http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล(เดือนกันยายน 2558)

'ปลัดเกษตรฯ'ตั้งศูนย์เฉพาะกิจ ติดตามภัยแล้ง-สั่งทำฝนหลวง

นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรฯ กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ภัยแล้ง ว่า แม้มีฝนตกแต่ไปตกท้ายเขื่อนทำให้น้ำเข้าอ่างเก็บน้ำหลักไม่มากขึ้น อย่างไรสิ้นสุดเดือน ต.ค.ไปแล้ว คาดว่าจะมีปริมาณน้ำใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ในช่วงนี้ศูนย์ฝนหลวงปฏิบัติการ 9 ศูนย์ฝนหลวง เข้าทำฝนหลวงพื้นที่ต้นน้ำ เหนือเขื่อน เพิ่มน้ำในเขื่อนมากที่สุด ทำได้ 95% แต่ปริมาณฝนตกไม่เต็มที่เพราะตัวร่องพาดผ่านมาตอนล่างภาคใต้แล้ว

ส่วนมาตรการช่วยเหลือ 8 มาตรการ ใช้งบกลาง ต้องผ่านการพิจารณาของนายกรัฐมนตรี จึงต้องรอกลับจากสหรัฐอเมริกาเสนอให้เต็มรูปแบบ ซึ่งยังมีข้อมูลเพิ่มเติมเข้ามา จากการสำรวจความต้องการของเกษตรกรจริงๆตอนนี้มีข้อมูลมี3โครงการใน22 จ. เกี่ยวข้องหน่วยไหนจะปรับเสริมให้ประชาชนรับประโยชน์จริงๆ

โดยมี13 หน่วยงานเข้ามาเตรียมพร้อมรับมือดำเนินการช่วยเหลือ ตั้งศูนย์เฉพาะกิจช่วยเหลือภัยแล้ง บริเวณชั้น3 ของกระทรวง เพราะติดตามภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง ได้กำชับงานด้านปศุสัตว์ ศัตรูพืช ช่วงเปลี่ยนผ่านอากาศเข้าหนาว เรื่องวัชพืช แมลงศัตรูพืช ให้กรมวิชาการเกษตร เร่งดำเนินช่วยเหลือ เช่นด้วงมะพร้าว อาจทำให้เสียหาย ฝากเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ ประสานกับปศุสัตว์จังหวัดลงไปตรวจโรคอย่างใกล้ชิด เตรียมอาหารให้กับปศุสัตว์กระทบภัยแล้งด้วยจำนวน10 ล้านกก. ต้องช่วยกันเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก ฉีดวัคซีนโดยมีการระบาดในประเทศเพื่อนบ้าน รมว.เกษตรฯสั่งด่านชายแดนตรวจสอบทุกแห่งแล้ว

นายธีรภัทร กล่าวว่า ขณะมีพื้นที่ทำนาต่อเนื่องประมาณ 5 แสนไร่ เพราะน้ำท่าพอจากฝนตกท้ายเขื่อน เพียงแต่ถึงช่วงหน้าแล้ง น้ำในอ่างหลักมีจำกัด หากใช้มากกระทบภาคอื่นด้วย ขอความร่วมมือเกษตรกรฟังแล้วน่าจะเชื่อ เพราะปีที่แล้วเจอภัยแล้งมาแล้ว โดยขอมหาดไทย ไปช่วยชี้แจงกำนันผู้ใหญ่บ้านด้วย

จาก http://www.naewna.com วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2558

ก.ทรัพย์ฯเสนอขอทำแก้มลิง เพื่อกักเก็บน้ำฝนที่ตกลงมา

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ถึงสถานการณ์น้ำว่า ในที่ประชุมครม. โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) เสนอขอทำแก้มลิง เพื่อกักเก็บน้ำฝนที่ตกลงมาไม่ให้ลงไปในแหล่งน้ำนอกประเภท

สำหรับสถานการณ์น้ำในเขื่อนหลักๆ ขณะนี้ตัวเลขน้ำเหลืออีกนิดหน่อย เกณฑ์ต่ำสุดที่เราต้องการคือ 3,500 ลูกบาศก์เมตร คิดว่าเพียงพอสำหรับน้ำอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ และเป็นน้ำสำรอง แต่ปัญหาคือจะนำน้ำไปทำนาปรังเพิ่มได้หรือไม่นั้นยังไม่แน่ใจ

จาก http://www.naewna.com วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2558

แล้งฉุดภาคเกษตรร่วงยาวถึงปีหน้า

สศก. ประเมินรอบล่าสุด คาดภัยแล้งฉุดจีดีพีเกษตรปี 58ติดลบ 3.80% ข้าว-ยาง-กุ้ง สินค้าส่งออกสำคัญ ไม่มีปาฏิหาริย์ฟื้นตัว ฟันธงสถานการณ์ลากยาวถึงปีหน้า คาดนาปรังได้รับผลกระทบกว่า 4.76 แสนครัวเรือน ปี 59 หวัง 5 ตลาดส่งออกหลักเศรษฐกิจฟื้นตัวช่วยดันตัวเลข ขณะ 8 มาตรการช่วยเหลือรากหญ้าหวั่นใช้ผิดประเภทก่อหนี้เพิ่ม

จากในช่วงระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา ผลผลิตทางการเกษตรในหลายพื้นที่ของไทยได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง และในปัจจุบันภัยแล้งได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยมีภาวะฝนทิ้งช่วงมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2558 และสถานการณ์มีแนวโน้มจะลากยาวไปจนถึงปี 2559 โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.)ได้มีการประเมินผลกระทบภัยแล้งต่อภาวะเศรษฐกิจการเกษตร(จีดีภาคเกษตร)ในปี 2558 จะติดลบ

แล้งลามจีดีพีเกษตรติดลบ

นางสาวจริยา สุทธิไชยา รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สศก.ได้ประมาณการณ์ภาวะจีดีพีภาคเกษตรในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 จะขยายตัวลดลง 4.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557 (ประมาณการ ณ มิ.ย. 58) และคาดการณ์ว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2558 คาดจะขยายตัวลดง 3.58% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557 ขณะที่ในภาพรวมจีดีพีภาคเกษตรปี 2558 (ณ ราคาประจำปีของสภาพัฒน์) เมื่อเทียบกับปี 2557 คาดจะขยายตัวลดลง 1.67% (ปี 2557 จีพีดีภาคเกษตรมีมูลค่า 1.413 ล้านล้านบาท คาดปี 2558 จะมีมูลค่า 1.389 ล้านล้านบาท)

ขณะที่คาดการณ์จีพีดีภาคเกษตร 2558 (ณ ราคาคงที่ปี 2531) คาดจะมีมูลค่า 4.06 แสนล้านบาท ขยายตัวลดลงจากปี 2557 ที่มีมูลค่า 4.22 แสนล้านบาท หรือลดลง 3.80% ซึ่งผลการคาดการณ์ดังกล่าวมีความสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางที่ได้คาดการณ์ไว้เดิม ทั้งนี้ ปัจจัยหลักที่ทำให้ภาคเกษตรหดตัวค่อนข้างมาก คือ ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2557 ต่อเนื่องจนถึงปี 2558 และคาดการณ์ว่าจะกระทบการปลูกข้าวนาปรังในช่วงปลายปี 2558 ( พ.ย.58-เม.ย.59) ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2559 ทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรมีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ลดลงตามไปด้วย

“จากภาวะฝนทิ้งช่วงในหลายพื้นที่ของประเทศ ส่งผลให้ปริมาณน้ำใช้การได้ในเขื่อนหลักมีน้อย ก่อให้เกิดความเสียหายต่อการเพาะปลูกพืชหลายชนิด โดยเฉพาะการปลูกข้าวนาปรังและข้าวนาปีในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลอง อย่างไรก็ตาม สาขาปศุสัตว์ยังขยายตัวได้ดี โดยผลผลิตปศุสัตว์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ไก่เนื้อ สุกร ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ เนื่องจากการขยายการเลี้ยงเพื่อรองรับความต้องการของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ในส่วนของสาขาประมง สถานการณ์การผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงฟื้นตัวขึ้น ขณะที่การทำประมงทะเล มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำลดลง ประกอบกับการยกเลิกสัมปทานประมงในน่านน้ำของประเทศอินโดนีเซีย ส่วนการผลิตประมงน้ำจืดประสบปัญหาภัยแล้ง เกษตรกรต้องงดการเลี้ยงปลาหรือชะลอการเลี้ยงออกไป นอกจากนี้ จำเป็นต้องติดตามและประเมินผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายการทำประมงอย่างเคร่งครัด ซึ่งอาจส่งผลให้มีการจับสัตว์ทะเลลดลง”

11 ล้านไร่เสี่ยงขาดนํ้า

สำหรับสถิติการปลูกข้าวนาปรัง (จะอยู่ในช่วงประมาณเดือนพฤศจิกายน-เมษายน) ก่อนรัฐบาลชุดก่อนหน้ามีโครงการรับจำนำข้าวเปลือก (ปี 2549-2553) มีชาวนาปลูกข้าวประมาณ 10-15 ล้านไร่ ช่วงมีโครงการรับจำนำ (ปี 2554-2557) มีชาวนาปลูกข้าวเพิ่มเป็น 16-18 ล้านไร่ เพราะมีแรงจูงใจราคาข้าวดีจึงทำให้ขยายพื้นที่การปลูกเพิ่มขึ้น ขณะที่ปี 2558 มีพื้นที่นาปรัง ปลูกข้าวประมาณ 11 ล้านไร่ จึงคาดการณ์ว่า พื้นที่นาปรัง (พ.ย.58-เม.ย.59) จะมีพื้นที่ปลูกข้าวประมาณ 10-11 ล้านไร่ คาดเกษตรกรจะได้รับผลกระทบ จากภัยแล้ง 4.76 แสนครัวเรือน หากฝืนเสี่ยงปลูกคาดว่าจะมีความเสียหายมาก (รัฐบาลได้สั่งงดปลูกข้าวนาปรังมาแล้ว 2 ปี) ล่าสุดรัฐบาลได้มี 8 มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ได้แก่ 1.ส่งเสริมความรู้และปัจจัยการผลิตเพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน เน้นสร้างอาชีพและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมปลูกพืช 2.ชะลอหรือขยายระยะเวลาชำระหนี้ของเกษตรกร 3.การจ้างงานสร้างรายได้ให้เกษตรกร ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.3 แสนล้านบาท ผ่านกองทุนหมู่บ้าน ชุมชนเมืองตำบลละ 5 ล้านบาท รวมถึงกระตุ้นโครงการของรัฐและรัฐวิสาหกิจที่ไม่เกิน 1 ล้านบาท 4.การเสนอโครงการตามความต้องการของชุมชน 5.เพิ่มประสิทธิภาพใช้น้ำที่ทุกส่วนราชการต้องเน้นให้ประหยัด 6.เพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน ทั้งขุดลอกแหล่งน้ำเกษตร และขุดบ่อน้ำบาดาล 7.เสริมสร้างสุขภาพและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ช่วยลดรายจ่ายให้เกษตรกร และ 8.สนับสนุนด้านอื่น ที่มีกระทรวงมหาดไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดำเนินการหารือในรายละเอียด และเสนอโครงการที่จำเป็น เพื่อส่งเสริมอาชีพและสร้างงานนอกภาคการเกษตรเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เลี้ยงครอบครัวระหว่างรอฤดูฝนปี 2559 และชดเชยรายได้สินค้าเกษตรขาลง

อย่างไรก็ตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรทั้ง 8 มาตรการข้างต้นจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจภายในชุมชน ทำให้ปริมาณเงินหมุนเวียนภายในชุมชนเพิ่มสูงขึ้น กระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยในชุมชน และช่วยให้การผลิตในชุมชนหรือท้องถิ่นขยายตัว แต่อีกด้านหนึ่งหากเกษตรกรนำเงินไปใช้ในทางที่ผิด จะส่งผลทำให้เป็นหนี้เพิ่มมากขึ้น

แนวโน้มสินค้าเกษตร ปี 59

สศก. ยังได้ประเมินมูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ของไทยในปี 2558 มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่สำคัญมีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน ซึ่งเป็นคู่ค้าสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ในลำดับที่ 2 ของไทย นอกจากนี้ ราคาส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์หลายชนิดของไทยสูงกว่าประเทศคู่แข่งขัน ทำให้ประเทศคู่ค้าหันไปนำเข้าทดแทน ทั้งนี้ในปี 2558 สศก.คาดการณ์ส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์จะมีมูลค่า 1.253 ล้านล้านบาท ขยายตัวลดลง 4.20% เมื่อเปรียบกับปี 2557 ที่มีการส่งออกมูลค่า 1.30 ล้านล้านบาทส่วนในปี 2559 คาดการณ์ปริมาณและมูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์มีแนวโน้มดีขึ้นเนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าฟื้นตัวในตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ อาเซียน 9 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ตัวอย่างสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ยางพารา คาดในปี 2558 จะส่งออกได้ 3.70 ล้านตัน ลดจากปีที่แล้ว 2.43%

ส่วนด้านมูลค่าก็จะลดลงตาม เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ประกอบกับอุปทานยางพาราในตลาดโลกมีมากขึ้น ส่งผลให้ราคายางพารามีแนวโน้มลดลงสำหรับในปี 2559 คาดการณ์ส่งออกยางพาราทั้งแง่ปริมาณและมูลค่าจะเพิ่มขึ้นจากปี 2558 เล็กน้อย โดยคาดการณ์ราคายาง(แผ่นดิบ)ที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งปี 2559 จะอยู่ที่ประมาณ 50 บาท/กิโลกรัมในสินค้าข้าวและผลิตภัณฑ์ คาดในปี 2558 จะส่งออกได้ 10 ล้านตัน ลดจากปีที่แล้วเฉลี่ย 11.07 % ขณะที่ในปี 2559 คาดจะส่งออกได้ประมาณ 9-10 ล้านตัน โดยมูลค่าส่งออกจะใกล้เคียงกับปี 2558 คาดการณ์ราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้ไม่เกิน 8 พันบาทต่อตัน

ส่วนกุ้งและผลิตภัณฑ์ ในปี 2558 คาดว่าจะส่งออกได้ 1.75 พันตัน เพิ่มจากปีที่แล้ว 5% ปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้น แต่ราคากุ้งในตลาดโลกลดลง เนื่องจากประเทศคู่แข่งขันผลิตกุ้งได้มากขึ้นและมีราคาถูกกว่ากุ้งของไทยทำให้มูลค่าส่งออกของไทยลดลง ส่วนในปี 2559 ปริมาณและมูลค่าส่งออกกุ้งคาดจะใกล้เคียงกับปี 2558 เนื่องจากประเทศคู่ค้ายังประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และสุดท้าย เนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ คาดในปี 2558 จะส่งออกประมาณ 6.10 แสนตัน ขยายตัวเพิ่ม 11.94% เมื่อเทียบกับปี 2557 เนื่องจากปริมาณและมูลค่าส่งออกไปตลาดญี่ปุ่นยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง คาดในปี 2559 ไทยจะมีโอกาสส่งออกไก่สดแช่แข็งไปยังเกาหลีใต้และประเทศอื่นๆ ทำให้สามารถขยายการส่งออกเนื้อไก่ได้เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ปริมาณส่งออกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่มูลค่าส่งออกจะเพิ่มขึ้นประมาณ 5% เมื่อเทียบกับปี 2558

จาก http://www.thansettakij.com วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2558

แผนเกษตรอินทรีย์ฉบับที่ 2

นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากที่สศก. ได้ปรับปรุง(ร่าง) ยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ฉบับที่ 2(พ.ศ.2559–2564) โดยกำหนดวิสัยทัศน์ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิต การบริโภค การค้า และการบริการ เกษตรอินทรีย์ เป็นที่ยอมรับในระดับสากลนั้น

มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มพื้นที่และปริมาณการผลิตเกษตรอินทรีย์เพิ่มมูลค่าของผลิตผล ผลิตภัณฑ์ สินค้าและบริการด้านเกษตรอินทรีย์ เพิ่มการค้าและการบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์ในประเทศรวมทั้งให้มาตรฐานและระบบการรับรอง สินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทย เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศไปสู่การเป็นศูนย์กลาง (Hub)ของสินค้าและบริการด้านเกษตรอินทรีย์ในระดับสากล

โดยยุทธศาสตร์ที่ 1 จะส่งเสริม สนับสนุนการวิจัย พัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้ และนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ประกอบด้วยโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพการผลิตผักอินทรีย์โครงการหลวงเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการปลูกผักอินทรีย์ในพื้นที่โครงการหลวงโดยปรับปรุงและคัดเลือกพันธุ์เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ผักอินทรีย์3ชนิด ประกอบด้วย ผักกาดหวาน ถั่วแขก และมะเขือเทศ ของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง

ซึ่งเน้นธุรกิจนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ และโครงการพัฒนาป่าชุมชนให้เป็นแหล่งผลิตแบบธรรมชาติโดยผลิตเห็ดพื้นบ้านและผักพื้นบ้านเพื่อสร้างฐานอาหารและเศรษฐกิจในชุมชนอย่างยั่งยืน รวมทั้งโครงการเสริมสร้างองค์ความรู้เกษตรอินทรีย์ของศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาการผลิตเกษตรอินทรีย์โดยการถ่ายทอดความรู้ในการผลิตเกษตรอินทรีย์ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่โครงการพัฒนาประมงอินทรีย์โดยอบรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอินทรีย์แก่เกษตรกร สนับสนุนฟาร์มสาธิตสัตว์น้ำอินทรีย์ และเตรียมฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเข้าสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์โดยกรมประมงโครงการพัฒนาการเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่โดยยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงฝึกอบรมด้านเกษตรอินทรีย์แก่เกษตรกรโดยปราชญ์ชาวบ้าน

 โครงการสนับสนุน การถ่ายทอดเทคโนโลยีและการเรียนรู้การปลูกผักอินทรีย์และโครงการพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มเกษตรอินทรีย์แปรรูปโดยการพัฒนาสถานที่ผลิตให้ได้มาตรฐาน เชื่อมโยงงานวิจัยสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ และทดสอบผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับตลาดสากล รวมทั้งโครงการถ่ายทอดปุ๋ยอินทรีย์สู่ชุมชนเป็นต้นยุทธศาสตร์ที่ 3 พัฒนาและส่งเสริมการตลาด สินค้าและบริการเกษตรอินทรีย์โดยผลักดันมาตรฐานและระบบการตรวจสอบรับรอง การสร้างมูลค่าเพิ่ม ได้แก่โครงการตลาดสินค้าเกษตรกรซึ่งมีการจำหน่ายสินค้าคุณภาพ เช่น ผลไม้ตามฤดูกาล สินค้าเกษตรแปรรูป โครงการสนับสนุนการปลูกผักอินทรีย์ เน้นการปรับปรุงคุณภาพผักอินทรีย์ในมูลนิธิโครงการหลวงยุทธศาสตร์ที่ 4 การบริหารจัดการและการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์จะเป็นการสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการ/คณะอนุกรรมการ และคณะทำงานการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ในระดับต่าง ๆ

โดยเฉพาะในระดับจังหวัด เพื่อให้มีการจัดการแบบบูรณาการด้านข้อมูล องค์ความรู้ การผลิตและการตลาดเกษตรอินทรีย์ในระดับจังหวัด โดยมีโครงการบูรณาการขับเคลื่อน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม สาขาเกษตรและอาหารอินทรีย์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้และเครือข่ายทั้งนี้จะยังมีโครงการอื่น ๆ เพิ่มเติม ซึ่ง อยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นการรองรับยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2559- 2564 ต่อไป.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2558

ส่องเกษตร : จับตา...อัดฉีดรากหญ้าจัดการน้ำ-จัดการระบบหลงจู๊

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงอยู่ในภารกิจการประชุมสมัชชาสหประชาชาติหรือยูเอ็น ที่มหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ถือเป็นการแสดงบทบาทครั้งสำคัญยิ่ง ในการสร้างความเข้าใจกับประชาคมโลก และถือเป็นครั้งแรกที่มีโอกาสเดินทางเข้าสหรัฐ นับตั้งแต่ยึดอำนาจการปกครองประเทศ ในฐานะหัวหน้า คสช.-คณะรักษาความสงบแห่งชาติ จนขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้ถูกชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐบอยคอตต์ห้ามเดินทางเข้าประเทศในช่วงที่ผ่านมา

ตลอดภารกิจหลายวันที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์นับว่า ได้ใช้เวทีนานาชาติครั้งนี้ สร้างประโยชน์ให้เกิดกับประเทศชาติได้อย่างเต็มที่ เสริมสร้างภาพลักษณ์ให้ประชาคมโลกมองไทยดีขึ้นมาก ในฐานะคนไทยคนหนึ่ง ผมก็ต้องขอร่วมชื่นชมและเป็นกำลังใจด้วย

การประชุมยูเอ็นครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ได้รับเกียรตินั่งเป็นประธานการประชุมกลุ่มประเทศจี 77 หรือกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา,ได้ขึ้นรับรางวัล“ไอซีทีเพื่อการพัฒนา” จากไอทียู-สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ แล้วยังได้พบปะจับมือเจรจาความเป็นผู้นำโลกหลายต่อหลายคน ไม่ว่าประธานาธิบดีโอบามา,เลขาฯยูเอ็น เป็นต้น ทั้งแสดงวิสัยทัศน์ในหลากหลายหัวข้อเกี่ยวกับการพัฒนา

หนึ่งในหัวข้อที่มีโอกาสขึ้นกล่าวคือ เรื่องเกี่ยวกับการส่งเสริมการบริหารจัดการน้ำโดยระบุว่า ตลอด 15 ปีที่ผ่านมาการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษได้ช่วยให้ประชาชนทั่วโลกสามารถเข้าถึงน้ำ มีสุขาภิบาลที่ดีขึ้น ทั้งได้ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศด้านน้ำ คำนึงถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและปัญหาต่างๆที่เกี่ยวกับน้ำ เช่น น้ำท่วม น้ำแล้ง และ น้ำเสีย สำหรับไทยได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและแนวพระราชดำริด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำมาดำเนินการ โดยจัดทำแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 12 ปี (พ.ศ. 2558-2569)เพื่อวางกรอบการดำเนินการอย่างเป็นระบบ ครบวงจร เน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในแต่ละท้องถิ่น และอยู่ระหว่างจัดทำพ.ร.บ.น้ำ เพื่อสร้างความมั่นคงทางน้ำให้กับประเทศ ตั้งเป้าให้ทุกหมู่บ้านกว่า 7,000 หมู่บ้านทั่วประเทศ มีน้ำสะอาดอุปโภคบริโภคภายในปี พ.ศ. 2560 ตลอดจนให้ความสำคัญต่อการป้องกัน และลดผลกระทบจากภัยพิบัติที่เกี่ยวกับน้ำ

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ย้ำว่า น้ำคือชีวิต น้ำคือความอยู่รอดของมนุษยชาติ เกี่ยวข้องกับทุกคน ไม่ว่ายากดีมีจนในเมืองหรือชนบท ดังนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจทุกภาคส่วนและทุกคนในการบริหารจัดการน้ำ และใช้ทุกโอกาสผลักดันให้น้ำเป็นกลไกสร้างความร่วมมือ เพื่อความกินดีอยู่ดี การเติบโตของเศรษฐกิจ ตลอดจนความสมดุลของระบบนิเวศน์อย่างยั่งยืนต่อไป

เชื่อได้ว่า ถ้อยแถลงนี้ ไม่ใช่แค่อ่านไปตาม“บท”ที่กำหนดไว้ แต่นี่เป็นเรื่องหนึ่งในความตั้งใจที่จะทำจริงๆของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ และผมทราบมาว่า นี่เป็นภารกิจสำคัญยิ่งเรื่องหนึ่ง ถึงได้มีการส่งพล.อ.ฉัตรชัย สาลิกัลยะ มาเป็นรมว.เกษตรและสหกรณ์ด้วย

โดยก่อนหน้าที่จะมาเป็นรมว.เกษตรฯนี้ ในช่วงที่พล.อ.ฉัตรชัยเป็นรมว.พาณิชย์ อยู่ ก็เคยเป็นประธานคณะกรรมการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ มีบทบาทในการวางแผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการทรัพยากรน้ำเอง ซึ่งได้รวบรวม 30 กว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำที่ต่างฝ่ายต่างทำ แม้แต่ละปีจะมีงบประมาณด้านน้ำร่วมกันปีละ5-6 หมื่นล้าน แต่งบฯที่กระจัดกระจาย ทำให้ไม่ได้ผลงานเต็มที่ จึงต้องวางแผนบูรณาการจัดการน้ำร่วมกันให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

การบริหารจัดการเพื่อสร้างความมั่นคงในเรื่อง“น้ำ”อย่างยั่งยืน เป็นงานใหญ่ที่มีความสำคัญยิ่ง และจะเป็นเครื่องวัดผลงานรัฐบาลกับพล.อ.ฉัตรชัยในระยะยาวต่อไป

ส่วนเรื่องเฉพาะหน้านั้น ทันทีที่เข้ามาเป็นรมว.เกษตรฯเมื่อเดือนสิงหาคม พล.อ.ฉัตรชัยได้ไปตรวจเยี่ยมกรมชลประทาน มอบนโยบายเน้นย้ำให้วางแผนจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด รับมือภัยแล้งในการเพาะปลูกฤดูกาลหน้า โดยให้จัดทำเป็นแผนที่ชัดเจนภายใน 1 เดือน นำไปสู่ภาคปฏิบัติจริงในเดือนตุลาคมนี้ให้ได้ ขณะที่อีกเรื่องสำคัญคือ การตั้งอธิบดีกรมชลประทานคนใหม่ที่จะมาดูแลการบริหารจัดการน้ำ หลังจากครม.เห็นชอบให้ย้ายนายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะไปเป็นรองปลัดกระทรวงฯแล้ว ตอนนี้ตัวเต็งมีทั้งลูกหม้อ รองอธิบดี-สุเทพ น้อยไพโรจน์ แต่ก็มีกระแสข่าวว่านายจาตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำอาจได้ย้ายข้ามห้วยจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯมาเป็นก็ได้ เหมือนที่นายนายธีรภัทร ประยูรสิทธิ อธิบดีกรมป่าไม้ ข้ามหวยมาเป็นปลัดกระทรวงเกษตรฯ

จะได้ใครก็ตาม แต่ต้องขอฝากว่าภารกิจสำคัญที่ควรจะต้องเร่งทำ คือ การล้าง“ระบบหลงจู๊”ที่ฝั่งรากลึกอยู่ในกรมชลประทานนี้ให้ได้เสียที

จาก http://www.naewna.com วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2558

สธ.ลุยลดอ้วน-รณรงค์น้ำตาลซองเหลือ4กรัม

สธ.-สสส.ขอความร่วมมือผู้ผลิตน้ำตาล โรงแรม สถานที่จัดการประชุม 8 พันแห่ง ใช้น้ำตาลซองละไม่เกิน 4 กรัม เพื่อลดโรคอ้วน เบาหวาน เผยคนไทยกินหวานจัดเฉลี่ยคนละเกือบ 30 กิโลกรัมต่อปี สูงกว่าเกณฑ์องค์การอนามัยโลก 3 เท่าตัว

ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย ผศ.(พิเศษ) นพ.ธวัชชัย กมลธรรม อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกันแถลงเกี่ยวกับ สธ.ได้ร่วมกับ สสส. บริษัทผู้ผลิตน้ำตาล ผู้ประกอบการโรงแรม/สถานที่จัดประชุม และภาคีเครือข่าย เร่งรณรงค์สร้างค่านิยม “คนไทยอ่อนหวาน ใช้น้ำตาลซองไม่เกิน 4 กรัม” ลดการบริโภคน้ำตาลในอาหารและเครื่องดื่มทุกชนิดให้ได้วันละไม่เกิน 6 ช้อนชา หรือ 24 กรัม ทำครบวงจรตั้งแต่การผลิตจนถึงผู้บริโภค โดยขอความร่วมมือผู้ประกอบการผลิตน้ำตาลทรายบรรจุซอง 47 แห่ง ให้ผลิตน้ำตาลซองขนาด 4 กรัม และขอความร่วมมือโรงแรม สถานที่จัดประชุม ประมาณ 8,000 แห่ง หันมาใช้น้ำตาลซองขนาด 4 กรัมแทน คาดว่าจะช่วยลดความสูญเสียจากน้ำตาลปีละไม่ต่ำกว่า 174 ล้านบาท เนื่องจากมีผลสำรวจการจัดเครื่องดื่มงานประชุมในโรงแรมพบว่า ผู้เข้าประชุมไม่สนใจปริมาณในซองน้ำตาล และมักใช้เพียง 1 ซอง บางคนใช้ไม่หมดซอง อีกทั้งการสำรวจในกลุ่มโรงแรมและกลุ่มผู้บริโภค เห็นด้วยกับมาตรการกำหนดขนาดน้ำตาลซอง 4 กรัม

จากข้อมูลของ สธ.พบว่า คนไทยรับประทานน้ำตาลสูงมากเฉลี่ยปีละ 30 กิโลกรัมต่อคน หรือวันละ 20 ช้อนชา ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกแนะนำกว่า 3 เท่าตัว ทำให้เกิดปัญหาโรคอ้วนเพิ่มมากขึ้น ในกลุ่มอายุ 15 ปีขึ้นไป พบถึง 1 ใน 10 หรือ 5.5 ล้านคน ทำให้ป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อาทิ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยน้ำตาลมีอยู่ในอาหารมื้อหลัก อาหารว่าง และชา-กาแฟที่นิยมใส่น้ำตาลลดความขม หากคนไทยหันมาใช้น้ำตาลซอง 4 กรัม จะลดปริมาณน้ำตาลได้คนละประมาณ 3 กิโลกรัมต่อปี หรือเทียบเท่าพลังงานที่ใช้ในการเดินไป-กลับ กทม.-สระบุรี

ด้าน นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการ อย. กล่าวว่า อย.ได้จัดทำประกาศเรื่อง การแสดงฉลากน้ำตาลทรายชนิดซอง ตามประกาศ สธ. (ฉบับที่ 367) พ.ศ.2557 เรื่อง การแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ กำหนดให้พิมพ์ข้อความภาษาไทยเห็นชัดเจนและอ่านง่าย ได้แก่ ชื่ออาหาร ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต หรือผู้แบ่งบรรจุ หรือผู้นำเข้า น้ำหนักสุทธิ เดือนและปีที่ผลิต และพิมพ์ข้อความ “ควรบริโภคก่อน” กำกับไว้ด้วย โดยได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการผลิตน้ำตาลซองและสมาคมโรงแรมไทยเป็นอย่างดี

ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดทำโครงการอาหารว่างเพื่อสุขภาพ หรือเฮลตี้มีตติ้ง (Healthy Meeting) เน้น 2 เรื่อง คือ 1.อาหารว่างที่ให้พลังงานต่ำกว่า 150 กิโลแคลอรีต่อวัน เช่น ผลไม้ ขนมที่ไม่หวานจัด และใช้น้ำตาลซอง 4 กรัม และ 2.มีการจัดกิจกรรมยืดเหยียดร่างกายคลายความเครียดระหว่างการประชุมด้วย ซึ่งขณะนี้มีภาคีเครือข่ายได้เข้าร่วมขับเคลื่อนรณรงค์แล้ว โดยภาครัฐ ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย ในส่วนของภาคเอกชน ได้แก่ ร้านแบล็คแคนยอน จำนวนกว่า 200 สาขา และร้านคาเฟ่ อเมซอน จำนวนกว่า 1,000 สาขา โดยร้านคาเฟ่ อเมซอน สาขาแรกที่ร่วมรณรงค์น้ำตาลซอง 4 กรัม คือสาขากรมอนามัย และจะขยายรณรงค์ทั่วประเทศในต้นปี 2559 ทั้งนี้ ประชาชนสามารถอ่านและดาวน์โหลดหนังสือ เฮลตี้มีตติ้ง (Healthy Meeting)

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2558

เกษตรเตรียมชงครม.ของบภัยแล้ง 4 พันล้าน

เกษตรฯเตรียมเสนอครม.ขอ งบภัยแล้ง 4 พันล้านบาท เดินหน้า มาตรการช่วยเกษตรกร ด้านกรมชลฯ เสนองบ 721 ล้านทำแก้มลิง

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลป์ยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เตรียมเสนอของบประมาณจากงบกลาง 4 พันล้านบาท เพื่อใช้ใน 8 มาตรการ 25 กิจกรรม ซึ่งเป็นของกระทรวงเกษตรฯ 6 มาตรการ ตามโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยแล้ง ซึ่งจะมีการช่วยเหลือเป็นพื้นที่แล้งวิกฤตใน 22 จังหวัดลุ่มเจ้าพระยาและพื้นที่แล้งทั่วไปทั่วประเทศรวมทั้งการขุดแก้มลิง 30 แห่งทั่วประเทศ วงเงิน 604 ล้านบาทและโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บน้ำเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง หรือการทำฝายกั้นลำน้ำสาขา 562 แห่ง 117 ล้านบาท

ขณะที่การทำแก้มลิงคาดว่าจะสามารถเก็บน้ำได้เพิ่ม 12.77ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) มีพื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 1.4 หมื่นไร่ มีครัวเรือนได้รับประโยชน์ประมาณ 6 พันครัวเรือน และโครงการทำฝายกั้นลำน้ำสาขา 562 แห่ง อาจจะทำด้วยกระสอบทราบ ซึ่งท้องถิ่นและชุมชนสามารถทำได้เองสูงเฉลี่ย 2เมตรและทำได้ง่าย คาดว่าจะเก็บน้ำได้ 52 ล้านลบ.ม. พื้นที่ได้ประโยชน์3.9 แสนไร่ ประชาชนได้ประโยชน์ 2.6 หมื่นครัวเรือน

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เปิดเผยว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เสนอรายละเอียดงบประมาณโครงการพัฒนาแก้มลิงเพื่อเก็บกักน้ำในลุ่มน้ำชายแดนระหว่างประเทศและโครงการเพิ่มประสิทธิ์ภาพการเก็บน้ำในลำน้ำเพื่อบรรเทาภัยแล้งตามกรอบที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อกลางเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา 721 ล้านบาท เพื่อให้ครม.รับทราบ

ทั้งนี้โครงการแก้มลิง30แห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในบริเวณปากแม่น้ำสาขาทั้งหมดที่จะไหลลงแม่น้าโขงในพื้นที่5จังหวัด ใน 5 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวีดนครพนม 9แห่ง จังหวัดหนองคาย 6แห่ง เลย 3 แห่ง บึงกาฬ 4 แห่ง มุกดาหาร 8 แห่ง วงเงินท 604 ล้านบาท และฝายปิดกั้นลำน้ำสาขาทั้งประเทศ 562 แห่ง วงเงิน 117 ล้านบาท ทั้งหมดระยะเวลาดำเนินการ 90วัน สำหรับการทำฝายกั้นลำน้ำนั้น ภาคเหนือ 100 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 384 แห่ง ภาคกลาง 10 แห่ง ภาคตะวันออก 32 แห่ง

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2558

พณ.สั่งกรมส่งเสริมการค้าฯ ปรับยุทธศาสตร์การส่งออก

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายแก่ข้าราชการกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ(สค.) ในช่วงเช้าของวันที่ 29 ก.ย.58 ว่า ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จัดทำยุทธศาสตร์ผลักดันการส่งออกใหม่ โดยเฉพาะธุรกิจบริการที่ปัจจุบัน ขยายตัวถึง 18% และมีแนวโน้มดีขึ้น ซึ่งน่าจะขยายตัวได้ถึง 50% ใน 3 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ ภายใน 1-2 เดือนจากนี้ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จะต้องปรับการบริหารการทำงานให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกด้วย

ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จะต้องมีการ จัดคน ทบทวนบุคลาการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะในส่วนของทูตพาณิชย์ ที่ต้องมีการปรับเปลี่ยน และทูตพาณิชย์จะต้องรู้จักพฤติกรรมผู้บริโภค รู้กำลังซื้อและทราบว่าคนในเมืองที่ตนเองประจำมีไลฟ์สไตล์อย่างไร โดยการปรับเปลี่ยนจะเน้นเจาะตลาดอาเซียนมากขึ้น อีกทั้งทูตพาณิชย์ต้องทำงานร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ในต่างประเทศด้วย เพื่อผลักดันการค้าและการลงทุนไทยให้เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันในด้านของตลาดก็ต้องมีการปรบใหม่ จะต้องเน้น ทั้งตลาดอาเซียน ตลาดเดิม และตลาดที่มีอนาคต

อีกทั้งกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จะต้องจัดระบบภารกิจใหม่ทั้งหมด โดยเน้นให้ความสำคัญกับภาคธุรกิจบริการมากขึ้น มีการทำงานใกล้ชิดกับเอกชน ส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหญ่ และเอสเอ็มอี ออกสู่ตลาดโลกมากขึ้น และหวังให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ ช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้กับผู้ประกอบการขนาดกลาง และขนาดเล็ก รวมถึงส่งเสริมขีดความสามารถทางการแข่งขันและทำงานเป็นเครือข่าย ใช้นวัตกรรมในการดำเนินธุรกิจ

"ตัวเลขการส่งออกทั้งปี 2558 ยังตั้งเป้าไว้ที่ –3% เพราะมองว่าเศรษฐกิจโลกยังคงหดตัว แต่ทั้งนี้ไทยก็ยังมีจุดดีที่สามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดในต่างประเทศได้ ถือว่าไทยก็มีความสามารถในการแข่งขันอยู่ จึงไม่มีการปรับลดเป้าหมายการส่งออก และในเดือน พ.ย. นี้ จะมีการประชุมทูตพาณิชย์ ซึ่งจะมีการทบทวน และประเมินแผนงานที่ได้มอบหมายอีกครั้ง โดยเบื้องต้นมองว่าการส่งออกปี 2559 น่าจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้"

นอกจากนี้ ทางกระทรวงพาณิชย์ จะมีการเชิญผู้ประกอบการ 12 กลุ่มสินค้า สำคัญ มาประชุมหารือ เพื่อผลักดันการส่งออก แก้ปัญหา อุปสรรคทางการค้าร่วมกัน ก่อนที่จะนำเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศ หรือ พกค. ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งคาดว่าการประชุมของ พกค. น่าจะเริ่มประชุมนัดแรกในช่วงต้นเดือน พ.ย. 2558 เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ส่งออกเป็นรายกลุ่มคลัสเตอร์ในอนาคตต่อไป

จาก http://www.naewna.com วันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2558

กรมโรงงานฯ เผย 4 จังหวัดปั้นต้นแบบเมืองอุตฯ เชิงนิเวศเทียบญี่ปุ่น

ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม

กรมโรงงานอุตสาหกรรมเผยกุญแจสำคัญสู่การผลักดันเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ไทยเทียบชั้นญี่ปุ่น กำหนดความเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Town) ไว้ 5 ระดับ เทียบเท่าระดับสากล ล่าสุดผลการเตรียมความพร้อมอุตสาหกรรมไทย 4 จังหวัด หวังผลักดันโรงงานอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมโครงการฯ เป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในระดับต่างๆ รวม 155 โรงงาน สู่การเป็นเมืองสังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน

               นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) มุ่งหวังที่จะยกระดับอุตสาหกรรมไทยสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศให้ทัดเทียมกับต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จ เช่น ประเทศญี่ปุ่น เป็นผู้นำสังคมที่ใช้เชื้อเพลิงคาร์บอนต่ำ ที่ใช้เทคโนโลยีเชื้อเพลิงและพลังงานใหม่ๆ มาทดแทนคาร์บอน แต่ยังคงมีการเติบโตทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งถือได้ว่าเป็นแบบอย่างที่ดีของการพัฒนา Eco town ประเทศหนึ่งในโลก ขณะเดียวกัน ประเทศเดนมาร์กก็มีการจัดการสิ่งแวดล้อมในระดับแนวหน้าของโลกในด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศและเป็นต้นแบบของอุตสาหกรรมพึ่งพาซึ่งกันและกัน (Industrial Symbiosis)

                สำหรับการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในประเทศไทยที่กำลังได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง โดยมีบทเรียนจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง กระทรวงอุตสาหกรรมจึงผลักดันและให้ความสำคัญต่อการประกอบกิจการที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมน้อยที่สุดหรือไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเลย ซึ่งกุญแจสำคัญในการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

               “ประเทศไทยจะก้าวสู่ความเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอย่างสมบูรณ์และสามารถยกระดับให้ทัดเทียมระดับสากลได้ หัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนคือ ความร่วมมือกันของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน เนื่องจากเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเป็นการพัฒนา และบริหารโดยเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน พร้อมทั้งประสาน สนับสนุนการพัฒนาชุมชนที่อยู่โดยรอบพื้นที่อุตสาหกรรมให้เข้มแข็ง เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนของภาคอุตสาหกรรมและชุมชน ครอบคลุมทุกพื้นที่ใน 5 มิติ ได้แก่ ด้านกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการบริหารจัดการ” ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าว

               ด้าน ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้รับมอบหมายจากกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) ให้เป็นหน่วยงานหลักในการประสานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประเทศในเรื่องการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศผ่านการดำเนินโครงการต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรม ตั้งแต่ปี 2555 โดยโครงการหนึ่งที่สำคัญในปี 2558 นี้คือโครงการ “เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ” (Eco Town Center) ได้พัฒนาพื้นที่ประกอบการอุตสาหกรรม 4 แห่ง 4 จังหวัด ได้แก่ สวนอุตสาหกรรมบางกะดี จังหวัดปทุมธานี สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ศรีราชา จังหวัดชลบุรี เขตประกอบการอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และเขตประกอบการอุตสาหกรรมเหมราชสระบุรี จังหวัดสระบุรี

               ทั้งนี้ ได้มุ่งเน้นให้องค์ความรู้แก่ผู้ประกอบกิจการในเขตอุตสาหกรรมเป้าหมายว่าด้วยการบริหารจัดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดการปลดปล่อยของเสียให้เหลือน้อยที่สุด ปรับโครงสร้างการผลิตของประเทศ การปรับพฤติกรรมการบริโภค ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น การฝึกอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับแนวคิดและแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ การจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างสมาชิกเครือข่ายอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Network) การศึกษาดูงานโรงงานที่ได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวระดับที่ 4 และระดับที่ 5 การฝึกอบรมเตรียมความพร้อมสู่ CSR-DIW (Corporate Social Responsibility) พร้อมทั้งได้คัดเลือกโรงงานอุตสาหกรรมที่เหมาะสม 3 โรงงาน ให้เข้าร่วมกิจกรรมการเพิ่มมูลค่าและประโยชน์ของกากอุตสาหกรรม      

        อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมการพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรมสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในระดับต่างๆ รวม 155 โรงงาน คิดเป็น 52.7% จากโรงงานที่อยู่ในกลุ่มเป้าหมาย 4 จังหวัดทั้งหมด 294 โรง นอกจากนี้ กรอ.ได้เตรียมการในการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการกากอุตสาหกรรมประจำเขตประกอบการอุตสาหกรรมหรือสวนอุตสาหกรรม โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่การให้ความรู้ สำรวจข้อมูลการจัดการกากอุตสาหกรรม คัดเลือกโรงงานเป้าหมายที่สามารถแลกเปลี่ยนกากอุตสาหกรรมซึ่งกันและกัน รวมถึงการวิเคราะห์การไหลของสารโดยใช้ Material Flow Analysis (MFA) ซึ่งผลจากการดำเนินการดังกล่าวจะถูกนำไปพิจารณาร่วมกับการวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็ง โอกาส และภัยคุกคาม เพื่อนำไปกำหนดยุทธศาสตร์ กลยุทธ์ สำหรับการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมในพื้นที่นั้นๆ

จาก http://manager.co.th  วันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2558

ออมสินควงแบงก์รัฐถกแผนช่วยเกษตรกรกับรมว.คลัง

"ธนาคารออมสิน" จับมือ "ธ.ก.ส. - SME Bank" ร่วมหารือมาตรการช่วยเกษตรกร 26 จังหวัดกับ รมว.คลัง วันศุกร์นี้

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ในวันศุกร์ที่ 2 ตุลาคม 2558 จะหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ถึงแนวทางในการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ของธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ เอสเอ็มอีแบงก์ ที่จะช่วยเหลือเกษตรกร 26 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งโดยเร็วที่สุด

ส่วนการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ค้าสลากทางออมสินจะต้องหารือกันกับทางสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลก่อน ถึงแนวทางในการปล่อยสินเชื่อและกฎระเบียบต่างๆ เพื่อให้การปล่อยสินเชื่อมีประสิทธิภาพมากที่สุด ก่อนที่จะเสนอให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณา อย่างไรก็ตามออมสินมีโครงการธนาคารประชาชน สำหรับลูกค้าที่ต้องการขอสินเชื่อไม่เกิน 2 แสนบาทอยู่แล้ว หากผู้ค้าสลากขอกู้ไม่เกินวงเงินดังกล่าว ก็สามารถพิจารณาเข้าโครงการธนาคารประชาชนได้ แต่อย่างไรก็ตามทุกอย่างต้องมีการพิจารณาอย่างเหมาะสมร่วมกันอีกครั้ง

นอกจากนี้นายชาติชาย ยังระบุถึงความคืบหน้าการปล่อยสินเชื่อกองทุนหมู่บ้าน ว่าปัจจุบันมีการอนุมัติการปล่อยสินเชื่อไปแล้ว 16,450 กองทุน คิดเป็นวงเงิน 16,450 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้ลูกค้าได้รับเงินสินเชื่อแล้ว 8 พันล้านบาท มีประชาชนได้รับประโยชน์รวมทั้งสิ้น 3 แสนราย โดยภายในตุลาคมนี้จะปล่อยสินเชื่อกองทุนหมู่บ้านได้ครบ 3 หมื่นล้านบาท

ส่วนกรณีที่รัฐบาลดำเนินการจัดทำสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือ ซอฟท์โลน ให้กับธนาคารพาณิชย์และธนาคารของรัฐ เพื่อปล่อยกู้ต่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีวงเงิน 1 แสนล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 4% ว่า ผ่านมา 2 วัน มีธนาคารพาณิชย์ยื่นขอสินเชื่อมาแล้ว 2,500 ล้านบาท โดยรายแรกเป็นธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งธนาคารออมสินจะใช้เวลาในการพิจารณา 2-3 สัปดาห์ก่อนปล่อยสินเชื่อดังกล่าวให้กับเอสเอ็มอีต่อไป โดยยอดการยื่นขอสินเชื่อนั้น ทางออมสินจะแจ้งยอดให้กับธนาคารทุกแห่งได้รับทราบ เพื่อให้ธนาคารเร่งขอสินเชื่อให้ทันในวงเงิน 1 แสนล้านบาทตามกำหนด ขณะที่ลูกค้าออมสินที่ขอยื่นกู้เข้ามาขณะนี้ 5 โครงการ วงเงิน 8,000 ล้านบาทนั้น ออมสินจะเร่งพิจารณาให้เข้าโครงการสินเชื่อซอฟท์โลนด้วย ซึ่งเชื่อว่าออมสินจะปล่อยสินเชื่อดังกล่าวได้ครบภายในสิ้นปีนี้

 อย่างไรก็ตามยืนยัน แม้ว่าจะมีการเร่งการปล่อยสินเชื่อ แต่ออมสินจะมีความรอบคอบในการพิจารณาสินเชื่อให้เป็นไปตามกฎระเบียบที่วางไว้ ที่เอสเอ็มอีจะกู้ได้รายละไม่เกิน 50 ล้านบาท หรือตามความสามารถในการผ่อนชำระ และต้องไม่ใช่การขอสินเชื่อเพื่อการรีไฟแนนซ์ โดยออมสินจะพิจารณาสินเชื่อให้กับผู้ที่เข้ามาขอสินเชื่อก่อน หากครบวงเงิน 1 แสนล้านบาท จะให้สินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยปกติต่อไป

 จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2558

อาเซียนดัน7ยุทธศาสตร์เกษตร l มุ่งเพิ่มศักยภาพแข่งขัน-เชื่อมโยงศก.โลก

นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สศก.ได้ร่วมในคณะผู้แทนไทยเดินทางไปประชุมระดับรัฐมนตรีเกษตรและป่าไม้อาเซียน ครั้งที่ 37 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 7-11 กันยายนที่เมืองมากาติ ประเทศฟิลิปปินส์ เพื่อติดตามความคืบหน้าและหารือเกี่ยวกับกรอบความร่วมมือด้านอาหาร การเกษตร และการป่าไม้ ทั้งในระดับภูมิภาคอาเซียนและระหว่างประเทศ

ในการนี้ ที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านเกษตรและป่าไม้ (AMAF) ได้มีมติให้ความเห็นชอบต่อวิสัยทัศน์และแผนกลยุทธ์ความร่วมมือด้านอาหาร เกษตรและป่าไม้ของอาเซียนสำหรับ พ.ศ.2559-2568 ซึ่งกำหนดวิสัยทัศน์ (Vision) “ให้ภาคอาหาร การเกษตร และป่าไม้ของอาเซียน มีความสามารถในการแข่งขัน เกิดประโยชน์ในภาพรวมให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนและเชื่อมโยงเข้ากับเศรษฐกิจโลก บนพื้นฐานการเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว อันจะส่งผลให้เกิดความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการ และความมั่งคั่งให้กับประชาคมอาเซียน” ประกอบด้วย 7 ยุทธศาสตร์ ได้แก่

1.เพิ่มปริมาณและคุณภาพของการผลิตอย่างยั่งยืน โดยใช้เทคโนโลยีสีเขียว ระบบการจัดการทรัพยากร และลดการสูญเสีย

 และของเสียก่อนและหลังการเก็บเกี่ยว 2.เพิ่มการอำนวยความสะดวกทางการค้าการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ และการเข้าถึงตลาด 3.สร้างความเชื่อมั่นเรื่องความมั่นคงและความปลอดภัยอาหาร รวมถึงโภชนาการที่ดีอย่างเท่าเทียม 4.การรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภัยธรรมชาติ และภัยพิบัติอื่นๆ 5.ให้ความช่วยเหลือด้านทรัพยากรการผลิตแก่ผู้ผลิตรายย่อยและ SMEs ในการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต เทคโนโลยี และคุณภาพผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ตรงตามมาตรฐานตลาดโลกและเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน 6.สร้างความเข้มแข็งในการทำงานร่วมกันของ ASEAN ทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาคในประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อภาคอาหาร เกษตร และป่าไม้ และ 7) ส่งเสริมด้านการบริหารจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน โดยมอบหมายให้หน่วยงานย่อยภายใต้ AMAF จัดทำแผนงานและมาตรการการดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์ดังกล่าว

เลขาธิการ สศก. กล่าวเพิ่มเติมว่า หากเปรียบเทียบวิสัยทัศน์และแผนยุทธศาสตร์ด้านอาหาร เกษตรและป่าไม้ของอาเซียนกับแผนการพัฒนาการเกษตรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้วนั้น จะเห็นว่ามีความสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน ดังนั้น

 จึงมั่นใจได้ว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะสามารถผลักดันการดำเนินงาน และยกระดับการพัฒนาการผลิตการเกษตรของไทย ให้สอดคล้องและเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวของอาเซียนได้

จาก http://www.naewna.com วันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2558

อุตฯคุมเข้มกากขยะ

กรอ.เผย 8 เดือน คุมกากเข้าระบบบำบัด 54% หวังทั้งปีบรรลุเป้า 1.2 ล้านตัน เล็งหารือ กนอ.สรุปพื้นที่ตั้งนิคมฯ กาก และเตาเผาขยะภายใน 1-2 เดือน

นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ. ) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าในการติดตามนำกากอันตรายเข้าสู่ระบบบำบัดในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา สามารถติดตามนำกากอุตสาหกรรมเข้าสู่ระบบได้แล้ว 6.52 แสนตัน หรือคิดเป็น 54.4% ของเป้าหมาย ที่จำนวน 1.2 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนเล็กน้อย เนื่องจากผู้ประกอบการบางรายแจ้งกากอันตรายแล้วแต่ขอเก็บไว้ในโรงงานก่อน ซึ่งจะส่งเข้าระบบช่วงก่อนสิ้นปี ดังนั้น กรอ.ได้แจ้งให้เร่งรัดนำกากเข้าระบบให้ทันกำหนดทำให้คาดการณ์ว่าทั้งปีจะสามารถนำกากเข้าระบบได้ตามเป้าหมาย

ทั้งนี้ กรอ.ได้จัดทำแผนการศึกษาพื้นที่ตั้งนิคมกากอุตสาหกรรมเรียบร้อยแล้ว และเตรียมนำผลการศึกษาหารือกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ซึ่งคาดว่าจะได้พื้นที่เหมาะสมภายใน 1-2 เดือนนี้ โดยพื้นที่ที่มีศักยภาพ เช่น นครราชสีมา ลำพูน ระยอง ปราจีนบุรี ปทุมธานี อยุธยา และอ่างทอง เป็นต้น ส่วนความคืบหน้าในการสร้างพื้นที่รองรับเตาเผาขยะขององค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (เนโดะ) ทำการศึกษาความคุ้มค่าและเหมาะสมเรียบร้อยแล้วใน 2 พื้นที่ คือนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและนิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร โดยจะเตรียมเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมภายในเดือน ก.ย.นี้

“สำหรับเรื่องเตาเผา กรอ.มองว่าควรมีการปรับกระบวนการรับขยะ จากเดิมที่คาดว่าจะรองรับขยะอุตสาหกรรม 30% ขยะชุมชน 70% โดยจะเปลี่ยนเป็นรองรับขยะชุมชน 30% และรองรับขยะอุตสาหกรรม 70% จากการทำการศึกษาร่วมกับญี่ปุ่นมองว่าจะคุ้มค่ากว่าถ้าทำแบบนี้และยิ่งเราตั้งในนิคมฯ ด้วยแล้ว ส่วนการลงทุนนั้นอยากให้เกิดในปีหน้าทันที แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมของผู้ประกอบการที่จะเข้ามาร่วมกับเราด้วย” นายพสุ กล่าว

นายพสุ กล่าวว่า นอกจากนี้ กรอ.มีแนวทางการผลักดันเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศของไทยให้เทียบชั้นญี่ปุ่น โดยได้กำหนดความเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศไว้ 5 ระดับ เทียบเท่าระดับสากล ได้แก่ การปฏิบัติตามกฎหมาย การรักษามาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ การยกระดับเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของชุมชน และการก้าวเข้าสู่เมืองสังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งในปีนี้ดำเนินการในพื้นที่อุตสาหกรรม 4 แห่ง ใน 4 จังหวัด คือ สวนอุตสาหกรรมบางกะดี จังหวัดปทุมธานีสวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ศรีราชา จังหวัดชลบุรี เขตประกอบการอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และเขตประกอบการอุตสาหกรรมเหมราช จังหวัดสระบุรี โดยมีผู้ประกอบการเข้าร่วมทั้งสิ้น 155 โรงงาน จากโรงงานทั้งหมด 294 โรงงาน

 “เราตั้งเป้าหมายจะดำเนินโครงการใน 11 จังหวัด ส่วนที่เหลือจะทยอยทำในปีต่อไป โดยคาดว่าจะเห็นผลในเชิงรูปธรรม เช่น การยกระดับเศรษฐกิจ การลดมลพิษ ได้อย่างชัดเจนในปี 2560” นายพสุ กล่าว

นอกจากนี้ กรอ. ยังเตรียมจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการกากอุตสาหกรรมประจำเขตประกอบการอุตสาหกรรมหรือสวนอุตสาหกรรม โดยให้ความรู้ การสำรวจข้อมูล การจัดการกากอุตสาหกรรม การคัดเลือกโรงงานเป้าหมายซึ่งมีกากอุตสาหกรรมที่สามารถนำมาเพิ่มมูลค่าและใช้ประโยชน์ต่อได้รวมถึงศึกษาแนวทางเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนกากอุตสาหกรรมซึ่งกันและกัน

จาก  http://www.posttoday.com  วันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2558

ค่าเงินบาท/ดอลลาร์เช้านี้ อ่อนค่าสุดในรอบกว่า 8 ปี

รายงานจากสำนักข่าวรอยเตอร์ เช้าวันนี้ (29 ก.ย. 2558)เวลา 09.07 น. ค่าเงินบาท/ดอลลาร์ อยู่ที่ 36.47 ซึ่งเป็นระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 8 ปี นับจากเดือนธ.ค.49 หลังมีแรงขายสกุลเงินและสินทรัพย์เสี่ยง จากความกังวลทิศทางเศรษฐกิจโลก

       โดยดีลเลอร์ คาดว่าเงินบาทวันนี้จะพยายามทดสอบแนวรับที่ 36.50 ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 36.40

 "บาทอ่อนค่าค่อนข้างเยอะ จากความกังวลเรื่องของตลาดทุน และแรงขายสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก" ดีลเลอร์ กล่าวและบอกด้วยว่า

        ค่าเงินบาทเช้านี้อ่อนค่าค่อนข้างมาก มาใกล้แนวรับ 36.50  โดยเป็นผลจากแรงขายสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก ทำให้นักลงทุนทุกกลุ่มขายเงินบาทและกลับเข้าถือครองดอลลาร์ 

         ขณะที่เงินเยนแข็งค่าขึ้นในช่วงเช้าวันนี้ที่ตลาดเอเชีย โดยได้แรงหนุนจากกระแสลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย ที่เกิดขึ้นจากการดิ่งลงของหุ้นทั่วโลก ซึ่งส่งผลกระทบอย่างหนัก ต่อสกุลเงินของประเทศผู้ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ 

         ด้านตลาดหุ้นสหรัฐปิดร่วงลงอย่างหนักในวันจันทร์ และมีแนวโน้มปรับตัวลงในไตรมาสนี้มากที่สุดในรอบ 4 ปี ขณะที่นักลงทุนวิตกเกี่ยวกับเศรษฐกิจจีน  และผลกระทบต่อกำหนดเวลา ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ 

สำหรับอัตราค่าเงินบาทเทียบกับเงินสกุลต่าง ๆ เช้าวันนนี้มีดังนี้

บาท/ดอลลาร์อยู่ที่ 36.47/49     จาก 36.28/30  เมื่อวาน

บาท/ยูโร อยู่ที่     41.003/104   จาก 40.559/603 เมื่อวาน

เยน/ดอลลาร์ อยู่ที่ 119.67/70    จาก 119.67   เมื่อวาน

ยูโร/ดอลลาร์ อยู่ที่ 1.1255/59    จาก 1.1254 เมื่อวาน

จาก  http://www.matichon.co.th   วันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2558

วิบากกรรมภาคเกษตรปี58/59 น้ำต้นทุน33เขื่อนยังวิกฤติ

           ดลมนัส กาเจ

          แม้ช่วงนี้จะมีปริมาณฝนตกอย่างต่อเนื่องส่งผลให้หลายพื้นที่ประสบน้ำท่วม แต่เป็นเพียงน้ำไหลหลากที่ฉับพลันเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงปริมาณฝนที่ตกในปีนี้ยังถือว่าอยู่ในปริมาณที่น้อย จะเห็นได้จากข้อมูลจากกรมชลประทานระบุว่า ปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดกลางและขนาดใหญ่ทั่วประเทศ 33 แห่ง ในปัจจุบันมีปริมาณน้ำที่กักเก็บไว้เป็นน้ำต้นทุนได้เพียง 37,382 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) จากความจุของเขื่อนต่างๆ ทั้งหมด 70,370 ล้านลบ.ม. หรือ  53% ในจำนวนนี้ น้ำที่ใช้ได้จริงเพียง 13,879 ล้านลบ.ม. หรือ 20% เท่านั้น

          ที่น่าเป็นห่วงโดยเฉพาะ 4 เขื่อนใหญ่ที่หล่อเลี้ยงเกษตรกรในเขตชลประทานสองฟากฝั่งลุ่มเจ้าพระยาได้แก่ เขื่อนภูมิพลที่ จ.ตาก มีปริมาณน้ำต้นทุนเพียง 4,607 ล้านลบ.ม. จากความจุทั้งสิ้น 13,462 ล้าน ลบ.ม.หรือ 34% สามารถใช้ได้จริง 807 ล้านลบ.ม. หรือ 6% ส่วนเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีน้ำต้นทุน 4,262 ล้านลบ.ม.จากความจุ 9,510 ล้าน ลบ.ม. หรือ 45% สามารถใช้ได้จริง  1,412 ล้านลบ.ม. หรือ 15% เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก มีปริมาณน้ำ 280 ล้านลบ.ม. หรือ 30% สามารถใช้ได้จริง 237 ล้านลบ.ม. หรือ 25% ขณะที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มีปริมาณน้ำ 188 ล้านลบ.ม.จากความจุ 960 ล้านลบ.ม. หรือ 20% สามารถใช้ได้จริง 185 ล้าน ลบ.ม. หรือ 19%

          หวั่นเกิดปัญหาแย่งน้ำ

          สอดคล้องกับข้อมูลของ นายวราวุธ ขันติยานันท์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ที่ระบุว่า จากการที่กรมฝนหลวงฯได้นำเครื่องบินฝนหลวงขึ้นบินสำรวจสถานการณ์น้ำต้นทุนใน 4 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนภูมิพล พบว่าทั้ง 4 เขื่อนมีปริมาณน้ำกักเก็บอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แม้จะมีน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำทุกวันแต่ก็ถือว่ายังไม่มากนัก โดยเขื่อนขนาดเล็ก เช่น เขื่อนป่าสักฯ และเขื่อนแควน้อยฯมีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำอยู่ที่วันละ 5-10 ล้านลบ.ม. ส่วนเขื่อนขนาดใหญ่อย่างเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ มีน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำวันละประมาณ 20-40 ล้านลบ.ม.

          จากการประเมินว่าหลังสิ้นสุดฤดูฝนปีนี้คาดว่าปริมาณน้ำกักเก็บในเขื่อนโดยรวมทั้งประเทศจะต่ำกว่าทุกปีที่ผ่านมาจึงค่อนข้างน่าเป็นห่วงเพราะเป็นปัญหาใหญ่ ดังนั้นเกษตรกรจำเป็นต้องงดทำนาปรังพร้อมชะลอการปลูกพืชใช้น้ำมากหรือจำกัดพื้นที่ปลูกพืชหลังนา เนื่องจากน้ำต้นทุนมีปริมาณจำกัดซึ่งอาจเกิดปัญหาแย่งชิงน้ำได้ สำหรับน้ำที่เหลืออยู่ควรสงวนไว้เพื่อการอุปโภคบริโภค รวมถึงการรักษาสภาพแวดล้อมต่างๆ หากจะนำมาใช้เพื่อการเกษตรน่าจะไม่เพียงพอ

          ปฏิบัติการฝนหลวงโค้งสุดท้าย

          "โค้งสุดท้ายก่อนสิ้นฤดูฝนในอีก 3-4 สัปดาห์ข้างหน้านี้ยังมีร่องความกดอากาศที่พาดผ่านประเทศไทย ซึ่งทำให้เกิดความชื้นสัมพัทธ์เพียงพอและสามารถที่จะทำฝนหลวงได้ กรมฝนหลวงฯ จึงมอบหมายให้หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 9 หน่วย เร่งระดมทำฝนหลวงอย่างเต็มที่ โดยให้เตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่และเพิ่มจำนวนเที่ยวบินขึ้นบินทำฝนหลวงทันทีเมื่อสภาพอากาศมีความเหมาะสม มุ่งเติมน้ำในเขื่อนตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศให้ได้มากที่สุดในช่วงปลายฤดูฝน" นายวราวุธ กล่าว

          กระนั้นหลังเดือนตุลาคมเป็นต้นไปแม้สภาพอากาศจะไม่เหมาะสมต่อการทำฝนหลวง กรมฝนหลวงฯ ก็มีการจัดเตรียม "หน่วยเคลื่อนที่เร็ว" อยู่ที่ จ.นครสวรรค์ 3 หน่วย และมีศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงทุกภูมิภาคคอยตรวจเช็กและติดตามสภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในช่วงเดือนพฤศจิกายนกุมภาพันธ์ ยังมีโอกาสที่จะเกิดฝนได้ครั้งละ 2-3 วัน หากตรวจพบว่าสภาพอากาศมีความเหมาะสมหน่วยเคลื่อนที่เร็วจะขึ้นบินฉกฉวยสภาพอากาศเพื่อเติมน้ำให้เขื่อนต่างๆ และทำฝนหลวงเพื่อหล่อเลี้ยงพื้นที่การเกษตรที่ต้องการใช้น้ำ

          2 ลุ่มน้ำใช้ได้แค่ 8,442 ล้านลบ.ม.

          ด้าน พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรียกประชุมทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องร่วมทำแผนรับมือภัยแล้งที่อาจจะเกิดขึ้น ขณะที่กรมฝนหลวงและการบินเกษตรก็ยังออกไปปฏิบัติการเติมน้ำเขื่อนต่างๆ จนถึงโค้งสุดท้ายแล้ว

          อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ พล.อ.ฉัตรชัย เรียกคณะกรรมการอำนวยการบูรณาการแก้ไขปัญหาวิกฤติภัยแล้งปี 2558/59 เข้าประชุมด่วน เพื่อแจ้งที่ประชุมให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบถึงสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน โดยกรมชลประทานประเมินสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้จากปริมาณน้ำต้นทุนที่เก็บกักใน 33 เขื่อนหลัก และปริมาณฝนที่ตกลงมาน้อยกว่าค่าเฉลี่ย ทำให้หลายพื้นที่จะต้องประสบปัญหาภัยแล้งทั้งในและนอกเขตชลประทานที่จะต้องมีการบริหารจัดการน้ำอย่างเคร่งครัดและสร้างความรู้ความเข้าใจแก่เกษตรกรและประชาชนเป็นรายพื้นที่ โดยกรมชลประทานจัดทำรายละเอียดพื้นที่ที่จะประสบปัญหาภัยแล้งให้ทุกหน่วยงานได้รับทราบแล้ว โดยเฉพาะในพื้นที่ 2 ลุ่มน้ำที่สำคัญ คือ ลุ่มเจ้าพระยา และลุ่มน้ำแม่กลอง

          สำหรับลุ่มเจ้าพระยาคาดการณ์ว่า ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน จะมีปริมาณน้ำใช้การได้ 3,677 ล้านลบ.ม. จะเพียงพอจัดสรรเพื่อระบบนิเวศและน้ำอุปโภคบริโภคเท่านั้น ไม่สามารถสนับสนุนน้ำเพื่อการเกษตรช่วงฤดูแล้งนี้ได้ ขณะที่ลุ่มน้ำแม่กลอง คาดการณ์ ณ วันที่ 1 มกราคม 2559 จะมีปริมาณน้ำใช้การได้ 4,765 ล้านลบ.ม. จะใช้เพื่อการรักษาระบบนิเวศและเพื่อการอุปโภคบริโภคจนถึงสิ้นฤดูแล้ง ไม่สามารถสนับสนุนน้ำเพื่อทำการเกษตรได้เช่นกัน

          ประคองให้อยู่ได้ถึงหน้าฝนปี 59

          ส่วนพื้นที่นอกเขตชลประทานและนอกเขตชลประทานสองลุ่มน้ำ กรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับด้านน้ำจะมีการหารือเพื่อทบทวนแผนบริหารจัดการปริมาณน้ำที่มีอยู่ในเขื่อนและน้ำท่าทั่วไปเพื่อนำมาบริหารจัดการให้เพียงพอในช่วงฤดูแล้งนี้

          "ปัจจุบันค่อนข้างชัดเจนแล้วว่าจะมีปัญหาน้ำขาดแคลนในลุ่มเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลอง มีน้ำในเขื่อนไม่เพียงพอทำการเกษตรและต้องบริหารจัดการเพื่อการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศไปถึงอย่างน้อยสิ้นเดือนเมษายน 2559 จนกว่าจะเข้าสู่ฤดูฝนปกติ" พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว

          หากประเมินสถานการณ์ในปัจจุบันแน่นอนที่สุดภาคการเกษตรในฤดูกาลผลิตปี 2558/2559 พื้นที่การเกษตรโดยเฉพาะในเขตชลประทาน 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยาต้องประสบกับภาวะแห้งแล้งอย่างแน่นอน

          บรรยายใต้ภาพ

          วราวุธ ขันติยานันท์ สอบถามเกษตรกรถึงปัญหาแล้ง

จาก http://www.komchadluek.net วันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2558

กระทรวงอุตสาหกรรม เดินหน้าขับเคลื่อนแผนแม่บทพัฒนาอุตสาหกรรมไทย พร้อมเร่งเสริมศักยภาพ 5 อุตสาหกรรมทำเงิน เทียบชั้นผู้นำตลาดโลก

          "น้ำตาลมิตรผล" คว้ารางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยม ประจำปี 2558 รางวัลเกียรติยศสูงสุด ของวงการอุตสาหกรรมไทย มุ่งมั่นเป็นบริษัทชั้นนำระดับโลกในอุตสาหกรรมน้ำตาล

          กระทรวงอุตสาหกรรม เดินหน้าขับเคลื่อนแผนแม่บทพัฒนาอุตสาหกรรมไทย ตามแนวทางการดำเนินงาน 3 ระยะ เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมไทยสู่ความมั่นคงและยั่งยืน พร้อมเร่งวางมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนศักยภาพ 5 กลุ่มอุตสาหกรรมทำเงิน ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม 2.อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน 3.อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม 4.อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง และ 5.อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ขึ้นแท่นเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมโลก

          นายประสงค์ นิลบรรจง รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบการจัดงานรางวัลอุตสาหกรรมประจำปี 2558 เปิดเผยว่า จากภาพรวมแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลกในบริบทใหม่ ส่งผลให้การพัฒนาอุตสาหกรรมไทยในภาพรวม จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์ในการกำหนดทิศทางการพัฒนา เตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อมเพื่อยกระดับศักยภาพของอุตสาหกรรมไทยให้มีความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศได้ในอนาคตทั้งนี้ หากเจาะลึกจะพบว่ารายได้ส่วนใหญ่ของภาคอุตสาหกรรมเกิดจากการผลิตเพื่อส่งออก โดยสินค้าที่เป็นสินค้าหลักจะกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มสินค้าที่ต้องใช้เทคโนโลยีระดับกลางและระดับสูงในการผลิต รวมทั้งยังต้องพึ่งพาการนำเข้าชิ้นส่วนเครื่องจักร เทคโนโลยี และเงินทุนจากต่างประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่า ร้อยละ 95 ของจำนวนผู้ประกอบการทั่วทั้งประเทศ ต้องเผชิญกับความท้าทายและอุปสรรคต่างๆดังนั้น เพื่อช่วยเหลือและส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้เติบโตอย่างมั่นคง กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้เดินหน้าขับเคลื่อนแผนแม่บทพัฒนาอุตสาหกรรมไทยอย่างต่อเนื่อง โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะดำเนินการดังนี้

          ในระยะที่ 1 เน้นการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมไทยเข้าเป็นส่วนหนึ่งของฐานการผลิตและบริการในภูมิภาคอาเซียน โดยมีการพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมที่สำคัญในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง และเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของโลก จากนั้นในระยะที่ 2 จากเป้าหมายการพัฒนาและส่งเสริมให้ประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการผลิตและบริการในกลุ่มอาเซียน ซึ่งเป็นการยกระดับภาคอุตสาหกรรมของไทยระยะแรกในช่วง 5 ปีจะมีการพัฒนาต่อยอดโดยเน้นการเป็นฐานการผลิตและบริการในระดับภูมิภาค ซึ่งมีตราสินค้าที่มีเครือข่ายการจัดการกระจายสินค้าในภูมิภาคอย่างทั่วถึง โดยมีการสร้างฐานงานวิจัยและพัฒนาสินค้าในอาเซียน ซึ่งมีการสร้างและกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์หลักของประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับของสากล และในระยะที่ 3พัฒนาสู่การเป็นผู้บริหารจัดการตราสินค้า โดยมีการสร้างเครือข่ายการผลิตและบริการร่วมกับภูมิภาคต่างๆของโลก ซึ่งจะส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการของประเทศไทยให้เริ่มก้าวสู่การเป็นบริษัทชั้นนำของโลกผ่านการสร้างตราสินค้าของไทยให้เป็นที่รู้จัก และมีเครือข่ายการจัดจำหน่ายสินค้ากระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค เพื่อกระจายไปสู่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก

          นางประสงค์ กล่าวต่อว่า จากการดำเนินงานขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทย ตามแผนแม่บทของกระทรวงอุตสาหกรรมดังกล่าวกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจึงได้กำหนดกลยุทธ์ผลักดันการพัฒนา 5 กลุ่มอุตสาหกรรมทำเงินให้มีศักยภาพเทียบเท่าผู้นำในตลาดโลก ได้แก่

          1.อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มมีมูลค่าส่งออกในปี 2557มากกว่า 1 ล้านล้านบาท โดยประเทศไทยมีศักยภาพและความพร้อมทั้งในด้านของวัตถุดิบและบุคลากรค่อนข้างมาก แนวทางการพัฒนาจึงต้องมุ่งสู่การเป็นฐานการผลิตในอาเซียนและขยายช่องทางการตลาดให้เข้าถึงประเทศต่างๆเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งการสร้างและประชาสัมพันธ์ตราสินค้าไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ควบคู่กับการสร้างมาตรฐานการผลิตและเน้นการสร้างฐานการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารต่อไปในอนาคต เพื่อให้เกิดการยกระดับของอุตสาหกรรมอาหารไทยอย่างต่อเนื่อง

          2.อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนมีมูลค่าส่งออกรถยนต์เครื่องยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์ และอะไหล่ ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2558 มียอดส่งออกถึง 1.26 ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 1.36% โดยไทยมีบทบาทในการเป็นผู้ผลิตตามเจ้าของตราสินค้าที่เป็นบริษัทข้ามชาติเข้ามาลงทุน จึงต้องสร้างแรงงานและโครงสร้างสนับสนุนให้มีความพร้อม เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง และขยายไปสู่การส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ และผลักดันให้เกิดการใช้วัตถุดิบจากภายในประเทศมากกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศ

          3.อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มสร้างมูลค่าได้มากกว่า 2 ล้านล้านบาทต่อปี โดยในปัจจุบันไทยเป็นผู้รับจ้างผลิตตามคำสั่งซื้อ ดังนั้น แนวทางการพัฒนาจึงต้องยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการเพิ่มมากขึ้นและสร้างความร่วมมือในการขยายเครือข่ายการผลิตไปยังผู้ประกอบการในภูมิภาค เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการผลิต จากนั้นต้องส่งเสริมการยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการไทยสู่การออกแบบและการดำเนินการทางตลาดเพื่อสร้างตราสินค้าไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ

          4.อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง มีมูลค่าส่งออกมากกว่า 3.7 แสนล้านบาท ในปี 2557 โดยปัจจุบันประเทศไทยมีการส่งออกยางเป็นอันดับ 1 ของโลก แต่เป็นการส่งออกในรูปของน้ำยางซึ่งมีมูลค่าเพิ่มในตัวสินค้าค่อนข้างน้อย จึงจำเป็นต้องอาศัยการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยางแปรรูป เพื่อนำไปสู่การสร้างตราสินค้าของไทย ซึ่งจะเป็นการเพิ่มบทบาทและความสำคัญในอุตสาหกรรมยางในระดับโลกมากขึ้น ทำให้มีอำนาจในการต่อรองและกำหนดทิศทางราคายาง ตลอดจนการควบคุมกลไกการผลิตยางในอนาคตได้

          5.อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มีมูลค่าส่งออกในปี 2557 กว่า 2 ล้านล้านบาท โดยแนวทางการพัฒนาในระยะสั้นนั้นต้องเริ่มต้นจากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างสนับสนุนให้มีความเหมาะสมต่อการประกอบการธุรกิจ โดยเฉพาะด้านแรงงานและกฎระเบียบและก้าวถัดมานั้นต้องมุ่งเน้นสู่การพัฒนาแหล่งวิจัยเทคโนโลยีการออกแบบสินค้าเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งขยายการตลาดไปในภูมิภาค และมุ่งสู่การสร้างภาพลักษณ์ตราสินค้าไทยให้มีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

          ทั้งนี้ จากการที่กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ดำเนินการคัดเลือกสถานประกอบการทั่วประเทศไทย เพื่อมอบรางวัลอุตสาหกรรมประจำปี 2558 ให้กับสถานประกอบการที่ผ่านเกณฑ์คัดเลือกจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒินั้น ถือเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การผลักดันสถานประกอบการให้พัฒนาได้สอดคล้องตามแผนแม่บทข้างต้น โดยในปีนี้ "บริษัท รวมเกษตรกรอุตสาหกรรม จำกัด สาขามิตรภูเวียง" ในเครือกลุ่มน้ำตาลมิตรผลได้รับรางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยมซึ่งมอบให้กับสถานประกอบการที่มีการบริหารงานโดดเด่นมากที่สุด ขณะที่ "บริษัท ซีเอ็นซี ดีเท็คซ์ จำกัด" ผู้ผลิตแม่พิมพ์ชิ้นส่วนรถยนต์และอุปกรณ์ทำแม่พิมพ์ ซึ่งวางเป้าหมายได้รับการยอมรับจากลูกค้าทุกค่ายรถยนต์ทั่วโลก ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่นประเภทการบริหารอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม โดยทั้งสองสถานประกอบการเหมาะแก่การเป็นแบบอย่างที่ดีต่อสถานประกอบการรายอื่น ในการมุ่งมั่นพัฒนาระบบการดำเนินงานผ่านตามข้อกำหนดของกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งในภาพรวมจะสามารถช่วยยกระดับศักยภาพและขีดความสามารถผู้ประกอบการไทย มุ่งสู่การเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของโลกได้บรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้

          ด้าน นายคนอง ศักดิ์เพ็ชร์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มโรงงาน กลุ่มมิตรผลกล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศชั้นนำระดับโลกที่มีศักยภาพในอุตสาหกรรมน้ำตาลและชีวพลังงานที่สูงมาก ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยอยู่ในอันดับต้นๆของโลก โดยกลุ่มมิตรผลเป็นผู้ผลิตน้ำตาลอันดับ 4 ของโลกและเป็นผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าชีวมวลและเอทานอลอันดับ 1 ในภูมิภาคอาเซียน เนื่องจากสภาพปัจจัยของประเทศไทยที่มีวัตถุดิบ พืชพลังงานที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจอยู่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น อ้อย มันสำปะหลัง หรือ ปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นพืชพลังงานที่สามารถปลูกได้เองบนผืนแผ่นดินและไม่มีวันหมด ทั้งนี้ กลุ่มมิตรผลได้ตระหนักและมุ่งมั่นพัฒนาธุรกิจ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่อุตสาหกรรมต่อเนื่องจากอ้อย โดยการนำนวัตกรรมทางเทคโนโลยีและการจัดการ มาพัฒนาธุรกิจและการดำเนินงานตามหลักมาตรฐานสากล ภายใต้นวัตกรรมการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชุมชนและประเทศชาติอย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการยกระดับขีดความสามารถและการแข่งขันของอุตสาหกรรมน้ำตาลและชีวพลังงานไทยในระดับสากล

          ขณะที่ นายนำชัย สกุลฎ์โชคนำชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเอ็นซี ดีเท็คซ์ จำกัด กล่าวว่า บริษัท ซีเอ็นซี ดีเท็คซ์ จำกัด มีแนวทางในการยกระดับประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ เพื่อมุ่งสู่อุตสาหกรรมชั้นแนวหน้า โดยเริ่มด้วยสิ่งสำคัญอันดับแรกคือเสริมสร้างทัศนคติที่ดีในระดับผู้บริหารและพนักงาน เพราะในการบริหารจัดการที่ดีผู้บริหารและพนักงาน จะต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพร่วมกัน โดยการนำใช้แผนธุรกิจในการบริหารงานตัวเดียวกันจึงจะนำมาสู่ความสำเร็จในการบริหารจัดการ สำหรับรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น ประจำปี 2558 ที่ทางบริษัทได้รับ ถือเป็นแรงบันดาลใจและแรงผลักดันให้ผู้บริหารและพนักงานทุกคน รู้สึกว่าเริ่มเป็นนักบริหารจัดการที่เป็นมืออาชีพ ในการพัฒนาการบริหารจัดการและยกระดับที่ดียิ่งขึ้นต่อไป ทั้งนี้ สำหรับการจะพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ธุรกิจไทยให้มีความเข้มแข็งนั้น สิ่งสำคัญจะต้องไม่แข่งขันกับธุรกิจไทยด้วยกันต้องยกระดับแข่งขันกับชาวต่างชาติ ในเรื่อง ของ คุณภาพ ราคา เรื่องการส่งมอบที่ตรงเวลา สิ่งเหล่านี้จะเป็นแรงดึงดูดให้ชาวต่างชาติ ต้องการสินค้าในเมืองไทยซึ่งเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ สามารถแข่งขันกับชาวต่างชาติได้เป็นอย่างดี

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2558

แก้กฎหมายเพิ่มนิยามสินค้า "นำผ่าน" เอกชนเฮรอมา 11 ปี-นำเข้าส่งออกไปประเทศที่ 3

เอกชนขานรับพาณิชย์ แก้ พ.ร.บ.ส่งออก-นำเข้า หลังร้องเรียนปัญหามากว่า 11 ปีนับจากปี 2547 เพิ่มคำจำกัดความสินค้า "นำผ่าน" คาดบังคับใช้ ธ.ค.นี้ หวังช่วยจัดระเบียบสินค้ารับเปิดเออีซีปี′59 ปิดช่องสินค้าลักลอบตกค้างในประเทศ

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ร่างแก้ไข พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 ได้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2558 คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายใน 90 วันหรือในเดือนธันวาคม 2558

โดยสาระสำคัญในการแก้ไข คือ การเพิ่มนิยามการนำผ่าน ให้หมายถึง นำหรือส่งสินค้าผ่านราชอาณาจักร โดยมีจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดของการขนส่งนอกราชอาณาจักร ไม่ว่าจะมีการพักสินค้า การเปลี่ยนถ่ายยานพาหนะ หรือการเพิ่ม หรือเปลี่ยนภาชนะบรรจุสินค้าในราชอาณาจักร เพื่อประโยชน์ในการขนส่ง แต่ต้องไม่มีการใช้ประโยชน์ในประเทศ เพื่อให้สอดรับกับพิธีสาร 7 ระบบศุลกากรผ่านแดนอาเซียน และสอดคล้องกับความตกลงระหว่างประเทศที่ไทยเป็นสมาชิก เช่น อนุสัญญาและธรรมนูญว่าด้วยเสรีภาพแห่งการผ่านแดน ความตกลง GATT ว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า เป็นต้น

"การแก้กฎหมายครั้งนี้ สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการขนส่งสินค้าผ่านแดน เพื่อส่งออกไปประเทศอื่นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงควรมีกฎหมายกำกับดูแลให้ชัดเจน และรัดกุมมากขึ้น เพื่อเป็นการจัดระเบียบ ป้องกันการใช้วิธีการนำผ่านเป็นช่องทางในการลักลอบส่งออกหรือนำเข้าสินค้า ส่งผลให้เกิดมาตรฐาน และสร้างความโปร่งใส ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการเตรียมความพร้อมการเปิดเขตการค้าเสรี และยังช่วยปกป้องผลประโยชน์ของรัฐ"

หลังจากนี้กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กำหนดรายการสินค้านำผ่าน เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาออกเป็นประกาศ และหากผู้ประกอบการต้องการนำผ่านสินค้าเหล่านั้นมา และออกกฎกระทรวง เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการขอใบอนุญาตนำผ่านจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย

นอกจากนี้กฎหมายกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นผู้กำหนดท่าหรือที่แห่งใดที่จะใช้นำผ่าน นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มอำนาจให้กับพนักงานและกำหนดบทลงโทษสำหรับผู้นำผ่านสินค้าโดยฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้

แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ระบุว่าเบื้องต้นสินค้าที่จะอยู่ในกำกับดูแลของ พ.ร.บ.นี้ยังคงยึดรายการเดียวกัน สินค้าตาม พ.ร.บ.นำเข้าส่งออกฯ เดิม ซึ่งมีประมาณ 100-200 รายการ อาทิ สินค้าเกษตรตามพันธะความตกลงองค์การการค้าโลก 22 รายการ เช่น ข้าว เมล็ดถั่วเหลือง น้ำมันปาล์ม ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สินค้าห้ามนำเข้า 8 รายการ เช่น เครื่องเล่นเกม ตู้เย็น สินค้าที่ต้องขออนุญาตนำเข้า 17 รายการ เช่น รถยนต์ใช้แล้ว ทองคำ เครื่องยนต์ดีเซล เป็นต้น แต่หากมีสินค้าที่อยู่นอกเหนือจากนี้จะมีการประกาศออกมาเพิ่มเติมในภายหลัง

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขกฎหมายนี้ไม่ซ้ำซ้อนกับกฎหมายว่าด้วยศุลกากรเรื่องการผ่านแดนถ่ายลำที่มีอยู่แล้ว เพราะกฎหมาย 2 ฉบับ มีเจตนารมณ์ต่างกัน คือ พ.ร.บ.ส่งออกฯ เพื่อจัดระเบียบการนำเข้า-ส่งออก โดยให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ตามอนุมัติของคณะรัฐมนตรีในการกำหนดมาตรการต่าง ๆ เช่น ชนิดสินค้าที่ต้องห้าม คุณภาพ มาตรฐาน จำนวน ปริมาตร ถิ่นกำเนิด ส่วนกฎหมายว่าด้วยศุลกากร เป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับพิธีการทางศุลกากร

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย กล่าวว่า เดิมไม่มีการให้คำจำกัดความการผ่านแดน มีแต่การใช้กฎหมายว่าด้วยศุลกากร ซึ่งสินค้าที่นำเข้ามาเพื่อผ่านออกไปจะถูกตีความเป็นสินค้านำเข้า-ส่งออก และมีการเรียกเก็บภาษี ส่งผลให้ไม่มีการนำเข้าสินค้าชนิดนั้น ๆ แต่สถานการณ์การค้าเปลี่ยนแปลงไป และจะมีการรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี การแก้ไขจะทำให้เกิดความชัดเจนและช่วยอำนวยความสะดวก ส่งเสริมให้มีการค้าระหว่างกันมากขึ้น แต่ในส่วนของวัตถุดิบอาหารสัตว์ เช่น ถั่วเหลือง ข้าวโพด ยังต้องขออนุญาตนำเข้าตามโควตาของ WTO

โดยหลังจากนี้กระทรวงพาณิชย์ควรกำหนดวิธีการในทางปฏิบัติให้ชัดเจน เช่น พฤติกรรมอย่างไรถือเป็นการผ่านแดน หากมีการนำผ่านมาพัก พักไว้ที่ใด มีการส่งออกไปจริงหรือไม่ แต่ไม่ควรกำหนดเป็นรายการสินค้าซึ่งอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้

นางวิวรรณ บุณยประทีปรัตน์ เลขาธิการสมาคมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สมาคมได้ร้องให้มีการแก้ไขตั้งแต่ปี 2547 ต่อกรมศุลกากร เรื่องถ่ายลำผ่านแดนแต่ก็ไม่มีการแก้ไข ส่งผลให้มีการนำผ่านสินค้าเกษตร โดยเฉพาะน้ำมันปาล์มจากมาเลเซียและอินโดนีเซีย ผ่านไทยไปส่งออกยังประเทศที่ 3 เช่น สปป.ลาว เมียนมา กัมพูชา และจีนตอนใต้ โดยใช้เส้นทางคมนาคมของไทย แต่ไทยไม่ได้รับประโยชน์อะไร ปีละ 100,000 ตัน แต่ไม่ส่งผ่านออกไปจริง ตกค้างอยู่ในประเทศ เมื่อมีการออกกฎหมายมากำกับดูแลจะช่วยให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับไปได้ว่า ใครเป็นผู้ขออนุญาตนำผ่าน ผ่านไปจากที่ใดไปที่ใด ปริมาณเท่าไร

แก้ พ.ร.บ.ส่งออกฯ 6 ประเด็น

การแก้ไข พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า (ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2558 ใน 6 ประเด็นหลัก คือ 1) การเพิ่มบทกำหนดนิยาม "นำผ่าน" มาตรา 4

2) กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์โดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศกำหนดสินค้าที่อยู่ภายใต้บังคับมาตรการกำกับดูแลสินค้าที่นำผ่านราชอาณาจักรและบทกำหนดโทษสำหรับการฝ่าฝืน (มาตรา 5/1, 7/1, 20/1)

3) เพิ่มเติมอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในการประกาศกำหนดท่าหรือที่แห่งใดในราชอาณาจักร เป็นที่ที่จะต้องนำผ่าน (มาตรา 15)

4) เพิ่มเติมการนำบทกฎหมายว่าด้วยการศุลกากรและอำนาจของพนักงานศุลกากรมาใช้บังคับกับการนำผ่าน (มาตรา 16)

5) เพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ครอบคลุมการนำผ่าน (มาตรา 17 (1) และ (2))

6) กำหนดบทกำหนดโทษสำหรับผู้นำผ่านสินค้าโดยฝ่าฝืนประกาศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (มาตรา 22/1)

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2558

จี้รัฐชัดเจนสั่งงดทำนาสกัดวิกฤตน้ำ

สมิทธกระทุ้งรัฐต้องกล้าสั่งงดทำนา เตือนหลัง พ.ย.เสี่ยงขาดน้ำหนัก

นายสมิทธ ธรรมสโรช อดีตอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยว่า จากปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักที่เหลือเพียง 2,600 ล้าน ลบ.ม. และคาดการณ์ว่าสิ้นเดือนต.ค.จะเพิ่มเป็น 3,677 ล้าน ลบ.ม. นั้นแนวโน้มเป็นไปได้ยากมาก ดังนั้นรัฐบาลจะต้องกล้าประกาศงดทำนาเด็ดขาด และให้เกษตรกรมาทำงานตามที่รัฐจัดให้เพื่อให้มีรายได้

“หากรัฐไม่กล้าประกาศชัด สุดท้ายจะเสียหายมาก และนับตั้งแต่เดือนพ.ย.จะแล้งต่อเนื่อง เสี่ยงจะขาดน้ำอุปโภคบริโภค” นายสมิทธ กล่าว

แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า กรมชลประทานได้เร่งให้สำนักชลประทานทุกแห่งทำรายงานการใช้น้ำเสนอมายังกรมชลฯ เพื่อใช้บริหารน้ำ และให้ชี้แจงกับประชาชนเรื่องมาตรการระบายน้ำ ไม่ให้เกษตรกรสูบน้ำเข้าพื้นที่เกษตรโดยเฉพาะในกรณีการปล่อยน้ำเพื่อรักษาระดับคลองและระบบนิเวศ

“หากน้ำถูกดักสูบจะกระทบต่อปริมาณยอดน้ำที่ส่งไปรักษาระบบนิเวศเพื่อไล่น้ำเค็ม เมื่อเดือน มิ.ย. มีการลอบสูบน้ำจนทำให้ระดับความเค็มที่สถานีสูบน้ำดิบสำแลปทุมธานี สูงเกินมาตรฐาน กระทบต่อการแพทย์ อุตสาหกรรม สร้างความเสียหายวงกว้าง”แหล่งข่าวระบุ

จาก  http://www.posttoday.com  วันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2558

เตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำน้อย

พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาให้ผู้ใช้น้ำภาคการ เกษตร ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ และภาคส่วนอื่น ๆ เตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำน้อยในช่วงฤดูแล้งปี 2558/2559 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 เป็นต้นไป

โดยเบื้องต้น จะบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

ประกอบด้วย 8 มาตรการ ซึ่งมี 25 กิจกรรม ได้แก่ 1) การส่งเสริมความรู้และการสนับสนุนปัจจัยการผลิต เพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน 2) การชะลอหรือขยายระยะเวลาการชำระหนี้ที่เกษตรกรมีภาระหนี้กับสถาบันการเงิน 3) การจ้างงานเพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร ทั้งการจ้างแรงงานชลประทาน หรือการจ้างงานเร่งด่วนและการพัฒนาทักษะฝีมือ 4) การเสนอโครงการตามความต้องการของชุมชน เพื่อบรรเทาผลกระทบภัยแล้ง 5) การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ โดยให้ทุกส่วนราชการรณรงค์การใช้น้ำอย่างประหยัด 6) การเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน ทั้งการขุดลอกแหล่งน้ำธรรมชาติ การปฏิบัติการฝนหลวง การพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร 7) การเสริมสร้างสุขภาพและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และ 8 ) การสนับสนุนอื่น ๆ อาทิ การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556 แผนสินเชื่อสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชน เป็นต้น

ซึ่งแผนงาน/โครงการภายใต้มาตรการดังกล่าว จะดำเนินการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในเขตชลประทานพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลองเป็นลำดับแรก โดยกระทรวงเกษตรฯ จะรวบรวมรายละเอียดของแผนงาน/โครงการและงบประมาณ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบอีกครั้งต่อไป

พลเอกฉัตรชัย กล่าวเพิ่มเติมถึง กำหนดการดำเนินงานว่า ในวันที่ 24 กันยายน–7 ตุลาคม 2558 มอบหมายกรมชลประทานลงพื้นที่สร้างความเข้าใจกับกลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำ และสถานีสูบน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่อยู่ภายใต้การดูแลขององค์การบริหารส่วนตำบล และจะดำเนินมาตรการทั้งหมดตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2558

นอกจากนี้ยังได้สั่งการกรมฝนหลวงและการบินเกษตร รวมหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ให้ระดมกำลังไปปฏิบัติการในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสานตอนบนที่ได้รับผลกระทบแทน ซึ่งจะใช้เครื่องบินทั้งหมด 18 ลำ มีความมุ่งหวังเติมน้ำในเขื่อน ทั้งนี้จะเริ่มปฏิบัติการตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป.“

จาก http://www.naewna.com วันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2558

มิตรผลเล็งยื่นสอน.ตั้งรง.น้ำตาลแห่งใหม่ หวังรักษาส่วนแบ่งตลาดให้ได้20%

นายคนอง ศักดิ์เพ็ชร์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มโรงงานกลุ่มมิตรผล เปิดเผยถึงแผนการขยายกำลังการผลิตน้ำตาลของกลุ่มมิตรผล ว่า ขณะนี้มิตรผลอยู่ระหว่างการเตรียมเอกสารในรายละเอียดของรายชื่อเกษตรกรไร่อ้อยที่อยู่ในเครือข่าย หลักฐานด้านที่ดิน และรายละเอียดอื่นๆ เพื่อยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เพื่อขอตั้งโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ภายในข้อกำหนดระยะห่างโรงงานไม่ต่ำกว่า 50 กิโลเมตร ภายในเดือนตุลาคม 2558 นี้ โดยงบประมาณในการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลในปัจจุบันขั้นต่ำจะอยู่ที่ 6,000 ล้านบาทต่อโรง มีกำลังการหีบอ้อยไม่ต่ำกว่า 1.5 หมื่นตันต่อวัน ซึ่งในต้นทุนนี้รวมไปถึงการสร้างโรงไฟฟ้าจากชานอ้อน กำลังการผลิต 50-60 เมกะวัตต์

“มิตรผลมีเป้าหมายที่จะรักษาส่วนแบ่งการตลาดน้ำตาลภายในประเทศไว้ที่ 20% โดยในขณะนี้มีอ้อยเข้าสู่โรงงานน้ำตาลประมาณ 106 ล้านตัน ในจำนวนนี้เป็นอ้อยที่เข้าโรงน้ำตาลของมิตรผลประมาณ 20 ล้านตัน และผลิตน้ำตาลได้ 2.2 ล้านตัน ซึ่งในอนาคตตามนโยบายของรัฐบาลที่จะส่งเสริมการปลูกอ้อยทดแทนในพื้นที่นาข้าวและพื้นที่อื่นๆ ก็จะทำให้ปริมาณอ้อยเพิ่มขึ้นถึง 180-200 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 80-100 ล้านตัน มีปริมาณน้ำตาลเพิ่มขึ้นประมาณ8-10 ล้านตัน ซึ่งมิตรผลก็จะรักษาส่วนแบ่งการตลาดให้ได้ 20% หรือจะต้องขยายโรงงานผลิตน้ำตาลเพิ่ม 1.6-2 ล้านตัน” นายคนอง กล่าว

นอกจากนี้มิตรผลยังได้ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนา โดยในแต่ละปีได้จัดสรรงบประมาณมาพัฒนาในส่วนนี้

300-400 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่จะนำไปปรับปรุงผลผลิต พัฒนาไร่อ้อย ให้มีผลผลิตที่สูงขึ้น และมีต้นทุนลดลง เพื่อให้ชาวไร่อ้อยได้รับผลตอบแทนที่ดีขึ้น รวมทั้งยังวิจัยและพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น การนำน้ำตาลหรือน้ำอ้อยไปผลิตเป็นวัตถุดิบไบโอเคมิคัล ไบโอพลาสติก เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการต่อยอดธุรกิจไปสู่สินค้าชั้นสูง ที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ตามในขณะนี้ราคาน้ำมันได้ลดลงมาก ทำให้ต้นทุนการผลิตจากน้ำตาลไม่สามารถสู้กับวัตถุดิบปิโตรเลียมได้ ทำให้การผลิตสินค้าในกลุ่มนี้ต้องชะลอออกไป แต่ถ้าราคาน้ำมันปรับขึ้นไปถึงระดับ 80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ผลิตภัณฑ์ไบโอพลาสติก และไบโอเคมิคัล จึงจะสามารถแข่งขันกับวัตถุดิบปิโตรเลียมได้

ทั้งนี้ ไทยเป็นประเทศชั้นนำระดับโลก ที่มีศักยภาพในอุตสาหกรรมน้ำตาลและชีวพลังงานที่สูงมาก ความสามารถในการแข่งขันของไทยอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก โดยมิตรผลเป็นผู้ผลิตน้ำตาลอันดับ 4ของโลก และเป็นผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าชีวมวลและเอทานอลอันดับ 1ในภูมิภาคอาเซียน จากปัจจัยของไทยที่มีวัตถุดิบพืชพลังงานที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจอยู่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นอ้อย มันสำปะหลังหรือปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นพืชพลังงานที่สามารถปลูกได้เองบนผืนแผ่นดินและไม่มีวันหมด

จาก http://www.naewna.com วันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2558

"สมคิด" สั่งพักหนี้เกษตรกรสู้ภัยแล้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ว่า วานนี้ (24 ก.ย.) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ได้เรียกประชุมผู้บริหารของธนาคารเฉพาะกิจ ซึ่งประกอบด้วย ธ.ก.ส. ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือเอสเอ็มอี พร้อมด้วยนายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตร เพื่อให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง เตรียมออกมาตรการพิเศษเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในปี 2559

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวว่า การเรียกประชุมธนาคารเฉพาะกิจในครั้งนี้ เพื่อให้ธนาคารเฉพาะทั้ง 3 แห่ง เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ภัยแล้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีหน้า หลังจากฤดูฝนในปีนี้มีปริมาณน้ำน้อยกว่าปกติ โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และลุ่มแม่น้ำแม่กลอง มีประมาณ 10 ล้านไร่ และเป็นเกษตรกรลูกค้าของ ธ.ก.ส.ที่ได้รับผลกระทบ 500,000 คน ดังนั้น รัฐบาลจึงมีนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อให้ ทุกหน่วยงานสามารถรับมือกับเหตุการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ต้น โดยถือเป็นการบูรณาการภาคการเกษตรครั้งใหญ่ที่สุด

นายอภิศักดิ์ กล่าวว่า ในช่วงระหว่างนี้ จะให้เวลาธนาคารเฉพาะกิจทั้ง 3 แห่ง ไปรวบรวมความต้องการลูกค้าตนเองประมาณ 1-2 วัน หลังจากนั้น จะมีการเรียกประชุมอีกครั้งเพื่อสรุปมาตรการที่จะออกมาเป็นแพ็กเกจและเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป โดยตั้งเป้าหมายของมาตรการเอาไว้ว่า เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างไม่ลำบาก เช่น การจ่ายเงินให้แก่เกษตรกรไร่ละ 1,000 บาท หรือพักชำระหนี้ เป็นต้น

นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า ขณะนี้ได้ส่งพนักงานของ ธ.ก.ส.ลงไปสำรวจความต้องการของลูกค้าแล้ว หากเกิดปัญหาภัยแล้งเกษตรกรเหล่านี้มีความต้องการอะไรบ้าง ประกอบด้วย 1.มีความต้องการที่จะพักชำระหนี้ หรือต้องการเงินกู้ก้อนใหม่หรือไม่ 2.มีความต้องการประกอบอาชีพอื่นหรือไม่ และ 3.มีความต้องการความรู้ด้านอื่นๆ เพื่อนำไปประกอบเป็นอาชีพเสริมหรือไม่ เป็นต้น.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 25 กันยายน 2558

เร่งทำฝนหลวงเติมน้ำเขื่อนสู้ภัยแล้งเตือน4อำเภอบุรีรัมย์งดทำนาปรัง-หวั่นเจ๊งถกอุ้มเกษตรกร24กย.

