาวบ้านส่วนใหญ่ทิ้งอ้อยกลับมาปลูกข้าว ทั้งๆที่ทางการออกมายืนยันว่า ข้าวดูดสารพิษแคดเมียมเข้าไป ทำให้ข้าวเปื้อนสารพิษ ขณะที่ทางออกดูเหมือนไม่มีแสงสว่างให้ก้าวเดินออกไป ล่าสุดมีนักวิชาการออกมาบอกว่า มีข้าวบางชนิดดูดซับสารพิษไม่มากและผ่านการทดลองมาแล้วในประเทศญี่ปุ่น

“ผมทราบมาจากที่ประชุมเหมือนกัน แต่ไม่รู้ว่าดีกว่าข้าวหอมมะลิในพื้นที่มากน้อยเพียงใด” นายสรศักดิ์บอก

พันธุ์ข้าวที่ดูดซับพิษไม่มากนั้น จะถึงลุ่มน้ำตาวเมื่อใด ชาวบ้านจะต้อนรับหรือไม่นั้นยังเป็นปัญหาที่มาไม่ถึง

ปัญหาที่มาถึงเกือบ 10 ปีแล้วคือ ชาวบ้านยังปลูกข้าวและกินข้าวเปื้อนสารพิษอยู่.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 2 กันยายน 2556

น้ำตาลโลกร่วงบ่มเชื้อลามสู่ม็อบอ้อย

ราคาน้ำตาลดิบฤดูผลิตปี 2556/57 ทุบสถิติใหม่ในรอบ3 ปี ร่วงเหลือ16-18 เซ็นต์ต่อปอนด์ หลังน้ำตาลโลกล้นตลาด 4 ปีติดต่อกัน ขณะที่ปริมาณอ้อยและน้ำตาลโลกพุ่งต่อเนื่อง เหตุบราซิล -อินเดียผลผลิตดีเกินคาด แถมค่าเงินเอื้อส่งออก ด้านสอน. หวั่นทุบราคาอ้อยปีหน้าร่วงเหลือไม่ถึง 1 พันบาทต่อตันอ้อย ตัวแทน ชาวไร่อ้อยภาคอีสานฝากการบ้านรัฐบาลเตรียมหาเงินชดเชยค่าอ้อย

alt นายภิรมย์ศักดิ์ สาสุนีย์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ค้าผลผลิตน้ำตาล จำกัด เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ถึงสถานการณ์ราคาน้ำตาลในตลาดโลกฤดูการผลิตใหม่ปี 2556/57 ว่า ตลอดฤดูการผลิตปีนี้ราคาน้ำตาลดิบในตลาดโลกเมื่อเทียบกับปี 2555/56 จะลดลง จาก 20-24 เซ็นต์ต่อปอนด์ ลงมาอยู่ในระดับ 16-18 เซ็นต์ต่อปอนด์ เช่นเดียวกับราคาน้ำตาลทรายขาวจะลดลงจากราคา 550 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตันลงมาอยู่ที่ 460-480 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน

-ราคาน้ำตาลดิบต่ำสุดในรอบ3ปี

โดยเฉพาะราคาน้ำตาลดิบในตลาดโลกลดลงต่ำสุดในรอบ 3 ปี หลุดกรอบราคา 20 เซ็นต์ต่อปอนด์ไปแล้ว เมื่อเทียบกับราคาเฉลี่ยทั้งปีย้อนหลังในตลาดนิวยอร์กปี 2553/54 ราคาอยู่ที่ 22.51 เซ็นต์ต่อปอนด์ ปี 2554/55 ราคาอยู่ที่ 24.74 เซ็นต์ต่อปอนด์ และปี 2555/56 ราคาอยู่ที่ 22.43 เซ็นต์ต่อปอนด์ (ดูตารางประกอบ)