เมื่อวันที่ 23 กันยายน นายวราวุธ ขันติยานันท์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า จากการที่กรมฝนหลวงฯขึ้นบินสำรวจสถานการณ์น้ำต้นทุนใน 4 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ และเขื่อนภูมิพล จ.ตาก พบว่าทั้ง 4 เขื่อนมีปริมาณน้ำกักเก็บในเกณฑ์ต่ำ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557

น้ำเขื่อนทั่วปท.ต่ำกว่าทุกปี

โดยเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีปริมาณน้ำใช้การได้ 158 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 17 เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีน้ำใช้การได้ 232 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 26 ขณะที่เขื่อนสิริกิติ์มีน้ำใช้การได้ 1,400 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 21 และเขื่อนภูมิพลเหลือร้อยละ 8 ที่ใช้การได้หรือประมาณ 782.78 ล้าน ลบ.ม.

ทั้งนี้ ถึงแม้ขณะนี้จะมีน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำทุกวัน แต่ถือว่ายังไม่มาก โดยเขื่อนขนาดเล็ก เช่น เขื่อนป่าสักฯ และเขื่อนแควน้อย มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำอยู่ที่ 5-10 ล้าน ลบ.ม./วัน ส่วนเขื่อนขนาดใหญ่ อาทิ เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ มีน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำวันละ 20-40 ล้าน ลบ.ม. หลังสิ้นสุดฤดูฝนปีนี้คาดว่า ปริมาณน้ำกักเก็บในเขื่อนโดยรวมทั้งประเทศต่ำกว่าทุกปีที่ผ่านมา ถือเป็นปัญหาใหญ่ค่อนข้างน่าเป็นห่วง

งดทำนาปรัง-เร่งทำฝนหลวง

ดังนั้น เกษตรกรจำเป็นต้องงดทำนาปรัง พร้อมชะลอปลูกพืชใช้น้ำมากหรือจำกัดพื้นที่ปลูกพืชหลังนา เพราะน้ำต้นทุนมีปริมาณจำกัด ซึ่งอาจเกิดปัญหาแย่งน้ำได้ สำหรับน้ำที่เหลืออยู่ควรสงวนไว้เพื่ออุปโภคบริโภค รวมถึงการรักษาสภาพแวดล้อมต่างๆ

“โค้งสุดท้ายก่อนสิ้นฤดูฝนในอีก 3-4 สัปดาห์ข้างหน้า ยังมีร่องความกดอากาศที่พาดผ่านประเทศไทย ทำให้เกิดความชื้นสัมพัทธ์เพียงพอและสามารถทำฝนหลวงได้ กรมจึงมอบหมายให้หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 9 หน่วย เร่งทำฝนหลวงเต็มที่ โดยเพิ่มจำนวนเที่ยวบินขึ้นบินทำฝนหลวงทันทีเมื่อสภาพอากาศเหมาะสม มุ่งเติมน้ำในเขื่อนช่วงปลายฤดูฝนตามนโยบายรัฐบาล”นายวราวุธกล่าว และว่า กรมจัดเตรียมหน่วยเคลื่อนที่เร็ว ที่จ.นครสวรรค์ 3 หน่วย และมีศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงทุกภูมิภาคคอยตรวจติดตามสภาพอากาศต่อเนื่อง ซึ่งช่วงเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ยังมีโอกาสเกิดฝนได้ครั้งละ 2-3 วัน นอกจากนั้น ยังมีแผนเลื่อนกำหนดปฏิบัติการฝนหลวงประจำปีให้เร็วขึ้น จากเดิมเริ่มวันที่ 1 มีนาคมของทุกปี สำหรับปี 2559 จะเลื่อนเป็นเดือนกุมภาพันธ์ คาดว่าสภาพอากาศจะมีความชื้นเพียงพอทำฝนหลวงได้ เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง

เตือน4อ.ฝืนทำนาเสี่ยงขาดน้ำ

นายคำรณ เตียตระกูล ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลกลาง สำนักงานชลประทานที่ 8 เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำมูลตั้งแต่บริเวณท้ายเขื่อน อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ไหลผ่านจ.บุรีรัมย์ไปจนถึงจ.สุรินทร์ระยะทางกว่า 300 กิโลเมตร ปัจจุบันมีน้ำอยู่ระดับต่ำกว่าตลิ่ง 2 เมตร ใกล้เคียงปีที่ผ่านมา แต่หากเปรียบช่วงเดียวกันกับปี 2556 ปีนี้น้ำมูลยังมีระดับต่ำกว่า 2 เมตร จึงแจ้งเตือนเกษตรกรใน 4 อำเภอคือ อ.พุทไธสง คูเมือง แคนดงและอ.สตึก จ.บุรีรัมย์ ที่อาศัยน้ำมูลทำการเกษตรให้งดทำนาปรัง หรือพืชใช้น้ำมาก เพื่อลดความเสี่ยงขาดแคลนน้ำหล่อเลี้ยงผลผลิตเสียหาย ทั้งลดผลกระทบในการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคช่วงหน้าแล้ง เนื่องจากในจ.บุรีรัมย์ ระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตร ไม่มีฝายหรือเขื่อนยางกักเก็บน้ำมูลที่ไหลผ่านช่วงหน้าฝน ส่งผลให้ประสบปัญหาน้ำมูลตื้นเขินแห้งขอดเป็นประจำทุกปี กระทั่ง ปี 2559 กรมชลประทานมีแผนสร้างฝายเก็บน้ำมูล 2 แห่ง ที่กุดชุมแสง ต.นิคม และบ.ท่าเรือ ต.ท่าม่วง อ.สตึกแก้ปัญหาแล้งซ้ำซาก

มท.-กษ.ถกอุ้มเกษตรกร24กย.

ด้านพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวหลังประชุมร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงว่า ได้เน้นย้ำสถานการณ์น้ำ ภัยแล้งที่กระทรวงมหาดไทย ต้องร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แก้ปัญหา และหาทางช่วยเหลือเกษตรกร รวมถึงบริหารจัดการน้ำ ซึ่งนัดประชุมร่วมกันวันที่ 24 กันยายน ที่กระทรวงเกษตรฯเพื่อหาความชัดเจนในมาตรการดังกล่าว สำหรับกระทรวงมหาดไทย ตนกำชับผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอต้องเอ็กซเรย์สภาพปัญหาในพื้นที่อย่างละเอียด ส่วนตัวอยากให้เขาปลูกพืชลักษณะเดียวกันเป็นพื้นที่ ไม่อยากให้ปลูกเป็นหย่อม จะทำให้แก้ปัญหาลำบาก ส่วนการแจ้งงดปลูกข้าวนาปรัง เป็นหน้าที่กระทรวงเกษตรฯที่ต้องรอพิจารณาข้อมูลน้ำก่อนตัดสินใจ

น่านฝนหนักน้ำป่าทะลักท่วม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในพื้นที่จ.น่านเกิดฝนตกตลอดคืน และตกหนักในอ.ภูเพียง จ.น่าน ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎร บ้านน้ำใส หมู่ 5 และ บ้านดงป่าสัก หมู่ 10 ต.ฝายแก้ว บ้านปัวชัย-ฝายแก้ว และบ้านหนองเต่า หมู่ 3 ต.ม่วงตึ๊ด เจ้าหน้าที่ป้องกันบรรเทาสาธารณภัยจ.น่าน และเจ้าหน้าที่ อปท. เข้าไปช่วยเหลือราษฎรที่ประสบภัยเบื้องต้น พร้อมทั้งเข้าไปช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำป่าไหลหลากเก็บเข้าของขึ้นที่สูง

นายอุกริช พึ่งโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดน่านกำชับเจ้าหน้าที่ ปภ.และนายอำเภอทุกพื้นที่ ให้ติดตามสถานการณ์ดินโคลนถล่ม น้ำป่าไหลหลาก หากเกิดเหตุให้เข้าช่วยเหลือทันที

หนองคายน้ำป่าเซาะตลิ่งพัง

เช่นเดียวกับ จ.หนองคาย ซึ่งเกิดฝนตกต่อเนื่อง 2 วัน ทำให้น้ำป่าจากป่าพานพร้าวแก้งไก่ ในอ.สังคม ไหลลงในลำห้วยธารทอง ต.ผาตั้ง อ.สังคม ทำให้น้ำตกธารทองมีสีขุ่นข้นไหลเชี่ยวกราก เจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษาป่า นค.2 สังคม จัดเวรคุมเข้มไม่ให้นักท่องเที่ยวลงเล่นน้ำอย่างเด็ดขาด นอกจากน้ำป่าจะไหลเข้าลำห้วยธารทองแล้ว ยังซัดต้นไม้ที่อยู่ในลำห้วยและตามริมตลิ่งโค่นล้มจำนวนมาก ทำตลิ่งพัง บ้านเรือนราษฎรริมห้วยธารทองพัง 2 หลัง และยังซัดถนนสายบ้านผาตั้ง-วัดผาตากเสื้อ ต.ผาตั้ง อ.สังคมเสียหาย เป็นระยะทาง 20 เมตร และยังพบว่ามีดินสไลด์ตามเส้นทางในอ.สังคมอีกหลายจุด

เจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษาป่า นค.2 สังคมเผยว่า น้ำป่าที่ไหลจากป่าพานพร้าว-แก้งไก่ครั้งนี้ ตนทำงานมาเกือบ 40 ปี ถือเป็นครั้งแรกที่มีปริมาณน้ำและความรุนแรงมากที่สุด ซึ่งอาจเกิดจากการตัดไม้ทำลายป่าต้นน้ำ ทำให้ไม่มีต้นไม้หนาแน่นพอที่จะน้ำซึมซับน้ำฝนที่ตกลงมาได้

เขื่อนเจ้าพระยาน้ำปริ่มตลิ่ง

ผู้สื่อข่าวรายงาน ปริมาณน้ำจากจังหวัดเหนือเขื่อน ยังไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ระดับน้ำเหนือเขื่อนช่วงจ.ชัยนาทต่ำกว่าตลิ่งเพียงเล็กน้อย ขณะที่นายเอกศิษฐ์ ศักดีธนาภรณ์ ผอ.โครงการเขื่อนเจ้าพระยา กรมชลประทานเผยว่า จากระดับน้ำเหนือเขื่อน ที่สูงขึ้นจนใกล้เคียงกับระดับตลิ่งช่วงนี้ โดยระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ที่จุดวัดน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ต.บางหลวง อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ทรงตัวอยู่ที่ 16.75 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานกักเก็บของเขื่อนเจ้าพระยาที่ 16.50 เมตร ขณะที่ระดับน้ำท้ายเขื่อนลดลง 23 เซนติเมตร ไปอยู่ที 8.78 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง โดยเขื่อนเจ้าพระยาได้ลดอัตราระบายน้ำไปอยู่ที่ 434 ลบ.ม.ต่อวินาที จากเดิม 500ลบ.ม.ต่อวินาที

จาก http://www.naewna.com วันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2558

เตือนน้ำต้นทุนเขื่อนหลักยังน้อย lกรมชลพลิกแผนบริหารจัดการ-ชี้‘หนองบัวลำภู’เสี่ยง

นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า พายุโซนร้อน “หว่ามก๋อ” ซึ่งพัดผ่านประเทศไทย ทำให้ฝนตกหนักจนเกิดภาวะน้ำท่วมในหลายพื้นที่โดยเฉพาะภาคตะวันออก แต่ปริมาณน้ำที่ไหลลงเขื่อนขนาดใหญ่กลับมีปริมาณน้อยมากโดยเฉพาะ 4 เขื่อนหลักที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุนของลุ่มเจ้าพระยา คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ยังมีปริมาณน้ำที่ใช้การได้เพียง 2,343 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เนื่องจากพายุเปลี่ยนทิศทาง

อย่างไรก็ตาม กรมชลประทาน ได้เตรียมแผนรองรับไว้แล้ว โดยเฉพาะน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค พื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ได้เตรียมสำรองไว้ให้ 1,100 ล้านลบ.ม.ดังนั้นประชาชนมั่นใจได้ว่าจะไม่ขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ในช่วงที่หมดฝนแล้วแน่นอน ส่วนพื้นที่ลุ่มน้ำอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน ยกเว้น จ.หนองบัวลำภู ที่สถานการณ์น้ำยังน่าห่วง เพราะมีปริมาณน้ำต้นทุนน้อยมาก

ทั้งนี้ จ.หนองบัวลำภู มีแหล่งน้ำเพียงแห่งเดียวคือ อ่างเก็บน้ำห้วยเหล่ายาง เป็นอ่างขนาดกลาง ความจุประมาณ 2.1 ล้านลบ.ม. ที่ผ่านมามีฝนตกเพียง 700 มิลลิเมตร จากปกติมีค่าเฉลี่ยถึง 1,000 มิลลิเมตร ทำให้ปัจจุบันมีน้ำในอ่าง 370,000 ลบ.ม. และเป็นปริมาณน้ำที่ใช้การได้เพียง 250,000 ลบ.ม. ซึ่งกรมชลประทานจะสำรองปริมาณน้ำทั้งหมดเพื่อส่งให้การประปาส่วนภูมิภาคผลิตน้ำประปาเท่านั้น

“กรมชลประทานจะส่งน้ำให้การประปาส่วนภูมิภาคหนองบัวลำภู เฉลี่ยวันละ 5,000-6,000 ลบ.ม. ดังนั้นปริมาณน้ำที่เหลืออยู่หากไม่มีฝนตกลงมา ประมาณการว่าสามารถส่งน้ำให้ได้อีก 45 วันเท่านั้น ซึ่งกรมชลประทานได้แจ้งสถานการณ์น้ำไปยังการประปาฯในพื้นที่แล้ว ขณะนี้การประปาฯได้เตรียมหาแหล่งน้ำสำรองเป็นสระน้ำธรรมชาติที่มีความจุน้ำประมาณ 3 แสนลบ.ม. ในส่วนนี้คาดว่าจะใช้ผลิตน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภคได้อีก 50 วัน นอกจากนี้ยังมีบ่อน้ำบาดาลอีก 3 บ่อ ที่ให้น้ำได้วันละประมาณ 1,200 ลบ.ม. ประมาณการในเบื้องต้นว่าที่ จ.หนองบัวลำภู จะมีน้ำดิบเพื่อใช้ผลิตน้ำประปาได้ราว 4 เดือน” รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าว

อย่างไรก็ตาม หวังว่า ก่อนที่จะสิ้นสุดฤดูฝนในเดือนตุลาคม 2558 น่าจะมีฝนตกลงมาบ้าง จึงยังมีความหวังว่า จะมีน้ำไหลเข้าอ่างฯ เพื่อมาเป็นน้ำต้นทุนอีก แต่หากว่าไม่เป็นไปตามคาดการณ์ก็ยังมีน้ำซึมน้ำซับใต้ดินที่การประปายังสูบมาเพื่อแก้วิกฤติได้บ้าง

จาก http://www.naewna.com วันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2558

สศก.ดัน4ยุทธศาสตร์หลัก เคลื่อนแผนเกษตรอินทรีย์

นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สศก. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ได้ปรับปรุง (ร่าง) ยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2559-2564) โดยกำหนด วิสัยทัศน์“ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิต การบริโภค การค้า และ การบริการ เกษตรอินทรีย์ เป็นที่ยอมรับในระดับสากล” มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มพื้นที่และปริมาณการผลิตเกษตรอินทรีย์ เพิ่มมูลค่าของผลิตผล ผลิตภัณฑ์ สินค้าและบริการด้านเกษตรอินทรีย์ เพิ่มการค้าและการบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์ในประเทศ รวมทั้งให้มาตรฐานและระบบการรับรอง สินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทย เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศไปสู่การเป็นศูนย์กลาง (Hub) ของสินค้าและบริการด้านเกษตรอินทรีย์ในระดับสากล โดยมี 4 ยุทธศาสตร์ คือ

1.ส่งเสริม สนับสนุนการวิจัย พัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้ และนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ 2.การพัฒนาการผลิตเกษตรอินทรีย์ โดยการถ่ายทอดความรู้ในการผลิตเกษตรอินทรีย์ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ โครงการพัฒนาประมงอินทรีย์ การสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการเรียนรู้การปลูกผักอินทรีย์ 3.การพัฒนาและส่งเสริมการตลาด สินค้าและบริการเกษตรอินทรีย์ โดยผลักดันมาตรฐานและระบบการตรวจสอบรับรอง การสร้างมูลค่าเพิ่ม 4.การบริหารจัดการและการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ จะเป็นการสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ คณะทำงานการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ในระดับต่างๆ โดยเฉพาะในระดับจังหวัด เพื่อให้มีการจัดการแบบบูรณาการด้านข้อมูล องค์ความรู้การผลิตและการตลาดเกษตรอินทรีย์ในระดับจังหวัด โดยมีโครงการบูรณาการขับเคลื่อน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม สาขาเกษตรและอาหารอินทรีย์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้และเครือข่าย

จาก http://www.naewna.com วันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2558

นวัตกรรมใหม่‘พด.’ จุลินทรีย์ไรโซเบียม ปรับปรุงบำรุง‘ดิน’

นายอภิชาต จงสกุล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาที่ดินได้ศึกษาวิจัยนวัตกรรมจุลินทรีย์สำหรับพืชปรับปรุงบำรุงดินพด. 11 (ถั่วพร้า) เพื่อเพิ่มมวลชีวภาพ โดยคัดเลือกจุลินทรีย์ไรโซเบียมที่มีประสิทธิภาพสำหรับใช้ร่วมกับพืชปรับปรุงบำรุงดิน (ถั่วพร้า)เนื่องจากไรโซเบียมจะตรึงไนโตรเจนจากอากาศเปลี่ยนเป็นแอมโมเนียหรือสารประกอบไนโตรเจนที่พืชสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ และในปี 2558 จึงได้ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์มีความเฉพาะกับถั่วพร้า มีประสิทธิภาพ สูงในการตรึงไนโตรเจนจากบรรยากาศเพื่อเพิ่มมวลชีวภาพให้แก่พืชปรับปรุงบำรุงดิน (ถั่วพร้า) อีกทั้งยังมีความสามารถในการผลิตฮอร์โมนออกซินส่งเสริมการเจริญเติบโตของระบบรากเพิ่มในการดูดใช้ธาตุอาหารและ เพิ่มมวลชีวภาพถั่วพร้า เป็นการเพิ่มอินทรียวัตถุ และความอุดมสมบูรณ์ของดินหลังสับกลบสามารถลดต้นทุนการผลิต เนื่องจากลดปริมาณการใส่ปุ๋ยเคมีทางการเกษตร โดยเฉพาะปุ๋ยไนโตรเจน และทำให้การปลูกพืชหลักตามมาได้รับผลผลิตเพิ่มสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กองเทคโนโลยีชีวภาพทางดินกำลังอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายในการวิจัยและพัฒนาจุลินทรีย์สำหรับถั่วพร้าเพื่อเพิ่มมวลชีวภาพ ซึ่งเมื่อไถกลบก็จะเพิ่มอินทรียวัตถุในดินได้มากขึ้น พร้อมๆ กับปลดปล่อยธาตุอาหารที่จำเป็นแก่พืช ได้แก่ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม รวมทั้งพัฒนารูปแบบการใช้ผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ให้สะดวกและมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ลดขั้นตอนที่ยุ่งยาก และเวลา

จาก http://www.naewna.com วันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2558

KTIS ส่งเสริมชาวไร่อ้อย 

         ดร.สายศิริ ศิริวิริยะกุล ผู้อำนวยการฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์และการสื่อสารองค์กร บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และนายสินชัย วชิรโสภาไพฑูรย์ ผู้ช่วยผู้จัดการโรงงานและผู้จัดการฝ่ายไร่ บริษัท น้ำตาลไทยเอกลักษณ์ จำกัด เป็นตัวแทนมอบเต็นท์ พร้อมโต๊ะ ให้ชาวไร่อ้อยคู่สัญญา ในพื้นที่หน่วยส่งเสริมปลูกอ้อยหนองตม บ้านเนินมะขามทอง หมู่ 7 ต.วงฆ้อง อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก ซึ่งเข้าร่วมโครงการหมู่บ้านพื้นที่สีเขียวปลอดไฟไหม้อ้อย เพื่อสร้างขวัญกำลังใจและให้ชาวไร่อ้อยได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันในโอกาสที่ชาวไร่อ้อยร่วมแรงร่วมใจกันดูแลไร่อ้อยให้ปลอดจากไฟไหม้ได้ 100%

 จาก http://manager.co.th  วันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2558

รองนายกฯ มอบรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น ปี 58 ดันไทยเป็นผู้นำอุตสาหกรรมโลก 

        ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการมอบรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น (The Prime Minister’s Industry Award) มีสถานประกอบการที่ได้รับรางวัล รวม 33 รางวัล บริษัทรวมเกษตรกรอุตสาหกรรม จำกัด สาขามิตรภูเวียง ผู้ผลิตน้ำตาลทราย และชีวพลังงาน ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยม รองนายกฯ ชี้ เร่งยกระดับอุตสาหกรรมไทยแข่งขันในตลาดโลก พร้อมปักธงรบชิงโอกาสทองหลังก้าวเข้าสู่ AEC ปี 2559

            ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมมีหน้าที่ในการยกระดับเพิ่มขีดความสามารถผู้ประกอบการไทยให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก และผลักดันให้ผู้ประกอบการก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำอุตสาหกรรมในภูมิภาคอาเซียน และเพื่อให้เกิดการแข่งขันในการเพิ่มขีดความสามารถผู้ประกอบการ การมอบรางวัลอุตสาหกรรม (The Prime Minister’s Industry Award) จึงเป็นกลไกในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมให้มีความก้าวหน้า

               สำหรับรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 7 ประเภทรางวัล ได้แก่ 1. การเพิ่มผลผลิต 2. การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม 3. การบริหารความปลอดภัย 4. การบริหารงานคุณภาพ 5. การจัดการพลังงาน 6. การบริหารอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม และ 7. การจัดการลอจิสติกส์ และรางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยม ให้แก่สถานประกอบการที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน

               การตรวจประเมินจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิกระทรวงอุตสาหกรรม ถือเป็นหนึ่งในแนวทางการกระตุ้นเตือนให้สถานประกอบการ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงาน หากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทั่วทั้งประเทศสามารถดำเนินการได้ตามเกณฑ์มาตรฐานดังกล่าวจะส่งผลดีต่อความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทยในอนาคตได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะในระยะเวลาอันใกล้นี้ที่ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 10 ประเทศจะรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC อย่างเต็มรูปแบบ

        ในปี 2558 มีสถานประกอบการสมัครเข้ารับการคัดเลือกรางวัลอุตสาหกรรม 91 แห่ง มีสถานประกอบการที่ผ่านเกณฑ์ข้อกำหนดได้รับรางวัล ทั้งสิ้น 31 แห่ง รวม 33 รางวัล แบ่งเป็น 1. รางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยม 1 รางวัล และ 2. รางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 7 ประเภท 32 รางวัล ดังนี้

               รางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยม (The Prime Minister’s Best Industry Award) 1 รางวัล

               - บริษัท รวมเกษตรกรอุตสาหกรรม จำกัด สาขามิตรภูเวียง น้ำตาลทรายและชีวพลังงาน

               รางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น (The Prime Minister’s Industry Award) 32 รางวัล

               ประเภทการเพิ่มผลผลิต 2 รางวัล

               - บริษัท พีทีที ฟีนอล จำกัด ธุรกิจปิโตรเคมี ผลิตและจำหน่ายสารฟีนอลและอะซีโตน

       - บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) สาขา 2 ธุรกิจเคมีภัณฑ์ ได้แก่ อะโรเมติกส์ โอเลฟินส์ โพลิเมอร์ และเอทิลีนออกไซด์

               ประเภทการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม 2 รางวัล

               - บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด สินค้าอุปโภค-บริโภค เครื่องปรุงรส บะหมี่สำเร็จรูป เครื่องดื่ม อาหารสำเร็จรูป

       - บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) สาขา 11 ธุรกิจเคมีภัณฑ์ ได้แก่ อะโรเมติกส์ โอเลฟินส์ โพลิเมอร์ และเอทิลีนออกไซด์

               ประเภทการบริหารความปลอดภัย 4 รางวัล

               - บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) สาขา 4 ธุรกิจเคมีภัณฑ์ ได้แก่ อะโรเมติกส์ โอเลฟินส์ โพลิเมอร์ และเอทิลีนออกไซด์

       - บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) สาขา 12 ธุรกิจเคมีภัณฑ์ ได้แก่ อะโรเมติกส์ โอเลฟินส์ โพลิเมอร์ และเอทิลีนออกไซด์

       - บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) ผลิตภัณฑ์เหล็กครบวงจร

       - บริษัท เหล็กแผ่นรีดเย็นไทย จำกัด (มหาชน) ผลิตภัณฑ์เหล็กแผ่นรีดเย็นชนิดม้วน

               ประเภทการบริหารงานคุณภาพ 8 รางวัล

               - บริษัท ไทยอีสเทิร์น รับเบอร์ จำกัด ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก

       - บริษัท พีทีที ฟีนอล จำกัด ธุรกิจปิโตรเคมี ผลิตและจำหน่ายสารฟีนอลและอะซีโตน

       - บริษัท พัฒน์กล แมนนูแฟคเจอริ่ง จำกัด ผลิตเครื่องจักรที่ใช้ในกระบวนการผลิตอาหารเครื่องดื่มและ ยาสูบ

       - บริษัท โอ.อี.ไอ.พาร์ท จำกัด ขายส่งและผลิตชิ้นส่วนและอะไหล่รถยนต์

       - บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) ผลิตภัณฑ์เหล็กครบวงจร

       - บริษัท สยามยูไนเต็ดสตีล (1995) จำกัด ผลิตเหล็กและเหล็กกล้าแผ่น

       - บริษัท สมอทองน้ำมันปาล์ม จำกัด ผลิตน้ำมันปาล์มดิบ เมล็ดในปาล์มอบแห้ง และผลิตภัณฑ์พลอยได้

       - บริษัท ไวกิ้ง ไลฟ์-เซฟวิ่ง อิควิปเม้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด อุปกรณ์ด้านความปลอดภัย สำหรับเรือเดินทะเล การติดตั้งนอกชายฝั่ง และดับเพลิง

               ประเภทการจัดการพลังงาน 7 รางวัล

               - บริษัท พีทีที โกบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) สาขา 3 ธุรกิจเคมีภัณฑ์ ได้แก่ อะโรเมติกส์ โอเลฟินส์ โพลิเมอร์ และเอทิลีนออกไซด์

       - บริษัท เอฟแอนด์เอ็น แดรี่ส์ (ประเทศไทย) จำกัด อาหารและเครื่องดื่ม

       - บริษัท นวพลาสติกอุตสาหกรรม (สระบุรี) จำกัด ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าท่อและข้อต่อ PVC ภายใต้แบรนด์ ตราช้าง

       - บริษัท ไทยโอลีโอเคมี จำกัด ผลิตภัณฑ์โอลีโอเคมิคอล ประกอบด้วยเมทิลแอลกอฮอลส์ แฟทดีแอมีนและเอสเทอร์

       - โรงแยกก๊าซธรรมชาติขนอม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พลังงานจากก๊าซธรรมชาติ

       - บริษัท ทีโอซีไกลคอล จำกัด ผลิตผลิตภัณฑ์เอทิลีนไกลคอล (EG) และเอทิลีนออกไซด์ (EO)

        - บริษัท ไทยโพลิเอททีลีน จำกัด ผลิตเม็ดพลาสติกโพลิเอททีลีน

               ประเภทบริหารอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม 8 รางวัล

               - บริษัท นีโอคอสเมด จำกัด เครื่องสำอางเพื่อการส่งออกและจำหน่ายภายในประเทศ

       - บริษัท ซีเอ็นซี ดี-เท็คซ์ จำกัด แม่พิมพ์ชิ้นส่วนรถยนต์และอุปกรณ์ทำแม่พิมพ์

       - บริษัท โตว่องไว จำกัด ผลิต จำหน่าย และบริการรถตอกเสาเข็ม

       - บริษัท ซิสเท็ม คอมโพเน้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด ยางขึ้นรูป ชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่ทำจากยาง และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์

       - บริษัท เอสเอ็มซี คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผลิตและจำหน่ายเครื่องจักรประเภทเป่าขึ้นรูปพลาสติก

       - บริษัท แอ็กโกร (ประเทศไทย) จำกัด ผลิตภัณฑ์เคมีเกษตร

       - บริษัท ไฮมิก จำกัด เม็ดพลาสติกพีวีซี

       - บริษัท ลีน่า (ประเทศไทย) จำกัด ผลิตและจำหน่ายภัณฑ์สีทาอาคาร

               ประเภทการจัดการลอจิสติกส์ 1 รางวัล

               - บริษัท ดานิลี่ จำกัด ออกแบบและประกอบเครื่องจักรส่งออก

 จาก http://manager.co.th  วันที่ 23 กันยายน 2558

ก.เกษตรฯเตรียมแผนรับมือปัญหาภัยแล้ง

"พล.อ.ฉัตรชัย" ประชุมวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์กับผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เตรียมรับมือภัยแล้ง 8 ต.ค. นี้

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับผู้บริหารกระทรวงฯ ว่า ที่ประชุมให้ความสำคัญกับเรื่องภัยแล้งมากที่สุด โดยวันที่ 24 กันยายนนี้จะให้กรมชลประทานลงพื้นที่ทั่วประเทศ 335 สถานีที่อยู่ในความรับผิดชอบสำรวจแหล่งน้ำที่จะใช้รองรับภาคการเกษตรฤดูแล้งปีนี้ ขณะเดียวกันวันที่ 8 ตุลาคมจะไปที่กระทรวงมหาดไทย เพื่อประชุมผ่านวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์กับผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อหารือถึงมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงหน้าแล้งปีนี้

ทั้งนี้ วันที่ 9-23 ตุลาคม จะให้กรมชลประทานกับกรมส่งเสริมสหกรณ์การเกษตรลงพื้นที่ 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพื่อทำความเข้าใจกับเกษตรกรถึงการปลูกข้าวนาปรัง ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการให้งดการปลูกข้าว แต่จะใช้คำว่าขอความร่วมมือไม่ให้ปลูกแทน โดยจะให้ปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยแทนหรือเปลี่ยนไปทำปศุสัตว์ในช่วงหน้าแล้งปีนี้ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ยอมรับว่าสถานการณ์น้ำขณะนี้ต้องติดตามแบบสัปดาห์ต่อสัปดาห์ ปริมาณน้ำสำรองมีประมาณ 2,500-2,600 ล้านลูกบาศก์เมตร หากฝนตกเพิ่มอีกหนึ่งเดือนก่อนเข้าฤดูแล้งและมีปริมาณน้ำเข้าเขื่อนเพิ่มอีก 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร สถานการณ์น่าจะดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ทุกวันที่ 25 ของแต่ละเดือนจะประชุมร่วมกับ 11 กระทรวงถึง 8 มาตรการ 25 กิจกรรมที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 22 กันยายนที่ผ่านมาว่าคืบหน้าหรือติดปัญหาอะไรบ้าง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวด้วยว่า ได้สั่งการให้กรมฝนหลวงใช้เครื่องบิน 18 ลำทำฝนเทียมในภาคเหนือและภาคอีสานเติมน้ำในเขื่อนหลักโดยเริ่มทำตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

จาก http://manager.co.th  วันที่ 23 กันยายน 2558

ฝูงบินเร่งเติมน้ำก่อนสิ้นฤดูฝน!! ชี้แนวโน้ม'ภัยแล้ง'รุนแรงน่าห่วง

 นายวราวุธ ขันติยานันท์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า จากการที่กรมฝนหลวงได้นำเครื่องบินฝนหลวงขึ้นบินสำรวจสถานการณ์น้ำต้นทุนใน 4 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี , เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก , เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ และเขื่อนภูมิพล จ.ตาก พบว่า ทั้ง 4 เขื่อน มีปริมาณน้ำกักเก็บอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

โดยเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำที่ใช้การได้ประมาณ 158 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 17% เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีน้ำที่ใช้การได้ 232 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 26% ขณะที่เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 1,400 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 21% และเขื่อนภูมิพล เหลือเพียง 8% ที่ใช้การได้หรือประมาณ 782.78 ล้านลูกบาศก์เมตร

จากการตรวจสอบพบว่า ขณะนี้จะมีน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำทุกวันแต่ก็ถือว่ายังไม่มาก โดยเขื่อนขนาดเล็ก เช่น เขื่อนป่าสักฯ และเขื่อนแควน้อยฯ มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำอยู่ที่ 5 - 10 ล้านลูกบาศก์เมตร/วัน ส่วนเขื่อนขนาดใหญ่ อาทิ เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ มีน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำวันละ ประมาณ 20 - 40 ล้านลูกบาศก์เมตร

อย่างไรก็ตาม หลังสิ้นสุดฤดูฝนปีนี้คาดว่า ปริมาณน้ำกักเก็บในเขื่อนโดยรวมทั้งประเทศจะต่ำกว่าทุกปีที่ผ่านมา ซึ่งค่อนข้างน่าเป็นห่วง เพราะเป็นปัญหาใหญ่ ดังนั้น เกษตรกรจำเป็นต้องงดทำนาปรัง พร้อมชะลอการปลูกพืชใช้น้ำมากหรือจำกัดพื้นที่ปลูกพืชหลังนา เนื่องจากน้ำต้นทุนมีปริมาณจำกัด ซึ่งอาจเกิดปัญหาแย่งชิงน้ำได้ สำหรับน้ำที่เหลืออยู่ควรสงวนไว้เพื่อการอุปโภคบริโภค รวมถึงการรักษาสภาพแวดล้อมต่างๆ หากจะนำมาใช้เพื่อการเกษตรน่าจะไม่เพียงพอ

อย่างก็ตาม โค้งสุดท้ายก่อนสิ้นฤดูฝนในอีก 3 - 4 สัปดาห์ข้างหน้านี้ ยังมีร่องความกดอากาศที่พาดผ่านประเทศไทย ซึ่งทำให้เกิดความชื้นสัมพัทธ์เพียงพอ และสามารถที่จะทำฝนหลวงได้ กรมฝนหลวงจึงได้มอบหมายให้หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 9 หน่วย เร่งระดมทำฝนหลวงอย่างเต็มที่ โดยให้เตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่ และเพิ่มจำนวนเที่ยวบินขึ้นบินทำฝนหลวงทันทีเมื่อสภาพอากาศมีความเหมาะสม มุ่งเติมน้ำในเขื่อนตามนโยบายของ รมว.เกษตรและสหกรณ์ และเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศให้ได้มากที่สุดในช่วงปลายฤดูฝน ขณะเดียวกันยังมีการตั้งศูนย์ปฎิบัติดารฝนหลวงเพิ่มอีกแห่งหนึ่ง ที่ จ.ตาก เพื่อเติมน้ำในเขื่อนในพื้นที่ภาพเหนือทั้งหมดด้วย

ทั้งนี้ หลังเดือน ต.ค.เป็นต้นไป แม้สภาพอากาศจะไม่เหมาะสมต่อการทำฝนหลวง ทางกรมฝนหลวงก็ได้มีการจัดเตรียม "หน่วยเคลื่อนที่เร็ว" อยู่ที่ จ.นครสวรรค์ 3 หน่วย และมีศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงทุกภูมิภาคคอยตรวจเช็คและติดตามสภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในช่วงเดือน พ.ย.- ก.พ.ยังมีโอกาสที่จะเกิดฝนได้ ครั้งละ 2 - 3 วัน หากตรวจพบว่าสภาพอากาศมีความเหมาะสม หน่วยเคลื่อนที่เร็วจะขึ้นบินฉกฉวยสภาพอากาศเพื่อเติมน้ำให้กับเขื่อนต่างๆ และทำฝนหลวง เพื่อหล่อเลี้ยงพื้นที่การเกษตรที่ต้องการใช้น้ำ

นอกจากนั้น ยังมีแผนเลื่อนกำหนดการปฏิบัติการฝนหลวงประจำปีให้เร็วขึ้นจากเดิม ที่เริ่มต้นในวันที่ 1 มี.ค.ของทุกปี สำหรับปี 59 นี้ จะเลื่อนขึ้นมาเป็นเดือน ก.พ.ซึ่งคาดว่า สภาพอากาศจะมีความชื้นเพียงพอที่จะทำฝนหลวงได้ เป็นมาตรการหลักที่กรมฝนหลวงได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง

นายวราวุธ กล่าวแนะนำว่า ขณะที่ฤดูฝนยังไม่หมด ขอความร่วมมือเกษตรกรทั่วประเทศให้ช่วยกันเก็บกักและสำรองน้ำฝนไว้ให้ได้มากที่สุดก่อนเข้าสู่ฤดูหนาว เพื่อจะได้มีน้ำใช้เพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภค ทั้งยังควรปรับระบบปลูกพืชหลังนาหรือพืชฤดูแล้ง โดยเน้นปลูกพืชใช้น้ำน้อยและอายุเก็บเกี่ยวสั้น และควรใช้น้ำอย่างประหยัดและรู้คุณค่าด้วย เพื่อให้สามารถผ่านพ้นช่วงวิกฤติไปได้

จาก http://www.naewna.com วันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2558

“กอน.” เกาะติดน้ำตาลตลาดโลก

„“กอน.” เกาะติดน้ำตาลตลาดโลก หลังราคาดิ่งไม่ขยับ กระทบหนัก ระบายน้ำตาลไม่ได้ แม้กระสอบเดียว ทั้งที่ปกติขายล่วงหน้าได้แล้ว 40-50%

รายงานข่าวจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.) เปิดเผยว่า ขณะนี้กอน.ยังต้องติดตามราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกอย่างใกล้ชิด เนื่องจากผลการคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 58/59 ค่อนข้างมาก เพราะจนถึงขณะนี้บริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด (อนท.) ยังไม่สามารถทำราคาขายน้ำตาลทรายดิบส่งออก (โควตา ข.) ได้เลย เพราะตั้งราคาไว้ที่ 12.55 เซนต์ต่อปอนด์ แต่ความเคลื่อนไหวของราคาตลาดโลกยังคงต่ำกว่า และยังกระทบต่อเนื่องไปยังการจำหน่ายน้ำตาลทรายส่งออกของโรงงานน้ำตาล(โควตาค.)อีกด้วย“

ปกติทุกปี อนท.จะต้องทำราคาขายน้ำตาลส่งออกได้แล้ว 40-50% แต่นี่ยังไม่ได้เลยทำให้การคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นปี 58/59 ต้องระมัดระวังอย่างมาก ขณะที่โรงงานเองก็ยังไม่กล้าทำราคาเช่นกันเมื่ออนท.ยังไม่สามารถระบายออกในราคาดังกล่าวได้เพราะจะมีผลต่อการคำนวณราคาอ้อย ขณะที่การส่งมอบน้ำตาลทรายส่งออกขณะนี้เองก็มีการชะลอเพราะภาวะเศรษฐกิจโลกทำให้น้ำตาลส่งออกคงค้างที่โกดัง 27-28 ล้านกระสอบ"

ทั้งนี้การทำราคาขายน้ำตาลทรายล่วงหน้านั้นหากต้องการให้ราคาอ้อยขั้นต้นเฉลี่ยอยู่ที่ 800 บาทต่อตันราคาส่งออกจะต้องเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 13.5-14 เซนต์ต่อปอนด์และค่าเงินบาทเฉลี่ย 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่ขณะนี้ยอมรับว่า แม้ตัวเลขปริมาณการผลิตและสต็อกน้ำตาลทรายโลกจะลดลงบ้างแต่ความต้องการก็ยังคงต่ำกว่าการผลิต และยังมีปัจจัยค่าเงินของบราซิลที่อ่อนค่ามากทำให้บราซิล ที่เป็นผู้ผลิตน้ำตาลตลาดโลกอันดับ 1 มีศักยภาพในการขายราคาน้ำตาลทรายที่ราคาต่ำได้มากกว่าไทย

จาก http://www.dailynews.co.th   วันที่ 22 กันยายน 2558

สถานการณ์น้ำเขื่อนเริ่มคลี่คลาย เคาะ8มาตรการ-กษ.ยังงดส่งน้ำ

เมื่อเวลา 14.00 น. ที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงสถานการณ์น้ำว่าทาง พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้กล่าวในที่ประชุมถึงสถานการณ์น้ำในขณะนี้ โดยเบื้องต้น ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำทั้งสิ้น 2,500 ล้าน ลบ.ม. ลุ่มแม่น้ำแม่กลอง มีปริมาณน้ำทั้งสิ้น 4,300 ล้านลบ.ม. และส่วนที่เหลือทั้งประเทศมีปริมาณน้ำทั้งสิ้น 7,800 ลบ.ม.ที่ถือว่าไม่เดือดร้อนเพราะยังมีฝนตกลงมาอยู่ แต่อนาคตข้างหน้าพื้นที่ที่อาจจะมีปัญหาวิกฤต คือพื้นที่เฉพาะลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ที่มีพื้นที่ 10.7 ล้านไร่ มีเกษตรกร 476,000 ครัวเรือน ซึ่งขณะนี้ประเมินว่าสถานการณ์น้ำคลี่คลายไปได้ระดับหนึ่ง

ด้านกรมอุตุนิยมวิทยามีรายงานว่า ในช่วง 2-3 สัปดาห์หน้า จะมีฝนตกบริเวณพื้นที่ภาคเหนือ และอีสานตอนบน ส่งผลให้สถานการณ์น้ำในเขื่อนหลักพัฒนาดีขึ้น เพราะฉะนั้นจากที่เคยมีข้อสรุปว่าจะต้องมีมาตรการงดส่งน้ำ และ คงยังไม่พูดถึง เพราะต้องประเมินสถานการณ์น้ำเป็นรายสัปดาห์ คาดว่าอาจจะพัฒนาดีขึ้น เพราะนอกจากรายงานของกรมอุตุฯแล้ว ยังมีทีมฝนหลวงอีก 9 ทีมที่ดำเนินการในพื้นที่ที่สามารถจะทำให้ฝนตกลงมาในแอ่งรับน้ำเพื่อไหลลงสู่เขื่อน โดยไม่ให้ไปซ้ำเติมพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากหย่อมความกดอากาศต่ำจากพายุหว่ามก๋อ

นอกจากนี้ยังได้มีการเสนอ 8 มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ประกอบด้วย 1.การส่งเสริมความรู้และปัจจัยการผลิตเพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน ที่มีการแยกงานชัดเจน เน้นสนับสนุนการสร้างอาชีพและส่งเสริมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการปลูกพืช โดยกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 2.การชะลอหรือขยายระยะเวลาในการชำระหนี้ของเกษตรกรต่อสถาบันการเงิน มีกระทรวงเกษตร และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธกส.) ดำเนินการ 3.การจ้างงานและรายได้ให้เกษตรกร มีกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงแรงงานดำเนินการ ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจลงไปในระบบ 130,000 ล้านบาท ผ่านกองทุนหมู่บ้าน ชุมชนเมือง ตำบลละ5ล้าน รวมไปถึงการกระตุ้นโครงการของรัฐ และรัฐวิสาหกิจ ที่ไม่เกิน1ล้านบาท 4.การเสนอโครงการตามความต้องการของชุมชน กระทรวงเกษตรฯดำเนินการ 5.การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำที่ทุกส่วนราชการต้องรณรงค์อย่างประหยัด และปฏิบัติให้เป็นตัวอย่าง 6.การเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน ให้กระทรวงเกษตรฯดำเนินการขุดลอกแหล่งน้ำเกษตร และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดูแลการขุดบ่อน้ำบาดาล 7.การเสริมสร้างสุขภาพและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เพื่อช่วยลดรายจ่ายให้เกษตรกร และ8.การสนับสนุนด้านอื่นๆ ที่มีกระทรวงมหาดไทย ธกส. กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดำเนินการหารือในรายละเอียด และเสนอโครงการที่จำเป็น อย่างไรก็ตาม 8 มาตรการดังกล่าว ที่ประชุมครม.เห็นชอบในรายละเอียด แต่ในทางปฏิบัติคงต้องหารือกันต่อไป

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 22 กันยายน 2558 

ชี้สถานการณ์น้ำวิฤกตสุดรอบ40ปี เตือน!คนไทยเตรียมรับมือภัยแล้ง

นายวราวุธ ขันติยานันท์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้นำคณะสื่อมวลชนขึ้นบินตรวจสอบสภาพน้ำในเขื่อนหลัก 4 เขื่อน เพื่อสำรวจปริมาณน้ำ โดยพบว่า เขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำใช้การได้ร้อยละ 8 มีปริมาณน้ำ 754 ล้านลบ.ม. , เขื่อนสิริกิติส์ ร้อยละ 21 มีปริมาณน้ำใช้การ 1,385 ล้านลบ.ม. , เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ร้อยละ 26 มีปริมาณน้ำ 232 ล้านลบ.ม.และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ร้อยละ17 มีปริมาณน้ำใช้การได้ 158 ล้านลบ.ม.

นายวราวุธ กล่าวว่า ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ต่ำมากเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา สถานการณ์ถือว่าวิฤกตหนักในรอบ 40 ปี โดยในช่วงฤดูแล้งปี 59 กำลังจะมาถึง ไม่มีน้ำทำการเกษตรเลย ในส่วนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำลังเสนอแผนการแก้ปัญหาภัยแล้งเร่งด่วน โดยแจ้งให้เกษตรกรรับทราบปริมาณน้ำจำกัด วางแผนเกษตรกรปรับเปลี่ยนปลูกพืชระยะสั่น รณรงค์ใช้น้ำอย่างประหยัด ส่วนการปฎิบัติงานฝนหลวง เร่งดำเนินการเติมน้ำในเขื่อนอย่างเต็มที่ทันทีสภาพอากาศเหมาะสม

ทั้งนี้ คาดว่าฤดูฝนจะหมดใน 3 สัปดาห์นี้ เข้าสู่หน้าหนาว จากการประเมินสถานการณ์น้ำของกรมชลประทาน วางแผนบริหารจัดการน้ำ ว่าต้องมีน้ำสำรอง 2 เขื่อนหลัก คือ เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติส์ ไม่น้อยกว่า 3.5 พันล้านลบ.ม.แต่ตรวจสอบพบว่า น้ำใช้การได้จริงรวมเพียง 2.1 พันล้านลบ.ม.เท่านั้น ขณะนี้เข้าสู่วิฤกตแล้งแล้ว แม้ว่ามีฝนตกมาแต่ไม่มีน้ำเข้าเขื่อนตามคาดหมาย

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 22 กันยายน 2558

เตือนวิกฤติแล้งต่อเนื่องแนะวางแผนรับมือ'3ปี

          "ฉัตรชัย" เสนอ 12 มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร พ้นภัยแล้ง เข้าครม. คาดกระทบพื้นที่เกษตรกว่า 10 ล้านไร่ เกษตรกร 4 แสนครัวเรือน ด้านวงเสวนาวิชาการระบุปีหน้าแล้งหนัก ทั่วประเทศ สาหัสกว่าปีนี้  ถ้าไม่เร่งแก้ไขจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปอีก 3 ปี แนะหาเจ้าภาพบริหารจัดการน้ำ ลำดับความสำคัญการจ่ายน้ำ และต้องปรับพฤติกรรมการใช้น้ำ

          พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยวานนี้ (21 ก.ย.)ว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรี กระทรวงเกษตรฯ จะเสนอให้มีการพิจารณามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงแล้งปี 2558/59 เนื่องจากกรมชลประทานไม่สามารถบริหารจัดการน้ำให้ภาคการเกษตรได้ และมีความจำเป็นต้องงดกิจกรรมการเกษตรทั้งหมดในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาและแม่กลอง

          "มาตรการช่วยเหลือดังกล่าว กระทรวงเกษตรฯเป็นหน่วยงานรวบรวมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในเบื้องต้นมีอยู่ 12 มาตรการแล้วจากกระทรวงเกษตรฯ6 มาตรการที่เหลือเป็นของกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน เสริมเข้ามา ซึ่งการช่วยเหลือจะออกมาเป็นในรูปแพ็คเกจ ให้ครอบคลุมทุกด้าน ที่สำคัญต้องสร้างรายได้กับเกษตรกรด้วย "พล.อ. ฉัตรชัย กล่าว

          โดยความช่วยเหลือในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ ประกอบไปด้วย การส่งเสริมความรู้ด้านเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ สนับสนุนปัจจัยการผลิต  สนับสนุนปศุสัตว์ ควบคุมการใช้น้ำ มาตรการจ้างแรงงาน แก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรที่มีกับธนาคารของรัฐ โดยมีพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง พื้นที่10.7 ล้านไร่ เกษตรกรประมาณ 4 แสนครัวเรือน ส่วนปริมาณน้ำที่สามารถเก็บได้ใน 4 เขื่อนหลักนั้น จะมีเพียงพอสำหรับการอุปโภค บริโภค การรักษาระบบนิเวศน์ ตั้งแต่เดือน พ.ย.2558- เม.ย. 2559 หรือจนกว่าจะเข้าสู่ฤดูปกติ

          ส่งเสริมแหล่งอาหารในครัวเรือน

          แหล่งข่าวแจ้งว่า 6 มาตรการช่วยเหลือของกระทรวงเกษตรฯ  ประกอบด้วย 1.ส่งเสริม ความรู้และส่งเสริมปัจจัยการผลิต ได้แก่การส่งเสริมความรู้เพื่อการปรับตัวและบรรเทาผลกระทบ การสนับสนุนพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ปีก พันธุ์สัตว์น้ำ สำหรับเป็นแหล่งอาหารในครัวเรือน เพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน ส่งเสริมการเลี้ยงปศุสัตว์ ประมง และพืชผัก เป็นแหล่ง อาหาร เพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน

          รวมทั้งมีการฝึกอาชีพ เช่นการแปรรูปสินค้าเกษตร การจักสานหัตกรรม ส่วนพื้นที่แล้งทั่วไป จะส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อย เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พืชตระกูลถั่ว การฝึกอาชีพ มีการส่งเสริมการทำปุ๋ยหมักในครัวเรือน

          ระดมทำฝนหลวง-สร้างแหล่งน้ำ

          2.ให้กรมการข้าว ควบคุมการใช้น้ำเฉพาะในพื้นที่วิกฤต 3.ให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดิน (สปก.) และกรมส่งเสริมสหกรณ์  ดูแลการชะลอหรือขยายระยะเวลาชำระหนี้ที่เกษตรกรมีภาระหนี้กับสหกรณ์ และกองทุนในการกำกับของกระทรวงเกษตรฯ 4.ให้กรมชลประทาน กรมส่งเสริมการเกษตร จ้างงานเพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร โดยการจ้างงานเพื่อซ่อมสร้างสาธารณประโยชน์ การฝึกอบรมอาชีพทางเลือก โดยเห็นสมควรให้ทุกส่วนราชการ ที่เกี่ยวข้องดำเนินการจ้างผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งเป็นลำดับแรก

          5.ให้กรมประมง ดำเนินโครงการความต้องการของชุมชน 6.ให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน ได้แก่ การขุดคูคลอง สร้างแหล่งน้ำ ขุดเจาะบ่อบาดาล การปฏิบัติการฝนหลวง และอื่นๆ

          ตั้งวงเสวนารับมือภัยแล้งปีหน้า

          วันเดียวกันมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม  จัดเสวนาวิชาการในหัวข้อ "แล้งนี้เผาหลอก แล้งหน้าเผาจริง ชาวนาเสี่ยงเจ๊งแสนล้าน"

          นายบัญชา ขวัญยืน คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ รักษาการอธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรเกษตรศาสตร์ กล่าวว่าจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ทำให้เกิดความหวาดกลัวน้ำท่วมและส่งผลให้แล้งมาจนถึงขณะนี้ และจะส่งผลไป3ปี ถ้ายังไม่มีการนำบทเรียนในอดีตมาเตรียมพร้อมสำหรับอนาคต

          ปี2559แล้งหนักทั่วทั้งประเทศ

          นอกจากนี้เราไม่มีการบริหารจัดการน้ำที่ดีพอ ที่ผ่านมาเป็นการบริหารแบบปีต่อปี เพราะฝ่ายการเมือง สั่งให้มีการบริหารจัดการแบบนี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบกับปี 2559 แน่นอน และจะวิฤกติมากกว่าเดิม ที่สำคัญ น้ำใน 4 เขื่อนหลักของประเทศ ไม่เคยมีน้ำน้อยขนาดนี้ตั้งแต่มีเขื่อนเหล่านี้มา ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรกรโดยตรง เพราะไม่สามารถทำการเกษตรได้

          ในภาคต่างๆ ได้รับผลกระทบทุกพื้นที่ ยกเว้นในพื้นที่ภาคตะวันออก เพราะมีการเตรียมความพร้อมไว้ตั้งแต่ ปี 2557 และในส่วนภาคเอกชนที่เป็นนิคมอุตสาหกรรม ก็ได้เตรียมความพร้อมและความเป็นไปได้ในการนำน้ำเค็มมาผลิตเป็นน้ำจืด เพื่อการเดินเครื่องจักรได้อย่างต่อเนื่อง

          ต้องลำดับความสำคัญการจ่ายน้ำ

          ด้าน นายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตประธานคณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปการจัดการทรัพยากรน้ำ สภาปฏิรูปแห่งชาติ กล่าวว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ที่ผ่านมา ตั้งแต่รับราชการมาก็เจอมาอย่างต่อเนื่อง แต่มาหนักสุดในปี 2537 ซึ่งได้ใช้มาตรการที่เด็ดขาด สั่งห้ามส่งน้ำ ซึ่งหากจะแก้ไขปัญหานี้ ต้องมีมาตการที่เด็ดขาด ต้องมีการจัดสรรว่าจะส่งน้ำให้ส่วนใดก่อน แล้วจัดสรรเป็นลำดับไป น้ำเหลือแล้วจะไปใช้ในส่วนใด

          ขณะที่ นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ว่าที่อธิบดีกรมฝนหลวง กล่าวว่า ไม่รู้ว่านักวิชาการหรือใครแนะนำให้มีการงดทำนาในช่วงที่ผ่านมา  แต่ก็ยังมีการทำนาถึง 3 ล้านไร่ ทั้งนี้จากการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประชุมหารือถึงการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งเชื่อว่าปี 2559 ที่จะถึงนี้จะไม่สามารถทำได้ง่าย

          ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้น้ำ

          ทั้งนี้ภาคเอกชนได้เตรียมการไว้แล้ว แต่ทางภาครัฐควรมีมาตรการในการจัดการมากกว่านี้ โดยเฉพาะต้องมีการรณรงค์ในการใช้น้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ต้องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้น้ำให้มากกว่าที่เป็นอยู่ สนามกอล์ฟจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงการใช้น้ำ  การทำการเกษตรจะต้องยึดหลักการที่ต้องทำให้เกษตรกรสามารถทำนาได้ตามฤดูกาล ซึ่งในช่วงนี้กำลังเข้าสู่วิกฤต ต้องเตรียมพร้อม การงดการทำนาปรัง ที่เสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ก็จะต้องเตรียมมาตรการที่รองรับ

          นอกจากนี้หากดูภาพรวมฝนตกในช่วงเดือนพ.ค.ถึงก.ย. มีปริมาณฝนน้อยกว่าปกติ ถ้าเป็นอย่างนี้เข้าสู่วิกฤตแน่นอน ยกตัวอย่างเขื่อนบางพร ชลบุรี ที่ผ่านมา น้ำฝนในหนึ่งเดือนเวลาเดียวกันจะต้องตก 300 มิลลิเมตร แต่เดือนนี้ฝนตกแค่ 100 มิลลิเมตร ซึ่งทำให้เอกชนจึงมองเรื่องการทำน้ำจืดจากน้ำเค็ม ที่สำคัญจะไปรอพึ่งน้ำจาก 4 เขื่อนหลักไม่ได้แล้ว

          ต้องมีเจ้าภาพบริหารจัดการน้ำ

          ด้านตัวแทนการประปานครหลวง ( กปน. ) กล่าวว่าการผลิตน้ำของ กปน. ได้ความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ เช่น กรมชลประทาน กรมฝนหลวง กรมอุทกศาสตร์  เพื่อการผลิตน้ำประปาได้อย่างต่อเนื่อง

          อย่างไรก็ดี วิกฤตขณะนี้อยู่ที่ฝั่งตะวันตกยังขาดแคลนน้ำ จึงใช้วิธีแก้ปัญหาโดยการส่งน้ำจากฝั่งตะวันออกไปช่วยเหลือการส่งน้ำประปา นอกจากนี้ ได้มีการร่วมมือกับทางทหารในการสำรวจและดึงน้ำดิบที่ใช้ในการทำประปาใหม่ เพื่อแก้ปัญหาน้ำเค็มหนุน โดยขณะนี้ได้มีการสำรวจจุดที่บริเวณอ.บางปะอิน

          นอกจากนี้ ยังได้มีการเสนอให้หาเจ้าภาพในการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นเอกภาพ เพราะที่ผ่านมานั้น การสั่งการไม่ชัดเจน ภาคส่วนต่างๆไม่รู้หน้าที่ในการทำงานของตน ซึ่งหน่วยงานที่มีพันธกิจเกี่ยวข้องก็ได้พยายามแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอย่างเต็มที่ แต่เมื่อเวลาผ่านไปทุกอย่างก็กลับเข้าสู่ระบบเดิมๆ การบริหารจัดการเดิมๆ ทำให้ปัญหาเกิดขึ้นซ้ำซาก และมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้นในอนาคต

จาก http://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 22 กันยายน 2558

กลุ่มมิตรผล เชิญเข้าร่วมชมนิทรรศการ “A Value Creation Company” ในงาน Thailand Industry Expo 2015 ณ อิมแพ็คชาเลนเจอร์ฮอลล์

          กลุ่มมิตรผล ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลระดับโลกและชีวพลังงานระดับเอเชีย ร่วมแสดงนิทรรศการในงาน Thailand Industry Expo 2015 จัดโดยกระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้แนวคิด"A Value Creation Company" ที่จะนำเสนอนวัตกรรมและเทคโนโลยีการจัดการเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มที่ครอบคลุมธุรกิจอ้อยและน้ำตาล ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ธุรกิจปุ๋ยคุณภาพสูง และธุรกิจวัสดุทดแทนไม้ระดับพรีเมียม พร้อมแสดงการบริหารจัดการไร่อ้อยสมัยใหม่ด้วยเทคโนโลยีเวิลด์คลาสแบบ "มิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม" รวมถึงโครงการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน

          ผู้เข้าชมนิทรรศการจะได้สัมผัสกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีการเกษตรอุตสาหกรรมสมัยใหม่ อีกทั้งยังสามารถร่วมสนุกพร้อมรับของที่ระลึกต่าง ๆ มากมาย และในวันเสาร์-อาทิตย์ที่ 26-27 กันยายน 2558 ยังสามารถเข้าร่วมเวิร์คช็อป 'เมนูเครื่องดื่มพิเศษจากมิตรผล' อีกด้วย

          นอกจากนี้ กลุ่มมิตรผลได้นำผลิตภัณฑ์น้ำตาลประเภทต่าง ๆ มาจำหน่ายในราคาพิเศษ รวมทั้งการจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากชุมชนในโครงการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน

          ขอเชิญชวนเยี่ยมชมบูธมิตรผลที่โซน Thailand Innovation Showcase ในงาน Thailand Industry Expo 2015 ระหว่างวันที่ 22-27 กันยายน 2558

จาก http://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 22 กันยายน 2558

ปริมาณน้ำเข้าเขื่อนลำตะคองน้อย กรมชลฯหวั่นปัญหาแล้งหนักปีหน้า

ที่สำนักชลประทานที่ 8 นครราชสีมา นายชิตชนก สมประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 8 นครราชสีมา  เปิดเผยว่า จากอิทธิพลของพายุในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมาเขื่อนทั้ง 5 แห่งของจังหวัดนครราชสีมามีน้ำไหลเข้าเขื่อนรวมกันกว่า 70 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ยังคงมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ ล่าสุดปริมาณน้ำในเขื่อนทั้ง 5 เขื่อนในจังหวัดนครราชสีมา มีปริมาณน้ำเหลือประมาณ 30% ซึ่งสถานการณ์น้ำน้อยนี้จะส่งผลให้จังหวัดนครราชสีมาประสบปัญหาภัยแล้งอย่างหนักในปีหน้า และที่ผ่านมาถึงแม้จะมีฝนตกลงมาแต่ก็ตกในพื้นที่ท้ายเขื่อนเป็นส่วนใหญ่ ทำให้มีปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนน้อยมาก

ทั้งนี้โดยเฉพาะที่เขื่อนลำตะคอง อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมามีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนประมาณ 27 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันเขื่อนลำตะคองมีปริมาณน้ำใช้การอยู่ที่ 74 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 24% ของความจุเขื่อน โดยตั้งแต่เมื่อวานนี้ถึงขณะนี้มีน้ำไหลลงอ่างฯกว่า 1.5 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งถือว่ายังมีปริมาณน้อยกว่าค่าเฉลี่ยมาก ขณะนี้เรายังคงต้องเฝ้ารอความหวังจากพายุลูกอื่นที่จะพัดเข้ามาในพื้นที่ และจะช่วยเติมปริมาณน้ำในเขื่อนให้เพิ่มขึ้นมากกว่านี้ ส่วนเมื่อช่วงค่ำของเมื่อคืนที่ผ่านมาเกิดฝนตกปอยๆเล็กน้อยไม่ทำให้ได้น้ำแต่อย่างใด ขณะที่ทางฝนหลวงนครราชสีมาได้ปฏิบัติการ 4 เที่ยวบินทำให้มีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลางบริเวณพื้นที่ อ.ปากช่อง , อ.สีคิ้ว , อ.สูงเนิน , อ.ครบุรี ซึ่งทำให้พื้นที่ลุ่มรับน้ำของเขื่อนลำตะคอง , เขื่อนลำมูลบน และเขื่อนลำแชะ โดยในพื้นที่เหนือเขื่อน เขต อ.ปากช่องมีฝนตกประมาณ 6.9 มม. อย่างไรก็ตามน้ำป่าจากอุทยานเขาใหญ่ยังคงไหลบ่าลงมาเรื่อยๆ ซึ่งมีการเฝ้าดูสถานการณ์ตลอด 24 ชม. อยู่แล้ว

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 22 กันยายน 2558

สศก. ทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ฉบับที่ 2 ชู 4 ยุทธศาสตร์หลัก

นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สศก. ได้ปรับปรุง (ร่าง) ยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2559-2564) เสร็จเรียบร้อย โดยกำหนด วิสัยทัศน์ "ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิต การบริโภค การค้า และการบริการ เกษตรอินทรีย์ เป็นที่ยอมรับในระดับสากล" ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มพื้นที่และปริมาณการผลิตเกษตรอินทรีย์ เพิ่มมูลค่าของผลิตผล ผลิตภัณฑ์ สินค้า และบริการด้านเกษตรอินทรีย์ เพิ่มการค้าและการบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์ในประเทศ โดยมี 4 ยุทธศาสตร์ ในการขับเคลื่อนประกอบด้วย ยุทธศาสตร์การส่งเสริม สนับสนุนการวิจัย พัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้ และนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ ยุทธศาสตร์การพัฒนาการผลิตเกษตรอินทรีย์ โดยการถ่ายทอดความรู้ในการผลิตเกษตรอินทรีย์ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ยุทธศาสตร์การพัฒนาและส่งเสริมการตลาด สินค้าและบริการเกษตรอินทรีย์ โดยผลักดันมาตรฐานและระบบการตรวจสอบรับรอง การสร้างมูลค่าเพิ่ม และสุดท้าย ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการและการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ จะเป็นการสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการในระดับต่างๆ

จาก http://www.innnews.co.th   วันที่ 22 กันยายน 2558

“10 ล้านไร่ ” กระอักภัยแล้ง

พล.อ.ฉัตรชัย  สาริกัลป์ยะ  รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ จะเสนอให้พิจารณามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงแล้งปี 2558/59 ต่อครม.เนื่องจากกรมชลประทานไม่สามารถบริหารจัดการน้ำให้กับภาคเกษตรได้  และมีความจำเป็นต้องงดกิจกรรมทางด้านการเกษตรทั้งหมดในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาและแม่กลอง

“มาตรการช่วยเหลือดังกล่าว กระทรวงเกษตรฯเป็นหน่วยงานรวบรวมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในเบื้องต้นมีอยู่ 12 มาตรการ จากกระทรวงเกษตรฯ 6 มาตรการ ที่เหลือเป็นของกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน เสริมเข้ามา ซึ่งการช่วยเหลือจะออกมาเป็นเพ็กเกจ ให้ครอบคลุมทุกด้าน ที่สำคัญต้องสร้างรายได้กับเกษตรกรด้วย”

สำหรับ 6 มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร เช่น ส่งเสริมความรู้ด้านเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ สนับสนุนปัจจัยการผลิต สนับสนุนปศุสัตว์  ควบคุมการใช้น้ำชัดเจน มาตรการจ้างแรงงาน ขยายเวลาการชำระหนี้ เป็นต้น โดยมีพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง 10.7 ล้านไร่ เกษตรกรประมาณ 4 แสนครัวเรือน

จาก http://www.khaosod.co.th  วันที่ 22 กันยายน 2558

กษตรกรอุดรฯ โวย นายทุนเบี้ยวจ่ายค่าอ้อย 5 เดือน ค่า 4.6 ล้าน

ชาวไร่อ้อย ร้อง นายก อบจ.อุดรธานี ขอความเป็นธรรม นายทุนเจ้าของลานรับซื้อ เบี้ยวจ่ายเงิน 4.6 ล้านบาท นานกว่า 5 เดือน ขณะโรงงานน้ำตาล เผย นายทุนเบิกค่าบำรุงอ้อยไปแล้ว 4 ล้าน ไม่เหลือเงินจ่ายเกษตรกร

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 21 ก.ย. ที่ห้องประชุม อบจ.อุดรธานี เกษตรกรชาวไร่อ้อย ต.บ้านหยวก อ.น้ำโสม จ.อุดรธานี ประมาณ 40 คน นำโดย นายเสถียร พละจู อายุ 40 ปี เดินทางเข้าพบกับ นายวิเชียร ขาวขำ นายก อบจ.อุดรธานี เพื่อขอความช่วยเหลือ หลัง นายเอกเชษฐ์ โชคศิริเจริญ เจ้าของลานรับซื้ออ้อยโนนทอง ต.บ้านหยวก อ.น้ำโสม รับซื้ออ้อยจากชาวบ้านไปส่งโรงงานน้ำตาลทรายขาวเริ่มอุดม อ.หนองหาน จ.อุดรธานี แต่ถูก นายกฤษเชษฐ์ ไม่จ่ายเงินเกษตรกร รวมเป็นเงิน 4.6 ล้านบาท

สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 58 นายเสถียร และชาวบ้านจำนวนหนึ่งแจ้งความดำเนินคดีกับ นางบุญยัง โชคศิริเจริญ นายเอกเชษฐ์ โชคศิริเจริญ ลูกชาย และ น.ส.นภัสภรณ์ โชคศิริเจริญ ลูกสะใภ้ ในข้อหาฉ้อโกง เบี้ยวจ่ายค่าซื้อขายอ้อยจากจากชาวบ้าน ตั้งแต่เดือน ก.พ. - ก.ค. พร้อมกับยื่นหนังสือร้องเรียนถึงศูนย์ดำรงธรรม จ.อุดรธานี ซึ่งโรงงานน้ำตาลทรายขาวเริ่มอุดม ยอมจ่ายในส่วนของ นางบุญยัง จำนวน 1.6 ล้านบาท ในวันที่ 20 ต.ค. 58 ที่ สภ.น้ำโสม เนื่องจากโรงงานจะนำหลักทรัพย์ที่นำมาค้ำประกันไปขายเพื่อมาจ่ายให้เกษตรกร แต่เกษตรกรที่ทำสัญญาซื้อขายกับ นายเอกเชษฐ์ จำนวน 4.6 ล้านบาทนั้น จะไม่ได้รับเงิน จึงเดินทางไปขอความช่วยเหลือจาก นายก อบจ.อุดรธานี

หลังรับทราบเรื่องเดือดร้อนของเกษตรกรแล้ว นายวิเชียร ได้ติดต่อไปยัง พ.ต.อ.ประสาน ชนกนำพล ผกก.สภ.น้ำโสม เพื่อขอทราบรายละเอียดและความคืบหน้าของคดี ซึ่งได้รับแจ้งว่าตำรวจได้ออกหมายเรียก นายเอกเชษฐ์ มาพบ 2 ครั้ง แต่ก็ไม่มา และขณะนี้ก็กำลังรวบรวมพยานหลักฐานขออนุมัติศาลออกหมายจับ คาดว่าในสัปดาห์นี้สามารถจะออกหมายจับได้

นอกจากนี้ นายก อบจ.อุดรธานี ยังโทรศัพท์ติดต่อประสานผู้บริหารโรงงานน้ำตาลทรายขาวเริ่มอุดม ที่รับซื้ออ้อยของนายเอกเชษฐ์ ทราบว่า นายเอกเชษฐ์ ได้เบิกเงินเกี๊ยว (เงินบำรุงอ้อย) ของการเพาะปลูกปี 2559 ไปเต็มตามหลักทรัพย์ที่นำมาวางค้ำประกันไปหมดแล้ว เป็นเงินจำนวน 4 ล้านบาท จึงไม่สามารถนำเงินมาจ่ายเกษตรกรได้ ต้องให้ตำรวจดำเนินคดี นายเอกเชษฐ์ ตามกฎหมาย.

จาก http://www.thairath.co.th วันที่ 22 กันยายน 2558

2559 ปี รณรงค์ลดต้นทุนเกษตร 

          พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เร่งขับเคลื่อนให้ปี 2559 เป็นปีแห่งการรณรงค์ลดต้นทุนการผลิตทางการเกษตร โดยดำเนินการลดต้นทุน 4 ด้าน คือ 1.ลดปัจจัยการผลิตทางการเกษตร อาทิ ปุ๋ย สารเคมีทางการเกษตร ยาฆ่าแมลง 2.เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ 3.บริหารจัดการฟาร์มด้วยระบบเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อใช้ทรัพยากรต่างๆ ร่วมกัน โดยเฉพาะเครื่องจักรกลทางการเกษตร 4.เพิ่มช่องทางการตลาด โดยยึดแนวทางและวิธีการดำเนินการจะบริหารจัดการ 3 มิติ คือ เกษตรกร สินค้าเกษตร และพื้นที่ผลิต โดยจังหวัดเป็นผู้จัดการให้มีพื้นที่ขนาด 500-10,000 ไร่ ขึ้นกับชนิดสินค้า และเกษตรกรสมัครใจรวมกลุ่มและรวมพื้นที่ผลิตสินค้าและมีคณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์จังหวัด กำกับดูแลและติดตาม รวมทั้งศูนย์เรียนรู้การเกษตร 882 ศูนย์

          พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวว่า การดำเนินการปีงบประมาณ 2558 ได้คัดเลือกสินค้า พื้นที่ และผู้จัดการสินค้า แบ่งเป็น พืช 12 ชนิด ปศุสัตว์ 3 ชนิด ประมง 3 ชนิด และเกษตรผสมผสาน รวม 263 แปลง คัดเลือกผู้จัดการแปลง 252 คน และอบรมพัฒนาทักษะหลักสูตรผู้จัดการแปลงแล้ว อยู่ระหว่างจัดทำแผนปฏิบัติการแต่ละแปลงใหญ่ และอยู่ระหว่างสำรวจภาวะเศรษฐกิจ สังคมครัวเรือนเกษตรในแปลงใหญ่ ส่วนปีงบประมาณ 2559 มีแผนที่จะดำเนินการต่อเนื่องโดยใช้งบประมาณ 470 ล้านบาท อาทิ การติดตั้งแอพพลิเคชั่น OAE.Info ให้กับผู้จัดการแปลงและขยายผลไปยังเกษตรกรรายแปลงในพื้นที่แปลงใหญ่ ประกอบด้วย ราคาที่ไร่นา ราคาขายส่งในจังหวัด และราคากรุงเทพมหานคร ราคาตลาดโลกและราคาซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า แผนจัดหาปัจจัยการผลิต แผนการผลิตรายแปลง เป็นต้น และประกาศอย่างเป็นทางการ 1 ธันวาคมนี้

จาก http://www.matichon.co.th วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2558

นายกฯสั่งกระทรวงเกษตร-สหกรณ์ เร่งจัดการน้ำแก้ปัญหาขาดแคลน

นายกรัฐมนตรีสั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับคณะกรรมการกำหนดนโยบายการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการใช้น้ำ รวมทั้งประสานกรมประชาสัมพันธ์ในการเพิ่มช่องทางการสื่อสารข้อมูลการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบาดาลให้ประชาชนรับทราบผ่าน Applicationด้วย

นายอนันตพล บุญชู รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เปิดเผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี(นรม.) และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(หน.คสช.)  ได้มีข้อสั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับคณะกรรมการกำหนดนโยบายการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการวางแผนบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ โดยการนำแนวทางการบริหารจัดการน้ำระดับสากลมาปรับใช้เพื่อรองรับปัญหาการขาดแคลนน้ำและความเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคต พัฒนาแหล่งน้ำให้สะอาด โดยเฉพาะแหล่งน้ำนอกเขตชลประทาน ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเพาะปลูกและเปลี่ยนผู้ปลูกเป็นผู้ค้าแทนเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องราคาสินค้าเกษตรกรรม ทำความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับแนวทางการบริหารจัดการน้ำอย่างจริงจังของรัฐบาล ทั้งนี้ให้มีการบูรณาการปรับปรุงแผนบริหารจัดการน้ำที่ไม่ชัดเจนและสอดคล้องกันให้อยู่ในกรอบที่เป็นไปตามยุทธศาสตร์ 4 ยุทธศาสตร์ (ปีพ.ศ.2558-2569)

ด้านการจัดสรรทรัพยากรน้ำเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการใช้น้ำนั้น ได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันดำเนินการสร้างอ่างเก็บน้ำ การจัดทำแก้มลิงเพื่อเก็บกักน้ำ และเติมน้ำในอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ เพื่อเก็บไว้ใช้ในไร่นา โดยให้มีอ่างเก็บน้ำหมู่บ้านและงดทำนาปรัง ให้มีการจัดสรรทรัพยากรน้ำสำหรับรองรับพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ และให้เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคของประชาชนให้เกิดความเท่าเทียมและเป็นธรรม

ด้านกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ดำเนินการสำรวจพื้นที่ราชพัสดุหรือที่ดินในการกำกับดูแลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงที่ดินของประชาชนที่เป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก เพื่อนำมาทำเป็นทะเลสาบขนาดใหญ่แห่งใหม่ เพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำแห่งใหม่ ลักษณะแบบทะเลสาบน้ำจืด เช่น บึงบอระเพ็ด กว๊านพะเยา เพื่อไว้ใช้สำหรับกักเก็บน้ำและพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว รวมทั้งให้สำรวจความเหมะสมในการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลของประชาชน รวมทั้งให้ประสานกรมประชาสัมพันธ์ในการประชาสัมพันธ์อักษรวิ่งทางสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบเกี่ยวกับช่องทางการสื่อสารข้อมูลทาง Application เพื่อเป็นการสนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบาดาลด้วย

จาก http://www.naewna.com วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2558

อุตฯ อ้อยและน้ำตาลทรายไทยเล็งอนาคตนำน้ำตาลทรายดิบผลิตเป็นเอทานอลเพิ่ม คาดการณ์ปริมาณและคุณภาพผลผลิตอ้อยปีนี้ใกล้เคียงฤดูหีบปีก่อน

          อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย แก้ปมราคาตลาดโลกตกต่ำ เล็งในอนาคตนำอ้อยและน้ำตาลทรายดิบผลิตเป็นเอทานอลเพิ่ม ขยายตลาดในประเทศ ลดปริมาณน้ำตาลส่งออก พร้อมคาดการณ์ปริมาณและคุณภาพอ้อยเข้าหีบฤดูการผลิตปี 58/59 ใกล้เคียงปีก่อน หลังปัญหาภัยแล้งส่งผลต่อคุณภาพและปริมาณผลผลิตอ้อย

          นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย(Mr.Sirivuth Siamphakdee, President of the Thai Sugar Millers Corporation Limited' s public relations working group) เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายมีความกังวลต่อสถานการณ์ภาวะราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกตกต่ำอยู่ในขณะนี้ เนื่องจากปริมาณผลผลิตน้ำตาลทรายในตลาดโลกยังเกินกว่าความต้องการบริโภค ซึ่งเป็นแรงกดดันต่อราคาตลาดโลก ด้วยปัจจัยดังกล่าวเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของชาวไร่อ้อย รวมถึงรายได้ของระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยในฤดูหีบปีนี้

          ดังนั้น ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาล จึงต้องการลดปริมาณการส่งออกเพื่อลดอุปทาน (Supply) ในตลาดโลก โดยนำน้ำอ้อย หรือน้ำตาลทรายดิบมาใช้เป็นวัตถุดิบผลิตเอทานอลให้มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อชาวไร่อ้อยที่จะมีตลาดรองรับซื้อผลิตภัณฑ์จากน้ำตาลได้มากขึ้น เกิดประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายโดยรวมมากกว่าการผลิตน้ำตาลส่งออก โดยก่อนหน้านี้ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลได้เคยทำเรื่องเสนอให้คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ขอนำน้ำตาลทรายดิบไปผลิตเป็นเอทานอล และ กอน. ก็เห็นชอบอนุมัติให้ทำได้ เนื่องจากเป็นหนึ่งในแนวทางการรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำตาล และระบบอุตสาหกรรมนี้ด้วย อีกทั้ง ยังเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมในประเทศที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูง ซึ่งใช้น้ำอ้อยหรือน้ำตาลเป็นวัตถุดิบ อย่างไรก็ดี ยังจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง หรือกำหนดกติกาที่มีความชัดเจน เพื่อให้เกิดความคล่องตัว และเอื้อต่อการทำธุรกิจ

          "เรากังวลต่อสถานการณ์ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกในขณะนี้ ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าที่ควรจะเป็น เนื่องจากมีปริมาณผลผลิตน้ำตาลเข้าสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก และยังมีปริมาณน้ำตาลสำรองอยู่ในระดับสูง เราในฐานะที่เป็นผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก จำเป็นต้องบริหารจัดการเพื่อให้เอื้อประโยชน์สูงสุดต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทย โดยการนำน้ำตาลทรายดิบไปผลิตเป็นเอทานอล หรือสนับสนุนส่งเสริมให้นำไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ ให้มากขึ้น เพื่อสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ดีกว่าและช่วยลดปริมาณน้ำตาลที่จะเข้าสู่ตลาด" นายสิริวุทธิ์ กล่าว

          ขณะเดียวกัน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย ยังได้คาดการณ์ปริมาณและคุณภาพผลผลิตอ้อยในฤดูการผลิตปี 58/59 ที่จะเปิดหีบอ้อยในช่วงปลายปีนี้ว่า ปริมาณผลผลิตอ้อยเข้าหีบจะใกล้เคียงกับฤดูการผลิตปีที่ผ่านมาที่มีปริมาณอ้อยเข้าหีบ 106 ล้านตันอ้อยและผลิตน้ำตาลทรายได้ 11 ล้านตัน แม้ว่า ในช่วงฤดูการผลิตปีนี้จะมีการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกอ้อยขึ้น แต่จากฝนทิ้งช่วงนานกว่าทุกปี ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงต้นฤดูการเพาะปลูกของฤดูหีบปีนี้ ทำให้การเพาะปลูกอ้อยในหลายพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งและมีน้ำไม่เพียงพอหล่อเลี้ยงตออ้อยซึ่งส่งผลกระทบต่อปริมาณและคุณภาพผลผลิตอ้อยน้ำตาลในปีนี้ลดลงได้

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2558

อ้อยอินทรีย์เพิ่มทางเลือกเกษตรกรป้อนโรงงานน้ำตาลคนรักสุขภาพ

           ท่ามกลางผู้คนทั่วโลกหันมาสนใจในเรื่องของสุขภาพ โดยเฉพาะอาหารการกินที่มีความปลอดสารพิษ ทำให้ “กลุ่มวังขยาย” สบช่องหันมาส่งเสริมเกษตรกรให้ปลูกอ้อยอินทรีย์ในรูปแบบของเกษตรพันธสัญญา หรือคอนแทรคฟาร์มมิ่ง เพื่อผลิตน้ำตาลออร์แกนิกเจ้าแรกและเจ้าเดียวในประเทศไทยมาตั้งปี 2549 จนสามารถผลิตเป็นน้ำตาลออร์แกนิกจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศได้ในปี 2554 แต่เวลาผ่านไป 10 ปี การผลิตน้ำตาลออร์แกนิกได้เพียง 4% จากทั้งหมดการผลิตน้ำตาลทั้งหมดของกลุ่มวังขนายในปัจจุบัน กระนั้นกลุ่มวังขนายต้งเป้าไว้ว่าอีก 3-5 ปีข้างจะสามารถขยับขึ้นมาเป็น 30% จากเป้าที่ตั้งไว้ว่าต้องให้ได้ 100% ในอนาคต

           หากดูตัวเลขประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตอ้อยมากถึง 100 ล้านตันอ้อยต่อปี สามารถแปรรูปเป็นน้ำตาลได้ประมาณ 10 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า 1.9 แสนล้านบาท ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากประเทศบราซิล แต่สำหรับน้ำตาลออร์แกนิกไทยส่งออกเป็นอัน 3 ของโลกรองจากบราซิลและปารากวัย เนื่องจากในประเทศไทยผลิตน้ำตาลออร์แกนิกเพียงรายเดียวเท่านั้นคือกลุ่มวังขนายนั่นเอง

           “ที่จริงกลุ่มวังขนายประกาศนโยบายการผลิตอ้อยอินทรีย์และน้ำตาลออร์แกนิกมาตั้งแต่ปี 2547 แต่เริ่มดำเนินการส่งเสริมและให้การสนับสนุนเกษตรกรปลูกอ้อยในระบบเกษตรอินทรีย์เมื่อปี 2549 จนเราสามารถผลิตเป็นน้ำตาลออร์แกนิกจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศเมื่อปี 2554 โดยเกษตรกรที่ร่วมโครงการจะได้ราคาเพิ่มตันละ 50 บาทและสามารถลดต้นทุนได้จากเดิมไร่ละ 4,700 บาท เหลือ 3,900 บาทย” ดร.ณรงค์ ชินบุตร ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมกลุ่มวังขนาย กล่าวระหว่างไปเยี่ยมแปลงเกษตรกรที่ปลูกอ้อยอินทรีย์ที่ จ.ลพบุรี

           ส่งเสริมให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยหันมาปลูกอ้อยอินทรีย์ ดร.ณรงค์ ยืนยันว่า เป็นไปตามตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์ หรือไอโฟม (IFOAM: International Federation of Organic Agriculture Movement) และจัดตั้งระบบควบคุมภายในที่เรียกว่าไอซีเอส (Internal Control System : ICS) เพื่อติดตามตรวจรับรองแปลงอ้อยอินทรีย์และเป็นที่ฝึกอบรมนักวิชาการและเจ้าหน้าที่ส่งเสริมอ้อยให้มีความรู้การทำเกษตรอินทรีย์ ระบบและมาตรฐานเกษตรอินทรีย์

           จากนั้นมีการรับสมัครและคัดเลือกเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ เน้นการฝึกอบรมให้ความรู้วิธีการทำเกษตรอินทรีย์ การทำปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพใช้เองโดยกลุ่มวังขนายได้รับการสนับสนุนในการฝึกอบรมจากหน่วยงานของรัฐ อาทิ กรมพัฒนาที่ดิน กรมวิชาการเกษตรและกรมส่งเสริมการเกษตร ก่อนจะทำการคัดเลือกแปลงเกษตรกรตามหลักการของเกษตรอินทรีย์ เก็บตัวอย่างดินส่งวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงดินก่อนปลูกอ้อย จึงทำให้น้ำตาลออร์แกนิกของกลุ่มมิตรวังขนาย ได้รับการรับรองมาตรฐานของตลาดร่วมกลุ่มประเทศยุโรป (EEC 483/2007) มาตรฐานของประเทศสหรัฐอเมริกา ( USDA-NOP) และมาตรฐานประเทศญี่ปุ่น (Japan Agriculture Standard; JAS )

           ปัจจุบันมีเกษตรกรปลูกอ้อยอินทรีย์ที่ผ่านการรับรองจำนวนกว่า 800 ราย ปลูกอ้อยในพื้นที่กว่า 3 หมื่นไร่ ผลิตน้ำตาลออร์แกนิกได้กว่า 1.5 หมื่นตัน จำหน่ายในประเทศไทย 6,000-7,000 ตัน ที่เหลือส่งออกไปยังฝรั่งเศส เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ มาเลเซีย เกาหลีใต้ ฮ่องกง และจีน แต่เพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภคได้มากขึ้น กลุ่มวังขนายเดินหน้าส่งเสริมให้เกษตรกรขยายพื้นที่ปลูกอ้อยอินทรีย์มากขึ้น ตั้งเป้าอีก 3 ปีจะเพิ่มปริมาณอ้อยอินทรีย์ให้ได้ถึง 30% ของปริมาณอ้อยทั้งหมดของกลุ่มวังขนาย แต่เป้าหมายจริงๆ ต้องการให้ผลิตได้ 100% ในอนาคต

           เพียว จันทร์เพ็ง ชาวไร่อ้อย ต.หนองยายโต๊ะ อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี เกษตรกรที่หันมาปลูกอ้อยอินทรีย์แบบจริงจัง กล่าวว่า เริ่มเข้าโครงการมาตั้งแต่ปี 2553 เริ่มต้น 7 ไร่ก่อน และขยายเป็น 32 ไร่ จากพื้นที่ปลูกอ้อยทั้งหมด 180 ไร่ เนื่องจากเห็นถึงราคาที่ได้เพิ่มขึ้นและได้ของแถมคือสุขภาพที่ดีขึ้นตามมา หลังจากที่เลิกใช้สารเคมีในการปลูกอ้อยมา 14 ปีแล้ว พบว่าในแต่ละปีใช้เงินลงทุนกว่า 2-3 แสนบาท พอนานเข้าสภาพของดินกลายเป็นดินแข็ง สุขภาพของตัวเองก็ไม่ค่อยดี

           หลังจากมีเจ้าหน้าที่จากโครงการอ้อยอินทรีย์ของกลุ่มวังขนายมาแนะนำให้รู้จักการทำเกษตรอินทรีย์จึงร่วมโครงการโดยปลูกอ้อยพันธุ์ขอนแก่น 3 และ แอลเค 11 ปีแรกเก็บเกี่ยวได้ 12 ตันต่อไร่ เท่ากับอ้อยทั่วไป พอปีที่ 2 ได้ 14 ตันต่อไร่ ค่าความหวาน (ซีซีเอส) เพิ่มขึ้น แต่ต้นทุนลดลงมาก ทั้งในเรื่องของค่าปุ๋ยเคมีที่เคยใช้ 1 กระสอบต่อไร่ ในราคา 700 บาท พอเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์จากโรงงาน 1 กระสอบ ราคาเพียง 200 บาท รวมถึงค่ายากำจัดวัชพืช ยาค่าแปลง ปีนี้จึงขยายพื้นที่เพิ่มอีกเป็น 32 ไร่ เพราะเห็นชัดเจนว่ามีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 25%

           “เราลองปลูกแบบอินทรีย์ไม่นาน ที่เห็นชัดคือดินที่แข็งกลับร่วนซุย มีไส้เดือน มีกิ้งกือ และแมลงที่เป็นประโยชน์เพิ่มขึ้นจำนวนมาก สุขภาพก็ดีขึ้น ตอนนี้เดินเข้าแปลงสามารถเดินเท้าเปล่าได้สบายใจ ไม่มีสารเคมีตกค้าง ดินมีความสมบูรณ์ดี อยากแนะนำให้เพื่อนบ้านทำตามบ้าง” เพียว กล่าว

           ขณะที่ เถลิงศักดิ์ ชูเมือง เกษตรกรรุ่นใหม่แห่ง ต.สักจำปา อ.ท่าหลวง จ.ลพบุรี บอกว่ามีที่ทำกินกว่า 50 ไร่ สมัยคุณพ่อใช้พื้นที่ปลูกถั่วเขียว ปลูกฝ้าย ต่อมาปลูกข้าวโพด พอถึงรุ่นเราจึงหันมาปลูกอ้อย พอทราบว่ากลุ่มวังขนายส่งเสริมให้ปลูกอ้อยอินทรีย์จึงสมัครเข้าร่วมโครงการระหว่างร่องปลูกถั่วเขียวเพื่อเพิ่มแร่ธาตุให้ดินพบว่าผลผลิตอ้อยเพิ่มขึ้นและสภาพดินดีขึ้นด้วย

           “เมื่อก่อนเกษตรกรทำไร่ทำนาตามมีตามเกิด ไม่ค่อยใส่ใจวิธีการ แต่ปัจจุบันมีโอกาสเข้าอบรมเรื่องการปลูกพืชบำรุงดินและได้วิธีการดีๆ ใหม่ๆ มาลองทำเสมอ อย่างปลูกถั่วเขียวลงในแปลงอ้อยก็ช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุให้ดิน ช่วยให้ดินโปร่ง ฟู กักเก็บน้ำได้ดี เพราะถั่วจะมีไนโตรเจนทำให้อ้อยมีสีเขียวมากขึ้น ช่วยเก็บความชื้นของดินและคลุมวัชพืชได้ด้วย" เถลิง กล่าว

           การปลูกอ้อยอินทรีย์นับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของเกษตรกรในยุคที่คนหันมาสนใจในเรื่องของสุขภาพ เพราะที่ได้มานอกจากจะลดต้นทุน มีรายได้เพิ่มแล้ว ยังทำให้ส่งผลดีต่อสุขภาพทั้งเกษตรกรและผู้บริโภค ขณะที่บริษัทผู้ซื้อยินดีรับทั้งหมดอีกด้วย

จาก http://www.komchadluek.net   วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2558

ผู้ถือหุ้น BRR ไฟเขียวคลอดหุ้นกู้ระยะสั้น วงเงิน 2,000 ล้านบาท ช่วยบริหารจัดการต้นทุนการเงินรองรับแผนขยายธุรกิจดัน การเติบโตก้าว

           ผู้ถือหุ้น BRR อนุมัติการออกและเสนอขายหุ้นกู้ระยะสั้นอายุ 2 ปี วงเงิน 2,000 ล้านบาท เพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารต้นทุนทางการเงิน รองรับแผนเพิ่มกำลังการหีบอ้อยเพิ่มเป็น 23,000 ตันอ้อยต่อวัน หลังประสบความสำเร็จในการเพิ่มที่เพาะปลูกอ้อยเป็น 200,000 ไร่ พร้อมเสริมความแข็งแกร่งทางการเงินให้กับธุรกิจน้ำตาลทรายและธุรกิจต่อเนื่อง

          นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR ผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายดิบ น้ำตาลทรายขาวสีรำส่งจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ และนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาลทรายไปต่อยอดสู่ธุรกิจพลังงานทดแทน เปิดเผยว่า ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2558 ได้เห็นชอบแผนการออกและเสนอขายหุ้นกู้ระยะสั้นอายุ 2 ปี วงเงิน 2,000 ล้านบาท เพื่อเสนอขายหุ้นกู้ภายในประเทศต่อประชาชนทั่วไป โดยคาดว่าธนาคารกรุงไทยและบริษัทหลักทรัพย์ เคที ซีมิโก้ จำกัด จะเป็นผู้จัดการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ในครั้งนี้ โดย BRR นำเงินที่ได้ไปใช้ลงทุนขยายกำลังการผลิตอ้อยเข้าหีบสำหรับฤดูการผลิตปี 2558/59 เพิ่มเป็น 23,000 ตัน และโครงการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมกันประมาณ 1,200 ล้านบาท และเป็นเงินทุนหมุนเวียนอีก 800 ล้านบาท เพื่อช่วยผลักดันการเติบโตของ BRR ต่อไป

          ประธานกรรมการบริหาร BRR กล่าวว่า แผนดำเนินงานของ BRR นั้น มีเป้าหมายต้องการเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 23,000 ตันอ้อยต่อวัน ซึ่งจะสามารถรองรับปริมาณอ้อยเข้าหีบเพิ่มเป็น 2.5 ล้านตันอ้อย ก่อนเพิ่มเป็น 3 ล้านตันอ้อยในฤดูการหีบอ้อยในปี 2560/2561 โดยขยายพื้นที่เพาะปลูกอ้อยเพิ่มเป็น 200,000 ไร่จากเดิมที่มีพื้นที่เพาะปลูก 190,000 ไร่ ในพื้นที่รัศมี 40 กิโลเมตรรอบโรงงาน ซึ่งสามารถนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตไปต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ธุรกิจพลังงานทดแทนที่บริษัทฯ มีแผนขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง

          "เรามีแผนขยายธุรกิจน้ำตาลทรายและธุรกิจพลังงานทดแทนเพื่อผลักดันการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยการเสนอขายหุ้นกู้ระยะสั้นนี้จะทำให้บริษัทฯ มีเครื่องมือทางการเงินที่มีประสิทธิภาพในการบริหารต้นทุนการเงินเพื่อรองรับการขยายธุรกิจได้อย่างดี จึงได้ออกหุ้นกู้ระยะสั้นอายุ 2 ปีวงเงิน 2,000 ล้านบาท เพื่อเสนอขายให้แก่ประชาชนทั่วไป โดยคาดว่าการออกหุ้นกู้ระยะสั้นในครั้งนี้จะช่วยเสริมศักยภาพการดำเนินธุรกิจของ BRR ให้มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นเพื่อผลักดันผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ให้เติบโตเพิ่มขึ้น" นายอนันต์ กล่าว

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2558

บาทอ่อนหนุนไทยได้เปรียบคู่แข่ง ธปท.ชี้ส่งออกสู้ราคาได้-เฟดคง ดบ.ป่วนตลาดเงิน

ธปท.ชี้ ดัชนีค่าเงินบาทต่ำสุดรอบ 10 เดือน สะท้อนไทยได้เปรียบด้านราคา หนุนผู้ส่งออกแข่งขันดีขึ้น "ประสาร" เผยเฟดคงดอกเบี้ย กระตุกบาทแข็ง ค่ายแบงก์กรุงเทพยันบาทแข็งค่าช่วงสั้น "กสิกรฯ" เตือนระวังตลาดเงินปั่นป่วน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ที่คำนวณโดยเปรียบเทียบกับค่าเงินของประเทศคู่ค้าและคู่แข่งของไทยใน 25 สกุล พบว่า ในเดือน ส.ค. 2558 อยู่ที่ระดับ 106.58 ซึ่งลดลงต่ำสุดในรอบ 10 เดือน นับจากเดือน ต.ค.ปี′57 ค่า NEER อยู่ที่ 105.77 สะท้อนว่า ผลจากค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลง ทำให้ไทยได้เปรียบด้านราคา เมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าและคู่แข่งของไทย

นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ปัจจุบันดัชนีค่าเงินบาทปรับลดลงประมาณ 1.8% เทียบกับสิ้นปีก่อน โดยเริ่มปรับลดลงตั้งแต่ช่วงเดือน เม.ย. 2558 เป็นต้นมา โดยการปรับลดลงของดัชนีค่าเงินที่เป็นการเปรียบเทียบค่าเงินบาทกับคู่ค้าคู่แข่งกลุ่มหนึ่ง ขณะที่การอ่อนค่าของเงินบาทเทียบกับดอลลาร์จะอยู่ที่ประมาณ 8% ก็ช่วยให้ผู้ส่งออกไทยสามารถเสนอราคาขายสินค้าที่แข่งขันได้ดีขึ้น เมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง

"แต่ปัจจัยด้านราคา (ค่าเงิน) เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่สนับสนุนการค้าของไทย แต่การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน ยังคงต้องคำนึงถึงการพัฒนาคุณภาพสินค้าเป็นสำคัญ" นางจันทวรรณกล่าว

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทล่าสุด (18 ก.ย.) นักวิเคราะห์ตลาดเงิน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาเปิดตลาดที่ 35.81 บาท/ดอลลาร์ หลังจากที่ผลประชุมรอบเดือน ก.ย. ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0-0.25%

นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า การตัดสินใจของเฟดในรอบนี้ เป็นที่ผิดคาดจากที่ได้เคยประเมินไว้ เพราะสิ่งที่เฟดพิจารณาเพิ่มเติม คือ เรื่องภาวะเศรษฐกิจต่างประเทศ โดยเฉพาะเศรษฐกิจในจีนและตลาดเกิดใหม่

"การตัดสินใจของเฟดในรอบนี้เชื่อว่าจะทำให้ตลาดเงินมีความผันผวนขึ้น เนื่องจากการคาดการณ์ขึ้นดอกเบี้ยถูกเลื่อนไปในการประชุมรอบหน้า ซึ่งในระหว่างนี้ก็อาจเกิดการคาดการณ์ไปต่าง ๆ อีก ค่าเงินบาทจะผันผวนต่อไปได้" นายกอบสิทธิ์กล่าว

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า การตัดสินใจของเฟดครั้งนี้คงไม่มีผลกระทบต่อตลาดการเงินในไทยที่รุนแรง เนื่องจากประเด็นการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดยังเป็นโจทย์เดิม ที่จะทำให้ความไม่แน่นอนคงมีอยู่ในตลาดเช่นเดิม ครั้งนี้เฟดเลื่อนระยะเวลาการขึ้นดอกเบี้ยออกไป ดังนั้น ธปท.ก็ต้องติดตามดูต่อไป

"การจะปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐอาจนำไปสู่คาดการณ์ต่อไปว่าแล้วจะปรับขึ้นเมื่อไรซึ่งการตัดสินใจคงดอกเบี้ยของสหรัฐคงมองเรื่องปัจจัยภายในของสหรัฐเองด้วยว่าจะฟื้นตัวได้แค่ไหน"นายประสารกล่าว

ส่วนการตัดสินใจคงดอกเบี้ยของกนง. ที่ 1.50% เมื่อการประชุมวันที่ 16 ก.ย.ที่ผ่านมา ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ระดับของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และอัตราแลกเปลี่ยนในปัจจุบัน ถือว่าสามารถประคองเศรษฐกิจได้ค่อนข้างดี โดยเฉพาะอัตราแลกเปลี่ยนที่สอดคล้องกับสกุลเงินในภูมิภาค

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า การแข็งค่าของเงินบาทจะเป็นระยะสั้น ๆ แม้ครั้งนี้เฟดจะตัดสินใจคงดอกเบี้ยไว้ แต่ก็มีการส่งสัญญาณชัดเจนว่าจะขึ้นดอกเบี้ย อย่างน้อย 1 ครั้งในปีนี้ ดังนั้นทิศทางเงินบาทจะยังคงอ่อนค่าได้อีก อย่างน้อย 3-6 เดือนจากนี้ ซึ่งอาจนำไปสู่การตัดสินใจของ กนง. ในการคงดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องยาวถึงกลางปีหน้า จนกว่าจะเห็นภาวะเศรษฐกิจปรับดีขึ้น หรือประสิทธิผลของการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลได้ผล

"ดอกเบี้ยไทยหมดช่วงขาลงแล้ว การลดดอกเบี้ยของ กนง.ในช่วงต้นปี เพราะอยากให้บาทอ่อนค่า ซึ่งก็ได้ผลแล้ว คงไม่เห็น กนง.ปรับดอกเบี้ยลงอีก เพราะค่าเงินบาทระดับ 36.00 บาท เป็นระดับที่เหมาะสมและเอื้อต่อเศรษฐกิจแล้ว และจากการคาดการณ์ขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในระยะข้างหน้า ก็จะยิ่งกดดันบาทให้อ่อนค่าลงไปอีก"

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2558

‘อนท.’โอดน้ำตาลขายไม่ออก หลังตั้งราคาสูงกว่าตลาดโลก

บริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย หรือ “อนท.”เกาะติดราคาตลาดโลกอย่างใกล้ชิดหลังตกต่ำ พร้อมยอมรับยังระบายสินค้าในสต๊อกไม่ได้แม้แต่กระสอบเดียว

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.) เปิดเผยว่า กอน.ยังคงต้องติดตามราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกอย่างใกล้ชิดเพราะจะมีผลต่อการคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2558/59 ค่อนข้างมากเนื่องจากจนถึงปัจจุบัน จน บริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด (อนท.)ยังไม่สามารถทำราคาขายน้ำตาลทรายดิบส่งออก (โควตา ข.)ได้เลยเนื่องจากได้ตั้งราคาไว้ที่ 12.55 เซนต์ต่อปอนด์ แต่ความเคลื่อนไหวของราคาตลาดโลกยังคงต่ำกว่านั้น และปัญหานี้ยังกระทบต่อเนื่องไปยังการจำหน่ายน้ำตาลทรายส่งออกของโรงงานน้ำตาล(โควตา ค.)อีกด้วย

“ปกติของทุกปี อนท.จะต้องทำราคาขายน้ำตาลส่งออกได้แล้ว 40-50% แต่นี่ยังไม่ได้เลยทำให้การคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นปี’58/59 ต้องระมัดระวังอย่างมาก ขณะที่โรงงานเองก็ยังไม่กล้าทำราคาเช่นกันเมื่ออนท.ยังไม่สามารถระบายออกในราคาดังกล่าวได้เพราะจะมีผลต่อการคำนวณราคาอ้อย ขณะที่การส่งมอบน้ำตาลทรายส่งออกขณะนี้เองก็มีการชะลอเพราะภาวะเศรษฐกิจโลกทำให้น้ำตาลส่งออกคงค้างที่โกดัง 27-28 ล้านกระสอบ”แหล่งข่าวกล่าว

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กล่าวว่า ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายมีความกังวลต่อสถานการณ์ภาวะราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกตกต่ำอยู่ในขณะนี้ซึ่ง เกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของชาวไร่อ้อย รวมถึงรายได้ของระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยในฤดูหีบปีนี้ ดังนั้น ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาล จึงต้องการลดปริมาณการส่งออกเพื่อลดอุปทาน (Supply) ในตลาดโลก โดยนำน้ำอ้อย หรือน้ำตาลทรายดิบมาใช้เป็นวัตถุดิบผลิตเอทานอลให้มากขึ้น

“การนำน้ำตาลทรายดิบไปผลิตเป็นเอทานอลเป็นหนึ่งในแนวทางการรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำตาล และระบบอุตสาหกรรมนี้ด้วย อีกทั้ง ยังเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมในประเทศที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูง”นายสิริวุทธิ์กล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2558

‘พพ.’เร่งเครื่องโครงการ เปลี่ยนขยะของเสียเป็นพลังงาน

นายธรรมยศ ศรีช่วย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงพลังงานได้มีนโยบายในการส่งเสริมและปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะในกลุ่มขยะของเสีย เพื่อนำไปผลิตเป็นพลังงาน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายหลักของรัฐบาลนั้น ปัจจุบันการผลักดันและการพัฒนาโรงไฟฟ้าขยะ ได้มีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง

โดยมีการใช้พลังงานจากขยะที่สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date : COD) แล้วเป็นจำนวนทั้งสิ้น 134.717 เมกะวัตต์ จากทั้งหมด 22 โครงการ รวมทั้งยังได้มีโครงการที่เซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement : PPA) แล้ว และอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีกเป็นจำนวนรวม 101.656 เมกะวัตต์ จาก 19 โครงการ และปัจจุบันมีโครงการที่มีศักยภาพได้รับอนุมัติการตอบรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมอีกทั้งหมด 7 โครงการ จำนวนรวม 144.404 เมกะวัตต์ ส่งผลให้ภาพรวมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานขยะของประเทศไทยในขณะนี้มีจำนวนมากถึง 48 โครงการ โดยมีกำลังการผลิตรวมทั้งหมด 380.777 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ ภาพรวมแนวทางการส่งเสริมการผลิตพลังงานจากขยะนั้น กระทรวงพลังงานได้กำหนดอัตราการรับซื้อไฟฟ้าแบบ Feed in Tariff (FiT) สำหรับไฟฟ้าจากขยะ โดยคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้เห็นชอบ FiT เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2557 สำหรับขยะชุมชน และ FiT สำหรับขยะอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558 ตามลำดับ

นอกจากนี้กระทรวงพลังงานยังมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนดำเนินการภายใต้แผนแม่บทการจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ (2558-2562) ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเจ้าภาพหลักในการขับเคลื่อน และมีโครงการหรือแผนงานที่อยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม เช่น โครงการนำร่องการจัดการขยะชุมชนแบบครบวงจรแบบกระจายศูนย์ โครงการศึกษาออกแบบระบบบริหารจัดการขยะเพื่อผลิตเป็นพลังงานทดแทนระดับจังหวัด เป็นต้น

“กระทรวงพลังงานจะได้ดำเนินการเร่งแก้ไขปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาพลังงานขยะ โดยมีการดำเนินงานที่สำคัญ เช่น ขอความร่วมมือในการแก้ไขผลักดันกฎระเบียบต่างๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การขอความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทยและองค์กรปกครองท้องถิ่น ในการส่งเสริมสร้างการมีส่วนร่วมในพื้นที่ให้มีความรู้ที่ถูกต้องในการบริหารจัดการขยะและโรงไฟฟ้าจากขยะ รวมถึงการประสานให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) สนับสนุนการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะ ซึ่งกระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการจัดโซนนิ่ง(Zoning) พื้นที่ที่มีศักยภาพจากพลังงานทดแทนโดยได้ให้ความสำคัญกับการผลิตพลังงานจากขยะเป็นลำดับแรกอีกด้วย (ข้อมูล ณ วันที่ 1 กันยายน 2558)” นายธรรมยศ กล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2558

สกู๊ปพิเศษ : ตีแผ่‘ปุ๋ยแคปซูลนาโน-ปุ๋ยน้ำนาโน’ แหกตาเกษตรกร!

ความต้องการใช้ปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่เพิ่มสูงขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าพืชรองรับตลาดและเสริมขีดความสามารถการแข่งขันที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการบางรายฉวยโอกาสผลิตปัจจัยการผลิตทางการเกษตรปลอม คุณภาพต่ำหรือไม่ได้มาตรฐานออกมาจำหน่ายในท้องตลาด แถมใช้คำโฆษณาชวนเชื่อเกินจริงแบบโจ๋งครึ่มผ่านทีวีดิจิตอลหลายช่อง และมีให้เห็นเกลื่อนเว็บไซต์ หลอกจำหน่ายให้กับเกษตรกร ล่าสุดกรมวิชาการเกษตรได้ร่วมกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดความเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) เข้าตรวจสอบและจับกุมสถานที่ผลิตและร้านจำหน่ายปุ๋ยไม่ได้คุณภาพ จำนวน 5 จุดในเขตกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ซึ่งมีการโฆษณาเกินจริง นำไปใช้แล้วไม่รู้ว่าจะได้ผลตามที่โฆษณาหรือไม่??...เข้าข่ายแหกตาเกษตรกร

นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า สถานที่ผลิตและร้านจำหน่ายปุ๋ยด้อยคุณภาพที่ บก.ปคบ. และกรมวิชาการเกษตรได้ร่วมกันเข้าตรวจสอบ ตรวจค้น และจับกุมครั้งล่าสุดนี้มี 5 จุด ได้แก่ 1.สถานที่ผลิต เลขที่ 2/2 หมู่ 1 ตำบลดอนชมพู อำเภอโนนสูง จังหวัดนคราราชสีมา 2.สถานที่ผลิต เลขที่ 52/1 หมู่ 7 ตำบลสระสี่มุม อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม 3.สถานที่จำหน่ายปุ๋ยแคปซูลอีเขียวนาโน บริษัท เยสวีแคนดู อินเตอร์ไพซ์ส จำกัด เลขที่ 412/12 โครงการเอชทูโอ แขวงดอกไม้ เขตประเวศ กรุงเทพฯ 4.สถานที่จำหน่าย บริษัท เอนไซม์ นาโน จำกัด เลขที่ 153/31-33 ซอยนาทอง 7 อาคารอมรพันธ์ 2 ชั้น 12 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง กรุงเทพฯ และ5.สถานที่จำหน่ายปุ๋ยแคปซูลอีเขียวนาโน เลขที่ 222/151 ถนนสามวา แขวางบางชัน เขตคลองสามวา กรุงเทพฯ

เจ้าหน้าที่ได้สั่งอายัดของกลาง จำนวน 59 รายการ มีทั้งผลิตภัณฑ์ปุ๋ยชนิดน้ำบรรจุขวดพร้อมจำหน่าย ขนาด 1 ลิตร รวม 2,864 ขวด สารสกัดบรรจุแคปซูลพร้อมจำหน่าย เครื่องมือและอุปกรณ์การผลิต อาทิ แกลลอนพลาสติก ฉลากและกล่องบรรจุภัณฑ์ และสติกเกอร์ที่ระบุวันเดือนปีที่ผลิต รวมมูลค่ากว่า 27 ล้านบาท หากปัจจัยการผลิตที่ไม่มีคุณภาพและด้อยมาตรฐานล็อตนี้หลุดลอดไปสู่พื้นที่เพาะปลูก จะสร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรค่อนข้างมาก เพราะนำไปใช้แล้วอาจได้ผลไม่คุ้มค่ากับเงินลงทุน

ปัจจัยการผลิตคุณภาพต่ำที่ตรวจจับได้ มี 2 รูปแบบ คือ ปุ๋ยชนิดน้ำยี่ห้อ “กอแก้วนาโน” และปุ๋ยแคปซูลยี่ห้อซุปเปอร์กรีน

(อีเขียว) นาโน ซึ่งผู้ผลิตและผู้จำหน่ายมีพฤติการณ์ในการกระทำความผิดและเอาเปรียบเกษตรกรหรือผู้บริโภค โดยทำเป็นขบวนการ มีการจัดตั้งบริษัทและตั้งชื่อผลิตภัณฑ์ แล้วให้โรงงานที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องกับกรมวิชาการเกษตรเป็นผู้ผลิต และกระจายสินค้าไปจำหน่ายให้เกษตรกรในจังหวัดต่างๆ ขณะเดียวกัน ยังแสดงฉลากไม่ถูกต้อง มีการโฆษณาผลิตภัณฑ์เกินความเป็นจริง เพื่อหลอกให้เกษตรกรหลงเชื่อและซื้อไปใช้ อาทิ ใช้อีเขียวนาโนเพียง 1 แคปซูล ใช้ได้ 2-5 ไร่ และ 20 แคปซูล เท่ากับปุ๋ย 2 ตัน โดยขายในราคา 150 บาท/แคปซูล แถมลดราคา 20 แคปซูล ขายเพียง 2,000 บาท ซึ่งต้นทุนอยู่ที่ 9 บาท/แคปซูล ส่วนผลิตภัณฑ์กอแก้วนาโน ราคาอยู่ที่ 2,500 บาท/ลิตร ขณะที่มีต้นทุนการผลิตลิตรละ 120 บาท

ทางด้าน นายสังวรณ์ เสนะโลหิต ผอ.กลุ่มสารวัตรเกษตร สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการที่สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตรได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ซุปเปอร์กรีน (อีเขียว) นาโน มาตรวจวิเคราะห์ธาตุอาหารพืช พบว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีปริมาณไนโตรเจนทั้งหมด 5.6% ปริมาณฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ 1.6 % และโพแทสเซียมที่ละลายน้ำได้ 7.3 % นำมาเปรียบเทียบกับปุ๋ยสูตรเสมอ (15-15-15) จำนวน 1 กระสอบ น้ำหนัก 50 กิโลกรัม มีปริมาณไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม อย่างละ 15 % โดยน้ำหนัก ผลิตภัณฑ์ซุปเปอร์กรีน (อีเขียว) นาโน จึงไม่สามารถเปรียบเทียบได้กับปุ๋ยเคมี 1 กระสอบ ซึ่งไม่เป็นไปตามโฆษณาที่ระบุว่า ผลิตภัณฑ์ 1 แคปซูล ได้ใช้ถึง 2-5ไร่ และ 20 แคปซูลเท่ากับปุ๋ย 2 ตัน และประหยัดคุ้มค่ากว่า

ยกตัวอย่างง่ายๆ คือ ปุ๋ยนาโนแคปซูล มีธาตุอาหารไม่เกิน 1 กรัม ถ้า 20 แคปซูล ธาตุอาหารไม่เกิน 20 กรัม ขณะที่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 จำนวน 1 กระสอบ มีธาตุอาหาร 22.5 กิโลกรัม ถ้า 2 ตัน ก็มีธาตุอาหาร 900 กิโลกรัม เพราะฉะนั้น เป็นไม่ได้ที่จะใช้ปุ๋ย 1 แคปซูล ใช้กับพื้นที่ 2-5 ไร่ จะได้ผลตามโฆษณา และเปรียบเทียบปุ๋ยนาโน 20 แคปซูล ไม่ธาตุอาหารพืชไม่เกิน 20 กรัม หรือ 0.02 กิโลกรัม กับปุ๋ยสูตร 15-15-15 จำนวน 2 ตัน ซึ่งมีธาตุอาหารถึง 900 กิโลกรัม

การที่ผลิตภัณฑ์ซุปเปอร์กรีน (อีเขียว) นาโน โฆษณาว่าเป็นสารปรับปรุงดิน แต่ประสิทธิภาพการใช้งานส่งผลกระทบกับพืชโดยตรง เช่น เร่งราก เร่งผล เร่งแป้ง/น้ำตาล ดึงช่อ แตกกอ และผลดก จึงจัดว่า เป็นปุ๋ย แต่ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่ได้ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องกับกรมวิชาการเกษตร ดังนั้น จึงถือว่าเป็นปุ๋ยที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนและผลิตปุ๋ยโดยไม่ได้รับอนุญาต

ส่วนคำโฆษณาที่ว่า ผลิตภัณฑ์ซุปเปอร์กรีน (อีเขียว) นาโน ผลิตจากสารออร์แกนิกธรรมชาติ จากผลการวิเคราะห์ พบว่า องค์ประกอบหลักประกอบด้วย กรดฮิวมิก และโพแทสเซียมที่ละลายน้ำได้ แต่กระบวนการผลิตสารชนิดดังกล่าวมีการใช้ด่างในการสกัด และตกตะกอนด้วยกรด จึงไม่ถือว่าเป็นสารออร์แกนิก ซึ่งเข้าข่ายหลอกลวงเกษตรกร

กรณีที่ผลิตหรือจำหน่ายปุ๋ยโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับการใช้คำโฆษณาที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ ปริมาณหรือสาระสำคัญประการอื่นอันเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ไม่ว่าจะเป็นของตนเองหรือผู้อื่น โฆษณาหรือใช้ฉลากที่มีข้อความอันเป็นเท็จ หรือข้อความที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิด มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อย่างไรก็ตาม เกษตรกรหรือผู้ที่มีเบาะแสเกี่ยวกับปัจจัยการผลิตที่ไม่ได้คุณภาพ ทั้งปุ๋ย สารเคมีทางการเกษตร และพันธุ์พืช สามารถแจ้งเบาะแสหรือร้องเรียนได้ที่ สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร โทร. 08-1373-8259 หรือ โทร./แฟกซ์ 0-2579-4652 และ e-mail : ardcenter@doa.in.th และหน่วยงานในสังกัดกรมวิชาการเกษตรทุกแห่ง

จาก http://www.naewna.com วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2558

ลุยรณรงค์ลดต้นทุนการผลิต l กระทรวงเกษตรฯประกาศคิกออฟ1ตค.นี้

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากนโยบายที่ได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานในสังกัดเร่ง

 ขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดผลชัดเจนเป็นรูปธรรม คือ กำหนดให้ปี 2559 เป็นปีแห่งการรณรงค์ลดต้นทุนการผลิตทางการเกษตร โดยดำเนินการลดต้นทุนใน 4 ด้านหลัก คือ 1.การลดปัจจัยการผลิตทางการเกษตร เช่น ปุ๋ย สารเคมีทางการเกษตร ยาฆ่าแมลง ฯลฯ 2.การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ 3. การบริหารจัดการฟาร์มด้วยระบบแปลงใหญ่ เพื่อใช้ทรัพยากรต่างๆร่วมกัน โดยเฉพาะเรื่องเครื่องจักรกลทางการเกษตร และ 4. การเพิ่มช่องทางการตลาด

โดยยึดแนวทางและวิธีการดำเนินการจะบริหารจัดการ 3 มิติ คือ เกษตรกร สินค้าเกษตร และ พื้นที่ผลิตโดยจังหวัดจะเป็นผู้จัดการสินค้า (Top 5 จากมูลค่า GPP เกษตร) มีผู้จัดการแปลงใหญ่ (พื้นที่ขนาด500-10,000 ไร่ ขึ้นกับชนิดสินค้า) เกษตรกรสมัครใจรวมกลุ่มและรวมพื้นที่ผลิตสินค้าชนิดเดียวกันมีคณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์จังหวัด กำกับดูแล/ติดตาม มีศูนย์เรียนรู้การเกษตร 882 ศูนย์ เป็นกลไกระดับอำเภอ มีศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีระดับตำบล (ศบกต.) ของ อบต.

สำหรับการดำเนินการในปีงบประมาณ 2558 ได้ดำเนินการคัดเลือกสินค้า พื้นที่ และผู้จัดการ สินค้า แบ่งเป็น พืช 12 ชนิด ปศุสัตว์ 3 ชนิด ประมง 3 ชนิด และเกษตรผสมผสาน รวม 263 แปลง คัดเลือกผู้จัดการแปลง รวม 252 คน และอบรมพัฒนาทักษะหลักสูตรผู้จัดการแปลงแล้ว อยู่ระหว่างจัดทำแผนปฏิบัติการ (Action Plan) แต่ละแปลงใหญ่ และอยู่ระหว่างสำรวจภาวะเศรษฐกิจ สังคมครัวเรือนเกษตรในแปลงใหญ่ และในปีงบประมาณ 2559 มีแผนที่จะดำเนินการต่อเนื่องโดยใช้งบประมาณ 470 ล้านบาท ได้แก่ การติดตั้ง App. OAE.Info ให้กับผู้จัดการแปลงและขยายผลไปยังเกษตรกรรายแปลงในพื้นที่แปลงใหญ่ เช่น ราคาที่ไร่นา ราคาขายส่งในจังหวัด และราคากรุงเทพมหานคร ราคาตลาดโลก และราคาซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า แผนจัดหาปัจจัยการผลิต เช่น พันธุ์ Motor Poll เป็นต้น แผนการผลิตรายแปลง (ก่อนและหลังการเก็บเกี่ยว) แผนการตลาดร่วมกับภาคเอกชน และ ติดตามประเมินผลตามตัวชี้วัด ซึ่งสศก.ได้กำหนดให้มีการประชุม Work Shop ในวันที่ 23 กันยายน สศก.ได้กำหนดให้มีการประชุม Work Shop ในวันที่ 23 กันยายน เพื่อสรุปเสนอแผนในวันที่ 29 กันยายน เพื่อเปิดตัวโครงการอย่างเป็นทางการตังแต่วันที่ 1 ตุลาคม นี้เป็นต้นไป

จาก http://www.naewna.com วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2558

เปิด 4 ยุทธศาสตร์ เข็นส่งออก...โค้งสุดท้าย !

โค้งสุดท้ายในการผลักดันการส่งออกไทยในปี 2558 เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่คาดไว้ ติดลบ 3% ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงรุมเร้าทั้งภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว การแข่งขันหั่นค่าเงิน ดูจะไม่ใช่เรื่องง่ายนัก โจทย์หลักในการประชุมทูตพาณิชย์เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2558 จึงมีการโฟกัสว่าควรงัด "กลยุทธ์" อะไรมาใช้ขับเคลื่อนการส่งออก

ในปีนี้กระทรวงพาณิชย์ ยังคงคอนเซ็ปต์ "รักษาตลาดเดิม เพิ่มสัดส่วนตลาดใหม่" โดยเฉพาะตลาดซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 26% ของการส่งออก โดยวางเป้าหมายว่าปีนี้ตลาดอาเซียนภาพรวมติดลบ 3.1% โดยอาเซียน 6 ประเทศ เดิมจะติดลบที่ 9.1% ขณะที่อาเซียนใหม่ (CLMV) น่าจะขยายตัวได้ 8.2%

โดยมีการวางยุทธศาสตร์ 4 ด้านหลัก คือ 1.ยุทธศาสตร์การค้า 2.ยุทธศาสตร์การลงทุน 3.ยุทธศาสตร์การแสวงหาวัตถุดิบ และ 4.ยุทธศาสตร์ท่องเที่ยว เพื่อใช้เป็น "เข็มทิศ" ในการรักษาตลาดอาเซียน และใช้โอกาสในการรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) อย่างเป็นทางการปี 2559 ซึ่งไม่เพียงจะช่วยขยายการส่งออกเท่านั้น แต่ยังเป็นโอกาสในการขยายฐานการลงทุน สร้างฐานการผลิต เพื่อส่งออกไปยังประเทศที่ 3 หลังจากไทยถูกประเทศพัฒนาแล้วตัดสิทธิพิเศษทางภาษี (GSP) ไปก่อนหน้านี้

สินค้าดาวรุ่งของตลาดนี้ยังเป็นสินค้าวัสดุก่อสร้าง เครื่องสำอาง ตกแต่งภายใน ธุรกิจแฟรนไชส์ และสามารถเป็นแหล่งวัตถุดิบ เช่น ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน ซึ่งยังมีจำนวนมาก ขณะเดียวกันการเชื่อมโยงธุรกิจท่องเที่ยวอาเซียน โดยการเชื่อมเส้นทางการท่องเที่ยวให้เป็นเส้นทางเดียวกัน ลดอุปสรรคด้านการเดินทาง ระบบโลจิสติกส์จะช่วยเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวได้มากขึ้น

เพิ่มช่องทางค้ารักษาตลาดเดิม

ในส่วนตลาดหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และตลาดศักยภาพเช่น จีน อินเดีย ตะวันออกกลาง เป็นต้น ยังถือเป็นตลาดสำคัญของการส่งออกไทย แม้ขณะนี้หลายตลาดจะมีปัญหาด้านเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว หรือในบางประเทศมีนโยบายหันไปพึ่งพิงเศรษฐกิจภายในประเทศมากขึ้น ดังนั้น "การหาช่องทางการค้าใหม่" จึงเป็นยุทธวิธีสำคัญในการผลักดันการส่งออกเพื่อรักษาส่วนแบ่งนี้ไว้

โดยกระทรวงพาณิชย์จะปรับยุทธศาสตร์ 4 ด้านให้สอดคล้องกับลักษณะแต่ละตลาด เช่น การเจาะตลาดเมืองรองในจีน การผลักดันความร่วมมือการค้าการลงทุนระหว่างไทย-จีน หรือการขยายช่องทางการค้าออนไลน์ ในตลาดสหรัฐ และสหภาพยุโรป รวมถึงการมุ่งเป้าเจาะกลุ่มลูกค้าเฉพาะให้มากขึ้น

อย่างไรก็ดี ตลาดนี้ยังมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม สังคม ความต้องการ ผู้ส่งออกไทยต้องปรับปรุงสินค้าและบริการ ให้สอดคล้องกับลักษณะของตลาดให้มากที่สุด และรัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการสร้างความสัมพันธ์ทางการค้า ผลักดันการเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรี และสิทธิพิเศษทางการค้าที่จะเอื้อผู้ส่งออกให้มากขึ้น

แอฟริกาตลาดใหม่ในอนาคต

อีกหนึ่งตลาดที่ไม่ควรละเลย "ตลาดแอฟริกา" ซึ่งมีประชากรกว่า 1,200 ล้านคนทวีปนี้มี 7 ใน 54 ประเทศ เช่น แอฟริกาใต้ ไนจีเรีย โมซัมบิก ที่เป็นประเทศที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วมาก และมีนัยสำคัญต่อการค้าไทย เพราะผู้บริโภคกลุ่มบนยังให้การยอมรับคุณภาพสินค้าไทย "ยุทธศาสตร์ส่งออก" สำคัญในตลาดนี้ มุ่งเน้นสินค้าเกษตร โดยเฉพาะข้าว อาหารสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ยาง เป็นที่ต้องการอย่างมาก และยังเป็นแหล่งวัตถุดิบที่สำคัญ เช่น อัญมณี ประมง ป่าไม้จึงมองว่า แนวโน้มการส่งออกไทยไปแอฟริกาในปี 2559 ขยายตัวได้ 2%

"โรดโชว์" ช็อปสินค้าเกษตร

แนวทางผลักดันการส่งออก "ช่วงโค้งสุดท้าย" สิ่งที่ต้องดำเนินการต่อเนื่อง คือ การผลักดันการส่งออกสินค้าเกษตร เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ที่จะมุ่งสร้างตลาดส่งออก เพื่อยกระดับราคาสินค้าเกษตรในประเทศ ดังนั้น ทูตพาณิชย์กลุ่มเอเชีย เตรียมจัดมิชชั่นนำคณะผู้นำเข้ามาเจรจาซื้อสินค้า อาทิ คณะผู้นำเข้าข้าวฮ่องกง ซึ่งเป็นตลาดข้าวหอมมะลิเบอร์ 2 ของไทย รองจากสหรัฐ ตลาดสิงคโปร์ ที่เป็นตลาดข้าวสำคัญอีกแห่ง ที่จะนำคณะลงพื้นที่เจรจาสั่งซื้อข้าวก่อนที่ผลผลิตของประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนาม เมียนมาจะออกสู่ตลาดในเดือนพฤศจิกายน 2558 นี้

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2558

พลังงานเดินหน้าผุด"โรงไฟฟ้าขยะ" เอกชนหนุนทำเอทานอลแทนน้ำตาล

พพ.ตอบรับนโยบายพลังงานขยะ โชว์ผลิตไฟฟ้าแล้ว 134.717 เมกะวัตต์ พร้อมเร่งจัดโซนนิ่งพลังงานทดแทน ด้านผู้ประกอบการหวั่นน้ำตาลโลกตกกระทบชาวไร่อ้อย หนุนผลิตเอทานอลแทน

นายธรรมยศ ศรีช่วย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า กรมได้เดินหน้าผลักดันโครงการ โรงไฟฟ้าขยะตามนโยบายของรัฐบาล โดยปัจจุบันสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (ซีโอดี) ได้แล้ว 134.717 เมกะวัตต์ จาก 22 โครงการ และมีโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 101.656 เมกะวัตต์ จาก 19 โครงการ และล่าสุดเพิ่งได้รับการอนุมัติรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมอีก 7 โครงการ 144.404 เมกะวัตต์ ส่งผลให้มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานขยะรวม 48 โครงการ 380.777 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการจัดทำแผนดำเนินการภายใต้แผนแม่บทการจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ (2558–2562) รวมถึงเร่งรัดกระทรวงพลังงานแก้ไขปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาพลังงานขยะ อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการจัดโซนนิ่งพื้นที่ที่มีศักยภาพการพัฒนาพลังงานทดแทน โดยเน้นที่การผลิตพลังงานจากขยะเป็นลำดับแรก

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กล่าวว่า ผู้ประกอบการมีความกังวลต่อราคาน้ำตาลตลาดโลกที่ตกต่ำ จะส่งผลกระทบต่อรายได้ของชาวไร่อ้อย รวมถึงรายได้ของระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทย ในฤดูหีบปี 2558 นี้ ดังนั้นได้เสนอให้คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย นำน้ำตาลทรายดิบไปผลิตเป็นเอทานอล หรือสนับสนุนส่งเสริมให้นำไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ ให้มากขึ้น เพื่อสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ดีกว่าและช่วยลดปริมาณน้ำตาลที่จะเข้าสู่ตลาด

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2558

กรมชลฯเตรียมชงครม.งดทำนาปรังภาคกลาง ชี้มีน้ำพอแค่บริโภค

นายชิตชนก สมประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 8 นครราชสีมา เปิดเผยว่า จากอิทธิพลของพายุดีเปรสชั่นหว่ามก๋อ  ทำให้เกิดฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่องในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้ง 5 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำลำตะคอง, อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง, อ่างเก็บน้ำลำแชะ, อ่างเก็บน้ำมูลบน และอ่างเก็บน้ำลำปลายมาศ มีน้ำไหลลงอ่างเพิ่มขึ้นรวมกัน 73.48 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้ปริมาณน้ำที่กักเก็บเพิ่มจาก 284.65 ล้าน ลูกบาศก์เมตร เป็น 364.71 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 28.31   แต่ต้องระบายน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเฉลี่ยวันละ 6.78 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ดังนั้นจึงถือว่าปริมาณน้ำยังน้อยมาก เมื่อเทียบกับวันเดียวกันนี้ของปีที่แล้ว ซึ่งมีปริมาณน้ำถึง 592.19 ล้านลูกบาศก์เมตร ดังนั้นจึงยังต้องรอความหวังจากพายุลูกอื่นๆ อีก

ส่วนระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ที่จุดวัดน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ตำบลบางหลวง อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท เพิ่มขึ้น 75 เซนติเมตร ไปอยู่ที่  16  เมตร 40  เซนติเมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง  นายเอกศิษฐ์ ศักดีธนาภรณ์ ผู้อำนวยการโครงการเขื่อนเจ้าพระยา เปิดเผยว่า ระดับเจ้าพระยาในวันที่ 20 กันยายนใกล้เคียงกับวันเดียวกันปีที่แล้ว แต่ยังต้องขอให้ชาวนางดทำนาปรัง

เพราะน้ำในเขื่อนหลักยังต่ำกว่าเกณฑ์คือ เขื่อนภูมิพลมีน้ำกักเก็บเพียง33เปอร์เซ็นต์ และเขื่อนสิริกิติ์44เปอร์เซ็นต์ ไม่เพียงพอต่อการจัดสรรสำหรับการทำนานอกฤดู

ขณะที่ นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ในวันที่22 กันยายน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะรายงานสถานการณ์น้ำต่อคณะรัฐมนตรี และเสนอให้พิจารณางดปลูกข้าวนาปรังในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลอง เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนหลักไม่เพียงพอสำหรับกิจกรรมการเกษตร แต่ยังเพียงพอสำหรับอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศ

อย่างไรก็ตาม ยังพอมีข่าวดี โดยนายประวิทย์ แจ่มปัญญา ผู้อำนวยการสำนักพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยว่า เบื้องต้นคาดว่าในวันที่ 23-24 กันยายน อาจมีฝนตกในประเทศไทยอีกครั้ง ซึ่งจะช่วยเติมน้ำในเขื่อนได้บ้าง และอาจจะมีฝนตกต่อเนื่องในช่วงต้นเดือนตุลาคม

จาก http://www.matichon.co.th   วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2558

รง.น้ำตาลจ่อลงทุนแสนล้าน 70 แห่งชิงดำอนุมัติไม่เกิน 10 แห่ง ขยายกำลังผลิตปล่อยฉลุย

โรงงานน้ำตาล 70 แห่ง ใน 57 คำขอ ชิงดำตั้งโรงงานใหม่ หลัง สอน. ส่งหนังสือให้ยื่นเอกสารให้ครบถ้วนภายในกันยายนนี้ ก่อนอนุมัติภายในธันวาคมปีนี้ ขีดรัศมีจากโรงงานเดิมทั่วประเทศแล้วตั้งได้ไม่เกิน 10 แห่ง ขณะที่การขอขยายกำลังผลิตมี 21 ราย ยันอนุมัติได้ทั้งหมด คาดทั้ง 2 ส่วน เกิดการลงทุนในปีหน้าเกือบ 1 แสนล้านบาท ช่วยกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจ

นายพิชัย ตั้งชนะชัยอนันต์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) เปิดเผยกับ”ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ภายหลังที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้ ประกาศกระทรวงว่าด้วยเรื่องการให้ตั้งหรือขยายโรงงานน้ำตาลในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักรไปแล้วเมื่อช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และทางสอน.ได้ออกประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการรับรองใบอนุญาตตั้งหรือขยายโรงงานน้ำตาลไปเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งได้ส่งหนังสือดังกล่าวไปยังผู้ประกอบการที่ยื่นคำขอตั้งโรงงานไปจำนวน 57 คำขอหรือคิดเป็นการขอตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ราว 70 แห่ง เนื่องจากในบ้างคำขอมีการขอตั้งโรงงานน้ำตาลมากกว่า 1 แห่ง ขณะที่มีคำขอขยายโรงงานน้ำตาลจำนวน 21 คำขอ โดยให้ผู้ประกอบการดำเนินการส่งเอกสารตามที่ประกาศให้ครบถ้วน เพื่อยืนยันการขอตั้งหรือขยายโรงงาน มาให้สอน.ภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้ เพื่อที่จะได้ตรวจสอบเอกสารหลักฐานว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดหรือไม่ภายใน 45 วัน ก่อนจะให้ใบอนุญาตต่อไป

สำหรับหลักเกณฑ์การขอตั้งโรงงาน ได้กำหนดให้โรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ที่ขออนุญาตตั้งหรือย้ายโรงงานน้ำตาลจะต้องมีระยะห่างจากเขตโรงงานน้ำตาลที่มีอยู่เดิม 50 กิโลเมตร และจะต้องมีแผนเตรียมปริมาณอ้อยจากการส่งเสริมและพัฒนาเข้าสู่โรงงานในปีแรกไม่น้อยกว่า 50% ของกำลังการผลิตของฤดูกาลผลิตนั้นๆ และกำหนดจำนวนวันหีบอ้อยของโรงงานทั่วประเทศเฉลี่ย 120 วันต่อปี และต้องไม่ใช่อ้อยของเกษตรกรที่เป็นคู่สัญญากับโรงงานน้ำตาลที่ตั้งอยู่พื้นที่เดิม และต้องมีปริมาณอ้อยจากการส่งเสริมและพัฒนาอ้อยฯ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 3 ปี และไม่ใช่อ้อยของเกษตรที่เป็นคู่สัญญาของโรงงานน้ำตาลอื่น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการแย่งอ้อยวัตถุดิบ

โดยเฉพาะกรณีการแสดงสิทธิ์หรือเป็นเจ้าของที่ดินในการตั้งโรงงาน จะต้องมีความชัดเจน เนื่องจากจะใช้เป็นการตรวจสอบรัศมีของโรงงานที่จะตั้งขึ้นใหม่กับโรงงานเดิมที่มีอยู่แล้วจะต้องห่างกันไม่ต่ำกว่า 50 กิโลเมตร ซึ่งหากโรงงานใดมีระยะห่างไม่ถึง ก็จะถือว่าคำขอนั้นตกไป และจะนำรายถัดๆไปมาพิจารณาแทน ซึ่งจำนวนคำขอดังกล่าวทางสอน.คาดว่าจะสามารถพิจารณาได้ทั้งหมดและให้ใบอนุญาตได้ภายในสิ้นเดือนธันวาคม 2558 นี้

นายพิชัย กล่าวอีกว่า ส่วนจะมีรายใดได้รับการอนุญาตตั้งโรงงานน้ำตาลนั้น จากการประเมินแผนที่ของที่ตั้งโรงงานน้ำตาลอยู่ทั่วประเทศ และเมื่อวัดรัศมีจากโรงงานเดิม คาดว่าจะมีโรงงานน้ำตาลที่เกิดขึ้นใหม่ได้ไม่เกิน 10 แห่ง ซึ่งแต่ละแห่งจะมีกำลังการผลิตอ้อยแห่งละ 2 หมื่นตันต่อวัน หรือ 2 แสนตันต่อวัน จะก่อให้เกิดการลงทุนประมาณ 5 พันล้านบาทต่อแห่ง หรือรวมกันราว 5 หมื่นล้านบาท ขณะที่การขอขยายกำลังการผลิตของโรงงานเดิม จะมีตั้งแต่ 1.2-2 หมื่นตันต่อวัน ซึ่งในส่วนนี้คาดว่าจะสามารถอนุมัติได้ทั้งหมด 21 คำขอ คาดจะต้องใช้เงินลงทุนราว 2.5 หมื่นล้านบาท ถึง 4.2 หมื่นล้านบาท โดยประเมินว่าการลงทุนในการตั้งโรงงานใหม่และขยายโรงงาน จะดำเนินการได้ในปีหน้าเป็นต้นไป เนื่องจากที่ผ่านมาการขออนุญาตมีความล่าช้ามาหลายปีแล้ว

ประกอบกับในการอนุญาตตั้งโรงงานหรือขยายโรงงาน กำหนดกรอบให้ดำเนินงานให้แล้วเสร็จภายใน 5 ปี นับจากออกใบอนุญาต ซึ่งจะเป็นการเร่งรัดให้ผู้ประกอบการไปดำเนินการลงทุน และเร่งส่งเสริมการปลูกอ้อย เพราะหากเกินเวลาที่กำหนดก็จะต้องยึดใบอนุญาตกลับคืนมา โดยจะเห็นได้จากโรงงานน้ำตาลที่คณะรัฐมนตรีได้มีการอนุมัติไปก่อนหน้านี้ 11 แห่ง ในปีหน้าจะมีโรงงานน้ำตาลเกิดใหม่อย่างน้อย 2 แห่ง ดังนั้น หากผู้ประกอบการเร่งลงทุนในปีหน้าทั้งการตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่และขยายกำลัง จะก่อให้เกิดเม็ดเงินลงทุนเกือบ 1 แสนล้านบาท ซึ่งมองว่าในส่วนนี้น่าจะช่วยกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจของประเทศได้ทางหนึ่ง

ส่วนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายนั้น ในเบื้องต้นทางโรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อย ได้ข้อสรุปร่วมกันแล้วว่า จะมีการเสนอให้มีการปรับปรุงแก้ไขพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 ขึ้นมาใหม่ เพื่อเปิดกว้างให้นำรายได้ที่ได้จากผลิตภัณฑ์ไม่ว่าจากการผลิตเอทานอล ไฟฟ้า หรือผลพลอยได้อื่นๆ สามารถนำมาแบ่งปันผลประโยชน์ให้กับชาวไร่อ้อยได้ด้วย นอกเหนือจากการผลิตน้ำตาลทรายเท่านั้น ส่วนจะแบ่งให้ชาวไร่อ้อยในสัดส่วนที่เท่าใดนั้น คงจะต้องหารือกันให้ได้ข้อยุติก่อนที่จะเสนอพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก่อนที่หีบอ้อยฤดูปี 2558/2559 จะมาถึงในเดือนธันวาคมนี้

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2558

เล็งนำน้ำตาลทรายดิบผลิตเอทานอลเพิ่ม 

อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย เล็งนำน้ำตาลทรายดิบผลิตเป็นเอทานอลเพิ่ม คาดปริมาณ คุณภาพผลผลิตอ้อยปีนี้ใกล้เคียงฤดูหีบปีก่อน

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาลทราย มีความกังวลต่อสถานการณ์ภาวะราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกตกต่ำอยู่ในขณะนี้ เนื่องจากปริมาณผลผลิตน้ำตาลทรายในตลาดโลก ยังเกินกว่าความต้องการบริโภค ซึ่งเป็นแรงกดดันต่อราคาตลาดโลก ซึ่งกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของชาวไร่อ้อย รวมถึงรายได้ของระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยในฤดูหีบปีนี้

ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงต้องการลดปริมาณการส่งออกเพื่อลดอุปทานในตลาดโลก โดยนำน้ำอ้อยหรือน้ำตาลทรายดิบมาใช้เป็นวัตถุดิบผลิตเอทานอลให้มากขึ้น หรือสนับสนุนส่งเสริมให้นำไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ เพื่อสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและช่วยลดปริมาณน้ำตาลที่จะเข้าสู่ตลาด

ขณะเดียวกัน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย ได้คาดการณ์ปริมาณและคุณภาพผลผลิตอ้อยในฤดูการผลิตปี 58/59 ที่จะเปิดหีบอ้อยในช่วงปลายปีนี้ จะมีปริมาณผลผลิตอ้อยเข้าหีบใกล้เคียงกับฤดูการผลิตปีที่ผ่านมา ที่มีปริมาณอ้อยเข้าหีบ 106 ล้านตันอ้อย และผลิตน้ำตาลทรายได้ 11 ล้านตัน แม้ว่าช่วงฤดูการผลิตปีนี้จะมีการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกอ้อยขึ้น แต่จากฝนทิ้งช่วงนานกว่าทุกปี ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงต้นฤดูการเพาะปลูกของฤดูหีบปีนี้ ทำให้การเพาะปลูกอ้อยในหลายพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งและมีน้ำไม่เพียงพอหล่อเลี้ยงตออ้อย ส่งผลกระทบต่อปริมาณและคุณภาพผลผลิตอ้อยน้ำตาลในปีนี้ลดลงได้

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2558

เสริมสร้างความรู้พัฒนาภาคการเกษตรไทย

กรมส่งเสริมสหกรณ์ พร้อมนำตัว แทนสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร เกือบ 100 ราย ดูงานต่างประเทศ ตามนโยบายของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ภายใต้โครงการ “พัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อสร้างความเข้มแข็งของสหกรณ์”เพื่อศึกษาดูงานด้านการพัฒนาสหกรณ์การเกษตร การตลาด รวมถึงการบริหารจัดการ ณ ประเทศญี่ปุ่น และประเทศมาเลเซีย เพื่อนำมาความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้ และต่อยอดในการพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินงานของสถาบันสหกรณ์ของตนเองและเครือข่ายสหกรณ์ได้

ทั้งนี้ พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า รัฐบาลมุ่งเน้นสนับสนุนให้นำเกษตรกร ที่มีศักยภาพในการพัฒนาหรือเพิ่มขีดความสามารถ ไปศึกษาดูงานในต่างประเทศ ผ่านการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และศึกษาข้อมูลต่าง ๆ

จากการดูงาน ประกอบกับนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรต้นแบบ และเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงภาคการเกษตรของไทย สามารถเป็นตัวอย่างและขยายเครือข่ายสหกรณ์ รวมทั้งการสร้างและพัฒนาสมาชิกสหกรณ์รุ่นใหม่ให้มีความรู้ความสามารถ และมีศักยภาพด้านการพัฒนาผลผลิตทางการเกษตรสำหรับการนำตัวแทนสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรเดินทางไปศึกษาดูงาน ในครั้งนี้

นายโอภาส กลั่นบุศย์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เผยว่า กรมฯ ได้ดำเนินการคัดเลือกเกษตรกรจากกลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย สหกรณ์ภาคการเกษตร/กลุ่มเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2556-2558 และสหกรณ์ที่ดำเนินการสนองนโยบายรัฐบาลและกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ ซึ่งเข้าร่วมดำเนินโครงการตามนโยบายเช่น สหกรณ์ที่เป็นศูนย์กระจายสินค้าสหกรณ์ (CDC) ในระดับภาค

สหกรณ์ที่ดำเนินโครงการปรับโครงสร้างการผลิต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการตลาดปาล์มน้ำมันแบบครบวงจร สหกรณ์ดีเด่นในพื้นที่โครงการหลวง และสหกรณ์ที่เป็นศูนย์เรียนรู้ที่สามารถนำเสนอผลงานในการสร้างความเข้มแข็งต่อระบบสหกรณ์ ภายใต้แนวคิด “สหกรณ์มั่นคง สมาชิกมั่งคั่ง ประเทศยั่งยืน” เป็นต้น รวมทั้งหมด 78 สหกรณ์ 10 กลุ่มเกษตรกร จาก 43 จังหวัดโดยแบ่งออกเป็น 4 รุ่น รุ่นละ 25 คน ซึ่งรุ่นที่ 1รุ่นที่ 2 และรุ่นที่ 3 ได้เดินทางไปศึกษาดูงานเกี่ยวกับธุรกิจการตลาดและการบรรจุภัณฑ์ ของสหกรณ์การเกษตรในประเทศญี่ปุ่น เกษตรกร ณ สหกรณ์การเกษตรนากาโนะ และสหกรณ์การเกษตรวาโกเอนและ รุ่นที่ 4 เดินทางไปศึกษาดูงานองค์กร FOA และเยี่ยมชมโครงการของ FOA ที่ประสบความสำเร็จในเรื่องการพัฒนากลุ่มเกษตรกรและสหกรณ์ และเยี่ยมชม AFO เกี่ยวกับการดำเนินงานธุรกิจปาล์มน้ำมันครบวงจร ณ รัฐสลังงอร์ ประเทศมาเลเซีย

“การเดินทางไปศึกษาดูงานในครั้งนี้ จะเป็นการเสริมสร้างโอกาสในพัฒนาศักยภาพ และเพิ่มขีดความสามารถ ในการแข่งขัน โดยนำประสบการณ์และข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้รับในครั้งนี้ ทั้งด้านการดำเนินกิจกรรมระหว่างขบวนการสหกรณ์ที่ทำให้สหกรณ์ในประเทศญี่ปุ่นและประเทศมาเลเซียที่ประสบความสำเร็จ มาเป็นต้นแบบในการต่อยอดพัฒนาสหกรณ์และ กลุ่มเกษตรกร รวมทั้งเครือข่ายของตนควบคู่กับการสร้างบุคลากรสหกรณ์รุ่นใหม่ให้มีความรู้ความสามารถ และมีศักยภาพ

ในการพัฒนาผลผลิตทางการเกษตร เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับสหกรณ์ ให้สมาชิกมีความมั่นคง มั่งคั่ง สู่การพัฒนาประเทศ ที่ยั่งยืนต่อไป.

จาก http://www.dailynews.co.th   วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2558

'ฉัตรชัย'สั่งกรมส่งเสริมการเกษตร เร่งหาข้อมูลใหม่ชี้ต้องเสร็จต.ค.นี้

พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว. เกษตรฯ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินงานฐานข้อมูลเกษตรกรขณะนี้ว่า ล่าสุดได้สั่งการให้ทางกรมส่งเสริมการเกษตรเร่ง สำรวจข้อมูลใหม่ให้เสร็จสิ้นภายในเดือนตุลาคมปีนี้ โดย มีเป้าหมายที่จะปรับปรุงข้อมูลครัวเรือนเกษตรกร จำนวน 6.33 ล้านครัวเรือน ให้เป็นปัจจุบัน และมีการขยายฐานข้อมูลเพิ่มเติมจากเดิม 4 ด้าน เป็น 7 ด้าน โดยเพิ่มด้านรายได้ หนี้สิน และเครื่องจักรกลการเกษตร จากที่มีอยู่ 4 ด้าน ได้แก่ ข้อมูลพื้นฐานครัวเรือน สมาชิกในครัวเรือนที่ช่วยทำการเกษตรและการเป็นสมาชิกองค์กร การถือครองที่ดินเพื่อการเกษตร และการประกอบกิจกรรมการเกษตร ซึ่งจะใช้งบประมาณรวม 25,320,000 บาท ที่จะเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเก็บข้อมูลและบันทึกเข้าฐานข้อมูลทะเบียนเกษตรกร

สำหรับกิจกรรมและแนวทางการดำเนินงาน ที่จะเร่งดำเนินการ คือ การพัฒนาระบบงานในการปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน โดยการปรับวิธีการจัดเก็บข้อมูลโดยจ้างอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) เป็นผู้จัดเก็บข้อมูลแทนการให้เกษตรกรมาขึ้นทะเบียนตามความสมัครใจ และให้เกษตรกรเป็นผู้รับรองความถูกต้องของข้อมูลตนเอง โดยจะกำหนดช่วงเวลาการจัดเก็บและปรับปรุงข้อมูลที่แน่นอนเป็นประจำทุกปี ส่วนกรณีที่เกษตรกรไม่ได้แจ้งข้อมูลแก่ อกม. ภายในช่วงเวลาที่กำหนด ให้เป็นหน้าที่ของเกษตรกรที่ต้องไปแจ้งข้อมูลเพิ่มเติมที่สำนักงานเกษตรอำเภอ

ผลเบื้องต้น มีการสำรวจทะเบียนเกษตรกรกรมของส่งเสริมได้ดำเนินการแล้ว 4,205 ครัวเรือน จากเป้าหมาย 6.33 ล้านครัวเรือน ซึ่งแผนดำเนินการภายใน 16 ตุลาคมนี้จะเก็บข้อมูลแล้วเสร็จทุกพื้นที่ เพื่อนำมาประมวลผลซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 30 ต.ค 2558 โดยขอให้เกษตรกรให้ความร่วม

มือในการให้ข้อมูลกับ อกม. ที่จะลงไปเก็บข้อมูลในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม ปีนี้ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตร พร้อมที่จะพัฒนาฐานข้อมูลเกษตรกรให้มีความถูกต้อง ครบถ้วน เป็นปัจจุบัน และให้มีความน่าเชื่อถือมากที่สุด เพื่อใช้ในการดำเนินการตามโครงการและมาตรการสำคัญของรัฐบาล

ส่วนการแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย ตอนนี้เจ้าหน้าที่ได้เร่งดำเนินการตามมาตรฐานสากล และเป็นไปตามเงื่อนไขที่อียูกำหนด จึงมั่นใจว่า การประเมินผลการดำเนินงานโดยคณะอียูในกลางเดือนตุลาคมนี้ จะไม่ส่งผลกระทบต่อไทยแน่นอน

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2558

ไอซีทีทำช่องทางแจ้งข้อมูลภัยแล้ง

กระทรวงไอซีทีเร่งเดินหน้าศูนย์กลางข้อมูลและบริการอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐเพื่อประชาชนให้เสร็จสมบูรณ์ภายในปี2558นี้ เน้นแจ้งข้อมูลสถานการณ์ภัยแล้ง

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที)เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดทำศูนย์ข้อมูลภาครัฐเพื่อให้บริการประชาชนและการบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานเพื่อการบริหารภาครัฐ ว่าสืบเนื่องจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงไอซีทีจัดทำข้อมูลกลางให้บริการประชาชน โดยในระยะแรกให้ดำเนินการจัดทำช่องทางสื่อสารกับประชาชนในเรื่องภัยแล้งผ่านแอปพลิเคชันที่สามารถแสดงถึงข้อมูลสำคัญอาทิ สถานการณ์น้ำ สถานการณ์ปริมาณน้ำฝน ผลกระทบภัยแล้ง และพื้นที่ปลูกข้าว เป็นต้น รวมทั้งข้อมูลเพิ่มเติมจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ซึ่งได้ทำการศึกษาประเด็นพืชทดแทน/อาชีพทดแทนเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับสถานการณ์ภัยแล้งปีถัดไปโดยจะเป็นการบูรณาการข้อมูลจากทุกหน่วยงานให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน

สำหรับความคืบหน้าการดำเนินงานศูนย์กลางข้อมูลและบริการอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐสำหรับประชาชน (Government Application Center : GAC) ดังนี้

1.ศูนย์รวมบริการภาครัฐในรูปแบบเว็บไซต์ (Government e-Service Website Portal) ประกอบด้วย เว็บไซต์กลางบริการอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ (Thailand e-Government Portal :www.egov.go.th) ซึ่งเป็นศูนย์รวมเว็บไซต์ข้อมูลและบริการต่างๆ ของภาครัฐ ปัจจุบันมีบริการหรือเว็บไซต์ของภาครัฐที่เผยแพร่หรือให้บริการผ่าน www.egov.go.th จำนวนทั้งสิ้น 2,547 เว็บไซต์ รวม 454 หน่วยงาน ศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ (www.data.go.th) เป็นศูนย์รวมข้อมูลสาธารณะและข้อมูลภาครัฐในรูปแบบมาตรฐานเปิด ปัจจุบันมีชุดข้อมูลที่เปิดเผย จำนวน 251 ชุดข้อมูล จาก 31 หน่วยงาน และศูนย์รวมข้อมูลเพื่อติดต่อราชการ (www.info.go.th) ปัจจุบันได้จัดให้มีคู่มือบริการประชาชนตาม พ.ร.บ. อำนวยความสะดวก ที่เผยแพร่แล้ว จำนวน 10,049 คู่มือ และอยู่ในระหว่างดำเนินการ จำนวน 635,439 คู่มือ

2.ศูนย์รวมบริการภาครัฐในรูปแบบโมบายแอปพลิเคชัน (apps.go.th) หรือแอปพลิเคชันGAC ซึ่งเป็นช่องทางสำหรับประชาชนที่มีอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่ ปัจจุบันมีบริการภาครัฐในรูปแบบโมบายแอปพลิเคชันให้บริการผ่าน [http://www.apps.go.xn--th%20-87qxga9jqexn/]www.apps.go.th จำนวน 108 บริการ จาก68 หน่วยงาน และ 3.ช่องทางการเข้าถึงข้อมูลและบริการของรัฐผ่านตู้บริการอเนกประสงค์ของรัฐ ได้แก่ Government Kiosk ติดตั้งแล้ว 2 แห่ง ณ ศูนย์ G-Point สาขาศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ และศูนย์การค้าเซ็นทรัลศาลายาโดยมีระบบที่ให้บริการ 8 ระบบ จาก 4 หน่วยงาน และ Government Smart Box ซึ่งได้ทำการติดตั้งแล้ว จำนวน 27เครื่อง ที่ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ตำบล

นอกจากนี้กระทรวงฯ จะเร่งรัดการจัดทำโครงการซูเปอร์คลัสเตอร์ (Super Cluster) ซึ่งเป็นศูนย์รวมที่มีระบบ WiFi และโครงข่ายใยแก้วนำแสงไฟเบอร์ออปติก (Fiber Optic)ใน 2 พื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดภูเก็ต ซึ่งในส่วนของภูเก็ตนั้น ทาง บมจ.กสท โทรคมนาคม (CAT) และ บมจ. ทีโอที (TOT) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงฯ มีความพร้อมในการดำเนินงาน 100% ส่วนที่เชียงใหม่นั้นอาจจะต้องใช้งบสนับสนุนบางส่วนจากรัฐบาลโดยยึดหลักความทั่วถึง เป็นธรรม และเท่าเทียม

“รัฐบาลมีนโยบายที่จะยกระดับการให้บริการประชาชนผ่านบริการอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐให้เกิดการบูรณาการ การเชื่อมโยงที่สมบูรณ์ครอบคลุมการให้บริการแก่ภาคประชาชน ภาคธุรกิจและหน่วยงานของรัฐอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อให้เกิดความสะดวกรวดเร็วในการเข้าถึงข้อมูลและบริการต่างๆ ของภาครัฐ ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ซึ่งกระทรวงฯโดยสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA จะเร่งดำเนินการให้ครบถ้วนทันการเปิดตัวต่อประชาชนในช่วงปลายปี 2558 เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการภาครัฐในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ง่าย สะดวก และรวดเร็วยิ่งขึ้นทั้งยังจะเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยป้องกันและลดปัญหาการทุจริตภายในหน่วยงานภาครัฐได้อีกด้วย” นายอุตตมฯ กล่าว

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2558

กรมส่งเสริมการเกษตร หนุน แปลงพันธุ์สะอาดป้องกันโรคใบขาวอ้อยโดยชุมชน

นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า จากข้อมูลรายงานการระบาดของโรคใบขาวอ้อย ปัจจุบันพบว่ามีการระบาดเกือบทุกภาคของประเทศไทย ในแหล่งปลูกอ้อยหลายจังหวัด โดยเฉพาะในภาคอีสานซึ่งเป็นแหล่งปลูกอ้อยที่สำคัญ ได้แก่ จังหวัดอุดรธานี ขอนแก่น นครราชสีมา พบการระบาดรวมพื้นที่จำนวนหลายแสนไร่ ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย คิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่าปีละ 1,000 ล้านบาท โดยสาเหตุหลักของการเกิดโรคใบขาวอ้อยนี้เกิดจากเชื้อไฟโตพลาสม่า ซึ่งอาศัยอยู่ในท่ออาหารของต้นอ้อย ที่มีเพลี้ยจักจั่นสีน้ำตาลเป็นพาหะช่วยการแพร่ระบาด โดยส่วนใหญ่จะติดไปในท่อนพันธุ์

จากปัญหาดังกล่าว กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้จัดทำโครงการส่งเสริมการจัดทำแปลงอ้อยสะอาดขึ้น ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนอ้อยและน้ำตาล สำนักงานคณะกรรมการอ้อยน้ำตาลทราย เป็นเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2557-2559 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบการผลิตและกระจายพันธุ์อ้อยสะอาดและส่งเสริมการขยายผลเทคโนโลยีการผลิตอ้อยสะอาดสู่เกษตรกรผู้ปลูกอ้อย เป็นการแก้ปัญหาที่สาเหตุหลักคือ การขาดแคลนอ้อยพันธุ์ดีและสะอาด โดยการส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตพันธุ์อ้อยสะอาดไว้ใช้ได้เองในชุมชน ซึ่งในปี 2557 กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ดำเนินการผลิตต้นพันธุ์อ้อยปลอดโรคโดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ให้กับศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จำนวน 6 ศูนย์ฯ ได้แก่ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดอุดรธานี บุรีรัมย์ มหาสารคาม นครราชสีมา พิษณุโลก และชลบุรี นำไปจัดทำเป็นแปลงพันธุ์หลักสำหรับเตรียมขยายต่อไป

นายประสงค์ ประไพตระกูล ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า สำหรับในปี 2558 กรมส่งเสริมการเกษตรจะเน้นการขยายผลเทคโนโลยีอ้อยสะอาดสู่เกษตรกรโดยใช้รูปแบบการขยายผลเทคโนโลยีอ้อยสะอาดที่กรมวิชาการเกษตรใช้นำร่องแก้ปัญหาโรคใบขาวอ้อยอย่างได้ผล โดยการสนับสนุนต้นพันธุ์อ้อยสะอาด 1,000,000 ต้น จากแปลงพันธุ์หลักในปี 2557 ให้โรงงานน้ำตาลและสมาคมชาวไร่อ้อย จำนวน 8 โรงงาน ได้แก่ โรงงานน้ำตาลเอราวัณ โรงงานน้ำตาลอ่างเวียน โรงงานน้ำตาลระยอง บริษัทไร่ด่านช้าง จำกัด สมาคมชาวไร่อ้อยกำแพงเพชร โรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์ โรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ และโรงงานน้ำตาลมหาวัง นำไปขยายให้เกษตรกรจัดทำเป็นแปลงพันธุ์ขยายโดยชุมชนแบบมีส่วนร่วมในการจัดทำแปลงพันธุ์อ้อยสะอาด จำนวน 600 ราย พื้นที่ 500 ไร่ ซึ่งต่อจากนี้จะได้มีการดำเนินการขยายผลอย่างต่อเนื่อง โดยความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่ได้กล่าวมาแล้ว และคาดว่าภายใน 5 ปีต่อจากนี้ จะสามารถแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคใบขาวให้ลดน้อยลงโดยการสนับสนุนพันธุ์อ้อยสะอาดได้ถึง 800,000 ไร่ สามารถลดความเสียหายจากโรคใบขาวอ้อยลงได้มากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์คิดเป็นมูลค่าผลผลิตไม่น้อยกว่า 2,880 ล้านบาท

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2558

สานฝัน‘ฮับ’เกษตรอินทรีย์ สศก.ระดมสมองยกร่างยุทธศาสตร์ฉบับ2

นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)เปิดเผยว่า สศก. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ได้จัดระดมความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อปรับปรุงร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2559-2564) ให้เหมาะสม โดยกำหนดวิสัยทัศน์ “ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิต การบริโภค การค้า และ การบริการ เกษตรอินทรีย์ เป็นที่ยอมรับในระดับสากล” โดยมีพันธกิจประกอบด้วย 1.สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมให้เป็นระบบ 2.เสริมสร้างสภาพแวดล้อม สนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน ปัจจัยการผลิต และการบริโภคในประเทศให้มากขึ้น 3.ส่งเสริมการใช้ระบบสารสนเทศ การประชาสัมพันธ์และพัฒนาเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ทั้งการผลิตการแปรรูป การตลาด และการบริการ 4.ส่งเสริมการตลาด ช่องทางการจัดจำหน่าย ระบบโลจิสติกส์ และ 5.พัฒนามาตรฐาน และระบบการตรวจสอบรับรองให้เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ

ขณะที่เป้าหมาย คือ การเพิ่มพื้นที่การผลิตเกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ต่อปี หรือเพิ่มขึ้นจาก 213,000 ไร่ ในปี 2556 เป็นไม่น้อยกว่า 255,600 ไร่ ในปี 2559 โดยปริมาณสินค้าเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ต่อปี หรือจาก 71,800 ตัน ในปี 2556 เป็นไม่น้อยกว่า

86,160 ตัน ในปี 2559 และมูลค่าของสินค้าเกษตรอินทรีย์และผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ต่อปี หรือจาก 1,900 ล้านบาทในปี 2556 เป็นไม่น้อยกว่า 2,280 ล้านบาท ในปี 2559 รวมทั้งยกระดับการพัฒนาระบบการตรวจสอบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ไทยให้เทียบเท่ากับมาตรฐานในระดับภูมิภาคหรือระดับสากล อย่างน้อย 1 มาตรฐาน ให้มีกลุ่มเกษตรอินทรีย์วิถีพื้นบ้านหรือกลุ่มเกษตรอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน 760 กลุ่ม

สำหรับยุทธศาสตร์หลัก ประกอบด้วย 1.ส่งเสริมสนับสนุนการวิจัย พัฒนา และเผยแพร่องค์ความรู้ และนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ 2.พัฒนาการผลิตเกษตรอินทรีย์ 3.พัฒนาและส่งเสริมการตลาด สินค้า และบริการ และ 4.การบริหารจัดการและการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์

จาก http://www.naewna.com วันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2558

แนวทางพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก

นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี และหม่อมราชวงศ์ดิศนัดดา ดิศกุล ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ นายดนุชา สินธวานนท์ รองเลขาธิการ กปร. และคณะ เดินทางไปยังโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยอีจ้ออันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอโนนสะอาด โครงการฝายหนองเดือนห้าอำเภอหนองหาน และโครงการอ่างเก็บน้ำฝายหลวง อำเภอไชยวาน จังหวัดอุดรธานี

เมื่อวันก่อนซึ่งโครงการเหล่านี้เป็นพื้นที่เป้าหมายของโครงการปิดทองหลังพระ ในการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ให้แก่ราษฎรตามยุทธศาสตร์ที่ 1 โดยการน้อมนำศาสตร์ของพระราชาและ พระราชินีมาเป็นแนวทางในการขยายผลตามแนวพระราชดำริเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ในการคิด วางแผน ปฏิบัติ และประยุกต์

โดยมีหัวใจสำคัญคือประชาชนเป็นศูนย์กลางที่จะต้องคิดลงมือและสืบสานพระราชดำริ เป็นพื้นฐานของความขยัน ซื่อสัตย์สุจริตเพื่อให้เกิดการพึ่งพาตนเองและการรวมกลุ่มในการสร้างความเข้มแข็งในชุมชนต่อไปโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยอีจ้ออันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอโนนสะอาด จังหวัดอุดรธานี นั้น ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2549

ที่ผ่านมา ตามที่พระครูสมณกิจจาทร เจ้าคณะอำเภอโนนสะอาด จังหวัดอุดรธานี ขอพระราชทานพระมหากรุณาฯ ในการดำเนินโครง การ โดยสำนักงาน กปร. ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างซึ่งมีพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์จำนวน 1,213 ไร่ ราษฎร 862 ครัวเรือนของ 4 หมู่บ้าน

ปัจจุบันราษฎรในพื้นที่มีแหล่งน้ำสามารถทำการเกษตรได้อย่างต่อเนื่องตลอดปี สามารถปลูกข้าวในพื้นที่ได้ 213 ไร่ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 541,020 บาทต่อปี มีการปลูกพืชหลังนา อาทิ ข้าวโพด ถั่วลิสง แตงกวา แตงโม พริก ฟักทอง บนพื้นที่ 600 ไร่ คิดเป็นมูลค่า 7,043,800 บาทต่อปี และสามารถเพิ่มพื้นที่ปลูกพืชได้อีกอย่างต่อเนื่อง

หลังจากมีน้ำจากอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ส่วนโครงการฝายหนองเดือนห้าบ้านนาดี ตำบลพังงู อำเภอหนองหาน เป็นฝายดินที่ใช้เก็บกักน้ำเพื่อใช้ทำการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง ที่ชาวบ้านร่วมกันสร้างขึ้น แต่เนื่องจากฝายไม่มีความแข็งแรงจึงได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารคอนกรีตมีประตูเปิดและปิดสามารถบรรจุน้ำได้ 26,000 ลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่รับประโยชน์จำนวน 163 ไร่ของราษฎร 14 ครัวเรือนและโครงการอ่างเก็บน้ำฝายหลวงบ้านหนองแวง ตำบลไชยวาน อำเภอไชยวาน จังหวัดอุดรธานี

ได้การดำเนินงานพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ซึ่งเป็นหนองเก็บน้ำสาธารณะขนาดใหญ่ ขุดโดยเทศบาลตำบลหนองแว้งแก้มหอม เพื่อใช้ในการเก็บน้ำฝนไว้ใช้ในฤดูแล้ง มีพื้นที่ครอบคลุม 30 ไร่ สามารถจุน้ำได้ประมาณ 480,000 ลูกบาศก์เมตร แต่ไม่มีระบบท่อในการกระจายน้ำเข้าสู่พื้นที่ของเกษตรกร จึงได้มีการแก้ปัญหา โดยการต่อระบบท่อจากฝายหลวงเข้าสู่แปลงเกษตร ด้วยการใช้ระบบ กาลักน้ำ คือปล่อยน้ำจากที่สูงลงสู่แปลงนาที่อยู่ต่ำกว่าหนอง โดยใช้ท่อPVCรวมความยาวแนวท่อ 2 กิโลเมตร มีพื้นที่รับประโยชน์ได้ถึง 380 ไร่ ทำให้มีผลผลิต และรายได้เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ราษฎรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในปัจจุบัน

ทั้งนี้ การพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กทั้ง 3 แห่งในจังหวัดอุดรธานี นี้ ได้ขับเคลื่อนโดยโครงการปิดทองหลังพระ ร่วมกับจังหวัดอุดรธานี สำนักงาน กปร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งข้าราชการและประชาชนในพื้นที่ ก่อเกิดประโยชน์โดยมีน้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเพื่อให้เกษตรกรอยู่ดีกินดี มีภูมิคุ้มกันที่ดีในการประกอบอาชีพตลอดไป.

จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2558

กพช.เคาะแผนเพิ่มพลังงานทดแทน

นายคุรุจิต นาครทรรพ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกปี 2558-2579 แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิงปี 2558-2579 และแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติปี 2558-2579 โดยในส่วนของแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกมีเป้าหมายในการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน จากปัจจุบัน 11.9% เพิ่มขึ้นเป็น 30% ของปริมาณความต้องการพลังงานรวมของประเทศ ในปี 2579 หรืออีก 21 ปีข้างหน้า

โดยได้เสนอปรับเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน รวมทั้งสิ้น 19,635 เมกะวัตต์ รวมทั้งจะมีการส่งเสริมการผลิตและการใช้ไบโอดีเซลจาก 7.2 ล้านลิตรต่อวัน เป็น 14 ล้านลิตร และเอทานอลจาก 9 ล้านลิตรต่อวันเป็น 11.3 ล้านลิตร โดยมอบหมายให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการและรายงานความคืบหน้าการดำเนินต่อคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ทุก 3 เดือน

สำหรับแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิงปี 2558-2579 มีเป้าหมายที่สำคัญเช่น การทยอยปรับลดประเภทน้ำมันเบนซินในระยะยาวที่ควรมีเหลือไม่เกิน 3 ประเภท และใช้แผนเป็นกรอบสำหรับการดำเนินนโยบายส่งเสริมน้ำมันเชื้อเพลิงที่จะได้รับสิทธิประโยชน์พิเศษเช่น เชื้อเพลิงชีวภาพและเอ็นจีวีสำหรับรถสาธารณะ โดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อมต่างๆ รวมถึงความเสี่ยงที่อาจจะส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการพัฒนาด้านพลังงานของประเทศ

ส่วนแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติปี 2558-2579 เน้นหลักการ การบริหารจัดการด้านการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ให้มีการ แข่งขันและการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในอนาคต โดยการศึกษาเบื้องต้น คาดว่า การนำเข้าแอลเอ็นจีจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 2.6-3 ล้านตันต่อปี เพิ่มเป็น 24 ล้านตันในช่วงปลายแผน ซึ่งจะต้องเพิ่มจำนวนผู้จัดหาและจำหน่าย การเปิดให้บุคคลที่สามสามารถใช้ หรือเชื่อมต่อระบบส่งก๊าซธรรมชาติและสถานีแอลเอ็นจี และกำกับดูแลการจัดหาแอลเอ็นจีในระยะสั้นและระยะยาว โดยมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชพ.) และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ร่วมกันศึกษาและจัดทำแนวทางการส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันให้มีผู้ประกอบการแอลเอ็นจีมากกว่าปัจจุบันที่มีเพียง ปตท. เพียงรายเดียว

จาก http://www.thairath.co.th วันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2558

สั่งยกอันดับการค้า-ลงทุนไทย

"สมคิด"สั่งยกอันดับไทยในเวทีโลก ให้คลังเป็นหัวเรือสรุปงานร่วมเอกชน ชง"บิ๊กตู่"ใน 1 เดือน

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ Business Easing) ร่วมกับนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมช.พาณิชย์ และผู้แทนภาคเอกชน โดยย้ำว่า รัฐบาลต้องดูแลอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุนให้ภาคเอกชนร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และเสนอข้อสรุปเบื้องต้นให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พิจารณาใน 1 เดือน

ในช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับการอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน (Doing Business) โดยธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) เพิ่มขึ้นไม่มากนัก และจำเป็นต้องปรับปรุงกระบวนการสนับสนุนการค้าและการลงทุน เริ่มตั้งแต่การขออนุญาตเริ่มต้นทำธุรกิจ ไปจนถึงขั้นตอนประกาศล้มละลาย และบังคับคดีซึ่งที่ผ่านมาความล่าช้ามีสาเหตุหลักๆ มาจาก 1.ขั้นตอนราชการเกี่ยวข้องกับหลายกรม กระทรวง และ 2.บางขั้นตอนก็ยังมีกระบวนการที่ไม่จำเป็นที่ต้องแก้ไขหรือตัดทอนออก เช่น กฎระเบียบ หรือกฎหมายบางอย่าง

"ที่ผ่านมา รัฐบาลดำเนินการเรื่องนี้มาตลอด แต่ยังขาดการสื่อสารเพื่อสร้างความมั่นใจออกไปยังนักลงทุน โดยคาดว่าหลังจากนี้ การสำรวจความคิดเห็นของสำนักงานกฎหมายบริษัทเอกชนต่างๆ โดยเวิลด์แบงก์

ในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. 2559 จะส่งผลให้การจัดอันดับของประเทศไทยปรับเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันในปี 2015 ที่อยู่ที่อันดับ 26" นายสมคิด กล่าว นายอภิศักดิ์ กล่าวว่า คลังจะเร่งปรับปรุงกระบวนการสนับสนุนให้เกิดการค้าการลงทุนที่คล่องตัวขึ้นในส่วนที่ติดขัดข้อกฎหมายต้องแก้ไข หรือไม่ก็ต้องมีการออกกฎหมายใหม่ เพื่อทำให้ขั้นตอนต่างๆ ง่ายขึ้น โดยการประสานงานร่วมกับภาครัฐและเอกชนจากนี้ทุกๆ 2 สัปดาห์

นางอรรชกา กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ดำเนินการลดขั้นตอนให้ภาคธุรกิจหลายเรื่อง เช่น การขออนุญาตจัดตั้งโรงงาน หรือการขอใบอนุญาตมาตรฐานอุตสาหกรรม ที่อาจต้องลดขั้นตอนให้รวดเร็วขึ้นกว่าเดิม

ทั้งนี้ จากข้อมูลของเวิลด์แบงก์ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา หรือระหว่างปี 2011-2015 พบว่าในกลุ่ม 10 ประเทศอาเซียน มีเพียงไทยเป็นประเทศเดียวเท่านั้นที่มีอันดับลดต่ำลง จากที่ 19 ลดลงไปอยู่อันดับที่ 26 ส่วนเวียดนาม คงที่ในอันดับ 121 เป็น 114

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2558

4จี ประตูสู่เศรษฐกิจดิจิทัล

โดย...ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี

                      ในเดือนพฤศจิกายน 2558 นี้ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะจัดให้มีการประมูลสัญญาณ 4จี คลื่นความถี่ 1,800 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ระบบโทรคมนาคมยุค fourth generation หรือ 4จี ที่พื้นที่ให้บริการครอบคลุม 40% ในปี 2562 ด้วยประสิทธิภาพของ 4จี ที่เพิ่มขึ้นจาก 3จี อย่างโดดเด่นในเรื่องความสามารถในการรับ-ส่งข้อมูลที่สูงกว่า 5-7 เท่าจากระบบ 3จี รองรับการใช้งานข้อมูลที่มีขนาดใหญ่ขึ้นหรือข้อมูลมัลติมีเดียที่มีความละเอียดสูงขึ้น จะเป็นจุดเด่นที่พลิกโฉมธุรกิจปัจจุบัน

                      จากการเติบโตของอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์อย่างรวดเร็วและนโยบายการเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล ระบบ 4จี เป็นหนึ่งในการพัฒนาที่สำคัญในด้านโทรคมนาคมที่ช่วยเชื่อมโยงสังคมและธุรกิจของไทยกับสังคมโลกที่มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตรวมกันกว่า 3,000 ล้านคนทั่วโลก เนื่องจากปัจจุบันตลาดโลกมีระบบ 4จี ครอบคลุมการใช้ของประชากรทั่วโลกกว่า 26% โดยประเทศที่พัฒนาแล้วครอบคลุมการใช้ถึง 90% และในประเทศที่กำลังครอบคลุมการใช้เพียง 15% ส่วนไทยเองเริ่มใช้ 4จี แล้ว แต่ยังจำกัดอยู่ในบางพื้นที่และครอบคลุมการใช้ประมาณ 5% เท่านั้น

                      ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบีคาดว่าในปี 2558 นี้ เมื่อมีการประมูลในเดือนพฤศจิกายนนี้ มูลค่าตลาด 4จีG ยังมีขนาดเล็กเพียง 6,000 ล้านบาทหรือ 5% ของมูลค่าบริการด้านข้อมูลทั้งหมด และในปีหน้าหลังการประมูล 4จี แล้ว สัดส่วนการใช้จะเพิ่มขึ้นเป็น 9% มีมูลค่าประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งหมายถึงจำนวนผู้ใช้ที่มากขึ้น โดยเฉพาะภาคธุรกิจมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นเป็นเงาตามตัว เพื่อสนับสนุนอีคอมเมิร์ซ

                      รวมถึงกลุ่มธุรกิจที่ใช้ทดแทนระบบการสื่อสารพื้นฐานเดิมให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เกิดธุรกิจใหม่ๆที่น่าสนใจอีกหลายแขนง เช่น การประชุมทางไกล การถ่ายทอดสดแบบเรียลไทม์ การให้คำปรึกษาและบริการซ่อมออนไลน์ การบริหารจัดการวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจ การศึกษาทางไกล การวินิจฉัยทางไกลเชิงการแพทย์ เป็นต้น ในขณะที่กลุ่มผู้บริโภคที่ใช้เพื่อความบันเทิงยังคงเติบโตช้า เนื่องจากเป็นบริการที่มีราคาสูง ซึ่งผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังไม่จำเป็นจะต้องใช้ 4จี อย่างต่อเนื่อง

                      ปัจจุบันพฤติกรรมผู้บริโภคที่เข้าถึงข้อมูลดิจิทัลได้เร็วขึ้นและง่ายขึ้นได้เปลี่ยนพลิกโฉมธุรกิจไป ทำให้ผู้บริโภคสามารถรับรู้ข้อมูลเปรียบเทียบสินค้าและบริการได้ทันที สามารถเข้าถึงแหล่งผลิตและจำหน่ายได้โดยตรง อาจทำให้เราได้เห็นช่องทางการขายส่งและขายปลีกแบบดั้งเดิมย้ายไปสู่อีคอมเมิร์ซมากขึ้น อาจทำให้ธุรกิจจะมีวงจรสินค้าที่สั้นลง (cycle day) ด้านฝั่งผู้ผลิตสามารถออกสินค้าใหม่ได้บ่อยขึ้น สามารถควบคุมระดับสต็อกสินค้าได้ดีขึ้น การให้บริการแก่ลูกค้าที่ตอบสนองได้หลากหลายที่รวดเร็วขึ้นจากรูปแบบดั้งเดิมย่อมทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มขึ้น ไปจนถึงการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ (mobile banking) ที่มีความสะดวกและความปลอดภัยที่สูงขึ้น

                      จะเห็นได้ว่า การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างเช่น 4จี และจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นย่อมส่งผลต่อธุรกิจมากขึ้นทุกขณะ การปรับตัวของธุรกิจให้เข้ากับกระแสเทคโนโลยี จึงถือเป็นก้าวที่สำคัญเข้าสู่ประตูเศรษฐกิจดิจิทัล

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2558

เกษตรฯถกปัญหาร่วมกับ7กระทรวง จ่อรับมือสถานการณ์น้ำช่วงฤดูแล้ง

พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร กล่าวภายหลังการประชุม แก้ประญาภับแล้งร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการเน้นย้ำให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เตรียมแผนรับมือสถานการณ์ภัยแล้ง  โดยที่ประชุมได้ทำความเข้าใจถึงสถานการณ์น้ำว่า ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน ปริมาณน้ำจาก 4 เขื่อนหลัก ของลุ่มเจ้าพระยาจะมีน้ำใช้การได้เพียง 3,600 ล้านลูกบาศก์เมตรจึงไม่สามารถจัดสรรน้ำให้การเกษตรได้อย่างเด็ดขาด เช่นเดียวกับลุ่มน้ำแม่กลอง ที่มีปริมาณน้ำสำหรับรักษาระบบนิเวศน์ และเพื่อการอุปโภคบริโภคเท่านั้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเกษตรกรในช่วงที่ไม่สามารถทำการเกษตรได้

ทั้งนี้  จึงมอบหมาย ให้ทุกหน่วยงานเร่งทำโครงการเสนอ คณะกรรมการอำนวยการบูรณาการแก้ไขปัญหาวิกฤตภัยแล้ง ภายในวันจันทร์หน้า ก่อนเวลา 12 นาฬิกา เพื่อให้กระทรวงเกษตรฯ เสนอแผนต่อคณะรัฐมนตรีได้รับทราบเบื้องต้น ในการประชุมคณะรัฐมนตรี เนื่องจากแผนแก้ปัญหาภัยแล้งมีความเกี่ยวข้องกับงบประมาณที่จะนำไปใช้ช่วยเหลือเกษตรกร จึงขอให้ทุกกระทรวงเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด

ส่วนมาตรการเบื้องต้นมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร มี 6 มาตรการหลัก เช่นพักชำระหนี้ ธกส. ลดค่าครองชีพเกษตรกร เช่น จัดธงฟ้าราคาประหยัด  จ้างงานช่วงฤดูแล้ง ส่งเสริมอาชีพ และการปลูกพืชระยะสั้นที่ใช้น้ำน้อย ไปจนถึงการเลี้ยงสัตว์อื่นๆ แทนการทำเกษตร

ส่วนพื้นที่เสี่ยงภัย คาดจะเป็นพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา และลุ่มน้ำแม่กลองทั้งหมด ครอบคลุม 26 จังหวัด รวมพื้นที่ 10.7 ล้านไร่ ซึ่งจะประกาศงดสนับสนุนน้ำเพื่อการเกษตร หลังเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 22 กันยายนนี้ ซึ่งจะมีผล ในวันที่ 1 ตุลาคม 2558 ถึงเดือนเมษายน ปี 2559 ดังนั้น เกษตรกร ต้องมีการปรับตัว และไม่ลงทุนเพาะปลูกเพื่อลดความเสี่ยง โดยวันที่ 1 ตุลาคมนี้ จะตั้งศูนย์ติดตามปัญหาภัยแล้งในทุกจังหวัด โดยจะประสานงานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อติดตามสถานการภัยแล้งอย่างใกล้ชิด เพื่อวางมาตรการ ช่วยเหลือเกษตรกร ให้ทันเหตุการณ์ โดยทุกจังหวัดต้องมีการตรวจสอบ และมีการประเมินข้อมูลอย่างต่อเนื่อง  อย่างเป็นระบบ ด้วย กลางเดือนพฤศจิกายน จะติดตามความคืบหน้าอีกครั้ง

นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯได้เตรียมเสนอแผนบริหารจัดการน้ำ ผ่านโครงการแก้มลิงกักน้ำ จำนวน 30 จุด 5 จังหวัด  โดยมีจังหวัดนครพนม 9แห่ง  หนองคาย 6 แห่ง บึงกาฬ4 แห่ง  เลย 3แห่ง  มกดาหารอีก8  แห่ง โดยจะใช้งบประมาณ 604 ล้านบาทซึ่ง กระทรวงเกษตรฯ จะนำเสนอเข้าที่ประชุม คณะรัฐมนตรี เพื่อขออนุมัติต่อไป  ซึ่งส่วนตัว ให้ทางหารเป็นผู้ดำเนินการ เพราะน่าจะมีความรวดเร็ว มากกว่าหน่วยงานอื่น

ด้านนายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ  อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการสำรวจ พื้นที่ เรียบ ร้อย สามารถดำเนินการได้ทันที ให้เสร็จ สิ้นภายใน2-3 เดือน โดยมาตรการดังกล่าวตามแนวทางของนายกรัฐมนตรี เป็นการวางระบบการกักเก็บน้ำใน แม่น้ำ สาขา เพื่อป้องกันไม่ให้ไหล ทิ้งลงไปแม่น้ำโขง

จาก http://www.naewna.com วันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2558

รายงานพิเศษ : หวั่นอากาศแปรปรวนกระทบภาคเกษตร ต้องพัฒนาเทคโนโลยีเข้าสู้ รุกรับมือในอนาคต

จากสภาพภูมิอากาศปัจจุบันที่มีความแปรปรวนสูง โดยเฉพาะปริมาณและการกระจายของฝนที่มีความแปรปรวนระหว่างปีและภายในปีเดียวกันค่อนข้างสูง ซึ่งจะทำให้บางปีเกิดภัยแล้ง ขณะที่บางปีเกิดน้ำท่วม ความแปรปรวนของสภาพอากาศทำให้ระบบการเกษตรเกิดความเสี่ยงและความไม่แน่นอนสูงมากขึ้น ซึ่งความไม่แน่นอนนี้จะส่งกระทบอย่างมากต่อเกษตรกรรายย่อย

ในเรื่องดังกล่าว นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้ศึกษาคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ จากแบบจำลองภูมิอากาศโลก 7 แบบจำลอง และใช้รูปแบบการปลดปล่อยพลังงานของ คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC)แบบ A1B แบบอนุรักษ์นิยมที่ค่อนข้างสมเหตุผล ผลการวิเคราะห์ได้คาดการณ์อุณหภูมิที่อาจจะเพิ่มสูงขึ้น 0.4 องศาเซลเซียส ในทุก 10 ปี นับจากปัจจุบันจนถึงปี พ.ศ. 2593 และพบว่าภายใน พ.ศ. 2593 อุณหภูมิต่ำสุดและอุณหภูมิเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นไม่เกิน 2C เมื่อเปรียบเทียบกับอุณหภูมิปัจจุบัน และอุณหภูมิสูงสุดจะเพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.8C ส่วนพื้นที่ในแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งหมดอุณหภูมิเฉลี่ยอาจมีค่าสูงกว่า 29C สำหรับการคาดการณ์ปริมาณน้ำฝน ชี้ให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ของประเทศไทย โดยปริมาณน้ำฝนรายปีอาจลดลงถึง 250 มิลลิเมตร ในตอนกลางของประเทศไทย และเพิ่มขึ้นถึง 600 มิลลิเมตร ในพื้นที่ภาคเหนือและใต้ ส่วนฝนตกรายเดือนจากต้นฤดูถึงปลายฤดูฝนยังคงไม่เปลี่ยนแปลงในพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ ทั้งนี้ ในส่วนของพื้นที่ภาคใต้แหล่งผลิตปาล์มน้ำมัน ปริมาณฝนจะเพิ่มขึ้นถึง 200 มิลลิเมตรในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งผลกระทบและแนวโน้มในอนาคตของผลผลิตปาล์มน้ำมันขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝนย้อนหลังไป 23 เดือน ซึ่งคาดการณ์ว่าจะทำให้ผลผลิตปาล์มไปออกมากขึ้นในเดือนตุลาคมอีกรอบ

อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างของปริมาณฝนภายในปีเดียวกันสูงพอๆ กับความแตกต่างของปริมาณฝนระหว่างปี ซึ่งหมายความว่า ปริมาณน้ำฝนจะมีความแปรปรวนสูงมากขึ้นต่อจากนี้ไป ดังนั้น เกษตรกรควรที่จะต้องตระหนักและมีแผนรับมือต่อความแปรปรวนของปริมาณน้ำฝน ทั้งนี้ จากความแปรปรวนในปริมาณน้ำฝนและอุณหภูมิแล้ว การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังจะก่อให้เกิดเหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรง (Extreme Events) บ่อยขึ้นอีกด้วย ทั้งในเรื่องรังสีความร้อน ความหนาวฉับพลัน น้ำท่วมรุนแรง และภัยแห้งแล้ง ซึ่งแบบจำลองของภูมิอากาศโลกยังไม่สามารถคาดการณ์เหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรงเหล่านี้ได้อย่างแม่นยำนัก

นอกจากนี้ สศก. ยังได้ทำการวิเคราะห์ถึงผลกระทบในระยะยาวของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยใช้แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ โดยผลการวิเคราะห์พบว่า แต่ละพื้นที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่แตกต่างกัน โดยพื้นที่ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้บางส่วนเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด รวมมูลค่าความสูญเสียทั้งหมดระหว่าง 1.8 ถึง 3 พันล้านบาทต่อปี พืชที่ได้รับผลกระทบมากสุดคือ ทุเรียน ลำไย ข้าวโพด อ้อย ปาล์มน้ำมัน และยางพารา และหากรวมความสูญเสียของทุกพืชแล้ว ความสูญเสียรวมทั้งหมดมีมูลค่าประมาณเกือบหนึ่งหมื่นล้านบาทต่อปี

สำหรับในภาคเกษตรของประเทศไทย ข้อมูลจากการจัดทำรายงานแห่งชาติ โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่ง สศก.เป็นคณะทำงาน พบว่า ก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยในปี 2554 จากก๊าซมีเทนจากนาข้าวปล่อยมากที่สุด คิดเป็นประมาณร้อยละ 54 รองลงมา คือ ปศุสัตว์ (การหมักฯและการจัดการมูลสัตว์) และดินที่ใช้ในการเกษตร คิดเป็นร้อยละ 25 และร้อยละ 20 ตามลำดับ ส่วนการเผาเศษวัสดุการเกษตรมีสัดส่วนเท่ากับร้อยละ 2 ขณะที่ก๊าซเรือนกระจกจากภาคเกษตรมีแนวโน้มปล่อยเพิ่มขึ้นตั้งแต่ ปี 2548-2554

พร้อมนี้ สศก. ซึ่งมีภารกิจในการกำหนดนโยบายพัฒนาภาคการเกษตร ได้จัดทำยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการว่าด้วยเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้านการเกษตร ปี พ.ศ. 2556-2559 เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยครอบคลุมทั้งประเด็นการปรับตัว (Adaptation) ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Mitigation) ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์ ดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 1 การปรับตัวรองรับ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ มี 2 กลยุทธ์ คือ 1) การเตรียมพร้อมและสร้างภูมิคุ้มกัน 2) การลดผลกระทบ การรับมือ และการปรับตัว ยุทธศาสตร์ที่ 2 การเก็บกักและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตร มี 2 กลยุทธ์ คือ 1) การพัฒนาระบบการจัดเก็บข้อมูลและองค์ความรู้เรื่องก๊าซเรือนกระจก2) การส่งเสริม สนับสนุนการปรับระบบการผลิตสู่เกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ ยุทธศาสตร์ที่ 3 การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้านการเกษตร มี 4 กลยุทธ์ คือ 1) การพัฒนาเสริมสร้างองค์ความรู้ 2) การสร้างการรับรู้และมีส่วนร่วม3) การเพิ่มศักยภาพบุคลากร และ 4) การพัฒนาการดำเนินงานตามกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ นอกจากนี้ สศก. ยังอยู่ระหว่างการทบทวนและจัดทำแผนยุทธศาสตร์ว่าด้วยเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้านการเกษตร และแผนพัฒนาเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2560-2564 โดยพยายามให้ประเด็นที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นประเด็นของการพัฒนาภาคเกษตรอีกด้วย

เลขาธิการ สศก. กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้พยายามพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อแก้ไขและลดปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยสามารถแบ่งเทคโนโลยีดังกล่าวออกเป็น 2 ประเภท คือ 1.เทคโนโลยีที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตร (GHG Mitigation Technology) มี 3 แนวทางด้วยกัน ได้แก่ แนวทางที่ 1 การใช้ปุ๋ยสั่งตัด เป็นแนวทางลดการใช้ปุ๋ยเคมี (แหล่งปล่อยไนตรัสออกไซด์ N2O ที่สำคัญ) โดยใส่ปุ๋ยตามค่าการวิเคราะห์ค่าดิน หรือ เทคโนโลยีการจัดการธาตุอาหารเฉพาะที่ แนวทางที่ 2 การทำนาข้าวแบบเปียกสลับแห้ง (Alternate Wet and Dry Practice : AWD) ที่ปล่อยน้ำในช่วงที่เหมาะสม แนวทางที่ 3 การใช้ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต (Ammonium-Sulphate) แทนการใช้ปุ๋ยยูเรียเพื่อลดการปล่อยก๊าซมีเทน (CH4) ในนาข้าว

2.เทคโนโลยีที่ช่วยในการปรับตัวต่อเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Adaptation Technology) โดยการพัฒนาพันธุ์ข้าวทนต่อสภาวะแวดล้อม และพันธุ์ข้าวทนโรค ซึ่งกรมการข้าว ร่วมกับ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (สวทช.) ได้ร่วมกันพัฒนาข้าวสายพันธุ์ใหม่ได้ 3 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ทนน้ำท่วมฉับพลันและทนแล้ง สายพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ทนดินเค็ม และสายพันธุ์ กข6 ต้านทานโรคไหม้ โดยได้ผ่านการปลูกทดสอบในศูนย์วิจัยข้าว และแปลงของเกษตรกรแล้ว ซึ่งพบว่า ให้ผลผลิตไม่ต่างจากเดิม อีกทั้งยังมีเรื่องของการบริหารจัดการน้ำ ที่ถือเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยในการปรับตัวต่อเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Adaptation Technology) ทั้งการบริหารจัดการน้ำในระดับลุ่มน้ำการบริหารจัดการน้ำในฟาร์ม และการใช้ Remote SensingTechnology ทั้งนี้ ในอนาคตควรมีการพัฒนาเทคโนโลยีด้านต่างๆ เพื่อศึกษาโลกสภาวะร้อนอย่างจริจังไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีจากงานวิจัยท้องถิ่น การทำเกษตรแบบแนวตั้ง (Vertical Farming) และการเกษตรแม่นยำ (Precision Farming) เพื่อสามารถกำหนดปริมาณใช้น้ำของพืช การกำหนดปริมาณการใช้ปุ๋ยได้แม่นยำ และตรงตามความต้องการของพืช เป็นต้น

จาก http://www.naewna.com วันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2558

ส่งตัวแทน‘สหกรณ์’ดูงานตปท. เสริมสร้างความรู้พัฒนาภาคการเกษตรไทย

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า รัฐบาลมุ่งสนับสนุนให้นำเกษตรกร ที่มีศักยภาพในการพัฒนาหรือเพิ่มขีดความสามารถ ไปศึกษาดูงานในต่างประเทศ ตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ภายใต้โครงการ “พัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อสร้างความเข้มแข็งของสหกรณ์” เพื่อศึกษาดูงานด้านการพัฒนาสหกรณ์การเกษตร การตลาด รวมถึงการบริหารจัดการ ณ ประเทศญี่ปุ่น และประเทศมาเลเซีย เพื่อนำความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้ และต่อยอดในการพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินงานของสถาบันสหกรณ์ของตนเองและเครือข่ายสหกรณ์ได้

ด้าน นายโอภาส กลั่นบุศย์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า กรมได้คัดเลือกเกษตรกรจากสหกรณ์ภาคการเกษตร กลุ่มเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2556 -2558 และสหกรณ์ที่ดำเนินการสนองนโยบายรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เช่น สหกรณ์ที่เป็นศูนย์กระจายสินค้าสหกรณ์ (CDC) ในระดับภาค สหกรณ์ที่ดำเนินโครงการปรับโครงสร้างการผลิต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการตลาดปาล์มน้ำมันแบบครบวงจร สหกรณ์ดีเด่นในพื้นที่โครงการหลวง รวมทั้งหมด 78 สหกรณ์10 กลุ่มเกษตรกรจาก 43 จังหวัด โดยแบ่งเป็น 4 รุ่น รุ่นละ 25 คน ซึ่งรุ่นที่ 1 ระหว่างวันที่ 7-10 กันยายน 2558 และ รุ่นที่ 2,3ระหว่างวันที่ 13-16 กันยายน 2558 จะเดินทางไปศึกษาดูงานเกี่ยวกับธุรกิจการตลาดและการบรรจุภัณฑ์ ของสหกรณ์การเกษตรในประเทศญี่ปุ่น เกษตรกร ณ สหกรณ์การเกษตรนากาโนะและสหกรณ์การเกษตรวาโกเอน รุ่นที่ 4 ระหว่างวันที่ 14-17 กันยายน 2558 จะเดินทางไปศึกษาดูงานองค์กร FOA และเยี่ยมชมโครงการของ FOA ที่ประสบความสำเร็จในเรื่องการพัฒนากลุ่มเกษตรกรและสหกรณ์ และเยี่ยมชมAFO เกี่ยวกับการดำเนินงานธุรกิจปาล์มน้ำมันครบวงจร ณ รัฐสลังงอ ประเทศมาเลเซีย

“การเดินทางไปศึกษาดูงานในครั้งนี้ จะเป็นการเสริมสร้างโอกาสในพัฒนาศักยภาพ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยนำประสบการณ์และข้อมูลต่างๆ ที่ได้รับในครั้งนี้ มาเป็นต้นแบบในการต่อยอดพัฒนาสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรรวมทั้งเครือข่ายของตน ในการพัฒนาผลผลิตทางการเกษตรเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับสหกรณ์ต่อไป” อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2558

“ประยุทธ์” สั่งทำแผนบริหารจัดการน้ำ 

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำของประเทศ ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า นายกรัฐมนตรีห่วงสถานการณ์น้ำ จึงขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นแกนกลางในการประสานงานรวบรวมข้อมูลแหล่งน้ำนอกเหนือจากน้ำต้นทุนจากเขื่อนหลัก 33 เขื่อน โดยให้เพิ่มข้อมูลแหล่งน้ำอื่นๆ เช่น แหล่งน้ำบาดาล แหล่งเก็บกักน้ำที่รัฐบาลมีแนวทางสนับสนุนส่งเสริม โดยอัดฉีดเม็ดเงินระดับพื้นที่ด้วย ซึ่งสถานการณ์น้ำปีนี้ฝนตกน้อยกว่าปีที่ผ่านมาร้อยละ 25 จึงจำเป็นต้องมีข้อมูลเพื่อวางแผนเรื่องน้ำอย่างละเอียด

ส่วนการนำน้ำจากแม่น้ำโขงและแม้น้ำสาละวินมาใช้นั้น จากการตรวจสอบหลายรอบทราบว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากพอสมควร เพราะอยู่ในพื้นที่ประเทศอื่น ดังนั้น วิธีการดีที่สุด คือ จัดทำแหล่งกักเก็บน้ำลักษณะแก้มลิงและฝายตามแม่น้ำสายหลักต่างๆ ที่จะไหลลงแม่น้ำโขงหรือแม่น้ำสาละวิน โดยหลักการคือ ให้น้ำอยู่ในประเทศไทยนานที่สุด โดยในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กระทรวงเกษตรฯ เสนอว่า ให้จัดทำแก้มลิงเพื่อกักเก็บน้ำเพิ่ม 30 แห่งใน 5 จังหวัด เช่น นครพนม หนองคาย เลย บึงกาฬ และมุกดาหาร และสร้างฝายใน 22 จังหวัดในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนเหนือและภาคกลางตอนบนบ้างเล็กน้อย

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังสั่งการให้ภายในเดือนตุลาคมหรืออีก 2 สัปดาห์ข้างหน้านี้ กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงที่เกี่ยวข้องจะต้องจัดทำชุดมาตรการที่ชัดเจน คือ หากรัฐบาลขอให้เกษตรกรและประชาชนทำอะไร ไม่ทำอะไร ที่เป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปจากเดิมจะต้องจัดทำชุดมาตรการช่วยเหลือควบคู่ไปด้วย เพื่อให้เกษตรกรและประชาชนมั่นใจว่าเมื่อต้องดำเนินการตามรัฐบาลแล้วรัฐบาลจะมีมาตรการช่วยเหลือสังคม หรือผู้ที่เกี่ยวข้องจะช่วยเหลือประคับประคองให้ผ่านวิกฤตการณ์ไปได้อย่างไร

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2558

ปริมาณน้ำในเขื่อนหลักยังต่ำ กฟผ.หวั่นกระทบภาคการเกษตร

นายสุนชัย คำนูนเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนขณะนี้ว่า ยังมีความเป็นห่วงเนื่องจากยังมีปริมาณน้ำมันที่ต่ำกว่าที่จะเป็นแม้จะมีฝนตกในหลายพื้นที่ก็ตาม โดยปริมาณน้ำมันเขื่อนหลักในภาคเหนือ ได้แก่เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีปริมาณน้ำมันเพียง 40% เขื่อนภูมิพล จ.ตากมีปริมาณนั้น 32% เท่านั้น โดยเฉลี่ยทั้ง 2 เขื่อนมีปริมาณน้ำมันไหลเข้าเพียงวันละ 20 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)

ด้านเขื่อนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่เขื่อนอุบลรัตน์ มีปริมาณน้ำมันเพียง 30% เขื่อนสิรินธร 50% ในขณะที่เขื่อนด้านตะวันตก ได้แก่เขื่อนวชิราลงกรณ์และเขื่อนศรีนครินทร์   ยังมีปริมาณน้ำพอสมควรเฉลี่ย 70%

ทั้งนี้ภาพรวมของปริมาณน้ำในเขื่อน ซึ่งเป็นต้นทุนน้ำสะสมไว้ใช้ในปีหน้า ยังมีปริมาณที่น้อย ดังนั้นจะต้องระมัดระวังการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์มากที่สุด โดยขณะนี้ได้ลดการปล่อยปริมาณน้ำจากเขื่อนเหลือเพียง 3 ล้านลบ.ม.ต่อวัน เท่านัน เพื่อเสะสมปริมาณน้ำในเขื่อนไว้รองรับการใช้ในปีถัดไป

ทั้งนี้ กฟผ.ได้จัดงาน "Saving Forward ร่วมมือ ใส่ใจ ประหยัดไฟเพื่ออนาคต" โดยมีการลงนามความร่วมมือโครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ปี 2558 กับผู้ประกอบการ ซึ่งในปี2558 มีเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เข้าโครงการฉลากเบอร์5 อีก 3 ผลิตภัณฑ์ได้แก่  ตู้แช่เย็นแสดงสินค้า เครื่องรับโทรทัศน์ และกาต้มน้ำไฟฟ้า โดยในช่วง 22 ปีที่ผ่านมา กฟผ. ได้ร่วมมือกับบริษัทผู้ประกอบการ พัฒนาประสิทธิภาพเครื่องใช้ไฟฟ้าและติดฉลากเบอร์ 5 ซึ่งจากการดำเนินงานดังกล่าวจนถึงปัจจุบัน มีอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ได้รับการติดฉลากเบอร์ 5 แล้วรวม 26 ผลิตภัณฑ์ จ่ายฉลากไปแล้วประมาณ 285 ล้านดวง ซึ่งนับรวมอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ได้มีการลงนามความร่วมมือในปี 2557

นอกจากนี้ ยังได้ประสานงานความร่วมมือกับผู้ประกอบการในการปรับปรุงประสิทธิภาพอุปกรณ์ไฟฟ้าใหม่เพิ่มขึ้นจำนวน 2 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ กระทะไฟฟ้า และเครื่องสูบน้ำไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ

จาก http://www.naewna.com วันที่ 16 กันยายน 2558

ไฟเขียวงบช่วยเกษตรกร

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติงบกลางในรายการเงินสำรองจ่ายยามฉุกเฉินวงเงิน 681 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร 61,700 ราย ประกอบด้วย เกษตรกรที่ปลูกพืช 59,000 ราย ทำการประมง 2,200 ราย และปศุสัตว์ 14 ราย เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยพิบัติตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2557-กุมภาพันธ์ 2558 โดยประกอบด้วยภัยพิบัติ 5 ชนิด คือ อุทกภัย ภัยแล้ง ภัยฝนทิ้งช่วง โรคพืช ศัตรูพืชระบาด

นอกจากนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรียังอนุมัติการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 เนื่องจาก เห็นว่า พ.ร.บ.เดิมนั้นไม่ยังไม่สามารถส่งเสริมการลงทุนได้ดีเท่าที่ควร และไม่จูงใจให้นักลงทุนมาลงทุนเท่าใดนัก จึงได้ปรับเปลี่ยนรายละเอียดในบางส่วน ประกอบด้วยการอำนวยความสะดวก การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา เช่น การยกเว้นอากรขาเข้า เพื่องานวิจัยและพัฒนา ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับงานวิจัยและพัฒนารวม 13 ปี และสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ไม่เกิน 2 เท่าของการลงทุน รวมทั้งเงินที่ใช้ในการลงทุนไปแล้ว ในบางโอกาสสามารถเอามาหักจากกำไรสุทธิได้แต่ไม่เกินร้อยละ 90

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 16 กันยายน 2558

ประกาศผลพัฒนาเกษตรครบวงจร ดีเดย์17กย.มุ่งเน้นบูรณาการเครือข่ายทุกภาคส่วน

นายสุรพงษ์ เจียสกุล หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินโครงการเทิดพระเกียรติ “พระบารมีปกเกล้าชาวเกษตร” เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2557 ประกอบด้วย 5 กิจกรรมย่อย โดยมีกิจกรรมการพัฒนาการเกษตรครบวงจรในพื้นที่ที่มีศักยภาพรวมอยู่ด้วย ขณะเดียวกันยังมีการประกวด “การดำเนินงานโครงการพัฒนาการเกษตรครบวงจรในพื้นที่ที่มีศักยภาพ ประจำปี 2558” โดยมุ่งเน้นการทำงานร่วมกันแบบบูรณาการของหน่วยงานในสังกัด และเครือข่ายทุกภาคส่วน

โดยการประกวดได้แบ่งเป็น 2 กลุ่ม 3 รูปแบบ ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 ได้แก่ รูปแบบที่ 1 ดำเนินการในพื้นที่เขตเหมาะสมสำหรับการปลูกพืช เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การผลิตและการเลี้ยงสัตว์ ตามที่กระทรวงเกษตรฯ กำหนด และมีระบบน้ำเพื่อการเกษตรสมบูรณ์ กลุ่มที่ 2 ได้แก่ รูปแบบที่ 2 ดำเนินการในพื้นที่เขตเหมาะสมสำหรับการปลูกพืช เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การผลิตและการเลี้ยงสัตว์ ตามที่กระทรวงเกษตรฯ กำหนด และมีระบบน้ำเพื่อการเกษตรค่อนข้างสมบูรณ์ และรูปแบบที่ 3 ดำเนินการในพื้นที่เขตเหมาะสมสำหรับการปลูกพืช เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การผลิตและการเลี้ยงสัตว์ตามที่กระทรวงเกษตรฯ กำหนด และมีระบบน้ำเพื่อการเกษตรยังไม่สมบูรณ์

ส่วนผลการประกวดโครงการนั้น คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการพัฒนาการเกษตรฯ ได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อมูล และรายงานผลการตรวจสอบข้อมูลให้คณะกรรมการดำเนินงานโครงการพัฒนาการเกษตรฯ พิจารณาตัดสิน ขณะที่ผู้ชนะการประกวดในระดับประเทศจะได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณ พร้อมเงินรางวัล จำนวน 100,000 บาท โดยมอบรางวัลให้แก่จังหวัดที่ได้รับรางวัลการประกวดในการจัดสัมมนา เรื่อง ผลการดำเนินงานตามนโยบายสำคัญประจำปีงบประมาณ 2558 และแนวทางการดำเนินงานปีงบประมาณ 2559 ในวันที่ 17 กันยายน 2558

จาก http://www.naewna.com วันที่ 16 กันยายน 2558

กวาดล้างพ่อค้ารถเร่ขายปุ๋ยปลอม สั่งสารวัตรเกษตรลุยปราบทั่วปท.-เตือนเกษตรกร

          พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ระยะนี้เป็นช่วงเวลาที่เกษตรกรมีความต้องการใช้ปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์ค่อนข้างสูง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืช ทั้งข้าว พืชสวน และพืชไร่ ทำให้มีพ่อค้าฉวยโอกาสนำรถเร่ออกตระเวนขายปุ๋ยไปตามหมู่บ้านต่างๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคกลาง โดยมีการติดต่อและขายให้เกษตรกรโดยตรง ทั้งยังมีโปรโมชั่นลดราคาและให้สินเชื่อแล้วให้เกษตรกรผ่อนจ่ายภายหลัง พร้อมมีของแจกของ แถม เช่น พัดลม หม้อหุงข้าว เตารีด เครื่องเล่นซีดี และโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น เพื่อดึงดูดใจ ลูกค้าหากซื้อปริมาณมากตามเป้าที่กำหนดไว้

          ขณะเดียวกัน ยังมีการขายปุ๋ยผ่านตัวแทนในหมู่บ้าน โดยจะมีกลุ่มบุคคลไปขอใช้เครื่องกระจายเสียงประจำหมู่บ้านกับผู้นำชุมชน เพื่อโฆษณาขายปุ๋ยและปัจจัยการผลิตที่กล่าวอ้างว่าเป็นปุ๋ย หากมีเกษตรกรสนใจสินค้าก็จะจดรายชื่อไว้ บางครั้งมีการเรียกเก็บค่ามัดจำล่วงหน้าจำนวนหนึ่งแล้วค่อยนัดส่งปุ๋ยทีหลัง ซึ่งการกระทำดังกล่าว ถือว่ามี ความผิดตาม พ.ร.บ.ปุ๋ย พ.ศ.2518 และแก้ไขเพิ่มเติม ตามมาตรา 57 คือ ขายโดยไม่มี ใบอนุญาต หรือมาตรา 59 คือ ขายนอกสถานที่ที่ระบุไว้ในใบอนุญาต

          "ขอให้เกษตรกรอย่าหลงเชื่อ และระมัดระวังในการซื้อปุ๋ยและสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช หรือเมล้ดพันธุ์พืชจากพ่อค้าเร่ เพราะอาจได้รับปุ๋ย สารเคมี หรือเมล็ดพันธุ์ที่ด้อยคุณภาพ ไม่ได้มาตรฐาน และเสียเปรียบพ่อค้า เมื่อนำไปใช้อาจไม่ได้ผลหรือไม่คุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไป" พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว

          ด้าน นายอนันต์  สุวรรณรัตน์ อธิบดี กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้สั่งการให้กรมวิชาการเกษตร กำชับหน่วยงาน ในสังกัดรวมทั้งสารวัตรเกษตรและเครือข่ายสารวัตรเกษตรทั่วประเทศ ติดตามตรวจสอบและกวาดล้างขบวนการรถเร่ขายปุ๋ยและปัจจัยการผลิตทางการเกษตรในทุกพื้นที่ รวมทั้งขอความร่วมมือผู้นำชุมชน และสมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ช่วยกันตรวจสอบและแจ้งเบาะแสเมื่อพบผู้กระทำผิดกฎหมาย เพื่อรักษาผลประโยชน์และช่วยปกป้องเกษตรกรไม่ให้ถูกเอาเปรียบจากกลโกงของพ่อค้า และให้ได้ใช้ปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพ และได้มาตรฐานด้วย

          ทั้งนี้ หากพบรถเร่ขายปุ๋ยหรือมีเบาะแสเกี่ยวกับการผลิตหรือจำหน่ายปัจจัยการผลิตที่ไม่ได้คุณภาพ สามารถแจ้งเบาะแสหรือร้องเรียนได้ที่ สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร โทร./โทรสาร 0-2579-4652 หรือที่ e-mail : ardcenter @doa.in.th และหน่วยงานภูมิภาคในสังกัดกรมวิชาการเกษตรทุกแห่ง

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 16 กันยายน 2558

กรมชลฯควบคุมลุ่มน้ำเจ้าพระยา-ลุ่มน้ำแม่กลอง 

          พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ และคณะได้ตรวจเยี่ยมกรมชลประทาน โดยมีนายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทานพร้อมผู้บริหารระดับสูง ให้การต้อนรับ และรายงานว่าที่ผ่านมาได้พัฒนาแหล่งน้ำทั้งขนาดใหญ่ กลางและเล็กทั้งหมด 17,298 แห่ง กักเก็บน้ำได้ประมาณ 79,900 ล้าน ลบ.ม.มีพื้นที่ชลประทาน 30.2 ล้านไร่ ปี 2558 พัฒนาแหล่งน้ำ 1,862 แห่ง กักเก็บน้ำ 432.55 ล้าน ลบ.ม.และเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 875,410 ไร่ โดยเฉพาะงบปกติเบิกจ่ายไปแล้วถึงร้อยละ 80.92 สำหรับปี 2559 พัฒนาแหล่งน้ำแบ่งเป็นโครงการชลประทานขนาดใหญ่ 9 แห่ง ขนาดกลาง 60 แห่ง ขนาดเล็ก 173 แห่ง โครงการป้องกันและบรรเทาภัยจากน้ำ 166 แห่ง ขุดลอก 695 แห่ง และแก้มลิง 7 แห่ง กักเก็บน้ำ 262.31 ลบ.ม.เพิ่มพื้นที่ชลประทาน 309,475 ไร่ เป้าหมายบริหารจัดการทรัพยากรน้ำปี 2558-2569 พัฒนาแหล่งน้ำเพิ่มปริมาณการกักเก็บให้ได้ 9,500 ล้าน ลบ.ม.และขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นอีก 8.7 ล้านไร่ แผนการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2558/59 ในพื้นที่ชลประทานที่มีแหล่งน้ำต้นทุนจากอ่างเก็บน้ำเชิงเดี่ยว ให้คณะกรรมการจัดการชลประทาน(JMC)ในแต่ละพื้นที่วางแผนการจัดสรรน้ำตามศักยภาพน้ำต้นทุนที่มีอยู่ พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา และลุ่มน้ำแม่กลอง คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำต้นทุน เพื่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศและอื่นๆส่วนการปลูกพืชฤดูแล้งต้องติดตามสถานการณ์น้ำ วางมาตรการที่เหมาะสมอย่างใกล้ชิด

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 16 กันยายน 2558

"บิ๊กตู่" เรียกถก "แล้งปี 59" สศก.ประเมินนาข้าวทั้งปีเสียหายแสน

           พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรียกกระทรวงเกษตรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าหารือเรื่องการรับมือสถานการณ์น้ำแล้ง หลังสถานการณ์น้ำในเขื่อนหลักของประเทศมีปริมาณน้ำเหลือใช้น้อยจนไม่สามารถจัดสรรน้ำเพื่อทำการเกษตร ไปจนถึง พ.ค.2559 ซึ่งเดิมจะต้องหารือเรื่องนี้ในคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่เนื่องจากสถานการณ์น้ำแล้งเป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญสูงสุด จึงเรียกประชุมหน่วยงานเกี่ยวกับน้ำและการรับมือภัยพิบัติแล้ง ในวันที่ 16 ก.ย.2558 เวลา 09.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรีอยากลงรายละเอียดมาตรการรับมือภัยแล้งในพื้นที่ที่มีน้ำปริมาณน้อย ไม่พอเพียงเพื่อจัดสรรทำการเกษตรและกิจกรรมต่างๆของประชาชน ซึ่งรัฐบาลต้องเร่งหามาตรการช่วยเหลือเพื่อเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร

          ด้านนายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า สถานการณ์น้ำยังคงแล้งและไม่เพียงพอให้เกษตรกรดำเนินการกิจกรรมทางด้านการเกษตรทุกด้าน ทั้งเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ ในเขตชลประทาน 22 จังหวัด เขตลุ่มเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลอง ทำให้เราต้องประสบภัยแล้งติดต่อกันเป็นปีที่ 2 โดย สศก.ประเมินผลกระทบจากการงดกิจกรรมด้านการเกษตรทั้งปีสร้างความเสียหายให้ชาวนาประมาณ 108,954 ล้านบาท แบ่งเป็นนาปรังปีการผลิต 2558 เสียหาย 33,558 ล้านบาท นาปีปี 2558/59 เสียหาย 29,838 ล้านบาท และนาปรังปี 2559 สูญเสียรายได้ 45,558 ล้านบาท โดยความสูญเสียเบื้องต้น 1 แสนกว่าล้านบาท เพียงเฉพาะที่กระทบกับผลผลิตข้าว ยังไม่รวมผลกระทบต่อผลผลิตด้านการเกษตรตัวอื่นๆ อาทิ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และอ้อย.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 16 กันยายน 2558

ธุรกิจน้ำตาลซึมตามตลาดโลก

นายทัศน์ วนากรกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภาวะราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่ผันผวน จากปีก่อนที่ราคาปอน์ดละ 17-18 เซ็นต์ แต่ขณะนี้ลดลงเหลือเพียง 11 เซ็นต์เท่านั้น รวมถึงกำลังการผลิตน้ำตาลที่ล้นตลาด

ทั้งนี้เพราะบราซิล ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ของโลก ประสบปัญหาเงินเรียลอ่อนค่า กรณีดังกล่าวได้ส่งผลผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัท โดยคาดว่าจะทำให้ปีนี้มีกำไรสุทธิต่ำกว่าปีก่อนที่มีกำไร 318 ล้านบาท แต่ด้านรายได้นั้น ยังใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 6,300 ล้านบาท หรือต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ว่าจะเติบโตขึ้น 5%“แม้ว่าปีนี้ บริษัทจะรับรู้รายได้จากการขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลขนาด 35 เมกะวัตต์แบบเต็มปี แต่ปัญหาเรื่องราคาน้ำตาล ซึ่งเป็นธุรกิจหลัก ยังกดดันผลประกอบการ

อย่างไรก็ดี ยังมั่นใจว่ารายได้ปี 59 จะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น เพราะการผลิตน้ำตาลทรายขาวจะได้รับปัจจัยบวกจากต้นทุนน้ำตาลทรายดิบถูกลง อีกทั้งบริษัทได้ลงทุน 376 ล้านบาท พัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้มีคุณภาพมากขึ้น”

นอกจากนั้น เดือย พ.ย. ที่จะถึงนี้ บริษัทจะเริ่มเปิดหีบอ้อยของปี 59 ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณอ้อยเข้าหีบ2.8 ล้านตัน จากปีนี้ที่มี 2.28 ล้านตัน จากการขยายกำลังการผลิต และเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อย ซึ่งหลังจากนั้น จะเป็นช่วงของการแยกกากอ้อย เพื่อส่งให้โรงไฟฟ้า หรือผลิตเป็นเอทานอล และซ่อมบำรุงเครื่องจักร เพื่อเตรียมปลูกอ้อยในฤดูกาลต่อไป

ขณะเดียวกัน กำลังศึกษาผลกระทบเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และรอผลการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) จากโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตเอทานอล มูลค่าการลงทุน 1,200 ล้านบาท มีกำลังการผลิตวันละ 200,00 ลิตร ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 60 เชื่อว่าหากดำเนินการแล้วเสร็จ จะทำให้บริษัทมีเครื่องจักรที่ครบวงจร และทันสมัย แข่งขันกับโรงงานน้ำตาลขนาดใหญ่ทั้งในและต่างประเทศได้

ด้านนายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทก็ได้รับผลกระทบจากกรณีราคาน้ำตาลในตลาดโลกลดลงถึง 50% เช่นกัน โดยคาดว่าจะทำให้รายได้แลกำไรในปีนี้ต่ำกว่าปีก่อน ที่มีรายได้ 20,300 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 1,300 ล้านบาท

ซึ่งขณะนี้กำลังเริ่มใช้กลยุทธ์กระจายความเสี่ยง โดยอยู่ระหว่างเจรจาร่วมทุน หรือซื้อกิจการในกลุ่มธุรกิจใกล้เคียง เพื่อให้เกิดความหลากหลาย คาดว่าภายในปีนี้จะมีความชัดเจน“

  จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2558

KBS คาดผลประกอบการจะฟื้นตัวปีหน้า จากการขยายกำลังการผลิต มาร์จิ้นที่ดีขึ้น และผลประกอบการโรงไฟฟ้าที่ดีขึ้น

           ผู้บริหาร บมจ.น้ำตาลครบุรี (KBS) รับผลประกอบการปี 2558 จะต่ำกว่าที่คาดไว้ เนื่องจากระดับราคาน้ำตาลในตลาดโลกผันผวนมากจากปัจจัยการอ่อนตัวอย่างมากของค่าเงินเรียลของบราซิล และผลตอบแทนของการผลิตน้ำตาลทรายขาว (White Premium) ที่แคบลงในปี 2558 และเชื่อว่าผลประกอบการจะฟื้นตัวได้ในปี 2559 เนื่องจาก White Premium เริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้น และบริษัทได้มีการดำเนินโครงการเพื่อเพิ่มมาร์จิ้นให้กับผลิตภัณฑ์โดยรวม นอกจากนั้นการขยายกำลังการผลิต 50% จะรับรู้ผลในปี 2559 และบริษัทคาดว่าผลกำไรจากการผลิตไฟฟ้าซึ่งดำเนินการโดยบริษัทลูกจะดีขึ้นอีกด้วย บริษัทยังคงดำเนินตามกลยุทธ์หลักที่จะสร้าง Sugar Energy Complex และพัฒนาศักยภาพของบริษัทในทุกด้านเพื่อเป็นบริษัทชั้นนำในธุรกิจ อ้อย น้ำตาล และชีวพลังงาน

          นายทัศน์ วนากรกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) (KBS) เปิดเผยว่า KBS อยู่ในช่วงการพัฒนาเชิงกลยุทธ์ตามวิสัยทัศน์ของบริษัทที่ต้องการเป็น "องค์กรชั้นนำในธุรกิจ อ้อย น้ำตาล และชีวพลังงาน" บริษัทได้ดำเนินการ 4 โครงการหลักเพื่อตอบโจทย์นี้ โครงการแรกคือ โครงการโรงไฟฟ้าประสิทธิภาพสูง High-pressure boiler ขนาด 35 เมกะวัตต์ ได้ดำเนินการแล้วเสร็จและเริ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ให้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตามสัญญาชนิด firm 22 เมกะวัตต์แล้ว ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2558

          โครงการที่ 2 คือ โครงการขยายกำลังการผลิตของโรงงานน้ำตาลเพิ่มอีก 12,000 ตันอ้อยต่อวัน หรือเพิ่มขึ้นอีก 50% ของกำลังการผผลิตในปัจจุบัน โครงการนี้ดำเนินการไปแล้วร้อยละ 85 พร้อมคอมมิชชั่นนิ่งเดือนพฤศจิกายน และจะใช้หีบอ้อยในเดือนธันวาคมปีนี้ โครงการนี้ใช้เทคโนโลยี ดิฟฟิวเซอร์ (Diffuser) ซึ่งจะทำให้มี yield น้ำตาลดีขึ้น กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น จะช่วยลดปัญหาการติดคิวอ้อยของชาวไร่และจะส่งผลดีต่อการขยายพื้นที่ปลูกอ้อยของชาวไร่ในระยะยาว

          โครงการที่ 3 คือ โครงการก่อสร้างโรงงานผลิตเอทานอลขนาด 200,000 ลิตรต่อวัน ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลอยได้จากการผลิตน้ำตาลอย่างครบถ้วน โครงการนี้อยู่ในขั้นตอนการศึกษาผลกระทบเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม คาดว่าจะสร้างเสร็จในปี 2560 ทั้งสามโครงการเมื่อสร้างแล้วเสร็จจะทำให้โรงงานน้ำตาลของ KBS เป็น Sugar Energy Complex ที่มีความสมบูรณ์ มีความทันสมัย สามารถแข่งขันได้กับโรงงานน้ำตาลขนาดใหญ่ทั้งในและต่างประเทศ

          นอกจากนั้น บริษัทยังได้ริเริ่ม โครงการก่อสร้าง ไซโลปรับความชื้นน้ำตาล หรือ Conditioning Silo รวมถึงการปรับปรุงอาคารบรรจุน้ำตาลสมัยใหม่ซึ่งจะรองรับการผลิตน้ำตาลได้ 1,500 ตันต่อวัน โครงการนี้จะยกระดับคุณภาพน้ำตาลของบริษัท โดยเฉพาะน้ำตาลที่ส่งออกต่างประเทศ ทำให้บริษัทสามารถขายน้ำตาลได้ราคาดีขึ้น เพราะ trader จะยอมจ่าย premium เพิ่มเติมสำหรับ น้ำตาลที่ไม่จับตัวเป็นก้อนแข็งเมื่อส่งถึงลูกค้าปลายทาง นอกจากนี้ เพื่อให้เชื่อมต่อกับระบบ logistic ของบริษัทแบบครบวงจร บริษัทยังได้ลงทุนปรับปรุงอาคารบรรจุน้ำตาลของบริษัท โดยนำระบบอัตโนมัติ (automation) มากยิ่งขึ้น เมื่อก่อสร้างเสร็จแล้ว ไซโลและอาคารบรรจุน้ำตาลจะสามารถรองรับน้ำตาลได้ 1,500 ตันต่อวัน และจะอำนวยให้สามารถบริหารจัดการรถบรรทุกและการขนส่งได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดต้นทุนของระบบจัดเก็บและขนส่งโดยรวม

          "KBS มองภาพรวมธุรกิจน้ำตาลของประเทศไทยยังมีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง เรายังคงลงทุนและพัฒนาอย่างต่อเนื่องในทุกด้าน เพื่อให้บริษัทอยู่ในตำแหน่งผู้นำซึ่งมีต้นทุนต่ำและแข่งขันได้ในระยะยาว นอกจากโครงการใหญ่ 3-4 โครงการที่มีเม็ดเงินลงทุนสูงแล้ว บริษัทยังทำงานร่วมกับชาวไร่เพื่อช่วยชาวไร่เพิ่มผลผลิตต่อไร่และขยายการปลูกอ้อย ส่วนในด้านการตลาด KBS ได้ออกผลิตภัณฑ์ที่เป็นแบรนด์ของตัวเองซึ่งจะส่งผลดีต่อการขายและอัตรากำไรในอนาคต" นายทัศน์กล่าวถึงภาพรวมการพัฒนาตามแนวทางของ KBS

          ในส่วนของผลประกอบการช่วง 6 เดือนแรกปี 2558 KBS มีกำไรรวม 229 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ 35.9 ซึ่งเป็นผลจากระดับราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่อ่อนตัวลงมากตามปัจจัยค่าเงินเรียล บราซิลที่ปรับตัวอ่อนลงทำสถิติต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ นอกจากนั้น กำไรจากการผลิตน้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลรีไฟน์ของบริษัทยังลดลงเนื่อจาก ผลตอบแทนการผลิตน้ำตาลทรายขาว (White premium) ในตลาดโลกลดลง ถึงแม้บริษัทจะได้รับประโยชน์จากกำไรจากการขายไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจากสัญญา firm 22 เมกะวัตต์ ที่เริ่มจ่ายไฟฟ้าให้ กฟผ. ในปีนี้ แต่กำไรดังกล่าวไม่สามารถชดเชยกำไรที่หายไปจากธุรกิจน้ำตาลได้

          นายธาญทิฐ เกษมทรัพย์ ผู้อำนวยการสายงานพัฒนาธุรกิจของ KBS ให้ความเห็นต่อกำไรของบริษัทที่ผันผวนในช่วงไตรมาสที่ 1 และไตรมาสที่ 2 ว่า "กำไรซึ่งเข้ามามากในไตรมาสที่ 1 เป็นผลจากการขายโมลาสในปริมาณที่สูง ส่วนไตรมาสที่ 2 ที่มีผลขาดทุน นั้น เป็นเพราะล็อตการขายน้ำตาลที่ส่งมอบให้ลูกค้าต่างประเทศในไตรมาสที่ 2 มีราคาขายต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั้งปี รวมถึงบริษัทต้องบันทึกผลขาดทุนทางบัญชีเกี่ยวกับการ hedging ราคาน้ำตาลจำนวน 50.5 ล้านบาท"

          สำหรับแนวโน้มผลประกอบการในช่วงครึ่งหลังของปี 2558 บริษัทจะต้องส่งมอบน้ำตาลอีกประมาณ 170,000 ตัน ราคาเฉลี่ยมีแนวโน้มดีขึ้นกว่าไตรมาสที่ 2 อย่างไรก็ตามจะมีปัจจัยลบจาก การบันทึกค่าซ่อมแซมเครื่องจักรประจำปีในไตรมาสที่ 3 และ 4

          "ในภาพรวมของทั้งปี 2558 กลุ่มบริษัทจะมีกำไรลดลงเมื่อเทียบกับปี 2557 จากปัจจัยหลักคือราคาน้ำตาลและ White Premium เราเชื่อว่าโครงการที่บริษัทลงทุนในช่วงปีนี้ ซึ่งกำหนดเสร็จปลายปี คือ โครงการขยายกำลังการผลิต และโครงการ Conditioning Silo และการปรับปรุงอาคารบรรจุ ประกอบกับแนวโน้ม white premium ที่เริ่มขยับสูงขึ้น และเงินบาทที่อ่อนค่าลง จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผลประกอบการของ KBS ขยับสูงขึ้นในปี 2559 รวมถึงโรงไฟฟ้าก็จะมีกำไรมากขึ้นจากประสิทธิภาพที่สูงขึ้นในปีที่สองของการประกอบการ" นายธาญทิฐกล่าวสรุป

  จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2558

‘หม่อมอุ๋ย’ ฝากโจทย์รัฐบาล รับมือศก.ชะลอ3ปี-ดูแลเกษตรฯ

หม่อมอุ๋ย” ฝากโจทย์รัฐบาลปัจจุบันรับมือเศรษฐกิจโลกชะลอตัวอีก 2-3 ปี พร้อมแนะเร่งเดินหน้าโครงการลงทุนรถไฟรางคู่ รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ช่วยกระตุ้น ศก. ดูแลเกษตรกรไม่ให้เป็นหนี้เพิ่ม ชี้มาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีให้ถูกจุดต้องการคำสั่งซื้อมากกว่าเม็ดเงิน

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษ ในงานสัมมนา “ศศินทร์ ซีอีโอ รีวิว 2015” เมื่อวันที่ 10 กันยายนที่ผ่านมา ในหัวข้อ “โค้งสุดท้ายไตรมาส 4 ปีแพะ” จัดโดยสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ปี 2558 จะโตได้ที่ 2.9 -3.0% แม้ว่าช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ค.) ภาคส่งออกจะหดตัว 4.8% แต่ภาคท่องเที่ยว (ซึ่งมีสัดส่วน12% ของจีดีพี) มีจำนวนนักท่องเที่ยวโตได้ถึง28% ทำให้สามารถเข้ามาชดเชยรายได้จากภาคส่งออกได้พอดี ประกอบกับการลงทุนภาคเอกชนที่ยังโตเพิ่มขึ้น และปัจจัยจากการใช้จ่ายของภาครัฐบาล ทำให้จีดีพีปีนี้ยังโตถึง 3% อย่างไรก็ตามปัจจัยที่ต้องจับตาคือเหตุการณ์ระเบิดจะมีผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวมากน้อยเพียงใด

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ปีนี้ ยังเหมือนช่วงที่ผ่านมา สิ่งที่รัฐบาลต้องเตรียมคิดไว้ คือเศรษฐกิจโลกชะลอตัวไปอีก 2-3 ปี มีกลุ่มที่รัฐบาลต้องดูแล คือ ชาวไร่อ้อย ชาวสวนยาง ชาวนา ซึ่งรัฐบาลต้องสร้างระบบเพื่อ “อุด” คนมีรายได้น้อยไม่ให้เป็นหนี้เพิ่มขึ้น เห็นได้จากปีที่แล้วรัฐบาลได้อุดหนุนช่วยชาวนาไป 3.9 หมื่นล้านบาท ทำให้ชาวนาไม่เป็นหนี้เพิ่ม นี่คือภาระที่รัฐบาลต้องคิดอย่ามัวห่วงเรื่องกระตุ้นเศรษฐกิจภาพใหญ่ แต่ต้องดูว่าจะช่วยอุดกลุ่มผู้มีอาชีพเหล่านี้ได้อย่างไรให้อยู่ไปได้อีกในช่วง 2-3 ปีโจทย์คือ “อุด” อย่าให้เป็นหนี้เพิ่มขึ้น เพื่อรอเวลาให้เศรษฐกิจโลกดีขึ้นแล้วเศรษฐกิจก็จะกลับมาเอง

ส่วนกรณีของมาตรการช่วยเอสเอ็มอี การกระตุ้นทางการเงินก็ได้เท่าเดิม เอสเอ็มอีเขาไม่อยากได้เงินแต่อยากได้คำสั่งซื้อ ต้องอ่านเศรษฐกิจให้ถูก เศรษฐกิจไม่ได้อยู่ที่ตัวเองแต่อยู่ที่ออร์เดอร์(คำสั่งซื้อ)

“ปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากราคาน้ำมันที่ปรับลดลงถึง 50% สิ่งที่ตามมาคือ โลหะทุกชนิดราคาตกตาม ทองคำ ทองแดง หลังจากนั้นราคาพืชผลทุกชนิดก็ลดลงตาม ยาง ข้าว น้ำตาล เมื่อโลกทั้งโลกลง ยอดส่งออกของทั้งโลกก็ลดลง ในช่วง 6 เดือนของปีนี้ยอดส่งออกเฉลี่ย 80-90% ของประเทศในโลกส่งออกลดลง เมื่อส่งออกลดลงหมด นำเข้าก็ลดลงด้วย ปีนี้เป็นปีแรกที่ยอดส่งออกและนำเข้าของโลกในแง่ของตัวเงินลดลง ”

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวเตือนว่า สถานการณ์ของโลกที่ชะลอตัวทั้งโลกพร้อมๆ กันไม่มีใครเป็นพระเอกหรือนางเอก จึงไม่ควรอวดเก่งว่าจะทำจีดีพีให้โตได้ 5% ในปีสองปีนี้เพราะเราไม่สามารถเปลี่ยนประเทศไทยไม่ให้พึ่งพาส่งออกแล้วหันมากินใช้กันในประเทศได้ในวันนี้ แต่ต้องค่อยๆ ไป

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่าสิ่งที่รัฐบาลต้องทำในระยะต่อไป คือดึงโครงการลงทุนที่มีความหมายมาทำให้มาก ซึ่งในปีที่ผ่านมาการประมูลถนนและสร้างทางหลวงชนบททำได้เร็วช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนในปีนี้ตัวที่จะมาช่วยคือ โครงการรถไฟทางคู่ที่จะมีการประมูลจากนี้ไปจนถึงเดือนเมษายน 2559 ซึ่งจะผลให้ภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างเดินได้ทันที รวมทั้งโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน สิ่งเหล่านี้ต้องหยิบขึ้นมาและทำให้มันเกิดเพราะนอกเหนือจากนี้คงไม่มีอะไรที่จะไปเพิ่มการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกมาก

จาก http://www.thansettakij.com วันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2558

ปรับใหญ่‘ทะเบียนเกษตรกร’ กษ.เล็งขยายฐานข้อมูล7ด้านรองรับมาตรการรัฐ

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาภาคการเกษตรและการดูแลช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งทำให้ฐานข้อมูลเกษตรกรมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นและจำเป็นที่จะต้องขยายฐานข้อมูลจากที่มีอยู่ 4 ด้าน ได้แก่ 1) ข้อมูลพื้นฐานครัวเรือน 2) สมาชิกในครัวเรือนที่ช่วยทำการเกษตรและการเป็นสมาชิกองค์กร 3)การถือครองที่ดินเพื่อการเกษตร และ 4)การประกอบกิจกรรมการเกษตร ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยเพิ่มเติมข้อมูลอีกอย่างน้อยอีก 3 ด้าน ได้แก่ รายได้ หนี้สิน และเครื่องจักรกลการเกษตร รวมทั้งทำการปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน

กรมส่งเสริมการเกษตร จึงได้จัดทำโครงการขยายฐานข้อมูลทะเบียนเกษตรกรเพื่อรองรับมาตรการภาครัฐ โดยมีเป้าหมายที่จะได้ข้อมูลครัวเรือนเกษตรกร จำนวน 6.33 ล้านครัวเรือน ที่จะได้รับการปรับปรุงให้เป็นปัจจุบัน และมีการขยายฐานข้อมูลเพิ่มเติมจาก 4 ด้าน เป็น 7 ด้านทั้งในด้านรายได้ หนี้สิน และเครื่องจักรกลการเกษตร มีระยะเวลาการดำเนินการตั้งแต่เดือนกันยายน - ตุลาคม 2558 งบประมาณรวม 25,320,000 บาท สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเก็บข้อมูลและบันทึกเข้าฐานข้อมูลเกษตรกร

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวต่อว่า กิจกรรมและแนวทางการดำเนินงานที่จะเร่งดำเนินการ ได้แก่ 1) การพัฒนาระบบงานในการปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันโดยการปรับวิธีการจัดเก็บข้อมูลโดยจ้างอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) เป็นผู้จัดเก็บข้อมูลแทนการให้เกษตรกรมาขึ้นทะเบียนตามความสมัครใจ 2) การดำเนินการจัดเก็บและบันทึกข้อมูล โดยการจัดเก็บข้อมูลใหม่เพิ่มเติม 3 ด้าน ได้แก่ รายได้หนี้สิน และเครื่องจักรกลการเกษตร การตรวจสอบและปรับปรุงข้อมูลเดิมให้เป็นปัจจุบัน ได้แก่ ข้อมูลพื้นฐานครัวเรือน สมาชิกในครัวเรือนที่ช่วยทำการเกษตรและการเป็นสมาชิกองค์กร การถือครองที่ดินเพื่อการเกษตร และการประกอบกิจกรรมการเกษตร

3)การเชื่อมโยงและบูรณาการข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยร่วมกับหน่วยงานที่มีการจัดเก็บข้อมูลรายได้หนี้สิน และเครื่องจักรกลการเกษตรของครัวเรือนเกษตรกร ในการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล รวมถึงวางระบบการเชื่อมโยง แลกเปลี่ยน และใช้ประโยชน์ข้อมูลร่วมกัน และ 4) การปรับปรุงระบบโปรแกรมทะเบียนเกษตรกร เพื่อให้รองรับการจัดเก็บข้อมูลเพิ่มเติม รวมทั้งจัดทำระบบการประมวลผลข้อมูล และจัดทำคู่มือการบันทึกข้อมูลในระบบ

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2558

กรมชลเตรียมลดระบายน้ำ 4 เขื่อนหลักเย็นนี้

กรมชลประทานเตรียมรับมือพายุดีเปรสชั่น ลดการระบายน้ำ 4 เขื่อนหลัก คาดไม่กระทบสภาพน้ำเหตุช่วงนี้ฝนชุก

รายงานข่าวแจ้งว่า นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีฝ่ายบำรุงรักษา กรมชลประทาน เปิดเผยถึงการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) ที่คาดว่าพายุดีเปรสชั่นจากเวียดนามที่จะเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยในวันที่ 16 ก.ย. จะส่งผลให้ช่วงวันที่ 16-18 กันยายน บริเวณพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน-ล่าง และภาคตะวันออกจะมีฝนตกต่อเนื่องทั้งสัปดาห์ และมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนคลองสียัด จังหวัดฉะเชิงเทรา เขื่อนขุนด่านปราการชล จังหวัดนครนายก และเขื่อนบางพระ จังหวัดชลบุรี เพิ่มมากขึ้น

ดังนั้น คณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำจึงมีมติเตรียมลดการระบายน้ำจากเขื่อนลง โดยเขื่อนภูมิพล เหลือวันละ 3 ล้าน ลบ.ม. จาก 4 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์เหลือ 5 ล้านลูกบาศก์เมตร จากวันละ 9 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เหลือวันละ 0.9 ล้าน ลบ.ม. จากวันละ 1.04 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เหลือวันละ 0.9 ล้าน ลบ.ม. จากวันละ 1.06 ล้าน ลบ.ม. รวมทั้งลดอัตราการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยาจาก 70 ลบ.ม.ต่อวินาที เหลือ 65 ลบ.ม.วินาที ตั้งแต่เย็นวันที่14 กันยายน เป็นต้นไป

ทั้งนี้ คาดว่าจะไม่กระทบต่อสภาพในแม่น้ำ เนื่องจากช่วงที่ผ่านมามีฝนตกทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำลำคลองเพิ่มสูงขึ้น

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 14 กันยายน 2558

"ส.โทรคมนาคม" ส่งแผนดันไทยขึ้นฮับไอซีทีอาเซียน

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า วันนี้ (14 ก.ย.) สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เตรียมเสนอแผนผลักดันให้ประเทศไทยก้าวขึ้นสู่การเป็นศูนย์กลางไอซีทีของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อรองรับการเริ่มต้นของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

นายศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยฯ เปิดเผยว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคมเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศไทยทัดเทียมอารยประเทศ หรืออย่างน้อยที่สุดคือสามารถเป็นผู้นำในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยิ่งเออีซีจะเริ่มขึ้นอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า การมีระบบโทรคมนาคมที่ดี ก็ส่งผลให้เป็นศูนย์กลางในพื้นที่นี้ได้

"การที่ไทยเป็นฮับไอซีทีของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็สามารถดึงดูดการลงทุนจากบริษัทด้านไอซีทีจากต่างประเทศเช่นแอปเปิ้ล, กูเกิล และเฟสบุ๊ก ให้มาลงทุนในไทย โดยการเริ่มต้นสามารถทำได้ตั้งแต่สร้างดาต้าเซ็นเตอร์ ไปจนถึงพัฒนาเข้าสู่อุตสาหกรรมบิ๊กดาต้า ซึ่งสมาคมฯ ก็ตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อจัดทำแผนกลยุทธ์เพื่อเสนอต่อรัฐบาลเร็วๆ นี้"

ทั้งนี้ประเทศไทยจะต้องพัฒนา Hard Side หรือโครงสร้างพื้นฐานให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และมีประสิทธิภาพทัดเทียมกับประเทศอื่นๆ เช่นการทำ International Gateway และเคเบิลใต้น้ำ พร้อมกับพัฒนา Soft Side หรือการพัฒนาบุคลากร พร้อมกับส่งเสริมการลงทุนของอุตสาหกรรมไอซีที ผ่านการใช้นโยบายภาครัฐที่แข่งขันกับสิงคโปร์ และมาเลเซียได้ เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 14 กันยายน 2558

เงินบาทแกว่งในกรอบแคบ รอผลประชุมเฟด

ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 14 กันยายน 2558 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (14/9) ที่ 36.00/36.03 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (11/9) ที่ 36.14/36.15 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงหลังจากเมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา (11/9) สหรัฐได้เปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอ โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐได้เปิดเผย ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ประจำเดือนสิงหาคม ออกมาเท่ากับที่นักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ไว้ที่ -0.1% เมื่อเทียบปลายเดือน หลังจากเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนก่อนหน้า จากตัวเลขดังกล่าวบ่งชี้ว่าอัตราเงินเฟ้อของทางสหรัฐยังคงอยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยมิชิแกนได้เปิดเผย ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐเบื้องต้นประจำเดือนกันยายน ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 85.7 ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 91.2 และต่ำกว่าเดือนก่อนหน้าที่อยู่ระดับ 91.9 ทั้งนี้ นักลงทุนจับตาดูการประชุมนโยบายการเมืองของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 16-17 กันยายนนี้ เพื่อหาสัญญาณที่ชัดเจนในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในรอบเกือบ 10 ปี อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนนี้ นอกจากนี้ วันพุธนี้ (16/9) จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 6/2558 เวลา 14.30 ของประเทศไทย โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ได้ลงความเห็นว่า กนง.อาจจะมีการคงดอกเบี้ยไว้ที่ 1.5% เนื่องจากความผันผวนของค่าเงินบาทค่อนข้างสูงและอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบันถือว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสมอยู่แล้ว

นอกจากนี้ ในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (13/9) ทางประเทศจีนได้เปิดเผยตัวเลขผลผลิตภาคโรงงาน ออกมาปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.1% ต่อปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 6.4% ตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจของประเทศจีนยังคงอยู่ในสภาวะชะลอตัว และมีโอกาสที่รัฐบาลจีนอาจจะดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจีนในอนาคต ปัจจัยดังกล่าวทำให้ค่าเงินภูมิภาคถูกกดดันอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 36.00-36.07 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 36.04/06 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ในส่วนของการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรนั้น ในวันนี้ (14/9) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1345/1.1347 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (11/9) ที่ 1.1266/1.1267 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร เนื่องจากนักลงทุนได้ทยอยเข้าซื้อค่าเงินยูโรตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา จากความวิตกกังวลว่างทางเฟดอาจจะยังไม่รีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนนี้

อย่างไรก็ตามค่าเงินยูโรยังคงถูกกดดันจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ไม่ดีนัก โดยในวันศุกร์ที่ผ่านมา (11/9) ทางประเทศเยอรมนีได้เปิดเผย ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ประจำเดือนสิงหาคม ปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียง 0.2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว บ่งชี้ถึงอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยุ่ในกรอบระหว่าง 1.1329-1.1373 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1338/39 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับค่าเงินเยนในวันนี้ (14/9) เปิดตลาดที่ระดับ 120.66/120.68 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (11/9) ที่ 120.73/120.76 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ แต่ยังคงได้รับแรงหนุนจากการเข้าซื้ออย่างต่อเนื่องจากนักลงทุนในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 120.10-120.84 ดอลลาร์สหรัฐ/เยน และปิดตลาดที่ระดับ 120.15/16 ดอลลาร์สหรัฐ/เยน

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ได้แก่ ธนาคารกลางญี่ปุ่นประชุมนโยบายการเงินวันสุดท้ายและแถลงมติอัตราดอกเบี้ย (15/9), ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนสิงหาคมของฝรั่งเศส (15/9), ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนสิงหาคมของอังกฤษ (15/9), ความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือนกันยายนโดยสถาบัน ZEW ของเยอรมนี (15/9), การจ้างงานไตรมาส 2/2558 ของยุโรป (15/9), การค้าต่างประเทศเดือนกรกฎาคมของยุโรป (15/9), ยอดค้าปลีกเดือนสิงหาคมของสหรัฐ (15/9), ดัชนีภาวะธุรกิจโดยรวม (Empire State Index) เดือนกันยายนของสหรัฐ (15/9), ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 6/2558 (16/9), ธนาคารกลางญี่ปุ่นเผยแพร่รายงานประจำเดือนกันยายน (16/9), ตัวเลขว่างงานเดือนสิงหาคมของอังกฤษ (16/9), ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนสิงหาคมของสหรัฐ (16/9), ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือนกันยายนจากสมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติ (NAHB) ของสหรัฐ (16/9), ดุลการค้าระหว่างประเทศเดือนสิงหาคมของญี่ปุ่น (17/9), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกรายสัปดาห์ของสหรัฐ (17/9), ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้าน-การอนุญาตก่อสร้างเดือนสิงหาคมของสหรัฐ (17/9), ผลสำรวจแนวโน้มธุรกิจเดือนกันยายนจากเฟดฟิลาเดลเฟียของสหรับ (17/9), คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) แถลงมติอัตราดอกเบี้ย (17/9), รายงานการประชุมนโยบายการเงินเดือนสิงหาคมจากธนาคารกลางญี่ปุ่น (18/9) และดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือนสิงหาคมจาก Conference Board ของสหรัฐ (18/9)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ 3.80/4.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 11.0/13.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 14 กันยายน 2558

ฉัตรชัยเตือนเกษตรกรระวังรถเร่หลอกขายปุ๋ย

"พล.อ.ฉัตรชัย" เตือนเกษตรกร ระวังพ่อค้าเร่ ตระเวนหลอกขายปุ๋ย - สารเคมี อาจได้สินค้าด้อยคุณภาพ

พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แจ้งเตือนว่า ขณะนี้เป็นช่วงที่เกษตรกรมีความต้องการใช้ปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์ค่อนข้างสูง ทำให้มีพ่อค้าฉวยโอกาส นำรถเร่ออกตระเวนขายปุ๋ยไปตามหมู่บ้านต่างๆ ทั้งยังมีโปรโมชั่นลดราคาและให้สินเชื่อแล้วให้เกษตรกรผ่อนจ่ายภายหลัง พร้อมมีของแจก ของแถม ซึ่งการกระทำดังกล่าว ถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.ปุ๋ย พ.ศ. 2518 และแก้ไขเพิ่มเติม ตามมาตรา 57 คือ ขายโดยไม่มีใบอนุญาต หรือ มาตรา 59 คือ ขายนอกสถานที่ที่ระบุไว้ในใบอนุญาต

ดังนั้น จึงขอให้เกษตรกรอย่าหลงเชื่อและต้องระมัดระวังในการซื้อปุ๋ยและสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช หรือเมล็ดพันธุ์พืช จากพ่อค้าเร่ โดยต้องคิดให้ถ้วนถี่ก่อนตัดสินใจซื้อ เพราะอาจได้รับปุ๋ย สารเคมี หรือเมล็ดพันธุ์ที่ด้อยคุณภาพ ไม่ได้มาตรฐาน และเสียเปรียบพ่อค้า เมื่อนำไปใช้ อาจไม่ได้ผลหรือไม่คุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไป

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 14 กันยายน 2558

รมว.พาณิชย์มอบนโยบายเจาะตลาดอาเซียน

รัฐมนตรีพาณิชย์ มอบนโยบายทูตพาณิชย์เน้นเจาะตลาดอาเซียน การค้าชายแดน คงเป้าส่งออกทั้งปีติดลบร้อยละ 3

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มอบนโยบายให้กับผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ หรือ ทูตพาณิชย์ ให้ปรับวิธีการทำงานเชิงรุกให้มากขึ้น เน้นในตลาดอาเซียนเอเชียและการค้าชายแดน โดยจะต้องมีการสนับสนุนข้อมูลระหว่างกัน ทั้งสำนักงานในต่างประเทศกับพาณิชย์จังหวัดในประเทศให้มากขึ้น โดยในปีนี้กระทรวงพาณิชย์จะยังไม่ปรับเป้าหมายการส่งออกใหม่อีกโดยยังคงเป้าหมายเดิมที่ติดลบร้อยละ 3 ซึ่งสินค้าที่คาดว่าจะขยายตัวได้ดีในช่วงปลายปี คือสินค้ายานยนต์และอัญมณี

และสำหรับการส่งออกปี 2559 นั้นจะต้องมีการติดตามภาวะตลาดในต่างประเทศและคงประเมินตัวเลขได้ในช่วงปลายปี เดือนพฤศจิกายน ซึ่งในขณะนี้ยังพูดไม่ได้ว่าการส่งออกจะขยายตัวเป็นบวก

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 14 กันยายน 2558

ห่วงภัยแล้งปี58/59งัด4แผนป้อง'ขโมยน้ำ

          กระทรวงเกษตรฯเตรียม 4 มาตรการป้องกันขโมยน้ำ หลังครม.ประกาศ งดทำกิจกรรมทางการเกษตร ช่วงแล้ง 58/59 สั่งห้ามสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า เกษตรกร ปิดกั้นลำน้ำหรือสูบน้ำเข้าพื้นที่ หากจำเป็นต้องใช้เพื่ออุปโภค บริโภค ให้ทำปฏิทินแจ้งให้ กรมชลฯ รับทราบกลางต.ค.นี้ ห้าม 27 อ่าง ส่งน้ำเพื่อนาปรังเด็ดขาด

          ปัญหาภัยแล้งปี 2558/59 ที่จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2558- 30 เม.ย.2559 กำลังกลายเป็นความกังวลของทุกภาคส่วนเกี่ยวกับปริมาณน้ำที่อาจจะมีปัญหาเกิดขึ้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะหน่วยงานหลักที่ต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ เริ่มที่จะวางแผนและ หามาตรการรองรับกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

          พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่าในประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม. ) วันที่ 15 ก.ย.นี้ กระทรวงเกษตรฯจะเสนอให้พิจารณามาตรการรองรับปัญหาภัยแล้งปี 2558/59  ที่จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2558- 30 เม.ย. 2559 เพราะจากการประชุมคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการ เกษตร ปริมาณฝนที่ตกอยู่ในปัจจุบันนั้น  จะส่งผลให้กรมชลประทาน เก็บน้ำไว้ใน เขื่อนหลักๆ 4 แห่งคือภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน และป่าสักชลสิทธิ์ ได้เพียง 3,600 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) เท่านั้น ในจำนวนนี้ 1,100 ล้านลบ.ม. ต้องเก็บไว้เพื่อใช้อุปโภคและบริโภค ที่เหลือ1,400 ล้าน ลบ.ม. จะเพื่อรักษาระบบนิเวศ และ 1,000 ล้าน ลบ.ม. จะกันไว้เพื่อใช้ในช่วงต้นฤดูฝน

          ดังนั้นจะมีน้ำเหลือเพื่อการเกษตร น้อยมาก ที่ประชุมจึงเห็นชอบร่วมกันว่า  เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น เห็นควร ให้งดกิจกรรมทางด้านการเกษตรทั้งหมด  ซึ่งรัฐบาลจะประกาศอย่างเป็นทางการ พร้อมกำหนดมาตรกรช่วยเหลือเกษตรกรทั้งในเขตและนอกเขตชลประทานต่อไป

          หามาตรการชดเชยแลกงดปลูกข้าว

          พล.อ. ฉัตรชัย กล่าวว่า การประกาศงดกิจกรรมทางการเกษตรฯครั้งนี้ คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจครัวเรือนของเกษตรกรอย่างไม่มีทางเลี่ยงได้  เพื่อลดผลกระทบ ดังกล่าว มาตรการที่รัฐจะกำหนดขึ้น จะมีการจ้างงานเพื่อเพิ่มรายได้ ทั้งนี้เพราะเกษตรกรโดยเฉพาะเขตลุ่มเจ้าพระยานั้น ไม่สามารถ ทำนาได้อย่างเต็มประสิทธิภาพต่อเนื่องประมาณ 3 รอบแล้ว จากภัยแล้งที่เกิดขึ้นในปี 2557 รัฐบาลต้องประกาศงดทำนาปรังในปี 2558 และการทำนาปี2558/59 ที่พบว่า ยังมีเกษตรกรที่ไม่สามารถทำได้ทัน ต้องงดปลูกประมาณ 8.7 แสนไร่ เกษตรกรกลุ่มนี้ จะต้องได้รับการชดเชยที่ต่างออกไป

          แจงความเสียหายพื้นที่ปลูกข้าว  รายงานข่าวจากกระทรวงเกษตรฯแจ้งว่า สภาพการปลูกข้าวนาปี 2558/59 ในชลประทานทั้งประเทศ รวม 15.79 ล้านไร่ มีการเพาะปลูกไปแล้ว 13.22 ล้านไร่ ในจำนวนนี้เก็บเกี่ยวแล้ว 1.97 ล้านไร่ พื้นที่เสียหายอย่างสิ้นเชิง 22,263 ไร่ และยังไม่ได้ปลูก 2.57 ล้านไร่ เมื่อแยกตามลุ่มน้ำ พบว่าเขตลุ่มเจ้าพระยา กำหนดพื้นที่ปลูกไว้ 7.45 ล้านไร่ มีการปลูกไปแล้ว 5.61 ล้านไร่ เก็บเกี่ยวไปแล้ว 1.83 ล้านไร่ เสียหาย 21,644 ไร่ ยังไม่ปลูก 1.84 ล้านไร่ หากปลูกก่อน 15 ก.ย. 2558 จะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทันในช่วงปลายปี

          ในจำนวนนี้ยังสามารถปลูกได้ 9.7 แสนไร่ และมีพื้นที่ที่ต้องงดปลูกเพราะน้ำเข้าไม่ถึง 8.7 แสนไร่ส่วนลุ่มน้ำแม่กลองมีพื้นที่ปลูก  9.2 แสนไร่ สามารถปลุกได้เต็มพื้นที่ ปัจจุบัน มีการเก็บเกี่ยวไปแล้ว 63,504 ไร่ ที่เหลือ คาดว่าจะเก็บเกี่ยวได้ทั้งหมด

          เน้นผันน้ำช่วยแหล่งน้ำน้อย สำหรับการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนปี 2558 การเพาะปลูกในช่วงฤดูฝน จะใช้น้ำฝนในพื้นที่หลัก จะไม่ใช้น้ำจากอ่าง ดังนั้นกรมชลประทาน จึงจะใช้วิธีการผันน้ำจากอ่าง ที่มีปริมาณน้ำมากไปเก็บไว้ในอ่างที่มีน้ำอยู่น้อย รณรงค์ให้เกษตรกรเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำของตนเองให้มากที่สุด ประสานการประปานครหลวง และการประปาส่วนภูมิภาคให้จัดหาแหล่งน้ำสำรอง

          ขณะที่การจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2558/59 นั้น พื้นที่ชลประทานที่มีแหล่งน้ำต้นทุนจากอ่างน้ำเชิงเดี่ยว ให้คณะกรรมการจัดการชลประทานในแต่ละพื้นที่วางแผนการจัดการน้ำตามศักยภาพน้ำต้นทุนที่มีอยู่ สำหรับลุ่มเจ้าพระยาและแม่กลอง  มีแหล่งน้ำต้นทุนจากอ่างเก็บน้ำหลายแห่งนั้น กรมชลประทานจะวางแผนการจัดสรรน้ำตามปริมาณน้ำต้นทุนที่คาดการณ์ไว้

          โดยคาดว่าการเก็บกักน้ำในช่วงฤดูแล้งตั้งแต่ เดือน พ.ย. นี้ อ่างขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศจะมีปริมาณรวม 7,885 ล้าน ลบ.ม. ตามแผนการจัดสรร จะใช้สามารถนำมาใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค 582 ล้านลบ.ม. เพื่อรักษาระบบนิเวศ 563 ล้านลบ.ม. เพื่อการเกษตร 1,535 ล้านลบ.ม. อุตสาหกรรม 399 ล้านลบ.ม. อื่นๆ 1,400 ล้านลบ.ม.

          อย่างไรก็ตาม เนื่องจากพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ที่ต้องพึ่งพาน้ำจากอ่างขนาดใหญ่ 4 แห่ง พบว่าจะสามารถเก็บน้ำได้ 3,677 ล้านลบ.ม. ในจำนวนนี้ต้องนำมาใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค มากถึง 1,100 ล้านลบ.ม. เพื่อรักษาระบบนิเวศน์ 1,400 ล้านลบ.ม. สำรองไว้ใช้ต้นฤดูฝน 1,000 ล้านลบ.ม. จะเหลือน้ำเพื่อการเกษตรเพียง 177 ล้านลบ.ม. เท่านั้น ถือว่าน้อยมาก  จำเป็นต้องประกาศงดการทำกิจกรรมทางการเกษตร  เช่นเดียวกับลุ่มน้ำแม่กลอง คาดว่าจะมีน้ำต้นทุน 4,765  ล้านลบ.ม. จะใช้เพื่ออุปโภคบริโภค 300 ล้านลบ.ม. รักษาระบบนิเวศน์ 1,600 ล้านลบ.ม. สำรองเพื่อการอุปโภคบริโภค ในช่วงต้นฤดูฝน 2,700 ล้านลบ.ม. จะเหลือน้ำเพื่อการเกษตรเพียง 165 ล้านลบ.ม. เท่านั้น  ถือว่าน้อยมากจึงกันไว้เพื่อปลูกอ้อยและ ไม้ผลเท่านั้น

          วาง4มาตรการคุมการใช้น้ำ

          ทั้งนี้เพื่อให้สามารถบริหารจัดการน้ำ ในช่วงฤดูแล้งปี 2558/59 ในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตามแผนที่วางเอาไว้ จำเป็น ต้องกำหนดมาตรการควบคุมการบริหารจัดการน้ำ ประกอบด้วย 1. ประตูระบายน้ำที่รับน้ำจากแม่น้ำในลุ่มเจ้าพระยา จะเปิดรับน้ำเฉพาะการอุปโภคบริโภคเป็นครั้งคราว ทั้งนี้ให้จัดทำปฏิทินการรับส่งน้ำให้กรมชลประทานภายในกลาง เดือน ต.ค. 2558 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ชลประทานเป็นผู้ทำการปิดเปิดตามปฏิทินที่เสนอมา 2. สำหรับน้ำหรือคลองส่งน้ำที่มีความจำเป็นต้องรับน้ำเพื่อรักษาเสถียรภาพของตลิ่งลำน้ำให้รับน้ำเข้าในเกณฑ์ต่ำสุด ซึ่งกรมชลประทานจะกำหนดอัตราการรับน้ำที่เหมาะสมให้

          3. ห้ามสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าเพื่อการเกษตรสูบน้ำเข้าพื้นที่เพาะปลูกโดย เด็ดขาด และห้ามเกษตรกรทำการปิดกั้น ลำน้ำ หรือสูบน้ำเข้าพื้นที่เพาะปลูกเช่นกัน ทั้งนี้หากพื้นที่ใดมีความจำเป็นจะต้องสูบน้ำเพื่อใช้สำหรับการอุปโภคบริโภค ให้จัดทำปฏิทินการสูบน้ำ ส่งให้กรมชลประทานภายในกลางเดือนต.ค.นี้  และ 4.สถานีสูบน้ำของการประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค และการประปาส่วนท้องถิ่นสามารถทำการสูบน้ำได้ตามปกติ ทั้งนี้ให้ จัดทำปฏิทินการสูบน้ำ ส่งให้กรมชลประทานภายในกลาง เดือน ต.ค. นี้

          ห้าม27อ่างปล่อยน้ำปลูกข้าวนาปรัง

          สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่งด การส่งน้ำเพื่อการการเพาะปลูกข้าวนาปรัง  ปี 2558/59 ภาคเหนือ 4 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำแม่กวงอุดมธารา แม่งัดสมบูรณ์ชล กิ่วลม และกิ่วคอหมา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  11 แห่ง คือ น้ำอูน ห้วยหลวง น้ำพุง อุบลรัตน์ จุฬาภรณ์ ลำปาว ลำตะคอง ลำพระเพลิง  มูลบน ลำแซะ และลำนางรอง

          ภาคกลาง 2 แห่ง คือ กระเสียว และ ทับเสลา ภาคตะวันออก 3 แห่ง คือ คลอง สียัด บางพระ และหนองปลาไหล ภาคใต้ 1 แห่งคือแก่งกระจาน ลุ่มเจ้าพระยา 4 แห่ง คือ ภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน และป่าสักชลสิทธิ์ ลุ่มน้ำแม่กลอง 2 แห่ง คือ ศรีนครินทร์ และวชิราลงกรณ์

          'การประกาศครั้งนี้ จะส่งผลกระทบต่อ เศรษฐกิจครัวเรือน ของเกษตรกร อย่างเลี่ยงไม่ได้'

          พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 14 กันยายน 2558

ปี ' 59 'เผชิญแล้งสาหัส 'น้ำต้นทุนลดลงกว่าครึ่ง งัดนาปี-นาปริง   

          เหลือระยะเวลาอีกไม่ถึง 2 เดือน ฤดูฝนของปี 2558 ก็จะสิ้นสุดลง แต่ตัวเลขสภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำหลักที่หล่อเลี้ยงลุ่มน้ำเจ้าพระยายังคงตกอยู่ในสภาวะวิกฤตต่อเนื่องมาจากปี 2557 กล่าวคือ ณ วันที่ 11 กันยายน 2558 เขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำใช้การได้เพียง 585 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือคิดเป็น 6%, เขื่อนสิริกิติ์ 1,218 ล้าน ลบ.ม. หรือ 18%, เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน 196 ล้าน ลบ.ม. หรือ 22% และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 111 ล้าน ลบ.ม. หรือ 12% รวม 4 เขื่อนคิดเป็นปริมาณน้ำแค่ 2,110 ล้าน ลบ.ม. เท่านั้นในจำนวนนี้มีเฉพาะเขื่อนสิริกิติ์เท่านั้น ที่มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างต่อวันมากที่สุด เฉลี่ยวันละ 25-30 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน กับเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ แทบจะมีปริมาณน้ำไหลลงอ่างน้อยมาก หรือเพียงวันละ 1 ล้าน ลบ.ม.เท่านั้น เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาจะพบว่า ทั้ง 4 เขื่อนหลักมีปริมาณน้ำรวมกัน 4,468 ล้าน ลบ.ม. หรือปริมาณน้ำลดลงกว่า 2,358 ล้าน ลบ.ม. (ตารางประกอบ)

          จากสภาพการณ์น้ำข้างต้นแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ในฤดูแล้งปี 2559 ซึ่งจะเริ่มต้นตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นไป ประเทศไทยจะต้องเผชิญกับปัญหาขาดแคลนน้ำหนักหน่วงรุนแรงกว่า ปี 2558  ที่ได้เผชิญกันมาแล้ว หากจะนับเนื่องจากเดือนเริ่มต้นของปีน้ำคือ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2557 ในช่วงนั้นทั้ง 4 เขื่อนหลักนับ 1 ปริมาณน้ำที่จะใช้ไปตลอดฤดูแล้งที่ปริมาณ 6,777 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ในปัจจุบันมีน้ำสะสมอยู่แค่เพียง 2,110 ล้าน ลบ.ม.เท่านั้น กับระยะเวลาที่เหลืออยู่อีกประมาณ 1 เดือนครึ่ง จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเริ่มต้นปีน้ำที่ระดับน้ำสะสมมากกว่า 6,000 ล้าน ลบ.ม.