ทั้งนี้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกปี 2556/57 ที่อ่อนตัวลงมา มีสาเหตุมาจากที่บราซิล ผู้ผลิตและผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ของโลกมีปริมาณน้ำตาลมากขึ้นทุกปี และค่าเงินเรียลที่อ่อนค่าลงมาเอื้อต่อการส่งออก โดยในช่วงที่ผ่านมาค่าเงินได้อ่อนค่าลงไปถึงระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปี กับอีก 6 เดือน โดยค่าเงินอยู่ที่ 2.45 เรียลต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับต้นปี 2556 ค่าเงินอยู่ที่ 2.0 เรียลต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยบราซิลจะส่งออกน้ำตาลต่อปีเกิน 20 ล้านตัน ขณะที่ไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลกเป็นอันดับ 2 น้อยกว่าบราซิลถึง 3 เท่าโดยส่งออกต่อปีเพียง 6-7 ล้านตัน

-ประเมินอินเดียพลาด

นอกจากนี้อินเดียในฐานะที่เป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่เป็นอันดับ2 ของโลก ก็มีกำลังผลิตมากขึ้นเนื่องจากในช่วงที่ผ่านมามีปริมาณฝนดี โดยผลิตน้ำตาลได้ถึง 24.5 ล้านตัน และคาดว่าฤดูการผลิตใหม่ปีนี้จะผลิตได้มากขึ้นกว่าเดิม ทำให้วงการอ้อยและน้ำตาลในตลาดโลกต่างคาดการณ์ผิด เพราะเดิมทีคิดว่าอินเดียจะมีผลผลิตในฤดูการผลิตใหม่นี้ไม่ดี เนื่องจากรัฐบาลอินเดียมีบทบาทในการกำหนดให้โรงงานน้ำตาลจ่ายค่าอ้อยสูงขึ้น ขณะเดียวกันตามประสบการณ์ที่ผ่านมาถ้าปีไหนที่อินเดียมีผลผลิตดี ในปีถัดไปจะมีผลผลิตไม่ดี แต่ในช่วงที่ผ่านมาอินเดียกลับมามีผลผลิตดีต่อเนื่องกัน3 ปี ทำให้พลิกจากผู้ที่เคยนำเข้าน้ำตาลจากไทย และบราซิล กลายมาเป็นผู้ส่งออกไปยังตลาดโลก โดยที่ค่าเงินรูปี ณ วันที่ 27 สิงหาคม2556 เงินรูปีร่วงแรง อยู่ที่ 65 รูปี ทำให้อินเดียสามารถส่งออกน้ำตาลมาแข่งขันในตลาดได้มากขึ้น

ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ค้าผลผลิตน้ำตาล จำกัด กล่าวอีกว่า การที่ตลาดโลกมีปริมาณน้ำตาลส่วนเกินจากความต้องการใช้ในตลาดโลกอยู่มาก ก็มีส่วนที่ทำให้ราคาน้ำตาลตกต่ำลงด้วย โดยเมื่อปี2555/56 มีปริมาณน้ำตาลล้นตลาดโลกอยู่มากถึง 10-11ล้านตัน และในปี 2556/57 คาดการณ์ว่ายังมีน้ำตาลส่วนเกินอยู่ในระดับ 3-4 ล้านตัน

"นอกจากปริมาณอ้อยและน้ำตาลจากผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก 2 ราย (บราซิล,อินเดีย) แล้ว ผู้ผลิตไทยในฐานะที่ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก(มีการส่งออก 6-7 ล้านตันต่อปี) จะมีปริมาณอ้อยในปี 2556/57 มากถึง 110 ล้านตันอ้อย จะได้ปริมาณน้ำตาลเพิ่มจาก 9-10 ล้านตันเป็น 11 ล้านตันต่อปี ยิ่งทำให้น้ำตาลในตลาดโลกมีมากกว่าความต้องการใช้ กดให้ราคาในตลาดโลกร่วงลงมา"