          ล่าสุดมีรายงานจากกรมชลประทานเข้ามาว่า จากประมาณการน้ำไหลเข้าอ่างล่าสุด กรมชลประทานเชื่อว่า จนถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2558  ทั้ง 4 เขื่อนหลักจะมีปริมาณน้ำไม่เกินไปกว่า 3,500 ล้าน ลบ.ม. หรือน้อยกว่าปีน้ำ 2557 ถึงครึ่งต่อครึ่ง กลายมาเป็นปัญหาใหญ่ว่าจะบริหารจัดการน้ำกันอย่างไรให้ประเทศไทย โดยเฉพาะลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงกรุงเทพมหานคร ที่จะต้องอาศัยน้ำจาก 4 เขื่อนหลัก ผ่านพ้นวิกฤตการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคไปให้ได้

          "ฉัตรชัย" กังวลต้น ม.ค.แล้งแน่

          ล่าสุด พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหาทางรับมือปัญหาภัยแล้งที่คาดว่า "จะเกิดขึ้นก่อนเดือนมกราคม 2559" ด้วยการเร่งให้ทำ "ฝนหลวง" เพื่อเติมน้ำในเขื่อน แต่ก็ไม่มั่นใจว่าการทำฝนหลวงจะเติมน้ำในเขื่อนได้เพียงพอหรือไม่ ? ส่วนในแง่ของการบริหารงานการแก้ปัญหาภัยแล้งในปีหน้า กรมส่งเสริมการเกษตรได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำแนวทางการช่วยเหลือและป้องกันผลกระทบทางการเกษตรจากภาวะภัยแล้งในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และพื้นที่ปลูกข้าวแหล่งอื่นของประเทศ ปีการเพาะปลูก 2558/2559 ตามข้อเสนอของสำนักงบประมาณ โดยที่ประชุมได้ข้อสรุปว่า

          การบริหารจัดการภัยแล้งปี 2558/2559 จะต้อง "ทบทวน" องค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของ คณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร ซึ่งมี พล.อ.ฉัตรชัย รมว.เกษตรฯเป็นประธานเสียใหม่ และให้มีการประเมินสถานการณ์น้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำอื่น ๆ โดยในพื้นที่เขตชลประทานให้กรมชลประทานเป็นผู้ประเมิน กับนอกเขตพื้นที่ชลประทานให้กรมทรัพยากรน้ำเป็นผู้ประเมิน ทั้งหมดนี้จะต้องประเมินสถานการณ์น้ำให้แล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ พร้อมกันนี้ยังให้สำนักงานชลประทานที่ 3-4-10-11-12-13 ทำการสำรวจพื้นที่ที่มีศักยภาพในการที่จะส่งเสริมการปลูกพืช อาทิ ข้าวโพด, ถั่ว พร้อมกับประเมินสถานการณ์น้ำต้นทุนในพื้นที่เข้ามาด้วย

          การประเมินสถานการณ์ตามที่สั่งการไปทั้งหมดนี้ จะต้องส่งรายงานตัวเลขไปยังสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา ภายในวันที่ 14 กันยายน 2558

          งดปลูกข้าวนาปี-นาปรัง

          ทางด้าน สำนักงานชลประทานที่ 12 เขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท ได้ออกหนังสือแจ้งเตือนเกษตรกรในจังหวัดชัยนาทสิงห์บุรี-อ่างทอง-สุพรรณบุรี-อุทัยธานี-พระนครศรีอยุธยา ถึง "ความเสี่ยง" ในการปลูกข้าวนาปี 2558/2559 อ้างอิงสภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ 4 เขื่อนหลัก คือ เขื่อนภูมิพล-สิริกิติ์-แควน้อยบำรุงแดน-ป่าสักชลสิทธิ์ พบว่ามีปริมาณน้ำใช้การได้จริงเพียง 2,110 ล้าน ลบ.ม. (ณ วันที่ 11 กันยายน 2558) และมีการระบายน้ำรวมกันประมาณ 16 ล้าน ลบ.ม./วันเท่านั้น

          ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดการณ์สภาพฝนในช่วงเดือนกันยายน 2558 ว่า จะมีปริมาณฝนตก "น้อยกว่า" ค่าเฉลี่ยปกติประมาณร้อยละ 10-25 ซึ่งจะส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำทั้ง 4 เขื่อนลดลง ในขณะที่ กรมชลประทานจะเน้นการเก็บกักน้ำไว้ในอ่างเก็บน้ำไว้ให้ได้มากที่สุด พร้อมกับจะต้อง "ปรับลด" การรับน้ำเข้าระบบส่งน้ำทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อรักษาระดับน้ำหน้าเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมที่สุด

          ดังนั้นทางสำนักงานชลประทานที่ 12 จึงคาดการณ์สถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ไปว่า ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามี แนวโน้มที่จะลดลงแน่นอน และจะส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกพืช ของเกษตรกรในพื้นที่ทั้ง 6 จังหวัด โดยน้ำที่เหลืออยู่ในเขื่อนทั้ง 4 เขื่อนจะต้อง

          1) ปริมาณน้ำต้นทุนในขณะนี้เมื่อสิ้นสุดฤดูฝนในเดือนตุลาคม จะอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่สามารถสนับสนุนการเพาะปลูกพืชได้ 2) ให้ชาวนาที่เก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปีรอบแรกไปแล้ว ขอให้ "งด" การปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง เพราะจะไม่มีน้ำจากระบบชลประทานมาช่วยแน่นอน 3) สำหรับชาวนาที่ยังไม่ได้ปลูกข้าวนาปีรอบแรก หากยังทำการปลูกข้าวนาปีอีก จะต้องใช้ "น้ำฝน" เป็นหลัก และควรจะต้องมีแหล่งน้ำธรรมชาติสำรองไว้ เมื่อสิ้นสุดฤดูฝนจะได้มีน้ำหล่อเลี้ยงต้นข้าวให้ถึงอายุเก็บเกี่ยว ซึ่งคาดการณ์ว่าจะอยู่ในช่วงกลางเดือนตุลาคม ส่วนพื้นที่ที่ไม่มีแหล่งน้ำธรรมชาติจะมีความเสี่ยงสูงที่ต้นข้าวจะขาดน้ำ เพราะไม่มีน้ำจาก 4 เขื่อนหลักส่งเข้ามาช่วย และ 4) เริ่มต้นรณรงค์การประหยัดน้ำ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการใช้น้ำ

          ทั้งหมดนี้เป็นสัญญาณเตือนอย่างชัดแจ้งที่สุดว่า วิกฤตการณ์ภัยแล้งไม่ได้จบลงในปี 2558 แต่จะ "ลากยาว" ต่อเนื่องไปถึง ปี 2559 จากการที่มีปริมาณฝนตกเหนือเขื่อนน้อยกว่าเกณฑ์ปกติ (ผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนิโญ) ในแง่ของชาวนาในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวหลักของประเทศ เป็นที่แน่นอนแล้วว่าจะไม่มีการปลูกข้าวนาปีรอบ 2 และการปลูกข้าวนาปรังปี 2559 ส่วนประชาชนผู้ใช้น้ำในกรุงเทพมหานคร และจังหวัดในภาคกลาง จะต้องเผชิญกับภาวะการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค "หนักกว่า" ปี 2558

          ทางออกเพียงทางเดียวในตอนนี้คือ ทุกภาคส่วนต้องลดการใช้น้ำลงให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ทั้งนี้ก็เพื่อ "ประคับประคอง" น้ำต้นทุนใน 4 เขื่อนหลัก ให้มีน้ำยาวไปจนถึงฤดูฝนปี 2559

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 14 กันยายน 2558

17เขื่อนวิกฤตแห้งขอดเร่งบล็อกน้ำก่อนลงโขงแล้งจัดพ.ย.งดส่งทำนา 

          วิกฤตแล้งปี'59 น่าห่วง กรมทรัพยากรฯชี้น้ำในเขื่อนยังน้อย 17 แห่งมีปริมาณไม่ถึง 30% คาดลุ่มเจ้าพระยาภาคกลางหนักสุดมีแค่พอบริโภค ไม่พอทำนาปรัง 'บิ๊กตู่'สั่งสำรวจลำน้ำสาขาทำ แก้มลิง-บล็อกน้ำไหลลงสาละวิน-โขง

          เมื่อวันที่ 11 กันยายน นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ได้เข้าชี้แจงคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการน้ำแห่งชาติ (กนช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เรื่องสถานการณ์น้ำในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา และการคาดการณ์หลังจากนี้ไปถึงปี 2559 ในภาพรวมสถานการณ์ค่อนข้างน่าเป็นห่วง แม้หลายพื้นที่มีฝนตก แต่ปริมาณน้ำที่ไหลลงเขื่อนขนาดใหญ่เพื่อเตรียมน้ำไว้ใช้ปี 2559 มีน้อยมาก พบว่าเขื่อนขนาดใหญ่ทั่วประเทศ 33 แห่ง ขณะนี้เขื่อนที่มีน้ำ 81% ขึ้นไป คือ ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ดีมาก มีเพียงเขื่อนรัชชประภาเท่านั้น เขื่อนที่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ดี ปริมาณน้ำ 51-80% มี 5 แห่ง เขื่อนที่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์พอ ปริมาณน้ำ 31-50% มี 10 แห่ง และเขื่อนที่มีปริมาณน้ำน้อยมากคือ มีน้ำน้อยว่า 30% มี 17 แห่ง เช่น เขื่อนภูมิพลมีน้ำ 6% เขื่อนสิริกิติ์ 18% เขื่อนศรีนครินทร์ 27% เขื่อนอุบลรัตน์ 0.8% เขื่อนสิรินธร 18.% และเขื่อนจุฬาภรณ์ 11% เป็นต้น

          "ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันสิ้นฤดูฝน 1 พฤศจิกายนนี้ จำเป็นต้องมีน้ำในเขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เพื่อส่งน้ำเข้าไปในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา อย่างน้อย 3,500 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ให้เพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภค แต่เวลานี้ใน 4 เขื่อนหลักมีน้ำแค่ 1,900 ล้าน ลบ.ม.เท่านั้น จากปริมาณ 3,500 ล้านลูกบาศก์เมตรนี้" นายจตุพรกล่าว

          อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำกล่าวอีกว่า คาดการณ์ว่านับแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน จากสภาพน้ำฝนที่จะตกลงในลุ่มน้ำเจ้าพระยา จะทำให้น้ำใน 4 เขื่อนหลัก มีปริมาณประมาณ 3,600 ล้าน ลบ.ม.เท่านั้น ในจำนวนนี้จะใช้สำหรับอุปโภคบริโภค 1,000 ล้าน ลบ.ม. และเพื่อการเกษตร 177 ล้าน ลบ.ม. ดังนั้นจะให้ไม่มีน้ำเหลือเพียงพอในการปลูกข้าวนาปรังแน่นอน เช่นเดียวกับในลุ่มน้ำแม่กลองที่จะใช้น้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนวชิราลงกรณ คาดการณ์ว่าในวันที่ 1 มกราคม 2559 น่าจะมีน้ำ 4,765 ล้าน ลบ.ม. จะไม่มีน้ำเพียงพอในการทำนาปรัง มีน้ำพอแค่ปลูกอ้อยและไม้ผลเท่านั้น ทั้งนี้ ภาคกลางน่าจะมีปัญหามากสุดโดยเฉพาะในเขตชลประทาน ส่วนภาคอื่นๆ ยังไม่น่าห่วงมากนัก อย่างไรก็ตามวิธีการที่กรมทรัพยากรน้ำดำเนินการเวลานี้คือ การเก็บกักน้ำไว้กับแหล่งน้ำขนาดเล็ก การขุดลอกคูคลองที่มีอยู่เดิมเพื่อให้สามารถเก็บกักน้ำได้มากขึ้น 600 ล้าน ลบ.ม. นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังได้สั่งการเพิ่มเรื่องการแก้ปัญหาน้ำแล้ง น้ำไม่พอใช้ในประเทศสำหรับปี 2559 ว่าต้องเร่งสำรวจลำน้ำสาขาที่จะมีน้ำไหลลงในแม่น้ำต่างประเทศคือ แม่น้ำโขง และแม่น้ำสาละวิน ตามลำน้ำสาขาพวกนี้ จะมีพื้นที่กว้างๆ เพื่อทำแก้มลิงขนาดใหญ่หรือไม่ หากมีก็ให้ดำเนินการให้เสร็จภายใน 1-2 เดือน

          "นายกฯสั่งด้วยว่า ในลำน้ำสาขาที่จะมีน้ำไหลลงแม่น้ำโขง ควรสร้างฝายชั่วคราวเพื่อกั้นไม่ให้น้ำไหลลงแม่น้ำโขงหมด ซึ่งลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขงมีประตูกั้นน้ำอยู่หลายจุด จะต้องมีการบริหารจัดการและวางแผนใหม่ในช่วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อบล็อกน้ำไม่ให้ไหลลงแม่น้ำโขงทั้งหมด เรื่องนี้ต้องไปหารือกับทางกรมชลประทานว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป" นายจตุพรกล่าว

          ที่ จ.นครราชสีมา นายสุทธิโรจน์ กองแก้ว ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนลำตะคอง อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมาว่า ขณะนี้ยังคงต้องติดตามปริมาณน้ำภายในเขื่อนอย่างใกล้ชิด เนื่องจากฝนที่ตกลงมาในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มีปริมาณน้อยกว่าที่คาดการณ์ อีกทั้งฝนที่ตกลงมาส่วนใหญ่จะตกในพื้นที่ท้ายเขื่อน ทำให้มีน้ำไหลเข้าเขื่อนเฉลี่ยอยู่ที่วันละ 1-2 แสน ลบ.ม. ส่งผลให้ปริมาณน้ำภายในเขื่อนลำตะคองล่าสุดมีปริมาณน้ำใช้การอยู่ที่ 48 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 15% ของความจุ 314.49 ล้าน ลบ.ม. ทำให้ทางเขื่อนต้องปรับลดปริมาณน้ำออกจากเขื่อนเพื่อการอุปโภคบริโภค จากเดิมที่เคยปล่อยออกวันละ 340,000 ลบ.ม. เหลือเพียงวันละ 170,000 ลบ.ม. ทั้งนี้เพื่อรักษาปริมาณน้ำต้นทุนภายในเขื่อนและให้มีความสมดุลกับปริมาณน้ำในพื้นที่ท้ายเขื่อนที่มีน้ำฝนตกเข้ามาเติมในแต่ละพื้นที่

          นายสุทธิโรจน์กล่าวต่อว่า ยังได้แจ้งไปยังการประปาท้องถิ่นต่างๆ ให้เร่งกักเก็บน้ำฝนที่ตกลงมาในช่วงนี้ให้ได้มากที่สุด เพื่อให้มีน้ำดิบใช้ในการผลิตน้ำประปา เนื่องจากขณะนี้เขื่อนลำตะคองมีน้ำเหลือน้อย จึงส่งผลให้บางพื้นที่กำลังขาดแคลนน้ำใช้ในการอุปโภคบริโภค อย่างไรก็ตามต้องติดตามในช่วงเดือนตุลาคมที่คาดว่าน่าจะมีพายุฝนพัดผ่านเข้ามาในพื้นที่เหนือเขื่อน แต่หากปริมาณฝนยังคงตกน้อย จะส่งผลให้ในปีหน้าต้องประสบกับปัญหาภัยแล้งรุนแรงอย่างแน่นอน

          ด้านนายสมยศ แสงมณี ผอ.โครงการชลประทาน จ.พิจิตร กล่าวว่า หลังจากบึงสีไฟ บึงน้ำจืดขนาดใหญ่อันดับ 3 ของประเทศ และเป็นศูนย์เพาะขยายพันธุ์สัตว์น้ำภาคเหนือได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ไม่มีน้ำกักเก็บ และฝนที่ตกลงมาก่อนหน้านี้ค่อนข้างน้อย ทำให้ระบบนิเวศกว่า 5,300 ไร่ ได้รับความเสียหายแทบไม่เหลือสัตว์บก สัตว์น้ำ ทั้งนกนานาพันธุ์หายไปหมด ทางชลประทานจังหวัดจึงเร่งผันน้ำกรณีพิเศษจากเขื่อนนเรศวรมาตามลำคลองชลประทานซี 1 เฉลี่ยวันละ 1 แสน ลบ.ม.ต่อวัน เข้าสู่ภายในบึงสีไฟให้ได้อย่างน้อย 100 ล้าน ลบ.ม. เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำภายในบึงสีไฟ

          นายจำรัส สวนจันทร์ ผอ.โครงการชลประทานศรีสะเกษ กล่าวว่า อ่างเก็บน้ำ 16 แห่งของศรีสะเกษ ระดับน้ำยังคงต่ำมาก เฉลี่ยแล้วระดับน้ำอ่างเก็บน้ำ 16 แห่ง มีอยู่เพียง 58.5% ยังไม่พ้นจากสภาวะวิกฤตของภัยแล้ง ขณะนี้มีการปล่อยน้ำเพื่อหล่อเลี้ยงต้นข้าว ในเขตชลประทาน ทำให้ระดับน้ำในอ่างทุก แห่งลดลงเรื่อยๆ จึงขอฝากให้ช่วยกันใช้น้ำอย่างประหยัดและใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ อาจจะมีผลกระทบต่อปริมาณน้ำใช้ไม่พ้นฤดูแล้งนี้

          ด้านนายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า เนื่องจากในระยะนี้เกิดฝนตกหลายพื้นที่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ทำให้ลำน้ำสายต่างๆ มีระดับสูง หากมีฝนตกต่อเนื่องอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำล้นตลิ่ง น้ำป่าไหลหลากและดินถล่มได้ ดังนั้นจึงประสาน 9 จังหวัด ได้แก่ จ.แม่ฮ่องสอน, เชียงใหม่, ลำปาง, พิจิตร, ขอนแก่น, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, ระยอง และ จ.จันทบุรี จัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามสภาพอากาศและปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่อย่างใกล้ชิด รวมทั้งเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยตลอด 24 ชั่วโมง

          พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังจากการประชุมคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร ครั้งที่ 2/2558 ว่าที่ประชุมได้มีมติเสนอให้จัดตั้งคณะกรรมการทำงานระดับรัฐบาล เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นในฤดูกาลเพาะปลูกที่ 2558/2559 เพื่อเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในวันที่ 15 กันยายนนี้ เพื่อขอให้นายกรัฐมนตรีจัดตั้งคณะทำงานขึ้น และอาจมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งนั่งเป็นประธาน เพื่อบูรณาการแก้ไขปัญหาภัยแล้งที่กำลังจะเกิดขึ้น ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งการคาดการณ์สถานการณ์น้ำในเขื่อนสิ้นเดือนตุลาคมนี้จะมีประมาณ 3,600 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ส่งผลให้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไปจะไม่มีน้ำที่ปล่อยให้แก่เกษตรกรในการทำนาปรัง นาปี การปลูกพืชทุกชนิด รวมถึงพืชที่ใช้น้ำน้อย และปศุสัตว์บางชนิดที่อาศัยน้ำ ทั้งนี้ เมื่อ ครม.เห็นชอบตั้งคณะทำงานจะได้ข้อสรุปผลกระทบจากภัยแล้งที่เกิดขึ้น และจะได้ออกมาตรการช่วยเหลือออกมา

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุม อธิบดีกรมชลประทานได้รายงานการเพาะปลูกข้าวนาปี 2558 ในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา ขณะนี้ในฤดูทำนาปีมีพื้นที่ที่ไม่มีการเพาะปลูกข้าวที่รัฐบาลต้องหามาตรการช่วยเหลือ 8.7 แสนไร่ เพาะปลูกแล้ว 5.61 ล้านไร่ ยังไม่มีการเพาะปลูก 1.84 ล้านไร่ หากเพาะปลูกก่อน 15 กันยายน จะเก็บเกี่ยวทันปลายปีนี้ ดังนั้นกรมชลประทานจึงรวบรวมมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง คือ มาตรการจ้างแรงงานปี 2558 ที่เหลือ และปี 2559 ทั่วประเทศ วงเงิน 28,180.91 ล้านบาท จ้างงานได้มากกว่า 8 ล้านคน/วัน

จาก http://www.matichon.co.th   วันที่ 14 กันยายน 2558

'อรรชกา'สั่งสอน.ช่วยชาวไร่อ้อย ห่วงทิ้งอาชีพเจอน้ำตาลขาลง-ภัยแล้ง ลุ้นโมลาสราคาดีกท.จ่ายชดเชย - น้อยลง

          นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังให้ 4 องค์กรชาวไร่อ้อย ประกอบด้วย ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย สหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย สมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย เข้าพบที่กระทรวงเมื่อวันที่ 11 กันยายนที่ผ่านมา เพื่อหารือถึงสถานการณ์อ้อยและน้ำตาลทรายว่า ชาวไร่เป็นกังวลต่อสถานการณ์ราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกที่ตกต่ำที่สุดในรอบหลายปี เหลือระดับ 11 เซ็นต์ต่อปอนด์ จากคาดการณ์ระดับราคา 15 เซ็นต์ต่อปอนด์ จึงคาดว่าราคาอ้อยขั้นปลายฤดูการผลิตปีนี้ (2557/58) จะต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้นปีเดียวกันมีราคา 900 บาทต่อตัน และจากปริมาณอ้อยรวมกว่า 100 ล้านตันเมื่อคำนวณส่วนต่างที่ขั้นปลายน้อยกว่าขั้นต้นจึงอยู่ที่ 15,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้รายงานว่าปีนี้แนวโน้มราคากากน้ำตาลทราย หรือโมลาสสูงขึ้น อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลจะมีรายได้เพิ่มขึ้นเมื่อคำนวณเป็นราคาอ้อยขั้นปลาย จึงน่าจะมีส่วนต่างรวมลดลง

          "ตามกฎหมายกำหนดว่าหากราคาอ้อยขั้นปลายต่ำกว่าขั้นต้นให้โรงงานน้ำตาลจ่ายชดเชย และให้ สอน.โดยกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย หรือ กท. จ่ายเงินคืนให้กับโรงงาน ซึ่งส่วนต่างล่าสุดน่าจะลดลงเหลือประมาณ 10,000 ล้านบาท กท.อาจไม่จำเป็นต้องกู้เงินธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพราะอาจใช้เงินรายรับของ กท.ประมาณ 7,000 ล้านบาท และหากราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกดีขึ้นอาจทำให้เงินส่วนต่างยิ่งลดลง" นาง อรรชกากล่าว และว่า ยังพอมีเวลาเตรียมการหาเงินชดเชยส่วนต่าง เพราะการประกาศราคาอ้อยขั้นปลายปี 2557/58 กำหนดไว้ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ และจากสถานการณ์ราคาน้ำตาลที่ตกต่ำ บวกกับสถานการณ์ภัยแล้ง จึงสั่งการให้ สอน.ทบทวนแนวทางการช่วยเหลือด้านการผลิต ไม่ให้ชาวไร่เปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นแทน ขณะเดียวกันชาวไร่ต้องเตรียมพร้อมในการผลิตเพื่อลดต้นทุนให้สามารถผ่านพ้นสถานการณ์นี้ไปให้ได้

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2558 

เปิดแผน3ปี “น้ำตาลบุรีรัมย์” เดินหน้ารุกพลังงานทดแทน

เปิดแผน 3 ปี น้ำตาลบุรีรัมย์ เดินหน้ารุกธุรกิจพลังงานทดแทน พร้อมสร้างแบรนด์เจาะตลาดไฮเอ็นด์ต่อเนื่อง

นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประฐานกรรมการบริหาร บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน)  หรือ BRR ผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายดิบ น้ำตาลทราวขาวสีรำส่งจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ เปิดเผยถึงทิศทางธุรกิจในช่วง 3 ปีข้างหน้าว่า บริษัทอยู่ระหว่างการาขยายธุรกิจเพื่อให้เกิดการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในส่วนธุรกิจใหม่ๆ จาการวางรากฐานที่แข็งแกร่งและความพร้อมในการลงทุนและการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์ ในช่วงที่ผ่านมาซึ่งด้านกำลังการผลิตบริษัทมีการนำเทคโนโลยีและการบริหารจัดการเข้าไปใช้ในการผลิต ส่งผลให้ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยเพิ่มขึ้นเป็น 118-119 กิโลกรัม จากค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมนี้ทำให้อยู่ที่ 105 ซึ่งเป็นผลผลิตที่สูง เมื่อเปรียบเทียบเป็นค่าเฉลี่ยของโรงงานในแต่ละกลุ่มผู้ผลิตน้ำตาลทราย ปัจจุบันบริษัทมีเครือข่ายเกษตรกรไร่อ้อยอยู่ 1.5 หมื่นครอบครัว นับเป็นพื้นที่ปลูก 2 แสนไร่ ซึ่งในช่วง 2-3 ปีข้างหน้ามีแผนจะขยายพื้นที่ให้ได้เป็น 3 แสนไร่ ในรัศมี 50 กิโลเมตรรอบๆ โรงงาน

แผนการลงทุนในส่วนของการต่อยอดสู่ธุรกิจใหม่ รวมถึงการต่อยอดสู่ธุรกิจพลังงานทดแทนประเภทอื่นๆ และขณะนี้อยู่ระหว่างการนำกากน้ำตาลหรือโมลาส (Molasses) ที่ได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาลทรายมาผลิตเป็นเอทานอล ซึ่งอยู่ระหว่างการขออนุญาตดำเนินการ”

สำหรับธุรกิจปุ๋ยภายใต้การดำเนินการของบริษัท ปุ๋ยตรากุญแจ จำกัด ที่เกิดจากการนำกากหม้อกรองไปใช้เป็นวัตถุดิบผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งเป็นอีกช่องทางเสริมรายได้ให้กับกลุ่มธุรกิจได้อีกทางหนึ่ง

บริษัทอยู่ระหว่างการเตรียมตัวแนะนำสินค้าและแบรนด์ใหม่ ในตลาดน้ำตาลทราย โดยเน้นจุดเด่นในเรื่องของความเป็นธรรมชาติไม่ฟอกสี เจาะตลาดไฮเอนด์ จำหน่ายผ่านช่องทางโมเดิร์นเทรด

จาก กรุงเทพฯ วันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2558 

กรมชลฯดัน “วาระเร่งด่วน”พัฒนาแหล่งน้ำ 3 พันโครงการ

รายงานข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แจ้งว่า การดำเนินงานของกรมชลประทานด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ ที่ต้องดำเนินการในปี 2558-2559 รวมกว่า 3,000 โครงการ วงเงิน 73,731.64 ล้านบาท แยกเป็นงบประมาณปี 2558 ได้รับจัดสรรงบลงทุน รวม 1,3338 โครงการ วงเงินรวม 35,282.08 ล้านบาท เพื่อดำเนินการโครงการชลประทานขนาดใหญ่ จำนวน 11 โครงการ โครงการชลประทานขนาดกลาง จำนวน 60 โครงการ โครงการชลประทานขนาดเล็ก จำนวน 181 โครงการ และโครงการป้องกันบรรเทาภัยจากน้ำ จำนวน 88 โครงการ โครงการขุดลอก จำนวน 966 โครงการ

ประกอบด้วย การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ จำนวน 30 โครงการ ก่อสร้างฝาย จำนวน 96 โครงการ ก่อสร้างประตูระบายน้ำ จำนวน 29 โครงการ ก่อสร้างระบบส่งน้ำ จำนวน 34 โครงการ ก่อสร้างระบบระบายน้ำ จำนวน 34 โครงการ ก่อสร้างระบายน้ำ จำนวน 60 โครงการ ก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า จำนวน 88 โครงการ งานขุดลอก จำนวน 966 โครงการ ก่อสร้างแก้มลิง จำนวน 32 โครงการ ก่อสร้างระบบผันน้ำ จำนวน 1 โครงการ และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ จำนวน 2 โครงการ โดยในปี 2558 จะสามารถพัฒนาพื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้นได้ประมาณ 234,321 ไร่  และเพิ่มความจุเก็บกักน้ำได้ประมาณ 125.04 ล้านลูกบาศก์เมตร สำหรับโครงการที่แล้วเสร็จ

ทั้งนี้ในปี 2558 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 30 ธ.ค.2557 อนุมัติงบประมาณเพื่อแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำ ระยะเร่งด่วนรวม 25,870.75 ล้านบาท แยกเป็น งบกลาง 2,284.37 ล้านบาท สำหรับดำเนินการ 89 โครงการ ประกอบด้วย โครงการชลประทานขนาดกลาง จำนวน 18 โครงการ ดครงการชลประทานขนาดเล็ก จำนวน 31 โครงการ โครงการป้องกันบรรเทาภัยจากน้ำ จำนวน 8 โครงการ และโครงการปรับปรุงระบบชลประทานเดิม จำนวน 32 โครงการ สามารถจำแนกประเภทกิจกรรมได้ดังนี้

ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ จำนวน 16 โครงการ ก่อสร้างฝาย จำนวน 6 โครงการ ก่อสร้างประตูระบายน้ำ จำนวน 4 โครงการ ก่อสร้างระบบส่งน้ำ จำนวน 18 โครงการ ก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า จำนวน 5 โครงการ งานขุดลอก จำนวน 6 โครงการ ก่อสร้างแก้มลิง จำนวน 6 โครงการ และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ จำนวน 28 โครงการ โดยจะสามารถพัฒนาพื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้นได้ประมาณ 40,980 ไร่ และเพิ่มความจุเก็บกักน้ำได้ประมาณ 22.07 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อโครงการแล้วเสร็จ

งบเงินกู้ 23,586.38 ล้านบาท เพื่อดำเนินงาน 725 โครงการ ประกอบด้วยโครงการชลประทานขนาดกลาง จำนวน 27 โครงการ โครงการชลประทานขนาดเล็ก จำนวน 288 โครงการ โครงการป้องกันบรรเทาภัยจากน้ำ จำนวน 258  โครงการ โครงการปรับปรุงระบบชลประทาน จำนวน 138 โครงการ และโครงการศึกษา สำรวจออกแบบ จำนวน 14 โครงการ สามารถจำแนกประเภทกิจกรรมได้ดังนี้ ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ จำนวน 17 โครงการ ก่อสร้างฝาย จำนวน 107 โครงการ ก่อสร้างประตูระบายน้ำ จำนวน 17 โครงการ ก่อสร้างระบบส่งน้ำ จำนวน 119 โครงการ ก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า จำนวน 95 โครงการ งานขุดลอก จำนวน 6 โครงการ ก่อสร้างแกมลิง จำนวน 215 โครงการ ก่อสร้างระบบผันน้ำ จำนวน 6 โครงการ โครงการปรับปรุง จำนวน 70 โครงการ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ จำนวน 59 โครงการ และโครงการศึกษา สำรวจ ออกแบบ จำนวน 14 โครงการ โดยจะสามารถพัฒนาพื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้นได้ประมาณ 600,109 ไร่ และเพิ่มความจุเก็บน้ำได้ประมาณ 285.24 ล้านลูกบาศก์เมตรเมื่อโครงการแล้วเสร็จ

สำหรับงบประมาณปี 2559 กรมชลประทานได้รับจัดสรรงบลงทุน รวม 1,110 โครงการ รวมทั้งสิ้น 38,449.56 ล้านบาท เพื่อดำเนินการโครงการชลประทานขนาดใหญ่ จำนวน 9 โครงการ  โครงการชลประทานขนาดกลาง จำนวน 60 โครงการ โครงการชลประทานขนาดเล็ก จำนวน 173 โครงการ และโครงการป้องกันบรรเทาภัยจากน้ำ จำนวน 173 โครงการ สามารถจำแนกประเภทกิจกรรมได้ ดังนี้ ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ จำนวน 37 โครงการ ก่อสร้างฝาย จำนวน 103 โครงการ ก่อสร้างประตูระบายน้ำ จำนวน 38 โครงการ ก่อสร้างระบบส่งน้ำ จำนวน 47 โครงการ ก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า จำนวน 82 โครงการ งานขุดลอก จำนวน 7 โครงการ ก่อสร้างระบบผันน้ำ จำนวน 1 โครงการ

และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ จำนวน 100 โครงการ โดยจะสามารถพัฒนาพื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้นได้ประมาณ 309,475 ไร่ และเพิ่มความจุเก็บกักน้ำได้ประมาณ 262.31 ล้านลูกบาศก์เมตร สำหรับโครงการที่แล้วเสร็จในปี 2559

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2558 

ใช้เครื่องตะบันน้ำบริหารจัดการน้ำ

เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2558 ที่ผ่านมา นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี พร้อมด้วยหม่อมราชวงศ์ดิศนัดดา ดิศกุล ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ นายดนุชา สินธวานนท์ รองเลขาธิการ กปร. นายพระนาย สุวรรณรัฐ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานในยุทธศาสตร์ที่ 1 การส่งเสริมการขับเคลื่อนการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ภาคการเกษตรและชนบท ตามที่รัฐบาลได้มอบหมายให้สำนักงาน กปร. เป็นแกนกลางในการรวบรวมข้อมูลและขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ

ซึ่งในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี มีโครงการที่ดำเนินการในพื้นที่ 177 โครงการ แล้วเสร็จ 114 โครงการ อยู่ระหว่างดำเนินการ 17 โครงการ และอยู่ระหว่างการจัดส่งวัสดุ อุปกรณ์ 46 โครงการการนี้คณะได้ลงพื้นที่โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยตาดข่าอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านแสงบูรพา หมู่ที่ 11 ตำบลหนองอ้อ อำเภอหนองวัวซอ

ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2551 กรมชลประทานได้ดำเนินการก่อสร้างทำนบดินกว้าง 6.00 เมตร ยาว 210.00 เมตร สูง 12.00 เมตร ความจุ 693,000 ลูกบาศก์เมตร พร้อมอาคารระบายน้ำล้น ท่อระบายน้ำก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้วปี 2553

ที่ผ่านมาสามารถส่งน้ำให้พื้นที่ทำการเกษตรได้จำนวน 800 ไร่ รวม 450 ครัวเรือน องค์การบริหารส่วนตำบลหนองอ้อ ได้ปรับปรุงพื้น ที่ด้านหน้าอ่างเก็บน้ำห้วยตาดข่าฯ พื้นที่ประมาณ 10 ไร่ ให้เป็น “ศูนย์เรียนรู้และพัฒนาอ่างเก็บน้ำห้วยตาดข่าตามแนวพระราชดำริ” ขึ้นพร้อมกันนี้ก็เป็นพื้นที่ขยายผลตามโครงการปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ

จากพื้นที่โครงการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนอีกด้วย โดยมีสมาชิก 49 คน มีการจัดทำแปลงสาธิตทางการเกษตรแบบผสมผสานตามหลักเกษตรอินทรีย์ โดยเน้นการใช้ทรัพยากรในชุมชน เช่น การเลี้ยงปลา เป็ดไข่ กบนาในแปลงนาข้าว การเลี้ยงหมูหลุมเพื่อนำมูลหมูไปผลิตปุ๋ยอินทรีย์ การสร้างฐานการเรียนรู้ต่าง ๆ เช่น การเลี้ยงไส้เดือนดิน การสร้างแพลงก์ตอนพืช เพื่อเป็นอาหารปลา รวมทั้งการทำไร่นาสวนผสมสร้างแหล่งเรียนรู้แก่เกษตรกรและประชาชนในพื้นที่และมีการต่อยอดเป็นแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน โดยจัดให้มีแพบริการประชาชนที่เดินทางมาท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่อ่างเก็บน้ำแห่งนี้

เพื่อเป็นรายได้เสริมให้กับประชาชนในพื้นที่และที่น่าสนใจอีกประการคือพื้นที่แห่งนี้ได้มีการนำเครื่องตะบันน้ำ มาเป็นกลไกในการบริหารจัดการน้ำ เพื่อส่งน้ำเข้าแหล่งเพาะปลูกที่มีระดับความสูงกว่าระดับน้ำต้นทุน

ซึ่งเครื่องตะบันน้ำนั้น ทำงานโดยไม่ต้องการพลังงานจากภาพนอก ทำงานได้ตลอดทั้งวันโดยไม่ต้องใช้ไฟฟ้า หรือน้ำมัน กินแต่เพียงน้ำเท่านั้นเป็นเครื่องมือที่มีโครงสร้างไม่ซับซ้อน คือมีส่วนเคลื่อนไหวเพียง 2 ส่วน เป็นวาล์ว 2 ตัว ที่เกษตรกรสามารถนำมาสร้างและประกอบใช้ได้ด้วยตนเอง ซึ่งหลักการในการทำงานของเครื่องตะบันน้ำนี้คือ การทำให้น้ำที่ไหลมาด้วยความเร็ว หยุดกะทันหัน เหมือนเราเปิดก๊อกน้ำที่ส่งมาจากแท็งก์น้ำสูง ๆ แล้วปิดทันที จะเกิดแรงดันตีกลับทำให้ท่อน้ำสะบัด เกิดความดันขึ้นชั่วขณะ แล้วส่งน้ำต่อไปยังถังเก็บที่สูงกว่า

โดยสูญเสียน้ำจำนวนหนึ่งไปเป็นการจัดการน้ำตามหลักอนุรักษ์พลังงาน คือดึงเอาพลังงานจากน้ำที่ไหลเข้า มาให้เป็นแรงดันเพื่อนำน้ำขึ้นไปยังถังเก็บที่สูงกว่า และทิ้งน้ำที่เหลือพลังงานน้อยออกไปทางวาล์วน้ำทิ้ง ซึ่งก็เป็นแปลงเพาะปลูกที่ทำไว้รอรับเช่นกันนับเป็นนวัตกรรมที่สอดคล้องกับท้องถิ่น ไม่สิ้นเปลืองพลังงาน อาศัยพลังงานธรรมชาติ ไม่ก่อให้เกิดมลพิษและใช้เงินทุนน้อย.“

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2558 

กลุ่มวังขนายรุกเพื่อสังคมเดินหน้าธุรกิจคู่ชุมชนยั่งยืน

กองทัพภาคที่ 2 ร่วมกับ กลุ่มวังขนาย จัดพิธีรับมอบสะพาน ณ วังขนาย ภายในบริเวณสวนน้ำบุ่งตาหลั่วเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 9 ค่ายสุรนารี หลังปิดทำการซ่อมแซมปรับปรุงสะพาน 3 เดือนให้มีสภาพแข็งแรง สมบูรณ์ สวยงาม จนสามารถเปิดให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้ใช้ในการออกกำลังกาย และพักผ่อนหย่อนใจโดยภายในงานมีกิจกรรมมอบปุ๋ยอินทรีย์ จำนวน 10 ตัน มอบเครื่องตัดหญ้า จำนวน 6 เครื่อง และเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปช่วยกันใส่ปุ๋ยบำรุงรักษาต้นไม้ภายในบริเวณสวนน้ำฯ ปล่อยพันธุ์ปลาไทยหายาก เพื่อเป็นการอนุรักษ์และขยายพันธุ์ปลาไทยขนาดใหญ่ ให้อยู่คู่กับสวนน้ำฯ แห่งนี้ตลอดไป

นายวัชรา ณ วังขนาย รองประธานกรรมการกลุ่มวังขนาย ได้เดินทางมาทำพิธีมอบสะพาน ณ วังขนาย กล่าวว่า กลุ่มวังขนายได้มอบงบประมาณสนับสนุนการก่อสร้างสะพาน จำนวนเงิน 1 ล้านบาทเมื่อปี 2541 และสะพานเปิดใช้มานานถึง 16 ปี จนมีสภาพทรุดโทรมอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ที่เดินทางมาใช้บริการได้ทางกองทัพภาคที่  2 โดยมีพลโทธวัช สุกปลั่ง ปฏิบัติหน้าที่เป็นแม่ทัพภาคที่ 2 ได้มีหนังสือขอความช่วยเหลือมายังกลุ่มวังขนายเพื่อซ่อมแซมสะพาน ให้มีสภาพสมบูรณ์แข็งแรง ดังนั้น ทางกลุ่มวังขนายจึงได้มอบงบประมาณจำนวน 1,222,700 บาท ให้กับกองทัพภาคที่ 2 ไปเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อใช้ในการซ่อมแซมปรับปรุงสะพาน และใช้เวลาเพียง 3 เดือนเท่านั้น ก็สามารถดำเนินการแล้วเสร็จ พร้อมให้ประชาชนทั่วไปได้มาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่สำหรับการมอบสะพาน ณ วังขนาย ในวันนี้ทางกลุ่มวังขนายจะมอบปุ๋ยอินทรีย์ ตรา มดเขียว จำนวน 10 ตัน และเครื่องตัดหญ้า จำนวน 6 เครื่อง พร้อมนำพนักงานกว่า 70 คน มาร่วมกิจกรรมใส่ปุ๋ยดูแลต้นไม้ที่อยู่ในบริเวณสวนน้ำบุ่งตาหลั่วเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 9 ค่ายสุรนารี อีกด้วย

ด้าน พล.ต.วิชัย แชจอหอ รองแม่ทัพภาคที่ 2 ค่ายสุรนารีจ.นครราชสีมา กล่าวว่า สวนน้ำบุ่งตาหลั่วเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 9 (สวนน้ำฯ ร.9) ได้รับการพัฒนาตามแนวพระราชดำริโครงการแก้มลิงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อกักเก็บน้ำจากพื้นที่โดยรอบไม่ให้เข้าท่วมตัวเมืองนครราชสีมาและยังสามารถจัดเก็บน้ำสำรองไว้ใช้แก้ปัญหาในยามขาดแคลน ซึ่งมีพื้นที่โดยรวม 300 ไร่ สวนน้ำบุ่งตาหลั่วเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 9 มีกิจกรรมมากมาย มีพื้นที่ลานอเนกประสงค์ จำนวน 5 ลานพื้นที่สำหรับออกกำลังกายรอบบริเวณสวนน้ำบุ่งตาหลั่วเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 9 โดยเฉพาะลานกีฬามีสะพานวังขนายเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่บริเวณลานนวมินทร์เข้าไปภายในลานกีฬา ไว้สำหรับให้ประชาชนและนักท่องเที่ยว ได้ใช้ประโยชน์เดินออกกำลังกาย และเป็นจุดชมวิวทิวทัศน์ โดยสามารถให้บริการประชาชนได้ถึง 2,000 คนต่อวัน โดยตัวสะพานก่อสร้างลักษณะแขวน มีความยาว 72.56 เมตร กว้าง 2 เมตร สูงจากผิวน้ำถึงตัวสะพานประมาณ 2 เมตร แต่เนื่องจากตัวสะพานได้ก่อสร้างมานานกว่า 16 ปี ปัจจุบันเกิดการชำรุดทางกองทัพภาคที่ 2 จึงมีความจำเป็นที่จะดำเนินการซ่อมแซมปรับปรุงสะพานให้มีสภาพดีดังเดิม เพื่อให้เกิดความปลอดภัย และอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาใช้บริการแต่เนื่องจากมีข้อจำกัดในเรื่องงบประมาณ

ดังนั้นจึงได้ขอความอนุเคราะห์รับการสนับสนุนสำหรับซ่อมแซมปรับปรุงสะพานจากทางกลุ่มวังขนายซึ่งก็ได้การตอบรับเป็นอย่างดี สำหรับการดำเนินการซ่อมสะพานแห่งนี้ ทางกองทัพภาคที่ 2 ได้ขอความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ให้เป็นผู้ออกแบบ ตลอดจนเป็นที่ปรึกษาการซ่อมสะพาน จนทำให้สะพานได้รับการซ่อมแซมเป็นอย่างดี มีความสวยงาม และความแข็งแรงคงทนเพิ่มมากยิ่งขึ้นเพื่อเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและนักท่องเที่ยวที่มาใช้พักผ่อนและออกกำลังกายที่สวนน้ำบุ่งตาหลั่วเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 9 อย่างยั่งยืนตลอดไป

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2558 

อุตฯลุ้นราคาโมลาสพุ่งลดเงินชดเชยค่า

          กระทรวงอุตสาหกรรม ลุ้น ราคาโมลาสพุ่ง ลดภาระชดเชยค่าอ้อยต่ำกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท หวังไม่ต้องกู้ ธกส.จ่ายชดเชย ห่วงปีหน้าราคาอ้อยต่ำกว่าปีนี้ เร่งศึกษาแนวทางรับมือ

          นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังให้ 4 องค์กรชาวไร่อ้อย ประกอบด้วย ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน สหพันธ์ชาวไร่อ้อย แห่งประเทศไทย สหสมาคมชาวไร่อ้อย แห่งประเทศไทย สมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย เข้าพบที่กระทรวง เพื่อหารือถึง สถานการณ์อ้อยและน้ำตาลทราย ว่า ชาวไร่ ได้แสดงความกังวลต่อสถานการณ์ราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลก ที่ตกต่ำที่สุดในรอบ หลายปี เหลือระดับ 11 เซนต์ต่อปอนด์ จากคาดการณ์ ว่าจะมีราคาระดับ 15 เซนต์ต่อปอนด์

          ทั้งนี้คาดการณ์ราคาอ้อยขั้นปลายฤดูการผลิตปีนี้(2557/58) จะต่ำว่าราคาอ้อยขั้นต้น ปีเดียวกัน ซึ่งอยู่ระดับ 900 บาทต่อตัน และจากปริมาณอ้อยรวมกว่า 100 ล้านตัน เมื่อคำนวณ ส่วนต่างที่ขั้นปลายน้อยกว่าขั้นต้นจึงอยู่ที่ 1.5 หมื่นล้านบาท

          อย่างไรก็ตามล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.)ได้รายงานว่า ปีนี้ แนวโน้มราคากากน้ำตาลทรายหรือโมลาสสูงขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล มีรายได้เพิ่มขึ้น เมื่อคำนวณเป็นราคาอ้อย ขั้นปลายแล้ว จึงน่าจะมีส่วนต่างรวมลดลงจาก 1.5 หมื่นล้านบาท "ตามกฎหมายกำหนดว่าหากราคาอ้อยขั้นปลายต่ำกว่าขั้นต้นให้โรงงานน้ำตาลจ่ายชดเชยไปก่อน และให้สอน.โดยกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย หรือกท.เป็นผู้จ่ายเงินคืนให้กับโรงงาน ซึ่งเดิมคำนวณส่วนต่างรวมไว้ที่ 1.5 หมื่นล้านบาท แต่ล่าสุดอาจเหลือประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท ทำให้กท.อาจไม่จำเป็นต้องกู้เงินธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) เพราะอาจใช้เงินของกองทุนฯ ที่ขณะนี้มีอยู่ประมาณ 7-8 พันล้านบาท และหากราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกปรับดีขึ้น ก็อาจทำให้เงิน ส่วนต่างยิ่งลดลง ภาระของกท.ก็ลดลงไปด้วย" นางอรรชกา กล่าว

          ทั้งนี้ การแก้ปัญหาดังกล่าวยังพอมีเวลาในการเตรียมการหาเงินชดเชยส่วนต่าง เพราะการประกาศราคาอ้อยขั้นปลายปี 2557/58 กำหนดไว้ภายในเดือนพ.ย.นี้ ขณะเดียวกันเดือนพ.ย.ยังต้องประกาศราคาอ้อยขั้นต้น ฤดูการผลิตปีหน้า คือ 2558/59 ด้วย ซึ่งจากแนวโน้มราคาน่าจะต่ำกว่าราคาขั้นต้นของ ปีนี้ซึ่งอยู่ที่ 900 บาทต่อตันแน่นอน ส่วนจะเป็นเท่าไรจะต้องติดตามราคาน้ำตาลโลก ต่อไป

          อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่ตกต่ำ บวกกับสถานการณ์ ภัยแล้ง กระทรวงฯจึงสั่งการให้สอน.ไปทบทวน แนวทางการช่วยเหลือในเรื่องการผลิต เพื่อไม่ให้ชาวไร่เปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นแทน เนื่องจากสถานการณ์ช่วงนี้ราคาอ้อยและน้ำตาล ค่อนข้างต่ำ ขณะเดียวกันชาวไร่ก็ต้องเตรียมพร้อมในการผลิตเพื่อลดต้นทุนให้สามารถผ่านพ้นสถานการณ์นี้ไปให้ได้

          สถานการณ์ราคาน้ำตาลในตลาดโลก ตกต่ำเป็นอย่างมาก แม้ทั่วโลกจะประสบ ปัญหาภัยแล้ง แต่ยังมีผลผลิตส่วนเกินใน บรรดาผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่อย่างบราซิล ออสเตรเลีย  รวมทั้งปัจจัยจากราคาในตลาด ล่วงหน้าที่เป็นไปตามแนวโน้มราคาตลาดคอมมอดิตี้ของโลกที่ตกต่ำลง ทั้ง ถั่วเหลือง ยาง ข้าวสาลี

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2558 

'อรรชกา'สั่งสอน.ศึกษาเยียวยาโรงงานน้ำตาล

          อุตสาหกรรมสั่ง สอน.เร่งศึกษาอัตราการจ่ายเงินชดเชยผู้ประกอบการโรงงานน้ำ ตาล หลังราคาในตลาดโลกลดต่ำสุดในรอบหลายปี หวั่นราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตหน้าตก ต่ำ

          นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 11 ก.ย.58 ที่ผ่านมา ตัวแทนชาวไร่อ้อยเข้าหารือถึงสถานการณ์อ้อยและน้ำตาลทรายที่ตกต่ำลง แม้ว่าแนวโน้ม การซื้อขายน้ำตาลทรายในปี 2558 จะเพิ่มสูงขึ้น แต่ในด้านราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกที่ต่ำสุดในรอบหลายปี โดยมาอยู่ที่ระดับ 11 เซนต์ต่อปอนด์ จากปี 2557 ที่ผ่านมาอยู่ที่ 18- 19 เซนต์ต่อปอนด์ ทำให้กระ ทรวงอุตสาหกรรมต้องสั่งให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ไปศึกษาอัตราการจ่ายเงินส่วนต่างระหว่างราคาอ้อยขั้นปลาย ซึ่งต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้นให้แก่โรงงานน้ำตาลทราย

          ทั้งนี้ กระทรวงได้เตรียมมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาล ด้วยการนำเงินจากกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายจำนวนหนึ่งมาชดเชยให้ โดยอยู่ระหว่างหารือเรื่องตัว เลขที่แน่ชัด ส่วนจะมีการเสนอของบประมาณกลางจากรัฐบาลมาชดเชยเพิ่มเติมด้วยหรือไม่นั้น ต้องใช้เวลาพิจารณาอีกระยะ หนึ่ง แต่เบื้องต้นคาดว่าจะใช้เงินอุดหนุนต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้ที่ 15,000 ล้านบาท เนื่องจากขณะ นี้ราคาส่งออกกากน้ำตาลปรับตัวสูงขึ้น จึงทำให้มีเม็ดเงินหมุน เวียนในอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายมากขึ้น ดังนั้นเมื่อมาคำ นวณเป็นราคาอ้อยขั้นปลายจึงไม่แตกต่างจากราคาอ้อยขั้นต้นมากนัก

          สำหรับฤดูการหีบอ้อยใหม่ 2558/2559 ที่จะมีการกำหนดราคาในเดือน พ.ย.2558 นี้ ทาง ชาวไร่อ้อยได้แสดงความกังวลต่อแนวโน้มราคาอ้อยขั้นต้นที่จะลดต่ำกว่าฤดูการผลิตนี้ ซึ่งอยู่ที่ 900 บาทต่อตัน จึงให้ สอน. เร่งเก็บรวบรวมข้อมูล เพื่อนำมาคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นในฤดูการผลิตใหม่ พร้อมติดตามสถานการณ์ราคาในตลาดโลกอย่างใกล้ชิด เพราะหากนำราคาน้ำตาลทรายปัจจุบันที่ 11 เซนต์ต่อปอนด์มาคำนวณ จะทำให้ราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตถัดไปอยู่ในระดับที่ต่ำมาก.

จาก  http://www.thaipost.net  วันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2558 

'อุตฯ'เล็งปรับลดวงเงินกู้'ธ.ก.ส.' จ่ายชดเชยค่าอ้อยให้ชาวไร่ 

          นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรมเปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมคาดว่า ในปีการผลิตอ้อยและน้ำตาลทราย 2557/ 2558 คณะกรรมการกองทุนอ้อยและ น้ำตาลทราย (กท.) จะไม่ต้องขอกู้เงินจาก ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในวงเงิน 15,000 ล้านบาท ตามที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งอาจจะขอกู้ตามเดิม แต่วงเงินกู้สามารถปรับลดลงได้ เพื่อนำมาจ่ายชดเชยค่าอ้อยให้กับชาวไร่อ้อย เนื่องจากในปี 2558 นี้ต้นทุนการเพาะปลูกชาวไร่อ้อยอยู่ที่ 1,200 บาทต่อตัน แต่ราคาอ้อยขั้นต้นที่คำนวณล่าสุดอยู่ที่ 900 บาทต่อตัน ทำให้ต้องขอกู้เงินจาก ธ.ก.ส. มาจ่ายชดเชยให้กับชาวไร่อ้อย

          "วงเงินกู้ที่จะนำมาจ่ายชดเชยค่าอ้อยให้กับชาวไร่อ้อยจะมีจำนวนวงเงินเท่าใดนั้น ในเรื่องนี้ทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) และคณะทำงาน ที่เกี่ยวข้อง ไปร่วมกันดำเนินการเพื่อหาข้อสรุป ซึ่งสาเหตุที่วงเงินกู้ดังกล่าวอาจมีการปรับลดลงมาได้นั้น เป็นเพราะในปี 2558 นี้ได้รับปัจจัยบวกจากกรณีที่เงินบาทอ่อนค่าลง ส่งผลทำให้รายได้จากการส่งออกน้ำตาลเพิ่มขึ้น และยังมีรายได้จากการขายกากน้ำตาล หรือ โมลาส เข้ามาในระบบแบ่งปันผลประโยชน์อ้อยและน้ำตาลทราย 70/30 เพิ่มขึ้นอีกด้วย" นางอรรชกา กล่าว

          สำหรับสถานการณ์ราคาน้ำตาลในตลาดโลกล่าสุดพบว่าอยู่ที่ระดับประมาณ 10-11 เซ็นต์ต่อปอนด์ จากที่ก่อนหน้านี้อยู่ที่ระดับประมาณ 15 เซ็นต์ ต่อปอนด์ จึงทำให้ราคาอ้อยขั้นต้นที่ต้องจ่ายให้กับชาวไร่อ้อยลดลง ขณะที่การที่จะสามารถลดวงเงินกู้ จาก ธ.ก.ส.ลงได้ระดับหนึ่งนั้น ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ของ กท. เพราะเงินสดหมุนเวียนของ กท.ที่มีอยู่ประมาณ 10,000 ล้านบาท ยังมีภาระที่จะต้องนำไปใช้จ่ายในเรื่องของค่าบริหารของ กท.เอง และสนับสนุนวงเงินช่วยเหลือให้ชาวไร่อ้อยนำไปขุดบ่อน้ำบาดาล เพื่อการเพาะปลูกอ้อย รวมถึงการสนับสนุนการจัดซื้อรถตัดอ้อย เป็นต้น

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2558 

คาดกม.แข่งขันค้าใหม่เสร็จปี"59 คน.แจงทันใช้อาเซียนเปิดเออีซี

นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ รองอธิบดีกรมการค้าภายใน (คน.) เปิดเผยในงานเสวนาเรื่อง "กฎหมายแข่งขัน วัคซีนทางการค้า" จัดโดยสำนักส่งเสริมการแข่งขันทางการค้า ที่โรงแรมอโนมา แกรนด์ กรุงเทพฯ ว่า ร่างปรับปรุงพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 ได้ผ่านการพิจารณาจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์แล้ว และอยู่ระหว่างรอการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อเสนอสภานิติบัญแห่งชาติ (สนช.) ประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป คาดว่ากรอบระยะเวลาดำเนินการจะแล้วเสร็จปี 2559

นายสันติชัยกล่าวว่า กฎหมายฉบับเดิมใช้มาแล้ว 16 ปี พบปัญหาการบังคับใช้ที่ควรปรับแก้เพื่ออุดช่องโหว่และอุปสรรค 3 ประเด็น ได้แก่ 1.การปรับแก้โครงสร้างขององค์กรกำกับดูแลกฎหมายดังกล่าว ต้องเป็นหน่วยงานที่มีอิสระและมีเจ้าหน้าที่เชี่ยวชาญการบังคับใช้กฎหมาย 2.ควรแก้ไขให้รัฐวิสาหกิจอยู่ภายใต้กฎหมายนี้ จากที่ถูกยกเว้นเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อเอกชนและเหมือนประเทศคู่ค้า อื่นๆ แต่อาจกำหนดยกเว้นเรื่อง "พฤติกรรม" ทางการค้าที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ และ 3.ปรับปรุงบทลงโทษด้วยการลดโทษทางอาญาความผิดไม่ร้ายแรง เพิ่มบทลงโทษทางปกครอง และมาตรการลดหย่อนโทษ ให้สอดคล้องกับกฎหมายการแข่งขันการค้าในต่างประเทศ เพื่อรองรับการแข่งขันที่จะเพิ่มมากขึ้นเมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปีหน้า

จาก http://www.matichon.co.th วันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2558 

กรมชลฯเผย4เขื่อนหลักน้ำน้อย จ่อดึงแม่น้ำกลองช่วยช่วงฉุกเฉิน

กรมชลประทาน จัดการเสวนาหัวข้อ"อนาคตกรมชลประทานจะเป็นเช่นไร"โดย นายธีระศักดิ์ ผดุงตันตระกูล รองประธานคณะกรรมการบริหารสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่าอยากให้เปลี่ยนใหม่ในการบริหารจัดการน้ำต้องออกจากกะลา ปรับตัวปรับการทำงานจากยุค100ปี อย่าดูเฉพาะน้ำท่า ต้องดูน้ำจืด น้ำทะเล น้ำทิ้ง น้ำบาดาล ถึงจะครบสูตร ถ้ากรมชลฯไม่โฟกัสทั้งบริหารน้ำผลกระทบจากไคลแมกเชนส์ และแสวงหาการมีส่วนร่วมกับภายนอกจะไปไม่รอด ความฝันสภาหออุตสาหกรรม อยากให้น้ำเขื่อน ภูมิพล สิริกิติส์ ต้องสำรองไว้ให้มีอย่างต่ำ6 พันล้านลบ.ม. มีระบบผลักดันน้ำเค็มโดยไม่สูญเสียน้ำจืด  โดยเฉพาะวางแผนรับมือภัยพิบัติในอนาคตหากพายุเกย์เข้าอ่าวไทย ประเมินตัวเลขความเสียหายเกิน5ล้านๆบาท เกิดภัยแล้งภาคตะวันออก ภาคอุตสาหกรรม อาจเสี่ยงเสียหายถึง5แสนล้านบาท อยากให้กรมชล เป็นผู้นำสร้างเครื่องมือป้องกันสิ่งเหล่านี้ไม่ได้หายไปไหนเช่นเขื่อนปิดปากอ่าว

ด้านนายณรงค์ ลีนานนท์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ในสมัยรัฐบาลทักษิณ มีปัญหาแล้ง ก็ย้ายอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล  ซึ่งเรื่องน้ำเป็นปัญหาใหญ่มากในขณะที่ ปี 54 ท่วมหนัก ปี 58 แล้งหนัก ต้องยกระดับเป็นปัญหาระดับชาติเพราะกรมชลเพียงหน่วยงานเดียวคงรับไม่ไหว อีกทั้งเกิดจากสภาพอากาศแปรปรวน สภาพการใช้น้ำเพิ่มมากขึ้น  แต่ที่น่าเป็นห่วงมาก ปัจจุบันการผลักดันโครงการชลประทานติดขัดระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมจนพัฒนาด้านน้ำได้ยากมาก ถึงเวลารัฐบาลตัดสินใจดำเนินโครงการที่รัฐคิดว่าสำคัญเร่งด่วนแก้ให้ได้ก่อน ในเรื่องการขาดแคลนน้ำ

"สถานการณ์น้ำปีนี้ตอนแรกคาดการณ์ว่าสิ้นสุดฤดูฝนได้ปริมาณน้ำในเขื่อนใหญ่ 4 แห่ง 3.6 พันล้านลบ.ม. แต่วันนี้ล่าสุดยังมีปริมาณน้ำ 2.1 พันล้านลบ.ม. ขณะที่ปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนเพียงวันละ40-50 ล้านลบ.ม. อัตราการปล่อยระบายน้ำวันละ14 ล้านลบ.ม. ช่วงฤดูฝนยังเหลือ20 กว่าวัน ผมลุ้นว่าให้ได้น้ำเข้าเขื่อนวันละ100 ล้านลบ.ม. แต่ถ้าสถานการณ์ฝนแย่อาจได้ปริมาณน้ำ 3 พันล้านลบ.ม.ซึ่งไม่สนับสนุนน้ำทำนาปรัง ให้ปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทน พร้อมกับเตรียมแผนสำรองนำน้ำจากลุ่มแม่กลอง มีปริมาณน้ำต้นทุน 4พันกว่าล้านลบ.ม.มาช่วยลุ่มเจ้าพระยาไว้ด้วยช่วงภาวะฉุกเฉิน"นายณรงค์ กล่าว

รองอธิบดีกรมชลฯกล่าวว่าพื้นที่ป่าเมื่อ 30 ปีที่แล้วมี120 ล้านไร่ ปัจจุบันหายไป50 กว่าล้านไร่ไปเป็นพื้นที่เกษตรที่ทะลุไปไม่หยุด ปริมาณน้ำฝนก็หายไปกับป่า ถึงเวลาที่ประเทศควรพูดกันจริงๆว่าาต้องการอะไรให้ชัดเจน การปรับตัวภายใต้บริบทใหม่ เช่นพื้นที่เกษตร จัดโซนนิ่ง ส่งน้ำทางท่อจะช่วยลดการสูญเสียได้มาก รัฐบาลต้องกำหนดเป้าหมายประเทศให้ชัดเจน ปรับกันไปทั้งกระบวนการ กรมชลฯเองต้องถึงยุคปรับตัวเพราะรัฐบาลก็ปรับอธิบดีกรมชลไปแล้วเช่นกัน

นายสุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรฯกล่าวว่าทุกภาคส่วนมีความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้น แต่ปัญหาสำคัญการทำงานไปคนทิศทางในราชการเอง โดยเฉพาะกรมในกระทรวงเกษตรฯมีอีกหลายกรมต่างคนต่างทำ ซี่งแก้ปัญหาไม่ถูดจุด มีผลกับจีดีพีลดลงชัดเจน ในระดับประเทศมีหน่วยงานจัดการภัยพิบัติหรือยังทำงานเชิงลึกไปเสนอนโยบาย ปัญหาวำคัญเครื่องมือจัดการน้ำไม่พอ ไม่ว่าจะอย่างไรประเทศไทยต้องสร้างเขื่อนหนีไม่พ้น อ่างเก็บน้ำเพิ่มมากขึ้นจึงเอาอยู่

ขณะที่นายสมบูรณ์ อัพภาสกิจ เจ้าหน้าที่บริหารโครงการอาวุโสสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)กล่าวว่าประเทศไทยเดินมาถึงจุดนี้กันได้อย่างไร ต้องเรียกว่าเป็นชะตากรรมของประเทศ ที่มีปัญหาต้นทางน้ำน้อย จากฤดูกาลแปรปรวนมากถี่ขึ้น ผลผลิตการเกษตรลดลงมาก แต่ขาดการเชื่อมโยงภาพใหญ่ไม่เกิดการแก้ไขเชิงระบบโครงสร้างของประเทศเตรียมรับปัญหาเหล่านี้ไว้ล่วงหน้า ซี่งการคาดการณ์สภาพภูมิอากาศของไทยทำได้อย่างเก่งแค่ 6 เดือน แต่สำนักงานยุทธศาสตร์ชาติสหรัฐฯ คาดไว้ล่วงหน้าเป็นปีว่าจะเกิดแอลนิโย่ ถึงกลางปี59 เกิดฝนแล้งรุนแรงในทวีปเอเซียได้เตือนถึงขั้นให้ผู้บริหารรับมือ อาจร้ายแรงที่สุดเท่าที่เคยบันทึกมา ยังระบุพื้นที่ทำให้เกิดน้ำท่วมในทวีปอเมริกาใต้ สหรัฐ ฯอากาศร้อนจัด เมื่อแนวโน้มเป็นอย่างนี้ทุกภาคส่วนได้รับผลกระทบจากน้ำน้อยเป็นปัจจัยสำคัญการผลิต ความเป็นอยู่ประชาชน อาจร้ายแรงมากเกิดอะไรขึ้นเป็นชะตากรรมของทุกคน11  อยากเห็นว่ากรมชลฯควรมีบทบาทเชิงรุกเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สร้างการเรียนรู้ชุมชน ท้องถิ่น เชื่อมโยงกับการสภาพอากาศอย่างไร ต้องอยู่บนฐานข้อมูลความรู้ แผ่นดินไหว ไคลแมตเชนส์ ประเทศไทยยังรู้น้อยมากเราจะเดินไปอย่างไร ระบบเกษตรจะเปลี่ยนไปไหม ภาคอุตสาหกรรม ภาคประชาขนจะปรับตัวอย่างไร ภาพเหล่านี้ไม่ชัดเป็นเรื่องใหญ่มาก

จาก http://www.naewna.com วันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2558

“ฉัตรชัย”สำรวจฐานข้อมูลเกษตรกรรับมาตรฐานการรัฐเน้นรายได้-หนี้สิน

กระทรวงเกษตรฯเร่งขยายฐานข้อมูลทะเบียนเกษตรกรรองรับมาตรการภาครัฐเน้นรายได้ หนี้สินและเครื่องจักรกลการเกษตรหวังพัฒนาฐานข้อมูลเกษตรกรให้ถูกต้อง

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลป์ยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาภาคการเกษตรและการดูแลช่วยเหลือเกษตรกร ทำให้ฐานข้อมูลเกษตรกรมีความสำคัญมาก จำเป็นต้องขยายฐานข้อมูลจากที่มีอยู่ 4 ด้าน 1. ข้อมูลพื้นฐานครัวเรือน 2. สมาชิกในครัวเรือนที่ช่วยทำการเกษตรและการเป็นสมาชิกองค์กร 3. การถือครองที่ดินเพื่อการเกษตร และ 4. การประกอบกิจกรรมการเกษตร ให้ครอบคลุมมากขึ้น

โดยเพิ่มข้อมูลอีกอย่างน้อย 3 ด้านได้แก่ รายได้ หนี้สิน และเครื่องจักรกลการเกษตร รวมทั้งทำการปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน พร้อมทั้งเชื่อมโยงและบูรณาการฐานข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้รองรับกับนโยบายและมาตรการต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กรมส่งเสริมการเกษตร จึงได้จัดทำโครงการขยายฐานข้อมูลทะเบียนเกษตรกร เพื่อรองรับมาตรการภาครัฐ โดยมีเป้าที่จะได้ข้อมูลครัวเรือนเกษตรกร จำนวน 6.33 ล้านครัวเรือน ที่จะได้รับการปรับปรุงให้เป็นปัจจุบัน และมีการขยายฐานข้อมูล และมีการขยายฐานข้อมูลเพิ่มเติมจาก 4 ด้าน เป็น 7 ด้าน ทั้งในด้านรายได้ หนี้สินและเครื่องจักรกลการเกษตร

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า แนวทางการดำเนินงานที่กรมส่งเสริมการเกษตรต้องเร่งดำเนินการ พัฒนาระบบงานในการปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน โดยปรับวิธีการจัดเก็บข้อมูล โดยจ้างอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) เป็นผู้จัดเก็บ ให้เกษตรกรเป็นผู้รับรองความถูกต้องของข้อมูล กำหนดช่วงเวลาการจัดเก็บและปรับปรุงข้อมูลที่แน่นอน กรณีที่เกษตรกรไม่ได้แจ้งข้อมูลแก่อกม. ภายในช่วงเวลาที่กำหนด ให้เป็นหน้าที่ของเกษตรกรที่ต้องไปแจ้งข้อมูลเพิ่มเติมที่สำนักงานเกษตรอำเภอ

การจัดเก็บและบันทึกข้อมูล โดยจัดเก็บข้อมูลใหม่เพิ่ม 3 ด้าน ได้แก่รายได้ หนี้สินและเครื่องจักรกลการเกษตร การตรวจสอบและปรับปรุงข้อมูลเดิมทั้ง 4 ด้านให้เป็นปัจจุบัน

จาก http://www.matichon.co.th วันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2558 

ผลักดันยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์แห่งชาติ

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลป์ยะ  รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จะเร่งดำเนินการผลักดันยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ฉบับที่ 2 ปี 2559-2564 ให้ออกมาโดยเร็วและมีผลในทางปฏิบัติให้มากที่สุด โดยเฉพาะการทำมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ให้ชัดเจนและได้มาตรฐานทั้งสายการผลิต

ทั้งนี้ การผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางของสินค้าและบริการด้านเกษตรอินทรีย์ในระดับสากล จะสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ให้เป็นระบบ เสริมสร้างสภาพแวดล้อม สนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน ปัจจัยการผลิตและการบริโภค  สินค้าเกษตรอินทรีย์ในประเทศให้มากขึ้น ส่งเสริมการตลาด ช่องทางการจัดจำหน่าย และระบบโลจิสติกส์ และพัฒนามาตรฐาน ให้เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ โดยมีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่การผลิตเกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่า 20% ต่อปี หรือเพิ่มจาก 2.13 แสนไร่ เป็นไม่น้อยกว่า 2.55 แสนไร่ ในปี 2559 มูลค่าของสินค้าเกษตรอินทรีย์และผลิตภัณฑ์เพิ่มจาก 1,900 ล้านบาท เป็น 2,280 ล้านบาท

จาก http://www.posttoday.com   วันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2558

ลุยบูรณาการแล้ง ต.ค.จ่องดนาปรัง

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลป์ยะ รัฐมนตรีว่าการทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงประจำกระทรวงเกษตรฯว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งล่าสุด นายกรัฐมนตรีกังวลปัญหาภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้น จึงได้ให้กระทรวงเกษตรฯเตรียมมาตรการรับมือปัญหาภัยแล้ง ซึ่งในวันที่ 10 กันยายน จะได้ประชุมเพื่อสั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ บูรณาการเตรียมแผนรับมือและบรรเทาปัญหาภัยแล้งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป

เนื่องจากเป็นช่วงสิ้นสุดฤดูฝน โดยจะมีการประเมินสถานการณ์น้ำในเขื่อน พื้นที่ที่จะเลี่ยงหรือได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง เพื่อแจ้งเตือนไปยังเกษตรกร พร้อมแผนการเพาะปลูกที่ใช้น้ำน้อย การปลูกพืชที่มีความเหมาะสนในแต่ละพื้นที่ หรือให้ทำปศุสัตว์ทดแทนจะต้องทำออกมาเป็นแพคเกจที่สอดคล้องกับความต้องการของเกษตรกรโดยจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จจะประชุมร่วมกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดได้รับทราบและนำไปขับเคลื่อนในระดับจังหวัดด้วย

“แผนรับมือภัยแล้งครั้งนี้ผมไม่อยากจะใช้คำว่างดทำนาปรัง แต่อยากชี้ให้เกษตรกรเห็นว่าเมื่อไม่ทำนาปรังแล้วจะทำอะไรได้ เช่น ปลูกพืชทนแล้ง การเลี้ยงสัตว์ หรือการสร้างงานอื่นๆ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องทำให้แล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคมนี้ เพื่อจะประกาศเขตงดทำนาปรังตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคมเป็นต้นไป” พล.อ.ฉัตรชัยกล่าว

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า สถานการณ์ในต่างจังหวัดตอนนี้อ่อนแอมาก ที่น่ากังวล คือปัญหาขาดแคลนน้ำและความวิตกภัยแล้งเป็นประเด็นที่อยากให้รัฐดึงเป็นวาระเร่งด่วนควบคู่กับเร่งเม็ดเงินเข้ามือประชาชน

จาก http://www.matichon.co.th วันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2558

พด.ติวเข้มพัฒนาที่ดินยึดพอเพียง

นางกุลรัศมิ์ อนันต์พงษ์สุข รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยอนุรักษ์ดินและน้ำ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา นอกจากจะเป็นศูนย์ศึกษาวิจัยการจัดการแก้ไขปัญหาดิน การอนุรักษ์ดินและน้ำ การปรับปรุงบำรุงดิน นำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดินที่เหมาะสมแล้ว ยังได้นำเอาเทคโนโลยีต้นแบบจากผลสำเร็จงานวิชาการด้านการพัฒนาที่ดินของกรมพัฒนาที่ดิน มาดำเนินการให้เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน เพื่อการสาธิต ทดสอบ อบรมถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านงานพัฒนาที่ดิน และพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่สมบูรณ์แบบในอนาคต จึงได้จัดการอบรมหลักสูตร “การพัฒนาที่ดินตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ขึ้น

ด้าน นายสมโสถติ์ ดำเนินงาม ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาการจัดการที่ดิน กล่าวเสริมว่า การฝึกอบรมดังกล่าว จัดขึ้นเพื่อถ่ายทอดความรู้เรื่องทรัพยากรดิน การพัฒนาที่ดิน และการทำเกษตรอินทรีย์ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ให้กับประชาชนผู้สนใจจากทุกภาคส่วน ประกอบด้วย ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ พนักงานบริษัท เจ้าของธุรกิจส่วนตัว ผู้เกษียณอายุ เกษตรกร และประชาชนทั่วไป ซึ่งมาจากภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ 80 คน มีเนื้อหาหลักสูตร อาทิ การบรรยายความลับของดิน มหัศจรรย์ผลิตภัณฑ์ พด.กับการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน ฐานเรียนรู้จุลินทรีย์และผลิตภัณฑ์สารเร่งพด. สำหรับผลิตปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ พืชปุ๋ยสด เพื่อปรับปรุงบำรุงดิน และหญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ เป็นต้น

จาก http://www.naewna.com วันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2558

ปรับปรุงดินด้วยถ่านชีวภาพ

ปรับปรุงดินด้วยถ่านชีวภาพ งานวิจัยจุฬาฯ เพื่อเกษตรกร

                      หลังจากที่ทีมนักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการวิจัยหาเครื่องมือช่วยเหลือภาคการเกษตรไทย ด้วยการดึงภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ประโยชน์ โดยนำถ่านชีวภาพมาช่วยปรับปรุงคุณภาพดินและเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร เพื่อความมั่นคงที่ยั่งยืนในภาคการเกษตรและอาหาร มาตั้งแต่ปี 2554 ปรากฏว่าประสบผลสำเร็จได้เป็นอย่างดี

                      ล่าสุด รศ.ดร.ทวีวงศ์ ศรีบุรี หน้าทีมวิจัย บอกว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยในโครงการ “การปรับปรุงคุณภาพดินและการเพิ่มผลผลิตด้วยถ่านชีวภาพเพื่อความมั่นคงทางอาหารและเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน”   โดยทีมนักวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีแนวคิดว่าประเทศไทยถือเป็นประเทศเกษตรกรรม ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพด้านการเกษตร แต่ในพื้นที่ชนบทเกษตรกรประสบปัญหาความยากจน สาเหตุมาจากขาดความรู้และความเข้าใจในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่หน่วยงานภาครัฐหลายหน่วยงานพยายามนำเข้ามาช่วยเหลือ รวมทั้งต้นทุนการผลิตที่สูง คุณภาพของผลผลิตที่ได้รับ รวมถึงสภาพดินขาดความสมบูรณ์ แหล่งน้ำเพื่อการเกษตรไม่เพียงพอ รวมถึงเกษตรกร ใช้สารเคมีเพื่อเร่งการผลิต และปราบศัตรูพืช ทำให้เกิดผลต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว

                      ดังนั้นจึงเห็นว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อให้เกิดเทคโนโลยีที่เหมาะสม เข้าใจง่าย และใช้ได้จริง สอดคล้องกับทฤษฎีเกษตรแนวใหม่ตามแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมุ่งเน้นให้ประชาชนพึ่งพาตนเองได้ บำรุงดูแลรักษาสภาพแวดล้อมจึงได้คิดค้นและประดิษฐ์เตาเผาถ่านชีวภาพขึ้นมาและได้ทดลองในพื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และพื้นที่ศูนย์วิจัยถ่านชีวภาพป่าเต็ง ตั้งแต่ปี 2554

                      จากการดำเนินการพบว่า การใช้ถ่านชีวภาพสามารถปรับปรุงคุณภาพดินและสามารถเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรทั้งพืชไร่ พืชสวน พืชผัก และข้าวได้อย่างชัดเจน ทีมนักวิจัย โดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม มีต้นทุนต่ำ สามารถผลิตได้โดยใช้วัสดุที่หาได้ง่ายในประเทศไทย จนสามารถผลิตถ่านชีวภาพที่มีคุณภาพดีตามมาตรฐานขึ้นมา ผลงานวิจัยชิ้นนี้จะเป็นฐานข้อมูลที่สำคัญนำไปสู่การเผยแพร่ผลงานวิจัยสู่ท้องถิ่นได้" รศ.ดร.ทวีวงศ์ กล่าว

                      ความสำเร็จของโครงการปรับปรุงคุณภาพดินและการเพิ่มผลผลิตด้วยถ่านชีวภาพเพื่อความมั่นคงทางอาหารและเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน ถือเป็นเทคคโนโลยีหนึ่งที่จะถ่ายทอด และรอบรมเชิงปฏิบัติการให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ได้ เนื่องจากมีกระบวนการที่ง่ายไม่ซับซ้อนผู้ที่เข้ารับการอบรมและทดลองผลิตถ่านชีวภาพจากวัสดุเหลือใช้จากการเกษตรและวัสดุในท้องถิ่นด้วย และสามารถนำกลับไปทำได้เอง

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2558

ชาวไร่อ้อย วอน ผู้ว่าฯสุโขทัย ดัน โรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ในพื้นที่

ชาวไร่อ้อย ยื่นหนังสือต่อ ผู้ว่าฯ จ.สุโขทัย เปิดโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ในพื้นที่ ช่วยหย่อนระยะทาง-ลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มศักยภาพการผลิตในแต่ละวันให้มากขึ้น...

เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 58 ที่ห้องรับรองชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดสุโขทัย นายปราโมทย์ ลิมปะพันธุ์ นายกสมาคมชาวไร่อ้อยลูกพระยาพิชัย พร้อมสมาชิกอีก 20 คน เป็นตัวแทนเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย จ.สุโขทัย เข้าพบ นายปิติ แก้วสลับสี ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย เพื่อยื่นหนังสือขอให้ทางจังหวัด สนับสนุนการย้ายและเปิดโรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์แห่งใหม่ จากพื้นที่ จ.อุตรดิตถ์ มาอยู่ที่บ้านบ่อแปดร้อย ม.10 ต.ในเมือง อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย

 นายปราโมทย์ ลิมปะพันธุ์ นายกสมาคมชาวไร่อ้อยลูกพระยาพิชัย ยื่นหนังสือ กับนายปิติ แก้วสลับสี ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย

นายกสมาคมชาวไร่อ้อยลูกพระยาพิชัย เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยใน อ.สวรรคโลก ที่มีโควต้ากับทางโรงงาน จะมีต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการขนส่งอ้อยเข้าโรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ที่ จ.อุตรดิตถ์ สูงมาก ซึ่งมีระยะทางไกล อีกทั้งเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ แม้ว่า จ.สุโขทัย จะมีโรงงานน้ำตาลทิพย์สุโขทัย ตั้งอยู่ที่บ้านดงคู่ อ.ศรีสัชนาลัย อยู่แล้ว แต่เนื่องจากอ้อยซึ่งเป็นวัตถุดิบมีปริมาณมาก ทำให้กำลังการผลิตไม่เพียงพอ ทางเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย จ.สุโขทัย จึงอยากให้มีการเปิดโรงงานน้ำตาลเพิ่มขึ้น ซึ่งจะสามารถขยายกำลังการผลิตได้ถึง 2,500 ตันต่อวัน ซึ่งจะเป็นผลดี แต่เนื่องจากมติ ครม. กำหนดให้การเปิดโรงงานน้ำตาลในแต่ละแห่งจะต้องอยู่ห่างกันไม่น้อยกว่า 50 กม. จึงทำให้โรงงานแห่งใหม่ซึ่งอยู่ห่างจากโรงงานทิพย์สุโขทัยเพียง 45 กม. ไม่สามารถเปิดดำเนินการได้ การขออนุญาตต่อกระทรวงอุตสาหกรรมยืดเยื้อมานานกว่า 3 ปี จนทางสมาคมฯ และเครือข่ายเกษตรกร ได้นำเรื่องดังกล่าวขึ้นสู่ศาลปกครอง ได้มีคำสั่งให้กระทรวงอุตสาหกรรมอนุญาตให้โรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ย้ายมาเปิดดำเนินกิจการในพื้นที่บ้านบ่อแปดร้อย ม.10 ต.ในเมือง อ.สวรรคโลก บนพื้นที่กว่า 1,500 ไร่ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ด้าน ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย กล่าวว่า หลังจากนี้จะมอบหมายให้ทาง สำนักงานยุติธรรม จ.สุโขทัย ประสานกับอุตสาหกรรม จ.สุโขทัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมพิจารณา ตนก็จะเสนอเรื่องดังกล่าวต่อสำนักนายกรัฐมนตรี ถึงความยากลำบากของเกษตรกรชาวไร่อ้อย เป็นการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มรายได้ และเป็นการสร้างความเจริญให้กับจังหวัด อีกทั้งยังสร้างมาตรฐานและคุณภาพชีวิตชาวไร่อ้อย เพื่อสนองนโยบายรัฐบาลในการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวมาปลูกอ้อยแทน เพื่อลดการใช้น้ำอีกด้วย

จาก http://www.thairath.co.th วันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2558

อ่างเก็บน้ำ16แห่งบุรีรัมย์ต่ำกว่า50% กรมชลฯเผยฝนตกเป็นระยะเริ่มฟื้นตัว

นายกิติกุล เสภาศีราภรณ์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานบุรีรัมย์ เปิดเผยถึงปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ และฝายที่อยู่ในความดูแลทั้งจังหวัด จำนวน 16 แห่งว่า ขณะนี้มีปริมาณน้ำกักเก็บในอ่างเฉลี่ยร้อยละ 38.44 หรือ 111.91 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ของความจุอ่างทั้งหมด 291.14 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งหากเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยในช่วงเดียวกัน ถือว่าปีนี้น้ำยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากฝนยังตกน้อยกว่าเกณฑ์ปกติ และไม่ได้ตกในพื้นที่รับน้ำ จึงทำให้ปริมาณน้ำไม่เพิ่มขึ้นจากเดิมมากนัก    

อย่างไรก็ตาม ฝนที่ตกมาเป็นระยะๆ เป็นช่วงๆไม่ต่อเนื่อง ถึงไม่เกิดเป็นน้ำไหลบ่าและไหลเข้าอ่างเก็บน้ำ แต่ก็ส่งผลดีต่อพื้นที่การเกษตรทั้งในเขตชลประทาน โดยเฉพาะพื้นที่นาข้าวในเขตของอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มากที่มีอยู่กว่า 10,000 ไร่ ช่วงนี้ปล่อยน้ำเพื่อการเกษตรลดลงเพียงวันละ 100,000 ลูกบาศก์เมตร จากปกติต้องปล่อยวันละ 150,000-200,000 ลูกบาศก์เมตร ส่วนพื้นที่นอกเขตชลประทานในหลายอำเภอที่ประสบปัญหาขาดน้ำหล่อเลี้ยงเหี่ยวเฉาใกล้แห้งตายก็เริ่มฟื้นตัวเป็นผลดีต่อชาวนา    

นายกิติกุล กล่าวอีกว่า สิ่งที่น่าห่วงคือ ภายใน 1-2 เดือนนี้ ซึ่งใกล้สิ้นสุดฤดูฝนแล้วหากยังมีฝนตกน้อย หรือไม่มีพายุเข้า และไม่ตกในพื้นที่รับน้ำจะเสี่ยงต่อภาวะภัยแล้งอย่างแน่นอน โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก ขณะนี้มีปริมาณน้ำกักเก็บในอ่างเฉลี่ยร้อยละ 25.67 หรือ 6.32 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ของความจุอ่างทั้งหมด 26.02 ล้าน ลบ.ม. และอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด มีปริมาณน้ำกักเก็บในอ่างเฉลี่ยร้อยละ 35.53 หรือ 9.26 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ของความจุอ่างทั้งหมด 27.82 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบสำคัญที่ใช้ผลิตประปาบริการประชาชนในเขต อ.เมืองบุรีรัมย์ และ อ.ห้วยราช เฉลี่ยเดือน 100,000 ลบ.ม. อาจไม่เพียงพอ ดังนั้น ในช่วงนี้จึงอยากร้องขอให้ประชาชน และเกษตรกร ช่วยประหยัดน้ำ และกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงหน้าแล้งด้วย

จาก http://www.naewna.com วันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2558

พาณิชย์หนุนขอเพิ่มสิทธิGSPสินค้าไทย

กระทรวงพาณิชย์ หนุนผู้ประกอบการขอเพิ่มสิทธิ GSP สินค้าไทย ขยายการส่งออกไป USA

นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สหรัฐฯ เปิดโอกาสให้ประเทศที่ได้รับสิทธิ GSP ทุกประเทศ รวมทั้งประเทศไทย จัดทำคำร้องแจ้งความประสงค์ขอเพิ่มรายการสินค้าที่สหรัฐฯ ได้เพิ่มเติมในรายการสินค้า GSP คือ สินค้าประเภทกระเป๋าถือและกระเป๋าเดินทางทำจากหนัง จำนวน 27 รายการ เพื่อลดภาษีนำเข้าได้เพิ่มเติม โดยต้องยื่นคำร้องภายในวันที่ 16 ตุลาคม 2558 ซึ่งการเพิ่มรายการสินค้าดังกล่าวจะเป็นโอกาสให้ไทยได้รับการยกเว้นภาษีอากรขาเข้าสหรัฐฯ จากอัตราปกติที่อยู่ระหว่างร้อยละ  4.5-20

โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2558 ไทยมีมูลค่าส่งออกสินค้ากระเป๋าเดินทางทำจากหนัง มีมูลค่าส่งออกรวม 41.52 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 1,400 ล้านบาท ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2558 กรมการค้าต่างประเทศได้แจ้งต่อภาคเอกชนและผู้ส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้อง ในการยื่นคำร้องดังกล่าวแล้ว โดยกระทรวงพาณิชย์จะดำเนินการจัดทำคำร้องสนับสนุนคำร้องของภาคเอกชนในภาพรวมต่อไป เพื่อให้แข่งขันในตลาดสหรัฐฯ ได้โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2558

พาณิชย์งัด5มาตรการด่วน!ดูแลค่าครองชีพส่งทีมลงพื้นที่จัดการของแพง

พาณิชย์แถลงแผนปฏิบัติการเร่งด่วน 3 Big Boom เป้าหมายแรกคือดูแลค่าครองชีพ จัดการพวกเอาเปรียบชาวบ้าน แบ่งสายลงพื้นที่ตรวจราคาสินค้า ทุกวันตลอด 3 สัปดาห์ ทั้งในกทม.และต่างจังหวัด “อภิรดี” ยอมรับช่วงนี้พบสินค้าหลายประเภทแพงขึ้น เช่น ข้าวสาร ปลาทู ไข่ไก่ เนื้อสุกร ไก่สด ผักผลไม้บางชนิด และอาหารเดลิเวอรี่

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่ากระทรวงพาณิชย์จะเร่งดำเนินการตามแผนปฏิบัติการเร่งด่วน ใน 3 เรื่องหรือ 3 Big Boom ได้แก่ การดูแลค่าครองชีพ การสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการและการผลักดันการส่งออก ซึ่งเป็นการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล

ทั้งนี้เรื่องที่จะดำเนินการเป็นลำดับแรกคือ การดูแลค่าครองชีพของประชาชน เพื่อดูแลราคาสินค้าและบริการ ให้มีความเหมาะสม เป็นธรรม และเป็นไปตามกลไกตลาด เน้นดูแลไม่ให้มีการผูกขาดการกักตุนสินค้า และให้ปริมาณสินค้าเพียงพอกับความต้องการในแต่ละช่วงเวลา โดยกระทรวงจะดำเนินการตาม 5 มาตรการ ได้แก่ 1.การกำกับดูแลราคาสินค้า 2.การบรรเทาค่าครองชีพของประชาชน 3.การส่งเสริมให้มี Outlet ที่เพียงพอ 4.การเร่งสร้างผู้บริโภครุ่นใหม่ และ 5.การสร้างเครือข่ายเพื่อติดตามตรวจสอบ

ในส่วนของการกำกับดูแลราคาสินค้า กระทรวงได้มีการกำกับดูแลราคาสินค้าให้สอดคล้องกับต้นทุน และจะมีการวิเคราะห์ต้นทุนและราคาจำหน่ายให้เหมาะสมเป็นธรรม ซึ่งปัจจุบันมีการกำกับดูแลราคาสินค้า 205 รายการ ที่ครอบคลุมทุกหมวดสินค้า อีกทั้งตั้งแต่วันที่ 9-30 กันยายนนี้ทางผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ ทั้งตน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงฯ อธิบดีกรมการค้าภายใน ผู้ตรวจราชการฯ ที่ปรึกษาการพาณิชย์ ที่ปรึกษากฎหมาย จะแบ่งสายกันสุ่มลงตรวจสอบราคาสินค้า ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยไม่มีการแจ้งให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ทราบล่วงหน้า หากประชาชนพบว่ามีการจำหน่ายสินค้าราคาสูงเกินสมควร สามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 ตลอด 24 ชั่วโมง

ขณะที่การบรรเทาค่าครองชีพของประชาชน ก็มีการกระจายพื้นที่จัดงานธงฟ้าราคาประหยัดและธงฟ้าเคลื่อนที่ (โมบาย ยูนิต) โครงการร้านหนูณิชย์พาชิม ที่จำหน่ายอาหารในราคา 25-35 บาท ปัจจุบันมีอยู่ 3,245 ร้านและจะขยายเพิ่มมากขึ้นอีกในอนาคต การเพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้าจำเป็นในราคาถูก ซึ่งได้ร่วมกับผู้ผลิต และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) จำหน่ายสินค้าผ่านร้านสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส.(สกต.) ใน 35 จังหวัด 257 ร้านค้า รวมถึงการร่วมมือกับเอกชน ในการทำตลาดกลาง ตลาดชุมชน ส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าวิสาหกิจชุมชน เพื่อจำหน่ายสินค้าของเกษตรกรโดยตรง และจะขยายความร่วมมือกับผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่ ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ ในการจัดงานลดราคาจำหน่ายสินค้าในช่วงเทศกาลต่างๆ เช่น ตรุษจีน สงกรานต์ เปิดภาคเรียน เป็นต้น

ส่วนการส่งเสริมให้มี Outlet จะเป็นการสร้างความหลากหลายให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อสินค้าที่มีคุณภาพ ราคาประหยัด สนับสนุนธุรกิจใหม่ๆ เช่น Farm Outlet ที่จะจำหน่ายสินค้าของเกษตรกรโดยตรง ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 24 แห่ง ใน 8 จังหวัด และจะขยายให้มากขึ้น รวมถึงการขยายระบบข้อมูลของถูกให้ประชาชนได้รับรู้ ผ่าน แอพพลิเคชั่น “ลายแทงของถูก” ซึ่งผู้บริโภคสามารถอัพโหลดแอพดังกล่าวนี้ได้แล้วผ่านสมาร์ทโฟน แท็บเลต ทั้งในระบบแอนดรอยด์ และไอโอเอส โดยจะมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการในอีก 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า

“จากการติดตามสำรวจราคาสินค้าพบว่าสินค้าหลายประเภทมีแนวโน้มสูงขึ้น เช่น ข้าวสารเหนียว ปลาทู ไข่ไก่ เนื้อสุกร ไก่สด ผักผลไม้บางชนิด และอาหารโทรสั่ง (เดลิเวอรี่) และมีบางชนิดที่ราคาลดลง เช่น น้ำมันปาล์ม น้ำมันถั่วเหลือง ปูนซีเมนต์ เหล็ก ปุ๋ย นมผงเด็ก และผงซักฟอก เป็นต้น ส่วนราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับลดลงมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ราคาสินค้าหลายๆ ชนิดที่เกี่ยวเนื่องกลับยังไม่ปรับลดราคาลงมากนัก ซึ่งในเรื่องนี้กระทรวงพาณิชย์จะเร่งดำเนินการตรวจสอบในเชิงลึกต่อไป” นางอภิรดีกล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2558

ถกทูตพาณิชย์วางกลยุทธ์ส่งออกไทยปี59

"นันทวัลย์" เตรียมเรียกทูตพาณิชย์ทั่วโลกมาหารือเพื่อวางกลยุทธ์ส่งออกไทยของปี 59 ตามนโยบาย "สมคิด" รองนายกรัฐมนตรี

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า วันที่ 14 ก.ย. นี้ กรมฯได้เชิญผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) กว่า 60 ประเทศทั่วโลก พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประเมินสถานการณ์การค้าของโลกเพื่อกำหนด ยุทธศาสตร์และกำหนดเป้าการส่งออกไทยในปี 59

“ทูตพาณิชย์จะรายงานผลความคืบหน้า การดำเนินโครงการตามแผน ยุทธศาสตร์รายตลาด การประสานการทำงานรายภูมิภาค ประชุมประเมินสถานการณ์การส่งออกปี 58 เพื่อกำหนดเป้าหมายส่งออกปี 59 ส่วนประเด็นการทำความเข้าใจยุทธศาสตร์กรมฯเพื่อนำไปสู่แผนงาน, การส่งเสริมเอสเอ็มอี , ธุรกิจบริการ ,เอสเอ็มอี โปรเอ็กทีฟ เพื่อการปฏิบัติงานที่ได้ผลอย่างมีประสิทธิภาพ” นางนันทวัลย์ กล่าว

นอกจากนี้ก็จะเร่งดำเนินการตามนโยบายของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เช่น การผลักดันการส่งออก จะเร่งผลักดันการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงการเจรจาระดับทวิภาคี อย่าง อาเซียน จีน ญี่ปุ่น อิหร่าน และการเจรจาแก้ปัญหาทางการค้าในกรอบต่าง ๆ โดยเฉพาะการขยายการค้าการลงทุนในตลาดอาเซียนและต้องทำงานประสานกับกระทรวง การต่างประเทศให้เข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนด้านเศรษฐกิจการค้า, การใช้ประโยชน์จากอี-คอมเมิร์ซอย่างเต็มที่และส่งเสริมให้มีการทำธุรกิจผ่าน ระบบนี้ให้มากขึ้น

ขณะเดียวกันก็จะสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ให้เป็นนักรบเศรษฐกิจใหม่ โดยเน้นร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัยทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการต่อยอดผลงานวิจัย นวัตกรรมเพื่อนำไปสู่การค้าในเชิงพาณิชย์ ,การส่งเสริมธุรกิจบริการ โดยให้ความสำคัญ เพราะจะเป็นแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจของประเทศต่อไป เช่น ท่องเที่ยว แฟรนไชส์ ค้าปลีกค้าส่ง ร้านอาหาร บริการด้านสุขภาพและแรงงาน การแปรรูปสินค้าเกษตรและสร้างแบรนด์อาหาร และธุรกิจภาพยนตร์ รวมถึงจัดโครงสร้างการบริหารงานและบุคลากรผู้รับผิดชอบให้เหมาะสม เป็นต้น

รวมทั้งมีแผนที่จะปรับแผนการทำงานของทูตพาณิชย์ในกลุ่มประเทศอาเซียน อินเดีย จีน เพราะเป็นตลาดที่มีศักยภาพ ประกอบกับเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มช่องทางการค้า ขยายตลาด สร้างเครือข่ายกับผู้นำเข้า ตัวแทนและห้างร้านต่อไป

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2558

เดินหน้าตอบโจทย์ดิน4ภาค ‘หมอดิน’เดินเครื่องงานอนุรักษ์-พัฒนาช่วยเกษตรกร

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า ในภาพรวมงานของกรมพัฒนาที่ดินจะดูแลพี่น้องเกษตรกรทั่วประเทศ โดยกรมฯ จะเสาะแสวงหาปัญหาของเกษตรกรในแต่ละภูมิภาคว่ามีปัญหาเรื่องอะไร เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีปัญหาเรื่องความอุดมสมบูรณ์ของดินเป็นหลัก มีธาตุอาหารต่ำ ฝนน้อย น้ำน้อย และที่สำคัญมีปัญหาดินเค็ม ใต้ดินมีเกลืออยู่ เมื่อ

ฝนตกน้ำก็ชะล้างเกลือขึ้นมา กรมฯจึงนำวิทยาการของการพัฒนาที่ดินเข้าไปช่วยเหลือ ทั้งเรื่องการปรับปรุงบำรุงดิน ล้างดิน นำสารปรับปรุงบำรุงดินเข้าไปใส่ หาพืชที่สามารถปลูกในพื้นที่ดินเค็มได้ ส่วนภาคเหนือลักษณะพื้นที่ส่วนใหญ่สูงชัน มีภูเขา ปัญหาที่สำคัญ คือ การชะล้างพังทลายของดิน กรมฯจึงนำวิธีการอนุรักษ์ดินและน้ำเข้าไปส่งเสริม โดยนำหญ้าแฝกไปปลูกเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายในพื้นที่ที่มีการถางป่า รวมถึงนำวิธีการพัฒนาที่ดินในเรื่องของการอนุรักษ์ดินและน้ำ นำการจัดระบบการอนุรักษ์ดินแบบต่างๆ เข้าไปส่งเสริมให้บริเวณที่มีความลาดชัน ส่วนภาคใต้จะมีปัญหาดินตื้น ดินพรุ ซึ่งเราคงได้ยินโครงการแกล้งดินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยใช้วิธีขังน้ำให้น้ำล้างกรดแล้วเอาน้ำออก เพื่อจะทำให้ความเป็นกรดค่อยๆ จางหายไป

นอกจากนี้ที่ผ่านมา กรมพัฒนาที่ดิน ได้ให้คำแนะนำแก่เกษตรกร รวมทั้งสนับสนุนงานวิชาการส่วนที่เกี่ยวข้องตลอดจนเอกชน ที่มีความประสงค์ขอความร่วมมือจำแนกประเภทที่ดิน จัดทำสำมะโนที่ดินและเศรษฐกิจที่ดิน เพื่อวางแผนการใช้ที่ดินและกำหนดเขตที่ดินให้ข้อเสนอแนะการใช้ที่ดินอย่างเหมาะสมและยั่งยืนแก่เกษตรกร มีการวิจัยเพื่อการพัฒนาที่ดิน ทั้งในด้านการอนุรักษ์ดินและน้ำ การปรับปรุงบำรุงดิน การแก้ไขดินที่มีปัญหาในการทำการเกษตร เพื่อถ่ายทอดข้อมูลและความรู้ให้กับเกษตรกร ให้บริการวิเคราะห์ดินและสิ่งที่เกี่ยวข้องกับดิน บริการวัสดุปรับปรุงบำรุงดิน พันธุ์พืชเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ และการปรับปรุงบำรุงดิน

รวมทั้งปฏิบัติการพัฒนาที่ดิน และการอนุรักษ์น้ำให้แก่เกษตรกร เพื่อให้การพัฒนาการเกษตรเป็นไปอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม กรมฯจะไม่หยุดนิ่งที่จะพัฒนางานด้านการพัฒนาที่ดิน เพื่อให้พี่น้องเกษตรกร อยู่ดีมีสุข ในวิถีแห่งความพอเพียง ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2558 

ธปท. ระบุ เงินบาทที่อ่อนค่า มาจากปัจจัย ตปท.เป็นหลัก

โฆษก ธปท.ระบุ ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงมาก มาจากปัจจัยต่างประเทศเป็นหลัก เผย เงินบาทอ่อนค่า ช่วยผู้ส่งออกปรับลดราคาสินค้าแข่งขันได้มากขึ้น ขณะที่ ภาพรวม ศก. จะมีการพิจารณาในการประชุม กนง. 16 ก.ย. นี้

วันที่ 9 ก.ย. 58 นายจิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา โฆษกธนาคารแห่ง ธปท. ชี้แจงว่า ค่าเงินบาทที่อ่อนลงในช่วงที่ผ่านมาเนื่องจากสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้น ไม่ใช่เป็นปัจจัยภายในประเทศหรือภูมิภาค และขณะนี้ค่าเงินบาทผันผวนยังอยู่ในระดับกลางๆ ของภูมิภาค โดย ธปท. เชื่อว่า ค่าเงินบาทที่อ่อนลงนี้ ช่วยเสริมสภาพคล่องในการส่งออก ทำให้ผู้ส่งออกบางราย สามารถปรับลดราคาสินค้าลงเพื่อให้ราคาที่เสนอขายสามารถแข่งขันได้มากขึ้น ส่วนจะทำให้การส่งออกฟื้นตัวได้มากน้อยแค่ไหน คงต้องอาศัยทั้งการฟื้นตัวที่เข้มแข็งของเศรษฐกิจโลกและการปรับปรุงคุณภาพการผลิตและคุณภาพสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาดโลก

ขณะที่ ค่าเงินบาทจะทำให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าทุนที่เพิ่มขึ้นบ้าง จะไม่ใช่ปัจจัยถ่วงหลักของการตัดสินใจว่าจะลงทุนหรือไม่ในช่วงนี้ เพราะขึ้นอยู่กับแนวโน้มของเศรษฐกิจโดยรวม

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจทั้งหมด จะมีการพิจารณาในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ในวันที่ 16 กันยายน ซึ่งในระหว่างนี้จนถึงวันประชุม กนง. จะไม่มีการแสดงความเห็นในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินนโยบายการเงิน เนื่องจากอยู่ใน silent period 1 สัปดาห์ก่อนการประชุม กนง.

จาก http://www.thairath.co.th วันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2558 

"ฉัตรชัย"สั่ง2กรมทำแผนด่วน สร้างรายได้ชาวนารับภัยแล้ง

"ฉัตรชัย" สั่งกรมชลประทานและกรมส่งเสริมการเกษตร เร่งแผนสร้างรายได้ให้เกษตรกรรับมือก่อนเข้าช่วงแล้งให้แล้วเสร็จภายในเดือนนี้ หลังประเมินสถานการณ์น้ำฤดูแล้งน่าห่วง

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายและแนวทางการทำงานให้กับกรมชลประทาน และกรมส่งเสริมการเกษตรว่า จากที่ได้รับฟังสรุปแผนงานโครงการของ 2 หน่วยงาน ได้แก่ กรมชลประทาน และกรมส่งเสริมการเกษตร แล้วก็เชื่อมั่นว่าทั้งสองหน่วยงานมีความพร้อมในการแก้ไขปัญหาด้านการเกษตร แต่สิ่งที่ได้เน้นย้ำให้เร่งดำเนินการคือ ทั้งสองหน่วยงานจะต้องเป็นแม่งานหลักบูรณการทุกหน่วยงานทั้งในและนอกกระทรวง ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาสถานการณ์ภัยแล้งที่จะเกิดขึ้น เพื่อร่วมกันกำหนดแผนปฏิบัติให้ชัดเจน ถ้าฝนตกไม่เพียงพอที่จะเก็บกักเพื่อใช้ในแล้งหน้า จะมีทางเลือกในการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรอย่างไร ไม่ใช่เพียงการประกาศว่าไม่มีน้ำเพียงพอเพื่อจัดสรรเท่านั้น ซึ่งแผนดังกล่าวจะต้องมีความชัดเจนภายในเดือนนี้ และแจ้งไปยังระดับพื้นที่ให้ถึงเกษตรกรตั้งแต่เดือนตุลาคมนี้เป็นต้นไป เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นให้น้อยที่สุด

ด้านนายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำขณะนี้ว่า ปริมาณฝนตกน้อยมาก โดยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-30 สิงหาคม 2558 มีปริมาณฝนรวม 827.8 มิลลิเมตร น้อยกว่าค่าเฉลี่ยถึงร้อยละ 17 จึงทำให้มีน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนต่าง ๆ ในปริมาณน้อย โดยเขื่อนขนาดใหญ่ทั้ง 33 แห่ง ขณะนี้มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 34,959 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 50 ของปริมาณการกักเก็บทั้งหมด แต่มีปริมาณน้ำใช้การได้เพียง 11,456 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 24 ของปริมาณการกักเก็บทั้งหมด

อย่างไรก็ตามในส่วนของการทำนาปีที่กรมชลประทานได้ประชาสัมพันธ์ให้เลื่อนการปลูกข้าวออกไปนั้น ขณะนี้เกษตรกรส่วนใหญ่ได้ทำนาตามปกติแล้ว โดยได้กำหนดพื้นที่ทำนาปีในเขตชลประทานทั้งประเทศไว้ประมาณ 15.79 ล้านไร่ เกษตรกรได้ปลูกข้าวไปแล้ว 12.82 ล้านไร่ ยังไม่ได้ปลูก 2.97 ล้านไร่ และได้มีการเก็บเกี่ยวแล้ว 1.20 ล้านไร่ มีนาข้าวที่ได้รับความเสียหายจากภาวะภัยแล้งที่ผ่านมา จำนวน 22,079 ไร่ สำหรับลุ่มเจ้าพระยานั้นกำหนดพื้นที่ทำนาปี 7.45 ล้านไร่ ปลูกไปแล้ว 5.35 ล้านไร่ ยังไม่ได้ปลูก 2.10 ล้านไร่ เก็บเกี่ยวไปแล้ว 1.13 ล้านไร่ เสียหายจากภาวะภัยแล้ง 21,460 ไร่ ทั้งนี้ กรมชลประทานได้ขอความร่วมมือจากเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว อย่าเพิ่งทำนาต่อเนื่อง เพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกรที่ยังไม่ได้ทำนาปีมีน้ำเพียงพอที่จะปลูกข้าว

ส่วนแผนการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2558/2559 นั้น ในพื้นที่ชลประทานที่มีแหล่งน้ำต้นทุนจากอ่างเก็บน้ำเชิงเดี่ยว ให้คณะกรรมการจัดการชลประทาน (JMC) ในแต่ละพื้นที่วางแผนการจัดสรรน้ำตามศักยภาพน้ำต้นทุนที่มีอยู่ ยกเว้นในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลอง ซึ่งลุ่มน้ำเจ้าพระยาคาดว่า หลังจากสิ้นสุดฤดูฝน ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2558 ปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุน คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จะมีปริมาณน้ำที่ใช้งานได้รวมกันประมาณ 3,677 ล้านลูกบาศก์เมตร

โดยจะจัดสรรเพื่อการอุปโภคบริโภค 1,100 ล้านลูกบาศก์เมตร รักษาระบบนิเวศและอื่น ๆ 1,400 ล้านลูกบาศก์เมตร สำรองสำหรับการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศในช่วงต้นฤดูฝนเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2559 จำนวน 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร จะทำให้มีน้ำเหลือเพียง 177 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะต้องติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และวางมาตรการที่เหมาะสมต่อไป

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2558 

เงินบาทแข็งค่า จับตาดูประชุมนโยบายการเงินเฟด

ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 9 กันยายน 2558 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ที่ระดับ 36.02/04 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (8/9) ที่ระดับ 36.15/17 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินบาทยังเคลื่อนไหวในทิศทางผันผวนตลาดทั้งวัน โดยปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากแรงเทขายทำกำไร หลังจากที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าขึ้นสูงสุดใกล้เคียงกับระดับปี 2008 นอกจากนี้ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังได้รับแรงกดดันจากความเห็นของหัวหน้าฝ่ายเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลกที่ได้ออกให้ความเห็นว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังไม่ควรพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงกลางเดือนกันยายนนี้ และควรจะรอจนกว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโลกจะมีความสมดุลกว่านี้ เพราะถ้าหากว่าเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในไตรมาสนี้ อาจยิ่งเพิ่มความไม่แน่นอนให้กับเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 35.95-36.11 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 356.10/12 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้เปิดตลาดที่ระดับ 1.1193/95 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดในวันอังคาร (8/9) ที่ระดับ 1.1158/62 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรได้รับแรงหนุนจากข้อมูลเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นของสหภาพยุโรปรวมไปถึงการให้ความเห็นของนางแองเจลา เมอร์เคล นายกรัฐมนตรีของเยอรมนีที่กล่าวไว้ว่า เศรษฐกิจของสหภาพยุโรปปรับตัวเพิ่มขึ้นมาจากปีที่ผ่านมา โดยสำนักงานสถิติของสหภาพยุโรป (ยูโรสแตท) ได้เปิดเผยว่า เศรษฐกิจของสหภาพยุโรปขยายตัวมากเกินคาดในไตรมาสที่ 2 เนื่องจากการขยายตัวมากขึ้นของอิตาลีและกรีซ ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของ 19 ประเทศที่ใช้เงินยูโร เพิ่มขึ้นถึง 0.4% เมื่อเทียบรายไตรมาสในช่วงเดือนเมษายน-เดือนมิถุนายน และขยายตัว 1.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ สำนักงานสถิติของรัฐบาลกลางเยอรมนีเปิดเผยว่า ยอดส่งออกและยอดนำเข้าของเยอรมนีปรับตัวสูงขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนกรกฎาคม โดยยอดส่งออกที่ปรับตามฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้น 2.4% สู่ระดับ 1.034 แสนล้านยูโรในเดือนกรกฎาคม มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 0.7% ส่วนยอดนำเข้าเพิ่มขึ้น 2.2% สู่ระดับ 8.06 หมื่นล้านยูโร ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มมีการเก็บข้อมูลในปี 1991 ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้นที่ 0.5% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในระหว่าง 1.1145-1.1216 ดอลลารค์สหรัฐ/ยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.1274/76 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับค่าเงินเยนวันนี้เปิดตลาดวันนี้ที่ระดับ 120.22/25 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (8/9) ที่ระดับ 120.06/10 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินเยนปรับตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลดอลลาร์สหรัฐ หลังจากที่ตัวเลขความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนสิงหาคมของญี่ปุ่นปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 41.7 จากเดิมที่ 40.3 สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 40.6 ทำให้นักลงทุนลดการถือครองสกุลเงินเยน ซึ่งถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวระหว่าง 119.78-120.73 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะปิดตลาดที่ระดับ 119.80/82 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลทางเศรษฐกิจสำคัญที่ต้องจับตาดูในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดสั่งซื้อเครื่องจักรประจำเดือนกันยายนของญี่ปุ่น (10/9), ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ประจำเดือนสิงหาคมของจีน (10/9), ธนาคารกลางอังกฤษประกาศมติอัตราดอกเบี้ยเดือนกรกฎาคมของอังกฤษ (10/9), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกรายสัปดาห์ของสหรัฐ (10/9), ราคาส่งออกและนำเข้าสินค้าประจำเดือนสิงหาคมของสหรัฐ (10/9)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +4.40/4.60 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +9.00/11.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2558

ชาวไร่อ้อยโอดหวั่นราคาต่ำสุดรอบ7ปี 

          4 องค์กรชาวไร่อ้อยเตรียมเข้าพบ รมว.อุตสาหกรรม หารือปัญหาราคาอ้อยขั้นต้นฤดูผลิตปี 58/59 ต่ำสุดในรอบ 6-7 ปี วอนเลื่อนปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยฯ ไปปีหน้า

          นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และหัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 7 เปิดเผยว่า วันที่ 11 กันยายนนี้ 4 องค์กรชาวไร่อ้อยจะเข้าพบนางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อเยี่ยมคารวะและหารือถึงปัญหาราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 58/59 ที่คาดว่าจะตกต่ำสุดในรอบ 6-7 ปี จึงต้องการให้กระทรวงอุตสาหกรรมหามาตรการรองรับไว้

          ในภาวะปกติการประกาศราคาอ้อยขั้นต้นจะเริ่มก่อนฤดูการเปิดหีบคือ ตุลาคม-พฤศจิกายนของทุกปี แต่ปีนี้ชาวไร่อ้อยค่อนข้างกังวลมาก เพราะราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกเฉลี่ยขณะนี้อยู่ที่ระดับกว่า 11 เซนต์ต่อปอนด์ ขณะที่บริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย (อนท.) ยังไม่สามารถทำราคาขายน้ำตาลล่วงหน้าได้ เพราะราคาต่ำเกินไป ซึ่งน้ำตาลส่วนนี้จะต้องนำมาคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นปี 58/59 หากทำราคาได้เฉลี่ย 12.5-13 เซนต์ต่อปอนด์ ราคาอ้อยคงจะอยู่ที่ระดับ 800 บาทต่อตัน แต่ต้นทุนชาวไร่จริงนั้นอยู่ที่ 1,200 บาทต่อตัน

          "หากพิจารณาปัจจัยดังกล่าวราคาอ้อยขั้นต้นฯ จะไม่คุ้มต้นทุนการผลิตชาวไร่ ซึ่งที่ผ่านมาการเพิ่มราคาจะดำเนินการโดยให้กองทุนอ้อยและน้ำตาล (กท.) ผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งฤดูการผลิตปีที่แล้วก็กู้มาเพิ่มราคาอ้อยอีกตันละ 160 บาท ทำให้ กท.ขณะนี้มีภาระหนี้รวมสูงกว่า 2 หมื่นล้านบาท และการชำระหนี้จะไปสิ้นสุดช่วงกลางปี 2560 ซึ่งไม่มั่นใจว่ารายได้ที่มีอยู่จะสามารถก่อหนี้เพิ่มได้มากน้อยเพียงใด" นายนราธิป กล่าว

          นอกจากนี้ยังเห็นว่า การปรับโครงสร้างราคาน้ำตาลทรายไม่เหมาะสมที่จะดำเนินการในช่วงนี้ แต่เห็นควรที่จะต้องมาดูเกณฑ์การคำนวณราคาอ้อยในบางส่วนใหม่ เช่น รายได้จากผลผลิตที่ต่อเนื่องจากอ้อยและน้ำตาล การดูระเบียบการชำระเงินกองทุนให้เข้มงวดขึ้น เป็นต้น โดยในการปรับโครงสร้างควรให้ผ่านพ้นปีนี้ไปก่อน เพราะคาดว่าราคาน้ำตาลโลกตกต่ำจะเริ่มดีขึ้นใน ช่วงปีหน้า

จาก http://www.komchadluek.net   วันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2558 

ชาวไร่จ่อพบรมว.อุตฯ จี้หาแผนรับราคาอ้อยดิ่ง 

 4 องค์กรชาวไร่อ้อยเตรียม ตบเท้าเข้าพบ "อรรชกา" รมว.อุตสาหกรรมหวังเสนอให้เตรียมมาตรการรองรับราคาอ้อยขั้นต้นฤดูกาลผลิตปี 2558/59 ที่มีแนวโน้มจะตกต่ำสุดในรอบ 6-7 ปีหลังน้ำตาลตลาดโลกลดหนัก หวังให้ได้คุ้มกับต้นทุนผลิต ขณะที่กองทุนอ้อยฯภาระหนี้ พุ่งหวั่นก่อหนี้เพิ่มลำบาก

          นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทยและหัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 7 เปิดเผยว่า วันที่ 11 ก.ย.นี้ 4 ตัวแทน 4 องค์กรชาวไร่อ้อยได้แก่ สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน  สหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทยและสมาพันธ์ชาวไร่อ้อย แห่งประเทศไทยจะเข้าพบนาง อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อเยี่ยมคารวะและหารือถึงปัญหา ราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 58/59 ที่คาดว่าจะตกต่ำสุดในรอบ 6-7 ปีจึงต้องการให้กระทรวงอุตสาหกรรมหามาตรการรองรับ ไว้

          "ปกติการประกาศราคาอ้อยขั้นต้น จะเริ่มก่อนฤดูการเปิดหีบคือ ต.ค.-พ.ย. ของทุกปีแต่ปีนี้ชาวไร่อ้อยค่อนข้างกังวล มากเพราะราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกเฉลี่ยขณะนี้อยู่ที่ระดับกว่า 11 เซ็นต์ต่อปอนด์เท่านั้น ขณะที่บริษัทอ้อยและน้ำตาลไทยหรืออนท.ยังไม่สามารถทำราคาขายน้ำตาลล่วงหน้าได้เพราะราคาต่ำเกินไปซึ่งน้ำตาลส่วนนี้จะต้องนำมาคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นปี 58/59 ซึ่งหากทำราคาได้เฉลี่ย 12.5-13 เซ็นต์ ต่อปอนด์ราคาอ้อยคงจะอยู่ที่ระดับ 800 บาทต่อตันแต่ต้นทุนชาวไร่จริงนั้นอยู่ที่ 1,200 บาทต่อตัน" นายนราธิปกล่าว

          ทั้งนี้ หากพิจารณาปัจจัยดังกล่าว ราคาอ้อยขั้นต้นฯจะไม่คุ้มต้นทุนการผลิตชาวไร่ซึ่งที่ผ่านมาการเพิ่มราคาจะดำเนินการโดยให้กองทุนอ้อยและน้ำตาล (กท.)ผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ซึ่งฤดูการผลิตปีที่แล้วก็กู้มาเพิ่มราคาอ้อย อีกตันละ 160 บาททำให้ กท.ขณะนี้มีภาระหนี้รวมสูงกว่า 2 หมื่นล้านบาทและการชำระหนี้จะไปสิ้นสุดช่วงกลางปี 2560 ซึ่งไม่มั่นใจว่ารายได้ที่มีอยู่จะสามารถก่อหนี้เพิ่มได้มากน้อยเพียงใด

          นอกจากนี้ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายปี 57/58 ยังมีทิศทางที่จะต่ำกว่าขั้นต้นอีกซึ่ง จะส่งผลให้ กท.จะต้องหาเงินมาชำระหนี้คืนโรงงานตามกฎหมายดังนั้นภาระหนี้โดยรวมก็จะสูงขึ้นไปอีก ขณะเดียวกันรัฐบาลได้มี นโยบายกับกระทรวงอุตสาหกรรมกรณี หากจะกู้เงินเพิ่มจะต้องทำการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายประกอบด้วยซึ่งเรื่องนี้ชาวไร่ฯเองก็เห็นว่าสถานการณ์ราคาน้ำตาลทรายและอ้อยตกต่ำการปรับโครงสร้างราคาน้ำตาลจึงไม่เหมาะจะดำเนินการในช่วงนี้แต่เห็นควรที่จะต้องมาดูเกณฑ์การคำนวณราคาอ้อยในบางส่วนใหม่เช่น รายได้จากผลผลิตที่ต่อเนื่องจากอ้อยและน้ำตาล การดูระเบียบการชำระเงิน กท.ให้ เข้มงวดขึ้น เป็นต้น

          "เราเองก็เห็นว่าคงจะต้องช่วยกันให้ผ่านพ้นปีนี้ไปก่อนเพราะคิดว่าราคาน้ำตาลโลกที่ลดต่ำน่าจะเริ่มดีขึ้นในช่วงปีหน้า เพราะสต๊อกน้ำตาลตลาดโลกเริ่มลดลงแล้ว" นายนราธิปกล่าว

จาก http://manager.co.th  วันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2558 

 ‘ทูตพาณิชย์’นัดประชุม14กย.ดันส่งออกพร้อมปรับแผนการทำงานตีตลาดอาเซียน-อินเดีย-จีน

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่ากรมได้จัดประชุม

 ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ(ทูตพาณิชย์)กว่า 60 ประเทศทั่วโลก ในวันที่ 14 ก.ย.นี้ ที่กระทรวงพาณิชย์ และในวันดังกล่าวผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะเข้ารับนโยบายจาก รมว.และรมช.พาณิชย์ด้วย

ในเบื้องต้นที่ประชุมจะมีการรายงานภาวะและสถานการณ์การค้าโลก เพื่อประเมินผลการดำเนินงานและรายงานในระดับกรม   ก่อนกำหนดแผนงานตามยุทธศาสตร์และกำหนดเป้าหมายการส่งออกในปี 2559 ต่อไป  โดยกลุ่มประเทศได้จัดแบ่งตามภูมิภาค ได้แก่ อเมริกาเหนือ  อเมริกาใต้ ยุโรปตะวันตก  ยุโรปตะวันออก ตะวันออกกลางแอฟริกา อาเซียน  เอเชียตะวันออก  จีน และเอเชียใต้ รวมถึงสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของ 4 ภูมิภาคในไทย (5 แห่ง) ด้วย 

“ทูตพาณิชย์จะรายงานผลความคืบหน้า การดำเนินโครงการตามแผน  ยุทธศาสตร์ รายตลาด การประสานการทำงานรายภูมิภาค ประชุมประเมินสถานการณ์การส่งออกปี 2558 เพื่อกำหนดเป้าหมายส่งออกปี 2559”

ส่วนประเด็นที่จะหารือร่วมกัน ได้แก่  การทำความเข้าใจยุทธศาสตร์กรม และการนำไปสู่แผนงาน/โครงการ ยุทธศาสตร์กรม ยุทธศาสตร์การส่งเสริมเอสเอ็มอี ฯลฯ

นางนันทวัลย์กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ รองนายกรัฐมนตรี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้มอบนโยบายและแนวทางการบริหารราชการแก่ผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ 7 ด้าน โดยด้านการผลักดันการส่งออก จะเร่งผลักดันการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการเจรจาระดับทวิภาคี อาทิ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น อิหร่าน และการเจรจาแก้ปัญหาทางการค้าในกรอบต่างๆ โดยเฉพาะการขยายการค้าการลงทุนในตลาดอาเซียนและต้องทำงานประสานกับกระทรวง การต่างประเทศให้เข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนด้านเศรษฐกิจการค้า การใช้ประโยชน์จากอี-คอมเมิร์ซอย่างเต็มที่และส่งเสริมให้มีการทำธุรกิจผ่านระบบนี้ให้มากขึ้น

การสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ให้เป็นนักรบเศรษฐกิจใหม่ โดยเน้นร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัยทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการต่อยอดผลงานวิจัย นวัตกรรมเพื่อนำไปสู่การค้าในเชิงพาณิชย์ การส่งเสริมธุรกิจบริการ โดยให้ความสำคัญ เพราะจะเป็นแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจของประเทศต่อไป เช่น ท่องเที่ยว แฟรนไชส์ ค้าปลีกค้าส่ง ร้านอาหาร บริการด้านสุขภาพและแรงงาน การแปรรูปสินค้าเกษตรและสร้างแบรนด์อาหาร และธุรกิจภาพยนตร์ รวมถึงจัดโครงสร้างการบริหารงานและบุคลากรผู้รับผิดชอบให้เหมาะสม เป็นต้น

ขณะที่ รมช.พาณิชย์ได้มอบนโยบายให้ปรับแผนการทำงานของทูตพาณิชย์ในกลุ่มประเทศอาเซียน อินเดีย จีน เพราะเป็นตลาดที่มีศักยภาพ ประกอบกับเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง  เพื่อเพิ่มช่องทางการค้า ขยายตลาด สร้างเครือข่ายกับผู้นำเข้า ตัวแทนและห้างร้านต่อไป

นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยเกี่ยวกับความคืบหน้าในการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคตว่า ในการดำเนินการก่อสร้างทางการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.)จะต้องมีการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล(บช.น.)และกรุงเทพมหานคร(กทม.) เพื่อให้ระหว่างการก่อสร้างกระทบต่อประชาชนในการเดินทางน้อยที่สุด โดย ขณะนี้การก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวได้เริ่มมีการปิดช่องทางการจราจร บางส่วนไปแล้วตั้งแต่เวลาตี 1 ของวันที่ 8 ก.ย.  ซึ่งอาจทำให้ส่งผลกระทบต่อการจราจรในบริเวณดังกล่าว

“ในวันที่ 12 ก.ย.นี้ จะมีการปิดการจราจรบริเวณสะพานข้ามแยกเกษตร รวมถึงจะมีการเร่งติดตั้งป้ายเตือนและป้ายประชาสัมพันธ์เส้นทางเลี่ยงให้ ประชาชนรับทราบเพิ่มเติม”

ทั้งนี้ในส่วนของความคืบหน้าของโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงส่วนต่อขยายเส้นทางเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ และโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม เส้นทางศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลและความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) สำนักงบประมาณ รวมถึงกระทรวงการคลัง เพื่อหาข้อสรุปเรื่องการลงทุนซึ่งจะมีความชัดเจนภายในสัปดาห์นี้ และคาดว่าจะสามารถนำเข้าสู่เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้ภายในเดือนนี้เช่นกัน

ส่วนความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้ารางเดี่ยว(Monorail) รถไฟฟ้าสายสีชมพู(ปากเกร็ด-มีนบุรี) และรถไฟฟ้าสายสีเหลือง(ลาดพร้าว-สำโรง) ขณะนี้อยู่ระหว่างการเชิญชวนเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2558 

ผุดคณะกรรมการตรวจสอบสินค้า บังคับใช้กม.การเกษตรรับ‘เออีซี’

ดร.วิมล จันทรโรทัย รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) มีผลทำให้เกิดเสรีทางการค้าระหว่างประเทศภายในกลุ่มสมาชิก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เป็นไปตามกฎหมายด้านการเกษตรและระบบการตรวจสอบ คุณภาพสินค้าเกษตร

ทั้งนี้เพื่อกำหนดแนวทางการบังคับใช้กฎหมายด้านการเกษตร และระบบตรวจสอบมาตรฐานสินค้าเกษตรด้านพืช

ปศุสัตว์ ประมง และปัจจัยการผลิตทางการเกษตรให้มีประสิทธิภาพ และติดตามผลการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่แต่ละหน่วยงาน มีเป้าหมายให้เกษตรกรเข้าถึงปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ และผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าเกษตรที่ได้มาตรฐาน ครอบคลุมการกำกับดูแลให้เป็นไปตามกฎหมายด้านการเกษตร ตั้งแต่การนำเข้าปัจจัยการผลิตทางการเกษตร วัตถุอันตราย การผลิต แปรรูปและจำหน่ายสินค้าเกษตรในประเทศ รวมถึงการส่งออกไปยังต่างประเทศ

ล่าสุดสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ได้มีการอบรมเจ้าหน้าที่เรื่องการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อรับทราบนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สถานการณ์การจับกุม และดำเนินคดี รวมถึงการเร่งรัดตรวจสอบคุณภาพสินค้าเกษตร และปัจจัยการผลิต สร้างความเชื่อมั่นในระบบการผลิตสินค้าเกษตรของประเทศไทย เพิ่มศักยภาพการแข่งขันในระดับสากล ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับมาตรการทางสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชก่อนการนำเข้า ส่งออกของประเทศไทย เป็นผลให้เกิดความสะดวกทางการค้าทั้งในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และเพิ่มการแข่งขันกับต่างประเทศ

จาก http://www.naewna.com วันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2558 

เดินหน้าตอบโจทย์ดิน4ภาค ‘หมอดิน’เดินเครื่องงานอนุรักษ์-พัฒนาช่วยเกษตรกร

 นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า ในภาพรวมงานของกรมพัฒนาที่ดินจะดูแลพี่น้องเกษตรกรทั่วประเทศ โดยกรมฯ จะเสาะแสวงหาปัญหาของเกษตรกรในแต่ละภูมิภาคว่ามีปัญหาเรื่องอะไร เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีปัญหาเรื่องความอุดมสมบูรณ์ของดินเป็นหลัก มีธาตุอาหารต่ำ ฝนน้อย น้ำน้อย และที่สำคัญมีปัญหาดินเค็ม ใต้ดินมีเกลืออยู่ เมื่อ

 ฝนตกน้ำก็ชะล้างเกลือขึ้นมา กรมฯจึงนำวิทยาการของการพัฒนาที่ดินเข้าไปช่วยเหลือ ทั้งเรื่องการปรับปรุงบำรุงดิน ล้างดิน นำสารปรับปรุงบำรุงดินเข้าไปใส่ หาพืชที่สามารถปลูกในพื้นที่ดินเค็มได้ ส่วนภาคเหนือลักษณะพื้นที่ส่วนใหญ่สูงชัน มีภูเขา ปัญหาที่สำคัญ คือ การชะล้างพังทลายของดิน กรมฯจึงนำวิธีการอนุรักษ์ดินและน้ำเข้าไปส่งเสริม โดยนำหญ้าแฝกไปปลูกเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายในพื้นที่ที่มีการถางป่า รวมถึงนำวิธีการพัฒนาที่ดินในเรื่องของการอนุรักษ์ดินและน้ำ นำการจัดระบบการอนุรักษ์ดินแบบต่างๆ เข้าไปส่งเสริมให้บริเวณที่มีความลาดชัน ส่วนภาคใต้จะมีปัญหาดินตื้น ดินพรุ ซึ่งเราคงได้ยินโครงการแกล้งดินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยใช้วิธีขังน้ำให้น้ำล้างกรดแล้วเอาน้ำออก เพื่อจะทำให้ความเป็นกรดค่อยๆ จางหายไป

นอกจากนี้ที่ผ่านมา กรมพัฒนาที่ดิน ได้ให้คำแนะนำแก่เกษตรกร รวมทั้งสนับสนุนงานวิชาการส่วนที่เกี่ยวข้องตลอดจนเอกชน ที่มีความประสงค์ขอความร่วมมือจำแนกประเภทที่ดิน จัดทำสำมะโนที่ดินและเศรษฐกิจที่ดิน เพื่อวางแผนการใช้ที่ดินและกำหนดเขตที่ดินให้ข้อเสนอแนะการใช้ที่ดินอย่างเหมาะสมและยั่งยืนแก่เกษตรกร มีการวิจัยเพื่อการพัฒนาที่ดิน ทั้งในด้านการอนุรักษ์ดินและน้ำ การปรับปรุงบำรุงดิน การแก้ไขดินที่มีปัญหาในการทำการเกษตร เพื่อถ่ายทอดข้อมูลและความรู้ให้กับเกษตรกร ให้บริการวิเคราะห์ดินและสิ่งที่เกี่ยวข้องกับดิน บริการวัสดุปรับปรุงบำรุงดิน พันธุ์พืชเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ และการปรับปรุงบำรุงดิน

รวมทั้งปฏิบัติการพัฒนาที่ดิน และการอนุรักษ์น้ำให้แก่เกษตรกร เพื่อให้การพัฒนาการเกษตรเป็นไปอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม กรมฯจะไม่หยุดนิ่งที่จะพัฒนางานด้านการพัฒนาที่ดิน เพื่อให้พี่น้องเกษตรกร อยู่ดีมีสุข ในวิถีแห่งความพอเพียง ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2558 

อัดเงิน-ยืดชำระหนี้สมาชิกสหกรณ์ เกษตรฯเร่งเข็นมาตรการเยียวยาผลกระทบภัยแล้ง

นายโอภาส กลั่นบุศย์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า สถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมีทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากมีฝนตกลงมาในหลายพื้นที่และเขื่อนบางแห่งมีน้ำเพียงพอที่จะปล่อยน้ำให้กับเกษตรกรใกล้เขตชลประทานนำน้ำไปใช้ในภาคการเกษตรเบื้องต้นได้ แต่ก็ยังมีอีกหลายพื้นที่ของประเทศไทยที่ยังประสบปัญหาภัยแล้งอยู่เช่นเดียวกัน ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่สามารถเพาะปลูกได้ หรือ ต้องปรับเปลี่ยนชนิดพืชที่ปลูก แต่ไม่มีเงินทุน เนื่องจากนำไปใช้ในการทำนาข้าวเป็นส่วนใหญ่ กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้รับนโยบายจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการแก้ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้น เบื้องต้นได้กำหนดแนวทางแก้ไขปัญหา 2 มาตรการ คือ 1.มาตรการเยียวยาแลและแก้ไข โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก คือ 1.กรณีสมาชิกประสบภัยแล้งและมีสินเชื่อ หรือ มีเงินกู้กับสหกรณ์ต่างๆ ถ้าหากสมาชิกไม่สามารถชำระหนี้ได้เนื่องจากปัญหาภัยแล้ง สหกรณ์สามารถขยายเวลาการชำระหนี้ได้ตั้งแต่ 3 เดือน 6 เดือน 9 เดือน หรือ 12 เดือน แล้วแต่ดุลพินิจของคณะกรรมการสหกรณ์นั้นๆ ซึ่งการขยายเวลาการชำระหนี้ออกไปนั้นจะถือว่าสมาชิกไม่ได้ผิดสัญญาการชำระหนี้ / 2.หากสมาชิกรายใดต้องการกู้เงินเพิ่มเพื่อประกอบอาชีพเดิม เช่น ทำนา ทำสวน ทำไร่ สหกรณ์ จะมีวงเงินให้กู้เพิ่ม ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ประสานงานกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อเปิดวงเงินกู้ให้กับสหกรณ์ที่ประสบภัยประมาณ 10,000 ล้านบาท และคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.75 ซึ่งดอกเบี้ยส่วนนี้สหกรณ์จะเป็นผู้ชำระ / และ 3.การลดอัตราดอกเบี้ยและลดค่าปรับให้กับสมาชิกสหกรณ์ที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้เนื่องจากประสบปัญหาภัยแล้ง ซึ่งจะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการสหกรณ์นั้นๆ เป็นผู้กำหนด โดยเบื้องต้นจะเริ่มตั้งแต่ 50 สตางค์ ไปจน ถึง 12 บาท โดยในส่วนนี้มีสมาชิกประมาณ 5,600 รายจากทั้งหมด 38 สหกรณ์

นายโอภาสกล่าวต่อไปว่า สำหรับมาตรการที่ 2 คือ มาตรการดำเนินการเรื่องภัยแล้ง โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์มีเงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์ วงเงิน 4,000 ล้านบาท เตรียมไว้ให้กับสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรได้กู้ยืม อีกทั้งมติของคณะกรรมการกองทุนฯ ให้ลดดอกเบี้ยเพิ่ม ร้อยละ 1 และขยายเวลาการชำระหนี้ให้กับสหกรณ์เพิ่มอีก 6 เดือน นอกจากนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์มีเงินทุนสำรองประมาณ 300 ล้านบาท สำหรับสหกรณ์ที่ต้องการกู้เงินเพื่อนำไปให้สมาชิกกู้เพิ่ม หรือ ดำเนินการในด้านอื่นโดยไม่คิดดอกเบี้ย ขณะนี้สหกรณ์ที่ต้องการขยายเวลาชำระหนี้มีประมาณ 40 สหกรณ์ และมีสมาชิกที่ต้องการขยายเวลาประมาณ 15,000 คน นอกจากนี้คณะกรรมการของแต่ละสหกรณ์ต่างออกมาตรการช่วยเหลือสมาชิกในสังกัดของตนเอง เช่น แจกข้าวสารสำหรับผู้ประสบภัย เครื่องอุปโภคบริโภค ลดราคาอุปกรณ์การเกษตร ซึ่งก็เป็นไปตามดุลพินิจของคณะกรรมการสหกรณ์แต่ละแห่งที่จะดำเนินการ

สำหรับสมาชิกสหกรณ์รายใดที่อยู่ในพื้นที่ประกาศภัยแล้งตามกระทรวงมหาดไทย จะถือว่าเป็นผู้ประสบภัยแล้งทั้งหมด โดยสมาชิกสหกรณ์ที่ต้องการผ่อนผันการชำระดอกเบี้ยจะต้องเข้าแจ้งความจำนงกับสหกรณ์ที่สังกัด หรือ ประทานกลุ่ม โดยทางสหกรณ์จะรวบรวมข้อมูลของผู้ที่ประสบภัยแล้ง และแจ้งเรื่องขึ้นมายังกรมส่งเสริมสหกรณ์เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามมาตรการที่กำหนดมาข้างต้นต่อไป

จาก http://www.naewna.com วันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2558 

ชาวไร่ตบเท้าพบ รมว.อุตฯ 11 ก.ย. เร่งหาแผนรับมือราคาอ้อยต่ำสุดรอบ 6 ปี 

         4 องค์กรชาวไร่อ้อยเตรียมตบเท้าเข้าพบ “อรรชกา” รมว.อุตสาหกรรม หวังเสนอให้เตรียมมาตรการรองรับราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2558/59 ที่มีแนวโน้มจะตกต่ำสุดในรอบ 6-7 ปีหลังน้ำตาลตลาดโลกลดหนัก หวังให้ได้คุ้มกับต้นทุนผลิต ขณะที่กองทุนอ้อยฯ ภาระหนี้พุ่ง หวั่นก่อหนี้เพิ่มลำบาก

               นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทยและหัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 7 เปิดเผยว่า วันที่ 11 ก.ย.นี้ 4 ตัวแทน 4 องค์กรชาวไร่อ้อย ได้แก่ สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน สหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และสมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย จะเข้าพบนางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อเยี่ยมคารวะและหารือถึงปัญหาราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 58/59 ที่คาดว่าจะตกต่ำสุดในรอบ 6-7 ปี จึงต้องการให้กระทรวงอุตสาหกรรมหามาตรการรองรับไว้

               “ปกติการประกาศราคาอ้อยขั้นต้นจะเริ่มก่อนฤดูกาลเปิดหีบ คือ ต.ค.-พ.ย. ของทุกปีแต่ปีนี้ชาวไร่อ้อยค่อนข้างกังวงมากเพราะราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกเฉลี่ยขณะนี้อยู่ที่ระดับกว่า 11 เซ็นต์ต่อปอนด์เท่านั้น ขณะที่บริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย หรือ อนท.ยังไม่สามารถทำราคาขายน้ำตาลล่วงหน้าได้เพราะราคาต่ำเกินไป ซึ่งน้ำตาลส่วนนี้จะต้องนำมาคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นปี 58/59 ซึ่งหากทำราคาได้เฉลี่ย 12.5-13 เซ็นต์ต่อปอนด์ราคาอ้อยคงจะอยู่ที่ระดับ 800 บาทต่อตัน แต่ต้นทุนชาวไร่จริงนั้นอยู่ที่ 1,200 บาทต่อตัน” นายนราธิปกล่าว

               ทั้งนี้ หากพิจารณาปัจจัยดังกล่าว ราคาอ้อยขั้นต้นฯ จะไม่คุ้มต้นทุนการผลิตชาวไร่ ซึ่งที่ผ่านมาการเพิ่มราคาจะดำเนินการโดยให้กองทุนอ้อยและน้ำตาล (กท.) ผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งฤดูการผลิตปีที่แล้วก็กู้มาเพิ่มราคาอ้อยอีกตันละ 160 บาท ทำให้ กท.ขณะนี้มีภาระหนี้รวมสูงกว่า 2 หมื่นล้านบาท และการชำระหนี้จะไปสิ้นสุดช่วงกลางปี 2560 ซึ่งไม่มั่นใจว่ารายได้ที่มีอยู่จะสามารถก่อหนี้เพิ่มได้มากน้อยเพียงใด

               นอกจากนี้ ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายปี 57/58 ยังมีทิศทางที่จะต่ำกว่าขั้นต้นอีก ซึ่งจะส่งผลให้ กท.จะต้องหาเงินมาชำระหนี้คืนโรงงานตามกฎหมาย ดังนั้นภาระหนี้โดยรวมก็จะสูงขึ้นไปอีก ขณะเดียวกันรัฐบาลได้มีนโยบายกับกระทรวงอุตสาหกรรมกรณีหากจะกู้เงินเพิ่มจะต้องทำการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายประกอบด้วย ซึ่งเรื่องนี้ชาวไร่ฯ เองก็เห็นว่าสถานการณ์ราคาน้ำตาลทรายและอ้อยตกต่ำ การปรับโครงสร้างราคาน้ำตาลจึงไม่เหมาะจะดำเนินการในช่วงนี้ แต่เห็นควรที่จะต้องมาดูเกณฑ์การคำนวณราคาอ้อยในบางส่วนใหม่ เช่น รายได้จากผลผลิตที่ต่อเนื่องจากอ้อยและน้ำตาล การดูระเบียบการชำระเงิน กท.ให้เข้มงวดขึ้น เป็นต้น

 จาก http://manager.co.th วันที่ 8 กันยายน 2558

ชาวไร่อ้อยสุโขทัยเฮ! หลังศาลปกครองสั่งกระทรวงอุตฯ เร่งออกใบอนุญาตย้ายโรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์

          ถือเป็นกรณีตัวอย่างทางการปกครองอีกกรณีหนึ่ง เมื่อศาลปกครองกลางได้พิพากษาคดีที่บริษัท น้ำตาลไทยเอกลักษณ์ จำกัด เป็นผู้ฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กรณีไม่นำเรื่องการขอย้ายโรงงานน้ำตาลไปตั้งที่อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย และขยายกำลังผลิตโรงงานน้ำตาลเป็น 25,000 ตันอ้อยต่อวัน เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ถือเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรีกำหนดให้ต้องปฏิบัติ และพิพากษาให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาสั่งการเรื่องการออกใบอนุญาตย้ายโรงงานไทยเอกลักษณ์จากจังหวัดอุตรดิตถ์ไปจังหวัดสุโขทัยให้แก่ผู้ฟ้องคดีโดยเร็ว

          นางดารัตน์ วิภาตะกลัส กรรมการบริหาร บริษัท น้ำตาลไทยเอกลักษณ์ จำกัด ได้เปิดเผยถึงกรณีที่ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ 589/2554 หมายเลขแดงที่ 1919/2558 ให้บริษัท น้ำตาลไทยเอกลักษณ์ ชนะคดีที่ได้ฟ้องว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรีกำหนดให้ต้องปฏิบัติ เนื่องจากไม่นำเรื่องการขอย้ายโรงงานน้ำตาลไปตั้งที่อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย และขยายกำลังผลิตโรงงานน้ำตาลเป็น 25,000 ตันอ้อยต่อวัน ของน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา

          ทั้งนี้ คำพิพากษาของศาลระบุว่า "เมื่อผู้ฟ้องคดี (บริษัท น้ำตาลไทยเอกลักษณ์ จำกัด) ได้มีหนังสือร้องขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม) เสนอเรื่องการขออนุญาตย้ายโรงงานน้ำตาลและขยายกำลังการผลิตของโรงงานน้ำตาลของผู้ฟ้องคดีให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงมีหน้าที่ในการเสนอคำขอของผู้ฟ้องคดีต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป ทั้งนี้ ตามนัยมาตรา 4 วรรคหนึ่ง (9) และมาตรา 6 แห่งพระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 สำหรับข้ออ้างต่างๆ ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ปฎิเสธไม่เสนอคำขอของผู้ฟ้องคดีให้คณะรัฐมนตรีพิจารณานั้น เห็นว่า เป็นข้ออ้างที่ไม่มีเหตุผลที่จะรับฟังได้แต่อย่างใด"

          จึงพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม) พิจารณาสั่งการเรื่องการออกใบอนุญาตย้ายโรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์จากจังหวัดอุตรดิตถ์ไปยังจังหวัดสุโขทัย และขยายกำลังการผลิตของโรงงานน้ำตาลดังกล่าวจากอัตรา 18,000 ตันอ้อยต่อวัน เป็น 25,000 ตันอ้อยต่อวัน ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยโรงงาน ให้แก่ผู้ฟ้องคดีโดยเร็วต่อไป

          นางดารัตน์ กล่าวว่า โรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ ตั้งอยู่ในตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ ตั้งแต่ปี 2517 โดยได้รับอนุญาตหีบอ้อย 18,000 ตันต่อวัน เป็นคู่สัญญากับเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยในจังหวัดอุตรดิตถ์และสุโขทัยจำนวนกว่า 3,700 ราย??อย่างไรก็ตาม แหล่งอ้อยส่วนใหญ่กว่า 70% อยู่ในจังหวัดสุโขทัย ทางโรงงานจึงได้รับการเรียกร้องจากชาวไร่อ้อยในจังหวัดสุโขทัยให้ย้ายโรงงานไปอยู่ในแหล่งอ้อย เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการบรรทุกอ้อยและขนส่งอ้อยไปยังจังหวัดอุตรดิตถ์ คิดเป็นเงินปีละประมาณ 100 ล้านบาท นอกจากนั้น ยังทำให้ชาวไร่อ้อยปลอดภัยในการเดินทาง ถนนหนทางก็จะไม่ต้องชำรุดจากการขนส่งอ้อยอีกด้วย ซึ่งทางโรงงานก็ได้ไปลงทุนซื้อที่ดินและเตรียมการทุกอย่างเพื่อย้ายโรงงานตามที่ชาวไร่อ้อยร้องขอ แต่กลับไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้เกิดการฟ้องร้องดังกล่าวขึ้นมา

          ด้านนายสุชัย ลิ้มสมมติ นายกสมาคมชาวไร่อ้อยลูกพระยาพิชัย และประธานสหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กลุ่มเกษตรกรชาวไร่อ้อยรู้สึกยินดีกับคำพิพากษาของศาลปกครองกลางดังกล่าว เนื่องจากได้เคลื่อนไหวเพื่อให้ภาครัฐได้รับทราบความเดือดร้อนกรณีการขนส่งอ้อยในเขตจังหวัดสุโขทัยไปยังโรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ มาโดยตลอด และโรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ ก็ได้ทำเรื่องขอย้ายสถานที่ตั้งโรงงานมาอยู่ในจังหวัดสุโขทัย มาตั้งแต่ปี 2550 แล้ว และเคยได้รับการเสนอให้ผ่านการพิจารณาในที่ประชุม ครม. ถึง 2 ครั้ง ในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2552 และเดือนพฤษภาคม 2553 แต่ก็ถูกถอนเรื่องออกมา และไม่ได้มีการเสนอกลับเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีตามที่ควรจะเป็น

          "ที่เห็นความผิดปกติได้ชัดที่สุดก็คือ เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2552 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในสมัยนั้นได้มีหนังสือถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อให้นำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี เห็นชอบให้บริษัท น้ำตาลไทยเอกลักษณ์ ย้ายสถานที่ตั้งโรงงาน จากจังหวัดอุตรดิตถ์ ไปตั้งใหม่ที่ อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมระบุว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาความเหมาะสมในการย้ายสถานที่ตั้ง ซึ่งคณะทำงานฯ เห็นว่า ในการขออนุญาตย้ายสถานที่ตั้งหรือขยายกำลังการผลิตของโรงงานน้ำตาลดังกล่าว จะเป็นประโยชน์ต่อชาวไร่อ้อยโดยตรง แต่ปรากฎว่าในวันที่ 27 สิงหาคม 2552 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกลับมีหนังสือด่วนที่สุดถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อขอถอนเฉพาะเรื่องของบริษัทน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ ออกจากการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี" นายสุชัยกล่าว

          นายสุชัย กล่าวด้วยว่า หากโรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ได้ย้ายไปตั้งที่สุโขทัย จะได้ใกล้ชิดกับชาวไร่อ้อยคู่สัญญามากขึ้น เพราะกว่า 70% ของชาวไร่อ้อยคู่สัญญาของไทยเอกลักษณ์ ซึ่งล้วนแต่เป็นสมาชิกของสมาคมชาวไร่อ้อยลูกพระยาพิชัย หรือกว่า 3,000 ครอบครัว มีพื้นที่ปลูกอ้อยอยู่ในเขตจังหวัดสุโขทัย ดังนั้น หากโรงงานน้ำตาลย้ายไปอยู่ในแหล่งอ้อย ก็จะสามารถส่งเสริมและพัฒนาการผลิตอ้อยได้ดียิ่งขึ้น สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาลให้สูงขึ้นโดยการนำเครื่องจักรเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นมาใช้ ทำให้มีอ้อยเพิ่มมากขึ้นโดยที่ไม่ต้องขยายพื้นที่ปลูกอ้อย ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย และกระตุ้นเศรษฐกิจในภูมิภาคและประเทศในภาพรวม อีกทั้งจะช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งของชาวไร่อ้อยได้ถึงปีละประมาณ 100 ล้านบาท และที่สำคัญทำให้เกิดความปลอดภัยในการเดินทางของชาวไร่อ้อย

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 8 กันยายน 2558

คาดเงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่องไปถึงปี 59 เผยช่วง 5 วันที่ผ่านมาบาทอ่อนค่าไปแล้ว 5%

 KBANK ปรับคาดการณ์เงินบาทปีนี้ลงเป็น 36.75 จากเดิม 36.25 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมมองแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่องไปถึงปี 59 ระบุ 5 วันที่ผ่านมา อ่อนค่าไปแล้ว 5% เผยปัจจัยหลักมาจากภายนอก ทั้งกรณีเฟดขึ้น ดบ. และการชะลอตัวของ ศก.จีน

               นายธิติ ตันติกุลานันท์ ผู้บริหารสายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า ธนาคารได้ปรับประมาณการค่าเงินบาทในปีนี้อ่อนค่าลงมาอยู่ที่ 36.75 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมประเมินไว้ที่ 36.25 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

               ทั้งนี้ ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่ามาจากปัจจัยภายนอกที่ได้รับผลกระทบเป็นปัจจัยหลัก โดยเฉพาะปัจจัยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่สร้างผลกระทบของความผันผวนของค่าเงิน ประกอบกับปัจจัยเสี่ยงเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภูมิภาคให้ชะลอตัวตาม ทำให้มีผลต่อการอ่อนตัวของค่าเงินบาท โดยในช่วง 5 วันที่ผ่านมา เงินบาทอ่อนค่าลงไป 5%

                “การอ่อนค่าของเงินบาทมีทั้งผู้ได้ประโยชน์คือกลุ่มด้านท่องเที่ยวและผู้ส่งออก ขณะที่ผู้นำเข้าได้รับผลกระทบทางลบ ดังนั้นจึงแนะนำให้ภาคเอกชนซื้อประกันความเสี่ยงล่วงหน้า เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวนสูง”      

        ขณะที่ปัจจัยในประเทศยังไม่มีผลอย่างมีนัยสำคัญต่อค่าเงินบาทมากนัก แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจในประเทศจะชะลอตัว แต่ในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา ประเทศไทยมีเกินดุลบัญชีเดินสะพัด จำนวน 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังมองแนวโน้มค่าเงินบาทยังมีการอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่องไปถึงปี 59

                ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ยังคงคาดการณ์ว่าอัตราการขยายตัวอยู่ที่ 2.8% แต่มีแนวโน้มที่จะปรับลดการเติบโตลงต่ำกว่าที่เคยคาดไว้

จาก http://manager.co.th วันที่ 8 กันยายน 2558

เคาะโยกขรก.หลายกระทรวง 'พงศ์ภาณุ'ข้ามห้วย-ยังไร้ชื่อปลัด

พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม.ได้อนุมัติแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงหลายตำแหน่ง ดังนี้

กระทรวงอุตสาหกรรม จำนวน 5 ราย ได้แก่

1.นายสมชาย หาญหิรัญ รองปลัดกระทรวง เป็นอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

2.นายธวัช ผลความดี ผู้ตรวจราชการกระทรวง เป็นเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม

3.นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง ผู้ตรวจราชการกระทรวง เป็นเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย

4.นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เป็นรองปลัดกระทรวง

5.นายศักดา พันธ์กล้า ผู้ตรวจราชการกระทรวง เป็นรองปลัดกระทรวง

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จำนวน 5 ราย ได้แก่

1.นายพงศ์ภาณุ เศวตรุนทร์ รองปลัดกระทรวงการคลัง เป็น ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวกีฬา

2. น.ส.วรรณสิริ โมรากุล รองอธิบดีกรมการท่องเที่ยว เป็นรองปลัดกระทรวง

3.นางธิดา จงก้องเกียรติ ผู้ช่วยปลัดกระทรวง เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวง

4.นายพรหมโชติ ไตรเวช รองอธิบดีกรมการท่องเที่ยว เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวง

5.นายกิตติพงษ์ โพธิมู รองอธิบดีกรมพลศึกษา เป็นอธิบดีกรมพลศึกษา

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จำนวน 14 ราย ได้แก่

1.นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน เป็นรองปลัดกระทรวง

2.นายศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ เป็นรองปลัดกระทรวง

3.นางบริสุทธิ์ เปรมประพันธ์ ผู้ตรวจราชการ เป็นรองปลัดกระทรวง

4.นายโอภาส กลั่นบุศย์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นรองปลัดกระทรวง

5.นายสุรพงษ์ เจียสกุล ผู้ตรวจราชการ เป็นเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

6.นายวิมล จันทรโรทัย รองปลัดกระทรวง เป็นอธิบดีกรมประมง

7.นายสมชาย ชาญณรงค์กุล รองปลัดกระทรวง เป็นอธิบดีกรมวิชาการเกษตร

8.นายอภัย สุทธิสังข์ รองปลัดกระทรวง เป็นอธิบดีกรมหม่อนไหม

9.นายสมปอง อินทร์ทอง รองปลัดกระทรวง เป็นอธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์

10.นายวิณะโรจน์ ทรัยพ์ส่งสุข อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เป็นอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์

11.นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นอธิบดีกรมการข้าว

12.นายเลอศักดิ์ ลิ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เป็นอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร

13.น.ส.ดุจเดือน ศศะนาวิน ผู้ตรวจราชการกระทรวง เป็นเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ

14. นายสุรเดช เตียวตระกูล ผู้ตรวจราชการกระทรวง เป็นอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน

กระทรวงพาณิชย์ จำนวน 10 ราย ได้แก่

1.นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เป็นอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา

2.นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เป็นอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

3.นางสาววิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ เอกอัครราชทูต คณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส เป็นอธิบดีกรมการค้าภายใน

4.นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน เป็นเอกอัครราชทูต คณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส

5.นายสมชาติ สร้อยทอง ผู้ตรวจราชการกระทรวง เป็นรองปลัดกระทรวง

6.น.ส.ศิรินารถ ใจมั่น รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เป็นอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

7.น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวง

8.นายวิชัย โภชนกิจ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวง

9.น.ส.อรุณี พูลแก้ว รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวง

10.นายอิทธิพงศ์ คุณากรบดินทร์ รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวง

กระทรวงยุติธรรม จำนวน 4 ราย ได้แก่

1.พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันท์ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เป็นอธิบดีกรมคุมประพฤติ

2.นางกรรณิการ์ แสงทอง อธิบดีกรมคุมประพฤติ เป็นอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ

3.นายวีระยุทธ สุขเจริญ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวง

4.นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ผู้ตรวจราชการกระทรวง เป็นอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน

กระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 8 ราย ได้แก่

1.นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นเลขาธิการการสภาการศึกษา

2.นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เป็นเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

3.นายชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง เป็นรองปลัดกระทรวง

4.นายสุภัทร จำปาทอง รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา เป็นรองปลัดกระทรวง

5.นายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง เป็นเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา

6.นายสุรพงษ์ จำจด ผู้ตรวจราชการกระทรวง เป็นเลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย

7.นายวีระกุล อรัณยะนาค รองเลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวง

8.นายขจร จิตสุขุมมงคล ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวง

นอกจากนี้ยังอนุมติต่อเวลาการดำรงตำแหน่ง นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา อีก 1 ปี (ครั้งที่ 1) ตั้งแต่วันที่ 21 ต.ค. 58 - 20 ต.ค. 59

 จาก http://www.naewna.com วันที่ 8 กันยายน 2558

นายกฯสั่งทุกหน่วยเร่งกักเก็บ

นายกฯสั่งทุกหน่วยแหล่งขุดบ่อน้ำ คูคลอง เก็บน้ำ หลังคาดปีนี้แล้งรุนแรง

 พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้แสดงความเป็นห่วงสถานการณ์เนื่องจากพบว่าปริมาณน้ำที่กักเก็บในขณะนี้มีปริมาณน้ำน้อยทั้งที่ใกล้ฤดูฝนจึงได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่ได้รับโครงการงบประมาณในการจัดหาแหล่งน้ำเร่งดำเนินการ ให้เร็วที่สุด เพื่อใช้ในการเก็บกักน้ำและให้แต่ละหน่วยงานไปสร้างความเข้าใจกับเกษตรกรและประชาชนในการประหยัดน้ำและปรับระบบการปลูกพืชใช้น้ำน้อย

นอกจากนั้น นายกฯ ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดูว่าจะสามารถเก็บน้ำในแม่น้ำสาขาไว้สำหรับใช้ได้อย่างไรก่อนที่จะไหลลงทะเล โดยเฉพาะในสาขา แม่น้ำโขงและแม่น้ำสาละวินสามารถที่จะทำเป็นแก้มลิง ทะเลสาบ หรือทำอะไรได้บ้างให้ทำรายละเอียดเสนอมาภายในสิ้นเดือนนี้เพื่อจะได้นำวิเคราะห์และวางมาตรการรับมือต่อไป

ทั้งนี้ในส่วนของเกษตรกร ให้กระทรวงเกษตรฯไปเตรียมมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ทั้งในเรื่องของพันธุ์ และปัจจัยการผลิตร่วมทั้งสิ่งเสริมแนวทางการเกษตรตามพระราชดำริและเกษตรทฤษฏีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า งานบรรเทาภัยแล้งและอุกทกภัยได้ที่จะเร่งทำอยู่ในแผนยุทธศาสตร์น้ำที่ได้มีการส่งงบประมาณไปแล้วซึ่งหลังจากนี้ทุกหน่วยงานก็จะเร่งดำเนินการเพราะส่วนของเงินกู้เพิ่งได้รับ โดยจะเน้นหนักในงานของกรมชลประทานและ กรมทรัพยากรน้ำ ซึ่งในส่วนของการเพิ่มเติมแก้มลิง หรือทะเลสาบกรมชลฯกำลังดูพื้นที่ที่มีศักยภาพ

ทั้งนี้ปริมาณน้ำใช้การได้ในลุ่มเจ้าพระยาจาก 47 เขื่อนหลัก ณ วันที่ 8 ก.ย. มีปริมาณน้ำใช้การได้2,023 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)น้อยกว่าปี 2557 ในช่วงเวลาเดียวกัน 2 พันล้านลบ.ม.โดยปริมาณน้ำใช้การได้ในเขื่อนภูมิพล 570 ล้านลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์1,154 ล้านลบ.ม. ทั้งนี้กรมชลประทานคงการระบายน้ำไว้ที่วันละ 16 ล้านลบ.ม. ต่อวัน

 จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 8 กันยายน 2558

กรมชลเดินหน้าแก้ปัญหาเรื่องน้ำ 

          พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมกรมชลประทาน สามเสน โดยมี นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมผู้บริหารระดับสูง และข้าราชการกรมชลประทานให้การต้อนรับ และรายงานผลการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการน้ำ

          โดยในปี 2558 กรมชลประทานได้รับการจัดสรรงบประมาณในการพัฒนาแหล่งน้ำ ทั้งที่เป็นงบประมาณปกติ และงบประมาณเพิ่มจากงบกลาง และเงินกู้ ทั้งสิ้นประมาณ 64,595 ล้านบาท โดยได้นำมาดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำทั้งสิ้น 1,862 แห่ง สามารถกักเก็บน้ำรวมกันได้ประมาณ 432.55 ล้านลูกบาศก์เมตร และเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ประมาณ 875,410 ไร่  ทั้งนี้ได้เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะงบปกตินั้นได้ทำการเบิกจ่ายไปแล้วถึงร้อยละ 80.92

          ส่วนในปี 2559  จะมีการพัฒนาแหล่งน้ำโดยใช้งบประมาณปกติจำนวน 1,110  แห่ง แบ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นงานต่อเนื่อง 9 แห่ง ขนาดกลาง 60 แห่ง  ขนาดเล็ก 173 แห่ง โครงการป้องกันและบรรเทาภัยจากน้ำ 166 แห่ง โครงการขุดลอก 695 แห่ง และโครงการแก้มลิง 7 แห่ง สามารถกัก เก็บน้ำรวมกันทั้งหมดได้ประมาณ 262.31 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มพื้นที่ชลประทาน 309,475 ไร่ ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 38,449.56 ล้านบาท

          นอกจากนี้ กรมชลประทานยังวางเป้าหมายดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำปี  2558-2569 ที่จะพัฒนาแหล่งน้ำเพิ่มปริมาณการกักเก็บให้ได้อีกประมาณ 9,500 ล้านลูกบาศก์เมตร  และขยายพื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้นอีกให้ได้ 8.7 ล้านไร่.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 8 กันยายน 2558

ค่าบาทอ่อนสุดในรอบ6ปี6เดือน ร่วงลงแตะระดับ36บาท/ดอลลาร์

แบงก์ชาติเผยเงินบาทอ่อนค่าสุด 6 ปี 6 เดือน อยู่ที่ 36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เหตุนักลงทุนกังวลเฟดขึ้นดอกเบี้ยช่วงกันยายนนี้

นายจิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การอ่อนค่าของเงินบาทขณะนี้

 อยู่ที่ระดับ 36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เป็นการอ่อนค่าในรอบ 6 ปี 6 เดือน นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2552 ถือว่าสอดคล้องกับทิศทางเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาคที่อ่อนค่าลงด้วยเช่นกัน เนื่องจากตลาดมองว่าธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเดือนกันยายนนี้ได้มากขึ้น หลังจากสหรัฐประกาศอัตราการว่างงานลดแตะระดับ 5.1% และตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงเฉลี่ยปรับเพิ่มสูงกว่าคาด

ขณะที่นักวิเคราะห์ธนาคารพาณิชย์มองว่าการอ่อนค่าของเงินบาทดังกล่าวเป็นตามทิศทางของตลาดที่หุ้นลดลงทั้งภูมิภาค ทำให้นักลงทุนกลัวความเสี่ยงว่าสกุลเงินเอเชียจะอ่อนค่าตามตลาดหุ้น ประกอบกับตลาดยังไม่ตัดโอกาสที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังจากสัญญาณในประเทศเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัว ส่งผลให้สกุลเงินในภูมิภาครวมถึงบาทอ่อนค่าลงต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ดี ค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อจากปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดี ขณะเดียวกัน ยังต้องติดตามประเด็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในการประชุม 16-17 กันยายนนี้ว่าจะตัดสินใจอย่างไร รวมไปถึงการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ในวันที่ 16 กันยายนนี้ด้วยเช่นเดียวกัน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 8 กันยายน 2558

มอบที่ส.ป.ก.อุทัยให้เกษตรกร

นายธนู มีแสงเงิน รองเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เปิดเผยว่า กรณีที่คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) เห็นชอบให้นำพื้นที่แปลงว่างซึ่งองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.)เคยใช้ประโยชน์เป็นพื้นที่สวนป่าห้วยระบำในเขตปฏิรูปที่ดิน ตำบลลานสัก อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี เนื้อที่ 3,324 ไร่ 3 งาน 34 ตารางวา นำมาจัดให้แก่ผู้ไร้ที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ขณะนี้คณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินจังหวัด (คทช.จังหวัด) กำลังดำเนินการตรวจสอบและคัดกรองคุณสมบัติของเกษตรกรที่มายื่นขอรับการจัดที่ดินทำกินทั้งหมดจำนวน 9,218 ราย แยกเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จำนวน 9,018 ราย เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบที่สวนป่าห้วยองคต 182 ราย และเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบที่ทุ่งแฝกอีก 128 ราย

นอกจากนี้ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดอุทัยธานีได้จัดตั้ง “สหกรณ์ปฏิรูปที่ดินลานสัก-ระบำ” เพื่อเป็นการส่งเสริมสนับสนุนอาชีพให้กับเกษตรกร พร้อมกับจัดทำแผนการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพและการตลาด แผนการผลิตพืช สัตว์และการประมง และเตรียมการจัดทำแผนงานพัฒนาพื้นที่ทั้งในส่วนของแปลงเกษตรและแปลงที่อยู่อาศัย ในการนี้ คทช.จังหวัดได้เห็นชอบแผนงานโครงการงบประมาณโครงสร้างพื้นฐาน (ถนนแหล่งน้ำประปาหมู่บ้าน) สาธารณูปโภคอื่นๆ โครงการส่งเสริมการเกษตรและพัฒนาอาชีพเพื่อให้เกษตรกรที่ได้รับการจัดที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยสามารถพึ่งพาตนเองและครองชีพอย่างยั่งยืนโดย คทช.จังหวัดมีมติให้นำแผนงานและงบประมาณโครงการต่างๆนำเสนอกระทรวงเกษตรและสหกรณ์สนับสนุนงบประมาณปี 2558-2559 วงเงิน 142,996,880 บาท

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 8 กันยายน 2558

แจงสถานการณ์ฝนยังน่าห่วง กรมชลย้ำเดินหน้าแผนสร้างความมั่นคงน้ำ

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ และคณะได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมกรมชลประทาน สามเสน โดยมี นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมผู้บริหารระดับสูง และข้าราชการกรมชลประทาน ต้อนรับ โดย นายเลิศวิโรจน์ รายงานว่า ปี 2558 กรมชลประทานได้รับการจัดสรรงบประมาณพัฒนาแหล่งน้ำ ทั้งที่งบประมาณปกติงบกลาง และเงินกู้ ทั้งสิ้นประมาณ 64,595 ล้านบาท โดยได้นำมาดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำทั้งสิ้น 1,862 แห่ง สามารถกักเก็บน้ำรวมกันได้ประมาณ 432.55 ล้านลูกบาศก์เมตร และเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ประมาณ 875,410 ไร่

ส่วนปี 2559 ได้วางแผนดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำโดยใช้งบประมาณปกติ 1,110 แห่ง แบ่งเป็นโครงการชลประทานขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นงานต่อเนื่อง 9 แห่ง โครงการขนาดกลาง 60 แห่ง โครงการขนาดเล็ก 173 แห่ง โครงการป้องกันและบรรเทาภัยจากน้ำ 166 แห่ง โครงการขุดลอก 695 แห่ง และโครงการแก้มลิง 7 แห่ง สามารถกักเก็บน้ำรวมกันทั้งหมดได้ประมาณ 262.31 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มพื้นที่ชลประทาน 309,475 ไร่ ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 38,449.56 ล้านบาท

นอกจากนี้ กรมชลประทานยังวางเป้าหมายดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำปี 2558-2569 ที่จะพัฒนาแหล่งน้ำเพิ่มปริมาณการกักเก็บให้ได้อีกประมาณ 9,500 ล้านลูกบาศก์เมตร และขยายพื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้นอีกให้ได้ 8.7 ล้านไร่

สำหรับสถานการณ์น้ำนั้น ต้องยอมรับว่าปีนี้มีปริมาณฝนตกน้อยมาก โดยตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม–30 สิงหาคม 2558 มีปริมาณฝนรวม 827.8 มิลลิเมตร น้อยกว่าค่าเฉลี่ยถึงร้อยละ 17 จึงทำให้ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนต่างๆ มีปริมาณน้อย โดยเขื่อนขนาดใหญ่ทั้ง 33 แห่ง ขณะนี้มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 34,959 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 50 ของปริมาณการกักเก็บทั้งหมด โดยเป็นปริมาณที่ใช้การได้เพียง 11,456 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 24 ของปริมาณการกักเก็บทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการทำนาปีที่กรมชลประทานได้ประชาสัมพันธ์ให้เลื่อนการปลูกข้าวออกไปนั้น ขณะนี้เกษตรกรส่วนใหญ่ได้ทำนาตามปกติแล้ว โดยได้กำหนดพื้นที่ทำนาปีทั้งประเทศไว้ประมาณ 15.79 ล้านไร่ เกษตรกรได้ปลูกข้าวไปแล้ว 12.82 ล้านไร่ ยังไม่ได้ปลูก 2.97 ล้านไร่ และได้มีการเก็บเกี่ยวแล้ว 1.20 ล้านไร่ มีนาข้าวที่ได้รับความเสียหายจากภาวะภัยแล้งที่ผ่านมาจำนวน 22,079 ไร่ สำหรับลุ่มเจ้าพระยานั้น กำหนดพื้นที่ทำนาปี 7.45 ล้านไร่ ปลูกไปแล้ว 5.35 ล้านไร่ ยังไม่ได้ปลูก 2.10 ล้านไร่ เก็บเกี่ยวไปแล้ว 1.13 ล้านไร่ เสียหายจากภาวะภัยแล้ง 21,460 ไร่ ทั้งนี้กรมชลประทานได้ขอความร่วมมือจากเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว อย่าเพิ่งทำนาต่อเนื่อง เพื่อเปิดโอกาสเกษตรกรที่ยังไม่ได้ทำนาปี มีน้ำเพียงพอที่จะปลูกข้าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 8 กันยายน 2558

ยาหอม AEC ยาดมไทย (ตอนที่ 1)

นักธุรกิจมักต้องการความชัดเจนตลอดเวลา ให้รู้ไปเลยว่าขาว หรือดำ อะไรที่ไม่ชัดเจนซึ่งไม่ต่างจากสีเทา คนทำธุรกิจหรือการค้า ไปจนถึงการลงทุนจึงไม่ชอบภาวะขมุกขมัวของปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อความอยู่รอด และความรุ่งเรืองของธุรกิจ ในทางกลับกัน การรู้ข้อมูลที่ชัดเจนไม่ว่าจะเป็นด้านบวก หรือด้านลบนั้น นักธุรกิจกลับชอบมากกว่า เพราะสามารถปรับกลยุทธ์ในการตั้งรับ หรือพร้อมบุกตามสภาวะเศรษฐกิจ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สมัยนี้เป็นยุคแห่งการเปลี่ยนจากคู่ค้ามาเป็นหุ้นส่วนการค้าเพื่อสร้าง และถ่วงดุลอำนาจการต่อรอง การค้า และการลงทุน ให้ได้ประโยชน์ซึ่งกันและกันมากที่สุด ที่ไหนมีโอกาสทองการค้าและการลงทุนรออยู่ โดยเฉพาะการค้าและการลงทุนในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC นักธุรกิจไม่ว่าจะเป็นสัญชาติเอเชีย ยุโรป ตะวันออกกลาง หรือแม้แต่อเมริกัน ล้วนต้องการเข้ามาทำธุรกิจด้วยกันทั้งสิ้น

ผมได้อ่านรายงานผลสำรวจของสภาหอการค้าแห่งชาติสหรัฐฯ และหอการค้าอเมริกันในสิงคโปร์ ซึ่งเพิ่งเปิดเผยในปลายสัปดาห์ที่แล้ว ทำให้เห็นว่า กลุ่มทุนการค้าอเมริกันมีมุมมอง กำหนดกลยุทธ์ และวางเป้าหมายต่อการตัดสินใจขยายหรือยุติธุรกิจลุงแซมในเออีซีอย่างไร โดยเฉพาะอีกเพียง 3 เดือนครึ่งจากนี้ไปที่เออีซีจะได้เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์แบบกันเสียที จากผลสำรวจนักบริหารระดับสูงของบริษัทชั้นนำสัญชาติอเมริกันทั้งหมด 471 คน ที่มีฐานธุรกิจใน 10 ชาติอาเซียนในปัจจุบัน สะท้อนได้อย่างน่าสนใจไม่น้อย ที่สำคัญ ต้องใช้ประโยชน์จากมุมมองของผลสำรวจนี้ เพื่อรักษาแม่เหล็กเศรษฐกิจหลายอย่างที่กลุ่มประเทศในอาเซียนมีอยู่ในปัจจุบัน อย่างแรก 72% ของนักธุรกิจอเมริกัน ยืนยันว่าระดับการลงทุนทำธุรกิจของเอกชนอเมริกันในอาเซียนเพิ่มขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่ที่ต้องขีดเส้นใต้ไว้ คือ 86% ของการสำรวจ ตอบชัดเจนว่า จะขยายเพดานการลงทุนในอาเซียนในอีก 5 ปีข้างหน้าหลังเป็นเออีซี

 ดูข้อมูลการเข้ามาทำธุรกิจจากอดีต นักบริหารมืออาชีพจากบริษัทอเมริกันในอาเซียนมากกว่าครึ่งหนึ่งจากผลสำรวจนี้ ยืนยันว่า ตลาดกลุ่มเออีซีกลายเป็นตลาดต่างประเทศที่สำคัญซึ่งสร้างรายได้ให้กับธุรกิจอเมริกันในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา คำถามที่ว่าใน 2 ปีข้างหน้า ตลาดอาเซียนที่มีขนาดประชากรกว่า 600 ล้านคน ยังเป็นตลาดทำเงินในอันดับต้นๆ เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลกอยู่หรือไม่? คำตอบ คือ กว่า 2 ใน 3 หรือตีซะว่า 67% ของผลสำรวจนี้ คาดหวังว่า ตลาดเออีซียังเป็นตลาดต่างประเทศสำคัญสำหรับการทำธุรกิจของเอกชนอเมริกันในอีก 2 ปีข้างหน้า

แต่ก็มีข้อสังเกตว่า สัดส่วน 67% ที่ตอบในครั้งนี้ กลับลดลงประมาณ 7% จากผลสำรวจในครั้งก่อนหน้านี้ คำตอบ คือ เมื่อไหร่ก็ตามที่ผ่านเส้นตายของการประกาศการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งกำหนดไว้ในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 เสน่ห์ของเศรษฐกิจ และอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจของทั้งกลุ่มจะมีความเป็นไปได้ว่าจะเพิ่มสูงกว่านี้ แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการจัดลำดับความสำคัญของทิศทางในการขับเคลื่อนกลุ่มเศรษฐกิจเออีซีหลังผ่านพ้นวันสิ้นปี 2558 ไปแล้ว

 ย่อมเป็นที่แน่นอนว่า การเจรจาการค้าในรูปแบบหุ้นส่วนเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่มักจะเรียกกันสั้นๆ ว่า TPP ระหว่างกลุ่มเออีซีกับสหรัฐอเมริกา ย่อมต้องนำขึ้นมาพูดคุยอย่างเลี่ยงไม่ได้ ในเมื่อนักธุรกิจอเมริกันก็ไม่แตกต่างจากนักธุรกิจสัญชาติอื่นๆ ที่อยู่กันทั่วทุกมุมโลก ที่ต้องการเชื่อมต่อการค้าและการลงทุนเข้าด้วยกันเพื่อหวังสกัดกั้น หรือเพิ่มอำนาจการต่อรองด้วยขนาดตลาดที่ใหญ่กว่า เมื่อเทียบกับการเจรจาการค้าจากคู่แข่งที่มีขนาดไล่เลี่ยกันอย่างจีนแผ่นดินใหญ่

ในขณะเดียวกัน ก็ต้องยอมรับว่า มุมมองที่มีต่อปัญหารากเหง้าของกลุ่มชาติอาเซียน ซึ่งเป็นอุปสรรค และยังขัดต่อค่านิยมในการทำธุรกิจอเมริกัน คือ ปัญหาคอร์รัปชันในหลายชาติสมาชิกในกลุ่มอาเซียน นักธุรกิจที่ตอบผ่านผลสำรวจนี้มองปัญหาดังกล่าวเป็นอุปสรรคอันดับต้นๆ ยกเว้นประเทศสิงคโปร์ และบรูไน

 นอกจากนี้ยังมีกฎระเบียบและกฎหมายที่มีขั้นตอนมากมาย ความไม่โปร่งใสของการดำเนินนโยบายและการปฏิบัติ บริการของโครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่ได้คุณภาพระดับนานาชาติ รวมถึงความลำบากในการเคลื่อนย้ายสินค้าผ่านกฎระเบียบและวิธีการปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรมศุลกากร

เอาล่ะ พูดกันสั้นๆ อย่างภาษาสื่อที่มักใช้กันว่า ลุงแซมโปรยยาหอมเออีซี พร้อมกับมุมมองบวกอื่นๆ ที่น่าสนใจมากมาย ถึงแม้ว่านักธุรกิจไทยและอีกหลายสัญชาติจะเข้าใจดีว่า รูปแบบการทำธุรกิจของเอกชนอเมริกันนั้นน่าท้าทายที่สุดก็ตาม อยากรู้หรือไม่ว่า นอกจากโปรยยาหอมเออีซีแล้ว ยังสลับโปรยยาดมคู่ยาหอมให้แต่ละชาติสมาชิกกลุ่มเออีซียังไงบ้าง? นักธุรกิจที่ชาญฉลาด และมุ่งค้าขาย จะรู้วิธีการเปลี่ยนยาดมให้เป็นยาหอมที่แท้จริง อดใจพบกันในตอนที่ 2 ครับ

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 7 กันยายน 2558

ส.อ.ท.คาดปี 59 ศก.ไทยขยายตัวตามโลก ด้วยอานิสงฆ์เออีซี จับตาภัยแล้งยังลุกลาม

นายเจน นำชัยศิริ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงแนวโน้มอุตสาหกรรมในปี 2559 ว่า จากการประเมินภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน และปัจจัยที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า ทำให้ ส.อ.ท. มองว่าในปี 2559 เศรษฐกิจจะสามารถขยายตัวได้ดีกว่าในปี 2558 เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯจะขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) คาดว่าจะขยายตัวได้ 3% เพิ่มขึ้นจาก 2.5% ในปีนี้  รวมถึงเศรษฐกิจของกลุ่มยูโรโซนที่สถานการณ์ความตึงเครียดด้านการเงินน่าจะผ่อนคลายลง ขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นน่าจะขยายตัวได้จากแรงส่งอย่างต่อเนื่องของการดำเนินนโยบายเชิงผ่อนคลาย ซึ่งในปี 2559 ไอเอ็มเอฟประมาณการว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวที่ 3.8% เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่อยู่ในระดับ 3.3% นอกจากนี้ในปี 2559 จะเป็นปีที่ไทยเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)อย่างเต็มรูปแบบ การค้าเสรีภายใต้อัตราภาษี 0% จึงคาดหมายกันว่าจะช่วยส่งเสริมมูลค่าการค้าระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนให้เพิ่มมากขึ้น รวมถึงมูลค่าการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน

นายเจนกล่าวว่า นอกจากปัจจัยภายนอก ปี 2559 ยังคาดว่าอุตสาหกรรมไทยจะมีแรงหนุนจากการเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลังของปี 2558 ซึ่งจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้ภาคเอกชนตัดสินใจลงทุนตาม อีกทั้งโครงการที่ได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) น่าจะมีเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจได้มากขึ้นกว่าปีนี้

นายเจนยังกล่าวว่า อีกปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมไทย คือ ภาคการท่องเที่ยว น่าจะมีทิศทางที่ดีจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่นิยมเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก รวมทั้งยังได้รับผลบวกจากการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เนื่องจากไทยมีข้อได้เปรียบในการเป็นประตูสู่ภูมิภาค เมื่อนักท่องเที่ยวมาเที่ยวเมืองไทยก็สามารถเดินทางท่องเที่ยวต่อเนื่องไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้อีกด้วย ทำให้มีการบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้น

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ต้องให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่องในปี 2559 คือ สถานการณ์ภัยแล้งที่คาดว่าจะยาวนานและรุนแรงต่อเนื่องไปจนถึงต้นปี 2559 ภาวะหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงจะเป็นปัจจัยที่บั่นทอนกำลังซื้อของผู้บริโภค และโครงสร้างการผลิตสินค้าของไทยที่ยังไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของตลาดโลกได้ดีเท่าที่ควร รวมทั้งปัญหาการไม่ให้ความร่วมมือในการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย (ไอยูยู) และสถานการณ์การค้ามนุษย์ที่ไทยถูกสหรัฐฯ จัดอันดับให้อยู่ในเทียร์3 การชะลอตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าหลักของไทย และความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลกจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ 

จาก http://www.matichon.co.th   วันที่ 7 กันยายน 2558

สปก.เตรียมที่ดิน9.2หมื่นไร่ ร่วมเกษตรแปลงใหญ่22จว.