-ผลผลิตอ้อยบราซิลขยายตัว

นายสุรัตน์ ธาดาชวสกุล ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด (อนท.) กล่าวเสริมถึงปริมาณอ้อยและน้ำตาลในประเทศบราซิลว่า เมื่อปี 2555/56 บราซิลจะมีปริมาณอ้อย 588.9 ล้านตัน และปี 2556/57 เดือนเมษายน มีปริมาณอ้อย 653.8 ล้านตัน และเดือนสิงหาคม มีจำนวน 652 ล้านตัน ขณะที่ปริมาณน้ำตาลของบราซิลปี 2556/57ในช่วงเดือนเมษายอยู่ที่ 43.56 ล้านตัน และเดือนสิงหาคมอยู่ที่ 40.97 ล้านตัน ส่วนการผลิตเอทานอลในบราซิลช่วงเดือนเมษายนปี 2557 อยู่ที่ 25.77 พันล้านลิตร และในเดือนสิงหาคมมีกำลังผลิตขึ้นมาอยู่ที่ 27.17 พันล้านลิตร โดยจะเห็นว่าบราซิลในฐานะที่เป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ส่งออกรายใหญ่มีการขยายตัวในอุตสาหกรรมน้ำตาลมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

-มีน้ำตาลส่วนเกินล้นติดต่อ4ปี

สอดคล้องกับข้อมูลจากองค์การน้ำตาลระหว่างประเทศหรือISOระบุถึงดุลยภาพน้ำตาลโลกปี 2556/57 ว่า ผลผลิตน้ำตาลทั่วโลกอยู่ที่ 180.837 ล้านตัน ขณะที่การบริโภคคาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 176.335 ล้านตัน เท่ากับว่าปี 2556/57 จะมีน้ำตาลโลกส่วนเกินอยู่ 4.502 ล้านตัน เทียบกับปี 2555/56 มีปริมาณน้ำตาลโลกอยู่ที่182.956 ล้านตัน มีการบริโภคทั่วโลก 172.695 ล้านตัน ทำให้มีน้ำตาลส่วนเกินอยู่ที่ 10.261 ล้านตัน จากสถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าในตลาดโลกมีผลผลิตอ้อยและน้ำตาลมากขึ้น ทำให้มีปริมาณน้ำตาลส่วนเกินที่อยู่ในตลาดโลกติดต่อกันถึง 4 ปี จึงส่งผลให้ราคาน้ำตาลโลกร่วง โดยบราซิลเป็นผู้กำหนดทิศทางตลาดเนื่องจากมีน้ำตาลประมาณ 50% ของปริมาณน้ำตาลของโลกที่บราซิลเป็นผู้ส่งออก

-สอน.ห่วงค่าอ้อยไม่ถึงพันบาท/ตัน

ต่อเรื่องนี้นายสมศักดิ์ สุวัฒิกะ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) กล่าวว่าการที่ราคาน้ำตาลดิบในตลาดโลกฤดูผลิตใหม่ร่วงลงมาเหลือ16-18 เซ็นต์ต่อปอนด์ ก็น่าเป็นห่วง เพราะจะทำให้ราคาอ้อยเบื้องต้นปี 2556/57 ที่จะประกาศราคาได้ภายในเดือนกันยายนนี้ตกต่ำลงด้วย โดยคาดการณ์ว่าราคาอ้อยจะต่ำกว่า 1 พันบาทต่อตัน ทำให้ชาวไร่อ้อยเตรียมเรียกร้องที่จะให้กระทรวงอุตสาหกรรมหาเงินมาช่วยชดเชยราคาอ้อย 3-4 หมื่นล้านบาท หากไม่สามารถหาเงินมาชดเชยให้ชาวไร่อ้อยได้เกรงว่าจะเกิดการชุมนุมขึ้นมาได้แบบทุกครั้ง ขณะที่สอน. ก็กังวลว่าจะหาเงินมาจากไหน เพราะเป็นวงเงินที่สูงมาก เกรงว่าถ้ากู้มาจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ก็จะหาเงินไปคืนลำบากขึ้นในภาวะที่ราคาน้ำตาลดิบในตลาดโลกร่วงลงแบบนี้

"สุดท้ายแล้วจะต้องมีการชดเชยสุทธิเท่าไหร่ต้องรอดูต้นทุนการผลิตก่อน โดยภายในเดือนกันยายนนี้ก็น่าจะคำนวณต้นทุนอ้อยได้ทั้งหมด หลังจากนั้นก็ต้องมาดูทางออกกันต่อไป"

-ชาวไร่อ้อยฝากรัฐเตรียมรับมือ

นายธีระชัย แสนแก้ว ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน กล่าวว่า ขณะนี้ชาวไร่อ้อยมีการประเมินราคาอ้อยเบื้องต้นปี2556/57 ไว้ที่ 800-850 บาทต่อตัน ถือว่าราคาอ้อยร่วงลงตามราคาน้ำตาลในตลาดโลก เทียบกับปีที่แล้วราคาอ้อยอยู่ที่ 950 บาทต่อตัน ขณะที่ต้นทุนในการปลูกอ้อยสูงถึง 1,196 บาทต่อตัน ทำให้รัฐบาลต้องมาชดเชยอีก 160 บาท ต่อตัน ดังนั้นในฤดูการผลิตใหม่นี้ถ้าต้นทุนอยู่ที่ 1,200 บาทต่อตันก็จะเป็นปัญหากับชาวไร่อ้อย จึงอยากจะฝากรัฐบาลไปคิดเป็นการบ้านว่า จะต้องหาเงินมาชดเชยสูงถึง 4 หมื่นล้านบาท เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือครั้งนี้ ให้ได้ ไม่เช่นนั้นแล้วหากชาวไร่อ้อยไม่ได้รับการดูแล เกรงว่าจะเกิดการชุมนุมขึ้น เพราะชาวไร่ได้รับผลกระทบโดยตรง และปัจจุบันในพื้นที่ภาคอีสานจะมีปริมาณอ้อยสูงถึง 40%หรือ 40 ล้านตันอ้อยของปริมาณอ้อยทั่วประเทศที่มีอยู่ราว 100 ล้านตันอ้อย

"ทุกครั้งที่ชาวไร่อ้อยเรียกร้องให้รัฐบาลหาเงินมาชดเชยค่าอ้อย อยากย้ำให้เข้าใจว่าชาวไร่ไม่เคยเอาเงินภาษีประชาชนมาใช้ เพียงแต่อาศัยอำนาจจากมติครม.เพื่อขอให้สำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย(กท.)ไปค้ำปะกันเพื่อกู้เงินจากธ.ก.ส.มาชดเชยค่าอ้อย"ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน กล่าวทิ้งท้าย

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 1 กันยายน 2556

ชาวนาบุรีรัมย์แห่ปลูกอ้อยเพิ่มปีละ 5 หมื่นไร่-รง.น้ำตาลขยายกำลังผลิตรับ 1 ล้านตัน

ชาวนาบุรีรัมย์ประสบแล้งซ้ำซากทำนาข้าวไม่คุ้มทุน หันมาปลูกอ้อยเพิ่มปีละ 50,000 ไร่

บุรีรัมย์ - ชาวนาบุรีรัมย์ประสบแล้งซ้ำซาก ทำนาไม่คุ้มทุนหันมาปลูกอ้อยเพิ่มปีละ 50,000 ไร่ มีรายได้เฉลี่ย 6,000-7,000 บาทต่อไร่ ขณะ รง.น้ำตาลเตรียมขยายกำลังผลิตปี 57-58 เพิ่มอีก 1 ล้านตัน รองรับผลผลิตเกษตรกรที่เพิ่มขึ้นทุกปี

วันนี้ (1 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกษตรกรชาวนาในพื้นที่ 6 อำเภอ จ.บุรีรัมย์ ประกอบด้วย อ.เมืองบุรีรัมย์ อ.บ้านด่าน อ.แคนดง อ.ลำปลายมาศ อ.สตึก และ อ.คูเมือง ซึ่งตั้งอยู่ในรัศมี 50 กิโลเมตรรอบโรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์ ที่ประสบปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก ฝนไม่ตกตามฤดูกาล ส่งผลให้ทำนาข้าวได้ผลผลิตน้อยไม่คุ้มทุน ได้หันมาปลูกอ้อยเพิ่มขึ้นปีละกว่า 50,000 ไร่