นายสุวรรณ บูราพรนุสรณ์ รองเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เปิดเผยว่า ตามนโยบายของรัฐบาลที่สนับสนุนเรื่องการทำการเกษตรแบบแปลงใหญ่ในส่วนของ ส.ป.ก.ได้พิจารณาพื้นที่ที่อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินที่มีการผลิตสินค้าชนิดเดียวกันเพื่อรวมการผลิตเป็นแปลงใหญ่ โดยมีพื้นที่ขนาด 300-5,000 ไร่ แต่ละพื้นที่จะพิจารณาองค์ประกอบร่วม 3 อย่างคือ ตัวเกษตรกร ชนิดของสินค้าเกษตรที่จะปลูก และการรวมกลุ่มของเกษตรกรทั้งในรูปของวิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกร หรือสหกรณ์ ซึ่งจากการสำรวจพบว่า มีพื้นที่ในเขต ส.ป.ก.ที่มีศักยภาพที่จะเข้าร่วมโครงการได้ 22 พื้นที่ ใน 22 จังหวัด รวมเป็นพื้นที่ทั้งหมด 92,706 ไร่

สำหรับพืชที่จะส่งเสริมให้มีการผลิตในระบบแปลงใหญ่ กว่าร้อยละ 50 ของพื้นที่ทั้งหมดในโครงการจะส่งเสริมให้มีการปลูกข้าว เช่น ภาคอีสานจะส่งเสริมให้มีการผลิตข้าวอินทรีย์ ภาคกลางและภาคเหนือ จะส่งเสริมการผลิตข้าวมาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practices) พืชที่จะส่งเสริมให้ปลูกในระดับรองๆ ลงมาคือ มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงาน พืชสมุนไพร กาแฟ และการเกษตรแบบผสมผสาน วิธีในการดำเนินงานจะเป็นการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้แต่ตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ระดับจังหวัด เป็นผู้รับผิดชอบ โดยผู้จัดการแปลงแต่ละแห่งจะประสานงานกับหน่วยวิชาการในพื้นที่ ให้มาสนับสนุนความรู้ทางวิชาการและเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสมให้กับเกษตรกร มาตรฐานในการผลิต การลดต้นทุน การเชื่อมโยงและสร้างเครือข่ายด้านการตลาด และเชื่อมโยงตลาดกับภาคเอกชนเพื่อรับผลผลิตไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตเป็นสินค้า

จาก http://www.naewna.com วันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2558

เร่งผังเฉพาะรับเขต ศก.พิเศษ มหาดไทยเข้ม "ตึกสูง -อาคาร-โรงงาน"

โหมโรงแผนพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ 12 พื้นที่ 10 จังหวัด มานานหลายเดือน ล่าสุดการวางผังพื้นที่เฉพาะเขตเศรษฐกิจพิเศษเฟสแรกใกล้เป็นรูปธรรม ตามที่ "รัฐบาลประยุทธ์" อยากจุดประกายให้เกิดขึ้นได้จริงในปี 2558-2559 โดยมี 3 พื้นที่นำร่อง ได้แก่ "แม่สอด-สระแก้ว-สงขลา"

ความคืบหน้าล่าสุด "มณฑล สุดประเสริฐ" อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การจัดทำร่างผังเมืองเฉพาะเขตเศรษฐกิจพิเศษเสร็จเรียบร้อยหมดแล้ว สำหรับเฟสแรก 6 จังหวัด ได้แก่ ตาก มุกดาหาร ตราด สงขลา สระแก้ว และหนองคาย ส่วนอีก 4 จังหวัด คือ นราธิวาส เชียงราย กาญจนบุรี และนครพนม จะแล้วเสร็จเดือน ต.ค.นี้

หลักการวางผังเมืองได้นำนโยบายของคณะกรรมการเขตเศรษฐกิจพิเศษมาแปรเป็นผังเมืองรวม กำหนดการพัฒนากว้าง ๆ จากนั้นจะจัดทำผังพื้นที่เฉพาะอีกชั้นหนึ่ง เป็นลักษณะวางผังพื้นที่เฉพาะบริเวณชุมชน กำหนดรายละเอียดมากขึ้นว่า เป็นเมืองเศรษฐกิจพิเศษ เช่น พื้นที่ จ.ตาก จะวางผังเมืองรวมครอบคลุมทั้ง 3 อำเภอ คือ แม่สอด พบพระ และแม่ระมาด ส่วนผังพื้นที่เฉพาะจะกำหนดว่า บริเวณใดจะพัฒนาเป็นชุมชนเมือง ขณะนี้ร่างผังเสร็จแล้ว เหลือกระบวนการด้านข้อกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากไม่มีกฎหมายผังเฉพาะโดยตรงรองรับการบังคับใช้ เพราะที่ผ่านมาไม่เคยออกได้ เพราะต้องออกโดยยกร่างเป็น พ.ร.บ.ผังเมืองเฉพาะพื้นที่ ซึ่งใช้ระยะเวลาเป็นปีจึงอาจทำไม่ได้ ไม่ทันเดดไลน์รัฐบาลที่ต้องการให้เขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

แนวทางแก้ปัญหา จะเสนอ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ออกประกาศกระทรวงมหาดไทย บังคับใช้ เป็นข้อกำหนดการขออนุญาตต่าง ๆ โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ซึ่งสามารถออกประกาศได้ทันทีภายในสิ้นปีนี้ มีระยะเวลาบังคับใช้ 1 ปี นอกจากนี้จะให้ท้องถิ่นนั้น ๆ ออกข้อบัญญัติท้องถิ่นมาควบคุมการก่อสร้างควบคู่กัน เช่น กำหนดประเภทอาคาร ระยะถอยร่น ความสูงอาคาร เป็นต้น

สำหรับการใช้ประโยชน์ที่ดิน อาจแบ่งพื้นที่แต่ละโซนเป็นบล็อกย่อย ๆ และส่งเสริมการพัฒนา โดยกำหนดรายละเอียดมากกว่าผังเมืองรวมธรรมดา อย่างพื้นที่พาณิชยกรรม จะส่งเสริมให้ก่อสร้างอาคารพาณิชยกรรม ตึกแถว อาคารขนาดใหญ่ ห้ามก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรม จะมีทั้งพื้นที่ส่งเสริมกับพื้นที่ห้าม ขึ้นอยู่กับศักยภาพของแต่ละพื้นที่

ขณะเดียวกันหากจำเป็น กรมมีแผนจะนำข้อกำหนดเรื่อง OSR หรืออัตราส่วนของพื้นที่ว่างต่ออาคารรวม และ FAR หรืออัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน มาใช้ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษด้วย เพื่อให้การพัฒนาเป็นระเบียบ ไม่สะเปะสะปะ

ปัจจุบันการจัดทำผังเมืองและข้อกำหนดอยู่ในขั้นตอนการลงพื้นที่ประชุมรับฟังความคิดเห็นคนในพื้นที่ 2 จังหวัด คือ ตาก และหนองคาย จะนำข้อคิดเห็นมาปรับปรุงอีกครั้ง เพื่อให้ทุกฝ่ายมั่นใจว่าเมื่อประกาศใช้จะไม่เกิดอุปสรรคต่อการพัฒนา

ทั้งนี้ จากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ อ.แม่สอด เพื่อติดตามงานและแก้ไขปัญหาด้านต่าง ๆ สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้เร่งให้กรมวางผังพัฒนาเขตเศรษฐกิจ จ.ตาก ให้เสร็จโดยเร็ว เพราะเป็นพื้นที่นำร่องในปีนี้ กรมจึงจะประกาศใช้ผังพื้นที่เฉพาะเขตเศรษฐกิจ จ.ตาก ประมาณเดือน ต.ค.-พ.ย.นี้ จากเดิมที่กำหนดไว้สิ้นปีนี้

โดยเขตเศรษฐกิจแม่สอด จ.ตาก พื้นที่ 1,419 ตร.กม. ครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอ 14 ตำบล ในการใช้ประโยชน์พื้นที่ในอนาคต ผังเมืองรวมกำหนดให้พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่สีเขียวลายขาว (ที่ดินประเภทอนุรักษ์) เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่า แต่ในผังพื้นที่เฉพาะจะลงรายละเอียด เช่น บริเวณด่านแม่สอด จะมีพื้นที่สีแดง (พาณิชยกรรม) สีเหลือง (ที่อยู่อาศัย) สีส้ม (ที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย) สีม่วง (อุตสาหกรรม)กำหนดให้ อ.แม่สอด เป็นประตูการค้าชายแดน เชื่อมโยงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก เป็นศูนย์กลางการค้าเชื่อมระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (Welcome to Gateway City) เมืองอุตสาหกรรมแปรรูปปลอดมลพิษ แหล่งเกษตรกรรมชั้นดี เชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวระดับโลกอ.แม่ระมาด เป็นอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry City) และ อ.พบพระ เป็นศูนย์กลางวิจัยและพัฒนา (Research & Development City)

ด้านแนวคิดการวางผัง "อธิบดีกรมโยธาฯ" กล่าวว่า จะจัดระเบียบกิจกรรมเศรษฐกิจชายแดนให้สวยงาม สร้างเอกลักษณ์เฉพาะพื้นที่, วางผังโครงข่ายระบบคมนาคม ส่งเสริมความคล่องตัวในการขนส่งสินค้าตามแนวชายแดน, สร้างที่อยู่อาศัย เป็นเมืองกระชับ (Compact City) โดยรอบด่านจะรองรับแหล่งงาน และจำกัดการขยายตัวของชุมชนแบบไร้ทิศทาง, สงวนพื้นที่สีเขียวเดิม เพิ่มในเขตเมือง, ส่งเสริมอุตสาหกรรมสีเขียว และท่องเที่ยวเชิงนิเวศกลุ่มจังหวัดและระดับภูมิภาคไทย-เมียนมา

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2558

คัดทูตพาณิชย์ชั้นหัวกระทิปั้นส่งออกอาเซียน

“สุวิทย์” เล็งปรับแผนทูตพาณิชย์บุกส่งออกใหม่ เน้นเลือกหัวกะทิคุมตลาดอาเซียน-อินเดีย-จีน ชี้เป็นตลาดมีศักยภาพ

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงฯเตรียมปรับแผนการทำหน้าที่ของผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) ใหม่ โดยจะคัดสรรบุคลากรที่เก่งระดับต้นๆมาเป็นฑูตพาณิชย์ในกลุ่มประเทศอาเซียนอินเดีย จีน และกลุ่มตะวันออกกลาง จากเดิมที่จะส่งคนเก่งๆไปประจำประเทศยุโรปหรือสหรัฐฯ

เนื่องจากรัฐบาลจะให้ความสำคัญการส่งออกในกลุ่มประเทศดังกล่าวมากขึ้น เพราะเป็นตลาดที่มีศักยภาพและเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มที่เติบโตอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในกลุ่มอาเซียนที่กระทรวงจะส่งเสริมให้ธุรกิจเอสเอ็มอีมีความเข้มแข็งในอาเซียนเพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี

“นโยบายของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีก็ต้องการให้ฑูตพาณิชย์รวมถึงเอกอัคราชทูตลดการทำหน้าที่ในการรับแขกลงแล้วเพิ่มหน้าที่ในการความอำนวยความสะดวกหรือส่งเสริมให้เกิดการค้าขายกับไทยมากขึ้น เบื้องต้นในส่วนของการส่วนการคัดเลือกฑูตพาณิชย์จะเน้นหัวกะทิในประจำในอาเซียนก่อน”

อย่างไรก็ตาม ในเร็วๆนี้กระทรวงพาณิชย์ก็จะเดินทางไปหารือกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในการหาทำงานร่วมกัน ทั้งด้านแนวทางขับเคลื่อนการกระตุ้นเศรษฐกิจ, การสร้างความเข้มแข็งแก่ธุรกิจและ การส่งออกไปยังตลาดต่างๆ โดยจะเน้นอาเซียนเป็นตลาดสำคัญ

“โครงการที่ทำร่วมกันกับเอกชนและมีประโยชน์มาก เช่น โครงการพี่จูงน้อง โดยการให้รายใหญ่เป็นพี่เลี้ยงให้กับธุรกิจเอสเอ็มอีในการทำตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะอาเซียนกับจีนแต่ยอมรับว่ายังมีจำนวนไม่มากนัก ดังนั้นกระทรวงต้องการที่จะเพิ่มพี่เลี้ยง และเพิ่มเอสเอ็มอีที่เข้าโครงการให้มากขึ้น

” ด้านนางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า จากนโยบายในการเร่งผลักดันการส่งออกโดยเชื่อมโยงภาคเอกชนและบูรณาการกับภาครัฐ เพื่ออำนวยความสะดวกนั้น กรมได้พัฒนาระบบฐานข้อมูล พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการโมบายแอพพลิเคชั่น “DITP Connect” เพื่อช่วยให้ผู้ใช้บริการได้เข้าถึงข้อมูลที่สำคัญทางการค้าตอบสนองต่อความต้องการส่วนบุคคล สะดวก รวดเร็ว และครบคลุมข้อมูลยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ คาดว่าสิ้นปีนี้จะมีผู้ใช้บริการทั้งชาวไทยและต่างชาติดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น 5,000 ราย โดยมุ่งเน้นสนับสนุนผู้ประกอบการที่เป็นชาวไทย ซึ่งจะช่วยในการติดตามความเคลื่อนไหวของตลาดโลก แยกตามตลาดและกลุ่มสินค้า โดยหากมีรายงานสถานการณ์ตลาดหรือสินค้าสำคัญ จากสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ที่มีกว่า 60 แห่งทั่วโลก รายงานเข้ามายังกรมฯ ผู้ใช้บริการจะได้รับการแจ้งเตือนบนมือถือทันที ซึ่งจะช่วยในการตัดสินใจทางการค้าการลงทุนได้อย่างรวดเร็ว และสะดวกยิ่งขึ้น

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2558

อาเซียนดัน "อุตฯสีเขียว" สานฝัน "การพัฒนาที่ยั่งยืน"

ที่ผ่านมาจะเห็นว่าทุกประเทศสมาชิกอาเซียนพยายามเร่งการปฏิรูปประเทศในทุก ๆ ด้าน โดยเฉพาะการค้าการลงทุน แต่ในทางกลับกันแทบจะไม่มีประเทศไหนที่ตระหนักถึง

"การพัฒนาที่ยั่งยืน" ให้เกิดเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง ทั้งที่เป็นสิ่งจำเป็นยิ่งกว่าการประชุมวิชาการนานาชาติ เรื่อง "ความท้าทายแห่งการพัฒนาภายหลังปี ค.ศ. 2015 : นัยต่อการค้าและการพัฒนาภายในประชาคมอาเซียน" ณ โรงแรมแลนด์มาร์ค กรุงเทพฯ โดยสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา หรือ ITD ให้ความสำคัญในประเด็นด้านการค้าและการพัฒนาในศตวรรษที่ 21 สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยตระหนักถึงความท้าทายใหม่ที่ต้องเผชิญในอนาคต

โดยได้รับเกียรติจาก ดร.เอ็ดเวิร์ด แคลเรนซ์ สมิธ ผู้อำนวยการองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNIDO กล่าวปาฐกถาพิเศษ ประเด็นการค้าและการพัฒนาในศตวรรษที่ 21 โดยสะท้อนว่า "ที่ผ่านมาชาวโลกใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากจนเกินไป และในบางครั้งไม่ได้สร้างประโยชน์จากทรัพยากรนั้น ๆ อย่างแท้จริง และสิ่งที่น่ากังวลคือ นโยบายที่จะสร้าง "ภูมิภาคสีเขียว" ของประชาคมอาเซียน กลับยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรเป็น ทั้งที่อาเซียนควรจะให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมสีเขียวมากขึ้น เพราะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ"

แนวคิดการสร้างความยั่งยืน สามารถนำมาปรับใช้กับอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้ อาทิ การปรับเปลี่ยนวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการแก้ไขปัญหาการลักลอบทิ้งขยะอุตสาหกรรม เป็นต้น

"ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ตั้งเป้าจะพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียวที่ยั่งยืน แต่ปัจจุบันยังใส่ใจเรื่องพลังงานทดแทนน้อยมาก ผมคิดว่าการมีอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ ต้องให้ความสำคัญต่อการใช้พลังงานทดแทนก่อน" ดร.สมิธกล่าว

ขณะที่ประเทศอาเซียนอื่น ๆ กำลังให้ความสนใจการลงทุนพลังงานทดแทนมากขึ้น เวียงจันทน์ ไทม์ส รายงานว่า บริษัท ลาว กรีน ซิตี้ ได้ลงทุนร่วมกับบริษัทสัญชาติจีน โดยมุ่งลงทุนไปที่การพัฒนาประโยชน์จากพลังงานแสงอาทิตย์ โดยนายเฉิง เสี่ยวหยาง ประธานบริษัท เชื่อมั่นว่า "ธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศที่มีอากาศร้อนอย่าง สปป.ลาว จะสร้างประโยชน์ให้แก่การเติบโตของธุรกิจได้อย่างมหาศาล"

ด้านเวียดนามก็เริ่มสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ในจังหวัดนึงทวน ภาคกลางตอนใต้ของประเทศ เพื่อตอบสนองปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้า และเมื่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เสร็จสมบูรณ์ คาดว่าจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ราว 1,000 เมกะวัตต์ต่อปี

เวียดนามหวังที่จะผลิตไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ให้ได้ 15,000 เมกะวัตต์ หรือ 10% ของขนาดการผลิตรวมทั้งหมด ภายในปี 2573 ซึ่งปัจจุบันโครงข่ายพลังงานของเวียดนามพึ่งพาไฟฟ้าพลังน้ำและถ่านหิน โดยทางการเวียดนามเชื่อว่า หากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์สร้างเสร็จสมบูรณ์ จะช่วยลดการพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างมาก

ด้าน ดร.ซูซาน สโตน ผู้อำนวยการด้านการค้าและการลงทุน คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก หรือ ESCAP แสดงความเห็นบนเวทีการประชุมว่า อาเซียนต้องตระหนักถึงการแปรรูปแนวคิดเป็นอันดับแรก เพราะเป้าหมายของการพัฒนาสู่ความยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) คือ การแก้ไขปัญหาความยากจนและลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนภายในประเทศและในภูมิภาค

โดยตัวอย่างจาก สปป.ลาวและเวียดนาม แสดงให้เห็นว่า ชาติสมาชิกส่วนใหญ่แม้จะมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงโครงสร้างให้เอื้อต่อเศรษฐกิจมากขึ้น แต่ยังเป็นการปฏิรูปผลประโยชน์เพื่อประเทศเป็นหลัก ไม่ได้คำนึงถึงระดับภูมิภาค หากทุกประเทศให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านเทคโนโลยี และเน้นนวัตกรรมเพื่อลดความเสี่ยงของทรัพยากรได้ จะก่อให้เกิดพลังอำนาจในการต่อรองในตลาดโลกได้

การเพิ่มขีดความสามารถของห่วงโซ่อุปทาน และส่งเสริมประเทศสมาชิกที่ยังด้อยโอกาส ถือเป็นการเปิดโอกาสให้แก่ประเทศที่ไม่มีฐานการผลิต ให้เข้าถึงตลาดโลกได้มากขึ้น เสมือนกับการแชร์ตลาดโลก เพื่อสร้างความเป็นปึกแผ่นของภูมิภาค และสร้างเป้าหมายของการพัฒนาร่วมกัน

ความน่ากังวลอีกประการ คือ การค้าไทยและอาเซียนถูกต่างชาติควบคุมมากเกินไป โดย ดร.สุทัศน์ เศรษฐ์บุญสร้าง ประธานคณะอนุกรรมการเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สภาปฏิรูปแห่งชาติ ระบุว่า

ปัจจุบันนักลงทุนในอาเซียนส่วนใหญ่จะเป็นชาวต่างชาติ ซึ่งไม่ใช่คนอาเซียน โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมแปรรูปอื่น ๆ รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และภาคบริการ แม้จะสร้างงานให้คนท้องถิ่นได้ แต่อาจส่งผลกระทบในระยะยาวได้ อาเซียนจึงไม่ควรพึ่งพาเงินทุนจากภายนอกมากนัก

ดร.สุทัศน์มองว่า "ที่ผ่านมาอาเซียนยังไม่มีการบูรณาการที่ดีพอ แม้เราจะมีนวัตกรรมที่มากขึ้น แต่หากอาเซียนยังไม่เป็นเอกภาพ ไม่เปิดใจที่จะร่วมกันพัฒนาอย่างแท้จริง ความยั่งยืนภายในก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้"

ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่สมาชิกอาเซียนจะหันมาใส่ใจการพัฒนาภูมิภาคด้วยเป้าหมายเดียวกัน ยุคแห่งนวัตกรรมที่ควรร่วมกันแชร์ผลประโยชน์อันมหาศาลนี้ จะเป็นบททดสอบความเป็น "เอกภาพ" ของอาเซียนได้เป็นอย่างดี

จาก http://www.matichon.co.th   วันที่ 6 กันยายน 2558

ชงแผน ‘ฉัตรชัย’ รับภัยแล้งปี59 ขอร่วมมืองดทำนาปรังปี 3 / เตรียม 9.2 หมื่นล.เพิ่มแหล่งนํ้า

กรมชลชง “ฉัตรชัย” แผนจัดสรรน้ำ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยารับมือภัยแล้งปี 58/59 กรมอุตุฯ คาดฝนหมดกลาง ต.ค.นี้ ชี้สถานการณ์น้ำยังน่าห่วง เบื้องต้นเตรียมขอความร่วมมือเกษตรกร 22 จังหวัด งดทำนาปรังเป็นปีที่ 3 พร้อมวอนชาวนาที่ปลูกข้าวไปแล้วเว้นวรรคการใช้น้ำ เพื่อ ให้กลุ่มที่ยังไม่ได้ทำนาเลยกว่า 2.21 ล้านไร่ได้มีโอกาสบ้าง ขณะเปิดแผนปี 59 ใช้งบลงทุนพัฒนาแหล่งน้ำ 9.27 หมื่นล้าน เพิ่มพื้นที่ชลประทานตามโรดแมป 10 ปี

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ผู้อํานวยการสํานักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงแผนการจัดสรรน้ำในฤดูแล้งปี 2558/2559 ลุ่มน้ำเจ้าพระยาคาดการณ์ว่าปริมาตรน้ำใน 4 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2558 จะเหลือน้ำปริมาณรวม 3.97 พันล้านลูกบาศก์เมตร โดยแบ่งเป็นน้ำอุปโภคบริโภค 1.10 พันล้านลูกบาศก์เมตร รักษาระบบนิเวศน์และอื่นๆ 1.4 พันล้านลูกบาศก์เมตร และเพื่อการเกษตร 477 ล้านลูกบาศก์เมตร และสำรองน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศน์ช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2559 จำเป็นที่จะต้องงดปลูกข้าวนาปรังในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัดเป็นปีที่ 3

“สำหรับปีนี้ ทางกรมอุตุนิยมวิทยา ได้พยากรณ์แล้วว่า ฝนจะสิ้นสุดในวันที่15 ตุลาคมนี้ ดังนั้นเหลือเวลาประมาณ 45 วันที่ทางกรมชลประทานจะต้องสำรองน้ำไว้ให้มากที่สุด ทั้งนี้จะขอความร่วมมือสำหรับผู้ที่ปลูกข้าวนาปี ในพื้นที่ลุ่มน้ำ จะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ปลูกข้าวตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2558 ถึง 9 มิถุนายน 2558 จำนวน 3.44 ล้านไร่ กลุ่มที่ 2 ปลูกข้าว ตั้งแต่ 10 มิถุนายน -21สิงหาคม 2558 และกลุ่มที่ 3 ยังไม่มีการปลูกข้าว จำนวน 2.21 ล้านไร่ ขอให้ 2 กลุ่มแรกเว้นช่วงทำนาให้เหลือน้ำ ให้กลุ่มที่ 3 ที่ยังไม่มีการปลูกข้าวทำนานาเลย เพราะน้ำมีจำกัด และจำเป็นที่จะต้องสำรองน้ำไว้เผื่อฝนทิ้งช่วงใน 2 เดือนข้างหน้าเช่นปีนี้”

ดร.ทองเปลวกล่าวว่า ทุกวันพุธช่วงเช้าจากนี้ไปจะมีการประชุมงานบริหารทุกกรมในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ โดยมี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน โดยทางกรมชลฯจะนำเรื่องแผนจัดสรรน้ำในฤดูแล้งเสนอต่อที่ประชุมวันพุธที่ 2 กันยายนนี้ นอกจากนี้แล้วทางกรมได้เตรียมแผนการบริหารจัดการน้ำ 4 เขื่อนหลักใหญ่ โดยใช้หลักวิชาการเข้ามาคำนวณถึงปริมาณน้ำขั้นต่ำ ว่าเหลือปริมาณน้ำเท่าไรจะไม่สามารถปลูกข้าวนาปรังได้ แล้วจะประกาศให้ทราบทั่วกัน โดยเฉพาะเกษตรกรจะได้เตรียมตัวล่วงหน้าว่าปริมาณน้ำเหลือของกรมชลเหลือเท่านี้จะเสี่ยงปลูกข้าวนาปรังหรือไม่

“สำหรับผลการดำเนินงานพัฒนาแหล่งน้ำปีงบประมาณ 2558 งบลงทุน 3.5 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 2.34 แสนไร่ และโครงการป้องกันและบรรเทาภัยจากน้ำ จำนวน 83 แห่ง ลดพื้นที่ความเสียหาย 9.1 แสนไร่ ล่าสุดมีการเบิกจ่ายงบไปแล้ว 2.83 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 80.25% ส่วนการดำเนินงานพัฒนาแหล่งน้ำปีงบประมาณ 2558 (เพิ่มเติม)โดยใช้งบกลาง (งบลงทุน) จำนวน 5.45 พันล้านบาท คาดว่าจะเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 4.09 หมื่นไร่ ผลการเบิกจ่ายปัจจุบัน 667.8 ล้านบาท คิดเป็น 29.60% และ 2. งบลงทุน (เงินกู้) จำนวน 2.38 หมื่นล้าน เพิ่มพื้นที่ชลประทาน 6 แสนไร่ ผลการเบิกจ่ายปัจจุบัน 812.4 ล้านบาท คิดเป็น 4.79%”

สำหรับแผนการดำเนินงานพัฒนาแหล่งน้ำปีงบประมาณ 2559 (งบลงทุน)3.89 หมื่นล้านบาทจะช่วยเพิ่มพื้นที่ชลประทานประมาณ 3 แสนไร่เศษ และจะของบประมาณ ปี 2559 เพิ่มเติม จำนวน 5.38 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 9.72 แสนไร่ รวมพื้นที่ 1.28 ล้านไร่ ส่วนในปี 2560 คาดว่าจะขอใช้งบประมาณลงทุน 9.7 หมื่นล้านบาท เพิ่มพื้นที่ชลประทาน จำนวน 8.68 แสนไร่ ปี2561 จะของบประมาณ1.02 แสนล้านบาท เพิ่มพื้นที่ชลประทาน 1.08 ล้านไร่ และปี 2562 จะของบประมาณ 1.02 แสนล้านบาท จะเพิ่มพื้นที่ 7.86 แสนไร่ จะเป็นตามยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลทำแผนการบริหารจัดการน้ำอย่างเร่งด่วน 10 ปี (2558-2569)

จาก http://www.thansettakij.com วันที่ 6 กันยายน 2558

อาเซียนดัน "อุตฯสีเขียว" สานฝัน "การพัฒนาที่ยั่งยืน"

ที่ผ่านมาจะเห็นว่าทุกประเทศสมาชิกอาเซียนพยายามเร่งการปฏิรูปประเทศในทุก ๆ ด้าน โดยเฉพาะการค้าการลงทุน แต่ในทางกลับกันแทบจะไม่มีประเทศไหนที่ตระหนักถึง

"การพัฒนาที่ยั่งยืน" ให้เกิดเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง ทั้งที่เป็นสิ่งจำเป็นยิ่งกว่าการประชุมวิชาการนานาชาติ เรื่อง "ความท้าทายแห่งการพัฒนาภายหลังปี ค.ศ. 2015 : นัยต่อการค้าและการพัฒนาภายในประชาคมอาเซียน" ณ โรงแรมแลนด์มาร์ค กรุงเทพฯ โดยสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา หรือ ITD ให้ความสำคัญในประเด็นด้านการค้าและการพัฒนาในศตวรรษที่ 21 สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยตระหนักถึงความท้าทายใหม่ที่ต้องเผชิญในอนาคต

โดยได้รับเกียรติจาก ดร.เอ็ดเวิร์ด แคลเรนซ์ สมิธ ผู้อำนวยการองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNIDO กล่าวปาฐกถาพิเศษ ประเด็นการค้าและการพัฒนาในศตวรรษที่ 21 โดยสะท้อนว่า "ที่ผ่านมาชาวโลกใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากจนเกินไป และในบางครั้งไม่ได้สร้างประโยชน์จากทรัพยากรนั้น ๆ อย่างแท้จริง และสิ่งที่น่ากังวลคือ นโยบายที่จะสร้าง "ภูมิภาคสีเขียว" ของประชาคมอาเซียน กลับยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรเป็น ทั้งที่อาเซียนควรจะให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมสีเขียวมากขึ้น เพราะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ"

แนวคิดการสร้างความยั่งยืน สามารถนำมาปรับใช้กับอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้ อาทิ การปรับเปลี่ยนวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการแก้ไขปัญหาการลักลอบทิ้งขยะอุตสาหกรรม เป็นต้น

"ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ตั้งเป้าจะพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียวที่ยั่งยืน แต่ปัจจุบันยังใส่ใจเรื่องพลังงานทดแทนน้อยมาก ผมคิดว่าการมีอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ ต้องให้ความสำคัญต่อการใช้พลังงานทดแทนก่อน" ดร.สมิธกล่าว

ขณะที่ประเทศอาเซียนอื่น ๆ กำลังให้ความสนใจการลงทุนพลังงานทดแทนมากขึ้น เวียงจันทน์ ไทม์ส รายงานว่า บริษัท ลาว กรีน ซิตี้ ได้ลงทุนร่วมกับบริษัทสัญชาติจีน โดยมุ่งลงทุนไปที่การพัฒนาประโยชน์จากพลังงานแสงอาทิตย์ โดยนายเฉิง เสี่ยวหยาง ประธานบริษัท เชื่อมั่นว่า "ธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศที่มีอากาศร้อนอย่าง สปป.ลาว จะสร้างประโยชน์ให้แก่การเติบโตของธุรกิจได้อย่างมหาศาล"

ด้านเวียดนามก็เริ่มสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ในจังหวัดนึงทวน ภาคกลางตอนใต้ของประเทศ เพื่อตอบสนองปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้า และเมื่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เสร็จสมบูรณ์ คาดว่าจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ราว 1,000 เมกะวัตต์ต่อปี

เวียดนามหวังที่จะผลิตไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ให้ได้ 15,000 เมกะวัตต์ หรือ 10% ของขนาดการผลิตรวมทั้งหมด ภายในปี 2573 ซึ่งปัจจุบันโครงข่ายพลังงานของเวียดนามพึ่งพาไฟฟ้าพลังน้ำและถ่านหิน โดยทางการเวียดนามเชื่อว่า หากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์สร้างเสร็จสมบูรณ์ จะช่วยลดการพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างมาก

ด้าน ดร.ซูซาน สโตน ผู้อำนวยการด้านการค้าและการลงทุน คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก หรือ ESCAP แสดงความเห็นบนเวทีการประชุมว่า อาเซียนต้องตระหนักถึงการแปรรูปแนวคิดเป็นอันดับแรก เพราะเป้าหมายของการพัฒนาสู่ความยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) คือ การแก้ไขปัญหาความยากจนและลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนภายในประเทศและในภูมิภาค

โดยตัวอย่างจาก สปป.ลาวและเวียดนาม แสดงให้เห็นว่า ชาติสมาชิกส่วนใหญ่แม้จะมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงโครงสร้างให้เอื้อต่อเศรษฐกิจมากขึ้น แต่ยังเป็นการปฏิรูปผลประโยชน์เพื่อประเทศเป็นหลัก ไม่ได้คำนึงถึงระดับภูมิภาค หากทุกประเทศให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านเทคโนโลยี และเน้นนวัตกรรมเพื่อลดความเสี่ยงของทรัพยากรได้ จะก่อให้เกิดพลังอำนาจในการต่อรองในตลาดโลกได้

การเพิ่มขีดความสามารถของห่วงโซ่อุปทาน และส่งเสริมประเทศสมาชิกที่ยังด้อยโอกาส ถือเป็นการเปิดโอกาสให้แก่ประเทศที่ไม่มีฐานการผลิต ให้เข้าถึงตลาดโลกได้มากขึ้น เสมือนกับการแชร์ตลาดโลก เพื่อสร้างความเป็นปึกแผ่นของภูมิภาค และสร้างเป้าหมายของการพัฒนาร่วมกัน

ความน่ากังวลอีกประการ คือ การค้าไทยและอาเซียนถูกต่างชาติควบคุมมากเกินไป โดย ดร.สุทัศน์ เศรษฐ์บุญสร้าง ประธานคณะอนุกรรมการเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สภาปฏิรูปแห่งชาติ ระบุว่า

ปัจจุบันนักลงทุนในอาเซียนส่วนใหญ่จะเป็นชาวต่างชาติ ซึ่งไม่ใช่คนอาเซียน โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมแปรรูปอื่น ๆ รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และภาคบริการ แม้จะสร้างงานให้คนท้องถิ่นได้ แต่อาจส่งผลกระทบในระยะยาวได้ อาเซียนจึงไม่ควรพึ่งพาเงินทุนจากภายนอกมากนัก

ดร.สุทัศน์มองว่า "ที่ผ่านมาอาเซียนยังไม่มีการบูรณาการที่ดีพอ แม้เราจะมีนวัตกรรมที่มากขึ้น แต่หากอาเซียนยังไม่เป็นเอกภาพ ไม่เปิดใจที่จะร่วมกันพัฒนาอย่างแท้จริง ความยั่งยืนภายในก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้"

ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่สมาชิกอาเซียนจะหันมาใส่ใจการพัฒนาภูมิภาคด้วยเป้าหมายเดียวกัน ยุคแห่งนวัตกรรมที่ควรร่วมกันแชร์ผลประโยชน์อันมหาศาลนี้ จะเป็นบททดสอบความเป็น "เอกภาพ" ของอาเซียนได้เป็นอย่างดี

จาก http://www.matichon.co.th    วันที่ 6 กันยายน 2558

ลุ้นตัวโก่ง! พลังงานไทย

พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) วันที่ 7 ก.ย.นี้ จะมีการพิจารณาราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ประจำเดือน ก.ย.เพื่อให้สะท้อนกลไกต้นทุนที่แท้จริง โดยล่าสุดราคาแอลพีจีตลาดโลกที่ใช้คำนวณราคาขายปลีกในประเทศอยู่ที่ 334 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน จากเดือนก่อนอยู่ที่ 379 เหรียญฯ ทำให้ราคาแอลพีจีของทุกกลุ่มผู้ใช้มีโอกาสที่จะปรับลดลง ทั้งนี้ กบง.ยังจะหารือโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) ซึ่งในหลักการราคาจะสะท้อนกลไกตลาด แต่ขณะนี้ราคาน้ำมันตลาดโลกปรับลดลง การขึ้นราคาเอ็นจีวีสวนทางอาจทำให้ประชาชนไม่เข้าใจ จึงต้องชี้แจงทำความเข้าใจว่า เราอุดหนุนราคาอยู่

“ผมอยู่ระหว่างประสานงานกับกระทรวงคมนาคมเพื่อหารือกับผู้ประกอบการขนส่งรถโดยสารสาธารณะที่ใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงหลัก เพื่อขอให้ลดราคาค่าโดยสารลง เนื่องจากปัจจุบันราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลลดลงมาหลายครั้งแล้ว ล่าสุดเหลือเพียง 22.89 บาทต่อลิตร ดังนั้นค่าขนส่งก็ควรลดลงตามด้วย”

พล.อ.อนันตพรยังกล่าวถึงการติดตามความคืบหน้าการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 พบว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาแก้ไขร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 หากผ่านความเห็นชอบจาก สนช. กระทรวงฯก็พร้อมที่จะเปิดให้สิทธิสำรวจตามกำหนดการเดิม ในเดือน ต.ค. แต่ยอมรับว่า หากการเปิดสัมปทานต้องล่าช้าออกไป หรือการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ภาคใต้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ก็จะกระทบต่อการกำหนดสัดส่วนการใช้พลังงานในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ (พีดีพี 2015)

จาก http://www.thairath.co.th วันที่ 5 กันยายน 2558

รื้องบเขตเศรษฐกิจพิเศษ “บิ๊กตู่” สั่งเพิ่มด่านสระแก้ว-จัดลำดับเร่งด่วน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยหลังเป็นประธานประชุมคณะอนุกรรมการด้านโครงสร้างพื้นฐานและด่านศุลกากรว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ได้สั่งการให้มีการปรับแผนการใช้งบประมาณ และการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ใหม่ โดยในพื้นที่ จ.สระแก้ว เสนอให้ก่อสร้างด่านศุลกากรแห่งใหม่เพิ่มเติมบริเวณด่านอรัญประเทศ 2 จุด คือ บริเวณบ้านหนองเอี่ยน-สตึงบท และบ้านไร่-โอเนียง เพื่อเชื่อมต่อเขตเศรษฐกิจการค้าไปยังประเทศกัมพูชา ลดความแออัดด้านการค้า และการจราจรบริเวณด่านพรมแดนบ้านคลองลึก

ทั้งนี้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จะต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับแผนให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน ขณะที่เตรียมก่อสร้างรถไฟขนส่งสินค้าและผู้โดยสารเพิ่มเติม 6 กม.เชื่อมต่อจากอรัญประเทศไปด่านพรมแดนบ้านคลองลึกเพื่อรอเชื่อมเข้ากัมพูชาอีกด้วย โดยจะเริ่มสร้างเดือน ต.ค.นี้ เสร็จใน 6-7 เดือน และเปิดเดินรถไฟข้าม 2 ประเทศได้ช่วงต้นปีหน้า

ด้านนางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า คณะอนุกรรมการฯได้มอบหมายให้ สนข.กลับไปทบทวนแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและด่านศุลกากร ในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษระยะที่ 1 และ 2 ปี 58-59 วงเงิน 6,169 ล้านบาทใหม่ โดยจะต้องจัดลำดับความสำคัญการใช้งบตามความจำเป็นเร่งด่วน ความพร้อมของโครงการ รวมทั้งคำนึงถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อใช้ประโยชน์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยให้ สนข. นำกลับมาเสนออีกครั้งสัปดาห์หน้า เพื่อนำเสนอให้ กนพ.พิจารณาในการประชุมครั้งถัดไปในวันที่ 16 ก.ย.นี้.

จาก http://www.thairath.co.th วันที่ 5 กันยายน 2558

นับถอยหลัง AEC 05/09/58

ในระยะหลังๆ การเมืองของมาเลเซียเริ่มมีปัญหามากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังจากที่นายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัค ที่ถูกกล่าวหามีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชันหลังจากที่มีเงินกว่า 25,000 ล้านบาทเข้าบัญชีส่วนตัวของนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ทำให้ประชาชนชาวมาเลเซียออกมารวมตัวเคลื่อนไหวประท้วงครั้งใหญ่กว่าแสนคนเพื่อขับไล่นายนาจิบ พ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในช่วงพิธีฉลองวันชาติมาเลเซีย เมื่อวันจันทร์ที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งทำให้การเมืองของมาเลเซียมีความสับสนวุ่นวายและขาดเสถียรภาพมากขึ้นเป็นลำดับ

หลังจากที่มีการประท้วงมีข่าวว่าตำรวจมาเลเซียอาจจะดำเนินคดีทางกฎหมายเอาผิดกับอดีตนายกรัฐมนตรี มหาเธร์ โมฮัมหมัด ในการเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาเพื่อขับไล่นายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัค ที่ทางตำรวจมาเลเซียประกาศว่าเป็นการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย พร้อมๆกับมีรายงานข่าวว่า อานินา ซาร์ดุดิน อดีตสมาชิกคนสำคัญในกลุ่มสตรีของพรรคอัมโนซึ่งเป็นพรรครัฐบาลได้ถูกปลดจากการเป็นสมาชิกพรรค ภายหลังจากอานินา นำเรื่องร้องเรียนต่อศาลเพื่อให้ไต่สวนนายกรัฐมนตรีนาจิบ ที่ถูกกล่าวหามีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชัน ชี้ให้เห็นว่ารอยร้าวทางการเมืองในมาเลเซียน่าจะมีมากขึ้น และ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของมาเลเซียอาจเกิดขึ้นได้ง่ายในระยะเวลาอันใกล้นี้

ในสัปดาห์ที่แล้วที่ค่าเงินริงกิตของมาเลเซียที่อ่อนค่าลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 3.8 ริงกิตต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นการอ่อนค่าที่สุดในรอบ 16 ปี ล่าสุดค่าเงินริงกิตอ่อนค่าหนักขึ้นร่วงลงมาอยู่ที่ระดับ 4.2 ริงกิตต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ท่ามกลางบรรยากาศทางการเมืองที่เปราะบาง อีกทั้งปัญหาทางเศรษฐกิจของมาเลเซียยังไม่มีท่าทีคลี่คลายลงโดยง่ายจากปัญหาการส่งออกหดตัวลง และมีหนี้ต่างประเทศระยะสั้นสูงใกล้เคียงกับทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศที่มีอยู่ ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงต่ำสุดนับตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2552 และความเชื่อมั่นของธุรกิจในปัจจุบันลดลงสู่ต่ำกว่าระดับปกติ ทำให้ความเป็นห่วงของสังคมโลกต่อมาเลเซียทวีความรุนแรงมากขึ้นครับ.

ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผอ.ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ

จาก http://www.thairath.co.th วันที่ 5 กันยายน 2558

ม.เกษตรหนุนเทคโนโลยีกังหันน้ำผลิตพลังงาน

ม.เกษตรศาสตร์ หนุนเทคโนโลยีกังหันน้ำสมัยใหม่ผลิตพลังงานเพิ่ม สร้างประโยชน์ให้ชาวบ้าน

นายเครก แชมเบอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท AECOM จำกัด กล่าวในงานสัมมนาในหัวข้อ “ความมั่นคงทางพลังงานกับแนวโน้มของโรงไฟฟ้าของโลก” ที่จัดขึ้น โดยคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ว่า ปัจจุบันนี้แต่ละประเทศจะต้องมีการกำหนดนโยบายที่ดีและต้องมีความต่อเนื่องของนโยบายด้านพลังงาน การเลือกใช้แหล่งพลังงานของแต่ละประเทศส่วนใหญ่จะเน้นพิจารณาทรัพยากรที่มีอยู่เพื่อเป็นการลดต้นทุนของพลังงานก่อน การนำเข้าพลังงานจากแหล่งอื่นจะต้องคำนึงถึงต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น รัฐบาลควรจะแยกแยะระหว่างนโยบายด้านการสร้างความมั่นคงพลังงาน ออกจากนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งในตัวนโยบายมีความขัดแย้งกันในเรื่องผลประโยชน์ เพราะนโยบายด้านความมั่นคงทางพลังงานจะมุ่งเน้นการผลิตพลังงานที่ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ

ด้าน นายไมเคิล วอร์เตอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อม และอดีตที่ปรึกษาของคณะกรรมาธิการลุ่มน้ำโขง กล่าวว่า ประเทศไทยมีปริมาณการไหลของแม่น้ำในประเทศรวมกันถึง 8 ล้านล้านลูกบาศก์เมตร และมีแม่น้ำนานาชาติทั้งหมด 3 สาย ได้แก่ แม่น้ำแม่โขง สาละวิน และโกลก รวมแล้วมีปริมาณการไหลของแม่น้ำในประเทศและแม่น้ำนานาชาติรวมกันทั้งสิ้นกว่า 13 ล้านล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งทำให้เห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพด้านทรัพยากรน้ำที่สามารถแปรรูปมาเป็นแหล่งทรัพยากรสำคัญในการผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีจำนวนประชากรไม่หนาแน่นมากนัก ประกอบกับการเข้าถึงแหล่งพลังงานจำเป็นต้องใช้การเดินสายส่งเป็นระยะทางไกล ดังนั้น ทำให้มีปัญหาด้านการขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าในบางพื้นที่ ความต้องการด้านพลังงานที่เพิ่มขึ้นตามอัตราความเจริญของพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงทำให้เห็นว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการผลิตพลังงานเพิ่มเติมจากแหล่งพลังงานน้ำ ผ่านเครื่องกังหันน้ำ

จาก http://www.innnews.co.th วันที่ 5 กันยายน 2558

ชาวไร่ร้องถูกนายทุนเบี้ยวค่าอ้อยกว่า4ล้านบาท

อุดรธานี-ชาวไร่ร้องศูนย์ดำรงธรรมอุดรธานีถูกกลุ่มนายทุนเบี้ยวค่าอ้อยกว่า 4 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 4 ก.ย.กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกไร่อ้อยจาก 3 อำเภอ คือ อ.น้ำโสม วังสามหมอ จ.อุดรธานี และอ.ศรีบุญเรือง จ.หนองบัวลำภู เข้าร้องเรียนกับ นายกฤษชานนท์ อุทัยเสียง หัวหน้าศูนย์ดำรงธรรม จ.อุดรธานี และ ร.ท.เศรษฐณพล ชื่นตา ทหารจาก มทบ.24 ปฏิบัติงานร่วมศูนย์ดำรงธรรม จ.อุดรธานี ถูกกลุ่มนายทุนรายหนึ่งค้างจ่ายค่าอ้อยกว่า 4 ล้านบาท

นางบุญแว่น ราชสุวอ แกนนำเกษตรกรชาวไร่จ.อุดรธานี กล่าวว่า เกษตรกรทุกคนได้นำเอกสารหลักฐานการซื้อขายอ้อยให้กับกลุ่มนายทุน ต.หนองหญ้าไซ อ.วังสามหมอ จ.อุดรธานี อ้างตัวว่าเป็นเจ้าของโควต้าส่งอ้อยให้กับโรงงานน้ำตาลเริ่มอุดมอ.หนองหาน จ.อุดรธานี โดยติดต่อหาซื้ออ้อยกับชาวไร่ตันละ 600 บาทเศษ ช่วงเดือนต.ค.-ธ.ค. 2557 จนถึงเดือนเม.ย.2558 จึงมีการตัดอ้อยส่งยังโรงงานรวมยอดเงินรวมกว่า 4 ล้านบาทแต่จนถึงทุกวันนี้ยังไม่ได้รับเงิน อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้เคยไปแยกร้องเรียนศูนย์ดำรงธรรมของแต่ละอำเภอกว่า 1 เดือนแต่ไม่มีความคืบหน้า

นายกฤษชานนท์ อุทัยเสียง หัวหน้าศูนย์ดำรงธรรม จ.อุดรธานี ชี้แจงว่า รับเรื่องร้องเรียนจากทางอำเภอแล้ว เบื้องต้นทราบว่านายทุนดังกล่าวมีโควต้าส่งอ้อยจากโรงงานน้ำตาลเริ่มอุดม 13,138.40 ตัน นายทุนอีกรายได้โควต้า 18,439.07 ตัน และอีกคน ไม่มีโควต้าส่งอ้อย แต่เมื่อชาวไร่อ้อยมาร้องเรียนในวันนี้จะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุดเพื่อไม่ให้ชาวไร่อ้อย ที่มาร้องเรียนเดือดร้อน ที่ผ่านมาเคยมีการร้องเรียนเช่นนี้ 2 ครั้ง ซึ่งทางเจ้าของโรงงานน้ำตาล จะจ่ายเงินให้กับชาวไร่อ้อยทุกราย ที่เจ้าของโควต้าไม่จ่ายเงิน โดยทางโรงงานน้ำตาล ได้ไปไล่เบี้ยจัดการกับทางเข้าของโควตาเอง

จาก http://search.posttoday.com  วันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2558

'ฉัตรชัย'เร่งเกษตรฯออกแผนรับภัยแล้ง 

          กรมชลประทานลุยพัฒนาแหล่งน้ำ1,100แห่งปีหน้า

          "ฉัตรชัย" สั่งทำแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง กำหนดมาตรการ แจ้งถึงเกษตรกรตั้งแต่เดือนต.ค.นี้ หลังพบน้ำลงเขื่อนน้อยเก็บน้ำได้เพียง 3,677 ล้านลบ.ม. ไม่เพียงพอทำนาปรัง

          พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายและแนวทางการทำงานให้กับกรมชลประทานและกรมส่งเสริมการเกษตร ว่า ทั้ง 2 หน่วยงานจะต้องเป็นแม่งานหลักบูรณาการทุกหน่วยงาน ทั้งในและนอกกระทรวง ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาสถานการณ์ภัยแล้งที่จะเกิดขึ้น ร่วมกันกำหนดแผนปฏิบัติให้ชัดเจน ถ้าฝนตกไม่เพียงพอที่จะเก็บกักเพื่อใช้ในฤดูแล้งปีหน้า จะมีทางเลือกในการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรอย่างไร "ไม่ใช่เพียงการประกาศว่าไม่มีน้ำเพียงพอ เพื่อจัดสรรเท่านั้น ซึ่งแผนดังกล่าวจะต้องมีความชัดเจนภายในเดือนนี้ และแจ้งไปยังระดับพื้นที่ให้ถึงเกษตรกรตั้งแต่เดือนต.ค.นี้เป็นต้น เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นให้น้อยที่สุด"

          นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า   กรมชลฯต้องติดตาม สถานการณ์น้ำในปัจจุบันอย่างใกล้ชิด เพื่อนำข้อมูลทั้งหมดมาประเมินผลร่วมกัน วางแผนเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี2558/59  ซึ่งในเบื้องต้นคาดว่าเขื่อนขนาดใหญ่ที่สำคัญ ทั้ง4 แห่ง ประกอบด้วย ภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน และป่าสักชลสิทธิ์ จะสามารถเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง หรือตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2558  - 30 เม.ย. 2559 นี้ รวม 3,600 ล้าน ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)น้อยกว่าปีที่ผ่านมาที่เก็บได้ถึง 6,700 ล้าน ลบ.ม.

          ดังนั้นโอกาสที่จะทำนาปรังจึงมีน้อยมาก แต่การประกาศห้ามทำนาปรังจะต้องมีมาตรการอื่นเข้ามาเสริม โดยมาตรการดังกล่าวอยู่ระหว่างการหารือและจะเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรพิจารณาและประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป "ในขณะนี้การทำนาปีบางจุดมีการเก็บเกี่ยวข้าวไปแล้ว กรมชลประทานได้ขอความร่วมมือไม่ให้ปลูกใหม่ เพราะต้องการใช้น้ำที่มีอยู่สนับสนุนเกษตรกร ที่ยังไม่สามารถปลูกข้าวได้ กว่า 2.2 ล้านไร่ ให้ปลูกพืชชนิดอื่นที่ใช้น้ำน้อย ซึ่งวัตถุประสงค์ของกรมชลประทานต้องการให้พื้นที่เกษตรกรในลุ่มเจ้าพระยา 22 จังหวัด 7.4 ล้านไร่ สามารถปลูกพืชได้อย่างน้อย 1 ครั้ง หากเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวไปแล้วและเริ่มปลูกใหม่ จะทำให้การส่งเสริมทั้งหมดไม่เป็นไปตามแผน" นายเลิศวิโรจน์ กล่าว

          นายเลิศวิโรจน์ กล่าวว่า ปริมาณน้ำที่สามารถเก็บได้ 3,677 ล้าน ลบ.ม.นั้นต้องแบ่งไว้ใช้ เพื่อการอุปโภค บริโภค 1,100 ล้าน ลบ.ม. ใช้เพื่อ รักษาระบบนิเวศ 1,400  ล้าน ลบ.ม. สำรองไว้เพื่อ ต้นฤดูฝน 1,100 ล้าน ลบ.ม. ที่เหลือ 77 ล้าน ลบ.ม.  จะใช้เพื่อประโยชน์ทางด้านการเกษตรได้ โดยจะให้ความสำคัญต่อการปลูกผักผลไม้ก่อน

          ทั้งนี้เพื่อให้มาตรการงดปลูกข้าวนาปรังได้ผล ไม่มีการขโมยน้ำเพื่อทำการเพาะปลูกอย่างที่เคยเกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา กรมชลประทานจะขอความร่วมมือกับ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นเพื่อให้งดการสูบน้ำจากสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าทั้งหมด รวม 355 แห่ง  ซึ่งกรมชลประทานจะพิจารณาจัดรอบเวรการสูบน้ำในบางจุดได้ตามแผนเท่านั้น  โดยมาตรการดังกล่าวได้ปฏิบัติในช่วงฤดูฝน แล้วพบว่าประสบผลสำเร็จ

          สำหรับพื้นที่ลุ่มน้ำแม่กลอง คาดว่าจะมีปริมาณน้ำต้นทุนที่ใช้การได้ จากเขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณ์ รวม 4,765 ล้าน ลบ.ม. จะใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค300 ล้านลบ.ม.รักษาระบบนิเวศ และอื่นๆ 1,600 ล้าน ลบ.ม. สำรองสำหรับช่วงต้นฤดูฝน 2,700 ล้าน ลบ.ม. เหลือ 165 ล้าน ลบ.ม. เพื่อการเกษตร และพื้นที่ภาคตะวันออก ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจ   แม้ในปีนี้จะมีน้ำต้นทุนน้อย แต่เนื่องจากมีการเชื่อมโยงเครือข่ายอ่างเก็บน้ำ ทำให้กรมชลประทานสามารถบริหารจัดการน้ำเพื่อใช้กิจกรรมด้านต่างๆอย่างเพียงพอตลอดช่วงแล้งปี59

          นายเลิศวิโรจน์ กล่าวว่า ในปี 2559 กรมชลประทานวางแผนจะดำเนินโครงการ พัฒนาแหล่งน้ำ1,110 แห่ง โดยแบ่งเป็นโครงการชลประทานขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นงานต่อเนื่อง 9 แห่ง โครงการขนาดกลาง 60 แห่ง โครงการขนาดเล็ก 173 แห่ง โครงการป้องกันและบรรเทาภัยจากน้ำ 166 แห่ง โครงการขุดลอก 695 แห่ง และโครงการ แก้มลิง7 แห่ง สามารถกักเก็บน้ำรวมกันได้ 262.31ล้าน ลบ.ม. เพิ่มพื้นที่ชลประทาน 309,475 ไร่ งบประมาณรวม 38,449.56 ล้านบาท รวมทั้งยังวางเป้าหมายดำเนินงานตามยุทศาสตร์บริหารจัดการน้ำปี2558-69 ในการพัฒนาแหล่งน้ำเพิ่มปริมาณกักเก็บให้ได้อีก 9,500 ล้าน ลบ.ม.และขยายพื้นที่ชลประทานเพิ่มอีก 8.7 ล้านไร่

จาก http://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2558

กรมชลฯ รายงานสถานการณ์น้ำล่าสุด ค่าเฉลี่ยน้ำฝนน้อยกว่าปกติ 17% ยังต้องประหยัดน้ำในหน้าแล้งต่อไป

กรมชลประทาน เปิดเผยสถานการณ์น้ำในปีนี้มีปริมาณฝนตกน้อยมาก โดยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 30 สิงหาคมที่ผ่านมา มีปริมาณฝน รวม 827.8 มิลลิเมตรน้อยกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 17 ทำให้ปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนต่างๆ ในปริมาณน้อย ซึ่งขณะนี้เขื่อนขนาดใหญ่ทั้ง 33 แห่ง มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 34,959 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่สามารถใช้การได้เพียง 11,456 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น ในส่วนการทำนาปี ซึ่งกรมชลประทานได้ให้เลื่อนการปลูกข้าวออกไปนั้น ล่าสุดเกษตรกรทำนาตามปกติแล้ว มีการเพาะปลูกข้าวในเขตชลประทานทั่วประเทศ 12.82 ล้านไร่ เก็บเกี่ยวไปแล้ว 1.2 ล้านไร่ และมีข้าวเสียหายจากภาวะภัยแล้งที่ผ่านมา 22,079 ไร่ สำหรับในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ปลูกข้าวไปแล้ว 5.35 ล้านไร่ เก็บเกี่ยวแล้ว 1.13 ล้านไร่ พบว่าได้รับความเสียหายจากภัยแล้ง 21,460 ไร่

สำหรับในปีงบประมาณ 2559 กรมชลประทานได้วางแผนดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำโดยใช้งบประมาณปกติ จำนวน 1,110 แห่ง โดยเป็นโครงการชลประทานขนาดใหญ่ที่เป็นงานต่อเนื่อง 9 แห่ง โครงการขนาดกลาง 60 แห่ง โครงการขนาดเล็ก 173 แห่ง โครงการป้องกันและบรรเทาภัยจากน้ำ 166 แห่ง โครงการขุดลอก 675 แห่ง และโครงการแก้มลิง 7 แห่ง ซึ่งสามารถกักเก็บน้ำรวมทั้งหมดประมาณ 262.31 ล้านลูกบาศก์เมตร และเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 309,475 ไร่ รวมใช้งบประมาณทั้งสิ้น 38,449.56 ล้านบาท

นอกจากนี้ กรมชลประทานยังวางเป้าหมายดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ปี 2558-2569 โดยจะพัฒนาแหล่งน้ำเพิ่มปริมาณการกักเก็บน้ำให้ได้อีกประมาณ 9,500 ล้านลูกบาศก์เมตร และขยายพื้นที่ชลประทานให้ได้อีก 8.7 ล้านไร่

จาก www.innnews.co.th    วันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2558

สถานการณ์น้ำในเขื่อนใหญ่ ฝนตกเหนือเขื่อนยังน้อย วอนประหยัดน้ำ เก็บไว้ใช้หน้าแล้งให้มากที่สุด

ส่วนประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ รายงานสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศล่าสุด (4 ก.ย. 58) มีปริมาณน้ำรวมกัน จำนวน 35,117 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 50 ของความจุอ่างฯขนาดใหญ่รวมกันทั้งหมด มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 11,614 ล้านลูกบาศก์เมตร

สถานการณ์น้ำในเขื่อนใหญ่ภาคเหนือ อาทิ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล จ.เชียงใหม่ มีปริมาณน้ำ 62 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 23 ของความจุอ่างฯ เขื่อนกิ่วลม จ.ลำปาง มีปริมาณน้ำ 25 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 24 ของความจุอ่างฯ เขื่อนภูมิพล จ.ตาก มีปริมาณน้ำ 4,366 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 32 ของความจุอ่างฯ เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีปริมาณน้ำ 3,854 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 41 ของความจุอ่างฯ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก มีปริมาณน้ำ 241 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 26 ของความจุอ่างฯ มีน้ำไหลลงอ่างฯใหญ่ภาคเหนือ รวมทั้งสิ้น 34.09 ล้านลูกบาศก์เมตร

ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ เขื่อนห้วยหลวง จ.อุดรธานี มีปริมาณน้ำ 25 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 19 ของความจุอ่างฯ เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร มีปริมาณน้ำ 232 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 45 ของความจุอ่างฯ เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ มีปริมาณน้ำ 640 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 32 ของความจุอ่างฯ เขื่อนลำตะคอง จ.นครราชสีมา มีปริมาณน้ำ 71 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 23 ของความจุอ่างฯ ฯ เขื่อนลำนางรอง จ.บุรีรัมย์ มีปริมาณน้ำ 45 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 37 ของความจุอ่างฯ อ่างฯใหญ่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีน้ำไหลลงอ่างฯใหญ่ รวมกัน 38.89 ล้านลูกบาศก์เมตร

สำหรับในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออก ที่ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มีปริมาณน้ำ 116 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 12 ของความจุอ่างฯ เขื่อนกระเสียว จ.สุพรรณบุรี มีปริมาณน้ำ 51 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 21 ของความจุอ่างฯ เขื่อนคลองสียัด จ.ฉะเชิงเทรา มีปริมาณน้ำ 47 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 11 ของความจุอ่างฯ เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก มีปริมาณน้ำ 86 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 38 ของความจุอ่างฯ

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า แม้ขณะนี้จะเข้าสู่กลางฤดูฝนแล้วก็ตาม แต่เขื่อนหลายแห่งยังคงมีน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย ซึ่งในช่วงฤดูฝนที่เหลืออีกประมาณสองเดือน กรมชลประทานและกฟผ. จะเก็บกักน้ำไว้ในเขื่อนให้ได้มากที่สุด โดยได้ประสานไปยังกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เพื่อช่วยทำฝนเทียมเติมน้ำในเขื่อนต่างๆ ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ ในช่วงฤดูแล้งหน้า พร้อมกันนี้ ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนร่วมมือกันใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อลดความเสี่ยงต่อปัญหาการขาดแคลนน้ำรุนแรง ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2558

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผลกระทบหลักของภาคเกษตร

ข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เมื่อปี 2553ระบุว่า ระบบการเกษตรร้อยละ 75 ของพื้นที่ทั้งประเทศ เป็นระบบเกษตรอาศัยน้ำฝนที่มีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและฤดูกาล จากการศึกษาสภาพความแห้งแล้งในรอบหลายร้อยปีของประเทศไทย (Buckley et al., 2007) พบว่ามีผลกระทบต่อระบบนิเวศรวมทั้งพื้นที่ป่าและระบบการเกษตร

จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงนำมา ซึ่งความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ และมีแนวโน้มว่าอาจมีความถี่มากขึ้นและความรุนแรงมากขึ้นในทุกพื้นที่ ความผันผวนในการผลิตทางการเกษตรจากสภาวะน้ำท่วมและฝนแล้งที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีและรุนแรงขึ้น ทำให้เกิดความสูญเสียและความไม่แน่นอนของผลผลิตทางการเกษตร

นายอภิชาต จงสกุล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดินกล่าวว่า จากการประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการเกษตรไทย-อินโดนีเซีย ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 3-4มิถุนายน 2556 ที่ผ่านมา ณ เมือง Solo ประเทศอินโดนีเซีย ได้มีมติที่ประชุมเห็นชอบให้ดำเนินโครงการการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคการเกษตร อันจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยและประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ทางด้านการสร้างความร่วมมือและทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ด้านงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อให้เกิดการประยุกต์ใช้และนำองค์ความรู้ไปต่อยอดศึกษาอันเป็นประโยชน์ต่อการปรับตัวและการจัดการในภาคการเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

และจากสาเหตุดังกล่าวทำให้กองนโยบายและแผนการใช้ที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน โดยกลุ่มป้องกันภัยธรรมชาติและความเสี่ยงทางการเกษตร ได้กำหนดจัดการประชุมเสวนาเรื่อง การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคการเกษตรในวันอังคารที่ 8 กันยายน 2558 เวลา 08.30-16.00 น. ณ ห้องบอลลูม ซีโรงแรมมารวย การ์เด้น กรุงเทพมหานคร โดยมีหน่วยงานภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีผลกระทบกับภาคการเกษตรเข้าร่วมการการเสวนาดังกล่าว เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอันจะก่อให้เกิดความร่วมมือและการสร้างเครือข่ายของผู้ทำงานที่เกี่ยวข้องกับการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภาคการเกษตร และเพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือ ด้านงานวิจัยทางการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคการเกษตรของประเทศไทยต่อไป

อย่างไรก็ตาม คาดว่า การประชุมในครั้งนี้จะสามารถทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่เกี่ยวข้องกับการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคการเกษตร เกิดการสร้างเครือข่ายของผู้ทำงานที่เกี่ยวข้องกับการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งมีการนำเอาองค์ความรู้ และงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่เกี่ยวข้องกับการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคการเกษตร ไปประยุกต์ใช้หรือต่อยอดการศึกษาอันจะเป็นประโยชน์ต่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคการเกษตรต่อไปในอนาคต

จาก http://www.naewna.com วันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2558

อุ้มเอสเอมอี1.02แสนล้าน นัดถกมาตรการช่วยเหลือ 3โครงการผ่านธนาคาร

          นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาห กรรม เปิดเผยว่า วันที่ 4 ก.ย.นี้ จะหารือกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ถึงมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอี เบื้องต้นคาดว่า จะใช้เงินช่วยเหลือเอสเอ็มอี 1.02 แสนล้านบาท ผ่าน 3 โครงการ  คือ โครงการสินเชื่อเพื่อการฟื้นฟูจากสถาบันการเงินทั่วไป 1 แสนล้านบาท, โครงการสตาร์อัพ นักรบใหม่เอสเอ็มอี ผ่านธนาคารออมสิน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.)  และธนาคารกรุงไทย รวม 1,500 ล้านบาท และโครงการกองทุนพลิกฟื้นเอสเอ็มอี ที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน  1,000 ล้านบาท

          "กระทรวงอุตสาหกรรม จะขอที่ ประชุม ครม. โยกงบ  1,000 ล้านบาท จากโครงการกองทุนตั้งตัวได้ ของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)  มาใช้ในกองทุนพลิกฟื้นเอสเอ็มอีฯ โดยจะร่วมกับสสว.เลือกผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่มีปัญหาทางการเงิน เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน เช่น ติดเครดิตบูโร ซึ่งส่วนนี้จะเป็นส่วนที่หนักที่สุด

          เบื้องต้นจะช่วยเหลือ 1,000 รายก่อน จากผู้ประกอบการ 10,000 ราย เช่น ส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าไปวิเคราะห์ปัญหา แก้ปัญหา ต่าง ๆ เพื่อให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ส่วนภาพรวมมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอี ที่เป็นแพ็กเกจที่ชัดเจนจะเป็นอย่างไรนั้น ต้องรอให้นายสมคิด พิจารณาอีกครั้ง"

          นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันที่ 8 ก.ย.นี้ กระทรวงการคลังจะเสนอให้ที่ประชุม ครม.พิจารณาแพ็กเกจ มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีระยะเร่งด่วน เพื่อให้เอสเอ็มอีไทยเดินหน้าต่อไปได้ โดยต้องรอให้ ครม.เห็นชอบก่อน

          นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวว่า มาตรการที่ออกมาจะช่วยให้เอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้นกว่าที่ผ่านมา โดยใช้หน่วยงานของรัฐเข้าไปช่วยค้ำประกันให้ธนาคารพาณิชย์กล้าปล่อยสินเชื่อให้เอส เอ็มอี ซึ่งถือว่าได้รับผลกระทบจากเศรษฐ กิจมาก จนส่งผลให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้น เพราะเอสเอ็มอีไม่มีรายได้มาชำระหนี้

          นอกจากนี้รัฐบาลยังเตรียมช่วยกลุ่มธุรกิจที่ตอนนี้ยังได้รับผลกระทบเศรษฐกิจไม่มาก แต่อนาคตจะมีปัญหามากขึ้น โดยเข้าไปช่วยในสาขาที่มีความสำคัญกับเศรษฐกิจ รวมถึงสาขาที่ทำให้เกิดการหมุนเวียนของในระบบเศรษฐกิจมาก ที่ผ่านมาได้พูดคุยกับกลุ่มธุรกิจ 2-3 กลุ่มแล้ว หากรัฐบาลทำให้การลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้นได้ เศรษฐกิจของประเทศก็จะโต การใช้จ่ายจะตามมา ทุกอย่างก็จะหมุนขึ้นไม่ได้หมุนลง และต้องทำทุกอย่างให้รวดเร็ว

          พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เอสเอ็มอีสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ แต่มีปัญหาเรื่องการเสียภาษี จึงทำให้เอสเอ็มอียังมาขึ้นทะเบียนไม่ครบถ้วน หากยังเริ่มจากสิ่งที่ผิด ก็จะผิดไปตลอดและเก็บภาษีได้ไม่ทั่วถึง เพราะมีปัญหาเรื่องข้อมูล จึงต้องคิดกันว่า จะทำอย่างไรให้เอสเอ็ม อีเดินหน้า ไม่กลับมามีปัญหาเหมือนเดิม เพราะทำให้เสียเวลา ต้องมารื้อทำฐานข้อมูลใหม่ โดยเอสเอ็มอีที่ระบุว่ามี  2.74 ล้านราย ถ้าชัดเจนแล้ว ก็จะนำมาจัดเข้ากลุ่ม เพื่อพัฒนาศักยภาพในแต่ละกลุ่ม ให้เดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินมาตรการเพื่อช่วยเหลือส่งเสริม สนับสนุนเอสเอ็มอีมาโดยตลอด ทั้งกลุ่มที่เกิดใหม่ กลุ่มที่เติบโต สามารถขยายกิจการในประเทศได้ กลุ่มที่ส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ และกลุ่มที่เลิกกิจการ แต่ยังมีศักยภาพทางธุรกิจทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค ให้กิจการเอสเอ็มอีเติบโต เพราะเอสเอ็มอีเป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญ ช่วยทำให้เศรษฐกิจเข้มแข็ง ซึ่งเอสเอ็ม อีรายเล็ก ต้องพัฒนาเป็นเอสเอ็มอีขนาดกลางในอนาคต จะต้องสร้างเถ้าแก่เพิ่มขึ้น ไม่ใช่เป็นเถ้าแก่ 2 วัน วันที่ 3 กิจการล้ม เพราะไม่พร้อม

          น.ส.วิมลกานต์ โกสุมาศ รักษาการผู้อำนวยการ สสว. กล่าวว่า สสว.ได้จัดทำโครงการสุดยอดเอสเอ็มอีจังหวัดขึ้น โดยคัดเลือกเอสเอ็มอีจังหวัดละ 3 ราย ครอบคลุม 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เริ่มดำเนินธุรกิจ หรือสตาร์ต อัพ, กลุ่มที่มีศักยภาพทางการตลาด หรือไรซวิ่ง สตาร์ และกลุ่มที่อยู่ในช่วงฟื้นตัว หรือ เทอร์น อะราวด์ ให้เข้าสู่กระบวนการพัฒนาศักยภาพ เพื่อให้บริหารจัดการ พัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ ให้มีผลิตภาพเพิ่มขึ้น มีทักษะความสามารถขยายตลาด และสร้างผลประกอบการเพิ่มขึ้นก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้สร้างรากฐานเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 4 กันยายน 2558

เข็น8มาตรการเก่าปลุกชีพศก. กกร.กระทุ้งรัฐตั้งทีมจังหวัด 

          นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า ที่ ประชุม กกร.มีมติเสนอให้รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมอีก 8 มาตรการ แบ่งเป็นระยะสั้น 1-6 เดือน 4 มาตรการ โดยเฉพาะการเรียกร้องให้ตั้งทีมเศรษฐกิจระดับจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และหน่วยราชการ เช่น กระทรวงพาณิชย์, คลัง, อุตสาหกรรม, คมนาคม, เกษตรและสหกรณ์, ไอซีที, การท่องเที่ยวและกีฬา และผู้แทนจาก กกร. เพื่อกระตุ้นให้เกิดการค้า การลงทุนระดับภูมิภาคมากขึ้น จากปัจจุบันการกระตุ้นเศรษฐกิจภูมิภาคยังไม่ร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว

          นอกจากนี้ ต้องเร่งเพิ่มศักยภาพเอส เอ็มอี ด้วยการลดภาษีเงินได้แก่ผู้ประกอบการ เหลือ 5-15% ตามขั้นบันได จากปัจจุบันที่ 20% เพื่อให้จูงใจการจ่ายภาษีถูกต้องตามกฎหมาย, ผลักการค้าชายแดน โดยกำหนดเป้าหมายการค้าชายแดน 2 ล้านล้านบาท ภายในปี 60 จากปัจจุบันที่ 1.4 ล้านล้านบาท, ขยายหน้าที่พาณิชย์จังหวัด เพื่อส่งเสริมการค้าชายแดน และจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้า และศูนย์เอสเอ็มอีเอาท์เล็ท ในพื้นที่ชายแดนที่มีศักยภาพ และการสร้างกำลังซื้อภายในประเทศโดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกร ได้แก่ การเร่งรัดการระบายสต๊อกข้าวอย่างน้อย 50% เพื่อที่จะได้เงินหมุนเวียนและลดค่าใช้จ่ายของรัฐ

          สำหรับระยะกลาง 6-12 เดือน ได้แก่ การสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในประเทศ เน้นสหกรณ์การเกษตร เพื่อสนับสนุนเกษตรกรทั้งด้านการผลิตและการตลาด, การปรับวิธีการสรรหาผู้แทนการค้าไทย โดยให้กกร.ร่วมในการจัดสรรหา เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้แทนของประเทศในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ โดยขึ้นตรงกับสำนักนายกรัฐมนตรี, สนับสนุนโครงการโปรดักส์ แชมเปี้ยน เพื่อยกระดับเอสเอ็มอี ให้บริหารจัดการที่ได้มาตรฐานและเติบโตสู่ตลาดหลักทรัพย์ และการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการภาครัฐ โดยสร้างกลไกพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถในการแข่ง ขันของประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพภาครัฐ ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ด้วยการอัดเงินลงสู่ท้องถิ่น 1.3 แสนล้านบาทนั้น เชื่อว่าจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และการบริโภคภายในประเทศให้ดีขึ้นได้ คาดว่าจะเห็นผลใน 3 เดือนนี้

          ด้านนายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นของรัฐบาล ด้วยการอัดฉีดเงินเข้าชุมชน 1.3 แสนล้านบาท โดยเฉพาะเงินกองทุนหมู่บ้าน ถือเป็นยาแรงที่สุดและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ตรงจุด เพราะเป็นการเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อยในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว แต่รัฐต้องกำหนดหลักเกณฑ์ในการปล่อยสินเชื่อให้รัดกุมเพื่อไม่ให้ใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ และเชื่อว่ามาตรการนี้จะไม่ทำให้เกิดปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงขึ้น เนื่องจากเงินดังกล่าวรัฐบาลรับภาระแทนประชาชนทั้งหมด.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 4 กันยายน 2558

บิ๊กฉัตรบี้กรมชลคลอดแผนกู้แล้ง ลั่น1เดือนต้องได้เรื่องอาชีพเสริมสั่ง2กรมเร่งแผนบูรณาการป้อง-แก้   

          'บิ๊กฉัตร'ขีดเส้นกรมชลฯ-กรมส่งเสริมหาอาชีพเสริมช่วยเกษตรกรฝ่าภัยแล้งให้แล้วเสร็จภายในเดือนนี้ จากนั้นต้องแจ้งเกษตรกรให้รับทราบทุกพื้นที่ หลังพบน้ำต้นทุนมีแค่ 3.6 ล้าน ลบ.ม. ไม่พอปลูกข้าวนาปรัง

          พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายและแนวทางการทำงานให้กับกรมชลประทานและกรมส่งเสริมการเกษตร ว่า ทั้ง 2 หน่วยงานจะต้องเป็นแม่งานหลักบูรณา การทุกหน่วยงานทั้งในและนอกกระทรวงในการป้องกันและแก้ไขปัญหาสถานการณ์ภัยแล้งที่จะเกิดขึ้น เพื่อร่วมกันกำหนดแผนปฏิบัติให้ชัดเจน ถ้าฝนตกไม่เพียงพอที่จะเก็บกักเพื่อใช้ในแล้งหน้า จะมีทางเลือกใดในการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร ไม่ใช่เพียงแค่ประกาศว่าไม่มีน้ำเพียงพอเพื่อจัดสรรเท่านั้น ซึ่งแผนดังกล่าวจะต้องมีความชัดเจนภายในเดือนกันยายนนี้ และแจ้งไปยังระดับพื้นที่ให้ถึงเกษตรกรตั้งแต่เดือนตุลาคมนี้เป็นต้นไป เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นให้น้อยที่สุด

          นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรม ชลประทาน กล่าวว่า กรมจะต้องติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดเพื่อนำข้อมูลทั้งหมดมาประเมินผลเพื่อร่วมกันวางแผนเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2558/59 เบื้องต้นคาดว่าเขื่อนขนาดใหญ่ที่สำคัญทั้ง 4 แห่ง ประกอบด้วย ภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน และป่าสักชลสิทธิ์ จะสามารถเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง หรือตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2558-30 เมษายน 2559 รวม 3,600 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) น้อยกว่าปีที่ผ่านมาที่เก็บได้ถึง 6,700 ล้าน ลบ.ม. โอกาสที่จะทำนาปรังจึงมีน้อยมาก แต่การประกาศห้ามทำนาปรังจะต้องมีมาตรการอื่นเข้ามาเสริม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างหารือ จากนั้นก็จะเสนอให้ พล.อ.ฉัตรชัย พิจารณาและประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป

          "ขณะนี้บางจุดมีการเก็บเกี่ยวข้าวนาปีไปแล้ว กรมจึงได้ขอความร่วมมือไม่ให้ปลูกใหม่ เพราะต้องการใช้น้ำที่มีอยู่สนับสนุนเกษตรกรที่ยังไม่สามารถปลูกข้าวได้กว่า 2.2 ล้านไร่ ให้ปลูกพืชชนิดอื่นที่ใช้น้ำน้อย เพราะวัตถุประสงค์ของ กรมต้องการให้พื้นที่เกษตรกรในลุ่มเจ้าพระยา 22 จังหวัด 7.4 ล้านไร่ สามารถปลูกพืชได้อย่างน้อย 1 ครั้ง" นายเลิศวิโรจน์กล่าว

          นายเลิศวิโรจน์กล่าวว่า ปริมาณน้ำ 3,677 ล้าน ลบ.ม.นั้นต้องแบ่งไว้ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค 1,100 ล้าน ลบ.ม. ใช้เพื่อรักษาระบบนิเวศ 1,400 ล้าน ลบ.ม. สำรองไว้เพื่อต้นฤดูฝน 1,100 ล้าน ลบ.ม. ที่เหลือ 177 ล้าน ลบ.ม. จะใช้เพื่อประโยชน์ทางด้านการเกษตร โดยจะให้ความสำคัญต่อการปลูกผักผลไม้ก่อน ทั้งนี้ เพื่อให้มาตรการงดปลูกข้าวนาปรังได้ผล ไม่มีการขโมยน้ำเพื่อทำการเพาะปลูกอย่างที่เคยเกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา กรมชลประทานจะขอความร่วมมือกับ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นเพื่อให้งดการสูบน้ำจากสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าทั้งหมดรวม 355 แห่ง ซึ่งกรมชลประทานจะพิจารณาจัดรอบเวรการสูบน้ำในบางจุดได้ตามแผนเท่านั้น

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 4 กันยายน 2558

กระทรวงอุตฯชง'รองฯสมคิด' เสนอมาตรการช่วยเอสเอ็มอี

นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้ กระทรวงอุตฯ ได้เตรียมมาตรการช่วยเหลือฟูวิสาหกิจขนาดกลางและย่อ(เอสเอ็มอี)ที่จะเสนอนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้ (4 ก.ย.58) พิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนที่จะสรุปเป็นแพคเกจในการช่วยดำเนินการเพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 8 ก.ย.นี้ โดยในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมเบื้องต้นจะเสนอแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับเอสเอ็มอีที่ประสบปัญหาประมาณ 10,000 ราย โดยร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม(สสว.)

สำหรับแผนเบื้องต้นในแพคเกจช่วยเหลือเอสเอ็มอีของรัฐบาลจะประกอบด้วย 4 ด้านได้แก่ การเงิน การคลัง การเพิ่มรายได้ และมาตรการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน โดยในส่วนของด้านการเงินกรอบใหญ่จะแบ่งเป็น 3 แนวทางคือ 1. สินเชื่อเพื่อการฟื้นฟูจากสถาบันการเงินวงเงิน 1 แสนล้านบาท 2.กองทุนพลิกฟื้นSMEsที่ประสบปัญหาทางการเงิน 1,000 ล้านบาท และ3.กองทุนสตาร์ทอัพนักรบใหม่ วงเงิน 1,500 ล้านบาทซึ่งจะเป็นการพัฒนาเอสเอ็มอีใหม่ๆ

ทั้งนี้ ในส่วนของกระทรวงอุตฯเสนอช่วยเหลือเอสเอ็มอี 10,000 รายโดยให้สสว.คัดเลือกและแยกกลุ่มเอสเอ็มอีดังกล่าวออกเป็น 3 กลุ่มได้แก่ 1 เอสเอ็มอีที่ประสบปัญหาทางการเงินค่อนข้างมากหรือค่อนข้างวิกฤต 10% ก็จะต้องช่วยเหลือระยะด่วนในทุกๆด้าน โดยเฉพาะทางด้านการเงินซึ่งจะมีการดึงเงินมาจากสสว.ที่เดิมได้รับงบประมาณมาดำเนินกองทุนตั้งตัวได้ 1,000 ล้านบาทโดยจะขอครม.อนุมัติโยกงบมาตั้งเป็นกองทุนพลิกฟื้น เอสเอ็มอี ที่ประสบปัญหาการเงิน  2.เอสเอ็มอีที่มีปัญหาไม่มาก 40% ก็จะต้องเยียวยา 3.เอสเอ็มอี 50% มีปัญหาไม่มากแต่ต้องการพัฒนา

สำหรับการพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรม(Cluster) 7 กลุ่มที่จะต้องเชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัย เชื่อมโยงกับเอสเอ็มอีและธุรกิจท้องถิ่น ฯลฯ นั้นจะมีการเสนอให้นายสมคิดพิจารณาในสัปดาห์ต่อไปโดยจะมองการพัฒนาพื้นที่ของแต่ละอุตสาหกรรม ส่วนงานเร่งด่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมที่สำคัญได้แก่ การปรับโครงสร้างอ้อย การแก้ไขปัญหาผังเมืองที่มีผลกระทบต่อการขยายโรงงาน ศูนย์ทดสอบรถยนต์ การใช้งบประมาณขนาดเล็กไม่เกิน 1 ล้านบาท ระยะกลางได้แก่ การกำจัดกากอุตสาหกรรม น้ำเสีย

จาก http://www.naewna.com วันที่ 3 กันยายน 2558

สร้างงาน สร้างอาชีพแก้ภัยแล้ง 5 ล้านไร่

นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า จากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินโครงการสร้างรายได้ และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชน เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง โดยสนับสนุนให้ชุมชนเกษตรเป็นผู้กำหนดกิจกรรมการเกษตร ที่สอดคล้องกับความต้องการและเป็นผู้บริหารจัดการโครงการ ให้เกิดผลสำเร็จอันจะนำไปสู่การพัฒนาการเกษตรของชุมชนอย่างยั่งยืน ในพื้นที่ทำการเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง จำนวน 3,051 ตำบล ใน 58 จังหวัด ด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการเกษตรและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของชุมชนนนั้นนับเป็นการช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งได้ในระยะยาว

โดยมีศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล (ศบกต.) เป็นตัวแทนของชุมชนขอรับการสนับสนุนงบประมาณ และค่าจ้างแรงงานโดยเริ่มโครงการฯ ตั้งแต่เดือน ก.พ. และสิ้นสุดการดำเนินงานเดือน มิ.ย. 2558 และมีการบูรณาการภาครัฐ 3 หน่วยงานหลัก คือ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้การบริหารโครงการมีความโปร่งใสและเป็นธรรม

ทั้งนี้ มีชุมชนที่เสนอขอร่วมโครงการรวม 6,598 โครงการ แบ่งตามลักษณะกิจกรรม คือ การจัดการแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร การผลิตทางการเกษตรและการแปรรูปผลผลิตเกษตร การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และการจัดการเพื่อลดความสูญเสียผลผลิตเกษตร เป็นแรงงานและครัวเรือนเกษตรกรที่ได้รับมีจำนวนเกษตรกรผู้ใช้แรงงาน 931,514 ราย ได้แรงงาน 4,510,751 แรง และมีจำนวนครัวเรือนเกษตรกรที่ได้รับประโยชน์ 2,753,383 ครัวเรือน

ที่สำคัญการดำเนินโครงการนี้ ก่อให้เกิดผลจากการดำเนินกิจกรรมที่สำคัญ คือ การจัดการแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร สามารถช่วยรองรับพื้นที่การเกษตรได้ทั้งหมด 5,279,538 ไร่ กิจกรรมการผลิตทางการเกษตรและแปรรูปผลผลิตเกษตรเพื่อสร้างรายได้ในฤดูแล้งของชุมชน ช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร จำนวน 233,137,788 บาท

กิจกรรมการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ทำให้ได้ปุ๋ยอินทรีย์/ปุ๋ยชีวภาพ จำนวน 32,625 ตัน เกิดลานตากผลผลิตการเกษตร จำนวน 1,360 ลาน ขนาดรวม 567,695 ตารางเมตร และสามารถรองรับผลผลิตสดได้ 1,638,607 ตัน และกิจกรรมการจัดการเพื่อลดความสูญเสียผลผลิตเกษตร เกิดศูนย์จัดการศัตรูพืช จำนวน 131 ศูนย์ สามารถรองรับการจัดการศัตรูพืชได้ 91,700 ไร่ และเกิดโรงเรือนรวบรวม/คัดแยก/บรรจุ ผลผลิตเกษตร จำนวน 144 แห่ง รองรับผลผลิตเกษตรได้ 15,000 ตันนับได้ว่าโครงการสร้างรายได้ฯ

นอกจากจะเป็นโครงการที่ช่วยกู้วิกฤติภัยแล้งแล้ว ยังช่วยบรรเทาแก้ปัญหาระบบการผลิตทางการเกษตร ก่อให้เกิดงานในชุมชน สร้างรายได้ให้เกษตรกร พัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างเห็นได้ชัดและเป็นรูปธรรมอีกด้วย.“

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 3 กันยายน 2558

ลุ้นระทึกโรงงานที่ชลบุรีเสี่ยงน้ำขาด

ภัยแล้งเล่นงานพื้นที่จ.ชลบุรี อ่างเก็บน้ำบางพระและหนองค้อ กำลังเข้าสู่ขั้นวิกฤติน้ำใช้งานเหลือแค่ก้นอ่าง หวั่นกระทบโรงงานเกือบ 5 พันแห่ง ส่อขาดแคลนน้ำไม่เกิน 2 สัปดาห์ “อีสท์วอเตอร์” แก้ปัญหาระดมจัดหาน้ำในบ่อดินและสูบน้ำจากแม่น้ำบางปะกงมาเสริม ขณะที่กรมชลฯ เผย 4 ช่องทางแผนรับมือแก้วิกฤติน้ำขาด ลุ้นก.ย.-ต.ค.นี้ ฝนมาช่วย ขณะที่ภาคเอกชนกางแผนรับมือ

ปัญหาภัยแล้งในช่วงที่ผ่านมา แม้ว่าจะผ่านพ้นไปแล้ว เนื่องจากหลายพื้นที่มีฝนตก ส่งผลให้ปริมาณน้ำตามอ่างเก็บน้ำต่างๆ เริ่มเพิ่มสูงขึ้น สามารถปล่อยน้ำได้ตามแผนบริหารจัดการที่วางไว้โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดระยองที่เคยเจอประสบการณ์จากวิกฤติน้ำเมื่อปี 2548 มาแล้ว ล่าสุดปริมาณน้ำที่เข้า 3 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ อย่างอ่างเก็บน้ำดอกกราย หนองปลาไหล และคลองใหญ่ มีปริมาณน้ำเพียงพอที่จะบริหารจัดการน้ำให้กับภาคอุตสาหกรรมไปจนถึงปีหน้า

 แต่ในทางกลับกันพื้นที่จังหวัดชลบุรีที่อาศัยน้ำทั้งอุปโภคบริโภค และภาคอุตสาหกรรมใน 7 อ่างเก็บน้ำหลัก พบว่ากำลังเข้าสู่วิกฤติภัยแล้งที่เกิดขึ้น จากปริมาณฝนทิ้งช่วงทำให้น้ำในอ่างต่างๆ มีปริมาณน้ำใช้งานเหลือน้อยเต็มที

อ่างเก็บน้ำหลักชลบุรีวิกฤติ

นายบวร วงศ์สินอุดม ประธานสภาบันน้ำเพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยกับ”ฐานเศรษฐกิจ”ว่า จากปริมาณน้ำฝนที่ตกล่าช้าในพื้นที่จังหวัดชลบุรีในช่วงที่ผ่านมาได้ส่งผลให้ปริมาณน้ำใน 2 อ่างหลัก ได้แก่ อ่างเก็บน้ำบางพระและอ่างเก็บน้ำหนองค้อมีปริมาณน้ำใช้อยู่ในขั้นวิกฤติ โดยอ่างบางพระ ณ วันที่ 1กันยายน 2558 มีปริมาณน้ำอยู่ที่ระดับ 13.8 ล้านลบ.ม.แต่ใช้งานได้ประมาณ 2 ล้านลบ.ม. ส่วนอ่างเก็บน้ำหนองค้อมีปริมาณน้ำในช่วงเดียวกันอยู่ที่ 1.58 ล้านลบ.ม แต่มีน้ำใช้งานได้เพียง 0.58 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งหากไม่มีปริมาณน้ำมาเติมในอ่าง จะทำให้เหลือน้ำใช้งานได้ไม่เกิน 2 สัปดาห์ เนื่องจากในพื้นที่จังหวัดชลบุรีมีการใช้น้ำโดยรวมทุกภาคส่วนเฉลี่ยสัปดาห์ละ 1 ล้านลูกบาศก์เมตร

ทั้งนี้ส.อ.ท.ได้มีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และได้มีการแจ้งเตือนสมาชิกให้มีการสำรองน้ำไว้ใช้ หากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นมา โดยเฉพาะการแก้ปัญหาได้ฝากความหวังไว้ที่บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออกจำกัด(มหาชน) หรืออีสท์วอเตอร์ ซึ่งมีแผนที่จะผันน้ำจากแม่น้ำบางปะกง และกรมชลประทาน ผันน้ำจากคลองพระองค์ไชยานุชิต ในช่วงสัปดาห์นี้ มาลงอ่างเก็บน้ำบางพระว่าจะสามารถดำเนินการได้มากน้อยเพียงใด เพราะการสูบน้ำจากแม่น้ำบางปะกงจะต้องตรวจสอบระดับความเค็มของน้ำ และต้องขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำบางปะกงด้วยว่าจะไม่มีปัญหาการแย่งน้ำจากภาคการเกษตรเกิดขึ้น

สูบน้ำบางปะกงช่วย

นายเจริญสุข วรพรรณโสภาค รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายปฏิบัติการ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสท์วอเตอร์ เปิดเผยว่า จากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำบางพระและหนองค้อ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำหลักของจังหวัดชลบุรีอยู่ในระดับต่ำมีปริมาณน้ำใช้งานเหลือประมาณ 2 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเกิดจากฝนทิ้งช่วงทำให้ที่ผ่านมาไม่มีปริมาณน้ำเข้าอ่าง ในขณะที่ความต้องการใช้ในพื้นที่ชลบุรีมีอยู่ประมาณ 2 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยอ่างเก็บน้ำบางพระส่วนใหญ่จะถูกใช้สำหรับการทำน้ำประปาของ การประปาชลบุรีกว่า 1 แสนลบ.ม.ต่อวัน ส่วนใหญ่ป้อนให้กับภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งส่งให้กรมชลประทาน เพื่อนำไปเข้าสู่ระบบผลิตประปาพื้นที่ต่างๆ และการเกษตร และอีกส่วนส่งให้กลุ่มบริษัท ไทยออยล์ฯ และโรงไฟฟ้าบางปะกง

ทั้งนี้ แม้ว่าปริมาณน้ำทั้ง 2 อ่างจะเหลือน้อยก็ตาม หากไม่มีการเติมน้ำในอ่าง ก็จะมีน้ำเหลือป้อนให้กับพื้นที่ชลบุรีได้ประมาณ 1-2 สัปดาห์เท่านั้น แต่การแก้ปัญหาทางอีสท์วอเตอร์ได้มีการจัดซื้อน้ำบ่อดินจากภาคเอกชนเข้ามาเสริมแล้วในประมาณ 8 หมื่นลบ.ม. ต่อวัน พร้อมกับสูบน้ำจากแม่น้ำบางปะกงอีก 6 หมื่นลบ.ม.ต่อวัน เพื่อมาลงอ่างบางพระ ขณะที่กรมชลประทานก็มีแผนที่จะผันน้ำจากคลองพระองค์ไชยานุชิตมาช่วยอีกส่วนหนึ่ง และอยู่ระหว่างก่อสร้างท่อส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหลระยะทางกว่า 20 กิโลเมตร ใช้งบลงทุนกว่า 700 ล้านบาท ที่จะแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 2559 ซึ่งจะช่วยส่งน้ำมาชลบุรีได้เพิ่มมากขึ้น

กรมชลฯลุ้นฝนก.ย.-ต.ค.

นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดี กรมชลประทาน เปิดเผยว่า ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี มีอ่างเก็บน้ำทั้งหมด 7 อ่างหลัก(ดูตาราง) ที่ขณะนี้แต่ละอ่างเก็บน้ำ มีปริมาณน้ำอยู่ในระดับวิกฤติ บางอ่างต้องเฝ้าระวัง และต้องลุ้นว่าในเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคมนี้จะมีปริมาณน้ำเข้าอ่างเก็บน้ำมากน้อยแค่ไหน เพราะตามปกติ 2 เดือนนี้จะเป็นช่วงที่มีปริมาณฝนตกชุก หากฝนตกและมีปริมาณน้ำตกถึงอ่างเก็บน้ำก็ประเมินว่าจะมีน้ำเพียงพอ

อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 21 สิงหาคมที่ผ่านมาประเมินว่าอ่างเก็บน้ำมาบประชัน, อ่างเก็บน้ำห้วยขุนจิต, อ่างเก็บน้ำหนองกลางดง, อ่างเก็บน้ำชากนอก และอ่างเก็บน้ำห้วยสะพาน มีปริมาณน้ำรวมกันอยู่ที่ 13 ล้านลบ.ม. และคาดว่าจนถึงเดือนตุลาคมนี้จะมีปริมาณน้ำเข้ามาอีกราว 5 ล้านลบ.ม. จากที่ทุกภาคส่วนในพื้นที่จังหวัดชลบุรีมีการใช้น้ำราว 7 หมื่นลบ.ม.ต่อวันก็น่าจะเพียงพอ ส่วนอ่างเก็บน้ำบางพระจะเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สุดในพื้นที่จังหวัดชลบุรี จะมีปริมาณความจุอ่างอยู่ที่ 117 ล้านลบ.ม. ถ้ามีน้ำ 50% ของความจุอ่างก็อยู่ได้สบาย

“ขณะนี้กรมชลประทานประเมินว่าเบื้องต้นปริมาณน้ำในพื้นที่ชลบุรียังอยู่ในภาวะเพียงพอแต่ยังต้องติดตามปริมาณฝนในช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคมด้วย เนื่องจากเวลานี้ในพื้นที่ภาคตะวันออก มีปริมาณฝนต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย 28% ถือว่าน้อยที่สุดในรอบ 10 ปี นับจากปี 2548 ที่ภาคตะวันออกเผชิญปัญหาปริมาณฝนวิกฤติครั้งรุนแรง แต่ครั้งน้ำไม่กระทบพื้นที่จังหวัดระยองเนื่องจากประสบการณ์ปี 2548 ทำให้มีการบริหารจัดการน้ำที่ดีขึ้นโดยเฉพาะการวางท่อเชื่อมโยงระหว่างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่จังหวัดระยองและจังหวัดใกล้เคียง”

แผนรับมือแก้วิกฤติน้ำขาด

นายบุญสม ยุติธรรมภิญโญ หัวหน้าจัดสรรน้ำ โครงการชลประทานชลบุรี กล่าวว่า อ่างเก็บน้ำหลัก 7 อ่างเริ่มมี 2 อ่างหลักที่เข้าข่ายวิกฤติแล้วคืออ่างเก็บน้ำบางพระ กับอ่างเก็บน้ำหนองค้อที่ระดับน้ำต่ำกว่าเกณฑ์มาก(ดูตาราง) ส่วนอีก 5 อ่างเก็บน้ำที่เหลือ ณ วันที่ 1 กันยายน 2558 ยังไม่วิกฤติแต่ต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากอ่างเก็บน้ำดังกล่าวในแต่ละปีจะจัดสรรให้กับการอุปโภคบริโภคมากที่สุดถึง 67% และน้ำเพื่ออุตสาหกรรม 20% ที่เหลือเป็นการจัดสรรน้ำเพื่อการเกษตรและรักษาระบบนิเวศน์

อย่างไรก็ตาม หากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทุกแห่งในพื้นที่ชลบุรีวิกฤติ จะมีแนวทางช่วยเหลือ 4 ช่องทาง คือ 1.ลุ้นปริมาณฝนตกที่เข้ามาในเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม 2. อ่างเก็บน้ำที่ยังไม่วิกฤติจำนวน 5 อ่าง ถ้าไม่มีฝนตก จะใช้น้ำได้ถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้ ส่วนอีก 2 อ่างที่วิกฤติแล้ว ถ้าไม่มีฝนเข้ามาก็จะผันน้ำจากแม่น้ำบางปะกง จ.ฉะเชิงเทราเข้ามาที่อ่างเก็บน้ำบางพระ ซึ่งต้องได้รับการอนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทราก่อน เนื่องจากเป็นทางน้ำสาธารณะไม่ได้ขึ้นตรงกับกรมชลประทาน 3.ขณะนี้มีแหล่งน้ำเอกชนจำนวน 5 สระในพื้นที่จังหวัดชลบุรี เป็นบ่อดินขนาดใหญ่ของบริษัท ชลกิจสากล จำกัด รวมปริมาณน้ำมีความจุทั้งสิ้น 15 ล้านลบ.ม. ที่จะขายให้อีสท์วอเตอร์เพื่อป้อนระบบประปาและเพื่ออุตสาหกรรม 4.อีสท์วอเตอร์จะสูบน้ำจากจ.ระยองมายังพัทยา แหลมฉบัง

เอกชนกางแผนสู้

ด้านภาคเอกชนนายอธิคม เติบศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด(มหาชน) หนึ่งในผู้ใช้น้ำ กล่าวว่า ขณะนี้ทางบริษัทได้มีการเตรียมความพร้อมไว้แล้วสำหรับปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้น โดยเตรียมสำรองน้ำดิบไว้ในถังน้ำมันดิบขนาดความจุกว่า 100 ล้านลิตร และยังมีหน่วยกลั่นน้ำทะเลเป็นน้ำจืดสำรอง โดยปัจจุบันกลุ่มของบริษัท ไม่ว่าจะเป็นโรงกลั่นน้ำมัน ปิโตรเคมี และไฟฟ้า มีความต้องการใช้น้ำประมาณ 1.5 หมื่นลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยได้นำน้ำจากการกลั่นน้ำทะเลเป็นน้ำจืดในสัดส่วน 30% ของความต้องการ และอีก 70% จะซื้อมาจากอีสท์วอเตอร์

ทั้งนี้ หากอีสท์วอเตอร์ไม่สามารถส่งน้ำดิบให้ได้ ทางบริษัท ก็จำเป็นต้องเดินเครื่องกลั่นน้ำทะเลเป็นน้ำจืดเพิ่มขึ้นเป็น 100% แต่ก็ยังไม่เพียงพอเพราะ 1 ชั่วโมงกลั่นน้ำจืดได้เพียง 400 ลบ.ม.ต่อชั่วโมง ซึ่งยังขาดอยู่อีก 200 ลบ.ม.ต่อชั่วโมงก็จะนำน้ำดิบที่สำรองไว้ 100 ล้านลิตรมาใช้ ซึ่งทั้ง 2 มาตรการนี้จะทำให้กลุ่มบริษัทมีน้ำใช้ได้ประมาณ 1 เดือน และเชื่อว่าทางอีสท์วอเตอร์และกรมชลประทานจะแก้ปัญหาในการเติมน้ำได้

ด้านนายจักรรัฐ เลิศโอภาส รองผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) กล่าวว่า สำหรับนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ในความรับผิดชอบของกนอ.จะอยู่ที่นิคมฯแหลมฉบัง ซึ่งมีลูกค้ากว่า 100 ราย ใช้น้ำมันวันละประมาณ 2.5 หมื่นลบ.ม. จะไม่ได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ชลบุรี เนื่องจากทางอีสท์วอเตอร์ได้วางท่อส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล ดอกกราย และคลองใหญ่ มายังนิคมฯโดยตรง ซึ่งทั้ง 3 อ่างยังมีปริมาณน้ำใช้งานอีกมากกว่า 95 หมื่นลบ.ม. ซึ่งยังเพียงพอกับภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดรอยงหรือที่มาบตาพุด ดังนั้น จึงไม่มีความน่าห่วงแต่อย่างใด

ข้อมูลจากอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรีระบุว่า ปัจจุบันจังหวัดชลบุรี มีจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมทั้งสิ้น4,874 โรงงาน แบ่งเป็น โรงงานที่ตั้งอยู่นอกนิคมอุตสาหกรรม 3,745 โรงงาน และตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม 1,129 โรงงาน และมี นิคมอุตสาหกรรม 5 แห่ง กับอีก 1 เขตประกอบการ ประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร, นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง, นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง 1, 2, 3, นิคมอุตสาหกรรมเหมราช ชลบุรี, นิคมอุตสาหกรรมเหมราช อีสเทิร์นซีบอร์ด(ในส่วนนี้เป็นพื้นที่คาบเกี่ยวกับจ.ระยองมีโรงงานในฝั่งชลบุรีไม่ถึง 10 โรง) และเขตประกอบการสวนหนองบอน โดยประเภทอุตสาหกรรมที่ตั้งในพื้นที่ดังกล่าวจะประกอบด้วย ปิโตรเคมี ผลิตภัณฑ์โลหะ อาหาร และชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 3 กันยายน 2558

'พล.อ.ฉัตรชัย'สั่งกรมชลฯจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำ

"พล.อ.ฉัตรชัย" รมว.เกษตรฯ สั่งกรมชลประทาน จัดทำแผนบริหารจัดการน้ำ เพื่อรองรับฤดูกาลเพาะปลูกปี 2559

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะเดินทางมาตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายกรมชลประทาน และกรมส่งเสริมสหกรณ์การเกษตร โดยมีนายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงและข้าราชการกรมชลประทาน รวมทั้งผู้บริหารกรมส่งเสริมสหกรณ์การเกษตรคอยให้การต้อนรับ

ทั้งนี้ ภายหลังมอบนโยบายให้ข้าราชการทั้ง 2 กรม พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า ได้เน้นย้ำให้กรมชลประทานวางแผนเรื่องการจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากน้ำไม่พอหรือฝนตกน้อยจะมีแผนรับมืออย่างไรในการเพาะปลูกฤดูกาลหน้า โดยจะให้จัดทำเป็นแผนที่ชัดเจนภายใน 1 เดือนนับจากนี้ เพื่อจะนำไปสู่ภาคปฏิบัติจริงในเดือนตุลาคมนี้

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวถึงแผนการจัดการน้ำแห่งชาติว่า จะต้องจัดทำให้สำเร็จและเตรียมแหล่งน้ำต้นทุน เพื่อรองรับฤดูกาลเพาะปลูกปี 2559 นอกจากนี้ กรมชลประทานและกรมส่งเสริมสหกรณ์การเกษตรจะต้องทำโครงการปีงบประมาณ 2559 ให้โปร่งใสทุกโครงการ ที่สำคัญจะต้องตอบคำถามประชาชนให้ได้ว่า ประชาชนจะได้รับประโยชน์อย่างไรจากโครงการนั้น ๆ

“กรมชลประทานแจ้งว่าปี 2558 สามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้กว่า 870,000 ไร่ และตั้งเป้าจะขยายให้ได้อีก 8.7 ล้านไร่ตามแผนยุทธศาสตร์ที่วางไว้ ส่วนสถานการณ์น้ำฤดูแล้งปี 2558-2559 นั้น เป็นห่วงลุ่มน้ำเจ้าพระยา-แม่กลอง ซึ่งจะต้องเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด” พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว

จาก http://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 3 กันยายน 2558

'บิ๊กฉัตร'สั่งเกษตรสู้ภัยแล้ง ส่งเสริมอาชีพอื่นแทนทำนาปรังงานด่วนลดต้นทุนผลิตเห็นผล6ด.   

          พล.อ.ฉัตรชัยสั่งทำความเข้าใจประชาชนรับมือภัยแล้ง วางแผนบริหารจัดการเกษตร ลุ้นน้ำหลังฤดูฝน หากไม่พอต้องประกาศงดปลูกข้าวนาปรัง กรมส่งเสริมต้องหามาตรการให้เกษตรกรทำอย่างอื่นแทน เผยงานด่วนลดต้นทุนการผลิต ปรับปรุงฐานข้อมูลเกษตรกร ผลักดันทฤษฎีใหม่ทั่วประเทศ 6 เดือนเห็นผล

          พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังการประชุมร่วมกับผู้บริหารระดับสูงกระทรวงเกษตรฯว่า ได้สั่งการให้กรมชลประทานและกรมฝนหลวงและการบินเกษตรฯ ติดตามสถานการณ์น้ำ พร้อมกับทำความเข้าใจกับประชาชนให้เตรียมพร้อม หากกรณีที่น้ำต้นทุนในเขื่อนมีไม่มากพอในช่วงฤดูแล้งปี'58 ที่กำลังจะมาถึง รวมทั้งขอให้วางแผนการบริหารจัดการด้านการเกษตร โดยให้วางแผนว่าอีก 3-6 เดือนข้างหน้าหากปริมาณน้ำเหลือเท่านี้จะมีการจัดการอย่างไร ทั้งนี้ สถานการณ์ปริมาณน้ำต้องรอดูข้อมูลน้ำหลังจากสิ้นฤดูฝนก่อน ซึ่งหากข้อมูลชัดเจนว่าน้ำไม่เพียงพอ และจะต้องประกาศขอความร่วมมือเกษตรกรให้งดปลูกข้าวทำนาปรังอีก ก็ได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการเกษตรเตรียมหามาตรการช่วยเกษตรกรให้ทำอย่างอื่นแทนการปลูกข้าวรองรับไว้แล้ว

          "ยอมรับว่า ฤดูแล้งที่จะมาถึงนั้น ปัญหาน่าจะลำบาก เพราะตอนนี้ทุกอย่างส่งสัญญาณว่า ปริมาณต้นทุนน้ำจะไม่เพียงพอต่อฤดูแล้งที่จะมาถึง แต่คงต้องรอดูปริมาณฝนหลังฤดูฝนอีกสักนิด" พล.อ.ฉัตรชัยกล่าว

          พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวว่า ส่วนแผนบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลในปี 2558-2560 นั้น อาจจะต้องตรวจสอบด้วยว่า จากงบประมาณและแผนปฏิบัติดังกล่าวที่ทำไปนั้น มีผลสัมฤทธิ์มากน้อยเพียงใด เบื้องต้นทราบว่า บางพื้นที่เริ่มพัฒนาแหล่งเก็บน้ำเสร็จไปมากแล้ว แต่ยังมีบางพื้นที่ยังสร้างไม่เสร็จ โดยในปี 2559 จะพยายามผลักดันงบประมาณและโครงการการบริหารจัดการน้ำให้มากที่สุด

          พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้กระทรวงเกษตรฯเร่งเพิ่มแหล่งน้ำในพื้นที่ไร่นา หาวิธีเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้มากขึ้น และการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ โดยกระทรวงเกษตรฯได้ประสานงานกับตำบล และกระทรวงมหาดไทย ให้เสนอโครงการเพื่อขอรับงบประมาณไป ซึ่งมาตรการดังกล่าว ได้ผ่านมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)แล้ว โดยจะนำงบประมาณไปให้ตำบลละ 5 ล้านบาท เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำมากขึ้น ซึ่งน่าจะมีส่วนช่วยเกษตรกรในการเก็บกักน้ำและทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในพื้นที่มากขึ้น

          พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวว่า สำหรับภารกิจเร่งด่วนอื่นๆ ที่กระทรวงเกษตรฯจะเร่งปฏิบัติ คือ 1.การลดต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรให้เห็นผลชัดเจนให้ได้ โดยจะดำเนินการอย่างเข้มข้นในปีงบประมาณ 2559 2.การปรับปรุงฐานข้อมูลเกษตรกร โดยมอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรจัดทำแบบฟอร์มการสำรวจข้อมูลเกษตรกรในส่วนที่ยังไม่ครบถ้วน โดยเฉพาะเรื่องหนี้สินเกษตรกร เครื่องมือเครื่องจักรด้านการเกษตร ซึ่งในส่วนของข้อมูลที่ต้องการรวมถึงแบบฟอร์มดำเนินการจะเร่งให้สรุปมานำเสนอภายใน 1 สัปดาห์ 3.การขับเคลื่อนการดำเนินงานในส่วนภูมิภาคในระดับจังหวัดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และ 4.การส่งเสริมและผลักดันการใช้แนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ไปยังเกษตรกรให้ครอบคลุมในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ตั้งเป้าหมายต้องเห็นผลที่ชัดเจนภายใน 6 เดือน

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 3 กันยายน 2558

จ่อคลอดประกันโลจิสติกส์

คาดเบี้ยประกันภัยขนส่งทางทะเลแผ่ว ตามการส่งออกที่ไม่ฟื้นตัว แนะธุรกิจมองหาตลาดใหม่ จ่อคลอดกรมธรรม์ประกันโลจิสติกส์ต้นปี 2559 แต่เบี้ยอาจแพงขึ้น

นายนพดล มีสุขเสมอ คณะกรรมการประกันภัยทางทะเลและโลจิสติกส์ สมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2558 คาดว่ามีแนวโน้มชะลอตัว โดยมีปัจจัยลบจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ซึ่งส่งผลต่อภาคการส่งออกของไทยไปต่างประเทศ ทั้งนี้ สมาคมคาดว่าเศรษฐกิจปีนี้จะขยายตัวได้ประมาณ 2.8% ต่ำกว่าคาดการณ์ในช่วงต้นปี

สำหรับภาพรวมการประกันภัยขนส่งสินค้าระหว่างประเทศในปลายปี คาดว่าจะลดลง เพราะได้รับผลกระทบจากการเติบโตของการส่งออกที่คาดว่าจะลดลง ซึ่งเป็นไปตามสภาวะของตลาด ดังนั้นภาคธุรกิจประกันภัยจึงควรมองหาโอกาสในการทำตลาดใหม่ๆ หรือขยายไปในตลาดไปที่ธุรกิจประกันภัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอยู่ในประเภทของการประกันภัยทางทะเลและขนส่ง รวมถึงการพัฒนาการให้บริการในกลุ่มลูกค้าเดิมให้ดียิ่งขึ้น

โดยเบี้ยประกันภัยทางทะเลมีประมาณ 4% ของเบี้ยประกันวินาศภัยทั้งระบบที่มีประมาณ 2 แสนล้านบาท

นายนพดลกล่าวว่า สมาคมมีแผนพัฒนาแบบประกันภัยโลจิสติกส์ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ซึ่งจะให้ความคุ้มครองที่ครอบคลุมกว่าในปัจจุบัน โดยจะให้ความคุ้มครองในทุกขั้นตอนของการขนส่งทั้งหมด จากปัจจุบันที่คุ้มครองเพียงความรับผิดภายนอกเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ยังมีแนวคิดในการปรับเบี้ยให้สอดคล้องกับอัตราเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น

โดยปัจจุบันแบบประกันภัยโลจิสติกส์อยู่ระหว่างการพัฒนารูปแบบ คาดว่าภายในต้นปี 2559 จะเปิดตัวได้.

จาก http://www.thaipost.net วันที่ 3 กันยายน 2558

ชงรัฐเพิ่มมาตรการฟื้น ศก.กกร.ฉายภาพแนวทางแก้วิกฤติระยะสั้น 4 ด้าน

นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานสมาคมธนาคารไทย แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบันหรือ กกร. เชื่อว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้นและสร้างความเชื่อมั่นกลับคืนมาและช่วยให้เศรษฐกิจสามารถหมุนต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยคาดว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะเห็นผลเร็วมาก และช่วยพยุงเศรษฐกิจได้ดี คาดว่า จะเห็นผลได้ภายใน 3 เดือนหลังการขับเคลื่อนมาตรการ ซี่งกกร.มองผลการขับเคลื่อนว่า ควรนำไปสู่ภาคชุมชนและนำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจและจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม กกร.เตรียม ข้อเสนอมาตรการทางเศรษฐกิจ ระยะสั้น 4 มาตรการ ประกอบด้วย การเพิ่มศักยภาพ ให้กับ SME ได้แก่ 1.ปรับลดอัตราภาษีเงินได้ให้ SME เพื่อจูงใจให้เข้าสู่ระบบ เพื่อให้สามารถเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือ SME ของภาครัฐ และเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงิน โดยมีแนวทางการดำเนินการ ดังนี้ ดำเนินการลดอัตราภาษีเงินได้ สนับสนุนให้มีการใช้ Software ทางบัญชีที่ได้มาตรฐาน และการฝึกอบรม SME จัดทำบัญชี

2.การผลักดันการค้าชายแดน โดยกำหนดเป้าหมายการค้าชายแดนที่ 2 ล้านล้านบาท ภายในระยะเวลา 2 ปี (ปี 2560) จากปัจจุบันมูลค่าการค้าชายแดนที่ 1.4 ล้านล้านบาท พร้อมกับขยายบทบาทหน้าที่ของพาณิชย์จังหวัด เพื่อส่งเสริมการค้าชายแดนเข้าสู่ตลาดเป้าหมายและครอบคลุมการค้าข้ามแดนให้ถึงเมืองหลักของประเทศเพื่อนบ้าน และควรจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้า / SME Outlet ในพื้นที่ชายแดนที่มีศักยภาพ

3.การส่งเสริมการส่งออกและพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ โดยเร่งรัดการทำงานของคณะกรรมการพัฒนาการส่งออก ให้มีการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม นอกจากนี้ กกร.ยังเสนอ ให้ตั้ง “ทีมเศรษฐกิจ” ของจังหวัด โดยมีผู้แทนภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เพื่อดูแลเรื่องเศรษฐกิจโดยเฉพาะ เนื่องจากจุดแข็งของแต่ละจังหวัดแตกต่างกัน และยังสามารถประสานงานกับส่วนกลางได้อย่างใกล้ชิด

4.การสร้างกำลังซื้อภายในประเทศโดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกร โดยเร่งรัดการระบาย Stock ข้าว อย่างน้อยร้อยละ 50 เพื่อจะได้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจและลดภาระค่าใช้จ่ายของภาครัฐ

ส่วนข้อเสนอมาตรการทางเศรษฐกิจ ระยะกลาง (6-12 เดือน) เสนอ 4 มาตรการ ประกอบด้วย 1.การสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับสหกรณ์การเกษตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการสนับสนุนเกษตรกร ทั้งด้านการผลิตและการตลาด 2.การปรับวิธีการสรรหาผู้แทนการค้าไทย โดยให้ กกร. ร่วมในการจัดสรรหา เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้แทนของประเทศในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ โดยขึ้นตรงกับสำนักนายกรัฐมนตรี

3.สนับสนุนโครงการ Product Champion เพื่อยกระดับธุรกิจ SME ให้มีการบริหารจัดการที่ได้มาตรฐาน และเติบโตเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ ได้ และ 4. การเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการภาครัฐ โดยการสร้างกลไกในการพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยเน้นเรื่อง Ease of Doing Business / การเพิ่มประสิทธิภาพภาครัฐ โดย กกร. ยินดีจะเข้าไปร่วมหารือเพื่อการปรับปรุงกระบวนขับเคลื่อนการทำงานที่สำคัญ ต่อเนื่องจากการบังคับใช้ พ.ร.บ. อำนวยความสะดวกภาครัฐ ที่ได้ออกมาแล้ว

นายบุญทักษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุม ยังสรุปภาวะเศรษฐกิจเดือนกรกฎาคม พบว่าเศรษฐกิจไทยยังคงมีภาคการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายภาครัฐเป็นแรงขับเคลื่อนหลักสะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 39 เช่นเดียวกับการเบิกจ่ายงบประมาณเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะงบลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 17 ทำให้อัตราเบิกจ่ายสะสมอยู่ที่ร้อยละ 52 ซึ่งใกล้เคียงปีก่อนหน้า

ด้านนายปรเมธี วิมลศิริ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ กล่าวภายหลังงานเสวนาวิชาการ “ก้าวข้ามวิกฤติประเทศไทย” ว่า หลังจากคณะรัฐมนตรี อนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 3 มาตรการ วงเงิน 130,000 ล้านบาท และเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณในโครงการขนาดเล็ก เพื่อกระจายรายได้สู่ภูมิภาคนั้น จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังได้ คาดว่าเม็ดเงินจะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ทั้งนี้จะยังไม่มีการปรับประมาณการเศรษฐกิจในครึ่งปีหลัง เนื่องจากจะต้องติดตามปัจจัยด้านเศรษฐกิจโลก ราคาน้ำมัน รวมถึงการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่ราชประสงค์ แต่คาดว่าจะเป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น เนื่องจากรัฐบาลสามารถคลี่คลายสถานการณ์ได้ และชี้แจงทำข้อมูล สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว

จาก http://www.banmuang.co.th วันที่ 3 กันยายน 2558

"สมคิด" เร่งเครื่อง 4 ภารกิจหลักพาณิชย์ขีดเส้น 3 เดือน

"สมคิด" มอบ 4 นโยบายหลักให้พาณิชย์เร่งดำเนินการ โดยเฉพาะประเด็นบรรเทาความเดือนร้อนเรื่องราคาสินค้าให้กับประชาชน ขณะที่ พาณิชย์ พร้อมรับดำเนินการให้เห็นเป็นรูปธรรมภายใน 3 เดือน

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายในการประชุมมอบนโยบายแก่ผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ และร่วมหารือกับสถาอุตสาหกรรม (ส.อ.ท. ) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ว่าสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องการให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการนั้น คือ ให้เน้นนโยบายเชิงรุกมากขึ้นโดยเฉพาะใน 4 ประเด็นหลัก ทั้งการดูแลราคาสินค้า เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน การดูแลราคาสินค้าเกษตร สร้างรายได้เพิ่มขึ้น การผลักดันการส่งออก และการให้ความสำคัญเศรษฐกิจในท้องถิ่น ภายในประเทศเพื่อให้เศรษฐกิจในประเทศและการส่งออกมีความสมดุลกัน

โดยให้กระทรวงพาณิชย์ดูแลราคาสินค้า และค่าครองชีพของประชาชน โดยเฉพาะราคาอาหารปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ราคาน้ำมันลดลง  โดยเห็นสมควรให้กระทรวงพาณิชย์ จัดทัพลงพื้นที่ ตรวจสอบต้นทุนราคาสินค้า ในกลุ่มสินค้าที่จำเป็นต่อค่าครองชีพ หากเห็นสินค้าผิดปกติก็สามารถดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด พร้อมทั้งเปิดทางเลือกให้มีตลาดกลาง ตลาดชุมชน ให้กระจายทั่วประเทศเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงสินค้าที่จำเป็น และเป็นการเชื่อมโยงผลผลิตสู่ตลาด

"โดยการดูแลราคาสินค้านั้นก็จะต้องไม่ให้กระทบต่อการค้าเสรี หรือผู้ประกอบการในปัจจุบัน แต่ต้องสร้างกลไกการค้าให้เกิดความเข้มแข็ง"

สำหรับการดูแลระดับราคาสินค้าเกษตร มุ่งเน้นสินค้าหลัก โดยเฉพาะสินค้าข้าว ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ให้ร่วมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ระดับราคามีความเหมาะสม และเกษตรกรสามารถอยู่ได้

ส่วนการผลักดันการส่งออก ให้จัดทัพใหม่ เสริมบุคลากรในสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ หรือทูตพาณิชย์ที่ประจำในประเทศสำคัญ ๆ โดยเน้นเจาะลึกด้านการตลาดให้มากขึ้น มุ่งประเทศที่มีศักยภาพการส่งออก เพื่อผลักดันการส่งออกร่วมมือเอกชนในการวางแผนผลักดัน สำหรับตลาดที่น่าสนใจ เช่น เมียนมา อิหร่าน ปากีสถาน และรัสเซีย เป็นต้น

นอกจากนี้ โฟกัสด้านการเจรจาการค้าในประเทศสำคัญให้มากขึ้น โดยร่วมมือกับกระทรวงการต่างประเทศ ในการเจรจาการค้า ผลักดันเจรจาด้านเศรษฐกิจด้วย

พร้อมกันนี้ เพื่อเปิดมิติใหม่ทั้งกระทรวงพาณิชย์  กระทรวงการต่างประเทศ การท่องเที่ยว และภาคเอกชน ร่วมวางแผนเพื่อเจาะตลาดสำคัญดันการค้า การส่งออกในอนาคต โดยให้ควาสำคัญกับตลาดใหม่เพื่อทำการค้า ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ยังต้องการหารือร่วมกับเอกชน  จึงต้องการให้เอกชนในรายกลุ่มอุตสาหกรรมหารือ และนำปัญหา อุปสรรค แผนผลักดันส่งเสริมการส่งออกเข้ามาหารือร่วมนายกรัฐมนตรีและต้องการให้รัฐบาลส่งเสริม ช่วยเหลือในด้านใด เช่น การจดทะเบียนการค้าที่ภาคเอกชน ร้องเรียนว่ายังดำเนินการได้ล่าช้า

"กระทรวงพาณิชย์รับปากว่าจะแก้ปัญหาให้การจดทะเบียนการค้าได้ภายใน 1 วัน ขณะที่กระทรวงการคลังก็จะไปพิจารณาเรื่องภาษีที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าและการลงทุน เพื่อที่จะออกมาตรการให้สอดประสานกันในการช่วยเหลือภาคเอกชนให้มีความเข้มแข็งและสามารถแข่งขันได้ และส่งเสริมการทำธุรกิจการค้าผ่านระบบ E-Commerce มากขึ้น เพราะการค้าในอนาคต คงไม่ใช่เน้นแค่การยกทีมไปโรดโชว์ในต่างประเทศแล้ว แต่อาจจะประชาสัมพันธ์ ผ่านตลาดออนไลน์ได้ อีกทั้งเป็นการส่งเสริมให้กับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมเข้าถึงตลาดได้ง่ายด้วย"

สำหรับการสร้างมาตรการการเติบโตภายในประเทศ อดีตประเทศไทยให้ความสำคัญการส่งออก อาศัญการส่งออกซึ่งไม่เกิดความไม่สมดุล ซึ่งเห็นว่าต่อไปการพัฒนาประเทศจะต้องมีความสมดุลทั้งในและต่างประเทศควบคู่กัน ดังนั้นจะต้องสร้างกระบวนการการค้าภายในประเทศให้มีความเข้มแข็งในอีก 5-10 ปีข้างหน้า

"ตอนนี้เปรียบได้กับว่าขาขวาเราแข็งแรง แต่ขาซ้ายเราเป็นโปลิโอ คือ ท้องถิ่นไม่แข็งแรง การที่เรามีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกนั้น ก็เป็นการจะช่วยนวดเฟ้น ให้ยาบำรุง เสริมทัพให้ท้องถิ่นแข็งแรงขึ้นมาและภายใน 5-10 ปีข้างหน้า หากทำพร้อม ๆ กันไปก็จะทำให้ประเทศไทยเข้มแข็งมากขึ้น"

ด้านนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์จะนำประเด็นที่มอบหมายให้ไปประชุมร่วมหารือกับผู้บริหารกระทรวง เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง จัดประชุมเวิร์กช็อปเพื่อแปลงออกมาเป็นภาคปฏิบัติให้ได้ ภายในระยะเวลา 3 เดือน ที่ได้รับมอบหมายให้เกิดประสิทธิมากที่สุด โดยจะเร่งหารือกันตั้งแต่เดือนกันยายนนี้เป็นต้นไป

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. กล่าวว่า ภาคเอกชนก็พร้อมให้ความร่วมมือภาครัฐ โดยเฉพาะการสร้างแบรนด์ไทย และตลาดออนไลน์ เนื่องจากสินค้าไทยยังเป็นที่นิยมในตลาดต่างประเทศ พร้อมทั้งเห็นด้วยที่จะมีการจดทะเบียนการค้าภายใน 1 วัน ซึ่งที่ผ่านมาการขึ้นตอนนั้นมีความยุ่งยากและหลายขั้นตอนในการสื่อสารในแต่ละหน่วยงาน พร้อมทั้งเรื่องของกองทุนหมู่บ้าน ก็เป็นนโยบายที่ดีในการส่งเสริมให้ท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง และสร้างรายได้ให้กับประชาชนในท้องถิ่น ซึ่งเอกชนพร้อมที่จะสนับสนุน ให้ความรู้ในการพัฒนาต่อชุมชน

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ทางภาคเอกชนต้องการให้ภาครัฐเร่งเจรจาการค้ากับประเทศสำคัญ เช่น ปากีสถาน อิหร่าน เพราะอนาคตเป็นตลาดสำคัญในการส่งออกสินค้าไทย นอกจากนี้ ยังต้องการให้รัฐบาลเร่งระบายข้าวเกรด ซี ที่มีอยู่ประมาณ 4.6 ล้านตัน และข้าวเสียที่มีอยู่ประมาณ 1.3 ล้านตัน ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลต้องเสียงบประมาณในการดูแลกว่า 1,200 ล้านบาทต่อเดือน หากสามารถระบายไปสู่อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ หรือกลุ่มอุตสาหกรรมเอทานอลได้ก็จะลดปริมาณข้าวที่เสื่อมลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรัฐบาลก็อาจจะต้องยอมรับการขาดทุนบ้าง

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 2 กันยายน 2558

รองอธิบดีกรมชลฯ ห่วงปริมาณฝนต่ำเกินคาด แนะกักเก็บ/วางแผนใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพ

อุดรธานี - รองอธิบดีกรมชลประทานลงพื้นที่ตรวจปฏิบัติการขุดลอกคลองส่งน้ำในเขตรับผิดชอบสำนักชลประทานที่ 5 อุดรธานี ห่วงปริมาณฝนปีนี้ตกน้อยกว่าปีที่แล้วมากกว่า 20% หวั่นปริมาณน้ำกักเก็บอาจไม่เพียงพอทำการเกษตร แนะประชาชนกักเก็บน้ำให้มากที่สุด พร้อมวางแผนบริหารจัดการใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพ

               วันนี้ (2 ก.ย. 58) ที่บริเวณคลองผันน้ำที่ 1 บ้านนาดี ต.นาดี อ.เมืองอุดรธานี ริมถนนสายอุดรธานี-หนองบัวลำภู ว่าที่ ร.ต.ไพรเจน มากสุวรรณ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ฝ่ายวิชาการ เดินทางลงพื้นที่เพื่อตรวจปฏิบัติการขุดลอกคลองผนังดังกล่าว โดยมีนายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผอ.สำนักชลประทานที่ 5 นายวิชัย จาตุรงค์กร ผอ.สำนักงานชลประทานจังหวัดหนองคาย รักษาราชการแทน ผอ.สำนักงานชลประทานจังหวัดอุดรธานี และหัวหน้าส่วนราชการสังกัดกรมชลประทาน ร่วมลงพื้นที่ให้ข้อมูล

               โดยคณะของรองอธิบดีกรมชลประทานได้เดินตรวจการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่จากศูนย์จักรกลหนักที่ 3 ที่กำลังปฏิบัติการขุดลอกเศษวัชพืชที่ขึ้นอยู่ในลำคลองผันน้ำที่ทางกรมชลประทานได้ก่อสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 เพื่อเป็นคลองผันน้ำที่ไหลมาจากเทือกเขาภูพานในช่วงหน้าฝนและทำให้เกิดน้ำท่วมเมืองอุดรธานีทุกปี      

        ว่าที่ ร.ต.ไพรเจน มากสุวรรณ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ฝ่ายวิชาการ กล่าวถึงการเดินทางมาตรวจดูการพัฒนาปรับปรุงขุดลอกคลองผันน้ำที่ 1 ว่า เป็นโครงการเร่งด่วนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีบัญชาแก้ปัญหาภัยแล้ง หรืออุทกภัย โดยทางกรมชลประทานได้นำเอาแนวทางมาสู่การปฏิบัติ พื้นที่จังหวัดอุดรธานี กรมชลประทานได้กำหนดพื้นที่ปฏิบัติงาน 3 แห่ง คือ แก้มลิงโศกเสี้ยว อ่างเก็บน้ำบ้านจั่น ต.บ้านจั่น และคลองผันน้ำที่ 1 โดยที่บริเวณคลองส่งน้ำที่ 1 นี้จะขุดลอกเป็นระยะทาง 2 กิโลเมตร ใช้เวลาปฏิบัติการ 10 วัน โดยใช้เครื่องจักรกลจากศูนย์จักรกลที่ 3 เพื่อขุดลอกเอาเศษวัชพืชจำนวนมากให้น้ำฝนสามารถไหลผ่านสะดวก ป้องกันน้ำท่วมเมืองอุดรธานี

               “ภาพรวมทั้งประเทศมีฝนตกลงมาน้อยกว่าเมื่อปีที่แล้วประมาณ 20% เมื่อสิ้นหน้าฝนนี้คาดว่าจะมีน้ำเพียงพอต่อการบริโภคเท่านั้น ส่วนน้ำสำหรับทำการเกษตรยังน่าเป็นห่วงโดยเฉพาะการทำนาปรัง เนื่องจากจะต้องเก็บน้ำเอาไว้ใช้ในต้นฤดูนาปีที่จะถึงในปีหน้า หากมีฝนตก หรือมีพายุที่คาดว่ายังมีอยู่อีกประมาณ 10 ลูกพัดเข้าสู่ประเทศไทยในช่วง 2 เดือนข้างหน้า มีน้ำเกินกว่าที่มีอยู่ในขณะนี้ก็สามารถเอามาใช้ได้” รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าว และว่า

               สำหรับสถานการณ์ในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักชลประทานที่ 5 ที่มีพื้นที่รับผิดชอบ 6 จังหวัดนั้น มีสภาวะที่ไม่แตกต่างไปจากภาพรวมทั้งประเทศนัก ปริมาณฝนตกน้อยกว่าปีที่แล้ว เพราะโดยปกติเมื่อถึงเดือนสิงหาคมทุกปีจะมีฝนตกโดยเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 900 กว่ามิลลิเมตร แต่ขณะนี้มีฝนตกเฉลี่ยที่ 700 มิลลิเมตรเศษเท่านั้น หรือน้อยกว่าปีที่แล้วประมาณมากกว่า 20% จึงขอให้เกษตรกรช่วยกันเก็บกักน้ำไว้มากที่สุดเพื่ออุปโภค บริโภค และเพื่อทำการเกษตรในฤดูแล้ง จะต้องวางแผนใช้น้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

               ด้านนายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 5 ซึ่งมีพื้นที่รับผิดชอบ 6 จังหวัดภาคอีสานตอนบน กล่าวถึงโครงการขุดลอกร่องน้ำ คลองส่งน้ำในพื้นที่รับผิดชอบว่า ปีงบประมาณ 2558 ซึ่งเป็นงบเร่งด่วนนั้น มีโครงการต่างๆ อยู่ประมาณ 30 โครงการ โดยเป็นการพัฒนาปรับปรุงแหล่งน้ำที่มีอยู่แล้วเพื่อเพิ่มความจุของแหล่งน้ำ ซึ่งในปีงบประมาณ 2559 ทางสำนักชลประทานที่ 5 มีแผนงานลักษณะเดียวกันอีกประมาณ 300 โครงการ

               อาทิ การก่อสร้างอาคารพัฒนาปรับปรุงแหล่งน้ำขนาดกลาง ขนาดเล็ก หรือแก้มลิงสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า โดยได้เสนอของบประมาณไปแล้วประมาณ 3,500 ล้านบาท หากได้รับการสนับสนุนงบประมาณดังกล่าวจะทำให้พื้นที่ทั้ง 6 จังหวัดนี้มีน้ำเพิ่มจากเดิมอีกประมาณ 200 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มพื้นที่เกษตรได้อีกกว่า 1 แสนไร่ 

จาก http://manager.co.th   วันที่ 2 กันยายน 2558

จ่อขยายประกันพืชเกษตร เพิ่มเป็น10ล้านไร่ช่วยลดค่าเบี้ย

นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)เปิดเผยว่า หลังจากที่กระทรวงการคลังให้ธ.ก.ส. ดำเนินโครงการประกันภัยข้าวนาปีมาตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบันเป็นโครงการนำร่อง ข้อมูล ณ วันที่ 25 สิงหาคม 2558 มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการประกันภัยนาข้าว จำนวน 92,031 ราย รวมเนื้อที่เอาประกันภัยจำนวน 1.511 ล้านไร่ ซึ่งธ.ก.ส.กำลังดำเนินโครงการเพื่อขยายการทำประกันภัยพืชผลให้ครอบคลุมข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มันสำปะหลัง และพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ

โดยจะมีการขยายเนื้อที่เอาประกันเป็น 5 ล้านไร่ และ 10 ล้านไร่ ในอนาคต ครอบคลุมจำนวนเกษตรกรมากขึ้นซึ่งหากดำเนินการได้ตามเป้าหมาย จะทำให้อัตราการจ่ายเบี้ยประกันภัยพืชผลการเกษตรลดลงและช่วยให้เกษตรกรสามารถบริหารความเสี่ยงด้านการผลิตได้

นายลักษณ์กล่าวว่า ปัจจุบันรูปแบบการการดำเนินการประกันภัยพืชผลทางการเกษตรเป็นลักษณะการร่วมดำเนินการระหว่างรัฐ และเอกชน หรือ พีพีพี ซึ่งถือเป็นรูปแบบที่มีความเหมาะสมกับประเทศไทยมีความโปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้

ด้านนายลวรณ แสงสนิท ที่ปรึกษาการเงินสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ยอมรับว่า เรื่องประกันภัยพืชผลการเกษตรเป็น

 เรื่องใหม่ ซึ่งบริษัทประกันภัยในประเทศไทยยังไม่ตอบรับ จึงจำเป็นจะต้องมีบริษัทรับประกันภัยต่อ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่จะ

 ทำให้ประกันภัยพืชผลทางการเกษตรประสบความสำเร็จ ซึ่งหากจำนวนเกษตรเข้าร่วมโครงการมากขึ้นก็จะยิ่งเพิ่มความมั่นใจให้กับบริษัทรับประกันภัยต่อในการเข้าร่วมโครงการมากขึ้น

จาก http://www.naewna.com วันที่ 2 กันยายน 2558

กกร.ถอดใจศก.เข็นไม่ขึ้น เลิกหวังส่งออก-จี้รัฐใช้BOIปลุกลงทุน

นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(สอท.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ประกอบด้วย สอท.สภาหอการค้าไทยและสมาคมธนาคารไทย ในวันที่ 2 ก.ย.นี้ คาดว่า กกร.จะมีการปรับตัวเลขประมาณการการส่งออกและอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือ จีดีพีใหม่ในปีนี้ใหม่ อีกครั้ง โดยเบื้องต้นส่งออกคาดว่าจะติดลบ 4%จากเดิมตั้งเป้าว่าจะติดลบ 2% เท่านั้น และจีดีพี จะโตต่ำกว่า 3% จากเดิมตั้งเป้า เติบโต 3.5%

“การปรับเป้าตัวเลข ดังกล่าว มีปัจจัยหลักมาจากตัวเลขส่งออก 7เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ค.) ที่ล่าสุดติดลบ 4.66% ซึ่งเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้อยู่แล้ว ขณะเดียวกัน ภาวะเศรษฐกิจภาพรวม โดยเฉพาะจีนก็ยังคงชะลอตัวทำให้ตลาดส่งออกหลักๆ ยังคงไม่ดีขึ้น และยังมีปัญหาค่าเงินหยวน ทำให้ผู้ส่งออกของไทยต้องติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ทำให้จะต้องมาประเมินแนวโน้มอีกครั้ง เมื่อจีนลดค่าเงินหยวน ส่วนสหรัฐที่ภาวะเศรษฐกิจเริ่มจะค่อยๆ ฟื้นตัว แต่ก็ยังไม่มากพอที่จะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกดีขึ้น” นายวัลลภกล่าว

สำหรับการลงทุนในประเทศไทย ในขณะนี้ต้องยอมรับว่าจากภาวะเศรษฐกิจทั่วโลก ชะลอตัวทำให้นักลงทุนทั่วโลก ย่อมต้องชะลอการขยายการลงทุนออกไปด้วยเช่นกัน เพื่อรอประเมินความชัดเจนก่อน ดังนั้นหากรัฐบาล จะเร่งให้เกิดการลงทุน ก็ควรจะมีการปรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่โดยเฉพาะการให้สิทธิประโยชน์การลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)ที่จูงใจด้านภาษีฯมากขึ้นในบางอุตสาหกรรมจากที่ถูกตัดลดลงไปตามยุทธศาสตร์ใหม่บีโอไอ

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน สอท. กล่าวว่า ขณะนี้ภาคเอกชนอยู่ระหว่างติดตามและประเมินผลมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ว่าจะมีผลต่อการขยายตัวของ จีดีพี ของประเทศมากน้อยเพียงใดโดยเฉพาะล่าสุดที่กระทรวงการคลังเตรียมเร่งเบิกจ่ายงบประมาณลงทุนโครงการขนาดเล็ก 130,000 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นๆ ในประเทศเป็นหลัก ซึ่งเบื้องต้นเชื่อว่าจะช่วยกระจายรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ และทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อมากขึ้น ส่วนในระยะยาวรัฐบาล ต้องเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และระบบราง และส่งเสริมดิจิตอลอีโคโนมิต่อเนื่อง

ทั้งนี้ นอกเหนือจากมาตรการแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตร และการช่วยเหลือ เอสเอ็มอี ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอย่างเร่งด่วนอยู่แล้ว ภาคเอกชนต้องการเห็นความคืบหน้าจากภาครัฐในการเจรจาเปิดเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ระหว่างไทย-อินเดีย ไทย-ปากีสถาน ไทย-ตุรกี รวมถึงการผลักดันการค้าชายแดนให้มากขึ้น เพื่อรองรับการเปิดเขตประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ส่วนการส่งออก ในขณะนี้คงต้องใช้เวลาฟื้นตัวสักระยะหนึ่ง เพราะขึ้นอยู่กับปัจจัยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่างประเทศ

จาก http://www.naewna.com วันที่ 2 กันยายน 2558

ดันระบบขนส่งสินค้า

        นายวรเดช หาญประเสริฐ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนา “แนวทางการอำนวยความสะดวกด้านการค้า ด้วยการพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อการขนส่งและโลจิสติกส์” ว่ากระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้สถาบันนวัตกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นที่ปรึกษาในการจัดทำแผนพัฒนาระบบอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศ โดยมีเป้าหมายทุกโหมดการขนส่งทั้งทางทะเล อากาศ รถไฟ และด่านชายแดน จะมีประสิทธิภาพและต้นทุนการนำเข้า-ส่งออกที่ดีขึ้น ภายในปี 2564 โดยระยะเวลาดำเนินการลดลงถึง 50% หรือจาก 14 วันเหลือ 7 วัน ลดค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมการค้า-การขนส่งออกไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาทต่อปี และที่สำคัญเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการกำกับดูแลที่ถูกต้องแม่นยำเป็นไปตามกฎหมาย กฎระเบียบสอดคลองกับสากลมากขึ้น

       อย่างไรก็ตาม เพื่อให้แผนดังกล่าวดำเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานที่รับผิดเรื่องดังกล่าว รองปลัดกระทรวงคมนาคมจึงได้เสนอให้รัฐบาลจัดตั้งหน่วยงานที่กำกับดูแลเรื่องดังขึ้นมาโดยเฉพาะ สำหรับการจัดสัมมนา ในครั้งนี้เป็นการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปปรับปรุงข้อเสนอและการจัดทำร่างแผนพัฒนาระบบอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศต่อไป ทั้งนี้ คาดว่าแผนดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ จากนั้นจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบประมาณต้นปี 2559

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 2 กันยายน 2558

นายก อบต.หลุมรัง” วอนรัฐทำฝนหลวงช่วยเกษตรกรกว่า 6 หมื่นไร่หลังแล้งหนัก

กาญจนบุรี - นายก อบต.หลุมรัง อำเภอบ่อพลอย กาญจนบุรี วอนรัฐทำฝนหลวงช่วยเกษตรกรชาวไร่อ้อย มันสำปะหลัง สับปะรด ก่อนแห้งตายกว่า 60,000 ไร่ โอดภัยแล้งปีนี้หนักสุดรอบหลายปี

               เมื่อเวลา 08.30 น.วันนี้ (1 ก.ย.) นายอิทธิพัทธ์ รัตนสุวรรณาชัย นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (นายก อบต.) หลุมรัง อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี เปิดเผยว่า อบต.หลุมรัง มีทั้งหมด 18 หมู่บ้าน กว่า 2,000 ครัวเรือน ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพหลักคือ ทำไร่การเกษตร เช่น ไร่อ้อย ไร่มันสำปะหลัง และไร่สับปะรด มีพื้นที่ทำการเกษตรประมาณ 60,000 ไร่

               ปัจจุบัน พืชเกษตรกำลังทยอยแห้งตายสาเหตุเกิดจากการขาดแคลนน้ำ เพราะในพื้นที่ฝนไม่ตกลงมาติดต่อกันนายหลายเดือน ทำให้ชาวบ้านที่มีอาชีพปลูกพืชไร่เหล่านี้ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก บางวันท้องฟ้ามืดครึ้มคล้ายกับว่าฝนกำลังจะตกลงมา ชาวบ้านก็ได้แต่ภาวนาขอให้ฝนตก แต่สุดท้ายก้อนเมฆก็จางหายไป หรือตกลงมาบ้านแต่เพียงเล็กน้อย ผิวดินไม่เปียกเสียด้วยซ้ำ

               สิ่งที่ตน และชาวบ้านต้องการ และพอที่จะมีความหวังก็คือ ขอให้จังหวัดกาญจนบุรี ช่วยประสานเจ้าหน้าที่ฝนหลวง ให้มาสำรวจพื้นที่ และวางแผนในการทำฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านบ้าง เพราะหากภัยแล้งยังวิกฤตอยู่อย่างนี้ เชื่อว่าชาวบ้านที่กู้เงินมาลงทุนในการปลูกพืชไร่จะต้องได้รับความเดือดร้อนยิ่งๆ ขึ้นไปอย่างแน่นอน และจะส่งผลกระทบต่อแหล่งเงินกู้ เพราะชาวบ้านคงไม่มีปัญญาที่จะหาเงินไปใช้หนี้ได้ นอกจากไปกู้เงินนอกระบบมา      

        “อนาคตข้างหน้าอาจจะต้องทิ้งไร่ไปหางานทำในกรุงเทพฯ หรือจังหวัดใกล้เคียงก็เป็นได้ หรือไม่ที่ดินที่ชาวบ้านมีอยู่จำเป็นจะต้องขายเพราะต้องการเงินไปใช้หนี้ สุดท้ายที่ดินก็ตกไปอยู่กับนายทุน และต้องมาเช่าต่อจากนายทุนไปทำไร่ในภายหลัง ดังนั้น การทำฝนหลวงจะสามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้เป็นอย่างดี” นายอิทธิพัทธ์ กล่าว

 จาก http://manager.co.th  วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2558

คค.เดินหน้าพัฒนาขนส่งอิเล็กทรอนิกส์

กระทรวงคมนาคม เดินหน้าพัฒนาระบบขนส่งอิเล็กทรอนิกส์ แล้วเสร็จ ธ.ค. นี้ อำนวยความสะดวกผู้ประกอบการ

นางสาวอัมพร ชาตบุษยมาส ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการแนวทางการอำนวยความสะดวกด้านการค้า ด้วยการพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ ว่า การสัมมนาครั้งนี้เป็นการรับฟังความคิดเห็นผู้ประกอบการ เพื่อไปปรับปรุงก่อนจะมีการทดลองใช้ระบบ การส่งเสริมและพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ในภาคการขนส่งและโลจิสติกส์ระหว่างผู้ประกอบการขนส่งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่ง E-Freight & E-transport

โดยทางกระทรวงฯ จะเร่งดำเนินการสรุปข้อมูลและขั้นตอนการปฏิบัติให้แล้วเสร็จในเดือน ธ.ค. นี้ ซึ่งจะทำให้ข้อมูลการขนส่งทุกด้าน และด่านชายแดนเป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการสามารถเชื่อมโยงข้อมูลและติดต่อกับภาครัฐบาลได้ง่ายขึ้นโดยกลุ่มผู้ประกอบการที่จะได้รับประโยชน์มากที่สุด คือ กลุ่ม SMEs เนื่องจากผู้ประกอบการจะมีต้นทุนด้านการจัดระบบข้อมูลการขนส่งที่ลดลง ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษาว่าจะลดได้มากน้อยเพียงใด คาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็ว ๆ นี้

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2558

เกษตรฯเล็งประกาศงดทำ'นาปรัง'ปี

          กรมส่งเสริมการเกษตร-กรมชลประทาน ถกแผนปลูกพืชฤดูแล้ง 58/59 เตือนภัยเกษตรกรหลังเก็บน้ำได้น้อย เพียง 3,500 ล้าน ลบ.ม. ต่ำสุดในรอบ 20 ปี ชง"ฉัตรชัย" ประกาศงดทำนาปรังอีกรอบ

          นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ในวันที่ 3 ก.ย.นี้ จะหารือร่วมกับกรมชลประทานเพื่อวางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 58/59 ซึ่งสืบเนื่องมาจากปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ แม้จะมีน้ำไหลเข้าแต่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำมาก ดังนั้น จึงเป็นไปได้ที่อาจจะต้องงดการทำนาปรัง อีกเป็นครั้งที่ 2 โดยจะเสนอให้พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯพิจารณาและเป็นผู้ประกาศแผนเพาะปลูกในภาพรวมทั้งหมด

          "จากสัญญาณต่างๆที่เกิดขึ้นทำให้ กระทรวงเกษตรฯต้องวางแผนการเพาะปลูกและเตือนภัยไปยังเกษตรกรให้เตรียมรับมือไว้ก่อน ในขณะที่ภาครัฐเองต้องวางแผนการช่วยเหลือเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรด้วย ตามฐานข้อมูลที่มีอยู่ ซึ่งพล.อ.ฉัตรชัยได้สั่งการให้เร่งปรับตัวเลขเกษตรกรของพืชแต่ละชนิดให้เกิดความชัดเจน จะส่งผลให้การช่วยเหลือเข้าถึงตรงจุด"นายโอฬาร กล่าว

          นายโอฬาร กล่าวว่า การงดทำนาปรัง ดังกล่าวคาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบกับการบริโภคและส่งออกข้าวของไทยในภาพรวม เนื่องจากข้าวของไทยยังมีอยู่มาก สามารถ นำมาหมุนเวียนสนับสนุนการตลาดได้

          นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ปริมาณน้ำฝนที่ตก ในช่วงต้นเดือน มีความหนาแน่นมากในเขต ภาคเหนือและอีสานทำให้ปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนที่สำคัญคือภูมิพลและสิริกิติ์ แต่ปริมาณฝนก็ยังน้อยกว่าที่คาดเอาไว้ คือทั่วประเทศ อยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติ 20% จากภาพรวม ที่คาดว่าปริมาณฝนจะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติ 10-25% และปริมาณฝนจะตกอีกครั้งตั้งแต่เดือนก.ย.- ต.ค.นี้ แต่จะเริ่มเข้าสู่ภาคกลาง

          ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าปริมาณน้ำที่เก็บ ได้ใน 4 เขื่อนหลักคือภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อย บำรุงแดน และป่าสักชลสิทธิ์ จะมีเพียง 3,500 ล้านลบ.ม.เท่านั้น ซึ่งเป็นสมมุติฐานต่ำสุดที่ กรมชลประทานคาดการณ์เอาไว้ ถือว่าเป็น การเก็บน้ำได้ต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี และต่ำกว่าปีที่ผ่านมาที่เก็บได้ 6,700 ล้านลบ.ม.

          ทั้งนี่แผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งของกระทรวงเกษตรต้องงดทำนาปรัง เพื่อกันน้ำเอาไว้ใช้อุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ ซึ่งปริมาณน้ำในปีนี้ที่มีน้อยกว่านั้นมีความเป็นไปได้ที่ต้องประกาศงดทำนาปรังอีกครั้งโดยพล.อ.ฉัตรชัย จะเป็นผู้พิจารณาและประกาศให้เกษตรกรรับทราบในภาพรวมต่อไป

          สำหรับปริมาณน้ำที่คาดว่าจะเก็บ ได้ทั้งสิ้น 3,500 ล้าน ลบ.ม.นั้น จะเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคในฤดูแล้งคือตั้งแต่ 1 พ.ย. 2557-30 เม.ย.2559 ในปริมาณ 1,100 ล้านลบ.ม. ใช้เพื่อรักษาระบบนิเวศ 1,400 ล้าน ลบ.ม. และเก็บเอาไว้ในช่วงต้นฤดูฝนหรือ เข้าสู่ฤดูกาลเพาะปลูกในปี 2559 จำนวน 1,000 ล้าน ลบ.ม.

          ส่วนน้ำสำหรับภาคอุตสาหกรรมที่ ส่วนใหญ่อยู่ภาคตะวันออกนั้นจะใช้น้ำจาก เขื่อนประแสร์ที่ยังมีปริมาณน้ำอยู่มาก ส่วนหนึ่ง เพราะในปีที่ผ่านมามีการกันน้ำเอาไว้ แม้ปีนี้ จะมีปริมาณฝนที่ต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย แต่ยังเพียงพอ และต้องพิจารณาปริมาณการเก็บน้ำ ที่จะมีขึ้นในช่วงก.ย.-ต.ค.นี้อีกครั้ง

          สำหรับปริมาณน้ำที่ใช้การได้ ใน 4 เขื่อนหลัก เมื่อวันที่ 31 ส.ค. อยู่ที่ 1,844 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลเข้า 22.75 ล้านลบ.ม. ซึ่งเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ไม่มีปริมาณน้ำไหลเข้าเลย ในขณะที่ทั้ง 4 เขื่อนดังกล่าวยังมีการระบายน้ำออก 16.4 ล้านลบ.ม.

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2558

จับตาทั่วโลกงัดกลยุทธ์ลดค่าเงินกระตุ้นการค้า ส่งออกหืดจับแข่งขันลำบาก

สรท. ประเมินส่งออกทั้งปีติดลบมากกว่า 4.2% จ่อปรับเป้าเดือนหน้า ชี้ทั่วโลกเริ่มลดค่าเงินเพื่อแข่งขันการส่งออก แนะทีมเศรษฐกิจกำหนดเป้าหมายเชิงตัวเลข และกรอบเวลาชัดเจน สร้างความมั่นใจภาคเอกชนกลับมาลงทุน ประชาชนจับจ่ายเพิ่ม

นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.)หรือสภาผู้ส่งออกกล่าวว่า การส่งออกประจำเดือนกรกฎาคมมีมูลค่า 18,223 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 3.56% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยมีมูลค่าการส่งออก 609,132 ล้านบาท ขยายตัว 0.09% ส่งผลให้การส่งออก 7 เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่า ทั้งสิ้น 125,078 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 4.66% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

การส่งออกไปยังตลาดหลักส่วนใหญ่ยังติดลบต่อเนื่อง อาทิ ญี่ปุ่น ติดลบ 3.1% ยุโรป ติดลบ 1.1% จีน ติดลบ 1.6% อินเดียติดลบ 8% เป็นต้น ส่วนตลาดส่งออกที่เติบโตประกอบด้วย CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) เติบโต 11.6% สหรัฐเติบโต 1.4% ทวีปออสเตรเลียเติบโต 21.4% เป็นต้น

สินค้าส่งออกที่ขยายตัวส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมการเกษตร อาทิ ยางพารา, ฮาร์ด ดิสก์ ไดรฟ์ เครื่องปรับอากาศ เหล็ก เป็นต้น ส่วนสินค้าส่งออกที่หดตัวลง อาทิ ข้าวรถจักรยานยนต์ เคมีภัณฑ์ สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง

 เป็นต้น ทำให้มีแนวโน้มสูงว่าการส่งออกทั้งปีจะต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ว่าจะลดลง 4.2% โดยจะขอดูตัวเลขการส่งออกเดือนสิงหาคมอีกครั้งก่อนที่จะตัดสินใจปรับลดเป้าหมายการส่งออก

“หากจะให้การส่งออกจะอยู่ในกรอบ -4.2% จะต้องส่งออกไม่ต่ำกว่า 1.85 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือนแต่ในเดือนกรกฎาคมกลับมียอดส่งออกเพียง 1.82 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่ำกว่าเป้าหมายถึง 277 ล้านดอลลาร์สหรัฐทำให้สร้างแรงกดดันต่อ 5 เดือนที่เหลือ” นายนพพรกล่าว

ทั้งนี้มองว่าภาวะเศรษฐกิจโลกจะอยู่ในขาลงและต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า เพราะว่าสงครามเศรษฐกิจยังคงรุนแรงประเทศต่างๆ ทั้งที่พัฒนาแล้ว และเกิดใหม่ล้วนต้องทำทุกวิถีทางเพื่อความอยู่รอด โดยเฉพาะการใช้กลยุทธ์ลดค่าเงินเพื่อกระตุ้นการส่งออก หากทุกประเทศหันมาใช้มาตรการทางการเงินเป็นหลัก ก็จะทำให้ภาคการเงินและอสังหาริมทรัพย์เติบโตเป็นฟองสบู่ไปทั่วโลก และก็จะถึงจุดแตก

โดยได้เริ่มเห็นถึงผลกระทบจากฟองสบู่ที่จีนแล้วและจะลุกลามไปทั่วโลกในปีหน้า เห็นได้จากจีนได้หันมาลดค่าเงินหยวนลงเพื่อกระตุ้นการส่งออก เพราะเห็นว่านโยบายการพึ่งพาเพียงเศรษฐกิจภายในประเทศไม่ได้ผลจึงต้องหันมาแข่งขันในตลาดต่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลกระทบไปทั่วโลก โดยเฉพาะในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี)ที่สินค้าจีนจะเข้ามาแข่งขันมากขึ้น และจะกระทบไปทุกกลุ่มธุรกิจ เพราะสินค้าจีนมีทั้งระดับต่ำไปจนถึงสูง ทำให้สินค้าไทย แข่งขันในตลาดเออีซี และจีนได้ยากขึ้นถึงแม้ว่าค่าเงินบาทจะอ่อนตัวลง แต่ค่าเงินสกุลอื่นๆ ก็อ่อนค่าลงด้วย และจะยังมีการใช้มาตรการลดค่าเงินมากขึ้น ทำให้การอ่อนค่าของเงินบาทไม่ได้ช่วยในด้านการส่งออกมากนัก

“แม้ว่าหลายฝ่ายอยากให้ไทยลดสัดส่วนการส่งออกและหันไปพึ่งพาเศรษฐกิจภายในประเทศ แต่ที่ผ่านมาหลายประเทศก็ทำไม่ได้ โดยเฉพาะจีนที่หันมาแข่งขันในตลาดส่งออกเพิ่มขึ้น ส่วนประเทศเยอรมนีก็มีสัดส่วนการส่งออกสูงถึง 60% ญี่ปุ่นก็ต้องพึ่งพาการส่งออกเป็นหลักดังนั้นไทยหลีกหนีการแข่งขันส่งออกไม่ได้ หากเราไม่เร่งปรับปรุงคุณภาพสินค้าเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน ไทยก็จะต่อสู้ในเวทีการค้าโลกได้ยากขึ้น” นายนพพร กล่าว

ในส่วนของนโยบายของทีมเศรษฐกิจชุดใหม่นั้นมองว่าการออกมาประกาศนโยบายเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะกระตุ้นความมั่นใจของประชาชนและผู้ประกอบการ รัฐบาลควรออกมาประการตัวเลขทางเศรษฐกิจต่างๆ อย่างชัดเจนว่า จีดีพี อัตราเงินเฟ้อจะขยายตัวเท่าไร การส่งออกจะขยายตัวได้อย่างไรรวมทั้งกำหนดกรอบเวลาในการแก้ไขปัญหาอย่างชัดเจนว่าจะใช้เวลากี่เดือน และจะมีแนวทางปฏิบัติอย่างไร จึงจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ทำให้กลับมาใช้จ่ายและลงทุนเพิ่มขึ้น โดยภาคเอกชนจะรอดูผลงานของรัฐบาลในรอบ 3 เดือนก่อนว่าจะเป็นไปในทิศทางใดจึงจะให้ความคิดเห็นที่ชัดเจนได้

นายไพบูลย์ พลสุวรรณา ที่ปรึกษา และกรรมการสรท. กล่าวว่า ในส่วนของข้อเสนอต่อทีมเศรษฐกิจชุดใหม่นั้นมีเรื่องหลักๆ ได้แก่ การดําเนินยุทธศาสตร์ศูนย์กลางทางการค้าของภูมิภาคอาเซียนหรือTrading Nation อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ซึ่งยังไม่เห็นนโยบายนี้จากทีมเศรษฐกิจมากนัก โดยขณะนี้เศรษฐกิจไทยไม่อ่อนแอ เพียงแต่ซบเซาและขาดความเชื่อมั่น

หากรัฐบาลผลักดัน Trading Nation เข้ามาเสริมก็จะทำให้ประเทศไทยหลุดกับดักรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง เพราะหลังจากการเปิด เออีซี ทุกอย่างจะเดินหน้าไปสู่การค้าเสรี หากไทยไม่เร่งส่งเสริมด้านการค้า ก็จะทำให้ไทยไม่ได้รับประโยชน์จากการเปิดเออีซีอย่างเต็มที่ รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่ลงทุนไปก็จะถูกต่างชาติเก็บเกี่ยวผลประโยชน์มากกว่าที่เราควรจะได้รับ

อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา ก็เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในระยะยาว ซึ่งในทีมเศรษฐกิจชุดที่ผ่านมาได้ตั้งเป้าว่าจะเพิ่มเงินวิจัยและพัฒนาให้ได้ 1% ของจีดีพี แต่ทีมเศรษฐกิจชุดนี้ยังไม่ได้มีนโยบายที่ชัดเจนโดยการวิจัยฯนั้นเป็นเรื่องที่ต้องใช้เงินทุนสูงมาก ดังนั้นภาครัฐจะต้องเป็นผู้ขับเคลื่อนหลักและให้เอกชนเข้ามาซื้อเทคโนโลยีหรือร่วมลงทุนในการวิจัย และพัฒนา ซึ่งอาจจะเห็นรัฐบาลให้ความสำคัญในเรื่องนี้มากขึ้น

จาก http://www.naewna.com วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2558

เจ้าพระยาวิกฤติอีกรอบ 2เขื่อนยักษ์งดน้ำทำนา ชี้กย.พายุไม่เข้าแล้งหนัก

ปัญหาน้ำแล้งกลับมาวิกฤติอีกครั้งโดยเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม นายเอกศิษฐ์ ศักดิ์ดีธนาภรณ์ ผู้อำนวยการโครงการเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท เปิดเผยว่า ระดับน้ำเขื่อนเจ้าพระยาที่สถานีวัดน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาต.บางหลวง อ.สรรพยา ในรอบ 14 ชั่วโมง ลดลงอีก 40 ซม.อยู่ที่ 14.57 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง(ม.รทก.) ทำให้ระดับน้ำลดลงใกล้แตะจุดวิกฤตอีกครั้ง ที่ระดับวิกฤต 14.00ม.รทก.สาเหตุเพราะชาวนาระดมสูบน้ำเข้านาข้าว

ขณะที่ระดับน้ำท้ายเขื่อนยังทรงตัวที่ 5.96 ม.รทก. โดยเขื่อนเจ้าพระยายังคงอัตราการระบายน้ำเพื่อผลักดันน้ำเค็มปากแม่น้ำ ไว้ที่ 75 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที(ลบ.ม./วิ) ดังนั้นต้องขอความร่วมมือจากพี่น้องเกษตรกรในการงดทำนารอบ 2 เพราะมีความเสี่ยงสูงที่จะเสียหายจากภัยแล้ง จากที่น้ำต้นทุนในปัจจุบันมีไม่เพียงพอต่อการจัดสรรเพื่อการทำนาปรังต้องสงวนไว้เพื่อการอุปโภคบริโภคของประชาชนเท่านั้น

ด้านนายสุชาติ เจริญศรี ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษา(คบ.) มโนรมย์ จ.ชัยนาท กล่าวว่า ปัจจุบันในพื้นที่ความรับผิดชอบของ คบ.มโนรมย์ หรือ ทุ่งเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก มีนาข้าวที่เกษตรกรฝืนทำนารอบ2รวมแล้วประมาณ 1.5 แสนไร่ ซึ่งทั้งหมดมีความเสี่ยงที่จะได้รับความเสียหายจากภัยแล้ง เพราะล่าสุดเขื่อนใหญ่ทางตอนบนของประเทศทั้งเขื่อภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ยุติการส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกแล้ว

ทั้งนี้ได้ปล่อยน้ำเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้าเท่านั้น ขณะเดียวกันยังมีชาวนาจำนวนมากที่ระดมสูบน้ำเพื่อทำนารอบที่ 2 ซึ่งเป็นผลให้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงเหนือเขื่อนลดลงอย่างรวดเร็ว และตามแผนการจัดสรรน้ำเพื่อการเพาะปลูก ทางคบ.มโนรมย์จะยุติการส่งน้ำในวันที่ 31 สิงหาคมนี้จึงต้องขอความร่วมมือจากเกษตรกรให้งดทำนาปรังเพื่อป้องกันความเสียหายจากภัยแล้ง

นายเกื้อกูล มานะสัมพันธ์สกุล หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน โครงการชลประทานเชียงใหม่ กล่าวว่า สภาพน้ำในเขื่อนแม่กวงอุดมธารา อ.ดอยสะเก็ด กำลังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำไหลเข้าเขื่อนเนื่องจากฝนไม่ตกเหนือเขื่อนทำให้สภาพเขื่อนแห้งขอดโดยเฉพาะท่ออุโมงค์ส่งน้ำด้านหน้าเขื่อนด้านซ้าย โผล่ออกมาให้เห็นเป็นครั้งแรกในรอบกว่า40 ปี

ด้านนายวราวุธ ขันติยานันท์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า ในวันที่ 2 กันยายนนี้ ตนและนายดิศธร วัชโรทัย รองราชเลขาธิการสำนักพระราชวัง จะไปตรวจสอบความก้าวหน้าในการงานทำงานครบ 2 เดือนของศูนย์ฝนหลวงพิเศษที่จ.นครสวรรค์ และเชียงใหม่ ตามแนวพระราชดำริฝนหลวง ซึ่งได้ถวายรายงานให้พระองค์ทุกวัน

“จะบินสำรวจปริมาณน้ำเขื่อนภูมิพล แควน้อยฯ และป่าสักชลสิทธิ์ ในขณะนี้ยังมีปริมาณน้ำน้อยมากสถานการณ์ยังน่าห่วง และการปฎิบัติการฝนหลวง แม้มีฝนตกทุกวันในพื้นที่เป้าหมายแต่น้ำที่ไหลลงเขื่อนยังไม่มากอีกทั้งร่องฝนยังไม่ลงมาไทยยังอยู่ที่ประเทศจีนตอนล่างและเวียดนามตอนบน ช่วงนี้ลุ้นให้ร่องตัวนี้เลื่อนลงมาเพื่อจะได้เข้าสู่หน้าฝนระยะที่สอง คาดว่าจะลงมาสัปดาห์นี้และจะเข้าสู่ฝนตกในช่วงพี้กของฤดูฝนปีนี้”นายวราวุธ กล่าว

ทั้งนี้การปฎิบัติการฝนหลวงจะทำต่อเนื่องไปจนความชื้นไม่มีในช่วงปลายเดือนตุลาคม เพื่อเติมน้ำเขื่อนให้มากที่สุด โดยช่วงเดือนกันยายนนับเป็นโค้งสุดท้ายแล้วที่ต้องลุ้นกันว่าจะมีร่องฝนหรือมีพายุเข้าไทยสักลูกหรือไม่ อาจจะได้ปริมาณน้ำ3.9 พันล้านลบ.ม.หากช่วงนี้ไม่มีฝนปีหน้าจะแล้งมากกว่าปีนี้ เรียกว่าแล้งสามปีติด ดังนั้นในปีนี้ทั้ง10 หน่วยทั่วประเทศยังคงเดินหน้าปฎิบัติการทุกวันและกระตุ้นให้ฝนตกในพื้นที่เป้าหมายมากที่สุด

ส่วนนายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีฝ่ายบำรุงรักษา เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำว่า จากการคาดการณ์สภาพฝนโดยกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 31 ส.ค. -3 ก.ย. ปริมาณฝนที่ตกในประเทศไทยยังอยู่ในเกณฑ์น้อยแม้เป็นช่วงฤดูฝน โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก และหลังจากนี้ปริมาณฝนจะลดลงอีกจนถึงกลางเดือนต.ค. นี้

ทั้งนี้จากปริมาณฝนที่ตกลดลงทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำ ลำคลองสายต่าง ๆ มีปริมาณทรงตัวและเริ่มลดลงตามลำดับด้วย ซึ่งกรมชลประทานจำเป็นต้องมีการปรับแผนการบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อรักษาระดับน้ำหน้าเขื่อนเจ้าพระยาไม่ให้ต่ำกว่า+14.5 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลางโดยลดการระบายน้ำเข้าคลองต่าง ๆ ทั้ง 2 ฝั่ง

จาก http://www.naewna.com วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2558

รายงานพิดศษ : ‘จุลินทรีย์ไรโซเบียม’ เพิ่มมวลชีวภาพถั่วพร้า ของดีพัฒนาดิน

ความอุดมสมบูรณ์ของดินคือปัจจัยสำคัญในการผลิตทางการเกษตร ดังนั้นการปรับปรุงบำรุงดินจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการทำการเกษตร โดยการใส่ปุ๋ยอินทรีย์ชนิดต่างๆ โดยเฉพาะการปรับปรุงบำรุงดินด้วยพืชปุ๋ยสดที่สามารถใช้ปรับปรุงบำรุงดินในพื้นที่ขนาดใหญ่ได้ง่าย ค่าใช้จ่ายต่ำ และประหยัดแรงงาน ซึ่งหนึ่งในชนิดของพืชปุ๋ยสดที่น่าสนใจคือ “ถั่วพร้า” เนื่องจากถั่วพร้าเป็นพืชตระกูลถั่วเมืองร้อน ลักษณะเป็นทรงพุ่ม ลำต้นแข็งแรง ระบบรากลึก ให้ธาตุไนโตรเจนในปริมาณสูง ปลูกง่าย มีค่าใช้จ่ายต่ำ เจริญได้ในพื้นที่แห้งแล้ง ดินเค็ม ดินที่ขาดธาตุอาหาร ดินเหนียว ดินกรด และในที่ร่ม

นอกจากนี้สามารถปลูกเป็นพืชแซมในแถวพืชหลัก หรือปลูกคลุมดินในไม้ผล ประกอบกับประเทศไทยมีความหลากหลายของจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ทางการเกษตรสูง ซึ่งนิยมนำมาพัฒนาเป็นนวัตกรรมจุลินทรีย์ในการเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน เช่นเดียวกับจุลินทรีย์ไรโซเบียมที่มีการนำมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตรช่วยในกระบวนการตรึงไนโตรเจนให้กับพืชตระกูลถั่วแบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน โดยไรโซเบียมจะเข้าสู่รากพืชตระกูลถั่ว และสร้างปมเพื่อตรึงไนโตรเจนจากอากาศมาเปลี่ยนเป็นแอมโมเนียหรือสารประกอบไนโตรเจนที่พืชสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้

อีกทั้งพบว่า ไรโซเบียมบางสายพันธุ์สามารถผลิตสารเสริมการเจริญเติบโต (ฮอร์โมนออกซิน) กระตุ้นการยืดขยายของรากช่วยเพิ่มมวลชีวภาพของรากพืช ทำให้ไรโซเบียมเข้าไปอยู่ในรากพืชเพิ่มจำนวนจนเกิดเป็นปมรากได้มากขึ้น จึงนิยมใช้ไรโซเบียมผลิตเป็นปุ๋ยชีวภาพใช้ร่วมกับพืชตระกูลถั่ว

ไรโซเบียมเป็นเชื้อแบคทีเรียที่จัดอยู่ในสกุล Rhizobium ย้อมติดสีแกรมลบ ไม่สร้างสปอร์ มีรูปร่างเป็นท่อน ต้องการออกซิเจนในการเจริญเติบโต อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตอยู่ระหว่าง 27-35 องศาเซลเซียส สามารถเข้าสู่รากพืชปรับปรุงบำรุงดิน และสร้างปมเพื่อตรึงไนโตรเจนจากอากาศได้ โดยเจริญอยู่ร่วมกันแบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน แบ่งจุลินทรีย์สำหรับพืชปรับปรุงบำรุงดิน พด.11 (ถั่วพร้า) ออกเป็น 2 ประเภท คือ 1. ไรโซเบียมตรึงไนโตรเจนจากอากาศเปลี่ยนเป็นแอมโมเนียหรือสารประกอบไนโตรเจนที่พืชสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ โดยกิจกรรมของเอนไซม์ไนโตรจีเนส (Nitrogenase) ซึ่งเป็นเอนไซม์สำคัญที่ใช้ในการตรึงไนโตรเจนเมื่อไรโซเบียมเข้าสู่ปมรากพืชปรับปรุงบำรุงดิน ปริมาณการตรึงไนโตรเจนขึ้นอยู่กับระดับของไนโตรเจนในดิน ดินที่มีปริมาณธาตุไนโตรเจนต่ำ กิจกรรมการตรึงไนโตรเจนจะมีมากขึ้น

2.ไรโซเบียมผลิตสารเสริมการเจริญเติบโต (ฮอร์โมนออกซิน) ช่วยกระตุ้นการยืดขยายของราก ส่งเสริมการแตกรากแขนงและ

 เพิ่มปริมาณเซลล์ในเนื้อเยื่อชั้นผิว (Epidermis) ที่จะพัฒนาขนราก รวมทั้งการแตกแขนงของรากขนอ่อน เพิ่มทางเข้าสู่รากถั่วของไรโซเบียมมากขึ้น ส่งผลให้จำนวนปมรากเพิ่มขึ้นเพิ่มมวลชีวภาพ และธาตุอาหารของพืชปรับปรุงบำรุงดิน(ถั่วพร้า)

นายอภิชาต จงสกุล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า กรมพัฒนาที่ดินได้มีการศึกษาวิจัยโครงการนวัตกรรมจุลินทรีย์สำหรับพืชปรับปรุงบำรุงดินพด. 11 (ถั่วพร้า) เพื่อเพิ่มมวลชีวภาพ โดยดำเนินการคัดเลือกจุลินทรีย์ไรโซเบียมที่มีประสิทธิภาพสำหรับใช้ร่วมกับพืชปรับปรุงบำรุงดิน (ถั่วพร้า) เนื่องจากไรโซเบียม จะตรึงไนโตรเจนจากอากาศเปลี่ยนเป็นแอมโมเนียหรือสารประกอบไนโตรเจนที่พืชสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ และในปี 2558 จึงได้ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์มีความเฉพาะกับถั่วพร้า มีประสิทธิภาพสูงในการตรึงไนโตรเจนจากบรรยากาศเพื่อเพิ่มมวลชีวภาพให้แก่พืชปรับปรุงบำรุงดิน (ถั่วพร้า) อีกทั้งยังมีความสามารถในการผลิตฮอร์โมนออกซินส่งเสริมการเจริญเติบโตของระบบรากเพิ่มในการดูดใช้ธาตุอาหารและเพิ่มมวลชีวภาพถั่วพร้า เป็นการเพิ่มอินทรียวัตถุ และความอุดมสมบูรณ์ของดินหลังสับกลบ สามารถลดต้นทุนการผลิต เนื่องจากลดปริมาณการใส่ปุ๋ยเคมีทางการเกษตร โดยเฉพาะปุ๋ยไนโตรเจน และทำให้การปลูกพืชหลักตามมาได้รับผลผลิตเพิ่มสูงขึ้น

น.ส.สุภาพร จันรุ่งเรือง ผู้อำนวยการกองเทคโนโลยีชีวภาพทางดิน กรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า ตามที่ กรมพัฒนาที่ดิน มีนโยบายส่งเสริมเกษตรกรปลูกพืชปุ๋ยสด 5 ชนิด ได้แก่ ปอเทืองโสนอัฟริกัน ถั่วพร้า ถั่วพุ่ม และถั่วมะแฮะ นั้น ขณะนี้กองเทคโนโลยีชีวภาพทางดินกำลังอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายในการวิจัยและพัฒนาจุลินทรีย์สำหรับถั่วพร้าเพื่อเพิ่มมวลชีวภาพ ซึ่งเมื่อไถกลบก็จะเพิ่มอินทรียวัตถุในดินได้มากขึ้น พร้อมๆ กับปลดปล่อยธาตุอาหารที่จำเป็นแก่พืช ได้แก่ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม

น.ส.สุภาพร กล่าวอีกว่า เพื่อให้การใช้ผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์สำหรับพืชปรับปรุงบำรุงดิน พ.ด.11 สำหรับถั่วพร้าสะดวกมากขึ้น จึงได้พัฒนารูปแบบการใช้ผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ให้สะดวกและมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ลดขั้นตอนที่ยุ่งยาก และเวลา โดยการนำผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์สำหรับพืชปรับปรุงบำรุงดิน พด.11 (ถั่วพร้า) มาปรับความชื้นแล้วนำไปคลุกเคล้าเมล็ดถั่วพร้าให้ทั่วทุกเมล็ด อัตรา 10 กิโลกรัม โรยให้ทั่วแปลง สะดวกกว่าใช้จุลินทรีย์สำหรับพืชปรับปรุงบำรุงดิน พ.ด.11 สำหรับปอเทืองและโสนอัฟริกัน ที่ต้องขยายเชื้อในปุ๋ยหมัก 100 กิโลกรัม ร่วมกับรำละเอียด 1 เปอร์เซ็นต์ บ่ม 4 วัน โรยทั่วแปลงแล้วจึงหว่านเมล็ดถั่วพร้า เพื่อให้การใช้ผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์สำหรับพืชปรับปรุงบำรุงดิน พ.ด.11 สำหรับถั่วพร้าสะดวกมากขึ้น จึงได้พัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ให้ใช้งานได้ง่าย ช่วยลดขั้นตอนที่ยุ่งยาก และเวลาที่เสียไปกับการนำจุลินทรีย์ไปขยายปริมาณในปุ๋ยหมักได้ถึง 4 วัน เพียงแค่คลุกเคล้ากับเมล็ดถั่วพร้า แล้วหว่านในแปลงปลูกโดยตรงได้เลย ซึ่งจะสะดวกกว่ากรณีใช้จุลินทรีย์สำหรับพืชปรับปรุงบำรุงดิน พ.ด.11 สำหรับปอเทืองและโสนแอฟริกันที่ต้องนำจุลินทรีย์ในซองผลิตภัณฑ์ไปเพาะขยายปริมาณใน ปุ๋ยหมักผสมรำข้าว ก่อนนำไปหว่านใช้งานในแปลงอีกที

จาก http://www.naewna.com วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2558

เคล็ดลับความสำเร็จ เตรียมพร้อมก่อนก้าวสู่เออีซี

เหลือระยะเวลาไม่ถึง 6 เดือน  ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียนก็จะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี ในปลายปี 2558 นี้แล้ว ทำให้ตลาดการค้าที่เคยมีอยู่ใน 10 ประเทศก็จะถูกหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว ที่มีจำนวนลูกค้ามากว่า 625 ล้านคน ถือเป็นโอกาสทางการตลาดที่นักการตลาด นักธุรกิจ หรือผู้ประกอบการที่จะสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจของตนเอง แต่ด้วยความหลากหลายและความแตกต่างกันในแต่ละประเทศ  โอกาสที่จะได้มานั้นอาจไม่ใช่เรื่องง่าย  หากขาดซึ่งความรู้และเข้าใจในความแตกต่างเหล่านั้น สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย หรือ MAT (Marketing Association of Thailand) ในฐานะที่เป็นองค์กรส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ  นักธุรกิจ และนักการตลาดของไทย มีศักยภาพและความแข็งแกร่งในการแข่งขันบนเวทีการค้าโลก  ร่วมกับสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงาน “International Marketing Conference 2015” หัวข้อ “ASEAN in Action : People, Products, Platform” ขึ้น โดยมีกูรูด้านการตลาดนำเสนอข้อมูลต่างๆ ที่น่าสนใจ  

สร้างแบรนด์อาเซียน

“อนุวัตร เฉลิมชัย” นายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย  มีมุมมองต่อการเปิดตลาดเออีซีว่า  ด้วยขนาดเศรษฐกิจของอาเซียนที่จะอยู่ในอันดับที่ 5 ของโลก  ส่งผลให้บรรดาแบรนด์สินค้าต่างเตรียมยุทธศาสตร์ที่จะเข้ามาทำตลาด เพราะมีฐานผู้บริโภคกว่า 600 ล้านคน เป็นรองจากประเทศจีนและอินเดีย แต่ประเทศต่างๆ ล้วนแต่มีความแตกต่างกัน มีเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละประเทศ จึงต้องเร่งสร้างแบรนด์สินค้าในระดับภูมิภาคอาเซียน  เพื่อให้เกิดการยอมรับในภูมิภาค    ซึ่งประเทศไทยถือว่ามีความได้เปรียบ  เพราะได้รับการยอมรับในหลายประเทศโดยเฉพาะในกลุ่ม CLMV แต่ก็ต้องใช้กลยุทธ์ด้านการตลาดเข้าไปใช้ให้สอดคล้องกับท้องถิ่น เพราะการส่งออกสินค้าจากไทยไม่เพียงพอ จึงต้องเข้าไปร่วมมือหรือลงทุนในประเทศนั้นๆ โดยอาศัยการเชื่อมโยงด้านออนไลน์ และต้องมีการจัดเตรียมบุคลากร และทักษะต่างๆ ให้มีความพร้อมด้วยเช่นกัน

5 ความท้าทายในอาเซียน

ขณะที่นายเอสก้า คาดาไนย ผู้อำนวยการด้านกลยุทธ์นวัตกรรมสินค้า ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และดร.อาภาภัทร บุญรอด กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีเอ็นเอส (ไทยแลนด์) จำกัด  ได้เปิดเผยถึงเทรนด์ของผู้บริโภคในตลาดอาเซียน ที่มีปัญหาและความท้าทายที่จะเกิดขึ้นด้วยกัน 5 ประการ  ได้แก่  1.  ความหลากหลายของวัฒนธรรม  ที่แต่ละเมือง แต่ละประเทศจะมีความแตกต่างกัน  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอาหาร การใช้ชีวิต เป็นต้น การทำตลาดจะต้องเชื่อมโยงความหลากหลายของวัฒนธรรมให้เข้ากับแบรนด์สินค้า  2.  ความแตกต่างของการพัฒนา ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง และมีความซับซ้อน 3. ความต้องการของผู้บริโภคที่แตกต่างกันระหว่างคนในแต่ละพื้นที่ 4. วิธีการเข้าถึงผู้บริโภค และ 5. การสื่อสาร ดังนั้นการเข้าไปทำตลาดในแต่ละประเทศจะต้องทำความเข้าใจตลาด ว่าจะขายอะไร  ขายเมื่อไร ขายอย่างไร และจะสื่อสารไปถึงผู้บริโภคอย่างไร

โอกาสและความท้าทาย

“โบ เนลสัน” รองประธานอำนวยการระดับโลก–หน่วยธุรกิจผลิตภัณฑ์อุปโภค–บริโภค บริษัท ดีเคเอสเอช จำกัด  ได้คาดการณ์โอกาส ความเสี่ยง และการบริหารจัดการภาวะวิกฤติสำหรับตลาดอาเซียนในอนาคต (Future of the ASEAN Market : Forecasted Opportunity & Risk/Crisis Management) จากประสบการณ์ที่เข้าไปทำตลาดในประเทศต่างๆ ในอาเซียนมาอย่างยาวนาน โดยมองว่าจากการรวมกันเป็นตลาดเดียวของภูมิภาคอาเซียน จะเกิดการบริโภคภายในมากขึ้น  ภาวะเศรษฐกิจของอาเซียนตั้งแต่ปี 2544-2556 มีอัตราการขยายตัวถึง 313% จำนวนประชากรในอาเซียนมีสัดส่วน 1 ใน 11 ของประชากรโลก ที่ภายในปี 2568 ชนชั้นกลางจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 128 ล้านครัวเรือน จากปัจจุบันมีจำนวน 67 ล้านครัวเรือน โดยเฉพาะประชากรที่อายุตํ่ากว่า 35 ปี ที่มีจำนวน 289 ล้านคน  กำลังพัฒนาตัวเองให้มีรายได้เพิ่มขึ้นเพื่อยกระดับเป็นคนชนชั้นกลาง ขณะที่ภูมิภาคอาเซียนจะเป็นจุดมุ่งหมายสำคัญอันดับ 1 ของนักลงทุนจากประเทศสหรัฐอเมริกาและยุโรป ทำให้การลงทุนในภูมิอาเซียนจะเพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม  ยังมีคำถามว่าการเกิดขึ้นของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน  เป็นการรวมให้ตลาดเป็นหนึ่งเดียวจริงหรือไม่ และมีโอกาสหรือความท้าทายอย่างไร รวมถึงจะส่งผลต่อภาวะการแข่งขันที่สูงขึ้นหรือไม่ด้วย ซึ่งแต่ละประเทศมีโอกาส  ความท้าทายที่แตกต่างกันออกไป สำหรับประเทศไทย ความท้าทายจะเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบของช่องทางจัดจำหน่าย จากที่ก่อนหน้านี้ ในปี 2538  ดีเคเอชเอสเข้ามาดำเนินธุรกิจ  ช่องทางจำหน่ายที่มีกว่า  3.5 แสนแห่ง ส่วนใหญ่ 98% ยังเป็นร้านค้าทั่วไป อีก 2% เป็นรูปแบบของห้างโมเดิร์นเทรด ซึ่งช่องทางการจำหน่ายในแต่ละรูปแบบจะต้องใช้กลยุทธ์ทางการตลาดที่แตกต่างกันประเทศเมียนมา  เป็นอีกตลาดสำคัญที่นักธุรกิจสนใจเข้าไปทำตลาด แต่ส่วนใหญ่ยังไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากเมียนมามีขนาดพื้นที่ของประเทศใหญ่  มีกฎเกณฑ์ที่ซับซ้อน  ต้องผ่านขั้นตอนและหน่วยงานที่จะต้องประสานงานจำนวนมากและยังมีความจำเป็นที่จะต้องใช้บริษัทในท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินธุรกิจเป็นหลักนอกจากนี้การดำเนินธุรกิจยังใช้เงินสดเป็นหลักทำให้ธุรกิจก็มีความเสี่ยงสูงจึงจำเป็นต้องหาพันธมิตรที่ไว้ใจได้ในด้านการเงิน

ขณะที่ประเทศเวียดนาม  มีความท้าทายในเรื่องของภูมิประเทศที่มีขนาดใหญ่ด้วยเช่นกัน พื้นที่ตั้งแต่ภาคเหนือถึงภาคใต้มีระยะทางที่ยาวมาก ทำให้การกระจายสินค้าควรมีพันธมิตรหลายราย  เพื่อให้ครอบคลุมระหว่างตอนบนกับตอนล่างของประเทศ  นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงด้านกฎหมายของเวียดนาม และสิ่งแวดล้อมที่มีความซับซ้อน ก็เป็นความท้าทายที่นักธุรกิจต้องพิจารณา ส่วนประเทศมาเลเซีย  มีความท้าทายจากความซับซ้อนของวัฒนธรรมภายในประเทศที่มีทั้งวัฒนธรรมตะวันออกและตะวันตก  รวมถึงการดำเนินธุรกิจภายในมาเลเซียต้องใช้ต้นทุนที่สูงในการดำเนินธุรกิจด้วย

4 ปัจจัยความสำเร็จ

ตั้งแต่ปี 2545 ทางดีเคเอสเอชได้มองถึงการเปิดเออีซี ว่าจะเป็นโอกาสที่แท้จริงหรือไม่ หรือจะเกิดการรวมกันเป็นตลาดเดียวได้หรือไม่  ซึ่งมองว่าหากเป็นได้จริงดังกล่าว จะส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคมีถึง 7.1% และยังจะเกิดการจ้างงานขึ้นถึง 14 ล้านคน  และยังจะทำให้ความสามารถด้านการแข่งขันของภูมิภาคมีสูงขึ้น เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ก็อาจจะไม่ใช่ทุกประเทศที่จะพร้อมเข้าสู่ตลาดเออีซี แต่ก็พบว่ามีสินค้าของหลายบริษัทที่ดีเคเอสเอชเข้าไปจัดจำหน่ายและทำตลาด  ซึ่งประสบความสำเร็จ  ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์นีเวียของบริษัท ไบเออร์สด๊อรฟ จำกัด  ที่สามารถสร้างยอดขายได้กว่า 1 พันล้านบาท  ผลิตภัณฑ์แบรนด์ของเซเรบอส ที่ได้รับการยอมรับเป็นอันดับ 1 สามารถสร้างยอดขายจาก 3 พันล้านบาทเป็น 1.5 หมื่นล้านบาทในลาว กัมพูชา และไทยก็เติบโตด้วยตัวเลข 2 หลัก ขณะที่แบรนด์โอวัลติน ในเมียนมาสามารถเป็นแบรนด์อันดับ 1 และยังได้รับความนิยมมากกว่าโค้ก   และมีส่วนแบ่งตลาด 95% ขณะที่ไมโลมีส่วนแบ่งการตลาด 5% ปัจจัยความสำเร็จส่วนหนึ่งมาจากความรู้ในการทำสินค้าให้มีขนาดไซซ์เล็กวางจำหน่าย

ปัจจัยความสำเร็จของการทำตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG)ในอาเซียน  ประกอบด้วยกัน 4 ประการ  คือ 1. การทำงานร่วมกับพันธมิตรหรือการมีพันธมิตรที่ดี 2. การศึกษากฎหมาย กฎระเบียบของแต่ละประเทศ 3. ความเข้าใจในตลาดของแต่ละพื้นที่ สินค้าที่ขายดีในประเทศไทย  ไม่จำเป็นว่าจะต้องขายดีในต่างประเทศ และ 4. ขนาดของสินค้าที่วางจำหน่าย  จะต้องถูกต้องตามความต้องการของตลาด  กรณี สินค้าในสปป.ลาวจะต้องมีขนาดบรรจุภัณฑ์ใหญ่ส่วนในกัมพูชาต้องมีบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็กเป็นต้น

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2558

TDRI แนะรัฐแก้ปัญหาน้ำ ต้องตั้งกรรมการวางระบบ

ทีดีอาร์ไอ แนะรัฐตั้งกรรมการแก้ไขปัญหาน้ำทั้งระบบชี้เอกชนต้องรู้จักใช้น้ำรีไซเคิล 80% พร้อมเรียกเก็บค่าธรรมเนียม “บวร” อ้างไซเคิลต้นทุนพุ่ง

นางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า เตรียมเสนอให้ภาครัฐ ปฏิรูปการจัดการทรัพยากรน้ำ ซึ่งจะสอดรับกับร่าง พ.ร.บ.น้ำของรัฐบาล ที่ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร โดยใช้วิธีกระจายอำนาจสำหรับกรณีการสถานการณ์น้ำเป็นปกติ ส่วนกรณีฉุกเฉินต้องบริหารแบบรวมศูนย์ ภายใต้การกำกับของภาครัฐ คือคณะกรรมการจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สำหรับการบริหารแบบกระจายอำนาจนั้น ควรจัดตั้งคณะกรรมการลุ่มน้ำขึ้นมาเหมือนกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งเป็นระบบสากลที่ใช้ทั่วไป

“คณะกรรมการลุ่มน้ำ ต้องมีอำนาจแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้เอง และต้องมีอำนาจอนุมัติหรือไม่อนุมัติสิ่งก่อสร้างในแต่ละพื้นที่เพื่อไม่ให้ปิดกั้นทางผ่านของน้ำได้ และเพื่อให้คณะกรรมการลุ่มน้ำสามารถมีอำนาจแก้ไขปัญหาท้องถิ่นได้ รัฐจะต้องกำหนดให้มีระบบการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการใช้น้ำ” นางเดือนเด่นกล่าว

นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมต้องเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมการใช้น้ำ โดยต้องหันมาใช้น้ำรีไซเคิล 80% และน้ำใหม่ 20% ของการใช้น้ำทั้งโรงงาน โดยปัจจุบันโรงงานยังมุ่งใช้น้ำใหม่ 100%

นายบวร วงศ์สินอุดม ประธานสถาบันน้ำ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่าการกำหนดให้โรงงานใช้น้ำรีไซเคิลถึง 80% เป็นเรื่องยากเพราะสร้างต้นทุนให้เพิ่มขึ้น แต่ปัจจุบันโรงงานบางส่วนมีระบบการนำน้ำกลับมาใช้ภายในโรงงานอยู่แล้ว นอกจากนี้ผู้ประกอบการภาคตะวันออกได้รวมตัวกันจัดการน้ำ โดยใช้ระบบอ่างพวง เข้ามานำร่องแก้ไขปัญหาน้ำแล้ว โดยไม่ต้องรอรัฐบาล เพราะการเนินการแก้ไขปัญหาช้ากว่าเอกชน.

จาก http://www.thaipost.net   วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2558