โดยจากข้อมูลในปีการผลิต 2555/56 มีเกษตรกรทั้ง 6 อำเภอปลูกอ้อยอยู่ประมาณ 6,000 ราย พื้นที่ปลูกกว่า 120,000 ไร่ มีผลผลิตส่งเข้าหีบกว่า 1.3 ล้านตัน ต่อมาในปี 2556/57 มีเกษตรกรหันมาปลูกอ้อยเพิ่มขึ้นอีก 3,000 ราย พื้นที่ปลูกเพิ่มอีกกว่า 50,000 ไร่ มีผลผลิตส่งเข้าหีบเพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านตัน และคาดว่าในปี 57/58 เกษตรกรจะหันมาปลูกอ้อยเพิ่มอีกไม่น้อยกว่า 50,000 ไร่

สาเหตุที่เกษตรกรปรับเปลี่ยนจากการทำนาหันมาปลูกอ้อยแทนนั้น เนื่องจากอ้อยเป็นพืชที่ทนแล้ง ใช้น้ำน้อย ทั้งยังสามารถไว้ตอได้หลายปี ซึ่งช่วยลดต้นการผลิตให้เกษตรกรได้อีกด้วย และหลังจากทางหน่วยงานภาครัฐร่วมกับสมาคมชาวไร่อ้อย โรงงานน้ำตาล ได้เข้ามาสนับสนุนส่งเสริมให้ความรู้เรื่องเทคนิคการปลูกอ้อยให้ได้ผลผลิตอย่างเต็มที่แล้ว ปัจจุบันทำให้เกษตรกรมีผลผลิตเฉลี่ย 13 ตันต่อไร่ มีรายได้ประมาณ 6,000-7,000 บาทต่อไร่ ซึ่งถือเป็นรายได้ที่คุ้มค่า

นางจิรวรรณ พงษ์พิชิตกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท บุรีรัมย์วิจัยและพัฒนาอ้อย จำกัด และรองกรรมการผู้จัดการโรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด กล่าวว่า จากพื้นที่ปลูกและผลผลิตอ้อยที่เพิ่มขึ้นในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา ทางโรงงานน้ำตาลได้วางแผนจะเพิ่มกำลังการผลิต จากปัจจุบันมีผลผลิตส่งเข้าหีบ 2 ล้านตันในปี 2557-2558 จะเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นอีกปีละ 500,000 ตัน รวมเป็น 1 ล้านตัน เพื่อรองรับผลผลิตของเกษตรกรที่เพิ่มขึ้น

ทางด้าน นายศานติ นึกชอบ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดบุรีรัมย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางเกษตรและสหกรณ์จังหวัดฯ ได้ทำเรื่องประสานไปยังศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง จ.นครราชสีมา และ จ.ขอนแก่น ให้มาปฏิบัติการบินโปรยสารเคมีทำฝนหลวงในเขตพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ หลังจากเกษตรกรในหลายพื้นที่อำเภอได้ร้องขอให้ช่วยเหลือเนื่องจากประสบปัญหาฝนทิ้งช่วง ต้นข้าวที่ไถหว่านและปักดำไว้ขาดน้ำหล่อเลี้ยงเหี่ยวเฉาใกล้แห้งตายเป็นจำนวนมาก

“จากการสำรวจพบว่า ทั้งจังหวัดบุรีรัมย์มีพื้นที่นาข้าวประสบปัญหาขาดน้ำหล่อเลี้ยงถึงร้อยละ 60 จากพื้นที่เพาะปลูกทั้งจังหวัดกว่า 3.4 ล้านไร่” นายศานติกล่าว

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 1 กันยายน 2556